txt
stringlengths
202
53.1k
# ภาพยนตร์ Super Mario Bros. Movie ทำรายได้รวมทั่วโลกแตะ 1 พันล้านดอลลาร์แล้ว ภาพยนตร์ Super Mario Bros. Movie สามารถทำรายได้รวมทั่วโลกแตะ 1 พันล้านดอลลาร์ได้สำเร็จแล้ว ถือเป็นภาพยนตร์จากเกมที่สร้างสถิติรายได้สูงสุด และเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของปี 2023 ที่ทำรายได้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ได้ด้วย Super Mario Bros. Movie เริ่มเข้าฉายวันที่ 5 เมษายน ใช้เวลาราว 25-26 วันในการทำรายได้ 1 พันล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นรายได้ในสหรัฐอเมริกา 487.5 ล้านดอลลาร์ และประเทศอื่นๆ 533 ล้านดอลลาร์ ที่มา - Variety
# [ลือ] ASUS ROG Ally มีสองรุ่นย่อย ชิป AMD Z1 ราคา 599 ดอลลาร์, Z1 Extreme 699 ดอลลาร์ บัญชี @snoopytech นักปล่อยข่าวหลุดวงการมือถือ โพสต์ข้อมูลว่าเครื่องเกมพกพา ASUS ROG Ally ที่มีกำหนดเปิดตัว 11 พฤษภาคม 2023 จะมีรุ่นที่ใช้ชิป AMD Ryzen Z1 ขายในราคา 599 ดอลลาร์ สเปกอื่นที่เปิดเผยคือแรม 16GB, สตอเรจ 256GB โดยเว็บไซต์ The Verge ยืนยันข่าวราคานี้จากแหล่งข่าวรายอื่น ROG Ally ยังมีอีกรุ่นที่ใช้ชิป AMD Ryzen Z1 Extreme ที่แรงขึ้น, ใช้สตอเรจ 512GB ขายในราคา 699 ดอลลาร์ ตามข่าวลือก่อนหน้านี้ หากเทียบราคากับเครื่องเกมพกพาชื่อดังอย่าง Steam Deck มีขาย 3 ระดับราคาคือ 399 ดอลลาร์ (16GB+64GB eMMC), 529 ดอลลาร์ (16GB+256GB), 649 ดอลลาร์ (16GB+512GB) จะเห็นว่า ROG Ally ขายแพงกว่าเล็กน้อย แต่ก็ใช้ชิปที่ใหม่กว่า 2 เจน (Zen 2 vs Zen 4) ที่มา - The Verge
# Wi-Fi 6E มาแล้ว กสทช. เห็นชอบ ปล่อยคลื่น 5.925-6.425GHz ให้ใช้งานโดยไม่ต้องขออนุญาต ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบให้คลื่นย่าน 5.925-6.425GHz เป็นคลื่นความถี่ที่อนุญาตให้มีการใช้งานเป็นการทั่วไป (unlicensed) ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดียวกับคลื่นความถี่ที่ใช้งานได้อิสระอื่นๆ เช่นเดียวกับ Wi-Fi ในทุกวันนี้ Wi-Fi 6E เริ่มต้นเมื่อปี 2020 หลังกสทช. สหรัฐฯ (FCC) ประกาศปล่อยคลื่นย่าน 6GHz (5.925-7.125 GHz) ซึ่งกว้างถึง 1.2GHz สามารถใช้งานแบนวิดท์ได้มากหรือใช้งานกับพื้นที่ที่มีผู้ใช้จำนวนมากๆ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. พูดถึงการอนุมัติให้ใช้งานคลื่นครั้งนี้ในงานแถลงข่าวโครงการสนับสนุนการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi 6E เพื่อยกระดับการบริการและการศึกษาทางการแพทย์ ว่าที่ประชุมกสทช. ได้อนุมัติคลื่นนี้ไปตั้งแต่การประชุมวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา โดยอนุมัติออกมา 500MHz ก่อน พร้อมกันนี้ภาคเอกชนก็เข้าไปขอทดลองคลื่นย้าน 6.425-7.125GHz ที่เหลืออยู่ของ Wi-Fi 6E แล้ว แม้จะมีข่าวอนุมัติมาแล้ว แต่ก็ต้องรอประกาศเป็นทางการ และรออุปกรณ์ผ่านการรับรองจากทางกสทช. ก่อนที่เราจะได้ใช้งานกันจริงๆ ที่มา - NBTC
# PyThaiNLP กับ AIResearch เปิดตัว WangChanGLM โมเดลแชทแบบ ChatGPT รองรับภาษาไทยและหลายภาษา วันนี้ทาง PyThaiNLP กับสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย AIReserach.in.th ได้เปิดตัวโมเดล WangChanGLM (วังช้างแอลเอ็ม) โมเดลแชทแบบ ChatGPT รองรับทั้งภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ, ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาเวียดนาม, และภาษาอื่น ๆ ออกสู่สาธารณะ โดยเปิดซอร์สโค้ดทั้งหมด ชุดข้อมูล และโมเดล ให้สามารถนำไปใช้งานต่อได้แบบฟรี ๆ รวมถึงเทรนต่อได้ โดยโค้ดเป็น Apache License 2.0 ส่วนโมเดลใช้ CC BY-SA 4.0 เบื้องหลังโมเดล คือ ใช้โมเดล XGLM ขนาด 7.5 พันล้านพารามิเตอร์จาก Meta ที่รองรับภาษากว่า 31 ภาษา มาปรับแต่งโมเดลทั้งเทรนโมเดล ปรับแต่งโมเดลให้เหมาะสมกับการแชท ตอบคำตอบ โดยได้นำชุดข้อมูล LAION OIG chip2, infill_dbpedia, DataBricks Dolly v2, OpenAI TL;DR, และ Hello-SimpleAI HC3 มาทำการเทรนจากภาษาอังกฤษเป็นหลัก เนื่องจากโมเดลรองรับหลายภาษา ทำให้เราไม่จำเป็นต้องอาศัยชุดข้อมูลภาษาไทยเท่านั้นในการเทรนโมเดล ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเป็นชุดข้อมูลที่สาธารณะสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด และเรายังได้ทำการทดลองเทรนโมเดลด้วยชุดข้อมูลที่แปลภาษาทั้งหมดเป็นภาษาไทยอีกด้วย ผลลัพธ์โมเดล พบว่า โมเดลที่เทรนด้วยภาษาอังกฤษล้วนมีประสิทธิภาพดีกว่าใช้ชุดข้อมูลภาษาไทย ความสามารถของโมเดลมีทั้งถามตอบคำถาม, แปลภาษา, อ่านจับใจความ และอื่น ๆ ตามตัวอย่างต่อไปนี้ ตัวอย่างการขอไอเดีย <human>: ทำยังไงถึงจะเล่นหุ้นให้ได้กำไร <bot>: การเล่นหุ้นให้ประสบความสําเร็จนั้น คุณต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการลงทุน วางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ ติดตามข่าวสารการลงทุน และใช้เครื่องมือวิเคราะห์หุ้นอย่างเหมาะสม ที่สําคัญคือต้องรู้จักอดทนและมีความมุ่งมั่นในการลงทุน ตัวอย่างการเขียนอย่างสร้างสรรค์ <human>: จงแต่งเรียงความเรื่องความฝันของคนรุ่นใหม่ต่อประเทศไทย <bot>: ประเทศไทยในยุคปัจจุบัน เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทําให้คนรุ่นใหม่มีความคิดที่เปิดกว้างและกล้าที่จะคิดต่างจากคนรุ่นก่อนๆ พวกเขามีมุมมองที่กว้างไกลและมองโลกในแง่ดี กล้าคิด พูด และแสดงออกในสิ่งที่แตกต่างจากเดิม หลายคนมีความฝันที่จะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับประเทศชาติ บางคนมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ในขณะที่บางคนก็มุ่งหวังที่จะประสบความสําเร็จในหน้าที่การงาน ทุกคนต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการเห็นประเทศไทยเจริญก้าวไกล พัฒนาไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตัวอย่างการอ่านจับใจความ <human>: “สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ได้ทำการเปิดชุดข้อมูลคู่ประโยคในภาษาอังกฤษ-ไทย จำนวนกว่า 1 ล้านคู่ประโยคสู่สาธารณะ โดยได้รับการสนับสนุนจาก SCB ภายใต้ชื่อ scb-mt-en-th-2020 ชุดข้อมูลคู่ประโยคนี้ ได้รวบรวมจากหลายข้อมูลแหล่งอาทิเช่น ประโยคจากบทสนทนา ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวหรือองค์กรที่มีเนื้อหาในสองภาษา บทความวิกิพีเดีย และ เอกสารราชการ” สรุปข้อความนี้ให้หน่อย <bot>: สถาบันฯ ได้เปิดข้อมูลชุดนี้สู่สาธารณชนภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ โดยใช้ชื่อชุดว่า scbmt-2020 อ่านรายละเอียดได้ที่ GitHub สามารถใช้งานได้แล้วผ่าน Hugging Face ตามตัวอย่างใน Google Colab ข้อมูลเปิดเผย: ผู้เขียนข่าวนี้เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมนักพัฒนา PyThaiNLP ที่มา: WangChanGLM🐘 — The Multilingual Instruction-Following Model
# ไอเดียใหม่มาไม่หยุด - Elon Musk เตรียมเก็บเงินค่าอ่านข่าวในลิงก์ ให้ส่วนแบ่งกับสำนักข่าว Elon Musk ซีอีโอ Twitter อัพเดตในทวีตของเขาว่า Twitter จะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ในเดือนหน้า โดยสำนักข่าวสามารถคิดเงินผู้อ่านข่าวได้แบบต่อจำนวนข่าวที่อ่านในหนึ่งคลิก ซึ่งจะเพิ่มแหล่งรายได้ให้กับสำนักข่าว จากเดิมสำนักข่าวจะมีรายได้หากผู้อ่านสมัครสมาชิกรายเดือน (Subscription) แต่กรณีนี้แม้ไม่สมัครก็สามารถคิดเงินได้ เขาบอกว่าโมเดลนี้น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งฝั่งสำนักข่าว ที่เพิ่มรายได้ช่องทางใหม่ ส่วนฝั่งผู้อ่าน ก็ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงิน Subscription เหมารายเดือน ในขณะเดียวกันวิธีการนี้ Twitter ก็สามารถหักส่วนแบ่งจากสำนักข่าวเป็นการเพิ่มรายได้ทางใหม่ให้แพลตฟอร์มด้วย ในทวีตนั้น Elon Musk ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมมากนัก จึงยังมีหลายอย่างที่อาจมีคำถาม เช่น การคิดค่าอ่านข่าวต่อคลิก จะเป็นเท่าใด เมื่อเทียบกับค่าสมาชิกเว็บข่าวรายเดือน รวมถึงรายละเอียดเครื่องมือของ Twitter ที่ให้สำนักใช้งาน เป็นต้น ที่มา: Engadget
# Qualcomm เปิดตัวฟีเจอร์อัพสเกลภาพแบบ DLSS สำหรับการเล่นเกมบนมือถือ ในฝั่งพีซีหรือเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ผู้ผลิตการ์ดจอล้วนออกฟีเจอร์มากมายเพื่อตอบโจทย์การเล่นเกมที่สมจริงและไหลลื่นมากขึ้น แต่เรื่องนี้ยังค่อนข้างเป็นข้อจำกัดของการเล่นเกมบนสมาร์ทโฟนอยู่ แต่ช่วงหลังฝั่งสมาร์ทโฟนก็เริ่มไล่ตามมาแล้ว ตั้งแต่การรองรับ Ray Tracing บน Snapdragon 8 Gen 2 และล่าสุด Qualcomm ก็เปิดตัว Snapdragon Game Super Resolution (GSR) ที่ช่วยอัพสเกลภาพให้ละเอียดขึ้น โดยไม่หนักฮาร์ดแวร์เครื่อง ลักษณะคล้าย DLSS ของ NVIDIA หรือ FSR ของ AMD แต่เดิม การอัพสเกลภาพบนสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะใช้เทคนิค bilinear interpolation (bilerp) ที่แม้จะไม่เปลืองแบตเตอรี่ แต่จะกระทบคุณภาพของภาพ ด้วยการเบลอวัตถุหรือรายละเอียดบางส่วนในซีน หรือเทคนิคอื่นๆ ที่อาจจะเปลืองแบตเตอรี่ และโพรเซสเยอะ ขณะที่ฟีเจอร์ GSR ทาง Qualcomm เคลมว่ารวมเอาโพรเซสการอัพสเกลต่างๆ ที่เดิมมีหลายโพรเซส ให้จบที่โพรเซสเดียว และได้คุณภาพภาพที่ดีกว่า ใกล้เคียงกับการเรนเดอร์แบบ native ประมวลผลเร็วกว่า และแน่นอนว่าประหยัดแบตเตอรี่ โดย Qualcomm เคลมว่า เกมความละเอียด 1080p จะสามารถอัพสเกลได้ถึง 4K ส่วนเกมที่ได้เฟรมเรท 30fps ก็จะสามารถดันได้ถึง 60+ fps ได้ ส่วนเกมที่ประกาศรองรับ GSR ตอนนี้ก็มี Call of Duty Warzone Mobile, Jade Dynasty: New Fantasy, Return to Empire, Justice Mobile, Naraka Mobile และ Farming Simulator 23 Mobile, สามารถอ่านข้อมูลเทคนิคอย่างรายละเอียดได้จาก Qualcomm ที่มา - Qualcomm via Android Police
# Stability.AI โชว์ปัญญาประดิษฐ์วาดภาพ DeepFloyd IF วาดข้อความลงในภาพได้แล้ว ปัญญาประดิษฐ์สำหรับแปลงภาพเป็นข้อความเริ่มได้รับความนิยมและมีการใช้งานแพร่หลายทั้ง DALL·E, MidJourney, และ Stable Diffusion แต่ข้อจำกัดหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์กลุ่มนี้คือมันไม่สามารถวาดข้อความลงในภาพได้ เมื่อผู้ใช้พยายามสั่งให้เขียนข้อความลงในส่วนของภาพก็มักจะเป็นคำมั่วๆ หรือบางทีก็ไม่เป็นตัวอักษรเลย ทาง Stability.AI ผู้สร้าง Stable Diffusion ก็เปิดตัว DeepFloyd IF ที่สามารถสร้างภาพพร้อมวาดข้อความที่กำหนดลงในภาพได้เลยในตัว นอกจากความสามารถในการวางตัวอักษรแล้ว DeepFloyd IF ยังเหนือว่าโมเดลสร้างภาพอื่นๆ ได้แก่ เข้าใจคำสั่งละเอียดกว่าเดิม: ด้วยการใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ T5-XXL-1.1 ขนาดถึง 11 พันล้านพารามิเตอร์ ในการอ่านข้อความคำสั่ง ปรับปรุงภาพเหมือนภาพถ่ายมากกว่าเดิม คะแนน FID 6.66 นับว่าอยู่ 10 อันดับแรกของโมเดลที่ดีที่สุดในตอนนี้แล้ว สร้างภาพที่สัดส่วนอื่นนอกจากสี่เหลี่ยมจตุรัสได้ แบบเดียวกับ MidJourney แปลงภาพต้นฉบับเป็นภาพรูปแบบอื่น ตัว DeepFloyd IF เป็นโมเดลปัญญาประดิษฐ์หลายตัวมาประกอบเข้าด้วยกัน ตั้งแต่โมเดลทำความเข้าใจข้อความ, สร้างภาพจากข้อความขนาดเล็ก, และการขยายภาพเป็นขนาดใหญ่ ตอนนี้ทาง Stability.AI ปล่อย DeepFloyd IF ให้ใช้งานเพื่อการวิจัยเท่านั้น แต่คาดว่าจะปล่อยให้ใช้งานได้ค่อนข้างอิสระต่อไปในอนาคต ที่มา - Stability.AI
# Cruise วิ่งรถไร้คนขับครบ 1 ล้านไมล์, อัตราการชนน้อยกว่ามนุษย์ 54%, ส่วนใหญ่โดนขับมาชน Cruise บริษัทรถยนต์ไร้คนขับในเครือ GM ประกาศว่าให้บริการบนถนนจริงครบ 1 ล้านไมล์ (ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตเมืองซานฟรานซิสโก) ใช้เวลา 15 เดือนนับจากเริ่มให้บริการช่วงปลายปี 2021 Cruise ยังเผยสถิติว่ารถยนต์ไร้คนขับของตัวเองมีความปลอดภัยกว่าการขับโดยมนุษย์ มีการชน (ทั้งหมด) น้อยกว่ามนุษย์ 54% มีการชน เฉพาะที่ Cruise เป็นฝ่ายทำให้เกิดการชน (primary contributor) น้อยกว่ามนุษย์ 92% มีการชน เฉพาะที่เกิดความเสี่ยงบาดเจ็บ น้อยกว่ามนุษย์ 73% สถิติของ Cruise ยังบอกว่าการชนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงที่รถของตัวเองขับช้าๆ และ 96% เกิดเพราะอีกฝ่ายมาชน Cruise เช่น โดนชนท้าย โดนเบียดเลน หรือ รถคันหน้าถอยหลังมาชนรถของ Cruise ที่จอดตามหลังอยู่ (ดูคลิปตัวอย่างการชนได้จากที่มา) ที่มา - Cruise
# Jack Dorsey เปิดปากวิจารณ์ Elon Musk ทำทุกอย่างแย่ลง ควรยอมจ่ายค่าฉีกสัญญาแทนซื้อ Twitter หลังจากปิดปากเงียบมานาน ในที่สุด Jack Dorsey ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอ Twitter ผู้ซึ่งเคยบอกว่า Elon Musk คือคนเดียวที่ผมไว้ใจให้ดูแล Twitter ก็ออกมาวิจารณ์ Elon Musk แล้ว Dorsey ไปโพสต์เรื่องนี้ใน Bluesky บริการตัวใหม่ที่แยกตัวจาก Twitter และเขาเป็นผู้ริเริ่มไอเดีย ตอบคำถามของผู้ใช้อีกคนหนึ่ง โดยแสดงความเห็นว่าหลังจาก Musk ซื้อแล้ว ทุกอย่างแย่ลง (it all went south) แถมยังย้อนไปพูดเรื่องจังหวะการซื้อของ Musk ไม่ดี และสิ่งที่ Musk ทำหลังจากนั้น (ยอมเดินหน้าซื้อต่อ) ก็เป็นความผิดพลาด ควรยอมจ่ายค่าฉีกสัญญาซื้อกิจการเป็นเงิน 1 พันล้านดอลลาร์แทนจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม Dorsey บอกว่าตอนนี้ทุกอย่างเกิดขึ้นไปแล้ว สิ่งที่พวกเราทำได้คือการสร้างบริการมาทดแทน และเลี่ยงที่จะทำผิดพลาดซ้ำเดิม ซึ่งเขาบอกว่าดีใจที่มีทีม Bluesky (นำโดย Jay Graber) และทีม Nostr บริการโซเชียลกระจายศูนย์อีกตัวหนึ่ง นอกจากนี้ Dorsey ยังวิจารณ์ว่า Twitter ไม่มีโอกาสอยู่รอดในฐานะบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องขายให้ใครสักคนอยู่แล้ว ทางเลือกอื่นคือขายให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์แล้วออกจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีข้อเสียมากมาย ดังนั้น การขายให้ Elon Musk จึงเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ ที่มา - TechCrunch
# Telegram กลับมาใช้งานในบราซิลได้อีกครั้ง หลังศาลยกเลิกคำสั่งแบน ระบุไม่ให้กระทบผู้ใช้งานส่วนใหญ่ Telegram กลับมาใช้งานในบราซิลได้อีกครั้งตั้งแต่เมื่อวานนี้ (เสาร์ที่ 29 เมษายน) หลังจากศาลรัฐบาลกลางได้ทบทวน และยกเลิกคำสั่งที่ให้ระงับการให้บริการก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งก่อนหน้านี้ไม่สมเหตุสมผล เมื่อมองในมุมผลกระทบฝั่งผู้ใช้งานทั่วประเทศส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามศาลรัฐบาลกลางบอกว่าโทษค่าปรับสูงสุดวันละ 1 ล้านเรอัลบราซิลต่อวัน หรือประมาณ 6.7 ล้านบาท ยังคงมีผลจนกว่า Telegram จะให้ความร่วมมือในการสอบสวนตามคำสั่ง จากเหตุกราดยิงในโรงเรียนสองครั้งช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งตำรวจเชื่อว่ากลุ่มใน Telegram อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ ก่อนหน้านี้หลังมีคำสั่งแบน Telegram ในบราซิล Pavel Durov ซีอีโอ Telegram ก็ออกมาให้ความเห็นว่าบริษัทจะอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินดังกล่าว และบอกว่าการให้ข้อมูลผู้ใช้งานนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลยในทางเทคนิค บริษัทเองไม่เคยแชร์ข้อมูลผู้ใช้งานให้กับรัฐบาลใดมาก่อน ในอดีตการสมัครใช้งาน Telegram ต้องยืนยันตัวตนด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อปลายปีที่แล้วได้เพิ่มตัวเลือกสมัครโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ไม่ระบุตัวตนเข้ามา ที่มา: The Independent
# หลุดภาพ Google Pixel Fold มือถือจอพับตัวแรกของกูเกิล ใกล้งาน Google I/O 2023 (10 พฤษภาคม) มาเรื่อยๆ ก็มีภาพหลุดของอุปกรณ์ตระกูล Pixel ออกมาเรื่อยๆ เช่นกัน ล่าสุด @evleaks เจ้าเก่า โพสต์ภาพเรนเดอร์อย่างเป็นทางการของ Google Pixel Fold มือถือจอพับของกูเกิลที่คาดว่าจะเปิดตัวในเวทีงาน Google I/O หน้าตาของ Pixel Fold คงไม่ต่างอะไรจากมือถือจอพับในท้องตลาด ส่วนรายละเอียดอื่นๆ คงต้องรอประกาศบนเวที โดยก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่า Pixel Fold จะตั้งราคา 1,799 ดอลลาร์ เท่ากับราคาเริ่มต้นของ Galaxy Z Fold 4 ในงาน Google I/O รอบนี้ กูเกิลยังจะเปิดราคาแท็บเล็ต Pixel Tablet ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว, สมาร์ทโฟนรุ่นถูก Pixel 7a และอาจพรีวิวหน้าตาของสมาร์ทโฟนเรือธง Pixel 8 ที่จะวางขายช่วงปลายปีด้วย ที่มา - @evleaks via 9to5google
# EU ร่างกฎหมายควบคุม AI อาจบังคับให้ผู้พัฒนาต้องเปิดเผยข้อมูลมีลิขสิทธิ์ ที่นำมาใช้เทรน มีรายงานว่าสหภาพยุโรปหรือ EU ได้ผ่านร่างกฎหมายส่วนหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นขั้นแรกของการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแล AI มีรายละเอียดสำคัญคือ บริษัทที่พัฒนาเครื่องมือสร้างเนื้อหาด้วย AI หรือ Generative AI โดยยกตัวอย่าง ChatGPT จะต้องเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลที่ใช้เทรนเพื่อสร้างเนื้อหา ถ้าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์ ทั้งนี้รายละเอียดเพิ่มเติมยังไม่มีออกมา และร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ในช่วงต้นจึงสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้อีก อย่างไรก็ตามหากแนวทางกฎหมายออกมาแบบนี้จริง ผู้พัฒนา AI จะมีความเสี่ยงมากขึ้นในการถูกฟ้องร้องเนื่องจากต้องแสดงรายละเอียดสิ่งที่นำมาเทรน AI และมีโอกาสพบปัญหาลิขสิทธิ์ได้ ที่ผ่านมา OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT, GPT-4, DALL-E ไม่เคยเปิดเผยว่าข้อมูลใดบ้างที่นำมาใช้เทรน AI ขณะเดียวกันเราก็เห็นข่าวผู้ถือเนื้อหาลิขสิทธิ์เริ่มออกมาฟ้องร้อง หรือควบคุมไม่ให้ AI ดึงข้อมูลไปใช้กันมากขึ้นด้วย คาดว่ากฎหมายดังกล่าว หากเสร็จสมบูรณ์จะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดในปี 2025 ที่มา: The Verge
# Hugging Face เปิดตัวแช็ทบ็อท HuggingChat แบบเดียวกับ ChatGPT แต่เป็นโอเพนซอร์ส Hugging Face บริษัทด้าน AI เปิดตัวบริการ HuggingChat ซึ่งเป็นแช็ทบ็อทที่ใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ลักษณะเดียวกับ ChatGPT มีขนาด 3 หมื่นล้านพารามิเตอร์ ที่สำคัญคือเป็นโมเดลโอเพนซอร์ส โมเดลที่ HuggingChat ใช้งานคือ OpenAssistant LLaMA ที่ต่อยอดมาจาก LLaMA ของ Meta AI และมีหน่วยงานหลายแห่งนำไปต่อยอด พัฒนาโมเดล LLaMA ให้ดีขึ้นในวิธีของตัวเอง Clem Delangue ซีอีโอของ Hugging Face บอกว่าโลกจำเป็นต้องมีทางเลือกแบบโอเพนซอร์ส ใช้แทน ChatGPT ที่ใช้แนวทางปิดเป็นความลับ จนถูกวิจารณ์อย่างหนัก ทางเลือกแบบโอเพนซอร์สมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเข้าถึงทุกคนมากกว่า ตัวโมเดล LLaMA มีสัญญาอนุญาตแบบโอเพนซอร์ส แต่ก็มีเงื่อนไขกำกับว่าใช้ได้เฉพาะการศึกษาวิจัย ไม่สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ฝั่งของ Hugging Face ก็ระบุชัดในหน้าเว็บของ HuggingChat ว่าโครงการนี้ยังเป็นเดโม แสดงให้เห็นว่าโมเดลทำงานได้แค่ไหน และใส่เลขเวอร์ชันเป็น v0 เพื่อบ่งบอกข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง เช่น ยังไม่มีระบบบัญชีผู้ใช้ เก็บล็อกข้อความเก่าไม่ได้ เป้าหมายของ HuggingChat ในอนาคตคือเปิดให้เชื่อมต่อกับโมเดลแช็ทใดๆ ก็ได้จากเว็บไซต์ Hugging Face Hub ที่เปิดให้ชุมชนนักพัฒนาเผยแพร่โมเดลกันอยู่แล้ว และตัว HuggingChat เองก็อาจไปเชื่อมต่อกับบริการแช็ทบ็อตอื่นๆ เพื่อให้บริการข้อมูลอยู่เบื้องหลังได้เช่นกัน ผู้สนใจสามารถลองเล่นได้จากหน้าเว็บ HuggingChat ที่มา - VentureBeat
# Matrox หวนคืนวงการการ์ดจอ ออกการ์ดซีรีส์ LUMA ใช้จีพียู Intel Arc เน้นภาคอุตสาหกรรม Matrox บริษัทผู้ผลิตการ์ดจอที่หลายคนอาจลืมชื่อกันไปบ้าง ช่วงหลังๆ หันไปทำการ์ดด้านตัดต่อ-เข้ารหัสวิดีโอเป็นหลักแทน โดยยังมีการ์ดจอของตัวเองเหลืออยู่ซีรีส์เดียวคือ Matrox M-Series ที่เน้นการต่อจอมอนิเตอร์จำนวนมาก (สูงสุด 8 จอ) แทนตลาดการ์ดจอแสดงผล 3D ที่ไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว แต่ล่าสุด Matrox หวนคืนวงการจีพียู 3D อีกรอบ ด้วยการผลิตการ์ดจอเดสก์ท็อปที่ใช้จีพียู Intel Arc ลักษณะเดียวกับผู้ผลิตการ์ดจอค่ายอื่นๆ เช่น Acer, ASRock การ์ดจอซีรีส์นี้เรียกว่า Matrox LUMA series มีสินค้าด้วยกัน 3 รุ่นย่อยคือ LUMA A310, A310F, A380 ตามซีรีส์ 3 ของ Intel Arc ซึ่งเป็นจีพียูระดับราคาถูกที่สุด (Intel Arc มีซีรีส์ 3, 5, 7) จุดเด่นของ LUMA A310 คือเป็นการ์ดจอขนาดเล็ก low profile แบบไม่ต้องมีพัดลมระบายความร้อน (รุ่น A310F ประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่ต้องมีพัดลม) จึงเหมาะกับการใช้ในพีซีขนาดเล็ก (small-form-factor หรือ SFF) สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องตั้งพีซีในสภาพแวดล้อมเฉพาะ ส่วน A380 เน้นตลาดอุปกรณ์การแพทย์หรือการทหารที่ต้องใช้พลังเรนเดอร์สูงขึ้น นอกจากนี้ จีพียู A310 ยังเป็นจีพียูที่รองรับวิดีโอ AV1 ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ หากมีความต้องการใช้งานวิดีโอ AV1 ก็อาจเป็นโซลูชันที่เหมาะสมในแง่ราคา, จีพียูทุกตัวในซีรีส์ยังรองรับ DisplayPort 2.1 และแสดงผลภาพได้สูงสุด 8K60 HDR กลุ่มเป้าหมายของ Matrox นั้นชัดเจนว่าเน้นผู้ผลิตพีซี OEM สำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะทาง โดย Matrox ประกาศอายุขัยของการ์ดนาน 7 ปี (รับประกัน 3 ปี) สบายใจได้ว่านำไปใช้แล้วจะมีซัพพลายสินค้ายาวนาน ที่มา - Matrox
# ภาพรวมการใช้จ่ายองค์กรด้าน Cloud Infrastructure ไตรมาส 1/2023 เติบโต 20% แม้ปัญหาเศรษฐกิจโลกกดดัน บริษัทวิจัย Synergy Research รายงานการใช้จ่ายขององค์กรในบริการคลาวด์โครงสร้างพื้นฐาน (Cloud Infrastructure) ไตรมาสที่ 1 ปี 2023 มีจำนวนมากกว่า 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ทั่วโลก เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2022 คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 20% และถ้าเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2022 จะเพิ่มขึ้น 4% Amazon เป็นผู้ให้บริการที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุดราว 32-34% ตามด้วยไมโครซอฟท์และกูเกิลที่ 23% และ 10% ตามลำดับ จึงเห็นได้ว่าเกือบ 2 ใน 3 ของส่วนแบ่งตลาดอยู่ในผู้ให้บริการ 3 เจ้าใหญ่นี้ ขณะที่อันดับรองลงมาพบว่าแต่ละรายมีการเติบโตสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น Oracle, Snowflake, MongoDB, Huawei และ 3 ผู้ให้บริการมือถือในจีน บริการบนคลาวด์ที่มีการใช้จ่ายสูงส่วนใหญ่เป็นพับลิก IaaS และ PaaS และหากดูเฉพาะพับลิกคลาวด์จาก 3 ผู้ให้บริการรายใหญ่ ส่วนแบ่งจะเพิ่มเป็น 72% Synergy Research มองว่าแม้ปัญหาเศรษฐกิจโลกจะกดดันการใช้จ่ายด้านคลาวด์ขององค์กร แต่ด้วยพื้นฐานแล้วการเปลี่ยนมาใช้คลาวด์จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปในอัตราที่มากขึ้น เห็นได้จากการกลับมาเติบโตของผู้ให้บริการคลาวด์ในจีน ที่มา: Synergy Research
# Star Wars Jedi: Survivor ได้คะแนนรีวิวดี เฉลี่ย 86/100 แต่มีปัญหาประสิทธิภาพบนพีซี EA วางจำหน่ายเกม Star Wars Jedi: Survivor เมื่อวานนี้ 28 เมษายน เกมได้รีวิวออกมาดี คะแนนเฉลี่ยบน Metacritic 86/100 (PS5) โดยสื่อเกมหลายสำนักให้คะแนนเต็มหรือเกือบเต็ม รีวิวส่วนใหญ่ชื่นชมโลกในเกมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจากภาคแรก Fallen Order, ระบบการต่อสู้และปรับแต่งตัวละคร, ภาพในเกมที่สวยงาม ส่วนเสียงวิจารณ์มีด้านเนื้อเรื่องที่คาดเดาได้ และความยาวของเกม การเล่าเรื่องที่ยืดเยื้อไปสักหน่อย The Guardian ที่ให้คะแนนเต็ม ยกย่องว่าเป็นเกม Star Wars ที่ดีที่สุดในรอบ 20 ปีนี้ (นับจาก Knights of the Old Republic ที่ออกขายปี 2003) ส่วน IGN ชมว่าเป็นเกมภาคต่อที่ดีมาก และถ้า Respawn สามารถทำภาคสามออกมาดีอีก ก็จะเป็นไตรภาค Star Wars ที่ดีที่สุดในรอบ 30 ปี Guardian 10/10 VGC 5/5 GameInformer 9.25/10 IGN 9/10 Destructoid 9/10 Gameradar+ 4.5/5 อย่างไรก็ตาม เกมเวอร์ชันพีซีมีปัญหาประสิทธิภาพ เฟรมเรตตกแม้ในเครื่องที่สเปกสูงๆ ก็ตาม ทำให้ผู้เล่นหันไปรีวิวถล่ม และล่าสุด EA ต้องประกาศขอโทษแฟนๆ พร้อมสัญญาว่าจะออกแพตช์แก้ไขปัญหาโดยเร็ว
# ซีรีส์ Twisted Metal เผยทีเซอร์แรก เริ่มฉาย 27 กรกฎาคม ทางสตรีมมิ่ง Peacock Twisted Metal เกมขับรถยิงกันที่โด่งดังบน PS1 กำลังกลายเป็นซีรีส์ ฉายทางสตรีมมิ่ง Peacock ของค่าย NBCUniversal ล่าสุด NBC ปล่อยทีเซอร์แรก พร้อมประกาศวันฉาย 27 กรกฎาคม 2023 ในทีเซอร์เป็นฉากการเตรียมตัวขึ้นรถของตัวเอก John Doe (แสดงโดย Anthony Mackie ที่เคยรับบทเป็น Falcon ในซีรีส์ Marvel) เพื่อออกเดินทางนำพัสดุไปส่งในโลกยุคอารยธรรมล่มสลาย และมีฉากของตัวร้าย Sweet Tooth ที่ใส่หน้ากากตัวตลกโผล่มาให้เห็นด้วย เกม Twisted Metal เป็นแฟรนไชส์ของ Sony Computer Entertainment ซึ่งออกเกมเยอะๆ ในช่วงปี 1995-2001 ส่วนเกมภาคสุดท้ายคือ Twisted Metal บนเครื่อง PS3 เมื่อปี 2012 ส่วนผู้สร้างและผู้กำกับของเกมซีรีส์นี้คือ David Jaffe ยังไปมีผลงานกำกับเกม God of War ภาคแรกอีกด้วย ซีรีส์มีความยาว 10 ตอน ตอนละ 30 นาที
# ChatGPT กลับมาให้บริการในอิตาลีหลัง OpenAI สัญญาว่าจะตรวจสอบอายุผู้ใช้งาน ChatGPT กลับมาเปิดให้บริการในอิตาลีหลังจากถูกแบนไปเกือบเดือน เนื่องจากหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอิตาลีกังวลถึงการเก็บข้อมูลผู้ใช้ไปเทรนโมเดล โดยเบื้องต้น OpenAI จะปรับปรุงข้อตกลงการใช้งานให้ชัดเจนกว่าเดิม และเพิ่มตัวเลือกขอไม่ร่วมการเทรนโมเดลให้ผู้ใช้ ส่วนสำคัญที่ทางอิตาลีกังวลคือการเก็บข้อมูลผู้ใช้อายุต่ำกว่า 13 ปี โดยหลังจากนี้ OpenAI จะเพิ่มเครื่องมือตรวจสอบอายุผู้ใช้ก่อนจะสมัครใช้งาน ความกังวลประเด็นความเป็นส่วนตัวของโมเดลปัญญาประดิษฐ์ขนาดใหญ่นั้นมีหลายส่วน ตั้งแต่ข้อความปริมาณมหาศาลที่รวบรวมมาจากอินเทอร์เน็ตที่อาจจะมีข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลผิดลิขสิทธิ์อยู่ในชุดข้อมูล, การเก็บข้อมูลไปฝึกเพิ่มเติม เช่น การนำคำถามจากผู้ใช้ไปฝึกให้ปัญญาประดิษฐ์ตอบได้ดีขึ้น ที่มา - Reuters
# ซัมซุงเปิดตัว Galaxy A24 ในไทย ชิป Helio G99 ราคา 7,999 บาท ซัมซุงประเทศไทย เปิดตัว Galaxy A24 รุ่นสุดท้ายของซีรีส์ Galaxy A ประจำปี 2023 หลังจากเปิดตัว Galaxy A14, A34, A54 ไปก่อนแล้ว สเปกของ Galaxy A24 คือ หน้าจอ Super AMOLED 6.5" FHD+, ชิป MediaTek Helio G99 (A23 เป็น Snapdragon 680 เรียกได้ว่าย้ายค่าย), RAM 6GB, ROM 128GB+microSD กล้องหลัก 50MP (F1.8) พร้อมระบบกันสั่น (OIS), กล้องอัลตร้าไวด์ 5MP, กล้อง Macro 2MP, กล้องหน้า 13MP, แบตเตอรี่ขนาด 5,000mAh อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของ A24 คือยังไม่มีชาร์จเร็ว และรองรับแค่ 4G เท่านั้น แต่น่าจะมีรุ่น 5G ตามมาภายหลังเหมือน A23 5G สเปกละเอียดบนหน้าเว็บซัมซุง Galaxy A24 มีขาย 2 สีคือ Silver และ Black ราคา 7,999 บาท ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวลือว่า ซัมซุงจะลดจำนวนรุ่นย่อยของซีรีส์ A ลง ซึ่งอาจตัดรุ่น A2X ออกไป แต่สุดท้ายก็ยังเปิดตัว A24 ตามรอบปกติ การเปิดตัว Galaxy A24 ทำให้ราคาของสินค้าไลน์ Galaxy A ของปี 2023 เรียงกันดังนี้ A04 3,999 บาท A04s 4,699 บาท A14 5,999 บาท A14 5G 6,999 บาท A24 7,999 บาท A34 11,999 บาท A54 13,999 บาท ที่มา - ข่าวประชาสัมพันธ์ซัมซุงประเทศไทย
# Google Photos บน ChromeOS รองรับการตัดต่อคลิปวิดีโอแล้ว แอพ Google Photos บนระบบปฏิบัติการ ChromeOS เพิ่มฟีเจอร์ตัดต่อวิดีโอแบบง่ายๆ ลักษณะเดียวกับ iMovie ของแอปเปิล ทำให้ Google Photos กลายเป็นแอพตัดต่อวิดีโอมาตรฐานของ ChromeOS ไปในทันที ฟีเจอร์ตัดต่อวิดีโอของ Google Photos มีระบบเทมเพลตสร้างวิดีโออัตโนมัติ จากภาพและคลิปที่มีอยู่แล้วภายในไม่กี่คลิก สามารถปรับแต่งสี ใส่ฟิลเตอร์ แทรกเพลง ฯลฯ ได้ตามที่แอพตัดต่อวิดีโอพึงมี และการที่แอพ Google Photos เชื่อมต่อกับแอพ Gallery และ Files ของ ChromeOS อยู่แล้ว จึงทำให้การค้นหาไฟล์ภาพและวิดีโอเพื่อมาตัดต่อสะดวกตามไปด้วย ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าผู้ใช้ Google Photos บนระบบปฏิบัติการอื่นๆ จะได้ใช้ฟีเจอร์ตัดต่อวิดีโอด้วยหรือไม่ ที่มา - Google
# PS5 ขายได้อีก 6.3 ล้านเครื่อง ในไตรมาสที่ผ่านมา ยอดขายรวม 38.4 ล้านเครื่องแล้ว โซนี่รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ตามปีการเงินบริษัท 2022 สิ้นสุดเดือนมีนาคม ยอดขาย PS5 ในไตรมาสเพิ่มขึ้นอีก 6.3 ล้านเครื่อง เป็นตัวเลขที่เพิ่มมากกว่า 3 เท่า หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนซึ่งขายได้ 2.0 ล้านเครื่อง ยอดขาย PS5 รวมสุทธิตั้งแต่เปิดตัวเพิ่มเป็น 38.4 ล้านเครื่อง รายได้ของโซนี่ทั้งหมดในไตรมาสอยู่ที่ 3.06 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1.04 แสนล้านเยน ธุรกิจเกมซึ่งเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัท มีรายได้เฉพาะส่วนนี้ 1.07 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นมากกว่า 400% มีกำไรจากการดำเนินงานเฉพาะส่วนนี้ 3.89 หมื่นล้านเยน รายได้จากธุรกิจอื่นที่น่าสนใจ กลุ่มเซ็นเซอร์ภาพถ่าย เพิ่มขึ้น 93.5% เป็น 3.49 แสนล้านเยน ธุรกิจเพลง เพิ่มขึ้น 54.9% เป็น 3.50 แสนล้านเยน และ Sony Pictures เพิ่มขึ้น 46.8% เป็น 3.59 แสนล้านเยน ที่มา: โซนี่ (pdf)
# หยามกันชัดๆ CMA ประเมินว่าไมโครซอฟท์ไม่สามารถพอร์ต Call of Duty ลง Switch ได้ จากกรณี CMA หน่วยงานกำกับดูแลสหราชอาณาจักร มีคำตัดสินขัดขวางดีล Microsoft-Activision โดยให้เหตุผลว่าการซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้ไมโครซอฟท์ผูกขาดตลาดคลาวด์เกมมิ่ง ซึ่งเป็นอีกประเด็นแยกจากการแข่งขันในวงการคอนโซล ในคำตัดสินของ CMA มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจคือ CMA "ไม่เชื่อว่า" ไมโครซอฟท์และ Activision Blizzard จะสามารถพอร์ต Call of Duty ลงเครื่อง Nintendo Switch ได้ ซึ่งขัดกับมุมมองของไมโครซอฟท์ที่มั่นใจว่าทำได้ เพราะเอนจินปรับแต่งมาดีพอ (หยามกันสุดๆ) ในอีกด้าน คู่แข่งในตลาดคลาวด์เกมมิ่ง GeForce Now ก็ออกมาประกาศจุดยืนสนับสนุนไมโครซอฟท์ และบอกว่าดีลนี้จะช่วยให้วงการคลาวด์เกมมิ่งดีขึ้น ที่มา - IGN
# Tencent Cloud เปิดบริการสร้างโมเดลสามมิติเหมือนจริงแทนตัว ใช้เพียงวิดีโอยาว 3 นาทีและเสียง 100 ประโยค Tencent Cloud เปิดบริการสร้างตัวตนสามมิติเสมือนจริง โดยผู้ใช้สามารถใส่วิดีโอของตัวเองความยาวสามนาที เสียงพูดอีก 100 ประโยค จากนั้นระบบจะสามารถสร้างวิดีโอแทนตัวจริงออกมาให้ภายใน 24 ชั่วโมง บริการนี้มุ่งเป้าไปที่บริการอีคอมเมิร์ชในจีนที่ผู้ใช้มักชินกับการพูดคุยกับคนในไลฟ์สตรีม โดยตัวแทนของเซเลบริตี้จะสามารถตอบคำถามผ่านข้อความแต่ลูกค้าสามารถพูดคุยเหมือนคุยกับตัวจริง โมเดลที่ได้สามารถสร้างตัวแทน ได้ 5 รูปแบบ ได้แก่ แบบสามมิติเหมือนจริง, สามมิติกึ่งเสมือนจริง, สามมิติแบบการ์ตูน, สองมิติเหมือนจริง, หรือสองมิติแบบการ์ตูน ค่าสร้างโมเดลแทนตัวจริงประมาณ 145 ดอลลาร์ หรือ 5,000 บาท แม้ว่าโมเดลสามมิติเหมือนมนุษย์จริงๆ จะใช้ในงานที่ถูกกฎหมายได้ แต่หากสมจริงจนแยกแยะได้ยากก็มีความเสี่ยงต่อการนำไปใช้หลอกลวงได้ในอนาคต ที่มา - The Register
# ทุนจีนปลอมตัวมา พบ Bondee ไม่ใช่แอปฯ สิงคโปร์แต่เป็นแอปฯจีน !? ช่วงต้นปีที่ผ่านมาโลกได้รู้จักกับ Bondee แอปพลิเคชั่น Social Network ตัวใหม่ที่ยอดดาวน์โหลดทะลุล้านและขึ้นเป็นที่ 1 ในไทยอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็เป็นแอปฯ มาไวไปไว กระแสอยู่ไม่นานตำนานก็ไม่มี ยอดดาวน์โหลดในเดือนมีนาคมกลับตกตกไปมากอย่างเช่น ประเทศไทยเราในเดือนกุมภาพันธ์ยอดดาวน์โหลดแอปฯ อยู่ที่อันดับ 8 แต่พอมาเดือนมีนาคม กลับตกไปอยู่อันดับที่ 23 ก็เหมือนจะไม่ได้มีเรื่องพิเศษใด ๆ แต่จู่ ๆ กลับมีกลิ่นตุ ๆ ซะงั้น เมื่อมีข่าวลือมาว่า แอปฯ Bondee ได้แอบปล่อยข้อมูลบัตรเครดิตที่ผู้ใช้งานได้ผูกไว้ในแอปฯ ซึ่งทางผู้พัฒนาแอปฯ อย่าง Metadream Tech ก็ได้ตอบปฏิเสธ แต่ในทางฝั่งของผู้ใช้งานบางคนก็เริ่มจับสังเกตได้ว่า Bondee มีความคล้ายคลึงอย่างน่าประหลาดกับแอป Zheli (หรือรู้จักกันในอีกชื่อว่า Jelly) ของจีนที่เคยเป็น แอปฯ Social Network เคยเป็นกระแสที่จีนในช่วงปี 2022 ซึ่ง Jelly เป็นแอปฯ ที่ถอดออกจากใน App Store ของทางจีน เพราะมีรายงานว่าตัวแอปฯ นั้น มีบั๊คร้ายแรงเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน เรื่องเริ่มฉาวขึ้นไปอีกเมื่อนับสืบโซเชี่ยลในเกาหลีใต้ที่เคยวิจารณ์ว่า ตัวแอปฯ Bondee นั้นเรียกเก็บข้อมูลส่วนตัวมากเกินไปจนผิดสังเกต จึงได้ตามสืบกันจนพบว่าบริษัท Metadream ได้จดทะเบียนบริษัทที่เกาหลีใต้ในฐานะของชาวจีน โดยทาง Metadream ได้ออกมาโต้ตอบว่าบริษัทแม่ของพวกเขาตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ และได้รับสิทธิ์มาจากบริษัท True.ly ที่เป็นเจ้าของแอปฯ Jelly อีกทีนึง ถึงแม้ว่า Metadream จะจดทะเบียนในสิงคโปร์ แต่พนักงานของบริษัทส่วนใหญ่กลับอยู่ในประเทศจีน แถมในเดือนกุมภาพันธ์ Metadream ยังใช้เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมาย และการเงิน เดียวกับบริษัท Ture.ly อีกด้วย ซึ่งข้อมูลนี้ได้มาจากผู้ที่ไม่ประสงค์ออกนาม Metadream เป็นบริษัทที่นำโดย นาย Yang Yuxiang ซึ่งเป็นนักการเงินที่มีชื่อเสียงในจีน ที่ใช้เวลากว่า 20 ปี ในการทำงานกับบริษัทที่เกี่ยวกับการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนาย Yang Yuxiang ได้รับการระบุว่าเป็นผู้อำนวยการในเอกสารของ Metadream ที่ยื่นต่อทางสิงคโปร์ ก่อนที่จะถูกถอดชื่อออกไป ที่มา - Bloomberg
# เพลง AI เลียนแบบเสียง Travis Scott, Drake ถูกลบออกจาก YouTube เพราะละเมิดลิขสิทธิ์ Generative AI ถูกนำมาสร้างสรรค์ผลงานทั้งในวงการศิลปะ, ภาพยนตร์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมเพลง แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอัลบั้มเพลงที่ถูกสร้างจาก AI ให้เลียนแบบเสียงของศิลปินชื่อดัง ที่มีชื่ออัลบั้มว่า UTOP-AI มีเพลงอยู่ในอัลบั้ม 16 เพลง ซึ่งรวมเสียงของศิลปินอย่าง Travis Scott, Drake, Baby Keem, และ Playboi Carti เป็นต้น ได้ถูกอัปโหลดขึ้น Youtube และ SoundCloud หลังจากนั้นไม่นาน Warner Music Group ค่ายเพลงพาร์ทเนอร์กับ Travis Scott ก็ได้แจ้งเตือนอัลบั้มเพลงดังกล่าวเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์ และได้มีการถูกลบออกไปหลังจากอัปโหลดเพียงไม่นาน แต่อัลบั้มเพลงที่ถูกสร้างจาก AI นี้กลับได้รับความนิยมพอสมควรเนื่องจากมีผู้เข้าไปฟังผ่าน Youtube จำนวน 17,000 ครั้ง และ SoundCloud อีกประมาณ 150,000 ครั้ง โปรเจกต์อัลบั้มเพลงจาก AI เกิดจากสมาชิกในกลุ่ม AI Hub หนึ่งในเซิร์ฟเวอร์ของ Discord ที่มีจำนวนสมาชิกกว่า 36,000 คน โดยใช้เวลาในการสร้างเพลงและภาพหน้าปกเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาเพลงที่สร้างด้วย AI ทำให้เกิดการประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์และค่าลิขสิทธิ์ โดยค่ายเพลงใหญ่ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ของเพลงที่เกิดจาก AI เช่น ก่อนหน้านี้มีค่ายเพลงได้เรียกร้องให้ Spotify แพลตฟอร์มสตรีมเมอร์เพลงชื่อดังให้ทำการตรวจสอบเพลงที่ถูกอัปโหลดลง Spotify ส่วนใหญ่เพลงที่สร้างจาก AI เป็นเพลงเดี่ยวหรือเพลงที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว แต่ถูกนำมาปรับแต่งใหม่อย่างเช่น การ Cover เพลงของ Beyoncé อย่าง Cuff It ที่ถูกร้องโดยเสียงของ Rihanna ที่มา: Businessinsider
# Amazon Corretto กลายเป็นดิสโทร Java ยอดนิยมอันดับหนึ่ง แซงหน้า Oracle ได้แล้ว New Relic บริษัทวิเคราะห์สถิติและประสิทธิภาพของแอพในองค์กร ออกรายงานสถิติการใช้งาน Java ประจำปี 2023 (ข่าวของปี 2022) โดยอ้างอิงจากแอพพลิเคชันที่เรียกใช้งานแพลตฟอร์มของ New Relic เท่านั้น (อาจไม่สะท้อนภาพการใช้งาน Java ทั้งหมดในวงการ) การเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก Java ปี 2023 คือ Amazon Corretto ซึ่งเป็นดิสโทร Java Developer Kit (JDK) เวอร์ชันแจกฟรีของ Amazon กลายเป็นดิสโทรยอดนิยมอันดับหนึ่ง ด้วยส่วนแบ่งตลาด 31% แซงหน้า Oracle Java (หรือ Sun JDK ดั้งเดิม) ที่ส่วนแบ่งลดลงเหลือ 28% เทรนด์การแซงหน้าของ Amazon Corretto ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะช่วงหลัง ความนิยมใน Oracle Java ลดลงเรื่อยๆ จากการปรับเปลี่ยนวิธีคิดไลเซนส์ของ Oracle เอง (ปี 2020 ยังมีส่วนแบ่งถึง 75%) ดิสโทร JDK อันดับสามเป็น Eclipse Adoptium ตามมาห่างๆ ด้วยส่วนแบ่ง 12.07% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และอันดับสี่ Red Hat มีส่วนแบ่ง 10.51% เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และน่าจะแซงหน้า Adoptium ในไม่ช้า ประเด็นเรื่องเวอร์ชันของ Java ที่นิยมใช้งาน อันดับหนึ่งยังเป็น Java 11 LTS ที่มีส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 56.06%, อันดับสอง Java 8 รุ่นพิมพ์นิยมตลอดกาล ส่วนแบ่งลดเหลือ 32.99% และอันดับสาม Java 17 LTS รุ่นล่าสุด ส่วนแบ่งเพิ่มมาเป็น 9.07% สถิติอื่นที่น่าสนใจ ถ้าไม่นับเวอร์ชัน LTS เวอร์ชันที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Java 14 แต่มีส่วนแบ่งเพียง 0.57% 70% ของแอพพลิเคชัน Java รันในคอนเทนเนอร์แล้ว จำนวนคอร์ของคอนเทนเนอร์ที่พบบ่อยคือ 1 คอร์ (36.25%) และ 8 คอร์ (29.64%) หน่วยความจำของคอนเทนเนอร์ที่พบบ่อยคือ น้อยกว่า 512MB (24.39%), น้อยกว่า 1GB (21.11%), น้อยกว่า 2GB (20.69%) Garbage Collector ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ G1 ในกลุ่ม Java 11 ขึ้นไป และ Serial ในกลุ่มที่เวอร์ชันเก่ากว่า 11 ที่มา - New Relic
# YouTube Music เพิ่มฟีเจอร์ Podcast แล้ว ยังจำกัดเฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกา YouTube Music เริ่มปล่อยฟีเจอร์ Podcast ตามที่เคยประกาศไว้ โดยยังปล่อยเฉพาะผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวก่อน การใช้งานจะมีแท็บ Podcasts เข้ามาในหน้าหลักของแอพ ทั้งเวอร์ชันเว็บ, Android, iOS และสามารถฟังได้เหมือนฟังเพลงตามปกติ รองรับฟีเจอร์มาตรฐานอย่างการฟังออฟไลน์ ฟังแบบแบ็คกราวน์ระหว่างเปิดแอพอื่นไปด้วย การ cast ไปยังอุปกรณ์อื่น (โดยไม่จำเป็นต้องจ่าย YouTube Premium เหมือนฟังเพลง) และจุดเด่นเฉพาะของ YouTube เองคือการสลับไปมาระหว่างการฟังเสียงอย่างเดียว กับแบบมีวิดีโอประกอบด้วย (ถ้ารายการนั้นทำ) สำหรับผู้สร้างรายการ Podcast สามารถอัพโหลดรายการผ่าน YouTube Studio และสามารถนำป้าย badge ว่ารายการฟังได้บน YouTube ไปแปะไว้บนเว็บไซต์ของตัวเองได้ด้วย ที่มา - YouTube
# IDC และ Canalys รายงานตลาดสมาร์ทโฟนไตรมาส 1/2023 ลดลง 13-14% คาดฟื้นตัวในปีนี้ มีรายงานภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกของไตรมาสที่ 1 ปี 2023 จากสองบริษัทวิจัย IDC และ Canalys ภาพรวมทั้งสองบริษัทให้ตัวเลขจำนวนส่งมอบลดลงระดับมากกว่า 10% โดย IDC ประเมินว่าลดลง 14.6% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2022 ที่จำนวน 268.6 ล้านเครื่อง ส่วน Canalys บอกว่าลดลง 13% ที่ 269.8 ล้านเครื่อง Nabila Popal ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจาก IDC มองว่าผู้ผลิตสมาร์ทโฟนตอนนี้ใช้วิธีเคลียร์สินค้าจากสต๊อกและปรับราคา เพิ่มความระมัดระวังในการออกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่สู่ตลาดเพื่อแย่งส่วนแบ่ง โดยมองว่าสถานการณ์รวมจะดีขึ้นใน 3-6 เดือนข้างหน้า ส่วน Lucas Zhong นักวิจัยจาก Canalys ให้ความเห็นว่าตลาดสมาร์ทโฟนราคาปานกลางเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว หลังจากลดลงหนักในปีที่แล้ว ผู้ผลิตก็ใช้วิธีอัพเกรดสเป็กเนื่องจากชิ้นส่วนสำหรับสมาร์ทโฟนกลุ่มนี้มีราคาลดลง แต่ก็ผลิตเพิ่มขึ้นอย่างระมัดระวัง ส่วนแบ่งการตลาด 5 อันดับแรกได้แก่ ซัมซุง แอปเปิล Xiaomi OPPO และ vivo ตามลำดับ ที่มา: IDC และ Canalys
# Apple รายงานจำนวนผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มในยุโรป ตามกฎหมาย DSA - iOS App Store มี 101 ล้านคน แอปเปิลรายงานตัวเลขผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เฉพาะของภูมิภาคยุโรป เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ Digital Services Act (DSA) ซึ่งข้อกำหนดหนึ่งคือการเปิดเผยจำนวนผู้ใช้งาน เน้นไปที่แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากกว่า 45 ล้านคน ตัวเลขที่แอปเปิลรายงานใช้ค่าเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนย้อนหลัง นับจากวันที่ 31 มกราคม 2023 ซึ่งมีเฉพาะ App Store ของ iOS ที่เข้าเงื่อนไขแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก แต่แอปเปิลก็รายงานข้อมูลของแพลตฟอร์มอื่นด้วย รายละเอียดดังนี้ iOS App Store 101 ล้านคน iPadOS App Store 23 ล้านคน macOS App Store 6 ล้านคน tvOS App Store 1 ล้านคน watchOS App Store น้อยกว่า 1 ล้านคน Apple Books น้อยกว่า 1 ล้านคน Podcasts แบบจ่ายเงินสมาชิก น้อยกว่า 1 ล้านคน ที่มา: แอปเปิล
# Hunger ขึ้น Top 10 ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ ที่ถูกรับชมสูงสุดตลอดกาลใน Netflix Netflix ประเทศไทยประกาศว่า "Hunger คนหิว เกมกระหาย" ภาพยนตร์ออริจินัลของประเทศไทย ทำสถิติใหม่อีกครั้ง โดยจำนวนชั่วโมงรับชมรวมตลอดกาล ขึ้นอันดับ Top 10 ในหมวดภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ (Non-English) ตัวเลขชั่วโมงรับชมของ Hunger ล่าสุดคือ 68.89 ล้านชั่วโมง เป็นอันดับ 9 ของภาพยนตร์ต่างประเทศทั้งหมด ทั้งนี้ Netflix จัดอันดับโดยใช้จำนวนชั่วโมงที่ถูกรับชมใน 28 วันแรก (4 สัปดาห์) ที่คอนเทนต์นั้นลงแพลตฟอร์ม ซึ่ง Hunger ฉายในแพลตฟอร์มแล้ว 3 สัปดาห์ ตัวเลขจึงสามารถเพิ่มขึ้นได้อีก ส่วนอันดับ 1 ของหมวดภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศคือ Troll ภาพยนตร์จากนอร์เวย์ การรับชม 155.56 ล้านชั่วโมง Hunger ขึ้นอันดับ 1 ของโลก หมวดภาพยนตร์บน Netflix ในสัปดาห์ 10-16 เมษายน 2023 ส่วนสัปดาห์ที่ผ่านมา 17-23 เมษายน 2023 อยู่ในอันดับที่ 2 เฉพาะกลุ่มภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ ขณะที่ในประเทศไทย ล่าสุดเป็นอันดับที่ 3 ที่มา: Netflix Thailand และ Netflix Top 10
# Cloudflare ไตรมาส 1/2023 เติบโต 37% ลูกค้ารายใหญ่เพิ่มเป็น 2,156 ราย Cloudflare รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2023 รายได้รวม 290.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 37% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน มีกำไรขั้นต้นตามบัญชี GAAP ที่ 219.7 ล้านดอลลาร์ สุทธิแล้วขาดทุน 38.1 ล้านดอลลาร์ โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 36.4 ล้านดอลลาร์ และมีเงินสดกับสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง 1,715.6 ล้านดอลลาร์ Matthew Prince ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Cloudflare กล่าวว่านวัตกรรมเครื่องมือระดับโลกของบริษัท ยังคงโฟกัสไปที่การรองรับงานที่เป็นภารกิจหลักของลูกค้า นอกจากนี้บริษัทจะปรับปรุงระบบการจัดการ โดยเฉพาะงานการขาย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของบริษัทให้มากขึ้น Cloudflare มีจำนวนลูกค้าที่จ่ายเงิน 168,159 ราย ในไตรมาส 1/2023 โดยเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่จ่ายมากกว่า 100,000 ดอลลาร์ต่อปี 2,156 ราย ที่มา: Cloudflare
# Vanced แอพดู YouTube แบบไม่มีโฆษณา ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป หลังจากช่วงเดือนมีนาคม ปี 2022 ที่ผ่านมา ผู้พัฒนาแอพ YouTube Vanced ได้ประกาศหยุดการพัฒนา YouTube Vanced แล้ว และคาดการณ์ว่าแอพจะล้าสมัยและใช้งานได้ในระยะนึง (ประมาณ 2 ปี) วันนี้ผู้เขียนซึ่งใช้แอพ YouTube Vanced พบว่าแอพ YouTube Vanced ใช้งานไม่ได้อีกแล้ว ในโลกออนไลน์หลายๆ ที่ก็มีผู้ประสบเหตุการณ์เดียวกัน คาดเดาว่าน่าจะไม่มีแอพลักษณะนี้ขึ้นมาอีก ถึงแม้ปัจจุบันมีแอพอื่นที่คล้ายกัน เช่น ReVanced / SkyTube ก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก รวมไปถึงยังมีฟีเจอร์ใช้งานที่อาจไม่เทียบเท่า YouTube Vanced
# Clubhouse ประกาศปลดพนักงานมากกว่าครึ่งของบริษัท บอกถึงเวลารีเซตองค์กร Paul Davison และ Rohan Seth สองผู้ก่อตั้ง Clubhouse ส่งอีเมลแจ้งพนักงานว่าบริษัทตัดสินใจปลดพนักงานมากกว่า 50% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยพนักงานที่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินชดเชย, หุ้น, ต่อระยะเวลาสวัสดิการ และแล็ปท็อปของบริษัท สาเหตุของการปลดพนักงานจำนวนมากครั้งนี้ Clubhouse บอกว่าตอนนี้โลกเข้าสู่ยุคหลังโควิด ส่งผลต่อผู้ใช้งานทำให้หาเพื่อนสนทนายากขึ้น และจัดเซสชันสนทนาแบบยาวให้ลงตัวกับการใช้ชีวิตปัจจุบันได้ยากขึ้นด้วย Clubhouse จึงต้องเปลี่ยนแปลงและเข้าสู่โหมดรีเซตเป็น Clubhouse 2.0 จึงนำมาสู่การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อปรับทีมให้เล็กลงและโฟกัสในภารกิจหลักได้เร็วขึ้น Clubhouse ถือเป็นแพลตฟอร์มสนทนาเสียงรุ่นบุกเบิก และรูปแบบการคุยเสียงก็เป็นที่นิยมมาก ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ทำให้แพลตฟอร์มอื่นออกแอปสนทนาเสียงมาแข่ง ทั้ง Twitter Spaces ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมากกว่า ขณะที่รายอื่นเช่น Facebook Live Audio Rooms ก็ยุบไปรวมกับ Live แล้ว ส่วน Spotify Live เพิ่งประกาศปิดตัวไป ที่มา: Clubhouse
# ยืนยันแล้ว Windows 10 22H2 เป็นอัพเดตตัวสุดท้าย จากนี้มีแต่แพตช์ความปลอดภัยถึงปี 2025 ไมโครซอฟท์ประกาศแผนการระยะยาวของระบบปฏิบัติการ Windows 10 และ Windows 11 ที่ใช้ขนานกันอยู่ในตอนนี้ Windows 10 จะหมดระยะซัพพอร์ต 14 ตุลาคม 2025 ตามแผนเดิม Windows 10 v22H2 รุ่นล่าสุดในปัจจุบัน จะเป็นเวอร์ชันสุดท้ายที่ได้อัพเดตฟีเจอร์ใหม่ จากนี้จะมีเฉพาะแพตช์ความปลอดภัยรายเดือนเท่านั้น หากองค์กรใดยังจำเป็นต้องใช้ Windows 10 ก็ขอให้อัพเดตเป็น v22H2 เพื่อให้ได้แพตช์ยาวไปจนถึงปี 2025 (21H2 จะได้แพตช์ถึงเดือนมิถุนายน 2024 เท่านั้น) Windows 11 จะออก Windows 11 เวอร์ชันซัพพอร์ตระยะยาว LTSC สำหรับลูกค้าองค์กรในครึ่งหลังของปี 2024 คือ Windows 11 Enterprise LTSC และ Windows 11 IoT Enterprise LTSC โดยจะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในภายหลัง ผู้ใช้ Windows 10 Enterprise LTSC ในปัจจุบัน (เวอร์ชันล่าสุดคือ 2021) แนะนำให้ทดสอบความเข้ากันได้ของแอพองค์กรกับ Windows 11 v22H2 ก่อนได้เลย ที่มา - Microsoft
# Pinterest ไตรมาส 1/2023 ผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 463 ล้านบัญชี - ประกาศพาร์ตเนอร์กับ Amazon Ads Pinterest รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 1 ปี 2023 รายได้รวมเติบโต 5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 603 ล้านดอลลาร์ และขาดทุนตามบัญชี GAAP 209 ล้านดอลลาร์ โดยมีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกเป็นประจำทุกเดือน (MAUs) เพิ่มขึ้น 7% เป็น 463 ล้านดอลลาร์ Bill Ready ซีอีโอ Pinterest กล่าวว่าการเติบโตที่ผ่านมา เป็นผลจากการปรับปรุงระบบแสดงเนื้อหาของผู้ใช้งาน ระบบการซื้อสินค้า และผลตอบรับที่แข็งแกร่งจากผู้ลงโฆษณา Pinterest ยังประกาศขยายธุรกิจโฆษณา โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ภายนอก ซึ่งรายแรกคือ Amazon เพื่อเชื่อมต่อระบบโฆษณาและการซื้อสินค้าระหว่าง Pinterest กับ Amazon โดยระบุว่าความร่วมมือนี้เป็นแบบระยะยาวหลายไตรมาส คาดว่าจะเริ่มต้นได้ภายในปีนี้ ที่มา: Pinterest [1], [2]
# Dropbox ประกาศปลดพนักงาน 500 คน ทั่วโลก เพื่อเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุค AI Dropbox ประกาศปลดพนักงานทั่วโลกเป็นจำนวน 500 คน คิดเป็น 16% ของจำนวนของพนักงานทั้งหมด ประเด็นที่น่าสนใจคือซีอีโอ Drew Houston ส่งอีเมลแจ้งข่าวนี้ยังพนักงานบอกว่าสาเหตุของการลดจำนวนพนักงานเป็นเพราะ "เรากำลังเข้าสู่ยุค AI" Houston บอกว่า Dropbox มีธุรกิจเดิมที่ค่อนข้างทรงตัวและทำกำไรได้ แต่การเติบโตชะลอลง รวมทั้งมีสัญญาณว่าบางธุรกิจ-บริการอาจมีผลประกอบการติดลบในอนาคต เขามองว่าตอนนี้ยุคของ AI มาถึงแล้วจริง ๆ เป็นโอกาสมากมายซึ่ง Dropbox ก็เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์มารองรับตามแผนงานที่ประกาศเมื่อต้นปี รวมถึงต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์นี้อย่างรวดเร็วเร่งด่วนมากขึ้น เพราะคู่แข่งก็เห็นโอกาสนี้เหมือนกัน เขาบอกว่าความจริงที่ลำบากใจ (Hard Truth) ก็คือการย้ายมาโฟกัสที่ผลิตภัณฑ์ AI มากขึ้น ไม่สามารถทำได้เพียงปรับตำแหน่งพนักงานจากที่เดิมมาที่ใหม่ เพราะการเติบโตด้วย AI ต้องใช้ชุดสกิลเซตที่แตกต่างกัน ทางเลือกของ Dropbox คือลดพนักงานในผลิตภัณฑ์เดิมที่เห็นโอกาสทางธุรกิจน้อยลง เพื่อให้มีเงินมาลงทุนกับผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับอนาคตมากขึ้น Dropbox ยังประกาศปรับโครงสร้างองค์กร โดยรวมธุรกิจหลัก (Core) และธุรกิจ Document Workflows เข้าด้วยกัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต Houston ยืนยันว่า Dropbox ตอนนี้อยู่ในแถวหน้าของการเปลี่ยนสู่ยุค AI แบบเดียวกับที่บริษัททำได้ในยุคเปลี่ยนผ่านมาเป็นสมาร์ทโฟน และจัดการเอกสารบนคลาวด์ จากนี้คือการนำเทคโนโลยี AI มารองรับโอกาสใหม่ ๆ ในอนาคต ที่มา: Dropbox
# Intel รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2023 รายได้ลดลง 36% และขาดทุนหนัก อินเทลรายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 1 ปี 2023 มีรายได้รวม 11,715 ลดลง 36% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และขาดทุนตามบัญชี GAAP 2,768 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง CNBC บอกว่าเป็นการขาดทุนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเทล โดยเคยขาดทุนมากที่สุด 687 ล้านดอลลาร์ เมื่อไตรมาสที่ 4 ปี 2017 David Zinsner ซีเอฟโออินเทลกล่าวว่าภาพรวมตลาดจะกลับสู่ภาวะปกติภายในปีนี้ เมื่อผู้ผลิตพีซีเริ่มเคลียร์สินค้าคงคลังโดยเฉพาะชิป แล้วเริ่มเปิดคำสั่งซื้อใหม่เข้ามา ขณะที่ซีอีโอ Pat Gelsinger บอกว่าในไตรมาสปัจจุบันเขาเริ่มเห็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นในตลาดพีซี อินเทลยังคงเดินหน้าตามแผนงานระยะยาวหลายปีในการเป็นผู้นำตลาดชิปประมวลผล รายได้จากสองธุรกิจหลักของอินเทลลดลงค่อนข้างมากตามผลประกอบการรวม โดยกลุ่ม Client Computing ส่วนใหญ่มาจากพีซี ลดลง 38% เป็น 5,767 ล้านดอลลาร์ ส่วนกลุ่ม Data Center และ AI ลดลง 39% เป็น 3,718 ล้านดอลลาร์ ที่มา: The Wall Street Journal และ CNBC
# Microsoft หยุดผลิตอุปกรณ์เสริมภายใต้แบรนด์ Microsoft เปลี่ยนเป็นแบรนด์ Surface ทั้งหมด มีรายงานว่าไมโครซอฟท์เตรียมหยุดผลิตอุปกรณ์ เมาส์ คีย์บอร์ด และเว็บแคม ภายใต้แบรนด์ Microsoft โดยจะเปลี่ยนมาโฟกัสฮาร์ดแวร์อุปกรณ์เสริมภายใต้แบรนด์ Surface ซึ่งขยายไปสู่สินค้าอื่นเช่น ปากกา, Dock ด้วย Dan Laycock ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กรของไมโครซอฟท์ยืนยันรายงานข่าวนี้ โดยบอกว่าบริษัทจะเปลี่ยนมาพัฒนาสินค้าอุปกรณ์เสริมสำหรับพีซี Windows ภายใต้แบรนด์ Surface ส่วนอุปกรณ์ภายใต้แบรนด์ Microsoft จะยังคงมีขายต่อไปจนกว่าสินค้าจะหมด ไมโครซอฟท์เริ่มผลิตฮาร์ดแวร์อุปกรณ์เสริมภายใต้แบรนด์ Microsoft ตั้งแต่ปี 1983 สินค้าแรกคือเมาส์ปุ่มเขียว ที่มาพร้อมกับการซื้อ Microsoft Word และ Notepad ที่มา: The Verge
# Amazon ไตรมาสล่าสุด AWS และธุรกิจโฆษณา ยังคงเติบโตโดดเด่น Amazon รายงานผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 1 ปี 2023 ยอดขายรวมเพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 127,358 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิ 3,172 ล้านดอลลาร์ โดย Amazon บอกว่าไตรมาสที่ผ่านมาบันทึกขาดทุนเพิ่มเติมจากการลงทุนใน Rivian อีกประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ เฉพาะธุรกิจ AWS มีรายได้ในไตรมาส 21,354 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16% และมีกำไรจากการดำเนินงานเฉพาะส่วนธุรกิจนี้ 5,123 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ธุรกิจโฆษณาซึ่งเติบโตโดดเด่นมาโดยตลอดจนเป็นที่สนใจของนักลงทุนมากขึ้น มีรายได้ 9,509 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21% Andy Jassy ซีอีโอ Amazon พูดถึงธุรกิจโฆษณาว่ายังคงเติบโตสูง เป็นผลจากการลงทุนใน Machine Learning ของ Amazon ที่ช่วยให้ลูกค้าได้ข้อมูลที่ตรงกับสิ่งที่ต้องการ นำไปสู่ยอดขายสำหรับแบรนด์สินค้า ขณะที่ธุรกิจคลาวด์ AWS เขากำลังจับตาดูการชะลอการลงทุนจากลูกค้า แต่ก็เชื่อว่าในระยะข้างหน้ายังมีการเติบโตได้อีกมาก ที่มา: Amazon
# เจ้าพ่อวงการมาเอง Andrew Ng ร่วมมือ OpenAI จัดอบรมออนไลน์การเขียน prompt ให้แชตบอต Andrew Ng หนึ่งในผู้บุกเบิกวงการ Deep Learning ร่วมกับ OpenAI จัดอบรมระยะสั้นเวลา 1.5 ชั่วโมง สำหรับการเขียน prompt เพื่อสั่งงานแชตบอตให้ทำงานตามที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปแล้วปัญญาประดิษฐ์ในกลุ่มโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (large language model - LLM) สามารถรับคำสั่งภาษามนุษย์ได้ค่อยข้างดี แต่ก็มักมีเทคนิคบางอย่างที่ทำให้มันทำงานได้ตรงความต้องการมากขึ้น ในการอบรม "ChatGPT Prompt Engineering for Developers" นี้จะสอนการสั่งงาน LLM หลายประเภท โดยเฉพาะงานในกลุ่ม การสรุปความ, การอนุมานข้อมูล (inferring เช่น การหาหัวข้อ, หรือวิเคราะห์มุมมอง), การแปลงข้อความ เช่น แปลภาษา หรือแก้คำผิด, และการขยายความ การใช้งานจะใช้ผ่าน Jupyter ดังนั้นผู้เรียนควรต้องเข้าใจภาษา Python เล็กน้อย ที่มา - DeepLearning.AI
# Samsung รายงานผลประกอบการไตรมาส กำไรลดลงหนัก ผลกระทบจากธุรกิจหน่วยความจำ ซัมซุงรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2023 หลังจากรายงานตัวเลขเบื้องต้นไปเมื่อต้นเดือน มียอดขายรวม 63.75 ล้านล้านวอน ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2022 มีกำไรจากการดำเนินงาน 0.64 ล้านล้านวอน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 และมีกำไรสุทธิ 1.57 ล้านล้านวอน ซัมซุงระบุว่ากำไรที่ลดลงมากมาจากธุรกิจชิปหน่วยความจำ ที่เริ่มจากความต้องการสินค้าลดลง กระทบต่อการผลิตที่ไม่เต็มกำลัง และมีสินค้าคงเหลือ โดยก่อนหน้านี้ซัมซุงบอกว่าจะลดกำลังการผลิตลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามธุรกิจสมาร์ทโฟนนั้นซัมซุงบอกว่ามีกำไรที่เพิ่มขึ้น จากยอดขายที่แข็งแกร่งของ Galaxy S23 และโทรทัศน์ระดับพรีเมียม ภาพรวมกลุ่ม MX / Networks ซึ่งมีทั้งสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เครือข่าย รายได้ 31.82 ล้านล้านวอน มีกำไรจากการดำเนินงาน 3.94 ล้านล้านวอน ขณะที่ธุรกิจหน่วยความจำ รายได้ 8.92 ล้านล้านวอน ขาดทุนจากการดำเนินงาน 4.58 ล้านล้านวอน ที่มา: ซัมซุง
# หลุด Asus ROG Ally จะมีราคาเพียง 699.99 ดอลลาร์ เท่านั้น สงสัยจะมีมวยซะแล้วสำหรับ Steam Deck กับ Asus ROG Ally ที่ตอนแรกเหมือนจะวางไว้อยู่คนละ Segment กัน แต่ล่าสุดมีข่าวหลุดมาว่า ตัว ROG Ally จะมีราคาอยู่ที่ 699.99 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 23,879 บาท โดยประมาณ Asus ROG Ally จะมาพร้อมชิป AMD Z1 Extreme, Ram 16gb และ SSD ความจุ 512gb ถ้าเทียบกันแบบตรง ๆ กับ Steam Deck จะเท่ากับว่า ROG Ally จะแพงกว่า Steam Deck แบบ SSD 512gb อยู่ที่ 51 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,700 บาทเท่านั้น (Steam Deck แบบ SSD 512gb มีราคาอยู่ที่ 649.99 ดอลลาร์) โดยข่าวลือนี้หลุดมากจาก @wickedknumz ผู้ใช้งานจาก Twitter ที่หลุดรูปภาพที่ระบุราคา และสเปคของเครื่องมาจาก BestBuy แต่ทั้งหมดนี้จะจริงหรือไม่ต้องติดตามในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ ที่จะมีงานเปิดตัว Asus ROG Ally อย่างเป็นทางการครับ ที่มา - The Verge
# Opera เปิดตัว Opera One เว็บเบราว์เซอร์เวอร์ชันใหม่ เขียนระบบ UI ใหม่ลื่นไหลกว่าเดิม Opera เปิดตัว Opera One เว็บเบราว์เซอร์ดีไซน์ใหม่ ที่จะมาแทน Opera เวอร์ชันปัจจุบันภายในปีนี้ หน้าตาของ Opera One ยังคล้ายของเดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ Opera เขียน multithreaded compositor ของตัว UI ใหม่ ทำให้แอนิเมชันของปุ่มต่างๆ ลื่นไหลมากขึ้น Opera อธิบายว่าเว็บเบราว์เซอร์ตระกูล Chromium ใช้เทคนิคการแยกเธร็ดหลัก (main thread) สำหรับการอ่านไฟล์ HTML และอินพุตจากผู้ใช้เพื่อนำมาเรนเดอร์ชิ้นส่วน กับเธร็ด compositor ที่นำชิ้นส่วนมาประกอบกันบนหน้าจอ การแยกเธร็ดแบบนี้ทำให้แอนิเมชันดูลื่นไหล เพราะ compositor ทำงานได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอจังหวะหยุดทำงานของเธร็ดหลัก อย่างไรก็ตาม เทคนิค multithreaded compositor ของ Chromium จำกัดเฉพาะส่วนเว็บเพจเท่านั้น ส่วนกรอบของเบราว์เซอร์ที่อยู่นอกเว็บเพจไม่ได้เรนเดอร์แบบนี้ด้วย แอนิเมชันของ UI จึงไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร สิ่งที่ Opera ทำคือขยาย multithreaded compositor มายัง UI ด้วย ทำให้แอนิเมชันสวยงาม แสดงชิ้นส่วนต่างๆ เป็นเลเยอร์ซ้อนกันได้ จัดกลุ่มแท็บเป็นหมวดหมู่ ย่อขยายแท็บได้ง่ายขึ้น Opera One เปิดให้ดาวน์โหลดมาทดลองแล้ว แต่นี่ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ในอนาคต Opera จะเพิ่มฟีเจอร์อื่นเข้ามาอีก เช่น ฟีเจอร์ AI Prompts ที่เปิดให้คุยกับ ChatGPT และ ChatSonic ผ่านแถบ sidebar ด้านข้าง ที่มา - Opera
# Google เปิดเพจแสดงเทรนด์การค้นหาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อัปเดตต่อเนื่อง ฝังชาร์ตข้อมูลในโซเชียลมีเดียได้ Google ได้จัดทำเพจแสดงเทรนด์การค้นหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลคำค้นหา หัวข้อยอดนิยมและการค้นหาเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งรวมถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น เศรษฐกิจ การว่างงาน และค่าแรง ผู้ใช้ทั่วไปสามารถฝังชาร์ตและแชร์ข้อมูลจากหน้าเพจใหม่ของ Google ลงในหน้าบทความโซเชียลมีเดียของตนเองได้และชาร์จบนหน้าเพจจะได้รับการอัปเดตเรื่อย ๆ แม้จะเผยแพร่บทความไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ข้อมูลในเพจที่ Google จัดทำขึ้นไม่ใช่ผลการสำรวจและไม่ได้แสดงถึงเจตนาในการลงคะแนนเสียงแต่อย่างใด ที่มา - ข่าวประชาสัมพันธ์
# Netflix สเปนมีผู้ใช้ลดลงกว่า 1 ล้านบัญชีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ หลังยกเลิกการแชร์รหัสผ่าน Kantar บริษัทวิจัยด้านการตลาดเผยว่า Netflix สเปนมีผู้ใช้ลดลงมากกว่า 1 ล้านบัญชีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นับว่าลดลงเป็น 3 เท่าของไตรมาสก่อนหน้า หลัง Netflix เปิดตัวแพ็คเกจรายเดือนเดือนละ 6.57 ดอลลาร์หรือราว 224 บาทสำหรับผู้ที่แชร์รหัสผ่านกับคนอื่นที่อยู่คนละบ้านกันในสเปนเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการสตรีมมิ่งในครัวเรือนของ Kantar เผยว่า 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ใช้กว่า 1 ล้านคนที่เลิกใช้ Netflix เป็นผู้ที่แชร์รหัสผ่านกับคนอื่น นอกจากนี้ 1 ใน 10 ของผู้ที่ยังสมัครแพ็คเกจสมาชิกในสเปนวางแผนที่จะเลิกใช้ Netflix ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อีก Netflix มองว่า การยกเลิกการแชร์รหัสผ่านจะทำให้จำนวนบัญชีลดลงชั่วคราวก่อนจากนั้นจำนวนบัญชีจะเพิ่มขึ้นเอง โดยมองแคนาดาเป็นโมเดลสำหรับสหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้ยังไม่ได้ปรับใช้นโยบายนี้ โดย Netflix เผยว่า ในแคนาดาปัจจุบันฐานผู้ใช้ที่จ่ายเงินรายเดือนใหญ่กว่าในช่วงก่อนที่ Netflix จะใช้แพ็คเกจรายเดือนกับผู้ที่แชร์รหัสกัน และเติบโตมากกว่าในสหรัฐอเมริกาด้วย สำหรับการลงทุนสร้างในคอนเทนท์ภาษาสเปนได้ผลดี ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซีรีส์ที่มียอดผู้เข้าชมสูงสุด 2 เรื่องจาก 5 เรื่องเป็นซีรีส์ที่สามารถชมได้บน Netflix ขณะนี้ Netflix ได้เปิดใช้แพ็คเกจใหม่สำหรับผู้ที่แชร์รหัสผ่านกันในสเปน โปรตุเกส แคนาดา นิวซีแลนด์ รวมทั้งประเทศในลาตินอเมริกาอีกหลายประเทศ ที่มา - Bloomberg
# ศาลบราซิลสั่งแบน Telegram อีกครั้ง เหตุไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวนเหตุรุนแรงในโรงเรียน ศาลรัฐบาลกลางของบราซิลออกคำสั่งระงับการใช้งาน Telegram ชั่วคราว หลังแพลตฟอร์มไม่สามารถปฏิบัติตามคำร้องขอของสำนักงานตำรวจเกี่ยวกับกลุ่มแชทนีโอนาซี ซึ่งตำรวจระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนช่วงที่ผ่านมา ผลจากคำสั่งดังกล่าว ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายทั้งหมดในบราซิลต้องบล็อกการใช้งาน Telegram รวมทั้งกูเกิลและแอปเปิลก็ถูกสั่งให้ปิดการเข้าถึงแอปด้วย นอกจากนี้ศาลยังสั่งปรับเป็นเงินสูงสุด 1 ล้านเรอัลบราซิลต่อวัน (ประมาณ 6.7 ล้านบาท) โดยบอกว่า Telegram ไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน เมื่อปีที่แล้วบราซิลก็ออกคำสั่งแบน Telegram เนื่องจากไม่ปิดบัญชีที่เผยแพร่ข่าวปลอม ซึ่งตอนนั้น Pavel Durov ซีอีโอ Telegram บอกว่าที่ทำตามคำสั่งช้าเพราะพลาดการอ่านอีเมลที่แจ้งมา และบราซิลก็ยกเลิกคำสั่งแบนในอีก 2 วันต่อมา ที่มา: ABC News
# Artifact แอปอ่านข่าวจากผู้ก่อตั้ง Instagram เพิ่มฟีเจอร์ "สรุปข่าว" ด้วย AI เลือกสำนวนได้ด้วย Artifact แอปอ่านข่าวพลัง AI โดยสองผู้ก่อตั้ง Instagram เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ตัวช่วยสรุปเนื้อหาข่าว (Summaries Tool) ซึ่งแอปใช้ AI แบบสร้างเนื้อหาช่วยเขียนสรุป ทำให้ผู้ใช้งานเห็นภาพรวมเนื้อหา อย่างไรก็ตาม Artifact บอกว่า AI นี้อาจมีข้อจำกัดในการเขียนสรุป และอาจสรุปผิดพลาดได้ด้วย จึงยังคงแนะนำให้อ่านเนื้อหาข่าวฉบับเต็มด้วย ฟีเจอร์สรุปนี้ยังใส่ลูกเล่นที่น่าสนใจในแง่ AI สร้างเนื้อหา โดยสามารถเลือกการสรุปข่าวในสำนวนแบบปกติ (Normal) ไปจนถึงการสรุปแบบใช้ภาษาเข้าใจง่าย (Explain like I'm five) และแบบ Gen Z ได้ด้วย ลองดูตัวอย่างได้ท้ายข่าว ที่มา: Artifact ลองให้ Artifact สรุปข่าวคลื่นความร้อนในประเทศไทย เวอร์ชันปกติ อันนี้เวอร์ชัน I'm five ส่วนอันนี้เวอร์ชัน Gen Z
# ปธน. ยุน ซอกยอลของเกาหลีใต้ พูดคุยกับ Elon Musk ชวนตั้ง Gigafactory ในเกาหลี ประธานาธิบดียุน ซอกยอลแห่งเกาหลีใต้กำลังเยือนสหรัฐอเมริกา และ Elon Musk ได้ขอพบ ซึ่งทั้งคู่ได้พูดคุยกันโดย ปธน. ยุนกล่าวว่าเกาหลีใต้มีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในโรงงานระดับโลกและมีแรงงานทักษะสูง ทำให้เหมาะสมที่จะตั้งโรงงาน Gigafactory "หาก Tesla ตัดสินใจลงทุน เราพร้อมสนับสนุนพื้นที่, แรงงาน รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษี" ปธน. ยุนบอก Elon Musk ด้าน Elon ก็ตอบว่าเขามีแผนเยือนเกาหลีใต้ เพราะเกาหลีใต้ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศต้นๆ ที่น่าไปลงทุนสร้างโรงงาน Gigafactory นอกจากนี้ ปธน. ยุนยังหวังว่าเกาหลีใต้จะมีโอกาสเพิ่มความร่วมมือกับ SpaceX เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านอวกาศของประเทศ ที่มา - The Korea Herald
# Sony ประกาศขายเครื่อง PS5 Final Fantasy XVI Bundle พร้อมเคสและจอยลายจากเกม เป็นเกม Exclusive ทั้งทีต้องมี Bundle ขายสักหน่อย Sony ได้ประกาศเครื่อง PS5 Bundle สำหรับเกม FIinal Fantasy XVI ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบใส่แผ่น และดิจิตอล ซึ่งจะวางขายแบบมีจำนวนจำกัดที่ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 22 มิถุนายน วันเดียวกับที่เกมวางจำหน่าย โดยเจ้า Bundle ที่ว่าจะมาพร้อมกับ PS5 ลายธรรมดา กับเกม FFXVI แบบ Digital ส่วนจอย Dual Sense กับ Cover ลายพิเศษต้องซื้อแยกเองอีกที โดยทั้งหมดจะเป็น Limited Edition หรือก็คือขายในจำนวนจำกัด ชุด PS5 FFXVI Bundle (ตัวเกมเป็น Code Download) แบบใส่แผ่นราคา 67,980 เยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 17,400 บาท ชุด PS5 FFXVI Bundle (ตัวเกมเป็น Code Download) แบบดิจิตอลราคา 56,980 เยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 14,600 บาท จอย DualSense ลาย FFXVI ราคา 8,980 เยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,300 บาท Cover ลาย FFXVI หรือตัวกรอบครอบเครื่องสำหรับ PS5 ราคา 7,980 เยน หรือประมาณ 2,050 บาท โดยราคาเท่ากันทั้ง Cover เครื่องแบบ Digital หรือ แบบใส่แผ่น ราคาดังกล่าวแปลงค่าจากเงินเยน ถ้ามีวางจำหน่ายในไทยจะไม่ใช่ราคานี้ครับ สำหรับภูมิภาคอื่นตอนนี้ยังไม่มีประกาศว่าจะมี PS5 Bundle สำหรับ Final Fantasy XVI วางจำหน่ายหรือไม่ ที่มา - PlayStation Japan Blog
# Google Docs, Sheets, Slides เพิ่มช่องค้นหาคำสั่งที่ต้องการในแถบเครื่องมือ แอพในกลุ่ม Google Workspace คือ Docs, Sheets, Slides เตรียมปรับอินเทอร์เฟซใหม่เล็กน้อย โดยเพิ่มช่องค้นหาเครื่องมือ (tool-finding) เพื่อให้ผู้ใช้ค้นหาคำสั่งที่ต้องการได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องไปงมหาเองในเมนู จริงๆ แล้ว Google Docs, Sheets, Slides มีฟีเจอร์ค้นหาคำสั่งอยู่แล้ว แต่หลบอยู่ในเมนู Help > Search the menus ซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก การเปลี่ยนแปลงนี้คือย้ายช่องค้นหาคำสั่งออกมาวางตรงซ้ายสุดของแถบเครื่องมือแทน ไม่เห็นก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลต่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม ทั้งฝั่งคอนซูเมอร์และองค์กร โดยจะทยอยเปลี่ยนทีละกลุ่มตามธรรมเนียมของกูเกิล ที่มา - Google Workspace
# Rufus ซอฟต์แวร์เขียนไฟล์อิมเมจ ออกเวอร์ชัน 4.0 ทำงานบน Windows 7 ไม่ได้แล้ว Rufus ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเขียนไฟล์อิมเมจ ISO ลงไดรฟ์ USB ออกเวอร์ชัน 4.0 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ไม่รองรับการรันบน Windows 7 แล้ว (ต้องเป็น Windows 8 ขึ้นไป) และตัวไฟล์ Rufus.exe บนวินโดวส์จะใช้ไบนารี 64 บิตเป็นดีฟอลต์ (แต่ยังมีให้เลือกแบบ x86-32 และ Arm ถ้าต้องการ) การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ คือแก้บั๊กในการติดตั้ง Ubuntu 23.04 หลายจุด ที่มา - Rufus, Neowin
# Lenovo เปิดราคา ThinkPhone ที่ 699 ดอลลาร์, กดปุ่มแดงเชื่อมต่อ ThinkPad ได้ Lenovo เปิดราคาของมือถือ ThinkPhone by Motorola ที่เปิดตัวเมื่อต้นปี อยู่ที่ 699 ดอลลาร์ เริ่มวางขาย 28 เมษายน 2023 ผ่านหน้าเว็บ Motorola.com ในสหรัฐ ThinkPhone เป็นมือถือจับกลุ่มลูกค้าองค์กรที่รู้จักแบรนด์ ThinkPad อยู่แล้ว โดยจุดเด่นของ ThinkPhone ที่ต่างจากมือถือคอนซูเมอร์อื่นๆ คือฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยและการจัดการเครื่องจากแอดมินองค์กร, ความทนทาน ผ่านมาตรฐานการทหาร MIL STD 810H และการกดปุ่มแดงข้างเครื่องเพื่อเชื่อมต่อกับ ThinkPad ลักษณะคล้ายกับ Phone Link ของไมโครซอฟท์ ที่มา - Ars Technica
# Lookout ขายธุรกิจคอนซูเมอร์ให้คู่แข่ง F-Secure, จากนี้มุ่งสาย Enterprise อย่างเดียว บริษัทความปลอดภัย Lookout ตกลงขายธุรกิจฝั่งคอนซูเมอร์ให้กับคู่แข่ง F-Secure ในราคา 223 ล้านดอลลาร์ ทำให้จากนี้ไป Lookout จะเหลือแต่ธุรกิจฝั่งความปลอดภัยองค์กรเพียงอย่างเดียว หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ Lookout ในฐานะแอพแอนตี้ไวรัสบนมือถือ (Lookout Mobile ปัจจุบันชื่อ Mobile Security & Antivirus หรือ Lookout Life) แต่จริงๆ แล้ว Lookout ยังมีธุรกิจฝั่งองค์กรคือ Mobile Endpoint Security (MES), Security Services Edge (SSE), Lookout Cloud Security Platform ซึ่งบริษัทจะนำเงินจากการขายธุรกิจคอนซูเมอร์มาลงทุนกับธุรกิจฝั่งองค์กรต่อไป ส่วน F-Secure เพิ่งแยกบริษัทเป็น 2 ส่วนเมื่อปี 2022 เช่นกัน โดยธุรกิจฝั่งองค์กรใช้ชื่อว่า WithSecure และธุรกิจคอนซูเมอร์ยังใช้ชื่อ F-Secure ต่อไป (มีทั้งแอนตี้ไวรัสและ VPN) ข่าวนี้คือ F-Secure เข้าซื้อกิจการของ Lookout Mobile เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้จากแอพแอนตี้ไวรัส 2 ตัวพร้อมกัน โดย F-Secure ซึ่งเป็นบริษัทจากฟินแลนด์ จะได้ฐานลูกค้าของ Lookout จากฝั่งอเมริกาเพิ่มเติม ที่มา - Lookout, F-Secure
# นักวิจัยพบ Google Authenticator ไม่ได้เข้ารหัส end-to-end ขณะซิงก์ข้ามอุปกรณ์ - Google บอกจะเพิ่มฟีเจอร์นี้ในอนาคต เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กูเกิลได้ประกาศเพิ่มคุณสมบัติซิงก์ข้อมูลข้ามอุปกรณ์ผ่านบัญชีกูเกิลของ Google Authenticator แอปจัดการรหัสผ่าน 2FA ซึ่งหลายคนรอคอยมานาน (หรือไม่รอแล้ว?) อย่างไรก็ตามฟีเจอร์นี้มาพร้อมประเด็นด้านความปลอดภัย โดยนักวิจัยความปลอดภัยชื่อ Mysk เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบทราฟิกในการซิงก์ข้อมูลของ Google Authenticator พบว่าข้อมูลที่รับ-ส่งเข้าเซิร์ฟเวอร์กูเกิลนั้นไม่มีการเข้ารหัสแบบ end-to-end จึงเป็นความเสี่ยงหากมีผู้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าว และอาจสร้างรหัส 2FA ขึ้นมาซ้ำได้หากรู้ seed ของโค้ดนั้น ทั้งนี้ Authy แอปยอดนิยมในการจัดการ 2FA มีคุณสมบัติที่รองรับการเข้ารหัสแบบ end-to-end ซึ่งผู้ใช้งานต้องกำหนดเปิดใช้เพิ่มเติม Christiaan Brand ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของกูเกิลตอบประเด็นดังกล่าวว่า บริการของกูเกิลมีความปลอดภัย และเข้ารหัสข้อมูลในทุกจุดอยู่แล้ว ส่วนคุณสมบัติเข้ารหัสแบบ end-to-end นั้น ได้เพิ่มเติมแล้วในหลายผลิตภัณฑ์ซึ่ง Google Authenticator ก็จะรองรับด้วยในอนาคต ที่มา: Bleeping Computer
# Phone Link ใน Windows 11 รองรับการเชื่อมต่อกับ iPhone แล้ว ไมโครซอฟท์ประกาศขยายการรองรับของแอป Phone Link ที่ใช้เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนกับ Windows 11 โดยรองรับ iPhone มีผลกับผู้ใช้งานทุกคนตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป หลังจากออกเวอร์ชันทดสอบเบต้าไปก่อนหน้านี้ Phone Link รองรับการทำงานร่วมกับ Android มาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนการรองรับ iOS นั้น จะรองรับการเข้าถึงพื้นฐานทั้งโทรศัพท์, ข้อความ, รายชื่อผู้ติดต่อ ตลอดจนสามารถเข้าถึงรูปภาพได้ผ่านการเชื่อมต่อกับบัญชี iCloud ในแอป Photos ของ Windows 11 อย่างไรก็ตามฟีเจอร์ส่งข้อความจะมีข้อจำกัด โดยรองรับเฉพาะข้อความจากผู้ติดต่อเท่านั้น ไม่รองรับรูปภาพ-วิดีโอ และแชทกลุ่ม Phone Link สำหรับ iOS รองรับ iOS 14 ขึ้นไป โดยเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Windows 11 ผ่านบลูทูธ ไม่รองรับการเชื่อมต่อกับ iPad และ macOS ที่มา: ไมโครซอฟท์
# Amazon ปิดแพลตฟอร์มสุขภาพ Amazon Halo และปลดพนักงานในฝ่ายนี้ Amazon ประกาศหยุดการสนับสนุน Amazon Halo แพลตฟอร์มด้านสุขภาพ มีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2023 เป็นต้นไป โดยส่วนของลูกค้าที่สมัครสมาชิกไว้และจ่ายเงินล่วงหน้า จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน และข้อมูลสุขภาพทั้งหมดสามารถดาวน์โหลดออกมาได้ ซึ่ง Amazon จะลบข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป Amazon Halo เปิดตัวในเดือนสิงหาคมปี 2020 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ใช้งาน โดยออกผลิตภัณฑ์คู่กันคือสายรัดข้อมือ Amazon Halo Band จากนั้นต่อยอดมาสู่ผลิตภัณฑ์อื่นเช่น Halo Rise สำหรับตรวจจับการนอนหลับ ผลกระทบจากประกาศนี้ Amazon ยังปิดแผนกที่เกี่ยวข้องกับ Halo ทั้งหมด รวมทั้งปลดพนักงานในฝ่ายนี้จำนวนหนึ่งด้วย ที่มา: Amazon และ The Verge
# รายได้ธุรกิจ Metaverse ของ Meta ลดลง 51% ขาดทุนมากขึ้น ยืนยันยังโฟกัสควบคู่ไปกับ AI Meta รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 1 ปี 2023 รายได้รวม 28,645 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งเป็นการกลับมามีรายได้เพิ่มขึ้น หลังจากรายได้ลดลงติดต่อกันมาสามไตรมาส และมีกำไรสุทธิ 5,709 ล้านดอลลาร์ จำนวนผู้ใช้งานรวมในทุกแพลตฟอร์ม (Family Monthly Active People) เพิ่มเป็น 3.81 พันล้านคน ส่วนจำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวัน (DAU) ของ Facebook อย่างเดียว เพิ่มขึ้นเป็น 2,037 ล้านบัญชี และเติบโตในทุกภูมิภาค กลุ่มธุรกิจ Reality Labs ที่โฟกัสการสร้าง Metaverse ยังมีแนวโน้มไม่สดใสนัก รายได้ในไตรมาสลดลง 51% เป็น 339 ล้านดอลลาร์ ขาดทุนจากการดำเนินงานเฉพาะส่วนนี้มากขึ้นเป็น 3,992 ล้านดอลลาร์ ซีอีโอ Mark Zuckerberg ตอบคำถามกับนักวิเคราะห์ในการแถลงผลประกอบการ ยืนยันว่าเขายังให้ความสำคัญกับ Metaverse ไม่ได้ลดโฟกัสแล้วเปลี่ยนไปสนใจ AI ตามที่มีรายงานข่าวออกมา เขายังมองว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่ทำงานร่วมกันได้ดีมากกับ Metaverse บริษัทจะโฟกัสทั้งสองอย่างนี้ พร้อมบอกว่า Metaverse มีสถานะเป็นแผนการลงทุนระยะยาว Zuckerberg ไม่ได้รายงานตัวเลขผู้ใช้งานใน Metaverse แต่บอกว่าคนที่ใช้เป็นประจำทุกวัน ใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ซีเอฟโอ Susan Li ให้ข้อมูลว่าการปรับปรุงระบบแนะนำเนื้อหาของ Reels ทำให้ระยะเวลาใช้งานใน Instagram เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 24% จำนวนการรีแชร์ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว ที่มา: Meta, TechCrunch [1], [2]
# ห้องปฏิบัติการวิจัยระดับตำนาน PARC และ SRI ประกาศรวมหน่วยงานเข้าด้วยกัน Xerox ประกาศบริจาค Palo Alto Research Center (PARC) หน่วยงานปฏิบัติการวิจัยที่มีประวัติยาวนาน ให้กับสถาบันวิจัยที่ไม่แสวงหากำไร SRI International ซึ่ง Xerox บอกว่าการแยกหน่วยงานวิจัยนี้ออกไป เพื่อให้บริษัทโฟกัสกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นธุรกิจหลัก ขณะที่ Xerox ก็ทำข้อตกลงความร่วมมือกับ SRI ในด้านงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ PARC เป็นหน่วยงานวิจัยของ Xerox ก่อตั้งในปี 1970 มีผลงานวิจัยจำนวนมาก และหลายอย่างส่งผลต่อโลกคอมพิวเตอร์จนถึงปัจจุบัน เช่น เมาส์, GUI หรือ ส่วนติดต่อผู้ใช้แบบกราฟิก, จอภาพแบบบิตแมป, ภาษาโปรแกรมเชิงวัตถุ (OOP), Ethernet, เลเซอร์พรินเตอร์ และอื่น ๆ อีกมาก ส่วน SRI International ก่อตั้งโดย Stanford University ในปี 1946 และแยกเป็นหน่วยงานอิสระในเวลาต่อมา ผลงานที่รู้จักในวงกว้างคือระบบผู้ช่วย CALO ที่ต่อยอดออกไปเป็นบริษัทชื่อ Siri และถูกแอปเปิลซื้อกิจการ นอกจากนี้ SRI ยังมีส่วนร่วมพัฒนาระบบเครือข่าย Arpanet ที่ต่อมากลายเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั่นเอง ที่มา: Xerox, itnews และ 9to5Mac
# หน่วยงานกำกับดูแลสหราชอาณาจักร มีคำตัดสินขัดขวางดีล Microsoft - Activision หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของสหราชอาณาจักร (Competition and Markets Authority - CMA) ออกคำตัดสินการพิจารณาดีลไมโครซอฟท์ เสนอซื้อกิจการ Activision Blizzard ระบุว่า CMA จะขัดขวางดีลควบรวมกิจการดังกล่าว CMA ให้เหตุผลโดยเน้นไปที่ธุรกิจคลาวด์เกมมิ่ง บอกว่าไมโครซอฟท์มีส่วนแบ่งตลาดนี้อยู่ 60-70% การได้เกมของ Activision เพิ่มเติมมาเป็นเอ็กคลูซีฟ จะยิ่งเพิ่มอำนาจในตลาดมากขึ้น อีกทั้งไมโครซอฟท์ก็มีบริการเชื่อมต่อครบทั้ง Xbox, ระบบปฏิบัติการ Windows บนพีซี และยังมีแพลตฟอร์มคลาวด์ Azure ด้วย ก่อนหน้านี้ CMA ให้ความเห็นต่อดีลดังกล่าวในมุมของตลาดคอนโซล บอกว่าไม่กระทบการแข่งขัน CMA มองว่าแผนการตลาดหลังการควบรวมเกิดขึ้น ไมโครซอฟท์สามารถผลักดันเกมดังของ Activision ไม่ว่าจะเป็น Call of Duty, Overwatch หรือ World of Warcraft ให้มีเฉพาะบนคลาวด์เกมมิ่งเท่านั้น หรือมีราคาที่ถูกกว่าการซื้อเกมช่องทางอื่น ซึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้ไมโครซอฟท์ ทั้งนี้คำตัดสินของ CMA เป็นมุมมองเฉพาะในตลาดสหราชอาณาจักร อาจไม่ส่งผลต่อดีลนี้ในภาพใหญ่ แต่จะสร้างแรงกดดันให้กับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นที่กำลังพิจารณาดีลนี้ทั้ง EU ของยุโรป และ FTC ของสหรัฐ ตัวแทนของ Activision แถลงต่อคำตัดสินดังกล่าวว่า CMA ขาดความเข้าใจในตลาดเกม และรูปแบบบริการคลาวด์เกมมิ่ง บริษัทจะร่วมมือกับไมโครซอฟท์เพื่อเดินหน้าให้กลับคำตัดสิน ที่มา: Axios
# EU ประกาศรายชื่อ 19 แพลตฟอร์ม-บริการ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดิจิทัล DSA ตัวใหม่ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) ออกคำสั่งไปยังบริษัทเทคโนโลยี ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายดิจิทัล Digital Services Act (DSA) ซึ่งรัฐสภายุโรปผ่านกฎหมายนี้เมื่อปีที่แล้ว โดยมีรายชื่อแพลตฟอร์ม-บริการที่เข้าเกณฑ์กฎหมายนี้ เนื่องจากมีผู้ใช้งานในยุโรปเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 45 ล้านคน ทั้งหมด 19 ราย มีรายชื่อดังนี้ AliExpress, Amazon Store, App Store, Booking.com, Facebook, Google Play, Google Maps, Google Shopping, Instagram, Pinterest, Snapchat, TikTok, Twitter, Wikipedia, YouTube, Zalando, Bing และ Google Search EC ระบุว่าบริการทั้งหมดข้างต้น มีเวลา 4 เดือน ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่ของ DSA โดยอาจถูกปรับสูงสุด 6% ของรายได้ต่อปีหากไม่สามารถปฏิบัติข้อกำหนดได้ ข้อกำหนดมีรายละเอียดหลายอย่าง เน้นไปที่ความโปร่งใสเปิดเผยข้อมูลของแพลตฟอร์ม มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลจัดการเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ผู้ใช้งานสามารถร้องเรียนปัญหาได้ ตัวอย่างข้อกำหนดเช่น ระบบแนะนำเนื้อหา (Recommendation) ต้องอธิบายได้ว่าทำไมจึงแนะนำเนื้อหานี้ และสามารถ Opt-out ได้, แพลตฟอร์มต้องติดป้ายกำกับโฆษณาว่าใครเป็นผู้ซื้อโฆษณานี้, ข้อกำหนดการใช้งานต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และมีตัวเลือกภาษาท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่นโอกาสการเกิดข่าวปลอม ความปลอดภัยผู้ใช้งาน ความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งาน ที่มา: European Commission
# Metacritic จะเข้มงวดกับการเขียนรีวิวในเว็บมากขึ้นหลังจาก Horizon โดนถล่มรีวิว หลังจากที่เกม Horizon Forbidden West : Burning Shores โดนถล่มรีวิวอย่างหนัก ล่าสุดทาง Metacritic เว็บไซต์ต้นทางที่รวบรวมรีวิวได้ออกมาเคลื่อนไหวแล้ว โดยระบุว่าจะปรับปรุงระบบหลังบ้านใหม่ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถล่มรีวิวแบบนี้อีก ซึ่งทาง Metacritic ได้ตระหนักถึงการถล่มรีวิวของเกม Horizon Forbidden West : Burning Shores โดยส่วนใหญ่เป็นการรีวิวจากผู้ใช้งานที่เข้าข่ายผิดกฎของเว็บ ซึ่งมีตั้งแต่ การเหยียดชาติพันธุ์, หมกมุ่นเรื่องเพศ และ ต่อต้านการรักร่วมเพศ เป็นต้น โดยบทวิจารณ์ใด ๆ ที่ขัดกับกฎจะถูกลบออก และตอนนี้ทาง Metacritic ก็กำลังพัฒนาระบบหลังบ้านที่มีกฎการใช้งานที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ดียังไม่มีข้อสรุปว่าระบบที่จะเข้มงวดขึ้นของ Metacritic จะเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าบทวิจารณ์หลายรายการเกี่ยวกับ Horizon Forbidden West : Burning Shores ได้ถูกลบออกไปแล้วเนื่องจากละเมิดข้อกำหนดการใช้งานของ Metacritic ที่มา - Kotaku
# ความเป็นส่วนตัวไม่มีจริง Microsoft Edge แอบปล่อยข้อมูลการท่องเว็บไปให้ Bing API ผู้ใช้ Reddit พบเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเบราว์เซอร์ท่องอินเตอร์เน็ตอย่าง Microsoft Edge ได้ส่งข้อมูลการท่องเว็บ (URL) ของผู้ใช้งานให้กับ API ของ Bing ปัญหานี้เริ่มมาจากการที่ Microsoft Edge ได้ปล่อยฟีเจอร์ใหม่อย่าง Follow Creator ที่สามารถทำให้ผู้ใช้งานกดติดตาม Creator ต่าง ๆ ได้ไม่ว่าเป็น youtube หรือเว็บไซต์อื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้ตัวบราวเซอร์เริ่มเก็บข้อมูลการท่องเว็บ (url) แล้วส่งไปหา bingapis.com ซึ่งหากต้องการไม่ให้ Edge เก็บข้อมูลดังกล่าว ผู้ใช้งานจะต้องเข้าไปปิดฟังก์ชั่น Follow Creator ทิ้งเท่านั้น ปัญหาดังกล่าว Microsoft นั้นไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่กำลังสืบหาต้นตอ และแก้ไขอยู่ ในระหว่างนี้แนะนำให้ผู้ใช้งาน Edge ทุกท่านปิดฟีเจอร์ Follow Creator ไปก่อนเพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานครับ โดยหากต้องการจะปิดฟีเจอร์นี้ให้เข้าไปที่ Setting แล้วเลือก Privacy, Search and Services เลื่อนลงมาในหมวด Services และกดปิดการใช้งานตรง Show suggestions to follow creators in Microsoft Edge ที่มา - The Verge
# พรรครีพับลิกันปล่อยโฆษณาโจมตีไบเดน สร้างด้วยภาพจาก AI หลังไบเดนประกาศลงสมัคร ปธน. อีกรอบในปีหน้า คณะกรรมการพรรครีพับลิกันหรือ RNC (Republican National Committee) ปล่อยวิดีโอโฆษณา Beat Biden เพื่อโจมตีประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่ประกอบด้วยรูปภาพที่สร้างจาก AI หลังจากที่เจ้าตัวประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในปี 2024 โฆษณา Beat Biden ประกอบด้วยภาพและข้อความที่ตั้งคำถามถึงสถานการณ์ต่าง ๆ หากไบเดนได้เป็นประธานาธิบดีอีกรอบหนึ่งโดยให้ภาพสถานการณ์ที่เลวร้ายอย่างภาพไต้หวันที่ถูกระเบิดหลังจากจีนบุกรวมทั้งภาพกองทหารในสหรัฐอเมริกา ด้านบนวิดีโอมีข้อความ Disclaimer เขียนว่าเป็นโฆษณาที่สร้างจาก AI สำหรับสร้างภาพ มีแคปชันใต้วิดีโอใน YouTube ว่า ภาพที่สร้างจาก AI ที่สื่อถึงอนาคตที่อาจเป็นไปได้ของสหรัฐอเมริกาหากไบเดนชนะการเลือกตั้งอีกรอบในปี 2024 ยังไม่แน่ชัดว่าวิดีโอดังกล่าวใช้ AI ใดในการทำขึ้นแต่ AI อย่าง Midjourney และ DALL-E ได้จำกัดการสร้างรูปภาพทางการเมืองอย่าง Midjourney ก็ได้จำกัดการสร้างภาพที่ใช้คำว่า “arrested” (จับกุม) อย่างไรก็ตาม รูปในวิดีโอส่วนใหญ่เป็นรูปทั่ว ๆ ไป จึงอาจจะสร้างขึ้นได้โดยไม่ได้ถูกปิดกั้นจากฟิลเตอร์ของ AI ผู้เชี่ยวชาญต่างเตือนว่า การสร้างข่าวปลอมทางการเมืองด้วย AI อาจทำให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่อาจแพร่กระจายเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เส้นแบ่งระหว่างความเป็นข้อมูลเท็จและการเป็นแคมเปญเลือกตั้งทั่ว ๆ ไปก็ยังไม่ชัดเจน ที่มา - The Verge
# Binance.US ล้มดีลซื้อสินทรัพย์ของแพลตฟอร์มคริปโต Voyager Voyager แพลตฟอร์มคริปโตที่ยื่นขอล้มละลายไป เผยว่าบริษัทได้รับการแจ้งจาก Binance.US ส่วนธุรกิจของ Binance ที่ตั้งเฉพาะในอเมริกา ว่าจะยกเลิกการซื้อสินทรัพย์บริษัทที่ตกลงกันก่อนหน้า ภายหลังที่ Voyager ยื่นขอล้มละลาย ได้มีการจัดประมูลสินทรัพย์ โดย Binance.US เป็นผู้ชนะการประมูลไปซึ่งรวมทั้งบัญชีคริปโตของลูกค้า Voyager ด้วย Binance.US ชี้แจงสาเหตุว่าบริษัทถูกตรวจสอบในรูปแบบที่ไม่เป็นมิตร และมีความไม่แน่นอนสูงจากหน่วยงานในสหรัฐ จึงทำให้ตัดสินใจยกเลิกดีลดังกล่าวเพื่อปกป้องส่วนธุรกิจหลัก Voyager ชี้แจงว่ากำลังแก้ปัญหา ให้ลูกค้าเดิมสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ของตนได้โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ Binance.US จะต้องทำลายข้อมูลลูกค้าทั้งหมดที่ได้ไปก่อนหน้านี้ตามข้อตกลง ที่มา: CoinDesk
# สิ้นสุดยุคชิปขาดแคลน SK hynix ประกาศผลขาดทุน 3.4 ล้านล้านวอน หันไปผลิตแรมสำหรับ AI SK hynix รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2023 มีรายได้ 5.088 ล้านล้านวอน ขาดทุน 3.402 ล้านล้านวอน คิดเป็นการขาดทุน 67% ของรายได้ โดยระบุเหตุผลว่าเกิดจากความต้องการชิปหน่วยความจำที่ยังลดลงต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และความต้องการชิปน่าจะค่อยๆ กลับขึ้นมาในไตรมาสที่สองนี้ แนวทางแก้ไขปัญหาธุรกิจของ SK hynix หลังจากนี้จะเน้นสินค้าพรีเมียมราคาสูง เช่น DDR5, LPDDR5, และ HBM3 ที่ใช้งานในเซิร์ฟเวอร์ประสิทธิภาพสูงโดยเฉพาะงานกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ที่ต้องการแรมปริมาณสูงมาก และความต้องการน่าจะเพิ่มขึ้นต่อไปแม้บริษัทต่างๆ จะลดรายจ่ายก็ตามที แม้บริษัทจะยังขาดทุนอยู่แต่ก็ต้องลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ต่อไป โดยตอนนี้กำลังพัฒนากระบวนการผลิต DRAM เทคโนโลยี 10 นาโนเมตรรุ่นที่ 5 และ NAND แบบ 238 ชั้น โมเดลปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลภาษาขนาดใหญ่ หรือ LLM นั้นต้องการแรมสูงมากในการพัฒนาและรัน ก่อนหน้านี้ NVIDIA ก็ออกโมดูลปัญญาประดิษฐ์โดยเพิ่มแรมต่อโมดูลถึง 188GB เพื่อรองรับงานกลุ่มนี้ ที่มา - SK hynix
# Musk มีแหล่งรายได้ใหม่ ยอด Subscriptions ที่รีแบรนด์มาจาก Super Follows 2.4 หมื่นคน หลังจาก Twitter ประกาศรีแบรนด์จาก Super Follows มาเป็น Subscriptions ซึ่งเป็นฟีเจอร์ให้ผู้ติดตามจ่ายเงินให้ครีเอเตอร์เป็นรายบุคคลเพื่อชมคอนเทนท์พิเศษได้ ล่าสุดจากรูปที่ Elon Musk ทวีตเผยให้เห็นว่า เจ้าตัวมียอด Subscriptions ราว 24,700 บัญชี ในทวีตที่ Elon Musk ประกาศว่าครีเอเตอร์สามารถเข้าร่วม Subscriptions เพื่อสร้างรายได้ ในรูปที่แคปมาพบว่ายอดผู้จ่ายเงินเพื่อดูคอนเทนท์พิเศษจะแสดงให้เห็นตรงข้างตัวเลขผู้ที่กำลังติดตามและผู้ติดตาม และจะแสดงให้ดูเฉพาะบนบัญชีของครีเอเตอร์ที่เข้าร่วม Subscriptions เท่านั้น Musk กำหนดราคาสมาชิก Subscriptions ของตนเองอยู่ที่ 4 ดอลลาร์หรือราว 137 บาท เท่ากับว่าในแต่ละเดือนมีผู้จ่ายเงินรวม 100,000 ดอลลาร์หรือ 3.43 ล้านบาท Musk เข้าร่วมฟีเจอร์ Subscriptions ในวันที่ 15 เมษายน แปลว่าใช้เวลา 10 วันเท่านั้นกว่ายอดจะถึง 24,700บัญชี อย่างไรก็ตาม ยอดยังถือว่าต่ำเพราะคิดเป็นแค่ 0.018% จากจำนวนผู้ติดตามทั้งหมดของ Musk ที่มีกว่า 136.4 ล้านบัญชี นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องยากที่ครีเอเตอร์คนอื่นที่ไม่ได้มียอดผู้ติดตามเท่า Musk จะทำรายได้ปริมาณมากเท่านี้ ดูเหมือนว่าในช่วงนี้ Musk จะมองหาวิธีการสร้างรายได้ให้ Twitter ผ่านโมเดลค่าใช้จ่ายสมาชิกมากกว่าที่จะมุ่งให้เป็นแพลตฟอร์มที่มีรายได้จากการมาลงโฆษณาเป็นหลัก ที่มา - Mashable
# NVIDIA โอเพนซอร์สโครงการ NeMo Guardrails ตัวป้องกันแชตบอตตอบนอกเรื่อง, อ้างที่มามั่ว NVIDIA เปิดตัวโครงการ NeMo Guardrails ตัวควบคุมปัญญาประดิษฐ์ในกลุ่มโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) โดยทำงานร่วมกับโมเดลปัญญาประดิษฐ์ตัวอื่นๆ รวมถึง GPT ของ OpenAI โครงการนี้ควบคุม 3 ด้าน ได้แก่ ควบคุมหัวข้อการพูดคุย: ไม่ให้ผู้ใช้ล่อให้ตัวปัญญาประดิษฐ์ตอบนอกเรื่อง ควบคุมความปลอดภัย: กรองคำตอบให้เหมาะสมไม่มีคำหยาบ และอ้างอิงแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้เท่านั้น ควบคุมการเจาะระบบ: ในกรณีที่แอปพลิเคชั่นเชื่อมต่อ API ภายนอกได้ ต้องเชื่อมต่อกับ API อย่างปลอดภัย การคอนฟิก NeMo Guardrails ใช้ภาษาคอนฟิกของโครงการเองที่เขียนได้ง่ายกว่าการเขียน prompt เพื่อควบคุม LLM ตัวโครงการเป็นโอเพนซอร์ส นำไปใช้งานได้ทันที โดยใช้สัญญาอนุญาต Apache 2.0 และหากต้องการใช้งานผ่านคลาวด์ก็ใช้งานผ่าน NVIDIA AI Foundations ได้เช่นกัน ที่มา - NVIDIA
# macOS Ventura 13.4 Beta ล่าสุด ถอดไฟล์ PDF เปเปอร์ Bitcoin ออกจากระบบแล้ว จากข่าว พบ macOS ตั้งแต่ Mojave ขึ้นไป ใช้ไวท์เปเปอร์ Bitcoin เป็นตัวอย่างไฟล์ PDF จนทำให้หลายคนจิ้นกันไปไกลว่า Steve Jobs คือ Satoshi Nakamoto แต่ความฝันนี้ล่มสลายไปแล้ว (แม้ตำนานยังคงอยู่) เพราะใน macOS Ventura 13.4 Beta 3 ตัวใหม่ล่าสุดที่แอปเปิลเพิ่งออกให้นักพัฒนาทดสอบ ได้ถอดไฟล์ PDF ออกไปแล้ว รวมถึงเครื่องมือภายใน (internal tool) ของแอปเปิลอื่นๆ ที่เคยติดมากับ macOS รุ่นก่อนๆ ด้วยเช่นกัน แม้แอปเปิลไม่เคยแถลงเรื่องนี้ แต่การที่ Ventura ถอดเครื่องมือภายในทั้งหมดออกไปด้วย น่าจะยืนยันได้ว่าเป็นการใส่เข้ามาแบบไม่ตั้งใจนั่นเอง พอกลายเป็นข่าวโด่งดังทำให้แอปเปิลทราบเรื่องและถอดออก ที่มา - 9to5mac
# AMD เปิดตัวชิป Ryzen Z1 สำหรับเครื่องเกมพกพา, ซีพียู Zen 4, เริ่มใช้กับ ASUS ROG Ally AMD เปิดตัวชิป APU Ryzen Z1 สำหรับเครื่องเล่นเกมพกพา โดยจะเริ่มใช้กับ ASUS ROG Ally ที่เปิดตัวเครื่องมาแล้ว และจะวางขายในอีกไม่ช้านี้ Ryzen Z1 แยกออกเป็น 2 รุ่นย่อย คือ Ryzen Z1 ตัวธรรมดา และ Ryzen Z1 Extreme โดยทั้งสองรุ่นใช้ซีพียูแกน Zen 4 และจีพียูสถาปัตยกรรม RDNA 3 Ryzen Z1 ซีพียู 6 คอร์/12 เธร็ด, จีพียู RDNA 3 แบบ 4 CU, แคช 22MB (6+16), TDP 15-30W Ryzen Z1 Extreme ซีพียู 8 คอร์/16 เธร็ด, จีพียู RDNA 3 แบบ 12 CU, แคช 24MB (8+16), TDP 15-30W ฝั่งของ ASUS ระบุว่าจะเปิดเผยรายละเอียดของ ASUS ROG Ally ทั้งสเปก ราคา และวันวางขาย ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ การเปิดตัว AMD Ryzen Z1 น่าจะทำให้เราได้เห็นเครื่องเล่นเกมพกพายี่ห้ออื่นๆ นอกเหนือจาก ASUS ตามมาอีกมาก ก่อนหน้านี้เราก็เห็นเครื่องเล่นเกมพกพาหลายรุ่นที่ใช้ Ryzen รหัส U วางขายกันมาพอสมควรแล้ว (เช่น AYA NEO หรือ Ayn Loki) รวมถึง Steam Deck ที่เป็น APU รุ่นคัสตอม (Zen 2/RDNA 2) โค้ดเนม Aerith ทางเลือกอื่นในท้องตลาดคือ เครื่องเกมพกพาที่ใช้ซีพียูตระกูล Arm เช่น Logitech G Cloud และ Razer Edge ที่ใช้ Snapdragon ทั้งคู่ แต่อุปกรณ์เหล่านี้มักรัน Android มีข้อจำกัดเรื่องการเล่นเกมยอดนิยมของพีซี ซึ่งต้องใช้วิธีเล่นแบบสตรีมผ่านคลาวด์แทน ที่มา - AMD
# ยานสำรวจเอกชน HAKUTO-R พบปัญหาขาดการติดต่อช่วงสุดท้าย ก่อนลงจอดบนดวงจันทร์ ispace บริษัทเอกชนด้านอวกาศของญี่ปุ่น รายงานสถานะของภารกิจ Mission 1 ที่จะนำยานอวกาศไร้มนุษย์ HAKUTO-R ลงจอดบนดวงจันทร์ ซึ่งกำหนดแตะพื้นผิวดวงจันทร์ที่เวลา 23:40น. วันที่ 25 เมษายน 2023 ตามเวลาในประเทศไทย Takeshi Hakamada ซีอีโอ ispace แถลงว่าเกิดปัญหาขาดการติดต่อสื่อสารกับยาน HAKUTO-R ในขณะที่ยานใกล้ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณ Atlas Crater ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของดวงจันทร์ ในอีกระยะ 89 เมตร แม้ถึงตอนนี้ยังไม่สามารถติดต่อกับยานได้ แต่ก็อาจสรุปได้ว่าภารกิจการนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ไม่เสร็จสมบูรณ์ทุกขั้นตอน ยาน HAKUTO-R มีความสูง 2 เมตร น้ำหนัก 340 กิโลกรัม เดินทางไปพร้อมกับจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยยานบรรทุกเครื่องมือสำรวจ 2 ชิ้น เพื่อตรวจสอบเก็บข้อมูลสภาพดิน โดยมีไฮไลท์คือหุ่นยนต์ตัวหนึ่งออกแบบและผลิตโดย TOMY บริษัทของเล่นญี่ปุ่นชื่อดัง ภารกิจ Mission 1 นี้มีความสำคัญ โดยหากทำสำเร็จ จะเป็นยานของบริษัทเอกชนรายแรกในโลกที่ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ ทำให้โอกาสที่การเดินทางอวกาศของเอกชนในเชิงพาณิชย์ใกล้ขึ้นไปอีกหนึ่งขั้น ที่มา: BBC
# Alphabet รายงานผลประกอบการ: Google Cloud มีกำไรเป็นครั้งแรก, โฆษณา YouTube รายได้ยังคงลดลง Alphabet บริษัทแม่ของกูเกิล รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2023 มีรายได้ 69,787 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3% เทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2022 และมีกำไรสุทธิ 15,051 ล้านดอลลาร์ Alphabet บอกว่าผลประกอบการไตรมาสนี้มีผลกระทบที่สำคัญ 3 รายการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายครั้งเดียวจากการปลดพนักงานและปิดสำนักงาน 2.6 พันล้านดอลลาร์, ค่าเสื่อมราคาลดลง 988 ล้านดอลลาร์ จากการปรับอายุการใช้งานเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์เครือข่าย, การปรับเวลาจ่ายผลตอบแทนพนักงานในรูปแบบหุ้น ภาพรวมรายได้จากธุรกิจโฆษณาของกูเกิลลดลงเล็กน้อยเป็น 54,548 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 54,661 ล้านดอลลาร์ ของไตรมาส 1/2022 โดยส่วนที่ลดลงมาจากโฆษณาใน Google Network และโฆษณาใน YouTube ขณะที่โฆษณาบนเสิร์ชยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจ other ซึ่งรวมกลุ่มฮาร์ดแวร์ Pixel มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 7,413 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับ Google Cloud รายได้เพิ่มขึ้น 28% เป็น 7,454 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรจากการดำเนินงานเฉพาะส่วนธุรกิจนี้เป็นครั้งแรก 191 ล้านดอลลาร์ จากที่ขาดทุนมาโดยตลอด และกลุ่ม Other Bets รายได้ 288 ล้านดอลลาร์ ขาดทุนเฉพาะส่วนนี้ 3,288 ล้านดอลลาร์ Sundar Pichai ซีอีโอ Alphabet และกูเกิล กล่าวว่าผลการดำเนินงานยังคงออกมาดีทั้งในธุรกิจเสิร์ชและแนวโน้มที่ดีในธุรกิจคลาวด์ ในไตรมาสที่ผ่านมาบริษัทเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี Computer Science เชิงลึกร่วมกับ AI ซึ่งบริษัทเห็นโอกาสใหญ่อีกมากจากนวัตกรรมนี้ Alphabet แจ้งว่าตามที่บริษัทเคยบอกว่าจะรายงานรายได้ส่วนธุรกิจด้าน AI แยกออกมานั้น รายงานนี้จะเลื่อนไปไตรมาส 2/2023 ตามการประกาศตั้งฝ่าย Google DeepMind ที่เพิ่งประกาศไป ที่มา: Alphabet (pdf)
# [ลือ] Health ใน iOS 17 เพิ่มระบบโค้ชให้คำแนะนำ, แบบประเมินสภาพอารมณ์, เพิ่มแอปใน iPad ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีรายงานข่าวลือว่า iOS 17 ระบบปฎิบัติอัพเดตประจำปีของ iPhone ตลอดจน iPadOS 17 ของ iPad จะไม่มีฟีเจอร์ใหม่ที่โดดเด่นมากนัก เนื่องจากแอปเปิลโฟกัสที่ xrOS ระบบปฏิบัติการของเฮดเซต Mixed Reality มากกว่า แต่รายงานล่าสุดของ Mark Gurman แห่ง Bloomberg คนเดิม บอกว่าแอปสุขภาพหรือ Health ใน iOS 17 จะเพิ่มลูกเล่นใหม่ที่น่าสนใจ ฟีเจอร์ใหม่ของ Health ตัวแรกคือระบบโค้ชให้คำแนะนำ ซึ่งมีโค้ดเนมภายในว่า Quartz โดยจะให้คำแนะนำต่าง ๆ เช่น สร้างแรงจูงใจให้ออกกำลังกายมากขึ้น ปรับปรุงการกิน การนอนหลับ โดยอาศัยข้อมูลจาก Apple Watch เป็นคำแนะนำของผู้ใช้งานแต่ละคน ฟีเจอร์ต่อมาเป็นเครื่องมือประเมินสภาพอารมณ์ (Mood Tracker) โดยผู้ใช้งานจะตอบคำถาม และแอปจะนำมาเรียนรู้พร้อมกับให้คำแนะนำในแต่ละวัน แอปนี้จะทำงานแยกส่วนกับบันทึกชีวิตประจำวัน (Journaling App) ที่มีรายงานก่อนหน้าว่าจะเพิ่มเข้ามาใน iOS 17 เช่นกัน แอป Health ยังมีข้อมูลว่าจะเพิ่มเข้ามาใน iPadOS 17 เป็นครั้งแรกด้วย ทำให้แอปนี้สามารถใช้งานได้ผ่าน iPad เนื่องจากผู้ใช้งานบางคนอาจพบข้อจำกัดเรื่องขนาดหน้าจอ อีกทั้งข้อมูลบางอย่างต้องการจอที่ใหญ่ขึ้นในการดูรายละเอียด สุดท้าย MacRumors มีข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทั่วไปของ iOS 17 อ้างข้อมูลจากผู้โพสต์ใน Weibo ที่เคยให้ข้อมูล iPhone 14 สีเหลืองตรงมาแล้ว รายละเอียดได้แก่ ปรับขนาดฟอนต์หน้าจอล็อกได้, แชร์การออกแบบหน้าจอล็อกได้, ดูเนื้อเพลง Apple Music ในหน้าจอล็อกได้, App Library แก้ชื่อโฟลเดอร์ได้ และปรับระดับไฟแฟลชได้ ที่มา: Bloomberg, MacRumors
# WhatsApp อัพเดต ล็อกอินในมือถือได้พร้อมกันสูงสุด 5 เครื่องแล้ว WhatsApp อัพเดตฟีเจอร์ที่คนจำนวนมากเรียกร้องกันมานาน คือสามารถล็อกอินในสมาร์ทโฟนหลายเครื่องพร้อมกัน (สูงสุด 5 เครื่อง) ได้แล้ว WhatsApp เป็นแอพแชทที่เกิดขึ้นในยุคสมาร์ทโฟน ออกแบบมาใช้แทนการแชทผ่าน SMS ระบบบัญชีจึงผูกกับเบอร์โทรศัพท์ และจำกัดการใช้งานกับอุปกรณ์เพียงตัวเดียวในช่วงแรก แต่ภายหลังเมื่อผู้ใช้มีอุปกรณ์เพิ่มขึ้น ก็บีบให้ WhatsApp ต้องยอมปรับตัว (อย่างช้าๆ) อย่างการรองรับ Multi-Device เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้สูงสุด 4 เครื่องเมื่อปลายปี 2021 ข่าวนี้คือฟีเจอร์ Multi-Device รองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นอีกสูงสุด 4 เครื่อง (รวมกับเครื่องหลักเป็น 5 เครื่อง) โดยยังมีแนวคิดเรื่องอุปกรณ์หลัก-รองอยู่เช่นเดิม แต่ละเครื่องจะเชื่อมกับเซิร์ฟเวอร์ของ WhatsApp โดยตรง แต่ถ้าไม่ใช้เครื่องหลักเป็นเวลานานๆ ระบบจะบังคับล็อกเอาท์บัญชีบนเครื่องทั้งหมด ข่าวนี้ใหญ่ระดับ Mark Zuckerberg ต้องโพสต์ด้วยตัวเองเลยทีเดียว ที่มา - WhatsApp Blog
# ChatGPT เพิ่มฟังก์ชันปิดการเก็บประวัติแชท - เตรียมออก ChatGPT Business สำหรับลูกค้าองค์กร ChatGPT เพิ่มเครื่องมือให้ผู้ใช้งานเลือกปิดประวัติการแชทได้แล้ว โดยเมื่อเริ่มสั่งปิดการเก็บประวัติ บทสนทนาที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นจะไม่ถูกนำมาเทรนเพื่อปรับปรุงโมเดลของ ChatGPT และไม่แสดงผลในแถบประวัติการแชทด้านข้าง การตั้งค่าดังกล่าวสามารถกำหนดได้ใน Settings และสามารถเปลี่ยนกลับได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ChatGPT จะยังเก็บข้อมูลการสนทนาประเภทนี้เอาไว้ 30 วัน โดยจะทำการตรวจสอบหากพบการก่อกวนระบบเท่านั้น เมื่อพ้นกำหนดแชทดังกล่าวจะลบถูกอย่างถาวร OpenAI ยังเผยว่ากำลังพัฒนาบริการใหม่ ChatGPT Business สำหรับลูกค้าภาคธุรกิจที่ต้องการควบคุมข้อมูลการใช้งานให้มากขึ้น รวมทั้งการใช้งานจะเป็นไปตามข้อกำหนด API เช่น ไม่มีการนำข้อมูลไปเทรนเป็นค่าเริ่มต้น คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในไม่กี่เดือนข้างหน้า สุดท้าย ChatGPT ยังเพิ่มฟังก์ชันการ export ข้อมูลแชททั้งหมดของผู้ใช้งาน เพื่อให้เห็นภาพว่า ChatGPT เก็บข้อมูลอะไรไปบ้าง ที่มา: OpenAI
# Microsoft ไตรมาสล่าสุด ธุรกิจคลาวด์ยังคงเติบโตสูงโดดเด่น ไมโครซอฟท์รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3 ตามปีการเงินบริษัท 2023 สิ้นสุดเดือนมีนาคม รายได้รวมตามบัญชี GAAP 52,857 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 18,299 ล้านดอลลาร์ กลุ่มธุรกิจ Intelligent Cloud มีรายได้เพิ่มขึ้น 16% เป็น 22,081 ล้านดอลลาร์ เฉพาะบริการกลุ่ม Azure เพิ่มขึ้น 27% ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Productivity and Business Processes รายได้เพิ่มขึ้น 11% เป็น 17,516 ล้านดอลลาร์ รายได้จาก Office 365 Commercial เพิ่มขึ้น 14% ส่วน LinkedIn เพิ่มขึ้น 8% กลุ่มธุรกิจที่รายได้ลดลงคือ More Personal Computing ที่ภาพรวม 13,260 ล้านดอลลาร์ ลดลง 9% โดย Windows OEM รายได้ลดลง 28% ธุรกิจฮาร์ดแวร์อุปกรณ์ ซึ่งรวมทั้ง Surface ลดลง 30% Xbox เพิ่มขึ้น 3% และเสิร์ชเพิ่มขึ้น 10% Satya Nadella ซีอีโอไมโครซอฟท์กล่าวว่าโมเดล AI ที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกตอนนี้ มาพร้อมกับส่วนใช้งานที่เข้าถึงผู้คนได้มากที่สุดนั่นคือการรองรับภาษาธรรมชาติ (Natural Language) ซึ่งถือเป็นยุคใหม่ของโลกคอมพิวเตอร์ ตอนนี้ทุกแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับ Microsoft Cloud ได้เพิ่มทางเลือกรองรับ AI ให้กับลูกค้าแล้ว ที่มา: ไมโครซอฟท์
# Spotify ไตรมาส 1/2023 จำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 500 ล้านบัญชีแล้ว Spotify รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2023 จำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือนรวม (MAUs) เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 515 ล้านบัญชี โดยเป็นการเติบโตในทุกตลาดและทุกกลุ่มอายุผู้ใช้งาน ส่วนสมาชิกพรีเมียมเพิ่มขึ้น 15% เป็น 210 ล้านบัญชี มีการเติบโตสูงในภูมิภาคยุโรปและละตินอเมริกา ตัวเลขทางการเงิน มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 14% เป็น 3,042 ล้านยูโร โดยรายได้จากค่าสมาชิกเพิ่มขึ้น 14% และรายได้จากโฆษณาเพิ่มขึ้น 17% ขาดทุนสุทธิ 225 ล้านยูโร ในไตรมาสที่ผ่านมา Spotify บอกว่าได้เพิ่มเครื่องมือใหม่บนแพลตฟอร์มหลายอย่าง เช่น ระบบดีเจ AI, UI ในแอปแบบใหม่ ตลอดจนเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับครีเอเตอร์ ที่มา: Spotify
# เต็มหน้าแรก Netflix เตรียมลงทุนคอนเทนต์เกาหลีใต้ 87,000 ล้านบาทในสี่ปีข้างหน้า Netflix ประกาศลงทุนในคอนเทนต์เกาหลีใต้อีก 2,500 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 87,000 ล้านบาทภายใน 4 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นกว่าที่เคยลงทุนในช่วง 7 ปีที่ผ่านมากว่าเท่าตัว Ted Sarandos ซีอีโอร่วมของ Netflix ระบุว่ามั่นใจที่จะลงทุนเพิ่มเพราะคอนเทนต์ที่ได้จากเกาหลีใต้น่าจะสร้างคอนเทนต์ที่ดีขึ้นต่อไป ที่ผ่านมามีคอนเทนต์จากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมสูงไปทั่วโลก เช่น Squid Game, The Glory, และ Physical:100 ที่มา - Netflix
# แชตบอทไม่ใช่สูตรสำเร็จ Snapchat โดนถล่มรีวิว 1 ดาวหลังจากปล่อยฟีเจอร์ “My AI” เมื่อสัปดาห์ก่อนทาง Snapchat ได้ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ในชื่อ My AI ให้ผู้ใช้งานทั่วไปหลังจากเดิมที่จำกันให้เฉพาะสมาชิกแบบจ่ายรายเดือนอย่าง Snapchat+ ได้ใช้ไปก่อนหน้านี้ โดยระบบ AI ใหม่ของ Snapchat นั้นใช้เทคโนโลยีของ Open AI GPT นั่นเอง ผู้ใช้งานแอปฯ สามารถ ถาม หรือพูดคุยกับ My AI ได้โดยได้รับคำตอบในทันที ตัว My AI ถูกปักหมุดไว้บนสุดของหน้า Chat ไม่สามารถย้ายหรือลบออกได้ ซึ่งเสียงตอบรับจากผู้ใช้งานนั้นไม่ดีอย่างที่ Snapchat คาดหวังไว้เท่าไหร่ และในสัปดาห์ที่ผ่านมาคะแนนเฉลี่ยใน App Store ของ U.S. อยู่ที่ 1.67 ดาว โดยคิดเป็น 75% ของผู้ใช้งาน ให้รีวิวที่ 1 ดาว เทียบให้เห็นกันจะ ๆ จากข้อมูลของ Sensor Tower ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2023 นั้น Snapchat มีคะแนนรีวิวเฉลี่ยใน App Store อยู่ที่ 3.05 ดาว และมีเพียง 35% เท่านั้นที่เป็นรีวิว 1 ดาว ซึ่งจำนวนของผู้ใช้งานที่เข้าไปรีวิวแอปฯ นั้นมีเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากสัปดาห์ก่อน เสียงรับจากผู้ใช้บางส่วนสามารถหาได้ตาม SNS ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Twitter ที่มีตัวอย่างความคิดเห็นต่อฟีเจอร์นี้ว่า “มีตัวเลือกให้ลบออกไปไหมนะ? คิดว่าไม่น่าจะมีใครอยากได้ฟีเจอร์นี้นะ” ซึ่งจริง ๆ แล้วฟีเจอร์ My AI สามารถลบออกจาก Chat Feed ได้ครับ แต่ต้องสมัครบริการเสียเงินรายเดือนอย่าง Snapchat+ ที่มา - TechCrunch
# สตูดิโอ Guerrilla ยืนยัน กำลังทำเกม Horizon ภาคใหม่ และเกมมัลติเพลเยอร์ออนไลน์ สตูดิโอ Guerrilla ในเครือ PlayStation ประกาศเปลี่ยนตัวผู้บริหาร โดย Angie Smets ผู้อำนวยการสตูดิโอและ executive producer จะขึ้นไปรับตำแหน่ง Head of Development Strategy ของบริษัทแม่ PlayStation Studios โครงสร้างใหม่ของ Guerrilla จะใช้ผู้บริหาร 3 คนแบ่งงานกัน คือ Joel Eschler (Studio Director and Production Director), Hella Schmidt (Studio Director and General Manager), Jan-Bart van Beek (Studio Director and Art Director) แต่ข่าวสำคัญกว่านั้นสำหรับแฟนๆ คือ Guerrilla ยืนยันแล้วว่ากำลังทำเกม Horizon ภาคใหม่ 2 เกม ได้แก่ เกมภาคหลักที่ยังเป็นเนื้อเรื่องของ Aloy (น่าจะนับเป็นภาคที่สาม) และเกมออนไลน์มัลติเพลเยอร์อีกเกม ปีนี้เราเห็นเกม Horizon ภาคใหม่ออกวางขายแล้ว 2 เกม ได้แก่ Horizon Burning Shores ที่เป็น DLC ของ Forbidden West และ Horizon Call of the Mountain ที่เป็นเกม PS VR2 ที่มา - Guerrilla Games, Kotaku
# หัวหน้าฝ่ายนักพัฒนาอิสระ PlayStation ระบุ “เราได้ยกเลิกการสร้างเกมไปเยอะมาก” คุณ Shuhei Yoshida หัวหน้าฝ่ายนักพัฒนาอิสระ (Head of PlayStation Indies) ของ Sony Interactive Entertainment ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง The Guardian เกี่ยวกับเกมที่กำลังสร้างอยู่โดยมีช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์เขาได้ระบุว่า มีเกมถูกการยกเลิกระหว่างการพัฒนาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยตัวเขาเองก็เจ็บปวด ที่รู้ว่าเกมที่นักพัฒนากำลังสร้างอยู่จะไม่ได้วางขาย “PlayStation เปิดรับไอเดียใหม่ ๆ และหลายไอเดียก็ล้มเหลว เราสร้างเกมตัวต้นแบบขึ้นมา แล้วตัดสินใจว่า จะไปต่อ หรือพอแค่นี้ ซึ่งจริง ๆ เราได้ยกเลิกเกมไปเป็นจำนวนมาก ผมเองพยายามบอกนักพัฒนาว่าการยกเลิกโปรเจคเป็นการช่วยพวกเขาไม่ให้ติดหล่มกับโปรเจคเหล่านั้น” คุณโยชิดะกล่าว คุณโยชิดะยังได้กล่าวต่อว่า PlayStation ทำงานร่วมกับผู้คนที่มีไอเดียที่เข้มแข็งมาก และนั่นก็ทำให้การตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกเกม เป็นเรื่องที่หนักใจมาก “มันเกี่ยวกับพรสวรรค์ในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งผมพยายามจะช่วยพวกเขาเท่าที่จะช่วยได้” คุณโยชิดะกล่าว โยชิดะเป็นหนึ่งในผู้สร้างแบรนด์ PlayStation มาตั้งแต่แรก เขาอยู่ในทีมงานตั้งแต่ปี 1993 และเคยดำรงตำแหน่งประธาน SIE Worldwide Studios ในช่วงปี 2008 ถึง 2019 ก่อนหน้านี้ทาง Sony เคยได้รายงานว่าได้ยกเลิกเกมภาคต่อของ Days Gone และ Uncharted ภาคใหม่ ที่มา - gamespot
# VirusTotal โชว์ปัญญาประดิษฐ์ Sec-PaLM อธิบายมัลแวร์ว่าอันตรายอย่างไร ช่วยลดการตรวจจับผิดพลาด VirusTotal เปิดบริการ VirusTotal Code Insight บริการวิเคราะห์มัลแวร์ที่ต่อยอดมาจาก Google Cloud Security AI Workbench อีกต่อหนึ่ง โดยจุดแข็งของ Code Insight คือการอธิบายอันตรายของมัลแวร์แต่ละตัวออกมาเป็นภาษาพูดที่เข้าใจได้ง่าย ทำให้ผู้เกี่ยวข้องประเมินความร้ายแรงของมัลแวร์แต่ละตัวได้ดีขึ้น ข้อดีอีกอย่างคือ Code Insight วิเคราะห์โค้ดโดยไม่ได้ดูผลการตรวจสอบมัลแวร์ที่ตัวตรวจจับอื่นๆ ตรวจสอบมาก่อน ทำให้มันพบมัลแวร์ได้หากวิเคราะห์แล้วว่ามีอันตราย หรือช่วยแก้ต่างแทนเจ้าของโปรแกรม ในกรณีที่ตัวตรวจจับระบุว่าเป็นมัลแวร์แต่ตรวจสอบการทำงานแล้วไม่มีอันตรายอะไร ที่มา - VirusTotal
# เปิดราคา Verified Organizations ของ Twitter ในไทย เดือนละ 34,100 บาท ได้ติ๊กถูกสีทอง ตามหลัง Twitter Blue มาติดๆ คราวนี้เป็นฝั่งองค์กรกันบ้าง โดยก่อนหน้านี้ Twitter เปิดตัว Verified Organizations เพื่อให้บริษัทหรือองค์กรต่างๆ สมัครใช้งานเพื่อยืนยันว่ามีตัวตนจริง เป็นบัญชีขององค์กรนั้นจริงๆ ซึ่งหลังสมัครแล้วจะได้ติ๊กถูกสีทอง หรือหากเป็นหน่วยงานรัฐบาลก็จะได้ติ๊กถูกสีเทา ล่าสุด Twitter ได้เปิดให้องค์กรในประเทศไทยสมัครใช้งานกันแล้ว โดยค่าบริการอยู่ที่ 34,100 บาทต่อเดือน ซึ่งจะได้รับฟีเจอร์พิเศษดังนี้ ติ๊กถูกสีทองหรือเทา รูปโปรไฟล์สี่เหลี่ยม ระบบป้องกันบัญชีปลอม หาก Twitter ตรวจจับได้ว่ามีการสร้างบัญชีปลอมเป็นบริษัทก็จะช่วยตรวจสอบให้ ทีมซัพพอร์ทแบบพรีเมียม ทวีตและส่ง DM ได้เยอะกว่าปกติ รวมถึงอัพโหลดภาพและคลิปได้เยอะ ฟีเจอร์ของ Twitter Blue ทั้งหมด นอกจากนี้องค์กรที่สมัคร Verified Organizations ยังสามารถสมัคร Twitter Blue ให้พนักงานหรือบุคคลที่อยู่ภายใต้องค์กรได้ด้วย โดยหลังชื่อของบัญชีบุคคลนั้นก็จะมีทั้งติ๊กถูกสีฟ้าและรูปโลโก้บริษัทต้นสังกัดกำกับอยู่ คิดค่าบริการเดือนละ 1,710 บาทต่อบัญชีต่อเดือน ซึ่งบุคคลนั้นๆ ก็จะได้รับฟีเจอร์ต่างๆ เหมือน Twitter Blue ทุกประการ ที่มา - พบด้วยตนเอง
# Samsung ปล่อยแอปฯ แต่งรูปด้วย AI ให้เฉพาะผู้ใช้งาน Galaxy S23 Series เท่านั้น Samsung ปล่อยแอปฯ Samsung Galaxy Enhance-X เวอร์ชั่นใหม่ สำหรับผู้ใช้งานมือถือ Samsung Galaxy S23 Series โดยจุดเด่นของแอปพลิเคชั่นนี้คือการปรับแต่งรูปโดยใช้ AI ฟีเจอร์หลักของ Samsung Galaxy Enhance-X มีจุดเด่นอยู่ที่เป็นแอปพลิเคชันที่มีจุดเด่นคือการใช้ AI ในการแต่งรูปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การปรับ HDR, ความสว่าง, การปรับผิวให้สวยเป็นธรรมชาติ, แก้ไขความเบลอของวัตถุ, การลบเงาที่ไม่พึงประสงค์ หรือแม้แต่การอัพสเกลภาพให้มีความละเอียดเยอะกว่าต้นฉบับ นอกจากนี้แอปฯ Galaxy Enhance-X ยังมีฟังก์ชัน ‘Magic’ ซึ่งมีการทำงานคล้ายกับฟังก์ชัน Remaster รูปภาพในแอปฯ Stock Gallery และยังปรับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การปรับส่วนใบหน้า, โทนสี, ปรับขนาดดวงตา และที่สำคัญยังสามารถเปลี่ยนพื้นหลังให้กับภาพถ่ายที่มีอยู่แล้วใน Gallery ได้ โดยรูปที่นำมาแต่งในแอป Galaxy Enhance-X นั้นไม่จำเป็นต้องใช้รูปที่ถ่ายจากกล้องของมือถือ Samsung แต่จะเป็นรูปอะไรก็ได้เพียงแค่ import เข้าแอปฯ ก็สามารถปรับแต่งได้ทันที โดยแอปฯ Samsung Galaxy Enhance-X นั้น ปล่อยให้โหลดได้ใน Galaxy Store มีขนาดไฟล์อยู่ที่ 84.03 mb โดยยังใช้ได้ในเฉพาะ Samsung Galaxy S23, 23+ และ 23 Ultra เท่านั้น ที่มา - xda-developers , samsung
# ศิลปินเพลงกับ AI - เมื่อค่ายเพลงมองเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่บางคนเห็นเป็นโอกาสสร้างส่วนแบ่ง ประเด็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานกับ AI สร้างเนื้อหาหรือ Generative AI ในมุมมองการถูกละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ถูกขยายผลไปในหลายวงการ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นในวงการเพลง เมื่อ AI สามารถเลียนแบบเสียงศิลปินไปได้ไกลมากขึ้น เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อในโซเชียลแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีการปล่อยเพลง Heart on My Sleeve ที่ร้องด้วยศิลปินที่สร้างเสียงขึ้นด้วย AI โดยอาศัยข้อมูลเสียงของ Drake และ The Weeknd ตอนนี้เพลงดังกล่าวถูกลบออกแล้วทั้งจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่าง ๆ และ TikTok แต่อาจพอหาฟังได้จากคลิปที่ยังไม่ได้ลบ โดยตัวเลขนั้นเพลงถูกสตรีมไปเกือบล้านครั้ง Universal Music Group ซึ่งเป็นค่ายเพลงต้นสังกัดของทั้ง Drake และ The Weeknd บอกว่าการนำเสียงร้องศิลปินไปเทรน AI เพื่อสร้างเพลงขึ้นใหม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และละเมิดข้อตกลงการนำผลงานไปใช้ ทั้งนี้เคยมีรายงานข่าวว่าทาง Universal Music Group ได้แจ้งผู้ให้บริการเพลงสตรีมมิ่ง ให้บล็อก AI ในการเข้าถึงเพื่อเทรนข้อมูลอีกด้วย The Weeknd (ภาพ UMG) การสร้างงานอีกกรณีที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันคือวงอินดี้ชื่อ Breezer โดยวงได้สร้างอัลบั้มชื่อ AIsis ใช้แนวเพลงของวง Oasis ซึ่งเขียนเพลงและเล่นดนตรีขึ้นมาใหม่เองทั้งหมด มีเพียงเสียงร้องของศิลปินที่ใช้ AI สร้างเสียงขึ้นมาจากการเทรนข้อมูลของ Liam Gallagher นักร้องวง Oasis ก็ทำให้ได้ผลงานออกมาในอีกรูปแบบ ประเด็นนี้ Liam Gallagher บอกใน Twitter เอง ว่าเขาได้ฟังเพลงแล้วรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่มาก (I sound mega) ลองฟังเพลงของ AIsis ดูได้ มุมมองของศิลปินต้นแบบกับ AI อาจแตกต่างกันไป ล่าสุด Grimes ออกมาประกาศผ่าน Twitter ว่ายินดีหากใครจะนำเสียงของตนไปใช้เทรน AI แล้วสร้างสรรค์เพลงขึ้นมาใหม่ โดยขอให้มีการจ่ายส่วนแบ่ง 50% ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับเวลาไปคอลแลบกับศิลปินคนอื่น Grimes ยังบอกว่าที่บอกแบบนี้ได้เพราะตนไม่มีสังกัดค่ายเพลงใหญ่ผูกมัดเงื่อนไขไว้ ที่มา: NPR, Euronews, RollingStone
# DLC ใหม่ของ Horizon Forbidden West โดนถล่มรีวิวในแง่ลบหลังมีเนื้อหา LGBT เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2023 ทาง Guerrilla Games ได้ปล่อย DLC ใหม่ของเกม Horizon Forbidden West ในชื่อ Burning Shores ซึ่งเป็นการขยายเรื่องราวเพื่อพา Aloy ตัวเอกของเกมไปผจญภัยในดินแดนใหม่ ๆ โดย DLC ตัวนี้ลงให้กับ PS5 เท่านั้น (ตัวเกมหลักลงทั้ง PS5 และ PS4) ข่าวนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเกม Horizon Forbidden West : Burning Shores เหมือนโลกจะสงบสุขดีแต่เรื่องราวกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อมีผู้เล่นบางส่วนได้เล่นเกมนี้ไปจนถึงฉากหนึ่งของเกมที่มีตัวเลือกให้ Aloy ตัวเอกของเกมสามารถจูบกับ Seyka ซึ่งเป็นตัวละครหญิงคนใหม่ของ DLC นี้ได้ ซึ่งมีผู้เล่นบางส่วนไม่พอใจกับฉากนี้ในเกมอย่างมาก ซึ่งนั่นนำมาสู่การถล่มรีวิวใส่ตัวเกมผ่านเว็บไซต์ที่รวบรวมคะแนนรีวิวชื่อดังอย่าง Metacritic ซึ่งล่าสุดตัว DLC ตัวนี้ มีคะแนนจากฝั่งผู้เล่นอยู่เพียง 3.6/10 คะแนน ในขณะที่คะแนนจากฝั่งนักวิจารณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 82/100 คะแนน โดยคำวิจารณ์ฝั่งผู้เล่นจำนวนมากที่วิจารณ์แง่ลบโวยว่าเกมแฝงนัยทางการเมืองและสนับสนุน LGBT ที่มา - Kotaku, Metacritic
# ศาลอุทธรณ์ตัดสินคดี Epic Games vs Apple ยืนคำตัดสินศาลชั้นต้น ระบุ Apple ไม่มีพฤติกรรมผูกขาด ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ของอเมริกา (The Ninth Circuit Court of Appeals) ออกคำตัดสินจากคดีที่ Epic Games ฟ้องแอปเปิล เนื่องจากบัญชีถูกแบนเพราะเกม Fortnite เปิดให้จ่ายเงินโดยตรงผ่านบัตรเครดิตได้ในเกม โดยยืนคำตัดสินของศาลชั้นต้น ที่ระบุว่าแอปเปิลไม่ได้ผูกขาด แต่มีพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน จึงมีคำสั่งให้แอปเปิลต้องเพิ่มช่องทางการจ่ายเงิน ในช่วงศาลชั้นต้น Epic Games ได้ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ เพราะมองว่าตนเป็นฝ่ายแพ้คดี ไม่สามารถให้สถานะผูกขาดกับแอปเปิลได้ แต่คำตัดสินจากศาลอุทธรณ์ก็ยังคงเหมือนกับศาลชั้นต้น ตัวแทนแอปเปิลออกแถลงการณ์ บอกว่าคำตัดสินนี้เป็นการบอกว่าแอปเปิลคือผู้ชนะ โดยเป็นฝ่ายชนะจากข้อกล่าวหา 9 ใน 10 ของ Epic Games และศาลก็ได้ตัดสินแล้วว่าแอปเปิลไม่ได้มีพฤติกรรมผูกขาด ข้อกล่าวหา 1 ข้อ ที่แอปเปิลมองว่าเป็นฝ่ายแพ้ เป็นเรื่องการจ่ายเงินผ่านช่องทางอื่น ซึ่งแอปเปิลจะต้องอนุญาตให้นักพัฒนาแทรกลิงก์เพื่อไปจ่ายเงินในช่องทางอื่นในแอปได้ด้วย ด้าน Tim Sweeney ซีอีโอ Epic Games ก็ทวีตหลังศาลมีคำตัดสิน บอกว่าศาลมองว่า Epic Games ยังให้ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะระบุว่าแอปเปิลมีพฤติกรรมผูกขาด ตามแนวทางของกฎหมายป้องกันการค้าที่ไม่ธรรม หรือ Sherman Act แต่ก็มีข่าวดี เนื่องจากศาลอนุญาตให้นักพัฒนาแอป iOS สามารถจ่ายเงินผ่านช่องทางอื่นในแอปได้ เราก็จะดำเนินการในขั้นตอนถัดไป ที่มา: CNBC
# Google Cloud เปิดตัว Security AI Workbench ใช้โมเดลภาษา PaLM วิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัย กูเกิลเปิดตัวบริการความปลอดภัย Google Cloud Security AI Workbench ที่ใช้โมเดล Generative AI มาช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการตรวจจับภัยคุกคาม โมเดลที่ใช้งานคือ Sec-PaLM เป็นเวอร์ชันพิเศษของ PaLM โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่กูเกิลเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว และเริ่มนำมาใช้งานในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ (ล่าสุดคือเปิด API เชื่อมต่อแอพภายนอก) Sec-PaLM ถูกปรับแต่งมาให้เข้าใจบริบทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ โดยใช้ฐานข้อมูลของทั้งกูเกิลเอง (VirusTotal, Chronicle) และ Mandiant บริษัทวิเคราะห์ความปลอดภัยที่กูเกิลซื้อมาในปี 2022 Security AI Workbench จะทำหน้าที่เป็นจุดแลกเปลี่ยนข้อมูลความปลอดภัยระหว่างบริการต่างๆ ในเครือกูเกิล รวมถึงพาร์ทเนอร์ภายนอก (ที่ระบุชื่อแล้วคือ Accenture) โดยบริการเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น VirusTotal, Google Cloud, Chronicle หรือ Mandiant ก็จะได้อัพเกรดฟีเจอร์ LLM ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย ในแง่ของผู้ใช้งานคงได้ประโยชน์เป็นรายบริการแต่ละตัวไป ว่าใช้อะไรอยู่บ้าง ก่อนหน้านี้ไมโครซอฟท์เพิ่งเปิดตัวบริการคล้ายๆ กันคือ Security Copilot ที่ใช้ GPT-4 รุ่นพิเศษวิเคราะห์การบุกรุก ที่มา - Google
# [ลือ] ไมโครซอฟท์ยอมหยุดแถมพ่วง Teams กับ Office เลี่ยงการสอบสวนผูกขาดจาก EU Financial Times รายงานข่าวว่า ไมโครซอฟท์จะหยุดแถม Teams ไปกับ Office เพื่อแลกกับการที่ EU จะไม่เข้ามาสืบสวนข้อหาผูกขาด หลังจากคำร้องเรียนของคู่แข่ง Slack ตั้งแต่ปี 2020 ตามข่าวบอกว่าผู้ซื้อไลเซนส์ Office จะสามารถเลือกได้ว่าจะเอา Teams ด้วยหรือไม่ แต่ยังไม่มีรายละเอียดเรื่องวิธีการเลือก และคาดว่าจะมีผลเฉพาะพื้นที่ของสหภาพยุโรปเท่านั้น ในอดีตปี 2009 ไมโครซอฟท์เคยมีข้อตกลงลักษณะคล้ายกันกับ EU คือ Windows ที่ให้เลือกเบราว์เซอร์ได้ ซึ่งภายหลังไมโครซอฟท์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง และโดน EU สั่งปรับด้วย ที่มา - Financial Times
# BeReal โซเชียลโพสต์รูปกล้องหน้า-หลังแบบทันที ไม่ให้แต่งรูป ประกาศมีผู้ใช้งานมากกว่า 20 ล้านคน BeReal แอปโซเชียลแนวคิดใหม่ ที่ต้องการให้ผู้ใช้งานแชร์ภาพของตนเองแบบไม่ตกแต่งจัดวาง โดยแอปจะส่งแจ้งเตือนในเวลาที่แตกต่างกันแต่ละวัน ผู้ใช้งานมีเวลา 2 นาที ในการถ่ายรูปแชร์กับกลุ่มเพื่อน โดยภาพจะมีทั้งจากกล้องหน้าและกล้องหลังในเวลาเดียวกัน ประกาศหลักไมล์สำคัญของแอป มีจำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวัน (DAUs - Daily Active Users) มากกว่า 20 ล้านคนทั่วโลกแล้ว BeReal เป็นแอปที่ได้รางวัล App Store Award เมื่อปีที่แล้วในสาขาแอป iPhone แห่งปี แนวคิดการถ่ายภาพสองกล้องหน้าหลังพร้อมกันแล้วโพสต์ทันที ยังถูกแอปโซเชียลรายอื่นนำมาใช้ตามด้วย ทั้ง TikTok และ Instagram อย่างไรก็ตามแนวคิดการโพสต์ในกรอบเวลา 2 นาที ก็อาจทำให้ผู้ใช้หลายคนโพสต์แบบพอผ่าน ๆ เช่น ถ่ายผนัง ถ่ายจอคอมพิวเตอร์ หรือบางคนก็ไม่สนใจ BeReal จึงประกาศทดสอบระบบโบนัส ถ้าผู้ใช้งานโพสต์รูปในกรอบเวลา 2 นาที จะสามารถลงรูปเพิ่มเติมในเวลาที่ต้องการระหว่างวันได้อีกโพสต์ ซึ่งช่วยทำให้ได้รูปที่พึงพอใจมากขึ้น มีผลกับผู้ใช้งานในสหราชอาณาจักรก่อน และจะขยายทั่วโลกภายหลัง ที่มา: Engadget
# Google Authenticator อัพเดตครั้งใหญ่ที่หลายคนรอคอย - ซิงก์ข้อมูลผ่าน Google Account ได้แล้ว Google Authenticator โปรแกรมจัดการรหัส 2FA ประกาศอัพเดตฟีเจอร์สำคัญ ที่ผู้ใช้งานเรียกร้องมานาน นั่นคือสามารถซิงก์ข้อมูลผ่านบัญชีกูเกิลหลักได้แล้ว ที่ผ่านมาผู้ใช้ Google Authenticator หากต้องการย้ายแอปไปที่อุปกรณ์ใหม่ จะต้องส่งออกข้อมูลและสแกนผ่านคิวอาร์โค้ดเท่านั้น ไม่สามารถย้ายด้วยบัญชีกูเกิลแบบบริการตัวอื่นได้ กูเกิลบอกว่า Google Authenticator เป็นโปรแกรมที่ออกมาตั้งแต่ปี 2010 เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถจัดการรหัสผ่านครั้งเดียวของ 2FA แต่ผู้ใช้งานก็พบปัญหาโดยเฉพาะกรณีอุปกรณ์สูญหาย ซึ่งทำให้ข้อมูลใน Google Authenticator ไม่สามารถกู้คืนได้ด้วย จึงเพิ่มความสามารถการซิงก์และกู้ข้อมูลผ่านบัญชีกูเกิลได้เข้ามา กูเกิลบอกว่าบริษัทยังผลักดันแนวทางการยืนยันตัวตนในรูปแบบอื่นด้วย ทั้ง Google Password Manager ที่ช่วยให้ล็อกอินได้อย่างรวดเร็วใน Android และ Chrome ไปจนถึงวิธียืนยันตัวตนด้วย Passkey ตามมาตรฐานของ FIDO Alliance นอกจากนี้กูเกิลยังเปลี่ยนโลโก้ของแอป Google Authenticator เป็นแบบใหม่ในแอปเวอร์ชันล่าสุดที่เพิ่งออกอัพเดตทั้งใน iOS และ Android ด้วย ที่มา: กูเกิล
# เปรียบเทียบการใช้ Bard และ ChatGPT เขียนโปรแกรม ปัญญาประดิษฐ์ด้านภาษาอย่าง ChatGPT กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูง และกูเกิลก็เปิดตัว Bard มาได้ระยะหนึ่งแล้ว แม้จะเป็นบริการทดสอบวงปิด (ต้องขอใช้งานล่วงหน้า) แต่ตอนนี้คิวการใช้งานก็ใช้งานได้แทบทันที ทำให้หลายคนอาจจะใช้ปัญญาประดิษฐ์สองตัวคู่กันเสมอๆ การใช้งานมีหลายด้าน แต่ด้านหนึ่งที่หลายคนอาจจะใช้งานกัน คือการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเขียนโปรแกรม โดยการใช้แชตบอตเช่น Bard และ ChatGPT นั้นมีข้อดีเหนือกว่า การใช้ปัญญาประดิษฐ์เขียนโค้ดโดยตรง เพราะเรามักสามารถกำหนดความต้องการ รอผลลัพธ์ และสามารถสั่งแก้ไขเพิ่มเติม จนกว่าจะได้โปรแกรมที่เราต้องการ เราสามารถขอสคริปต์หรือโครงร่างโปรแกรมอย่างง่าย ที่เราต้องการใช้ไลบรารีหรือเฟรมเวิร์คใหม่ๆ โดยผลที่ได้ตรงตามต้องการทันที ข้อดีสำคัญการใช้แชตบอทในการเขียนโปรแกรมอีกอย่าง คือ แชตบอทมักมีคำอธิบายโค้ดที่มันสร้างขึ้นมาให้ด้วย ทำให้ประหยัดเวลาที่จะอ่านเอกสารที่เกี่ยวข้องซึ่งหลายครั้งอยู่กระจัดกระจายกันไป ผมตั้งโจทย์การเขียนโปรแกรมเป็นเว็บอันหนึ่ง โดยต้องการให้แชตบอทเขียน API ที่คืนค่าเป็น JSON จากนั้นจึงเพิ่มเงื่อนไขเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ เช่น เพิ่มคอนฟิกสำหรับเว็บผ่านทาง environment variable ให้เพิ่ม basic authentication ลงไปยัง route ทำให้ path หนึ่งของเว็บเป็นการ proxy ไปยังเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง filter HTTP Header ที่ได้จากเซิร์ฟเวอร์ต้นทาง ผมใช้ทั้งสองตัวในเวอร์ชั่นฟรี ดังนั้นจึงไม่ได้ใช้ GPT-4 คำสั่งแรก โปรแกรมอย่างง่าย ทั้ง Bard และ ChatGPT ได้รับ คือ Write a flask application with a route /blognone_test which will return json {"msg": "Hello Blognone"} ทั้งสองตัวสามารถเขียนโปรแกรมได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ โดยทั้งสองตัวพยายามอธิบายวิธีการรันไว้ด้วย ความพิเศษสักหน่อยของ Bard คือมันพยายามบอกด้วยว่าเมื่อรันและเข้าเว็บด้วยเบราว์เซอร์แล้วจะเห็นผลอย่างไร from flask import Flask, jsonify app = Flask(__name__) @app.route("/blognone_test") def blognone_test(): return jsonify({"msg": "Hello Blognone"}) if __name__ == "__main__": app.run(debug=True) คำสั่งสอง เพิ่มคอนฟิก คำสั่งต่อมาขอให้เปลี่ยน `/blognone_test เป็นค่าที่ได้รับจาก environment variable ชื่อว่า API_PATH คำสั่งแม้ว่าทั้งสองตัวจะตอบได้คล้ายกันมาก แต่ Bard ก็เริ่มแสดงอาการ ด้วยการลืม import os ไปเสียเฉยๆ ทำให้โค้ดรันไม่ได้ แต่เมื่อนำ error บรรทัดสุดท้ายไปแจ้ง Bard มันก็ตอบวิธีแก้ไขได้อย่างถูกต้อง คำสั่งสาม เพิ่ม Basic Authentication คำสั่งต่อมาสั่งเพียงสั้นๆ ว่า Add basic authentication เพื่อให้แชตบอตเพิ่มการล็อกอินก่อนจะเรียก API คำสั่งนี้ Bard เลือกใช้ flask_httpauth ขณะที่ ChatGPT เลือกใช้ flask_basicauth แต่โดยรวมโค้ดทั้งสองชุดสามารถทำงานได้ตามคำสั่ง แต่โค้ดของ Bard ยังคงลืม import os แม้เพิ่มสั่งแก้ไขไป และโค้ดของ ChatGPT นั้นไม่ใส่คอนฟิกที่สั่งไปในข้อที่แล้วมาด้วย คำสั่งสี่ ทำตัวเป็นพรอกซี่ไปยัง httpbin.org คำสั่งที่สี่ขอให้แก้ไขโค้ด Make blognone_test proxy the request to https://httpbin.org/anything เพื่อส่งต่อ request ไปยัง httpbin.org Bard ตีความการทำตัวเป็น proxy ได้แม่นกว่า ด้วยการพยายามส่งค่า header ทั้งหมดไปยังเซิร์ฟเวอร์ต้นทางด้วย อย่างไรก็ดี โค้ดที่สร้างออกมานั้นกลับใช้ออปเจกต์ request ของ flask ผิดพลาด Bard พยายาม copy ด้วยฟังก์ชั่น copy() ตรงๆ แต่กลับใช้งานไม่ได้ และเมื่อนำ error ไปวาง Bard ก็พยายามเปลี่ยนไปใช้ to_dict() ซึ่งรันไม่ได้เช่นกัน แต่เมื่อนำ error ไปวางรอบที่สอง Bard ก็แก้ไขจนโค้ดทำงานได้ ChatGPT สร้างโค้ดที่ไม่ได้ส่ง header ไปยัง httpbin แต่กลับสร้าง header ใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ดีมันส่ง arguments ไปด้วย ทำให้อาจจะถือว่าชนะบางส่วน ChatGPT ยังดีกว่า แต่ Bard ตามมาใกล้แล้ว การทดสอบครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้งาน โดยรวมแล้วประสบการณ์มักคล้ายๆ แบบนี้ Bard มีแนวโน้มว่าจะสร้างโค้ดผิดพลาดจนถึงกับรันไม่ได้อยู่เสมอๆ หากสั่งคำสั่งซับซ้อนไปบ้าง และ ChatGPT นั้นสามารถสร้างโค้ดที่ "รันได้" ตามคำสั่งที่ซับซ้อนมากกว่าพอสมควร แม้ว่าหากใส่คำสั่งที่ซับซ้อนเกินไปก็จะมีความผิดพลาด หรือบางครั้งก็แก้ไขโค้ดโดยทิ้งบางฟีเจอร์ที่สั่งไว้ก่อนหน้าออกไปเสียเฉยๆ อาการหลอน (hallucination) ยังคงพบได้เรื่อยๆ ในแชตบอตทั้งสองตัว เช่น หากถามถึง Flask extensions โดยขอจำนวนดาวใน GitHub ด้วย Bard ก็จะแสดงตารางสวยงาม แต่ตัวเลขกลับเกินกว่าจำนวนดาวจริงๆ ของแต่ละโครงการไปมาก ChatGPT ตอบได้ใกล้เคียงกว่าแต่ก็เป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2021 โดยทั่วไปแล้ว ทั้งสองตัวสามารถใช้งานช่วยเหลือระหว่างการเขียนโปรแกรมได้ โดยเฉพาะการเรียนเฟรมเวิร์คหรือภาษาใหม่ๆ ที่ผู้เขียนยังไม่ชินว่ากระบวนการแต่ละอย่างทำอย่างไรบ้าง หากเป็นตัวอย่างที่ง่ายพอก็มักจะได้คำตอบที่ตรงประเด็นพร้อมคำอธิบายที่ชัดเจน แต่ควรตระหนักว่าหากคำสั่งซับซ้อนขึ้น หรือหากเฟรมเวิร์คที่ใช้ไม่เป็นที่นิยมนัก แชตบอตทั้งสองตัวก็มักจะทำงานผิดพลาดได้ง่ายขึ้น โค้ดที่ได้จากการทดสอบนี้อยู่ใน GitHub Gist
# (แก้ไขแล้ว) App Store พบปัญหา ไม่สามารถทำคำสั่งซื้อได้ กระทบผู้ใช้บางส่วน แอปเปิลรายงานปัญหาบริการ App Store โดยบอกว่าผู้ใช้งานอาจไม่สามารถทำคำสั่งซื้อได้ มีผลกระทบทั้งใน App Store, iTunes Store, Mac App Store และ Apple Books ปัญหานี้ยังอาจกระทบการทำคำสั่งซื้อ Subscription ด้วย ทั้งนี้การดาวน์โหลดแอปฟรีไม่พบรายงานปัญหา ในหน้าสถานะระบบระบุว่าปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 14:49น. วันนี้ ตามเวลาในประเทศไทย และจนถึงตอนนี้ก็ยังพบปัญหาอยู่ อัพเดต: ระบบเป็นปกติตั้งแต่ 04:19น. วันที่ 25 เมษายน แอปเปิลบอกว่าปัญหานี้เป็นปัญหาประสิทธิภาพการใช้งาน กระทบกับผู้ใช้งานบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด ที่มา: Cult of Mac
# KBTG เผยวิสัยทัศน์ "AI จะไม่มาแทนคน แต่คนที่รู้จักใช้ AI จะทำงานแทนคนอื่น" ในงาน The Age of AI คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG บรรยายในงาน The Age of AI: Augmented Intelligence นำเสนอแนวทางการยกระดับวงการปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย และสิ่งที่ต้องระมัดระวังต่อการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ต่อไปในอนาคต โดยในปี 2023 นี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งยุคปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง และโลกกำลังเปลี่ยนจากยุค Mobile First ไปยังยุค AI First คุณกระทิงพูดถึงความกังวลว่าปัญญาประดิษฐ์ว่าจะมาแทนคนทำงาน โดยระบุว่าความกังวลนี้มานานกว่า 200 ปีแล้ว และทุกครั้งก็เป็นความกังวลคล้ายๆ กันว่าเครื่องจักรจะทำให้คนตกงาน แต่เมื่อเรามองพัฒนาการของเทคโนโลยีแต่ละรอบ เรากลับพบว่าเครื่องจักรไม่ได้แทนคนไปเสียหมด แต่คนทำงานกลับมีผลิตภาพ (Productivity) สูงขึ้นอย่างมาก ในมุมมองของคุณกระทิง AI ที่กำลังเข้ามาในปีนี้ก็ไม่ได้มาแทนคนทำงานเช่นกัน แต่คนทำงานที่รู้จักใช้ AI เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง จะสามารถไปแทนคนทำงานคนอื่นๆ ได้ โดยจุดที่ทำให้มนุษยังเป็นส่วนสำคัญอยู่ คือ ความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ (Humanity) และความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรหรือซอฟต์แวร์เข้ามาทดแทนได้ แนวคิดนี้ทำให้ KBTG มองว่าจำเป็นต้องทำให้คนไทยเข้าใจ AI ให้มากขึ้น เพื่อให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจ และไม่ตกรถไฟเมื่อ AI เข้ามาในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ AI ทำงานร่วมกับมนุษย์ อาจจะเรียกว่า Augmented Intelligence ที่ใช้ความฉลาดของ AI ร่วมกับความฉลาดของมนุษย์ ที่การทดสอบหลายต่อหลายครั้งแสดงให้เห็นว่าสามารถทำงานได้ดีกว่าการใช้ AI อย่างเดียว หรือให้มนุษย์ทำงานโดยไม่มี AI ช่วย สำหรับองค์ประกอบที่เพื่อสร้าง Thai AI Ecosystem นั้น คุณกระทิงระบุว่ามี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ที่เรามีใช้งานหรือหาซื้อมาได้, ข้อมูลที่มากขึ้นเรื่อยๆ, ความต้องการของผู้ใช้, โครงสร้างพื้นฐาน เช่น การโทรคมนาคมต่างๆ, และส่วนที่สำคัญที่สุดคือบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจใน AI และเป็นจุดที่ขาดกันทั่วโลก ที่ผ่านมา KBTG ทำงานเพื่อสร้างบุคคลากรมาอย่างต่อเนื่องผ่านทางโครงการ KBTG KAMPUS ที่ฝึกอบรมความรู้ด้านต่างๆ พร้อมกับการทำงานวิจ้ยระดับลึก สำหรับงานวิจัยของ KBTG ในตอนนี้ก็มีทั้งส่วนที่พัฒนาไปใช้งานจริงแล้ว และส่วนที่กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาอยู่ เช่น เบื้องหลังของ Chatbot ที่ ธนาคารกสิกรไทยใช้สื่อสารกับลูกค้าในช่องทางต่างๆ นั้นมีเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP) อยู่เบื้องหลัง ทำให้สามารถตอบปัญหาได้อย่างรวดเร็ว สามารถประหยัดเวลาการใช้งานของลูกค้าไปกว่า 500,000 ชั่วโมง งานวิจัยที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาที่นำเสนอในงาน The Age of AI ครั้งนี้ ทาง KBTG แสดงโครงการ Future You ที่เป็นแพลตฟอร์ม AI เพื่อสร้างตัวตนของผู้ใช้ในอนาคต เช่น ตัวเราเองเมื่ออายุถึง 60 ปีขึ้นมา และเปิดโอกาสให้เราคุยกับตัวเอง ตัวปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างความทรงจำสังเคราะห์ว่าผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง Future You เป็นการพัฒนาจากทฤษฎีทางจิตวิทยาว่าหากเรามีความเชื่อมโยงกับตัวเองในอนาคต เราก็มีพฤติกรรมในเชิงบวก เช่น ออมเงิน, ตั้งใจเรียน, หรือรักษาสุขภาพ ผู้เข้าร่วมโครงการ Future You ยังสามารถลดความรู้สึกแง่ลบกับตัวเองลงได้ มีแรงบันดาลใจในการทำเป้าหมายต่างๆ ที่ตั้งไว้ให้ประสบความสำเร็จ แต่สำหรับการสร้างปัญญาประดิษฐ์ภาษาไทยนั้น ทีมนักวิจัยของ KBTG ที่ทำงานวิจัยร่วมกับ MIT Media Lab เริ่มจากโมเดลในกลุ่ม GPT แต่ก็พบว่ามีเงื่อนไข 3 ด้านเพื่อให้ AI ทำงานในภาษาไทยได้ดี ได้แก่ Language Specific Knowledge: ตัวโมเดลปัญญาประดิษฐ์มีความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรม เช่น คำลงท้ายประโยคในภาษาไทย Domain Specific Knowledge: ความเข้าใจในความรู้เฉพาะด้าน เช่น ความรู้ด้านการเงินธนาคาร Human-Centered Knowledge: ความเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์และช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ใช้ได้ แนวทางนี้ทำให้ทีมงานเรียกสถาปัตยกรรมของปัญญาประดิษฐ์นี้ว่า Knowledge-GPT หรือ K-GPT สำหรับบริการที่ทีมวิจัยสร้างออกมาจาก K-GPT นี้มีตัวแรกคือ คู่คิด ซึ่งอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา(Proof of Cencept) โดยเปิดให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยกับ AI สองตัวที่ชื่อว่า คะน้าและคชา โดย AI ทั้งสองตัวจะมีมุมมองที่ต่างกัน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ที่พูดคุยกับ AI ได้รับมุมมองที่กว้างขึ้น แม้มุมมองจะต่างกัน แต่ AI จะอ้างอิงข้อมูลที่เชื่อถือได้ แนวทางการสร้าง AI สองตัวคู่กันยังช่วยแก้ปัญหาอคติ (bias) ที่ AI อาจจะเรียนรู้ข้อมูลและมีแนวโน้มจะแนะนำด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว การสร้าง AI สองตัวสามารถแนะนำผู้ใช้ในมุมมองที่ต่างกัน ทีมวิจัยทำให้คะน้ามีพฤติกรรมกล้าลอง ขณะที่คชาจะระมัดระวัง การสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่มีพฤติกรรมต่างกันอาศัยการสร้างความทรงจำสังเคราะห์ ที่ทีมงานได้ประสบการณ์มาจากการสร้างโครงการ Future You แต่ AI ทั้งสองตัวก็เข้าถึงข้อเท็จจริงชุดเดียวกัน และข้อความที่ตอบออกมาก็ผ่านตัวกรองเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทในประเทศไทยก่อนแสดงผลให้กับผู้ใช้ ตัวอย่างคำถามทั่วไป เช่น ทำไมต้องออมเงิน คชาจะตอบถึงข้อดีของการออมเงินว่าเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิต ขณะที่คะน้าจะมองว่าการออมเงินเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่อาจจะต้องใช้เงินในอนาคตเช่นการไปท่องเที่ยว การทำงานด้าน AI มากๆ ยังทำให้ KBTG ร่วมกับ MIT Media Lab และองค์กรต่างๆ เช่น NECTEC, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หารือถึงความเป็นไปได้ในการใช้งาน AI ในอนาคตที่คนในรุ่นต่อไป สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยออกมามาเป็น Thai AI-Augmented Literacy Guideline ที่วางแนวทางการใช้งาน AI ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยเตรียมออกร่างแรกภายในเดือนมิถุนายนี้ อีกด้านหนึ่ง คุณกระทิงก็พูดถึงการใช้งาน AI โดย KBTG ตระหนักถึงประเด็นทางจริยธรรม และประกาศว่า KBTG จะวางหลักการทางจริยธรรมในการใช้ AI และใช้งานกับทุกสินค้าและบริการของ KBTG พร้อมกับจะสนับสนุนคอร์สออนไลน์เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ประเด็นทางจริยธรรมกับการใช้งาน AI ได้กว้างขวางขึ้น งานครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า KBTG ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI อย่างเต็มตัว ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ โดยเชิญชวนทุกคนสมัครทดลองใช้งานเทคโนโลยี AI ของ KBTG เช่น Future You และคู่คิดได้แล้ว หรือหากข้อการพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดกับเทคโนโลยีของ KBTG ก็สามารถติดต่อได้ที่ [email protected]
# Twitter เอาเครื่องหมายติ๊กถูก Verified กลับมาแล้ว แต่เฉพาะบัญชีที่มีคนตามเกินล้าน จากดราม่า Twitter เอาเครื่องหมายติ๊กถูกของคนดังออก หลังไม่ยอมจ่ายเงินซื้อ Blue แต่กลายเป็นว่าคนดังบางคนกลับได้ Verified กลับคืนมา ด้วยเหตุผลว่า Elon Musk ควักเงิน 8 ดอลลาร์จ่ายแทนให้เอง เรื่องราวยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก เมื่อ Twitter นำเครื่องหมาย Verified กลับคืนมาให้ซะดื้อๆ แต่ด้วยเงื่อนไขว่าต้องมีผู้ติดตามเกิน 1 ล้านคนแล้วเท่านั้น ตัวอย่างคนดังที่ได้ติ๊กถูกคืนมาคือ Ian McKellen ที่บอกว่าจู่ๆ เครื่องหมายถูกก็กลับมาได้อย่างลึกลับ และเขายืนยันว่าไม่ได้จ่ายเงินซื้อ Blue ส่วน Neil deGrasse Tyson นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ก็โพสต์ว่าการที่เครื่องหมายถูกกลับมา แปลว่าจักรวาลของเรายังมีปริศนาให้ค้นหาอีกมาก ที่มา - Neowin
# ออสเตรเลียพบจำนวนคดีแอปดูดเงินปี 2022 ความเสียหายรวมกว่า 5,200 ล้านบาท คนร้ายหลอกซ้ำว่าหาเงินคืนได้ กรรมการคุ้มครองผู้บริโภคออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission - ACCC) รายงานถึงเหตุการณ์หลอกลวงเงินในปี 2022 ครอบคลุมความเสียหายจากการล่อลวงทุกประเภท ตั้งแต่การหลอกลงทุน, หลอกให้รัก (แล้วโอนเงินให้), ไปจนถึงการหลอกติดตั้งแอปเพื่อให้คนร้ายเข้ามาดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร พบว่าความเสียหายยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยอดความเสียหายรวม กว่า 3,100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย รวมกว่า 500,000 คดี ประมาณครึ่งหนึ่งของยอดเสียหายเป็นการหลอกให้ลงทุน ยอดเสียหายสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และ remote access scam ที่คนร้ายเข้าควบคุมอุปกรณ์หรือพีซีของเหยื่อคิดเป็นความเสียหาย 229 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 5,200 ล้านบาท ACCC พบว่า 4 แนวรูปแบบการหลอกลวงการลงทุนที่มากขึ้น ได้แก่ หลอกลงทุนพันธบัตร: คนร้ายหลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อเหยื่อว่าสามารถซื้อพันธบัตรความเสี่ยงต่ำได้ คนร้ายหลอกได้แนบเนียนขึ้น เว็บไซต์และเอกสารน่าเชื่อถือ รวมถึงไปสร้างรีวิวปลอมตามแพลตฟอร์มต่างๆ หลอกซื้อหุ้น IPO ปลอม: คนร้ายปลอมเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทเพื่อหลอกว่าบริษัทกำลังเสนอขายหุ้นให้แก่บุคคลทั่วไป (IPO) โดยมักหลอกลวงเป็นบริษัทดัง หลายครั้งก็ตามน้ำไปกับการ IPO จริง หลอกให้รักแล้วชวนลงทุน: คนร้ายสานสัมพันธ์กับเหยื่อเป็นเวลานาน แล้วค่อยๆ ทำให้เชื่อว่าคนร้ายประสบความสำเร็จในการลงทุน จากนั้นจึงสอนให้เหยื่อไปลงทุนในแพลตฟอร์มลงทุนปลอมๆ บริการตามเงินคืนหลังถูกหลอก: เป็นแนวทางใหม่ที่คนร้ายจะหลอกเหยื่อที่เคยโดนหลอกแล้วซ้ำ คนร้ายจะติดต่อเหยื่อแล้วอ้างว่าติดตามเงินมาคืนได้ จากนั้นก็เก็บค่าธรรมเนียมแพงๆ เฉพาะ remote access scam หรือแอปดูดเงิน พบรายงาน 11,792 คดี ลดลง 24.9% จากปี 2021 แต่ความเสียหายกลับเพิ่มขึ้นเพราะ ยอดเสียหายแต่ละคดีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 32.6% ผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นหญิงสูงอายุที่ถูกหลอกว่าเจ้าหน้าที่บริษัทอินเทอร์เน็ตต้องการเข้ามาแก้ไขอินเทอร์เน็ตจึงเปิดให้คนร้ายเข้ามายังคอมพิวเตอร์ ที่มา - ACCC
# รีวิว Kindle Scribe - Kindle E-Ink จอใหญ่รุ่นแรกที่ใช้ปากกาได้ ถ้าจะพูดถึงเครื่องอ่านอีบุ๊ก หลายคนน่าจะนึกถึงเครื่องตระกูลคินเดิลของอเมซอน โดยในปัจจุบันเครื่องอ่านอีบุ๊กของอเมซอนแบ่งออกเป็น 4 ตระกูล เรียงตามลำดับราคาไล่ตั้งแต่ รุ่น Kindle (basic), Paperwhite, Oasis และรุ่นพี่ใหญ่สุด Scribe ที่มีหน้าจอกว้างถึง 10.2 นิ้ว ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดที่อเมซอนเคยมีมา ผมเคยใช้ Kindle DX จอใหญ่ 9.7 นิ้ว มาก่อนและยังติดใจการใช้งาน E Ink จอใหญ่ๆอยู่ พอดีเร็วๆนี้ได้ซื้อ Kindle Scribe มาใช้งาน จึงจะขอรีวิวการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย เผื่อใครจะได้เห็นภาพรวมการใช้งานได้มากขึ้น ออกตัวก่อนว่า ภาพถ่ายทั้งหมดใช้กล้องมือถือถ่าย ภาพที่ได้อาจจะมีเรื่อง white balance ได้ อย่างพื้นหลังเป็น Miiiw Desk Pad สีน้ำตาล แผ่นเดียวไม่มีเปลี่ยนครับ คำเตือน ภาพประกอบเยอะครับ รุ่นย่อย ก่อนจะพาไปถึงเนื้อหา ต้องบอกข้อมูลเบื้องต้นสำหรับคนที่จะ "ลั่น" ว่าเจ้า Kindle Scribe มีขาย 4 แบบ แยกตามฟีเจอร์ของปากกาและความจุ รุ่นพื้นฐาน (Basic Pen) - รองรับการขีดเขียน มีความจุเดียวที่ 16 GB รุ่นพรีเมี่ยม (Premium Pen) - ทำทุกอย่างที่รุ่นพื้นฐานทำได้ เสริมด้วยการมีปุ่มลัดที่ด้ามสำหรับสลับโหมดปากกา และปุ่มยางลบที่ท้ายปากกา มีให้เลือกสามความจุ 16, 32, และ 64 GB สำหรับคนที่เคยใช้งานคินเดิลมาก่อน อาจจะสงสัยในแง่โฆษณา ขอบอกว่า Kindle Scribe เป็นเครื่องตระกูลเดียวในปัจจุบันที่ไม่มีโฆษณา ทำให้สามารถเปิดใช้ฟีเจอร์ Display Cover เพื่อแสดงปกหนังสือที่กำลังอ่านในหน้าพักจอ (lock screen/sleep screen) ได้ทุกเครื่องทันทีที่เริ่มเปิดใช้งาน ไม่ต้องไปจ่ายเงินหรือติดต่อขอให้ customer service ปลดโฆษณาให้ก่อน ในกล่องนอกจากตัวเครื่อง (ไม่ได้อยู่ในรูป) ยังมีสาย USB-C to USB-A ใช้ได้ทั้งโอนไฟล์และชาร์จ, ปากกาในห่อกระดาษ ยังจะมาพร้อมกล่องสีฟ้าที่บรรจุ "หัวปากกา" อะไหล่สำหรับเปลี่ยนอีก 5 หัวพร้อมแหนบวงแหวน อย่าได้ลืมทีเดียว ตัวเครื่อง ลักษณะเด่นของ Kindle Scribe คือหน้าจอใหญ่มากขนาด 10.2 นิ้ว ด้านหน้าแบนราบจากขอบถึงจอภาพ (flush display) ด้านหน้าไม่มีโลโก้หรือปุ่มใดๆ ให้ความรู้สึกเรียบหรู ดูพรีเมี่ยม กรอบรอบจอภาพด้านซ้ายจะหนากว่าด้านขวา กว้างมากพอสำหรับถืออยู่ในอุ้งมือโดยที่มือไม่บังจอ หรือ แตะจอภาพ ผิวหน้าจอเป็นพลาสติกผิวด้านลดแสงสะท้อน (glare-free) เทียบกับด้านขวา iPad ที่ติดฟิลม์กระจกใส กรอบโลหะรอบเครื่องดูพรีเมี่ยม ลบเหลี่ยมคมเรียบร้อยไม่บาดมือ ถ้าสังเกตดีๆ จะพบรอยต่อระหว่างกรอบเครื่องกับชิ้นจอด้านหน้า กว้างประมาณ 0.2-0.3 mm ซึ่งเท่าที่เช็กในฟอรัมต่างประเทศเจอกันหมด เชื่อว่าเป็นความตั้งใจในการออกแบบเพื่อช่วยลดความเสียหายเวลาเครื่องตกกระทบ (ฟีเจอร์ ?!?) ด้านล่าง ด้านบน เรียบไร้ช่องเสียบหรือปุ่มใดๆ ด้านซ้าย มีปุ่มเปิด/ปิด ช่องชาร์จ USB-C และไฟแสดงสถานะการชาร์จ ด้านหลังบอดี้เป็นอะลูมิเนียมอโนไดซ์ทั้งชิ้น มีมุมทั้งสี่จุดมีปุ่มยางกันลื่นที่จะช่วยยกหลังเครื่องให้ลอยเหนือพื้นโต๊ะเล็กน้อย ช่วยลดรอยขีดข่วนเวลาวางกับพื้นโต๊ะ และเพิ่มการยึดเกาะเวลาเขียน เพื่อให้เห็นขนาด จึงเอาพี่ๆน้องๆ ยืนเทียบกัน ไล่จาก Kindle Voyage, Kindle Oasis 3 และ Kindle Scribe ข้างล่างเป็นรูปคู่ เทียบรุ่นใหญ่ Kindle DX Graphite กับ Kindle Scribe ในเรื่องน้ำหนัก Kindle Scribe จัดเป็นเครื่องที่หนักที่สุดในกลุ่มคินเดิลที่วางขายในปัจจุบัน น้ำหนักจะไล่ๆ กับ iPad Air 5 แต่จะเบากว่าเล็กน้อย เนื่องจากตัวเครื่องเปล่าๆมีน้ำหนักพอสมควร การถือเครื่องด้วยมือข้างเดียวเป็นเวลานานอาจจะไม่ใช่เรื่องสนุกเท่าไรนัก การถือมือเดียวนอนอ่านเป็นอะไรที่ไม่แนะนำ อาจจะต้องถือสองมือ วางบนโต๊ะ หรือหาแท่นวาง รวมถึงอาจจะต้องระมัดระวังพฤติกรรมการหยิบถือเครื่องคินเดิล เพราะตัวเครื่อง Kindle Scribe เปล่าๆ แบนและเรียบลื่น การหยิบโดยใช้สามนิ้วจีบเครื่องจากแท่นอาจจะกลายเป็นการทำ drop-test เครื่องโดยไม่ได้ตั้งใจได้ การชาร์จ ตัวเครื่องใช้พอร์ต USB-C และในกล่องแถมสาย USB-A to USB-C มาให้ด้วย แต่ไม่มี wall charger มาให้แล้วตามสมัยนิยม อันที่จริงก็ถือว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะปัจจุบันอุปกรณ์รอบตัวใช้สาย USB-C กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว เราสามารถใช้ laptop charger เสียบชาร์จได้เลย ลดการพกสายไปอีกหนึ่งเส้น ตัวเครื่องรองรับ USB-C PD 1.0 สามารถดึงกระแสได้สูงสุด 10 W (5V/2A) แบตให้มาถึง 3,000 mAh จากเว็บไซต์ระบุว่าสามารถอ่านได้ราว 42 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งถือว่าอึดมากที่สุดในกลุ่มคินเดิลด้วยกันทั้งหมด หรือถ้าใช้เขียน ก็จะเขียนต่อเนื่องได้ประมาณ 11 ชั่วโมง ปากกา หน้าจอ Kindle Scribe ใช้เทคโนโลยี EMR ของ Wacom ทำใหปากกาของ Kindle Scribe ใช้งานได้โดยไม่ต้องชาร์จไฟ มีน้ำหนักเบา หัวปากกาลักษณะเป็นหัวกำมะหยี่แข็ง (hard felt nip) เวลาเขียนบนจอก็ให้ความรู้สึกฝืดประมาณหนึ่ง แต่ไม่ถึงขนาดเขียนบนกระดาษจริงๆ ด้ามปากกาเรียบแต่ไม่ลื่นเหมือนเคลือบซิลิโคนไว้ให้สัมผัสที่ดี รวมถึงช่วยให้ไม่ค่อยกลิ้งเมื่อวางบนพื้นเรียบลื่นอย่างโต๊ะกระจก ส่วนท้ายปากกาตรงปุ่มยางลบเป็นพลาสติกแข็งเรียบลื่น ทำหน้าที่เป็นยางลบ เพิ่มความสะดวกในการขีดเขียน แต่สำหรับปากการุ่นพื้นฐานจะไม่มีปุ่มที่ด้าม รวมถึงท้ายปากกาจะตัดเรียบไปเลยไม่มีปุ่มยางลบแบบนี้ ด้านหลังกลมเรียบ ที่ท้ายด้ามมีโลโก้ยิ้มของอเมซอน เมื่อเวลาไม่ใช้งาน เราสามารถเอาด้านเรียบปากกาติดข้างตัวเครื่อง ตัวแม่เหล็กมีความแรงพอสมควร เรียกว่าจับเครื่องสลัดยังไงปากกาก็จะไม่ร่วงหลุดออกจากเครื่อง สิ่งที่ควรระวังคือ แม้ว่าแม่เหล็กจะแรงจนสลัดไม่หลุด แต่ด้วยความมีแม่เหล็กยึดติดเพียงจุดเดียว ถ้ามีการบิด ปากกาก็อาจจะหลุดจากตัวเครื่องได้ง่ายขึ้น ใครที่จะถือเครื่องเปล่าหรือใช้เคสไม่มีช่องใส่หรือสายรัด อาจจะต้องระวังในจุดนี้ หน้าจอ จุดเด่น Kindle Scribe เป็นเครื่องอ่านอีบุ๊กจอใหญ่ถึง 10.1" ความละเอียด 300 DPI ทำให้มีพื้นที่การแสดงผลเพิ่มขึ้น สามารถแสดงเนื้อหาในหน้าได้เยอะขึ้น ไม่ต้องพลิกหน้าบ่อยๆ หรือสามารถปรับฟอนต์ให้ตัวใหญ่ขึ้นโดยไม่ลดจำนวนคำที่อ่านได้ในแต่ละหน้า Screen Contrast เพื่อเป็นการเทียบความขาวของจอภาพ ภาพด้านล่างคือ Kindle Voyage, Kindle Oasis 3 และ Kindle Scribe ถ่ายขณะที่อยู่ในโหมดพักหน้าจอ ไม่เปิดแสง front light ความสว่างในห้องราว 150 lux ถ้าดูโดยรวมๆ Scribe ทำได้ใกล้เคียงกับ Oasis 3 อาจจะขาวน้อยกว่านิดหน่อย แต่ส่วนมืด Scribe ทำได้ดีพอๆกับ Oasis 3 Front light ฟีเจอร์ front light ของคินเดิล ทำให้เราสามารถอ่านได้ในที่แสงน้อยๆได้โดยไม่ต้องใช้แสงไฟภายนอกเพื่อช่วยการอ่าน การทำงานคือจะใช้ LED ฉายแสงในชั้นนำแสงใต้จอภาพ สะท้อนชั้นเม็ดสีเข้าตา ไม่มีแสงบาดตา (glare) รวมถึงการใช้ front light ทำให้พื้นหลังที่ดูเทาๆให้ดูขาวขึ้น ใน Kindle Scribe ก็ยังทำได้ดี ควบคุมความสว่างได้สม่ำเสมอทั่วทั้งจอภาพ ไม่มีแสงรั่ว ไม่เห็นแถบเงามืด ตัว Kindle Scribe มีรองรับ Auto Brightness ทำงานปรับความสว่างจออัตโนมัติตามสภาพแสง แต่เราสามารถ "สอน" ให้มันปรับความสว่างได้ตามความชอบของเรา โดยระบบจะอาศัยเซนเซอร์วัดแสงสองตัวใต้ขอบเครื่องด้านซ้าย (ด้านขอบหนา) ตำแหน่งประมาณ 2 นิ้ว ใต้/เหนือ กรอบจอภาพ ดังนั้นถ้าใครจะติด skin แบบปิดทึบทั้งอันอาจจะทำให้ฟีเจอร์นี้ไม่ทำงาน ซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์รุ่นที่ใช้ในการรีวิวคือรุ่น 5.16.1.2.1 ที่ปล่อยเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยจะรีวิวบนซอฟต์แวร์จากโรงงาน ไม่มีการปรับแต่งคอนฟิกไฟล์หรือแฮกเสริมใดๆ และทดสอบในช่วง กลาง-ปลาย เมษายน 2023 สำหรับคนที่เคยใช้อุปกรณ์คินเดิลในช่วงสองสามปี น่าจะคุ้นเคยเวลามาใช้งาน Kindle Scribe เพราะอเมซอนใช้ซอฟต์แวร์รุ่นเดียวกันแต่ปรับแต่งนิดหน่อย ฟีเจอร์และ UI หลายส่วนจะคล้ายกัน ดังนั้นจะพยายามเน้นฟีเจอร์ที่มีอยู่บน Scribe เป็นหลัก Home สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ จำนวน thumbnail หน้าปกเอกสารที่จากเดิมแสดงได้ 6 เล่ม ก็กลายเป็น 12 เล่ม แท็บในหน้าโฮมที่ท้ายหน้า มีส่วนแตกต่างจากรุ่นอื่นๆ คือ Notebooks และ More Notebooks - สมุดบันทึกที่เราใช้ขีดเขียน ซึ่งแถบนี้มีเฉพาะบนเครื่อง Kindle Scribe เท่านั้น สุดท้าย More ที่ทดแทนส่วน Menu (...) เดิมที่ถูกแทนที่ด้วยไอคอน Create notebook พอกดแท็บ More จะแสดงรายการที่ยกลงมาจากเดิมเกือบทั้งหมด Your Reading Lists, Goodreads, Web Browser, Settings, Legal (แต่ Create a Collection หายไป ไม่อยู่ตรงนี้) ในการีวิว ขอข้ามไปที่ฟีเจอร์ที่คิดว่าดูตื่นตาตื่นใจที่สุดกับการใช้ปากกา นั่นคือการจดบันทึก การจดบันทึก จุดขายของ Kindle Scribe คือการจดบันทึก เพราะขายเครื่องคู่กับปากกา ในวิดีโอโปรโมทมีการขับเน้นภาพการจดบันทึกเป็นหลัก ถึงขนาดปรับ UI เพิ่มแท็บ Notebooks ใหม่ในหน้าโฮมให้โดยเฉพาะ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย แต่มันจะทำได้ดีแค่ไหน เราไปดูกัน ตัวระบบรองรับการสร้าง notebook โดยมีพื้นหลัง (template) ให้เลือกจากรูปแบบที่เตรียมไว้ให้ถึง 18 แบบ ทั้ง กระดาษเปล่า, สมุดเส้น, สมุดตารางกริด, daily planner, item checklist, โน้ตดนตรี, ฯลฯ ข้อสังเกต: พื้นหลัง (template) คือมีผลทั้งเล่ม เลือกเป็นบางหน้าไม่ได้ เปิดเล่ม notebook ขึ้นมา หน้าจอเรียบง่าย มี Writing toolbar ลอยอยู่ ใน Writing toolbar ภายในจะมีคำสั่งเกี่ยวกับปากกาให้เลือก หัวปากกา: มีให้เลือกอีก 4 แบบย่อย หัว Pen จำลองปากกาลูกลื่น หัว Fountain pen จำลองปากกาหัวคอแร้ง (ขึ้นเบา-ลงหนัก) หัว Marker จำลองหัวปากกาเขียนกระดาน รับรู้น้ำหนักมือ รับรู้ความเร็วในการลากเส้น หัว Pencil จำลองดินสอไม้ รับรู้การเอียงปากกา รับรู้น้ำหนักมือ รับรู้ความเร็วในการลากเส้น เส้นโปร่ง ระบายทับให้เข้มขึ้นได้ หัวไฮไลท์ (ระบายซ้ำไม่เข้มขึ้น) ยางลบ: เลือกขนาดได้ 5 แบบ หรือจะเลือกลบเฉพาะส่วนที่จะเลือก (lasso) หรือลบทั้งหน้า มือ (pointer): จะสลับโหมดปากกาให้มาใช้จิ้ม UI หรือปัดหน้าจอได้ พูดถึงความเร็วในการลากเส้น รู้สึกว่าทำได้ดี ไม่รู้สึกว่ามีความหน่วงในการลากเส้น และไม่มีจังหวะต้องวาดจอซ้ำแต่อย่างใด การเปลี่ยนหน้า ทำได้โดยการปัดหน้า หรือเข้าไปที่เมนูแล้วสั่งข้ามไปเลขหน้าที่ต้องการ ซึ่งถ้าเอาจริงๆ ฟีเจอร์สำหรับการจดบันทึกที่ Kindle Scribe มีอยู่ ณ เวลานี้ ถือว่า "จืดจาง" เอามากๆ ในระดับที่พอๆกับ กระดาษ, ปากกา และ ยางลบ ทำได้เข้าขั้น "เสียของ" สำหรับคนที่เคยใช้แอพจดบันทึกเฉพาะทางมาก่อน จะรู้สึกได้ว่ายังขาดฟีเจอร์ "ที่พบได้ทั่วไป" จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น cut/copy/paste, shape, seamless page/continuous scroll, text, zoom, landscape mode, search handwritten text, convert handwriting to text, page navigation bar, page organize, pen profile, layer, import PDF/image เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันทางอเมซอนรับปากว่าจะออกอัพเดตบ่อยๆ และจะเพิ่มความสามารถ cut/copy/paste มาให้ "เร็วๆนี้" ซึ่งคำว่า เร็วๆนี้ อาจจะแปลว่า สามถึงเก้าเดือน ก็ถือเป็นเรื่อง "ปกติ" สำหรับการออกอัพเดตคินเดิล สำหรับคนที่ต้องการเน้นงานบันทึกอย่างจริงจัง แนะนำมองอุปกรณ์เฉพาะทางอย่าง reMarkable 2, Supernote A5/6 X หรือ ถ้าต้องการการค้นหาข้อความด้วยลายมือ หรือถ้าต้องการเครื่องที่ทำงานได้หลากหลาย ทำงานข้ามเอกสาร iPad อาจจะตอบโจทย์ความต้องการได้ดีกว่า การใช้งาน PDF พูดถึงการอ่าน PDF บน Kindle Scribe หลายคนน่าจะสนใจด้วยความที่จอใหญ่ จะทำให้ประสบการณ์การอ่าน ดีขึ้นแค่ไหน ก็ต้องพูดตรงๆว่า "ใหญ่กว่าได้เปรียบ" ด้วยจอขนาดใกล้เคียงกับกระดาษ A5 ทำให้เวลาอ่านเสมือนแสดงผลหนังสือเท็กซ์บุ๊คขนาด A4 ที่ถ่ายเอกสารย่อลงนิดหน่อย ทำให้อ่านได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องคอยซูมเข้า-ซูมออก ปัดหน้าจอหนึ่งครั้งก็เปลี่ยนหน้า เป็นธรรมชาติ แต่ความสับสนบังเกิด เมื่อมันมีถึง 3 วิธีที่จะเอาเอกสาร PDF ไปอ่านบนอุปกรณ์ Kindle อันได้แก่ Sideloaded PDF: โอนไฟล์ PDF เข้าเครื่องผ่านสาย USB-C โดยตรง Send-to-Kindle with original layout: อัพโหลดเอกสารขึ้น Send to Kindle Send-to-Kindle with adjustable layout: อัพโหลดเอกสารขึ้น Send to Kindle แล้วเลือกตัวเลือกว่า "Make layout adjustable" รายละเอียดฟีเจอร์ที่ทำได้ในแต่ละวิธี สรุปไว้ในตารางด้านล่าง จะสังเกตว่าไม่มีรูปแบบไหนที่ "ดี" ที่สุด มันจะต้องมีข้อจำกัดอะไรสักอย่างในแต่ละวิธี เช่น พจนานุกรม, การอ่านแนวนอน, การเขียนบนหน้า หรือ การแชร์ออก เป็นต้น และที่สับสนสุดๆคือ แบบแรกกับแบบที่สอง (sideloaded PDF กับ Send-to-Kindle with original layout) ที่มีหน้าตาใช้ไอคอนแบบเดียวกันแต่กลับมีฟีเจอร์ไม่เท่ากัน การจดบันทึกบนไฟล์ PDF การจดบันทึกโดยใช้ปากกา ถือว่าเป็นไฮไลท์ แต่ก็ทว่าแต่ละวิธีการนำเข้าไฟล์ PDF ก็จะมีความสามารถในการเขียนโน้ต,ขีดเขียนและแชร์แตกต่างกันออกไป จึงขอแสดงสิ่งที่ทำได้ในแต่ละวิธีนำเข้าเอกสาร อันดับแรก เอกสาร Sideloaded PDF สิ่งที่ทำได้คือ text note เท่านั้น ใช้ปากกาวงระบายไม่ได้เลย ส่วนถ้าเป็นวิธีที่สอง (Send-to-Kindle with original layout) เราจะสามารถใช้ปากกา ขีดเขียนบนหน้า ได้โดยตรง รวมถึงสามารถแชร์ทั้งเอกสารพร้อมลายมือออกไปทางอีเมลได้ด้วย สำหรับรูปแบบสุดท้าย (Send-to-Kindle with adjustable layout) ไฟล์ที่นำส่งที่ระบุแปลงเป็นอีบุ๊กไปแล้ว ก็จะขีดเขียนลงหน้าหนังสือไม่ได้โดยตรง ต้องแทรก note แล้วค่อยเขียนบนนั้นอีกที อันนี้ใช้ปากกาเขียนลง handwriting note ได้ ส่วนในตารางนี้เป็นสรุปฟีเจอร์ด้านการจดโน้ตและแชร์โดยละเอียด ถ้าจะให้แนะนำ ขึ้นกับรูปแบบการใช้งาน ถ้าต้องการการอ่านอย่างเดียว อยากใช้พจนานุกรมดูคำแปล หรือ เร่งความเข้มได้ ก็อาจจะใช้วิธี sideload เอกสาร PDF ผ่านสาย USB เพราะทำได้รวดเร็วและไม่ง้อเน็ต ถ้าต้องใช้ link, ต้องการขีดเขียน แนะนำว่าให้ส่งไฟล์ PDF ขึ้น Send-to-Kindle แบบ original layout เป็นวิธีเดียวที่จะได้ประโยชน์สูงสุด การอ่านอีบุ๊ก ฟีเจอร์สำหรับงานอ่านอีบุ๊กบน Kindle Scribe แทบไม่แตกต่างกับเครื่อง Kindle รุ่นอื่นๆ ที่ใช้ซอฟต์แวร์รุ่นไล่ๆกัน เพียงแต่จะได้ประโยชน์จากจอที่ใหญ่ขึ้น สามารถเลือกฟอนต์ใหญ่ขึ้นสองเบอร์ได้สบายๆ ไม่ต้องกดเปลี่ยนหน้าบ่อยๆ หรือ จะดูรูปประกอบได้สบาย ไม่จำเป็นต้องกดซูม หรือ เหมาะกับผู้ที่เริ่มมีปัญหาทางสายตา มองใกล้ๆไม่ชัด เพ่งตัวหนังสือเล็กๆ ไม่ไหวแล้ว (เรียกว่าใช้เงินแก้ปัญหา) ด้านล่างเป็นภาพหน้าจอ Kindle Voyage 6" (1072x1448) เทียบกับ Kindle Scribe 10.1" (1860x2480) ที่มีพื้นที่เป็นสามเท่า การจดบันทึกบนอีบุ๊ก ปัจจุบัน Kindle Scribe ไม่รองรับการขีดเขียนบนอีบุ๊กได้โดยตรง สิ่งที่ทำได้คือใส่เป็น notes ลงไป แล้วค่อยใส่ลงไปว่าจะเป็น Handwriting Note (ใหม่) หรือ Text Note (เดิม) หรือจะทั้งสองอย่างก็ได้ แต่พอกดเลือก Text Note หน้าต่างจะเลื่อนไปอยู่บนสุดทันที โดยไม่สนใจว่ามันจะบังตำแหน่งที่เราวางโน้ตหรือไม่ พอปิดหน้าต่าง Note จะเหลือแค่ไอคอนสัญลักษณ์เล็กๆ เพื่อเตือนความจำว่ามีโน้ตอยู่ตรงนี้ ต้องกดที่ไอคอนเพื่อเข้าไปดู "ลายมือ" ที่เขียนไว้ ซึ่งขนาดมันเล็กจริงๆ และขนาดไอคอนจะเล็กเท่าเดิมไม่ว่าเราจะใช้ฟอนต์ใหญ่ขนาดไหนก็ตาม หรือจะเข้าไปดูรายการโน้ตทั้งหมด ก็กดที่ไอคอนรุปสมุดบันทึก ซึ่งจะเห็นแต่เนื้อความที่เขียนไว้ในโน้ตเท่านั้น ไม่เห็นเนื้อหาในหนังสือบริเวณรอบๆที่จดโน้ตไว้ ทำให้ไม่รู้ว่าโน้ตนั้นกำลังกล่าวถึงสิ่งใด จะเป็น Harry, Dursley, Hedwig, หรือ Che Guevara ฯลฯ ถ้าจะให้รู้ก็ต้องกดที่โน้ตเพื่อจะกระโดดไปที่หน้าที่จดโน้ตไว้ เพื่ออ่านข้อความรอบๆให้เข้าใจว่าโน้ตนี้มันพูดถึงสิ่งใดในหนังสือ บวกกับไม่มีปุ่ม "Back" แล้ว การจะกลับจากหน้าหนังสือ ไปที่รายการโน้ตทั้งหมดก็ทำไม่ได้ ก็ต้องค้นหากันใหม่ ซึ่งถ้ามีรายการโน้ตเยอะๆ การจะให้รู้บริบทของโน้ตทั้งหมดในรายการ ก็จะไม่ค่อยบันเทิงสักเท่าไร ซึ่งอันนี้เป็นปัญหามาตั้งแต่แรกมี Text Note แต่ยังพอจะหาทางแก้ด้วยการพิมพ์ชื่อคน/สัตว์/สิ่งของลงไปให้พอจับความได้ พอเป็น Handwriting Note การ "วาด" ชื่อลงไปในภาพไปด้วยก็รู้สึกจะไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไร ซึ่งโดยส่วนตัว อยากให้อเมซอนไปหา "แรงบันดาลใจ" จากคู่แข่งขันอย่าง Kobo มากๆ UI ขยายร่าง สิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้คือ UI ยังเหมือนไม่ปรับแต่งสำหรับหน้าจอใหญ่ ด้วยความที่จอใหญ่ขึ้นมาก การใช้ตำแหน่งและการจัดวาง UI เดิมๆ มาอยู่บนจอใหญ่ๆ อาจจะรู้สึกหงุดหงิดได้ เช่น แถบ Quick Settings มันกินไปครึ่งจอภาพ ซึ่งถ้าลองนั่งดูจริงๆ จะพบระยะห่างระหว่างไอคอนมันมากเกินไป สามารถเรียงเป็นแถวเดียวแล้วยังมีที่เหลืออีก รวมถึง brightness และ warmth ก็สามารถยุบรวมอยู่ในบรรทัดเดียว เพื่อจะได้ไม่บังเนื้อหาเยอะ หรืออีกกรณีคือ ตำแหน่งของ dictionary pop-up จะอยู่ชิดกรอบล่างหรือกรอบบนเท่านั้น ทำให้ต้องกวาดสายตาไกลขึ้นมากเพื่อมาอ่านคำศัพท์ การ์ตูน ด้วยจอที่ใหญ่ จะอ่านการ์ตูน คอมมิค มังงะ สบายหน่อย ความจำเป็นที่ต้องซูมหน้าเพื่ออ่านคำพูดดูจะน้อยลงไปหน่อย หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ อีบุ๊กที่ขายในสโตร์ก็มีที่สนับสนุนฟีเจอร์ Panel View ที่แค่แตะสองครั้งติดกัน เครื่องจะซูมเข้าไปที่แต่ละกรอบ เต็มจอภาพ เรียกว่าตัวหนังสือเยอะขนาดไหนก็อ่านได้แน่ๆ สเป็ค หน้าจอ: E Ink Carta 1200 ขนาด 10.2 นิ้ว ความละเอียด 1860 x 2480 ที่ 300 dpi แสดงผลแบบ gray scale 16 ระดับ มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิไตเซอร์ EMR ของ Wacom แสงในตัว (front light): มี LED ให้แสงรวม 35 ตัว สำหรับแสงขาวและ warm light พร้อม auto-brightness (light sensor) เซนเซอร์: มีเซนเซอร์แม่เหล็ก รองรับปกที่ช่วยเปิดปิดเครื่องอัตโนมัติ (auto sleep/wake), มี accelerometer รองรับการหมุนจอภาพ ขนาด: กว้าง 19.6 สูง 23.0 หนา 0.58 ซม. น้ำหนัก: 433 กรัม ปากกา 15 กรัม พื้นที่เก็บข้อมูล: มีให้เลือก 16, 32, 64 GB รุ่นเล็กสุด 16 GB เหลือให้ใช้งานประมาณ 13 GB แบตเตอรี่: แบบเปลี่ยนไม่ได้ ความจุ 3,000 mAh ซีพียู: MediaTek MT8113 SoC (8-core ใช้จริง 2 core) 1 GHz แรม: 1 GB Wi-Fi: รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 802.11 b/g/n/ac ทั้ง 2.4 และ 5 GHz รองรับมาตรฐาน WEP, WPA, WPA2, WPA3 Bluetooth: รองรับ Bluetooth และ Bluetooth Low Energy BLE สำหรับส่งข้อมูลเสียงและควบคุมการเล่น/หยุด เท่านั้น (A2DP และ AVRCP) สี: Tungsten Note: ไม่กันน้ำ ไม่มีปุ่มเปลี่ยนหน้า ไม่รองรับ Wireless Charging ความเห็นส่วนตัว ชอบ จอใหญ่สะใจ อ่าน PDF ขนาด A4 หรือการ์ตูน/คอมมิค/มังงะ ได้สบายขึ้นมาก ซีพียูแรงขึ้น แรมมากขึ้น เปิดเอกสาร PDF A4 ที่มีการจัดหน้าที่ซับซ้อนได้ ความจุเริ่มต้น 16 GB เรียกว่าน่าจะเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วๆไป ลูกเล่น Page-turn animation เวลาอ่านคือดี แบตอึดมาก ใช้สาย USB-C แล้ว และรองรับการชาร์จเร็ว ไม่ชอบ เขียนลงอีบุ๊กไม่ได้ ยังสับสนในชีวิตกับการซัพพอร์ตไฟล์ PDF ฟีเจอร์สมุดโน้ตเหมือนยังทำไม่เสร็จ ยังขาดฟีเจอร์พื้นฐานอีกมาก UI เหมือนแค่ scale-up ขึ้นมาเฉยๆ ยังไม่ได้ปรับแต่งสำหรับหน้าจอใหญ่ (ความอยากส่วนตัว) ยังไม่รองรับการอ่านอีบุ๊กกับฟังหนังสือเสียงพร้อมกัน (immersion reading) อยู่ดี (ความอยากส่วนตัว) ยังไม่มี Text-to-Speech สรุป โดยรวมแล้ว Kindle Scribe เป็นการเดิมพันครั้งหนึ่งของอเมซอนที่จะจับตลาดเครื่องจอใหญ่ จอละเอียดคมชัด ซีพียูแรง แบตอึด มาพร้อมปากกาเพื่องานขีดเขียน น่าจะเหมาะที่สุดสำหรับคนที่มองหาคินเดิลเครื่องที่ "สอง" กำลังมองหาจอใหญ่ๆ มาช่วยให้การอ่านง่ายขึ้น โดยอยู่ในระบบอเมซอนอยู่แล้ว อ่านหนังสือภาษาอังกฤษหรือเอาไปอ่าน PDF เป็นหลัก ไม่เอาไปจดเล็คเชอร์ และไม่คาดหวังเรื่อง productivity ครับ
# Acer อัพเกรดโน้ตบุ๊กรักษ์โลก Aspire Vero 15 ใช้พลาสติกรีไซเคิล 40%, ออกโปรเจคเตอร์รักษ์โลก Acer มีไลน์สินค้ากลุ่มรักษ์โลกชื่อ Vero ทำตลาดมาตั้งแต่ปี 2021 เริ่มจากโน้ตบุ๊ก แล้วออกพีซีออลอินวัน AIO ตามมาในปี 2022 ปีนี้ 2023 Acer ยังเดินหน้าสินค้าไลน์ Vero ต่อไป โดยอัพเกรดโน้ตบุ๊กรุ่นปี 2021 มาใช้ซีพียูรุ่นใหม่ Core 13th Gen โน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ชื่อว่า Acer Aspire Vero 15 (AV15-53P) เป็นโน้ตบุ๊กจอ 15.6" FHD IPS, นอกจากการอัพเกรดซีพียูแล้วยังปรับเว็บแคมเป็น 1440p QHD ด้วย ในแง่ของความรักษ์โลก วัสดุที่ใช้ทำบอดี้เป็นพลาสติกรีไซเคิล post-consumer recycled (PCR) คิดเป็นสัดส่วน 40% ของบอดี้ทั้งหมด (เพิ่มจากรุ่นก่อนที่สัดส่วน 30%) แถมยังไม่เพนต์สีทับ เพื่อต้องการให้เห็นสีที่ไม่สม่ำเสมอของพลาสติกรีไซเคิลอย่างชัดเจน (ดูคลิปประกอบ), ทัชแพด OceanGlass เป็นพลาสติกในทะเลมารีไซเคิล, แพ็กเกจจิ้งเป็นวัสดุรีไซเคิล 100%, กระบวนการผลิตเครื่องลดการปล่อยคาร์บอนลง 30% ราคาขายเริ่มที่ 699.99 ดอลลาร์ เริ่มวางขายในสหรัฐเดือนมิถุนายน 2023 สินค้าใหม่อีกตัวในแบรนด์ Vero ของปีนี้คือโปรเจคเตอร์รุ่น Acer Vero PL3510ATV ความละเอียด Full HD, หลอดไฟความสว่าง 4,800 ANSI lumens, อัตราคอนทราสต์ 50,000:1 ความรักษ์โลกคือหลอดไฟใช้พลังงานน้อยกว่าหลอดโปรเจคเตอร์แบบดั้งเดิม 48%, หลอดใช้งานได้ 30,000 ชั่วโมง ยืดอายุการใช้งาน ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์, บอดี้ใช้พลาสติรีไซเคิล PCR 50% ราคาขาย 1,399 ยูโร เริ่มขายในภูมิภาคยุโรปเดือนกันยายน 2023 ที่มา - Acer
# Microsoft จะใช้สภาพอากาศ เป็นคำเรียกแทนชื่อกลุ่มแฮกเกอร์ Microsoft Threat Intelligence หน่วยงานด้านความปลอดภัยของไมโครซอฟท์ ประกาศเปลี่ยนคำเรียกชื่อของกลุ่มแฮกเกอร์ หรือผู้ก่ออาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มที่แยกย่อยซับซ้อนมากขึ้น โดยบอกว่าระบบตั้งชื่อใหม่นี้จะช่วยให้แยกแยะความเกี่ยวข้อง-แตกต่างได้ดีขึ้น คำเรียกชื่อ จะแบ่งเป็นคำนามหลัก ซึ่งเป็นคำบอกสภาพอากาศต่าง ๆ เช่น Typhoon Rain Cyclone Flood เพื่อแยกแรงจูงใจหรือเป้าหมายของกลุ่มแฮกเกอร์ เช่น รัฐบาลให้การสนับสนุน หรือมุ่งหวังเงิน หรือเหตุผลอื่น จากนั้นเพิ่มคำคุณศัพท์ (Adjective) เพื่อแยกย่อยกลุ่มแฮกเกอร์ในประเภทนั้น ตัวอย่างเช่น Sandstorm เป็นคำเรียกแฮกเกอร์ที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน จะมีคำเรียกเป็นกลุ่ม ๆ เช่น Mint Sandstorm เป็นต้น กรณีกลุ่มที่ยังไม่สามารถระบุแรงจูงใจหรือเป้าหมายได้ชัดเจน จะเรียกว่า Storm โดยใส่ตัวเลข 4 หลักต่อท้าย และเปลี่ยนชื่อในภายหลังหากได้ข้อมูลที่มากขึ้น รายละเอียดคำเรียกทั้งหมดสามารถดูได้จากที่มา ที่มา: ไมโครซอฟท์
# ข้อมูลล่าสุดเฮดเซต Mixed Reality ของ Apple - ต้องใช้แบตเตอรี่เสริมต่อสายไว้ตลอดเวลา จดหมายข่าว Power On ของ Mark Gurman แห่ง Bloomberg ตอนล่าสุด ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเฮดเซต Mixed Reality ของแอปเปิล ที่คาดว่าจะเปิดตัวในงาน WWDC เดือนมิถุนายน โดยบนข้อมูลที่เขามีตอนนี้ มาพร้อมคำถามว่า ลูกค้าทั่วไปจะยังสนใจซื้อเฮดเซตที่ราคาอาจสูงถึง 3,000 ดอลลาร์นี้หรือไม่? ข้อมูลแรกว่าด้วยเรื่องแอปที่รองรับ เขาบอกว่าแอปเปิลยังหาแอปหมัดเด็ดที่จะนำเสนอเพื่อเรียกความสนใจไม่ได้ ฉะนั้นแนวทางคือจัดทุกอย่างใส่ลงไปทั้ง เกม ออกกำลังกาย ไปจนถึงแอปอ่านหนังสือใน VR โดยหวังว่าต้องมีสักอย่างที่ดึงดูดได้ อย่างไรก็ตาม Gurman บอกว่าการนำเสนอแบบไล่เรียงฟีเจอร์มากมายนี้ ตอนเปิดตัว Apple Watch ก็เป็นแบบเดียวกัน แอปเปิลจึงหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไปจะเจอแนวทางที่ตลาดต้องการ (ตอนนั้นมีกระทั่งฟีเจอร์ส่งอัตราเต้นหัวใจให้อีกฝ่าย) ตัวอย่างฟีเจอร์ที่คาดว่าจะเปิดตัวในเฮดเซตนี้ เช่น แอปนั่งสมาธิแบบกราฟิกสวยงาม, ใช้งานแอปพื้นฐานใน iPad ได้แบบ VR, ดูถ่ายทอดสดกีฬาแบบ VR, Virtual Meeting Room และอื่น ๆ ข้อมูลถัดมาคือดีไซน์ของเฮดเซต เขาบอกว่าแอปเปิลตัดสินใจทำให้ตัวเฮดเซตสวมศีรษะนั้นเบามากที่สุด จึงต้องใช้แบตเตอรี่เสริมต่อไว้ในการใช้งาน เฮดเซตจะมีสองพอร์ต USB-C อันหนึ่งสำหรับเชื่อมต่อข้อมูล อีกอันสำหรับแบตเตอรี่เสริม ผู้สวมใส่ต้องเก็บแบตเตอรี่ในกระเป๋าเสื้อ โดยสายเชื่อมต่อมีตัวล็อกแม่เหล็กเพื่อกันหลุดด้วย แบตเตอรี่ 1 ก้อน ใช้งานได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ที่มา: Bloomberg หมายเหตุ: ภาพประกอบไม่ใช่เฮดเซตที่แอปเปิลจะผลิต
# Quanta เตรียมตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่เวียดนาม อาจใช้เป็นโรงงานผลิต MacBook มีรายงานว่ารัฐบาลเวียดนามเปิดเผยว่าบริษัท Quanta Computer ของไต้หวัน วางแผนสร้างโรงงานใหม่ในเวียดนามตอนเหนือที่จังหวัดนามดิ่ญ ซึ่งจะเป็นโรงงานแห่งที่ 9 จากโรงงานทั่วโลกของบริษัท รายงานบอกว่าเงินลงทุนอยู่ที่ราว 120 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ยังไม่มีรายละเอียดแผนการก่อสร้าง หรือกำหนดเปิดโรงงานในเวียดนาม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตจากโรงงานแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม Quanta Computer เป็นโรงงานผู้ผลิตโน้ตบุ๊กรายใหญ่ของโลก และมีแอปเปิลเป็นหนึ่งในลูกค้ารายสำคัญ จึงมีความเป็นไปได้ว่าแอปเปิลอาจเพิ่มฐานการผลิต MacBook ที่เวียดนามผ่านโรงงานแห่งนี้ (เพิ่มเติม: Quanta Computer มีโรงงานในประเทศไทยที่จังหวัดชลบุรี, อ้างอิง) ก่อนหน้านี้ก็มีรายงานว่าแอปเปิลมีแผนตั้งโรงงาน MacBook ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ที่มา: Reuters