text
stringlengths
2.49k
17.7k
url
stringlengths
53
53
# “รสนิยมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับอัตลักษณ์” พิซซ่า กาแฟคาปูชิโนและเคบับ เราคงไม่อาจนึกถึงเยอรมนีได้โดยปราศจากเมนูอาหารต่างชาติเหล่านี้ ในบทสนทนากับมาเร็น เมอห์ริง นักประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมจะมาอธิบายให้ฟังว่า อาหารจะเป็นสะพานเชื่อมวัฒนธรรมที่แตกต่างได้หรือไม่ และการมาถึงของผู้อพยพกว่าหนึ่งล้านคนจะปลุกกระแสอาหารนานาชาติให้เฟื่องฟูในเยอรมนีได้หรือไม่ _คุณเมอห์ริง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารและอาหารเมนูต่างๆ มีส่วนสร้างอัตลักษณ์ให้ชีวิตประจำวันและภาพเมืองของเยอรมนีอยู่ไม่น้อย ความหลากหลายที่ว่านี้เราอาจสืบย้อนกลับไปได้ถึงสมัยที่แรงงานจากอิตาลี ยูโกสลาเวียและตุรกีอพยพย้ายเข้ามา คุณพอจะสรุปภาพคร่าวๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของอาหารต่างชาติในเยอรมนีให้เราฟังได้ไหม_ กระแส “อาหารของแรงงานต่างชาติ” นั้นเริ่มเฟื่องฟูขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 และยิ่งมีมากขึ้นในทศวรรษที่ 1970 และ 1980 มีร้านอาหารต่างชาติกว่า 20,000 ร้านในเยอรมนีในปี ค.ศ. 1975 จำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงเวลาเพียงทศวรรษเท่านั้น เริ่มบุกเบิกด้วยร้านอาหารอิตาเลียนและร้านปิ้งย่างสไตล์บอลข่าน ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1970 แผงขายอาหารและร้านฟาสต์ฟู้ดตุรกี รวมไปถึงร้านอาหารกรีกก็ตามมาติดๆ _มีสำนวนและคำเปรียบเปรยมากมายในภาษาเยอรมันที่มีอาหารเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น “Über den Tellerrand hinausblicken” (แปลว่า คนที่มีปฏิภาณไหวพริบ) หรือ “Viele Köche verderben den Brei” (ตรงกับสำนวนไทย มากหมอมากความ) อาหารนั้นมีภาษาเฉพาะของตัวเองหรือไม่ และอาหารจะก้าวข้ามขอบเขตของแหล่งกำเนิด ภาษาและวัฒนธรรมได้หรือไม่_ อาหารเป็นตัวแทนของระบบอันซับซ้อนที่มีรหัสให้เราต้องเรียนรู้เหมือนกับภาษา ไม่ใช่เพียงเทคนิควิธีการกินเท่านั้นที่เราต้องเรียนรู้ เช่น วิธีกินอาหารด้วยตะเกียบ แต่เรายังต้องรู้ด้วยว่ามันใช้กินอะไร เมื่อไหร่และกินอย่างไร บ่อยครั้งที่เจ้าของร้านและบริกรร้านอาหารของผู้อพยพต้องพึ่งพาการแปลเพื่อช่วยถ่ายทอดระเบียบวัฒนธรรมการกินและคุณค่าของอาหารอย่างถูกต้องแม่นยำให้แขกของพวกเขาได้รับรู้ ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากผ่านการชิมรสและการดมกลิ่นที่เราได้รับผ่านการรับประทานอาหารนั้น นัยหนึ่งก็คือวิธีการเริ่มการสื่อสารแบบอวัจนภาษา และอีกนัยหนึ่งก็เป็นการปฏิสัมพันธ์เกี่ยวกับประสบการณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม การบริโภคอาหาร “ต่างชาติ” นั้นก็ไม่สามารถเป็นเครื่องบ่งบอกได้ดีเท่าใดนักว่ามุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อผู้อพยพนั้นเป็นอย่างไ ## อุปสรรคในเยอรมนี _มีประเทศใดบ้างไหมที่คนรับประทานอาหารเยอรมันแท้ๆ กัน_ อาหารเยอรมัน “แท้” นั้นไม่ได้เป็นที่นิยมทั่วโลกเท่าใดนัก ไม่เหมือนกับอาหารอิตาเลียนหรืออาหารจีน ในสหรัฐอเมริกา คนมักคิดว่าแค่เพียงเบียร์กับอาหารแบบบาวาเรียก็เป็นอาหารเยอรมัน “แท้” แล้ว _หากเปรียบเทียบกับในประเทศอื่นแล้ว เราจะพบอาหารต่างชาติในเยอรมนีได้บ่อยแค่ไหน_ ในประเทศอังกฤษ อาหารต่างชาติเริ่มเข้ามาในประเทศเร็วกว่าและครอบคลุมกว่าในเยอรมนี ส่วนในฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่อาหารประจำชาติของตนมีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์สูงอยู่แล้ว ทำให้อาหารต่างชาตินั้นใช้เวลานานกว่าที่จะค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาอยู่ในประเทศได้ นอกจากนั้น ข้อกำหนดทางด้านการค้าก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ในอังกฤษ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา การเปิดร้านอาหารของผู้ที่อพยพเข้ามาอยู่นั้นทำได้ง่ายกว่าในเยอรมนีอยู่มาก _ในปี ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมามีผู้อพยพเข้ามาอยู่ในเยอรมนีกว่าหนึ่งล้านคน แสดงว่าเรากำลังจะได้เห็นร้านอาหารซีเรียที่เพิ่มขึ้นแม้จะมีความยากลำบากด้านกฎข้อบังคับหรือไม่ เรากำลังจะได้พบกับการเติบโตอีกครั้งของกระแสร้านอาหารของผู้อพยพในเมืองหรือในชนบทหรือไม่_ มีความเป็นไปได้ที่จะมีร้านอาหารและแผงขายอาหารซีเรียเปิดมากขึ้นเรื่อยๆ ภาคส่วนร้านอาหารที่ต้องการแรงงานมากและมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจนั้นยังคงเป็นแหล่งงานที่ผู้อพยพจำนวนมากเลือกทำ เนื่องด้วยผู้อพยพจำนวนมากไม่มีเอกสารรับรองวิชาชีพที่เป็นที่ยอมรับในเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยที่ต้องการจะทำธุรกิจของตนในเยอรมนีก็ต้องพบกับอุปสรรคใหญ่หลวง โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน แต่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่หลายเมืองก็เป็นที่ยอมรับกันว่าสัดส่วนทางเศรษฐกิจของผู้อพยพก็เป็นภาคส่วนที่สำคัญหนึ่งที่ทำให้พวกเขาน่าสนใจในแง่ของชนชั้นหนึ่งในสังคมเมืองที่มีความสร้างสรรค์ ## อัตลักษณ์ของอาหาร _มีคำกล่าวว่า “กินอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น” แล้วอาหารมีส่วนสร้างอัตลักษณ์อย่างไร_ เมื่อผู้คนได้อพยพหรือย้ายถิ่นฐานเข้าไปยังประเทศหนึ่ง อาหารหรือเครื่องดื่มที่พวกเขาคุ้ยเคยทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อมพวกเขากับบ้านเกิดเอาไว้ อาหารมักเป็นสิ่งที่ทำให้เราหวนระลึกถึงความหลัง อาหารวัยเด็กของเรามักมีผลต่ออารมณ์ของเราอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพฤติกรรมการกินของเราจะไม่เปลี่ยนแปลง แม้คนบางกลุ่มจะค่อนข้างมีความยึดติดกับสิ่งเก่าๆ ในเรื่องการเลือกอาหารอยู่ก็ตาม แต่รสนิยมนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับอัตลักษณ์ _คำถามเรื่องอัตลักษณ์นั้นบางครั้งก็ทิ้งไว้ซึ่งรสขมติดลิ้น จากความขัดแย้งที่ดูไม่มีอันตราย ไปจนถึงการว่าร้าย การปิดบาร์และร้านอาหาร ไปจนถึงอาชญากรรมที่กลุ่มสังคมชาตินิยมใต้ดิน (NSU) ได้ก่อขึ้น กลุ่มขวาจัดหัวรุนแรง NSU มุ่งเป้าการก่ออาชญากรรมไปที่การฆ่าผู้จัดการและลูกจ้างร้านอาหารและร้านค้าต่างชาติ แล้วสำหรับด้านวัฒนธรรมอาหาร มีการหันกลับไปสู่แนวคิดขวาจัดบ้างไหม_ ร้านอาหารต่างชาติ บาร์ และร้านขายเครื่องอุปโภคบริโภคนั้นได้เปลี่ยนเมืองในเยอรมนีอย่างยั่งยืนและเห็นได้ชัดเจน ในความคิดของฉัน ความหลากหลายในเยอรมนีนี้เองเป็นสิ่งที่กลุ่ม NSU นั้นพุ่งเป้าโจมตี ส่วนหนึ่งผู้ที่ตกเป็นเป้ามักเป็นนักธุรกิจที่เป็นผู้อพยพที่ทำธุรกิจและแสดงออกชัดเจนว่าต้องการลงหลักปักฐานอยู่เยอรมนีอย่างถาวร ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้น ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านของเยอรมนี ความคิดคนพวกนี้จะถือว่าวัฒนธรรมของชาตินั้นมีความเป็นเอกภาพและแยกตัวอย่างชัดเจน ซึ่งควรจะได้รับการปกป้องก่อนจะมีการ “ปนเปื้อน” นับเป็นความคิดที่น่ากลัวอย่างยิ่งที่ในโลกปัจจุบันนี้ แนวคิดที่ว่านี้กลับมาได้รับการยอมรับมากขึ้น ในข้อพิพาทเหล่านี้จึงไม่เพียงเป็นคำถามถึงเรื่องวัฒนธรรมอาหารเพียงเท่านั้น แต่หมายรวมถึงวัฒนธรรมในความหมายกว้างอีกด้วย _“เลือกไส้กรอกบ็อคเวือรสท์แทนเคบับ” เป็นหนึ่งในสโลแกนของกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวา ว่าแต่ไส้กรอกบ็อคเวือรสท์นี้มีความเป็นเยอรมันแค่ไหน_ ไส้กรอกบ็อคเวือรสท์ (Bockwurst) เพิ่งถูกนำเข้ามาและเป็นที่แพร่หลายในประเทศกลุ่มที่ใช้ภาษาเยอรมันในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17 โดยกลุ่มอูเกอโนต์ฝรั่งเศส และกว่าจะมีการตั้งชื่อก็ในศตวรรษที่ 19 เมื่อตอนที่มีบริกรคนหนึ่งในเบอร์ลินเสิร์ฟไส้กรอกชนิดนี้กับบ็อคเบียร์ สิ่งหนึ่งที่ประวัติศาสตร์สอนเราก็คือ “สิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดมักมาจากที่อื่น” **มาเร็น เมอห์ริง** เป็นอาจารย์อยู่ที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยไลป์ซิก ตั้งแต่ ค.ศ. 2004 เป็นต้นมาก็ได้มุ่งประเด็นศึกษาวิจัยไปที่เรื่องอาหารนานาชาติในเยอรมนี งานวิจัยหลังปริญญาเอกของเธอในชื่อ “Fremdes Essen. Die Geschichte der ausländischen Gastronomie in der Bundesrepublik Deutschland” (อาหารต่างชาติ ประวัติอาหารต่างชาติในเยอรมนี) ได้รับรางวัลมากมาย หนึ่งในนั้นคือรางวัล The Augsburg Science Prize สำหรับงานวิจัยด้านพหุวัฒนธรรม
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/20866343.html
# รสชาติเยอรมันรอบโลก ไม่ว่าจะเป็นขาหมูที่แอฟริกาหรือมันฝรั่งสอดไส้ที่ไทย อาหารเยอรมันก็เป็นสิ่งที่เราพบเจอได้ทุกมุมโลก แต่ทว่า อาหารเยอรมันที่เป็นที่รู้จักกลับถูกจำกัดอยู่เพียงไม่กี่เมนูเท่านั้น ระหว่างทางไปตลาดถนนคนเดินในยามค่ำคืนที่เชียงใหม่ นักท่องเที่ยวอาจจะได้พบกับสาวไทยในชุดเดียร์นเดิลและหมวกแบบเยอรมันได้ ณ บ้านเกิดของเธอแห่งนี้ เธอทำหน้าที่คอยชักชวนให้คนที่เดินผ่านไปมาเข้ามาลิ้มลองอาหารที่ไม่ใช่อาหารท้องถิ่นของที่นั่นดู เนื่องจากเธอเป็นบริกรของร้านอาหารเยอรมันที่มีชื่อว่า “โฮฟบร็อยเฮาส์” (Hofbräuhaus) บนเมนูอาหารมีให้เลือกทั้งเนื้อชุบแป้งทอด ขาหมูทอดและหมูอบที่เสิร์ฟพร้อมมันฝรั่ง วิธีการเขียนแบบเยอรมันของชื่ออาหารเหล่านี้ล้วนมีความ “แปลก” สำหรับที่นี่และคำวิจารณ์เกี่ยวกับการปรุงและรสชาติอาหารของร้านบนชุมชนออนไลน์ก็มีความหลากหลายอยู่มาก ## ความนิยมในอาหารและวัฒนธรรมบาวาเรีย เพียงตัวอย่างจากร้าน “โฮฟบร็อยเฮาส์” ในเชียงใหม่ก็พอให้เราวิเคราะห์เรื่องอาหารเยอรมันในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้แล้ว โดยมากแล้ว ร้านอาหารเยอรมันในต่างประเทศมักทำให้รูปลักษณ์ของร้านมีความเชื่อมโยงกับทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนีมากกว่า โดยเฉพาะแถบบาวาเรีย ภาพชุดประจำชาติมักทำให้คนนึกถึงภาพร้านอาหารในเมืองหลวงของบาวาเรียและได้บดบังความหลากหลายของรสชาติอาหารของชนชาติเยอรมันไปเสียหมดสิ้น อาหารประจำท้องถิ่นอื่นๆ อย่าง Blutwurst ไส้กรอกเลือดจากแถบลุ่มแม่น้ำไรน์, Labskaus ล็อบสเก๊าซ์จากแถบชายฝั่งทะเล หรือ Schäufele เนื้อหัวไหล่หมูอบเกลือสไตล์บาเด็น กลับไม่ปรากฏอยู่บนเมนูตามร้านอาหารเยอรมันในทวีปอื่นๆ มาเร็น เมอห์ริง นักวิชาการด้านวัฒนธรรมจากเมืองไลป์ซิกได้ทำวิจัยในเรื่องวัฒนธรรมอาหารของชาวเยอรมันและได้ทำการทดลองแบบตรงข้าม นั่นคือการมองความเป็นเยอรมันจากภายนอก เธอมีความเห็นว่า “อาหารเยอรมันในต่างประเทศมักมีสถานะเป็นเพียงอาหารจานพิเศษ และอาหารจานพิเศษที่ว่านี้ก็มักมีความเกี่ยวโยงกับบาวาเรียอยู่เสมอ ทั่วโลกมีร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารเยอรมันอยู่มากมาย แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะนำเสนอแต่อะไรที่มีภาพความเป็นเทศกาล Oktoberfest แฝงอยู่” ## ไส้กรอกและเนื้อในฐานะทูตทางอาหาร มาเร็น เมอห์ริง ได้ศึกษาลงลึกไปยังประวัติศาสตร์การเริ่มเดินทางของผลิตภัณฑ์อาหารเยอรมันไปยังประเทศอื่นด้วย เธอเล่าว่าในสมัยก่อนนั้น ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปเยอรมันได้รับความนิยมในประเทศอังกฤษอย่างยิ่ง มีพ่อค้าขายเนื้อชาวเยอรมันจำนวนมากย้ายไปตั้งรกรากที่นั่น จนกระทั่งเกิดสงครามโลกทั้งสองครั้งขึ้น ทำให้การกีดกันและการกักกันชาวเยอรมันในฐานะ “ผู้พลัดถิ่น” จึงทำให้วัฒนธรรมดังกล่าวในอังกฤษสิ้นสุดลง แต่กระนั้น ไส้กรอกโดยเฉพาะบราทเวือรสท์และเคอรีเวือรสท์ ก็ยังถือเป็นตัวแทนหรือทูตทางอาหารของชาติเยอรมันในประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่อไป อาจเป็นไปได้ว่า ชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศถูกมองว่าเป็นชนชาติที่ชอบกินเนื้อ โดยเฉพาะการเป็นชาติแห่งการส่งออกก็ช่วยตอกย้ำได้เป็นอย่างดี ในปี ค.ศ. 2015 เนื้อและผลิตภัณฑ์จากเนื้อคิดเป็นปริมาณถึง 18.8 เปอร์เซ็นต์จากสินค้าส่งออกทั้งหมดของเยอรมนี ลูกค้าหลักก็คือประเทศในสหภาพยุโรป นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกา รัสเซียและจีนก็ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่เช่นกัน ในสมัยแรกเริ่มการส่งออกเนื้อสัตว์ โดยหลักคือการส่งออกเนื้อไก่ไปยังแอฟริกานั้นทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมาก ในยุโรปและในเยอรมนีเกิดกระแสการผลิตที่จะวางขายเฉพาะเนื้อสัตว์ปีกส่วนที่เป็นเนื้อ “ชั้นดี” อย่างเนื้อส่วนอกและสะโพกในตลาดเท่านั้น เนื้อส่วนอื่นๆ ที่เหลือจึงนำส่งขายในราคาถูกไปยังแอฟริกา ซึ่งก่อให้เกิดการรบกวนระบบการผลิตเนื้อสัตว์ปีกของประเทศเหล่านั้น ## ผู้เผยแพร่อาหารท้องถิ่นสู่ชาวต่างชาติ แม้ทวีปแอฟริกาจะเคยตกอยู่ใต้อาณานิคมของประเทศแถบยุโรปกลางมาก่อน กระนั้นก็ยังพบร่องรอยของผู้คนที่ชื่นชอบอาหารเยอรมันได้อยู่ดาษดื่นไม่ว่าจะเป็นเนื้อม้วนที่เมืองวินด์ฮุก ในนามิเบีย หรือขาหมูเยอรมันที่ทะเลทรายคารู ในแอฟริกาใต้ก็ไมใช่เรื่องน่าตื่นเต้นยิ่งใหญ่อีกต่อไป แต่กลับเป็นอาหารที่มีอยู่ในเมนูร้านอาหารทั่วไป สำหรับนักชิมแล้ว อาหารดังกล่าวถือว่าปรุงได้อร่อยกว่าอาหารบาวาเรียที่เสิร์ฟให้นักท่องเที่ยวที่แถบตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาเสียอีก อาจเป็นเพราะความใจคับแคบทางรสนิยมอาหาร ความคลางแคลงใจในรสชาติอาหารต่างถิ่น ความโหยหากลิ่นบ้านเกิด หรือความต้องการทำธุรกิจล้วนๆ ที่ทำให้เกิดทูตทางอาหารที่นำอาหารบ้านเกิดของตนไปสู่ประเทศอื่นๆ ในประเทศที่คนเยอรมันนิยมไปเที่ยวพักร้อน ไม่ว่าจะเป็นหมู่เกาะคานารีหรือแถบไอบีเรีย ซาวเออร์เคราท์ บราทเวือรสท์และขาหมูเยอรมันก็ยังมีให้ได้ลิ้มลอง เหตุเกิดจากการที่เหล่านักท่องเที่ยวผู้เจนโลกมักไม่มีอารมณ์ที่จะลิ้มลองอาหารอย่างแมลงอบหรือเนื้อจระเข้ย่างของถิ่นนั้นกัน นอกจากนั้น ต้องขอบคุณหัวใจนักบุกเบิกของเหล่านักท่องเที่ยวพวกนี้ที่ทำให้ปัจจุบันก็เริ่มมีเมนูเนื้อจระเข้ นกกระจอกเทศและจิงโจ้ในเมนูอาหารเยอรมันแล้วเช่นกัน จึงกล่าวได้ว่า การเดินทางท่องเที่ยวนั้นช่วยเสริมสร้างความใจกว้างในเรื่องรสนิยมได้ในหลายแง่มุม ## ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในโลกของอาหาร ใครก็ตามที่ประทับใจอาหารในประเทศอื่นและเมื่อกลับมาบ้านเกิดแล้วไม่สามารถหาอาหารนั้นกินได้ก็มักจะพยายามทำเลียนแบบมันขึ้น โลกของอาหารนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง มันมักเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และแลกเปลี่ยนอิทธิพลซึ่งกันและกันเสมอ แม้ว่ามันฝรั่งจะเป็นสินค้ามีสัดส่วนการส่งออกที่สูงมากของเยอรมนี แต่พืชหัวชนิดนี้ก็เป็นผลพวงจากการอพยพย้ายถิ่นในอดีต ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศเปรู มันฝรั่ง Knödel เมนูชื่อก้องไปทั่วโลกของเยอรมันตอนใต้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีการอพยพย้ายถิ่นครั้งนั้น ## รสชาติคริสต์มาสเยอรมัน นอกจากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เบียร์ และอาหารจำพวกมันฝรั่งแล้ว ขนมหวานและขนมอบเยอรมันก็มีสัดส่วนในตลาดถึง 16.7 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกมวลรวมทั้งประเทศ ที่ใดที่มีชุมชนเยอรมัน ที่นั่นก็จะต้องมีร้านขนมปังเยอรมันอยู่ด้วย แม้จะมีธุรกิจร้านขนมปังขนาดใหญ่หลายสาขาที่มาลดทอนคุณค่าของขนมปังทำมือในเยอรมนี แต่เนื้อสัมผัสของขนมปังเนื้อสีเข้มแบบเยอรมันก็ยังคงเป็นอาหารที่ไม่มีใครในโลกอยากพลาดลิ้มลอง อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่แสดงความเป็นเยอรมันได้ดีก็คือขนมปังขิง ซึ่งเป็นขนมที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเป็นอย่างดีในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ด้วยความที่มักจะถูกเชื่อมโยงกับฤดูหนาวอยู่เสมอ ขนมปังขิงทำหน้าที่เสมือนเป็นโฆษณาไปทั่วโลกให้กับเยอรมนีในฐานะประเทศแห่งเทศกาลคริสต์มาสและตลาดคริสต์มาส แม้มันอาจทำให้คุณค่าของอาหารเยอรมันถูกลดทอนไปบ้าง แต่เมื่อเทียบกับชื่อเสียงที่ประเทศได้รับกลับคืนมานั้นก็ถือว่าไม่เลวเลยทีเดียว
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/20879663.html
# แมลง อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ กลุ่มธุรกิจเกิดใหม่พยายามนำเสนออาหารจากแมลงให้คนเยอรมันลิ้มลอง ด้วยเหตุผลที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย อาหารไม่ควรมีเพียงรสชาติที่อร่อย แต่ยังควรมีหน้าตาที่น่ารับประทานด้วย แต่นั่นก็อาจเป็นสิ่งยากในทางปฏิบัติ เมื่อต้องทำอาหารอย่าง “จิ้งหรีดย่างโรยดอกเกลือ” เพราะหน้าตาของมันดูจะมีความแปลกพิสดารอยู่มาก และสิ่งที่ทำให้ยิ่งแย่ลงไปอีกก็คือ หน้าตาของแมลงในจานนั้นยังคงมีความเหมือนกับตอนที่เราเห็นมันกระโดดไปมาตามท้องนา ผู้คนในยุโรปเองก็มักจะเห็นแมลงอยู่ตามธรรมชาติมากกว่าที่จะมาอยู่บนจานเป็นอาหาร แต่ทั้งหมดนี้อาจไม่มีอะไรมากกว่าความยากลำบากเบื้องต้นเท่านั้น ใครก็ตามที่ได้ลิ้มลองรสชาติของจิ้งหรีดก็ต่างเห็นด้วยกับโยเซฟ เฮียเทอและมาทิอัส ราสช์กันทั้งนั้นว่าเกลือนั้นเข้ากันเป็นอย่างดีกับรสที่ค่อนข้างคล้ายถั่วของแมลงชนิดนี้ เจ้าของกิจการทั้งสองเป็นนักฟิสิกส์และครู อีกทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิ้งหรีดพร้อมทาน เมื่อไม่นานมานี้พวกเขาเพิ่งจะเปิดร้าน “Wicked Cricket” ร้านอาหารแบบสั่งออนไลน์สำหรับผู้ที่ชอบรับประทานจิ้งหรีด ธุรกิจสตาร์ทอัพนี้ไม่ได้มีที่ตั้งอยู่ในเอเชีย ซึ่งเป็นที่ที่คนยุโรปคาดว่าจะพบกับผู้คนที่มีพฤติกรรมการกินแมลงได้ทั่วไป จริงๆ แล้วนี่เป็นการปฏิวัติทางอาหารที่มีฐานที่มั่นอยู่ในมิวนิค เยอรมนี เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนมองแมลงในฐานะเป็นหนึ่งในความรุ่งเรืองทางอาหาร เนื่องจากแมลงที่กินได้กว่า 1,900 สปีชีส์นั้นมีคุณค่าทางอาหารมากมายและก็มีรสชาติดีด้วย นอกจากนั้น แมลงยังเป็นส่วนประกอบในอาหารหลักที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร และยังเป็นสิ่งที่เรากินได้โดยไม่รู้สึกผิดใดๆ ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากช่วยโลกด้วยการเปลี่ยนนิสัยการกิน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะในการเลี้ยงวัวเพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้อวัวสำหรับบริโภค 1 กิโลกรัม เราต้องใช้อาหารสัตว์ถึง 25 กิโลกรัม ในขณะที่เราต้องใช้อาหารเลี้ยงจิ้งหรีดเพียง 2 กิโลกรัมเท่านั้นเพื่อให้ได้จิ้งหรีดไว้รับประทาน 1 กิโลกรัม และยังไม่รวมถึงเรื่องพื้นที่ ที่ต้องใช้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเมื่อเทียบกับการทำปศุสัตว์ทั่วไป ## ทางเลือกใหม่มากคุณค่า เจ้าสัตว์หน้าตาประหลาดนี้นับว่าดีต่อสุขภาพเรามากทีเดียว จิ้งหรีดอุดมไปด้วยวิตามินบี 12 กรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิดและสารอาหารรองที่สำคัญจำนวนมาก นี่จึงเป็นเหตุผลอันยอดเยี่ยมที่ทำให้คนเยอรมันกว่าร้อยละ 80 คิดว่าตามหลักการแล้วพวกเขาก็สามารถกินแมลงเป็นอาหารได้ จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยตลาด TNS Infratest อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง แมลงยังคงเป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มตลาดเฉพาะอย่างมาก เนื่องจากมันยังไม่ได้หาซื้อได้ง่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วๆ ไป แต่ต้องสั่งซื้อออนไลน์เท่านั้น เช่นจากเว็บไซต์ wuestengarnele.de ที่คุณสามารถสั่งซื้ออมยิ้มแมลงรสเลม่อนหรือราสเบอรี่ที่ผสมด้วงหนอนนกด้วย หรือเส้นพาสต้าจากแมลง “Rigate” ที่ทำจากหนอนควายบดได้ อีกไม่นานยังจะมีการผลิตโปรตีนบาร์ที่มีส่วนผสมของอินทผาลัมและจิ้งหรีดที่จะเป็นอาหารบำรุงกำลังชั้นดีสำหรับผู้ที่รักการออกกำลังกายอีกด้วย ทีโม เบกเกอร์ และคริสโตเฟอร์ เซพเพ็นเฟลด์ ได้ไอเดียเรื่องอาหารว่างพลังงานสูงนี้ตอนที่พวกเขาได้ลองชิมจิ้งหรีดและหนอนผีเสื้อระหว่างไปเที่ยวในเอเชีย พวกเขาคิดว่าคนในเยอรมนีจะต้องไม่ชอบมันแน่ๆ ด้วยหน้าตาไม่ค่อยน่าภิรมณ์ของมัน พวกเขาจึงได้ไปรวมกลุ่มกับดานีลา ฟอล์คเนอร์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาอีกคนเพื่อร่วมกันทำโปรตีนบาร์ที่มีหน้าตาปกติออกสู่ตลาด ซึ่งเป็นอาหารที่ช่วยให้ผู้ออกกำลังกายได้รับโปรตีนในปริมาณที่พอเหมาะกับที่ร่างกายต้องการ ขณะนี้พวกเขายังอยู่ในขั้นตอนของการระดมทุนเพื่อโปรตีนบาร์ “Swarm” ของพวกเขาซึ่งทำมาจากจิ้งหรีดบดและจะมีรสชาติอย่างเบอรี่รวม เชียเฮเซลนัทและโกโก้ให้เลือกทาน ตอนนี้มีผู้สนับสนุนรายใหญ่เริ่มเข้ามาสนับสนุนพวกเขาแล้ว เช่น กระทรวงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและพลังงานของรัฐบาลเยอรมัน และกองทุนเพื่อสังคมยุโรปในเยอรมนี เพราะภาคการเมืองเองก็สนใจที่จะโน้มน้าวให้คนเยอรมันก้าวข้ามความกลัวแล้วหันมาลองอาหารหน้าตาแปลกใหม่นี้ดูบ้าง ## ซุปแมงอีนูนเป็นเมนูบุกเบิก นับว่ายังมีอุปสรรคที่ต้องฝ่าฝันอยู่อีกไม่น้อย แต่สำหรับสองผู้ก่อตั้ง “Wicked Cricket” บอกว่า “ความลังเลใจจะลดลงเมื่อเราให้ข้อมูลมากขึ้น” พวกเขาเสริมว่า “ถ้าเราสื่อสารถึงประโยชน์มากมายของการกินแมลงไปยังลูกค้าเป้าหมาย และหากเราพูดถึงความรู้สึกขยะแขยงว่าเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เราก็จะสามารถทำให้ผู้คนเชื่อได้มากขึ้น” โดยเฉพาะเมื่อวัฒนธรรมการกินแมลงในเยอรมนีนั้นเคยมีมาก่อนแล้ว อย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1844 มีการระบุเอาไว้ในวารสารวิชาการด้านเภสัชวิทยาในเยอรมนีว่า “ซุปแมงอีนูน” นั้นเป็น “อาหารที่น่ายกย่องและอุดมไปด้วยคุณค่า” และในศตวรรษที่ 19 วิลเฮ็ม บุช กวีและนักวาดภาพก็ยังนำแมลง ซึ่งในเวลานั้นได้รับความนิยมอย่างมาก มาเป็นส่วนประกอบในอาหารของเขาด้วย เขาเขียนไว้ในบันทึกของเขาว่า แขกของเขาถึงกับขอเติมอาหารอีกรอบ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีใครรู้ว่าซุปนั้นทำมาจากอะไร ซึ่งก็คือแมงอีนูนกว่า 30 ตัวต่อหนึ่งจาน ที่นำมาคั่วกับเนยโดยไม่เอาปีกและขาของมัน จากนั้นเคี่ยวต่อในน้ำสต็อก ในสมัยของเขานั้น แมงอีนูน (Cockchafer) ยังเป็นแมลงที่หาซื้อได้ทั่วไปทั้งแบบเป็นตัวๆ และแบบเคลือบน้ำตาลเป็นขนมในร้านเบเกอรี่ด้วย อีกทั้งในสมัยนั้นถึงกับมีคำแนะนำด้วยว่า ก่อนซื้อแมลงมาเป็นอาหารจะต้องดูด้วยว่ามันกินอะไรมาก่อน ปัจจุบัน โยเซฟ เฮียเทอและมาทิอัส ราสช์ รับจิ้งหรีดมาจากฟาร์มแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ที่ผ่านรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ “เราต้องการที่รับซื้อจากผู้ค้าในท้องถิ่น แต่ว่าในเยอรมนียังไม่มีฟาร์มสักแห่งเลย” ทั้งสองตัดพ้อ สถานการณ์ดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไปก็ต่อเมื่อมีความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น สักวันอาจจะมีใครคิดทำจิ้งหรีด Wicked Cricket สูตรคริสต์มาส ที่เป็นจิ้งหรีดย่างปรุงรสด้วยน้ำตาลกับอบเชยก็เป็นได้
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/21051740.html
# คนเยอรมันเป็นแชมป์โลกด้านการลาพักร้อนจริงหรือ ภายใต้เศรษฐกิจโลกอันแสนวุ่นวาย แต่คนเยอรมันก็ยังมีเวลาพักร้อนมากมาย คนชาติอื่นต่างตั้งคำถามว่า “คนเยอรมันทำได้ยังไง” เรามาสำรวจเรื่องนี้กัน ชีวิตของมักซ์ มุสเทอร์มันน์ ช่วยให้ตัวอย่างกับเราได้ เขาอายุ 30 ปี ทำงานอยู่บริษัทขนาดกลางที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในเบอร์ลิน บริษัทประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก พนักงานทำงานอย่างมุ่งมั่นตั้งใจและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าบริษัทข้ามชาติที่เป็นคู่แข่ง มักซ์เป็นพนักงานที่ขยันมาก กระนั้นก็ยังมีเวลาเหลือเฟือให้กับงานอดิเรกของเขา เพราะเขามีวันลาพักร้อนถึง 30 วัน ทำให้นอกจากจะมีเวลาไปเที่ยววันหยุดในต่างประเทศเป็นสัปดาห์ๆ ได้แล้ว เขายังได้มีระยะห่างจากงานอย่างเหมาะสมและได้ผ่อนคลายความเครียดไปด้วย ต้องขออภัยท่านผู้อ่าน ที่เราเพิ่งจะโกหกคุณไป เพราะเรื่องราวของมักซ์ มุสเทอร์มันน์ นั้นเป็นเรื่องที่เราแต่งขึ้นมา อย่างไรก็ตาม คนเยอรมันก็เป็นชนชาติที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจสูงและก็ชอบให้คนชื่นชมว่าพวกเขามีวันหยุดมากมาย นี่จึงอาจทำให้ผู้คนสรุปได้อย่างรวดเร็วว่าคนเยอรมันนั้นเป็นแชมป์โลกด้านการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า เพราะถึงแม้จะงานเยอะแค่ไหน พวกเขาก็ยังจัดสรรเวลาไปพักร้อนได้เสมอ ## ปัจจัยอันหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปข้างต้นนี้อาจขาดการพิจารณาไปหลายประเด็น ประการแรก ความสำเร็จทางเศรษฐกิจระดับนานาชาตินั้นมาจากหลายปัจจัย อาทิ การเน้นการส่งออก ความเป็นสังคมอุตสาหกรรม รวมไปถึงการทำวิจัย ประการที่สอง แม้ว่าเมื่อเทียบแล้ว ชาวเยอรมันจะมีวันลาพักร้อนมากกว่าชาติอื่น อาทิ เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ แต่หากเทียบกับชาติอื่นๆ ในยุโรปแล้วก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ อีกทั้งยังมีประเด็นที่ต้องแยกออกจากกัน ระหว่างวันลาพักร้อนตามสิทธิ์กับวันลาพักร้อนที่ลาหยุดจริงด้วย โดยข้อแรกนั้นถูกกำหนดโดยสภานิติบัญญัติในเยอรมนี ด้วยเหตุนี้ ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานห้าวันต่อสัปดาห์จึงต้องมีสิทธิ์ลาพักร้อนขั้นต่ำเทียบเท่ากับ 20 วัน นอกจากนั้น ยังมีวันหยุดราชการอีก 9-13 วัน ขึ้นอยู่กับรัฐที่อาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม ด้วยวันหยุดรวมอย่างน้อย 29 วันนี้ก็ไม่ได้ทำให้เยอรมนีเป็นชาติที่มีวันหยุดมากที่สุด แต่ยังตามหลังอยู่หลายประเทศ อาทิ ออสเตรีย (38 วัน) ฝรั่งเศส (36 วัน) หรือฟินแลนด์ (35 วัน) หรืออย่างในประเทศแถบเอเชียอย่างไต้หวัน (28 วัน) และอินโดนีเซีย (26 วัน) ก็มีวันหยุดใกล้เคียงกับเยอรมนี การเปรียบเทียบทั้งหมดที่กล่าวมาจะมีผลก็เมื่อพิจารณาถึงข้อที่ว่า ในหลายๆ รัฐอุตสาหกรรม วันลาพักร้อนนั้นถูกกำหนดโดยข้อตกลงในการจ้างงาน ซึ่งมักตั้งมาตรฐานไว้สูงกว่าที่รัฐกำหนดขั้นต่ำเอาไว้ นอกจากนั้น จากผลการสำรวจยังพบอีกว่า ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สิทธิ์วันลาทั้งหมดที่มีอยู่ อีกทั้งยังทำงานล่วงเวลาเป็นจำนวนหลายชั่วโมงในวันทำงานปกติอีกด้วย สรุปสั้นๆ คือ ชาวเยอรมันไม่ใช่แชมป์โลกด้านการลาพักร้อนอย่างที่ถูกนำเสนอ ตัวเลขเหล่านั้นไม่อาจนำมาอนุมานได้กับประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาเลย ## เรื่อง (ไม่) ปกติ หากมองจากมุมมองในปัจจุบันแล้ว วันลาพักร้อนตามสิทธิ์ในเยอรมนีนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในสมัยก่อนกลับไม่เป็นเช่นนั้น “เกือบช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ลูกจ้างตามบริษัทเอกชนทั่วไปมักได้รับสิทธิ์ลาพักร้อนแค่สอง สาม หรือมากสุดแค่หกวันต่อปีเท่านั้น” เฮ็นริก มึลเลอร์ บรรณาธิการประจำสหภาพแรงงานบริการ ver.di เล่าว่า การเพิ่มวันหยุดพักร้อนในสัญญางานนั้นเพิ่งจะมีขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1903 “ที่ชตุทการ์ทและเทือริงเง็น สมาคมแรงงานผลิตเบียร์ได้ต่อสู้จนประสบความสำเร็จ ได้วันหยุดพักร้อน 3 วันต่อปี” ในสมัยไวมาร์ สหภาพแรงงานเหล่านี้ยังถือเป็นแรงสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อวันลาพักร้อนที่ยังได้รับค่าจ้างตามปกติ “ในเยอรมนีมักจะเป็นแบบนี้เสมอ สหภาพแรงงานเรียกร้องบางอย่าง กดดันไปยังบริษัทตนก่อน จากนั้นไปยังกลุ่มบริษัทใหญ่ แล้วก็เกิดเป็นข้อกฎหมายขึ้นมา” มึลเลอร์อธิบาย “ใน ค.ศ. 1963 ได้มีการออกกฎหมายเรื่องวันลาพักร้อนโดยรัฐอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งให้หลักประกันว่า ลูกจ้างทุกคนจะต้องได้สิทธิ์ลาพักร้อนอย่างน้อย 3 สัปดาห์ต่อปี” ต่อมาในปี 1975 ลูกจ้างเกือบครึ่งในเยอรมนีก็ได้รับสิทธิ์ลาพักร้อนเพิ่มเป็น 4 สัปดาห์ต่อปี ปัจจุบันนี้ สหภาพแรงงานรายงานว่า ในบริษัทและอุตสาหกรรมเกือบทุกแห่ง มีวันหยุดมาตรฐานอยู่ที่ 6 สัปดาห์ นอกจากข้อบังคับที่กล่าวมาแล้ว สัญญาจ้างงานก็ยังมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ “ในเรื่องวันลาพักร้อนนั้น กรรมการผู้จ้างงานก็มีสิทธิ์ในการกำหนดในเรื่องนี้” มึลเลอร์อธิบายเสริมว่า “ตัวอย่างง่ายๆ เลยอย่างเช่น กรณีที่เราเรียกว่า “วันพักร้อนโฟล์คสวาเกน” ที่บริษัทโฟล์คสวาเกนในเมืองโวฟส์บวร์ก เนื่องจากบริษัทนี้มีลูกจ้างกว่าแสนคน วันหยุดของบริษัทจึงจัดให้สอดคล้องกับการเดินทางเพื่อทำงานด้วย” ## แยกงานออกจากเวลาพักผ่อน ปัจจุบันเราแทบไม่เจอใครที่ร้องเรียนเรื่องวันลาพักร้อนกันแล้ว “การพักร้อนช่วยกระตุ้นกระบวรการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ” วลาดิสลาฟ ริฟกิน นักจิตวิทยาด้านการทำงานและอาชีพ ผู้ที่ทำงานวิจัยในหัวข้อนี้ที่สถาบันไลป์นิส แห่งมหาวิทยาลัย TU ดอร์ทมุนด์ ได้เสนอแนะ “สิ่งสำคัญคือ เมื่อไปพักร้อนจะต้องตัดขาดจากงาน” เขาเสริมว่า “นักวิทยาศาสตร์เรียกมันว่า “การแยกออกทางจิต” (psychological detachment) ผู้ที่สามารถแยกงานและเวลาพักผ่อนออกจากกันได้เท่านั้นที่จะปกป้องตนเองจากความเครียดในที่ทำงานได้” การลาพักร้อนเป็นเวลาหลายสัปดาห์อาจไม่ได้หลายถึงการพักผ่อนที่มากขึ้นเสมอไป ริฟกินกล่าวว่า “สิ่งสำคัญคือ ต้องตัดขาดจากงาน ด้วยวิธีเช่น หยุดการเช็คอีเมลงานและงดการสนทนาโทรศัพท์เรื่องงานระหว่างลาพักร้อน” ## การเปลี่ยนแปลงมากมาย ริฟกินคิดว่า ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายในเรื่องวันหยุดพักร้อน ปัจจัยหลักคือเรื่องของการที่สถานที่ทำงานและการทำงานค่อยๆ ถูกปรับระบบเป็นดิจิทัลมากขึ้น การทำให้เป็นดิจิทัล (digitalization) นั้นเข้ามาเปลี่ยนสถานที่และเวลาในการทำงาน รวมไปถึงเรื่องความต้องการในการลาพักร้อนอีกด้วย เขาเสนอตัวอย่างว่า “ถ้าผมทำงานอยู่ในโฮมออฟฟิศและในขณะเดียวกันก็ดูแลลูกที่กำลังป่วยไปด้วย ผมก็ไม่จำเป็นต้องขอลาหยุดเวลาที่ลูกป่วยอีกต่อไป” การทำงานทางไกลอาจไม่สามารถทำได้กับงานทุกประเภท” เขายกตัวอย่าง เช่น งานสายงานการผลิต เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงเป็นระบบดิจิทัลช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นของเงื่อนไขการทำงานหลายอย่าง “แน่นอนว่าจะยังคงมีวันลาพักร้อนหลายสัปดาห์ต่อไป แต่แนวโน้มของการลาพักร้อนช่วงสั้นๆ จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ”
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/21058131.html
# “ทำงานร้านจักรยานในฤดูร้อนก็ต้องทนกับความเครียด” เปลี่ยนยางใน ตั้งเบรก และขายจักรยาน ฤดูร้อนถือเป็นช่วงที่ธุรกิจรุ่งเรืองที่สุดสำหรับร้านจักรยาน Kettenreaktion (“ปฏิกิริยาลูกโซ่”) และสำหรับเด็กฝึกงานอย่างเพาลาด้วย เธอเล่าว่า บางวันลูกค้าเข้ามาในร้านพร้อมๆ กัน 30-40 คน แต่เธอก็ยังสนุกกับงานนี้ เพาลาใช้สมาธิอย่างมากในการทำงาน ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เธอตรวจดูความแน่นหนาของซี่ล้อ ศูนย์ล้อและการหมุนของล้อ เธอไม่ยอมให้อะไรมารบกวนการทำงานของเธอ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าสองคนที่กำลังรอเธออยู่ที่เคาน์เตอร์หรือกระทั่งเซบาสเตียนและวิลลี เจ้านายทั้งสองของเธอ ที่ต่างก็วุ่นอยู่ในร้านจักรยานเล็กๆ ทางตอนใต้ของเมืองไลป์ซิกร้านนี้ และในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูร้อน ที่ร้านก็มีงานต้องทำมากมายรอทุกคนอยู่ “การประกอบล้อคืองานโปรดของฉัน มันเป็นงานที่น่าสนใจมาก คุณจะต้องละเอียดรอบคอบมากๆ” เพาลากล่าวขณะถูมือเปื้อนน้ำมัน เพาลา ลูอิเซอ ยูเรอ โคบุส เป็นสาวอายุน้อยที่มีผมเดรดร็อคสีบลอนด์ เธอเกิด พ.ศ. 2540 และกำลังอยู่ในปีที่สามของการฝึกงานเพื่อจะเป็นช่างแมคคาทรอนิกส์จักรยาน จนบัดนี้ เธอเล่าว่าเธอทำได้เกือบทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่เปลี่ยนยางใน ปรับตั้งเบรก ไปจนถึงประกอบขอบล้อ นี่ถือเป็นข้อดีเช่นกัน เพราะในช่วงเริ่มฤดูใบไม้ผลิถือเป็นช่วงที่ร้านขายดีที่สุด “ถ้าคุณทำงานร้านจักรยานในฤดูร้อน คุณก็ต้องทนกับความเครียดให้ได้” เพาลากล่าว “บางครั้งลูกค้าเข้าร้านมาพร้อมๆ กัน 30-40 คน ทุกคนก็ต้องการบริการเร็วๆ เหมือนกันหมดและมันก็ยากพอตัว” แม้กระทั่งงานซ่อมฉุกเฉินอย่างการเปลี่ยนยางในที่ปกติทำเสร็จได้ใน 24 ชั่วโมง ยังต้องรอนานกว่านั้นในฤดูร้อน โดยหลักแล้ว จุดแข็งของร้านคือการขายจักรยานและอุปกรณ์เสริม ร้านเคยกระทั่งส่งจักรยานไปไกลถึงฝรั่งเศส ซึ่งลูกค้าได้สั่งซื้อเอาไว้กับทางร้านก่อนจะย้ายไปจากไลป์ซิก แต่สำหรับในฤดูร้อนนี้ เพาล่ากล่าวว่า “งานหลักของร้านจะหนักไปในทางงานซ่อม” พอเข้าฤดูหนาว ทุกอย่างก็จะคลายความตึงเครียดลง “เราถึงขั้นมีเวลาว่างมากพอที่จะปิดร้านได้เร็วขึ้นและมีเวลาแต่งจักรยานของตัวเอง” สำหรับเพาลาแล้ว จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางอันดับหนึ่ง “ฉันไม่มีใบขับขี่ และฉันก็ไม่ชอบรถสาธารณะด้วย ฉันก็เลยขี่จักรยานเสมอ” แต่เธอกลับไม่ใส่หมวกกันน็อค เธอสารภาพ “มันยากที่จะสวมเข้ากับทรงผมของฉัน”อีกเพียงครึ่งปีเท่านั้นเธอก็จะจบการฝึกงานและได้เป็นช่างแมคคาทรอนิกส์จักรยาน เธอได้รับการส่งต่องานนี้มา พ่อของเธอก็เป็นช่างแมคคาทรอนิกส์จักรยานเช่นกัน และเขาก็ภูมิใจในตัวลูกสาวมาก เพราะยังมีผู้หญิงอยู่ในสายงานนี้น้อยมาก ลูกค้าเองก็ยังถามเพาลาบ่อยๆ เรื่องการทำงานในสายงานที่ผู้ชายเป็นคนส่วนใหญ่ “ฉันว่ามันแย่นะเวลาที่คนคิดมากเรื่องนี้ แล้วก็พูดออกมาว่า โอ้ มีผู้หญิงทำด้วย” ที่วิทยาลัยเทคนิคของเธอมีผู้หญิงอยู่เพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น “อย่างน้อยฉันก็มองเป็นเรื่องดีที่มีผู้หญิงอยู่บ้าง มันก็เกิดขึ้นแล้ว”
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/21275494.html
# “เราต้องรู้จักสมุนไพร” ฤดูร้อนคือช่วงเวลาที่งานยุ่งที่สุดในสวนสมุนไพรของไฮดี คนัพเพอ ทั้งเก็บเกี่ยว ปรุงอาหารและทำกิจกรรมน่าตื่นเต้น ใครจะไปคิดกันว่าที่ Wegerich, Waldmeister & Co จะมีอะไรซ่อนอยู่มากมายขนาดนี้ เครื่องเทศในกระถางดินเล็กๆ ดอกแดนดิไลออนในสนามหญ้า เกาต์วีดในแปลงดอกไม้ และกลิ่นกรุ่นของวูดรัฟฟ์ หากใครได้ก้าวเข้าไปในสวนของไฮดี คนัพเพอ ก็เหมือนได้ยืนอยู่ในสวนสวรรค์ที่เต็มไปด้วยสมุนไพร เธอเล่าว่า “เกาต์วีดถูกตราหน้าว่าเป็นเพียงวัชพืช แต่กระนั้นมันก็มีสรรพคุณรักษาโรคมากมาย แถมยังมีรสชาติดีด้วย หลายคนยังประหลาดใจเมื่อฉันบอกแบบนี้” นับเป็นเวลาสิบปีมาแล้วที่ไฮดี คนัพเพอ (เกิด พ.ศ. 2509) ได้เผยแพร่ความรู้เรื่องสรรพคุณของพืชสมุนไพรให้แก่ผู้สนใจ ในคอร์สอบรมของเธอนั้น เธอจะพาไปเก็บสมุนไพร สัมผัส และเรียนรู้ไปด้วยกัน หากคนเหล่านี้จะกลับไปต่อยอดผลิตยาสมุนไพรใช้เองจากทิงเจอร์และขี้ผึ้ง ทำน้ำหมักหรือเครื่องสำอางนั้น “ก็ขึ้นอยู่กับว่า มีต้นอะไรขึ้นบ้างที่นี่ และจะเอาอะไรไปใช้ได้บ้าง เราควรจะต้องรู้จักว่าต้นไม้ที่เด็ดมานั้นคือสมุนไพรอะไร” ในวันเสาร์ ผู้เข้าอบรมเจ็ดคนมาที่สวนขนาดใหญ่ของเธอที่อยู่ติดทะเลสาบชวีเลิฟ ใกล้เมืองพอทส์ดัม บางคนมาที่นี่เป็นครั้งที่สองแล้ว แตงซูกินีม้วน แผ่นแป้งใส่สมุนไพรที่ทำเอง และมันฝรั่งกำลังถูกย่างหอมกรุ่นอยู่บนเตาย่างกลางแจ้ง ด้วยคำขวัญที่ว่า “ชายและหญิงประจำเตาย่าง” ในช่วงเช้าจะเป็นช่วงที่คนกลุ่มนี้จะได้เรียนทฤษฎีสั้นๆ เพื่อรู้จักการเก็บใบเสจ ทาร์รากอน เกาต์วีที่จะขาดไม่ได้ หรือกระทั่งดอกเดซี่ อีกทั้งเธอยังอธิบายสูตรทำซอสหมักเนื้อ ซอสจิ้มสมุนไพร สลัด และเพสโตสำหรับใช้ทำอาหารปิ้งย่างร่วมกันอีกด้วย ตั้งแต่สมัยที่เธอยังทำงานเป็นแม่ครัว เธอก็มีความสนใจในเรื่องพืชป่าและสมุนไพรมาโดยตลอด แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอเปลี่ยนความชื่นชอบนี้ให้กลายเป็นอาชีพ ก็คือลูกชายของเธอที่มีความพิการอย่างรุนแรง “เขาตาบอด แต่มีประสาทรับรู้กลิ่นที่ยอดเยี่ยมมาก ฉันจึงคิดอยากทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องกลิ่น” ชื่อแบรนด์ Kräuter-Heidi คือชื่อทางการค้าของเธอ ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจากสมุนไพร ตั้งแต่น้ำส้มสายชูหมักสมุนไพรป่า ไปจนถึงน้ำเชื่อมเกาต์วีด และซอสจิ้มสมุนไพร โดยมีสามีของเธอคอยช่วยนำสินค้าไปขายที่ตลาดในเมืองพอทส์ดัมและเบอร์ลิน เธอเล่าว่า จริงๆ แล้วนี่เป็นเพียงกิจการเล็กๆ ของครอบครัวเท่านั้น “เมื่อก่อนพอตกเย็น ฉันกับลูกสาวและสามีจะช่วยกันกรอกขวดและติดฉลากกันเองในครัว ทำเป็นอาชีพเสริมจากงานประจำ นั่นคือจุดเริ่มต้น” ปัจจุบัน เธอเปิดคอร์สอบรมเรื่องสมุนไพรตลอดทั้งปี โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนหัวข้อตามฤดูกาล อาทิ การทำเครื่องแกงในฤดูหนาว การทำซอสสมุนไพรจากซอเรลและผักชีในเดือนเมษายน และในฤดูร้อนจะเป็นเรื่องการหมักเนื้อและอาหารปิ้งย่าง ไฮดี คนัพเพอ รักการทำหน้าที่เจ้าบ้านของเธอ แต่หากคุณได้ลองเฝ้าสังเกตเธอเดินไปมาในสวน ปรุงน้ำสมุนไพร และแบ่งปันความรู้เรื่องสมุนไพรอย่างเป็นกันเองแล้วละก็ คุณจะต้องสงสัยว่าผู้หญิงคนนี้ได้มีเวลาพักเหนื่อยบ้างเปล่า เธอสารภาพกับเราว่า เธอยังมีหนังสืออีกกองเท่าภูเขาที่รอให้เธออ่านอยู่ แต่พอตกเย็น เธอก็มักจะเหนื่อยล้าเกินกว่าจะอ่านเสียแล้ว “หลายวันมานี่ก็เหนื่อยมากนะ ไหนฉันยังจะต้องดูแลสวน ดูแลบ้าน และก็ลูกชายด้วย แต่พอได้เห็นมีอาหารเต็มโต๊ะ เห็นผู้คนมีความสุข มันก็ทำให้ฉันสนุกที่ได้ทำ”
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/21288672.html
# “ผมชอบบินไปยังที่ที่กลางวันสว่างนานๆ” ด้วยบทบาทกัปตันเครื่องบินทำให้ เพเทอร์ ริกซ์ ได้เดินทางไปทั่วโลก และนี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขารักในงานของเขา ในช่วงฤดูร้อน เขาเล่าว่าการบินจะราบรื่นมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่สำหรับผู้โดยสารเท่านั้น แต่สำหรับลูกเรือด้วย การบินไปยังชิคาโก โตเกียว บัวโนสไอเรส และซานดิเอโก ภายในเวลา 4 สัปดาห์นั้นถือเป็นงานประจำของ เพเทอร์ ริกซ์ กัปตันเครื่องบินจากนูเรมแบร์ก เกิดปี พ.ศ. 2513 ผู้เต็มไปด้วยประกายความสามารถที่สุขุมและน่าเชื่อถือ อันสั่งสมมาจากประสบการณ์การทำงานของเขา เขาทำงานเป็นนักบินมา 20 ปีแล้วและมักพูดอยู่เสมอว่า “สำหรับผมแล้ว การทำงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญมาก ผมชอบเดินทาง ท่องโลก และทำงานร่วมกับผู้อื่น” ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เขาบินเส้นทางการบินระยะไกลให้กับสายการบินลุฟท์ฮันซา สายการบินที่มีเส้นทางบินทั่วโลกกว่า 200 จุดหมาย ในช่วงฤดูร้อนจะมีเส้นทางเพิ่มเติมจากปกติ อาทิ ซานดิเอโก ในแคลิฟอเนีย หรือเสิ่นหยาง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็นที่ที่บริษัทเยอรมันมักมีสำนักงานตั้งอยู่ ริกซ์ยังคงสนใจที่จะบินไปยังเมืองใหม่ๆ รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย เพราะส่วนใหญ่ ลูกเรือมักจะมีเวลา 24-48 ชั่วโมงในการพักผ่อน ก่อนจะเริ่มทำงานในเที่ยวบินถัดไป ทุกๆ เดือน เขาจะมีปฏิบัติการการบินหรือที่เรียกกันในภาษาของพวกเขาว่ารอบบิน ประมาณ 4-5 รอบ เขาจึงต้องเดินทางอยู่เสมอ ครอบครัวและเพื่อนต้องเป็นฝ่ายปรับเข้าหาตารางงานของเขา จากบ้านในเบอร์ลิน เขาจะเดินทางมายังสำนักงานที่แฟรงเฟิร์ตหรือมิวนิคก่อน จากนั้นจึงจะขึ้นบินไปยังจุดหมายต่างๆ ในฐานะของกัปตัน ริกซ์มีหน้าที่รับผิดชอบขั้นสูงสุดบนเที่ยวบิน แม้ในเวลาที่เขาสลับหน้าที่กับนักบินผู้ช่วยบนเครื่องก็ตาม งานที่เป็นระเบียบระบบนี้ช่วยให้เขาทำงานง่ายขึ้น โดยเฉพาะการร่วมงานกันอย่าง “ยอดเยี่ยม” ของเหล่าลูกเรือทั้งทีม อย่างไรก็ตาม งานนี้ก็ยังถือเป็นงานที่ท้ายทายอยู่มาก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาการเมาเวลา (jet lag) ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้โดยสารเท่านั้น แต่เกิดกับลูกเรือด้วย เนื่องจากเที่ยวบินมักจะเริ่มในเวลาเย็นหรือกลางคืนเสมอ ด้วยเหตุนี้ ริกซ์จึงชอบฤดูร้อน “เราบินไปแถบเส้นศูนย์สูตรตอนเหนือเยอะมาก นอกตัวเครื่อง ฟ้าจะสว่างในฤดูร้อนและมันทำให้การนั่งทำงานในห้องควบคุมนั้นง่ายขึ้นในเวลากลางคืน พูดง่ายๆ ก็คือ การบินในฤดูร้อนนั้นยุ่งยากน้อยกว่าในหลายๆ เรื่อง และปัญหาคลาสสิกของการบินในฤดูหนาว อย่างความล่าช้าที่เกิดจากหิมะตกหรือเพราะต้องละลายน้ำแข็งที่ตัวเครื่องนั้นก็จะหมดไป” ริกส์ยังชอบเสมอเวลาที่เขาแทบไม่ต้องนำเป๋าเดินทางไปด้วยในช่วงอากาศอุ่น “นี่อาจจะดูเป็นเรื่องทั่วๆ ไป แต่สำหรับคนที่เดินทางมาอย่างยาวนาน คุณจะมีความสุขเมื่อคุณไม่ต้องพกเสื้อคลุมตัวหนาๆ ไปด้วย” และแน่นอนว่า แสงอาทิตย์นั้นมีผลในแง่ดีต่อทุกคน ทั้งทีมงานและผู้โดยสารด้วย สูงขึ้นไปเหนือท้องฟ้า เขายังคงรื่นรมย์กับการได้มองวิวนอกหน้าต่าง แม้ผ่านการทำงานมาแล้วถึง 20 ปี “เวลาบินอยู่เหนือเกาะกรีนแลนด์ตะวันออกที่มีภูเขาสูงเกือบสามพันเมตรอยู่ติดชายฝั่ง ผมพูดกับลูกเรือเสมอว่า ดูนั่นสิ พวกคุณจะเห็นวิวนี้เฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้นนะ พอฤดูหนาว ข้างล่างนั่นจะมืดสนิท มันทำให้ผมทึ่งได้เสมอ มันช่างน่าหลงใหลและงดงามจริงๆ” สำหรับใครที่ทำงานอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลานาน น่าจะอยากให้เท้าได้สัมผัสพื้นดินในช่วงเวลาพักร้อน แต่ริกซ์กลับหัวเราะและกล่าวว่า “ไม่เลย ผมยังชอบเสาะหามุมใหม่ๆ ในโลกที่ยังไม่เคยไปอยู่เสมอ” เขาเล่าว่า ในฤดูร้อนนี้เขาจะไปเยี่ยมเพื่อนที่เมืองทาลลิน “ผมชอบบินไปยังที่ที่กลางวันสว่างนานๆ ฤดูร้อนก็บินไปทางตอนเหนือ พอฤดูหนาวก็ลงใต้”
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/21288677.html
# โปรเจกต์ VR จากเยอรมนี โปรเจกต์ความเป็นจริงเสมือนและโปรเจกต์ 360 องศาทั้ง 10 จากเยอรมนีที่คุณควรรู้จัก ว่ายวนและดำดิ่งลงไปในโลกแห่งความจริงอีกใบที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น ทุกหนทุกแห่งต่างก็มีการทดลองทางเทคโนโลยีและศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะในพิพิธภัณฑ์หรือโรงเรียน โฆษณาหรือการตลาด ในสื่อหรือในวงการจิตบำบัด และในเยอรมนีเองก็มี 10 กลุ่มบริษัท สถาบัน และนักวิจัยเหล่านี้ที่กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาความเป็นจริงเสมือน (VR) ## VR-Nerds การรวมเกมคอมพิวเตอร์และกีฬาเข้าด้วยกันถือเป็นความฝันของเหล่าเกมเมอร์ตัวจริง และ Tower Tag เกมแนวยิงปืนในรูปแบบ VR จาก [VR-Nerds](http://www.vrnerds.de/) บริษัทผู้ผลิตจากเมืองฮัมบวร์กก็ให้ผู้เล่นได้มาดวลกันในโลก VR ด้วยปืนเลเซอร์เสมือน ซึ่งมีฉากหลังที่ปรับมาให้เข้ากับพื้นที่เล่นจริงมากที่สุด โดยผู้เล่นจะสัมผัสได้ถึงสิ่งที่ตัวเองเห็นผ่านแว่น VR เช่น เมื่อไปปักหลักหาที่กำบังอยู่หลังเสา VR-Nerds ยังจัดงาน vSports Tower Tag Tournaments ในโลกความจริงผสมนี้อีกด้วย แม้ VR-Nerds จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเกม VR แต่ก็ยังมีศูนย์ข่าวยอดนิยมที่นำเสนอข่าวสารวงการความเป็นจริงเสมือนและเทคโนโลยี 360 องศาด้วยเช่นกัน ## gamelab.berlin เราจะเต้นในโลกเสมือนได้อย่างไร นักออกแบบท่าเต้นไอนาฟ คาทาน-ชมิด (Einav Katan-Schmid) ตอบคำถามนี้ด้วยการจับมือกับ [gamelab.berlin](http://www.gamelab.berlin/) เพื่อร่างแนวคิดการแสดงในรูปแบบ VR ที่ให้นักเต้นเคลื่อนไหวร่างกายในโลกของตัวเองได้ โดยได้ศึกษาเทคนิคการเคลื่อนไหวร่างกายของนักเต้นมืออาชีพในการประชุมเกี่ยวกับการเต้นรำใน VR ที่ผ่านมา gamelab.berlin คือโปรเจกต์ของแล็บสหวิทยาการ “Bild Wissen Gestaltung” ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮุมโบลท์ (Humboldt Universität) แห่งกรุงเบอร์ลิน ศูนย์วิจัยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดยโทมัส ลิลเกอ (Thomas Lilge) นักวิชาการด้านการละครและปรัชญา เพื่อศึกษาวิจัยทุกสิ่งที่เกี่ยวกับความเป็นจริงเสมือนและเกม ตั้งแต่การเล่าเรื่องข้ามสื่อ เกมที่เล่นกันจริงจัง ไปจนถึงการสร้างเกมขึ้นจากสิ่งต่างๆ ## SEHSUCHT Berlin โมเดอราท (Moderat) วงดนตรีจากเบอร์ลินต้องการสร้างโลกอันเลวร้ายในจินตนาการขึ้นในมิวสิควิดีโอ ในปี 2016 ผู้กำกับและครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ มาเทอ ชไตน์ฟอร์ท (Mate Steinforth) จึงได้ร่วมมือกับ[โปรดักชั่นเฮาส์ Sehsucht](http://sehsucht.de/) ทำการถ่ายทำ “Reminder” แอนิเมชั่น 360 องศาในเบอร์ลิน แทนที่จะเป็นภาพเคลื่อนไหวทั่วๆ ไป มิวสิควิดีโอชิ้นนี้กลับแสดงออกเป็นสุนทรียภาพในรูปแบบวิดีโอเกม และเมื่อชมใน VR จะยิ่งเห็นความประดิษฐ์ได้ชัดเจนขึ้น Sehsucht ถนัดการถ่ายทำโฆษณาแบบ 360 องศา เช่น โฆษณายานยนตร์ ## Vragments [Vragments](http://vragments.com/) สตาร์ทอัพจากเบอร์ลินพร้อมด้วยพาร์ทเนอร์ Deutsche Welle และ Euronews พัฒนา [Fader](http://getfader.com/) เครื่องมือที่ใช้งานได้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งทำให้บรรดานักข่าวรังสรรค์โปรเจกต์ 360 องศาร่วมกันได้อย่างง่ายดาย ถือเป็นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ในแวดวงนักข่าว เพราะเป็นครั้งแรกที่จะสามารถผลิตเนื้อหาในรูปแบบดังกล่าวออกมาได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาโปรดักชั่นเฮาส์ นอกจากนี้ Vragments ยังผลิตสารคดีและรายงานข่าวเองอีกด้วย รวมถึงได้ร่วมมือกับสถานีวิทยุ Deutschlandradio Kultur สร้างห้องสอบสวนของ Stasi ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบเสมือน เพื่อให้ผู้ใช้สัมผัสประสบการณ์การสอบสวนที่ใช้กันในสมัยเยอรมนีตะวันออกได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ## WDR & ARTE สถานีโทรทัศน์สาธารณะ WDR และ ARTE ให้ผู้ใช้สัมผัสกับเหตุการณ์ที่ไม่คุ้นเคยหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้วยการรายงานข่าวผ่าน VR โดยสถานี [Westdeutscher Rundfunk](http://www1.wdr.de/virtual-reality-uebersicht-100.html) (WDR) นั้นเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของโลก 360 องศาที่น่าประทับใจ อย่างเช่น สารคดี 360 องศาเรื่องค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Grimme Online Award หรือสารคดี VR เรื่องเหตุโจมตีในกรุงปารีส ส่วนสถานีโทรทัศน์สัญชาติเยอรมัน-ฝรั่งเศสอย่าง [ARTE](http://sites.arte.tv/360/de) ก็ให้ผู้ใช้ได้ว่ายวนในโลก VR พร้อมรับประสบการณ์ในอีกรูปแบบ เช่น การดำดิ่งสู่ท้องทะเลลึกไปกับนักดำน้ำแบบฟรีไดฟ์วิ่ง หรือการสัมผัสประสบการณ์การแสดงในรูปแบบ VR ของศิลปิน โยนาธาน เมเซอ (Jonathan Meese)และแม่ของเขา บริกิตเทอ (Brigitte) ## Julia Leeb [ยูเลีย ลีบ](http://www.julialeeb.com)(Julia Leeb) นักข่าวในรูปแบบ VR ชาวมิวนิครายงานข่าวจากพื้นที่สงครามและถ่ายทำสารคดีจาก เช่น ซีเรีย อัฟกานิสถาน และเกาหลีเหนือ โดยลีบ (Leeb) จะนำผู้ใช้ออกจากพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองและมุ่งตรงไปสู่เหตุการณ์ เช่น รายงานข่าวอย่างเจาะลึกในรูปแบบ 360 องศาเมื่อปี 2016 ที่นำผู้ใช้เข้าไปสัมผัสกับชีวิตในหมู่บ้านผู้ต่อต้านรัฐบาลในประเทศคองโก ## INVR.SPACE GmbH ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลดนตรีเฮฟวีเมทัล Wacken ในประสบการณ์แบบ VR การชมเอนเตอร์เทนเนอร์ ฟรีดริช ลีชเทนชไตน์ (Friedrich Liechtenstein) ผ่าน VR หรือโปรเจกต์ศิลปะ Eating Refugees ในรูปแบบ 360 องศาของศูนย์เพื่อความงามทางการเมือง ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของ [INVR.SPACE](http://invr.space) โปรดักชั่นเฮาส์จากเบอร์ลิน ที่พัฒนาวิดีโอ แอปพลิเคชัน VR และ 360 องศาเชิงโต้ตอบทุกประเภท โดยทั้งนักข่าว VR อย่างยูเลีย ลีบ (Julia Leeb) และกองบรรณาธิการ รวมถึงบริษัทผลิตภาพยนตร์ต่างก็เคยใช้บริการ INVR.SPACE ในโปรเจกต์ของตัวเองมาแล้ว บริษัทแห่งนี้ยังได้พัฒนาโปรเจกต์ส่วนตัวที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีกล้องอัจฉริยะใหม่ล่าสุดและโดรน ซึ่งได้รับรางวัล German Design Award 2018 อีกด้วย ## Frank Steinicke การทดลองกับตัวเองที่เป็นสถิติโลกนั้นทำสำเร็จในปี 2014 เมื่อ [ฟรังค์ ชไตน์อิกเคอ](http://www.inf.uni-hamburg.de/en/inst/ab/hci/people/steinicke.html)(Frank Steinicke) ดำดิ่งลงไปในโลกเสมือนเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเต็ม หลังจากนั้นเขาต้องต่อสู้กับอาการคลื่นไส้ อาจารย์ด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก (Universität Hamburg) เผยกับหนังสือพิมพ์ Süddeutsche Zeitung ว่า ตัวเขาเองรู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงไม่ต่างกับการนั่งเครื่องบินไฟลท์ยาวเลยทีเดียว ฟรังค์ ชไตน์อิกเคอ(Frank Steinicke) คือหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ด้าน VR แถวหน้าของเยอรมนีและวิจัยด้านความสามารถของการรับรู้ของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมทางความเป็นจริงที่มีคอมพิวเตอร์เป็นตัวกลาง เขาเชื่อมั่นว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนจะเลือนหายไป ## Egbert van Wyngaarden เทคโนโลยีจะไม่มีความหมายหากไม่มีเนื้อหาส่งผ่าน นี่คือแนวคิดเกี่ยวกับการเล่าเรื่องผ่านสื่อเสมือนจริงที่สะท้อนออกมาจาก [เอกแบร์ท ฟาน วินการ์เดน](http://www.macromedia-fachhochschule.de/studiengaenge/film-und-fernsehen/professoren-lehrende/person/vita/van-wyngaarden.html)(Egbert van Wyngaarden)อาจารย์ด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์และการเขียนบทภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาโครมีเดีย เมืองมิวนิค และผู้ก่อตั้งเครือข่ายสหวิทยาการ “Transmedia Bayern” ฟาน วินการ์เดน (Van Wyngaarden) มองหาความเป็นไปได้จากการเล่าเรื่องอย่างลึกซึ้งและความเป็นจริงเสมือน และศึกษาหาวิธีการผสานเกมและภาพยนตร์เข้าด้วยกัน ## Fraunhofer Virtual Reality Solution Center เมื่อพูดถึงโลกเสมือนแล้ว ก็ต้องพูดถึง [ศูนย์พัฒนาด้านความเป็นจริงเสมือนแห่งสถาบันเฟราน์โฮเฟอร์](http://www.ipk.fraunhofer.de/kompetenzen-buendeln/ipk-kompetenzzentren/virtual-reality-solution-center/)(Virtual Reality Solution Center des Fraunhofer-Instituts) สำหรับสายการผลิตและการออกแบบวิศวกรรม ศูนย์ฯ นี้พัฒนาแนวทางการทำให้เห็นภาพและเทคนิคการผลิตต้นแบบอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมและการผลิตเครื่องมือ 3 มิติ เช่น ในสายวิศวกรรมเครื่องกล โดยทำงานกับโซลูชันโมดูล ซึ่งทำให้ออกแบบและผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรได้ทั้งชิ้นใน VR
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/21404629.html
# วัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล ปกติแล้วผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุมักจะได้ชมสิ่งของสำคัญทางวัฒนธรรมในตู้กระจกหรือห้องแสดงนิทรรศการแสงสลัว ทั้งๆ ที่ปัจจุบันน่าจะมีการจัดแสดงให้ผู้เข้าชมได้เข้าถึงมากขึ้น โครงการ Hackathon ด้านวัฒนธรรม “Coding da Vinci” แสดงให้เห็นว่า ของสะสมในพิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวาขึ้นได้อย่างไรในรูปแบบดิจิทัล ในพิพิธภัณฑ์ทั่วๆ ไป ผู้เข้าชมมักจะต้องใช้จินตนาการในการรับชม กล่าวคือ ของในห้องจัดแสดงอันควรค่าแก่การอนุรักษ์เหล่านั้น มักจะห้ามจับหรือห้ามลอง ความรู้สึกเมื่อสัมผัสหรือการใช้จริงเป็นอย่างไรนั้น ผู้เข้าชมจะจินตนาการเอาเอง แม้เอกสารและข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มักจะเปิดให้เข้าถึงโดยการอ่านได้ แต่ผู้เข้าชมแต่ละคนก็ยังต้องใช้จินตนาการนึกภาพเหตุการณ์ด้วยตนเอง ตัวอย่างล่าสุดจากโครงการ Hackathon ด้านวัฒนธรรม มีการนำวัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์มาจัดแสดงให้มีชีวิตชีวาในรูปแบบดิจิทัล และสร้างภาพจำลองจากสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ตัวอย่างหนึ่งของโครงการนี้คือ การที่ผู้เข้าชมได้ลองชุดภาพเสมือนจริงผ่านโปรแกรม “Kleid-er-leben” (ปลุกชีวาให้อาภรณ์) จะได้รู้สึกถึงความยากลำบากในการเคลื่อนไหวในเสื้อผ้าอาภรณ์ในศตวรรษก่อนๆ จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แฟรงก์เฟิร์ต โดยผู้ใช้โปรแกรมสามารถเลือกเสื้อผ้าแล้วลองขยับตัวในห้องที่สร้างภาพเสมือนในประวัติศาสตร์ และดูตัวเองในกระจกได้ ส่วนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์และการโทรคมนาคมนั้น โทรศัพท์โบราณได้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งด้วยเกมทายเสียงเรียกเข้า โทรศัพท์ที่วางนิ่งเงียบอยู่บนชั้น เมื่อเปิดแอปพลิเคชันจะมีเสียงเรียกเข้าดัง ผู้เข้าชมจะต้องจับคู่เสียงกับโทรศัพท์ให้ถูกต้อง ในแอปพลิเคชัน “Altpapier” (กระดาษเก่า) การเมืองจะมาพร้อมความบันเทิง โดยข่าวที่น่าสนใจในหนังสือพิมพ์จากปีแรกๆ ของศตวรรษที่ 20 จะถูกรวบรวมไว้ ได้ประโยชน์ทั้งความบันเทิงและความรู้ด้านประวัติศาสตร์ในที่เดียว ใช้ได้ถ้ามีสมาร์ทโฟนและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แม้แต่สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ที่หายไปตามกาลเวลาเกือบหมด อย่างกำแพงเบอร์ลิน ก็ถูกนำมาสร้างเป็นภาพเสมือนจริงให้ได้สัมผัสกัน เหล่าโปรแกรมเมอร์ได้นำภาพจากหอจดหมายเหตุ “มูลนิธิกำแพงเบอร์ลิน” มาให้ดูกันได้ในแอปพลิเคชัน “Berliner MauAR” (กำแพงเบอร์ลินสื่อผสม) โดยผู้ที่ดาวน์โหลดสามารถดูภาพกำแพงเบอร์ลินในสถานที่จริงเมื่อเดินเที่ยวชมเมืองได้ ภาพประวัติศาสตร์แสดงบนจอมือถือตรงตำแหน่งที่ผู้ใช้ยืนอยู่อย่างถูกต้องโดย GPS หรือสามารถดูผังเมืองเบอร์ลินในอนาคตที่รัฐบาลเยอรมันตะวันออกได้เคยวางแผนไว้ในตอนนั้นในเว็บไซต์ “Aufbau Ost-Berlin” อีกทั้งยังมีการแนะนำการท่องเที่ยวในหัวข้อต่างๆ และแสดงภาพในรูปแบบของเยอรมันตะวันออกตามสถานที่นั้นๆ อีกด้วย ## โปรเจ็คท์ใหม่ๆ มากมายผุดขึ้นมาในเวลา 6 สัปดาห์ โปรแกรมดิจิทัลเหล่านี้ทำให้ความรู้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้นและยังสนุกขึ้นอีกด้วย แต่ก็ไม่ได้เกิดจากโครงการใหญ่ที่ใช้เวลานานหรืองบประมาณสูงแต่อย่างใด ในทางกลับกัน โปรเจ็คท์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ภายในเวลา 6 สัปดาห์เท่านั้นในช่วงของโครงการ Hackathon ด้านวัฒนธรรมที่ชื่อว่า Coding da Vinci โครงการนี้เป็นที่รวมของสถาบันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในแขนงต่างๆ เพื่อมาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการเผยแพร่วัฒนธรรม โดยปราศจากจุดมุ่งหมายทางการค้าและอยู่ในกรอบเวลาของโครงการที่มีการกำหนดไว้ชัดเจน การที่โปรแกรมใหม่ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น เป็นเพราะมีแหล่งข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว สถาบันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมส่วนใหญ่มีข้อมูลของสะสมในรูปแบบดิจิทัล พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ ห้องสมุด และห้องแสดงภาพต่างก็จัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหายและเพื่อการจัดหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นสำเนาความละเอียดสูงของภาพวาด บันทึกเสียงทางประวัติศาสตร์ หรือภาพสแกน 3 มิติของโครงกระดูกไดโนเสาร์ ข้อมูลสำคัญจำนวนมหาศาลเหล่านี้เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของสถาบันต่างๆ ก่อนหน้านี้ได้นำมาใช้ภายในองค์กรหรือเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น แต่โครงการ Hackathon ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยการนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ในรูปแบบใหม่ โครงการ Hackathon ด้านวัฒนธรรมเกิดขึ้นเมื่อปี 2014 โดยความร่วมมือขององค์กรวัฒนธรรมและการเปิดเผยข้อมูล ได้แก่ ห้องสมุดดิจิทัลเยอรมัน ศูนย์วิจัยและศักยภาพด้านดิจิทัลแห่งเบอร์ลิน (digiS) มูลนิธิ Open Knowledge เยอรมนีและ Wikimedia เยอรมนี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการจัดกิจกรรมปีละ 1-2 ครั้งในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศเยอรมนี มูลนิธิวัฒนธรรมแห่งชาติสนับสนุนกิจกรรม 8 ครั้งระหว่างปี 2019 – 2022 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อเริ่มกิจกรรม สถาบันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เข้าร่วมโครงการจะมานำเสนอข้อมูลที่เก็บสะสมไว้ ทีมงานหลากหลายความเชี่ยวชาญที่ประกอบไปด้วย นักออกแบบ นักพัฒนาโปรแกรม กราฟิกดีไซเนอร์ ภัณฑารักษ์ ศิลปิน นักแฮ็คโปรแกรมและนักพัฒนาเกม จะมาร่วมกันระดมสมอง รวบรวมความคิดสำหรับโปรเจ็คท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบแอปพลิเคชัน เกม หรือภาพอินโฟกราฟิกต่างๆ แล้วนำมาพัฒนาให้สำเร็จในเวลา 6 สัปดาห์ จากข้อมูลที่มีพร้อมเกิดเป็นผลผลิตใหม่ๆ กล่าวโดยสรุปได้ว่า มีโปรเจ็คท์ใหม่ๆ มากมายผุดขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ## ใช้ประโยชน์ด้านวัฒนธรรมอย่างคุ้มค่า ผู้จัดโครงการ Coding da Vinci ต้องการให้โครงการนี้เป็นการกระตุ้นให้สถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆ นำข้อมูลดิจิทัลมาเปิดเผยให้สาธารณชนเข้าถึงได้ ด้วยเหตุที่ว่า “เมื่อข้อมูลเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยเงินสาธารณะแล้ว ก็ควรจะเปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้” ถึงจะมีมรดกทางวัฒนธรรมบางชิ้นจัดแสดงในนิทรรศการ แต่ก็มีอีกหลายชิ้นที่ถูกเก็บไว้ในคลังของพิพิธภัณฑ์ ไม่ได้ให้สาธารณชนเข้าถึง ผู้ร่วมโครงการ Coding da Vinci เชื่อว่า หากของสะสมในพิพิธภัณฑ์ให้เข้าถึงได้ทางดิจิทัล สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนแปลงไป จุดประสงค์ของโครงการ Hackathon ก็คือ สร้างความประทับใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์ให้ผู้ชมวัยเยาว์ที่คุ้นเคยกับรูปแบบดิจิทัล Aufbau Ost-Berlin ไม่มีปัญหาด้านเทคนิคในการเปิดข้อมูลดิจิทัล แต่กระนั้นสถาบันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลายแห่งก็ยังชะลอไว้ เนื่องจากเกรงว่าข้อมูลต่างๆ จะถูกนำไปใช้ในทางลบหรือในทางการค้า เอลิซาเบท ไคลน์ (Elisabeth Klein) ผู้ประสานงานโครงการ Coding da Vinci เขต Rhein-Main ตระหนักในข้อนี้ว่า เป็นหน้าที่ของโครงการที่จะทำให้สถาบันต่างๆ เชื่อถือในการควบคุมข้อมูล จึงได้มีการเชื่อมโยงสถาบันต่างๆ เหล่านี้กับเครือข่ายชุมชนนักแฮ็คโปรแกรมของโครงการ มีช่องทางการติดต่อโปรแกรมเมอร์และนักคิดต่างๆ และในขณะเดียวกันก็ยังมีอำนาจตัดสินใจว่า จะให้ข้อมูลส่วนไหนกับโปรเจ็คท์ใดบ้าง รูท โรเซนแบร์เกอร์ (Ruth Rosenberger) จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ณ กรุงบอนน์ มองการเข้าร่วมโครงการ Coding da Vinci ในแง่บวก “ฉันประทับใจจริงๆ กับมาตรฐานอันยอดเยี่ยมของโครงการนี้ สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือการทำงานร่วมกันกับทีมงานคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ที่มองภาพประวัติศาสตร์ในคลังภาพของเราด้วยสายตาสดใหม่ พิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัยต้องมีที่ทางในอินเทอร์เน็ตด้วย \[…\] โครงการ Hackathon ด้านวัฒนธรรมนี้ช่วยให้พวกเราได้ค้นพบโอกาสใหม่ๆ”
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/21555381.html
# ปัญญาประดิษฐ์แปลวรรณกรรม “ได้ดี” เพียงไร ตอนเปิดตัวครั้งแรกในปีพ.ศ. 2549 Google Translate แปลภาษาได้เพียง 2 ภาษาเท่านั้น และภายในปีพ.ศ.2559 ระบบนี้รองรับการแปลได้มากกว่า 103 ภาษา รวมทั้งยังแปลมากกว่า 1 แสนล้านคำต่อวัน ตอนนี้ นอกจาก Google Translate จะใช้เพื่อแปลภาษาแล้ว ยังใช้เพื่อถอดเสียงภาษาได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งถอดเป็นภาษาต่างๆ ที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดได้ถึง 8 ภาษา คอมพิวเตอร์กำลังเรียนรู้และเรียนรู้ได้รวดเร็วเสียด้วย บทความโดย อลานา คัลเลน ปัจจุบันมีรหัสภาษาบางชุดที่เอไอ (AI) ยังถอดไม่ได้ รวมทั้งเอไอยังมีปัญหากับความซับซ้อนนานัปการของภาษามนุษย์ และผลงานทางภาษาที่ซับซ้อนมากที่สุด คือ วรรณกรรม ความสวยงามของภาษาในนวนิยาย กวีนิพนธ์ และบทละครจะปรากฏอยู่ในความละเอียดอ่อนของภาษา แต่เนื่องจากการแปลด้วยเครื่องทำได้เพียงทีละคำตามกฎเกณฑ์ที่นักภาษาศาสตร์กำหนดไว้ ดังนั้นการแปลด้วยเครื่องยุคแรกๆ จึงจับความหมายแฝงของตัวบทประเภทวรรณกรรมไม่ได้ ระบบไม่สามารถเข้าใจบริบทสำคัญของประโยคนั้น ย่อหน้า และหน้าที่มีคำนั้นๆ ปรากฏอยู่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจบริบทอันยุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีชนิดนี้เรียกว่าการแปลด้วยเครื่องที่จำลองการทำงานของระบบประสาท (Neural Machine Translation - NMT) แม้ว่าจะอยู่เพียงแค่ในระยะเริ่มต้น แต่ NMT ได้พิสูจน์แล้วว่าระบบนี้จะเรียนรู้วิธีจัดการกับความซับซ้อนของการแปลวรรณกรรมได้ทันการ NMT นับเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญาประดิษฐ์สมัยใหม่ เครื่องมือนี้จะไม่ทำตามกฎที่นักภาษาศาสตร์กำหนดไว้อีกต่อไป แต่จะสร้างกฎหรือแม้แต่สร้างภาษาขึ้นมาเอง ## การแปลด้วยเครื่องที่จำลองการทำงานของระบบประสาท (NMT) NMT เป็นซอฟต์แวร์แปลภาษาซึ่งเปิดตัวเมื่อปีพ.ศ. 2559 และประสบความสำเร็จมากที่สุดในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับการแปลภาษาด้วยเครื่องแบบใช้สถิติ (Statistical Machine Translation: SMT) นอกจาก NMT จะลดข้อผิดพลาดในการแปลภาษาได้ถึงร้อยละ 60 แล้วยังแปลได้เร็วกว่ามากด้วย ความก้าวหน้าเหล่านี้เกิดจากโครงข่ายประสาทเทียมของระบบ (system’s artificial neural network) ซึ่งจำลองจากเซลล์ประสาทในสมองของมนุษย์ ระบบนี้ช่วยสร้างความเชื่อมโยงทางบริบทที่สำคัญระหว่างคำและวลีได้ เนื่องจากระบบดังกล่าวได้รับการฝึกให้เรียนรู้กฎเกณฑ์ของภาษาโดยใช้วิธีจับตัวอย่างประโยคหลายล้านประโยคจากฐานข้อมูลของระบบเพื่อจำแนกคุณสมบัติเด่นของภาษา จากนั้นเครื่องมือจะใช้กฎเหล่านี้เพื่อสร้างแบบจำลองทางสถิติซึ่งช่วยให้เครื่องมือได้เรียนรู้ว่าควรสร้างประโยคอย่างไร ## ภาษาประดิษฐ์ คุณสมบัติที่โดดเด่นของ NMT คือ การที่ระบบใช้ “ภาษาทั่วไป” ภาษาใหม่ซึ่งประกอบด้วยตัวเลขมาใช้ ยกตัวอย่างเช่นวลี “To thine own self be true” จากบทละครเรื่อง แฮมเลต (Hamlet) ของเชกสเปียร์ ขั้นแรก เครื่องมือจะถอดรหัสคำให้เป็นตัวเลข 1, 2, 3, 4, 5, 6 (รหัสข้อมูลประเภทนี้เรียกว่า “เวกเตอร์”) ชุดตัวเลขเหล่านี้จะเข้าสู่โครงข่ายประสาทเทียมดังทางซ้ายของแผนผังระบบข้างต้นซึ่งอยู่ในชั้นต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นจุดที่ความมหัศจรรย์บังเกิด จากนั้นระบบจะค้นหาคำในภาษาเยอรมันที่เหมาะสมที่สุดโดยอิงจากการเรียนรู้ของระบบ อีกทั้งยังสร้างตัวเลข 7,8,9,10,11 เพื่อให้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ สอดคล้องกับคำที่ปรากฏในประโยคภาษาเยอรมัน ตัวเลขเหล่านี้จะแปลงค่าไปเป็นภาษาปลายทาง ซึ่งแปลได้ว่า “Zu dir selber treu sein” โดยพื้นฐานการทำงานของระบบ ระบบจะแปลความหมายของคำศัพท์ให้เป็นภาษาของตัวเอง และจากนั้นจึง “คิด” วิธีเพื่อถ่ายทอดให้เป็นประโยคที่เข้าใจได้โดยอาศัยจากสิ่งที่ระบบเรียนรู้มาแล้ว แนวทางการทำงานของ NMT ในลักษณะดังกล่าวนี้จึงเหมือนวิธีการทำงานของสมองมนุษย์ ## การทำความเข้าใจบริบท > คุณจะรู้คำศัพท์ได้จากการเห็นคำที่อยู่ด้วยกัน > > จอห์น อาร์ เฟิร์ธ (พ.ศ. 2500) บิดาแห่งภาษาศาสตร์แบบพึ่งพาบริบท NMT ประสบความสำเร็จในการแปลวรรณกรรม เพราะเครื่องมือเริ่มวิเคราะห์บริบทแวดล้อม อีกทั้ง NMT ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงคำที่ต้องการแปลเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญต่อคำศัพท์ที่ปรากฏอยู่ก่อนหน้าภายหลังอีกด้วย โครงข่ายประสาทเทียมนี้เหมือนกับระบบสมองมนุษย์อยู่มากในการถอดรหัสข้อมูลที่ได้รับมาและสร้างคำถัดไปโดยอิงจากคำศัพท์ที่อยู่รอบๆ เมื่อเวลาผ่านไป ระบบจะ “เรียนรู้” ว่าจะมุ่งเน้นที่คำใดและเชื่อมโยงบริบทที่จุดใดได้ดีที่สุด โดยอาศัยจากตัวอย่างประโยคที่เคยพบ กระบวนการนี้เป็นรูปแบบของ “การเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึก (Deep learning)” ที่ช่วยให้ระบบแปลภาษาเรียนรู้และปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนการถอดรหัสบริบทใน NMT จะเรียกว่า “การจัดวางตำแหน่ง (Alignment)” เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในกลไกการให้ความสำคัญ (Attendtion Mechanism) ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นระหว่างการเข้ารหัสและการถอดรหัสในระบบของเครื่องมือ แน่นอนว่าเครื่องแปลภาษายังไม่สมบูรณ์แบบมากนัก เพราะเมื่อใช้เครื่องมือแปลกลับไปเป็นภาษาอังกฤษ วลีจะมีความหมายว่า “Be true to yourself” ซึ่งจะเห็นว่าประโยคนี้ไม่ได้แสดงน้ำเสียงเสียงหรือระดับภาษาเชกสเปียร์ในสมัยทิวดอร์เลย หากเครื่องมือแปลภาษาแปลความหมายคำต่อคำจะแปลเป็นภาษาเยอรมันได้ว่า “Sei deinem eigenen Selbst treu” แต่เมื่อให้มนุษย์เป็นผู้แปลภาษา วลีนี้ของเชกสเปียร์จะแปลว่า “Sei dir selbst treu” สิ่งที่น่าตื่นเต้นจากการแปลข้างต้น คือ วิธีแปลความหมายของคำว่า “treu” ในบริบทนี้ เพราะ Google Translate แยกแยะความหมายระหว่างคำว่า “treu” กับคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันได้ โดย “treu” มีความหมายว่า “true” ในบริบทการแสดงความซื่อสัตย์ต่อสิ่งหนึ่ง ส่วนคำว่า “wahr” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายว่า “true” เช่นเดียวกัน แต่ใช้ในบริบทด้านการแสดงความถูกต้องของสิ่งหนึ่งตามความเป็นจริง การเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกเป็นแนวทางที่แสดงให้เห็นว่าวลีที่แปลผิดมักได้รับการแก้ไขอย่างน้อยในอีก 2-3 สัปดาห์ต่อมา (บางทีถ้าบทความนี้เผยแพร่ออกไป Google Translate อาจจะแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้นก็เป็นได้) การปรับปรุงเครื่องมืออย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับภาษาของเครื่องมือเอง ทำให้เห็นว่า NMT เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อแสดงศักยภาพการแปลภาษาที่ใช้เพื่อเชื่อมโยงภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งทันทีโดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นตัวกลาง วิธีการนี้ทำให้เห็นว่าเครื่องมือแปลภาษาฝึกฝนจนกลายเป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์แบบได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ## ข้อบกพร่องของการแปลโดยปัญญาประดิษฐ์ แม้ว่าเราจะใช้เครื่องมือแปลภาษามาอย่างยาวนาน แต่เครื่องมือแปลภาษาก็ยังคงมีข้อบกพร่องเรื่องมาตรฐานการแปลวรรณกรรมให้เป็นที่ยอมรับได้อยู่ เฮนรี เจมส์เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเข้าใจตัวบทวรรณกรรมของภาษาต้นฉบับไว้ว่านักแปลวรรณกรรมในอุดมคติจะต้องเป็นคนที่ “ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว” อีกทั้งยังกล่าวว่าเครื่องมือนี้ยังคงไม่ใช่การแปลในอุดมคติของยุคปัจจุบัน NMT ยังมีปัญหากับคำต่างๆ ทั้งคำที่พบไม่บ่อย คำนามที่เหมาะสม รวมไปถึงศัพท์เฉพาะในวรรณกรรม โดยมีเพียงร้อยละ 25-30 ของผลการศึกษาเท่านั้นที่ถือว่าวรรณกรรมที่แปลจากเครื่องมือแปลภาษาจะมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ งานวิจัยเกี่ยวกับการแปลนวนิยายจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง (ดูข้อมูลอ้างอิงส่วนท้าย: The Challenges of Using Neural Machine Translation for Literature) พบว่าหากคำใดที่เกิดข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์เพียงเล็กน้อย ประโยคจะสูญเสียความหมายของคำดังกล่าวไป แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดดังกล่าว แต่นักวิจัยได้พบว่าเนื้อหาที่แปลผ่านเครื่องมือแปลภาษายังคงมีคุณภาพสูงเพียงพอที่ผู้อ่านจะเข้าใจเรื่องราวและอ่านได้อย่างเพลิดเพลิน นอกจากนี้ งานวิจัยอีกฉบับหนึ่งที่เกี่ยวกับการแปลนวนิยายจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาคาตาลันได้แสดงผลการศึกษาที่น่าประทับใจเช่นเดียวกัน ผลการวิจัยกล่าวว่าเจ้าของภาษาจำนวนร้อยละ 25 โดยเฉลี่ยรู้สึกว่าการแปลของเครื่องมือแปลภาษามีคุณภาพเทียบเท่ากับการแปลจากมนุษย์ (ดูข้อมูลอ้างอิงส่วนท้าย: NMT translates literature with 25% flawless rate) อย่างไรก็ตาม ระบบของเครื่องมือแปลภาษาก็ทำงานได้ไม่เท่าเทียมกันทุกภาษา โดยเฉพาะภาษาต่าง ๆ ที่มีโครงสร้างไวยากรณ์ซับซ้อนและการผันคำค่อนข้างมาก เช่น ภาษาสลาวิก ภาษานี้เป็นภาษาที่เห็นได้ชัดว่าอาจเกิดข้อผิดพลาดได้หากแปลภาษาต้นฉบับที่มีโครงสร้างซับซ้อนน้อยกว่าไปสู่ภาษาปลายทางที่มีโครงสร้างซับซ้อนมากกว่าด้วยเครื่องมือแปลภาษา ซึ่งผลดังกล่าวทำให้เห็นว่ายังใช้ NMT เป็นเครื่องมือแปลภาษาทั่วโลกไม่ได้ ## การค้นหาน้ำเสียงที่เหมาะสม สิ่งที่ท้าทายที่สุดของเครื่องมือแปลภาษา คือ การค้นหาน้ำเสียงและระดับภาษาที่ถูกต้องในวรรณกรรมฉบับแปล > เครื่องมือจะเลียนแบบอะไร การแปลของเครื่องมือจะรักษาความเป็นต่างประเทศไว้อย่างชาญฉลาดหรือปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมปลายทางได้อย่างน่าตื่นเต้น จะทำให้เหมือนว่าเชคอฟเพิ่งแต่งเรื่องขึ้นมาเมื่อ 10 นาทีที่แล้วที่ลอนดอน > > ปีเตอร์ คอนสแตนทีน (พ.ศ. 2562) เครื่องมือแปลภาษาจะเลือกน้ำเสียงแบบใด หากพูดถึงโธมัส มันน์ นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม รูปแบบการเขียนของเขามักเปลี่ยนไปตามกาลเวลา โดยเรื่องราวที่เขาแต่งขึ้นในช่วงแรกๆ มีความสนุกสนานมากกว่านวนิยายในภายหลังที่เข้มข้นมากกว่า ฉะนั้นหากเครื่องมือแปลภาษาต้องการสื่อความหมายตามบริบทของเรื่อง เครื่องมือจำเป็นต้องเข้าใจและจดจำการแปรของน้ำเสียงเหล่านี้เพื่อสื่อความหมายตามที่ตั้งใจไว้ให้ได้ ## ความร่วมมือสำคัญ เห็นได้ชัดว่า แม้ว่าเครื่องแปลจะทำงานอย่างดีที่สุด ความคลุมเครือและความยืดหยุ่นของภาษามนุษย์ที่พบในวรรณกรรมแสดงให้เห็นว่าการแปลวรรณกรรมก็ยังคงต้องการให้มนุษย์เกลาภาษา NMT ทำหน้าที่แทนมนุษย์ไม่ได้ ทำได้เพียงเป็นเครื่องมือที่ช่วยการแปลวรรณกรรมเท่านั้น การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับระบบแปลภาษาเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่พบในระบบแปลภาษาจะแก้ไขได้โดยให้นักแปลเกลาข้อความและแก้ไขภาษาหลังจากระบบแปลภาษาแสดงผลการแปลเรียบร้อยแล้ว วิธีนี้เรียกว่าวิธีการตรวจคำแปลหลังการแปลด้วยระบบแปลภาษา (Post-edited machine translation) จะเห็นว่าวิธีการดังกล่าวนี้มีลักษณะคล้ายกับวิธีการทำงานเป็นทีมระหว่างนักแปลมืออาชีพกับนักแปลมือใหม่ โดยนักแปลมืออาชีพจะคอยช่วยปรับแก้และเกลาข้อความงานแปลของนักแปลมือใหม่ การตรวจคำแปลแบบคร่าวๆ หลังการแปลด้วยระบบแปลภาษา วิธีนี้จะเน้นการแก้ไขผิดพลาดเบื้องต้น เช่น การแก้การสะกดคำและไวยากรณ์ ส่วนการตรวจคำแปลอย่างละเอียดจะช่วยแก้ข้อผิดพลาดต่างๆ ที่ยากยิ่งขึ้น เช่น โครงสร้างประโยคและรูปแบบการเขียน ดังนั้นเมื่อนักแปลต้องตรวจคำแปลอย่างละเอียด นักแปลอาจต้องแก้ไขระดับภาษาและน้ำเสียงของงานเขียนให้ถูกต้องด้วย นักวิจัยที่ศึกษาการแปลนวนิยายแนวไซ-ไฟจากภาษาเกลิคสกอตเป็นภาษาไอริชพบว่าวิธีนี้เร็วกว่าการแปลตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นถึงร้อยละ 31 (ดูข้อมูลอ้างอิงในตอนท้าย: Post-editing Effort of a Novel With Statistical and Neural Machine Translation) และเมื่อแปลวรรณกรรมด้วยวิธีตรวจคำแปลของระบบแปลภาษา ประสิทธิภาพการทำงานของนักแปลก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ด้วย เมื่อเทียบกับการแปลตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น โดยนักแปลแปลได้มากขึ้นถึง 182 คำต่อชั่วโมง เอไอมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในชีวิตของพวกเราทุกคน เครื่องมือแปลภาษาก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปข้างหน้า เครื่องแปลภาษาก้าวหน้าไปจากจุดเริ่มต้นไปไกลมากและนำมาใช้ช่วยตรวจแก้ต้นฉบับแปลวรรณกรรมในส่วนที่ไม่ต้องใช้สมองและนักแปลมาปรับให้เข้าที่ภายหลัง ซึ่งไม่เพียงแต่ลดภาระนักแปลลง แต่ NMT เปิดประตูสู่มิติใหม่ๆ ของภาษา ตั้งแต่การแปลตัวบทที่ไม่เคยแปลมาก่อน ไปจนถึงการช่วยเรียนรู้ภาษา การทำงานร่วมกับเอไอจึงเป็นเครื่องมือเรียนรู้เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงวรรณกรรมและภาษาได้มากขึ้น
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/21967556.html
# การแปลวรรณกรรมยุคหลังมนุษย์ ตัวอย่างจากงานวรรณกรรมของคาฟคา นักแปลวรรณกรรมใช้คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์พื้นฐานเพื่อช่วยแปลมานานแล้ว เช่น พจนานุกรมออนไลน์และคลังข้อความ ในขณะเดียวกันก็ค้านแนวคิดที่ว่าการแปลด้วยเครื่อง (MT) หรือแม้แต่เครื่องมือแปลโดยใช้คอมพิวเตอร์ เช่น หน่วยความจำการแปล มีบทบาทสำคัญในการแปลวรรณกรรม เมื่อการแปลด้วยเครื่องจักรระบบประสาทพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นักวิชาการด้านการแปลวรรณกรรม (และในระดับที่รองลงไป คือตัวนักแปลวรรณกรรมเอง) ยอมรับกันว่าจะค้านหัวชนฝาต่อไปอีกไม่ได้ และตบเท้าเข้าขบวนกับนักแปลเชิงพาณิชย์และเชิงเทคนิค คาดการณ์ว่าในอนาคตนักแปลวรรณกรรมจะมีบทบาทเป็นเพียงบรรณาธิการผลงานแปลของเครื่องช่วยแปลด้วยเช่นกัน ตัวบทวรรณกรรมบางประเภทที่เขียนเป็นร้อยแก้วเรียบง่ายแปลด้วยเครื่องได้ดีพอสมควรแล้ว (สำหรับคู่ภาษาที่ใกล้เคียงกันที่สุด) และแนวโน้มนี้ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น โดย ดันแคน ลาร์จ > Als Gregor Samsa eines Morgens aus unruhigen Träumen erwachte, fand er sich in seinem Bett zu einem ungeheueren Ungeziefer verwandelt. > > ฟรันซ์ คาฟคา “เมตามอร์โฟซิส” (ต้นฉบับ "Die Verwandlung", 1915) หากเราประเมินคอมพิวเตอร์ว่าแปลได้ดีและรวดเร็วเพียงใดต่ำไป เราต้องรับผลนั้นเอง แต่คอมพิวเตอร์ยังต้องไปอีกไกล ดังนั้น ตอนนี้เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่เหมาะจะสำรวจสถานการณ์ว่าคอมพิวเตอร์แปลวรรณกรรมได้ดีเพียงไร เพื่อเริ่มต้นตอบคำถามข้อนี้ ผมใช้โปรแกรมแปลที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ณ ปัจจุบันแปลประโยคที่มีชื่อเสียงที่สุดในภาษาเยอรมันประโยคหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ นั่นคือประโยคเปิดเรื่องเมตามอร์โฟซิส หรือ “ Die Verwandlung” ของคาฟคา (1915) :แน่นอนว่าประโยคเปิดเรื่องนี้เล่าเรื่องราวที่แปลกประหลาดอย่างที่สุด แต่จากมุมมองทางภาษาศาสตร์ ประโยคนี้ไร้ที่ติ ถูกไวยากรณ์ ไม่ยาวหรือซับซ้อนใดๆ และมีขุดหลุมดักเครื่องช่วยแปลที่ไม่ดูตาม้าตาเรือเพียงสองสามจุด ใช่ว่าจะไม่รู้ว่า “เกรเกอร์ ซามซา” เป็นชื่อคน “eines Morgens” เป็นคุณศัพท์บอกเวลาที่ไร้ที่ติ และอื่นๆ เนื้อความส่วนใหญ่ของประโยคชัดเจนว่าแปลว่าอะไร แม้ว่าใครๆ ย่อมจะคาดหวังกันว่า “ungeheueren Ungeziefer” ที่เกรเกอร์กลายร่างเป็นนั้นจะแปลได้หลากหลายและไม่แน่นอนเนื่องจากคาฟคาตั้งใจให้กำกวม คำแปลนี้เหมือนกับที่ Microsoft (Bing) Translator ซึ่งเป็นคู่ปรับที่สูสีกันที่สุดของ Google Translate แปลทุกประการและ Yandex Translate ด้วยอีกราย หากสลับตำแหน่งคำเพียงเล็กน้อยก็จะเหมือนกับคำแปลของ DeepL Translator และ Reverso ส่วน PONS เปลี่ยนลำดับคำและแทนที่ “restless” ด้วย “troubled” แต่ส่วนอื่นเกือบเหมือนกันทุกประการเช่นกัน ขอย้ำตรงนี้ว่าคำแปลเหล่านี้ (ตรวจสอบในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2020) ไม่เป็นที่สิ้นสุดเนื่องจากระบบพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพราะการอัปเกรดโปรแกรมและการป้อนตัวอย่างสำหรับฝึกเข้าไปโดยผู้ใช้ปลายทางไม่แพ้กัน ยิ่งไปกว่านั้นการ“ ปรับแต่ง” เล็กๆ น้อยๆ เช่น การเปลี่ยนการสะกดคำว่า “ungeheueren” ของคาฟคาให้สะกดร่วมสมัยเป็น “ungeheuren” หรือแม้กระทั่งละจุดท้ายประโยคออกก็ทำให้บทแปลแตกต่างไปอย่างมาก เครื่องมือที่นิยมใช้กันน้อยกว่าบางโปรแกรมเสนอคำศัพท์ที่น่าสนใจ เช่น SYSTRAN Translate ให้เกรเกอร์กลายร่างเป็น "monstrous pest” LingvaNex Translator เปลี่ยนเขาให้เป็น “tremendous vermin” และยังมีการแปลผิดอย่างร้ายแรงซึ่งทำให้การแปลด้วยเครื่องเสียชื่อไปหมดสองสามโปรแกรม PROMT แปลครึ่งหลังของประโยคไม่เป็นภาษาเลย ที่โหล่ได้แก่การแปลของ IBM Watson Language Translator: ตอนนี้เราไม่มีเหตุผลที่จะคาดหวังว่าเครื่องมือเหล่านี้จะแปลตัวอย่างวรรณกรรมได้ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่ได้ถูกฝึกมาให้ทำงานกับเนื้อหาประเภทนี้ แต่โชคดีที่การแปลผิดพลาดร้ายแรงในปัจจุบันนี้หาได้ยากมาก โดยทั่วไปแล้วการแปลด้วยเครื่องให้คำแปลเป็นหนึ่งเดียวกันและ_ยอมรับได้_ ## VERMIN หรือ INSECTS - ความยากมีอยู่จริง ผู้อ่านที่เคร่งครัดกับต้นฉบับภาษาเยอรมันของคาฟคาอาจคัดค้านว่าโปรแกรมแปลทั้งหมดแปลอุปสรรคแสดงการปฏิเสธที่สัมผัสอักษรสามคำคือ “unruhigen … ungeheueren … Ungeziefer” ไม่ได้ แต่ก็ไม่มีนักแปลคนใดถ่ายทอดออกมาได้เช่นกัน มีหลายอย่างเกิดขึ้นในประโยคแรกมากเกินไปและต้องจำยอมตัดการเล่นคำนี้ออกไป แล้ว "a vermin" ล่ะ คุณอาจคิดเหมือนผมตอนที่เห็นคำแปลนี้ครั้งแรกว่าคำนี้แสดงให้เห็นว่าแปลผิดไวยากรณ์ แสดงให้เห็นความผิดพลาดของคำสั่งภาษาปลายทางของคอมพิวเตอร์เพราะ "vermin” ไม่ใช่คำนามนับได้ แต่การแปลว่า “a vermin” กลับไม่ใช่คำชี้เป็นชี้ตาย เนื่องจากเป็นคำแปลที่นักแปลชาวอเมริกัน สแตนลีย์ คอร์นโกลด์ใช้ในฉบับที่ขายดีที่สุดใน ค.ศ. 1972 ว่า > When Gregor Samsa woke up one morning from unsettling dreams, he found himself changed in his bed into a monstrous vermin. โยอาคิม นูโกรเชล นักแปลอีกคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาใช้คำแปลนี้ตามคอร์นโกลด์ และถ้าคำนี้บอกอะไร น่าจะเป็นความแตกต่างระหว่างภาษาอังกฤษแบบอเมริกันและสหราชอาณาจักร เนื่องจากนักแปลในสหราชอาณาจักรที่คิดว่าควรแปลคำว่า “Ungeziefer” เป็น “vermin” รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะทำให้เป็นนามนับได้และเลือกที่จะอธิบายแทน เช่น ในบทแปลของจอยซ์ คริกที่ว่า ““some kind of monstrous vermin” หรือคำแปลของจอห์น อาร์ วิลเลียม ว่า “a huge verminous insect” แทบจะไม่น่าแปลกใจที่พบว่าการแปลด้วยเครื่องมีความโน้มเอียงที่จะใช้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันมากกว่า แต่จากการตรวจสอบบทแปลภาษาอังกฤษของนวนิยายเล่มนี้หลายๆ เล่มที่ตีพิมพ์ในทั้งสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก แสดงให้เห็นว่ามีคำแปลที่แตกต่างกันมากกว่าที่เครื่องแปล นักแปลคนแรกคู่สามีภรรยาชาวสกอต คือ เอ็ดวิน และวิลลา มูยร์แปลคำว่า“ ungeheueres Ungeziefer” เป็น as “a gigantic insect” และคำแปลหลังจากนั้นมีคำว่า “a monstrous insect” ด้วย (มัลคอล์ม พาสลีย์) “a monstrous cockroach” (ไมเคิล ฮอฟมันน์) “an enormous bedbug” (คริสโตเฟอร์ มอนครีฟฟ์) และ “some sort of monstrous insect” (ซูซาน เบอร์นอฟสกี) แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้เป็นคำแปลที่ยอมรับได้ และความหลากหลายของคำแปลนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีความสงสัยต่อสิ่งที่คาฟคาตั้งใจจะหมายความจริงๆ มากเพียงไร (แบดดีล 2015; กูเดอร์แฮม 2015) ## ปัจจัยเกี่ยวกับความหลากหลาย ความถูกต้อง และความซับซ้อน ลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่เกรเกอร์ ซามซากลายร่างเป็นเป็นจุดตีความสำคัญอันลือลั่น แต่เมื่อเปรียบเทียบบทแปลที่มนุษย์แปลกับคอมพิวเตอร์แปล จะเห็นว่ามนุษย์แปลคำสำคัญแต่ละคำในประโยคเปิดของคาฟคาหลากหลายกว่าคอมพิวเตอร์มาก ฝันอัน “unruhigen” ของเกรเกอร์ เป็น “uneasy” (มูร์, คริก, วิลเลียมส์) หรือ “unsettling” (คอร์นโกลด์), หรือ “troubled” (พาสลีย์, เดวิด วิลลี, ฮอฟมันน์ เบอร์นอฟสกี) หรือ “agitated” (นูโกรเชล), หรือ “anxious” (เอียน จอห์นสัน) หรือ “fitful” (มอนครีฟฟ์) กันแน่ คำแปลทุกคำถูกต้องตามไวยากรณ์ แต่ละคำให้ “ความหมาย” (คำแปล) ของ “unruhigen” แต่แต่ละคำยังมีความหมายต่างกันเล็กน้อย สิ่งที่มีค่าที่สุดเกี่ยวกับการแปลงานชั้นครูซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือความหลากหลายประเภทนี้นั่นเอง เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงซื้อและอ่านบทแปลใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ และทำไมผู้จัดพิมพ์ยังคงจ้างนักแปลต่อไป อย่างน้อยในชั่วขณะหนึ่งดูเหมือนว่าการแปลด้วยเครื่องซึ่งมุ่งหาความถูกต้องที่ยอมรับกันจะร่นความหลากหลายนี้ลง คอมพิวเตอร์อาศัยแบบจำลองเชิงสถิติร่วมกัน และนำไปสู่คำแปลร่วมกันคำเดียวที่ “ปลอดภัย” ดังที่เราเห็นจากตัวอย่างเล็กๆ ของผม เราแทบโทษการแปลด้วยเครื่องไม่ได้เลยที่ให้ความสำคัญกับการแปลเนื้อหาต้นทางให้ถูกต้องมากกว่าเพราะนั่นคือสิ่งที่เครื่องถูกออกแบบมาให้ทำ แต่ข้อมูลเพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่ทำให้วรรณกรรมเป็นอย่างที่เป็น อันที่จริงวอลเตอร์ เบนจามินโต้แย้งไว้อย่างโด่งดังว่างานของนักแปล (วรรณกรรม) ไม่ใช่การถ่ายทอดข้อมูลเป็นหลัก (เบนจามิน 2012, 75) ข่าวดีก็คือการแปลด้วยเครื่องทิ้งวันที่ “ล้าหลัง” ไว้เบื้องหลังและแปลได้อย่างแม่นยำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำอ้างว่าในบางโดเมนและคู่ภาษาบางคู่ คอมพิวเตอร์แปลได้เทียบเท่ากับมนุษย์ (ลินน์ 2018) หรือแม้กระทั่งแปลได้ดีกว่า (โพเพล อ้างแล้ว 2020) แต่เราต้องมองคำกล่าวอ้างนี้ในภาพรวมและตระหนักว่า “ในงานแปลทั้งหมด โปรแกรมที่ล้ำสมัยล้าหลังกว่าประสิทธิภาพของมนุษย์อย่างมาก ยกเว้นงานที่เฉพาะเจาะจงมากๆ” (คาสเวล และ เลียง 2020) และเมื่อพูดถึงการแปลวรรณกรรม หนทางยังอีกยาวไกล (โทรัลและเวย์ 2018; มาทูเซฟ 2019; ฟอนทีน, เทซแคน & แม็คเคน 2020; โมฮาร์, ออร์ทาเบอร์ & ออนิก 2020) แน่นอนว่าทำให้คอมพิวเตอร์ “สูสีกับมนุษย์” ยังคงเป็นฝันที่ห่างไกล การแปลด้วยเครื่องทำได้ดีในประโยคตัวอย่างของผม แต่การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่าในวรรณกรรมที่โครงสร้างซับซ้อนกว่าแม้แต่โปรแกรมแปลล่าสุดก็หน้าทิ่มอย่างรวดเร็ว (เลาบลิ, เซนน์ริช และโฟล์ก 2018) ลักษณะสำคัญของวรรณกรรมร้อยแก้ว เช่น บทดำเนินเรื่องท้าทายอย่างมากสำหรับการแปลด้วยเครื่อง (ไทฟาล์โกสกี-ไชลอฟ 2019a, ไทฟาลโกสกี-ไชลอฟ 2019b, เคนนี และวินเทอรส์ 2020) ดังที่ดักลาส ฮอฟสเตดเทอร์ชี้ให้เห็น (ฮอฟสเตดเทอร์ 2018) คอมพิวเตอร์ไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับข้อความที่ตนแปล และขาดความรู้เกี่ยวกับโลกแห่งความเป็นจริงและเชื่อมโยงและตีความไม่ได้ (นั่นคือการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมภาษาปลายทางแทนที่จะแปลเพียงอย่างเดียว) ยิ่งไปกว่านั้น เราเองก็ต้องการให้บทแปลวรรณกรรมเป็นมากกว่าการแปลเพียงให้ “ยอมรับได้” หรือ “พอใช้” ## อนาคตของการแปล บรรดานักวิจารณ์เห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ว่า“ ดูเหมือนว่ามนุษย์ยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในกระบวนการแปลไปอีกหลายปีข้างหน้า” (ลูเมอราสและเวย์ 2017, 21) และ“ เมื่อพูดถึงวรรณกรรม \[…, \] คอมพิวเตอร์คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะตามมนุษย์ทัน” (โพลิซซอตติ 2018, 46) ในระหว่างนี้ คาดกันว่านักแปลวรรณกรรมจะอาศัยคอมพิวเตอร์มากขึ้นดังที่นักแปลเชิงพาณิชย์และเทคนิคผู้ร่วมวงศ์วานทำมาระยะหนึ่งแล้ว (ยูเดล 2019) “อนาคตของการแปลขึ้นอยู่กับมนุษย์ส่วนหนึ่ง เครื่องจักรส่วนหนึ่ง” (สกรีน, 2017) เมื่อแนวโน้มเปลี่ยนไปเป็น การที่นักแปลแก้ไขบทแปลที่แปลด้วยเครื่องก่อน แม้แต่ในการแปลวรรณกรรม นานมาแล้วที่ในโลกของการแปลโดยมนุษย์ สำนักพิมพ์ได้มอบหมายให้นักแปลวรรณกรรมมืออาชีพแปลแบบ "ตรงตัว" ออกมาก่อนเพื่อให้นักเขียนที่มีชื่อเสียงซึ่งไม่เก่งภาษาต่างประเทศเขียนฉบับใหม่ที่ตีพิมพ์ได้ ตัวอย่างล่าสุดคือบทแปล Peer Gynt and Brand (อิบเซน 2017) ของสำนักพิมพ์เพนกวิน โดยเจฟฟรีย์ ฮิลซึ่งใช้ฉบับถอดบทละครของเจเน็ต การ์ตันและอิงกา-สตินา อิวแบงก์เป็นต้นฉบับ อย่างน้อยที่สุดก็ก่อนที่ในอีกไม่นานการแปลด้วยเครื่องจะเข้ามายึดหัวหาดและเป็น “มือปืนแปล” แบบอัตโนมัติแทน ขณะนี้ กลุ่มผู้ตัดสินกำลังพิจารณาว่าในท้ายที่สุดคอมพิวเตอร์จะสร้างสรรค์ได้มากกว่านี้หรือไม่ ในด้านหนึ่ง ฮอฟสเตดเทอร์เตือนว่าจะเกิดสิ่งที่เขาเรียกว่าปรากฏการณ์ "เอไลซา” เมื่อคอมพิวเตอร์เป็นเหมือนมนุษย์มากกว่าที่เป็นจริง (ฮอฟสเตดเตอร์ 2018) แต่ในอีกด้านหนึ่ง มาร์ก โอโทมัสมองอนาคตของยุคหลังมนุษย์เป็นผู้แปลวรรณกรรมอย่างมีความหวัง > ท้ายที่สุด บทบาทของนักแปลวรรณกรรมอาจอยู่ในรูปของโดเมนของแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์ที่ใช้ความทรงจำการแปลของใครคนใดคนหนึ่ง แม้ด้วยความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีของเราในปัจจุบัน ไม่ยากเลยที่จะจินตนาการว่าจะมีซอฟต์แวร์ที่ย่อยและปรับชุดคำศัพท์ของคนคนหนึ่งและนำไปใช้ในภาษามากกว่าหนึ่งภาษาได้ จากนั้นซอฟต์แวร์จะแปลตัวบทที่คล้ายกับสิ่งที่นักแปลคนนั้นอาจจะเขียนรวมทั้งอาจจะเป็นไปได้ที่จะสร้างบทแปลของนักแปลคนใดคนหนึ่งหลังจากที่นักแปลคนนั้นเสียชีวิตไปแล้วโดยการกำหนดไว้ในความทรงจำในการแปล > > มาร์ก โอโทมัส (2017) มองข้ามการทำนายแบบนี้ออกไป สำหรับผมคำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ แล้วจะแตกต่างอย่างไรสำหรับนักแปลวรรณกรรมหากเป็นไปได้ที่จะตีพิมพ์บทแปลวรรณกรรมที่แปลด้วยเครื่องแล้วมีนักแปลเกลานิดหน่อยดังที่นักแปลปัจจุบันทำอยู่แล้ว (ซึ่งเป็นคำจำกัดความเข้าเค้าเพียงคำเดียวของ “เทียบเท่ามนุษย์” ในบริบทนี้) ไม่ว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นความจริงในเร็วเพียงไร (จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม) สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าคุ้มค่าที่จะพิจารณาว่าอะไรคือผลของ “การผงาดขึ้นมาของเครื่องจักร" และชื่นชมที่คอมพิวเตอร์แปลวรรณกรรมแล้วผ่าน “การทดสอบของทัวริง” ได้ในวันหนึ่ง ## ในยุคหลังมนุษย์ของการแปลวรรณกรรม สิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับนักแปลวรรณกรรมคืออะไร จากมุมมองของผู้ว่าจ้างและจ่ายค่าแปลวรรณกรรม (ผู้จัดพิมพ์) การแปลวรรณกรรมอัตโนมัติด้วยเครื่องคุณภาพสูงอาจดูเหมือนเป็นโลกอุดมคติ แต่อย่างน้อยก็น่าสงสัยว่ากว่าเวลานั้นจะมาถึง ซอฟต์แวร์แปลที่ล้ำสมัยจะตัดนักแปล “คนกลาง” ออกไปโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ และยากที่จะจินตนาการได้ว่าการมีนักแปลจะซ้ำซ้อนอย่างสมบูรณ์ในเมื่อสถิติของการแปลด้วยอัลกอริทึมของเครื่องแย่มาก (มาราสลิกิล 2016, ไทฟอล์โกสกี-ชิลอฟ 2019a) จากมุมมองของผู้บริโภคงานแปลวรรณกรรม (ผู้อ่าน) การที่มีวรรณกรรมจำนวนมหาศาลให้อ่านบทแปล (อัตโนมัติ) เป็นครั้งแรกควรจะเป็นข้อดี แต่ก็อีกครั้งที่บทบาทของคนเฝ้าประตู/บรรณาธิการยังไม่หายไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการแปลแบบนี้อาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดีหากคุณภาพไม่ดีพอที่จะอ่านได้อย่างมีอรรถรส จากมุมมองของนักแปลเอง ความซ้ำซ้อนที่เกิดจากคอมพิวเตอร์มีอะไรให้พูดถึงมากมาย แต่นักแปลวรรณกรรมต้องการใช้วิธีเดียวกับอาลักษณ์ในสมัยกลางจริง ๆ หรือ บทบาทของนักแปลวรรณกรรมดูเหมือนจะน้อยลงไปมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีนักแปลตกงานจำนวนมหาศาล ถึงอย่างไรแล้ว ในทำนองเดียวกับที่เทคโนโลยีสารสนเทศผงาดขึ้นมาทำให้เห็นบรรณารักษ์ขยายทักษะและปรับตัวไปทำงานด้านข้อมูลทั่วไปมากขึ้น นักแปลวรรณกรรมก็ควรปรับตัวได้เช่นเดียวกัน มีกิจกรรมกินเวลาหลายอย่างของมนุษย์ที่คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในตอนนี้ แต่ผมไม่คิดว่าเราจะต้องการให้งานแปลวรรณกรรมเป็นหนึ่งในนั้น เราอาจสนุกกับการคัดลอกวรรณกรรมยุคหลังมนุษย์ (ความน่าเบื่อหน่ายของห้องอาลักษณ์ยุคกลางหมดไปในยุคของแท่นพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร และไฟล์สแกน PDF) แต่ผมขอยืนยันว่าเราไม่ต้องการการแปลวรรณกรรมหลังมนุษย์จริงๆ ประการหนึ่งคือเทคโนโลยีใหม่ไม่เคยเข้ามาแทนที่วิธีการเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง การประดิษฐ์โทรทัศน์ไม่ได้หมายถึงความตายของวิทยุ การประดิษฐ์ซีดีไม่ได้ทำให้แผ่นเสียงไวนิลถึงแก่กาลอวสาน เราอาจนึกถึงบทบาทในอนาคตของนักแปลวรรณกรรมที่คล้ายคลึงกับปรมาจารย์หมากรุกในยุคของซูเปอร์คอมพิวเตอร์หมากรุก ในหลายทาง คอมพิวเตอร์ช่วย “แก้เกม” หมากรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกือบหนึ่งในสี่ของศตวรรษแล้วนับตั้งแต่ Deep Blue ของไอบีเอ็มเอาชนะแชมป์โลก แกรี คาสปารอฟ ในปี 1996 และตั้งแต่นั้นมาช่องว่างระหว่างคอมพิวเตอร์และมนุษย์ทิ้งห่างอย่างไร้ความปรานี แต่การแข่งขันหมากรุกระดับโลกยังจัดต่อไป (คุณยังเล่นหมากรุกเป็นอาชีพได้) ในขณะที่ผู้เล่นหมากรุกสมัครเล่นหลายล้านคนทั่วโลกยังคงสนุกกับเกมนี้ และพัฒนาฝีมือโดยการเล่นกับคอมพิวเตอร์ แม้ว่า/เมื่อคอมพิวเตอร์ “จัดการ” การแปลวรรณกรรมได้ ผมก็ยังคาดเต็มที่ว่ามนุษย์จะแปลต่อไปเช่นเดียวกับที่สันนิษฐานว่าจะมีผู้ที่ยังคงสนุกกับการขับรถในยุคของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองและอื่นๆ นักแปลยังคงสนุกกับการแปลเช่นเดียวกับบทแปล และจะมีผู้อ่านที่ชื่นชอบคำแปลของมนุษย์เช่นกันซึ่งจะทำให้กำหนดราคาสูงลิ่วได้ เช่น ปลาที่จับได้ด้วยเบ็ดในยุคของเรือลากอวนจากโรงงาน หรือแอสตัน มาร์ตินทำมือในยุคของหุ่นยนต์สายพานการผลิต การแปลวรรณกรรมจะยังคงเป็นทางออกสำหรับจิตวิญญาณแห่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ (ลาร์จ 2018, 92–94) – และหากนั่นเป็นแง่มุมหนึ่งของการแปลโดยมนุษย์ที่เครื่องจักรพยายามเลียนแบบด้วยก็ย่อมดีกว่าสำหรับทุกคน **อ้างอิง:** [Baddiel, David (2015), “The Entomology of Gregor Samsa”.](https://www.bbc.co.uk/sounds/play/b05tbh5k) Benjamin, Walter (2012), “The Translator’s Task”, trans. Steven Rendall, in Lawrence Venuti (ed.),The Translation Studies Reader, 3rd edn (London and New York: Routledge), 75–83. [Caswell, Isaac & Bowen Liang (2020), “Recent Advances in Google Translate”.](https://ai.googleblog.com/2020/06/recent-advances-in-google-translate.html) Fonteyne, Margot, Arda Tezcan & Lieve Macken (2020), “Literary Machine Translation under the Magnifying Glass: Assessing the Quality of an NMT-Translated Detective Novel on Document Level”, inProceedings of the 12th Conference on Language Resources and Evaluation(LREC 2020), 3783–3791. [Gooderham, W.B. (2015), “Kafka’s Metamorphosis and its Mutations in Translation”,The Guardian, 13 May.](https://www.theguardian.com/books/booksblog/2015/may/13/kafka-metamorphosis-translations) [Hofstadter, Douglas (2018), “The Shallowness of Google Translate”,The Atlantic, 30 January.](https://www.theatlantic.com/technology/archive/2018/01/the-shallowness-of-google-translate/551570/) Ibsen, Henrik (2017),Peer Gynt and Brand, trans. Geoffrey Hill (London: Penguin). Kenny, Dorothy, & Marion Winters, “Machine Translation, Ethics and the Literary Translator’s Voice”,Translation Spaces, 9/1 (August 2020), 123-149. Läubli, Samuel, Rico Sennrich & Martin Volk (2018), “Has Machine Translation Achieved Human Parity? A Case for Document-Level Evaluation”, inProceedings of the 2018 Conference on Empirical Methods in Natural Language Processing, 4791-4796, Brussels, Belgium, October-November. Association for Computational Linguistics. Large, Duncan (2018), “Could Google Translate Shakespeare?”,In Other Words, 52 (Winter 2018/19), 79-94. Lawson, Richard H. (1960),“Ungeheueres Ungezieferin Kafka’s ‘Die Verwandlung’”,German Quarterly, 33/3 (May), 216-219. [Linn, Allison (2018), “Microsoft Reaches a Historic Milestone, Using AI to Match Human Performance in Translating News from Chinese to English”, March 14.](https://blogs.microsoft.com/ai/chinese-to-english-translator-milestone/) Lumeras, Maite Aragonés, & Andy Way (2017), “On the Complementarity between Human Translators and Machine Translation”,Hermes, 56, 21-42. [Marasligil, Canan (2016), “Literary Translation Beyond Automation”, International Literature Showcase.](https://litshowcase.org/content/literary-translation-beyond-automation/) Matusov, Evgeny (2019), “The Challenges of Using Neural Machine Translation for Literature”, inProceedings of the Qualities of Literary Machine Translation, 10–19, Dublin, Ireland, 19 August. European Association for Machine Translation. Mohar, Tjaša, Sara Orthaber & Tomaž Onič (2020), “Machine Translated Atwood: Utopia or Dystopia?”, ELOPE:English Language Overseas Perspectives and Enquiries, 17/1, 125–141. O’Thomas, Mark (2017), “Humanum ex machina: Translation in the Post-Global, Posthuman World”,Target, 29/2 (January), 284–300. Polizzotti, Mark (2018),Sympathy for the Traitor: A Translation Manifesto(Cambridge, MA and London: MIT Press). Popel, Martin et al. (2020), “Transforming Machine Translation: A Deep Learning System Reaches News Translation Quality Comparable to Human Professionals”,Nature Communications, 11/4381. [Screen, Ben (2017), “The Future of Translation is Part Human, Part Machine”,The Conversation, 11 July.](https://theconversation.com/the-future-of-translation-is-part-human-part-machine-76253) Taivalkoski-Shilov, Kristiina (2019a),“Ethical Issues Regarding Machine(-Assisted) Translation of Literary Texts”,Perspectives, 27/5, 689–703. Taivalkoski-Shilov, Kristiina (2019b), “Free Indirect Discourse: An Insurmountable Challenge for Literary MT Systems?”, inProceedings of The Qualities of Literary Machine Translation, 35–39, Dublin, Ireland, 19 August. European Association for Machine Translation. Toral, Antonio, & Andy Way (2018), “What Level of Quality Can Neural Machine Translation Attain on Literary Text?”, in Joss Moorkens et al. (eds),Translation Quality Assessment: From Principles to Practice(Berlin and Heidelberg: Springer), 263-87. Youdale, Roy (2019),“Computer-Aided Literary Translation: An Opportunity, Not a Threat”,In Other Words, 53 (Summer), 45–51.
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/21984887.html
# ฟ้าก็ไม่ใช่ ชมพูก็ไม่เชิง วรรณกรรมเด็กและเยาวชนเลือกใช้ภาพเหมารวมเรื่องเพศมากแค่ไหน? มาร์เลเนอ เซอห์เรอร์ (Marlene Zöhrer) ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมเห็นว่า วงการหนังสือในปัจจุบันมีความหลากหลายและเปิดกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน วรรณกรรมเด็กและเยาวชนสะท้อนให้เห็นโลกที่เด็ก ๆ ใช้ชีวิต ตลอดจนความสัมพันธ์ บรรทัดฐาน และคุณค่าทางสังคม ขณะเดียวกัน เรื่องราวที่เล่าผ่านตัวอักษรและรูปภาพก็ถือเป็นผลิตผลแห่งยุคสมัย เช่น นวนิยายเด็กหญิงคลาสสิกของ เอมมี ฟอน โรเดน (Emmy von Rhoden) เรื่อง เด็กหัวแข็ง ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1885 มีเนื้อหาสอดคล้องไปกับภาพลักษณ์ของสตรีและมาตรฐานการเลี้ยงดูในเวลานั้น แต่หากมองจากปัจจุบัน เรื่องราวของอิลเซอ (Ilse) ที่ถูกชุบเลี้ยงหล่อหลอมในโรงเรียนประจำให้กลายเป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อมสำหรับการแต่งงาน ช่างฟังดูล้าสมัยเหลือเกิน กระนั้น เด็กหัวแข็ง กลับได้รับการเผยแพร่ซ้ำในฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ. 2020 ในรูปแบบหนังสือเสียง โดยมี ไฮเคอ มาคัทช์ (Heike Makatsch) นักแสดงหญิงชาวเยอรมันเป็นผู้อ่าน มันเป็นแบบนี้ไปได้อย่างไร หรือแท้จริงแล้ว วรรณกรรมเด็กและเยาวชนนั้นถดถอยเสียจนต้องหันกลับไปยึดโยงบทบาททางเพศที่ล้าสมัย และพยายามที่จะผลิตซ้ำความคิดนี้ต่อไป ## เท่าเทียมและหลากหลายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน คำตอบของคำถามข้างต้น คือ ไม่มีทาง วรรณกรรมเด็กและเยาวชนร่วมสมัยมีเนื้อหาเท่าเทียม หลากหลาย และเปิดกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เราไม่อาจโต้แย้งได้ว่า วรรณกรรมยังมีหนทางอีกยาวไกลกว่าจะได้มาซึ่งความเท่าเทียมกันอย่างทั่วถึง หรือหลุดพ้นจากบทบาททางเพศที่สืบทอดต่อกันมา เช่นเดียวกับสังคมของเรา การจะวัดว่าวรรณกรรมเด็กและเยาวชนร่วมสมัยมีเนื้อหาปลดแอกมากน้อยเพียงใดนั้นทำได้ยาก ข้อมูลจากการสำรวจเชิงปริมาณสามารถบอกระดับของความเท่าเทียมและการนำเสนอประเด็นเรื่องบทบาททางเพศได้จำกัด การประเมินรายการคำสำคัญอย่างเดียวจึงไม่พอ เพราะวรรณกรรมเป็นมากกว่ากลุ่มก้อนคำสำคัญ ซึ่งไม่สามารถพรรณนาความขัดแย้งสองจิตสองใจของตัวละคร ตัวละครแบบแผน และโครงเรื่องที่บางครั้งเล่นกับวิธีการนำเสนอแบบตายตัวและทำลายมันด้วยการเสียดสี การพิจารณาการออกแบบปกหนังสือหรือการสำรวจแผนกหนังสือเด็กก็ไม่สามารถบอกอะไรได้เสมอไป เนื่องจากกการออกแบบจะเลือกใช้สีที่คนนิยมและปรับแต่งให้ตรงกับความคุ้นเคยทางการมองเห็น โดยคำนึงถึงการทำตลาดและยอดขายเป็นหลัก การจัดวางหนังสือภายในร้านต่างหากที่สะท้อนให้เห็นมุมมองของผู้ขายที่คัดเลือกหนังสือจากหมวดแบ็กลิสต์ (Backlist หรือหนังสือที่ตีพิมพ์มานานแล้วแต่ยังวางขายอยู่) และหนังสือใหม่จากหมวดวรรณกรรมเด็กและเยาวชนภาษาเยอรมัน ซึ่งมีจำนวนกว่า 8,500 เล่มต่อปี การที่ผู้ขายหนังสือไม่ตระหนักถึงการทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจงเพศและการนำเสนอเรื่องเพศแบบเดิม ๆ หรือการที่ลูกค้าต้องการซื้อหนังสือที่มีเนื้อหาดังกล่าว ย่อมสะท้อนให้เห็นผ่านหิ้งและการจัดวางหนังสือได้เป็นอย่างดี แค่เพียงในร้านหนังสือถัดไป เราก็อาจได้เห็นภาพวรรณกรรมเด็กและเยาวชนที่แตกต่างกันแล้ว ## ปกและชื่อเรื่องชวนให้เข้าใจผิด เมื่อสังเกตอย่างถี่ถ้วนจะเห็นได้ว่า ในท้องตลาดมีหนังสือจำนวนมาก ตั้งแต่หนังสือภาพสำหรับเด็ก วรรณกรรมเด็กและเยาวชน ไปจนถึงหนังสือความรู้ทั่วไป ซึ่งนำเสนอเรื่องบทบาททางเพศได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งยังสื่อสารเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมโดยไม่ผลิตซ้ำความคิดเหมารวมเกี่ยวกับบทบาททางเพศ อย่างไรก็ตาม หนังสือประเภทนี้กลับระบุได้ยากกว่าหนังสือที่เลือกใช้ภาพเหมารวมหรือโครงเรื่องแบบเดิม ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากความเท่าเทียมถือเป็นเรื่องปกติในหนังสือเหล่านั้น มันจึงไม่พยายามฝืนใช้สีสัญลักษณ์หรือคำสำคัญ แต่บางครั้ง หนังสือที่หยิบยกประเด็นหรือใช้การออกแบบที่ชวนให้ผู้อ่านคาดว่าจะพบภาพเด็กหญิงชายตามขนบการแบ่งบทบาททางเพศแบบเดิม ก็อาจทำให้เราประหลาดใจ ในทางกลับกัน หนังสือที่เลือกใช้กลวิธีทางวรรณกรรมอย่างซับซ้อน อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกขยาดเพราะภาพจำเจที่ปรากฏในงาน มันไม่มีกฎตายตัว อีกทั้งปกและชื่อเรื่องยิ่งชวนให้เข้าใจผิด การเลือกหนังสือจากตัวนักเขียนจึงน่าเชื่อถือกว่ามาก เพราะคนที่ประพันธ์งานด้วยมุมมองอันปราศจากอคติ ย่อมนำหลักการนี้ไปใช้ในหนังสือเรื่องอื่น ๆ เช่นกัน กลับมายังเนื้อหาที่กล่าวไว้ในตอนต้นของบทความ วรรณกรรมเด็กและเยาวชนย่อมถ่ายทอดคุณค่าและทัศนคติของยุคสมัยที่ตีพิมพ์ คนที่เลือกวรรณกรรมเด็กและเยาวชนโดยดูจากลักษณะความเป็นแบบอย่างที่ดีและหน้าที่ทางการสอน จึงควรมองหาหนังสือที่เหมาะสมจากผลงานร่วมสมัย อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมประเด็นนี้ให้พัฒนาไปได้ไกล คือ การนำหนังสือเก่ามาใช้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นบทบาททางเพศที่ล้าสมัย ความเท่าเทียมและคุณค่าของมัน
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/22157084.html
# การแปลนั้นเป็นมากกว่าการถอดความทางภาษา สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา งานสนทนาวันนักแปลสากลประจำปี 2564 โดยสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย จึงจัดงานผ่านรูปแบบดิจิทัลทาง Facebook live เพื่อเป็นการยกย่องและให้ความสำคัญแก่บทบาทในการเป็นทูตทางวัฒนธรรมของนักแปลทั่วโลก เพราะการแปลนั้นเป็นมากกว่าการถอดความทางภาษา นักแปลจึงถือเป็นผู้ที่ส่งผ่านความรู้และบริบททางวัฒนธรรมไปยังผู้รับสาร โดยปีนี้ได้เชิญนักแปลและบรรณาธิการมาเล่าถึงประสบการณ์ ความท้าทายในการทำงานแปล และความแตกต่างในการแปลหนังสือแต่ละประเภท โดยมีคุณอิทธิณัฐ สีบุญเรือง วิทยากรและล่ามอาชีพ ชวนพูดคุยสนทนาเป็นภาษาไทย วิทยากรได้แก่ Dr. Renate Birkenhauer จากอาศรมนักแปลแห่งยุโรป เมืองชตราเล็น, คุณเฉิดฉวี แสงจันทร์ ผู้แปล รวมเรื่องสั้น“โทษ” ของแฟร์ดินันด์ ฟอน ชีรัค และคุณเรืองเดช จันทรคีรี บรรณาธิการ, อาจารย์สุดาวรรณ สินธุประมา ผู้แปล “ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช: เซ็ท การกำกับฉาก สถานการณ์, ผลงานปี 1987 – 2005” ของเยอร์น ชาฟอัฟฟ์ และคุณปิยะกัลย์ สินประเสริฐ ผู้แปล “เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน” ของดานีเอลา ครีน #### **อาศรมนักแปล : สถานพำนักแห่งการแปล** [Das Europäisches Übersetzer-Kollegium](https://www.euk-straelen.de/english-information/kollegium) หรือ อาศรมนักแปลแห่งยุโรป ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1978 เพื่อเป็นที่พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนแหล่งข้อมูลงานแปล ที่เก็บตัวทำงานของนักแปลวรรณกรรม สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเพื่อนร่วมอาชีพในนานาประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพการแปลร่วมกัน แรกเริ่มยังไม่มีคอมพิวเตอร์บริการ ห้องสมุดจึงเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล มีหนังสือที่จำเป็นต่อการแปลไว้บริการ อาทิ พจนานุกรม หนังสืออ้างอิง นักแปลมาพร้อมกับจิตวิญญาณและแรงบันดาลใจ ทำงานของตัวเองอย่างมุ่งมั่น ขณะเดียวกันก็ดำเนินชีวิตอย่างอิสระ เรียนรู้และพัฒนาตนเองร่วมกัน ภายใต้ความสงบเงียบของอาศรมจึงเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา ห้องครัวจะเป็นที่พบปะของบรรดานักแปลในเวลามื้อเที่ยงและมื้อเย็น จากนั้นจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจนถึงค่ำมืด นอกจากนี้ ทุกปีอาศรมแห่งนี้จะเชิญนักเขียนมาพบปะกับนักแปลจากประเทศต่าง ๆ ที่แปลงานของนักเขียนคนนั้น นักเขียนกับนักแปลเก็บตัวร่วมกันนาน 1 สัปดาห์ เพื่อที่นักแปลจะได้แปล ตีความและทำความเข้าใจต้นฉบับร่วมกับนักเขียน Dr. Renate Birkenhauer กล่าวถึงบทบาทของนักแปลและการทำงานแปลว่าเป็นงานที่เสียสละ ทุ่มเท แม้ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสร้างทางลัดในการแปล แต่นักแปลหรือมนุษย์เท่านั้นที่สามารถตัดสินใจเลือกสรรคำที่เหมาะสมเพื่อถ่ายทอดภาษาต้นฉบับไปสู่อีกภาษา งานเขียนคลาสสิกหลายเล่มที่แปลแล้วแปลอีก เช่น เรื่องเฟาสต์ ของเกอเธ่ นักแปลแต่ละรุ่นต้องหาคำของตัวเองในการถ่ายทอด ต้องรู้รูปแบบภาษา กลวิธีของนักเขียนในศตวรรษก่อน ๆ การรู้ภาษาอื่นไม่ได้หมายความว่าคนนั้นจะเป็นนักแปลได้ พื้นฐานการอ่านและศึกษาวรรณกรรมจำเป็นต้องมีควบคู่กัน อีกสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือต้องเชี่ยวชาญภาษาแม่ของตัวเอง อัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมของเยอรมันสะท้อนอยู่ในกวีนิพนธ์ นวนิยาย วรรณกรรมเหล่านี้นำเสนอภูมิทัศน์ ประวัติศาสตร์ น้ำเสียงอันแตกต่าง ความคิด ภาษาถิ่น ดังนั้น นักแปลและการแปลจึงเป็นผู้นำสารของนักเขียน #### **หัวใจในงานแปล ** ภาษาเป็นหัวใจสำคัญในงานแปล การเลือกใช้ภาษาไทยให้เหมาะสมกับงานแปล นักแปลควรศึกษาภูมิหลังของเรื่องกับภูมิหลังของนักเขียน ทำความเข้าใจต้นฉบับ เลือกใช้ภาษาให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม วัฒนธรรม ยุคสมัย ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงบริบททางภาษาของภาษาไทยด้วย การทับศัพท์ควรใช้ในกรณีที่คำนั้นเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในไทย หรือยังไม่มีการบัญญัติคำไทย ต้องมีความรู้ภาษาเฉพาะทาง แปลตามต้นฉบับ ไม่เพิ่มเติม ไม่ตัดทอน ธรรมชาติของภาษาต้นฉบับและภาษาไทยแตกต่างกันจึงต้องหาจุดร่วมที่ลงตัว นักแปลควรศึกษาค้นคว้าเทียบเท่านักเขียนหรือมากกว่าเพื่อเลือกภาษาที่เหมาะสม การหมั่นหาความรู้และเข้ากลุ่มนักแปลของเครือข่ายต่าง ๆ ช่วยพัฒนาการแปลและภาษา การทำงานแปลทุกครั้งเปิดโลกทัศน์ของนักแปลไปยังความรู้ใหม่เสมอ #### **การแปล : การทำงานกลุ่ม** กระบวนการทำงานแปลของสำนักพิมพ์ในไทย เป็นการทำงานกลุ่มระหว่างสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ นักแปล นักออกแบบปก การแปลงานแต่ละเล่มนักแปลควรศึกษาแนวทางของสำนักพิมพ์ เลือกสำนักพิมพ์ให้ถูกเมื่อนำเสนองานแปล บรรณาธิการคือผู้ทำงานควบคู่ไปกับนักแปล ปกและชื่อหนังสือเป็นด่านแรกสำหรับสื่อสารกับคนอ่าน ดังนั้น การอ่านกับการตีความเรื่องจะช่วยในการออกแบบปกกับการตั้งชื่อเรื่อง การวิเคราะห์คนอ่านก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึง
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/22407892.html
# วัฒนธรรมพริกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเยอรมนี สถาบันเกอเธ่ จาการ์ต้า ร่วมกับ สถาบันเกอเธ่ในเมืองบันดุง กรุงเทพฯ และย่างกุ้ง ร่วมมือกันจัดงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “Chili Culture in Southeast Asia and Germany” (วัฒนธรรมพริกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเยอรมนี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Goethe is(s)t scharf” โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนซึ่งเชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอาหารและพริกจากอินโดนีเซีย พม่า และเยอรมนี ได้แก่ William Wongso, Petty Elliot, Vincent Rumahloine, Alexander Hicks, Daw Phyu Phyu Tin, และ Ade Putri Paramadita เป็นผู้ดำเนินรายการ พริกเป็นทั้งอาหารและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้อาหารในภูมิภาคนี้มีความแตกต่าง เอกลักษณ์ และสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ สำหรับในอินโดนีเซียนั้น พริกมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างเช่น ในอินโดนีเซียราคาพริกที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ ดังนั้น การเสวนาครั้งนี้จึงไม่ได้มีแต่เรื่องราวของพริก และความเผ็ด เท่านั้น แต่จะพาไปค้นพบวัฒนธรรมพริกที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในบริบทต่างๆ ## ซัมบัล: ความเผ็ดกับความทรงจำ ซัมบัล (Sambal) หรือน้ำพริก หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมอาหารและการกินของอินโดนีเซียมาเป็นเวลานาน William Wongso กล่าวว่า ชาวอินโดส่วนใหญ่นึกถึงซัมบัลก่อนเป็นอันดับแรกเมื่อกินอาหาร และไม่ว่าพวกเขาจะเดินทางใกล้หรือไกลก็มักจะพกพาซัมบัลแบบที่ชอบไปด้วย ซัมบัลจึงกลายเป็นของเผ็ดสามัญประจำชีวิตของชาวอินโดแบบแยกจากกันไม่ได้ Vincent Rumahloine กล่าวว่า ซัมบัลสะท้อนความผูกพันระหว่างคนกินกับความทรงจำร่วมที่แต่ละคนมีต่อผู้คนกับชุมชน เป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างคนกินกับบ้านที่อยู่และบ้านที่จากมา นอกจากนี้ เขายังยกคำกล่าวหนึ่งที่ชาวอินโดพูดว่า “ภรรยาที่ดีคือภรรยาที่ทำซัมบัลเก่ง” ส่วน Petty Elliot กล่าวถึงพริกกับอาหารเผ็ดในประเทศที่ไม่กินเผ็ดว่าควรระมัดระวังเรื่องระดับความเผ็ด คนในแต่ละที่กินเผ็ดน้อยเผ็ดมากต่างกัน ดังนั้น การปรุงอาหารที่มีพริกเป็นส่วนประกอบให้คนต่างชาติกิน ควรปรับลดระดับความเผ็ดลงซึ่งจะทำให้คนต่างวัฒนธรรมได้รู้จักอาหารไปด้วยในตัว การกินพริกของชาวพม่าไม่ค่อยต่างจากอินโดนีเซียมากนัก คนพม่ากินพริกสด พริกป่น น้ำพริก ใช้พริกเป็นเครื่องปรุง เครื่องหมัก และประกอบอาหาร ซึ่งพริกแห้งและพริกสดต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับอาหารแต่ละอย่าง โดย Daw Phyu Phyu Tin กล่าวว่า พริกทำให้คนได้กินรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ดังนั้น พริกของคนอินโดนีเซียและพม่าจึงมีอีกบทบาทคือการเป็นตัวแทนของความรู้สึก ความทรงจำ สถานะของผู้หญิง บ้าน สังคม และประเทศ ## พริก: ค้นพบโลกผ่านชุมทางความเผ็ด Alexander Hicks ผู้เชี่ยวชาญด้านพริกจากเยอรมนี รู้จักพริกกับความเผ็ดครั้งแรกเมื่ออายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบ จากการที่พ่อและแม่ของเขาให้กินซัลช่าซึ่งเป็นอาหารเม็กซิกัน คนยุโรปคุ้นเคยกับพริกจากพิซซ่าของอิตาลีและอาหารกรีก ประวัติศาสตร์ของพริกเริ่มจากอเมริกาใต้ จากนั้นถูกนำมาปลูกในยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภายหลัง พริกทำให้ได้ค้นพบโลกและครัวของแต่ละชาติพันธุ์ ทำให้คนกินคิดถึงบ้าน และทำให้ผู้คนเกิดการเรียนรู้ ประยุกต์ พยายามปรุงอาหารที่มีส่วนประกอบจากพริก เพิ่มระดับความเผ็ดตามที่ตัวเองต้องการ ความสนใจที่มีต่อพริก ทำให้เขาเริ่มปลูกพริกและมีสายพันธุ์หลายร้อยสายพันธุ์จากทั่วมุมโลก ต่อมาพริกได้เป็นตัวกลางเชื่อมโยงคนสนใจในสิ่งเดียวกัน เกิดเป็นเครือข่ายและชุมชนให้กับคนได้เข้ามาแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับพริกทั้งเรื่องทั่วไปและในเชิงลึก ความรู้ที่นำมาแลกเปลี่ยนกันจึงเผ็ดไม่แพ้พริก ขณะที่ Vincent Rumahloine ได้โครงการวิจัยและทดลองใช้เสียงดนตรีมาเป็นส่วนหนึ่งในการเพาะปลูกพริก เพื่อสังเกตการเจริญเติบโต โดยใช้ทั้งหลักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความรู้ทางนิเวศวิทยาแบบดั้งเดิมจากบรรพบุรุษที่เชื่อว่าต้นไม้และสัตว์มีขวัญและที่ทางของตัวเอง โครงการนี้เป็นอีกช่องทางในการเชื่อมโยงผู้คน ชุมชน และสร้างเครือข่ายการศึกษาเรื่องพริกในอินโดนีเซียและต่างประเทศ ## ทำอย่างไรให้หายเผ็ด ผู้ร่วมเสวนาแนะนำเคล็ดลับทางออกเพื่อทุเลาความเผ็ด ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละสังคม ผู้ร่วมเสวนาจากอินโดนีเซียแนะนำว่าให้กินน้ำตาลทรายหนึ่งช้อน ดื่มน้ำอุ่นห้ามดื่มน้ำเย็น ดื่มน้ำมะพร้าว ดื่มนม หรือกินโยเกิร์ต ส่วนที่พม่าการดื่มชาดำช่วยให้หายเผ็ด หรือกินน้ำตาลโตนดก็ได้ และเยอรมนีมีเบียร์เป็นทางออกสำหรับการคลายความเผ็ด ## อาหารและพริก: วัฒนธรรมแห่งการดำรงชีวิต ความสำคัญและบทบาทของพริก สะท้อนความแตกต่างของวัฒนธรรมแห่งการดำรงชีวิตในอินโดนีเซีย พม่า และเยอรมนี นอกจากนี้วัฒนธรรมพริกยังถูกพัฒนาเพื่อสร้างเครือข่าย ชุมชน และโครงการที่เชื่อมพริกไปยังบริบทอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความเผ็ดของพริกหรืออาหารยังเป็นสิ่งที่น่าลิ้มลอง ท้าทายการเปิดประสบการณ์สู่โลกแห่งอาหาร และเชื่อมโยงสู่ความรู้สึก ความทรงจำ เรื่องราวอีกมากมาย เพราะพริกทำให้เรามีความทรงจำร่วมเผ็ดๆ ที่แตกต่างกัน
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/22551393.html
# ทำสวนในเมือง: พื้นที่สาธารณะของชุมชน การเสวนาออนไลน์ที่ 2 หัวข้อ “ทำสวนในเมือง: ทำได้จริงหรือ?” ภายใต้โครงการ “แซ่บกับเกอเธ่” เป็นการคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการทำสวนและพื้นที่สีเขียวของคนเมือง ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ งานครั้งนี้จัดโดยห้องสมุดของสถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ, สถาบันเกอเธ่ จาการ์ตา, สถาบันเกอเธ่ บันดุง, และสถาบันเกอเธ่ เมียนมาร์ เริ่มจากการเฟ้นหาผู้ร่วมเสวนาที่มีพื้นเพหลากหลายจากเมืองต่างๆได้แก่ ทิม ชูมันน์และเยนส์ เอ ไกส์เลอร์ สองผู้อำนวยการห้องสมุดจากเยอรมนี ผู้ผลักดันให้บทบาทห้องสมุดไปไกลกว่าสถานที่อ่านหนังสือ โดยห้องสมุดสามารถเป็นศูนย์รวมในการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของสังคม ข้ามฟากมายังอินโดนีเซีย สถาปนิกซิกิต กุสุมาวิไชยะ และวินาร์ทาเนีย ที่ประสบความสำเร็จจากการเชื่อมโยงคนในชุมชนจนเกิดเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงผลกำไร ส่วนผู้ร่วมเสวนาจากกรุงเทพฯ คือวีรวรรณ กตัญญูวิวัฒน์ นักธุรกิจด้านการก่อสร้างที่สามารถตีโจทย์ชนะอุปสรรคเรื่องพื้นที่ในการปลูกผักบนดาดฟ้าตึกใจกลางสาทร และภัทรสุดา อนุมานราชธน นักแสดงละครเวทีแถวหน้า ผู้รักธรรมชาติเป็นชีวิตจิตใจ เป็นผู้ดำเนินรายการ ## จากสวนแรกของแต่ละคนทั้งกลางแจ้งและในร่ม ผักออร์​แกนิคในอินโดนีเซียหาซื้อยากและมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้วินาร์ทาเนียเริ่มต้นทำปลูกผักไร้สารพิษภายในบริเวณบ้านเพื่อเอาไว้กินในครัวเรือน ช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จ ล้มลุกคลุกคลานอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเธอจึงเข้าร่วมกลุ่มเพื่อเรียนรู้เรื่องการทำสวน การปลูกผัก การผสมดิน ความสำคัญของดิน แสงแดด เมล็ดพันธุ์ การเจริญเติบโตของผักแต่ละชนิด จากความต้องการส่วนตัวในตอนเริ่มต้นนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่ม Indonesia Berkebun เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคน ชุมชน พื้นที่ว่างเปล่า การทำสวนในเมืองและการปลูกผักออร์แกนิคในอินโดนีเซีย วีรวรรณเล่าถึงที่มาของสวนผักบนดาดฟ้าอพาร์ตเมนท์ของครอบครัวว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากสวนผักของคุณอาซึ่งเคยปลูกไว้ที่ระเบียงชั้น 4 ของอาคาร โดยระหว่างที่คุณอายังมีชีวิตอยู่ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำสวนให้กับพนักงานรักษาความปลอดภัย ต่อมาเธอจึงปรึกษาคุณพ่อซึ่งเป็นวิศวกรในการทำระบบน้ำและอื่นๆ เพื่อขยายสวนขึ้นไปบนดาดฟ้าของตึก ตอนแรกตั้งใจปลูกเพื่อทานภายในครัวเรือนแบบเดียวกับวินาร์ทาเนีย ต่อมาคนในชุมชนรู้ว่ามีแปลงผักจึงมาขอซื้อผักไปไว้สำหรับบริโภค การปลูกผักของทั้งสองคนเริ่มต้นจากการปลูกเพื่อตัวเองภายในครอบครัว และสวนผักได้พัฒนาไปสู่การเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคและผู้ปลูก ทั้งคู่สะท้อนว่าพื้นที่ว่างเปล่ามีเยอะแต่เรายังขาดแคลนคนมาทำให้มันมีชีวิตขึ้นมาด้วยการเพาะปลูก พื้นที่ในอาคารและกลางแจ้งก็สามารถทำสวนผักได้ นอกจากนี้ วีนาร์ทาเนียยังเสริมว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายคนได้หันมาทำสวนในบ้านเพื่อเป็นการเยียวยาตัวเอง ## สถาปนิกและนักออกแบบสายเขียว สิ่งหนึ่งที่สถาปนิกอย่าง ซิกิต กุสุมาวิไชยะ ทำควบคู่ไปกับการออกแบบบ้าน อาคาร สถานที่ โรงแรม ร้านอาหาร พื้นที่ต่างๆ คือการเติมพื้นที่สีเขียวเอาไว้ในการออกแบบ ทำให้เห็นว่างานสถาปัตยกรรมโดยตัวงานเอง สถาปนิกสามารถทำให้อาชีพนี้มีส่วนร่วมในการดูแลและถนอมรักษาโลกใบนี้เพื่อเป็นตัวกลางในการส่งต่อพื้นที่สีเขียวไปยังคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นถัดไป เกิดการตระหนักรู้ร่วมกันทั้งระบบในงานออกแบบ ดังนั้น ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมของซิกิตจึงถูกนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องการทำสวนเมืองให้ยั่งยืนในอินโดนีเซีย เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Indonesia Berkebun เป็นนักปฏิบัติการร่วมกับเพื่อนและเครือข่ายในการพลิกพื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำแปลงผัก ทำสวน ปลูกต้นไม้ ในหลายแห่งทั่วอินโดนีเซีย ซิกิตมีความเห็นว่าอันที่จริงแล้วมนุษย์ไม่ได้เหนือกว่าสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และสิ่งของ ดังนั้น การสร้างพื้นที่สีเขียวจึงเป็นการสร้างความเสมอภาคและเพื่อตระหนักรู้ว่าทุกสรรพสิ่งต่างเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ ## ห้องสมุดเป็นสวนแห่งชุมชน ทิม ชูมันน์และเยนส์ เอ ไกส์เลอร์ สองผู้อำนวยการห้องสมุดจากเยอรมนี สะท้อนบทบาทของห้องสมุดในปัจจุบันว่าเป็นได้มากกว่าห้องสมุดสำหรับยืม คืน อ่าน หนังสือ ทั้งคู่มีโจทย์เดียวกันคือ “ทำไมไม่มีพื้นที่สีเขียวในห้องสมุดและต้องทำอย่างไรเพื่อให้มี?” การจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ จึงทำให้พื้นที่มีชีวิตชีวา และพื้นที่สีเขียวไม่ได้จำกัดแค่เพียงเรื่องการปลูกต้นไม้ ทำสวน แต่คือสิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ ห้องสมุดจึงสร้าง โรงแรมแมลง (Insects Hotel) สำหรับเป็นแหล่งอนุบาลและพักพิงของแมลง เพื่อให้คนเข้าใจถึงความสำคัญของแมลงต่อระบบนิเวศและยาฆ่าแมลงส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของมันในอนาคต การหาดอกไม้ป่ามาปลูกเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไม้ดอกหายาก ความรู้ด้านการเกษตรเพื่อที่คนในชุมชนสามารถไปสร้างสวนในชุมชนของตัวเอง การพาคนไปสัมผัสกับควายกลางทุ่ง การให้ความรู้เรื่องวิกฤติอาหารและขยะอาหาร ห้องสมุดจึงมีโอกาสทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งเกษตรกร ผู้มาใช้บริการห้องสมุด เด็กและเยาวชน ผู้สูงวัย และเจ้าหน้าที่ และห้องสมุดยังมีส่วนในการเข้าไปกระตุ้นความอยากรู้ ความสนใจ ของคนในชุมชน ## ทำสวนแห่งใจ ผู้ร่วมเสวนาและผู้ดำเนินรายการได้ให้นิยามของ “สวน” และ “การทำสวน” ด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น ในด้านการเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม สัตว์ ธรรมชาติ เกิดการปฏิสัมพันธ์ การสร้างสรรค์ เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน นอกจากนี้การทำสวนยังทำให้เราค้นพบพืชและผักที่เป็นเนื้อคู่ของเราเพราะแต่ละชนิดต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน ทำให้เรารู้จักการเฝ้ารอคอยและเรียนรู้มัน กล้ายอมรับความผิดพลาดและพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ ยอมให้ตัวเองมือเลอะ ช่วยลดอัตตาไม่ยึดติดการเป็นศูนย์กลางจักรวาล ดังนั้น การทำสวนจึงนำไปสู่การค้นพบสวนแห่งใจของตัวเองในระหว่างการรดน้ำพรวนดินเสมอ
https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/22574517.html