txt
stringlengths 202
53.1k
|
---|
# Apple Store เปิดสาขาที่ 5 ในเกาหลีใต้ ที่ย่านกังนัม 31 มีนาคมนี้
แอปเปิลเปิดตัว Apple Store สาขาที่ 5 ในเกาหลีใต้ Apple Gangnam ซึ่งตั้งอยู่ในย่านกังนัม กรุงโซล โดยจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม เป็นต้นไป
Apple Gangnam ตกแต่งร้านด้วยวัสดุทั้งหมดภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ ไม้ กระจก และพื้น และพลังงานที่ใช้ในร้านเป็นพลังงานหมุนเวียน 100%
แอปเปิลยังร่วมฉลองการเปิดตัว Apple Store สาขาใหม่นี้ ด้วยเพลย์ลิสต์พิเศษบน Apple Music ซึ่งมีเพลง OMG ของ NewJeans เวอร์ชันพิเศษสำหรับ Apple Music ที่ให้ประสบการณ์เสียง Spatial Audio สมบูรณ์แบบ รวมทั้งจัดส่วน Pop-Up Studio ภายในร้านวันศุกร์และเสาร์นี้ด้วย
ที่มา: แอปเปิล ภาพ NewJeans |
# Google เปิดตัว Ads Transparency Center สามารถตรวจสอบรายละเอียดผู้ลงโฆษณาได้
กูเกิลเปิดตัว Ads Transparency Center ศูนย์รวมข้อมูลโฆษณาจากผู้ลงโฆษณาที่ยืนยันตัวตน เพื่อความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งผู้ใช้งานสามารถค้นหารายละเอียดของโฆษณาที่พบในแพลตฟอร์มของกูเกิล, YouTube ตลอดจนโฆษณาผ่านเครือข่าย Display ได้
นอกจากข้อมูลว่าโฆษณาตัวนั้น ใครเป็นผู้ลงโฆษณา ยังสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ เช่น โฆษณานี้เลือกลงในภูมิภาคใด แพลตฟอร์มใด และแคมเปญนั้นรันมาตั้งแต่วันที่เท่าใด นอกจากเข้าไปดูรายละเอียดผ่าน Ads Transparency Center แล้ว ผู้ใช้งานยังสามารถเข้าตรงได้ผ่านเครื่องหมาย 3 จุด ในมุมโฆษณา เพื่อเข้ามาที่หน้า Transparency Center และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้
บริการจัดการและเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลโฆษณาของกูเกิลนี้ เป็นคุณสมบัติที่ต่อมาจาก My Ad Center บริการปรับแต่งโฆษณาของผู้ใช้งาน ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว
กูเกิลบอกว่าฟีเจอร์ใหม่นี้จะเปิดให้ใช้งานทั่วโลกภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ที่มา: กูเกิล |
# EA ปลดพนักงาน 6% จากพนักงานทั่วโลก 12,900 คน
EA ประกาศลดพนักงานลง 6% คิดเป็นราว 775 คนจากพนักงานทั้งหมดประมาณ 12,900 คน รวมถึงปรับแผนการเช่าสำนักงาน ลดปริมาณพื้นที่เช่าลง
ซีอีโอ Andrew Wilson บอกว่าเหตุผลมาจากการยกเลิกโครงการที่ไม่ตรงกับธุรกิจหลักของบริษัท ทำให้ต้องปลดพนักงานบางทีมลง หรือย้ายพนักงานไปอยู่ทีมอื่นถ้าสามารถทำได้ เขายังยืนยันว่าธุรกิจของ EA ยังแข็งแกร่ง และเกมแฟรนไชส์หลักทั้ง FIFA, Apex Legends, The Sims ยังทำเงินได้ดี
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ EA เพิ่งปิดโครงการเกมหลายเกม เช่น Apex Legends Mobile, Battlefield Mobile รวมถึง ปลดพนักงาน QA ของ Apex Legends ประมาณ 200 คนและปิดสำนักงานด้วย
ที่มา - EA |
# Apple ประกาศจัดงาน WWDC 2023 วันที่ 5-9 มิถุนายนนี้ กิจกรรมเกือบทั้งหมดเป็นแบบออนไลน์
แอปเปิลประกาศจัดงาน WWDC 2023 งานสัมมนาสำหรับนักพัฒนาประจำปี ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ถึง 9 มิถุนายน 2023 โดยเนื้อหางานส่วนใหญ่จัดในรูปแบบออนไลน์ เหมือนกับงาน WWDC ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งมีการระบาดของโควิด 19
งาน WWDC 2023 ยังมีส่วนของการจัดงานในสถานที่หรือ In-Person ที่ Apple Park สำนักงานใหญ่ของแอปเปิล ในวันที่ 5 มิถุนายน โดยเปิดให้นักพัฒนาและนักเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมได้ และจะประกาศผู้มีสิทธิเข้าร่วมในวันที่ 5 เมษายน
งาน WWDC หัวข้อหลักที่แอปเปิลเน้นนำเสนอคือระบบปฏิบัติการ และเครื่องมือใหม่ ๆ สำหรับนักพัฒนา โดยนอกจากรายละเอียดของระบบปฏิบัติการตามรอบอัพเดตประจำปี ไม่ว่าจะเป็น iOS 17, iPadOS 17, tvOS 17, watchOS 10 และ macOS 14 แล้ว อาจมีการเปิดตัวฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ซึ่งคาดว่าเป็น Mac และไฮไลท์สำคัญคือสินค้าใหม่ Mixed Reality ที่ลือกันมานานก่อนหน้านี้
ที่มา: แอปเปิล |
# Andrew Ng คัดค้านข้อเสนอหยุดขยายโมเดล AI นาน 6 เดือน ระบุทำไม่ได้จริง
หลังจากกลุ่มนักวิชาการ และนักธุรกิจออกมาลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกเพื่อขอให้หยุดการขยายขนาดโมเดลปัญญาประดิษฐ์ที่ใหญ่กว่า GPT-4 เอาไว้ 6 เดือนเพื่อวางมาตรกรความปลอดภัย ตอนนี้ Andrew Ng หนึ่งในผู้บุกเบิกวงการ Deep Learning ก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย
Ng ระบุว่าไม่มีทางที่จะหยุดไม่ให้ทุกคนขยายขนาดโมเดลปัญญาประดิษฐ์ เว้นแต่จะใช้มาตรการรัฐมาหยุดการวิจัย ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานที่แย่ และทำร้ายการสร้างนวัตกรรม เขายอมรับว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นมีความเสี่ยง แต่สื่อที่พยายามสร้างภาพว่าบริษัทสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่อันตรายนั้นก็ไม่จริงเหมือนกัน เพราะบริษัทส่วนใหญ่ระมัดระวังกันอยู่แล้วแม้จะมีบางกลุ่มทำเรื่องไม่ดีบ้าง
เขาเสนอว่าการรับประกันความปลอดภัยของปัญญาประดิษฐ์ควรอาศัยการกำกับดูแล, ความโปร่งใส, และการตรวจสอบย้อนกลับ และพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ แทนที่จะเป็นการหยุดการพัฒนาไปเฉยๆ
ที่มา - @AndrewYNg
ภาพจาก Facebook Andrew Ng |
# ไม่หวั่นแม้กระแสตก Square Enix ออกการ์ดสะสม FF7 มีเวอร์ชัน NFT ด้วย
Square Enix ออกชุดการ์ดสะสม Final Fantasy VII โดยขายเป็นซอง ซองละ 440 เยน (ประมาณ 115 บาท) ได้การ์ด 6 ใบ และการ์ดดิจิทัล 1 ใบที่นำไปแลกเป็นการ์ดเวอร์ชัน NFT ได้บนเว็บ (ในชุดมีการ์ดทั้งหมด 207 ใบ)
Square Enix ระบุว่าใช้ระบบ Efinity ของบริษัท Enjin (รันอยู่บนเชน Polkadot อีกที) การใช้งานจำเป็นต้องมีบัญชีและแอพวอลเล็ตของ Enjin ด้วย อย่างไรก็ตาม NFT ชุดนี้ไม่สามารถนำไปขายต่อได้ และหากระบบของ Enjin หยุดให้บริการในอนาคต ก็มีความเสี่ยงที่จะเข้าไปดูการ์ด NFT ไม่ได้อีก
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา Square Enix ถือเป็นบริษัทที่จริงจังกับบล็อกเชนและ NFT อย่างแน่วแน่ เพราะมองว่าเป็นแหล่งทำเงินใหม่ๆ ของบริษัท ดังจะเห็นได้จากจดหมายปีใหม่ของประธาน ทั้งปี 2022 และปี 2023 โดยก่อนหน้านี้ บริษัทเพิ่งเปิดตัวเกม Symbiogenesis เกมแนว NFT สะสมคาแรกเตอร์ที่บอกว่ามีคาแรกเตอร์เกิน 10,000 ตัว
ที่มา - Square Enix, VGC |
# ญี่ปุ่นอนุมัติดีลไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard บอกไม่กระทบการแข่งขัน
Japan Fair Trade Commission หน่วยงานกำกับดูแลการค้าของประเทศญี่ปุ่น อนุมัติดีลไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard โดยระบุว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดเกม ถือเป็นหน่วยงานภาครัฐอีกแห่งที่อนุมัติ หลังจากหน่วยงานของบราซิลอนุมัติไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022
ไมโครซอฟท์ยังต้องผ่าน 3 ด่านสำคัญคือ สหรัฐ (FTC), สหราชอาณาจักร (CMA) และสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งกรณีของ EU มีข่าวลือว่าจะอนุมัติ และ CMA เพิ่งปรับมุมมองว่าไม่กระทบต่อธุรกิจเกมคอนโซล
ก่อนหน้านี้ นักการเมืองสหรัฐกลุ่มหนึ่งเพิ่งออกมาพูดประเด็นว่า PlayStation ทำเอ็กซ์คลูซีฟกีดกัน Xbox ส่งผลต่อการค้าญี่ปุ่น-สหรัฐ
ภาพจาก Xbox Japan
ที่มา - Reuters |
# Dodgeblob เกมที่สร้างจาก GPT-4 เขียนโค้ดเพียง 4 วัน ปล่อยให้โหลดแล้วใน App Store
Josh Pigford ผู้ใช้รายหนึ่งใน Twitter ได้โพสต์เรื่องราวขั้นตอนการสร้างเกมจาก GPT-4 ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงมีการปล่อยเกมออกมาให้คนอื่นสามารถดาวน์โหลดมาเล่นได้ใน App Store จากที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน
โดย GPT-4 ล้วนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนตั้งแต่ตั้งชื่อ, ใช้โค้ดในการสร้างระบบเกม, แอนิเมชัน, โทนสีไปจนถึงการตั้งค่าที่ให้ผู้เล่นสามารถปรับได้ตามต้องการ
Josh Pigford ยังได้เล่าถึงปัญหาในการสร้างเกมเช่น ต้องแก้ไขหลายครั้ง ตัวระบบไม่ทำงานบ้าง, เขียนโค้ดไม่ตรงคำสั่งก็มี เจอปัญหาในการทำ SKSpriteNode บ้าง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม GPT-4 ก็สามารถสร้างเกมนี้ขึ้นมาได้จนสำเร็จโดยใช้เวลาเขียนโค้ดเพียง 4 วันเท่านั้น ซึ่งวิธีการเล่นมีรูปแบบเหมือนกับ flappy bird ที่ให้เคลื่อนที่หลบสิ่งกีดขวางต่างๆ และเก็บแต้ม
ค่าใช้จ่ายในการสร้างเกมนี้เพียงแค่ 50 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นสำหรับค่า GPT-4 และตอนนี้ก็ได้ปล่อยให้คนมาดาวน์โหลดได้แล้วใน App Store ชื่อเกมว่า Dodgeblobโดยรวมถือว่าหน้าตาออกมาดูดีเลยสำหรับเกมที่สร้างด้วย AI
ที่มา: Twitter |
# Amazon เปิดเครือข่ายไร้สาย Sidewalk ให้คนนอกใช้ สร้างอุปกรณ์ IoT เชื่อมต่อได้
Amazon มีโปรโตคอลสื่อสารไร้สาย Sidewalk สำหรับอุปกรณ์ IoT เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2019 และเปิดทดสอบในวงปิดเมื่อปี 2021 ตอนนี้เปิด HDK/SDK ให้คนทั่วไปใช้งานแล้ว
Sidewalk เป็นการสื่อสารแบบแบนด์วิดท์ต่ำ (ไม่เกิน 80 Kbps) ด้วยคลื่นความถี่ย่าน 900MHz LoRa โดยจุดแข็งที่สุดของมันคืออยู่ในลำโพง Amazon Echo และกริ่งประตูอัจฉริยะ Ring Security Cams ทุกชิ้น ซึ่งมีฐานผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก เมื่ออุปกรณ์เหล่านี้สามารถคุยกันเองได้ผ่านโปรโตคอล Sidewalk ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายไร้สายขนาดใหญ่แบบ ad hoc/mesh ที่ไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายของโอเปอเรเตอร์โดยตรง
Amazon เปิดเผยตัวเลขว่าตอนนี้ Sidewalk ครอบคลุมประชากรสหรัฐ 90% แล้ว พร้อมให้บริษัทอื่นเข้ามาใช้งาน ตอนนี้มีบริษัทที่ทำอุปกรณ์เซ็นเซอร์-สมาร์ทโฮมเข้าร่วมแล้ว 3 รายคือ Netvox, OnAsset, Primax ซึ่งจะออกสินค้าที่รองรับ Sidewalk ในปีนี้
Amazon ยังร่วมมือกับบริษัทเซมิกคอนดักเตอร์หลายราย เช่น Nordic Semiconductor, Silicon Labs, Texas Instruments ออกชุดพัฒนาฮาร์ดแวร์ (HDK) เพื่อนำไปสร้างต้นแบบอุปกรณ์ที่ใช้งานเครือข่าย Sidewalk และแจกฟรีฮาร์ดแวร์ Test Kit ให้กับนักพัฒนาที่สนใจตรวจสอบพื้นที่สัญญาณของ Sidewalk ด้วย
ที่มา - Amazon, The Register |
# Elon Musk และนักธุรกิจ นักวิชาการกว่า 1,100 ราย เรียกร้องให้หยุดเทรน AI ขนาดใหญ่
นักธุรกิจ นักวิชาการ นักเขียน จำนวนมากกว่า 1,100 คน ร่วมกันเข้าชื่อในจดหมายเปิดผนึกให้วงการ AI หยุดเทรนโมเดลที่มีขนาดใหญ่กว่า GPT-4 เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อเว้นวรรคให้สังคมโลกเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ก่อน
รายชื่อบุคคลที่ร่วมลงชื่อมีตั้งแต่ Elon Musk, Steve Wozniak, Yuval Noah Harari ไปจนถึงอาจารย์ นักวิชาการ และพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง Microsoft, Google
นอกจากนี้ยังมีคนจากวงการ AI เอง เช่น Emad Mostaque ซีอีโอของ Stability AI, Julien Billot ซีอีโอของ Scale AI และนักวิจัยจาก DeepMind อีกหลายคน
ข้อเรียกร้องของจดหมายเปิดเผนึกนี้คือต้องการใช้เวลา 6 เดือน ช่วยกันร่างโปรโตคอลความปลอดภัย (safety protocol) ของการออกแบบ AI ระดับสูง ที่ต้องมีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญอิสระเสมอ เพื่อการันตีว่า AI ที่ถูกสร้างขึ้นในอนาคตจะเชื่อถือได้ในเรื่องความปลอดภัยต่อมนุษย์
ที่มา - Future of Life Institute |
# ไม่ใช่แค่ ChatGPT เจาะลึก Fusion Solutions ใช้ Azure OpenAI มาพัฒนาการทำงานเชิงธุรกิจได้อย่างไร
กระแส ChatGPT น่าจะทำให้คนจำนวนมากเห็นแนวทางการทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบต่างๆ ได้มากมาย โดยเฉพาะการใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยเหลือเราในฐานะผู้ช่วยที่สามารถช่วยเราค้นคว้าเนื้อหาต่างๆ ปรับแต่งบทความ หรือแม้แต่โปรแกรมเมอร์ก็อาจจะใช้ Copilot ช่วยเขียนโค้ดทำให้เราสามารถทำงานได้เร็วขึ้น แต่การใช้งานเหล่านี้ก็มักใช้งานเหมือนปัญญาประดิษฐ์ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนที่ทำงานอยู่เท่านั้น แต่ศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ในยุคใหม่เหล่านี้อาจจะสามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์บางส่วนได้ทันที โดยเฉพาะในโลกธุรกิจที่มีการะบวนการทำงานอยู่หลายส่วน มีโปรเซสต่างๆ ที่ต้องอาศัยคนทำงานมาประมวลข้อมูล ตอบคำถามคนที่เกี่ยวข้อง
ทางไมโครซอฟท์และ Fusion Solutions ก็นำเสนอถึงแนวทางใช้งาน Azure OpenAI Service ซึ่งทำให้องค์กรสามารถใช้ API เพื่อเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์ระดับเดียวกับ ChatGPT มาใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะปรับปรุงการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ, การวิเคราะห์ข้อมูล, หรือแม้แต่การฝึกฝนนักเรียนหรือพนักงาน
ทาง Fusion Solutions สาธิตแนวทางแรกคือการใช้ OpenAI ทำแชตบอทที่สามารถเข้าใจข้อมูลสินค้า โดยตอบกลับในชุดข้อมูลที่เรากำหนดเท่านั้น เช่น ตอบข้อมูลที่เกี่ยวกับร้านค้าของเรา โดยไม่พูดถึงสินค้าหรือบริษัทอื่นๆ ต่างจาก ChatGPT ปกติที่ตอบเรื่องทั่วไปโดยไม่มีข้อจำกัด
ความแตกต่างของ Azure OpenAI ที่ใช้ในการยิง API ตามปกติ กับ ChatGPT คือ OpenAI API นั้นไม่ได้มีความจำและเมื่อผู้ใช้ถามคำถามโดยอ้างถึงข้อความเก่าๆ ที่พูดคุยกันนั้นก็จะทำให้คำตอบผิดไป ทาง Fusion ระบุว่าสามารถทำ short-term memory ให้กับแชตบอทได้แล้ว และเมื่อใช้ OpenAI API ร่วมกับ API อื่นๆ ของไมโครซอฟท์ เช่น entity extaction ก็จะทำให้แชตบอทสามารถตอบคำถามได้ตรงประเด็นยิ่งขึ้น
รูปแบบการใช้งานต่อมาที่ Fusion Solutions เสนอคือการใช้ OpenAI API เป็นส่วนประกอบหนึ่งของระบบทำงานอัตโนมัติที่ใช้แทนการเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อน เช่น การที่ลูกค้าส่งอีเมลเข้ามาติดต่อบริษัท และเจ้าหน้าที่ต้องรายงานว่าอีเมลที่ลูกค้าติดต่อเข้ามานี้เป็นการติดต่อเรื่องอะไร ปัญญาประดิษฐ์สามารถจัดหมวดหมู่ได้อย่างแม่นยำว่าลูกค้ารายได้ติดต่อรูปแบบใดบ้าง เช่น ลูกค้าขอโปรไฟล์บริษัท, ขอนัดประชุม, หรือถามคำถามอื่นๆ ข้อมูลที่ได้นี้สามารถนำไปประมวลผลต่อเพื่อสร้างโมเดลจัดลำดับความน่าจะเป็นว่าลูกค้ารายใดน่าจะกำลังเตรียมซื้อสินค้า
รูปแบบนี้สามารถใช้ร่วมกับบริการปัญญาประดิษฐ์อื่นๆ เช่น การแปลงเสียงเป็นข้อความ (Speech-to-Text) เพื่อนำข้อมูลเสียงมาประมวลรูปแบบเดียวกันนอกเหนือจากอีเมลที่เป็นข้อความอยู่แล้ว ทำให้เราสามารถประมวลข้อมูลโทรศัพท์หรือ call center ต่างๆ ได้ด้วยเพื่อหาข้อมูลเชิงธุรกิจ (business intelligence) จากข้อมูลที่องค์กรมีอยู่แล้ว
การทำงานอีกรูปแบบหนึ่งคือใช้ OpenAI API เปลี่ยนคำถามตอบจากข้อความที่พนักงานเคยถามตอบกับลูกค้าไว้ก่อนแล้ว ทำให้สามารถสร้างชุดข้อมูลคำถามตอบขนาดใหญ่ได้ในเวลาอันสั้น เปิดทางสำหรับการฝึกแชตบอทที่จะทำงานได้ระดับเดียวกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น
การจัดการความรู้ในองค์กรเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความท้าทาย องค์กรมักมีเอกสารภายในที่เป็นประสบการณ์ของคนในองค์กรต่อเนื่องกันมาแต่ไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้กลับมาใช้งานได้เพราะเอกสารเยอะเกินไป ความรู้เหล่านี้เป็นเอกสารเฉพาะทางที่ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปอย่าง ChatGPT ไม่เคยเห็นข้อมูลทำให้ไม่สามารถตอบคำถามเฉพาะได้ ทาง Fusion Solutions อาศัยฟีเจอร์ Embeddings ของ OpenAI API ที่สามารถแปลงเอกสารออกมาเป็น vector และเมื่อผู้ใช้ถามคำถามต่างๆ ก็จะสามารถค้นหาเอกสารที่เกี่ยวข้องออกมาได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นสามารถนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องนี้ใส่เข้าไปยังปัญญาประดิษฐ์
การใช้ Embedding เพื่อแยกเอกสารจำนวนมาก เปิดทางให้ แชตบอทที่ปกติ OpenAI API มีข้อจำกัดไม่สามารถใส่ข้อมูลลงไปพร้อมกับคำถามได้มากนัก สามารถค้นเอาเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาประมวลผล และตอบคำถามที่ซับซ้อนโดยมีเอกสารอ้างอิงข้อมูลให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถดูก่อนจะสรุปคำตอบได้เสมอ แนวทางนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถคุยกับแชตบอทได้อย่างเป็นธรรมชาติแต่สามารถค้นหาข้อมูลเฉพาะในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กัน
การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา เนื่องจาก ChatGPT สามารถคุยได้อย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อใช้งานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์สำหรับแปลงเสียง เป็นข้อความ (speech-to-text) และแปลงข้อความเป็นเสียง (text-to-speech) ก็จะเหมือนมีครูสอนภาษาที่สามารถพูดคุยได้แทบทุกเรื่อง ทาง Fusion Solutions ทดลองสร้างแอปพลิเคชั่นทดสอบ และนำไปลองให้เด็กๆ พูดคุยพบว่าดึงความสนใจเด็กๆ ได้ดี
จากแนวทางทั้งหมดน่าจะทำให้เห็นได้ว่า กระแส ChatGPT นั้นจะไม่หยุดอยู่แค่การใช้งานส่วนบุคคลเท่านั้นแต่ปัญญาประดิษฐ์ที่เข้าใจภาษามนุษย์จะช่วยเปิดแนวทางการทำงานระหว่างมนุษย์ร่วมกับคอมพิวเตอร์ในรูปแบบใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว สำหรับผู้สนใจนำปัญญาประดิษฐ์ OpenAI API มาปรับปรุงกระบวนการทำงานในองค์กรติดต่อ Fusion Solution ติดต่อได้ที่เบอร์ 02-440-0408 หรืออีเมล์ [email protected] หรือเข้าไปที่ Line: @fusionsolution |
# [ลือ] CorePC โครงการปฏิรูปแกน Windows ให้เล็กลง แยกพาร์ทิชัน OS ขาดจากผู้ใช้
เว็บไซต์ Windows Central ได้ข้อมูลภายในของไมโครซอฟท์เรื่องโครงการ CorePC ที่ต้องการยกเครื่องแกนของ Windows ให้ทันสมัยกว่าเดิม แข่งขันกับระบบปฏิบัติการยุคใหม่อย่าง ChromeOS ได้ดีขึ้น
ไมโครซอฟท์พยายามปรับปรุง Windows มาหลายครั้งแล้ว เช่น Windows Core OS ในปี 2019 และ Windows 10X ที่เลิกทำในปี 2021 ไอเดียของโครงการเหล่านี้เหมือนกันทั้งหมดคือ นำแกนของ OS มาถอดฟีเจอร์เก่าๆ ออกให้เบาขึ้น ติดตั้งอัพเดตง่ายขึ้น ปลอดภัยกว่าเดิม และรองรับเฉพาะแอพใหม่ๆ ยุค UWP เท่านั้น
โครงการ CorePC รอบนี้ยังมีเป้าหมายแบบเดิมคือทำให้ตัวแกน OS เล็กลง และไมโครซอฟท์สามารถคัสตอมเวอร์ชันของ OS แยกตามระดับฟีเจอร์ได้
ไอเดียของ Windows 10X ที่ยังสืบต่อมายุค CorePC
เป้าหมายสำคัญของ CorePC รอบนี้คือ state separation หรือการแยกส่วนของ OS เป็นอีกพาร์ทิชัน ลักษณะเดียวกับ OS สมัยใหม่อย่าง Android/iOS ทำให้การอัพเดตง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องยุ่งกับข้อมูลของผู้ใช้ และปลอดภัยขึ้นเพราะผู้ใช้เข้าไปยุ่งกับพาร์ทิชันของ OS ไม่ได้
ถ้าเทียบ Windows Core OS ใช้แนวทางสร้าง Windows ขึ้นมาใหม่ให้ทันสมัย รองรับเฉพาะแอพยุคใหม่ (ซึ่งล้มเหลว) คราวนี้ CorePC ใช้แนวทางถอดชิ้นส่วนของ Windows เดิมให้เป็นโมดูล ปรับแต่งได้มากขึ้น โดยยังคงรองรับแอพยุคเก่าอยู่
แหล่งข่าวของ Windows Central บอกว่าไมโครซอฟท์ต้องการออก OS ที่เล็ก เร็ว รันได้เฉพาะ Edge, เว็บแอพ, แอพจาก Android และ Office เพื่อมาแข่งกับ ChromeOS ในตลาดพีซีเพื่อการศึกษา ตอนนี้ OS รุ่นทดสอบภายในลดขนาดลงได้ 60-75% จาก Windows 11 SE เวอร์ชันเพื่อการศึกษา
แต่ไมโครซอฟท์ยังจะออก OS เวอร์ชันที่มีฟีเจอร์เทียบเท่า Windows ในปัจจุบัน โดยใช้แกนของ CorePC ที่อัพเดตได้ง่ายกว่า แล้วรองรับแอพเก่าๆ ผ่าน compatibility layer ชื่อว่า Neon ด้วย
ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนนักว่า CorePC จะพัฒนาเสร็จเมื่อไร แต่ไมโครซอฟท์มีแผนจะออก Windows เวอร์ชันใหม่โค้ดเนม Hudson Valley (ที่เราเรียกกันว่า Windows 12) ในปีหน้า 2024
ที่มา - Windows Central |
# Apple Pay Later เริ่มให้บริการในอเมริกาแล้ว เฉพาะลูกค้ากลุ่มได้รับคำเชิญก่อน
แอปเปิลประกาศเริ่มให้บริการ Apple Pay Later บริการซื้อสินค้า-บริการก่อน แล้วทยอยผ่อนจ่ายทีหลัง ซึ่งแอปเปิลเปิดตัวมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยมีผลเฉพาะลูกค้าในอเมริกาที่ได้รับคำเชิญให้ใช้งานก่อน เฉพาะการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ และ In-App ที่รองรับ Apple Pay จากนั้นจะเปิดให้กับผู้ใช้งานทั่วไปในไม่กี่เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้อุปกรณ์ที่ใช้งานต้องอัพเดตเป็นระบบปฏิบัติการ iOS 16.4 ตัวล่าสุดก่อน
Apple Pay Later ให้ลูกค้าสามารถแบ่งจ่ายทุกรายการซื้อออกเป็น 4 งวด ภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ ไม่มีดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม สามารถจัดการรายการต่าง ๆ ได้ผ่านแอป Apple Wallet วงเงินสินเชื่อเริ่มต้นที่ 50 ดอลลาร์ ถึง 1,000 ดอลลาร์ ขั้นตอนการผ่อนจ่ายและควบคุมวงเงินเครดิตดูแลโดยธนาคาร Goldman Sachs ผ่านระบบของ Mastercard
ที่มา: แอปเปิล |
# Replit ประกาศพันธมิตรกับ Google เตรียมสร้าง AI เขียนโค้ดรุ่นต่อไป
Replit บริการ IDE บนเบราว์เซอร์ที่หันมาเปิดบริการ Ghostwriter ปัญญาประดิษฐ์ช่วยเขียนโค้ด ประกาศเป็นพันธมิตรกับ Google Cloud Platform เต็มรูปแบบ ทั้งในแง่ของการพัฒนาบริการใหม่, การใช้โครงสร้างพื้นฐานของ Google Cloud และบริการของ Replit โดยความร่วมมือได้แก่
กูเกิลจะให้ Replit เข้าถึงโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model - LLM) ภายในของกูเกิลเพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ช่วยเขียนโค้ด
ระบบของ Replit จะย้ายมารันบน Google Cloud
ลูกค้าของ Replit จะสามารถใช้งาน Google Cloud ได้ง่ายขึ้น
Replit จะเป็น IDE ที่ Google Cloud แนะนำเป็นพิเศษ หากมีงานที่ต้องการการเขียนโค้ดร่วมกัน
การพัฒนา LLM นั้นใช้ต้นทุนสูงมาก และต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทุกวันนี้โมเดลขนาดใหญ่ที่ประสิทธิภาพดีตอบคำถามได้อย่างชาญฉลาดนั้นมีอยู่ไม่มากนัก ส่วนโมเดลที่เป็นแบบโอเพนซอร์สนั้นมักมีความสามารถจำกัดกว่ามาก ตัว Replit เองเป็นบริษัทขนาดไม่ใหญ่มาก (พนักงานระดับร้อยคน และได้รับทุนรวมประมาณ 100 ล้านดอลลาร์) การจับมือกับบริษัทที่มีสามารถพัฒนา LLM ประสิทธิภาพสูงได้จึงน่าจะเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้บริการแข่งขันได้
ที่มา - PRNewsWire |
# แทบจะเปลี่ยนชื่อเป็น GPTSoft ไมโครซอฟท์เปิดตัว Security Copilot สร้าง GPT-4 รุ่นพิเศษวิเคราะห์การบุกรุก
ไมโครซอฟท์เปิดตัว Security Copilot ระบบวิเคราะห์เหตุการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (security incident) ที่สร้างขึ้นมาจาก GPT แต่นำไปฝึกเพิ่มเติมสำหรับความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยเฉพาะ เพื่อช่วยทีมงานดูแลความปลอดภัยองค์กรสามารถสอบสวนเหตุต่างๆ ได้เร็วขึ้น
อินเทอร์เฟซของ Security Copilot ยังคงเป็นหน้าจอแชตคล้าย ChatGPT แต่รองรับอินพุตเป็นไฟล์ หรือถามถึงรายการแจ้งเตือนจากเครื่องมืออื่นๆ นักวิเคราะห์สามารถถามถึงรายการแจ้งเดือน เซฟกระบวนการที่ต้องทำเอาไว้ล่วงหน้าเป็น promptbook เพื่อดึงข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ, วิเคราะห์มัลแวร์ที่จับได้, ตรวจสอบ log ต่างๆ เพื่อหาผลกระทบ โดยช่วงแรก Security Copilot จะเชื่อมต่อกับเครื่องมือความปลอดภัยของไมโครซอฟท์เองเป็นหลัก
ไมโครซอฟท์ยืนยันว่า ข้อมูลที่ใส่เข้าไปยัง Security Copilot จะไม่แชร์กับองค์กรอื่นๆ และไม่นำไปใช้ฝึกเพิ่มเติม แต่ผู้ใช้งานสามารถแจ้งแนะนำได้หาก Security Copilot แนะนำผิดพลาดก็จะส่งข้อมูลให้ไมโครซอฟท์เป็นครั้งๆ ไป
ตอนนี้ Security Copilot ยังอยู่ในช่วงพรีวิว และไม่เปิดให้ลงชื่อขอทดลองใช้งาน มีเพียงให้ขอรับอีเมลแจ้งข่าวสารเท่านั้น
ที่มา - Microsoft |
# เผยความสามารถใหม่ใน The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom - ประกอบเครื่องมือ, ต่ออาวุธ 2 ชิ้นได้
นินเทนโดเผยแพร่เกมเพลย์ของ The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom โดย Eiji Aonuma โปรดิวเซอร์ของเกม เป็นผู้นำเสนอการความสามารถและเครื่องมือใหม่ที่ Link ได้ใช้ในภาคนี้
ใน Tears of the Kingdom สถานที่หลักของเกมคือเกาะลอยฟ้าซึ่งลอยอยู่เหนือ Hyrule ทั่วฉากในเกม มีหลายวิธีการที่ Link จะขึ้นไปยังเกาะนี้ แต่วิธีหนึ่งที่นำเสนอคือ Recall หรือการสั่งให้วัตถุนั้นทำงานย้อนหลัง เช่น เมื่อมีวัตถุตกหล่นลงมาจากฟ้า ก็ใช้คำสั่งนี้ให้วัตถุลอยกลับขึ้นฟ้าคืน เป็นวิธีเดินทางไปยังเกาะลอยฟ้านั่นเอง
ความสามารถถัดมาคือ Fuse สามารถประกอบอาวุธหรือวัตถุ 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน เกิดเป็นอาวุธใหม่และความสามารถใหม่ และอีกความสามารถที่นำเสนอคือ Ultrahand ที่สามารถประกอบสิ่งของต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จนเป็นเครื่องมือ เช่น ยานลอยฟ้า รถยนต์ เรือ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีความสามารถ Ascend ที่ Link สามารถวาร์ปขึ้นสู่ที่สูงได้ทันที ขอแค่ตรงนั้นมีพื้นเพดานให้ลอยทะลุขึ้นไปได้
ในคลิปสาธิตนี้ยังปิดท้ายด้วย Nintendo Switch รุ่น OLED เวอร์ชัน Tears of the Kingdom โดยตัวเครื่องจะเริ่มวางขาย 28 เมษายนนี้ และยังมี Pro Controller กับเคส ที่วางขาย 12 พฤษภาคมนี้ ตรงกับวันแรกที่เกมวางขาย
ที่มา: นินเทนโด |
# Steam จะหยุดรองรับ Windows 7, 8, 8.1 ในวันที่ 1 มกราคม 2024
Steam ประกาศหยุดรองรับ Windows 7, 8, 8.1 ในวันที่ 1 มกราคม 2024 โดยตัวไคลเอนต์ Steam จะไม่สามารถรันได้อีกต่อไป ผู้ใช้จำเป็นต้องอัพเกรดไปใช้ระบบปฏิบัติการที่ใหม่กว่าอย่าง Windows 10 หรือ 11 แทน
Steam ให้เหตุผลว่าใช้ Chrome เวอร์ชันฝังในแอพสำหรับเปิดหน้าเว็บ เมื่อ Chrome หยุดรองรับ Windows รุ่นเก่าไปแล้ว ทำให้ Steam ต้องหยุดรองรับตามไปด้วย
ข้อมูลจาก Steam Software Survey ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2023 มีผู้ใช้ Windows 7 อยู่ 1.52% และ Windows 8 อยู่ 0.34% ในขณะที่ Windows 10 ยังได้รับความนิยมสูงสุด 62.33% และ Windows 11 ตามมาห่างๆ ที่ 32.06%
ที่มา - Steam via Eurogamer |
# Alibaba ประกาศแยกออกเป็น 6 บริษัทตามกลุ่มธุรกิจ
Alibaba ประกาศแยกธุรกิจต่างๆ ออกเป็น 6 บริษัท ได้แก่ คลาวด์, อีคอมเมิร์ชในจีน, อีคอมเมิร์ชต่างประเทศ, แผนที่และการส่งอาหาร, ขนส่งพัสดุ, และธุรกิจสื่อและความบันเทิง แต่ละบริษัทจะมีกรรมการบริษัทของตัวเองและประเมินผลงานกันเอง และหากพร้อมก็เข้าตลาดหุ้นแยกกันไปได้
ทาง Alibaba ระบุว่าการแยกบริษัทครั้งนี้เพื่อปลดล็อกมูลค่าของธุรกิจ แต่ละบริษัทสามารถระดมทุนกันเองปรับแต่งการจ่ายผลตอบแทนกันอย่างอิสระ ยกเว้นตัวธุรกิจ Taobao Tmall นั้นจะเป็นบริษัทลูกของ Alibaba Group เต็มร้อย
Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนไม่ดีนักในช่วงหลัง ที่เขาไปวิจารณ์หน่วยงานกำกับดูแลของจีน เมื่อปี 2020 และหลังจากนั้น Ant Group ก็ถูกสั่งห้ามนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ ส่วนตัว Ma เองก็หายหน้าไปจากสื่อนานถึงสองเดือน ตามมาด้วยมาตรการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีจีนอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ตัว Ma เองเพิ่งปรากฎตัวในจีนสัปดาห์นี้
ที่มา - Alibaba |
# ธ.กรุงศรีฯ ยืนยัน ธนาคารไม่ได้ถูกแฮก กรณีลูกค้าถูกโอนเงินออกจาก Kept
จากกรณีที่มีลูกค้าแอป Kept ของธนาคารกรุงศรีฯ โพสต์ว่าเงินในบัญชีถูกโอนออกตอนนอนเกือบ 3 แสนบาท รวมถึงสั่งอายัดบัญชี แล้วเจอเจ้าหน้าที่คนแรกแจ้งว่าต้องมีหนังสือตราครุฑ ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่อีกรายโทรกลับมา แจ้งว่าประสานงานอายัดบัญชีให้แล้วนั้น
่ล่าสุดธนาคารกรุงศรีฯ ชี้แจงแล้วว่า หลังจากพูดคุยกับลูกค้ารายดังกล่าว ธนาคารได้แสดงหลักฐานยืนยันว่าลูกค้าเป็นคนทำธุรกรรมด้วยตัวเอง และธุรกรรมดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการที่ธนาคารถูกแฮก
ขณะที่เรื่องเจ้าหน้าที่คนแรก ไม่ยอมอายัดบัญชีให้ทันทีตาม พ.ร.บ. กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ธนาคารแจ้งว่าอาจจะเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน และอายัดบัญชีให้แล้ว พร้อมแนะนำให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนต่อไป ตามขั้นตอนที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ต่อไป
ที่มา - Kept by Krungsri |
# เบื้องหลังสถาปัตยกรรมใหม่ Teams ย้ายจาก Electron/AngularJS เป็น WebView2/React
ไมโครซอฟท์เขียนบล็อกอธิบายเบื้องหลังการแก้ปัญหาระดับโลก (ระดับผู้ใช้ 250 ล้านคนต่อเดือน) เปลี่ยนสถาปัตยกรรมเบื้องหลัง Microsoft Teams บนวินโดวส์เป็นตัวใหม่ที่ดีขึ้น เร็วขึ้น กินแรมน้อยลง
ไมโครซอฟท์เล่าว่าไคลเอนต์ตัวเดิมของ Teams เริ่มเขียนในปี 2015 (Teams เปิดตัวครั้งแรกปลายปี 2016) ตั้งเป้าหมายเรื่องการทำงานข้ามแพลตฟอร์มระหว่างเว็บ-เดสก์ท็อปเป็นสำคัญ จึงเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีในตอนนั้นคือ Electron เป็นโฮสต์, AngularJS เป็นเฟรมเวิร์คเว็บ และสร้าง custom controls ของตัวเองขึ้นมาด้วย HTML/CSS
แต่เมื่อพัฒนาความสามารถของ Teams มาเรื่อยๆ ทีมงานก็พบข้อจำกัดเรื่องการใช้ทรัพยากร จึงหาเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ โปรเจคนี้ใช้ชื่อว่า "north star" โดยเปลี่ยน Electron มาใช้ WebView2, เปลี่ยนเฟรมเวิร์คมาใช้ React และแยก Data Layer ออกมาต่างหาก, ตัวคอนโทรลใช้ Fluent UI ซึ่งเป็นอีกโครงการของไมโครซอฟท์เอง
Fluent UI เป็นชุดคอนโทรลที่ไมโครซอฟท์สร้างขึ้นเป็นมาตรฐานบนแพลตฟอร์มต่างๆ (รายการแพลตฟอร์มทั้งหมด) โดยโปรเจค Teams เลือกใช้ Fluent React v9 ซึ่งปรับแต่งประสิทธิภาพการทำงานบนจาวาสคริปต์มาให้เรียบร้อยแล้ว
React เหตุผลในการย้ายจาก AngularJS มาเป็น React เป็นเรื่องประสิทธิภาพเป็นหลัก หลังจากเขียนโค้ดส่วนนี้ใหม่ก็ถือโอกาสออกแบบสถาปัตยกรรมโค้ดให้เป็นโมดูลมากขึ้น นำคอมโพเนนต์ไปใช้ซ้ำได้ ตอบสนองเร็วขึ้น
Client Data Layer สถาปัตยกรรมเดิมผนวกส่วนจัดการข้อมูลไว้เธร็ดเดียวกับ UI ส่งผลให้ดึงประสิทธิภาพระหว่างกัน สถาปัตยกรรมใหม่จึงแยกส่วนจัดการข้อมูลออกมารันในอีก worker ทำหน้าที่ดึงข้อมูล เก็บข้อมูล แจ้งเตือน และทำงานออฟไลน์ในอีกเธร็ด แล้วให้เธร็ดหลักดึงข้อมูลด้วย GraphQL ช่วยให้การตอบสนองผู้ใช้ดีขึ้น
WebView2 การเปลี่ยนจาก Electron เป็น WebView2 ช่วยลดการใช้หน่วยความจำและการเรียกใช้ดิสก์ ผลพลอยได้อีกอย่างคือฟีเจอร์ด้านเนทีฟของวินโดวส์ และการได้ใช้เอนจิน Chromium เวอร์ชันล่าสุด ช่วยเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของตัวเอนจินด้วย
นอกจากสถาปัตยกรรมหลักข้างต้นแล้ว ไมโครซอฟท์ยังถือโอกาสปรับปรุง Teams ในด้านอื่นด้วย ดังนี้
ปรับสถาปัตยกรรม video rendering pipeline ให้ประมวลผลวิดีโอคอลล์มีประสิทธิภาพมากขึ้น กินไฟน้อยลง 50% และรองรับการแสดงวิดีโอแบบกริดขนาดใหญ่ 7x7 สถาปัตยกรรมนี้ใช้กับทั้งไคลเอนต์ตัวเก่าและใหม่
รองรับการประชุมขนาดใหญ่ กรณีที่มีคนเข้าฟังเป็นหลักหลายพันคนพร้อมกัน ต้องสเกลระบบเบื้องหลังให้รองรับโหลดวิดีโอ-แชทจำนวนมาก ต้องปรับแต่งทุกเรื่องตั้งแต่ลดจำนวนการเรียก IPC, ลดจำนวนการเรนเดอร์ UI เป็นต้น
Multi-Account / Multi-Tenant ปัญหาเรื่องการจัดการบัญชีของ Teams ที่เรื้อรังมานาน ถือโอกาสเขียนใหม่ในไคลเอนต์ตัวใหม่ ปรับปรุงเรื่องล็อกอิน ซิงก์ข้อมูล ข้อความแจ้งเตือน และจับแยกสตอเรจของบัญชีไม่ให้ยุ่งกัน การสลับบัญชีผู้ใช้งานจึงราบรื่นขึ้น
ปรับแพ็กเกจการติดตั้งมาใช้ MSIX ซึ่งเป็นระบบจัดการแพ็กเกจแบบใหม่ของวินโดวส์ การติดตั้งและอัพเดตสะดวกขึ้น ลดการใช้แบนด์วิดท์และเนื้อที่ในดิสก์ลง จัดการผ่าน Microsoft Intune ได้ด้วย
ปรับปรุงความปลอดภัย ใช้เทคนิคด้านความปลอดภัยรุ่นใหม่ๆ เช่น Trusted Types, Content Security Policy เพื่อแก้ปัญหา cross-site scripting
ดึงข้อมูลเฉพาะบางส่วน (Partial Data) ปรับวิธีการเรียกข้อมูลของ Teams โดยเรียกเฉพาะบางส่วนก่อน (partial data) หากเลื่อนจอค่อยดึงข้อมูลเพิ่ม แทนการดึงข้อมูลทั้งหมดในไคลเอนต์ตัวเดิม ซึ่งเปลืองแรมและดิสก์
เปลี่ยนจาก Polling มาเป็น Push Notification ปรับการแจ้งเตือนเหตุการณ์ต่างๆ จากการถามเป็นระยะ (Polling) มาเป็นระบบ push แบบใหม่ที่เป็นมาตรฐานยุคนี้
ปรับแต่งการใช้แรม ปรับระบบการแคชข้อมูลแบบต่างๆ ให้ไดนามิกมากขึ้น ปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมของผู้ใช้งาน และเพิ่มการคืนแรมที่ไม่ใช้เป็นระยะๆ โดยอาศัย API ของวินโดวส์และ WebView2
พัฒนาเครื่องมือด้านวัดประสิทธิภาพ ระบบเทสต์ต้องรันให้ผ่านประสิทธิภาพที่กำหนด เพิ่มระบบตรวจสอบและแจ้งเตือนหากไคลเอนต์ให่มที่กำลังพัฒนาอยู่มีปัญหาประสิทธิภาพ
ใช้ซอฟต์แวร์ที่เป็นโอเพนซอร์ส เข้ามาช่วย ตัวอย่างโครงการของไมโครซอฟท์เอง ได้แก่ lage, Playwright
ปรับปรุง Accessibility ช่วยการเข้าถึงของคนพิการ เช่น ระบบสี High Contrast ของ Windows 11, รองรับตัวอ่านหน้าจอให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น, ใช้ระบบการแจ้งเตือนเนทีฟของ Windows 11
ไมโครซอฟท์เล่าว่าตอนแรกพยายามขยับไปสถาปัตยกรรมใหม่ ด้วยการนำคอมโพเนนต์ที่สร้างด้วย React/Fluent บางส่วนไปใช้กับไคลเอนต์เก่าก่อน แต่ผลที่ได้คือแย่กว่าเดิม เพราะกลายเป็นมีเฟรมเวิร์คสองตัวในไคลเอนต์ตัวเดียว
ทางออกของไมโครซอฟท์จึงหันไปทำไคลเอนต์ Teams สำหรับผู้ใช้ทั่วไป (consumer client ที่ไม่ได้ล็อกอินด้วยบัญชีองค์กร) ที่มีฟีเจอร์น้อยกว่าฝั่งองค์กร (commercial client) ด้วยสถาปัตยกรรมใหม่ทั้งหมดก่อน ช่วยลดความเสี่ยงจากความซับซ้อนลง เมื่อทำไคลเอนต์ consumer ที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพเป็นที่น่าพอใจแล้ว จึงค่อยๆ นำฟีเจอร์จาก commercial client ตัวเดิมมาใส่ให้ครบ
ตอนนี้ไคลเอนต์ Teams ตัวใหม่ยังรองรับเฉพาะบนวินโดวส์ x86 และ Arm แต่จะขยายไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย คือ เว็บ, macOS (Intel/M1/M2) และการรันผ่าน virtual desktop infrastructure (VDI) ในระยะถัดไป ผู้ที่สนใจให้เพิ่มฟีเจอร์ไหนก็สามารถไปร่วมโหวตกันได้
ที่มา - Microsoft Teams Blog |
# หลุดข้อมูล DLC ของ RE4 Remake คาดเป็น Another Order / Seperate Ways
หลังเกม Resident Evils 4 Remake ปล่อยให้เล่นไปแล้ว ล่าสุดมีคนไปเจอโฟลเดอร์ในไฟล์พาร์ทของตัวเกมบน Windows ในชื่อ _anotheroder ทำให้เป็นไปได้ว่า Capcom น่าจะกำลังซุ่มทำ DLC ตัวนี้อยู่ด้วยเช่นกัน
Another Order (เวอร์ชันตะวันตกจะใช้ชื่อ Seperate Ways) เป็นมินิเกมเสริมจาก Resident Evil 4 เวอร์ชันออริจินัล เรื่องราวเกี่ยวกับ Ada ช่วงที่แยกกับ Leon ในเรื่องราวของ Resident Evil 4
ตอนนี้ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการใดๆ เกี่ยวกับ DLC ตัวนี้จาก Capcom โดยตอนนี้ DLC ของ Resident Evil 4 Remake มีแค่ The Mercenaries ที่เป็น Free DLC ปรากฎออกมาท้ายเทรลเลอร์เปิดตัว โดยจะเปิดให้ดาวน์โหลดวันที่ 7 เมษายนนี้
ที่มา - @ResiEvilCentral |
# Ubisoft ยืนยันไม่ร่วมงาน E3 2023 แต่จัดงานแถลงของตัวเองช่วงเดียวกันแทน
Ubisoft ประกาศไม่เข้าร่วมงาน E3 2023 ที่กลับมาจัดงานแบบออฟไลน์ โดยระบุว่าจะจัดงาน Ubisoft Forward ของตัวเองในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันที่เมือง L.A. เหมือนกันแทน
โฆษกของ Ubisoft บอกว่า E3 เป็นงานสำคัญต่ออุตสาหกรรมเกม ตอนแรก Ubisoft ตั้งใจเข้าร่วม แต่สุดท้ายปรับทิศทางใหม่และเปลี่ยนมาจัดงานของตัวเองแทน
ข่าวนี้ไม่เป็นผลดีต่องาน E3 นัก เพราะก่อนหน้านี้เพิ่งมีข่าวว่า 3 ค่ายใหญ่ทั้ง Nintendo, Microsoft, Sony ก็ไม่เข้าร่วมงานปีนี้ โดยไมโครซอฟท์จะจัดงานของตัวเองที่ L.A. แบบเดียวกับ Ubisoft
ที่มา - VGC |
# นักการเมืองสหรัฐชี้ PlayStation ทำเอ็กซ์คลูซีฟกีดกัน Xbox ส่งผลต่อการค้าญี่ปุ่น-สหรัฐ
ศึกมหาสงครามเกมคอนโซลระหว่าง Xbox-PlayStation ลามมาถึงแวดวงการเมืองสหรัฐและการเมืองระหว่างประเทศแล้ว โดย ส.ว. และ ส.ส. ของสหรัฐกลุ่มหนึ่ง ส่งจดหมายถึงทูตการค้าสหรัฐ Katherine Tai ในประเด็นว่า PlayStation ให้กลยุทธ์เกมเอ็กซ์คลูซีฟ ส่งผลให้ Xbox ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกัน ไม่สามารถเจาะตลาดญี่ปุ่นได้
ในจดหมายบอกว่า PlayStation ครองตลาดคอนโซลระดับบนของญี่ปุ่นถึง 98% และท่าการเซ็นสัญญากับเกมดังในญี่ปุ่นเป็นเอ็กซ์คลูซีฟ (ไม่ได้บอกชื่อเกมแต่ทุกคนคงเข้าใจตรงกัน) ถือเป็นการกีดกัน Xbox ในตลาดญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อผู้พัฒนาเกมในสหรัฐที่เสียโอกาสทำรายได้ในญี่ปุ่นด้วย
กลุ่ม ส.ส. และ ส.ว. ชี้ว่าวิธีการของโซนี่อาจผิดกฎหมายผูกขาดของญี่ปุ่นด้วย ดังนั้นสหรัฐอเมริกาในฐานะคู่ค้าตามสัญญา U.S.-Japan Digital Trade Agreement ที่เซ็นกันเมื่อปี 2019 และมีเนื้อหาเรื่องป้องกันการปฏิบัติไม่เป็นธรรมในสินค้าดิจิทัล (non-discriminatory treatment) จึงควรปกป้องบริษัทอเมริกันในเรื่องนี้
Katherine Tai ในฐานะทูตการค้าของสหรัฐบอกว่าเพิ่งทราบเรื่องนี้ และรับปากว่าจะไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
ที่มา - Axios |
# [ลือ] AMD จะกลับมาขาย Threadripper ซีรีส์ 7000 แกน Zen 4, เปิดตัวครึ่งหลังปี 2023
AMD ห่างหายจากการวางขายซีพียู Threadripper ไปนาน ครั้งสุดท้ายคือ Threadripper ซีรีส์ 3900X เมื่อปี 2020 สมัยครั้งยังเป็นแกน Zen 2 (หมายเหตุ: AMD ยังมี Threadripper Pro ซีรีส์ 5000 เป็นแกน Zen 3 แต่จับเฉพาะตลาดเวิร์คสเตชัน ไม่ใช่กลุ่มผู้ใช้ทั่วไป)
ล่าสุดมีข่าวลือว่า Threadripper จะกลับมาอีกครั้งในยุคซีรีส์ 7000 แกน Zen 4 โดยจะเปิดตัวช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ข่าวนี้มาจากพาร์ทเนอร์ของ AMD คือ Tony Yu ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศจีนของ ASUS ที่ให้สัมภาษณ์สื่อจีนว่าเราจะได้เห็น Threadripper 7000 โค้ดเนม "Storm Peak" วางขายสำหรับกลุ่มลูกค้าเดสก์ท็อปแบบไฮเอนด์ (HEDT) และเวิร์คสเตชัน
ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลสเปกของ Threadripper 7000 ออกมา แต่คาดกันว่ารุ่น HEDT ออกมาสู้กับ Xeon W-2400 และรุ่นเวิร์คสเตชันสู้กับ Xeon W-3400
ที่มา - Techspot |
# Elon Musk ประกาศ - เฉพาะบัญชีติ๊กถูก Verified จะได้แสดงทวีตใน For You และร่วมโหวต Poll ได้
Elon Musk ซีอีโอ Twitter ประกาศการเปลี่ยนแปลงสำคัญบนแพลตฟอร์ม มีผลตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน เป็นต้นไป ดังนี้
แท็บ For You ที่แนะนำทวีตน่าสนใจ จะแสดงเฉพาะทวีตจากบัญชีที่ยืนยันตัวตน (มีเครื่องหมายติ๊กถูก) เท่านั้น
การร่วมโหวตในโพลล์สอบถามความเห็น จะทำได้เฉพาะบัญชีที่ยืนยันตัวตนเท่านั้น
Musk บอกถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้ ว่าเป็นหนทางเดียวที่จะต่อสู้กับบัญชีบอตซึ่งมีการพัฒนารูปแบบมากขึ้น
ปัจจุบันการได้เครื่องมือหมายติ๊กถูกยืนยันตัวตน จะต้องเป็นหน่วยงาน บริษัท หรือองค์กรของรัฐ ซึ่งจะได้เครื่องหมายสีทองหรือสีเทา ส่วนสีฟ้า ให้กับผู้สมัครใช้งาน Twitter Blue ราคา 8 ดอลลาร์ต่อเดือน
ที่มา: The Verge |
# Zoom เพิ่มความสามารถใหม่ - สรุปเนื้อหาก่อนหน้า หากเข้าประชุมสาย, ทำสรุปแบบไวท์บอร์ด
Zoom ประกาศเพิ่มความสามารถใหม่ให้กับ Zoom IQ เครื่องมือช่วยเหลือสำหรับการประชุมที่ใช้ AI ประมวลผล ซึ่งบริษัทบอกว่านอกจาก AI ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเองแล้ว ยังใช้ความสามารถเพิ่มเติมจาก OpenAI อีกด้วย
ตัวอย่างเครื่องมือใหม่ใน Zoom IQ เช่น สามารถสั่งให้สรุปเนื้อหาการประชุมก่อนหน้านี้ได้ หากเข้าประชุมสาย จากเดิมทำงานได้เฉพาะสรุปเนื้อหาเมื่อการประชุมจบลง คุณสมบัตินี้ยังรองรับการสรุปเนื้อหา ระหว่างออกจากห้องประชุมเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ด้วย
ฟีเจอร์อื่น เช่น สร้างสรุปเนื้อหาการประชุมบนกระดาน (Whiteboard) และแชร์ให้กับทุกคนในการประชุมได้ หรือสามารถสร้างอีเมลคำเชิญเข้าร่วมการประชุมอัตโนมัติ
นอกจากนี้ Zoom ยังเพิ่มเครื่องมือใหม่ Zoom Huddles สำหรับการตั้งห้องสนทนากลุ่มแบบรวดเร็ว คล้ายกับห้องคุยเสียง Huddles ใน Slack
ที่มา: Zoom และ The Verge |
# Lyft ประกาศแต่งตั้ง CEO คนใหม่ - สองผู้ก่อตั้งลดบทบาทมาเป็นบอร์ดบริหาร
Lyft ผู้ให้บริการแอปเรียกรถแท็กซี่รายใหญ่ในอเมริกา ประกาศว่าสองผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Logan Green (ซีอีโอ) และ John Zimmer (ประธานบริษัท) จะออกจากตำแหน่งที่รับผิดชอบการบริหารงานประจำวัน โดยมารับตำแหน่งบอร์ดบริหารของ Lyft
บริษัทประกาศแต่งตั้ง David Risher มาเป็นซีอีโอคนใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2023 เป็นต้นไป โดยประสบการณ์ของ Risher นั้น เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์และค้าปลีกในอเมริกาคนแรกของ Amazon มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน Amazon จากร้านหนังสือออนไลน์มาเป็นอีคอมเมิร์ซที่ขายทุกอย่าง
Logan Green กล่าวว่าตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อตั้ง Lyft เขาและ John Zimmer เห็นว่าถึงเวลาที่จะลงจากตำแหน่ง และหาผู้บริหารที่เหมาะสมซึ่ง David Risher ที่มาเป็นบอร์ดบริหารของ Lyft ตั้งแต่ปี 2021 มีความโดดเด่น เข้าใจในธุรกิจนี้
ที่มา: Lyft |
# Apple ซื้อกิจการ WaveOne สตาร์ทอัพพัฒนาการเข้ารหัสวิดีโอโดยใช้ AI ตรวจสอบคอนเทนต์
แอปเปิลซื้อกิจการ WaveOne สตาร์ทอัพพัฒนาอัลกอริทึมบีบอัดวิดีโอโดยใช้ AI ซึ่งแอปเปิลไม่ได้ยืนยันดีลการซื้อกิจการดังกล่าว แต่พบว่าเว็บไซต์ของ WaveOne ปิดลงตั้งแต่เดือนมกราคม ขณะที่อดีตพนักงานหลายคนรวมทั้งผู้ร่วมก่อตั้ง ปัจจุบันทำงานที่แอปเปิล และอดีตหัวหน้าฝ่ายขายก็โพสต์บอกเองว่าแอปเปิลได้ซื้อ WaveOne ไปแล้ว
WaveOne ก่อตั้งในปี 2016 โดยสองผู้ก่อตั้ง Lubomir Bourdev และ Oren Rippel ที่ต้องการสร้างการเข้ารหัสบีบอัดไฟล์วิดีโอแบบใหม่ ใช้ AI ประเมินว่าเนื้อหาในวิดีโอส่วนไหนที่สำคัญ เช่น ใบหน้าบุคคล ป้ายตัวหนังสือ จะให้ความสำคัญในการเก็บรายละเอียดมากกว่าองค์ประกอบอื่น ซึ่งช่วยลดการใช้แบนด์วิธ
การใช้ AI ช่วยลดแบนด์วิธวิดีโอไม่ใช่ของใหม่ YouTube เองก็ใช้เครื่องมือจาก DeepMind มาตั้่งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งลดการใช้ข้อมูลได้ประมาณ 4% จึงคาดว่าแอปเปิลซื้อกิจการ WaveOne เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้กับบริการวิดีโอสตรีมมิ่ง Apple TV+ นั่นเอง
ที่มา: TechCrunch |
# Apple ออกอัพเดต iOS 16.4, iPadOS 16.4 และระบบปฏิบัติการอื่นในเครือ
แอปเปิลออกอัพเดตระบบปฏิบัติการ iOS 16.4 และ iPadOS 16.4 ซึ่งเป็นอัพเดตรอบใหญ่ ผู้ใช้งานสามารถอัพเดตได้โดยไปที่ Settings > General > Software Update ซึ่ง iOS 16.4 มาพร้อมคุณสมบัติใหม่หลายอย่างดังนี้
รองรับการแจ้งเตือนแบบ Web Push ใน Safari
เพิ่มไอคอนในหน้า Home จากเบราว์เซอร์อื่นที่ไม่ใช่ Safari
Apple Books ปรับเลือกอนิเมชันตอนเปิดหน้าถัดไปได้
เพิ่มอีโมจิใหม่ 21 รายการ ตามมาตรฐาน Emoji 15.0
Apple Pencil ใน iPadOS 16.4 ฟังก์ชัน Hover รองรับการลองเอียงมุม Pencil พรีวิวก่อนลงเส้น-สี
เปลี่ยนวิธีลง iOS เวอร์ชัน Beta รุ่นถัดไปด้วย Apple ID
ของใหม่อื่น ได้แก่ HomeKit Architecture ปรับปรุงใหม่, Podcasts ปรับปรุงไลบรารี่และการฟังรายการ, เข้าถึงหน้าโปรไฟล์ Apple Music ง่ายขึ้น, AppleCare แสดงข้อมูลการรับประกันอุปกรณ์ทั้งหมดที่มี, Emergency SOS via Satellite เพิ่มบริการอีก 6 ประเทศ ยังไม่มีไทย, รองรับจอย DualSense Edge ของ PS5, เพิ่มคำสั่งใหม่ใน Shortcuts
นอกจากนี้แอปเปิลยังออกอัพเดตระบบปฏฺิบัติการของอุปกรณ์อื่นดังนี้
macOS Ventura 13.3 เพิ่มอีโมจิ แก้ไขบั๊กใน Trackpad และบั๊กอื่น ๆ
watchOS 9.4 ปรับปรุงการเตือนนาฬิกาปลุก, ประวัติภาวะสัญญาณหัวใจ AFib รองรับผู้ใช้งานในไทยแล้ว
tvOS 16.4 เพิ่มฟีเจอร์ช่วยเหลือการเข้าถึง (Accessibility) ให้ลดแสงกะพริบลงหากตรวจพบ
HomePod 16.4 ปรับปรุงการทำงานทั่วไป
Studio Display Firmware 16.4 ปรับปรุงการคาลิเบรทสีด้วย Pro Display Calibrator
iOS 15.7.4 และ iPadOS 15.7.4 สำหรับ iPhone, iPad รุ่นเก่า ที่อัพเกรดเป็น iOS 16 ไม่ได้ แก้ไขช่องโหว่ WebKit และอื่น ๆ
ที่มา: MacRumors [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7] |
# เกมต่อสู้ MultiVersus ประกาศแผนปิดตัวชั่วคราว ก่อนกลับมาอีกครั้งต้นปี 2024
MultiVersus เกมต่อสู้แนว Super Smash Bros. โดยใช้ตัวละครจากค่าย Warner Bros. ประกาศปิดตัวชั่วคราวในวันที่ 25 มิถุนายน 2023 ก่อนจะกลับมาใหม่อีกครั้งช่วงต้นปี 2024 ระหว่างนี้ผู้เล่นสามารถเล่นได้เฉพาะโหมดออฟไลน์หรือ local multiplayer เท่านั้น
Player First Games บริษัทผู้พัฒนาเกมนี้ ระบุว่าหลังจากเปิด Open Beta มาระยะหนึ่ง ก็เรียนรู้ว่าควรแก้ไขเกมในด้านไหนบ้าง และขอเวลาไปปรับปรุงเกมให้ดีขึ้น เพื่อกลับมาเปิดบริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง
เกม MultiVersus เปิดตัวอย่างสวยงามช่วงกลางปี 2022 โดยมีผู้เล่นมากถึง 20 ล้านคน แต่หลังจากนั้นทีมงานก็หยุดอัพเดตเนื้อหาของเกม (อัพเดตครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน) และเงียบหายไปนานหลายเดือน จนผู้เล่นแทบไม่เหลืออีกต่อไป เป็นเหตุให้ต้องปิดระบบชั่วคราวในครั้งนี้
ที่มา - MultiVersus, Polygon |
# Microsoft Teams ยกเครื่องแอปบน Windows ครั้งใหญ่ เร็วขึ้น กินแรมน้อยลง
ไมโครซอฟท์ออก Microsoft Teams เวอร์ชันใหม่ โดยตอนนี้มีสถานะพับลิกพรีวิว เป็นการปรับปรุงแอปใหม่ทั้งหมด ระบุว่าทำงานเร็วขึ้น 2 เท่าจากเวอร์ชันปัจจุบัน และใช้หน่วยความจำของคอมพิวเตอร์น้อยลงครึ่งหนึ่ง
ใน Microsoft Teams นี้ ได้เปลี่ยนสถาปัตยกรรมใหม่ มีโค้ดเนมภายในว่า north star เปลี่ยนมาใช้ Fluent UI ทำงานร่วมกับ React และ Client Data Layer ส่วนโฮสต์เปลี่ยนจาก Electron มาใช้ WebView2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ Microsoft Edge
คุณสมบัติใหม่อื่นที่ได้รับการปรับปรุงเช่น ระบบเสิร์ชที่ดีขึ้น, สามารถจัดการข้อความและแชตได้ง่ายขึ้น มีจำนวนคลิกที่น้อยลง, รองรับการทำงานสลับระหว่างบัญชีผู้ใช้งานโดยไม่ต้องล็อกเอาต์ และการนำ AI Copilot ใส่ใน Teams ซึ่งเคยประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้
ที่มา: ไมโครซอฟท์ |
# สหรัฐฯ ฟ้อง Binance ข้อหาให้บริการซื้อขายฟิวเจอร์สโดยไม่ได้รับอนุญาต
หน่วยงานกำกับการซื้อขายฟิวเจอร์สสหรัฐฯ (Commodity Futures Trading Commission - CFTC) ยื่นฟ้อง Binance ทั้งตัวบริษัทเองและ Changpeng Zhao ซีอีโอบริษัทข้อหาให้บริการซื้อขายฟิวเจอร์สในสหรัฐฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต
คำฟ้องระบุว่า Binance มุ่งเป้าลูกค้าสหรัฐฯ อย่างชัดเจน บัญชีเป็นบุคคลที่อยู่ในสหรัฐฯ ถึง 16% และมีรายได้จากค่าธรรมเนียมจากบัญชีที่ใช้งานจากสหรัฐฯ เป็นเงินจำนวนมาก แต่บริษัทในเครือ Binance กลับจดทะเบียนส่วนต่างๆ กระจายไปตามประเทศต่างๆ แต่ไม่ยอมบอกว่าสำนักงานใหญ่อยู่ที่ใด เป็นการแสดงเจตนาเลี่ยงกฎหมายกำกับดูแล ขณะเดียวกันก็ส่งตัวแทนบริษัทไปสอนลูกค้าให้ใช้ VPN เพื่อใช้งานแอป หรือแม้กระทั่งแนะนำให้ลูกค้าสร้างบริษัทบังหน้าเพื่อหลบเลี่ยงกระบวนการตรวจสอบของบริษัทเองที่พยายามแสดง
คำฟ้องขอให้ศาลลงโทษปรับ และสั่งแบนจำเลยที่เกี่ยวข้องจากธุรกิจฟิวเจอร์ส และสั่งห้ามการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆ และยังฟ้อง Samuel Lim COO ของบริษัทในฐานะผู้ช่วยเหลือการกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย
ที่มา - CTFC |
# ซอร์สโค้ดภายในของ Twitter รั่วออกสู่สาธารณะบน GitHub, บริษัทร้องศาลขอให้ลบออกแล้ว
มีการค้นพบว่าซอร์สโค้ดภายในของ Twitter บางส่วนหลุดออกมาเผยแพร่บน GitHub เป็นเวลา "หลายเดือน" (months) โดยล่าสุด Twitter ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ GitHub นำข้อมูลส่วนนี้ออก ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐ (DMCA) เรียบร้อยแล้ว
ชื่อบัญชีและ repository ที่ซอร์สโค้ดถูกเผยแพร่คือ https://github.com/FreeSpeechEnthusiast/PublicSpace ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหน้าแสดงข้อความว่าข้อมูลถูกเอาออกตามกฎหมาย DMCA แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าใครเป็นผู้เผยแพร่ และนำข้อมูลออกมาได้อย่างไร แม้มีการคาดเดากันว่าเป็นพนักงานกลุ่มที่โดนไล่ออกตอนที่ Elon Musk เข้ามาบริหาร
ที่มา - GitHub via PCMag |
# รู้จัก OpenStreetMap เบื้องหลังแผนที่ในแอปเดลิเวอรี่ ระบบฟรีที่เปิดให้คนทั่วไปแก้ไขข้อมูลได้
จากประเด็นข่าวที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้งานแอปเดลิเวอรี่ ชื่อดัง ได้เข้าไปแก้ไขชื่อแผนที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ โดยมีการเปลี่ยนชื่อในสถานที่ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยกบฏแห่งชาติธรรมศาสตร์, ลานประหารกบฏคอมมิวนิสต์ไทย เป็นต้น
ซึ่งเบื้องหลังคือ แอปเดลิเวอรี่ดังกล่าวดึงข้อมูลแผนที่มาจาก OpenStreetMap ซึ่งเป็นผู้ให้บริการฐานข้อมูลในรูปแบบของแผนที่ก่อตั้งโดย Steve Coast มีจุดประสงค์คือ แบ่งปันเพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงพื้นที่ฟรี โดยหน้าตาของ OpenStreetMap จะมีความคล้ายคลึงกับ Google Map ที่เราคุ้นเคยกัน แต่ต่างตรงที่ OpenStreetMap สามารถแก้ไขข้อมูลหรือเปลี่ยนแปลงได้ตามต้องการและไม่สามารถเข้าถึงการดูผ่านดาวเทียมได้ ส่วน Google Map สามารถดูได้ละเอียดกว่า
แน่นอนว่า OpenStreetMap มีบริการเปิด API สำหรับผู้ที่ต้องการเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอื่นได้แบบฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม แนวทางในการสร้างข้อมูลแผนที่ของ OpenStreetMap โดยเฉพาะหมุดสถานที่ต่างๆ บนแผนที่ จะอาศัยการเปิดให้ชุมชนร่วมกันเข้ามาปักหมุดและระบุชื่อบนแผนที่ ซึ่งก็ให้ชุมชนเป็นคนช่วยตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้อง (แนวทางคล้ายๆ กับ Wikipedia ที่เปิดให้ชุมชนเข้ามากรอกข้อมูล และช่วยกันตรวจสอบ)
ด้วยช่องนี้นี่เองที่เปิดให้คนเข้าไปแก้ไขชื่อของหมุดในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บน OpenStreetMap ตามที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับผู้ให้บริการเดลิเวอรี่รายดังกล่าว ซึ่งล่าสุด ข้อมูลบน OpenStreetMap ก็ถูกแก้กลับให้ถูกต้องแล้ว
แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ OpenStreetMap ถูกนำไปใช้ได้หลากหลายวัตถุประสงค์ มีหลายแอปฯ และหลายเว็บไซต์ที่นำ OpenStreetMap ไปพัฒนาจนสามารถสร้างแอปฯ GPS แบบออฟไลน์อย่าง OsmAnd หรือ Maps.me ได้ รวมไปถึง Locus Map แอปฯ นำทางสำหรับนักเดินป่า นักปั่นจักรยาน และนักท่องเที่ยว เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ OpenStreetMap มีการเปิดให้สมัครสมาชิกระดับแพลตตินั่มได้ ซึ่งสมาชิกรายแรกเป็น TomTom บริษัทแผนที่จากเนเธอร์แลนด์ รวมไปถึง Microsoft และ Meta เป็นสมาชิกระดับโกลด์อีกด้วย โดยมีเหตุผลว่า OpenStreetMap ถือเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ทรงพลังสามารถสร้างประโยชน์และนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก
Disclaimer - Blognone เป็นบริษัทในเครือของ LINE MAN Wongnai
ที่มา - wiki, Mindpho |
# First–Citizens Bank ประกาศรับบัญชีเงินฝากของ Silicon Valley Bank ไปดูแลต่อ
First–Citizens Bank & Trust Company ประกาศเข้าซื้อกิจการของ Silicon Valley Bridge Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่ตั้งขึ้นมาหลัง FDIC สั่งปิดธนาคาร Silicon Valley Bank ไป
ในการซื้อครั้งนี้ First–Citizens Bank จะได้รับทรัพย์สินมูลค่า 167 พันล้านดอลลาร์ และต้องดูแลเงินฝากรวม 119 พันล้านดอลลาร์ โดยบัญชีเงินฝาก SVB ทั้งหมดจะกลายเป็นบัญชีของ First–Citizens Bank และสามารถไปใช้บริการที่สาขาเดิมของ SVB ได้
ทาง First-Citizen Bank จ่ายเงินซื้อธุรกิจครั้งนี้ด้วยหุ้นมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยังมีหลักทรัพย์บางส่วน มูลค่า 90 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นของหน่วยงานรับประกันเงินฝาก FDIC ต่อไป และ FDIC จะช่วยรับการขาดทุนจากเงินกู้ SVB ให้บางส่วน คาดว่าความเสียหายรวมที่ FDIC ต้องรับไว้หลัง SVB ล่มไปนั้นรวมเป็นมูลค่า 20 พันล้านดอลลาร์สหร้ฐฯ
ที่มา - FDIC |
# Baidu ยกเลิกงานเปิดตัวแชตบอท Ernie ให้กับคนทั่วไป ระบุคนสนใจจนล้น
Baidu ยกเลิกงานแถลงข่าวออนไลน์เปิดตัว Ernie แชตบอทรูปแบบเดียวกับ ChatGPT ที่เน้นรองรับภาษาจีน จากกำหนดการเดิมที่ระบุว่าวันนี้จะมีการเปิดตัวให้กับคนทั่วไปและสื่อมวลชนได้ใช้งาน
งานแถลงข่าวยังมีตามเดิมแต่กลายเป็นงานปิดให้กับบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ร่วมทดสอบ Ernie เท่านั้น ทาง Baidu ระบุเหตุผลที่ยกเลิกงานว่าตอนนี้เฉพาะบริษัทที่สนใจใช้งานก็มีถึง 120,000 บริษัทแล้ว ตอนนี้จึงจะเปิดให้กับบริษัทเหล่านี้ก่อน และจะรับบริษัทที่ทดสอบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ตอนนี้คนทั่วไปยังไม่ได้เห็นความฉลาดของ Ernie กันมากนักเพราะผู้ได้สิทธิใช้งานยังมีจำกัด แต่ก็มีข้อมูลว่า Ernie หลีกเลี่ยงการตอบคำถามเกี่ยวกับการเมืองจีน
ที่มา - Strait Times |
# Apple เตรียมทุ่มเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ ทำหนังลงโรง หวังรายได้และให้คนรู้จักหนัง Apple มากขึ้น
จากสตรีมมิ่งสู่หนังโรงอีกราย ล่าสุดทาง Bloomberg ได้รายงานว่า Apple จะทุ่มเงินลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อผลิตภาพยนตร์สำหรับฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งที่ผ่านมา Apple ได้ติดต่อร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับสตูดิโอบางแห่งเพื่อสร้างหนังแล้ว
คนวงในได้เปิดเผยรายชื่อหนังที่อาจจะมีการนำมาฉายในโรงภาพยนตร์ อย่าง Killers of the Flower Moon โดยมี มาร์ติด สกอร์เซซี เป็นผู้กำกับและลีโอนาร์โด ร่วมแสดง รวมไปถึงภาพยนตร์แนวสืบสวนระทึกขวัญอย่าง Argylle มีแมทธิว วอห์น เป็นผู้กำกับ เป็นต้น
ซึ่งทาง Apple มองว่าการลงทุนครั้งนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท เพราะถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้หนังจาก Apple หลายเรื่อง ไม่ได้มีการฉายในโรงภาพยนตร์มากเท่าที่ควร เน้นไปที่บริการรูปแบบสตรีมมิ่งมากกว่า การที่นำหนังเข้าสู่โรงภาพยนตร์ถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้หลายคนรู้จักหนังจากทาง Apple มากขึ้น
Apple ไม่ได้ทุ่มเงินแค่ในส่วนภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังเตรียมเพิ่มงบประมาณในการผลิตซีรีส์อีกด้วย หลังจากกระแส ซีรีส์ Ted Lasso ได้รับความนิยมอย่างมาก รวมไปถึงหนังเรื่อง CODA ก็ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากออสการ์ปี 2021 แต่กลับกันรายได้จากโรงภาพยนตร์ CODA ทำเงินได้ไม่ถึง 2 ล้านดอลลาร์
นอกจาก Apple แล้ว คู่แข่งในอุตสาหกรรมหนังอย่าง Amazon.com Inc. ก็เตรียมเพิ่มการลงทุนในด้านความบันเทิงและลดต้นทุนด้านอื่นๆ อย่าง Amazon ได้มีประกาศเลิกจ้างพนักงานหลายพันคนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทางด้าน Apple ยังไม่มีแผนเลิกจ้างพนักงานในตอนนี้
แผนการลงทุนในภาพยนตร์ของ Apple ถือเป็นวิธีกระตุ้นให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังจาก Covid-19 ที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้านี้บริษัทสตูดิโอยักษ์ใหญ่หลายแห่งต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก
ที่มา: Bloomberg |
# Jacob Ziv ผู้ร่วมพัฒนากระบวนการบีบอัดข้อมูล LZ เสียชีวิตด้วยวัย 91 ปี
Jacob Ziv ผู้ร่วมพัฒนาอัลกอริทึม LZ ร่วมกับ Abraham Lempel เสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาด้วยวัย 91 ปี Lempel เพิ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วยวัย 86 ปี
Lempel และ Ziv พัฒนาอัลกอริทึม LZ77 และตีพิมพ์ลงวารสาร IEEE Transactions on Information Theory เมื่อปี 1977 หลังจากนั้น LZ77 กลายเป็นต้นตระกูลของอัลกอริทึมบีบอัดข้อมูลแบบได้ข้อมูลคงเดิม (lossless compression) จำนวนมาก
LZW และอัลกอริทึมบีบอัดข้อมูลกลายเป็นรากฐานสำคัญของอินเทอร์เน็ตในยุคนี้ที่การส่งข้อมูลต่างๆ มักมีการบีบอัดทั้งแบบที่เรารับรู้หรือไม่ทันรับรู้ เช่น HTTP นั้นเบราว์เซอร์และเซิร์ฟเวอร์สามารถบีบอัดข้อมูลโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องจัดการใดๆ และการสร้าง LZ77 นับเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของวงการคอมพิวเตอร์ตาม IEEE Milestone
ที่มา - @erlichya
Pseudo code ของ LZ77 |
# สถิติมีไว้ทำลายต่อเนื่อง ผู้เล่น CS:GO สร้างสถิติใหม่อีกแล้ว 1.52 ล้านคน
จำนวนผู้เล่น Counter-Strike ยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง (คนเล่นเยอะที่สุดในคืนวันอาทิตย์ของโลกตะวันตก) เมื่อสองสัปดาห์ก่อนเพิ่งทำสถิติใหม่ 1.41 ล้านคน ล่าสุดเมื่อคืนนี้สถิติเดิมถูกทำลายอีกแล้ว สถิติใหม่คือ 1.519 ล้านคน (สถิติเรียลไทม์ดูได้จาก SteamDB)
ตอนนี้ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนว่าเพราะเหตุใดผู้เล่น CS:GO ถึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง เพราะเกมเวอร์ชันใหม่ CS2 ก็ต้องรอช่วงกลางปีถึงเปิดให้เล่นได้
สถิติของ CS:GO ตอนนี้ถือเป็นเกมที่มีผู้เล่นพร้อมกัน (concurrent users) สูงเป็นอันดับสองตลอดกาล แต่ก็ยังตามหลังแชมป์ PUBG ช่วงรุ่งเรืองที่ทำไว้ถึง 3.2 ล้านคนอยู่อีกไกล
ที่มา - Eugogamer |
# ซีทีโอ NVIDIA บอกเงินคริปโตไม่สร้างประโยชน์ใดต่อสังคมเลย
Michael Kagan ซีทีโอของ NVIDIA (และผู้ก่อตั้ง Mellanox ที่ NVIDIA ซื้อกิจการมา) ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ชี้ว่าเงินคริปโตไม่มีประโยชน์ใดต่อสังคมเลย ต่างจาก AI ที่เป็นประโยชน์ช่วยให้มนุษย์ทำโปรแกรมต่างๆ ได้เอง
ถึงแม้ NVIDIA เป็นบริษัทที่ได้ประโยชน์จากตลาดคริปโตบูม แต่ท่าทีอย่างเป็นทางการของบริษัทคือไม่ได้สนับสนุน และพยายามหาวิธีต่างๆ มาเพื่อแก้ปัญหาการ์ดจอขาดตลาด เช่น การออกไดรเวอร์ลดพลังการคำนวณแฮชของ GeForce แม้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนักก็ตาม
Kagan บอกว่าคริปโตจำเป็นต้องใช้การประมวผลแบบขนาน ซึ่ง NVIDIA คือบริษัทที่ทำได้ดีที่สุด ทำให้คนแห่ไปซื้อจีพียูของบริษัทมาใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายตลาดก็แตก เพราะพื้นฐานของคริปโตไม่ได้สร้างประโยชน์ใดต่อสังคม เขาบอกว่ามีคนต้องการสินค้า บริษัทขายให้ แต่ก็ไม่ได้ปรับทิศทางของบริษัทไปยังตลาดเหล่านี้
ที่มา - The Guardian via Videocardz
การ์ด CMP ของ NVIDIA ที่ออกมาจับตลาดขุดเหมืองโดยเฉพาะ |
# [ลือ] Apple สาธิตเฮดเซต Mixed Reality กับผู้บริหารระดับสูงแล้ว เตรียมเปิดตัวมิถุนายนนี้
Mark Gurman แห่ง Bloomberg รายงานข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าใหม่แอปเปิลในจดหมายข่าว Power On ตอนล่าสุด โดยคราวนี้พูดถึงความคืบหน้าของเฮดเซต AR/VR, ฟีเจอร์ใหม่ Apple Watch และของใหม่ที่จะมีใน iOS 17
โดยเขาให้ข้อมูลว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แอปเปิลได้จัดการประชุมกับผู้บริหารระดับสูงระดับ Top 100 ที่ Steve Jobs Theater และไฮไลท์คือการสาธิตเฮดเซต Mixed Reality ซึ่งการนำเสนอนั้นตัวเฮดเซตมีการออกแบบที่สวยงาม ฟีเจอร์ก็น่าสนใจ อย่างไรก็ตามหลายคนกังวลว่าจะเป็นสินค้าที่ท้าทายมาก เนื่องจากตลาด AR/VR ก็ยังไม่แพร่หลายกับลูกค้าทั่วไป ต่างจากตอน Apple Watch ที่มีการใช้สมาร์ทแบนด์, สมาร์ทวอทช์ อยู่พอสมควรแล้ว
ส่วนข้อเสียที่พบ เช่น ราคาสูงมากประมาณ 3,000 ดอลลาร์, แบตเตอรี่อยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมง และบางคนมองว่าไม่ค่อยสบายนักเวลาสวมใส่ แอปและคอนเทนต์เองก็ยังมีไม่มาก อย่างไรก็ตามหากเทียบความคาดหวังแบบเดียวกับ Apple Watch ก็อาจต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อหาจุดขายสำคัญ Apple Watch เองที่ตอนนี้เน้นฟีเจอร์ด้านสุขภาพและออกกำลังกาย ก็ไม่ใช่จุดขายแรกในตอนเปิดตัว และใช้เวลาหลายปีกว่าจะเป็นสินค้าหลักของบริษัท
คาดว่าเฮดเซต Mixed Reality นี้ จะเปิดตัวในงาน WWDC เดือนมิถุนายน
ส่วนข่าวลืออื่น เขาพูดถึงฟีเจอร์วัดระดับกลูโคสในเลือดของ Apple Watch บอกว่าเทคโนโลยีนั้นได้ผลในระดับการทดสอบแล้ว แต่ยังต้องปรับอัลกอริทึมอีกพอสมควรเพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำ ซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อย 3-7 ปี สินค้าจึงออกสู่ตลาดได้
สุดท้ายเป็นเรื่อง iOS 17 โค้ดเนมภายใน Dawn ซึ่งรายงานก่อนหน้า บอกว่าจะไม่มีฟีเจอร์เด่นออกมา เพราะทีมพัฒนาไปโฟกัสงานซอฟต์แวร์ Mixed Reality มากกว่า อย่างไรก็ตาม iOS 17 จะมาพร้อมคุณสมบัติเสริมใหม่ ๆ ซึ่งแอปเปิลใช้เช็กลิสต์จากฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานเรียกร้องมาก คาดว่าจะได้เห็นใน iOS 17 นี้
ที่มา: Bloomberg, MacRumors [1], [2] |
# [ไม่ยืนยัน] Elon Musk ตีมูลค่า Twitter ตอนนี้ที่ 20 พันล้านดอลลาร์ ลดลงกว่าครึ่งจากที่ซื้อมา
The Information และ The New York Times อ้างว่าได้เอกสารภายในของ Twitter ที่ Elon Musk พูดถึงการจ่ายผลตอบแทนเป็นหุ้นให้กับพนักงานในปัจจุบัน โดยเขาตีมูลค่าบริษัท ณ ปัจจุบันไว้ที่ 20 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงจากที่เขาซื้อกิจการมา 44 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
นอกจากนี้ Musk ยังย้ำว่าสถานะการเงินของบริษัทยังไม่มั่นคง และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่บริษัทมีเงินสดเหลืออยู่ได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าเห็นเส้นทางสู่เป้าหมายทำให้บริษัทมีมูลค่า 250 พันล้านดอลลาร์อย่างชัดเจน แม้เป็นเส้นทางที่ยากลำบากก็ตาม (a clear but difficult path)
ที่มา - The Information, The New York Times, Engadget |
# Elden Ring รองรับ Ray Tracing แล้ว ทีมงานเตือนอาจกระทบเฟรมเรตของเกม
Elden Ring ออกแพตช์เวอร์ชัน 1.09 มีฟีเจอร์สำคัญคือรองรับ Ray Tracing แล้ว ทั้งบน PlayStation 5, Xbox Series X, PC
อย่างไรก็ตาม ทางทีมพัฒนาระบุว่าการเปิด Ray Tracing จะส่งผลกระทบต่อเฟรมเรต จึงแนะนำให้ใช้เครื่องสเปกแรงหน่อย จีพียูเป็น GeForce RTX 3070 Ti 8 GB หรือ Radeon RX 6900 XT 16 GB ขึ้นไป และแนะนำให้เซ็ตความละเอียด 1080p High Quality เท่านั้นพอ
ที่มา - Elden Ring
จากคลิปตัวอย่าง หลายคนอาจแยกไม่ออก (ฮา) |
# เบื้องหลัง Elon Musk แตกหัก OpenAI, ขอเป็นซีอีโอแต่ไม่ได้ หยุดให้เงินทุนที่เคยสัญญาไว้
เว็บข่าว Semafor มีบทความอธิบายเบื้องหลังเหตุการณ์ปี 2018 ที่ Elon Musk ลาออกจากกลุ่ม OpenAI ที่เขาร่วมก่อตั้งเมื่อปี 2015 ว่าจริงๆ แล้วเกิดจากความขัดแย้งระหว่าง Musk กับ Sam Altman ซีอีโอของ OpenAI
กลุ่ม OpenAI ก่อตั้งด้วยไอเดียว่าต้องการสร้างทีมวิจัย AI ที่ก้าวหน้าโดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทยักษ์ใหญ่ ตัวองค์กรได้การสนับสนุนจากมหาเศรษฐี Elon Musk และ Reid Hoffman (ผู้ก่อตั้ง LinkedIn) ที่สัญญาไว้ในปี 2015 ว่าจะให้เงินสนับสนุน 1 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ผลงานในช่วงแรกของ OpenAI ไม่คืบหน้ามากนัก ทำให้ Musk มองว่างานของ OpenAI ตามหลังกูเกิลอยู่มาก เขาจึงเสนอกับ Sam Altman ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอว่าเขาจะมาบริหาร OpenAI ด้วยตัวเอง
Sam Altman และ Elon Musk ให้สัมภาษณ์ตอนเปิดตัว OpenAI ในปี 2015 - Medium
Altman และผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ ปฏิเสธข้อเสนอนี้ ทำให้ Musk ไม่พอใจและตัดสินใจลาออกจากบอร์ด ในคำประกาศลาออกของ Musk อ้างเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกับงานด้าน AI ของ Tesla แต่พนักงานของ OpenAI ก็ไม่เชื่อว่านี่คือเหตุผลหลัก ตอนนั้น Musk ยังประกาศให้เงินสนับสนุน OpenAI ต่อไปตามที่สัญญาไว้ 1 พันล้านดอลลาร์ แต่จริงๆ แล้วเขาให้แค่ก้อนแรก 100 ล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นก็กลับคำ และยังไม่ได้ให้ต่ออีกเลย
การถอนตัวของ Musk ทำให้ OpenAI เริ่มประสบปัญหาการเงิน และในช่วงไล่เลี่ยกัน ทีมวิจัยของกูเกิลก็เปิดตัวโมเดล Transformer ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการ AI ที่ช่วยให้โมเดลเก่งขึ้นกว่าเดิมมาก และทำให้ OpenAI ตัดสินใจมุ่งมาทางนี้เต็มตัว (GPT ย่อมาจาก Generative Pre-trained Transformer)
ปัญหาของโมเดลตระกูล Transformer คือขนาดของมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ต้นทุนในการเทรนจึงแพงขึ้นมาก ในปี 2019 OpenAI จึงต้องตั้งบริษัทลูก OpenAI LP ที่หวังผลกำไร เพื่อหาเงินมาให้พอใช้จ่าย ตรงนี้มีข้อมูลใหม่เพิ่มเติมว่า Sam Altman ขอไม่รับหุ้นในบริษัทใหม่นี้เพื่อเลี่ยงข้อครหา ว่าเขาไม่มีผลประโยชน์ทางการเงินต่อการระดมทุนเพิ่มของ OpenAI (ตัว Altman เองรวยอยู่แล้วจากการลงทุนในสตาร์ตอัพต่างๆ)
หลังจากนั้นราวหกเดือน OpenAI LP ก็รับเงินลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์จากไมโครซอฟท์ อย่างที่เราทราบกัน โดย OpenAI ไม่ได้รับแค่เงินอย่างเดียว แต่ยังได้ใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ของไมโครซอฟท์ในการเทรนโมเดลด้วย
แน่นอนว่า Elon Musk ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งย่อมไม่พอใจเรื่องนี้ และพยายามตั้งทีมมาแข่งกับ ChatGPT โดยในช่วง 2-3 เดือนมานี้ เขาก็โพสต์ข้อความวิจารณ์ OpenAI อยู่หลายครั้ง ระบุว่าเขาเป็นคนตั้งชื่อคำว่า "Open" เอง แต่พฤติกรรมของ OpenAI ตอนนี้กลายเป็นการพัฒนาในวงปิดไปแทนแล้ว
ที่มา - Semafor |
# Microsoft ออกแพตช์ฉุกเฉิน แก้ไขบั๊ก Snipping Tool ใน Windows 11 ยังเก็บข้อมูลภาพที่ครอปออก
ไมโครซอฟท์ออกอัพเดตความปลอดภัยฉุกเฉิน มีผลกับโปรแกรมจับภาพหน้าจอ Snip & Sketch ใน Windows 10 และ Snipping Tool ใน Windows 11 เท่านั้น หลังมีรายงานช่องโหว่ออกมาก่อนหน้านี้
ช่องโหว่ดังกล่าว CVE-2023-28303 มีชื่อเรียกว่า Acropalypse โดยเมื่อผู้ใช้ครอปภาพบางส่วนออกไปและเซฟไฟล์ไว้ ข้อมูลภาพต้นแบบก่อนครอปจะยังติดอยู่กับไฟล์และสามารถกู้คืนได้ ทำให้ประเมินว่าช่องโหว่นี้มีความร้ายแรง หากข้อมูลที่ครอปออกไปเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ต้องการเปิดเผย
อย่างไรก็ตามไมโครซอฟท์ระบุความร้ายแรงของช่องโหว่นี้ที่ระดับต่ำ เนื่องจากวิธีเข้าถึงข้อมูลภาพที่ครอปออกไป ต้องใช้วิธีการโดยเฉพาะ และผู้โจมตีภายนอกก็เข้าถึงได้ยาก เช่น การจับภาพ ครอปภาพ เซฟไฟล์ แก้ไขภาพ ต้องทำในโลเกชันเดียวกันทั้งหมดบนคอมพิวเตอร์ หากไฟล์ถูกส่งต่อ เช่น ทางอีเมล ข้อมูลที่ครอปออกไปก็จะหายไปทั้งหมดไม่สามารถเรียกดูได้แล้ว
ไมโครซอฟท์ได้ออกอัพเดตให้กับผู้ใช้ Windows 10 และ Windows 11 แล้วผ่าน Microsoft Store โดยตรวจสอบได้ สำหรับ Snip and Sketch ใน Windows เป็นเวอร์ชัน 10.2008.3001.0 ส่วน Snipping Tool ใน Windows 11 เป็นเวอร์ชัน 11.2302.20.0 ทั้งนี้ช่องโหว่ดังกล่าวไม่มีผลกับ Snipping Tool ของ Windows 10
ที่มา: Bleeping Computer |
# Reddit รายงานเว็บล่ม 5 ชั่วโมง หลังอัพเกรด เพราะ Kubernetes เลิกใช้ชื่อโหนดว่า master
เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในวันที่ 14 มีนาคมหรือวัน Pi Reddit เว็บบอร์ดยอดนิยม ล่มไปเป็นเวลา 5 ชั่วโมง (ทางเว็บระบุว่าล่มนาน 314 นาทีตรงกับหมายเลข Pi เหมือนกัน) ตอนนี้ทางเว็บก็ออกรายงานว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น
การล่มครั้งนี้เกิดจากทีมงานอัพเกรด Kubernetes จากเวอร์ชั่น 1.23 ไปยัง 1.24 แล้วระบบล่ม โดยทีมงานค่อยๆ อัพเกรดมาแล้วหลายคลัสเตอร์ แต่วันเกิดเหตุนั้นเป็นการอัพเกรดคลัสเตอร์สำคัญที่สุด คือ ระบบ Reddit ดั้งเดิมที่มีโค้ดเก่า
หลังการสั่งอัพเกรดไปสองนาทีเว็บดับลงทันที และทีมงานพบว่าระบบเน็ตเวิร์ค (container network interface - CNI) ของคลัสเตอร์ไม่ทำงาน คอนเทนเนอร์ calico-kube-controllers ค้างอยู่ที่สถานะ ContainerCreating ทีมงานพยายามลบคอนเทนเนอร์ทิ้งเพื่อให้ Kubernetes สร้างคอนเทนเนอร์กลับขึ้นมาแต่ก็ไม่สำเร็จ จนสุดท้ายทีมงานตัดสินใจกู้ระบบจาก backup
หลังจากสอบสวนต้นตอของปัญหาครั้งนี้ ทีมงานก็พบว่าปัญหาอยู่ในคอนฟิกของ Calilco ที่ใช้ควบคุมเน็ตเวิร์ค โดยคอนฟิก BGPPeer นั้นตั้ง nodeSelector ไว้ว่าต้องเป็น Kubernetes master แต่ทาง Kubernetes ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจาก main เป็น control-plane ทำให้คอนฟิกไม่ทำงาน
Kubernetes ตัดสินใจเลิกใช้ว่า master เป็นชื่อโหนดมาตั้งแต่ปี 2020 เนื่องจากเป็นคำไม่เหมาะสม โดยเริ่มใช้คำว่า control-plane มาตั้งแต่เวอร์ชั่น 1.20 และในเวอร์ชั่น 1.24 ก็เลิกซัพพอร์ตคำว่า master
ที่มา - Reddit |
# NVIDIA โชว์ Grace Superchip ของจริง ประสิทธิภาพดีกว่า x86 สองเท่า ขายครึ่งหลังปี 2023
Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA โชว์หน้าตาชิปจริงของซีพียู Grace Superchip ที่เปิดตัวช่วงต้นปี 2022 โดยเลื่อนการวางขายสินค้าจริงจากครึ่งแรกของปี 2023 เป็นครึ่งหลังของปีแทน
Grace Superchip เป็นการนำซีพียู Grace สองตัวมาเชื่อมต่อกัน มีจำนวนคอร์รวม 144 คอร์ จุดขายของ Grace คือการเป็นสถาปัตยกรรม Arm ที่ประหยัดพลังงานกว่า และออกแบบมาเพื่องานปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะ ทำให้รันงานลักษณะนี้ได้ดีกว่าชิป x86 ที่ออกแบบมาสำหรับงานทั่วไป
การที่ Grace กินไฟต่ำ ทำให้ขนาดเล็ก และสามารถยัด Grace Superchip จำนวน 2 ยูนิต (รวมเป็น 4 ซีพียู) ลงเซิร์ฟเวอร์ขนาด 1U มาตรฐานได้ จากเบนช์มาร์คของ NVIDIA เองบอกว่าสามารถรันงานกลุ่ม microservice ได้ดีกว่าเซิร์ฟเวอร์ x86 ถึง 2 เท่าที่ระดับพลังงานเท่ากัน
ตอนนี้บริษัทผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์เริ่มได้ตัวอย่าง Grace Superchip ไปแล้ว สินค้าจริงจะวางขายช่วงครึ่งหลังของปี ที่ระบุยี่ห้อแล้วคือ ASUS, Atos, GIGABYTE, Hewlett Packard Enterprise, QCT, Supermicro, Wistron, ZT Systems
ที่มา - NVIDIA, Tom's Hardware |
# จำนวนผู้สมัคร Twitter Blue หลังผ่านไป 3 เดือน ยังมีจำนวนไม่มาก เทียบกับรายได้รวม Twitter
ทิศทางที่ชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ของ Twitter คือการผลักดันบริการ Subscription Twitter Blue ให้มากขึ้น ทั้งการขยายบริการรองรับผู้ใช้งานทั่วโลก และยกเลิกเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าแบบเก่าออกไป ทำให้จากนี้เฉพาะผู้สมัคร Twitter Blue เท่านั้นจะได้เครื่องหมายถูกสีฟ้า แต่ถึงตอนนี้มีคนสมัครใช้งานมากแค่ไหน?
ข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาดแอป Sensor Tower พบว่า หลัง Twitter Blue กลับมาให้บริการตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว มีการสมัครใช้งานผ่านแอปมือถือรวม 11 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ มาจากการสมัครผ่านแอปมือถือเท่านั้น ซึ่งมีราคาสูงกว่าที่ 11 ดอลลาร์ต่อเดือน ขณะที่การสมัครผ่านหน้าเว็บอยู่ที่ 8 ดอลลาร์ต่อเดือน และคาดว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่น่าจะสมัครผ่านช่องทางนี้ อย่างไรก็ตามหากเทียบจากผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2022 รายได้ Twitter รวมอยู่ที่ 1,176.6 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากโฆษณา ซึ่งหากรวมการสมัคร Twitter Blue ทุกช่องทาง ก็น่าจะยังเป็นอัตราส่วนที่ไม่มากของรายได้รวม
Abe Yousef นักวิเคราะห์ของ Sensor Tower บอกว่า ภาพรวมของบริการโซเชียลที่รายได้โฆษณาลดลงอยู่แล้ว รวมกับปัญหาเฉพาะของ Twitter เอง ทำให้ช่องทางรายได้ของ Twitter Blue เป็นสิ่งที่บริษัทน่าจะให้ความสำคัญมากขึ้นอีกจากนี้ โดยเฉพาะการเจาะตลาดประเทศที่มีผู้ใช้งาน Twitter จำนวนมาก นอกเหนือจากอเมริกา
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าจำนวนผู้สมัครใช้ Twitter Blue มีประมาณ 2.9 แสนคน
ที่มา: TechCrunch |
# Xiaomi รายงานผลประกอบการไตรมาส รายได้สมาร์ทโฟนลดลง ในจีนมีสัญญาณฟื้นตัว
Xiaomi รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2022 รายได้รวม 66,047.4 ล้านหยวน ลดลง 22.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน ผลกระทบหลักจากธุรกิจสมาร์ทโฟน และมีกำไรสุทธิตามบัญชี non-IFRS 1,460.9 ล้านหยวน
Lu Weibing ประธานกลุ่ม Xiaomi ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงแถลงผลประกอบการว่า ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแล้วตอนนี้ แต่ต้องใช้เวลาสักระยะ
รายได้จากธุรกิจสมาร์ทโฟนอยู่ที่ 3.67 หมื่นล้านหยวน จำนวนเครื่องส่งมอบ 32.7 ล้านเครื่อง มีสัญญาณที่ดีในจีนโดยจำนวนเครื่องที่ส่งมอบเพิ่มขึ้น 6.8% ส่วนธุรกิจ IoT ไลฟ์สไตล์ มีรายได้ 2.14 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 12.5% สมาร์ททีวีมีจำนวนส่งมอบ 12.4 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 0.6%
ที่มา: Xioami (pdf) และ Reuters |
# CMA กลับลำ บอกดีลไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard ไม่กระทบการแข่งขันคอนโซล
Competition and Markets Authority หรือ CMA หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของสหราชอาณาจักร ประกาศเปลี่ยนมุมมองต่อดีลไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard ว่า "ไม่กระทบการแข่งขันในตลาดคอนโซล" (the transaction will not result in a substantial lessening of competition in relation to console gaming in the UK)
CMA ออกรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่าดีลนี้ส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน แต่ล่าสุดกลับลำเพราะได้ "ข้อมูลใหม่" จากไมโครซอฟท์ ทำให้มุมมองเปลี่ยนไป
CMA บอกว่าเดิมทีได้วิเคราะห์ทางการเงิน จำลองสถานการณ์ว่าถ้าไมโครซอฟท์นำเกมของ Activision Blizzard ทั้งหมดเป็นเอ็กซ์คลูซีฟ Xbox จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งแบบจำลองเดิมพบว่าไมโครซอฟท์มีกำไรจากการทำเอ็กซ์คลูซีฟ (ทำให้มีแรงจูงใจถอนเกมออกจาก PlayStation) แต่หลังจากได้ข้อมูลใหม่ ซึ่งมีข้อมูลพฤติกรรมของเกมเมอร์ Call of Duty เข้ามาวิเคราะห์เพิ่มเติม กลับพบว่าไมโครซอฟท์ไม่ได้ประโยชน์จากการทำเอ็กซ์คลูซีฟ Xbox และทำให้ไมโครซอฟท์จำเป็นต้องนำเกมลง PlayStation ต่อไปจึงเป็นประโยชน์มากกว่า
การเปลี่ยนมุมมองของ CMA มีผลเฉพาะการวิเคราะห์สภาพแข่งขันของตลาดคอนโซลเท่านั้น ในดีลนี้ยังมีประเด็นเรื่องการแข่งขันในตลาดคลาวด์เกมมิ่งอีกส่วนด้วย ซึ่ง CMA วิเคราะห์แยกกันและไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองในคราวนี้
CMA จะยังสอบสวนผลกระทบของดีลนี้ต่อไป และจะออกรายงานฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 26 เมษายน
ถึงแม้กระบวนการของ CMA ยังไม่เสร็จสิ้น แต่สื่อบางราย เช่น Ars Technica ก็พาดหัวว่า "ไมโครซอฟท์ชนะแล้ว" (Microsoft wins battle with Sony) เพราะถือว่าเคลียร์อุปสรรคสำคัญของดีลนี้ได้สำเร็จแล้ว
Brad Smith ประธานของไมโครซอฟท์ออกมาขอบคุณ CMA ที่เข้าใจเหตุผลเหล่านี้ และยืนยันว่าดีลนี้จะช่วยเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรมเกมให้มากขึ้น
ที่มา - CMA |
# OpenAI ชี้แจงปัญหา ChatGPT แสดงแชตของคนอื่น เกิดจากบั๊กของ Redis
OpenAI ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม จากปัญหา ChatGPT มีผู้ใช้งานพบการแสดงรายการแชตของคนอื่น ทำให้ OpenAI ปิดบริการชั่วคราว และกลับมาให้บริการต่อ โดยบอกว่าพบบั๊กในซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สตัวหนึ่งที่ใช้งาน
OpenAI บอกว่าผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น อาจทำให้มีคนเห็นรายการแชตจากผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิก ChatGPT Plus ที่จ่ายเงินรายเดือน ประมาณ 1.2% ของผู้ใช้งานทั้งหมดที่มีการใช้งาน ChatGPT ในช่วงเวลาที่มีปัญหา 9 ชั่วโมงนั้น และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นข้อมูลทั้ง ชื่อ นามสกุล อีเมล ที่อยู่ เลขบัตรเครดิต 4 ตัวสุดท้าย วันหมดอายุบัตรเครดิตด้วย แต่จะไม่เห็นเลขบัตรเครดิตทั้งหมด
คำแนะนำของ OpenAI หากต้องการตรวจสอบว่าข้อมูลใดที่ถูกแสดง สามารถดูได้จากอีเมลยืนยันการสมัครการใช้งาน ซึ่งส่งหาช่วงวันที่ 20 มีนาคม 01:00-10:00น. ตามเวลาแปซิฟิก หรือ 15:00-00:00น. ตามเวลาในไทย ที่อาจส่งหาผิดคนในช่วงเวลานั้น หรือตรวจสอบที่ My account และไปที่ Manage my subscription
สาเหตุของปัญหานี้ OpenAI บอกว่ามาจากบั๊กในไลบรารี่ redis-py ของ Redis ซึ่ง ChatGPT ใช้แคชของ Redis ในการจัดการข้อมูลผู้ใช้งาน ทำให้ไม่ต้องส่งรีเควสไปที่ฐานข้อมูลทุกครั้ง ซึ่งจะทำงานร่วมกับ Asyncio โดยพบปัญหาหากมีการยกเลิกคำสั่ง แต่เกิดความขัดข้องระหว่างนั้น แทนที่คำสั่งในคิวจะถูก pop ทิ้งออกไปเลย ก็คงค้างอยู่ ทำให้รีเควสถัดมาจากผู้ใช้คนอื่น สามารถรับข้อมูลที่ค้างอยู่นั้นไปได้แทน โดยทีมงานได้แก้ไขบั๊กที่พบ จัดการระบบคิวไม่ให้เกิดการได้ข้อมูลผิดคน รวมทั้งเพิ่ม log ให้หยุดการทำงานเมื่อพบข้อผิดพลาดอีกครั้ง
ที่มา: OpenAI |
# Gordon Moore ผู้ร่วมก่อตั้งอินเทลและเจ้าของ "กฎของมัวร์" เสียชีวิตแล้วในวัย 94 ปี
Gordon Moore ผู้ร่วมก่อตั้งอินเทล และผู้คิด "กฎของมัวร์" ที่เรารู้จักกันดี เสียชีวิตแล้วในวัย 94 ปี
Gordon Moore ร่วมกับ Robert Noyce ผู้คิดค้นเทคโนโลยี IC ซึ่งทั้งสองคนเป็นอดีตพนักงานของ Fairchild Semiconductor ลาออกมาร่วมก่อตั้งอินเทลในปี 1968 ตอนแรกตั้งชื่อบริษัทว่า NM Electronics จากตัวย่อนามสกุลของทั้งสองคน แต่ก็เปลี่ยนใจมาใช้ชื่อ Intel ซึ่งย่อมาจาก Integrated Electronics แทน
Moore เป็นซีอีโอของอินเทลระหว่างปี 1979-1987 ก่อนส่งมอบตำแหน่งต่อให้ Andrew Grove จากนั้นเขาเป็นประธานบอร์ดของอินเทลจนถึงปี 1997 ก่อนเกษียณอายุ รับตำแหน่งเป็นประธานอาวุโสอย่างเดียว
Moore ถือเป็นแกนนำอินเทลรุ่นแรกที่เสียชีวิตเป็นคนสุดท้าย โดย Noyce เสียชีวิตก่อนในปี 1990 ตามด้วย Grove ในปี 2016
ที่มา - Intel |
# (แก้ไขแล้ว) Binance ประกาศหยุดบริการ Spot Trading ชั่วคราว คาดแก้ไขไม่เกิน 2 ชั่วโมง
Binance ประกาศหยุดให้บริการซื้อขายแบบ Spot Trading (คริปโต-คริปโต) ชั่วคราวตั้งแต่เวลา 18:38น. ตามเวลาในไทย หลังพบรายงานปัญหา
Changpeng Zhao หรือ CZ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Binance ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบปัญหา เป็นบั๊กในระบบจับคู่คำสั่งเมื่อมีคำสั่งแบบ Trailing Stop คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 30-120 นาที ในการแก้ไขปัญหา (แจ้งเมื่อเวลา 18:58น.) ผลจากการหยุดระบบซื้อขาย ทำให้ต้องหยุดบริการฝาก-ถอน สินทรัพย์ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน Binance มีส่วนแบ่งราว 60% ของคำสั่งซื้อขายคริปโตแบบ Spot ทั่วโลก และเฉพาะ Bitcoin สูงถึง 90% ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากราคา Bitcoin ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อัพเดต: ระบบซื้อขายกลับมาเป็นปกติตั้งแต่ 21:00น. ตามเวลาในไทย
ที่มา: TechCrunch |
# GitHub เผลอเปิดกุญแจ RSA สำหรับ SSH ออกสาธารณะ, เปลี่ยนกุญแจใหม่แล้ว
GitHub แจ้งเตือนว่าได้เผลอเปิดกุญแจลับแบบ RSA สำหรับการล็อกอิน SSH สู่สาธารณะเป็นเวลาสั้นๆ ทำให้มีความเสี่ยงว่าถ้ามีคนร้ายได้กุญแจไปจะสามารถปลอมตัวเป็น GitHub ได้ จึงต้องตัดสินใจเปลี่ยนกุญแจ
ผลกระทบจะทำให้ผู้ใช้ที่เชื่อมต่อ SSH แบบกุญแจ RSA ได้รับการแจ้งเตือนว่าเซิร์ฟเวอร์อาจจะถูกปลอมตัว และผู้ใช้จำเป้นต้องลบกุญแจเดิมที่ SSH จำไว้ออกจากฐานข้อมูล known_hosts และล็อกอินผ่าน SSH ใหม่จะเห็นกุญแจ SHA256:uNiVztksCsDhcc0u9e8BujQXVUpKZIDTMczCvj3tD2s แสดงขึ้นมา
ผู้ใช้ที่เชื่อมต่อด้วยกุญแจ ECDSA หรือ Ed25519 ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้
ที่มา - GitHub |
# แจ้งเตือน WooCommerce มีช่องโหว่ร้ายแรงสูงเปิดทางคนร้ายยึดเว็บ, WordPress บังคับอัพเดต
WooCommerce ปลั๊กอินสำหรับสร้างเว็บอีคอมเมิร์ชยอดนิยมบน WordPress ที่มีผู้ใช้กว่า 500,000 เว็บ มีช่องโหว่ร้ายแรงสูง เปิดทางให้คนร้ายสามารถล็อกอินเป็นผู้ดูแลระบบได้โดยไม่ต้องมีบัญชีในระบบมาก่อน
ช่องโหว่อยู่ใน WooCommerce Payments โดยกระทบตั้งแต่เวอร์ชั่น 4.8.0 เป็นต้นมา ทางฝั่ง Automattic ผู้ให้บริการ WordPress.com และผู้พัฒนา WooCommerce เอง ก็เริ่มบังคับอัพเดตเว็บต่างๆ ที่ติดตั้งปลั๊กอินตัวนี้ ส่วนผู้ใช้ WordPress ที่เปิดระบบอัพเดตไว้ก็ควรเริ่มได้แพตช์มาติดตั้ง
เนื่องจากคนร้ายไม่ต้องมีบัญชีใดๆ ในระบบมาก่อน คาดว่าหลังจากนี้ไม่นาน คนร้ายจะเริ่มโจมตีเว็บเป็นวงกว้าง หากใครพบข้อสงสัยว่าโดนโจมตีแล้วควรเปลี่ยนรหัสผ่าน และกุญแจต่างๆ ที่อยู่ในฐานข้อมูลทั้งหมด
ที่มา - Bleeping Computer |
# Accenture ประกาศแผนปลดพนักงาน 19,000 คน คิดเป็น 2.5% ของพนักงานทั้งหมด
Accenture บริษัทผู้ให้บริการไอทีรายใหญ่ของโลก ระบุในเอกสารที่ยื่นต่อ ก.ล.ต. สหรัฐ ว่าเตรียมปลดพนักงานออกราว 19,000 คนในอีก 18 เดือนข้างหน้า โดยพนักงานครึ่งหนึ่งของที่ปลดออกจะอยู่ในส่วนงานออฟฟิศ (corporate functions) ที่ไม่ได้ไปทำงานให้ลูกค้าโดยตรง
ตัวเลขนี้อย่างเดียวอาจดูเยอะ แต่จริงๆ แล้ว Accenture มีพนักงานทั่วโลกมากถึง 738,000 คน สัดส่วนการปลดพนักงานออกจะอยู่ราว 2.5% ของทั้งหมด บริษัทยอมรับว่าจ้างพนักงานเพิ่มมากเกินไปในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา หากเทียบตัวเลขช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 มีพนักงาน 699,000 คน หรือเพิ่มมาเกือบ 40,000 คน
ที่มา - เอกสาร Accenture ส่ง SEC, TechCrunch ภาพจาก Accenture Facebook |
# ชาว Twitter เตรียมโบกมือลาเครื่องหมาย “ติ๊กถูกสีฟ้า” แบบเก่า 1 เม.ย. นี้ ไม่ April Fool’s
หลังจาก Elon Musk ประกาศนโยบาย Twitter Blue พร้อมเปิดเผยว่ามีแผนจะยกเลิกระบบ “ติ๊กถูกสีฟ้า” แบบเก่า (legacy) ล่าสุดทาง Twitter ได้ประกาศว่าวันที่ 1 เมษายน 2566 จะมีการยุติเครื่องหมายสีฟ้าแบบเดิมออก โดยจะมีการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ที่มีเครื่องหมายสีฟ้าแบบเก่า
Twitter Blue มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 8 ดอลลาร์/ต่อเดือน นอกจากเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถเข้าถึงสิทธิพิเศษอย่าง Bookmark folders, แสดงโฆษณาบนไทม์ไลน์น้อยลง, สร้างทวีตยาวขึ้น, แก้ไขหรือยกเลิกทวีตได้อีกด้วย
นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องหมายสีอื่นๆ เพื่อระบุรูปแบบของบัญชี เช่น เครื่องหมายติ๊กถูกสีเหลืองใช้กับบัญชีที่เป็นบริษัท, เครื่องหมายติ๊กถูกสีเทา ใช้กับบัญชีของพรรคการเมือง, สำนักข่าว รวมไปถึงป้ายกำกับที่มาในรูปแบบไอคอนที่อยู่บนหน้าโปรไฟล์สื่อบางประเภท อย่าง ไอคอนรูปโพเดียม, ธง หรือโรบอต เพื่อบอกจุดประสงค์การใช้งานของบัญชีนั้นด้วย
ที่มา: techcrunch |
# Ernie แชตบอตจีน เซ็นเซอร์ตัวเองเมื่อถามถึงการเมืองและ Xi Jinping
ในตอนนี้ทั่วโลกต่างให้ความสนใจต่อแชตบอตอัจฉริยะที่เกิดจาก AI กันจำนวนมาก บริษัทหลายแห่งต่างพยายามคิดค้นแชตบอตที่มีประสิทธิภาพออกมาหลายตัว อย่าง Ernie Bot ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท Baidu จากจีนและ ChatGPT ที่ถูกพัฒนาโดย Open AI สหรัฐอเมริกา
นักข่าวจีนคนหนึ่งได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพแอปฯ Ernie Bot และ Chat GPT โดยถามคำถามตั้งแต่เรื่องคณิตศาสตร์ไปจนถึงประวัติศาสตร์รวมไปถึงคำถามที่ละเอียดอ่อนอย่างเรื่องการเมืองด้วย
ผลการทดสอบปรากฏว่าด้านการตอบคำถาม เมื่อนักข่าวถามเกี่ยวกับการเมืองหรือเกี่ยวกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง Ernie Bot ตอบว่า “I cannot answer that question." ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าถูกจำกัดเนื้อหาของคำตอบด้านการเมืองในประเทศจีน เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อบริษัท
กลับกัน ChatGPT สามารถที่จะตอบคำถามด้านการเมืองหรือสถานการณ์สำคัญอย่าง สงครามยูเครน-รัสเซีย ได้ซึ่งคำตอบที่ได้ก็มีการพัฒนาคำตอบดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าคำตอบอาจจะยังไม่ถูกใจผู้ถามมากนัก แต่ ChatGPT ก็ยังสามารถพูดคุยต่อในประเด็นนี้ต่อได้อีก ซึ่งนักข่าวให้ความคิดเห็นว่า การที่ AI ตอบว่า “น่าจะ” ต่างกับการตอบว่า “ไม่ทำ” ตั้งแต่เริ่ม
แต่เมื่อเปรียบเทียบคำถามด้านคณิตศาสตร์ทั้ง Ernie Bot และ ChatGPT สามารถทำออกมาได้ดีทั้งคู่ จะต่างกันตรงที่ตอนนี้ ChatGPT ยังไม่สามารถสร้างภาพได้ แต่ Ernie Bot สร้างภาพได้ตรงตามคำสั่งและออกมาดีมาก กลับกันถ้าให้แชตบอตทั้ง 2 วางแผนการเดินทางเที่ยวญี่ปุ่นในเดือนเมษายน คำตอบของ ChatGPT เหนือกว่าตรงที่สามารถเสนอเพิ่มเติมได้เช่น เดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่ดีเนื่องจากเป็นช่วงที่ดอกซากุระกำลังบานสะพรั่ง แต่ฝั่ง Ernie Bot ไม่สามารถบอกคำตอบเหล่านี้ได้
นักข่าวที่ทำการทดสอบให้บทสรุปว่า ChatGPT ได้เปรียบในเรื่องของภาษามากกว่า Ernie Bot อย่างไรก็ตามแชตบอตทั้งสองยังอยู่ในช่วงการปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
ที่มา: NikkeiAsia |
# PayPal รองรับ Passkey บน Android แล้ว
PayPal เริ่มรองรับ Passkey มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเริ่มรับรองบน iOS ก่อน
ล่าสุด PayPal รองรับ Passkey บน Android แล้ว ทั้งแอปและ paypal.com ผ่านเว็บบนมือถือ โดยจะเริ่มรองรับในสหรัฐก่อนขยายไปประเทศอื่นๆ ต่อไป โดยจะรองรับ Android 9 (ที่รองรับ Passkey) ขึ้นไป
ที่มา - PayPal |
# Epic Games เปิดตัว Unreal Editor for Fortnite เครื่องมือแก้ไขโมเดล-ฉากของ Fortnite
Epic Games เปิดตัว Unreal Editor for Fortnite (UEFN) เป็นการนำเอาตัวแก้ไขฉาก Unreal Editor ของ UE5 มาดัดแปลงสำหรับแก้ไขโมเดลในเกม Fortnite โดยเฉพาะ
การที่เกม Fortnite มีฐานผู้เล่นจำนวนมหาศาล (ตัวเลขของ Epic บอกว่า 500 ล้านคน) เมื่อได้เครื่องมือ UEFN ให้ผู้เล่นสามารถแก้ไขโมเดลตัวละคร สิ่งของ สิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ ได้ง่ายขึ้นอย่างมาก (ของเดิมมี Fortnite Creative ที่ความสามารถไม่เยอะเท่า) และจะทำให้เกิดม็อดใหม่ๆ จำนวนมหาศาล ซึ่ง Epic มีโมเดลธุรกิจรองรับไว้แล้วคือ Creator Economy 2.0 เป็นตลาดกลางเปิดให้ครีเอเตอร์สร้างไอเทมในเกมมาขายระหว่างกันได้
ส่วนการทำโมเดลมาขายในจักรวาล Unreal Engine ที่กว้างกว่าเกม Fortnite ตอนนี้ Epic รวมทุกตลาดเข้าด้วยกันในชื่อใหม่ว่า Fab ซึ่งผู้ขายจะได้ส่วนแบ่ง 88% เช่นเดียวกับการขายเกมบน Epic Games Store
ตัว Unreal Editor for Fortnite ยังมีสถานะเป็น Public Beta มีเฉพาะบนพีซีเท่านั้น ดาวน์โหลดได้ฟรีจาก Epic Games Store
ตัวอย่างมังกรที่สร้างด้วย UEFN แล้วไปโผล่ในเกมได้
ที่มา - Fortnite, Epic Games, Unreal Engine |
# Framework Laptop เปิดตัวรุ่นใหม่ มีซีพียู AMD ให้เลือก, รุ่น 16" คีย์บอร์ดเลือกใส่ Numpad ได้
Framework Laptop โน้ตบุ๊กซ่อมง่ายอัพเกรดสะดวก เปิดตัวโน้ตบุ๊กรุ่นหลัก Framework Laptop 13 เวอร์ชันใหม่ ที่เลือกได้ทั้งซีพียู Intel 13th Gen และ AMD 7040 Series (ของเดิมเป็น Intel 12th Gen)
แนวทางของ Framework Laptop คือตัวบอดี้ยังสามารถใช้ของเดิมได้ตลอด แล้วอัพเกรดเมนบอร์ด+ซีพียูได้เองถ้าต้องการ (รายการสินค้าเมนบอร์ด) ราคาบอร์ด+ซีพียูเริ่มต้นที่ 449 ดอลลาร์ (Core i5-1340P และ Ryzen 5 7040 Series) แต่ถ้าต้องการอัพเกรดแบบข้ามค่ายจะต้องใช้ชุดแรมและชิปไร้สายของค่ายนั้นๆ ด้วย
ตัวบอดี้ของ Framework Laptop 13 เวอร์ชันใหม่ยังอัพเกรดความจุแบตเตอรี่เป็น 61Wh เพิ่มขึ้น 11% ในขนาดก้อนแบตเท่าเดิม ซื้อไปใส่กับเครื่องเดิมได้ด้วย, จอภาพแบบ Matte ลดแสงสะท้อนในขนาดเท่าเดิมเช่นกัน และลำโพง Speaker Kit - 80dB เสียงดังขี้นอีก
โน้ตบุ๊ก Framework Laptop 13 มีให้เลือกทั้งแบบคอนฟิกมาสมบูรณ์พร้อมใช้งาน ราคาเริ่มต้น 1,049 ดอลลาร์ และรุ่น DIY Edition เลือกซีพียู แรม สตอเรจ พอร์ต และ OS ได้เอง ราคาเริ่มต้น 849 ดอลลาร์
สเปกของ Framework Laptop 13 ที่เลือกคัสตอมได้เอง
นอกจากนี้ Framework ยังประกาศแผนการออก Framework Laptop 16 รุ่นหน้าจอใหญ่ขึ้น เพิ่มช่องต่อขยาย Expansion Bay และแก้ปัญหาโลกแตกของวงการคีย์บอร์ด โดยให้เลือกคัสตอมได้เองว่าอยากใส่ Numpad เข้ามาด้วยหรือไม่ (พร้อมทั้งให้เลือกชุดไฟ RGB ได้เอง)
ตอนนี้ Framework Laptop 16 ยังไม่เปิดเผยราคา และมีกำหนดวางขายช่วงปลายปี 2023
ที่มา - Framework |
# ซัมซุงเปิดตัว Exynos Connect U100 ชิป Ultra Wideband (UWB) รุ่นแรกของบริษัท
ซัมซุงเปิดตัวชิปสื่อสาร Ultra Wideband (UWB) ตัวแรกของตัวเองในชื่อ Exynos Connect U100 ระบุว่ามีความแม่นระดับเซนติเมตร เตรียมนำไปใช้ในอุปกรณ์พกพา รถยนต์ และอุปกรณ์ IoT
ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นการใช้ UWB เพื่อการสื่อสารระยะใกล้ๆ ที่ต้องการความแม่นยำของระยะสูง เช่น การใช้สมาร์ทโฟนเป็นกุญแจรถยนต์ หรืออุปกรณ์จำพวก smart tag ตามหาสิ่งของ
ซัมซุงบอกว่า UWB จะกลายเป็นมาตรฐานไร้สายแบบที่สาม ที่ใช้ร่วมกับ Wi-Fi และ Bluetooth โดยจุดเด่นของ UWB คือการใช้งานภายในอาคารที่ GPS เข้าไม่ถึง
ตัวชิป Exynos Connect U100 มีจุดเด่นเรื่องขนาดที่เล็ก รวมทุกอย่างตั้งแต่ตัวส่งสัญญาณ หน่วยความจำ หน่วยจัดการพลังงานมาไว้ในชิปตัวเดียว มีโหมดประหยัดพลังงาน มีฟีเจอร์เข้ารหัสที่ระดับฮาร์ดแวร์ และผ่านมาตรฐาน Car Connectivity Consortium (CCC) Digital Key Release 3.0 สำหรับใช้งานกับรถยนต์เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันในตลาดมีชิป UWB จากหลายค่าย เช่น NXP Semiconductos, STMicroelectronics, Qorvo หรือถ้าเป็นกรณีของสินค้าแอปเปิลก็ใช้ชิปของตัวเองคือ Apple U1 ที่เริ่มใส่มาตั้งแต่ยุค iPhone 11
ที่มา - Samsung |
# มัดขายวนไป Sega ออก Sonic Origins Plus เพิ่มเกมจาก Game Gear อีก 12 เกม
ปีที่แล้ว Sega นำเกม Sonic 4 ภาคแรกจากเครื่อง Mega Drive มารีมาสเตอร์ขายในชื่อ Sonic Origins ฉลองครบ 31 ปีของซีรีส์ ขายในราคา 39.99 ดอลลาร์
ปีนี้ Sega นำเกม Sonic ยิบย่อยจากเครื่อง Game Gear รวม 12 ภาค มารวมในชุดใหม่ชื่อ Sonic Origins Plus (เท่ากับมีเกมทั้งหมด 16 เกม) ฉลองครบ 32 ปีของซีรีส์ ขายในราคาเดิม 39.99 ดอลลาร์ หากมีชุดเก่าอยู่แล้วสามารถจ่ายเพิ่ม 9.99 ดอลลาร์เพื่ออัพเกรดได้ด้วย
นอกจากเกมใหม่ 12 เกมแล้ว Sega ยังเพิ่มตัวละครเม่นสีชมพู Amy ที่โผล่มาครั้งแรกในภาค Sonic CD ให้สามารถเล่นได้ใน Sonic ภาค 1-3 ที่ออกมาก่อนหน้า และเพิ่มตัวละคร Knuckles ให้เล่นได้ในภาค Sonic CD ด้วย
ที่มา - VG247 |
# Snap เปิดตัว AR Enterprise Services ชุดเครื่องมือพัฒนา AR สำหรับลูกค้าองค์กร
Snap ประกาศเพิ่มบริการใหม่เพื่อขยายความสามารถของ AR ที่มี ไปสู่ลูกค้าองค์กร โดยเปิดตัว ARES หรือ AR Enterprise Services ชุดเครื่องพัฒนาด้าน AR ของ Snap ที่ให้ลูกค้าธุรกิจนำไปเสริมกับแอป เว็บไซต์ หรือแม้แต่หน้าร้าน เพิ่มประสบการณ์ใหม่กับลูกค้า
โดยชุดเครื่องมือตัวแรกที่ออกมาคือ Shopping Suite ซึ่งมีทั้งตัวสร้างแบบสินค้า 3D, ระบบ AR สำหรับลองสวมใส่, เครื่องมือหาขนาดชุดที่เหมาะสม และอื่น ๆ โดย Snap จะมีทีมซัพพอร์ตในการช่วยพัฒนา AR ให้เข้ากับสินค้าของบริษัทนั้น ๆ
Snap บอกว่าตอนนี้มีลูกค้ากว่า 300 รายแล้ว ที่ได้ใช้งาน Shopping Suite ซึ่งมีเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า
ที่มา: Snap |
# Twitter ประกาศบริการสมาชิก Twitter Blue เปิดให้สมัครใช้งานทั่วโลกแล้ว
Twitter ประกาศว่าบริการสมัครสมาชิกรายเดือน Twitter Blue ได้เปิดให้ผู้ใช้งานทั่วโลกสามารถสมัครได้แล้ว หลังจากขยายไปเกือบ 50 ประเทศ เมื่อต้นเดือน ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วยในรอบนั้น
ผู้สมัคร Twitter Blue จะได้ฟีเจอร์พิเศษได้แก่ เครื่องหมาย Verified สีฟ้า, เพิ่มอันดับในการแสดงผลทวีตที่โต้ตอบ, โฆษณาลดลง, ทวีตได้ยาวขึ้น, ปุ่มแก้ไขทวีต, ยกเลิกทวีต และอื่น ๆ
บริการ Twitter Blue เป็นหนึ่งในช่องทางเพิ่มรายได้ที่ Elon Musk ซีอีโอ Twitter ประกาศให้ความสำคัญ โดยต้องการให้ Twitter ลดการพึ่งพารายได้จากโฆษณาเพียงช่องทางเดียว
นอกจากนี้ Twitter ยังประกาศปรับปรุงเครื่องหมาย Verified โดยองค์กรของรัฐจะได้เครื่องหมาย Verified สีเทา เพื่อแยกกันให้ชัดเจนว่าจากนี้ Verified สีฟ้า เป็นลูกค้าที่จ่ายเงินรายเดือนนั่นเอง โดยการเปลี่ยนแปลงนี้มีผลกับองค์กรที่สมัครยืนยันตัวตนตั้งแต่ 1 เมษายน เป็นต้นไป
ที่มา: The Verge |
# Do Kwon ผู้ก่อตั้ง Terra/Luna โดนจับแล้วที่ประเทศมอนเตเนโกร
Do Kwon ผู้ก่อตั้ง Terraform Labs และเหรียญ Terra/Luna ถูกจับกุมได้แล้วที่เมือง Podgorica ประเทศมอนเตเนโกร ระหว่างการพยายามบินไปยังดูไบ โดยใช้เอกสารปลอมของประเทศคอสตาริกา
เขาถูกจับพร้อมเพื่อนชาวเกาหลีอีกคน Hon Chang Joon ซีเอฟโอของ Terraform Labs โดยตอนนี้ยังถูกทางการมอนเตเนโกรควบคุมตัวเอาไว้อยู่
Do Kwon ถูกตั้งข้อหาจากทั้งฝั่งเกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา โดยล่าสุด อัยการของรัฐนิวยอร์กก็ได้ตั้งข้อหาฉ้อโกงรวม 8 ข้อตามคำร้องของ ก.ล.ต. สหรัฐแล้วเช่นกัน
ที่มา - Bloomberg |
# OpenAI เปิดบริการ ChatGPT Plugins อ่านข้อมูลและส่งคำสั่งไปยังโลกภายนอกได้
OpenAI เปิดบริการ ChatGPT plugins เปิดทางให้ ChatGPT สามารถอ่านข้อมูลและส่งคำสั่งไปยังโลกภายนอกได้ เช่น Instacart เปิดให้สั่งสินค้าจากในแชตได้ทันที หรือ Zapier ที่เชื่อมข้อมูลจำนวนมาก ทั้ง Google Sheet, Trello, Gmail เข้ามายัง ChatGPT ได้
ผู้ใช้สามารถใช้ปลั๊กอินหลายตัวเชื่อมต่อข้อมูลเข้าด้วยกัน เช่น ขอสูตรอาหารจากปลั๊กอินตัวหนึ่ง คำนวณค่าพลังงานด้วย Wolfram แล้วสั่งวัตถุดิบผ่านทาง Instacart
ทาง OpenAI เปิดตัวอย่างปลั๊กอิน ChatGPT Retrieval สำหรับการดึงข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลในองค์กรเข้ามายังหน้าแชต โดยเอกสารต่างๆ ต้องแปลงเป็นเวคเตอร์ผ่านทางโมเดล text-embedding-ada-002 เสียก่อนเพื่อให้เรียกใช้งานระหว่างแชตได้ โดยตัวปลั๊กอินนี้ยังเป็นเพียงการอ่านเอกสาร ยังไม่มีการส่งคำสั่ง สำหรับปลั๊กอินมาตรฐานของ OpenAI เองมีสองตัว ได้แก่
Browsing: สำหรับการดึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาแสดง
Code Interpreter: สำหรับการรันโค้ด Python ที่ได้จากการแชต ผู้ใช้สามารถอัพโหลดไฟล์ใส่เข้าไปและดาวน์โหลดผลออกมาได้
ทาง OpenAI ยอมรับว่าการให้ปัญญาประดิษฐ์เชื่อมต่อกับโลกภายนอกนั้นอันตรายแต่ก็วางแนวทางป้องกันไว้หลายชั้น ปลั๊กอินที่ออกมามีทีมตรวจสอบดูความปลอดภัยก่อนที่จะเปิดให้ผู้ใช้ได้ใช้งาน นอกจากนี้การเปิดบริการปลั๊กอินจะค่อยๆ เพิ่มผู้ใช้เป็นลำดับ ตัวปลั๊กอินของ OpenAI เองนั้นมีรายงานมาตรการจำกัดความเสี่ยงเอาไว้ เช่น โค้ด Python นั้นไม่สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้เอง หรือ Browsing จะเชื่อไฟล์ robots.txt ว่าเว็บใดสามารถอ่านได้หรือไม่ได้
ผู้ใช้ที่ต้องการใช้งานสามารถลงชื่อรอคิวได้แล้ววันนี้
ที่มา - OpenAI |
# Basecamp รายงานการเลิกใช้คลาวด์ เลิกใช้ Kubernetes: ลดความซับซ้อน, ดูแลง่ายพัฒนาง่าย
Farah Schüller จาก Basecamp เขียนรายงานถึงการย้ายแอปพลิเคชั่น 3 ตัวในบริษัทออกจากคลาวด์ ตามแนวทางที่ David Heinemeier Hansson (@dhh) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยนอกจากการเลิกใช้คลาวด์แล้ว Basecamp ยังเลิกใช้ Kubernetes ไปด้วยพร้อมกัน
Schüller ระบุว่าแม้โครงสร้างแอปพลิเคชั่นที่รันใน Kubernetes จะไม่ได้ซับซ้อนมากแต่ในความเป็นจริงแล้ว Kubernetes มีส่วนประกอบที่มาพร้อมกันหลายชิ้น เช่น DNS, Ingress, ระบบสตอเรจ, ระบบเน็ตเวิร์คของตัวเอง และอื่นๆ อีกจำนวนมาก ตอนแรกในการย้ายก็มีแผนที่จะติดตั้ง Kubernetes ในองค์กรเองแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจตัด Kubernetes ออกไปด้วยเลยพร้อมๆ กัน
ทาง Basecamp สร้างโครงการ mrsk สำหรับการ deploy เว็บแอปขึ้นไปยังเซิร์ฟเวอร์ ไม่ว่าจะเป็น bare metal หรือ virtual machine ระบบภายในจะ build จาก Dockerfile แล้ว push ไปยัง registry จากนั้นล็อกอินไปยังเครื่องที่กำหนดแล้วสร้างคอนเทนเนอร์ขึ้นมาพร้อมกับลบอิมเมจเก่าออกให้อัตโนมัติ โดยรวมมันทดแทน Kubernetes ได้บางส่วนแม้จะต่างกันมาก โดยหลักการสำคัญคือ mrsk จะทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมสำหรับการรันแอปนอกจากค่าเช่าเครื่องปกติ (ซึ่งมักไม่แพงมาก) ส่วนฐานข้อมูลนั้นก็ย้ายจาก RDS มาเป็น Percona MySQL 8 และวางระบบสำรองข้อมูลเอง
Schüller สรุปบทเรียนการย้ายออกจากคลาวด์และ Kubernetes ว่าช่วยลดความซับซ้อนของโครงสร้างพื้นฐานในองค์กรลงมาก กระบวนการพัฒนาง่ายขึ้น และช่วยให้ทีมงานได้คิดว่าที่จริงแล้วจำเป็นต้องใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ของคลาวด์และ Kubernetes จริงๆ ไหม
ที่มา - 37Signals |
# Amazon ออก Fire TV สองรุ่นใหม่ รุ่นแรกจอ QLED อีกรุ่นราคาถูก เริ่มต้น 200 ดอลลาร์
Amazon ประกาศอัพเดตไลน์สินค้าสมาร์ททีวีตระกูล Fire TV โดยเพิ่มรุ่นราคาถูกที่สุดรุ่นใหม่เข้ามา และเพิ่มประเทศที่มีสมาร์ททีวีนี้ขาย โดย Daniel Rausch รองประธานฝ่ายอุปกรณ์ความบันเทิงของ Amazon บอกว่าถึงตอนนี้ สินค้าตระกูล Fire TV ทั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อ และสมาร์ททีวี ขายได้รวมกันแล้วมากกว่า 200 ล้านชุุด
เริ่มที่สินค้าแรก Fire TV Omni QLED Series สมาร์ททีวีรุ่นบน ที่รองรับ Fire TV Ambient Experience หน้าจอ 4K QLED ระบบภาพ Dolby Vision IQ และ HDR10+ Adaptive มาพร้อมหน้าจอ 3 ขนาดคือ 43 นิ้ว, 50 นิ้ว และ 55 นิ้ว ราคาเริ่มต้น 449.99 ดอลลาร์
Amazon ยังเพิ่มสมาร์ททีวีรุ่นใหม่ Fire TV 2-Series ที่มีราคาถูกที่สุดในทั้งหมด (ถูกกว่า Fire TV 4-Series) เริ่มต้นที่ 199.99 ดอลลาร์ มีสองขนาดจอให้เลือก 32 นิ้ว และ 40 นิ้ว โดยจอ 32 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD ส่วน 40 นิ้ว ความละเอียดระดับ FHD พร้อม HDR 10, HLG, และ Dolby Digital Audio ส่วนการทำงานร่วมกับ Alexa มีฟังก์ชันครบ
Fire TV Omni QLED Series เริ่มเปิดให้พรีออเดอร์วันนี้ สินค้าส่งมอบ 11 พฤษภาคม เป็นต้นไป ส่วน Fire TV 2-Series สั่งซื้อได้ตั้งแต่วันนี้ โดย Amazon ยังเพิ่มประเทศที่ขายได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี และเม็กซิโก
ที่มา: Amazon |
# ก.ล.ต. สหรัฐ ตั้งข้อหา Justin Sun ผู้ก่อตั้ง Tron ในคดีฉ้อโกงหลักทรัพย์
SEC หรือ ก.ล.ต. สหรัฐ ตั้งข้อหา Justin Sun นักลงทุนคริปโตชื่อดัง รวมทั้ง 3 บริษัทที่เขาเป็นเจ้าของคือ Tron Foundation, BitTorrent Foundation และ Rainberry ในคดีฉ้อโกงหลักทรัพย์ (Securities Fraud) โดยระบุว่าบริษัทได้สร้างการซื้อขายเหรียญ TRX และ BTT ขึ้นมา โดยการซื้อขายเหล่านั้นไม่มีการโอนเปลี่ยนเจ้าของจริง แต่ทำเพื่อให้เห็นว่าเหรียญมีความเคลื่อนไหวตลอด
SEC ยังตั้งข้อหา ดารา-บุคคลมีชื่อเสียง รวม 8 คน ข้อหาไม่เปิดเผยว่าได้รับการสนับสนุนในการประชาสัมพันธ์ทำการตลาด TRX และ BTT ผ่านช่องทางโซเชียล ซึ่งใน 8 คนนี้มี Lindsay Lohan, Jake Paul และ Ne-Yo รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ Soulja Boy และ Austin Mahone ซึ่งอยู่ในรายชื่อดังกล่าว ได้เจรจาขอยุติคดีและจ่ายค่าปรับ 4 แสนดอลลาร์แล้ว
Gurbir S. Grewal ตัวแทนจาก SEC บอกว่าวิธีที่ Sun ใช้ เป็นรูปแบบวิธีการที่มีมานานแล้ว (Age-old Playbook) ซึ่งทำให้นักลงทุนเข้าใจผิด ทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญในการเสนอขายครั้งแรก สร้างปริมาณการซื้อขายในตลาดรอง ตลอดจนใช้บุคคลมีชื่อเสียงร่วมประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ SEC ได้ยื่นฟ้องข้อหาดังกล่าวกับศาลเขตนิวยอร์กใต้ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนถัดไป
ทั้งนี้ตัวแทนของ Justin Sun ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงใด ๆ ต่อข้อกล่าวหา
ที่มา: SEC, CoinDesk และ CNBC |
# Ray Tracing หลบไป NVIDIA โชว์เทคนิค Path Tracing กับเกม Cyberpunk 2077
CD Projekt Red เปิดตัว Cyberpunk 2077 เวอร์ชันรองรับกราฟิกแบบ Path Tracing หรือ Full Ray Tracing ซึ่งเป็นการจำลองการเคลื่อนที่ของลำแสง "ทั้งซีน" ให้ภาพที่สวยงามสมจริงมากกว่า Ray Tracing ทั่วไป
เทคนิค Path Tracing มีอยู่ในโลกภาพยนตร์และวิชวลเอฟเฟคต์มานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่สามารถเรนเดอร์ได้แบบเรียลไทม์ การออกเดโมนี้ถือเป็นการโชว์ว่าจีพียู GeForce RTX 40 มีศักยภาพทำได้ เทคนิคที่อยู่เบื้องหลังประกอบด้วย DLSS 3, Shader Execution Reordering (SER), RTX Direct Illumination (RTXDI), NVIDIA Real-Time Denoisers (NRD)
นอกจาก Cyberpunk 2077 แล้ว เกมอื่นที่รองรับบ้างแล้วคือ Minecraft และ Quake II โดยยังต้องติดตั้งปลั๊กอินเพิ่มเติม
ในโอกาสนี้ NVIDIA ยังออก Path Tracing SDK ให้นักพัฒนาเกมรายอื่นๆ ใช้งานด้วย
ที่มา - NVIDIA |
# บริการคลาวด์เกมมิ่ง Amazon Luna เปิดให้บริการนอกสหรัฐอเมริกาแล้ว
Amazon Luna บริการคลาดว์เกมมิ่งของค่าย Amazon เปิดตัวครั้งแรกในปี 2020 แต่ตลอดสองปีกว่าๆ ที่ผ่านมายังจำกัดพื้นที่เฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวเท่านั้น
ล่าสุด Amazon Luna ประกาศขยายพื้นที่ใหม่ 3 ประเทศคือ แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ถือเป็นครั้งแรกที่ออกนอกสหรัฐอเมริกา โดยลูกค้า Amazon Prime ในประเทศเหล่านี้จะได้สิทธิการเล่นเกมบางเกมฟรีด้วย
แนวทางของ Amazon Luna คือแยก "ช่อง" (channel) ของเกมให้เลือกเล่นตามหมวดหมู่ที่สนใจ และจ่ายเงินเฉพาะช่องที่ต้องการเล่น โดยช่อง Luna+ ที่รวมเกมดังจากหลายค่าย (เช่น Control, Devil May Cry 5, Mega Man 11) คิดราคา 8.99 ปอนด์/เดือน, ช่อง Ubisoft+ มีเฉพาะเกมของค่าย Ubisoft คิดราคา 14.99 ปอนด์/เดือน เป็นต้น
ที่มา - Amazon Luna Blog |
# สมาคมนักเขียนบทอเมริกาเสนอ อนุญาตให้ AI เขียนบทหนังได้
แม้ในหลายอุตสาหกรรมจะแบนผลงานจาก AI แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่สำหรับการเขียนบทภาพยนตร์ เมื่อสมาคมนักเขียนบทแห่งอเมริกา (WGA - Writers Guild of America) มีข้อเสนอที่อนุญาตให้ใช้ AI ในการเขียนบทภาพยนตร์ได้ โดยข้อเสนอของ WGA ระบุว่านักเขียนบทสามารถใช้ ChatGPT ในการเขียนสคริปต์ได้ รวมไปถึงทางสตูดิโอก็สามารถส่งสคริปต์ที่สร้างโดย AI และส่งต่อให้มนุษย์แก้ไขและเขียนซ้ำได้เช่นกัน
WGA ยังระบุอีกว่าข้อความที่สร้างขึ้นโดย AI ไม่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นเนื้อหาวรรณกรรมหรือเนื้อหาต้นฉบับ เพราะถ้ามีการถูกสร้างจากแหล่งอ้างอิงข้อมูลอื่นที่เคยมีมา จะไม่ถือว่าเป็นเนื้อหาต้นฉบับ รวมไปถึง WGA ยังบอกอีกว่าให้ลดบทบาทของ AI ในการสร้างสิ่งใหม่ๆ น้อยลง แต่ให้เพิ่มการใช้ AI เพื่อเป็นเครื่องมือการทำงานมากขึ้น
ข้อเสนอดังกล่าว มีขึ้นในขณะที่กำลังจะเซ็นสัญญาฉบับใหม่กับ Alliance of Motion Picture and Television Producers สมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตามทาง WGA ก็ไม่ได้ปล่อยให้นักเขียนบทใช้ AI ได้อย่างอิสระ แต่ก็ต้องมีกฎในการควบคุมด้วย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ WGA ก็ได้เรียกร้องให้มีการควบคุมการใช้งานของ AI ด้านงานเขียน รวมไปถึงก่อนหน้านี้รายงานจาก OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT เคยคาดการณ์ว่าอาจจะมีแรงงานบางสายที่ได้รับผลกระทบจาก AI มากถึง 80% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายงานด้านโปรแกรมเมอร์และนักเขียน
ที่มา: Variety |
# ไมโครซอฟท์โต้โซนี่ บอก Call of Duty บน PS5 ถ้ามีบั๊กยอดขายก็ตก, เวลา 10 ปีน่าจะพอให้หาเกมใหม่ทดแทน
ไมโครซอฟท์ส่งเอกสารให้ CMA หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของอังกฤษ ตอบโต้ประเด็นของโซนี่ที่กลัวไมโครซอฟท์ออก Call of Duty เวอร์ชันมีบั๊กให้ PlayStation
CMA เผยแพร่เอกสารนี้ต่อสาธารณะ โดยตัดเนื้อหาความลับบางส่วนออก แต่ก็ช่วยให้เราเห็นข้อตอบโต้ของไมโครซอฟท์ ที่ระบุว่าบริษัทต้องปฏิบัติตามคำสั่งของ CMA (ถ้าดีลได้รับการอนุมัติ) ที่จะต้องทำเกมเวอร์ชัน PS5 ให้ดี รองรับฟีเจอร์เฉพาะอย่าง haptic เพื่อสร้างยอดขายบน PS5 ให้เยอะที่สุดอยู่แล้ว (maximise sales) อีกทั้งการขายเกมบน PS5 โซนี่ก็จะได้ส่วนแบ่งอยู่แล้วเช่นกัน
ส่วนเรื่องระยะเวลา 10 ปี ไมโครซอฟท์บอกว่าเป็นระยะเวลาเท่ากับสัญญาของ NVIDIA และในวงการเกมก็ไม่มีสัญญาฉบับไหนยาวเท่านี้มาก่อน และระยะเวลา 10 ปีก็น่าจะเพียงพอสำหรับโซนี่ ในฐานะ "ผู้นำของวงการเกม" พัฒนาเกมใหม่มาเป็นทางเลือกนอกเหนือจาก Call of Duty ได้
ที่มา - CMA (PDF) via IGN |
# ไมโครซอฟท์เปิดตัว Loop คู่แข่ง Notion ให้ทุกคนลองใช้งาน
ไมโครซอฟท์เปิดทดสอบแอปใหม่ในชื่อ Microsoft Loop เป็นระบบจดโน้ตที่สามารถใส่ตาราง กำหนดประเภทข้อมูลในแต่ละฟิลด์, และอ้างถึงข้อมูลจากเอกสารหน้าอื่นๆ ได้ง่าย ซึ่งเป็นรูปแบบคล้าย Notion ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงหลัง โดย Loop นั้นทดสอบวงปิดมาตั้งแต่ปี 2021 และตอนนี้ก็เปิดให้คนทั่วไปใช้งานแล้ว
ส่วนย่อยๆ ในเอกสารสามารถทำเป็น component เพื่อไปใช้งานที่อื่น เช่นวางใน Microsoft Teams และส่วนต่างๆ ของเอกสารใน Loop ยังสามารถเขียนคอมเมนต์, กดอีโมจิ, หรือเมนชั่นชื่อผู้ใช้คนอื่นๆ กันได้
Loop เปิดตัวมาพร้อมกับ Copilot in Loop บริการปัญญาประดิษฐ์ของ OpenAI เพื่อช่วยเขียนเอกสารในตัว แต่ตอนนี้ยังจำกัดวงผู้ใช้ ไม่เหมือนตัวแอปหลักที่เปิดให้ใช้งานทั่วไปแล้ว
ที่มา - Microsoft |
# WhatsApp ออกแอพเวอร์ชันใหม่บน Windows เขียนใหม่ให้เสถียร ทำงานเร็วกว่าเดิม
Meta ออกไคลเอนต์ WhatsApp for Windows เวอร์ชันใหม่ เขียนใหม่หมด หน้าตาคล้ายแอพเวอร์ชันมือถือ โหลดเร็วขึ้น และรองรับฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง group video calls สูงสุด 8 คน, group audio calls สูงสุด 32 คน
ไคลเอนต์ตัวนี้เริ่มทดสอบแบบ Beta มาตั้งแต่กลางปี 2022 สามารถดาวน์โหลดได้จาก Microsoft Store
นอกจากนี้ WhatsApp ยังอยู่ระหว่างการทดสอบ Beta เวอร์ชัน Android Tablet และ Mac Desktop App เวอร์ชันใหม่ด้วย
ที่มา - Meta, WhatsApp Blog |
# Sony เตรียมเปิดตัวกล้องรุ่นใหม่ จับกลุ่ม Vlogger วันที่ 29 มีนาคมนี้
Sony ประกาศเตรียมเปิดตัวกล้องรุ่นใหม่ ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ เวลา 21.00น. ตามเวลาในไทย โดยมีคำโปรยว่า "Vlog to your full potential" บอกใบ้ว่ากล้องรุ่นใหม่นี้น่าจะมีคุณสมบัติต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้งานกลุ่ม Vlogger
คาดว่ากล้องรุ่นใหม่นี้คือ Sony ZV-E1 ซึ่งมีข่าวลือมาค่อนข้างมากก่อนหน้านี้ โดยรายละเอียดสเป็กที่มีข้อมูลหลุดออกมา บอดี้จะคล้ายกับ ZV-E10 กล้อง Mirrorless รุ่นก่อนหน้าที่เน้นจับตลาด Vlogger ด้วยฟีเจอร์เช่นการปรับชัดเบลอพื้นหลัง หรือการปรับให้จับวัตถุสินค้าแทนบุคคล
เทคโนโลยีฐานที่ใช้คาดว่านำมาจาก A7S III ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการอัดวิดีโอสูงสุด 4K 120p
ที่มา: Digital Camera World |
# การนำโซลูชั่น IBM Business Automation เข้าสู่องค์กร: การปรับปรุงกระบวนการธุรกิจด้วยการผสมผสานระบบ BPM, ECM และ Case Manager
บทความนี้จะแนะนำการใช้ IBM Business Automation เพื่อปรับปรุงกระบวนการธุรกิจภายในองค์กร โดยเน้นไปที่ระบบ Business Process Management (BPM) Enterprise Content Management (ECM) และ Case Manager ที่ทำงานผสมผสานกัน โดยเนื้อหาของบทความจะยกตัวอย่างการใช้งานสำหรับกระบวนการขอซื้อและสั่งซื้อ (PR/PO) ในโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์กับโรงงาน โดยระบบ ERP ขององค์กรอาจจะเป็น SAP หรือ Oracle Financial หรืออื่นๆ ก็ได้
บทนำ
ในยุคปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรับปรุงกระบวนการธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพื่อให้การดำเนินงานในองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่สามารถช่วยปรับปรุงกระบวนการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ IBM Business Automation
IBM Business Automation เป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ธุรกิจที่ช่วยองค์กรในการเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงกระบวนการธุรกิจอย่างรวดเร็ว และมีความสามารถในการจัดการกระบวนการธุรกิจที่ซับซ้อน โดยสามารถช่วยในการทำงานและการบริหารจัดการกระบวนการทางธุรกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ IBM Business Automation ช่วยให้องค์กรสามารถจัดการกระบวนการธุรกิจต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
การผสมผสานระบบ BPM (Business Process Management) ECM (Enterprise Content Management) และ Case Manager สามารถช่วยปรับปรุงกระบวนการธุรกิจได้อย่างไร โดยเชื่อมโยงระบบเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า Intelligent Automation ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีและอัลกอริทึมเพื่อปรับปรุงและทำให้กระบวนการธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย IBM Business Automation เป็นโซลูชั่นที่ช่วยลดความซับซ้อนของกระบวนการธุรกิจ และช่วยให้บริษัทสามารถปรับปรุงการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การผสมผสานระบบ BPM, ECM และ Case Manager
การนำระบบ BPM (Business Process Management), ECM (Enterprise Content Management) และ Case Manager มาใช้ในองค์กรสามารถช่วยปรับปรุงกระบวนการธุรกิจได้หลากหลายด้าน อย่างเช่นในกระบวนการขอซื้อและสั่งซื้อ จัดการเอกสารต่างๆ ขอราคาจากคู่ค้า และออกใบสั่งซื้อให้กับคู่ค้า โดยมีขั้นตอนการทำงานดังนี้
กำหนดกระบวนการขอซื้อและสั่งซื้อ: การกำหนดกระบวนการเป็นหลักเพื่อให้มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจนและมีความสอดคล้องกับนโยบายและกฎระเบียบขององค์กร
สร้างและจัดการเอกสาร: การใช้ ECM เพื่อจัดเก็บและจัดการเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขอซื้อและสั่งซื้อ เช่น ใบเสนอราคาจากคู่ค้า ใบเสนอราคาตอบกลับ ใบสั่งซื้อ ฯลฯ
ติดตามกระบวนการ: การใช้ BPM เพื่อติดตามกระบวนการที่กำลังดำเนินการ โดยการกำหนดขั้นตอนการทำงาน และติดตามสถานะของงาน
จัดการและตรวจสอบรายการสั่งซื้อ: การใช้ Case Manager เพื่อจัดการและตรวจสอบรายการสั่งซื้อ รวมถึงตรวจสอบสถานะการชำระเงิน และติดตามสถานะการจัดส่งสินค้า
ออกใบสั่งซื้อ: การใช้ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ เช่น การอนุมัติการสั่งซื้อ ที่ถูกผสมผสานกับระบบ Case Manager และ ECM เพื่อทำให้กระบวนการนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและเร็วขึ้น นอกจากนี้ BPM ยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดตามสถานะการสั่งซื้อและอัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับราคาและสินค้าได้ง่ายขึ้น
กระบวนการขอซื้อและสั่งซื้อในองค์กรที่ต่างกัน
การใช้งาน IBM Business Automation ในการปรับปรุงกระบวนการขอซื้อและสั่งซื้อในองค์กรต่างๆ จะมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามลักษณะการดำเนินงานของแต่ละองค์กร โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบระบบ IBM Business Automation สำหรับกระบวนการขอซื้อและสั่งซื้อ ระหว่างโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์กับระบบ IBM Business Automation สำหรับกระบวนการขอซื้อและสั่งซื้อของโรงงาน อาจจะมีความแตกต่างกันได้ดังนี้
การใช้งาน IBM Business Automation ในโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ การดำเนินการในโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์มักเกี่ยวข้องกับการจัดการสินค้าและบริการทางการแพทย์ เช่น การสั่งซื้อเวชภัณฑ์ ยา และอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ระบบ IBM Business Automation สามารถช่วยลดเวลาในการดำเนินการต่างๆ เช่น การขออนุมัติและพิมพ์ใบสั่งซื้อ การตรวจสอบสถานะของการสั่งซื้อและการส่งมอบสินค้า การใช้งานระบบ IBM Business Automation ยังช่วยเพิ่มความเป็นมืออาชีพของผู้ใช้บริการและรองรับการทำงานซึ่งเป็นภาระหน้าที่ทางด้านการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ
การใช้งาน IBM Business Automation ในโรงงาน การดำเนินการในโรงงานมีลักษณะการดำเนินงานที่เน้นการผลิตสินค้า และการจัดการสินค้าสำเร็จรูป เช่น การสั่งซื้อวัตถุดิบ การจัดส่งสินค้า และการควบคุมคุณภาพสินค้า ระบบ IBM Business Automation สำหรับการขอซื้อและสั่งซื้อในโรงงานมีลักษณะการใช้งานที่ต้องการการปรับแต่งสูงสุดเพื่อให้ตรงกับกระบวนการการผลิตที่แตกต่างกันไป โดยระบบจะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถสั่งซื้อวัตถุดิบได้อย่างตรงเวลา รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ ช่วยเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินงาน และสามารถจัดการความเสี่ยงและการควบคุมคุณภาพสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามสถานะของการสั่งซื้อและการจัดส่งได้อย่างง่ายดาย โดยระบบ IBM Business Automation สำหรับโรงงานนั้นยังสามารถปรับแต่งได้เพื่อตรงกับความต้องการของแต่ละองค์กรและกลุ่มผู้ใช้งานโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้อย่างดีที่สุด
สรุป
IBM Business Automation เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถใช้ในการจัดการกระบวนการธุรกิจต่างๆ ในหลากหลายธุรกิจ อย่างที่ได้ยกตัวอย่าง กระบวนการขอซื้อและสั่งซื้อในโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ กับกระบวนการขอซื้อและสั่งซื้อในโรงงาน มากไปกว่านั้น ยังนำไปใช้จัดการเอกสารในกระบวนการ QA ในการผลิต การจัดการงบประมาณ การขอสินเชื่อ และอื่นๆ โดยการนำเทคโนโลยีที่มีใน IBM Business Automation มาช่วยในการทำงานทั้งหมด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดเวลาในการทำงาน และช่วยลดความผิดพลาดในการทำงานด้วยการทำงานอัตโนมัติ สรุปได้ว่า IBM Business Automation เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำไปใช้งานได้ในหลากหลายธุรกิจและกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพ
หากสนใจสอบถามข้อมูล หรือกำลังมองหาผู้ช่วยพัฒนาธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโต บริษัท C-Level Co., Ltd. ยินดีให้คำปรึกษา พร้อมค้นหาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ธุรกิจของคุณ
เราเป็น IBM Certified Gold Business Partner และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบริการเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ด้วยทีมงานที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร IBM Business Automation และมีพื้นฐานความเข้าใจในธุรกิจของลูกค้ารวมถึงโซลูชั่นเป็นอย่างดี ทำให้เราสามารถให้คำปรึกษา หรือให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ติดต่อเรา
● Email: [email protected]
● Website: https://www.the-c-level.com
● Facebook: https://www.facebook.com/theclevel
● The C-Level YouTube Channel: https://bit.ly/3nPNPrF
หรือติดต่อ บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด
Email : [email protected] หรือ โทร 02 3116881 #7156, 7158 |
# NTT ประกาศสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งที่สามในไทย BKK3 ลงทุน 3 พันล้านบาท เปิดบริการปี 67
NTT บริษัทโทรคมนาคมของญี่ปุ่น เปิดตัวศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในไทย Bangkok 3 Data Center (BKK3) ขนาดพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 3 พันล้านบาท จะเปิดบริการเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า 2567
ศูนย์ข้อมูล BKK3 ตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ห่างจากกรุงเทพ 57 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นศูนย์ข้อมูลสร้างใหม่ก็จะใช้นวัตกรรมสีเขียวมาช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ของทั้งกลุ่มบริษัทภายในปี 2573 ด้วย
เมื่อปี 2559 NTT เปิดศูนย์ข้อมูล BKK2 หรือ Nexcenter ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีพื้นที่ใช้งาน 5,000 ตารางเมตร และก่อนหน้านั้นมีศูนย์ข้อมูล BKK1 ในเขตพื้นที่กรุงเทพ
ภาพเรนเดอร์ของศูนย์ข้อมูล NTT BKK3 |
# Volkswagen ร่วมวง Android Automotive, มีสโตร์เอง, ประกาศซัพพอร์ตนานขั้นต่ำ 15 ปี
Volkswagen Group เป็นค่ายรถยนต์รายล่าสุดที่เข้าร่วมจักรวาล Android Automotive ของกูเกิล
เมื่อปี 2021 เครือ Volkswagen Group ประกาศทำระบบ infotainment ของตัวเองชื่อ One.Infotainment ซึ่งจะอิงอยู่บนฐานของ Android Automotive และจะเปิดให้ใช้งานในปี 2023 ตัวซอฟต์แวร์เป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการรถยนต์ VW.OS รับผิดชอบโดยบริษัทลูก Cariad ที่ทำซอฟต์แวร์ให้รถยนต์ทั้งเครือ
จุดเด่นอย่างหนึ่งของ One.Infotainment คือมีแอพสโตร์ของตัวเอง (แยกจากของกูเกิล) ที่ร่วมพัฒนากับบริษัท HARMAN ตอนนี้มีข้อมูลแล้วว่าจะมีแอพ TikTok, Spotify, Yelp, Webex, The Weather Channel, Home Assistant, Vivaldi ให้ใช้งาน
แบรนด์รถยนต์ในเครือ ได้แก่ Volkswagen, Audi, Porsche, Lamborghini, Bentley จะได้ใช้งานระบบ One.Infotainment โดยแต่ละแบรนด์จะปรับแต่งหน้าตาให้เข้ากับสไตล์ของตัวเอง ตอนนี้ประกาศแล้วว่า Audi จะเป็นแบรนด์แรกที่จะได้ใช้ระบบใหม่นี้ช่วงกลางปี รถยนต์รุ่นที่ขายไปแล้วจะได้อัพเดตซอฟร์แวร์ย้อนหลังด้วย
ข้อมูลใหม่อีกอย่างคือ Volkswagen จะซัพพอร์ต Android Automotive เท่าอายุการใช้งานของรถยนต์ (lifetime support) เป็นเวลา 15 ปีหรือนานกว่านั้น ในกรณีของบางแบรนด์ลูกที่มักใช้งานยาวนาน ลูกค้ามักซื้อรถยนต์เป็นของสะสม เช่น Bugatti, Porsche, Lamborghini ก็อาจรองรับนานกว่านั้นได้
ที่มา - Cariad, The Verge, Ars Technica |
# Nothing เปิดตัวหูฟัง Ear (2) หน้าตาคล้ายรุ่นแรก เพิ่ม Custom ANC เฉพาะบุคคล, Hi-Res Audio
Nothing เปิดตัวหูฟังไร้สายรุ่นที่สอง Nothing Ear (2) ที่ยังใช้ดีไซน์คล้ายกับหูฟังรุ่นแรก Ear (1) (สีขาว ดำ ใส)
ตัวหูฟังมีขนาดเล็กลงเล็กน้อย น้ำหนักเบากว่าเดิม (4.7g vs 4.5g) และเพิ่มอายุแบตเตอรี่จาก 34 ชม. เป็น 36 ชม. ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (รวมการชาร์จจากเคส) และเพิ่มสเปกการกันน้ำกันฝุ่นจากของเดิม IPX4 เป็น IP54
ของใหม่ที่สำคัญของ Ear (2) อยู่ที่ระบบเสียง ตัวไดรเวอร์ยังมีขนาด 11.6 มม. เท่าเดิม แต่ออกแบบใหม่เป็น Dual Chamber, รองรับระบบเสียง Hi-Res codec LHDC 5.0 และฟีเจอร์สำคัญคือตัดเสียงรบกวน (ANC) แบบปรับแต่งได้เฉพาะบุคคล สลับโปรไฟล์ได้ 3 แบบ
สเปกอย่างอื่นคืออัพเกรดเวอร์ชัน Bluetooth จาก 5.2 เป็น 5.3, เพิ่มโปรไฟล์ Bluetooth LE, รองรับการเชื่อมต่อ Google Fast Pair และ Microsoft Swift Pair, รองรับการเชื่อมต่อสองอุปกรณ์พร้อมกัน Dual Connectivity
ราคาขาย 149 ดอลลาร์ เท่ากับ Ear (1) ตอนขึ้นราคาแล้ว ส่วนราคาขายในไทยคือ 5,490 บาท แพงขึ้นจาก Ear (1) ที่ปรับเพิ่มเป็น 4,790 บาท
ที่มา - Nothing, Android Central |
# GNOME 44 ออกแล้ว แสดง Grid View ในหน้าจอเลือกไฟล์ได้แล้ว
เดสก์ท็อป GNOME ออกเวอร์ชัน 44 ตามรอบการออกรุ่นทุก 6 เดือน เวอร์ชันนี้ใช้โค้ดเนม Kuala Lumpur ตามสถานที่จัดงาน GNOME.Asia 2022
ของใหม่ใน GNOME 44 ได้แก่
หน้าจอเลือกไฟล์ File Chooser แสดงไฟล์แบบ grid view ให้เห็นไอคอนชัดๆ จากเดิมที่มีแต่แบบ list view ฟีเจอร์นี้เป็นสิ่งที่ผู้ใช้ GNOME เรียกร้องกันมาเยอะและนานมาก ในที่สุดก็ทำเสร็จให้ได้ใช้กัน
แอพตั้งค่า Settings ปรับ UI ของหน้าจอตั้งค่าใหม่ 4 อย่าง ได้แก่ Device Security, Accessibility, Sound, Mouse & Touchpad
เมนู Quick Settings เพิ่มรายละเอียดการตั้งค่า Bluetooth, เพิ่มรายชื่อแอพที่รันในแบ็คกราวนด์โดยไม่มีหน้าต่าง
เพิ่มแอพใหม่ๆ ในกลุ่ม GNOME Circle อีก 10 ตัว เช่น ตัวดูดสี Eyedropper, นาฬิกา Chess Clock, แอพอ่านการ์ตูน Komikku
GNOME 44 จะถูกนำไปใช้ในดิสโทรลินุกซ์หลายๆ ตัวที่จะออกหลังจากนี้ เช่น Ubuntu 23.04 หรือ Fedora 38
ที่มา - GNOME |
# Mozilla ประกาศตั้งกองทุน Mozilla.ai เพื่อส่งเสริมการสร้าง AI ที่เชื่อถือได้และโอเพนซอร์ส
Mozilla ประกาศตั้งกองทุน Mozilla.ai ด้วยเงิน 30 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมชุมชนสตาร์ทอัพ ในการสร้างระบบนิเวศ AI ที่เชื่อถือได้ เป็นอิสระ และโอเพนซอร์ส
Mark Surman ผู้อำนวยการ Mozilla Foundation กล่าวว่า ปี 2023 ผ่านไปแล้ว 3 เดือน ก็เป็นที่ชัดเจนว่าหนึ่งในหัวข้อใหญ่ของปีนี้คือ AI ซึ่งตอนนี้มีความสนใจในระดับเดียวกับ Netscape เมื่อปี 1994 และ iPhone เมื่อปี 2007 ตอนนี้ทุกคนต่างคิดว่า AI จะสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่เราก็สงสัยในอีกทางว่า AI จะทำงานผิดพลาดได้ไหม และเราจะรู้ได้อย่างว่ามีปัญหาแล้ว จึงเป็นที่มาของการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการทำ AI ที่เชื่อถือได้
Moez Draief จะเป็นผู้ดูแลโครงการดังกล่าว โดยช่วงแรก Mozilla.ai จะโฟกัสที่การสร้าง AI ผลิตเนื้อหาหรือ Generative AI ให้ปลอดภัยและโปร่งใส รวมทั้งสร้างระบบแนะนำเนื้อหาแบบใช้คนเป็นศูนย์กลาง ที่ไม่ให้ข้อมูลบิดเบือน
ที่มา: Mozilla |
# เปิดตัว Counter-Strike 2 ยกเครื่องด้วยเอนจิน Source 2 เปิดให้เล่นฤดูร้อนนี้
หลังจากลือกันมาหลายสัปดาห์ Valve ก็เปิดตัว Counter-Strike 2 อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งใช้เอนจิน Source 2 เปิดให้เริ่มเล่นตั้งแต่ฤดูร้อนปีนี้
Counter-Strike 2 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายอย่าง อย่างแรกคือควันที่ตอบสนองกับสถานการณ์ในเกมมากขึ้น เช่น การใช้กระสุนเปิดทาง, การกระจายในฉากที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น และการตอบสนองต่อแสง
การเปลี่ยนแปลงอื่นเช่น ฉากแผนที่ได้รับการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ระบบแสง วัตถุ การสะท้อน ที่สมจริงมากขึ้น ยกเลิกระบบอัตรา Tick ของเซิร์ฟเวอร์ โดยใช้ Sub-Tick เพื่ออัพเดตสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเกมแทน
Counter-Strike 2 เปิดให้ทดสอบแบบจำกัดตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดูรายละเอียดได้ที่ counter-strike.net/cs2
ที่มา: Gamespot |
# ACM มอบรางวัล Turing Award ให้ Robert Metcalfe ผู้ร่วมออกแบบอีเธอร์เน็ต
Association for Computing Machinery (ACM) สมาคมวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ชื่อดัง ประกาศมอบรางวัล Turing Award พร้อมเงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์ให้กับ Robert Metcalfe ผู้ร่วมสร้างอีเธอร์เน็ตในปี 1973 หรือ 50 ปีที่แล้ว และเป็นรากฐานข้อระบบสื่อสารคอมพิวเตอร์ยอดนิยมในทุกวันนี้ที่ยังคงใช้แนวคิดในการส่งข้อมูลคล้ายเดิม
Metcalfe ออกแบบอีเธอร์เน็ตเมื่อสมัยทำงานอยู่ Xerox Palo Alto Research Center (PARC) โดยครั้งแรกที่สาธิตการทำงานได้ระบบมีความเร็ว 2.94Mbps และยุคแรกออกแบบให้ใช้งานกับสาย Coaxial (หรือสายอากาศทีวี หากยังมีใครเห็นอยู่ตามบ้าน) แนวคิดหลักคือการออกแบบระบบให้คอมพิวเตอร์จำนวนมากสามารถสื่อสารบนสายเส้นเดียวกันได้ เรียกว่า อีเธอร์ แนวคิดนี้สามารถดัดแปลงไปใช้งานกับสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสายโทรศัพท์หรือสายแลน (สายกลุ่ม twisted pair), สายไฟเบอร์, สายไฟแรงสูง, หรือแม้แต่คลื่นวิทยุ
เขาลาออกไปตั้งบริษัท 3Com ในปี 1979 และกลายเป็นผู้ผลิตการ์ดแลนบน IBM PC ทุกวันนี้เขาเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณอยู่ที่ MIT Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory (CSAIL)
ที่มา - ACM, MIT CSAIL
แผนภาพการออกแบบอีเธอร์เน็ตจากรายงาน "Ethernet: Distributed Packet Switching for Local Computer Networks" ที่เขียนร่วมกับ David Boggs ที่เสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว |
# Tencent ไตรมาส 4/2022 รายได้ทรงตัวจากปีก่อน ธุรกิจโฆษณาเติบโตสูง
Tencent รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 รายได้รวม 1.45 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิตามบัญชี non-IFRS 2.97 หมื่นล้านหยวน
รายได้จากบริการออนไลน์ ลดลง 2% เป็น 7.04 หมื่นล้านหยวน โดยลดลงจากบริการโซเชียลและเกมออนไลน์ในจีน ส่วนเกมต่างประเทศ รายได้เพิ่มขึ้น 5% ส่วนใหญ่มาจาก VALORANT และ League of Legends ทั้งนี้ Tencent บอกว่าส่วนบริการออนไลน์ที่รายได้เพิ่มขึ้นได้แก่ Video Accounts (WeChat Video) แอปไลฟ์ และบริการฟังเพลงแบบสมัครสมาชิก
ส่วนรายได้จากธุรกิจโฆษณาออนไลน์เพิ่มขึ้น 15% เป็น 2.47 หมื่นล้านหยวน โดยกลุ่มที่มีการซื้อโฆษณามากขึ้นได้แก่ อีคอมเมิร์ซ, FMCG และเกม ขณะที่กลุ่ม FinTech และธุรกิจองค์กร ลดลง 1% เป็น 4.72 หมื่นล้านหยวน
Ma Huateng ซีอีโอ Tencent กล่าวว่าตลอดปี 2022 บริษัทได้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ โฟกัสเฉพาะกิจกรรมหลักของบริษัท การพัฒนาธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับสิ่งที่มีเช่นบริการไลฟ์สตรีมมิ่ง และการขยายตลาดเกมนอกจีน นอกจากนี้บริษัทยังเพิ่มการลงทุนด้าน AI เพื่อรองรับในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในอนาคต
ที่มา: Tencent (pdf) |
# GitHub เปิดตัว Copilot X เพื่อนคู่โปรแกรมเมอร์พลัง GPT-4 ถามได้ตั้งแต่โค้ดจนคำสั่ง command line
GitHub Copilot นับเป็นบริการตัวแรกที่ไมโครซอฟท์ร่วมมือกับ OpenAI อย่างจริงจังตั้งแต่สมัย GPT-2 ตอนนี้ทาง GitHub ก็เปิดตัว Copilot X บริการรุ่นอัพเกรดเพิ่มมาหลายฟีเจอร์ และบางฟีเจอร์ก็ใช้ GPT-4 ที่เพิ่งเปิดตัวมาแล้ว รายการฟีเจอร์ที่เพิ่มมาได้แก่
อินเทอร์เฟซแบบ ChatGPT: จากเดิม Copilot จะเติมโค้ดแบบ autocomplete เท่านั้น แต่เวอร์ชั่นใหม่สามารถพูดคุยสอบถาม เช่น ขอ testcase สำหรับโค้ดที่เขียนไปแล้ว หรือให้ช่วยปรับแก้โค้ดให้
Copilot for Pull Request: อ่านแพตช์ที่นักพัฒนาส่งเข้าไปแล้วเติมคำบรรยายให้โดยอัตโนมัติ รูปแบบนี้คล้ายกับก่อนหน้าที่มีนักพัฒนาทำแพ็กเกจ aicommit ช่วยคิดคำบรรยาย commit
ระบบถามตอบจากเอกสาร: โครงการใหญ่ๆ เช่น React, Azure Docs, และ MDN จะมีหน้าถามตอบเฉพาะเพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์ไปอ่านเอกสารและตอบคำตอบมาให้ ตอนนี้ยังจำกัดเฉพาะบางโครงการและอนาคตจะเปิดให้ใช้กับเอกสารภายในได้ด้วย
ถามวิธีใช้คำสั่ง command line: ฟีเจอร์เพิ่มเติมของ GitHub CLI สามารถถามวิธีการใช้คำสั่งต่างๆ หรือขอคำสั่งตามที่ต้องการ สามารถสั่งรันได้ทันที
แม้จะเรียกชื่อรวมว่า GitHub Copilot X แต่ฟีเจอร์ต่างๆ ก็แยกจากกัน ต้องสมัครใช้งาน หรือเข้าคิวรอใช้งานแยกกัน
ที่มา - GitHub |
# เปิดตัว Oppo Find X6 Pro กล้องหลักใช้เซ็นเซอร์ขนาด 1 นิ้ว ซูม 6 เท่า
Oppo เปิดตัวมือถือเรือธงประจำปี Oppo Find X6 Pro โดยยังชูจุดเด่นเรื่องกล้องเช่นเคย
กล้องหลักมีความละเอียด 50MP ใช้เซ็นเซอร์หลักขนาด 1 นิ้ว (เหมือนกับรุ่นท็อปของ Xiaomi) + เลนส์อัลตร้าไวด์และซูม periscope อย่างละ 50MP เท่ากัน รองรับซูมไฮบริด 6 เท่า กล้องทั้ง 3 ตัวมี OIS นอกจากนี้ยังมีชิปประมวลผลภาพของตัวเอง MariSilicon X ช่วยให้ภาพออกมามีรายละเอียดสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีโหมด Hasselblad Portrait Mode ให้ความรู้สึกเหมือนเลนส์ XCD30 และ XCD80 ด้วย
สเปกอย่างอื่นของ Oppo Find X6 Pro คือ
หน้าจอ 6.82" ความสว่าง 2500 nits กระจก Gorilla Glass Victus 2
ชิป Snapdragon 8 Gen 2
แรม 12/16GB, สตอเรจ 256/512GB
กล้องหน้า 32MP
แบตเตอรี่ 5,000mAh ชาร์จเร็วมีสาย 100W ชาร์จเร็วไร้สาย 50W
ColorOS 13.1 อิงอยู่บน Android 13
ตอนนี้ยังวางขายเฉพาะในจีน ราคาเริ่มต้นที่ 5,999 หยวน (ประมาณ 30,000 บาท) สำหรับรุ่น 12GB+256GB
ที่มา - XDA, Engadget |
# EA ปิดเซิร์ฟเวอร์-หยุดขายเกม Battlefield ภาคเก่า 1943, Bad Company 1 & 2
EA ประกาศหยุดให้บริการและหยุดขายเกม Battlefield ภาคเก่า ได้แก่ Battlefield 1943, Bad Company 1 & 2 โดยจะเริ่มหยุดขายผ่านช่องทางดิจิทัลในวันที่ 28 เมษายน 2023 และปิดบริการออนไลน์ในวันที่ 8 ธันวาคม 2023
กรณีของ Bad Company 1 & 2 ผู้เล่นยังสามารถเล่นเกมในโหมดเนื้อเรื่องแบบออฟไลน์ได้ต่อไป
Battlefield Bad Company 1 ออกในปี 2008 และปีถัดมาคือ Battlefield 1943 ออกในปี 2009 ทั้งสองเกมถือเป็น Battlefield รุ่นแรกที่ใช้เอนจิน Frostbite และมีให้เล่นเฉพาะบนคอนโซล PS3 และ Xbox 360 เท่านั้น (ไม่มีเวอร์ชันพีซี) หลังจากนั้น Bad Company 2 ออกตามมาในปี 2010 ถึงมีเวอร์ชันพีซีด้วย
ที่มา - EA via IGN |
# Azure OpenAI เปิดให้บริการเช่าใช้งาน GPT-4 แล้ว
ไมโครซอฟท์เปิดบริการโมเดล GPT-4 บน Azure OpenAI Service อย่างรวดเร็ว คล้อยหลังการเปิดตัวของ OpenAI เพียงหนึ่งสัปดาห์
ค่าใช้บริการคิดเป็น token โดยแยกเป็น token ในการสั่งงาน (prompt) และการรันงานจนเสร็จ (completion) ราคาแบบรุ่นเล็ก (8k content) คือ 0.03 ดอลลาร์ต่อ 1,000 tokens (prompt) และ 0.06 ดอลลาร์ต่อ 1,000 tokens (completion) หากต้องการใช้รุ่นใหญ่ (32k content) ราคาจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
บริการ Azure OpenAI Service ให้บริการโมเดลของ OpenAI หลายตัว เช่น GPT-3.5, Dall-E 2, ChatGPT และล่าสุดคือ GPT-4
ที่มา - Microsoft Azure Blog |
# Google ดึงทีมพัฒนา Google Assistant มาช่วยในการพัฒนา Bard
แม้ปัจจุบันโมเดลปัญญาประดิษฐ์ของ Google Assistant และ Google Bard จะยังไม่ใช่ตัวเดียวกัน แต่ในการพัฒนา Bard ที่โมเดลประมวลผล LaMDA ทาง Google ก็มีการดึงทีมงานจาก Google Assistant ที่เชี่ยวชาญการทำ AI รูปแบบการสนทนาและการเข้าใจคำสั่งพูด (conversational AI and speech understanding) มาช่วยในการพัฒนา Bard ด้วย
อีกส่วนที่ทีม Google Assistant เชี่ยวชาญและเข้ามาช่วย คือการแปลงงานวิจัย ให้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์และให้บริการจริงกับลูกค้าจำนวนมากมาหลายปี
อย่างการประกาศเปิดให้สมัครทดสอบใช้งาน Bard เมื่อคืนนี้ หนึ่งในคนที่ประกาศคือ Sissie Hsiao ตำแหน่ง Vice President and General Manager ของ Google Assistant
ที่มา - 9to5Google |
# คนร้ายในไทยเริ่มใช้เทคนิคแอบดู PIN แล้วขโมยไอโฟนเพื่อดูดเงิน
นายแพทย์ประวีณ จันจำปา โพสเตือนถึงกรณีน้องสาวถูกขโมยโทรศัพท์ไอโฟนจากนั้นโอนเงินออกจากบัญชีต่างๆ พร้อมกับเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตเพื่อเบิกเงินสด ความเสียหายมูลค่านับล้านบาท โดยคนร้ายจะยึดบัญชี Apple ID ทันทีหลังได้โทรศัพท์ไป
แนวทางนี้นับตรงกับคดีรูปแบบเดียวกันที่ระบาดในสหรัฐฯ และยุโรป โดยคนร้ายจะอาศัยการแอบดู PIN ของโทรศัพท์ที่เหยื่ออาจจะใส่ระหว่างปลดล็อกเครื่องในโอกาสต่างๆ เนื่องจากไอโฟนสามารถเปลี่ยนรหัส Apple ID ได้โดยต้องรู้ PIN ของโทรศัพท์และมีโทรศัพท์อยู่กับตัว
แนวทางลดความเสี่ยงการโจมตีรูปแบบนี้ทางโฆษกของแอปเปิลเคยระบุว่าสามารถใช้ Touch ID หรือ Face ID ลดความเสี่ยงคนร้ายแอบมองได้ หรืออีกทางหนึ่งคือใช้ฟีเจอร์ Screen Time ล็อกการเปลี่ยนรหัสผ่าน Apple ID อีกชั้น
ที่มา - Facebook: สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว |
# จีนอนุมัติวัคซีน mRNA ตัวแรกจากบริษัทจีนเอง
สำนักงานยาแห่งชาติ (National Medical Products Administration - NMPA) ของจีนอนุมัติวัคซีน SYS6006 ของบริษัท CPSC Pharmaceutical ให้ใช้งานได้หลังจากทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง 5,500 คนและพบว่าได้ผลดีมีความปลอดภัยเพียงพอ โดยการอนุมัติครั้งนี้เป็นการอนุมัติแบบฉุกเฉิน
การทดสอบวัดระดับภูมิของผู้ที่ได้รับวัคซีน SYS6006 เป็นเข็ม booster ไปแล้ว 14 วัน มีระดับภูมิสูงกว่าคนไม่ได้ฉีด 83 เท่าตัว ประสิทธิภาพวัคซีน (เอกสารไม่ได้ระบุเงื่อนไขการวัดประสิทธิภาพว่าดูจากอะไร) อยู่ที่ 85.3% เมื่อดูผลช่วง 14-28 วันหลังฉีดวัคซีน ตัววัคซีนสามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้
กรรมการภายในของ NMPA เคยแนะนำให้ NMPA อนุมัติวัคซีน mRNA มาใช้งานตั้งแต่กลางปี 2021 แต่สุดท้ายก็ไม่มีวัคซีน mRNA ตัวใดได้รับอนุมัติจนกระทั่งจีนเปิดประเทศในช่วงหลัง
ที่มา - IR Asia
ภาพโดย spencerbdavis1 |
# Java 20 ออกแล้ว
Oracle ออก Java 20 ตามรอบการออกรุ่นทุก 6 เดือน โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นซัพพอร์ตระยะสั้น 6 เดือนจนถึง Java 21 ในเดือนกันยายน (ซึ่ง Java 21 จะเป็นรุ่นซัพพอร์ตระยะยาว LTS ตัวใหม่ด้วย)
ของใหม่ใน Java 20 มีทั้งหมด 7 อย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามโครงการพัฒนา Java ระยะยาว ที่มีโค้ดเนมเป็นชื่อโครงการ โดยฟีเจอร์เหล่านี้ยังเป็นการทดสอบแบบ Preview/Incubator ที่ยังไม่เข้าสถานะเสถียร แต่เปิดให้ทดลองใช้งานแล้ว
Project Amber การทำ Record Patterns และ Pattern Matching สำหรับ switch
Project Panama การเชื่อมต่อระหว่าง JVM กับโค้ดแบบเนทีฟ เพิ่ม Foreign Function & Memory API และ Vector API
Project Loom การทำเรื่องเธร็ดและ concurrent รอบนี้เพิ่ม Virtual Threads, Scoped Values, Structured Concurrency
นอกจากฟีเจอร์ 3 กลุ่มนี้แล้วยังมีการแก้บั๊ก ปรับปรุงประสิทธิภาพ และฟีเจอร์ย่อยอื่นๆ เช่น รองรับ Unicode 15.0
ที่มา - Oracle |
# Ubisoft เปิดตัว Ghostwriter เครื่องมือสร้างบทสนทนาในเกมด้วย AI
Ubisoft เปิดตัว Ghostwriter เครื่องมือ AI สำหรับสร้างบทสนทนาในเกม โดยเป็นผลงานจาก La Forge ฝ่ายวิจัยของบริษัทเอง
Ubisoft บอกว่า Ghostwriter ไม่ได้สร้างขึ้นมาให้นักเขียนบทเกมตกงาน แต่เข้ามาช่วยให้งานเขียนบทที่น่าเบื่อ (ในวงการนี้เรียกว่า bark เช่น คำพูดของตัวละคร NPC คุยกันเอง, คำพูดของศัตรูตอนต่อสู้กับเรา) ง่ายขึ้น เพื่อให้นักเขียนมีเวลาไปขัดเกลาบทสนทนาส่วนอื่นๆ ของเกม โดยเฉพาะพล็อตหลักของเรื่องให้ดีขึ้นแทน
Ghostwriter จะเข้ามาช่วยเขียน "ร่างแรก" ของบทสนทนาเหล่านี้ให้ เพื่อให้เกิดความหลากหลายของบทสนทนา ไม่เปลืองแรงของนักเขียนบทมากเกินไป แล้วนักเขียนค่อยมาปรับแก้ข้อความตัวอย่างในภายหลัง
วิธีการทำงานของ Ghostwriter คือให้นักเขียนสร้างตัวละครขึ้นมาก่อน กำหนดแนวทางการพูดคุยของตัวละครตัวนั้นเพื่อให้ AI สร้างข้อความขึ้นมาให้ จากนั้น Ghostwriter จะสร้างข้อความ 2 แบบขึ้นมาให้เลือก โดย AI จะเรียนรู้จากข้อความที่นักเขียนเลือกไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้สร้าง
ที่มา - Ubisoft |
# NVIDIA เปิดตัวจีพียู RTX Ada Generation สำหรับโน้ตบุ๊กเวิร์คสเตชัน
NVIDIA เปิดตัวจีพียูเวิร์คสเตชันแบรนด์ RTX (Quadro เดิม) ที่ใช้สถาปัตยกรรม Ada Lovelace เพิ่มเติมอีก 6 รุ่น หลังจากเปิดตัวจีพียู RTX 6000 รุ่นท็อปมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2022
โน้ตบุ๊ก มี 5 รุ่นย่อยคือ RTX 5000, RTX 4000, RTX 3500, RTX 3000, RTX 2000
เดสก์ท็อป มี 1 รุ่นย่อยคือ RTX 4000 Small Form Factor (SFF) แรม 20GB DDR6 ECC
วิธีการเรียกชื่อรุ่นจีพียู RTX รอบนี้เปลี่ยนไปจากของเดิมที่มีตัวอักษรย่อตามโค้ดเนมสถาปัตยกรรมนำหน้า (เช่น RTX A5000 สำหรับ Ampere) คราวนี้ตัดตัวอักษรนำหน้าออก เหลือแต่ตัวเลข แต่ใช้คำว่า "Ada Generation" ต่อท้ายชื่อแทน
สเปกอย่างละเอียดของ RTX Ada Generation ดูได้จากตารางเปรียบเทียบ โดยรุ่นท็อปสุด RTX 5000 มี CUDA Core 9,782 คอร์, RT Core 76 คอร์, Tensor Core 304 คอร์, แรม 16GB GDDR6 EEC 256-bit, TDP 8--175W
ที่มา - NVIDIA |
# Raja Koduri หัวหน้าฝ่ายกราฟิกของ Intel ลาออกจากตำแหน่งแล้ว
Pat Gelsinger ซีอีโออินเทล ประกาศว่า Raja Koduri หัวหน้าฝ่ายสถาปัตยกรรม (Chief Architect) จะลาออกจากตำแหน่ง มีสิ้นเดือนมีนาคมนี้ โดยเขาจะไปทำสตาร์ทอัพด้าน Generative AI สำหรับเกมและสื่อบันเทิง
Raja Koduri ร่วมงานกับอินเทลเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยเขาย้ายมาจาก AMD เพื่อมาดูแลส่วนการพัฒนาชิปกราฟิกให้อินเทลโดยเฉพาะ และเปิดตัวการ์ดจอแบรนด์ใหม่ Intel Arc ในปี 2021
หลังการลาออกนี้ Jeff McVeigh จะเป็นรักษาการหัวหน้าฝ่าย AXG ที่ดูแลคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ซึ่งก่อนหน้านี้ Raja Koduri ดูแลอยู่ด้วย
ที่มา: Neowin และ Tom's Hardware |
# Instagram เพิ่มโฆษณา 2 รูปแบบใหม่: แจ้งเตือนเมื่อมีอีเวนต์ และโฆษณาในหน้าเสิร์ช
Instagram ประกาศเพิ่มเครื่องมือใหม่สำหรับฝั่งแบรนด์ผู้ลงโฆษณา มีสองอย่างดังนี้
Reminder Ads เป็นโฆษณาที่แสดงผลในหน้าฟีดผู้ใช้งาน ให้สามารถเลือกกด (opt-in) เพื่อให้ Instagram ส่งแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงเวลาของอีเวนต์นั้น ซึ่งการแจ้งเตือนจะมี 3 ครั้งคือ 1 วันก่อนถึงเวลา, 15 นาที และขณะเวลานั้น
Ads in Search Results โฆษณาจะแสดงผลแทรกมาในหน้าผลการค้นหา ซึ่งเหมาะกับการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กำลังค้นหาเรื่องที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้อยู่ในสถานะทดสอบ และจะเปิดให้ใช้งานทั่วโลกในไม่กี่เดือนข้างหน้า
ที่มา: Instagram |
# Adobe เปิดตัว Firefly เครื่องมือ Generative AI สำหรับสร้างสรรค์รูปภาพ
Adobe เปิดตัว Firefly ชุดเครื่องมือใหม่สำหรับงานสร้างสรรค์เนื้อหาด้วย AI หรือ Generative AI ผ่านโมเดลหลากหลายรูปแบบ โดยโมเดลชุดแรกคือการสร้างรูปภาพ แบบเดียวกับ Midjourney และการใส่เอฟเฟกต์ให้ข้อความตัวหนังสือ
Firefly ตอนนี้ยังมีสถานะเบต้า โดยจะส่วนหนึ่งของ Adobe Sensei เครื่องมือสร้างสรรค์ด้วย AI ที่อยู่ในทุกผลิตภัณฑ์ของ Adobe ตอนนี้รองรับเฉพาะการใช้งานผ่านเว็บเท่านั้น
Adobe ยังตอบประเด็นเรื่องรูปภาพที่ใช้เทรนซึ่งมีปัญหามาก่อนหน้านี้ ยืนยันว่าชุดข้อมูลที่นำมาเทรนเพื่อใช้สร้างรูปภาพ เป็นภาพจาก Adobe Stock ซึ่งได้ไลเซนส์มาถูกต้อง ภาพที่สร้างขึ้นจึงสามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้
ทั้งสองเครื่องมือนี้เปิดให้ทดลองใช้งานแล้วตั้งแต่วันนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิก Creative Cloud แต่จะจำกัดจำนวนการใช้งานในตอนนี้
ที่มา: The Verge และ Adobe |
# NVIDIA เปิดตัว DGX Cloud เช่าเซิร์ฟเวอร์ฝึก AI เริ่มต้นเดือนละ 1.2 ล้านบาท
NVIDIA เปิดตัว NVIDIA DGX Cloud บริการเช่าเซิร์ฟเวอร์เหมาเครื่อง สำหรับองค์กรที่ต้องการฝึกปัญญาประดิษฐ์ โดยโครสร้างหลักอยู่บน Oracle Cloud ที่มีเซิร์ฟเวอร์จำนวนมาก พร้อมให้บริการชิปกราฟิกถึง 32,000 ชุด
ความแตกต่างของ DGX Cloud คือเป็นการเช่าเครื่องทั้งเครื่องเป็นรายเดือน ซึ่งก็นับว่าราคาถูกกว่าซื้อเองทั้งเครื่องอยู่มาก แต่ละเครื่องมีการ์ด NVIDIA A100 อยู่ 8 ใบ รวมแรม 640GB และหากเช่าหลายเครื่องพร้อมกันก็จะเชื่อมต่อกันด้วยระบบเน็ตเวิร์คของ NVIDIA เอง
ทาง NVIDIA โชว์ว่ามีผู้ใช้ DGX Cloud แล้วเช่น Amgen ใช้โมเดล BioNeMo ของ NVIDIA เพื่อวิจัยยา ขณะที่ ServiceNow ใช้เพื่อวิจัยเรื่องการสร้างโมเดลภาษาขนาดใหญ่, ปัญญาประดิษฐ์ช่วยเขียนโค้ด, และการวิเคราะห์อื่นๆ
ราคาต่อเครื่องต่อเดือนอยู่ที่ 36,999 ดอลลาร์ หรือ 1.27 ล้านบาท และการใช้งานต้องติดต่อตัวแทน NVIDIA
ที่มา - NVIDIA |