n_cabinet
int64
1
63
text
stringlengths
484
77k
1
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑ พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ - ๙ ธันวาคม ๒๔๗๕ แถลงนโยบาย เมื่อวันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถือเอาหลัก ๖ ประการ ของคณะราษฎร เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีคณะนี้* ๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทาง เศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง ๒. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก ๓. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายาม หางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจ แห่งชาติ ไม่ปล่อย ให้ราษฎรอดอยาก ๔. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ๕. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น ๖. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร (คณะกรรมการราษฎรคณะนี้ ไม่มีการแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภา แต่ได้ถือเอาหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรที่ได้ให้สมาชิกสภาปฏิญาณตนต่อสภาก่อน เข้ารับ หน้าที่นั้นเป็นนโยบายของรัฐบาล) *รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑/๒๔๗๕ วันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ หน้า ๖ - ๗
2
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒ พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ - ๓๑ มีนาคม ๒๔๗๕ แถลงนโยบาย เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ คำแถลงนโยบายของรัฐบาล* ว่าโดยทั่ว ๆ ไป รัฐบาลนี้รับรองหลัก๖ประการที่คณะกรรมการราษฎรได้ดำเนินการอยู่แล้ว เป็นจุดที่หมายที่จะดำเนินการต่อไปให้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จ ก่อนที่จะกล่าวถึงหลัก ๖ ประการนั้น ใคร่จะขอแสดงถึงกิจการที่คณะกรรมการราษฎรซึ่ง เป็น รัฐบาลอยู่ก่อนวันที่ ๑๐ เดือนนี้ ได้ดำริไว้และได้ลงมือกระทำไปแล้วรัฐบาลนี้เห็นชอบด้วยในกิจการนั้น ๆ และจะดำเนินการต่อไปให้ลุล่วงตามแต่จะทำได้ ขอให้เป็นที่เข้าใจกันไว้ว่า เมื่อรัฐบาลนี้ได้รับความไว้ใจ ของสภาแล้ว อายุของรัฐบาลนี้จะอยู่ไปจนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท ตาม รัฐธรรมนูญ เมื่อถึงเวลานั้นจะต้องลาออกกันหมดซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นในตอนต้นปีหน้าในระหว่างนี้ มีเวลา อีกไม่กี่เดือนแต่ก็จะพยายามดำเนินการต่อไปเท่าที่สามารถจะทำได้ กิจการที่กล่าวนั้น คือ ๑) คณะกรรมการราษฎรเห็นว่ารูปราชการทุกกระทรวงทบวงการที่เป็นอยู่ยังมีการก้าวก่ายไม่สม แก่กาละ จึงได้คิดจัดวางโครงการเสียใหม่ คณะกรรมการราษฎรได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นพิจารณาอนุกรรมการ ได้ทำไปแล้วเกือบสำเร็จ ในบัดนี้รัฐบาลก็จะได้ดำเนินการต่อไปเมื่อวางรูปสำเร็จลงอย่างใดก็จะได้ทำเป็นรูป พระราชบัญญัติเสนอให้สภาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ๒) เทศบาล รัฐบาลนี้เห็นว่าวิธีการปกครองโดยรวมอำนาจและหน้าที่การปกครองทั่วประเทศให้มา อยู่ในจุดศูนย์กลางจุดเดียวอย่างเช่นเดี๋ยวนี้ ไม่ได้ผลดีเท่ากับที่จะแบ่งอำนาจและหน้าที่ให้ไปอยู่ ในเฉพาะ ท้องที่เสียบ้าง เพื่อว่าการปกครองในเฉพาะท้องที่หนึ่ง ๆจะได้มุ่งอยู่ในผลประโยชน์ของท้อง ที่นั้น ๆ วิธีจัด ให้มีการปกครองเฉพาะท้องที่ขึ้นก็โดยวิธีจัดให้มีผู้แทนราษฎรในท้องที่นั้น ๆจัดการกันเอง วิธีการเช่นนี้เขา ทำกันอยู่แล้วในนานาประเทศเมื่อครั้งรัฐบาลเก่าความคิดเช่นนี้ก็มีอยู่จนถึงได้ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้น ฉบับหนึ่งแต่ว่าด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งการมิได้ลุล่วงไปรัฐบาลนี้เห็นเป็นการสำคัญจะได้จัดให้มีเทศบาล หรือ การปกครองท้องถิ่นขึ้นในราวต้นปีหน้า ๓) หน้าที่ของกรมร่างกฎหมายที่มีอยู่เวลานี้ก็เพียงร่างกฎหมายตามที่รัฐบาลจะสั่งให้ร่างอันที่จริง กรมร่างกฎหมายควรจะเปลี่ยนรูปเป็นสภาและทำงานยิ่งขึ้นไปกว่านี้คือ นอกจากร่างกฎหมายแล้วให้มีหน้าที่ พิจารณาคดีปกครองด้วยวิธีนี้หลายประเทศได้ปฏิบัติกันและรัฐบาลนี้เห็นว่าประเทศสยามก็ควรจะนำเอามาใช้ ๔) ระเบียบข้าราชการพลเรือนและข้าราชการตุลาการเวลานี้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พลเรือนและข้าราชการตุลาการมีอยู่แล้วรัฐบาลนี้จะได้จัดให้ดำเนินการไปโดยเคร่งครัดในการแข่งขันเข้ารับ หน้าที่การงาน ทั้งการเงินเดือน เลื่อนชั้น โดยหลักวิชาความรู้ให้เคร่งครัดยิ่งขึ้นอนึ่งจะได้วางหลักแบ่งประเภท ข้าราชการเสียให้ชัดแจ้งเป็น ๓ ประะเภท คือ ประเภทการเมือง ประเภทสามัญและประเภทวิสามัญ กล่าวโดยย่อ ประเภทการเมือง ได้แก่ ตำแหน่งการเมือง เช่นตำแหน่งรัฐมนตรีและข้าราชการที่มีไว้สำหรับ ประจำตัวรัฐมนตรี ฯลฯ ข้าราชการจำพวกนี้จะเข้าถือหรือออกจากตำแหน่งได้แล้วแต่ความเป็นไป ของ การเมือง กล่าวคือแล้วแต่สภานี้จะไว้ใจในรัฐมนตรีนั้น ๆ หรือไม่ ประเภทสามัญ ได้แก่ข้าราชการประจำกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่ประจำอยู่เพื่อดำเนิน ราชการไปตามระเบียบและตามนโยบายที่รัฐบาลจะได้สั่งหรือกำหนดไว้ให้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง กับการเมือง ข้าราชการประเภทนี้นับว่าเป็นประเภทสำคัญมากเหมือนกันเพราะว่าประเภท การเมืองนั้นเข้า ๆ ออก ๆ ตามความเป็นไปของการเมือง แต่ข้าราชการประเภทนี้จะต้องอยู่ประจำดำเนินราชการ ประเภทวิสามัญ ได้แก่ ข้าราชการที่รัฐบาลจ้างไว้เป็นพิเศษสำหรับข้าราชการในประเภทสามัญ และประเภทวิสามัญนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองดังกล่าวแล้ว เป็นแต่จะต้องปฏิบัติไปตามคำสั่งของผู้บังคับ บัญชาโดยเคร่งครัดเพื่อที่จะให้ได้ผลดีข้าราชการจำพวกนั้นจะต้องได้รับความมั่นใจในความเป็นอยู่ของตน กล่าวคือ ความมั่นใจในการที่จะได้เงินเดือนเลื่อนชั้น และความมั่นคงในหน้าที่เพื่อที่จะให้ได้ความมั่นใจ ดั่งนี้ จำเป็นจะต้องมีระเบียบ มีหลัก มีเกณฑ์เป็นที่แน่นอน วิถีซึ่งจะดำเนินไปสู่หลัก ๖ ประการที่กล่าวข้างต้นนั้น คือ ๑. เอกราช ก. ในทางศาล เวลานี้ย่อมรู้กันอยู่แล้วว่ามีหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีผูกมัดเราอยู่ เอกราชแห่งการศาล ของเราจึงยังไม่บริบูรณ์ และเพื่อที่จะให้ผ่านพ้นข้อความนี้ ก็มีอยู่วิธีเดียว คือ รีบเร่งทำประมวลกฎหมาย ออกมาให้ครบชุดตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี รัฐบาลเก่าได้เริ่มการและร่างประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ประกาศใช้แล้ว ๔ บรรพ เมื่อคณะกรรมการราษฎรเป็นรัฐบาลก็ได้รีบเร่งทำต่อมาแม้ในเวลา อันน้อย เจ้าหน้าที่ก็ได้ร่างบรรพ ๕ สำเร็จขึ้นเสนอสภา บรรพ ๖ ก็ได้ร่างสำเร็จแล้วเหมือนกันและจะได้เสนอ สภาในเร็ว ๆ นี้ต่อคงเหลือประมวลว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง และ ประมวลวิธีพิจารณาความอาชญา ซึ่งกำลังรีบเร่งทำอยู่เวลานี้ เมื่อประมวลกฎหมายออกสำเร็จแล้ว หนังสือ สัญญาทางพระราชไมตรีกำหนดไว้ว่าต่อไปอีก ๕ ปี เราจะได้เอกราชในทางศาลโดยบริบูรณ์ ข. ในทางเศรษฐกิจ ข้อนี้จะได้กล่าวในตอนที่ว่าด้วยนโยบายแห่งการเศรษฐกิจ ค. ในการเมือง การนี้จะมั่นคงก็เนื่องจากผลแห่งการจัดวัตถุประสงค์อื่น ๆ ให้สำเร็จไป ๒. ความสงบภายใน การรักษาความสงบภายในนี้จักต้องอาศัยการจัดระเบียบการปกครองซึ่งคณะกรรมการราษฎร ได้จัดตั้งอนุกรรมการขึ้นพิจารณาแล้วประการหนึ่ง กับทั้งจักต้องอาศัยการบำรุงในทางเศรษฐกิจ ให้ราษฎรได้มีอาชีพและมีความสุขสมบูรณ์ และจัดบำรุงการศึกษา ฯลฯ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ๓. เศรษฐกิจ ข้อนี้สำคัญมาก จุดที่หมายของการนี้ย่อมรู้อยู่ทั่วกันแล้วและปรากฏอยู่ในหนังสือตำราปัจจุบัน เป็นอันมากว่าความสุขสมบูรณ์ของมนุษยชนจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยได้รับความสุขกายสบายใจที่พูดดั่งนี้ ถ้าหวังแต่เพียงจะพูดอย่างเทศน์ให้ฟังก็เป็นของง่ายดายเต็มทีแต่ที่จะให้ได้รับผลจริงจังแล้วเป็นการ ยากแสนยากโดยปกติคนเราถ้ารู้สึกมีเสรีภาพ ไม่ถูกบีบคั้น มีความเสมอภาคในกฎหมายและในโอกาส การทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่แล้วย่อมได้ความพอสุขใจพอควรความสุขกาย คนเราถ้ามีที่อยู่ มีอาหารกิน มีอาชีพหรืออีกนัยหนึ่งมีเครื่องอุปโภคบริโภคพอควรแก่ชีวิตก็จัดว่าเป็นการสุขกายพอควรอยู่แล้ว แต่ว่าราษฎรในเมืองเรามี๑๑ล้านเศษความรู้ความสามารถกำลังกายและอาชีพย่อมต่าง ๆ กันอยู่เป็นการ ยากนักหนาที่จะจัดให้ได้รับความพอใจทั่วหน้าแต่ว่ารัฐบาลนี้และเชื่อว่ารัฐบาลใดในโลกก็จะมีความรู้สึก เช่นเดียวกันคือความรู้สึกหน้าที่ที่จะต้องดำริวางโครงการให้ราษฎรมีโอกาสได้รับความสุขกายสบายใจ ทั่วกันอย่างมากที่สุดที่จะทำได้ในเวลานี้เป็นเวลาที่เศรษฐกิจของโลกตกต่ำ การเงินฝืดเคืองทั่ว ๆ ไป สินค้าสำคัญของเราคือข้าวราคาตกต่ำชาวนาของเราได้รับความยากแค้นมีกรรมกรที่ไม่มีงานทำเกิดขึ้น บ้านเมืองจนลงโดยทั่ว ๆ ไป คณะกรรมการราษฎรได้ช่วยไปแล้วในเรื่องที่จำเป็นต้องช่วยทันทีเช่น ลดภาษีอากร คุ้มครองทรัพย์ที่จะถูกยึด ควบคุมการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราในกฎหมายเหล่านี้เป็นต้น ในเรื่องกรรมกร รัฐบาลได้คิดแล้วและได้ลงมือทำบ้างแล้วคือได้จัดให้มีทะเบียนกรรมกร ที่ไม่มีงานขึ้นเพื่อให้รู้ว่าใครไม่มีงานทำบ้างใครต้องการทำงานบ้างเมื่อเวลาต้องการจักได้เรียกหาได้ การงานที่อยู่ในความคิดแล้วเช่นการที่จะให้สัมประทานต่อไปรัฐบาลจะได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ว่าให้ผู้รับ สัมประทานใช้กรรมกรชาวสยามตามส่วนการงานของรัฐบาลก็จะเพียรใช้กรรมกรชาวสยามอย่างมากที่สุด ที่จะทำได้เช่นในเวลานี้รัฐบาลได้เริ่มจัดให้กรรมกรแผนกช่างก่อสร้างได้มีงานทำบ้างแล้ว แต่ในการที่จะเริ่ม ให้มีงานใด ๆ ขึ้นย่อมต้องใช้เงินซึ่งกำลังฝืดเคืองอยู่ทั่วไปแม้เช่นนั้นรัฐบาลก็มิได้วางมือกำลังพากเพียร หาช่องทางที่จะทำอยู่เหมือนกันและก็มีความรู้สึกแน่ใจอยู่ว่าพอจะทำได้บ้างอย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบา มีเสียงร่ำร้องให้รัฐบาลตั้งโรงงานความคิดในการตั้งโรงงานนั้นมิใช่ว่าจะผ่านพ้นความคิดของรัฐบาลไป ก็หาไม่ แต่ว่าก่อนที่จะเริ่มการใด ๆ จะต้องคิดทางได้ทางเสียให้รอบคอบ ต้องหาสถิติต้องพิจารณาว่าอะไร ควรทำอะไรไม่ควร เมื่อแน่ใจแล้วว่ามีทางได้มากกว่าทางเสียจึงควรทำ ขอให้เป็นที่มั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้ลืม ข้อความข้อนี้เลย ในเรื่องกสิกร การช่วยเหลือโดยตรงที่มีอยู่ในเวลานี้คือสหกรณ์ให้กู้เงิน นอกจากนี้รัฐบาลมีความ จำนงใจอยู่ที่จะจัดให้มีการร่วมกันในการกำเนิดผล (Production) เช่นร่วมมือกันในทางใช้เครื่องมือ ในทางเทคนิคเป็นต้น ความร่วมกันในทางจำหน่ายความร่วมกันในทางซื้อของอุปโภคบริโภคการที่รัฐบาล ดำริดั่งนี้ก็เพราะแน่ใจว่าคนเดียวทำกับหลายคนรวมกำลังกันทำนั้น หลายคนรวมกำลังกันย่อมได้ผลดีกว่า ที่กล่าวมานี้เป็นหลักใหญ่ ซึ่งถ้าจะพูดถึงรายละเอียดแล้วก็จะเป็นสมุดเล่มหนึ่งทีเดียวและไม่ใช่ของทำได้ โดยเร็ววันคือจะต้องอาศัยการสอบสวนและคำนวณสถิติ การวางแผนเศรษฐกิจของชาตินี้ถ้าไม่ทำให้ถี่ถ้วน คือรีบด่วนเกินไปแล้วความปั่นป่วนย่อมเกิดขึ้นไม่ว่าประเทศใด ๆ การวางแผนต้องใช้เวลาทั้งนี้มิใช่ว่ารัฐบาล จะนอนใจรัฐบาลก็รีบเร่งทำอยู่แต่ลักษณะของกิจการนั้นเองต้องการเวลาซึ่งจะนิรมิตให้ทันทีไม่ได้รัฐบาลได้ กำหนดที่จะแบ่งระยะเวลาออกเป็นสมัย ๆ คือสมัยสอบสวนเตรียมการทดลองและสมัยลงมือปฏิบัติอย่างไรก็ดี นโยบายอันเป็นหลักสำคัญของรัฐบาลที่จะดำเนินต่อไปในทางเศรษฐกิจนั้นมีจุดที่หมายอยู่ว่าจะสมัครสมาน ผลประโยชน์ของคนทุกจำพวกให้ได้ผลดีด้วยกันทุก ๆ ฝ่าย หลักการในเรื่องนี้มีเถียงกันอยู่เป็น ๒ ทาง ทางหนึ่งรัฐบาลเข้าจัดทำเองเสียทั้งหมดซึ่งเป็นการ ตึงเกินไปอาจจะมีเสียยิ่งกว่าได้ และอาจเป็นการเดือดร้อนแก่บุคคลบางจำพวกอีกทางหนึ่งคือรัฐบาลไม่ทำ อะไรเลย ปล่อยให้ราษฎรทำกันเองใครดีใครได้ใครกำลังน้อยก็ย่อยยับไปใครกำลังมากก็ฟุ่มเฟือยดั่งนี้ ก็เป็นการหย่อนเกินไปมีเสียมากกว่าได้เหมือนกันเพราะฉะนั้นจุดที่หมายของรัฐบาลนี้จึงคิดเข้ามีส่วน ในกิจการที่เห็นเป็นสำคัญสำหรับประเทศสมควรทำเสียเองก็ทำสมควรเพียงแต่เข้าควบคุมก็เพียงแต่ ควบคุมสุดแต่จะเห็นว่าเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับบุคคลทั่วไปจะเอาประโยชน์ของคนหมู่หนึ่งเป็นที่ตั้งและ ไม่คิดถึงประโยชน์ของคนอีกหมู่หนึ่งนั้นหามิได้ในเรื่องกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินนั้นตั้งแต่เริ่มการเปลี่ยนแปลง การปกครองมาคณะกรรมการราษฎรได้พูดไว้หลายครั้งและรัฐบาลนี้ก็ยังจะพูดและถือต่อไปว่าทรัพย์ของ ราษฎรทั้งหลายจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดุจดั่งประเทศอื่น ๆ ๔. สิทธิเสมอภาค และ ๕. เสรีภาพ การนี้จะทำได้ก็โดยอาศัยบัญญัติกฎหมายเลิกสิทธิพิเศษดังปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว ๖. การศึกษา เพื่อที่จะให้พลเมืองมีการศึกษาโดยแพร่หลายจะต้องอนุโลมตามระเบียบการปกครองที่ให้ เข้าลักษณะเดียวกับแผนเศรษฐกิจแห่งชาติดั่งจะได้กล่าวในตอนนโยบายธรรมการต่อไป นโยบายซึ่งกระทรวงต่าง ๆ จะปฏิบัติประกอบไปกับนโยบายทั่วไปนั้น ดังนี้ นโยบายทางพระคลังมหาสมบัติ เท่าที่แล้วมารัฐบาลได้รู้สึกความตกต่ำของเศรษฐกิจเห็นความฝืดเคืองยากแค้นของราษฎร จึงได้ลดภาษีอากรมีภาษีนาภาษีสวนเป็นต้นเพราะเห็นว่าพวกกสิกรเป็นผู้ที่ได้รับความยากแค้นขัดสนมาก แต่ว่าประเทศต้องใช้เงินในการดำเนินการและในการลงทุนเพื่อบำรุงราษฎรทั้งหลายสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เงิน รายได้ของรัฐบาลมีแต่ในทางภาษีถ้าจะมีแต่การลดภาษีไม่มีการเก็บภาษีบ้างรัฐบาลก็จะไม่มีเงินใช้แต่ว่า การที่คิดเก็บก็ได้ระวังแล้วที่จะไม่ให้เป็นการเดือดร้อนคือเก็บจากผู้ที่พอจะเสียได้และเสียได้โดยไม่มี ความยากแค้นโดยไม่กระทำให้กิจการค้าขายต้องลดถอยเพราะเหตุภาษีตัวอย่างที่ได้ทำมาแล้ว คือ เก็บภาษีจากธนาคาร เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลเห็นว่าวิธีภาษีอากรของเราในปัจจุบันนี้ไม่ใคร่จะสมกับเหตุการณ์อยู่บ้าง กำลังคิดอ่านที่จะวางโครงการภาษีใหม่ งบประมาณปีนี้กะจำนวนไว้ตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติว่าจะได้ถึง ๗๔ ล้าน และได้ กำหนดรายจ่ายไว้ ๗๔ ล้านเหมือนกันเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะกรรมการราษฎรเห็นว่ารายได้ จะได้ไม่ถึงเท่าที่กำหนดไว้และไหนจะต้องลดภาษีอากรลงมาเพื่อช่วยกสิกรภาษีใหม่ที่จะเก็บได้ก็ไม่เท่ากับ จำนวนที่ต้องลดแต่ว่าเป็นความจำเป็นต้องลดเพื่อช่วยกสิกรจึงได้พากเพียรตัดรายจ่ายลงจนเป็นผล ในเวลานี้ประมาณว่ารายได้รายจ่ายจะพอไล่เลี่ยกันในราวจำนวน ๗๑ ล้านแต่ว่าที่จะให้ผลดั่งนี้กระทรวง พระคลังมหาสมบัติจะจำต้องควบคุมการใช้จ่ายอย่างเข้มงวดกวดขัน มีเงินกู้ต่างประเทศอยู่รายหนึ่งที่รัฐบาลเรากู้ต่างประเทศเสียดอกเบี้ยแพงถึงร้อยละเจ็ด รัฐบาลเห็นว่าเรามีเงินที่สะสมไว้สำหรับใช้หนี้พอจะใช้เขาได้ถ้าหากเราต้องการเงินเพื่อลงทุนรอนต่อไป ก็จะกู้ใหม่ได้โดยดอกเบี้ยถูกกว่านั้นมากจึงได้ประกาศบอกล่วงหน้าใช้หนี้รายนั้นเสียสำหรับปีหน้าเรา ได้ทุ่นค่าดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้รายนี้ประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาทเศษเป็นการช่วยงบประมาณปีหน้าซึ่งหวัง ว่าจะสู่ดุลยภาพได้โดยสะดวก นโยบายในการป้องกันประเทศ ในการป้องกันประเทศนั้นรัฐบาลคงดำเนินนโยบายที่รัฐบาลเก่าได้ดำเนินมาแล้วคือเตรียม กำลังทหารไว้ให้พอสำหรับความสงบภายในและรักษาอิสระภาพของประเทศ นโยบายในการต่างประเทศ ในการต่างประเทศนั้น รัฐบาลจะพยายามรักษาความสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ในการนี้ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการทุกอย่างที่จะบำรุงความเข้าใจอันดีซึ่งมีอยู่ระหว่างกันในขณะนี้และ ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันให้ยิ่งขึ้นรัฐบาลจะคงพยายามปฏิบัติให้เป็นไปตามหนังสือ สัญญาและพันธกรณีที่มีอยู่กับนานาประเทศโดยเคร่งครัดทุกประการและต่อไปเมื่อหนังสือสัญญาทาง พระราชไมตรีที่มีอยู่ ณ บัดนี้ ครบกำหนดอายุแล้วก็จะได้ดำริถึงการต่ออายุหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะ แก่กาลสมัยส่วนในทางสมาคมสันนิบาตชาตินั้นเล่ารัฐบาลยังคงเล็งเห็นความสำคัญและพร้อมที่จะสนับสนุน กิจการของสันนิบาตชาติอยู่เสมอ นโยบายทางเกษตรพาณิชย์ ความตกต่ำในเศรษฐกิจของโลกเท่าที่กระทบมาถึงประเทศเราเป็นเหตุให้ราคาสินค้า ของเราตกต่ำซึ่งรัฐบาลไม่อาจผันแปรแก้ไขได้โดยทางตรงหรือโดยปัจจุบันทันด่วนแต่รัฐบาลจะ ต้องพยายามป้องกันและแก้อุปสรรคทั้งภายในและภายนอกประเทศอันกีดขัดต่อการจำหน่ายสินค้า ของราษฎรให้ได้ราคาดีในบรรดาสินค้าซึ่งเป็นอุปกรณ์ให้การค้าของสยามได้เปรียบในดุลยภาพนั้น ในขณะนี้ไม่มีประเภทใดสำคัญกว่าข้าวเหตุฉะนั้นการช่วยชาวนาผู้กำเนิดสินค้านี้โดยทางตรงและ โดยทางอ้อมจึงต้องนับว่าเป็นการสำคัญและเร่งร้อนที่สุดทั้งการพยายามแก้เงื่อนสำคัญนี้ก็จะเป็น วิธีช่วยส่งเสริมความกำเนิดทรัพย์และสินค้าประเภทอื่นด้วย ปัญหาสำคัญในเวลานี้คือ ภาระของชาวนา มีหนี้ ขาดเงินทุนที่จะลงต่อไป ราคาข้าวถูก รัฐบาล เห็นใจอยู่แล้วและจำนงที่จะช่วยอย่างที่สุดที่จะทำได้ สิ่งใดพอที่จะทำได้ก่อนก็ได้รีบทำไปแล้ว เช่น การลดหย่อนภาษีค่านา และระหว่างนี้ก็กำลังจะขยายการสหกรณ์ให้กว้างขวางขึ้น เป็นการค้ำจุนในทาง ทุนรอนและผ่อนผันภาระอันหนักบ่าอยู่นั้นและสอบสวนเหตุการณ์ต่อไปในความเป็นอยู่ในทางหนี้สินในทาง ทุนรอนในวิธีการที่จะทำให้เกิดผลในทางจำหน่ายเพื่อหาวิธีช่วยเหลือให้มีโอกาสบังเกิดความพอกพูน ได้บ้าง แต่ขอให้เห็นใจรัฐบาลบ้างว่าการเช่นนั้นเป็นการใหญ่จะทำกันกระทันหันไม่ได้ ต้องคิดต้องเตรียม ต้องทดลองอย่างรอบคอบระหว่างนี้จะได้ก้าวหน้าต่อไปในการช่วยกสิกรทางตรงอีกอย่างหนึ่งคือ การเลือก พันธ์ข้าวเพื่อสะดวกแก่การที่จะตั้งมาตราฐานสินค้าข้าวขึ้น และเพื่อยังไว้ซึ่งชื่อเสียงแห่งเข้าไทยในตลาด ต่างประเทศที่กำลังผันแปรอยู่เป็นอันมากในขณะนี้เนื่องด้วยเขื่อนภาษีซึ่งบางประเทศตั้งหรือดำริจะตั้งกันขึ้น อนึ่งในการที่อุดหนุนการเพาะปลูกของประเทศรัฐบาลจำต้องดำเนินการทดลองพืชผลอย่างอื่นทั้งในประเทศ ซึ่งอาจใช้ปลูกสลับกับข้าวในที่ลุ่มและในประเทศซึ่งเหมาะแก่ที่ดอน เป็นต้น การอำนวยให้มีปลาน้ำจืดพอแก่ความต้องการภายในประเทศ และการจัดปรุงให้มีปริมาณปลาขึ้น เป็นสินค้านอกประเทศได้นั้นก็เป็นการอุดหนุนราษฎรโดยทางตรงในกรณีนี้ปัญหาสำคัญอยู่ที่การแก้ไข วิธีผูกขาดการจับปลาและการเปลี่ยนแปลงอัตราอากรค่าน้ำให้เป็นอุปสรรคในการประมงอย่างน้อยที่สุด ที่จะเป็นไปได้ การจับปลาตามชายฝั่งทะเลและน้ำลึกก็เป็นปัญหาอีกข้อหนึ่งซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะเผยแผ่ ออกไปอีกได้โดยการร่วมมือกันระหว่างราชนาวีกับเจ้าหน้าที่รักษาสัตว์น้ำ อนึ่งในการที่รัฐบาลได้ตั้งกรรมการเผยแผ่กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่าสำคัญมากขึ้นนั้เท่าที่กรรมการ ได้ปรึกษาเรื่องนี้มาแล้วในระยะเวลาสั้นนี้ ปรากฏว่าไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปแล้วว่าจะต้องขุดร่องน้ำที่สันดอน และในชั้นต้นจะได้ลงมือขุดสันดอนตอนกลางและตอนนอกลงไปลึกระหว่างสองกับห้าฟิดเพื่อเป็นการทดลอง ให้ทราบผลการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและอาการที่สันดอนจะตื้นขึ้นประการใดบ้างในการที่จะต้องทดลอง ทีละน้อยก่อนเช่นนี้ก็เพราะเป็นห่วงชาวสวนการขุดตอนต้นนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นการทดลองก็ย่อมเป็นประโยชน์ แก่การเดินเรือค้า โดยที่เรือลำเลียงจะสามารถผ่านสันดอนได้ทุกขณะทั้งจะสามารถบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้น ได้ในเรือขนาดใหญ่ซึ่งผ่านสันดอนไปมาอีกเป็นอันมากด้วย นอกจากนั้นเมื่อเรือใหญ่เข้ามาบรรทุกข้าว ได้ก็เป็นการทุ่นค่าบรรทุกเรือลำเลียง ทั้งนี้เป็นทางหนึ่งที่ช่วยขยับราคาข้าวให้สูงขึ้นได้ นโยบายทางธรรมการ ๑) จะประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาให้ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมืองเพื่อให้ได้ปริมาณ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒) ในส่วนการปรับปรุงคุณสมบัติแห่งการศึกษาทั่วไป จะแก้ไขให้วิเศษขึ้นด้วยตั้งพิธีฝึกหัดครู ทุกประเภททุกชั้นจนพอแก่การ เพราะการสอนจะสำเร็จเป็นผลดีสมหมายก็ด้วยได้มีผู้สอนแต่ล้วนเป็นครู ที่ได้ฝึกหัดอบรมมาดีแล้ว ๓) ในส่วนวิชาอาชีพ จะรีบจัดตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาทั้งแผนกกสิกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยการให้ครบครัน ตั้งต้นแต่ประถมศึกษาขึ้นไปเพื่อจะได้ไม่มีแต่การเรียนหนังสือ เป็นสามัญศึกษาไปส่วนเดียวเหมือนเดี๋ยวนี้ ๔) ในส่วนการศึกษาชั้นสูงจะได้จัดมหาวิทยาลัยให้สามารถสอนชั้นปริญญาที่เราต้องการให้ ทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยในนานาประเทศ เพื่อผู้เรียนจะได้สำเร็จการศึกษาชั้นอุดมได้ในเมืองเราเอง โรงเรียนมัธยมบริบูรณ์สำหรับสอนนักเรียนป้อนมหาวิทยาลัยก็จะจัดให้มีในหัวเมืองด้วยเพื่อเด็กมีเชาวน์ ผู้เกิดในท้องถิ่นต่าง ๆ จะได้เข้าถึงการเรียนชั้นนี้ได้สะดวก ๕) ในส่วนเครื่องอุปกรณ์การศึกษา เช่น แบบเรียน ห้องสมุด ทุนเล่าเรียน การกีฬา การอนุสภากาชาด การลูกเสือ ฯลฯ เหล่านี้ก็จะจัดให้มีขึ้นแพร่หลายจนพอความต้องการ ๖) จะอุปถัมภ์การศาสนา อันเป็นปัจจัยสำคัญในการอบรมมนุษยธรรมให้สำเร็จประโยชน์ แห่งการอบรมนั้นยิ่งขึ้นแผนดำเนินการทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินไปพร้อมกัน เพื่อให้เป็นอุปกรณ์แห่งกัน และกัน และจะเร่งรัดจัดทำตามกำลังทุนที่มีพอจะทำได้ นโยบายทางมหาดไทย นโยบายทางมหาดไทยนั้นต้องแล้วแต่นโยบายทั่วไปของรัฐบาลซึ่งเมื่อได้จัดระเบียบ และวางทางการไว้แล้วอย่างไรก็ต้องหันเข็มตามนโยบายนั้นการจัดระเบียบนั้นได้กล่าวแล้วในตอนต้น ว่าจะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ ในเรื่องสาธารณสุขนั้นแต่เดิมก็ได้ทำมาบ้างแล้วในกาลต่อไปจะพยายามขยายการบำบัดโรค และการอนามัยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น เช่น จัดให้มีโรงพยาบาลหรือสุขศาลาขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ เพื่อราษฎร จะมารับการบำบัดโรคหรือติดต่อกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไดโดยสะดวกการควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ เช่น ไข้จับสั่น โรคเรื้อน วัณโรค ฯลฯ ก็เป็นปัญหาที่อยู่ในโครงการที่จะจัดการให้เป็นผลยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การแก้ไขลักษณะสุขาภิบาลโดยทั่วไปนับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในวงงานสาธารณสุขซึ่งรัฐบาลจะได้ จัดการให้เป็นผลดียิ่งขึ้นด้วยในการปราบปรามโจรผู้ร้ายนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องพิจารณาเพ่งเล็ง ถึงสาเหตุและทางป้องกันพร้อมด้วยกันกับทางแก้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอยู่ในเวลานี้ในเรื่องนี้รัฐบาล ได้ดำริที่จะหาหนทางอบรมพลเมืองในทางจรรยาและศีลธรรมกับในทางจัดการงานที่เป็นอาชีพให้มั่นคง ยิ่งขึ้นทั้งดำริจัดระเบียบการราชทัณฑ์อันเกี่ยวแก่การอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับหัตถกรรม อุตสาหกรรม และอื่น ๆ ของนักโทษ และจะจัดโรงเรียนดัดสันดาน นโยบายทางการศาลยุติธรรม ในทางการศาลยุติธรรมข้อสำคัญที่จะต้องจัดก็คือ ระเบียบการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ซึ่ง จะต้องให้ได้ดำเนินไปโดยความยุติธรรม แต่การที่จะจัดนี้ก็รวมอยู่ในการจัดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา แพ่งและอาชญา กับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งการร่างประมวลเหล่านี้กำลังดำเนินอยู่โดยรีบร้อน ดั่งได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น อีกประการหนึ่งการเลือกคัดบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งตุลาการ ก็จะได้ใช้วิธีเลือกโดยสอบไล่แข่งขันอันรวมอยู่ในนโยบายทั่วไปของรัฐบาลนั้นแล้ว *รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๔๗/๒๔๗๕ (วิสามัญ) วันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ หน้า ๖๘๗ - ๗๐๔
3
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๓ พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ - ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ คำแถลงนโยบายของรัฐบาล* เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญได้ในวันนี้ ข้าพเจ้าของแถลงนโยบายของรัฐบาลให้ที่ประชุมฟัง ดังนี้ รัฐบาลนี้จะดำเนินนโยบายตามหลัก ๖ ประการ ต่อจากรัฐบาลที่แล้วมา เพื่อให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าสืบไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขของชาติ บัดนี้ ราชการในพระราชสำนักได้จัดขึ้นเป็นกระทรวง มีรัฐมนตรีว่าการแล้วเป็นอันว่าจะได้เข้าสู่ฐานะที่สมสภาพและสมพระเกรียติยศต่อไป ความเป็นเอกราชของชาติจะบริบรูณ์ ก็ต่อเมื่อใช้อำนาจอธิปไตยได้เต็มที่รัฐบาลนี้จะได้เร่งรัดให้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ยังค้างอยู่นั้นโดยเร็วที่สุด ฝ่ายอำนาจตุลาการนั้น รัฐบาลนี้จะได้จัดให้เป็นอิสระสมดังความจำนงในรัฐธรรมนูญ โดยจัดตั้งคณะกรรมการตุลาการเพื่อช่วยเหลือกิจการทางศาล ในอันจะให้ความอิสระแก่ผู้พิพากษาตามรัฐธรรมนูญ โดยจัดฐานะตุลาการให้มั่นคงตามความต้องการโดยจัดแยกตำแหน่งหน้าที่ตุลาการให้ขาดจากการเมือง กับจะได้ตั้งกรรมการประมวลข้อบังคับและระเบียบศาลให้เรียบร้อยเป็นแบบเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่วนอำนาจบริหารนั้น ในเวลานี้มีกรณียกิจเบื้องต้นในอันจะรักษาความสงบ ความมั่นคงและความสามัคคี รัฐบาลนี้จะป้องภัยต่อสันติภาพของประชาชนทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นภัยเนื่องมาแต่การกบฏ การคอมมิวนิสต์หรือการระส่ำระสายใด ๆ อื่น รัฐบาลนี้จะส่งเสริมพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ซึ่งมีอยู่แล้วเป็นอย่างดีนั้นให้สนิทสนมยิ่งขึ้น เมื่อทางพระราชไมตรีเป็นที่เรียบร้อยอยู่เช่นนั้น ความสงบอันจะพึงรักษาก็คือความสงบภายในเป็นสำคัญ ฝ่ายทหารได้เตรียมพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นในเมื่อมีเหตุฉุกเฉินขึ้น ทางฝ่ายกระทรวงมหาดไทย ก็ได้วางนโยบายในการรักษาความปลอดภัยไว้อย่างกว้างขวาง เช่น จะได้บำรุงกำลังและปรับปรุงระเบียบการของตำรวจและของเจ้าหน้าที่กรมมหาดไทยไห้ดียิ่งขึ้น และจะได้จัดการราชทัณฑ์ ไปในทางอบรมดัดนิสัยสันดารเพื่อให้นักโทษมีนิสัยไปทางทำงานและทำคุณประโยชน์ แต่ในทางรักษาสันติสุขนั้น นอกจากวิธีปราบแล้ว จะต้องใช้วิธีบำรุงประกอบไปด้วย รัฐบาลจะบำรุงการสาธารณสุขโดยขยายการบำบัดโรคและการอนามัยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น และโดยจัดให้มีผู้ตรวจการสุขาภิบาล ซึ่งมีความรู้ในการสุขาภิบาลแผนปัจจุบัน เพื่อช่อยเหลือราษฎรตามชนบทต่าง ๆ รัฐบาลจะบำรุงการสาธารณูปการ โดยจัดให้มีการสงเคราะห์คนอนาถาและคนทุพพลภาพ รัฐบาลจะบำรุงความผาสุกของประชาชนพลเมืองทั่งไป โดยส่งเสริมเทศบาลการศึกษาและเศรษฐกิจ เทศบาล คือระเบียบการปกครองท้องถิ่น ซึ่งราษฎรมีเสียงในการดูแลและจัดการผลประโยชน์ในท้องถิ่นนั้น รัฐบาลนี้จะได้จัดตั้งและขยายเทศบาลออกไปตามตำบลต่าง ๆ ทั่งราชอาณาจักรโดยเร็วที่สุดที่จะอบรมเจ้าหน้าที่ในการใหม่นี้ได้ เทศบาลเป็นการศึกษาอย่างหนึ่งด้วยคือ เป็นวิธีราษฎรจะได้รับความฝึกหัดอบรมในวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนั้นด้วย ส่วนการศึกษานั้น มีแผนการศึกษาและมีนโยบายวางไว้เป็นบรรทัดฐานดีแล้วรัฐบาลนี้จะได้หาวิธีทางดี ซึ่งจะได้นำไปให้ถึงจุดที่หลายให้พลเมืองรู้จักระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ให้ได้มีความเป็นอยู่เหมาะสมแก่สมัยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลนี้จะได้ดำเนินการตามแนวความคิดนี้ให้ได้ผลอันไพบูลย์ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ในการจะฝึกฝนให้ประชาชนเป็นพลเมืองดีนั้น จะต้องฝึกฝนทั้งทางการจรรยาและใจ รวมกันไป และให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาแล้วได้ดำเนินการอาชีพ ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองตามรัฐธรรมนูญได้ดี รัฐบาลนี้จะได้บำรุงการศึกษาทางอาชีพและการหาวิชาความรู้ตามความต้องการแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นต้นว่าขยายประถมศึกษาให้แพร่หลายและขยายการศึกษาวิชาการรัฐธรรมนูญ ยึดถือการปฏิบัติฝึกหัด งานให้สำคัญยิ่งขึ้นกว่าที่แล้วมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ผู้ที่ผ่านพ้นการศึกษาในโรงเรียนไปแล้ว ได้มีโอกาสฝึกฝนตนเองได้ไม่ละทิ้งเสีย และให้ทุกคนมีโอกาสหาความรู้ได้อย่างเต็มที่ที่จะจัดได้ตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลนี้จะบำรุงพลศึกษาให้เป็นการศึกษาเพื่อวินัยด้วย ส่วนในเรื่องธรรมกับการศึกษานั้น รัฐบาลนี้เห็นว่าควรจะเป็นอุปการะแก่กันและกันจึงจะได้บำรุงส่งเสริมและจัดการให้ได้ประสานงานกันอย่างสนิทสนมดียิ่งขึ้น อนึ่งในทางศิลปของชาติ รัฐบาลนี้ก็จะไม่ละเลย แต่หากจะบำรุงเท่าที่จะทำได้ ส่วนวิธีการศึกษา ศึกษาโดยทั่วไปที่จะให้ได้ประโยชน์สมหวังดังว่ามานั้น รัฐบาลนี้จะจัดการปรับปรุงหลักสูตรและสรรพตำรา กับทั้งบำรุงฐานะและคุณสมบัติของครูและอาจารย์ให้สมกับวิชาครูเป็นวิชาชีพและที่ครูจะเป็นผู้อบรมสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาสืบไป การบำรุงเศรษฐกิจของบ้านเมืองนั้น รัฐบาลก่อนได้วางแผนการเป็นทางดำเนินการไปแล้ว รัฐบาลนี้จะดำเนินการตามแผนการนั้นตลอดไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการจะได้แถลงนโยบายรายละเอียดให้ทราบ อุปสรรคเรื่องข้าวราคาตกนั้น รัฐบาลกำลังพยายามแก้ไขอยู่แล้ว จะได้ให้ทราบนโยบายในเวลาอันควร ตามฐานะเศรษฐกิจเวลานี้ ยังจะหวังไม่ได้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องระมัดระวังรายจ่าย งบประมาณจึงจะเข้าสู่ดุลยภาพ และอยู่มีความมั่นคงได้แต่รัฐบาลนี้จะปรับปรุงวิธีการเก็บภาษีอากรบางอย่างเพื่อให้ได้เงินซึ่งควรจะได้ และเพื่อบรรเทาภาระของราษฎร รัฐบาลนี้จะหาทางลดเงินรัชชูปการลงตามสมควร ในส่วนการบำรุงเศรษฐกิจนั้น ถ้ารายจ่ายอันใดจำเป็น เช่นว่า จะตั้งฉางก็ดี ขยายสหกรณ์ก็ดี หรือบำรุงรักษาและขยายกิจการที่ได้ลงทุนไปแล้ว เช่น การชลประทาน การรถไฟ และการสร้างถนนก็ดี รัฐบาลจะจัดสรรเงินมาตั้งจ่ายให้ ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งคือความมั่นคงแห่งเงินตรา ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าการที่จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินให้คงที่ดังได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเงินตรานั้น เป็นทางที่ควรสำหรับกรุงสยาม ราชการส่วนต่าง ๆ จะดำเนินไปได้สะดวก ก็ย่อยแล้วแต่สมรรถภาพของข้าราชการ รัฐบาลนี้จะปรับปรุงระเบียบข้าราชการพลเรือน เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ที่มีความรู้และความสามารถจริง ๆ ให้มั่งคงแก่ข้าราชการประจำนั้น ๆ เพื่อให้ราษฎรได้รับการปกครองในทางที่เป็นธรรม รัฐบาลนี้จะได้วางบทวิเคราะห์คดีปกครอง และวางวิธีพิจารณาคดีปกครอง ความมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาลนี้ก็คือ จะบำรุงฐานะของราษฎรให้เป็นพลเมืองดีตามวิถีรัฐธรรมนูญ ซึ่งสำนักงานโฆษณาการจะได้ดำเนินการเผยแพร่อบรมต่อไป ด้วยความช่วยเหลือของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลนี้หวังว่าประชาชนชาวไทยจะเจริญก้าวหน้าด้วยความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญสืบไป
4
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๗๖ - ๑๕ ธันวาคม ๒๕๗๖ แถลงนโยบาย เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๖ คำแถลงนโยบายของรัฐบาล* "รัฐบาลนี้ได้ตั้งขึ้นเพื่อให้ราชการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงจะได้รักษาไว้ให้มั่นคงสถาพร เพื่อความสงบสุขของราษฎร" "รัฐบาลนี้จะเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศให้สนิทสนมยิ่งขึ้น" "รัฐบาลนี้เห็นว่าหลัก ๖ประการที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับรองแล้วนั้นเป็นหลักนโยบาย ที่ทุกกระทรวงทบวงการจะร่วมมือกันดำเนินการต่อไปได้" "นอกจากการบำรุงราษฎรในทางอาชีพ ทางศึกษา และทางอื่น ๆ ซึ่งรัฐบาลสนในบำรุงอย่าง ที่สุดแล้ว รัฐบาลจะได้รักษาความสงบเรียบร้อยให้ประชาชนไว้วางใจซึ่งกันและกันและร่วมสามัคคี กัน เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะกำจัดลัทธิคอมมิวนิสม์โดยเคร่งครัด" "รัฐบาลนี้ตั้งใจจะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งใช้อยู่ ณ บัดนี้ ในตอนนี้ร่างเดิมมีว่า" ในการเงิน รัฐบาล มีเจตนาจะคงเดิมนโยบายดั่งที่ดำเนินอยู่ ณ บัดนี้" และเมื่อแก้ใหม่ในฉบับภาษาอังกฤษจึง แก้ตามไปด้วย ว่า "The Government intends to maintain the present rate of exchange" ตามที่นายกรัฐมนตรีขอแก้" อาศัยหลักนโยบายซึ่งรัฐบาลได้กล่าวมาข้างต้นนี้ รัฐบาลมีความหวังว่า ประชาชนพลเมืองจะได้ดำรงอยู่ในสันติสุข และจะได้ช่วยรับบาลปฏิบัติการให้เป็นไปเพื่อความเจริญ ของชาติบ้านเมือง" *รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓/๒๔๗๖ (วิสามัญ) วันจันทร์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๖ หน้า ๕๘ - ๕๙
5
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๗๖ - ๒๑ กันยายน ๒๔๗๗ แถลงนโยบาย เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๗๖ คำแถลงนโยบายของรัฐบาล* รัฐบาลนี้จะดำเนินนโยบายตามหลัก ๖ ประการ ต่อจากรัฐบาลที่แล้วมา เพื่อให้ประเทศชาติ เจริญก้าวหน้าสืบไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ บัดนี้ราชการในพระราชสำนักได้จัดขึ้นเป็นกระทรวง มีรัฐมนตรีว่าการแล้วเป็นอันว่าจะได้ เข้าสู่ฐานะที่สมสภาและสมพระเกียรติยศต่อไป ความเป็นเอกราชของชาติจะบริบูรณ์ ก็ต่อเมื่อใช้อำนาจอธิปไตยได้เต็มที่ รัฐบาลนี้จะได้เร่งรัด ให้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ยังค้างอยู่นั้นโดยเร็วที่สุด ฝ่ายอำนาจตุลาการนั้น รัฐบาลนี้จะได้จัดให้เป็นอิสระสมดั่งความจำนงในรัฐธรรมนูญ โดยจัดตั้ง คณะกรรมการตุลาการเพื่อช่วยเหลือกิจการทางศาลในอันจะให้ความอิสระแก่ผู้พิพากษาตามรัฐธรรมนูญ โดยจัดฐานะตุลาการให้มั่นคงตามความต้องการ โดยจัดแยกตำแหน่งหน้าที่ตุลาการให้ขาดจากการเมือง กับจะได้ตั้งกรรมการประมวลข้อบังคับและระเบียบศาลให้เรียบร้อยเป็นแบบเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่วนอำนาจบริหารนั้น ในเวลานี้มีกรณียกิจเบื้องต้นในอันจะรักษาความสงบ ความมั่นคงและ ความสามัคคี รัฐบาลนี้จะป้องกันภัยต่อสันติภาพของประชาชนทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นภัยเนื่องมาแต่ การกบฏ การคอมมิวนิสต์ หรือการระส่ำระสายใด ๆ อื่น รัฐบาลนี้จะส่งเสริมทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ซึ่งมีอยู่แล้วเป็นอย่างดีนั้น ให้สนิทสนมยิ่งขึ้น เมื่อทางพระราชไมตรีเป็นที่เรียบร้อยอยู่เช่นนี้ ความสงบอันจะพึงรักษาก็คือ ความสงบภายใน เป็นสำคัญ ฝ่ายทหารได้เตรียมพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นในเมื่อมีเหตุฉุกเฉินขึ้น ทางฝ่ายกระทรวงมหาดไทยก็ได้วางนโยบายในการรักษาความปลอดภัยไว้อย่างกว้างขวาง เช่น จะได้บำรุงกำลังและปรับปรุงระเบียบการของตำรวจ และของเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยให้ดียิ่งขึ้น และจะได้จัดการราชทัณฑ์ไปในทางอบรมดัดนิสัยสันดานเพื่อให้นักโทษมีนิสัยไปในทางทำงานและทำคุณ ประโยชน์ แต่ในการรักษาสันติสุขนั้น นอกจากวิธีปราบแล้ว จะต้องใช้วิธีบำรุงประกอบไปด้วยรัฐบาล จะบำรุงสาธารณสุขโดยขยายการบำบัดโรคและการอนามัยให้แพร่หลายยิ่งขึ้นและโดยจัดให้มีการตรวจ การสุขาภิบาลซึ่งมีความรู้ในการสุขาภิบาลแผนปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือราษฎรตามชนบทต่าง ๆ รัฐบาล จะบำรุงการสาธารณูปการโดยจัดให้มีการสงเคราะห์คนอนาถาและคนทุพพลภาพ รัฐบาลจะบำรุง ความผาสุกของประชาชนพลเมืองทั่วไปโดยส่งเสริมเทศบาล การศึกษา และเศรษฐกิจพลเมืองทั่วไป โดยส่งเสริมเทศบาลการศึกษา และเศรษฐกิจ เทศบาล คือ ระเบียบการปกครองท้องถิ่น ซึ่งราษฎรมีเสียงในการดูแลและจัดการผลประโยชน์ ในท้องถิ่นนั้น รัฐบาลนี้จะได้จัดตั้งและขยายเทศบาลออกไปตามตำบลต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรโดยเร็วที่สุด ที่จะอบรมเจ้าหน้าที่ในการใหม่นี้ได้ เทศบาลเป็นการศึกษาอย่างหนึ่งด้วยคือ เป็นวิธีที่ราษฎรจะได้รับ ความฝึกหัดอบรมในวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนั้นด้วย ส่วนการศึกษานั้นมีแผนกการศึกษาและมีนโยบายวางไว้เป็นบรรทัดฐานดีแล้วรัฐบาลนี้ จะได้หาวิถีทางที่ดีซึ่งจะนำไปให้ถึงจุดที่หมาย ให้พลเมืองรู้จักระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ให้ได้มีความเป็นอยู่เหมาะสมแก่สมัยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลนี้จะได้ดำเนินการตามแนวความคิดนี้ ให้ได้ผลอันไพบูลย์ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ในการที่จะฝึกฝนให้ประชาชนเป็นพลเมืองดีนั้น จะต้องฝึกฝนทั้ง กายจรรยา และใจ รวมกันไป และให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาแล้วได้ดำเนินการอาชีพ ปฏิบัติหน้าที่พลเมือง ตามรัฐธรรมนูญได้ดี รัฐบาลนี้จะได้บำรุงการศึกษาทางอาชีพและการหาวิชาความรู้ตามความต้องการ แห่งรัฐธรรมนูญ เป็นต้นว่าขยายประถมศึกษาให้แพร่หลาย และเขยิบการศึกษาวิชาการรัฐธรรมนูญ ยึดถือการปฏิบัติฝึกหัดงานให้สำคัญยิ่งขึ้นกว่าที่แล้วมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ผู้ที่ผ่านพ้นการศึกษา ในโรงเรียนไปแล้วได้มีโอกาสฝึกฝนตนเองได้ไม่ละทิ้งเสีย และให้ทุกคนมีโอกาสหาความรู้ได้อย่างเต็มที่ ที่จะจัดได้ตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลนี้จะบำรุงพลศึกษาให้เป็นการศึกษาเพื่อวินัยด้วย ส่วนในเรื่อง ธรรมการกับการศึกษานั้น รัฐบาลนี้เห็นว่า ควรจะเป็นอุปการะแก่กันและกันจึงจะได้บำรุงส่งเสริม และจัดการให้ได้ประสานงานกันอย่างสนิทสนมดียิ่งขึ้น อนึ่งในทางศิลปของชาติรัฐบาลนี้ก็จะไม่ละเลย แต่หากจะบำรุงเท่าที่จะทำได้ ส่วนวิธีให้การศึกษาโดยทั่วไปที่จะให้ได้ประโยชน์สมดั่งว่ามานั้น รัฐบาลนี้ จะได้จัดการปรับปรุงหลักสูตรและสรรพตำรากับทั้งบำรุงฐานะและคุณสมบัติของครูและอาจารย์ ให้สมกับ ที่วิชาครูเป็นวิชาชีพและที่ครูจะเป็นผู้อบรมสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาสืบต่อไป การบำรุงเศรษฐกิจของบ้านเมืองนั้น รัฐบาลก่อนได้วางแผนการเป็นทางดำเนินการไว้แล้ว รัฐบาลนี้จะได้ดำเนินการตามแผนการนั้นต่อไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการจะได้แถลงรายละเอียด ให้ทราบ อุปสรรคเรื่องข้าวราคาตกนั้น รัฐบาลกำลังพยายามแก้ไขอยู่จะได้ให้ทราบนโยบายในเวลาอันควร ตามฐานะเศรษฐกิจในเวลานี้ ยังจะหวังไม่ได้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องระมัดระวัง รายจ่าย งบประมาณจึงจะเข้าสู่ดุลยภาพและอยู่ในความมั่นคงได้ แต่รัฐบาลนี้จะปรับปรุงวิธีการเก็บภาษีอากร บางอย่างเพื่อให้ได้เงินซึ่งควรจะได้ และเพื่อบรรเทาภาระของราษฎร รัฐบาลนี้จะหาทางลดเงินรัชชูปการลง ตามสมควร ในส่วนการบำรุงเศรษฐกิจนั้นถ้ารายจ่ายอันใดจำเป็น เช่นว่า จะตั้งฉางก็ดี ขยายสหกรณ์ก็ดีหรือ บำรุงรักษาและขยายกิจการที่ได้ลงทุนไปแล้ว เข่น การชลประทาน การรถไฟ และการสร้างถนนก็ดี รัฐบาล จะจัดสรรเงินมาตั้งจ่ายให้ ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งคือความมั่นคงแห่งเงินตราซึ่งรัฐบาลนี้เชื่อว่าการที่จะรักษา อัตราแลกเปลี่ยนเงินให้คงที่ดั่งได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเงินตรานั้นเป็นทางที่ควรสำหรับกรุงสยาม ราชการส่วนต่าง ๆ จะดำเนินไปได้สะดวก ก็ย่อมแล้วแต่สมรรถภาพของข้าราชการ รัฐบาลนี้จึง จะปรับปรุงระเบียบข้าราชการพลเรือนเพื่อให้โอกาสแก่ผู้ที่มีความรู้และความสามารถจริงและให้ความมั่นคง แก่ข้าราชการประจำนั้น ๆ เพื่อให้ราษฎรได้รับการปกครองในทางที่เป็นธรรม รัฐบาลนี้จะได้วางบทวิเคราะห์คดีปกครอง และวางวิธีพิจารณาคดีปกครอง ความมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาลนี้คือ จะบำรุงฐานะของราษฎรให้เป็นพลเมืองดีตามวิถี รัฐธรรมนูญ ซึ่งสำนักงานโฆษณาการจะได้ดำเนินการเผยแผ่อบรมต่อไป ด้วยความช่วยเหลือของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลนี้หวังว่าประชาชนชาวไทย จะเจริญก้าวหน้าด้วยความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญสืบไป คำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ในรายละเอียดแห่งนโยบายเศรษฐกิจ ราชการส่วนเกษตร ๑. กรมเกษตร จะส่งพนักงานออกสำรวจพันธุ์รุกขชาติทุกปี เพื่อทราบว่ามีพันธุ์ไม้ชนิดใดที่จะศึกษาร่วมมือกับ กรมวิทยาศาสตร์เพื่อประกอบสินค้าเป็นประโยชน์ต่อไปจะแจกพันธุ์ข้าวอย่างดีปีละอย่างน้อย ๒,๐๐๐ ถัง เพื่อเป็นพันธุ์สำหรับปลูกได้ไม่ต่ำกว่าปีละ ๑,๓๐๐ ไร่ และเพื่อเปรียบเทียบกับข้าวท้องถิ่นจะเลือกพืชพันธุ์ และหาทางกำจัดโรคพืช และกำจัดแมลงที่ทำอันตรายแก่พืชพันธุ์โดยทดลองตามหลักวิทยาศาสตร์ แล้วนำผลแห่งการทดลองไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาวสวนชาวนาจะทำการปราบโรครินเดอร์เพรสต ในภาคกลางและภาคอีสาน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาร์โบน ทำเซรุ่มและวัคซีนสำหรับโค กระบือตลอด ถึงสุกรและไก่ และจะตั้งด่านตรวจโรคสัตว์ที่ช่องตะโก หมวกเหล็ก ช่องจงโก และช่องระหว่างเลยกับ เพชรบูรณ์จะทำการผสมโคอย่างคัดเลือกโดยวิธีเพาะตามแนวพันธุ์ (Line Breeding) และจะทดลอง เลี้ยงโคฝูงที่อำเภอไชยบาดาล ซึ่งเป็นที่ ๆ คาดว่าจะมีอาหารสำหรับโคตลอดปีจะตั้งสถานีทดลองเพาะปลูก เพิ่มขึ้นที่หาดใหญ่และควนเนียงในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ที่พิษณุโลก ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ที่ปราจีนบุรีและราชบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ และ ๒๔๘๐จะลงมือสำรวจที่ดินว่างเปล่าที่ใดเหมาะแก่การเพาะปลูกอย่างใด ๒. กรมชลประทาน สกีมก่อสร้างนครนายก จะจัดทำต่องานที่ค้างมา งดงานฝั่งซ้ายตอนใต้ไว้ก่อน ใน ๒ ปีแรกจะ เริ่มจ่ายน้ำในคลองฝั่งขวา งานฝั่งนี้จะเสร็จบริบูรณ์ในปีที่๓ และในปีที่ ๓ นี้งานชลประทานที่คลองเมือง จะเสร็จเป็นส่วนมาก และจะแล้วเสร็จบริบูรณ์ในปีที่ ๔ เนื้อที่ที่จะได้ประโยชน์จากงานคลองฝั่งขวา ประมาณ ๓๖๖,๘๑๒ ไร่ จากงานคลองเมืองประมาณ ๕๒,๖๘๘ ไร่ รวม ๔๑๙,๙๐๐ ไร่ สกีมก่อสร้างสุพรรณ ตามสกีมสุพรรณน้อย กำหนดให้มีประตูระบายใหญ่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่าประตูระบายที่ ๑ ขุดคลองมะขามเฒ่าตอนต้น กั้นเขื่อนเป็นประตูระบายที่ ๒ ใต้อำเภอเดิมบางตรง คลองกระเสียว ทำเขื่อนประตูระบายที่ ๓ ณ วัดพร้าวเหนือสุพรรณ ทำคันกั้นน้ำท่วมฝั่งแม่น้ำสุพรรณ ในอำเภอสองพี่น้องและบางปลาม้า ได้เริ่มงานประตูที่ ๓ เมื่อปี ๒๔๖๕ และใช้การได้เมื่อปี ๒๔๗๐ แล้วจึง ลงมือทำประตูระบายที่ ๑ ต่อมาซึ่งใช้การได้บ้างใน พ.ศ. นี้ แต่ยังไม่เสร็จบริบูรณ์ทีเดียว ตั้งแต่ปีหน้า จะดำเนินงานที่ค้างนี้ต่อไป และจะให้แล้วเสร็จเต็มตามสกีมสุพรรณนี้ในเวลา ๔ ปีข้างหน้า สกีมก่อสร้างพายัพ ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ตอน สกีมแม่แฝก จะต่องานที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จในปี ๒๔๗๗ เมื่อเสร็จแล้วจะได้รับผลคือ ที่นาที่อยู่ ระหว่างเชิงเขากับฝั่งแม่น้ำปิงซีกตะวันออกจะได้น้ำจากคลองส่งน้ำตลอดและน้ำในลำแม่น้ำกวงก็จะมีสำหรับ การทำนามากขึ้นกว่าเดิม จะควบคุมได้ ๖๘,๐๐๐ ไร่ จะบุกเบิกที่ได้ใหม่อีก ๒๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งจะเป็นนาดีถึง ๑๒,๐๐๐ ไร่ สกีมแม่ปิงเก่าได้สำรวจแล้ว เหมืองของราษฎรอันมีอยู่แล้วใกล้อำเภอหางดงในบริเวณนา อันคาบเกี่ยวระหว่างเชียงใหม่กับลำพูน แต่มีภาระประจำปีด้วยเรื่องทรายไหลมาทับถม จะแก้ได้ก็ด้วยวิธี กั้นฝายถาวรตรงใต้แยกแม่ปิงเก่าและแม่ปิงใหม่ ให้มีประตูระบายทรายทางปากเหมือง และตบแต่งเหมือง จีนเสมียนของเก่าให้ดี ทั้งให้มีประตูระบายทรายบังคับน้ำได้ ตรงทางแยกแม่ปิงเก่าต้องกั้นทำนบเตี้ย ๆ ให้ น้ำไหลข้ามได้ในเวลาน้ำมาก เหมืองเก่าของราษฎรที่ได้รับน้ำจากแม่น้ำปิงเก่านี้ ๔ สาย ก็จะจัดให้ได้ น้ำมากขึ้นงานทั้งหมดนี้จะทำให้แล้วเสร็จได้ในเวลา ๒ ปี โดยใช้เงินประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ บาท สกีมแม่วัง ลำปางเป็นที่ซึ่งทำนาไม่สู้จะได้ผล เดือดร้อนกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคพายัพ จะต้องแก้ ด้วยวิธีกั้นฝายถาวรเหนือลำปางตรงใกล้ปากเหมือง และขุดคลองส่งน้ำเลียบเนินเขาตามฝั่งซ้ายของแม่วังมา จนใกล้วัดเสด็จ และขุดคลองฝั่งขวาอีกสายหนึ่ง จะเป็นประโยชน์แก่นาราว ๕๐,๐๐๐ ไร่ งานนี้ได้เริ่มสำรวจ และลงมือทำการบ้างเล็กน้อยแล้วและจะเสร็จได้ใน ๔ ปีข้างหน้านี้ สกีมก่อสร้างแม่น้ำน้อย สกีมนี้เป็นสกีมใหญ่ทำนองเดียวสกีมสุพรรณ ต้องการทุนมาก จึงเลือก ทำที่คลองกระทุ่มโพรงก่อน เพื่อป้องกันมิให้น้ำในลำน้ำเจ้าพระยาไหลลงคลองกระทุ่มโพรงไปท่วมทุ่งนา ให้เสียหาย ถ้าทำประตูระบายในคลองนี้เสร็จ ก็จะกันน้ำท่วมได้ แต่ต้องทำประตูน้ำด้วยเพื่อเรือสัญจร สกีมก่อสร้างเพชรบุรี สกีมนี้จะเป็นประโยชน์แก่นาประมาณ ๓๕๐,๐๐๐ ไร่ สิ่งที่กำหนดจะทำคือ กั้นเขื่อนขวางแม่น้ำเพชรบุรีที่เหนือวัดท่าไข่ ขุดคลองส่งน้ำใหญ่ฝั่งซ้ายและขวา งานใน ๔ ปีแรกคือ สร้าง เขื่อนกั้นแม่น้ำและขุดคลองฝั่งซ้าย (บริเวณตะวันตก) ก่อน สกีมก่อสร้างภาคอีสาน สกีมนี้ยังทำการสำรวจโดยทั่วไปยังไม่ได้กะการแน่นอนแต่กิจที่จะต้อง ทำก็คือ สร้างเขื่อนและทำนบเล็ก ๆ กั้นลำน้ำลำธารต่าง ๆ เมื่อเสร็จการสำรวจแล้วจะได้ลงมือสร้างตาม ความจำเป็นและความด่วนเป็นแห่ง ๆ ไปตามแต่จะทำได้การสร้างทำนบถาวรตามปากคลองในบริเวณลุ่ม น้ำเจ้าพระยา มีที่นาเป็นอันมากอาศัยน้ำในลำคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งฝ่ายปกครองป่าวร้อง ให้ทำทำนบชั่วคราวปิดปากคลองแทบทุกปี ถ้าไม่ทำก็ไม่มีน้ำพอหล่อเลี้ยงต้นข้าว ทุก ๆ ปากคลองนี้ควร มีประตูระบายน้ำ แต่จะทำคราวเดียวทั้งหมดก็มากมายเกินไป จะต้องเลือกทำแต่ที่คลองสำคัญ ๆ เพียง ปีละ ๓ - ๔ คลองจะจัดการลอกคลองและบำรุงคลองเก่ารวม ๓๓ คลอง ในเวลา ๗ ปี แต่ในระยะเวลา ๔ ปี จะเลือกทำคลองที่สำคัญแก่การเศรษฐกิจ ตามที่จะทำได้ ๓. กรมป่าไม้ จะจัดทำให้ป่าที่มีอยู่แล้วสมบูรณ์ขึ้น โดยวิธีปลูกซ่อมตัดฟัน โค่นหรือกานไม้และตัดสะสาง พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่รบกวน จะจัดสร้างป่าใหม่โดยวิธีเพาะปลูกไม้ขึ้น จะจัดทำสำหรับไม้สักปีหนึ่ง ๆ ไม้น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ไร่ ส่วนไม้กระยาเลยก็จะทำบ้างแต่เพียงเล็กน้อย จะทำการหมายเขตและทำแผนที่ป่า เพื่อการสงวนและการอนุญาตการทำไม้ทั่วไป จะวางโครงการการทำป่าไม้ คือ สำรวจชนิด ขนาด และวางกำหนดเขตให้ราษฎรตัดฟันเป็นปี ๆ หรือเป็นคราว ๆ ไป จะจัดตั้งโรงเรียนป่าไม้ขึ้นในมณฑลพายัพ เพื่อฝึกหัดบุคคลที่จะเข้ารับราชการในกรมป่าไม้ ต่อไปปีละ ๕ คน ทั้งจะให้ผู้ที่รับราชการอยู่แล้วได้รับความอบรมจากโรงเรียนนี้ด้วย จะพยายามจัดควบคุมและสงวนพันธุ์สัตว์ป่า ๔. กรมที่ดินและโลหกิจ จะทำการสำรวจและออกโฉนดที่ดินเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีดำเนินการรังวัด ทำแผนที่สำหรับ การออกโฉนด ตราจองและประทานบัตร การรังวัดนี้ปีหนึ่งทำงานได้เพียงประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ จะขยายการให้เดินมากขึ้นโดยวิธีถ่ายรูปทางอากาศ การเขียนจำลองและทำแผนที่นั้น ก็จะทำ ให้ละเอียดยิ่งขึ้นการโลหกิจ จะสำรวจพื้นที่ดินในทางธรณีวิทยา เพื่อแสวงหาโภคทรัพย์ของแผ่นดิน ๕. กรมการประมง จะจัดระเบียบงานตามหัวเมืองขึ้น จะบำรุงรักษาบึงบอระเพ็ดไว้เป็นที่เพาะและขยายพันธุ์ปลา และจะทำบ่อเพาะพันธุ์ปลาบางชนิด เช่น ปลาสลิดและปลาแรด จะทำการสำรวจบึงหนองต่าง ๆ ในอยุธยาและพิษณุโลก จะทำการสำรวจเพื่อกักน้ำในหนองหาร สกลนคร กว๊านพะเยา เชียงราย และบึงสีไฟ พิจิตร เพื่อเพาะและขยายพันธุ์ปลาเช่นเดียวกับที่บึงบอระเพ็ด จะร่วมมือกับกรมอุทกศาสตร์สำรวจพืชพันธุ์ในทะเล จะรวบรวมพิมพ์เรื่องพันธุ์ปลาในประเทศสยาม จะพยายามสร้างอะควาเรียมในปีที่ ๔ ราชการส่วนคมนาคม ๑. กรมรถไฟ จะขยายและแก้ไขบริเวณสถานีกรุงเทพฯ ให้สะดวกและเพื่อเป็นความปลอดภัยยิ่งขึ้นแก่ การเดินรถเข้าออก สำหรับทั้งสินค้าและคนโดยสาร การขยายและแก้ไขนี้จะเสร็จบริบูรณ์ในปี ๒๔๗๙ จะสร้างสถานีใหม่ที่บริเวณสถานีสับเปลี่ยนบางซื่อและตั้งเครื่องประกอบ เช่น หอคอยไฟฉาย เป็นต้น งานนี้จะเสร็จในปี ๒๔๗๘ การวางทางคู่ จะทำต่อจากคลองรังสิตถึงบ้านพาชี แต่จะแล้วเสร็จตลอดได้ในปี ๒๔๘๑ ใน ระยะเวลา ๔ ปี จะเปิดใช้การสำหรับทางคู่ได้เพียงบางปะอิน การสร้างทางขอนแก่นถึงหนองคาย เป็นงานดินตลอดไปในปี ๒๔๘๐ คือ ปีที่ ๔ ข้างหน้าจะเสร็จ เพียงการวางรางแต่ ก.ม. ที่ ๕๔๑ ถึง ๕๗๑ การทำสะพาน แต่ ก.ม. ๔๗๔ ถึง ก.ม. ๕๔๑ การโรยหินแต่ ก.ม. ๔๙๖ ถึง ก.ม. ๕๔๑ การสร้างสถานีและที่พักพนักงานแต่ ก.ม. ๔๙๖ ถึง ก.ม. ๕๔๑ และจะเปิด เดินรถได้ถึงกุมภวาปีในปี ๒๔๘๑ ถึงอุดรในปี ๒๔๘๒ และถึงหนองคายในปี ๒๔๘๔ ๒. กรมไปรษณีย์โทรเลข จะเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์ในเขตกรุงเทพฯ เป็นชนิดต่อเอง จะขยายการวิทยุให้ได้ยินทั้งประเทศทั้งกลางวันกลางคืน เดี๋ยวนี้ได้ยินในเวลากลางวันเพียง ๒๕๐ ก.ม. ๓. กรมการขนส่ง ฝ่ายทางอากาศ จะสร้างถนน โรงเก็บและโฮเต็ลที่พิษณุโลก และถ้าจำเป็นก็จะสร้างที่อื่นด้วย กับจะทำการตบแต่งสนามบินที่ระแหง นครสวรรค์ หัวหิน ชุมพร สงขลา แม่สอด บ้านผือ นาบัว ดงพระราม อรัญญประเทศ และศรีราชา ฝ่ายทางบกและทางน้ำนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งให้วางโครงการประสานการคมนาคม เมื่อรัฐบาลเห็นชอบในโครงการนั้นแล้ว จะได้ดำเนินการตัดถนนและขุดคลองใหม่ จะจัดการขนส่งสินค้าข้าวประกอบกับการตั้งฉาง ๔. กรมเจ้าท่า จะจัดการควบคุมการนำร่องคือ ให้เรือเข้าออกในท่ากรุงเทพฯ ต้องมีนำร่องของรัฐบาล จะจัดการเรื่องทะเบียนเรือยนต์ เรือกลไฟและเรือเล็ก ซึ่งเวลานี้ยังบกพร่องอยู่มากเสีย ใหม่โดยทั่วไป ราชการส่วนรวม กรมสหกรณ์ จะเปิดสหกรณ์ประเภทเครดิตในปี ๒๔๗๗ อีก ๑๘๐ สมาคม ในปี ๒๔๗๘ อีก ๒๔๐ สมาคม และในปี ๒๔๗๙ อีก ๓๐๐ สมาคม และในปี ๒๔๘๐ อีก ๖๔๐ สมาคม รวมใน ๔ ปีข้างหน้าจะเปิด ๑,๓๖๐ สมาคม คือ รวมกับที่เปิดในปีนี้ ๑๓๐ สมาคม และที่มีอยู่แล้วจะเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑,๖๘๑ สมาคม จะเริ่มการตั้งเครดิตสถานกลางสำหรับการกสิกรรม จะจัดตั้งสหกรณ์ผู้เช่า ตามโครงการที่จะได้รับอนุมัติของรัฐบาล กรมวิทยาศาสตร์ จะตั้งห้องสมุดทางวิทยาศาสตร์สำหรับประชาชน และแสดงพิพิธภัณฑ์วัตถุที่ทดลอง ในทางวิทยาศาสตร์ที่เห็นว่าจะเป็นสินค้าได้ ทั้งจะออกหนังสือเผยแผ่ความรู้ที่จะได้มาจาก การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ จะทำการแยกธาตุดินที่ทำการเพาะปลูก และแยกธาตุปุ๋ย พันธุ์หญ้าและอาหารสัตว์ ทั้งนี้เพื่อประกอบในทางเกษตรศาสตร์ จะทำการค้นคว้าและศึกษาจำแนกชนิดแมลง และเผยแผ่ความรู้นั้น ๆ ทั่วไป กรมทะเบียนการค้า จะขยายการควบคุมการชั่ง ตวง วัดตามพระราชบัญญัติ ให้ใช้กันทั่วพระราชอาณาจักร กรมพาณิชย์ จะตั้งฉาง (Silo) แล้วดำเนินการต่อไปจนถึงการจัดตลาดสินค้าข้าวในต่างประเทศ จะจัดตั้งผู้แทนในการค้าเพื่อหาตลาด เผยแผ่สินค้าไทยและเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าไทย จะจัดตั้งแผนกสถิติพยากรณ์ รวบรวมตัวเลขให้ได้เป็นที่แน่นอน เพื่อประโยชน์แก่การบำรุง การพาณิชย์อย่างจริงจัง จะจัดเรื่องกรรมกร เพื่อเป็นการช่วยเหลือกรรมกรทั้งในทางทุนเบื้องต้นและในทางจัดหางาน ให้ทำ จะพยายามฟื้นฟูสินค้าบางอย่าง ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสินค้าสำคัญของสยาม เช่น น้ำตาล และพริกไทย *รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒/๒๔๗๖ (สามัญ) สมัยที่ ๒ วันจันทร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ หน้า ๒๒ - ๓๗
6
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๖ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๗๗ - ๘ สิงหาคม ๒๔๘๐ แถลงนโยบาย เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๗ คำแถลงนโยบายของรัฐบาล* รัฐบาลนี้มีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้ปวงชนชาวสยามทุกเหล่าทุกชั้น ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ คณะสงฆ์ สภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล ตลอกจนอาณาประชาราษฎรได้รวมกันเป็นสมานฉันท์ตั้งมั่นอยู่ใน ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นปึกแผ่นหนาแน่นด้วยความสามัคคี เพราะรัฐบาลนี้เชื่อตระหนักว่าการปกครอง ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะนำมาซึ่งความวัฒนาถาวรของประเทศชาติสืบต่อไป ในการประดิษฐานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามขึ้นนั้น ได้อาศัยหลัก ๖ ประการ เป็นมูลฐานที่ตั้ง ได้แก่ หลักเอกราช ๑ หลักความสงบภายใน ๑ หลักเศรษฐกิจ ๑ หลักสิทธิเสมอภาค ๑ หลักเสรีภาพ ๑ และหลักการศึกษา ๑ หลักสิทธิเสมอภาคและหลักเสรีภาพนั้น ได้รับผลสำเร็จแล้ว ตามความในรัฐธรรมนูญ หลักเอกราช ในส่วนหลักการเอกราชนั้น ยังมีข้อสัญญาผูกมัดจำกัดอิสระภาพอยู่บ้างในทางศาลและ ภาษีศุลกากร ซึ่งรัฐบาลจะได้ถือโอกาสขอเจรจาแก้ไขในเวลาอันสมควร ในส่วนประมวลกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งยังมิได้ประกาศใช้โดยครบถ้วนนั้น รัฐบาลจะได้จัดร่างพระราชบัญญัติวางระเบียบข้าราชการตุลาการ ทั้งตั้งกรรมการตุลาการขึ้นเพื่อสนับสนุนและควบคุมฐานะตุลาการ และจัดตั้งกรรมการวางระเบียบศาล ต่าง ๆ ตลอดจนการงานในกองรักษาทรัพย์และกองหมายด้วย ในการทหารนั้นรัฐบาลนี้จะได้บำรุงกำลัง กองทัพบกกองทัพเรือและกำลังทางอากาศให้มีความมั่นคงเข้มแข็งเหมาะแก่ฐานะที่มีหน้าที่ป้องกัน พระราชอาณาจักร ทั้งนี้โดยมุ่งหวังจะให้ประเทศชาติดำรงอยู่โดยสันติสุงและอิสระภาพทุกประการ หลักความสงบภายใน ในส่วนหลักความสงบภายในนั้น รัฐบาลมีนโยบายดังต่อไปนี้ ๑. การรักษาความสงบภายใน ในเรื่องโจรผู้ร้ายจะจัดการป้องกันและปราบปรามโดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อเพิ่มกำลัง ตำรวจให้มีปริมาณและคุณภาพยิ่งขึ้น จัดการคมนาคมให้สะดวก แก้ไขเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และอบรมสั่งสอน พลเมืองให้มีศีลธรรมอันดีงาม รวมทั้งส่งเสริมให้วิธีการปกครองโดยเทศบาลได้ผลจริงจังอีกด้วย ๒. การปกครองลักษณะเทศบาล รัฐบาลนี้จะส่งเสริมและดำเนินการที่จะจัดตั้งเทศบาลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบ เทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยลำดับดังนี้ (ก) ในปีนี้จะได้จัดตั้งให้มีสภาจังหวัด โดยจะพยายามเลือกคัดผู้มีอาชีพต่าง ๆ ให้เข้าอยู่ ในสภานี้ (ข) จะได้จักเปลี่ยนฐานะสุขาภิบาลที่มีอยู่เป็นเทศบาลภายในปีนี้ (ค) จะได้จัดแยกงบประมาณส่วนภูมิภาคได้ตั้งเป็นงบประมาณทางจังหวัด (ง) จะได้รีบเร่งอบรมที่ปรึกษาการเทศบาล เพื่อช่วยเหลือการเทศบาล ๓. การทาง รัฐบาลได้ดำเนินการสร้างทางที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างต่อไปให้แล้วเสร็จ นอกจากนี้จะได้ ทำทางอื่น ๆ ที่ยังไม่เรียบร้อยให้มีลักษณะดีขึ้น เพื่อความสะดวกสำหรับการคมนาคม รัฐบาลจะได้อุดหนุนให้มีทางจังหวัดและทางเทศบาลเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อประโยชน์ใน ทางเศรษฐกิจและการปกครอง โดยที่จะให้งบประมาณเพิ่มเติมสำหรับสร้างและบำรุงทางเหล่านี้ ทั้งจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการไปช่วยดำเนินการ หรือควบคุมในการสร้างและบำรุงทางดังกล่าวนี้ด้วย ๔. การช่วยเหลือสุขาภิบาลหรือเทศบาลในการสาธารณูปโภค รัฐบาลจะได้รับจัดให้มีโรงทำไฟฟ้าและการประปาในสุขาภิบาล หรือเทศบาลให้มากแห่ง ๕. การราชทัณฑ์ วิธีการราชทัณฑ์จะได้ดำเนินดังต่อไปนี้ (ก) จะได้จัดให้มีการอบรมนักโทษในทางธรรมจรรยา และสั่งสอนวิชาชีพพร้อมทั้งการฝึกฝน และจัดให้มีการทำงานที่เป็นคุณประโยชน์เพื่อสุขภาพ เพื่อปลูกฝังนิสัยและส่งเสริมวิชาชีพ (ข) จะได้จัดระเบียบคนจรจัดให้มีที่อยู่ที่ทำกินโดยเฉพาะ พร้อมด้วยดำเนินการอบรม เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตให้เป็นพลเมืองดีต่อไป (ค) จะได้ปรับปรุงโรงเรียนดัดสันดานเด็กเสียใหม่ ให้การศึกษาและฝึกหัดทำงานวิชาชีพ เพื่ออบรมให้เป็นพลเมืองดีต่อไป ๖. การสาธารณสุข (ก) การบำบัดโรค จะจัดให้มีโรงพยาบาลขึ้นตามจังหวัดต่าง ๆ ที่จำเป็นและจัดให้มีสุขศาลา เพิ่มขึ้นในท้องที่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการบำบัดยิ่งขึ้น ทั้งจะจัด ให้มีเจ้าพนักงานเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์สำหรับไปทำการติดต่อกับประชาชนในความควบคุมของ แพทย์ตามตำบลที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลและสุขศาลาด้วย (ข) การสาธารณสุขทั่วไป จะจัดการสาธารณสุขทั่วไปให้ดียิ่งขึ้นโดยประการต่อไปนี้ (๑) จัดร่างพระราชบัญญัติการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการสุขาภิบาลโดยทั่วไป และโดยเฉพาะเช่น ตลาด การจำหน่ายอาหารการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เป็นต้น (๒) จัดแก้ไขพระราชบัญญัติโรคติดต่อเพื่อให้การป้องกันและระงับโรคติดต่อ เป็นผลดียิ่งขึ้น (๓) ขยายการควบคุมโรคซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเวลานี้ เช่น ไข้จับสั่น วัณโรค โรคเรื้อน และโรคจิต เป็นต้น หลักเศรษฐกิจ ในหลักเศรษฐกิจของชาตินั้น รัฐบาลนี้เห็นว่าจักต้องมีโครงการเพื่ออำนวยการประสานอาชีพ ทั่ว ๆ ไป โดยหวังประกอบผลจากกำลังทรัพย์ของประเทศให้ถึงขีดอันสูงสุด เพื่อความสมบูรณ์ ความเจริญ และความมั่นคงของชาติ โครงการเศรษฐกิจจักต้องอยู่ในวงจำกัดบางข้อ ๑. จักต้องเคารพต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบุคคล ภายใต้หลักแห่งรัฐธรรมนูญ ๒. จักต้องเคารพต่อข้อสัญญา และการติดต่อระหว่างประเทศ ๓. จักต้องคำนึงถึงความนิยมของประชาชน และให้เหมาะแก่ความจำเป็นตามภาวะที่เป็นจริง ๔. การใดที่ใหม่ จักต้องสอบสวน ทดลอง อบรมเสียก่อน เมื่อเห็นลู่ทางที่จะบังเกิดผลสมประสงค์ จึงเริ่มขยายตามกำลัง แผนดำเนินการ ๑. จัดระเบียบคณะกรรมการเศรษฐกิจให้มีหน้าที่วางโครงการดำเนินการเป็นชั้น ๆ ไปตาม นโยบายนี้ และรวบรวมสถิติเพื่อกระทำการฟื้นฟูเศรษฐกิจแห่งชาติให้บังเกิดผลตามความมุ่งหมาย ๒. วิธีดำเนินการจะจัดไปในทางสมานประโยชน์ซึ่งกันและกัน ๓. กิจการบางอย่างที่เป็นสาธารณูปโภค จะจัดรัฐบาลอาจเข้าควบคุม ตลอดจนร่วมทุนร่วมงาน กับบริษัทหรือเอกชนเป็นรูปบริษัทสาธารณะบางอย่างสมควรจะจัดทำเองก็จะจัดทำ ๔. กิจการที่ไม่เป็นสาธารณูปโภค จะปล่อยให้พลเมืองทำกันเอง นอกจากสิ่งใดเป็นของสำคัญ สำหรับชาติควรจัดทำก่อน แต่ถ้ายังไม่มีผู้เริ่มทำ รัฐบาลจะเป็นผู้นำหรือสนับสนุนหรือเข้าร่วมมือด้วย เมื่อ เห็นว่าควรจะปล่อยได้ ก็จะได้ปล่อยให้บริษัทหรือเอกชนดำเนินการต่อไป กิจการที่จะกระทำ รัฐบาลจะพยายามแก้ไขดัดแปลงทางการทั่ว ๆ ไป ให้เจริญดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีกิจการบางอย่าง ซึ่งมุ่งจะกระทำ คือ ๑. จัดการสำรวจภูมิประเทศและทรัพย์แผ่นดินทั่ว ๆ ไป โดยใช้ผู้ชำนาญตรวจให้ทราบว่า ในท้องที่ใดสมควรแก่การอย่างใด ๒. ขยายสถานีทดลองการเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ให้แพร่หลายออกไป ๓. จัดการสำรวจที่ดินว่างเปล่าที่ยังไม่มีเจ้าของ แล้วจัดวางระเบียบการจับจองที่ดินให้เหมาะแก่ การเพาะปลูกและสมแก่อัตภาพของบุคคล ๔.จัดวางแผนส่งเสริมการชลประทานและประสานการขนส่งของประเทศเพื่อสนับสนุน การเพาะปลูกและการค้าให้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น โดยดำเนินการเป็นชั้น ๆ ไปตามกำลังทรัพย์ และความจำเป็น ๕. สำรวจสินค้าที่มีอยู่แล้วว่าสิ่งใดมีความสำคัญเพียงใด แล้วรีบบำรุงส่งเสริมให้มีคุณภาพ และปริมาณให้เป็นสินค้าสำคัญขึ้น ๖. สำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อหาลู่ทางช่วยเหลือให้มีอาชีพ สมควรแก่อัตภาพ ๗. สนับสนุนการดำเนินของสินค้าจากผู้ปลูก ผู้ทำ ให้ถึงผู้กินผู้ใช้โดยทางประหยัด และพยายาม หาตลาดให้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ๘. สนับสนุนและอบรมราษฎรให้เกิดความรู้ความชำนาญ และความนิยมในการค้า การกสิกรรม การอุตสาหกรรมและการสหกรณ์ ๙. ขยายสหกรณ์กู้ยืมและจัดตั้งสหกรณ์รูปอื่นขึ้น สุดแต่ความจำเป็นก่อนหลังตามกำลังทรัพย์ และสมรรถภาพขององค์การนั้น ๆ ซึ่งเห็นว่าจะได้รับผลอันแท้จริง ๑๐. จะจัดการส่งเสริมความเป็นอยู่ตลอดจนการศึกษา และอนามัยของกสิกรและกรรมกร ด้วยดียิ่งขึ้น หลักการศึกษา ในหลักการศึกษานั้น รัฐบาลนี้มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้การศึกษาแก่พลเมือง ทั่วไปอย่างเต็มที่ ให้ได้รับการอบรมในระบอบการปกครองตามแบบรัฐธรรมนูญ ฝึกฝนให้รอบรู้ มีปัญญาความคิด รู้จักค้นคว้าหาเหตุผลโดยตนเองได้ มีจรรยา ประกอบด้วยกำลังกายและกำลังใจ เป็นอันดีกับทั้งไม่ให้ละทิ้งเสียซึ่งจริยศึกษาแห่งชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีของไทยมุ่งประสงค์ ให้ผู้ได้รับการศึกษาแล้วสามารถประกอบอาชีพ มีอนามัยและศีลธรรมอันดีงาม รัฐบาลนี้จะจัดการแก้ไขปรับปรุงงานประถมและมัธยมศึกษาให้มีระดับที่ดีขยายการประถมศึกษา ให้มีโรงเรียนประชาบาลอย่างน้อยตำบลละ ๑ โรงเรียนเพื่อให้ก้าวหน้าแพร่หลายได้ผลตามที่รัฐธรรมนูญ ต้องการ จะจัดทั้งในทางสามัญศึกษา วิสามัญศึกษา หนักไปทางเกษตรกรรมและพาณิชยการ ส่วนอุดมศึกษา จะปรับปรุงมหาวิทยาลัยให้ได้มาตราฐานกับมหาวิทยาลัยที่ดีในอารยะประเทศจะได้ขยายงานให้นักเรียน ได้เข้ารับการศึกษาชั้นนี้มากขึ้น และจะบำรุงมาตราทางวิชาการให้สูงขึ้นเป็นลำดับ รัฐบาลนี้จะจัดการให้กุลบุตรกุลธิดามีโอกาสหาความรู้ได้อย่างเต็มที่ที่จะจัดได้ตามระบอบ ประชาธิปไตยจะบำรุงพลศึกษา หาทางให้ประชาชนได้มีโอกาสบำรุงกำลังกายและกำลังใจ และกำลัง ความคิดทั้งจะได้จัดหาสถานที่และอุปกรณ์การกีฬาต่าง ๆ ไว้สำหรับการนี้ ทั้งนี้เพื่ออบรมวินัยการเป็น นักกีฬาและสามัคคีธรรมในทางธรรมการก็จะส่งเสริมสมรรถภาพในการศึกษาพระปริยัติธรรมและการอบรม ศีลธรรมแก่ประชาชน อนึ่ง การธรรมการและการศึกษานั้น รัฐบาลถือว่าอุปการะซึ่งกันและกันจึงจะได้บำรุง ส่งเสริมและจัดการให้ได้ประสานงานกันอย่างสนิทสนมดียิ่งขึ้น ในทางศิลปของชาติรัฐบาลนี้ก็จะส่งเสริม โดยพยายามฟื้นฟูทุกสถานเพื่อเป็นการเชิงดูวัฒนธรรมของชาติไทย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อที่จะให้การศึกษาได้เป็นไปตามนโยบายนี้รัฐบาลจะปรับปรุงการงานให้รัดกุมเหมาะสม กับที่วิชาครูเป็นวิชาชีพและที่ครูจะเป็นผู้อบรมสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาสืบไป แผนนโยบายเกี่ยวด้วยหลัก ๖ ประการดังกล่าวแล้ว จะดำเนินไปให้เป็นผลสำเร็จได้ก็ด้วย อาศัยกำลังคนและกำลังเงินเป็นสำคัญ รัฐบาลจึงจะปรับปรุงระเบียบราชการประจำให้ข้าราชการได้รับความอบรมในความรู้และ ความชำนาญพิเศษเฉพาะแผนกราชการของตนเพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนให้ดำเนินไป โดยสมรรถภาพเหมาะสมแก่ความต้องการ กับทั้งจะปรับปรุงระเบียบการให้ข้าราชการได้รับผลประโยชน์ ความเที่ยงธรรม และความมั่นคงตามสมควรแก่ตำแหน่งหน้าที่ด้วย ในส่วนการเงินนั้น ประเทศสยามพร้อมด้วยประเทศอื่น ๆ ได้รับความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส จากความตกต่ำแห่งเศรษฐกิจของโลก ภายในระยะเวลา ๓ ปี เท่านั้น ราคาข้าวได้ตกไปมากแต่โดยที่ราษฎร ชาวสยามมีความอดทนอย่างน่าสรรเสริญและโดยที่รัฐบาลรัฐธรรมนูญได้กระทำการประหยัดระมัดระวัง ฐานะการเงินของประเทศจึงอยู่ในภาวะที่มั่นคง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และ ๒๔๗๖ รายได้ท่วมรายจ่ายทั้ง ๒ ปี และในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้ ถึงแม้ว่าตามตัวเลขในพระราชบัญญัติงบประมาณจะปรากฎว่ารายจ่ายท่วมรายได้ ก็จริงอยู่ แต่ถ้าคำนวณดูตามรายได้ซึ่งได้รับจริงใน ๕ เดือนที่แล้วมานี้ ก็น่าจะคาดคะเนได้ว่ารายได้จริงในปีนี้ คงจะพอแก่รายจ่าย ความมั่นคงในการเงินและการเงินตรานี้ รัฐบาลจะได้รักษาไว้ต่อไปเพราะถึงแม้ว่าฐานะเศรษฐกิจ แห่งโลกและแห่งประเทศนี้จะดีขึ้นบ้างแล้วก็ดี ความตกต่ำก็ยังคาดหมายไม่ได้ว่าจะกลับดีขึ้นโดยเร็ว แต่ในส่วนการบำรุงนั้น รัฐบาลจะตระหนี่เงินไม่ได้ จะต้องจัดหาเงินให้พอแก่การเพราะฉะนั้น เมื่อโครงการอันใดตามแผนนโยบายดังกล่าวได้เตรียมการพร้อมสรรพแล้ว รัฐบาลจะต้องจัดหาเงิน ให้จงได้รัฐบาลจะปรับปรุงการภาษีอากรให้เหมาะสมโดยไม่ประสงค์จะเพิ่มภาระในการภาษีอากร ให้ตกหนักแก่ราษฎรโดยไม่จำเป็น รัฐบาลจะปรับปรุงระเบียบการคลังให้เหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย ความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติตามแผนนโยบายที่กล่าวมานี้รัฐบาลจะบริหารให้เป็น ไปด้วยความสัมพันธ์กับนานาประเทศซึ่งรัฐบาลจะร่วมมือด้วยเช่นเคยกับทั้งจะได้ส่งเสริมความเข้าใจ อันดีกับนานาประเทศนั้น ๆ เป็นการเจริญพระราชไมตรีให้สนิทสนมยิ่งขึ้น รัฐบาลนี้จะดำเนินการเป็นผลสำเร็จเพียงใด ย่อมแล้วแต่พระบรมราชานุเคราะห์ของ องค์พระประมุข และความช่วยเหลือร่วมมือของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดทั้งอาณาประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองสืบไปในวิถีทางรัฐธรรมนูญตามความประสงค์จำนงหมายของประชาชน ชาวสยามโดยทั่วกัน *รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๔/๒๔๗๗ (วิสามัญ) สมัยที่ ๒ วันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๗ หน้า ๑๗๕๖ - ๑๗๖๖
7
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๗ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม - ๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๐ แถลงนโยบาย เมื่อวันพุธที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๘๐ คณะรัฐมนตรีนี้จะดำเนินนโยบายตามที่คณะรัฐมนตรีชุดก่อนได้แถลงไว้ต่อ สภาผู้แทนราษฎรแล้ว ส่วนเรื่องการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นปัญหา อยู่นั้น รัฐบาลจะได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ขาวสะอาด *รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๒/๒๔๘๐ (วิสามัญ) สมัยที่ ๒ วันพุธที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ หน้า ๕๐๑
9
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๙ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม - ๖ มีนาคม ๒๔๘๕ แถลงนโยบาย เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ คำแถลงนโยบายของรัฐบาล* ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีมีนโยบายดังต่อไปนี้ ก. นโยบายทั่วไป ๑. รัฐบาลนี้จะดำเนินนโยบายทั่วไปตามหลัก ๖ ประการ คือ หลักเอกราช หลักความสงบ ภายในหลักเศรษฐกิจ หลักสิทธิเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา ๒.รัฐบาลนี้จะถือการครองชีพของราษฎรตามควรแก่อัตตภาพเป็นหลักสำคัญและโดยนัยนี้ จึงจะพยายามให้ปวงชนชาวสยามมีความรู้ ความชำนาญและเกิดความนิยมในวิชาอาชีพ เช่น ในการเกษตร เหมืองแร่ พาณิชยการ และอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ๓. ในกิจการที่จัดทำ รัฐบาลนี้จะพยายามให้เป็นผลแก่ราษฎรโดยเร็ว ฉะนั้นวิธีดำเนินการจึงจะ ได้หนักในทางปฏิบัติ ๔. สิทธิและหน้าที่อันใดที่สยามมีอยู่ รัฐบาลนี้จะพยายามใช้และปฏิบัติ ๕. ในกิจการของรัฐบาล รัฐบาลนี้จะให้ข้าราชการเคร่งครัดในวินัยและเพิ่มพูลสมรรถภาพ ทั้งฝ่ายวิชาการและธุระการ ๖. ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชน รัฐบาลนี้จะเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ แต่ในเวลาเดียวกัน ประชาชนก็จะต้องเคารพต่อกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญด้วย ๗. รัฐบาลนี้จะถือความกลมเกลียวประสานงานในระหว่างกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการ ต่าง ๆ เป็นสำคัญ ๘. รัฐบาลนี้จะดำเนินการให้รัฐและราษฎรมีความสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะปลูกและ ส่งเสริมภราดรภาพในระหว่างข้าราชการกับราษฎร ให้มีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกันยิ่งขึ้น ข. นโยบายสำหรับกระทรวง ๑. กระทรวงกลาโหม รัฐบาลจะบำรุงกำลังกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ให้มีความเข้มแข็งพอควรแก่ การป้องกันอิสสรภาพและสิทธิของประเทศชาติ การบำรุงนี้จะพยายามทำทั้งในคุณภาพและปริมาณ ๒. กระทรวงการคลัง (๑) จะจัดการปรับปรุงภาษีอากรให้ยุตติธรรมแก่สังคม ส่วนเงินรัชชูปการนั้นจะยกเลิก โดยหาเงินรายได้ทางอื่นมาชดเชย (๒) จะจัดให้มีเครดิตหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามกำลังของประเทศที่จะทำได้ (๓) จะรักษาความมั่นคงแห่งเงินตราตามกฎหมาย (๔) จะกำหนดปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล ๓. กระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลนี้จะส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศซึ่งมีอยู่แล้วเป็นอย่างดีนั้นให้สนิทสนม ยิ่งขึ้นโดยทั่วกัน ๔. กระทรวงเกษตราธิการ (๑) จะบำรุงพืชผลพื้นเมืองตลอดถึงสัตว์ ให้มีคุณภาพและปริมาณเป็นสินค้าสำคัญขึ้นโดย วิธีเช่นปราบโรคร้ายต่าง ๆ ควบคุมและสงวนพันธุ์สัตว์ป่าและจัดวางระเบียบด่านกักและตรวจสัตว์ที่ส่ง ไปขายต่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น จัดการบำรุงหนองและบึงให้เป็นที่เพาะและแพร่พันธุ์ปลา และส่งเสริมการ ประมงทางทะเลด้วย (๒) ในการชลประทาน จะทำงานก่อสร้างที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ และจัดวางโครงการชลประทาน ต่อไปในภาคใดยังไม่สามารถจัดวางโครงการใหญ่ได้ ก็จะจัดวางโครงการย่อยตามลำดับความจำเป็น (๓) จะปรับปรุงวิธีการบำรุงและรักษาป่าไม้ให้เป็นผลดียิ่งขึ้นทั้งในคุณภาพและปริมาณ (๔) จะขยายการสหกรณ์กู้ยืมและจัดตั้งสหกรณ์รูปอื่น สุดแต่ความจำเป็นก่อนหลัง ๕. กระทรวงธรรมการ (๑) สามัญศึกษาจะพยายามจัดให้การศึกษาภาคบังคับให้ขยายออกไปตามประสงค์ของ พระราชบัญญัติประถมศึกษาและเร่งรัดคุณภาพให้ดีขึ้นด้วยการบำรุงอุปกรณ์ของโรงเรียนและฐานะของ ครูในภาคนอกบังคับก็จะจัดให้มีการศึกษาถึงมัธยมบริบูรณ์ทั่วทุกจังหวัด จะสนับสนุนโรงเรียนราษฎร์ให้ ทวีทั้งจำนวนและคุณภาพ (๒) อาชีวะศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง จะจัดให้มีการศึกษาอาชีพประเภทต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่น เหมาะสมแก่ท้องที่ตามลำดับความจำเป็น โดยหนักในทางปฏิบัติ (๓) การศึกษาภาคผนวก จะพยายามจัดให้ผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือได้รับการศึกษาจนอ่านออก เขียนได้และเข้าใจหน้าที่ของพลเมือง (๔) จะปรับปรุงอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและปริมาณยิ่งขึ้น จะจัดเพิ่มแผนกวิชาขึ้นตามความจำเป็น (๕) จะจัดให้การพลศึกษาแพร่หลายในโรงเรียนทั่วไป ตลอดถึงประชาชนให้เป็นประโยชน์ทั้ง ทางกายและทางใจ (๖) จะรักษาและส่งเสริมศิลปกรรมไทยเพื่อเชิดชูเกียรติและวัฒนธรรมของชาติจะใช้ศิลปกรรม เป็นอุปกรณ์การอบรมประชาชนทั้งในทางความรู้และคุณภาพทางใจ (๗) ในทางศาสนา จะปรับปรุงพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ให้สมกาลสมัยและ จะอุปถัมภ์การศาสนาตามความประสงค์แห่งรัฐธรรมนูญ (๘) เพื่อปลูกฝังหลักธรรมและแนววัฒนธรรมตั้งแต่เยาว์วัย จะดำเนินการขจัดเหตุที่ก่อให้เกิด การละเมิดศีลธรรมในยุวชน ๖. กระทรวงมหาดไทย (๑) ความปลอดภัยของประชาชน ในเรื่องโจรผู้ร้ายและการละเมิดอันเป็นอาญาอื่น ๆ จะจัดการ ป้องกันและปราบปรามโดยกวดขันเพื่อการนี้จะให้ตำรวจเข้ารับหน้าที่การสอบสวนจากเจ้าพนักงาน ฝ่ายปกครองโดยลำดับและปรับปรุงกฎหมายในเรื่องนี้กับทั้งจะได้เพิ่มจำนวนและปรับปรุงสมรรถภาพ ของตำรวจและอัยการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น (๒) การราชทัณฑ์ จะปรับปรุงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทั้งในทางจำนวนและคุณภาพตลอดจนจัดตั้ง เรือนจำพิเศษ เพื่อให้การปฏิบัติต่อนักโทษเข้าสู่มาตราฐานอันควรยิ่งขึ้น และจะขยายการอบรมทางธรรม จรรยา วิชาสามัญและวิชาอาชีพให้หนักไปในทางใช้แรงงานเพื่อประโยชน์แก่การอบรมจะดำเนินการจัดตั้ง ทัณฑนิคมสำหรับนักโทษที่ประพฤติตัวดีเพื่อปลูกฝังการอาชีพอันจะเป็นผลในทางป้องกันการกระทำผิดและ เป็นการสงเคราะห์ผู้พ้นโทษตามสมควร (๓) การปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นจะปรับปรุงกฎหมายและระเบียบแบบแผนการปกครอง ส่วนภูมิภาคให้รัดกุมยิ่งขึ้น ทั้งจะปรับปรุงคุณภาพของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเพื่อประโยชน์ในการบำรุง ส่งเสริมสวัสดิภาพ ความสะดวก และการประกอบอาชีพของราษฎรและอบรมสั่งสอนพลเมืองให้มี ศีลธรรมอันดี ในส่วนการปกครองท้องถิ่นนั้น จะขยายการเทศบาลออกไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ และจะปรับปรุง กฎหมายว่าด้วยการเทศบาลให้เหมาะสม (๔) การสาธารณสุข จะจัดให้มีสถานพยาบาลพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นในส่วนภูมิภาค เพื่อให้ ราษฎรในชนบทได้รับความสะดวกในการบำบัดโรค จะขยายการส่งเสริมสุขาภิบาลตามชนบท และเพิ่มหน่วย สาธารณสุขเคลื่อนที่ให้มากขึ้น ส่วนการสาธารณสุขในเขตเทศบาล ก็จะส่งเสริมให้ดำเนินไปด้วยดี (๕) การทางและการสาธารณูปโภค จะเร่งรัดการก่อสร้างทางสายต่าง ๆ ตามโครงการสร้างทาง ของราชอาณาจักร และสนับสนุนให้มีทางของท้องถิ่นขึ้น เพื่อเชื่อมการคมนาคมในระหว่างอำเภอและตำบล ต่าง ๆทั้งจะได้บำรุงรักษาทางที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งการบูรณะทางเกวียนให้อยู่ในสภาพที่จะเป็นประโยชน์แก่ การจราจรและจะได้เปิดโอกาสให้ราษฎรได้รับผลจากอาชีพในการทำงานก่อสร้างนี้ด้วย ในการสาธารณูปโภคนั้น จะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักร เครื่องมือในองค์การของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือในการเงินที่จะกู้ยืมใช้เป็นทุน ในการวางผังเมือง จะจัดการออกแบบและแนะนำช่วยเหลือแก่เทศบาลและชุมนุมชน ๗. กระทรวงยุตติธรรม รัฐบาลจะรักษาฐานะของผู้พิพากษาตามควรแก่อิสสระที่มีในการพิจารณาคดีและจะได้สอดส่อง ให้กระบวนพิจารณาในศาลได้ดำเนินไปโดยเร็วตามสมควร ๘. กระทรวงเศรษฐการ (๑) จะบำรุงอาชีพของพลเมืองโดยวิธีเช่น หาตลาดสินค้าไทยภายนอกประเทศ และพยายาม ให้ใช้สินค้าไทยภายในประเทศ (๒) จะปรับปรุงสินค้าสำคัญบางอย่างของประเทศ เช่น ข้าวและหาวิธีจัดการค้านั้นให้ได้ผลดียิ่งขึ้น (๓) จะส่งเสริมการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ให้เป็นประโยชน์และสะดวกยิ่งขึ้น โดยเพิ่ม สายรถไฟใหม่บางตอน ปรับปรุงค่าระวางรถไฟ เปิดท่าเรือในที่สำคัญ และขยายสายการบินให้มากขึ้น (๔) จะส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (๕) จะบำรุงอุตสาหกรรมพื้นเมือง และจัดการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมในส่วนความปลอดภัย (๖) จะขยายการสื่อสาร และการโทรศัพท์ทางไกลในประเทศ จัดตั้งสถานีวิทยุในเมืองที่ที่สำคัญ และขยายเครื่องกระจายเสียงทางวิทยุให้มีมากขึ้น (๗) จะปลูกนิสัยออมทรัพย์แก่ประชาชน โดยวิธีส่งเสริมการคลังออมสินและวิธีอื่น ๆ ที่จะทำให้ สำเร็จผลในเรื่องนี้ กิจการของประเทศชาติจะสำเร็จได้ตามนโยบายที่แถลงมาแล้วนี้ก็ต้องอาศัยการร่วมมือกัน ทุกฝ่ายรัฐบาลนี้จึงหวังใจว่าสภาผู้แทนราษฎรจะร่วมมือกับรัฐบาล โดยให้ความไว้วางใจตามมาตรา ๕๐ แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อรัฐบาลคณะนี้จะได้ดำเนินการบริหารตามนโยบายนี้ต่อไป *รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓/๒๔๘๑ (สามัญ) สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๓ วันจันทร์ที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑ หน้า ๑๘ - ๒๕
10
"คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑๐\nจอมพลแปลก พิบ(...TRUNCATED)
11
"คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑๑\nพันตรี ควง อภั(...TRUNCATED)

Thailand Policy Statements

Collect all Thailand policy statements from Thailand government

License: CC-0

This project is a part of PyThaiNLP project.

Github: https://github.com/PyThaiNLP/thailand-policy-statements

Citation

Phatthiyaphaibun, W. (2024). Thailand Policy Statements (1.0) [Data set]. Zenodo. https://doi.org/10.5281/zenodo.10842589

or

@dataset{phatthiyaphaibun_2024_10842589,
  author       = {Phatthiyaphaibun, Wannaphong},
  title        = {Thailand Policy Statements},
  month        = mar,
  year         = 2024,
  publisher    = {Zenodo},
  version      = {1.0},
  doi          = {10.5281/zenodo.10842589},
  url          = {https://doi.org/10.5281/zenodo.10842589}
}
Downloads last month
34

Collection including pythainlp/thailand-policy-statements