txt
stringlengths 202
53.1k
|
---|
# Netflix ปลดคนเพิ่มอีก 300 คน หลังปลดไปแล้ว 150 คนเมื่อเดือนพฤษภาคม
Netflix ปลดพนักงานเพิ่มอีกราว 300 คน โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานในสหรัฐอเมริกา หลังจากปลดไปแล้ว 150 คนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม
Netflix ประกาศในงานแถลงผลประกอบการรอบล่าสุดว่า จะลดค่าใช้จ่ายของบริษัทเพื่อรักษาอัตรากำไรที่ราว 20% ซึ่งผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็นคือการปลดคนออกบางส่วนนั่นเอง
การปลดคนของ Netflix ยังสอดคล้องกับทิศทางของบริษัทไอทีรายอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมสตรีมมิ่ง ที่เริ่มทยอยปลดคนเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว ล่าสุด Coinbase เพิ่งปลดพนักงานออก 1,100 คนเช่นกัน
ปัจจุบัน Netflix มีพนักงานรวมกันทั่วโลกประมาณ 11,000 คน
ที่มา - Variety |
# Montblanc เปิดตัว Summit 3 สมาร์ทวอชหรูพร้อม Wear OS 3
Montblanc เปิดตัวสมาร์ทวอช Summit 3 เป็นสมาร์ทวอช Wear OS 3 รุ่นแรกที่ไม่ใช่ Samsung ซึ่งตัวนาฬิกายังคงเน้นแฟชั่นตามแบบ Montblanc
สเปคของตัวเครื่อง ใช้ Snapdragon Wear 4100+ ตัวเรือนทำจากไทเทเนียมที่เบาและแข็งแรง ส่วนฟีเจอร์ยังเหมือนสมาร์ทวอชทั่วไป ตั้งแต่วัดก้าวเดิน, มอนิเตอร์การนอนหลับ, วัดออกซิเจนในเลือด, ติดตามการออกกำลังกาย พร้อมกับฟีเจอร์จาก Google อย่างข้อมูลเส้นทางใช้ Google Maps, ระบบชำระเงินโดย Google Pay และดาวน์โหลดแอปอื่น ๆ ได้ผ่าน Google Play
Montblanc Summit 3 มาพร้อมสายนาฬิกาหนังและยาง ส่วนสีมีให้เลือกทั้ง silver titanium พร้อมสายหนังสีดำและสายยางสีฟ้า, black titanium พร้อมสายหนังสีดำและสายยางสีดำ และแบบผสมพร้อมสายหนังสีเขียวและสายยางสีดำ เริ่มวางจำหน่ายวันที่ 15 กรกฎาคมที่ราคา 1,250 ยูโร
ที่มา - GSM Arena, The Verge, Engadget |
# Blizzard ยืนยัน Overwatch 2 จะมาแทน Overwatch 1 เลย, เตรียมปิดเซิร์ฟเวอร์ภาคแรก
Blizzard เผยข้อมูลว่าจะปิดเซิร์ฟเวอร์ของ Overwatch 1 หลังจาก Overwatch 2 เปิดบริการเต็มรูปแบบในวันที่ 4 ตุลาคม 2022 เท่ากับว่าผู้เล่น Overwatch 1 จะถูกแทนที่ด้วย Overwatch 2 (ที่เปิดให้เล่นฟรี) อัตโนมัติ
ข้อมูลนี้มาจากการตอบคำถาม Ask Me Anything ของผู้กำกับเกม Aaron Keller ใน Reddit ที่เขียนไว้ชัดว่า "When OW2 launches on October 4, it will be a replacement for the current Live Service" ส่วนเหตุผลของ Blizzard คือต้องการให้แฟนๆ Overwatch เล่นเกมเดียวกัน ไม่ต้องแยกฐานผู้เล่นภาค 1 กับภาค 2
รูปแบบเกมเพลย์ของเกมภาค 1 และ 2 ไม่เหมือนกันซะทีเดียว เพราะเกมภาค 1 เป็นแบบ 6v6 ในขณะที่ภาค 2 เป็น 5v5 ส่วนสถานะของตัวละครจากภาค 1 จะถูกใช้งานต่อในภาค 2 ให้เลย
แนวทางของ Blizzard ที่ใช้เกมภาคสองมาแทนที่ภาคแรกไปเลย อาจไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก ก่อนหน้านี้เราเคยเห็นตัวอย่างของ Titanfall 2 หรือ Destiny 2 ที่ออกเกมภาคสองมาเป็นหลักแทนภาคแรก แต่ก็ใช้เซิร์ฟเวอร์แยกกัน และยังคงให้บริการเซิร์ฟเวอร์ภาคแรกต่อ แม้แทบไม่มีคนเล่นแล้วก็ตาม
ที่มา - Reddit, Kotaku |
# Chrome for iOS จำรหัสผ่านให้แอพอื่นได้แล้ว, เพิ่มปุ่มกลับไปยังแท็บที่เคยเปิด
ถึงแม้ไม่ใช่แพลตฟอร์มหลัก แต่กูเกิลก็ยังเดินหน้าเพิ่มฟีเจอร์หลายอย่างให้ Chrome for iOS สำหรับคนที่ต้องการใช้เบราว์เซอร์เดียวข้ามทุกแพลตฟอร์ม
Google Password Manager ของ Chrome for iOS จะสามารถช่วยจำรหัสผ่าน (Autofill) ให้แอพอื่นๆ ได้แล้ว ดังนั้นจำรหัสผ่านด้วย Chrome บนคอมพิวเตอร์ ก็ใช้ Chrome ช่วยเติมรหัสใน iOS เหมือนเป็นแอพ Password Manager ตัวหนึ่ง (ตั้งค่าได้ในหน้า Settings > Password ของ iOS)
ได้ฟีเจอร์ท่องเว็บแบบปลอดภัย แจ้งเตือนเมื่อรหัสผ่านรั่ว Enhanced Safe Browsing เหมือน Chrome บนแพลตฟอร์มอื่นๆ
หน้าแรกของ Chrome for iOS แสดงรายการแท็บที่เพิ่งใช้งาน (Return to Recent Tab) ซึ่งได้ก่อนเวอร์ชัน Android ด้วยซ้ำ ฟีเจอร์นี้จะตามมาใน Chrome for Android เร็วๆ นี้
ช่องที่อยู่เว็บ จะสามารถค้นหา Settings บางอย่างของ Chrome ได้ เช่น พิมพ์ลงไปว่า Clear Browsing Data,
Open Incognito Tab, Set Chrome as Default Browser ก็จะเจอปุ่มตั้งค่าที่ต้องการเลย
ที่มา - Google |
# eBay ซื้อกิจการ KnownOrigin มาร์เก็ตเพลสซื้อขาย NFT
eBay ประกาศซื้อกิจการ KnownOrigin แพลตฟอร์มซื้อขาย NFT โดยไม่ได้เปิดเผยมูลค่าที่ซื้อ แต่บอกว่าได้เซ็นปิดดีลนี้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา
KnownOrigin ก่อตั้งในปี 2018 เป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT บนบล็อกเชน Ethereum ที่มีปริมาณการซื้อขายสะสมสูงสุดเป็นอันดับ 12 ที่ 7.8 ล้านดอลลาร์ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก DappRadar ส่วนอันดับ 1 คือ OpenSea
eBay เริ่มเปิดให้ซื้อขาย NFT ได้บนแพลตฟอร์มตั้งแต่ปีที่แล้ว การซื้อกิจการ KnownOrigin เข้ามานั้น Jamie Iannone ซีอีโอของ eBay บอกว่าจะช่วยเสริมเทคโนโลยี เครื่องมือ ตลอดจนชุมชนของ NFT บน eBay ให้ดีมากขึ้น
ที่มา: eBay และ The Verge |
# Microsoft Edge เพิ่มฟีเจอร์เล่นเกมแคชวลในเบราว์เซอร์, Upscale ภาพให้เกมสตรีมมิ่ง
Microsoft Edge ประกาศฟีเจอร์ด้านการเล่นเกมบนเว็บเบราว์เซอร์หลายอย่าง ดังนี้
เพิ่มเมนูสำหรับเล่นเกมง่ายๆ แนวแคชวลจากเบราว์เซอร์โดยตรง มีเมนู Games เพิ่มเข้ามา เปิดแล้วจะมีรายการเกมขึ้นมาให้เลือก ตัวอย่างเกมคือ Microsoft Solitaire, Microsoft Jewel, Microsoft Mahjong เป็นต้น
ฟีเจอร์ Clarity Boost สำหรับทำ upscaling ให้ภาพจากการเล่นเกมแบบสตรีมมิ่ง (Xbox Cloud Gaming) ให้ภาพคมชัดขึ้น
หน้า New Tab หากตั้งให้แสดงข่าวสารอัพเดต จะเพิ่มหมวด Gaming เข้ามา เป็นการรวมฟีดข่าวจากเว็บเกมและบัญชีโซเชียลต่างๆ และถ้าล็อกอินบัญชี Xbox ค้างไว้ก็จะมีรายชื่อเกมของเรา รวมถึงกดเล่นเกมผ่าน Xbox Cloud Gaming ได้เลย
นอกจากเกมในเบราว์เซอร์แล้ว Edge ยังเพิ่มตัวเลือก Settings > System and Performance > Efficiency Mode for PC Gaming ช่วยลดทรัพยากรของเบราว์เซอร์ ในขณะเล่นเกมบนพีซีเครื่องเดียวกันด้วย และเมื่อปิดเกมแล้ว เบราว์เซอร์จะกลับมาทำงานโหมดปกติให้อัตโนมัติ
ที่มา - Microsoft |
# จีนออกกฎ Influencer ต้องมีใบรับรอง จึงจะพูดเรื่องเฉพาะทางเช่น กฎหมายหรือการแพทย์ ในไลฟ์ได้
หน่วยงานกำกับดูแลของจีน 2 แห่ง ทั้งด้านควบคุมสื่อ และหน่วยงานดูแลวัฒนธรรม ออกกฎใหม่ มีผลกับ Influencer ออนไลน์ในประเทศ หากต้องพูดหรือเล่าเรื่องที่เป็นความรู้เฉพาะทางขั้นสูง เช่น กฎหมาย หรือการแพทย์ จะต้องได้รับใบอนุญาตผ่านเกณฑ์ก่อนเท่านั้น
ในการบังคับใช้ Influencer จะต้องแสดงเอกสารประกอบความรู้ความเชี่ยวชาญให้กับแพลตฟอร์ม เมื่อแพลตฟอร์มตรวจสอบแล้วจึงจะได้รับอนุญาต
ที่ผ่านมาทางการจีนได้ออกกฎต่าง ๆ เพื่อควบคุมคอนเทนต์ในการไลฟ์ เช่น ห้ามคนที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ดูไลฟ์หลัง 4 ทุ่ม และห้ามซื้อของขวัญ, ห้ามไลฟ์กินอาหารเหลือจำนวนมาก, ห้ามแสดงไลฟ์สไตล์ใช้สินค้าแบรนด์เนมหรูหรา เป็นต้น
ที่มา: CNBC ภาพ Alizila |
# Instagram เพิ่ม AI ตรวจสอบอายุผู้ใช้งาน ด้วยการสแกนใบหน้า
Instagram ประกาศเพิ่มวิธีการตรวจสอบอายุของผู้ใช้งาน เริ่มมีผลกับผู้ใช้ในอเมริกาที่พยายามแก้ไขอายุให้เกิน 18 ปี จากเดิมที่ผู้ใช้งานต้องแสดงบัตรประจำตัว (ID Card) โดยเพิ่มวิธีการยืนยันผ่านเพื่อน และอีกวิธีซึ่งมีรายละเอียดน่าสนใจคือ ส่งวิดีโอเซลฟี่แล้วใช้ AI ตรวจสอบอายุจากใบหน้า
ทั้งนี้ Instagram กำหนดให้ผู้ใช้งานต้องมีอายุอย่างน้อย 13 ปี โดยมีส่วนที่แตกต่างสำหรับผู้ใช้งานช่วง 13-17 ปี เช่น บัญชีจะตั้งค่าเป็นส่วนตัวเป็นค่าเริ่มต้น กำหนดไม่ให้คนไม่รู้จักติดต่อได้ รวมทั้งคอนเทนต์โฆษณาต่าง ๆ ก็ถูกปรับเนื้อหา
การตรวจสอบอายุผ่านวิดีโอเซลฟี่นั้น Instagram ร่วมมือกับ Yoti บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านวิธีตรวจสอบอายุผ่านใบหน้าด้วย AI โดยสามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งานได้ด้วย มีลูกค้าในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งมีชุดข้อมูลที่เรียนรู้ความหลากหลายของคนทั่วโลก
ใครที่สนใจอยากลองใช้ AI ประเมินอายุของ Yoti สามารถลองได้ที่ลิงก์นี้
ที่มา: Meta |
# Facebook Pay รีแบรนด์เป็น Meta Pay แล้ว พร้อมขยายบริการสู่ Metaverse
วันนี้ Mark Zuckerberg ประกาศอย่างเป็นทางการว่า Facebook Pay บริการระบบชำระเงินของ Meta เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Meta Pay อย่างเป็นทางการแล้ว
Zuckerberg ระบุว่า Meta Pay จะยังคงให้บริการเหมือน Facebook Pay เดิม ทั้ง Facebook, Instagram, WhatsApp และ Messenger ซึ่งในอนาคต Meta จะเพิ่มฟีเจอร์กระเป๋าเงินสำหรับ metaverse เข้าไปด้วย เพราะในอนาคตจะมีวัตถุดิจิทัลที่เราจะสร้างหรือซื้อจำนวนมาก ทั้งเสื้อผ้าดิจิทัล, ศิลปะ, วิดีโอ, เพลง, ประสบการณ์, อีเวนท์เสมือน และอื่น ๆ ซึ่งการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของนั้นสำคัญโดยเฉพาะถ้าต้องการย้ายวัตถุไปตามบริการต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตเพียงลงชื่อเข้าใช้ทุกอย่างก็จะมาให้พร้อมใช้งาน
Facebook Pay เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2009 ปัจจุบันให้บริการใน 160 ประเทศและ 55 สกุลเงิน มีทั้งบริการชำระเงินระหว่างบุคคล, ธุรกิจ และธุรกิจกับผู้บริโภค และการเปลี่ยนชื่อเป็น Meta Pay จะเริ่มที่สหรัฐฯ ก่อน และจะทยอยเปลี่ยนชื่อในตลาดอื่นทั่วโลกต่อไป
ที่มา - Mark Zuckerberg (Facebook), TechCrunch |
# Stack Overflow ออกผลสำรวจนักพัฒนาปี 2022 JavaScript ยังแชมป์, TypeScript ติด Top 5
Stack Overflow ออกผลสำรวจข้อมูลนักพัฒนาประจำปี 2022 มีผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 73,000 คน (สถิติของปี 2021 และปีก่อนๆ) มีสถิติที่น่าสนใจดังนี้
JavaScript ยังเป็นภาษาโปรแกรมที่คนใช้เยอะอันดับหนึ่งเป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน (65.36%) ตามด้วย HTML/CSS (55.08%), SQL (49.43%), Python (48.07%), TypeScript (34.83%) การเปลี่ยนแปลงอันดับของปีนี้คือ SQL แซงหน้า Python ขึ้นเป็นที่สาม และ TypeScript เบียด Java เข้ามาเป็น Top 5 ได้สำเร็จ
MySQL เป็นฐานข้อมูลยอดนิยม (46.85%) ตามด้วย PostgreSQL (43.59%) SQLite (32.01%) MongoDB (28.3%) MS SQL Server (26.87%) อันดับโดยรวมเหมือนของปีที่แล้ว แต่ถ้าดูสถิติเฉพาะกลุ่มนักพัฒนาอาชีพเท่านั้น PostgreSQL แซงหน้า MySQL แบบเฉียดๆ ได้แล้ว
AWS ยังครองแชมป์คลาวด์ยอดนิยม (51.01%) ตามด้วย Azure (28.72%) และ Google Cloud (26.81%) ซึ่ง Azure พลิกขึ้นมาแซง Google Cloud ได้สำเร็จ
Node.js เป็นเว็บเฟรมเวิร์คยอดนิยม (47.12%) ตามด้วย React.js (42.62%), jQuery (28.57%), Express (22.99%), Angular (20.39%)
.NET ครองแชมป์เฟรมเวิร์คอื่นๆ ที่ไม่ใช่เว็บ (34.55%) ตามด้วย NumPy (28.65%), Pandas (25.08%), Spring (16.13%), TensorFlow (12.95%)
VS Code ยังเป็นแชมป์ IDE ยอดนิยมแบบทิ้งห่าง (74.48%) ตามมาด้วย Visual Studio (32.15%), IntelliJ (27.97%), Notepad++ (27.71%), Vim (23.34%)
เครื่องมืออื่นของนักพัฒนา Jira นิยมสูงสุด (49.47%) ตามด้วย Confluence (39.8%), Trello (33.32%), Notion (19.82%), Asana (7.91%)
เทคโนโลยีที่คนรัก เกลียด และอยากใช้ (most loved, dreaded, and wanted)
ภาษาโปรแกรมที่คนรักที่สุดคือ Rust ติดต่อกันเป็นปีที่เจ็ด (รัก 87%) ตามด้วย Elixir, Clojure, TypeScript, Julia ส่วนภาษาที่คนอยากใช้ที่สุด 3 อันดับแรกมีคะแนนไล่ๆ กันคือ Rust (17.6%), Python (17.59%), TypeScript (17.03%)
ฐานข้อมูลที่คนรักที่สุดคือ PostgreSQL (72.08%) ตามด้วย Redis, MongoDB, SQLite, Cloud Firestore ส่วนฐานข้อมูลที่อยากใช้ที่สุดคือ PostgreSQL (19.05%)
เว็บเฟรมเวิร์คที่คนรักที่สุด ปีนี้ได้แชมป์ใหม่ Phoenix (83.51%) ตามด้วย Svelte, Deno, ASP.NET Core, Next.js ส่วนเว็บเฟรมเวิร์คที่อยากใช้ที่สุดคือ React.js (22.54%)
ที่มา - Stack Overflow |
# Sega เปิดตัวเกมยิงแบบทีม Hyenas ในสนามรบไร้น้ำหนัก พัฒนาโดยทีม Total War
Sega บุกเขเาสู่ตลาดเกมยิง FPS มัลติเพลเยอร์แบบทีมสู้กันด้วยการเปิดตัวเกมใหม่ Hyenas โดยมีจุดขายเรื่องสนามต่อสู้ไร้น้ำหนัก Zero-G เดินได้ทุกทิศทาง
Hyenas เป็นผลงานของสตูดิโอในเครือ Creative Assembly ที่สร้างชื่อมาจากเกมสงครามตระกูล Total War แต่รอบนี้ฉีกแนวจากเกมเดิมๆ ของตัวเอง ด้วยการเปลี่ยนเกมเพลย์มาเป็นเกมยิง FPS สไตล์คอมิกกึ่งพังก์สีฉูดฉาด
ตัวเกมเพลย์ไม่ได้เป็น Battle Royale แต่จะเน้นการขโมยของ (merch ที่อาจเป็นสิ่งของต่างๆ เช่น ตุ๊กตาโซนิก) และหนีออกจากฉากให้ทันก่อนทีมฝ่ายตรงข้ามจับเราได้
Hyenas ลงหลายแพลตฟอร์ม ทั้ง PS4, PS5, Xbox One, Xbox Series X|S และพีซี เบื้องต้นเปิดทดสอบแบบอัลฟ่าเฉพาะบนพีซีเท่านั้น ยังไม่มีกำหนดวันออกขาย
ที่มา - GameInformer |
# Epic Games Store เพิ่มระบบให้คะแนนรีวิวเกม แต่ถามผู้เล่นแบบสุ่มเท่านั้น ป้องกัน Review Bomb
หลังจากรอกันมานาน (มาก) Epic Games Store ก็เริ่มระบบให้คะแนนเกม (Ratings) กับเขาบ้างแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือไม่ใช่ใครๆ ก็รีวิวได้เหมือนบนแพลตฟอร์มอื่น แต่ Epic จะส่งคำเชิญแบบสุ่มให้กับผู้เล่นที่เล่นเกมไประยะหนึ่ง (อย่างน้อย 2 ชั่วโมง) แล้วเท่านั้น
การทำงานของระบบคะแนนคือ หลังเล่นเกมจบ Epic Store Launcher จะขึ้นมาถามว่าอยากให้คะแนนเกมหรือไม่ ระบบคะแนนเป็นแบบเต็ม 5 ดาว โดยจะถูกนำไปคำนวณเป็นคะแนน Overall Rating บนหน้าเว็บของสโตร์ต่อไป
Epic บอกว่าระบบการสุ่มให้คะแนนแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหา review bomb ที่ผู้เล่นเข้าไปถล่มรีวิวจนอาจมีคะแนนเพี้ยนไป การันตีว่าคนให้คะแนนคือผู้เล่นจริงๆ โดยสัญญาว่าจะไม่สแปมผู้เล่น และไม่ได้ให้ผู้เล่นรีวิวทุกเกมทุกครั้งไป
นอกจากระบบเรตติ้งแล้ว Epic ยังเพิ่มฟีเจอร์ Polls ถามความเห็นผู้เล่นแบบสุ่มหลังเล่นเกม แต่จะเป็นคำถามเฉพาะเจาะจง เช่น เกมนี้เหมาะกับการเล่นเป็นทีมหรือไม่ ระบบต่อสู้ยากง่ายแค่ไหน เป็นต้น
Epic บอกว่าข้อมูลจาก Polls จะนำไปสร้างเป็นแท็กเพื่อบรรยายเกม และใช้คัดกรองเกมผ่านฟิลเตอร์ เพื่อให้ผู้เล่นคนอื่นๆ ค้นหาเกมแนวเดียวกับที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
ที่มา - Epic Games |
# รัฐบาลเมืองอามางาซากิขอโทษประชาชน หลังทำแฟลชไดร์ฟเก็บข้อมูลประชาชน 460,000 รายการหาย ระบุเข้ารหัสแล้ว
รัฐบาลเมืองอามางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นออกมาแถลงข่าวขอโทษประชาชน หลังลูกจ้างบริษัทที่ช่วยจัดการเงินช่วยเหลือ COVID-19 ทำแฟลชไดร์ฟข้อมูลประชาชนในเมืองสูญหายระหว่างไปทานอาหารเย็นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ข้อมูลในแฟลชไดร์ฟประกอบด้วย ชื่อ, ที่อยู่, วันเกิด, หมายเลขบัญชี, และข้อมูลอื่นๆ โดยไฟล์ข้อมูลเข้ารหัสเอาไว้ และตอนนี้ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าข้อมูลรั่วไหล
ที่มา - Japan Times ภาพจาก Pixabay |
# ไมโครซอฟท์เผย รัสเซียพุ่งเป้าโจมตีไซเบอร์ประเทศที่หนุนหลังยูเครนมากขึ้นหลังสงคราม
ไมโครซอฟท์ออกรายงานเกี่ยวกับสงครามไซเบอร์จากกรณีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งพบว่า สงครามไซเบอร์ได้ขยายขอบเขตออกไปมากกว่าสงครามทางกายภาพในภูมิภาคยุโรปตะวันออก โดยหน่วยข่าวกรองรัสเซียมีการโจมตีทางไซเบอร์กับพันธมิตรหรือประเทศที่หนุนหลังยูเครนเพิ่มมากขึ้นหลังสงคราม
แน่นอนว่าสหรัฐคือเป้าหมายเบอร์ 1 ของรัสเซีย คิดสัดส่วนการโจมตีเป็น 12% ของการโจมตีทั้งหมดหลังสงคราม และนอกจากสหรัฐแล้วก็มีประเทศในกลุ่ม NATO เช่น โปแลนด์ ที่ให้ความช่วยเหลือยูเครนทั้งด้านมนุษยธรรมและการขนส่งอาวุธ, เดนมาร์คและตุรกี ไปจนถึงกลุ่มนอก NATO (ณ ตอนนี้) เช่น สวีเดนและฟินแลนด์
นอกจากโจมตีภาครัฐ ไมโครซอฟท์ยังพบว่ารัสเซียพุ่งเป้าโจมตี NGO ด้านมนุษยธรรม, กลุ่ม Think Tank, บริษัทไอทีหรือบริษัทพลังงานด้วย คิดเป็นจำนวนองค์กรทั้งหมด 128 องค์กรใน 42 ประเทศ และ 63% จากทั้งหมดเป็นประเทศสมาชิก NATO
สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่
ที่มา - Microsoft |
# ทวิตเตอร์เปิดบริการ Notes โพสขนาดยาว แก้ไขได้ ยังทดสอบวงจำกัด
ทวิตเตอร์เริ่มทดสอบบริการ Notes เป็นโพสขนาดยาวแบบบล็อคที่สามารถแทรกรูปภาพระหว่างบทความได้เหมือนแพลตฟอร์มเขียนบล็อคทั่วไป มีหน้าจอแก้ไขแบบ WYSIWYG ให้
ตอนนี้บริการยังทดสอบวงเล็ก และมีผู้ได้ใช้งานไม่กี่คนเท่านั้น ดูตัวอย่างโพสได้จาก thread ของบัญชี Twitter Write |
# IT One ชูโซลูชัน Coupa ทรานสฟอร์มระบบจัดซื้อ SCGP สู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ไอทีวัน ผู้ให้บริการด้านไอทีและดิจิทัลโซลูชันครบวงจร เปิดความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างไอทีวัน เอคเซนเชอร์ และบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจีพี ผู้นำด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาค ในการทรานสฟอร์มระบบการจัดซื้อของเอสซีจีพีทั้งหมดสู่ระบบดิจิทัล ด้วยโซลูชันจัดการค่าใช้จ่ายทางธุรกิจชั้นนำระดับโลกของคูป้า (Coupa) บนคลาวด์แพลตฟอร์ม โดยเข้ามาช่วยควบคุมและบริหารค่าใช้จ่ายของระบบจัดซื้อทั้งองค์กร โดยเริ่มในประเทศไทยและมีแผนขยายไปยังต่างประเทศต่อไป
นับเป็นการพลิกโฉมของการเปลี่ยนระบบการจัดซื้อครั้งใหญ่ที่สุดของเอสซีจีพี โดยการรวมระบบจัดซื้อเดิมทุกบริษัทในองค์กรมาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันของคูป้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านการจัดซื้ออย่างสูงสุด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากร ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้กับเอสซีจีพีเพื่อก้าว สู่การขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคในอนาคต
ระบบจัดซื้อดิจิทัลที่ตอบโจทย์การเติบโตของธุรกิจแพคเกจจิ้ง
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้าน การสั่งสินค้าออนไลน์ การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดด และ
มีความต้องการบรรจุภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นที่เห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยผู้บริโภคในปัจจุบันนิยม การบริโภคอาหารพร้อมรับประทาน การเลือกใช้บริการจัดส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหาร จากเทรนด์ดังกล่าวทำให้เอสซีจีพีมีการเติบโตและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและภูมิภาค การปรับปรุงระบบจัดซื้อให้หน่วยงานจัดซื้อหลายๆบริษัท มาอยู่บน Single Platform ช่วยในการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ รวบรวมการจัดซื้อให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมถีงลดเวลาในการจัดซื้อ ซึ่งทำให้การจัดซื้อมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายสุรศักดิ์ อัมมวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “การผสานความร่วมมือกับเอคเซนเชอร์และไอทีวัน นำมาซึ่งการเลือกใช้โซลูชันจัดการค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ (Business Spend Management - BSM) ชั้นนำระดับโลกของคูป้า (Coupa) บนคลาวด์แพลตฟอร์ม เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกระบบการทำงานด้านการจัดซื้อตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยสามารถเพิ่มวิสัยทัศน์การมองเห็นของระบบจัดซื้อได้ทั้งหมด ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าทุกกลุ่มของเอสซีจีพีได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ตัวระบบยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานระหว่างเอสซีจีพีและคู่ธุรกิจ โดยการลดระยะเวลาของการจัดเตรียมเอกสารตั้งแต่การทำ PR ไปจนถึงการออก PO ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับคู่ค้าของเรามากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลและคลาวด์ยังช่วยยกระดับการจัดซื้อของบริษัทให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มความคล่องตัวยิ่งขึ้น และรองรับการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนในอนาคตได้เป็นอย่างดี”
นายดนัยเดช เกตุสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “นอกจากนี้ตัวโซลูชัน BSM ยังช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำงานของพนักงาน ให้สามารถก้าวไปพร้อมกับความรวดเร็วของโลกปัจจุบัน และยังสามารถต่อยอดไปยังระดับภูมิภาคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”
การทรานสฟอร์มระบบจัดซื้อครั้งนี้ ไม่ใช่โจทย์ที่ง่าย เพราะไม่เพียงแต่การกำหนดนโยบายและการทำงานด้านการจัดซื้อของบริษัทในเครือ 12 บริษัทให้เป็นมาตรฐานเดียวกันบนแพลตฟอร์มเดียวกัน แต่ยังต้องใช้ tools ต่าง ๆ มาช่วยในกระบวนการจัดซื้อแบบดิจิทัลทั้งระบบ
เอสซีจีพี ร่วมกับ IT One และ Accenture ใช้ Coupa พลิกโฉมระบบจัดซื้อ
นาย ปิยะพงษ์ แสงอำนวยพร - Business and Integration Architecture Manager บริษัท ไอทีวัน จำกัด กล่าวว่า “ในการเปลี่ยนระบบจัดซื้อของเอสซีจีพีครั้งนี้ เราเลือก BSM ซึ่งเป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์เอสซีจีพีดีที่สุด เพราะทำให้ประเมินความได้เปรียบในด้านต้นทุน มีเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน (ROI) สามารถปรับรูปแบบการให้บริการลูกค้าได้อย่างเหมาะสม และยังมีการออกแบบเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตอีกด้วย ด้วยความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่หลากหลาย ตลอดจนทีมงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในธุรกิจของเอสซีจีพีอย่างไอทีวัน ผสานกับศักยภาพเครือข่ายระดับโลกของเอคเซนเชอร์และพันธมิตรทางธุรกิจชั้นนำอย่างคูป้าที่มีโซลูชันจัดการค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ (BSM) ทำให้การทรานสฟอร์มระบบการจัดซื้อ ตลอดจนจัดระบบกระบวนการทำงานทั้งหมดของเอสซีจีพีบนแพลตฟอร์มใหม่บนคลาวด์ได้สำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง 6 เดือน”
ระบบจัดซื้อเพื่อการเติบโตในอนาคต
ระบบใหม่นี้จะทำให้กระบวนการจัดซื้อของเอสซีจีพีมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถรองรับการขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ด้วยระบบจัดซื้อแบบ Single Platform ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าสู่ระบบได้ง่าย สามารถติดต่อสื่อสารอยู่บนระบบดิจิทัลมาตรฐานเดียวกันทั้งซัพพลายเชน และช่วยลดขั้นตอนในกระบวนการจัดซื้อแบบเดิม โดยสามารถติดตามวัดผลการดำเนินงานและตรวจสอบจากระบบได้ตลอดเวลา ซึ่งหลังจากที่เอสซีจีพีได้ลองใช้ระบบในระยะเวลา 3 เดือน พบว่า
ระบบได้เข้ามาช่วยควบคุมและบริหารค่าใช้จ่ายของระบบจัดซื้อได้มากกว่า 98% (spend under management)
เพิ่มการใช้จ่ายในรูปแบบสัญญา (spend under contract) มากขึ้นโดยมีเป้าหมาย 68% ตาม global practice
เพิ่มการใช้จ่ายในรูปแบบ Catalogs (spend under catalogs) มากขึ้นโดยมีเป้าหมาย 53% ตาม global practice
ลดระยะเวลาในการอนุมัติการสั่งซื้อ (PR to PO Cycle Time) มากขึ้นถึง 75% เมื่อเทียบกับกระบวนการทำงานแบบเดิม
“หัวใจสำคัญในการสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันอยู่ที่การบริหารทรัพยากรและค่าใช้จ่ายขององค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ระบบคูป้า จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ภายใต้ต้นทุนและผลตอบแทนที่คุ้มค่า ประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจของเอสซีจีพีเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีให้กับลูกค้าและผู้บริโภค
การลงทุนกับระบบจัดซื้อในวันนี้ ยังนำไปสู่แผนการขยายการใช้งานระบบดังกล่าวไปยังบริษัทอื่นๆในกลุ่มเอสซีจีพีต่อ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ทางเอสซีจีพีได้วางไว้คือ การทำงานบน Single Procurement Platform และ Global Core Model Approach และพร้อมนำองค์กรไปสู่อนาคตอย่างแท้จริง” นาย ปิยะพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย |
# รวมรีวิว MacBook Pro 13" M2 ชิปแรงขึ้นจริง แต่บอดี้เก่าและล้าสมัย ไม่สมชื่อ Pro แล้ว
สื่อตะวันตกหลายรายเริ่มเผยแพร่รีวิวของ MacBook Pro 13" ดีไซน์เก่า รุ่นที่ใช้ชิป Apple M2 ส่วน MacBook Air M2 ที่เป็นดีไซน์ใหม่ นั้นแอปเปิลยังไม่ส่งสินค้าให้รีวิวกัน
ภาพรวมของรีวิวทุกเจ้าออกมาในทางเดียวกันคือชิป M2 แรงจริง แต่ตัวบอดี้ของเครื่องเก่าและล้าสมัยไปแล้ว เพราะออกมาตั้งแต่ปี 2016 จึงขาดฟีเจอร์หลายๆ อย่างที่มีใน MacBook Pro 14"/16" รุ่น M1 ที่ออกขายในปีที่แล้วด้วยซ้ำ เช่น ช่องอ่าน SD Card, เว็บแคม 1080p, จอ ProMotion Display หรือสายชาร์จแบบ MagSafe
เว็บไซต์ The Verge ใช้คำว่า "ซีพียูปี 2022 ในคอมพิวเตอร์ปี 2016" และไม่แนะนำให้ซื้อ บอกให้รอซื้อ MacBook Air M2 ที่ใช้ชิปตัวเดียวกันแทน หรือไม่ก็รอ MacBook Pro 13" ดีไซน์ใหม่ไปเลยดีกว่า
Engadget บอกว่าประสิทธิภาพของ M2 ที่เพิ่มขึ้นราว 18% ในเบนช์มาร์คเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยังไม่มากพอที่สำหรับคนที่ซื้อ MacBook Pro M1 ไปแล้วควรเปลี่ยนมาใช้รุ่นนี้ และด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ของ MacBook Pro 13" M2 ก็ไม่สมควรได้ชื่อรุ่นว่า Pro อีกแล้ว
Gizmodo บอกว่าประสิทธิภาพของ M2 เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่ลืมว่าเกรดของมันยังด้อยกว่า M1 Pro, M1 Max, M1 Ultra ส่วน Touch Bar ที่เป็นมรกดหลงเหลือมาจากยุคก่อน ก็อาจเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของมันแล้วก่อนตายจากเราไป
ที่มา - The Verge, Engadget, Gizmodo |
# Micron เปิดตัว microSD ความจุ 1.5TB เน้นตลาดกล้องวงจรปิดภาคอุตสาหกรรม
Micron Technology เปิดตัว microSD รุ่น i400 ความจุสูงถึง 1.5TB เน้นตลาดกล้องวงจรปิดสำหรับภาคอุตสาหกรรม (ความจุสูงสุดก่อนหน้านี้คือ 1TB)
การ์ดรุ่นนี้ใช้หน่วยความจำแบบ 3D NAND เรียงซ้อนกัน 176 เลเยอร์เพื่อให้ได้ความจุระดับนี้ Micron บอกว่าพื้นที่ 1.5TB สามารถบันทึกวิดีโอได้นาน 120 วัน เหมาะสำหรับการใช้ในโรงงานหรือไซต์งานที่อยู่ไกล (เช่น เรือสินค้าหรือแท่นขุดเจาะน้ำมัน) ซึ่งอาจมีข้อจำกัดเรื่องแบนด์วิดท์ จะได้ไม่ต้องเปลืองข้อมูลอัพโหลดคลิปบ่อยๆ แต่ยังกลับมาดูภาพย้อนหลังได้เสมอ
ตอนนี้ Micron เริ่มส่งตัวอย่าง microSD i400 ให้พาร์ทเนอร์ด้านโซลูชันกล้องวงจรปิด เช่น Verkada แล้ว
ที่มา - Micron |
# หลุดข้อมูล Intel NUC 12 "Serpent Canyon" สำหรับเล่นเกม ใช้การ์ดจอ Arc ของตัวเองแล้ว
มีข้อมูลหลุดของ Intel NUC Gen 12 รุ่นใหม่ "Serpent Canyon" จากโพสต์ภาษาจีน Baidu ตัวซีพียูยังเป็น 12th Gen Alder Lake เหมือนกับ NUC 12 Extreme "Dragon Canyon" ที่เปิดตัวเมื่อต้นปี สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือจีพียู Arc ของอินเทลเอง ไม่ต้องพึ่งพาจีพียูค่ายอื่นสำหรับเล่นเกมแล้ว (NUC 11 Enthusiast ใช้ RTX 2060)
ข้อมูลจากโพสต์บอกว่า NUC 12 Serpent Canyon ใช้ซีพียู Core i7-12700H และจีพียู Arc A770M แรม 16GB จากฝั่งโน้ตบุ๊ก ตัวเครื่องมีปริมาตร 2.5 ลิตร ส่วนสูงหนาขึ้นจาก NUC รุ่นก่อนเล็กน้อยเพื่อให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น, พอร์ตมี Thunderbolt 4, USB-A 3.2, ตัวอ่านการ์ด SDXC, HDMI 2.1 และมี DisplayPort 2.0 ด้วย
ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการของอินเทล ทั้งราคาและวันวางขาย
ที่มา - Baidu, Videocardz, Notebookcheck |
# Deno ระดมทุน 21 ล้านดอลลาร์ ดัน Deno Deploy เป็นสถาปัตยกรรมคลาวด์แบบใหม่แทนคอนเทนเนอร์
บริษัท Deno ของผู้สร้าง Node.js ที่หันมาทำเฟรมเวิร์คจาวาสคริปต์ที่เขียนด้วย Rust ตั้งแต่ปี 2020 ประกาศข่าวระดมทุน Series A มูลค่า 21 ล้านดอลลาร์จากนักลงทุนหลายราย นำโดย Sequoia Capital และมี Nat Friedman ผู้ร่วมก่อตั้ง Xamain และอดีตซีอีโอ GitHub มาร่วมลงทุนด้วย
ตัวเฟรมเวิร์ค Deno จะยังเป็นโอเพนซอร์สต่อไปเช่นเดิม แต่โมเดลธุรกิจของบริษัท Deno คือ Deno Deploy ระบบคลาวด์ที่ใช้รัน JavaScript, TypeScript, WebAssembly ประสิทธิภาพสูง กินทรัพยากรน้อย ราคาถูกกว่าการใช้สถาปัตยกรรมคอนเทนเนอร์ที่นิยมกันในปัจจุบัน
Deno เรียกสถาปัตยกรรมแบบนี้ว่า Isolate Cloud เพื่อให้ต่างจาก Container Cloud ทั่วไป หน้าที่ของมันคือเอาไว้รันเว็บเซอร์วิสโดยเฉพาะ แต่แทนที่จะแยกส่วนงาน (isolation) ด้วยคอนเทนเนอร์ ก็ทำที่ระดับโพรเซสแทน โดยใช้แกนหลักเป็นรันไทม์ Deno Deploy แทน ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้ให้บริการคลาวด์บางราย เช่น Netlify Edge Functions และ Supabase Edge Functions เริ่มให้บริการลักษณะนี้แล้ว
บริษัท Deno บอกว่าจะนำเงินลงทุนก้อนนี้มาใช้ขยายทีมเพิ่ม เพื่อพัฒนา Isolate Cloud ให้เป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ต่อไป
ที่มา - Deno |
# จอย Xbox Wireless Controller สินค้าขาดตลาด - Microsoft บอกกำลังเร่งแก้ปัญหา
ไมโครซอฟท์ออกมายืนยันว่า Xbox Wireless Controller ตอนนี้สินค้าขาดตลาดทั่วโลก เนื่องจากปัญหาซัพพลายเชนในการผลิต โดยกำลังเร่งแก้ไขปัญหานี้กับผู้ผลิต และตัวแทนจำหน่ายอย่างเร็วที่สุด
ทั้งนี้ไมโครซอฟท์ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าชิ้นส่วนใด หรือปัญหาใดที่ทำให้สินค้าขาดตลาด
ข้อมูลจาก VGC ระบุว่า Xbox Wireless Controller ตอนนี้สินค้าหมดในทุกเว็บไซต์ของแต่ละประเทศที่ Xbox ทำตลาด รวมทั้งหน้าร้านก็สินค้าหมดเช่นกัน
ที่มา: IGN |
# ไม่ต้องใช้แอพประชุมอื่นแล้ว Slack Huddles รองรับวิดีโอคอลล์ และการแชร์หน้าจอ
แอพแชทอย่าง Slack มีฟีเจอร์คุยด้วยเสียงกันเป็นกลุ่มชื่อ Huddles มาตั้งแต่ปี 2021 เพื่ออำนวยความสะดวกในการคุยงาน ถกเถียงกัน โดยไม่ต้องพิมพ์
ล่าสุดในงาน Slack Frontiers 2022 เมื่อคืนนี้ ฟีเจอร์ Huddles อัพเกรดไปอีกขั้น เพิ่มฟีเจอร์สนทนาแบบเห็นหน้า แชร์หน้าจอ เทียบเท่ากับแอพประชุมวิดีโอตัวอื่นๆ ทำให้การคุยงานกลุ่มลื่นไหลขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปตั้งห้องประชุมในแอพภายนอกแล้ว กดคลิกเดียวประชุมกลุ่มกันได้เลย
Huddles จะยังทำงานแบบ audio-only เป็นค่าดีฟอลต์ เพราะได้รับความเห็นจากผู้ใช้ว่าสะดวก เรียบง่าย แต่ถ้าคุยๆ กันไปแล้วอยากเปิดกล้อง แชร์หน้าจอกัน ก็กดปุ่มเปิดกล้องได้ทันที แถมการแชทระหว่างประชุมจะถูกเก็บไว้ในห้องสนทนาของ Slack ตามปกติ เพื่อให้อ่านย้อนหลังได้ด้วย
ที่มา - Slack |
# PCIe 7.0 ประกาศรายละเอียดมาตรฐาน อัตราส่งข้อมูล 512 GB/s
PCI-SIG กลุ่มผู้กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมของ PCI Express (PCIe) ประกาศมาตรฐาน PCI Express 7.0 ซึ่งถือเป็นประกาศล่วงหน้ากันยาว ๆ เพราะ PCIe 5.0 เพิ่งเริ่มมีสินค้าขาย ส่วน PCIe 6.0 ประกาศไปเมื่อต้นปี
PCIe 7.0 มีอัตราการส่งข้อมูลสูงสุดเพิ่มขึ้นที่ 128 GT/s (gigatransfer) หรือเป็นหน่วย throughput ที่ 512 GB/s จุดเด่นอื่นได้แก่ การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ค่า latency ที่ต่ำลง รวมทั้งทำงานเข้ากับอุปกรณ์รุ่นก่อนหน้าได้ (backwards compatibility)
คาดว่าผู้ผลิตจะเริ่มทำสินค้าออกมาได้ในปี 2025 เป็นต้นไป
ที่มา: PCI-SIG ผ่าน Engadget |
# Trail of Bits ออกรายงานวิเคราะห์โลกคริปโต พบอำนาจกระจายไม่มาก ใช้ซอฟต์แวร์ร่วมกันทั่ววงการ
บริษัทวิจัยความปลอดภัย Trail of Bits ได้รับทุนจาก DARPA ทำรายงานวิเคราะห์ถึงความ "ไร้ศูนย์กลาง" ของระบบบล็อคเชนทั้งหลายในตอนนี้ และพบว่าโลกบล็อคเชนนั้นยังมีความรวมศูนย์อยู่มาก
กระบวนการวิเคราะห์หาความรวมศูนย์ของรายงาน วิเคราะห์ความรวมศูนย์ 6 ด้าน ได้แก่
Authoritative centrality: จำนวน "บุคคล" (entity) เพื่อควบคุมระบบ โดยนับเป็น Nakamoto coefficient ที่ระบบรวมศูนย์มีค่าเป็น 1 และมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อระบบกระจายความควบคุมออกไป
Consensus centrality: คล้าย Authoritative centrality แต่นับในแง่ของในจำนวนบุคคลในเครือข่ายว่าถือกำลังไว้มากน้อยแค่ไหน เช่น mining pool ที่อาจจะควบคุมพลังแฮชสูงมากๆ
Motivational centrality: ดูการออกแบบโปรโตคอลที่คนมีส่วนร่วมมีแรงจูงใจที่จะทำตัวดีตามโปรโตคอล หรือต้องการการกำกับดูแลจากศูนย์กลาง
Topological centrality: ระบบหา consensus ของบล็อคเชนกระจายกันเพียงใด หรือที่จริงอิงกับโหนดจำนวนไม่มาก
Network centrality: เน็ตเวิร์ควิ่งผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกระจายเพียงใด หรือที่จริงผู้ให้บริการบางรายสามารถบล็อคหรือควบคุมการสื่อสารในบล็อคเชนได้
Software centrality: ระบบบล็อคเชนพึ่งพิงกับความปลอดภัยของซอฟต์แวร์ตัวใดตัวหนึ่งหรือไม่ หากมีบั๊กในซอฟต์แวร์บางตัวแล้วจะทำให้คุณสมบัติของบล็อคเชนเปลี่ยนไปได้หรือไม่
บทวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าการเข้าควบคุมบล็อคเชนนั้นมีจุดรวมศูนย์กระจายไม่มาก เช่น Nakamoto coefficient ของบิตคอยน์นั้นอยู่ที่ 4 เท่านั้น เพราะเมื่อต้นปี 2021 นั้น mining pool 4 รายใหญ่ครองพลังแฮชเกิน 51% ส่วน Ethereum ก็มี Nakamoto coefficient อยู่ที่ 2-3 เท่านั้น
สำหรับเครือข่ายในกลุ่ม Proof of Stake นั้นบางตัวดีกว่าแต่ก็ไม่มากนัก เพราะปริมาณเงินที่ stake นั้น validator รายใหญ่เป็นผู้ถือเสียส่วนมาก Polygon มี Nakamoto coefficient อยู่ที่ 2 เท่านั้น
การวิเคราะห์ dependency ของโครงการซอฟต์แวร์บล็อคเชนต่างๆ ก็พบว่ามีความเหมือนกันอย่างมาก เช่น Monero หรือ Zcash ที่พัฒนาอย่างอิสระจากบิตคอยน์กลับมี dependency คล้ายกับบิตคอยน์อยู่ดี ส่วน Smart Contract บน Ethereum นั้น 90% ของจำนวน contract ทั้งหมด มีความคล้ายกันมากกว่า 56% แสดงว่านักพัฒนา Smart Contract ก็ใช้โค้ดซ้ำกันไปมา
ที่มา - Trail of Bits |
# โปรดิวเซอร์ FF16 เผยรายละเอียดเกม จบในตัว ไม่ใช่โอเพนเวิลด์ เน้นแอคชั่นต่อสู้มนต์อสูร
Naoki Yoshida โปรดิวเซอร์ของเกม Final Fantasy XVI ให้สัมภาษณ์สื่อหลายหัว ทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเกม FFXVI ประเด็นที่น่าสนใจมีดังนี้
FFXVI เป็นเกมเดียวจบในตัวตั้งแต่แรก (complete experience) ไม่ต้องรอภาคเสริมหรือเนื้อหาอัพเดตภายหลัง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีแผนทำ
FFXVI ไม่ใช่เกมโอเพนเวิลด์ แต่จะออกแบบฉากให้ผู้เล่นสัมผัสได้ถึงโลกอันกว้างใหญ่ในเกม
ตัวเกมเพลย์เลือกเป็นแนวแอคชั่น โดยให้เหตุผลว่าต้องการลองดูว่าเกมเพลย์แบบนี้ในโลก Final Fantasy จะไปสุดได้แค่ไหน
ผู้เล่นจะควบคุมตัวละครหลัก Clive ได้คนเดียว ส่วนเพื่อนร่วมทีมจะควบคุมโดย AI ทั้งหมด
เราจะได้เล่น Clive ใน 3 ช่วงอายุคือ วัยรุ่น ช่วงประมาณ 20s และช่วงประมาณ 30s
ทีมงานเลือกใช้ฉากหลังเป็นโลกแฟนตาซียุคกลาง แทนโลกสมัยใหม่แบบเกมภาคหลังๆ ด้วยเหตุผลแค่ว่าชอบ
ธีมหลักของภาคนี้คือมนต์อสูร (ภาคนี้เรียก Eikon) ที่สิงอยู่ในร่างของคนที่เรียกว่า Dominant โดยคนสามารถแปลงร่างเป็น Eikon ได้ ของใหม่ในภาคนี้คือ Eikon ต่อสู้กันเอง ซึ่งมีวิธีการต่อสู้หลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของอสูร เช่น บางคู่อาจเป็น 3D Shooter, บางคู่อาจเป็นคล้ายมวยปล้ำ, บางคู่อาจเป็นสนามรบ ซึ่งแต่ละแบบมีอินเทอร์เฟซแตกต่างกันไป
สถานะของ FFXVI ตอนนี้เล่นได้ตั้งแต่ต้นจนจบเกมแล้ว เวลาอีก 1 ปีที่เหลือจะใช้อัดเสียงพากย์ในภาษาต่างๆ, ปรับจูนตัวเกมให้มีความยากเหมาะสม, ปรับแต่งคัตซีนให้ลงตัว และดีบั๊กตัวเกมทั้งหมด ปลายปีนี้จะออกเทรลเลอร์ตัวที่สามมาให้ดูกัน
คุณ Naoki ยังเล่าว่าตอนแรกที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโปรเจค FFXVI เขาต้องขอคิดดูก่อน เพราะติดงานของภาค XIV อยู่ (เขาเป็นทั้งโปรดิวเซอร์และผู้กำกับของ XIV) แนวทางของเขาจึงค่อยๆ ดึงทีมงานบางส่วนของ XIV ออกมาทีละนิด เพื่อเริ่มโปรเจค XVI ในกลุ่มเล็กๆ ก่อน เขาเริ่มต้นจากการดึง Hiroshi Takai มาเป็นผู้กำกับเกม ทีมงานตอนแรกมีเพียง 4 คน ที่นั่งดีไซน์คอนเซปต์หลักของเกม ก่อนทยอยเพิ่มจำนวนสมาชิกเข้ามา
ส่วนประเด็นเรื่องเกมเพลย์แบบแอคชั่น คุณ Naoki บอกว่าตัดสินใจเลือกเป็นแอคชั่นเรียลไทม์ แทนการพัฒนาระบบการต่อสู้แบบเดิมๆ ของ Final Fantasy แม้ว่าทีมของเขาไม่เคยมีประสบการณ์ทำเกมแอคชั่นมาก่อนก็ตาม (ทีมได้ Ryota Suzuki ที่เคยทำเกม Devil May Cry 5 มาช่วยตรงนี้) ตัวเอก Clive จะมีวิธีการต่อสู้หลายรูปแบบที่ประกอบกันเป็นคอมโบได้ลงตัวและทรงพลัง
ที่มา - Gematsu, Square Enix, PlayStation Blog, GameInformer |
# Google News อายุครบ 20 ปีแล้ว ปรับดีไซน์เวอร์ชันเว็บใหม่ โล่งขึ้น แสดงข่าวท้องถิ่นมากขึ้น
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า บริการ Google News เปิดมาครบ 20 ปีแล้ว (เปิดบริการครั้งแรกปี 2002 ถือเป็นบริการรุ่นแรกๆ ของกูเกิลที่ไม่ใช่ search และเกิดก่อน Gmail หรือ Blogger ด้วยซ้ำ)
กูเกิลใช้โอกาสนี้ปรับหน้าตาของ Google News เวอร์ชันเว็บบนเดสก์ท็อปใหม่ ให้ดูโล่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ sidebar แยกหมวดข่าวด้านซ้ายมือ กลายเป็นแท็บที่ขอบด้านบนแทน ส่วนแถบคอลัมน์ข่าวด้านขวากลายเป็น Local news ให้เห็นข่าวท้องถิ่นมากขึ้น (สามารถเลือกพิกัดสถานที่หลายๆ แห่ง เพื่ออ่านข่าวท้องถิ่นรวมกันจากหลายสถานที่ได้ด้วย)
ในแง่ของฟีเจอร์ กูเกิลบอกว่าเพิ่มการปรับแต่งข่าวที่เราสนใจ (customization) ให้ง่ายขึ้น เพิ่ม ลบ สลับตำแหน่งหมวดข่าวและหัวข้อย่อยที่สนใจ รวมถึงเพิ่มการแสดง Fact Check เพื่อลดการระบาดของข่าวปลอมด้วย
เทียบหน้าตาของ Google News เวอร์ชันแรกที่สุด กับเวอร์ชันปัจจุบัน
ที่มา - Google |
# ไมโครซอฟท์ปล่อย WSL2 ลง Windows Server 2022
ไมโครซอฟท์ปล่อย WSL2 ลง Windows Server 2022 โดยผู้ใช้ต้องติดตั้งแพตช์ KB5014678 เสียก่อน จากนั้นสามารถรันคำสั่ง wsl --install เพื่อติดตั้ง WSL2 ได้เลย
WSL2 ต่างจาก WSL ตัวแรกอย่างมาก โดยไมโครซอฟท์อาศัยระบบ virtual machine มารันเคอร์เนลลินุกซ์คู่กับเคอร์เนลวินโดวส์เอง ทำให้การทำงานเหมือนลินุกซ์มากขึ้น และประสิทธิภาพดีกว่า WSL ตัวแรกมาก
ที่มา - Microsoft DevBlogs |
# Tether ประกาศทำเหรียญ GBPT ผูกกับเงินปอนด์อังกฤษ เป็นเหรียญลำดับ 5 ของบริษัท
บริษัท Tether ที่สร้างชื่อจากเหรียญ USDT เดินหน้าสร้างเหรียญ stablecoin เพิ่มอีก ล่าสุดประกาศทำเหรียญ GBP₮ ที่ผูกกับเงินปอนด์อังกฤษในสัดส่วน 1:1 ถือเป็นเหรียญ stablecoin ลำดับที่ 5 ของบริษัท
ตอนนี้ Tether มีเหรียญ stablecoin ทั้งหมดในเครือคือ USDT (ดอลลาร์), EURT (ยูโร), CNHT (หยวนนอกจีน) และล่าสุดคือ MXNT (เปโซเม็กซิโก)
เหรียญของ Tether ระบุว่ามีสินทรัพย์จริงค้ำประกันมูลค่าครบเต็มจำนวน แม้ที่ผ่านมาถูกวิจารณ์เรื่องไม่ยอมเปิดเผยบัญชีสินทรัพย์ตลอดเวลา โดย Tether ก็ออกมาเถียงเรื่อยๆ ว่าเป็นการโจมตีเพื่อสร้างความหวาดกลัว
ปัจจุบันเหรียญ USDT ยังเป็น stablecoin ที่มีปริมาณสูงที่สุดในตลาด แม้ช่วงที่ผ่านมามีคนถอนออกมาเป็นจำนวนมากก็ตาม ส่วนเหรียญอันดับสองคือ USDC (USD Coin ของ Centre) และอันดับสาม BUSD (Binance USD)
ที่มา - Tether, The Block |
# QNAP ปล่อยแพตช์แก้ช่องโหว่ PHP เก่าสามปี ไม่ยืนยันว่าเกี่ยวกับ Ransomware ระบาดหรือไม่
QNAP แจ้งเตือนช่องโหว่ CVE-2019-11043 ของ PHP 7.x ที่เมื่อบั๊กนี้เจอกับคอนฟิก nginx บางรูปแบบก็จะเปิดช่องโหว่รันโค้ดระยะไกล เปิดทางให้แฮกเกอร์เข้ายึด NAS ของเหยื่อได้
ช่องโหว่นี้ทาง PHP แก้ไขไปตั้งแต่ปี 2019 แต่ทาง QNAP ไม่ได้อัพเดต อย่างไรก็ดีทาง QNAP ระบุว่า ค่าเริ่มต้นของ QNAP ไม่ได้ติดตั้ง nginx มาแต่แรก (เว็บเซิร์ฟเวอร์มาตรฐานเป็น Apache 2) และตอนนี้ก็เริ่มปล่อยแพตช์ให้ QTS 5.0 และ QuTS hero h5.0 แล้ว ส่วนเวอร์ชั่นอื่นๆ กำลังอยู่ระหว่างปล่อยอัพเดตต่อไป
ทาง QNAP ไม่ได้ยืนยันว่าการกลับไปแก้ไขช่องโหว่เก่าสามปีเช่นนี้เกี่ยวข้องกับรายงานมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ech0raix กลับมาระบาดใน QNAP หรือไม่
ที่มา - Bleeping Computer |
# Meta, Microsoft และหลายบริษัท Tech ร่วมก่อตั้ง Metaverse Standards Forum กำหนดมาตรฐาน Metaverse
Meta, Microsoft และอีกหลายบริษัทเทคโนโลยี ประกาศร่วมจัดตั้ง Metaverse Standards Forum เพื่อกำหนดมาตรฐานร่วมกันในการพัฒนา metaverse คล้ายกับ W3C ที่เป็นองค์กรที่ร่วมกันกำหนดมาตรฐานของเว็บ
นอกจาก Meta และ Microsoft แล้ว รายชื่อบริษัทที่อยู่ในรายชื่อสมาชิกของ Metaverse Standards Forum ยังมีทั้ง Autodesk, Epic Games, Huawei, Ikea, NVIDIA, Qualcomm, Sony, Unity โดยมีข้อสังเกตว่าสมาชิกรุ่นก่อตั้งไม่มีบริษัทอย่าง Apple, Alphabet หรือบริษัทเกมอย่าง Roblox กับ Niantic
ทั้งนี้ในด้านคอนเทนต์ 3D นั้น แอปเปิลร่วมกับ Pixar กำหนดมาตรฐานไฟล์ขึ้นมาคือ USDZ โดยร่วมมือกับ Adobe ด้วย
Neil Trevett ผู้บริหาร NVIDIA กล่าวว่าทุกบริษัทสามารถเข้าร่วมกับ Forum นี้ได้ ซึ่งรวมทั้งบริษัทในด้านคริปโตที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ metaverse
ที่มา: Reuters |
# Amazon เปิดตัวหุ่นยนต์ Fully Autonomous ใช้ในคลังสินค้า ทำงานร่วมกับมนุษย์
Amazon โพสต์บล็อกเล่าถึงโครงการนำหุ่นยนต์มาใช้งานในคลังสินค้า ซึ่งเป็นแผนงานที่ต่อเนื่องนับตั้งแต่ซื้อกิจการ Kiva บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ในคลังสินค้าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดย Amazon บอกว่าแนวทางการใช้หุ่นยนต์ในคลังสินค้า ไม่ใช่การนำมาแทนที่คน แต่นำมาเสริมความปลอดภัยให้คนงานในคลังสินค้า และช่วยปรับปรุงการทำงาน
Proteus คือหุ่นยนต์ที่ Amazon นำเสนอ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติแบบสมบูรณ์ (fully autonomous) ในคลังสินค้าตัวแรกของ Amazon ซึ่งการทำงานของ Proteus เพื่อขนย้ายรถเข็นใหญ่ (Amazon เรียกว่า GoCart) ไปตามจุดต่าง ๆ ทำให้ไม่ต้องใช้แรงงานคนในการเคลื่อนย้าย ตัวหุ่นยนต์สามารถหลบหลีกหรือหยุดเมื่อมีคนเดินผ่าน จึงไม่ต้องแยกพื้นที่คนกับหุ่นยนต์ในคลังสินค้า
Cardinal คือหุ่นยนต์ถัดมา เป็นระบบแขนยกกล่องสินค้า ใช้ AI และระบบ Computer Visions หยิบกล่องสินค้าทีละกล่องจากกอง สแกนบาร์โค้ด แล้วนำไปใส่รถเข็นคันที่ถูกต้อง เป้าหมายถัดไปของ Amazon คือสร้างรุ่นที่สามารถยกกล่องน้ำหนัก 50 ปอนด์ได้ (ประมาณ 22 กิโลกรัม)
เทคโนโลยีถัดมาชื่อ Amazon Robotics Identification (AR ID) แก้ปัญหาจากเดิมพนักงานต้องหยิบกล่องมือเดียว เพื่อสแกนบาร์โค้ด จากมืออีกข้างที่ถือตัวสแกนอยู่ ซึ่งระยะยาวไม่ดีต่อสุขภาพ มาเป็นระบบสแกนอัตโนมัติด้วยกล้องรอบทิศทาง ทำให้พนักงานหยิบกล่องสองมือ วางในจุดและระบบก็สแกนให้อัตโนมัติ
ที่มา: Amazon |
# ซีอีโอและซีโอโอ MindGeek บริษัทแม่ Pornhub ลาออก จากความขัดแย้งกับผู้ถือหุ้นใหญ่
สองผู้บริหารสูงสุดของ MindGeek บริษัทแม่ของ Pornhub ลาออกจากตำแหน่ง จากปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าของหุ้นใหญ่ และโมเดลธุรกิจของ Pornhub ที่ถูกวิจารณ์มาโดยตลอด
บริษัท MindGeek มีที่อยู่จดทะเบียนอยู่ในประเทศลักเซมเบิร์ก โดยเป็นเจ้าของเว็บโป๊หลายแห่ง เช่น Pornhub, Redtube, YouPorn, Xtube รวมถึงค่ายหนังสำหรับผู้ใหญ่อีกหลายค่ายด้วย ตัวบริษัทก่อตั้งในปี 2004 แต่เปลี่ยนเจ้าของเมื่อปี 2013 หลัง Bernd Bergmair นักลงทุนชาวออสเตรียเข้ามาถือหุ้นใหญ่ ส่วนทีมบริหารส่วนใหญ่อยู่ในแคนาดา
ส่วนผู้บริหารของ MindGeek คือซีอีโอ Feras Antoon และซีโอโอ David Tassillo อยู่กับบริษัทมานาน และมีหุ้นใน MindGeek ด้วย ตามข่าวบอกว่า Bergmair พยายามระดมทุนเพิ่มเพื่อมาซื้อหุ้นของ Antoon กับ Tassillo ทำให้สองคนนี้ไม่พอใจ จนกระทั่งนำมาสู่การลาออกในที่สุด
ตัวธุรกิจของ Pornhub เองก็ถูกวิจารณ์ในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ คลิปโป๊เด็กหรือของคนที่ถูกถ่ายโดยไม่ยินยอม (non-consensual) ทำให้ Pornhub เคยถูก PayPal และ Visa/Mastercard ตัดการทำธุรกรรม จนสุดท้าย Pornhub ต้องยอมลบคลิปทั้งหมดจากผู้ใช้ที่ไม่ยืนยันตัวตน แต่ก็ส่งผลให้ทราฟฟิกของ Pornhub หายไป 1/3 และมีรายได้ลดลง
Mindgeek แถลงว่ากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหาตัวผู้บริหารคนใหม่ ส่วน Antoon กับ Tassillo ยังมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นต่อไป
ที่มา - Financial Times |
# บอร์ด Activision Blizzard ปฏิเสธไม่ให้ตัวแทนสหภาพแรงงานมานั่งเป็นบอร์ด
หลังจากปีที่แล้ว Activision Blizzard เจอเรื่องอื้อฉาวด้านพฤติกรรมในสำนักงานและการคุกคามทางเพศต่างๆ ที่ค่อนข้างยืดเยื้อ ซึ่งหลังจากนั้นพนักงานของ Activision Blizzard ก็ได้จัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานของบริษัทในชื่อ Game Workers Alliance (GWA) เพื่อรับมือปัญหาของพนักงานในอนาคต
หลังจากนั้นทางสหภาพก็ยื่นเรื่องไปยังบอร์ดของบริษัท เพื่อให้ตัวแทนของ GWA มีเก้าอี้อยู่ในบอร์ดด้วย เพื่อนำปัญหาของพนักงานเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดโดยตรง แต่ล่าสุดบอร์ด Activision Blizzard มีมติโหวดปฏิเสธไม่ให้ตัวแทน GWA เข้ามามีที่นั่งในบอร์ด โดยมีเสียงเห็นด้วยเพียง 5% เท่านั้น
นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บอร์ด Activision Blizzard ก็เพิ่งออกรายงานการสอบสวนภายใน ระบุว่าไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่าผู้บริหารระดับสูงเพิกเฉยกับประเด็นและรายงานเรื่องการคุกคามทางเพศ รวมถึงไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่าผู้บริหารปิดบังข้อมูลจากบอร์ด หลัง WSJ ออกมาแฉว่าซีอีโอปิดบังบอร์ดเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี Activision Blizzard ยังคงยอมรับเงื่อนไขจากผู้ตรวจสอบของรัฐนิวยอร์ค (New York State Comptroller) ที่บังคับให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนพนักงาน, จำนวนข้อตกลง (settlement) เรื่องคุกคามทางเพศกับพนักงาน, จำนวนข้อเรียกร้องที่กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการ, และกระบวนการปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กร
ที่มา - Washington Post |
# IBM Power10 รองรับการทำงานในสภาพแวดล้อมของไฮบริดคลาวด์ได้อย่างเหมาะสม ในรูปแบบ Cloud Native
สำหรับองค์กรที่มีแอปพลิเคชันสำคัญ ระบบฐานข้อมูล หรือระบบหลักที่เรียกว่า Mission Critical Systems เรื่องของเสถียรภาพและประสิทธิภาพ เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ๆ ที่ลูกค้าองค์กรต้องพิจารณาเพื่อให้ระบบต่าง ๆ และแอปพลิเคชันเหล่านั้น ทำงานได้ตลอดเวลา และมีปัญหาและ Downtime น้อยที่สุด รวมไปถึงความปลอดภัยของระบบงานนั้น ๆ ด้วย และยิ่งปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มปรับตัวและพัฒนาปรับปรุงแอปพลิเคชันขององค์กรให้ทันสมัยมากขึ้นที่เรียกว่า Modernization โดยการพัฒนาแอปพลิเคชันในรูปแบบ Cloud Native Application หรือ Microservices ที่ออกแบบเพื่อรองรับการประมวลผลในรูปแบบคลาวด์ ลูกค้าต้องพิจารณาตั้งแต่ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงการใช้บริการคลาวด์จากผู้ให้บริการต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ ในลักษณะของไฮบริดคลาวด์อีกด้วย โครงสร้างพื้นฐานก็ยิ่งต้องมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นเพื่อให้รองรับการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ทางด้านธุรกิจได้อย่างทันท่วงที
ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม โดยเฉพาะหัวใจสำคัญของการให้บริการอย่างหน่วยประมวลผลหรือเครื่องเซิร์ฟเวอร์ระดับองค์กรนั้น ต้องตอบโจทย์ทั้งหลายที่กล่าวมาได้เป็นอย่างดี และไม่ใช่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อจะมีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ความยืดหยุ่น และคุ้มค่าคุ้มทุนเหมือน ๆ กัน โดยเฉพาะทุกวันนี้บริษัทต่าง ๆ เริ่มมีแนวคิดที่เกี่ยวกับการวัดและปรับแต่งแม่แบบทางสภาพแวดล้อมของระบบไอทีขององค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่เรียกกันว่า IT Sustainability เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกและคุ้มค่ากับประสิทธิภาพที่สุดในวงจรของ ESG (Environment, Social, และ Governance) สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจ ต้องสามารถวัดผลและปรับแต่งแม่แบบทางสภาพแวดล้อมของระบบไอทีของคุณให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น เซิร์ฟเวอร์ของ IBM ที่ลูกค้าทั่วโลกให้ความไว้วางใจและกล่าวถึงว่าเป็นแพลตฟอร์มชั้นนำที่เหมาะสมกับการที่ธุรกิจองค์กรที่จะเลือกใช้เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักในส่วนของระบบประมวลผลการให้บริการที่มีความเสถียรสูงกว่าและมี Downtime โดยไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า น้อยกว่าเครื่องเซิร์ฟเวอร์รุ่นอื่น ๆ ในท้องตลาด จากผลการสำรวจขององค์การทางด้านความเสถียรของฮาร์ดแวร์และระบบปฏิบัติการเป็นเวลามากกว่า 12 ปีติดต่อกัน จากองค์กรระดับโลกอย่าง Information Technology Intelligence Consulting Corp. (ITIC) (https://itic-corp.com/itic-2021-global-server-hardware-server-os-reliability-survey-results/) ซึ่งสูงกว่าเครื่องเซิร์ฟเวอร์ x86 บางรุ่นถึงกว่า 17 เท่า หรือถ้าเทียบกับเครื่อง x86 ที่หลายองค์กรใช้งานก็เท่ากับช่วยองค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านโครงสร้างพื้นฐานถึง 122,501 ดอลลาร์ เลยทีเดียว
แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงเครื่องเซิร์ฟเวอร์ในตระกูล IBM Power Systems ซึ่งปัจจุบันเพิ่งออก Power10 รุ่นย่อยต่าง ๆ มาใหม่ล่าสุดในปีนี้ โดยหน่วยประมวลผล Power10 นั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้รองรับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมของไฮบริดคลาวด์ได้อย่างเหมาะสม ในสภาพแวดล้อมแบบ Cloud Native
หากคนที่ยังไม่ทราบว่าทำไมเราถึงต้องการใช้งาน Cloud Native Platform นั้น ก็เนื่องจาก Microservices หรือ Container ที่เป็นพื้นฐานของโปรแกรมแบบ Cloud Native นั้นเหมาะสมกับการพัฒนาโปรแกรมให้ทันสมัยตามแนวคิดแบบ DevOps หรือ DevSecOps ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาแอปพลิเคชันได้อย่างรวดเร็ว ลดความซับซ้อนหรือปัญหาในการเข้ากันได้ของแต่ละโมดูล มีความคล่องตัวสูง มีการใช้ทรัพยากรของระบบน้อยลง และยังมีข้อดีอื่นอีกมากมาย โดย IBM Power10 นั้นสนับสนุนการทำงานแบบ Cloud Native ระดับ Enterprise ด้วย Red Hat® OpenShift® Container Platform (RH OCP) และ IBM Cloud Pak® ทำให้ระบบที่ใช้ Power10 สำหรับการปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ทันสมัยนั้นมีความมั่นคง คล่องตัว ยืดหยุ่นสูง และปลอดภัยไปพร้อม ๆ กัน ความสามารถในการรวมศูนย์ระบบงานต่าง ๆ ในองค์กรและการปรับเปลี่ยนทรัพยากรได้แบบไดนามิก ช่วยให้ลูกค้าสามารถเรียกใช้รันระบบงานสมัยใหม่ที่เป็น Cloud Native Application ควบคู่ไปกับระบบงานแบบ VM-based Virtualization เดิม ให้สามารถทำงานพร้อมกันบนเครื่องเดียวกัน รองรับระบบปฏิบัติการที่หลากหลายสำหรับระบบงานขององค์กรไม่ว่าจะเป็น AIX, IBM i และ Linux เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุดตามคอนเซปต์ของ Sustainable IT
สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือบน IBM Power10 นั้นมีประสิทธิภาพพร้อมความปลอดภัยสูง รวมถึงมีคุณสมบัติด้านความมั่นคงทนทานที่องค์กรต้องการหรือ RAS (Reliability, Availability, Serviceability) ที่สูงมาก เมื่อพูดถึงความปลอดภัย สามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น เช่น ในส่วนของ Hypervisor ของ Power Systems ที่เรียกว่า PowerVM นั้นถูกพัฒนาและติดตั้งมาให้ทำงานร่วมกันและเข้ากันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ตั้งแต่ระดับฮาร์ดแวร์ เฟิร์มแวร์ และระบบปฏิบัติการที่รองรับโดยเฉพาะบนเครื่อง Power10 อีกทั้งเรื่องของช่องโหว่ทางไซเบอร์ที่น้อยมาก อ้างอิงจากข้อมูลของสถาบัน NIST (National Institute of Standards and Technology) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2022 ล่าสุด มีรายงานการตรวจพบช่องโหว่ที่มีความเสี่ยงสูงเพียงแค่ 8 รายการ (CVE IDs) เท่านั้น โดยค้นหาจากฐานข้อมูล National Vulnerability Database และใช้คำค้นหาหรือ Keyword ว่า PowerVM ซึ่งน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ Hypervisor ของผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมอาจจะพบช่องโหว่ได้มากกว่า 100 รายการ เลยทีเดียว
อีกเรื่องหนึ่ง ต้องบอกว่าเป็นเวลามากกว่า 25 ปี ที่ลูกค้าได้เลือกใช้ IBM Power Systems กับระบบฐานข้อมูลที่สำคัญขององค์กร ไม่ว่าจะเป็น Db2 หรือ Oracle และฐานข้อมูลอื่น เพราะมีความน่าเชื่อถือสูงและมี Downtime น้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัดและได้รับการพิสูจน์มาแล้วเป็นอย่างดี และยังรองรับฐานข้อมูลโอเพ่นซอร์ส (OSDB) เช่น PostgreSQL, EDB และ MongoDB ทั้งการติดตั้งใช้งานแบบปกติ หรือแบบ Container ก็ตามที ฐานข้อมูล OSDB กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเพราะลูกค้าสามารถเลือกระดับของการสนับสนุนและการให้บริการจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ และมีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการปรับใช้งานฐานข้อมูลมาให้อย่างเพียบพร้อมสำหรับการใช้เป็นฐานข้อมูลของแอปพลิเคชันหรือระบบงานที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ หรือการย้ายฐานข้อมูลแบบเดิมเพื่อลดค่าใช้จ่ายได้ 35% - 80% และไม่ผูกติดกับผลิตภัณฑ์เดียว การเลือกใช้ IBM Power10 กับฐานข้อมูล OSDBสำหรับธุรกิจนั้น พร้อมกับพาร์ทเนอร์ที่มีประสบการณ์ทำให้คุรได้ระบบที่น่าเชื่อถือมากอย่างยิ่ง ช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกค้าต้องเผชิญด้วย เพิ่มความพร้อมใช้งานและประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่ลดความเสี่ยงที่จะเจอกับเหตุการณ์ที่ระบบฐานข้อมูลไม่สามารถให้บริการได้ หรือลดการเกิด Downtime โดยไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี
ระบบปฏิบัติการ AIX และ IBM i เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและมั่นใจกับการทำงานมาอย่างยาวนาน และยังคงรองรับบนเครื่อง Power10 รุ่นใหม่ พร้อมกับมีบริษัทคู่ค้าหรือ ISV Partner ทั้งเก่าและใหม่ ที่รองรับธุรกิจและอุตสาหกรรมในหลาย ๆ กลุ่ม รวมถึงมีการปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ทันสมัยอยู่เสมอและต่อเนื่อง เช่น IBM i มีการเพิ่มความสามารถให้กับ Db2 และ RPG เป็นต้น และยังรองรับโอเพ่นซอร์สและภาษาโปรแกรมแบบใหม่ ๆ เช่น Java, php, Python, R และอื่น ๆ ให้สามารถทำงานบน AIX และ IBM i เวอร์ชันล่าสุดได้ทันที ลูกค้าที่เลือกใช้งาน Power10 ยังได้รับประโยชน์จากความสามารถและฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่โดดเด่น ทำให้ทั้งลูกค้า AIX และ IBM i สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ได้อย่างมีนัย นอกจากนี้ การทำงานในอนาคตระหว่าง Power10 กับระบบปฏิบัติการ AIX และ IBM i จะมีการรวมเอาคุณสมบัติการบีบอัดและการเข้ารหัสข้อมูลฝังมาบนชิป Accelerator เฉพาะทาง สามารถทำงานโดยไม่กระทบกับประสิทธิภาพโดยรวมของระบบอีกด้วย
สำหรับใครที่ยังไม่เคยใช้แพลตฟอร์ม IBM Power Systems หรือยังไม่แน่ใจว่าระบบต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในองค์กร จะสามารถทำงานบนเครื่อง Power10 ได้ไหม หรือมีงบประมาณในการซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์จำกัด แสดงว่าคุณยังไม่รู้ว่า IBM มีทางเลือกให้ลูกค้าสามารถเช่าใช้เครื่อง IBM Power10 แบบคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงหรือ Pay-per-use บน IBM Public Cloud ด้วย โดยอยู่ในแคตาล็อกที่ชื่อว่า IBM Power Systems Virtual Servers on IBM Cloud หรือเรียกสั้น ๆ ว่า PowerVS ก็ได้ ซึ่งให้บริการในลักษณะ Virtual Machine-as-a-Service (VMaaS) ที่ลูกค้าสามารถเริ่มต้นเช้าใช้งานคอมพิวเตอร์เสมือน หรือที่ IBM เรียกว่า LPAR แบบ Virtual Machine เปล่า หรือพร้อมระบบปฏิบัติการ AIX, IBM i และ Linux ได้ทันที รวมไปถึงการซื้อเป็น VM ที่มาพร้อมกับ Red Hat OpenShift หรือแม้แต่ SAP HANA ก็มีให้บริการเช่นกัน โดยที่ลูกค้าสามารถย้ายระบบงานทั้ง Development, Test หรือแม้แต่ Production ในดาต้าเซ็นเตอร์ไปใช้บน PowerVS ที่อยู่บนคลาวด์ของ IBM ต่าง ๆ ทั่วโลกได้ทันที โดยไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือติดตั้งโปรแกรมใหม่แต่อย่างใด ทำให้ลูกค้าย้ายไปใช้งานบนคลาวด์ของ PowerVS ได้ง่าย รวดเร็วทันใจ และไม่ต้องเสียเวลาและกำลังคนมากมายอีกด้วย นอกจากนี้ ในกรณีที่องค์กรกำลังมองหาระบบ DR (Disaster Recovery) สำหรับแพลตฟอร์ม Power Systems ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเช่าใช้ทรัพยากรบนคลาวด์ของ PowerVS เท่ากับระบบ Production แต่สามารถเริ่มต้นใช้งานด้วยทรัพยากรขั้น
ต่ำที่จำเป็นก่อนหรือน้อยที่สุดเพียงแค่ 1 ซีพียูคอร์ ลูกค้าสามารถอุ่นใจได้ว่าเมื่อระบบหลักเกิดปัญหาและมีความจำเป็นต้องใช้งานระบบ DR เมื่อไหร่ ก็ค่อยทำการเพิ่มทรัพยากรบน PowerVS ให้เพียงพอได้ทันที ซึ่งวิธีนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้องค์กรได้มากทีเดียว และเป็นจุดเด่นสำคัญที่ลูกค้า IBM Power ชื่นชอบเป็นอย่างมาก
การย้ายระบบงานจากเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งได้ทันที ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการย้ายระบบงานขึ้นคลาวด์ของ PowerVS เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หากลูกค้าเก่าและปัจจุบันที่ใช้เครื่อง IBM Power Systems รุ่นเก่าไม่ว่าจะเป็น POWER9, POWER8, POWER7 หรือเก่ากว่านั้น ก็สามารถย้าย LPAR หรือระบบงานไปทำงานบน Power10 รุ่นใหม่ทั้งบน On-prem และบน PowerVS ได้ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันหรือฐานข้อมูลใดๆ ก็ตาม หากทำงานบน LPAR และ PowerVM หากต้องการทดสอบการทำงานหรือคุณสมบัติต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจก่อนจะลงทุนซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์ Power10 ใหม่ สามารถติดต่อตามรายละเอียดข้างล่างนี้ เพื่อให้ทางบริษัทได้ดูแลและแนะนำพร้อมให้ลูกค้าสามารถทดสอบได้ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด
โทร 02 311 6881 #7151, 7156
Email : [email protected] |
# Cloudflare ชี้แจงเหตุล่ม คอนฟิก BGP ผิดจนเราท์ภายในหาย
Cloudflare ออกรายงานถึงเหตุล่มเมื่อวานนี้ โดยพบว่าเป็นการคอนฟิก BGP ผิดพลาด ทำให้ตัวกรองเราท์ BGP ไม่ยอมรับเราท์ภายในของ Cloudflare เองจนเป็นเหตุให้ระบบมีปัญหาในที่สุด
ความยากของปัญหาครั้งนี้คือคอนฟิกนี้จะมีปัญหากับศูนย์ข้อมูลแบบใหม่ที่ Cloudflare เพิ่งปรับปรุงในช่วงปีที่ผ่านมา เรียกว่า Multi-Colo PoP (MCP) เป็นสถาปัตยกรรมศูนย์ข้อมูลภายในที่ช่วยให้ Cloudflare ซ่อมบำรุงบางส่วนของศูนย์ข้อมูลได้โดยระบบยังทำงานต่อไปได้ แต่ไม่มีปัญหากับศูนย์ข้อมูลแบบเดิมๆ ของ Cloudflare เอง
หลังวิศวกรคอนฟิกระบบใหม่เข้าไปแล้ว กว่าคอนฟิกจะขยายไปถึงศูนย์ข้อมูลที่เป็น MCP ก็ใช้เวลานานกว่าสองชั่วโมง และคอนฟิกกระจายไปยังศูนย์ข้อมูล MCP ทั้ง 19 แห่งอย่างรวดเร็ว อัตรารีเควสที่เข้ามาถึง Cloudflare ก็ลดลงครึ่งเดียวทันที
ทีมงานใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงในการหาต้นเหตุของปัญหา และเนื่องจากคอนฟิกเข้าระบบไประยะหนึ่งแล้วทำให้มีการแก้ไขคอนฟิกอื่นๆ ซ้อนเข้าไปอีก ทำให้ต้องถอนคอนฟิกเหล่านั้นออกไปด้วย รวมใช้เวลาประมาณ 40 นาที
ที่มา - Cloudflare |
# บริษัทของบารัค โอบามา ย้ายรายการพ็อดคาสต์จาก Spotify มาอยู่กับ Audible
หลังลงจากตำแหน่ง อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ไปทำธุรกิจหลายอย่าง งานหนึ่งคือตั้งบริษัทผลิตสื่อชื่อ Higher Ground ร่วมกับภรรยา มิเชล โอบามา (เนื้อหามีทั้งที่เจ้าตัวจัดเองและคนอื่นจัด) และเซ็นสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟกับ Spotify เมื่อปี 2019
แต่ล่าสุด Higher Ground เปลี่ยนไปเซ็นสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟกับ Audible บริษัทหนังสือเสียงในเครือ Amazon แทนแล้ว หลังหมดสัญญากับ Spotify และทั้งสองฝ่ายตัดสินใจไม่ต่อสัญญากัน
โอบามาบอกว่ายินดีที่ได้ร่วมงานกับ Audible ที่มองเห็นวิสัยทัศน์ตรงกันเรื่องการขยายเรื่องราวของคนที่ไม่มีปากเสียงมากนักให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น (voices that deserve to be heard) ส่วนฝั่ง Spotify ก็ระบุว่าตัดสินใจไม่ต่อสัญญา และภูมิใจกับผลงานคอนเทนต์ในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากทำรายการพ็อดคาสต์กับ Spotify แล้ว บริษัท Higher Ground ยังมีผลิตการรายการทีวี สารคดี ร่วมกับ Netflix ด้วย
ที่มา - Deadline |
# Amazon แต่งตั้ง Doug Herrington เป็นซีอีโอฝ่าย Worldwide Amazon Stores คนใหม่
Amazon ประกาศแต่งตั้ง Doug Herrington มารับตำแหน่งซีอีโอของส่วนธุรกิจ Worldwide Amazon Stores แทนที่ตำแหน่งเดิมที่ Dave Clark ประกาศลาออกก่อนหน้านี้
Herrington ร่วมงานกับ Amazon มาตั้งแต่ปี 2005 มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง AmazonFresh เมื่อปี 2007 และรับตำแหน่งดูแลส่วนธุรกิจการค้าในอเมริกาตั้งแต่ปี 2015
Andy Jassy ซีอีโอ Amazon กล่าวว่าส่วนธุรกิจลูกค้าทั่วไปได้เปลี่ยนชื่อเป็น Amazon Stores เพื่อปรับให้ส่วนธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการการขายสินค้าทั้งหมดอยู่ภายใต้ทีมของ Herrington ทั้งส่วนธุรกิจในอเมริกาเหนือ, ต่างประเทศ, ร้านค้าแบบหน้าร้าน, พาร์ตเนอร์ และอื่น ๆ
ที่มา: Amazon |
# ทางการเกาหลีใต้ สั่งห้ามพนักงาน Terraform Labs ผู้พัฒนา TerraUSD เดินทางออกนอกประเทศ
Reuters อ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการในเกาหลีใต้ ระบุว่าทางการได้เพิ่มรายชื่อพนักงานของ Terraform Labs บริษัทผู้พัฒนาเหรียญ stablecoin TerraUSD หรือ UST อยู่ในกลุ่มบุคคลที่ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
เหรียญ TerraUSD เป็นเหรียญที่ตรึงมูลค่าไว้กับดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็น algorithmic stablecoin และถูกขายจนมูลค่าต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ราคาคริปโตสกุลต่าง ๆ ปรับลดลง
ตัวแทนของ Terraform Labs ให้ความเห็นต่อข่าวดังกล่าวว่าบริษัทไม่ทราบในคำสั่งนี้
ที่มา: Reuters ภาพ Pixabay |
# Twitter เตรียมเพิ่มฟีเจอร์ Notes สำหรับการเขียนบทความ long-form ไม่ต้องแยกเธรดย่อย
Nima Owji นักวิจัยแอปเปิดเผยข้อมูลฟีเจอร์ใหม่ของ Twitter มีชื่อเรียกว่า Notes ซึ่งตอนนี้อยู่ในสถานะทดสอบกับผู้ใช้งานจำกัดกลุ่ม คาดว่าจะเปิดให้ใช้งานทั่วไปเร็ว ๆ นี้
Twitter Notes เป็นฟีเจอร์ที่เคยถูกพบมาก่อนหน้านี้ในชื่อ Twitter Notes สำหรับการเขียนและนำเสนอเนื้อหาที่มีขนาดยาว (long-form) ไม่สามารถจบได้ใน 280 ตัวอักษร ถึงแม้ Twitter จะมีเครื่องมือช่วยสำหรับการทวีตข้อความยาว โดยแบ่งเป็นเธรดย่อย แต่รูปแบบของ Twitter Notes จะเป็นสื่อผสม สามารถแทรกรูป-วิดีโอ และจัดหน้าตาเนื้อหาได้มากกว่าการทวีตปกติ รวมทั้งมี Focus Mode เพื่อออกจากหน้าฟีด และจดจ่อกับการอ่านบทความนั้น ๆ
คาดว่า Twitter จะประกาศฟีเจอร์นี้อย่างเป็นทางการในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ที่มา: TechCrunch |
# Twitter ประกาศจัดงานสัมมนาสำหรับนักพัฒนา Chirp หลังหยุดจัดงานประเภทนี้ไป 7 ปี
Twitter ประกาศจัดงานสัมมนานักพัฒนาแบบพบปะกันในสถานที่ (in-person) อีกครั้ง โดยใช้ชื่องาน Chirp ซึ่งเป็นชื่องานสัมมนานักพัฒนาที่เคยจัดครั้งแรกเมื่อปี 2010 กำหนดจัดงานของปีนี้คือวันที่ 16 พฤศจิกายน 2022 ที่เมืองซานฟรานซิสโก
งานสัมมนาสำหรับนักพัฒนาที่จัดครั้งสุดท้ายในรูปแบบนี้คือ Twitter Flight เมื่อปี 2015 ซึ่งนับตั้งแต่นั้น Twitter ก็เริ่มจำกัดและปรับการใช้งาน API หลายอย่าง ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับนักพัฒนาเป็นไปในทางลบมากขึ้น แต่ก็กลับมาเปลี่ยนนโยบาย API ใหม่ช่วงปี 2020
Twitter ไม่ได้ให้รายละเอียดหัวข้อของงานในตอนนี้ แต่บอกเพียงมีทั้งคีย์โน้ต หัวข้อสัมมนาทางเทคนิค และโอกาสในการพบปะพูดคุยกับผู้พัฒนาบนแพลตฟอร์ม
ที่มา: Twitter |
# GitHub Copilot เปิดให้นักพัฒนาทุกคนทดลองใช้งาน 60 วัน จากนั้นราคาเดือนละ 10 ดอลลาร์
GitHub ประกาศเปิดบริการ Copilot อย่างเป็นทางการ หลังจากเปิดทดสอบวงปิดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยผู้ใช้สามารถทดสอบใช้งานได้ฟรี 60 วัน หลังจากนั้นค่าบริการอยู่ที่เดือนละ 10 ดอลลาร์ หรือปีละ 100 ดอลลาร์
ตอนนี้ Copilot รองรับโปรแกรมแก้ไขโค้ดยอดนิยม ได้แก่ Neovim, JetBrains, Visual Studio, และ VSCode สามารถแนะนำโค้ดในภาษาโปรแกรมได้นับสิบภาษา และช่วงทดสอบที่ผ่านมามีผู้ทดสอบถึง 1.2 ล้านคน
ทาง GitHub จะให้บริการฟรีกับนักเรียนและผู้ดูแลโครงการโอเพนซอร์สยอดนิยม ส่วนแพ็กเกจแบบเสียเงินสำหรับองค์กรจะตามมาภายหลัง
ที่มา - GitHub Blog |
# รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเงินสนับสนุน TSMC ตั้งโรงงานกว่าแสนล้านบาท
รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเตรียมเงินสนับสนุนให้ TSMC มาตั้งโรงงานในจังหวัดคุมาโมโตะรวม 476,000 ล้านเยน หรือกว่า 120,000 ล้านบาท โดยโรงงานนี้จะเป็นการร่วมทุนระหว่าง TSMC, Sony Semiconductor, และ Denso ใช้ชื่อบริษัทว่า Japan Advanced Semiconductor Manufacturing Inc. (JASM)
ตัวโรงงานแห่งนี้จะมีสายการผลิตแบบ 12/16 นาโนเมตรหนึ่งสายการผลิต และ 22/28 นาโนเมตรอีกหนึ่งสายการผลิต ใช้เวเฟอร์ขนาด 12 นิ้ว กำลังผลิตรวม 55,000 เวเฟอร์ต่อเดือน คาดว่าจะใช้ผลิตชิปเช่นเซ็นเซอร์ภาพและไมโครคอนโทรลเลอร์
ทาง Denso ระบุว่าโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้ซัพพลายเชนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์มีเสถียรภาพกว่าตอนนี้ ช่วงสองปีที่ผ่านมาปัญหาชิปขาดแคลนทำให้บริษัทรถยนต์หลายบริษัทเดินสายการผลิตไม่ได้ หรือหากผลิตรถได้ก็ต้องตัดฟีเจอร์บางอย่างออกไป
คาดว่า JASM จะเปิดสายการผลิตได้เดือนธันวาคม 2024
ที่มา - Kyodonews, Taiwan News |
# Lenovo เปิดตัวเวิร์คสเตชันขนาดเล็ก P360 Ultra ใช้เมนบอร์ด 2 ด้าน ระบายความร้อนดีขึ้น
Lenovo เปิดตัวพีซีเดสก์ท็อปเกรดเวิร์คสเตชัน ThinkStation P360 Ultra ที่ใช้เคสขนาดเล็กความจุ 4 ลิตร (นับตามปริมาตร ถ้านับตามมิติคือ 87mm x 223mm x 202mm) แต่สามารถยัดชิ้นส่วนแรงๆ ทั้งชิป Intel Core 12th Gen และจีพียู NVIDIA RTX A5000 เข้ามาได้ด้วย ถือเป็นการออกแบบที่น่าสนใจทั้งตัวเคสและระบบระบายความร้อน
เคล็ดลับของ Lenovo คือการออกแบบเมนบอร์ดแบบคัสตอมที่มีสองด้าน แล้ววางไว้ตรงกลางเคส มีพัดลมทั้งสองข้างเพื่อให้ระบายความร้อนออกทั้งสองฝั่งของบอร์ด ทำให้เครื่องเข้าข่าย small form-factor (SFF) โดยยังคงสเปกแรงๆ สำหรับลูกค้าเวิร์คสเตชันได้ (ดูคลิปประกอบ)
สเปกของ ThinkStation P360 Ultra รองรับแรมสูงสุด 128GB DDR5, PCIe Gen 4 x2 สล็อต, รองรับสตอเรจ SSD M.2 สูงสุด 8TB, ต่อจอนอกได้สูงสุด 8 จอ, มีพอร์ต Ethernet และ Thunderbolt 4 อย่างละ 2 พอร์ต, ผ่านการทดสอบความทนทาน MIL-SPEC
ราคาเริ่มต้น 1,299 ดอลลาร์ วางขายช่วงปลายเดือนนี้
ที่มา - Lenovo, AnandTech |
# Cloudflare มีปัญหาเป็นวงกว้าง API ล่ม เว็บลูกค้าเข้าไม่ได้บางส่วน
Cloudflare มีปัญหาเน็ตเวิร์คเป็นวงกว้างแม้จะไม่ได้กระทบทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ใช้บางส่วนพบ timeout ขณะเข้าเว็บที่ใช้ Cloudflare (รวมถึง Blognone เอง) ขณะที่ผู้ใช้ที่ใช้งานได้อาจจะโหลดเว็บช้าลงเนื่องจากทราฟิกถูก re-route ออกไปยังศูนย์ข้อมูลอื่น โดยตอนนี้กระทบศูนย์ข้อมูลจำนวนมากรวมถึงกรุงเทพฯ
ทาง Cloudflare ยังไม่ได้ระบุว่าปัญหาคืออะไรแต่ระบุว่าพบต้นตอแล้ว และกำลังแก้ปัญหา
ที่มา - Cloudflare Status |
# Mark Zuckerberg โชว์ต้นแบบแว่น VR ในห้องแล็บ 4 รุ่น ความละเอียดระดับ Near Retina
Mark Zuckerberg โชว์ต้นแบบแว่น VR ที่เคยพัฒนาในห้องแล็บของบริษัท Meta จำนวนทั้งหมด 4 รุ่น โดยทั้ง 4 รุ่นไม่ใช่แว่นรุ่นที่จะวางขายจริง
แว่นรุ่นแรกมีโค้ดเนมว่า Butterscoth เป็นแว่นความละเอียดสูงมากระดับ near retinal resolution
แว่นรุ่นที่สอง Half Dome ทดสอบเรื่อง varifocal หรือ multifocal depth การโฟกัสกับวัตถุบนจอที่มีระยะ (ในโลกเสมือน) ใกล้ไกลต่างกัน แว่นตัวนี้ใช้เทคนิคการตรวจจับนัยน์ตา (eye tracking) เข้าช่วย
แว่นรุ่นที่สาม ทดสอบเรื่อง HDR โดยมีความสว่างมากถึง 20,000 nits สูงกว่าทีวี HDR ในปัจจุบันถึง 10 เท่า
แว่นรุ่นที่สี่ Holocake เป็นการนำเทคโนโลยี 3 อย่างข้างต้นมารวมกัน แล้วย่อขนาดแว่นให้เล็กลงในระดับที่สวมใส่ได้สะดวก
ที่มา - Road to VR |
# ก.ล.ต. เปิดชุดข้อมูลตลาดทุน มี API ข้อมูลกองทุนรายวัน
ก.ล.ต. เปิดชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ทั้งข้อมูลสถิติย้อนหลัง, ข้อมูลรายละเอียดกองทุนต่างๆ, และ API สำหรับดึงข้อมูลกองทุนแบบรายวัน เรียกว่าบริการ SEC Open Data Services
ตัวชุดข้อมูลแบ่งออกเป็นสามประเภท ได้แก่ รายงานสถิติ ซึ่งเป็นภาพรวมของตลาดทุน ตัวข้อมูลมักเป็นไฟล์ Excel ออกข้อมูลใหม่ตามงวด, ชุดข้อมูล Excel, และชุดข้อมูล API ซึ่งตอนนี้ยังมีเฉพาะของมูลกองทุนรายวัน ระบุ ข้อมูลมูลค่าหน่วยลงทุน และประวัติการจ่ายเงินปันผล
ที่มา - ก.ล.ต.
ชุดข้อมูลปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย |
# ชัชชาติ นำข้อมูลงบประมาณ กทม. ปี 66 เป็น Open Data, เตรียมเปิดเผยสัญญา Open Contract
เมื่อวานนี้ (20 มิ.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ เดินทางเข้าพบผู้บริหารสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA โดยประกาศความร่วมมือด้านความโปร่งใส และการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 4 ด้านคือ
Open Bangkok Open Data กทม. นำข้อมูลงบประมาณปี 2566 ขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ กทม. พร้อมเชื่อมไปยังฐานข้อมูลเปิด Open Data ของ DGA เพื่อให้ผู้คนเห็นข้อมูล และระบุว่าจะนำเอกสารสัญญาต่างๆ มาเปิดเผยเพิ่มขึ้น
ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพ สามารถตรวจสอบสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ ได้ผ่านแอพ "ทางรัฐ" ของ DGA และจะเชื่อมระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สำหรับการขอใบอนุญาตต่างๆ ทางออนไลน์ เช่น ใบอนุญาตก่อสร้างของ กทม.
โครงการ Digital Transcript ของ DGA แปลงเอกสารหลักฐานการศึกษา (transcript) เป็นดิจิทัล ปัจจุบันแล้วมีมหาวิทยาลัยใช้งาน 39 แห่ง จะขยายไปยังโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด รวมทั้งโรงเรียนฝึกอาชีพทุกแห่ง
พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้เจ้าหน้าที่ กทม. ผ่านสถาบัน TDGA ภายใต้การกำกับดูแลของ DGA
จากการตรวจสอบของ Blognone พบว่าเว็บไซต์หลักของกรุงเทพ (bangkok.go.th) มีเมนูชื่อ "งบประมาณรายง่ายกรุงเทพมหานคร" เพิ่มเข้ามา ซึ่งกดแล้วจะพบกับหน้า ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2565 เป็นข้อมูลแผนภาพแสดงงบประมาณรายจ่ายของ กทม. ตามหมวดต่างๆ และมีไฟล์สรุปเป็น PDF แยกตามประเภทรายจ่าย กับ แยกตามด้าน
ส่วนข้อมูลในรูปแบบ machine readable มีเผยแพร่แล้วเป็นไฟล์ Excel โดยแยกตามสำนักของ กทม. สามารถดูได้จาก เว็บไซต์สำนักงบประมาณกรุงเทพ
นายชัชชาติ ระบุว่า "DGA และ ก.พ.ร. มีหลายโครงการที่ดีมากและสามารถช่วยกรุงเทพมหานครทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องแรก Open Data เป็นการนำข้อมูลต่างๆ เปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ DGA มีเว็บไซต์ที่สามารถลิงค์ข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนเข้ามาค้นหาข้อมูลได้ วันนี้ กทม.จึงเริ่มวันแรกด้วยการนำข้อมูลงบประมาณประจำปี 2566 เปิดเผยขึ้นเว็บไซต์ กทม.พร้อมลิงค์ไปที่เว็บไซต์ของ DGA เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลงบประมาณว่าใช้เกี่ยวกับอะไร รวมทั้งเรื่อง Open Contract โดยนำสัญญาต่างๆ ที่เปิดเผยได้มาเปิดเผยเพื่อให้เห็นความโปร่งใสและแนวทางว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ก.พ.ร. ก็มีแอพพลิเคชันที่ Consul ที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นและโหวตในเรื่องต่างๆ ได้ เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มีความโปร่งใส"
“ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีเป็นตัวสำคัญที่เป็นการใช้งบประมาณไม่มาก แต่ว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการได้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตซึ่งสามารถทำให้เป็น One Stop Service หรือ Super license ที่สามารถขอใบอนุญาตหลายใบในครั้งเดียวโดยไม่ต้องทำหลายกระบวนการ จะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่หรือผู้ที่อยากจะทำธุรกิจมีความสะดวกมากขึ้น และเพิ่มความโปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง ขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการพัฒนาระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) หรือ One Stop Service ให้ประชาชนใช้บริการขอใบอนุญาตออนไลน์ คาดว่าจะพร้อมให้บริการประชาชนในช่วงปลายปี 65”
ส่วน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ DGA กล่าวว่า "DGA มีความพร้อมที่จะร่วมเดินไปข้างหน้ากับกทม. และหน่วยงานพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ภายใต้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ให้เกิด ‘บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน’"
ที่มา - กรุงเทพมหานคร, DGA |
# แพลตฟอร์มคริปโตพากันจำกัดการถอน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเงินคริปโตหลายสกุลตกลงอย่างหนัก จนทำให้ผู้คนพยายามขายสินทรัพย์ทิ้ง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของแพลตฟอร์มคริปโตหลายแห่งต้องออกมาประกาศจำกัดการถอนสินทรัพย์ออก หรือบางแห่งก็งดการถอนออกชั่วคราว
Bancor แพลตฟอร์มประกันมูลค่า ประกาศหยุดบริการ Impermanent Loss Protection โดยระบุว่าเป็นการปกป้องผู้ใช้ในระหว่างที่ตลาดไม่เสถียร และหากตลาดกลับมานิ่งแล้วก็จะเปิดให้ถอนได้อีกครั้ง
Hoo กระดานซื้อขายคริปโต ระบุว่ามีการถอนสินทรัพย์จำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถโยกสินทรัพย์ระหว่าง wallet ได้ทัน ทำให้กระบวนการถอนอาจจะล่าช้าออกไป 24-72 ชั่วโมง
Babel Finance แพลตฟอร์มให้กู้เงินคริปโต ประกาศหยุดให้บริการถอนสินทรัพย์ทั้งหมด และเริ่มตรวจสอบสภาพคล่องในบริษัทแบบฉุกเฉิน พร้อมกันนี้ก็เจรจาเจ้าหนี้สร้างสภาพคล่องระยะสั้นไปด้วย
ภาพโดย mohamed_hassan |
# Diablo Immortal เลื่อนเปิดตัวในจีน อาจเป็นเพราะ Blizzard โพสต์ Weibo ถึงหมีพูห์
Diablo Immortal มีกำหนดเปิดบริการในจีนวันที่ 23 มิถุนายนนี้ แต่ NetEase ผู้ให้บริการเกมนี้ในจีนเพิ่งประกาศเลื่อนไปแบบไม่มีกำหนด
เหตุผลที่ NetEase ประกาศในเว็บไซต์คือต้องการเวลาเพิ่มในการปรับแต่งตัวเกม ทั้งในแง่อุปกรณ์ที่รองรับ คุณภาพของกราฟิก และการทำงานของระบบเครือข่าย โดยบริษัทจะมอบของขวัญในเกมเป็นการชดเชยที่ต้องเลื่อน
อย่างไรก็ตาม สื่อตะวันตกหลายราย เช่น Reuters และ Financial Times ระบุว่าสาเหตุจริงๆ มาจากบัญชี Weibo ของ Blizzard ในประเทศจีน แชร์โพสต์ที่เกี่ยวกับหมีพูห์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นการล้อเลียนประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และทำให้ตอนนี้บัญชีของ Blizzard โดนแบนอยู่
Financial Times แปลข้อความของ Blizzard เป็นภาษาอังกฤษว่า “Why hasn’t the bear stepped down?” ส่วน Kotaku อ้างแหล่งข่าวในจีน บอกว่าข้อความเขียนว่า “What do you think about the bear?”
ที่มา - Blizzard.cn, Financial Times, |
# ไมโครซอฟท์ถอดลิงก์ดาวน์โหลดไฟล์ Windows 10 และ 11 ในรัสเซีย แต่ VPN ยังใช้ได้
สำนักข่าว TASS ของรัสเซีย รายงานว่าตอนนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในรัสเซียไม่สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งไฟล์ Windows 10 และ Windows 11 จากเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ในรัสเซียได้แล้ว โดยจะเจอกับข้อความ 404 File Not Found แต่ถ้าเชื่อมต่อผ่าน VPN จะยังสามารถดาวน์โหลดได้
ไมโครซอฟท์ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ แต่ไมโครซอฟท์ประกาศหยุดทำธุรกิจในรัสเซียมาตั้งแต่เดือนมีนาคม และเมื่อต้นเดือนนี้เพิ่งปลดพนักงานในรัสเซียออกเป็นจำนวน 400 คน
เว็บไซต์ Neowin ลองดาวน์โหลดไฟล์ผ่านหน้าเว็บไมโครซอฟท์รัสเซียแล้วเจอปัญหาจริงๆ ตามข่าว และยังพบว่าการใช้โปรแกรม Media Creation Tool สามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้อยู่ แต่รันตัวติดตั้งไม่ได้อยู่ดี
ที่มา - Neowin |
# SBF ซีอีโอ FTX บอกการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คริปโตราคาลดลง
Sam Bankman-Fried หรือ SBF ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตรายใหญ่ ให้สัมภาษณ์กับ NPR บอกถึงสถานการณ์ราคาสินทรัพย์คริปโตที่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา ว่าปัจจัยหลักมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐ ที่ทำเพื่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Fed ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% (75 basis points) ซึ่งเป็นการประกาศปรับขึ้นครั้งเดียวที่สูงที่สุดในรอบ 28 ปี อย่างไรก็ตาม SBF บอกว่าเขาชื่นชมในทิศทางของ Fed เพราะเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากในการตัดสินใจอยู่แล้ว
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาคริปโตมีการปรับลดลงมาก โดย Bitcoin ปรับลงมากกว่า 20% แต่ราคาล่าสุดปรับขึ้นมาแล้ว
ที่มา: NPR |
# จีนห้ามรถ Tesla เข้าพื้นที่ชายฝั่งเป่ยไต้เหอ อย่างน้อย 2 เดือน เนื่องจากมีการประชุมผู้นำระดับสูง
ตำรวจจราจรท้องถิ่นของเขตเป่ยไต้เหอในจีน ได้ออกคำสั่งห้ามรถยนต์ Tesla เข้ามาในพื้นที่ชายฝั่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนจะจัดการประชุมลับในบริเวณดังกล่าว
ส่วนสาเหตุนั้นไม่ได้ชี้แจงอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่ามาจากป้องกันข้อมูลรั่วไหล ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่รถของ Tesla ถูกสั่งห้ามใช้งานในลักษณะนี้ เมื่อปีที่แล้วกองทัพจีนก็สั่งห้ามใช้รถ Tesla ระบุว่าป้องกันข้อมูลรั่วไหลจากกล้องในรถ
ในตอนนั้น Elon Musk ซีอีโอ Tesla กล่าวยืนยันว่ารถยนต์ของบริษัทไม่มีการเก็บข้อมูลสอดแนมใด ๆ ในทุกที่ทุกการใช้งาน พร้อมบอกว่าหากทำจริงบริษัทก็ต้องถูกสั่งปิดไปแล้ว ส่วนข้อมูลอื่นที่เก็บมาจากรถยนต์นั้น ก็ถูกเก็บไว้ในศูนย์ข้อมูลที่ตั้งอยู่ในจีนเท่านั้น
ที่มา: Reuters |
# ไมโครซอฟท์ปรับทิศทางส่วนขยาย C# ของ VS Code ไปใช้ชิ้นส่วนที่ไม่โอเพนซอร์ส
ไมโครซอฟท์ประกาศแนวทางพัฒนาส่วนขยาย C# ของ Visual Studio Code ซึ่งบางส่วนจะใช้ไลเซนส์แบบปิด แตกต่างของตัวที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นโอเพนซอร์สทั้งหมด
ส่วนขยาย C# ของ VS Code ในปัจจุบันเริ่มมาจากโครงการ OmniSharp ที่พัฒนาโดยชุมชนโปรแกรมเมอร์ และเริ่มพัฒนาในยุคแรกๆ ของ VS Code ที่มาตรฐานด้าน API และโปรโตคอลยังไม่นิ่ง
ในระยะถัดมา VS Code เพิ่มฟีเจอร์ Language Server Protocol (LSP) สำหรับเชื่อมต่อกับภาษาโปรแกรมมิ่งอื่นๆ (ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานของวงการในเวลาต่อมา) แต่ตัวส่วนขยาย C# ของเดิมยังไม่ได้เชื่อมต่อผ่าน LSP
สิ่งที่ไมโครซอฟท์ประกาศว่าจะทำคือ
ย้ายส่วนขยาย C# เดิมมาสื่อสารกับตัว VS Code ผ่าน LSP ทั้งหมด
จากนั้นไมโครซอฟท์จะสร้างชุดเครื่องมือ LSP Tool Host ที่ปิดซอร์ส รองรับฟีเจอร์ระดับสูงอย่าง IntelliCode ที่ไมโครซอฟท์ไม่ยอมเปิดซอร์ส
ย้ายส่วนขยาย C# มาอยู่บน LSP Tool Host แทน ซึ่งจะมีฟีเจอร์มากขึ้นกว่าส่วนขยาย C# บน LSP แบบปกติ
ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ส่วนขยายแบบไหน แต่ส่วนขยายบน LSP Tool Host จะเป็นค่าดีฟอลต์
ตัวโค้ดเดิมในปัจจุบันจะยังเป็นโอเพนซอร์สต่อไปเช่นเดิม แต่การที่ส่วนขยายนี้จะต้องเรียกใช้ LSP Tool Host ที่ปิดซอร์ส ก็ทำให้ไมโครซอฟท์ถูกวิจารณ์ไม่น้อย (เพิ่งมีคดีเรื่องฟีเจอร์ Hot Reload ของ Visual Studio กันมาเมื่อเร็วๆ นี้) อย่าง Miguel de Icaza ผู้ก่อตั้ง Xamarin ที่เพิ่งลาออกจากไมโครซอฟท์เมื่อต้นปี ก็ออกมาโพสต์วิจารณ์ไมโครซอฟท์ในเรื่องนี้
ที่มา - GitHub, InfoWorld |
# ไร้ศูนย์กลาง? แพลตฟอร์มกู้เงินคริปโต Solend ยึดบัญชีผู้กู้รายใหญ่ แล้วเปลี่ยนใจในครึ่งวัน
Solend แพลตฟอร์มให้กู้เงินแบบ DeFi เข้ายึดบัญชีผู้กู้รายใหญ่รายหนึ่ง ที่นำโทเค็น SOL จำนวนมากเข้ามาฝาก มูลค่าถึง 170 ล้านดอลลาร์ แล้วกู้เอา USDT และ USDC ออกไป เนื่องจากรายการกู้ยืมของบัญชีนี้สร้างความเสี่ยงให้กับ Solend อย่างมาก
เนื่องจากบัญชีผู้กู้รายนี้มีขนาดใหญ่มาก หากโทเค็น SOL ราคาต่ำกว่า 22.30 ดอลลาร์เมื่อไหร่ก็จะถูกบังคับขายโทเค็นออกมา 21 ล้านดอลลาร์ทันที ซึ่งจะกระทบต่อราคาโทเค็น SOL อย่างแน่นอน ผลพวงของการบังคับขายจะทำให้ราคาสินทรัพย์ค้ำประกันราคาตกลง โดยเฉพาะการขายในกระดานแบบ DeFi ซึ่งมีปริมาณคำสั่งซื้อขายไม่เยอะพอ ผลต่อเนื่องไปจนเกิดเหตุหนี้เสียในที่สุด
ทาง Solend เปิดโหวตขออำนาจฉุกเฉินเพื่อยึดบัญชีนี้ไว้ชั่วคราว และเพิ่มเงื่อนไขสำหรับผู้กู้รายใหญ่ อย่างไรก็ดีหลังโหวตข้อเสนอนี้ผ่านไปไม่นาน ทาง Solend ก็ยอมรับว่าถูกวิจารณ์หนักว่า และเปิดโหวตยกเลิกข้อเสนอแรก โดยระบุว่ากำลังไปหาทางออกใหม่ที่ไม่ต้องยึดบัญชี
แม้จะเปิดโหวตจากชุมชนและทีมงาน Solend ระบุว่าไม่ได้ใช้โทเค็นของตัวเองโหวตเลย แต่จริงๆ เสียงโหวตก็มาจากบัญชีไม่กี่บัญชีเท่านั้น |
# หลุดเบนช์มาร์ค Snapdragon 8cx Gen 3 แรงขึ้นจาก Gen 2 แต่ยังตามหลัง M1 ไกล
ตัวเลือกในวงการคอมพิวเตอร์คอนซูเมอร์ที่ใช้ชิป Arm ตอนนี้คงหนีไม่พ้นคู่ของ Apple M1/M2 กับ Qualcomm Snapdragon 8cx ที่เปรียบเสมือนตัวเลือกเดียวที่มีของฝั่งพีซี
Qualcomm เพิ่งเปิดตัว Snapdragon 8cx Gen 3 เมื่อปลายปี 2021 แม้มีผู้ผลิตพีซีตอบรับพอสมควร แต่ผ่านมาครึ่งปีเพิ่งมีสินค้าวางขายถึงมือผู้บริโภคจริงๆ คือ Lenovo ThinkPad X13s ทำให้เราได้เห็นประสิทธิภาพของชิป 8cx Gen 3 ผ่านเบนช์มาร์ค Geekbench
64 Bit Single-Core ได้ 1,111 คะแนน (Gen 2 ได้ 797 คะแนน)
64 Bit Multi-Core ได้ 5,764 คะแนน (Gen 2 ได้ 3115.5 คะแนน)
คะแนนของ 8cx Gen 3 ถือว่าพัฒนาขึ้นจาก Gen 2 ไม่น้อย แต่ถ้าเทียบกับฝั่งแอปเปิลคือ Apple M1 ตัวเดิม ที่ทำได้
1730/7578 คะแนน ก็ยังถือว่าตามหลังอยู่ไกลพอสมควร (แม้ไม่ไกลเท่าเดิม) นี่ยังไม่ต้องพูดถึง Apple M2 ที่ยังไม่ออกขายจริง แต่ก็มีเบนช์มาร์คหลุดออกมาว่าแรงกว่า M1 ราว 20% คะแนนอยู่ที่ 1919/8928 คะแนน
Qualcomm เองก็ทราบเรื่องนี้ดี และบอกให้รอชิปตัวใหม่ Nuvia ที่เป็นอดีตทีมงานออกแบบชิป AX ของแอปเปิลเดิม แต่ก็ต้องรอกันนานถึงปลายปี 2023 เลยทีเดียวกว่าจะเห็นสินค้า
ที่มา - Notebookcheck |
# พบมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ech0raix เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้ง ควรปิด NAS ไม่ให้เข้าถึงจากอินเทอร์เน็ต
ID Ransomware บริการระบุมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (ransomware) รายงานว่ามัลแวร์ในกลุ่ม ech0raix ที่มุ่งเรียกค่าไถ่จาก NAS เช่น QNAP และ Synology กลับมาระบาดเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากระบาดหนักช่วงเดือนมกราคมและลดลงไป
แม้ ech0raix จะโจมตี NAS แบรนด์หลักทั้งสองยี่ห้อ แต่รอบนี้ทาง ID Ransomware พบการโจมตี QNAP เป็นหลัก โดยตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุใดการโจมตีจึงเพิ่มขึ้น เพราะ ID Ransomware เป็นบริการที่เปิดให้ผู้ใช้ส่งตัวอย่างไฟล์เพื่อตรวจสอบสายพันธุ์มัลแวร์เท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบตัวมัลแวร์โดยตรงหรือตรวจสอบการโจมตี
ech0raix เป็นมัลแวร์ตัวหนึ่งที่เคยมีการโจมตีในไทยช่วงปีที่ผ่านมา ที่ผ่านมาทาง QNAP แนะนำให้ลูกค้าตั้งรหัสผ่านให้แข็งแรง, ไม่เปิดให้ผู้ใช้เข้าถึง NAS จากอินเทอร์เน็ต, ปิด UPnP ในเราท์เตอร์, และหมั่นอัพเดตซอฟต์แวร์เสมอ
ที่มา - Bleeping Computer |
# นักวิเคราะห์ชี้ Netflix อาจต้องเปลี่ยนมาปล่อยซีรีส์ทีละตอน เพื่อดึงให้สมาชิกอยู่นานๆ
การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสตรีมมิ่ง ทำให้เจ้าตลาดอย่าง Netflix ต้องปรับกลยุทธ์ที่เคยใช้ได้ผลมายาวนานหลายอย่าง เช่น การมีแพ็กเกจราคาถูกลง แลกกับการมีโฆษณา, หันมาทำตลาดเกม และอาจทำคอนเทนต์ถ่ายทอดสด
ล่าสุดนักวิเคราะห์คาดว่าอีกนโยบายที่ต้องเปลี่ยนคือ การออกฉายซีรีส์รวดเดียวทั้งซีซัน เพื่อให้ผู้ชมดูได้ต่อเนื่อง (binge watch) ซึ่งสวนทางกับค่ายหนังอื่นๆ ที่ออกซีรีส์ใหม่สัปดาห์ละ 1 ตอน เพื่อดึงให้ผู้ชมจ่ายค่าสมาชิกไปนานที่สุดเท่าที่ทำได้
Robert Thompson อาจารย์ด้านสื่อและวัฒนธรรมสมัยใหม่จากมหาวิทยาลัย Syracuse ชี้ว่าเดิมทีนั้น Netflix ใช้ยุทธศาสตร์ปล่อยซีรีส์ออกมาทีเดียวทั้งซีซัน เพื่อให้คนพูดถึงมากๆ และตัวซีรีส์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แนวทางนี้ประสบความสำเร็จในยุคนั้น แต่สถานการณ์ในตลาดสตรีมมิ่งก็เปลี่ยนไปมากแล้ว ทุกวันนี้ Netflix ขาดซีรีส์เก่าๆ ที่คนรักและกลับมาดูซ้ำบ่อยๆ อย่าง The Office หรือ Friends ที่โดนต้นสังกัดดึงกลับไปแพลตฟอร์มตัวเองหมดแล้ว ส่วนซีรีส์ออริจินัลของ Netflix เองก็ยังไม่ได้มีความนิยมถึงขนาดนั้น
สถานการณ์ยอดสมาชิกของ Netflix ที่ลดลง อาจทำให้ Netflix ต้องเลิกนโยบายนี้ เพราะผู้ชมที่สนใจซีรีส์บางเรื่องอาจสมัครสมาชิกเพียง 1 เดือน ชมซีรีส์ทั้งซีซันแบบ binge watch แล้วยกเลิกสมาชิกไปแทน ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Disney+ เลือกใช้วิธีปล่อยซีรีส์ทีละตอน และวางแผนการปล่อยซีรีส์ Star Wars สลับกับ Marvel ไปตลอดทั้งปีเพื่อรักษายอดสมาชิกให้ยังอยู่กับแพลตฟอร์ม
ท่าทีของ Netflix เองก็เริ่มปรับตัวเข้าหาแนวทางนี้บ้างแล้ว เช่น ซีรีส์ Ozark หรือ Stranger Things ซีซันล่าสุดก็ใช้วิธีปล่อยทีละครึ่ง (splitting season) แทนการปล่อยทุกตอนมาพร้อมกัน เรื่องนี้ Ted Sarandos ซีอีโอร่วมของ Netflix อธิบายว่าสาเหตุเริ่มมาจาก COVID ทำให้ถ่ายทำจนจบทั้งซีซันไม่ได้ จึงต้องถ่ายแล้วปล่อยทีละครึ่งซีซัน แต่ลองแล้วก็พบว่าผู้ชมก็ชอบแนวทางนี้เหมือนกัน
ที่มา - CNBC |
# กลับสู่ปกติ ราคาเฉลี่ยการ์ดจอในสหรัฐเริ่มลดลง บางรุ่นขายต่ำกว่าราคา MSRP แล้ว
เว็บไซต์ Tom's Hardware ติดตามราคาขายปลีกการ์ดจอในร้านค้าออนไลน์ (ของสหรัฐอเมริกา) หลายแห่งรวมถึงบนการ์ดมือสองบน eBay พบว่าราคาการ์ดจอลดลงอย่างต่อเนื่อง และการ์ดหลายรุ่นก็ขายถูกกว่าราคาแนะนำ (Manufacturer's Suggested Retail Price หรือ MSRP) ของผู้ผลิตแล้ว
ปัจจัยสำคัญมาจากตลาดคริปโตแตกซบเซาลงนิดหน่อย ทำให้ราคาการ์ดจอลดลงประมาณ 15% ในเดือนพฤษภาคม และลดลงอีกราว 5-10% ในครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน
การ์ดระดับท็อปอย่าง 3090 Ti ตอนนี้ขายอยู่ราว 1,800 ดอลลาร์ ลดลง 5% จากช่วงต้นเดือน และถูกกว่าราคา MSRP ที่ 2,000 ดอลลาร์มาสักพักแล้ว ส่วนการ์ดระดับรองๆ ลงมายังขายแพงกว่า MSRP อยู่ เช่น 3070 Ti ขายที่ 650 ดอลลาร์ แพงกว่าราคา MSRP ที่ 600 ดอลลาร์ แต่ราคานี้ถือว่าลดลง 7% จากช่วงต้นเดือนเช่นกัน
ส่วนการ์ดฝั่ง AMD นั้นขายถูกกว่า MSRP เกือบหมดแล้ว การ์ดรุ่นท็อปๆ อย่าง 6950 XT ขายที่ 1,070 ดอลลาร์ ถูกกว่าราคา MSRP 1,100 ดอลลาร์ ส่วน 6900 XT ขายที่ 850 ดอลลาร์ ถูกกว่าราคา MSRP ที่ 1,000 ดอลลาร์ และลดลง 3% จากต้นเดือน
ภาพจาก NVIDIA
หากดูราคาการ์ดมือสองบน eBay ที่มีความเคลื่อนไหวของราคารวดเร็วกว่า ราคาของ 3090 Ti ตอนนี้ขายที่ 1,670 ดอลลาร์ ลดลง 9% จากต้นเดือน การ์ดรุ่นยอดนิยม 3060 Ti ขายที่ 425 ดอลลาร์ ลดลงมา 19% จากต้นเดือน ภาพรวมแล้วราคาการ์ดบน eBay ลดลงเฉลี่ย 10% จากต้นเดือน
Tom's Hardware ชี้ว่าอีกปัจจัยที่อาจมีผลต่อราคาการ์ดรุ่นปัจจุบัน คือทั้ง NVIDIA และ AMD น่าจะเปิดตัวจีพียูเจนใหม่ในเร็วๆ นี้ (ของ NVIDIA คือครบรอบทุก 2 ปี) เราอาจเห็นทั้งการระบายสต๊อกของเก่าออกมาก่อนหน้า ในอีกด้านคือการผลิตเพิ่มอาจมีไม่เยอะแล่วเช่นกัน
ที่มา - Tom's Hardware |
# แบรนด์รถยนต์จีน Geely ซื้อหุ้น 79% ของ Meizu เตรียมบุกเข้าตลาดสมาร์ทโฟน
Meizu ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์จีน ขายหุ้น 79% ของบริษัทให้กับ Geely แบรนด์รถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน (ที่ยังเป็นบริษัทแม่ของ Volvo, Polestar, Proton ด้วย)
กลุ่มธุรกิจของ Geely เริ่มบุกเข้ามายังตลาดสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ connected device เชื่อมต่อกับรถยนต์ มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 โดยตั้งบริษัทลูกชื่อ Hubei Xingji Shidai Technology Co. Ltd ที่เมืองอู่ฮั่น และเป็นบริษัทลูกแห่งนี้เองที่เข้าซื้อหุ้นของ Meizu จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งในจำนวนนี้มี Alibaba Taobao ที่ถือหุ้น 27% อยู่ด้วย
Meizu เป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่ยุคเครื่องเล่น MP3 พกพา แต่ช่วงหลังมีส่วนแบ่งตลาดจีนน้อยลงเรื่อยๆ จนเหลือไม่ถึง 1% เนื่องจากการแข่งขันที่ดุเดือดกับแบรนด์จีนอื่นๆ ทั้ง Huawei และ Xiaomi
กลุ่ม Geely ยังไม่ประกาศว่าจะนำแบรนด์ Meizu ไปทำอะไรต่อ และไม่พูดถึงว่าจะยุติการใช้แบรนด์นี้ด้วยหรือไม่ บริษัทระบุกว้างๆ แค่ว่าสมาร์ทโฟนและระบบหน้าจอแสดงข้อมูลในรถยนต์มีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น
ข่าวนี้เราเห็นแบรนด์รถยนต์จีนบุกเข้ามายังตลาดมือถือ ในอีกด้านเราก็เห็นแบรนด์สมาร์ทโฟน Xiaomi ที่ประกาศบุกเข้าวงการรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน
ที่มา - SCMP |
# Telegram ประกาศเป็นทางการ Telegram Premium เข้าถึงฟีเจอร์พิเศษ โดยจ่ายเงินเป็นรายเดือน
ประกาศเป็นทางการแล้วตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ Telegram เปิดตัวแพ็คเกจ subscription Telegram Premium ซึ่งผู้สมัครใช้งานจะเข้าถึงฟีเจอร์พิเศษต่าง ๆ ทั้งนี้ Telegram บอกว่าโมเดลใช้งานแบบเสียเงินนี้ ออกแบบมาสำหรับผู้ที่ใช้ Telegram แบบต้องการเข้าถึงทรัพยากรที่มากกว่า ขณะที่หัวใจหลักของ Telegram ยังต้องสนับสนุนการใช้งานฟรีต่อไป เพราะนี่คือสิ่งสำคัญของแอปแชต
ผู้ใช้งาน Telegram Premium จะได้สิทธิใช้งานต่าง ๆ มากกว่าผู้ใช้ทั่วไป 2 เท่า เช่น อัปโหลดไฟล์สูงสุด 4GB, ความเร็วการดาวน์โหลดสูงสุดเท่าที่ระบบรองรับ, เข้าร่วมได้ 1,000 กลุ่ม, pin ได้ 10 แชต, จอง public link t.me/name ได้ 20 ชื่อ ฯลฯ ส่วนฟีเจอร์พิเศษ ได้แก่ การแปลงข้อความเสียงเป็นตัวหนังสือ, สติกเกอร์แบบ exclusive, Reactions ด้วยอีโมจิเพิ่มเติม, ระบบจัดการแชต, รูปโปรไฟล์แบบเคลื่อนไหว, ไม่มีโฆษณาในห้อง public, badge ติดดาวเพื่อบอกว่าเป็นผู้ใช้งาน Premium และอีกหลายฟีเจอร์
อย่างไรก็ตาม Telegram ยังไม่ประกาศค่าสมาชิกอย่างเป็นทางการ แต่หากอ้างตามข่าวก่อนหน้านี้จะอยู่ราว 5 ดอลลาร์ต่อเดือน
นอกจากนี้ Telegram ยังประกาศความก้าวหน้าสำคัญ โดยตอนนี้มีผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือน (MAUs) มากกว่า 700 ล้านบัญชีแล้ว
ที่มา: Telegram |
# สหรัฐฯ อนุมัติวัคซีน mRNA ทั้ง Pfizer และ Moderna ให้ใช้งานในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป
อย.สหรัฐฯ (FDA) อนุมัตให้ใช้วัคซีน COVID-19 จากทั้ง Pfizer และ Moderna ในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปนับเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังไม่สามารถรับวัคซีนจนตอนนี้
Moderna ใช้วัคซีน COVID-19 ขนาดโดส 25 ไมโครกรัม สองโดส พบว่ามีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ประสิทธิภาพการป้องกัน COVID-19 ในกลุ่มอายุ 6 เดือนถึง 23 เดือนอยู่ที่ 50.6% และกลุ่มอายุ 2-5 ปี อยู่ที่ 36.8% การอนุญาตครั้งนี้ทำให้วัคซีน Moderna สามารถใช้งานได้กับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้วัคซีน Moderna กับผู้อายุสูงกว่า 18 ปีเท่านั้น
Pfizer ทดสอบวัคซีนเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปีในกลุ่มตัวอย่าง 220 คน พบว่ามีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันระดับเดียวกับผู้ใหญ่ แต่จำนวนผู้ติด COVID-19 น้อยเกินไปจนไม่สามารถแปลผลประสิทธิภาพการป้องกันโรคได้ วัคซีน Pfizer ได้รับอนุญาตให้ใช้งานในเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปมาก่อนแล้ว
การอนุญาตครั้งนี้ยังเป็นการอนุญาตแบบฉุกเฉิน ทั้งสองบริษัทต้องติดตามความปลอดภัยของวัคซีนต่อไป
ที่มา - FDA |
# ผู้บริหาร TikTok บอก เราไม่ใช่โซเชียลเน็ตเวิร์คแบบ Facebook แต่เป็นแพลตฟอร์มความบันเทิง
ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นข่าว Meta พยายามปรับแอปทั้ง Facebook และ Instagram เพื่อสู้กับ TikTok ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งจากคำกล่าวของซีอีโอ Mark Zuckerberg ที่ว่าระบบ AI คัดเลือกเนื้อหาแบบใน TikTok จะมีบทบาทมากขึ้น หรือล่าสุดที่เป็นเอกสารภายใน พูดถึงการยกเครื่องแอปเพิ่มระบบแนะนำเนื้อหามากขึ้น คราวนี้เป็นความเห็นจากฝั่ง TikTok บ้าง
Blake Chandlee ประธานฝ่ายธุรกิจทั่วโลกของ TikTok (ซึ่งเคยทำงานที่ Facebook มา 12 ปี) ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ในประเด็นนี้ว่า Facebook เป็นแพลตฟอร์มโซเชียล อัลกอริทึมทั้งหมดทำงานอิงจาก social graph ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของ Facebook แต่ TikTok ไม่ได้เป็นแบบนั้น เขามองว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มความบันเทิง ซึ่งสองสิ่งนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง
เขายังพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตสมัยทำงานที่ Facebook ตอนกูเกิลสร้าง Google+ ซึ่ง Facebook ก็กังวลมากจนสร้างวอร์รูมสำหรับเรื่องนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป Google+ ก็ปิดตัว เป็นการพิสูจน์ว่ากูเกิลนั้นเก่งที่ธุรกิจเสิร์ช ส่วน Facebook ก็ทำได้ดีในเกมโซเชียล เขาจึงมองการขยับตัวของ Facebook รอบนี้ว่าเหมือนกับในอดีต ต่างคนต่างมีจุดแข็ง เว้นเสียแต่ Facebook จะเลือกสูญเสียจุดเด่นด้านโซเชียลเอง ซึ่งเขาไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น
สุดท้ายเขาพูดถึงแนวโน้มรายได้จากโฆษณา ซึ่งหลายแพลตฟอร์มโซเชียลต่างบอกว่ามูลค่าตลาดจะลดลง แต่ TikTok เขายังไม่เห็นสัญญาณลดลงนี้
ที่มา: CNBC |
# อินเดียออกคำสั่ง ห้ามพนักงานรัฐใช้ VPN จากผู้ให้บริการภายนอก, ห้ามเก็บเอกสารใน Google Drive, Dropbox
รัฐบาลอินเดียได้ออกคำสั่งห้ามพนักงานรัฐใช้งาน VPN จากผู้ให้บริการรายอื่นที่ไม่ใช่ VPN ของหน่วยงานรัฐเอง ซึ่งมีผลกระทบกับผู้ให้บริการปัจจุบันในอินเดีย เช่น Nord VPN, ExpressVPN หรือ Tor ซึ่ง ExpressVPN ได้เคยประกาศปิดเซิร์ฟเวอร์ในอินเดีย เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่ได้
ในคำสั่งนี้ยังกำหนดให้การเก็บเอกสารข้อมูลสำคัญ ห้ามเก็บไว้ในบริการคลาวด์จากผู้ให้บริการอย่าง Google Drive หรือ Dropbox ด้วย และยังระบุว่าห้ามเจลเบรกหรือรูทสมาร์ทโฟน เพื่อให้สามารถลงแอปอื่นที่ต้องการ
อินเดียออกคำสั่งดังกล่าวโดยให้เหตุผลเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญของบริการ VPN ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องเก็บรายละเอียดลูกค้า ชื่อ ที่อยู่ และวัตถุประสงค์ที่ใช้งาน VPN จึงทำให้ผู้ให้บริการหลายรายประกาศหยุดให้บริการในประเทศ
ที่มา: The Economic Times |
# Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล เศรษฐีอันดับ 6 ของโลก หย่าขาดจากภรรยาคนที่สอง
Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล หย่ากับภรรยาคนที่สอง Nicole Shanahan หลังแต่งงานกันมาได้ 3 ปี การหย่าของมหาเศรษฐีอันดับหกของโลกอย่าง Brin ทำให้เป็นการหย่าที่มีทรัพย์สินมาเกี่ยวข้องด้วยมหาศาล เป็นรองแค่การหย่าของ Jeff Bezos เมื่อปี 2019 เท่านั้น
Sergey Brin แยกทางกับภรรยาคนแรก Anne Wojcicki เมื่อปี 2013 และหย่าขาดจากกันในปี 2015 จากนั้นเขาแต่งงานกับภรรยาคนที่สอง Nicole Shanahan ในปี 2018 และมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน
ส่วนเรื่องการแบ่งทรัพย์สินหลังหย่ากัน ตามข่าวบอกว่าจะเจรจากันภายหลัง โดยอิงจากข้อตกลงก่อนแต่งงานที่มีอยู่แล้ว
ที่มา - Yahoo!
ภาพจาก Google I/O |
# แล้วไงใครแคร์ Diablo Immortal เปิดตัว 2 สัปดาห์ ทำเงินจาก Microtransaction ได้แล้ว 24 ล้านดอลลาร์
หลังเปิดตัวมาได้ 2 สัปดาห์ เกมดังอย่าง Diablo Immortal สามารถกวาดรายได้ไปแล้ว 24 ล้านดอลลาร์
สถิตินี้มาจากบริษัท AppMagic ที่ตามเก็บรายได้ของเกม Diablo Immortal โดยระบุว่า 43% มาจากสหรัฐอเมริกา ตามด้วย 23% จากเกาหลีใต้ ยอดดาวน์โหลดรวมเกิน 5 ล้านครั้ง ถือเป็นเกมมือถือเปิดตัวยิ่งใหญ่อันดับสองของ Blizzard รองจาก Hearthstone ที่เปิดตัวในปี 2014
รายได้ที่สวยงามของ Diablo Immortal คงทำให้ Blizzard เดินหน้าทำเงินจาก microtransaction ต่อไป แม้มีเสียงวิจารณ์มากมายก็ตาม
ที่มา - PCGamersN |
# LinkedIn เจอปัญหาบัญชีปลอมระบาด ส่งข้อความหลอกลวงชวนลงทุนคริปโต
ช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาสแคมชวนลงทุนคริปโตระบาดหนัก ผ่านระบบข้อความของ LinkedIn โดยผู้เสียหายบางรายอาจสูญเงินเป็นหลักล้านดอลลาร์ และ FBI เริ่มเข้ามาสอบสวนแล้ว
แนวทางการหลอกลวงอยู่ในรูปการสร้างบัญชีปลอมบน LinkedIn ให้ดูเป็นนักลงทุนที่น่าเชื่อถือ แล้วส่งข้อความไปพูดคุย ทำความสนิทสนมกับผู้ใช้คนอื่นๆ บน LinkedIn เป็นเวลานานพอสมควร เมื่อเหยื่อตายใจแล้วก็จะเริ่มชวนมาลงทุนในวงการคริปโตรูปแบบต่างๆ โดยตอนแรกชวนไปลงทุนในแพลตฟอร์มคริปโตจริงๆ ด้วยเงินไม่เยอะนัก แล้วขยายไปยังแพลตฟอร์มปลอมด้วยเงินที่มากขึ้นกว่าเดิม
เหยื่อที่หลงเชื่อให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเพราะ LinkedIn เป็นเครือข่ายคนทำงานที่น่าเชื่อถือกว่าโซเชียลอื่นๆ ก็จะหลงเชื่อได้โดยง่าย
ฝั่ง LinkedIn ก็ออกมาโพสต์ชี้แจงว่าพยายามพัฒนาระบบตรวจจับข้อความหลอกลวงให้แม่นยำขึ้น ตอนนี้ตรวจจับบัญชีปลอมได้ 96% และตรวจจับการหลอกลวงได้ 99.1% แต่ก็กระตุ้นให้ผู้ใช้กด report หากเจอข้อความที่น่าสงสัย เช่น ขอเงิน แจกรางวัลแต่ต้องจ่ายก่อน ชวนไปทำงานในตำแหน่งใหญ่โตแต่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า หรือการส่งข้อความมาจีบกัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนทำกันบน LinkedIn
ที่มา - LinkedIn, NBC, Fast Company |
# Bitcoin ราคาลดต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์, Ethereum ราคาลดต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์
ช่วงบ่ายวันนี้ (18 มิถุนายน) ราคาของ Bitcoin ลดลงอย่างหนัก จากที่อยู่ราว 21,000 ดอลลาร์ต่อ BTC มาหลายวัน ในที่สุดก็หลุดต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์แล้ว ราคาขณะที่เขียนคือประมาณ 19,000 ดอลลาร์ต่อ BTC
ราคาของเหรียญ Ethereum ก็ลดลงในลักษณะเดียวกัน จากเดิมที่ราคาอยู่ราว 1,100 ดอลลาร์ต่อ ETH ก็หลุดมาต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์เช่นกัน ราคาขณะที่เขียนคือ 1,001 ดอลลาร์ต่อ ETH
หากเทียบราคาในรอบ 7 วันล่าสุด ราคาของ Bitcoin ลดลงมาแล้ว 33% และราคาของ Ethereum ลดลงมาแล้ว 36%
กราฟราคาจาก Coinmarketcap |
# Instagram ทดสอบหน้าฟีดแบบใหม่ แสดงผลเต็มจอ แบบเดียวกับ TikTok
Instagram ได้เริ่มทดสอบหน้าฟีดแบบใหม่ ที่แสดงผลแบบเต็มพื้นที่หน้าจอ โดย Instagram บอกว่าเริ่มทดสอบแล้วกับผู้ใช้งานจำนวนจำกัด ซึ่งการทดสอบนี้ของ Instagram มองมาจากมุมไหนก็คงเดาได้ว่าเพื่อสู้กับ TikTok นั่นเอง
ทั้งนี้ในภาพตัวอย่างที่ออกมา Instagram ก็ใช้วิธีแสดงผลแบบเหลือแถบด้านล่างเอาไว้ ส่วนเมนูด้านบน จะกลายเป็นไอคอนที่ลอยอยู่เหนือวิดีโอแทน
บัญชีทวิตเตอร์ของ Instagram อธิบายว่า รูปแบบการแสดงผลเต็มหน้าจอนั้น ย่อมกระทบกับคอนเทนต์ภาพถ่าย ซึ่งเป็นพื้นฐานเดิมของ Instagram ซึ่งตอนนี้กำลังหาแนวทางที่เหมาะสมในการแสดงผลอยู่
ที่มา: The Verge |
# TikTok ย้ายข้อมูลทั้งหมดในสหรัฐไปไว้ที่ศูนย์ข้อมูลของ Oracle แล้ว
TikTok ประกาศย้ายข้อมูลของผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดไปยังศูนย์ข้อมูลของ Oracle ตามดีลที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2020 เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของรัฐบาลสหรัฐ
TikTok บอกว่าเดิมทีเก็บข้อมูลของผู้ใช้ในสหรัฐ ไว้ที่ศูนย์ข้อมูลของ TikTok เองในสหรัฐ (Virginia) และสิงคโปร์ แต่เมื่อมีดีลกับ Oracle และรัฐบาลสหรัฐก็ยินดีปฏิบัติตามข้อตกลง ตอนนี้ทราฟฟิกทั้งหมดในสหรัฐของ TikTok วิ่งผ่านศูนย์ข้อมูลของ Oracle อยู่ ส่วนศูนย์ข้อมูลเก่ามีไว้สำหรับแบ็คอัพเท่านั้น
ที่มา - TikTok |
# Julian Assange ผู้ก่อตั้ง Wikileaks ใกล้ถูกรัฐบาลอังกฤษส่งตัวกลับไปดำเนินคดีในสหรัฐ
Julian Assange ผู้ก่อตั้ง Wikileaks กำลังจะถูกส่งตัวกลับไปดำเนินคดีในสหรัฐ หลังอยู่ในคุกที่อังกฤษมานาน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2019
เส้นทางชีวิตของ Assange คืออาศัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ประจำสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปี 2012 แต่โดนขับออกมาจากสถานทูตในปี 2019 ทำให้ตำรวจอังกฤษจับกุมต่อทันที และใช้เวลาต่อสู้คดีเพื่อไม่ให้ต้องถูกส่งตัวไปยังสหรัฐอเมริกา
ตอนแรก ศาลชั้นต้นตัดสินเมื่อปี 2021 ปฏิเสธการส่งตัว Assange ไปสหรัฐเพราะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย แต่ถัดมาช่วงปลายปี ศาลสูงลอนดอนกลับคำตัดสินให้ส่งตัวได้ และเมื่อคดีถึงชั้นศาลฎีกาเมื่อต้นปีนี้ ศาลฎีกาปฏิเสธการอุทธรณ์ของ Assange โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการส่งตัวไม่มีความเสี่ยงที่เขาจะถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
ล่าสุดเมื่อวานนี้ Priti Patel รัฐมนตรีมหาดไทยของสหราชอาณาจักร (Home Office) เซ็นคำสั่งให้ส่งตัวตามคำขอของรัฐบาลสหรัฐแล้ว โดย Assange ยังมีเวลาอุทธรณ์คำสั่งของ Patel ภายใน 14 วัน ซึ่งทางทีมทนายของ Assange ก็ระบุว่าจะสู้ต่อไปในทุกช่องทางที่ทำได้
ที่มา - Home Office, The Register ภาพจาก Free Assange |
# พนักงาน SpaceX เข้าชื่อจดหมายประท้วงพฤติกรรม Elon Musk, บริษัทไล่แกนนำออกแล้ว
กลุ่มพนักงาน SpaceX จำนวนกว่า 400 คน เข้าชื่อเขียนจดหมายถึงผู้บริหาร ประท้วงพฤติกรรมของซีอีโอ Elon Musk ว่าไม่เหมาะสม และทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง
พฤติกรรมที่ว่าหมายถึงสิ่งที่ Musk พูดหรือเขียนต่อที่สาธารณะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาในหลายประเด็น ทั้งเรื่อง Twitter, Tesla และเรื่องการเมืองสหรัฐ กลุ่มพนักงานบอกว่าการที่ Musk มีสถานะเป็นหน้าตาของบริษัท ทำให้บริษัทโดนวิจารณ์และเสียชื่อเสียงตามไปด้วย
กลุ่มพนักงานที่ไม่พอใจต่อท่าทีของ Musk จึงเสนอให้บริษัท SpaceX ควรรักษาระยะห่างจากแบรนด์ส่วนบุคคลของ Musk ให้มากขึ้น
หลังจดหมายนี้เผยแพร่ผ่านระบบ Microsoft Teams ภายใน SpaceX เพียงวันเดียว ก็มีข่าวว่า SpaceX ไล่พนักงานที่เกี่ยวข้องกับจดหมายนี้จำนวนอย่างน้อย 5 คนออกไปเรียบร้อยแล้ว และหลังจากนั้น Gwynne Shotwell ประธานของบริษัทก็ส่งอีเมลหาพนักงานทุกคน ว่าบริษัทยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ จดหมายนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานเสียโฟกัส ไม่ใช่พฤติกรรมของ Musk แต่อย่างใด
The Verge สัมภาษณ์พนักงาน SpaceX คนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับจดหมาย เธอแสดงความผิดหวังกับท่าทีของบริษัท และบอกว่าพนักงานที่ไม่เห็นด้วยกับ Elon จะเลือกปิดปากแล้วลาออกไปเงียบๆ เธอบอกว่าพนักงานยอมรับในความฉลาดของ Musk แต่ไม่ยอมรับในพฤติกรรมของเขาบนโซเชียล ทำให้เกิดความรู้สึกทั้งภูมิใจและอับอายที่ทำงาน SpaceX ไปพร้อมๆ กัน
ที่มา - Autoblog, Autoblog, The Verge |
# วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เสนอกระทรวงพาณิชย์บังคับใช้พอร์ตชาร์จอุปกรณ์พกพาแบบเดียวเหมือนยุโรป
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา EU ได้บรรลุข้อตกลงใหม่บังคับใช้พอร์ตประเภทเดียวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดเป็นพอร์ต USB-C มีผลในปี 2024 ล่าสุด กลุ่มวุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครตสหรัฐฯ ได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอให้ออกกฎบังคับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใช้พอร์ตชาร์จไฟเป็นมาตรฐานแบบเดียวกันเหมือนกับยุโรปบ้าง
สำหรับหนังสือที่ยื่นนี้เขียนโดย Ed Markey, Elizabeth Warren และ Bernie Sanders โดยขอให้กระทรวงพาณิชย์เริ่มดำเนินแผนบังคับพอร์ตชาร์จเป็นพอร์ตเดียวสำหรับอุปกรณ์พกพาทั้งหมด
วุฒิสมาชิกให้เหตุผลว่า สายชาร์จแบบเฉพาะสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่จำเป็นจำนวนมาก และสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้ในการอัพเกรดอุปกรณ์หากมาจากผู้ผลิตคนละราย แต่ในจดหมายยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะขอให้พอร์ตแบบใดเป็นพอร์ตมาตรฐานสำหรับชาร์จเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ไปร่างมาตรฐานขึ้นมา
ที่มา - The Verge
ภาพ Pixabay |
# Reddit ซื้อกิจการ Spell แพลตฟอร์มรันทดสอบ Machine Learning เพื่อมาพัฒนาระบบแนะนำคอนเทนต์
Reddit ประกาศซื้อกิจการ Spell แพลตฟอร์ม SaaS ที่ช่วยให้สามารถรันงาน Machine Learning สำหรับการทดลองในทุกสเกล โดยมูลค่าดีลไม่มีการเปิดเผย
Reddit ปัจจุบันใช้ Machine Learning ในการปรับแต่งคอนเทนต์แนะนำในแท็บ Discover แต่การซื้อ Spell เข้ามา บริษัทคาดว่าจะสามารถต่อยอดเทคโนโลยีนี้ได้กับบริการอื่นด้วย เช่น การดูแลความปลอดภัย หรือระบบโฆษณา
ทีมงานของ Spell จะเข้ามาร่วมทีมกับ Reddit โดยขึ้นตรงกับฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์
ที่มา: Reddit |
# Meta เปิด Avatar Store ร้านขายเสื้อผ้าจากแบรนด์ดังให้อวตารของเราสวมใส่
Meta เริ่มเดินเครื่องจักรวาล Metaverse ของตัวเอง ด้วยการเปิด Avatars Store ร้านขายเสื้อผ้าสำหรับอวตารของเราที่อยู่ในแอพต่างๆ ของแพลตฟอร์ม ทั้ง Facebook, Instagram, Messenger และจะตามเข้าไปยังโลก VR ในเร็วๆ นี้
เสื้อผ้าที่นำมาขายมาจากดีไซเนอร์แบรนด์ดัง เช่น Balenciaga, Prada, Thom Browne โดยมีนายแบบ-นางแบบเป็นอวตารของ Mark Zuckerberg และ Eva Chen นักเขียนหนังสือเด็กที่ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายแฟชั่นของ Instagram
ที่มา - @Meta บนทวิตเตอร์ ที่ทำไมไม่โพสต์บนแพลตฟอร์มตัวเองก็ไม่รู้ |
# Apple เปิดให้สั่งอะแดปเตอร์แปลงไฟ USB-C พอร์ตคู่ 35 วัตต์ ส่งมอบ 23 มิ.ย.นี้
แอปเปิลประเทศไทยเปิดให้สั่งซื้ออะแดปเตอร์แปลงไฟ USB-C แบบพอร์ตคู่ 35 วัตต์ รุ่นขนาดกะทัดรัดและขนาดปกติแล้ววันนี้ผ่านหน้าเว็บ Apple Online Store ราคา 1,890 บาท กำหนดส่งมอบหรือรับสินค้าเองที่ร้านได้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน เป็นต้นไป
อะแดปเตอร์รุ่นขนาดกะทัดรัดมีจำหน่ายเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน ญี่ปุ่น เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ ไต้หวันและไทยเท่านั้น (ผู้เขียนคาดว่าเนื่องจากรูปแบบปลั๊กซึ่งมีเฉพาะขาแบนเท่านั้น) สำหรับรุ่นขนาดปกติที่มีขนาดใหญ่กว่ามีข้อดีอยู่ที่การรองรับการเปลี่ยนหัวปลั๊กและต่อสายต่อเพิ่มความยาวของแอปเปิลได้
ที่มา: Macrumors |
# แคนาดาหยุดใช้แอปแจ้งเตือนโควิดที่พัฒนาจาก Exposure Notification API มีผลทันที
รัฐบาลแคนาดาประกาศหยุดใช้งานแอป COVID Alert แอปสำหรับแจ้งเตือนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยการหยุดใช้งานแอปจะมีผลทำให้แอปใช้งานไม่ได้ทันที และแนะนำให้ผู้ใช้ลบแอปออกจากเครื่องของตัวเองได้เลย
แอป COVID Alert เป็นแอปที่พัฒนาโดยใช้ API ที่ Google และ Apple ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งรัฐบาลแคนาดาให้เหตุผลในการปิดแอป COVID Alert ว่า แม้ตอนนี้การแพร่ระบาดจะยังไม่จบ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ยอดตรวจ PCR ลดลงมาก ทำให้ one-time keys (OTK) ที่ใช้งานลดลง ส่งผลให้การใช้งานแอปลดลง หลังจากหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ทางรัฐบาลแคนาดาจึงตัดสินใจยุติการให้บริการแอป COVID Alert โดยมีผลทันที
ปัจจุบัน สถานการณ์สาธารณสุขในแคนาดาดีขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนผู้ป่วยลดลง และอัตราเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตลดลงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผลจากแคมเปญฉีดวัคซีนที่ประชากรกว่า 32 ล้านคนในประเทศได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จำนวนนี้คิดเป็น 90% ของผู้มีอายุมากกว่า 12 ปี และแคนาดาก็มีอัตราผู้ฉีดวัคซีนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้สถานการณ์โรคระบาดในประเทศอยู่ในระดับควบคุมได้ ซึ่งทางรัฐบาลแนะนำให้ประชาชนติดตามข่าวเกี่ยวกับโรค, รับวัคซีนเข็มบูส, อยู่บ้านเมื่อมีอาการป่วย และใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่นหรือพื้นที่ในร่ม
ที่มา - Government of Canada, TechCrunch |
# Nikkei รายงาน องค์กรญี่ปุ่นทั้งรัฐและเอกชนยังใช้ IE ในการทำงาน บางแห่งยอมรับยังเปลี่ยนไม่ได้
แม้ว่า Internet Explorer จะหยุดการซัพพอร์ตไปเมื่อไม่กี่วันที่แล้ว ล่าสุด Nikkei ออกรายงานว่า IE ยังคงเป็นเบราว์เซอร์ที่มีการใช้งานอยู่ในองค์กรญี่ปุ่น ซึ่งบางองค์กรเพิ่งจะตื่นตัวเพียงระยะเวลาไม่กี่เดือนก่อนจะหมดซัพพอร์ต และหลายองค์กรยอมรับว่ายังเปลี่ยนไม่ได้
บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติญี่ปุ่น Computer Engineering & Consulting ให้ข้อมูลว่าได้รับคำขอให้ช่วยในกรณีย้ายเบราว์เซอร์จำนวนมากในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้ว่าทางองค์กรจะรับรู้เรื่อง IE หมดซัพพอร์ตนานแล้ว แต่ก็เลือกที่จะเลื่อนแผนออกไปจนใกล้จะเลิกซัพพอร์ตจริง ๆ จึงจะเริ่มดำเนินการ และองค์กรที่ขอก็มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ, สถาบันการเงิน, ภาคการผลิต และภาคการขนส่งที่ทำเว็บไซต์แบบใช้งานได้เฉพาะ IE และใช้งานมาอย่างยาวนาน
จากผลสำรวจของ Keyman’s Net ที่สำรวจบริษัทญี่ปุ่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่าองค์กรจำนวนมากยังคงพึ่งพา IE โดย 49% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงใช้ IE ในการทำงาน ตั้งแต่การบริหารจัดการการเข้างานของพนักงาน, การชำระบัญชี รวมถึงเครื่องมือที่ใช้กันภายใน และบางรายระบุว่าต้องใช้ต่อไปแบบไม่มีทางเลือกเพราะเป็นระบบของลูกค้าที่ใช้ในการจัดการออร์เดอร์ และผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 20% ระบุว่าไม่ทราบหรือไม่ได้มองว่าจะย้ายไปเบราว์เซอร์อื่นอย่างไรหลัง IE หยุดซัพพอร์ต
ฝั่งหน่วยงานภาครัฐนั้นยังคงปรับตัวค่อนข้างช้า โดยเว็บไซต์จัดซื้อและประมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นเปลี่ยนเบราว์เซอร์แนะนำไปเป็น Edge และ Chrome ในวันพฤหัสที่ผ่านมา ส่วน Japan Pension Service ระบุว่าให้ใช้ IE Mode บน Edge ในขณะที่เว็บไซต์หน่วยงานบางแห่งยังคงคำแนะนำให้ใช้ IE เท่านั้น
ที่มา - Nikkei Asian Review, Engadget |
# TSMC เผย เตรียมผลิตชิป 2 นาโนเมตร ในปี 2025
มีรายงานจาก Nikkei Asia ระบุว่า TSMC วางแผนเตรียมผลิตชิป 2 นาโนเมตร ในปี 2025 ซึ่งคาดว่าลูกค้ารายสำคัญที่สั่งซื้อแล้วก็คือแอปเปิล เพื่อใช้ผลิตชิป Apple Silicon รุ่นใหม่
TSMC บอกว่าสถาปัตยกรรมที่ใช้ในชิป 2 นาโนเมตร เป็นแบบ Nanosheet ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตที่แตกต่างสถาปัตยกรรม FinFET ที่ใช้อยู่ในชิป 5 นาโนเมตร ที่ตอนนี้ใช้ในชิป M2 และ A15 Bionic ของแอปเปิล ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นคือ ทำงานเร็วกว่า 10-15% บนระดับพลังงานเท่ากัน
ส่วนชิป 3 นาโมเมตรที่ TSMC เคยประกาศก่อนหน้านี้ คาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงครึ่งหลังปีนี้ แต่แอปเปิลจะเปิดตัวในปี 2023 โดยคาดว่าเป็น M3 กับ A17
ที่มา: MacRumors |
# Overwatch 2 เลิกหาเงินผ่าน Loot Box เปลี่ยนมาใช้โมเดล Battle Pass
Blizzard เผยรายละเอียดเพิ่มเติมของเกม Overwatch 2 ที่ประกาศเปิดบริการ 4 ตุลาคม 2022 โดยภาคนี้ไม่ขายแล้ว เปลี่ยนมาเป็นเกม free-to-play ตามสมัยนิยม
ประเด็นสำคัญของ Overwatch 2 คือเปลี่ยนโมเดลการหารายได้ จากการขายกล่องสุ่ม Loot Box แบบภาคแรก (ที่โดนวิจารณ์ไม่น้อย) มาเป็นระบบ Battle Pass ที่เป็นมิตรกับผู้เล่นมากกว่า เหมือนกับเกมยอดนิยมอื่นๆ อย่าง Dota 2 หรือ Fortnite แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดเรื่องราคาและแพ็กเกจ
Overwatch 2 ยังจะใช้วิธีอัพเดตเนื้อหาของเกมเป็นซีซันทุก 9 สัปดาห์ เพื่อให้ผู้เล่นไม่เบื่อ เบื้องต้นระบุว่าจะมี 2 ซีซันในปี 2022 หลังเกมเปิดบริการ และวางแผนซีซันของปี 2023 ไว้แล้ว ตรงนี้คงไม่ต่างกับเกมอื่นแบบ Fortnite มากนัก
ที่มา - Overwatch |
# Capcom ประกาศทำ Dragon’s Dogma II ภาคต่อของเกมภาคแรกปี 2012
Capcom ประกาศเซอร์ไพร์สแฟนๆ ด้วยการทำเกม Dragon’s Dogma II ภาคต่อของ Dragon’s Dogma เกมแนว hack-and-slash ในโลกแฟนตาซี ที่ออกเมื่อปี 2012 บน PS3 และ Xbox 360
เกม Dragon’s Dogma ภาคแรกเป็นเกมสำรวจโลกแฟนตาซีแบบ open-world เลือกคลาสตัวละครได้หลากหลาย เนื้อเรื่องของเกมคือตัวเอกที่ถูกมังกรแย่งหัวใจไป และต้องตามหามังกรเพื่อทวงหัวใจของตัวเองคืนมา เกมได้คะแนนรีวิวเฉลี่ย 78/100 ส่วนยอดขายที่เปิดเผยล่าสุดคือ 1.5 ล้านชุด
Dragon's Dogma II ได้ผู้กำกับเกมภาคแรก Hideaki Itsuno มาเป็นผู้กำกับเหมือนเดิม ผลงานอื่นของเขากับ Capcom คือเป็นผู้กำกับซีรีส์ Devil May Cry ภาค 2-5
ตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลของเกมภาค 2 มากนัก บอกเพียงว่าจะใช้เอนจิน RE Engine ตัวใหม่ของบริษัทเท่านั้น ยังไม่มีแพลตฟอร์มที่ประกาศ และกำหนดวางขาย
ที่มา - Capcom |
# โซนี่เปิดราคาไทย Xperia 10 IV ราคา 16,990 บาท
โซนี่ประเทศไทยเปิดราคาของ Sony Xperia 10 IV สมาร์ทโฟนรุ่นรองประจำปี 2022 ที่เปิดตัวในต่างประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว ราคาไทยอยู่ที่ 16,990 บาท มีให้เลือก 2 สีคือดำและเขียวมินท์
สเปกคร่าวๆ ของ Xperia 10 IV คือหน้าจอขนาด 6 นิ้ว อัตราส่วน 21:9 ความละเอียด FHD+ 60Hz, ชิป Snapdragon 695, แรม 6 GB, ความจุ 128 GB, กล้องหลัง 3 ตัว กล้องหลัก 12MP, แบตเตอรี่ 5000 mAh เครื่องรุ่นนี้มีจุดเด่นที่ขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา
ผู้ที่สนใจจองล่วงหน้าก่อน 3 กรกฎาคม จะได้ของแถมเป็นหูฟังไร้สาย Sony WF-C500 มูลค่า 3,490 บาทด้วย |
# Activision Blizzard เผยผลสอบสวนการคุกคามทางเพศ ไม่พบในวงกว้าง ผู้บริหารไม่เพิกเฉย
Activision Blizzard ยื่นรายงานการสอบสวนเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐ หลังจากถูกหน่วยงานด้านการจ้างงานของรัฐแคลิฟอร์เนีย DFEH ยื่นฟ้องในช่วงเดือนกรกฎาคม 2021
Activision Blizzard บอกว่าผลการสอบสวน จากทั้งบอร์ดและที่ปรึกษาภายนอก ไม่พบว่าพนักงานระดับสูงของบริษัทเพิกเฉยหรือพยายามปิดข่าวการคุกคามทางเพศแต่อย่างใด สิ่งที่พบกลับเป็นผู้บริหารระดับสูงเข้ามาตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็วแทนด้วยซ้ำ
Activision Blizzard ยังได้จ้าง Gilbert Casellas อดีตผู้บริหารของ EEOC หน่วยงานด้านต่อต้านการแบ่งแยก (anti-discrimination) ของรัฐบาลสหรัฐ ให้เข้ามาสอบสวนด้วยอีกทาง ผลลัพธ์คือไม่พบการคุกคามทางเพศในวงกว้าง (widespread harassment) หรือการคุกคามในเชิงระบบ (systematic harassment หมายถึงที่ทำกันเป็นขบวนการ)
ที่มา - Activision Blizzard |
# Snapchat กำลังทดสอบบริการแบบเสียเงิน Snapchat+ เดือนละประมาณ 170 บาท
Liz Markman โฆษกของ Snap ได้เปิดเผยกับ The Verge ว่ากำลังทดสอบแพลนแบบเสียเงิน Snapchat Plus โดยเป็นการปลดล็อคฟีเจอร์ต่างๆ ที่มีให้เฉพาะกับผู้ใช้งานแบบเสียเงินเท่านั้น
นักแกะแอพชื่อ Alessandro Paluzzi ได้ระบุว่าราคาของบริการดังกล่าวอยู่ที่ราว 4.59 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 170 บาท) หรือ 45.99 ยูโรต่อปี (ประมาณ 1,700 บาท) และพูดถึงฟีเจอร์บน Snapchat+ ว่ามีดังนี้
ปักหมุดเพื่อน 1 คน พร้อมแท็ก #1 BFF
เปลี่ยนไอคอน Snapchat ได้
มี badge แสดงที่หน้าโปรไฟล์
สามารถดู Orbit ร่วมกับ BFF ได้
ดูตำแหน่งของเพื่อนได้ใน 24 ชั่วโมงย้อนหลัง
ดูได้ว่าเพื่อนคนไหนดูสตอรี่ของผู้ใช้งานซ้ำได้
The Verge ระบุอีกว่านี่อาจเป็นวิธีแก้เกมของ Snap หลังได้รับผลกระทบต่อธุรกิจโฆษณาที่เป็นผลมาจากนโยบายเก็บข้อมูลผู้ใช้ใน iOS ของแอปเปิล ทำให้รายได้ของบริษัทในไตรมาสสามของปีก่อน น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์
ที่มา - The Verge |
# เผยชื่อบริษัทรถยนต์ Sony Honda Mobility Inc. ทุนจดทะเบียน 1 หมื่นล้านเยน ตั้งเป้าขายปี 2025
Sony และ Honda ประกาศรายละเอียดของบริษัทร่วมทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน ตามที่ประกาศข่าวความร่วมมือไว้เมื่อต้นปี
บริษัทใหม่จะใช้ชื่อว่า Sony Honda Mobility Inc. มีทุนจดทะเบียน 1 หมื่นล้านเยน โดย Sony และ Honda ลงเงินเท่ากันฝ่ายละ 50% ตอนนี้สถานะของบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการจดทะเบียนให้เสร็จภายในปี 2022
ว่าที่ซีอีโอของ Sony Honda Mobility Inc. คือ Yasuhide Mizuno ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับสูงของ Honda ส่วนฝั่ง Sony จะได้ตำแหน่งซีโอโอคือ Izumi Kawanishi ผู้บริหารระดับสูงของ Sony Group
ตามแผนของ Sony Honda Mobility Inc. จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านรถยนต์ของ Honda มารวมกับเทคโนโลยีด้านไอที เครือข่าย เซ็นเซอร์และภาพของ Sony ผลิตเป็นรถยนต์วางจำหน่ายในปี 2025
คลิปตัวอย่างรถยนต์คอนเซปต์ Vision-S 02 ของ Sony
ที่มา - Sony, Honda via Electrek |
# AIS Business สร้างศูนย์กลางนวัตกรรมและทดสอบ 5G แห่งแรกที่ EEC เปิดตัว AIS 5G NEXTGen Platform สำหรับการพัฒนา 5G Use Cases แห่งแรกในไทย
AIS เดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีหรือ Digital Infrastructure โดยเฉพาะการนำโครงข่ายอัจฉริยะ 5G มาเสริมศักยภาพให้กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยล่าสุดร่วมมือกับ ดีป้า สร้างศูนย์กลางนวัตกรรมและการทดสอบเทคโนโลยี 5G แห่งแรกในประเทศไทย AIS 5G NEXTGen Center ที่ Thailand Digital Valley บนพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมถึงเปิดตัว AIS 5G NEXTGen Platform สำหรับการพัฒนา 5G Use Cases แห่งแรกในประเทศไทย
ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS กล่าวว่า AIS ได้ขยายผลการดำเนินงานผสานความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำระดับโลก ทั้ง Singtel, NCS และ Siemens เพื่อนำเอาโซลูชันและบริการใหม่ๆ มาต่อยอดสู่การทรานส์ฟอร์มองค์กรทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐในอนาคตผ่านแนวคิด AIS 5G NEXTGen for Business โดยประกาศขึ้นภายในงาน Thailand 5G Summit 2022 หรืองานแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยี 5G ระดับประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างความสมบูรณ์ของ 5G Ecosystem ให้กับภาคธุรกิจไทยในอนาคต
AIS ในฐานะผู้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีหลักที่สำคัญต่อการบริหารจัดการยุคนี้ ประกอบด้วย โซลูชันคลาวด์ (Cloud) บริการความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) บริการ IoT (Internet of Things) และบริการด้านไอซีทีโซลูชัน (ICT Solution) วันนี้เราได้เดินหน้าต่อยอดไปอีกขั้น ด้วยการเปิดตัว 5G แพลตฟอร์ม และ MEC (Multi-access Edge Compute) แพลตฟอร์ม เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในชื่อ AIS 5G NEXTGen Platform ซึ่งจะทำให้การใช้งาน 5G application ต่างๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น, เร็วขึ้น, มีประสิทธิภาพและประหยัดกว่า เหมาะกับการใช้งาน 5G ที่ต้องการความหน่วงต่ำ, การตอบสนองรวดเร็ว, การเก็บรักษาข้อมูลภายในประเทศ, หรือโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานที่สำคัญยิ่งยวด
- AIS 5G NEXTGen Platform: จะรวบรวมการบริหารใช้งานทั้ง เครือข่าย 5G, ความสามารถของ Network Slicing, Edge Compute (MEC), ผู้ให้บริการ Cloud hyper-scalers ชั้นนำ, และ application ต่างๆ ไว้ด้วยกัน ทำให้หน่วยงานธุรกิจและภาครัฐ, ผู้ให้บริการ application และ solution ต่างๆ, และ system integrators สามารถบูรณาการและให้บริการ 5G solutions ได้อย่างครบวงจร
- ความสามารถในการบริหารจัดการและใช้งาน applications ต่างๆ ได้จากทุกที่ โดยลูกค้าสามารถใช้ AIS 5G NEXTGen Platform ในการใช้งาน applications บน 5G Private Network และ MEC ภายในพื้นที่ของตนเอง, หรือบน 5G Private Network และ MEC ที่ใช้ร่วมกันในพื้นที่, หรือบนผู้ให้บริการ Public Cloud ชั้นนำก็ได้ อีกทั้งยังสามารถใช้งานและบริหารในรูปแบบHybrid ข้ามระหว่าง Edge กับ Cloud โดยอาศัยความสามารถของ AIS 5G NEXTGen Platform
- End to End Visibility ที่ผู้ใช้งานสามารถติดตาม performance และ utilization ของ MEC infrastructure, MEC applications และ resources ต่างๆ ที่ถูกใช้ได้อย่างละเอียด ด้วยการใช้งานผ่าน analytics dashboard ภายใน AIS NEXTGen Platform ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมและติดตามการใช้งาน application ต่างๆ ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
- นอกจากนั้น ยังมี Enterprise Application Marketplace ที่ AIS ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะนำ 5G applications มาให้บริการบน AIS 5G NEXTGen Platform อาทิ Metaverse, Video Analytics, AI Computer Vision, Quality Inspection, Drone, AR/VR, Robotics และอื่นๆ ผู้ใช้บริการสามารถค้นหาและเลือก applications จาก marketplace เพื่อนำไปตอบโจทย์ทางธุรกิจ และใช้งานได้อย่างรวดเร็วบน Edge หรือ Cloud ผ่าน AIS 5G NEXTGen Platform ในทางกลับกัน ผู้ให้บริการ applications หรือ solutions ต่างๆ ก็สามารถให้บริการแก่ลูกค้ารายอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย ด้วยการให้บริการบน platform โดยการ set up เพียงครั้งเดียว”
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้า มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเทคโนโลยี 5G ขึ้นในประเทศไทย (Thailand 5G Alliance) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่ใชใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและเป็นแนวทางในการนำนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาต่อยอดประยุกต์ใช้จริง ส่งผลดีต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในการดำเนินงานที่สำคัญคือ การพัฒนาโครงการ Thailand Digital Valley ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ภายใน Thailand Digital Valley จะมีอาคาร TDV2 หรือ Digital Startup Knowledge Exchange Center พื้นที่กว่า 4,500 ตารางเมตร ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สร้างเครือข่ายที่พร้อมต่อยอดธุรกิจดิจิทัล รองรับการอยู่อาศัยของเหล่านักพัฒนาและดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยให้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่รวบรวมบรรดาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Startup Community) ไว้มากที่สุดในประเทศ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว AIS ได้เข้ามาพัฒนา AIS 5G NEXTGen Center หรือศูนย์กลางนวัตกรรมและทดสอบ 5G เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่ม Digital Tech สามารถทดสอบใช้บริการเครือข่าย AIS 5G อันจะนำไปสู่การต่อยอดการสร้างธุรกิจดิจิทัล หรือโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต
ธนพงษ์ กล่าวต่อไปว่า AIS มีการขยายความร่วมมือ 5G กับพันธมิตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันส่งมอบ solution ต่างๆ ที่ครบวงจร ให้แก่ลูกค้าภาครัฐและธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม วันนี้ AIS ได้ประกาศความร่วมมือใหม่เพิ่มเติมกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลก ได้แก่
Singtel: AIS และ Singtel ร่วมมือกันพัฒนาความสามารถของ 5G และ MEC platform อีกทั้งจะให้บริการเทคโนโลยีจากแต่ละประเทศ ไปสู่การใช้งาน applications บน MEC ได้ในระดับภูมิภาค ความร่วมมือนี้ยังรวมไปถึงการนำ 5G applications จากประเทศไทยไปสู่ตลาดในระดับภูมิภาค Asia Pacific
5G Transformation Solutions with NCS. AIS ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ในการเป็นพันธมิตรกับ NCS Telco+ เพื่อร่วมกันสนับสนุนการให้บริการทางดิจิทัลพร้อมทั้งเสริมความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถทำ Digital Transformation ในอนาคต อันรวมถึงการนำ 5G Solutions ต่างๆ ที่พัฒนาโดย NCS อย่าง Robot, AR/VR, Open Video Analytics เข้ามาให้บริการในประเทศไทยอีกด้วย
Siemens Smart Manufacturing. AIS ผนึกความร่วมมือกับ Siemens ผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยี automation และ digitalization สำหรับอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก เพื่อให้บริการโซลูชัน 5G สำหรับอุตสาหกรรม อาทิ Industrial 5G, Digital Factory Solution, Cybersecurity for Industry และ Energy Management |
# ศาลโตเกียวสั่งเว็บ Tabelog จ่ายเงินชดเชยร้านอาหาร หลังปรับวิธีคิดคะแนนรีวิวทำให้คะแนนร้านลดลง
ร้านบาร์บีคิวเกาหลี KollaBo ฟ้องบริษัท Kakaku ผู้ให้บริการเว็บไซต์รีวิวร้านอาหาร Tabelog หลังจากทางเว็บปรับวิธีคิดคะแนนรีวิวทำให้ คะแนนของ KollaBo สาขาต่างๆ ลดลง และศาสโตเกียวสั่งให้ Kakaku จ่ายค่าเสียหาย 38.4 ล้านเยน
Tabelog ปรับวิธีการคิดคะแนนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019 โดยไม่ได้เปิดเผยวิธีการคิดคะแนนต่อสาธารณะ เนื่องจาก Kakaku ระบุว่าหากเปิดเผยจะเป็นช่องให้ร้านพยายามปั่นคะแนน
KollaBo ระบุว่าคะแนนของสาขาต่างๆ ลดงเฉลี่ย 0.2 คะแนนหลัง Tabelog ปรับวิธีการคิดคะแนน และเรียกร้องค่าเสียหาย 639.5 ล้านเยน พร้อมกับขอให้ศาลสั่งให้ Tabelog ปรับไปใช้วิธีการคิดคะแนนแบบเดิม แม้ว่าศาลจะสั่งให้ Tabelog จ่ายค่าเสียหายบางส่วน แต่ก็ยืนยันว่า Tabelog ใช้วิธีการคิดคะแนนของตัวเองต่อไปได้
ที่มา - Japan Today |
# Square Enix ประกาศรีเมค FFVII: Crisis Core Reunion วางขายปลายปี 2022
นอกจาก FF VII Rebirth ยังมีประกาศรีเมคเกม Crisis Core: Final Fantasy VII ภาคแยกของ FFVII ที่เคยลงเครื่อง PSP เมื่อปี 2007 ในชื่อใหม่ว่า Crisis Core: Final Fantasy VII Reunion
Crisis Core เป็นเนื้อเรื่องของ Zack ทหารรุ่นพี่ของ Cloud ในหน่วย SOLDIER ที่ต้องไปทำภารกิจที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ใน Final Fantasy VII ภาคหลัก
Square Enix บอกว่าการรีเมคครั้งนี้มีทั้งทำโมเดล 3D ใหม่หมด, ปรับกราฟิกเป็น HD, การสนทนาของตัวละครมีเสียงพากย์ทั้งหมด และเรียบเรียงเพลงประกอบใหม่ด้วย ผู้เล่นหน้าใหม่สามารถเริ่มต้นจาก Crisis Core Reunion แล้วเข้าใจเนื้อเรื่องโดยไม่จำเป็นต้องเล่น VII หรือ VII Remake มาก่อน
เกมจะลงทุกแพลตฟอร์มที่เป็นไปได้คือ PS4, PS5, Xbox One, Xbox Series X, Switch, PC (Steam) เกมจะวางขายในช่วงปลายปี 2022 นี้
Tetsuya Nomura ผู้อำนวยการฝ่ายครีเอทีฟของโปรเจค FFVII บอกว่าตอนนี้มีเกม FFVII ทั้งหมด 4 โปรเจคอยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ FFVII Rebirth, Crisis Core Reunion, FFVII The First Soldier และ Ever Crisis ที่เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้
ที่มา - Square Enix |
# เปิดตัว Final Fantasy VII Rebirth บทที่สองของไตรภาค VII Remake ขายปลายปี 2023
Square Enix เปิดเผยรายละเอียดของ Final Fantasy VII Remake ตอนที่สอง ซึ่งจะใช้ชื่อว่า Final Fantasy VII Rebirth และยืนยันข้อมูลแล้วว่าเกมรีเมครอบนี้มีทั้งหมด 3 ภาค โดยภาคสุดท้ายยังไม่ประกาศชื่อภาค
ในเทรลเลอร์แรกของ Final Fantasy VII Rebirth เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง Cloud กับทั้ง Sephiroth และ Zack ทหารรุ่นพี่ที่ร่วมกันทำภารกิจในอดีต
เกมประกาศวางขายปลายปี 2023 โดยยังเป็นเอ็กซ์คลูซีฟ PS5 เหมือนเดิม คาดว่าเวอร์ชันพีซีน่าจะตามมาภายหลังเหมือนภาค VII Reamke Integrade
ที่มา - Square Enix |
# Adobe ไตรมาสล่าสุด รายได้ยังเติบโต 14% - CEO บอกยังไม่มีแผนซื้อกิจการเพิ่มตอนนี้
Adobe รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 2 ตามปีการเงินบริษัท 2022 สิ้นสุดวันที่ 3 มิถุนายน 2022 รายได้รวมยังคงเติบโตทำสถิติใหม่สูงสุดที่ 4,386 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน มีกำไรสุทธิตามบัญชี GAAP ที่ 1,178 ล้านดอลลาร์
กลุ่มธุรกิจ Digital Media มีรายได้เพิ่มขึ้น 15% เป็น 3.20 พันล้านดอลลาร์ โดยรายได้จาก Creative เพิ่มขึ้น 12% เป็น 2.61 พันล้านดอลลาร์ Document Cloud เพิ่มขึ้น 27% เป็น 595 ล้านดอลลาร์
Shantanu Narayen ซีอีโอ Adobe กล่าวว่าบริษัทยังไม่มีแผนซื้อกิจการใดเพิ่มเติมในพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์ แต่ก็จะพิจารณาบางบริษัทที่อาจประสบปัญหาการเงินตอนนี้ เนื่องจากราคาที่ใช้ซื้อกิจการเริ่มปรับลดลงจนเหมาะสมมากกว่าแต่ก่อน
ที่มา: Adobe และ CNBC |
# Discord เพิ่มฟีเจอร์ AutoMod ตรวจจับและจัดการข้อความที่ไม่เหมาะสมอัตโนมัติ ตามที่ผู้ดูแลกำหนด
Discord ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ AutoMod เพื่อลดภาระของแอดมินและผู้ดูแลเซิร์ฟเวอร์ ที่สามารถตรวจจับและบล็อกข้อความหรือคำที่ไม่เหมาะสม โดยผู้ดูแลสามารถเพิ่มเติมคำที่ต้องการได้ที่เมนู Server Settings และกำหนดกฎที่ต้องการ
ในช่วงแรกฟีเจอร์ AutoMod รองรับเฉพาะเซิร์ฟเวอร์ที่กำหนดค่าเป็น Community Server เท่านั้น สามารถดักจับข้อความไม่เหมาะสมได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มกดส่ง รวมทั้งแจ้งเตือนหรือจำกัดเวลาผู้ใช้งานคนนั้นได้ทันที
นอกจากนี้ Discord ยังประกาศขยายการรองรับ Premium Membership ระบบเก็บเงินค่าเข้าร่วมเซิร์ฟเวอร์ มีผลกับเซิร์ฟเวอร์ของผู้ใช้งานในอเมริกาทุกคน
ที่มา: Discord และ Engadget |
# Elon Musk ประชุมกับพนักงาน Twitter เผยแผนในอนาคต: อยากเป็น WeChat, ควบคุมค่าใช้จ่ายมากขึ้น
Elon Musk จัดประชุม Town Hall กับพนักงาน Twitter ทั้งหมดเมื่อคืนที่ผ่านมา เพื่อแสดงทิศทางที่เขาต้องการให้ Twitter เป็นต่อจากนี้ ซึ่งอย่างน้อยก็แปลว่าเขายังไม่ล้มเลิกแผนซื้อ Twitter ไปแน่นอน
ประเด็นสำคัญจากการประชุมมีหลายเรื่อง Musk เริ่มด้วยการสนับสนุนให้ Twitter รองรับเสรีภาพในการพูดมากที่สุด เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่เขาก็ต้องการให้แพลตฟอร์มมีความสบายใจในการใช้งานเช่นกัน เป้าหมายแรกที่ต้องการคือจำนวนผู้ใช้งาน 1 พันล้านคน จากปัจจุบันตัวเลขอยู่ที่ 229 ล้านคน
เขายกตัวอย่าง WeChat แพลตฟอร์มโซเชียลยอดนิยมในจีน ว่าเทียบกับทุกแพลตฟอร์มนอกจีนแล้ว ยังไม่มีตัวไหนที่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิตได้อย่าง WeChat ถ้าหาก Twitter สามารถไปถึงจุดนั้นได้ก็จะดีมาก
ไอเดียถัดมาคือเรื่องการพิสูจน์ตัวตน โดยเขาเสนอให้มีการจ่ายเงินเพื่อแลกกับการได้ verified ว่าเป็นคนจริง ๆ อาจทำผ่านบริการ subscription Twitter Blue และการันตีว่าทวีตของคนจริง ๆ จะได้อันดับการแสดงผลที่ดีกว่าในแพลตฟอร์ม
ในช่วงตอบคำถามจากพนักงาน มีหลายประเด็นน่าสนใจ เช่น คำถามเรื่องการปลดพนักงานหลังซื้อกิจการ และแนวคิดเรื่องการต้องกลับมาทำงานในสำนักงานของ Tesla ขณะที่ Twitter มีนโยบายให้ทำงานจากที่บ้านได้ตลอดไป โดยเขาบอกว่าสำหรับงานที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน การเข้าสำนักงานเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าใครมีข้อยกเว้นพิเศษ ก็สามารถทำงานจากบ้านต่อไปได้
ส่วนประเด็นปลดพนักงาน Musk ไม่ได้ตอบคำถามนี้ตรง ๆ แต่บอกว่าโครงสร้างการเงินของ Twitter ต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ซึ่งค่าใช้จ่ายยังสูงกว่ารายได้
สุดท้ายเขาตอบคำถามว่าจะมาเป็นซีอีโอ Twitter หรือไม่ว่า ชื่อตำแหน่งไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจ ที่ Tesla ชื่อตำแหน่งเขาก็ไม่ใช่ซีอีโอ แต่งานใน Twitter ที่เขาต้องการ คือสามารถกำหนดทิศทางผลิตภัณฑ์ได้
มีของแถมคือคำถามจากพนักงานคนหนึ่งว่าเขาคิดอย่างไรกับมนุษย์ต่างดาว ซึ่ง Musk บอกว่า ตัวเขาไม่เคยเห็นหลักฐานที่บ่งบอกการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาว
ที่มา: Bloomberg, The Verge, Axios |
# เปิดตัว Samsung Wallet แอพตัวใหม่มาแทน Samsung Pay และ Samsung Pass
ซัมซุงเปิดตัว Samsung Wallet แอพตัวใหม่ที่รวมเอา Samsung Pay และ Samsung Pass เข้าด้วยกันเป็นตัวเดียว
ก่อนหน้านี้ซัมซุงมีแอพ Samsung Pay สำหรับการจ่ายเงินด้วยมือถือ และ Samsung Pass ไว้เก็บบัตรอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงรหัสผ่านเข้าเว็บไซต์หรือแอพต่างๆ แยกเป็นแอพคนละตัวกัน สร้างความสับสนให้ผู้ใช้ไม่น้อย ข่าวนี้ซัมซุงจึงรวมแอพสองตัวเข้าด้วยกันเป็น Samsung Wallet มีฟีเจอร์จากทั้งสองฝั่ง
Samsung Wallet จะยังรองรับฟีเจอร์กุญแจดิจิทัลของรถยนต์บางรุ่น เช่น BMW, Genesis, Hyundai และบัตรโดยสารดิจิทัลของสายการบิน Korean Air ด้วย ในแง่ฟีเจอร์คงไม่ต่างกับ Apple Wallet หรือ Google Wallet มากนัก
ตอนนี้ Samsung Wallet เริ่มเปิดบริการแล้วใน 6 ประเทศคือ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ผู้ใช้ Samsung Pay และ Samsung Pass จะได้รับข้อความแจ้งเตือนให้อัพเดตเป็นแอพตัวใหม่ ส่วนประเทศอื่นๆ ยังไม่มีข้อมูลว่าจะได้ใช้งานเมื่อไร
ที่มา - Samsung |
# เปิดตัว Microsoft Defender แบบเสียเงิน มี dashboard ช่วยดูแลคนในครอบครัว, ใช้บนโทรศัพท์ได้
ไมโครซอฟท์เปิดบริการ Microsoft Defender for Individuals ระบบจัดการความปลอดภัย โดยรวมอยู่ในบริการ Microsoft 365 Personal/Family แบบเสียเงิน โดยผู้ใช้จะได้ฟีเจอร์คล้ายขององค์กรมาบางส่วน แเช่น หน้าจอ dashboard รายงานความปลอดภัยของคนในครอบครัว และสามารถใช้งานได้ทั้งวินโดวส์, แมค, แอนดรอยด์, และไอโฟน
นอกจากการจัดการความปลอดภัยด้วยตัวป้องกันไวรัสของไมโครซอฟท์เองแล้ว Defender ยังรายงานการใช้งานตัวป้องกันไวรัสยี่ห้ออื่นๆ เข้าไว้ใน dashboard เหมือนกัน
ราคาของ Microsoft Defender แบบใช้งานส่วนบุคคล จ่ายตามแพ็กเกจของ Microsoft 365 Personal (เริ่มต้น 209 บาท/เดือน) หรือ Microsoft 365 Family (289 บาท/เดือน ใช้งานได้ 6 คน) ซึ่งในแพ็กเกจยังรวมพื้นที่คลาวด์ 1TB และชุด Office แบบออฟไลน์ คนที่จ่ายแพ็กเกจเหล่านี้อยู่แล้วก็จะได้ Microsoft Defender เพิ่มในแพ็กเกจเลยโดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม
ที่มา - Microsoft |
# Ubisoft วางขายเกมเพื่อการศึกษา Discovery Tour: Viking Age เรียนรู้อารยธรรมไวกิ้ง
Ubisoft ประกาศนำโหมดท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา Discovery Tour: Viking Age จากเกม Assassin’s Creed Valhalla ตัดมาขายเป็นเกมแยกอีกเกม ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งคอนโซล พีซี คลาวด์ ในราคา 19.99 ดอลลาร์
Ubisoft เคยทำมาก่อนตั้งแต่ภาค Assassin's Creed Origins ที่ใช้ฉากเป็นอียิปต์โบราณ โดยเพิ่มโหมด Discovery Tour: Ancient Egypt ให้สำรวจโลกอียิปต์โบราณ (ในเกม) พร้อมเนื้อหาความรู้ บทบรรยายเพิ่มเติม ตัวละครจากประวัติศาสตร์จริง เพื่อให้เป็นเกมเพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นก็ออกภาค Ancient Greece ที่อิงจากภาค Odyssey ตามมา และล่าสุดคือ Viking Age จากภาค Valhalla (มีขายแบบ 3 ภาครวดในราคา 59.99 ดอลลาร์)
เนื้อหาของภาค Viking Age มีเควสย่อยให้ทำ 8 เควส ได้ท่องเที่ยวในนอร์เวย์ อังกฤษ รวมถึงดินแดนในเทพนิยายทั้ง Asgard และ Jotunheim
คนที่มีตัวเกม Valhalla ภาคหลักอยู่แล้วสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี
ที่มา - Ubisoft |
# Sony เปิดจอง PS5 ล็อตที่ 18 วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน นี้ มีรุ่น Digital Edition ด้วย
โซนี่ประเทศไทย ประกาศเปิดจอง PlayStation 5 ล็อตที่ 18 ในวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2565 เวลาเดิมตั้งแต่ 11.00น. เป็นต้นไป โดยรอบนี้มีเครื่องรุ่น Digital Edition ที่ไม่มีช่องใส่แผ่นให้เลือกด้วย รายละเอียดทั้งหมดดังนี้
PlayStation 5 รุ่นมีช่องใส่แผ่น พร้อม DualSense และทีวี Bravia XR-55X90J ราคา 45,990 บาท ถูกกว่ารอบที่แล้ว
PlayStation 5 รุ่นมีช่องใส่แผ่น 16,990 บาท
PlayStation5 รุ่น Digital Edition (ไม่มีช่องใส่แผ่น) 13,990 บาท
ในครั้งนี้โซนี่บอกว่าจะมีการขายผ่าน Live จาก Facebook ด้วย โดยจะถ่ายทอดสดให้จองซื้อตั้งแต่เวลา 10.30น. เป็นต้นไป
ขอให้ทุกคน(ที่เตรียมกด)โชคดี
ที่มา: Sony Thailand |
# Cohesity และ Cisco เปิดมิติใหม่ของโซลูชั่นระบบบริหารจัดการสำรองข้อมูล ช่วยให้องค์กรของคุณปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน นอกจากการแข่งขันทางตลาดกันอย่างสูง การบริหารจัดการและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะข้อมูลขององค์กร คือ พื้นฐานของการพัฒนาองค์กรในทุกมิติ อีกทั้งหากข้อมูลเกิดเสียหาย หรือรั่วไหลออกภายนอกองค์กร จะส่งผลให้เกิดความเสียหาย ที่อาจจะไม่สามารถประเมิณค่าได้
วันนี้ Cohesity ผู้นำในการบริหารจัดการข้อมูล และรักษาความปลอดภัยของข้อมูลจาก Ransomware ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่ง Leader ในรายงาน Gartner Magic Quadrant ปี 2021 สำหรับ Enterprise Backup and Recovery Software Solutions นำทัพด้วยบุคคลมากความสามารถอย่างคุณทรงพล แสงมาศ Cohesity Thailand Country Manager ได้ร่วมจับมือกับ Cisco SecureX จากทาง Cisco ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี Security มาอย่างยาวนาน เพื่อให้ตอบโจทย์การบริหารจัดการข้อมูลสำหรับทุกองค์กร ด้วย Cohesity and Cisco Data Management Solutions
Cohesity Helios เป็น Data Management Platform ยุคใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยให้องค์กรสามารถป้องข้อมูล สำรองข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้การใช้งานดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง องค์กรสามารถบริหารจัดการข้อมูลซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ล้ำค่าได้อย่างง่ายดายบน Platform เดียว พร้อมทั้งมีการทำ Smart File ที่เหนือกว่า Scale-Out NAS แบบเดิมในแง่ของการจัดการ, การ Scale, ประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล, การ Integrated กับ Application, Cybersecurity และการบริหารจัดการข้อมูลแบบ Muli-tiered เพื่อรองรับการขยายตัวของข้อมูลตามความต้องที่เพิ่มขึ้นในอนาคต Dev/Test เป็นการ Clones ข้อมูลจริงเพื่อนำมาพัฒนาและทดสอบระบบโดยไม่กระทบต่อระบบการใช้งานจริง นอกจากนี้ Cohesity ยังสามารถทำงานแบบ Muli-Cloud ได้อีกด้วย
Cohesity มีความสามารถในการต่อต้าน Ransomware ได้อย่างครอบคลุม โดย Cohesity Data Protect ด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้
1.Protect Backup การป้องกันระดับไฟล์ด้วยการใช้ DataLock เพื่อไม่ให้ Ransomware เข้ารหัส File ข้อมูล หรือไม่สามารถเขียนทับ File ข้อมูลได้, มีการใช้ Multi-Factor Authentication (MFA)และยังรองรับ Air-Gap ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการเข้าถึงของข้อมูลขึ้นอีกขั้น
2.Detect ใช้ Machine learning ในการสร้าง Patterns เพื่อตรวจจับ Ransomware, และวิเคราะพฤติกรรมการใช้ข้อมูลที่ผิดปกติที่มีความเสี่ยงจากภัยคุกคาม พร้อมแจ้งเตือนแบบอัตโนมัติอย่างทันท่วงที
3.Rapid Recovery เทคโนยีที่เป็นสิทธิบัตรเดียวจาก Cohesity จะช่วยและช่วยให้องค์กร สามารถกู้ข้อมูลจากการถูกโจมตีของ Ransomware ได้อย่างรวดเร็ว, และสามารถค้นหา File ได้อย่างง่ายด้วย แบบ Google-like global search
Cisco SecureX เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพในส่วนของการปกป้องข้อมูลจากการถูกโจมตีทั้งระดับ Network, Endpoint, On-Cloud, On-Premises โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ช่วยให้การตอบโต้ภัยคุกคามสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ ด้วยการใช้ระบบ AI ทำงานร่วมกับ Cohesity เพื่อให้ความเสียหายจากการโดนภัยคุกคามเหลือน้อยที่สุด Cohesity และ Cisco SecureX สามารถสร้าง Single Dashboard ในการเฝ้าระวังความปลอดภัยที่เกี่ยวกับภัยคุกคามเพื่อตอบสนององค์กรในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างสะดวกและเป็นระบบ นอกจากนี้ Cohesity สามารถทำงานร่วมกับ Cisco Security Product อื่น ๆ ได้อีก ทำให้องค์กรสามารถเฝ้าระวังได้ถึงระดับ End-to-End visibility สำหรับเฝ้าดูภัยคุกคามทั้งหมดได้ภายในหน้าเดียว ความสามารถนี้สามารถพบได้บน Cisco UCS Product & Cohesity เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น เป็นทางเลือกเพื่อตอบโจทย์การป้องกันภัยคุกคามในปัจจุบันที่ดีสุดสำหรับองค์กร
เมื่อเกิดเหตุการณ์การโจมตีจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น Ransomware หรือภัยคุกคามอื่น ๆ Cohesity สามารถส่ง API พิเศษเพื่อแจ้งให้ทาง Cisco SecureX สามารถทำการกู้คืนระบบได้อย่างอัตโนมัติ ช่วยลดการทำงานของบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการทำงานรูปแบบนี้ทาง Cohesity และ Cisco ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
การจับมือกันของ Cohesity และ Cisco SecureX เป็นการรวมกันเพื่อผลประโยชน์ขององค์กรในการบริหารจัดการข้อมูล ช่วยลดต้นทุนในการจัดการ อีกทั้งไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนของ AI ซึ่งสามารถตอบสนองในการป้องกัยภัยคุกคามได้แบบอัตโนมัติภายใต้การร่วมกันของ Cohesity และ Cisco เท่านั้น แต่ยังช่วยลด Downtime และลดมูลค่าความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อองค์กรเมื่อถูกโจมตี เพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล พร้อมทั้งคงประสิทธิภาพการใช้งานและการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
สนใจข้อมูลเพิ่มติดต่อเพื่อเข้าทดสอบประสิทธิภาพของ Cohesity ได้ที่…
คุณทรงพล แสงมาศ Cohesity Thailand Country Manager อีเมล์ [email protected] และเบอร์โทร 062 365 9000
คุณธนวิทย์ ชาญสุไชย Sale Specialist : CISG จากบริษัท Cisco Thailand อีเมล์ [email protected] และ เบอร์โทร 090 961 5246 |
# หลุดผลทดสอบ Apple M2 บน Geekbench แรงกว่า M1 เกือบ 20%
หลังจากแอปเปิลประกาศเปิดตัวซีพียู Apple M2 ในงาน WWDC22 ที่ผ่านมา และเคลมว่าประสิทธิภาพแรงกว่าชิป M1 อยู่ 18% ล่าสุดมีผลการทดสอบบน Geekbench ของชิป M2 บน MacBook Pro 13 นิ้วหลุดออกมาพบว่า
ความถี่ของชิป M2 อยู่ที่ 3.49 GHz (เพิ่มขึ้นจากชิป M1 ที่ 3.2 GHz)
Single-core Score ได้ 1919 คะแนน (เพิ่มขึ้นจากชิป M1 11.56%)
Multi-Core Score ได้ 8928 คะแนน (เพิ่มขึ้นจากชิป M1 19.45%)
โดยผลการทดสอบของชิป M2 นั้น ก็ใกล้เคียงกับที่แอปเปิลได้เคลมไว้ในงาน WWDC22 จริง ซึ่งชิป M2 นี้ จะถูกใช้ในทั้ง MacBook Air และ MacBook Pro ที่กำลังจะเปิดขายเร็วๆ นี้ด้วย
ที่มา - @VadimYuryev via MacRumors |
# ฐานข้อมูล Snowflake รองรับการเชื่อมต่อด้วยภาษา Python ผ่าน Snowpark API
บริษัทฐานข้อมูล Snowflake ประกาศรองรับการเชื่อมต่อกับภาษา Python ผ่าน Snowpark API สำหรับนักพัฒนาแอพ
ตัวฐานข้อมูล Snowflake สามารถเข้าถึงได้ด้วย SQL ปกติอยู่แล้ว ส่วนนักพัฒนาสามารถเรียกใช้ข้อมูลผ่าน Snowpark ซึ่งก่อนหน้านี้รองรับเฉพาะ Java และ Scala เท่านั้น การเพิ่ม Python เข้ามาเป็นภาษาที่สาม ช่วยให้คนทำงานสายวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่นิยมใช้ Python สามารถเข้าถึง Snowflake ได้ง่ายขึ้น
ตอนนี้ Snowpark for Python ยังมีสถานะเป็นพรีวิว
ที่มา - Snowflake Blog, Snowflake |
# Tether โต้ข่าวลือขาดทุนหุ้นกู้ ระบุปรับมาถือพันธบัตรสหรัฐฯ จำนวนมากแล้ว
Tether ออกมาตอบโต้ข่าวลือว่าหุ้นกู้เอกชน (commercial paper) ที่ Tether ถืออยู่เพื่อหนุนค่า USDT นั้นเป็นหุ้นกู้จีนถึง 85% และตอนนี้ซื้อขายในตลาดกันที่ส่วนลด 30% ทำให้ กองทุนหนุนค่า USDT นั้นน่าจะมีสินทรัพย์ไม่เพียงพอ โดย Tether ระบุว่าข่าวลือแบบนี้ปล่อยมาเพื่อสร้างความกลัว และพยายามทำกำไรในภาวะที่ตลาดตึงเครียดเท่านั้น
ตอนนี้ Tether กำลังพยายามผองถ่ายสินทรัพย์จากหุ้นกู้ให้เป็นพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะสั้นทั้งหมด ล่าสุดมูลค่าหุ้นกู้เหลือ 11,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 20,000 ล้านดอลลาร์เมื่อไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าสิ้นเดือนนี้จะเหลือ 8,400 ล้านดอลลาร์
USDT ยังคงมีราคาต่ำกว่า 1 ดอลลาร์เล็กน้อยตั้งแต่เหตุการณ์ UST หลุดการผูกค่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนต่างจากดอลลาร์เช่นนี้ทำให้มีการไถ่ถอน USDT ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนเหลือต่ำกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับจุดสูงสุดที่เคยมี USDT หมุนเวียนถึง 83,000 ล้านดอลลาร์
ที่มา - Tether |
# ก.คมนาคมสหรัฐ สรุปสถิติอุบัติเหตุรถยนต์ที่มีระบบช่วยขับขี่-ไร้คนขับ Tesla ชนเยอะที่สุด
หน่วยงานความปลอดภัยทางหลวงของสหรัฐ National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ออกรายงานสถิติอุบัติเหตุของรถยนต์ที่มีระบบช่วยขับขี่ (Driver Assistance) เป็นครั้งแรก โดยนับสถิติการชนระหว่างเดือนกรกฎาคม 2021 จนถึง 15 พฤษภาคม 2022 และต่อจากนี้ไปจะออกรายงานสรุปให้ทุกเดือน
รายงานแบ่งเป็น 2 ฉบับคือ กลุ่มที่ใช้ระบบขับขี่ SAE Level 2 (ADAS) และอีกกลุ่มที่เป็น Level 3-5 ซึ่งเข้าข่าย Automated Driving System (ADS)
Level 2 มีการชนทั้งหมด 367 ครั้ง โดย Tesla เยอะที่สุด 273 ครั้ง ตามด้วย Honda 90 ครั้ง
Level 3-5 มีการชนทั้งหมด 130 ครั้ง โดย Waymo เยอะที่สุด 62 ครั้ง ตามด้วยบริษัทรถเมล์ Transdev 34 ครั้ง
ในรายงานของ NHTSA ยังมีสถิติการชนโดยรถของแอปเปิลที่ยังไม่เคยเปิดตัว จำนวน 1 ครั้งด้วย
สถิติการชนอื่นๆ ยังมีเรื่องประเภทของการชน โดยทั้งกลุ่ม Level 2 ชนกับวัตถุอื่น (Other Fixed Objects) เยอะที่สุด ตามด้วยการชนกับรถยนต์คันอื่นตามมา ส่วนกลุ่ม Level 3-5 ชนกับรถยนต์คันอื่นมากที่สุด แต่ชนกับวัตถุอื่นเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
อย่างไรก็ตาม NHTSA ระบุว่าข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ถูกต้อง 100% เพราะใช้แหล่งข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน บางเหตุการณ์อาจไม่ถูกตรวจสอบยืนยันว่าชนจริงหรือบางเหตุการณ์ถูกรายงานซ้ำ แถมยังมีเฉพาะข้อมูลดิบ (จำนวนครั้งที่ชน) แต่ไม่มีรายละเอียดหรือบริบทของการชนแต่ละครั้งประกอบ จึงควรอ่านสถิติและตีความด้วยความระมัดระวัง
ที่มา - NHTSA |
Subsets and Splits
No saved queries yet
Save your SQL queries to embed, download, and access them later. Queries will appear here once saved.