txt
stringlengths
202
53.1k
# วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ใหม่อินเทลปี 2022 ไม่ใช่แค่ x86 และไม่จำกัดตัวเองแค่นาโนเมตร อินเทลเป็นบริษัทที่เปลี่ยนผ่านตัวเองได้อย่างน่าสนใจในช่วงประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ IDM 2.0 เปิดโรงงานรับจ้างผลิตชิปให้คนนอก และไลน์อัพสินค้าใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายอย่าง บทความนี้จะสรุปแนวทางของอินเทลยุคใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น ยืดหยุ่นกว่าเดิม ตัวซีพียูไม่จำกัดตัวเองแค่ x86 อีกต่อไป และฝั่งโรงงานผลิตชิปก็ไม่ได้แข่งแต่เรื่องนาโนเมตรเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว บทความนี้เป็นภาคต่อของบทความชุด เกิดอะไรขึ้นที่อินเทล, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3 ที่เขียนไว้ช่วงต้นปี 2021 โดยเป็นการอัพเดตความคืบหน้าว่าหลังจากเวลาผ่านมาราวปีครึ่ง อินเทลปรับยุทธศาสตร์ตัวเองไปอย่างไรบ้าง และเรากำลังจะได้เห็นอะไรจากอินเทลบ้างในอีก 2-3 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงของอินเทลสามารถสรุปได้เป็น 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ สถาปัตยกรรมหน่วยประมวลผล (Architecture), กระบวนการผลิตชิป (Process) และเทคโนโลยีการทำแพ็กเกจจิ้งชิป (Packaging) 1) สถาปัตยกรรม: ไม่ใช่แค่ x86 แต่รองรับ Arm และ RISC-V เมื่อพูดถึงคำว่า "อินเทล" สิ่งที่ผูกพันกันมายาวนานคือสถาปัตยกรรมซีพียูแบบ x86 ที่สร้างอินเทลให้ยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ ในรอบประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เราเห็นสถาปัตยกรรม x86 ไล่โค่นสถาปัตยกรรมคู่แข่งให้ล้มหายตายจากไปนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Power (IBM), Alpha (DEC) หรือ SPARC (Sun/Oracle) ในโลกเซิร์ฟเวอร์ หรือ MIPS กับ PowerPC (IBM) ในเครื่องเกมคอนโซล และแม้กระทั่งในบริษัทตัวเอง เราก็เห็น x86 เอาชนะสถาปัตยกรรม Itanium กลายเป็นผู้อยู่รอดได้เพียงรายเดียวของบริษัท แต่ในโลกยุคที่การประมวลผลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เราเห็นการรุ่งขึ้นมาของหน่วยประมวลผลแบบใหม่ๆ เช่น การเติบโตของจีพียูในฐานะตัวเร่งการประมวลผล (accelerator) สำหรับงานแบบเวกเตอร์ (กราฟิกและ AI) และการเติบโตของสถาปัตยกรรม Arm ในแง่ประสิทธิภาพขึ้นมาทัดเทียมกับ x86 โดยยังคงจุดเด่นเรื่องการประหยัดพลังงานไว้ได้ อินเทลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพลี่ยงพล้ำทั้งในตลาดจีพียู (ที่นำโดย NVIDIA) และตลาดอุปกรณ์พกพา (ที่ครองโดย Arm) จนหลายคนอาจมองว่าถึงจุดสิ้นสุดของ x86 แล้ว เพราะไม่สามารถขยายกินแดนได้เพิ่ม (Atom ล้มเหลวในตลาดมือถือ) แถมยังสูญเสียพื้นที่เดิมของตัวเอง (เช่น เสียตลาดโน้ตบุ๊กแอปเปิลให้ Arm) อย่างไรก็ตาม อินเทลยุคใหม่หลังเปลี่ยนตัวซีอีโอมาเป็น Pat Gelsinger (จริงๆ ต้องบอกว่าอินเทลเริ่มเปลี่ยนมาก่อนหน้านั้นมาสักพักแล้ว) มีทิศทางที่เปิดกว้างขึ้นมาก เช่น การเปิดโรงงานของตัวเองให้ลูกค้ารายอื่น (รวมถึงคู่แข่ง) เข้ามาใช้งาน และในแง่สถาปัตยกรรมหน่วยประมวลผล อินเทลก็ทำในสิ่งที่เราไม่เคยเห็นกันมาก่อน นั่นคือเปิดให้มีสถาปัตยกรรมอื่นที่ไม่ใช่ x86 มาอยู่บนชิปแผ่นเดียวกับ x86 ได้ด้วย ในธุรกิจรับจ้างผลิตชิปของอินเทล (Intel Foundry Service หรือ IFS) ลูกค้าสามารถระบุประเภทชิปที่ต้องการได้ หากเป็นชิปสถาปัตยกรรม Arm ลูกค้าสามารถซื้อแบบพิมพ์เขียวจากบริษัท Arm ได้โดยตรงอยู่แล้ว (แล้วค่อยมาจ้างอินเทล ซัมซุง หรือ TSMC ผลิต ดังที่ Qualcomm และ Amazon ประกาศทำแล้ว) แต่ในฝั่งของรักของหวง x86 เราก็เพิ่งเห็นข่าว อินเทลจะเปิดให้ลูกค้าคัสตอมชิป Xeon ได้เอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อ 5 ปีก่อน นอกจาก Arm และ x86 แล้ว อินเทลยังให้ความสนใจสถาปัตยกรรมใหม่อย่าง RISC-V โดยเข้าไปลงทุนในบริษัท SiFive ที่ทำชิป RISC-V รวมถึงออกชิปสถาปัตยกรรม RISC-V ของตัวเอง (แม้ยังไม่ใช่ชิปสำคัญมาก) ในภาพรวมคือเราเห็นโรงงานของอินเทลรองรับสถาปัตยกรรมซีพียู 3 แบบคือ x86, Arm, RISC-V ลูกค้ามีความต้องการแบบไหนก็ยินดีต้อนรับทุกแบบ ที่มาภาพ - Intel ด้านชิปที่เป็นสินค้าของอินเทลเอง เราอาจยังไม่ได้เห็นซีพียูประเภทอื่นนอกจาก x86 ในเร็ววัน แต่เราเริ่มเห็นการผนวกตัวช่วยประมวลผล (co-processor หรือ accelerator) ประเภทอื่นเข้ามาแล้ว ทั้งจีพียูที่ใช้สถาปัตยกรรม Xe ของตัวเอง (รอบนี้ดูเหมือนจะทำสำเร็จแล้วสักที) และ FPGA ที่ได้มาจากการซื้อ Altera เมื่อปี 2015 ตอนนี้เราเห็นสินค้าจริงอย่าง Xeon รุ่นปี 2020 ที่ฝัง FGPA มาให้ในตัวมาช่วยรันงาน AI หรือ ชิปเครือข่าย IPU ที่ฝัง FGPA มาช่วยประมวลผลทราฟฟิกขั้นต้น อินเทลเรียกแนวทางการใส่หน่วยประมวลผลชนิดอื่น (GPU, FPGA) เข้ามารวมกับซีพียูว่า XPU ซึ่งจะออกดอกออกผลเต็มที่ใน Xeon รุ่นปี 2024 โค้ดเนม Falcon Shores ที่รวมเอาซีพียูและจีพียูเข้ามาด้วยกัน (การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มจากฝั่งเซิร์ฟเวอร์และคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงก่อน เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และพลังงาน) ที่มา - Intel YouTube 2) กระบวนการผลิต: ไล่คู่แข่งให้ทันด้วย Tick-Tock อินเทลในยุคก่อนหน้านี้ เพลี่ยงพล้ำให้กับ TSMC และซัมซุงในแง่กระบวนการผลิตชิปที่เล็กและมีประสิทธิภาพ อินเทลติดหล่ม 14nm และไม่สามารถก้าวสู่ 10nm อยู่นานมาก จนโดนคู่แข่งแซงไปไกลมากแล้ว อินเทลเวอร์ชันใหม่ดูเหมือนแก้ปัญหาเรื่องกระบวนการผลิตไปได้พอสมควร และยังหาญกล้า ประกาศเร่งให้ทันคู่แข่งด้วยการขยับกระบวนการผลิตใหม่ทุกปี (ทำได้จริงแค่ไหนอีกเรื่องนึง) ที่มา - Intel ยุทธศาสตร์ที่อินเทลจะนำมาเร่งให้ทันคู่แข่งในเรื่องกระบวนการผลิตคือชื่อที่คุ้นเคยอย่าง Tick-Tock ปัญหาเดิมของอินเทลคือพยายามเปลี่ยนกระบวนการผลิตครั้งใหญ่ๆ ใส่ของใหม่ทุกอย่างมาพร้อมกันทีเดียวแล้วพัง (14nm → 10nm) รอบนี้อินเทลแก้เกมใหม่ เปลี่ยนเป็นการซอยรอบการเปลี่ยนรุ่นกระบวนการผลิตให้เล็กลง ทยอยเปลี่ยนเทคโนโลยีทีละชิ้น ถ้ามั่นใจว่าดีแล้วค่อยรีดประสิทธิภาพเทคโนโลยีเดิมในรอบถัดไป ดังที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับ Tick-Tock ยุคก่อน แผนการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตของอินเทลตามแนวทาง Tick-Tock จะมีจุดเปลี่ยนสำคัญ (Tick) คือ Intel 4 (7nm) ช่วงปลายปี 2022 นี้ จะเริ่มนำเอาเครื่อง EUV ของ ASML มาใช้เป็นครั้งแรก (ชาวบ้านเขาใช้กันไปนานแล้ว) จากนั้นค่อยรีดประสิทธิภาพของเทคโนโลยีใหม่บนกระบวนการ Intel 3 (7nm) ช่วงปลายปี 2023 (Tock) อินเทลจะเปลี่ยนเทคโนโลยีใหญ่อีกรอบ (Tick) ในกระบวนการ Intel 20A ที่บอกว่าเริ่มเข้าสู่ยุคอังสตรอม โดยนำเทคนิคด้านการจ่ายกระแสไฟฟ้าของทรานซิสเตอร์ชื่อ RibbonFET (พัฒนาจาก FinFET ที่ใช้กันทุกวันนี้) และ PowerVia มาใช้ในช่วงต้นปี 2024 แล้วจึงรีดประสิทธิภาพอีกรอบในกระบวนการ Intel 18A ช่วงปลายปี 2024 (Tock) ภาพเปรียบเทียบ FinFET และ RibbonFET ที่ใช้ขนาดทรานซิสเตอร์เล็กลง ในการจ่ายไฟเท่าเดิม ภาพเปรียบเทียบทรานซิสเตอร์ปัจจุบัน ที่ผสมเส้นจ่ายไฟและสัญญาณเข้าด้วยกัน (ซ้าย) และ PowerVia ที่แยกส่วนจ่ายไฟไปไว้ด้านล่างของทรานซิสเตอร์ (ขวา) ที่มา - Intel คลิปอธิบาย RibbonFET และ PowerVia การใช้ EUV อาจเป็นสิ่งที่อินเทลไล่กวดให้ทันคู่แข่ง (technology parity) แต่ RibbonFET และ PoweVia เป็นเทคโนโลยีที่อินเทลพัฒนาเอง และหวังว่าจะช่วยให้อินเทลพลิกกลับมานำหน้าคู่แข่ง (technology leadership) ในแง่กระบวนการผลิตได้ในปี 2025 เป็นต้นไป ตรงนี้คงต้องรอดูกันว่าอินเทลจะสำเร็จตามแผนหรือไม่ เพราะฝั่งของ TSMC และซัมซุงก็คงไม่นอนรออยู่เฉยๆ เช่นกัน 3) แพ็กเกจจิ้ง: EMIB และ Foveros นอกจากการกระบวนการผลิตชิป (process) ที่อินเทลหวังเร่งด้วยยุทธศาสตร์ Tick-Tock และการใช้เทคนิคใหม่ๆ อย่าง RibbonFET และ PowerVia มาช่วยแล้ว อีกเรื่องที่อินเทลพูดถึงเยอะมากในช่วงหลังคือ เทคโนโลยีการทำแพ็กเกจจิ้งของชิป (chip packaging) การผลิตชิปในยุคใหม่เริ่มหันมาสู่สถาปัตยกรรมแบบ modular มากขึ้น มีชิปหลายประเภทอยู่บนแผ่น die อันเดียวกัน แนวทางนี้บุกเบิกโดย AMD ที่ใช้ท่า chiplet มาตั้งแต่ยุค Ryzen และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซีพียู Ryzen เอาชนะอินเทลได้ สามารถเพิ่มจำนวนคอร์ได้ดีกว่า ที่ผ่านมา อินเทลใช้สถาปัตยกรรมแบบแข็งตัว ทุกอย่างรวมเป็นชิ้นเดียว (System on Chip) มานาน แต่เมื่อตลาดพิสูจน์แล้วว่าแนวทางนี้ไปต่อไม่ได้ อินเทลยุคใหม่ก็ต้องปรับตัว และเปลี่ยนตัวเองมาสู่ยุคที่เรียกว่า System on Package แทน (ทั้งอินเทลและ AMD กำลังร่วมกันวางมาตรฐานการเชื่อมต่อนี้ในชื่อ UCIe) ตัวอย่างสินค้าของอินเทลที่ใช้แนวทางนี้ คือจีพียู Ponte Vecchio (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) และซีพียู Meteor Lake ที่จะออกในปี 2023 (น่าจะนับเป็น Gen 14) จะใช้สถาปัตยกรรมแบบ Tile Architecture ที่ยืดหยุ่นต่อการต่อจิ๊กซอชิปมากขึ้น ที่มา - Intel ที่มา - Intel เทคโนโลยีที่อินเทลใช้เชื่อมต่อชิปหลายๆ ตัวเข้าด้วยกัน เรียกว่า "แพ็กเกจจิ้ง" โดยเทคโนโลยีสำคัญของอินเทลมี 2 ตัวคือ EMIB และ Foveros ถ้าให้อธิบายแบบรวบรัด EMIB คือการเชื่อมต่อชิปในแนวนอน (2D scaling) ส่วน Foveros เป็นการเชื่อมต่อในแนวตั้ง (3D stacking) ที่มา - Intel EMIB หรือชื่อเต็ม Embedded Multi-Die Interconnect Bridge เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระหว่างชิปลูกแต่ละตัวในแนวนอน (2.5D) การเชื่อมต่อระหว่างชิปไม่ใช่เรื่องใหม่ในอุตสาหกรรมชิป เทคนิคเดิมที่เคยใช้กันในปัจจุบัน คือการนำแผ่นซิลิคอนอีกแผ่นมาวางซ้อนข้างใต้ชิปลูกที่มาเชื่อมต่อกัน (silicon interposer) แล้วสร้างวงจรเชื่อมต่อในแผ่นซิลิคอนนั้น มีข้อเสียคือเปลืองพื้นที่ของแผ่นซิลิคอนโดยเปล่าประโยชน์ และไม่สามารถวางทับจุดเชื่อมต่อได้ครบ (ดูคลิปประกอบ) EMIB เป็นเทคนิคคล้ายกับการขุดท่อระบายน้ำใต้แผ่นชิปอีกที ข้อดีคือใช้ซิลิคอนปริมาณน้อยกว่ามาก และอินเทลยังแยกชั้นของการส่งสัญญาณข้อมูล (สีน้ำเงิน) ออกจากการส่งพลังงานไฟฟ้า (สีแดง) ให้เป็นสัดส่วนไม่ปะปนกัน ช่วยให้ประสิทธิภาพดีกว่า ปัจจุบัน EMIB ถูกนำมาใช้งานแล้วในชิปรุ่นใหม่ๆ อย่าง Alder Lake (Core 12th Gen) ตอนนี้อินเทลผลิต EMIB ที่ 55 micron และมีแผนขยับขนาดให้เล็กลงเหลือ 45 micron ในกระบวนการผลิตรอบ Intel 3 คลิปอธิบาย EMIB Foveros เป็นเทคนิคการวางชิปซ้อนกันในแนวตั้ง (3D stacking) เพื่อให้การส่งข้อมูลระหว่างชิปมีระยะสั้นกว่าการวางแนวนอน มีกระแสไฟรั่วไหลน้อยลง อินเทลเริ่มใช้เทคนิคการวางเรียงแนวตั้งในซีพียู Lakefield ที่ออกปี 2020 นับเป็น Foveros Gen 1 (50 micron) และพัฒนาต่อจนเป็น Foveros Gen 2 (36 micron) ซึ่งเราจะได้เห็นในซีพียู Meteor Lake ที่ออกในปีหน้า 2023 ภาพแสดง Foveros Gen 1 ของ Lakefield จะเห็นชิปสองชั้นคือ Compute Die ชั้นบน และ Base Die ชั้นล่าง ที่มา - Intel YouTube ภาพการวางชิปชั้นบน (สีดำ) ลงบนชิปชั้นล่าง (สีเทา) โดยขาเชื่อมต่อของชิปชั้นบนคือ Foveros ส่วนช่องสี่เหลี่ยมสีเหลืองในภาพคือ EMIB ที่เป็นการเชื่อมแนวนอน ในระยะถัดไป อินเทลประกาศว่าจะพัฒนา Foveros ต่ออีก 2 ขั้นตอน ได้แก่ Foveros Omni และ Foveros Direct ซึ่งจะนำมาใช้พร้อมกันในช่วงปลายปี 2023 Foveros Omni เป็นเทคนิคการทำขาเชื่อมต่อให้รองรับการเชื่อมหลายทิศทาง (Omni-Directional Interconnect) เพื่อให้ชิปแผ่นบนสามารถใหญ่กว่าแผ่นล่างได้ และเปิดให้วางชิปสลับฟันปลาซ้อนกันได้ (Foveros Gen 2 จำกัดตรงที่แผ่นบนต้องเล็กกว่าแผ่นล่าง) Foveros Direct เป็นอีกเทคนิคที่ทำให้ขาเชื่อมต่อมีขนาดเล็กลงกว่าเดิม (10 micron) เปลืองพื้นที่จุดเชื่อมต่อน้อยลง (วางขาได้ถี่ขึ้น) ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเรื่อง EMIB และ Foveros เพิ่มเติมได้จาก AnandTech ผู้ผลิตชิปรายอื่นอย่าง TSMC ก็มีเทคนิคคล้ายๆ กับ Foveros ชื่อ 3DFabric แต่ดูไม่จริงจังมากเท่ากับอินเทลนัก (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอินเทลมีทั้งฝั่งออกแบบชิป และฝั่งผลิตในบริษัทเดียวกัน ประสานงานกันได้ดีกว่า) ที่ผ่านมาเพิ่งมี AMD นำเทคโนโลยี 3DFabric ไปใช้งานเชื่อมแคช L3 ในแนวตั้ง และออกเป็นซีพียู Ryzen 7 5800X3D วางออกขายเมื่อเร็วๆ นี้ หากวิสัยทัศน์ของอินเทลถูกต้อง อินเทลอาจยังตามหลังในแง่ขนาดของการผลิต (Process) แต่เมื่อชิปยุคหน้าไม่ใช่ชิปใหญ่ตัวเดียว แต่เป็นชิปตัวเล็กๆ จำนวนมากมาเชื่อมต่อกัน อินเทลก็มั่นใจว่าเทคโนโลยีแพ็กเกจจิ้งของตัวเองที่ก้าวหน้ากว่า จะช่วยให้เอาชนะในตลาดนี้ได้ Ponte Vecchio จุดเริ่มต้นที่เชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าวิสัยทัศน์ของอินเทลยุคใหม่ประกอบด้วยแนวคิด 3 เรื่องคือ รองรับสถาปัตยกรรมที่หลากหลายขึ้น (Architecture) ปรับกระบวนการผลิตให้ทันคู่แข่ง (Process) นำเทคโนโลยีด้านแพ็กเกจจิ้งมาช่วย (Packaging) ให้เชื่อมต่อชิปได้หลากหลายขึ้น ชิปยุคใหม่ของอินเทลที่จะบุกเบิกแนวคิดใหม่ทั้ง 3 เรื่องนี้ คือ จีพียูระดับเรือธงของอินเทล Ponte Vecchio ที่จะถูกนำมาใช้ในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Aurora ของกระทรวงพลังงานสหรัฐ มีกำหนดเสร็จช่วงปลายปี 2022 นี้ แกนหลักของ Ponte Vecchio คือแกนจีพียูสถาปัตยกรรม Xe ตัวเดียวกับที่ใช้ในโน้ตบุ๊กและเดสก์ท็อป เพื่อความเข้ากันได้ของซอฟต์แวร์ OneAPI ชุดเดียว จากนั้นเพิ่มด้วยฟีเจอร์ฮาร์ดแวร์ เช่น หน่วยความจำความเร็วสูง HBM2e, การเชื่อมต่อแบบ Xe Link ในฝั่งของกระบวนการจัดแพ็กเกจชิป มันเป็นชิปตัวแรกที่ใช้ทั้ง EMIB และ Foveros ครบเซ็ต (จากภาพด้านล่างจะเห็น tile จำนวนมากมายที่วางซ้อนกัน) ที่มา - Intel สิ่งที่อินเทลไปไกลกว่านั้นอีกคือ ชิปแต่ละชิ้นบนแพ็กเกจของ Ponte Vecchio มาจากคนละแหล่งผลิตกันด้วย โดยบางชิ้นเป็นอินเทลผลิตเองที่ 7nm แต่มีบางชิ้นที่ไปจ้างคู่แข่งคือ TSMC ผลิตให้ (ทั้ง 5nm และ 7nm ตามภาพ) สะท้อนให้เห็นว่า อินเทลยอมเสียศักดิ์ศรี (ที่กินไม่ได้) ไปใช้โรงงานของคู่แข่งที่ทำได้ดีกว่าตัวเองในตอนนี้ แม้ Ponte Vecchio มีแนวคิดก้าวหน้ามากมาย แต่แผนการของอินเทลยังไม่จบแค่นั้น เพราะชิป Ponte Vecchio เป็นแค่จีพียูอย่างเดียว ในการทำงานจริงยังต้องใช้ควบคู่กับซีพียูตระกูล Xeon อยู่ ขั้นถัดไป อินเทลจะออกจีพียู Rialto Bridge ที่ถือเป็นเวอร์ชันอัพเกรดของ Ponte Vecchio (บนสถาปัตยกรรมเดิม) ในปี 2023 หลังจากนั้นในปี 2024 ถึงเป็นของจริงคือชิป XPU ตัวแรก Falcon Shores ที่จะรวมซีพียู x86 กับจีพียู Xe เข้าด้วยกัน ชิปตัวนี้จะรวมทุกอย่างที่กล่าวมาในบทความนี้ คือเป็น XPU (CPU+GPU) ที่ใช้กระบวนการผลิตระดับอังสตรอม และใช้แพ็กเกจจิ้งแบบใหม่ๆ ของอินเทลทั้งหมด อนาคตของอินเทล: ฟิวชั่นเสริมพลัง 2 ฝั่งธุรกิจ ในงานประชุมนักลงทุนของอินเทลเมื่อต้นปี 2022 Raja Koduri หัวหน้าฝ่ายจีพียูของอินเทล ได้โชว์แผนผังวิธีคิดของอินเทลยุคใหม่ ผมคิดว่าแผนภาพนี้รวบยอดให้เราเห็นภาพใหญ่ว่า อินเทลกำลังคิดและทำอะไรบ้าง กระบวนการผลิตชิป แบบ 2 ขา คือ ทำของตัวเองให้ดี แต่ถ้ายังไม่ดี ก็ไม่ฝืนทน ไปจ้าง TSMC ได้ เทคโนโลยีแพ็กเกจจิ้ง ทั้ง EMIB และ Foveros ทั้งหลาย สถาปัตยกรรม ฝั่งซีพียูแยก P-core และ E-core บวกด้วยจีพียู Xe มุ่งสู่โลก XPU ที่มา - Intel การต่อจิ๊กซอของอินเทลน่าสนใจมากทีเดียว จุดต่างของอินเทลจากคู่แข่งอย่างมากคือ อินเทลเป็นบริษัทเดียวที่มีทั้งฝั่งออกแบบซีพียูและฝั่งผลิตซีพียูครบในตัว (integrated device manufacturing หรือ IDM) ต่างจากคู่แข่งผู้ผลิตชิป AMD/NVIDIA ที่ต้องไปประกอบร่างกับโรงงาน TSMC/ซัมซุงเสมอ นโยบาย IDM เคยเป็นจุดแข็ง (ยุค 2000s ที่ไม่มีใครไล่ทัน) แล้วกลับกลายเป็นจุดอ่อน (ยุค 2010s ที่ติดหล่ม 14nm) แต่หลังจากอินเทลเริ่มปรับตัวเป็น IDM 2.0 ที่เปิดกว้างมากขึ้น ยืดหยุ่นต่อโลกมากขึ้น การที่อินเทลมีทั้งสองขา หากประสานงานกันดีๆ กลับไปได้เร็วกว่า อินเทลฝั่งออกแบบ ยืดหยุ่นขึ้นด้วยการแยก P-core และ E-core ให้แยกส่วนกัน เพิ่มจำนวนคอร์สู้ AMD ได้, แก้เกมจนตอนนี้มีจีพียูของตัวเองแล้ว แถมใช้ได้ตั้งแต่โน้ตบุ๊กไปจนถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์, ไปซื้อบริษัท FPGA มาเพิ่ม ถนนทุกสายมุ่งสู่ XPU อินเทลฝั่งผลิต วิ่งตามคู่แข่งให้ทันด้วย Tick-Tock และหวังจะแซงหน้าด้วยเทคโนโลยีที่อยู่ในห้องวิจัยของอินเทลอย่าง RibbonFET, PowerVia, EMIB, Foveros ซึ่งชิปของอินเทลจะได้ใช้ก่อนใครเพื่อน, แก้ปัญหาต้นทุนโรงงานแพงด้วยการเปิดรับจ้างผลิตจากข้างนอก เราอาจเคยเห็น AMD ก้าวนำหน้าอินเทลด้วยการออกแบบซีพียูยุค Ryzen ที่ยืดหยุ่นกว่า (เป็น chiplet เพิ่มจำนวนคอร์ได้ดีกว่า) บวกด้วยการจ้างโรงงาน TSMC ที่มีศักยภาพในการผลิตเหนือกว่า แต่เราเริ่มเห็นจุดอ่อนของการแยกส่วนลักษณะนี้บ้างแล้ว ตัวอย่างคือ เมื่อมาถึงยุคแพ็กเกจจิ้งแบบ 3D เราจะเห็นว่า AMD ต้องพึ่งพา TSMC ซึ่งเคลื่อนตัวได้ไม่เร็วนัก เพราะกระบวนการออกแบบชิปกับการผลิตไม่ซิงก์กัน (AMD จึงทำได้แค่ทำ stacking ให้แคช) แต่อินเทลนั้นผสาน Foveros เข้าไปตั้งแต่กระบวนการออกแบบชิป Ponte Vecchio ตั้งแต่แรกเลย แผนการทั้งหมดของอินเทลยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ตอนนี้อาจเรียกได้ว่าอยู่ในจุดครึ่งทาง แต่อินเทลก็มีแผนการปล่อยของที่ชัดเจนเรียบร้อยแล้วว่าจะออกอะไรปีไหน ถ้าหากเรารอดูกันจนถึงปี 2024-2025 ที่แผนการของอินเทลออกดอกออกผลเต็มขั้นแล้ว อินเทลก็คงกลับมาเป็นบริษัทที่น่ากลัวมากทีเดียว ตารางสรุปแผนการด้านการผลิตของอินเทล โดย AnandTech
# Elon Musk โพสต์มีมเย้ยบริษัท Twitter บอกไปเจอกันที่ศาล จะได้เผยข้อมูลจำนวนบ็อต จากกรณี Elon Musk ล้มดีลซื้อ Twitter โดยฝั่ง Twitter ระบุว่าจะฟ้องศาลเพราะมั่นใจว่าทำตามสัญญาซื้อกิจการครบถ้วน ล่าสุดวันนี้ Elon Musk ออกมาโพสต์ตอบโต้บริษัท Twitter (โดยโพสต์บน Twitter) เป็นมีมภาพตัวเขาเองกำลังหัวเราะเยาะ Twitter ที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลบัญชีบ็อตได้ และจะขอให้ศาลสั่งเขาซื้อบริษัทตามเดิม ซึ่งเขามองว่าการขึ้นศาลจะทำให้ Twitter ต้องเปิดเผยข้อมูลเรื่องบ็อตต่อสาธารณะ ส่วนเรื่องความคืบหน้าของคดี Bloomberg รายงานว่าบริษัท Twitter จ้างบริษัททนายชื่อดัง Wachtell, Lipton, Rosen & Katz (ทั้งหมดคือชื่อของบริษัทเดียว) ให้มาช่วยทำคดีนี้ โดยคาดว่าทนายจะยื่นเรื่องฟ้องศาลของรัฐเดลาแวร์ (ตามที่อยู่จดทะเบียนบริษัทตามกฎหมาย) ภายในสัปดาห์นี้ ที่มา - Bloomberg
# STMicroelectronics และ GlobalFoundries ร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตชิปใหม่ในฝรั่งเศส บริษัทผลิตชิป 2 รายคือ STMicroelectronics และ GlobalFoundries (น่าสนใจว่าเป็นบริษัทที่เขียนชื่อยาวๆ ติดกันไม่เว้นวรรคเหมือนกัน) ประกาศร่วมทุนเพื่อตั้งโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ในประเทศฝรั่งเศส STMicroelectronics เป็นบริษัทที่เกิดจากการควบรวมของบริษัทอิตาลี (SGS) และฝรั่งเศส (Thomson) มาตั้งแต่ปี 1987 มีฐานโรงงานผลิตชิปอยู่ทั้งในฝรั่งเศสและอิตาลีอยู่หลายแห่ง ภายใต้ข้อตกลงร่วมทุนนี้ จะดึงเอา GlobalFoundries (ตัวย่อ GF โรงงานของ AMD เดิม) ที่ปัจจุบันเจ้าของคือกองทุนแห่งชาติของ UAE จะตั้งโรงงานใหม่ที่เมือง Crolles ของฝรั่งเศส ซึ่ง ST มีโรงงานอยู่ก่อนแล้ว โรงงานแห่งใหม่จะพร้อมเดินสายการผลิตเต็มที่ในปี 2026 มีกำลังผลิตแผ่นเวเฟอร์ขนาด 300mm ได้ 620,000 แผ่นต่อปี โรงงานแห่งนี้ยังได้งบช่วยสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ที่พยายามจูงใจให้เกิดการผลิตชิปบนแผ่นดินฝรั่งเศสมากขึ้นด้วย ภาพโรงงานของ STMicroelectronics ที่เมือง Crolles ที่มา - STMicroelectronics, The Register
# Google Play Games บน Windows เปิดทดสอบในไทยแล้ว กูเกิลเปิดทดสอบ Google Play Games บน Windows เพิ่มอีก 2 ประเทศ ได้แก่ไทยและออสเตรเลีย หลังจากเปิดทดสอบใน 3 ประเทศเมื่อต้นปี การเปิดทดสอบนี้ใช้ระบบ waitlist ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านหน้าเว็บไซต์ และดูรายชื่อเกมที่รองรับได้บนหน้าร้านค้า ที่มา - 9to5Google
# KBank เตรียมลงทุน 22,000 ล้านบาท เล็งปิดดีลซื้อกิจการ 2-5 ดีลใน 2 ปี ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับปีนี้และในช่วงอีกสองปีข้างหน้า ธนาคารกสิกรไทยจะลงทุนประมาณ 22,000 ล้านบาทในระบบต่างๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเติมจากที่ลงทุนไปแล้ว 12,700 ล้านบาทตลอดสองปีที่ผ่านมา และในอีก 12 เดือนข้างหน้านี้ ธนาคารคาดว่าจะปิดดีลซื้อกิจการและความร่วมมือในเชิงพาณิชย์กับกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี 2-5 ดีล โดยใช้เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท 3 การพลิกโฉม ที่เกิดขึ้นเป็น ‘ครั้งแรก’ ขณะนี้ธนาคารกสิกรไทยกำลังบุกเบิกเรื่องการปล่อยสินเชื่อเฉพาะทาง ที่เรียกว่า buy-now-pay-later ให้กับผู้ที่ทำงานอิสระ หรือ ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ โดยจะพิจารณาอนุมัติจากข้อมูลอื่นๆ แทน ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ที่ได้ใช้วิธีการดังกล่าวไป ธนาคารกสิกรไทยอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ย 1,600 รายต่อวัน มีวงเงินสินเชื่อโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท และสูงสุด 20,000 บาทในบางราย เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากในกลุ่มผู้ประกอบการประเภทนี้ เป็นผู้ที่ไม่มีเอกสารหลักฐานทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ และถูกบังคับให้ต้องหันไปหาเงินกู้จากแหล่งอื่นๆ ที่มีดอกเบี้ยแพง ขัตติยากล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และรวมไปถึงกลุ่มอาชีพอิสระไม่ว่าจะรายได้สูงหรือต่ำ คือไม่มีเวลาไปติดต่อใช้บริการที่สาขาธนาคาร หรืออาจจะรู้สึกไม่สบายใจนักที่จะเข้าไปติดต่อขอใช้บริการ นอกจากนี้ ยังมีบริการ LINE BK ที่เกิดจากความร่วมมือกับ LINE เปิดโอกาสให้สมัครขอสินเชื่อได้ โดยรู้ผลอนุมัติภายใน 24 ชั่วโมง และถ้าเป็นผู้ที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกสิกรไทยอยู่แล้ว จะสามารถสมัครขอสินเชื่อและรู้ผลการอนุมัติได้ภายในเวลาประมาณ 5 นาที จากฐานข้อมูลในปัจจุบัน พบว่าในจำนวนผู้ขอสินเชื่อผ่านบริการ LINE BK ในแอปพลิเคชัน LINE ทั้งหมด มีถึงหนึ่งในสามเป็นผู้ที่เพิ่งเคยได้รับเงินกู้จากธนาคารเป็นครั้งแรกในชีวิต เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประมาณครึ่งหนึ่งมีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน และเกือบ 80% อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ทั้งนี้ คาดหวังว่า ภายในสิ้นปีนี้ตั้งเป้าจะมีลูกค้ารายย่อยรวมถึงธุรกิจขนาดเล็กได้รับสินเชื่อจำนวนกว่า 600,000 ราย รวมวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ขยายช่องทางเข้าถึงบริการธนาคารในต่างจังหวัดผ่านร้านขายของชำ ธนาคารกสิกรไทยยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับกลุ่มค้าปลีก เพื่อนำเสนอช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อมให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดเล็กของครอบครัวในต่างจังหวัด โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนั้น ธนาคารกสิกรไทยยังตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อรายย่อยแก่ลูกค้าของร้านค้าดังกล่าวอีกด้วย ธนาคาร ตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีนี้จะสามารถขยายจำนวนร้านค้าที่ให้บริการปล่อยสินเชื่อเข้าไปในต่างจังหวัด ได้มากกว่าพันๆ ร้านค้าผ่านเครือข่ายพันธมิตร
# ตลาดศูนย์ข้อมูลสิงคโปร์เฟื่องฟู อัตราการเช่าแทบเต็มร้อย ผลตอบแทน 6.5% ต่อปี Colliers ผู้ให้บริการจัดการการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ออกรายงานถึงธุรกิจศูนย์ข้อมูลในสิงคโปร์ว่ากำลังเป็นธุรกิจที่มีความต้องการสูง ผลตอบแทนค่อนข้างดีอยู่ที่ 6.5% นับว่าดีกว่าพื้นที่สำนักงาน, หรือพื้นที่ค้าปลีก แม้ว่าการขออนุญาตในช่วงหลังจะยากขึ้นจากเงื่อนไขด้านประสิทธิภาพพลังงานก็ตาม ในปี 2021 มีศูนย์ข้อมูลในสิงคโปร์ทั้งหมดมากกว่า 70 แห่ง รวมอัตราการใช้พลังงานมากกว่า 1,000MW เป็นพื้นที่ให้เช่าประมาณ 4 ล้านตารางฟุตหรือคิดตามพลังงานประมาณ 600MW ที่ผ่านมาอัตราการใช้งานรวมอยู่ในประมาณ 88% แต่ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา อัตราการใช้งานก็เกือบเต็มร้อย ทำให้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีความต้องการใช้ศูนย์ข้อมูลสูง แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็จำกัดการออกใบอนุญาตเพิ่มเติม โดยปีนี้ศูนย์ข้อมูลใหม่จะใช้พลังงานรวมไม่เกิน 60MW และมีข้อกำหนดว่าประสิทธิภาพพลังงานต้องมีค่า PUE ต่ำกว่า 1.3 ที่มา - Colliers กราฟแสดงอัตราการเพิ่มซัพพลายศูนย์ข้อมูล และอัตราการใช้งานศูนย์ข้อมูลในสิงคโปร์
# นักพัฒนาเปิดตัวโครงการ Bun รันไทม์จาวาสคริปต์ที่เร็วกว่า Node และ Deno Jarred Sumner นักพัฒนา Front End เปิดตัวโครงการ Bun รันไทม์จาวาสคริปต์ที่พยายามแข่งกับ Node และ Deno โดยชูจุดเด่นที่ความเร็วเหนือกว่ารันไทม์ยอดนิยมในหลายๆ ด้าน มันมาพร้อมกับตัวจัดการแพ็กเกจและตัวแปลงโค้ด (transpile) จาก TypeScript เป็นจาวาสคริปต์ในตัว Bun พัฒนาด้วยภาษา Zig ตัว Summer ผู้พัฒนาระบุว่าเขาออปติไมซ์เพิ่มเติมหลายอย่างเพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น โดยเฉพาะการเริ่มรัน และการติดตั้ง dependencies ที่อาศัยการออปติไมซ์การเรียก system call จนประสิทธิภาพดีกว่าตัวจัดการแพ็กเกจอื่นๆ นับสิบเท่า ระบบฐานข้อมูลแพ็กเกจใช้ไฟล์ไบนารีแทน JSON เพื่อลดเวลาการ parse ตอนนี้ Bun ยังอยู่ในระดับทดสอบเท่านั้น และอิมพลีเมนต์ API ของ Node ไปประมาณ 90% ทำให้โมดูลจำนวนหนึ่งใช้งานได้แล้วแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ ที่มา - Bun.sh
# สหรัฐฯ ยื่นฟ้องชายไมอามีขายอุปกรณ์เน็ตเวิร์คซิสโก้ปลอม พบนำเข้าอุปกรณ์จากจีนนับหมื่นรายการ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยื่นฟ้อง Onur Aksoy ชายชาวไมอามีวัย 38 ปี ข้อหานำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์เน็ตเวิร์คซิสโก้ปลอมนับหมื่นรายการ รวมมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ อุปกรณ์ที่ Aksoy นำเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ดัดแปลงอุปกรณ์จากรุ่นต่ำกว่าหรือรุ่นเก่าให้กลายเป็นรุ่นสูง, อุปกรณ์ใช้แล้ว, หรือบางครั้งก็ไม่ผ่านมาตรฐาน อุปกรณ์หลายชิ้นถูกดัดแปลงให้ติดตั้งซอฟต์แวร์ของซิสโก้โดยหลบเลี่ยงตัวตรวจสอบไลเซนส์ จากนั้นนำสินค้ามาใส่กล่องพร้อมติดสติกเกอร์ให้ดูเหมือนเป็นสินค้าออกมาจากโรงงานโดยตรง Aksoy ต้้งบริษัทเพื่อจำหน่ายสินค้าเหล่านี้อย่างน้อย 19 บริษัท และเปิดร้านบน Amazon ทั้งหมด 15 ร้าน บน eBay 10 ร้าน ลูกค้าที่ถูกหลอกนั้นรวมถึงโรงพยาบาล, หน่วยงานรัฐ, และหน่วยงานทหารด้วย ที่มา - Justice.gov ภาพโดย Johannes Weber
# บริษัทไอทีรัสเซีย RusBITech ผู้สร้างลินุกซ์ Astra เติบโต เตรียมขายหุ้น IPO บริษัทไอทีรัสเซีย RusBITech ผู้สร้างดิสโทรลินุกซ์สัญชาติรัสเซีย Astra Linux เตรียมขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์มอสโก ธุรกิจของ RusBITech ไม่ได้ทำแค่ลินุกซ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังทำซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย, simulation, decision support, 3D visualization โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาครัฐของรัสเซีย เช่น กระทรวงกลาโหม, กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานด้านข่าวกรอง (FSB) RusBITech ยังพัฒนาดิสโทรลินุกซ์ Astra Linux ที่ต่อยอดมาจาก Debian โดยพัฒนาให้รองรับสถาปัตยกรรมซีพียู Baikal ของรัสเซีย และนิยมใช้งานในกองทัพรัสเซียด้วย การที่รัสเซียถูกกีดกันทางการค้า ทำให้บริษัทไอทีจากชาติตะวันตกจำนวนมากต้องถอนตัวออกจากรัสเซีย ก็ไม่น่าแปลกใจนักที่บริษัทไอทีของรัสเซียอย่าง RusBiTech ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานด้านการทหารของรัสเซียจะเติบโตขึ้น ที่มา - The Register
# อดีตทีมพัฒนา The Last of Us Part I บอกเกมคุณภาพสูงมาก ไม่ได้สักแต่รีเมคเพื่อหาเงิน เดือนที่แล้ว เราเห็นข่าวเซอร์ไพร์สของวงการเกมคือ The Last of Us Part I ที่เป็นการรีเมคเกมภาคแรก ที่ออกในปี 2013 ข่าวนี้ทำให้แฟนๆ ส่วนหนึ่งไม่พอใจที่สตูดิโอ Naughty Dogs ไม่คิดสร้างเกมใหม่ และหากินซ้ำซ้อนกับเกมนี้ (หลังออกเกมภาคแรก และมีรีมาสเตอร์มารอบหนึ่ง) ยิ่งบวกกับกระแสการรีเมคหรือรีมาสเตอร์เกมดังๆ หลายเกมในช่วงนี้ที่ออกมาไม่ค่อยดีนัก (เช่น GTA Remastered) ล่าสุดมีอดีตทีมพัฒนาของเกมภาครีเมค Robert Morrison ออกมาตอบโต้ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยเขาบอกว่าเกมนี้ไม่ได้เป็นแค่โปรเจคหาเงิน (It’s just a cash grab) แต่คุณภาพและรายละเอียดของเกมถือว่าดีที่สุดตั้งแต่เขาอยู่ในอาชีพนักพัฒนาเกมมาเลย โปรไฟล์ของ Robert Morrison ระบุว่าเขาเคยผ่านงานพัฒนาเกมใหญ่ๆ มาแล้วหลายเกม เช่น Resident Evil 7, Injustice 2, God of War (2018), The Last of Us Part I และล่าสุดเขาย้ายจาก Naughty Dog มาทำงานในสตูดิโอของโซนี่อีกแห่งคือ Bend Studio ที่ทำเกม Days Gone Morrison ยอมรับว่าราคาเกม The Last of Us Part I ที่ตั้งราคา 70 ดอลลาร์นั้นอยู่นอกเหนือการควบคุมของเขาแล้ว ตรงนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าแต่ละคนจะตัดสินใจเองว่ายอมจ่าย (ซ้ำอีกรอบ) หรือไม่ แต่สิ่งที่เขาอยากบอกคือตัวคุณภาพเกมและการทุ่มเทของทีมพัฒนานั้นสูงมาก ที่มา - Eurogamer
# Gmail เวอร์ชันเว็บ ปรับหน้าตาช่อง To เพิ่มเมนูคลิกขวา, เตือนชื่อซ้ำ, เตือนส่งเมลนอกองค์กร เมื่อเดือนตุลาคม 2021 กูเกิลเคยอัพเกรดช่อง To: ในหน้าเขียนอีเมลของ Gmail เวอร์ชันเว็บให้มีฟีเจอร์เพิ่มขึ้นหลายอย่าง เช่น เพิ่มรูปอวตารของผู้รับ, คลิกขวาที่ชื่อผู้รับเพื่อคัดลอกหรือแก้ไขได้, เพิ่มป้ายแจ้งเตือนเวลาส่งเมลหาคนนอกองค์กร (Google Workspace) และแจ้งเตือนเวลาใส่ชื่อผู้รับซ้ำสองที อย่างไรก็ตาม กูเกิลปล่อยฟีเจอร์นี้ออกมาให้ผู้ใช้ส่วนหนึ่งแล้วต้องหยุดไป เพราะเจอปัญหาประสิทธิภาพ จึงขอหยุดพักเพื่อไปแก้ไข หลังจากเวลาผ่านมาเกือบปี กูเกิลกลับมาปล่อยฟีเจอร์นี้อีกครั้งแล้ว (แปลว่าอาจมีบางคนเคยได้มาก่อนนานแล้ว และมีบางคนที่เพิ่งได้) ที่มา - Google Workspace, Android Police
# NFL ยืนยันจะทำบริการสตรีมมิ่งของตัวเอง NFL+ ถ่ายทอดสดอเมริกันฟุตบอล Roger Goodell ประธานลีกอเมริกันฟุตบอล NFL ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ยืนยันว่าจะทำบริการสตรีมมิ่งของตัวเองชื่อ NFL+ ในฤดูกาลแข่งขันใหม่ 2022 ที่จะเริ่มในเดือนกันยายนนี้ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าบริการ NFL+ จะมีเนื้อหาอะไรให้ชมบ้าง และมีแพ็กเกจราคาอย่างไร โดย Goodell บอกเพียงว่าบริการในช่วงเริ่มต้นจะยังค่อนข้างจำกัด แต่จะค่อยๆ เพิ่มเนื้อหาให้ดีขึ้นในระยะยาว ที่ผ่านมา ลีก NFL ใช้วิธีขายไลเซนส์การถ่ายทอดสดบางคู่สำคัญให้บริการสตรีมมิ่งอื่นๆ เช่น ESPN+, Amazon Prime, Apple TV+ นอกเหนือจากการถ่ายทอดผ่านทีวีตามปกติ และในฤดูกาลใหม่จะยังคงแนวทางนี้ต่อไป แต่ข่าวที่ว่า NFL อยากทำบริการสตรีมมิ่งของตัวเอง ก็สะท้อนทิศทางของโลกกีฬาที่มุ่งไปยังทิศทางนี้ในระยะยาว เช่นเดียวกับ FIFA จะทำบริการ FIFA+ ของตัวเอง ที่มา - CNBC
# [ลือ] Apple Watch รุ่นทนทานพิเศษ จะใช้ชื่อ Apple Watch Pro หน้าปัดใหญ่ แบตอึดขึ้น Mark Gurman แห่ง Bloomberg รายงานข้อมูลสินค้าใหม่ในจดหมายข่าวรายสัปดาห์ Power On ตอนล่าสุด พูดถึง Apple Watch รุ่นบน และฟีเจอร์ใหม่ มีรายละเอียดดังนี้ ประเด็นแรกเขาพูดถึง Apple Watch รุ่นทนทานพิเศษ ซึ่งมีข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเขาบอกว่าแอปเปิลอาจเรียกรุ่นนี้ว่า Apple Watch Pro จุดขายคือหน้าปัดที่ใหญ่ขึ้น แบตเตอรี่ที่นานขึ้น กลุ่มเป้าหมายหลักคือคนที่ซื้อ Garmin เขายังให้ข้อมูลว่าการมาของ Apple Watch Pro จะมาพร้อมกับการสิ้นสุดการขาย Apple Watch Edition รุ่นบนสุดที่ตัวเรือนเป็นไทเทเนียมด้วย ส่วนราคาขายประเมินว่าอยู่ช่วง 900-1,000 ดอลลาร์ นอกจากนี้เขายังพูดถึงฟีเจอร์ใหม่ใน watchOS 9 ซึ่งยังไม่ประกาศออกมา เพราะยังทำไม่เสร็จ แต่อาจประกาศเร็ว ๆ นี้ แบบ Lockdown Mode ของ iOS 16 นั่นคือโหมด Low-Power ที่ใช้พลังงานต่ำ แต่ยังเข้าถึงแอปต่าง ๆ ใน Apple Watch ได้ จากที่ปัจจุบันมีเฉพาะโหมด Power Reserve ที่ปิดทุกฟีเจอร์ เหลือแค่นาฬิกาเท่านั้น ที่มา: 9to5Mac
# รถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดฝั่งยุโรป เริ่มไม่ให้วิทยุ AM มาด้วย บอกคลื่นรบกวน-คนไม่นิยม เว็บข่าวสายรถยนต์ The Drive ชี้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะจากฝั่งยุโรป เช่น BMW, Volvo, Audi, Porsche (รวมถึง Tesla รุ่นหลังปี 2018) เริ่มไม่ใส่ตัวรับสัญญาณวิทยุแบบ AM เข้ามาให้แล้ว เหตุผลที่ตัดวิทยุ AM นั้นแตกต่างกันไป โดย The Drive อ้างคำตอบจาก BMW และ Volvo ว่าเป็นเพราะคลื่นวิทยุ AM เจอปัญหาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนจากเครื่องยนต์ของรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้คุณภาพเสียงแย่ลงจนถึงระดับที่ต้องตัดออกไป อย่างไรก็ตาม The Drive ชี้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าฝั่งอเมริกา เช่น Ford, GM, Stellantis (Chrysler เดิม) กลับไม่มีปัญหานี้ รถยนต์ส่วนใหญ่ยังมีตัวรับวิทยุ AM มาให้ และผู้ใช้งานหลายรายก็ยืนยันว่าคุณภาพเสียงไม่มีปัญหา The Drive จึงมองว่าเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากยุโรปเลิกใช้วิทยุ AM กันไปเยอะแล้ว และเปลี่ยนมากระจายสัญญาณแบบดิจิทัล (Digital Audio Broadcasting หรือ DAB) กันแทน ทำให้ค่ายรถฝั่งยุโรปเลือกไม่ใส่ตัวรับ AM เข้ามา ในขณะที่ฝั่งอเมริกานั้นยังฟังวิทยุ AM กันอยู่มาก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง การขับรถระหว่างเมือง ที่การกระจายสัญญาณ FM ให้ครอบคลุมทำได้ยากกว่าในยุโรปมาก ภาพจาก BMW ที่มา - The Drive
# [ลือ] กูเกิลเสนอแยกธุรกิจโฆษณาเป็น 2 ส่วนแก้ผูกขาด ย้ายบางส่วนไปสังกัด Alphabet Wall Street Journal รายงานข่าวว่า กูเกิลกำลังเจรจากับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐเรื่องการผูกขาดตลาดโฆษณาออนไลน์ และกูเกิลเสนอทางเลือกให้ว่า จะแยกธุรกิจโฆษณาบางส่วนออกจากกูเกิล ตั้งเป็นอีกบริษัทที่สังกัดบริษัทแม่ Alphabet แทน ธุรกิจโฆษณาของกูเกิลแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ฝั่งกูเกิลเป็นผู้ขายพื้นที่โฆษณา (กูเกิลเป็นเจ้าของพื้นที่เอง เช่น AdWords) และฝั่งกูเกิลเป็นผู้ซื้อพื้นที่โฆษณา (ลงโฆษณาในพื้นที่ของคนอื่น เช่น AdSense) โดยมีระบบประมูลโฆษณาของกูเกิลเป็นแกนกลาง การที่กูเกิลมีสถานะเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย จึงมีผลประโยชน์ทับซ้อนและอาจใช้ข้อมูลตรงนี้กีดกันคู่แข่งได้ และเป็นสิ่งที่ให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐเข้ามาสนใจกำกับดูแล โดยทั่วไปแล้ว แนวทางแก้ปัญหานี้คือแยกฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายออกจากกันเป็น 2 องค์กรที่ไม่ทำงานด้วยกันโดยตรง ข้อเสนอของกูเกิลคือ แยกธุรกิจฝั่งขายออกไปอยู่กับ Alphabet ส่วนธุรกิจฝั่งซื้อยังอยู่กับกูเกิลเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ Ars Technica ชี้ว่าแนวทางนี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เพราะธุรกิจฝั่งขายจะรายงานตรงต่อ Sundar Pichai ซีอีโอของ Alphabet และธุรกิจฝั่งซื้อจะอยู่กับ Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิลอยู่ดี นอกจากนี้ Alphabet และกูเกิลยังใช้ CFO คนเดียวกันด้วย ภาพจาก Google ที่มา - Wall Street Journal, Ars Technica
# เวลาผ่านมา 8 เดือน ผลทดสอบประสิทธิภาพ Windows 11 ทัดเทียมกับ Windows 10 แล้ว Puget Systems บริษัทผู้ผลิตพีซีแบบคัสตอมที่เน้นการรีดประสิทธิภาพ ทดลองรันเบนช์มาร์คเปรียบเทียบระหว่าง Windows 10 และ Windows 11 หลังออกตัวจริงมาแล้ว 8 เดือน Puget เคยรันเบนช์มาร์คชุดนี้มาแล้วตอน Windows 11 ออกใหม่ๆ และพบว่ายังด้อยกว่า Windows 10 ในหลายด้าน ซึ่งเหตุผลหนึ่งมาจากตัวแอพพลิเคชันเองยังไม่ซัพพอร์ต Windows 11 อย่างเป็นทางการ รอบนี้เวลาผ่านมา 8 เดือน ตัวระบบปฏิบัติการเองออกแพตช์แก้บั๊กมาแล้วหลายรอบ และแอพพลิเคชันก็ทยอยซัพพอร์ตกันแล้ว การทดสอบของ Puget ใช้คอมพิวเตอร์ 3 ชุด (Ryzen 9, Threadripper Pro 5995W/5975W, Core i9-12900K) รันการทดสอบ 5 หมวดคือ การตัดต่อวิดีโอ, การแต่งภาพ, การเรนเดอร์ 3D ด้วยซีพียู และด้วยจีพียู, การสร้างเกมด้วย Unreal Engine ผลออกมาว่า Windows 11 มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Windows 10 แล้ว แม้ในบางการทดสอบยังได้คะแนนน้อยกว่าเล็กน้อย (เช่น การตัดต่อวิดีโอด้วย Premier Pro หรือ After Effect) บางการทดสอบดีกว่าเล็กน้อย (เช่น Photoshop) และมีบางการทดสอบที่ทำได้ดีกว่ามาก (เช่น เบนช์มาร์ค V-Ray ด้วยจีพียู และการรัน Unreal Engine บน i9-12000K) ข้อสรุปของ Puget คือในการใช้งานทั่วๆ ไป Windows 10 กับ 11 แทบไม่ต่างกันแล้วเรื่องประสิทธิภาพ แต่ในบางกรณีอาจต้องมาทดสอบกันจริงๆ จังๆ ว่าระบบปฏิบัติการตัวไหนทำได้ดีกว่า ซึ่งแตกต่างกันไป ที่มา - Puget Systems
# [ลือ] Galaxy S23 จะใช้ชิป Snapdragon อย่างเดียว เพราะ Exynos สู้ไม่ได้แล้ว Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์ชื่อดังที่เราเห็นชื่อบ่อยๆ จากข่าวลือสายแอปเปิล ออกมาพยากรณ์ข่าวฝั่งซัมซุงบ้าง โดยบอกว่า Galaxy S23 เรือธงของซัมซุงในปีหน้า มีโอกาสที่จะใช้ชิป Qualcomm Snapdragon รุ่นใหม่เพียงตัวเดียว ไม่แยกเป็นรุ่น Snapdragon กับ Exynos เหมือนที่แล้วๆ มา เหตุผลของ Kuo บอกว่าชิป Exynos 2300 รุ่นหน้าของซัมซุงมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ ไม่สามารถแข่งกับ Snapdragon รุ่นหน้า (รหัส SM8550 ซึ่งน่าจะใช้ชื่อ Snapdragon 8 Gen 2) ได้ ทำให้ซัมซุงจำใจต้องใช้ชิป SM8550 ทั้งหมดแทน Kuo ยังบอกว่า SM8550 ปรับแต่งมาสำหรับกระบวนการผลิตของ TSMC อย่างเต็มที่ ทำให้แก้ปัญหาเรื่องพลังงานและประสิทธิภาพได้แล้ว และเมื่อเทียบกับ Exynos แล้วทำให้เห็นความแตกต่างชัดเจน ที่มา - SamMobile
# เปิดตัว Xiaomi 12 Lite มือถือสีสดใส น้ำหนักเบา กล้องหลัก 108MP ชิป Snapdragon 778G Xiaomi เปิดตัวสมาร์ทโฟน Xiaomi 12 Lite ซึ่งประกาศชัดว่าเน้นทำตลาดนอกประเทศจีน โดยยังคงแนวทางดีไซน์ตัวเครื่องสีสันสดใสเหมือนรุ่นพี่ Xiaomi 11 Lite รุ่นของปีที่แล้ว แต่ลดจำนวนสีลงเหลือ 3 สีคือ เขียว ชมพู และดำ (รุ่นเดิม 6 สี) จุดขายของ Xiaomi Lite ยังคงเน้นความบางเบา หนา 7.29mm หนัก 173g (มากกว่า 11 Lite เล็กน้อย) และอัพเกรดกล้องหลักจากเดิม 64MP มาเป็น 108MP สเปกของ Xiaomi 12 Lite หน้าจอ 6.55" AMOLED FHD+ อัตรารีเฟรช 120Hz รองรับ HDR10+ และ Dolby Vision หน่วยประมวลผล Snapdragon 778G กล้องหลังหลัก 108MP เซ็นเซอร์ Samsung HM2, อัลตร้าไวด์ 8MP, มาโคร 2MP กล้องหน้า 32MP เซ็นเซอร์ Samsung GD2 แบตเตอรี่ 4,300 mAh รองรับชาร์จเร็ว 67W Android 12 ครอบด้วย MIUI 13 ราคาขายแยกตามความจุดังนี้ 6GB+128GB ราคา 399 ดอลลาร์ 8GB+128GB ราคา 449 ดอลลาร์ 8GB+256GB ราคา 499 ดอลลาร์ ที่มา - Xiaomi
# Red Dead Online เลิกออกอัพเดตใหญ่ประจำปี ขอย้ายทีมไปช่วยทำ GTA6 แทน Rockstar ประกาศลดความสำคัญของการออกเนื้อหาใหม่ให้เกมคาวบอยออนไลน์ Red Dead Online เพื่อนำทรัพยากรไปพัฒนา GTA6 Red Dead Online จะยังมีกิจกรรมรายเดือน และกิจกรรมพิเศษตามเทศกาล แต่จะไม่มีอัพเดตเนื้อหาใหญ่ประจำปีอีกแล้ว (ของปี 2021 คือ Blood Money) ปีนี้จะเป็นภารกิจขนาดเล็กลงชื่อ Telegram Missions แทน ส่วนเกม GTA Online ที่เป็นบริการคู่ขนานกัน และมีจำนวนผู้เล่นเยอะกว่ามาก จะยังได้อัพเดตเนื้อหาใหม่ๆ ต่อเช่นเดิม ทาง Rockstar บอกว่าการออกเกมเวอร์ชัน PS5 และ Xbox Series X|S ยิ่งทำให้จำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้นด้วย ที่มา - Rockstar
# Verizon แจกมือถือฝาพับ 4G ฟรีให้ลูกค้าที่ยังใช้โทรศัพท์ 3G ก่อนหยุดให้บริการ 3G ในปีนี้ เมื่อปีที่แล้ว Verizon ค่ายโทรศัพท์ของสหรัฐฯ​ ประกาศจะปิดเครือข่าย 3G ทั้งหมดภายในสิ้นปี 2022 นี้ ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีลูกค้าจำนวนไม่มากที่ยังไม่อัพเกรดและใช้โทรศัพท์ 3G ทำให้ Verizon ตัดสินใจจะแจกโทรศัพท์ 4G ให้ลูกค้ากลุ่มนี้เพื่อให้สามารถใช้งานต่อได้หลังจาก 3G หยุดให้บริการ โทรศัพท์ที่ Verizon จะแจกให้ลูกค้าจะเป็นหนึ่งในสามรุ่นดังต่อไปนี้ คือ Orbic Journey V (ราคา 99.99 ดอลลาร์), TCL Flip Pro (ราคา 79.99 ดอลลาร์) และ Nokia 2720 V Flip (ราคา 79.99 ดอลลาร์) ซึ่งทั้งหมดเป็นโทรศัพท์ฝาพับธรรมดา เพื่อให้ผู้ใช้เปลี่ยนไปใช้ 4G ให้ได้ ลูกค้าสามารถแลกโทรศัพท์เป็นอย่างอื่นได้หลังจากได้รับแล้ว และตัวโทรศัพท์จะ activate อัตโนมัติหลังจากส่งไปแล้ว 30 วัน หากลูกค้าไม่ activate เอง สำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการโทรศัพท์ 4G ที่ Verizon จะแจกให้ต้องโทรไปแจ้งศูนย์บริการลูกค้าของ Verizon ว่าต้องการปฏิเสธโทรศัพท์ฟรีจากการหยุดให้บริการเครือข่าย CDMA ที่มา - The Verge ภาพจาก Verizon
# ตำรวจเหล็ก RoboCop กลับมาอีกครั้ง เป็นเกมยิง FPS ชื่อ Rogue City ออกขายปี 2023 Teyon สตูดิโอเกมจากโปแลนด์ที่เคยมีผลงานเกม Terminator: Resistance ในปี 2019 เปิดตัวเกมใหม่ RoboCop: Rogue City เกมใหม่ในจักรวาล RoboCop กำหนดออกปี 2023 เกม RoboCop: Rogue City เดินเรื่องต่อจากภาพยนตร์ RoboCop 3 ที่ฉายในปี 1993 รูปแบบเกมเพลย์เป็น FPS ที่เราได้เล่นเป็นตำรวจเหล็ก RoboCop ต่อสู้กับแก๊งอาชญากรรมในเมือง Detroit โดยได้ Peter Weller ที่รับบทเป็น RoboCop ฉบับภาพยนตร์มาพากย์เสียงในเกมให้ด้วย เกมมีกำหนดขายเดือนมิถุนายน 2023 ลง PC, PS5, Xbox Series X|S จัดจำหน่ายโดยบริษัทเกมฝรั่งเศส Nacon ที่มา - Eurogamer
# Blizzard ประกาศหยุดอัพเดตเนื้อหาให้ Heroes of the Storm แต่ยังให้บริการต่อ Blizzard ประกาศหยุดอัพเดตเนื้อหาใหม่ให้ Heroes of the Storm เกมแนว MOBA ที่ใช้ตัวละครจากจักรวาล Blizzard จากนี้ไป Heroes of the Storm จะเข้าสถานะให้บริการโดยไม่มีเนื้อหาใหม่ (ลักษณะเดียวกับ StarCraft และ StarCraft II) โดยอาจมีการสลับตัวฮีโร่บ้าง และยังขายไอเทมในเกมตามปกติ (แต่ไม่ออกไอเทมใหม่แล้ว) ตัวไคลเอนต์จะเหลือแค่การอัพเดตเพื่อแก้บั๊กเป็นหลัก Heroes of the Storm ออกเมื่อปี 2015 เป็นความพยายามของ Blizzard ในการจับตลาด MOBA ที่เติบโตรวดเร็วในช่วงนั้น (จากกระแสของ Dota ที่เป็น mod ของเกม Warcraft III มาก่อน) แนวทางคือรวมตัวละครจาก Blizzard เช่น Warcraft, StarCraft, Diablo และภายหลังคือ Overwatch โดยตอนแรกสุดเกมมีโค้ดเนมว่า Blizzard All-Stars อย่างไรก็ตาม เกม Heroes of the Storm กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนักเมื่อเทียบกับเกม MOBA คู่แข่ง ทั้ง Dota 2 ของ Valve และ League of Legends ของ Riot Games ทำให้บริษัทเริ่มปรับลดความสำคัญของเกมลง เช่น ในปี 2018 Blizzard ประกาศยกเลิกลีกอีสปอร์ตของเกม (บทวิเคราะห์โดยคุณ geekjuggler) จนกระทั่งหยุดอัพเดตเนื้อหาอย่างเป็นทางการในปี 2022 ที่มา - Blizzard
# วง BTS ร่วมกับ Google เพิ่ม Easter Egg ในหน้าผลลัพธ์การค้นหา วงบีทีเอส ร่วมมือกับกูเกิล ในรูปแบบแคมเปญหลายอย่างผ่านแอปในเครือ เพื่อฉลอง BTS ARMY Day ในวันที่ 9 กรกฎาคม โดยฟีเจอร์แรก เมื่อผู้ใช้งานเสิร์ชคำว่า BTS ใน Google.com จะปรากฏไอคอนลูกโป่งสีม่วง เมื่อคลิกจะพบลูกโป่งสีม่วงลอยเต็มหน้าจอ บางลูกที่มีไมโครโฟน เมื่อแตะก็จะได้ข้อความพร้อมเสียงขอบคุณจากสมาชิก กิจกรรมถัดมาคือ #MyBTStory challenge ซึ่งเริ่มต้นไปก่อนหน้านั้นแล้ว ให้อาร์มมี่ส่งคลิปแชร์ความประทับใจ และ YouTube จะรวบรวมทำเป็นคลิปพิเศษเผยแพร่ในวันที่ 13 กรกฎาคม สุดท้ายเป็นแคมเปญร่วมกับ Google Arts & Culture พาชม 14 สถานที่สถานที่ในความทรงจำของสมาชิกผ่าน Street View พร้อมกับงานศิลปะที่ซ้อนมาในสถานที่ และเราสามารถเราสร้างผลงานของตนเองได้ด้วย รายละเอียดตามลิงก์ข้างต้น ที่มา: 9to5Google
# Twitter แจ้งพนักงาน งดให้ความเห็นเรื่อง Elon Musk ล้มดีล เนื่องจากเตรียมฟ้องร้อง ต่อเนื่องจากข่าว Elon Musk ประกาศล้มดีลซื้อกิจการ Twitter มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประธานบอร์ดบริหาร ก็ประกาศจะฟ้องเพื่อให้ดีลนี้เกิดขึ้นตามตกลง ล่าสุดมีข้อมูลอีเมลภายใน Twitter แจ้งไปยังพนักงานทุกคน ซึ่งน่าจะย้ำว่างานนี้ Twitter เตรียมฟ้องแน่ โดย Sean Edgett หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ Twitter ได้แจ้งว่าตอนนี้บอร์ดบริหารเตรียมการฟ้องศาลในเรื่องดังกล่าวแล้ว และเนื่องจากบริษัทกำลังมีประเด็นทางกฎหมาย จึงขอให้พนักงานทุกคนหยุดการทวีต หรือให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการซื้อกิจการดังกล่าว บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลเมื่อสามารถทำได้ และการให้ข้อมูลจะเป็นไปอย่างจำกัด ที่มา: The Verge
# Elon Musk ประกาศล้มดีลซื้อ Twitter อย่างเป็นทางการ ดีลซื้อ Twitter มาถึงจุดที่หลายๆ คนน่าจะเดากันได้คือ Elon Musk ประกาศยกเลิกข้อตกลงการซื้อกิจการ โดยให้เหตุผลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลบัญชีบ็อตที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทางบริษัท Twitter ไม่สามารถตอบสนองหรือปฏิเสธการให้ข้อมูลกับฝ่ายของ Musk อยู่หลายครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จึงถือว่าผิดสัญญาข้อตกลงการซื้อขาย (Merger Agreement) ที่เซ็นกันไว้แต่แรก ฝั่งของ Twitter นำโดยประธานบอร์ด Bret Taylor ก็ออกมาตอบโต้ว่า บริษัทมั่นใจว่าปฏิบัติตามข้อตกลงการซื้อกิจการทุกอย่างแล้ว และจะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อสั่งให้ดีลเดินหน้าต่อตามเดิม ที่มา - SEC, CNBC
# Rogers เครือข่ายโทรศัพท์รายใหญ่ในแคนาดาล่มทั้งเครือข่าย กระทบเป็นวงกว้าง Rogers ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับหนึ่งในแคนาดาระบบล่มเป็นวงกว้างตั้งแต่ประมาณ 9 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ และตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะกู้ระบบกลับมาได้เมื่อใด ผู้ใช้บริการ Rogers Wirelesss มีมากกว่า 10 ล้านเลขหมายจากประชากรแคนาดา 38 ล้านคน NetBlocks รายงานว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้จำนวนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแคนาดาลดลงไป 25% เหตุการณ์เครือข่ายโทรศัพท์มือถือล่มเป็นวงกว้างกระทบบริการสำคัญอื่นๆ เช่น การรับบัตรเครดิต, ตู้เอทีเอ็ม, และบริการหมายเลขฉุกเฉิน ที่มา - Bleeping Computer
# SCB แจ้งดีลซื้อหุ้น Bitkub ยังตรวจสอบไม่เสร็จ ขยายเวลาเพิ่มไม่มีกำหนด SCBX บริษัทแม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงดีลการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด เป็นสัดส่วน 51% ที่ประกาศไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ตอนนั้น SCBX แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าธุรกรรมจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2565 ส่วนรอบนี้ SCBX บอกว่าธุรกรรมนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบทานธุรกิจ และต้องขยายเวลาจากกำหนดการเดิม ในหนังสือแจ้งของ SCBX ยังไม่ระบุกรอบเวลาคาดการณ์ใหม่ว่าจะตรวจสอบเสร็จเมื่อใด ที่มา - หนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (PDF)
# Tencent ประกาศปิดให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายเกม WeGame เวอร์ชันมือถือ Tencent บริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของจีน ซึ่งรายได้หลักบริษัทมาจากธุรกิจเกม มีแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายเกมแบบ Steam เรียกว่า WeGame โดยเริ่มจากการให้บริการเฉพาะในจีน จากนั้นจึงขยายมาตลาดต่างประเทศในชื่อ WeGame X รวมทั้งแพลตฟอร์มเกมบนมือถือ แต่ล่าสุดบริษัทประกาศปรับแนวทางให้บริการ โดย Tencent ประกาศว่า WeGame เวอร์ชันแอปมือถือ จะหยุดให้บริการทั้งหมดตั้งแต่ 8 กันยายน เป็นต้นไป และไม่สามารถดาวน์โหลดหรือสมัครใช้บริการได้ตั้งแต่ 15 กรกฎาคมนี้ Tencent บอกว่าการปิดบริการส่วนมือถือ เป็นไปตามกลยุทธ์ปัจจุบันของบริษัท โดยฟีเจอร์ที่มีใน WeGame บนมือถือ จะนำไปเพิ่มเติมใน WeGame เวอร์ชันพีซีที่ยังคงให้บริการต่อไป ที่มา: Game Developer
# Amazon EC2 เปิดบริการเช่าเครื่อง Mac M1 เต็มรูปแบบ ประสิทธิภาพดีกว่า Mac x86 ถึง 60% AWS เปิดบริการเช่าเครื่อง EC2 ที่เป็นซีพียู Apple M1 อย่างเป็นทางการ หลังเปิดทดสอบ Mac x86 มาตั้งแต่ปลายปี 2020 และ Mac M1 ในปี 2021 บริการ Amazon EC2 Mac เป็นการนำเครื่อง Mac Mini มาต่อพ่วงกับฮาร์ดแวร์ Amazon Nitro ที่ AWS พัฒนาเอง แล้วรัน Hypervisor เพื่อจำลองการทำงานเสมือนเป็นเครื่อง EC2 แบบอื่นๆ ใช้ชื่อเรียก instance ว่า mac2.metal กลุ่มเป้าหมายของบริการนี้คือนักพัฒนาสายแอปเปิล ที่ต้องการเช่าเครื่องแมคจำนวนมากมาช่วย build ซอฟต์แวร์ให้เร็วขึ้น โดย AWS ระบุว่าเครื่อง EC2 Mac M1 ให้ประสิทธิภาพต่อราคาดีว่า EC2 Mac x86 สูงสุดถึง 60% เลือกรันระบบปฏิบัติการได้ 2 เวอร์ชันคือ macOS Big Sur (version 11) กับ macOS Monterey (version 12) ที่มา - AWS Blog
# Sunny Balwani ผู้บริหาร Theranos ถูกตัดสินผิดทุกข้อหา Sunny Balwani อดีตซีอีโอ Theranos และยังเป็นแฟนกับ Elizabeth Holmes ผู้ก่อตั้งบริษัท ถูกตัดสินว่ามีความผิดฉ้อโกงและร่วมกันฉ้อโกงรวม 12 ข้อหา นับว่าเป็นการปิดฉากหนึ่งของมหากาพย์สตาร์ตอัพครั้งนี้ ทั้ง Holmes และ Balwani ต้องรอผู้พิพากษาทกำหนดโทษอีกครั้ง โดย Holmes ถูกตัดสินว่ามีความผิดตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาและก็ยังรอกำหนดโทษอยู่ Theranos เป็นสตาร์ตอัพสุขภาพที่อ้างว่ามีเทคโนโลยีในการตรวจหาโรคต่างๆ จำนวนมากด้วยเลือดเพียงหยดเล็กๆ และบริษัทได้รับเงินทุนจำนวนมาก สามารถเซ็นสัญญาตั้งศูนย์ตรวจเลือดกับร้านขายยารายใหญ่อย่าง Walgreens แต่สุดท้ายกลับใช้เครื่องมือตรวจเลือดจากบริษัทอื่นและนำเลือดปริมาณน้อยๆ จากคนไข้ไปเจือจางเพื่อรายงานผลจนผลที่ได้คลาดเคลื่อนไปมาก ที่มา - The Verge
# Lennart Poettering ผู้สร้าง systemd ไปทำงานกับไมโครซอฟท์ Lennart Poettering ผู้สร้าง PulseAudio, Avahi, และ systemd ย้ายงานจาก Red Hat ไปทำงานกับไมโครซอฟท์แล้ว โดยเขาระบุว่ายังคงโฟกัสกับ systemd ต่อไป Poettering ทำงานกับ Red Hat มาตั้งแต่ปี 2008 และสร้าง systemd มาตั้งแต่ปี 2010 ทุกวันนี้ systemd ครองโลกลินุกซ์ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ หลังจาก Debian เลือกใช้งานในเวอร์ชั่น 8 (jessie) เมื่อปี 2013, Red Hat เลือกใช้งานตั้งแต่ปี 2014, และ Ubuntu ใช้งานตั้งแต่เวอร์ชั่น 15.04 ตอนนี้ Poettering ยังไม่ได้ยืนยันเป็นทางการว่าเขาจะไปทำงานกับไมโครซอฟท์ แต่นักข่าวของเว็บ Phoronix ได้ข่าวจากแหล่งข่าวมา ข้อมูลทางการตอนนี้มีเพียง Bugzillla ของ Red Hat ยืนยันว่าเขาถูกปิดบัญชีไปแล้วเพราะลาออก โดยเขาสมัครใหม่ด้วยอีเมลส่วนตัวแทน และระบุว่ายังคงทำงานเกี่ยวกับ systemd ต่อไป ที่มา - The Register ภาพโดย Kushal Das
# Diablo Immortal เปิดให้บริการในไทยแล้ว เล่นได้ทั้งบนมือถือและพีซี Diablo Immortal เปิดให้เล่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, มาเก๊า, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไต้หวัน และไทย) ทั้งเวอร์ชัน iOS, Android, PC ในแง่ตัวเกมคงไม่มีอะไรแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ที่เปิดตัวตั้งแต่เดือนที่แล้ว แต่ย้ายมาใช้เซิร์ฟเวอร์ SEA ที่มีค่า ping ดีกว่า (ตอนนี้มีให้เลือกเล่น 8 เซิร์ฟเวอร์ ตัวเกมยังมีเฉพาะภาษาอังกฤษ) และมีช่องทางการสื่อสารสำหรับผู้เล่นในภูมิภาคผ่านเพจ Diablo SEA แทน ตัวไคลเอนต์สามารถดาวน์โหลดได้จากช่องทางมาตรฐานคือ App Store, Play Store และเว็บไซต์ของเกม สำหรับเวอร์ชันพีซี ที่มา - Blizzard
# เปิดตัว VS Code Server แยก Backend รันในเซิร์ฟเวอร์แล้วเขียนโค้ดผ่านเบราว์เซอร์ ไมโครซอฟท์ออก VS Code Server ซึ่งเป็นการแยกเอา backend ของ Visual Studio Code ไปรันบนเซิร์ฟเวอร์ใดๆ ก็ได้ แล้วใช้งานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ด้วย VS Code for the Web (vscode.dev) อีกทีหนึ่ง การแยกระบบด้านหลังของ VS Code ออกจากตัว frontend ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไมโครซอฟท์เคยทำมาก่อนแล้วในส่วนขยาย Remote Development ของ VS Code และ GitHub Codespaces แต่รอบนี้ตั้งใจแยก VS Code Server ออกมาให้เป็นเรื่องเป็นราว พร้อมออกเครื่องมือคอมมานด์ไลน์ให้ติดตั้ง คอนฟิก อัพเดต ตัว VS Code Server ได้ง่ายด้วย สถานะของ VS Code Server ตอนนี้ยังเป็น private preview ที่ต้องลงทะเบียนและได้รับคำเชิญก่อน การติดตั้งเซิร์ฟเวอร์รองรับทั้งบนลินุกซ์ แมค วินโดวส์ (x86/ARM) รวมถึงรันบนลินุกซ์ที่รันใน WSL บนวินโดวส์อีกที ในการใช้งานจำเป็นต้องเชื่อมต่อผ่าน vscode.dev และยืนยันตัวตนด้วยบัญชี GitHub ที่มา - VS Code
# Microsoft ยอมถอย ยกเลิกแผนปิด VBA macro ใน Office 365 เป็น default เมื่อต้นปีไมโครซอฟท์ประกาศปิดการทำงานของ VBA macro เป็นดีฟอลต์ มีผลกับผลิตภัณฑ์ตระกูล Office ได้แก่ Access, Excel, PowerPoint, Visio, Word แต่ล่าสุดไมโครซอฟท์แจ้งข้อความผ่านผู้ดูแลระบบ Microsoft 365 (MC393185 และ MC322553) ว่าเปลี่ยนการตัดสินใจดังกล่าวแล้ว ไมโครซอฟท์บอกว่า จากความเห็นต่าง ๆ ที่ได้รับ เราได้ตัดสินใจกลับมาใช้การตั้งค่าแบบเดิม นั่นคือ VBA ใน Office ไม่ถูกปิดเป็นดีฟอลต์ โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงใดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ตามแผนเดิมนั้น ไมโครซอฟท์จะเปลี่ยนการเริ่มต้นของ VBA macro ใน Office 365 v2203 ซึ่งเริ่มทยอยอัพเดตกับผู้ใช้งานทั่วไปในเดือนมิถุนายน ที่มา: Bleeping Computer
# การแข่งขันเขียนโปรแกรม Codegoda กลับมาอีกครั้ง พร้อมรางวัลรวมมูลค่ากว่า 350,000 บาท Codegoda การแข่งขันเขียนโปรแกรมงานใหญ่ประจำปีกลับมาแล้ว! งานนี้จัดโดย Agoda บริษัทเทคโนโลยี เจ้าของแพลตฟอร์มจองการท่องเที่ยวยักษ์ใหญ่ในภูมิภาค มีรางวัลเงินสดและอื่น ๆ รวมมูลค่ากว่า 350,000 บาท พร้อมโอกาสในการร่วมงานกับอโกด้า โดยการแข่งขันของปีนี้จะมีขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคม 2565 นอกจากจะเป็นที่รู้จักในฐานะแพลตฟอร์มท่องเที่ยวแล้ว อโกด้ายังเป็นหนึ่งในบริษัทเทคที่มีคนทำงานสายไอทีอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทั้งในส่วนของตัวโปรดักต์ที่มีทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน และการใช้ข้อมูล big data ที่ครอบคลุมในทุกส่วนขององค์กร ทำให้นอกจากรางวัลเงินสดสูงสุดกว่า 120,000 บาท การได้โอกาสในการ fast-track สัมภาษณ์งานที่อโกด้าก็เป็นที่น่าสนใจของชาวไอทีเช่นกัน Codegoda ในปีนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่อโกด้าจัดแข่งขันเขียนโค้ด โดยใช้โจทย์เชิง algorithm ซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งโปรแกรมเมอร์หน้าใหม่ไปจนถึงระดับมืออาชีพมีสิทธิ์แก้โจทย์ได้โดยใช้ภาษาที่ตัวเองถนัดและสามารถเข้าร่วมแข่งจากที่ไหนก็ได้ การแข่งขันจะมีขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคม 2565 เวลา 13:30 น. โดยจะเริ่มจับเวลาสำหรับผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนเมื่อเข้าสู่ระบบ จำกัดเวลาคนละ 3 ชั่วโมง และจะสิ้นสุดการแข่งขันทั้งหมดในเวลา 19:30 น. การตัดสินจะดูจากความถูกต้องของการแก้โจทย์และเวลาที่ใช้ การแข่งขันมีรอบเดียว และจะประกาศผลในวันที่ 13 สิงหาคม 2565 ทางช่อง YouTube ของ Life at Agoda โดยรางวัลในครั้งนี้ ผู้ชนะ 10 อันดับแรกจะได้รางวัลเป็นเงินสด สูงสุด 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ตีเป็นเงินไทยก็มากกว่า 120,000 บาท) ไล่ลงมาตามอันดับที่ได้ ทั้งยังมีการมอบรางวัลพิเศษเพิ่มเติมให้อีก 500 ดอลลาร์ สำหรับผู้เข้าแข่งขันหญิงที่ได้คะแนนเป็นอันดับแรก เพื่อสนับสนุน Women in Tech ด้วย และใครที่อยู่ในอันดับ Top 100 ก็จะได้เสื้อยืดสุดเท่ของการแข่งขันทุกคน นอกจากนี้ ถ้าใครไม่ว่าง หรือไม่ถนัดเขียนโค้ด คุณก็ยังสามารถร่วมชิงรางวัล gadget อย่าง VR, AirPods, Keychron, Fitbit และลำโพง Marshall ได้ง่าย ๆ โดยการแชร์คอนเทนต์ Codegoda เป็นสาธารณะ ติดแฮชแท็ก #Codegoda2022 และ #Codegoda Codegoda เปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันตั้งแต่วันนี้จนถึงก่อนเริ่มการแข่งขัน โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ที่นี่ เกี่ยวกับ Codegoda วันแข่งขันจริง: 6 สิงหาคม 2565 เวลา: 13:30-19:30 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เปิดรับสมัคร: 1 กรกฎาคม จนถึงก่อนการแข่งขัน รางวัล: เงินสดสูงสุดกว่า 120,000 บาท พร้อมเสื้อยืดสำหรับ Top 100 เว็บไซต์ของการแข่งขัน: codegoda.io อ่านเรื่องราวเพิ่มเติม: การแข่งขัน Codegoda 2021 Codegoda is back! Agoda's annual coding competition is back for its 2022 edition with fun challenges and better prizes. Codegoda is one of the biggest online programming competitions in the region that has been joined by over 14,000 coders around the world. It’s a single-round competition where programmers log in to tackle fun challenges and take home cash prizes of up to 3,500 USD and a fast-tracked opportunity to join Agoda. There will be 6 algorithmic problems for participants to solve within 3 hours. Coders from all levels are welcome to attend. The most accurate solutions submitted in the fastest time will result in the most points. Competitors with the highest points will get 3,500 USD in cash, followed by 2,000 USD and 1,000 USD for the first and second runners-up. Participants ranked 4th-10th will also get a 250 USD cash prize. The top woman coder will get 500 USD on top of the prize. In addition, all participants making the top 100 will receive a Codegoda 2022 t-shirt. Registrations start on July 1, 2022, on codegoda.io, and registrants will get the competition link to attend Codegoda on August 6, 2022. Codegoda 2022 – online competition Date: August 6, 2022 Time: 1:30-7:30 PM, ICT Prizes: Cash prize worth up to 3,500 USD, with prizes for all winners in the Top 100 Registration: codegoda.io Hashtags: #codegoda2022 #codegoda
# สุ่มจนรวย ประเมินรายได้ Diablo Immortal ทะลุ 49 ล้านดอลลาร์ใน 1 เดือนแรก เว็บข่าวเกมมือถือ MobileGamer.biz อ้างสถิติจากบริษัทเก็บสถิติแอพ Appmagic ประเมินว่า Diablo Immortal สามารถทำเงินได้ราว 49 ล้านดอลลาร์ใน 1 เดือนแรกที่เปิดตัว (ตัวเลขนี้หักส่วนแบ่ง 30% ของแอปเปิล-กูเกิลออกแล้วด้วย) โมเดล free-to-play ทำให้ Diablo Immortal มียอดดาวน์โหลดประมาณ 10 ล้านครั้งในเดือนแรก ช่วงวันแรกๆ มียอดดาวน์โหลดเกินวันละ 1 ล้านครั้ง ก่อนค่อยๆ ตกลงในช่วงเวลา 1 สัปดาห์แรกตามปกติของเกมเปิดตัวใหม่ แต่ฝั่งรายได้ของ Diablo Immortal กลับไม่ตกตามยอดดาวน์โหลดไปด้วย และค่อนข้างมีรายได้สม่ำเสมอกว่า ซึ่งตัวเลข 49 ล้านดอลลาร์ ถือว่าเยอะกว่าเกมดังระดับเดียวกัน Apex Legends Mobile ที่มียอดดาวน์โหลด 21.8 ล้านครั้งในเดือนแรก แต่รายได้น้อยกว่าคือ 11.6 ล้านดอลลาร์ (เท่ากับว่าโมเดลธุรกิจของ Blizzard เฉียบคมกว่ามาก) ก่อนหน้านี้ Appmagic เคยเผยสถิติ 2 สัปดาห์แรกของ Diablo Immortal ทำเงินได้ 24 ล้านดอลลาร์ ที่มา - MobileGamer.biz via Ars Technica
# Netflix เพิ่มฟีเจอร์ระบบเสียง Spatial Audio ใช้เทคโนโลยี Sennheiser ใช้ได้กับลำโพงทั่วไป Netflix ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ระบบเสียงรอบทิศทาง spatial audio โดยยังรองรับเฉพาะหนังหรือซีรีส์ของ Netflix เองบางเรื่อง เช่น Stranger Things (เฉพาะซีซัน 4), The Adam Project, Red Notice, The Witcher, Locke & Key, Castlevania เป็นต้น ผู้ใช้สามารถค้นหาคำว่า "Spatial Audio" ในช่องค้นหาเพื่อดูว่ามีเรื่องใดรองรับบ้าง เทคโนโลยีที่ Netflix เลือกใช้งานคือ Sennheiser AMBEO ซึ่งสามารถใช้ได้กับทั้งลำโพงสเตอริโอทั่วไป และลำโพงแบบเซอร์ราวน์ โดยฟีเจอร์นี้จะเปิดใช้งานให้อัตโนมัติ ที่มา - Netflix, Sennheiser
# Skull and Bones เกมโจรสลัดของ Ubisoft พัฒนามา 9 ปี ได้ฤกษ์ขาย 8 พ.ย. 2022 Ubisoft ประกาศวันวางขาย Skull and Bones เกมโจรสลัดที่ใช้เวลาพัฒนานานเป็นมหากาพย์ เพราะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2013 มีกำหนดวางขายกับเขาสักทีแล้ว 8 พฤศจิกายน 2022 เกม Skull and Bones ได้แรงบันดาลใจมาจากโหมดขับเรือต่อสู้ทางทะเลในเกม Assassin's Creed IV: Black Flag ที่ออกขายในปี 2013 ทำให้ Ubisoft สนใจพัฒนาเกมธีมโจรสลัดบ้าง เกมเปิดตัวต่อสาธารณะครั้งแรกในงาน E3 2017 แล้วเลื่อนมาเรื่อยๆ จนใช้เวลารวม 9 ปีตั้งแต่เริ่มทำจนวางขาย เนื้อเรื่องของ Skull and Bones เป็นยุคทองของโจรสลัดในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยใช้ฉากหลังเป็นมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาไล่มาจนถึงหมู่เกาะอีสต์อินเดีย (แถบอินโดนีเซียในปัจจุบัน) ผู้เล่นต้องสร้างตัวตั้งแต่เป็นเจ้าของเรือลำเล็กๆ รวบรวมพรรคพวกและทรัพยากร ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้ากองเรือโจรสลัด ทำการค้าขายกับเมืองต่างๆ รวมถึงต่อสู้กับโจรสลัดกลุ่มอื่นๆ สามารถเล่นได้คนเดียว และ co-op กับเพื่อนอีก 2 คน เกมมีลง Xbox Series X|S, PS5, Windows (Epic Games Store และ Ubisoft Store), Stadia, Amazon Luna ที่มา - Ubisoft
# พบปัญหา iPad mini 6 ชาร์จไฟไม่ได้ หลังอัพเป็น iPadOS 15.5 - แก้ไขเบื้องต้นให้รีสตาร์ท แอปเปิลได้แจ้งศูนย์ซ่อมและพนักงาน Apple Store ว่าบริษัทกำลังตรวจสอบปัญหา iPad mini 6 ซึ่งเป็น iPad mini รุ่นล่าสุด หลังมีลูกค้าพบปัญหาชาร์จไม่ได้ เมื่ออัพเดตเป็น iPadOS 15.5 เวอร์ชันล่าสุด ในเอกสารที่แจ้งยังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แอปเปิลแนะนำให้แก้ปัญหาชั่วคราวให้กับลูกค้า โดยรีสตาร์ทอุปกรณ์ก่อน ก็จะกลับมาชาร์จต่อได้ตามเดิม ที่น่าสนใจคือแอปเปิลระบุในเอกสารว่าปัญหานี้ ไม่สามารถแก้ไขได้แม้เปลี่ยนแบตเตอรี่หรือฮาร์ดแวร์ส่วนอื่น จึงเป็นไปได้ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องของซอฟต์แวร์ล้วน ๆ ซึ่งแอปเปิลก็เตรียมออกอัพเดต iPadOS 15.6 ที่ตอนนี้เป็นสถานะเบต้าอยู่แล้ว และน่าจะแก้ไขปัญหานี้รวมไปด้วยเลย ที่มา: MacRumors
# Twitter บอกลบบัญชีบอต-สแปม มากกว่า 1 ล้านบัญชีทุกวัน จำนวนบัญชีกลุ่มนี้จึงมีน้อยกว่า 5% ประเด็นเรื่องจำนวนบัญชีบอตและสแปมใน Twitter ที่ Elon Musk ใช้เป็นหัวข้อหลัก ในการขอเจรจาดีลซื้อกิจการใหม่ ยังคงมีข้อมูลใหม่ออกมา โดย Twitter ได้จัดประชุมกับสื่อมวลชน เพื่อให้ข้อมูลวิธีคำนวณและจัดการบอตบนแพลตฟอร์ม โดย Twitter บอกว่ามีการลบบัญชีที่เป็นสแปมออกไปจากแพลตฟอร์มมากกว่า 1 ล้านบัญชีทุกวัน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการลดจำนวนบัญชีบอตและสแปมอยู่แล้ว ทำให้จำนวนบัญชีประเภทดังกล่าวมีน้อยกว่า 5% ของบัญชีทั้งหมดที่ระบบแสดงผลโฆษณา ตัวเลขน้อยกว่า 5% คงอยู่ที่ระดับมาตลอดตั้งแต่บริษัทเปิดเผยข้อมูลตอนไอพีโอเมื่อปี 2013 ส่วนการคำนวณจำนวนบัญชีสแปมนั้น บริษัทใช้คนในการตรวจสอบบัญชีหลายพันบัญชีแบบสุ่ม จากนั้นใช้ข้อมูลหลายอย่างประกอบ และรายงานต่อผู้ถือหุ้นทุกไตรมาสอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยสูตรได้เนื่องจากข้อมูลบางส่วนที่ใช้เป็นข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน การชี้แจงดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จะมีรายงานข่าวว่า Elon Musk อาจพิจารณาดีลซื้อ Twitter อีกครั้ง ที่มา: Reuters ภาพ Pixabay
# Twitter ปลดพนักงาน 30% เฉพาะฝ่าย Talent Acquisition มีรายงานจาก The Wall Street Journal ว่า Twitter ได้ปลดพนักงาน 30% เฉพาะในฝ่ายสรรหาบุคลากรหรือ Talent Acquisition คิดเป็นจำนวนเกือบ 100 คน โดยการปลดพนักงานนี้ไม่มีในฝ่ายอื่น ก่อนหน้านี้ Twitter ได้แจ้งทุกแผนกให้หยุดรับพนักงานใหม่ชั่วคราว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดีลที่ Elon Musk ประกาศซื้อกิจการบริษัท รวมทั้งควบคุมค่าใช้จ่าย แม้ล่าสุดมีรายงานว่า Elon Musk อาจล้มดีลนี้ก็ตาม พนักงานคนหนึ่งของ Twitter ให้ความเห็นใน LinkedIn ของตนว่าการประกาศปลดพนักงานครั้งนี้สร้างผลกระทบมาก และหาก Twitter ควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อสำรองเงินในการฟ้องกลับ Elon Musk เรื่องนี้ก็ยิ่งน่าเศร้ามาก อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งเริ่มประกาศชะลอการรับพนักงานเพิ่ม เช่น Meta, Netflix, Coinbase ที่มา: Engadget
# [ไม่ยืนยัน] ดีล Elon Musk ซื้อ Twitter อาจไม่เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลการคำนวณบัญชีบอต มีรายงานความคืบหน้าของดีลที่ Elon Musk เสนอซื้อกิจการ Twitter โดย The Washington Post อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ราย บอกว่า Musk อาจเปลี่ยนแผนการ เนื่องจากเขาได้หยุดการหารือทั้งหมด กับกลุ่มผู้ที่จะร่วมลงทุนในดีลนี้ที่เคยประกาศไปก่อนหน้า ซึ่งมีทั้ง Larry Ellison ผู้ก่อตั้งออราเคิล, Binance และกองทุน Andreessen Horowitz เหตุผลหลักที่ทำให้การหารือกับกลุ่มผู้ลงทุนระงับ เนื่องจากทีมงานของ Musk บอกว่าข้อมูลจำนวนบัญชีสแปมและบอตที่ Twitter คำนวณนั้น ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้ ประเด็นนี้ Musk พูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว จนทำให้เขาต้องออกมาบอกว่าขอพักดีลนี้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบ จะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ หากดีลนี้ Elon Musk เป็นฝ่ายล้มดีลเอง Twitter ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้สูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากบอร์ดได้ตอบรับคำเสนอซื้อไปแล้ว Twitter และ Elon Musk ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข่าวดังกล่าว ที่มา: The Verge
# Meta เปิดตัว Meta Account ระบบบัญชีของ VR แยกขาดจาก Facebook Mark Zuckerberg ซีอีโอ Meta ประกาศว่าตั้งแต่สิงหาคม 2022 เป็นต้นไป จะมีระบบบัญชีใหม่เรียกว่า Meta account เพื่อให้ผู้ใช้งานเฮดเซต VR และผลิตภัณฑ์ metaverse อื่น ของ Meta ใช้ล็อกอิน จากเดิมต้องใช้บัญชี Facebook หรือบัญชี Oculus เท่านั้น สิ่งที่ Zuckerberg ย้ำคือการแยกบัญชีช่วยให้ผู้ใช้งาน มีประวัติและข้อมูลที่แยกจากกันกับ Facebook และบัญชี Meta ใหม่นี้ ไม่ใช่บัญชีสำหรับโซเชียล แต่ใช้สำหรับจัดการรายการอุปกรณ์และการจ่ายเงิน ส่วนข้อมูลด้านโซเชียลจะแยกเป็น Meta Horizon profile ต่างหาก รวมทั้งระบบรายชื่อเพื่อน การตั้งค่าต่าง ๆ จึงช่วยให้ผู้ใช้งานที่ไม่ต้องการนำบัญชี Facebook มาใช้งานสบายใจขึ้น สำหรับผู้ใช้งาน Meta VR ที่เคยรวมบัญชี Oculus กับบัญชี Facebook จะต้องสร้างบัญชี Meta และ Horizon Profile ขึ้นใหม่ ส่วนคนที่ใช้บัญชี Oculus มาตลอด สามารถใช้งานต่อได้ถึง 1 มกราคม 2023 และหลังจากนั้นต้องสร้างบัญชี Meta ขึ้นมา ที่มา: Meta
# Cloudflare รองรับ WASM/WASI รันโปรแกรมภาษาอะไรก็ได้บนคลาวด์ Cloudflare อัพเกรดบริการ Workers ให้รองรับมาตรฐาน WASI ที่จะเปิดทางให้นักพัฒนาเขียนโปรแกรมภาษาอะไรก็ได้เพื่อคอมไพล์เป็นแบบ WebAssembly และ WASI แล้วส่งขึ้นไปรันบน Workers WASI สำหรับโปรแกรมที่คอมไพล์เป็น WebAssembly มองเห็น system call ที่เป็นเหมือนระบบปฎิบัติการบนคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไป สำหรับเราสามารถคอมไพล์โปรแกรมเดิมๆ ไปรันบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่รองรับ WASI ได้โดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม Clouflare สาธิตการใช้โปรแกรมเดิมๆ คอมไพล์ไปรันบน Workers เช่น SWC สำหรับการคอมไพล์ TypeScript เป็น JavaScript หรือ zstd สำหรับบีบอัดไฟล์ การทำ WASI ไปใช้กับ Workers ทำให้บริการเหมือนย้อนกลับไปยุค CGI ที่เป็นการเขียนโปรแกรมภาษาอะไรก็ได้เพื่อให้บริการเป็นเว็บ แต่ในยุคนี้กระบวนการรักษาความปลอดภัยก็ซับซ้อนกว่ามาก และเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการ Workers ก็แชร์กันระหว่างลูกค้าของ Cloudflare จำนวนมาก ทำให้สามารถให้บริการได้ในราคาถูก ที่มา - Cloudflare
# Twitter ทดสอบฟีเจอร์ Co-Tweet ทวีตเดียวกัน แสดงผลใน 2 บัญชี Twitter ทดสอบฟีเจอร์ใหม่ Co-Tweet ซึ่งมีผู้ใช้กลุ่มทดสอบได้ลองแล้ว โดยฟีเจอร์นี้ทำงานตามชื่อ นั่นคือผู้ใช้งาน Twitter สามารถส่งคำเชิญผู้ใช้ Twitter อีกคน ให้มาทวีตข้อความเดียวกัน ซึ่งผู้ใช้อีกคนต้องตอบรับคำเชิญก่อน เมื่อมีการส่งคำเชิญ ผู้ใช้งานอีกรายจะได้รับการแจ้งเตือน เพื่อตรวจสอบและกดปุ่มยอมรับหรือปฏิเสธ เมื่อทวีตส่งออกไป ทั้ง 2 บัญชีผู้ใช้งาน จะแสดงทวีตนี้เหมือนกัน และระบุว่าเป็นทวีตที่ 2 บัญชีนี้ร่วมกันทวีต อย่างไรก็ตามสถานะของฟีเจอร์นี้น่าจะอยู่ในขั้นทดสอบ เพราะขณะที่เขียนข่าว ทวีตตัวอย่างที่เป็น Co-Tweet ต้องกดดูผ่านเว็บเท่านั้นจึงจะแสดงผลว่าเป็นทวีตร่วมกัน แต่ถ้าดูผ่านแอปจะยังเป็นชื่อผู้ทวีตคนแรกคนเดียว ที่มา: 9to5Mac
# Tesla รายงานตัวเลขการผลิตไตรมาส 2/2022 ลดลงจากปัญหาซัพพลายเชนและล็อกดาวน์ Tesla รายงานตัวเลขการผลิตของไตรมาสที่ 2 ปี 2022 ซึ่ง Tesla จะรายงานตัวเลขนี้ ก่อนการรายงานผลประกอบการในช่วงปลายเดือน ผลิตรถยนต์ได้รวม 258,580 คัน แบ่งเป็น Model S/X 16,411 คัน และ Model 3/Y 242,169 คัน จำนวนรถยนต์ที่ส่งมอบให้ลูกค้ารวม 254,695 คัน แบ่งเป็น Model S/X 16,162 คัน และ Model 3/Y 238,533 คัน มีข้อสังเกตว่าตัวเลขไตรมาสที่ 2 นี้ น้อยกว่าไตรมาส 1/2022 อยู่พอสมควร ซึ่ง Tesla บอกว่ามาจากปัญหาซัพพลายเชน และคำสั่งปิดโรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุมของบริษัท อย่างไรก็ตามในเดือนมิถุนายน 2022 ตัวเลขการผลิตเป็นสถิติสูงสุดของบริษัทที่เคยมีมา ตัวเลขการผลิตที่ลดลงยังทำให้ Tesla ถูก BYD แซงในการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก โดยวัดจากตัวเลขในครึ่งแรกของปี 2022
# Uprise บริษัทคริปโตเกาหลีใต้ สูญเงิน 99% ของลูกค้า เนื่องจากลงทุนใน Luna สื่อเกาหลีใต้ Seoul Economic รายงานข่าวว่า Uprise บริษัทคริปโตสัญชาติเกาหลีใต้ สูญเงินลงทุนของลูกค้าไป 99% หลังจากนำเงินไปลงทุนในเหรียญ LUNA ธุรกิจของ Uprise มีด้วยกัน 2 อย่างคือ Heybit รับเทรดคริปโตให้ลูกค้าด้วยอัลกอริทึม AI (ในเว็บใช้คำว่า Robo-Advisor) และ Iruda เป็นกองทุนคริปโตที่ไปลงทุนในตลาดโลก ส่วนที่ขาดทุนคือ Heybit ที่นำเหรียญคริปโตของลูกค้าไปเทรดในตลาดฟิวเจอร์ส และอ้างว่าใช้ AI ช่วยลดความเสี่ยงจากการเทรด อย่างไรก็ตาม Heybit เข้าไปลงทุนในเหรียญ LUNA ซึ่งได้รับความนิยมสูงในเกาหลีใต้ (เหตุผลหนึ่งเพราะ Do Kwon เป็นคนเกาหลี) และเสียเงินไปราว 26.7 พันล้านวอน หรือประมาณ 700 ล้านบาท คิดเป็น 99% ของทรัพย์สินทั้งหมดที่ลูกค้าฝากให้ Heybit เทรดให้ ตัวแทนของ Uprise ยอมรับว่าเสียเงินจากภาวะตลาดผันผวน และกำลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อชดเชยเงินบางส่วนให้ลูกค้า ที่มา - Seoul Economic Daily via The Block
# God of War Ragnarök แพ็กเกจสำหรับนักสะสม มีแผ่นเสียงในชุด แต่ไม่มีแผ่นเกมมาให้ เป็นธรรมดาของวงการเกมยุคนี้ ที่ออกแพ็กเกจกล่องเกมแบบ Special Edition หรือ Collector's Edition สำหรับแฟนๆ ที่เพิ่มของสะสมอย่างพวกสมุดภาพ ฟิกเกอร์ หรือไอเทมพิเศษบางอย่างมาขายในราคาที่แพงขึ้น กรณีของเกม God of War Ragnarök ที่เพิ่งประกาศวันวางขาย 9 พ.ย. 2022 ก็ไม่ต่างกัน มีแพ็กเกจพิเศษ 2 แบบคือชุดกลาง Collector’s Edition กับชุดใหญ่ Jötnar Edition ที่มีของที่ระลึกมากมาย มีกล่องเกมลายพิเศษ (steelbook) แต่ก็พิเศษจริงๆ ตรงที่ไม่มีแผ่นดิสก์ตัวเกมมาให้ด้วย ต้องเอาโค้ดไปดาวน์โหลดแบบดิจิทัลแทน (กรณีของ Jötnar Edition ยิ่งน่าสนใจตรงที่มีแผ่นเสียงไวนีลบันทึกเพลงในเกม แต่ไม่มีแผ่นดิสก์ตัวเกม) ถึงแม้เหตุผลที่ผู้ผลิตไม่แถมแผ่นเกมมาให้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะผู้ซื้อแพ็กเกจเหล่านี้ซื้อมาเก็บสะสมจริงๆ แล้วไปเล่นเกมผ่านช่องทางดิจิทัลกันอยู่แล้ว แต่การไม่มีตัวเกมที่เป็นสินค้าหลักให้มาในชุด ก็อาจยังทำให้หลายคนรู้สึกแปลกๆ อยู่ดี Kotaku ชี้ว่า God of War Ragnarök ไม่ใช่เกมแรกที่ใช้แนวทางนี้ เพราะเกม Horizon Forbidden ที่ออกเมื่อต้นปีก็เคยทำมาก่อน ส่วนค่าย Ubisoft ก็เคยออกแพ็กเกจเกม Far Cry 6, Assassin’s Creed Valhalla, Watch Dogs: Legion (บน Xbox) ที่ไม่มีแผ่นเกมมาแล้ว แต่จำกัดเฉพาะในสหราชอาณาจักรเท่านั้น ที่มา - PlayStation Blog, Kotaku
# กูเกิลนำเสนอ AI ช่วยคอมไพล์เลอร์ปรับปรุงประสิทธิภาพโค้ด กูเกิลนำเสนอปัญญาประดิษฐ์ MLGO นำมาช่วยคอมไพลเลอร์ให้ออปติไมซ์โค้ดได้ดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งในแง่ประสิทธิภาพการทำงาน และขนาดโค้ดที่ได้หลังจากคอมไพล์แล้ว การปรับปรุงขนาดโค้ดนั้นอาศัยการย้ายโค้ดจากในฟังก์ชั่นออกมาภายนอก (inlining) ที่ก่อนหน้านี้คอมไพล์เลอร์ก็มีตัวออปติไมซ์แบบ heuristic ที่ค้นหาแนวทางการทำ inlining ให้ได้โค้ดขนาดเล็กที่สุดอยู่แล้ว แต่กระบวนการออปติไมซ์นั้นซับซ้อนและปรับปรุงเพิ่มเติมได้ยาก การใช้ MLGO เข้าไปช่วยออปติไมซ์เป็นการฝึกปัญญาประดิษฐ์แบบ reinforce learning (RL) ที่ปัญญาประดิษฐ์จะได้รางวัลจากตัดสินใจทำ inlining แล้วโค้ดเล็กลง ผที่ได้จากการคอมไพล์โค้ดภายในของกูเกิลเองสามารถลดขนาดโค้ดได้ 3-7% อีกส่วนหนึ่งคือการจัดเรียงการใช้งาน registry ในซีพียูที่มีจำนวนจำกัด และเมื่อต้องพิจารณาตัวแปรต่างๆ ก็ต้องโหลดข้อมูลเข้าออกจาก registry เรื่อยๆ การจัดเรียงโค้ดโดยคำถึงนึงการใช้งาน registry ทำให้ซอฟต์แวร์โดยรวมประสิทธิภาพดีขึ้นได้ ในกรณีนี้ MLGO สามารถออปติไมซ์ประสิทธิภาพโค้ดภายในได้ 0.3-1.5% ทีมงานคาดว่าตัวปัญญาประดิษ์สามารถออกแบบให้ดีขึ้น และออปติไมซ์โค้ดได้มากกว่าเดิม ขณะที่ในอนาคตก็อาจจะพัฒนา MLGO ไปใช้งานในการออปติไมซ์งานส่วนอื่นๆ ของคอมไพล์เลอร์เพิ่มเติม ที่มา - Google AI Blog
# Accenture แนะองค์กรใช้คลาวด์เปลี่ยนระบบการทำงาน สร้างการเติบโต-โอกาสการแข่งขัน มากกว่าแค่ลดต้นทุน ที่ผ่านมามีองค์กรจำนวนไม่น้อย ใช้คลาวด์เพื่อการย้ายฐานข้อมูล ย้ายระบบไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ โดยประโยชน์ที่ได้รับคือช่วยลดต้นทุนเป็นหลักและอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้บ้าง แนวคิดนี้ไม่ผิด แต่ต้องยอมรับว่าหากตัดสินใจนำคลาวด์ไปใช้ในเชิงกลยุทธ์เป็นโมเดลปฏิบัติการใหม่จะช่วยให้องค์กรปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงได้อย่างต่อเนื่อง สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ และการเติบโตได้ในอนาคต จากรายงานของ Accenture หัวข้อ “Ever-ready for Every Opportunity: How to Unleash Competitiveness on the Cloud Continuum” ซึ่งเป็นผลการสำรวจข้อมูลในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงเกือบ 4,000 คนทั่วโลกพบว่า การใช้คลาวด์เพื่อลดต้นทุนเพียงอย่างเดียวอาจทำให้องค์กรเสียเปรียบ เมื่อเทียบกับองค์กรที่เลือกใช้ทั้งคลาวด์สาธารณะ คลาวด์ส่วนตัวและเอดจ์ในเชิงกลยุทธ์มากขึ้น องค์กรที่วางแผนดี ใช้ประโยชน์จากคลาวด์อย่างเต็มประสิทธิภาพมองว่าคลาวด์เป็นเทคโนโลยีที่ต่อเนื่องกันเป็นห่วงโซ่ สามารถขยายไปยังจุดต่างๆ และมีสถานะความเป็นเจ้าของต่างกัน ควบคู่ไปกับการใช้ 5G แบบคลาวด์เฟิร์สและเครือข่ายที่กำหนดได้ด้วยซอฟต์แวร์ (software-defined networks) จึงสามารถรองรับความต้องการของธุรกิจที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาได้ รายงานฉบับนี้ได้เผยให้เห็นว่า ในขณะที่องค์กรวางแผนย้ายระบบงานกว่า 2 ใน 3 ขึ้นไปบนคลาวด์ให้ได้ภายใน 3 – 5 ปีข้างหน้า แต่จะมีเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นที่ใช้ศักยภาพของคลาวด์ได้เต็มที่โดยนำไปใช้เปลี่ยนงานประจำวันต่างๆ การทำงานที่ต้องใช้องค์ความรู้ ตลอดจนปรับปรุงแอปพลิเคชั่นให้ทันสมัยเพื่อรองรับความต้องการด้านต่างๆ ของธุรกิจ องค์กรที่มีความล้ำหน้าเช่นนี้เรียกว่า Continuum Competitors หรือผู้นำที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง มีสัดส่วนประมาณ 12-15% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ถือเป็นองค์กรที่โดดเด่นในด้านการขยายประสบการณ์ที่ได้จากคลาวด์สาธารณะไปสู่ศูนย์ข้อมูลองค์กร และจุดประมวลผลเอดจ์ ช่วยปรับขั้นตอนการดำเนินงานประจำของธุรกิจทำให้สามารถรับประโยชน์จากคลาวด์ได้เต็มที่ หมายถึงความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่า และการรับมือสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่า ตัวอย่างองค์กรที่เห็นได้ชัดคือ Carlsberg บริษัทเบียร์ข้ามชาติจากเดนมาร์ก ที่ใช้คลาวด์ในเชิงกลยุทธ์ ช่วยทั้งประหยัดต้นทุนการดำเนินงานและเพิ่มอิสระในการสร้างสรรค์และทดลอง ทำให้เปิดตัวโครงการและแคมเปญใหม่ๆ โดยใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงจากเดิมที่ใช้เวลาเป็นเดือน กล่าวได้ว่า ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทขึ้นอยู่กับการเลือกประเภทคลาวด์ให้เหมาะกับการนำไปใช้และเลือกใช้บริการบนคลาวด์แบบต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์ติดต่ออัจฉริยะ เอดจ์คอมพิวติ้ง โรโบติกคอมพิวติ้ง เทคโนโลยีโลกเสมือน (extended reality) และอื่นๆ ซึ่งเป็นการนำห่วงโซ่ต่างๆ ในระบบคลาวด์ไปใช้ด้วยแนวทางที่ล้ำหน้าที่สุด และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ ทั้งหมดคือการใช้กลยุทธ์แบบคลาวด์เฟิร์ส ช่วยสร้างประสบการณ์ลูกค้าให้ดีขึ้น มีกระบวนการทำงานที่เป็นอัจฉริยะและมีผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยมีสิ่งที่แตกต่าง อาทิ โอกาสที่มากกว่า 2 – 3 เท่าในการสร้างสรรค์ ปรับระบบการทำงานให้เป็นอัตโนมัติและจัดโครงสร้างการทำงานที่ต้องใช้ความรู้ใหม่ สามารถลดต้นทุนได้มากกว่าองค์กรที่เน้นย้ายข้อมูลเป็นหลัก 1.2 เท่า (อเมริกาเหนือ) และ 2.7 เท่า (ยุโรป) สามารถตั้งเป้าหมายด้านการดำเนินงานและด้านการเงินได้สูงกว่า ซึ่งรวมถึงการกำหนดเกณฑ์ชี้วัดทางธุรกิจเพิ่มขึ้นถึง 50% เช่น การเพิ่มฐานลูกค้าและเข้าตลาดได้เร็วกว่าคู่แข่ง มีโอกาสมากกว่าเกือบสามเท่าในการใช้ระบบคลาวด์จัดการเป้าหมายด้านความยั่งยืนให้สำเร็จลุล่วงอย่างน้อย 2 เป้าหมาย เช่น การใช้แหล่งพลังงานสีเขียว การออกแบบให้ใช้พลังงานน้อยลง และการใช้เซิร์ฟเวอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดการใช้พลังงาน ทั้งนี้ Accenture พบ 4 แนวทางการใช้คลาวด์สู่ความเป็นผู้นำในภาคธุรกิจ ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ ดังนี้ กำหนดจุดมุ่งหมายขององค์กรในการใช้คลาวด์ องค์กรจะต้องพัฒนากลยุทธ์ขึ้นมาก่อน ระบุจุดที่อ่อนไหวในการแข่งขัน กำหนดเป้าหมายที่ต้องการจะไปถึงในอนาคต วางแนวทางการใช้คลาวด์ให้รองรับเทคโนโลยีอื่นๆ และนำไปต่อยอดได้องค์กรจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กับแนวปฏิบัติที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัว (agility) เป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญที่สุดสำหรับการจะเป็นผู้นำที่แกร่งต่อเนื่องเพราะต้องใช้ทั้งแอปแบบคลาวด์เฟิร์ส การยกระดับบุคลากรทให้มีความสามารถและการทดลองใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น เร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน “ประสบการณ์” มากที่สุด เน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลางผสานเข้ากับเทคโนโลยีบนคลาวด์อย่างเอดจ์คอมพิวติ้ง ปลูกฝังกรอบแนวคิดเรื่องการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นทั้งองค์กร ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการ ประสบการณ์ของพนักงานและรูปแบบการจัดส่งสินค้า ให้คำมั่นเชิงกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง การจะเป็นผู้นำได้ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ กำหนดระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมและส่งเสริมวัฒนธรรมที่เน้นความคล่องตัวและการเติบโตและองค์กรจำเป็นต้องให้ "ทุกคนมีส่วนร่วม" ทุกคนในองค์กรต้องได้รับรู้ถึงศักยภาพและแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้คลาวด์ที่มีศักยภาพพัฒนาไปอยู่เสมอ รายงานของ Accenture เรื่อง “Ever-ready for Every Opportunity: How to Unleash Competitiveness on the Cloud Continuum” ออกมาในขณะที่องค์กรต่างๆ ถูกบีบคั้นจากสถานการณ์โควิดให้ต้องส่งมอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครให้กับลูกค้า ให้บริการในรูปแบบใหม่และเป็นแบบเสมือนจริง อีกทั้งงานวิจัยก่อนหน้านี้ของเอคเซนเชอร์ก็ยังพบว่า องค์กรที่สามารถปรับขนาดของนวัตกรรมเทคโนโลยีได้ในช่วงโควิด-19 จะสามารถสร้างรายได้ให้เติบโตเร็วกว่าองค์กรที่นำนวัตกรรมเทคโนโลยีไปใช้ช้า ถึง 5 เท่า
# BYD แซง Tesla เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลก, Tesla ยอดผลิตลดลง 18% บริษัทรถยนต์จีน BYD สามารถแซงหน้า Tesla กลายเป็นแชมป์ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าได้เป็นครั้งแรก โดย BYD ขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 641,000 คันในครึ่งแรกของปี 2022 ส่วน Tesla ทำได้ 564,000 คัน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ BYD แซงหน้า Tesla ได้สำเร็จ เกิดจากฝั่ง Tesla เองก็ผลิตรถยนต์ได้น้อยลงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จากปัญหาซัพพลายเชนและโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ต้องปิดชั่วคราว (ไตรมาส 1 ผลิตได้ 305,407 คัน, ไตรมาส 2 ผลิตได้ 258,580 คัน ลดลง 18%) แต่ฝั่งของ BYD เองก็ทำได้ดี สามารถเพิ่มยอดขายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 300% เทียบกับครึ่งแรกของปี 2021 แต่ส่วนใหญ่รถยนต์ของ BYD เป็นรถแบบไฮบริดที่มีทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน เหตุผลหนึ่งที่ BYD ทำได้ดีเนื่องจากมีฐานผลิตอยู่แถบเซินเจิ้น ที่ไม่โดนล็อคดาวน์เหมือนเซี่ยงไฮ้แบบที่ Tesla โดน นอกจากยอดขายรถยนต์ที่ทำได้ดีแล้ว BYD ยังผงาดขึ้นมาเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 2 ของโลก แซงหน้า LG Energy ได้แล้ว (อันดับหนึ่งคือบริษัทจีน Contemporary Amperex Technology หรือ CATL) ที่มา - Financial Times, Ars Technica
# Elon Musk มีลูกแฝดกับผู้บริหาร Neuralink Elon Musk มีลูกแฝดกับ Shivon Zilis ผู้บริหาร Neuralink ตั้งแต่ปี 2021 รวมปัจจุบันเขามีลูกรวม 9 คน จากภรรยาคนแรก Justine Musk 5 คน จาก Claire Boucher หรือ Grimes 2 คน ลูกแฝดที่เกิดกับ Zilis เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ก่อนหน้าลูกสาวคนเล็กที่เกิดกับ Grimes ด้วยการอุ้มบุญจะเกิดในเดือนธันวาคม 2021 สื่อเพิ่งรู้เรื่องลูกทั้งสองคนที่เกิดกับ Zilis เนื่องจาก Musk และ Zilis ยื่นขอเปลี่ยนนามสกุลของเด็กทั้งสองคนเพื่อไปใช้นามสกุล Musk Neuralink เป็นบริษัทที่ Musk ร่วมก่อตั้งเพื่อวิจัยการทำงานร่วมกันระหว่างคอมพิวเตอร์และสมอง ที่ผ่านมาบริษัทแสดงความคืบหน้าในการเชื่อมต่อสมองสัตว์เพื่อให้ควบคุมคอมพิวเตอร์ได้อย่างค่อนข้างน่าประทับใจ ที่มา - The Guardian
# Ubisoft เปิดตัว The Division Resurgence ลงมือถือ เป็นเกม Free-to-Play Ubisoft เปิดตัว The Division Resurgence ครั้งแรกของเกมซีรีส์ Tom Clancy's The Division บนแพลตฟอร์มมือถือ เนื้อเรื่องของเกมอยู่ในจักรวาลเดียวกับ The Division ภาคหลัก แต่ช่วงเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนภาค 1 และ 2 โดยผู้เล่นจะรับบทเป็นหน่วย Strategic Homeland Division (SHD) รุ่นแรก ที่เข้ามารักษาความสงบของนครนิวยอร์กในยุคที่เกิดความไม่สงบจากการแพร่ระบาดของไวรัส รูปแบบเกมเพลย์ยังเป็นเกมยิงแนว Third-Person Shooter แบบโอเพนเวิลด์ เล่นได้ทั้งโหมดคนเดียวและมัลติเพลเยอร์ co-op พร้อมฟีเจอร์มาตรฐานอย่างการอัพเกรดตัวละครและอาวุธ เกมประกาศแล้วว่าเป็น free-to-play แต่ยังไม่เปิดเผยเรื่องโมเดลการหารายได้ ตอนนี้เกมกำลังจะเปิดทดสอบแบบ closed-alpha ทั้งบน iOS และ Android ที่มา - Ubisoft
# KBTG ร่วมมือ MIT ให้ทุนวิจัย KBTG Fellow ยกระดับไทย และโลกด้วยนวัตกรรม AI และเทคโนโลยีใหม่ KBTG กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย วางเป็าหมายสู่ The Best Tech Organization แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2025 ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ หนึ่งในตัวแปรสำคัญคือทีมงานที่มีคุณภาพ จุดนี้เองในเดือน มี.ค. 2022 KBTG จึงเข้าร่วม MIT Media Lab Research Consortium เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยด้านบริการทางการเงินยุคอนาคต และเตรียมให้พนักงาน KBTG เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานวิจัยดังกล่าว มากกว่านั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการสร้างทีมงาน และองค์กรอันดับ 1 ของอาเซียน KBTG มีการให้ทุนแบบ Fellowship กับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของ MIT Media Lab ถือเป็นการสนับสนุนการศึกษาอีกระดับ ทุน Fellowship มีรายละเอียดอย่างไร แตกต่างกับการให้ทุนแบบอื่น ๆ หรือไม่ และหลังจากรูปแบบการให้ทุนเพื่อยกระดับองค์กรต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร ร่วมกันหาคำตอบจาก เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG กันครับ พัทน์ ภัทรนุธาพร ผู้ได้ทุน KBTG Fellow คนแรก รู้จักทุน Fellowship ที่ KBTG ให้ KBTG Fellow คือชื่อของทุนที่ KBTG จะให้กับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของ MIT Media Lab โดยทุนดังกล่าวเป็นรูปแบบ Fellowship ซึ่งทุน Fellowship มีความแตกต่างจากทุนรูปแบบอื่นๆ คือจะไม่มีกรอบใด ๆ ในการวิจัย โดยขอแค่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ให้ทุน แต่การจะได้มาผู้ได้รับทุนต้องมีความสามารถสูง และเลือกหัวข้อวิจัยที่มีชื่อเสียง โดย เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG กล่าวย้ำว่า "เราเชื่อว่าเขาจะเดินหน้าเองได้ ไม่ต้องมีกรอบอะไร แต่คนที่ได้ต้องมีความสามารถพิเศษจริง ๆ" สำหรับนักศึกษาคนแรกที่ KBTG จะให้ทุน KBTG Fellow คือ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยคนแรกในสาขา Fluid Interfaces ที่ MIT Media Lab โดยจะได้ทุนวิจัยระยะเวลา 2 ปี โดยเรื่องที่เขาจะวิจัยคือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ และการศึกษาส่วนบุคคล ติดอาวุธให้ทีมงานของ KBTG นอกจากการเข้าไปสนับสนุนคนเก่งด้วยทุน KBTG Fellow ทาง KBTG จะส่งนักวิจัย 1 คนของบริษัทไปทำงานร่วมกับนักวิจัยของ MIT Media Lab ในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ และUX/UI โดยความร่วมมือด้านการวิจัยนี้จะเริ่มขึ้นในเดือน ก.ย. 2022 "ไทยเราขาดผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีหลายพันตำแหน่ง และหลังการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มทุเลาภาพรวมสตาร์ตอัพน่าจะกลับมาเติบโต ซึ่งตลาดดังกล่าวที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทในอาเซียน ดังนั้นการมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีรองรับเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศ และภูมิภาค" ขณะเดียวกัน พัทน์ ภัทรนุธาพร ยังถูกวางตัวเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ KBTG Fellow เพื่อช่วยสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้เกิดคนเก่งในเรื่องนวัตกรรมในประเทศไทย ส่วน KBTG ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 1,500 คน และขับเคลื่อน และยกระดับพนักงานให้พร้อมอยู่ในองค์กรเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG ยกระดับบริการของ KBTG และ ของโลก ด้วยนวัตกรรม ในทางกลับกันเป้าหมายหลักจากให้ทุนครั้งนี้ KBTG คาดหวังให้งานวิจัยของ KBTG Fellow จะสามารถสร้างนวัตกรรม ที่เป็นพื้นฐานของบริการทางการเงินผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น AI และ Blockchain รวมถึงยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า พร้อมกระตุ้นให้ทุกคนมีวินัยทางการเงิน สร้าง Financial Well-Being เช่นกัน ซึ่งตรงกับบริการที่ KBTG ให้ความสนใจ แม้จะยังไม่สามารถระบุบริการที่จะได้รับจากโครงการนี้ แต่ เรืองโรจน์ พูนผล เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของ KBTG จะทำให้องค์กรต่าง ๆ หันมาให้ทุนในรูปแบบ Fellowship และให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการศึกษา ซึ่งบริษัทในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต้องทำให้ทุกคนเห็นเรื่องนี้อย่างชัดเจนก่อน "ยกระดับประเทศคือเป้าหมายอันใหญ่ของเรา เพราะสุดท้ายมันจะไปถึงเส้นชัยจริง ๆ ได้ ต้องอาศัยการลงทุนเพื่อสังคม และประเทศชาติ จนทุกคนสามารถจบออกมาเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างด้วยนวัตกรรมใหม่ได้จริง" โครงการการศึกษาที่ต้องมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ KBTG เตรียมเปิดโครงการเกี่ยวกับการศึกษาอื่น ๆ ในอนาคต โดยในปี 2022 นอกจาก KBTG Fellow จะมีอีกหลาย โครงการที่เปิดตัว แต่ยังไม่สามารถบอกถึงรายละเอียดเชิงลึกได้ แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนด้านการศึกษาที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีของ KBTG "ผมคิดว่ามหาวิทยาลัย, EdTech และองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องหลักสูตร และการสนับสนุน เพื่อแก้วิกฤติผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีในประเทศไทยขาดแคลน และเราอยากได้คนที่ไม่กลัวการล้มเหลว พร้อม Push the Frontier ไปด้วยกันหลังจากนี้" ทั้งนี้เมื่อเดือน มี.ค. 2022 KBTG ได้ตัดสินใจเข้าร่วม MIT Media Lab Research Consortium เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยด้านบริการทางการเงินยุคอนาคต (Next Generation Financial Services) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย
# Forspoken เกมแรกของ Luminous Productions เลื่อนอีกรอบ เป็นมกราคม 2023 Forspoken เกมแรกของสตูดิโอ Luminous Productions อดีตทีมสร้าง FFXV ที่แยกออกเป็นสตูดิโอใหม่ในสังกัด Square Enix เมื่อปี 2018 ประกาศเลื่อนวันวางขายจากเดือนตุลาคม 2022 เป็น 24 มกราคม 2023 (ถือเป็นการเลื่อนรอบที่สอง จากเดิมมีกำหนดออก 24 พฤษภาคม 2022) ประกาศของ Luminous Productions บอกว่าตัวเกมหลักเสร็จหมดแล้ว กระบวนการพัฒนาตอนนี้อยู่ในช่วงเก็บรายละเอียดและปรับปรุงคุณภาพของเกม Forspoken เป็นเรื่องของตัวเอกหญิง Frey Holland ที่ข้ามมิติจากนิวยอร์กไปอยู่ในโลกเวทย์มนต์ Athia (โค้ดเนมของเกมตอนพัฒนาชื่อ Project Athia) เกมถูกพัฒนาขึ้นบนเอนจิน Luminous Engine ที่เริ่มใช้ใน Final Fantasy XV เป็นเกมแรก และ Forspoken ถือเป็นเกมที่สองที่ใช้งาน ที่มา - @Forspoken
# Kimbal Musk น้องชาย Elon Musk ซื้อธุรกิจโดรน Drone Light Shows จากอินเทล Kimbal Musk น้องชายของ Elon Musk (อ่อนกว่า 1 ปี และเคยทำบริษัท Zip2 บริษัทแรกของ Elon Musk ด้วยกัน) เข้าซื้อกิจการ Intel Drone Light Shows ธุรกิจโดรนของอินเทล อินเทลมีธุรกิจโดรนสำหรับแสดงโชว์มานานพอสมควรแล้ว (เปิดตัวปี 2016) และเคยนำไปร่วมงานมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ หลายครั้ง เช่น Super Bowl 2016, โอลิมปิกฤดูหนาว 2018, โอลิมปิกฤดูร้อน 2020 รวมถึงงานเปิดตัว Iconsiam ที่ประเทศไทยด้วย Kimbal Musk เพิ่งมาสนใจเรื่องโดรนสำหรับโชว์ จากการไปร่วมงานเทศกาล Free Burn 2021 ที่เพื่อนของเขานำโดรนมาแสดงกลางทะเลทรายยามค่ำคืน เขาประทับใจมากจนก่อตั้งบริษัทโดรน Nova Sky Stories ในปี 2022 นี้ และซื้อฝูงโดรนของอินเทลจำนวน 9,000 ตัวมาใช้งาน อินเทลยืนยันกับเว็บไซต์ The Register ว่าตอนนี้ไม่มีธุรกิจโดรนเหลืออยู่แล้ว แต่ก็ไม่เปิดเผยมูลค่าว่า Nova Sky Stories ซื้อไปในราคาเท่าไร The Register ชี้ว่าการที่อินเทลขายธุรกิจโดรนออกไป แสดงให้เห็นว่าบริษัทเริ่มหันมาโฟกัสกับธุรกิจหลักเรื่องการผลิตชิปมากขึ้น หลังจากในยุคของซีอีโอ Brian Krzanich ใช้ยุทธศาสตร์กระจายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น อุปกรณ์สวมใส่ แว่น VR และโดรน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ก่อนหน้านี้ อินเทลเพิ่งประกาศเลิกทำกล้อง RealSense เพื่อกลับมาโฟกัสกับธุรกิจผลิตชิป ที่มา - Kimbal Musk via The Register
# Stranger Things ซีซั่น 4 ทำสถิติการดูรวมสูงกว่า 1 พันล้านชั่วโมง เป็นเรื่องที่ 2 ต่อจาก Squid Game Stranger Things ซีซั่นที่ 4 เป็นซีรี่ส์บน Netflix เรื่องที่ 2 ที่ทำสถิติจำนวนชั่วโมงการรับชมสูงกว่า 1 พันล้านชั่วโมงต่อจาก Squid Game (1.65 พันล้านชั่วโมง) ซึ่ง Netflix วัดผลช่วง 28 วันแรกที่เริ่มฉาย ตัวเลขล่าสุดของ Stranger Things ซีซั่นที่ 4 อยู่ที่ 1.15 พันล้านชั่วโมง และเนื่องจากซีรี่ส์ส่วน Volume 2 เพิ่งเริ่มฉายวันที่ 1 กรกฎาคม ตัวเลขจึงอาจเพิ่มสูงขึ้นได้อีก แต่จะแซง Squid Game หรือไม่ ต้องรอดูต่อไป Stranger Things ซีซั่นที่ 4 Volume 2 ทำสถิติผู้ชม 301.3 ล้านชั่วโมง ใน 3 วันแรกที่เปิดตัว ส่วน Volume 1 ตัวเลขอยู่ที่ 335 ล้านชั่วโมง ที่มา: Variety
# Meta ประกาศโอเพนซอร์สโมเดล AI แปลภาษา ที่รองรับมากกว่า 200 ภาษา Meta ประกาศโอเพนซอร์สโมเดล AI ที่สามารถแปลภาษาได้มากกว่า 200 ภาษา โดยโมเดลนี้ชื่อว่า No Language Left Behind ชื่อย่อ NLLB-200 ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลในภาษาที่มีคอนเทนต์จำนวนมาก เช่น อังกฤษ จีน สเปน และอาหรับ สำหรับผู้ใช้งานในแอฟริกาและเอเชีย ที่ไม่ได้ใช้ภาษาดังกล่าว ซึ่งมีอยู่หลายร้อยล้านคน โมเดล NLLB-200 ระบุว่ามีคุณภาพการแปลที่ดีขึ้น 44% โดยเฉลี่ย เมื่อเทียบกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของ Meta และได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นถึง 70% สำหรับภาษาในพื้นที่แอฟริกาและอินเดีย โดยกระบวนการตรวจสอบคุณภาพการแปลนั้น ใช้ทั้งระบบและคนในการตรวจ Meta คาดว่าจะนำ NLLB-200 มาใช้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท ช่วยทั้งการแปลคอนเทนต์ ตลอดจนปรับปรุงระบบโฆษณา และตรวจจับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ Wikimedia Foundation ให้นำ NLLB-200 ไปช่วยปรับปรุงการแปลภาษาต่าง ๆ ใน Wikipedia ด้วย ที่มา: Meta และ ZDNet
# Amazon ประกาศความร่วมมือกับแอปส่งอาหาร Grubhub ให้สิทธิกับลูกค้า Prime Amazon ประกาศความร่วมมือกับ Grubhub แพลตฟอร์มเดลิเวอรีในอเมริกา โดย Amazon จะได้สิทธิในการซื้อหุ้น (วอแรนต์) ของ Grubhub สูงสุด 2% และเพิ่มเติมในอนาคตได้อีก 13% รวมเป็น 15% ผลจากข้อตกลงดังกล่าว Amazon จะนำสิทธิประโยชน์ใน Grubhub มาให้กับลูกค้าที่เป็นสมาชิก Amazon Prime ในอเมริกา สามารถสมัครใช้ Grubhub+ ได้ฟรี 12 เดือน ซึ่งเป็นบริการสั่งอาหารแบบไม่ต้องจ่ายค่าส่ง ที่ปกติคิดค่าบริการ 9.99 ดอลลาร์ต่อเดือน ถึงแม้ดีลดังกล่าวจะไม่ใช่การซื้อกิจการ หรือเข้าถือหุ้นในสัดส่วนที่สูง แต่สะท้อนว่า Amazon ยังพยายามบุกเข้ามาธุรกิจส่งอาหารต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ Amazon เคยให้บริการดังกล่าวในชื่อ Amazon Restaurants แต่ก็ปิดตัวไป นอกจากนี้บริษัทยังถือหุ้นใน Deliveroo แอปส่งอาหารในอังกฤษด้วย ที่มา: The Verge และ Grubhub
# Bitstamp ยกเลิกแผน หักเงินค่าธรรมเนียมบัญชีคริปโตที่ไม่มีการซื้อขายเกิน 12 เดือน Bitstamp แพลตฟอร์มซื้อขายฝากคริปโต ประกาศปรับนโยบายการให้บริการ โดยจะหักเงินบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว 12 เดือนขึ้นไป และมีมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีรวมต่ำกว่า 200 ยูโร โดยจะหักค่าธรรมเนียมในการดูแลบัญชี 10 ยูโรต่อเดือน หลังประกาศนี้ออกไป ผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย จึงทำให้ Bitstamp ต้องยกเลิกนโยบายดังกล่าว ระบุว่าเมื่อลูกค้ามีความเห็นแตกต่าง เราก็รับฟังและยกเลิกคำสั่งนั้น ก่อนหน้านี้ Bitstamp บอกว่าที่ต้องหักค่าธรรมเนียมส่วนนี้ เพราะการดูแลรักษาบัญชีผู้ใช้งานมีต้นทุน พร้อมยืนยันว่าสถานะการเงินบริษัทยังคงแข็งแกร่ง ไม่มีปัญหาใด ที่มา: Coindesk
# Apple เพิ่ม Lockdown Mode ใน iOS 16 เน้นความปลอดภัยขั้นสูงสุด แอปเปิลออกอัพเดต iOS 16, iPadOS 16 และ macOS Ventura เวอร์ชันเบต้าตัวที่ 3 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนทดสอบสำหรับนักพัฒนา มีฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญคือ Lockdown Mode ที่แอปเปิลบอกว่าเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานขั้นสูงสุด เน้นไปที่ผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่ม เช่น นักการเมือง นักเคลื่อนไหว นักข่าว ที่อาจเป็นเป้าหมายของการเจาะข้อมูลจากหน่วยงาน ผ่านสปายแวร์รูปแบบต่าง ๆ Lockdown Mode ปิดการใช้งานเป็นค่าเริ่มต้น แต่สามารถเปิดการใช้งานได้ใน Settings ส่วน Privacy & Security ซึ่งต้องรีบูทเครื่องเมื่อเปิดใช้งาน การทำงานของ Lockdown Mode นั้น แอปเปิลบอกว่าจะปิดคุณสมบัติและฟีเจอร์ของแอปต่าง ๆ ให้มากที่สุด เหลือเฉพาะที่จำเป็น ตัวอย่างที่แอปเปิลยกมาเช่น ใน Messages จะรับได้เฉพาะข้อความและรูปภาพเท่านั้น หากเป็นลิงก์จะปิดพรีวิว, FaceTime จากคนที่ไม่เคยติดต่อจะถูกบล็อกทันที, Safari จะป้องกันเว็บที่ใช้เทคนิคซับซ้อน เช่น JavaScript JIT, ไม่สามารถลง Profile หรือติดตั้ง MDM ได้ แอปเปิลบอกว่าการทำงานของ Lockdown Mode จะมีการปรับปรุงอยู่ตลอด และเปิดให้นักวิจัยรายงานช่องโหว่ที่พบใน Lockdown Mode ผ่านโปรแกรม Security Bounty โดยมีเงินรางวัลสูงสุด 2 ล้านดอลลาร์ ที่มา: แอปเปิล ผ่าน MacRumors
# Apple ประเทศไทยประกาศวันเปิดให้สั่งซื้อ MacBook Air โฉมใหม่พร้อมชิป M2 แล้ว แอปเปิลประเทศไทยประกาศเปิดให้สั่งซื้อ MacBook Air รุ่นใหม่ที่ใช้ชิป Apple M2 ผ่านช่องทาง Apple Store Online แล้วเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม เวลา 19.00น. เป็นต้นไป สำหรับประเทศไทยกำหนดวันส่งมอบและวันเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการไว้ภายในเดือนนี้ (หน้าเว็บของสหรัฐอเมริการะบุวันเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการและส่งมอบเครื่องเป็นวันที่ 15 กรกฎาคม) ราคาจำหน่ายแต่ละรุ่นเป็นดังนี้ MacBook Air ชิป M2 (จีพียู 8 คอร์) + แรม 8GB + SSD 256GB ราคา 43,900 บาท (ราคาส่งเสริมการศึกษา 40,400 บาท) MacBook Air ชิป M2 (จีพียู 10 คอร์) + แรม 8GB + SSD 512GB ราคา 54,900 บาท (ราคาส่งเสริมการศึกษา 51,400 บาท) ที่มา: แอปเปิล
# IBM ซื้อกิจการ Databand สตาร์ทอัพซอฟต์แวร์ Observability ไอบีเอ็มประกาศซื้อกิจการ Databand.ai สตาร์ทอัพผู้พัฒนาเครื่องมือด้าน Observability ที่ใช้ตรวจสอบจับปัญหาของข้อมูล เช่น การทำงานผิดพลาด หรือปัญหาใน pipeline ก่อนจะเกิดผลลัพธ์ ดีลดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยมูลค่า แต่บริษัทได้รับเงินเพิ่มทุนมาแล้วรวม 14.5 ล้านดอลลาร์ ไอบีเอ็มบอกว่าทีมงานทั้งหมดของ Databand.ai จะเข้ามาร่วมทีม Data และ AI ของไอบีเอ็ม ซึ่งไอบีเอ็มจะนำเครื่องมือนี้มาเสริมกับผลิตภัณฑ์ด้าน AI และ Automation Daniel Hernandez ผู้จัดการทั่วไปฝ่าย Data และ AI ของไอบีเอ็ม กล่าวว่าลูกค้าองค์กรที่ใช้งานแบบ Data-driven ย่อมต้องการ Data ในเวลาที่ต้องการ และหากมีข้อผิดพลาดใด ๆ ก็อาจกระทบต่อธุรกิจมาก เครื่องมือย่าง Databand.ai จึงเข้ามาเติมเต็มส่วนนี้ ที่มา: TechCrunch
# God of War Ragnarök ประกาศวันวางขาย 9 พฤศจิกายน 2022 Santa Monica Studio ประกาศวันวางขาย God of War Ragnarök วันที่ 9 พฤศจิกายน 2022 (ทั้งบน PS4/PS5) พร้อมออกเทรลเลอร์ใหม่มาให้ดูกันด้วย God of War Ragnarök เป็นภาคต่อและเป็นภาคจบของ God of War เวอร์ชันปี 2018 ซึ่งถือเป็นแชมป์เกมขายดีที่สุดของยุค PS4 ด้วยยอดขาย 19.5 ล้านชุด เนื้อเรื่องยังเป็นการเดินทางของคู่หูพ่อลูก Kratos และ Atreus เพื่อต่อกรกับ Ragnarök ตำนานวันสิ้นโลกของชาวนอร์ส ในเทรลเลอร์ใหม่เผยให้เห็นศัตรูเป็นหมาป่าขนาดยักษ์ ซึ่งเป็นศัตรูใหม่ของภาคนี้ ที่มา - PlayStation Blog
# หน่วยงานกำกับดูแลแข่งขันอังกฤษ เข้าสอบสวนดีลไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard Competition and Markets Authority หรือ CMA หน่วยงานด้านการแข่งขันของสหราชอาณาจักร ประกาศเข้าสอบสวนดีลไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard อย่างเป็นทางการ เพื่อดูว่าสร้างการผูกขาดต่อธุรกิจหรือไม่ CMA ประกาศเริ่มสอบสวนอย่างเป็นทางการในวันนี้ (6 ก.ค.) โดยเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องภายในวันที่ 20 ก.ค. และกำหนดเส้นตายขั้นต้นเป็นวันที่ 1 ก.ย. ว่าจะตัดสินอย่างไร (อาจเลื่อนได้ถ้าจำเป็น) ดีลไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard เป็นดีลใหญ่ที่มีมูลค่าถึง 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์ และต้องผ่านกระบวนการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลในหลายๆ ประเทศ จึงจะสามารถเดินหน้าต่อได้ ก่อนหน้านี้ CMA เคยมีบทบาทเข้ามากำกับดูแลธุรกิจไอทีหลายราย เช่น สอบสวนกรณีแอปเปิลห้ามในเอนจินอื่นนอกจาก WebKit, ตรวจสอบกูเกิลกรณี Privacy Sandbox, สั่งห้าม Facebook ซื้อ GIPHY และคัดค้านดีล NVIDIA ซื้อ Arm ที่มา - CMA
# รัฐสภายุโรปผ่านกฎหมาย Digital Service และ Digital Market ควบคุมแพลตฟอร์มออนไลน์ รัฐสภายุโรปผ่านกฎหมายดิจิทัลที่สำคัญ 2 ฉบับคือ Digital Services Act (DSA) และ Digital Markets Act (DMA) ด้วยคะแนนท่วมท้น Digital Services Act (DSA) เป็นกฎหมายที่กำหนดว่าผู้ให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรืออีคอมเมิร์ซ มีหน้าที่ต้องจัดการกับเนื้อหาผิดกฎหมาย ข่าวปลอม หรือภัยสังคมอื่นๆ โดยแพลตฟอร์มไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบเนื้อหาที่โพสต์โดยผู้ใช้ได้ กฎหมายนี้ยังส่งเสริมความโปร่งใสของแพลตฟอร์ม เช่น ต้องอธิบายวิธีการเซ็นเซอร์เนื้อหา หรืออัลกอริทึมที่ใช้แนะนำเนื้อหาให้ผู้ใช้ และผู้ใช้ยังสามารถอุทธรณ์การตัดสินใจของแพลตฟอร์มได้ (ข่าวเก่า) Digital Markets Act (DMA) เป็นกฎหมายที่ดูแลการแข่งขันของแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ห้ามให้อิทธิพลของตัวเองกีดกันคู่แข่งหรือคู่ค้ารายย่อย เช่น กำหนดว่าต้องยอมให้คู่แข่งเข้ามาเชื่อมระบบได้ (ตัวอย่างคือ แอพแชทต้องคุยข้ามกันได้) เพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้ใช้, กำหนดให้ลูกค้าธุรกิจต้องเข้าถึงข้อมูลของตัวเองได้, ห้ามแพลตฟอร์มจัดอันดับบริการของตัวเองเหนือคู่แข่งรายอื่น, แพลตฟอร์มไม่สามารถห้ามการถอนแอพที่พรีโหลดมากับเครื่องได้ (ข่าวเก่า) ขั้นถัดไป ฝ่ายบริหารของประเทศในยุโรปจะยอมรับกฎหมายทั้งสองฉบับ (DMA เดือนกรกฎาคม และ DSA เดือนกันยายน) หลังจากนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้ต่อไป ภาพจาก European Parliament ที่มา - European Parliament
# Voyager แพลตฟอร์มเทรดคริปโต ยื่นขอล้มละลายแล้ว เป็นเคสต่อจาก Three Arrows Capital Voyager แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตที่เพิ่งประกาศปิดการฝาก-ถอนเงินไปวันก่อน เนื่องจากประสบปัญหาสภาพคล่อง ได้ยื่นเอกสาร Chapter 11 เข้าสู่กระบวนการขอล้มละลายแล้วต่อศาลนิวยอร์กใต้ ซึ่ง Steven Ehrlich ซีอีโอ Voyager บอกว่าขั้นตอนนี้ทำเพื่อพิทักษ์สินทรัพย์ให้กับเจ้าหนี้ และรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้ผู้ถือหุ้น ในเอกสารระบุว่าเจ้าหนี้ของ Voyager มีประมาณ 1 แสนราย ขนาดรายการสินทรัพย์อยู่ราว 1 พันถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านี้ Three Arrows Capital ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของ Voyager ที่บริษัทแจ้งผิดนัดชำระหนี้ราว 670 ล้านดอลลาร์ ก็ได้ยื่นขอล้มละลายไปแล้ว ที่มา: Coindesk และ Voyager
# สหรัฐฯ พยายามแบนไม่ให้จีนซื้อเครื่องจักรผลิตชิป แม้จะเป็นเครื่องรุ่นเก่า รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามล็อบบี้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้สั่งห้ามส่งออกเครื่องจักรผลิตชิปแม้จะเป็นเครื่องที่ใช้เทคโนโลยี deep ultraviolet (DUV) ที่เก่าหลายปีแล้วก็ตาม หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ห้ามส่งออกเครื่องจักรผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยี extreme ultraviolet (EUV) ไปยังจีน หากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ทำตามคำขอของสหรัฐฯ จะทำให้บริษัท ASML ผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตชิปรายใหญ่ไม่สามารถส่งออกเครื่องจักรเหล่านี้ให้กับผู้ผลิตชิปในจีนได้ เทคโนโลยี DUV ใช้ผลิตชิปในระดับความละเอียด 220nm ไปจนละเอียดกว่า 38nm ซึ่งยังคงใช้งานได้ในชิปไมโครคอนโทรลเลอร์จำนวนมาก การสร้างโรงงานผลิตชิปกำลังผลิตสูงทำได้ค่อนข้างง่ายและเชื่อถือได้ ที่ผ่านมา ASML ก็เคยบอกกับผู้ถือหุ้นว่าเครื่องจักรในกลุ่ม DUV นั้นยังคงขายดี ที่มา - South China Morning Post เครื่อง TWINSCAN NXT:2050i เทคโนโลยี DUV ของ ASML
# Google หยุดอัพเดตแอปแชต KakaoTalk หลังแอปไม่ถอดลิงก์จ่ายเงินผ่าน 3rd Party มีรายงานว่าแอปแชตยอดนิยมของเกาหลีใต้ KakaoTalk ถูกปฏิเสธการอัพเดตเวอร์ชันของแอปใน Play Store ของกูเกิล โดยกูเกิลให้เหตุผลว่าแอปทำผิดข้อกำหนดการใช้งาน ที่ห้ามแทรกลิงก์ไปจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มภายนอก ก่อนหน้านี้กูเกิลออกข้อกำหนดมีผลตั้งแต่ 1 มิถุนายน ว่าหากพบแอปใดมีลิงก์ให้ไปจ่ายเงินค่าบริการยังเว็บไซต์ภายนอก ที่ไม่ใช่ระบบจ่ายเงินของกูเกิล แอปจะถูกระงับการอัพเดตหรืออาจถูกถอดออกจาก Play Store ก่อนหน้านี้หน่วยงานกำกับดูแลของเกาหลีใต้ ได้ออกข้อกำหนด ซึ่งมีผลทั้งกับ Play Store ของกูเกิล และ App Store ของแอปเปิล โดยแพลตฟอร์มต้องเปิดให้นักพัฒนาเลือกใช้ระบบจ่ายเงินภายนอกได้ เพื่อลดการจ่ายธรรมเนียมที่สูงระดับ 15-30% ในกรณีของ KakaoTalk นั้น กูเกิลระบุว่าได้กำหนดวิธีที่แอปแสดงตัวเลือกในการจ่ายเงิน โดยให้โชว์ตัวเลือกทั้งหมด ซึ่งต้องมีการจ่ายผ่าน Google Play ด้วย ไม่ใช่การแทรกลิงก์ไปจ่ายเงินภายนอก ยังไม่มีข้อมูลว่าหน่วยงานกำกับดูแลของเกาหลีใต้มีความเห็นอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ ที่มา: TechCrunch
# ASUS เปิดตัว ROG Phone 6 จอรีเฟรช 165Hz, รุ่น Pro มีจอที่สองด้านหลังไว้สวยๆ ASUS เปิดตัวมือถือเกมมิ่ง ROG Phone 6 ที่แยกเป็นรุ่นธรรมดากับรุ่น Pro สเปกที่ทั้งสองรุ่นมีเหมือนกันคือ หน้าจอ 6.78" Samsung AMOLED HDR10+ 165Hz, หน่วยประมวลผล Snapdragon 8+ Gen 1, แบตเตอรี่ขนาด 6000 mAh, ระบบระบายความร้อน GameCool 6 ที่ขยายพื้นที่ vapor chamber ขึ้นอีก 30% จากรุ่นก่อน, กล้องหลัง 3 ตัว กล้องหลัก 50MP Sony IMX766, กล้องอัลตร้าไวด์ 13MP, กล้องมาโคร, กล้องหน้า 12MP พร้อมทำไลฟ์สตรีม ความแตกต่างคือ ROG Phone 6 Pro มีหน้าจอขนาดเล็กด้านหลังเครื่องที่เรียกว่า ROG Vision, มีแรมมากกว่าคือ 18GB+512GB ขายในราคา 1,299 ยูโร (รุ่นธรรมดาไม่มีจอหลัง แต่มีไฟ LED RGB แรมและสตอเรจเริ่มต้นที่ 12GB+256GB ราคา 999 ยูโร) นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า AeroActive Cooler 6 ช่วยระบายความร้อนด้านหลังเครื่อง และมีปุ่มกดสำหรับเล่นเกมด้วย ภาพหน้าตา ROG Phone 6 Pro ภาพหน้าตา ROG Phone 6 ที่มา - ASUS, ASUS Press, Android Central
# HTC เปิดตัวแท็บเล็ตราคาถูก A101 หน้าจอ 10" ใช้ชิป Unisoc, ยังขายแค่ประเทศเดียว HTC เริ่มทยอยกลับคืนวงการสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต หลังเปิดตัวมือถือ HTC Desire 22 Pro ก็มาเป็นคิวของแท็บเล็ตบ้าง แท็บเล็ตรุ่นนี้ชื่อ HTC A101 ขนาดหน้าจอ 10.1" 1920x1200, หน่วยประมวลผล Unisoc T618 8 คอร์ 12nm, แรม 8GB, สตอเรจ 128GB เพิ่ม microSD ได้อีก 256GB, กล้องหลัง 2 ตัว 16MP+2MP, กล้องหน้า 5MP, แบตเตอรี่ 7,000 mAh, รัน Android 11 ตอนนี้ HTC A100 ยังวางขายในบางภูมิภาคเท่านั้น เท่าที่เปิดตัวคือในแอฟริกาใต้เพียงประเทศเดียว ยังไม่ระบุราคา ที่มา - HTC, 9to5google
# [ไม่ยืนยัน] Kuo นักวิเคราะห์ระบุ iPhone 14 เฉพาะรุ่น Pro จะได้ชิปใหม่ รุ่นไม่ Pro ชิปเดิม Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์สายซัพพลายเชนเจ้าประจำที่ออกมาให้ข่าววงในของ Apple ที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือ ออกมายืนยันว่า iPhone 14 รอบนี้ จะมีเฉพาะรุ่น Pro เท่านั้นที่ได้ชิปใหม่ ส่วนรุ่นเริ่มต้นและรุ่นกลาง (iPhone 13 mini และ iPhone 14) จะยังเป็นชิปเดิม ก่อนหน้านี้ Mark Gurman แห่ง Bloomberg ก็ออกมาให้ข้อมูลไปในทางเดียวกัน ซึ่งตอนนั้นคาดว่า เป็นเพราะปัญหาซัพพลายเชนจนทำให้ชิปขาดแคลน เป็นผลต่อเนื่องจากโรคระบาด แต่ล่าสุด Kuo ระบุว่า Apple ต้องการเปลี่ยนโพซิชั่นของรุ่น iPhone และเป็นเหตุผลด้านการตลาด เพิ่มน้ำหนักให้ผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น Kuo ระบุว่าวิธีนี้จะทำให้ iPhone 14 ระดับ Pro ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะมีสัดส่วนราว 40%-50% สำหรับรุ่นใหม่ที่ถูกขายภายในสิ้นปี น่าจะปรับเพิ่มเป็นราว 60% ที่มา - Ming-Chi Kuo via 9to5Mac
# Xiaomi บอกจะไม่นำมือถือซีรีส์ 12S มาขายนอกจีน อยากได้พลัง Leica ต้องรอรุ่นหน้า Richard Lai บรรณาธิการฝ่ายจีนของเว็บไซต์ Engadget ให้ข้อมูลยืนยันจาก Xiaomi ว่าบริษัทจะไม่นำมือถือซีรีส์ Xiaomi 12S ที่เพิ่งเปิดตัว มาทำตลาดนอกประเทศจีน ซึ่งผิดวิสัยที่ผ่านๆ มาของบริษัท Xiaomi ระบุว่าซีรีส์ 12S เป็นเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะในจีน แม้ไม่ได้ให้เหตุผลชัดเจน แต่ก็บอกชัดว่า สัญญาความร่วมมือกับ Leica ที่ประกาศเอาไว้ เป็นสัญญาระยะยาวที่มีผลทั่วโลก ซึ่งเราจะได้เห็นเทคโนโลยีกล้องทั้งจาก Leica และ Sony ปรากฏตัวในมือถือรุ่นอื่นๆ ด้วย (ตัวสัญญา Leica เป็นเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะ Xiaomi แต่เซ็นเซอร์ Sony ไม่ได้เอ็กซ์คลูซีฟ โดย Xiaomi ได้ใช้ก่อนยี่ห้ออื่น) จากแถลงของ Xiaomi จึงเป็นไปได้สูงว่าเราจะได้เห็นฟีเจอร์กล้องของซีรีส์ 12S ออกสู่ตลาดในโลกในซีรีส์ 13 ช่วงต้นปีหน้าแทน ที่มา - 9to5google
# FIFA เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ตรวจจับล้ำหน้า เริ่มใช้ในฟุตบอลโลก 2022 FIFA หรือ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ประกาศนำเทคโนโลยีใหม่แบบกึ่งอัตโนมัติ (semi-automated) เพื่อใช้ตรวจจับการล้ำหน้าของผู้เล่นขณะแข่งขัน ซึ่งบอกว่าจะช่วยให้การตัดสินถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ในเดือนพฤศจิกายน การทำงานของระบบดังกล่าว จะมีเซ็นเซอร์อยู่ที่ลูกบอลเพื่อระบุพิกัดตำแหน่ง ทำงานร่วมกับกล้องอีก 12 ตัวในสนาม รวมทั้งจับข้อมูลตำแหน่งผู้เล่นแต่ละคนออกมา 29 จุดของร่างกาย เพื่อดูว่ามีส่วนใดที่ล้ำหน้าหรือไม่ ข้อมูลถูกเก็บที่ระดับ 50 ครั้งต่อวินาที และคำนวณการล้ำหน้าอัตโนมัติ เพื่อแจ้งเตือนไปยังผู้ตัดสินในสนาม ข้อมูลดังกล่าวยังถูกนำมาสร้างเป็นวิดีโอ 3D เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบทันที และภาพวิดีโอนี้จะออกอากาศระหว่างการถ่ายทอดสดเป็นข้อมูลสำหรับผู้ชมด้วย Pierluigi Collina ประธานผู้ตัดสินของ FIFA บอกว่า ระบบนี้อาจเหมือนการใช้หุ่นยนต์มาเป็นผู้ตัดสิน แต่เขายืนยันว่าผู้ตัดสินหลักในสนามทั้งหมดยังคงมีบทบาทและรับผิดชอบต่อการตัดสินในทุกนัดเหมือนเดิม ดูวิดีโออธิบายการทำงานได้จากลิงก์นี้ ที่มา: FIFA
# NIST เลือกกระบวนการเข้ารหัสทนทานต่อคอมพิวเตอร์ควอนตัมชุดแรก NIST ประกาศผลการคัดเลือกอัลกอริทึมเข้ารหัสที่ทนทานต่อคอมพิวเตอร์ควอนตัม โดยชุดแรกมี 4 อัลกอริทึมที่จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำมาตรฐานต่อไป แบ่งเป็นกระบวนการเข้ารหัสแบบกุญแจลับ/กุญแจสาธารณะ 1 รายการ และกระบวนการสร้างลายเซ็นดิจิทัล 3 รายการ กระบวนการคัดเลือกอัลกอรึทึมเข้ารหัสที่ทนทานต่อคอมพิวเตอร์ควอนตัมนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2016 ก่อนหน้ากูเกิลจะประกาศว่าผ่านเส้นชัย Quantum Supremacy ไปเมื่อปี 2019 และทีมวิจัยจีนประกาศผ่านหลักชัยเดียวกันในปี 2020 แม้ว่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะก้าวหน้าไปเร็วมาก แต่ทุกวันนี้เราก็ยังไม่เห็นคอมพิวเตอร์ควอนตัมใหญ่กว่า 100 คิวบิต ขณะที่คอมพิวเตอร์ควอนตัมระดับที่เป็นภัยต่อกระบวนการเข้ารหัสนั้นต้องใช้เครื่องระดับหลายพันคิวบิต ซึ่งน่าจะพัฒนาสำเร็จหลังจากปี 2030 ไปแล้ว กระบวนการเข้ารหัสที่ได้รับเลือก ทั้ง 4 รายได้แก่ CRYSTALS-KYBER, CRYSTALS-Dilithium, Falcon, และ SPHINCS+ ขณะที่ซอฟต์แวร์เข้ารหัสยอดนิยมอย่าง OpenSSH นั้นเลือกใช้ Streamlined NTRU Prime ก็อาจจะต้องปรับให้รองรับกระบวนการอื่นๆ เมื่อมาตรฐานเรียบร้อย อัลกอรึทึมทั้งสี่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว 3 รอบ กระบวนการทำให้เป็นมาตรฐานยังมีงานต้องทำเพิ่มเติม เช่นการทำข้อตกลงไม่บังคับใช้สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่พัฒนาตามมาตรฐาน นอกจากนี้ NIST ยังเปิดคัดเลือกกระบวนการเข้ารหัสแบบกุญแจลับ/กุญแจสาธารณะเพิ่มเติมอีก 4 ตัว โดยผู้พัฒนาต้องปรับแต่งตามความเห็นจาก NIST ภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ที่มา - NIST: pqc-forum นักวิจัยไมโครซอฟท์กำลังทำงานก้บคอมพิวเตอร์ควอนตัม
# Surface Laptop Go 2 วางขายในไทย ราคาเริ่มต้น 26,990 บาท ไมโครซอฟท์ประเทศไทย เริ่มวางขาย Surface Laptop Go 2 แล้ววันนี้ (5 กรกฎาคม) ราคา 26,900 บาท (สตอเรจ 128GB) และ 29,900 บาท (สตอเรจ 256GB) Surface Laptop Go 2 เป็นโน้ตบุ๊กแบบฝาพับดั้งเดิมรุ่นเล็กของไมโครซอฟท์ ใช้หน้าจอขนาด 12.4" ซีพียู Core i5 Gen 11, แรม 8GB โดยรอบนี้ไมโครซอฟท์เลือกใช้สตอเรจแบบ SSD ทั้งหมดแล้ว จากเดิมที่เมื่อก่อนใช้สตอเรจแบบ eMMC ที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า คนที่ซื้อ Surface Laptop Go 2 ก่อน 31 กรกฎาคม 2565 ยังจะได้ของแถมเป็น Microsoft Surface Arc Mouse มูลค่า 2,750 บาทด้วย
# Gartner ประเมิน ตลาดพีซีปี 2022 หดตัว 9.5%, แท็บเล็ตหด 9%, สมาร์ทโฟนหด 7.1% บริษัทวิจัยตลาด Gartner พยากรณ์ยอดขายพีซีประจำปี 2022 คาดว่าจะลดลง 9.5% จากปี 2021 ส่วนอุปกรณ์ไอทีอื่นๆ ก็หดตัวเช่นกัน โดยแท็บเล็ตลดลง 9% และโทรศัพท์มือถือลดลง 7.1% หากแยกตลาดพีซี ฝั่งคอนซูเมอร์จะลดลงเยอะที่สุดคือ 13.1% ส่วนฝั่งธุรกิจจะลดลง 7.2% ส่วนแยกตามภูมิภาค ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา (EMEA) ลดลงเยอะที่สุด 14% เหตุผลของการที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลง มาจากหลายปัจจัย ทั้งสภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ปัญหาซัพพลายเชน และสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ที่มา - Gartner
# Google/Mozilla ค้านมาตรฐานการระบุตัวตนไร้ศูนย์กลางของ W3C ชี้ไม่มีมาตรฐานจริง กูเกิลและมอซิลล่ายื่นค้านมาตรฐานการระบุตัวตนแบบไร้ศูนย์กลางของ W3C หรือ Decentralized Identifier (DID) 1.0 โดยเหตุผลที่ถูกคัดค้านตรงกันคือ DID ไม่มีแนวทางที่จะทำงานข้ามผู้ผลิตได้จริง แต่เป็นเพียงการมัดรวมเอกสารการทำงานของผู้ผลิตกว่า 50 รายเข้าด้วยกันเท่านั้น DID เป็นความพยายามใช้กระบวนการเข้ารหัสลับเพื่อให้ผู้ใช้สามารถแสดงความเป็นเจ้าของเอกสารต่างๆ โดยไม่ต้องมีหน่วยงานกลางยืนยันความเป็นเจ้าของโดยตรง ตัวมาตรฐานผูกไปกับโลกเงินคริปโตอย่างแน่นหนา กระบวนการยืนยันความเป็นเจ้าของกระจายไปตามผู้ผลิตบล็อคเชนเจ้าต่างๆ กว่า 50 ราย ความเห็นของกูเกิลและสมาชิก W3C อีกคนหนึ่งระบุว่าควรชะลอ DID ไว้ก่อนจนกว่าจะหากระบวนการที่ทำงานร่วมกันข้ามผู้ผลิตได้ แต่มอซิลล่าระบุว่ามาตรฐาน DID อาจจะเกินเยียวยา และไม่ควรเป็นมาตรฐานเลย คณะทำงาน DID ยืนยันว่าจะเดินหน้าผลักดันให้ W3C ออกเป็นมาตรฐานต่อไป และจะหาทางสร้างมาตรฐานที่ทำงานข้ามผู้ผลิตได้ต่อไป ที่มา - W3C
# Xiaomi เปิดตัว Mi Band 7 Pro ในจีน หน้าจอใหญ่เท่าสมาร์ทวอทช์ ราคาราว 2,200 บาท Xiaomi เปิดตัว Xiaomi Mi Band 7 Pro ในประเทศจีน ถึงแม้ชื่อสินค้าใช้คำว่า Band แต่จริงๆ มันคือนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ ซึ่งแตกต่างจาก Mi Band 7 รุ่นธรรมดา (ไม่ Pro) ที่เปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้ Mi Band 7 Pro ใช้หน้าจอ AMOLED ขนาด 1.64" ความละเอียด 326 ppi, ตัวบอดี้เป็นโลหะดูพรีเมียม, ในแง่ฟีเจอร์ก็ทำได้เหมือนกับ Mi Band 7 แต่เพิ่มฟีเจอร์ด้านหน้าปัดนาฬิการูปแบบต่างๆ, มี GPS ในตัว, กันน้ำ 5ATM ใส่ว่ายน้ำได้, แบตเตอรี่ 235 mAh อยู่ได้นาน 12 วัน, มี NFC รองรับการจ่ายเงินแบบ contactless ราคาขายในจีนเริ่มต้นที่ 399 หยวน (ประมาณ 2,200 บาท) ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่องราคาและวันวางขายนอกประเทศจีน ที่มา - Xiaomi, Android Police
# แฮ็กเกอร์ประกาศขายข้อมูลประชากรจีน 1 พันล้านคน อ้างหลุดจากตำรวจเซี่ยงไฮ้ มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ ChinaDan โพสต์ประกาศขายข้อมูลในบอร์ดแฮ็กเกอร์ ระบุว่าได้ข้อมูลมาจากฐานข้อมูลของตำรวจเซี่ยงไฮ้ ที่มีข้อมูลประชากรจีนประมาณ 1 พันล้านคน ประกอบด้วยชื่อ ที่อยู่ สถานที่เกิด เลขประจำตัวประชาชน เบอร์มือถือ และประวัติอาชญากรรมของบุคคลทั้งหมดในฐานข้อมูล ChinaDan ประกาศขายข้อมูลนี้ในราคา 10 BTC หรือประมาณ 7.2 ล้านบาท โดยปล่อยข้อมูลตัวอย่าง 750,000 รายการออกมาเพื่อยืนยันว่าเป็นข้อมูลจริง ส่วนที่มาของข้อมูลนั้นระบุว่าดึงมาจากผู้ให้บริการคลาวด์ท้องถิ่น ซึ่งใช้ระบบของ Aliyun (Alibaba Cloud) ให้บริการหน่วยงานของรัฐบาล ตอนนี้ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลชุดนี้อย่างเป็นทางการ ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ ที่มา - BleepingComputer
# Meitu แอปเซลฟี่แต่งรูป คาดผลประกอบขาดทุนหนัก เหตุหลักคือคือราคาคริปโตที่บริษัทไปลงทุน Meitu บริษัทพัฒนาแอปเซลฟี่อย่าง Meitu, BeautyCam และ BeautyPlus ได้ส่งเอกสารรายงานต่อตลาดหุ้นฮ่องกง ว่าผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2022 บริษัทประเมินว่าจะขาดทุนราว 274.9-349.9 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าจากปีก่อน สาเหตุหลักเป็นบันทึกขาดทุนจากเงินคริปโตที่บริษัทลงทุนไว้ ก่อนหน้านี้ Meitu ประกาศจะนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนใน BTC และ ETH โดยใช้เงินประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ ซื้อ 940.89 BTC และ 31,000 ETH ช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม Meitu บอกว่าการขาดทุนนี้เป็นผลจากราคาคริปโตที่ลดลงมาก แต่ไม่กระทบต่อสภาพคล่อง และการดำเนินงานทางธุรกิจของบริษัท ซึ่งส่วนนี้สามารถกลับมาเติบโตเป็นกำไรได้ หากราคาคริปโตกลับมาปรับเพิ่มสูงขึ้น ที่มา: South China Morning Post
# Chrome บน Windows ออกแพตช์ฉุกเฉิน แก้ช่องโหว่ Zero-Day แนะนำอัพเดตทันที กูเกิลออกอัพเดต Chrome เวอร์ชัน 103.0.5060.114 เฉพาะผู้ใช้ Windows เพื่อแก้ไขช่องโหว่ร้ายแรง Zero-Day ที่มีความรุนแรงระดับ High ผู้ใช้งาน Chrome ควรอัพเดตทันที ช่องโหว่ที่รายงานคือ CVE-2022-2294 ซึ่งเป็นช่องโหว่ใน WebRTC ทำให้โปรแกรมแครช หรือสามารถรันคำสั่งเพื่อโจมตีได้ โดยกูเกิลไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดแม้เป็น Zero-Day แต่จะเผยแพร่เมื่อมีผู้อัพเดตเป็นส่วนใหญ่ อัพเดต Zero-Day นี้ของ Chrome เป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ โดยครั้งล่าสุดคือเดือนเมษายนในเวอร์ชัน 100 ที่มา: Bleeping Computer
# เครือข่ายโทรศัพท์ KDDI ในญี่ปุ่นล่มเป็นวงกว้างสองวันเต็ม ตู้เอทีเอ็มไม่ทำงาน, ล็อกเกอร์ส่งสินค้าใช้ไม่ได้ KDDI ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่นล่มไปตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา และเพิ่งประกาศกู้ระบบได้ในวันนี้ ทำให้เป็นการล่มครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัท กระทบผู้ใช้รวมกว่า 39 ล้านคน เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดระหว่างทาง KDDI เปลี่ยนเราท์เตอร์เพื่อซ่อมบำรุงตามรอบ แต่หลังจากเปลี่ยนเราท์เตอร์แล้วก็พบว่าการเชื่อมต่อโทรศัพท์ VoLTE ไม่ทำงาน ผู้ใช้ทั้งหมดไม่สามารถโทรเข้าออกได้ ระหว่างนั้นโทรศัพท์รุ่นต่างๆ พยายามเชื่อมต่อเข้าไปยังเครือข่ายจนทำให้เกิดปัญหาทราฟิกหนาแน่นซ้อนเข้าไปอีกชั้น โทรศัพท์บางรุ่นเช่นไอโฟนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เพียงแค่ใช้โทรศัพท์ไม่ได้เท่านั้น ขณะที่โทรศัพท์หลายรุ่นเชื่อมต่ออะไรไม่ได้เลย ผลกระทบทำให้ตู้เอทีเอ็มจำนวนมากไม่ทำงาน, บริษัทขนส่งไม่สามารถเปิดตู้ล็อกเกอร์เพื่อส่งสินค้า บริการจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์หลายรายใช้ไม่ได้ ยกเว้นบริการกลุ่ม NFC เช่น Mobile Suica หรือ Apple Pay ที่ยังใช้งานได้ต่อไป นอกจากนี้ระบบพยากรณ์อากาศยังไม่สามารถดึงค่าจากสถานีตรวจวัด ตอนนี้เน็ตเวิร์คโดยรวมเสถียรแล้ว คาดว่าจะประกาศจบเหตุการณ์อย่างสมบูรณ์ในวันพรุ่งนี้ และบริษัทจะประกาศแนวทางชดเชยผู้ใช้ต่อไป ที่มา - Japan Times, Spectrum Local News ภาพโดย MaxwellFury
# คลาวด์เต็ม Azure เจอปัญหาทรัพยากรไม่พอ ลูกค้าเปิดบริการเพิ่มไม่ได้ ไมโครซอฟท์ระบุกับเว็บไซต์ The Register ว่ากำลังพบกับการโหลดปริมาณสูงมากบนบริการ Azure ทำให้ต้องจำกัดการใช้งานบางประเภท โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าทดลองใช้งานและโหลดภายในของไมโครซอฟท์เอง ไมโครซอฟท์ไม่ได้เปิดเผยระดับทรัพยากรที่ในแต่ละศูนย์ข้อมูล แต่ก็มีข้อมูลจากผู้ใช้ว่าศูนย์ข้อมูลในสหรัฐฯ, ยุโรป, และเอเชีย ได้รับผลกระทบค่อยข้างมาก โดยเฉพาะลูกค้าใหม่จะไม่สามารถเปิดเซิร์ฟเวอร์ใหม่ หรือใช้งาน CosmosDB ได้ แหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวตนระบุกับเว็บไซต์ The Information ว่าปัญหาทรัพยากรบนคลาวด์ไม่เพียงพอนี้น่าจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า ลูกค้ารายหนึ่งระบุกับ The Register ว่าไม่กล้าปิดเครื่องแม้ไม่ได้ใช้งาน เพราะกลัวว่าจะเปิดเครื่องกลับมาไม่ได้ ที่มา - The Register ภาพโดย tstokes
# เปิดตัว Xiaomi 12s, 12s Pro และ 12s Ultra เซ็นเซอร์กล้อง 1 นิ้ว พัฒนากล้องร่วมกับ Leica Xiaomi เปิดตัวเรือธงประจำครึ่งปีหลังแล้ว ในชื่อรุ่น Xiaomi 12s ซีรีส์ มี 3 รุ่นย่อยคือ Xiaomi 12s, Xiaomi 12s Pro และ Xiaomi 12s Ultra ซึ่งจุดเด่นยังคงอยู่ที่กล้อง และรอบนี้ก็จับมือกับ Leica ในการพัฒนากล้องแล้วด้วย โดยจุดเด่นสุดคงหนีไม่พ้นรุ่น Ultra ที่เซ็นเซอร์กล้องใหญ่ถึงขนาด 1 นิ้ว จุดที่เหมือนกันของทั้ง 3 รุ่นคือใช้ชิปเซ็ต Snapdragon 8+ Gen 1 หน้าจอ AMOLED รีเฟรชเรท 120Hz รองรับ HDR10+ และ Dolby Vision ครอบด้วย Gorilla Glass Victus ขณะที่สเปคของรุ่นท็อปอย่าง Xiaomi 12s Ultra คือหน้าจอขนาด 6.73 นิ้ว ความละเอียด QHD+ เป็น AMOLED แบบ LTPO 2.0 แรม 12GB ความจุ 256GB และ 512GB ลำโพง Harman Kardon กันน้ำกันฝุ่น IP68 แบตเตอรี่ 4860 mAh รองรับชาร์จไวแบบมีสาย 67W ชาร์จไร้สาย 50W มาถึงเรื่องกล้องที่เป็นไฮไลท์บ้าง โดยได้ระบบกล้อง ASPH (aspherical lens surface) ของ Leica ที่เรียกว่า Leica Summicron 1:1.9-4.1 / 13-120 เป็นเลนส์ 8 ตัว ขณะที่ตัวกล้องหลักใช้เซ็นเซอร์ IMX989 ขนาด 1 นิ้ว ซึ่ง Xiaomi ระบุว่าพัฒนาร่วมกับ Sony (แต่ก็ไม่ได้เอ็กคลูซีฟเฉพาะ Xiaomi โดยรุ่นอื่นจะตามมาภายหลัง) ความละเอียด 50 ล้านพิกเซล มีกันสั่น OIS f/1.9 อีก 2 กล้องความละเอียดเท่ากันคือ 48 ล้านพิกเซล ใช้เซ็นเซอร์ IMX586 ตัวอัลตร้าไวด์ความกว้าง 128 องศา ส่วนอีกตัวเป็นกล้อง Tele ใช้เลนส์ Periscope ความละเอียด 48 ล้านพิกเซล ซูมดิจิทัลสูงสุด 120x มีกันสั่น OIS นอกจากนี้การถ่ายวิดีโอยังมีระบบ HyperOIS กันสั่นขั้นสุด Xiaomi บอกว่า แม้แต่วิ่งถ่ายก็ยังแทบไม่สั่น ส่วนกล้องหน้าของ Xiaomi 12s Ultra ความละเอียด 32 ล้านพิกเซล ส่วนสเปคของ Xiaomi 12s Pro หน้าจอ AMOLED LTPO 2.0 ขนาด 6.73 นิ้ว ความละเอียด WQHD+ แรม 8GB และ 12GB ความจุ 128GB และ 256GB ลำโพง Harman Kardon แบตเตอรี่ 4600 mAh รองรับชาร์จไวมีสาย 120W ชาร์จไร้สาย 50W (เร็วกว่า Ultra?) กล้องหลัง 3 ตัว พัฒนาร่วมกับ LEICA ความละเอียด 50 ล้านพิกเซลทั้งหมด มีกล้องหลัก, กล้องไวด์กว้าง 114 องศาและกล้องซูม ออพติคัล 2x กล้องหน้า 32 ล้านพิกเซล ส่วนน้องเล็ก Xiaomi 12s หน้าจอ AMOLED ขนาด 6.28 นิ้ว ความละเอียด FHD+ รีเฟรชเรท 120Hz แรม 8GB และ 12GB ความจุ 128GB และ 256GB กล้องหลัง 3 ตัว กล้องหลักความละเอียด 50 ล้านพิกเซล, กล้องอัลตร้าไวด์ความละเอียด 13 ล้านพิกเซล และกลอ้งเทเล/มาโคร ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล กล้องหน้า 32 ล้านพิกเซล ลำโพง Harman Kardon แบตเตอรี่ 4500 mAh รองรับชาร์จไวผ่านสาย 67W ชาร์จไร้สาย 50W สำหรับราคาของทั้ง 3 รุ่นในจีน Xiaomi 12s 8+128GB ราคา 3,999 หยวน (ประมาณ 21,300 บาท) 8+256GB ราคา 4,299 หยวน (ประมาณ 22,900 บาท) 12+256GB ราคา 4,699 หยวน (ประมาณ 25,000 บาท) 12+512GB ราคา 5,199 หยวน (ประมาณ 27,700 บาท) Xiaomi 12s Pro 8+128GB ราคา 4,699 หยวน (ประมาณ 25,000 บาท) 8+256GB ราคา 4,999 หยวน (ประมาณ 26,600 บาท) 12+256GB ราคา 5,399 หยวน (ประมาณ 28,800 บาท) 12+512GB ราคา 5,899 หยวน (ประมาณ 31,400 บาท) Xiaomi 12S Ultra 8+256GB ราคา 5,999 หยวน (ประมาณ 32,000 บาท) 12+256GB ราคา 6,499 หยวน (ประมาณ 34,700 บาท) 12+512GB ราคา 6,999 หยวน (ประมาณ 37,300 บาท) ที่มา - Xiaomi
# กองทัพอังกฤษโดนแฮก Twitter และ YouTube โดนเปลี่ยนรูปและชื่อบัญชีไปใช้หลอกลงทุนคริปโต กองทัพอังกฤษโดนแฮกบัญชี Twitter และ YouTube และแฮกเกอร์ได้ใช้บัญชีที่แฮกมาโปรโมตลิงก์ที่ส่งไปยังหน้าเว็บที่จะหลอกเหยื่อให้ลงทุนคริปโตและ NFT เว็บไซต์ Web3 is Going Great เป็นผู้รายงานข่าวนี้ครั้งแรก โดยในรายละเอียดระบุว่าบัญชี Twitter @BritishArmy โดยเปลี่ยนเป็นเพจที่หน้าตาคล้ายกับ The Possessed โครงการที่เกี่ยวกับ NFT ภาพเคลื่อนไหว และทวีตข้อมูลพร้อมลิงก์ไปยังเว็บไซต์มิ้นท์ปลอม ซึ่งก่อนหน้านี้ The Possessed ก็เพิ่งรายงานให้ระวังบัญชี Twitter ที่จะหลอกเอา NFT โดยใช้แบรนด์ของตัวเองมาแล้วเหมือนกัน ส่วนช่อง YouTube ของ British Army ก็โดนแฮกเช่นกัน โดยชื่อและภาพของบัญชีถูกเปลี่ยนเป็นของบริษัทลงทุนชื่อดัง Ark Invest และเน้นโปรโมตเรื่องหลอกลวงต่าง ๆ เช่น double your money และเอา Elon Musk มาโฆษณาด้วย แต่ข้างในเป็นการหลอกเอา Bitcoin และ Ethereum โฆษกของกองทัพระบุกับ The Guardian ว่าตอนนี้รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบัญชี Twitter และ YouTube ของกองทัพแล้ว และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งตอนนี้ทางกองทัพจะยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้จนกว่าการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวจะเสร็จสิ้น ที่มา - Engadget, Web3 is Going Great, The Guardian
# แพลตฟอร์มกู้ยืมเงินคริปโต Vauld ปิดการถอนเงิน หลังลูกค้าถอนไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท Vauld แพลตฟอร์มกู้ยืมเงินคริปโตประกาศหยุดให้บริการถอนเงิน, ซื้อขาย, และฝากเงินคริปโตเข้าออกจากแพลตฟอร์ม หลังจากถูกลูกค้าถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มต่อเนื่องรวม 197.7 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 7 พันล้านบาท พร้อมกับระบุว่าได้รับผลกระทบเนื่องจากพันธมิตรหลายรายมีฐานะทางการเงินเข้าขั้นลำบาก Vauld เป็นแพลตฟอร์มรวมศูนย์คล้ายธนาคาร โดยให้ดอกเบี้ยสำหรับการฝากเงินคริปโตสกุลต่างๆ ระหว่าง 1-40% เพื่อให้ผู้กู้สามารถวางหลักทรัพย์เป็นเงินคริปโตสกุลต่างๆ แล้วแล้วกู้เงินคริปโตสกุลอื่นได้ที่มูลค่า 66.7% ของสินทรัพย์ที่วางเป็นประกันไว้ ตลาดคริปโตในช่วงหลังได้รับผลกระทบจากราคาที่ตกลงอย่างหนัก ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีแพลตฟอร์มคริปโตหยุดให้บริการถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มแล้วหลายราย ตัว Vauld เองเปิดให้บริการจากสิงคโปร์ที่ธนาคารกลางเพิ่งออกมาแสดงท่าทีว่าจะกำกับดูแลธุรกิจเงินคริปโตให้เข้มงวดขึ้น ที่มา - Vauld
# Fire Emblem Heroes เป็นเกมมือถือเกมแรกของนินเทนโดที่ทำรายได้เกิน 1 พันล้านดอลลาร์ Sensor Tower บริษัทวิจัยตลาดแอพมือถือ ประเมินว่าเกม Fire Emblem Heroes เป็นเกมมือถือเกมแรกของนินเทนโดที่ทำรายได้รวมเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ได้สำเร็จ ข่าวนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะสถิติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ของ Sensor Tower ก็บ่งชี้ว่า Fire Emblem Heroes ทำเงินได้เกือบแตะ 1 พันล้านดอลลาร์แล้ว แถมตัวเลขรายได้ของ Fire Emblem Heroes ยังเยอะกว่าเกมมือถืออื่นๆ ของนินเทนโดรวมกันด้วยซ้ำ เกมอันดับรองลงมาคือ Mario Kart Tour และ Animal Crossing: Pocket Camp ที่ทำรายได้รวมประมาณ 282 ล้านดอลลาร์เท่าๆ กัน ที่มา - Sensor Tower
# ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศเสนอจำกัดไม่ให้ธนาคารถือเงินคริปโตเกิน 1% ของเงินกองทุน Bank of International Settlements (BIS) หรือธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ผู้ออกมาตรฐานกลางการกำกับดูแลธนาคารทั่วโลก ออกเอกสารขอความเห็นถึงการที่ธนาคารต่างๆ จะเข้าไปถือสินทรัพย์ดิจิทัลที่อาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับธนาคารมากขึ้น แนวทางของ BIS นั้นแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็น 2 หมวดหลักๆ ได้แก่ กลุ่ม 1 เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผูกกับสินทรัพย์เดิมๆ เช่น พันธบัตร หรือแม้แต่ stablecoin ที่ผูกมูลค่ากับเงินสกุลต่างๆ ให้ควบคุมความเสี่ยงตามแนวทางกำกับเดิม แต่เพิ่มเติมความเสี่ยงในเชิงโครงสราง กลุ่ม 2 สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ที่ความเสี่ยงสูงขึ้น ถูกควบคุมเพิ่มด้วยการปรับน้ำหนักความเสี่ยงเพิ่มเติม 1250% และจำกัดการถือครองไม่เกิน 1% ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 แนวทางการควบคุมธนาคารด้วยการกำหนดเพดานของเงินกองทุนเช่นนี้ นับเป็นแนวทางเดียวกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยออกประกาศห้ามไม่ให้ธนาคารลงทุนบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัลเกิน 3% ของเงินกองทุน ตอนนี้ประกาศของ BIS ยังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น โดยส่งความเห็นได้ถึงเดือนกันยายนนี้ ที่มา - BIS
# วิเคราะห์ดีล AIS ซื้อ 3BB ขยายธุรกิจบรอดแบนด์ เดินเกมสู้สงครามใหญ่กับ True ข่าวใหญ่วันนี้คงหนีไม่พ้น AIS ประกาศเสนอซื้อ 3BB ด้วยมูลค่ารวม 3.2 หมื่นล้านบาท ถึงแม้กระบวนการทั้งหมดยังต้องรอการอนุมัติจาก กสทช. และมีโอกาสที่จะไม่ผ่าน (เหมือนดีล True/Dtac) แต่ดีลนี้ก็แสดงให้เห็นถึงสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และทิศทางการควบรวมให้เหลือผู้เล่นน้อยรายลง (consolidation) เช่นกัน บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ดีล AIS เสนอซื้อ 3BB เพื่อประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทั้งในมุมของธุรกิจบรอดแบนด์ และผลกระทบต่อสงครามใหญ่ระหว่าง AIS และ True โครงสร้างตลาดบรอดแบนด์ในประเทศไทย หากดูตัวเลขล่าสุดจาก กสทช. (รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ไตรมาส 3/2564 ซึ่งอาจค่อนข้างเก่าไปพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่มีตัวเลขที่ใหม่กว่านี้) ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในไทย มีผู้เล่นรายใหญ่ 4 เจ้า คิดตามส่วนแบ่งตลาดดังนี้ True (TICC) ส่วนแบ่งตลาด 35.57% 3BB ส่วนแบ่งตลาด 28.30% TOT/NT ส่วนแบ่งตลาด 19.92% AIS Fibre (AWN) ส่วนแบ่งตลาด 13.09% ตลาดในภาพรวมมีการเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในช่วง work from home ระหว่างปี 2563-2564 ผู้เล่นที่มีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นคืออันดับสาม NT และอันดับสี่ AIS ในขณะที่อันดับหนึ่ง True และอันดับสอง 3BB มีส่วนแบ่งตลาดลดลง AIS Fibre เติบโตสูง แต่เริ่มทีหลังสุด ลูกค้าน้อยที่สุด ถ้าเราดูเฉพาะธุรกิจของ AIS Fibre จะเห็นว่าฐานลูกค้าเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง work from home โดยมีลูกค้าเพิ่มจาก 1 ล้านรายใน Q4/2019 มาเป็น 1.86 ล้านรายใน Q1/2022 เท่ากับว่าโตเกือบเท่าตัวในช่วงเวลาประมาณ 2 ปีกว่า กราฟแสดงอัตราการเติบโตปี 2020 มีลูกค้าเพิ่ม 3 แสนราย โต 34% - AIS กราฟแสดงอัตราการเติบโตปี 2021 มีลูกค้าเพิ่ม 4.35 แสนราย - AIS การเติบโตของลูกค้า AIS Fibre ถือว่าน่าประทับใจ แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้ว ฐานลูกค้าของ True เองก็เติบโตเช่นกัน ตัวเลขล่าสุดคือ 4.7 ล้านราย (Q1/2022) ถือว่ามากกว่า AIS ประมาณ 2.6 เท่า ทำให้ไม่ว่า AIS จะเติบโตเร็วแค่ไหน ถ้าดูจากฐานลูกค้ายังอยู่อันดับ 4 ของตลาดอยู่เช่นเดิม และยังอยู่ห่างจากผู้นำตลาดคือ True อีกมาก สาเหตุหลักที่ AIS ตามหลัง True ในตลาดบรอดแบนด์ ย่อมมาจาก AIS เข้ามาในตลาดนี้เป็นรายสุดท้าย (เปิดตัวครั้งแรกปี 2558 ปัจจุบันอายุประมาณ 6 ปี) ในขณะที่ผู้เล่นทั้ง 3 รายคือ True, TOT/NT, 3BB เข้าสู่ตลาดมาตั้งแต่ยุค ADSL แล้ว และลูกค้าในตลาดบรอดแบนด์มีข้อจำกัดในการย้ายค่ายมากกว่าฝั่งมือถือมาก (เช่น ข้อจำกัดด้านพื้นที่ให้บริการ หรืออาคารคอนโดที่อาศัยไม่รองรับค่ายอื่น) กราฟแสดงอัตราการเติบโตปี 2021 ของ True Online - True สงครามชิงตลาดไฟเบอร์ สะท้อนการแข่งขันภาพใหญ่ AIS vs True ในแง่ของขนาดธุรกิจ จำนวนลูกค้าบรอดแบนด์ย่อมเป็นรองลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่มาก (สเกลหลักล้าน vs หลักสิบล้าน) แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดโทรคมนาคมที่ใหญ่เป็นอันดับสองแล้วในปัจจุบัน AIS เองก็แสดงท่าทีมาตลอดว่าต้องการกระจายธุรกิจของตัวเอง จากที่อิงโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว ให้ขยายมาสู่ธุรกิจอื่นๆ อีก 2 ธุรกิจด้วยคือ บรอดแบนด์ และธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กร หากดูตัวเลขผลประกอบการไตรมาสล่าสุด (1/2565) ของ AIS จะเห็นว่าบรอดแบนด์เป็นธุรกิจอันดับ 2 ของบริษัท แม้ยังตามหลังธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ราว 10 กว่าเท่าก็ตาม นอกจากนี้ ในยุคที่บริการเป็น convergence ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังสามารถขายพ่วง (bundling of services) กับบริการบรอดแบนด์และบริการโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) ที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อดึงดูดลูกค้าได้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย ดังที่เราเห็นได้จากการออกโปรโมชั่นข้ามบริการกัน ทั่งฝั่งของ AIS Mobile + AIS Fibre + AIS Play และฝั่งของ True Mobile + True Online + True Visions/True ID บริษัทที่สามารถทำแบบนี้ได้มีเพียง AIS และ True เพียง 2 รายเท่านั้นที่มีของครบทั้ง 3 บริการ เมื่อธุรกิจบรอดแบนด์เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 และมีผลเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านการพ่วงโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า AIS ย่อมอยากผลักดันตลาดบรอดแบนด์แบบสุดตัว แต่เมื่อการเติบโตด้วยตัวเอง (organic growth) ยังไม่สามารถทำให้ AIS ขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับ Top 3 ในตลาดได้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจบรอดแบนด์ที่ขยายฐานลูกค้าได้ไม่เร็วนัก ทางออกจึงเหลือการเติบโตผ่านการซื้อและควบกิจการ (merger & acquisition) ซึ่งในตลาดมีผู้เล่นเพียง 2 รายคือ 3BB และ TOT/NT นั่นเอง การที่ TOT/NT เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้น 100% ทำให้ตัวเลือกที่เด่นชัดมีเพียง 3BB รายเดียว โครงสร้างธุรกิจของ 3BB และ JAS ธุรกิจบรอดแบนด์ 3BB เป็นของกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มหาชน หรือ JAS ซึ่งอยู่ในธุรกิจโทรคมนาคมมายาวนาน ตัวเลขผู้ใช้งานอยู่ที่ราว 2.42 ล้านราย และ 3BB ยังมีธุรกิจใกล้เคียงคือ Giga TV ที่เป็นบริการความบันเทิงออนไลน์แบบ IPTV มีฐานลูกค้าราว 3.81 แสนราย หากเรานำตัวเลข 2.42 ล้านรายของ 3BB มาบวกกับ 1.86 ล้านรายของ AIS Fibre จะได้ฐานลูกค้าราว 4.28 ล้านราย ขึ้นมาใกล้เคียงกับ True Online ขึ้นมาก แม้ยังตามหลังอยู่ก็ตาม ตรงนี้คงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ AIS อยากซื้อธุรกิจของ 3BB เพื่อเอาฐานลูกค้านั่นเอง หากเราจินตนาการว่า AIS ซื้อสำเร็จ ได้รับการอนุมัติ สิ่งแรกๆ ที่จะเกิดขึ้นคงเป็นการทำโปรโมชั่นร่วมระหว่างลูกค้า 3BB กับบริการมือถือของ AIS ส่วนการผนวกโครงข่ายไฟเบอร์เข้าด้วยกันอาจต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร เรียกว่าฝั่งการตลาดทำได้ทันที แต่ฝั่งเทคนิคคงตามมาทีหลัง ที่มา - Jasmine International (Q1/2022) หาก AIS อยากซื้อ เราก็ต้องมาดูกันว่าฝั่ง JAS อยากขายด้วยหรือไม่ ปัจจุบันบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มหาชน มีธุรกิจหลักด้วยกัน 3 กลุ่มคือ บรอดแบนด์, ธุรกิจโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีและขุดเหมืองคริปโต และธุรกิจอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ รายได้ส่วนใหญ่ของ JAS ประมาณ 92% (ไตรมาส 1/2022) มาจากฝั่งบรอดแบนด์ 3BB ส่วนรายได้อีก 7% มาจากธุรกิจวงจรเช่าและคริปโต นอกจากนี้ JAS ยังแยกความเป็นเจ้าของโครงข่ายไฟเบอร์ของตัวเองเป็นกองทุน JASIF เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนภายนอกมาสร้างโครงข่ายไฟเบอร์เพิ่ม แล้วให้ 3BB มาเช่าโครงข่ายไฟเบอร์อีกที (3BB เป็นผู้ดำเนินงาน) ปัจจุบันกลุ่ม JAS ถือหุ้นอยู่ 19% ใน JASIF ส่วนที่เหลือเป็นของผู้ถือหุ้นรายย่อย การซื้อกิจการรอบนี้ AIS จึงซื้อทั้งบริษัทที่ดำเนินการให้บริการบรอดแบนด์ยี่ห้อ 3BB (บริษัท TTTBB) และซื้อหุ้นทั้งหมดของ JAS ในกองทุน JASIF (19% ของกองทุน) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงข่ายไฟเบอร์ การซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้ JAS แทบไม่เหลือธุรกิจอื่นอีกมากนัก (เหลือเพียงวงจรเช่าและเหมืองบิทคอยน์) โดยธุรกิจบรอดแบนด์มีรายได้ไตรมาสละ 4,614 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอื่นมีรายได้ 349 ล้านบาท (ไตรมาส 1/2022) ทั้งนี้ กลุ่มผู้ถือหุ้นของ JAS ที่นำโดยนายพิชญ์ โพธารามิก ยังมีธุรกิจด้านสื่อเครือ Mono ที่ในทางนิติบุคคลถือเป็นคนละบริษัทกัน (แต่มีผู้ถือหุ้นหลักชุดเดียวกัน) ตัวธุรกิจของ JAS นั้นยังมีกำไรมาตลอด และอนาคตภายหน้าก็น่าจะไปได้เรื่อยๆ ในฐานะผู้ให้บริการบรอดแบนด์อันดับ 2 โดยที่ไม่ต้องมีธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เหมือนรายอื่น แต่ถ้า AIS ให้ราคาที่ดีพอ ก็ไม่น่าแปลกใจเช่นกันที่ JAS จะตอบรับคำเสนอซื้อ ภาพสะท้อนธุรกิจโทรคมนาคมยุคควบรวม และดีล dtac/True การซื้อบริการ 3BB ของ AIS จะส่งผลให้ธุรกิจบรอดแบนด์มีผู้เล่นรายใหญ่ลดลงจาก 4 รายเหลือ 3 ราย (เบอร์ 4 ซื้อเบอร์ 2 ของตลาด) ย่อมทำให้การแข่งขันในตลาดบรอดแบนด์ลดลง แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ธุรกิจบรอดแบนด์มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างแนบแน่น การวิเคราะห์ดีลนี้จึงต้องมองไปถึงภาพใหญ่ของการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมในภาพรวมด้วย เพราะในตลาดใหญ่อย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่เอง ก็มีประเด็นการควบรวมระหว่าง dtac และ True ค้างอยู่ ซึ่งจะเป็นการลดจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ลงจาก 3 รายเหลือ 2 รายเช่นกัน (NT มีบทบาทพอสมควรในตลาดบรอดแบนด์ แต่ในตลาดมือถือก็แทบไม่มีตัวตน) ดีล AIS/3BB ย่อมถูกนำไปเปรียบเทียบกับดีล dtac/True ตรงนี้จึงเป็นความท้าทายของ กสทช. และประเทศไทยในภาพรวมว่าจะมีแนวทางอย่างไรต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในระยะยาว เส้นแบ่งระหว่างการอนุมัติให้ควบรวมธุรกิจควรอยู่ตรงไหน ประเทศไทยควรเลือกแนวทางใดระหว่างการรักษาจำนวนผู้เล่นเพื่อรักษาระดับการแข่งขัน หรือการส่งเสริมให้ผู้เล่นรายใหญ่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลเปิดเผย: ผู้เขียนเป็นอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ด้านเทคโนโลยี ของ กสทช. บทความนี้เป็นการแสดงความเห็นในนามส่วนตัว
# AIS ประกาศซื้อ 3BB มูลค่า 1.95 หมื่นล้านบาท, ซื้อหุ้นกองทุน JASIF อีก 1.29 หมื่นล้านบาท AIS ประกาศซื้อธุรกิจบรอดแบนด์ 3BB จากกลุ่มบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ในราคารวม 19,500 ล้านบาท และซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจัสมิน (JASIF) สัดส่วน 19% คิดเป็นมูลค่า 12,920 ล้านบาท รวมธุรกรรมทั้งสองส่วน 32,420 ล้านบาท ตัวธุรกิจบรอดแบนด์ 3BB ดำเนินการโดยบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB) ซึ่ง AIS เข้าซื้อหุ้นเกือบทั้งหมด 99.87% จากเจ้าของเดิมคือบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (ACU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ JAS ส่วนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) เป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานไฟเบอร์ของ JAS ที่แยกออกมาเพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไป โดย TTBB ใช้วิธีเช่าสายไฟเบอร์ของ JASIF เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ 3BB อีกทีหนึ่ง รายละเอียดจากหน้าเว็บของ JASIF ระบุว่าเป็นเจ้าของสายไฟเบอร์จำนวน 1,680,500 คอร์กิโลเมตร ปัจจุบัน JAS ถือหุ้นใน JASIF อยู่ 19% (ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย) เท่ากับว่าการซื้อของ AIS เป็นการซื้อหุ้นทั้งหมดของ JAS ในบริการ 3BB จากสองนิติบุคคล (TTTBB และ JASIF) การซื้อหุ้นครั้งนี้จะต้องผ่านการอนุมัติจาก กสทช. ด้วย ซึ่ง AIS คาดว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1 ของปี 2566 ที่มา - AIS
# [ลือ] Apple Watch รุ่นใหม่ มีตัววัดอุณหภูมิร่างกาย แจ้งเตือนหากมีไข้ Mark Gurman จาก Bloomberg ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าใหม่ของแอปเปิลในจดหมายข่าว Power On ตอนล่าสุด พูดถึง Apple Watch Series 8 ที่คาดว่าจะออกมาในปีนี้ มีฟีเจอร์ใหม่คือเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งเขามีข้อมูลว่าแอปเปิลได้ทดสอบภายในจนผ่านเกณฑ์แล้ว การทำงานของเซ็นเซอร์ดังกล่าว ไม่ได้แจ้งว่าร่างกายเรามีอุณหภูมิเท่าใดแบบตัววัด ที่เห็นได้ตามประตูเข้าสถานที่ต่าง ๆ แต่จะทำหน้าที่แจ้งเตือนเท่านั้น หากสงสัยว่าผู้สวมใส่ Apple Watch มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าเดิมจนอาจเป็นไข้ ฟีเจอร์ตัววัดอุณหภูมิร่างกายนี้ เขาคาดว่าจะมีทั้งใน Apple Watch Series 8 และ Apple Watch รุ่นทนทานพิเศษ ที่เขาเคยคาดว่าจะมีออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่มา: MacRumors
# Chevrolet เข้าสู่วงการ NFT จัดประมูลภาพรถออนไลน์ แต่ไม่มีใครเข้าร่วมประมูลเลย ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แบรนด์รถยนต์ Chevrolet ประกาศเข้าสู่วงการ NFT ครั้งแรกด้วยการนำรถรุ่น Corvette Z06 ของปี 2023 มาทำเป็น NFT ขายในโลกเสมือนจริง โดยเปิดประมูลระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายน (NFT อยู่บนเชน Ethereum) และรายได้จะบริจาคให้การกุศล การประมูลรอบนี้ยังมีกิมมิคเล็กๆ คือรถในภาพเป็นสีเขียว Minted Green ที่ Chevrolet สัญญาว่าจะใช้เฉพาะในภาพนี้เท่านั้น ผู้ชนะประมูลจะได้เป็นเจ้าของรถสีนี้ (Own the Color) และไม่ถูกนำไปใช้ผลิตรถจริงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสตอรี่จะดีแค่ไหนก็ตาม ผลปรากฏว่าไม่มีใครเข้าประมูลเลย จนผู้จัดการประมูลต้องขยายเวลาไปอีก 24 ชั่วโมง และพบว่าไม่มีใครมาประมูลอีกอยู่ดี ตัวแทนของ Chevrolet บอกหลังจบประมูลว่าโปรเจคนี้ถือเป็นการเรียนรู้ของแบรนด์ในการเริ่มต้นเข้าสู่โลก Web3 และบอกว่าจะพยายามหาวิธีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นประโยชน์กับลูกค้าต่อไป ที่มา - Chevrolet, Jalopnik, Corvette Blogger
# Ubisoft ปิดเซิร์ฟเวอร์มัลติเพลเยอร์เกมเก่า 15 เกม เช่น Far Cry 3, Assassin’s Creed Ubisoft ประกาศปิดเซิร์ฟเวอร์ให้บริการมัลติเพลเยอร์ของเกมเก่าๆ จำนวน 15 เกม ซึ่งเป็นเกมเก่าระดับ Assassin’s Creed 2 (2009) หรือ Far Cry 3 (2012) ในวันที่ 1 กันยายน 2022 การเล่นเกมในโหมดเนื้อเรื่องแบบเล่นคนเดียวจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ยกเว้นบางเกมที่เป็นมัลติเพลเยอร์อย่างเดียว เช่น Space Junkies ก็จะถือว่าปิดเกมถาวรไปเลย รายชื่อเกมที่ปิดเซิร์ฟเวอร์ Anno 2070 Assassin’s Creed 2 Assassin’s Creed 3 Assassin’s Creed Brotherhood Assassin’s Creed Liberation HD Assassin’s Creed Revelations Driver San Francisco Far Cry 3 Ghost Recon Future Soldier Prince of Persia: The Forgotten Sands Rayman Legends Silent Hunter 5 Space Junkies Splinter Cell: Blacklist ZombiU ที่มา - Eurogamer
# มูลค่าการซื้อขาย NFT ต่ำสุดในรอบ 12 เดือน ยอดขายเดือน มิ.ย. ลดลง 12 เท่าจาก ม.ค. Chainalysis บริษัทวิจัยตลาดคริปโตและบล็อกเชน ออกรายงานสถิติธุรกรรม NFT ประจำเดือนมิถุนายน 2022 พบว่ายอดขายตกต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน สถิติของ Chainalysis พบว่ามูลค่าการซื้อขาย NFT ในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ราว 1 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น เทียบกันไม่ได้เลยกับจังหวะพีคในเดือนมกราคม 2022 ที่มูลค่าสูงถึง 12,600 ล้านดอลลาร์ (ลดลงมาถึง 12.6 เท่าใน 6 เดือน) หากยังไปในทิศทางนี้ก็จะลดต่ำลงกว่าสถิติของเดือน มิ.ย. 2021 ที่ขายได้ 648 ล้านดอลลาร์ Chainalysis มองว่าเหตุผลที่ตลาด NFT ตกต่ำก็มาจากสภาพตลาดคริปโตโดยรวมที่อยู่ในช่วงขาลง อย่างไรก็ตาม ไฟล์งาน NFT ชื่อดังอย่าง Bored Ape Yacht Club ราคากลับไม่ได้ตกลงมากนัก ราคาของไฟล์ถูกที่สุดที่ซื้อขายกันลดลงเพียง 1% จากเดือนที่แล้ว ที่มา - Guardian ภาพจาก @BoredApeYC
# นักวิจัยเสนอให้แปะหมายเลขประจำตัวเม็ดยาทุกเม็ดด้วยการเคลือบน้ำตาลสี ป้องกันยาปลอม William H. Grover จากภาควิชา Bioengineering มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ เสนอ CandyCode แนวทางการแจกหมายเลขประจำตัวให้กับยาทุกเม็ดด้วยการเคลือบน้ำตาลสีระหว่างการผลิต ทำให้ผู้ใช้สามารถสืบย้อนกลับไปได้ว่าเป็นยาที่ออกมาจากโรงงานจริงหรือไม่ แนวทางการใช้หมายเลขประจำสินค้าเพื่อสืบย้อนกลับไปถึงผู้ผลิตมีมานาน และหลายครั้งผู้ผลิตก็เปิดให้ตรวจสอบสินค้าว่าเป็นของจริงหรือไม่บนตัวกล่อง แต่แนวทางนี้ก็มีข้อจำกัดเพราะบางครั้งผู้ผลิตสินค้าปลอมใช้กล่องจริงที่ใช้แล้ว หรือในกรณียาบางครั้งผู้ซื้อได้รับยาจากร้านยาโดยไม่ได้รับกล่องจากผู้ผลิตโดยตรง ขณะที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอให้พิมพ์ QR ลงบนยาทุกเม็ดมาก่อนแล้ว แต่ QR ที่พิมพ์ลงไปมีขนาดเล็กมากจนต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการอ่าน Grover เสนอแนวทางด้วยการเคลืบน้ำตาลสีที่เราเห็นกันในของหวาน โดยน้ำตาลสีเป็นลูกบอลกลมขนาด 1 มิลลิเมตร มี 8 สี ที่สำคัญคือราคาถูกมาก ต้นทุนค่าน้ำตาลในการเคลือบคิดเป็น 1 ดอลลาร์ ต่อเม็ดยา 29,000 เม็ด ในการทดลอง Grover ซื้อช็อกโกแล็ตที่เคลือบน้ำตาลสีอยู่แล้วมาทดสอบ โดยช็อกโกแล็ต 1 เม็ดมีน้ำตาลสีอยู่ในช่วง 72-108 เม็ด เขาแปลงภาพเม็ดน้ำตาลที่อยู่ติดกันในสีต่างๆ ให้กลายเป็นสตริง โดยแทนที่จะพยายามใช้สตริงเดียวแทนที่เม็ดยาทั้งเม็ด เขาตรวจจับกลุ่มน้ำตาลสีกลุ่มเล็กๆ แล้วแปลงเป็นสตริงสั้นๆ เม็ดยาหนึ่งเม็ดจะได้สตริงประมาณ 52.8 ชุด กระบวนการค้นหาข้อมูลยาจากฐานข้อมูล ใช้การค้นสตริงเหล่านี้แล้วหาเม็ดยาที่บันทึกไว้และมีสตริงตรงกันจำนวนมากพอ ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของน้ำตาลสีในท้องตลาดคือมันมีเพียง 8 สี และปริมาณน้ำตาลแต่ละสีก็ไม่เท่ากัน โดยสีขาวมีเกือบครึ่งหนึ่ง หากเป็นน้ำตาลสีที่ผลิตมาเฉพาะก็จะทำให้จำนวนสตริงที่ต้องเทียบเพื่อค้นหาข้อมูลหมายเลขเม็ดยาโดยไม่ชนกับเม็ดอื่นๆ มีจำนวนน้อยลง เช่น น้ำตาล 15 สี ที่โปรยลงบนเม็ดยารวมแสนล้านล้านเม็ด จะมีสตริงซ้ำกันไม่เกิน 10 ชุด แต่หากเป็นน้ำตาลสีตามตลาดจะมีโอกาสซ้ำกันถึง 21 ชุด ที่มา - Nature
# Yeelight เปิดให้ทดลองแอพบนพีซี, ตั้งค่า/ซิงก์หลอดไฟอัจฉริยะ​จากพีซีได้โดยตรง Yeelight บริษัทผู้ผลิตหลอดไฟอัจฉริยะสัญชาติจีน (Xiaomi ร่วมลงทุน) ประกาศเปิดให้ผู้ใช้งานเข้าร่วมการทดสอบ Yeelight Station แอพสำหรับใช้งานกับหลอดไฟอัจฉริยะของบริษัทบนพีซี ภาพแอพ Yeelight Station จากฟอรั่ม Yeelight ความสามารถของแอพนอกเหนือจากการสั่งงาน เปิด/ปิด ไฟเบื้องต้น, สั่งไฟกระพริบตามจังหวะดนตรี (Music Flow) รวมถึงการตั้งค่า ความสว่าง/โทนสีและกำหนด scene สำหรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ไว้ล่วงหน้า (เช่นสั่งหรี่ไฟขณะดูหนัง, เปิดไฟทำงาน) ที่สามารถใช้งานได้จากแอพ Yeelight บนสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว แอพ Yeelight Station ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ซึ่งถูกพัฒนามาเพื่อใช้งานกับบนพีซีโดยเฉพาะอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Color Play: ฟีเจอร์ซิงก์สีหลอดไฟ RGB กับภาพที่แสดงบนหน้าจอพีซี สามารถนำไปใช้จัดแสง ambiance light โดยรอบหรือหลังจอมอนิเตอร์ได้ ภาพการตั้งค่าฟีเจอร์ Color Play จากทวิตเตอร์ @Yeelight Game Sync: ฟีเจอร์ซิงก์สีหลอดไฟกับอุปกรณ์ Razer Chroma RGB ผ่านซอฟต์แวร์ Razer Synapse (สามารถใช้แทนแอพ Yeelight Chroma Connector เดิมซึ่งทำหน้าที่แค่รับคำสั่งซอฟต์แวร์ Razer Synapse ได้เลย) ท่านใดสนใจสามารถเข้าไปกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนแสดงความสนใจเข้าร่วมการทดสอบได้แล้วที่ลิงก์นี้ โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับอีเมลเชิญให้เข้าร่วม Facebook Group, Discord Server เพื่อเข้าถึงคู่มือการใช้งานและลิงก์ดาวน์โหลดแอพเวอร์ชันทดสอบและข่าวสารต่างๆ ภายในกรุ๊ปอีกที ปัจจุบันแอพ Yeelight Station เวอร์ชันทดสอบสามารถใช้กับระบบปฏิบัติการ Windows 8 หรือใหม่กว่า รองรับหลอดไฟตามรายชื่อนี้ Yeelight Smart LED Light Bulb W3 (Color) Yeelight Smart LED Light Bulb 1S (Color) Yeelight GU10 Smart Bulb W1 (Color) Yeelight LED Lightstrip 1S Yeelight LED Lightstrip Pro Yeelight Monitor Light Bar Pro Yeelight Smart LED Light Panels Yeelight Smart Lamp D2 สำหรับการเตรียมตัวก่อนใช้งาน พีซีที่ติดตั้งแอพและหลอดไฟต้องอยู่ในเน็ตเวิร์คเครือข่ายเดียวกัน และจำเป็นต้องเปิดใช้งาน LAN Control บนหลอดไฟที่ต้องการใช้งานผ่านแอพ Yeelight บนสมาร์ทโฟนให้เรียบร้อยก่อนครับ ที่มา - ฟอรั่ม Yeelight, ทวิตเตอร์ @Yeelight
# VMware เปิดตัว vSphere+ และ vSAN+ บริการจัดการเครื่อง On Premise ผ่านคลาวด์ สัปดาห์ที่ผ่านมา VMware เปิดตัว vSphere+ และ vSAN+ ซึ่งเป็นบริการ virtualization ที่รันบนคลาวด์ของ VMware แต่สามารถใช้บริหารจัดการเครื่องแบบ on premise ในองค์กรของลูกค้าที่รัน vSphere และ vSAN ของเดิมได้ด้วย VMware ยกข้อดีของ vSphere+ และ vSAN+ ตรงที่แอดมินองค์กรหรือนักพัฒนาแอพ สามารถจัดการเครื่องได้จาก cloud console เพียงที่เดียว (centralized management) โดยที่ไม่ต้องแก้ไขหรือยุ่งอะไรกับตัวเครื่อง on premise เดิมที่มีอยู่แล้ว หรืออธิบายง่ายๆ คือยกเอาส่วนบริหารจัดการที่เดิมอยู่บน on premise ขึ้นไปไว้บนคลาวด์แทน ส่วนตัวงานจริงๆ ยังรันบน on premise vSphere+ และ vSAN+ มีโมเดลการคิดเงินแบบ subscription แต่ยังไม่เปิดเผยราคา ที่มา - VMware, The Register
# BMW ประกาศใช้งาน Android Automotive OS ในรถบางรุ่น เริ่มปี 2023 BMW Group ประกาศขยายการใช้ระบบปฏิบัติการ BMW Operating System 8 ที่ผนวกเอาระบบปฏิบัติการ Android Automotive OS (AAOS) ของกูเกิล มาใช้งานในรถยนต์หลายรุ่นมากขึ้น โดยจะเริ่มมีผลในเดือนมีนาคม 2023 เดิมทีระบบปฏิบัติการของ BMW อิงมาจากลินุกซ์เวอร์ชันคัสตอมเองเป็นหลัก ซึ่งจะยังใช้งานต่อไป แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ารถรุ่นไหนจะได้ AAOS หรือลินุกซ์กันแน่ ตัวแทนของ BMW ให้ข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า BMW เลือกซอฟต์แวร์ที่เหมาะกับโซลูชันนั้นๆ มากที่สุดมาใช้งานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ของตัวเอง โอเพนซอร์ส หรือจากพาร์ทเนอร์รายอื่น ก่อนหน้านี้มีแบรนด์รถยนต์หลายรายที่ประกาศใช้ Android Automotive OS แล้ว เช่น Polestar ในเครือ Volvo, GM, Honda เป็นต้น หน้าตาของ BMW Operating System 8 เวอร์ชันปัจจุบัน ที่เป็นลินุกซ์แบบคัสตอม ที่มา - BMW
# Facebook เริ่มทดสอบการแสดง NFT ตอนนี้จำกัดเฉพาะครีเอเตอร์บางคนก่อน Facebook เริ่มทดสอบการแสดงภาพ NFT โดยตอนนี้จำกัดเฉพาะครีเอเตอร์จำนวนหนึ่งก่อน และเป็นครีเอเตอร์ในอเมริกา ฟีเจอร์ NFT บน Facebook เป็นรูปแบบเดียวกับบน Instagram ที่เริ่มทดสอบเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งตนนั้น Mark Zuckerberg ก็บอกว่าจะรองรับการทำงานบน Facebook ด้วย โดยเมื่อครีเอเตอร์โพสต์ผลงาน NFT ในหน้าฟีด Facebook พอกดเข้าไปดูจะแสดงรายละเอียดผลงานที่เกี่ยวข้อง Meta ไม่ได้ให้ข้อมูลเชนที่รองรับ แต่ถ้าเหมือนกับ Instagram ก็ได้แก่ Ethereum และ Polygon ส่วน Solana กับ Flow จะรองรับในอนาคต ที่มา: TechCrunch