txt
stringlengths
202
53.1k
# Netflix เพิ่มระบบป้องกันหารบัญชี บังคับใส่ข้อมูลบ้าน 1 หลังต่อ 1 บัญชี ทดสอบใน 5 ประเทศลาตินอเมริกา ก่อนหน้านี้ Netflix ได้ทดสอบระบบใหม่เพื่อแก้ปัญหาการหารบัญชี แชร์รหัสผ่าน แต่อยู่คนละบ้าน โดยเริ่มที่ ชิลี คอสตาริกา และเปรู ล่าสุด Netflix ได้ทดสอบระบบป้องกันปัญหานี้เพิ่มในอีก 5 ประเทศ คือ อาร์เจนตินา เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส กัวเตมาลา และสาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกลุ่มลาตินอเมริกา โดยใช้วิธีการที่ต่างออกไป ผู้ใช้งาน Netflix ใน 5 ประเทศ จะพบปุ่มใหม่ 'add a home' ให้ใส่ข้อมูลบ้านหลักที่ใช้ดู Netflix กำหนดให้ 1 บัญชี มีข้อมูลได้ 1 บ้าน หากต้องการเพิ่มบ้านที่ดู ซึ่งสอดคล้องกับวิธีใช้งานแบบหารบัญชีกัน จะต้องจ่ายค่าบริการสมาชิกเพิ่มขึ้น 3 ดอลลาร์ต่อเดือนต่อบ้าน หรือประมาณ 110 บาท หรือเลือกสร้างบัญชีแยกบ้านกันไปเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิกเพิ่ม ทั้งนี้ Netflix กำหนดไว้ในเงื่อนไขใช้งานอยู่แล้ว เรื่องการใช้งานภายในที่พักอาศัยเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาไม่ได้เข้มงวดนัก ข้อกำหนดนี้ Netflix เน้นไปที่การรับชมจากทีวีในบ้าน ส่วนการดูผ่านมือถือหรือแท็บเล็ตนอกบ้านยังสามารถทำได้เหมือนเดิม ส่วนกรณีดูขณะเดินทางท่องเที่ยว Netflix กำหนดเงื่อนไขคือทำได้ภายใน 2 สัปดาห์ ที่มา: Netflix และ MacRumors
# IBM ไตรมาส 2/2022 รายได้รวมโต 9% - เมนเฟรม z16 ยอดขายโตสูง ไอบีเอ็มรายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 2 ปี 2022 รายได้รวม 15,535 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,392 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น 6% รายได้จากการให้คำปรึกษาเพิ่มขึ้น 10% และรายได้จาก Infrastructure เพิ่มขึ้น 19% Arvind Krishna ซีอีโอไอบีเอ็มกล่าวว่าผลประกอบการไตรมาสที่ผ่านมา มีผลงานดีในทุกภูมิภาค จากความต้องการไฮบริดคลาวด์และ AI จากไอบีเอ็มที่เพิ่มขึ้น ไฮไลท์ในธุรกิจ Infrastructure ไตรมาสที่ผ่านมาคือการเริ่มขายเมนเฟรม z16 รุ่นใหม่ ซึ่งทำให้ลูกค้าทยอยสั่งซื้อเพื่ออัพเกรด โดยสะท้อนจากยอดขายรวมสินค้ากลุ่ม z ในไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 69% ที่มา: ไอบีเอ็ม และ CNBC
# [ไม่ยืนยัน] Apple เริ่มชะลอการจ้างงานในบางแผนก มีผลปี 2023 แอปเปิลเป็นบริษัทล่าสุดที่มีรายงานข่าวเรื่องชะลอการจ้างงาน โดย Mark Gurman แห่ง Bloomberg อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง ว่าแอปเปิลได้แจ้งผู้บริหารบางทีม ว่าจะไม่มีการรับพนักงานเพิ่มในปี 2023 จากปกติจะให้รับพนักงานเพิ่มตลอด รวมทั้งบางตำแหน่งที่มีการลาออก ก็ไม่ให้รับคนมาแทนด้วย การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีผลกับทั้งบริษัท รวมทั้งแอปเปิลยังแจ้งว่าการชะลอจ้างงาน จะไม่กระทบแผนการออกสินค้าใหม่ ที่คาดว่าเป็นเฮดเซต VR ภายในกำหนดเวลา 2023 เหมือนเดิม ตัวแทนของแอปเปิลปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข่าวดังกล่าว ทั้งนี้ในปี 2021 แอปเปิลมีค่าใช้จ่ายเฉพาะงานด้าน R&D ราว 22,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน และจำนวนพนักงาน ณ สิ้นปี 2021 มีราว 154,000 คน ข่าวการชะลอจ้างงานในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีก่อนหน้านี้มีทั้ง Meta, Uber, Netflix และ Google หรือกรณีของ Tesla ที่ปลดพนักงานบางส่วน ที่มา: Bloomberg
# dtac ไตรมาส 2/2565 เพิ่มขึ้น 4.1 แสนเลขหมาย, 5G รองรับครบ 77 จังหวัด ดีแทครายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีรายได้รวม 19,960 ล้านบาท ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน จากการแข่งขันสูงในตลาด ชดเชยด้วยยอดขายโทรศัพท์ที่มากขึ้น และมีกำไรสุทธิ 1,004 ล้านบาท จำนวนผู้ใช้งานในไตรมาสที่ผ่านมามี 20.3 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นมาก 4.1 แสนเลขหมายจากไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าระบบเติมเงิน มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ARPU) 230 บาทต่อเดือน เป็นตัวเลขที่ลดลงซึ่งดีแทคบอกว่ามาจากสภาวะทางเศรษฐกิจ จำนวนผู้ใช้งาน 4G มี 16.3 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 81% ของลูกค้ารวม ดีแทคมีจำนวนสถานีฐาน 4G บน 2300MHz ภายใต้ความร่วมมือกับ TOT ประมาณ 21,700 สถานีฐาน ส่วนสถานี 5G ตอนนี้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดแล้ว ในครึ่งแรกของปี มีทั้งสิ้น 17,800 สถานีฐานบนเครือข่าย 700MHz ที่มา: ดีแทค (pdf)
# Instagram เพิ่มฟีเจอร์ซื้อขายสินค้า-จ่ายเงิน จบในกล่องแชต Instagram ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ใหม่สำหรับการซื้อขายสินค้าผ่าน DM โดยสามารถจ่ายเงินและแทร็กสถานะคำสั่งซื้อกับร้านค้าได้จบในกล่องข้อความเลย ฟีเจอร์นี้จะรองรับเฉพาะบัญชีธุรกิจของผู้ใช้ในอเมริกาที่ผ่านการตรวจสอบเงื่อนไข โดยขั้นตอนการจ่ายเงินจะทำผ่านระบบ Meta Pay เหมือนกับระบบซื้อขายจ่ายเงินใน Facebook Messenger การเพิ่มคุณสมบัติรองรับการซื้อขายเต็มรูปแบบนี้ ทำให้ Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นอีคอมเมิร์ซเต็มตัวมากขึ้น ที่มา: Meta
# รัสเซียสั่งปรับกูเกิล 13,000 ล้านบาท ฐานปล่อยเนื้อหาผิดกฎหมาย รวมถึงการดิสเครดิตทหารรัสเซียในยูเครน ศาลมอสโกสั่งปรับกูเกิลอีกครั้งหลังบริการ Google Search และ YouTube ไม่ยอมลบข้อมูลตามคำขอของรัฐบาลรัสเซียหลายครั้ง โดยปรับในระดับสูงสุด 10% ของรายได้ต่อปี ทำให้ค่าปรับสูงถึง 21 พันล้านรูเบิล หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท ก่อนหน้านี้รัสเซียเคยสั่งปรับทั้งกูเกิลและเมต้าพร้อมกันเป็นเงินก้อนใหญ่มาแล้ว แต่รอบนี้กูเกิลถูกปรับหนักกว่าเดิมมาก โดยเนื้อหาที่ Roskomnadzor หน่วยงานกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของรัสเซียระบุว่ากูเกิลมีส่วนเผยแพร่ เป็นเนื้อหา ความรุนแรง การก่อการร้าย เช่นเดิม แต่ที่เพิ่มมาในรอบนี้คือเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามในยูเครนที่มเนื้อหาดิสเครดิตทหารรัสเซีย ไม่แน่ชัดว่าคำสั่งรอบนี้จะมีผลอะไร เพราะตัวบริษัทกูเกิลในรัสเซียก็ยื่นล้มละลายไปก่อนหน้านี้แล้ว และกูเกิลก็โยกย้ายพนักงานออกจากรัสเซียจนหมด ที่มา - Bleeping Computer
# เฟซบุ๊กเปลี่ยนลิงก์เป็น pfbid เข้ารหัสใส่ข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากหมายเลขโพส เฟซบุ๊กเปลี่ยนรูปแบบลิงก์ไปยังโพสต่างๆ ในเว็บเฟซบุ๊กให้กลายเป็นรูปแบบใหม่ ที่ URL จะยาวขึ้นและส่วนสุดท้ายของ URL จะขึ้นต้นด้วย pfbid เสมอ จากเดิมที่ลิงก์ไปยังโพสเฟซบุ๊กนั้นจะลงท้ายด้วยหมายเลขประจำโพส ไม่แน่ชัดว่าข้อมูลในลิงก์นี้มีไรบ้างเนื่องจากมันถูกเข้ารหัสเอาไว้ ขณะที่ชุมชนไฟร์ฟอกซ์สงสัยกันว่าลิงก์แบบใหม่นี้จะมีข้อมูลติดตามตัวฝังอยู่ข้างใน เพื่อตอบโต้มาตรการตัดคิวรี fbclid ออกจาก URL ของไฟร์ฟอกซ์ อย่างไรก็ดีผมสำรวจ URL จากหน้าเพจของ Blognone ทั้งแบบล็อกอินและไม่ได้ล็อกอินก็ยังพบว่าได้ลิงก์เดียวกัน จึงอาจจะไม่ใช่ข้อมูลติดตามตัว (ที่จะสร้าง URL เข้ารหัสที่มาของลิงก์ไว้ทุกครั้ง) ขณะที่ผู้ใช้ tedmiston บนเว็บ Hacker News พบว่าเขาได้ลิงก์แตกต่างจากผู้ใช้คนอื่นๆ ผู้ใช้ B.L. ในเว็บไซต์ Ghacks.net ระบุว่า เขาถอดรหัส pfbid นี้ออกมาได้บางส่วน โดยมันมีหมายเลขโพส (fbid เดิม) และค่าเวลา (timestamp) บางอย่างที่ไม่น่าใช่เวลาของตัวโพส เนื่องจากเฟซบุ๊กไม่ได้เปิดเผยว่าใส่ข้อมูลอะไรใน pfbid นี้บ้างหรือจะใส่อะไรเพิ่มในอนาคต จึงคาดเดาได้ยากว่าว่าทำไมบางคนจึงได้ลิงก์ต่างกันหรือเหมือนกัน ที่มา - Ghacks, Hacker News, Reddit: r/firefox
# Snapchat เปิดตัวเวอร์ชันเว็บ แชทได้, โทรได้, วิดีโอคอลได้ เปิดให้สมาชิก Snapchat+ ใช้งานก่อน Snap เปิดตัว Snapchat เวอร์ชันเว็บ สำหรับใช้งานผ่านเบราว์เซอร์บนเดสก์ท็อป โดยจะเปิดให้สมาชิก Snapchat+ บริการเสียเงินของ Snapchat ได้ใช้งานก่อน Snapchat เวอร์ชันเว็บสามารถส่งข้อความและ snap ได้ รวมถึงสามารถแชท, โทรด้วยเสียง และวิดีโอคอลได้เหมือนกับ Snapchat พร้อมฟีเจอร์ reactions บนแชทเหมือนกับบนแอปด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่มีฟีเจอร์ Lenses ซึ่งทาง Snap จะนำมาลงในอนาคต สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ใช้งาน Snapchat บนเว็บ สามารถเข้าใช้งานได้ทาง web.snapchat.com ล็อกอินด้วยชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของ Snapchat จากนั้นยืนยันตัวตนสองขั้นตอน และเข้าใช้งาน ซึ่งหากใช้ Snapchat บนเว็บ จะมี Bitmoji แสดงด้วยว่ากำลังใช้ Snapchat บนเว็บ ส่วนฟีเจอร์ด้านความเป็นส่วนตัว มีทั้ง privacy screen ที่จะซ่อนหน้าต่าง Snapchat หากเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น, ข้อความที่ส่งจะถูกลบทิ้งหลัง 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกับบนแอป รวมถึงสามารถป้องกันการถ่ายภาพสกรีนช็อตได้ (แต่ไม่สามารถป้องกันคนเอากล้องมือถือมาถ่ายหน้าจอได้) Snapchat เวอร์ชันเว็บยังคงเปิดให้ใช้งานเฉพาะผู้ใช้ Snapchat+ ในสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และจะทยอยเปิดให้ใช้งานในฝรั่งเศส, เยอรมนี, ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากนั้นจึงจะเป็นผู้ใช้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ที่มา - TechCrunch
# รมว.พลังงานสวีเดน บอกเอาพลังงานไปให้โรงงานเหล็ก ยังมีประโยชน์กว่าเหมืองคริปโต Khashayar Farmanbar รัฐมนตรีพลังงานของสวีเดน ให้สัมภาษณ์ว่าเตรียมจำกัดการใช้พลังงานของเหมืองขุดคริปโตในประเทศ โดยเขาบอกว่าพลังงานเหล่านี้เอาไปให้โรงงานเหล็กยังมีประโยชน์มากกว่า "เราจำเป็นต้องเอาพลังงานไปใช้ในสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าบิตคอยน์" สวีเดนเป็นหนึ่งใน Top 3 ประเทศยอดนิยมของยุโรปสำหรับการขุดเหมืองคริปโต (อีกสองประเทศคือเยอรมนีและไอร์แลนด์) ด้วยเหตุผลว่าค่าไฟฟ้ามีราคาถูก จากพลังงานสะอาดที่ผลิตได้ในประเทศ ตัวอย่างบริษัทเหมืองรายใหญ่ในสวีเดนได้แก่ Hive Blockchain Technologies Ltd. จากแคนาดา และ Genesis Mining Ltd. จากฮ่องกง แต่ช่วงหลังรัฐบาลสวีเดนก็เริ่มหันมาจับตาเรื่องนี้ และสั่งให้หน่วยงานพลังงาน Swedish Energy Agency หาวิธีเก็บสถิติการใช้ไฟฟ้าสำหรับขุดเหมืองคริปโตแล้ว ที่มา - Bloomberg ภาพจาก Pexels
# เบื้องหลังการตั้งชื่อภาษา Java มาจากกาแฟร้าน Peet's Coffee, เกือบได้ชื่อว่า Silk เว็บไซต์ InfoWorld ตีพิมพ์บทความจากนิตยสารในเครือ JavaWorld ฉบับปี 1996 เล่าเบื้องหลังว่าทำไม Sun Microsystems ถึงตั้งชื่อภาษา Java แทนโค้ดเนมที่ใช้ระหว่างพัฒนา Oak (ตั้งชื่อตามต้นโอ๊คที่อยู่ข้างหน้าต่างของออฟฟิศ) ตอนแรกนั้น Sun ตั้งใจใช้ชื่อภาษา Oak อย่างจริงจัง แต่ติดว่าชื่อนี้ถูกจดเครื่องหมายการค้าโดยบริษัท Oak Technologies ทำให้บริษัทต้องมาระดมสมองตั้งชื่อกันใหม่ คนที่จัดประชุมเรื่องชื่อคราวนั้นคือ Kim Polese ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของ Oak ในตอนนั้น (ภายหลังไปก่อตั้งและเป็นซีอีโอของบริษัทหลายแห่ง เช่น SpikeSource และ Marimba ซึ่งขายกิจการสำเร็จทั้งคู่) ตัวอย่างชื่อที่ถูกเสนอขึ้นมาได้แก่ Lyric, Pepper, NetProse, Neon, Ruby, WRL, WebDancer, WebSpinner ส่วนชื่อที่เข้ารอบสุดท้ายคือ Java, DNA, Silk ที่ต้องมาตัดสินด้วยการโหวต สองชื่อสุดท้ายคือ Java และ Silk ส่วนคนที่เสนอชื่อ Java เป็นคนแรก เล่ากันว่าเป็น Chris Warth โปรแกรมเมอร์คนหนึ่งที่คิดชื่อจนมึนหัว จนต้องจิบกาแฟของร้าน Peet's Coffee ร้านกาแฟชื่อดังในแคลิฟอร์เนีย แล้วพูดชื่อ Java ขึ้นมาเพราะคิดชื่ออื่นไม่ออกแล้ว ภาพจาก Peet's Coffee Kim Polese เล่าว่าใช้เวลาครุ่นคิดและเลือกชื่อนี้นานพอสมควร เธออยากใช้ชื่อภาษาดูแตกต่าง สนุก จดจำง่าย และเลี่ยงการใช้คำน่าเบื่ออย่าง 'net' และ 'web' ที่นิยมในยุคนั้น เมื่อได้ชื่อที่เข้ารอบสุดท้ายแล้ว เธอก็ไปทดสอบกับคนในครอบครัวและเพื่อนๆ ในงานปาร์ตี้ว่าชื่อไหนคนจดจำได้มากที่สุด ซึ่งชื่อ Java เป็นชื่อที่ได้เสียงตอบรับดีที่สุด Polese บอกว่าเธอเองก็ชอบชื่อนี้ที่สุด และนำไปตั้งชื่อเบราว์เซอร์ HotJava ต่อด้วย (แทนชื่อเดิม WebRunner) และยังเล่าว่าทีมวิศวกรเสียดายชื่อ Oak อยู่สักพักหนึ่ง ก่อนจะคุ้นกับชื่อใหม่ Java ในระยะเวลาถัดมา ที่มา - InfoWorld
# เกมพาจน มูลค่าบริษัท CD Projekt ลดลง 75% เทียบกับช่วงก่อนขาย Cyberpunk 2077 เรียกได้ว่าเป็นเกมที่ถูกคาดหวังมากที่สุดและไฮป์ที่สุด รวมถึงพังที่สุดเกมหนึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากับ Cyberpunk 2077 จากค่าย CD Projekt RED ส่วนหนึ่งเพราะความสำเร็จอย่างสูงจาก The Witcher 3 ที่ออกมาเมื่อปี 2015 ความพังของเกมก็อย่างที่เราทราบไปแล้วว่าส่วนใหญ่เกิดจากบั๊ค และการถูกเร่งพัฒนาให้วางขายตามกำหนด จนส่งผลต่อยอดขายเกม และชื่อเสียงของสตูดิโอและบริษัทอีกต่อ ซึ่งล่าสุดก็ออกมาเป็นตัวเลขที่จับต้องได้ เมื่อมูลค่าบริษัทของ CD Project SA บริษัทแม่ลดลงเหลือเพียง 25% หรือหายไปราวๆ 75% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวางขายเกม ราคาหุ้นของ CD Projekt SD พุ่งขึ้นไปสูงสุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2020 ที่ 443 ซวอตือโปแลนด์ก่อนวางขายเกม 6 วัน ซึ่งตอนนั้นทำให้บริษัทมีมูลค่าราว 4 หมื่นล้านซวอตือ หรือราว 3 แสนล้านบาท ก่อนที่ราคาหุ้นจะดิ่งลงมาครึ่งหนึ่งที่ราว 239 ซวอตือโปแลนด์ในช่วงหลังปีใหม่ และปัจจุบันอยู่ที่ราว 93 ซวอตือโปแลนด์เท่านั้น มูลค่าบริษัทปัจจุบัน ณ เขียนข่าวอยู่ที่ 9.42 พันล้านซวอตือหรือราว 7.3 หมื่นล้านบาท CD Projekt เปิดเผยเมื่อเดือนเมษายนว่า Cyberpunk ทำยอดขายไปได้ราว 18 ล้านชุด ที่มา - Business Insider PL, Google Finance
# iLaw เปิดรายชื่อเหยื่อมัลแวร์ Pegasus ในไทย 30 ราย พบเป็นผู้เห็นต่างทางการเมือง ช่วงเวลาเจาะใกล้กับช่วงชุมนุม iLaw องค์กรไม่หวังผลกำไรด้านกฎหมายในประเทศไทยออกรายงานถึงการใช้งานมัลแวร์ Pegasus ที่นับเป็นการรวบรวมรายชื่อจำนวนมาก หลังจากเมื่อปลายปี 2021 แอปเปิลได้ส่งอีเมลแจ้งเตือนไปยังผู้ที่อาจจะเป็นเหยื่อของมัลแวร์ Pegasus นี้ และมีนักกิจกรรมทั่วโลกออกมาเปิดเผยว่าได้รับอีเมลจากแอปเปิลรวมถึงบุคคลในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง Pegasus เป็นมัลแวร์จาก NSO Group ที่มีศักยภาพสูง กระบวนการเจาะระบบเพื่อวางมัลแวร์ไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากเหยื่อ เช่น การดาวน์โหลดไฟล์หรือคลิกลิงก์แม้แต่น้อย หลังจากเจาะแล้วจะเข้าควบคุมเครื่องได้อย่างสมบูรณ์ สามารถดึงข้อมูลภายในเครื่องออกไปได้ทั้งหมด รวมถึงสั่งให้โทรศัพท์บันทึกเสียงหรือถ่ายภาพได้ โดยที่ผ่านมาทาง NSO Group ระบุว่าขายมัลแวร์ตัวนี้ให้กับรัฐบาลเท่านั้น ติดค่าบริการเป็นรายเครื่องที่รัฐบาลต้องการเจาะต่างกันไปตามแต่ระบบปฎิบัติการ ราคาที่เปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ไอโฟนแต่ละเครื่องมีค่าใช้จ่ายถึงประมาณเครื่องละ 2 ล้านบาท (มีค่าแรกเข้าอีก 2 ล้านบาท และต้องซื้อเป็นแพ็กเกจ) รายชื่อเหยื่อ Pegasus ที่ iLaw เปิดเผยออกมาทั้งหมด 30 รายการ ในจำนวนนี้มีบุคคลไม่เปิดเผยชื่อ 5 คน และบุคคลในรายชื่อมักเป็นกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมืองจากรัฐบาล เช่น FreeYOUTH, ทะลุฟ้า, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, WEVO, Rap Against Dictatorship, iLaw, ตลอดจนนักวิชาการและนักกิจกรรมอิสระ เมื่อวิเคราะห์ถึงวันที่ที่ถูกโจมตี พบว่าสอดคล้องกับการชุมนุมจำนวนมาก ที่มา - iLaw
# รัฐบาลอินเดียไล่บี้บริษัทมือถือจีน ฟ้อง Oppo, Vivo, Xiaomi ข้อหาเลี่ยงภาษี รัฐบาลอินเดียเริ่มไล่บี้บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนในอินเดีย ทั้ง Oppo (รวม Realme), Vivo และ Xiaomi เริ่มโดนสอบสวนเรื่องการหลบเลี่ยงภาษีในอินเดีย เป้าหมายของอินเดียคือต้องการสร้างอุตสาหกรรมไอทีภายในประเทศ ลดการพึ่งพาต่างชาติโดยเฉพาะจีน ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินเดียเคยสั่งแบนแอพจากจีนไปแล้วหลายชุด และล่าสุดเริ่มขยายผลมายังตลาดฮาร์ดแวร์แล้ว โดยหน่วยงานด้านภาษีของอินเดียเริ่มแจ้งข้อหาว่า Oppo และ Vivo เลี่ยงการจ่ายภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท, สำนักงานของ Vivo ถูกตรวจค้นและยึดทรัพย์สิน ส่วน Xiaomi ที่เป็นเบอร์หนึ่งของตลาดอินเดียตอนนี้ก็โดนเรื่องการโอนเงินข้ามประเทศผิดกฎหมาย ปัจจุบัน สมาร์ทโฟนแบรนด์จีนมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันประมาณ 60% ของอินเดีย โดยมีซัมซุงเป็นมือถือแบรนด์ต่างชาติอื่นที่ไม่ใช่จีนอยู่ใน Top 5 ของแบรนด์ยอดนิยม (ยังไม่มีข่าวว่าซัมซุงโดนบี้เรื่องภาษี) ในขณะที่มือถือแบรนด์อินเดียเองอย่าง Micromax และ Lava กลับเหลือส่วนแบ่งตลาดที่น้อยมากแล้วในปัจจุบัน ภาพจาก YouTube Oppo India ที่มา - Financial times
# ซัมซุงเผยสถิติ มีอุปกรณ์ในเครือข่าย SmartThings Find ค้นหาของหายเกิน 200 ล้านชิ้น ซัมซุงมีเครือข่ายอุปกรณ์ IoT เพื่อใช้ระบุตำแหน่งของอุปกรณ์ที่สูญหาย ลักษณะเดียวกับ Find My ของแอปเปิล โดยใช้ชื่อว่า SmartThings Find ซึ่งบริษัทออกมาประกาศว่ามีอุปกรณ์ในเครือข่ายค้นหาเกิน 200 ล้านชิ้นแล้ว เครือข่าย SmartThings Find สามารถค้นหาอุปกรณ์แบรนด์ Galaxy ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต นาฬิกา หูฟัง รวมถึงสิ่งของอื่นที่แขวนป้ายติดตาม SmartTag และ SmartTag+ ที่เปิดตัวช่วงต้นปี 2021 วิธีการใช้งานนั้นผู้ใช้จำเป็นต้องติดตั้งแอพ SmartThings บนมือถือ และสมัครเข้าร่วมแบบ opt-in (มีให้บริการทั่วโลกยกเว้นจีน) ทั้งนี้ ซัมซุงไม่ได้เปิดเผยประเภทของอุปกรณ์ในเครือข่าย SmartThings Find ว่ามีสัดส่วนอย่างไร รวมถึงการกระจายตัวของอุปกรณ์ในแต่ละประเทศด้วย ที่มา - Samsung
# ความคืบหน้าโครงการ Fuchsia กูเกิลกำลังแปลงคำสั่งเคอร์เนลให้รองรับแอพจาก Android เว็บไซต์ 9to5google ที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของระบบปฏิบัติการ Fuchsia อัพเดตความคืบหน้าของการทำให้ Fuchsia รองรับแอพฝั่ง Android ที่มีจำนวนมหาศาลได้ ข้อจำกัดของ Fuchsia คือมันไม่ใช่ลินุกซ์ แต่ใช้เคอร์เนลของตัวเองชื่อ Zircon ทำให้การใช้ประโยชน์จากแอพ Android ทำได้ยาก ที่ผ่านมากูเกิลมีโครงการภายใน (ที่บางส่วนเปิดเผยในฐานข้อมูลสาธารณะ) หลายโครงการเพื่อทดลองแนวทางที่เหมาะสม โครงการหนึ่งคือพอร์ต Android Runtime ไปรันบน Fuchsia โดยตรง โครงการนี้เริ่มในปี 2019 โดยในซอร์สโค้ดของ Android AOSP มีอุปกรณ์ชื่อ device/google/fuchsia อยู่ด้วย แต่ล่าสุดวิศวกรของกูเกิลถอดซอร์สโค้ดส่วนนี้ออกไปทั้งหมดแล้ว คาดว่าแนวทางนี้คงไม่ทำแล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ Fuchsia เองมีโครงการชื่อ Starnix เป็นการแปลงคำสั่งระดับล่างของเคอร์เนลลินุกซ์ ไปเป็นคำสั่งของเคอร์เนล Zircon ลักษณะคล้ายกับโครงการ WSL ของไมโครซอฟท์ โครงการนี้เริ่มในปี 2021 แม้ยังไม่มีความคืบหน้าปรากฏต่อสาธารณะมากนัก แต่ก็มีข้อมูลการทดลองรันแอพนาฬิกา (Clock) ของ Android ด้วย Starnix แล้ว ซึ่ง 9to5google มองว่าการเลิกพอร์ตรันไทม์ น่าจะเป็นสัญญาณว่ากูเกิลหันมาโฟกัสกับ Starnix อย่างจริงจังแทน นอกจากนี้ กูเกิลยังอาจเลือกใช้วิธีมาตรฐานอย่างการรัน Android ใน VM บน Fuchsia อีกที ซึ่งเป็นวิธีที่กูเกิลเพิ่งใช้กับ Google Play Games บนวินโดวส์ แต่ก็ต้องแลกกับประสิทธิภาพที่ลดลง ที่มา - 9to5google
# ผู้สร้างกระเป๋าเงินคริปโต MetaMask ยอมรับ ลงทุนในคริปโตเป็นการพนัน-แชร์ลูกโซ่ Aaron Davis และ Dan Finlay สองผู้ก่อตั้งโครงการ MetaMask ซอฟต์แวร์กระเป๋าเงินคริปโตยอดนิยม ออกมาให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกกับเว็บข่าว Vice ยอมรับข้อเสียของคริปโตว่าเป็นการพนันและแชร์ลูกโซ่ MetaMask เป็นซอฟต์แวร์กระเป๋าเงินคริปโตที่นิยมมากที่สุดตัวหนึ่ง เป็นผลงานของบริษัท ConsenSys ที่พัฒนาซอฟต์แวร์สายคริปโตหลายตัว (อีกตัวคือ Infura ที่ใช้เขียน-อ่านข้อมูลลงบล็อกเชน) ตัวของ Dan Finlay เป็นพนักงานของ ConsenSys ส่วน Aaron Davis เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนให้ข้อมูลว่าปริมาณการใช้งาน MetaMask ลดลงตามตลาดคริปโตที่ซบเซาลง (แม้เติบโตจาก 1 ล้านคนมาเป็น 30 ล้านคนภายใน 2 ปี) Davis ยอมรับว่าการนำเงินไปซื้อคริปโตเป็นการพนัน (putting your money in cryptocurrencies is gambling) และเขาบอกว่าออกมาพูดเรื่องนี้ช้าไป เขาบอกว่าสิ่งที่พวกเรามีตอนนี้ยังไม่ใช่อนาคตของโลกการเงิน และคุณไม่ควรนำเงินเก็บทั้งชีวิตมาลงทุนในคริปโต เขามองว่าการที่คนจำนวนมากเชื้อเชิญให้คนมาลงทุนในคริปโตเป็นเรื่องที่อันตรายมาก และเขาไม่แปลกใจเลยที่โครงการคริปโตจำนวนมากล้มเหลว เพราะมันเป็นแชร์ลูกโซ่ (Ponzimonics) ส่วน Finlay บอกว่าการล่มสลายของบริษัทคริปโตในปี 2022 เกิดจากบริษัทที่เรียกตัวเองว่า DeFi แต่จริงๆ แล้วทำตัวเป็นธนาคารเงา (shadow banks) ที่อาศัยวิธี leverage (การวางหลักประกันบางส่วนแล้วกู้หรือใช้เงินเกินมูลค่า) โดยไม่โปร่งใสเรื่องข้อมูล Finlay ยอมรับว่าไม่สามารถป้องกันให้เกิดแชร์ลูกโซ่บนบล็อกเชนได้ สิ่งที่ MetaMask ทำได้คือทำให้ธุรกรรมคริปโตปลอดภัยมากขึ้น ผู้ใช้รับทราบข้อมูลและยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น (consensual) และพยายามไม่ให้คนที่มีชื่อเสียงแย่ๆ ได้รับการยอมรับหรือน่าเชื่อถือกว่าเดิม ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนมองว่า MetaMask ทำหน้าที่เสมือนเป็นเว็บเบราว์เซอร์ มีหน้าที่เชื่อมต่อผู้ใช้เข้ากับระบบ ผู้ใช้เองก็ต้องระวังตัวมากขึ้นด้วยตัวเองเช่นกัน อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็จะพยายามทำให้ MetaMask ปลอดภัยมากขึ้น แสดงข้อมูลธุรกรรมให้เด่นชัดและเข้าใจง่ายกว่าเดิม เพื่อแก้ปัญหา phishing ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ที่มา - Vice
# CP/M ระบบปฎิบัติการณ์อายุ 48 ปีกลายเป็นโอเพนซอร์สโดยสมบูรณ์ CP/M ระบบปฎิบัติการที่ออกเวอร์ชั่นแรกตั้งแต่ปี 1974 และเวอร์ชั่นสุดท้ายปี 1983 กลายเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอย่างสมบูรณ์เมื่อ Bryan Sparks ประธานบริษัท DRDOS ผู้ถือสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ตัวนี้ประกาศให้ใครก็ได้สามารถแจกจ่าย, ดัดแปลง, แก้ไข ได้อย่างอิสระ CP/M พัฒนาโดย Gary Kildall จากบริษัท Digital Research ออกแบบมาสำหรับชิป Intel 8080 และได้รับความนิยมในโลกธุรกิจในยุคก่อนหน้า IBM PC ที่ใช้ระบบปฎิบัติการ DOS แต่ตัวสิทธิ์ขาดใน CP/M ก็ถูกส่งต่อมาเรื่อยๆ ผ่านการควบรวมกิจการหลายครั้ง ในช่วงปี 2001 สิทธิ์นี้เคยอยู่กับบริษัท Caldera และ Bryan Sparks ที่เป็นซีอีโอในตอนนั้นก็เคยประกาศยกสิทธิ์ให้เว็บไซต์ชุมชน CP/M นำไปใช้งานได้ ปัญหาคือคำอนุญาตของ Sparks เมื่อปี 2001 จำกัดเฉพาะเว็บไซต์ชุมชน CP/M ทำให้ชุมชนอื่นๆ รวมถึงโลกโอเพนซอร์สที่ต้องการนำโค้ด CP/M ไปพัฒนาต่อไม่กล้านำโค้ดไปใช้งาน Scott Chapman โปรแกรมเมอร์เกษียณอายุคนหนึ่งจึงหาอีเมลของ Sparks แล้วขอให้เขาปรับคำอนุญาตเสียใหม่ ทำให้ตอนนี้โค้ด CP/M สามารถนำมาใช้งานได้อย่างอิสระเรียบร้อยแล้ว ที่มา - The Register ภาพโฆษณา CP/M ในนิตยสาร Infoworld เมื่อปี 1982
# [ไม่ยืนยัน] รัฐบาลไต้หวันอาจปรับ Foxconn ฐานไปลงทุนในบริษัทชิปจีนโดยไม่ได้ขออนุญาต สำนักข่าวรอยเตอรส์อ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวสองราย ระบุว่ารัฐบาลไต้หวันเตรียมสั่งปรับ Foxconn เป็นเงิน 25 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 30 ล้านบาท หลังจาก Foxconn ไปลงทุนในบริษัท Tsinghua Unigroup ผ่านบริษัทลูกอีกทีหนึ่ง โดยไม่ได้ขออนุญาตจากรัฐบาลไต้หวัน รัฐบาลไต้หวันจำกัดไม่ให้บริษัทไต้หวันไปลงทุนในบริษัทจีนหากการลงทุนเป็นภัยต่อความมั่นคง ค่าปรับ 25 ล้านดอลลาร์นี้ไต้หวันเป็นค่าปรับสูงสุดตามกฎหมายซึ่งคำสั่งจริงอาจจะปรับต่ำกว่านั้น และในที่สุดแล้วหาก Foxconn ยื่นขออนุญาตถูกต้องก็อาจจะได้รับอนุญาตให้ลงทุนต่อไป แต่หากไม่ได้รับอนุญาต ก็อาจจะต้องถอนการลงทุนไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะสามารถปรับซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ได้ Tsinghua Unigroup เป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่ค่อนข้างก้าวหน้า แต่กลับมีปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนล้มละลาย และการที่ Foxconn เข้าไปถือหุ้นรอบนี้จะทำให้บริษัทมีหุ้นในบริษัทแม่ของ Tsinghua Unigroup อยู่ 20% ที่มา - Reuters
# Nothing Phone (1) ใช้รอมต่างจาก AOSP ไม่มาก, เปิดซอร์สโค้ดเร็ว, ไม่ล็อคบูตโหลดเดอร์ หลังสมาร์ทโฟน Nothing Phone (1) เริ่มวางขาย ก็มีข้อมูลแง่มุมต่างๆ ออกมาอีกพอสมควร เริ่มจาก 9to5google พาสำรวจตัวระบบปฏิบัติการ Nothing OS ว่ามีความต่างจาก Android AOSP ของกูเกิลมากแค่ไหน คำตอบคือไม่เยอะนัก สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือตัว Nothing Launcher, แอพอัดเสียง Recorder และแอพ Camera ที่เขียนเอง และการปรับคอนฟิก สไตล์ อีกเล็กน้อยเท่านั้น อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ บริษัท Nothing เปิดซอร์สโค้ดของเคอร์เนลออกมา ภายใน 3 วันหลังมือถือเปิดตัว ซึ่งถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับ OnePlus บริษัทเดิมของ Carl Pei ที่ล่าสุดใช้เวลา 2 สัปดาห์ถึงเปิดซอร์สออกมา นอกจากนี้ XDA ยังพบว่าบริษัทเปิดเผย devicetree หรือรายละเอียดของชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ทั้งหมดมาให้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่พบไม่บ่อยนักในวงการมือถือแอนดรอยด์ บูตโหลดเดอร์ของ Nothing Phone (1) ยังปลดล็อคได้ด้วยเครื่องมือมาตรฐาน (fastboot flashing unlock) เท่ากับว่า Phone (1) เอื้อต่อการสร้าง Custom ROM มากๆ และน่าจะเป็นมือถือขวัญใจนักสร้างรอมได้ไม่ยากนัก เมื่อสินค้าเริ่มวางขายจนแพร่หลายมากพอ ภาพจาก @Nothing ที่มา - Android Police, XDA
# Visual Studio Code 1.69 เพิ่ม UI สำหรับค้นหาไฟล์/พิมพ์คำสั่งบน title bar, รวมโค้ดที่ conflict ง่ายขึ้นด้วย 3-way merge editor ไมโครซอฟท์ออกอัพเดต Visual Studio Code เวอร์ชัน 1.69 ซึ่งได้ปรับปรุงโปรแกรมไปหลายรายการและยังมาพร้อมฟีเจอร์ใหม่อย่าง Command Center และ 3-way merge editor ที่เริ่มเปิดให้ทดลองใช้งานในเวอร์ชันนี้ ฟีเจอร์ที่เปิดให้ทดลองอย่างแรกคือ UI ชุดใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า Command Center เป็นแถบเมนูสำหรับใช้ค้นหาไฟล์ภายในโปรเจ็กต์หรือใช้พิมพ์คำสั่งต่างๆ ของ VS Code แบบเดียวกันกับ Command Palette เดิมที่ผู้ใช้ VS Code น่าจะคุ้นเคยกับการเรียกใช้งานผ่านคีย์ลัด Ctrl+Shift+P สิ่งที่ Command Center แตกต่างไปคือการเปลี่ยนไปแสดงผล UI อยู่ในบริเวณ title bar ตลอดเวลาทำให้เข้าถึงด้วยเมาส์ได้สะดวกกว่า ทดลองใช้ Command Center ได้ด้วยการเปิดการตั้งค่าที่มีชื่อว่า window.commandCenter ฟีเจอร์ทดลองอย่างที่สองคือ 3-way merge editor ตัวช่วยแก้ไข Git merge conflict ยกตัวอย่างเช่นในกรณีที่นักพัฒนาต้องรวมโค้ดที่เขียนชนกับเพื่อนร่วมทีม 3-way merge editor จะช่วยให้นักพัฒนาเลือกส่วนต่างของโค้ดที่ต้องการเก็บไว้ได้โดยง่าย ไม่ว่าจะติ๊กเลือกโค้ดของเพื่อนร่วมทีม (Theirs) หรือติ๊กโค้ดของตัวนักพัฒนาเอง (Yours) หรือติ๊กเลือกทั้งสองฝั่งเพื่อเก็บโค้ดไว้ทั้งคู่ พร้อมแสดงผลลัพธ์ของการรวมโค้ดให้ได้ตรวจสอบก่อนกดยอมรับการรวมโค้ด (Accept Merge) อีกที และหากไม่พอใจผลลัพธ์ของการรวมโค้ดจะพิมพ์โค้ดที่ต้องการใหม่เลยก็ทำได้เช่นกัน ทดลองใช้งานได้แล้วด้วยการเปิดการตั้งค่าที่มีชื่อว่า git.mergeEditor สำหรับท่านที่ยังอยากมั่นใจว่า 3-way merge editor พร้อมใช้งานแล้วจริงๆ ก็สามารถรอจน VS Code เปิดใช้งานเป็นค่าตั้งต้นแทนที่ merge editor แบบเดิมในเวอร์ชันถัดๆ ไปได้ ส่วนฟีเจอร์อื่นๆ ที่ไมโครซอฟท์ยกให้เป็นไฮไลท์พอสรุปได้ดังนี้ เพิ่มโหมด Do Not Disturb ซ่อนป๊อปอัพแจ้งเตือนที่ไม่สำคัญ กดเปิดใช้งานได้จากไอคอนรูปกระดิ่งมุมขวาล่างของ VS Code เพิ่มคำสั่ง Preferences: Toggle between Light/Dark Themes บน Command Pallete ช่วยสลับระหว่างธีมสว่าง/ธีมมืดจากค่าที่ตั้งไว้ล่วงหน้า ปรับปรุง Terminal ให้ใช้งานกับ shell อย่าง PowerShell, bash และ zsh ได้ดีขึ้น เช่น ช่วยแสดงสัญลักษณ์ระบุสถานะคำสั่งที่รันบน shell (เช่นไอคอนรันสำเร็จ/ไม่สำเร็จด้านหน้าคำสั่ง) เรียกคำสั่งล่าสุดที่รันบน shell ได้จากประวัติที่เก็บไว้บน VS Code (ผ่านคำสั่ง Terminal: Run Recent Command บน Command Pallete) ช่วยแสดงสัญลักษณ์ระบุสถานะการรัน task (เช่นไอคอนรันสำเร็จ/ไม่สำเร็จด้านหน้าแต่ละ task) เพิ่มปุ่ม Git Commit ภายใต้แถบ Source Control ซึ่งสามารถปรับแต่งการใช้งานเองได้ (เช่นเปลี่ยนเป็น Commit เป็น Commit & Push / Commit & Sync ที่การตั้งค่า git.postCommitCommand) ปรับปรุง UI ระหว่างการดีบักให้สามารถคลิกขวาเพื่อสั่งให้ Step Into ฟังก์ชันที่ต้องการได้ ปรับปรุงการดีบัก JavaScript สามารถสั่งเปิด/ปิด sourcemap (ไอคอนรูปเข็มทิศ) เพื่อเลือกเปลี่ยนวิธีไล่โค้ดของตัวดีบักระหว่างบนซอร์สโค้ดและบนโค้ดที่ผ่านการคอมไพล์แล้ว ที่มา - Visual Studio Code
# เปิดตัว Soulframe เกม RPG แนวโอเพนเวิลด์ ผลงานใหม่ของผู้สร้าง Warframe Digital Extremes สตูดิโอเกมจากแคนาดา ผู้สร้างเกม Warframe ยิงแนว MMO แบบ free-to-play ที่เปิดตัวในปี 2013 ประกาศเปิดตัวเกมใหม่ Soulframe เกมแฟนตาซี open world ที่ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่ภาพรวมใช้แนวทางการออกแบบตัวละครใส่ชุดเกราะคล้าย Warframe และเน้นการต่อสู้แบบประชิดตัว (melee) ต่างจาก Warframe ที่เป็นเกมยิงเน้นความรวดเร็ว Soulframe ได้ Steve Sinclair ผู้กำกับของเกม Warframe มานำทีมพัฒนาด้วยตัวเอง ตอนนี้ยังไม่เปิดเผยวันเปิดบริการและแพลตฟอร์ม ที่มา - VentureBeat, GameInformer, IGN
# [ลือ] ไมโครซอฟท์จะกลับมาออก Windows รุ่นใหญ่ทุก 3 ปี, คาด Windows 12 ออกปี 2024 เว็บไซต์ Windows Central อ้างแหล่งข่าวภายในไมโครซอฟท์ว่าบริษัทกำลังจะกลับมาใช้รอบการออก Windows เวอร์ชันใหญ่ทุก 3 ปี แบบเดียวกับในยุค Windows Vista (2006), Windows 7 (2009), Windows 8 (2012), Windows 10 (2015) แล้วเลิกไปในยุค Windows 10 ที่เปลี่ยนมาใช้แนวคิด Windows as a Service ไม่ออกรุ่นใหญ่อีกแล้ว ไมโครซอฟท์กลับคำแล้วเปลี่ยนมาออก Windows 11 อีกครั้งในปี 2021 ถ้าข่าวลือนี้เป็นจริง เราก็จะเห็น Windows 12 ออกในปี 2024 ก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์เคยประกาศว่าจะออกอัพเดตใหญ่ให้ Windows 11 ปีละครั้ง โดย Windows 11 ตัวแรกที่ออกปลายปี 2021 มีโค้ดเนมว่า Sun Valley ส่วนอัพเดตใหญ่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ (22H2) มีโค้ดเนมว่า Sun Valley 2 ในอีกด้านยังมีข่าวลือของโครงการภายในชื่อ Moments ที่จะออกฟีเจอร์ย่อยๆ ให้ Windows 11 ตลอดทั้งปี (อาจถึงปีละ 4 รอบ) โดยไม่ต้องรอการอัพเดตรุ่นครั้งใหญ่ แนวทางนี้มีข่าวว่าจะเริ่มในปี 2023 และจะซอยฟีเจอร์ของ Sun Valley 3 มาทยอยปล่อยให้เรื่อยๆ แทน ลักษณะคล้ายโครงการ Feature Drops ของ Google Pixel ที่มา - Windows Central
# รัสเซียออกกฎหมายแบนการใช้คริปโตเพื่อจ่ายเงินซื้อสินค้าในประเทศ ความฝันของคนบางกลุ่มที่อยากเห็นรัสเซียใช้เงินคริปโต แก้ปัญหาการโดนแซงค์ชันจากชาติตะวันตก ไม่เป็นจริงอีกแล้ว หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ลงนามกฎหมายห้ามใช้เงินและสินทรัพย์คริปโตในการจ่ายเงิน (payment) ซื้อสินค้าและบริการในรัสเซีย (ประเทศไทยก็มีประกาศ ก.ล.ต. แบบนี้มาก่อนแล้ว) กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดเงื่อนไขกำกับดูแลของตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน (exchange) ให้ต้องปฏิเสธธุรกรรมคริปโต หากพบว่าเป็นธุรกรรมเพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการ กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาดูมา (สภาผู้แทนราษฏร) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน และปูตินลงนามรับรองกฎหมายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 10 วันหลังลงนาม ภาพจาก President of Russia ที่มา - Protocol, Engadget
# Wohpe นิยาย Sci-fi ของ Salvatore Sanfilippo ผู้สร้าง Redis วางขายแล้ว หลังจากที่ Salvatore Sanfilippo (@antirez) ผู้สร้าง Redis ได้ประกาศลาออกจากการเป็นผู้ดูแลเมื่อปี 2020 และจากที่ได้ประกาศว่าเค้าได้เริ่มเขียนนิยาย Sci-Fi หลังจากหยุดเขียนโปรแกรม ในที่สุดผลงานนิยายเรื่องแรกของเค้าก็ได้รับการวางขายบน Amazon แล้ว ต้นฉบับที่วางขายตอนนี้มีเพียงภาษาอิตาลี โดยฉบับภาษาอังกฤษกำลังอยู่ระหว่างการแปลและคาดว่าจะเสร็จในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึง นิยายเรื่องนี้ใช้ชื่อว่า "Wohpe" มีเนื้อเรื่องย่อเกี่ยวกับโลกในยุคอนาคตช่วงท้ายศตวรรษที่ 21 ที่ AI ประสิทธิภาพสูง (Strong AI) ได้ถูกห้ามใช้งานมาเป็นเวลากว่า 20 ปี มนุษย์ยังไม่สามารถหยุดภาวะโลกรวน (Climate Change) ได้ และขณะที่โลกที่กำลังอยู่ในอันตราย ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI สองคน Asako และ Michel เริ่มการตรวจสอบครั้งสุดท้ายก่อนเริ่มการทำงานของ Wohpe โปรเจคโครงข่ายประสาทเทียมขนาดมหึมาเพื่อใช้ในการถามคำถามชี้ชะตา แต่ไม่มีใครรู้ว่านี่จะเป็นทางรอดหรือจุดจบของทุกสิ่ง ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาในอนาคตที่ใช้ AI เป็นแก่นของเรื่องแล้ว ยังเขียนโดยคนที่มีประสบการณ์ทำ AI จริงด้วย โดย Salvatore ระบุเองว่า นิยายเรื่องนี้ใช้จินตนาการที่มีพื้นฐานจากการทำงานจริงของเค้าเอง แต่ก็ไม่ได้ใช้ความรู้ลึกขนาดที่ทำให้ผู้อ่านที่ไม่มีความรู้ทางเทคนิคไม่สามารถอ่านได้ ที่มา: @antirez, Amazon
# Elon Musk ได้น้องสาว พ่อ Elon วัย 76 ปี มีลูกสาวกับน้องสาวต่างแม่ของ Elon เรื่องสลับซับซ้อนของครอบครัว Musk โดย Errol Musk พ่อวัย 76 ปีของ Elon Musk ที่หย่าขาดจากแม่ของ Elon Musk ไปนานมากแล้ว (แต่งงานกันปี 1970, Elon เกิดปี 1971, พ่อกับแม่หย่ากันปี 1979) ออกมาเปิดเผยว่าเขามีลูกสาวคนใหม่ เรื่องซับซ้อนไปกว่านั้นคือ หลังจาก Errol Musk หย่าขาดจาก Maye Musk แล้ว เขาไปแต่งงานใหม่กับ Heide Bezuidenhout และมีลูกด้วยกันอีก 2 คน โดยที่ภรรยาคนใหม่ก็มีลูกติดมาก่อนแล้วคือ Jana Bezuidenhout ซึ่งถือเป็นน้องคนละแม่ของ Elon Musk และเติบโตมาด้วยกันสมัยเด็กๆ (Elon เลือกอยู่กับพ่อหลังพ่อแม่หย่ากัน) อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2018 คุณพ่อ Errol Musk กลับมีลูกชายกับ Jana ซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของเขาซะอย่างนั้น ทั้งคู่อายุห่างกัน 41 ปี (ลูกชื่อ Elliot Rush ตอนนี้อายุ 5 ขวบ) และล่าสุดเปิดเผยว่ามีลูกสาวคนที่สองด้วยกันโดยไม่ตั้งใจอีกรอบ (unplanned) โดยที่ทั้งสองคนไม่ได้คบหาหรืออาศัยอยู่ด้วยกันแล้วในตอนนี้ (ตอนนี้ลูกสาวอายุ 3 ขวบ) เมื่อครั้งที่ Errol Musk มีลูกคนแรกกับ Jana นั้น Elon โกรธมากหลังทราบเรื่อง เพราะ Errol เลี้ยง Jana มาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และเปรียบเสมือนน้องสาวของเขา คุณพ่อ Errol ให้สัมภาษณ์กับ The Sun ทิ้งท้ายว่า หน้าที่ของมนุษย์คือการสืบสายพันธู์ ("The only thing we are on Earth for is to reproduce.") หากเขาไม่คิดแบบนี้ คนอย่าง Elon หรือน้องชายของเขา Kimbal ก็คงไม่ได้เกิดมาในโลก ที่มา - The Sun, Business Insider
# โซนี่ซื้อกิจการ Bungie เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยเงินมูลค่า 1.35 แสนล้านบาท หลังจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โซนี่ประกาศเข้าซื้อกิจการ Bungie ที่เคยฝากผลงานเกมดังอย่าง Halo (ปัจจุบันเป็นแฟรนไชนส์ในเครือ Xbox Game Studios ของไมโครซอฟท์ และพัฒนาโดยทีม 343 Industries) รวมไปถึงเป็นเจ้าของแฟรนไชนส์ Destiny ด้วยมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ ล่าสุด โซนี่ประกาศว่า ดีลการเข้าซื้อกิจการ Bungie เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้กลายเป็นบริษัทในเครือของ Sony Interactive Entertainment (SIE) อย่างเป็นทางการ ซึ่งดีลนี้จะครอบคลุมไปถึงการถือแฟรนไชนส์ Destiny รวมไปถึง IP ใหม่ ๆ ที่จะออกมาของ Bungie (อย่างไรก็ดีเกมใหม่ ๆ จาก Bungie จะยังคงลงแพลตฟอร์มอื่น ๆ เหมือนเดิม) ทั้งนี้ มูลค่าการเข้าซื้อกิจการที่โซนี่ได้ยื่นต่อ ก.ล.ต. สหรัฐ (SEC) ตัวเลขล่าสุดระบุว่า ดีลการซื้อกิจการดังกล่าวมีมูลค่าสูงขึ้น โดยตัวเลขนั้นอยู่ที่ประมาณ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.35 แสนล้านบาท) ที่มา: The Verge
# อัพเดต Twitter vs. Elon Musk: Twitter เรียกประชุมผู้ถือหุ้น, Musk ขอเลื่อนการไต่สวน มีอัพเดตคดีระหว่าง Twitter กับ Elon Musk ที่ Twitter ฟ้อง หลัง Elon Musk ขอล้มดีลซื้อกิจการ ด้วยเหตุผลว่า Twitter ไม่ให้ข้อมูลบัญชีบอตที่เพียงพอ ซึ่ง Twitter ต้องการให้ Musk ซื้อกิจการไปที่มูลค่า 44,00 ล้านดอลลาร์ ตามที่ตกลงกันตอนแรก รายละเอียดดังนี้ Twitter ยื่นไฟลิ่ง เรียกประชุมผู้ถือหุ้นวาระพิเศษ เพื่อขอมติโหวตอนุมัติดีลขายกิจการให้ Elon Musk ซึ่งบอร์ดอนุมัติไปก่อนหน้านี้ ทำให้ครบขั้นตอนขึ้น ทีมทนายของ Elon Musk ยื่นคำร้องต่อศาลชานเซอร์รี่แห่ง Delaware ให้เลื่อนการเริ่มไต่สวนเป็นกุมภาพันธ์ 2023 โดยบอกว่าการไต่สวนเดือนกันยายนที่ Twitter กำหนดนั้น "เร่งรีบ" เกินไป ซึ่งเป็นแทคติกเพื่อปกปิดความจริงของจำนวนบัญชีบอต ที่มา: CNBC [1], [2] ภาพ Flickr
# จึงเรียนเพื่อทราบ (หรือไม่อยากทราบก็ได้) ChromeOS รีแบรนด์ พิมพ์ติดกัน ไม่เว้นวรรคแล้ว Chrome OS ระบบปฏิบัติการของกูเกิลสำหรับอุปกรณ์ Chromebook ได้รีแบรนด์ใหม่แบบเล็กน้อยจริง ๆ โดยเปลี่ยนการสะกดชื่อจาก Chrome OS เว้นวรรค มาเป็น ChromeOS ที่พิมพ์ติดกันยาว ซึ่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดของกูเกิลยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ การเปลี่ยนแปลงนี้คงไม่ได้มีผลใด ๆ ในแง่ฟังก์ชันการใช้งาน แต่สะท้อนว่าแนวทางเรียกชื่อที่ตามด้วยคำว่า OS กำลังไปในทิศทางพิมพ์ติดกันยาวไม่เว้นวรรค ซึ่งถ้ายกตัวอย่างก็คงหนีไม่พ้น ...OS ทั้งหลายของแอปเปิล ส่วนระบบปฏิบัติการอื่นของกูเกิลนั้น ยังมีวิธีสะกดที่ต่างกันออกไป เช่น Wear OS เว้นวรรค ส่วน Fuchsia หรือ Android ยังเรียกชื่อสั้น ๆ ไม่มี OS ต่อท้าย ที่มา: The Verge
# Meta เปิดตัว AI สร้างรูปภาพตามคำบรรยาย เวอร์ชันนี้ใส่ภาพร่างเป็นไกด์ไลน์ได้ด้วย AI สำหรับสร้างรูปภาพจากคำบรรยาย กำลังเป็นหัวข้อวิจัยที่มาแรง ซึ่งเห็นได้จากทั้ง DALL·E ของ OpenAI หรือ Imagen ของกูเกิล ที่สามารถสร้างสรรค์รูปภาพได้หลากหลายแบบ คราวนี้ก็เป็น Meta ที่เปิดตัวเครื่องมือแบบนี้บ้าง งานวิจัยนี้ของ Meta มีชื่อเรียกว่า Make-A-Scene ใช้อินพุตที่เป็นข้อความบรรยายรายละเอียดรูปภาพ แต่เพิ่มเติมคือสามารถรับอินพุตที่เป็นภาพร่างเบื้องต้นได้ด้วยคู่กัน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการได้ผลลัพธ์รูปภาพไม่ตรงกับที่คิดในหัว โมเดลของ Make-A-Scene เทรนด้วยข้อมูลรูปภาพหลายล้านรูป และหาความสัมพันธ์ในแบบต่าง ๆ ผลลัพธ์คือภาพที่ความละเอียดสูงสุด 2048x2048 การใช้แบบอินพุตร่างประกอบการสร้างรูปภาพ ช่วยให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ที่สวยงามตามความต้องการผู้ใช้งานมากขึ้น ตัวอย่างที่ Meta ยกมาเช่นภาพ ฮอตดอกลอยบนฟ้าแบบหน้าชัดหลังเบลอ ซึ่งหากไม่ใส่ข้อมูลภาพร่างไปด้วย ฮอตดอกก็อาจลอยอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกับที่ผู้ใช้งานอยากได้ ภาพร่างจึงช่วยแก้ปัญหานี้ ในขั้นถัดไป Meta จะพัฒนาโมเดล Make-A-Scene รองรับการสร้างสรรค์ผลงานหลายแบบทั้ง 2D 3D ไปจนถึงคอนเทนต์แบบ Metaverse ด้วย ที่มา: Meta ผ่าน Engadget
# Halo Infinite เปิดทดสอบโหมด Campaign Co-Op สลับเล่นคนเดียว-เล่นกับเพื่อนได้ เกม Halo Infinite ถือเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์เรื่องการพัฒนาเกมที่ระหว่างทางเจอปัญหามากมาย จนสุดท้ายสตูดิโอ 343 Industries ต้องแยกเกมเป็นส่วนๆ ได้แก่ โหมดเนื้อเรื่องแบบเล่นคนเดียว (ขาย), โหมดมัลติเพลเยอร์แบบสู้กันเอง (เล่นฟรี) สองโหมดนี้เปิดให้เล่นช่วงปลายปี 2021 แต่ยังมีสิ่งที่ขาดไปคือโหมดเนื้อเรื่องแบบช่วยกันเล่น Co-Op ที่ยอมรับว่าทำไม่ทัน เวลาผ่านมาเกือบครบปี ในที่สุด Halo Infinite ก็เปิดให้ทดสอบโหมด Campaign Co-Op เป็นครั้งแรก ทั้งบน Xbox และพีซี โดยเป็นการทดสอบแบบจำกัดเวลาจนถึง 1 สิงหาคม จุดเด่นของโหมด Campaign Co-Op ของ Halo Infinite คือระบบความคืบหน้าของเกม (progression system) ที่รองรับทั้งการเล่นคนเดียว (Campaign Solo) และการเล่นกับเพื่อน (Campaign Co-Op) ผู้เล่นสามารถเล่นเกมโหมดเนื้อเรื่องเองคนเดียว สลับไปเล่นกับเพื่อน แล้วกลับมาเล่นคนเดียวต่อได้ โดยเกมจะเก็บสถานะ ไอเทม อุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้รวมกัน โหมด Campaign Co-Op ของเกมภาคนี้ยังรองรับ cross-play ระหว่าง Xbox One, Xbox Series X|S และพีซีด้วย (เล่นได้สูงสุด 4 คนพร้อมกัน) ที่มา - Halo (1), Halo (2)
# Elon Musk บอกกำลังทำให้ Tesla เล่นเกมจาก Steam ได้, Demo อาจจะมาเดือนหน้า Elon Musk บอกว่ามีความคืบหน้าในการเพิ่ม Steam เข้ามาใน Tesla และ Demo อาจจะมาเดือนหน้า แม้ Tesla จะสามารถเล่นเกมได้มาก่อนหน้าแล้วผ่านแอพ Arcade ของตัวเอง แต่จำนวนเกมที่รองรับยังน้อย (ปัจจุบันมีราวๆ 21 เกม) เมื่อเทียบกับจำนวนเกมบน Steam ที่มีเยอะกว่ามาก ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งจุดขายในตลาดนี้ได้ ระบบ Entertainment ของ Tesla รันบน Linux และใช้ชิป Ryzen Embedded APU (Model S, X) ซึ่ง GPU เป็นสถาปัตยกรรม RDNA 2 ตัวใหม่และทาง AMD เคลมว่ารองรับเกม AAA ส่วนการเล่นเกมจากแอพ Arcade นั้นใช้ทั้งพวงมาลัยและคันเร่งรถได้ หรือจะใช้จอยคอนโทรลเลอร์แบบเดิมก็ได้เช่นกัน ที่มา - Elon Musk
# The Sims 4 เพิ่มการระบุความสนใจทางเพศ ตั้งค่าไม่สนใจเพศใดเลย เป็น Asexual Sim ได้ EA เปิดเผยฟีเจอร์ใหม่ของเกม The Sims 4 คือ Sexual Orientation ที่สามารถตั้งค่าความสนใจทางเพศให้ตัวละคร แยกจากเพศกำเนิด (Gender) ได้ อัพเดตนี้จะมีผลต่อตัวเกมภาคหลักด้วย ไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคเสริม เท่ากับว่าผู้เล่น The Sims 4 ทุกคนสามารถใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ ในหน้าจอตั้งค่านี้ ตัวละครของเราสามารถบอกได้ว่าสนใจเพศใด (romantically attracted to), สนใจมีความสัมพันธ์หรือไม่ (exploring romantically) และสนใจมีเพศสัมพันธ์ (Mess Around หรือ WooHoo) กับเพศใด ผู้เล่นสามารถเลือก "ไม่" ทุกข้อเพื่อให้ตัวละครไม่สนใจเรื่องเพศเลย (Asexual Sim) หรือจะเลือกเป็นไม่สนใจความสัมพันธ์ แต่สนใจมีเซ็กซ์อย่างเดียว (Aromantic Sim) ก็ได้เช่นกัน EA ยอมรับว่าฟีเจอร์นี้ยังมีตัวเลือกความสนใจแค่ 2 อย่างคือหญิง-ชาย ยังไม่สะท้อนความต้องการของชาว LGBTQIA+ ครบถ้วน เหตุผลเป็นเรื่องทางเทคนิคเพราะเอนจินของ The Sims 4 (เกมอายุ 8 ปี) ไม่ได้ออกแบบมารองรับตัวละครเพศอื่นนอกจากหญิง-ชาย ซึ่ง EA จะหาแนวทางแก้ไขต่อไป ที่มา - EA
# ระยะใกล้ก็ถ่ายได้ NASA โชว์ภาพกล้อง James Webb ถ่ายดาวพฤหัส เห็นวงแหวน-ดวงจันทร์ หลังจาก NASA เผยภาพถ่ายชุดแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb ยังมีภาพอีกชุดที่กล้อง James Webb ถ่ายให้กับสถาบันวิจัยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ (Space Telescope Science Institute) โดยมาจากช่วงทดสอบอุปกรณ์ก่อนเริ่มปฏิบัติการจริงๆ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ภาพถ่ายชุดนี้เป็นภาพถ่ายดาวพฤหัสและดาวเคราะห์น้อยอีกจำนวนหนึ่ง ด้วยกล้องอินฟราเรด NIRCam ทำให้เราเห็นทั้งจุดแดงยักษ์ (Great Red Spot) และดวงจันทร์บางดวงของดาวพฤหัส เช่น Europa, Thebe, Metis อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นภาพที่คมชัดและสว่างกว่าภาพถ่ายในอดีตมาก ภาพชุดนี้แสดงให้เห็นว่ากล้อง Webb ไม่ได้ใช้แค่การถ่ายภาพจักรวาลไกลๆ เท่านั้น แต่ยังช่วยให้การศึกษาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราดีขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายภาพวงแหวนหรือดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้กับดาวดวงใหญ่ที่สว่างมากๆ ตัวอย่างคือภาพที่สามในชุด จะเห็นวงแหวนจางๆ รอบดาวพฤหัส ซึ่งเราไม่เคยเห็นกันบ่อยนัก ตอนนี้ภาพทั้งหมดต้องดูผ่านระบบของ Space Telescope Science Institute แต่ NASA คัดภาพตัวอย่างบางส่วนมาเผยแพร่ต่อสาธารณะด้วย ชมภาพชุดเต็มๆ ได้จากที่มา ที่มา - NASA
# Wing บริษัทโดรนในเครือ Alphabet เผยโปรโตไทป์โดรนชุดใหม่ รองรับทั้งขนของหนักและเบา Wing บริษัทโดรนในเครือ Alphabet เผยโฉมโปรโตไทป์โดรนรุ่นใหม่เพื่อรองรับการขนของหลากหลายรูปแบบ จากโดรนรุ่นปัจจุบันที่จะเน้นขนพัสดุขนาดเล็กเป็นหลัก ซึ่งโดรนรูปแบแบใหม่จะยังคงใช้ส่วนประกอบคล้ายกับโดรนที่ Wing ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ในวิดีโอ The Aircraft Library ของ Wing โชว์โดรนหลากหลายขนาด ทั้งโดรนขนาดใหญ่ที่ขนของได้สูงสุดถึง 7 ปอนด์ และโดรนขนาดเล็กที่ขนของอย่างเช่นยาได้สูงสุด 0.6 ปอนด์ (โดรนใช้งานจริงปัจจุบันของ Wing ขนได้ 2.5 ปอนด์) Wing ระบุว่าการดีไซน์โดรนจะเน้นใช้วัสดุและชิ้นส่วนต่าง ๆ รวมถึงซอฟต์แวร์ร่วมกัน เพื่อให้พัฒนาโดรนตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ที่มา - Wing, The Verge
# ผู้บริหาร Google บอก เด็กรุ่นใหม่ นิยมหาข้อมูลบางอย่างจาก TikTok และ Instagram มากกว่า TikTok อาจส่งผลกระทบต่อ YouTube โดยตรง เห็นได้จากการต้องทำแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น Shorts ออกมาสู้ แต่ดูเหมือนผลกระทบจาก TikTok อาจมีไปถึงบริการตัวอื่นของกูเกิลด้วย มีรายงานว่า Prabhakar Raghavan รองประธานอาวุโสฝ่าย Knowledge & Information ของกูเกิล ได้พูดในงานสัมมนา Brainstorm Tech ของนิตยสาร Fortune เกี่ยวกับวิวัฒนาการของการเสิร์ชหาข้อมูล เขาบอกว่าผู้ใช้งานกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ เดี๋ยวนี้นิยมค้นหาข้อมูลที่ต้องการจาก Instagram หรือ TikTok มากกว่าที่จะเสิร์ชหาจากกูเกิล หรือ Google Maps เขาบอกว่าวิธีการหาข้อมูลของผู้ใช้งานรุ่นใหม่ ไม่เหมือนกับในอดีต มีวิธีที่ต่างออกไป ไม่เริ่มต้นด้วยคีย์เวิร์ด แต่เน้นการค้นพบสิ่งใหม่ ชอบผลลัพธ์ที่เป็นสื่อผสมผสานหลากหลายมากกว่า เขาอ้างจากผลการศึกษาภายใน จากผู้ใช้งานในอเมริกาอายุ 18-24 ปี พบว่าเวลาหาที่กินมื้อกลางวัน 40% ของพวกเขาใช้ TikTok หรือ Instagram ค้นหาร้าน Raghavan อธิบายให้เห็นภาพสำหรับคนที่งงว่า TikTok ช่วยหาร้านที่ต้องการได้อย่างไร ว่ากูเกิลเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาต่อยอดจากเครื่องมือดั้งเดิมบนกระดาษ เช่น Google Maps ก็คือการยกแผนที่แบบเดิมไปใส่ในมือถือ อดีตคนสามารถเข้าใจและใช้งานได้ แต่กับเด็กรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นจากมือถือ ความคาดหวังก็จะต่างออกไป แต่กูเกิลเองก็จะใช้ข้อมูลนี้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งเสิร์ชและ Google Maps ให้รองรับความต้องการกับผู้ใช้มากขึ้นเช่นกัน ที่มา: TechCrunch ภาพ ตัวอย่างการหาร้านกาแฟใน TikTok
# แอพ YouTube บน Chromecast รุ่นเก่าปิดฟีเจอร์ล็อกอิน จ่ายพรีเมียมก็ต้องดูโฆษณา ผู้ใช้ Chromecast คงทราบกันดีว่า ปีที่แล้วกูเกิลเพิ่มแอพ YouTube ที่หน้าตาแบบเดียวกับ Google TV เข้ามารันบน Chromecast รุ่นแรกๆ ด้วย การเปิดคลิป YouTube จากมือถือยังทำได้เหมือนเดิม แต่ผู้ใช้สามารถใช้รีโมททีวีควบคุมแอพ YouTube ได้เช่นกัน และสามารถล็อกอินบัญชี YouTube เพื่อดูคลิปที่แนะนำสำหรับเราได้ (ชอบ-ไม่ชอบก็อีกเรื่องนึง) แต่ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว มีผู้ใช้ Chromecast รุ่นแรกๆ (ที่ไม่ใช่ Chromecast with Google TV) พบว่าแอพ YouTube เวอร์ชันนี้ไม่สามารถล็อกอินได้แล้ว เท่ากับว่าคลิปแนะนำบนหน้าจอ กลายเป็นคลิปทั่วๆ ไปไม่ได้คลิปที่อิงจากประวัติของเรา แถมคนที่มีสมาชิก YouTube Premium ก็จะต้องดูคลิปแบบมีโฆษณา หากกดเลือกคลิปจากหน้าจอทีวีด้วย (ถ้าเลือกจากบนมือถือยังไม่มีโฆษณาเหมือนเดิม) ยิ่งไปกว่านั้น บัญชี @TeamYouTube ตอบคำถามผู้ใช้ผ่านทวิตเตอร์ว่า การตัดระบบล็อกอินออกเป็นความตั้งใจ (intentional) เพราะ YouTube บน Chromecast รุ่นเก่าไม่รองรับฟีเจอร์นี้อีกแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้เลือกคลิปจากมือถือแทน Chromecast ที่ขายในปัจจุบันถือเป็น Gen 4 คือ Chromecast with Google TV ที่วางขายเมื่อปี 2020 ภายในรัน Android TV ในขณะที่ Chromecast ทั้ง 3 Gen ก่อนหน้านั้นใช้ระบบปฏิบัติการเฉพาะ ที่เป็นลูกผสมของ Android/Chrome OS แล้วรัน Chrome เพื่อเล่นไฟล์วิดีโอจากอินเทอร์เน็ต ที่มา - 9to5google
# Hasbro เปิดตัวบอร์ดเกม Wordle พัฒนาจากเกมออนไลน์ยอดนิยม Hasbro บริษัทผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ ประกาศร่วมมือกับ The New York Times ผลิตบอร์ดเกม Wordle: The Party Game ที่ประยุกต์มาจากเกมทายคำ Wordle ซึ่ง The New York Times ซื้อกิจการมาเมื่อต้นปี รูปแบบการเล่นก็ถอดมาจาก Wordle โดยจะมีผู้เล่นหนึ่งคนเป็นคนถือคำปริศนา 5 ตัวอักษร ส่วนผู้เล่นคนอื่นก็ต้องพยายามทายคำนั้นภายใน 6 ตา และรวมคะแนนกัน บอร์ดเกม Wordle: The Party Game เปิดให้สั่งจองล่วงหน้าในอเมริกา เริ่มส่งสินค้าเดือนตุลาคม ที่มา: Hasbro
# เปิดตัว PlayStation Stars ระบบสะสมแต้มแบบใหม่สำหรับลูกค้า PlayStation Sony เปิดตัว PlayStation Stars ระบบเก็บแต้มแบบใหม่สำหรับลูกค้า PlayStation โดยผู้เล่นสามารถเก็บแต้มจากกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นเกม 1 ครั้งภายในเดือนนั้น, เก็บถ้วยรางวัลในเกมที่กำหนด, ชนะการแข่งขันทัวร์นาเมนต์เกม เป็นต้น แต้มที่ได้สามารถนำไปใช้เป็นเงินผ่าน PSN wallet และซื้อสินค้าจาก PlayStation Store ได้ นอกจากนี้ยังแลกเป็น digital collectibles ของที่ระลึกพิเศษจากตัวละครของเกมและภาพยนตร์ในเครือโซนี่ได้ด้วย โครงการ PlayStation Stars สามารถสมัครเข้าร่วมได้ฟรี แต่ถ้าเป็นสมาชิก PlayStation Plus อยู่ด้วย ก็จะได้แต้มคืนเพิ่มหากจ่ายเงินซื้อของใน PlayStation Store ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดของ PlayStation Stars ว่าเริ่มเมื่อไร มีจำนวนแต้มอย่างไร ซึ่ง Sony บอกว่าจะประกาศเพิ่มเติมต่อไป และจะเริ่มโครงการภายในปีนี้ ที่มา - PlayStation Blog
# Google Cloud ออกอิมเมจ Rocky Linux เวอร์ชันปรับแต่งพิเศษ, จับกลุ่มคนย้ายจาก CentOS กูเกิลจับมือกับ CIQ บริษัทผู้ให้บริการซัพพอร์ต Rocky Linux เชิงพาณิชย์ (ซีอีโอของบริษัทก็คือ Gregory Kurtzer ผู้สร้าง CentOS และ Rocky Linux) ออกอิมเมจ Rocky Linux เวอร์ชันปรับแต่งเพื่อ Google Cloud โดยเฉพาะ กูเกิลประกาศชัดว่าต้องการย้ายลูกค้า Google Cloud ที่ยังรัน CentOS ออกมา หลัง Red Hat เปลี่ยนนโยบายในปี 2020 และโซลูชันของกูเกิลคือ Rocky Linux ที่เข้ากันได้ 100% ก่อนหน้านี้ กูเกิลจับมือกับ CIQ ออกอิมเมจ Rocky Linux บน Google Cloud ไปแล้ว ล่าสุดคือการออกอิมเมจ Rocky Linux Optimized for Google Cloud ที่ปรับแต่งประสิทธิภาพด้านเครือข่ายให้รันบน Google Compute Engine ได้ดีขึ้นด้วย ตอนนี้ Rocky Linux Optimized for Google Cloud ยังมีแค่เวอร์ชัน 8 บนสถาปัตยกรรม x86 เท่านั้น แต่กูเกิลก็สัญญาว่าจะออกเวอร์ชัน Arm (Tau T2A) ตามมา และเวอร์ชัน 9.0 ด้วย แพลตฟอร์ม Google Compute Engine รองรับดิสโทรลินุกซ์หลายตัว เช่น CentOS, Debian, Fedora CoreOS, Ubuntu รวมถึงดิสโทรที่ต้องมีไลเซนส์อย่าง RHEL, SLES, Ubuntu Pro ด้วย โดยกูเกิลยังมีดิสโทรของตัวเองคือ Container-Optimized OS (COS) ที่พัฒนาต่อมาจาก Chromium OS ให้รันบนคอนเทนเนอร์ได้ดีขึ้น ถือเป็นอิมเมจแบบปรับแต่งพิเศษแบบเดียวกับ Rocky Linux Optimized ที่มา - Google
# Rocky Linux ออกเวอร์ชัน 9.0 ตามรอบของ RHEL 9.0 Rocky Linux ดิสโทรลินุกซ์ทดแทน CentOS ออกเวอร์ชันใหญ่ 9.0 ตามหลัง RHEL 9.0 ที่ออกตัวจริงเมื่อเดือนพฤษภาคม ในแง่ฟีเจอร์ของ Rocky Linux 9.0 คงเหมือนกับ RHEL ทุกประการ รองรับสถาปัตยกรรมซีพียู 4 แบบคือ x86_64, aarch64 (ARM64), ppc64le (PowerPC), s390x (Mainframe) Rocky Linux 8 จะซัพพอร์ตยาวนานถึง 31 พฤษภาคม 2029 และ Rocky Linux 9 จะซัพพอร์ตถึง 31 พฤษภาคม 2032 เท่ากับระยะซัพพอร์ตมาตรฐานของ Red Hat ที่ยาวนาน 10 ปีหลังออกรุ่นแรกของสายนั้น ที่มา - Rocky Linux
# ทีม Firefox ส่งเค้กร่วมแสดงความยินดีให้ Microsoft เนื่องในโอกาสยุติการซัพพอร์ต Internet Explorer ท่านผู้อ่านที่ติดตาม Blognone มานานแล้ว น่าจะพอจำกันได้ถึงธรรมเนียมปฎิบัติระหว่างทีม Firefox และ Microsoft Edge/Internet Explorer ที่จะส่งเค้กให้กัน เมื่ออีกทีมได้ผ่านหลักไมล์สำคัญของการพัฒนาเบราว์เซอร์ (ดูตัวอย่างเค้กจากข่าวเก่า 1, 2) ล่าสุดเนื่องในโอกาสที่ไมโครซอฟท์ได้ประกาศปลดเกษียณ Internet Explorer ทีม Firefox ก็ไม่พลาดที่จะร่วมแสดงความยินดีให้ทีม MS Edge/IE ด้วยการส่งเค้กตามธรรมเนียม โดยให้เข้ากับโอกาสนี้เค้กจากทีม Firefox ยังได้รับการตกแต่งให้มีความพิเศษต่างไปจากครั้งก่อนๆ ที่เป็นเค้กหน้าโลโก้ Firefox เค้กครั้งนี้ได้เปลี่ยนไปตกแต่งเป็นรูปตัว e คาดสีเหลืองจากโลโก้ IE อีกด้วย ชมภาพเค้กได้จากทวีตที่ทีม MS​ Edge ขอบคุณทีม Firefox ท้ายข่าวครับ ที่มา - ทวิตเตอร์ @MSEdgeDev
# ช้อนหัก ก.ล.ต. พบนักลงทุนไทยเข้าซื้อขาย Luna หลัง UST หลุดการผูกค่าจำนวนมาก แต่ 96% ขาดทุน เหตุการณ์ UST หลุดการผูกค่า นับเป็นจุดหนึ่งที่กดตลาดเงินคริปโตโดยรวมอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ เมื่อวานนี้ก.ล.ต. เผยแพร่บทความวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ซื้อขายเหรียญ Luna โดยนายพงศธร ปริญญาวุฒิชัย ฝ่ายวิจัยของก.ล.ต. รายงานแบ่งเหตุการณ์ออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ pre-stage คือช่วงที่ UST ยังผูกค่าเป็น 1 ดอลลาร์ได้อยู่, fall-stage ช่วงที่ UST เริ่มหลุดการผูกค่าแล้ว, และ bottom-stage กลไกรักษามูลค่า UST ทำงานจนกระทั่ง Luna ราคาต่ำติดดิน และมีการหยุดซื้อขาย การศึกษาพบว่านักลงทุนกลับเข้ามาลงทุน Luna มากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ Luna มีมูลค่าลดลง ใน pre-stage นั้นมีนักลงทุนเพียง 36,396 รายเท่านั้น แต่ใน bottom-stage กลับลงทุนกันมากถึง 221,381 ราย และในจำนวนนี้มีนักลงทุนที่ลงทุนเฉพาะ Luna ถึง 9,658 ราย รายงานวิเคราะห์สาเหตุที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนกันจำนวนมาก เพราะมองว่า Luna ไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว และหลังกลับมาเปิดตลาดราคาเหรียญพุ่งไป 400 เท่าตัวจากจุดต่ำสุด อาจจะเป็นเพราะนักลงทุนเชื่อว่าตัวเองจะทำกำไรได้ในภาวะตลาดผันผวนจึงมองโอกาสได้กำไรสูงกว่าความเป็นจริง ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า Luna จะกลับมากอบกู้สถานการณ์ได้ เมื่อมองถึงผลกำไรขาดทุนก็พบว่าโดยรวมผู้ลงทุน Luna ขาดทุนสุทธิ 980 ล้านบาท และกลุ่มนักลงทุนที่ขาดทุนหนักที่สุดเป็นกลุ่มที่เข้าลงทุนในช่วง fall-stage ที่มา - ก.ล.ต.
# [ลือ] ต้นทุนพี่รับมาแพง อินเทลเตรียมขึ้นราคาชิปในปีนี้ Nikkei Asia รายงานข่าวไม่ยืนยันว่า อินเทลแจ้งลูกค้าว่าจะขึ้นราคาซีพียูและชิปต่างๆ ในปีนี้ เนื่องจากต้นทุนแพงค่าผลิตชิปแพงขึ้น ตามข่าวบอกว่าราคาสินค้าใหม่จะเริ่มมีผลกับซีพียูชุดใหม่ที่จะเปิดตัวช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ก็รวมไปถึงชิปด้านอื่นๆ เช่น ชิป Wi-Fi ด้วย ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าราคาจะเพิ่มขึ้นเท่าไร แต่คาดว่ามีตั้งแต่ขึ้นเป็นเลขหลักเดียว (single digit) ไปจนถึง 20% ปริมาณความต้องการพีซี แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ที่เริ่มลดลงในปี 2022 ทำให้ปัญหาชิปขาดแคลนเริ่มหมดไปแล้ว Nikkei อ้างคำพูดของ Jason Chen ซีอีโอ Acer บอกว่าผู้ผลิตชิปบางรายโทรมาหาเขาขอให้ซื้อชิปเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มราคาชิปเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งอุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้ TSMC ก็ประกาศขึ้นราคาไปแล้ว โดยจะมีผลในปี 2023 ที่มา - Nikkei
# รัฐบาลเซี่ยงไฮ้เรียกผู้บริหาร Alibaba Cloud เข้าพบ หลังฐานข้อมูลตำรวจหลุดกระทบประชาชนพันล้านคน สำนักข่าว Wall Street Journal อ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวระบุว่ารัฐบาลเซี่ยงไฮ้เรียกผู้บริหาร Alibaba Cloud เข้าให้ข้อมูล หลังจากข้อมูลประชาชนจีนกว่าพันล้านรายการหลุดออกจากระบบของตำรวจเซี่ยงไฮ้ที่ใช้บริการ Aliyun หรือ Alibaba Cloud ก่อนหน้านี้ LeakIX เว็บไซต์ติดตามเหตุข้อมูลรั่วเคยวิเคราะห์เหตุการณ์ข้อมูลรั่วของเซี่ยงไฮ้ว่าเกิดจากการตั้งค่าของ Elasticsearch บน Alibaba Cloud จะเปิดให้ Kibana ได้จากอินเทอร์เน็ตเป็นค่าเริ่มต้น แถมรหัสผ่านของ Elasticsearch เองก็ใช้ username/password ว่า elastic/elastic ทำให้แฮกเกอร์สามารถสแกนด้วยรหัสผ่านได้ไม่ยาก บริการคลาวด์มีจุดได้เปรียบที่สามารถเปิดบริการให้เข้าถึงจากอินเทอร์เน็ตได้โดยง่าย แต่ก็กลายเป็นจุดอันตรายหากผู้ใช้ไม่ระวังเพียงพอ บริการคลาวด์จำนวนมากเริ่มเตือนผู้ใช้อย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ถึงอันตรายจากการเปิดบริการให้เข้าถึงจากอินเทอร์เน็ต บริกาารหลายตัว เช่น สตอเรจเริ่มถูกตั้งค่าปิดไม่ให้เข้าถึงจากคนทั่วไปเป็นค่าเริ่มต้น ขณะเดียวกันแนวทางการบังคับให้ผู้ใช้ตั้งรหัสผ่านใหม่ทันทีโดยไม่มีรหัสผ่านเริ่มต้น (default password) จากผู้ผลิต ก็กลายเป็นแนวทางสำคัญของอุตสาหกรรมไอทีในช่วงหลัง ที่มา - Strait Times
# Facebook กำลังทดสอบระบบ 1 บัญชี สร้างได้ 5 โพรไฟล์ แยกตามกลุ่มเพื่อน Bloomberg รายงานข่าวว่า Facebook กำลังเริ่มทดสอบระบบ 1 บัญชี สร้างโพรไฟล์ได้สูงสุด 5 โพรไฟล์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อจริงแต่อย่างใด ตอนนี้การทดสอบยังอยู่ในวงจำกัด เฉพาะในสหรัฐและบางประเทศ ระบบแยกโพรไฟล์ จะช่วยแก้ปัญหาการสร้างโพรไฟล์แต่ละแบบสำหรับเพื่อนแต่ละกลุ่ม เช่น เพื่อนที่โรงเรียน, เพื่อนที่ทำงาน แต่ละโพรไฟล์จะมี feed แยกของตัวเองจากกัน อย่างไรก็ตาม หากโพรไฟล์ใดทำผิดกฎของ Facebook การแบนจะถูกแบนทั้งบัญชีไปเลย ก่อนหน้านี้ Facebook เคยมีระบบแยกโพรไฟล์มาแล้ว แต่จำกัดเฉพาะคนดังหรือบุคคลสาธารณะเท่านั้น ที่มา - Bloomberg
# OpenSea ประกาศปลดพนักงาน 20% OpenSea แพลตฟอร์มซื้อขาย NFT รายใหญ่ ประกาศปลดพนักงานประมาณ 20% โดยซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Devin Finzer แชร์ข้อความที่เขาแจ้งยังพนักงานทุกคน ว่าการตัดสินใจนี้เป็นผลจากการเข้าสู่ฤดูหนาวคริปโต (Crypto Winter) ตลอดจนเศรษฐกิจภาพใหญ่ที่ผันผวน จึงต้องเตรียมรับมือหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น บริษัทไม่ได้ระบุตัวเลขพนักงานที่ถูกปลดออก แต่ให้ข้อมูลตรงข้ามว่าหลังปลดพนักงานแล้ว จะมีพนักงานอยู่ 230 คน Finzer บอกว่าพนักงานที่ถูกให้ออกจะได้เงินชดเชย หุ้นบริษัท ตลอดจนประกันสุขภาพไปจนถึงปี 2023 ที่มา: TechCrunch
# [Sensor Tower] ไตรมาส 2/2022 รายได้รวมแอปที่ไม่ใช่เกม แซงแอปเกมเป็นครั้งแรก บน App Store อเมริกา มีรายงานจากบริษัทวิจัยตลาดแอป Sensor Tower พบข้อมูลน่าสนใจของรายได้จาก App Store ของแอปเปิลเฉพาะในอเมริกา โดยรายได้รวมของกลุ่มแอปที่ไม่ใช่เกม มีมูลค่ารวมมากกว่าแอปประเภทเกมเป็นครั้งแรก ซึ่งเริ่มแซงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2022 แนวโน้มยังคงเพิ่มขึ้นต่อในเดือนมิถุนายน ทำให้ภาพรวมของไตรมาส 2/2022 รายได้แอปที่ไม่ใช่เกม มากกว่าแอปเกม ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่บันทึกข้อมูล หากย้อนไป 5 ปีที่แล้ว รายได้ของ App Store ในอเมริกา ยังมาจากแอปเกมเป็นหลัก โดยคิดเป็น 2 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามแนวโน้มนี้เกิดขึ้นใน App Store เฉพาะอเมริกาตอนนี้ ส่วน Google Play ภาพรวมเกมยังทำเงินสูงกว่ามาก แอปไม่ใช่เกมที่ทำเงินสูงใน App Store อเมริกา ได้แก่ YouTube, HBO Max, TikTok, Tinder, Disney+, Hulu และ Bumble ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้จากระบบเก็บเงินค่าสมาชิก subscription ที่เป็นช่องทางทำให้แอปประเภทไม่ใช่เกมทำเงินสูงขึ้นนั่นเอง ที่มา: TechCrunch
# Instagram เพิ่มของใหม่ใน Subscription รองรับโพสต์ในฟีด, Reels จนถึงตั้งห้องแชต Instagram ประกาศเพิ่มลูกเล่นในฟีเจอร์ Subscription ที่ให้ครีเอเตอร์สามารถเก็บเงินผู้ติดตาม แลกกับการเข้าถึงคอนเทนต์พิเศษ ซึ่งก่อนหน้านี้ทดสอบแบบจำกัด สามารถเข้าถึง Live หรือ Story พิเศษได้ โดยของใหม่ที่เพิ่มมาได้แก่ ห้องแชตแบบกลุ่มเฉพาะผู้จ่ายเงิน Subscription สูงสุด 30 คน, รองรับโพสต์ประเภทอื่นทั้งรูปภาพ วิดีโอ และ Reels รวมทั้งเพิ่มแถบ Subscription ในหน้า Profile เพื่อให้ผู้จ่ายเงินสนับสนุน เข้ามาดูคอนเทนต์พิเศษได้สะดวกขึ้น Instagram บอกว่าฟีเจอร์ Subscription ตอนนี้ขยายรองรับครีเอเตอร์เฉพาะในอเมริกาแล้วหลายหมื่นคน โดยมีเป้าหมายจะรองรับครีเอเตอร์ทั่วโลกในอนาคต ที่มา: The Verge
# Google ประกาศ ChromeOS Flex เตรียมเปิดให้ใช้งานเพิ่มขึ้น รับรองอุปกรณ์เก่า 295 รุ่น เมื่อต้นปีกูเกิลเปิดตัว ChromeOS Flex เครื่องมือที่ช่วยให้พีซีหรือแมคเครื่องเก่า สามารถลงระบบปฏิบัติการ Chrome OS ได้ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นช่วงทดสอบแบบ early access สำหรับองค์กรที่ต้องการเข้าร่วมก่อน แต่ล่าสุดกูเกิลเตรียมเปิดให้ใช้งานได้มากขึ้น โดยขั้นตอนนั้นให้ไปที่เว็บของ ChromeOS Flex และสร้างบูทยูเอสบีไดรฟ์ของ ChromeOS Flex เพื่อนำไปลงในพีซีหรือแมคเครื่องเก่าในหน่วยงานต่อไป อุปกรณ์ที่รับรองนั้น กูเกิลบอกว่าตอนนี้มี 295 รุ่น (ดูรายละเอียด) และอีกจำนวนหนึ่งที่ยังพบปัญหา ซึ่งกูเกิลกำลังแก้ไขอยู่ โครงการนี้กูเกิลบอกว่านอกจากช่วยให้องค์กรมีอุปกรณ์ใช้งาน Chrome OS เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องทิ้งอุปกรณ์เก่า ยังหวังว่าจะลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยยืดเวลาใช้งานให้มากขึ้นนั่นเอง ที่มา: กูเกิล
# Nintendo ซื้อกิจการ Dynamo Pictures สตูดิโอด้าน CG ของเกมและภาพยนตร์ นินเทนโดประกาศซื้อกิจการ Dynamo Pictures สตูดิโอผู้สร้างงานคอมพิวเตอร์กราฟิกหรือ CG ซึ่งมีผลงานทั้งงาน CG ในภาพยนตร์ เกม ตลอดจนคอนเทนต์ AR, VR สำหรับเครื่องเล่นต่าง ๆ ผลงานในช่วงที่ผ่านมามีทั้งงานสร้างภาพจากการเคลื่อนไหวใน Death Stranding และ Persona 5 สิ่งน่าสนใจของดีลนี้ คือนินเทนโดประกาศว่าจะเปลี่ยนชื่อบริษัทนี้หลังเสร็จสิ้นการควบรวมเป็น Nintendo Pictures เพื่อโฟกัสที่การสร้างคอนเทนต์เสมือน โดยอาศัยคาแรกเตอร์ต่าง ๆ ที่นินเทนโดมีอยู่ในมือ แม้นินเทนโดยังไม่ได้ให้รายละเอียดใดเพิ่มเติม แต่คาดว่านินเทนโดน่าจะใช้ Nintendo Pictures มาเป็นผู้พัฒนาคอนเทนต์ประเภทภาพยนตร์แบบผลิตเอง จากเดิมที่ใช้พาร์ทเนอร์มาตลอด ที่มา: The Verge ภาพ นินเทนโด
# Twitter ล่มตั้งแต่ 1 ทุ่มตามเวลาในไทย ตอนนี้ใช้งานได้แล้ว Twitter มีปัญหาในการใช้งานตั้งแต่ช่วงประมาณ 19.00น. ตามเวลาในไทย โดยผู้ใช้งานพบว่าฟีดไม่อัพเดตข้อมูล หรือหากใช้งานผ่านเว็บอาจพบข้อความ error หลายแบบ ข้อมูลล่าสุดจาก Downdetector พบว่าส่วนใหญ่สามารถใช้งานได้เป็นปกติแล้ว ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:40น. รวมใช้งานไม่ได้ 40 นาที อย่างไรก็ตามในหน้า Twitter Status ระบุว่าปัญหายังคงมีอยู่ โดยประสิทธิภาพการใช้งานลดลง (degrade) Twitter ยังไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมของปัญหาที่เกิดขึ้น ที่มา: 9to5Mac
# Volkswagen มองอนาคตรถยนต์ยุค Subscription ซื้อ AI ช่วยขับอัตโนมัติ จ่ายตามระยะทาง วงการรถยนต์เพิ่งมีประเด็นร้อนเรื่อง BMW คิดค่า subscription รายเดือนสำหรับการใช้งานฟีเจอร์พื้นฐานอย่าง เบาะอุ่น สะท้อนให้เห็นทิศทางของค่ายรถยนต์หลายค่าย ที่พยายามเก็บเงินค่าฟีเจอร์ต่างๆ เช่น ระบบแผนที่ ระบบนำทาง ระบบช่วยขับขี่ เพิ่มเติมจากราคารถยนต์อย่างเดียว สัปดาห์ที่ผ่านมา Dirk Hilgenberg ซีอีโอของ Cariad บริษัทซอฟต์แวร์ของ Volkswagen ที่รับผิดชอบการพัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับรถยนต์ในเครือ (Volkswagen Operating System หรือ VW.OS) เพิ่งให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ในประเด็นคล้ายๆ กัน Hilgenberg ยกตัวอย่างโมเดลธุรกิจแบบ subscription คือระบบขับขี่อัตโนมัติด้วย AI ที่จ่ายตามระยะทาง เช่น ถ้าขับอยู่แล้วเกิดเหนื่อยหรือง่วงขึ้นมา ก็สามารถจ่ายเงินจ้าง AI ขับรถแทนเป็นระยะทาง 50 ไมล์ได้ เขายอมรับว่า Volkswagen ยังไม่สามารถไปถึงขั้นระบบอัตโนมัติ L4 ในตอนนี้ แต่ในเบื้องต้นก็อาจให้บริการฟีเจอร์ช่วยขับอัตโนมัติบางอย่างไปก่อน แต่แพลตฟอร์มที่ Volkswagen กำลังพัฒนาอยู่ก็จะให้บริการสิ่งเหล่านี้ Hilgenberg ยังเล่าถึงแพลตฟอร์ม Cariad ว่าพยายามเป็นซอฟต์แวร์เดียวสำหรับรถทั้งเครือ ตั้งแต่รถรุ่นถูกไปจนถึง Bentley เพื่อไม่ต้องเสียเวลามาทำอะไรซ้ำๆ เวลาออกรถรุ่นใหม่อีกต่อไป บริษัทตั้งเป้าออกอัพเดตซอฟต์แวร์ให้ได้ทุก 2 สัปดาห์ โดยเป็นอัพเดตเล็กๆ ที่มีอัตราการเกิดปัญหาต่ำ แล้วแบรนด์รถยนต์ค่อยหยิบส่วนที่ต้องการไปใช้งาน เพื่อไม่ให้รบกวนลูกค้าเกินไป ที่มา - Bloomberg
# บิล เกตส์ มอบทรัพย์สินก้อนใหญ่ 7.3 แสนล้านบาทให้มูลนิธิ, ในอนาคตจะบริจาคทรัพย์สินทั้งหมด บิล เกตส์ ประกาศยกทรัพย์สินส่วนตัวให้มูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation อีก 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (7.3 แสนล้านบาท) ในเดือนนี้ เพื่อให้มูลนิธิมีกำลังเงินสนับสนุนโครงการต่างๆ ให้มากขึ้นกว่าเดิม เกตส์บอกว่าโลกตอนนี้มีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง ทั้งโรคระบาด สงครามยูเครน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ-ความขัดแย้งเรื่องการทำแท้งในสหรัฐ เขาจึงอยากแก้ปัญหานี้โดยการลงทุนกับโครงการของมูลนิธิให้มากขึ้น ตอนนี้มูลนิธิจ่ายเงินปีละ 6 พันล้านดอลลาร์ และตั้งเป้าเพิ่มเป็นปีละ 9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2026 จึงเป็นเหตุผลที่เขาบริจาคเงินก้อนใหญ่เข้ามูลนิธิ ที่ผ่านมา บิล เกตส์ และอดีตภรรยา บริจาคเงินให้มูลนิธิรวมกันทั้งหมด 39 พันล้านดอลลาร์ ส่วนเพื่อนมหาเศรษฐี Warren Buffett บริจาคไปแล้ว 35.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเกตส์ก็บอกว่าต้องขอบคุณสำหรับการร่วมบริจาคที่ผ่านๆ มาด้วย เกตส์ยังทิ้งท้ายว่า ในอนาคต เขาเตรียมยกทรัพย์สินและความมั่งคั่งเกือบทั้งหมดให้มูลนิธิ ซึ่งจะทำให้เขาหลุดออกจากทำเนียบคนที่รวยที่สุดในโลก ถือเป็นการคืนสิ่งที่เขาได้รับกลับให้สังคมโดยเกิดประโยชน์สูงที่สุด
# เกมเต่านินจาย้อนยุค TMNT: Shredder’s Revenge มียอดขายแตะ 1 ล้านชุดแล้ว Teenage Mutant Ninja Turtles: Shredder’s Revenge เกมเต่านินจาภาคใหม่สไตล์ย้อนยุค เพิ่งวางขายเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ล่าสุดต้นสังกัด Dotemu ประกาศความสำเร็จยอดขายเกิน 1 ล้านชุดแล้ว Shredder’s Revenge เป็นเกมเดินหน้าลุย (beat 'em up) ที่สร้างจากเกมเต่านินจายุค 90s เล่นร่วมกับเพื่อนได้ทั้งแบบ local และออนไลน์ เกมพัฒนาโดยสตูดิโอ Tribute Games และจัดจำหน่ายโดย Dotemu ซึ่งก็เป็นไปได้สูงที่ความสำเร็จของเกมภาคหลัก จะทำให้เราเห็นเนื้อหาเสริม DLC ตามมา ที่มา - Kotaku
# เปิดตัวแว่น Magic Leap 2 วางขายเดือน ก.ย. ราคาเฉพาะตัวแว่นประมาณ 120,000 บาท Magic Leap บริษัทผู้ผลิตแว่น AR ในตำนานอีกราย เปิดตัวแว่นรุ่นที่สองของบริษัท Magic Leap 2 วางขาย 30 กันยายน 2022 แว่น Magic Leap 2 พัฒนาขึ้นจากแว่นรุ่นแรกที่ขายในปี 2018 หลายด้าน เช่น กระจกเลนส์ที่ให้มุมมอง 70 องศา กว้างที่สุดในตลาดตอนนี้, dynamic dimming ปรับสภาพแสงให้อัตโนมัติ ตั้งแต่ 20-2000 nits, ตัวแว่นมีขนาดเบา 260 กรัม ส่วมใส่สบายขึ้น สเปกของ Magic Leap 2 ใช้ซีพียู AMD Zen 2 รุ่นคัสตอม 4 คอร์ 8 เธร็ด, สตอเรจ 256GB, หน้าจอความละเอียด 1440x1760 อัตรารีเฟรช 120Hz, กล้อง 12.6MP, แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน 3.5 ชั่วโมง ส่วนประมวลผลจะแยกออกจากตัวแว่นมาเป็น Compute Pack (กลมๆ ด้านขวาบนในภาพ) ระบบปฏิบัติการของ Magic Leap เป็น Android AOSP เวอร์ชันปรับแต่ง โดยระบุว่าจะรองรับมาตรฐาน OpenXR และ WebXR ตามมาในครึ่งหลังของปี 2022 แว่น Magic Leap 2 แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อย ได้แก่ Magic Leap 2 Base รุ่นมาตรฐานสำหรับนักพัฒนาทั่วไป ราคา 3,299 ดอลลาร์ (ประมาณ 120,000 บาท) Magic Leap 2 Developer Pro แว่นพร้อมชุดซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร ใช้สำหรับทดสอบแอพแต่ไม่อนุญาตให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ ราคา 4,099 ดอลลาร์ (ประมาณ 150,000 บาท) Magic Leap 2 Enterprise แว่นพร้อมชุดซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร ใช้เชิงพาณิชย์ได้ ราคา 4,999 ดอลลาร์ (ประมาณ 180,000 บาท) Magic Leap เป็นบริษัทที่เคยประสบปัญหาธุรกิจหลายด้าน แว่นรุ่นแรกขายได้น้อย ต้องปลดคนช่วงโควิด และสุดท้าย ผู้ก่อตั้ง Rony Abovitz ต้องลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ ซีอีโอคนปัจจุบันคือ Peggy Johnson อดีตผู้บริหารหญิงของไมโครซอฟท์ ที่ดึงเอา Julie Larson-Green อดีตผู้บริหารหญิงของไมโครซอฟท์อีกคนมาเป็นซีทีโอด้วย ต้องรอดูกันว่าแว่นรุ่นที่สองจะพลิกสถานการณ์ของบริษัทกลับมาได้แค่ไหน ที่มา - Magic Leap
# Sony ไทยเปิดราคาไลน์อัพทีวี Bravia ประจำปี 2022 มาพร้อม Bravia Core ในไทยแล้ว Sony ไทยเปิดราคาไลน์อัพทีวี Bravia ประจำปี 2022 (รหัส K) ในไทยแล้ว นอกจากคุณสมบัติและฟีเจอร์ต่างๆ ของทีวีที่ปรับปรุงเพิ่ม สิ่งที่แตกต่างคือรุ่นรหัส K จะมาพร้อม Bravia Core บริการสตรีมมิ่งของ Sony สำหรับทีวี Bravia XR โดยสามารถ Redeem ภาพยนตร์ได้สูงสุดถึง 10 เรื่อง และสตรีมมิ่งแบบไม่จำกัดสูงสุดถึง 24 เดือน (ใครเพิ่งซื้อรุ่น J ไปน้ำตาไหล) ส่วนราคาของรุ่นท็อปๆ มีดังนี้ OLED XR-48A90K ราคา 52,990 บาท XR-77A80K ราคา 139,990 บาท XR-65A80K ราคา 89,990 บาท XR-55A80K ราคา 74,990 บาท 4K Full-Array XR-85X90K ราคา 126,990 บาท XR-75X90K ราคาประกาศเร็วๆ นี้ XR-65X90K ราคา 49,990 บาท XR-55X90K ราคา 40,990 บาท ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์
# Sony ไทยเปิดจอง PS5 รอบใหม่ ทั้งเครื่องเปล่าและบันเดิล Sony ประเทศไทยประกาศเปิดจอง PlayStation 5 รอบใหม่ วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม เวลา 10.30 การเปลี่ยนแปลงรอบนี้คือมีทั้งแบบเครื่องเปล่าและเป็นชุดบันเดิล รุ่นมีช่องอ่านแผ่น ราคา 16,990 บาท รุ่น Digital Edition (ไม่มีช่องอ่านแผ่น) ราคา 13,990 บาท รุ่นมีช่องอ่านแผ่น พร้อมเกม Horizon Forbidden West Bundle ราคา 18,690 บาท รุ่น Digital Edition (ไม่มีช่องอ่านแผ่น) พร้อมเกมส์ Horizon Forbidden West Bundle ราคา 15,690 บาท รุ่นมีช่องอ่านแผ่นคู่กับคอนโทรลเลอร์ไร้สาย DualSense และ TV 55X90K (รุ่นใหม่ออกปีนี้ มาพร้อม Bravia Core ในไทย) ราคา 52,990 บาท (ส่วนลด 7,380 บาท จากราคาปกติ 60,370 บาท) ที่มา - Sony
# Google Cloud เปิดตัว Tau T2A เซิร์ฟเวอร์ Arm ถูกกว่า x86 อยู่ 9% ช่วงทดสอบให้ใช้ฟรี Google Cloud เปิดตัวเซิร์ฟเวอร์แบบ Tau T2A เซิร์ฟเวอร์สถาปัตยกรรม Arm ที่เน้นงาน scale-out ภายในเป็นซีพียู Ampere Altra เหมือนกับของฝั่ง Azure สามารถคอนฟิกเลือกจำนวนซีพียู ได้เองโดยผูกกับแรม 4GB ต่อ vCPU แบบเดียวกับ Tau VM เดิมที่เป็น x86 Tau T2A คอนฟิกซีพียูได้สูงสุด 48 คอร์ ราคารายเดือนที่ 1349 ดอลลาร์ ถูกกว่าเครื่อง Tau T2D ที่ใช้ชิป AMD Milan ประมาณ 9% ทาง Ampere อ้างว่าประสิทธิภาพของซีพียูดีกว่าเครื่อง x86 ทำให้ราคาต่อประสิทธิภาพของ Tau T2A ดีกว่ามาก จุดสำคัญของประกาศครั้งนี้คือ Google Cloud จะเปิดให้ใช้เครื่อง Tau T2A ฟรีระหว่างการทดสอบ และต่อให้เข้าสู่สถานะ GA ภายในปลายปีนี้ ก็จะมีโครงการทดสอบให้ใช้งานเครื่องขนาด 8 vCPU 32GB RAM ฟรีต่อไป ที่มา - Google Cloud
# Windows 11 ลองเปลี่ยนปุ่มค้นหากลับเป็นกล่อง, ปรับหน้าตาแอพ Camera, Rip CD ได้แล้ว ไมโครซอฟท์ออก Windows 11 Insider Preview Build 25158 ให้กลุ่มทดสอบ Dev Channel มีการทดลอง UI ใหม่ๆ (ที่อาจไม่ได้นำมาใช้งานจริง) คือการปรับปุ่ม Search ใน Taskbar กลับมาเป็นช่องค้นหาคล้ายกับของ Windows 10 เดิม นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังทดสอบแสดง notification badge บนไอคอน widget ที่ขอบซ้ายล่างของ Taskbar ด้วย (แสดงเลข 1 ทับไอคอนพยากรณ์อากาศ) กดเข้าไปแล้วจะเห็นข้อมูลใหม่ๆ ในหน้าจอ widget เช่น ข่าวด่วนของช่วงเวลานั้น ไมโครซอฟท์ยังปรับหน้าตาของแอพ Camera ของ Windows 11 ใหม่ให้เข้าชุดกับแอพตัวอื่นๆ และเพิ่มฟีเจอร์การสแกน QR และบาร์โค้ดเข้ามา ส่วนแอพ Media Player ตัวใหม่ของ Windows 11 ได้ฟีเจอร์การ rip ซีดีเพลงเพิ่มเข้ามา (รองรับการแปลงเป็น AAC, WMA, FLAC, ALAC) จากที่ก่อนหน้านี้ได้ฟีเจอร์เล่นซีดีเพลงมาแล้ว ที่มา - Microsoft
# Andrej Karpathy หัวหน้าฝ่าย AI และ Computer Vision ของ Tesla ลาออกจากบริษัท Andrej Karpathy หัวหน้าฝ่าย AI และ Computer Vision ของ Tesla ประกาศลาออกจากบริษัทหลังทำงานมา 5 ปี โดยระบุว่ายังไม่มีแผนแน่ชัดว่าจะทำอะไรต่อ เบื้องต้นจะใช้เวลากลับไปค้นคว้างานด้านเทคนิคเรื่อง AI, โอเพนซอร์ส และการศึกษาก่อน Karpathy ถือเป็นหัวหน้าทีม Autopilot Vision ที่ใช้กล้องของรถยนต์ช่วยในการขับขี่อัตโนมัติ และเป็นหนึ่งในผู้บริหารไม่กี่คนที่ได้ขึ้นเวทีพูดต่อสาธารณะอยู่บ่อยครั้ง ทวีตลาออกของเขายังมี Elon Musk มาตอบว่าขอบคุณที่อยู่ช่วยงาน Tesla มายาวนานด้วย Karpathy จบปริญญาเอกด้าน AI จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์คนดังทั้ง Fei-Fei Li, Andrew Ng, Sebastian Thrun เขายังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI เมื่อปี 2015 และมาร่วมงานกับ Tesla ในปี 2017 ที่มา - Electrek
# Bayonetta 3 ประกาศวันขาย 28 ตุลาคม 2022, เพิ่มโหมดแต่งตัวเรียบร้อย ไม่โป๊ นินเทนโดและ PlatinumGames ประกาศวันวางขายเกม Bayonetta 3 เป็นวันที่ 28 ตุลาคม 2022 พร้อมเปิดตัวเทรลเลอร์ใหม่ของเกม Bayonetta 3 เป็นอีกเกมที่ประกาศทำมายาวนาน เปิดตัวครั้งแรกปี 2017 และเงียบหายไปนานหลายปี ก่อนมาประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าจะขายปี 2022 ใช้เวลาพัฒนารวม 5 ปี ของใหม่อีกอย่างใน Bayonetta 3 คือโหมด Naive Angel ที่ตัวละครสาวๆ ในเกมแต่งกายปิดมิดชิดมากขึ้น ไม่โป๊มากนัก ผู้เล่นจึงสามารถเล่นเกมนี้บนทีวีในห้องนั่งเล่นร่วมกับคนอื่นๆ ได้โดยไม่เกร็งจนเกินไป (ดูคลิปประกอบ) เกม Bayonetta ภาคแรกออกเมื่อปี 2010 ลงเครื่อง PS3 และ Xbox 360 โดยตอนนั้นมี Sega เป็นผู้จัดจำหน่าย จากนั้นเกมภาค 2 ออกปี 2014 ย้ายมาลง Wii U โดยนินเทนโดเป็นผู้จัดจำหน่าย และกลายเป็นเกมเอ็กซ์คลูซีฟของแพลตฟอร์มนินเทนโดนนับตั้งแต่นั้นมา (เกมภาค 1-2 พอร์ตมาลง Switch ในภายหลังด้วย) ที่มา - Kotaku
# ไปอีกราย บริษัทคริปโต Celsius Network ยื่นเรื่องขอล้มละลาย Celsius Network แพลตฟอร์มคริปโตอีกรายที่มีปัญหาสภาพคล่อง จนต้องล็อคเงินของผู้ใช้เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ประกาศยื่นขอล้มละลายตามกฎหมาย Chapter 11 ของสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป Celsius ระบุว่ามีเงินสดในมือ 167 ล้านดอลลาร์ เพียงพอต่อการดำเนินงานบางส่วนของบริษัทต่อ ระหว่างเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ เช่น การจ่ายเงินเดือนพนักงาน ส่วนลูกค้าก็ยังต้องรอโอกาสในการถอนเงินออกมาเช่นเดิม ช่วงที่ผ่านมามีบริษัทคริปโตยื่นขอล้มละลายไปแล้วหลายราย เช่น Three Arrows Capital, Voyager หรือบางกรณีอาจเลือกรับสินเชื่อฉุกเฉินจากบริษัทอื่น เช่น BlockFi กู้เงิน 400 ล้านดอลลาร์จาก FTX ที่มา - Celcius
# Emoji 15.0 เพิ่มอีโมจิใหม่ ใบหน้าส่าย, หัวใจสีฟ้า-เทา-ชมพูอ่อน และมือผลัก Unicode Consortium ประกาศร่างมาตรฐาน Emoji 15.0 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้เป็นทางการช่วงปลายปี 2022 ถึงต้น 2023 มีอีโมจิเพิ่มมาอีก 31 รายการ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ รูปแบบอีโมจิจะแตกต่างกันไปตามแต่แพลตฟอร์มนั้นออกแบบ โดย Emojipedia ได้นำเสนอแบบร่างของอีโมจิใหม่ไว้ ดูได้จากรูปตัวอย่างด้านล่าง ของใหม่ใน Emoji 15.0 ได้แก่ ใบหน้าส่าย, หัวใจสีเทา, หัวใจสีฟ้า, หัวใจสีชมพูอ่อน, ลา, แมงกะพรุน, กวางมูส, ปีก, ขิง, ดอกไฮยาซินธ์, ถั่วลันเตา, พัดพับ, มาราคัส, ฟลูต, หวีแบบแอโฟร, ขัณฑา สัญลักษณ์ของศาสนาซิกข์, สัญลักษณ์ Wi-Fi, มือผลักด้านซ้ายและขวา ที่มา: Emojipedia
# Twitter รายงานสถิติทวีตเกี่ยวกับเกม คนไทยทวีตมากเป็นอันดับ 4 ของโลก Twitter ออกรายงานสถิติทวีตที่เกี่ยวกับเกม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 มีจำนวนทวีตที่เกี่ยวกับเกมรวมประมาณ 1,500 ล้านทวีต เพิ่มขึ้น 36% เทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 2021 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากเกมเด่นที่ออกมาเช่น Elden Ring, ทัวร์นาเมนต์อีสปอร์ตรายการใหญ่ ตลอดจนงานเปิดตัวเกมจากค่ายต่าง ๆ เกมที่ถูกทวีตถึงมากที่สุดคือ Genshin Impact ซึ่งครองอันดับ 1 มาตั้งแต่ปี 2021 ตามด้วย Wordle ในอันดับ 2 และ Ensemble Stars ในอันดับที่ 3 ส่วนสถิติการทวีตเกี่ยวกับเกม เมื่อจัดอันดับรายประเทศ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 โดยมี ญี่ปุ่น อเมริกา และเกาหลีใต้ ในอันดับที่ 1-3 สถิติอื่นสามารถดูได้จากรูปท้ายข่าว ที่มา: Twitter
# TikTok เพิ่มฟีเจอร์ฟิลเตอร์ กรองเนื้อหาที่ไม่ต้องการในฟีด For You TikTok ประกาศปรับปรุงฟีเจอร์การใช้งาน เพื่อให้ประสบการณ์ใช้งานดีมากขึ้น มีรายละเอียดดังนี้ คุณสมบัติแรก คือการตั้งฟิลเตอร์วิดีโอที่ไม่ต้องการให้แสดงในหน้า For You ผู้ใช้งานสามารถกำหนดคีย์เวิร์ด หรือแฮชแท็ก ที่ไม่ต้องการให้วิดีโอที่เข้าข่ายแสดงผลในฟีด หรืออาจตั้งค่านี้เมื่อพบวิดีโอที่ไม่ต้องการชมแล้วเลือก not interested ก็ได้ ตัวอย่างที่ TikTok ยกมา เช่น ช่วงหนึ่งเราอาจสนใจหาแต่คลิปงาน D.I.Y. แต่เมื่อเลิกสนใจแล้ว วิดีโอแนวนี้ก็ยังแสดงต่อไม่หยุด ก็ไปกำหนดฟิลเตอร์ออกได้ ฟีเจอร์นี้จะเริ่มทยอยให้กับผู้ใช้งานทุกคนในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า คุณสมบัติต่อมา TikTok บอกว่ากำลังทดสอบระบบ ที่ป้องกันการแสดงวิดีโอประเภทที่เมื่อดูต่อเนื่องแนวเดียวกันหลายคลิป อาจสร้างปัญหาแง่ความรู้สึกต่อผู้ใช้งาน เช่น วิดีโอสอนการอดอาหาร วิดีโอการออกกำลังกายแบบหนักหน่วง หรือคลิปที่มีเนื้อหาเศร้ามาก สุดท้ายเป็นคุณสมบัติการจัดระดับของคอนเทนต์ คล้ายการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ เพื่อให้คอนเทนต์ที่แสดงสำหรับผู้ใช้งานอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกคัดกรองอย่างเหมาะสมมากขึ้น ที่มา: TikTok
# Netflix ประกาศพาร์ทเนอร์กับ Microsoft เพื่อดูแลระบบโฆษณาในแพ็คเกจแบบใหม่ Netflix ประกาศว่าไมโครซอฟท์จะมาเป็นพาร์ทเนอร์ สำหรับให้บริการระบบโฆษณา ในแพ็คเกจรับชมแบบมีโฆษณาที่บริษัทเคยเกริ่นก่อนหน้านี้ โดยไมโครซอฟท์จะมาช่วยทั้งส่วนของเทคโนโลยีและการขายโฆษณา Netflix ให้เหตุผลที่เลือกไมโครซอฟท์เป็นพาร์ทเนอร์ ว่าบริษัทสามารถสนับสนุนได้ทุกความต้องการที่ Netflix มองหา รวมทั้งพร้อมปรับแนวทางร่วมกับบริษัทได้ ตลอดจนมีระบบป้องกันความเป็นส่วนตัวที่ดี ส่วนคำถามสำคัญว่าแล้วแพ็คเกจราคาถูกลง แบบมีโฆษณา จะเริ่มมีให้บริการเมื่อใด Greg Peters ซีโอโอ Netflix บอกว่า สถานะตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นมาก ๆ และไม่ได้บอกกรอบเวลามา ที่มา: Netflix
# Reddit เปิดฟีเจอร์คอมเมนท์ด้วยภาพ GIF ให้ผู้ใช้ทั่วไปใช้งาน จากก่อนหน้านี้สงวนไว้เฉพาะสมาชิกเสียเงิน Reddit เริ่มเปิดให้ผู้ใช้เพิ่มภาพเคลื่อนไหว GIF ในคอมเมนท์ได้แล้ว เริ่มตั้งแต่วันนี้ จากก่อนหน้านี้ที่เป็นฟีเจอร์สงวนไว้ให้เฉพาะผู้สมัครสมาชิก Powerups เท่านั้น ซึ่ง Reddit เพิ่งประกาศเลิกทำ Powerups ต่อหลังจากทดสอบเบต้ามาปีกว่า จึงเริ่มทยอยเปิดฟีเจอร์ที่ต้องเสียเงินให้ผู้ใช้ทั่วไปได้ใช้งาน สำหรับการคอมเมนท์ GIF ถ้าใน subreddit ที่ต้องการคอมเมนท์เปิดฟีเจอร์นี้เอาไว้ ผู้ใช้สามารถเลือกภาพเคลื่อนไหว GIF ได้จากไลบรารีบน Giphy ตอนที่จะคอมเมนท์ โดยตัวคอมเมนท์รองรับการใส่ทั้งข้อความและ GIF ด้วยกัน โมเดอเรเตอร์ของ safe-for-work subreddits และไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิ์ต่าง ๆ ถ้าต้องการให้สมาชิกในชุมชนคอมเมนท์ GIF สามารถเปิดใช้ฟีเจอร์นี้ได้และถ้ามีการสร้าง subreddit ใหม่ ฟีเจอร์คอมเมนท์ด้วย GIF จะถูกเปิดใช้งานอัตโนมัติ ซึ่งโมเดอเรเตอร์สามารถสั่งปิดได้ในการตั้งค่า ที่มา - Engadget
# Evan Williams ผู้ก่อตั้ง Medium ลงจากตำแหน่งซีอีโอ หลังทำงานมา 10 ปี Evan Williams ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter (อดีตเจ้านายเก่าของ Jack Dorsey ในช่วงก่อตั้ง) ที่ภายหลังมาก่อตั้ง Medium แพลตฟอร์มการเขียนเนื้อหาออนไลน์ในปี 2012 ประกาศลงจากตำแหน่งซีอีโอของ Medium หลังอยู่ในตำแหน่งนี้มานาน 10 ปี โดยจะเป็นประธานบอร์ดของบริษัทแทน ซีอีโอคนใหม่ของ Medium คือ Tony Stubblebine ที่ทำงานร่วมกับ Evan Williams มายาวนานตั้งแต่ยุคบริษัทเก่า Odeo แต่ไม่ได้มาร่วมทำ Twitter ด้วยกัน เขาไม่ได้เป็นพนักงานของ Medium มาก่อน แต่อยู่ในฐานะที่ปรึกษาของ Williams มาตั้งแต่ก่อตั้ง Medium ก่อนหน้านี้เขาทำงานอยู่กับบริษัท Coach.me ส่วนตัวของ Williams จะพักสักระยะเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เขาอยากรู้มานาน จากนั้นจะไปตั้งบริษัทโฮลดิ้ง และแล็บวิจัยเพื่อช่วยสนับสนุน Medium และบริษัทอื่นๆ ที่เขาไปลงทุนไว้ ที่มา - Evan Williams, ภาพจาก YouTube Recode
# Unity ควบรวมกับ ironSource แพลตฟอร์มโฆษณาบนแอพมือถือ ด้วยวิธีแลกหุ้น Unity บริษัทเอนจินเกมชื่อดัง ประกาศควบกิจการกับ ironSource แพลตฟอร์มการหารายได้ผ่านโฆษณาของแอพมือถือ โดยใช้วิธีแลกหุ้นทั้งหมด ironSource เป็นบริษัทจากอิสราเอล แต่ขายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก บริการของ ironSource มีสำหรับบริษัทผู้พัฒนาแอพมือถือ ที่ต้องการระบบวิเคราะห์การใช้งาน เพิ่มจำนวนผู้ใช้เข้าแอพ และหารายได้ (monetization) ผ่านการโฆษณา โดย ironSource เป็นทั้งเครือข่ายโฆษณา (ad network) เองและดึงโฆษณาจากเครือข่ายอื่นๆ มาแสดงผลในแอพด้วย ดีลนี้ใช้วิธีควบรวมและแลกหุ้น โดยผู้ถือหุ้น Unity จะมีสัดส่วนหุ้น 73.5% ในบริษัทใหม่ ส่วน ironSource ถือ 26.5% บริษัทคาดว่ากระบวนการควบรวมจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้ การที่ Unity โดดเด่นในฐานะเอนจินเกมฝั่งมือถือ ทำให้ระยะหลัง Unity มีธุรกิจฝั่งโฆษณา Unity Ads ตามมาด้วย (นักพัฒนาใช้เอนจิน Unity แล้วใช้แพลตฟอร์มโฆษณาของ Unity ต่อเลย) การควบรวมกับ ironSource นั้นก็ชัดเจนว่าต้องการขยายธุรกิจฝั่งโฆษณาเพิ่มเข้ามา ที่มา - Unity
# Sundar Pichai ออกบันทึกภายในกูเกิล ชะลอการจ้างงานใหม่ในครึ่งหลังของปี 2022 Sundar Pichai ซีอีโอกูเกิล เขียนบันทึกภายในถึงพนักงาน ระบุว่าจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทำให้กูเกิลจำเป็นต้องชะลอการจ้างงานลงในครึ่งหลังของปีนี้ Pichai ให้ข้อมูลว่ากูเกิลรับพนักงานใหม่มากถึง 10,000 คนในไตรมาส 2/2022 เพียงไตรมาสเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากูเกิลมองเห็นโอกาสของตลาดในระยะยาว ส่วนแผนการของปี 2022 และ 2023 กูเกิลจะยังจ้างงานอยู่ แต่เน้นเฉพาะตำแหน่งงานสายวิศวกรรมและเทคนิคเป็นหลัก กูเกิลถือเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายล่าสุดที่ชะลอการจ้างพนักงานใหม่ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายที่ประกาศแนวทางนี้แล้ว เช่น Meta, Uber, Netflix เป็นต้น ที่มา - The Verge
# นักวิจัยรายงานช่องโหว่ซีพียู Retbleed กลุ่มเดียวกับ Spectre อ่านข้อมูลจากในเคอร์เนลได้สำเร็จ แพตช์ทำเคอร์เนลช้าลง 14-39% ทีมวิจัยจาก ETH Zurich รายงานถึงช่องโหว่ CVE-2022-29900 และ CVE-2022-29901 โดยตั้งชื่อว่า Retbleed ที่เป็นช่องโหว่แบบ side-channel กลุ่มเดียวกับ Spectre ส่งผลให้แฮกเกอร์สามารถอ่านข้อมูลในหน่วยความจำได้ แม้จะไม่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลนั้นก็ตาม ช่องโหว่นี้เกิดขึ้นเนื่องจากซีพียูจะพยายามทำนายการรันคำสั่ง return (คืนค่าจากฟังก์ชั่น) ในรูปแบบเดียวกับคำสั่ง jump (ตรวจเงื่อนไขเพื่อรันโค้ด เช่น if-else) แต่ที่ผ่านมาแพตช์แก้ไขช่องโหว่ Spectre/Meltdown ไม่ได้แก้ไขช่องโหว่ในส่วนคำสั่ง return เอาไว้ การโจมตีช่องโหว่นี้ต้องอาศัยการรันโค้ดบนตัวเครื่องโดยตรง ทำให้ผู้ใช้โดยทั่วไปไม่น่าได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดีในกรณีที่ต้องแยกผู้ใช้หลายคนบนซีพียูตัวเดียวกัน เช่น ผู้ให้บริการคลาวด์ต่างๆ ที่มีคนแชร์ซีพียูจำนวนมาก ช่องโหว่ Retbleed ก็อาจจะเปิดทางให้ผู้ใช้ที่มุ่งร้ายไปอ่านข้อมูลคนอื่นได้ โดยทีมงานสาธิตช่องโหว่ด้วยการอ่านค่าแฮชรหัสผ่านของ root จากหน่วยความจำของเคอร์เนลโดยตรง ทีมวิจัยทดลองสร้างแพตช์เคอร์เนลลินุกซ์เพื่อป้องกันช่องโหว่ Retbleed พบว่าแพตช์ค่อนข้างใหญ่ กระทบไฟล์ 68 ไฟล์ รวมกว่า 1783 บรรทัด และกระทบประสิทธิภาพเคอร์เนลระหว่าง 14-39% ที่มา - ComSec
# ชัชชาติเซ็นคำสั่งให้หน่วยงาน กทม. เปิดข้อมูลขึ้นเว็บ Open Data, ได้ข้อมูลเพิ่มทีเดียว 180 ชุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ให้ทุกหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติตามนโยบายข้อมูลเปิด (Open Data Policy) โดยผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงของกรุงเทพมหานคร จะต้องรวบรวมและเปิดเผยแนวทางการเปิดเผยข้อมูลภายใน 30 วัน ถัดจากนั้น สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร สำนักการคลัง และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล จะต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดเก็บรายได้ของกรุงเทพมหานคร ภายใน 90 วันด้วย นายชัชชาติให้สัมภาษณ์ว่า ภายใต้คำสั่งนี้ หน่วยงานทุกหน่วย ซึ่งรวมถึงบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะต้องเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์ Open Government Data of Bangkok และเว็บไซต์ของหน่วยงานเองด้วย จากการตรวจสอบของ Blognone พบว่า ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 เว็บไซต์ data.bangkok.go.th มีชุดข้อมูล (dataset) ในระบบ 428 ชุด โดยมีข้อมูลจำนวนมาก (6 หน้าล่าสุด x30 ชุดต่อหน้า ประมาณ 180 ชุด) ถูกแก้ไขปรับปรุงในวันนี้ (13 ก.ค.) จากที่เดิมก่อนนายชัชชาติเซ็นคำสั่ง ในเว็บไซต์มีข้อมูลอัพเดตของปี 2565 เพียง 7 ชุดข้อมูลเท่านั้น ที่มา - เว็บไซต์กรุงเทพมหานคร, มติชน
# AMD คาดการณ์ ตลาดจีพียูจะกินไฟมากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมพบจีพียู 700W ในอีกไม่นาน Sam Naffziger ผู้บริหารของ AMD ไปให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ VentureBeat เรื่องเป้าหมายการปรับปรุงประสิทธิภาพต่อพลังงานหรือ performance per watt ให้ดีขึ้น 30 เท่าภายในปี 2025 (เดิมทีคือ 25 เท่าในปี 2020 ที่ทำสำเร็จแล้ว) สิ่งที่ Naffziger ให้สัมภาษณ์เป็นภาพรวมแนวทางของบริษัทเรื่องประสิทธิภาพของชิปต่างๆ แต่ที่เป็นประเด็นน่าสนใจขึ้นมาคือ ในสไลด์แผ่นหนึ่งของ Naffziger เป็นการคาดการณ์อัตราการใช้พลังงานของจีพียูที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วในช่วงหลัง โดยวัดค่า Thermal Design Power (TDP) จะเพิ่มเป็น 600W ในช่วงนี้ และจะแตะ 700W ในเร็ววัน (สุดปลายแกน X คือปี 2025) ในสไลด์ของ AMD ไม่ได้ระบุชัดว่าตัวเลข 600-700W หมายถึงอะไรกันแน่ ซึ่งอาจหมายถึงภาพรวมของจีพียูในตลาด หรือหมายถึงจีพียูของบริษัทเองก็ได้เช่นกัน หากเราดูจีพียูตัวแรงที่สุดของ AMD ตอนนี้คือ Radeon 6950 XT มีค่า Typical Board Power (TBP) ที่ 335W ส่วนตัวแรงสุดของคู่แข่งคือ GeForce 3090 Ti วัดเป็นค่า TDP ที่ 450W โดยการ์ดทั้งสองรุ่นต้องการ PSU ของระบบที่ระดับ 850W เท่ากัน บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ Naffziger ยังเปรียบเทียบแนวทางของสองบริษัทที่แตกต่างกัน โดย NVIDIA เน้นประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยไม่สนใจเรื่องพลังงาน ส่วน AMD สนใจเรื่องประสิทธิภาพต่อวัตต์มากกว่า เขายังพูดถึงเรื่องคล็อคของจีพียู AMD ว่าตอนนี้สูงกว่า 2.5GHz แล้ว แต่การมีคล็อคสูงกว่าไม่จำเป็นว่าต้องร้อนกว่าเสมอไป หากออกแบบสถาปัตยกรรมมาดีพอ ก็จะสามารถทำคล็อคสูงๆ โดยระดับโวลต์ไม่สูงตามจนเกินไปได้ เขายังพูดถึงจีพียู RDNA 3 ที่รอเปิดตัวในปีนี้ว่า การใช้กระบวนการผลิต 5nm ก็ช่วยเรื่องประสิทธิภาพต่อวัตต์ได้มากแล้ว โดยบริษัทตั้งเป้าให้ประสิทธิภาพต่อพลังงานดีขึ้นกว่าเดิม 50% ที่มา - VentureBeat via Tom's Hardware
# BMW เริ่มคิดค่าใช้ระบบอุ่นที่นั่งในรถแบบรายเดือน BMW เริ่มให้คิดค่าใช้ระบบอุ่นที่นั่ง (heated seat) ในรถยนต์หลายรุ่น โดยคิดค่าบริการรายเดือน เดือนละ 18 ดอลลาร์ หรือประมาณ 600 บาท แต่ยังมีตัวเลือกให้ซื้อฟีเจอร์ถาวรอยู่ที่ 415 ดอลลาร์ หรือประมาณ 15,000 บาท BMW มีแนวทางสร้างรายได้ด้วยฟีเจอร์ซอฟต์แวร์มานาน เช่น การเพิ่มเสียงในรถไฟฟ้า, ค่าใช้ระบบช่วยขับขี่, ค่าบริการแผนที่ในรถ, หรือแม้แต่ค่าเปิดใช้ระบบป้องกันการสั่นสะเทือนแบบปรับได้ที่มีขายในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การเก็บค่าบริการรายเดือนจากฟีเจอร์ที่ค่อนข้างเรียบง่ายอย่างการอุ่นเบาะก็นับการย้ำแนวทางการสร้างรายได้ระยะยาวของ BMW ได้ดี เพราะอุปกรณ์ที่อุ่นเบาะนี้ก็ติดตั้งมาจากโรงงานแต่แรก และฟีเจอร์นี้ก็ไม่น่าจะต้องการการดูแลซอฟต์แวร์ในระยะยาวแต่อย่างใด ฟีเจอร์อุ่นเบาะและฟีเจอร์อุ่นพวงมาลัยมีขายแบบรายเดือนในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้, สหราชอาณาจักร ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจะเปิดบริการประเทศใดบ้าง ที่มา - The Verge
# Red Hat แต่งตั้ง Matt Hicks เป็น CEO คนใหม่ Red Hat ประกาศแต่งตั้ง Matt Hicks เป็นซีอีโอคนใหม่ โดยก่อนหน้านี้เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี ส่วน Paul Cormier ซีอีโอคนปัจจุบัน จะไปรับตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารแทน Hicks ทำงานที่ Red Hat มาตั้งแต่ปี 2006 โดยตำแหน่งคือนักพัฒนา รับผิดชอบการพอร์ตแอพพลิเคชัน Perl ไปเป็น Java ซึ่งเขาก็บอกว่าจากจุดเริ่มต้นนั้น เขาก็เติบโตมาจนรับตำแหน่งซีอีโอในที่สุด ผลงานเด่นของ Hicks คือโครงการ OpenShift ที่ผลักดันให้ Red Hat มาเป็นเทคโนโลยีสำคัญบนคลาวด์ ปัจจุบัน Red Hat เป็นบริษัทในเครือไอบีเอ็ม ที่มา: ZDNet
# [ไม่ยืนยัน] Apple ไม่ต่อสัญญากับ LoveFrom บริษัทออกแบบสินค้าของ Jony Ive Jonathan Ive หรือ Jony Ive อดีตหัวหน้าฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล ซึ่งลาออกจากบริษัทไปตั้งแต่ปี 2019 และตั้งบริษัทที่ปรึกษาการออกแบบ LoveFrom โดยมีลูกค้ารายหนึ่งก็คือแอปเปิลนั่นเอง เท่ากับว่าตัวเขาเองยังไม่ได้หายไปจากงานออกแบบสินค้าใหม่แอปเปิลไปเสียทีเดียว อย่างไรก็ตามเรื่องราวนี้อาจมาถึงจุดจบแล้ว มีรายงานจาก The New York Times อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องสองราย ระบุว่าสัญญาจ้างระหว่างแอปเปิลกับ LoveFrom มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ กำลังจะสิ้นสุดลง และทั้งสองฝ่ายเจรจาจนมีข้อสรุปว่าจะไม่มีการต่อสัญญาอีก โดยเป็นความต้องการของสองฝ่าย ทั้งจากแอปเปิล ที่ผู้บริหารมองว่าค่าจ้างแพงเกินไป อีกทั้งพนักงานฝ่ายออกแบบแอปเปิลหลายคนก็ลาออก เพื่อไปทำงานที่ LoveFrom ขณะที่ Ive เอง ก็ต้องการอิสระที่มากขึ้น เนื่องจากสัญญากับแอปเปิล ระบุว่าห้ามทำงานออกแบบสินค้าเดียวกันให้คู่แข่ง ปัจจุบันทีมฝ่ายออกแบบแอปเปิลเป็นหน่วยงานใต้ซีโอโอ Jeff Williams โดยมี Evans Hankey ดูแลงานออกแบบอุตสาหกรรม และ Alan Dye ดูแลงานออกแบบซอฟต์แวร์ ส่วน LoveFrom มีลูกค้ารายสำคัญนอกจากแอปเปิลคือ Airbnb และ Ferrari ที่มา: The New York Times
# Nothing Phone (1) เปิดตัวทางการ ฝาหลังโปร่งใส มีไฟส่องแสงได้ วางขายในไทยด้วย สมาร์ทโฟน Nothing Phone (1) ของ Carl Pei ผู้ก่อตั้ง OnePlus เปิดตัวอย่างเป็นทางการ จุดเด่นที่สุดของมือถือรุ่นนี้คือการออกแบบฝาหลังโปร่งใส และมีไฟ LED ที่เรียกว่า Glyph Interface ตั้งให้ส่องแสงเมื่อมีคนโทรเข้าหรือมีการแจ้งเตือนได้ สเปกเครื่องของ Nothing Phone (1) หน้าจอ 6.55" FHD+ OLED อัตรารีเฟรช 60-120Hz รองรับ HDR10+ หน่วยประมวลผล Snapdragon 778G+ รุ่นพิเศษจาก Qualcomm กล้องหลัง 2 ตัว กล้องหลัก 50MP Sony IMX766, กล้องอัลตร้าไวด์ 50MP Samsung JN1 กล้องหน้า 16MP Sony IMX471 แบตเตอรี่ 4,500 mAh ชาร์จเร็ว 33W, ชาร์จเร็วไร้สาย 15W, ใช้ชาร์จไร้สายให้อุปกรณ์อื่น เช่น หูฟัง ได้ด้วย ระบบปฏิบัติการ Nothing OS เป็น Android 12 การันตีอัพเกรด 3 รอบใหญ่ แพตช์นาน 4 ปี ออกทุก 2 เดือน ตัวเครื่องมีให้เลือก 2 สีคือขาวและดำ มีความจุ 3 รุ่นย่อย เริ่มวางขายในลอนดอนวันที่ 16 กรกฎาคมนี้เป็นที่แรกในโลก 8GB+128GB ราคา 469 ยูโร 8GB+256GB ราคา 499 ยูโร 12GB+256GB ราคา 549 ยูโร สิ่งที่น่าสนใจคือ Nothing Phone (1) จะวางขายในไทยเป็นประเทศชุดแรกด้วย โดยจะเริ่มขาย 18 กรกฎาคม แบบ Limited Partner Drops ผ่านร้าน Carnival และเปิดขายทั่วไป 1 สิงหาคม ผ่านร้าน Dotlife และ Lazada (Nothing วางขายหูฟัง Earphone (1) ในไทยอยู่ก่อนแล้วผ่าน Lazada) ข้อมูลในหน้าเว็บของ Nothing Phone (1) ระบุว่ารุ่นที่ขายในไทยยังมีรุ่นเดียวคือ 8+256GB ราคา 18,900 บาท ที่มา - Nothing, XDA, 9to5google
# Twitter ยื่นฟ้อง Elon Musk แล้ว จากเหตุล้มดีลซื้อกิจการ Twitter ยื่นฟ้อง Elon Musk ต่อศาลชานเซอร์รี่แห่งรัฐ Delaware แล้ว หลังจาก Musk ประกาศล้มดีลซื้อ Twitter มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์ โดย Twitter ระบุในเอกสารฟ้องร้องว่าเขาตัดสินใจถอนตัว แม้ทำข้อตกลงกันไว้แล้ว เนื่องจากมองว่าดีลนี้ไม่สร้างผลประโยชน์ให้กับตน ในคำฟ้องร้อง Twitter ระบุว่าต้องการให้ Musk ซื้อกิจการไปที่ราคา 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้นตามข้อตกลงก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นและทุกฝ่าย ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายได้ให้ความเห็นว่าทางออกของคดีมีหลายทาง อาจมีทั้ง Musk ต้องทำดีลซื้อกิจการนี้ตามตกลง หรืออาจจ่ายค่าฉีกสัญญาสูงสุด 1 พันล้านดอลลาร์ หรืออาจมีทางเลือกอื่นไปจนถึง Musk ไม่ต้องจ่ายเลยก็เป็นไปได้เช่นกัน Elon Musk ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ Twitter ในตอนแรกที่ 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น โดยเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด 38% อย่างไรก็ตามเมื่อเขาประกาศล้มดีล รวมกับความไม่แน่นอนก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาหุ้น Twitter ล่าสุดอยู่ที่ 34.06 ดอลลาร์ต่อหุ้น น้อยกว่าราคาที่เขาเสนอซื้อ 37% Twitter แจ้งว่าขอใช้เวลาในขั้นตอนการไต่สวน 4 วัน ช่วงเดือนกันยายน ที่มา: CNBC
# NASA เผยภาพจากกล้อง James Webb อีก 3 ภาพ โชว์กาแล็กซี่-เนบิวลา แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน NASA เปิดเผยภาพถ่ายอวกาศจากกล้อง James Webb Space Telescope ชุดแรกอีก 3 ภาพ (ข่าวภาพแรกที่เปิดเผยเมื่อวานนี้) Cosmic Cliffs หน้าผารังสีคอสมิก เป็นการถ่ายภาพพื้นที่ NGC 3324 ที่อยู่ในเนบิวลา Carina Nebula ซึ่งกล้องในอดีตไม่เคยถ่ายได้เพราะติดฝุ่นคอสมิก แต่กล้อง Webb สามารถถ่ายได้เป็นครั้งแรกด้วยพลังของกล้อง Near-Infrared Camera (NIRCam) และ Mid-Infrared Instrument (MIRI) ภาพนี้ดูเหมือนกับภูเขาในอวกาศ - รายละเอียด Stephan’s Quintet ภาพถ่ายกาแล็กซี่ 5 แห่งที่เรียงอยู่ใกล้กัน (จริงๆ คือใกล้กัน 4 กาแล็กซี่ ห่างโลก 290 ล้านปีแสง อีก 1 กาแล็กซี่ลอยบังอยู่ด้านหน้า ห่างโลก 40 ล้านปีแสง) ตัวภาพขนาดเต็มเป็นภาพที่ใหญ่ที่สุดที่ Webb เคยถ่ายในตอนนี้ (ขนาดรวม 150 ล้านพิกเซล ต่อกันด้วยภาพย่อยๆ เกือบ 1,000 ไฟล์) และเห็นรายละเอียดของหลุมดำแบบที่ไม่เคยทำได้มาก่อน - รายละเอียด Southern Ring Nebula ภาพถ่ายดวงดาวในเนบิวลา Southern Ring ที่กำลังจะตาย และปล่อยฝุ่นควันออกมา เนบิวลากลุ่มนี้ห่างจากโลก 2,500 ปีแสง โดย NASA แยกเป็นภาพจากกล้องอินฟราเรด 2 ตัวเทียบกันให้เห็นคือ Near-Infrared Camera (NIRCam) ด้านซ้าย และ Mid-Infrared Instrument (MIRI) ด้านขวา - รายละเอียด ภาพทั้งหมดที่สามารถซูมดูได้ พร้อมลิงก์ดาวน์โหลดภาพความละเอียดสูง ดูได้จาก Webb's First Images Gallery
# Nikon ชี้แจงข่าวลือเรื่องถอนตัวจาก SLR ยืนยันยังอยู่กับเทคโนโลยีนี้ต่อไป จากข่าวก่อนหน้านี้ว่า Nikon จะเลิกทำกล้อง SLR เพื่อไปโฟกัสที่ Mirrorless ทาง Nikon ก็ได้ออกคำชี้แจงต่อข่าวดังกล่าว ที่มา: Nikon
# Spotify ซื้อกิจการ Heardle เกมทายชื่อเพลงสไตล์ Wordle Spotify ประกาศซื้อกิจการ Heardle แพลตฟอร์มเกมตอบคำถามสไตล์ Wordle ซึ่งถือเป็นดีลซื้อกิจการบริษัทเกมครั้งแรกของ Spotify ด้วยมูลค่าที่ไม่เปิดเผย เหตุผลที่ Spotify อธิบายในการทำดีลนี้ มองว่า Heardle จะเป็นเครื่องมือใหม่ทางเลือก สำหรับการค้นหาเพลง และช่วยให้ศิลปินเข้าถึงผู้ฟังได้อีกวิธี และทำให้ผู้ใช้งานได้สนุกจากความท้าทายในการทายเพลงแข่งกับเพื่อน ๆ ด้วย Heardle เป็นเกมทายเพลงใน 6 ครั้ง โดยจะให้โน้ตเพลงพร้อมคำใบ้ที่เปิดเผยเพิ่มขึ้นเรี่อย ๆ และเมื่อทราบคำตอบ เพลงนั้นก็จะมาพร้อมลิงก์ไปยัง Spotify ตอนนี้รองรับการใช้งานผ่านเว็บ เฉพาะอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โดยจะขยายประเทศเพิ่มเติมในอนาคต เช่นเดียวกับการรองรับการใช้งานผ่านแอปที่จะเพิ่มเติมในภายหลัง ที่มา: Spotify
# AIS ขอโทษและประกาศชดเชย AIS Play ล่ม เว้นค่าบริการ, ฟรีเน็ต แล้วแต่แพ็กเกจลูกค้า หลังกรณี AIS Play ล่มช่วงการแข่งขัน The Match แดงเดือดในไทยช่วงคำที่ผ่านมา ล่าสุด AIS ประกาศขออภัยและชดเชยลูกค้าแล้วดังนี้ ลูกค้า AIS Fibre ยกเว้นค่าบริการ AIS Playbox และค่าบริการคอนเทนต์ 1 วัน พร้อมทั้งฟรีค่าบริการอินเทอร์เน็ต 1 วัน ลูกค้ามือถือ ที่สมัครแพ็กเกจ AIS Play Premium ยกเว้นค่าบริการ แพ็กเกจ AIS Play Premuim 1 วัน และ มอบอินเทอร์เน็ต 10 GB ใช้งานนาน 1 วัน หรือ ในกรณีใช้แพ็กเกจ Unlimited มอบค่าโทร จำนวน 100 นาที ลูกค้ามือถือที่ใช้บริการ Application AIS PLAY มอบ อินเทอร์เน็ต 10 GB นาน 1 วัน หรือ ค่าโทร 100 นาที ในกรณีที่ใช้แพ็กเกจ Unlimited โดย AIS ระบุว่าจะทยอยส่ง SMS เรียนแจ้งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุดต่อไป พร้อมทั้งกล่าวต้องขออภัยเป็นอย่างสูงในความไม่สะดวกที่ลูกค้าได้รับ ที่มา - ประชาสัมพันธ์ AIS
# นักพัฒนาเกมบราซิลไปพูดเรื่องอนาคตวงการเกม เปลี่ยนสไลด์กลางทางเป็น "NFT คือฝันร้าย" นักพัฒนาเกมชาวบราซิล Mark Venturelli จากสตูดิโออินดี้ Rogue Snail ได้รับเชิญไปพูดในงานสัมมนา Brazil International Games Festival 2022 ในหัวข้อ "อนาคตของการออกแบบเกม" (Future of Game Design) ซึ่งดูเหมือนเป็นการบรรยายธรรมดาๆ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แต่หลังจากเขาแนะนำตัวเองได้ 3 สไลด์ เขาก็ขีดฆ่าคำว่า "Future of Game Design" แล้วเปลี่ยนมาพูดหัวข้อ "Why NFTs are a Nightmare" แทน (รวมถึง Play-to-Earn, Crypto, Blockchain) โดยได้รับเสียงปรบมือจากคนในห้องอย่างล้นหลาม ท่ามกลางสปอนเซอร์ของงานสัมมนาที่เป็นบริษัทสายคริปโตจำนวนมาก การบรรยายของ Venturelli เริ่มจากมุมมองต่อสังคม เขาบอกว่าบล็อกเชนเป็นโซลูชันที่ดีในการแก้ปัญหาที่ผิด (a brilliant solution to the wrong problem) เพราะบล็อกเชนมุ่งแก้ปัญหาเรื่องความเชื่อถือ (trust) โดยมองว่าคนไม่เชื่อใจกันและกัน จึงต้องหาวิธีตรวจสอบ แต่แท้จริงแล้ว ความเชื่อใจกันคือภาพสะท้อนของสังคมมนุษย์ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ต่างหาก Venturelli ยกตัวอย่างว่ามนุษย์ถ้ำสมัยก่อนอยู่ด้วยความหวาดระแวงว่า ระหว่างที่ตัวเองออกจากถ้ำไปล่าสัตว์ อาหารและข้าวของในถ้ำจะถูกมนุษย์ถ้ำคนอื่นขโมยไป ทางแก้ปัญหาจึงเป็นการรวมกลุ่มและทำข้อตกลงกันว่าจะไม่ทำร้ายหรือขโมยของกันและกัน เมื่อเกิดความเชื่อใจกันแบบนี้ขึ้นแล้ว มนุษย์ถ้ำจึงมีเวลาและพลัง (energy) ไปทำเรื่องอื่นๆ ที่มีประโยชน์มากกว่า คิดค้นสิ่งต่างๆ ให้มนุษยชาติพัฒนาไปได้ การยอมทิ้งเสรีภาพส่วนตัว (บางส่วน เช่น อิสระในการทำร้ายกัน) ช่วยให้สังคมมนุษย์มีเสรีภาพที่จะไปทำเรื่องใหม่ๆ มากขึ้น เขายังบอกว่า การที่เราอยู่ในสังคมที่มีความเชื่อใจกันน้อย จะเปลืองพลังงานสูง (less trust = more energy) ทั้งพลังกายพลังใจของบุคคล และพลังงานไฟฟ้า โดยเปรียบเทียบระบบการเงินผ่านธนาคารที่ใช้พลังงานน้อยกว่าบล็อกเชนมากในปริมาณผู้ใช้เท่ากัน Venturelli ยังพูดถึงการเก็งกำไร (speculation) ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทำให้เราต้องออกกฎห้ามคาสิโนหรือแชร์ลูกโซ่ การเก็งกำไรเป็นระบบ zero sum คือมีผู้แพ้ชนะ คนที่ได้เงินมาจากเงินของคนอื่นที่เสียไป การเก็งกำไรไม่ได้สร้างคุณค่าให้สังคม แบบที่เกมหรือกีฬาช่วยสร้างความบันเทิง สายสัมพันธ์ วัฒนธรรม เขาบอกว่าแนวคิด NFT หรือ Play-to-Earn เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอะไรใหม่เลย แนวคิดเรื่องการซื้อขายแลกเปลี่ยนไอเทมในเกมมีมานานแล้ว มันคือการนำเสนอของเดิมๆ ด้วยวิธีการที่แย่กว่าเดิม (nothing new but worse) ต่างหาก Venturelli สรุปการบรรยายของเขาว่า อนาคตของการออกแบบเกม ก็คือทำสิ่งที่ตรงข้ามกับ Play-to-Earn นั่นแหละ การหาเงินมากๆ ไม่ควรเป็นเป้าหมาย เราควรมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับคนจำนวนมาก โดยไม่ต้องพึ่งพาบล็อกเชน หรือการเก็งกำไรกัน ผู้สนใจสามารถอ่าน สไลด์ภาษาอังกฤษของ Venturelli ประกอบ ที่มา - PC Gamer, Kotaku
# Twitter เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ หยุดการโดนเมนชันในเธรดสนทนา Twitter ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ แก้ไขปัญหาเวลาผู้ใช้งานถูกเมนชันในการสนทนาหนึ่ง แล้วเธรดการสนทนานั้นมีต่อเนื่อง จึงถูกเมนชันต่อไปเรื่อย ๆ และต้องรับการแจ้งเตือนไม่หยุด แม้จะไม่เกี่ยวข้องในเธรดสนทนาแล้ว ฟีเจอร์นี้ชื่อว่า Leave this conversation โดยให้กดที่ปุ่มสามจุด ในทวีตที่ถูกเมนชันถึง และไม่ต้องการอยู่ในเธรดการเมนชันนี้แล้ว โดยสามารถเลือกได้ 3 รูปแบบคือ Untag จำชื่อออกจากทวีต, Stop Future Mentions ไม่สามารถถูกเมนชันได้อีก และ Stop Notifications หยุดการเตือน ที่มา: BGR
# Sony เปิดตัวหูฟังเกมมิ่ง InZone ในไทย 3 รุ่น ราคาเริ่มต้น 3,990 บาท เมื่อปลายเดือนที่แล้ว Sony เซอร์ไพร์สวงการด้วยการเปิดตัวแบรนด์ InZone อุปกรณ์เสริมสำหรับตลาดเกมมิ่งพีซี วันนี้ Sony ประเทศไทยนำสินค้าตระกูล InZone ชุดแรกมาขายแล้วคือหูฟังเกมมิ่งที่มีฟีเจอร์ 360 Spatial Sound แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อย ดังนี้ InZone H9 ราคา 9,990 บาท หูฟังไร้สายรุ่นท็อปสุด มีฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวนและ Quick Charge InZone H7 ราคา 7,990 บาท หูฟังไร้สายรุ่นรองลงมา มีฟีเจอร์ Quick Charge InZone H3 ราคา 3,990 บาท เป็นหูฟังแบบมีสายตัวเดียวในรุ่นนี้ สินค้าแบรนด์ InZone ที่เปิดตัวในต่างประเทศยังมีจอมอนิเตอร์เกมมิ่งด้วย แต่ยังไม่ได้นำมาเปิดตัวในบ้านเรา ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์โซนี่ไทย
# [ข่าวลือ] Nikon อาจเลิกทำตลาดกล้อง SLR เน้นพัฒนากล้อง Mirrorless เต็มที่ อัพเดต Nikon ชี้แจงแล้วว่ายังไม่เลิก สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า Nikon อยู่ระหว่างตัดสินใจถอนตัวออกจากตลาดกล้อง SLR เนื่องจากไม่สามารถต้านทานการทำลายตลาดนี้ของกล้องบนสมาร์ตโฟนที่มีความสามารถมากขึ้น และให้ผลการถ่ายภาพที่พึงพอใจจนผู้คนทั่วไปเริ่มเมินเฉยต่อการตัดสินใจซื้อกล้อง SLR ในทางกลับกัน Nikon จะหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนากล้อง Mirrorless ที่กำลังเป็นที่นิยม และตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบันได้มากขึ้น ถือเป็นการปิดตำนานกล้อง SLR ที่ช่างภาพมืออาชีพเชื่อมั่นมากว่า 60 ปี และถูกใช้งานในฐานะอาวุธของนักข่าว และอุปกรณ์สร้างรายได้ให้กับอาชีพช่างภาพ นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2020 Nikon ได้เปิดตัวกล้อง SLR ระดับเรือธงรุ่น D6 และหลังจากนั้นไม่มีการเปิดตัวกล้อง SLR รุ่นใหม่อีกเลย แสดงให้เห็นถึงการลดความสำคัญของกล้องประเภทนี้ แต่ Nikon ยังผลิต และทำตลาดกล้อง SLR ควบคู่ไปกับกล้อง Mirrorless ในปัจจุบัน สิ้นปีงบประมาณ 2021 Nikon จำหน่ายกล้อง SLR ไปมากกว่า 4 แสนตัว แข่งขันกับ Canon ได้อย่างสูสี และรายได้จากธุรกิจกล้อง หรือ Imaging Products Business คิดเป็น 33% ของรายได้รวม 5.39 แสนล้านเยน (ราว 1.42 แสนล้านบาท) โดยเป็นรองรายได้จากธุรกิจอุปกรณ์ความแม่นยำสูง หรือ Precision Equipment Business เช่น เครื่องผลิตชิปขนาดเล็ก ที่กินสัดส่วนรายได้ 39% อ้างอิง // Nikkei Asia, Nikon, อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 12 ก.ค. 2022 ภาพจาก Nikon
# Microsoft Office และ Microsoft 365 จะหยุดซัพพอร์ต Windows 7/8.1 มกราคม 2023 ไมโครซอฟท์ประกาศเตือนวันสิ้นสุดการซัพพอร์ต Microsoft 365 Apps (ซึ่งก็คือแอพตระกูล Office ทั้งหลาย) รวมถึง Office 2013 และ Office 2016 บนระบบปฏิบัติการ Windows 7 และ Windows 8.1 ในวันที่ 10 มกราคม 2023 วันเดียวกับระยะสิ้นสุดการซัพพอร์ตของ Windows 8.1 ไมโครซอฟท์หยุดซัพพอร์ต Windows 7 ไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 แต่ลูกค้าบางกลุ่มอาจยังจ่ายเงินซื้อ Extended Security Updates (ESU) เพิ่มอีก 3 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 10 มกราคม 2023 เช่นกัน (เท่ากับว่า Windows 7 ESU จะหมดอายุพร้อม Windows 8.1) ส่วน Office เวอร์ชันที่ใหม่กว่านั้นคือ 2019 ไม่รองรับ Windows 7/8.1 ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว วันที่ 10 มกราคม 2023 จึงเป็นวันที่ Microsoft Office ทุกเวอร์ชันจะไม่ซัพพอร์ต Windows 7 และ 8.1 อีกต่อไป ถึงแม้ในทางปฏิบัติ ซอฟต์แวร์จะยังทำงานได้ตามปกติ แต่ก็จะไม่ได้แพตช์ใดๆ เพิ่มอีกแล้ว ส่วนคนที่ใช้งาน Windows 10 จะยังมีระยะซัพพอร์ตอีกประมาณ 3 ปี และจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2025 (ตารางเปรียบเทียบฉบับเต็ม) ที่มา - Microsoft via Neowin
# YouTube กล่าวขอโทษกรณีลบช่องไลฟ์เพลง Lofi Girl เพราะถูกรายงานละเมิดลิขสิทธิ์ ใครที่ชอบเปิดเพลงฟังระหว่างทำงานน่าจะคุ้นเคยกับช่อง Lofi Girl ที่ไลฟ์สตรีมเพลงแนว lo-fi จุดเด่นคือเพลงที่ฟังสบายอย่างต่อเนื่อง สำหรับการทำสมาธิในการทำงานหรืออ่านหนังสือ ที่เราคุ้นนอกจากเพลง ก็อาจจะเป็นภาพของวิดีโอ ที่เป็นภาพการ์ตูนหญิงสาว สวมหูฟังและนั่งจดกระดาษอยู่บนโต๊ะ มีการเคลื่อนไหวเล็กน้อยอยู่ตลอด คลิปเด่นๆ ของ Lofi Girl ก็มีคลิป lofi hip hop radio - beats to relax/study to ซึ่งไลฟ์มาตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ 2020 มียอดวิวแล้วว่า 668 ล้านวิว และ lofi hip hop radio - beats to sleep/chill to ไลฟ์ตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ ยอดวิวประมาณ 129 ล้านวิว เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์เจ้าของช่อง Lofi Girl ทวีตว่าไลฟ์ดังกล่าวถูกนำลงจาก YouTube เพราะได้รับการรายงานละเมิดลิขสิทธิ์จาก FMC Music Sdn Bhd Malaysia ซึ่งน่าจะถูกรายงานหลายครั้งจึงถูกลงโทษ ล่าสุดทวิตเตอร์ YouTube รีทวีต Lofi Girl พร้อมกล่าวขอโทษความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว โดยระบุว่าอาจจะใช้เวลา 24-48 ชั่วโมงกว่าที่วิดีโอจะกลับคืนมา ที่มา - @teamyoutube via Vice
# ลงเร็วกว่าบิตคอยน์ ราคาการ์ดจอในจีนต่ำกว่าราคาตั้งยกแผง 3090Ti เหลือ 50,000 บาท ภาวะตลาดคริปโตซบเซายังส่งผลกระทบต่อราคาการ์ดกราฟิกต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานสำรวจในสหรัฐฯ พบว่าราคาการ์ดกราฟิกรุ่นยอดนิยมหลายรุ่นเริ่มราคาต่ำกว่าราคาตั้ง (Manufacturer's Suggested Retail Price - MRSP) เดือนนี้รายงานสำรวจในจีนก็พบว่าการ์ดทุกรุ่นทั้ง NVIDIA และ AMD ราคาต่ำกว่าราคาตั้งทั้งหมด แม้ส่วนต่างกับราคาตั้งจะมากน้อยต่างกันไป รุ่นท็อปสุดของ NVIDIA คือ RTX 3090Ti นั้นราคาเหลือ 9,499 หยวน หรือประมาณ 50,000 บาท ต่ำกว่าราคาตั้งในจีน 38% ขณะที่รุ่นท็อปฝั่ง AMD คือ RX 6950XT นั้นราคาอยู่ที่ 7,859 หยวน ต่ำกว่าราคาตั้งเพียง 6.4% เท่านั้น แต่รุ่นรองลงมาคือ RX 6900XT นั้นกลับมีราคาอยู่ที่ 4,999 หยวน ต่ำกว่าราคาตั้งถึง 37.5% ปีนี้ NVIDIA เปิดตัวชิปกราฟิกสถาปัตยกรรม Hopper ออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ตามรอบการอัพเกรดชิปสำหรับผู้ใช้ตามบ้านก็น่าจะออกมาในช่วงปลายปีนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่การ์ดกราฟิกรุ่นเดิมจะเริ่มราคาลดลงไปด้วย ที่มา - Videocardz ภาพจาก NVIDIA
# YouTube ระบุวิดีโอสั้น YouTube Shorts คืออนาคต ผู้ใช้ปิดถาวรไม่ได้ YouTube จัดงานแถลงข่าวเนื่องในโอกาส YouTube Shorts เปิดบริการในไทยครบรอบ 1 ปี โดยระบุว่าบริการนี้มีการเติบโตต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ระบุสถิติในไทย แต่ก็ระบุสถิติรวมว่ามีผู้ใช้งานเดือนละ 1.5 พันล้านคน เฉพาะเดือนเมษายนที่ผ่านมามีการรับชมรวมมากกว่า 1 แสนล้านครั้ง แนวทางการผลักดันวิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อต่อสู้กับ TikTok กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊กและกูเกิล แม้ว่าหลายครั้งผู้ใช้จะไม่ได้ตั้งใจใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อดูวิดีโอสั้นก็ตาม แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็พยายามผลักดันให้ผู้ใช้เข้าไปใช้งานต่อเนื่อง เช่น เฟซบุ๊กนั้นไม่สามารถปิดบริการวิดีโอสั้นได้เลย สามารถแจ้งได้เพียงว่าขอให้เฟซบุ๊กแสดงวิดีโอสั้นให้น้อยลง ขณะที่ YouTube Shorts นั้นมีฟีเจอร์ปิดการแสดง Shelf ของ YouTube Short เป็นเวลา 30 วันเท่านั้น โดยทีมงานระบุว่าไม่มีแนวทางที่จะให้ผู้ใช้คอนฟิกไม่ดู YouTube Shorts อีก แม้กูเกิลจะผลักดันอย่างหนัก แต่ตอนนี้ YouTube Shorts กลับมีฟีเจอร์แปลกแยกออกจาก YouTube ปกติ เช่น ไม่สามารถใช้งานกับ Chromecast ได้ YouTube พยายามผลักดันให้ครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์มสร้างคอนเทนต์ทั้งแบบปกติและแบบสั้น โดยระบุว่าผู้ติดตามจะมากขึ้นเมื่อเทียบกับครีเอเตอร์ที่อัปโหลดวิดีโอแบบยาวอย่างเดียว ที่มา - งานแถลงข่าวออนไลน์ YouTube
# Meta ออก Sphere โมเดล AI ที่อ่านความรู้ 134 ล้านหน้า ช่วยตรวจการอ้างอิง Wikipedia ได้ Meta เปิดตัวโครงการ AI ใหม่แนวสารานุกรมออนไลน์ชื่อ Sphere แนวทางการทำงานของ Sphere คือการให้ AI อ่านเอกสารความรู้เชิงวิชาการจำนวนมาก 134 ล้านหน้าบนอินเทอร์เน็ต นำมาย่อยเป็นข้อความ 906 ล้านย่อหน้า (เรียกว่า knowledge-intensive natural language processing หรือ KI-NLP) เพื่อให้ AI ทำตัวเป็น "ปราชญ์" สามารถตอบคำถามแนวความรู้ เช่น "ใครเป็นคนที่ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์คนแรกของโลก" ได้อย่างแม่นยำ Meta บอกว่าแนวทางของ Sphere เป็นการเข้าไปอ่านเอกสารที่สแกนหาเองโดยตรง (Meta เขียน crawler เอง เพื่อมาอ่านให้เข้าใจด้วย NLP) ต่างจากแนวทางเดิมที่ใช้วิธีดึงข้อมูลจาก search engine ที่ผ่านการคัดกรองอันดับมาแล้ว Meta คุยว่าแนวทางของ Sphere จะเข้าถึงข้อมูลสาธารณะได้ดีกว่า และเมื่อนำ Sphere ไปรันทดสอบกับเบนช์มาร์ค KILT (Knowledge Intensive Language Tasks) ที่ Meta พัฒนาขึ้นในปี 2020 ก็ได้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่าโมเดลแบบเดิมๆ Meta ยังนำ Sphere ไปทดลองตรวจสอบการอ้างอิงข้อมูลของ Wikipedia (ชื่อโครงการ Side) ผลคือ Sphere สามารถอ่านเนื้อหาใน Wikipedia แล้วพบย่อหน้าที่ไม่เคยมีการอ้างอิง และสามารถแนะนำบทความอ้างอิงที่เกี่ยวข้องได้ ผู้ที่สนใจสามารถทดลองเล่น Side เพื่อให้อ่านหน้า Wikipedia ที่ต้องการแล้วแนะนำการอ้างอิงเพิ่มเติมได้ (ตัวเนื้อหาจะไม่ถูกแก้ไขลงใน Wikipedia โดยตรง แต่เป็นสำเนาเนื้อหาฉบับของ Meta) ที่มา - Meta, Meta
# คณะกรรมการด้านเสถียรภาพการเงินเสนอต้องกำกับเงินคริปโตทั้งระบบ คณะกรรมการด้านเสถียรภาพการเงิน (Financial Stability Board - FSB) หน่วยงานให้คำแนะนำระบบการเงินนานาชาติ ที่สมาชิกหลักคือกลุ่มชาติ G20 ออกมาเรียกร้องให้มีการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งเงินคริปโต และ stablecoin ทั้งระบบ เนื่องจากเงินคริปโตเริ่มมีขนาดใหญ่และเมื่อวงการเงินคริปโตมีปัญหาก็อาจจะกระทบไปถึงระบบการเงินในระบบได้ FSB ระบุว่านานาชาติต้องยึดหลัก "กิจกรรมเหมือนกัน, ความเสี่ยงเหมือนกัน, ต้องถูกกำกับเหมือนกัน" โดยทุกวันนี้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมากไม่ได้ถูกกำกับระดับเดียวกับบริการทางการเงินอื่นๆ เช่น การจดทะเบียนหรือขอใบอนุญาตให้บริการทางการเงิน ตลอดจนมาตรการป้องกันการฟอกเงินและการก่อการร้าย แนวทางของ FSB ที่เรียกร้องให้กำกับเงินคริปโตมีมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าตลาดโตเร็วแต่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะหากมี stablecoin ล่มสลายไปก็จะสร้างผลกระทบต่อวงการได้เป็นวงกว้าง หลังจากนี้ทาง FSB เตรียมเสนอแนวทางการกำกับดูแลเงินคริปโตให้กับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลางของประเทศกลุ่ม G20 ในเดือนตุลาคมนี้ ที่มา - FSB
# YouTube บน iOS กลับมาใช้งาน Picture-in-Picture ได้แล้ว เฉพาะลูกค้า Premium หลังจากทดสอบ แล้วก็หยุดทดสอบ ล่าสุด YouTube อัพเดตว่าฟีเจอร์ดูวิดีโอแบบซ้อนจอ หรือ Picture-in-Picture (PiP) กลับมาใช้งานได้แล้วบน iPhone และ iPad โดยต้องเป็น iOS 15 หรือ iPadOS 15 ขึ้นไป อย่างไรก็ตามการใช้งาน PiP ก็มีข้อจำกัด โดยต้องเป็นลูกค้าแบบเสียเงิน Premium เท่านั้น (ได้ทุกประเภทคอนเทนต์) หากไม่ได้เป็นลูกค้า Premium ฟีเจอร์ PiP นี้จะใช้ได้เฉพาะผู้ใช้งานในอเมริกาเท่านั้น และต้องเป็นคอนเทนต์ที่ไม่ใช่เพลง ส่วนผู้ใช้ Android เดิมเคยใช้ได้แบบใดก็ยังคงเป็นแบบนั้น สำหรับผู้ใช้ iOS สามารถเลือกปิด-เปิดการใช้งาน PiP ได้ โดยไปที่ Settings ของแอป YouTube แล้วเลือกการตั้งค่าส่วน Picture-in-picture ที่มา: The Verge
# อดีตประธานซอฟต์แวร์ Broadcom ย้ายไปรับตำแหน่ง CEO ที่บริษัทใหม่รวม Citrix กับ TIBCO Vista Equity Partners และ Evergreen Coast Capital บริษัทด้านการลงทุน ประกาศแต่งตั้ง Tom Krause อดีตประธานฝ่ายซอฟต์แวร์ของ Broadcom เป็นซีอีโอคนใหม่ของบริษัทใหม่ ที่จะรวมกิจการ Citrix และ TIBCO เข้าด้วยกัน ซึ่งสองบริษัทกองทุนนี้เป็นเจ้าของอยู่ Krause ถือเป็นผู้บริหารคนสำคัญของ Broadcom และมีรายงานว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเจรจาดีลซื้อ VMware มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Tom Krause กล่าวว่าเขารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับทั้ง Citrix และ TIBCO ที่ถือเป็นผู้บุกเบิกในตลาดซอฟต์แวร์องค์กรเฉพาะทาง ซึ่งจะมีบทบาทมากขึ้นในยุคที่องค์กรเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ที่มา: Investing.com
# Klarna สตาร์ตอัพมูลค่าสูงสุดในยุโรป มูลค่าหด 7 เท่า 46 พันล้านเหลือ 6.7 พันล้านดอลลาร์ Klarna สตาร์ตอัพด้านการเงินแนวผ่อนชำระ (Buy Now Pay Later หรือ BNPL) จากสวีเดน ซึ่งเคยครองแชมป์สตาร์ตอัพที่มูลค่ากิจการสูงที่สุดในยุโรป 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ระดมทุนรอบใหม่ที่มูลค่าบริษัทลดลงเหลือเพียง 6.7 พันล้านดอลลาร์ (2.4 แสนล้านบาท) หรือลดลงเกือบ 7 เท่า Klarna ระดมเงินก้อนใหม่ 800 ล้านดอลลาร์ บริษัทบอกว่าเป็นการระดมทุนก้อนใหญ่ในช่วงเวลาที่ตลาดทุนตกลงเยอะที่สุดในรอบ 50 ปี และบอกว่า Klarna ยังรักษามูลค่าของบริษัทได้ดีกว่าบริษัทระดับเดียวกัน ที่มูลค่าหายไปถึง 80-90% ผู้ที่เข้ามาลงทุนใน Klarna รอบนี้ได้แก่ Mubadala Investment Company กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของ UAE และ Canada Pension Plan Investment Board กองทุนบำนาญของแคนาดา Financial Times ชี้ว่าการระดมทุนรอบนี้ทำให้มูลค่าบริษัท Klarna กลับไปอยู่ระดับเดียวกับช่วงปี 2019 หลังจากมูลค่าพุ่งสูงแบบก้าวกระโดดในปี 2021 โดยเป็นการระดมทุนราคาแพงมหาศาลจาก SoftBank ที่มา - Klarna, Financial Times ภาพจาก Klarna
# [Gartner] ตลาดพีซีไตรมาส 2/2022 ลดลง 12.6% มีเฉพาะ Apple ที่จำนวนเครื่องส่งมอบเพิ่มขึ้น บริษัทวิจัยตลาด Gartner รายงานภาพรวมตลาดพีซีประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2022 จำนวนส่งมอบอยู่ราว 72 ล้านเครื่อง ลดลง 12.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2021 ซึ่งเป็นอัตราลดลงที่มากกว่าเมื่อไตรมาส 1/2022 รวมทั้งการลดลงเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค ทั้งจากปัจจัย ภูมิรัฐศาสตร์, เศรษฐกิจ และซัพพลายเชน Mikako Kitagawa ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Gartner ให้ความเห็นว่า ปัญหาเงินเฟ้อและการสู้รบในยูเครน ส่งผลมากต่อความต้องการ Chromebook ขณะเดียวกันผู้ผลิตพีซีก็พบปัญหาการผลิตสินค้าให้ทันความต้องการ แต่เริ่มดีขึ้นหลังจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ส่วนแบ่งการตลาดแยกตามยี่ห้อ Lenovo ยังครองอันดับ 1 แต่ด้วยจำนวนเครื่องส่งมอบลดลง ตามด้วย HP ในอันดับ 2 ซึ่งมีจำนวนเครื่องลดลงเป็นอัตราสูง เนื่องจาก Chromebook และ Dell, Apple, Acer ได้ลำดับที่ 3-5 โดย Apple เป็นผู้ผลิตรายเดียวที่จำนวนเครื่องส่งมอบเพิ่มขึ้น คาดว่าเป็นผลจากตลาดตอบรับใน M1 ก่อนหน้านี้ Gartner ประเมินว่าภาพรวมตลอดปี 2022 ตลาดพีซีจะลดลงราว 9.5% ที่มา: Gartner
# Apple ออก Public Beta รุ่นทดสอบสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป iOS 16, macOS Ventura และ watchOS 9 แอปเปิลออกเวอร์ชัน Public Beta ของระบบปฏิบัติการ iOS 16, iPadOS 16, macOS Ventura, watchOS 9 และ tvOS 16 รวมทั้งซอฟต์แวร์ HomePod เป็นเวอร์ชันแรกแล้ว หลังจากปล่อยเวอร์ชันทดสอบสำหรับนักพัฒนามาก่อนหน้านี้ ในเวอร์ชัน Public Beta นี้ ผู้ใช้งานทุกคนไม่จำเป็นต้องมีบัญชีนักพัฒนา ก็สามารถดาวน์โหลดมาทดสอบการใช้งานผ่าน Apple Beta Software Program อย่างไรก็ตามแม้เวอร์ชันนักพัฒนาจะผ่านการปรับแก้ไขโดยตอนนี้เป็น Beta 3 แล้ว แต่การใช้งานก็อาจพบปัญหาต่าง ๆ ซึ่งสามารถแจ้งได้กับทั้งแอปเปิลและผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ จึงไม่แนะนำสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ที่มา: Ars Technica
# WhatsApp ขยายฟีเจอร์ emoji reactions รองรับทุกอีโมจิที่มี WhatsApp ประกาศขยายความสามารถฟีเจอร์ emoji reactions ที่ผู้ใช้งานสามารถกดอีโมจิแสดงความรู้สึกที่หลากหลายต่อข้อความ จากเดิมที่มีตัวเลือก 6 แบบ มาเป็นใช้อีโมจิไหนก็ได้ Mark Zuckerberg ซีอีโอ Meta เจ้าของ WhatsApp ประกาศผ่าน Facebook ของเขาถึงฟีเจอร์ใหม่นี้ พร้อมบอกว่าอีโมจิโปรดของเขา เช่น 🤖🍟🏄‍♂️😎💯👊 ฟีเจอร์ใหม่นี้ทำให้ WhatsApp มีลูกเล่นเทียบกับแอปแชตอื่นมากขึ้น โดยจะทยอยอัพเดตกับผู้ใช้งานทุกคน ที่มา: Engadget
# ภาพถ่ายแรกกล้อง James Webb กาแล็กซี่ห่าง 4.6 พันล้านปีแสง ไกลที่สุดที่เคยถ่าย เมื่อคืนนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นคนเปิดตัวภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศ์อวกาศ James Webb Space Telescope ซึ่งเป็นภาพถ่ายอวกาศในแนวลึก (Deep Field) ภาพแรกของกล้อง และเป็นภาพถ่ายอวกาศที่ไกลที่สุดและคมชัดที่สุดเท่าที่เคยถ่ายกันมา ภาพนี้เป็นการถ่ายคลัสเตอร์กาแล็กซี่ SMACS 0723 ที่เห็นกาแล็กซี่นับพันที่อยู่ไกลมาก (4.6 พันล้านปีแสง) ด้วยกล้องอินฟราเรด Near-Infrared Camera (NIRCam) ใช้เวลาถ่ายภาพจากคลื่นอินฟราเรดที่ความยาวคลื่นต่างกันเป็นเวลานาน 12.5 ชั่วโมง (ถ้าเป็นกล้อง Hubble จะใช้เวลาถ่ายนานหลายสัปดาห์) NASA ระบุว่าจะเปิดตัวภาพถ่ายทั้งชุด (ไบเดนเปิดมาแค่ภาพเดียว) ในคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย ที่มา - NASA
# GCC ประกาศรวมภาษา Rust เข้าโครงการ คาดเริ่มใช้งานได้ใน GCC 13 GCC โครงการคอมไพลเลอร์ของ GNU ประกาศรับโค้ดรองรับภาษา Rust เข้าโครงการ หลังจาก Philip Herron นักพัฒนาจาก Embecosm พัฒนาโครงการนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2020 โครงการคอมไพลเลอร์ขนาดใหญ่อย่าง GCC หรือ LLVM จะแบ่งฟีเจอร์ด้านการรองรับภาษา (front-end) ออกจากการรองรับสถาปัตยกรรมซีพียู (back-end) ทุกวันนี้คอมไพลเลอร์ rustc ที่เป็นคอมไพลเลอร์หลักของภาษา Rust นั้นใช้ LLVM ขณะที่ GCC รองรับสถาปัตยกรรมซีพียูกว้างขวางกว่า โครงการ GCC Rust มีเป้าหมายแรกที่จะรองรับภาษา Rust ระดับเดียวกับ rustc 1.40 ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2020 และตอนนี้ rustc อยู่ที่เวอร์ชั่น 1.62.0 และกว่าที่โครงการจะรวมเข้าไปใน GCC จริงก็น่าจะเป็น GCC 13 คาดว่าจะออกตัวจริงปี 2023 และเป็นการรองรับระดับเบต้าเท่านั้น ภาษา Rust ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลังเนื่องจากแนวคิดในการรับประกันความปลอดภัยของหน่วยความจำ แต่ประสิทธิภาพก็ดีระดับเดียวกับภาษาที่คอมไพล์แบบเนทีฟ แนวทางนี้ทำให้มีบริษัทมาสนับสนุนโครงการ Rust มากขึ้นเรื่อยๆ ที่มา - gnu.org