txt
stringlengths 202
53.1k
|
---|
# บริษัทเกมรัสเซียผู้สร้าง Loop Hero บอกจ่ายเงินยากไม่เป็นไร แจกลิงก์ Torrent ให้เลย
Four Quarters นักพัฒนาจากรัสเซียผู้สร้างเกม Loop Hero ตอบคำถามแฟนๆ ผ่านเพจบนโซเชียล VK ว่าบริษัทประสบปัญหาในการรับจ่ายเงินค่าเกม จากมาตรการแซงค์ชันของชาติตะวันตกต่อรัสเซีย
แนวทางที่ Four Quarters แนะนำคือให้โหลดเกมเถื่อนเล่นไปก่อน พร้อมแปะลิงก์ดาวน์โหลดไฟล์ torrent บนเว็บไซต์ RuTracker ของรัสเซียให้เสร็จสรรพ และเตือนว่าผู้เล่นควรใช้ VPN ด้วย
จุดยืนของ Four Quarters คือประกาศว่าต่อต้านสงครามอย่างชัดเจน จากที่เคยโพสต์ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของบริษัท
ที่มา - VK via Kotaku |
# รู้จัก Microsoft 365 Business Premium ปกป้องภัยร้ายแบบครบสิ่งที่ธุรกิจยุคใหม่ต้องมี
ทุกวันนี้วิธีการทำธุรกิจเปลี่ยนไปมาก รวมถึงไลฟ์สไตล์ของคนในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่ตลอดเวลา การปรับตัวให้สอดคล้องและตอบรับกับความเป็นดิจิทัลจึงไม่ใช่แค่เรื่องของกระแส แต่เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของการทำธุรกิจไปแล้ว
Digital Workplace ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อโลกต้องเผชิญหน้ากับ COVID-19 ที่ไม่มีเวลาให้ปรับตัวแบบทันทีทั้งการ Work from Home การประชุมออนไลน์ หรือการทำงานผ่านระบบคลาวด์ และเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย Microsoft 365 จึงถูกพัฒนาและออกแบบเพื่อมุ่งสร้างมาตรฐานใหม่ของการทำงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจและ SMEs จะขับเคลื่อนไปในยุค Digital Transformation
ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้แบบเรียลไทม์
Digital workplace คือรูปแบบการทำงานที่ปฏิเสธไม่ได้ในทุกวันนี้ Microsoft Teams จึงเป็นเครื่องมือเด่นที่ทำหน้าที่สื่อสารผ่านแชทและการประชุมออนไลน์กับผู้ใช้งานทั้งภายในและนอกองค์กร ส่วน SharePoint จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลและอำนวยความสะดวกใหผู้ใช้สามารถทำงานและแก้ไขเอกสาร Word, PowerPoint, Excel และ OneNote ร่วมกันได้แบบเรียลไทม์
สะดวกด้วยการแก้ไขเอกสารแบบออนไลน์และการเก็บข้อมูลบนคลาวด์
ลดความกังวลในการทำงานด้วยพื้นที่จัดเก็บข้อมูลออนไลน์ OneDrive ขนาด 1 TB จาก One Drive ที่ให้ผู้ใช้สามารถจัดการเอกสารและข้อมูล ได้อย่างเรียบร้อย ถูกต้อง ง่ายต่อการค้นหาและดึงไปใช้งานต่อ โดยมั่นใจได้ว่าผู้ใช้ทุกคนจะสามารถเข้าถึงไฟล์งานที่อัพเดตล่าสุด รวมถึงการอัพเดตไฟล์จากการแก้ไขในระหว่างที่ออฟไลน์อย่างอัตโนมัติเมื่อมีการเชื่อมต่อออนไลน์ ทั้งนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องกล่องเมลเต็มด้วยพื้นที่จัดเก็บเมลที่มากถึง 50 GB
ทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา จากทุกอุปกรณ์
ผู้ใช้งานสามารถทำงานบนอุปกรณ์ได้อย่างหลากหลาย ทั้ง PCs, MACs รวมไปถึงสมาร์ทโฟน ในทุกระบบปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็น iOS, Android หรือ Windows ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกทำงานบนอุปกรณ์ได้มากถึงประเภทละ 5 ชิ้น รวมสูงสุด 15 ชิ้นต่อ 1 ผู้ใช้งานเลยทีเดียว
ปกป้องข้อมูลให้ปลอดภัยด้วย Azure Active Directory
ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทำงานยุคใหม่ที่นิยมใช้อุปกรณ์ส่วนตัว (BYOD) อย่างแล็บท็อป แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนในการทำงาน ภายใต้การดูแลความปลอดภัยของ Azure Active Directory Premium ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการยืนยันตัวตนผ่าน advanced multi-factor authenticaion และควบคุมการเข้าใช้งานคลาวด์ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการใช้งานที่ถูกต้องตามบทบาทและสิทธิที่องค์กรกำหนดให้ และมี Intune ที่ทำหน้าที่จัดการแอปพลิเคชันและปกป้องข้อมูลที่อยู่ในทุกอุปกรณ์ที่กำลังเข้าใช้งานเพื่อความปลอดภัยของธุรกิจ
ปลอดภัยจากภัยร้ายและการคุกคามทางไซเบอร์
ปกป้องภัยร้ายทางไอทีได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการ ตรวจสอบหลายปัจจัย ที่มีการยืนยันตัวตนหลายขั้นตอนได้หลากหลายรูปแบบ จึงเหนือกว่าการใช้รหัสผ่านเพียง อย่างเดียว สามารถป้องกันการแฮ็คข้อมูลได้สูงสุดถึง 99% เรายังตรวจสอบการขอเข้าถึงการใช้งานมาจากพื้นที่ใด ประเทศใด เพื่อจะประเมินว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และยังมา พร้อมกับมีคุณสมบัติในการลบข้อมูลของบริษัทออกจากอุปกรณ์ ที่สูญหายหรือถูกขโมยได้จากทุกที่ผ่านระบบคลาวด์สามารถ จํากัดการคัดลอกหรือบันทึกหรือแชร์ข้อมูลขององค์กรไปยังแอปและ ตําแหน่งเก็บข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาติครอบคลุมทั้ง Windows, iOS และ Android
Microsoft 365 Business Premium สามารถป้องกันอีเมลฟิชชิ่ง รวมถึงภัยคุกคามซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในไฟล์แนบและลิงก์ต่างๆ ในอีเมล พร้อมการป้องกันล้ำสมัย สําหรับรับมือภัยคุกคามแบบ Zero-day แรนซัมแวร์และมัลแวร์ ที่เป็นภัยร้ายระดับสูงด้วย Microsoft Defender for Office 365 อีกด้วย
เลือกแพลน Microsoft 365 สําหรับธุรกิจให้เหมาะกับการใช้งาน ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง (<300)
Microsoft 365 Business Premium ถูกสร้างมาเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจต้องการความปลอดภัยระดับ Enterprise มีจำนวนผู้ใช้งานสูงสุด 300 คน หรือธุรกิจที่ต้องการโซลูชันการทำงานระยะไกลที่ปลอดภัยรวมถึงการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์
*ได้สิทธิ์ในการอัพเกรด(Right to Upgrade) สำหรับผู้ใช้ Windows 7 Pro, Windows 8.1 และ Windows 10
ต้องการใช้งาน หรือติดต่อขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากคู่ค้าของไมโครซอฟท์ได้ที่ >>
? Metro Systems http://metro-oncloud.com/contact/
? MISO http://msft.it/6183w9Wdh |
# จัดเต็ม 1 สัปดาห์สำหรับนักพัฒนา สถาปนิกโซลูชันคลาวด์ นักสร้างสรรค์
จัดเต็ม 1 สัปดาห์สำหรับนักพัฒนา สถาปนิกโซลูชันคลาวด์ นักสร้างสรรค์
Microsoft Tech Week 2022 งานที่สนับสนุนนักพัฒนา สถาปนิกโซลูชันคลาวด์ นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการหน้าใหม่ นักศึกษา และผู้ที่สนใจให้มีโอกาสได้เข้ามารับฟังวิสัยทัศน์และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ กับผู้เชี่ยวชาญจาก Microsoft และคอมมูนิตี้
เรียนรู้จากชุมชนนักพัฒนาทั่วประเทศ และในวันที่ 4 เมษายนพบกับบูทที่น่าสนใจมากมาย ให้คุณได้แนวทางในการเพิ่ม Skill ใหม่ๆ รมถึงพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ Tech Community ชื่อดังในงานมากมาย และโอกาสใหม่ๆ ในการหางานในอนาคต
และพลาดไม่ได้กับกิจกรรม Cloud Skills Challenge และงานฝึกอบรมหลักการพื้นฐานของ Cloud, Data, AI ที่จะจัดขึ้นตลอดทั้งเดือน โดยผู้เรียนที่เข้าเรียนครบหลักสูตรจะได้รับสิทธิ์สอบ Microsoft Certifications ฟรี!
Highlight Sessions
เพิ่มความเร็วและความคล่องตัวของนักพัฒนา ด้วยเครื่องมือและแพลตฟอร์มในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ครอบคลุมที่สุดของ Microsoft
เพิ่มสปีดการเขียนโค้ด ด้วย Visual Studio และ GitHub
ภารกิจพัฒนา Super App ใน 10 วัน ทำได้อย่างไร
พัฒนาแอปบนแพลตฟอร์ม Microsoft 365 และ Microsoft Teams ด้วย Power Platform และ Microsoft Graph เพิ่มโอกาสการเข้าถึงลูกค้านับล้าน
เสวนาสำหรับนักพัฒนาไทยในการเตรียมพร้อมสู่ Metaverse และโอกาสใหม่ในโลกเสมือนจริง
แนะนำ Dev Tools และ Open-source Frameworks สำหรับนักพัฒนา
เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ถึงวันที่ 9 เมษายน 2565
วันที่ 4 วันแรกจะจัดที่ True Digital Park ชั้น 6
ลงทะเบียนเข้างานได้ที่
TechWeekEventRegister
แล้ววันที่เหลือจะ Live ผ่าน Teams
Link ลงทะเบียนเข้างาน
https://aka.ms/MSTechWeekTH
แจก! Bitkub NFT สำหรับ 300 คนแรกที่เข้าร่วมงานที่ True Digital park
สำหรับผู้ที่เข้ามาร่วมงานกรุณาแสดงผลตรวจ ATK ที่หน้างาน (ตรวจก่อนเข้าร่วมงาน 24 ชั่วโมง) สำหรับท่านที่ไม่ได้ตรวจเรามีบริการตรวจก่อนเข้างาน |
# อัพนานกว่ามือถือบางรุ่น รถไฟฟ้า Polestar 2 ได้อัพเดตรอบสอง เป็น Android Automotive 11
รถยนต์ไฟฟ้า Polestar 2 รุ่นปี 2021 และ 2022 ได้อัพเดตซอฟต์แวร์รอบสอง เป็นซอฟต์แวรเวอร์ชั่น P2.0 ที่รัน Android Automotive 11 แล้ว หลัง Polestar 2 รุ่นปี 2021 เปิดตัวโดยรัน Android 9 และได้อัพเดตเป็น Android 10 ภายหลัง
Polestar ระบุการอัพเดตนี้มาพร้อมหมวดแอปใหม่ ปรับปรุงวิทยุ แก้บั๊ก GPS ถูกรบกวนเมื่อเปลี่ยนโปรไฟล์รถ และปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ ในแอป Polestar โดยสามารถดูรายละเอียดการอัพเดตได้ที่ลิงก์นี้
ถือเป็นการอัพเดตเวอร์ชั่น Android เป็นครั้งที่สอง หลัง Polestar เคยอัพเดตซอฟต์แวร์เบื้องต้นแบบ OTA ทำให้รถวิ่งได้ไกลขึ้น 60 กิโลเมตรไปก่อนหน้านี้
ที่มา - 9to5Google |
# วัยรุ่นสร้างตัว ขายวิญญาณตัวเองเป็นงานศิลปะ NFT ราคาเริ่ม 0.11 ETH หรือ 12,400 บาท
Stijn van Schaik นักเรียนศิลปะในกรุงเฮก ลงขายวิญญาณของเขาเองในรูปแบบงานศิลปะ NFT ชื่อ “Soul of Stinus” หรือ “วิญญาณของ Stinus” ที่เป็นชื่อผู้ใช้ของเขา บนเว็บไซต์ OpenSea
Stijin หรือ Stinus ทำเว็บไซต์อธิบายการขายวิญญาณของเขา พร้อมมีหน้าข้อตกลง “Sale of Soul Agreement” ระบุในสัญญาว่าผู้ซื้อสามารถทำอะไรกับวิญญาณเขาได้บ้าง เช่น สามารถประกาศตัวในสาธารณะได้ว่าเป็นเจ้าของวิญญาณเขา รวมถึงสามารถโอนวิญญาณเขา และบูชายัญวิญญาณเขาให้กับเทพองค์ใดก็ได้
ผู้ที่สนใจสามารถประมูลซื้องานของเขาได้ที่เว็บไซต์ OpenSea ปัจจุบันราคางานชิ้นนี้อยู่ที่ 0.11 ETH หรือราว 12,400 บาท โดยเป็น NFT ที่มินต์บนเครือข่าย Polygon และดูแล้วน่าจะเป็นงานศิลปะที่ขายคอนเซ็ปต์แปลกใหม่ รวมถึงอาจเป็นการชวนตั้งคำถามว่าข้อจำกัดของการซื้อขาย NFT อยู่ตรงไหน และจิตวิญญาณจะเป็นเช่นไร เมื่ออยู่บนเครือข่ายแบบไร้ศูนย์กลาง
ที่มา - Stijn van Schaik via Entrepreneur |
# ระบบอีคอมเมิร์ซ LnwShop เปิดตัว LnwShop Pro ใช้เป็นหลังบ้านจัดการช่องทางขายอื่นๆ ได้ด้วย
LnwShop ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทย เปิดตัว LnwShop Pro ที่มีความสามารถเชื่อมต่อไปยังช่องทางการขายอื่นๆ ทั้ง marketplace (Lazada, Shopee, JD Central) และการขายผ่านโซเชียล (Facebook Shop, Instagram Shopping, Google Shopping) เพื่อใช้ LnwShop Pro เป็นระบบหลังบ้านจัดการอีคอมเมิร์ซเพียงแห่งเดียว
นอกจากเรื่องช่องทางขายแล้ว ฟีเจอร์ของ LnwShop Pro ยังรองรับเรื่อง chat commerce และการยิงโฆษณาผ่าน Facebook Dynamic Ads และ Google Shopping Ads ด้วย (รายละเอียดฟีเจอร์)
คุณณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข ผู้ร่วมก่อตั้ง LnwShop ยังเปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันมีร้านค้าอยู่บนแพลตฟอร์มกว่า 850,000 ร้าน และต้องการอำนวยความสะดวกให้ร้านค้าเพิ่มยอดขายให้ได้มากขึ้น จึงพัฒนาเวอร์ชัน Pro เข้ามาเติมช่องว่างตรงนี้ |
# NVIDIA วางขายจีพียูรุ่นท็อปสุด GeForce RTX 3090 Ti ราคาเริ่มต้น 1,999 ดอลลาร์
NVIDIA เริ่มวางขาย GeForce RTX 3090 Ti จีพียูรุ่นท็อปสุดของสถาปัตยกรรม Ampere ที่เคยพรีวิวไว้เมื่อต้นปี
RTX 3090 Ti มีจำนวน CUDA core ที่ 10,752 คอร์ มากที่สุดในจีพียูตระกูล GeForce ทั้งหมด มีสมรรถนะ 40 TFLOPS แรม 24GB GDDR6X 21Gbps ถ้าเทียบกันแล้วแรงขึ้นจากรุ่นท็อปของเจนก่อนคือ RTX 2080 Ti 60% และแรงขึ้นจาก NVIDIA Titan RTX 55%
ราคาเริ่มต้นของ RTX 3090 Ti คือ 1,999 ดอลลาร์ แพงขึ้น 500 ดอลลาร์จาก 3090 ตัวปกติที่ขาย 1,499 ดอลลาร์
ตามธรรมเนียมของ NVIDIA จะออกการ์ดสถาปัตยกรรมใหม่ทุกรอบ 2 ปี และสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งเปิดตัวสถาปัตยกรรม Hopper สำหรับจีพียูฝั่งเซิร์ฟเวอร์ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราก็น่าจะได้เห็น GeForce RTX ซีรีส์ 40 ที่เป็น Hopper ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ที่มา - NVIDIA |
# Dyson เปิดตัวหูฟังรุ่นแรกของบริษัท กรองอากาศได้ในตัว วางขายฤดูใบไม้ผลินี้
Dyson เปิดตัวหูฟังตัดเสียงรบกวนแบบบลูทูธรุ่นแรกของบริษัท ชื่อ Dyson Zone แต่ยังไม่ทิ้งคอนเซปต์ความล้ำด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอากาศ เพราะเป็นหูฟัง over-ear ที่สามารถกรองอากาศได้ โดยจะดูดอากาศมากรองทางหูฟัง และปล่อยออกมาที่ด้านหน้าของผู้ใช้ ที่จะไม่ได้สัมผัสกับใบหน้าโดยตรง แต่จะปล่อยอากาศบริสุทธิ์ออกมาบริเวณใกล้ปากและจมูก เพื่อให้หายใจเข้าไปได้แทน
ตัวที่ปล่อยอากาศด้านหน้าสามารถเปิดปิดได้ ปรับเปลี่ยนความแรงได้ มีระบบอัตโนมัติที่ใช้ accelerometer จับความเร็วของผู้ใช้ เพื่อตรวจสอบว่ากำลังวิ่งอยู่หรือไม่ และปรับแรงลมให้แรงขึ้นตามอัตโนมัติ และสามารถถอดเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์เพื่อใช้ร่วมกับหน้ากากที่ปิดใบหน้าได้
ส่วนตัวช่วยในการหายใจและอุปกรณ์ต่างๆ ใช้ระบบแม่เหล็กยึด สามารถถอดออกได้หากต้องการใช้แค่หูฟัง ตัวหูฟังเองมี Active Noise Canceling มีโหมด Transparency และชาร์จผ่าน USB-C เชื่อมต่อผ่าน Dyson Link แต่ยังไม่ระบุความจุแบตเตอรี ชั่วโมงการใช้งาน รวมไปถึงยังไม่เปิดเผยราคา เปิดเผยแค่วางจำหน่ายฤดูใบ้ไม้ผลิ หรือเดือนกันยายน-พฤศจิกายนปีนี้
ที่มา - The Verge |
# IBM’s Data Fabric Solution ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ปัจจุบันนี้หลายๆ องค์กรได้นำเอาข้อมูลมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ (Data Driven Organization) เพื่อให้การบริหารและการตัดสินใจต่างๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในเกือบทุกองค์กรก็คือการที่ไม่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่แยกกันอยู่คนละระบบ, ชนิดของข้อมูลที่มีหลากหลายประเภทและความซับซ้อนในการรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ ซึ่งจากการวิจัยพบว่ามีข้อมูลถึง 68%¹ ไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์หรือใช้งานให้เกิดประโยชน์ และ 82%² ขององค์กรส่วนใหญ่มีการบริหารจัดการและเก็บข้อมูลแยกออกจากกัน แบ่งเป็นระบบใครระบบมัน หากมีความต้องการที่จะดึงข้อมูลจากระบบอื่นมาใช้งานก็จะเกิดปัญหาในการเข้าถึงข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น ในระบบของธนาคารจะมีระบบต่างๆ อยู่มากมายไม่ว่าจะเป็น ระบบสินเชื่อ ระบบเงินฝาก ระบบบัตรเครดิต โดยในแต่ละระบบก็จะมีการจัดเก็บข้อมูลแยกกัน ในฝั่ง Business User วันหนึ่งระบบบัตรเครดิตต้องการที่จะใช้ข้อมูลสินเชื่อและข้อมูลเงินฝากเพื่อมาวิเคราะห์ จะต้องมีการทำเรื่องเพื่อขอสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลจากระบบอื่น เพื่อที่จะได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการและน่าเชื่อถือ ทำให้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการในส่วนนี้ค่อนข้างมาก ส่วนในฝั่ง IT การจะเก็บข้อมูลของแต่ระบบก็อาจจะมีการจัดเก็บที่แตกต่างกัน Database ที่ใช้งานก็อาจจะต่างยี่ห้อกัน ทำให้การที่จะดึงข้อมูลจาก Database ต่างยี่ห้อหรือต่าง Platform กัน ก็จะมีความยุ่งยากและความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งปัญหานี้จะเรียกอีกอย่างว่าการเกิด Data Silo
What’s a Data Fabric?
Data Fabric เป็นสถาปัตยกรรมการบริหารจัดการข้อมูลที่มีการเก็บแบบกระจัดกระจายแยกกันคนละระบบให้มองเห็นข้อมูลเป็นผืนเดียวกันได้ สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลจากที่ไหนก็ได้เสมือนว่าข้อมูลถูกจัดเก็บไว้ที่เดียวกันโดยอาศัยการกำกับดูแลข้อมูลหรือการทำ Data Governance เป็นองค์ประกอบสำคัญ ช่วยให้ User สามารถรู้ได้ว่าข้อมูลที่ต้องการจะดึงเอามาใช้งานนั้นอยู่ที่ไหนและช่วยอธิบายความหมายของข้อมูลได้โดยมี AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ มีการควบคุมและกำหนด Policy ต่างๆ เพื่อควบคุมสิทธิ์และการใช้งานข้อมูลในแต่ละระบบ เช่นมีการทำ Data Masking ในข้อมูลที่มีความ Sensitive เป็นต้น
A data fabric aims at “spanning” a virtual or logical net across disparate/ hybrid data sources.
IBM’s Data Fabric Solution
ปัจจุบัน IBM มี Solution Data & AI Platform ที่ชื่อว่า IBM Cloud Pak for Data เป็น Platform ที่รวมเครื่องมือที่หลากหลายทั้งการทำ Data Management, การทำ Data Governance และการทำ Data Analytics รวมอยู่บน Platform เดียวกัน ทำหน้าที่เชื่อมโยง Data Source จากระบบต่างๆ ทั้งหมดที่อยู่บน Cloud และ On premise ช่วยให้อำนวยความสะดวกในการ Connect ข้อมูลหรือดึงข้อมูลจากที่ไหนก็ได้เพื่อนำมาใช้งานต่อ สามารถบริหารจัดการในเรื่องของ Data Privacy ได้อย่างครอบคลุมทั้งการควบคุมสิทธิ์และการกำหนด Policy ต่างๆ โดยใช้ความสามารถดังต่อไปนี้เพื่อตอบโจทย์การทำ Data Fabric Solution
1.Unified lifecycle ทำหน้าที่ช่วยดูแลในส่วนของ Infrastructure ต่างๆ เช่นการสร้าง Containers, การ deploy, การทดสอบระบบ, การ Monitor รวมถึงการบริหารจัดการ Resource ต่างๆ เป็นต้น
2.Data Self-Service ช่วยให้ Business User สามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพา IT และสามารถเรียกดูข้อมูลได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้ภาษา SQL หรือภาษา Programing ในการเรียกดูข้อมูล
3.Smart Integration ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างและบริหารจัดการกับ Data Source ต่างๆ สามารถทำ Data Ingestion เพื่อรวบรวมข้อมูลรวมกันไว้ที่เดียว, สามารถทำ Data Virtualization เพื่อที่จะมองเห็นข้อมูลต้นทางจาก Source ต่างๆ จากที่เดียว และการทำ Streaming Data หรือการดึงข้อมูลแบบ Real-Time เพื่อดึงข้อมูลจากต้นทางไปใช้งานได้ทันที
4.Augmented Knowledge มีการทำ Data Catalog ผ่าน AI ให้อัตโนมัติ ช่วยผู้ใช้งานสามารถที่จะค้นหาข้อมูล Data Sources ต่างๆ และดูความสัมพันธ์ของข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
5.Unified data governance and security มีความสามารถในการทำ Data Governance แบบครบวงจร การทำ Compliance ต่างๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูล เช่น การทำ Data Polices เพื่อกำหนดเงื่อนไขการใช้งานข้อมูล, การทำ Data Lineage เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวข้อมูลว่าแหล่งที่มาว่ามาจากที่ไหน ผ่านกระบวนการ Process อะไรบ้างและตอนนี้ข้อมูลปลายทางถูกจัดเก็บไว้ที่ไหนรวมไปถึงการทำ Data Privacy ต่างๆ เช่นการกำหนดชุดข้อมูลว่าเป็นข้อมูลไหนเปิดเผยได้ ข้อมูลไหนเป็น Data Sensitive โดยสามารถทำ Data Masking เพื่อไม่ให้ทุกคนมองเห็นข้อมูลจริงทั้งหมด เป็นต้น
The capabilities of the IBM Cloud Pak for Data platform— all of which support AI development and the data fabric
ด้วยความสามารถของ IBM’s Data Fabric solution ช่วยให้ Business user หรือนักวิเคราะห์ข้อมูลสามารถดึงข้อมูลจากระบบต่างๆ ที่อยู่ในองค์กรมาวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องคำนึงถึงแหล่งของ Data Source และมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่นำมาใช้งานนั้นเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ ทำให้การใช้งานข้อมูลที่มีอยู่ในองค์ถูกนำมาใช้งานให้เกิดประสิทธิ์ภาพสูงสุด
IBM’s Data Fabric is connecting knowledge based services to all types of data sources and tools to drive outcomes.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด
โทร 02 311 6881 #7156,7158 หรือ email : [email protected]
เขียนบทความโดย คุณอนุวรรตน์ ชำนาญเวช
Presales Software Specialist
บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด |
# Motorola ขึ้นเบอร์ 3 แบรนด์มือถือในสหรัฐ แทนที่ LG ที่ถอนตัวจากตลาด
แบรนด์ Motorola (ที่ปัจจุบันเป็นของ Lenovo) อาจหายหน้าไปจากบ้านเรามาสักพักใหญ่ๆ แต่จริงๆ แล้ว Motorola ยังทำตลาดอยู่ในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
ล่าสุดบริษัทวิจัยตลาด Counterpoint Research ออกรายงานว่า Motorola กลายมาเป็นแบรนด์มือถืออันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกาแล้ว หลังยอดขายในปี 2021 ทั้งปีแซงหน้า LG ที่ถอนตัวจากธุรกิจนี้ไป (อันดับหนึ่งคือแอปเปิล อันดับสองคือซัมซุง)
ส่วนแบ่งตลาดของ Motorola ตอนนี้อยู่ที่ราว 10% ของตลาด โดยยอดขายในปี 2021 เพิ่มขึ้นถึง 131% จากปี 2020 ซึ่งเป็นผลมาจากการเน้นตลาดกลาง-ล่าง ที่ราคาเครื่องต่ำกว่า 400 ดอลลาร์ลงไปนั่นเอง (แบรนด์ Moto G)
ที่มา - Counterpoint |
# Windows 11 ออกอัพเดต ยอมให้เปลี่ยนเบราว์เซอร์ดีฟอลต์ได้ง่ายเหมือนเดิมแล้ว
ไมโครซอฟท์ออกอัพเดต KB5011563 ให้ Windows 11 โดยยังมีสถานะเป็น optional update คืออยากได้ต้องกดสั่งอัพเดตเองเท่านั้น
อัพเดตตัวนี้เป็นการแก้บั๊กย่อยๆ หลายตัว แต่ที่สำคัญคือมีคนพบว่า ไมโครซอฟท์ยอมปรับหน้าเลือกเบราว์เซอร์ดีฟอลต์ใน Settings ให้กลับมาเปลี่ยนง่ายเหมือนเดิมแล้ว หลังเปลี่ยนวิธีตั้งค่าให้ยากขึ้นตอนปลายปี 2021 จนถูกวิจารณ์อย่างหนักอยู่พักใหญ่ๆ ว่าบีบให้คนใช้ Edge จนเกินไป
หน้าเลือกเบราว์เซอร์มีปุ่ม Set Default เพิ่มเข้ามาด้านบน
ภาพจาก Rafael Rivera
ที่มา - The Register |
# [ไม่ยืนยัน] แอปเปิลปรับนโยบายซ่อม iPhone ถ้าเป็นเครื่องที่แจ้งหาย ให้ปฏิเสธการซ่อม
เว็บไซต์ MacRumors บอกว่าได้เห็นเอกสารภายในของแอปเปิล กำหนดนโยบายใหม่ให้ปฏิเสธการซ่อม iPhone เครื่องที่ถูกแจ้งว่าหาย
สมาคม GSMA ที่ดูแลมาตรฐานด้านโทรคมนาคม มีฐานข้อมูล GSMA Device Registry ที่เก็บเลขซีเรียลนัมเบอร์และ IMEI ของสมาร์ทโฟนทั่วโลก หากอุปกรณ์ชิ้นนั้นถูกแจ้งว่าหายหรือโดนขโมย GSMA จะอัพเดตลงในฐานข้อมูลนี้ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์สามารถบล็อคการเข้าถึงเครือข่ายได้ เป้าหมายคือการลดประโยชน์ของสมาร์ทโฟนที่ถูกขโมยลง เนื่องจากขโมยไปก็ใช้งานไม่ได้นั่นเอง
ตามข่าวบอกว่า หากพนักงานซ่อมเครื่องของแอปเปิลเช็คกับระบบภายใน ที่เชื่อมกับฐานข้อมูลของ GSMA แล้วพบว่าเป็นเครื่องที่แจ้งหาย ให้ปฏิเสธการซ่อมทันที
ที่มา - MacRumors, ภาพจาก Apple |
# เอาด้วย มือถือ Xiaomi ปรับลดประสิทธิภาพซีพียูตามแอป ยกเว้น Geekbench และบางเกม
หลังก่อนหน้านี้มีกรณี Samsung ลดประสิทธิภาพแอปหลายแอปยกเว้น Geekbench และบางเกม เพื่อประหยัดพลังงานและลดความร้อน จนประสิทธิภาพในแอปทดสอบ ไม่สะท้อนการใช้งานจริง ทำให้ซีอีโอบริษัทต้องออกมาขอโทษ ล่าสุด John Poole ผู้ก่อตั้ง Primate Labs ทีมพัฒนาแอปทดสอบ Geekbench ออกมาโพสต์ทวิตเตอร์ว่าพบพฤติกรรมคล้ายกันบนมือถือ Xiaomi
Poole ทดสอบด้วยการลองเปลี่ยน app identifier ทำให้ Xiaomi Mi 11 มองเห็นแอป Geekbench เป็นเกม Fortnite และลองรันทดสอบ พบว่าคะแนน single-core ลดลง 30% ส่วน multi-core ลดลง 15% เขาระบุว่ากับเกมเช่น Genshin Impact ก็พบผลแบบเดียวกัน รวมถึงชี้แจงกับ Android Police ว่ากำลังเตรียมนำผลทดสอบของมือถือ Xiaomi ออกจากฐานคะแนน Geekbench ภายในสัปดาห์นี้
เว็บไซต์ Android Police เองก็ทำการทดสอบข้อสงสัยนี้ด้วยเช่นกัน บนมือถือ Xiaomi 12 Pro และรุ่นรองลงมาอย่าง Xiaomi 12x พบข้อสังเกตเดียวกัน คือประสิทธิภาพเมื่อหลอกเครื่องว่า Geekbench เป็น Netflix หรือ Chrome น้อยกว่าเมื่อทดสอบแบบปกติ ยกเว้นแค่ การหลอกว่าเป็น Genshin Impact ใน Xiaomi 12 Pro ที่ประสิทธิภาพใกล้เคียงการทดสอบจริง
การปรับประสิทธิซีพียูภาพตามแอปที่ใช้ อาจเป็นวิธีประหยัดพลังงานและจำกัดความร้อนที่มีประโยชน์ แต่ปัญหาที่เกิดในกรณีเหล่านี้คือทำให้ผลคะแนนในแอปทดสอบ ไม่สะท้อนการใช้งานจริง คงต้องรอดูในอนาคตว่าแบรนด์มือถือต่างๆ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพื่อให้สามารถปรับประสิทธิภาพซีพียูให้เหมาะสม และให้แอปทดสอบสะท้อนการใช้งานจริงได้เช่นกัน
ที่มา - John Poole, Android Police |
# แชร์ประสบการณ์ ฝึกจริง ทำงานจริง กับโครงการนักศึกษาฝึกงานของธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารชั้นนำของประเทศไทยที่แม้ในยุค 4.0 ก็ไม่หยุดพัฒนา และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาระบบธุรกิจธนาคารอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ย่อมต้องใช้บุคลากรคุณภาพ ทั้งรุ่นเก๋าที่มีประสบการณ์ และน้องๆ หน้าใหม่ไฟแรงที่มีใจรักเทคโนโลยี
โครงการนักศึกษาฝึกงานของธนาคารกรุงเทพฯ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรและสถานศึกษา ที่ดำเนินการมากว่า 10 ปี เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษา ได้นำความรู้จากการเรียนมาปฏิบัติ และฝึกงานในสภาวะการทำงานจริง ซึ่งจะได้ใช้ทั้งฮาร์ดสกิล และซอฟต์สกิลในการแก้ไขปัญหา ทั้งปัญหาเรื่องงาน และปัญหาอื่นที่ต้องเจอในสถานที่ทำงานจริง
นำความรู้ในห้องเรียน มาเติมเต็มด้วยทักษะในการทำงานจริง… Project Based Learning
คุณปตุพร บาลเย็น AVP (พี่แมว) AVP สรรหาและจัดรับพนักงาน สายทรัพยากรบุคคล และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนักศึกษาฝึกงานธนาคารกรุงเทพฯ ได้ให้ข้อมูลกับ Blognone ว่าโครงการนักศึกษาฝึกงานเปิดรับนักศึกษาทั้งภาคฤดูร้อน และการฝึกงานภาค “สหกิจศึกษา” โดยจะเน้นการนำทักษะความรู้จากการเรียนหรือ“Hard Skills” มาบรรจบกับทักษะอื่นๆที่เรียกว่า “Soft Skills” เพื่อการบริหารงานตามที่ได้รับมอบหมาย อีกทั้งยังเปิดกว้างในการนำเสนอ แบ่งปันข้อคิดเห็น ในช่วงของการฝึกงานจนกระทั่งจบโครงการ จนเกิดชิ้นงานที่ถูกนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ได้จริงได้ในอนาคต
พี่แมวเล่าว่า หลังจากนักศึกษาฝึกงานผ่านขั้นตอนการคัดเลือกแล้ว จะได้รับมอบหมายหน้าที่และโครงการให้ดูแลรับผิดชอบ โดยงานที่มอบหมายเสมือนกับงานที่มอบหมายให้กับพนักงานของธนาคาร แต่น้องๆ นักศึกษาจะมีพี่เลี้ยงที่มีความรู้และความชำนาญในด้านนั้นๆ คอยให้คำปรึกษาแนะนำ และดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นโอกาสให้ได้ฝึกทักษะหลายๆทักษะที่จำเป็นในการทำงานได้แก่ การทำงานร่วมกันและการทำงานเป็นทีม (Collaboration) การวางแผนอย่างรอบคอบ (Project Management) การติดตามผลและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (Following up & Problem Solving) รวมถึงมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย ความรู้สึกเป็นเจ้าของในงานที่ทำ (Accountability/Ownership)
นอกจากนี้ในช่วงระหว่างการฝึกงาน โครงการฯ ยังได้เสริมกิจกรรมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน คือกิจกรรม “BBL Knowledge Sharing” โดยตัวเเทนผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากสายงาน มาแชร์ความรู้และประสบการณ์การทำงานร่วมกันกับน้องๆ นักศึกษา ที่จะผลัดกันมานำเสนอความคืบหน้าและความรู้ จากโครงการที่ได้ฝึกปฏิบัติงาน
ซึ่งนอกจากจะเพิ่มพูนความรู้ ระหว่างนักศึกษาด้วยกันเเล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ของทีมพี่เลี้ยงที่ดูแล และผู้บริหารที่เข้ามาร่วมกิจกรรม ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้น้องๆ ได้ฝึกทักษะการนำเสนองาน การเจรจากับหน่วยงานทางธุรกิจ การแก้ไขปัญหา และการทำงานเป็นทีม นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการอีกด้วย
โครงการนักศึกษาฝึกงาน เป็นโครงการที่ดีเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในทุกๆด้านที่จำเป็น เพื่อพัฒนาศักยภาพให้พร้อมที่สุด ก่อนออกมาสู่โลกการทำงานหลังจบการฝึกงานและจบการศึกษา ธนาคารกรุงเทพฯ เองก็พร้อมที่จะหยิบยื่นโอกาสให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทุกคน ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จและร่วมพัฒนาองค์กร เพื่อเกิดสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า ตามคติ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ของธนาคารกรุงเทพฯ
คุณปตุพร บาลเย็น
AVP สรรหาและจัดรับพนักงาน สายทรัพยากรบุคคล ผู้รับผิดชอบโครงการนักศึกษาฝึกงาน ธนาคารกรุงเทพฯ
“Win 4 All” การฝึกงานที่ต้องได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย
คุณพิศวิมล ฉัตรสิริรุ่งเรือง (พี่หลิน) AVP, Center of Excellence หนึ่งในพี่เลี้ยงของโครงการนักศึกษาฝึกงาน ได้พูดถึงคุณลักษณะของนักศึกษาฝึกงานที่ต้องการ คือต้องเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ พร้อมที่จะเปิดรับความรู้ใหม่ๆ แบบน้ำไม่เต็มแก้ว รวมถึงต้องกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าพูด กล้านำเสนอ เป็นคนที่พร้อมทั้งในด้านการรับและส่งความรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน
พี่หลิน ได้พูดถึงโครงการนักศึกษาฝึกงานเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย หรือ “Win 4 All” ที่ให้ประโยชน์กับทั้งนักศึกษา สถานประกอบการ และสถาบันการศึกษา ในส่วนของนักศึกษาที่จะได้รับโอกาสและประโยชน์จากการทำงานจริงกับทีมงานที่มีความรู้ความชำนาญ ได้ฝึกทักษะการสื่อสาร และการนำเสนอผลงาน ความก้าวหน้าของโครงการ รายงานข้อมูล รวมทั้งมีโอกาสได้รับการพิจารณาเพื่อรับเข้าทำงานได้ก่อนคนอื่นๆ และยังได้ Connection & Network จากพี่ๆและเพื่อนๆที่มาฝึกงาน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากๆและหาที่ไหนไม่ได้
สถานศึกษาเองก็จะได้รับทราบ Feedback เพื่อพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาบัณฑิตได้ตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ทำให้เกิดความร่วมมือกับสถานประกอบการ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาของ และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสถานศึกษา รวมถึงโอกาสที่จะได้บุคลากรที่มีคุณภาพ มีความพร้อมทั้งทักษะและความรู้ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรต่อไป
และในส่วนของพี่เลี้ยงที่คอยดูแลให้คำแนะนำในการฝึกงาน อย่างพี่หลินก็ได้เปิดโลกความคิดสร้างสรรค์ เปิดมุมมองใหม่ๆ จากน้องๆ นักศึกษาฝึกงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง มีแนวคิดและความสนใจใหม่ๆ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์จากการคิดนอกกรอบในการทำงานร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็ได้ฝึกทักษะการสอนด้าน Training, Coaching, Mentoring และ Leadership Skill ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการทำงานและการบริหารทีมเพื่อพัฒนาตัวเองเตรียมความพร้อมเพื่อเติบโตต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน
คุณพิศวิมล ฉัตรสิริรุ่งเรือง
AVP, Center of Excellence สายปฏิบัติการสนับสนุน
พี่เลี้ยงประจำโครงการนักศึกษาฝึกงาน ธนาคารกรุงเทพฯ
ฝึกจริง ทำงานจริง เรียนรู้จริง - Real Learning Real Action
ส่วนในด้านนักศึกษาฝึกงานที่มีโอกาสได้เข้ามาร่วมโครงการในครั้งนี้ อย่างน้องอนุชิต แซ่หลอ, น้องศุภโชค วัฒนพิมล และน้องธนชัย มะโรงมืด จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มาแชร์ประสบการณ์การฝึกงานและความประทับ จากการทำงานจริง ร่วมกับพี่ๆ ทีมสายงานเทคโนโลยี (IT) และทีม Center of Excellence
นายศุภโชค วัฒนพิมล (น้องดี) เล่าถึงกระบวนการคัดเลือกเข้าฝึกงาน ที่ต้องเจอทั้งการสัมภาษณ์ การทดสอบ เพื่อค้นหาความถนัดและหน่วยงานที่จะเข้าฝึกงานที่หมาะสมตามที่เราสนใจ ซึ่งเมื่อผ่านด่านนี้ไปแล้ว ก็จะได้คุยกับพี่ๆหัวหน้างานเพื่อพูดคุยกันอีกครั้งเพื่อมอบหมาย Project ที่ชอบและเหมาะสมกับความสามารถที่มี ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มีไว้เพื่อให้นักศึกษาฝึกงานได้พัฒนาทักษะ ความรู้ที่ตรงตามความสามารถและความสนใจจริงๆ เช่นน้องดีที่ได้มีโอกาสได้พัฒนา Application เพื่อช่วยในการจัดทำกระบวนการจัดการข้อมูลทางการเงินในระบบ (Data Workflow, Processing and Filtering)
นายธนชัย มะโรงมืด (น้องณุ) ได้ร่วมพัฒนาระบบ ECM หรือ ระบบแสกนและจัดการเอกสารเข้าระบบของธนาคารกรุงเทพฯ โดยมีพี่เลี้ยงคอยสนับสนุน ให้คำแนะนำ ทั้งด้านการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต รวมถึงได้ฝึกการศึกษาด้วยตัวเอง (Self Learning) เรื่องความรู้ใหม่และการได้เข้าร่วมการอบรมร่วมกับพี่ๆพนักงานของธนาคารอยู่เสมอ เพื่อนำความรู้มาปรับใช้ในการฝึกงานและการทำงานในอนาคต
นอกจากนี้ยังได้เห็นถึงกระบวนการทำงาน การโฟกัสในงานที่ได้รับมอบหมาย ความตั้งใจในการทำงานมากขึ้น พร้อมทั้งได้ฝากถึงเพื่อนๆ คนอื่นๆ ว่าการฝึกงานที่ธนาคารกรุงเทพ ที่ไม่ได้แค่ประสบการณ์การทำงานอย่างเดียวแน่นอน แต่ยังได้เกร็ดความรู้อื่นๆ ได้ฝึกทักษะหลายๆด้าน ทั้ง Technical Skill และ Soft Skill ที่อาจหาไม่ได้จากการเรียนในห้องเรียนอีกด้วย
อนุชิต แซ่หลอ (น้องเหวิน) ได้เข้ามาร่วมโครงการนักศึกษาฝึกงานธนาคารกรุงเทพฯ และได้รับมอบหมายด้าน IDE Web Application ที่ใช้สำหรับ Coding Test เพื่อรองรับผู้สมัครงานที่ต้องการทำงานกับธนาคารให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
น้องเหวินเล่าความประทับใจ จากประสบการณ์การฝึกงานที่หาไม่ได้จากการเรียนในห้องเรียน ซึ่งบางช่วงแม้จะมีความกดดันบ้างเนื่องจากต้องฝึกงานแบบ Work From Home แต่ก็ทำให้ได้ฝึกทักษะในการแก้ไขปัญหา การสรุปงาน เพื่อหารือและรายงานให้พี่เลี้ยงได้ทราบถึงความคืบหน้าและปัญหาของโครงการที่ได้รับมอบหมาย และหา Solutions ในการพัฒนางานต่อไป ทำให้รู้สึกว่าได้เติบโตไปอีกขั้น ซึ่งอยากจะชวนเพื่อนๆ ให้ลองเปิดโอกาสตัวเอง ได้มาฝึกงานกับธนาคารกรุงเทพฯ และรับประกันว่าตลอดระยะเวลาการฝึกงาน ทุกคนจะได้รับความรู้และประสบการณ์เพิ่มพูนแบบเต็มที่อย่างแน่นอน
ถ้าพร้อมแล้ว มาร่วมสร้างประสบการณ์ สร้างความพร้อม เพื่อเติบโตในสายอาชีพกับธนาคารกรุงเทพฯ ได้เลย
ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาสถาบันใด หรือคณะวิชาใด ถ้ามีความพร้อม และต้องการฝึกงานกับองค์กรธนาคารชั้นนำของประเทศ ที่ไม่ใช่แค่ได้ความรู้ แต่ยังได้รับทักษะในการทำงานจริง ฝึกทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การบริหารงานโครงการและเทคนิคการนำเสนอผลงาน ที่ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน รวมถึงได้รับคำแนะนำและการดูแลจากพี่ๆ ผู้เชี่ยวชาญ อย่างใกล้ชิด
โครงการนักศึกษาฝึกงาน ธนาคารกรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะให้ประโยชน์กับน้องๆ นักศึกษาแบบเข้มข้น พร้อมปูทางสำหรับเส้นทางสายอาชีพและสร้างความพร้อม เสริมศักยภาพในการทำงาน สอดรับกับแนวทางการทำงานเพื่อสร้างคุณค่าสู่อนาคตที่ยั่งยืนของธนาคารกรุงเทพฯ “Creating Value for a Sustainable Future” |
# Google Docs เพิ่มการรองรับ Markdown Syntax ทั้ง Heading, Bold และ Link
Google Docs เพิ่มการรองรับ Markdown สำหรับเวอร์ชันบนเว็บ เพื่อให้การเขียนเอกสารทำได้ลื่นขึ้นกว่าเดิม วิธีการคือ Google Docs จะใช้วิธีเปลี่ยนรูปแบบตัวอักษรอัตโนมัติเหมือนการแก้คำสะกด (Autocorrect) หากมีการพิมพ์ฟอร์แมตของ Markdown นำหน้า เช่น # Google Docs ก็จะเปลี่ยนเป็นฟอร์แมต Heading 1 ให้
ก่อนหน้านี้ Google Docs รองรับ Markdown เฉพาะการสร้างหัวข้อ, ลำดับ เท่านั้น
ผู้ใช้งานต้องเปิดการรองรับ Markdown นี้เอง โดยไปที่ Tools > Preferences และเลือก Automatically detect Markdown ในรายการที่ต้องการ โดยตอนนี้รองรับฟอร์แมตพื้นฐานได้แก่ Heading, Italic, Bold, Bold + Italic, Strikethrough และ Link
คุณสมบัตินี้จะทยอยเปิดใช้งานให้กับผู้ใช้ทุกคนภายใน 15 วันนับจากวันนี้
ที่มา: กูเกิล |
# Facebook Messenger เพิ่มทางลัดแท็กหาทุกคนในห้องแชทด้วย @everyone
Facebook Messenger ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ทางลัดใหม่สองอย่าง มีผลกับผู้ใช้ Messenger บน Android และ iOS ซึ่งคนที่ใช้แอปแชทสำหรับการทำงานที่มีกลุ่มย่อยเยอะเช่น Slack น่าจะคุ้นเคยอยู่แล้ว
ฟีเจอร์แรกคือ @everyone โดยเมื่อพิมพ์แท็กนี้ในห้องแชทแบบกลุ่ม ทุกคนในห้องแชทนั้นจะได้รับการแจ้งเตือน เหมาะกับการสนทนาในคำถามที่ต้องการคำตอบตอนนั้น
อีกฟีเจอร์ทำงานตรงข้ามกันคือ /silent (ใน Instagram ใช้ @silent) แม้ผู้ใช้คนนั้นเปิดการแจ้งเตือนไว้ แต่หากเราพิมพ์ /silent ไป ข้อความนั้นจะไม่ไปแจ้งเตือนรบกวน เหมาะกับการส่งข้อความในเวลาที่อีกฝ่ายน่าจะนอนหลับพักผ่อนอยู่
นอกจากนี้ Messenger ยังเตรียมเพิ่มทางลัดอีกหลายรายการในอนาคต เช่น /Pay สำหรับการจ่ายเงินให้เพื่อน (รองรับเฉพาะอเมริกา), /gif สำหรับเรียกรายการ GIF ไว้ส่ง (รองรับเฉพาะ iOS) และ /shrug กับ /tableflip เพื่อเรียกอีโมติคอนคลาสสิก ¯_(ツ)_/¯ กับ (╯°□°)╯︵ ┻━┻ นั่นเอง
ที่มา: Meta |
# ? Chrome ออกเวอร์ชัน 100
การเดินทางอันยาวนานของ Chrome มาสู่เวอร์ชันที่ 100 ทั้งบนเดสก์ท็อปและมือถือ
ของใหม่ใน Chrome 100 ได้แก่ ไอคอนใหม่ที่อัพเดตเล็กน้อย, รองรับ API ใหม่คือ Multi-Screen Window Placement API และ Digital Goods API
ส่วน Chrome for Android มีปรับหน้าตาหลายๆ ส่วนให้เข้าธีม Material You มากขึ้น
ที่มา - Chrome Releases, 9to5google |
# Nintendo เลื่อนเปิดตัวภาคต่อ The Legend Of Zelda: Breath Of The Wild เป็นปี 2023
นินเทนโดรายงานความคืบหน้าของเกมภาคต่อ The Legend Of Zelda: Breath Of The Wild ซึ่งเดิมประกาศไว้ว่าจะวางจำหน่ายในปี 2022 โดยบอกว่าเกมจะเลื่อนออกไปเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2023 (มีนาคม-มิถุนายน)
Eiji Aonuma โปรดิวเซอร์ของเกมกล่าวว่าเพื่อให้ประสบการณ์เล่นเกม มีความพิเศษบางอย่าง การพัฒนาเกมจึงต้องใช้เวลานานขึ้น และต้องขออภัยผู้เล่นที่รอคอยเกมนี้อยู่
นินเทนโดยังไม่มีชื่อทางการของเกมภาคนี้ โดยยังใช้คำว่าภาคต่อ (Sequel) นอกจากนี้ในคลิปแถลง นินเทนโดยังปล่อยตัวอย่างเล็กน้อยของเกมเพิ่มเติม
ที่มา: นินเทนโด |
# ไมโครซอฟท์เปิด GitHub Copilot ให้ผู้ใช้ Visual Studio 2022
ไมโครซอฟท์ปล่อยส่วนขยายสำหรับ Visual Studio 2022 เพื่อใช้งานบริการ GitHub Copilot บริการปัญญาประดิษฐ์ช่วยเขียนโค้ดที่ไมโครซอฟท์ร่วมมือกับ OpenAI จากเดิมรองรับเฉพาะ Visual Studio Code และ GitHub Codespaces เท่านั้น
ตัวส่วนขยายนี้เปิดให้ดาวน์โหลดได้ทุกคนแต่จะใช้บริการได้ต่อเมื่อได้เข้าโครงการทดสอบบริการ Copilot มาก่อนแล้วเท่านั้น เมื่อเปิดใช้งานจะมีโค้ดแนะนำจากปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาขณะพิมพ์ โดยแสดงโค้ดที่ปัญญาประดิษฐ์คาดว่าตรงความต้องการที่สุดแต่สามารถเลือกโค้ดแนะนำอื่นๆ ได้หาก Copilot แนะนำมาหลายชุด
ตอนนี้บริการ Copilot ยังคงจำกัดผู้เข้าร่วม หากต้องการใช้งานก็ต้อลงชื่อรอคิวเท่านั้น
ที่มา - GitHub Blog |
# Ronin เครือข่าย Layer-2 ถูกแฮกถอนโทเค็นไปรวมสองหมื่นล้านบาท
Ronin Network เครือข่าย sidechain สำหรับการทำ transaction ความเร็วสูงสำหรับ Ethereum ถูกแฮกถอนเงินออกไปทั้ง USDC และ ETH รวมมูลค่ากว่าสองหมื่นล้านบาท
การแฮกครั้งนี้อาศัยการแฮกที่ตัวโหนด validator โดยตรง โดยใน Ronin มีทั้งหมด 9 โหนด และต้องยืนยันธุรกรรมอย่างน้อย 5 โหนด คนร้ายสามารถแฮก 4 โหนดของ Sky Mavis และอีกหนึ่งโหนดของ Axie DAO ที่แม้จะเป็นผู้สร้างโหนดคนละราย แต่กลับเปิดให้ โหนดของ Sky Mavis เซ็นยืนยันธุรกรรมแทนเอาไว้ ทำให้คนร้ายยืนยันธุรกรรมได้สำเร็จ
Ronin Network ได้รับความนิยมสูงในหมู่คน Game-Fi และ NFT เป็นรองเพียง Ethereum หลักเท่านั้น ตัวเครือข่ายอาศัยการยืนยันแบบ Proof-of-Authority
รายการธุรกรรมแสดงให้เห็นว่าคนร้ายโอนโทเค็นออกจาก Ronin Bridge ไปได้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ทาง Ronin เพิ่งรู้ตัววันนี้หลังจากผู้ใช้รายงานว่าไม่สามารถถอน Ethereum ออกจากระบบได้ และตอนนี้กำลังพยายามทำงานกับหน่วยงานทางกฎหมายเพื่อตามเงินกลับมา
ที่มา - Ronin
ปริมาณธุรกรรมของ Ronin เทียบกับ Ethereum เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภาพโดย Ronin |
# รีวิวเทียบ Redmi Note 11 Pro กับ Redmi Note 11 Pro 5G คุ้มมั้ยที่จะจ่ายเพิ่มเกือบ 2,000 บาท?
เมื่อเดือนก่อน Redmi แบรนด์แยกของ Xiaomi เพิ่งเปิดตัวมือถือระดับกลางรุ่นใหม่ คือ Redmi Note 11 Pro 5G ซึ่งมาพร้อมกับรุ่นรองที่ตัดคำว่า 5G ออกไปอย่าง Redmi Note 11 Pro ซึ่งทั้งสองรุ่นก็มีสนนราคาแตกต่างกันเกือบ 2 พันบาท ที่ราคา 10,990 บาท ในรุ่น 5G กับ 8,999 บาท ของรุ่นธรรมดา
วันนี้ Blognone จะมาลองให้ดูว่านอกจากเรื่องรองรับกับไม่รองรับเครือข่าย 5G แล้ว Redmi Note 11 Pro กับ Note 11 Pro 5G เนี่ย จะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้วสิ่งที่ได้เพิ่มมาในรุ่น 5G จะคุ้มค่ากับเงินเกือบ 2 พันบาทที่ต้องจ่ายเพิ่มหรือไม่ โดยในรีวิวนี้ หากมีภาพ 2 เครื่องคู่กัน รุ่น 5G จะอยู่ฝั่งซ้าย และรุ่นธรรมดาจะอยู่ฝั่งขวามือเสมอ
Disclaimer: รีวิวนี้ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จาก Xiaomi ประเทศไทย
สเปกเบื้องต้น
Redmi Note 11 Pro 5G
หน้าจอ AMOLED 6.67 นิ้ว ความละเอียด 1080 x 2400 พิกเซล อัตรารีเฟรช 120Hz
ชิปประมวลผล Snapdragon 695
จีพียู Adreno 619
แรม 8GB หน่วยความจำภายใน 128GB
กล้องหน้า 16MP
3 กล้องหลัง - กล้องหลัก 108MP f/1.9 กล้องอัลตร้าไวด์ 8MP f/2.2 กล้องมาโคร 2MP
แบตเตอรี่ 5000 mAh ชาร์จเร็ว 67W
ลำโพงคู่บนล่าง
กันน้ำ กันฝุ่น IP53
รัน Android 11 ครอบด้วย MIUI 13
Redmi Note 11 Pro
หน้าจอ AMOLED 6.67 นิ้ว ความละเอียด 1080 x 2400 พิกเซล อัตรารีเฟรช 120Hz
ชิปประมวลผล Mediatek G96
จีพียู Mali-G57 MC2
แรม 8GB หน่วยความจำภายใน 128GB
กล้องหน้า 16MP
4 กล้องหลัง - กล้องหลัก 108MP f/1.9 กล้องอัลตร้าไวด์ 8MP f/2.2 กล้องมาโคร 2MP กล้อง depth sensor 2MP
แบตเตอรี่ 5000 mAh ชาร์จเร็ว 67W
ลำโพงคู่บนล่าง
กันน้ำ กันฝุ่น IP53
รัน Android 11 ครอบด้วย MIUI 13
ความเหมือนที่แตกต่าง
ทั้งสองรุ่นหน้าตาเหมือนกันเป๊ะเมื่อมองจากด้านหน้า หน้าจอทั้งสองรุ่นเป็นหน้าจอขนาด AMOLED 6.67 นิ้ว ความละเอียด 1080 x 2400 พิกเซล และอัตรารีเฟรช 120Hz เท่ากัน และรองรับ HDR 10 ทั้งสองรุ่น ระดับความสว่างไม่แตกต่างกัน (แม้แสงในรีวิวอาจสร้างความแตกต่างไปบ้าง) ส่วนซอฟต์แวร์ด้านในเหมือนกันทุกระเบียดนิ้ว
ส่วนที่แตกต่างคือด้านหลัง ที่รุ่น 5G จะมีสัญลักษณ์ 5G ต่อท้ายแบรนด์ Redmi ส่วนรุ่นธรรมดาจะไม่มี และโมดูลกล้องหลังที่ 5G จะมีกล้องแค่ 4 ตัว ส่วนรุ่นธรรมดามี 5 ตัว น่าสนใจเหมือนกันว่าทำไมรุ่น 5G จึงมีกล้องน้อยกว่า โดยจะถูกตัดกล้อง depth sensor ออกไป และตรงเลนส์บนโมดูลจะกลายเป็นสัญลักษณ์ AI แทน ส่วนกล้องหน้าไม่มีข้อแตกต่าง ทั้งรูปลักษณ์และสเปก
เวลาทั้งสองเครื่องแตกต่างกันเพราะขณะถ่ายภาพยังไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ข้อแตกต่างแรก ชิปประมวลผล
Redmi Note 11 Pro 5G มาพร้อมกับชิป 5G อย่าง Snapdragon 695 ส่วน Note 11 Pro เป็น Mediatek G96 ทั้งสองชิปเซ็ตจะเป็นชิปแบบ Octa-core แปดแกนเหมือนกัน แต่ความเร็วแกนหลักสูงสุด Snapdragon 695 สูงกว่าเล็กน้อยที่ 2.2 Ghz เทียบกับ 2.05 Ghz ของ Mediatek G96
ผลทดสอบใน Geekbench 5 ชิป Snapdragon 695 ทำคะแนนแบบ single-core ได้ 696 คะแนน ส่วน multi-core ได้ 1734 คะแนน เทียบกับ Mediatek G96 ที่ทำคะแนน single-core ได้ 522 คะแนน และ multi-core ได้ 936 คะแนน
ในการใช้งานจริง ไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างอะไร ทั้ง Snapdragon 695 และ Mediatek G96 รองรับการใช้งานทั่วไปได้แบบไม่มีปัญหา ในด้านคะแนนคงต้องถือว่า Snapdragon 695 เร็วกว่า Mediatek G96 เล็กน้อย และข้อแตกต่างน่าจะชัดขึ้นเมื่อใช้งานหลายแอปพร้อมกัน หรือใช้งานแอปที่ใช้แกนของซีพียูได้หลายแกน ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้ใช้งาน
ผลทดสอบ Redmi Note 11 Pro 5G (Snapdragon 695)
ผลทดสอบ Redmi Note 11 Pro (Mediatek G96)
กล้องถ่ายภาพ
อีกจุดที่แตกต่างกันคือกล้องถ่ายภาพ โดย Redmi Note 11 Pro 5G จะถูกตัดเอากล้อง depth sensor ออกไป นอกนั้นสเปกของกล้องทั้งสองรุ่นที่มีก็เท่ากันทั้งจำนวนพิกเซลและรูรับแสง รวมถึงใช้เซ็นเซอร์รับภาพขนาด 1/1.52 นิ้วเท่ากัน แต่คุณภาพภาพถ่ายต่างกันเล็กน้อย เช่นรายละเอียด สีสันของภาพ ที่แม้ Redmi Note 11 Pro 5G จะมีกล้องน้อยกว่า แต่ภาพกลับมีสีสันสดกว่า ส่วน Note 11 Pro ได้เปรียบในด้านการโฟกัสจาก depth sensor สังเกตได้จากขอบของดอกไม้ในภาพถ่ายระยะใกล้
ตัวอย่างภาพถ่ายจาก Redmi Note 11 Pro 5G เทียบกับ Redmi Note 11 Pro
ภาพถ่ายกล้องหลัก Redmi Note 11 Pro 5G
ภาพถ่ายกล้องหลัก Redmi Note 11 Pro
ภาพถ่ายกล้องหลัก Redmi Note 11 Pro 5G
ภาพถ่ายกล้องหลัก Redmi Note 11 Pro
ภาพถ่ายกล้องหลัก Redmi Note 11 Pro 5G
ภาพถ่ายกล้องหลัก Redmi Note 11 Pro
ภาพถ่ายกล้องหลัก Redmi Note 11 Pro 5G
ภาพถ่ายกล้องหลัก Redmi Note 11 Pro
ภาพถ่ายกล้องหลัก Redmi Note 11 Pro 5G
ภาพถ่ายกล้องหลัก Redmi Note 11 Pro
ภาพถ่ายระยะใกล้ Redmi Note 11 Pro 5G
ภาพถ่ายระยะใกล้ Redmi Note 11 Pro
ภาพถ่ายกลางคืน
ด้านภาพถ่ายกลางคืน ทั้งสองรุ่นยังทำได้ไม่ดีทั้งคู่ แต่ละรุ่นเร่งแสงจนสีเกิดเพี้ยนในกรณีต่างๆ กัน ไม่ว่าจะ Redmi Note 11 Pro หรือ Note 11 Pro 5G ก็ตาม ในบางจังหวะ กล้อง depth sensor ของ Note 11 Pro รุ่นธรรมดาช่วยเรื่องโฟกัสสำหรับการถ่ายภาพกลางคืนได้ดีกว่า แต่ด้านการประมวลผลแสง Note 11 Pro 5G อาจทำได้ดีกว่า แต่ถ้าจะถึงขั้นเพิ่มเงินเพื่อซื้อรุ่น 5G มาถ่ายภาพตอนกลางคืน ก็ยังไม่น่าจะคุ้มเท่าไร
ภาพกลางคืน โหมดออโต้ Redmi Note 11 Pro 5G
ภาพกลางคืน โหมดออโต้ Redmi Note 11 Pro
ภาพกลางคืน เปิด Night Mode Redmi Note 11 Pro 5G
ภาพกลางคืน เปิด Night Mode Redmi Note 11 Pro
ภาพกลางคืน โหมดออโต้ Redmi Note 11 Pro 5G
ภาพกลางคืน โหมดออโต้ Redmi Note 11 Pro
ภาพกลางคืน เปิด Night Mode Redmi Note 11 Pro 5G
ภาพกลางคืน เปิด Night Mode Redmi Note 11 Pro
สรุป
สุดท้ายแล้ว Redmi Note 11 Pro 5G ยังมีข้อดีกว่าอยู่บ้าง ในด้านชิปเซ็ต Snapdragon 695 ที่เร็วกว่า Mediatek G96 อยู่เล็กน้อย กับการรองรับสัญญาณ 5G ที่ให้ความเร็วสูงกว่าและความหน่วงต่ำกว่า ทำให้อาจใช้งานในอนาคตได้ยาวนานกว่าเมื่อเครือข่าย 5G เป็นที่นิยมมากขึ้น
ด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์อื่นๆ แทบไม่มีข้อแตกต่าง กล้องถ่ายภาพ คุณภาพต่างกันแค่สีสันและรายละเอียดเล็กน้อย ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ควรค่าแก่การเพิ่มเงินขนาดนั้น ทำให้สุดท้ายแล้วปัจจัยหลักว่าคุ้มค่าหรือไม่ น่าจะตามชื่อรุ่น คือผู้ใช้มองว่าระบบ 5G นั้นสำคัญพอจะเพิ่มเงินอีกเกือบ 2 พันบาทหรือเปล่า แต่ถ้าถามผู้เขียน ประหยัดเงินใช้รุ่นธรรมดาไปก่อน แล้วค่อยไปอัพเกรดเป็นมือถือ 5G ในอนาคตก็ไม่เสียหาย |
# ซีอีโอ PlayStation บอกยังไม่มีเกมใหม่ Day 1 บน PS Plus เพราะยังไม่จำเป็น
การเปิดตัว PlayStation Plus โฉมใหม่ที่รวม PlayStation Now เข้ามา เป็นไปตามที่หลายคนคาด แต่สิ่งที่หลายคนสงสัยคือ โซนี่ยังไม่เลือกลงมาลุยตลาดเกม Day 1 ให้เล่นแบบเดียวกับ Game Pass ของไมโครซอฟท์
Jim Ryan ซีอีโอของ PlayStation ให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้กับ GamesIndustry ว่าโมเดลธุรกิจของโซนี่คือลงทุนกับค่ายเกม first party ให้ทำเกมดีๆ ออกมาขายดีๆ แล้วนำรายได้ไปสร้างเกมใหม่ต่อไปเรื่อยๆ หากนำเกมมาให้เล่นแบบ Day 1 จะทำให้วัฎจักรนี้เสียไป บริษัทจะไม่สามารถลงทุนให้กับเกมใหม่ๆ ในระดับเดิมได้อีก
อย่างไรก็ตาม Ryan ยอมรับว่านโยบายนี้ก็อาจไม่คงอยู่ตลอดไป หากสภาพตลาดเปลี่ยน เขายกตัวอย่างว่าเมื่อ 4 ปีก่อนคงไม่มีใครคิดว่าโซนี่จะนำเกมเด่นๆ อย่าง Horizon Zero Dawn หรือ God of War มาลงพีซีเช่นกัน เขาคิดว่าโมเดลการขายเกมของโซนี่ยังใช้ได้ในอนาคตระยะสั้น ส่วนในระยะยาวก็ว่ากันอีกที
Ryan ยังเน้นว่าจุดเด่นของ PlayStation Plus แบบใหม่คือแพ็กเกจรายปี ที่ราคาถูกกว่าจ่ายรายเดือนมาก (แพ็กล่างสุด เดือนละ 9.99 ดอลลาร์ รายปี 59.99 ดอลลาร์ เท่ากับจ่าย 6 เดือน) การจ่ายรายปีจึงคุ้มกว่ามาก
ส่วนแพ็กเกจบนสุดคือ PlayStation Plus Premium (17.99 ดอลลาร์ต่อเดือน) ถือเป็นแพ็กที่จับกลุ่มเฉพาะหน่อย นั่นคือคนชอบเกมเก่าจริงๆ และคนที่ต้องการเล่นผ่านสตรีมมิ่ง ทำให้โซนี่จัดฟีเจอร์นี้อยู่ใน tier บนสุด ไม่เน้นขายในตลาดกว้างเท่ากับแพ็กเกจกลาง (Extra)
Ryan ยังพูดถึงการแข่งขันระหว่าง PS Plus (สมาชิก 48 ล้านคน) กับ Game Pass (สมาชิก 25 ล้านคน) ว่าตลาดเกมต่างจากภาพยนตร์หรือเพลง ที่บริการสมาชิกเหมาจ่ายแบบ Netflix/Spotify มีผลอย่างมาก แต่ตลาดเกมยังมีบริการกลุ่ม live service ที่ส่วนใหญ่เปิดให้เล่นฟรีอยู่แล้ว และมีสภาพเป็นบริการ subscription ในตัวเองอยู่แล้ว
ที่มา - GamesIndustry |
# เปิดตัว PlayStation Plus แบบใหม่รวม PS Now เข้ามา มีสมาชิก 3 ระดับ มีคลังเกมเล่นไม่อั้น
Sony เปิดตัวบริการ PlayStation Plus โฉมใหม่ (โค้ดเนม Spartacus ตามที่เคยหลุดออกมาก่อนหน้านี้) เป็นการรวม PS Plus กับ PS Now เข้าด้วยกัน แล้วแบ่งระดับสมาชิกออกเป็น 3 tiers ตรงตามข่าวหลุดก่อนหน้านี้ โดยเพิ่มสมาชิกระดับ Extra และ Premium เข้ามาจากเดิม
PlayStation Plus Essential ราคา 9.99 ดอลลาร์ต่อเดือน
ได้สิทธิประโยชน์เหมือน PlayStation Plus ในปัจจุบัน คือเกมฟรี 2 เกมต่อเดือน และส่วนลดพิเศษอื่นๆ
สมาชิก PlayStation Plus เดิม จ่ายเท่าเดิม ได้ของเหมือนเดิม ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม
PlayStation Plus Extra ราคา 14.99 ดอลลาร์ต่อเดือน
เพิ่มคลังเกม PS4/PS5 รวมกว่า 400 เกม มีทั้งเกมโซนี่และค่ายอื่น เหมาจ่ายเล่นได้ไม่อั้น แบบดาวน์โหลดเกมมาติดตั้ง
เกมที่ระบุชื่อแล้วคือ Death Stranding, God of War, Marvel’s Spider-Man, Marvel’s Spider-Man: Miles Morales, Mortal Kombat 11, Returnal
PlayStation Plus Premium ราคา 17.99 ดอลลาร์ต่อเดือน
เพิ่มคลังเกมคลาสสิคอีก 340 เกม มีเกม PS1, PS2, PSP ให้เล่นแบบดาวน์โหลด และเกม PS3 แบบสตรีมมิ่ง
ในประเทศที่มี PS Now ให้บริการอยู่ก่อนแล้ว จะสามารถสตรีมเกม PS1, PS2, PS4, PSP เพิ่มได้ด้วย โดยลูกค้า PS Now เดิมจะย้ายมาเป็น PS Plus Premium ให้เลย จ่ายราคาเดิม
ในประเทศที่ไม่มี PS Now ให้บริการ แพ็กเกจนี้เรียกว่า PlayStation Plus Deluxe โดยขายราคาต่ำกว่า Premium
ลองเล่นเกมออกใหม่ฟรี (free trials) แบบจำกัดเวลา
โซนี่บอกว่าจะเริ่มให้บริการ PS Plus แบบใหม่ในตลาดเอเชียบางประเทศก่อน (ไม่บอกว่าประเทศไหนบ้าง) ตามด้วยอเมริกาเหนือ ยุโรป และประเทศอื่นๆ ในระยะถัดไป โดยตั้งเป้าเปลี่ยนระบบใหม่ให้เสร็จภายในครึ่งแรกของปี 2022 ส่วนบัญชี @PlayStation ของสหรัฐอเมริกาบอกว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน
ที่มา - PlayStation Blog |
# กสิกรไทยเตือน มิจฉาชีพใช้ Deepfake ปลอมเป็นตำรวจ วิดีโอคอลหลอกโอนเงิน มีผู้เสียหายแล้วกว่า 6 แสนบาท
ธนาคารกสิกรไทย เตือนภัยมุกใหม่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้ DeepFake ปลอมใบหน้า เสียง และท่าทาง หลอกว่าเป็นตำรวจ วิดีโอคอลกับผู้ใช้ เผยมีผู้ถูกหลอกให้โอนเงินโดยใช้เทคนิคนี้ สูญไปแล้วกว่า 6 แสนบาท
ผู้ใช้รายนี้ได้รับสายเบอร์โทรจากต่างประเทศ อ้างตนเป็นพนักงานของบริษัทขนส่งเอกชนแจ้งเรื่องพัสดุมีของผิดกฎหมาย และขอให้เปิดวิดีโอคอล เพื่อพูดคุยกับตำรวจ แต่ในวิดีโอเป็นตำรวจปลอมที่ใช้เทคโนโลยี DeepFake ให้ภาพขยับแค่ปากและใส่เสียงพูดเชิงข่มขู่ว่าพัสดุที่ส่งเป็นสมุดบัญชีซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นการฟอกเงิน
มิจฉาชีพบอกจะขอตรวจสอบบัญชีด้วยการให้โอนเงินออกจากบัญชีมาไว้ที่ตำรวจเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ และพูดหลอกล่อจนลูกค้าโอนเงินให้ทั้งหมด พอผู้ใช้เริ่มรู้สึกแปลกๆ มิจฉาชีพก็โอนเงินกว่า 6 แสนบาทออกไปแล้ว
ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่าธนาคารได้วางแนวทางการทำงาน 3 ด้าน เพื่อป้องกันและให้ความช่วยเหลือผู้ใช้ คือ
ดำเนินการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในโครงการระบบรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ตรวจสอบ และจัดการบัญชีที่มีธุรกรรมผิดปกติ เพื่อนำไปสู่แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตทางการเงินของมิจฉาชีพ
คอยอัปเดตกลโกงมิจฉาชีพและช่วยรณรงค์เผยแพร่แนวทางรู้ทันมิจฉาชีพและภัยไซเบอร์ ผ่านสื่อต่างๆ ของธนาคาร
ผู้ใช้งานควรใช้ความระมัดระวังในการโอนเงิน และหากมีข้อสงสัยควรติดต่อตำรวจหรือธนาคารก่อนดำเนินการใดๆ ทุกครั้ง
ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์ |
# แอปเปิลยื่นกระบวนการให้แอปเดตรับเงินตรงในเนเธอร์แลนด์ หลังยืดเยื้อจนจ่ายค่าปรับเต็ม 50 ล้านยูโร
คดีเนเธอร์แลนด์สั่งให้แอปเปิลเปิดเสรีระบบจ่ายเงินบน App Store สำหรับแอปเดตเป็นคดีมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และตอนนี้แอปเปิลก็ยื่นข้อเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนรอบล่าสุดให้แก่หน่วยงานด้านแข่งขันทางการค้าของเนเธอร์แลนด์ Authority for Consumers and Markets (ACM)
ก่อนหน้านี้แอปเปิลเคยยื่นแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนให้กับ ACM มาก่อนแล้วแต่ ACM ไม่ยอมรับ โดยระบุว่าเงื่อนไขยุ่งยากเกินไป เช่น ต้องใช้กับแอปใหม่เท่านั้น และต้องเลือกว่าจะใช้ระบบจ่ายเงินภายนอก หรือใช้ระบบของแอปเปิลอย่างใดอย่างหนึ่ง หากเลือกระบบภายนอกแล้วก็จะมีค่าใช้จ่ายตามมา
ACM สั่งปรับ 50 ล้านยูโรก่อนหน้านี้โดยปรับเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 ล้านยูโรจนกว่าแอปเปิลจะแก้ไข ตอนนี้ครบ 10 สัปดาห์ตามเส้นตายของ ACM ทำให้ค่าปรับเต็มวงเงินที่สั่งปรับไว้ หากข้อเสนอของแอปเปิลยังไม่ผ่านอีก ทาง ACM จะสั่งปรับครั้งใหม่อีกครั้ง
ที่มา - ACM |
# ไมโครซอฟต์เริ่มทดสอบ PC Game Pass ในไทยและอีก 4 ประเทศ SEA แล้ว เปิดให้บริการเป็นทางการปลายปี
ไมโครซอฟต์เริ่มเปิดให้ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ทดลองใช้งาน PC Game Pass แล้ว โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี สำหรับช่วงนี้ ผู้ใช้ต้องเข้าร่วมโครงการผ่านแอป Xbox Insider ก่อน
ขั้นแรกต้องดูการตั้งค่าของ Windows ว่าใช้งาน Region เป็น Thailand อยู่ และดาวน์โหลดแอป Xbox Insider จาก Microsoft Store หลังจากนั้นให้ไปที่หน้า Preview ใน Xbox Insider เลือกโครงการ PC Game Pass Southeast Asia Market Expansion กดเข้าร่วม เท่านี้ก็จะสามารถกดไปยังแอป Xbox App เพื่อสมัคร PC Game Pass ได้ หรือถ้าไม่มีแอป ระบบก็จะพาไปดาวน์โหลดก่อน
ราคาเดือนแรกอยู่ที่ 3 บาทเท่านั้น แต่จะตัดบัตรอัตโนมัติเดือนถัดไปในราคา 99 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ถูกพอสมควรสำหรับบริการที่มีเกมฟรีให้เล่นเยอะอย่าง PC Game Pass (ราคานี้รวมเกมใน EA Play ด้วย) น่าเสียดายที่ Xbox Game Pass ก็ยังไม่เปิดให้บริการเช่นเคย คงต้องลุ้นกันต่อไป
ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์ไมโครซอฟต์, Xbox Insider App |
# เบื้องหลัง LAPSUS$ เจาะบริษัท Okta มาทางเอาท์ซอร์ส เจอไฟล์ Excel เก็บรหัสผ่านในอินทราเน็ต
จากเหตุการณ์แฮ็กเกอร์กลุ่ม LAPSUS$ เจาะเข้าระบบของบริษัท Okta ที่ให้บริการ CRM จนกระทบลูกค้าหลายราย
วันนี้มีเอกสารสอบสวนการเจาะระบบของ Okta หลุดออกมาทางนักวิจัยความปลอดภัยอิสระ Bill Demirkapi โดยเอกสารนี้เป็นของบริษัทความปลอดภัย Mandiant (เพิ่งขายให้กูเกิล) ที่ได้รับการว่าจ้างจาก Okta ให้มาตรวจสอบเหตุการณ์
เส้นทางการแฮ็กระบบเริ่มจากพนักงานของบริษัท Sitel ที่รับงานเอาท์ซอร์สด้านคอลล์เซ็นเตอร์และฝ่ายบริการลูกค้าให้ Okta อีกทอดหนึ่ง โดยแฮ็กเกอร์เข้าบัญชีของพนักงาน Sitel ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 และค่อยๆ ไล่เจาะตามลำดับชั้นมาเรื่อยๆ จนเข้าถึงระบบของ Okta ได้
สิ่งที่น่าสนใจในการเจาะระบบ Sitel คือ แฮ็กเกอร์พบไฟล์ Excel ชื่อ DomAdmins-LastPass.xlsx เก็บรหัสผ่านขององค์กรเก็บอยู่ในอินทราเน็ตของ Sitel จึงสามารถวาง backdoor ไว้ในระบบได้สำเร็จ
ประเด็นอื่นที่น่าสนใจคือ การแฮ็กของ LAPSUS$ ไม่ได้ใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน และใช้วิธีแฮ็กไป ค้นหาเครื่องมือเจาะในอินเทอร์เน็ตที่ใช้แฮ็กช่องโหว่ถัดไปเรื่อยๆ ด้วย (หาด้วย Bing บนเครื่องที่เจาะได้อีกที) ตัวอย่างคือ LAPSUS$ ใช้สคริปต์เจาะช่องโหว่ Windows ที่อยู่บน GitHub สาธารณะ, ฝังมัลแวร์ Mimikatz ที่ดาวน์โหลดจาก GitHub โดยปิดการทำงานของ FireEye Endpoint Agent บนเครื่องที่เจาะได้
Demirkapi ตั้งคำถามว่า Okta ได้รับรายงานนี้จาก Mandiant ก่อนตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วว่าเครื่องของพนักงานเอาท์ซอร์สโดนเจาะ แต่ทำไมไม่สนใจสืบหาต่อ จนทำให้ Okta โดนเจาะในท้ายที่สุด เขายังวิจารณ์ Sitel ว่าพบเหตุการเจาะระบบพนักงาน แต่ก็ปิดเรื่องไว้ ไม่ยอมแจ้งลูกค้าของตัวเอง (ที่มีจำนวนมาก ไม่ใช่มีแต่ Okta) ด้วยเช่นกัน
ที่มา - TechCrunch |
# [ลือ] แอปเปิลลดการผลิต iPhone SE และ AirPods จากปัญหาสงครามยูเครนและเงินเฟ้อ
Nikkei Asia รายงานข่าวว่าแอปเปิลจะปรับลดกำลังการผลิต iPhone SE รุ่นที่สามที่เพิ่งเปิดตัว ลง 20% จากแผนเดิม หลังปัญหาสงครามยูเครนและเงินเฟ้อ ทำให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า
นอกจากนี้ แอปเปิลยังต้องลดการผลิต AirPods ลงจากเดิม 10 ล้านชุดด้วยเหตุผลเดียวกัน แอปเปิลไม่เคยเปิดเผยสถิติการขาย AirPods แต่เคยมีตัวเลขคาดการณ์ของ Counterpoint Research ประเมินว่าแอปเปิลจขายหูฟัง AirPods ได้ 76.8 ล้านชุดในปี 2021
Nikkei วิเคราะห์ว่าการที่แอปเปิลถอนตัวจากตลาดรัสเซีย น่าจะทำให้จำนวนยอดขายลดลงด้วย โดยแอปเปิลมียอดขาย iPhone ในรัสเซียราว 5 ล้านเครื่องต่อปี มีส่วนแบ่งตลาด 16% ถือเป็นผู้เล่นเบอร์ 3 ของตลาดสมาร์ทโฟนรัสเซีย
ที่มา - Nikkei Asia |
# อินเทลออก Core i9-12900KS ซีพียูเดสก์ท็อปรุ่นแรงที่สุดตัวใหม่ เพิ่มคล็อคเป็น 5.5GHz
อินเทลออกซีพียู Core i9-12900KS รุ่นย่อยตัวใหม่ของ 12th Gen Alder Lake บนเดสก์ท็อป ซึ่งอินเทลโฆษณาว่าเป็นซีพียูเดสก์ท็อปที่เร็วที่สุดในโลก (the world’s fastest desktop processor)
12900KS เป็นรุ่นอัพเกรดขึ้นมาอีกนิดของ 12900K (ไม่มี S) ซีพียูตัวแรงที่สุดของเดิม โดยยังคงสเปก 16 คอร์ (สูตร P 8 + E8) 24 เธร็ดเหมือนเดิม ที่เพิ่มเข้ามาคือปรับคล็อคสูงสุด (max turbo frequency) จาก 5.2GHz เป็น 5.5GHz โดยต้องแลกกับอัตราการใช้พลังงาน (base power) 125W เพิ่มเป็น 150W
ราคาขายปลีกที่แนะนำคือ 739 ดอลลาร์ (ประมาณ 25,000 บาท) เริ่มวางขาย 5 เมษายน 2022
ที่มา - Intel |
# ASUS ลดราคาการ์ดจอ GeForce RTX 30 ลง 25% แต่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา
ASUS ประกาศลดราคาการ์ดจอ GeForce RTX 30-series ในสหรัฐอเมริกา โดยลดราคาขายปลีกลงสูงสุด 25% จากราคาเดิม รุ่นที่กล่าวถึงมีทั้ง 3050, 3060, 3070, 3080, 3090 แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่ารุ่นย่อยไหนลดลงเท่าไรบ้าง
เหตุผลเป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนลง ทำให้ ASUS สามารถทำราคาให้ถูกลงได้ การเปลี่ยนแปลงจะมีผล 1 เมษายน 2022
ที่มา - ASUS via The Verge |
# Microsoft Defender เพิ่มฟีเจอร์บล็อคการติดตั้งไดรเวอร์ที่มีช่องโหว่ความปลอดภัย
David Weston หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ โพสต์ภาพโชว์ฟีเจอร์ใหม่ของ Windows Defender / Microsoft Defender ว่าสามารถบล็อคการติดตั้งไฟล์ไดรเวอร์ที่มีช่องโหว่ความปลอดภัย ( vulnerable driver blocklist) ได้แล้ว
ในเอกสารของไมโครซอฟท์บอกว่าฟีเจอร์นี้ใช้ได้กับ Windows 10, 11, Server 2016 ขึ้นไป โดย Weston โชว์ภาพนี้บน Windows 11 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเราจะได้ใช้กันเมื่อไร
ที่มา - David Weston via Neowin |
# กลุ่มอุตสาหกรรมไอทีรัสเซียเตือนอุปกรณ์พอใช้อีก 6 เดือน ขอรัฐบาลอุดหนุนก้อนใหญ่
Russian Union of Industrialists and Entrepreneurs (RSPP) ภาคเอกชนของรัสเซียในกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีและโทรคมนาคมออกมาเตือนว่าตอนนี้มีสต็อกอุปกรณ์พอใช้งานไปอีกประมาณ 6 เดือนเท่านั้น และหากยังคงถูกคว่ำบาตรต่อไป รัสเซียก็อาจจะมีปัญหาการสื่อสารในประเทศ
ตอนนี้อุปกรณ์โทรคมนาคมส่วนใหญ่ไม่สามารถส่งไปยังรัสเซียได้เนื่องจากติดมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และชาติยุโรป ส่วนที่บริษัทรัสเซียพอจะหาซื้อได้ก็ราคาเพิ่มขึ้นถึง 40% เนื่องจากค่าเงินรูเบิลอ่อนค่า
แถลงการณ์ของ RSPP ครั้งนี้ออกมาขอให้รัฐบาลช่วยอุดหนุนก้อนใหญ่ เช่น ตั้งกองทุนบริการโทรคมนาคมมาอุ้ม, ลดค่าคลื่นความถี่ลง 50%, ยกเว้นภาษี แต่คาดว่ารัฐบาลรัสเซียน่าจะไม่อุ้มเป็นแพ็กเกจใหญ่ขนาดนี้
นอกจากความลำบากในการจัดหาอุปกรณ์แล้ว การเชื่อมต่อกับโลกภายนอกของผู้ให้บริการโทรคมนาคมของรัสเซียก็ลำบากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีศูนย์เชื่อมต่อบางรายเริ่มตัดการเชื่อมต่อกับ ISP ของรัสเซีย
ที่มา - Bleeping Computer
ภาพโดย Bru-nO |
# Tesla เตรียมแตกหุ้นบริษัทอีกครั้ง หลังเคยแตกหุ้นมารอบหนึ่งเมื่อปี 2020
Tesla ยื่นเอกสารต่อ กลต. สหรัฐ ระบุว่าบริษัทจะขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี เพื่อเพิ่มจำนวนหุ้นสามัญของบริษัท ด้วยวิธีการแตกหุ้นอีกหนึ่งครั้ง (Stock Split)
ทั้งนี้ Tesla บอกว่ามติที่ประชุมบอร์ดบริหารได้อนุมัติข้อเสนอดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ระบุว่าจะแตกหุ้นด้วยอัตราส่วนเท่าใด ก่อนหน้านี้ Tesla เคยแตกหุ้นด้วยอัตราส่วน 5 ต่อ 1 ในปี 2020
ตามทฤษฎีนั้น การแตกหุ้นไม่ได้ทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่การแตกหุ้นมีผลทำให้ราคาต่อหุ้นลดลง ทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าซื้อหุ้นได้ด้วยเงินที่น้อยลง
คาดว่าเหตุผลหนึ่งที่ Tesla แตกหุ้น เพื่อทำให้ราคาต่อหุ้นไปอยู่ที่ราว 200 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมในการเข้ามาคำนวณในดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ที่ใช้การคำนวณจากราคาต่อหุ้นของบริษัทใหญ่ 30 บริษัทในอเมริกา โดยปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่อยู่ในดัชนีดาวโจนส์ ได้แก่ Apple, Cisco, IBM, Intel, Microsoft และ Salesforce
ที่มา: Barron's |
# HP ประกาศซื้อกิจการ Poly ผู้ผลิตโซลูชันประชุมผ่านวิดีโอ มูลค่าดีล 3.3 พันล้านดอลลาร์
HP Inc. ประกาศบรรลุข้อตกลงเพื่อซื้อกิจการ Poly บริษัทผู้พัฒนาโซลูชันการทำงานร่วมกันในที่ทำงาน (Collaboration Solutions) โดยจะจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมดที่ 40 ดอลลาร์ต่อหุ้นของ Poly คิดเป็นมูลค่ากิจการรวม 3,300 ล้านดอลลาร์
HP บอกว่าดีลนี้ทำให้บริษัทมีพอร์ตโฟลิโอที่ครอบคลุม รองรับโลกการทำงานแบบไฮบริดมากขึ้น ข้อมูลพบว่าคนทำงานสำนักงานกว่า 75% ได้ลงทุนในอุปกรณ์ เพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่สำนักงานแบบเดิม มีเพียงประมาณ 10% ในตอนนี้ที่มีห้องประชุม รองรับการประชุมผ่านวิดีโอคอลล์ ซึ่งบริษัทประเมินว่าโซลูชันนี้จะเติบโต 3 เท่า ภายในปี 2024
Poly หรือชื่อเดิม Plantronics เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับการประชุมผ่านวิดีโอครบโซลูชัน ทั้งกล้อง ชุดหูฟัง อุปกรณ์เสียง และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง
ที่มา: HP |
# Huawei ออกรายงานประจำปี 2021 รายได้รวมลดลงเป็นครั้งแรก แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น
Huawei ออกรายงานประจำปี 2021 มีรายได้ 6.367 แสนล้านหยวน ลดลง 28.5% เทียบกับปี 2020 ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.14 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 75.9% ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ Huawei รายงานตัวเลขรายได้ลดลงนับตั้งแต่มีการรายงาน
Guo Ping ประธานของ Huawei ตามวาระ กล่าวว่าผลการดำเนินงานที่ออกมา เป็นไปตามที่บริษัทประเมินไว้ ธุรกิจโครงข่ายมือถือยังคงที่ ธุรกิจลูกค้าองค์กรยังเติบโตสูง และธุรกิจลูกค้ารายย่อยสามารถขยายไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ได้มากขึ้น
รายได้ที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากธุรกิจลูกค้ารายย่อย ลดลงประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม Huawei บอกว่ายังมีกลุ่มสินค้าที่ยอดขายเติบโตสูง เช่น อุปกรณ์สวมใส่ หูฟัง และอื่น ๆ ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ก็มีอุปกรณ์ที่ใช้งานเฉพาะปี 2021 แล้วกว่า 220 ล้านเครื่อง
ที่มา: Huawei และ CNBC |
# NVIDIA วาดฝันอนาคตเติบโตฝั่งซอฟต์แวร์ เน้น AI และ Omniverse สำหรับลูกค้าองค์กร
เมื่อพูดถึง NVIDIA ทุกคนคงนึกถึงภาพลักษณ์บริษัทด้านฮาร์ดแวร์เป็นหลัก แต่ล่าสุด NVIDIA ออกมาเล่าแผนให้นักลงทุนฟังว่าการเติบโตของบริษัทในอนาคตจะเพิ่มการทำรายได้จากซอฟต์แวร์มากขึ้น โดยใช้โมเดลหารายได้แบบ subscription เพื่อการันตีรายได้สม่ำเสมอในระยะยาว
ซอฟต์แวร์ที่ NVIDIA ต้องการขายไม่เกี่ยวกับเกมมิ่ง แต่เป็นซอฟต์แวร์ด้าน Enterprise ทั้งฝั่งของ AI และ Omniverse (เป็นศัพท์เรียกของ NVIDIA เองที่พูดถึงสายงานด้านกราฟิกทั้งหมด)
ปัจจุบัน NVIDIA มีซอฟต์แวร์ตระกูล Omniverse Enterprise ขายอยู่สักพักแล้ว ค่าไลเซนส์เริ่มต้นที่ 9,000 ดอลลาร์ต่อปี เน้นกลุ่มลูกค้าองค์กรที่ต้องการทำซิมูเลชั่นบนเซิร์ฟเวอร์ของ NVIDIA ตัวอย่างคือบริษัทรถยนต์ BMW, Bentley หรือบริษัทภาพยนตร์ ILM
ส่วนซอฟต์แวร์ NVIDIA AI Enterprise ก็คล้ายกันคือเป็นชุดซอฟต์แวร์ช่วยประมวลผล AI บนเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทที่เป็นเจ้าตลาดในด้านนี้ ค่าซอฟต์แวร์เริ่มต้นที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อซ็อคเก็ต
Colette Kress ซีเอฟโอของ NVIDIA ให้มุมมองว่า ธุรกิจซอฟต์แวร์มีโอกาสตลาดที่กว้างถึง 300 พันล้านดอลลาร์ (AI 150 พันล้านดอลลาร์ + Omniverse 150 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งจะช่วยดันให้รายได้ของบริษัทในอนาคตเติบโตไปถึงระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ (1 trillion)
ที่มา - The Register, NVIDIA |
# นักวิจัยเปิดเผยช่องโหว่ PHP ก่อนแพตช์ออกหลังทีมงานพัฒนาไม่ตอบรับรายงาน แต่ช่องโหว่แฮกได้ยาก
Jordy Zomer นักวิจัยความปลอดภัย รายงานถึงช่องโหว่ในฟังก์ชั่น filter_var ของภาษา PHP ที่มีช่องโหว่ทำให้การกรองข้อมูลตอบว่ากรองสำเร็จแม้ที่จริงไม่ได้กรองก็ตาม
Zomer ระบุว่าแจ้งทีมงาน PHP ไปแล้วหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการตอบรับ แม้จะให้แพตช์แก้ช่องโหว่ไปด้วย จึงตัดสินใจเปิดเผยช่องโหว่นี้ต่อสาธารณะ (เขาไม่ได้ให้ timeline ว่าติดต่อไปยังทีมงานช่วงเวลาใดบ้าง) ทางด้านโครงการ PHP เองช่วงหลังประสบปัญหานักพัฒนาหลักลาออก อาจจะกระทบต่อการตอบรับรายงานของนักวิจัยภายนอก
แม้ช่องโหว่จะดูร้ายแรง แต่ข้อจำกัดสำคัญคือขนาดอินพุตของ user จะต้องมีขนาดเกิน 4GB ทำให้เซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใดเพราะคอนฟิกเริ่มต้นมักจำกัดขนาดอินพุตไว้เล็กกว่านี้
ที่มา - pwning.systems |
# CODA ภาพยนตร์ใน Apple TV+ ได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมออสการ์ปีนี้
CODA ภาพยนตร์ของ Apple TV+ ได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Academy Awards ครั้งที่ 94 หรือรางวัลออสการ์ ประจำปีนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากแอปเปิล ที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมออสการ์
CODA ยังได้รับรางวัลในอีก 2 สาขาที่ได้เข้าชิง ได้แก่ Troy Kotsur ได้รางวัลสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ซึ่งเขาถือเป็นนักแสดงชายคนแรกที่สูญเสียการได้ยิน ที่ได้รางวัลออสการ์, Siân Heder ผู้กำกับและเขียนบท ได้รับรางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม
เนื้อเรื่องของ CODA เล่าถึง Ruby เด็กสาวคนเดียวที่การได้ยินเป็นปกติ ขณะที่ทุกคนในครอบครัวมีปัญหานี้ หน้าที่หลักของเธอจึงเป็นล่ามสื่อสารแทนทุกคนในครอบครัวที่ทำธุรกิจเรือหาปลา ต่อมา Ruby เข้าร่วมชมรมร้องประสานเสียงของโรงเรียน เนื้อหาจึงว่าด้วยการตามความฝันและการดูแลคนในครอบครัว
แอปเปิลไม่ได้เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ CODA ตั้งแต่ต้น แต่ซื้อสิทธิมาในราคา 25 ล้านดอลลาร์ หลังภาพยนตร์ออกฉายในเทศกาล Sundance สำหรับในประเทศไทย หนังยังไม่ได้ลงใน Apple TV+ เนื่องจากยังฉายในโรงภาพยนตร์อยู่
ส่วน The Power of the Dog หนังจาก Netflix ที่ได้เข้าชิงรางวัลมากสาขาที่สุด 12 สาขา ชนะเพียง 1 รางวัลคือผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Jane Campion
ที่มา: MacRumors |
# รู้จัก MOLOG สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ครบวงจรของคนไทย กับวัฒนธรรมเปิดกว้าง รวดเร็ว มีโฟกัส พร้อมเติบโตไปกับคนรุ่นใหม่ และธุรกิจ e-commerce
ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 หนึ่งในธุรกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดด คือธุรกิจ e-commerce ซึ่งการเติบโตของธุรกิจ e-commerce ย่อมนำมาซึ่งความต้องการด้านการจัดการโลจิสติกส์ที่มากขึ้น เรียกได้ว่าซอฟต์แวร์และระบบการจัดการที่แต่ละธุรกิจใช้ อาจกลายมาเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของธุรกิจได้เลยทีเดียว
วันนี้ Blognone จะพามาทำความรู้จักกับ MOLOG บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านธุรกิจแบบครบวงจรของคนไทย ที่กำลังมองหาคนรุ่นใหม่ไฟแรงมาเติบโตไปพร้อมกัน ในโลกใบใหม่หลังโควิด-19 ที่ธุรกิจ e-commerce ทั้งในไทยและต่างประเทศกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด
MOLOG แพลตฟอร์มจัดการโลจิสติกส์ครบวงจร
ท่านแรกที่เราไปคุยคือ คุณล้ง นิธินันท์ มโนวรานันทน์ CEO ของ MOLOG คุณล้งอธิบายว่า MOLOG เป็นผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์โลจิสติกส์แบบครบวงจรโดยคนไทย มีทั้งระบบบริหารจัดการโกดังสินค้า หรือ WMS (Warehouse Management System) ระบบจัดการออเดอร์ OMS (Order Management System) ไปจนถึงระบบจัดการการขนส่ง หรือ TMS (Transport Management System)
คุณล้งพูดถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของ MOLOG คือถูกออกแบบมาให้เป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะกับธุรกิจหลากหลายขนาด ทั้งกลุ่ม Enterprise ที่สามารถติดตั้งบนเซิฟเวอร์ของบริษัทลูกค้าได้ หรือจะให้บริการ Software as a Service (SaaS) รันบนเซิร์ฟเวอร์ของ MOLOG เองสำหรับให้บริการกับ SME ก็ได้ ทั้งยังรองรับได้ทั้ง FMCG กลุ่มโรงงาน และกลุ่ม Fullfilment ซึ่งเป็นเจ้าเดียวในประเทศที่เป็นของคนไทยที่สามารถครอบคลุมได้ทุกวงจรสำหรับบริการที่กำลังเติบโตด้านคลังสินค้า
ข้อได้เปรียบอีกจุดของ MOLOG คือระบบบริหารจัดการโดยคนไทย เพื่อคนไทย เพราะการทำงานระบบจัดการคลังสินค้า ออเดอร์ และการขนส่ง ต้องอาศัยคนทำงานระดับปฏิบัติการ การซัพพอร์ตจึงเป็นเรื่องสำคัญ MOLOG เองจึงเหนือกว่าคู่แข่งในด้านงานซัพพอร์ต ปรับปรุงโปรแกรมได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอการซัพพอร์ตหรือติดต่อนาน หากใช้ซอฟต์แวร์เจ้าอื่นที่เป็นของต่างประเทศ
ส่วนเป้าหมายของ MOLOG คือต้องการเป็นเบอร์ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างน้อย ซึ่งปัจจุบัน MOLOG ก็เริ่มขึ้นเป็นแถวหน้าของวงการแล้ว แม้จะเพิ่งเข้ามาสู่ตลาดแค่ 3-4 ปี และ MOLOG เองก็พร้อมที่จะรับคนรุ่นใหม่ไฟแรงเข้ามาเติบโตไปสู่อนาคตพร้อมกัน
วัฒนธรรมการทำงานที่จริงจัง แต่ไม่ซีเรียส
คุณล้งให้คำนิยามวัฒนธรรมการทำงานที่ MOLOG ไว้ว่า เป็นการทำงานที่จริงจัง แต่ไม่ซีเรียส จุดเด่นคือ ระบบค่อนข้างเป็นระเบียบ มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน แม้เป็นสตาร์ทอัพ รวมถึงระบบก็จะมีการพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอด โดยมีเฟรมเวิร์คของแต่ละแผนกอย่างชัดเจน โดยพนักงานที่เข้ามาจะสามารถเข้ามาเรียนรู้กระบวนการทำงานได้ง่าย และมีโมเดลการทำงานที่ไม่ได้แพ้บริษัทใหญ่ๆ
สิ่งที่ดีที่สุดของสังคมการทำงานที่ MOLOG คือ MOLOG เป็นองค์กรที่เปิดกว้าง พร้อมที่จะรับไอเดีย ความคิดเห็นจากพนักงานทุกคน และพร้อมให้พนักงานได้แสดงศักยภาพออกมา แลกเปลี่ยนออกมาโดยมีความคิดเป็นลำดับ มีขั้นตอนชัดเจน และนำความคิดส่วนนั้นไปปฏิบัติได้
ทำงานแบบ Flexible Hours ขนม น้ำ ไม่อั้น มี Nintendo Switch ให้คลายเครียด
การทำงานใน MOLOG เป็นการทำงานแบบ Flexible hours ได้ คือเริ่มสาย ก็เลิกสายได้ มีสวัสดิการ มีขนม น้ำ จัดเต็ม ปัจจุบันช่วงโควิด ก็มีการทำงานแบบ Hybrid พลัดกันเข้าออฟฟิศ หากเข้าออฟฟิศ ทำงานเครียดๆ ก็มีเครื่องเกม Nintendo Switch ด้านการพัฒนาตัวเองก็มีหนังสือให้อ่าน ขอเรียนคอร์สออนไลน์ได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ พนักงานฝั่งเทคที่เข้ามา ยังจะได้เจอกับ Tech Stack ที่ทันสมัย โดยที่ MOLOG มีค่านิยมด้านการโฟกัส คือจะให้พนักงานฝั่งเทคได้ฝึกฝน และจริงจังกับสิ่งที่ตัวเองถนัด จนได้กลายเป็นผู้ที่รู้ลึก รู้จริงด้านนั้น และเก่งแบบเทพระดับต้นๆ ของวงการไปเลย เรียกได้ว่า เติบโตไปยังอนาคตที่สดใสได้พร้อมกับ MOLOG แน่นอน
คุณล้งฝากไว้ว่าอยากได้คนที่มีความทะเยอทะยาน พร้อมที่จะปรับตัว เข้าใจสถานการณ์การเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย และเป็นคนที่พร้อมจะเปิดใจ สื่อสาร และรับฟัง มีข้อคิดเห็นหรือปัญหาอะไรก็พร้อมแลกเปลี่ยน โดยผู้บริหารก็พร้อมรับฟังไอเดียใหม่ๆ จากทุกคน ทุกฝ่ายเช่นกัน
คุณล้ง นิธินันท์ มโนวรานันทน์ CEO ของ MOLOG
MOLOG ที่ทำงานที่พร้อมปลดปล่อยพลังที่ซ่อนอยู่ของชาวเทค
อีกท่านที่เราได้คุยคือ คุณเชค ฉัตรเฉลิม ศิลากนก ฝั่ง Software Development Manager คุณเชค หรือที่น้องๆ ฝั่งโปรแกรมเมอร์เรียกว่าพี่เชค จะมีหน้าที่ดูแลน้องๆ ในทีม คอยดูภาพรวม คอยแก้ปัญหา คอยซัพพอร์ตน้องๆ รวมถึงยังลงมาลุยงานด้วยกันอยู่เสมอ
คุณเชคเล่าว่าวัฒนธรรมการทำงานที่ MOLOG ไม่มีระดับชั้น มีตำแหน่งหน้าที่เพื่อแบ่งสโคปงาน แต่ตำแหน่งหน้าที่ก็ไม่ได้เป็นตัวกั้นการทำงานร่วมกับทุกคนในทีม ซึ่งทุกคนสามารถคุยกันได้หมด น้องๆ มาคุยกับพี่เชคได้โดยตรงเวลามีปัญหา พร้อมทั้งลงไปลุยแก้ปัญหาด้วย
คุณเชคเชื่อว่าคนที่เข้ามาทำงานที่นี่ ต้องประทับใจกับความเป็นทีมเวิร์คของบริษัทแน่นอน เพราะทั้งพี่ๆ น้องๆ ในทีมทุกคน พร้อมช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ พูดคุยเสนอไอเดียกันได้ ทั้งเรื่องงานและเรื่องอื่นนอกเหนือไปจากเรื่องงาน และยังเชื่อว่าทุกคนมีไฟ มีพลังในการเรียนรู้ และมีศักยภาพของตัวเองอยู่ภายใน ซึ่งถ้าได้มาทำงานที่ MOLOG บริษัทก็พร้อมที่จะช่วยค้นหา และส่งเสริมศักยภาพนั้นให้ออกมาอย่างโดดเด่นอย่างแน่นอน
คุณเชค ฉัตรเฉลิม ศิลากนก Software Development Manager ของ MOLOG
ฝั่งเซลที่เน้นการดูแลลูกค้า กับโปรดักต์ที่โดดเด่น
ส่วนการทำงานในฝั่งเซลและซัพพอร์ต Blognone ก็ได้ คุณฟ้า ดวงกมล โตยอด ตำแหน่ง Partner Success Manager ที่มาเล่าให้ Blognone ฟัง ถึงการทำงานที่ MOLOG ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ
คุณฟ้าเล่าว่า MOLOG ให้อิสระในการทำงานมาก อยากได้แบบไหนเสนอได้ สามารถแชร์ประสบการณ์และนำมาปรับใช้ พร้อมที่จะลองผิดลองถูก นอกจากนี้โปรดักต์ของ MOLOG เองยังมีความโดดเด่น และหาได้ยากในไทยจนแทบจะไม่มีใครเหมือน และคู่แข่งส่วนมากมาจากต่างประเทศทั้งนั้น
ส่วนในการทำงานของฝั่งเซล ไม่ได้เน้นหนักแค่การพยายามปิดยอดขาย แต่เป็นการไปเพื่อช่วยลูกค้าแก้ปัญหามากกว่า โดยทีมเดฟและทีมซัพพอร์ตก็จะคอยดูแล แนะนำอย่างเอาใจใส่และรวดเร็ว ทำให้ได้รับคำชมจากลูกค้าสม่ำเสมอ ว่าทีมซัพพอร์ตดูแลดี และเป็นการให้คำแนะนำเพื่อสร้างความสัมพันธ์ พร้อมให้ลูกค้าเติบโตไปด้วยกันในอนาคต
คุณฟ้าทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าใครที่มั่นใจว่าตัวเองมีความรวดเร็ว เข้าใจหลัก Customer Centric รักในความเป็น Tech Startup และชอบความท้าทาย พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เสมอ การมาร่วมงานที่ MOLOG รับรองได้ว่าไม่ผิดหวังแน่นอน
คุณฟ้า ดวงกมล โตยอด Partner Success Manager ของ MOLOG
ทีมงานที่พร้อมจะทำงานอย่างเป็นทีม และเวิร์คไปกับทุกคน
นอกจากระดับผู้บริหารและหัวหน้าแล้ว Blognone ยังได้คุยกับทีมงานอย่าง คุณวุฒิ วุฒิพิชัย กรุณารัตน์ และ คุณเจนนี่ เกวริณส์ พิบูลย์ ตำแหน่ง Senior Programmer Analyst ด้วย ซึ่งทั้งสองคนก็ประทับใจในระบบการทำงานที่เปิดกว้างของบริษัท ทั้งการทำงานแบบ Flexible Hours การที่ทุกคนยึดหลักการสื่อสารเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องอื่นๆ และพร้อมจะดูแล ให้การช่วยเหลือในรูปแบบของการทำงานเป็นทีมอย่างแท้จริง และความพร้อมที่จะพัฒนาพนักงานทุกคนไปพร้อมกันกับบริษัท
วุฒิและเจนนี่ทิ้งท้ายไว้ว่า MOLOG เป็นบริษัทที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ไฟแรงแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นคนเก่ง หรือไม่เก่ง แต่ถ้าเข้ามาร่วมงานกันแล้ว MOLOG พร้อมที่จะเติบโตและพัฒนาไปกับคนที่เปิดกว้าง และพร้อมเรียนรู้ รวมถึงทีมงาน MOLOG ทุกคน ก็รอที่จะต้อนรับน้องใหม่ เพื่อมามุ่งสู่อนาคตไปพร้อมกัน
วุฒิ วุฒิพิชัย กรุณารัตน์ และ เจนนี่ เกวริณส์ พิบูลย์ ตำแหน่ง Senior Programmer Analyst
สรุป
MOLOG น่าจะเป็นอีกหนึ่งบริษัทเทคสตาร์ทอัพของเมืองไทยที่มีผลิตภัณฑ์และสังคมการทำงานที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ ทั้งมีความเปิดกว้าง เน้นการสื่อสาร ทำงานอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีการบริหารจัดการและโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน แต่ไม่ยึดติดจนเกินไป พร้อมรับฟังคนทำงานทุกระดับ ทุกไอเดีย
เรียกได้ว่าไม่ว่าจะเป็นคนสายเทค ฝั่งเซล หรือฝั่งซัพพอร์ต ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง พร้อมเรียนรู้และเติบโตไปกับสตาร์ทอัพในธุรกิจสายเทคฝั่ง e-commerce ที่กำลังมาแรง MOLOG ก็น่าจะเป็นอีกสถานที่ทำงานที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นที่ที่พาหลายๆ คนมุ่งไปสู่อนาคตที่ฝันไว้ได้อย่างแน่นอน |
# Kaspersky เป็นบริษัทรัสเซียรายแรกที่โดน กสทช. สหรัฐแบน, บริษัทโต้เป็นเรื่องการเมือง
FCC หรือ กสทช. สหรัฐ เพิ่มรายชื่อบริษัทที่ถูกแบล็คลิสต์ห้ามทำธุรกรรมด้วย เนื่องจากความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ
เดิมทีรายชื่อนี้มีผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายสัญชาติจีนอย่าง Huawei และ ZTE, ผู้ผลิตกล้องวงจรปิด Hytera, Hikvision, Dahua ล่าสุดเพิ่มโอเปอเรเตอร์จีน (นับเฉพาะบริษัทนิติบุคคลในอเมริกา) 2 รายคือ China Telecom และ China Mobile รวมถึงบริษัทแอนตี้ไวรัส Kaspersky จากรัสเซีย
Kaspersky ถูกสหรัฐเพ่งเล็งมารอบหนึ่งแล้วในปี 2017 โดยประธานาธิบดีทรัมป์ในตอนนั้น เซ็นคำสั่งห้ามหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐใช้ผลิตภัณฑ์จาก Kaspersky ซึ่ง Kaspersky เองก็พยายามแก้ปัญหาโดยย้ายศูนย์ข้อมูลบางส่วนออกมาจากรัสเซีย
การแบน Kaspersky ของ FCC ในรอบล่าสุด ย่อมสอดคล้องกับสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย ที่รัฐบาลสหรัฐมีมาตรการแซงค์ชันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียหลายอย่าง ฝั่งของ Kaspersky เองก็ออกแถลงการณ์ว่า "ผิดหวัง" กับประกาศของ FCC และบอกว่านี่เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ไม่มีเหตุผลด้านเทคนิคมาเกี่ยวข้อง เพราะมั่นใจในคุณภาพและความถูกต้องในผลิตภัณฑ์ของตน
ในฐานะบริษัทสัญชาติรัสเซีย Kaspersky ไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อสงครามยูเครน-รัสเซียมากนัก แม้ผู้ก่อตั้ง Eugene Kaspersky เคยโพสต์ความเห็นผ่านทวิตเตอร์ เรียกร้องให้ยุติสงครามด้วยการเจรจา
ที่มา - FCC, Kaspersky, ภาพจาก Kaspersky |
# กูเกิลระบุเกาหลีเหนือเป็นผู้โจมตีผู้ใช้ Chrome ด้วยช่องโหว่ Zero-Day ปลอมตัวเป็นเว็บสมัครงาน เว็บข่าวคริปโต
ทีมงาน Threat Analysis Group (TAG) ของกูเกิลรายงานถึงกลุ่มแฮกเกอร์ที่ระบุว่ามาจากรัฐบาลเกาหลีเหนือโจมตีทั้งสื่อมวลชน, กลุ่มคนทำงานไอที, ฟินเทค, และเงินคริปโต โดยอาศัยช่องโหว่ CVE-2022-0609 ที่โจมตีก่อนจะมีข้อมูลเปิดเผยนานกว่าหนึ่งเดือน
ปฎิบัติการแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ Operation Dream Job พยายามล่อคนอย่างน้อย 250 คนให้เข้าไปดูประกาศรับสมัครงาน บนโดเมนที่ปลอมตัวเป็นเว็บรับสมัครงานของจริง เมื่อคลิกลิงก์แล้วบนเว็บจะมี iframe ที่พยายามเจาะเบราว์เซอร์ผู้ใช้ กลุ่มที่สองคือ Operation AppleJesus ล่อคนอย่างน้อย 85 คนให้เข้าไปอ่านข่าวเงินคริปโตหรือข่าวฟินเทค ทั้งสองกลุ่มใช้เครือข่ายในการปล่อยมัลแวร์แยกกัน
หน้า iframe สำหรับเจาะเบราว์เซอร์จะสำรวจข้อมูลเบราว์เซอร์ว่าเป็นเวอร์ชั่นที่ถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้องก็จะดาวน์โหลดจาวาสคริปต์มาเพิ่มเพื่อเจาะทะลุ sandbox ของเบราว์เซอร์ออกมารันโค้ดในเครื่องของเหยื่อ ทางทีม TAG ไม่สามารถเก็บตัวอย่างโค้ดที่มารันในเครื่องของเหยื่อได้ทัน เหลือแต่โค้ดเบื้องต้นหลังเจาะทะลุ sandbox เท่านั้น
TAG พบว่ากลุ่มแฮกเกอร์ระวังอย่างมากไม่ให้เครื่องมือเจาะของตัวเองหลุดออกไป ตัวเซิร์ฟเวอร์ปล่อยมัลแวร์จะทำงานตามช่วงเวลาที่คาดว่าเหยื่อจะคลิกลิงก์เท่านั้น ลิงก์บางส่วนจะคลิกได้ครั้งเดียว ตัวเจาะระบบมีการเข้ารหัส และหากขั้นตอนไหนผิดพลาดก็จะยกเลิกกระบวนการ
กูเกิลได้นำ URL ทั้งหมดเข้าฐานข้อมูล Safe Browsing เพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้ที่เหลือที่ถูกล่อให้คลิกลิงก์ และอีเมลแจ้งเหยื่อรายคนแล้ว โดยเหยื่อที่ถูกเจาะจงเป้าหมายโจมตีครั้งนี้ควรเปิดโหมด Enhnaced Safe Browsing เอาไว้
ที่มา - Google |
# [ลือ] กล้องหลัง iPhone 14 Pro ใช้พื้นที่มากขึ้น และหนาขึ้นอีกเล็กน้อย
ข้อมูลนี้มาจาก Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์ขาประจำคนเดิม โดยเขาให้ข้อมูลว่าพื้นที่กล้องของ iPhone 14 Pro และ iPhone 14 Pro Max จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก iPhone 13 Pro โดยความกว้างเพิ่มเป็น 36.73 มิลลิเมตร จากเดิม 35.01 มิลลิเมตร และความยาวเป็น 38.21 มิลลิเมตร จากเดิม 36.24 มิลลิเมตร
ส่วนที่หลายคนน่าจะสนใจที่สุดคือความหนาของเลนส์ โดยเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็น 4.17 มิลลิเมตร จากเดิม 3.60 มิลลิเมตร ใน iPhone 13 Pro
Kuo บอกว่าเหตุผลหลักที่กล้องหลัง iPhone ใช้พื้นที่มากขึ้น เนื่องจากจะอัพเกรดเป็น 48MP ขนาดเซ็นเซอร์จึงใหญ่ขึ้น ตามด้วยขนาดของเลนส์อีกเช่นกัน
ส่วนข้อมูลอื่นนั้น เขายังยืนยันว่าพื้นที่กล้องหน้าและเซ็นเซอร์ จะเปลี่ยนจากรอยบากมาเป็นรูเล็ก ๆ แทน ส่วนกล้องหลัง 48MP จะรองรับการถ่ายวิดีโอละเอียดถึง 8K
ที่มา: MacRumors |
# ไม่เห็นอนาคต คนไอทีรัสเซียแห่ย้ายหนีออกจากประเทศ คาดย้ายออกไปแล้ว 5-7 หมื่นคน
สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้กลุ่มคนทำงานไอที-นักพัฒนาซอฟต์แวร์ในรัสเซียเริ่มอพยพออกนอกประเทศ เนื่องจากไม่มั่นใจในอนาคตทางอาชีพของตัวเอง สภาพชีวิตความเป็นอยูที่แย่ลงมาก หรือไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลรัสเซียที่รุกรานยูเครน
เป้าหมายปลายทางหลักของคนไอทีรัสเซียคือ กรุง Tbilisi เมืองหลวงของประเทศจอร์เจียที่มีชายแดนติดกัน เหตุผลเป็นเพราะการเดินทางจากรัสเซียไปยังประเทศตะวันตกทำได้ยาก (ไฟลท์โดนยกเลิกหมด) คนรัสเซียจึงต้องแวะผ่านประเทศอื่นก่อน ซึ่งการไปจอร์เจียไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า สามารถไปได้ทันที
ข้อมูลโดยประมาณของ RAEK สมาคมด้านไอทีของรัสเซีย คาดว่ามีคนย้ายออกไปแล้ว 5-7 หมื่นคน และน่าจะมีอีกราว 7 หมื่นถึง 1 แสนคนย้ายออกในช่วงเดือนเมษายน ประเทศอื่นที่เป็นจุดแวะแรกคือตุรกี และอาร์เมเนีย ซึ่งอยู่ใกล้กัน ส่วนประเทศปลายทางที่ต้องการย้ายไปอยู่คือ สหราชอาณาจักร เยอรมนี เนเธอร์แลนด์
การย้ายถิ่นฐานของคนรัสเซียถึงขั้นทำให้ค่าเช่าบ้านใน Tbilisi พุ่งขึ้นถึง 2-3 เท่า และต่อให้มีเงินก็แทบไม่มีบ้านว่างเหลือให้เช่าแล้ว
Wired UK สัมภาษณ์ Jacob Udodov ซีอีโอของบริษัทซอฟต์แวร์ Bordio ในลัตเวีย บอกว่าจ้างพนักงานชาวรัสเซีย 5 คน ตอนนี้ย้ายมาอยู่ในลัตเวียแล้ว 2 คน ส่วนที่เหลือเจอปัญหาเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต ต้องทำงานผ่าน VPN และจ่ายเงินเดือนได้ยากเพราะรัสเซียโดนตัดออกจากเครือข่าย SWIFT ที่ใช้แจ้งจ่ายเงินข้ามประเทศ
ภาพงานสัมมนาด้านไอทีของรัสเซีย จาก Twitter RAEK
ที่มา - Wired UK |
# Xbox Publishing ตั้งทีม Cloud Gaming เน้นดึงเกมยุคใหม่พลังคลาวด์มาลง Xbox
ไมโครซอฟท์มีหน่วยงานชื่อ Xbox Game Studios Publishing ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Xbox Game Studios แต่ไม่ได้พัฒนาเกมโดยตรง มีหน้าที่จัดจำหน่ายเกมทั้งของตัวเองและของบริษัทอื่น (เช่น Ori หรือ Contraband)
สัปดาห์ที่ผ่านมา XGS Publishing ประกาศตั้งทีมใหม่ชื่อ Cloud Gaming มาดูแลเรื่องการจัดจำหน่ายเกมที่เป็น cloud-native โดยเฉพาะ โดยจะดึงเกมรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้การประมวลผลบางส่วนบนคลาวด์ มาให้บริการแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับลูกค้า Xbox
ทีม Cloud Gaming ได้ Kim Swift อดีตหัวหน้าโครงการพัฒนาเกม Portal จาก Valve มาเป็นหัวหน้าทีม ก่อนหน้านี้เธอเคยทำงานอยู่กับ Google Stadia (ที่มีวิสัยทัศน์แบบเดียวกัน แต่เลิกทำไปแล้ว) รวมถึงเคยอยู่ในทีมพัฒนา Left 4 Dead ด้วย
Swift บอกว่าตลาดคลาวด์เกมมิ่งเพิ่งเริ่มต้น โดยเทียบกับ Netflix ช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนจากเช่าหนังแผ่นมาเป็นสตรีมมิ่ง ตอนนี้เราเห็นการสตรีมเกมจากเซิร์ฟเวอร์ไปยังอุปกรณ์ปลายทาง แต่นั่นเป็นแค่สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด (low hanging fruit) เธอยังมองไปถึงการรัน AI บนคลาวด์ และการทำ runtime calculation หรือการเพิ่มพลังประมวลผลของเกมขณะรันด้วยคลาวด์
ที่มา - VGC |
# Amazon เปิดตัว AWS for Games ชุดบริการคลาวด์สำหรับนักพัฒนาเกม
สัปดาห์ที่ผ่านมาในงาน Game Developer Conference 2022 บริษัทยักษ์ใหญ่ Amazon เปิดตัว AWS for Games เป็นชื่อของบริการร่มใหญ่สำหรับการพัฒนาเกมด้วย AWS
AWS for Games ประกอบด้วยบริการย่อยๆ จำนวนมาก ซึ่ง AWS แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ development, game servers, live operations, analytics, AL & ML, security
บริการที่น่าสนใจได้แก่
Amazon Nimble Studio เป็นบริการด้านออกแบบกราฟิก-ภาพยนตร์ 3D บน AWS โดยทำตั้งแต่ออกแบบ ไปจนถึงเรนเดอร์ฟาร์มบนเครื่อง AWS ทั้งหมด
Amazon GameLift เป็นการเช่าเครื่องบน AWS มาทำเซิร์ฟเวอร์สำหรับมัลติเพลเยอร์
Amazon GameSparks บริการ backend-as-a-service สำหรับเกม รองรับการยืนยันตัวตน, ส่งข้อความในเกม, เก็บข้อมูลผู้เล่น
AWS GameKit เป็นปลั๊กอินที่ใช้เชื่อมเครื่อง AWS กับ Unreal Engine เพื่อทำฟีเจอร์ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ให้เกม
บริการคลาวด์สำหรับพัฒนาเกม-ให้บริการเกม เป็นตลาดที่เติบโตขึ้นมากในยุคหลัง และมีผู้เล่นเข้าสู่ตลาดหลายราย ตัวอย่างในงาน GDC รอบนี้คือ Unity Gaming Services และ Azure Game Dev เป็นต้น
ที่มา - AWS |
# .NET 5.0 หมดระยะซัพพอร์ตเดือนพฤษภาคม 2022 ให้ย้ายไปใช้ .NET 6.0 LTS
ไมโครซอฟท์ประกาศเตือน .NET 5.0 หมดระยะซัพพอร์ตวันที่ 8 พฤษภาคม 2022 ตามระยะการซัพพอร์ตนาน 18 เดือน (ไม่ใช่รุ่น LTS) โดยแนะนำให้ย้ายไปใช้รันไทม์เป็น .NET 6.0 ที่เป็นรุ่น LTS ซัพพอร์ตนาน 3 ปี
.NET 5.0 ถือเป็น .NET รุ่นแรกที่รวมเอาทั้ง .NET Core เวอร์ชันโอเพนซอร์ส และ .NET Framework เข้าด้วยกัน นโยบายการออกรุ่นของไมโครซอฟท์คือออก .NET ปีละรุ่นในช่วงปลายปี โดยเป็นเวอร์ชัน LTS สลับกับเวอร์ชันปกติไปเรื่อยๆ
ที่มา - Microsoft |
# เกมการ์ด Storybook Brawl ประกาศนำคริปโตมาใช้กับเกม ผลลัพธ์เป็นไปตามคาด
เราเห็นข่าวแนวนี้กันอยู่เรื่อยๆ และยังไม่มีวี่แววว่าจะจบลง กรณีล่าสุดมาจากบริษัท Good Luck Games ผู้สร้างเกมการ์ด Storybook Brawl บนพีซี (เป็นเกม free-to-play โหลดได้จาก Steam) ออกมาประกาศแผนว่าจะนำบล็อคเชน คริปโตและ NFT มาใช้กับเกม
กรณีของ Good Luck Games มีเหตุผลเบื้องหลังตรงที่บริษัทเพิ่งถูกซื้อกิจการโดยบริษัทคริปโต FTX ที่มองเห็นโอกาสผสมผสานเกมการ์ดกับคริปโตเข้าด้วยกัน ในข่าวประกาศขายกิจการให้ FTX จึงมีแผนกว้างๆ เรื่องคริปโตอยู่ด้วย
แต่ไม่ว่าเหตุเป็นอย่างไร ผลก็เป็นไปตามที่คาดกันได้ นั่นคือโดนแฟนๆ ของเกมมาถล่มรีวิวในทางลบ ตอนนี้คะแนนรีวิวเฉลี่ยของเกมบน Steam อยู่ในระดับ Overwhelmingly Negative แล้ว
ที่มา - Good Luck Games via Kotaku |
# Chrome ออกอัพเดตฉุกเฉิน 99.0.4844.84 แก้ไขช่องโหว่ Zero-Day แนะนำอัพเดตทันที
กูเกิลออกอัพเดต Chrome เวอร์ชัน 99.0.4844.84 บน Windows, Mac และ Linux เพื่อแก้ไขช่องโหว่ร้ายแรง Zero-Day ที่มีการรายงานการโจมตีออกมาแล้ว แนะนำให้ผู้ใช้อัพเดตโดยทันที
ช่องโหว่ 1 รายการที่ได้รับการแก้ไขคือ CVE-2022-1096 เกี่ยวกับเอนจิน V8 ซึ่งกูเกิลไม่ได้ลงรายละเอียดในตอนนี้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และจะให้รายละเอียดอีกครั้งเมื่อผู้ใช้งานอัพเดตเป็นเวอร์ชันล่าสุดในจำนวนที่มากพอจะไม่เกิดการโจมตีวงกว้าง
กูเกิลออกอัพเดต Chrome จากปัญหา Zero-Day ปีนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว โดยครั้งแรกเป็นอัพเดตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของช่องโหว่ CVE-2022-0609
ที่มา: Chrome ผ่าน Bleeping Computer |
# Uber ได้รับอนุญาตให้บริการในลอนดอน ต่อออกไปอีก 30 เดือน
Uber ประกาศว่าได้รับการต่อใบอนุญาตให้บริการในพื้นที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อไปอีก 30 เดือน (2 ปีครึ่ง) หลังจากได้รับใบอนุญาตระยะเวลา 18 เดือน ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2020 ซึ่งใบอนุญาตใกล้ครบกำหนดแล้ว
Uber บอกว่ารู้สึกยินดีที่ได้รับอนุญาตให้บริการต่อ พร้อมบอกว่าจะปฏิบัติตามมาตรฐานข้อกำหนดของ TfL หน่วยงานกำกับดูแลการคมนาคมของลอนดอน ที่มีความเข้มงวดสูง พร้อมบอกเป้าหมายว่าจะใช้ยานพาหนะไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2025
ก่อนหน้านี้ Uber มีข้อขัดแย้งกับ TfL เกี่ยวกับมาตรฐานการควบคุมผู้ขับขี่ เดิมเคยจะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต แต่สุดท้ายก็อุทธรณ์จนได้รับใบอนุญาตชั่วคราวให้ดำเนินงานในช่วงเวลาหนึ่ง
ที่มา: BBC |
# EU ออกร่างกฎหมาย แอปแชตคนใช้เยอะเช่น Facebook Messenger หรือ WhatsApp ต้องรับ-ส่งข้อความ จากแอปอื่นได้
สหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ รายงานความคืบหน้ารายละเอียดของกฎหมายดิจิทัล Digital Markets Act (เรียกย่อว่า DMA) ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ แอพแชตส่งข้อความรายใหญ่ จะต้องรองรับการรับ-ส่งข้อความ กับแพลตฟอร์มขนาดเล็กรายอื่นด้วย
กฎหมายนี้มีเป้าหมายกำกับดูแลแพลตฟอร์มแชตขนาดใหญ่ นิยามว่ามีผู้ใช้งาน MAUs อย่างน้อย 45 ล้านคน เฉพาะในยุโรป หรือหากเป็นแอปแชตระดับองค์กรต้องมีลูกค้ามากกว่า 10,000 รายเฉพาะยุโรปเช่นกัน
แนวทางของ DMA เพื่อให้แพลตฟอร์มรายใหญ่เปิดให้แอปแชตรายเล็ก เข้าถึงผู้ใช้งานในแพลตฟอร์มได้ โดยในแถลงการณ์ได้ยกตัวอย่างเช่น iMessage, Facebook Messenger หรือ WhatsApp ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากในยุโรป จะต้องเปิดให้แอปอื่นส่งข้อความไปหาหรือรับข้อความได้
อย่างไรก็ตามสถานะของ DMA ยังเป็นร่างที่ต้องรอการอนุมัติจากสภายุโรปก่อน จึงต้องรอความชัดเจนทั้งรายละเอียดการบังคับใช้ ตลอดจนข้อจำกัดทางเทคนิค แต่ช่วยให้เห็นทิศทางกำกับดูแลในฝั่งยุโรปว่าเป็นอย่างไร
ที่มา: 9to5Mac |
# [ลือ] Apple จ่ายโบนัสพิเศษอีกครั้ง ให้พนักงานอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อไม่ให้ลาออกไปอยู่บริษัทอื่น
สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง ว่าแอปเปิลได้จ่ายโบนัสพิเศษให้กับวิศวกรจำนวนหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้พนักงานกลุ่มนี้ไม่ลาออกไปทำงานที่อื่น วงเงินเริ่มต้นที่ 1 แสนดอลลาร์ สูงสุดถึง 2 แสนดอลลาร์ต่อคน โดยจ่ายเป็นหุ้นจำกัดสิทธิ์ (Restricted Stock) ที่จะทยอยขายได้เมื่อทำงานต่อเนื่องในบริษัท
ก่อนหน้านี้แอปเปิลเคยจ่ายโบนัสพิเศษในรูปแบบเดียวกันเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งปกติแอปเปิลจะไม่จ่ายโบนัสแบบนี้ โดยตอนนั้นเน้นที่วิศวกรด้าน VR และ AR เป็นหลัก เพื่อไม่ให้ย้ายไปทำงานที่ Meta
ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลว่าในรอบนี้แอปเปิลจ่ายโบนัสให้พนักงานกลุ่มใด แต่ทราบเพียงมีจำนวนน้อยกว่ารอบธันวาคม
ที่มา: Bloomberg |
# โซนี่ซื้อสตูดิโอ Haven ของ Jade Raymond อดีตโปรดิวเซอร์ Assassin's Creed
สัปดาห์ที่ผ่านมา Sony Interactive Entertainment (SIE) ประกาศเข้าซื้อ Haven สตูดิโอใหม่ของ Jade Raymond อดีตโปรดิวเซอร์ของ Ubisoft และ EA ที่ก่อตั้งขึ้นหลังออกจากทีม Google Stadia
Raymond เคยเป็นโปรดิวเซอร์เกมตระกูล Assassin's Creed มาก่อน จากนั้นย้ายมาอยู่ EA ในปี 2015 ดูแลสตูดิโอ Motive ในสังกัด EA แล้วออกมาอยู่กับกูเกิลเมื่อปี 2019 แต่เมื่อแผนการตั้งสตูดิโอเกมของ Stadia ล่ม ทำให้เธอลาออกเมื่อต้นปี 2021 มาตั้งบริษัท Haven ที่มีสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟกับ PS5
ตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลว่าเกมที่ Haven กำลังทำอยู่คืออะไร (บอกแค่ว่าเป็น AAA multiplayer) แต่หลังร่วมงานกันมายังไม่ทันครบปี โซนี่ก็ซื้อ Haven ซะเลย
ที่มา - PlayStation Blog |
# ซีอีโอ NVIDIA บอกสนใจจ้างโรงงานอินเทลผลิตชิป ไม่หวั่นแม้เป็นคู่แข่งกัน
Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ให้สัมภาษณ์สื่อ โดยให้ข้อมูลว่าบริษัท NVIDIA กำลังสนใจจ้างโรงงานของอินเทลผลิตชิปด้วย
อินเทลเพิ่งประกาศเปิดธุรกิจรับจ้างผลิตชิปชื่อ Intel Foundry Services (IFS) เมื่อต้นปีที่แล้ว โดยมีลูกค้าบางรายให้ความสนใจ เช่น Qualcomm, Amazon แม้ยังไม่ได้เริ่มเดินสายการผลิตในตอนนี้ ส่วน NVIDIA เป็นบริษัทชิปที่ไม่มีโรงงานของตัวเอง และใช้วิธีจ้างโรงงานซัมซุงหรือ TSMC ผลิตให้
Huang บอกว่าการที่อินเทลกลายเป็นคู่แข่งโดยตรงของ NVIDIA ทั้งเรื่องซีพียู-จีพียู (NVIDIA เพิ่งออกซีพียู Grace) นั้นไม่เป็นปัญหา เพราะแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทก็ถูกคู่แข่งรู้เป็นปกติ แถมที่ผ่านมา NVIDIA ก็แชร์ข้อมูลให้อินเทลและเอเอ็มดีล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะพีซีหรือเซิร์ฟเวอร์ต้องใช้ชิ้นส่วนจากทั้งสองบริษัทร่วมกัน
เป้าหมายของเขาคือต้องการกระจาย (diversity) ทุกส่วนของกระบวนการสร้างชิปให้ไม่พึ่งพาบริษัทใดบริษัทหนึ่งจนเกินไป ซึ่งโรงงาน IFS ของอินเทลตอบโจทย์นี้ แต่เขาก็ชี้ว่าการตัดสินใจจ้างอินเทล ต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการพูดคุย และปรับการทำงาน ปรับกระบวนการผลิตเข้าหากัน
ที่มา - Tom's Hardware, ภาพจาก Intel |
# Uber ร่วมมือกับแพลตฟอร์มแท็กซี่นิวยอร์กซิตี้ เตรียมเปิดให้เรียกแท็กซี่ผ่านแอปเร็ว ๆ นี้
Uber บรรลุข้อตกลงร่วมกับแท็กซี่นิวยอร์กซิตี้ โดยทาง Uber จะเปิดให้เรียกแท็กซี่ของนิวยอร์กผ่านแอปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ภายใต้ความร่วมมือนี้ Uber จะนำข้อมูลจากผู้ให้บริการซอฟต์แวร์แท็กซี่ที่ได้ใบอนุญาตจาก Taxi and Limousine Commission (TLC) ของนิวยอร์กซิตี้ ได้แก่ Creative Mobile Technologies และ Curb Mobility ที่มีแท็กซี่นิวยอร์กซิตี้บนแพลตฟอร์มกว่า 14,000 คันมาแสดงบนแอป Uber
ในส่วนค่าบริการ Uber จะคิดในอัตราใกล้เคียงกับค่าบริการแบบมาตรฐานของ Uber X ส่วนอัตราค่าบริการที่ฝั่งผู้ขับรถจะได้รับจะเป็นอัตราที่กำหนดโดย TLC และสำหรับฝั่งแท็กซี่ ตัวแพลตฟอร์ม Uber จะแสดงค่าโดยสารให้เห็นคร่าว ๆ ให้ผู้ขับก่อนจะตัดสินใจรับผู้โดยสารจาก Uber (ในขณะที่ผู้ขับรถบนแพลตฟอร์ม Uber โดยตรงจะไม่แสดงข้อมูลส่วนนี้) แต่แท็กซี่จะไม่มีสิทธิ์รับ fuel surcharge ของ Uber
ที่มา - WSJ, TechCrunch
ภาพจาก Wikimedia |
# ส.ส.รัสเซีย เสนอขายน้ำมันเป็นบิทคอยน์ เลี่ยงการปิดกั้นทางเศรษฐกิจจากตะวันตก
ส.ส.รัสเซีย Pavel Zavalny ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการพลังงานของสภา ออกมาเสนอไอเดียแก้ปัญหาการถูกประเทศตะวันตกปิดกั้นทางเศรษฐกิจ จนไม่สามารถขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้ ด้วยการซื้อขายน้ำมันด้วยเงินสกุลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ดอลลาร์-ยูโร ซึ่งรวมถึงบิทคอยน์ด้วย
ข้อเสนอของ Zavalny มุ่งเน้นไปที่การขายน้ำมันให้ประเทศที่เป็นมิตร เช่น จีน (เป็นเงินหยวน-รูเบิล) หรือตุรกี (เป็นเงินลีรา-รูเบิล) และแถมว่าอาจรวมถึงบิทคอยน์ถ้าเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าแผนการนี้ไม่ง่าย BBC อ้างความเห็นจาก David Broadstock นักวิจัยจากสถาบันพลังงาน Energy Studies Institute ของสิงคโปร์ ว่ามูลค่าของบิทคอยน์นั้นแกว่งมาก (แกว่งขึ้นลง 50% ในรอบปีที่ผ่านมา) แกว่งกว่าค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลง 25% ซะอีก แถมประเทศจีนก็ยังมีท่าทีต่อต้านการใช้เงินคริปโตอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ สัญญาการซื้อขายน้ำมันกับชาติตะวันตกยังระบุชัดว่า ต้องจ่ายเงินด้วยสกุลดอลลาร์หรือยูโรเท่านั้น ซึ่งบริษัทพลังงาน Gazprom ของรัสเซียก็ยอมรับเรื่องนี้
ทั้งหมดนี้ยังเป็นข้อเสนอของ Zavalny ในฐานะ ส.ส. คนหนึ่ง และยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลรัสเซียจะเอาด้วยหรือไม่ในประเด็นบิทคอยน์
ที่มา - BBC, Ars Technica ภาพจาก Gazprom |
# สภาอินเดียผ่านกฎหมายภาษีคริปโต เก็บ 30% จากกำไร, เก็บอีก 1% ในทุกธุรกรรมซื้อขาย
เมื่อวานนี้ สภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย (โลกสภา) ลงมติผ่านกฎหมายงบประมาณประจำปี 2022 โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการเก็บภาษีคริปโต ตามแนวทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินเดียเสนอเข้าสภา
กฎหมายภาษีคริปโตของอินเดีย (ครอบคลุมเงินคริปโตและ NFT) จะเก็บภาษีในอัตรา 30% จากกำไรในการขาย (capital gain) โดยไม่สามารถนำการขาดทุนมาหักกับกำไรได้ และเก็บภาษี 1% กับทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นไม่ว่าซื้อหรือขาย (TDS หรือ tax deductible at source) โดยภาษี TDS สามารถนำไปยื่นรวมกับภาษีเงินได้ประจำปี เผื่อบุคคลนั้นสามารถลดหย่อนได้
ร่างกฎหมายภาษีคริปโตของอินเดีย ถูกคัดค้านจากอุตสาหกรรมคริปโตในประเทศ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็สามารถผ่านร่างกฎหมายนี้ในสภาได้สำเร็จ การเก็บภาษี 30% จะเริ่มมีผล 1 เมษายน ส่วนภาษี TDS 1% เริ่มมีผล 1 กรกฎาคม
ภาพรัฐสภาอินเดีย จากTwitter รัฐสภาอินเดีย
ที่มา - India Times, Coindesk |
# อะไรๆ ก็พลัส Rockstar เปิดตัว GTA+ บริการสมาชิกรายเดือนของ GTA Online
เราอาจคุ้นเคยกับธรรมเนียมการใช้ชื่อ + (Plus) ห้อยท้ายแบรนด์ในวงการสตรีมมิ่ง เพื่อบอกว่าเป็นบริการพรีเมียมที่ต้องจ่ายรายเดือน ตอนนี้ลามข้ามมาถึงวงการ GTA แล้ว
Rockstar เปิดตัว GTA+ เป็นบริการสมาชิกรายเดือนสำหรับผู้เล่น GTA Online โดยจ่าย 5.99 ดอลลาร์ต่อเดือน แลกกับการได้ของในเกมคือ ได้เงิน GTA$ 5 แสนดอลลาร์เข้าบัญชีทุกเดือน ส่วนลดการซื้อของในเกม ไอเทมพิเศษ เครื่องแต่งกาย รถและชุดแต่งรถ ฯลฯ ซึ่งจะต่างกันไปในแต่ละเดือน
GTA Online มีโมเดลการหารายได้ผ่านการขายไอเทมในเกมอยู่แล้ว การซื้อเครดิต 5 แสน GTA$ ในเกมต้องใช้เงินจริง 10 ดอลลาร์ ดังนั้นการจูงใจให้ผู้เล่นจ่ายเงินในราคาถูกกว่า แต่ซื้อเครดิตเป็นประจำทุกเดือน (พร้อมไอเทมจูงใจอื่นๆ) ก็เป็นหนทางการันตีรายได้ที่สม่ำเสมอของ Rockstar
บริการ GTA+ ยังมีเฉพาะเกม GTA Online เวอร์ชัน PS5 และ Xbox Series X|S เท่านั้น (ไม่มีบนพีซีและคอนโซลเจนเก่า) เริ่มเปิดรับสมาชิกวันที่ 29 มีนาคมนี้
ที่มา - Rockstar |
# ผู้สร้างเกม Gran Turismo 7 ขอโทษปัญหาอัพเดตระบบเงินในเกม, แจกเครดิตชดเชย
Kazunori Yamauchi ประธานของ Polyphony Digital ผู้สร้างเกม Gran Turismo 7 ออกมาขอโทษแฟนๆ จากปัญหาการปิดเซิร์ฟเวอร์นาน และอัพเดตที่เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจในเกม จนทำให้แฟนๆ รุมแห่ให้คะแนน 0-1 ดาว
Yamauchi บอกว่าแพตช์ตั้งใจออกมาแก้ปัญหาการแจกรางวัล (reward payouts) ในอีเวนต์ World Circuit Events ที่ไม่สม่ำเสมอ แต่จำเป็นต้องประมวลผลระบบรางวัลใหม่ทั้งหมด การไม่สื่อสารเรื่องนี้ให้ชัดเจนทำให้แฟนๆ ไม่พอใจ และมองว่าเกมบีบให้จ่ายเงินซื้อของในเกม
Polyphony จะออกแพตช์ใหม่ช่วงต้นเดือนเมษายน ปรับสมดุลเกมให้ดีกว่าเดิม อัตราการจ่ายรางวัลจะดีขึ้นเฉลี่ย 100% และเพิ่มรางวัลอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ Polyphony ยังแจกเครดิตในเกมอีก 1 ล้านเครดิตชดเชยให้กับผู้เล่น โดยต้องกดรับเครดิตภายในวันที่ 25 เมษายน 2022
ที่มา - PlayStation Blog |
# Thonny โครงการ Python IDE เพื่อการศึกษาออกเวอร์ชั่น 4.0 เบต้า 1 อุทิศให้ชาวยูเครนต่อต้านปูติน
Thonny โครงการ Python IDE แบบโอเพนซอร์สเพื่อการศึกษา ใช้งานง่ายมี Python ในตัวพร้อมระบบตัวดีบั๊ก เปิดตัวเวอร์ชั่น 4.0.0b1 โดยประกาศว่าเวอร์ชั่นนี้เป็นเวอร์ชั่นที่อุทิศเพื่อชาวยูเครนที่ต่อต้าน "กองกำลังก่อการร้ายของปูติน" พร้อมกับเพิ่มไอคอนธงชาติยูเครนเพื่อให้ไปร่วมบริจาค
ความเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคของเวอร์ชั่นนี้คือการรองรับ Python 3.10 และถอด Python 3.5, 3.6, และ 3.7 ออก เปลี่ยนไบนารีเป็น 64 บิต
Thonny เป็นโครงการที่เกิดมาจากมหาวิทยาลัย Tartu ในเอสโตเนีย และตอนนี้เองก็ดูแลโครงการโดยบริษัท Cybernetica ในเอสโตเนียเช่นกัน ทำให้ผู้พัฒนาโครงการจะมีความผูกพันกับยูเครนมากกว่าโครงการอื่นๆ เป็นพิเศษ
ที่มา - Thonny |
# กูเกิลเตรียมพัฒนาซอฟต์แวร์ให้โทรศัพท์มือถือฟังเสียงหัวใจวิเคราะห์โรค, พัฒนา AI อ่าน ultrasound ดูแลแม่ตั้งครรภ์
กูเกิลประกาศเตรียมพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อสุขภาพเพิ่มเติมเพื่อให้การวินิจฉัยโรคมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่าย หลังจากก่อนหน้านี้เคยวิจัยการใช้กล้องหลังของโทรศัพท์เพื่อตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจมาก่อนแล้ว
งานวิจัยกลุ่มแรกคือการอาศัยไมโครโฟนของโทรศัพท์ฟังเสียงจากหน้าอกเพื่อวิเคราะห์โรค แบบเดียวกับที่แพทย์ใช้ stethoscope แปะหน้าอกฟังเสียง ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลมากนักแต่กูเกิลระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างการวิจัยทางคลีนิคอยู่ หากสำเร็จก็จะทำให้การวินิจฉัยโรคเข้าถึงได้มากขึ้น
งานต่อมาคือการสร้างปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยดูแลแม่ที่ตั้งครรภ์ โดยกูเกิลตีพิมพ์ผลวิจัยเบื้องต้นที่ให้เจ้าหน้าที่ฝึกฝนเบื้องต้นที่กวาดอัลตร้าซาวน์อย่างง่าย (simplified sweep) แล้วให้ตัวปัญญาประดิษฐ์ แล้วให้ปัญญาประดิษฐ์รายงานอายุครรภ์พร้อมกับแจ้งเตือนความผิดปกติ ตอนนี้กูเกิลเตรียมร่วมมือกับกลุ่มโรงพยาบาล Northwestern Medicine เพื่อพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์สำหรับใช้งานในวงกว้างมากขึ้น
ที่มา - Google |
# กูเกิลรายงานผลวิจัยตรวจเบาหวานขึ้นตาด้วย AI ในไทย พบวิเคราะห์ได้ระดับเดียวกับผู้เชี่ยวชาญ
ทีมวิจัยจากกูเกิลและโรงพยาบาลราชวิถี รายงานผลการวิจัยใช้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์อาการเบาหวานขึ้นตา ที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2018 ตอนนี้ผลการวิจัยก็ตีพิมพ์ลงวารสาร The Lancet ฉบับเดือนเมษายนแล้ว
โดยรวมแล้วเทคโนโลยีการวิเคราะห์อาการเบาหวานขึ้นตาใช้ตรวจคัดกรองคนไข้แล้วกว่าแสนคนทั่วโลก ตัวโครงการวิจัยในไทยมีผู้เข้าร่วมโครงการ 7,651 คน ตัวปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ได้แม่นยำ 94.7% (sensitivity 91.4%, specificity 95.4%) สูงกว่าผู้เชี่ยวชาญเล็กน้อย
ตอนนี้กูเกิลกำลังเตรียมการวิจัยขั้นต่อไปด้วยการศึกษาภาพจากกล้องในสมาร์ตโฟนปกติ ซึ่งจะเปิดทางให้สามารถคัดกรองอาการเบื้องต้นได้จากที่บ้านในอนาคต
ที่มา - Google |
# Netflix เพิ่มปุ่มใหม่ “Love this!” ให้แฟนๆ ได้แสดงออกถึงหนังและซีรีส์ที่มากกว่าแค่ชอบ
Netflix เพิ่มปุ่มใหม่ “Love this!” พร้อมสัญลักษณ์นิ้วโป้งสองนิ้ว ให้แฟนๆ หนังและซีรีส์ได้แสดงถึงความรักในเรื่องนั้น ที่มากกว่าแค่ชอบเฉยๆ ปัจจุบันปุ่มนี้มีให้กดแค่บนเวอร์ชั่นเว็บไซต์เท่านั้น ส่วนในแอปอาจตามมาในอนาคต
ปัจจุบันสิ่งที่ตัดสินว่าซีรีส์จะได้สร้างต่อหรือหยุดสร้างใน Netflix น่าจะมาจากหลากปัจจัยรวมกัน ทั้งยอดวิว เสียงตอบรับ กระแสบนโซเชียล และคะแนนรีวิวต่างๆ เพื่อนำมาคำนวณว่าการสร้างต่อจะคุ้มกับผลประโยชน์และสมาชิกใหม่ที่ Netflix จะได้รับหรือไม่
คาดว่าปุ่ม “Love this!” น่าจะเข้ามาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการพิจารณา เพราะถ้าแฟนๆ ของหนังหรือซีรีส์ รักเรื่องนั้นมากพอที่จะสละเวลาเพิ่มอีกนิดมากดปุ่มนี้ น่าจะเป็นข้อบ่งชี้ว่าซีรีส์เรื่องนั้นมีแฟนเดนตายที่อยากดูซีซั่นหรือภาคต่อไปอยู่
ที่มา - TechRadar |
# [ลือ] EA ตัดสินใจทิ้งชื่อ FIFA เปลี่ยนชื่อเกมเป็น EA Sports Football Club
Jeff Grubb นักข่าวของเว็บเกม Giant Bomb อ้างแหล่งข่าวว่า EA ตัดสินใจเดินหน้าแผนการเลิกใช้ชื่อเกม FIFA หลังตกลงสัญญาฉบับใหม่กับ FIFA ไม่ได้ โดยชื่อใหม่คือ EA Sports Football Club หรือ EA Sports FC ตามที่เคยหลุดออกมาก่อนหน้านี้ และเป็นชื่อที่ EA จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไปเรียบร้อยแล้ว
ในอีกด้าน องค์กร FIFA เองก็ปรับแก้รายละเอียดเครื่องหมายการค้าของชื่อ FIFA ให้ครอบคลุมถึง "วิดีโอเกม" ด้วย เป็นสัญญาณว่าเราจะได้เห็น FIFA ทำเกมเอง หรือหาบริษัทอื่นมาทำเกมภายใต้ชื่อ FIFA ในอนาคต ซึ่งตรงกับแนวทางของ FIFA ที่บอกว่าไม่ต้องการให้บริษัทใดมาผูกขาดชื่อเพียงรายเดียว
Jeff Grubb ยังคาดว่า EA ควรจะออกมาแถลงเรื่องนี้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น
ที่มา - Jeff Grubb (Twitch) via Ars Technica |
# AWS Lambda ขยายขนาดสตอเรจเพิ่ม ใส่ได้ถึง 10GB
บริการ AWS Lambda สำหรับรันฟังก์ชั่นแบบคิดค่าใช้งานเป็นวินาทีนั้นเปิดให้ลูกค้าเลือกขนาดแรมได้ เดิมนั้น AWS จะแถมดิสก์มาด้วยขนาด 512MB อยู่ใน /tmp ล่าสุดทาง AWS ก็เปิดให้ผู้ใช้เพิ่มสตอเรจเองได้แล้ว
แม้ว่า Lambda แต่เดิมจะเน้นงานขนาดเล็ก แต่ช่วงหลังก็มีงานหนักๆ ขึ้นไปรันบน Lambda มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น งาน ETL, งานปัญญาประดิษฐ์ เดิมหากผู้ใช้ต้องการสตอเรจเพิ่มเติมก็ต้องไปใช้บริการอื่น เช่น S3 หรือ EFS ที่คิดราคาแยกจาก Lambda การเปิดให้ Lambda เพิ่มสตอเรจได้คิดราคาเป็นชุดเดียวกัน ตัวสตอเรจคิดค่าใช้งานเป็นรายวินาทีตามการรัน Lambda จริง
ค่าสตอเรจสำหรับศูนย์ข้อมูลในสหรัฐฯ 0.0000000309 ต่อกิกะไบต์ต่อวินาที (2.7 บาทต่อกิกะไบต์ต่อเดือน)
ที่มา - AWS |
# บริษัทวิจัยตลาดเผย Apple อาจเปิดตัว MacBook Air 15 นิ้ว ภายในปี 2023
Display Supply Chain Consultants (DSCC) บริษัทวิจัยตลาดด้านไอที ออกรายงานข้อมูลตลาดหน้าจอแสดงผล ที่ดูได้เฉพาะสมาชิกในวงการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่ Ross Young นักวิเคราะห์ของ DSCC ได้เปิดเผยข้อมูลบางส่วนกับเว็บไซต์ 9to5Mac
ข้อมูลซัพพลายเชนของ DSCC ชี้ว่า Apple กำลังวางแผนเปิดตัว MacBook Air ไลน์ใหม่ ที่จะมีหน้าจอขนาดราว 15 นิ้ว ภายในปี 2023 นี้ รวมถึงเตรียมเพิ่มขนาดหน้าจอให้ MacBook Air รุ่น 13.3 นิ้ว ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระยะ 13-14 นิ้ว และกำลังวางแผนเพิ่มขนาดหน้าจอให้กับ iPad รุ่นเริ่มต้นเช่นกัน (ผู้เขียนคาดว่าไซส์หน้าจอที่ใหญ่ขึ้น จะมาจากการลดขนาดขอบจอ)
ข่าวนี้น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่อยากได้โน้ตบุ๊กบางเบา แต่ไม่ถนัดใช้งานหน้าจอขนาดราว 13 นิ้วของ MacBook Air รุ่นปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ต้องการสเปกโหดๆ แบบ MacBook Pro อาจจะคุ้มค่าที่จะรอดูปีหน้าก่อนซื้อโน้ตบุ๊ก ส่วนผู้ที่กำลังเตรียมซื้อ iPad รุ่นเริ่มต้นแล้วสามารถรอได้อีกสักปี ก็อาจคุ้มกว่าที่จะรอดีไซน์ใหม่ ที่อาจมีขนาดหน้าจอใหญ่ขึ้นเช่นกัน
ภาพเรนเดอร์ MacBook Air ดีไซน์ใหม่ โดย Jon Prosser x Renders by Ian (ยังไม่ใช่รุ่น 15 นิ้ว)
ที่มา - 9to5Mac |
# ไมโครซอฟท์เปิดตัว Azure Game Dev VM ไว้เช่าเครื่องในคลาวด์พัฒนาเกม
ช่วงหลังๆ เราเห็นกระแสการใช้สภาพแวดล้อมในการพัฒนาโปรแกรมที่เป็น VM รันบนคลาวด์ แทนการรันในเครื่องไคลเอนต์มากขึ้นเรื่อยๆ (ตัวอย่าง GitHub Codespaces) ด้วยเหตุผลเรื่องความสะดวกในการจัดการเวอร์ชันของซอฟต์แวร์ และลดเวลาการเซ็ตอัพระบบ (ทำอิมเมจมาตรฐานเก็บไว้แล้วเปิด VM ขึ้นมา)
ล่าสุดแนวคิดนี้เริ่มลามมายังวงการพัฒนาเกม สัปดาห์ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์เปิดตัว Azure Game Dev VM ที่เป็นอิมเมจบน Azure พร้อมใช้รันใน VM เพื่อพัฒนาเกมได้ทันที
ในอิมเมจของ Azure Game Dev VM มีเครื่องมือยอดนิยมมาให้พร้อม เช่น Visual Studio Community Edition 2019, Unreal Engine, Quixel Bridge, Perforce P4V Client, Parsec, Incredibuild, Blender, Teradici รวมถึงไลบรารีกลุ่ม DirectX/GDK (รายชื่อทั้งหมด)
ไมโครซอฟท์ระบุว่าสั่งสร้าง VM แล้วเครื่องพร้อมใช้งานภายใน 5 นาที รีโมทเข้าไปทำงานได้เลย และนอกจากความสะดวกในการเซ็ตอัพเครื่องให้นักพัฒนาซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้แล้ว ไมโครซอฟท์บอกว่าประโยชน์อื่นของการทำงานบน VM ยังมีทั้งการได้จีพียูที่แรงกว่า และการย้าย workflow ทั้งหมดไปอยู่บนคลาวด์ตั้งแต่ต้น สามารถทำ CI/CD, DevOps, automated test ต่อเนื่องได้ทันทีด้วย
ตัวอิมเมจใช้งานได้ฟรี ค่าเครื่องคิดตามราคาปกติของ Azure โดยไมโครซอฟท์บอกว่าจะเพิ่มเครื่องมือต่างๆ เข้ามาอีกในอนาคต และจะเปิดทางให้คัสตอมอิมเมจได้เองด้วย
ที่มา - Microsoft |
# กูเกิลออกคลิปโฆษณา ชวนผู้ใช้ iPhone ย้ายมาใช้ Chrome แทน Safari
กูเกิลออกคลิปโฆษณาชุด There’s no place like Chrome เจาะกลุ่มผู้ใช้ iPhone เพื่อชวนมาดาวน์โหลด Chrome เวอร์ชัน iOS
โฆษณาชุดนี้เล่าฟีเจอร์ของ Chrome ที่บอกอ้อมๆ ว่าเหนือกว่า Safari เช่น Autofill ช่วยจำเลขบัตรเครดิต, Saved Password ช่วยจำรหัสผ่าน, Synced Devices ซิงก์ข้อมูลจากเดสก์ท็อป และ Malware Protection ช่วยคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวขณะท่องเว็บ
ที่มา - 9to5google |
# Death Stranding Director’s Cut ปล่อยตัวอย่างใหม่ วางขายบน PC วันที่ 30 มีนาคมนี้
หลังชาว PS5 ได้เล่นกันไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 ล่าสุด Death Stranding ก็เตรียมวางจำหน่ายบน PC แล้ว โดยลงทั้ง Steam และ Epic Games Store จัดจำหน่ายโดย 505 Games และ Kojima Production ก็ได้ปล่อยตัวอย่างสุดท้ายก่อนเปิดตัวออกมาเพิ่มเติมช่วงเช้าวันนี้
ตัวเกม Director’s Cut เพิ่มท่าต่อสู้ใหม่เช่นเตะขาคู่ อาวุธใหม่เช่นปืนเลเซอร์และปืนกลตั้งพื้น เพิ่มโหมดฝึกซ้อมยิงอาวุธ มีอุปกรณ์ช่วยส่งของใหม่ๆ เช่นหุ่นยนต์ช่วยแบกของ สะพานโดดข้ามหน้าผา ไปยันโหมดแข่งรถ Fragile Circuit ที่สามารถขับรถส่งของแข่งในสนามได้
ที่มา - YouTube |
# Unity เปิดตัว Unity Gaming Services บริการคลาวด์สำหรับนักพัฒนาเกม
ตลาดคลาวด์สำหรับให้บริการเกม เป็นอีกตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีบริษัทเข้ามาสู่ตลาดนี้กันเรื่อยๆ ทั้งฝั่งผู้ให้บริการคลาวด์ยักษ์ใหญ่ (AWS, Azure, Google) และฝั่งบริษัทสายพัฒนาเกม
สัปดาห์นี้ Unity ในฐานะเจ้าของเอนจินเกมชื่อดัง ก็ประกาศว่า Unity Gaming Services (UGS) จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2022 หลังทดสอบ Beta มาสักพักใหญ่ๆ
Unity Gaming Services (UGS) เป็นชุดเครื่องมือและบริการออนไลน์สำหรับบริษัทผู้พัฒนาเกม ตัวอย่างคือ Analytics, Authentication, Cloud Save, Economy, Relay (เกมเซิร์ฟเวอร์แบบ P2P), Lobby, Vivox (แชทระหว่างผู้เล่นในเกม), Matchmaking เป็นต้น วิธีการใช้งานเป็นแบบ pay per use คิดตามปริมาณเหมือนบริการคลาวด์ทั่วไป
Unity บอกว่าหลังเปิด UGS แบบ Beta มีนักพัฒนาสมัครเข้ามาใช้งานกว่า 54,000 ราย และมีโครงการพัฒนาเกม 6,000 โครงการใช้งานอยู่ในตอนนี้ ตัวอย่างเกมดังๆ ที่ใช้งานแล้วคือ Among Us
การเปิดบริการ UGS จะทำให้บริษัท Unity มีช่องทางการหารายได้ใหม่ๆ จากปัจจุบันที่ได้จากค่าเอนจิน และแพลตฟอร์มโฆษณาในเกมมือถือ (ad network)
ที่มา - Unity |
# เกม Forspoken โชว์การโหลดเกมผ่าน DirectStorage API ส่งข้อมูลเร็วกว่าเดิม 1.7 เท่า
Luminous Productions บริษัทในเครือ Square Enix จากทีมเดิมที่ทำ FFXV กำลังจะมีเกมใหม่คือ Forspoken ออกขายในเดือนตุลาคม 2022
ล่าสุด ทีมงาน Luminous Productions ไปพูดในงาน Game Developers Conference (GDC) เล่าถึงเทคโนโลยีเบื้องหลังที่ใช้พัฒนาเกม มีทั้งชุดกราฟิก FidelityFX ของ AMD และฟีเจอร์สตอเรจ DirectStorage ของไมโครซอฟท์ ซึ่ง Forspoken เป็นเกมแรกที่ใช้งานฟีเจอร์นี้
ในคลิปที่ Luminous นำมาโชว์ แสดงระยะเวลาที่ใช้โหลดไฟล์ 20,000 ไฟล์ ขนาดรวม 4.5GB บนสตอเรจ 3 ชนิด ผ่าน DirectStorage API คือ
NVME M.2 SSD ใช้เวลา 2.2 วินาที
SATA SSD ใช้เวลา 4.6 วินาที
HDD ใช้เวลา 24.6 วินาที
ถ้าเปรียบเทียบกับการโหลดไฟล์ผ่าน Win32 API แบบเดิม อัตราการส่งข้อมูลอยู่ที่ 2,826 MB/s แต่ถ้าเรียกผ่าน DirectStorage API ตัวใหม่อยู่ที่ 4,839 MB/s (เร็วขึ้น 1.7 เท่า)
Luminous ไม่ได้โชว์ตัวเลขเป็นเวลาว่าถ้าปิด DirectStorage บนสตอเรจชุดเดียวกันจะได้ตัวเลขเท่าไร แต่การโหลดเกมขนาดใหญ่โดยใช้เวลา 1-2 วินาที ก็ถือว่าลดระยะเวลารอโหลดของผู้เล่นลงมาได้มากแล้ว ตัวอย่างของการใช้ DirectStorage จึงถือเป็นอนาคตที่น่าสนใจของเกมบนพีซียุคถัดไป (รวมถึงบน Xbox Series X|S ที่มีฟีเจอร์นี้แต่แรกอยู่แล้ว)
ที่มา - PC Gamer |
# Mozilla เปิดตัว MDN Plus สมาชิกแบบพรีเมียมของคลังเอกสาร MDN เดือนละ 5 ดอลลาร์
MDN หรือชื่อเดิม Mozilla Developer Network เป็นคลังเอกสารอ้างอิงสำหรับนักพัฒนาเว็บมายาวนาน เปิดตัวบริการแบบพรีเมียม MDN Plus เพื่อเป็นช่องทางหารายได้มาสนับสนุน MDN อีกทางหนึ่ง หลังจาก Mozilla ประสบปัญหาทางการเงินในปี 2020 จนต้องปลดคนฝ่าย MDN ออกบางส่วน
หลัง Mozilla ประสบปัญหาในการดูแลรักษา MDN ทำให้ในปี 2021 ไมโครซอฟท์และกูเกิลเข้ามาช่วยบริจาคเงินให้โครงการไปต่อได้ ส่วนการออกแพ็กเกจ MDN Plus ก็ถือเป็นวิธีการหารายได้เพิ่มอีกทางนั่นเอง
สมาชิก MDN Plus จะได้ฟีเจอร์ชุดแรกคือ
Notification แจ้งเตือนเมื่อเอกสารมีการเปลี่ยนแปลง หรือมี API ใหม่ๆ
Collections ฟีเจอร์จัดชุดเอกสารของตัวเองไว้อ้างอิงได้ง่าย โดยเพจที่เราเข้าบ่อยๆ จะถูกจัดเข้า collection ให้อัตโนมัติ
MDN offline เป็น Progressive Web Application (PWA) สำหรับใช้งานออฟไลน์
ค่าสมาชิกแพ็กเกจมาตรฐานคือ 5 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือ 50 ดอลลาร์ต่อปี แต่ก็มีสมาชิกแบบพิเศษ 10 ดอลลาร์ต่อเดือน จะได้ทดสอบฟีเจอร์ใหม่ๆ ในอนาคตก่อนใครด้วย
ที่มา - Mozilla |
# iMessage มีปัญหา ส่งไฟล์แนบไม่ได้ กระทบผู้ใช้งานบางส่วนเมื่อคืนนี้
เมื่อคืนนี้ iMessage บริการรับส่งข้อความของแอปเปิล มีปัญหาไม่สามารถส่งข้อความออกไปได้ โดยในหน้า System Status แอปเปิลระบุว่ามีปัญหาตั้งแต่เวลา 3:27-5:55น. ตามเวลาในไทย กระทบกับผู้ใช้บางส่วน โดยไม่สามารถส่งไฟล์แนบได้
ในหน้า System Status นี้ยังรายงานปัญหาของบริการอื่นแอปเปิลอีกด้วย โดย iWork for iCloud มีปัญหากับผู้ใช้บางส่วนช่วง 4:50-6:06น. และ iCloud Keychain ระหว่างเวลา 3:27-3:59น.
สัปดาห์นี้บริการออนไลน์ของแอปเปิลมีปัญหาใช้งานไม่ได้มาแล้ว 2 ครั้ง ในคืนวันที่ 21 และ 22 มีนาคม
ที่มา: MacRumors |
# [ลือ] Apple อาจออกแพ็คเกจสมัครใช้ iPhone แบบจ่ายรายเดือน ในราคาที่ถูกกว่าผ่อนชำระ
ข่าวนี้มาจาก Mark Gurman แห่ง Bloomberg โดยเขาอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องเผยว่า แอปเปิลกำลังเตรียมออกแพ็คเกจ subscription แบบรายเดือนตัวใหม่ ซึ่งไม่ใช่การสมัครใช้ iCloud หรือซอฟต์แวร์อื่น ๆ แต่ลูกค้าจะได้สิทธิใช้งานฮาร์ดแวร์เช่น iPhone หรือฮาร์ดแวร์อื่น ข้อดีของวิธีการนี้คือลูกค้าไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ แต่จ่ายแบบรายเดือนที่น้อยกว่า ก็สามารถใช้ iPhone ได้เช่นกัน
รายงานบอกว่าตอนนี้ แอปเปิลอยู่ในระหว่างการออกแบบวิธีการดำเนินงานของโมเดล subscription ดังกล่าว ส่วนตัวแทนของแอปเปิลปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข่าวนี้
หากแอปเปิลทำโมเดล subscription iPhone ออกมาจริง อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการสร้างยอดขาย iPhone ให้เติบโตรอบใหม่ วิธีการดังกล่าวอาจเหมือนการเช่าใช้งาน ซึ่งลูกค้าจะรู้สึกว่าจ่ายเงินน้อยลงกว่าระบบผ่อนชำระที่มีอยู่ และสามารถดึงดูดลูกค้าให้อยู่กับ iPhone ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้แอปเปิลยังสามารถขายพ่วงบริการอื่น ๆ เข้าไปได้ในแพคเกจได้อีก ไม่ว่าจะเป็น iCloud, Apple One หรือ Apple Care
ที่มา: Bloomberg |
# Tencent รายงานผลประกอบการไตรมาส ตลาดนอกจีนยังเติบโตสูง
Tencent รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ปี 2021 รายได้รวม 22,615 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิตามบัญชี non-IFRS 3,902 ล้านดอลลาร์
ซีอีโอ Ma Huateng กล่าวในแถลงผลประกอบการว่าปี 2021 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ท้าทาย มีการเปลี่ยนแปลง ให้บริษัทต้องปรับหลายอย่างเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว และบางอย่างก็กระทบต่อการเติบโตของรายได้
เกมซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ Tencent ได้รับผลกระทบในจีนจากข้อกำหนดต่าง ๆ ที่หน่วยงานกำกับดูแลเข้มงวดมากขึ้นในปีที่ผ่านมา ทำให้รายได้ในจีนเติบโต 1% อย่างไรก็ตามตลาดเกมในต่างประเทศยังคงเติบโตสูง รายได้เพิ่มขึ้น 34% ซึ่งบริษัทมองว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก หากมีเกมใหม่ ๆ ออกมามากขึ้น
ที่มา: CNBC และ Tencent |
# Netflix ซื้อสตูดิโอเกม Boss Fight Entertainment เจ้าของเกมมือถือ Dungeon Boss
Netflix ยังเดินหน้าซื้อสตูดิโอเกมเข้ามาเสริมคอนเทนต์ในสังกัด รอบนี้ซื้อบริษัทที่สามชื่อ Boss Fight Entertainment สตูดิโอเกมจากรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
Boss Fight Entertainment ก่อตั้งในปี 2013 มีผลงานมาแล้ว 1 เกมคือ Dungeon Boss เกมมือถือแนวเทิร์นเบส RPG ตะลุยดันเจี้ยน
ก่อนหน้านี้ Netflix ซื้อสตูดิโอ Night School Studio ผู้สร้างเกมผจญภัย Oxenfree และ Next Games ผู้สร้างเกม Stranger Things บนมือถือ
Netflix ระบุว่าตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นในธุรกิจเกมเท่านั้น แนวทางของบริษัทคือให้บริการเกมกับสมาชิกของ Netflix ที่จ่ายค่ารายเดือนอยู่แล้ว โดยไม่มีโฆษณาในเกมและไม่มี in-app purchase
ที่มา - Netflix |
# ตำรวจอังกฤษจับวัยรุ่น 7 คน อาจเป็นหัวหน้าแก๊งแฮ็กเกอร์ LAPSUS$
ตำรวจอังกฤษจับกุมวัยรุ่น 7 คน ที่มีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มแฮ็กเกอร์ LAPSUS$ ที่กำลังโด่งดังในช่วงนี้ หลังแฮ็กบริษัทดังหลายราย เช่น NVIDIA, Samsung, Okta, Microsoft
ก่อนหน้านี้มีนักวิจัยความปลอดภัย Allison Nixon จากบริษัท Unit 221B ตามแกะรอยกลุ่ม LAPSUS$ และเปิดเผยว่าแกนนำของกลุ่มเป็นวัยรุ่นชาวอังกฤษอายุ 16-17 ปี ที่ใช้นามแฝงว่า WhiteDoxbin, Oklaqq หรือ Breachbase ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ของกลุ่มอยู่ในอเมริกาใต้
ข้อมูลของ Nixon บอกว่า WhiteDoxbin เคยซื้อเว็บไซต์ Doxbin ซึ่งเป็นที่แปะข้อมูลส่วนตัวของบุคคลเป้าหมาย (ลักษณะคล้ายๆ Pastebin แต่สำหรับแฮ็กเกอร์) แต่มีปัญหาในการบริหารเว็บไซต์ ทำให้สมาชิกเว็บ Doxbin คนอื่นไม่พอใจ และแฉข้อมูลส่วนตัวของเขาต่อสาธารณะ (ภาษาในวงการเรียกว่า "dox") ถึงขั้นมีคลิปถ่ายหน้าบ้านของเขาด้วย
ตำรวจอังกฤษไม่ได้ยืนยันว่า วัยรุ่นที่ถูกจับกุมมี WhiteDoxbin อยู่ด้วยหรือไม่ แต่พ่อของวัยรุ่นคนนี้ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการแฮ็กใดๆ รู้ว่าลูกของตัวเองเก่งคอมพิวเตอร์ อยู่กับคอมพิวเตอร์ทั้งวัน แต่พ่อเข้าใจว่าเล่นเกม
ตัวอย่างโพสต์ของ Oklaqq ใน Reddit เมื่อปี 2021 ที่เห็นชื่อบัญชี Telegram ว่า whitedoxbin
ที่มา - BBC, Krebs on Security |
# Nintendo เตรียมปิดตัวเกมมือถือ Dragalia Lost
Dragalia Lost เป็นเกมมือถือเกมล่าสุดของนินเทนโดที่ประกาศปิดตัว โดยนินเทนโดบอกว่าแคมเปญสุดท้ายของเกมจะออกมาในเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งเป็นพาร์ทที่ 2 ของ Chapter ที่ 26 และจากนั้นเกมจะปิดตัว โดยจะแจ้งวันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
นินเทนโดเปิดตัว Dragalia Lost ในปี 2018 ซึ่งเป็นเกม RPG ออริจินัล ที่พัฒนาลงมือถือโดยเฉพาะ โดยเป็นความร่วมมือกับ Cygames
ก่อนหน้านี้นินเทนโดปิดตัวเกมบนมือถือไปหลายเกม เช่น Dr. Mario World, Miitomo, Pokémon Duel และ Pokémon Rumble Rush
ที่มา: Cult of Mac |
# Twitter สามารถค้นหาข้อความใน DM จากคีย์เวิร์ดได้แล้ว
Twitter ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อความใน DM ได้แล้ว ซึ่งสามารถค้นหาได้ในระดับคีย์เวิร์ด จากก่อนหน้านี้ค้นหาได้เฉพาะชื่อผู้ใช้งาน หรือชื่อกลุ่ม
การค้นหาข้อความ DM นี้ ทำได้โดยไปที่กล่องเสิร์ชในหน้า Inbox ของแอป Twitter รวมทั้งใช้งานได้ในเวอร์ชันเว็บ
อย่างไรก็ตาม The Verge ตั้งข้อสังเกตว่าข้อความที่ค้นเจอนั้น จะถอยไประยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถค้นหาข้อความที่เก่ามากได้
ที่มา: Twitter |
# ผู้สร้างไฟล์ GIF เสียชีวิตด้วยวัย 74 สาเหตุจาก COVID-19
Stephen Wilhite ผู้สร้างไฟล์ GIF ได้เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 74 ปี จากโควิด 19 โดยเขาได้สร้างไฟล์ภาพเคลื่อนไหวนี้เมื่อตอนทำงานที่ CompuServe ในปี 1987 เพื่อให้เกิดภาพต่อเนื่อง ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่เร็ว ซึ่งแม้จะนานมาแล้วจนเกิดไฟล์สื่อแบบใหม่ ๆ แต่ไฟล์ GIF ยังคงมีบทบาทต่อโลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะภาพมีมต่าง ๆ
GIF ย่อมาจาก Graphics Interchange Format ซึ่งการคิดค้นไฟล์นี้ของ Stephen ทำให้เขาได้รางวัล The Webby Awards ในปี 2013 สาขา lifetime achievement
ในงานประกาศรางวัลนั้น Stephen ยังได้กล่าวว่าไฟล์ GIF ออกเสียงว่า จิ๊บ ไม่ใช่ กิ๊บ
ที่มา: Engadget ภาพ The Webby Awards |
# Spotify ร่วมมือกูเกิล เปิดให้เลือกจ่ายค่าสมาชิกตรงหรือผ่าน Google Play ก็ได้
Spotify ประกาศความร่วมมือกับกูเกิลเปิดให้ผู้ใช้เลือกจ่ายค่าสมาชิกแบบพรีเมี่ยมโดยตรงกับ Spotify เอง หรือจะจ่ายผ่าน Google Play Billing ก็ได้ โดยในตัวแอปจะมีตัวเลือกสองแบบข้างๆ กัน กูเกิลเรียกฟีเจอร์นี้ว่า User Choice Billing
ไม่มีรายละเอียดว่าดีลนี้มีการจ่ายค่าบริการให้กูเกิลเท่าใด แต่ดีลนี้เป็นก้าวสำคัญหนึ่งในการต่อรองระหว่างบริการต่างๆ กับเจ้าของระบบปฎิบัติการ ที่ต้องการเก็บค่าธรรมเนียมการจ่ายเงินค่าบริการผ่านโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ 15-30% ตัว Spotify เองก็เป็นหนึ่งในโจทย์ที่ร้องเรียน App Store ว่าผูกขาด
ก่อนหน้านี้กูเกิลเคยเปิดตัวเลือกให้จ่ายเงินช่องทางอื่นนอกจาก Google Play Billing ในเกาหลีใต้แต่ก็เป็นการเปิดแพลตฟอร์มเพราะเกาหลีใต้ออกกฎหมายบังคับ แต่รอบนี้ Spotify จะเปิดให้ตัวเลือกแบบนี้ทั่วโลก
บริการจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ในกรณีที่ต้องการสมัครหรือซื้อสินค้าผ่านบริการที่ไม่เป็นที่รู้จักนัก หรือบางบริการอาจจะมีแนวทางไม่โปร่งใส ยกเลิกการสมัครสมาชิกได้ยาก แต่สำหรับบริการจำนวนมาก การบีบให้จ่ายค่าธรรมเนียม 30% กลายเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป ที่ผ่านมาบริการหลายตัวที่เป็นที่รู้จักไม่ให้ซื้อสินค้าหรือสมัครสมาชิกผ่านแอปเพื่อเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมนี้ เช่น Kindle บน iOS ไม่สามารถซื้อหนังสือได้
ตอนนี้ตัวแอปยังไม่เสนอตัวเลือกให้ แต่จะค่อยๆ ปล่อยให้ผู้ใช้ภายในปีนี้ ตัวกูเกิลเองระบุว่าความร่วมมือนี้จะทำให้เข้าใจว่าการเปิดรับวิธีการจ่ายเงินแบบนี้มีผลกระทบอย่างไรต่อผู้ใช้ในแต่ละประเทศต่างๆ และโครงการทดลองนี้จะเปิดรับนักพัฒนารายอื่นๆ ด้วยแต่จำนวนไม่มากนัก
ที่มา - Spotify, Android Developers |
# แบงก์ชาติ/ก.ล.ต. ยืนยันร้านค้ายังรับเงินคริปโตได้ แต่ห้ามใช้ตัวกลางใต้กำกับ
หลังจากทางก.ล.ต. ออกประกาศห้ามไม่ให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไปให้บริการชำระค่าสินค้าและบริการ วันนี้ก็มีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเพิ่มเติมโดยคุณสุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด ก.ล.ต. และคุณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. ระบุว่าหากไม่ได้ใช้ตัวกลางเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้กำกับดูแลก็ยังคงเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะทำได้
ทั้งสององค์กรระบุถึงความกังวลว่าจะมีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการเป็นวงกว้าง เช่น การที่ผู้ให้บริการต่างๆ นำระบบไปวางเพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
อย่างไรก็ดี นอกจากผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่สามารถให้บริการอำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าหรือบริการเองแล้ว ตัวประกาศของก.ล.ต. ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องตรวจสอบบัญชีต่างๆ ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายการใช้บัญชีเพื่อรับชำระค่าสินค้าและบริการหรือไม่ พฤติกรรมเหล่านี้ เช่น การรับสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาและขายออกทันที หรือการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกไปและกลับเข้ามาในอีกบัญชีในตัวเงินใกล้เคียงกัน
ทางก.ล.ต. ระบุว่าจะมีการออกเกณฑ์การใช้บัญชีที่เข้าข่ายการใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการต่อไป โดยประกาศระบุว่าผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแจ้งเตือนหรือระงับบัญชีของผู้ใช้หากพบพฤติกรรมเช่นนี้
ที่มา - งานพูดคุยกับ ก.ล.ต. - ธปท. เรื่องเกณฑ์กำกับการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น MoP |
# คนรัสเซียแห่ดาวน์โหลดไฟล์ Wikipedia เก็บไว้แบบออฟไลน์ ก่อนโดนรัฐบาลบล็อค
คนรัสเซียเริ่มดาวน์โหลดข้อมูล Wikipedia เก็บไว้ใช้งานแบบออฟไลน์ ก่อนรัฐบาลรัสเซียบล็อคการเข้าถึง Wikipedia (ขู่ว่าจะบล็อคแต่ยังไม่บล็อคจริงๆ)
ปัจจุบันมีเครื่องมือหลายตัวที่ใช้ดาวน์โหลดข้อมูลจาก Wikipedia เก็บไว้แบบออฟไลน์ ตัวอย่างยอดนิยมคือ Kiwix ที่ออกแบบมาสำหรับการอ่าน Wikipedia ในสถานที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือประเทศที่ปิดกั้นอินเทอร์เน็ต
ในหน้าสถิติของ Kiwix ระบุว่ารัสเซียเป็นประเทศที่ใช้งาน Kiwix เยอะที่สุดในเดือนมีนาคม 2022 คิดเป็น 42% ของทราฟฟิกทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่รัสเซียไม่ติดประเทศ Top 10 เลยด้วยซ้ำ
ไฟล์ Wikipedia ภาษารัสเซียทั้งก้อนมีขนาด 29GB ถูกดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 1 แสนครั้ง เพิ่มขึ้นถึง 4,000% เทียบกับเดือนมกราคม
เว็บไซต์ Slate สัมภาษณ์ชาวรัสเซียคนหนึ่งชื่อ Alexander ที่บอกว่าดาวน์โหลดไฟล์ Wikipedia เก็บเอาไว้เผื่อต้องใช้ โดยเขาบอกว่าเชื่อในข้อมูลของ Wikipedia มากกว่าสื่อของรัฐบาลรัสเซีย และเขากำลังพยายามย้ายออกจากรัสเซียอยู่ในตอนนี้
ที่มา - Slate |
# ทำความรู้จักกับ “Application Resource Management” ระบบจัดการบริหารทรัพยากร เพื่อตอบสนองความต้องการของแอปพลิเคชัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แอปพลิเคชันรูปแบบใหม่ๆ หรือ Cloud native application มักมีองค์ประกอบหลากหลายส่วนทำงานด้วยกัน ทำให้ยากที่จะทราบว่าในส่วนของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ พื้นที่จัดเก็บข้อมูล หรือเครือข่ายเน็ตเวิร์กเหล่านั้นทำงานสนับสนุนแอปพลิเคชันใดอยู่บ้าง วิธีดั้งเดิมในการคาดการณ์ความต้องการของทรัพยากรเหล่านั้น คือการดูจากประวัติการใช้งานย้อนหลัง และตั้งค่าเผื่อไว้เพียงครั้งเดียว หรือที่เรียกว่า “set it and forget it” วิธีดังกล่าวอาจทำให้มีการจัดสรรทรัพยากรที่มากเกินไป ที่แย่กว่านั้นคือแอปพลิเคชันอาจหยุดการทำงานระหว่างการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีทรัพยากรไม่เพียงพอ
เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแอปพลิเคชันยังคงสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น ระบบ Application Resource Management จึงมีความจำเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากการแสดงองค์ประกอบทั้งหมดของแอปพลิเคชันตั้งแต่ Infrastructure ไม่ว่าจะเป็น Network, Storage, Compute, Virtualization, Database, Containerไปจนถึง Application ทั้งที่อยู่บน On premises และ Public, Private, Multi cloud รวมถึงการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆเหล่านั้น ไปจนถึงการ take action ต่างๆ เพื่อให้แอปพลิเคชันยังคงสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด โดยความสามารถดังกล่าวทั้งหมดอยู่ใน “Turbonomic” Application Resource Management ล่าสุดจาก IBM
ความสามารถของ Turbonomic วิเคราะห์การใช้งานทรัพยากรของแอปพลิเคชัน เพื่อนำไปสูการตัดสินใจที่น่าเชื่อถือ
Turbonomic เป็นแพลตฟอร์มการวิเคราะห์เพียงแพลตฟอร์มเดียวที่รับรองว่าทรัพยากรทั้งหมดที่มีความจำเป็นนั้นมีอยู่อย่างเพียงพอ เนื่องจาก Turbonomic เข้าใจความสัมพันธ์ของทรัพยากร จึงวางใจได้ว่าการ take action จะเป็นไปอย่างอัตโนมัติและปลอดภัย ตัวอย่างเช่น จะแนะนำให้ขยายทรัพยากร (scale up/out) หากไม่มีทรัพยากรเพียงพอ โดยระบบจะแจ้งว่าต้องจัดเตรียมทรัพยากรเท่าไรเพื่อรองรับการทำงานที่เพิ่มขึ้น
ทำความเข้าใจว่าแอปพลิเคชันมีการใช้งานทรัพยากรอย่างไร
Turbonomic จะมีการทำความเข้าใจว่าแอปพลิเคชันของคุณใช้ทรัพยากรจากโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร เพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินใจต่างๆจะไม่ผิดพลาด การทำแผนผังแสดงความสัมพันธ์ของทรัพยากรในทุกชั้นของแอปพลิเคชัน ทำให้ Turbonomic มองเห็นองค์ประกอบทุกอย่าง ทีมแอปพลิเคชันและนักพัฒนาสามารถอ้างอิงข้อมูลเดียวกันกับทีม DevOps, SRE, Operations และ Infrastructure
นำเสนอข้อมูลที่มีความจำเป็นและสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมแบบ Public, Private, Hybrid, Multi Cloud การผสมผสานของเทคโนโลยีทั้งเก่าและใหม่ Turbonomic ช่วยให้คุณกำหนดขอบเขตมุมมองที่สำคัญสำหรับทีมต่างๆ ได้ ทั้งทีม Application, Developer ที่ต้องการดูประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน ทีม DevOps, SRE ที่ต้องการดูความสมบูรณ์ของ cluster ในขณะที่ทีม Operation, Infrastructure ที่จะเน้นไปที่แพลตฟอร์ม IaaS เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าองค์กรของคุณจะมีโครงสร้างอย่างไร ทุกทีมสามารถรับข้อมูลที่สำคัญต่อพวกเขาได้คุณจะมีโครงสร้างอย่างไร ทุกทีมสามารถรับข้อมูลที่สำคัญต่อพวกเขาได้
ประโยชน์ที่ได้รับจาก Turbonomic
ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของแอปพลิเคชัน สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้โดยอัตโนมัติเมื่อแอปพลิเคชันต้องการ
ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดกับธุรกิจ จากการที่ระบบต่างๆไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้ส่งผลต่อความพึงพอใจของลูกค้า
เพิ่ม productivity ของระบบ IT ในองค์กร ด้วยการจัดการทรัพยากรได้โดยอัตโนมัติ
ทีมต่างๆเห็นภาพไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เข้าใจโครงสร้างของแอปพลิเคชัน และเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของ Cloud ลดการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ทันทีที่ต้องการ
Turbonomic Application Resource Management (ARM) ช่วยให้มั่นใจได้ว่าแอปพลิเคชันจะได้รับทรัพยากรที่จำเป็น และเพียงพอในการทำงาน ไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่ไหนหรือสถาปัตยกรรมถูกออกแบบมาอย่างไร โดย Turbonomic ใช้ AI เพื่อรับรองประสิทธิภาพการทำงานของแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่องและอัตโนมัติ และสามารถลดต้นทุนได้อย่างปลอดภัย สำหรับ CloudOps และนักพัฒนาระบบคลาวด์ในองค์กร
ข้อมูลจากการจำลองการใช้งาน Turbonomic ซึ่งสามารถช่วย take action ต่างๆเหล่านี้ให้กับทรัพยากรของคุณ
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจสามารติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด
โทร 02 311 6881 #7156 หรือ email : [email protected]
เขียนบทความโดย คุณอนุกูล คงสกูล
Presales Software Specialist
บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด |
# Apple Wallet รองรับใบขับขี่ดิจิทัลในสหรัฐ ใช้แตะยืนยันตัวตนในสนามบิน แทนการควักบัตรโชว์
แอปเปิลเริ่มรองรับใบขับขี่และบัตรประจำตัวดิจิทัลผ่านแอพ Apple Wallet ในบางรัฐของสหรัฐ โดยเป็นใบขับขี่ดิจิทัลที่ภาครัฐรับรอง และสามารถใช้แสดงเพื่อยืนยันตัวตนที่จุดตรวจความปลอดภัยของสนามบินได้ด้วย
ใบขับขี่ดิจิทัลจะเริ่มใช้ได้ที่รัฐแอริโซนาเป็นแห่งแรก และมีรัฐอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งตามมาในเร็วๆ นี้ วิธีการคือถ่ายรูปใบขับขี่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ถ่ายเซลฟี่ยืนยันตัวตน ระบบจะตรวจสอบใบหน้ากับภาพถ่ายของเราในฐานข้อมูลของภาครัฐว่าเป็นตัวเราจริงๆ จากนั้นสามารถนำใบขับขี่ดิจิทัลไปใช้ยืนยันตัวตนได้ทั้งบน iPhone และ Apple Watch
ในกรณีใช้ที่สนามบิน เราสามารถนำ iPhone หรือ Apple Watch แตะเพื่อสแกนยืนยันตัวตนกับระบบของ Transportation Security Administration (TSA) ที่สนามบินได้เลย ตอนนี้ใช้ได้แล้วที่สนามบิน Phoenix Sky Harbor International Airport เป็นแห่งแรก
ที่มา - Apple |
# เอลซัลวาดอร์เลื่อนการขายพันธบัตรเพื่อไปลงทุนบิทคอยน์ หลังเจอปัญหาราคาผันผวน
ประเทศเอลซัลวาดอร์ประกาศเลื่อนแผนการออกพันธบัตรบิทคอยน์ตามที่เคยประกาศไว้ เนื่องจากราคาบิทคอยน์ตกลง
เดิมที เอลซัลวาดอร์ประกาศขายพันธบัตรมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ มีกำหนดขาย 15-20 มีนาคม โดยจะนำเงินสดที่ได้ไปซื้อบิทคอยน์ 500 ล้านดอลลาร์ และนำไปจ่ายค่าขุดเหมืองบิทคอยน์อีก 500 ล้านดอลลาร์ ผู้ซื้อพันธบัตรมีกำหนดไถ่ถอน 5 ปี โดยได้ดอกเบี้ยตามที่ประกาศ
แต่เนื่องจากราคาบิทคอยน์ผันผวน บวกกับสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้ Alejandro Zelaya รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องประกาศเลื่อนแผนการขายพันธบัตรนี้ไปก่อน โดยอาจกลับมาขายในเดือนกันยายน 2022
ที่มา - Reuters, Decrypt
ภาพจาก เว็บไซต์ประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ |
# Apple ซื้อกิจการ Credit Kudos บริษัทฟินเทคด้านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากอังกฤษ
มีรายงานว่าแอปเปิลได้ซื้อกิจการสตาร์ทอัพสายฟินเทคจากอังกฤษ Credit Kudos ซึ่งไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่แหล่งข่าวระบุว่ามูลค่าดีลราว 150 ล้านดอลลาร์
ตัวแทนของแอปเปิลชี้แจงต่อข่าวนี้ด้วยประโยคเดิมว่า บริษัทซื้อกิจการเทคโนโลยีขนาดเล็กอยู่เป็นระยะ และจะไม่พูดถึงแผนงานในอนาคต แต่คาดว่าน่าจะนำเทคโนโลยีของ Credit Kudos มาเสริมกับบริการทางการเงิน Apple Pay และ Apple Card
Credit Kudos เป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ข้อมูลธนาคารของลูกค้า ในการตรวจสอบข้อมูลเครดิตและการขอสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการรายใหญ่ในตลาดอย่าง Equifax, Experian และ TransUnion
ที่มา: CNBC |
# Google Play ยอมเปิดให้แอพใช้ระบบจ่ายเงินของตัวเอง เริ่มจาก Spotify เป็นรายแรก
กูเกิลปรับนโยบายช่องทางการจ่ายเงินบน Google Play Store ให้ผ่อนคลายมากขึ้น จากเดิมที่บังคับต้องจ่ายผ่านระบบของกูเกิลเท่านั้น แต่เมื่อช่วงหลังได้รับแรงกดดันจากหน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศ (เช่น เกาหลีใต้ที่ถึงขั้นออกเป็นกฎหมาย) ทำให้กูเกิลต้องยอมปรับตัว
ล่าสุดกูเกิลประกาศว่าจะ 'ทดลอง' ให้นักพัฒนาในประเทศอื่นใช้ระบบจ่ายเงินของตัวเองด้วย โดยเริ่มจาก Spotify เป็นรายแรก ที่สามารถนำเสนอวิธีการจ่ายเงินของตัวเองคู่ไปกับ Google Play billing แล้วให้ผู้ใช้เป็นฝ่ายเลือกว่าจะจ่ายทางไหน
ในอดีตนั้น Google Play เก็บส่วนแบ่งรายได้ 30% แต่ปีที่แล้ว กูเกิลลดให้เหลือ 15% หากเป็นนักพัฒนารายเล็ก หรือเป็นแอพที่ขายเพลง อีบุ๊ก วิดีโอ ที่มีต้นทุนค่าคอนเทนต์แพง อย่างไรก็ตาม กูเกิลไม่ได้เปิดเผยว่ากรณีของ Spotify จะต้องเสียส่วนแบ่งรายได้เท่าไรให้กูเกิล (ซึ่งน่าจะน้อยกว่า 15%)
ตัวอย่างหน้าจอระบบจ่ายเงินทางเลือกของ Google Play ในเกาหลีใต้
ก่อนหน้านี้ แอปเปิลเคยยอมเปิดกว้างแบบเดียวกันในเกาหลีใต้ แต่ไม่ระบุอัตราส่วนแบ่งใหม่ ส่วนในเนเธอร์แลนด์ แอปเปิลก็ยอมทำตามคำสั่งของหน่วยงานรัฐ แต่ลดจากเดิม 30% เหลือ 27% ซึ่งเนเธอร์แลนด์ยังไม่พอใจ
ที่มา - Google, Spotify |
# Instagram เพิ่มทางเลือกฟีดแบบใหม่กับผู้ใช้ทุกคน แสดงโพสต์เรียงตามลำดับเวลา
หลังจากทดสอบกับผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งก่อนหน้านี้ วันนี้ Instagram ประกาศเปิดใช้งานทางเลือกฟีดรูปแบบใหม่ มีผลกับผู้ใช้ทุกคน
ฟีดแบบใหม่ที่เพิ่มมาสองตัวคือ Favorites และ Following โดยมีเป้าหมายให้ผู้ใช้งานควบคุมประสบการณ์และเนื้อหาที่ตนต้องการเห็นมากที่สุด ซึ่งทั้งสองฟีดนี้จะแสดงผลตามลำดับเวลาการโพสต์ด้วย
โดย Favorites จะแสดงเนื้อหาจากบัญชีที่เรากำหนดว่าเป็นเพื่อนสนิท หรือเป็นบัญชีที่เราชื่นชอบ โพสต์จากบัญชีเหล่านี้จะแสดงขึ้นด้านบนก่อน ส่วนฟีดอีกแบบ Following จะแสดงโพสต์ของบัญชีที่เราติดตาม ตามลำดับเวลาโพสต์ โดยเนื้อหาใหม่ที่สุดแสดงขึ้นมาก่อน
ผู้ใช้ที่ได้ตัวเลือกฟีดแบบใหม่นี้ สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยเลือกที่มุมบนซ้ายตรงคำว่า Instagram และเลือกรูปแบบฟีดที่ต้องการ
ที่มา: Instagram |
# แบงค์ชาติเตรียมบังคับธนาคาร ห้ามลงทุนธุรกิจคริปโตเกิน 3% ของเงินกองทุน
ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเตรียมออกเกณฑ์การลงทุนของธนาคารพาณิชย์ โดยมีสองประเด็นคือการอนุญาตให้ลงทุนในบริษัทกลุ่มฟินเทคได้ไม่มีเพดาน และกำหนดการลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน
เพดานการลงทุน 3% ของเงินกองทุนนี้ยังมีข้อจำกัดปลีกย่อย โดยสามารถลงทุนได้เฉพาะธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น หากเป็นธุรกิจอื่นๆ (เช่น NFT) ต้องขอเป็นรายกรณีผ่านกระบวนการ BOT Sandbox แทน
ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังระบุว่าแนวทางอนุญาตให้ธนาคารไปลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลบ้าง น่าจะสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเองปรับตัวได้ตามมาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด (มาตรฐานระบบไอที, การป้องกันการฟอกเงิน, แนวทางการทำตลาด) ซึ่งหากทำได้ในอนาคตก็จะยกเลิกเพดานการลงทุน
ตอนนี้ยังเป็นเพียงการประกาศแนวทางการกำกับดูแล ตัวร่างข้อบังคับจริงจะเปิดรับฟังความคิดเห็นภายหลัง และคาดว่าจะออกประกาศได้ในครึ่งแรกของปีนี้
ที่มา - ธนาคารแห่งประเทศไทย |
# ผู้ร่วมก่อตั้ง OnePlus เปิดข้อมูลแรก Nothing phone (1) ได้แอนดรอยด์ 3 เวอร์ชั่น แพตช์ความปลอดภัย 4 ปี ขายฤดูร้อนนี้
Carl Pei ผู้ร่วมก่อตั้ง OnePlus เปิดข้อมูลแรกของมือถือแอนดรอยด์รุ่นใหม่ใต้แบรนด์ Nothing อย่าง Nothing phone (1) ในงาน NOTHING (event): THE TRUTH. ตรงตามข่าวลือก่อนหน้านี้ และเตรียมวางจำหน่ายในช่วงฤดูร้อนปีนี้ (มิถุนายน-กันยายน)
ด้านฮาร์ดแวร์ Carl Pei ยังไม่โชว์หน้าตา Nothing phone (1) รวมถึงยังไม่ระบุสเปกที่แน่นอน นอกจากใช้ชิป Snapdragon รุ่นหนึ่ง และบอกว่าตัวเครื่องจะเป็นเอกลักษณ์ กับให้ดูสัญลักษณ์ประหลาดเป็นการบอกใบ้ ก่อนระบุว่าจะเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงเดือนถัดๆ ไป
ด้านซอฟต์แวร์ Carl Pei ระบุว่าจะรันบน Android ครอบด้วย Nothing OS ซึ่งจะเป็นระบบปฏิบัติการที่เน้นความเร็ว ลื่นไหล และเปิดกว้าง เป็นการกลั่นกรองเฉพาะฟีเจอร์ที่สำคัญของ Pure Android มาปรับแต่ง ฟังดูแล้วก็คล้ายยุคแรกๆ ของ OxygenOS บน OnePlus อยู่เหมือนกัน
Nothing Phone (1) จะได้อัพเดตเวอร์ชั่นแอนดรอยด์ 3 เวอร์ชั่น และแพตช์ความปลอดภัย 4 ปี เทียบได้กับ Pixel แต่ยังเป็นรองมือถือเรือธงของ Samsung ที่ได้อัพเดตแอนดรอยด์ 4 เวอร์ชั่น และแพตช์ความปลอดภัยให้ถึง 5 ปี ส่วนข้อมูลอื่นๆ ทั้งรูปลักษณ์ สเปกและราคา คงต้องติดตามกันต่อไป
ที่มา - NOTHING (event): THE TRUTH. |
# Crypto.com ประกาศเป็นสปอนเซอร์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์
บริษัทเทรดคริปโต Crypto.com ประกาศเข้าเป็นสปอนเซอร์ของฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ช่วงปลายปีนี้ ถือเป็นครั้งแรกของบริษัทคริปโตที่ก้าวขึ้นมาเป็นสปอนเซอร์เทศกาลกีฬาใหญ่ระดับฟุตบอลโลก
ก่อนหน้านี้ไม่นาน Crypto.com เพิ่งเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์สนามแข่งบาสเก็ตบอล L.A. Lakers โดยซื้อสิทธิชื่อสนามเป็น Crypto.com Arena รวมถึงเป็นสปอนเซอร์กีฬาชนิดอื่นๆ อย่างรถแข่ง ฮอกกี้น้ำแข็งด้วย
Crypto.com จะเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มเทรดคริปโตอย่างเป็นทางการของฟุตบอลโลก 2022 นอกจากการโชว์โลโก้ที่ข้างสนามแล้ว บริษัทยังระบุว่าจะมีกิจกรรมอื่นๆ สำหรับลูกค้าที่เทรดคริปโตบนแพลตฟอร์มด้วย
ที่มา - FIFA, Crypto.com |
# ไม่ลืมๆๆ โซนี่บอกฟีเจอร์ VRR ของ PS5 จะออกในเร็วๆ นี้ หลังเงียบหายมาเป็นปี
Sony ประกาศแผนการอัพเดตฟีเจอร์ Variable Refresh Rate (VRR) ของ PS5 ที่เคยสัญญาไว้นานแล้วตั้งแต่เครื่องยังไม่วางขาย ว่าจะเริ่มปล่อยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า (coming months) แต่ยังไม่ระบุช่วงเวลาแน่ชัด
Variable Refresh Rate หรือ VRR เป็นฟีเจอร์ด้านการแสดงผลที่ซิงก์อัตรารีเฟรชของจอภาพ (จอต้องรองรับ และต้องใช้กับสาย HDMI 2.1) กับแต่ละฉากของเกมที่อาจมีอัตรารีเฟรชต่างกันไป (เช่น ฉากที่อยู่นิ่งๆ ก็ไม่ต้องรีเฟรชเยอะ) ฟีเจอร์นี้มีในจอทีวีหรือจอมอนิเตอร์รุ่นใหม่ๆ บางรุ่น โดยคู่แข่ง Xbox Series X|S รองรับ VRR ไปก่อนนานแล้ว
ทีวีของโซนี่เองคือ Bravia รุ่นปี 2021 ก็เคยโฆษณาตอนวางขายว่าจะรองรับ VRR ผ่านอัพเดตในภายหลัง ซึ่งโซนี่เพิ่งเริ่มปล่อยอัพเดตเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2022 นี้เอง (เท่ากับว่าใช้ Bravia แสดงผล VRR กับ Xbox ได้แล้ว แต่ใช้กับ PS5 ยังไม่ได้)
ตอนนี้โซนี่เพิ่งโชว์ภาพหน้าจอตั้งค่า VRR ให้เห็นว่ามาแน่ๆ ส่วนจะมาจริงเมื่อไรก็ต้องลุ้นกันต่อไป
โซนี่ยังออกอัพเดตเฟิร์มแวร์ให้ทั้ง PS4 และ PS5 เพิ่มฟีเจอร์การเข้าร่วมปาร์ตี้ และปรับปรุง UI อีกเล็กน้อย ซึ่งเป็นอัพเดตตัวเดียวกับที่มีฟีเจอร์สั่งงานด้วยเสียง Hey PlayStation ที่ทดสอบกับกลุ่ม Beta เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
ที่มา - PlayStation Blog |
# ไมโครซอฟท์บอก LAPSUS$ แฮ็กบัญชีพนักงานได้คนเดียว, เปิดเผยรายละเอียดวิธีแฮ็ก
ทีมความปลอดภัยไซเบอร์ของไมโครซอฟท์ ออกรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มแฮ็กเกอร์ LAPSUS$ ที่กำลังดังในตอนนี้ หลังเจาะข้อมูลของบริษัทชื่อดังหลายแห่ง เช่น NVIDIA, Samsung, Okta รวมถึงไมโครซอฟท์เองด้วย
ไมโครซอฟท์บอกว่าจากการสอบสวนภายใน พบว่ามีบัญชีของพนักงานถูกเจาะ 1 รายเท่านั้น และแฮ็กเกอร์ไม่ได้ข้อมูลอื่นขององค์กรไป นอกจากข้อมูลในบัญชีของพนักงานคนนั้น
ไมโครซอฟท์ยังให้ข้อมูลว่า แพทเทิร์นการโจมตีของ LAPSUS$ ชัดเจนมากว่าเริ่มจากการหลอก phishing พนักงานขององค์กรเป้าหมาย โดยศึกษาโครงสร้างองค์กร กระบวนการภายใน สายสัมพันธ์กับคู่ค้าขององค์กรแห่งนั้นๆ แล้วพยายามหลอกพนักงานด้วยการขึ้นข้อความยืนยัน multifactor authentication (MFA) ปลอมๆ และโทรหาฝ่าย help desk ขององค์กรให้รีเซ็ตรหัสผ่านบัญชี
เมื่อได้บัญชีพนักงานมาแล้ว LAPSUS$ จะใช้วิธีการหลายอย่างเพื่อเข้าถึงระบบภายในองค์กร เช่น หา session token หรือรหัสผ่านเข้าระบบ VPN, RDP, VDI โดยบางกรณีถึงขั้นจ่ายเงินให้พนักงานคนใน เพื่อซื้อรหัสผ่านเลยด้วยซ้ำ (ดูภาพประกอบ) พอเข้าระบบได้ลึกขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจเข้าถึง Jira, Gitlab, Confluence ผ่านช่องโหว่ของซอฟต์แวร์เหล่านี้อีกที
อีกเทคนิคที่น่าสนใจคือ LAPSUS$ เลี่ยงระบบตรวจจับการแฮ็ก ที่ใช้วิธีดูจากพิกัดของผู้ใช้งาน (เช่น บริษัทเอเชีย ถ้ามีคนล็อกอินจากอเมริกาใต้ถือว่าผิดสังเกต) ด้วยการใช้ NordVPN แล้วเลือกจุดออก (egress) ในภูมิภาคเดียวกับบริษัทเป้าหมาย ทำให้สามารถเลี่ยงระบบตรวจจับของหลายองค์กร ที่มีข้อยกเว้นเรื่องภูมิภาคให้เป็นพิเศษ
ไมโครซอฟท์แนะนำวิธีป้องกันตัวว่า องค์กรควรเข้มงวดการยืนยันตัวตนด้วย MFA มากขึ้น ใช้วิธีการยืนยันที่ปลอดภัยสูง (เช่น FIDO Tokens หรือ Authenticator) และหลีกเลี่ยงการยืนยันตัวตนที่ต้องใช้เครือข่ายโทรศัพท์ (เช่น SMS หรือการโทร)
ที่มา - Microsoft |
# Starlink ขึ้นราคาทั้งอุปกรณ์และค่ารายเดือน ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2020 ระบุสาเหตุมาจากเงินเฟ้อ
Starlink บริษัทอินเทอร์เน็ตดาวเทียมของ Elon Musk ส่งอีเมลแจ้งลูกค้า ระบุเตรียมขึ้นราคาตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2022 เป็นต้นไป โดยอ้างสาเหตุอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง รวมถึงระบุว่า Starlink มีจำนวนดาวเทียมมากขึ้นเป็นสามเท่า และมีสถานีภาคพื้นมากขึ้นสี่เท่านับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ
ตามปกติลูกค้าที่อยากใช้งานจะต้องจ่ายเงินมัดจำก่อนเป็นราคา 99 ดอลลาร์ ก่อนต้องจ่ายเพิ่มเมื่อ Starlink ทำการจัดส่งอุปกรณ์ภายใน 6 เดือน ราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับผู้ที่วางเงินมัดจำไว้ก่อน 22 เมษายน เตรียมปรับจาก 499 ดอลลาร์ เป็น 549 ดอลลาร์
ออเดอร์หลังจากนี้ หลังมัดจำ 99 ดอลลาร์แล้ว จะต้องจ่ายเพิ่ม 599 ดอลลาร์เมื่อมีการจัดส่งอุปกรณ์ ส่วนค่ารายเดือนก็เพิ่มจาก 99 ดอลลาร์ เป็น 110 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขึ้นราคาครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้ใช้งานจริงในเดือนตุลาคมปี 2020
อย่างไรก็ตามราคาระดับพรีเมียมสำหรับลูกค้าธุรกิจยังเป็นราคาเดิม คือมัดจำ 500 ดอลลาร์ ค่าอุปกรณ์ต้องจ่ายเพิ่ม 2,500 ดอลลาร์ และค่ารายเดือน 500 ดอลลาร์
ลูกค้า Starlink สามารถขอเงินมัดจำคืนได้เต็มจำนวนหากยังไม่มีการจัดส่งอุปกรณ์ หรือหลังจากได้รับอุปกรณ์ภายในแล้ว 30 วัน หากใช้งานไปแล้วไม่พอใจ สามารถคืนอุปกรณ์และขอเงินคืนได้ 200 ดอลลาร์ภายในปีแรก
ที่มา - Digitaltrends |
# [Omdia] Samsung Galaxy A12 เป็นมือถือยอดจัดส่งสุดในปี 2021 มือถือจอพับได้โต 309% จากปี 2020
บริษัทวิจัยตลาด Omdia เปิดเผยสถิติยอดจัดส่งมือถือในปี 2021 มือถือ Samsung Galaxy A12 มือถือรุ่นเล็กราคาในไทยเปิดตัวเพียง 5,299 บาทครองสถิติมือถือที่ยอดจัดส่งสูงสุด รองลงมาเป็น iPhone 12, iPhone 13 และ iPhone 11 ตามลำดับ
Source: Omdia
Omdia ยังเปิดเผยว่ายอดจัดส่งมือถือจอพับได้ (foldables) ในปี 2021 โตจากปี 2020 ถึง 309% อยู่ที่ราว 9 ล้านเครื่อง โดยยอดจดส่งกว่า 89% เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และ Samsung ครองตลาดมือถือจอพับได้กว่า 88% อันดับหนึ่งคือ Galaxy Z Flip 3 5G รองลงมาเป็น Galaxy Z Fold 3 5G และอันดับ 3 คือ Huawei Mate X2
Omdia คาดการณ์ว่าตลาดมือถือจอพับได้จะมียอดจัดส่งเติบโตถึง 14 ล้านเครื่องในปีนี้ และ 61 ล้านเครื่องภายในปี 2026 ซึ่งหากเป็นไปตามนี้จริง มือถือจอพับได้ก็จะครองส่วนแบ่งราว 3.6% ของยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนทั้งหมด
Source: Omdia
ที่มา - Omdia, Omdia (2) |
# ก.ล.ต. ประกาศห้ามผู้รับใบอนุญาตให้บริการชำระค่าสินค้าด้วยเงินคริปโต มีผลบังคับ พฤษภาคมนี้
ก.ล.ต. ออกประกาศ "หลักเกณฑ์กํากับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจํากัดการให้บริการในการนําสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชําระค่าสินค้าและบริการ" หลังจากรับฟังความคิดเห็นไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และได้สรุปความคิดเห็นไว้แล้ว
ประกาศฉบับนี้จะบังคับไม่ให้กิจการต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต. ไปให้บริการนำเงินคริปโตหรือสินทรัพย์แบบเดียวกันไปจ่ายค่าสินค้าหรือบริการ หลังจากก่อนหน้านี้มีผู้ให้บริการ และห้างร้านหลายรายแสดง ประกาศรับค่าสินค้าเป็นเงินคริปโต นอกจากการห้ามให้บริการเองแล้ว ประกาศยังระบุว่าหากกิจการภายใต้กำกับพบว่าลูกค้าเปิดบัญชีเพื่อไปจ่ายค่าสินค้าหรือบริการจะต้องจะต้องแจ้งเตือนลูกค้าว่าใช้งานผิดประเภท และดำเนินการต่างๆ รวมถึงการระงับบริการ
ประกาศฉบับนี้ให้เวลา 30 วันนับแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ทำให้มีผลบังคับจริงในเดือนพฤษภาคม
ที่มา - ก.ล.ต. |
# Java 18 ออกแล้ว เปลี่ยนมาใช้ UTF-8 เป็นดีฟอลต์
Oracle ออก Java 18 ตามรอบการออกทุก 6 เดือน โดยเวอร์ชันนี้ไม่ได้เป็น LTS เหมือนกับ Java 17 ที่มีระยะซัพพอร์ตนาน 8 ปี ส่วน LTS ตัวหน้าคือ Java 21 ที่จะออกในเดือนกันยายน 2023
ของใหม่ใน Java 18 ได้แก่
เปลี่ยนค่าดีฟอลต์ของรหัสอักขระมาเป็น UTF-8 จากของเดิมที่ขึ้นกับค่าดีฟอลต์ของ OS ส่งผลให้ Java จัดการอักขระเหมือนกันเสมอบนทุกสภาพแวดล้อม (คือเป็น UTF-8 หมด ไม่ต้องเสี่ยงว่าจะเจอความผิดพลาดจากชุดอักขระที่ต่างกัน)
เปลี่ยนระบบการแปลง Hostname เป็น IP จากของเดิมที่พึ่งพา resolver ของ OS มาเป็น API ตัวใหม่ที่ให้ผลเหมือนกันบนทุกแพลตฟอร์ม
เพิ่ม simple web server เว็บเซิร์ฟเวอร์แบบง่ายๆ ที่รันได้แต่ static file สำหรับใช้ทดสอบแบบเร็วๆ โดยไม่ต้องติดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์เอง
พรีวิวฟีเจอร์ Vector API สำหรับการประมวลแบบขนาน (เวกเตอร์), พรีวิว Foreign Function เปิด API ให้กับภาษาโปรแกรมอื่นนอก Java รันไทม์
จำนวนฟีเจอร์ของ Java แต่ละรุ่น หลังเปลี่ยนมาใช้ระบบการออกรุ่นทุก 6 เดือน
ที่มา - Oracle, JDK 18 |
# Okta ระบุพนักงานซัพพอร์ตถูกแฮก ลูกค้า 2.5% ได้รับผลกระทบ
Okta แถลงถึงเหตุการณ์ที่กลุ่ม LAPSUS$ อ้างว่าสามารถยึดระบบหลังบ้านของ Okta สำเร็จ โดยระบุว่าเครื่องที่ถูกแฮกเป็นเครื่องของพนักงานซัพพอร์ตที่เป็นลูกจ้างของบริษัทภายนอกอีกที
ทาง Okta ระบุว่าข้อมูลลูกค้า 2.5% ได้รับผลกระทบ โดยอาจจะถูกแฮกเกอร์เข้าไปดูข้อมูล หรือถูกกระทำบางอย่างกับข้อมูล ตัวเลขล่าสุดจำนวนลูกค้าของ Okta มีประมาณ 15,000 ราย หากคิดจากตัวเลขนี้ก็อาจจะมีบริษัท 300-400 บริษัทได้รับผลกระทบ
จากการตรวจสอบ เครื่องพนักงานซัพพอร์ตคนนี้ถูกแฮกเป็นเวลา 5 วัน ระหว่าง 16-21 มกราคมที่ผ่านมา สิทธิ์ของพนักงานคนนี้สามารถเข้าดูรายงานใน Jira, รายชื่อผู้ใช้, และสามารถรีเซ็ตรหัสผ่านหรือโทเค็นล็อกอินขั้นที่สองได้
ทาง Okta เตรียมจัด webinar ชี้แจงเรื่องนี้กับลูกค้าโดยให้รายละเอียดด้านเทคนิคมากขึ้นในวันนี้
ที่มา - Okta |
# กูเกิลย้ายช่องทางซื้อ-เช่าหนัง จาก Google Play ไปอยู่ที่แอพ Google TV
กูเกิลประกาศย้ายเซคชั่นซื้อและเช่าหนัง Movies & TV ในแอพ Google Play ไปอยู่บนแอพอีกตัวคือ Google TV แทน โดยรูปแบบการใช้งานยังเหมือนเดิม (แค่ย้ายแอพเพื่อใช้งาน) การเปลี่ยนแปลงจะมีผลในเดือนพฤษภาคม 2022
หน้าร้าน Google Play จะเหลือแค่การขายแอพ เกม และอีบุ๊กเท่านั้น ส่วนคอนเทนต์หนัง-ซีรีส์ที่เราเคยซื้อไปแล้วจะย้ายตามไปอยู่บน Google TV ด้วย
ที่มา - Droid-Life |
# Synnex เปิดตัวแบรนด์อุปกรณ์เสริม S-GEAR ประกัน 2 ปี เสียเปลี่ยนเลยไม่ต้องซ่อม
Synnex ดิสทริบิวเตอร์ผู้ขายสินค้าไอทีรายใหญ่ของไทย เปิดตัวแบรนด์สินค้าของตัวเองชื่อ S-GEAR โดยเน้นที่อุปกรณ์เสริมทั้งสายไลฟ์สไตล์และเกมมิ่ง
สินค้าชุดแรกที่เปิดตัวได้แก่ เมาส์ คีย์บอร์ด คอนเวิร์ตเตอร์สำหรับแปลงสาย USB-C/USB-A/HDMI นอกจากนี้บนหน้าเว็บของ S-GEAR ยังมีสินค้าอื่นคือ อแดปเตอร์ สายชาร์จ และเลเซอร์พอยเตอร์ด้วย
จุดเด่นที่น่าสนใจของสินค้า S-GEAR คือการอาศัยจุดแข็งด้านช่องทางของ Synnex โดยรับประกัน 2 ปี และเปลี่ยนให้ทันทีโดยไม่ต้องซ่อม ซึ่ง Synex ระบุว่าตั้งเป้ายอดขาย 500 ล้านบาทภายใน 3 ปี
ที่มา - S-GEAR |
Subsets and Splits
No community queries yet
The top public SQL queries from the community will appear here once available.