txt
stringlengths 202
53.1k
|
---|
# Tumblr เพิ่มทางเลือกใช้งานแบบไม่มีโฆษณา คิด 5 ดอลลาร์ต่อเดือน
Tumblr ประกาศเพิ่มทางเลือก ให้ใช้งานได้แบบไม่มีการแสดงโฆษณาทั้งบนเดสก์ท็อปและแอปมือถือ นั่นคือการจ่ายเงินที่ราคา 4.99 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือจ่ายเป็นรายปีก็จะมีส่วนลดเพิ่มเติม โดยอยู่ที่ 39.99 ดอลลาร์ต่อปี
จุดขายดั้งเดิมของ Tumblr ที่ผู้ก่อตั้ง David Karp เคยบอกคือการไม่แสดงโฆษณา แต่ Tumblr ก็ตัดสินใจให้มีโฆษณาเล็ก ๆ ในส่วน Tumblr Radar ตั้งแต่ปี 2012 เพื่อเป็นช่องทางหารายได้
Tumblr ขายกิจการให้ Yahoo! เมื่อปี 2013 ส่วนปัจจุบัน Tumblr เป็นของ Automattic เจ้าของ Wordpress ที่ซื้อกิจการต่อจาก Verizon ซึ่งเป็นเจ้าของ Yahoo! ในเวลานั้น และมีรายงานว่าเป็นมูลค่าดีลที่ไม่สูง เทียบกับที่ Yahoo! ซื้อ 1,100 ล้านดอลลาร์ ตอนนั้น
ที่มา: Tumblr |
# Reddit อัพเดตแอป เพิ่มหัวข้อ Discovery แนะนำกลุ่มและคอนเทนต์ที่น่าสนใจ
Reddit อัพเดตแอปครั้งใหญ่ทั้งบน iOS และ Android โดยเพิ่มหัวข้อ Discovery ที่ด้านล่าง เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานค้นหากลุ่มและคอนเทนต์ที่น่าสนใจได้ง่ายขึ้น โดยพิจารณาจากกลุ่มและคอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานสนใจในปัจจุบัน
ข้อมูลจาก Reddit บอกว่าฟีเจอร์นี้เคยทดสอบจำกัดกลุ่มผู้ใช้งาน พบว่าจำนวน 1 ใน 5 ได้เข้าร่วมกลุ่มใหม่ที่ถูกแนะนำผ่านหน้า Discovery นี้
ในหน้า Discovery ยังมีระบบ feedback โดยหากกลุ่มที่แนะนำเป็นกลุ่มที่ผู้ใช้งานไม่ต้องการให้แนะนำอีก ก็สามารถรายงานให้ลดการแนะนำกลุ่มประเภทนี้ได้
ที่มา: Reddit |
# Alibaba ไตรมาสล่าสุด รายได้รวมโต 10% ธุรกิจ Cloud โต 20%
Alibaba รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 3 ตามปีการเงินบริษัท 2021 สิ้นสุดเดือนธันวาคม รายได้รวมเพิ่มขึ้น 10% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 38,066 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิ 3,206 ล้านดอลลาร์
รายได้แยกตามส่วนธุรกิจที่สำคัญ เป็นอีคอมเมิร์ซในจีน +7% (27,026 ล้านดอลลาร์) คลาวด์ +20% (3,066 ล้านดอลลาร์) บริการในท้องถิ่น O2O +27% (1,905 ล้านดอลลาร์) และอีคอมเมิร์ซต่างประเทศ +18% (2,581 ล้านดอลลาร์) จำนวนผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มเพิ่มเป็น 1.28 พันล้านคน แบ่งเป็นในจีน 979 ล้านคน และต่างประเทศ 301 ล้านคน
ประเด็นอื่นที่น่าสนใจในรายงานของ Alibaba มีดังนี้
ในปี 2021 การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์คิดเป็น 25% ของการซื้อสินค้าในจีนทั้งหมด
เทศกาลลดราคา 11.11 ที่ผ่านมา มียอดขายสุทธิ (GMV) 8.45 หมื่นล้านดอลลาร์
รายได้ Alibaba Cloud 52% มาจากภาคธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต
Alibaba เริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์จาก Super App มาเป็นแยกแอป เช่น Taobao Deals และ Taocaicai เพื่อเจาะตลาดพื้นที่ห่างไกล
คำสั่งซื้อใน Lazada เพิ่มขึ้น 52%
ที่มา: Alibaba |
# พบมัลแวร์ชั้นสูง Bvp47 กระจายตามบริษัทโทรคม หน่วยงานทหาร คาดเป็นของ NSA
Pangu Lab บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์จากจีนรายงานถึงมัลแวร์ Bvp47 ที่ตั้งชื่อตามสตริงที่เจอซ้ำๆ กันในตัวมัลแวร์ว่าเป็นมัลแวร์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก และมีความสามารถซับซ้อน สามารถซ่อนการสื่อสารได้ค่อนข้างแนบเนียน โดยคาดว่าจะเป็นมัลแวร์ตัวหนึ่งของ NSA
Bvp47 ซ่อนการสื่อสารกับต้นทางผ่านทางแพ็กเก็ต TCP SYN เพื่อกระตุ้นการทำงานมัลแวร์และส่งคำสั่ง กระบวนการเชื่อมต่อเข้ารหัสอย่างรัดกุม และเมื่อเจาะเซิร์ฟเวอร์ต้นทางได้แล้วก็จะเจาะออกด้านข้างหาเซิร์ฟเวอร์ตัวอื่นๆ ไปเรื่อยๆ
จากการวิเคราะห์มัลแวร์ พบว่ามีการใช้เครื่องมือเจาะหลายตัว ตรงกับ Equation Group ที่ทำเครื่องมือรั่วออกมาเมื่อปี 2016 ทำให้คาดได้ว่า Bvp47 นี้ก็น่าจะเป็นของ NSA เหมือนกัน
ทาง Pangu Lab ระบุว่า Bvp47 มีรายชื่อเหยื่ออยู่ในไฟล์ด้วย ( โดยรายชื่อกระจายตามบริษัทโทรคมนาคม, สถาบันวิทยาศาสตร์, มหาวิทยาลัย, หน่วยงานทางทหาร, และหน่วยงานทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยจีนมีเยอะสักหน่อย สำหรับประเทศไทยเองก็ระบุว่าเซิร์ฟเวอร์ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอยู่ในรายการ
ที่มา - Pangu Lab |
# หลุดคำพูดซีอีโอ EA บอกแบรนด์ FIFA ไม่มีประโยชน์ในปีที่ไม่มีแข่งฟุตบอลโลก
จากข่าวปีที่แล้วที่ EA ออกมาเกริ่นว่าจะไม่ใช้ชื่อเกม FIFA ในอนาคต และ ฝั่ง FIFA ก็ออกมาแถลงว่าจะไม่ให้บริษัทไหนมาผูกขาดแบรนด์ FIFA เช่นกัน ทำให้เรามีแนวโน้มได้เห็นเกมฟุตบอลจาก EA ในชื่อใหม่อย่างมาก
เว็บไซต์ Video Game Chronicle อ้างคำพูดของ Andrew Wilson ที่ตอบคำถามพนักงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 (แต่เพิ่งหลุดออกมาถึงสื่อ) โดย Wilson บอกว่าการได้แบรนด์ FIFA มาใช้นั้นไม่มีประโยชน์ในปีที่ไม่มีการจัดแข่งฟุตบอลโลก สิ่งที่ EA ได้มามีเพียงตัวอักษรคำว่า FIFA บนกล่องเกมเท่านั้น
Wilson ยังพูดกับพนักงานว่า EA ทำเกมแบรนด์ FIFA มานานกว่า 30 ปี สร้างรายได้มหาศาล และเขามองว่าแบรนด์ FIFA มีมูลค่าในฐานะวิดีโอเกม มากกว่าในฐานะองค์กรด้านฟุตบอลด้วยซ้ำ แต่บริษัทก็จะพยายามทำงานหนักเพื่อให้ FIFA เข้าใจสิ่งที่ EA ต้องการ
นอกจากนี้ Wilson ยังบอกว่าการไม่มีแบรนด์ FIFA ในเกมอาจเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะ FIFA มาพร้อมสปอนเซอร์ของตัวเอง เช่น Adidas ทำให้ EA ไม่สามารถใส่สปอนเซอร์รายอื่นอย่าง Nike เข้าไปในเกมได้ แถม FIFA ยังห้ามไม่ให้ดัดแปลงวิธีการเล่นฟุตบอลที่แตกต่างไปจากการเล่น 11 คนตามกติกาปกติด้วย จึงถือเป็นการปิดกั้น EA ในการทดลองสิ่งใหม่ๆ เข้าไปในเกม
หนังสือพิมพ์ New York Times เคยรายงานข่าวเบื้องหลังว่า FIFA เรียกเงินจาก EA แพงขึ้นมาก ทำให้ EA เริ่มไม่อยากต่อสัญญาที่จะหมดลงในปี 2022 นี้ หลังฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ จึงเป็นไปได้สูงว่าเราจะได้เห็นเกม EA FIFA 23 (ที่ออกราวเดือนกันยายน 2022) เป็นภาคสุดท้ายที่ใช้ชื่อเดิม
EA ยังเริ่มจดเครื่องหมายการค้าชื่อ EA Sports FC แล้ว ซึ่งถือเป็นความไปได้หนึ่งที่จะใช้ชื่อนี้มาแทน
ที่มา - VGC |
# ไปรษณีย์สหรัฐฯ เดินหน้าแผนซื้อรถบรรทุกใช้น้ำมันต่อไปแม้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมจะคัดค้าน
ไปรษณีย์สหรัฐฯ หรือ USPS ประกาศเดินหน้าการซื้อรถบรรทุกขนส่งของไปรษณีย์ตามแผนเดิมต่อไป แม้ว่า EPA และรัฐบาล Biden จะขอให้ทบทวนก็ตาม
ก่อนหน้านี้ USPS ออกนโยบายซื้อฟลีตรถบรรทุกเพื่อใช้ในงานไปรษณีย์มูลค่ากว่า 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งรถเกือบทั้งหมดยังคงเป็นรถน้ำมัน และมีรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 5,000 คัน หรือคิดเป็น 10% ของฟลีตรถยนต์ทั้งหมดที่สั่งซื้อเท่านั้น ทำให้ EPA ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนจัดซื้อของ USPS ว่าทางไปรษณีย์ประเมินค่าใช้จ่ายอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงการใช้รถน้ำมันต่อไปจะเป็นการเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังส่งผลต่อสุขภาพชาวอเมริกันอีกด้วย
Louis DeJoy ผู้อำนวยการไปรษณีย์ระบุว่า USPS จะพยายามเพิ่มรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อมีเงินทุนมาเพิ่มเติมมากพอ แต่ยืนยันว่าการจัดซื้อรถใหม่ยังคงต้องดำเนินต่อไป
ที่มา - Engadget
ภาพ ArtisticOperations/Pixabay (CC0 Creative Commons) |
# Oppo เปิดตัวมือถือเรือธง Find X5 ใช้หน่วยประมวลผลภาพ MariSilicon X ที่ออกแบบเอง
Oppo เปิดตัว Find X5 มือถือเรือธงของปี 2022 แยกย่อยเป็นรุ่น Oppo Find X5 และ X5 Pro (ข้ามจาก X3 มาเป็น X5 เลย ไม่มีเลข 4)
จุดเด่นที่สำคัญของซีรีส์ Oppo Find X5 คือ ระบบกล้องที่ใช้ชิปประมวลผลภาพ MariSilicon X ที่ Oppo ออกแบบเองเป็นรุ่นแรก ช่วยให้การรับสีแม่นยำขึ้น, ถ่ายวิดีโอ 4K ในตอนกลางคืนได้ดีกว่าเดิม
กล้องหลังของ Find X5 มี 3 ตัวคือ กล้องหลัก 50MP Sony IMX766 (รุ่น Pro มี OIS แบบ 5 แกน), กล้องอัลตร้าไวด์ 50MP เซ็นเซอร์ตัวเดียวกัน (Oppo บอกว่าเป็นกล้องหลังคู่ที่ใช้เซ็นเซอร์ดีที่สุดของวงการแล้ว) และกล้องเทเล 13MP, กล้องหน้าเป็น Sony IMX709 ภาพจากกล้องหน้าก็ประมวลผลด้วย MariSilicon X
สเปกอย่างอื่นของ Oppo Find X5 Pro ใช้หน่วยประมวลผล Snapdragon 8 Gen 1 ตามมาตรฐานมือถือปี 2022, แรม 12GB, หน้าจอโค้ง 6.7" AMOLED WQHD+ 120Hz รองรับสีแบบ 10-bit, แบตเตอรี่ 5000 mAh แบบ dual-cell ที่มีความจุเพิ่มขึ้น 11% รองรับชาร์จเร็ว 80 วัตต์ และชาร์จเร็วไร้สาย 50 วัตต์, มีเทคนิค Battery Health Engine ช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ได้ราว 2 เท่า เป็นการชาร์จ 1600 รอบ
ส่วน Oppo Find X5 รุ่นธรรมดา ใช้หน้าจอเล็กลงเป็น 6.5" AMOLED 120Hz, หน่วยประมวลผล Snapdragon 888 รุ่นของปีที่แล้ว, แรม 8GB, ชาร์จเร็ว 80 วัตต์ ชาร์จเร็วไร้สาย 30 วัตต์
ระบบปฏิบัติการเป็น ColorOS 12.1 ที่อิงจาก Android 12 รองรับฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ Android อย่าง Nearby Share และ Fast Pair
ดีไซน์เครื่องมีด้วยกัน 2 สีคือ ขาว Ceramic White และดำ Glaze Black เริ่มวางขาย 14 มีนาคม
Find X5 Pro ราคา 1,299 ยูโร (48,000 บาท)
Find X5 ราคา 999 ยูโร (37,000 บาท)
ส่วนราคาขายในประเทศไทยต้องรอประกาศอีกครั้ง
ที่มา - Oppo |
# อินเทลซื้อ Linutronix บริษัทด้านลินุกซ์สำหรับอุตสาหกรรม ดึงตัวทีมพัฒนาเคอร์เนลลินุกซ์
อินเทลเข้าซื้อกิจการ Linutronix บริษัทจากเยอรมนี ที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเคอร์เนลลินุกซ์สายเรียลไทม์ (PREEMPT_RT) สำหรับงานอุปกรณ์ฝังตัวสายงานอุตสาหกรรม
การซื้อบริษัท Linutronix ไม่ได้เป็นการซื้อผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการซื้อตัวทีมงาน (acquihire) โดยเฉพาะตัวซีทีโอ Thomas Gleixner ที่เป็นผู้ดูแลหลักของเคอร์เนลลินุกซ์สำหรับสถาปัตยกรรม x86 มาตั้งแต่ปี 2008 การมาอยู่ใต้ร่มของบริษัทใหญ่ระดับอินเทล แปลว่าทีมของ Gleixner จะยังทำหน้าที่พัฒนาเคอร์เนลต่อไปโดยไม่ต้องสนใจเรื่องการหารายได้มากนัก ส่วนธุรกิจของ Linutronix จะยังเดินต่อไปดังเดิม ในฐานะหน่วยย่อยอิสระภายใต้ฝ่ายซอฟต์แวร์ของอินเทล
การซื้อ Linutronix ยังเป็นสัญญาณว่าอินเทลให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่วงหลังอินเทลหันมารุกหนักด้านไดรเวอร์ และการพอร์ตซอฟต์แวร์ยอดนิยมมารันบนจีพียูสถาปัตยกรรม Xe มากขึ้นมาก
ที่มา - Intel via Phoronix |
# เอกสารเผย ซีอีโอ Activision จะได้เงิน 15 ล้านดอลลาร์ หาก Microsoft ให้ออกจากตำแหน่ง
จากข่าวเอกสารที่ Activision Blizzard ส่งให้ ก.ล.ต. สหรัฐ หรือ SEC เกี่ยวกับรายละเอียดของดีลขายกิจการให้ไมโครซอฟท์ เว็บไซต์ Axios พบข้อมูลเพิ่มเติม ว่าในกรณีที่ซีอีโอ Bobby Kotick ถูกให้ออกจากตำแหน่งจะเกิดค่าเสียหายเท่าใด
ตัวเลขในเอกสารระบุว่ากรณีที่ Kotick ต้องออกจากตำแหน่งจากการที่ไมโครซอฟท์ซื้อกิจการ เขาจะได้รับเงินชดเชย 15 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินนี้เรียกกันว่า Golden Parachute หรือร่มชูชีพสีทอง ที่ผู้บริหารจะตกลงกับบริษัทไว้ก่อนหน้าเพื่อป้องกันปัญหาหากบริษัทถูกซื้อกิจการ อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้ยังไม่มีท่าทีชัดเจนจากไมโครซอฟท์
ในข้อตกลงนั้นยังระบุว่า Kotick จะได้เงินโบนัส 22 ล้านดอลลาร์ หากบอร์ดบริหารรวมทั้งไมโครซอฟท์เห็นว่าเขาปรับปรุงวัฒนธรรมในองค์กรได้ดีขึ้น ซึ่งก่อนไมโครซอฟท์ซื้อกิจการ Kotick ก็ประกาศลดเงินเดือนจนกว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ ส่วนสัญญาจ้างบริหารนั้น เขาอาจได้รับการต่อสัญญาอีกอย่างน้อย 12 เดือน นับจากวันที่หมดสัญญาปัจจุบันคือมีนาคม 2023
ที่มา: Axios |
# เว็บไซต์หน่วยงานรัฐของยูเครน ถูกโจมตีพร้อมกับการบุกจู่โจมภาคพื้นดินในประเทศ
บริษัทความปลอดภัยด้านไซเบอร์บริษัท Mandiant ระบุว่าเว็บไซต์หน่วยงานรัฐ และเว็บขององค์กรขนาดใหญ่หลายเว็บไซต์ในยูเครนถูกโจมตีด้วยมัลแวร์ลบข้อมูลในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น (ยูเครนช้ากว่าไทย 5 ชั่วโมง)
เว็บที่ถูกโจมตีมีทั้งเว็บรัฐสภา เว็บไซต์สำนักรัฐมนตรี เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ เว็บไซต์การศึกษา โดยบริษัทความปลอดภัยด้านไซเบอร์ Symantec ให้ข้อมูลกับ CNN ว่าหน่วยงานที่ถูกโจมตี มีสถาบันการเงินของยูเครนอย่างน้อยหนึ่งแห่ง และบริษัทลูกจ้างของรัฐบาลยูเครนอย่างน้อยสองแห่ง
ฝั่ง ESET ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการโจมตีนี้มุ่งเป้าไปยังองค์กรขนาดใหญ่ในยูเครน มัลแวร์ที่ใช้ในการโจมตี เพิ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงสองเดือน เพิ่งถูกนำมาใช้ในวันนี้ และ ESET เพิ่งเคยพบมัลแวร์ประเภทนี้ในการโจมตีในยูเครนครั้งนี้เท่านั้น
ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ลงมือทำการโจมตีไซเบอร์ครั้งนี้เป็นใคร หน่วยงานรัฐของยูเครนระบุว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นการโจมตีต่อเนื่องหลังจากการโจมตีครั้งก่อนหน้าเมื่อช่วงกลางเดือน ส่วนหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นการกระทำของหน่วยงาน GRU ของรัสเซียที่มักใช้การโจมตีแบบ DDoS เพื่อโจมตีเว็บไซต์ต่างๆ แต่สถานทูตรัสเซียในกรุงวอชิงตัน ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
ปัจจุบันการโจมตีทางไซเบอร์เริ่มถูกนำมาใช้ควบคู่ หรือรบกวนการทำงานของรัฐหรือการทหารมากขึ้นเรื่อยๆ หลังก่อนหน้านี้ก็มีแฮกเกอร์ฝั่งยูเครน พยายามใช้มัลแวร์โจมตีระบบรถไฟของเบลารุสล เพื่อให้รัสเซียทำการสุมกำลังที่ชายแดนเพื่อจู่โจมกรุง Kyiv ได้ยากขึ้น แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันก็ดูเหมือนว่าไม่เป็นผลเท่าไร
ที่มา - CNN |
# คมนาคมเลื่อนเก็บค่าปรับ M-Flow เป็นหลัง 31 มีนาคม เตรียมคืนเงินให้ผู้ที่จ่ายไปแล้ว
วันนี้นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ระบุยอมรับว่าการประชาสัมพันธ์ และสมัครสมาชิกของโครงการ M-Flow มีปัญหา แต่กำลังเร่งปรับปรุงแก้ไข และผู้สมัครสมาชิกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย
ในส่วนของค่าปรับ นายสราวุธเปิดเผยว่ามีแนวโน้มคือเลื่อนการเก็บค่าปรับ 10 เท่าสำหรับผู้ที่ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระเงิน สำหรับผู้ที่ไม่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกและชำระค่าผ่านทางหลังจากใช้งานในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ไปเป็นหลังวันที่ 31 มีนาคม
ส่วนผู้ที่จ่ายค่าปรับไปแล้ว ราว 20,000 ราย นายสราวุธระบุว่าจะทยอยคืนเงินค่าปรับให้ แต่ระบุว่ายังอยู่ระหว่างนำเข้าที่ประชุม แต่หลังจากนายสราวุธให้สัมภาษณ์ ในช่วงสายมีข่าวยืนยันจากสำนักข่าวต่างๆ อีกครั้ง ระบุว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อธิบดีกระทรวงคมนาคม มีคำสั่งชะลอการเก็บค่าปรับเป็นหลัง 31 มีนาคม และเตรียมทยอยคืนเงินค่าปรับ
ผู้ใช้งานที่ขับรถผ่านไปแล้ว สามารถตรวจสอบเพื่อชำระเงิน ได้ที่ www.mflowthai.com เลือกเมนู : ค้นหาเพื่อชำระเงิน : https://mflowthai.com/mflow/unuserpayment และทำตามขั้นตอน สำหรับผู้ที่ต้องการลงทะเบียนเพื่อเป็นสมาชิก สามารถลงทะเบียนได้ 3 ช่องทาง คือ ผ่านเว็บไซต์ www.mflowthai.com แอป MFlowThai หรือลงทะเบียนผ่านไลน์ @mflowthai แต่วิธีที่สามใช้ได้เฉพาะการจ่ายแบบผูกบัตรเครดิตเท่านั้น
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ โทร 1586 กด 1 หรือไลน์ @mflowthai
ที่มา - รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ช่วงหลังจาก 1 ชั่วโมง 14 นาที, ผู้จัดการออนไลน์ |
# [Bloomberg] Alibaba พับแผนระดมทุน 1 พันล้านดอลลาร์พา Lazada ออก IPO
Bloomberg รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวตนว่า Alibaba พับแผนระดมทุน 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อพา Lazada ออก IPO หลังการประเมินมูลค่าของ Lazada จากผู้ลงทุน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ คือไม่ถึง 1 พันล้านดอลลาร์
อีกหนึ่งปัจจัยคือตลาดในช่วงนี้ยังมีความผันผวนสูง และมูลค่าของบริษัทเทคโนโลยีทั้งในตลาดหุ้นนิวยอร์กและฮ่องกงก็เริ่มลดลงในช่วงนี้ รวมถึงมูลค่าบริษัทเทคโนโลยีจากจีนเองก็ลดลงเนื่องจากความไม่แน่นอนในการเข้ามาควบคุมธุรกิจต่างๆ ที่เข้มข้นขึ้นของรัฐบาลจีน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวของ Bloomberg ระบุว่าการพับแผน IPO ครั้งนี้อาจเป็นเรื่องชั่วคราว และ Alibaba ตั้งใจจะแยก Lazada ออกมาทำ IPO ให้ได้สักวันหนึ่ง เพื่อแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีคู่แข่งอย่าง Shopee ของ Sea และ GoTo บริษัทอีคอมเมิร์ซจากอินโดนีเซีย เนื่องจากธุรกิจของ Alibaba ในประเทศจีนเริ่มได้รับผลกระทบจากนโยบาย “Covid Zero” ที่ปิดเมืองทันที่ที่พบการระบาดของโรคโควิด-19
ที่มา - Bloomberg |
# ซีรีส์ Marvel ที่ถูกถอดจาก Netflix เตรียมย้ายมาลง Disney+
หลังมีข่าว Marvel ถอดซีรีส์ที่ทำร่วมกับ Netflix ออกจาก Netflix หลังสิ้นเดือนนี้ ล่าสุด Disney+ ในแคนาดา ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ให้สื่อมวลชน เปิดเผยวันฉายซีรีส์ Moon Knight ของ Marvel พร้อมเปิดเผยว่าซีรีส์ Marvel บน Netflix จะลงฉายใน Disney+ วันที่ 16 มีนาคมนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับ Disney+ Hotstar ในบ้านเรา ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้ดูพร้อมกันหรือไม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูง ส่วนในสหรัฐอเมริกา ผู้ชมน่าจะต้องไปดูในบริการ Hulu แทน เพราะซีรีส์ชุดนี้มีเรทติ้ง TV-MA คือสำหรับผู้ใหญ่ แทนที่จะเป็น TV-14 หรือสำหรับผู้มีอายุ 14 ปีขึ้นไป แบบซีรีส์ Marvel เรื่องอื่นที่อยู่บน Disney+ ในสหรัฐฯ
ที่มา - Tom’s Guide |
# The 1 เปิดบริการคัดเลือกกลุ่มเป้าจากสมาชิก 19 ล้านคนช่วยทำการตลาด ผ่านอีเมล, SMS, และแอป
The 1 บริการสะสมแต้มในกลุ่มเซ็นทรัลประกาศเปิด The 1 for Business สำหรับธุรกิจที่ต้องการเชื่อมต่อเข้ากับระบบของ The 1 โดยเปิดบริการ 3 กลุ่ม ทั้งการเชื่อมต่อระบบสะสมแต้มเข้ากับบัตร The 1, บริการช่วยพัฒนาโปรไฟล์ลูกค้าและสรุปข้อมูลสำคัญ, และบริการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากสมาชิกของ The 1
ทั้ง 3 บริการมีจุดขายสำคัญคือข้อมูลผู้ใช้ที่จะเปิดให้ธุรกิจที่เข้าร่วมเห็นข้อมูลมากขึ้น เช่น บริการ Data & Insight นั้นช่วยให้ธุรกิจรู้ถึงความต้องการเชิงลึกของลูกค้าเพื่อต่อยอดการตลาด ส่วนบริการ Audience+ จะช่วยให้ยิงโฆษณาแคมเปญต่างๆ ตามเงื่อนไข เช่น อายุ, เพศ, สถานะการแต่งงาน, การศึกษา, รวมไปถึงพฤติกรรมการจับจ่าย
ที่มา - จดหมายข่าว The 1
ภาพบริการ The 1 BIZ - Audience+ จาก The 1 |
# ระบบปฏิบัติการ FreeDOS ออกเวอร์ชัน 1.3 เวอร์ชันใหญ่ครั้งแรกในรอบ 6 ปี
FreeDOS ระบบปฏิบัติการโอเพนซอร์สที่เขียนขึ้นมาใหม่ โดยเน้นความเข้ากันได้กับ MS-DOS ออกเวอร์ชัน 1.3 ซึ่งเป็นการออกเวอร์ชันใหญ่ครั้งแรกในรอบ 6 ปี (เวอร์ชัน 1.2 ออกปี 2016)
ของใหม่ใน FreeDOS 1.3 มีหลายอย่าง เช่น เคอร์เนลเวอร์ชันใหม่, รองรับระบบไฟล์ FAT32, เวอร์ชันไฟล์เล็ก Floppy Edition บีบอัดไฟล์ให้เล็กลง ใช้จำนวนดิสก์น้อยลงครึ่งหนึ่ง (ตัวระบบปฏิบัติการอย่างเดียวใช้พื้นที่ 20MB ในการติดตั้ง, มีเวอร์ชันรวมแอพและเกมด้วยใช้พื้นที่ 275MB)
โครงการ FreeDOS เริ่มขึ้นในปี 1994 หลังไมโครซอฟท์ประกาศเลิกพัฒนา MS-DOS ทำให้มีโปรแกรมเมอร์หลายคนร่วมกันทำ DOS เวอร์ชันโอเพนซอร์ส จนกลายมาเป็น FreeDOS
เราอาจคุ้นชื่อ FreeDOS ในฐานะระบบปฏิบัติการที่แถมมากับพีซีบางรุ่น (ที่ไม่มีไลเซนส์วินโดวส์ เพื่อลดราคาขายลง) และ FreeDOS ก็ยังได้รับความนิยมในกลุ่มเกมเมอร์ที่เล่นเกมคลาสสิกยุค DOS
ที่มา - FreeDOS via Phoronix |
# ไม่เลือกงาน Microsoft Defender for Cloud รองรับคลาวด์ 3 ค่าย ทั้ง AWS และ GCP
ไมโครซอฟท์เปิดตัว Microsoft Defender for Cloud (ชื่อเดิมคือ Azure Security Center) บริการสแกนความปลอดภัยบนคลาวด์ ที่ทำงานได้บนคลาวด์ 3 ค่ายใหญ่คือ Azure, AWS และล่าสุดคือ Google Cloud Platform (GCP)
แนวทางของผลิตภัณฑ์สายความปลอดภัยของไมโครซอฟท์ในช่วงหลัง (รีแบรนด์เป็น Microsoft Defender) คือเอาทุกอย่าง ทุกแพลตฟอร์ม ฝั่งไคลเอนต์รองรับสมาร์ทโฟน ลินุกซ์ IoT ส่วนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ก็รองรับคลาวด์ทั้ง 3 ยี่ห้อหลักตามประกาศของข่าวนี้
Microsoft Defender for Cloud จะรองรับการค้นหาช่องโหว่ความปลอดภัยในบริการของ GCP เช่น ตรวจสอบ Cloud Storage ว่าเปิด bucket เป็นสาธารณะหรือไม่, เปิด multi-factor authentication ครบทุกบัญชีหรือเปล่า, ฐานข้อมูล Cloud SQL เชื่อมต่อผ่าน SSL หรือไม่, ตรวจสอบการทำงานของคลัสเตอร์ GKE, ตรวจสอบความปลอดภัยของ VM ใน Google Compute Engine เป็นต้น
ที่มา - Microsoft, Microsoft |
# อินเทลเปิดตัว Core 12th Gen Alder Lake รหัส P และ U สำหรับโน้ตบุ๊กบางเบา
ที่ผ่านมา อินเทลเปิดตัวซีพียู Core 12th Gen "Alder Lake" ไปแล้วทั้งหมด 3 ชุด ได้แก่ เดสก์ท็อประดับบน, เดสก์ท็อประดับล่าง, โน้ตบุ๊ก โดยกรณีของโน้ตบุ๊กแยกเป็นซีรีส์ H พลังสูง, P ระดับกลาง และ U ประหยัดไฟ
โน้ตบุ๊กที่ใช้ซีพียู Alder Lake ซีรีส์ H (95-115 วัตต์) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกมมิ่ง-เวิร์คสเตชัน เริ่มวางขายไปเรียบร้อยแล้ว วันนี้อินเทลประกาศเริ่มขายซีรีส์ P (28 วัตต์) และ U (9-15 วัตต์) อย่างเป็นทางการ ทำให้ Alder Lake เปิดตัวสินค้าครบทุกไลน์แล้ว
ซีพียู Alder Lake ของซีรีส์ P/U ใช้สถาปัตยกรรมใหม่ P-core + E-core และจีพียู Intel Xe โดยมีจำนวนคอร์แตกต่างกันไป (ดูตารางประกอบ)
P-series (28 วัตต์) มีตั้งแต่ Core i7 (6+8 คอร์) ถึง Core i3 (2+8 คอร์)
U-series (15 วัตต์) มีตั้งแต่ Core i7 (2+8 คอร์) ถึง Celeron (1+4 คอร์)
U-series (9 วัตต์) มีตั้งแต่ Core i7 (2+8 คอร์) ถึง Celeron (1+4 คอร์)
ในโอกาสเดียวกัน อินเทลยังเปิดตัวแพลตฟอร์ม Intel Evo รุ่นที่สาม (Third Edition) เพิ่มข้อกำหนดด้านวิดีโอคอลล์ต้องลื่น เชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi 6E และปรับแต่งประสิทธิภาพ Wi-Fi, ลดเสียงรบกวนตอนคอลล์ และช่วยปรับภาพจากกล้องเว็บแคมให้สวยขึ้น
อินเทลระบุว่าจะมีโน้ตบุ๊กสายบางเบาที่ใช้ Core 12th Gen ซีรีส์ P/U มากกว่า 250 รุ่นวางขายในปีนี้ สินค้าชุดแรกจะเริ่มขายในเดือนมีนาคม วันนี้ก็มีผู้ผลิตโน้ตบุ๊กบางยี่ห้อเปิดตัวสินค้าพร้อมกัน เช่น Acer Swift 3 และ Swift 5, Dell XPS 13 เป็นต้น
ที่มา - Intel, Intel (PDF), AnandTech |
# Fall Guys ประกาศรองรับการเล่นข้ามแพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ
Fall Guys เกมแนวแบทเทิลรอยัลที่ตอนนี้เป็นของ Epic Games ประกาศรองรับการเล่นข้ามแพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ จากก่อนหน้านี้รองรับเฉพาะการเล่นผ่าน Custom Show เท่านั้น โดยผู้เล่นจาก PlayStation และ Steam จะเชื่อมต่อกันผ่าน Epic account ซึ่งจะอัพเดตใน Season 6
ทีมงานยังอัพเดตความคืบหน้าของ Fall Guys บน Nintendo Switch และ Xbox ซึ่งประกาศไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่าจะมีออกมาแน่นอน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย แต่ยังไม่กำหนดวัน
Fall Guys ในอัพเดตนี้ยังเตรียมเพิ่มโหมดการเล่นใหม่ Sweet Thieves ผู้เล่นจะแบ่งเป็นสองฝั่งคือ Thieves ที่ต้องขโมยลูกกวาด และฝ่าย Guardians ที่ต้องป้องกันและคอยจับขโมย
ที่มา: Fall Guys |
# Cloudfare ซื้อกิจการ Area 1 Security ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มความปลอดภัยของระบบอีเมลองค์กร
Cloudflare ประกาศซื้อกิจการ Area 1 Security ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มความปลอดภัยบนคลาวด์ ในการตรวจจับและกำจัดอีเมล phishing สำหรับลูกค้าองค์กร มูลค่าดีล 162 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง Cloudflare จะจ่าย 40-50% ในรูปของหุ้นบริษัท ส่วนที่เหลือจ่ายเป็นเงินสด
Matthew Prince ซีอีโอ Cloudflare อธิบายที่มาของดีลนี้ว่า อีเมลเป็นช่องทางการโจมตีไซเบอร์ที่ใหญ่ที่สุดในอินเทอร์เน็ต ทุกองค์กรต่างใช้งานอีเมล ความปลอดภัยของอีเมลจึงสำคัญอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องใช้เครือข่ายแบบ Zero Trust การซื้อกิจการ Area 1 Security จะทำให้บริษัทเป็นผู้นำในแพลตฟอร์ม Zero Trust มากยิ่งขึ้น
ส่วน Patrick Sweeney ซีอีโอ Area 1 Security บอกว่าอีเมลเป็นแอพพลิเคชันบนคลาวด์ที่ธุรกิจใช้งานมากที่สุด และการโจมตีในไซเบอร์กว่า 90% ก็มาจาก phishing เทคโนโลยีของ Area 1 Security จะช่วยเสริมความปลอดภัยให้กับเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ไม่ใช่แค่การแยกอีเมลว่าเป็น phishing แต่เป็นการป้องกันและกำจัดก่อนเข้ามาในองค์กร
ที่มา: Cloudflare [1], [2] |
# eBay ไตรมาส 4/2021 รายได้เพิ่มขึ้น 5% แต่ GMV ลดลง 10%
eBay รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ปี 2021 รายได้เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 2,613 ล้านดอลลาร์ มียอดขายสุทธิ (GMV) 20,726 ล้านดอลลาร์ ลดลง 10% ขาดทุนสุทธิตามบัญชี GAAP 893 ล้านดอลลาร์ และมีจำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำ (Active Buyers) 147 ล้านบัญชี ลดลง 9%
Jamie Iannone ซีอีโอ eBay กล่าวว่าเป็นไตรมาสที่ผ่านมา eBay ได้เพิ่มขึ้นระดับความพอใจของลูกค้า ปรับปรุงประสบการณ์ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ รวมทั้งคืนผลประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น โฟกัสการเติบโตในธุรกิจโฆษณาและหมวดหมู่ที่สำคัญได้เป็นอย่างดี
ไฮไลท์สำคัญในไตรมาสที่ผ่านมา eBay ได้ปิดการขาย eBay Korea ให้กับ Emart เป็นมูลค่าราว 3 พันล้านดอลลาร์ และยังถือหุ้นอยู่ 19.99% นอกจากนี้ยังซื้อกิจการ Sneaker Con ผู้พัฒนาระบบตรวจสอบรองเท้าสนีกเกอร์ว่าเป็นของแท้หรือไม่ ซึ่งมีประโยชน์กับผู้ซื้อและผู้ขายในแพลตฟอร์ม
ที่มา: eBay |
# Hangouts Classic จะเปลี่ยนเป็น Google Chat ตั้งแต่ 22 มีนาคมนี้
กูเกิลประกาศยุติแบรนด์แอปแชต Hangouts อย่างเป็นทางการ (หลังเริ่มมาตั้งแต่ปี 2020) ซึ่งตอนนี้เหลือเฉพาะ Hangouts Classic ที่เป็นแอปต้นฉบับ และมีเฉพาะในผู้ใช้ Google Workspace โดยการใช้งาน Hangouts ทั้งหมดจะรีไดเรกต์เป็น Google Chat
การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลตั้งแต่ 22 มีนาคม 2022 เป็นต้นไป ทั้งการเข้าผ่าน Gmail หรือ Hangouts.google.com
การรีแบรนด์แอปแชตของกูเกิลนั้นมีมาเรื่อย ๆ ถ้าจำกันได้ก็ตั้งแต่ Google Talk ที่เปลี่ยนเป็น Hangouts และล่าสุดก็คือ Hangouts ที่เปลี่ยนเป็น Google Chat นั่นเอง
ที่มา: The Verge |
# Twitch เพิ่มปุ่มเล่นเกมผ่านคลาวด์ Amazon Luna, ฟีเจอร์เดียวกับที่ Stadia สัญญาไว้แต่ยังไม่ทำ
เมื่อต้นปี 2019 กูเกิลเปิดตัวบริการคลาวด์เกมมิ่ง Stadia อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมโชว์ฟีเจอร์ชมการสตรีมเกมบน YouTube แล้วกดเข้าไปเล่นเกมนั้นได้ทันที
เวลาผ่านมาแล้ว 3 ปีเต็ม ฟีเจอร์นี้ของ Stadia/YouTube กลับยังไม่เกิดขึ้นจริง
ล่าสุดมีคนไปเจอว่า Amazon Luna บริการคลาวด์เกมมิ่งของ Amazon ที่เปิดตัวทีหลังคือปี 2020 แซงหน้า Stadia ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์แบบเดียวกันบนแพลตฟอร์มสตรีมเกม Twitch แล้ว
หากเข้าหน้าเว็บ Twitch แล้วค้นหาชื่อเกมที่รองรับบน Luna (ในตัวอย่างคือเกม Call of the Sea) ของเดิมมีแต่ปุ่ม Favorite เพื่อให้ Twitch แนะนำคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับเกมนั้นขึ้นมา แต่หากเราเป็นสมาชิก Luna อยู่ด้วย จะมีปุ่ม Play on Luna ขึ้นมาให้กดเล่นได้ทันที
ต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้าย Stadia จะเพิ่มฟีเจอร์การเชื่อมต่อกับ YouTube เข้ามาจริงๆ หรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีข่าวลือว่ากูเกิลเริ่มไม่สนใจทำ Stadia ต่อแล้ว
คลิปโฆษณา Stadia ปี 2019
คลิปโชว์การทำงานของ Twitch/Luna
ที่มา - 9to5google |
# Binance จับมือ SM Brand Marketing บริษัทในเครือต้นสังกัดศิลปินเกาหลี EXO, Red Velvet, NCT
ดูเหมือนว่า Binance จะมุ่งไปทางการนำธุรกิจบันเทิงของเกาหลีเข้ามาสู่โลกคริปโตอย่างเต็มตัว หลังจับมือกับ YG Entertainment ไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ล่าสุด Binance แถลงจับมือกับ SM Brand Marketing บริษัทลูกในเครือ SM Entertainment ต้นสังกับศิลปินอย่างวง EXO, Red Velvet, NCT และ aespa
Binance ระบุการจับมือเป็นพันธมิตรครั้งนี้จะมีการทำระบบ NFT แบบ P2C (Play-to-Create) ที่ให้ผู้ใช้สามารถสร้างคอนเทนต์ NFT โดยใช้ลิขสิทธิ์ต่างๆ ของ SM ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพลง เต้นโคฟเวอร์ หรืออื่นๆ เพื่อหากำไรต่อได้แบบโปร่งใส และเพิ่มการสร้างสรรค์คอนเทนต์ในโลกของ Kpop
การจับมือครั้งนี้ฝั่ง Binance จะเป็นผู้ดูแลระบบบล็อกเชน ส่วน SM จะเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์ต่างๆ ของคอนเทนต์จากวงต่างๆ ในสังกัดนเกม เพลงและคลิปเต้นโคฟเวอร์ หรือของที่ระลึกต่างๆ ส่วนการทำงานของระบบจะเป็นอย่างไร และผู้ใช้จะสามารถทำกำไรจากคอนเทนต์ของ SM ได้อย่างไรบ้าง ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน คงต้องรอติดตามอีกครั้ง
ที่มา - Binance |
# Sony เปิดราคาหูฟังไร้สายสไตล์วงแหวน LinkBuds ในไทย 6,990 บาท
โซนี่ไทย เปิดราคาของหูฟังไร้สายสไตล์วงแหวน LinkBuds WF-L900 ที่เพิ่งเปิดตัว ในราคา 6,990 บาท มีขายทั้งสีขาวและสีดำ เริ่มเปิดจองวันนี้ 23 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีโค้ดส่วนลดให้ 1,000 บาท หากซื้อผ่าน Sony Store Online
หูฟัง LinkBuds เป็นหูฟังแบบที่เรียกว่า open ring design คือมีรูตรงกลาง เพื่อให้เสียงจากภายนอกเข้าได้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการฟังเพลง แต่ก็ยังไม่อยากตัดขาดจากโลกภายนอกมากเกินไป สามารถฟังเพลงพร้อมกับพูดคุยกับคนอื่นไปด้วยได้ |
# ประธาน Square Enix อยากทำเกมกราฟิก HD-2D เป็นที่มาของการรีเมคเกมเก่ายุค SFC
Square Enix กำลังสนใจการรีเมคเกม RPG เก่าๆ มาใช้กราฟิกแบบ HD-2D ตัวอย่างล่าสุดคือเกม Live A Live จากเครื่อง Super Famicom ยุคปี 1994 (แต่กราฟิกแนว HD-2D ก็ยังใช้กับเกมใหม่เกมอื่นๆ ด้วยคือ Octopath Traveler และ Triangle Strategy)
ล่าสุด Tomoya Asano โปรดิวเซอร์ของเกม Triangle Strategy เปิดเผยในช่องรายการของ Square Enix ภาคภาษาญี่ปุ่นว่า ได้รับแนวทางจากประธาน Yosuka Matsuda ให้ทำเกมสไตล์ภาพ HD-2D เพิ่มอีก ทำให้ทีมงานกลับไปสำรวจว่ามีเกมเก่าๆ เกมใดบ้าง ที่เหมาะสมกับการทำเป็น HD-2D
Asano บอกว่าเกมที่เหมาะสมกับการรีเมค HD-2D คือเกมของทั้ง Square และ Enix ในยุค Super Famicom ซึ่งพบว่าเกมที่เหมาะมากที่สุดคือ Live A Live ที่นำเสนอจนผ่านออกมาเป็นเกมรีเมคแล้ว ส่วนเกมอันดับสองคือ ActRaiser เกมแอคชั่น 2D มุมมองด้านข้าง ที่เพิ่งรีมาสเตอร์ออกขายในปี 2021 ในชื่อ ActRaiser Renaissance
Asano ไม่ได้เผยชื่อเกมอื่นๆ ในลิสต์ แต่สัญญาณจากประธาน Matsuda ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า เราน่าจะได้เห็นเกมเก่าๆ ของ Square Enix ถูกนำมารีเมคเพิ่มอีกในอนาคตอันใกล้นี้
ตัวอย่างกราฟิกแนว HD-2D ของเกม Triangle Strategy
ที่มา - VGC |
# Timescale บริษัทฐานข้อมูลที่พัฒนาต่อจาก PostgreSQL ระดมทุนรอบ C 110 ล้านดอลาร์
Timescale ผู้พัฒนาส่วนขยาย PostgreSQL ในชื่อ TimescaleDB สำหรับการเก็บข้อมูลตามเวลา (time-series) เช่น ข้อมูลล็อกหรือเซ็นเซอร์ต่างๆ ได้รับเงินทุน 110 ล้านดอลลาร์ มูลค่าบริษัทเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ โดยระบุว่าช่วงสองปีที่ผ่านามีลูกค้าจ่ายเงินแล้วกว่า 500 องค์กร รายได้เพิ่มขึ้น 20 เท่าตัว
ทาง Timescale ระบุว่านอกจากการพัฒนาสินค้าแล้ว เงินทุนก้อนนี้จะนำไปสร้างทีมเฉพาะสำหรับการพัฒนาตัว PostgreSQL ในโครงการต้นน้ำโดยตรง จากเดิมที่บริษัทจ้างนักพัฒนาโครงการต้นน้ำเป็นพนักงานเต็มเวลาอยู่แล้ว
สำหรับแนวทางการพัฒนาตัว TimescaleDB เองจะเน้นการทำงานร่วมกับคลาวด์เต็มรูปแบบ เช่น การใช้สตอเรจแบบ serverless, การขยายเซิร์ฟเวอร์, รวมไปถึงการปรับปรุง Promscale ที่ใช้เก็บค่าจากแอปพลิเคชั่นต่างๆ
ที่มา - Timescale |
# CP ALL สร้างโมเดลภาษาไทยสำหรับคอลเซ็นเตอร์ของตัวเอง ระบุความแม่นยำ 97% แล้ว
CP ALL (7-Eleven) รายงานถึงความสำเร็จในการพัฒนาโมเดลภาษาไทยเพื่อไปใช้งานคอลเซ็นเตอร์ที่ต้องให้บริการวันละ 240,000 ครั้ง โดยระบุว่าโมเดลภาษาไทยมีความสามารถแปลงเสียงเป็นข้อความได้แม่นยำถึง 97% โดยแชตบอตสามารถตอบคำถามจากฐานข้อมูลได้เอง ทำให้ลดภาระเจ้าหน้าที่ไปถึง 60%
การฝึกภาษาไทยทาง CP ALL ใช้ NVIDIA NeMo เฟรมเวิร์คด้านภาษาแบบโอเพนซอร์ส มาพร้อมกับโมเดลที่ฝึกไว้ล่วงหน้าจากชุดข้อมูลโอเพนซอร์ส ทำให้ลดเวลาฝึกได้มาก
ทาง CP ALL จะบรรยายถึงการใช้งานปัญญาประดิษฐ์นี้ในงาน NVIDIA GTC เดือนมีนาคมนี้
ที่มา - จดหมายข่าว NVIDIA |
# คุยกับ ดร.จอห์น เจียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ กับเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Company
หลังจากที่เครือซีพีได้ก่อตั้งเครือข่ายองค์กรพันธมิตรด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี “CPG Open Innovation Ecosystem Partner” ไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา พร้อมเปิดวิสัยทัศน์การยกระดับองค์กรสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Company
วันนี้ Blognone มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.จอห์น เจียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อสอบถามและพูดคุย เกี่ยวกับเส้นทางที่จะมุ่งไปยังเป้าหมายในการเป็นบริษัทเทคโนโลยีของเครือซีพี ไปจนถึงมุมมองเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมีความสำคัญต่อประเทศไทยในยุคดิจิทัล
“ไม่ใช่แค่กลุ่มธุรกิจเดิมๆ แต่คือบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ”
ดร.จอห์น เจียง พูดถึงวิสัยทัศน์ของเครือซีพีที่นำโดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ว่าในอนาคต เมื่อผู้คนคิดถึงซีพี จะไม่ได้คิดถึงแค่กลุ่มธุรกิจแบบเดิมๆ อีกต่อไป แต่อยากให้ผู้คนเห็นซีพีเป็นบริษัทเทคโนโลยีในหลากหลายด้าน โดยซีพีมีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การเป็นบริษัท deep tech หรือการเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่นำด้วยนวัตกรรมและการค้นคว้าที่ก้าวหน้า
(คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์)
เร่งสร้าง Innovation Ecosystem ในองค์กรมุ่งสู่ยุคดิจิทัล
ปัจจุบันองค์กรได้เริ่มเปลี่ยนแปลงเพื่อนำพาบริษัทไปสู่เทคโนโลยียุคดิจิทัลในหลากหลายธุรกิจ โดยเครือซีพีได้เริ่มลงทุนในการค้นคว้าและวิจัย ทั้งด้านธุรกิจอาหาร เกษตรกรรม ไปจนถึงด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอีกหลายแขนง ทั้งด้าน Biotech, Foodtech, Cleantech, AI, Robotics & Automation, E-Commerce, Data Analytic, Data Security, Cloud Technology, และ Digital Media โดยทุกเทคโนโลยีจะเป็นการต่อยอดสู่ยุคดิจิทัลของหลากหลายธุรกิจที่เครือซีพีมีความเชี่ยวชาญ
ดร.เจียง เล่าว่าคุณศุภชัยและเครือซีพี มีการวางแผนงานการปรับปรุงองค์กรเพื่อมุ่งสู่ยุคดิจิทัลมายาวนาน ด้วยการสร้าง Innovation Ecosystem ในกลุ่มธุรกิจของเครือซีพี ทั้งการก่อตั้ง True Digital Park, CP University ที่เป็นบ่อเกิดแห่งองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมไปถึงการจัดตั้งบริษัทอุตสาหกรรม S-Curve หรืออุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในอนาคตยุคดิจิทัลระยะยาวเช่น True Money, TrueID และอื่นๆ โดยจะเป็นการนำพาทุกหน่วยธุรกิจไปยังอนาคตยุคดิจิทัลอย่างพร้อมเพียง ผ่านโร้ดแมปเทคโนโลยีที่ชัดเจนร่วมกัน
ผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตรด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งจากทั่วโลก
ดร.เจียง ได้ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจจากนี้จะต้องปรับตัวสู่รูปแบบที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ในขณะเดียวกันต้องมีการนำงานวิจัยมาสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพราะฉะนั้นองค์กรค้นคว้าและวิจัยนวัตกรรมของซีพีจะไม่ได้อยู่แค่ในไทยเท่านั้น แต่จะกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เป็นคลังความรู้ที่สำคัญของทั้งฝั่งตะวันตก อย่างเช่นมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา อย่างภาคอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology Industrial Liaison Program – MIT ILP) มหาวิทยาลัยในอังกฤษอย่าง King’s College และ Oxford
ไปจนถึงฝั่งตะวันออกอย่างสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน Enterprise Singapore หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยในประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
นอกจากนี้เครือซีพียังมีเครือข่ายสตาร์ทอัพ นักลงทุน Venture Capital ด้านเทคโนโลยี ในหลากหลายธุรกิจ และหลากหลายประเทศ รวมไปถึงยังมีการประสานงานกับสถานทูตของประเทศต่างๆ เพื่อประสานงานด้านการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและการค้นคว้า ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อสร้างเครือข่ายนวัตกรรม ที่นำเทคโนโลยีล้ำสมัยจากทั้งโลกมาบรรจบกัน และนำพาองค์กร รวมถึงประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีแห่งอนาคต
ความสำเร็จที่ต้องไปด้วยกัน ทั้งระยะสั้น และระยะยาว
ดร.เจียง พูดถึงความท้าทายของการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งหลายๆ ครั้งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาจต้องใช้เวลายาวนาน มีการเตรียมการหลายอย่าง และเป็นการลงทุนกับอนาคตที่อาจไม่เห็นผลทันที ทำให้จุดที่สำคัญคือการรักษาสมดุลการพัฒนาเทคโนโลยีของแต่ละหน่วยธุรกิจ ให้เริ่มต้นที่การพัฒนาที่จะสามารถเพิ่มพูนผลผลิต และส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะสั้นได้ด้วย ก่อนจะผลิดอกออกผลในระยะยาวอีกต่อหนึ่ง
(ดร.จอห์น เจียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เครือเจริญโภคภัณฑ์)
ตัวอย่างเช่น กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรของเครือซีพี ที่มีเป้าหมายการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาปรับปรุงเมล็ดพันธุ์พืช โดยใช้เทคโนโลยีด้านพันธุกรรม เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อโรคระบาด ทนต่อสภาพอากาศมากขึ้น ใช้น้ำน้อยลง และให้ผลผลิตมากขึ้น หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจอื่นๆ เช่นการนำปัญญาประดิษฐ์ มาใช้กับการจัดการร้านค้าของหน่วยธุรกิจค้าปลีก เช่นการจัดการตลาด การตั้งราคาที่เหมาะสม และการชูสินค้าที่จะเป็นสินค้าเด่นในร้านค้านั้นๆ โดยธุรกิจค้าปลีกจะมีการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้มากขึ้นโดยเน้นไปที่การผสมผสานช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) เพื่อรุกอี-คอมเมิร์ซ ขยายตลาดสู่อาเซียน
ทั้งหมดนี้เป็นการนำการพัฒนาด้านเทคโนโลยี มาผสานกับเป้าหมายของหน่วยธุรกิจ จนออกมาเป็นผลสำเร็จ และผลกำไรของหน่วยธุรกิจ พร้อมไปกับเป็นการสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานของบริษัทเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ
อนาคตเทคโนโลยีของประเทศไทย ในมุมมองของเครือซีพี
ดร.เจียง ยังได้พูดถึงเทคโนโลยีที่คิดว่าน่าจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยเทคโนโลยีที่ ดร.จอห์นมองว่าน่าจะมีความสำคัญในอนาคต มีดังนี้
AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ ดร.เจียงระบุว่าคำว่า AI นั้นมีความหมายกว้าง โดยอาจมีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หลากหลายแบบ ทั้ง Cognitive AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่จำลองรูปแบบการคิดของสมองมนุษย์ เพื่อนำไปประมวลผลข้อมูลต่าง
Blockchain เป็นอีกเทคโนโลยีที่จะนำมาซึ่งความปลอดภัย สร้างความโปร่งใส่ และสร้างความเชื่อใจในการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ไปจนถึง Metaverse ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีที่ ดร.เจียง กล่าวว่าอาจจะเข้ามามีส่วนในเรื่องของธุรกิจค้าปลีก ทั้งการซื้อของออนไลน์ การจัดโปรโมชั่น และการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ซื้อสินค้ากับร้านค้าผ่านโลกเสมือนในอนาคต
Robotics และ IoT ดร.เจียงเชื่อว่าฮาร์ดแวร์ด้านหุ่นยนต์ และอุปกรณ์ Internet of Things เช่น เซ็นเซอร์เก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาปฏิวัติหลากหลายหน่วยธุรกิจในเครือซีพี ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ค้าปลีก และการซ่อมบำรุง
Multiomics หรือเทคโนโลยีด้านชีวภาพหลากหลายแขนง น่าจะเป็นอีกสิ่งสำคัญเช่นกันในโลกยุคอนาคต ทั้งการวิจัยด้านจีโนม หรือการวิจัยด้านพันธุกรรม งานวิจัยด้านโปรตีนทดแทน ไปจนถึงการวิจัยด้านไมโครไบโอม หรือระบบนิเวศจุลชีพ ที่น่าจะเป็นอีกแขนงการวิจัยที่มีความสำคัญ โดยการวิจัยด้านระบบนิเวศจุลชีพนี้อาจนำไปสู่ความรู้ใหม่ในทั้งด้านการเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และการแพทย์ได้อีกมาก
เทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีรักษาสิ่งแวดล้อม ดร.เจียงพูดถึงความต้องการใช้พลังงานที่น่าจะมีมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหากจะทำให้ยั่งยืน ก็ต้องเป็นพลังงานทดแทนที่สะอาด หรือส่งผลดีกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอีกด้าน
เครือซีพีพร้อมมุ่งสู่อนาคตยุคหลังโควิดไปกับประเทศไทย
ดร.เจียง ระบุว่าการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหมือนตัวเร่งให้เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต เกษตรกรรม ไปจนถึงการจัดส่งสินค้าและบริการต่างๆ และทำให้ประชาชนมีความใส่ใจในด้านสุขภาพมากขึ้น โดยเป้าหมายการเป็นบริษัทเทคโนโลยีของเครือซีพี ก็ต้องก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย
เครือซีพีเชื่อว่าการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ทั่วโลก การสร้างอุตสาหกรรม S-Curve ต่างๆ การพัฒนาเทคโนโลยีในแขนงที่มีความสำคัญในอนาคตทั้งหมดที่กล่าวมานี้ น่าจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับหน่วยธุรกิจ พร้อมทั้งเป็นประโยชน์ต่อแผนระยะยาวในการมุ่งสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำขององค์กรเอง รวมไปถึงเป็นการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืนในอนาคต |
# Spotify เริ่มขายอุปกรณ์เสริม Car Thing สำหรับฟังเพลงสตรีมมิ่งในรถ รถรุ่นเก่าก็ใช้ได้
Spotify เริ่มวางขายอุปกรณ์เสริมสำหรับฟังเพลงในรถยนต์ Car Thing ในสหรัฐอเมริกา หลังจากทดสอบครั้งแรกในปี 2019 และวางขายแบบจำกัดวงมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2021
Car Thing เป็นฮาร์ดแวร์ที่มีหน่วยประมวลผล หน้าจอสัมผัส ปุ่มควบคุมแยกขาดเป็นของตัวเอง เหมือนเป็นแท็บเล็ตขนาดเล็กหน้าจอ 4 นิ้ว ที่มีปุ่มหมุน dial สำหรับเลื่อนเพลง รองรับการสั่งงานด้วยเสียง หน้าที่ของมันคือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (ผ่านมือถือ) เพื่อดึงเพลงจาก Spotify Premium มาเล่นผ่านเครื่องเสียงในรถยนต์ โดยไม่ต้องผ่านระบบ infotainment ของรถยนต์เลย (เชื่อมผ่าน Bluetooth, สาย AUX หรือสาย USB ก็ได้)
Car Thing ออกแบบมาสำหรับการฟังเพลง Spotify ในรถยนต์ เน้นการควบคุมง่าย ซิงก์ข้อมูลบัญชีของเราบน Spotify ให้อัตโนมัติ ใช้งานได้กับทั้งรถยนต์เก่าที่เครื่องเสียงยังไม่ต่อเน็ต หรือแม้แต่รถยนต์รุ่นใหม่ที่อาจไม่ชอบวิธีการควบคุม Spotify ของผู้ผลิตรถยนต์
สินค้ายังจำกัดการขายเฉพาะในสหรัฐ ราคา 89.99 ดอลลาร์ ต้องใช้กับบัญชี Spotify Premium เท่านั้น ใช้กับบัญชีแบบฟรีไม่ได้
ที่มา - Spotify |
# [ลือ] ไม่มีเกม Call of Duty ของปี 2023 เลื่อนไปออกปี 2024, Activision ปฏิเสธข่าว
Bloomberg รายงานข่าวโดยอ้างแหล่งข้อมูลใกล้ชิด Activision ระบุว่าธรรมเนียมการออกเกม Call of Duty ภาคใหม่ทุกปี จะถูกเบรกในปีหน้า 2023 โดยเกม Call of Duty ของปี 2023 จะเลื่อนไปออกในปี 2024 แทน (เกมของปี 2022 ประกาศแล้วว่าคือ Modern Warfare ภาคต่อ)
ก่อนหน้านี้มีข่าวมาสักพักแล้วว่า Activision เจอปัญหา Call of Duty ภาคใหม่ๆ มียอดขายลดลง เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะออกภาคใหม่ทุกปี ถี่เกินไป บวกกับการมีเกมเล่นฟรีอย่าง Warzone ออกมาเป็นอีกทางเลือกให้ผู้เล่นด้วย
แต่หลังมีข่าวลือนี้ออกมา Activision ก็ชี้แจงกับ IGN ว่าไม่เป็นความจริง เพราะบริษัทมีแผนการออก Call of Duty ทั้งแบบเสียเงินและเล่นฟรี ในปีนี้ ปีหน้า และปีต่อๆ ไป โดยจะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม แต่ IGN ก็ให้ความเห็นว่า Activision ไม่ได้ปฏิเสธข่าวลือของ Bloomberg โดยตรง (ว่าเกมปี 2023 เลื่อนเป็น 2024) แค่บอกว่าจะมีเกมภาคใหม่ๆ ออกต่อเนื่องเท่านั้น
ที่มา - IGN |
# Luna Foundation Guard รับเงินทุน 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อบิตคอยน์เป็นทุนสำรองของ UST
Luna Foundation Guard (LFG) องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศ Terra ประกาศรับเงินทุน 1 พันล้านดอลลาร์ ด้วยการขาย LUNA แบบ OTC ให้กับกลุ่มทุนนำโดย Jump Crypto และ Three Arrows Capital โดยเหรียญชุดนี้จะถูก lock ไว้แบบทยอยขายได้เป็นเวลา 4 ปี
เงินทุน 1 พันล้านดอลลาร์นี้ LFG จะนำไปแปลงเป็นบิตคอยน์ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำรองให้กับ UST ซึ่งเป็นเหรียญ stablecoin ของ Terra ซึ่ง LFG อธิบายว่าที่เลือกบิตคอยน์เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศของ Terra น้อย จึงช่วยลดความผันผวนของราคา UST ได้
ที่มา: The Block |
# มาแล้ว Facebook Reels เปิดใช้งานเพิ่ม 150 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย
Meta ประกาศขยายบริการคลิปวิดีโอสั้น Reels เวอร์ชันบน Facebook เพิ่มเป็นกว่า 150 ประเทศทั่วโลก จากที่ทดสอบก่อนหน้านี้ในอเมริกา ซึ่งผู้ใช้ในไทยบางคนอาจเคยเห็นการทดสอบก่อนหน้านี้แล้ว
Reels เป็นบริการคลิปวิดีโอสั้นที่ Meta ทำออกมาเพื่อแข่งกับ TikTok ซึ่งเริ่มต้นให้บริการบน Instagram แต่ต่อมาตัดสินใจขยายมาสู่ Facebook ด้วย โดยให้เหตุผลว่า Reels เป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตรวดเร็วมาก
ในมุมสำหรับผู้สร้างสรรค์เนื้อหา Facebook Reels ยังขยายการแสดงผลโฆษณาแทรกเพิ่มในอีกหลายประเทศ เพิ่มโอกาสการสร้างรายได้อีกด้วย
ที่มา: Meta |
# Bethesda ยุคใหม่ เลิกทำ Launcher ของตัวเอง ให้กลับมาเล่นบน Steam
Bethesda ยุคใหม่ในสังกัดไมโครซอฟท์ กลับมาญาติดีกับ Steam อีกครั้ง หลังใช้นโยบายให้เล่นเกมพีซีบน Bethesda.net Launcher ของตัวเองอย่างเดียวตั้งแต่ปี 2018
Bethesda ไม่ได้ระบุเหตุผลที่กลับลำอย่างรุนแรง บอกแค่ว่าจะเลิกให้บริการตัว Launcher ในเดือนพฤษภาคม 2022 โดยผู้เล่นสามารถย้ายไลบรารีเกม เซฟเกม และวอลเล็ตเงินในเกมไปยัง Steam ได้ทั้งหมด (ยกเว้น Fallout 76 ที่อาจต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติม) กระบวนการย้ายจะเริ่มได้ช่วงต้นเดือนเมษายนนี้
การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลแค่ Bethesda.net Launcher เท่านั้น ส่วนบัญชี Bethesda.net บนเว็บไซต์ของ Bethesda ยังใช้งานได้ต่อไปตามปกติ
Bethesda ถูกวิจารณ์เรื่องนโยบายการใช้ Launcher มาตั้งแต่แรก ทั้งในแง่ความยุ่งยากในการเล่น และคุณภาพของตัวแอพที่ไม่ดีนัก (แต่ก็เข้าใจได้จากเหตุผลธุรกิจ เพราะค่ายใหญ่ค่ายอื่นก็ทำ เช่น 2K Launcher หรือ Battle.net ของ Activision Blizzard) แต่เมื่อนโยบายของบริษัทแม่ไมโครซอฟท์คือการนำเกมไปขายบน Steam บวกกับตลาดเกมพีซีเปลี่ยนไปจากเดิมมาก การนำเกมกลับมาขึ้นบน Steam ก็น่าจะเป็นเรื่องดีกับแฟนค่าย Bethesda
ที่มา - Bethesda |
# Windows เพิ่มปุ่ม Your Phone บน Taskbar เลือกเปิดแอพ Android ที่ใช้งานล่าสุดบนสมาร์ทโฟนขึ้นมายังพีซีได้อย่างรวดเร็ว
ไมโครซอฟท์ประกาศขยายความสามารถฟีเจอร์รันแอพ Android แบบสตรีมหน้าจอมายังเครื่องพีซีของ Your Phone โดยได้เพิ่มปุ่มเรียกเมนูเลือกเปิดแอพ Android ที่ใช้งานล่าสุดบนสมาร์ทโฟนลงใน Taskbar ของทั้ง Windows 10 และ Windows 11
ภาพจากทวิตเตอร์ @AnalyMsft ผู้จัดการโครงการ Your Phone
ในแง่ของการใช้งานเมนูดังกล่าวทำงานไม่ต่างไปจากฟีเจอร์สตรีมแอพ Android ผ่าน Your Phone เดิม สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือความสะดวกในการเข้าถึงแอพที่ใช้ล่าสุด ซึ่งจะช่วยให้การสลับไปเปิดแอพบนพีซีเพื่อใช้งานต่อเนื่องจากบนสมาร์ทโฟนทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องคอยเปิด Your Phone ขึ้นมาไล่หาแอพที่ต้องการทุกครั้งอย่างแต่ก่อน
แต่เช่นเคยไมโครซอฟท์ระบุว่าฟีเจอร์ดังกล่าวจะใช้งานได้กับสมาร์ทโฟนซัมซุงบางรุ่นเท่านั้น ทั้งนี้เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์และซัมซุงในระยะหลัง (ล่าสุดงานแถลงข่าว Galaxy Unpacked 2022 ที่เพิ่งผ่านมาก็มีการกล่าวถึงฟีเจอร์นี้)
ท่านใดสนใจระหว่างรอให้ไมโครซอฟท์ออกอัพเดตให้ใช้งานโดยทั่วไปสามารถเช็กรายชื่อสมาร์ทโฟนรุ่นที่รองรับฟีเจอร์ข้างต้นได้ที่นี่ ส่วนผู้ใช้งานกลุ่ม Windows Insider นั้นไมโครซอฟท์ได้เปิดให้ทดลองใช้งานแล้ว ตัวผู้เขียนเองก็เพิ่งได้รับอัพเดตเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาครับ
ที่มา - Windows Central |
# Panasonic เปิดตัว Lumix DC-GH6 กล้องดิจิทัลเน้นงานวิดีโอใหม่ อัพเกรดเซนเซอร์, ระบบระบายความร้อน และอื่น ๆ
Panasonic เปิดตัว Lumix DC-GH6 เป็นกล้องดิจิทัลเน้นงานวิดีโอรุ่นใหม่ โดยรอบนี้ Panasonic อัพเกรดทั้งเซนเซอร์, หน่วยประมวลผลภาพ, ระบบกันสั่นในตัวกล้อง และอื่น ๆ
GH6 ใช้เซนเซอร์ Live MOS 25.2 ล้านพิกเซล พร้อมหน่วยประมวลผลภาพใหม่ Venus Engine ที่มาพร้อมเทคโนโลยีเรนเดอร์ให้ภาพเป็นธรรมชาติและลดสัญญาณรบกวน ส่วนระบบกันสั่นที่มาพร้อมเซนเซอร์ gyro 5 แกนและอัลกอริทึมอัพเดตใหม่ สามารถชดเชยการสั่นได้สูงสุดถึง 7.5 สต็อปเมื่อใช้ร่วมกับเลนส์ที่รองรับ Dual I.S. 2 และตัวกล้องสามารถถ่ายภาพรัวได้สูงสุดถึง 14 ภาพต่อวินาทีในโหมด AF-S
ในด้านวิดีโอ GH6 อัดวิดีโอได้สูงสุด 5.7K ที่ 30 เฟรมต่อวินาทีในฟอร์แมต Apple ProRes 422HQ และ Panasonic ยังใส่ V-Log/V-Gamut เข้ามาด้วย (เป็นตัวแรกของ Micro Four Thirds ที่ใส่เข้ามา) ให้ dynamic range ได้สูงสุดถึง 13 สต็อปเมื่อใช้โหมด Dynamic Range Boost รวมถึง Panasonic ได้ปรับปรุงระบบระบายความร้อนของตัวกล้องด้วยการใส่พัดลมเข้ามา ทำให้ตัวกล้องสามารถถ่ายวิดีโอได้นานขึ้น
ด้านหลังกล้อง GH6 เป็นหน้าจอปรับหมุนได้ 3 นิ้ว 1.84 ล้านจุด ส่วนช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์เป็น OLED 3.68 ล้านจุด
Panasonic Lumix GH6 เตรียมวางจำหน่ายที่ราคา 2,199 ดอลลาร์ หรือราว 71,000 บาท และหากซื้อพร้อมเลนส์ L-Kit จะอยู่ที่ราคา 2,799 ดอลลาร์ หรือราว 90,000 บาท
ที่มา - dpreview |
# ไม่ค่อยว้าว DxOMark ให้คะแนนกล้อง Galaxy S22 Ultra แค่ 131 คะแนน รั้งอันดับ 13
DxOMark เว็บไซต์รีวิวกล้องมือถือ ทดสอบกล้อง Galaxy S22 Ultra (รุ่นชิป Exynos) ให้คะแนน 131 คะแนน อยู่อันดับ 13 ร่วมเท่ากับ Oppo Find X3 Pro, Vivo X70 Pro และ Vivo X50 Pro+ น้อยกว่า Huawei P50 Pro ที่ครองอันดับ 1 ด้วยคะแนน 144 คะแนนอยู่ 13 คะแนน
ข้อดีของกล้อง S22 Ultra คือภาพปรับระดับแสงได้เหมาะสมและมีสีสันสดใสในทุกระดับแสง คุณภาพซูมดีเยี่ยม แทบจะเป็นมือถือที่กล้องซูมดีที่สุดในระดับราคาระดับอัลตร้าพรีเมี่ยม และคุณภาพการถ่ายวิดีโอทั้งออโต้โฟกัสและการกันสั่นทำได้ดี
ข้อเสียหลักคือเก็บภาพได้ช้าในสภาพที่มีคอนทราสต์สูงหรือมีแสงน้อย คุณภาพภาพโดยรวมในโหมดปกติยังไม่ดีเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับมือถืออื่นในระดับราคาเดียวกัน และประสิทธิภาพการถ่ายภาพในที่แสงน้อย และเวลากลางคืน ยังไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับระดับราคาเดียวกัน
เมื่อเทียบกล้องของ Galaxy S22 Ultra กับมือถือรุ่นอื่นในกลุ่มราคา Ultra Premium (ราคาเกิน 800 ดอลลาร์) บน DxOMark เช่น iPhone 13 Pro Max, Huawei P50 Pro หรือ Xiaomi Mi 11 Ultra คุณภาพของภาพต่างๆ ของกล้อง S22 Ultra ที่เปิดตัวใหม่กว่าเพื่อน ก็ไม่ได้โดดเด่นขนาดนั้น และยังมีปัญหาหลายจุดเช่นการถ่ายภาพได้ช้าที่กล่าวไป ซึ่งอาจต้องรอดูต่อไปว่าจะแก้ไขผ่านการอัพเดตซอฟต์แวร์ได้หรือไม่
ที่มา - DxOMark |
# โซนี่โชว์แว่น PS VR2 ใช้ดีไซน์แนว PS5, มีมอเตอร์สั่น ช่องระบายอากาศป้องกันฝ้าขึ้นเลนส์
โซนี่เผยโฉมของแว่น PlayStation VR2 เป็นครั้งแรก เปลี่ยนมาใช้ดีไซน์สีขาวเป็นหลัก แซมด้วยสีดำ ตามแนวทางดีไซน์ของ PS5 และตัดไฟไฮไลท์สีฟ้าออกไป เหลือแต่สีขาว-ดำแค่สองสี
โซนี่บอกว่าตั้งใจออกแบบตัวแว่น PS VR2 ให้ดู "กลม" (orb) ไปในแนวทางเดียวกับตัวคอนโทรลเลอร์ Sense ที่เปิดตัวมาก่อนแล้ว ดีไซน์สายรัดยังคงแนวทางปรับระดับได้ ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจาก PS VR รุ่นแรก แต่เพิ่มปุ่มหมุนปรับระยะเลนส์เข้ามา, ลดน้ำหนักของแว่นลงเล็กน้อย, มีช่องระบายอากาศเพื่อป้องกันเลนส์เป็นฝ้า, เพิ่มมอเตอร์สำหรับให้แว่นสั่นได้ด้วย
ตอนนี้ยังเป็นแค่การโชว์ดีไซน์ของแว่น PS VR2 เท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลวันวางขายและราคา
ก่อนหน้านี้ โซนี่เผยสเปกว่าใช้จอ OLED 4K HDR และมี Eye Tracking ในตัว
ที่มา - PlayStation Blog |
# ไมโครซอฟท์ถูกวัยรุ่นสิงคโปร์หลอกเคลม Surface 56 เครื่อง มูลค่า 4.6 ล้านบาท
ชายสิงคโปร์ไม่เปิดเผยชื่อ (เนื่องจากเป็นเยาวชนขณะทำความผิด) รับสารภาพคดีฉ้อโกงไมโครซอฟท์ โดยอาศัยช่องทางรับประกัน Surface ทำให้ไมโครซอฟท์ส่ง Surface ให้ชายคนนี้ถึง 56 เครื่อง รวมมูลค่า 193,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 4.6 ล้านบาท
ไมโครซอฟท์มีโครงการรับประกันแบบพิเศษสำหรับองค์กร ที่สามารถขอเคลม Surface ได้อย่างรวดเร็วเพียงแค่แจ้งหมายเลขเครื่องไปยังไมโครซอฟท์ก็จะได้เครื่องใหม่มาใช้งานทันที แล้วจึงคืนเครื่องเดิมกลับให้ไมโครซอฟท์ภายหลัง วัยรุ่นสิงคโปร์คนนี้จึงอาศัยช่องว่างของโครงการนี้ไปซื้อหมายเลขเครื่องที่อยู่ในโครงการราคาหมายเลขละ 25 ดอลลาร์ แล้วมาแจ้งเคลมไปยังไมโครซอฟท์ ให้ส่งเครื่องไปยัง Justin David May ผู้สมรู้ร่วมคิดที่อยู่ในสหรัฐฯ
ตัว May ถูกดำเนินคดีในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2018 และ FBI สืบสาวจนมาถึงชายสิงคโปร์คนนี้
ที่มา - Strait Times |
# ดีเจดัง Steve Aoki ระบุ ทำรายได้จากการขาย NFT ชุดเดียว มากกว่าจากลิขสิทธิ์เพลง 10 ปี
Steve Aoki ดีเจ และศิลปินเพลงชื่อดัง พูดในการให้สัมภาษณ์กับ Gala Games ในงานของ Gala Music ในแคลิฟอร์เนีย บอกว่ารายได้ในการเป็นศิลปินของเขา ส่วนใหญ่มาจากงานดีเจกว่า 95% ส่วนรายได้จากค่าลิขสิทธิ์เพลงนั้นคิดเป็นสัดส่วนน้อยมาก อยู่ใน 5% ที่เหลือ พร้อมว่า 10 ปีที่เขาทำงานเพลงมา ออกอัลบั้มมา 6 อัลบั้ม ค่าลิขสิทธิ์ที่ได้ยังไม่เท่ากับการขายงาน NFT ชุดเดียวเมื่อปีที่แล้ว แถมการมีรายได้จาก NFT ยังทำให้เขาจริงจังกับงานดนตรีได้มากขึ้น
ล่าสุด Steve เตรียมปล่อยคอลเล็กชั่น NFT ชุดใหม่ชื่อ Orbs ที่มีราคาขายสูงสุดถึง 11.11 ETH ต่อชิ้น (ราว 30,000 ดอลลาร์) แม้ราคาจริงอาจต่ำกว่านั้น เพราะจะมีการลดราคาเรื่อยๆ จนกว่าจะขายหมด ส่วนปีที่แล้วเขาขายงาน NFT ชุด “Dream Catcher” ไป ทำรายได้กว่า 4.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ภาพ Steve Aoki จาก Gala Games
นอกจากนี้เขายังมี NFT ชุด Bored Ape Yacht Club ไว้ในครอบครอง และเปิดตัวคลับสมาชิกพร้อม NFT ชื่อ Aokiverse อีกด้วย โดยเขาบอกว่าเมื่อเพลง NFT เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมสนับสนุนศิลปิน ค่ายเพลงต่างๆ ย่อมต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อศิลปินมากขึ้น
เขายังมีมุมมองต่อ Web3 ว่าหมายถึงการได้กรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต รวมถึงการเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเองด้วย และบอกว่าเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปไกลกว่านี้ วันนึงน่าจะถึงยุคที่เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมไม่สามารถยึดครองข้อมูลของผู้ใช้ไว้ได้อีกต่อไป และอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นสิ่งที่ให้อำนาจกับผู้ใช้งานโดยแท้จริง
ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์ Gala Games |
# Positive วิจารณ์มาตรการป้องกัน AirTag ติดตามตัวของแอปเปิลไม่ได้ผล คนใช้แท็กปลอมติดตามตัวได้อยู่ดี
Positive Technology บริษัทวิจัยความปลอดภัยไซเบอร์เขียนบล็อกวิจารณ์ถึงมาตรการรักษาของแอปเปิลที่พยายามป้องกันการนำ AirTag ไปติดตามบุคคลอื่น ว่ามาตรการไม่เพียงพอ และไม่สามารถป้องกันได้จริง
Positive Technology ระบุว่าปัญหาใหญ่คือ Find My นั้นเปิดให้อุปกรณ์ภายนอกที่ไม่ได้ผลิตโดยแอปเปิลใช้เครือข่ายได้ โดยตอนนี้มีโครงการ OpenHaystack ที่เปิดให้คนทั่วไปสร้างอุปกรณ์เลียนแบบ AirTag กันได้เอง ทำให้มาตรการของแอปเปิลหลายอย่าง เช่น การสั่งให้อุปกรณ์ส่งเสียง, การแสดงตำแหน่งอย่างละเอียดด้วยคลื่น ultra-wide band, หรือแม้แต่หน้าจอแจ้งเตือนทางกฎหมาย ใช้งานไม่ได้กับอุปกรณ์เหล่านี้
นอกจากนี้ ตัว AirTag เองที่มีลำโพงในตัวก็มีคนไปถอดลำโพงขายกันอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นว่าการละเมิดนั้นง่ายเพียงใด กระบวนการขอใช้งานเครือข่าย Find My นั้นต้องการเพียง Apple ID เท่านั้น ไม่ได้มีการตรวจสอบตัวตนทางอื่น ทำให้คนร้ายที่ใช้อุปกรณ์จากผู้ผลิตภายนอก สามารถสร้างบัญชีปลอมมาติดตามเหยื่อได้อยู่ดี
ที่มา - Positive Technology
ภาพประกาศขาย AirTag ที่ถอดลำโพงออกแล้ว ในเว็บไซต์ eBay |
# Kubix บริษัทเครือ KBank ประกาศขาย ICO เหรียญ Token บุพเพสันนิวาส 2 ให้ผลตอบแทน 2.99%
บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (Kubix) บริษัทด้านสินทรัพย์ดิจิทัล (ICO) ในเครือธนาคารกสิกรไทย ประกาศขาย token ระดมทุนจากภาพยนตร์เรื่อง "บุพเพสันนิวาส 2" ร่วมกับบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด และบริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด
token ที่ขายมีชื่อเรียกว่า Destiny Token (ล้อกับชื่อ "บุพเพสันนิวาส") มีจำนวน 16,087 หน่วย มูลค่ารวม 265 ล้านบาท มีระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 2 ปี การันตีผลตอบแทน 2.99% ต่อปี และเพิ่มอีก 2.01% หากรายได้รวมของภาพยนตร์ทะลุ 1,000 ล้านบาท (รวมกันเป็น 5% ต่อปี)
ชนิดของเหรียญ token ที่ขายมีด้วยกัน 3 ระดับราคาคือ
I am Glad Token (G) ราคา 5,559 บาท จำนวน 15,559 โทเคน
I am Delighted Token (D) ราคา 155,559 บาท จำนวน 459 โทเคน
I am Happy Token (H) ราคา 1,555,559 บาท จำนวน 69 โทเคน
ผู้ซื้อ token ยังจะได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ดูภาพยนตร์รอบพิเศษ, มีชื่อท้ายเครดิตของภาพยนตร์ และของที่ระลึกอื่นๆ
สถานะปัจจุบันของ Destiny Token อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจะขายผ่านแอพ Kubix ต่อไป ตัวแอพจะเปิดดาวน์โหลดในเดือนมีนาคม
ที่มา - Kubix |
# ผลทดสอบ Galaxy S22 ชาร์จเร็ว 45 วัตต์ เร็วไม่จริง ได้ความเร็วเท่า 25 วัตต์
วันนี้สื่อต่างประเทศหลายแห่งเริ่มเผยแพร่รีวิว Galaxy S22 มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การชาร์จเร็ว 45 วัตต์ ที่ปรากฏว่าไม่เร็วอย่างที่คิด
เว็บไซต์ GSMArena มีการทดสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด โดยใช้ Galaxy S22+ และ S22 Ultra ที่รองรับการชาร์จเร็ว 45 วัตต์ (S22 ตัวธรรมดารองรับที่ 25 วัตต์) โดยทดสอบกับที่ชาร์จ 3 รุ่นคือ 25 วัตต์และ 45 วัตต์ของซัมซุงเอง และที่ชาร์จ 65 วัตต์ Power Delivery (PD) ของแบรนด์อื่น
ผลการทดสอบปรากฏว่าที่ชาร์จทั้ง 3 แบบให้ผลแทบไม่ต่างกัน ตัวอย่างของ S22 Ultra ใช้เวลาชาร์จ 30 นาที ได้แบตเตอรี่ 61% ด้วยที่ชาร์จ 25 วัตต์, 60% ด้วยที่ชาร์จ 45 วัตต์ และ 65% ด้วยที่ชาร์จ 65 วัตต์ PD
ส่วนการลองชาร์จจนเต็มแล้วจับเวลาชาร์จที่ใช้ ตัวอย่าง S22 Ultra ใช้เวลา 1:04 ชั่วโมง (25 วัตต์), 0:59 ชั่วโมง (45 วัตต์) และ 1:02 ชั่วโมง (65 วัตต์ PD)
ผลการทดสอบนี้แปลว่า การชาร์จเร็ว 45 วัตต์ที่ซัมซุงโฆษณาไว้นั้นไม่เร็วจริงอย่างที่อ้าง และไม่ว่าที่ชาร์จแบบไหนก็ได้ความเร็วในการชาร์จเท่ากับที่ชาร์จ 25 วัตต์ตัวล่างสุดเท่านั้น (แม้ซัมซุงขายที่ชาร์จ 45 วัตต์ในราคาแพงกว่าคือ 50 ดอลลาร์ ส่วนที่ชาร์จ 25 วัตต์ขาย 20 ดอลลาร์)
ที่มา - GSMArena |
# [ลือ] Qualcomm ยอมแล้ว Snapdragon รุ่นหน้าจะมีตัวถอดรหัส AV1 ในตัว
โลกวิดีโอกำลังหมุนไปยังตัวเข้ารหัสไฟล์แบบ AV1 ที่ผลักดันโดยกูเกิล โดยเริ่มใช้งานแล้วบนแพลตฟอร์มวิดีโอยอดนิยมทั้ง YouTube, Facebook และ Netflix
ความนิยมของ AV1 ทำให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เริ่มทยอยออกชิปที่มีตัวถอดรหัส AV1 ในตัว เช่น MediaTek, NVIDIA, AMD, Intel, Samsung แต่มีผู้ผลิตอยู่ 2 รายที่ยังไม่สนใจตอบรับคือ แอปเปิล และ Qualcomm
กรณีของแอปเปิล ทุกคนคงพอเข้าใจได้ว่ามีแนวทางไม่เหมือนใครเสมอ (แม้แอปเปิลเป็นสมาชิกของกลุ่ม AOpen ที่ผลักดัน AV1 ก็ตาม) แต่กรณีของ Qualcom ที่ชิปเรือธง Snapdragon 8 Gen 1 รุ่นล่าสุด ยังไม่รองรับ AV1 ก็สร้างความประหลาดใจให้วงการพอสมควร
ล่าสุดเว็บไซต์ Protocol รายงานว่า Qualcomm ยอมแล้ว โดย Snapdragon รุ่นของปี 2022 (มือถือออกขายปี 2023) ที่ตอนนี้ใช้รหัสภายในว่า SM8550 (ซึ่งน่าจะเรียก Snapdragon 8 Gen 2) จะรองรับ AV1 กับเขาสักที โดยเหตุผลที่ Qualcomm ไม่ได้รองรับ AV1 เร็วเหมือนคู่แข่ง เป็นเพราะมีระยะเวลาการวางแผนผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าค่อนข้างนาน ทำให้ไม่สามารถใส่ AV1 เข้ามาทันใน Snapdragon 8 Gen 1
ที่มา - Protocol |
# [ลือ] ต้านกระแสไม่ไหว Roku เตรียมทำสมาร์ททีวีภายใต้แบรนด์ของตัวเอง
Roku เจ้าของแพลตฟอร์มสมาร์ททีวีจากสหรัฐ (ขายกล่องเซ็ตท็อปต่อกับทีวี และขายไลเซนส์ OS ให้ผู้ผลิตทีวี) อาจเข้ามาผลิตสมาร์ททีวีแบรนด์ของตัวเองในเร็วๆ นี้
เว็บไซต์ Insider อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า Roku กำลังพัฒนาสมาร์ททีวีหลายรุ่น หลายระดับราคา และกำลังทดสอบกับกลุ่มลูกค้าในโฟกัสกรุ๊ปอยู่ว่าจะเลือกรุ่นไหนมาขายบ้าง
ตลาดของ Roku รุ่งเรืองตามการเติบโตของบริการสตรีมมิ่ง (โดยเฉพาะ Netflix ในยุคสตรีมมิ่งแรกๆ) เพราะลูกค้าซื้อกล่องเพื่อมาต่อกับทีวีเดิม แต่เมื่อตลาดสมาร์ททีวีเติบโต ลูกค้าสามารถดูสตรีมมิ่งได้จากแอพของสมาร์ททีวีโดยตรง ไม่ต้องพึ่งกล่อง Roku อีก ซึ่ง Roku ก็ปรับตัวด้วยการขายไลเซนส์ให้ผู้ผลิตทีวีบางราย เช่น TCL, Hisense, Philips, Sanyo, JVC, Hitachi
แต่ช่วงหลังเมื่อผู้ผลิตทีวีบางรายเริ่มปันใจไปใช้ Android TV/Google TV ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Roku ต้องหันมาทำแบรนด์ทีวีของตัวเอง
ที่มา - Insider via Ars Technica |
# Amazon DynamoDB อายุครบ 10 ปี ฐานข้อมูลที่เกิดขึ้นเพราะเว็บ Amazon แครช
Amazon DynamoDB ฐานข้อมูลแบบ NoSQL ของ AWS มีอายุครบรอบ 10 ปีแล้วในปีนี้ (ออกเวอร์ชัน GA ในเดือนมกราคม 2012) ในโอกาสนี้ทำให้ AWS เล่าเบื้องหลังการสร้าง DynamoDB ขึ้นมา
เรื่องเริ่มจากเทศกาลคริสต์มาสปลายปี 2004 ที่มียอดสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบอีคอมเมิร์ซของ Amazon ที่ตอนนั้นใช้ฐานข้อมูลแบบ relational ถึงกับพัง เป็นสัญญาณบอกว่าฐานข้อมูลแบบ relational ถูกใช้จนถึงขีดจำกัดแล้ว
ทีมวิศวกรรมของ Amazon มีกระบวนการเรียกว่า Correction of Error (COE) มาพูดคุยทบทวนถึงปัญหาเทคนิคที่เกิดขึ้น เพื่อบันทึกไว้ไม่ให้เกิดซ้ำ ในการประชุมครั้งนั้นมีนักศึกษาฝึกงานอายุ 20 ปีชื่อ Swaminathan (Swami) Sivasubramanian ทักขึ้นมาว่าทำไมเรายังต้องใช้ฐานข้อมูลแบบ relational กัน เพราะตัวเนื้องานของ Amazon ไม่จำเป็นต้องใช้ความซับซ้อนระดับภาษา SQL และไม่จำเป็นต้องการันตี transaction ที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์นั้นทำให้ทีมวิศวกรรมของ Amazon สร้างแนวคิดฐานข้อมูล Dynamo ขึ้นมา โดยมีโจทย์เรื่องการขยายตัว (scalability) และเสถียรภาพ (reliability) เพื่อตอบโจทย์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จนออกมาเป็นเปเปอร์ชื่อ Dynamo ในปี 2007 ที่มีแนวคิดของฐานข้อมูลแบบ key-value
เปเปอร์ Dynamo ถูกนำไปใช้งานโดยทีมภายในต่างๆ ของ Amazon ซึ่งพบว่าฐานข้อมูลมีประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และรองรับการขยายตัวตามเป้าหมาย แต่ยังเจอปัญหาการติดตั้ง คอนฟิก และใช้งานตัวซอฟต์แวร์ภายในเครื่องของ Amazon เอง
ในช่วงเวลาเดียวกัน AWS ในฐานะบริการคลาวด์เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเช่นกัน (เริ่มบริการครั้งแรกในปี 2002) โดย AWS ผลักดันฐานข้อมูล NoSQL อีกตัวคือ Amazon SimpleDB แต่ก็พบปัญหาในการสเกลเมื่อข้อมูลมีขนาดเกิน 10GB จะเริ่มมีระยะเวลา latency ไม่สม่ำเสมอ (ปัญหาเกิดจากขนาดของฐานข้อมูลและตัวดัชนี)
AWS จึงนำแนวคิดเรื่องการสเกลและ latency ที่สม่ำเสมอของ Dynamo มารวมร่างกับความเรียบง่ายในการดูแลของ SimpleDB จนออกมาเป็น DynamoDB ในท้ายที่สุด
ส่วน Swami นักศึกษาฝึกงานคนนั้น ร่วมเขียนเปเปอร์ Dynamo และปัจจุบันเป็น VP of the database, analytics, and ML ที่ AWS
ที่มา - AWS Blog |
# Truth Social โซเชียลเน็ตเวิร์คของ Donald Trump มีแอพขึ้นบน App Store แล้ว
Truth Social โซเชียลเน็ตเวิร์คของอดีตประธานาธิบดี Donald Trump ที่เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2021 ตอนนี้มีแอพให้ดาวน์โหลดบน App Store แล้ว (ยังไม่มี Android)
ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอพ Truth Social ได้แล้ว แต่อาจยังไม่สามารถสร้างบัญชีได้ หน้าเว็บสถานะของ Truth Social ระบุว่ายังจำกัดจำนวนผู้ใช้ในระยะแรก ส่วน Devin Nunes ซีอีโอของ Trump Media and Technology Group (TMTG) ที่รับผิดชอบการพัฒนาแอพนี้ บอกว่าจะสามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม
ก่อนหน้านี้เคยมีคนค้นพบว่า Truth Social ใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส Mastodon ที่มีฟังก์ชันการทำงานคล้าย Twitter แถมใช้แบบผิดเงื่อนไขของซอฟต์แวร์ จากหน้าตาของภาพสกรีนช็อตบน App Store จะเห็นว่ารูปแบบการใช้งานก็คล้าย Twitter อย่างมาก มีระบบ follow, reply, retweet, favorite เป็นต้น
ที่มา - Insider |
# นักวิจัยถามคำถามจิตวิทยากับ AI chatbots ชั้นนำ พบตอบเหมือนคนซึมเศร้า และติดเหล้า
งานวิจัยที่ยังไม่ตีพิมพ์ (preprint) ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Science) ที่นำคำถามทางจิตวิทยาที่ใช้ประเมินสภาวะซึมเศร้าและติดเหล้าไปลองถาม AI chatbots ชั้นนำต่างๆ
AI ที่เข้ารับการทดสอบมี Blenderbot ของ Facebook, DiabloGPT ของ Microsoft, DialoFlow ของ Wechat และ Plato ของ Baidu การทดสอบพบว่า AI ทั้งหมดมีคะแนน “ความเห็นอกเห็นใจ” ต่ำ รวมถึงตอบคำถามในแบบประเมินเหมือนคนเป็นซึมเศร้าและติดเหล้า โดย Blender และ Plato ทำคะแนนได้แย่กว่าเพื่อน
แม้ AI เหล่านี้จะไม่มีความรู้สึกจริงๆ และการตอบคำถามก็อิงจากแหล่งข้อมูลที่ฝึกมาเท่านั้น แต่ผลวิจัยนี้ก็ทำให้เกิดความกังวลต่อผลกระทบทางสภาพจิตกับผู้ใช้งาน โดยเฉพาะกับเยาวชน ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้หลายๆ คนน่าจะร้อง อ๋อ ถึงสาเหตุของปัญหานี้ คือในหน้า 4 ของงานวิจัย เปิดเผยว่าแหล่งข้อมูลที่เหล่า AI ทั้งหมดใช้ในการฝึกตอบคำถาม มาจากการประมวลผลความเห็นบนเว็บไซต์ Reddit ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเว็บบอร์ดที่มีสังคมไม่ค่อยเป็นมิตร และมีความ toxic สูง คำตอบของ AI chatbot เหล่านี้จึงออกมาในรูปแบบที่เห็น
นอกจากปริมาณข้อมูลแล้ว คุณภาพของแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการฝึกฝน AI น่าจะเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ ซึ่งปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตอนปี 2560 ก็มีงานวิจัยที่เปิดเผยว่า AI เรียนรู้พฤติกรรมหยาบคายและเหยียดผิวได้จากผู้ป้อนข้อมูล
ในงานวิจัยไม่มีข้อมูลที่ชี้แจงไว้ว่าทำไมผู้สร้างถึงนิยมใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ Reddit แต่คาดว่าเป็นเพราะ Reddit น่าจะเป็นแหล่งข้อมูลการมีปฏิสัมพันธ์กันของมนุษย์ที่ใหญ่อันดับต้นๆ และสามารถซื้อข้อมูล หรือใช้ข้อมูลส่วนที่เป็นสาธารณะได้ง่าย
ที่มา - CAS via Futurism |
# Capcom ออก Fighting Collection เซ็ตเกมไฟติ้งย้อนยุค มี Vampire ครบทั้ง 5 ภาค
นอกจาก Street Fighter 6 วันนี้ Capcom ยังเปิดตัว Capcom Fighting Collection แพ็ครวมเกมไฟติ้งในอดีต 10 เกมกลับมาขายแฟนๆ รุ่นเก่าอีกครั้ง โดยแกนหลักคือเกมซีรีส์ Vampire/Darkstalkers ทั้งหมด 5 เกม ซึ่งมี 2 ภาคที่ไม่เคยขายในตลาดอเมริกาเหนือมาก่อนด้วย
Darkstalkers: The Night Warriors
Night Warriors: Darkstalkers’ Revenge
Vampire Savior: The Lord of Vampire
Vampire Hunter 2: Darkstalkers’ Revenge (ครั้งแรกที่ทำตลาดอเมริกาเหนือ)
Vampire Savior 2: The Lord of Vampire (ครั้งแรกที่ทำตลาดอเมริกาเหนือ)
Red Earth (ครั้งแรกที่เอามาให้เล่นนอกตู้อาเขต ชื่อญี่ปุ่นคือ War-Zard)
Cyberbots: Fullmetal Madness
Super Gem Fighter Mini Mix
Super Puzzle Fighter II Turbo
Hyper Street Fighter II
นอกจากเกมคลาสสิกทั้ง 10 เกม ยังมีภาพสเกตช์ ภาพคอนเซปต์ ภาพประกอบ และดนตรีประกอบ มาให้ตามแนวทางของแพ็คเกมย้อนยุคสำหรับนักสะสม
เกมจะวางขายบน PS4, Xbox One, Nintendo Switch และพีซี ในวันที่ 24 มิถุนายน 2022
ที่มา - Capcom |
# กูเกิลปรับ Cloud Functions รันงานเต็มชั่วโมง ใช้แรมสูงสุดได้ 16GB
กูเกิลปรับบริการ Cloud Functions (GCF) ครั่งใหญ่ (2nd gen) โดยจุดสำคัญคือการเพิ่มระยะเวลารันให้ยาวขึ้นจากเดิมจำกัด 9 นาทีเป็น 60 นาที และสามารถสร้างเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ จากเดิมขนาดหน่วยความจำไม่เกิน 2GB เป็น 16GB
เทียบกับ AWS Lambda ที่เป็นบริการแบบเดียวกัน รองรับแรมสูงสุด 10GB และรันได้ไม่เกิน 15 นาที นอกจากการเพิ่มฟีเจอร์พลังประมวลผลแล้ว เวอร์ชั่นนี้ยังเพิ่มอีเวนต์จาก Eventarc เข้ามาทำให้ GCF รับอีเวนต์จากแหล่งต่างๆ ใน Google Cloud กว่า 90 รายการ
นอกจากฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นแล้ว กูเกิลเตือนว่า GCFv2 นี้จะต่างจากเวอร์ชั่นแรกหลายอย่าง เช่น URL เป็นรูปแบบที่คาดเดาล่วงหน้าไม่ได้, ไม่รองรับ HTTP ไม่เข้ารหัส, Exception ต่างๆ จะแสดงให้ผู้ใช้เห็นโดยตรง รวมถึงกรณีที่เปิดให้เรียกฟังก์ชั่นโดยไม่ต้องล็อกอิน
ที่มา - Google Cloud Blog |
# Capcom เปิดตัว Street Fighter 6 เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมช่วงฤดูร้อนนี้
Capcom เฉลยหน้าเว็บนับถอยหลังปริศนา ว่าเป็นเกม Street Fighter 6 หลังช่วงการแข่งขัน Street Fighter Pro Tour ใกล้จบ แม้หน้าเว็บนับถอยหลังจะค้างอยู่ที่ 1 ชั่วโมง แต่เว็บสื่อต่างๆ พร้อม YouTube ของ Capcom เอง ก็ปล่อยข่าวและข้อมูลมาแล้ว
Street Fighter เปิดตัวเกมภาคหลักครั้งล่าสุดคือ Street Fighter V เมื่อปี 2016 แต่ก็ได้รับเสียงตอบรับปานกลาง เพราะคอนเทนต์ค่อนข้างน้อย แม้มี DLC ออกมาเพิ่มเติมภายหลังแต่กระแสก็ไม่ดีนัก
ในตัวอย่างของ Street Fighter 6 โชว์ Ryu ในลุคใหม่ และ Luke ตัวละครจาก DLC ของ Street Fighter V และกราฟิกที่เป็นแนวสมจริง ไม่ใช่สไตล์ภาพวาดแบบเดิม และระบุจะเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมช่วงฤดูร้อน (เดือนมิถุนายน-กันยายน) ปีนี้
ที่มา - Capcom via VentureBeat |
# คุยกับคุณตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป CEO แห่ง SCB TechX กับเป้าหมายการเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด และดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
SCB TechX เป็นหนึ่งในบริษัทลูกน้องใหม่ไฟแรงในกลุ่ม SCBX ที่เน้นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน Banking และ Non-Banking โดยเป็นบริษัทที่ Spin off มาจากแผนก IT ของแบงก์ ตามนโยบายยานแม่ของ SCBX สมาชิกส่วนหนึ่งของทีมไม่ใช่ใครที่ไหน แต่มาจากทีมที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาแอปการเงินที่ผู้อ่านหลายๆ ท่านน่าจะมีติดเครื่องหรือเคยใช้งานอย่าง SCB EASY, SCB Connect รวมถึงแม่มณี หรือแอปสั่งอาหาร โรบินฮู้ด อีกด้วย
SCB TechX มุ่งเป้าเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหลังจากที่ SCBX ประสานความร่วมมือโดยการร่วมทุนกับบริษัท Publicis Sapient ผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการที่ปรึกษาด้านการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น SCB TechX ก็เล็งใช้โอกาสจากพลังความรู้ของทั้งสองบริษัท เพื่อพัฒนาไปเป็นหนึ่งในผู้นำบริษัทเทคโนโลยี ทั้งในไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันนี้ Blognone ได้รับเกียรติจากคุณตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด (SCB TechX) มาให้ข้อมูลด้านเกี่ยวกับ SCB TechX ทั้งการเริ่มต้นของบริษัท วิสัยทัศน์ การร่วมทุนกับ Publicis Sapient รวมถึงข้อมูลเป้าหมายของ SCB TechX ในอนาคต
สู่ดิจิทัล สู้ดิสรัปชั่น
คุณตรัยรัตน์ ย้อนเล่าต้นกำเนิดของ SCB TechX ตั้งแต่สมัยก่อนจะแยกตัวออกมา ว่าเกิดจากการเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงความต้องการของประชาชนเจนเนอเรชั่นใหม่ ที่ต้องการใช้บริการที่ทันที ทันใจ และการเข้าถึงกันได้ของทั้งโลก ทำให้บริษัทเทคโนโลยีนานาชาติ เข้ามาดิสรัปธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงธุรกิจการเงินอีกด้วย
ความท้าทายต่างๆ ทั้งกับหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจการเงินและธนาคาร ทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบริการเพิ่มขึ้น และทำให้รายได้จากการให้บริการหลายๆ ชนิด เช่นค่าธรรมเนียม ลดลง แถมยังมีคู่แข่งที่มีข้อได้เปรียบด้านความรวดเร็ว ไม่มีการลงทุนระยะยาวและภาระหนี้ สามารถเข้ามาแข่งในเวทีธุรกิจการเงินได้ ธนาคารจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง และสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อตามให้ทันยุคดิจิทัล เกิดเป็นทีมดิจิทัลที่เริ่มสร้างนวัตกรรมภายใน และกลายมาเป็น SCB TechX ในปัจจุบัน
เริ่มต้นที่ความได้เปรียบ เน้นภูมิภาคที่มีความถนัด
เป้าหมายหนึ่งของกลุ่ม SCBX คือการมีผู้ใช้งาน 200 ล้านคน ซึ่งแค่ในประเทศไทยคงยังไม่พอ SCB TechX เอง จึงมองข้อได้เปรียบที่บริษัทมีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่มีพฤติกรรมและความต้องการคล้ายคลึงกัน เพื่อนำมาพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งที่บริษัทมี
ปัจจุบัน SCB TechX จึงมุ่งเป้าเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด และดีที่สุดในภูมิภาค ที่เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว พร้อมพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งระบบคลาวด์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ ให้กับทั้งบริษัทในกลุ่ม SCBX และพาร์ทเนอร์อีกมายมายทั้งปัจจุบันและอนาคต
ประสานพลังกับ Publicis Sapient ผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น
คุณตรัยรัตน์พูดถึงอีกหนึ่งปัจจัยเสริมความแข็งแกร่ง คือการจับมือร่วมทุนกันของกลุ่ม SCBX กับ Publicis Sapient ผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการที่ปรึกษาด้านการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปี มีพนักงานกว่า 2 หมื่นคน และมีออฟฟิศอยู่กว่า 50 แห่งทั่วโลก รวมถึงในไทย
บริการของ Publicis Sapient เองค่อนข้างไปในทางเดียวกับ SCB TechX คือมีทั้งด้าน Consulting, Delivery และ Platform และทำให้ทั้งความสามารถทางเทคโนโลยี และความรู้หลากหลายอุตสาหกรรมที่ Publicis Sapient มี เมื่อประสานกับความรู้และความถนัดด้านเทคโนโลยีของ SCB TechX เพื่อปรับปรุงทั้ง Tech Stack และโฟลวการทำงานต่างๆ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของบริษัทในอนาคต
ความท้าทาย และมุมที่ SCB TechX เร่งพัฒนา
ส่วนการพัฒนาองค์กรภายใน คุณตรัยรัตน์มองเน้นไปในด้านการปรับมุมมองคัลเจอร์ของบริษัท ให้มีความรวดเร็ว (agile) มากขึ้น และสร้างคัลเจอร์ที่มีความกระหายใคร่รู้ กล้าที่จะลองสิ่งใหม่ๆ กล้าที่จะผิดพลาด และแตกต่างจากการทำงานรูปแบบเดิมๆ ในอดีต
รวมถึงในตอนนี้ ความต้องการด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งจากบริษัทในเครือ และบริษัทพาร์ทเนอร์ มีเข้ามาเป็นจำนวนมาก การจัดลำดับความสำคัญของงานพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้เหมาะสมกับกำลังคนราว 700 คนในปัจจุบัน พร้อมไปกับการขยับขยายและมองหาบุคลากรมาร่วมงาน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องจัดการ
ด้านบุคลากร คุณตรัยรัตน์ระบุว่าคนที่ SCB TechX อยากได้มาร่วมงาน ต้องมีคุณสมบัติหลักๆ 3 ด้าน อย่างแรกคือกระหายที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ สองคือต้องเป็นคนที่พร้อมออกนอกคอมฟอร์ตโซน กล้าลองอะไรใหม่ๆ และอย่างที่สามคือต้องมีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในโปรดักต์ที่พัฒนา และมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับบริษัท
โอกาสในอนาคต
นอกจากนี้คุณตรัยรัตน์มองว่าในอนาคต บริษัทอาจจะมีออฟฟิศหรือโคเวิร์กกิ้งสเปซในต่างจังหวัด เพื่อเพิ่มโอกาสเติบโตของนักพัฒนาซอฟต์แวร์นอกกรุงเทพ เช่นในเชียงใหม่ หรือขอนแก่น โดยอาจปรับโปรเซสการทำงานไปสู่รูปแบบการทำงานไฮบริด ที่ผสมผสานการทำงานแบบเสมือนที่อาจเหมาะสมกับบางรูปแบบการทำงาน ให้เข้ากับการทำงานแบบเข้าออฟฟิศได้อย่างเหมาะสม
คุณตรัยรัตน์ ยังได้แง้มอนาคตของ SCB TechX ให้ฟังเพิ่มเติมว่าอีกไม่นานผู้ใช้น่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จาก SCB TechX ทั้งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ AISCB และการพัฒนาไปอีกขั้นของแอปอย่าง โรบินฮู้ด ที่กำลังเตรียมขยับขยายไปสู่การเพิ่มฟังก์ชั่น เช่นการจองโรงแรม รวมถึงอาจมีแอปอื่นๆ ตามมาในอนาคต ที่คงต้องจับตามองกันให้ดี |
# แก้แค้นก่อนแก้ไข Call of Duty: Warzone ปรับ anti-cheat ให้คนโกงยิงผู้เล่นอื่นไม่เข้าก่อนโดนแบน
ทีมงาน Ricochet Anti-Cheat ระบบป้องกันการโกงในเกม Call of Duty: Warzone เขียนบล็อกอัพเดตให้ข้อมูลระบบป้องกันการโกงแบบใหม่ชื่อ Damage Shield ที่หากตรวจพบว่ามีผู้เล่นใช้โปรแกรมช่วยเล่นหรือปรับแต่งตัวเกม ก็จะป้องกันไม่ให้ผู้เล่นรายนั้นยิงผู้เล่นคนอื่นตายได้ ทำให้คนโกงโดนรุมยำ และถ่วงเวลาให้ทีมงานเก็บข้อมูลของคนโกงได้มากขึ้นก่อนโดนแบน
Damage Shield ปัจจุบันทดสอบเสร็จสิ้น และเปิดใช้งานจริงในเซิฟเวอร์ทั่วโลกแล้ว ทีมงานระบุว่าระบบนี้จะไม่เปิดทำงานเองโดยเด็ดขาดหากผู้เล่นไม่โกง และหลังจากที่เปิดใช้ระบบ ยอดรายงานคนโกงก็ลดลงพอสมควร แต่ก็ยอมรับว่างานสู้กับคนโกงเป็นงานที่ไม่จบไม่สิ้น และทีมงานจะพัฒนาระบบตรวจสอบและป้องกันการโกงต่อไป
ที่มา - Call of Duty Blog |
# 1Password เพิ่มฟีเจอร์เก็บกุญแจ SSH
1Password โปรแกรมจัดการรหัสผ่าน ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ SSH & Git สำหรับการเก็บกุญแจล็อกอิน Secure Shell (SSH) ใน 1Password 8 เวอร์ชั่นเดสก์ทอป
กุญแจ SSH นิยมใช้งานกันในหมู่นักพัฒนาเพื่อดึงโค้ดเข้าและออกจาก Git เช่น บริการ GitHub โดยปกติแล้วนักพัฒนามักเก็บกุญแจลับเป็นไฟล์ โดยหากเข้ารหัสเอาไว้ก็จะมีรหัสผ่านเป็นของตัวเอง
บริการ SSH & Git ของ 1Password นี้จะทำให้ตัว 1Password กลายเป็น SSH Agent ที่เก็บกุญแจลับสำหรับ SSH เอาไว้ และสามารถปลดกุญแจมาใช้งานได้ด้วย master password ของ 1Password ไม่ต้องจำรหัสแยกอีก และเมื่อตัวโปรแกรม git หรือ ssh ขอใช้กุญแจ ตัวโปรแกรม 1Password ก็จะแสดงหน้าจอถามผู้ใช้อีกครั้ง
ตอนนี้ฟีเจอร์ SSH & Git ยังอยู่ในระดับเบต้า
ที่มา - 1Password |
# อีเมล phishing โจมตีผู้ใช้ OpenSea ขโมย NFT ไปขายได้เงินกว่า 54 ล้านบาท
OpenSea เว็บไซต์แพลตฟอร์มซื้อขาย NFT รายใหญ่บนเครือข่าย Ethereum ทำการตรวจสอบหลังได้รับข้อมูลว่าเว็บไซต์อาจถูกแฮก ก่อนจะพบว่าจริงๆ แล้วผู้ใช้งานถูกโจมตีด้วยอีเมล phishing หลอกว่าเป็น OpenSea และขโมย NFT ไปกว่า 254 โทเคนจากผู้ใช้ 32 คน ก่อนจะขายงานบางส่วนได้เงินเป็น ETH มูลค่ารวมราว 1.7 ล้านดอลลาร์ หรือราว 54 ล้านบาท ภายใน 3 ชั่วโมง
Devin Finzer ผู้ร่วมก่อตั้ง OpenSea ชี้แจงในทวิตเตอร์ ว่าการโจมตีเป็นรูปแบบ phishing ส่งอีเมลหลอกให้ผู้ใช้ย้าย NFT ของตัวเองไปยังที่อยู่บน smart contract ใหม่ โดยอาศัยจังหวะที่ OpenSea เพิ่งทำการเปลี่ยน smart contractของเว็บจริงๆ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อทำให้อีเมลดูน่าเชื่อถือ
Finzer ระบุอีกว่าดูจากยอดเงิน ETH ที่ผู้โจมตีขายงานได้แล้ว น่าจะมีมูลค่าราว 1.7 ล้านดอลลาร์ ไม่ใช่ 200 ล้านดอลลาร์ตามข่าวลือก่อนหน้านี้ และดูเหมือนว่าอีเมล phishing นี้จะหยุดส่งแล้ว แต่ผู้ใช้งานเว็บไซต์ OpenSea ช่วงนี้ก็ควรตรวจสอบให้ชัดเจนทั้งลิงก์เว็บไซต์และ smart contract ว่ากำลังทำการโอนโทเคนให้ OpenSea จริงก่อนทำรายการ
ที่มา - AppleInsider via Decrypt |
# NVIDIA บอกซื้อ Arm ไม่ได้ไม่เป็นไร มีไลเซนส์ 20 ปี, ซีพียู Grace ออกตามกำหนดปี 2023
Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ให้ข้อมูลในงานแถลงผลประกอบการไตรมาส 4/2021 ถึงประเด็นดีลซื้อ Arm ที่ล่มไป ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาซีพียูของบริษัท เพราะ NVIDIA มีไลเซนส์การใช้งานสถาปัตยกรรม Arm นาน 20 ปีอยู่แล้ว
หลายคนอาจลืมไปว่า NVIDIA มีธุรกิจซีพียู Arm มานานแล้ว ตั้งแต่ Tegra รุ่นแรกในปี 2008 ซึ่งช่วงแรกใช้ชิป Arm Cortex แบบสำเร็จรูป แต่หันมาเริ่มพัฒนาซีพียูเองช่วงปี 2011 ภายใต้โค้ดเนม Denver (ออกมาเป็น Tegra K1 วางขายปี 2014) หลังจากนั้นบริษัทหันไปเน้นทำซีพียู Arm สำหรับชิปรถยนต์ไร้คนขับแทน เช่น ซีพียู Camel ที่ใช้ใน Tegra Xavier ปี 2018 และ Hercules ที่ใช้ใน Tegra Orin ปี 2019
แผนการใหญ่ขั้นถัดไปของ NVIDIA คือ ซีพียูรหัส Grace ที่เปิดตัวปี 2021 โดยเน้นตลาดเซิร์ฟเวอร์และซูเปอร์คอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง ซึ่ง Huang ยืนยันว่า Grace ยังเดินหน้าตามกำหนด โดยจะออกวางขายจริงในครึ่งแรกของปี 2023
Huang บอกว่า Grace ถือเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ตลาดซีพียูอย่างจริงจัง โดยบริษัทยังมีซีพียู Armสำหรับตลาดอื่นๆ อยู่ในกระบวนการพัฒนาอีกมาก (Grace จะถูกใช้ในชิปรถยนต์ไร้คนขับรุ่นถัดไปโค้ดเนม Atlan ด้วย) แต่เขาก็ยืนยันว่ายังไม่ทิ้งตลาดเซิร์ฟเวอร์ x86 เพราะธุรกิจหลักของบริษัทคือ accelerated computing จะใช้ทั้งซีพียู Arm/x86 เพื่อให้ตอบสนองประสิทธิภาพการประมวลผลที่ดีที่สุด
ที่มา - Tom's Hardware |
# [ลือ] Apple จะเปิดตัว Mac รุ่นใหม่อย่างน้อย 1 รุ่นในอีเวนต์เดือนมีนาคม
Mark Gurman จากสำนักข่าว Bloomberg รายงานข้อมูลในจดหมายข่าวรายสัปดาห์ Power On โดยมีประเด็นสำคัญคือแผนการออก Mac รุ่นตลอดปี 2022 ของแอปเปิล
โดยเขาบอกว่าในงานแถลงข่าวที่คาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคมนี้ แม้สินค้าหลักจะเป็น iPhone SE 5G กับ iPad Air รุ่นใหม่ แต่เขาได้ข้อมูลว่าจะมี Mac รุ่นใหม่เปิดตัวด้วยอย่างน้อยหนึ่งรุ่น ซึ่งมีข้อมูลสนับสนุน เนื่องจากแอปเปิลเพิ่งยื่นเอกสารขออนุมัติอุปกรณ์กับหน่วยงานต่างประเทศ
Mac รุ่นที่เขาคาดว่าจะเปิดตัวในงานเดือนมีนาคม น่าจะเป็น Mac mini ชิป M2 เนื่องจากรุ่น M1 เปิดตัวมาตั้งแต่ 2020 และอีกรุ่นคือ iMac Pro ที่หน้าจอใหญ่กว่า 24 นิ้ว ใช้ซีพียู M1 Pro กับ M1 Max จอ mini-LED ส่วน MacBook Pro ที่ใช้ชิป M2 นั้น Gurman บอกว่าก็ถึงรอบอัพเกรดเช่นกัน แต่แอปเปิลน่าจะเลือกเปิดตัวช่วงงาน WWDC ของนักพัฒนาในกลางปีมากกว่า
เขายังให้ข้อมูลว่าปีนี้แอปเปิลจะออกอัพเดต Mac อีกหลายรุ่น โดยซีพียูใหม่ที่จะเข้ามาเสริมได้แก่ M2 เร็วขึ้นพอสมควร จำนวน 8 คอร์ซีพียู แต่อาจเพิ่มคอร์ส่วนกราฟิกเป็น 9-10 และซีพียูตัวใหม่สำหรับ Mac Pro โดยเฉพาะ ที่สเป็กจะสูงกว่า M1 Max จำนวนคอร์สูงสุดที่ 40 คอร์ และ 128 กราฟิกคอร์
ที่มา: Bloomberg |
# VS Code ออกเวอร์ชัน 1.64 เพิ่ม Side Panel ใช้แสดงผล view เพิ่มเติมได้ตามต้องการ
เมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ ไมโครซอฟท์ออกอัพเดตเวอร์ชัน 1.64 ให้กับ Visual Studio Code โดยได้เพิ่มปรับปรุงในส่วนของ UI และฟีเจอร์อำนวยความสะดวกอีกหลายอย่าง
การเปลี่ยนแปลงในส่วนของ UI ที่เห็นได้ชัดในอัพเดตนี้ คือการเพิ่ม Side Panel เข้ามาเป็นพื้นที่แสดงผลด้านข้างชุดใหม่ซึ่งจะจัดวางอยู่ด้านตรงข้ามกับ Side Bar เดิมเสมอ
โดยผู้ใช้จะสามารถเลือก view จาก จาก Side Bar และ Panel ด้านล่างเดิมไปแสดงผลได้ตามต้องการแค่คลิกเมาส์ค้างบน view ที่ต้องการแล้วลากไปยังขอบอีกข้างของ VS Code เท่านั้น
หรือหากถนัดสั่งจากบน Command Pallete ก็สามารถใช้คำสั่ง View: Move View จากนั้นเลือก view และ side bar / panel ปลายทางที่ต้องการได้เช่นกัน
ไม่เพียงแค่นั้นการมา Side Panel ยังช่วยให้ผู้ใช้มีตัวเลือกที่จะปิดการใช้ Panel บริเวณด้านล่าง VS Code แล้วเปลี่ยนมาใช้ Side Panel แทนได้เลย สามารถสั่งจาก Command Pallete โดยใช้คำสั่งดังต่อไปนี้
Move Views From Panel To Side Panel
Move Views From Side Panel To Panel (ถ้าต้องการสั่งกลับไปใช้ Panel ด้านล่าง)
และเพื่อทำให้การปรับแต่งเลย์เอาต์ของ VS Code ทำให้ง่ายขึ้น ไมโครซอฟท์ยังได้เพิ่มเมนู Configure Layout ซึ่งสามารถใช้สั่งเปิด/ปิด/ย้ายตำแหน่งเลย์เอาต์ต่างๆ ได้ภายใต้เมนูบนแถบ title bar เมนูเดียว ให้ได้ทดลองใช้งานในอัพเดตเดียวกัน (เปิดใช้งานได้จาก Settings > Workbench > Experimental > Layout Control: Enabled)
สำหรับการปรับปรุงอื่นๆ ที่ไมโครซอฟท์ยกให้เป็นไฮไลท์ของอัพเดตนี้มีดังนี้
ปรับปรุงการค้นหาในหน้า Settings สามารถใช้ค่าที่ตั้งไว้เป็นคีย์เวิร์ดการค้นหาแทนการค้นชื่อการตั้งค่าได้, เรียงลำดับให้ผลการค้นหาประเภท whole word ขึ้นมาก่อน (เช่นเมื่อด้วยคำว่า Java ผลการค้นหาจะไม่นำ JavaScript ขึ้นมาเป็นอันดับแรก)
เพิ่ม Audio cues ช่วยเล่นเสียงระบุเมื่อโค้ดบรรทัดที่เคอร์เซอร์ปรากฏอยู่พบ error, มีการตั้ง break point หรือมีการ fold code ไว้ โดยจะเปิดใช้งานให้อัตโนมัติเมื่อใช้งาน screen reader
ปรับปรุงให้การช่วยไฮไลท์อักขระ Unicode ซึ่งอาจใช้เพื่อการซ่อนโค้ดประสงค์ร้าย แสดงผลได้ถูกต้องมากขึ้น
เพิ่มฟีเจอร์ Automatic replies ให้ VS Code ช่วยคีย์คำสั่งตอบกลับเมื่อปรากฏข้อความที่กำหนดบน Terminal อัตโนมัติ
ภาพตัวอย่าง Automatic replies ตอบกลับข้อความ Terminate batch job (Y/N)? ด้วยคีย์ Y อัตโนมัติ
ปรับปรุงการค้นหาใน Notebook ให้ช่วยค้นคีย์เวิร์ดที่ปรากฏในช่องแสดงผล Markdown และช่องแสดงผลลัพธ์ของ cell
รองรับการแสดงผลและแก้ไขข้อมูล binary ขณะดีบัก
เพิ่มตัวช่วยเติม path ขณะแทรกรูปภาพหรือลิงก์บนภาษา Markdown
เพิ่มการใส่ snippet แบบล้อมรอบโค้ดเดิมบนภาษา JavaScript/ํTypeScript
VS Code for the Web
รองรับการเซ็นต์ commit ของ GitHub
ติดตั้งเป็นแอพ PWA และใช้งาน offline ได้แล้ว
ที่มา - Visual Studio Code |
# ผู้ใช้ Mac พบปัญหา Google Drive แจ้งว่า .DS_Store เป็นไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์
มีผู้ใช้บางส่วนรายงานใน Reddit ว่า Google Drive แปะป้ายว่าไฟล์ .DS_Store บน Mac ว่าเป็นไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ และส่งอีเมลแจ้งเตือนผู้ใช้ว่าไฟล์ดังกล่าวฝ่าฝืนข้อตกลงการใช้งานของ Google Drive
ไฟล์ .DS_Store เป็นไฟล์เฉพาะของ macOS ที่จะเก็บ attributes ที่เกี่ยวข้องกับโฟลเดอร์ที่ไฟล์นี้อยู่ โดยปกติแล้วไฟล์นี้จะถูกซ่อนออกจากผู้ใช้ แต่ก็อาจจะปรากฏมาบ้างในบางกรณี เช่นตอนสร้างไฟล์ zip, ไฟล์นี้ไปอยู่บนระบบปฏิบัติการอื่นอย่าง Windows หรือแม้กระทั่งบนคลาวด์สตอเรจเมื่ออัพโหลดข้อมูลในโฟลเดอร์ด้วย ดังนั้นการที่ Google Drive แจ้งเตือนผู้ใช้ว่าไฟล์นี้ละเมิดลิขสิทธิ์จึงเป็นผลบวกลวง (false positive)
ทางเว็บไซต์ Apple Insider ได้ทดสอบกรณีนี้และพบว่าสามารถทำให้เกิดปัญหาได้บน Mac mini รุ่น Intel ในขณะที่ MacBook Pro และ iMac รุ่น Intel ยังทดสอบไม่เจอ ทางเว็บไซต์ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นเพราะแฮชของไฟล์ไปตรงกับไฟล์ที่มีลิขสิทธิ์ จึงทำให้ Google แจ้งเตือนขึ้นมา
โฆษกของ Google แจ้งว่าได้แก้ปัญหานี้แล้วตั้งแต่เดือนมกราคม และระบุว่ามีผลกระทบกับไฟล์บน Drive จำนวนไม่มาก โดยทางบริษัทได้แก้ไขทุกกรณีที่รับรู้แล้วว่าแปะป้ายผิด และจะพยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่ก็ยังมีบางเคสเฉพาะที่อาจครอบคลุมไม่หมดบ้าง ซึ่ง Google ก็ยังอยู่ในระหว่างอัพเดตเคสอยู่เรื่อย ๆ
ที่มา - Apple Insider, Bleeping Computer, Reddit |
# .NET อายุครบ 20 ปีแล้ว ไมโครซอฟท์ออก .NET 7 Preview 1
.NET มีอายุครบ 20 ปีในเดือนนี้ และไมโครซอฟท์ก็ออก .NET 7 Preview 1 มาให้ทดสอบกัน ตามนโยบายใหม่ที่ออก .NET รุ่นใหม่ปีละ 1 ครั้งช่วงปลายปี (รุ่นเลขคู่จะเป็น LTS ใช้ได้ 3 ปี เริ่มจาก .NET 6 ที่ออกปลายปี 2021 ส่วน .NET 7 ซัพพอร์ต 18 เดือน)
.NET 7 เป็นการต่อยอดฟีเจอร์จาก .NET 6 ที่ผนวกรวม Xamarin เข้ามา โดยเพิ่มของใหม่คือ Multi-platform App UI (MAUI) ชุดเขียน GUI ร่างใหม่ของ Xamarin.Forms ที่เสร็จไม่ทัน .NET 6 ตามแผนเดิม (แต่ไมโครซอฟท์จะออก MAUI ตามหลังให้ .NET 6 ด้วยเช่นกัน)
ของใหม่อย่างอื่นคือฟีเจอร์การรันแบบ Cloud Native และคอนเทนเนอร์ โดยไมโครซอฟท์มีโครงการ Orleans หรือ Distributed .NET เป็นการปรับตัวรันไทม์ .NET ให้เหมาะกับการรันบนคลาวด์และคอนเทนเนอร์ ทั้งในแง่การคอนฟิก การยืนยันตัวตน และประสิทธิภาพ
กำหนดออก .NET 7 ตัวจริงคือเดือนพฤศจิกายน 2022
ที่มา - Microsoft |
# Windows 11 เพิ่มตัวเลือก ปรับประสิทธิภาพเล่นเกมแบบหน้าต่าง ให้เท่ากับแบบเต็มจอ
ชาวเกมเมอร์สายวินโดวส์น่าจะพอทราบว่า การเล่นเกมแบบเต็มหน้าจอ (fullscreen) กับการย่อในหน้าต่าง (windowed) มีผลต่อประสิทธิภาพของเกม ด้วยเหตุผลหลักๆ คือวิธีการเรนเดอร์เฟรมของกราฟิก (presentation mode) และยังมีประเด็นว่าการเล่นแบบหน้าต่างอนุญาตให้แสดงหน้าต่างอื่นหรือการแจ้งเตือนทับบนหน้าต่างเกมอีกที ในขณะที่เกมแบบเต็มหน้าจอได้ทรัพยากรเครื่องแบบไม่ต้องแบ่งให้ใคร
ไมโครซอฟท์มีวิธีเรนเดอร์เฟรม 2 แบบคือ blt แบบดั้งเดิม (ก่อน Windows 7) และ "flip model" ที่เริ่มใช้ใน Windows 7 แล้วพัฒนามาเรื่อยๆ (รายละเอียดบนเว็บไมโครซอฟท์)
ในยุค Windows 10 ไมโครซอฟท์เริ่มทำ Fullscreen Optimizations เพิ่มฟีเจอร์กราฟิกใหม่ๆ อย่างการลด latency ในการแสดงผล, Auto HDR, Variable Refresh Rate (VRR) รายละเอียด แต่การปรับแต่งทั้งหมดยังจำกัดเฉพาะโหมดเล่นเกมแบบเต็มหน้าจอเท่านั้น (เป็น flip model)
ล่าสุดบน Windows 11 Insider (Build 22545 ขึ้นไป) ไมโครซอฟท์เพิ่มตัวเลือก Optimizations for windowed games เข้ามาแล้ว ในทางเทคนิคแล้วคือการเปลี่ยน presentation mode ของการเล่นเกมแบบหน้าต่าง จาก blt มาเป็น flip เพื่อให้เกมแบบหน้าต่างได้การปรับแต่งแบบเดียวกับ Fullscreen Optimizations ด้วย
ไมโครซอฟท์ย้ำว่าเกมที่ไม่ได้ใช้กราฟิก v-sync อาจเจอปัญหา screen tearing หรือภาพเฟรมถัดไปเรนเดอร์เสร็จพร้อมแสดงผลก่อนเฟรมก่อนหน้า ทางแก้คือการเปิด v-sync หรือถ้าเกมนั้นไม่รองรับ ก็สามารถเลือกปิด Optimization เป็นรายเกมได้เช่นกัน (Per-App Opt-Out)
ที่มา - Microsoft via TechRadar |
# Project Zero เผยสถิติ นักพัฒนาลินุกซ์อุดช่องโหว่เร็วที่สุด เร็วกว่า Google, Microsoft, Apple
Project Zero โครงการค้นหาช่องโหว่ความปลอดภัยของซอฟต์แวร์ต่างๆ โดยทีมของกูเกิล เผยสถิติช่องโหว่ที่ค้นพบในปี 2019-2021 จำนวนรวม 346 รายการ
ทีม Project Zero ได้แยกช่องโหว่ตามบริษัทต้นสังกัดของซอฟต์แวร์นั้นๆ และเปรียบเทียบระยะเวลาเฉลี่ยที่บริษัทหรือองค์กรแก้ไขช่องโหว่ที่รายงาน
ผลคือ ลินุกซ์เป็นองค์กรที่มีระยะเวลาอุดช่องโหว่เร็วที่สุด ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 25 วัน แซงหน้ากูเกิลเจ้าของ Project Zero เองด้วยซ้ำ ที่มีระยะเวลาเฉลี่ย 44 วัน ตามด้วย Mozilla ที่ 46 วัน, Adobe 65 วัน, แอปเปิล 69 วัน, ซัมซุง 72 วัน, ไมโครซอฟท์ 83 วัน และช้าที่สุดออราเคิล 109 วัน (ยังมีหมวด Others ที่เป็นบริษัทอื่นที่มีจำนวนช่องโหว่รายงานผ่าน Project Zero ไม่เยอะนัก เช่น Facebook, AWS, Apache, Intel เฉลี่ยรวมกัน 44 วัน)
สถิติของ Project Zero ยังบอกว่าบริษัทส่วนใหญ่อุดช่องโหว่เกือบทั้งหมดสำเร็จภายใน 90 วัน + ช่วงต่อเวลาพิเศษ 14 วัน (grace period) โดยมีออราเคิลเพียงรายเดียวที่อุดช่องโหว่ไม่ทันกำหนด 4 ตัวจากทั้งหมด 7 ตัวที่รายงาน
ในแง่ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้อุดช่องโหว่ก็รวดเร็วขึ้นด้วย ค่าเฉลี่ยของปี 2019 อยู่ที่ 67 วัน ซึ่งลดลงมาเยอะในปี 2020 เหลือ 54 วัน และปี 2021 ลดลงอีกหน่อยเหลือ 52 วัน
ถ้าแยกเฉพาะผู้พัฒนาเว็บเบราว์เซอร์ Chrome อุดช่องโหว่เร็วที่สุด 29.9 วัน (นับจากแจ้งไปจนถึงออกเวอร์ชันใหม่) ส่วน Safari ช้าที่สุด 72.7 วัน แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรอบการออกของ Safari ช้ากว่าใครเพื่อนด้วย โดย Safari ออกแพตช์เฉลี่ยเร็วกว่า Firefox แต่ออกรุ่นช้ากว่า
ที่มา - Project Zero |
# เอกสารเผย Microsoft เริ่มเจรจาขอซื้อ Activision Blizzard หลังมีข่าวซีอีโอปกปิดปัญหากับบอร์ดบริหาร
Activision Blizzard ได้ส่งเอกสารต่อสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐ (SEC) ชี้แจงรายละเอียดการขายกิจการให้ไมโครซอฟท์ มีประเด็นน่าสนใจคือไทม์ไลน์ที่ไมโครซอฟท์ได้ยื่นข้อเสนอต่อ Activision Blizzard
เหตุการณ์เริ่มในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2021 ไม่กี่วันหลังจาก The Wall Street Journal ออกบทความแฉว่าซีอีโอ Bobby Kotick เจตนาปิดบังบอร์ดบริหารเรื่องปัญหาในสำนักงาน โดย Phil Spencer ประธาน Xbox ในตอนนั้น ติดต่อหา Kotick บอกว่าไมโครซอฟท์ต้องการเจรจาเรื่องทางกลยุทธ์กับบริษัท และซีอีโอไมโครซอฟท์ Satya Nadella จะร่วมหารือด้วย
การเจรจาเกิดขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน โดย Nadella ได้กล่าวขอเสนอซื้อกิจการ Activision Blizzard ซึ่ง Kotick ก็ได้หารือกับบอร์ดบริหารและฝ่ายกฎหมายหลังจากนั้น จากนั้นการเจรจาเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง โดยเป็นรายละเอียดที่ไมโครซอฟท์ต้องการทราบเพิ่มเติม และการต่อรองเรื่องมูลค่าที่จะซื้อกิจการ ซึ่งก็จบที่การประกาศซื้อกิจการเป็นทางการในวันที่ 18 มกราคม 2022
ที่มา: CNBC |
# จีนเตรียมออกนโยบายลดค่าธรรมเนียมร้านอาหารที่เก็บโดยฟู้ดดิลิเวอรี่ หุ้น Meituan ร่วงทันที 15%
จีนเตรียมร่างนโยบายใหม่สำหรับแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรี่ ซึ่งจะทำให้แพลตฟอร์มจะต้องลดค่าธรรมเนียมที่เก็บกับร้านค้าลง โดยเป้าหมายคือต้องการทำให้ต้นทุนการดำเนินกิจการของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มลดลง แต่ก็ส่งผลลบกับธุรกิจกลุ่มนี้ทันที
ปัจจุบันธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี่ของจีนมีผู้เล่นรายใหญ่อยู่ 2 แพลตฟอร์ม คือ Meituan ที่ครองส่วนแบ่งตลาด 70% ของฟู้ดดิลิเวอรี่จีน และ Ele.me ที่ถือหุ้นใหญ่โดย Alibaba โดยธุรกิจของ Meituan พึ่งพาคอมมิชชั่นค่อนข้างสูง โดยจากข้อมูลการเงินรอบ 3 เดือนสิ้นสุดเมื่อกันยายนปีที่แล้ว ค่าคอมมิชชั่นของ Meituan คิดเป็น 60% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ส่วน Ele.me ก็ถือเป็นธุรกิจสำคัญอย่างหนึ่งของ Alibaba แม้จะยังไม่ใช่รายได้หลักก็ตามที
ข้อเสนอนโยบายนี้จัดทำโดย National Development and Reform Commission หรือหน่วยงานด้านการพัฒนาและปฏิรูปประเทศซึ่งเป็นผู้วางนโยบายรัฐของจีน ร่วมกับหน่วยงานอีก 13 แห่งเสนอแพคเกจกฎหมายเพื่อช่วยเหลือภาคบริการของประเทศที่กำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบากเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 โดยข้อที่น่าสนใจคือจะเสนอแนวทางให้แพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ลดค่าธรรมเนียมบริการที่เก็บร้านอาหารเพื่อลดต้นทุนดำเนินการ และอาจขอให้แพลตฟอร์มให้ส่วนลดกับร้านอาหารในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดด้วย
หลังจากข้อเสนอนโยบายนี้เผยแพร่ออกมา หุ้น Meituan ในตลาดฮ่องกงก็ร่วงลงทันที 15% ส่วนหุ้นของ Alibaba ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Ele.me ลดลงเล็กน้อยที่ 2.9% ในขณะที่ดัชนีหุ้นเทคโนโลยีของฮั่งเส็งลดลง 3%
ที่มา - Financial Times, TechCrunch |
# กูเกิลเผยวิทยาศาสตร์ของสี เบื้องหลังระบบธีม Material You, สร้างระบบสีใหม่ HCT ขึ้นมาใช้
ฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญของ Android 12 คือระบบธีม Material You ที่มีระบบสีไดนามิก Dynamic Color สามารถสกัดสีจากภาพพื้นหลังมาเป็นธีมสีได้
ล่าสุดกูเกิลเปิดซอร์สของอัลกอริทึม Dynamic Color เป็นไลบรารีให้ใช้กันในชื่อ Material Color Utilities (เบื้องต้นมีไลบรารีของภาษา Dart, Java, TypeScript แต่จะมี C/C++ และ Objective-C ตามมา) พร้อมอธิบายแนวคิดเบื้องหลัง ที่ถึงขั้นกูเกิลต้องประดิษฐ์ระบบค่าสีขึ้นมาใหม่เลยทีเดียว
James O'Leary นักวิทยาศาสตร์สี (Color Scientist ตำแหน่งนี้จริงๆ) อธิบายผ่านบล็อกของกูเกิลว่า เดิมทีเราใช้ระบบสี HSL (hue, saturation, lightness) ที่ประดิษฐ์ขึ้นสำหรับคอมพิวเตอร์ยุค 1970 ที่มีพลังประมวลผลน้อย จึงต้องออกแบบให้กินทรัพยากรต่ำ
ระบบสี HSL มีปัญหาที่ค่าความสว่าง lightness ที่ค่าสีบนจออาจดูเท่ากัน (ตามภาพคือสีเหลือง ฟ้า แดง น้ำเงิน มีค่าความสว่าง 50 เท่ากัน) แต่ในการรับรู้ของมนุษย์กลับ "รู้สึก" สว่างไม่เท่ากัน การจับคู่สีโดยอิงจากค่าสีจึงไม่แม่นยำนัก เพราะค่าสีเท่ากัน ความรับรู้ของมนุษย์ไม่เท่ากัน
ปัญหาของระบบสี HSL ทำให้ก่อนหน้านี้มีคนพยายามพัฒนาระบบสีแบบใหม่ขึ้นมาแทน เช่น LCH (lightness, chroma, hue) และ CAM16
กูเกิลต่อยอดแนวคิดจากระบบสีแบบใหม่ พัฒนามาเป็น HCT (hue, chroma, tone) ซึ่งแตกต่างกันตรงค่า tone ที่เป็นการวัดความสว่างเหมือน lightness แต่เพิ่มการคำนวณค่าคอนทราสต์เข้ามา ซึ่งช่วยด้าน accessibility ด้วย
ตัวอย่างภาพวาด Impression, Sunrise ของ Monet ที่ท้องฟ้าและดวงอาทิตย์มีค่าความสว่างเท่ากัน พอลองแปลงเป็นภาพขาวดำ (ด้านขวา) ไม่สามารถแยกดวงอาทิตย์ได้เลย
เมื่อ HCT แก้ปัญหาเรื่องการวัดค่าคอนทราสต์ระหว่างสีได้ (ผ่านตัวเลข tone ที่คำนวณมาแล้ว) จึงสามารถเลือกคู่สีที่ตัดกัน (มีค่าคอนทราสต์ต่างกันตามที่ต้องการ) ระบบธีม Material You จึงสามารถสกัดค่าสีจากภาพพื้นหลังแล้วเลือกคู่สีที่เหมาะสมให้ธีมได้ทันที
ขั้นตอนการสกัดค่าสีคือนำภาพไป quantized ลดจำนวนสีในภาพลงมาก่อนหนึ่งขั้น จากนั้นรันอัลกอริทึมเพื่อเลือกสีตามเงื่อนไขที่ต้องการ (Androdi 12 ใช้อัลกอริทึมที่เน้นความสดใส colorfulness) โดยมีหนึ่งสีเป็นสีหลัก (source color) แล้วสร้างชุดสี (color palette) มาทั้งหมด 5 ชุด โดยเลือกจากค่า hue/chroma ก่อน แล้วปรับเฉดสีในชุดด้วยค่า tone อีกที
ที่มา - Google |
# Consumer Reports เลือก Ford Mustang Mach-E เป็นรถ EV แนะนำประจำปีนี้แทน Tesla Model 3
นิตยสาร Consumer Reports ของสหรัฐฯ จัดอันดับรถยนต์ไฟฟ้าในหัวข้อ EV Top Pick ประจำปี 2022 ซึ่งปีนี้ Ford Mustang Mach-E รถยนต์ไฟฟ้าจากค่าย Ford ขึ้นเป็นอันดับ 1 สำเร็จ ได้คะแนนรวมแซง Tesla Model 3 ที่ครองอันดับมา 2 ปีซ้อน
ในนิตยสารระบุว่า Tesla Model 3 ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีในด้านประสิทธิภาพตัวรถ, ระยะการขับขี่, เทคโนโลยี และเครือข่ายระบบชาร์จ แต่ฝั่ง Ford Mustang Mach-E มีระบบอินโฟเทนเมนต์ในรถยนต์ที่ใช้งานง่ายกว่ามาก ฟีเจอร์ที่ใช้งานทั่วไปไม่ต้องเข้าเมนูลึก การขับขี่ดีกว่า เสียงรบกวนรอบข้างก็น้อยกว่า และตัวรถเสถียรกว่า โดยจากการสำรวจคะแนนความเสถียรของตัวรถปีแรกใน Annual Auto Surveys ของสมาชิกนิตยสาร พบว่า Ford ได้คะแนนสูงกว่า Tesla
สรุปโดยรวมแล้ว Consumer Reports ระบุว่า Ford Mustang Mach-E ใช้งานจริงดีกว่า และใช้ชีวิตร่วมกับรถง่ายกว่า
นอกจากนี้ ทางนิตยสารยังให้คะแนนระบบช่วยขับ BlueCruise ของ Ford ดีกว่า Autopilot ของ Tesla โดยระบุว่าข้อดีของระบบช่วยขับของ Ford คือมีระบบเซนเซอร์อินฟราเรดเพื่อมอนิเตอร์ตาคนขับรถว่าคนขับยังสนใจถนนอยู่หรือไม่ตอนระบบช่วยขับทำงาน ในขณะที่ Autopilot ของ Tesla แค่มอนิเตอร์ว่าคนขับยังจับพวงมาลัยอยู่เท่านั้น
เนื่องจาก Ford Mustang Mach-E เป็นรถสไตล์ SUV ทางนิตยสารจึงระบุเพิ่มเติมว่า Tesla Model Y จะดูใกล้เคียงกับ Mach-E มากกว่า Model 3 และ Model Y ก็ชนะ Ford ในด้านคะแนนการทดสอบบนถนนด้วย แต่ความเสถียรของตัวรถ Model Y ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ทำให้ทางนิตยสารไม่ใส่ Model Y ไว้ในรายการ Top Pick ของรถ EV เพราะผู้ใช้รายงานปัญหาค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสี, ความสมบูรณ์ของตัวถังรถ, อุปกรณ์ไฟฟ้า ไปจนถึงระบบควบคุมอากาศภายในรถ ซึ่งคะแนนความเสถียรของตัวรถถือเป็นปัจจัยสำคัญในการคำนวณคะแนนรวมของ Consumer Reports
ที่มา - Consumer Reports
Ford Mustang Mach-E ภาพจาก Ford |
# เตือนพบช่องโหว่ UpdraftPlus ปลั๊กอิน WordPress แนะนำอัพเดตเวอร์ชันล่าสุดโดยด่วน
Marc Montpas นักวิจัยความปลอดภัยจาก Jetpack รายงานช่องโหว่ปลั๊กอินของ WordPress สำหรับแบ็คอัพชื่อ UpdraftPlus โดยช่องโหว่นี้ทำให้ user ที่สิทธิ์ไม่สูงเช่น subscriber สามารถดาวน์โหลดไฟล์แบ็คอัพล่าสุดของทั้งเว็บได้ ซึ่งมีความเสี่ยงเพราะอาจได้ข้อมูลทั้งรายชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านที่เข้ารหัส
ตามปกติสิทธิ์ในการเข้าถึงไฟล์แบ็คอัพ WordPress นั้นต้องเป็นระดับ administrator เท่านั้น
UpdraftPlus เป็นปลั๊กอิน WordPress ที่มีการติดตั้งมากกว่า 3 ล้านครั้ง โดยทีมนักพัฒนาได้ออกอัพเดตแก้ไขช่องโหว่นี้ในเวอร์ชันล่าสุด 1.22.3 แล้ว จึงแนะนำผู้ดูแลเว็บไซต์ที่ติดตั้งปลั๊กอินนี้ให้อัพเดตโดยด่วน
ที่มา: ZDNet |
# โปรดิวเซอร์ FF14 ยืนยัน ไม่มีแผนใส่ NFT เข้ามาในเกม
Naoki Yoshida โปรดิวเซอร์เกม Final Fantasy XIV เป็นผู้บริหารบริษัทเกมรายล่าสุดที่ออกมาพูดเรื่อง NFT ในรายการตอบคำถามแฟนๆ ผ่านไลฟ์สตรีมบน YouTube โดยมีคำถามหนึ่งถามเขาว่ามีแผนการด้าน NFT หรือไม่
Yoshida พูดชัดว่า FF14 ไม่ได้ถูกออกแบบมาด้านนี้ และขอให้ทุกคนสบายใจได้ว่า Square Enix ไม่มีแผนการใส่ NFT เข้ามาในเกม FF14 อย่างไรก็ตาม เขาก็ยอมรับว่า NFT เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ
ถึงแม้ Yoshida ออกมารับปากอย่างดีว่า FF14 ไม่มี NFT แน่นอน แต่แฟนเกมคงสบายใจไม่ได้แน่ๆ เพราะ Yosuke Matsuda ประธานของ Square Enix เพิ่งออกมาพูดเองว่าอนาคตของวงการเกมคือ NFT, Token และ Decentralized Gaming
Yoshida เองก็แสดงความเห็นต่อคำพูดของ Matsuda ว่าหลังจากระดับประธานออกมาพูดเรื่อง NFT บริษัทก็ถูกวิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนักเช่นกัน
ที่มา - Kotaku |
# อินเทลคืนชีพแนวคิด Tick-Tock ใช้กับกระบวนการผลิตซีพียู, เริ่มใช้ EUV ปลายปี 2022
อินเทลเผยความคืบหน้าของเทคโนโลยีการผลิตชิป (process technology) ต่อเนื่องจากที่เคยประกาศรีแบรนด์ชื่อกระบวนการผลิตเมื่อกลางปี 2021 เลิกใช้ nanometer ห้อยท้าย
ชื่อกระบวนการผลิตที่อินเทลประกาศไว้มีทั้งหมด 5 รุ่น ได้แก่
Intel 7 (10nm เวอร์ชันอัพเกรด) เริ่มใช้แล้วกับ Core 12th Gen Alder Lake ที่วางขายตั้งแต่ปีที่แล้ว มีประสิทธิภาพต่อวัตต์ดีขึ้นจากรุ่นก่อน 10%
Intel 4 (7nm) เป็นการผลิตรุ่นแรกที่จะใช้เทคนิค EUV ของบริษัท ASML (คู่แข่ง TSMC ใช้ก่อนนานแล้ว) ประสิทธิภาพต่อวัตต์ดีขึ้น 20% จะพร้อมใช้ช่วงครึ่งหลังของปี 2022 โดยเริ่มใช้กับซีพียู Meteor Lake วางขายปี 2023
Intel 3 รุ่นอัพเกรดจาก Intel 7 ประสิทธิภาพต่อวัตต์เพิ่มขึ้น 18% พร้อมใช้ครึ่งหลังของปี 2023
Intel 20A เริ่มเข้ายุค Angstrom ใช้เทคโนโลยี RibbonFET และ PowerVia เข้าช่วย ประสิทธิภาพต่อวัตต์ดีขึ้น 15% พร้อมใช้ครึ่งแรกของปี 2024
Intel 18A ประสิทธิภาพต่อวัตต์ดีขึ้น 10% พร้อมใช้ครึ่งหลังของปี 2024
อินเทลบอกว่านโยบายด้านกระบวนการผลิต ต้องการให้คาดเดาได้ (predictable) ลดความเสี่ยงของการใช้ของใหม่แล้วล่าช้า จึงนำแนวคิด Tick-Tock ที่เคยใช้กลับคืนมา นั่นคือมีรอบเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีใหม่ (Tick) และรอบปรับปรุงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีเดิม (Tock) สลับกันไป
จากแผนข้างต้น รอบ Intel 4 นับเป็น Tick (เริ่มใช้ EUV) แล้วปรับปรุงด้วย Intel 3 (Tock) จากนั้นกลับมาเป็น Intel 20A เริ่มใช้ RibbonFET (Tick) และ Intel 18A เป็น Tock อีกที
อินเทลยังอัพเดตแผนการนำ EUV มาใช้งานว่าเป็นไปตามเป้าหมาย จะพร้อมใช้งานในช่วงครึ่งหลังของปี 2022
ที่มา - Intel (PDF) |
# Kanye West ประกาศว่าอัลบั้มใหม่ Donda 2 จะมีให้ฟังผ่านอุปกรณ์ Stem Player ของเขาเองเท่านั้น
Kanye West ศิลปินชื่อดังที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Ye ประกาศผ่าน Instagram ว่าอัลบั้มใหม่ของเขา Donda 2 จะมีให้ฟังเฉพาะแพลตฟอร์มของเขาคือ Stem Player เท่านั้น ไม่มีใน Apple Amazon Spotify หรือ YouTube
Ye อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันศิลปินได้เงินเพียง 12% ที่ทั้งอุตสาหกรรมทำเงินได้ จึงถึงเวลาที่วงการดนตรีต้องปลดปล่อยตนเองจากระบบที่เป็นอยู่ ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อควบคุมทุกอย่างกันเอง
Stem Player เป็นอุปกรณ์พกพาขนาดครึ่งฝ่ามือ มีจุดขายคือสามารถปรับระดับเสียงแยกรายเครื่องดนตรีได้ ดาวน์โหลดเพลงผ่านเว็บ หน่วยความจำขนาด 8GB เชื่อมต่อด้วย USB-C บลูทูธ หูฟัง 3.5 มม. ราคา 200 ดอลลาร์ โดยการสั่งตอนนี้จะได้อัลบั้ม Donda 2 พรีโหลดมาให้เลย
ที่มา: The Verge |
# Gboard เริ่มปล่อยฟีเจอร์ Grammar Check ให้ Pixel รุ่นอื่นใช้งาน จากเดิมมีแค่ Pixel 6
มีผู้ใช้มือถือ Pixel หลายรุ่นรายงานว่า กูเกิลเริ่มปล่อยฟีเจอร์ตรวจไวยากรณ์ (grammar check) ของคีย์บอร์ด Gboard ให้ใช้งานแล้ว หลังจำกัดฟีเจอร์นี้เฉพาะ Pixel 6 เพียงรุ่นเดียวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021
ฟีเจอร์ตรวจไวยากรณ์ของ Gboard จะขีดเส้นใต้สีฟ้าในกลุ่มคำที่ผิดไวยากรณ์ ซึ่งผู้ใช้สามารถกดเพื่อดูการแก้ไขได้ ตอนนี้ยังใช้งานได้เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น (ปิดได้ถ้าไม่ต้องการใช้งาน)
ที่มา - Reddit, 9to5google |
# บั๊กเกิด ตาย วนเวียน Cyberpunk 2077 อัพเดตแพตช์ 1.5 แล้วเล่นไม่ได้เลยบน PS4
CD Projekt Red เงียบหายไปนานหลายเดือน ก่อนกลับมาพร้อม Cyberpunk 2077 แพตช์เวอร์ชันใหญ่ 1.5 ที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือรองรับกราฟิกและฟีเจอร์ของคอนโซล next-gen ตามสัญญา
แต่ขึ้นชื่อว่าเป็น Cyberpunk 2077 แล้วก็ไม่ทำให้แฟนๆ ต้องผิดหวัง เพราะแพตช์ 1.5 มาพร้อมบั๊กร้ายแรงที่ทำให้เกมเวอร์ชัน PS4 (แบบแผ่น) เล่นไม่ได้ไปเลย
ปัญหานี้เกิดกับเกม PS4 ที่ขายเป็นแผ่นเท่านั้น จากการรายงานของเกมเมอร์ในฟอรั่ม Cyberpunk บอกว่าอาการจะเกิดเมื่อติดตั้งเกมต้นฉบับจากแผ่น แล้วติดตั้งแพตช์เวอร์ชัน 1.51 จะเกิดปัญหาไฟล์เกมพัง (file corrupted) และไม่สามารถเล่นได้ ลบไฟล์เกมทั้งหมดแล้วติดตั้งใหม่ก็ไม่หาย
ตัวแทนของ CDPR โพสต์ในฟอรั่ม ว่ารับทราบถึงปัญหานี้แล้ว และกำลังสืบสวนหาสาเหตุต่อไป
อัพเดต CDPR ออกอัพเดตแก้ปัญหานี้แล้ว
ที่มา - Cyberpunk Forum via Kotaku |
# วารสารวิชาการด้านสุขภาพโวย Google และ Twitter ไม่ยอมให้โฆษณาบทความ คาดว่าเพราะมี Racism ในหัวข้อ
Health Affairs วารสารวิชาการด้านสุขภาพได้เผยแพร่บทความใหม่เกี่ยวกับสุขภาพและการเหยียดเชื้อชาติ (Racism & Health) เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเริ่มโปรโมตบทความดังกล่าวผ่านระบบโฆษณาตามกลุ่มเป้าหมายบน Twitter และ YouTube แต่ทางวารสารพบว่าทั้งสองแพลตฟอร์มสั่งบล็อคไม่ยอมให้แคมเปญนี้ขึ้นระบบโฆษณาของตัวเอง
Patti Sweet ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธดิจิทัลของวารสาร Health Affairs ได้เขียนบทความอธิบายเหตุการณ์นี้ในเว็บไซต์ของวารสาร โดยใช้หัวข้อว่า “Google และ Twitter ไม่ต้องการให้เราพูดเกี่ยวกับเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ” (Google And Twitter Don’t Want Us To Talk About Racism) ซึ่งเธอคิดว่าการใช้คำว่า racism ไปกระตุ้นระบบตรวจจับทำให้เกิดการปฏิเสธโฆษณา และบัญชีโฆษณา Google ของวารสารก็ถูกระงับตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี ฝั่ง Google และ Twitter ระบุว่าการปฏิเสธโฆษณาไม่ได้เกี่ยวกับคำว่า racism แต่อย่างใด โดย
Google ระบุว่าที่บล็อคโฆษณาเนื่องจากวิดีโอมีการพูดถึง COVID-19 ซึ่งตามนโยบายของ Google ถือว่า COVID-19 เป็นเหตุการณ์ที่อ่อนไหว จึงสั่งบล็อคโฆษณาที่มีแนวโน้มจะฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากเหตุการณ์ลักษณะนี้
ส่วน Twitter ระบุว่าโฆษณาไม่ผ่านการอนุมัติเนื่องจาก cause-based policy ที่กำหนดให้ผู้ลงโฆษณาต้องมีใบรับรองก่อนเผยแพร่โฆษณาที่ “สอน, สร้างการรับรู้ และ/หรือเรียกร้องให้สาธารณชนปฏิบัติการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของประชาชน, การเติบโตทางเศรษฐกิจ, การดูแลสิ่งแวดล้อม หรือความเท่าเทียมทางสังคม” ซึ่งนโยบายดังกล่าวของ Twitter ออกมาตั้งแต่ปีปลายปี 2019 ในช่วงที่เริ่มมีการควบคุมโฆษณาเชิงการเมืองในสหรัฐฯ
ฝั่ง Sweet ระบุว่านโยบายของบริษัทเป็นเรื่องสำคัญ แต่การดำเนินนโยบายกับกลุ่มเล็ก ๆ อย่างที่วารสาร Health Affairs โดนนั้นเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม เพราะทางวารสารไม่สามารถติดต่อกับใครใน Twitter หรือ Google ได้ง่าย ๆ เหมือนที่สามารถติดต่อกับเอเจนซี่ขนาดใหญ่ และเธอเองก็ประสบปัญหาในการรับข้อมูลเหตุผลว่าทำไมโฆษณาถึงโดนบล็อค ส่วนนโยบาย cause-based ของฝั่ง Twitter ทาง Sweet ระบุว่าเคสโฆษณาของ Health Affairs ไม่น่าจะโดนตีตกจากนโยบายนี้ได้เพราะมีข้อกำหนดเรื่องกลุ่มเป้าหมายในการโฆษณาเอาไว้ด้วย
ตอนนี้ Health Affairs ได้รับ cause-based certificate จาก Twitter แล้ว และเตรียมจะส่งโฆษณาใหม่อีกครั้ง ส่วนบัญชีโฆษณา Google หลังจากที่ส่งคำร้อง ตอนนี้ก็ได้บัญชีคืนแล้ว
ที่มา - Health Affairs, The Verge
ภาพจาก Health Affairs |
# พบโค้ดเนมของ Pixel 7 ใน Android 13 ใช้ชื่อ Cheetah และ Panther
เว็บไซต์ 9to5google ขุดโค้ดของ Android 13 DP1 เริ่มเจอร่องรอยของ Pixel 7 ที่จะออกช่วงปลายปีนี้แล้ว
สิ่งที่ 9to5google ค้นเจอคือการอ้างอิงถึงชิปโมเด็มรหัส g5300b ซึ่งน่าจะเป็น Exynos Modem 5300 ที่ยังไม่เปิดตัว เพราะก่อนหน้านี้เคยเจอโค้ดของ g5123b ที่หมายถึงชิปโมเด็ม Exynos Modem 5123 ที่ใช้ในชิป Tensor ของ Pixel 6 มาแล้ว ดังนั้น g5300b มีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นชิปโมเด็มของ Tensor 2
9to5google ยังพบฮาร์ดแวร์ 4 รุ่นที่เรียกใช้ g5300b เรียกตามโค้ดเนมดังนี้
Cloudripper เป็นโค้ดเนมที่เคยมีชื่อหลุดมาแล้ว คาดว่าเป็นบอร์ดอ้างอิงที่กูเกิลใช้ภายในเท่านั้น
Cheetah และ Panther คาดว่านี่คือโค้ดเนมของ Pixel 7 และ 7 Pro โดยก่อนหน้านี้ กูเกิลใช้โค้ดเนม Pixel เป็นชื่อปลามาตลอด แต่กรณีของ Pixel 6 ใช้เป็นชื่อนก Oriole/Raven แทน ซึ่งในซีรีส์นี้ยังมี Pixel 6a ใช้ชื่อนก Bluejay และมือถือจอพับ Pixel Notepad ใช้ชื่อ Pipit
Ravenclaw ชื่ออาจเหมือนบ้านในแฮร์รี พ็อตเตอร์ คาดว่ามันคือการเอาบอดี้ของ Pixel 6 Pro (Raven) มาลองใส่ชิป Tensor 2 ที่มีโค้ดเนมเป็นเสือ (claw) เพื่อทดสอบเป็นการภายในเท่านั้น
ภาพเสือ Cheetah โดย Mukul2u จาก Wikipedia
ที่มา - 9to5Google |
# Universal Music ประกาศร่วมมือกับ Curio พัฒนา NFT จากศิลปินและเพลงในสังกัด
Universal Music Group ค่ายเพลงรายใหญ่ ประกาศความร่วมมือกับ Curio แพลตฟอร์ม NFT ให้ไลเซนส์ในการผลิตโครงการ NFT จากผลงานเพลงและศิลปินในสังกัด ซึ่งถือเป็นโครงการ NFT ครั้งแรกที่มาจากค่ายเพลงรายใหญ่ระดับ Big 3 ของโลก (Universal, Warner และ Sony)
Curio ก่อตั้งในปี 2020 เริ่มพัฒนาโครงการ NFT ชิ้นแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ปัจจุบันมีงาน NFT มากกว่า 75,000 ชิ้น ซึ่งมาจากหลายสายในวงการบันเทิงทั้งดนตรี ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และนิยายภาพ
NFT ตัวแรกจากความร่วมมือนี้คือผลงานของ Calum Scott กำหนดเปิดตัวในเดือนมีนาคม
ที่มา: Universal Music Group |
# ทรูมูฟเอช ไตรมาส 4/2564 จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 32.25 ล้านราย
กลุ่มทรู รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2564 มีรายได้รวม 41,467 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.7% เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มี EBITDA หรือส่วนกำไรก่อนหักรายการดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา 14,655 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 54 ล้านบาท
ทรูอธิบายว่าในไตรมาสที่ 4 รายได้มีการปรับตัวดีขึ้นจากฐานลูกค้าที่เติบโต โดยเฉพาะผู้ใช้บริการ 5G บรอดแบนด์และดิจิทัล รวมทั้งการกลับมาเปิดให้บริการของร้านค้า ตลอดจนยอดขาย iPhone รุ่นใหม่
จำนวนผู้ใช้งานทรูมูฟ เอช เพิ่มขึ้นอีก 2.5 แสนราย รวมมีผู้ใช้บริการ 32.25 ล้านราย แบ่งเป็นเติมเงิน 21.28 ล้านราย และระบบรายเดือน 10.97 ล้านราย เป็นผู้ใช้งาน 5G มากกว่า 2 ล้านราย ส่วนทรูออนไลน์ มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 101,000 ราย จำนวนผู้ใช้บริการสุทธิ 4.6 ล้านราย
ที่มา: ทรู (pdf) |
# พนักงาน Salesforce หลายร้อยคนเข้าชื่อคัดค้านแผน NFT บอกทำลายสิ่งแวดล้อม
Thomson Reuters Foundation ได้เอกสารภายในของ Salesforce ที่มีพนักงานร่วมลงชื่อมากกว่า 400 คน คัดค้านแผนการของบริษัทด้านการทำ NFT ซึ่งรวมถึงการให้บริการ NFT กับองค์กรอื่นด้วย
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้คือ Salesforce ประกาศเป็นการภายในว่ากำลังมองหาโอกาสธุรกิจด้าน NFT หลายอย่าง เช่น การเปิดบริการ NFT Cloud ให้ลูกค้าองค์กรของ Salesforce มาเช่าเป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ของตัวเองได้
หลังประกาศเรื่องนี้ กลุ่มพนักงานจึงเข้าชื่อคัดค้านแผนการทำ NFT โดยให้เหตุผลเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่เน้นการเก็งกำไร ไม่มีการกำกับดูแล ซึ่งขัดแย้งกับคุณค่าองค์กรที่ Salesforce ยึดถือ พนักงานรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าจะลาออกหากบริษัทเดินหน้าต่อเรื่อง NFT
Salesforce เป็นบริษัทที่ชูจุดขายเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ตัวอย่างคือ ซีอีโอ Mark Benioff เคยประกาศแผนการปลูกต้นไม้ 1 พันล้านต้น และบริษัทเพิ่งออกโฆษณาในการแข่งขันซูเปอร์โบล์วปี 2022 ใช้ธีมว่า Team Earth ระบุว่าบริษัทเป็นมิตรกับโลก
โฆษกของ Salesforce ระบุว่าบริษัทรับฟังความเห็นของพนักงานเสมอ และจะจัดงานพูดคุยประเด็นนี้กับพนักงานในสัปดาห์หน้า
ที่มา - Thomson Reuters Foundation |
# โน้ตบุ๊กน้ำหนักเบา LG Gram วางขายในไทยครั้งแรก มีรุ่นหน้าจอ 15.6", 16", 17"
LG เปิดตัวโน้ตบุ๊กซีรีส์ Gram ที่ขึ้นชื่อเรื่องน้ำหนักเบา เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
LG Gram รุ่นที่นำมาขายเป็นรุ่นของปี 2022 ใช้ซีพียู Intel Gen 11th, จีพียู Iris Xe, หน้าจอ IPS สัดส่วน 16:10 (2560x1600), ระบบปฏิบัติการ Windows 11 มีด้วยกัน 3 ขนาดหน้าจอคือ
ขนาด 17 นิ้ว น้ำหนัก 1.35 กก. เริ่มต้น 66,900 บาท
ขนาด 16 นิ้ว น้ำหนัก 1.19 กก. เริ่มต้น 59,900 บาท
ขนาด 15.6 นิ้ว น้ำหนัก 1.12 กก. เริ่มต้น 53,900 บาท
เริ่มเปิดพรีออเดอร์วันแรกในวันพรุ่งนี้ 19 กุมภาพันธ์ ผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ตอนนี้ ข้อมูลสเปกมีให้ดูบนเว็บไซต์ LG ประเทศไทยแล้ว |
# รัฐมนตรีไอซีทีเสนอควบคุมเงินคริปโต จัดตั้ง Single Gateway
วันนี้นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตอบคำถามในรัฐสภาระหว่างการประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง โดยพูดถึงประเด็นแก๊งล่อลวงหลอกเงินประชาชนรูปแบบต่างๆ ว่ารัฐบาลกำลังพยายามจัดการปัญหา พร้อมกับต้องแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจในการจัดการ
รูปแบบการแก้ไขยังไม่ชัดเจนนัก แต่นายชัยวุฒิ พูดถึงประเด็นใหญๆ่ ได้แก่ การแก้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่กำลังมีการศึกษากันอยู่, การควบคุมเงินคริปโตที่เป็นช่องทางใหญ่ในการนำเงินออกนอกประเทศหลังจากหลอกลวงมาได้, และการจัดตั้ง Single Gateway ควบคุมข่าวสาร
การตอบคำถามครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกๆ ที่รัฐบาลแสดงความสนใจจัดตั้ง Single Gateway ควบคุมการสื่อสารอีกครั้ง หลังจากมีการเสนอขึ้นมาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยนายชัยวุฒิระบุว่ารัฐบาลต่างชาติก็มีการใช้งานและสามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมได้ดี
ที่มา - การประชุมรัฐสภา วันที่ 18 กุมภาพันธ์ (ประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาทีหลังเริ่มต้น) |
# AIS แจ้งคอมพิวเตอร์พนักงานถูกแฮก ข้อมูลลูกค้าบางส่วนรั่วไหล
AIS แจ้งพบเหตุคอมพิวเตอร์ของพนักงานที่ทำหน้าที่ในช่วง Work from Home ถูกบุกรุกด้วยมัลแวร์ และคนร้ายนำข้อมูลออกไปเผยแพร่ใน Dark Web ประมาณ 100,000 รายการ
ข้อมูลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ มี ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประชาชน, วัน-เดือน-ปี-เกิด, และหมายเลขโทรศัพท์ โดยไม่มีข้อมูลทางการเงินใดๆ ระหว่างนี้ทาง AIS ได้แจ้ง สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.), กสทช., และส่ง SMS แจ้งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ โดยแนะนำให้ลูกค้าเพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่อาจจะมีผู้แอบอ้างติดต่อขอข้อมูลและทำธุรกรรม
ทาง AIS ระบุว่ากำลังตรวจสอบหาผู้ที่ลงมือครั้งนี้และผู้ที่นำข้อมูลไปเผยแพร่เพื่อดำนเนินการตามกฎหมายต่อไป
ที่มา - จดหมายข่าว AIS |
# อินเทลเปิดตัว Arctic Sound-M จีพียูเซิร์ฟเวอร์สำหรับงานวิดีโอ รองรับการเข้ารหัส AV1
อินเทลเปิดตัวจีพียูสำหรับเซิร์ฟเวอร์ชื่อ Arctic Sound-M เน้นใช้แปลงไฟล์วิดีโอสำหรับทำสตรีมมิ่ง รองรับการเข้ารหัส AV1 ที่ระดับฮาร์ดแวร์
อินเทลบอกว่าตลาดวิดีโอออนไลน์ใหญ่มาก ทราฟฟิก 80% ของอินเทอร์เน็ตคือวิดีโอ จึงออก Arctic Sound-M มาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ตัวจีพียูถูกออกแบบมาให้ทำงานกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สายวิดีโอ เช่น FFmpeg, GStreamer, OpenVINO (ผ่าน oneAPI ของอินเทลเอง) แต่ก็ยังสามารถนำไปใช้งานสตรีมเกม หรือให้บริการ virtual desktop infrastructure (VDI) ได้ด้วย
Arctic Sound-M จะเริ่มส่งสินค้าจริงในช่วงกลางปี 2022
ที่มา - Intel |
# อินเทลประกาศแผนซีพียูกลุ่มพีซี Raptor Lake มาปลายปีนี้ ยังใช้ซ็อกเก็ตเดิม
อินเทลเปิดแผนออกซีพียูสำหรับกลุ่มพีซีต่อจาก Alder Lake ที่เปิดตัวไปในงาน CES เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือ Raptor Lake ที่กำลังส่งมอบภายในปลายปี 2022 นี้
Raptor Lake จะใช้กระบวนการผลิต Intel 7 แบบเดียวกับ Alder Lake สถาปัตยกรรมภายในยังเป็น P-core/E-core เหมือนเดิม โดยมี P-core พลังประมวลผลสูง 8 คอร์ 16 เธรด และ E-core 16 คอร์ 16 เธรด ประสิทธิภาพโดยรวมจะสูงกว่า Alder Lake เกิน 10%
Meteor Lake จะเป็นซีพียูตัวแรกที่ใช้กระบวนการผลิต Intel 4 เพิ่ม XPU สำหรับการประมวลผลปัญญาประดิษฐ์และกราฟิกเข้ามา คาดว่าจะส่งมอบได้ในปี 2023
Arrow Lake ใช้กระบวนการผลิต Intel 20A พร้อมกับชิปบางส่วนจะใช้โรงงานภายนอก ส่งมอบปี 2024
Lunar Lake ใช้กระบวนการผลิต Intel 18A ใช้โรงงานภายนอกร่วมผลิตบางส่วนเหมือน Arrow Lake
อินเทลระบุว่ายอดส่งมอบของสินค้ากลุ่มพีซียังคงเติบโตดี ปี 2021 ส่งมอบไปแล้ว 340 ล้านชุด และคาดว่าจะยังเติบโตต่อไป
ที่มา - Intel, PC World |
# YouTube ประกาศแนวทางสู้ข่าวปลอมปี 2022 ตรวจจับให้ได้ก่อนไวรัล ขึ้นข้อความเตือนในวิดีโอที่ถูกแชร์
Neal Mohan ผู้บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ YouTube โพสต์บล็อกอธิบายแนวทางแก้ปัญหาข่าวปลอมและข้อมูลเท็จ (misinformation) ของ YouTube เวอร์ชันปี 2022
Mohan บอกว่าเดิมที YouTube ใช้นโยบาย 4R (Remove, Raise, Reduce, Reward) ที่ในอดีตเคยเวิร์ค แต่เมื่อข่าวปลอมแพร่กระจายเร็วขึ้นกว่าเดิม บริษัทก็ต้องปรับตัวตามเพื่อตอบสนองให้เร็วขึ้น โดยแนวทางใหม่ของปี 2022 ต้องการแก้ปัญหา 3 ข้อหลักคือ
ตรวจจับข่าวปลอมให้ได้ก่อนไวรัล ในอดีตข่าวปลอมมีแค่ไม่กี่เรื่อง เช่น โลกแบน อเมริกาไม่ได้ไปดวงจันทร์ ทำให้เทรนโมเดลตรวจจับง่าย แต่ปัจจุบันข่าวปลอมเปลี่ยนหัวข้อไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว มีการเชื่อมโยงข้ามสาย (เช่น เสา 5G เป็นจุดปล่อยโควิด) มีเนื้อหาเฉพาะท้องถิ่นสูงขึ้น แถมข่าวปลอมใหม่ๆ มีตัวอย่างคอนเทนต์ให้ AI เทรนเป็นจำนวนน้อยลง ไม่ค่อยมีแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องของทางการมาให้อ้างอิง (เช่น ข่าวปลอมหลังเกิดภัยธรรมชาติ ที่หน่วยงานทางการยังรับมือไม่ทัน ข่าวปลอมก็ระบาดแล้ว) การสร้างโมเดลตรวจจับจึงยากขึ้นมาก
การแชร์วิดีโอออกนอก YouTube อีกปัญหาที่ YouTube พบคือการแชร์หรือการฝังวิดีโอไปไวรัลบนแพลตฟอร์มอื่น ทำให้ YouTube ไม่สามารถตามไปตรวจสอบได้ง่ายนัก แนวทางป้องกันอย่างหนึ่งที่เป็นไปได้คือขึ้นคำเตือนในวิดีโอ (interstitial เหมือนกับคำเตือนในวิดีโอจำกัดอายุเด็ก) เพื่อให้ผู้ชมกดยืนยันก่อนรับชม
ขยายประเทศและภาษาที่ตรวจจับ YouTube บอกว่ากำลังขยายระบบตรวจจับไปยังประเทศอีก 100 แห่ง และภาษาอีกหลายสิบภาษา ความยากนอกจากเรื่องภาษาที่แตกต่างคือเรื่องวัฒนธรรมของแต่ละประเทศด้วย เช่น ในสหราชอาณาจักรมองว่า BBC คือแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ แต่ทีวีของรัฐในประเทศอื่นๆ อาจถูกมองว่าเป็นเครื่องมือชวนเชื่อของรัฐบาล ซึ่ง YouTube จะลงทุนจ้างคนที่รู้บริบทของแต่ละประเทศเพิ่มเติม และแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานของแต่ละประเทศให้มากขึ้น
ที่มา - YouTube |
# อินเทลเปิดแผน Xeon ในอนาคต แยกรุ่น P-core กับ E-core, ผนวกจีพียู Ponte Vecchio มาในตัว
อินเทลประกาศแผนการออกสินค้าฝั่งเซิร์ฟเวอร์ Xeon ล่วงหน้ายาวไปจนถึงปี 2024 ใจความหลักคือจะแตก Xeon เป็น 3 ระดับคือ
"Rapids" ซีพียูสายหลักที่ใช้แกนซีพียูพลังสูง (P-core) ภายในไตรมาส 1 ปีนี้เราจะได้เห็น Sapphire Rapids ตามด้วย Emerald Rapids ในปี 2023 โดยทั้งสองรุ่นใช้กระบวนการผลิต Intel 7 เวอร์ชันปัจจุบัน จากนั้นจะตามด้วย Granite Rapids ในปี 2024 ใช้กระบวนการผลิต Intel 3
"Forest" ซีพียูสายประสิทธิภาพต่อพลังงาน ใช้แกนประหยัดพลังงาน (E-core) เริ่มจาก Sierra Forest ในปี 2024 ใช้กระบวนการผลิต Intel 3 แล้วจะแยกสายจาก Rapids ไปเลย
"Shore" เป็น Xeon พลังสูง ที่จะนำสายของ Sapphire Rapids มาผนวกเข้ากับจีพียู Xe เซิร์ฟเวอร์ Ponte Vecchio มาในตัว (อินเทลเรียก XPU) ใช้กับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในอนาคต ตัวแรกในสายนี้คือ Falcon Shores ตั้งเป้าออกปี 2024
ที่มา - Intel (1), Intel (2) |
# อินเทลประกาศแผนออกจีพียู Arc ปี 2022, โน้ตบุ๊กไตรมาส 1, เดสก์ท็อปไตรมาส 2
อินเทลจัดงานประชุมนักลงทุนประจำปี 2022 ประกาศแผนการออกผลิตภัณฑ์หลายตัว ฝั่งคอนซูเมอร์เน้นที่จีพียู Intel Arc รุ่นแรก "Alchemist" โดยระบุกรอบเวลาคร่าวๆ คือ
Intel Arc สำหรับโน้ตบุ๊ก ออกภายในไตรมาส 1/2022
Intel Arc สำหรับเดสก์ท็อป ออกภายในไตรมาส 2/2022
Intel Arc สำหรับเวิร์คสเตชัน ออกภายในไตรมาส 3/2022
อินเทลประเมินว่าปี 2022 จะสามารถขาย Arc Alchemist ได้ถึง 4 ล้านตัว (นับรวมทุกเวอร์ชัน) โดยระบุว่ามีผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ OEM เตรียมออกสินค้าโน้ตบุ๊ก-เดสก์ท็อปที่มี Alchemist มากกว่า 50 รุ่นแล้ว
ถัดจาก Alchemist ในปี 2022 อินเทลยังประกาศแผนการออกจีพียู Arc รุ่นถัดไปคือ รุ่นที่สองโค้ดเนม Battlemage ในช่วงปี 2023-2024 และรุ่นที่สามโค้ดเนม Celestial หลังปี 2024 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ อินเทลยังประกาศ Project Endgame ที่เปิดให้ใช้งานจีพียู Arc แบบเช่าใช้งาน ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่น่าจะออกมาคล้ายๆ GeForce Now ที่เป็นคลาวด์เกมมิ่งด้วย (อินเทลอาจเปิดให้เช่าเฉพาะการรันจีพียู แต่จะเช่าไปทำอะไรก็อีกเรื่องนึง)
อินเทลยังประกาศเทคโนโลยี Deep Link ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างจีพียูออนบอร์ด และจีพียูแยก Arc ให้ทำงานร่วมกันด้วย (เหมือนกับ NVIDIA มี Optimus และ AMD มี Dynamic Switchable Graphics)
ที่มา - Intel (PDF), Intel |
# IBM เตรียมเปิดให้เช่าเครื่องเมนเฟรม z/OS ผ่านคลาวด์
คอมพิวเตอร์เมนเฟรมกับคลาวด์อาจเป็นเทคโนโลยีคนละยุค ที่ฟังชื่อแล้วดูห่างไกลกันมาก แต่ถ้ามีหน่วยงานที่ต้องการเช่าเครื่องเมนเฟรมผ่านคลาวด์ ตอนนี้ IBM เปิดให้ทำได้แล้ว
IBM ถือเป็นผู้ขายเมนเฟรมรายใหญ่ของโลก เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการ z/OS ของตัวเอง ประกาศทำ Wazi as a Service (Wazi aaS) เปิดให้เช่าเครื่อง z/OS แบบออนดีมานด์ผ่านคลาวด์ IBM Cloud VPC โดยจะเริ่มให้บริการในช่วงครึ่งหลังของปี 2022
กลุ่มเป้าหมายของบริการ IBM Wazi aaS คือลูกค้าองค์กรที่มีเครื่องเมนเฟรม Z ของ IBM อยู่แล้ว แต่ต้องการหาเครื่องมาทดสอบการพัฒนาแอพเพิ่มเติม โดยไม่ต้องซื้อเครื่องใหม่ให้เปลืองงบประมาณ
หน้าตาของเมนเฟรม IBM Z ในปัจจุบัน (ภาพจาก IBM)
ที่มา - IBM via The Register |
# Twitter รองรับ Ethereum เพิ่มเติม สำหรับจ่ายเงินในฟีเจอร์ Tips
Twitter Support ได้อัพเดตข้อมูลเพิ่มเติมของบริการ Tips ฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานสามารถจ่ายทิปให้เจ้าของบัญชีทวีตที่ถูกใจ โดยรองรับแพลตฟอร์มจ่ายเงินเพิ่มเติมคือ Barter, Paga และ Paytm
นอกจากนี้ Tips ยังเพิ่มเงินคริปโตที่สามารถจ่ายได้คือ Ethereum ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเพิ่ม address ในหน้าโปรไฟล์สำหรับรับเงินได้
การประกาศรองรับสกุลเงินคริปโตเพิ่มเติมนี้ เป็นไปตามทิศทางที่ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ Twitter ที่ออกมาสนับสนุนเงินคริปโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน Tips รองรับเงินคริปโตสองสกุลคือ Bitcoin และ Ethereum
ที่มา: Engadget |
# Circle บริษัทที่ออกเหรียญ USDC เตรียมเข้าตลาดหุ้นวิธี SPAC มูลค่ากิจการ 9 พันล้านดอลลาร์
Circle Internet Financial บริษัทด้านการเงิน ซึ่งเป็นผู้ออกเหรียญ stablecoin USDC ประกาศแผนนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น โดยใช้วิธีควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC
ผลจากการควบรวมกิจการนี้ จะทำให้ Circle มีมูลค่ากิจการที่ราว 9 พันล้านดอลลาร์ บริษัท SPAC ที่จะควบรวมชื่อ Concord Acquisition Corp ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองบริษัทได้ตกลงจะรวมกิจการกันที่มูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์ แต่เนื่องจากไม่สามารถควบรวมได้ตามกรอบเวลา ทั้งสองจึงปรับแผนขยายเวลาใหม่ รวมทั้งปรับมูลค่ากิจการเพิ่มเป็นสองเท่าด้วย
USDC เป็นหนึ่งใน stablecoin หรือเงินคริปโตที่มูลค่าไม่ผันผวน เนื่องจากผูกกับเงินสกุลดอลลาร์ ที่ได้รับความนิยมสูง อัตราหมุนเวียนหรือ circulation ล่าสุดอยู่ที่ราว 5.25 หมื่นล้านดอลลาร์
ที่มา: Circle |
# Google และ Mozilla เตือนผู้ดูแลเว็บไซต์ ระวังปัญหา parsing ค่า UA เมื่อเวอร์ชันเบราว์เซอร์เป็นเลข 3 หลัก
กูเกิลและ Mozilla ร่วมกันออกประกาศเตือนสำหรับนักพัฒนาและผู้ดูแลเว็บไซต์ เนื่องจากทั้งเบราว์เซอร์ Chrome และ Firefox กำลังเข้าสู่เลขเวอร์ชัน 3 หลัก คือ 100 ในเวลาอันใกล้นี้
ปัญหาสำคัญที่ทำให้ทั้งสองบริษัทออกมาประกาศ คือเว็บไซต์อาจใช้วิธี parsing ตัวเลขเวอร์ชันเบราว์เซอร์ที่ส่งมาจาก User Agent (UA) โดยฮาร์ดโค้ดเป็นเลข 2 หลักเอาไว้ ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้สำหรับการตรวจสอบความเข้ากันของเบราว์เซอร์กับเว็บไซต์ เมื่อค่าตัวเลขเปลี่ยนเป็น 3 หลัก ก็อาจเกิดปัญหาได้ ซึ่งปัญหานี้ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ตอนเบราว์เซอร์ขยับเลขเวอร์ชันเป็น 2 หลักที่เวอร์ชัน 10
กำหนดการออกอัพเดตเวอร์ชัน 100 ของทั้งสองเบราว์เซอร์เป็นดังนี้
Chrome วันที่ 29 มีนาคม 2022
Firefox วันที่ 3 พฤษภาคม 2022
ทั้งนี้วิศวกรของทีม Chrome ได้ทดสอบ library ยอดนิยมที่นักพัฒนาใช้ในการ parsing ค่า UA ก็ไม่พบปัญหาเมื่อเลขเวอร์ชันเป็น 3 หลัก จึงประเมินว่าปัญหานี้น่าจะเกิดในวงจำกัด อย่างไรก็ตามกรณีที่ผลกระทบจากปัญหานี้เกิดขึ้นในวงกว้าง ทั้ง Chrome และ Firefox มีแผนสำรองโดยหากพบปัญหาเข้าเว็บไซต์ไม่ได้ UA จะส่งค่าเวอร์ชันเป็น 99 ไปชั่วคราว
ลักษณะของปัญหาที่เกิดนั้น มีผู้รวบรวมไว้ใน GitHub แล้ว ส่วนรายละเอียดการทดสอบและแก้ไขสำหรับผู้ดูแลและพัฒนาเว็บไซต์ สามารถดูได้จากที่มา
ที่มา: กูเกิล และ Mozilla |
# Amazon ตกลงกับ Visa ได้แล้ว ต่อไปนี้จะยังคงรับบัตร Visa ในร้านค้าและออนไลน์ทั่วโลก
Amazon กับ Visa ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการชำระเงินอย่างเป็นทางการแล้ว โดยข้อตกลงระหว่างสองบริษัทจะมีผลทั่วโลกซึ่งจะทำให้ Amazon ยังคงรับบัตรเครดิต Visa ต่อไป
ก่อนหน้านี้ Amazon เคยจะยกเลิกรับบัตรเครดิต Visa ในสหราชอาณาจักร โดยให้เหตุผลเรื่องค่าธรรมเนียมสูง แต่สุดท้ายก็เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ซึ่งนอกจากในสหราชอาณาจักรแล้ว Amazon ไม่ได้จะแบน Visa ที่อื่น แต่ในออสเตรเลียและสิงคโปร์ก็มีชาร์จค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบ้าง (ซึ่งตอนนี้ยกเลิกแล้ว)
ภายใต้ข้อตกลงฉบับใหม่นี้ คาดว่า Amazon และ Visa น่าจะตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมการชาร์จบัตรเครดิตได้เรียบร้อยแล้ว และทาง Amazon จะรับบัตร Visa ในร้านค้าและเว็บไซต์ทุกแห่งตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งนอกจากนี้ข้อตกลงดังกล่าวยังรวมถึงการให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ร่วมกันระหว่างสองบริษัทด้วย
ที่มา - TechCrunch, Reuters |
# Snapchat จะให้ผู้ใช้เปลี่ยน username ได้แล้ว เริ่ม 23 กุมภาพันธ์นี้
Snapchat เตรียมเปิดให้ผู้ใช้ทุกคนเปลี่ยน username ได้แล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งผู้ใช้ iOS และ Android โดยการเปลี่ยน username จะไม่กระทบข้อมูลอื่นของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น Snap code, Snap socre, รายชื่อเพื่อน และอื่น ๆ
สำหรับวิธีเปลี่ยน username ของ Snapchat คือเปิดแอป กดไอคอน Bitmoji มุมบนซ้ายของกล้องเพื่อไปยังส่วนโปรไฟล์ จากนั้นกดปุ่มฟันเฟืองเพื่อเข้าสู่การตั้งค่า กด username จะเจอปุ่ม change username สีฟ้า ให้ใส่ username ใหม่ จากนั้นกดปุ่ม next เพื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ
ข้อจำกัดของการเปลี่ยน username คือผู้ใช้จะเปลี่ยน username ได้ 1 ครั้งต่อปีเท่านั้น และถ้าจะเปลี่ยนแอปจะแจ้งข้อนี้เพื่อยืนยันอีกรอบว่าผู้ใช้ต้องการเปลี่ยนจริง ๆ ซึ่งผู้ใช้ Snap จะไม่สามารถเปลี่ยน username ที่เคยใช้มาแล้วในอดีตได้
ที่มา - TechCrunch |
# NVIDIA ไตรมาสล่าสุด เติบโตทำสถิติใหม่ทั้ง Gaming และ Data Center
NVIDIA รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ตามปีการเงินบริษัท 2022 สิ้นสุดวันที่ 30 มกราคม 2022 รายได้รวมยังคงเติบโตเป็นสถิติใหม่สูงสุดอีกครั้งที่ 7,643 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 53% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิตามบัญชี GAAP 3,003 ล้านดอลลาร์
รายได้แยกตามกลุ่มธุรกิจต่างทำสถิติใหม่สูงสุดของบริษัทเช่นกัน โดยกลุ่ม Gaming 3,420 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 37% กลุ่ม Data Center 3,263 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 71%
Jensen Huan ซีอีโอ NVIDIA กล่าวว่าบริษัทเห็นความต้องการสินค้าของบริษัทตลอดจนแพลตฟอร์มนั้นสูงมาก เนื่องจากตอนนี้ NVIDIA เป็นผู้นำในเทคโนโลยีสำคัญทั้ง AI, ชีววิทยาดิจิทัล, ภูมิอากาศศาสตร์, เกม, งานออกแบบสร้างสรรค์, ยานยนต์อัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ซึ่งหลายหมวดมีผลกระทบต่อสังคมปัจจุบันสูงด้วย
NVIDIA ให้ตัวเลขยอดขายจีพียูรุ่นที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับงานคริปโต นั้นอยู่ที่ 24 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่ผ่านมา
ที่มา: NVIDIA และ CNBC |
# PlatinumGames บอก NFT ไม่มีประโยชน์ต่อผู้เล่น ไม่สนใจทำ, Konami ทำเพราะได้กลิ่นเงิน
ผู้บริหารของสตูดิโอ PlatinumGames คือซีอีโอ Atsushi Inaba และรองประธาน Hideki Kamiya ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ VGC ถึงแผนการในอนาคต มีประเด็นน่าสนใจดังนี้
ซีอีโอ Inaba อยากให้ PlatinumGames หันมาทำเกมออริจินัลของตัวเองมากขึ้น ซึ่งต่างจากแนวทางในปัจจุบันที่รับพัฒนาเกมให้แฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เช่น Star Fox, Bayonetta (Nintendo) หรือ Nier (Square Enix) ซึ่ง Inaba บอกว่าการทำเกมภาคต่อเป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจ แต่ก็มีผลเสียทำให้บริษัทกล้าทำของใหม่ๆ น้อยลง
Kamiya บอกว่าถึงแม้ PlatinumGames มีชื่อเสียงเรื่องการทำเกมแอคชั่นอย่าง Nier หรือ Bayonetta แต่เขาอยากให้แฟนๆ จดจำบริษัทในฐานะผู้สร้างเกมออริจินัลที่เล่นสนุก มากกว่าบริษัทที่ทำเกมแอคชั่นเก่ง เพราะต้องการทำเกมได้หลากหลายแนว (Kamiya กำลังจะออกเกมยานยิงย้อนยุค Sol Cresta ที่เลียนแบบเกมยานยิงยุค 80)
Inaba ตอบคำถามเรื่องเทรนด์การทำ NFT และบล็อคเชนว่ายังไม่เคยคิดเรื่องนี้ เขาชี้ว่า NFT เป็นเทรนด์เพราะถูกคนกลุ่มเดียวพูดถึงในแง่เดียวเรื่องการทำเงิน แต่กลับไม่เคยถูกตั้งคำถามเรื่องประโยชน์ต่อผู้ใช้และผู้สร้าง ซึ่งตัวเขายังไม่สนใจทำ NFT ในตอนนี้ เขาอยากใช้เวลาทำเกมที่ดีมากกว่า
Kamiya ยังวิจารณ์เรื่อง Konami ไปขาย NFT ว่าอะไรที่มีกลิ่นเหมือนเงิน Konami จะไปอยู่ที่นั่นในพริบตา!
ที่มา - VGC via Eurogamer |
# CD Projekt มีหนาว ผู้กำกับเกม The Witcher 3 ตั้งสตูดิโอใหม่ Rebel Wolves ดึงทีมงานเก่า
Konrad Tomaszkiewicz อดีตทีมงาน CD Projekt Red ตำแหน่งผู้กำกับเกม The Witcher 3 และนั่งแท่นอำนวยการสร้างควบผู้กำกับลำดับสองแห่ง Cyberpunk 2077 ที่ลาออกจากบริษัทเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ประกาศเปิดตัวสตูดิโอสร้างเกมแห่งใหม่ ชื่อ Rebel Wolves ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์
ประกาศระบุว่าสตูดิโอใหม่นี้จะรวมเหล่าทีมงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน มาร่วมทำสิ่งที่แตกต่าง แต่ก็ยึดถือทีมงานเป็นที่ตั้งเสมอ โดยเน้นย้ำประเด็นเรื่องการให้ความสำคัญกับทีม และทีมงานหลายครั้ง จนเหมือนกับเป็นการให้เหตุผลกลายๆ ว่าที่เขาลาออกจาก CD Projekt Red อาจมาจากการที่บริษัทไม่ใส่ใจทีมงานเท่าที่ควร
ชื่อ Rebel Wolves หรือ “หมาป่ากบฎ” อาจมีนัยยะหมายถึงกลุ่มทีมงานเดิมของเกม The Witcher (Geralt ตัวละครหลักในเกม The Witcher มักถูกเรียกว่า “White Wolf” หรือ “Wolf”) ที่แยกตัวออกมา เพราะทีม Rebel Wolves หลักๆ ประกอบไปด้วย Daniel Sadowski ผู้กำกับดีไซน์ของเกม The Witcher, Jakub Szamałek ผู้กำกับการเล่าเรื่อง The Witcher 3, Cyberpunk 2077, Tamara Zawada ผู้กำกับอนิเมชั่น The Witcher 3, Bartłomiej Gaweł ผู้กำกับศิลป์ The Witcher 1-3
รวมถึงยังมีทีมบริหารจาก CD Projekt Red มาร่วมด้วย เช่น CFO Michał Boryka และ Robert Murzynowski อดีตหัวหน้าสตูดิโอ เรียกได้ว่ายกตัวหลักๆ จาก The Witcher 3 กันมาแทบจะหมดสตูดิโอ
ส่วนเกมใหม่ที่ยังไม่มีชื่อ Rebel Wolves ระบุว่าจะเป็นเกม AAA แนว RPG ในโลก dark fantasy บน Unreal Engine 5 พร้อมเปิดเผยภาพคอนเซปต์แรก เป็นตัวละครมีเขี้ยวที่กำลังสไลด์หน้าผาลงมาพร้อมค้างคาว (อาจเป็นตัวละครแวมไพร์โบราณ) และมีทหารทั้งมนุษย์และเผ่าพันธุ์ผสมอยู่ด้านล่าง
แม้ตัวเกมน่าจะใช้เวลาพัฒนาอีกหลายปี และสตูดิโอก็กำลังอยู่ในขั้นรับสมัครทีมงาน แต่ก็น่าติดตามว่าเกมที่ Rebel Wolves สร้างจะออกมาในรูปแบบใด แต่ที่แน่ๆ คนที่จะต้องร้อนๆ หนาวๆ น่าจะเป็น CD Projekt Red และบริษัทแม่อย่าง CD Projekt ที่ปัจจุบันยังติดอยู่กับการแก้ไขปัญหาและปรับปรุง Cyberpunk 2077 แม้ตัวเกมจะวางจำหน่ายมาหนึ่งปีกว่าแล้ว
ที่มา - PC Gamer |
# ทวิตเตอร์เพิ่มป้ายกำกับใหม่ แสดงตัวตนบัญชีบอทที่เป็นประโยชน์ หรือ “good bots”
ทวิตเตอร์เพิ่มป้ายกำกับใหม่บนบัญชีอัตโนมัติ หรือบัญชีบอทที่เป็นประโยชน์ “good bots” เพื่อสร้างความแตกต่างจากบัญชีทั่วไป หลังเริ่มทดสอบกับบัญชีบางส่วนตั้งแต่เดือนกันยายนปีก่อน โดยจะมีสัญลักษณ์หุ่นยนต์อยู่ใต้ชื่อบัญชี และระบุบัญชีผู้ดูแลบัญชีนั้น เช่น “ข้อมูลอัตโนมัติ โดย @xxxxxx”
บัญชีอัตโนมัติมักเป็นบัญชีที่แสดงสถิติต่างๆ เช่นอัพเดตสภาพอากาศ ข้อมูลฉีดวัควีนโควิด หรืออื่นๆ ปัจจุบันแอคเคาท์อัตโนมัติทั้งหมดจะได้ตัวเลือกสำหรับเพิ่มป้ายกำกับใหม่นี้ไว้ใต้ชื่อแล้ว โดยป้ายกำกับจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้ใช้อื่น และแสดงตนว่าเป็นบัญชีบอทของจริง
ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์ |
# โซนี่ไทย เปิดจอง PS5 รอบใหม่ 18 กุมภาพันธ์นี้ 11 โมงเช้า รอบนี้แพ็กคู่ทีวีถูกลง
กลับมาอีกครั้งกับงานเทศกาลชิง PS5 โซนี่ไทย ประกาศเปิดจองรอบใหม่วันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 11.00 น. (11 โมงเช้า) บน Sony Online Store คราวนี้มาแบบแพ็กคู่ทีวีที่ราคาลดลง 2,000 บาทจากรอบก่อนเหลือ 51,490 บาท และแบบเครื่องเดี่ยว ในราคาดังนี้
PlayStation 5 รุ่นมีช่องอ่านแผ่น + จอย DualSense เพิ่มอีกหนึ่งจอย และทีวี Sony ขนาด 55 นิ้ว รุ่น XR-55X90J ราคารวม 51,490 บาท
PlayStation 5 รุ่นมีช่องอ่านแผ่น (มีแค่จอย DualSense ที่แถมมากับเครื่อง) ราคา 16,990 บาท
วอร์มนิ้ว รีเฟรชเน็ต สวดภาวนาให้พร้อม แล้วไปรอกดกันได้พรุ่งนี้เช้า
ที่มา - Sony Thai |
# Elastic ยุติคดีเครื่องหมายการค้ากับ AWS หลังจากนี้มี Elasticsearch เดียว
Elastic Inc และ AWS มีปัญหากันมานานจากความไม่พอใจที่ AWS ตั้งชื่อบริการว่า Amazon Elasticsearch Service นำไปสู่การเปลี่ยนไลเซนส์ของ Elasticsearch จนทำให้ทุกวันนี้ไม่ถือว่าเป็นโครงการโอเพนซอร์สอีกต่อไป ล่าสุดทาง Elastic ก็ยุติคดีความเรื่องเครื่องหมายการค้าชื่อ Elasticsearch กับ AWS แล้ว
ข้อตกลงนี้ทำให้บริการต่างๆ ที่ขายโดย AWS เอง และผู้ให้บริการภายนอกที่ขายบน AWS Marketplace ต้องเปลี่ยนชื่อหลบ Elasticsearch ของ Elastic Inc ทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ AWS ร่วมมือกับ Logz.io พัฒนาโครงการ OpenSearch โดย fork ออกมาจาก Elasticsearch เวอร์ชั่นโอเพนซอร์สตัวสุดท้าย และเปลี่ยนชื่อบริการของตัวเองเป็น Amazon OpenSearch Service (successor to Amazon Elasticsearch Service) ไปก่อนหน้าแล้ว
ที่มา - Elastic |
# AWS เตรียมเปิดบริการ Local Zones นอกสหรัฐฯ มี Krung Thep Maha Nakhon ด้วย
AWS ประกาศเตรียมเปิดให้บริการ Local Zones เพิ่มอีก 32 เมือง 25 ประเทศ ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า เพิ่มจากเดิมที่มีแค่ 16 เมืองในสหรัฐฯ เป็น 48 เมือง และหนึ่งในเมืองที่ประกาศใหม่ มีกรุงเทพฯ ด้วย
Local Zones คือศูนย์ข้อมูลขนาดย่อมของ AWS ในระดับเมือง ที่ AWS ดูแลเองสำหรับงานที่ต้องการเวลาหน่วงต่ำกว่า 10ms เช่น การทำวิดีโอสตรีมมิ่ง, การยิงโฆษณา บริการบน Local Zones จะมีน้อยกว่าโซนปกติ โดยทั่วไปแล้ว จะมี ALB, EC2, EBS, EKS, ECS, และ VPC เท่านั้น และเครื่อง EC2 เองก็จะมีขนาดเครื่องให้เลือกเพียงไม่กี่แบบ
ก่อนหน้านี้ AWS เคยพยายามเติมเต็มช่องว่างที่ AWS ไม่ได้มีศูนย์ข้อมูลทุกเมืองด้วยการขายเซิร์ฟเวอร์ Outpost รวมถึงการขายในไทย แต่ลูกค้าก็ต้องดูแลการเชื่อมต่อและไฟฟ้าด้วยตัวเอง รวมถึงมีค่าใช้จ่ายแรกเข้าค่อนข้างสูง บริการ Local Zones แม้จะมีข้อจำกัดกว่าแต่ก็บริหารจัดการด้วย AWS ทั้งหมด และจ่ายตามการใช้งานจริงเท่านั้น
นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว Local Zones ที่เปิดใหม่รอบนี้ประกอบไปด้วยเมืองอื่นดังนี้ Amsterdam, Athens, Auckland, Bengaluru, Berlin, Bogotá, Brisbane, Brussels, Buenos Aires, Chennai, Copenhagen, Delhi, Hanoi, Helsinki, Johannesburg, Kolkata, Lima, Lisbon, Manila, Munich, Nairobi, Oslo, Perth, Prague, Querétaro, Rio de Janeiro, Santiago, Toronto, Vancouver, Vienna และ Warsaw.
ข้อได้เปรียบของบริการต่างๆ ที่ใช้งาน AWS Local Zones ในกรุงเทพฯ นอกจากบริการวิดีโอสตรีมมิ่ง หรือยิงโฆษณา คือเมื่อค่าความหน่วงลดลงอยู่ในระดับน้อยกว่า 10ms ย่อมเป็นประโยชน์สำหรับบริการที่ต้องการการตอบสนองสองทางที่รวดเร็วอย่างเกมสตรีมมิ่ง, VR/AR สำหรับ telemedicine, virtual workplace และบริการอื่นๆ ที่ต้องใช้การประมวลผลแบบ Edge Computing ในอนาคต
ที่มา - งานแถลงข่าว AWS Local Zones, TechCrunch |
# ซ่อมให้ง่าย Valve ประกาศขายชิ้นส่วนของ Steam Deck และ Index VR ผ่าน iFixit
Valve ยังเดินหน้านโยบายเปิดกว้างในการปรับแต่ง-ดัดแปลง Steam Deck ต่อไป หลังเปิดไฟล์ 3D Cad ให้ดาวน์โหลดกันตามสบาย ล่าสุดก็ประกาศว่าจะขายชิ้นส่วนของ Steam Deck ผ่าน iFixit ด้วย (นอกจากชิ้นส่วนของ Steam Deck จะยังมีชิ้นส่วนของแว่น Valve Index ด้วยเช่นกัน) โดยรายละเอียดเพิ่มเติมจะประกาศตามมาในภายหลัง
โมเดลธุรกิจของ iFixit มีขายทั้งเครื่องมือ (เช่น ไขควง อุปกรณ์สำหรับแกะเครื่อง) และชิ้นส่วน (เช่น บอร์ด ฮาร์ดดิสก์ แรม พัดลม พาวเวอร์ซัพพลาย) ซึ่งปัจจุบัน iFixit มีขายชิ้นส่วนของอุปกรณ์หลากหลายประเภท ตั้งแต่สมาร์ทโฟน เกมคอนโซล พีซี ไปจนถึงโดรน
ความร่วมมือของ Valve กับ iFixit ย่อมเป็นผลดีกับผู้บริโภค และล่าสุด iFixit ก็ออกวิดีโอแกะเครื่อง Steam Deck มาให้ดูกัน (คะแนนซ่อมง่าย 7/10)
ที่มา - Valve via xda |
# Google Cloud ออกตัวช่วยวาดผังสถาปัตยกรรมคลาวด์ วาดเสร็จแล้วกด Deploy ได้ทันที
กูเกิลเปิดตัวเครื่องมือวาดแผนผังไดอะแกรมใหม่ชื่อ Google Cloud Architecture Diagramming Tool โดยออกแบบมาเพื่อใช้วาดแผนผังของ Google Cloud เป็นหลัก
เครื่องมือวาดแผนผังตัวนี้เป็นเว็บแอพที่ใช้เอนจินจาก Exclaridraw (เป็นโอเพนซอร์สบน GitHub) โดยเพิ่มไอคอนของสถาปัตยกรรม Google Cloud มาให้พร้อม มีเทมเพลตของสถาปัตยกรรมที่เตรียมไว้ให้แล้ว (reference architecture) และวาดเสร็จแล้วมีปุ่ม one-click deploy ในระบบของ Google Cloud ได้ทันที
ปัจจุบันมีเครื่องมือ 3rd party หลายตัวที่วาดแผนผังแล้วสั่ง deploy เครื่องบนคลาวด์ได้เลย เช่น Hava.io, Cloudmaker, Cloudcraft แต่นี่เป็นครั้งแรกๆ ที่เราเห็นผู้ให้บริการคลาวด์มาลงตลาดนี้เอง
ที่มา - Google |
# GitHub รองรับการทำภาพด้วย Mermaid ในไฟล์ Markdown
GitHub เพิ่มฟีเจอร์ทำภาพไดอะแกรมในไฟล์ Markdown ด้วย Mermaid ชุดแปลงข้อความ Markdown เป็นภาพที่รองรับทั้ง UML, User Journey, และ Gantt Chart
ทาง GitHub ไม่ได้แปลงข้อความเป็นภาพที่ตัวเซิร์ฟเวอร์ แต่ใส่ mermaid.js เข้ามาในเว็บที่เป็น Markdown แล้วแปลงเป็นภาพที่ฝั่งเบราว์เซอร์ผู้ใช้ โดยโค้ดส่วนที่เป็น mermaid นี้จะถูกเรนเดอร์เป็น iframe แยกจากหน้าหลักเพื่อความปลอดภัย
ที่มา - GitHub |
Subsets and Splits
No community queries yet
The top public SQL queries from the community will appear here once available.