txt
stringlengths
202
53.1k
# ไม่โหด จอ Apple Studio Display แถมขาตั้งฟรี หรือขาปรับระดับได้เพิ่มเงิน 14,000 บาท วันนี้แอปเปิลเปิดตัวจอภาพ Studio Display ที่หน้าตาอาจจะคล้ายสมัยเปิดตัวจอภาพ Pro Display XDR อยู่บ้าง แต่รอบนี้แอปเปิลแถมขาตั้งมาในกล่องแล้ว ไม่บังคับซื้อเพิ่มแต่อย่างใด ผู้ซื้อจอ Studio Display จะสามารถเลือกระหว่างขาตั้งปรับความเอียงได้ (ได้เฉพาะเงย/ก้ม) หรือจะเลือกตัวยึด VESA ก็ได้เช่นกัน โดยไม่ต้องเพิ่มเงิน แต่หากเลือกขาตั้งที่ปรับความเอียงและความสูงได้ คล้ายขาตั้ง Pro Stand นั้นต้องเพิ่มเงินอีก 14,000 บาท ยังไม่แน่ชัดว่าตัวเลือกขาตั้งนี้สามารถเปลี่ยนภายหลังได้หรือไม่ แต่ตอนนี้ไม่มีขาตั้งขายแยกในหน้าเว็บแอปเปิล ที่มา - Apple
# แอปเปิลเปิดตัวจอภาพ Studio Display ความละเอียด 5K, ลำโพง 6 ตัว, กล้อง Center Stage ในตัว แอปเปิลเปิดตัวจอภาพ Studio Display ที่ออกแบบมาเพื่อคู่กับ Mac Studio แต่สามารถใช้งานกับเครื่อง Mac อื่นๆ ได้ จอมีขนาด 27 นิ้ว ความละเอียด 5K (14.7 ล้านพิกเซล) ความสว่าง 600 nits แม้จะเป็นแค่จอภาพ แต่ภายในก็ใส่ชิป A13 Bionic มาในตัวสำหรับการประมวลผลภาพจากกล้องหน้าและเสียง โดยตัวกล้องเป็นเซ็นเซอร์ 12 ล้านพิกเซลแบบ ultra-wide พร้อมการจับภาพบุคคลหน้าจอ Center Stage ไมโครโฟนในจอเป็น mic-array 3 จุด ระบบเสียงเป็นลำโพง 6 ดอก รองรับ spatial audio สำหรับ Dolby Atmos จอเชื่อมต่อกับแมคด้วย Thunderbolt พร้อมการจ่ายไฟ 96 วัตต์สำหรับชาร์จแมคบุ๊ก ด้านหลังมี USB-C 3 พอร์ตสำหรับต่ออุปกรณ์เสริม และเนื่องจากจอเป็นโทนสีเงิน-ดำ แอปเปิลก็ออกอุปกรณ์เสริมทั้ง Magic Keyboard with Touch ID, Magic Trackpad, และ Magic Mouse ให้สีเข้าชุดกัน วางขายแล้ววันนี้ ราคา 54,900 บาท หรือเพิ่มกระจก nano-texture แบบจอ Pro XDR เป็น 65,400 บาท พร้อมให้เลือกขาตั้งปรับเอียง หรือตัวยึดแบบ VESA อย่างใดอย่างหนึ่งได้ฟรี ที่มา - Apple
# แอปเปิลเปิดตัว Mac Studio พีซีขนาดเล็กแต่ใส่ซีพียูได้ทั้ง M1 Max หรือ M1 Ultra เริ่มต้น 69,900 บาท แอปเปิลเปิดตัวแมครุ่นใหม่ในชื่อ Mac Studio ตัวเครื่องคล้าย Mac Mini แต่สูงกว่าอยู่ที่ 3.7 นิ้ว โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในเป็นระบบระบายความร้อนที่ออกแบบเพื่อดึงอากาศจากด้านล่างเครื่องระบายออกด้านหลัง ทำให้สามารถออกแบบเครื่องขนาดเล็กโดยใช้ชิปประสิทธิภาพสูงได้ Mac Studio มีให้เลือกทั้งรุ่น M1 Max เริ่มต้นแรม 32GB สตอเรจ 512GB ราคา 69,900 บาท และรุ่น M1 Ultra เริ่มต้นแรม 64GB สตอเรจ 1TB ราคา 139,900 บาท ทั้งสองรุ่นมีพอร์ตด้านหลัง เป็น Thunderbolt 4 พอร์ต, USB-A 2 พอร์ต, HDMI, อีเธอร์เน็ต 10GbE, และช่องต่อหูฟัง ด้านหน้ารุ่น M1 Max มีพอร์ต USB-C 2 พอร์ต และ SDXC ส่วนรุ่น M1 Ultra มีพอร์ต Thunderbolt 4 พอร์ต และ SDXC ในสหรัฐฯ เริ่มขาย Mac Studio วันที่ 18 มีนาคมนี้ ส่วนเมืองไทยยังไม่ประกาศวันเป็นทางการ ที่มา - Apple
# แอปเปิลเปิดตัวชิป M1 Ultra เชื่อม M1 Max สองชิปเข้าด้วยกัน แอปเปิลเปิดตัวชิป M1 Ultra ชิปรุ่นสูงสุดตัวที่สี่ในตระกูล M1 โดยอาศัยการเชื่อม M1 Max สองตัวเข้าด้วยกันผ่านทางจุดเชื่อมต่อระหว่างชิปที่แอปเปิลเรียกว่า UltraFusion ที่มีความสามารถส่งผ่านข้อมูลถึง 2.5TB/s สเปคของ M1 Ultra เป็นสองเท่าของ M1 Max ทุกอย่าง ได้แก่ คอร์รวม 20 คอร์ แบ่งเป็นคอร์ประสิทธิภาพสูง 16 คอร์ และคอร์ประหยัดพลังงาน 4 คอร์ คอร์กราฟิก 64 คอร์ รองรับแรมสูงสุด 128GB แบนด์วิดท์ 800GB/s คอร์ปัญญาประดิษฐ์ 32 คอร์ M1 Ultra เริ่มใช้งานใน Mac Studio ที่เปิดตัวในงานเดียวกัน
# Apple เปิดตัว iPhone 13 และ iPhone 13 Pro สีเขียวแบบใหม่ สั่งจองได้วันศุกร์นี้ งานแถลงข่าวเปิดตัวสินค้าใหม่ของแอปเปิล งานแรกของปีนี้ Peek Performance เริ่มต้นด้วยการเปิดตัว iPhone 13 และ iPhone 13 Pro สีใหม่ (ปีที่แล้วก็แบบนี้) ในธีมสีเขียว โดย iPhone 13 Pro และ iPhone 13 Pro Max จะมีสีใหม่ชื่อว่า Alpine Green ส่วน iPhone 13 และ iPhone 13 mini เป็นสีเขียว (Green) สีเขียวใหม่นี้จะเป็นตัวเลือกสีที่ 5 ของตระกูล iPhone 13 จากที่มีสีกราไฟต์, ทอง, เงิน และเซียร์ร่าบลู สินค้าเปิดให้สั่งได้ตั้งแต่เวลา 9:00 น.​ ตามเวลาในประเทศไทยของวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม และวางขายตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม ที่มา: แอปเปิล
# Apple เปิดตัว iPad Air ใหม่ ชิป M1 กล้องหน้ามี Center Stage รองรับ 5G เริ่มต้น 20,900 บาท Apple เปิดตัว iPad Air รุ่นใหม่ ที่หน้าตาไม่ได้เปลี่ยนไปมาก แต่มาพร้อมชิป M1 รุ่นเดียวกับ iPad Pro 2021 แล้ว กล้องหลัง 12MP ถ่ายวิดีโอ 4K ได้ กล้องหน้าอัพเกรดเป็นกล้องอัลตร้าไวด์ 12MP พร้อมฟีเจอร์ Center Stage หน่วยความจำภายในยังเป็น 64GB แล้วกระโดดไป 256GB รองรับปากกา Apple Pencil Gen 2 กับ Magic Keyboard เหมือนเดิม รุ่นเซลลูลาร์รองรับ 5G แล้ว ราคาเริ่มต้น 599 ดอลลาร์ ในสหรัฐฯ วางขาย 18 มีนาคมนี้ ในไทยระบุเตรียมเปิดให้สั่งจองเร็วๆ นี้ รุ่น Wi-Fi เริ่มต้น 20,900 บาท รุ่น Wi-Fi + Cellular เริ่มต้น 25,900 บาท มีสีเทาสเปซเกรย์ สีสตาร์ไลท์ สีชมพู สีม่วง และสีฟ้า ที่มา - Apple Event, Apple
# เปิดตัว iPhone SE ตัวใหม่ ดีไซน์ยังเป็น iPhone 8 กล้องเดียว ชิปตัวท็อป A15 แอปเปิลเปิดตัว iPhone SE ตัวใหม่ ดีไซน์ยังคงเป็นแบบเก่าคือดีไซน์ของ iPhone 8 ไม่มี Face ID และมาพร้อมปุ่มโฮมหน้าเก่าเจ้าเดิม แต่ชิปเป็นตัวท็อป A15 Bionic หน้าจอ Retina HD ขนาด 4.7 นิ้ว กล้องหลัง 12 ล้านพิกเซล f/1.8 ฟีเจอร์กล้องรองรับเหมือน iPhone 13 Pro เช่น Smart HDR 4, Photographic Styles, Deep Fusion รองรับ 5G คลื่น sub-6GHz สี คือ Midnight สีดำ, Starlight สีขาวและ Product Red iPhone SE มี 3 ความจุคือ 64GB, 128GB, และ 256GB ราคาเริ่ม 15,900 บาท เปิดจอง 18 มีนาคม เริ่มจำหน่าย 25 มีนาคมนี้ ที่มา - Apple
# พบช่องโหว่ดาวน์โหลดโทเค็นจากผู้ใช้รายอื่นในบริการ Azure Automation, ไมโครซอฟท์แก้ไขแล้ว Orca Security รายงานถึงช่องโหว่ AutoWarp ของ Azure Automation บริการรันสคริปต์อัตโนมัติสำหรับการจัดการทรัพยากรต่างๆ ใน Azure ทำให้คนร้ายสามารถขโมยโทเค็นจากผู้ใช้บริการนี้รายอื่นๆ ที่อยู่บนเซิร์ฟเวอร์ตัวเดียวกันได้ บริการ Azure Automation โดยปกติแล้วเป็นการรันสคริปต์ PowerShell หรือ Python เพื่อจัดการทรัพยากร เช่นการปิดเครื่องนอกเวลาทำการ ตัวสคริปต์นั้นจะใช้โทเค็นบัญชีที่มีสิทธิ์ตามที่ผู้ใช้เปิดให้บริการ Automation ทาง Orca Security ส่งสคริปต์ Python เพื่อสร้าง reverse shell เข้าไปสำรวจในเครื่อง Automation พบว่ามันคือวินโดวส์ที่ถูกจำกัดคำสั่งต่างๆ เอาไว้ แต่บนเครื่องกลับมีเว็บเซิร์ฟเวอร์รันอยู่ในพอร์ต 40008 เมื่อสำรวจดูก็พบว่าเป็น orchestrator ของบริการ Automation เอง และหากส่ง HTTP GET พร้อมกับ JSON ที่ระบุพารามิเตอร์ถูกต้อง เช่น Metadata: True หรือระบุ resource ที่ต้องการ พอร์ตเหล่านี้ก็จะคืนค่าโทเค็นสำหรับ Azure กลับมาให้ ปรากฎว่าเมื่อไล่สแกนพอร์ตอื่นๆ ในย่านเดียวกัน ด้วยพารามิเตอร์แบบเดียวกัน ตัว orchestrator ก็จะคืนโทเค็นของลูกค้า Azure รายอื่นๆ ที่ใช้บริการ Azure Automation กลับคืนมา หากลูกค้ารายนั้นตั้งสิทธิ์ของ Azure Automation ไว้สูง โทเค็นที่ได้กลับมาก็จะมีสิทธิ์สูงไปด้วย ทาง Orca Security แจ้งช่องโหว่นี้ไปยังไมโครซอฟท์ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา และไมโครซอฟท์ก็ปิดช่องโหว่ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม โดยยืนยันว่าไม่พบว่ามีการใช้ช่องโหว่นี้โจมตีมาก่อน พร้อมกับแจ้งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบแล้ว ที่มา - Orca Security, Microsoft
# Amazon เปิดตัว Amp โซเชียลมีเดียเสียง ให้ทุกคนเป็นดีเจรายการวิทยุ Amazon เปิดตัวแอปใหม่ Amp ซึ่งเป็นบริการโซเชียลด้านเสียง ที่ผู้ใช้งานสามารถเป็นดีเจจัดแบบรายการทางวิทยุสด หรือนำเสนอเพลงที่ชอบได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จุดเด่นของ Amp ที่ Amazon ยกมา คือการเข้าถึงคลังเพลงลิขสิทธิ์หลายสิบล้านเพลง ซึ่งสามารถนำมาใช้เปิดในการจัดรายการได้ ทำให้ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาและผู้ฟัง ได้ร่วมกันพัฒนาประสบการณ์และค้นพบสิ่งใหม่ Amp เปิดตัวแอปในสถานะเบต้า ตอนนี้มีเฉพาะแอปใน App Store ที่รองรับเฉพาะผู้ใช้ในอเมริกา และการสมัครยังต้องรอใน waitlist ก่อน ที่มา: Amp ผ่าน CNBC
# AMD เปิดตัว Threadripper PRO 5000 สถาปัตยกรรม Zen 3 AMD เปิดตัวซีพียูตระกูลเวิร์คสเตชั่น Threadripper PRO 5000 เปลี่ยนสถาปัตยกรรมภายในเป็น Zen 3 พร้อมกับเพิ่มสัญญาณนาฬิกาในแต่ละคอร์ โดยยังคงจำนวนคอร์ที่ 64 คอร์ 128 เธรดเท่าเดิม นอกจากเปลี่ยนสถาปัตยกรรมภายในแล้ว การปรับครั้งนี้ยังเพิ่ม PCIe 4.0 เป็น 128 เลน จากเดิม 88 เลน ทำให้ขยายทั้งกราฟิกและสตอเรจได้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนฟีเจอร์ในซีพียูของ Zen รุ่นใหม่ๆ ก็ได้มาครบ ทั้ง Memory Guard สำหรับการเข้ารหัสหน่วยความจำ, Secure Processor ซีพียูสำหรับประมวลผลงานที่ต้องการความปลอดภัยสูง, Shadow Stack การป้องกันโค้ดถูกมัลแวร์แก้ไข ซีพียูในตระกูลนี้เปิดตัวมาแล้ว 5 รุ่น ตั้งแต่ 12 คอร์ 24 เธรด ไปจนถึง 64 คอร์ 128 เธรด สัญญาณนาฬิกาสูงสุดอยู่ที่ 4.5GHz เท่ากันทั้งหมด แต่สัญญาณนาฬิกาฐานจะต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อคอร์เพิ่มขึ้น ทุกรุ่นให้ PCIe มา 128 เลนเท่ากันหมด รองรับแรม ECC ขนาด 2TB ตอนนี้ Lenovo ThinkStation P620 เป็นเครื่องรุ่นแรกที่นำ Threadripper PRO 5000 WX ไปประกอบขาย ที่มา - AMD
# เป็นทางการแล้ว! Google Cloud ซื้อกิจการบริษัทความปลอดภัย Mandiant มูลค่าดีล 1.79 แสนล้านบาท กูเกิลแถลงว่าได้บรรลุข้อตกลง เพื่อซื้อกิจการ Mandiant บริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ โดยจะซื้อหุ้นของบริษัททั้งหมดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.79 แสนล้านบาท ตามที่มีข่าวลือออกมาเมื่อเช้านี้ หลังดีลเสร็จสิ้น Mandiant จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริการ Google Cloud กูเกิลกล่าวว่าดีลนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านความปลอดภัยของ Google Cloud เพื่อให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบและแก้ไขปัญหาความปลอดภัยที่สำคัญได้ในทุกจุด ทุกสถานะของการพัฒนาบนแพลตฟอร์ม อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความซับซ้อน Mandiant เป็นบริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่ก่อตั้งมาแล้ว 18 ปี มีที่ปรึกษามากกว่า 600 คน และนักวิจัยกว่า 300 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มความปลอดภัย ที่มา: Google Cloud
# บริษัทการลงทุนของเนเธอร์แลนด์ ตัดจำหน่ายหุ้น VK ของรัสเซีย มูลค่า 700 ล้านดอลลาร์ Prosus บริษัทการลงทุนจากเนเธอร์แลนด์ ประกาศว่าจะตัดรายการสินทรัพย์หุ้น 25.9% ที่ถืออยู่ใน VK Group ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของรัสเซีย (ชื่อเดิม Mail.ru) ซึ่งมีมูลค่าลงทุน 700 ล้านดอลลาร์ หลังจากซีอีโอของ VK Group อยู่ในรายชื่อที่ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ Prosus ยังแจ้งให้ผู้บริหารของบริษัทที่มีตำแหน่งกรรมการบอร์ดบริหารของ VK Group ให้ลาออกจากตำแหน่งด้วย ส่วน Avito บริษัทคลาสสิฟายด์ออนไลน์ในรัสเซียที่ Prosus ถือหุ้นด้วยนั้น บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบในตอนนี้ ทั้งนี้ Prosus เป็นบริษัทการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่จดทะเบียนในเนเธอร์แลนด์ โดยอยู่ในเครือของ Naspers บริษัทด้านอินเทอร์เน็ตรายใหญ่จากแอฟริกาใต้ ที่ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ใน Tencent ด้วย ที่มา: Reuters
# ครม. เห็นชอบ ปรับกฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มคริปโต และให้หักกลบกำไรขาดทุนได้ ตามที่กรมสรรพากรเคยชี้แจงแนวทางปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีคริปโตก่อนหน้านี้ ล่าสุด ครม. เห็นชอบกฎหมาย 3 ฉบับ โดยเป็นร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 ฉบับ และร่างกฎกระทรวงอีก 1 ฉบับ ฉบับแรกเพื่อยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลใน Exchange และฉบับที่สองเพื่อการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (Retail CBDC) โดยทั้งสองฉบับมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ส่วนฉบับสุดท้ายเป็นร่างกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน มีผลใช้บังคับ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป สรุปให้เข้าใจง่ายคือ ครม. เห็นชอบกับร่างประมวลกฎหมายที่จัดทำขึ้นใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการเก็บภาษีคริปโต ให้สามารถยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้จนถึงปี พ.ศ. 2566 และยกเว้นภาษีเงินได้เมื่อนำกำไรมาหักกลบขาดทุนในปีภาษีเดียวกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามที่เคยประกาศแนวทางไว้ก่อนหน้านี้ ที่มา - สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 8 มีนาคม 2565
# NVIDIA ซื้อบริษัท Excelero มาทำซอฟต์แวร์เร่งความเร็วสตอเรจในศูนย์ข้อมูล NVIDIA ซื้อบริษัท Excelero จากอิสราเอล ผู้เชี่ยวชาญด้าน software-defined storage เข้ามาช่วยทำซอฟต์แวร์ด้าน block storage โดยเฉพาะในคลัสเตอร์ประสิทธิภาพสูง NVIDIA มีธุรกิจชิปประมวลผลข้อมูล (data processing unit หรือ DPU) ชื่อ BlueField ทำหน้าที่แบ่งงานประมวลผลข้อมูลที่วิ่งเข้าการ์ดเครือข่ายของเซิร์ฟเวอร์ ออกจากซีพียูเพื่อมาประมวลผลงานระดับล่างๆ (เช่น parse แพ็กเก็ตข้อมูล, checksum, ถอดรหัส-เข้ารหัส) ต่างหาก โดย NVIDIA ออกแบบชิป DPU ให้ทำงานเฉพาะทางเหล่านี้ได้ดี มีประสิทธิภาพดีกว่าให้ซีพียูปกติทำ (NVIDIA ใช้คำว่าอธิบายว่า "hardware-accelerated data center infrastructure on a chip") สิ่งที่ต้องใช้คู่กับชิป BlueField DPU คือชุดซอฟต์แวร์ DOCA ที่คอยจัดการฟังก์ชันด้านเครือข่าย ความปลอดภัย และสตอเรจ ซึ่งเป้าหมายของการซื้อ Excelero คือการผนวกเอาซอฟต์แวร์จัดการ block storage เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ DOCA นั่นเอง สถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ DOCA คลิปที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA อธิบายเรื่อง DPU และ DOCA ที่มา - NVIDIA
# ยิ่งกว่าหัวหมอ พ่อค้าโน้ตบุ๊กมือสองจีนเอา MacBook ถอดจอมาขาย คนแห่ใช้แทน Mac mini หลังก่อนหน้านี้ Apple จดสิทธิบัตรคอมพิวเตอร์ที่จะนำแผงวงจรประมวลผลทั้งหมดไปใส่ไว้ในคีย์บอร์ด ซึ่งอาจเป็นเครื่อง Mac ในอนาคต ล่าสุดตลาดโน้ตบุ๊กมือสองของจีน ล้ำหน้า Apple ไปก้าวหนึ่งแล้ว หลังเริ่มมีผู้นำ MacBook มือสองมาขายแบบไม่มีหน้าจอในราคาถูก เพื่อให้ผู้ใช้นำไปต่อจอใช้เอง เหมือนเป็น Mac mini MacBook มือสองแบบไม่มีหน้าจอมีวางขายบน Taobao ตั้งแต่ MacBook รุ่นต้นปี 2015 ในราคา 799 หยวน หรือราว 4,200 บาท ไปจนถึงรุ่นที่สเปกดีกว่านั้น ในราคาราว 2,499 หยวน หรือราว 13,000 บาท เรียกได้ว่าเป็นอะไรที่ลงตัวทั้งคนขายคนซื้อ เพราะคนขายก็สามารถถอดหน้าจอไปขายแยกได้ ส่วนคนซื้อก็ได้คอมพิวเตอร์ Mac ราคาประหยัดหากมีหน้าจออยู่แล้ว แถมยังได้เปรียบ Mac mini ตรงที่แม้จะต้องต่อจอเพิ่มเหมือนกัน แต่ก็มีคีย์บอร์ด กับ trackpad และลำโพงมาในตัวด้วย ที่มา - @Duanrui via Notebookcheck
# Surface Laptop Studio ขายในไทยแล้ว Intel 11th Gen Core i5 ราคาเริ่ม 56,590 บาท Surface Laptop Studio โน้ตบุ๊กรุ่นโปรที่พับจอเป็นแท็บเล็ตได้จาก Microsoft ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน วางขายในบ้านเราแล้ว มี 4 สเปกหลักทุกรุ่นเป็นสี Platinum ราคาดังนี้ Surface Laptop Studio i5, แรม 16GB, SSD 256GB, 11th Gen Intel Core i5 Processor 11300H ราคา 56,590 บาท Surface Laptop Studio i5, แรม 16GB, SSD 512GB, 11th Gen Intel Core i5 Processor 11300H ราคา 63,900 บาท Surface Laptop Studio i7, จีพียู RTX, แรม 16GB, SSD 512GB, 11th Gen Intel Core i7 Processor 11370H ราคา 74,900 บาท Surface Laptop Studio i7, จีพียู RTX, แรม 16GB, SSD 1TB, 11th Gen Intel Core i7 Processor 11370H ราคา 96,900 บาท แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นสองกลุ่มคือสองรุ่นแรกใช้ซีพียู Core i5-11300H จีพียูเป็นออนบอร์ด (Iris Xe) และอีกกลุ่มคือซีพียู Core i7-11370H จีพียูแยกระบุไว้ว่า RTX แต่จากงานเปิดตัว คาดว่าเป็น GeForce RTX 3050 Ti นอกนั้นแตกต่างกันที่ความจุ SSD ซึ่งสามารถถอดเปลี่ยนเองได้ Surface Laptop Studio วางจำหน่ายอย่างเป็นทางแล้วตั้งแต่วันนี้ ตัวแทนจำหน่ายสำหรับลูกค้าธุรกิจติดต่อได้ที่ CipherMed และ ADD In Business และลูกค้าทั่วไปซื้อได้ที่ Banana IT, JIB, DKAN, IT City, Power Buy, Shopee Microsoft Authorized Store และ Lazada Microsoft Authorized Store ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์
# Apex Legends Mobile เกมยิงชื่อดังของ EA ภาคมือถือ เริ่มเปิดให้ทดลองเล่นแล้ว 10 ประเทศ Apex Legends Mobile เกมยิงแนว Battle Royale ชื่อดังของ EA ที่ทำแยกออกมาเป็นภาคมือถือเริ่มเปิดให้เล่นแล้วใน 10 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เม็กซิโก เปรู อาร์เจนตินา และโคลอมเบีย แม้จะมีประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ แต่ก็น่าเสียดายที่ยังไม่มีประเทศไทย การเปิดในขั้นแรกยังเป็นการทดสอบระบบแบบ soft launch อยู่ ผู้เล่นสามารถเล่นแผนที่ได้แผนที่เดียวคือ World’s Edge และมีโหมด Team Deathmatch, Mini Battle Royale, 3v3 Arenas และโหมด Ranked Battle Royale โดยจะมีการรีเซ็ตเลเวลและสถิติต่างๆ เมื่อตัวเกมเปิดแบบเต็ม แต่ก็จะแจกมีของตกแต่งที่ระลึกให้กับผู้เล่นที่ร่วมทดสอบด้วย ทีมงาน Respawn กับ Lightspeed & Quantum Studios จะใช้ช่วงเปิดแบบ soft launch นี้เพื่อทดสอบระบบจับคู่ผู้เล่น ระบบพัฒนาตัวละคร ระบบหลังบ้าน ระบบซื้อขายในเกม และทดสอบเซิร์ฟเวอร์ในภูมิภาค และจะมีอัพเดตเพิ่มเติมนอกจาก 10 ประเทศนี้ในอนาคต ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ที่มา - VentureBeat
# [ลือ] Amazon เตรียมทำซีรีส์ God of War อาจได้ทีมสร้างซีรีส์ The Expanse และ The Wheel of Time ร่วมทีม สำนักข่าว Deadline รายงานข่าวจากแหล่งข่าวภายในว่า Amazon เตรียมสร้างซีรีส์ God of War เกมชูโรงของ PlayStation ลง Prime Video โดยอาจได้ผู้สร้างซีรีส์ไซไฟ The Expanse คือ Mark Fergus และ Hawk Ostby มาร่วมงานกับ Rafe Judkins ผู้อำนวยการสร้างซีรีส์ The Wheel of Time ซีรีส์จากหนังสือนิยายแฟนตาซีผจญภัยเรื่องดัง ควบคู่ไปกับ Sony Pictures Television และ PlayStation Productions ฝั่ง Sony และ Amazon Studios ยังไม่ให้ความเห็นใดในเรื่องนี้ น่าสนใจว่าถ้าสร้างจริง จะให้ใครมารับบทนำ โดยเสียงพากย์ Kratos ในเกม God of War ภาคล่าสุด มาจาก Christopher Judge นักแสดงชื่อดังจากซีรีส์ Stargate ซึ่งมีเสียงต่ำกังวานอันทรงพลัง ส่วนใครจะได้รับบทในฉบับซีรีส์คงต้องติดตามกันต่อไป ที่มา - Deadline
# หลุดเบนช์มาร์ค Pixel 6a ใช้ชิปเรือธง Google Tensor ตัวเดียวกับ Pixel 6 มีข่าวลือของ Pixel 6a สมาร์ทโฟนรุ่นราคาถูกของกูเกิลออกมาเรื่อยๆ ล่าสุดมีข้อมูลในฐานข้อมูล Geekbench ทำให้เรารู้สเปกคร่าวๆ ของ Pixel 6a แล้ว โค้ดเนมของ Pixel 6a คือ bluejay ตรงตามข่าวก่อนหน้านี้, หน่วยประมวลผลของมันคือชิป Tensor ตัวเดียวกับ Pixel 6 (ใช้คอร์ 2+2+4 ที่แปลกกว่า Soc ทั่วไป) และแรม 5.4GB ซึ่งน่าจะเป็นแรม 6GB (Pixel 6 รุ่นปกติได้แรม 8GB) การที่ Pixel 6a รุ่นราคาถูกได้ใช้ชิป Tensor ตัวเดียวกับ Pixel 6 รุ่นท็อป อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก (กูเกิลลดจำนวนรุ่นชิป สั่งซื้อมากๆ จะได้ถูกลง) แต่ก็ถือเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็น Pixel รุ่น a ใช้ชิประดับเรือธง ก่อนหน้านี้ เราเคยเห็น Pixel 5a ใช้ชิป Snapdragon 765G ตัวเดียวกับ Pixel 5 แต่ก็เป็นเพราะ Pixel 5 เลือกใช้ 765G ที่ไม่ใช่ชิปเรือธงซีรีส์ 8 ที่มา - Geekbench via 9to5google
# Cloudflare แบนลูกค้าในรัสเซียเป็นรายคน ระบุอินเทอร์เน็ตในยูเครนยังใช้งานได้ หลังจากผู้ให้บริการเทคโนโลยีจำนวนมากออกมาแสดงท่าทีกรณีรัสเซีย-ยูเครนกันอย่างต่อเนื่อง ผู้ให้บริการ CDN รายใหญ่อย่าง Cloudflare ก็ออกมาแสดงจุดยืนว่าจะไม่ตัดบริการลูกค้าในรัสเซียแบบเหมาเข่ง แต่จะตรวจสอบความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่รัฐบาลตะวันตกสั่งคว่ำบาตรเป็นรายๆ ไป ความยากคือการคว่ำบาตรรอบนี้เป็นวงค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในยูเครน, ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่ง, รวมถึงผู้นำรัสเซียอีกจำนวนมาก อย่างไรก็ดี Cloudflare ระบุว่าหากเลิกให้บริการในรัสเซียไปทั้งหมดจะกลายเป็นผลเสียต่อเหตุการณ์มากกว่า เพราะชาวรัสเซียเองก็ต้องการข่าวสารจากโลกภายนอก โดยอัตราการขอ DNS โดเมนเว็บข่าวยุโรปนั้นสูงขึ้นมากหลังรัสเซียบุกยูเครน สำหรับสถานการณ์อินเทอร์เน็ตในยูเครนแม้จะมีอัตราการเชื่อมต่อเข้าไปยัง Cloudflare ลดลงบ้าง แต่ก็พบว่าอินเทอร์เน็ตยังใช้งานได้เป็นส่วนมาก ที่มา - Cloudflare อัตราการเชื่อมต่อ HTTP จากยูเครนเข้าไปยัง Cloudflare ในช่วงรัสเซียบุกยูเครน
# Coinbase บล็อคบัญชีคริปโตที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย 25,000 ราย ส่งข้อมูลให้รัฐบาลสหรัฐ Coinbase ประกาศบล็อคบัญชีคริปโตของบุคคลหรือหน่วยงานของรัสเซีย ตามคำสั่งแซงค์ชันทางเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก Coinbase บอกว่าปกติการเปิดบัญชีต้องยืนยันตัวตน ระบุชื่อและประเทศก่อนทำธุรกรรมอยู่แล้ว หากเป็นบุคคลที่ชื่อตรงกับรายชื่อของรัฐบาล หรืออาศัยอยู่ในประเทศที่ห้ามทำธุรกรรม (เช่น เกาหลีเหนือ ซีเรีย อิหร่าน ไครเมีย) จะไม่สามารถทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มได้ บริษัทยังมีระบบตรวจสอบการหลบเลี่ยงหรือพรางตัวเพื่อทำธุรกรรมด้วย Coinbase บล็อคที่อยู่บนบล็อกเชนไปแล้ว 25,000 รายการ ที่มาจากรัสเซียหรือเกี่ยวข้องกับรัสเซีย และได้แชร์ข้อมูลนี้ให้กับรัฐบาลสหรัฐแล้ว Coinbase ยืนยันว่า ธุรกรรมเงินคริปโตนั้นตามรอยได้ง่ายกว่าเงิน fiat แบบดั้งเดิม เพราะข้อมูลของสินทรัพย์อยู่บนบล็อคเชนสาธารณะ ทุกคนเข้ามาดูประวัติการเคลื่อนไหวได้ และข้อมูลอยู่ถาวร ลบออกไม่ได้ ต่างจากธุรกรรมเงิน fiat ที่สามารถใช้วิธีพรางตัวผ่านบริษัทบังหน้า (shell companies) หรือโอนไปยังประเทศที่เป็นแหล่งฟอกเงิน หรือมีกลไกทางภาษีได้ (tax haven) ที่มา - Coinbase
# Pixel ได้ฟีเจอร์ชุดใหม่ ถอดเสียงตอนคุยโทรศัพท์เป็นข้อความ พิมพ์ตอบให้อีกฝ่ายฟังได้ มือถือตระกูล Pixel มีสิ่งที่เรียกว่า Feature Drop เป็นการอัพเดตซอฟต์แวร์เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ แยกจากรอบการออก OS ปกติ หลายฟีเจอร์เป็นเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะ Pixel หรืออาจต้องรอหลายเดือนกว่าที่กูเกิลจะเปิดให้ Android รุ่นอื่นใช้งานในภายหลัง วันนี้กูเกิลประกาศ Feature Drop รอบที่ 10 มีของใหม่ดังนี้ การถ่ายภาพด้วยแอพ Snapchat รองรับโหมดถ่ายภาพ Night Sight ตอนกลางคืนโดยตรงแล้ว Live Caption ตอนคุยโทรศัพท์ ถอดเสียงอีกฝ่ายเป็นซับไตเติลขึ้นจอให้อัตโนมัติ และสามารถพิมพ์ข้อความตอบ ซึ่งอีกฝั่งจะได้ยินเป็นเสียงพูดด้วย Gboard สามารถแปลงข้อความเป็นสติ๊กเกอร์ข้อความ (คล้ายๆ กับของ LINE) Duo รองรับการชม YouTube ร่วมกันขณะวิดีโอคอลล์ Live Translate ฟีเจอร์การแปลข้อความสดๆ รองรับภาษาเพิ่มเติมคือ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส สามารถสั่ง Hey "Google, be my Spanish interpreter" เพื่อเปิดใช้งานได้เลย เพิ่ม widget ใหม่ แสดงแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ Bluetooth เช่น หูฟังไร้สาย (แยกข้าง) และเคสหูฟัง กูเกิลยังนำฟีเจอร์ Direct My Call และ Wait Times ของ Pixel 6 ขยายมายังมือถือ Pixel รุ่นอื่นๆ โดยเริ่มที่ Pixel 3a ขึ้นไป (Pixel 3 หมดระยะซัพพอร์ตแล้ว) ฟีเจอร์ทั้งหมดใน Pixel Drop ชุดนี้ เริ่มปล่อยอัพเดตแล้วให้ Pixel 3a ถึง Pixel 5a (5G) ส่วนมือถือเรือธงรุ่นล่าสุดอย่าง Pixel 6 และ 6 Pro นั้นก็ตามสไตล์กูเกิลคือยังทำไม่เสร็จ รอปล่อยอัพเดตหลังพี่น้องร่วมตระกูลรุ่นอื่น โดยจะได้อัพเดตภายในเดือนมีนาคมนี้ ที่มา - Google
# Instagram ถอดแอปแยก Boomerang และ Hyperlapse ออกจาก App Store และ Play Store Instagram ยังคงเดินหน้าปรับยุทธศาสตร์ของแอปต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ถอดแอปแยก Boomerang แอปสำหรับทำคลิปวนลูป และ Hyperlapse แอปวิดีโอแบบบีบเวลา ออกจากทั้ง App Store และ Play Store แล้ว ตัวแทนของ Instagram ยืนยันการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยบอกว่าเพื่อให้ทีมงานโฟกัสที่การพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ บนแอปหลัก ซึ่งคุณสมบัติหลักของทั้งสองแอปที่ปิดตัว ก็มีอยู่ในแอป Instagram อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ Instagram ก็เพิ่งประกาศปิดแอป IGTV เพื่อรวมคอนเทนต์วิดีโอไปไว้ใน Instagram แอปหลักเช่นกัน ที่มา: TechCrunch
# Chrome 99 บน macOS มีผลคะแนนความเร็ว Speedometer ชนะ Safari กูเกิลประกาศผลการทดสอบความเร็วของเบราว์เซอร์ โดยใช้ Speedometer เครื่องมือวัดผลของแอปเปิล ที่พัฒนาโดยทีม WebKit พบว่า Chrome เวอร์ชันล่าสุด 99 บน macOS มีคะแนนที่ 300 ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาของ Speedometer และมากกว่า Safari รุ่นปัจจุบันที่มีมาใน macOS โดยทั่วไปคะแนนของ Safari ใน Speedometer จะอยู่ที่ประมาณ 277-279 กูเกิลบอกว่า Chrome 99 ใช้การพัฒนาที่เน้นปรับปรุงโค้ดให้ทำงานเร็วขึ้นเป็นหลัก รวมทั้งใช้ V8 Sparkplug เป็นคอมไพเลอร์ มาช่วยปรับแต่ง ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ Chrome 99 ทำงานได้เร็วมากกว่า Chrome เมื่อ 17 เดือนที่แล้วถึง 43% ซึ่งตอนนั้นแอปเปิลเพิ่งเปิดตัว Mac M1 ที่มา: Chromium ผ่าน 9to5Google
# [ลือ] Google สนใจซื้อกิจการบริษัทความปลอดภัย Mandiant เช่นกัน Mandiant บริษัทด้านความปลอดภัยของข้อมูล ดูเป็นที่สนใจมากขึ้นอีก โดยล่าสุด The Information รายงานว่ากูเกิลสนใจซื้อกิจการบริษัทดังกล่าว เพื่อนำมาเสริมด้านความปลอดภัยให้กับบริการคลาวด์ ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าไมโครซอฟท์ก็อยู่ในขั้นตอนพิจารณาซื้อกิจการ Mandiant ด้วยเช่นกัน โดยแหล่งข่าวระบุว่าขั้นตอนการเสนอซื้อกิจการ Mandiant นั้น ต้องทำการเสนอราคาที่สนใจ ซึ่งการรับข้อเสนอได้สิ้นสุดไปแล้วเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Mandiant เดิมเป็นบริษัทด้านความปลอดภัยภายใต้ FireEye แต่หลังบริษัทแม่ขายกิจการออกไป และแยกส่วน Mandiant ออกมา เนื่องจากมีโฟกัสธุรกิจที่แตกต่างกัน ที่มา: CNBC
# Android 12L ออกตัวจริง Samsung, Lenovo, Microsoft สัญญาอัพเดตตามในปีนี้ กูเกิลออก Android 12L ตัวจริง ถือเป็นการอัพเดตย่อยของ Android ครั้งแรกในรอบหลายปี (ครั้งสุดท้ายคือ Android 8.1) ตอนนี้ตัวอิมเมจมีให้ดาวน์โหลดกับมือถือตระกูล Pixel แล้ว (ซึ่งไม่ค่อยเห็นประโยชน์นัก เพราะไม่ใช่อุปกรณ์จอใหญ่-จอพับ แต่นักพัฒนาใช้ทดสอบแอพก่อนได้) ส่วน Samsung, Lenovo, Microsoft สัญญาว่าจะออกอัพเดต Android 12L ให้อุปกรณ์ของตัวเองภายในปีนี้ ของใหม่ที่สำคัญของ Android 12L ได้แก่ แถบแจ้งเตือนแบบ 2 คอลัมน์ซ้ายขวา, แอพ Settings แบบ 2 คอลัมน์, และหน้าจอหลักที่มี taskbar ด้านล่าง ใช้สลับแอพได้ง่ายขึ้น รองรับการลากแอพจาก taskbar แล้ววางแบ่งจอแบบ split-screen กูเกิลยังบอกว่าฟีเจอร์สำหรับจอใหญ่จะถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Android 13 เลย ไม่มีการออกเวอร์ชันแยกเป็น Android 13L อีกแล้ว ที่มา - Google
# พบช่องโหว่เขียนไฟล์โดยใช้แค่สิทธิ์อ่านไฟล์ในลินุกซ์ 5.8 ขึ้นไป หลังผู้ดูแลเว็บพบ log เว็บเซิร์ฟเวอร์พังบ่อย Max Kellermann จากบริษัท CM4All ผู้ให้บริการสร้างเว็บบน WordPress รุ่นพิเศษ รายงานถึงบั๊กประหลาดที่ผู้ใช้ CM4All รายงานมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่า log ของเว็บเซิร์ฟเวอร์ในช่วงสิ้นเดือนนั้นพัง (corrupt) บ่อยๆ หลังจากบีบอัดไฟล์ Kellermann พยายามไล่หาต้นเหตุที่ไฟล์พังอยู่หลายเดือน และพบว่าไฟล์ log ที่พังนั้นกลับมีข้อมูลขยะในไฟล์ตรงกับข้อมูลที่โปรเซสรับไฟล์ไปบีบอัด โดยโปรเซสรับไฟล์พยายามเขียนคำว่า "PK" เพื่อแสดงว่าเป็นไฟล์ zip ที่หัวไฟล์ ภายหลัง Kellermann สามารถสร้างโปรแกรมง่ายๆ ขึ้นมาสองโปรแกรม เพื่อเขียนข้อมูลลงไฟล์ และอีกโปรแกรมอ่านไฟล์ผ่าน pipe ในลินุกซ์ขึ้นมา พร้อมกับเขียนข้อมูลอื่นเป็นสตริงมั่วๆ เช่น "BBBBB" ปรากฎว่าเขาสามารถทำให้ข้อมูล "BBBBB" ไปอยู่ในไฟล์ต้นทางที่อ่านขึ้นมาผ่าน pipe ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นบั๊กในเคอร์เนล ปรากฎว่าเป็นช่องโหว่ PIPE_BUF_FLAG_CAN_MERGE ที่เปิดให้โปรเซสที่สามารถอ่านไฟล์ สามารถเขียนไฟล์ได้โดยไม่มีสิทธิ์ โดยจะเขียนลง page cache ก่อน ทำให้ข้อมูลไม่ได้ลงดิสก์เสมอไป เนื่องจากเป็นบั๊กในเคอร์เนล ทำให้คนร้ายอาจจะแก้ไขไฟล์ใน page cache ได้แม้จะเป็นดิสก์ที่ไม่สามารถเขียนได้ เช่น แผ่นซีดี คนร้ายก็สามารถแก้ไฟล์ให้โปรเซสอื่นมาอ่านไฟล์ผิดๆ ได้อยู่ดี จนกว่าเคอร์เนลจะหยุดใช้แคชส่วนนั้นไป ลินุกซ์ออกแพตช์ช่องโหว่ CVE-2022-0847 นี้แล้ว ในเวอร์ชั่น 5.16.11, 5.15.25, 5.10.102 ตัวบั๊กกระทบแอนดรอยด์ด้วยเช่นกันและกูเกิลก็ออกแพตช์แล้ว ทาง Red Hat ระบุว่าช่องโหว่นี้มีคะแนน CVSSv3 อยู่ที่ 7.8 คะแนน (CVSS:3.1/AV:L/AC:L/PR:L/UI:N/S:U/C:H/I:H/A:H) แต่ตัว RHEL เองไม่ได้ใช้ฟีเจอร์ PIPE_BUF_FLAG_CAN_MERGE ทำให้การโจมตีที่ Kellermann ทดสอบนั้นใช้งานไม่ได้ แต่บั๊กการตรวจสอบข้อมูลใน pipe ไม่ครบถ้วนก็ยังอยู่และเตรียมจะออกแพตช์ต่อไป ที่มา - CM4All
# Intel ยื่นเอกสาร เพื่อเตรียมนำ Mobileye เข้าตลาดหุ้นแล้ว อินเทลประกาศว่า Mobileye บริษัทในเครือที่พัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ได้ยื่นเอกสาร S-1 ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์สหรัฐฯ แล้ว เพื่อเตรียมนำบริษัทไอพีโอเข้าตลาดหุ้นต่อไป ซึ่งอินเทลเคยประกาศแผนงานนี้เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากเป็นเอกสารขั้นแรก อินเทลจึงยังไม่ได้ให้ข้อมูลว่า Mobileye จะขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวนเท่าใด และมูลค่ากิจการเท่าใด อย่างไรก็ตามสำนักข่าว Reuters อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง ว่าบริษัทประเมินมูลค่ากิจการที่ราว 50,000 ล้านดอลลาร์ Mobileye เป็นบริษัทจากอิสราเอล เชี่ยวชาญการพัฒนาชิปด้านการมองเห็นของรถยนต์อัตโนมัติ อินเทลซื้อกิจการไปเมื่อปี 2017 ที่มา: อินเทล และ Reuters
# Samsung ออกแถลงหลังโดนแฮก ระบุหลุดเฉพาะซอร์สโค้ด Galaxy ข้อมูลลูกค้ายังปลอดภัย หลังจากแฮกเกอร์ Lapsus$ ได้อ้างว่าแฮก Samsung ได้และปล่อยซอร์สโค้ดออกมาราว 190GB วันนี้ Samsung ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าบริษัทโดนแฮกอย่างเป็นทางการแล้ว และรายงานว่ามีอะไรหลุดออกไปบ้าง Samsung ระบุว่า ข้อมูลที่หลุดออกไปจากการแฮกครั้งล่าสุด (แต่ไม่ได้ระบุถึงกลุ่ม Lapsus$ โดยตรง) มีซอร์สโค้ดบางส่วนของอุปกรณ์ตระกูล Galaxy และยืนยันว่าไม่มีข้อมูลสำคัญของลูกค้าหรือพนักงานรั่วออกไปจากการแฮกครั้งนี้ โดยทาง Samsung ระบุว่าไม่มีผลกระทบกับธุรกิจของบริษัทและลูกค้า พร้อมทั้งบริษัทจะเพิ่มมาตรการเพื่อป้องกันเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกในอนาคต ที่มา - Bloomberg
# Elden Ring ขึ้นแท่นเกมที่มีผู้เล่นพร้อมกันสูงสุดตลอดกาลอันดับ 6 บน Steam แซง Cyberpunk 2077 และ New World Elden Ring เกมแอ็กชันสวมบทบาทเกมแรกของ FromSoftware ที่เป็นเกมโลกเปิดกว้าง ปัจจุบันนอกจากทำคะแนนเฉลี่ยบน Metacritic สูงถึง 94 คะแนนสำหรับเวอร์ชั่นพีซีแล้ว ยังมียอดผู้เล่นสูงสุดบน Steam กว่า 9.5 แสนคน อิงจาก Steam Charts ขึ้นเป็นเกมที่มียอดผู้เล่นสูงสุดตลอดกาลบน Steam เป็นอันดับ 6 อีกด้วย Elden Ring เอาชนะ New World และ Cyberpunk 2077 ที่หล่นมาเป็นอันดับ 7 และ 8 ด้วยยอดผู้เล่นพร้อมกันสูงสุด 9.1 และ 8.3 แสนคน แม้จะยังตามอันดับ 5 คือ Dota 2 ที่มียอดผู้เล่นสูงสุดอยู่ที่ 1.29 ล้านคนอยู่พอสมควร ถือได้ว่าเกมโลกเปิดเกมแรกของ From Software ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยยังคงรูปแบบความท้าทายของระบบต่อสู้ศัตรู และเพิ่มรายละเอียดเรื่องสเน่ห์ของโลกเปิดที่ได้ George R. R. Martin ผู้แต่ง A Song of Ice and Fire (Game of Thrones) มาร่วมสร้างสรรค์ รวมถึงมีเส้นทางการสำรวจที่เป็นธรรมชาติและน่าสนใจ แม้จะมีข้อติเล็กน้อย เช่นประสิทธิภาพบน PC ยังมีปัญหาอยู่บ้าง, UI ต่างๆ ยังไม่คล่องตัวนัก และไม่มีระบบติดตามสถานะเควสต์แบบเกมโลกเปิดเกมอื่น แต่ผู้เล่นเดนตายหลายคนก็อาจจะชอบที่ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ มาเกะกะหน้าจอมากกว่า ที่มา - Windows Central, Steam Charts
# ผลสำรวจนักพัฒนาสาย Java ยังนิยมใช้ Java 8 เยอะที่สุด, IDE ยอดนิยมคือ IntelliJ บริษัท Perforce เจ้าของซอฟต์แวร์ JRebel ที่ใช้จัดการการเขียน UI สาย Java ออกรายงานสำรวจข้อมูลนักพัฒนาสาย Java ประจำปี 2022 มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ Java 8 ที่ออกในปี 2014 ยังเป็นเวอร์ชันยอดนิยมสูงสุด (37%) ตามด้วย Java 11 (29%) ซึ่งทั้งสองเวอร์ชันเป็น LTS ซัพพอร์ตระยะยาว ผู้ตอบแบบสอบถาม 37% มีแผนจะอัพเกรดไปใช้ Java 17 รุ่น LTS ตัวล่าสุดที่ออกในเดือนกันยายน 2021 ภายใน 6 เดือนข้างหน้า, อีก 25% บอกจะอัพเกรดภายใน 6-12 เดือน เหตุผลในการอัพเกรดเวอร์ชัน มาจากปัจจัยการเป็น LTS มากที่สุด (25%) ตามด้วยความปลอดภัย (23%) และประสิทธิภาพที่ดีขึ้น (20%) JDK ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Oracle (36%) และ OpenJDK (27%) รูปแบบคอนเทนเนอร์/VM ที่ใช้งานมากที่สุดคือ Docker (41%), Kubernetes (26%), VMware (16%) IDE ยอดนิยมคือ IntelliJ IDEA (48%), Eclipse (24%), VS Code (18%) ที่มา - 2022 Java Developer Productivity Report, InfoWorld
# นักพัฒนาหลัก Python ยังอยู่ในยูเครนแม้เมืองถูกรัสเซียล้อม ล่าสุดยังกดรับ Pull Request อยู่ Serhiy Storchaka และ Andrew Svetlov นักพัฒนาหลักของ Python ที่ร่วมโครงการมาตั้งแต่ปี 2012 ยังคงอยู่ในยูเครนต่อไปแม้อยู่ในเขตที่ใกล้การรบก็ตาม Storchaka เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าบ้านของเขาห่างจากเมือง Konotop ที่ทหารรัสเซียยึดไว้ได้ไปเพียง 20 กิโลเมตร และแนวรถถังของรัสเซียก็ห่างจากบ้านของเขาเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น ไม่มีข้อมูลว่าล่าสุดเขาและครอบครัวย้ายไปอยู่ที่ใด แต่ทวีตล่าสุดระบุว่า Łukasz Langa นักพัฒนา Python อีกคนได้ช่วยหลานสาวของเขาและเพื่อนให้ปลอดภัยแล้ว ไม่มีข้อมูลว่า Storchaka ย้ายที่อยู่แล้วหรือไม่ แต่ข้อมูลบน GitHub แสดงให้เห็นว่าเขายังเข้ามาดูโค้ด Python เรื่อยๆ และกดรับ Pull Request อยู่ในช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา โครงการโอเพนซอร์สสำคัญๆ จำนวนมากเกิดในยุโรปตะวันออก (ลินุกซ์เกิดในฟินแลนด์, Python เองก็เกิดในเนเธอร์แลนด์) สาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะมาจากหน้าหนาวที่ยาวนาน ที่มา - Business Insider
# ระบบปฏิบัติการ Fuchsia รัน Chromium ได้แล้ว ระบบปฏิบัติการ Fuchsia ของกูเกิลมีพัฒนาการสำคัญคือ สามารถรัน Chromium ตัวเต็มได้แล้ว จากที่ก่อนหน้านี้มีแค่ Simple Browser แบบง่ายๆ เท่านั้น กูเกิลเริ่มพอร์ต Chrome มารันบน Fuchsia ได้สักพักใหญ่ๆ และตอนนี้เริ่มออกผลเป็นรูปเป็นร่างแล้ว แม้ยังมีบั๊กอยู่บ้างก็ตาม ที่ผ่านมา กูเกิลนำ Fuchsia มาใช้งานในหน้าจออัจฉริยะ Nest Hub แต่ครอบด้วย UI อีกชั้นทำให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง การที่ Fuchsia เริ่มทำงานทั่วๆ ไปอย่างเบราว์เซอร์ได้ จึงเป็นการขยายขอบเขตของ Fuchsia ให้ไปไกลกว่าระบบปฏิบัติการเฉพาะอุปกรณ์ ที่มา - Reddit, 9to5google
# นักวิจัยปล่อย PolyCoder โมเดล AI เขียนโค้ดแบบโอเพนซอร์สตัวแรกของโลก แม้ปัจจุบันจะมี AI เขียนโค้ดอยู่หลายเจ้า ทั้ง Codex ของ OpenAIที่เป็นเบื้องหลังระบบ Copilot บน GitHub และ AlphaCode ของ DeepMindที่เพิ่งเข้าแข่งเขียนโปรแกรมได้คะแนนปานกลาง อย่างไรก็ตามยังไม่มี AI ของเจ้าไหนเลยที่เป็นแบบโอเพนซอร์ส ทำให้การปรับปรุงและเทรน AI ทำได้โดยเจ้าของ AI เท่านั้น แต่ล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในสหรัฐฯ ได้ปล่อยโมเดล AI เขียนโค้ดชื่อ PolyCoder ออกมาเป็นแบบโอเพนซอร์สตัวแรกบน GitHub PolyCoder พัฒนาโดยมีฐานจากโมเดล GPT-2 ของ OpenAI มีขนาดพารามิเตอร์สูงสุด 2.7 พันล้านพารามิเตอร์ แต่สามารถคอนฟิกลดขนาดได้เหลือ 400 ล้านพารามิเตอร์ และ 160 ล้านพารามิเตอร์ ตัวโมเดลที่ฝึกสำเร็จรูปมาแลวได้รับการฝึกด้วยข้อมูลโค้ดขนาด 249GB ที่ประกอบไปด้วยภาษาโปรแกรมมิ่ง 12 ภาษา *ภาพ Pixabay แม้ประสิทธิภาพโดยรวมของ PolyCoder อาจไม่เท่า AI เขียนโค้ดตัวอื่นๆ แต่นักวิจัยระบุว่าผลการเขียนโค้ดภาษา C ของ PolyCoder เอาชนะ AI อื่นทั้งหมดได้ รวมทั้ง Codex ของ OpenAI และหวังว่าการปล่อยโมเดล AI เขียนโค้ดเป็นโอเพนซอร์สจะช่วยผลักดันวงการและจูงใจให้เจ้าของ AI เจ้าอื่นๆ ทำตามต่อไป แม้จะฝึกให้เขียนโค้ด แต่ PolyCoder ไม่ได้ฝึกให้ “แก้ปัญหา” จริงเหมือน AlphaCode หรือ Copilot ที่พยายามเขียนโปรแกรมตามโจทย์ (ซึ่งเป็นภาษามนุษย์) ระบุ การนำมาใช้งานจริงจึงจำกัดกว่า และอาจจะต้องรอการพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต ที่มา - Slashdot, arxiv.org, Github
# ตำรวจเทคโนโลยีไทยเผยการโจมตี Ransomware ครั้งสำคัญในช่วงปีที่ผ่านมา ครั้งล่าสุดโจมตี NAS ในบริษัท SME ในงานแถลงข่าวแคมเปญ RansomAware ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พ.ต.อ.หญิง มนชนก จำรูญโรจน์ ผกก.กลุ่มงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล กองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บรรยายถึงการโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (ransomware) ครั้งใหญ่ๆ ในไทยในช่วงปีที่ผ่านมา โดยระยะเวลาปีเดียวมีการโจมตีครั้งสำคัญๆ 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เหตุการณ์ทั้ง 5 ครั้งมีเป็นข่าวต่อสาธารณะแล้วหลายกรณีนี้ แม้ในการบรรบายจะไม่ได้ระบุชื่อหน่วยงานผู้เสียหายโดยตรง การโจมตีสถาบันทางการเงิน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 โดยกลุ่ม Avaddon (ตรงกับเหตุการณ์ของบริษัท AXA) การโจมตีสถาบันการศึกษา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 โดยมัลแวร์ไม่ทราบชื่อ แต่อาศัยการเข้ารหัสดิสก์ทั้งลูก มุ่งโจมตี Windows Server 2012 การโจมตีบริการอากาศยาน โดยมัลแวร์ Lockbit 2.0 เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 (ตรงกับข่าวของบางกอกแอร์เวย์) การโจมตีหน่วยงานสาธารณสุข ด้วยมัลแวร์ SunCrypt เมื่อเดือนกันยายน 2021 (ตรงกับข่าวโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์) การโจมตีบริษัท SME ด้านเครื่องจักร ด้วยมัลแวร์ ech0raix เมื่อเดือนมกราคม 2022 การโจมตีครั้งล่าสุดของ ech0raix แสดงให้เห็นว่าคนร้ายหันมามุ่งเป้าหน่วยงานขนาดเล็กและกลางกันมากขึ้น ตัว ech0raix เองในตอนแรกก็โจมตีเฉพาะ QNAP แต่ภายหลังก็พัฒนาให้โจมตี Synology ได้ด้วย ปีนี้ QNAP เองก็ยอมรับว่าตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีมากขึ้นจนเริ่มบังคับอัพเดต ตัวโครงการ RansomAware ของ UNODC เป็นความพยายามสื่อสารให้ผู้ใช้ทั่วไปเข้าใจถึงภัยของมัลแวร์เรียกค่าไถ่มากขึ้น จากการนำเสนอเนื้อหาและภาพอินโฟกราฟิกผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และการแถลงปิดโครงการครั้งนี้ระบุว่าได้พยายามเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ได้ผู้ชมรวมกว่า 10 ล้านรีช
# องค์การอวกาศรัสเซียเล่นแรง ทำคลิปล้อว่าโมดูลรัสเซียเตรียมแยกจากสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่อง Telegram ของ Roskosmos องค์การอวกาศรัสเซีย ปล่อยวิดีโอตัดต่อเป็นคลิปมีม ที่มีโลโก้ RIA Novosti สื่อของฝั่งรัฐบาลรัสเซีย พร้อมแคปชั่นว่าทีม Roskosmos TV ทำคลิปล้อเลียนขำๆ ว่าเตรียมแยกโมดูลรัสเซียออกจากสถานีอวกาศ และส่วนของสหรัฐฯ ก็จะใช้งานต่อไม่ได้เมื่อขาดโมดูลรัสเซียไป ในคลิปมีทั้งภาพนักบินอวกาศรัสเซียโบกมือลานักบินอวกาศอเมริกัน และมีภาพเรนเดอร์ การแยกส่วนโมดูลของรัสเซีย ตั้งแต่ Zarya ออกมาจากส่วนอื่น ๆ ของสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งแม้จะเป็นคลิปขำๆ แต่รัสเซียเองก็มีแผนถอนตัวออกจากโครงการสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2025 อยู่แล้ว และจะตั้งสถานีอวกาศ ROSS ของตัวเองจริงในปี 2024 แม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่ารัสเซียจะแยกส่วนโมดูลจากสถานีอวกาศนานาชาติออกไปติดตั้งกับ ROSS แต่เมื่อมีคลิปเรนเดอร์ออกมาแบบนี้ ก็อาจจะสร้างความไม่แน่นอนต่อโครงการสถานีอวกาศนานาชาติหนักกว่าเดิมว่าทางรัสเซียจะร่วมมือจนครบกำหนดที่วางไว้หรือไม่ ที่มา - Roskosmos Telegram via Spaceth.co, Aerotime
# Wargaming ผู้สร้างเกม World of Tanks ที่อยู่กลางความขัดแย้งระหว่างเบลารุส รัสเซีย ยูเครน บริษัทเกมที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียมากที่สุด อาจเป็น Wargaming บริษัทผู้พัฒนาเกมสงครามออนไลน์ซีรีส์ World of Tanks, World of Warships, World of Warplanes Wargaming ก่อตั้งเมื่อปี 1998 ในประเทศเบลารุส แม้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังประเทศไซปรัสในปี 2011 แต่เบลารุสยังถือเป็นฐานการพัฒนาเกมที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท นอกจากนี้ Wargaming ยังขยายสตูดิโอไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยูเครนและรัสเซียด้วย (นอกจากนี้ยังมีสตูดิโอในฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมนี เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นต้น) สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย โดยมีเบลารุสที่เป็นพันธมิตรของรัสเซียคอยช่วยเหลือ อาจทำให้ Wargaming อยู่ในภาวะต้องเลือกข้าง แต่ Wargaming ก็ประกาศชัดว่ายืนเคียงข้างพนักงานในยูเครนที่ได้รับผลกระทบ ช่วยอพยพย้ายถิ่นฐาน และร่วมบริจาคเงินให้หน่วยงานกาชาดของยูเครนด้วย เว็บไซต์ Kotaku รายงานว่า Wargaming ถือเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนของเบลารุส ที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม และคัดค้านประธานาธิบดีของเบลารุสที่เข้าร่วมสงครามฝ่ายรัสเซีย ที่มา - Kotaku
# แพลตฟอร์ม NFT จีน ล็อกบัญชีผู้ใช้หลังพยายามขายทำกำไร Topnod ธุรกิจของ Alipay ที่ขาย NFT ในจีน ประกาศล็อกบัญชีผู้ใช้ 56 บัญชีหลังพบว่าบัญชีเหล่านี้พยายามขาย NFT ในแพลตฟอร์มเพื่อทำกำไร ส่งผลให้บัญชีเหล่านี้ไม่สามารถโอน NFT ไปยังผู้ใช้อื่นได้อีกต่อไป โดย Topnod ไม่ระบุว่าจะล็อกบัญชีนานเพียงใด NFT ของ Topnod ไม่อนุญาตให้ซื้อขายเพื่อเก็งกำไร แต่ก็ยังอนุญาตให้โอน NFT ไปมา โดยผู้ซื้อคนแรกต้องถือ NFT ไว้ 180 วันจึงจะโอนได้ และผู้ถือคนต่อๆ ไปต้องถือนานถึง 2 ปีจึงจะโอนต่อไปได้ แม้จะมีข้อจำกัดขนาดนี้แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีคนพยายามกว้านซื้อ NFT บน Topnod ด้วยสคริปต์ต่างๆ จนทางแพลตฟอร์มต้องออกมาประกาศแบนผู้ใช้มาแล้ว ทางการจีนมีท่าทีไม่ยอมรับเงินคริปโตอย่างสุดตัว และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ก็ไม่เห็นด้วยที่ประชาชนจะไปทำกำไร แต่บริษัทเทคโนโลยีจีนจำนวนมากก็ยังสร้างแพลตฟอร์ม NFT โดยขายเป็นเงินหยวนตามปกติ และจำกัดการส่งต่อ NFT เช่นเดียวกับ Topnod ครั้งนี้ ที่มา - South China Morning Post ภาพตัวอย่าง NFT ที่ขายบนแอป Topnod ของ Alipay
# รัสเซียเตรียมให้เว็บไซต์ของรัฐเลิกพึ่งพาโฮสติ้งต่างชาติ เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ วันนี้มีข่าวจากสื่ออิสระในยุโรป NEXTA ระบุว่ารัสเซียเตรียมตัดขาดตัวเองออกจากอินเทอร์เน็ตโลกภายใน 11 มีนาคมนี้ แต่ก็มี Oleg Shakirov ผู้เชี่ยวชาญจากรัสเซียออกมาโต้แย้ง ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความจริง แต่รัสเซียแค่ต้องการให้เว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐเลิกใช้เว็บโฮสติ้ง เซิร์ฟเวอร์ และเครื่องมือต่างๆ ของต่างชาติเท่านั้น และเป็นมาตรการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์หลังเว็บหน่วยงานรัสเซียถูกโจมตีอย่างหนักในช่วงนี้ พร้อมแปลเอกสารที่ NEXTA แนบมา เป็นภาษาอังกฤษให้ อย่างไรก็ตามรัสเซียบล็อกทวิตเตอร์ ขู่บล็อกวิกิพีเดีย รวมถึงบล็อก Facebook ไปก่อนหน้านี้แล้ว การประกาศเกณฑ์หน่วยรบไซเบอร์ของยูเครนเมื่ออาทิตย์ก่อน อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่การโจมตีเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐรัสเซียเพิ่มขึ้น แต่ก็คงมีทีมแฮกเกอร์ที่ไม่เห็นด้วยกับสงครามครั้งนี้ ร่วมโจมตีด้วยอยู่แล้วตั้งแต่แรก เห็นได้ชัดว่าสงครามทางไซเบอร์และข้อมูลข่าวสาร ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการทำสงครามยุคปัจจุบัน นอกเหนือไปจากกำลังทหาร และมาตรการทางเศรษฐกิจ ที่มา - NEXTA, Oleg Shakirov
# TikTok หยุดการไลฟ์-อัพโหลดคลิปใหม่ในรัสเซีย เพราะกลัวกฎหมายข่าวปลอมของรัสเซีย TikTok ประกาศหยุดการอัพโหลดคลิปใหม่ และการไลฟ์สตรีมในรัสเซีย ไม่ใช่ด้วยเหตุผลจากการแซงค์ชันของโลกตะวันตก แต่เป็นเพราะกฎหมายใหม่ของรัสเซีย ที่เอาผิดการปล่อย "ข่าวปลอม" ตามนิยามของรัฐบาลรัสเซีย กฎหมายเดียวกันนี้ถูกใช้นำมาขู่เอาผิด Wikipedia ด้วยข้อหาเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับยูเครน และมีผลให้สำนักข่าวหลายแห่งต้องหยุดรายงานข่าวในรัสเซีย เช่น BBC ที่ต้องถอนกำลังนักข่าวในรัสเซียออกมา TikTok ระบุว่าไม่มีทางเลือกอื่น เพราะอาจถูกทางการรัสเซียเอาผิดได้ แต่ยืนยันว่ายังให้บริการแชทในแอพ TikTok ต่อไป ที่มา - TikTok
# Netflix หยุดให้บริการในรัสเซีย กระทบสมาชิก 1 ล้านคน, เปิดสารคดียูเครนให้ดูฟรี Netflix ประกาศหยุดให้บริการสตรีมมิ่งทั้งหมดในรัสเซียแล้ว กระทบสมาชิกในรัสเซียประมาณ 1 ล้านคน ธุรกิจของ Netflix ในรัสเซียเป็นการร่วมทุนกับบริษัทสื่อทีวี Nation Media Group ของรัสเซีย โดยเริ่มให้บริการเมื่อปี 2016 ก่อนหน้านี้ Netflix ประกาศหยุดถ่ายทำภาพยนตร์-โปรเจคต์ใหม่ๆ ในรัสเซีย และยกระดับมาตรการขึ้นเป็นการหยุดให้บริการทั้งหมด ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกเหล่านี้จะได้รับเงินคืนหรือไม่ นอกจากนี้ Netflix ยังประกาศนำสารคดี Winter on Fire: Ukraine’s Fight for Freedom ในปี 2015 (เป็นเรื่องของเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียช่วงปี 2014) มาเปิดให้ดูฟรีบน YouTube ด้วย ที่มา - Variety, Hollywood Reporter
# [ลือ] Apple เตรียมเปิดตัวจอภาพ 27 นิ้ว ราคาถูกลงปีนี้ ส่วน Mac Pro เลื่อนเป็นปีหน้า Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์สินค้าใหม่แอปเปิลขาประจำ ออกมาให้ข้อมูลใหม่ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของเขา โดยคราวนี้ว่าด้วยสินค้ากลุ่มเดสก์ท็อป เขาบอกว่าในปีนี้ 2022 แอปเปิลจะออก Mac mini รุ่นใหม่ที่มีสเป็กสูงขึ้น และหน้าจอเสริมขนาด 27 นิ้ว ที่มีราคาถูกลง โดยไม่ใส่ mini-LED เข้ามา ทั้งนี้ Mac mini รุ่นใหม่ เป็นหนึ่งในสินค้าที่คาดว่าจะเปิดตัวในงาน Peek Performance สัปดาห์นี้ ส่วนปี 2023 เขาให้ข้อมูลสั้น ๆ ว่าจะมี Mac Pro และ iMac Pro รุ่นใหม่ ออกมา ซึ่งหากข้อมูล Kuo เป็นตามนี้จริง แปลว่า Mac Pro จะเป็นสินค้าที่ไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้ชิป Apple Silicon ได้ทันตามแผนงาน 2 ปี ที่แอปเปิลเคยประกาศไว้ ที่มา: 9to5Mac
# NetBeans ออกเวอร์ชัน 13 เปลี่ยนระบบนับเลขรุ่นเป็นจำนวนเต็ม ยังออกทุก 3 เดือน NetBeans ออกเวอร์ชันแรกของปี 2022 ที่เปลี่ยนระบบนับเลขเวอร์ชันใหม่ (อีกแล้ว) เป็นจำนวนเต็ม เวอร์ชัน 13 และต่อไปจะนับ 14, 15, 16 ไปเรื่อยๆ NetBeans เปลี่ยนมาออกเวอร์ชันใหม่ปีละ 4 ครั้งทุกไตรมาสในปี 2019 โดยใช้เลขหลังจุดบอกเวอร์ชันย่อยคือ 11.0, 11.1, 11.2, 11.3 และเวอร์ชัน .0 จะนับเป็น LTS แต่ในปี 2020-2021 ก็ยกเลิกระบบ LTS ทำให้ช่วง 2 ปีนี้เป็นเวอร์ชัน 12.0 ไล่มาเรื่อยๆ จนถึง 12.6 ช่วงปลายปี 2021 และพอขึ้นปี 2022 จะเปลี่ยนมาเป็นเลขจำนวนเต็มแทน เนื่องจากเปลี่ยนมาเป็นการออกทุก 3 เดือนทำให้ฟีเจอร์ใหม่ในแต่ละรุ่นไม่เยอะนัก อย่างใน NetBeans 13 เป็นการอัพเกรดเวอร์ชันแพ็กเกจ Maven, Gradle, PHP, เปลี่ยนมาใช้ธีม Light FlatLaf เป็นดีฟอลต์ และเปลี่ยนแพ็กเกจ javac เป็น nb-javac ทำให้เริ่มโปรแกรมได้ลื่นขึ้น ที่มา - NetBeans 13, NetBeans (ตารางออกรุ่น), Apache Blog
# Epic Games หยุดหารายได้จากเกมของตัวเองในรัสเซีย แต่ยังไม่บล็อคการใช้งาน Epic Games ประกาศหยุดหารายได้จากเกมของตัวเองในรัสเซีย (stopping commerce with Russia in our games) แต่ยังไม่บล็อคการเข้าถึงบริการจากรัสเซีย ด้วยเหตุผลว่าต้องการรักษาการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารตามแนวคิดของโลกเสรี ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าประกาศของ Epic หมายถึงแค่เกมของตัวเอง (เช่น Fortnite หรือ Rocket League) หรือรวมถึงการขายเกมบน Epic Games Store ด้วย แต่ปัจจุบันยังเข้าหน้าเว็บ Epic Games Store เวอร์ชันรัสเซียได้อยู่
# Activision Blizzard หยุดขายเกมในรัสเซีย Activision Blizzard เป็นบริษัทเกมรายใหญ่รายล่าสุดที่ประกาศหยุดขายเกมทั้งหมดในรัสเซีย ซึ่งจะรวมถึงการขายสินค้าในเกมด้วย ก่อนหน้านี้ EA ซึ่งเป็นบริษัทเกมรายใหญ่คู่แข่งของ Activision Blizzard ประกาศหยุดขายเกมในรัสเซียไปแล้ว ทำให้บริษัทเกม Big Three ของอเมริกาตอนนี้เหลือ Take Two รายเดียวที่ยังไม่ได้ประกาศจุดยืน ในวงการเกมยังมีบริษัทเกมขนาดเล็กลงมาอื่นๆ ที่หยุดขายเกมในรัสเซีย เช่น CD Projekt รวมถึงเจ้าของแพลตฟอร์มทั้ง Sony และ Xbox/Microsoft ที่มา - Activision Blizzard
# Elon Musk เตือน ใช้ Starlink ในยูเครนอาจตกเป็นเป้าการโจมตี, เตรียมอัพเดตให้ใช้ไฟจากที่จุดบุหรี่ในรถได้ เมื่อต้นสัปดาห์ Elon Musk ได้ทวีตว่าเปิดบริการ Starlink อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ SpaceX ในพื้นที่ประเทศยูเครนแล้ว โดย Mykhailo Fedorov รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ของยูเครนทวีตว่าได้รับจานดาวเทียม Starlink ล็อตใหญ่จาก Elon Musk แล้ว ล่าสุด Elon Musk ได้ทวีตเตือนว่า Starlink เป็นช่องทางสื่อสารเดียวที่ไม่ใช่ระบบของรัสเซียที่ยังทำงานได้อยู่ในบางพื้นที่ของยูเครน ทำให้การใช้งาน Starlink อาจตกเป็นเป้าการโจมตีได้ จึงให้ระมัดระวังในการใช้งาน รวมถึงระบุว่าให้เปิดใช้งานเมื่อจำเป็นเท่านั้นและควรใช้งานในพื้นที่ที่ห่างจากผู้คน นอกจากนี้นาย Fedorov ยังทวีตมาขอบคุณ Elon Musk อีกรอบโดยแนบรูปจานดาวเทียม Starlink ถูกติดตั้งแล้วและใช้งานอยู่ ซึ่ง Elon ก็ได้ตอบว่าทีมงานกำลังเตรียมอัพเดตซอฟต์แวร์ให้เพื่อลดอัตราการใช้พลังงานลงโดยจะสามารถเสียบไฟจากช่องจุดบุหรี่ในรถยนต์ก็เพียงพอ รวมถึงจะเปิดการใช้งาน mobile roaming ให้ด้วย ทำให้จานดาวเทียมสามารถรับสัญญาณได้ตลอดหากใช้งานในยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา Elon ได้ทวีตอีกว่าทีมงาน Starlink ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลบางประเทศ (ไม่ใช่ยูเครน) ให้ช่วยปิดกั้นการเข้าถึงสื่อของรัสเซีย โดย Elon ระบุว่าเขาเชื่อในเสรีภาพในการแสดงออก และพวกเขาจะไม่ปิดกั้นหากไม่โดนเอาปืนจ่อหัว สุดท้าย Elon ยังระบุว่าจานดาวเทียม Starlink บางจานในพื้นที่ความขัดแย้งถูกกวนสัญญาณนานหลายชั่วโมง โดยกำลังอัพเดตซอฟต์แวร์ให้เพื่อแก้ไขการถูกรบกวนดังกล่าว และเขาตื่นเต้นที่จะรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ที่มา - @elonmusk
# Rancher Desktop ออกเวอร์ชั่น 1.1 ปิด Kubernetes เหลือแต่ dockerd ได้ Rancher Desktop ออกเวอร์ชั่นย่อย 1.1.0 (และออก 1.1.1 แก้ไขบั๊กในไม่กี่วันถัดมา) แม้จะเป็นเพียงเวอร์ชั่นย่อย แต่ฟีเจอร์ที่สำคัญคือมันรองรับการปิด Kubernetes ทำให้สามารถใช้งานเฉพาะ container runtime หรือ dockerd แม้ว่าทาง SUSE จะพยายามเลี่ยงว่า Rancher Desktop ไม่ได้พยายามมาแทนที่ Docker Desktop ที่เก็บเงินค่าใช้งานเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่การปรับฟีเจอร์เช่นนี้ก็ทำให้ Rancher Desktop สามารถใช้งานแทน Docker Desktop ได้อย่างเต็มตัว ที่ผ่านมา Rancher Desktop สามารถใช้งานแทน Docker Desktop ได้ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว นับตั้งแต่ทาง SUSE เปิดให้เลือก dockerd เป็น container runtime เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ข้อจำกัดคือต้องเปิด k3s ไว้เสมอ ทำให้กระบวนการเปิดใช้งานค่อนข้างช้า และ Traefik ที่เป็น Ingress ของ k3s นั้นจะจองพอร์ต 80/443 ตลอดเวลา ทำให้งานบางส่วนที่ออกแบบไว้สำหรับ Docker Desktop ไม่สามารถใช้งานได้ ในเวอร์ชั่น 1.1.0 เป็นต้นมา SUSE เปิดให้ปิดการทำงาน Kubernetes ไปทั้งหมด หรือจะปิดเฉพาะ Traefik ก็ได้ ที่มา - SUSE
# สงครามกระทบหนัก Yandex หุ้นตก 75%, ผู้ถือหุ้นอาจขอเงินคืน, บริษัทต่างชาติตัดสัมพันธ์ Yandex Group ยักษ์ใหญ่ของวงการอินเทอร์เน็ตรัสเซีย กำลังประสบปัญหารุมเร้าจากสถานการณ์สงครามรัสเซียหลายด้าน ปัญหาของ Yandex มีตั้งแต่ราคาหุ้นที่ตกลงมาเรื่อยๆ มูลค่าบริษัทหายไปแล้ว 75% ในรอบ 6 เดือนล่าสุด (Yandex ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มอสโก MOEX และตลาด Nasdaq ในสหรัฐ) โดยตกหนักในช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ช่วงที่สถานการณ์สงครามกำลังจะเริ่มต้น เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์มอสโกต้องหยุดทำการหลายวันในสัปดาห์นี้ ทำให้หุ้นในตลาด Nasdaq ต้องหยุดขายไปด้วย แต่ผู้ถือหุ้นของ Yandex ที่ถือหุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible note) มีสิทธิขอแปลงหุ้นกู้เป็นเงินสดคืนได้ หากหุ้น Yandex ถูกหยุดขายบน Nasdaq เกิน 5 วัน (ตลาด MOEX จะหยุดทำการไปจนถึงวันอังคารหน้า 15 มีนาคม เป็นอย่างน้อย ซึ่งจะหยุดเกิน 5 วันทำการแล้ว) ถ้าหากผู้ถือหุ้นขอใช้เงื่อนไขนี้เป็นจำนวนมาก Yandex จะไม่มีเงินสดมากพอสำหรับชำระหนี้ และจะต้องผิดนัดชำระหนี้ (default) มูลค่า convertible notes รวมทั้งหมด 1.25 พันล้านดอลลาร์ ตัวบริษัท Yandex เองถึงแม้มีจุดกำเนิดในประเทศรัสเซีย และมีธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในรัสเซีย แต่ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่จดทะเบียนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ (บริษัทในรัสเซียมีสถานะเป็นบริษัทลูก) เมื่อเจอมาตรการแซงค์ชันทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก ยังส่งผลให้บริษัทลูกในรัสเซียไม่สามารถโอนเงินกลับมายังบริษัทแม่ในเนเธอร์แลนด์เพื่อใช้ชำระหนี้ได้ นอกจากประเด็นเรื่องหนี้แล้ว Yandex ยังเจอพาร์ทเนอร์หลายรายตัดสัมพันธ์ เช่น Uber ที่มีธุรกิจเรียกรถแท็กซี่ Yandex.Taxi ร่วมกัน, GrubHub ที่ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์ส่งอาหารอัตโนมัติ และ DuckDuckGo ที่ดึงข้อมูลเสิร์ชฝั่งรัสเซีย ต่างประกาศหยุดทำธุรกิจกับ Yandex นอกจากนี้ยังมีโครงการให้บริการคลาวด์ในเยอรมนีที่ต้องหยุดไปก่อน หนังสือพิมพ์ Financial Times อ้างความเห็นจากผู้บริหาร Yandex ที่ไม่ระบุชื่อ ว่าทุกคนในบริษัทช็อคกับการตัดสินใจทำสงครามของรัสเซีย และมาตรการแซงค์ชันทางเศรษฐกิจออกมารวดเร็วและรุนแรงมาก ทำให้บริษัทอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก บริษัทคาดว่าด้วยทรัพยากรศูนย์ข้อมูลในปัจจุบัน จะยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้อีกราว 12-18 เดือน Yandex ยังไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการของบริษัทต่อรัฐบาลรัสเซีย ทำให้มีพนักงานจำนวนหนึ่งไม่พอใจ และมีพนักงานบางคนประกาศลาออกเพื่อประท้วงแล้ว กราฟราคาหุ้น Yandex รอบ 6 เดือนล่าสุดจาก Yahoo Finance ที่มา - Financial Times, CNN
# Apple ประกาศแผนกลับมาทำงานที่สำนักงาน เริ่ม 11 เมษายนนี้ Tim Cook ซีอีโอแอปเปิล ส่งอีเมลถึงพนักงาน เกี่ยวกับแผนการกลับเข้ามาทำงานที่สำนักงาน โดยในอเมริกาจะใช้วิธี ค่อย ๆ ปรับมาเป็นการทำงานแบบไฮบริด ช่วงแรกให้เข้าทำงานที่สำนักงาน 1 วันต่อสัปดาห์ เริ่ม 11 เมษายน เป็นต้นไป หลังจากนั้นแอปเปิลจะเพิ่มจำนวนวันที่เข้าสำนักงาน เป็น 2 วันต่อสัปดาห์ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ของแผน และหลังวันที่ 23 พฤษภาคม จะเป็นโหมดการทำงานแบบไฮบริดเต็มรูปแบบ เข้าสำนักงานทุกวันจันทร์-อังคาร-พฤหัสบดี ส่วนวันพุธและวันศุกร์ พนักงานสามารถเลือกทำงานที่บ้าน หรือจะเข้าสำนักงานก็ได้ นอกจากนี้แอปเปิลยังพูดถึงแนวทางจัดการของ Apple Store ว่าจะยกเลิกข้อกำหนดการใส่มาสก์ หากข้อกำหนดในพื้นที่มีการผ่อนคลายมาตรการ ที่มา: The Verge
# ใบรับรองดิจิทัล NVIDIA หลุดหลังถูกแฮ็ก แถมเป็นใบรับรองที่ Windows ยอมรับได้ จากข่าว NVIDIA ยืนยันข่าวโดนแฮ็กระบบ แฮ็กเกอร์ได้ข้อมูลพนักงานและซอร์สโค้ด ตอนนี้วงการความปลอดภัยเริ่มตรวจพบมัลแวร์ที่ใช้ใบรับรองดิจิทัลของ NVIDIA ที่หลุดออกมา เซ็นรับรองไบนารีเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือแล้ว ความน่ากลัวของเรื่องนี้คือ ระบบปฏิบัติการ Windows ในปัจจุบัน (Windows 10 v1607 ขึ้นไป) มีนโยบายว่าจะยอมรับไดรเวอร์ที่เซ็นโดยใบรับรองดิจิทัล ที่ผ่านการตรวจสอบจากไมโครซอฟท์เท่านั้น (attestation signing) แต่ไมโครซอฟท์มีข้อยกเว้นเล็กๆ ให้ว่า ถ้าเป็นใบรับรองดิจิทัลที่ออกก่อน 29 กรกฎาคม 2015 ไมโครซอฟท์จะยอมรับไดรเวอร์เหล่านี้ด้วย เพื่อความเข้ากันได้ของไฟล์ไดรเวอร์เก่า ประเด็นคือใบรับรองของ NVIDIA ที่หลุดออกมาเป็นวันที่ปี 2014 ทำให้ใบรับรองนี้ถูกนำไปใช้งานเพื่อให้ทะลุช่องโหว่นี้ได้ (ไฟล์ไดรเวอร์ปลอม เซ็นด้วยใบรับรองนี้แล้ว Windows ยอมรับ) ไมโครซอฟท์ระบุว่ารับทราบเรื่องนี้แล้ว กำลังตรวจสอบและจะพิจารณาว่าจะป้องกันช่องโหว่นี้อย่างไร ที่มา - The Register
# PayPal ประเทศไทยแถลงหลังหารือ ธปท. บัญชีใช้งานได้ต่อตามปกติ ไม่ปิดระบบแล้ว PayPal ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ต่อสื่อ หลังจากหารือแนวทางร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (เนื้อหาโดยสรุปเหมือนกัน แต่อันนี้มาจากฝั่ง PayPal เอง) มีข้อสรุปดังนี้ บัญชี PayPal สำหรับธุรกิจและผู้ขาย เดิมที่เปิดก่อน 7 มีนาคม 2564 จะยังใช้งานต่อได้ตามปกติ ทั้งโอนเงินและรับเงิน โดยจะไม่มีการจำกัดบัญชีในวันที่ 7 มีนาคม 2565 ตามแผนเดิมอีกแล้ว บัญชี PayPal สำหรับธุรกิจและผู้ขาย เดิมที่เปิดหลัง 7 มีนาคม 2564 จะยังใช้งานต่อได้ตามปกติ โดยเจ้าหน้าที่จาก PayPal จะติดต่อ บัญชี PayPal สำหรับผู้ซื้อ ใช้จ่ายเงินได้ตามปกติ ทั้งโอนเงินและรับเงิน และซื้อสินค้าผ่านวอลเล็ต แถลงการณ์ฉบับเต็ม
# แฮกเกอร์ปล่อยข้อมูลซัมซุง 190GB รวมถึงซอร์สโค้ดจำนวนมาก กลุ่มแฮกเกอร์ Lapsus$ ประกาศขโมยข้อมูลออกจากมาจากซัมซุงได้สำเร็จ โชว์ไฟล์บีบอัดแล้วขนาด 190GB ส่วนสำคัญคือซอร์สโค้ดของอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ ซอร์สโค้ด Trusted Applet โปรแกรมที่รันอยู่ใน TrustZone ของอุปกรณ์ซัมซุง อัลกอริทึมสำหรับการปลดล็อกด้วยไบโอเมทริกซ์ bootloader ซอร์สโค้ดจาก Qualcomm ซอร์สโค้ดของเซิร์ฟเวอร์ซัมซุง รวมถึงซอร์สโค้ดล็อกอินบัญชีต่างๆ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลไฟล์อื่นๆ จะเป็นอะไรบ้าง โดยทาง Lapsus$ กำลังปล่อยไฟล์ทั้งหมดผ่านทาง bittorrent ที่มา - Bleeping Computer
# Disney+ เตรียมเพิ่มแพ็คเกจที่ราคาถูกลง แต่มีโฆษณา เริ่มต้นที่อเมริกาภายในปีนี้ ดิสนีย์ประกาศว่าบริการสตรีมมิ่ง Disney+ จะเพิ่มทางเลือกการสมัครใช้งานแบบที่มีโฆษณาแทรก ส่วนแบบไม่มีโฆษณาเดิมก็ยังคงอยู่ โดยจะเริ่มต้นในอเมริกาก่อนเป็นแห่งแรก ช่วงปลายปีนี้ และจะขยายไปยังต่างประเทศในปี 2023 ทั้งนี้แพ็คเกจรับชมแบบมีโฆษณาจะไม่ฟรี แต่มีค่าบริการรายเดือนที่ถูกลง และดิสนีย์ก็อธิบายที่มาของแพ็คเกจแบบนี้ ว่าจะช่วยให้บริษัทไปถึงเป้าหมายที่ต้องการฐานผู้ชม Disney+ เป็น 230-260 ล้านคน ภายในปี 2024 ข้อมูลที่น่าสนใจคือในอเมริกานั้น รูปแบบการดูสตรีมมิ่งที่ลูกค้าเสียเงินน้อยลงแต่มีโฆษณา ทำให้บริษัทมีตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อผู้ชม (ARPU) สูงขึ้น ปัจจุบันบริการ Peacock ของ NBCUniversal ที่มีแพ็คเกจแบบติดโฆษณามี ARPU 10 ดอลลาร์ ขณะที่ Disney+ เฉพาะอเมริกาและแคนาดามี ARPU ที่ 6.68 ดอลลาร์ ที่มา: ดิสนีย์ ผ่าน CNBC
# ซัมซุงชี้แจงเรื่องบีบประสิทธิภาพแอพ บอกจะอัพเดตให้ปิดได้, Geekbench ถอดมือถือซัมซุงจากชาร์ท จากข่าวที่มีผู้ใช้ในเกาหลีใต้พบว่า แอพ Game Optimizing Service (GOS) ของซัมซุง แอบปรับลดประสิทธิภาพของแอพอื่นขณะเล่นเกม (ยกเว้นแอพเบนช์มาร์ค) จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ซัมซุงออกแถลงการณ์ผ่าน The Verge ว่าจะออกอัพเดตให้ผู้ใช้สามารถ "ปิด" การทำงานของ GOS ระหว่างเล่นเกมได้ โดยอธิบายว่า GOS ถูกออกแบบมาให้เล่นเกมให้มีประสิทธิภาพสูงๆ แต่ยังรักษาระดับความร้อนของเครื่องไว้ได้ ประเด็นที่ซัมซุงถูกวิจารณ์หนักคือ GOS มีรายชื่อแอพมากกว่า 10,000 ตัวที่เขียนมาแบบ hard code ซึ่งซัมซุงอาจอ้างว่าบีบลดประสิทธิภาพของแอพตัวอื่น เพื่อให้เล่นเกมได้ลื่น แต่กลับยกเว้นแอพเบนช์มาร์คไว้ซะอย่างนั้น จากกรณีนี้ เบนช์มาร์คชื่อดัง Geekbench ก็ประกาศถอดผลการทดสอบมือถือเรือธงของซัมซุงคือ S10, S20, S21, S22 ออกจากชาร์ทของ Geekbench แล้ว ที่มา - The Verge
# CD Projekt, GOG, EA หยุดขายเกมในรัสเซีย นินเทนโดปิด eShop ชั่วคราว บริษัทเกมยักษ์ใหญ่หลายราย ประกาศยุติการทำธุรกิจในประเทศรัสเซียและเบลารุส จากสถานการณ์สงครามในยูเครน รายที่สำคัญคือ CD Projekt ที่ประกาศหยุดการให้บริการขายเกมดิจิทัลบน GOG และหยุดขายเกมของตัวเอง (เช่น Cyberpunk 2077 หรือ The Witcher) กับลูกค้าในรัสเซียและเบลารุส GOG ยังร่วมมือกับนักพัฒนาเกมหลายราย จัดแคมเปญขายเกมเพื่อนำเงินไปช่วยผู้ประสบภัยสงคราม และ CD Projekt ที่มีสำนักงานใหญ่ในโปแลนด์ (ติดกับยูเครน) ก็มีโครงการช่วยสนับสนุนสิ่งของเครื่องใช้ให้ผู้ลี้ภัยจากยูเครนด้วย บริษัทใหญ่อีกเกมคือ EA ประกาศหยุดขายเกมของตัวเองในรัสเซียและเบลารุส โดยเริ่มจากหน้าร้าน Origin ของตัวเอง, ผ่านแอพ EA, การซื้อขายสินค้าในเกม และ EA บอกว่าจะแจ้งพาร์ทเนอร์ร้านขายเกมอื่นๆ ให้ถอดเกมของ EA ออกจากสโตร์ด้วย ก่อนหน้านี้ EA เพิ่งประกาศถอดทีมชาติและทีมสโมสรรัสเซีย ออกจากเกมตระกูล FIFA และ NHL บริษัทเกมรายอื่นๆ ที่ประกาศหยุดทำธุรกิจในรัสเซียแล้วคือ Xbox (ภายใต้ร่มใหญ่ของไมโครซอฟท์ที่เพิ่งประกาศ), Sony ที่ไม่ขายเกม Gran Turismo 7 ในรัสเซีย, Bloober Team เจ้าของเกมสยองขวัญ The Medium นอกจากนี้ยังมีนินเทนโดแจ้งลูกค้าในรัสเซียว่า ไม่สามารถขายเกมดิจิทัลผ่าน Nintendo eShop ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องการจ่ายเงิน แม้ไม่ได้ประกาศหยุดขายหรือให้บริการเกมในรัสเซียก็ตาม ที่มา - IGN, EA, GamesIndustry
# Elden Ring เปิดตัวแรง ยอดขายในอังกฤษสัปดาห์แรกสูงกว่า Horizon Forbidden West Elden Ring เกมใหม่จาก FromSoftware สร้างสถิติเป็นเกมเปิดตัวแรงของสหราชอาณาจักร (ซึ่งยังมีการเก็บสถิติยอดขายทั้งแบบแผ่นและแบบดิจิทัล) โดยยอดขาย 1 สัปดาห์แรกสูงกว่าเกมดังๆ หลายเกม เช่น Cyberpunk 2077, Assassin's Creed Valhalla, Horizon Forbidden West ถึงแม้ Elden Ring ไม่ได้เป็นเกมขายดีที่สุดช่วงเปิดตัว แต่ก็เป็นรองแค่เกมซีรีส์ Call of Duty กับ FIFA (ที่ขายดีตลอดกาลอยู่แล้ว) ถ้าจะหาเกมอื่นนอก 2 ซีรีส์นี้ที่ขายดีกว่า Elden Ring ในสัปดาห์แรก ต้องย้อนไปถึง Red Dead Redemption 2 ในปี 2018 โน่นเลย นอกจากนี้ยังมียอดขายแยกย่อยตลาดแพลตฟอร์ม โดย Elden Ring มีสัดส่วนยอดขายแบบดิจิทัลบน Xbox เยอะที่สุดถึง 85%, ตามด้วยพีซี 73% ส่วน PlayStation มียอดขายดิจิทัลเพียง 50% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าคนยังนิยมเล่นแบบแผ่นอยู่มาก ที่มา - Eurogamer
# Apple Maps แสดงไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน จากเดิมแสดงเป็นพื้นที่ของรัสเซีย Apple ปรับปรุงระบบแผนที่ Apple Maps เล็กน้อย โดยตอนนี้เปลี่ยนไปแสดงพื้นที่ไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยูเครนสำหรับผู้ใช้งานนอกรัสเซีย รัสเซียเข้าบุกยึดแหลมไครเมียของยูเครนตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งตอนนั้น Apple ก็ปฏิเสธจะกำหนดไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศใด แต่ในปี 2019 ก็ได้อัพเดตเพื่อระบุว่าไครเมียเป็นแผ่นดินของรัสเซียสำหรับผู้ที่ใช้งานแผนที่จากรัสเซีย ทำให้รัสเซียพอใจแต่ฝั่งยูเครนก็ตั้งคำถามในเรื่องนี้ ตอนนี้ในระหว่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน Apple ได้ปรับแผนที่อีกครั้งโดยกำหนดให้ไครเมียเป็นพื้นที่ของยูเครนเมื่อใช้งานแผนที่นอกรัสเซีย ซึ่งการปรับ Apple Maps ครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลัง Apple หยุดขายสินค้าและให้บริการบางอย่างในรัสเซีย โฆษก Apple ระบุว่ากังวลกับสถานการณ์บุกยึดยูเครนโดยรัสเซีย และพร้อมยืนหยัดอยู่ข้างผู้ที่รับผลกระทบของสงคราม ซึ่งทางบริษัทได้ดำเนินการเพื่อตอบโต้การบุกยึดในหลายทางและจะประเมินสถานการณ์พร้อมทั้งสื่อสารกับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดำเนินการ ซึ่ง Apple จะร่วมมือกับทั่วโลกเพื่อเรียกร้องความสันติ ที่มา - TechCrunch ภาพ irinariviera/Pixabay
# [ลือ] Apple เตรียมออก Mac ตัวใหม่ชื่อ Mac Studio และกำลังพัฒนาจอที่ละเอียดกว่า Pro Display XDR 9to5Mac รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง ว่าแอปเปิลกำลังพัฒนาคอมพิวเตอร์ Mac ตัวใหม่โดยเรียกชื่อตอนนี้ว่า Mac Studio ซึ่งเป็นประโยชน์จากที่แอปเปิลมีชิป Apple Silicon เป็นของตนเอง ข้อมูลบอกว่า Mac Studio จะพัฒนาต่อยอดจาก Mac mini แต่ใช้ฮาร์ดแวร์ที่แรงขึ้น มีสองรุ่นย่อย โดยรุ่นหนึ่งใช้ชิป M1 Max ตัวเดียวกับใน MacBook Pro รุ่นล่าสุด และอีกรุ่นจะเป็นชิปที่สเป็กสูงกว่า M1 Max โค้ดเนมภายในแอปเปิลตอนนี้คือ J375 คาดว่าแอปเปิลจะวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ใหม่ Mac Studio ตรงกลางระหว่าง Mac mini และ Mac Pro เน้นกลุ่มลูกค้ามืออาชีพที่ใช้ Mac สำหรับงานเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าแอปเปิลกำลังพัฒนาจอภาพรุ่นใหม่ชื่อเรียก Apple Studio Display ที่มีความละเอียดสูงกว่า Pro Display XDR จอราคาหลักแสนความละเอียด 6K โดยจอรุ่นใหม่นี้ความละเอียดที่ 7K ที่มา: 9to5Mac [1], [2]
# ซัมซุงหยุดส่งสินค้าทุกประเภทไปขายรัสเซีย สมาร์ทโฟน ชิป เครื่องใช้ไฟฟ้า ตัวแทนของซัมซุงยืนยันกับ Bloomberg ว่าหยุดส่งสินค้าทุกประเภทไปขายที่รัสเซียชั่วคราว ทั้งสมาร์ทโฟน ชิป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ แอปเปิลประกาศหยุดขายสินค้าในรัสเซียไปแล้ว ถ้าดูจากสถิติของ Counterpoint Research ที่เพิ่งออกมาเมื่อไม่กี่วันนี้ ซัมซุงถือเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดสมาร์ทโฟนรัสเซียปี 2021 มีส่วนแบ่ง 30% ส่วนแอปเปิลอยู่อันดับสาม มีส่วนแบ่ง 13% (อันดับสองคือ Xiaomi 23%) การหยุดขายสมาร์ทโฟนของแอปเปิลและซัมซุงจะส่งผลต่อตลาดสมาร์ทโฟนรัสเซียถึง 43% อย่างไรก็ตาม Counterpoint ชี้ว่านี่อาจเป็นโอกาสของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์จีน ที่จะชิงส่วนแบ่งตลาดที่หายไปของแอปเปิลและซัมซุง ที่มา - Bloomberg
# Trivia Quest รายการใหม่ใน Netflix เกมโชว์ตอบคำถามแบบ interactive ที่ผ่านมา Netflix มีคอนเทนต์แบบ interactive ที่ผู้ชมเลือกกำหนดทิศทางเนื้อหาได้ อย่างเช่น Bandersnatch ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในซีรี่ส์ Black Mirror ผู้บริหารเองก็บอกว่าจะเพิ่มคอนเทนต์ประเภทนี้ให้มากขึ้น คราวนี้ Netflix มาด้วยคอนเทนต์ที่ใช้พลัง interactive เต็มรูปแบบซึ่งก็หนีไม่พ้นเกมโชว์ในรูปแบบการ์ตูน ชื่อรายการว่า Trivia Quest โดยจะเผยแพร่วันละตอนตลอดเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน เป็นต้นไป (Netflix เพิ่มเติมว่าไม่ใช่ April Fool’s) ในแต่ละตอนจะมีคำถามความรู้รอบตัวทั้งหมด 24 ข้อ โดยตัวเอก Willy จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อน ๆ ผ่านการที่ผู้ชมเลือกตัวเลือกคำตอบ ในคำถามแต่ละข้อ Netflix บอกว่า Trivia Quest เป็นโครงการทดลอง และอาจทำซีซั่นถัดไป หรือขยายไปพัฒนาคอนเทนต์อื่นในอนาคต ที่มา: Netflix
# Microsoft ปิดดีลซื้อ Nuance แล้ว เตรียมพัฒนา AI เป็นโซลูชั่นสำหรับองค์กร เมื่อปีที่แล้ว Microsoft ประกาศซื้อ Nuance Communications อย่างเป็นทางการ และวันนี้ Microsoft ก็ปิดดีลได้แล้วอย่างเป็นทางการด้วยมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากดำเนินเรื่องกับกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และหน่วยงานด้านการแข่งขันและการตลาดของอังกฤษเรียบร้อยแล้ว ในวิดีโอแถลงการเข้าซื้อบริษัท Satya Nadella ซีอีโอ Microsoft ระบุว่า Nuance เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้าน AI สำหรับภาคองค์กร ซึ่งจะร่วมกันใช้พลัง AI ในการช่วยองค์กรในทุกอุตสาหกรรมสร้างประสบการณ์สู่ลูกค้าที่ดี แม้ว่า Nuance จะโฟกัสงาน AI ด้านสุขภาพเป็นหลัก แต่จากคำแถลงของ Nadella บ่งบอกชัดว่า Microsoft จะนำความสามารถ AI ของ Nuance มาทำเป็นโซลูชั่นเพื่อให้ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม การเข้าซื้อ Nuance ถือเป็นหนึ่งในการซื้อกิจการครั้งสำคัญของ Microsoft ในยุคของ Nadella โดยมูลค่าการเข้าซื้อ Nuance ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์นี้ถือเป็นการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่อันดับสองรองจาก LinkedIn ที่ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี Microsoft ยังมีดีลซื้อกิจการขนาดใหญ่ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์อีกหนึ่งดีลคือดีลเข้าซื้อ Activision Blizzard ที่เมื่อสำเร็จจะกลายเป็นดีลขนาดใหญ่อันดับหนึ่งในยุคซีอีโอ Satya Nadella ที่มา - TechCrunch
# ไมโครซอฟท์หยุดขายสินค้าและบริการเพิ่มในรัสเซีย ไมโครซอฟท์ประกาศหยุดขายสินค้าและบริการในรัสเซียเพิ่ม นับเป็นมาตรการชุดที่สองหลังจากเพิ่งประกาศถอดสื่อรัสเซียออกจากเว็บและผลค้นหา ไมโครซอฟท์ไม่ได้บอกรายละเอียดของการหยุดให้บริการครั้งนี้ เช่นบริการคลาวด์ Azure ว่ายังใช้ต่อได้หรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ Namecheap นั้นถึงกับหยุดให้บริการโฮสต์ทันทีเปิดให้ผู้ใช้เดิมย้ายข้อมูลได้เท่านั้น ประกาศของไมโครซอฟท์ระบุเพียงว่าจะหยุด "การขายใหม่" (all new sales) ดังนั้นอาจจะไม่ได้ตัดบริการผู้ใช้เดิมเหมือน Namecheap ไมโครซอฟท์ระบุว่าได้หยุดธุรกิจหลายส่วนในรัสเซียเพื่อทำตามคำสั่งแบนของรัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และเตรียมเพิ่มมาตรการอื่นๆ ต่อไปหากสถานะการณ์เปลี่ยนแปลง ที่มา - Microsoft ภาพโดย efes
# Sony วางขาย Gran Turismo 7 ทั่วโลก ยกเว้นในรัสเซีย วันนี้ (4 มีนาคม) Sony วางขายเกมรถแข่ง Gran Turismo 7 ที่แฟนๆ รอกันมานาน ซึ่งคะแนนรีวิวก็ออกมาดีเช่นเคย (คะแนนเฉลี่ย Metacritic ตอนนี้อยู่ที่ 87/100) แต่เว็บไซต์ Eurogamer ค้นพบว่า Sony ไม่มีวางขาย Gran Turismo 7 บน PlayStation Store ของประเทศรัสเซีย โดยไม่ได้ระบุเหตุผลที่แน่ชัด แต่ก็เดากันได้ว่ามาจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก่อนหน้านี้ CD Projekt ในฐานะบริษัทเกมจากโปแลนด์ (ที่มีพรมแดนติดกับยูเครน) เพิ่งประกาศว่าจะหยุดให้บริการร้านขายเกม GOG.com ในรัสเซียและเบลารุส ถือเป็นร้านขายเกมดิจิทัลรายแรกที่ประกาศนโยบายนี้ หน้าเว็บ Gran Turismo 7 บน PlayStation Store รัสเซีย ไม่มีปุ่มให้กดซื้อ ที่มา - Eurogamer
# ได้ข้อยุติ PayPal ยังไม่ปิดระบบวอลเล็ทในไทย 7 มีนาคม, ธทป. ให้เวลาทำระบบใหม่ถึงสิ้นปี 65 จากข่าวก่อนหน้านี้ที่ คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน เชิญธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาประชุมเพื่อแก้ปัญหาเรื่อง PayPal ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลงข่าวอย่างเป็นทางการบนหน้าเว็บไซต์ ว่า PayPal จะเลื่อนกำหนดการปิดระบบวอลเล็ทในไทย 7 มีนาคม ตามแผนเดิม ออกไปก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้งานในระยะสั้น ส่วนในระยะยาว กระทรวงการคลัง และ ธปท. ขยายเวลาที่ PayPal จะต้องโอนย้ายการให้บริการแก่ลูกค้าไทยในต่างประเทศมาอยู่ภายใต้ PayPal ประเทศไทย ออกไปเป็นสิ้นปี 2565 ทำให้ลูกค้าไทยที่มีบัญชี PayPal อยู่แล้วในปัจจุบันจะยังสามารถใช้บริการได้ต่อเนื่อง โดย PayPal จะต้องพัฒนาระบบ Know Your Customer (KYC) ให้เสร็จภายในสิ้นปี 2565 นอกจากนี้ PayPal ยังจะต้องเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือและดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท. จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป ที่มา - ธปท.
# Twitter ประกาศ กลับมาเปิดสำนักงานทั่วโลก 15 มีนาคม เป็นต้นไป แต่พนักงานยังเลือกทำงานที่บ้านต่อได้ Parag Agrawal ซีอีโอ Twitter ประกาศแผนการกลับเข้ามาทำงานในสำนักงาน โดยสำนักงานทั่วโลกจะเปิดตั้งแต่ 15 มีนาคม เป็นต้นไป รวมทั้งการเดินทางติดต่องานสามารถทำได้ตามปกติ เขายังบอกข้อดีของการทำงานในสำนักงานร่วมกัน ว่าช่วยสร้างพลัง ทั้งจากการประชุม พบปะพูดคุย อย่างไรก็ตามพนักงานยังสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าสำนักงานวันใดบ้าง โดยได้ทั้งแบบทุกวัน บางวัน หรือเลือกทำงานจากที่บ้านต่อไปก็ได้เช่นกัน ก่อนหน้านี้ Twitter ประกาศนโยบายในช่วงที่โควิด 19 เริ่มระบาดปีแรก ว่าพนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้ตลอดไป แม้ว่าสถานการณ์โควิด 19 จะกลับมาเป็นปกติ ที่มา: CNBC
# Sony ตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Honda พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน ตั้งเป้าขายปี 2025 Sony และ Honda เซ็นสัญญาตั้งบริษัทร่วมทุน (joint venture) เพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านรถยนต์ของ Honda และความเชี่ยวชาญด้านเซ็นเซอร์-กล้อง-โทรคมนาคมของ Sony มารวมกันเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้า บริษัทใหม่ยังไม่มีชื่อ บอกว่าจะตั้งภายในปี 2022 และตั้งเป้าวางขายรถยนต์รุ่นแรกในปี 2025 รถยนต์รุ่นนี้จะผลิตโดยโรงงานของ Honda และมีซอฟต์แวร์ mobility service platform ที่พัฒนาโดย Sony ก่อนหน้านี้ Sony เคยประกาศมาแล้วว่าจะลงมาทำธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ความคืบหน้าล่าสุดนี้คือไม่ได้ทำคนเดียวแล้ว จะทำร่วมกับ Honda นั่นเอง ที่มา - Sony ภาพรถยนต์ต้นแบบ Vision-S ที่ Sony เคยนำมาโชว์ในปี 2020
# KBank-กทม. เปิดตัว "หมอ กทม." แอปเดียวเข้าถึงบริการ 11 โรงพยาบาล รองรับผู้ใช้งานกว่า 4 ล้านคนต่อปี "หมอ กทม." แอปภายใต้โครงการ Smart OPD แอปเดียวใช้ได้กับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมครบทั้ง 11 แห่ง เพื่อความทั่วถึงและฉุกเฉิน รองรับให้บริการคนไข้นอกกว่า 4 ล้านคนต่อปี โดยจะใช้บริการได้ครบ 11 โรงพยาบาลภายในปลายเดือนมีนาคม 2565 แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ภายใต้โครงการ Smart OPD เพื่อให้บริการได้แบบเว้นระยะห่าง ลดการสัมผัส ลดการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการได้ผ่านสมาร์ทโฟน ครอบคลุมโรงพยาบาล 11 แห่งในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยนอกรวมกว่า 4 ล้านราย และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) รวมทั้งรวบรวมความรู้ด้านสุขภาพจากแพทย์และบุคลากรจากสหสาขาวิชาชีพ โรงพยาบาลจะเริ่มทยอยขึ้นจนครบ 11 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลคลองสามวา โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ภายในปลายเดือนมีนาคม 2565 KBank จัดเทคโนโลยีช่วยพัฒนา หมอ กทม. ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทย นำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนในการพัฒนาระบบบริการทางแพทย์ของกรุงเทพมหานคร สร้างแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการในช่วงที่สังคมยังต้องใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่าง ลดข้อจำกัดในระบบการดูแลสุขภาพในช่วงที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงการเตรียมความพร้อมหากวิกฤติเกิดขึ้นอีก โดยแอปฯ “หมอ กทม.” มุ่งพัฒนาใน 3 แกนหลัก การเชื่อมต่อข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางของโรงพยาบาล (Hospital Information System: HIS) มาแสดงที่แอปพลิเคชัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงประวัติสุขภาพและการรักษาได้ด้วยตนเอง ช่วยให้การรักษาและการรับบริการทางการแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสร้างประสบการณ์ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย รวดเร็ว ผู้ใช้บริการสามารถทำได้ด้วยตนเอง ทั้งในและนอกสถานที่ของโรงพยาบาล การเชื่อมโยงระบบชำระเงินและบริการทางเงินต่างๆ ที่เลี่ยงสัมผัสเงินสด สำหรับบริการใน หมอ กทม. ประกอบด้วย นัดหมายพบแพทย์ ตรวจสอบรายการนัดหมาย แจ้งเตือนการนัดหมาย และกดรับบัตรคิวในแอปฯ ตรวจสอบสิทธิการักษาพยาบาล อาทิ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ตรวจสอบสถานะคิวตรวจ แจ้งลำดับคิว และขั้นตอนการใช้บริการในโรงพยาบาล ลงทะเบียนตรวจรักษา บริการลงทะเบียนตรวจรักษาโรค จองวันเข้ารับการตรวจรักษาได้ง่าย ผ่านแอปฯ ประวัติการรักษา ตรวจสอบผลวินัจฉัยโรค ประวัติการแพ้ยา/วัคซีน ประวัติรับยา ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถรับบริการจากสถานพยาบาลอื่นได้สะดวก โดยเรียกดูข้อมูลการรักษาได้เองโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล แจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ด้วยฟีเจอร์แจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน พร้อมแชร์โลเคชันเพื่อขอรับการช่วยเหลือจากศูนย์เอราวัณ ตรวจรักษาออนไลน์ บริการตรวจรักษาด้วยระบบโทรเวชกรรม (Tele-medicine) โดยสามารถตรวจรักษา ติดตามอาการ ตลอดจนได้รับคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์ผ่านระบบวีดีโอคอล (VDO Call) โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ผู้ใช้บริการสามารถรับยาผ่านไปรษณีย์ หรือรับด้วยตนเองที่ร้านยาใกล้บ้าน
# ผู้พัฒนาเบราว์เซอร์หลักร่วมสร้างชุดทดสอบ CSS ใหม่เพื่อให้ฟีเจอร์ใหม่ๆ ทำงานตรงกัน แอปเปิล, ไมโครซอฟท์, กูเกิล, มอซิลล่า ผู้ผลิตเบราว์เซอร์หลัก พร้อมกับ Igalia และ Bocoup รวมสนับสนุนการสร้างชุดทดสอบ Interop 2022 สำหรับการทดสอบการทำงานฟีเจอร์ CSS ยุคใหม่ 15 ชุด ฟีเจอร์ CSS นั้นก้าวหน้าไปมากในช่วงหลัง มีฟีเจอร์เพื่อการรองรับหน้าจอที่ซับซ้อน หรือการจัดการสีชั้นสูง ตลอดจนสามารถคำนวณค่าจากใน CSS ตัวอย่างเช่น viewport units ที่แสดงความกว้างและสูงของหน้าจอ ปี 2021 ที่ผ่านมาก็เคยมีความร่วมมือแบบเดียวกันนี้ในชื่อชุดทดสอบ Compat 2021 โดยเบราว์เซอร์ต่างๆ ก็ปรับปรุงจนกระทั่งทำคะแนนได้เกิน 90 ทุกตัว สำหรับ Interop 2022 ตอนนี้เบราว์เซอร์ทำคะแนนเริ่มต้นได้ประมาณ 70 คะแนน ที่มา - Web.dev
# MediaTek เปิดตัวชิปรุ่นรอง Dimensity 8100, 8000, 1300 MediaTek เปิดตัวชิป SoC ตระกูล Dimensity สำหรับสมาร์ทโฟนเพิ่มอีก 3 รุ่น Dimensity 8000 และ 8100 เป็นชิปรุ่นรองท็อปจาก Dimensity 9000 รุ่นเรือธง ใช้แกนซีพียู Cortex-A78 x4 + Cortex-A55 x4, จีพียูรุ่นรองท็อป Mali G610, รองรับสตอเรจ UFS 3.1 และแรม LPDDR5, ชิปประมวลผลภาพ MediaTek Imagiq 780 ISP และชิป AI APU 580, ใช้กระบวนการผลิตที่ 5nm TSMC ชิปทั้งสองตัวมีสเปกใกล้เคียงกัน โดยรุ่น Dimensity 8100 มีคล็อคซีพียูและจีพียูแรงกว่าเล็กน้อย รองรับการแสดงผลที่ความละเอียดสูงกว่า Dimensity 1300 ชิปรุ่นเล็ก แต่ก็ยังใช้แกนซีพียูใกล้เคียงกันคือ Cortex-A78 ตัวแรง x1 + Cortex-A78 ปกติ x3 + Cortex-A55 x4, จีพียูเป็น Mali-G77 9 คอร์, รองรับแรม LPDDR4x และสตอเรจ UFS 3.1, รองรับการถอดรหัสวิดีโอ AV1, ใช้การผลิตที่ 6nm TSMC อีกไม่น่านเราน่าจะได้เห็นสมาร์ทโฟนรุ่นกลางๆ ที่ใช้ชิปทั้ง 3 รุ่นออกวางขายกัน ที่มา - MediaTek, MediaTek
# HTC ประกาศกลับมาทำมือถือไฮเอนด์ ชูจุดขายเรื่อง Metaverse HTC ขายแผนกสมาร์ทโฟนให้กูเกิลในปี 2018 แต่ก็ยังมีออกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ มาบ้างประปราย (ล่าสุดคือมือถือระดับกลาง HTC Desire 21 Pro 5G เมื่อปี 2021) แต่ล่าสุดดูเหมือนว่า HTC จะกลับมาทำตลาดสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์อีกครั้ง ตัวแทนของ HTC ให้สัมภาษณ์กับสื่อไต้หวัน DigiTimes ว่าจะออกสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ในเดือนเมษายน 2022 โดยชูจุดขายว่าจะมีฟีเจอร์ด้าน metaverse แต่ไม่บอกชัดว่าหมายถึงอะไร ที่ผ่านมา HTC ผันตัวไปทำตลาดแว่น VR ตระกูล Vive แต่ก็ไม่ชัดเจนนักว่าจะมาเชื่อมกับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ได้อย่างไร (กูเกิลเองก็เลิกทำ Daydream บน Android ไปแล้ว) ในงาน MWC 2022 บริษัทเพิ่งเปิดตัวแนวคิด Viverse ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับสมาร์ทโฟนตัวนี้ได้เช่นกัน เมื่อปี 2018 HTC เคยเปิดตัว Exodus มือถือระดับไฮเอนด์ที่มีฟีเจอร์ประมวลผลบล็อคเชน เน้นงานคริปโต แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จและออกมาแค่รุ่นเดียว ที่มา - DigiTimes via xda
# Amazon Luna ปลดป้าย Beta, เพิ่มฟีเจอร์ไลฟ์ขึ้น Twitch, เพิ่มช่องเกมฟรีให้สมาชิก Prime Amazon Luna บริการคลาวด์เกมมิ่งจาก Amazon ปลดป้าย Beta เปิดให้ผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาทุกคนสมัครได้เล่นได้แล้ว Amazon Luna เป็นบริการคลาวด์เกมมิ่งที่มีแนวคิด channel ที่มีเกมแตกต่างกันไป โดยลูกค้าเลือกสมัครเฉพาะช่องเกมที่ต้องการเล่นได้ (เช่น ช่อง Ubisoft+ ที่มีเฉพาะเกมของ Ubisoft) ซึ่งในโอกาสนี้ Luna เปิดช่องเพิ่มอีก 3 ช่องคือ Retro Channel เกมเก่าย้อนยุค เช่น Street Fighter II, Metal Slug 3 ราคา 4.99 ดอลลาร์/เดือน Jackbox Games เกมแนวปาร์ตี้ของบริษัท Jackbox ราคา 4.99 ดอลลาร์/เดือน Prime Gaming ช่องฟรีสำหรับสมาชิก Amazon Prime มีเกมเด่นวนมาให้เล่นฟรี เช่น ตอนนี้มี Devil May Cry 5 แล้วจะมี Immortal Fenyx Rising Luna ยังประกาศเพิ่มฟีเจอร์ใหม่คือการกดไลฟ์ขึ้น Twitch ได้ทันที และ Phone Controller ใช้หน้าจอสมาร์ทโฟนจำลองเป็นคอนโทรลเลอร์สำหรับเล่นเกมบน Fire TV ที่มา - Amazon Luna
# Miguel de Icaza ผู้ร่วมก่อตั้ง Xamarin ลาออกจากไมโครซอฟท์ หลังอยู่มานาน 6 ปี Miguel de Icaza ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Xamarin ที่ขายให้ไมโครซอฟท์ในปี 2016 ยืนยันข่าวลาออกจากไมโครซอฟท์ หลังทำงานกับไมโครซอฟท์มานาน 6 ปี Icaza เป็นโปรแกรมเมอร์ชาวเม็กซิกัน ผู้ก่อตั้งโครงการเดสก์ท็อป GNOME ในปี 1997 จากนั้นเขาและเพื่อนอีกคนคือ Nat Friedman ไปตั้งบริษัท Ximian ในปี 1999 ทำโครงการ Mono ที่เป็น .NET เวอร์ชันโอเพนซอร์ส แล้วขายให้ Novell ในปี 2003 ปี 2011 ทั้ง Icaza และ Friedman ลาออกจาก Novell มาตั้งบริษัท Xamarin พัฒนา Mono สำหรับมือถือจอสัมผัส แล้วขายให้ไมโครซอฟท์ในปี 2016 โดยปัจจุบัน Xamarin ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ .NET 6 หลังเข้ามาอยู่กับไมโครซอฟท์ Nat Friedman ย้ายไปเป็นซีอีโอของ GitHub อยู่พักใหญ่ๆ และเพิ่งลาออกไปเมื่อปลายปี 2021 ส่วน Icaza ไปทำงานด้าน AI อยู่ในทีม ONNX ของไมโครซอฟท์ ล่าสุดเขาก็ประกาศลาออกเช่นกัน Icaza บอกว่าเขาจะพักผ่อนสักระยะ แล้วลองไปหาอะไรใหม่ๆ ทำดูว่ามีเรื่องไหนน่าสนใจบ้าง เขาบอกว่าคงจะไปทำสตาร์ตอัพใหม่ เพราะคิดถึงบรรยากาศแบบสตาร์ตอัพ หากเขาอยากทำงานกับบริษัทใหญ่ต่อก็ไม่มีเหตุผลที่ลาออก เพราะไมโครซอฟท์เป็นบริษัทที่ดี และเขาได้รับประสบการณ์ที่ดีในการทำงานที่นี่ ที่มา - ZDNet
# Reddit แบนการโพสต์ลิงก์จากสื่อรัฐบาลรัสเซีย มีผลกับผู้ใช้ทั้งโลก Reddit เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลรายล่าสุดที่ประกาศจุดยืนเคียงข้างประชาชนยูเครน โดยออกนโยบายดังนี้ แบนการโพสต์ลิงก์ของสื่อรัฐบาลรัสเซีย (เช่น RT, Sputnik และอื่นๆ) บน Reddit ทั้งหมด มีผลกับทั้งโลก หยุดรับโฆษณาที่เจาะกลุ่มคนรัสเซีย หรือมาจากหน่วยงานใดๆ ก็ตามของรัสเซีย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน Reddit บอกว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ชุมชน subreddit หลายห้องออกนโยบายห้ามโพสต์ลิงก์จากสื่อรัสเซียอยู่ก่อนแล้ว แต่บริษัทตัดสินใจแบนทั้งเว็บเลย Reddit ยังบอกว่าประสานงานกับผู้ดูแลชุมชนเพื่อสกัดปัญหาการเผยแพร่ข่าวปลอม โดยเฉพาะสถานการณ์ในรัสเซียและยูเครน ซึ่งใช้ทั้งระบบอัตโนมัติและการตรวจสอบโดยชุมชน (มีคนที่พูดภาษารัสเซียและยูเครนคอยช่วยกรอง) ซึ่งช่วยสกัดข่าวปลอมออกจากระบบได้เยอะพอสมควร ที่มา - Reddit
# Google Forms รองรับการ Embed กราฟ ใน Docs และ Slides แบบเชื่อมต่อข้อมูลกันแล้ว กูเกิลเพิ่มอัพเดตให้กับ Google Forms ผลิตภัณฑ์ของ Google Workspace ที่ใช้ทำแบบสำรวจ หรือใช้ทดสอบผู้เรียน ผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยสามารถฝังชาร์จสรุปข้อมูล ลงใน Google Docs หรือ Google Slides หรือ Google Drawing ได้แบบเชื่อมต่อตรง จากเดิมที่ผู้ใช้งานต้องคัดลอกชาร์จจาก Forms มาก่อน และหากข้อมูลแบบสำรวจหรือคำถามมีการอัพเดต ผู้ใช้งานสามารถเลือกปุ่ม Update ที่ชาร์จซึ่งฝังอยู่ในเอกสาร และข้อมูลก็จะอัพเดตเป็นปัจจุบันให้เลย ไม่ต้องกด refresh ทั้งไฟล์ เพิ่มความสะดวก คุณสมบัติใหม่นี้จะเพิ่มให้กับผู้ใช้ Google Workspace ทุกคน เริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป ที่มา: กูเกิล
# Grab รายงานผลประกอบการไตรมาส 4/2021 GMV เพิ่มขึ้น 26% จำนวนผู้ใช้งาน 26.0 ล้านคน Grab Holdings รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 ซึ่งเป็นการรายงานผลประกอบการครั้งแรก หลังจากบริษัทเข้าตลาดหุ้น Nasdaq ของสหรัฐฯ ด้วยวิธี SPAC เมื่อปลายปีที่แล้ว รายรับสุทธิ (GMV) เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 4,501 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเดลิเวอรีเพิ่มขึ้น 52% ธุรกิจการเงินเพิ่มขึ้น 29% และรถโดยสารลดลง 11% จำนวนผู้ใช้งานเฉลี่ยต่อเดือน (MTU) เพิ่มขึ้น 3% เป็น 26.0 ล้านคน ซึ่ง Grab บอกว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับตั้งแต่การระบาดของโควิด 19 เริ่มขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2020 ส่วนตัวเลขการเงิน รายได้ 122 ล้านดอลลาร์ ลดลง 44% เนื่องจากค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ของผู้ขับขี่เพิ่มขึ้น ขาดทุนสุทธิในไตรมาส 1,100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช้เงินสด ของการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น ไฮไลท์ในไตรมาสที่ผ่านมา Grab ได้ซื้อกิจการ Jaya Grocer เชนซูเปอร์มาร์เก็ตระดับแมสพรีเมียมในมาเลเซีย ซึ่ง Grab ได้เชื่อมต่อ GrabPay กับ GrabRewards เข้ากับซูเปอร์มาร์เก็ตนี้ ที่มา: Grab
# Atlassian ประกาศหยุดขายไลเซนส์ใหม่ในรัสเซีย แต่ลูกค้าเดิมยังใช้งานได้ต่อไป Atlassian บริษัทจากออสเตรเลีย เจ้าเครื่องมือสายพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อดังหลายตัว เช่น Jira, Bitbucket, Trello, Confluence เป็นอีกรายที่ประกาศแนวทางธุรกิจต่อรัสเซีย หยุดขายบริการของตัวเองให้กับลูกค้าใหม่ในรัสเซีย แต่ลูกค้าเดิมยังใช้งานได้อยู่ หยุดบริการของตัวเองกับลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจของรัสเซีย รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวโยง-สนับสนุนการทำสงครามของรัฐบาลรัสเซีย Atlassian บอกว่าไม่ได้มีพนักงานประจำในรัสเซียหรือยูเครน แต่มีพนักงานแบบสัญญาจ้างในยูเครน ซึ่งบริษัทได้คอยช่วยเหลือแล้ว ส่วนลูกค้าในยูเครนจะได้รับความช่วยเหลือให้ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วย ที่มา - Atlassian
# John Romero สร้างฉากใหม่ให้ Doom II นำรายได้ทั้งหมดช่วยเหลือผู้ลี้ภัยยูเครน John Romero บิดาผู้สร้างเกม Doom ประกาศสร้างฉากใหม่ของเกม Doom II มาวางขายเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงครามยูเครน ก่อนหน้านี้ เขาเคยออกฉากใหม่ในโอกาส Doom ครบรอบ 25 ปีในชื่อว่า Sigil โดยเกมมีสถานะเป็น mod ที่ต้องใช้ Doom เวอร์ชันต้นฉบับในการเล่น รอบนี้เขาสร้างฉากใหม่ให้เกม Doom II ชื่อว่า One Humanity ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ Doom II มีฉากใหม่นับตั้งแต่วางขายในปี 1994 ผู้ซื้อจำเป็นต้องมีเกม Doom II ต้นฉบับด้วย ฉากใหม่นี้ราคา 5 ยูโร รายได้ทั้งหมดมอบให้ Red Cross และ UN Central Emergency Response Fund ที่มา - John Romero via Eurogamer
# Nothing บริษัทของ Carl Pei ผู้ร่วมก่อตั้ง OnePlus อาจเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่เดือนหน้า Nothing บริษัทของ Carl Pei ผู้ร่วมก่อตั้ง OnePlus ที่ได้รับเงินลงทุนจาก Alphabet และออกสินค้าหูฟังไร้สาย Ear (1) ไปก่อนหน้า อาจกำลังเตรียมเปิดตัวมือถือรุ่นแรกของบริษัทภายในเดือนหน้า หลังซุ่มพัฒนามามากกว่าหนึ่งปี และได้แอบนำเครื่องต้นแบบไปโชว์ให้ผู้บริหารบริษัทต่างๆ ดูในงาน Mobile World Congress ที่จัดในช่วง 28 กุมภาพันธ์- 3 มีนาคม ข้อมูลของมือถือรุ่นใหม่นี้ยังไม่ถูกเปิดเผยมากนัก แต่เว็บไซต์ TechCrunch ที่ระบุว่าได้เห็นภาพถ่ายเครื่องต้นแบบที่ Carl Pei นำมาโชว์ให้ผู้บริหารดู และได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่าตัวเครื่องจะมีดีไซน์แบบใส “Elemental Transparency” คล้ายกับหูฟังของ Nothing ที่ขายได้กว่า 400,000 ชิ้นก่อนหน้านี้ หูฟังไร้สาย Nothing Ear (1) เป็นหูฟังไร้สายแบบใส ที่เน้นภาษาดีไซน์แบบมินิมัล ส่วน Nothing เอง ก็ได้ซื้อเครื่องหมายการค้า Essential ของ Andy Rubin ผู้ร่วมก่อตั้ง Android ไปก่อนหน้านี้ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่ามือถือของบริษัทอาจเน้นไปที่ความมินิมอลทางเทคโนโลยี เช่นเดียวกับ Essential Phone ของ Rubin และหูฟังที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไป ที่มา - TechCrunch
# Samsung ลดประสิทธิภาพซีพียูบนกว่า 10,000 แอป คาดเพื่อประหยัดแบต/ลดความร้อน ผู้ใช้งานมือถือ Samsung พบว่าแอป Game Optimizing Service (GOS) ที่ติดมากับเครื่องและไม่สามารถลบออกได้ ไปทำการ “ปรับปรุงประสิทธิภาพ” ของซีพียูระหว่างเล่นเกมและใช้งานแอปที่มีรายชื่อที่ถูกตั้งค่าไว้ล่วงหน้า ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานแย่ลง แต่กลับแอบยกเว้นแอปเบนช์มาร์คเช่น Geekbench และ 3DMark คล้ายกับที่ OnePlus เคยทำ ยูทูบเบอร์ชาวเกาหลี ลองทำคลิปทดสอบ บน Galaxy S22 Ultra โดยการเปลี่ยนชื่อแพ็กเกจแอป 3DMark ให้ถูก GOS บีบประสิทธิภาพด้วย พบว่าคะแนนทดสอบที่ได้ลดลงกว่า 1,000 คะแนน จาก 2618 คะแนน เหลือเพียง 1141 คะแนนเท่านั้น แอปที่ได้รับผลกระทบมีทั้ง Instagram, Netflix, TikTok, Spotify แอป Google บางแอป ไปจนถึงแอปของ Samsung เอง เช่น Samsung Pay และ Secure Folder โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ @GaryeonHan รวบรวมตัวอย่างรายชื่อแอปมาแสดง และระบุว่าในรายชื่อมีแอปทั้งเกมและแอปทั่วไปที่ถูกบีบประสิทธิภาพกว่า 10,000 แอป Samsung ยังไม่ชี้แจงสาเหตุ แต่โดยปกติแล้วการบีบประสิทธิซีพียูในการใช้งานแอปต่างๆ มักมาจากความต้องการลดความร้อนและเพื่อให้แบตเตอรีใช้งานได้นานขึ้น แต่ก็จะยกเว้นแอปทดสอบประสิทธิภาพเครื่อง เพื่อให้คะแนนการทดสอบยังสูงอยู่ ซึ่งก็ทำให้คะแนนการทดสอบนั้นไม่สะท้อนการใช้งานจริง ที่มา - 9to5Google
# Google เตรียมกลับมาทำงานแบบไฮบริด ให้เข้าออฟฟิศอาทิตย์ละ 3 วัน เริ่ม 4 เมษายนนี้ หลัง Google เลื่อนกำหนดการกลับเข้าออฟฟิศออกไปจาก 10 มกราคม ล่าสุด Reuters อ้างอิงอีเมลจากแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า Google เตรียมให้พนักงานของสำนักงานสาขาเบย์แอเรีย ซานฟรานซิสโก กลับมาทำงานแบบไฮบริด เข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วัน หรือมากน้อยกว่าแล้วแต่ทีม เริ่มวันที่ 4 เมษายนนี้แล้ว เนื่องจากมาตรการป้องกันและรักษาโควิดก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก และตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ลดลงเรื่อยๆ พนักงานที่จะเข้าออฟฟิศต้องฉีดวัคซีนครบถ้วน (ไม่ระบุว่า 2 หรือ 3 เข็ม) ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยตอนทำงาน หากไม่ได้ฉีดวัคซีน ต้องมีใบอนุญาตให้ยกเว้น ส่วนพนักงานที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และไม่มีเอกสารยกเว้น จะได้รับตัวเลือกให้บริษัทจัดหาวัคซีนให้ หรือทำเรื่องขอทำงานจากบ้านแบบถาวรได้ Google ยังไม่ยืนยันว่าจะเริ่มให้พนักงานในพื้นที่อื่นนอกจากเบย์แอเรีย เริ่มกลับมาทำงานได้หรือไม่ แต่ก็เริ่มนำสวัสดิการในออฟฟิศ เช่นอาหารกลางวัน ขนส่งและนวดตัวฟรีกลับมา รวมถึงให้จัดประชุมกับนัดคุยธุรกิจได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้พาครอบครัวมาทานข้าวในออฟฟิศแบบเมื่อก่อน ที่มา - Reuters
# กลุ่มผู้ผลิตซีพียูเปิดตัวมาตรฐาน UCIe เปิดทางรวมชิปหลายยี่ห้อในแพ็กเกจเดียวกัน กลุ่มบริษัทผู้ผลิตซีพียูรายใหญ่เกือบทุกราย ได้แก่ ASE (จากไต้หวัน), AMD, Arm, Intel, Qualcomm, Samsung, TSMC รวมถึงผู้ให้บริการคลาวด์อีก 3 รายคือ Google, Meta, Microsoft ร่วมกันเปิดตัวมาตรฐาน Universal Chiplet Interconnect Express (UCIe) สำหรับการให้ชิปเล็ต (chiplet) จากต่างค่ายสามารถนำมาประกอบกันได้บนแพ็กเกจชิปเดียวกัน มาตรฐาน UCIe กำหนดตั้งแต่การเชื่อมต่อทางกายภาพ โปรโตคอลสื่อสาร ซอฟต์แวร์ และการทดสอบความเข้ากันได้ โดยตัวของ UCIe อิงอยู่บนมาตรฐานเดิมที่มีอยู่แล้วในตลาดคือ PCIe และ Compute Express Link (CXL) ที่ริเริ่มโดยอินเทล อย่างไรก็ตาม สังเกตว่าบริษัทชิปรายใหญ่ที่ยังไม่เป็นสมาชิกคือ NVIDIA ตอนนี้มาตรฐาน UCIe ยังเปิดให้เฉพาะสมาชิกของกลุ่มนำไปใช้งานเท่านั้น รายละเอียดดูได้จากเว็บไซต์ UCI express UCIe เกิดขึ้นเพราะเทรนด์ในวงการซีพียู เริ่มหมุนเข้าสู่แนวทาง chiplet เช่น กรณีของ Ryzen ที่นำ chiplet หลายตัวมาต่อกันบนแพ็กเกจเดียวกัน หรือฝั่งอินเทล ที่เริ่มนำ chiplet มาใช้กับจีพียูรุ่นใหม่ Ponte Vecchio การรวมตัวกันกำหนดมาตรฐานกลางในการเชื่อมต่อ chiplet จะทำให้เรามีโอกาสเห็นการใช้ chiplet ข้ามค่ายมารวมกันในแพ็กเกจเดียวกัน อย่างกรณีของ Ponte Vecchio อินเทลก็ใช้วิธีผลิต chiplet เองบางส่วน และบางส่วนจ้างโรงงาน TSMC แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน การที่สมาชิกร่วมเปิดตัว UCIe มีบริษัทอย่าง Google, Meta, Microsoft ด้วย แปลว่าในไม่ช้าเราน่าจะได้เห็นบริษัทเหล่านี้เปิดตัวเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองหรือซีพียูที่ออกแบบเอง ที่ใช้ประโยชน์จาก UCIe ด้วยเช่นกัน หน้าตาของชิป Ponte Vecchio ของอินเทล ที่มา - Businesswire
# Intel เตรียมตัดคำสั่ง AVX-512 ออกจาก Alder Lake ทุกตัว อินเทลเตรียมตัดคำสั่ง AVX-512 ออกจากซีพียู Alder Lake ทุกตัว หลังจากก่อนหน้านี้ยังเปิดให้ใช้งานได้ แม้สเปคจะระบุว่าไม่รองรับก็ตาม โดยหลังจากนี้จะเป็นการตัดฟิวส์จากโรงงานทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อีก Alder Lake นั้นมีซีพียูสองแบบ คือ P-core และ E-core โดยตัว P-core ยังคงมี AVX-512 อยู่ แต่การเปิดใช้งานก็ขึ้นกับผู้ผลิตเมนบอร์ดที่บางรายพยายามปรับเฟิร์มแวร์ให้ใช้งานได้ ตอนนี้เริ่มมีรายงานว่าซีพียูบางรุ่นถูกปิด AVX-512 ที่ระดับฮาร์ดแวร์ และทางโฆษกของอินเทลก็ยืนยันว่าจะปิดการใช้งานในอนาคตต่อไป AVX-512 นับเป็นคำสั่งเฉพาะทางที่การใช้งานค่อนข้างจำกัดกับงานประเภทเวคเตอร์ขนาดใหญ่ เมื่อสองปีก่อนไลนัสเคยโวยว่าอินเทลควรนำพื้นที่ซิลิกอนไปใช้งานอย่างอื่น ที่มา - Tom's Hardware
# ORZON กองทุนของ PTT OR ลงทุนในสตาร์ตอัพชุดแรก 5 ราย เกือบทุกรายเป็นของไทย ORZON Ventures กองทุนสตาร์ทอัพของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่ร่วมกับกองทุน 500 TukTuks ประกาศลงทุนระดับซีรีส์ A-B ในสตาร์ตอัพชุดแรก 5 บริษัท (โดยไม่เปิดเผยมูลค่า) ได้แก่ Pomelo แพลตฟอร์มแฟชั่นออนไลน์ ที่เริ่มก่อตั้งในประเทศไทย และปัจจุบันให้บริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Carsome แพลตฟอร์มซื้อขายรถยนต์มือสอง จากประเทศมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันเข้ามาทำตลาดในไทยแล้ว Freshket แพลตฟอร์มจำหน่ายวัตถุดิบสำหรับร้านอาหารและโรงแรม จากประเทศไทย Gowabi แพลตฟอร์มบริการความงามและสุขภาพ จากประเทศไทย Protomate ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์ด้านรถยนต์-การเดินทาง จากประเทศไทย นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ OR ระบุว่าเลือกลงทุนในสตาร์ตอัพชุดนี้เพราะดำเนินธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์ และมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่จะต่อยอดธุรกิจให้ไกลกว่าธุรกิจน้ำมันเพียงอย่างเดียว ส่วนนายกระทิง พูนผล ผู้บริหาร (General Partner) กองทุน ORZON Ventures และ 500 TukTuks บอกว่าแนวทางของ ORZON เน้นจุดเด่นที่โครงสร้างการทำงานยืดหยุ่น คล่องตัวเหมือน VC อิสระ แต่ก็สามารถเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์กับ OR เหมือนกับ Corporate Venture Capital (CVC)
# Fitbit เรียกคืนสมาร์ทวอทช์ Ionic หลังพบปัญหาแบตร้อนจนไหม้ผิวหนัง คืนเงินให้เต็มจำนวน Fitbit ประกาศเรียกคืนสินค้าสมาร์ทวอทช์รุ่น Ionic ที่วางขายช่วงปี 2017-2020 (ปัจจุบันเลิกทำแล้ว เปลี่ยนเป็น Fitbit Sense) หลังพบปัญหาความร้อนที่แบตเตอรี่ และอาจเผาไหม้ผิวหนังขณะสวมใส่ได้ Fitbit แนะนำให้ลูกค้าเลิกใช้อุปกรณ์เหล่านี้โดยทันที โดยจะคืนเงินให้เต็มจำนวนคือ 299 ดอลลาร์ (กระบวนการอาจแตกต่างตามแต่ละประเทศ ซึ่งในหน้าเว็บขอคืนเงินก็มีประเทศไทยให้เลือก) ลูกค้ายังจะได้ส่วนลดค่าซื้อสินค้าอื่นของ Fitbit เพิ่มเติมด้วย การเรียกคืน Fitbit Ionic เกิดจากมีลูกค้าร้องเรียนปัญหาไปยังหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Product Safety Commission - CPSC) ของสหรัฐอเมริกาในเรื่องแบตเตอรี่ร้อนจำนวน 174 เคส และอาการบาดเจ็บจากการไหม้ผิวหนังอีก 118 เคส ที่มา - Fitbit, Engadget
# Windows 11 Insider ปรับดีไซน์หน้า Open With ใหม่, จ่ายค่า Microsoft 365 ได้จาก Settings ไมโครซอฟท์ออก Windows 11 Insider Preview Build 22567 รุ่นทดสอบใน Dev Channel ตามรอบการออกของใหม่ทุกสัปดาห์ ของใหม่ที่สำคัญคือหน้าจอ Open With ที่ถามว่าเปิดไฟล์ด้วยโปรแกรมใด ปรับดีไซน์ใหม่จากของเดิมสไลด์ Windows 8 มาเป็น Fluent Design ให้เข้าชุดกับ Windows 11 แล้ว หน้า Accounts ใน Settings เพิ่มความสามารถในการต่ออายุ Microsoft 365 โดยตรง จ่ายบัตรเครดิตได้จากหน้านี้เลย ไม่ต้องเข้าเว็บไปจ่ายเงินต่ออายุอีกแล้ว หน้าจอเซ็ตอัพเครื่องใหม่หลังติดตั้ง (OOBE) เพิ่มช่วงที่ถามว่าต้องการเชื่อมสมาร์ทโฟน Android เข้ากับพีซีของเราหรือไม่ (ไปเซ็ตเองทีหลังผ่าน Your Phone ได้) ฟีเจอร์อื่นใน Build นี้ Windows Update เพิ่มฟีเจอร์รักษ์โลก โดยจะติดตั้งอัพเดตในช่วงเวลาที่มีพลังงานสะอาด (เช่น ลม แสงอาทิตย์ น้ำ) เยอะมากพอเท่านั้น (เฉพาะบางพื้นที่-บางประเทศ) ฟีเจอร์ความปลอดภัย Smart App Control (SAC) สั่งบล็อคการทำงานของแอพที่อาจเป็นอันตรายได้อัตโนมัติ ที่มา - Microsoft
# ไต้หวันไฟดับเป็นวงกว้าง แต่ผลกระทบต่อโรงงานผลิตชิปไม่มาก เกิดเหตุไฟดับเป็นวงกว้างในไต้หวัน จากความผิดพลาดของโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน Hsinta อย่างไรก็ดีผลกระทบต้องวงการเซมิคอนดักเตอร์ไม่มากนัก Hsinchu Science Park แหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขนาดใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟดับครั้งนี้ ขณะที่ Tainan Science Park ได้รับผลกระทบเพียงไฟตกช่วงสั้นๆ เท่านั้น โดย TSMC มีโรงงานทั้งสองแห่ง ผลกระทบอื่น เช่น ระบบรถไฟความเร็วสูงต้องหยุดวิ่งชั่วคราวแต่แก้ไขกลับมาได้แล้ว และในเมืองไทเปบางส่วนไฟดับเป็นเวลานาน ที่มา - Devdiscourse, BBC ภาพโดย Timo Volz
# Spotify ปิดสำนักงานในรัสเซีย ถอดช่องสื่อรัสเซียออก, Netflix หยุดทำโปรเจคต์ในรัสเซีย ความคืบหน้าเพิ่มเติมของบริษัทไอทีในประเทศต่างๆ ต่อสถานการณ์ในรัสเซียและยูเครน Spotify บริษัทสัญชาติสวีเดน ประกาศปิดสำนักงานในรัสเซีย และถอดรายการจากสื่อรัสเซียอย่าง RT และ Sputnik ออกจากแพลตฟอร์ม แต่ยังยืนยันให้บริการสตรีมมิ่งในรัสเซียต่อไป เพื่อให้ผู้ฟังในรัสเซียยังสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลจากนอกรัสเซียได้ Spotify ยังเพิ่มหน้ารวมคลิปเสียงอธิบายสถานการณ์ในยูเครน จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถืออย่าง BBC, The New York Times, The Wall Street Journal, The Economist ไว้สำหรับคนที่อยากเข้าใจปัญหายูเครนด้วย Netflix ประกาศหยุดทำโปรเจคต์ใหม่ๆ รวมถึงแผนการซื้อกิจการในรัสเซีย ปัจจุบัน Netflix มีซีรีส์ภาษารัสเซียชื่อ Zato ซึ่งตอนนี้หยุดการถ่ายทำแล้ว นอกจากนี้ Netflix ยังปฏิเสธไม่ทำตามกฎหมายรัสเซียที่มีผลวันที่ 1 มีนาคม 2022 ที่ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งในรัสเซีย ต้องเผยแพร่สัญญาณช่องทีวีของรัฐบาลรัสเซียจำนวน 20 ช่องด้วย ที่มา - Variety, BBC
# SAP และ Oracle ประกาศหยุดทำธุรกิจในรัสเซีย, เปิดออฟฟิศในยุโรปเป็นที่พักผู้ลี้ภัย บริษัทซอฟต์แวร์องค์กรรายใหญ่ของโลก ทั้ง SAP และ Oracle ประกาศหยุดทำธุรกิจในรัสเซีย SAP ประกาศผ่านบล็อกของบริษัทว่ามาตรการแซงค์ชันทางเศรษฐกิจ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกดดันรัสเซียให้หยุดสงคราม บริษัทจึงตัดสินใจหยุดขายผลิตภัณฑ์และบริการในรัสเซียชั่วคราว, บริจาคเงินก้อนแรก 1 ล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, เปิดให้องค์กรด้านผู้ลี้ภัยใช้งานซอฟต์แวร์ของ SAP ฟรี, ช่วยอพยพพนักงานออกจากยูเครน และนำออฟฟิศของ SAP ทั่วยุโรปมาเป็นศูนย์พักอาศัยของผู้ลี้ภัยด้วย ส่วน Oracle โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ ตอบสนองคำขอจาก Mykhailo Fedorov รองนายกรัฐมนตรียูเครน บอกว่าได้หยุดทำธุรกิจในรัสเซียทั้งหมดแล้ว ที่มา - SAP, The Register
# Facebook ปิดตัวบริการ Campus ที่ให้คนเรียนมหาวิทยาลัยคุยกัน แนะให้ใช้ Groups แทน Facebook มักออกผลิตภัณฑ์เฉพาะกิจเพื่อทดสอบตลาดเป็นระยะ เมื่อปี 2020 เคยออกแอป Campus ที่จับกลุ่มคนเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกันไว้พูดคุยกัน ซึ่งเป็นการกลับสู่จุดเริ่มต้นของ Facebook อย่างไรก็ตามการทดสอบตลาดก็ต้องมีวันสิ้นสุด Facebook ได้แจ้งผู้ใช้งาน Campus ว่าบริการจะปิดตัวในวันที่ 10 มีนาคมนี้ พร้อมอธิบายข้อสรุปว่าวิธีดีที่สุด สำหรับนักศึกษาติดต่อกันคือผ่าน Facebook Groups บริการ Campus ไม่ได้ทำออกมาเป็นแอปแยก แต่อยู่ในแอปของ Facebook เอง แค่แยกส่วน News Feed ตลอดจนโปรไฟล์จากบัญชีหลัก การลงทะเบียนต้องยืนยันด้วยอีเมลมหาวิทยาลัย ที่มา: Engadget
# Amazon เตรียมปิดร้านขายสินค้าแบบ Physical 68 แห่ง ในอเมริกาและอังกฤษ Amazon เตรียมปิดร้านค้าแบบ Physical ที่ลูกค้าสามารถเดินเข้าไปเลือกชมและจับสินค้าได้จริง โดยมีจำนวนสาขาที่ได้รับผลกระทบ 68 แห่ง ในอเมริกาและอังกฤษ ประเภทของร้านที่ Amazon จะปิดได้แก่ Amazon Pop Up ร้านขนาดเล็กที่เน้นขายสินค้าตระกูล Kindle และ Echo, Amazon Books ร้านหนังสือ และ Amazon 4-star ร้านที่ขายเฉพาะสินค้าคะแนนรีวิวสูง ส่วนกลุ่มร้านของชำ-ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Amazon Fresh, Whole Foods Market และ Amazon Go ไม่ได้รับผลกระทบ คาดว่าเหตุผลที่ Amazon เลือกปิดร้านค้าประเภทนี้ เนื่องจากทำยอดขายได้ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด ซึ่งกระทบต่อตัวเลขการเติบโตของยอดขายรวม โฆษกของ Amazon บอกว่า บริษัทยังคงพัฒนารูปแบบและเทคโนโลยีของร้านค้า Physical ไม่ได้เลิกทำไปทั้งหมด อย่างล่าสุดบริษัทก็เปิดตัว Amazon Style ที่เป็นร้านขายเสื้อผ้า และยังขายเทคโนโลยี Just Walk Out ให้ผู้ค้าปลีกรายอื่นด้วย ที่มา: CNBC
# PayPal ปิดบริการทั้งหมดในรัสเซีย โฆษกของ PayPal ยืนยันกับ Reuters ว่าปิดรับผู้ใช้ใหม่ในรัสเซีย และบล็อคการเข้าถึงจากสถาบันการเงินในรัสเซียบางราย ตามคำสั่งแซงค์ชันของรัฐบาลสหรัฐ ที่ผ่านมา PayPal ให้บริการในรัสเซียเฉพาะการโอนเงินข้ามประเทศเท่านั้น (ไม่มีการจ่ายเงินในประเทศ) ดังนั้นผู้ใช้ PayPal เดิมในรัสเซียยังสามารถใช้รับหรือจ่ายเงินต่างประเทศได้อยู่ เราเห็นข่าวบริการด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกา ทยอยหยุดให้บริการในรัสเซีย เช่น Mastercard, Visa, American Express, Apple Pay, Google Pay อัพเดต 6 มีนาคม 2565 PayPal หยุดให้บริการทั้งหมดในรัสเซียแล้ว ที่มา - Reuters
# Instagram รองรับการแสดงคำบรรยายอัตโนมัติ (Closed Captions) ในวิดีโอแล้ว - มีภาษาไทยด้วย Instagram ประกาศเพิ่มฟีเจอร์แสดงคำบรรยาย หรือ Closed Captions แบบอัตโนมัติให้กับวิดีโอในแอป จากเดิมที่ครีเอเตอร์ต้องใส่ค่านี้เข้าไปเอง ซึ่ง Adam Mosseri หัวหน้าฝ่าย Instagram บอกว่าคำบรรยายจะช่วยให้วิดีโอเข้าถึง สำหรับผู้ใช้งานที่มีปัญหาการได้ยิน เบื้องต้นระบบแสดงคำบรรยายอัตโนมัติของ Instagram รองรับทั้งหมด 17 ภาษา ซึ่งรวมทั้งภาษาไทยด้วย ส่วนภาษาอื่นได้แก่ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส อาราบิก เวียดนาม อิตาลี เยอรมัน ตุรกี รัสเซีย ตากาล็อก อูรดู มาเลย์ ฮินดี อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น โดยจะรองรับภาษาเพิ่มเติมในอนาคต การแสดงคำบรรยายอัตโนมัตินี้ผู้ใช้งานสามารถเลือกปิดหรือเปิดการทำงานได้ โดยแก้ไขค่าที่ Advanced Settings ในแอป ที่มา: TechCrunch
# EA ถอดทีมชาติและทีมสโมสรจากรัสเซีย ออกจากเกม FIFA 22, FIFA Mobile, FIFA Online EA ประกาศถอดทีมชาติรัสเซีย และทีมสโมสรฟุตบอลของประเทศรัสเซีย ออกจากเกม FIFA 22, FIFA Mobile, FIFA Online ตามแนวทางขององค์กรฟุตบอลระดับนานาชาติคือ FIFA และ UEFA ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ EA บอกว่าขอยืนเคียงข้างชาวยูเครน และแฟนฟุตบอลทั่วโลกที่ต้องการสันติภาพ ที่มา - EA
# Epic Games ขยายพื้นที่ ซื้อกิจการ Bandcamp แพลตฟอร์มขายเพลงออนไลน์ Epic Games ประกาศซื้อกิจการ Bandcamp แพลตฟอร์มขายเพลงและชุมชนศิลปินออนไลน์ โดยดีลดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยมูลค่า Epic กล่าวว่าแพลตฟอร์มที่เปิดเผยและยุติธรรม เป็นสิ่งสำคัญของอนาคตในวงการครีเอเตอร์ ซึ่งทั้ง Epic และ Bandcamp มีเป้าหมายที่เหมือนกัน ที่ต้องการให้ครีเอเตอร์ได้ส่วนแบ่งรายได้มากที่สุด และจะเข้ามาเสริมในด้านคอนเทนต์ ศิลปะ และดนตรี Bandcamp จะยังให้บริการมาร์เกตเพลสแยกแบรนด์ต่อไป โดย Ethan Diamond ผู้ก่อตั้งและซีอีโอยังคงบริหารงานต่อ ทั้งนี้โมเดลส่วนแบ่งรายได้ของ Bandcamp นั้นศิลปินเจ้าของผลงานจะได้เงินเฉลี่ย 82% ของยอดขาย และ Bandcamp ก็จ่ายเงินให้ศิลปินไปแล้วมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2008 ที่มา: Epic Games และ Bandcamp
# Apple จัดงานเปิดตัวสินค้าแบบออนไลน์ วันที่ 8 มีนาคมนี้ เวลา 10 โมงเช้า หรือตี 1 เช้าวันพุธที่ 9 ตามเวลาไทย Apple เตรียมจัดงานเปิดตัวสินค้าใหม่ วันที่ 8 มีนาคมนี้ เวลา 10.00 น. ตามเวลาแปซิฟิก หรือเวลา 1.00 น. ของวันที่ 9 เช้าวันพุธ ตามเวลาบ้านเรา ในธีมงาน "Peek Performance" สินค้าที่คาดว่าจะเปิดตัวได้แก่ iPhone SE รุ่นใหม่ iPad Air, Mac mini, iMac 27 นิ้ว และอาจจะมี MacBook Air ด้วย โดยสามารถรับชมได้ที่ Apple.com ที่มา - MKBHD, MacWorld
# CNCF โหวตรับ Knative เข้าเป็นโครงการในสถานะ Incubating เมื่อปลายปีที่แล้ว Google บริจาคโครงการโอเพ่นซอร์ส Knative ให้ CNCF ดูแล และวันนี้ CNCF Technical Oversight Committee ได้โหวตเพื่อรับ Knative เข้า CNCF แล้ว เท่ากับว่า CNCF ได้เข้ามาดูแล Knative อย่างเป็นทางการในสถานะ incubating สำหรับ Knative ตัวโครงการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนา, ดีพลอย และบริหารจัดการแอปแบบ serverless และ event-driven บน Kubernetes โครงการนี้เป็นโอเพ่นซอร์สที่ก่อตั้งโดย Google ในปี 2018 และพัฒนาร่วมกับ IBM, Red Hat, VMWare, SAP และนักพัฒนาอีกกว่า 1,800 รายในชุมชนโอเพ่นซอร์ส Knative เข้าสู่เวอร์ชัน 1.0 ซึ่งเป็นเวอร์ชันเสถียรและพร้อมใช้งานในเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ปัจจุบัน Knative อยู่ที่เวอร์ชัน 1.2 โดยกรอบเวลาออกเวอร์ชันใหม่ของ Knative อยู่ที่ทุก 6 สัปดาห์ ตอนนี้มีผู้ใช้งานในโปรดักชั่นแล้วหลายบริษัท เช่น Alibaba Cloud, Bloomberg, IBM, VMware เป็นต้น ที่มา - CNCF
# รัสเซียขู่บล็อค Wikipedia อ้างเผยแพร่ข้อมูลผิดกฎหมายในบทความบุกยูเครน รัสเซียขู่จะบล็อคเว็บไซต์ WIkipedia ภาษารัสเซียเนื่องจากบทความเรื่องรัสเซียบุกยูเครนปี 2022 โดยทางการรัสเซียอ้างว่าบทความดังกล่าวเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย สำหรับเหตุผลที่รัสเซียไม่พอใจบทความนี้ เนื่องมาจากในบทความมีรายงานเกี่ยวกับจำนวนคนตายของเจ้าหน้าที่รัฐฝั่งรัสเซียและประชาชนและเด็กชาวยูเครน โดย Roskomnadzor หน่วยงานควบคุมด้านการสื่อสารของรัสเซียต้องการให้นำข้อมูลนี้ออกจากบทความ ตอนนี้บทความดังกล่าวถูกป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ใหม่หรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนแก้ไข และผู้ที่จะแก้ไขได้จะต้องมีสถานะเป็นบรรณาธิการของ Wikipedia เท่านั้น ฝั่ง Wikimedia Foundation องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ดูแล Wikipedia ระบุว่าหลังการบุกยูเครนก็มีการทำสงครามข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ส่งผลให้เกิดการกระจายข้อมูลปลอมเกี่ยวกับวิกฤตครั้งนี้ ตอนนี้อาสาสมัครชาวยูเครนยังคงช่วยแก้ไขข้อมูลให้ Wikipedia และในโครงการอื่นของ Wikimedia เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ในช่วงเวลาวิกฤต ที่มา - Engadget, Wikimedia Foundation, Reuters ภาพ Nirzar Pangarkar/Wikimedia Foundation, CC BY-SA 3.0
# Ford ปรับโครงสร้างบริษัท แยกธุรกิจพัฒนารถยนต์น้ำมันและรถอีวีออกจากกัน Ford ประกาศปรับโครงสร้างภายในบริษัทครั้งใหญ่ โดยแยกธุรกิจรถยนต์ออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มรถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ใช้ชื่อเรียกว่า Ford Blue และกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือรถอีวีใช้ชื่อเรียกว่า Ford Model E เพื่อให้แต่ละหน่วยโฟกัสในทิศทางของตัวเองที่ต่างกันได้ดีขึ้น แต่ยังไม่มีการแยกบริษัทตามข่าวลือก่อนหน้า สำหรับหน่วย Ford Blue จะรับผิดชอบด้านการพัฒนารถยนต์สันดาปภายใน เช่น Mustang, F-150 และ Bronco ส่วน Ford Model E จะเน้นงานพัฒนาระบบเชื่อมต่อและรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป้าหมายของการปรับโครงสร้างบริษัทก็เพื่อให้ Ford พัฒนาได้เร็วเหมือนสตาร์ทอัพ ในขณะที่ยังคงความเชี่ยวชาญด้านงานผลิตสินค้าปริมาณมหาศาลได้ดี และซีอีโอ Jim Farley ระบุชัดว่า Ford จะยังคงลงทุนพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในต่อไปแน่นอน นอกจากการปรับโครงสร้างแล้ว Ford ยังปรับประมาณการผลประกอบการของบริษัทด้วย โดย Ford คาดการณ์ว่ายอดขายรถอีวีจะคิดเป็น 50% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกภายในปี 2030 สูงกว่าประมาณการก่อนหน้าที่คาดไว้ 40% ส่วนกำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะเพิ่มได้ถึง 10% ในปี 2026 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 8% ที่มา - TechCrunch Ford Mustang Mach-E ภาพจาก Ford
# dtac เปิดแอพมือถือให้ลูกค้าค่ายอื่นใช้งาน มุ่งเป็นแอพให้บริการไลฟ์สไตล์ดิจิทัล dtac ประกาศเปิดแพลตฟอร์ม dtac App บนสมาร์ทโฟน ให้ลูกค้าค่ายอื่นใช้งานได้ด้วย ไม่จำกัดเฉพาะลูกค้า dtac อีกต่อไป ตามยุทธศาสตร์มุ่งขยายบริการดิจิทัล นอกเหนือจากบริการด้านโทรคมนาคมหลัก (dtac ใช้ชื่อเรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า "Beyond Mobile Connectivity" ซึ่งในแอพจะอยู่ในแท็บ Beyond) นายฮาว ริ เร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด ให้ข้อมูลว่าปัจจุบัน dtac App มีผู้ใช้งาน 6.7 ล้านคนต่อเดือน และตลอดปี 2021 มีมาตรการจูงใจให้ผู้ใช้พรีเพดเข้ามาใช้แอพมากขึ้น เช่น การแจก reward coins ไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ โดยในปี 2022 ตั้งเป้าผู้ใช้แอพที่ 10 ล้านคนต่อเดือน ส่วนแผนการขยาย dtac App สู่บริการดิจิทัลอื่นๆ เบื้องต้นมีบริการด้านไลฟ์สไตล์ 3 หมวดได้แก่ Protection หมวดป้องกันและคุ้มครอง เช่น dtac Safe บริการสแกนและบล็อคมัลแวร์ (29 บาท/เดือน), บริการประกันภัย ดีชัวรันส์ Gaming หมวดเกม เช่น dtac Gaming SIM, Gaming Nation ที่จับมือกับค่ายเกมหลายค่ายแจกไอเทมเอ็กซ์คลูซีฟ Financial Service หมวดการเงิน เช่น Pay Via dtac บริการจ่ายบิล-เติมเงิน โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต ที่มา - dtac
# Netflix ซื้อบริษัทเกมมือถือ Next Games ผู้สร้างเกม Stranger Things Netflix ที่ประกาศยุทธศาสตร์เรื่องเกมอย่างจริงจัง เริ่มเดินหน้าซื้อสตูดิโอเกมเข้ามาอยู่ในสังกัด ปีที่แล้วประกาศซื้อสตูดิโอ Night School Studio ผู้สร้างเกมผจญภัย Oxenfree ล่าสุดซื้อ Next Games จากฟินแลนด์ ในราคา 72 ล้านดอลลาร์ การซื้อ Next Games น่าสนใจตรงที่เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการทำเกมมือถือจากหนังหรือซีรีส์ดัง ที่ผ่านมาเคยทำเกม Stranger Things: Puzzle Tales, The Walking Dead: Our World, The Walking Dead: No Man’s Land มาก่อน ซึ่งกรณีของเกม Stranger Things ทำให้บริษัท Next Games มีความสัมพันธ์กับ Netflix อยู่ก่อนแล้ว และน่าจะต่อยอดแนวทางดัดแปลงเกมจากซีรีส์ของ Netflix ได้เป็นอย่างดี Next Games ก่อตั้งเมื่อปี 2013 ปัจจุบันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ First North ของฟินแลนด์ มีพนักงาน 120 คน โมเดลธุรกิจเป็นการขาย in-app purchase จากในเกมเป็นหลัก ที่มา - Next Games, Netflix, TechCrunch