txt
stringlengths
202
53.1k
# ซีอีโอ EA ยอมรับ ยอดขาย Battlefield 2042 ออกมาน่าผิดหวัง Andrew Wilson ซีอีโอของ EA ตอบคำถามในงานแถลงผลประกอบการไตรมาส 4/2021 ยอมรับว่ายอดขายของเกม Battlefield 2042 เกมเด่นประจำปีของบริษัทนั้นออกมา "น่าผิดหวัง" (disappointing) Battlefield 2042 ถูกวิจารณ์เรื่องคุณภาพของเกมอย่างหนัก จนล่าสุดต้องประกาศเลื่อนออกเนื้อหา Season One เพื่อปรับปรุงคุณภาพของเกมก่อน Wilson ให้ความเห็นว่า Battlefield 2042 เป็นเกมขนาดใหญ่ ทีมงานพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่หลายด้าน เช่น แผนที่ขนาดผู้เล่น 128 คน, โหมดเกมแบบใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานจากที่บ้านมาเกือบ 2 ปีซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำงาน แต่เขาก็ยืนยันว่าจะกู้สถานการณ์ให้เกมกลับมาดีและยั่งยืน Blake Jorgensen ซีเอฟโอของ EA บอกว่าเดิมทีคาดการณ์ Battlefield จะสร้างรายได้ให้บริษัทประมาณ 10% ในปีงบประมาณนี้ ซึ่งก็คงต้องปรับลดเป้ารายได้ลง ที่มา - GamesIndustry
# รีวิว Xiaomi TV Q1E สมาร์ททีวี QLED ราคา 19,990 บาท ที่คุ้มจนเหลือเชื่อ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ที่เรียกได้ว่ายังไม่สิ้นสุดลงเสียทีเดียว ทำให้ความบันเทิงในบ้านกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม และแทบจะเป็นกิจกรรมหลักในชีวิตคนหลายๆ คนไปเลย ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังและซีรีส์บนบริการสตรีมมิ่ง จากแผ่น Blu-ray หรือการเล่นเกมบนคอนโซล Xiaomi TV Q1E เป็นสมาร์ททีวีรัน Android 10 อีกรุ่นจาก Xiaomi ที่ตอบโจทย์ในด้านฟีเจอร์การใช้งานค่อนข้างครบ ทั้งหน้าจอ 4K ที่รองรับมาตรฐานสี DCI-P3 ถึง 97% และรองรับมาตรฐาน HDR หลักๆ ครบทุกแบบ ทั้ง HDR10+, Dolby Vision และ HLG รวมถึงรองรับเสียงแบบ Dolby Audio และ DTS-HD ส่วนการใช้งานจริงจะเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้ Blognone จะมาลองรีวิวให้ได้ชมกัน ต้องบอกไว้ก่อนว่ารีวิวนี้อาจไม่ได้ลงลึกถึงขั้นมีการเทียบสี คาลิเบรตสี รวมถึงผู้เขียนไม่มีเครื่องเล่นแผ่น Blu-ray 4K หรือคอนโซลเน็กซ์เจ็น การรีวิวจะอิงจากการใข้งานหลักในการรับชมคอนเทนต์ Dolby Vision บนบริการสตรีมมิ่งเช่น Netflix และคอนเทนต์ HDR10 บน YouTube Disclaimer: เครื่อง Xiaomi TV Q1E ได้รับการสนับสนุนจาก Xiaomi ประเทศไทย สเปกของ Xiaomi TV Q1E หน้าจอ 4K QLED แสดงผลสี DCI-P3 ได้ 97% สว่างสูงสุด 1000 nits อัตรารีเฟรช 60Hz มี MEMC เทคโนโลยีแทรกเฟรมแสดงผลให้ลื่นไหลขึ้น รองรับ Dolby Vision, HDR10+, HDR10, HLG ระบบเสียง Dolby Audio, DTS HD ชิปประมวลผล MediaTek 9611 แรม 2GB หน่วยความจำภายใน 32GB พอร์ตเชื่อมต่อ HDMI 2.0 สามพอร์ต, ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม., พอร์ตสายแลน, พอร์ต Optical Digital Audio, พอร์ต AV Composite (สามสี), USB 2.0 สองพอร์ต และช่องเสียบสายอากาศระบบ DVB-T2/C, DVB-S2 รองรับ WiFi 5GHz, Bluetooth 5.0 รัน Android TV 10 มี Chromecast ในตัว ใช้งาน Google Assistant บนทีวีได้ QLED คืออะไร? หลายคนอาจจะสงสัยว่า QLED คืออะไร ต่างกับทีวี LED ทั่วไปหรือไม่ แล้วดีเท่า OLED หรือเปล่า คงต้องอธิบายก่อนว่าทีวี LED ทั่วไป ใช้การส่องแสงจากหลอด LED ผ่านฟิลเตอร์สี เพื่อแสดงผลเป็นสีบนจอออกมา แต่สีที่ผ่านฟิลเตอร์มาก็ยังไม่บริสุทธ์นัก เนื่องจากสเปกทรัมของแสงสีขาวที่ส่องออกมาอาจเข้าไปปน ทำให้สีไม่สดเท่าที่ควร เทคโนโลยี QLED คือการนำสารเรืองแสง Quantum Dot ซึ่งมีขนาดอนุภาคเล็กระดับนาโนเมตร ที่แต่ละขนาดอนุภาคจะแสดงสีแตกต่างกันแบบตายตัวเมื่อถูกแสงส่องผ่าน ทำให้แสดงสีเมื่อมีแสงผ่านได้บริสุทธ์ขึ้นภาพที่ได้จึงมีสีสันสดใสขึ้น และสว่างกว่าจอ LED ทั่วไป อย่างไรก็ตามเม็ดพิกเซลของ QLED ก็ยังไม่สามารถเปล่งแสงสีได้ด้วยตัวเองแบบจอ OLED ทำให้การแสดงผลสีต่างๆ ยังไม่ดีเท่า และสีดำก็ยังไม่สนิทเท่า การเปิดปิดแสงยังขึ้นอยู่กับจำนวนการแบ่งโซนของไฟ LED บนหน้าจอว่ามีการแบ่งโซนเยอะแค่ไหน แต่ก็มีข้อดีเหมือน LED ตรงที่ไม่เสี่ยงต่อการ burn-in หรือเกิดอาการภาพค้าง เมื่อเปิดภาพเดิมค้างไว้แบบ OLED เรียกได้ว่าให้สีสดกว่า LED ทั่วไป แต่ก็ยังไม่เท่า OLED ดีไซน์ Xiaomi TV Q1E Xiaomi TV Q1E มีขนาดเดียวเท่านั้นคือขนาด 55 นิ้ว หน้าจอขอบสีเงินแบบบาง ขอบด้านล่างมีโลโก้ Xiaomi มีไฟสำหรับแสดงสถานะการใช้งาน Google Assistant บอก และมีสวิตช์สำหรับเปิดปิดไมโครโฟน เพื่อความเป็นส่วนตัว ดีไซน์โดยรวมสวยงามแบบสมาร์ททีวีสมัยใหม่ทั่วไป ขาตั้งเป็นแบบขาเหล็กสองข้างซ้ายขวา อาจจะต้องระวังเรื่องการเป็นรอยบนเฟอร์นิเจอร์เล็กน้อย ส่วนรีโมตเป็นแบบบลูทูธ ไม่ต้องหามุมกดแบบอินฟราเรด ใส่ถ่าน AAA สองก้อน รูปแบบตัวเครื่องและรีโมทเหมือนกับ Xiaomi P1 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ พอร์ตเชื่อมต่อ พอร์ตเชื่อมต่อจะอยู่ด้านหลังมีด้านล่างและด้านข้าง ให้มาค่อนข้างครบครัน ด้านล่างมีพอร์ต LAN ที่ด้านซ้ายสุด ถัดมาเป็นกับพอร์ต Digital Audio Out และยังมีพอร์ต AV Composite แบบสายสามสีมาให้ด้วย ใครที่เป็นคอเครื่องเกมคอนโซล หรือเครื่องเล่นแผ่นยุคเก่าที่ยังใช้สายสามสีอยู่ ก็สามารถนำมาเสียบใช้ได้ สุดท้ายด้านขวาสุดเป็นช่องเสียบสายอากาศ สำหรับพอร์ตด้านข้าง เป็นช่องเสียบ USB สองช่อง พอร์ต HDMI 2.0 สองพอร์ต และ HDMI 2.1 พอร์ตเดียว รองรับระบบ eARC หรือระบบ Enhanced Audio Return Channel คือพอร์ต HDMI 2 ตรงกลาง จุดนี้น่าเสียดายเล็กน้อยที่ Xiaomi Q1E แสดงผล 4K ได้สูงสุดแค่ 60Hz แม้ปัจจุบันยังไม่มีปัญหา แต่สำหรับเกมเมอร์ ความถี่แค่ 60Hz อาจไม่เพียงพอในอนาคต การใช้งาน ทีวี Xiaomi ในบางประเภท จะมี UI ชื่อ PatchWall ครอบมาบน Android TV อีกที แต่ระบบนี้ยังไม่รองรับการใช้งานในบ้านเรา ฉะนั้นหน้าตาของ UI จึงเหมือนกับ Android TV ทั่วไป แต่การใช้งานพบว่าในบางครั้งที่กดตั้งค่าไปพร้อมกับการดูคอนเทนต์ 4K HDR ไปด้วย เครื่องจะมีอาการตอบสนองช้าเล็กน้อย คาดว่ามาจากชิป MediaTek 9611 แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกับการดูคอนเทนต์ปกติมากนัก Google Assistant ปิดมาเป็นค่าเริ่มต้น สามารถเปิดการตั้งค่าได้ใน Device Preferences ส่วนการใช้งานจะคล้ายกับสมาร์ทสปีกเกอร์ทั่วไป แค่พูด Ok, Google หน้าจอก็จะเด้ง UI ของ Google Assistant ขึ้นมาให้เราสั่งการ และเชื่อมต่อกับระบบสมาร์ทโฮม Google Home ได้ปกติ เมื่อเปิด Netflix จะสามารถรับชมภาพยนตร์ที่ใช้ระบบ Dolby Vision ได้ ลำโพงเป็นแบบ 30W ในตัวเครื่อง พร้อมทวีตเตอร์คู่ คุณภาพเสียงอยู่ในระดับพอใช้ ไม่โดดเด่น แต่เมื่อต่อ Soundbar ผ่านพอร์ต Digital Output สามารถเล่นเสียง Dolby 5.1 บน Netflix ได้ โดยสามารถเข้าไปปรับแต่งการส่งสัญญาณเสียงได้ในการตั้งค่า Digital Output ว่าจะใช้เป็นแบบ PCM, Passthrough หรือ Dolby Digital ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ Dolby Vision บน Netflix ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ Dolby Vision บน Netflix ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ Dolby Vision บน Netflix ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ Dolby Vision บน Netflix สำหรับ YouTube การรับชมคอนเทนต์ HDR ยังรองรับแค่ HDR10 เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของ YouTube เอง แต่ภาพที่ได้ก็ยังมีสีสันสดใสกว่าแบบรู้สึกได้ เมื่อเทียบกับทีวี 4K LED ทั่วไปเครื่องเก่าของผู้เขียน ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ HDR10 บน YouTube ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ HDR10 บน YouTube ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ HDR10 บน YouTube ข้อเสีย ข้อจำกัดของเครื่องอาจจะเป็นเรื่อง UI และการตั้งค่า ที่อาจจะมีช้าหรือค้างบ้าง หากรับชมคอนเทนต์แล้วปรับตั้งค่าไปด้วย อีกข้อจำกัดคือหน้าจอที่เป็นแบบ 60Hz แม้สีสันจะสดใส ความสว่างโดดเด่น แต่สำหรับเกมเมอร์ที่อยากได้ภาพลื่นไหลบนอัตรารีเฟรชที่สูงกว่า อาจจะไม่พอใจในส่วนนี้ อีกหนึ่งเรื่องคือหน้าจอยังสะท้อนแสงในห้องมากพอสมควร แม้ความสว่างของจอจะอยู่ที่ 1000 nits สำหรับคอนเทนต์ HDR แต่ถ้าคอนเทนต์ที่ดูส่วนใหญ่ เป็นคอนเทนต์ธรรมดา หรือไม่สว่างมากนัก อาจต้องจัดวางทีวีให้อยู่ในมุมที่ไม่สะท้อนหลอดไฟในห้อง หรือหรี่ไฟเมื่อต้องการรับชม สรุป Xiaomi TV Q1E ถือได้ว่าเป็นทีวี QLED ขนาด 55 นิ้ว ที่ให้ฟีเจอร์รับชมคอนเทนต์มาแบบครบครัน ทั้งการรองรับ HDR มาตรฐานต่างๆ และมาตรฐานเสียง Dolby Audio และ DTS HD ส่วนข้อจำกัดบางด้าน ยังถือว่าพอรับได้ในระดับราคา 19,990 บาท แม้ Samsung QLED กับหรือ LG Nano Cell (Nano Cell เป็นเทคโนโลยีฟิล์มเคลือบฟิลเตอร์สีของ LG ช่วยเรื่องสีสดคล้าย Quantum Dot) จะมีรุ่นที่ราคาใกล้เคียงกันบ้าง แต่ทีวีของ Samsung ก็จะรัน Tizen OS ส่วน LG ก็รัน WebOS ทำให้ Xiaomi ที่รัน Android TV มีข้อได้เปรียบด้านการรองรับแอปต่างๆ ถ้าจะมีคู่แข่งก็คงเป็น Sony ที่ราคาก็จะขยับไปอีกระดับ นอกจากนี้ทีวี QLED, Nano Cell รุ่นเริ่มต้นบางรุ่นที่ก็ยังไม่รองรับ HDR แบบ Dolby Vision อีกด้วย ทำให้ Xiaomi Q1E เป็นทีวีที่ค่อนข้างครบครันในระดับราคานี้ และน่าจะถูกใจสายดูคอนเทนต์ที่ชอบภาพสีสันสดใสมากกว่าทีวี LED แบบเดิมๆ
# SpaceX เปิดตัวจาน Starlink Premium ดาวน์โหลดเร็วสุด 500Mbps เดือนละ 500 เหรียญ SpaceX เปิดตัวจานรับสัญญาณดาวเทียมรุ่นใหม่สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink ในชื่อ Starlink Premium ที่โฆษณาว่าสามารถใช้อินเทอร์เน็ตที่ความเร็วดาวน์โหลด 150 ถึง 500Mbps (ปิงอยู่ที่ 20 ถึง 40ms) ในขณะที่รุ่นปกติทำความเร็วได้ที่ 50 ถึง 250Mbps (ปิงเท่ากัน) ส่วนความเร็วขาอัพโหลดอยู่ที่ 20 ถึง 40Mbps เรียกว่าเร็วขึ้นเท่าตัวทั้งดาวน์โหลดและอัพโหลด นอกจากนี้ยังทนต่อสภาพอากาศสุดขั้วได้ดีกว่าเดิม ด้านราคาก็ไม่ธรรมดา เพราะเก็บค่าจานดาวเทียม 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 83,000 บาท) บวกกับค่ารายเดือนอีก 500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16,500 บาท) ขณะนี้เปิดให้ลงชื่อจองแล้ว โดยต้องวางเงินมัดจำ 500 ดอลลาร์สหรัฐ เริ่มส่งมอบไตรมาสที่สองของปีนี้ ที่มา - The Verge
# Nintendo Switch ทำยอดขายรวม 103.54 ล้านเครื่อง แซง Wii เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นินเทนโดรายงานผลประกอบการ 9 เดือนของปีการเงินบริษัท 2022 (เมษายน-ธันวาคม) รายได้รวมลดลง 6% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 1.32 ล้านล้านเยน มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3.67 แสนล้านเยน ไฮไลท์สำคัญของไตรมาสนี้คือยอดขาย Switch โดยขายได้อีก 10.67 ล้านเครื่อง ทำให้ตัวเลขสะสมนับตั้งแต่วางจำหน่ายอยู่ที่ 103.54 ล้านเครื่อง แซงยอดขายของ Wii ที่ 101.63 ล้านเครื่องเป็นที่เรียบร้อย ในเวลาไม่ถึง 5 ปี ด่านถัดไปของยอดขายคอนโซลคือ PS4 (116.9 ล้านเครื่อง) และตระกูล Game Boy (118.69 ล้านเครื่อง) Nintendo Switch เครื่องรุ่น OLED ที่เพิ่งเริ่มขายในไตรมาสที่ผ่านมาขายได้ 3.94 ล้านเครื่อง, รุ่นปกติ 5.39 ล้านเครื่อง และ Lite 1.34 ล้านเครื่อง ตัวเลขยอดขายเกมเด่น ที่เริ่มขายในไตรมาสที่ผ่านมา Pokémon Brilliant Diamond และ Pokémon Shining Pearl ขายได้รวม 13.97 ล้านชุด Mario Party Superstars 5.43 ล้านชุด และ Metroid Dread 2.74 ล้านชุด ในไตรมาสปัจจุบันเกมเด่นจากนินเทนโดที่ออกมาได้แก่ Pokémon Legends: Arceus ซึ่งวางขายแล้ว และ Kirby and the Forgotten Land ที่จะออกในเดือนมีนาคม นินเทนโดประเมินสถานการณ์การผลิต จากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน คล้ายกับบริษัทอื่นว่าปัญหายังคงมีอยู่ และมีความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลกระทบ ที่มา: นินเทนโด และ The Verge
# Onlyfans เวอร์ชั่นโปรแกรมเมอร์, GitHub เพิ่มฟีเจอร์ repository สำหรับสปอนเซอร์จ่ายเงิน GitHub เพิ่มฟีเจอร์ Sponsors-only repositories ให้นักพัฒนาสามารถมอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้สนับสนุนได้ชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่มีป้ายแสดงตัวผู้สนับสนุนเป็นหลัก โดยการเปิดส่วนพิเศษสำหรับสปอนเซอร์จะทำให้นักพัฒนาสามารถมอบสิทธิประโยชน์ให้สปอนเซอร์ได้หลายอย่าง เช่น โครงการพิเศษสำหรับสปอนเซอร์เท่านั้น กระดานสนทนาวงปิดไว้คุยกับนักพัฒนาโดยตรง ได้ทดสอบฟีเจอร์ใหม่ล่วงหน้าก่อนเปิดโค้ดในวงกว้าง ฟีเจอร์เหล่านี้ดูแล้วคงคล้ายกับแพลตฟอร์มจำนวนมากในตอนนี้ที่เริ่มพยายามพัฒนาช่องทางจ่ายเงินตรงเข้าหาครีเอเตอร์ และเปิดทางให้ตัวครีเอเตอร์มอบสิทธิพิเศษได้ อย่างไรก็ดีตอนนี้โครงการ GitHub Sponsors ยังอยู่ในช่วงเบต้าวงปิดเท่านั้น ที่มา - GitHub
# Raspberry Pi OS รุ่น 64 บิต ออกจากรุ่นเบต้าแล้ว หลังจากที่ทาง Raspberry Pi Foundation ได้เปิดตัว Raspberry Pi OS 64 บิต รุ่นเบต้าไปเมื่อสองปีก่อน ล่าสุด เมื่อวานนี้ทาง Raspberry Pi Foundation ได้เปิดตัว Raspberry Pi OS 64 บิต รุ่นใหม่ที่ออกจากสถานะรุ่นเบต้าแล้ว Raspberry Pi OS รุ่น 64 บิต รองรับการทำงานบนสถาปัตยกรรม ARMv8-A โดยรองรับ Raspberry Pi รุ่นดังต่อไปนี้ - Raspberry Pi Zero 2 - Raspberry Pi 3 - Raspberry Pi 4 - Raspberry Pi 400 ใครสนใจสามารถเข้าไปโหลดได้ที่ Raspberry Pi OS ที่มา: Raspberry Pi OS (64-bit) - Raspberry Pi News
# It Takes Two ชนะรางวัลเกมยอดเยี่ยมในจีน โดยที่ไม่เคยขายอย่างเป็นทางการในจีน It Takes Two เกมแนว co-op แบบเล่นสองคนช่วยกันของ Hazelight Studios จากสวีเดน (จัดจำหน่ายโดย EA) สร้างชื่อด้วยการคว้ารางวัลใหญ่ Game of the Year 2021 ของรายการ The Game Awards มาแล้ว ล่าสุด It Takes Two ยังผงาดไปคว้ารางวัล Game of the Year 2021 ในรายการ Bilibili Game Awards ของประเทศจีนด้วย (ชนะเกมจีนอื่นๆ ทั้งหมด รายชื่อเกมที่ได้รางวัล) ทั้งที่เกมไม่เคยวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศจีนเลยด้วยซ้ำ อย่างที่เรารู้กันว่า การขายเกมในจีนต้องผ่านกระบวนการอนุมัติจากภาครัฐที่ซับซ้อน ต้องถูกตรวจสอบเนื้อหาและอาจต้องเซ็นเซอร์เนื้อหาบางอย่าง ทำให้เกมดังระดับโลกหลายเกมไม่ได้สนใจเข้าไปทำตลาดจีนอย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เกมที่ไม่ได้ทำตลาดจีนยังสามารถนำไปขายในจีนได้อยู่ดี โดยมีผู้นำแผ่นเกม (โดยเฉพาะฝั่งคอนโซล) ไปขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ อย่าง Taobao กันเป็นปกติ โดยที่ทางการจีนก็ไม่ได้สนใจปราบปรามสักเท่าไรนัก กรณีของ It Takes Two ก็ถูกนำไปขายในจีนด้วยวิธีการนี้เช่นเดียวกับเกมอื่นๆ แต่สิ่งที่พิเศษขึ้นมาคือ สตรีมเมอร์จีนที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Bilibili หยิบมาเล่นโชว์แล้วดังขึ้นมา ทั้งจากรูปแบบเกมเพลย์ที่ต้องใช้สองคนช่วยกันเล่น แปลกกว่าเกมทั่วไป และตัวคุณภาพเกมเองที่ดีในระดับเกมแห่งปีอยู่แล้ว เมื่อเกมโด่งดังทำให้คนแห่ไปซื้อแผ่นเกม It Takes Two มาเล่นกันมากขึ้น เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า It Takes Two มียอดขายในจีนเท่าไร เพราะเป็นการขายผ่านช่องทางไม่เป็นทางการทั้งหมด แต่ Tim Schafer ผู้กำกับเกมก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าฐานผู้เล่นในจีนมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เล่นเกมทั้งหมด ถ้านำมารวมกับตัวเลขยอดขายเกม 3 ล้านชุด (EA ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2021) ก็น่าจะพอประเมินได้ว่ายอดขายในจีนน่าอยู่ราว 1 ล้านชุดต้นๆ ที่มา - GamesIndustry
# Microsoft Lists แอพจัดการงานในทีม แบบเดียวกับ Asana/Trello เริ่มเปิดทดสอบแล้ว ไมโครซอฟท์เคยเปิดตัว Microsoft Lists โปรแกรมจัดการงานลักษณะเดียวกับ Asana/Trello ตั้งแต่กลางปี 2020 แล้วเงียบหายไปนาน ล่าสุดไมโครซอฟท์กลับมาพร้อมกับเปิดเวอร์ชันพรีวิวให้ลองใช้งานแล้ว Microsoft Lists เป็นแอพจดรายการงานสำหรับทีมขนาดเล็ก (ต่างจาก Microsoft To-Do ที่เน้นใช้ส่วนตัว) ใช้ติดตามสถานะการทำงานของเพื่อนร่วมทีม แจกงานให้คนในทีมได้ แยกหมวดหมู่ตามสี กำหนดเส้นตาย และมีมุมมองหลายรูปแบบ เช่น list, grid, calendar ในแง่ฟีเจอร์ของ Lists คงไม่ต่างจากแอพตัวอื่นๆ ที่นิยมในตลาดอย่าง Asana, Trello, Jira แต่จุดเด่นสำคัญของ Lists คือการผูกกับ Microsoft 365 อย่างแนบแน่น ดังนั้นคนที่ซื้อ Microsoft 365 อยู่แล้วก็สามารถใช้งานได้ทันที เบื้องต้น ไมโครซอฟท์ยังเปิดทดสอบในวงจำกัดกับผู้ใช้ 2 แสนรายแรกเท่านั้น และยังมีเฉพาะเวอร์ชันเว็บ ยังไม่มีเวอร์ชันแอพมือถือหรือแอพใน Teams ให้ใช้งาน ที่มา - Microsoft, The Verge
# รู้จักกับ Bozhidar Bozhanov รัฐมนตรีบัลแกเรีย คะแนน Stackoverflow สูงถึง 566,895 คะแนน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมารัฐสภาบัลแกเรียตั้ง Bozhidar Bozhanov เข้าเป็นรัฐมนตรีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้รัฐบาลของ Kiril Petkov จุดที่น่าสนใจคือ Bozhanov นับเป็นโปรแกรมเมอร์ที่อยู่ใน Stackoverflow มายาวนาน คะแนน reputation ของเขาสูงถึง 566,945 คะแนน และได้รับ gold badge ถึง 138 รายการ เป็นผู้ใช้ระดับ top 0.01% ของเว็บ แม้จะคะแนนสูง แต่ที่จริงแล้ว Bozhanov ก็แทบไม่ได้ตอบคำถามบน Stackoverflow มาหลายปีแล้ว โดยคำตอบล่าสุดที่เขาเข้าไปตอบอยู่ที่ปี 2015 แม้จะยังเข้าไปถามคำถามอยู่บ้างเนืองๆ ตัว Bozhanov เป็นโปรแกรมเมอร์ทำงานมาหลายบริษัท และแตะงานการเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีบัลแกเรียมาก่อน ก่อนจะไปตั้งบริษัท LogSentinel อยู่สี่ปี และเพิ่งลาออกมารับตำแหน่งรัฐมนตรี บล็อคล่าสุดของเขาหลังรับตำแหน่ง บ่นเรื่องบั๊กวันที่บน Microsoft Exchange ว่าไม่ควรมีใครคิดฟอร์แมตใหม่อีก ควรใช้ ISO-8601, epoch, หรือ RFC2822 ก็เพียงพอแล้ว ที่มา - LinkedIn, Gov.bg
# TCAS ชี้แจง ข้อมูลที่หลุดเป็นข้อมูลช่วงพฤษภาคม ปี 64 หลุด 23,000 จาก 826,250 รายการ TCAS แถลงชี้แจงถึงข้อมูลที่หลุดกว่า 23,000 รายการ เมื่อวานนี้ ระบุว่าเป็นข้อมูลของระบบ TCAS64 ในรอบที่ 3 ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดของผู้สมัคร และเป็นข้อมูลในรูปแบบ CSV TCAS ระบุว่าข้อมูลในรอบ 3 ของระบบ TCAS64 มีทั้งหมด 826,250 รายการ แต่ที่ผู้ขายข้อมูลกล่าวอ้างนั้น มี 23,000 รายการ โดยคาดว่าเป็นไฟล์ที่สร้างขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่เจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาดึงข้อมูลคะแนนไปจัดเรียงลำดับผู้สมัคร (Ranking) ตามเกณฑ์คัดเลือกของแต่ละสาขาวิชา ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอขายไม่มีผลการจัดเรียงลำดับ Ranking ของผู้สมัคร ระบบ TCAS64 ปิดไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ส่วนระบบ TCAS ของปี 2565 มีการเปลี่ยนระบบเป็นรูปแบบใหม่ และเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นใหม่มีระบบการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลส่วนตัวที่ดีขึ้น การที่จะเข้าถึงไฟล์ข้อมูลได้ TCAS ระบุว่าผู้ใช้งานระบบต้องได้รับการอนุญาตจากระบบ และใช้ URL ชั่วคราว (presigned URL ของ S3) ที่มีอายุจำกัด ทำให้ผู้ใช้งานระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลได้แค่ชั่วคราว พร้อมมีระบบบันทึกการใช้งานอย่างละเอียด TCAS ขออภัยในเหตุที่เกิด ระบุว่าตอนนี้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) แล้ว และอยู่ในระหว่างรวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งเหตุไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งครั้งที่สะท้อนความล้มเหลวในการปกป้องและเก็บข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงความล้มเหลวในแง่ของกฎหมายในการปกป้องข้อมูลและเอาผิดหน่วยงานที่ทำข้อมูลหลุด ที่มา - TCAS
# HighSight โซลูชันโดรนบินอัตโนมัติพร้อมระบบ AI ครั้งแรกในไทยจาก SKYLLER ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลายอุตสาหกรรมเริ่มสนใจนำเทคโนโลยีโดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ เข้ามาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งกับการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานในงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบแผงโซลาร์ ไปจนถึงการติดตามสถานะของการก่อสร้างว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ แม้เทคโนโลยีโดรนจะเป็นเทคโนโลยีทันสมัย ทั้งช่วยทุ่นเวลา ลดต้นทุน และลดความเสี่ยงในการทำงานของบุคลากร แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ก็ยังมีข้อจำกัดสำคัญหลายประการ เพราะการบินโดรนโดยใช้คนบังคับ มีความซับซ้อนสูง ผู้บังคับต้องบังคับโดรนให้อยู่ในระดับการมองเห็นของสายตา (visual line of sight) ตลอดเวลา ต้องใช้บุคลากรที่มีประสบการณ์ และหลายครั้งเป็นการทำงานเดิมๆ เป็นกิจวัตรและใช้เวลานาน SKYLLER บริษัท สไกลเลอร์ โซลูชั่น จำกัด หนึ่งในกลุ่มธุรกิจของบริษัท AI and Robotics Venture (ARV) Venture Builder ในเครือปตท. สผ. (PTTEP) ผู้ให้บริการงานตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและงานอุตสาหกรรมด้วยโดรนและแพลตฟอร์ม AI มองเห็นศักยภาพของโดรนในการผสานการทำงานร่วมกับระบบ AI และ Machine Learning นำไปสู่การพัฒนา ‘HighSight Solution’ เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนในกล่อง (drone in a box) ที่สามารถทำงานขับเคลื่อนตัวเองด้วยระบบอัตโนมัติ หรือแบบ Beyond Visual line of sight: BVLOS โดยไม่จำเป็นต้องมีนักบินควบคุมอยู่ในระยะการทำงาน สามารถสั่งการควบคุม ตั้งโปรแกรมทำงาน และดูผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบ AI ผ่านแพลตฟอร์มของ SKYLLER ได้ HighSight ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบันของการใช้โดรนเพื่อการพาณิชย์ คือ เมื่อมีความต้องการในการใช้งานสูงขึ้น จึงเริ่มเกิดการขาดแคลนบุคลากรที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการบินโดรน โดยเฉพาะงานตรวจสอบอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญสูง เพราะ การจะเป็นนักบินโดรนมืออาชีพได้ ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และฝึกซ้อมมาก รวมถึงมีค่าใช้จ่ายและค่าแรงที่สูง นอกจากนี้แม้นักบินโดรนจะเก่งแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถบังคับโดรนต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง หรือทำงานที่เป็นกิจวัตรซ้ำไปซ้ำมาได้ทั้งวัน เพราะนักบินจะได้รับผลกระทบจากความเหนื่อยล้า ทำให้การบินโดรนมีสมรรถภาพลดลงเมื่อผ่านไปเป็นเวลานาน แถมยังมีความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของนักบินโดรน ที่ต้องเดินทางไปมาหลายร้อยกิโลระหว่างพื้นที่ที่ห่างไกลด้วย โซลูชัน HighSight จึงจะเปลี่ยนแปลงวิธีการตรวจสอบและเฝ้าระวังให้ง่าย สะดวก และประหยัดมากขึ้น ‘HighSight Solution’ เกิดจากการผสานรวมของเทคโนโลยีระหว่างโดรนในกล่อง (drone in a box) ที่ชื่อว่า Horrus พัฒนาโดยบริษัท ARV ที่เพิ่งจะเปิดตัวในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ โดยนำมาใช้งานร่วมกับแพลตฟอร์มของ SKYLLER ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบโดรนออนไลน์ ในการตั้งค่าการบิน รับส่งข้อมูล รวมถึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อด้วยระบบ AI ที่เป็นจุดแข็งของ SKYLLER กลายเป็นโซลูชันโดรนที่ทำงานได้อัตโนมัติ พร้อมการวิเคราะห์และรายงานผลอย่างชาญฉลาด Horrus หรือเทคโนโลยีโดรนในกล่อง (drone in a box) ประกอบด้วย ตัวกล่อง ทำหน้าที่เป็นทั้งที่เก็บโดรน จุดชาร์จแบตเตอรี่ อัพโหลดข้อมูล อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบองค์ประกอบและประสิทธิภาพของตัวโดรนในตัว ซึ่งภายในจะมีโดรนที่ออกแบบมาเป็นพิเศษอยู่ ตัวโดรนเป็นแบบ 4 ใบพัด มีกล้องตรวจจับสิ่งกีดขวางรอบตัว ทำให้บินได้อย่างปลอดภัยและโฟกัสเป้าหมายได้แบบไม่คลาดสายตา สามารถทำการบินสำรวจและเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติได้ต่อเนื่องประมาณ 30 นาที ระยะทำการประมาณ 6 กิโลเมตร โดรนยังสามารถปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ ที่แตกต่างกันได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถวางแผนเส้นทางการบินได้จากระยะไกล (Teleoperation) โดย SKYLLERได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ AI และ Machine Learning ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลข้อมูล แจ้งเตือนเมื่อพบสิ่งผิดปกติ และรายงานผล เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามข้อมูลแบบ Real Time ได้ผ่านแพลตฟอร์ม โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่หน้างานที่อาจะเป็นพื้นที่ห่างไกล เช่น แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล หรือพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น คลังสินค้า ไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ หลังจากปฏิบัติภารกิจเสร็จ โดรนจะสามารถบินกลับมาที่ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินได้เองโดยอัตโนมัติ เพื่อชาร์จพลังงาน ส่งข้อมูลภาพถ่าย หรือวิดีโอเข้าสู่ระบบ ผู้ใช้งานสามารถดูข้อมูลได้ผ่านแพลตฟอร์มผ่านคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ โซลูชัน HighSight สามารถปรับใช้งานได้กับหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเน้นไปที่การทำงานแบบเป็นกิจวัตร และการทำงานที่อันตรายเพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทั้งผู้ตรวจสอบ และนักบินโดรน เช่น ⦁ บินสำรวจเพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้าง (Construction Progress Monitoring) เพื่อตรวจเช็คความถูกต้องของการก่อสร้างเทียบกับแบบพิมพ์เขียว ⦁ การบินสำรวจเพื่อตรวจสอบปริมาตรวัสดุก่อสร้างได้อย่างแม่นยำ (Stockpile Volume Estimation) เช่น ปริมาณ กองทราย หิน ดิน และอื่นๆ ในบริเวณไซต์สิ่งปลูกสร้าง โดยสามารถเก็บสถิติขนาดของกองวัสดุในแต่ละวันเพื่อเปรียบเทียบและวางแผนการใช้งานได้ ⦁ การบินลาดตระเวนเป็นประจำของพื้นที่ที่กำหนดไว้ (Security & Routine Surveillance) เพื่อสำรวจความปลอดภัย โดยตัวโดรนจะมีระบบตรวจจับวัตถุต้องสงสัยและการบุกรุก สามารถสำรวจพื้นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและส่งสัญญาณผ่านแพลตฟอร์ม ไปยังหน่วยงานที่ให้ความช่วยในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจากกรณีตัวอย่างการใช้งานดังกล่าว นอกจาก HighSight จะช่วยแก้ปัญหาด้านบุคลากรที่ต้องทำการบินโดรนแล้ว ยังช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำงาน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน และเพิ่มความปลอดภัยในการตรวจสอบได้อย่างมาก HighSight เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมและทดสอบการใช้งานจริงได้แล้วที่เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTTEP Technology and Innovation Centre: PTIC) ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับฝึกฝน ทดสอบการบินโดรน และเป็นพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบที่ใช้ในการบิน (Regulatory Sandbox) ผู้สนใจสามารถติดต่อ SKYLLER เพื่อทำการสาธิตได้ที่ศูนย์วิจัยฯ หรือผ่านระบบออนไลน์ พร้อมยินดีร่วมหารือกับผู้ใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ ในการปรับใช้เทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของธุรกิจ โดยหวังว่าเทคโนโลยีของ HighSight จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ทันสมัย และใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต หากท่านสนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และติดต่อ SKYLLER ได้ที่ https://bit.ly/3Cpovga
# บริการ DeFi ข้ามเชน Wormhole ถูกแฮก คาดคนร้ายได้โทเค็นมูลค่า 10,000 ล้านบาท บริการ DeFi ข้ามเชน Wormhole ถูกแฮกเกอร์เจาะระบบจนสามารถถอน Ethereum และ Solana ออกไปจำนวนมาก รวมมูลค่าประมาณ 295-325 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณหมื่นล้านบาท ตอนนี้ทาง Wormhole ปิดระบบชั่วคราว และยืนยันว่าพบช่องโหว่และแก้ไขเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ออกมายืนยันมูลค่าความเสียหายแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็ส่งข้อความไปถึงแฮกเกอร์ ระบุว่ายินดีจ่ายค่ารายงานช่องโหว่เป็นเงินสิบล้านดอลลาร์ Wormhole เป็นแพลตฟอร์ม DeFi ที่มีสินทรัพย์วิ่งอยู่ในแพลตฟอร์มรวมมูลค่าประมาณพันล้านดอลลาร์ การแฮกแพลตฟอร์ม DeFi ครั้งนี้นับเป็นการแฮกครั้งใหญ่รอบที่สองของปี หลังจาก Qubit Finance เพิ่งถูกแฮกไปสัปดาห์ที่แล้ว และต้องส่งข้อความอ้อนวอนแฮกเกอร์เพื่อเสนอเงินรางวัลแบบเดียวกัน ที่มา - The Record
# [ลือ] ไมโครซอฟท์เลิกทำแว่น HoloLens 3 เปลี่ยนไปจับมือกับซัมซุงทำแว่นแทน เว็บไซต์ Business Insider รายงานข่าวว่า ไมโครซอฟท์ยกเลิกโครงการแว่น HoloLens 3 ไปตั้งแต่ปี 2021 และเปลี่ยนยุทธศาสตร์มาจับมือกับซัมซุงพัฒนาแว่นแทน (ข่าวของซัมซุงก็ยังเป็นข่าวลือ ไม่เคยยืนยันเป็นทางการ) เหตุผลที่ไมโครซอฟท์ยกเลิก HoloLens 3 เป็นเพราะเป้าหมายของบริษัทก็ไม่ชัดเจนว่าต้องการทำอะไรกันแน่ ฝ่ายหนึ่งในบริษัทอยากทำเฉพาะซอฟต์แวร์ ในขณะที่อีกฝ่ายอยากให้ทำฮาร์ดแวร์ด้วย การยกเลิกยังส่งผลให้ทีม HoloLens หลายคนลาออกไปอยู่กับ Meta ที่ยังมุ่งมั่นผลักดันธุรกิจ VR/AR อย่างหนัก โฆษกของไมโครซอฟท์ให้ความเห็นกับข่าวนี้ว่า บริษัทยืนยันว่าจะทำธุรกิจ HoloLens ต่อไป ฝั่งซอฟต์แวร์ VR/AR ของไมโครซอฟท์มี Microsoft Mesh ที่เปิดตัวช่วงต้นปี 2021 เป็นแพลตฟอร์มสร้างโลกเสมือนจริงขนาดใหญ่ แต่พอปลายปี 2021 ก็ถูกลดสเกลลงมาเป็นระบบอวตารใน Microsoft Teams ที่มา - Business Insider, PCWorld
# Spotify ไตรมาสล่าสุด จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 406 ล้านบัญชี Spotify รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ปี 2021 จำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือน (MAUs) เพิ่มขึ้นเป็น 406 ล้านบัญชี แบ่งเป็นลูกค้าพรีเมียมเสียเงิน 180 ล้านบัญชี และแบบใช้งานฟรีมีโฆษณา 236 ล้านบัญชี ตัวเลขทางการเงิน รายได้รวมเพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อนเป็น 2,689 ล้านยูโร แบ่งเป็นรายได้จากค่าสมาชิก 2,295 ล้านยูโร และรายได้จากโฆษณา 394 ล้านยูโร ขาดทุนสุทธิ 39 ล้านยูโร ในช่วงแถลงผลประกอบการ ซีอีโอ Daniel Ek ตอบคำถามนักลงทุนประเด็นรายการพ็อดแคสต์ของ Joe Rogan โดยบอกว่าบริษัทกำลังแก้ไขปัญหานี้อยู่ ทั้งนี้พ็อดแคสต์เป็นส่วนที่ Spotify ยังมองเป็นโอกาสเติบโตสูง ปัจจุบันมีมากกว่า 3.6 ล้านรายการบนแพลตฟอร์ม และจำนวนการรับฟังก็ยังเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ทุกไตรมาส ที่มา: Spotify และ CNBC
# PayPal รายงานผลประกอบการไตรมาส จำนวนผู้ใช้งานใหม่น้อยกว่าที่บริษัทประเมินไว้ PayPal รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 23% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนเป็น 339,530 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นรายได้ของ PayPal 6,918 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13% และมีกำไรสุทธิ 801 ล้านดอลลาร์ จำนวนผู้ใช้งานรวม 426 ล้านบัญชี เป็นบัญชีใหม่ 9.8 ล้านบัญชี โดย 3.2 ล้านบัญชีมาจาก Paidy ที่ PayPal ซื้อกิจการมา ตัวเลขนี้น้อยกว่าที่บริษัทประเมินไว้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากมี 4.5 ล้านบัญชีที่บริษัทต้องลบออก เพราะเป็นการสมัครที่ไม่ถูกต้อง เพื่อรับผลประโยชน์จากแคมเปญการตลาดของบริษัท ที่มา: PayPal และ CNBC
# Meta รายงานผลประกอบการไตรมาส รายได้รวมโต 20% Meta บริษัทแม่ของ Facebook รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ซึ่งเป็นครั้งแรกของการรายงานในชื่อบริษัทใหม่ รายได้รวมเพิ่มขึ้น 20% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 33,671 ล้านดอลลาร์ มีกำไรสุทธิ 10,285 ล้านดอลลาร์ จำนวนผู้ใช้งาน Facebook เป็นประจำทุกเดือน (MAUs) เพิ่มขึ้นเป็น 2,912 ล้านบัญชี ขณะที่จำนวนคนใช้งานรวมกันบนทุกแพลตฟอร์มในเครือเพิ่มขึ้นเป็น 3.59 พันล้านคน ส่วนตัวเลขผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวัน (DAUs) มีจุดน่าสนใจคือผู้ใช้ Facebook มีจำนวน 1,929 ล้านบัญชี ลดลงเป็นครั้งแรกเทียบกับไตรมาส 3/2021 ซึ่งมี 1,930 ล้านบัญชี ในไตรมาสนี้ Meta เปลี่ยนวิธีรายงานตัวเลขโดยแบ่งธุรกิจออกเป็นสองส่วนหลักคือ Family of Apps ซึ่งเป็นรายได้จาก Facebook, Instagram, WhatsApp, Messenger และอื่น ๆ รายได้ส่วนใหญ่มาจากโฆษณา เพิ่มขึ้น 20% เป็น 32,794 ล้านดอลลาร์ อีกธุรกิจคือ Reality Labs ซึ่งรวมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ AR และ VR รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 877 ล้านดอลลาร์ เมื่อแยกกำไร-ขาดทุนจากดำเนินงานแยกส่วนธุรกิจ กลุ่ม Family of Apps มีกำไร 15,889 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ Reality Labs ขาดทุน 3,304 ล้านดอลลาร์ David Wehner ซีเอฟโอ Meta ให้ข้อมูลว่ารายได้ในไตรมาสปัจจุบัน มีผลกระทบจากปัจจัยลบหลายอย่าง ได้แก่ การปรับปรุงความเป็นส่วนตัวของ iOS, ปัญหาซัพพลายเชนและภาพรวมเศรษฐกิจโลกกระทบต่องบโฆษณา และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ที่มา: Meta
# Sony ไตรมาส 4/2021 รายได้พุ่งจาก Spider-Man: No Way Home แต่ธุรกิจเกมยอดขายตก Sony เผยผลประกอบการไตรมาส 4/2021 (นับเป็นไตรมาส 3/2021 ตามปีงบประมาณ) รายได้ 3.37 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้น 13%, กำไรจากการดำเนินงาน 1.13 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้น 32% ภาพรวมธุรกิจของบริษัทเติบโตดีจากทุกหน่วย ยกเว้นกลุ่มเกมที่เจอปัญหา PS5 ขาดแคลนไม่เพียงพอต่อการขาย ทำให้รายได้ต่ำกว่าเป้า และกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่รายได้ลดลงเช่นกัน ธุรกิจของโซนี่ที่โดดเด่นในไตรมาสล่าสุดคือภาพยนตร์ เพราะ Spider-Man: No Way Home ทำเงินได้ถล่มทลาย 1.7 พันล้านดอลลาร์ แถมยังมีรายได้จากการขายธุรกิจสตูดิโอเกมมือถือ GSN เข้ามาเสริม, ส่วนธุรกิจเพลง การเงิน และเซ็นเซอร์ภาพก็ยังเติบโตดี ที่มา - Sony (PDF), Nikkei
# GitHub เริ่มบังคับผู้ดูแลแพ็กเกจ NPM ยอดนิยม 100 อันดับแรก ต้องล็อกอิน 2FA GitHub ประกาศบังคับให้ผู้ดูแลแพ็กเกจ NPM ยอดนิยม 100 ตัวแรก ต้องล็อกอินแบบ 2FA เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยจากการถูกแฮ็กบัญชี ตามที่เคยประกาศแนวทางไว้ การที่แพ็กเกจ NPM ยอดนิยมถูกใช้งานในวงกว้าง ทำให้เกิดปัญหาผู้ดูแลถูกแฮ็กบัญชี แล้วเปลี่ยนแพ็กเกจที่ยัดไส้มัลแวร์อยู่บ่อยครั้ง สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง หนึ่งในมาตรการของ GitHub คือเพิ่มความปลอดภัยของบัญชีผู้ดูแลก่อน โดยเริ่มจากกลุ่ม Top 100 และขั้นต่อไปคือ GitHub จะบังคับ 2FA กับแพ็กเกจที่มียอดดาวน์โหลดเกิน 1 ล้านครั้งต่อสัปดาห์ หรือมีโครงการอื่นเรียกใช้งานเกิน 500 โครงการ GitHub ระบุว่าปรับปรุงฟีเจอร์ด้าน 2FA ขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น การบังคับใช้ 2FA กับบัญชีของทั้งองค์กร, เพิ่มวิธีการตรวจสอบ (audit) ว่าบัญชีไหนขององค์กรเปิด 2FA แล้วบ้าง เพื่อเตรียมเปิดใช้ 2FA ในวงกว้างกว่านี้ในอนาคต นอกจากนี้ GitHub กำลังพัฒนาระบบล็อกอินให้รองรับ WebAuthn เพื่อยืนยันตัวตนด้วยคีย์ฮาร์ดแวร์หรือไบโอเมทริกด้วย ที่มา - GitHub
# Grounded แพตช์ล่าสุด พร้อมกับเมนูและซับไตเติลภาษาไทยเป็นครั้งแรก ถ้าหากใครยังจำความกันได้ว่า Obsidian Entertainment (ปัจจุบันอยู่ในเครือของ Xbox Game Studios) ได้เปิดตัวเกมแนวเอาชีวิตรอดจากแมลง อย่าง Grounded เมื่อ 2 ปีก่อน และปัจจุบัน ตัวเกมยังอยู่ในระยะ early access (ผ่าน Xbox Game Preview และ Steam Early Access) ล่าสุด Obsidian Entertainment ออกอัปเดตตัวเกม Grounded เวอร์ชันล่าสุด ภายใต้ชื่ออัปเดต Into the Wood (ในเกมภาษาไทยเรียกอัปเดตนี้ว่า เข้าไปในป่า) โดยในเวอร์ชันนี้ ได้เพิ่มพื้นที่ใหม่ในการสำรวจ อย่างเช่น พื้นที่เตาบาร์บีคิวที่ล้มกับพื้น หรือจอมปลวก รวมไปถึงสามารถคราฟต์อุปกรณ์ได้มากขึ้น ทั้งอาวุธ เกราะ และโครงสร้างอาคาร แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะสำคัญที่สุดสำหรับผู้เล่นชาวไทยก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใส่เมนูและซับไตเติลภาษาไทยอย่างเป็นทางการ (พร้อมกับตัวเลือกภาษาเติร์ก, อาหรับ และญี่ปุ่น) ข่าวนี้น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับแฟนเกมนี้ในไทยที่จะได้เล่นเกมนี้ในภาษาไทยอย่างเป็นทางการแล้ว และน่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าไมโครซอฟท์เอง เริ่มจริงจังกับตลาดในพื้นที่อื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากพื้นที่ที่ Xbox ทำตลาดอยู่ ตามที่ Phil Spencer ซีอีโอของ Microsoft Gaming ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในพ็อดคาสต์ Unlocked ของ IGN ตอนที่ 500 นั่นเอง สำหรับรายละเอียดของอัปเดตสามารถดูได้ที่วิดีโอด้านล่าง หรือลิงก์ที่มาของข่าวครับ ภาษาไทยมาแล้ว แต่ขอฟอนต์ที่ดีกว่านี้ได้ไหมครับพี่... ที่มา: Obsidian
# DeepMind เปิดตัว AlphaCode ปัญญาประดิษฐ์เขียนโค้ด เข้าแข่งเขียนโปรแกรมได้คะแนนปานกลาง DeepMind เปิดตัว AlphaCode ปัญญาประดิษฐ์เขียนโค้ด โดยอาศัยเพียงอินพุตเป็นโจทย์เหมือนการทดสอบเขียนโค้ดทั่วๆ ไปที่มีคำบรรยาย และตัวอย่างอินพุตกับเอาท์พุตของโปรแกรมให้เท่านั้น ผลทดสอบบนแพลตฟอร์ม Codeforces ปรากฎว่า AlphaCode มีความสามารถเขียนโปรแกรมในระดับปานกลาง (median) เมื่อเทียบกับผู้ร่วมแข่งขันอื่นๆ ที่เป็นมนุษย์ ตัว AlphaCode เองเป็นปัญญาประดิษฐ์ในกลุ่ม Transformer ที่ใช้ประมวลผลด้านภาษาเป็นหลัก แล้วฝึกปัญญาประดิษฐ์ด้วยโค้ดจำนวนมากถึง 715.1GB จาก GitHub โดยเลือกโค้ดภาษายอดนิยม ได้แก่ C++, C#, Go, Java, JavaScript, Lua, PHP, Python, Ruby, Rust, Scala, และ TypeScript ทีมงานพบว่าการใส่โค้ดเท่านี้ตรงๆ ก็ทำให้ปัญญาประดิษฐ์เขียนโปรแกรมง่ายๆ ได้แล้ว แต่เพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ต่อ ทีมงานดูดข้อมูลจากการแข่งขันต่างๆ ขึ้นมาเป็นชุดข้อมูล CodeContests โดยรวมจาก Codeforces, Description2Code, และ CodeNet โดยต้องระวังว่าจะไม่มีโจทย์ข้อใดที่ปัญญาประดิษฐ์เคยเห็น ด้วยการแบ่งชุด validation ให้เป็นโจทย์ที่ใหม่ที่สุด ข้อมูลการฝึกนี้ใส่ทั้งตัวโจทย์เอง, ข้อมูลอินพุตตัวอย่าง, ข้อมูลทดสอบที่ปกติจะไม่เห็นระหว่างการทดสอบ, คำตอบจากผู้เข้าแข่งขันทั้งที่ถูกและผิด ปัญหาสำคัญคือข้อมูลทดสอบไม่มากพอ ทำให้หลายครั้งการตรวจโค้ดมองว่าคำตอบถูกทั้งที่คำตอบผิด หรือบางครั้งโค้ดก็ช้าเกินไป ทางแก้ของทีมงานคือการสร้างชุดตรวจคำตอบจากโปรแกรมที่ถูกต้องเพิ่มเติม DeepMind สร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ AlphaCode มาหลายตัว และแต่ละตัวเมื่อใส่อินพุตเป็นโจทย์เข้าไปแล้วก็สามารถสร้างโค้ดคำตอบออกมาได้นับพันรูปแบบ จากนั้นก็นำโค้ดคำตอบที่ได้มากรองด้วยตัวอย่างอินพุตในโจทย์เอง ก็จะกรองคำตอบที่ AlphaCode สร้างออกมาได้ถึง 99% (บางข้อก็ไม่มีคำตอบไหนผ่านเลย) ที่เหลือจะนำโค้ดคำตอบมาจับกลุ่มที่ด้วยการสร้างอินพุตเพิ่มเติม แล้วดูว่าโค้ดคำตอบกลุ่มใดให้เอาท์พุตเหมือนๆ กันบ้าง แล้วเลือกส่งโค้ดคำตอบจากกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดก่อนเสมอ เนื่องจากโค้ดคำตอบที่ผิดสามารถผิดได้หลากหลายรูปแบบ จึงมักไม่จับกลุ่มกัน หากส่งตรวจแล้วพบว่าผิดก็เลือกโค้ดคำตอบจากกลุ่มที่เล็กลงเรื่อยๆ ผลสุดท้ายของการทดสอบคือการส่ง AlphaCode เข้าร่วมทดสอบการแข่งขัน Codeforce ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งหมด 10 รอบ แล้วดูคะแนนที่ได้ ผลพบว่า AlpahCode ทำคะแนนได้ในกลุ่ม 54% แรกของผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด นับว่าใกล้เคียงระดับผู้เข้าแข่งขันระดับกลางๆ แล้ว AlphaCode ที่เข้าร่วมแข่งขันใช้ 3 บัญชี คือ SelectorUnlimited, WaggleCollide, และ AngularNumeric สามารถเข้าไปดูคำตอบที่ AlphaCode ส่งเข้าแข่งขันได้ ที่มา - DeepMind
# ภาระเด็กไทย ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน หลุดจากระบบ mytcas.com กว่า 23,000 รายการ แฮกเกอร์ประกาศขายข้อมูลที่หลุดจากเว็บไซต์หน่วยงานไทยอีกครั้ง บนฟอรั่มเดิมที่เคยพบการขายข้อมูลโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และแจกเลขบัตรประชาชนไทยจากฐานข้อมูลโรงพยาบาลก่อนหน้านี้ คราวนี้ที่ข้อมูลที่หลุดมีส่วนสำคัญเป็นชื่อ นามสกุล และหมายเลขบัตรประชาชนของผู้ที่อยู่ในระบบ mytcas.com หรือเว็บไซต์ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา แฮกเกอร์ระบุว่ามีกว่า 23,000 รายการ นอกนั้นเป็นข้อมูลเช่นรหัสมหาวิทยาลัยที่เลือก รหัสคณะที่เลือก และสถานะในระบบการสอบอื่นๆ ส่วนรายละเอียดอื่นและมาตรการแก้ไขป้องกัน คงต้องรอแถลงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ที่มา - Raidforums
# American McGee's Alice เกมผจญภัยยุค 2000 กำลังจะดัดแปลงเป็นซีรีส์ American McGee's Alice เกมแอคชั่นผจญภัยปี 2000 ที่นำโครงเรื่องมาจากนิทาน Alice's Adventures in Wonderland กำลังจะกลายเป็นซีรีส์ เกมต้นฉบับพัฒนาโดย American McGee นักออกแบบเกมชื่อดัง (เขาอยู่ในทีม Doom II และ Quake) มีจุดเด่นเรื่องการตีความตัวละคร Alice สายมืดหม่นที่มีความรุนแรง แตกต่างจากนิทานเด็กที่เราคุ้นเคย เกมจัดจำหน่ายโดย EA และมีภาคสองตามมาในปี 2011 ชื่อว่า Alice: Madness Returns American McGee เองพยายามนำ Alice พัฒนาเป็นภาพยนตร์หรือทีวีซีรีส์มาหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ (เคยมีหนังสั้น Alice: Otherlands ที่ McGee ระดมทุนผ่าน Kickstarter และฉายในปี 2015) รอบนี้ เว็บไซต์ The Hollywood Reporter รายงานว่า Radar Pictures ร่วมกับ Abandon Entertainment ได้สิทธิการดัดแปลง Alice เป็นทีวีซีรีส์ และได้ David Hayter ผู้เขียนบท X-Men สองภาคแรก, Watchmen, The Scorpion King มาเป็นทั้งผู้เขียนบทและโปรดิวเซอร์ ที่มา - The Hollywood Reporter via GamesIndustry
# Steam ปรับกฎใหม่ ให้นักพัฒนาลดราคาเกมได้บ่อยกว่าเดิม จากทุก 6 สัปดาห์เป็น 4 สัปดาห์ Valve ประกาศนโยบายใหม่ของ Steam ให้นักพัฒนาสามารถลดราคาเกมได้บ่อยขึ้นกว่าเดิม นโยบายเดิมของ Steam คือการลดราคาแต่ละครั้งต้องมีระยะเวลาห่างกัน 6 สัปดาห์ แต่นโยบายใหม่ปรับลดลงมาเหลือ 4 สัปดาห์ (28 วัน นับจากจุดสิ้นสุดของการลดรอบก่อนไปจนเริ่มลดราคารอบใหม่) โดยมีข้อยกเว้นคือไม่นับรวมเทศกาลลดราคาใหญ่ของ Steam เองปีละ 4 รอบคือ Lunar New Year, Summer, Autumn, Winter นโยบายนี้จะเริ่มมีผลในวันที่ 28 มีนาคม 2022 เป็นต้นไป ที่มา - Steam, Eurogamer
# สหราชอาณาจักรเปลี่ยนแสตมป์เพิ่ม barcode มีหมายเลขประจำตัวทุกชิ้น Royal Mail หรือไปรษณีย์สหราชอาณาจักรประกาศเปลี่ยนรูปแบบแสตมป์เป็นแบบมี barcode ที่เป็นหมายเลขประจำแสตมป์กำกับทุกชิ้น พร้อมกับประกาศว่าสแตมป์แบบเดิมๆ นั้นจะใช้งานไม่ได้อีกหลังจากวันที่ 31 มกราคม 2023 โดยเตรียมเปิดให้ผู้ใช้นำแสตมป์รุ่นเดิมมาแลกเป็นรุ่นใหม่ได้ นอกจากหมายเลขประจำตัวแสตมป์แล้ว ตอนนี้ Royal Mail ยังไม่ระบุว่าจะใช้ข้อมูลใน barcode สองมิตินี้ทำอะไรบ้าง ตอนนี้มีเพียงลูกเล่นเปิดวิดีโอ Shaun the Sheep เมื่อผู้ใช้สแกนโค้ดผ่าน Royal Mail App เท่านั้น อย่างไรก็ดี การที่แสตมป์ทุกชิ้นมีหมายเลขประจำตัว จะทำให้ Royal Mail ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้มหาศาล เช่น การติดตามแสตมป์ตั้งแต่การผลิต, จำหน่าย, ใช้ส่งจดหมาย, และวันที่จดหมายไปถึงปลายทาง รวมถึงการลดการปลอมแปลงแสตมป์ลงเพราะตรวจสอบได้ว่าหมายเลขใดถูกใช้งานไปแล้ว ที่มา - Royal Mail
# Seagate รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2565 กำไรเพิ่ม 18% กระแสเงินสดเพิ่ม 39% Seagate รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ดูท่าจะเป็นอีกปีที่กำไรงามของ Seagate โดยกำไรจากการดำเนินงานโตจากไตรมาส 2/2564 ของปีก่อนถึง 18.6% โดยมีรายรับสูงที่สุดในรอบ 6 ปี จากการขยายตัวในการใช้สินค้าของ Seagate ในธุรกิจระบบคลาวด์ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานประจำไตรมาสนี้อยู่ที่ 521 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนกระแสเงินสดอิสระ อยู่ที่ 426 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้น 39% จากปีก่อนเช่นกัน กำไรสุทธิต่อหุ้นปรับลดฯ (GAAP diluted EPS) อยู่ที่ 2.23 ดอลลาร์สหรัฐ แบบไม่ปรับลด (Non-GAAP diluted EPS) อยู่ที่ 2.41 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น สำหรับไตรมาส 3/2565 บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้จะอยู่ที่ราว 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บวกลบไม่เกิน 150 ล้านดอลลาร์ และเดฟ มอสลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซีเกทกล่าวว่าบริษัทจะต่อยอดผลสำเร็จจากปีปฏิทิน 2564 นี้ และบริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงในแผนการเงินระยะยาวด้วยอัตรา 3 ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อ้างอิง: จดหมายประชาสัมพันธ์, Seagate
# PS5 เผยยอดขายล่าสุด 17.3 ล้านเครื่อง น้อยกว่าเป้าเพราะของไม่พอขาย ชิ้นส่วนขาดตลาด โซนี่ประกาศยอดขาย PS5 ในงานแถลงผลประกอบการไตรมาส 4/2021 (นับเป็นไตรมาส 3/2021 ตามปีการเงิน) จำนวน 3.9 ล้านเครื่อง ทำให้ยอดขายรวมของ PS5 ตอนนี้อยู่ที่ 17.3 ล้านเครื่องแล้ว (ไตรมาสก่อน 13.4 ล้านเครื่อง) ถึงแม้เลขดูเยอะ แต่เอาจริงเป็นยอดขายที่ต่ำกว่าที่โซนี่ประเมินไว้ (ไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วคือ 4/2020 ยังขายได้ตั้ง 4.5 ล้านเครื่อง) ซึ่งเหตุผลก็มาจากปัญหาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขาดตลาดนั่นเอง ปัญหานี้ทำให้ยอดขายของ PS5 สู้ PS4 ในช่วงเวลาเดียวกันหลังวางขายไม่ได้ (ระยะเวลาเท่ากัน PS4 ขายได้แล้ว 20.2 ล้านเครื่อง) นั่นคือไม่ว่ามีความต้องการแค่ไหน แต่ถ้ามีของให้ขายแค่นี้ ก็สามารถทำยอดขายได้เท่านี้ เดิมทีโซนี่ตั้งเป้ายอดขาย PS5 ณ สิ้นไตรมาส 1/2022 ไว้ที่ 22.6 ล้านเครื่อง ตอนนี้ต้องปรับเป้าลงเป็น 19.3 ล้านเครื่องแทน ส่วนตัวเลขยอดขาย PS4 ในไตรมาสล่าสุดยังขายได้เพิ่มอีก 2 แสนเครื่อง, จำนวนเกม (นับรวม PS4/PS5) ขายได้ 92.7 ล้านชุด, ยอดสมาชิก PlayStation Plus เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 48 ล้านคน, เกมขายดีอันดับหนึ่งของ PS5 ยังเป็น Marvel’s Spider-Man: Miles Morales จำนวน 6.5 ล้านชุด ที่มา - Sony (PDF) via VentureBeat
# ผู้สร้าง Shovel Knight เปิดตัวเกมใหม่ Mina the Hollower แนว Zelda 2D ยุคเกมบอย Yacht Club Games สตูดิโออินดี้ที่พัฒนาเกม Shovel Knight เกมแอคชั่น 2D มุมมองด้านข้างที่เปิดตัวในปี 2014 และประสบความสำเร็จอย่างสูง เปิดตัวเกมใหม่ Mina the Hollower ที่เป็นแอคชั่น 2D มุมมองด้านบน ลักษณะเดียวกับเกม Zelda ภาคแรกๆ แต่เปลี่ยนตัวเอกมาเป็นหนู และใช้สไตล์ภาพแนวผีและมอนสเตอร์สยองขวัญเหมือนเกมตระกูล Castlevania Yacht Club Games กลับไประดมทุนค่าพัฒนาเกมผ่าน Kickstarter อีกครั้ง แบบเดียวกับตอนทำ Shovel Knight ครั้งแรกสุด เปิดระดมทุนมา 1 วันก็ทะลุเป้า 311,000 ดอลลาร์เรียบร้อยแล้ว Yacht Club บอกว่าตั้งใจให้เกม Mina the Hollower เป็นเกม 8 บิตยุค Game Boy Color ตั้งใจให้มีภาพขนาดแค่ 256x144 และกำหนดการใช้สีแบบจำกัดเหมือนเกมยุคก่อน แต่การเป็นเกมสมัยใหม่ก็จะมีกราฟิกลื่นระดับ 60fps เนื้อเรื่องของเกมเป็นหนู (ตัวเมีย) ชื่อ Mina ที่เป็นนักประดิษฐ์ มีอาวุธหลายอย่างและต้องผจญภัยในดันเจี้ยนใต้ดินสไตล์ Gothic Horror และไขความลับปริศนาต่างๆ ไปด้วย เกมคาดว่าจะวางขายในเดือนธันวาคม 2023 หรืออีกราวเกือบ 2 ปีจากนี้ ตอนนี้มีหน้าเว็บบน Steam แล้ว ที่มา - Kickstarter, Kotaku
# แบงค์ชาติเปิดรับความเห็นนโยบายธนาคารไร้สาขา ลดการใช้เงินสดลงอีก ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดรับฟังความเห็นต่อแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีแนวนโยบายที่เสนอไว้ 3 ด้านคือ เทคโนโลยี, ความยั่งยืน, และการกำกับดูแล จุดน่าสนใจคือในหมวดเทคโนโลยีนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอหลายประเด็น เช่น เปิดให้จัดตั้งธนาคารไร้สาขา (virtual bank) แนวทางนี้น่าจะตรงกับสิงคโปร์ที่ปล่อยใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาตั้งแต่ปี 2020 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกแนวทางการตั้งธนาคารรูปแบบนี้ภายในครึ่งแรกของปีนี้ เร่งลดการใช้เงินสดลง จากที่ตอนนี้ไทยมีการใช้ช่องทางจ่ายดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังตั้งเป้าลดการใช้เช็คกระดาษให้เหลือไม่ถึงครึ่งภายใน 5 ปี Open Data เเปิดให้มีกลไกเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน นับเป็นแนวทางที่เริ่มเห็นผลจากการเปิดบริการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายการบัญชีข้ามธนาคาร Digital ID เตรียมเริ่มทดสอบการเปิดบัญชีธนาคารสำหรับนิติบุคคลภายในปีนี้ เปิดทางใช้ลายเซ็นดิจิทัล (digital signature) เพื่อการทำสัญญาในเอกสารทางการเงิน เช่น การขอสินเชื่อ หรือการปรับโครงสร้างหนี้ แนวนโยบายนี้เป็นการนำเสนอมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกว้างๆ ถึงภาพรวมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอยากให้เป็นไปในอนาคต โดยเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนตลอดเดือนกุมภาพันธ์บนเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มา - Bank of Thailand ภาพจากธนาคารแห่งประเทศไทย
# Samsung เปิดหลักสูตรอบรมเขียนโค้ดออนไลน์ ฟรี สำหรับ นร. มัธยมต้น สมัครได้ถึง 6 มีนาคมนี้ Samsung Innovation Campus เตรียมเปิดให้นักเรียนชั้นมัธยมต้น เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการเขียนโค้ดและการเขียนโปรแกรม (Coding & Programming) ในหลักสูตร Basic Coding 2022 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้การเขียนโค้ด ในการอบรบจะมีตั้งแต่การฝึกการคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) ผ่านโปรแกรม Scratch ฝึกเขียนภาษา C และ Python ตลอดจนทดลองนำความรู้สร้างโปรแกรมประยุกต์ด้าน AI และปิดท้ายด้วยการประชันไอเดียออกแบบนวัตกรรมในกิจกรรม Idea Demonstrationโดยการอบรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26 มีนาคม - 9 พฤษภาคม 2565 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีความสนใจด้านการเขียนโค้ดและการเขียนโปรแกรม สามารถสมัครเข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ www.samsungsic-thailand.org ตั้งแต่วันนี้ถึง 6 มีนาคม 2565 หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊คเพจ Samsung Innovation Campus TH ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์ Samsung
# ชิปหายก็ใช้ของเก่า Google Cloud ยืดอายุอุปกรณ์จาก 3 ปีเป็น 5 ปี หลัง Alphabet รายงานถึงผลประกอบการไตรมาสล่าสุด รายงานพูดถึงการยืดอายุการใช้งานเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์เน็ตเวิร์ค จากเดิมที่ถือว่าหมดอายุที่ 3 ปี หลังจากนี้จะถือว่าเซิร์ฟเวอร์มีอายุการใช้งาน 4 ปี และอุปกรณ์เน็ตเวิร์คมีอายุ 5 ปี การยืดอายุอุปกรณ์เช่นนี้ส่งผลโดยตรงกับตัวเลขทางบัญชีของ Google Cloud โดยค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ไตรมาสล่าสุดลดลง 446 ล้านดอลลาร์ และปีล่าสุดลดลง 2.6 พันล้านดอลลาร์ ตัวเลขเฉพาะ Google Cloud ไตรมาสล่าสุดขาดทุน 890 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีที่แล้วที่ขาดทุน 1,243 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง 353 ล้านดอลลาร์ แต่หากนำตัวเลขค่าเสื่อมราคาที่ประหยัดไปได้จากการยืดอายุอุปกรณ์ครั้งนี้ก็จะแปลว่า Google Cloud ยังคงขาดทุนหนักกว่าเดิม แม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่สถานะทางการเงินโดยรวมของ Alphabet ยังคงแข็งแกร่งมากก็น่าจะทำให้บริษัทสู้กับการขาดทุนของ Google Cloud ไปได้อีกพักใหญ่ ที่มา - The Register
# แอป Manga Plus เปิดให้อ่านมังงะดังเป็นภาษาอังกฤษ ฟรี 1 ปี 38 เรื่อง แอป Manga Plus ของสำนักพิมพ์ชูเอฉะ เปิดให้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นหรือมังงะดังที่ยังตีพิมพ์ไม่จบ เวอร์ชั่นแปลเป็นภาษาอังกฤษ 38 เรื่องฟรีในทุกประเทศที่เปิดให้ใช้งาน (ทั่วโลกยกเว้น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้) ผ่านแอป iOS และ Android (อ่านบนเว็บไม่ได้) โดยมาในรูปแบบตั๋วอ่านฟรี สามารถใช้ได้ครั้งเดียวแล้วหมดไป แปลว่าหนึ่งตอน อ่านฟรีได้หนึ่งครั้งต่อหนึ่งแอคเคาท์ และถ้าเรื่องไหนตีพิมพ์จบภายในช่วงปี ระบบอ่านฟรีจะคงอยู่ต่อให้ 30 วันก่อนหมดไป มังงะเรื่องที่เปิดให้อ่านมีทั้งมังงะยอดฮิตอย่าง One Piece, Dragon Ball Super, Jujutsu Kaisen, My Hero Academia, Monster #8, Sakamoto Days, Dr. Stone โดยจะมีโลโก้รูปฟรีอยู่บนตั๋ว แสดงว่าอ่านฟรีได้ตอนละครั้ง แตกต่างจากมังงะที่อ่านฟรีเรื่องอื่นที่จะเป็นตัวหนังสือคำว่าฟรีเฉยๆ ที่มา - เพจ ShonenMainStream, Manga Plus
# EA ถอด Mason Greenwood ออกจากเกม FIFA 22 แล้ว, Football Manager ยังไม่ถอด ต่อจากข่าว การ์ดนักบอล Mason Greenwood ใน FIFA Ultimate Team ราคาพุ่งเกือบ 4 เท่า หลังมีข่าวทำร้ายแฟนสาว ล่าสุดเมื่อคืนนี้ EA ถอด Greenwood ออกจากเกม FIFA 22 ไม่ให้เล่นได้แล้ว และล็อคราคาการ์ดนักเตะ FUT ไม่ให้เปลี่ยนแปลงด้วย ส่วนเกมฟุตบอลอื่นอย่าง Football Manager 2022 ยังไม่ได้ถอด Greenwood ออกจากเกม โดย Sports Interactive บริษัทผู้พัฒนาเกมออกแถลงการณ์ว่ารอผลการสอบสวนของตำรวจอังกฤษให้เรียบร้อยก่อน คดีของ Greenwood สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของนักกีฬาต่อสื่อดิจิทัลอย่างวิดีโอเกมด้วย ก่อนหน้านี้นักกีฬาที่มีข่าวฉาวมักโดนสปอนเซอร์บอกเลิกสัญญา (Greenwood ถูก Nike หยุดสปอนเซอร์แล้ว) แต่ในยุคนี้แล้วมีผลไปถึงตัวตนดิจิทัลของนักกีฬาคนนั้นด้วยเช่นกัน ภาพการ์ดนักเตะ Mason Greenwood ในเกม FIFA 21 จาก EA ที่มา - EA, Gamespot, Kotaku
# BOE เปิดตัวต้นแบบมอนิเตอร์ 27 นิ้ว อัตรารีเฟรช 500Hz เครื่องแรกของโลก BOE แบรนด์คอมพิวเตอร์จากประเทศจีน เปิดตัวมอนิเตอร์รุ่นต้นแบบที่มีอัตรารีเฟรชเรตสูงถึง 500Hz โดยใช้เทคโนโลยีหน้าจอ TFT LCD แบบออกไซด์ ทำให้พิกเซลบนหน้าจอ 27 นิ้วที่มีความละเอียด 1920x1080 กะพริบได้ถึง 500 ครั้งต่อวินาที เชื่อมต่อโดยระบบ eDP (Embedded DisplayPort) แบบ 8 เลน แสดงผลสีแบบ 8-bit และมีอัตราตอบสนองของพิกเซลอยู่ที่ 1ms BOE เพิ่งโชว์ตัวอย่างหน้าจอชนิดนี้ในวิดีโอเท่านั้น และยังไม่มีกำหนดนำออกมาขายจริง ซึ่งเมื่อขายจริงก็น่าจะต้องใช้การ์ดจอรุ่นท็อปเพื่อเล่นเกมให้ได้เฟรมเรตที่คุ้มค่ากับอัตรารีเฟรชสูงเท่านี้ แต่ก็น่าสนใจว่าสายตามนุษย์จะสามารถรู้สึกถึงความแตกต่างของอัตรารีเฟรชแบบนี้ได้แค่ไหน เทียบกับจอแบบ 144Hz หรือ 360Hz และหน้าจอที่อัตรารีเฟรชสูงขนาดนี้จะมีราคาเท่าไร ที่มา - Sina.com via ArsTechnica
# INETMS ยกระดับมาตรฐานบริการ Robotic Process Automation (RPA) สู่ Diamond Tier Partner เดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา บริษัท ไอเน็ต แมเนจด์ เซอร์วิสเซส จำกัด (INETMS) ได้รับการรับรองให้เป็น Partner ระดับ Diamond ซึ่งเป็นระดับสูงสุดจาก UiPath เพื่อเป็นการยืนยันว่า INETMS มีความพร้อมทางด้านบริการ ด้วยทีมงานทีมีประสบการณ์ ลูกค้าพึงพอใจในการช่วยขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี RPA ได้อย่างประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพ INETMS ผู้ให้บริการระบบ managed service ครบวงจรประกาศพร้อมช่วยเหลือองค์กรธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยโซลูชัน Robotic Process Automation (RPA) ของ UiPath ที่เปิดทางให้ทุกคนสามารถปรับกระบวนการทำงานให้เป็นอัตโนมัติ ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ให้พนักงานในองค์กรสามารถทำงานที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะ ด้วยการลงทุนพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญระบบ RPA อย่างต่อเนื่องจนได้เป็น Partner ระดับ Diamond RPA เครื่องมือสำคัญสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรในโลกดิจิทัล ในโลกธุรกิจในช่วงหลังแม้องค์กรจำนวนมากจะเปลี่ยนกระบวนการทำงานจากกระดาษมาเป็นคอมพิวเตอร์แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ธุรกิจพบได้บ่อยคือมีแอปพลิเคชันภายในจำนวนมากที่อาจจะไม่ได้เชื่อมต่อกันโดยอัตโนมัติ แต่มีพนักงานที่กรอกข้อมูลไปมาทั้งระหว่างแอปพลิเคชันภายใน หรือรวบรวมข้อมูลจากภายนอกองค์กร กระบวนการเหล่านี้แม้แต่ละวันอาจจะใช้เวลาไม่กี่นาทีแต่ก็สะสมขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแอปพลิเคชันมากขึ้น รวมเวลาที่ใช้ในแต่ละปีคิดเป็นเวลามหาศาล สร้างความเหนื่อยล้าให้พนักงาน และกลายเป็นจุดที่เกิดความผิดพลาดได้ง่ายสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ การสร้างซอฟต์แวร์เพื่อเชื่อมข้อมูลระหว่างระบบต่างๆ เข้าด้วยกันผ่าน API ของซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นแนวทางสำคัญที่องค์กรจำนวนมากใช้ แต่ในความเป็นจริงองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ล้วนมีจุดที่ต้องอาศัยพนักงานทำงานเชื่อมระบบต่างๆ จำนวนมหาศาล อีกทั้งแอปพลิเคชันหลายตัวไม่ได้มี API ให้หรือมีไม่ครบถ้วนสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์เชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ก็มีข้อจำกัด ในเรื่องของต้นทุน นักพัฒนา และระยะเวลาอีกด้วย แตกต่างจาก ซอฟต์แวร์ RPA ที่จะช่วยให้พัฒนากระบวนการทำงานอัตโนมัติได้ทันทีและใช้เวลาน้อยกว่า มีความยืดหยุ่นมากกว่า พนักงานสามารถพัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นอัตโนมัติได้เองโดยไม่ต้องรอแผนก IT ด้วยหน้าออกแบบกระบวนการทำงาน UiPath Studio RPA ของ UiPath มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันต่างๆ แม้จะไม่มี API ให้เชื่อมต่อผ่านซอฟต์แวร์ได้ก็ตาม ระบบ RPA ของ UiPath เปิดทางให้พนักงานขององค์กรที่เข้าใจกระบวนการทำงานของธุรกิจเป็นอย่างดีอยู่แล้ว สามารถเปลี่ยนงานที่ต้องทำซ้ำๆ กันให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติ โดยสอนระบบ RPA ในรูปแบบที่คล้ายกับการสอนคนทำงานอีกคน ทำให้งานที่ต้องทำซ้ำๆ กลายเป็นงานของระบบ RPA ไปแทน ขณะที่พนักงานสามารถใช้เวลาเพียงเล็กน้อยเพื่อตรวจทานความถูกต้อง อีกทั้งยังสามารถใช้เวลาที่เหลือจากการที่ RPA ทำงานทดแทน นำไปพัฒนากระบวนการทำงานอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้นไปได้ INETMS ผู้ให้บริการแบบ Managed Service ที่พร้อมพาองค์กรใช้งาน RPA เต็มรูปแบบ INETMS ช่วยเหลือองค์กรที่ต้องการปรับปรุงการทำงานด้วยการใช้ RPA โดย INETMS จะช่วยเข้าไปสำรวจ process ต่างๆ ของธุรกิจ และวิเคราะห์ให้กับองค์กรว่าควรเริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการส่วนใดให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติผ่านทาง RPA หลังจากนั้นทาง INETMS ยังให้บริการให้คำปรึกษาต่อเนื่องในระยะยาว ฝึกอบรมพนักงานให้สามารถเปลี่ยนแปลงงานของตนเองให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติได้ โดยองค์กรอาจตั้งโครงการ on the job training ให้พนักงานเสนอกระบวนการที่ต้องการแปลงให้เป็นระบบอัตโนมัติ แล้วแปลงระบบโดยมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของ INETMS ให้ความช่วยเหลือตลอดกระบวนการ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานของระบบ RPA องค์กรสามารถเลือกใช้บริการจาก INETMS 2 รูปแบบ On-Premise: ติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ภายในองค์กรเอง โดย INETMS มีบริการซ่อมบำรุงให้ตลอดเวลา INET Cloud: สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานของ INET Cloud ในการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ และบริหารจัดการโดย INET ทั้งระบบ INETMS ลงทุนกับการสร้างบุคลากรอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2019 จนปัจจุบันได้เป็น partner ระดับ Diamond ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของ UiPath แสดงให้เห็นความพร้อมของ INETMS ที่จะให้บริการองค์กรได้อย่างครบถ้วน สำหรับองค์กรที่สนใจต้องการให้ INETMS เข้าไปวิเคราะห์ระบบว่ามีส่วนใดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วย RPA ตอนนี้ INETMS มีโปรโมชั่นเพื่อจัด Workshop เฉพาะองค์กรของคุณ เพื่อรับเครื่องมือในการค้นหากระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนเป็นงานอัตโนมัติได้ พร้อมกับการคัดเลือกกระบวนการทำงานตัวอย่าง (POC) ฟรี 1 กระบวนการทำงาน เพื่อให้องค์กรได้เห็นว่า RPA จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างไร (POC จำนวนจำกัด) ลงทะเบียนเพื่อรับ Workshop Exclusive Process Discovery ฟรี จาก INETMS ได้ที่ https://forms.gle/wCpVQ6aRjVTGW1hT8 โดยมีเงื่อนไขดังนี้ Workshop เฉพาะองค์กรคุณเท่านั้น Process ที่ได้จากการทำ Workshop ที่ได้รับคัดเลือก จะได้รับ POC ฟรี! (รีบลงทะเบียนเลย POC มีจำนวนจำกัด) ระยะเวลา Promotion ตั้งแต่วันนี้ - 31 มี.ค. 65 *เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด Join our community! UiPath RPA User Thailand: https://bit.ly/3f9ma0R INETMS l สอนพื้นฐาน RPA ด้วย UiPath: https://bit.ly/3dhtdCr INETMS l สอนขั้นสูง RPA ด้วย UiPath: https://bit.ly/3vUVk2E Demo RPA Process: https://bit.ly/3A45sZg เกี่ยวกับ UiPath UiPath คือผู้นำในยุคสมัยแห่ง “Automation First” ซึ่งมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้งาน Robot ได้ ด้วยการเปิดให้มีการฝึกอบรมและส่งเสริมความร่วมมือ เพื่อให้ Robot นั้นสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่จากการนำ AI และ Machine Learning มาประยุกต์ใช้ โดยในปัจจุบันนี้เทคโนโลยี Robotic Process Automation (RPA) ของ UiPath ก็ได้ทำ Automation ให้กับงานที่มีรูปแบบตายตัวซ้ำๆ นับหลายล้านงานทั่วโลกทั้งสำหรับภาครัฐและภาคธุรกิจ ช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพในการทำงาน, สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และเพิ่มความสุขในการทำงานให้กับพนักงานนับไม่ถ้วน สนใจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ UiPath เพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ https://www.uipath.com เกี่ยวกับ INETMS บริษัท ไอเน็ต แมเนจด์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ INETMS บริการให้คำปรึกษาและออกแบบระบบไอทีแบบครบวงจร ด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบเครือข่าย, อินเตอร์เน็ต, Cloud Computing, Security และ Managed Services พร้อมประสบการณ์การบริหารจัดการระบบไอทีมาอย่างยาวนานมากกว่า 10 ปี เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สุด สนใจข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือบริการ และต้องการคำปรึกษาแนะนำการนำโซลูชัน RPA เพื่อใช้งานภายในธุรกิจ ติดต่อฝ่ายขาย INETMS ได้ที่ อีเมล: [email protected] 061 387 9186 (คุณณัฐริกา) 065 512 4649 (คุณณัฐพร) 063 204 4534 (คุณอสมาภรณ์) 061 404 5895 (คุณธัญกาญจน์) Website: https://www.inetms.co.th/ Facebook: https://bit.ly/3bPWfIv
# Team17 ผู้สร้างเกม Worms ประกาศทำ NFT ขาย โดนถล่มยับจนต้องถอยสุดซอย สตูดิโอเกมอังกฤษ Team17 เจ้าของเกมซีรีส์หนอนทำสงคราม Worms เกาะกระแส NFT แห่งยุคสมัยด้วยการประกาศทำโครงการ MetaWorms โดยจับมือกับบริษัท Reality Gaming Group นำคาแรกเตอร์จากเกม Worms มาทำ NFT ขาย ปฏิกิริยาของผู้เล่นก็ไม่ต้องคาดเดากันให้ยาก หลังจากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง Team17 ต้องออกมาประกาศยกเลิกโครงการทำ NFT ทั้งหมดทันที นอกจากเสียงวิจารณ์ของผู้เล่นแล้ว การที่โมเดลธุรกิจของ Team17 มีทั้งการพัฒนาเกมเอง (เช่น Worms) และการเป็นผู้จัดจำหน่ายเกมให้นักพัฒนารายอื่น (เกมที่ดังๆ ได้แก่ Overcooked, Yooka-Laylee, Yoku's Island, Moving Out, Blasphemous, Hell Let Loose) การประกาศทำ NFT ของ Team17 จึงทำให้สตูดิโอเกมในเครือข่ายก็ออกมาต่อต้านเช่นเดียวกัน และประกาศออกสื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับการทำ NFT แต่อย่างใด กรณีของสตูดิโอ Aggro Crab ผู้สร้างเกม Going Under ถึงขั้นใช้คำว่า "ขอประณาม" (condemn) การกระทำของ Team17 เลยด้วยซ้ำ และขอหยุดสัมพันธ์กับ Team17 อย่างสิ้นเชิงด้วย ที่มา - Team17, GameInformer
# EA เลื่อนออก Battlefield 2042 Season One เป็นกลางปี ขอเวลาแก้บั๊กและคุณภาพเกมก่อน EA ประกาศเลื่อนการออกอัพเดตเนื้อหา Battlefield 2042 Season One ไปเป็นช่วงกลางปี 2022 เพราะต้องการแก้ปัญหาคุณภาพของเกมก่อน Battlefield 2042 ถูกวิจารณ์หนักในเรื่องบั๊กของเกม และฟีเจอร์หลายอย่างที่หายไปจากภาคก่อนหน้า ตัวอย่างคือฟีเจอร์พื้นฐานอย่าง voice chat ที่ไม่มีให้ใช้งาน EA บอกว่าอัพเดตหน้าจะนำฟีเจอร์ voice chat กลับมาบนทุกแพลตฟอร์ม, เพิ่มฟีเจอร์ profile ของผู้เล่น, ระบบ scoreboard, ระบบสื่อสารในทีม (ping system) ที่ดีขึ้น, โหมด Portal ที่ให้คัสตอมเกมเองจะเพิ่มเครื่องมือการปรับแต่งใหม่ๆ เข้ามาอีก EA ยังบอกว่าจะปรับกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้เล่นให้โปร่งใสขึ้น โดยทีมงานจะนำเสนอมุมมองหรือไอเดียว่าอยากทำอะไรก่อน แล้วรับฟังความเห็นจากชุมชนผู้เล่น นำไปปรับปรุงแล้วกลับมาอัพเดตใหม่อีกครั้ง ที่มา - EA
# Apple ออกอัพเดต watchOS 8.4.1 แก้ไขบั๊กทั่วไป แอปเปิลออกอัพเดตย่อย watchOS 8.4.1 ระบบปฏิบัติการสำหรับ Apple Watch ในวันนี้ ซึ่งออกมาหนึ่งสัปดาห์หลังจาก watchOS 8.4 ก่อนหน้านี้ ผู้ใช้ Apple Watch สามารถอัพเดตได้โดยไปที่แอป Apple Watch ใน iPhone และเลือก General > Software Update ในอัพเดตนี้แอปเปิลระบุว่าได้แก้ไขปัญหาที่พบใน Apple Watch Series 4 ขึ้นไป แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นปัญหาใด ที่มา: MacRumors
# EA รายงานผลประกอบการไตรมาส - Apex Legends ผู้เล่นเพิ่มขึ้น 30% EA รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 3 ตามปีการเงินบริษัท 2022 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2021 รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 1,789 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิ 66 ล้านดอลลาร์ ผู้เล่นเกมบนเครือข่าย EA เพิ่มขึ้นเป็น 540 ล้านบัญชีในไตรมาส เกมเด่นคือ Apex Legends มีผู้เล่นเพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน ภาพรวมมีการใช้เวลาในเกมมากขึ้น 20% ในช่วงแถลงผลประกอบการ ซีอีโอ Andrew Wilson ได้ตอบคำถามยอดนิยมช่วงนี้สำหรับบริษัทเกมว่าจะเข้าสู่วงการ NFT หรือไม่ โดยบอกว่า EA ต้องการส่งมอบประสบการณ์ให้กับผู้เล่นเกมอย่างดีที่สุด ซึ่งในตอนนี้บริษัทยังไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ NFT มากนัก คำตอบนี้ค่อนข้างต่างจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเขาบอกว่า NFT คือส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมเกมในอนาคต ที่มา: EA และ IGN
# AMD ไตรมาส 4/2021 เติบโตทำสถิติใหม่อีกครั้ง จากธุรกิจ EPYC AMD รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ปี 2021 รายได้รวมยังเติบโตทำสถิติใหม่สูงสุดที่ 4,826 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 49% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 974 ล้านดอลลาร์ ตามบัญชีแบบ GAAP Dr. Lisa Su ซีอีโอและประธาน AMD กล่าวว่าธุรกิจในทุกส่วนต่างมีผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม ธุรกิจ Data Center มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากความต้องการซีพียู EPYC จากทั้งลูกค้ากลุ่มคลาวด์และลูกค้าองค์กร ในปี 2022 บริษัทยังคงเติบโตจากไลน์สินค้ารุ่นใหม่ทั้งพีซี เกมมิ่ง และ Data Center รายได้ในกลุ่ม Computing and Graphics เพิ่มขึ้น 32% เป็น 2,584 ล้านดอลลาร์ ปัจจัยหลักจากทั้ง Ryzen และ Radeon ส่วนกลุ่ม Enterprise, Embedded และ Semi-Custom รายได้เพิ่มขึ้น 65% เป็น 2,242 ล้านดอลลาร์ จากยอดขาย EPYC ที่มีความต้องการสูง ที่มา: AMD
# Alphabet ไตรมาสล่าสุด รายได้ยังเติบโตสูง 32% - ประกาศแตกหุ้น 20 ต่อ 1 Alphabet บริษัทแม่ของกูเกิล รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2021 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 32% เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2020 ที่ 75,325 ล้านดอลลาร์ มีกำไรสุทธิ 20,642 ล้านดอลลาร์ Ruth Porat ซีเอฟโอ Alphabet กล่าวว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น มาจากธุรกิจโฆษณาที่แข็งแกร่ง ตลอดจนฐานผู้ใช้งานที่มากขึ้น รวมถึงบริการจาก Google Cloud รายได้จากกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจมีดังนี้ โฆษณา YouTube 8,633 ล้านดอลลาร์ (+25%) Google Cloud 5,541 ล้านดอลลาร์ (+45%) และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ของกูเกิล ซึ่งรวมธุรกิจฮาร์ดแวร์ด้วย 8,161 ล้านดอลลาร์ (+22%) ซีอีโอ Sundar Pichai ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงแถลงผลประกอบการว่า Pixel ทำยอดขายในไตรมาสสูงสุดเป็นสถิติ แม้ต้องเผชิญปัญหาซัพพลายเชน ส่วนธุรกิจคลาวด์เติบโตจากการได้ดีลมูลค่าสูงมากขึ้น Alphabet ยังประกาศแตกหุ้น (Stock Split) ในอัตราส่วน 20 หุ้นใหม่ต่อ 1 หุ้นเดิม โดยปิดรายชื่อผู้ถือหุ้นวันที่ 1 กรกฎาคม 2022 และหุ้นเพิ่มเติม 19 หุ้นจะได้รับในวันที่ 15 กรกฎาคม 2022 ที่มา: Alphabet และ CNBC
# Meta ประกาศยุติโครงการ Express Wi-Fi เพื่อไปโฟกัสโครงการอื่น Meta ประกาศยุติโครงการ Express Wi-Fi ที่บริษัทเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ให้บริการเครือข่ายของแต่ละประเทศ ให้บริการอินเทอร์เน็ตในราคาที่ไม่สูง ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการในกว่า 30 ประเทศ บริษัทให้เหตุผลว่าต้องการไปโฟกัสกับโครงการอื่น ที่เกี่ยวกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากกว่า แต่ยังคงให้ความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในการปรับปรุงอินเทอร์เน็ตต่อไป โดยบอกว่าจะทำให้ผู้ใช้งานปัจจุบันได้รับผลกระทบน้อยที่สุด Express Wi-Fi เป็นโครงการที่เริ่มตั้งแต่ปี 2016 แนวคิดไม่ใช่อินเทอร์เน็ตฟรี แต่เป็นบริการอินเทอร์เน็ตที่ขยายพื้นที่บริการได้ มีความเร็ว เสถียร และราคาที่เหมาะสม ที่มา: Meta
# MariaDB ประกาศนำหุ้นเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ค มูลค่าบริษัท 22,000 ล้านบาท MariaDB Corporation Ab บริษัทผู้ถือเครื่องหมายการค้าของ MariaDB ประกาศเตรียมนำหุ้นเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์คด้วยผ่านกระบวนการ SPAC ด้วยมูลค่า 672 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 22,300 ล้านบาท ตัว MariaDB นั้นเป็นโครงการโอเพนซอร์สที่มี MariaDB Foundation เป็นผู้ดูแล และช่วงแรกของโครงการผู้พัฒนานั้นอยู่กับบริษัท Monty Program Ab เป็นหลัก แต่ภายหลังก็มีการควบรวมบริษัทกับ SkySQL และซื้อเครื่องหมายการค้า MariaDB ออกไปจากมูลนิธิ (แต่ยังอนุญาตให้ใช้งานกับตัวโครงการโอเพนซอร์สได้อยู่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อบริษัทและตอนนี้ MariaDB Corporation Ab ก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน MariaDB Foundation แม้ว่าตัวซอฟต์แวร์ MariaDB จะใช้งานได้ฟรี แต่ธุรกิจฝั่งบริษัทก็ขายฟีเจอร์ระดับองค์กร เช่นฟีเจอร์กับ audit log อย่างละเอียด, ฟีเจอร์สำรองข้อมูลโดยไม่ต้องหยุดทำงาน, และฟีเจอร์จัดการคลัสเตอร์ คาดว่ารายได้ปีนี้จะอยู่ที่ 47.4 ล้านดอลลาร์ (มูลค่าตลาดแรกเข้าน่าจะอยู่ที่ 14.2 เท่าของรายได้) ที่มา - MariaDB
# Sonos เข้าซื้อ T2 Software สตาร์ทอัพพัฒนาเทคโนโลยีเสียงบน Bluetooth ผู้ผลิตเครื่องเสียง Sonos เข้าซื้อบริษัท T2 Software สตาร์ทอัพพัฒนาระบบเสียงผ่าน Bluetooth ท่ามกลางข่าวลือว่า Sonos อาจทำหูฟังของตัวเอง เว็บไซต์ Protocol รายงานว่า Sonos ได้เข้าซื้อ T2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้วอย่างเงียบ ๆ โดยบริษัท T2 เน้นอิมพลีเมนต์ระบบ Bluetooth LC3 ระบบโคเดคเสียงสำหรับมาตรฐานใหม่ Bluetooth LE Audio ที่เน้นเสียงคุณภาพสูงภายใต้อัตราการส่งข้อมูลที่ต่ำลงมากกว่าโคเดคที่ใช้ใน Bluetooth ปัจจุบัน ทำให้อุปกรณ์กินพลังงานต่ำ ซึ่งฟีเจอร์ต่าง ๆ ของโคเดคภายใต้การพัฒนาโดย T2 ยังไม่ได้อยู่ในสเปคของ Bluetooth ปัจจุบัน โฆษกของ Sonos ยืนยันแล้วว่าทางบริษัทเข้าซื้อ T2 จริง โดยให้ความเห็นว่าบริษัทมักจะควบรวมทีม, คนมีความสามารถ และเทคโนโลยีเพื่อเสริมผลิตภัณฑ์ตามโร้ดแมปทั้งในปัจจุบันและอนาคต สำหรับหูฟังของ Sonos ตอนนี้ยังเป็นเพียงข่าวลือ โดยมีข้อมูลคร่าว ๆ ว่าจะเน้นแข่งกับหูฟังกลุ่มไฮเอนด์จาก Sony และ Bose รวมถึงจะมีฟีเจอร์อินทิเกรตเข้ากับลำโพงปัจจุบันของ Sonos ด้วย ที่มา - The Verge, Protocol
# Samba แจ้งเตือนโมดูลมีบั๊กร้ายแรง เปิดทางรันโค้ดระยะไกล โครงการ Samba ระบบแชร์ไฟร์แบบ SMB (แชร์ไฟล์บนวินโดวส์) แบบโอเพนซอร์ส รายงานถึงช่องโหว่ของโมดูล vfs_fruit ว่ามีช่องโหว่ร้ายแรง หากผู้ใช้มีสิทธิ์เขียนค่า extended attribute ของไฟล์ได้ก็จะรันโค้ดในเซิร์ฟเวอร์ได้ โมดูล vfs_fruit เป็นโมดูลสำหรับการเปิดโหมดแชร์ไฟล์กับระบบปฎิบัติการของแอปเปิล ค่าคอนฟิกมาตรฐานของ Samba เองไม่ได้เปิดใช้งานโมดูลนี้เอาไว้ แต่หากเปิดใช้งานไว้ ค่าคอนฟิกมาตรฐานของ vfs_fruit เองจะกำหนดไว้สองค่า คือ fruit:metadata=netatalk หรือ fruit:resource=file หากค่าคอนฟิกต่างจากนี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบ ทางแก้ชั่วคราวมีตั้งแต่การปิดโมดูลทิ้ง หรือการแก้คอนฟิกของโมดูล แต่ผู้ใช้ macOS อาจจะมองไม่เห็นไฟล์อีก ตอนนี้แพตช์เป็นทางการออกมาแล้ว ได้แก่ เวอร์ชั่น 4.13.17, 4.14.12, และ 4.15.5 ควรอัพเดตแพตช์โดยเร็ว สำหรับผู้ใช้ Samba ทางอ้อม เช่น NAS ทั้งหลายควรตรวจสอบจากผู้ผลิตว่าใส่แพตช์นี้เข้าไปหรือยัง คะแนน CVSSv3.1 อยู่ที่ 9.9 คะแนน CVSS:3.1/AV:N/AC:L/PR:L/UI:N/S:C/C:H/I:H/A:H/E:F/RL:O/RC:C ที่มา - Samba
# British Council ทำข้อมูลนักเรียนรั่วนับหมื่นราย หลังผู้ให้บริการภายนอกเปิดคลาวด์สตอเรจออกสาธารณะ Bob Diachenko นักวิจัยพบคลาวด์สตอเรจบน Azure Blob มีข้อมูลนักเรียนของ British Council องค์กรส่งเสริมการศึกษาของรัฐบาลสหราชอาณาจักรอยู่นับหมื่นราย รวมไฟล์ทั้งหมด 144,000 ไฟล์ หลังจากติดต่อทางองค์กรอยู่กว่าสองสัปดาห์ก็แจ้งให้ล็อกสตอเรจนั้นได้สำเร็จ ทาง British Council ยอมรับว่าเป็นข้อมูลของตัวเองจริง แต่ระบบที่เปิดข้อมูลออกสู่สาธารณะนี้เป็นข้อมูลที่เก็บโดยผู้ให้บริการภายนอก (third party service provider) และตอนนี้ก็ได้แจ้งไปยังสำนักงานกรรมการข้อมูล (Information Commissioner’s Office - ICO) ตามกฎหมายแล้ว เพราะแม้ข้อมูลจะรั่วจากผู้ให้บริการภายนอกแต่ทาง British Council ก็ต้องรับผิดชอบอยู่ดี ที่มา - Bleeping Computer
# Gmail เตรียมปรับโฉมใหม่ (อีกแล้ว) ย้ายไอคอน Mail, Chat, Space, Meet ไว้ขอบด้านซ้าย กูเกิลโชว์หน้าเว็บ Gmail โฉมใหม่ (อีกแล้ว) รอบนี้ปรับดีไซน์จากเดิมเล็กน้อย โดยแถบ sidebar ด้านซ้ายมือจะถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ แถบไอคอนตามบริการย่อย (Mail, Chat, Space, Meet) ที่อยู่ชิดขอบจอด้านซ้ายสุด และแถบที่แสดงรายชื่อโฟลเดอร์อีเมลของเดิม กูเกิลบอกว่าปรับดีไซน์ใหม่เพื่อให้สลับไปมาระหว่างบริการใน Google Workspace ง่ายขึ้น แถมยังมีตัวเลขแจ้งเตือนเวลามีอีเมลหรือแชทใหม่ด้วย กระบวนการเปลี่ยนหน้า Gmail ใหม่จะเริ่มกับผู้ใช้ทีละกลุ่ม ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ไปจนถึงเดือนเมษายน 2022 หน้าตาแบบใหม่ หน้าตาแบบปัจจุบัน ที่มา - Google Workspace Update
# พร้อมเพย์ข้ามธนาคารใช้งานไม่ได้เป็นวงกว้าง ตั้งแต่ช่วงเที่ยงที่ผ่านมา บริการพร้อมเพย์หลายธนาคารประสบปัญหาไม่สามารถโอนเงินข้ามธนาคารได้เป็นพักๆ โดยทุกธนาคารเริ่มปิดเมนูโอนเงินกันแล้ว อย่างไรก็ดีมีผู้ใช้บางส่วนรายงานว่าสามารถกดโอนไปได้ แต่เงินกลับไม่ถึงปลายทาง ซึ่งน่าจะร้ายแรงกว่าการโอนไม่สำเร็จตามปกติ ใครที่ไม่รีบใช้งานอาจจะควรรอวันอื่นที่ปริมาณธุรกรรมน้อยกว่านี้
# อินเดียเตรียมเก็บภาษีคริปโต/NFT 30% ขาดทุนเอามาหักไม่ได้ ทุกธุรกรรมหักอีก 1% Nirmala Sitharaman รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอินเดียแถลงงบประมาณปี 2022-2023 พร้อมกับประกาศแผนการปรับปรุงโครงสร้างภาษีและการลงทุน แต่ประเด็นใหญ่คือการประกาศแผนเก็บภาษีกำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทที่อัตรา 30% โดยไม่สามารถนำรายการขาดทุนมาหักลบได้ พร้อมกับภาษีรายธุรกรรมอีก 1% ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับธุรกิจคริปโตทุกประเภทเสมอมา โดยเตรียมแบนการใช้งานเงินคริปโตทุกประเภท มาก่อนแล้ว อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายแบนเงินคริปโตกลับไม่ได้บรรจุอยู่ในวาระการประชุมสภารอบนี้ (ควรตระหนักว่ากฎหมายแบนอาจจะใช้งานคู่กับการเก็บภาษีไปด้วยได้ เช่นไทยเองก็มีการเก็บภาษีเมื่อมีรายได้จากยาเสพติด) แถลงของ Sitharaman ครั้งนี้ยังมีการปฎิรูปภาษีอีกจำนวนมาก เช่น การเพิ่มเพดานหักลดหย่อนภาษีรายบุคคล, ยืดระยะเวลาลดหย่อนภาษีบริษัทตั้งใหม่ ที่มา - India Express
# ไมโครซอฟท์เผยสถิติ Windows Update จะอัพเดตสำเร็จ ต้องเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ 2 ชม. ขึ้นไป ไมโครซอฟท์โพสต์ข้อมูลผ่าน Windows IT Pro Blog เผยสถิติการทำงานของ Windows Update ที่เราไม่เคยรู้กันมาก่อนว่าระยะเวลาเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์มีผลต่ออัตราความสำเร็จในการติดตั้งอัพเดต ไมโครซอฟท์พบว่าต้องรอหลังไคลเอนต์เชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ค้างไว้ 2 ชั่วโมง และนับเป็นเวลาทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์รวมกันนาน 6 ชั่วโมงขึ้นไป (ตัวชี้วัดนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Update Connectivity) ถึงมีโอกาสอัพเดตสำเร็จสูง สถิติของไมโครซอฟท์เองบอกว่าพีซีที่ไม่ได้อัพเดตนานๆ มักไม่ผ่านเกณฑ์ข้อนี้ ผลคือแพตช์ที่ติดตั้งเก่า และมักทำให้อัพเดตล้มเหลว หรืออธิบายง่ายๆ คือเครื่องที่มีค่า Update Connectivity ต่ำแปลว่าไม่ค่อยได้อัพเดตแพตช์ล่าสุดเท่าไรนัก ไมโครซอฟท์แนะนำให้แอดมินองค์กรแจ้งให้ผู้ใช้พีซีทราบว่าควรเปิดเครื่องและต่อเน็ตทิ้งไว้บ่อยๆ จะเป็นผลดีมากกว่าปิดเครื่องเมื่อไม่ใช้งาน โดยองค์กรสามารถดูสถิติ Update Connectivity ได้จาก Microsoft Intune ซึ่งจะระบุตัวเลขนี้ของพีซีแต่ละเครื่องในองค์กร ที่มา - Microsoft
# Cloudflare กำลังจะถูกบริษัทการ์ตูนญี่ปุ่นฟ้องอีกรอบ ข้อหาโฮสต์เว็บอ่านการ์ตูนเถื่อน บริษัทสำนักพิมพ์การ์ตูนรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง โคดันชะ, ชูเอชะ, โชกะคุคัง และ คาโดคาวะ เตรียมรวมตัวกันฟ้องผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้ง Cloudflare ที่ศาลเขตโตเกียวในสัปดาห์นี้ ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์โดยการโฮสต์เว็บไซต์ที่เปิดให้อ่านการ์ตูนเถื่อน มียอดวิวรวมกันกว่า 300 ล้านวิว และมีการ์ตูนกว่า 4,000 เรื่อง โดยจะเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 400 ล้านเยน หรือราว 115.5 ล้านบาท นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ 4 สำนักพิมพ์ใหญ่ฟ้อง Cloudflare เพราะก่อนหน้านี้มีการฟ้องร้องเว็บอ่านการ์ตูนเถื่อน Hoshi No Romi ที่อยู่บน Cloudflare ไปแล้วครั้งหนึ่งในปี 2019 ก่อนจะตกลงไกล่เกลี่ยกันสำเร็จในปี 2020 โดย Cloudflare จะหยุดการเก็บไฟล์แคช (Cache) บนเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่นสำหรับเว็บไซต์อ่านการ์ตูนเถื่อน หากทางศาลเขตโตเกียวได้ทำการตัดสินว่าเว็บใดทำการละเมิดลิขสิทธิ์จริง ดูทีท่าว่าการหยุดการเก็บไฟล์แคชแค่บนเว็บอ่านการ์ตูนเถื่อนในญี่ปุ่นน่าจะยังไม่พอ เพราะยังมีเว็บไซต์การ์ตูนเถื่อนอีกมากที่อาจอยู่นอกประเทศญี่ปุ่น หรือ Cloudflare อาจจะยังไม่พยายามอย่างจริงจังพอที่จะหยุดให้บริการเว็บอ่านการ์ตูนเถื่อน เป็นที่มาของการฟ้องร้องครั้งใหม่โดย 4 บริษัทเดิมในรอบนี้ ที่มา - Japan Today
# LINE TV Original Series เตรียมย้ายมาลง LINE Today แทน หลัง Line TV ปิดให้บริการ หลัง LINE TV ปิดให้บริการทุกช่องทางไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา สิ่งที่หลายคนยังสงสัยคือ LINE Original Series จะถูกจัดการยังไง วันนี้ เพจ LINE Today Thailand ลงประกาศแล้วว่า LINE TV Original Series จะสามารถรับชมได้บน LINE Today ภายในแอป LINE โดยไม่ต้องโหลดแอปอื่นเพิ่มเติม เร็วๆ นี้ LINE Today เป็นฟีเจอร์รวมคอนเทนต์ต่างๆ มาให้คนอ่านได้ง่ายๆ ภายในแอป LINE โดยมีทั้งข่าวประเภทต่างๆ วิดีโอ ลอตเตอรี่ ดูดวง ที่จะถูกจัดสรรมาให้ตรงกับผู้ใช้งาน คาดว่าในอนาคต LINE TV Original Series อาจไปอยู่ในหมวดวิดีโอ หรือไม่ก็อาจจะมีหมวดแยกเป็นของตัวเองไปเลย ที่มา - LINE Today Thailand
# วัยรุ่นสร้างทวิตเตอร์รายงานตำแหน่งเครื่องบินส่วนตัว Elon Musk เจ้าตัวพยายามซื้อเว็บแต่ยังไม่เป็นผล Jack Sweeney วัยรุ่นวัย 19 ปีสร้างบัญชีทวิตเตอร์ @ElonJet รายงานตำแหน่งของเครื่องบินส่วนตัวของ Elon Musk จนกระทั่งตัว Elon ขอซื้อบัญชีนี้ในราคา 5,000 ดอลลาร์ แต่ Sweeny ระบุว่าราคานี้ยังต่ำเกินไป ข้อมูลตำแหน่งเครื่องบินเป็นข้อมูลเปิดเผย เนื่องจากเครื่องบินต้องส่งสัญญาณ ADS–B เพื่อรายงานตำแหน่งของตัวเอง ผ่านคลื่นความถี่ 1090 MHz อยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็มีการตั้งเครือข่ายอาสาสมัครรับคลื่นนี้มาแลกเปลี่ยนกัน จนกลายเป็นเว็บติดตามเครื่องบินทั่วโลก ตัวบัญชี ElonJet เองก็ใช้ข้อมูลจาก ADS-B Exchange โดยกรองเอาเครื่อง N628TS ที่เป็นเครื่องบินส่วนตัวของ Musk ทำให้ตำแหน่งเครื่องบินแทบจะตรงกับเมืองที่ Musk อยู่ตลอดเวลา ด้าน Musk ระบุว่าการเปิดเผยตำแหน่งเครื่องบินของเขาเช่นนี้กลายเป็นปัญหาความปลอดภัยของเขาเอง ที่มา - Yahoo! News
# [ลือ] บริการเกมเหมาจ่ายของ Sony ชื่อ PlayStation Infinite เตรียมเปิดเร็วๆ นี้ มีสามระดับราคา หลังมีข่าวลือ Sony ซุ่มทำ Spartacus บริการเกมเหมาจ่ายมาสู้ Xbox Game Pass ตั้งแต่ช่วงปลายปี ตอนนี้เริ่มมีเบาะแสที่มีความเป็นไปได้ว่า Sony เตรียมเปิดบริการเกมแบบเหมาจ่ายเร็วๆ นี้ และบริการนี้อาจมีชื่อว่า PlayStation Infinite เบาะแสแรกมาจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ Okami_13 ที่พบว่ารูปโปรโมตเกมฟรีประจำเดือนกุมภาพันธ์ของ PS+ เปลี่ยนตัวหนังสือคำโปรยในรูปไป จากเดือนมกราคมที่เขียนว่า “for PlayStation Plus members” (สำหรับสมาชิก PlayStation Plus) กลายเป็น “Available this month with no extra cost” (เล่นได้ในเดือนนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) ซึ่งเป็นคำโปรยที่บริการเกมแบบเหมาจ่ายมักใช้กัน อีกหนึ่งเบาะแสมาจากยูทูบเบอร์ SKizzleAXE ที่โพสต์ลงในทวิตเตอร์ @skizzleaxe ระบุว่าเขาได้รับข้อมูลจากผู้ที่เห็นหน้าเว็บ PlayStation เผลอเอาข้อมูลขึ้นชั่วขณะ ว่าบริการนี้จะมีชื่อว่า PlayStation Infinite และจะมีสามระดับราคา คือ Gold, Platinum และ Ultimate แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าแต่ละระดับมีราคาเท่าไร หรือต่างกันอย่างไรบ้าง น่าจะต้องรอดูกันต่อไป รวมถึงรอลุ้นว่าในไทยจะใช้ได้ด้วยทันทีที่เปิดตัวเลยหรือไม่ ที่มา - Okami_13 via The Gamer, @skizzleaxe
# โซนี่ยุคนี้ต้องข้ามแพลตฟอร์ม เกมเบสบอล MLB The Show 22 ลงทั้ง Xbox และ Switch ปีที่แล้วเราเห็น โซนี่ทำเกมลงแพลตฟอร์ม Xbox เป็นครั้งแรกด้วยเกมเบสบอล MLB The Show 21 (แถมลง Game Pass ตั้งแต่วันแรกด้วย) ปีนี้เกมภาคต่อ MLB The Show 22 กลับมาอีกครั้ง ยังลง Xbox เหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือลง Nintendo Switch ด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่โซนี่ทำเกมลง Switch เกม MLB The Show 22 ได้นักเบสบอลชาวญี่ปุ่น Shohei Ohtani ของทีม Los Angeles Angels ที่สร้างผลงานได้ดีเยี่ยมในฤดูกาล 2021 มาเป็นผู้เล่นบนกล่องเกม เกมเบสบอลซีรีส์ MLB The Show พัฒนาโดยสตูดิโอ San Diego Studio ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโซนี่ และถือเป็นสตูดิโอในเครือ PlayStation Studios เกมวางขายวันที่ 5 เมษายน 2022 พร้อมกันทั้งสามแพลตฟอร์ม โดยยังยึดแนวทางขายราคา 59.99 ดอลลาร์บนคอนโซลเจนเก่า (PS4, Xbox One, Switch) และราคา 69.99 ดอลลาร์บนคอนโซลเจนใหม่ (PS5, Xbox Series X|S) ที่มา - MLB, PlayStation
# ซีอีโอ PlayStation บอกซื้อ Bungie เพราะต้องการเกม Live Service ยืนยันยังเป็นมัลติแพลตฟอร์ม Jim Ryan ซีอีโอของ Sony Interactive Entertainment ให้สัมภาษณ์กับ GamesIndustry.biz อธิบายเหตุผลในการซื้อสตูดิโอ Bungie เจ้าของเกม Destiny สิ่งแรกที่ Ryan บอกคือ Bungie จะยังบริหารงานเป็นอิสระ ทำเกมลงหลายแพลตฟอร์มเหมือนเดิม เพราะทุกคนอยากเห็นชุมชนผู้เล่น Destiny 2 ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แนวทางนี้จะครอบคลุมถึงเกมของ Bungie ในอนาคตด้วย เขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นแรกๆ ที่เขาพูดคุยกับ Pete Parsons ซีอีโอของ Bungie ระหว่างเจรจาซื้อกิจการ ซึ่งเขาตอบตกลงทันที Ryan ย้ำว่าแนวทางบริหารสตูดิโอเกมของ PlayStation คือให้อิสระสูง และยินดีให้การสนับสนุนใดๆ ที่สตูดิโอนั้นต้องการ ซึ่งที่ผ่านมา สตูดิโออย่าง Naughty Dog, Guerrilla Games, Suckerpunch หรือล่าสุดคือ Insomniac อยู่ภายใต้แนวทางนี้ ส่วนเหตุผลที่ซื้อ Bungie เป็นเพราะแนวเกมของ Bungie ที่เป็นเกมออนไลน์มัลติเพลเยอร์ live service มีฐานผู้เล่นขนาดใหญ่ จะเข้ามาช่วยเติมเต็มแนวทางเกมของ PlayStation ที่เน้นเกมเล่นคนเดียว เน้นการเล่าเรื่อง การซื้อ Bungie จะช่วยให้โซนี่มีเกมทั้งสองแนวทาง และช่วยขยายฐานลูกค้าของ PlayStation ในภาพรวม Ryan บอกว่าแนวทางของเขาไม่ใช่การซื้อแล้วดึงทุกอย่างเข้ามาในโลกของ PlayStation แต่เป็นการสร้างโลกใหม่ด้วยกัน เขาบอกว่าชวน Bungie ขยายแบรนด์ Bungie ไปยังสื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่เกมอย่างทีวีหรือภาพยนตร์ด้วย Ryan ยังให้ข้อมูลว่าเจรจากับ Bungie มาหลายเดือนแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาตัดสินใจซื้อเพื่อโต้ตอบดีลไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard และเขาก็บอกว่าการซื้อกิจการยังไม่จบ ยังสนใจจะซื้อบริษัทเกมเพิ่มอีก ที่มา - GamesIndustry.biz
# Joe Rogan ขอโทษกรณีพ็อดแคสต์ COVID-19 บอกเป็นรายการสด ไม่รู้แขกจะพูดอะไร Joe Rogan นักจัดพ็อดแคสต์ชื่อดังที่เป็นศูนย์กลางความขัดแย้งกรณี Spotify ออกมาโพสต์คลิปขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นผ่าน Instagram ของตัวเอง โดยเขาบอกว่าการจัดพ็อดแคสต์ของเขาเป็นรายการสด หลายครั้งเขาไม่รู้ล่วงหน้าว่าผู้ร่วมรายการจะพูดเรื่องใดบ้าง บางครั้งสิ่งที่เขาพูดในรายการก็เกิดจากความคิดของเขาในตอนนั้น ซึ่งเขามองว่าเป็นเสน่ห์ของรายการแบบนี้ ในกรณีของนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกวิจารณ์ว่าเผยแพร่ข้อมูลปลอมเรื่องวัคซีน COVID-19 ทาง Rogan บอกว่าเขาไม่ใช่แพทย์ เขาไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่ผู้ร่วมรายการพูดนั้นถูกหรือผิด เขาเป็นแค่คนสัมภาษณ์เท่านั้น เขาอยากให้มุมมองของแขกร่วมรายการมีหลายด้าน และว่ายินดีแก้ไขหากให้ข้อมูลผิดไป Rogan ยังขอโทษ Spotify กับสิ่งที่เกิดขึ้น และขอบคุณการสนับสนุนจาก Spotify มาโดยตลอด ด้าน Spotify เพิ่งออกมาประกาศแนวทางกำกับดูแลเนื้อหาที่เกี่ยวกับ COVID-19 เช่นกัน (Spotify เซ็นสัญญากับ Rogan ที่ว่ากันว่ามูลค่า 100 ล้านดอลลาร์) ที่มา - The Verge, Engadget
# ปิดฉากถาวร BlackBerry ขายสิทธิบัตรด้านมือถือทั้งหมดทิ้งแล้ว BlackBerry หยุดทำธุรกิจสมาร์ทโฟนมาตั้งแต่ปี 2016 (ขายไลเซนส์ให้ TCL, ปัจจุบันไลเซนส์อยู่กับ OnwardMobility บริษัทลูกของ Foxconn) และเพิ่งปิดฉากหยุดซัพพอร์ต BlackBerry OS และ BlackBerry 10 ไปเมื่อต้นปีนี้ ล่าสุด BlackBerry ถอนตัวจากตลาดสมาร์ทโฟนอย่างถาวร โดยขายสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทโฟน การส่งข้อความแชท (BBM) การเชื่อมต่อไร้สาย ให้กับบริษัท Catapult IP Innovations Inc. ในราคารวม 600 ล้านดอลลาร์ ตัวบริษัท Catapult IP เป็นบริษัทตั้งใหม่ขึ้นมารับซื้อสิทธิบัตรของ BlackBerry โดยเฉพาะ ได้เงินกู้มาจากบริษัทลงทุน Third Eye Capital ของแคนาดาเพื่อมาซื้อสิทธิบัตร ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า Catapult จะเปิดฉากไล่ฟ้องสิทธิบัตร เรียกเงินค่าละเมิดสิทธิบัตรจากบริษัทอื่น ปัจจุบันธุรกิจหลักของ BlackBerry มีสองอย่างคือ โซลูชันความปลอดภัยสำหรับตลาดองค์กร และระบบปฏิบัติการ QNX ที่ใช้ในรถยนต์และอุปกรณ์ฝังตัว (BlackBerry ซื้อ QNX มาในปี 2010 เพื่อมาเป็นแกนของระบบปฏิบัติการมือถือ แม้แผนล้มเหลว แต่ QNX สำหรับตลาดอุปกรณ์ฝังตัวยังไปต่อได้) ที่มา - BlackBerry, Ars Technica
# Apple ไม่ต้องแถมหูฟัง EarPods สำหรับ iPhone ที่ขายในฝรั่งเศสแล้ว แอปเปิลเลิกใส่หัวชาร์จไฟและหูฟังมาในกล่อง ตั้งแต่ iPhone 12 ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากจำกันได้ ในฝรั่งเศส แอปเปิลต้องทำกล่องครอบมาอีกชั้น เนื่องจากมีกฎหมายว่าผู้ผลิตโทรศัพท์ต้องแถมอุปกรณ์สำหรับแฮนด์ฟรีมาด้วย ล่าสุดแอปเปิลไม่ต้องทำกล่องครอบแล้ว ในหน้าเว็บไซต์ของแอปเปิลฝรั่งเศส ระบุว่าในกล่องของการซื้อ iPhone จะมีอุปกรณ์สองอย่างเหมือนที่อื่นคือ iPhone และสายชาร์จ Lightning แบบ USB-C เนื่องจากฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายใหม่ ซึ่งผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องใส่หูฟังมากับโทรศัพท์แล้ว แต่ต้องรับรองว่าโทรศัพท์รองรับการใช้งานกับหูฟัง ซึ่งสามารถขายแยกได้ ที่มา: MacRumors
# ปิดฉากสกุลเงิน Libra, สมาคม Diem ขายทรัพย์สินให้ธนาคาร Silvergate ก่อนปิดตัว จากที่มีข่าวลือว่า Libra/Diem เงินคริปโตของ Meta เตรียมขายสินทรัพย์ทอดตลาด วันนี้ข่าวเป็นทางการมาแล้วคือสมาคม Diem Association ประกาศขายทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพย์สินอื่นๆ ให้กับ Silvergate Capital บริษัทการเงินที่เป็นพาร์ทเนอร์กันในช่วงหลัง มูลค่าการซื้อกิจการ 182 ล้านดอลลาร์ มีทั้งจ่ายเป็นเงินสดและหุ้นของ Silvergate แถลงการณ์ของ Diem Association ระบุว่าภูมิใจกับผลงานที่สร้างระบบจ่ายเงินแบบบล็อกเชนที่ปลอดภัยจากผู้ประสงค์ร้าย แต่หลังจากพบความจริงว่าหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐว่าจะไม่อนุมัติให้เกิดโครงการ stablecoin ลักษณะนี้ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขายทรัพย์สินให้ Silvergate หลังจากกระบวนการขายทรัพย์สินเสร็จสิ้นแล้ว สมาคมจะปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ ด้านผู้ซื้อ Silvergate ระบุว่ายังตั้งใจจะสร้างเหรียญ stablecoin ที่ผูกกับค่าเงินภายในปี 2022 จึงตัดสินใจซื้อเทคโนโลยีของ Diem ที่สร้างกันมานาน 2 ปี โดยจะผลักดันผ่านเครือข่ายจ่ายเงิน Silvergate Exchange Network (“SEN”) ของตัวเอง ที่ผนวกเทคโนโลยีของ Diem เข้ามา David Marcus อดีตหัวหน้าโครงการ Diem (เขาคืออดีตหัวหน้าทีม Facebook Messenger เดิม) ออกมาทวีตข้อความแสดงความยินดีกับอดีตเพื่อนร่วมงาน ส่วน Mark Zuckerberg ในฐานะซีอีโอผู้ผลักดันโครงการ ไม่ได้โพสต์ใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ (แต่โพสต์เรื่องอวตารใหม่ใน Metaverse แทน) ที่มา - Diem, Silvergate
# หนังสือพิมพ์ The New York Times ซื้อเกมทายคำ Wordle สัญญาว่าจะยังเล่นฟรีต่อไป หนังสือพิมพ์ The New York Times ประกาศซื้อกิจการเกมทายคำยอดฮิต Wordle จากผู้สร้างเดิม Josh Wardle โดยเกม Wordle จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริการ The New York Times Games The New York Times Games เป็นบริการเกมออนไลน์ที่ตั้งในปี 2014 โดยเริ่มจากเกมทายคำในหนังสือพิมพ์ยุคเก่าๆ อย่าง The Crossword ไล่มาจนถึงเกมใหม่ๆ เช่น Spelling Bee, Letter Boxed, Tiles, Vertex สถิติการเล่นเกมเหล่านี้สูงถึง 500 ล้านครั้งในปี 2021 และล่าสุดมีสมาชิกเล่นเกมแบบเสียเงินมากถึง 1 ล้านคน เหตุผลที่ซื้อ Wordle เป็นเพราะเกมสนุก สามารถสร้างจินตนาการร่วมกันของผู้เล่นได้ ส่วน Josh Wardle วิศวกรซอฟต์แวร์ที่สร้างเกมนี้ก็บอกว่ามั่นใจในคุณภาพของ The New York Times จึงตัดสินใจขายเกมให้ The New York Times บอกว่าเกม Wordle จะยังฟรีต่อไป และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ กับรูปแบบวิธีการเล่นที่คนคุ้ยเคยอยู่แล้ว มูลค่าการซื้อกิจการบอกกว้างๆ ว่า "7 หลัก" ที่มา - The New York Times
# Sony ชำระแค้น ซื้อสตูดิโอ Bungie ผู้สร้าง Destiny ด้วยมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท หลังมีข่าว Microsoft ซื้อ Activision Blizzard ก่อนหน้านี้ วันนี้ฝั่ง Sony ก็เริ่มขยับตัวบ้าง เข้าซื้อ Bungie สตูดิโอผู้สร้างเกม Halo (แต่ปัจจุบันลิขสิทธิ์ Halo อยู่กับ 343 Studios ที่อยู่กับ Microsoft) รวมถึงเป็นผู้สร้างและเจ้าของเกม Destiny และ Destiny 2 ในปัจจุบัน ด้วยมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.2 แสนล้านบาท) Bungie จะกลายเป็นสตูดิโอในเครือ Sony Interactive Entertainment หรือ SIE แต่ยังย้ำชัดว่ายังเป็นสตูดิโอมัลติแพลตฟอร์ม ที่ยังคงความเป็นอิสระด้านความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนา และการจัดจำหน่ายเกมของตัวเองไว้อย่างครบถ้วน Bungie แถลงทิศทางของ Destiny 2 ว่าจะยังรองรับทุกแพลตฟอร์มเท่าเทียมแบบไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งเดียวที่เปลี่ยนแปลงคือจะเริ่มมีการขยายทีมและมีการจ้างงานมากขึ้นสำหรับ Destiny 2 และเกมอื่นๆ ต่อไปเท่านั้น Bungie เคยเป็นสตูดิโอสังกัด Microsoft ก่อนจะแยกตัวออกมาในปี 2007 และมีดีลจัดจำหน่ายกับ Activision Blizzard ในปี 2010 ก่อนจะแยกทางกับ Activision Blizzard เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ SIE ในครั้งนี้ ดีลมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับดีล 68.7 พันล้านดอลลาร์ของ Microsoft กับ Activision Blizzard ซึ่งอาจแปลว่า Sony ยังมีแผนซื้อสตูดิโอเพิ่มเติมอยู่ในใจ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นสตูดิโอไหนต่อ แม้นักวิเคราะห์จะแนะนำว่า Sony ควรซื้อ EA แต่ดีลระดับนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก ไม่ก็คงต้องใช้เวลาอีกนานในการตกลง ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไป แต่เรียกได้ว่าวงการเกมกำลังร้อนระอุขึ้นทุกวันเลยทีเดียว ที่มา - Bungie, Kotaku
# Telenor บริษัทแม่ dtac ประกาศร่วมมือ AWS ขยายบริการ 5G ในอุตสาหกรรม Telenor ประกาศความร่วมมือกับ AWS เตรียมให้บริการในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เช่น ภาคการผลิต, ซัพพลายเชน, ลอจิสติกส์, และยานยนต์ เพื่อให้บริการ 5G และคลาวด์แบบ Edge ประกาศระบุเพียงกว้างๆ โดยไม่ได้บอกว่าจะให้บริการใดโดยตรง แต่ที่ผ่านมา AWS มีบริการที่ต้องอาศัยเครือข่าย 5G และเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือให้บริการจำนวนมาก เช่น บริการ AWS Private 5G ที่แบ่งช่องสัญญาณ 5G มาให้บริการกับธุรกิจต่างๆ เป็นช่องสัญญาณส่วนตัว, บริการ AWS Wavelength ที่เปิดให้ลูกค้าสามารถเช่าเซิร์ฟเวอร์ตามเสาสัญญาณ 5G มาใช้งาน เพื่อนำเซิร์ฟเวอร์ให้เข้าใกล้ลูกข่าย ตัว Telenor เองมีบริษัทให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่หลายประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์, สวีเดน, เดนมาร์ค, ฟินแลนด์, ไทย, มาเลเซีย, ปากีสถาน, เมียนมาร์, และบังคลาเทศ ครั้งนี้ก็น่าจะมีลุ้นว่าบริการของ AWS ที่ต้องอาศัยเครือข่าย 5G จะมาเปิดในไทย เพราะ dtac เองก็เคยทดสอบเครือข่าย 5G ส่วนตัวสำหรับลูกค้าไปก่อนแล้ว และที่ผ่านมาก็เคยทำตลาด AWS Snow มาก่อน ที่มา - Telenor
# Citrix ถูกซื้อกิจการโดย Vista Equity Partners และ Evergreen Coast Capital มูลค่าดีล 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ อัพเดต: Citrix ยืนยันข่าวดังกล่าวแล้ว สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่าบริษัทการลงทุน Vista Equity Partners และ Elliott Management Corp ใกล้ปิดดีลซื้อกิจการ Citrix Systems บริษัทซอฟต์แวร์รีโมททำงานสำหรับองค์กร โดยมูลค่าดีลอยู่ราว 13,000 ล้านดอลลาร์ รายงานบอกว่าเมื่อดีลเสร็จสิ้น และนำ Citrix ออกจากตลาดหุ้น Vista และ Elliott จะควบรวมกิจการบริษัทกับ Tibco บริษัทซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูล ที่ทั้งสองบริษัทเป็นเจ้าของอยู่ตอนนี้ แม้ซอฟต์แวร์ของ Citrix จะใช้สำหรับการรีโมททำงาน ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์ในช่วงการระบาดของโควิด 19 แต่ผลประกอบการช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ดีนัก ซีอีโอชั่วคราว Robert Calderoni เคยให้ข้อมูลว่าเนื่องจากบริษัทเน้นการลงทุนกับวิธีการขายผ่านเซลล์ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมมากไป ขณะที่ลูกค้ามองหาโมเดลแบบ subscription มากขึ้น เพิ่มเติม (1): Citrix แถลงอย่างเป็นทางการว่า Vista Equity Partners จะเป็นแกนนำในการซื้อกิจการ โดยมี Evergreen Coast Capital และ Elliott Investment Management ร่วมลงทุน ที่มูลค่าดีล 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ และจะควบรวมกิจการ Citrix กับ TIBCO ที่มา: Reuters
# dtac ไตรมาส 4/2564 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 5.1% ผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 19.6 ล้านเลขหมาย ดีแทค รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ปี 2564 รายได้รวม 21,587 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2563 และมีกำไรสุทธิ 171 ล้านบาท ปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรลดลงคือ มีการตัดจำหน่ายทรัพย์สินแบบครั้งเดียว 430 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคืนพื้นที่เช่าบนเสาโทรคมนาคมที่บริษัทเช่าจากผู้อื่น จำนวนผู้ใช้งานมี 19.6 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 2.86 แสนเลขหมาย รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ARPU) 239 บาทต่อเดือน และมีผู้ใช้บริการ 4G 13.3 ล้านเลขหมายคิดเป็น 68% ของฐานลูกค้ารวม ดีแทคประเมินแนวโน้มธุรกิจในปี 2565 รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย และ EBITDA จะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละเลขหลักเดียว หรือคงที่ และมีค่าใช้จ่ายการลงทุนที่ 12,000-14,000 ล้านบาท ที่มา: ดีแทค (pdf)
# อัยการสหรัฐ 35 รัฐเข้าชื่อต่อศาลอุทธรณ์ บอกควรตัดสินเข้าข้าง Epic เพราะแอปเปิลผูกขาด คดีความระหว่าง Epic Games กับแอปเปิลในประเด็นการผูกขาดวิธีจ่ายเงินบน App Store มีคำตัดสินจากศาลชั้นต้นเมื่อเดือนกันยายน 2021 สั่งให้แอปเปิลต้องเปิดกว้างมากขึ้นในการรองรับระบบจ่ายเงินเจ้าอื่น ซึ่ง Epic มองว่ายังไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ (ศาลไม่ได้มองว่าแอปเปิล "ผูกขาด") และขอยื่นอุทธรณ์ ทำให้กระบวนการทางคดีลากยาวต่อไป (Fortnite จึงยังถูกแอปเปิลแบนต่อ) สัปดาห์ที่แล้ว อัยการประจำรัฐจำนวน 35 รัฐในสหรัฐอเมริกา ได้เข้าชื่อกันส่งจดหมายถึงศาลอุทธรณ์ แสดงความเห็นว่าศาลอุทธรณ์ควรกลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น เพราะกลุ่มอัยการมองว่าแอปเปิลเข้าข่ายผูกขาดจริง รายละเอียดของเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเทคนิคทางกฎหมายอยู่บ้าง เพราะศาลชั้นต้นตัดสินตามนิยามของการผูกขาด ใต้กฎหมาย Sherman Antitrust Act of 1890 ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานหลักของคดีผูกขาดในสหรัฐอเมริกา กลุ่มอัยการชี้ว่า ศาลชั้นต้นตัดสินว่าพฤติกรรมของแอปเปิลเป็นสัญญาฝ่ายเดียว (unilateral contract) ไม่ได้ร่วมผูกขาดกับบริษัทอื่น ซึ่งไม่เข้าข่ายนิยามในหมวด 1 ของกฎหมาย Serman Act ที่เขียนมาตั้งแต่ปี 1890 การตัดสินแบบนี้เป็นการตีความในเชิงแคบ และเอาจริงๆ แล้วกฎหมายเองไม่ได้มีคำว่า contract ด้วยซ้ำ (เพราะเก่ามาก) ควรมองที่เจตนาของกฎหมายดีกว่า และในอดีต ศาลสูงสุดของสหรัฐก็เคยตัดสิน (ในคดีผูกขาดอื่น) ในลักษณะตีความเข้าข่ายกฎหมายมาแล้ว กลุ่มอัยการยังสนับสนุนข้อเสนอของ Epic Games ว่าแอปเปิลมีกำไรมหาศาลจาก iPhone เพราะไม่เกิดการแข่งขัน และเป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องเข้ามาสร้างสมดุลตรงนี้เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในระยะยาว ที่มา - Ars Technica
# งาน NFT ท้าวเวสสุวรรณขายออกในราคา 7.5 แสนบาท ถูกชาวเน็ตจับโป๊ะ หรือขายเองซื้อเอง หลังมีผู้โพสต์ขายงาน NFT ศิลปะไทยประยุกต์ รูปท้าวเวสสุวรรณบนเว็บไซต์ OpenSea ในราคา 9 ETH หรือราว 7.5-7.6 แสนบาท จนในที่สุดก็ขายออก ดูเหมือนว่าจะเป็นการซื้อภาพมูลค่าสูงอีกครั้งในวงการ NFT ไทย แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิด เมื่อชาวเน็ตขุด transaction ในการซื้อขายดู พบว่าแอคเคาท์ที่เป็นผู้ขาย ส่งเงินให้อีกแอคเคาท์เพื่อมาซื้องานตัวเอง เพจข่าวคริปโต เช้านี้ พบว่าก่อนจะมีการซื้องาน กระเป๋าของผู้ตั้งขาย NFT ท้าวเวสสุวรรณที่ขึ้นต้นด้วยรหัส 0xdee ได้ส่งเงินไปให้ผู้ใช้ที่กระเป๋าขึ้นต้นด้วยรหัส 0x145 เป็นจำนวน 9.5 ETH และผู้ใช้กระเป๋า 0x145 ก็ใช้เงินที่ได้จากผู้ตั้งขายซื้องาน NFT นี้ไป ในราคา 9 ETH แถมผู้ใช้ 0x145 ก็ส่งเงินจากการโอนเกิน 0.5 ETH ที่คาดว่าโอนไปเพื่อเป็นค่า gas และเหลือ 0.47 ETH กลับไปให้กระเป๋า 0xdee ที่เป็นผู้ลงขายงานอีกรอบ ข้อมูลทั้งหมดนี้ถูกบันทึกไว้บนบล็อกเชน และใครก็สามารถเข้าไปดูได้ ทำให้ชาวเน็ตคาดกันว่าผู้ที่ลงขายงานนี้ อาจจะเป็นนักขายมือใหม่ที่ยังขายเองซื้อเองได้ไม่เนียน แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าเหตุผลที่แท้จริงในการขายเองซื้อเองครั้งนี้เป็นไปเพื่ออะไร มีการคาดการณ์จากชาวเน็ตว่าอาจจะเป็นไปเพื่อโปรโมตงาน NFT สไตล์นี้ให้เป็นกระแส และมีราคาที่สูงขึ้น มีบางคอมเม้นต์ที่สงสัยว่าเป็นการโอนตรงเข้าบัญชีผู้ขาย ก่อนให้ผู้ขายโอน ETH ให้วอลเล็ตผู้ซื้อ เพื่อมาซื้อบน OpenSea อีกทีหรือเปล่า แต่ถ้าใช้วิธีนี้ผู้ขายก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม 2.5% หรือราว 19,000 บาทให้กับ OpenSea และผู้ขายก็สามารถยกเลิกรายการขายบน OpenSea เพื่อไปโอนงานพร้อม NFT ให้ผู้ซื้อได้โดยตรงได้ เพื่อไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตรงนี้ ข้อสันนิษฐานนี้จึงน่าจะมีน้ำหนักน้อยกว่า ที่มา - OpenSea via เพจ เช้านี้
# ซีรีส์ Halo แบบคนแสดง โชว์เสียง Master Chief และโฉมแรก Cortana ฉาย 24 มีนาคมนี้ อีกไม่นานซีรีส์ Halo ฉบับคนแสดงก็จะได้ฉายแล้ว หลังลมลุกคลุกคลานมาตั้งแต่ปี 2013 โดยจะฉายในบริการ Paramount+ โดยเนื้อหาจะโฟกัสไปที่ Master Chief สุดยอดทหารดัดแปลงของฝั่งมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำสงครามกับจักรวรรดิเอเลี่ยนคลั่งศาสนา The Covenant ดูจากตัวอย่างแล้วเนื้อเรื่องน่าจะเล่าตั้งแต่การค้นพบโบราณสถานของ Forerunner โดยมนุษย์ และการค้นพบวงแหวน Halo ที่มนุษย์ในเรื่องเชื่อว่าจะเป็นการจบสงครามระหว่างมนุษย์ กับ The Covenant ได้ ในตัวอย่างยังเปิดเผยโฉมแรกของ Cortana เอไอส่วนตัวของ Master Chief เป็นครั้งแรก พร้อมเผยวันฉายจริง 24 มีนาคมนี้ คอมเม้นต์ส่วนใหญ่ไปในทางบวก แต่ก็มีบางส่วนที่ยังเสียดายเพราะตัวละคร Master Chief ไม่ได้ Steve Downes ผู้ให้เสียงในเกมมาพากย์ และรูปลักษณ์ของ Cortana ค่อนข้างแปลกตา คงต้องรอติดตามต่อไปว่าจะมีกระแสตอบรับอย่างไรบ้างในวันฉายจริง แต่ปัจจุบัน Paramount+ เพิ่งเปิดให้ใช้งานหลักๆ แค่กลุ่มทวีปอเมริกา รัสเซีย และยุโรปบางประเทศเท่านั้น ฝั่งบ้านเราคงต้องรอต่อไป ที่มา - Halo on Paramount+, TV Promos
# จีนออกร่างกฎหมายควบคุม DeepFake, การใช้ AI ปลอมเป็นมนุษย์ ต้องแสดงตัวชัดเจน รัฐบาลจีนออกร่างกฎหมายเตรียมควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเลียนแบบมนุษย์จนสมจริง ทั้งการสนทนา, เขียนข่าว, แชตบอต, ไปจนถึงการปลอมแปลงเสียงและใบหน้า (DeepFake) โดยเรียกรวมๆ ว่า deep synthesis ร่างกฎหมายห้ามใช้เทคโนโลยี deep synthesis มาทำลายความมั่นคงรัฐ, สร้างข่าวปลอม, ภาพอนาจาร, หรือใช้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและทรัพย์สินทางปัญญา แต่เนื้อหาสำคัญอยู่ที่การให้บริการเทคโนโลยีเหล่านี้แก่ผู้อื่น ผู้ให้บริการต้องทำหน้าที่ควบคุมการใช้งาน แจ้งเตือนผู้ใช้ว่ามีความรับผิดชอบอะไรบ้าง, หยุดให้บริการหากมีการใช้งานในทางที่ผิด ที่สำคัญคือการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องแสดงตัวชัดเจนว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์ การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสร้างคอนเทนต์เลียนแบบมนุษย์นั้นเริ่มสมจริงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา งานวิจัยใหม่ๆ สามารถสร้างวิดีโอปลอมได้อย่างสมจริง จนคนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงก็เริ่มนำมาใช้งานในรูปแบบต่างๆ ได้เอง ขณะที่กูเกิลก็เริ่มให้บริการ Duplex ปัญญาประดิษฐ์ที่สนทนากับร้านค้าแทนผู้ใช้ ส่วนปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานกับข้อความอย่าง GPT-2 นั้นก็มีความเสี่ยงว่าจะถูกนำไปใช้สร้างข่าวปลอม ที่มา - The Register ภาพโดย geralt
# เจาะเบื้องหลัง กว่าจะมาเป็น HUAWEI P50 Pocket ฝาพับปิดสนิทยิ่งกว่าใคร ในช่วงสองปีมานี้โทรศัพท์มือถือฝาพับแบบแนวตั้งกลับมานิยมอีกครั้งในรูปของสมาร์ทโฟน ผู้บริโภคจึงมีความต้องการที่จะใช้สมาร์ทโฟนที่สามารถพับและกางได้อย่างลื่นไหล พกพาง่าย และมีจอพับที่แข็งแรงไม่เป็นรอยเมื่อพับบ่อย ล่าสุดหัวเว่ยก็เป็นอีกแบรนด์ที่เปิดตัวสมาร์ทโฟนแบบพับแนวตั้งออกมา คือ HUAWEI P50 Pocket ที่ออกแบบมาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานทั้งด้านรูปลักษณ์ที่หรูหราสวยงามสามมิติ พร้อมเทคโนโลยีอันล้ำสมัย และแน่นอนว่าสร้างสรรค์ฝาพับที่ปิดสนิทยิ่งกว่าใครด้วยการคิดค้นมาเป็นอย่างดี เบื้องหลังการคิดค้น “ข้อพับ” ที่เรียบสนิท ไร้ช่องว่าง ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยเคยเป็นผู้เล่นในตลาดสมาร์ทโฟนพับได้มาแล้ว กับทั้ง HUAWEI Mate X และ HUAWEI Mate XS ด้วยประสบการณ์ในวันนั้น วันนี้หัวเว่ยได้ก้าวสู่การพัฒนาสมาร์ทโฟนแบบพับไปอีกขั้น ด้วยการออกแบบกลไลการพับให้ตอบโจทย์การใช้งานได้ดียิ่งกว่า โดยครั้งนี้ข้อพับ หรือ “Hinge” ของ HUAWEI P50 Pocket นั้นได้รับการออกแบบอย่างอัจฉริยะ โดยทีมนักวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ยได้ทำการทดสอบอย่างละเอียดและเลือกใช้วิธี Multi-Dimensional Linkage Lifting Design ในการสร้างข้อพับแบบ All-New Multi-Dimensional Hinge Design ซึ่งวิธีนี้จะลดความกว้างของข้อพับให้เสมอกับความหนาของสมาร์ทโฟนขณะพับในลักษณะแกนหมุนเปิด-ปิด ทำให้กางได้ราบ 180 องศา และมีรอยพับน้อยมากบนจอ ส่งผลให้ไม่มีช่องว่างระหว่างจอเมื่อพับเครื่อง ขณะเดียวกันหัวเว่ยได้ผลิตตัวเครื่องด้วยวัสดุคุณภาพสูงผ่านกรรมวิธี Metal Injection Molding (MIM) เพิ่มความทนทานต่อแรงกระแทกถึง 62% และความต้านทานแรงกด (Stress) 33% พร้อมเคลือบข้อพับด้วย Diamond-Like Carbon (DLC) เพื่อป้องกันข้อพับเสื่อม HUAWEI P50 Pocket จึงไม่ได้มีเพียงดีไซน์อันหรูหราและชาญฉลาด แต่ยังมีความทนทานต่อการใช้งานสูงด้วย นอกจากนั้น กลไกภายในของข้อพับของ HUAWEI P50 Pocket ยังมีรูปร่างเสมือนหยดน้ำ ที่ถูกคิดค้นและพัฒนามาอย่างล้ำลึก เพื่อทำให้หน้าจอเรียบเนียนสนิทลดการเกิดรอยพับให้ได้มากที่สุดและไร้รอยต่อแม้เมื่อกางหน้าจอออกมา ซึ่งแตกต่างจากกลไกข้อพับแบบตัวยูและรูปไม้เบสบอล โดยนับเป็นการออกแบบที่สวยงามมีสุนทรียศาสตร์สะกดสายตาและใช้งานได้อย่างคล่องตัวในเวลาเดียวกัน ความลงตัวชั้นยอดแม้เครื่องพับแต่ยังทรงพลัง![A picture containing logo เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนทั่วไปแล้ว สมาร์ทโฟนแบบพับที่พกได้ง่ายย่อมมีกลไกภายในที่ซับซ้อนกว่า วิศวกรหัวเว่ยบรรจงจัดวางส่วนประกอบต่างๆ โดยให้ภายในมีโครงสร้างแบบบูรณาการที่ใช้ทุกพื้นที่ด้านในตัวเครื่องให้ทั่วถึง และลดขนาดความกว้างของข้อพับตัวเครื่องลงถึง 30% รวมถึงความยาวของข้อพับ ก็ยังเล็กกว่าครึ่งหนึ่งของสมาร์ทโฟนพับได้รุ่นอื่นๆ ทั้งหมดนี้ทำให้ตัวเครื่อง HUAWEI P50 Pocket ออกมาเล็กและบางเพียง 7.2 มิลลิเมตรเมื่อกางออก และ 15.2 มิลลิเมตรเวลาพับ เมื่อพื้นที่ถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เท่ากับว่าทีมนักวิจัยและพัฒนาสามารถอัดสเปค และความทรงพลังลงได้อย่างเต็มที่ แต่อายุการใช้งานแบตเตอรี่ยังใช้งานได้ทนทาน ไม่ได้ลดลงตามขนาดเครื่อง รองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็ว 40W HUAWEI SuperCharge นอกจากนี้ แม้จะเป็นสมาร์ทโฟนแบบพับก็ยังใช้จอใหญ่ 6.9 นิ้ว อัตราส่วนหน้าจอ 21:9 ส่งมอบความลื่นไหลเต็มที่ด้วยอัตราการรีเฟรชหน้าจอสูงสุด 120Hz ทั้งยังรองรับสีกว่า 1,070 ล้านสี ความหมายที่สื่อผ่านศิลปะการออกแบบตัวเครื่อง หัวเว่ยได้สร้างนิยามให้แก่ HUAWEI P50 Pocket ว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ผสานเทคโนโลยีกับศิลปะเข้าไว้ด้วยกัน ในการเปิดตัวครั้งนี้ หัวเว่ยจึงได้จับมือกับแฟชั่นดีไซเนอร์ระดับโลกชาวดัตซ์ Iris Van Herpen เพื่อออกแบบ HUAWEI P50 Premium Edition ให้สะท้อนความสมดุลระหว่างศิลปะและเทคโนโลยีในลวดลายนูนต่ำสามมิติ สื่อความหมายถึง “การพึ่งพาอาศัยกัน (symbiosis)” ระหว่างเทคโนโลยีและธรรมชาติ บนตัวเครื่องสีทองนวลอร่าม หรือสี Premium Gold สำหรับผู้บริโภคที่รักในความหรูหราและความเหนือระดับ เอกลักษณ์ของดีไซน์กล้องอันโดดเด่นแบบวงแหวนคู่ อีกจุดแข็งที่หัวเว่ยมีคือการที่ดีไซน์ผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับประโยชน์การใช้งานอย่างลงตัว HUAWEI P50 Pocket เองก็ได้รับการออกแบบกล้องวงแหวนคู่แบบ Dual-Ring Design ให้ทั้งดูสวยงามและใช้งานได้สะดวกไปพร้อมกันแบบ โดยกล้อง Ultra Spectrum Camera Matrix เทคโนโลยีใหม่แกะกล่องของหัวเว่ย ทั้ง 3 กล้อง ได้แก่ กล้องหลัก 40MP True-Chroma Camera กล้องมุมกว้าง 120 องศา 13MP Ultra Wide Angle Lens และกล้อง 32MP Ultra Spectrum Camera จะอยู่ภายในวงแหวนด้านบน ส่วนจอ Cover Screen ที่ทำงานร่วมกับจอหลักอย่างราบรื่น จะอยู่ในวงแหวนด้านล่าง เจ้าของเครื่องสามารถควบคุมจอดังกล่าวได้โดยตรงแบบไม่จำเป็นต้องกางฝาพับ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข้อมูล แจ้งเตือนต่างๆ ถ่ายภาพและดูภาพรีวิวเมื่อถ่ายภาพเสร็จ ใช้งานได้คล่องตัวแม้สมาร์ทโฟนจะพับอยู่ สัมผัสปรากฏการณ์ความลงตัวระหว่างสุนทรียศาสตร์ และเทคโนโลยีได้กับ HUAWEI P50 Pocket ที่สามารถสั่งจองได้ตั้งแต่ 28 มกราคม 2565 – 11 กุมภาพันธ์ 2565 โดยวางจำหน่ายสีขาวในราคา 46,990 บาท ส่วนรุ่นพิเศษ HUAWEI P50 Pocket Premium Edition สี Premium Gold จะอยู่ที่ราคา 57,990 บาท ทันทีที่สั่งจองรับฟรี HUAWEI WATCH 3 ACTIVE มูลค่า 12,990 บาท ที่ HUAWEI Experience Store และร้านค้าตัวแทนจำหน่ายที่ร่วมรายการ พิเศษ! สำหรับลูกค้า AIS และ TrueMove H เป็นเจ้าของ HUAWEI P50 Pocket ได้ในราคาเริ่มต้นที่ 20,990 บาท เมื่อชำระค่าบริการตามเงื่อนไขที่ผู้ให้บริการกำหนด พร้อมรับฟรีแพ็กเกจ HUAWEI Video plus VIP 1 เดือน และฟรี HUAWEI Video Movie Pass 2 ใบ รวมมูลค่า 200 บาท, ฟรีคูปอง HUAWEI Themes 3 เดือน มูลค่า 149 บาท, ฟรีพื้นที่จัดเก็บข้อมูล HUAWEI Mobile Cloud storage 2TB ระยะเวลา 1 เดือน มูลค่า 349 บาท พร้อมบริการหลังการขายที่จะทำให้ลูกค้าหมดกังวล โดยมอบความคุ้มครองพิเศษ ได้แก่ บริการรับส่งเครื่องซ่อมถึงบ้าน, รับประกันหน้าจอ 1 ครั้งในระยะเวลา 3 เดือน มูลค่า 999 บาท (ไม่รวมค่าแรงและภาษี) และรับทันทีส่วนลด 20% เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ HUAWEI Care สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้ที่นี่ พร้อมทั้งติดตามอัปเดตข่าวสารล่าสุดก่อนใครได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ HUAWEI Mobile TH ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) ได้ที่: Website: http://consumer.huawei.com/th Facebook: http://www.facebook.com/HuaweiMobileTH LINE: HuaweiMobileThailand, IG: Huawei.TH
# การ์ดนักบอล Mason Greenwood ใน FIFA Ultimate Team ราคาพุ่งเกือบ 4 เท่า หลังมีข่าวฉาว หลังมีข่าว Mason Greenwood นักฟุตบอลชาวอังกฤษสังกัดทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ถูกจับกุมเพราะทำร้ายร่างกายและบังคับขืนใจแฟนสาว เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา การ์ดนักเตะของ Mason Greenwood กลับมีราคาพุ่งขึ้นไปถึงสามเท่า จากราคาราว 900-1,000 เหรียญ FIFA coins ในวันเสาร์ ขึ้นไปสูงสุด 3,800 เหรียญในวันอาทิตย์ บนแพลตฟอร์ม Xbox และ 2,233 เหรียญบน PlayStation กับ 2,267 เหรียญ บน PC อ้างอิงจากเว็บไซต์ futbin.com ปกติแล้วถ้านักเตะเสียชีวิต จะมีการล็อกราคาการ์ดให้อยู่กับที่โดย EA แต่ในครั้งนี้เนื่องจากเป็นข่าวฉาว EA จึงอาจไม่ได้ล็อกราคาไว้ ทำให้ราคาพุ่งขึ้นไปชั่วขณะหลังจากที่มีข่าว และกลับลงมาอยู่ที่ราว 1,300-1,400 เหรียญ FIFA coins ในวันนี้ ซึ่งแม้จะแพงขึ้นจากวันเสาร์ แต่ยังน้อยกว่าช่วงพีคในวันอาทิตย์ และคงต้องติดตามต่อว่าราคาจะไปในทิศทางใดต่อไป ที่มา - Futbin via @iamkoshiek
# Qubit Finance เพิ่มเงินให้แฮกเกอร์เป็น 2 ล้านดอลลาร์ อ้อนวอนขอให้คิดถึงผู้เสียหาย Qubit Finance แพลตฟอร์ม DeFi ข้ามเชนที่เพิ่งถูกแฮกเงินคริปโตไปมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์ ประกาศเพิ่มรางวัลสำหรับการคืนเงินเป็น 2 ล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับข้อเสนอที่ Polygon เคยจ่ายมาก่อนหน้านี้และเป็นการจ่ายสูงสุดที่เคยมีมา พร้อมกับสัญญาว่าจะไม่เอาเรื่องคดีความ สำหรับผู้เสียหาย ทาง Qubit Finance กำลังทำรายงานสรุปยอดความเสียหายรวมให้กับผู้ใช้ พร้อมเอกสารยืนยันในกรณีที่ต้องการเอกสารนำไปแจ้งความ ก่อนหน้านี้ทาง Qubit เคยพยายามเสนอเงินรางวัล 250,000 ดอลลาร์ และ 1 ล้านดอลลาร์มาก่อนแล้ว แต่แฮกเกอร์ก็ยังไม่ติดต่อกลับมาแต่อย่างใด ที่มา - @QubitFin
# Space Force สหรัฐฯ พบดาวเทียมจีนลากดาวเทียมดวงอื่นได้ เหมือนเป็นรถยกอวกาศ Exoanalytic Solutions บริษัทเอกชนภายใต้สัญญาด้านข้อมูลกับหน่วยงาน Space Force ของสหรัฐฯ ระหว่างติดตามวงโคจรดาวเทียมนอกโลกในวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา พบว่าดาวเทียม SJ-21 ของจีน ที่มีจุดประสงค์เพื่อ “ทดสอบและยืนยันเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายเศษชิ้นส่วนในอวกาศ” หายไปจากวงโคจรปกติในช่วงกลางวัน ที่การใช้กล้องส่องดาวเทียมทำได้ยาก หลังจากค้นหาและติดตาม Exoanalytic Solutions พบว่า SJ-21 กำลังเคลื่อนตัวไปประกบกับดาวเทียมระบุตำแหน่งของ BeiDou ที่พังแล้ว จากนั้นก็ทำการเคลื่อนย้ายดาวเทียม BeiDou ไปไว้ในวงโคจรสำหรับดาวเทียมที่ปลดประจำการ หรือ “graveyard orbit” เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการชนกับดาวเทียมอื่น Exoanalytic Solutions แจ้งกับหน่วยงาน Center for Strategic and International Studies (CSIS) ในงานสัมมนาทางเว็บว่าดาวเทียม SJ-21 ของจีน ทำหน้าที่เหมือนเป็น “รถยกในอวกาศ” (space tug) และสร้างความกังวลให้หน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ ว่าความสามารถนี้ถูกนำมาใช้เคลื่อนย้ายดาวเทียมของประเทศอื่นได้ ภากจาก Unsplash ของ NASA อย่างไรก็ตาม บริษัท Northrop Grumman ก็กำลังพัฒนาดาวเทียมที่มีแขนหุ่นยนต์ที่สร้างโดยหน่วยงานวิจัยด้านความมั่นคง DARPA ของสหรัฐฯ อยู่เช่นกัน และมีแผนจะปล่อยดาวเทียมนี้ในปี 2024 โดยมีหน้าที่ ตรวจสอบ หรือเคลื่อนย้ายยานพาหนะ หรือทำการซ่อมที่ไม่ซับซ้อนมาก เช่นขยับแผงโซลาร์ที่ติดขัด หรือเสาอากาศที่ไม่กางอย่างถูกต้อง ดาวเทียมเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญทั้งในด้านการสื่อสารและรวบรวมข้อมูล จึงมีประโยชน์อย่างมากในทางยุทธศาสตร์ ไม่น่าแปลกใจที่ความสามารถในการเคลื่อนย้ายและทำลายดาวเทียมของผู้อื่น จะเริ่มกลายมาเป็นสิ่งจำเป็น แม้ปัจจุบันจะมีสนธิสัญญาที่ห้ามติดตั้งอาวุธในอวกาศก็ตาม แต่อุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายดาวเทียม คงไม่เข้าข่ายด้วย เพราะอาจอ้างการใช้งานหลักว่าเป็นไปเพื่อเคลื่อนย้าย ซ่อมบำรุง หรือเก็บเศษซากได้ ที่มา - The Drive
# Spotify บอกกำลังเขียนกฎบังคับรายการพ็อดแคสต์ที่เกี่ยวกับ COVID-19 จากการประท้วงของ Neil Young ต่อรายการพ็อดแคสต์ Joe Rogan บน Spotify ส่งผลสะเทือนไม่น้อย ทั้งในแง่ผู้ใช้งานบอกเลิกสมาชิก และศิลปินคนอื่นขอถอดเพลงออกตาม ล่าสุด Spotify ทนแรงกดดันไม่ไหว ออกมาชี้แจงแล้ว โดย Daniel Ek ซีอีโอของบริษัทบอกว่ามีกฎเรื่องเนื้อหาผิดกฎหมาย-ข่าวปลอมที่ใช้เป็นการภายในอยู่แล้ว แต่ไม่เคยนำมาประกาศให้คนนอกทราบ ตอนนี้นำมาขึ้นบนเว็บไซต์แล้ว และจะแปลเป็นภาษาอื่นๆ เพื่อเข้าถึงครีเอเตอร์ในภาษาอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ Spotify กำลังเขียนคำแนะนำ (content advisory) เจาะจงไปที่รายการพ็อดแคสต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ COVID-19 โดยเฉพาะ รายการที่มีเนื้อหาเรื่องนี้จะลิงก์ไปยังศูนย์รวมข้อมูล COVID-19 ของ Spotify ที่มีเนื้อหาอิงวิทยาศาสตร์และแหล่งข่าวที่ได้รับการยอมรับ เพื่อต่อต้านข่าวปลอม Daniel Ek เลี่ยงไม่พูดถึงรายการของ Joe Rogan ที่สร้างความขัดแย้งโดยตรง และไม่บอกว่าจะมีมาตรการอย่างไรกับรายการตอนที่เป็นปัญหา ที่มา - Spotify
# สหรัฐฯ เตือนการหลอกลวงผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คพุ่งสูง ปี 2021 เสียหายเกิน 25,000 ล้านบาท กรรมการการค้ารัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Trade Comission - FTC) ออกมาเตือนว่าการหลอกลวงออนไลน์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คทั้งหลายยังคงระบาดหนัก ปริมาณผู้เสียหายและมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปีล่าสุดมีผู้เสียหายถึง 95,000 คน รวมยอดความเสียหายกว่า 770 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 25,000 ล้านบาท การหลอกลวงที่สร้างความเสียหายอันดับหนึ่งคือการหลอกลวงไปลงทุน คนร้ายอาจจะสร้างตัวตนปลอม หรือแฮกเข้าบัญชีคนอื่นเพื่อเข้าไปพูดคุยกับเหยื่อ หลอกให้ลงทุนที่ได้กำไรดีจนเหยื่อยอมโอนเงินให้ โดยมักให้โอนเป็นเงินคริปโตแล้วก็หายตัวไป รองลงมาคือการหลอกเป็นแฟน (romance scam) จากการพูดคุยด้วยคำหวานต่างๆ แล้วขอเงินจากเหยื่อ อันดับสามคือการหลอกขายสินค้าด้วยการยิงโฆษณาบนโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ แต่เหยื่อไม่ได้สินค้า FTC แนะนำให้ จำกัดการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บโซเชียลเหล่านี้, ถ้ามีเพื่อนส่งข้อความว่าต้องการเงินฉุกเฉินควรโทรติดต่อเจ้าตัวเพื่อตรวจสอบอีกทีเสมอ โดบคนร้ายมักขอให้ส่งเงินเป็นเงินคริปโต, บัตรของขวัญ, หรือโอนเงิน สุดท้ายคือหากมีคนมาขอเป็นเพื่อนแล้วเริ่มกลายเป็นความสัมพันธ์โรแมนติกอย่างรวดเร็ว ให้คิดให้รอบคอบขึ้นสักหน่อย และอย่าโอนเงินให้คนที่ไม่เคยพบหน้า ที่มา - FTC
# Visa เผย บัตรเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มคริปโต มีการใช้จ่ายถึงกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่ผ่านมา Al Kelly ซีอีโอ Visa เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจในช่วงแถลงผลประกอบการประจำไตรมาสที่ผ่านมา ว่าบัตร Visa ที่เชื่อมต่อกับพาร์ตเนอร์แพลตฟอร์มคริปโต มีการใช้จ่ายถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์ ภายในไตรมาส และคิดเป็น 70% ของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรประเภทนี้ตลอดปี 2021 Visa ระบุว่ามีการออกบัตรที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มคริปโตแล้วมากกว่า 65 ราย ซึ่งรวมทั้งรายใหญ่อย่าง Coinbase และ BlockFi ด้วย ด้านซีเอฟโอ Vasant Prabhu บอกว่าการใช้จ่ายในบัตรประเภทดังกล่าวมีความหลากหลายไม่ได้เน้นที่หมวดใดหมวดหนึ่งเป็นพิเศษ มีทั้งการซื้อสินค้า บริการ ร้านอาหาร ท่องเที่ยว สะท้อนว่าบัตรที่เชื่อมต่อกับคริปโต มีการนำมาใช้งานแบบในชีวิตประจำวันทั่วไป ที่มา: CNBC
# กลโกง NFT ขายตัวละครเพื่อเล่น Minecraft ได้เงิน 44 ล้านบาท ปิดเซิร์ฟเวอร์หนีในวันถัดไป เกิดคดีฉ้อโกงขึ้นในวงการ NFT (อีกแล้ว) รอบนี้ชื่อโครงการว่า Blockverse เป็นการทำระบบ play-to-earn (P2E) อย่างไม่เป็นทางการบน Minecraft โดยผู้เล่นต้องซื้อ token เพื่อเข้าไปเล่นบนเซิร์ฟเวอร์ Minecraft PvP แบบคัสตอมเป็นตัวละครพิเศษตามงาน NFT ที่สร้างขึ้น วิธีการเข้าร่วมคือต้องซื้อตัวละครเป็น NFT ในราคา 0.05 ETH (ประมาณ 4,400 บาท) ซึ่งมีขายจำนวน 10,000 ชิ้น ตามข่าวบอกว่าขายหมดภายใน 8 นาที ทำเงินไปได้ 500 ETH (ประมาณ 44 ล้านบาท) แต่หลังจากนั้นไม่ทันพ้นวัน ผู้สร้างโครงการก็ลบเซิร์ฟเวอร์เกม ลบหน้าเว็บ ลบห้องสนทนาใน Discord แล้วก็หายสาบสูญไป หลังจากนั้น 3 วัน ผู้สร้าง Blockverse กลับมาชี้แจงว่า ที่หายไปเป็นเพราะโดนลูกค้าวิจารณ์หนักในหลายเรื่อง ทั้งเซิร์ฟเวอร์ Minecraft รองรับผู้เล่นทั้งหมดไม่ไหว, ค่าแก๊สใน Ethereum แพงเกินไป และ token ที่ได้จากการเล่น P2E นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ ขายต่อก็ยาก ซึ่งทีมผู้สร้างมองว่าปัจจัยเหล่านี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของตัวเอง พอถูกวิจารณ์หนักเข้าเลยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องปิดโครงการลง แน่นอนว่ากลุ่มผู้ซื้อย่อมไม่เชื่อในคำกล่าวอ้างนี้ และระบุว่าจะตามรอยผู้สร้างเพื่อทวงเงินคืน หรืออย่างน้อยก็บางส่วน เพื่อนำเงินมารันโครงการต่อ โดยบอกว่ามีทั้งที่อยู่ใน Coinbase และหมายเลข IP บน Cloudflare ที่สามารถตามตัวได้ ที่มา - PCGamer
# OpenSea เผยสถิติ 80% ของงาน NFT ที่สร้างฟรี ไม่เสียค่าแก๊ส เป็นงานปลอมหรือขโมยมา OpenSea เว็บไซต์ขายงานศิลปะแบบ NFT มีบริการสร้างชิ้นงานเป็น NFT (เรียกว่า mint) โดยผู้สร้างงานจำเป็นต้องจ่ายค่าธุรกรรม Ethereum ที่เรียกว่า "ค่าแก๊ส" ซึ่งมีราคาต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลา ข้อเสียของวิธีการนี้คือผู้สร้างงานจำเป็นต้องจ่ายเงินออกไปก่อน และไม่มีอะไรการันตีว่าจะขายงานถอนทุนคืนได้ เมื่อปี 2020 OpenSea จึงเปิดฟีเจอร์ชื่อ lazy minting ให้สร้าง NFT ได้ฟรี เพราะตัวชิ้นงานอยู่บนระบบ NFT เท่านั้น (เมื่อเกิดธุรกรรมครั้งแรกถึงย้ายไปอยู่บนบล็อกเชน Ethereum ค่อยเสียค่าแก๊ส) ช่วยให้ผู้เริ่มต้นเข้ามาสร้าง NFT ได้ง่ายขึ้น แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา OpenSea ออกมาแถลงว่างานที่ถูกสร้างผ่านระบบ lazy minting มากกว่า 80% เป็นงานศิลปะที่ถูกขโมยมา ปลอมมา หรือเป็นสแปม จึงเปลี่ยนนโยบายจำกัดจำนวนงานที่สามารถ mint ฟรีได้เหลือเพียง 50 ชิ้นต่อคอลเลคชั่น (สูงสุด 5 คอลเลคชั่น) แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากผู้ใช้ เพราะมีศิลปินหรือนักวาดที่นิยมสร้างงานจำนวนมากๆ ในคอลเลคชันที่อาจเกินโควต้า และไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้ สุดท้าย OpenSea ต้องยอมถอย ยกเลิกการจำกัดจำนวนการ mint แต่ก็บอกว่าจะหาโซลูชันอื่นๆ มาแก้ปัญหาผู้ไม่ประสงค์ดี มาอาศัยช่องโหว่ของ OpenSea ขโมยงานของคนอื่นมาสร้างรายได้ ซึ่งจะประกาศล่วงหน้าให้ผู้ใช้งานได้ปรึกษาหารือกันก่อน ที่มา - Vice, Decrypt
# กูเกิลกลับมาจริงจังตลาดแท็บเล็ต ดึงผู้ก่อตั้ง Android กลับมาเข้าทีม Android Tablets เว็บไซต์ Computerworld ค้นพบว่ากูเกิลย้าย Rich Miner ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Android Inc. อีกคนกลับเข้ามาทำงานในทีม Android ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 แบบเงียบๆ โดยมีตำแหน่ง "CTO, Android tablets" แสดงให้เห็นแผนของกูเกิลที่จะกลับมา "เอาจริง" กับตลาดแท็บเล็ตอีกครั้ง Rich Miner ร่วมก่อตั้งบริษัท Android กับ Andy Rubin ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่ง Android เมื่อปี 2003 แต่หลังจากขายบริษัทให้กูเกิลในปี 2005 เขาก็ทำงานกับทีม Android จนถึงปี 2010 แล้วย้ายมาอยู่กับทีมลงทุนสตาร์ตอัพ Google Ventures (GV) และย้ายไปดูแลโครงการด้านการศึกษาของกูเกิลในปี 2016 เว็บไซต์ 9to5google ยังไปเจอประกาศรับสมัครงานตำแหน่ง Senior Engineering Manager, Android Tablet App Experience ที่เขียนคำโปรยว่า "เราเชื่อมั่นว่าอนาคตของโลกคอมพิวเตอร์จะหมุนไปทางแท็บเล็ตที่มีพลังสูง ทำงานได้หลายอย่าง" (We believe that the future of computing is shifting towards more powerful and capable tablets.) และระบุว่ากูเกิลกำลังพัฒนาโครงการเกี่ยวกับแท็บเล็ตอยู่ ก่อนหน้านี้ กูเกิลทิ้งตลาดแท็บเล็ต Android ไปนาน และใช้ยุทธศาสตร์ดันแท็บเล็ต Chrome OS ของพาร์ทเนอร์มาทำตลาดแทน แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่ากูเกิลกลับมาสนใจทำตลาดแท็บเล็ต Android อีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากการทำ Android 12L ที่เน้นอุปกรณ์จอใหญ่ ทั้งอุปกรณ์จอพับได้และแท็บเล็ต ต้องรอดูกันว่าเราจะได้เห็นอุปกรณ์อย่าง Pixel Slate กันอีกครั้งหรือไม่ ที่มา - Computerworld, 9to5google
# PyThaiNLP 3.0 ออกแล้ว วันนี้ 30 มกราคม พ.ศ.2565 ทางทีมพัฒนา PyThaiNLP ได้ปล่อยแพ็กเกจประมวลผลภาษาธรรมชาติ PyThaiNLP รุ่น 3.0 หลังจากที่ปล่อย PyThaiNLP 2.3 ไปเมื่อปีก่อน PyThaiNLP 3.0 มีความเปลี่ยนแปลงสรุปได้ดังนี้ เพิ่มโมเดลแปลภาษาจีนกลาง - ภาษาไทย ปรับปรุงพจนานุกรมตัดคำหลักและตัวตัดคำ newmm ปรับปรุงคลาสสำหรับเรียกเครื่องมือแปลภาษา เพิ่มตัวแก้คำผิด เพิ่มเครื่องมือสำหรับสร้างข้อความและ Text Augmentation ภาษาไทย ปรับปรุง API จาก syllable_tokenize ให้เปลี่ยนไปใช้งาน subword_tokenize ปรับปรุง API สำหรับ Word Vector เพิ่ม TLTK เข้ามาเป็นตัวเลือก engine ในทั้งตัดคำ, วิเคราะห์ไวยากรณ์, แก้คำผิด และอื่น ๆ ข้อมูลเปิดเผย: ผู้เขียนเป็นหนึ่งในทีมนักพัฒนา PyThaiNLP ที่มา: PyThaiNLP v3.0.0 Released! - GitHub
# QNAP บังคับอัพเดต QTS 5 หลังพบ ransomware ระบาดหนัก QNAP บังคับอัพเดต QTS 5 ไปยัง NAS จำนวนมาก หลังจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่ DeadBolt โจมตี QNAP ที่เปิดให้เข้าถึงผ่านอินเทอร์เน็ตนับพันเครื่อง โดยตัวแทนของ QNAP ไปตอบคำถามใน Reddit ระบุว่าที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อรับมือมัลแวร์ DeadBolt และทาง QNAP ก็แจ้งเตือนใน Control Panel ล่วงหน้าว่ากำลังเปิดตัวเลือกอัพเดตอัตโนมัติ ปัญหาสำคัญคือ QTS 5 นั้นเป็นอัพเดตใหญ่ข้ามเวอร์ชั่นที่หลายคนพบปัญหาการใช้งานเนืองๆ การทำให้แพตช์ใหญ่เช่นนี้กลายเป็นแพตช์ความปลอดภัยทำให้ผู้ใช้จำนวนมากไม่พอใจ เพราะเมื่อมีปัญหาขึ้นมากลายเป็นว่าระบบใช้งานไม่ได้โดยไม่ต้องถูกมัลแวร์โจมตี หลายคนระบุว่าตัดไม่ให้ NAS เข้าถึงจากอินเทอร์เน็ตได้อยู่แล้ว โอกาสที่จะถูกโจมตีจึงต่ำ ตอนนี้ยังไม่แน่ชัดนักว่ากลุ่ม DeadBolt ใช่ช่องโหว่ใดในการเจาะ NAS ที่เป็นเหยื่อในตอนนี้ และมีผู้ใช้รายหนึ่งยืนยันว่ายังคงถูกมัลแวร์โจมตีอยู่แม้จะอัพเดตเป็น QTS 5 ไปแล้วก็ตาม โดยกลุ่ม DeadBolt เรียกค่าไถ่เหยื่อรายละ 0.03BTC และเสนอค่าไถ่ 5BTC เพื่อเปิดเผยช่องโหว่ หรือ 50BTC สำหรับกุญแจถอดรหัสให้แก่เหยื่อทุกราย ที่มา - Bleeping Computer, ZDNet
# แฟนเพลง Neil Young ดันแคมเปญ #SpotifyDelete ประท้วง, Apple Music บอกอยากฟังมาทางนี้ ความคืบหน้าต่อจาก Neil Young ขอถอนเพลงออกจาก Spotify หลังจากเพลงถูกถอนออกตามคำขอ บรรดาแฟนเพลงของ Neil Young ก็รวมตัวกันดันแคมเปญยกเลิกสมาชิก #SpotifyDeleted บนทวิตเตอร์ และแห่กันไปส่งข้อความบนหน้าเว็บบริการลูกค้าของ Spotify จนบริษัทต้องขึ้นป้ายว่าได้รับข้อความจำนวนมาก จนอาจตอบข้อความช้ากว่าปกติ ในอีกด้าน คู่แข่งรายสำคัญคือ Apple Music ก็โพสต์เชิญชวนว่าถ้าอยากฟังเพลงของ Neil Young ให้มาทางนี้ มีเพลงทั้งหมดให้ฟังกันจุใจ ความเคลื่อนไหวของ Neil Young ยังส่งผลให้ศิลปินดังอีกคนคือ Joni Mitchell ประกาศถอนเพลงออกจาก Spotify เช่นกัน ที่มา - Ars Technica
# IDC และ Counterpoint รายงานตลาดสมาร์ทโฟน ไตรมาส 4/2021 - Apple ครองส่วนแบ่งที่ 1 บริษัทวิจัยตลาด IDC และ Counterpoint Research รายงานภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก ของไตรมาสที่ 4 ปี 2021 มีรายละเอียดดังนี้ เริ่มที่ IDC จำนวนส่งมอบลดลงหากเทียบกับไตรมาส 4/2020 เป็น 362.4 ล้านเครื่อง (-3.2%) ขณะที่ภาพรวมตลอดปี 2021 เพิ่มขึ้น 5.7% เป็น 1.35 พันล้านเครื่อง เนื่องจากยอดขายที่สูงในครึ่งแรกของปี Ryan Reit นักวิเคราะห์ของ IDC บอกว่าปัจจัยหลักที่ตัวเลขครึ่งหลังปี 2021 ลดลง ก็คือปัญหาซัพพลายเชน และประเมินว่าปัญหานี้ยังมีต่อไปอย่างน้อยครึ่งแรกของปีนี้ แต่จะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ด้าน Counterpoint Research ให้ตัวเลขใกล้เคียงกัน โดยไตรมาส 4/2021 ลดลง 6% เป็น 371 ล้านเครื่อง ส่วนภาพรวมตลอดปีอยู่ที่ 1.39 พันล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 4% ซึ่งให้สาเหตุเหมือนกันคือชิ้นส่วนขาดแคลน โดยหากไม่มีปัญหาดังกล่าวตัวเลขก็จะสูง เนื่องจากความต้องการสินค้าไม่ได้ลดลง นอกจากนี้ยังบอกว่าผู้ผลิตรายใหญ่พบปัญหานี้น้อยกว่ารายเล็ก ส่วนแบ่งการตลาดแยกตามแบรนด์ สำหรับไตรมาส 4 ปี 2021 ข้อมูลเหมือนกันคือ แอปเปิล อยู่ที่อันดับ 1 เนื่องจากมีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่วางขายในไตรมาส ส่วนอันดับที่ 2-5 ได้แก่ ซัมซุง Xiaomi OPPO และ vivo ตามลำดับ ที่มา: IDC และ Counterpoint Research
# รีวิว PinePhone Pro มือถือพลังลินุกซ์ (ของจริง) ตัวท็อป: ฮาร์ดแวร์ หลังจาก PINE64 เปิดตัว PinePhone Pro ไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยขายให้กับนักพัฒนาลินุกซ์เท่านั้น ล่าสุดเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ทาง PINE64 เปิดขาย PinePhone Pro รุ่น Explorer Edition สำหรับบุคคลผู้สนใจ ซึ่งผมได้สั่งมา 1 เครื่อง ราคา 399 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 13,328 บาทX และได้ลองเล่นมา 2 วัน จึงถือโอกาสมาเขียนรีวิวให้กับชุมชนชาว Blognone โดยผมจะรีวิวเฉพาะฝั่งฮาร์ดแวร์อย่าง PinePhone Pro อย่างเดียว เพราะซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ยังไม่สมบูรณ์อีกมาก สเปค CPU: Rockchip RK3399S 64bit SoC – 2x A72 and 4x A53 CPU cores @ 1.5GHz GPU: ARM Mali T860 4x core GPU @ 500MHz RAM: 4GB LPDDR4 @ 800MHz กล้องหลัง 13 MP Sony IMX258 และกล้องหน้า 5MP OmniVision OV5640 พื้นที่ 128GB eMMC ใส่ micro SD card ได้ รองรับ LTE-FDD: B1/ B2/ B3/ B4/ B5/ B7/ B8/ B12/ B13/ B18/ B19/ B20/ B25/ B26/ B28, LTE-TDD: B38/ B39/ B40/ B41, WCDMA: B1/ B2/ B4/ B5/ B6/ B8/ B19 และ GSM: 850/900/1800/1900MHz (ไม่รองรับ 5G) Wi-Fi 802.11AC, Bluetooth: 5.0 และ GPS กล่องถูกจัดส่งโดย DHL ใช้เวลามาถึงไทยประมาณ 3-4 วัน แกะออกมาจะเจอกล่อง PinePhone Pro ดังรูปนี้ เปิดกล่องออกมาจะพบกับ PinePhone Pro พร้อมสายชาร์จ USB-A-to-USB-C, ฟิลม์, คู่มือเบื้องต้น และถาดแปลงขนาดซิม การรับประกัน ตัว PinePhone Pro รับประกันเพียง 30 วัน PinePhone Pro มาพร้อมกับรูหูฟัง 3.5 และถอดฝาหลัง เปลี่ยนแบตได้ด้วย แถมมาพร้อมกับสวิตซ์เปิดปิด การทำงานวงจรต่าง ๆ เพื่อความเป็นส่วนตัวได้ เช่น ไวไฟ กล้อง เป็นต้น รองรับ SIM ขนาดปกติกับ Micro SD Card และ Pin สำหรับใช้พัฒนาส่วนเสริมต่าง ๆ สำหรับสวิตซ์เปิดปิดการทำงานวงจร สามารถเอาไม้จิ้มฟันมาจิ้มปุ่มเพื่อเปิดปิดวงจรต่าง ๆ ตามเบอร์ที่ต้องการ โดยเป็นการตัดวงจรการทำงานระดับฮาร์ดแวร์เลย สำหรับฝาหลัง ทาง PINE64 แจกโมเดล 3D ให้นำไปปรับแต่งเองได้ นอกจากนั้นฝาหลังยังสามารถพัฒนาโมดูลต่าง ๆ ให้ใช้งานร่วมกับ PinePhone Pro ด้วย Pin ที่มาพร้อมกับตัวเครื่อง ทำให้มีฝาหลังออกมาให้เลือกเพิ่มเติมอีกด้วย และรวมถึงเคสแป้นพิมพ์ ซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมกับตัวเครื่องหลังจากเปิดเครื่อง คือ Manjaro Arm พร้อมกับ Plasma Mobile รุ่น pre-Beta (ซอฟต์แวร์ทุกอย่างเป็น pre-Beta!!!) เปิดเครื่องมาจะเจอหน้าจอ Installer ตั้งค่าแป๊ปเดียว จะพบกับหน้า Home ของ Plasma Mobile นอกจากนั้น PinePhone Pro ยังรองรับ Convergence แปลงมือถือเป็น PC ลินุกซ์แบบพกพาได้ โดยใช้ USB-C dock เสียบต่อ HDMI ได้เลย สำหรับซอฟต์แวร์ Manjaro Arm ที่มาพร้อมกับเครื่อง จากที่ผมลองใช้ยังคงมีปัญหาหลายอย่าง ซึ่งต้องรอกระบวนการพัฒนาต่อไป และลินุกซ์มือถือหลาย ๆ ตัวกำลังพัฒนาให้รองรับ PinePhone Pro กันอยู่ เช่น Mobian (fork จาก Debain สำหรับมือถือ), Arch Linux, postmarketOS (fork จาก Alpine Linux) และอื่น ๆ สามารถดูได้ที่ PinePhone Pro Software Releases น่าเสียดายที่ผมยังไม่สามารถทดสอบภาพจากกล้องได้เลย เนื่องจากตอนนี้ซอฟต์แวร์ Megapixeis ยังไม่สมบูรณ์จึงไม่สามารถถ่ายภาพมารีวิวได้ นอกจากนั้นผมยังเจอปัญหาแบตไม่ชาร์จ เนื่องจากปัญหาซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมกับโรงงาน ดังนั้นผู้ที่สั่ง PinePhone Pro ควรรีบอัปเดตซอฟต์แวร์ทันทีที่ได้รับเครื่อง สรุป PinePhone Pro รุ่น Explorer Edition เป็นมือถือที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่สนใจในลินุกซ์ อาจจะเป็นความฝันของสายลินุกซ์หลาย ๆ คน ส่วนตัวผมคิดว่าไม่เหมาะกับมือใหม่ เนื่องจากซอฟต์แวร์ยังคงมีปัญหา ต้องใช้ทักษะหลายอย่างในการแก้ไขปัญหาที่พบ รวมถึงต้องใช้เวลาสำหรับมือใหม่ (ควรรู้ลินุกซ์มาก่อน) ข้อดี ปรับแต่งได้อิสระทั้งตัว OS และตัวเครื่อง สามารถเปิดปิดการทำงานวงจรที่ต้องการ เพื่อความเป็นส่วนตัวได้ มี Pin สำหรับใช้พัฒนาโมดูลมือถือที่ฝาหลังเพิ่มเติมได้ Open Source มีการส่ง patch กลับไป Linux mainline รวมถึงเปิดเผยแผนผังเมนบอร์ดอีกด้วย ทำให้รองรับ Linux mainline ข้อเสีย แรม 4GB และไม่รองรับ 5G ซอฟต์แวร์ยังไม่สมบูรณ์ รับประกันตัวเครื่องเพียง 30 วัน
# ผู้บริหาร Ubisoft บอกว่าเกมเมอร์ยังไม่เข้าใจประโยชน์ของ NFT เลยต่อต้าน ต่อจากข่าว Ubisoft เริ่มทำไอเทม NFT ขายในเกม Ghost Recon: Breakpoint และโดนแฟนๆ ถล่มไปตามความคาดหมาย อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของ Ubisoft ยังไม่ยอมแพ้ และล่าสุดออกมาวิจารณ์เกมเมอร์ว่าไม่เข้าใจประโยชน์ของ NFT ผู้บริหารของ Ubisoft สองรายคือ Nicolas Pouard (VP Strategic Innovations Lab) และ Didier Genevois (Blockchain Technical Director) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ NFT โดยตรง ให้สัมภาษณ์กับเว็บ Finder ของออสเตรเลีย บอกว่าเสียงวิจารณ์ในทางลบเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ตั้งแต่แรก เพราะแนวคิด NFT เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก แต่บริษัทจะค่อยๆ ออกฟีเจอร์ใหม่มาเรื่อยๆ ให้แพลตฟอร์ม NFT สมบูรณ์ขึ้น แล้วแฟนเกมจะเริ่มเห็นภาพเอง ทีมพัฒนายังมั่นใจว่าเดินไปในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว Nicolas Pouard บอกว่าเกมเมอร์ยังไม่เข้าใจประโยชน์ของการนำไอเทม NFT ไปขายต่อในตลาดแลกเปลี่ยน (I think gamers don't get what a digital secondary market can bring to them) ปัจจุบันเกมเมอร์เข้าใจว่า NFT ทำลายสิ่งแวดล้อมและเป็นการปั่นราคาเก็งกำไร แต่ในทางตรงข้าม Ubisoft มองว่า NFT จะช่วยให้เกมเมอร์ขายต่อไอเทมในเกมได้หากเล่นเกมจบหรือเลิกเล่นเกมนั้นแล้ว ประโยชน์เกิดขึ้นกับเกมเมอร์ทั้งนั้น แต่เกมเมอร์ยังไม่เข้าใจ (So, it's really, for them. It's really beneficial. But they don't get it for now.) ก่อนหน้านี้ ซีอีโอของ Ubisoft เองก็พูดในงานภายในบริษัทว่า แผนการ NFT ของบริษัทมีอีกหลายอย่าง และนี่เพิ่งแค่เริ่มต้นเท่านั้น ที่มา - Finder via Kotaku
# มาอีกราย นักร้องหญิง Joni Mitchell ขอถอนเพลงจาก Spotify ตามรอย Neil Young จากข่าว ศิลปิน Neil Young ขอถอดเพลงออกจาก Spotify เพราะไม่พอใจพ็อดแคสต์ Joe Rogan แพร่ข่าวปลอมวัคซีน สุดท้าย Spotify ก็ถอดเพลงของ Neil Young ออกสมความตั้งใจของศิลปิน แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เพราะการจุดกระแสของ Neil Young ทำให้เพื่อนศิลปินคนอื่นๆ ออกมาเรียกร้องตาม คือ Joni Mitchell นักร้องหญิงชาวแคนาดา ออกมาประกาศผ่านเว็บไซต์ของตัวเองว่าเธอยืนอยู่เคียงข้าง Neil Young เพราะรับไม่ได้ที่ Spotify เผยแพร่ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 และขอถอดเพลงทั้งหมดของตัวเองออกจาก Spotify ด้วยเช่นกัน ที่มา - Joni Mitchell, Variety ภาพ Joni Mitchell เมื่อปี 1976 จาก @JoniMitchell
# หัวหน้าทีม WhatsApp พูดถึงแอปบน iPad ว่าอยากทำออกมาเหมือนกัน Will Cathcart หัวหน้าทีม WhatsApp ให้สัมภาษณ์กับ The Verge เกี่ยวกับแผนการตลาดในอเมริกา โดยตอนหนึ่งพูดถึงการทำแอปเวอร์ชันบน iPad ว่าอยากทำออกมาเหมือนกัน และเป็นสิ่งที่คนถามหามานานแล้ว ปัจจุบันแอปหลักในเครือ Meta ทั้ง Instagram และ WhatsApp ต่างไม่มีแอปเวอร์ชันบน iPad โดยเฉพาะ และผู้ใช้งานก็ถามหามาโดยตลอด อย่างไรก็ตามแม้ Cathcart จะบอกว่าอยากทำแอปออกมา แต่ก็ไม่ได้พูดถึงไทม์ไลน์ว่าจะออกมาได้ช่วงไหน แต่เขาบอกว่าแนวคิดตอนนี้คือการทำให้ WhatsApp เข้าถึงได้ในทุกอุปกรณ์ ซึ่งตอนนี้มีบนเดสก์ท็อปแล้ว ปัญหาสำคัญคือการส่งข้อความแบบเข้ารหัส ทำให้ WhatsApp ต้องตรวจสอบการยืนยันผ่านแอปในโทรศัพท์ทุกครั้ง จึงทำให้ยังไม่เห็นแชตที่สามารถเข้าถึงได้แบบข้ามอุปกรณ์จริง ๆ ซึ่งตอนนี้ WhatsApp ได้ทดสอบกับเวอร์ชันเดสก์ท็อปที่ไม่ต้องยืนยันด้วยแอปในโทรศัพท์ แต่ก็ใช้งานได้นานสูงสุด 14 วันเท่านั้น
# ไมโครซอฟท์ยอมปรับ Xbox Live Gold ให้ยกเลิกสมาชิกง่ายขึ้น ขอคืนเงินง่ายขึ้น เมื่อปี 2019 Competition and Markets Authority (CMA) หน่วยงานด้านการแข่งขันของสหราชอาณาจักร เข้ามาสอบสวนเรื่องบริการออนไลน์ของเกมคอนโซล (PlayStation Plus, Xbox Live Gold, Nintendo Switch Online) ว่ามีความเป็นธรรมแค่ไหน การยกเลิกสมาชิกและการคืนเงินทำได้ง่ายหรือไม่ การต่ออายุสมาชิกอัตโนมัติ (auto-renewal) ถูกสื่อสารชัดเจนแค่ไหน เวลาผ่านมาเกือบ 2 ปี CMA ประกาศว่าเจรจากับไมโครซอฟท์สำเร็จหนึ่งราย โดยไมโครซอฟท์ยินยอมปรับเงื่อนไขของ Xbox Live Gold และ Xbox Game Pass ให้เป็นมิตรกับลูกค้ามากขึ้น ดังนี้ ไมโครซอฟท์จะสื่อสารให้ชัดเจนขึ้นว่า บริการจะต่ออายุอัตโนมัติเป็นค่าดีฟอลต์, จะต่ออายุเมื่อไร และราคาเท่าไร ไมโครซอฟท์จะแจ้งไปยังลูกค้าเดิมที่อยู่ใต้สัญญาต่ออายุทุก 12 เดือน ว่ามีสิทธิยกเลิกบริการได้ และขอเงินคืนได้ ไมโครซอฟท์จะแจ้งไปยังลูกค้าที่ยังจ่ายเงินอยู่แต่ไม่ได้เข้ามาใช้งานสักพักใหญ่ๆ ให้หยุดจ่ายเงิน หากลูกค้ายังไม่สนใจ ไมโครซอฟท์จะหยุดการเป็นสมาชิกให้เอง หากมีการขึ้นราคาในอนาคต จะแจ้งเตือนให้ชัดเจนกว่าเดิม และสอนวิธีปิดการต่ออายุอัตโนมัติ ที่มา - CMA
# แอปเปิลหยุดซัพพอร์ต Python 2.7 ถอดออกจาก macOS Monterey 12.3 Beta ใน macOS Monterey 12.3 Beta มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์คือ แอปเปิลประกาศถอด Python 2.7 ออกแล้ว นักพัฒนาจำเป็นต้องย้ายมาใช้ Python 3.x แทน Python 2.7 ออกเวอร์ชันสุดท้ายในปี 2020 หลังจากนั้น ระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์หลายตัว ก็ทยอยหยุดซัพพอร์ต Python 2.7 กันไป เวอร์ชันปัจจุบันของ Python คือ 3.10 และกำลังเริ่มทดสอบ 3.11 Alpha ที่มา - Apple
# รายงานธนาคารล่มประจำปี 2021 ออกแล้ว ธนาคารกรุงเทพล่มน้อยลงมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยออกรายงานข้อมูลสถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องกระทบต่อการให้บริการสำคัญของธนาคารพาณิชย์ ประจำไตรมาส 4 ปี 2021 ทำให้มีข้อมูลครบทั้งปี ความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ ธนาคารกรุงเทพมีปัญหาในช่องทางโทรศัพท์มือถือลดลงอย่างมาก จากปี 2020 สูงกว่า 40 ชั่วโมง เหลือ 9 ชั่วโมงในปี 2021 แต่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารทหารไทยธนชาตนั้นกลับมีอัตราการล่มเพิ่มขึ้นมาก หากมองเฉพาะไตรมาสที่ 4 จะะบว่าธนาคารหลักๆ ยังมีปัญหายาวหลายชั่วโมงกันหลายครั้ง เช่น ธนาคารกรุงเทพรายงานปัญหาทั้งโทรศัพท์มือถือและเว็บมีปัญหานาน 6 ชั่วโมง ธนาคารกสิกรไทยรายงานช่องทางอินเทอร์เน็ตมีปัญหา 9 ชั่วโมง ตัวเลขของรายงานนี้น่าจะทำให้เห็นแนวโน้มได้บ้างเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตามตระหนักว่าตัวเลขรายงานนี้มีข้อจำกัดเป็นอย่างมาก จากกฎการรายงานตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยเองที่ค่อนข้างแปลกประหลาด และธนาคารแห่งประเทศไทยเคยแก้รายงานแม้เผยแพร่ไปแล้วโดยไม่ได้ชี้แจง หรือปี 2021 เองธนาคารกรุงเทพรายงานตัวเลขไตรมาส 3 ว่าธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือมีปัญหา 3 ครั้งรวม 1 ชั่วโมง แม้ระบบมีปัญหาหลายชั่วโมงหลังปรับปรุงระบบเมื่อเดือนกันยายน ที่มา - 1213.or.th กราฟสรุปตัวระยะเวลาระบบขัดข้องของธนาคารไทยช่องทาง Mobile Banking ปี 2020 เทียบกับปี 2021 (เฉพาะธนาคารที่มีเกิน 500 สาขา หากรายงานระบุว่าน้อยกว่า 1 ชั่วโมงนับเป็น 1 ชั่วโมง)
# Qubit Finance ถูกแฮกโทเค็นมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์ เปิดทางเจรจากับแฮกเกอร์ Qubit Finance แพลตฟอร์ม Defi ข้ามเชน (Ethereum-Binance) ถูกแฮกดึงโทเค็นออกไปรวมมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้ทาง Qubit Finance พยายามเปิดทางเจรจากับผู้แฮก โดยเสนอรางวัลรายงานช่องโหว่สูงสุด 250,000 ดอลลาร์ หรือหากแฮกเกอร์ต้องการมากกว่านี้ก็พร้อมเจรจา แฮกเกอร์อาศัยช่องโหว่ของฟังก์ชั่น deposit ใน smart contract ที่ตรวจสอบเงื่อนไขไม่ครบถ้วน ทำให้แฮกเกอร์สามารถโอน Qubit xETH จาก Null เข้าตัวเองได้ไม่จำกัด ทาง Qubit Finance ระบุว่าฟังก์ชั่น deposit ควรถูกแทนด้วย depositETH ไปแล้ว แต่ใน smart contract ก็ยังมีฟังก์ชั่นนี้อยู่ หากไม่สามารถเจรจาได้ กรณีนี้จะเป็นการแฮกแพลตฟอร์ม DeFi อันดับ 7 ที่เคยมีการบันทึกไว้ Qubit มีคำขวัญแพลตฟอร์มว่า "ให้ยืมเพื่อความสำเร็จ ยืมเพื่อวันพรุ่งนี้" (Lend to Ascend - Borrow for Tomorrow) ที่มา - The Record
# Apple เริ่มทดสอบ Universal Control แล้ว ใน iPadOS 15.4 และ macOS Monterey 12.3 เบต้า Universal Control ฟีเจอร์ในการควบคุมอุปกรณ์ข้ามเครื่อง ระหว่าง Mac กับ iPad ซึ่งถือเป็นฟีเจอร์ขายของ iPadOS 15 และ macOS Monterey ในช่วงเปิดตัว แต่ฟีเจอร์นี้ก็เลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่ง ล่าสุดในอัพเดต iPadOS 15.4 และ macOS Monterey 12.3 เบต้า ซึ่งสถานะยังเป็นเวอร์ชันทดสอบสำหรับนักพัฒนา ที่เพิ่งมาออกมาเมื่อคืนนี้ แอปเปิลได้ระบุว่าคุณสมบัติ Universal Control มีให้ใช้งานแล้ว การเปิดใช้งาน Universal Control นั้น ผู้ใช้ต้องเปิดการใช้งานในส่วน Handoff และอุปกรณ์ทั้งหมดต้องลงชื่อใช้งาน iCloud บัญชีเดียวกัน ที่มา: MacRumors
# สรรพากรยอมให้นำยอดขาดทุน หักกลบกำไรจากคริปโตได้ แต่เฉพาะ Exchange ใต้ ก.ล.ต. สรรพากรชี้แจงแนวทางปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีคริปโตเพิ่มเติม จากที่ระบุก่อนหน้านี้ หลังรับฟังแนวคิดจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีแนวทางสามสิ่งหลักที่เตรียมปรับปรุง คือ “ทำให้ชัด ผ่อนปรน มองอนาคต” สรุปคร่าวๆ แต่ละหัวข้อได้ดังนี้ ทำให้ชัด เป็นหัวข้อชี้แจงให้ชัดเจนเกี่ยวกับการคำนวณเงินได้ต่างๆ เตรียมจัดประเภทเงินได้ให้ชัดเจน ระบุประเภทเงินได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกำไร/รายได้จากการโอน/ผลประโยชน์อื่นจากสินทรัพย์ดิจิทัล วิธีคำนวณต้นทุนจะใช้สองวิธีคือ First In First Out (FIFO) และถัวเฉลี่ย (Moving Average) โดยอาจเปลี่ยนวิธีได้ในปีถัดไป การวัดมูลค่าสินทรัยพ์ดิจิทัล จะวัด ณ เวลาที่ได้มา หรือวัดเป็นราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ส่วนรายละเอียดอื่นๆ จะมีคู่มือการชำระภาษีของผู้มีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาเผยแพร่เพิ่มเติมภายในวันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565 ผ่อนปรน การดำเนินการผ่อนปรนต่างๆ จากสรรพากรที่สามารถทำได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน เตรียมออกกฎกระทรวงให้นำกำไรมาหักกลบขาดทุนได้ในปีเดียวกัน แต่จะเข้าเงื่อนไขเฉพาะ Exchange ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ ก.ล.ต. เท่านั้น เรื่องภาษี หัก ณ ที่จ่าย เพราะธุรกรรมที่ทำผ่าน Exchange ไม่สามารถระบุตัวผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายได้ จึงทำให้ไม่ครบองค์ประกอบภาษี และไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ภาษี VAT สรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่ทำผ่าน Exchange ที่อยู่ใต้การควบคุมของ ก.ล.ต. มองอนาคต กรมสรรพากรจะหารือกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เชิงนโยบายในอนาคต ในการแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม เช่นการแก้ประมวลเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย และการเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction Tax) สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ โดยจะดูความเหมาะสมและบริบทอีกครั้ง หลักๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ดูจะทำให้ Exchange ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ ก.ล.ต. ในประเทศไทยกลับมาน่าดึงดูดอีกครั้ง เพราะเป็นการใช้งาน Exchange ที่ถูกกฎหมาย ไม่ต้องระแวงตอนโอนเงินจาก Exchange นอกกลับเข้ามาในประเทศ และสามารถหักกลบกำไรขาดทุนได้ ได้รับการยกเว้น VAT และยังไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในช่วงนี้ ที่มา - กรมสรรพากร
# เปิดราคาไทย Huawei P50 Pro ที่ 33,990 บาท P50 Pocket รุ่นพับได้ เริ่ม 46,990 บาท Huawei เปิดราคาไทย Huawei P50 Pro ที่ Blognone เคยรีวิวไป เรียบร้อยแล้ว มาพร้อมราคาของรุ่น P50 Pocket หรือรุ่นหน้าจอพับได้ ทั้งสองรุ่นเริ่มสั่งจองได้วันที่ 28 มกราคม ถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ในราคาดังนี้ Huawei P50 Pro ราคา 33,990 บาท มีสีทอง Cocoa Gold และสีดำทอง Golden Black Huawei P50 Pocket รุ่นแรม 8GB ความจุ 256GB สีขาว ราคา 46,990 บาท Huawei P50 Pocket Premium Edition รุ่นแรม 12GB ความจุ 512GB สีทอง ราคา 57,990 บาท สามารถสั่งจองและอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Huawei ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์
# Epic Games Store เผยสถิติปี 2021 ผู้ใช้รวมเพิ่มเป็น 194 ล้านคน แต่ผู้ใช้ต่อวันเท่าเดิม Epic Games ประกาศสถิติของ Epic Games Store ตลอดปี 2021 มีผู้ใช้งาน 194 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 160 ล้านคนในปี 2020 สถิติผู้ใช้ต่อวัน 31.1 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจาก 31.1 ล้านคนในปี 2020, ผู้ใช้งานพร้อมกัน (peak users) ที่ 13.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 13 ล้านคนในปี 2020, ผู้ใช้ต่อเดือน นับเดือนธันวาคม 2021 ที่ 62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11% จากเดือนธันวาคม 2020 ในแง่จำนวนเกม Epic Games Store มีเกมวางขาย 917 เกม เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2020, รายได้จากการขายเกม 840 ล้านดอลลาร์ เติบโต 20%, ถ้านับเฉพาะเกมจากบริษัทอื่น รายได้เกือบ 300 ล้านดอลลาร์ เติบโต 12% หรือคิดเป็นสัดส่วน 36% ของยอดขายเกมทั้งหมด เกมทำรายได้สูงสุดประจำปี 2021 มีทั้งเกมดังๆ อย่าง Final Fantasy VII Remake, Far Cry 6, Hitman 3, GTA V และเกมฟรีอย่าง Fortnite, Rocket League, Genshin Impact ที่หาจากได้จากการขายไอเทมในเกม สถิติการแจกเกมฟรี ปี 2021 แจกไปทั้งหมด 89 เกม มูลค่ารวม 2,120 ดอลลาร์ (ลดลงจากปี 2020 แจก 103 เกม มูลค่ารวม 2,407 ดอลลาร์) มีการกดรับสิทธิ 765 ล้านครั้ง (ปี 2020 คือ 749 ล้านครั้ง) เทศกาลลดราคาเกมช่วงปลายปี มีลูกค้า 31 ล้านคนซื้อ 159 ล้านรายการ เติบโตขึ้น 14% จากเทศกาลลดราคาของปี 2020 Epic Games ระบุว่าจะยังแจกเกมฟรีทุกสัปดาห์ต่อไปในปี 2022 และจะเพิ่มฟีเจอร์อีกหลายอย่าง เช่น Epic Achievements, Profiles, Library & Download Management ที่มา - Epic Games
# นักวิจัยมหาวิทยาลัย John Hopkins ใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดหมูสำเร็จ ได้ผลดีกว่ามนุษย์ผ่าเอง มหาวิทยาลัย John Hopkins ประสบความสำเร็จในการใช้หุ่นยนต์ ผ่าตัดต่อลำไส้หมูสำเร็จ 4 ตัว โดยไม่มีมนุษย์ช่วย และระบุว่าผลของการผ่าตัดออกมาดีกว่าการใช้มนุษย์เป็นผู้ผ่า และเป็นก้าวสำคัญในการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดมนุษย์ในอนาคต หุ่น Smart Tissue Autonomous Robot หรือ STAR หุ่นยนต์ผ่าตัดที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัย John Hopkins ทำการต่อลำไส้หมูสำเร็จ ในการผ่าตัด anastomosis ที่มีความซับซ้อนกว่าการผ่าตัดแบบอื่น เพราะอาจมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และหุ่นยนต์ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือ STAR มีกล้องเอนโดสโคปแบบพิเศษ และทำการผ่าตัดโดยใช้อัลกอริทึมที่อิงจากระบบ machine learning ที่พัฒนาโดยศาสตรจารย์ Jin Kang แห่ง ม. John Hopkins และนักศึกษา และเป็นหุ่นผ่าตัดตัวแรกที่สามารถ วางแผน ปรับแผน และทำการผ่าตัดได้ โดยแทบจะไม่ต้องใช้มนุษย์ช่วย ภาพจากมหาวิทยาลัย John Hopkins นอกจากศาสตราจารย์ Jin Kang แล้ว ในทีมค้นคว้าของ ม. John Hopkins ยังประกอบไปด้วย Justin D. Opfermann, Michael Kam, Shuwen Wei และ Simon Leonard รวมไปถึง Michael H. Hsieh แห่งโรงพยาบาลเด็กแห่งชาติของสหรัฐฯ ถือได้ว่าเป็นการร่วมมือกันของผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง และแม้จะต้องพัฒนาอีกมากก่อนทำการผ่าตัดในมนุษย์ แต่ก็ถือได้ว่าก็เป็นเสี้ยวหนึ่งของอนาคตที่ใกล้เป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ วิดีโอจาก CNET ได้รับการสนับสนุนโดยมหาวิทยาลัย John Hopkins ที่มา - Science Robotics via CNET
# กูเกิลยอมถอยเล็กน้อย จะเปิดให้ผู้ใช้ G Suite Free ย้ายข้อมูลไปบัญชีแบบฟรีได้ด้วย จากกรณี กูเกิลเลิกให้บริการ G Suite ฟรีที่เปิดให้สมัครก่อนปี 2012 และบังคับให้ย้ายมาใช้ Google Workspace แบบจ่ายเงิน ทางเลือกของผู้ใช้มีแค่ 2 ทางคือ ยอมจ่ายเงินเพื่อใช้ต่อ (โอนทุกอย่างไปบัญชี Google Workspace แบบเสียเงินได้ทันที) กับใช้งานอะไรไม่ได้เลยเมื่อถึงเส้นตาย 1 กรกฏาคม 2022 นั่นแปลว่าข้อมูลเก่าของบัญชี G Suite ไม่ว่าจะเป็นอีเมล ไฟล์เอกสาร หรือแม้แต่แอพ-หนัง-เกมบน Google Play ที่เคยซื้อไว้ด้วยบัญชี G Suite จะหายไปทั้งหมด (ต้องดูดข้อมูลเก่าออกมาทาง Google Takeout เท่านั้น ซึ่งก็นำมาใช้ต่อได้แค่บางอย่าง) ล่าสุดกูเกิลปรับท่าทีเล็กน้อย โดยเพิ่มทางเลือกที่สามให้ด้วยคือ สามารถย้ายข้อมูลจากบัญชี G Suite เดิมไปยังบัญชีส่วนตัวแบบฟรีได้ การย้ายมาจะสูญเสียฟีเจอร์แบบเสียเงิน เช่น อีเมลตามชื่อโดเมน หรือ การจัดการบัญชีในโดเมน แต่อย่างน้อยข้อมูลก็ไม่หาย และไม่ต้องย้ายออกมาด้วยวิธี Google Takeout ที่ยุ่งยากพอสมควร กูเกิลยังไม่ประกาศรายละเอียดของทางเลือกที่สามนี้ บอกว่าจะเปิดให้ใช้งานก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2022 แน่นอน ที่มา - Google Support, Ars Technica
# Messenger รองรับการเข้ารหัสข้อความในแชทกลุ่ม, เพิ่มการแจ้งเตือนเวลามีคนแคปจอ Meta ประกาศรองรับการเข้ารหัสแบบ end-to-end (e2e) ในแชทและโทรแบบกลุ่ม (group chats, voice calls, video calls) ตามที่เคยทดสอบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ Messenger ยังเพิ่มฟีเจอร์แจ้งเตือนหากอีกฝ่ายจับภาพหน้าจอ ในการแชทแบบเข้ารหัส end-to-end ด้วย ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่มีอยู่แล้วในแอพแชทหลายๆ ตัวที่เน้นความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว การแชทแบบเข้ารหัสยังได้ฟีเจอร์อย่างการส่ง GIF, stickers, reactions และการแจ้งเตือนว่าอีกฝ่ายกำลังพิมพ์อยู่ (typing indicator) เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนการแชทตามปกติด้วย ที่มา - Meta
# Android Automotive เปิดรับแอพหมวดนำทาง, จอดรถ, ชาร์จไฟ จากนักพัฒนาภายนอก กูเกิลมีระบบปฏิบัติการ Android Automotive OS (AAOS) สำหรับหน้าจอแสดงข้อมูลในรถยนต์มาได้สักพักใหญ่ๆ (เป็นคนละอย่างกับ Android Auto ที่ประมวลผลในมือถือแล้วยิงภาพขึ้นจอรถยนต์) เดิมที Android Automotive รองรับเฉพาะแอพบางประเภท เช่น ฟังเพลง แชท ล่าสุดกูเกิลประกาศเปิดแพลตฟอร์ม Automotive รองรับแอพประเภทใหม่ๆ คือ นำทาง, จอดรถ และชาร์จไฟรถ ตัวอย่างแอพกลุ่มนี้ที่เปิดให้บริการแล้วคือ Sygic, Flitmeister (นำทาง), Spothero, Parkwhiz (จอดรถ) และ ChargePoint, PlugShare (ชาร์จไฟ) นักพัฒนารายอื่นที่สนใจต้องใช้ Car App Library เวอร์ชันใหม่ 1.2 Beta กูเกิลยังประกาศว่าแอพหมวดอื่นที่จะเพิ่มมาในอนาคตคือ แอพกลุ่มเรียกรถ (ride hailing) อย่าง Lyft ที่ใช้ได้กับ Android Auto แล้ว และแอพกลุ่มแนะนำสถานที่ (points of interest) ที่ระบุชื่อแล้วคือ MochiMochi, Fuelio, Prezzi Benzina, NAVITIME JAPAN ที่มา - Android Developers
# แว่น Oculus Quest 2 เปลี่ยนชื่อมาเป็น Meta Quest แล้ว, เลิกใช้แบรนด์ Oculus Meta ประกาศเลิกใช้แบรนด์ Oculus ตามที่เคยแถลงไว้ตอนเปลี่ยนชื่อบริษัท โดยแว่น Oculus Quest 2 ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Meta Quest (ไม่มีเลข 2) และบัญชีทวิตเตอร์ของ @Oculus ก็เปลี่ยนมาใช้ @MetaQuestVR แทน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โดเมนเนม oculus.com ยังถูกใช้งาน และหน้าเว็บยังใช้ชื่อ Oculus Quest 2 อยู่ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถูกวิจารณ์จากผู้ใช้ Oculus จำนวนมาก จนทาง Meta ต้องออกมายอมรับว่าได้ฟังเสียงวิจารณ์แล้ว การเปลี่ยนชื่อเป็นสิ่งที่ยากเพราะคนผูกพันกับแบรนด์เดิม ที่มา - Tom's Guide
# iOS 15.4 เบต้า ทดสอบฟีเจอร์ปลดล็อกจอขณะใส่มาสก์ โดยไม่ต้องมี Apple Watch หลังจากแอปเปิลออก iOS 15.3 สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ก็มี iOS 15.4 เบต้า รุ่นทดสอบสำหรับนักพัฒนาออกตามมา โดยมีผู้พบฟีเจอร์น่าสนใจในอัพเดตนี้ ที่ทำให้ใช้งานตัวปลดล็อกหน้าจอ Face ID ได้ ขณะสวมใส่มาสก์ แต่ไม่ต้องมี Apple Watch ช่วย แอปเปิลอธิบายตัวเลือกการทำงานของ Face ID ใหม่นี้ว่า เป็นการจดจำตำแหน่งที่สำคัญรอบดวงตาเพื่อใช้ยืนยันตัวบุคคล ผู้ใช้ต้องเลือกเปิดคุณสมบัตินี้เพิ่มเติมเอง (opt-in) จากนั้นต้องสแกนใบหน้าใหม่อีกครั้ง ซึ่งจากตรงนี้จะทำให้สามารถปลดล็อกจอแม้ใส่มาสก์ ตัวเลือกสำหรับการปลดล็อกแบบใหม่นี้มีทั้งเงื่อนไข ปลดล็อกขณะใส่มาสก์ ไปจนถึงขณะใส่ทั้งมาสก์และแว่นตาพร้อมกัน MacRumors พบว่าฟีเจอร์นี้สามารถใช้งานได้กับ iPhone 12 และ iPhone 13 เท่านั้นในตอนนี้ ที่มา: MacRumors