txt
stringlengths
202
53.1k
# อัยการแคลิฟอร์เนียร์ตั้งข้อหาผู้ขับ Tesla ฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา หลัง Autopilot ฝ่าไฟแดงจนรถชน อัยการแคลิฟอร์เนียร์ตั้งข้อหากับ Kevin George Aziz Riad ผู้ขับรถ Tesla Model S ฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา (manslaughter) หลังรถที่ Riad ขับนั้นฝ่าไฟแดงไปชนรถคันอื่นจนมีผู้เสียชีวิตสองรายเมื่อปี 2019 โดยขณะที่ Tesla Model S พุ่งชนนั้น Riad เปิดระบบ Autopilot เอาไว้ เหตุการณ์คนขับปล่อยให้ Autopilot ควบคุมรถจนเกิดอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นเนืองๆ แต่หลายครั้งคนขับที่ใช้ Autopilot เป็นผู้เสียชีวิตเอง เช่น เมื่อปี 2016, 2019 หรือบางครั้งก็เป็นอุบัติเหตุที่ไม่ถึงชีวิต โดย Tesla ยืนยันว่า Autopilot ปลอดภัยกว่าการขับขี่ที่ไม่มีระบบช่วยเหลือ ขณะที่หลายฝ่ายระบุว่าการใช้ชื่อ Autopilot นั้นสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนขับว่าไม่ต้องสนใจรถ ทุกวันนี้ระบบ Autopilot นั้นยังอยู่นับเป็นระบบอัตโนมัติระดับ 2 ที่คนขับต้องพร้อมควบคุมรถตลอดเวลา เหตุการณ์ผู้ควบคุมรถขณะใช้ระบบอัตโนมัติจนเกิดอุบัติเหตุ และกลายเป็นคดีแก่คนขับนั้นเคยเกิดมาก่อนแล้ว คือ เหตุการณ์รถอัตโนมัติของ Uber ชนคนเดินเท้าจนเสียชีวิต แต่ระบบ Autopilot ของ Tesla นั้นมีการใช้งานเป็นวงกว้างกว่ามาก ที่มา - The Guardian
# Arm เปิดตัวบอร์ด Morello ซีพียูรุ่นพิเศษแก้ช่องโหว่หน่วยความจำ แม้ซอฟต์แวร์เป็นภาษา C/C++ Arm เปิดตัวบอร์ดพัฒนา Arm Morello ซีพียูรุ่นพิเศษที่เพิ่มชุดคำสั่ง CHERI สำหรับการป้องกันช่องโหว่หน่วยความจำที่ระดับฮาร์ดแวร์ แม้ซอฟต์แวร์จะมีช่องโหว่แต่แฮกเกอร์ก็เข้าอ่านข้อมูลได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้ความเสียหายต่ำกว่าทุกวันนี้มาก ช่องโหว่หน่วยความจำเป็นช่องโหว่ใหญ่ของวงการคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ที่ใช้หน่วยความจำผิดพลาดรูปแบบต่างๆ เช่น stack-overflow, heap-overflow, use-after-free เปิดทางให้แฮกเกอร์เข้ายึดเครื่องได้ในที่สุด แม้ที่ผ่านมาจะความพยายามป้องกันช่องโหว่เหล่านี้หลากหลายรูปแบบทั้งจากระบบปฎิบัติการเอง, ที่ระดับภาษาโปรแกรมมิ่งเช่นภาษา Rust, หรือที่ระดับฮาร์ดแวร์ของซีพียูบางส่วน CHERI เป็นแนวทางจำกัดพื้นที่หน่วยความจำที่เข้าถึงได้เป็นส่วนๆ ทำให้แม้ซอฟต์แวร์มีช่องโหว่และแฮกเกอร์เจาะระบบได้ก็เข้าถึงข้อมูลได้จำกัดมาก โดยชุดคำสั่ง CHERI ออกแบบให้ใช้ได้กับซีพียูหลายตระกูล ตั้งแต่ ARMv8, MIPS, และ RISC-V แต่ตอนนี้บอร์ด Arm Morello เป็นบอร์ดทดลองรุ่นเดียวที่ใช้ซีพียูประสิทธิภาพสูง (คอร์เป็น Neoverse N1 สำหรับเซิร์ฟเวอร์) ทำให้ทดสอบประสิทธิภาพการทำงานจริงได้ ที่ผ่านมาทีมวิจัยทดลองพอร์ตซอฟต์แวร์มาใช้งาน เช่น WebKit, OpenSSH, และ PostgreSQL โครงการนี้ได้รับทุนจาก UK Research and Innovation ภายใต้โครงการพัฒนาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ หรือ UKRI Digital Security by Design (DSbD) initiative หลังจากมีบอร์ดทดลองแล้ว โครงการจะเปิดให้นักวิจัยได้ทดลองอีกสองปีครึ่งเพื่อดูว่าแนวทาง CHERI ใช้งานได้จริงแค่ไหน ที่มา - Arm แนวทางจำกัดความเสียหายเมื่อซอฟต์แวร์มีช่องโหว่ของ CHERI
# [ลือ] Meta กำลังพัฒนาเครื่องมือสร้าง ซื้อขาย และแสดงผลงาน NFT ทั้ง Facebook และ Instagram มีรายงานจาก The Financial Times ระบุว่า Meta กำลังพัฒนาเครื่องมือสำหรับสร้าง แสดง และขาย NFT ผ่านแพลตฟอร์มในเครือทั้ง Facebook และ Instagram นอกจากนี้ยังเตรียมใช้กระเป่าเงินดิจิทัล Novi มารองรับการทำงานส่วนนี้ด้วย รายงานยังบอกว่า Instagram อาจถูกใช้เป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับให้คนที่มีผลงาน NFT นำมาแสดงผล สอดรับกับแนวทางที่บริษัทต้องการไปสู่โลกเสมือน ซึ่งการเพิ่มเครื่องมือซื้อขายสินค้าดิจิทัลก็เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งนี้ตัวแทนของ Meta ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข่าวดัวกล่าว ที่มา: Engadget
# SUSE เปิดตัว Liberty Linux นำซอร์สโค้ด RHEL มาคอมไพล์แจกแทน CentOS ช่องว่างที่หายไปของ CentOS ทำให้เกิดดิสโทรลินุกซ์ทางเลือกมาทดแทนหลายราย ที่เด่นๆ คือโครงการใหม่ทั้ง AlmaLinux และ RockyLinux แต่ก็ยังมีดิสโทรจากบริษัทใหญ่อย่าง Oracle Linux และ Amazon Linux มาเป็นทางเลือกด้วย ล่าสุด SUSE ดิสโทรยักษ์ใหญ่อีกรายจากฝั่งยุโรปที่เป็นคู่แข่งกับ Red Hat มานาน ประกาศทำ SUSE Liberty Linux โดยนำซอร์สโค้ดของ Red Hat Enterprise Linux (RHEL) มาคอมไพล์เป็นไบนารีแจกฟรีๆ SUSE Liberty Linux จะใช้แพ็กเกจทุกอย่างเหมือนกับ RHEL ทุกประการ ยกเว้นเคอร์เนลที่ใช้เคอร์เนลของ SUSE Linux Enterprise (SLE) เอง แต่ก็คอมไพล์ด้วยคอนฟิกที่เข้ากันได้กับ RHEL หลายคนอาจสงสัยว่า SUSE ทำ Liberty Linux ไปทำไม เหตุผลหลักๆ หนีไม่พ้นการดึงลูกค้าของ RHEL เดิมย้ายค่ายมา เพราะมาพร้อมกับบริการซัพพอร์ตของ SUSE และสามารถใช้งานได้กับเครื่องมือจัดการระบบ SUSE Manager ด้วย (เหมาะสำหรับองค์กรที่รันทั้ง SUSE และ Red Hat/CentOS อยู่แล้ว จะได้ใช้เครื่องมือตัวเดียว) หากลูกค้าสนใจย้ายจาก CentOS มาเป็น Liberty Linux ก็ช่วยเปิดทางสู่การขายซัพพอร์ตในอนาคตได้นั่นเอง ที่มา - SUSE, The Register
# โซนี่แถลงถึงไมโครซอฟท์ ขอให้เกม Activision เป็นมัลติแพลตฟอร์มต่อไป โซนี่ขยับตัวเป็นครั้งแรกหลังข่าวไมโครซอฟท์ซื้อ Activision Blizzard โดยโฆษกของโซนี่ให้สัมภาษณ์กับ Wall Street Journal สั้นๆ ว่า "เราคาดหวังว่าไมโครซอฟท์จะเคารพข้อตกลงเดิม และให้คำมั่นว่าเกมของ Activision จะเป็นมัลติแพลตฟอร์มต่อไป" Activision มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ PlayStation มานาน ดังที่เห็นได้จาก Call of Duty หลายภาคมีโหมดเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะบน PlayStation นาน 1 ปี (ข่าวของภาค Cold War) ที่มา - Wall Street Journal via Eurogamer
# ซีรีส์ The Lord of the Rings ของ Amazon ชื่อ The Rings of Power ตัวอย่างเผยเสียง Galadriel อ่านบทกลอนโบราณ ซีรีส์ The Lord of the Rings ของ Amazon เผยชื่อภาคแล้ว ชื่อ The Rings of Power ซึ่งจะเล่าย้อนไปถึงยุคที่สอง (Second Age) ของมิดเดิลเอิร์ธ ช่วงหลายพันปีก่อนเหตุการณ์ใน The Hobbit และ The Lord of the Rings ในตัวอย่างใหม่เป็นเสียง Morfydd Clark ที่จะรับบทเป็น Galadriel คนใหม่ กำลังอ่านบทกลอนโบราณของเอลฟ์ที่พูดถึงแหวนแห่งอำนาจ แหวนสามวงแด่กษัตริย์พรายใต้แผ่นฟ้า เจ็ดวงแด่เจ้าชาวแคระในท้องพระโรงศิลา เก้าวงนั้นหนาแด่มนุษย์ผู้ไร้นิรันดร์ วงเดียวแด่เจ้าแห่งอสูรผู้ครองบัลลังก์ดำ ในแดนมรณะแห่งมอร์ดอร์ วงเดียวเพื่อครองพิภพ วงเดียวเพื่อค้นพบจบหล้า วงเดียวเพื่อสาปสิ้นทุกวิญญาณ์ พันธนาไว้ในความมืดมน ในแดนมรณะแห่งมอร์ดอร์ โดยสองวรรคก่อนสุดท้ายของบทกลอนนี้ “วงเดียวเพื่อครองพิภพ วงเดียวเพื่อค้นพบจบหล้า วงเดียวเพื่อสาปสิ้นทุกวิญญาณ์ พันธนาไว้ในความมืดมน” เป็นสองวรรคที่ถูกสลักด้วยภาษาแบล็กสปีช หรือภาษาทมิฬแห่งมอร์ดอร์ อยู่บนแหวนเอกธำมรงค์ หรือ The One Ring ในคลิปเป็นภาพเหล็กหลอมเหลวที่ค่อยๆ ก่อตัวบนแม่พิมพ์ กลายเป็นชื่อซีรีส์ The Rings of Power ดูแล้วเนื้อเรื่องน่าจะโฟกัสไปที่เรื่องราวการสร้างแหวนแห่งอำนาจทั้งหมด ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคที่สองของมิดเดิ้ลเอิร์ธ ตรงกับยุคของซีรีส์พอดี ตัวซีรีส์เตรียมฉาย 22 กันยายนนี้ บน Amazon Prime Video ที่มา - YouTube
# แบงค์ชาติลาวไฟเขียว ออกใบอนุญาตเปิดกระดานซื้อขายคริปโตสองเจ้า คือ LDX และ Bitqik แบงค์ชาติลาวไฟเขียว ออกใบอนุญาตให้เปิดกระดานซื้อขายคริปโตอย่างถูกกฎหมายเป็นครั้งแรกในประเทศกับสองบริษัท บริษัทแรกคือ Lao Digital Assets Exchange (LDX) บริษัทที่เป็นการร่วมทุนกันของ บริษัท AIF บริษัทจัดสรรเงินทุนให้ธุรกิจที่กำลังขยายตัวในลาว กับกลุ่มพงซับทะวี บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่กำลังขยายตัวไปยังธุรกิจพลังงาน ส่วนอีกบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตคือ Bitqik ที่เป็นการลงทุนจากบริษัทในเครือสีเมืองกรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศลาว มีธุรกิจหลายแขนงในเครือ ทั้งธุรกิจนำเข้า-ส่งออก รับเหมาก่อสร้าง ไปจนถึงธุรกิจยานยนต์ ทั้งสองกระดานซื้อขายเตรียมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในเดือนเมษายนนี้ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยไซเบอร์ และการป้องกันการลงทุนของประเทศลาว ถือว่าช่วงนี้ตลาดคริปโตในโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะกำลังร้อนแรง หลังล่าสุดในบ้านเราก็เพิ่งมีข่าว GULF จับมือกับ Binance ไป ที่มา - LaotianTimes
# ชิปไม่หาย แต่ชิปแพงมาก TSMC เตรียมปรับขึ้นค่าชิปที่บริษัทผลิตอีก อาจสูงสุดถึง 20% เว็บไซต์ DigiTimes รายงานว่า TSMC เริ่มแจ้งลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทแล้วว่าค่าชิปที่ผลิตอาจแพงขึ้นได้ถึง 20% จากปัจจัยต่างๆ เช่นความขาดแคลนที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ราคาวัตถุดิบ ไปจนถึงค่าขนส่ง อีกสาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะ TSMC ใช้อุปกรณ์หลายชนิดที่มาจากบริษัท ASML ซึ่งโรงงานของ ASML ที่เบอร์ลิน เพิ่งเกิดไฟไหม้ ไปช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้อุปกรณ์ lithography สำหรับพิมพ์ชิปบางส่วนเกิดความล่าช้า ส่งผลกับการขยายกำลังการผลิตและราคา ที่น่าจะไม่ใช่แค่ช่วงสั้นๆ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักๆ น่าจะมีทั้ง AMD ที่ซีพียู Zen 4 จะใช้กระบวนการผลิตแบบ 5nm และ NVIDIA ที่เตรียมจองชิปจากกระบวนการผลิตแบบ 5nm แล้วเช่นกัน รวมถึง Apple เอง Digitimes ก็รายงานว่ายอมจ่ายราคาที่แพงขึ้นสำหรับผลิตชิป A16 บนกระบวนการผลิตแบบ 4nm ในปีนี้แล้วเช่นกัน ดูท่าทั้งราคาซีพียู การ์ดจอ ยาวไปถึงมือถือ อาจมีแววแพงขึ้นได้อีกในปีนี้ ผู้ที่กำลังคิดจะอัพเกรดคอมหรือเปลี่ยนมือถืออาจต้องเตรียมตัวสำรองเงินไว้มากกว่าเดิม แม้อาจทำได้ยากในช่วงที่สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ พากันราคาแพงขึ้นไปหมด ที่มา - Digitimes via PCGamer
# วอร์มนิ้วรอกด Sony ไทย เปิดจอง PS5 อีกครั้ง 21 มกราคมนี้ เวลา 11.00 น. Sony ประเทศไทย เตรียมเปิดจอง PS5 รอบใหม่ ผ่านช่องทาง Sony Store Online วันที่ 21 มกราคมนี้ เวลา 11.00 น. เช้า เป็นต้นไป รายการสินค้าที่ลงขายรอบนี้ มีดังนี้ PlayStation 5 รุ่นมีช่องอ่านแผ่น + จอย DualSense เพิ่มอีกหนึ่งจอย และทีวี Sony ขนาด 55 นิ้ว รุ่น XR-55X90J ราคารวม 53,490 บาท PlayStation 5 รุ่นมีช่องอ่านแผ่น (มีแค่จอย DualSense ที่แถมมากับเครื่อง) ราคา 16,990 บาท วอร์มนิ้ว เตรียมเน็ตให้พร้อม แล้วไปกดพร้อมกันได้เวลา 11.00 น. พรุ่งนี้ ที่มา - Sony Thai
# กูเกิลเลิกให้บริการ G Suite ฟรี บังคับจ่ายเงินภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ กูเกิลเตรียมบังคับผู้ใช้ G Suite ที่สมัครบัญชีฟรีมาตั้งแต่ก่อนปี 2012 ต้องปรับเป็นบัญชีจ่ายเงินภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ผู้ใช้ที่มีบัญชีฟรีอยู่เดิม จะถูกปรับไปเป็น Google Workspace ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม แต่ยังคงใช้งานได้ฟรีต่อไปอีกสองเดือน บริการ Google Workspace หรือชื่อเดิมคือ Google Apps นับเป็นบริการระดับองค์กรตัวแรกๆ ของกูเกิล ช่วงแรกแทบจะเป็นบริการฟรีทั้งหมด (ใช้ฟรีได้ถึง 200 บัญชี) แล้วค่อยๆ ลดการให้บริการฟรีลงมาเรื่อยๆ จนมาปิดรับสมัครโดเมนใหม่แบบให้บริการฟรีตั้งแต่ปี 2012 แต่ก็ยังคงให้คนที่สมัครไปก่อนแล้วต่อเนื่อง คนส่วนมากอาจจะได้ Google Apps ฟรีแบบ 25 บัญชี หากปรับเป็น Google Workspace แบบถูกสุดก็จะเริ่มที่ 6 ดอลลาร์ต่อเดือน ที่มา - Google Support
# Opera เปิดตัว Crypto Browser สำหรับชาวคริปโต มีระบบวอลเล็ตในตัว Opera เปิดตัว Crypto Browser เบราว์เซอร์เวอร์ชันเฉพาะสำหรับชาวคริปโต (ลักษณะคล้ายๆ Opera GX สำหรับเกมเมอร์) โดยเพิ่มฟีเจอร์สำหรับสายเหรียญเข้ามาหลายอย่าง หน้าตาของ Crypto Browser ใช้โทนสีดำ ให้ดูซิ่งๆ ตามกระแสนิยม ฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาได้แก่ รวมข่าวสารล่าสุดของวงการคริปโต DeFi Web3 GameFi NFT ปฏิทินอีเวนต์ พ็อดแคสต์ วิดีโอ ราคาเหรียญ-แก๊ส วอลเล็ตเก็บเหรียญแบบไม่ต้องฝากไว้กับใคร (non-custodial) ล็อกอินใช้งาน dApps (decentralized apps) จากเบราว์เซอร์โดยตรง ไม่ต้องใช้ส่วนขยาย secure clipboard คัดลอกคีย์ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดัก Crypto Browser เปิดให้ดาวน์โหลดมาทดสอบแล้วบน Windows, Mac, Android (เวอร์ชัน iOS จะตามมา) โดย Opera ยังประกาศว่าระยะต่อไปจะเชื่อมเบราว์เซอร์กับแพลตฟอร์มดังๆ เช่น Polygon, Solana, Nervos, Celo, Handshake ภายในครึ่งแรกของปี 2022 และสัญญาว่าจะรองรับ Ethereum Layer 2 ในอนาคตด้วย ที่มา - Opera
# Google Play Games บน Windows เปิดทดสอบแล้ว ยังมีเฉพาะเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง กูเกิลเพิ่งประกาศข่าว Google Play Games บน Windows ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2021 ตอนนี้บริการเริ่มเปิดทดสอบ Beta แล้วใน 3 ประเทศคือ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ผู้ใช้จะต้องดาวน์โหลดแอพ Google Play Games บนวินโดวส์มาติดตั้งก่อน สามารถซิงก์บัญชี Google Play Games กับสมาร์ทโฟนได้ (เล่นสลับอุปกรณ์ได้ นับความคืบหน้าต่อกันหมด) จุดต่างจากเวอร์ชันมือถือมีเพียงแค่ได้เล่นเกมจอใหญ่ขึ้น และใช้เมาส์-คีย์บอร์ดควบคุมได้เท่านั้น สเปกเครื่องขั้นต่ำที่ต้องการคือ ซีพียู 8 คอร์, แรม 8GB, สตอเรจ SSD 20GB, ระบบปฏิบัติการ Windows 10 v2004 ขึ้นไป และจำเป็นต้องเปิด hardware virtualization เกมที่ระบุชื่อว่าเล่นได้แล้วคือ Mobile Legends: Bang Bang, Summoners War, State of Survival: The Joker Collaboration, Three Kingdoms Tactics ส่วนเกมอื่นๆ ที่มีโชว์บนหน้าเว็บของกูเกิล ได้แก่ Asphalt 9, War Planet Online, Cash Frenzy, Township, Rise of Empires: Ice and Fire, Dragon Mania Legends, Magic Rush: Heroes, Cookie Run: OvenBreak, Last Shelter: Survival, Idle Heroes และเกมฝั่งเกาหลีอีกจำนวนหนึ่ง ที่มา - Google
# Instagram เปิดฟีเจอร์ Subscribe จ่ายเงินให้ครีเอเตอร์เพื่อเข้าถึงเนื้อหาพิเศษ หลังมีข่าวมาตั้งแต่ปลายปี 2021 วันนี้ Instagram เปิดตัวฟีเจอร์ Subscription อย่างเป็นทางการ ให้ผู้ใช้สามารถจ่ายเงินกับครีเอเตอร์หรือคนดัง เพื่อเข้าถึงโพสต์พิเศษได้ บริการนี้ยังจำกัดเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และยังมีครีเอเตอร์คนดังจำนวนเพียง 10 คนที่ได้ใช้งานเป็นชุดแรก เช่น @alanchikinchow, @sedona._, @alizakelly, @kelseylynncook, @elliottnorris, @jordanchiles, @jackjerry, @bunnymichael, @donalleniii, @lonnieiiv ผู้ใช้จะเห็นปุ่ม Subscribe เพิ่มเข้ามาในหน้าโปรไฟล์ของครีเอเตอร์เหล่านี้ ซึ่งครีเอเตอร์สามารถตั้งราคาเองได้ตั้งแต่ 0.99-99.99 ดอลลาร์ต่อเดือน สมาชิกที่จ่ายเงินจะได้สิทธิเข้าถึงเนื้อหาเฉพาะทั้ง Stories และ Lives รวมถึงได้ badge สีม่วงที่ระบุว่าเป็นสมาชิกแบบเสียเงิน Facebook เองมีบริการ Subscription ลักษณะเดียวกันมานานพอสมควรแล้ว โดยเปิดให้ครีเอเตอร์ในไทยใช้งานได้มาตั้งแต่ปี 2020 ที่มา - TechCrunch
# เว็บ Crypto.com โดนแฮ็ก ลูกค้า 400 คนโดนขโมยเหรียญ บริษัทจ่ายชดเชยให้ทั้งหมด เว็บเทรดคริปโต Crypto.com ออกมายอมรับว่าระบบถูกแฮ็ก ส่งผลกระทบต่อบัญชีของผู้ใช้ประมาณ 400 คน ตอนแรก Crypto.com ประกาศว่าระบบโดนบุกรุก แต่ไม่กระทบกับบัญชีคริปโตของผู้ใช้ โดยบริษัทระงับการถอนเงินออกชั่วคราว บังคับให้ผู้ใช้ทุกคนต้องล็อกอินบัญชีใหม่ และรีเซ็ต 2FA ใหม่ อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ The Block รายงานว่าการแฮ็กระบบครั้งนี้มีเหรียญคริปโตถูกถอนออกไปด้วย ตัวเลขความเสียหายที่ประเมินคือ 4,830 ETH (15 ล้านดอลลาร์) และ 444 BTC (18.5 ล้านดอลลาร์) ซึ่งภายหลัง Kris Marszalek ซีอีโอของ Crypto.com ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่ามีเหรียญถูกถอนออกไปจริง (เขาไม่ยืนยันมูลค่า) กระทบกับผู้ใช้ประมาณ 400 คน ซึ่งบริษัทชดเชยความเสียหายให้ทั้งหมด ก่อนหน้านี้ Crypto.com เพิ่งเซ็นสัญญาซื้อชื่อสนามแข่ง L.A. Lakers เปลี่ยนชื่อเป็น Crypto.com Arena โดยไม่เปิดเผยมูลค่า แต่ด้วยสัญญาโฆษณาระดับนี้ การชดเชยค่าเสียหายมูลค่าประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ (หากเลขของ The Block ถูกต้อง) ก็อาจถือว่าไม่เยอะนัก ที่มา - The Block
# Apple ชี้แจง ตัวเลือกอัพเดตเฉพาะแพตช์ความปลอดภัยของ iOS 14 จะมีแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีให้ตลอด แอปเปิลชี้แจงประเด็นที่ผู้ใช้ iOS 14 พบว่าตอนนี้ไม่มีตัวเลือกให้อัพเดตเฉพาะแพตช์ความปลอดภัย เพื่อเป็น iOS 14 ต่อ แต่มีเฉพาะตัวเลือกให้อัพเดตไปเป็น iOS 15 จากที่ก่อนหน้านี้แอปเปิลบอกว่าในการอัพเดต iOS 15 จะมีตัวเลือกให้อยู่กับ iOS 14 ต่อ บอกว่าแนวทางการออกอัพเดตดังกล่าว จะมีแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีตลอดไป โดยแอปเปิลอ้างถึงเอกสารสนับสนุน ซึ่งปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายวันที่ 8 ตุลาคม 2021 (23 กันยายน สำหรับภาษาอังกฤษ) ระบุไว้ว่าการได้อัพเดตเฉพาะความปลอดภัยนั้น จะเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง (for a period of time) อัพเดตเฉพาะความปลอดภัยที่แอปเปิลออกมาสำหรับ iOS 14 คือ iOS 14.8.1 เมื่อเดือนตุลาคม แต่หลังจากนั้นแอปเปิลก็ไม่มีอัพเดตประเภทนี้ออกมาอีก และล่าสุดตัวเลือกเดียวที่มีก็คืออัพเดตเป็น iOS 15.2.1 เวอร์ชันล่าสุดเท่านั้น ที่มา: Ars Tecnica
# Coinbase ประกาศความร่วมมือ สามารถซื้อ NFT ผ่าน Mastercard ได้โดยตรง Coinbase ประกาศความร่วมมือกับ Mastercard ให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อ NFT ในมาร์เก็ตเพลสของ Coinbase ได้โดยตรงผ่านบัตร Mastercard ซึ่งมองว่าเป็นการซื้อสินค้าดิจิทัลประเภทหนึ่ง Mastercard พูดถึงความร่วมมือนี้ว่าจะทำให้ NFT เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเป็นทางเลือกในการซื้อขาย ก่อนหน้านี้ Coinbase ได้เปิดตัว Coinbase NFT ซึ่งเป็นมาร์เก็ตเพลสสำหรับ ซื้อ ขาย จัดแสดง และค้นหาผลงาน NFT โดยทำให้การใช้งานสะดวกและเป็นมิตรกับผู้ใช้ ที่มา: Coinbase
# [ไม่ยืนยัน] ซีอีโอ Activision Blizzard เคยคิดซื้อกิจการสื่อรายงานข่าวเกม Kotaku และ PC Gamer ดีลใหญ่เปิดปีนี้อย่าง ไมโครซอฟท์ซื้อกิจการ Activision Blizzard ยังคงมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องออกมาต่อ ล่าสุด The Wall Street Journal เผยว่าก่อนเกิดดีลไมโครซอฟท์ขึ้นนั้น Bobby Kotick ซีอีโอ Activision Blizzard ก็มีความคิดไปซื้อกิจการอื่นด้วย ธุรกิจที่ Kotick ต้องการซื้อไม่ใช่บริษัทเกม แต่เป็นการซื้อธุรกิจสื่อที่รายงานข่าววงการเกม อย่างเช่น Kotaku หรือ PC Gamer ซึ่งเขาหวังว่าจะช่วยแก้ไขภาพลักษณ์ของบริษัทได้ ซึ่งดีลนี้ก็ไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นจริงก็น่าจะสร้างข้อสงสัยและเป็นประเด็นได้มากทีเดียว ทั้งนี้แม้จะมีรายงานดังกล่าว แต่ตัวแทนของ Activision Blizzard ตลอดจน G/O Media บริษัทแม่ของ Kotaku และ PC Gamer ก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อรายงานดังกล่าว ที่มา: IGN
# 1Password รับเงินทุนซีรี่ส์ C อีก 620 ล้านดอลลาร์ มูลค่ากิจการเพิ่มเป็น 6.8 พันล้านดอลลาร์ 1Password เครื่องมือจัดการรหัสผ่าน ประกาศรับเงินเพิ่มทุนซีรี่ส์ C ถึง 620 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบริษัทระบุว่าเป็นเงินทุนใหญ่ที่สุดที่บริษัทในแคนาดาได้รับ มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นเป็น 6,800 ล้านดอลลาร์ ICONIQ Growth เป็นผู้ลงทุนหลักในรอบนี้ รวมด้วย Accel, Tiger Global, Lightspeed Venture Partners และ Backbone Angels Jeff Shiner ซีอีโอ 1Password กล่าวว่าเป้าหมายของบริษัท คือการทำให้ผู้คนใช้บริการออนไลน์ต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันก็มีความง่ายสะดวก ซึ่งสองสิ่งแตกต่างกันมากที่จะไปด้วยกัน แต่บริษัทจะทำให้ได้ ปัจจุบัน 1Password เปลี่ยนมาเน้นลูกค้าองค์กรมากขึ้น ตอนนี้มีมากกว่า 1 แสนบริษัทที่ใช้งานอยู่ เป้าหมายในปี 2021 บริษัทต้องการมีรายรับ 150 ล้านดอลลาร์ โดยรายได้ราว 60% มาจากลูกค้าองค์กร ที่มา: CNBC และ 1Password
# นักวิเคราะห์ระบุ แอปสำหรับนักกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่จีนมีช่องโหว่และเก็บข้อมูลผู้ใช้ ควรใช้มือถือแบบใช้แล้วทิ้ง นักวิเคราะห์ระบุแอปสำหรับนักกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่จีนมีช่องโหว่และเก็บข้อมูล ควรใช้มือถือแบบใช้แล้วทิ้ง บริษัทวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ Internet 2.0 ให้คำแนะนำสำหรับนักกีฬาที่เตรียมตัวไปแข่งโอลิมปิกส์ฤดูหนาว ว่าควรซื้อมือถือใหม่แบบใช้แล้วทิ้งไปเป็น “burner phone” โดยใช้คู่กับแอคเคาท์ต่างๆ เช่น Google หรือ Apple ที่สร้างใหม่สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงในการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว และไม่ควรนำมือถือเครื่องนั้นมาใช้ต่อหลังออกจากประเทศจีนแล้ว Internet 2.0 พบว่าแอป VPN ของ Qi-Anxin และแอปแอนตี้ไวรัส WPS Office ของบริษัท Kingsoft ที่เป็นซัพพลายเออร์ทางการของงานโอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่ประเทศจีนในปีนี้ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ และรัฐบาลจีนอาจเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ส่วนกลุ่มบริษัทความปลอดภัยไซเบอร์ Citizenlab พบว่าแอป My2022 ที่นักกีฬาต้องดาวน์โหลดและบันทึกความเสี่ยงหรืออาการโรคโควิด-19 รวมถึงต้องอัพโหลดเอกสารต่างๆ เช่นพาสปอร์ต ประวัติการเดินทาง และประวัติการแพทย์ ก่อนเข้าประเทศจีน 14 วัน มีการส่งข้อมูลแบบไม่เข้ารหัส อาจทำให้เป็นเป้าการโจมตีทางไซเบอร์ได้ แม้รัฐบาลจีนจะยืนยันว่าข้อมูลได้รับการรักษาความปลอดภัยอย่างดี Citizenlab ยังพบรายชื่อ “คำที่ถูกเซ็นเซอร์” ที่ประกอบไปด้วยชื่อผู้นำและหน่วยงานทางการจีน รวมไปถึงคำศัพท์เกี่ยวกับเหตุการณ์จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 และคำเกี่ยวกับลิทธิฝ่าหลุนกง รวมถึงมีฟีเจอร์แจ้งความเห็นที่เป็นประเด็น “ความอ่อนไหวทางการเมือง” ให้รายงานผู้ใช้คนอื่นได้ และถึงแม้ฟีเจอร์และช่องโหว่เหล่านี้มักพบได้เป็นปกติในแอปจีน แต่ก็อาจเป็นอันตรายต่อข้อมูลของผู้ใช้ ส่วนฝั่งนักกีฬาจากสหรัฐฯ เอง ก็ได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของทีมนักกีฬา ว่าควรใช้อุปกรณ์ใหม่หรืออุปกรณ์ที่ไม่มีข้อมูลส่วนตัวตลอดการแข่งขัน ไม่ควรใช้อุปกรณ์เดียวกับที่ใช้ส่วนตัว และควรใช้ VPN ระหว่างการแข่งขัน ประเด็นความปลอดภัยในข้อมูลของนักกีฬาในครั้งนี้ อาจกลายเป็นอีกเรื่องที่สำคัญและมีความอ่อนไหวในด้านการเมืองระดับประเทศ เพราะแนวคิดด้านการเก็บข้อมูลของรัฐบาลจีนมุ่งเน้นไปในด้านความปลอดภัย และค่อนข้างจะแตกต่างจากประเทศฝั่งตะวันตกที่เน้นความสำคัญของความเป็นส่วนตัวด้านข้อมูล คงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร ที่มา - Citizenlab, Internet 2.0 via BBC, USAToday
# เปิดตัว Trellix บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมระหว่าง FireEye และ McAfee Enterprise เมื่อปีที่แล้ว เราเห็นกลุ่มทุน Symphony Technology Group (STG) เข้าซื้อบริษัทความปลอดภัย 2 แห่งคือ FireEye และ McAfee Enterprise พร้อมประกาศว่าจะควบรวมทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน วันนี้ข่าวเป็นทางการมาแล้วว่า บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมใช้ชื่อว่า Trellix (มาจากคำว่า trellis โครงสร้างตาข่ายสำหรับต้นไม้เลื้อย ซึ่งหมายความว่าแข็งแรงปลอดภัย) Trellix นิยามตัวเองว่าทำธุรกิจตรวจจับและโต้ตอบภัยคุกคาม (extended detection and response หรือตัวย่อ XDR) ผลิตภัณฑ์ที่ขายก็มาจากทั้ง FireEye และ McAfee Enterprise ครอบคลุมความปลอดภัยหลายด้าน ทั้ง endpoint, infrastructure, cloud, user, data, application ผู้บริหารที่ขึ้นมาเป็นซีอีโอของ Trellix คือ Bryan Palma ซึ่งเคยเป็น EVP ของ FireEye มาก่อน บริษัทมีพนักงาน 5,000 คน มีลูกค้า 40,000 องค์กร และรายได้ต่อปีประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ธุรกิจซีกที่เหลือของทั้ง McAfee ฝั่งคอนซูเมอร์ และ Mandiant ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลของ FireEye ยังคงอยู่ต่อไปในฐานะบริษัทอิสระที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Trellix ที่มา - FireEye, Trellix
# พี่เอก Heartrocker ขาย NFT ตัวละครในเกม MIR4 ของตัวเอง คิดเป็นมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท เกม MIR4 เป็นเกม MMORPG บน Steam ที่มีระบบ NFT ตัวละคร คือผู้เล่นสามารถปั้นตัวละครของตัวเองและนำตัวละครพร้อม NFT ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวละครนั้นมาขายบนตลาดขายตัวละครของเกมได้ และหนึ่งในสตรีมเมอร์ชาวไทยชื่อดังที่เล่นเกมนี้อยู่ คือพี่เอกแห่งแชนแนล Heartrocker ที่ใช้ตัวละครชื่อ “เขาชื่ออะไร” ล่าสุดพี่เอกได้นำตัวละคร “เขาชื่ออะไร” มาลงขายในตลาดแลกเปลี่ยนตัวละคร ของเกมในราคา 65,000 Wemix Credit (ค่าเงินของเกม) คิดเป็นจำนวนเงินมูลค่า 360,627 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 12 ล้านบาท โดยสาเหตุคือตัวละครนี้อาจจะเก่งเกินไป และอยากเปลี่ยนไปเล่นตัวละครอื่นแทนบ้าง แต่ราคานี้เป็นราคาตั้งขายเท่านั้น ยังไม่ได้มีการขายออกไปแต่อย่างใด นับได้ว่าอาจจะเป็นครั้งแรกๆ ที่มีสตรีมเมอร์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงในระดับนี้ ขายตัวละครในเกมแบบ NFT ในราคาหลักสิบล้านบาทขึ้นไป แม้จะยังไม่ได้ขายออก แต่ก็น่าติดตามว่าตลาดเกม Play to Earn หรือเกมที่เล่นเพื่อทำเงินในบ้านเรา จะไปทางไหนต่อ ที่มา - Kim Ramune (CreativeKim), Xdraco
# YouTube Premium มีรายปีแล้ว สมัครภายใน 23 มกราคม ราคา 1,439 บาท ประหยัดไป 469 บาท YouTube Premium มีแพ็กเกจรายปีแล้ว ตอนนี้ระบุราคาอยู่ที่ 1,439 บาท ตกเดือนละ 119.91 บาท แต่ระบุราคาว่าเป็นช่วงโปรโมชั่นที่จะสิ้นสุดหลังวันที่ 23 มกราคมนี้ ราคารายเดือน 159 บาท 12 เดือนเดิมจะอยู่ที่ 1,908 บาท เท่ากับหากสมัครช่วงนี้จะประหยัดไปได้ 469 บาท แต่ไม่มีข้อมูลว่าหลังวันที่ 23 มกราคม จะปรับราคาเป็นเท่าไร เดิม YouTube Premium ราคาปกติอยู่ที่ 159 บาทต่อเดือน ราคาแพ็กครอบครัว สูงสุด 5 คน อยู่ที่ 299 ต่อเดือน และราคานักเรียนนักศึกษาอยู่ที่ 95 บาทต่อเดือนและต้องยืนยันตัวตนทุกปี แพ็กเกจรายปีแบบนี้อาจดึงดูดใจให้ผู้ใช้ย้ายจากการซื้อแพ็กครอบครัวแต่มีตัวหารแค่สองคน (ตกคนละ 149.5 บาท) หันมาซื้อแพ็กแยกได้มากขึ้น หลังขึ้นราคาแพ็กครอบครัวจาก 239 บาท เป็น 299 บาทไปก่อนหน้านี้ ที่มา - YouTube
# ซีอีโอ Activision Blizzard เผยขายให้ไมโครซอฟท์เพราะเราเล็กไป รวมกับ EA ก็ใหญ่ไม่พอ Bobby Kotick ซีอีโอของ Activision Blizzard ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังข่าวไมโครซอฟท์ซื้อกิจการ ทำให้เรารู้มุมมองของ Activision Blizzard ว่าคิดอย่างไรจึงยอมขาย Kotick พูดชัดเจนว่าเรื่องเงิน! โดยเขาบอกว่าได้รับข้อเสนอที่ดีมาก เพราะไมโครซอฟท์เสนอราคามาสูงกว่าราคาหุ้นถึง 45% อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องเงินแล้ว Kotick เล่าถึงข้อจำกัดของ Activision Blizzard แม้ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับต้นๆ ของโลก มีพนักงานเกือบ 10,000 คน แต่เขามองว่ายังถือว่าเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Microsoft, Apple, Google, Amazon, Tencent, Meta ดังนั้นต่อให้ Activision Blizzard ควบรวมกับ EA ก็ยังมีขนาดใหญ่ไม่พอต่อการแข่งขันในอนาคต เรื่องกำลังคนเป็นอีกประเด็นที่ Kotick พูดถึง เขาบอกว่าเกมยุคหน้าจำเป็นต้องใช้ทักษะ AI, machine learning, data analytics, cloud, cybersecurity ซึ่ง Activision Blizzard ไม่มีเลย ตอนนี้ตลาดแข่งขันสูงมากในการหาคนที่มีทักษะเหล่านี้ คนหายาก มีราคาแพง Kotick บอกว่าการมาอยู่กับยักษ์ใหญ่ระดับไมโครซอฟท์ตอบโจทย์ข้างต้นทั้งหมด นอกจากเรื่องคนแล้ว ไมโครซอฟท์ยังมีทรัพยากรอีกเยอะที่ Activision นำมาใช้ได้ เช่น เขาอยากกลับมาทำเกม Guitar Hero และ Skylanders อีกครั้ง แต่ทรัพยากรไม่พอ เกมเหล่านี้จำเป็นต้องทำฮาร์ดแวร์ซึ่ง Activision ไม่เก่งหรือไม่มีคน แต่ไมโครซอฟท์มีศักยภาพทำได้ นอกจากนี้ Kotick ยังบอกว่าเขาอยากเพิ่มฟีเจอร์ด้านโซเชียลให้ Candy Crush ให้ผู้เล่นแข่งกันเองได้ อยากมีฟีเจอร์ voice/video over IP ให้คุยกันระหว่างเล่น ซึ่งไมโครซอฟท์มีพร้อมอยู่แล้ว ที่มา - VentureBeat
# หุ้นโซนี่เปิดตลาดร่วงเกือบ 10% หลังไมโครซอฟท์เข้าซื้อ Activision หุ้นโซนี่ในตลาดหุ้นโตเกียวราคาตกลงถึง -9.8% ในช่วงเช้า และกลับขึ้นมาเล็กน้อย จนอยู่ที่ -7.2% ขณะที่กำลังเขียนข่าว หลังจากเมื่อวานนี้ไมโครซอฟท์ประกาศเข้าซื้อ Activision Blizzard ซึ่งน่าจะกระทบวงการเกมโดยรวมอย่างหนัก รายได้ของโซนี่มาจากธุรกิจเกมถึง 27.24% และยังเป็นธุรกิจที่เติบโตสูงอันดับสองรองจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ความกังวลสำคัญคือเกมยอดนิยม เช่น Call of Duty จะกลายเป็นเกมเอ็กคลูซีฟบน Xbox หรือไม่ แม้ว่า Phil Spencer จะออกมาพูดว่าไม่ต้องการดึงผู้เล่นออกจากแพลตฟอร์ม แต่การที่ไมโครซอฟท์ซื้อบริษัทเกมเช่นนี้ก็น่าจะทำให้มีความร่วมมือระหว่างตัวเกมกับฮาร์ดแวร์มากขึ้น ที่มา - Yahoo! Finance
# Phil Spencer ฝากถึงผู้เล่น PlayStation "เราไม่ต้องการดึงชุมชนผู้เล่นออกจากแพลตฟอร์ม" Phil Spencer ซีอีโอของ Microsoft Gaming ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ตอบคำถามที่ทุกคนอยากรู้ว่าอนาคตของเกมจาก Activision Blizzard บนแพลตฟอร์ม PlayStation จะเป็นอย่างไร คำตอบของ Spencer คือเขาอยากฝากถึงผู้เล่นเกมบนแพลตฟอร์มโซนี่ว่า "เราไม่ต้องการดึงชุมชนคนเล่นเกมออกจากแพลตฟอร์ม และเรายังยึดมั่นแนวทางนี้" ถึงแม้ Spencer ไม่ได้ตอบมาชัดๆ แต่น่าจะหมายถึงว่าเกมที่มีฐานผู้เล่นเยอะๆ (เช่น Call of Duty) จะยังเป็นเกมมัลติแพลตฟอร์มต่อไป ที่ผ่านมา แนวทางของไมโครซอฟท์ต่อเกมข้ามแพลตฟอร์มมีหลากหลาย เช่น Minecraft ที่มีให้เล่นบนทุกแพลตฟอร์ม, การเคารพข้อตกลงของ Bethesda ที่มีเอ็กซ์คลูซีฟกับ PS5 แต่กรณีของเกมออกใหม่ อย่าง Starfield เอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะพีซีกับ Xbox คาดว่าไมโครซอฟท์น่าจะใช้นโยบายเดียวกันกับ Activision Blizzard นั่นคือไม่แตะอะไรเกมเก่า, บางเกมเป็นมัลติแพลตฟอร์ม และบางเกมเอ็กซ์คลูซีฟ Xbox ภาพจาก Microsoft ที่มา - Bloomberg via Gaming Bolt
# [Canalys] Apple ครองส่วนแบ่งยอดขายสมาร์ทโฟนไตรมาส 4/2021 อันดับ 1 ที่ 22% บริษัทวิจัยตลาด Canalys รายงานภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนของไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ภาพรวมเติบโต 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ปัญหาหลักจากซัพพลายเชนและโควิด 19 ส่วนแบ่งการตลาดแยกตามผู้ผลิต แอปเปิลครองอันดับ 1 ที่ 22% เนื่องจาก iPhone 13 เริ่มขายในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ซัมซุงอยู่ในอันดับ 2 ที่ 20% และ Xiaomi ในอันดับ 3 ที่ 12% Sanyam Chaurasia นักวิเคราะห์ของ Canalys ให้ความเห็นว่า iPhone ทำยอดขายได้สูงในไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะในจีน อีกทั้งบริษัทสามารถบริหารจัดการซัพพลายเชนได้ดี ส่งมอบสินค้าได้ทันความต้องการแม้ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับผู้ผลิตรายอื่น ขณะที่ Nicole Peng นักวิเคราะห์อีกคนมองว่าปัญหาชิปขาดแคลนยังไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ยังได้เปรียบจากคำสั่งซื้อก่อนหน้านี้ ที่มา: Canalys
# Shopify ประกาศร่วมมือกับ JD.com ช่วยให้ร้านค้านำสินค้าไปขายในจีนง่ายขึ้น Shopify ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับเปิดร้านค้าออนไลน์ ประกาศความร่วมมือกับ JD.com อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน เพื่อให้ร้านค้ามีช่องทางจำหน่ายสินค้าในประเทศจีน JD กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวว่าจะช่วยเร่งสร้างช่องทางการขายในจีน ให้กับแบรนด์สินค้าที่อยู่บน Shopify และลดระยะเวลาจากเดิมที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 12 เดือน เหลือเพียง 3-4 สัปดาห์ ขณะที่ฝั่ง Shopify ก็จะร่วมมือในการนำสินค้าจากแบรนด์ของจีนไปขายในฝั่งตะวันตก ส่วนที่ JD จะเข้ามาช่วยเหลือนอกจากการแปลงมูลค่าสินค้าตามสกุลเงิน ก็คือการขนส่งและจัดเก็บสินค้า เนื่องจาก JD มีส่วนธุรกิจขนส่งสินค้าของตนเองอยู่แล้ว ที่มา: CNBC
# กูเกิลปิดแผนกสร้างคอนเทนต์ YouTube Originals นำเงินไปสนับสนุนครีเอเตอร์แทน กูเกิลประกาศปิดแผนก YouTube Originals ที่ทำคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ ซีรีส์ สารคดี ภาพยนตร์ ที่มีเฉพาะบน YouTube YouTube Originals เริ่มต้นในปี 2016 เพื่อเป็นจุดขายให้คนมาสมัครบริการพรีเมียม YouTube Red (ชื่อในตอนนั้นก่อนเปลี่ยนมาเป็น YouTube Premium) ตัวอย่างรายการในยุคแรกๆ ได้แก่ เรียลลิตี้โชว์ของ PewDiePie ไปเจอเหตุการณ์น่ากลัว, ซีรีส์ตลก Sing It!, ซีรีส์โรแมนติก Single by 30 เป็นต้น รายการที่ดังที่สุดของ YouTube Originals น่าจะเป็นซีรีส์ Cobra Kai (ภายหลังย้ายไปอยู่ Netflix) นอกจากนี้ยังมีรายการพิเศษของ Barack Obama และวง BTS ด้วย YouTube ให้เหตุผลของการปิดแผนก Originals ว่าปัจจุบันมีวิดีโอครีเอเตอร์มากถึง 2 ล้านคนแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องสร้างคอนเทนต์เองอีกต่อไป โดยจะนำเงินไปสนับสนุนครีเอเตอร์รายย่อยผ่านโครงการต่างๆ ของบริษัทแทน ประกาศการปิดแผน YouTube Originals ครั้งนี้ยังมีผลให้ Susanne Daniels หัวหน้าทีมตัดสินใจลาออกจากบริษัทในเดือนมีนาคมนี้ด้วย เว็บไซต์ Ars Technica วิจารณ์ว่า YouTube มีโครงการย่อยๆ ที่ลองทำตามแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เป็นกระแสในช่วงนั้น เช่น YouTube Gaming (ตาม Twitch), YouTube Stories (ตาม Instagram), YouTube Shorts (ตาม TikTok) โดยกรณีของ Originals คือทดลองตาม Netflix แต่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ก็ต้องปิดตัวลง ที่มา - Ars Technica
# เผย Apple เคยคิดทำ HomePod แบบไร้สาย ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ในจดหมายข่าว Power On ของ Mark Gurman แห่ง Bloomberg ตอนล่าสุด นอกจากประเด็นสำคัญเรื่องเฮดเซต VR/AR ของแอปเปิลแล้ว เขายังให้ข้อมูลเรื่องแผนพัฒนาลำโพง HomePod ในช่วงแรกด้วย Gurman บอกว่าต้นแบบแรก ๆ นั้น แอปเปิลต้องการสร้างลำโพงที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ทำให้ไม่มีสายไฟเชื่อมต่อ เหมือนกับลำโพงบลูทูธที่เราเห็นกันทั่วไป แต่สุดท้ายแอปเปิลก็เปลี่ยนใจ เพราะต้องการให้ลำโพงนี้ทำงานได้ตลอดเวลานั่นเอง แอปเปิลเคยมีสินค้าลำโพงบลูทูธไร้สายคือ Beats Pill+ แต่ปัจจุบันได้เลิกจำหน่ายไปแล้ว ที่มา: MacRumors
# Xbox Game Pass มีสมาชิก 25 ล้านคน, สัญญานำเกม Activision Blizzard มาลงหลังดีลจบ ไมโครซอฟท์ประกาศตัวเลขสมาชิก Xbox Game Pass (นับรวมทั้งคอนโซลและพีซี) ที่ 25 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 21 ล้านคนที่เคยประกาศไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2021 Phil Spencer ซึ่งตอนนี้ขึ้นเป็นซีอีโอของ Microsoft Gaming สัญญาว่าเมื่อกระบวนการซื้อกิจการเสร็จสิ้นแล้ว ไมโครซอฟท์จะนำเกมจาก Activision Blizzard มาสู่ Game Pass ให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ ทั้งเกมเก่าและเกมใหม่ อย่างไรก็ตาม Spencer ไม่ได้พูดถึงเกมใดเป็นพิเศษ รวมถึงยังไม่ได้พูดเรื่องแผนการเอ็กซ์คลูซีฟเกม Activision Blizzard ในอนาคตด้วย (ทุกคนคงสงสัยกันว่า Call of Duty จะลง PlayStation ต่อรึเปล่า) ที่มา - Xbox
# Phil Spencer ขึ้นซีอีโอ Microsoft Gaming, ประกาศแก้วัฒนธรรม Activision Blizzard พร้อมกับประกาศซื้อกิจการ Activision Blizzard ไมโครซอฟท์ได้แต่งตั้ง Phil Spencer หัวหน้าทีม Xbox ขึ้นเป็นซีอีโอของหน่วยงานใหม่ชื่อ Microsoft Gaming ดูแลงานด้านเกมมิ่งทั้งหมด (สถานะยังไม่แน่ชัดว่าเป็นบริษัทลูกแยกต่างหาก หรือเป็นแค่โครงสร้างภายใน) Spencer ประกาศผังโครงสร้างของ Microsoft Gaming ว่ามีทั้งทีมการตลาด ทีมธุรกิจ ทีมกฎหมายเป็นของตัวเอง โดยโยกทีมการตลาดเกมมิ่งมาจากทีมการตลาดหลักของไมโครซอฟท์มาดูแลเอง ซีอีโอ Satya Nadella ให้เหตุผลว่าธุรกิจด้านเกมมิ่งของไมโครซอฟท์ขยายตัวอย่างมาก และตอนนี้ไมโครซอฟท์เป็นผู้นำทั้งด้าน game subscription และ cloud gaming เรียบร้อยแล้ว จึงตั้งโครงสร้างใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับธุรกิจที่ขยายตัว Nadella ยังประกาศว่าต้องการปรับวัฒนธรรมองค์กรของ Activision Blizzard ที่เต็มไปด้วยปัญหาการคุกคามทางเพศ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น (create a more diverse and inclusive culture to our new colleagues at Activision Blizzard) และการันตีว่าพนักงานทุกคนจะได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นมิตร เพื่อให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ที่มา - Microsoft
# Garmin เปิดตัวสมาร์ทวอช Fenix 7 พร้อมหน้าจอสัมผัส, ไฟฉาย LED ในตัว Garmin เปิดตัวสมาร์ทวอช Fenix 7 ใหม่ โดยจุดสำคัญในรุ่นนี้คือ Garmin ใส่หน้าจอสัมผัสมาให้ซีรีส์ Fenix ซึ่งเป็นซีรีส์นาฬิกาเน้นกลุ่มผู้ใช้งานแบบสมบุกสมบันเป็นครั้งแรก Garmin Fenix 7 แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อย คือ 7S, 7 และ 7X โดยทั้งสามรุ่นมีหน้าจอขนาด 42, 47 และ 51 มิลลิเมตรตามลำดับ ทุกรุ่นมีตัวเลือก Solar หรือฟีเจอร์ชาร์จแบตด้วยแสงอาทิตย์ และ Garmin ระบุว่าหน้าจอของซีรีส์ 7 มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงสามารถรับแสงอาทิตย์ได้ดีกว่าซีรีส์ Fenix 6 ซึ่งทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องชาร์จแบตนาฬิกาได้นานสุดถึง 5 สัปดาห์ นอกจากนี้ ตัวนาฬิกายังมีไฟฉายแบบ multi-LED โดยใช้ได้ทั้งเป็นไฟฉายในสถานการณ์ทั่วไป หรือปรับเป็นโหมดเฉพาะก็ได้ เช่น เป็นสีแดงและขาวตอนวิ่ง, ปรับให้เข้ากับจังหวะดนตรี เป็นต้น Garmin Fenix 7 เริ่มวางจำหน่ายแล้วที่ราคาเริ่มต้น 699.99 ดอลลาร์หรือราว 23,000 บาท ที่มา - Engadget
# ไมโครซอฟท์ประกาศข่าวซื้อ Activision Blizzard ด้วยมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท ไมโครซอฟท์ประกาศช็อควงการเกมด้วยการซื้อกิจการ Activision Blizzard ด้วยมูลค่าสูงถึง 68.7 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท) แลกกับพนักงานจำนวนเกือบ 10,000 คน และสิทธิความเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ดังๆ อย่าง Starcraft, Warcraft, Diablo, Overwatch, Call of Duty, Candy Crush ภายใต้ดีลนี้ Bobby Kotick ซีอีโอของ Activision Blizzard จะยังอยู่ในตำแหน่งเดิม โดยจะขึ้นตรงต่อ Phil Spencer ที่ขึ้นเป็นซีอีโอของบริษัทลูกที่ตั้งใหม่คือ Microsoft Gaming ไมโครซอฟท์คาดว่ากระบวนการซื้อกิจการครั้งนี้จะใช้เวลายาวนาน และน่าจะจบได้ก่อนเดือนมิถุนายน 2023 หากซื้อกิจการเสร็จเรียบร้อย ไมโครซอฟท์จะมีสตูดิโอเกมในสังกัดเพิ่มเป็น 30 สตูดิโอ รวมถึงธุรกิจด้านการจัดจำหน่ายและอีสปอร์ตของ Activision Blizzard เพิ่มเข้ามาด้วย ที่มา - Microsoft
# ByteDance ซื้อกิจการ บริษัทขายบัตรดูหนัง และเว็บตูนในจีน มาต่อยอดกับ TikTok มีรายงานว่า ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ได้เข้าซื้อกิจการเพิ่ม 2 บริษัท ด้านธุรกิจบันเทิงเพื่อนำมาต่อยอดกับบริการเดิมที่มีอยู่ รายละเอียดดังนี้ บริษัทแรกคือ Yingtuobang สตาร์ทอัพจำหน่ายบัตรเข้าชมภาพยนตร์และการแสดงในจีน โดย ByteDance จะช่วยในการใช้ Douyin (TikTok ในจีน) มาส่งเสริมการขาย ทำให้ครอบคลุมบริการ O2O มากขึ้น อีกบริษัทคือ Yizhikan Comics ผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสสำหรับซื้อขายเว็บตูนและอีคอมมิกของจีน ซึ่งดีลนี้ ByteDance ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงแผนงานในอนาคต ที่มา: TechNode
# Apple กำหนดให้พนักงานต้องรับวัคซีนบูสเตอร์ หรือมีผลตรวจเป็นลบ และต้องตรวจเป็นระยะ ๆ The Verge อ้างข้อมูลจากอีเมลภายในแอปเปิลล่าสุด ถึงมาตรการป้องกันโควิด 19 สำหรับพนักงาน ในการกลับเข้าทำงานที่สำนักงาน รวมทั้งพนักงานในร้าน Apple Store อีเมลระบุว่าหากพนักงานอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับวัคซีนบูสเตอร์ได้ จะต้องรับวัคซีนภายใน 4 สัปดาห์ จึงจะถือว่าได้รับวัคซีนครบถ้วน แต่กรณียังไม่รับวัคซีน หรือได้วัคซีนไม่ครบถึงบูสเตอร์ จะต้องตรวจหาโควิดเป็นระยะ โดยมีผลตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป แอปเปิลระบุสาเหตุว่าเนื่องจากสายพันธุ์ Omicron มีการระบาดมากขึ้น วัคซีนบูสเตอร์จึงจำเป็นสำหรับการป้องกัน สำหรับแนวทางการกลับเข้าทำงานในสำนักงานของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่รายอื่นในช่วงที่ผ่านมา Meta ก็กำหนดเช่นกันว่าพนักงานต้องได้รับบูสเตอร์เท่านั้น ส่วนกูเกิลยังเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด โดยไม่ได้พูดถึงเงื่อนไขอื่น ที่มา: The Verge
# Netflix สัญญาลงทุนคอนเทนต์เกาหลีต่อเนื่อง ปีนี้งบไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท Don Kang รองประธาน Netflix ฝ่ายคอนเทนต์พูดถึงการลงทุนคอนเทนต์เกาหลีใต้ในปี 2022 ว่ายังไม่สามารถระบุตัวเลขได้ชัด แต่จะไม่ต่ำกว่าปี 2021 ที่ลงทุนไป 550 พันล้านวอนหรือประมาณ 15 พันล้านบาท ค่าคอนเทนต์นับเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ของ Neflix โดยปี 2021 บริษัทเคยประมาณว่าจะต้องจ่ายค่าคอนเทนต์ทั้งหมด 17 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 563 พันล้านบาท ในเงินลงทุนทั้งหมดนี้แบ่งเป็นการสร้างคอนเทนต์ออริจินัลเองประมาณ 38% ปีที่ผ่านมา Netflix ค่อนข้างประสบความสำเร็จกับการสร้างออริจิทัลคอนเทนต์จากเกาหลีใต้ โดยเฉพาะซีรีส์ Squid Game ที่ดังไปทั่วโลก ตอนนี้คอนเทนต์ที่รอฉายยังมี All of Us Are Dead จะฉายวันที่ 28 นี้ ที่มา - Korea Times
# MRT ประกาศเตรียมรองรับการจ่ายด้วยบัตรเครดิต-เดบิต ระบบ EMV เร็วๆ นี้ MRT โพสต์ประกาศในทวิตเตอร์ ว่าระบบเตรียมรับการจ่ายผ่านระบบ EMV Contactless (Europay Visa Mastercard) เร็วๆ แปลว่าจะรองรับบัตรเครดิตและเดบิตระบบ Visa และ Mastercard ที่มีสัญลักษณ์ EMV ในบ้านเรา MRT ยังไม่ระบุวันที่ระบบจะสามารถจ่ายด้วยบัตร EMV ได้จริง แต่ก่อนหน้านี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเพิ่งเปิดระบบจ่ายเงินค่าทางด่วนด้วยบัตรระบบ EMV ไป โดยในงานระบุว่ารถเมล์ รถไฟใต้ดิน รวมไปถึงเรือโดยสาร จะสามารถใช้งานระบบ EMV ได้ทั้งหมดในอนาคต ซึ่งน่าจะเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ได้อีกมาก ที่มา - MRT
# Raspberry Pi ขายชิป RP2040 โดยตรง เริ่มต้นที่ 500 ชิป ระบุพร้อมผลิตเพิ่ม 20 ล้านชิป Raspberry Pi ประกาศขายชิป RP2040 ที่ใช้ใน Raspberry Pi โดยตรงไม่ผ่านตัวแทนจำหน่ายตามปกติสำหรับการสั่งซื้อจำนวนมาก โดยชิปจะขายเป็นม้วน 2 ขนาด คือ ม้วน 500 ชิป ราคา 400 ดอลลาร์ (ชิปละ 0.8 ดอลลาร์ หรือ 27 บาท) ม้วน 3,400 ชิป ราคา 2,380 ดอลลาร์ (ชิปละ 0.7 ดอลลาร์หรือ 23 บาท) ราคานี้ไม่รวมค่าส่งและภาษี RP2040 ผลิตด้วยเทคโนโลยี TSMC 40LP ขณะที่ตัวชิปจริงๆ มีขนาดเพียง 2 ตารางมิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้เวเฟอร์ขนาดมาตรฐาน 30 เซนติเมตรสามารถผลิตได้ถึง 21,000 ชิป และตอนนี้ทาง Raspberry Pi มีเวเฟอร์รอผลิตชิปได้ 20 ล้านชิป แม้ว่าตัว RP2040 จะออกแบบมาเพื่อเมกเกอร์เป็นหลัก แต่การใช้งานจริงก็สามารถนำไปใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนมากที่ใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ได้แทนชิปอื่นๆ ที่ขาดตลาดได้ การที่ Raspberry Pi วางขายเป็นล็อตเช่นนี้ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตเราอาจจะพบชิป RP2040 ในเครื่องใช้ไฟฟ้าใกล้ตัวเรามากขึ้น ที่มา - Raspberry Pi
# ตองก้าอินเทอร์เน็ตดับทั้งประเทศ คาดสายเคเบิลใต้ทะเลขาด อาจจะต้องใช้เวลาซ่อม 2 สัปดาห์ หลังเกิดภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุในมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้กับตองก้าเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา และได้ยินไกลไปถึงนิวซีแลนด์ที่อยู่ห่างไปราว 2,383 กิลโลเมตร ทำให้ประเทศที่มีประชากรราว 100,500 คน ขาดการติดต่อ และเถ้าถ่านปกคลุมไปทั่ว แม้ปัจจุบันการสื่อสารไร้สายบางส่วนจะเริ่มกลับมาใช้งานได้ แต่ผู้เกี่ยวข้องคาดว่าจะต้องใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ กว่าจะซ่อมเครือข่ายสื่อสารให้กลับมาใช้งานได้ทั้งหมด ตอนนี้การสื่อสารกับคนบนเกาะทำได้ลำบาก การสื่อสารต้องอาศัยโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ทำให้ไม่สามารถติดต่อกับบางพื้นที่ได้ ปัจจุบันทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่อยู่ใกล้เคียง ได้มีการบินสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น รวมทั้งช่วยเรื่องการใช้โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม Dean Veverka ผู้อำนวยการเครือข่ายของหน่วยงานเคเบิ้ลใต้น้ำ Southern Cross Cable Network ระบุว่าแม้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนนัก แต่ทีมงานคิดว่าเคเบิ้ลใต้น้ำน่าจะขาด และน่าจะต้องใช้เวลาซ่อมแซมราว 2 สัปดาห์ เพราะเรือวางสายเคเบิ้ลที่อยู่ใกล้สุด ตอนนี้อยู่ที่ Port Moresby (เมืองหลวงปาปัวนิวกินี) ซึ่งอยู่ห่างไปราว 4,000 กิโลเมตร ทั้งหมดนี้แปลว่าข้อมูลความเสียหายและการซ่อมแซมต่างๆ ในตองก้า อาจเริ่มถูกเผยแพร่ได้เต็มรูปแบบในช่วงเดือนหน้าเป็นต้นไป ที่มา - BBC
# ชิป Intel Core 11th Gen และ 12th Gen ดูหนังบนแผ่น blu-ray 4K ไม่ได้ เพราะตัดระบบ SGX ออก ดูเหมือนว่าคอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิป Intel Core 11th Gen และ 12th Gen รุ่นเดสก์ท็อป จะไม่สามารถใช้ดูหนังบนแผ่น blu-ray 4K ได้ ปัญหามาจากการที่ Intel ถอดระบบป้องกันความปลอดภัย Software Guard Extension หรือ SGX ออก และจัดไปอยู่ในหมวดเทคโนโลยีที่ล้าสมัย (deprecated technologies) ในชิป Intel Core 11th Gen และ 12th Gen รุ่นเดสก์ท็อป ซึ่งแต่ระบบนี้มีความจำเป็นเพื่อใช้ผ่านระบบป้องกันลิขสิทธิ์ของ blu-ray 4K และทำให้เล่นแผ่นได้ นอกจากนี้ปัญหาของระบบ SGX คือเป็นระบบความปลอดภัยที่มีเฉพาะบนซีพียู Intel ทำให้นักพัฒนาโปรแกรมต้องใช้เวลาเพิ่มเพื่อทำให้โปรแกรมรองรับ SGX โดยเฉพาะ แถมระบบป้องกันนี้ยังมีช่องโหว่สำหรับการโจมตีอยู่มาก เช่นช่องโหว่ SmashEx ที่ค้นพบช่วงเดือนตุลาคม 2021 ทำให้สิ่งที่ได้น่าจะไม่คุ้มเสีย และ Intel จึงตัดสินใจถอดระบบนี้ออกไปในชิปรุ่นล่าสุด อย่างไรก็ตาม คอมพิวเตอร์ของหลายๆ คนในปัจจุบัน น่าจะแทบไม่มีช่องใส่แผ่นแล้ว และการดูหนังจากแผ่น blu-ray 4K คงน่าจะเหมาะกับการดูบนทีวีจอใหญ่ๆ กับโฮมเธียเตอร์มากกว่า นอกจากนี้ชิปเดสก์ท็อปรุ่นเก่ากว่าเช่นเจ็น 10 ก็ยังสามารถใช้เพื่อดูได้อยู่หากผู้ใช้ต้องการ จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่นัก ที่มา - PCGamer
# เปิดตัว Exynos 2200 ใช้จีพียูใหม่ Xclipse สถาปัตยกรรม RDNA 2 รองรับ Ray Tracing, VRS หลังจากซัมซุงเลื่อนเปิดตัว Exynos 2200 โดยบอกว่าจะเปิดตัวพร้อม Galaxy S22 วันนี้ซัมซุงเปลี่ยนใจอีกรอบ เปิดตัว Exynos 2200 ผ่านหน้าเว็บไซต์โดยไม่มีงานแถลงข่าว ของใหม่ที่สำคัญที่สุดของ Exynos 2200 คือจีพียู Xclipse ที่ใช้สถาปัตยกรรม AMD RDNA 2 ที่รอกันมานาน (เซ็นสัญญาตั้งแต่ปี 2019) รองรับฟีเจอร์ใหญ่ๆ ทั้ง ray tracing และ variable rate shading (VRS) ที่เคยมีเฉพาะบนพีซีกับคอนโซล ซัมซุงบอกว่าชื่อ Xclipse มาจาก X (Exynos) + eclipse หมายความว่าจะเป็นจุดสิ้นสุดเกมมือถือยุคเดิม ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่น่าตื่นเต้น แต่ก็ยังไม่ได้เผยตัวเลขเบนช์มาร์คใดๆ ออกมา ฝั่งซีพียูของ Exynos 2200 ประกอบด้วย 8 คอร์สูตร 1-3-4 เป็น Cortex-X2, Cortex-A710, Cortex-A510 ตามลำดับ (เหมือนกับ Snapdragon 8 Gen 1 และ MediaTek Dimensity 9000) ฟีเจอร์อื่นคือ ชิปประมวลผลภาพ ISP ตัวใหม่รองรับภาพความละเอียดสูงสุด 200MP, ชิป NPU ตัวใหม่รองรับทศนิยม FP16, โมเด็ม 5G รองรับสเปก 3GPP Release 16, ชิป Integrated Secure Element (iSE) สำหรับเก็บคีย์ที่ใช้เข้ารหัส ซัมซุงบอกว่า Exynos 2200 เริ่มผลิตเป็นจำนวนมากแล้ว เราน่าจะได้เห็นมันถูกใช้ใน Galaxy S22 ที่คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ที่มา - Samsung
# สเปนออกกฎหมายจำกัดคนดังโปรโมทคริปโต ต้องระบุความเสี่ยง ต้องขอ ก.ล.ต. ก่อนโปรโมท สเปนเป็นประเทศล่าสุดที่ออกกฎเรื่องคนดังโปรโมทการขายเหรียญคริปโต ภายใต้เงื่อนไขว่าหน่วยงานหรือคนดังที่ต้องการโฆษณาเหรียญคริปโตจำเป็นต้องแจ้ง CNMV หรือสำนักงานก.ล.ต. ของสเปนก่อนอย่างน้อย 10 วัน และต้องระบุความเสี่ยงจากการซื้อเหรียญคริปโตด้วย มิฉะนั้นจะโดนโทษปรับสูงสุด 300,000 ยูโร กฎใหม่ของ CNMV ฉบับนี้ยังจำกัดเฉพาะวิธีการโฆษณาเท่านั้น ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบของตัวสินค้าคริปโตที่โฆษณาได้ วันที่เริ่มมีผลบังคับใช้คือ 17 กุมภาพันธ์ 2022 Rodrigo Buenaventura ประธาน CNMV ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ว่ากฎฉบับนี้จะช่วยให้วงการคริปโตเป็นระเบียบมากขึ้น ครอบคลุมวิธีการโฆษณาทั้งผ่านสื่อแบบเดิม และผ่านคนดัง (influencer) ที่นิยมกันในช่วงหลัง ตัวอย่างกรณีที่ถกเถียงกันมากในสเปนคือ Andres Iniesta นักฟุตบอลคนดังที่รับจ้างโปรโมทให้ Binance และถูก CNMV เตือนว่าต้องระบุความเสี่ยงของการซื้อเหรียญคริปโตด้วย สเปนถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ออกกฎหมายเรื่องการโปรโมทคริปโต และเริ่มมีประเทศอื่นๆ ที่พยายามจำกัดการโปรโมทคริปโตผ่านกฎหมายเดิมที่มีอยู่บ้างแล้ว เช่น ฝรั่งเศส ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายด้านการเงิน ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์เพิ่งประกาศกฎเรื่องการโปรโมทคริปโตในรูปแบบคล้ายๆ กัน ที่มา - CNMV (PDF)
# Phil Spencer บอกโซนี่เลี่ยงไม่ได้ ต้องทำ PlayStation Game Pass แน่นอน Phil Spencer หัวหน้าทีม Xbox ให้สัมภาษณ์กับเว็บเกม IGN และคอมเมนต์ถึงคู่แข่ง PlayStation ในประเด็นข่าวลือช่วงนี้ว่าโซนี่กำลังซุ่มทำบริการใหม่มาแข่งกับ Xbox Game Pass ความเห็นของ Spencer คือการทำบริการแบบ Game Pass หรือพอร์ตเกมมาลง PC เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เขาไม่คิดว่านี่คือการยืนยันว่าไมโครซอฟท์ทำถูก (validation) แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเลี่ยงไม่ได้ (inevitability) ในมุมของไมโครซอฟท์ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเพื่อเตรียมรับมือคู่แข่ง ไมโครซอฟท์อาจได้เปรียบตรงที่ทำก่อนใคร แต่คู่แข่งทุกรายก็สามารถเข้าสู่ตลาดนี้ได้เสมอ Spencer ยังบอกว่าการออกเกมดีๆ บนพีซี คอนโซล และคลาวด์ รวมถึงการเปิดให้เล่นบนบริการ subscription ตั้งแต่วันแรกที่เกมออกเป็นสิ่งที่ควรทำแล้ว และเขาก็คาดว่าคู่แข่งจะทำแบบเดียวกัน ที่มา - IGN
# ไมโครซอฟท์ออกแพตช์ฉุกเฉินให้ Windows แก้บั๊กแพตช์รอบเดือนมกราคม 2022 ไมโครซอฟท์ออกแพตช์ฉุกเฉินรอบพิเศษ Out-of-band (OOB) เพื่อแก้บั๊กที่เกิดจาก Patch Tuesday รอบเดือนมกราคม 2022 แพตช์ตัวนี้ครอบคลุม Windows 7 SP1/10/11 โดยแก้ปัญหาการเชื่อมต่อ VPN และ Windows Server 2008 SP2/2016/2022 แก้ปัญหาบูตลูปของ Windows Server Domain Controllers, ระบบไฟล์ ReFS และการทำงานของ Virtual Machine ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแพตช์ผ่าน Microsoft Update Catalog หรือถ้าเป็น Windows Update สามารถเลือกได้แบบ optional update ที่มา - Microsoft
# OnePlus 6/6T หมดระยะซัพพอร์ต ได้แพตช์สุดท้ายเดือน พ.ย. 2021 OnePlus ออกอัพเดตความปลอดภัยรอบเดือนพฤศจิกายน 2021 ให้อดีตเรือธง OnePlus 6 และ 6T ซึ่งจะเป็นอัพเดตตัวสุดท้ายของมือถือทั้งสองรุ่นนี้ (นับเป็นเวอร์ชันรอมคือ OxygenOS 11.1.2.2) ทีมงาน OnePlus ระบุว่า OnePlus 6/6T ได้อัพเดตระบบปฏิการมาแล้ว 3 เวอร์ชันใหญ่ และออกแพตช์ความปลอดภัยมาได้นาน 3 ปีกว่า (OnePlus 6 เปิดตัวปี 2018 มาพร้อม Android 8.1 Oreo) ก็ได้เวลาที่มือถือทั้งสองรุ่นหมดระยะซัพพอร์ตแล้ว ที่มา - OnePlus Forum, xda
# Xiaomi ประกาศ Redmi Note ขายได้แล้วกว่า 240 ล้านเครื่อง Xiaomi ประกาศผ่านบัญชีทวิตเตอร์ ว่าสมาร์ทโฟนตระกูล Redmi Note ขายได้แล้วมากกว่า 240 ล้านเครื่องทั่วโลก นับตั้งแต่ไลน์สินค้านี้เปิดตัว ก่อนหน้านี้ Xiaomi ประกาศยอดขาย Redmi Note ที่ 200 ล้านเครื่อง เมื่อ 8 เดือนที่แล้ว ทั้งนี้ Redmi Note 11 คือรุ่นล่าสุดในตระกูล Redmi Note แต่ยังไม่ได้วางขายทั่วโลก ขณะที่ภาพรวมนั้น Xiaomi เริ่มครองตลาดสมาร์ทโฟนมีส่วนแบ่งยอดขายเป็นเบอร์ 1 ในหลายประเทศแล้ว ที่มา: GSM Arena
# enom บริการขายโดเมนรายใหญ่ระบบล่ม พาโดเมนลูกค้าบางส่วนล่มตาม enom ผู้ให้บริการขายโดเมนรายใหญ่มีปัญหาตั้งแต่ช่วงสองทุ่มที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้โดเมนลูกค้าบางส่วน resolve ไม่ได้ ส่งผลเว็บเข้าไม่ได้และเมลส่งไม่ถึง ทาง enom ยังไม่ระบุว่าปัญหาเกิดจากอะไร แต่ตอนนี้ทีมงานปิดระบบอัพเดต DNS ไปทั้งหมดระหว่างกู้ระบบ เหลือบริการจดโดเมนใหม่ กับบริการต่ออายุโดเมนยังคงใช้งานได้ ที่มา - enom
# Telegram ล่มทั่วโลก วันนี้ตั้งแต่ช่วงสามทุ่มที่ผ่านมา ผู้ใช้ Telegram ทั่วโลกรายงานว่าไม่สามารถล็อกอินได้ โดยตอนนี้ยังไม่มีอัพเดตใดๆ จากทางบริษัทว่ารับรู้ปัญหาหรือยัง บัญชีทวิตเตอร์ของ Telegram เองยังตอบปัญหาอยู่บ้างหลังระบบล่ม แต่เมื่อมีคนทักไปจำนวนมากว่าระบบล่มก็กลับเงียบไป
# JAS ปฏิเสธ ไม่ได้รับการติดต่อ และไม่มีการพยายามขาย 3BB ให้กับ AIS หลังก่อนหน้านี้มีกระแสในโลกโซเชียลว่าบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS กำลังเตรียมขายกิจการ 3BB ให้กับบริษัท AIS จนอาจเกิดผลกระทบต่อราคาหุ้นได้ ล่าสุด JAS ทำจดหมายชี้แจงกับตลาดหุ้นแล้ว โดยระบุว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินการหรือมีพัฒนาการใดๆ ในเรื่องการขายธุรกิจบรอดแบนด์ของ 3BB รวมทั้งไม่ได้รับการติดต่อจาก AIS ปัจจุบัน 3BB คือผู้เล่นอันดับสองในตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในไตรมาส 3 ของปี 2021 มีผู้ใช้ทั้งหมด 3.6 ล้านราย จากทั้งตลาดราว 10 ล้านราย ส่วน AIS สิ้นไตรมาส 3 ปี 2021 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ AIS Fibre ราว 1.6 ล้านราย เป็นอันดับสามของตลาด หากมีการพยายามควบรวมกิจการจริง ยอดผู้ใช้งานก็จะแซง True Online ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของตลาดในปัจจุบัน คล้ายเป็นการเอาคืนการพยายามควบรวมกิจการของ Dtac กับ True ในตลาดเครือข่ายมือถือ ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร ที่มา - SET
# Amazon เลื่อนยกเลิกรับบัตรเครดิต Visa ในสหราชอาณาจักรจากเดิม 19 มกราคมนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เมื่อปลายปีที่แล้ว Amazon จะเลิกรับบัตรเครดิต Visa ที่ออกในสหราชอาณาจักรโดยให้เหตุผลเรื่องค่าธรรมเนียม ซึ่งจะมีผลในวันที่ 19 มกราคมนี้ แต่ล่าสุด Amazon กลับลำ โดยส่งอีเมลแจ้งลูกค้า Amazon.co.uk ในวันนี้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการรับบัตรเครดิต Visa จะยังไม่เกิดขึ้น ในอีเมลระบุว่า Amazon กำลังทำงานร่วมกับ Visa เพื่อหาทางออกร่วมกันในการใช้บัตรเครดิต Visa บนเว็บไซต์ Amazon.co.uk ซึ่งถ้าหากเว็บไซต์ Amazon.co.uk จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับบัตรเครดิต Visa ทาง Amazon จะแจ้งให้ลูกค้าทราบก่อนล่วงหน้า โดยตอนนี้ ลูกค้ายังคงสามารถใช้บัตรเครดิต Visa, บัตรเดบิต, Mastercard, American Express และ Eurocard ได้เหมือนเดิม หลังจากเว็บไซต์ TechCrunch สอบถามไปยัง Amazon และ Visa ก็ได้รับการยืนยันว่ามีความคืบหน้า (ในการเจรจาระหว่างบริษัท - ผู้แปล) แต่ทั้งสองบริษัทยังไม่ได้ให้รายละเอียดนอกเหนือจากนี้ ที่มา - TechCrunch
# GULF จับมือ Binance เตรียมศึกษาและจัดตั้งกระดานเทรดคริปโตในประเทศไทย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF บริษัทพลังงานรายใหญ่ในประเทศไทย ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าบริษัทกัลฟ์ อินโนวา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GULF ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ เตรียมจับมือกลุ่มธุรกิจ Binance เจ้าของ Binance.com เว็บไซต์กระดานเทรดคริปโตที่มีปริมาณซื้อขายมากที่สุดในโลก เพื่อศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ในจดหมายแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการลงนามบันทึกความร่วมมือนี้ บริษัทระบุว่าการทำข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เป็นไปเพราะบริษัทเล็งเห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการเงินของประเทศ และมีความสำคัญในชีวิตประชาชนมากขึ้น และการร่วมมือกับ Binance จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อคเชนของประเทศ ตัวแทนของ Binance ระบุกับเว็บไซต์สื่อ Bloomberg ว่าการทำข้อตกลงครั้งนี้เป็นก้าวแรกในการสำรวจโอกาสทางการลงทุนในประเทศไทย ส่วน GULF และตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย ยังไม่ให้ความเห็นใดอย่างเป็นทางการ ถือว่าเป็นก้าวที่น่าจับตา เพราะหากภาครัฐต้องการเก็บภาษีคริปโตอย่างจริงจัง การนำกระดานเทรดคริปโตต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างถูกต้องและมีการเสียภาษี พร้อมกับรายงานสถานะต่างๆ อย่างเป็นทางการ น่าจะเป็นอีกวิถีทางป้องกันเม็ดเงินไหลออกไปยังกระดานเทรดคริปโตนอกประเทศ ที่มา - จดหมายต่อตลาดหลักทรัพย์ของ GULF, Bloomberg
# สิงคโปร์ห้ามโฆษณาเทรดเงินคริปโตในพื้นที่สาธารณะ ห้ามจ้างอินฟลูเอนเซอร์ ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore - MAS) ออกแนวทางการให้บริการเงินคริปโตแก่สาธารณะ จำกัดการโฆษณา และจุดที่โฆษณาได้ก้ต้องแจ้งความเสี่ยง MAS ระบุว่าการซื้อขายเงินคริปโตนั้นเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและไม่เหมาะกับคนทั่วไป ทำให้ต้องห้ามโฆษณาในพื้นที่สาธารณะ เช่น ขนส่งมวลชน, ป้ายโฆษณา, สื่อสิ่งพิมพ์, เว็บไซต์, หรืองานอีเวนต์ต่างๆ รวมถึงห้ามจ้างอินฟลูเอนเซอร์ทั้งแบบบุคคลและเว็บไซต์ต่างๆ ในการโปรโมทบริการ ผู้ให้บริการยังคงสามารถโฆษณาในพื้นที่ของตัวเองได้ เช่น เว็บไซต์ของบริษัท, ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของบริษัทเอง แต่การโฆษณานั้นต้องไม่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าความเสี่ยงการซื้อขายเงินคริปโตต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากการห้ามโฆษณาแล้ว MAS ยังห้ามให้บริการบางประเภทเช่นการให้บริการตู้เอทีเอ็มเงินคริปโตเนื่องจากเป็นการกระตุ้นให้คนลงทุนโดยไม่ทันคิดถึงความเสี่ยง ที่มา - MAS
# บั๊ก IndexedDB บน Safari 15 ทำให้เว็บไซต์ดูประวัติเข้าเว็บ และดู Google User ID ของผู้ใช้ได้ FingerprintJS เปิดเผยบั๊กบน IndexedDB API ใน Safari 15 ที่ทำให้เว็บไซต์มุ่งร้ายสามารถดู ติดตามประวัติเข้าเว็บของผู้ใช้ และดู Google User ID ของผู้ใช้ได้ มีผลทั้งบน Mac, iOS และ iPadOS บั๊กนี้ทำให้เว็บไซต์สามารถมองเห็นชื่อดาต้าเบสบน IndexedDB ของโดเมนใดก็ได้ ไม่ใช่แค่ดาต้าเบสที่สร้างโดยชื่อโดเมนของตัวเอง และชื่อดาต้าเบสที่หลุดนี้ก็สามารถนำไปหาประวัติการเข้าเว็บไซต์ได้โดยการเก็บรายละเอียดชื่อดาต้าเบสของเว็บไซต์ชั้นนำแต่ละเว็บ แล้วใช้ lookup table เทียบ ข้อจำกัดของช่องโหว่นี้คือเว็บมุ่งร้ายจะเช็คได้ว่าผู้ใช้เคยเข้าเว็บปลายทางหรือไม่ เว็บปลายทางต้องเป็นเว็บที่สร้าง IndexedDB เองเท่านั้น ซึ่งทาง FingerprintJS ระบุว่าในรายการเว็บ Alexa 1,000 เว็บแรก มีอยู่ 30 กว่าเว็บที่สร้าง IndexedDB เองโดยผู้ใช้ไม่ได้เข้าใช้ฟีเจอร์อะไรเป็นพิเศษ อีกปัญหาหนึ่งคือเมื่อผู้ใช้ล็อกอินเข้าสู่บัญชี Google บน Safari ตัว Google services ก็จะสร้างดาต้าเบสใน IndexedDB ไว้หนึ่งรายการต่อหนึ่งแอคเคาท์ที่ล็อกอินไว้ โดยชื่อดาต้าเบสนั้นจะไปตรงกับเลข Google User ID ของผู้ใช้ เมื่อเว็บไซต์ต่างๆ สามารถดูชื่อดาต้าเบสของผู้ใช้ได้ แปลว่าเว็บที่มุ่งร้ายก็สามารถรู้ Google User ID ของผู้ใช้ได้ และเลข Google User ID นี้ ก็สามารถถูกนำไปใช้สร้าง API request ส่งไปยัง Google services เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวอื่นของผู้ใช้ได้เช่นกัน ในเว็บตัวอย่างที่ FingerprintJS สร้าง ตัวเว็บจะสามารถดึงภาพโปรไฟล์บนบัญชี Google ของผู้ใช้ได้ และมี lookup table ไว้เทียบประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ประมาณ 30 เว็บ ถ้าใครอยากทดสอบ ลองเปิดเว็บไซต์ตัวอย่างนี้ใน Safari 15 แล้วเช็คดูว่าเว็บนี้สามารถดึงข้อมูลอะไรจาก Safari ของคุณได้บ้าง FingerprintJS ระบุว่าแจ้งบั๊กนี้ไปใน WebKit Bug Tracker แล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน ปี 2021 เป็นบั๊กหมายเลข 233548 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไข คงต้องรอดูต่อไปว่า Apple จะดำเนินการเมื่อไร ที่มา - FingerprintJS
# [ลือ] แว่น VR/AR ของ Apple อาจชื่อ Apple Vision ชิประดับ M1 Pro ราคาแพงกว่า 2,000 ดอลลาร์ Mark Gurman นักข่าวสายไอทีจาก Bloomberg ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในจดหมายข่าว Power On ของเขา เกี่ยวกับแว่น VR/AR ของ Apple ว่าอาจมีราคาสูงเกิน 2,000 ดอลลาร์ (ราว 66,500 บาท) เนื่องจากเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ค่อนข้างใหม่ Gurman ระบุว่าชิปประมวลผลในตัวแว่นจะมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับชิป M1 Pro พร้อมจอ 8K ในแต่ละตา มีตัวเลือกเลนส์ปรับค่าสายตาที่ปรับเปลี่ยนได้ (interchangeable prescription lens) และมีระบบเสียงที่ซับซ้อน เขาระบุว่าแว่น VR/AR ของ Apple น่าจะโฟกัสไปที่การเล่นเกม และการรับชมสื่อต่างๆ ที่ Apple น่าจะเตรียมสร้างร่วมกับพาร์ทเนอร์ในรูปแบบ VR รวมไปถึงการสนทนา เช่น Facetime แบบ VR และตัวแว่นจะมี App Store เป็นของตัวเอง ส่วนเรื่องชื่อของผลิตภัณฑ์ Gurman เดาไว้สามทางคือ Apple Vision มีความเป็นไปได้มากที่สุด รองลงมาเป็น Apple Reality และ Apple Sight ที่อิงมาจากกล้องเว็บแคม Apple iSight ที่เปิดตัวเมื่อ 15 ปีก่อน อีกสองชื่อคือ Apple Lens หรือ Apple Goggles และมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดตัวช่วงงาน WWDC ปีนี้ หรืออย่างช้า ภายในปี 2023 ภาพแว่น VR ทั่วไป จาก Pixabay ที่มา - 9to5Mac
# สิงคโปร์อนุญาตให้ออกใบรับรอง COVID-19 แบบ ATK จากที่บ้าน อาศัยการถ่ายวิดีโอให้ผู้เชี่ยวชาญดู สิงคโปร์เริ่มโครงการทดสอบการออกใบรับรองผลตรวจ COVID-19 แบบ ATK จากที่บ้าน จากเดิมผู้ที่ต้องการใบรับรอง (เช่นเตรียมขึ้นเครื่องบิน) ต้องเดินทางไปตรวจตามศูนย์ตรวจเท่านั้น การขอใบรับรองการตรวจ ATK นี้ ผู้รับการตรวจต้องเปิดวิดีโอคอลล์ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบการเก็บผลตลอดเวลา ผู้รับการตรวจต้องเตรียมชุด ATK ด้วยตัวเอง ผู้เชี่ยวชาญจะยืนยันว่าชุดตรวจยังอยู่ในซีลก่อนเริ่มตรวจ มีการตรวจเอกสารประจำตัว และระหว่างการเก็บตัวอย่างต้องยืนยันว่าได้แยงไม้ swab เข้าไปลึกพอ ตอนนี้บริษัทที่ให้บริการรูปแบบนี้ยังมีเพียงบริษัทเดียวคือ Doctor Anywhere การตรวจแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 30 นาที และมีค่าใช้จ่าย 12.84 ดอลลาร์สิงคโปร์ ที่มา - Strait Times, Doctor Anywhere
# [ลือ] มือถือจอพับได้ของกูเกิลอาจชื่อ Pixel Notepad, อาจตั้งราคาถูกกว่า Galaxy Z Fold 3 เว็บไซต์ 9to5google อ้างข่าวลืออุปกรณ์จอพับได้จากกูเกิล ที่เดิมทีเราเรียกมันว่า "Pixel Fold" แต่ข้อมูลล่าสุดของ 9to5google บอกว่าอาจชื่อ "Pixel Notepad" แทน แหล่งข่าวของ 9to5google ยังให้ข้อมูลว่าเดิมกูเกิลสนใจชื่อ Pixel Logbook แต่สุดท้ายตัดสินใจใช้ชื่อ Pixel Notepad แทน อย่างไรก็ตาม ชื่อสินค้าจริงๆ ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ แหล่งข่าวยังบอกด้วยว่า Pixel Notepad อาจตั้งราคาถูกกว่าที่คาดกัน โดยจะตั้งราคาต่ำกว่า Galaxy Z Fold 3 ที่ปัจจุบันราคา 1,799 ดอลลาร์ ถ้าข่าวนี้เป็นจริงก็ถือว่าสอดคล้องกับทิศทางของ Pixel 6 ที่ตั้งราคาถูกกว่าที่หลายคนคาด ที่มา - 9to5google หน้าตาของอุปกรณ์จอพับได้ ที่พบในโค้ดของ Android 12L
# พบเกม PS3 โผล่ในสโตร์ของ PS5, ยืนยันข่าวลือบริการใหม่ PS5 เล่นเกมเจนเก่าได้ มีผู้เล่น PS5 บางรายเริ่มพบเกมจาก PS3 โผล่ขึ้นมาใน PlayStation Store ของ PS5 แล้ว แม้ยังไม่สามารถกดซื้อเกมได้ในตอนนี้ เดิมทีหากผู้เล่น PS5 ค้นหาเกมจาก PS3 จะเจอเกมเวอร์ชันสตรีมมิ่งผ่าน PlayStation Now เพราะ PS5 ไม่รองรับการเล่นเกมจาก PS3 โดยตรง แต่ล่าสุดมีผู้เล่นหลายคนเจอเกม PS3 เวอร์ชันมีราคาเป็นรายเกม รวมถึงเจอเกม PS3 ที่ไม่เคยมีบน PS Now ด้วย ตัวอย่างเกมที่ถูกพบคือ Dead or Alive 5, Prince of Persia: The Forgotten Sands, Bejeweled 3 เป็นต้น การพบเกม PS3 สอดคล้องกับข่าวลือก่อนหน้านี้ว่าโซนี่กำลังพัฒนาบริการใหม่มาแข่งกับ Xbox Game Pass โดยจะยุบรวม PlayStation Now เข้ากับ PlayStation Plus และเพิ่มการเล่นเกมจากคอนโซลยุคเก่าเข้ามา คาดว่าบริการใหม่จะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ ที่มา - VGC, Eurogamer
# ผู้กำกับ God of War เผยเบื้องหลัง สตูดิโอภายในโซนี่ช่วยกันกดดัน จนโซนี่ยอมทำเกมพีซี เกม God of War เพิ่งวางขายเวอร์ชันพีซีเมื่อวานนี้ 15 มกราคม ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในแง่เสียงวิจารณ์ (เกือบทุกสำนักชมการพอร์ตเวอร์ชันพีซีที่ทำออกมาได้ดี) และยอดขาย-จำนวนผู้เล่นบน Steam ทะลุ 60,000 คน การเปิดตัว God of War เวอร์ชันพีซี ทำให้เราได้ทราบถึงเบื้องหลังการผลักดันให้เกมของ PlayStation ขยายฐานมาสู่ชาวพีซีด้วย โดย Cory Barlog ผู้บริหารของสตูดิโอ Santa Monica ในสังกัดโซนี่ และผู้กำกับเกมภาคนี้ ออกมาให้สัมภาษณ์และเผยข้อมูลว่าจริงๆ แล้วเป็นสตูดิโอในเครือโซนี่ต่างหาก ที่เป็นฝ่ายผลักดันโซนี่ให้ออกเกมเวอร์ชันพีซี Barlog ได้รับคำถามว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้โซนี่ตัดสินใจมาบุกตลาดพีซี คำตอบของเขาคือ "พวกเรา" (หมายถึงสตูดิโอในสังกัด) ช่วยกันเสนอผู้บริหารโซนี่ว่านี่เป็นสิ่งที่ควรทำ เขากล่าวแบบติดตลกว่าช่วยกันเสนอซ้ำๆ ผ่านทุกช่องทางที่ทำได้ จนผู้บริหารโซนี่ทนไม่ไหว แล้วบอกว่า "ทำก็ได้" อย่างไรก็ตาม Barlog บอกว่าไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกมภาคต่อ God of War Ragnarok ที่จะออกภายในปี 2022 (เขาเป็นโปรดิวเซอร์ ไม่ได้กำกับแล้ว) จะออกเวอร์ชันพีซีด้วยหรือไม่ โดยเขาบอกว่าโซนี่ตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่เป็นรายเกมไป Barlog ยังบอกว่าเขาพยายามรักษาเนื้อเรื่องและรายละเอียดของเกมต้นฉบับไว้ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรในเวอร์ชันพีซี ซึ่งเน้นไปที่กราฟิกและรองรับการควบคุมด้วยเมาส์-คีย์บอร์ดเพิ่มเข้ามา โดย Matt DeWald ผู้บริหารฝ่ายเทคนิคของเกมบอกว่าเขาเล่นเกมด้วยเมาส์และคีย์บอร์ดเกือบตลอดเวลา แฟนๆ จึงสบายใจได้ว่าเล่นได้ดีแน่นอน เขายังเล่าด้วยว่าถึงแม้อัพเกรดภาพให้แสดงผลบนจอใหญ่ Ultrawide ที่เฟรมเรต 60 fps และรองรับ NVIDIA Reflex ให้ตอบสนองได้รวดเร็ว เขาก็ยังเล่นไม่ผ่านบอส Valkyrie Queen ซึ่งเป็นหนึ่งในบอสที่ยากที่สุดของเกมอยู่ดี ที่มา - Game Informer
# ทวิตเตอร์สรรพากรไทยถูกแฮก แฮกเกอร์ระบุรับโฆษณา NFT ทวิตเตอร์กรมสรรพากรไทย @RevenueDept ถูกแฮกเกอร์ยึดบัญชี ลบทวีตออกทั้งหมด แล้วประกาศรับโฆษณาโครงการ NFT ตัวแฮกเกอร์ไม่ได้ประกาศแรงจูงใจอื่น หลังก่อนหน้านี้กรมสรรพากรระบุว่าการจัดเก็บภาษีคริปโตต้องจ่าย 15% ทุกรายการโดยไม่หักรายการที่ขาดทุน
# ของที่ระลึก Tesla บางรายการ เปลี่ยนมารับเฉพาะ Dogecoin แล้ว Elon Musk ซีอีโอ Tesla เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่าร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของ Tesla สามารถจ่ายเงินซื้อสินค้าด้วย Dogecoin ได้แล้ว อย่างไรก็ตามไม่ใช่สินค้าทุกรายการที่สามารถจ่ายเป็น Dogecoin ได้ แต่มีเฉพาะบางรายการเท่านั้น เช่น รถ Cyberquad สำหรับเด็ก ราคา 12020 Doge, หัวเข็มขัด Giga Texas 835 Doge หรือนกหวีด Cyberwhistle 300 Doge ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไม่มีตัวเลือกจ่ายเป็นสกุลเงินดอลลาร์ด้วย คนที่ติดตามคริปโตต่างทราบอยู่แล้วว่า Elon Musk ถือเป็นผู้สนับสนุน Dogecoin คนสำคัญ เมื่อปีที่แล้วเขาก็ประกาศว่าจะร่วมปรับปรุงเหรียญนี้ ให้มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานดีขึ้น ที่มา: The Verge
# แอปเปิลยอมปฏิบัติตามคำสั่งเนเธอร์แลนด์ ให้แอพหาคู่เดทใช้ระบบจ่ายเงินค่ายอื่นได้ ต่อจากข่าว เนเธอร์แลนด์สั่งแอปเปิลเปิดเสรีระบบจ่ายเงินบน App Store สำหรับแอพหาคู่เดต แอปเปิลออกมาประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของ Authority for Consumers and Markets (ACM) หน่วยงานด้านการแข่งขันของเนเธอร์แลนด์ โดยจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาล อย่างไรก็ตาม ระหว่างกระบวนการอุทธรณ์ แอปเปิลก็ระบุว่าจะยอมปฏิบัติตามคำสั่งของ ACM ไปก่อน สิ่งที่แอปเปิลจะทำคือ จะเปิดให้แอพหาคู่เดทใน App Store ของเนเธอร์แลนด์ ใช้ระบบจ่ายเงินอื่นได้ โดยนักพัฒนาจะต้องยื่นคำขอไปยังแอปเปิล และต้องแยกไฟล์ไบนารีที่ส่งขึ้นสโตร์ด้วย ก่อนหน้านี้ แอปเปิลเพิ่งประกาศยอมปฏิบัติตามกฎหมายของเกาหลีใต้ ที่บังคับให้ต้องเปิดเสรีระบบจ่ายเงินเช่นกัน ที่มา - Apple, ภาพจาก App Store Netherlands
# อะไรๆ ก็แพง ผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์บอก AMD ขึ้นราคาซีพียู Epyc อีก 10-30% นักวิเคราะห์การเงินจากบริษัทหลักทรัพย์ Mizuho Securities อ้างข้อมูลจากบริษัทเซิร์ฟเวอร์ Inspur Systems ว่า AMD ขึ้นราคาซีพียูเซิร์ฟเวอร์ Epyc อีก 10-30% สำหรับลูกค้าในช่วงหลังๆ เมื่อเจอปัจจัยซีพียูขาดแคลน ทำให้ลูกค้าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมรับราคาใหม่นี้ (take it or leave it) ไม่อย่างนั้นไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะสั่งซื้อซีพียูได้อีกเมื่อไร นอกจากนี้ Inspur Systems ยังประเมินว่าซีพียูคู่แข่ง Xeon Sapphire Rapids ของอินเทล จะเลื่อนวันส่งมอบจริงเป็นไตรมาส 3 ของปีนี้ ทำให้ Eypc Milan ของ AMD ครองตลาดช่วงครึ่งแรกของปีได้ยาวๆ เลย โฆษกของ AMD ปฏิเสธไม่แสดงความเห็นต่อข่าวการขึ้นราคาครั้งนี้ ที่มา - Tom's Hardware
# Hitman Trilogy จัดชุดขายยกไตรภาค, รองรับ VR บนพีซี, เปิดให้เล่นบน Game Pass สตูดิโอเกมจากเดนมาร์ก IO Interactive เจ้าของเกมซีรีส์ Hitman ออกมาประกาศข่าวการอัพเดตเกม Hitman 3 ภาคล่าสุด และไตรภาค Hitman ที่จับมัดขายเป็นชุดแล้ว ดังนี้ Hitman Trilogy เกม Hitman ไตรภาคใหม่ World of Assassination (2016-2021) ถูกนำมาจัดเป็นชุดในชื่อ Hitman Trilogy วางขายบนทุกแพลตฟอร์ม โดย Hitman 3 เวอร์ชันพีซีเปิดขายบน Steam แล้ว หลังเป็นเอ็กซ์คลูซีฟบน Epic Store นาน 1 ปีเต็ม ชุดไตรภาค Hitman Trilogy จะเปิดให้เล่นฟรีบน Xbox Game Pass และ PC Game Pass ในวันที่ 20 มกราคม 2022 Hitman ทั้งสามภาค รองรับการเล่นผ่านแว่น VR บนพีซี โดยปรับปรุงวิธีควบคุมเกม ให้สามารถต่อสู้ ปามีด ยิงปืน ด้วย 2 มือได้ Hitman ทั้งสามภาค จะรองรับ Ray Tracing ที่ระดับเอนจินเกม (Glacier Engine ของตัวเอง) ในช่วงกลางปีนี้ โดย IO Interactive ยังจะเป็นพาร์ทเนอร์กับ Intel Arc รองรับเทคโนโลยีอัพสเกลภาพ XeSS ด้วย Hitman 3 เพิ่มโหมดใหม่ Elusive Target Arcade ตามล่าสังหารเป้าหมายตามที่กำหนด ถ้าล้มเหลวต้องรอ 12 ชั่วโมง ถึงสามารถแก้มือได้อีกครั้ง ประกาศโหมดใหม่ Freelancer ให้อิสระการเล่นกว้างขึ้น ตัวเอก Agent 47 มีบ้านของตัวเอง ต้องวางแผนสังหารเอง (เลือกภารกิจใดก่อนก็ได้) เตรียมอุปกรณ์-อาวุธเองทั้งหมดก่อนเดินทาง (ต่างจากโหมดปกติที่เริ่มมาก็อยู่ในสถานที่ตามภารกิจเลย) อาวุธที่ซื้อหามาสามารถเก็บสะสมใช้ในงานต่อไป หรือจะหายไปถ้าเราทำตกหรือตายในภารกิจนั้น โหมดนี้จะปล่อยให้เล่นช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2022 ที่มา - IO Interactive
# Chrome หยุดซัพพอร์ต U2F API รุ่นเดิม ย้ายไป WebAuthn เพื่อล็อกอินด้วย USB Key Universal 2nd Factor (U2F) เป็นมาตรฐานความปลอดภัยแบบ 2 ปัจจัยที่ผลักดันโดยกูเกิลและ Yubico มาตั้งแต่ปี 2014 โดยเน้นที่การยืนยันตัวตนด้วยอุปกรณ์ USB key ภายหลังการยืนยันตัวตนด้วย USB key แพร่หลายมากขึ้น เกิดกลุ่ม FIDO Alliance ที่มีองค์กรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สุดท้ายผลักดันให้เกิดมาตรฐานใหม่ Web Authentication หรือ WebAuthn ของ W3C ที่ใช้ล็อกอินเว็บโดยไม่ต้องใช้รหัสผ่านแบบเดิม ขึ้นมาทดแทน (จะมองว่า WebAuthn คือ U2F API เวอร์ชัน 2 ก็ได้) ในฐานะเบราว์เซอร์ของกูเกิล Chrome รองรับ U2F API มาตั้งแต่เวอร์ชัน 38 และภายหลังก็รองรับ WebAuthn เพิ่มตามมาในเวอร์ชัน 67 แต่หลังจากรองรับ API ทั้งสองตัวคู่กันมาสักระยะหนึ่ง ก็ได้เวลาที่ Chrome จะหยุดสนับสนุน U2F API ใน Chrome 98 ที่จะออกเดือนกุมภาพันธ์ 2022 กูเกิลประกาศข่าวนี้ตั้งแต่กลางปี 2021 โดยนักพัฒนาเว็บไซต์ที่รองรับเฉพาะ U2F API จำเป็นต้องปรับโค้ดมาใช้ WebAuthn แทน (ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่เยอะนัก) ส่วนผู้ใช้ก็สามารถใช้ USB key อันเดิมล็อกอินได้เลย (ฮาร์ดแวร์ไม่ได้ล้าสมัย เลิกใช้เฉพาะตัว API ของเดิม) ที่มา - The New Stack
# คนมันรวยช่วยไม่ได้ กูเกิลซื้อตึกสำนักงานกลางกรุงลอนดอน 3.3 หมื่นล้านบาท กูเกิลประกาศซื้อตึกสำนักงาน Central Saint Giles กลางกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานกูเกิลในสหราชอาณาจักรอยู่แล้ว ด้วยมูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ (3.3 หมื่นล้านบาท) พร้อมลงทุนปรับปรุงอาคารให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ตัวตึก Central Saint Giles ถือว่าอยู่ในทำเลทองกลางกรุงลอนดอน ใกล้กับ British Museum, ตลาด Covent Garden และย่านโรงละคร West End จึงไม่น่าแปลกใจที่มีราคาสูงมาก ตัวตึกยังออกแบบภายนอกใช้สีสันสดใสเป็นเอกลักษณ์ ในพื้นที่มีทั้งอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย ร้านอาหาร กูเกิลบอกว่าปัจจุบันมีพนักงานในสหราชอาณาจักร (รวมทุกสำนักงาน) 6,400 คน และตอนนี้มีพื้นที่สำนักงานเพียงพอสำหรับการขยายเป็น 10,000 คนในอนาคต บริษัทย้ำว่าแนวทางการทำงานควรเป็นแบบไฮบริด มีทั้งเข้าออฟฟิศและทำงานจากที่บ้านผสมผสานกันไป ที่มา - Google
# Apple เปลี่ยนใจ (?) ผู้ใช้ iOS 14 ต้องอัพเป็น iOS 15 เท่านั้น เลือกอยู่ iOS 14 ต่อไม่ได้แล้ว ก่อนหน้านี้เมื่อแอปเปิลเปิดตัว iOS 15 ได้พูดถึงทางเลือกว่าผู้ใช้งาน iOS 14 ระบบปฏิบัติการเวอร์ชันก่อนหน้า สามารถเลือกได้ว่าจะอัพเดตเฉพาะแพตช์ความปลอดภัย โดยไม่ต้องอัพเดตเป็น iOS 15 ก็ได้ ในหน้าคุณสมบัติของ iOS 15 เองก็ระบุไว้ดังนี้ แอปเปิลเองก็ออกอัพเดตทางเลือกนี้ใน iOS 14.8.1 หลังจากมีอัพเดต iOS 15.1 ทำให้ผู้ใช้ iOS 14.8 เลือกได้ว่าจะอัพเดตอันไหน อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าตอนนี้ผู้ใช้ iOS 14.8 ไม่มีทางเลือกแล้ว โดยเมื่อเข้าหน้าอัพเดต จะไม่มีตัวเลือก iOS 14.8.1 แต่มีเพียง iOS 15.2.1 ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุดเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์นี้เหมือนกับช่วง iOS 15.2 ออกมา ยังไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการจากแอปเปิล ว่าตอนนี้ตัวเลือกอัพเดตเฉพาะแพตช์ความปลอดภัยแล้วอยู่กับ iOS 14 ต่อไป จะยังคงมีหรือไม่ ที่มา: MacRumors
# ไมโครซอฟท์ปิดเซิร์ฟเวอร์ Halo บน Xbox 360 หลังเปิดมานานเกือบ 15 ปี สัปดาห์ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ปิดเซิร์ฟเวอร์ของเกม Halo บนเครื่อง Xbox 360 ส่งผลให้เกม Halo 3, Halo 3: ODST, Halo Reach, Halo 4 เวอร์ชัน Xbox 360 ไม่สามารถเล่นมัลติเพลเยอร์แบบออนไลน์ได้อีกต่อไป (เกมเหล่านี้ที่เป็นเวอร์ชัน Halo: the Master Chief Collection ยังเล่นออนไลน์ได้ แต่มีเฉพาะบน Xbox One, Xbox Series X|S, PC เท่านั้น) การปิดเซิร์ฟเวอร์ครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเซิร์ฟเวอร์เปิดมานานเกือบ 15 ปี นับตั้งแต่ Halo 3 ออกวางขายช่วงปลายปี 2007 ส่งผลให้ผู้เล่นที่ยังมีเครื่อง Xbox 360 เข้ามาเล่นระลึกความหลังกันในวันท้ายๆ รวมถึงช่วยกันเก็บ badge หรือ achievement เป็นที่ระลึกด้วย (ตัวอย่างคือ achievement ชื่อ Two for One ต้องยิงคู่ต่อสู้ 2 คนให้ตายด้วยเลเซอร์นัดเดียว หรืออีกอันที่ต้องขโมยรถจากผู้เล่นคนอื่นกลับคืนภายใน 10 วินาที) ทำให้ผู้เล่นเข้ามาช่วยกันให้ทำภารกิจเหล่านี้ได้สำเร็จ ซึ่งทำได้ยากมากในเกมปกติ ที่มา - Reddit, Kotaku
# Google TV และ Android TV มีอุปกรณ์ใช้งาน 110 ล้านเครื่อง, เตรียมเพิ่มฟีเจอร์สมาร์ทโฮม-ฟิตเนส Rob Caruso ผู้บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ Google TV ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Protocol เผยสถิติและทิศทางในอนาคตดังนี้ ตอนนี้มีอุปกรณ์ที่ใช้งาน Android TV + Google TV ประมาณ 110 ล้านเครื่อง มีแบรนด์สินค้าร่วมสนับสนุน 250 แบรนด์ (นับรวมทั้งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ทีวี และผู้ให้บริการเคเบิล/ทีวีแบบเสียเงิน) มุมมองของกูเกิลคือผลักดันให้ใช้ Google TV ในระยะยาว (ในทางเทคนิคคือ Android TV + UI ครอบจากกูเกิล) แต่ก็ยังสนับสนุน Android TV ต่อไปเช่นเดิม การใช้งานฟีเจอร์ Universal Search และ Discovery ต้องได้รับคำยินยอมจากบริการสตรีมมิ่งแต่ละตัวด้วย เช่น Netflix ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ Google TV สามารถเพิ่มรายการหนัง-ซีรีส์ลงใน watchlist ของระบบ กูเกิลสนใจพัฒนาฟีเจอร์ควบคุมสมาร์ทโฮม และฟีเจอร์ด้านฟิตเนสให้ Google TV โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ตอนนี้ Google TV รองรับวิดีโอคอลล์ Duo ตั้งแต่ปี 2020 และสนใจรองรับตัวอื่นเพิ่ม ตัวเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้คือ Zoom ที่มา - Protocol
# Pixel 6 ได้อัพเดตแพตช์รอบเดือนมกราคม 2022 แล้ว หลังจากโดนเลื่อนมานาน ในที่สุด กูเกิลก็ออกแพตช์ประจำรอบเดือนมกราคม 2022 ให้ Pixel 6 แล้ว หลังมีปัญหากับแพตช์รอบเดือนธันวาคม 2021 จนต้องหยุดปล่อยแพตช์ และออกแพตช์เดือนมกราคมของ Pixel 6 ล่าช้ากว่า Pixel รุ่นเก่าๆ การออกแพตช์ครั้งนี้เท่ากับว่า มือถือ Pixel 6 เครื่องที่ไม่ได้อัพเดตแพตช์เดือนธันวาคม จะอัพข้ามมาเป็นเดือนมกราคมทีเดียวเลย รายการแก้บั๊กของแพตช์รอบเดือนมกราคม มีตั้งแต่บั๊กโทรเบอร์ฉุกเฉินไม่ได้ ถ้ามี Microsoft Teams ติดตั้งอยู่, ปัญหา Wi-Fi สัญญาณหลุด, ปัญหา UI หลายจุด เป็นต้น ปัญหาของ Pixel 6 ในอัพเดตรอบเดือนหลังๆ ทำให้กูเกิลถูกวิจารณ์เรื่องคุณภาพของซอฟต์แวร์ ถึงขนาดรีวิวเวอร์ชื่อดัง MKBHD ถึงกับประกาศว่าเขาถอดซิมออกแล้วกลับไปใช้ Galaxy S21 Ultra แทนก่อน ที่มา - 9to5google
# Netflix ขึ้นราคาสมาชิกอีกครั้ง มีผลในอเมริกาและแคนาดา Netflix ประกาศขึ้นราคาค่าสมาชิก มีผลเฉพาะในสหรัฐฯ และแคนาดา โดยราคาแต่ละแพ็คเกจปรับขึ้นจากเดิม 8.99, 13.99 และ 17.99 ดอลลาร์ต่อเดือน เป็นราคาใหม่ 9.99, 15.49 และ 19.99 ดอลลาร์ ตามลำดับ โฆษกของ Netflix ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการปรับราคานี้ เพื่อให้ Netflix สามารถนำเสนอความบันเทิงคุณภาพ ในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง Netflix ขึ้นราคาเฉพาะในอเมริกามาก่อนหน้านี้แล้วสองครั้งในปี 2019 และปี 2020 แม้ระยะสั้นอาจเสียสมาชิกไปบ้าง แต่ดูเหมือนเวลาผ่านไปจำนวนสมาชิกก็ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น ที่มา: CNBC
# รัสเซียจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่ม REvil ผู้สร้าง ransomware ที่อาละวาดทั่วโลก Federal Security Service (FSB) หน่วยงานความมั่นคงรัฐบาลกลางรัสเซียแถลงจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังมัลแวร์เรียกค่าไถ่ REvil ที่บุกเครือข่ายบริษัททั่วโลก โดยเฉพาะการแฮกบริษัท Kaseya ผู้ผลิตซอฟต์แวร์จัดการระบบไอที ทำให้มีบริษัทที่ใช้บริการตกเป็นเหยื่ออีกนับพันราย การจับกุมครั้งนี้ทาง FSB บุกค้นสถานที่ 25 แห่ง จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 14 คน พร้อมกับยึดทรัพย์สินเป็นเงินคริปโตและเงินสดมูลค่าหลายร้อยล้านบาท, รถหรู 29 คัน, คอมพิวเตอร์, และกระเป๋าเงินคริปโต เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีข่าวว่าสหรัฐฯ เจาะเซิร์ฟเวอร์ของกลุ่ม REvil ได้สำเร็จ แต่ข่าวการจับกุมครั้งนี้ไม่ได้ระบุว่าได้ข้อมูลมาจากสหรัฐฯ หรือไม่ บอกเพียงว่า FSB ได้แจ้งทางสหรัฐฯแล้ว ที่มา - Bleeping Computer ภาพโดย B_A
# Apple รายงานตัวเลข ผู้ใช้ iPhone อัพเดตเป็น iOS 15 แล้ว 63% ของผู้ใช้ทั้งหมด แอปเปิลรายงานตัวเลขส่วนแบ่งผู้ใช้งาน iOS 15 เทียบกับระบบปฏิบัติการเวอร์ชันก่อนหน้าเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ iOS 15 เปิดให้อัพเดตทั่วไปตั้งแต่เดือนกันยายน โดย iOS 15 มีผู้ใช้งาน 72% ของผู้ใช้ iPhone รุ่นที่ไม่เกิน 4 ปีทั้งหมด ส่วน iOS 14 มี 26% ถ้าหากเทียบกับผู้ใช้ iPhone ทั้งหมดที่ยังแอคทีฟ ตัวเลข iOS จะเป็น 63% ส่วน iPadOS 15 มีผู้ใช้งาน 57% ของผู้ใช้ iPad รุ่นที่ไม่เกิน 4 ปี และ iPadOS 14 มี 39% ตัวเลขนี้น้อยลงไปอีกหากเทียบกับ iPad ทั้งหมดที่ยังแอคทีฟ โดย iPadOS 15 คิดเป็น 49% ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ iPad ทั้งหมด ตัวเลขนี้สะท้อนว่าจำนวนคนอัพเดตมาเป็น iOS 15 ช้ากว่า iOS 14 ปีที่แล้ว เพราะเมื่อดือนธันวาคม 2020 แอปเปิลรายงานตัวเลข iOS 14 ที่ 81% สำหรับ iPhone รุ่นไม่เกิน 4 ปี ที่มา: MacRumors
# Humble Bundle ปรับแพ็กเกจสมาชิกรายเดือน ออกไคลเอนต์ใหม่ เลิกซัพพอร์ตแมค-ลินุกซ์ ร้านขายเกม Humble Bundle มีแพ็กเกจ subscription รายเดือนที่สมาชิกจะได้รับเกมฟรีจำนวนหนึ่งต่อเดือน (ลักษณะคล้ายๆ PlayStation Plus) ใช้ชื่อแพ็กเกจว่า Humble Choice มาสักระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุด Humble Bundle ปรับโครงสร้างแพ็กเกจ Choice ที่เดิมมีหลายระดับราคา ซับซ้อนเข้าใจยาก เหลือราคาเดียว 11.99 ดอลลาร์ต่อเดือน (129 ดอลลาร์ต่อปี) สมาชิกจะได้รับ เกมฟรีประจำเดือน กดรับสิทธิของเดือนนั้นแล้วได้เกมไปถาวรเลย ส่วนลดการซื้อเกมใน Humble Store 10-20% (ขึ้นกับอายุสมาชิก ยิ่งนานยิ่งลดเยอะ) Humble Games Collection ของใหม่ในการปรับแพ็กเกจรอบนี้ มันคือสิทธิการเล่นเกมฟรีตลอดอายุสมาชิก (เหมือนกับ Game Pass คือไม่ต่ออายุแล้วหมดสิทธิเล่น) การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กลับมีประเด็นขัดแย้งคือ Humble Games Collection ซึ่งเดิมที Humble Choice มีสิทธินี้อยู่แล้วในชื่อบริการ Humble Trove แต่เปลี่ยนชื่อใหม่ แถมบริการใหม่จำเป็นต้องใช้แอพ Humble ตัวใหม่ที่มีเฉพาะบนวินโดวส์เท่านั้น เท่ากับว่าสมาชิก Humble ที่ใช้แมคหรือลินุกซ์ (ที่ใช้กับ Trove ได้) จะเสียสิทธิตรงนี้ไปเลย สมาชิก Humble Choice ในปัจจุบันจึงตั้งคำถามตามกระทู้ Reddit หรือช่องทางอื่นๆ ซึ่งทาง Humble Bundle ก็ยังไม่ออกมาชี้แจงเหตุผลว่าเพราะอะไรจึงเลือกทำแต่ไคลเอนต์วินโดวส์อย่างเดียว ที่มา - Humble Bundle, Kotaku
# อดีตหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยไซเบอร์ Uber ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงเพิ่มเติม จากการปกปิดเหตุถูกแฮก Joseph Sullivan อดีตหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยไซเบอร์ (Chief Security Officer) ของ Uber ถูกอัยการตั้งข้อหาเพิ่มเติมเป็นคดีฉ้อโกงอีก 3 คดี จากการปกปิดเหตุบริษัทถูกแฮกเมื่อปี 2016 โดยยื่นฟ้องซ้ำ (superseding indictment) รวมกับข้อหาเดิม 2 ข้อหา คือ การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และการละเลยหน้าที่ อัยการรัฐแคลิฟอร์เนียร์ระบุว่าการที่ Sullivan ปกปิดเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลจากคนขับประมาณ 600,000 รายนั้นถือเป็นความพยายามจะฉ้อโกงคนขับแบบหนึ่ง โดยหลังจากคนร้ายอีเมลเรียกค่าไถ่ข้อมูล ทีมงานของ Sullivan ยืนยันว่าบริษัทถูกแฮกจริง แทนที่จะเปิดเผยข้อมูล Sullivan กลับติดต่อคนร้ายเพื่อขอจ่ายค่าไถ่แลกกับการเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล แล้วจ่ายค่าไถ่โดยอาศัยโครงการรายงานช่องโหว่ (bug bounty) แฮกเกอร์สองรายที่แฮก Uber ในครั้งนั้นถูกจับได้ในที่สุดและสารภาพผิดในปี 2019 ตอนนี้อยู่ระหว่างการกำหนดโทษ ที่มา - Justice.gov
# ทีมสร้างเกม PUBG ฟ้องทีมสร้าง Free Fire รวมถึง Garena, Google และ Apple ในฐานะผู้จัดจำหน่าย Krafton ทีมสร้างเกม PUBG หรือปัจจุบันชื่อ PUBG: Battlegrounds ยื่นฟ้อง บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเกม Free Fire และ Free Fire Max เช่น SEA, Garena และ Mocos Studios รวมไปถึง Apple และ Google ในฐานะผู้จัดจำหน่ายเกมบน App Store และ Play Store Krafton ยังฟ้อง Google ในประเด็นที่ YouTube มีวิดีโอแสดงเกมเพลย์ของ Free Fire และ Free Fire Max รวมถึงวิดีโอภาพยนตร์จากจีนที่ Krafton ระบุว่าเหมือนขโมยเกมเพลย์ของ PUBG มาทำเป็นแบบคนแสดงอย่างชัดเจน Krafton ระบุว่า Free Fire และ Free Fire Max ลอกลักษณะของ Battlegrounds มาใช้อย่างชัดเจน ทั้งการ “air drop” จากเครื่องบินตอนต้นเกม ที่ Krafton มีการจดลิขสิทธิ์ไว้ รวมไปถึงโครงสร้างเกมและเกมเพลย์ อาวุธ เกราะ วัตถุต่างๆ โลเคชั่นฉาก ไปยันตัวเลือกสี วัสดุ และเท็กซ์เจอร์ในเกม Krafton ระบุเพิ่มเติมว่าทีมงานแจ้งไปยัง Garena ตั้งแต่ 21 ธันวาคมให้หยุดจำหน่าย Free Fire และ Free Fire Max รวมถึงแจ้ง Apple กับ Google ให้หยุดวางจำหน่าย และให้ YouTube ลบคลิปเกี่ยวกับทั้งสองเกม รวมไปถึงวิดีโอภาพยนตร์ข้างต้น แต่ไม่เป็นผล เว็บไซต์ The Verge ติดต่อไปถามทั้ง Google และ Apple แล้ว แต่ยังไม่ได้รับความเห็นใด มีเพียง Jason Golz ตัวแทนจากบริษัท SEA บริษัทแม่ของ Garena เท่านั้น ที่ให้ความเห็นว่าข้อกล่าวหาของ Krafton เกี่ยวกับบริษัทนั้นไม่มีมูลเพียงพอ (“Krafton’s claims are groundless.”) ภาพเปรียบเทียบระหว่าง PUBG กับ Free Fire ที่ Krafton ใช้ในคำฟ้อง ที่มา The Verge
# Square Enix จะกลับมาขาย FF14 อีกครั้ง 25 มกราคม 2022 หลังขยายศูนย์ข้อมูลแล้ว หลังจาก Square Enix ต้องหยุดขายเกม FF14 ชั่วคราว แก้ปัญหาเซิร์ฟเวอร์คับคั่ง เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2021 ตอนนี้สถานการณ์ดูเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยผู้กำกับ Naoki Yoshida ออกมาอัพเดตว่าจะกลับมาขายเกม FF14 แบบดิจิทัลอีกครั้งในวันที่ 25 มกราคม 2022 Yoshida ยังอัพเดตสถานการณ์การขยายศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ โอเชียเนีย ญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ ยุโรป รวมถึงการกลับมาเปิดบริการย้ายเวิลด์หลัก (Home World Transfer Service หมายถึงการย้ายเซิร์ฟเวอร์) อีกครั้งในวันที่ 26 มกราคม และแนวทางการเปิดบริการแวะเยี่ยมเวิลด์อื่น (Home World Transfer Service) ในอนาคตหลังแก้ปัญหาเรื่องความคับคั่งได้แล้ว ที่มา - FFXIV
# พลังดูด Microsoft ดึงตัวนักออกแบบชิปจาก Apple คาดไปช่วยงานทำชิปคัสตอม ARM Apple ดูจะประสบปัญหาพลังดูด หลังก่อนหน้านี้เพิ่งเสีย Jeff Wilcox ผู้อำนวยการฝั่งสถาปัตยกรรมระบบของ Mac ที่เป็นหัวหน้าทีมชิป M1 ไปให้กับ Intel ล่าสุด Mike Filippo นักออกแบบสถาปัตยกรรมซีพียูของ Apple ที่เชียวชาญด้านสถาปัตยกรรม ARM เช่นกัน ก็ถูก Microsoft ดึงตัวไปทำหน้าที่หัวหน้าทีมสถาปัตยกรรมการคำนวณ (Chief Compute Architect) เรียบร้อยแล้ว ก่อนหน้านั้นเขาเคยมีส่วนร่วมทำชิป Neoverse V1 ซีพียูเซิร์ฟเวอร์สถาปัตยกรรม ARM ที่อยู่บนชิป AWS Graviton และย้ายมาอยู่ Apple เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2019 Microsoft มีข่าวลือว่ากำลังทำชิป ARM ใช้เองมาตั้งแต่ปี 2020 โดยมีแววจะใช้กับ Microsoft Azure ก่อน และนอกจากการดึงตัว Fillippo มา Microsoft ยังกำลังเปิดรับสมัครงานตำแหน่ง Senior SOC Silicon Architect สำหรับ Azure และ Xbox อีกด้วย คงเหลือแค่รอดูว่าชิปจะสำเร็จออกมาเมื่อไรเท่านั้น ที่มา - The Register
# Google โอเพนซอร์สมาตรฐาน API ตรวจจับการเคลื่อนไหวด้วยเรดาร์แบบ Soli Google ATAP ประกาศเปิดโอเพนซอร์สมาตรฐาน API ใหม่ที่ชื่อว่า Ripple (คลื่นกระเพื่อม) ซึ่งเป็น API ที่พัฒนาต่อยอดมาจากเซ็นเซอร์ Soli ที่ถูกใช้งานบน Pixel 4 และเผยแพร่บน Github แล้ว ตัว API น่าจะช่วยให้การใช้งานเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว หรือเกิดการสั่งงานด้วย hand gesture ใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่ง Ivan Poupyrev ผอ.ด้านวิศวกรรมของ Google ATAP บอกว่าจุดเด่นของ Ripple คือไม่ต้องพึ่งกล้องหรือไมโครโฟน ทำให้ความเป็นส่วนตัวในการใช้งานมีมากยิ่งขึ้น แบรนด์ที่มีข้อมูลว่าเริ่มใช้ Ripple ตอนนี้มี Ford ที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับภายนอกรถด้วยเรดาร์ อาจนำมาช่วยเรื่องระบบช่วยเหลือคนขับอัตโนมัติ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะทำอะไร และ Blumio บริษัทพัฒนาเครื่องวัดความดัน ส่วน Google เองเคยออก Nest Hub ที่นำ Soli มาใช้ตรวจจับการนอน ที่มา - The Verge, Gizmodo
# Logan Paul ยูทูบเบอร์ดัง ซื้อการ์ดโปเกม่อนรุ่นหายากยกลัง 116 ล้านบาท แกะมาเจอการ์ด G.I. Joe เมื่อเดือนธันวาคม ยูทูบเบอร์และนักมวยสมัครเล่นชื่อดัง Logan Paul ซื้อกล่องการ์ดโปเกม่อนรุ่น First Edition หรือรุ่นผลิตครั้งแรกที่หายากที่สุดในปัจจุบันที่ยังไม่แกะมาแบบยกลัง หมดเงินไปกว่า 3.5 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 116 ล้านบาท ชาวเน็ตแสดงความเห็นกันตั้งแต่ตอนนั้นว่าดูจากประวัติการขายแล้ว น่าจะเป็นของปลอม แต่กล่องก็มีการรับประกันจาก Baseball Card Exchange หรือหน่วยงานเอกชนที่ดูแลการแลกเปลี่ยนการ์ดเบสบอลในสหรัฐฯ ว่ากล่องที่ซื้อมาเป็นของแท้ และวันนี้ Logan Paul เลยเชิญคนจาก BCE มาเปิดกล่องพร้อมกัน ทีมงาน BCE อธิบายว่าการรับรองของหน่วยงาน มาจากการที่กล่องดูเหมือนยังไม่เคยถูกแกะจริง แต่ไม่มีใครรู้ได้ว่าข้างในมีอะไรอยู่ แต่เมื่อ Logan Paul แกะกล่องออกมา กลับเจอว่าข้างในกล่องเป็นการ์ด G.I. Joe ที่มูลค่าต่ำล้วนๆ เหมือนเขาสูญเงินกว่า 3.5 ล้านดอลลาร์ไปในพริบตา ซึ่งเอาจริงๆ แล้วสำหรับ Logan Paul อาจไม่ใช่ยอดเงินที่สูงนัก และเขาคงได้ยอดวิวจากคอนเทนต์นี้อีกมาก ก่อนหน้านี้ Logan Paul เคลมว่าเขามีการ์ด Charizard หรือลิซาด้อนรุ่น First Edition ราคากว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำการ์ดนี้ใส่กรอบห้อยคอมาโชว์ตอนขึ้นชกกับ Floyd Mayweather Jr. เมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่ชาวชุมชนการ์ดโปเกม่อนก็บอกว่าการ์ดเขามูลค่าไม่ถึงที่โม้ไว้ นำมาซึ่งการเหมาไล่กวาดซื้อการ์ดหายากจนสูญเงินหลายล้านของเขาในครั้งนี้ ที่มา - Kotaku
# Android 12 เจอปัญหาบั๊กเพียบ จนแบรนด์มือถือหลายเจ้าต้องชะลอการอัพเดต ช่วงหลังเราเห็นข่าวปัญหาความไม่เสถียรของ Android 12 ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ปัญหาของ Pixel 6 จากแพตช์รอบเดือนธันวาคม 2021 ที่กูเกิลแก้ไขล่าช้า จนทำให้ Marques Brownlee หรือ MKBHD รีวิวเวอร์ชื่อดัง ต้องออกมาประกาศว่าเขาทนใช้ไม่ไหว ต้องถอดซิมออกเพื่อกลับไปใช้ Galaxy S21 Ultra ไปพลางๆ ก่อน ในอีกด้าน เราเห็นปัญหาเรื่องการอัพเดตรอม Android 12 ของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนค่ายอื่นๆ เช่น ซัมซุงที่ต้องเลื่อนอัพเดต One UI 4.0 กับมือถือบางรุ่น หรือกรณีของ OnePlus ที่เจอปัญหาเรื่องคุณภาพรอม (แม้ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยรวมโค้ดเข้ากับ ColorOS ด้วยก็ตาม) เว็บไซต์ The Verge มีบทความอธิบายปัญหา Android 12 บั๊กเยอะกว่าปกติ โดยอ้างความเห็นของ Mishaal Rahman อดีตบรรณาธิการบริหารของ XDA Developers ที่คุ้นเคยกับการขุดระบบ Android เป็นอย่างดี ว่าปัจจัยหลักเกิดจาก Android 12 เป็นการอัพเดตระบบปฏิบัติการครั้งใหญ่ที่สุดนับจาก Android 5 ทำให้กูเกิลไม่สามารถแก้บั๊กได้ทัน ภายในรอบการออก 1 ปีตามธรรมเนียม นอกจากเรื่องขนาดของ OS แล้ว Rahman ยังชี้ว่าในกรณีของซัมซุง ออก One UI 4.0 เร็วกว่ารอบอัพเดตเดิม (เดิมมักปล่อยหลังปีใหม่ รอบนี้ปล่อยก่อนสิ้นปี) ทำให้มีเวลาแก้ไขบั๊กและตรวจสอบคุณภาพน้อยลง ส่วนกรณีของ OnePlus นอกจากประเด็นรวมรอมเข้ากับ ColorOS ยังมีเรื่องการซอยรุ่นเยอะขึ้น ต้องแบ่งภาระไปดูแลรอมให้กับสินค้าหลายรุ่นมากขึ้น ที่มา - The Verge
# กูเกิลเสนอตั้งศูนย์กลางสปอนเซอร์โครงการโอเพนซอร์ส เฟ้นหาโครงการสำคัญ Kent Walker จากกูเกิลเขียนบล็อคเล่าถึงข้อเสนอของกูเกิลหลังเข้าร่วมประชุมความปลอดภัยของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สกับทำเนียบขาว (White House Open Source Software Security Summit) โดยระบุถึงสื่งที่ต้องทำเพื่อให้โลกโอเพนซอร์สปลอดภัยขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ ระบุโครงการสำคัญ Walker ระบุว่าควรมีแนวทางใหม่ในการค้นหาซอฟต์แวร์ที่มีความสำคัญและสร้างความเสี่ยงต่อโครงสร้างโดยรวมได้มาก เพื่อให้โครงการเหล่านั้นได้รับทรัพยากรอย่างเหมาะสม วางแนวทางการรักษาความปลอดภัย อุตสาหกรรมโดยรวมควรมีแนวทางร่วมกันว่าจะรักษาความปลอดภัยโครงการต่างๆ อย่างไร ทั้งการบำรุงรักษาโครงการ, การอัพเดตโค้ด, การทดสอบ, และการยืนยันความถูกต้องของโค้ด ที่ผ่านมาโครงการโอเพนซอร์สเช่น OpenSSF ก็มีแนวทางเหล่านี้อยู่แล้ว เพิ่มการสนับสนุน ปัญหาใหญ่คือองค์กรจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าใช้โครงการโอเพนซอร์สเป็นโครงสร้างอยู่มากน้อยแค่ไหน กูเกิลเสนอให้สร้างตลาดกลาง (marketplace) เพื่อให้เพื่อองค์กรต่างๆ ส่งทรัพยากรเข้าไปช่วยเหลือโครงการสำคัญๆ รวมถึงการส่งอาสาสมัครเข้าไปช่วยพัฒนา ช่องโหว่ที่กระทบโลกไอทีในเดือนที่ผ่านมาคงเป็นช่องโหว่ Log4j ที่กระทบเป็นวงกว้าง แต่ก่อนหน้านี้เคยมีช่องโหว่ Heartbleed ที่กระทบในระดับเดียวกันมาก่อนแล้ว และผลที่ได้คือกองทุน Core Infrastructure Initiative ที่เข้าไปสนับสนุนโครงการ OpenSSL แต่การตั้งกองทุนใหม่ไปเรื่อยๆ หลังพบช่องโหว่และพบว่าโครงการที่ไม่ค่อยมีใครเหลียวแลนั้นสำคัญแค่ไหนคงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก การหาโครงการสำคัญก่อนเจอช่องโหว่ร้ายแรงน่าจะเป็นทางแก้ในระยะยาวที่ดีกว่า ที่มา - Google
# บั๊กอีกแล้ว ไมโครซอฟท์หยุดปล่อย Patch Tuesday มกราคม 2022 ชั่วคราว หลัง Windows Server เจอ Boot Loop ไมโครซอฟท์ระงับการปล่อยแพตช์ Patch Tuesday รอบเดือนมกราคม 2022 กับ Windows Server หลังพบบั๊กร้ายแรงหลายตัว Windows Server ที่ได้รับผลกระทบคือ Windows Server 2012 R2, Windows Server 2019, Windows Server 2022 ที่มีบั๊กแตกต่างกันไป อาการมีตั้งแต่ เซิร์ฟเวอร์จัดการโดเมน boot loop, Hyper-V พัง และระบบไฟล์ ReFS ใช้งานไม่ได้ สถานการณ์ล่าสุดตอนนี้คือไมโครซอฟท์หยุดปล่อยแพตช์ของ Windows Server ชั่วคราว ส่วนแพตช์ของระบบปฏิบัติการอื่นๆ ยังปล่อยตามปกติ ที่มา - Reddit, BornCity via ThreatPost
# สวนทาง PS4, ไมโครซอฟท์ยืนยัน ไม่ผลิต Xbox One เพิ่มแล้วตั้งแต่ปลายปี 2020 สวนทางกับข่าว Sony สั่งผลิต PS4 เพิ่ม ค่ายไมโครซอฟท์ยืนยันว่าหยุดการผลิต Xbox One มาตั้งแต่ปลายปี 2020 เพื่อหันมาโฟกัสที่ Xbox Series X|S เพียงอย่างเดียว ไมโครซอฟท์หยุดผลิต Xbox One X ตั้งแต่กลางปี 2020 แต่ตอนนั้นยังผลิต Xbox One S รุ่นเล็กอยู่ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การมี Xbox Series X และ S ทำให้คอนโซลเจนใหม่สามารถทดแทนเจนเก่าได้ทั้งหมด ประเด็นเรื่องยอดขายของ Xbox One ที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก (ตรงข้ามกับ PS4 ที่เป็นคอนโซลขายดีสูงสุดตลอดกาลอันดับ 2 รองจาก PS2) และนโยบาย Backward Compatibility ที่เกมเก่า Xbox One ทั้งหมดสามารถเล่นได้บน Xbox Series X|S น่าจะเป็นอีกสองปัจจัยที่ทำให้ไมโครซอฟท์ตัดสินใจหยุด Xbox One ได้เร็ว ที่มา - The Verge, Game Informer
# ซีเอฟโอ NVIDIA คาด สถานการณ์จีพียูขาดตลาดจะเริ่มดีขึ้นในครึ่งหลังปี 2022 Colette Kress ซีเอฟโอของ NVIDIA ไปพูดที่งานสัมมนา Needham Growth Conference ให้ความเห็นว่า สถานการณ์จีพียูขาดตลาดจะเริ่มกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 Kress ไม่ได้ระบุเหตุผลชัดเจนว่าทำไมสถานการณ์ของ NVIDIA ถึงจะเริ่มดีขึ้น แต่เว็บไซต์ Tom's Hardware ประเมินว่าน่าจะมาจากปัจจัยการเปิดตัว GeForce RTX 40 (โค้ดเนม Lovelace) ซึ่งควรจะเปิดตัวครึ่งหลังของปี 2022 ตามรอบการออกจีพียูใหม่ทุก 2 ปีของ NVIDIA Tom's Hardware คาดว่า Lovelace จะใช้กระบวนกาผลิต N5 ของ TSMC ที่ลงทุนสร้างโรงงานเพิ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (GeForce RTX 30 Ampere ใช้โรงงานซัมซุง) ทำให้เราน่าจะได้เห็นจำนวนสินค้าของ Lovelace มีพร้อมขายมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ภาพ Jensen Huang กำลังอบการ์ดจอในเตา ที่มา - Tom's Hardware
# Baby Shark เป็นวิดีโอแรกบน YouTube ที่มียอดวิวมากกว่า 1 หมื่นล้านครั้ง Baby Shark ทำสถิติใหม่บน YouTube โดยเป็นวิดีโอที่มีมียอดวิวมากกว่า 10,000 ล้านครั้ง เป็นวิดีโอแรกบน YouTube หลังจากแซง Despacito เป็นวิดีโอยอดวิวสูงที่สุดในโลกเมื่อปี 2020 Despacito ตอนนี้เป็นวิดีโอที่มียอดวิวสูงสุดในลำดับที่ 2 ด้วยตัวเลข 7,700 ล้านครั้ง ซึ่งห่างจาก Baby Shark อยู่พอสมควร คลิป Baby Shark นี้อัพโหลดโดย Pinkfong องค์กรการศึกษาเพื่อเด็กในเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 2016 ที่มา: Engadget
# Fortnite เตรียมกลับมาให้เล่นบน iOS, Android แล้ว ผ่านบริการ GeForce NOW NVIDIA ประกาศว่าบริการสตรีมมิ่งเกม GeForce Now จะเริ่มทดสอบให้บริการเกม Fortnite แล้ว โดยเล่นผ่าน Safari สำหรับ iOS และผ่านแอป GeForce NOW บน Android โดยสถานะเกมเป็น Closed Beta ลูกค้า GeForce Now สามารถลงทะเบียนได้ที่นี่ Fortnite ถูกถอดออกจาก App Store และ Google Play ในปี 2020 หลัง Epic Games ประกาศทำระบบจ่ายเงินเอง ซึ่งแอปเปิลและกูเกิลมองว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงการใช้งาน นำไปสู่การฟ้องร้อง อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น Epic ก็ร่วมมือกับ NVIDIA เพื่อให้เกมสามารถเล่นผ่านเบราว์เซอร์ได้ผ่าน GeForce Now ทั้งนี้ NVIDIA ยังไม่ได้ระบุว่าจะเริ่มเปิดให้บริการ Fortnite สำหรับผู้เล่นทุกคนเมื่อใด ที่มา: NVIDIA
# ผู้สร้าง Second Life ประกาศกลับมาร่วมงานบริษัทที่ก่อตั้งอีกครั้ง เพื่อสู้ศึก Metaverse Philip Rosedale ผู้สร้าง Second Life เกมออนไลน์แนวโลกเสมือน ประกาศกลับมาร่วมงานกับเกมที่เขาสร้างขึ้นอีกครั้ง โดยบริษัท High Fidelity ของเขาปัจจุบัน ที่พัฒนาเทคโนโลยี VR จะเข้ามาถือหุ้นใน Linden Lab บริษัทแม่ของ Second Life พร้อมทั้งโอนพนักงานจำนวนหนึ่ง และสิทธิบัตรบางส่วนมาให้ด้วย ส่วน Philip Rosedale จะรับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ให้ Linden Lab คำอธิบายของการกลับมาของ Rosedale นั้น คือมาทำให้ Second Life เติบโตอีกครั้งในยุคที่คำว่า Metaverse ถูกใช้กันแพร่หลาย ซึ่ง Rosedale มองว่าโลกเสมือนที่ใกล้เคียงจริง ๆ คือ Second Life ขณะที่บริษัทใหญ่บางแห่งกำลังสร้าง Metaverse โดยแจกเฮดเซต VR และแทรกโฆษณา เกม Second Life เปิดให้บริการมาเป็นปีที่ 19 แล้ว ภาพรวมยังคงเติบโตดี มีเงินหมุนเวียนในปีที่ผ่านมา 650 ล้านดอลลาร์ มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า virtual กันถึง 345 ล้านครั้ง ที่มา: Linden Lab
# Leica เปิดตัว M11 กล้อง rangefinder พร้อมเซนเซอร์ 60 ล้านพิกเซล Leica เปิดตัว M11 กล้องรุ่นใหม่ในซีรีส์ rangefinder โดยมีจุดเด่นที่เซนเซอร์ CMOS BSI 60 ล้านพิกเซล ใช้เทคโนโลยีที่ Leica เรียกว่า Triple Resolution ที่ทำให้ตัวกล้องถ่ายได้ตั้งแต่ 60, 36 หรือ 18 ล้านพิกเซลโดยใช้เต็มพื้นที่เซนเซอร์ ตัวเซนเซอร์ของ Leica M11 ครอบด้วยฟิลเตอร์ IR+UV ที่ออกแบบใหม่ให้บางมาก ๆ เพื่อลดการเบี่ยงเบนแสงให้มากที่สุด พร้อม color filter array ใหม่ที่ให้สีที่เป็นธรรมชาติกว่าเดิม มี ISO ให้ใช้ตั้งแต่ 64-50,000 และมีไดนามิกเรนจ์ 15 สต็อป ส่วนหน่วยประมวลผลในตัวกล้องใช้เป็น Maestro III ภายนอกของ Leica M11 จะยังคงคล้ายกับรุ่นเดิมของซีรีส์ M ส่วนที่ปรับปรุงคือจอที่ปรับเป็นหน้าจอสัมผัส 2.3 ล้านจุด ส่วนด้านล่างมีการเปลี่ยน baseplate ตัวกล้องมีพื้นที่เก็บข้อมูลในตัวอีก 64GB แบตเตอรี่ 1800mAh ที่ให้พลังงานมากกว่าเดิม 84% พร้อมพอร์ต USB-C ที่สามารถชาร์จแบตได้ Leica M11 มีให้เลือก 2 สี คือ silver-chrome ที่ใช้ท็อปเพลตเป็นทองเหลือง น้ำหนัก 640 กรัม และสีดำที่ใช้ท็อปเพลตเป็นอะลูมิเนียมน้ำหนัก 530 กรัม โดยราคาวางจำหน่ายอยู่ที่ 8,995 ดอลลาร์หรือราว 3 แสนบาท ที่มา - PetaPixel, dpreview
# Google Meet เพิ่มฟีเจอร์แปลภาษาแคปชั่น ยังไม่รองรับการแปลเป็นภาษาไทย กูเกิลประกาศว่าฟีเจอร์แปลแคปชั่น หรือคำบรรยายสดใน Google Meet จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาอื่น ซึ่งเปิดตัวในงาน Google I/O ปีที่แล้ว จะขยายไปสู่ผู้ใช้งาน Google Workspace แล้ว จากก่อนหน้านี้ทดสอบแบบจำกัดกลุ่ม การแปลภาษาของ Google Meet ยังมีข้อจำกัด โดยสามารถแปลคำบรรยายจากภาษาอังกฤษ ไปเป็นภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน, โปรตุเกส และสเปน ได้เท่านั้นในตอนนี้ รองรับการทำงานทั้งบนเว็บและแอปมือถือ กูเกิลระบุว่าฟีเจอร์นี้จะช่วยให้การประชุม โดยเฉพาะกับองค์กรที่ต้องจัดการประชุม โดยมีพนักงานจากหลายประเทศเข้าร่วม จะสามารถเข้าใจเนื้อหาได้เหมือนกันอย่างมีประสิทธิภาพ ฟีเจอร์นี้เปิดให้ใช้เฉพาะลูกค้า Google Workspace Business Plus, Enterprise Standard, Enterprise Plus, และ Google Workspace สำหรับลูกค้า Education Plus ที่มา: กูเกิล
# ขึ้นดอยฟรี ด้วยภาษีประชาชน เอลซัลวาดอร์ อาจขาดทุนจากบิตคอยน์อยู่ราว 10 ล้านดอลลาร์ หลังประเทศเอลซัลวาดอร์ ผ่านกฎหมายรับรองบิตคอยน์ รัฐบาลของประธานาธิบดี Nayib Bukele ก็ใช้เงินภาษีของประเทศ กว้านซื้อบิตคอยน์ไว้แทบทุกช่วงที่ราคาตก จนล่าสุดเว็บไซต์ Bloomberg ได้ทำการคำนวณคร่าวๆ จากทวิตเตอร์และราคาในช่วงที่เขาเข้าซื้อ ว่าเขาซื้อไปแล้วกี่บิตคอยน์ และในราคาเฉลี่ยเท่าไร ผลการคำนวณพบว่ารัฐบาลของ Nayib Bukele ใช้เงินของประเทศซื้อบิตคอยน์ไปแล้วกว่า 1,391 BTC ที่ราคาเฉลี่ย 51,056 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ BTC รวมเป็นเงินกว่า 71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.36 พันล้านบาท แต่จากกระแสข่าวต่างๆ ในช่วงนี้ ทำให้บิตคอยน์จากที่เคยราคาพุ่งถึง 69000 ดอลลาร์ต่อ BTC เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 หล่นลงมาอยู่ที่ราว 43,785 ดอลลาร์ต่อ BTC เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ถ้าอิงจากราคานี้แปลว่าปัจจุบันพอร์ตของรัฐบาลเอลซัลวาดอร์นั้น ขาดทุนอยู่กว่า 14% คิดเป็นเงินราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 330 ล้านบาท และมูลค่า BTC ในพอร์ตเหลืออยู่ราว 61 ล้านดอลลาร์ เรียกง่ายๆ ว่า กำลังติดดอย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจริงอาจมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ เพราะรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน Alejandro Zelaya ก็ออกมาระบุในสัปดาห์ก่อนว่าเอลซัลวาดอร์ ขาย BTC ออกมาเป็นเงินดอลลาร์แล้วบางส่วน แต่ไม่เปิดเผยจำนวน รวมถึงให้ข้อมูลว่าการตัดสินใจซื้อ BTC ตอนราคาตก (buy the dip) เป็นการตัดสินใจแบบเป็นทีมของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ยังเป็นเพียงการประมาณการของ Bloomberg เท่านั้น ถ้ายังไม่มีข้อมูลการขาย ก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่ามีกำไรหรือขาดทุนเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ส่วนข้อมูลการซื้อขายจริงและที่อยู่กระเป๋าของ Bukele ยังถูกเก็บเป็นความลับ และมีเพียงข้อมูลอัพเดตแค่บนทวิตเตอร์ของ Bukele เองเท่านั้น ที่พอให้เบาะแสกับผู้ติดตามได้ ที่มา - Bloomberg via Market Insiders
# ผู้ใช้ Firefox พบปัญหาเข้าเว็บไม่ได้ เนื่องจาก HTTP/3 - ตอนนี้แก้ไขแล้ว มีรายงานว่าผู้ใช้ Firefox ทั้งบน Windows และ macOS พบปัญหาไม่สามารถโหลดเว็บไซต์ขึ้นมาได้ ในช่วงบ่ายที่ผ่านมาตามเวลาในไทย คาดว่าสาเหตุมาจากปัญหาการเชื่อมต่อวนลูปใน HTTP/3 ซึ่งมีรายงานใน Bugzilla โดยสถานะของปัญหาตอนนี้ได้ถูกแก้ไขแล้ว ทั้งนี้ผู้ใช้งานสามารถสั่งปิดการทำงานของ HTTP/3 ได้ใน about:config และสั่งปิดการทำงานของ network.http.http3.enabled ปัญหานี้ไม่พบบน Firefox เวอร์ชัน iOS เนื่องจากใช้ WebKit อัพเดต: Firefox ยืนยันปัญหาดังกล่าว และระบุว่าได้แก้ไขแล้วตั้งแต่เวลา 20:06น. ตามเวลาในไทย ที่มา: Windows Central
# ยูทูบเบอร์แฉหน้ากาก RGB จาก Razer ไม่ได้มาตรฐาน N95 อาจป้องกันเชื้อโควิด-19 ไม่ได้ หลัง Razer เปิดตัวหน้ากาก Razer Zephyr หน้ากากกรองอากาศติดไฟ RGB พร้อมพัดลม ในเดือนตุลาคมปี 2021 พร้อมโฆษณาว่าใช้ตัวกรองมาตรฐานระดับ N95 และวางขายในราคา 100 ดอลลาร์ หรือราว 3,300 บาท ล่าสุดยูทูบเบอร์ Naomi Wu นำหน้ากากรุ่น Zephyr มาชำแหละ และระบุว่าตัวหน้ากากจริงๆ แล้วไม่ได้ผ่านมาตรฐาน N95 แม้จะใส่ฟิลเตอร์ชนิดเดียวกับหน้ากากอื่นที่ผ่านมาตรฐาน N95 ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถนำมาตรฐาน N95 มาใช้ในการโฆษณาได้ และหน้ากากนี้ไม่สามารถใช้แทนอุปกรณ์ PPE เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ การทดสอบรับรองมาตรฐาน N95 ต้องทำกับหน้ากากทั้งใบ และต้องผ่านมาตรฐานของสถาบันเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพด้านการประกอบอาชีพของสหรัฐฯ (National Institute for Occupational Safety and Health หรือ NIOSH) ถึงจะรับรองได้ว่าเป็นหน้ากาก N95 จริง โดยต้องมีชื่อรุ่นและยี่ห้อของหน้ากาก อยู่ในรายชื่อที่ได้รับการรับรอง ซึ่งไม่มีรุ่น Razer Zephyr รวมถึง Zephyr Pro รุ่นอัพเกรด นอกจากนี้เธอยังบอกว่าพื้นที่ตัวกรองของ Zephyr มีน้อยมากจนอาจทำให้การหายใจเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และพัดลมทั้งสองข้างที่เป็นแบบพัดลมที่อากาศไหลตามแกน (axial fan) ไม่ใช่พัดลมแบบหมุนเหวี่ยง (centrifugal fan) ไม่ได้มีแรงดันอากาศมากพอที่จะช่วยให้อากาศไหลผ่านตัวกรองได้มากขึ้น และไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง Naomi Wu โพสต์ทวิตเตอร์ ระบุว่า Razer ติดต่อเธอ และบอกว่าจะเอาคำโฆษณาที่พูดถึง N95 ออกจากหน้าเว็บและปรับปรุงข้อความการตลาด แต่เธอบอกว่าแค่นั้นคงไม่พอ เพราะการมีหน้ากากแบบนี้ขาย นอกจากไม่สามารถป้องกันผู้ใช้จากเชื้อโควิด-19 ได้จริง ยังอาจทำให้เกิดหน้ากากลอกเลียนแบบคุณภาพต่ำได้อีกมาก เธอเรียกร้องให้ Razer เรียกคืนหน้ากากนี้จนกว่าจะมีการออกแบบใหม่ให้ผ่านมาตรฐานจริง พร้อมแถลงการณ์เรื่องสาเหตุการเรียกคืนหน้ากากออกสู่สาธารณะให้ชัดเจน ซึ่งคงต้องติดตามดูว่า Razer จะทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ที่มา - Naomi Wu via Kotaku
# รู้จัก Wordle เกมทายคำ 5 ตัวอักษรที่กำลังฮิตบนโซเชียล ถ้าผู้อ่านได้เล่นโซเชียลเช่นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายๆ คนอาจจะเห็นคนแชร์สัญลักษณ์รูปสีเหลี่ยมที่มันสีเขียว เหลือง เทา แถวละ 5 ช่อง เป็นจำนวน 6 แถว แล้วงงว่าคืออะไร วันนี้เราจะมาเฉลยว่านั่นคือการแชร์ผลการเล่นเกม Puzzle ทายคำ เกมใหม่ยอดฮิตอย่าง Wordle นั่นเอง Wordle เป็นเกมทายคำภาษาอังกฤษสร้างโดย Josh Wardle หรือในชื่อผู้ใช้ @powerlanguish บนทวิตเตอร์ เขาเป็นชาวอังกฤษที่เป็นอดีตทีมงานเว็บไซต์ Reddit และตอนนี้เป็นทีมซอฟต์แวร์เอนจิเนียร์ของกลุ่มศิลปะ MSCHF ในบรู๊คลิน และเขาสร้าง Wordle ขึ้นมาเพื่อเล่นกับคู่ชีวิตของเขา โดยโฮสต์ไว้บนเว็บของเขาเอง ก่อนจะส่งไปให้เพื่อนเล่น และกลายเป็นกระแสไวรัลที่มีผู้เล่นกว่า 2 ล้านคน เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วิธีการเล่นคือผู้เล่นต้องพิมพ์ทายคำโดยใช้คำที่มีตัวอักษร 5 ตัว ที่มีความหมาย (พิมพ์มั่วไม่ได้) แล้วพยายามแกะคำที่เป็นคำตอบให้ได้จากคำใบ้ต่างๆ บนตัวอักษร เช่น ถ้าคำของผู้เล่นมีตัวอักษร E ที่อยู่ตำแหน่งเดียวกันกับคำตอบ ตัว E ก็จะขึ้นเป็นสีเขียว ถ้าในคำมี E แต่อยู่คนละตำแหน่ง ตัว E ก็จะขึ้นเป็นสีเหลือง แต่ถ้าในคำตอบไม่มีตัวอักษรนั้นเลย ตัวอักษรก็จะขึ้นเป็นสีเทา โดยผู้เล่นมีโอกาสเดา 6 ครั้ง เช่น ถ้าผู้เล่นพิมพ์คำว่า ABYSS แต่คำตอบคือ ABBEY ตัว A และ B ก็จะขึ้นเป็นสีเขียว ตัว Y เป็นสีเหลือง และ S สองตัวเป็นสีเทา โดยระบบจะจำกัดให้มีคำใหม่ทุกเที่ยงคืนตามเวลาของผู้เล่น เมื่อทายครบ 6 ครั้งแล้ว ก็จะสามารถแชร์สถานะบนโซเชียลได้ และต้องรอเวลานับถอยหลังเพื่อเล่นรอบต่อไป Wordle ถือเป็นเกมสนุกๆ ที่เล่นได้เพลินๆ และได้ฝึกทักษะการหาคำศัพท์ภาษาอังกฤษไปในตัว การทายแต่ละครั้งไม่มีเวลาจำกัด ทำให้ผู้เล่นสามารถใช้ตัวช่วยอย่าง Google ได้แบบไม่มีปัญหา เพราะคำตอบก็ไม่ได้ทายกันได้ง่ายๆ อยู่ดี ใครที่สนใจสามารถลองไปเล่น แล้วแชร์ผลในโซเชียลกับเพื่อนได้เลยทุกวัน ที่มา - Wordle via The Guardian
# Lego เลื่อนขายของเล่น Overwatch 2 จากปัญหาวัฒนธรรมภายใน Activision Blizzard Lego ประกาศชะลอการวางขายของเล่นชุด Overwatch 2 Titan ที่เดิมมีแผนการวางขาย 1 กุมภาพันธ์ออกไปก่อน จากประเด็นปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงานของบริษัท Activision Blizzard ในช่วงหลัง ทำให้ Lego ต้องทบทวนสัญญากับ Activision Blizzard ใหม่ ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของ Activision Blizzard กลายเป็นประเด็นร้อนของวงการเกมในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดย Bobby Kotick ซีอีโอของบริษัท ถูกวิจารณ์ว่าทราบเรื่องแต่ไม่ลงมือแก้ไข และ 3 ค่ายคอนโซลใหญ่คือ Sony, Microsoft, Nintendo ก็ออกมาวิจารณ์ประเด็นนี้เช่นกัน ส่วนเกม Overwatch 2 ก็เพิ่งประกาศเลื่อนไม่มีกำหนด จากเดิมที่คาดกันว่าจะออกภายในปี 2022 นี้ ที่มา - The Brick Fan
# หนุ่มอินโดฯ ถ่ายรูปตัวเองทุกวัน 4 ปี ลงขายเป็น NFT มียอดซื้อขายแล้วมากกว่า 30 ล้านบาท Ghozali Ghozalu หนุ่มอายุ 22 จากอินโดนีเซีย ถ่ายภาพตัวเองนั่งหน้าคอมหน้านิ่งๆ ทุกวันตั้งแต่อายุ 18 ปี จนถึง 22 ปี แล้วนำมาลงขายบนเว็บไซต์ตลาดขาย NFT OpenSea มากกว่า 900 ภาพในชื่อคอลเล็กชั่น Ghozali Everyday และประสบความสำเร็จแบบงงๆ โดยมียอดซื้อขายปัจจุบันถึง 284 ETH หรือราว 31 ล้านบาท คาดว่าเพราะไอเดีย และความเป็นเอกลักษณ์ของคอลเล็กชั่นรูปเขา ผู้สนใจสามารถเลือกเข้าไปร่วมอุดหนุนได้บน OpenSea โดยแต่ละรูปจะมีราคาอยู่ที่ราวๆ 0.3-0.4 ETH หรือราว 34,000 ถึง 45,000 บาท ที่มา - OpenSea via Nuntapong Chongpratheep
# Windows 11 เปลี่ยนดีไซน์แถบปรับระดับเสียง-ความสว่างเป็นแนวนอน ไมโครซอฟท์ออก Windows 11 Insider Preview Build 22533 รุ่นทดสอบตัวแรกของปีเข้า Dev Channel การเปลี่ยนแปลงสำคัญคือดีไซน์ flyout หรือหน้าจอแสดงการเปลี่ยนแปลงสถานะของฮาร์ดแวร์ เช่น ปรับระดับเสียง ความสว่าง เปิดปิดกล้อง-ไมโครโฟน และโหมด airplane ฯลฯ ให้เข้าชุดกับ Fluent Design ของ Windows 11 ซึ่งจะเห็นว่าย้ายตำแหน่งมาแสดงที่ตรงกลางหน้าจอ ด้านบนเหนือ Taskbar และเปลี่ยนเป็นแนวนอน แทนของเดิมที่เป็นแนวตั้งซึ่งใช้มาตั้งแต่ยุค Windows 8 กล่อง flyout จะถูกแสดงเมื่อเรากดปุ่มจากคีย์บอร์ดเท่านั้น (การคลิกไอคอนเสียงที่มุมขวาของ Taskbar จะยังเห็นแถบของตัวเองแบบเดิม) โดยจะรองรับทั้ง light/dark mode ตามที่ผู้ใช้ตั้งค่าไว้ด้วย ไมโครซอฟท์ยังปรับปรุงแอพ Your Phone ที่เชื่อมต่อพีซีกับมือถือ ดีไซน์หน้าจอตอนคุยโทรศัพท์ใหม่ สามารถใช้ได้แล้วบน Windows Insider Dev Channel ทุกเวอร์ชัน (ไม่จำเป็นต้องเป็น Build 22533) ที่มา - Microsoft
# NVIDIA ออกอัพเดต Android 11 ให้ Shield TV ทุกรุ่น, เครื่องรุ่นแรกได้อัพเดตนาน 7 ปีแล้ว NVIDIA ออกซอพต์แวร์อัพเดต Shield Experience เวอร์ชัน 9.0 ให้กับอุปกรณ์ตระกูล Shield TV ทุกรุ่น (รวมถึง Shield รุ่นแรกที่ออกในปี 2015 เท่ากับได้อัพเดตนานถึง 7 ปี!) การเปลี่ยนแปลงสำคัญคือเปลี่ยนมาใช้ระบบปฏิบัติการ Android TV 11 (แม้ยังไม่ใช่ Android TV 12 แต่ก็ยังไม่มีกล่องรุ่นไหนได้อัพเกรด) เพราะ NVIDIA ตัดสินใจไม่อัพเกรด Android 10 ให้กับ Shield เลย ทำให้การอัพเดตรอบนี้ถือเป็นการอัพเกรดระบบปฏิบัติการครั้งใหญ่ในรอบหลายปีของ Shield ของใหม่อย่างอื่นคือการอัพเดตแอพ Gboard, รองรับหูฟังบลูทูธที่เป็น aptX รวมถึงการอัพเดตเวอร์ชันแอพสตรีมหนังหลายๆ ตัว เช่น IMDb TV, Apple TV, Google Play Movies & TV, iQiyi เป็นต้น ที่มา - NVIDIA, Kotaku
# โซนี่เริ่มหยุดขายบัตรเติมเงิน PlayStation Now สอดคล้องข่าวลือบริการเกมตัวใหม่ เว็บไซต์ VentureBeat รายงานว่าร้านขายปลีกเกมในสหราชอาณาจักร (เช่น ร้าน GAME) เริ่มเก็บบัตรเติมเงินของบริการคลาวด์เกมมิ่ง PlayStation Now ออกจากชั้นวางขายในร้านแล้ว โดยประกาศภายในระบุให้เก็บออกก่อนวันที่ 19 มกราคม 2022 ข่าวการเก็บบัตรเติมเงินรอบนี้สอดคล้องกับข่าวลือเมื่อปลายปีว่าโซนี่กำลังยุบรวมบริการ PS Now กับ PS Plus เข้าด้วยกัน เพื่อรับมือกับ Xbox Game Pass ที่กำลังร้อนแรงมาก ข่าวลือระบุว่าโซนี่จะลดแบรนด์เหลือ PS Plus อย่างเดียว และจะเปิดตัวบริการใหม่ช่วงต้นปี 2022 โฆษกของโซนี่พูดถึงกรณีการเก็บบัตรเติมเงิน PS Now ว่าเป็นแนวทางที่ทำอยู่แล้ว เพราะลดบัตรเติมเงินเหลือแค่บัตร PlayStation แบบเดียว ซึ่งสามารถใช้เติมเงิน PS Now ได้ด้วย หน้าตาของบัตรเติมเงิน PlayStation Now (ซ้ายสุด) ที่มา - VentureBeat
# Xbox Series X|S ขายดีกว่าเจนก่อนที่เวลาเท่ากัน นักวิเคราะห์ประเมินยอดขาย 12 ล้านเครื่อง ไมโครซอฟท์หยุดรายงานยอดขาย Xbox เป็นจำนวนเครื่องมาตั้งแต่ยุค Xbox One (ด้วยเหตุผลสำคัญว่าขายสู้ PS4 ไม่ได้ ) ทำให้การประเมินยอดขายของ Xbox รุ่นปัจจุบันทำได้ค่อนข้างยาก ก่อนหน้านี้ Phil Spencer หัวหน้าทีม Xbox เพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์ว่า Xbox Series X|S ถือเป็นคอนโซลเจนที่ขายดีที่สุดของไมโครซอฟท์ เมื่อเทียบกับ Xbox เจนก่อนๆ ในระยะเวลาเท่ากัน แต่ก็ไม่เปิดเผยตัวเลขยอดขายอยู่ดี ล่าสุด Daniel Ahmad นักวิเคราะห์การเงินจาก Niko Partners ที่เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมเกม ออกมาประเมินตัวเลขว่าตอนนี้ไมโครซอฟท์น่าจะขาย Xbox Series X|S รวมกันได้แล้วราว 12 ล้านเครื่อง โดยยุทธศาสตร์การออกคอนโซล 2 ตัวพร้อมกันช่วยให้ไมโครซอฟท์บรรเทาปัญหาสินค้าขาดแคลนลงได้ เนื่องจากเลือกผลิต Xbox Series S มากขึ้น เพื่อให้มีจำนวนเครื่องพร้อมขายเยอะขึ้นนั่นเอง ตัวเลข 12 ล้านเครื่องยังถือว่าน้อยกว่า ยอดขาย PS5 จำนวน 13.4 ล้านเครื่อง (ประกาศไว้ล่าสุดเดือนตุลาคม 2021) แต่เทียบกับยุค Xbox One แล้วน่าจะดีขึ้นจากเดิมมาก ที่มา - Eurogamer, OnMSFT
# Canalys และ IDC มองปี 2022 ตลาดพีซีและอุปกรณ์เกี่ยวข้อง ยังเติบโตสูงต่ออีกปี บริษัทวิจัยตลาด Canalys และ IDC ออกรายงานภาพรวมตลาดพีซีของไตรมาสที่ 4 ปี 2021 และตัวเลขรวมตลอดปี 2021 เริ่มที่ข้อมูลจาก Canalys ระบุว่าไตรมาส 4/2021 จำนวนพีซีที่ส่งมอบ (รวมเดสก์ทอป, โน้ตบุ๊ค และเวิร์กสเตชัน) เพิ่มขึ้นเป็น 92 ล้านเครื่อง เทียบกับปีก่อนที่ 91 ล้านเครื่อง ตัวเลขรวมตลอดปี 2021 เป็น 341 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2020 และเพิ่มขึ้น 27% จากปี 2019 เป็นจำนวนส่งมอบสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2012 มูลค่าตลาดรวมยังเพิ่มขึ้นถึง 11% จากปีก่อน ปัจจัยสำคัญของการเติบโตตลอดปี 2021 (รวมทั้ง 2020) มาจากการระบาดของโควิด 19 โดยโน้ตบุ๊คเป็นสินค้าที่มียอดขายโดดเด่นที่สุด เพิ่มขึ้น 16% คิดเป็น 275 ล้านเครื่อง ส่วนเดสก์ทอป เพิ่มขึ้น 7% เป็น 66 ล้านเครื่อง ส่วนตัวเลขจาก IDC ออกมาใกล้เคียงกัน ภาพรวมในไตรมาส 4/2021 เพิ่มขึ้นเป็น 92.7 ล้านเครื่อง ตัวเลขส่งมอบตลอดปีอยู่ที่ 348.8 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 14.8% ข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดแยกตามผู้ผลิตใน 4 อันดับแรก เหมือนกันทั้งของ Canalys และ IDC โดย Lenovo เป็นอันดับ 1 ตามด้วย HP, Dell และ Apple ในอันดับ 2-4 Rushabh Doshi นักวิเคราะห์จาก Canalys ให้ความเห็นว่าปี 2021 เป็นปีของการเริ่มเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล แต่ปี 2022 จะเป็นการเร่งเข้าสู่ดิจิทัล (digital acceleration) ตลาดจะเติบโตสูงในสินค้าที่เข้ามาเสริมการทำงานจากที่ใดก็ได้มากขึ้น เช่น พีซีพรีเมียม, จอภาพ, อุปกรณ์เสริม และเทคโนโลยีที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานจากทุกที่ ขณะที่ Tom Mainelli นักวิเคราะห์ IDC มองว่า เนื่องจากปัญหาซัพพลายเชนการผลิตพีซีตลอดปี 2021 โดยความต้องการสินค้าไม่ลดลง ในปี 2022 น่าจะเห็นตลาดพีซีเติบโตสูงมากขึ้นต่ออีกปี ที่มา: Canalys และ IDC