content
stringlengths
2
11.3k
url
stringlengths
26
27
title
stringlengths
3
125
เมื่อตอนหัวค่ำวันที่ 12 กันยายน 2013 ตามเวลาท้องถิ่น (หรือตอนเช้าของวันนี้ตามเวลาประเทศไทย) ได้มีพิธีมอบรางวัล Ig Nobel ครั้งที่ 23 ณ Sanders Theater ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รัฐแมสซาชูเซ็ตส์ สหรัฐอเมริกา รายชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัล Ig Nobel ครั้งที่ 23 มีดังนี้ สาขาการแพทย์ ได้แก่ Masateru Uchiyama, Xiangyuan Jin, Qi Zhang, Toshihito Hirai, Atsushi Amano, Hisashi Bashuda และ Masanori Niimi สำหรับการศึกษาผลกระทบของการฟังเพลงโอเปร่าที่เกิดขึ้นกับหนูทดลองที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ หนูที่ได้ฟัง La Traviata รอดชีวิตได้นานกว่าหนูในกลุ่มควบคุมเกือบสี่เท่า REFERENCE: "Auditory stimulation of opera music induced prolongation of murine cardiac allograft survival and maintained generation of regulatory CD4+CD25+ cells," Masateru Uchiyama, Xiangyuan Jin, Qi Zhang, Toshihito Hirai, Atsushi Amano, Hisashi Bashuda and Masanori Niimi, Journal of Cardiothoracic Surgery, vol. 7, no. 26, epub. March 23, 2012. สาขาจิตวิทยา ได้แก่ Laurent Bègue, Brad Bushman, Oulmann Zerhouni, Baptiste Subra, และ Medhi Ourabah ที่ทำการทดลองยืนยันว่าคนที่เริ่มรู้ตัวว่าเมาแล้วจะรู้สึกไปเองว่าตัวเองดูมีเสน่ห์มากขึ้นด้วย ผลการทดลองของพวกเขาแสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างที่ดื่มแอลกอฮอลจนเริ่มรู้สึกเมามีแนวโน้มจะให้คะแนนความสามารถในการกล่าวสุนทรพจน์ของตัวเองสูงกว่ากลุ่มควบคุม แม้ว่าคะแนนความสามารถที่ประเมินตัวเองนี้จะไม่ตรงกับคะแนนที่ผู้ฟังประเมินก็ตาม REFERENCE: "'Beauty Is in the Eye of the Beer Holder': People Who Think They Are Drunk Also Think They Are Attractive," Laurent Bègue, Brad J. Bushman, Oulmann Zerhouni, Baptiste Subra, Medhi Ourabah, British Journal of Psychology, epub May 15, 2012 สาขาร่วมชีววิทยาและดาราศาสตร์ ได้แก่ Marie Dacke, Emily Baird, Marcus Byrne, Clarke Scholtz, และ Eric Warrant สำหรับการค้นพบว่าด้วงมูลสัตว์แอฟริกันสามารถใช้แสงจากกาแล็กซี่ทางช้างเผือกในการนำทางกลับรังได้ REFERENCE: "Dung Beetles Use the Milky Way for Orientation," Marie Dacke, Emily Baird, Marcus Byrne, Clarke H. Scholtz, Eric J. Warrant, Current Biology, epub January 24, 2013. สาขาวิศวกรรมความปลอดภัย Gustano Pizzo (เสียชีวิตแล้ว) สำหรับการออกแบบกลไกจับผู้ร้ายปล้นเครื่องบิน โดยวางกับดักให้ผู้ร้ายตกลงไปในกับดักซึ่งจะห่อมัดตัวผู้ร้ายเอาไว้ติดกับร่มชูชีพ จากนั้นระบบก็จะส่งสัญญาณวิทยุไปแจ้งตำรวจ แล้วผู้ร้ายที่ถูกห่อก็จะโดนปล่อยทิ้งลงไปยังพื้นดินเบื้องล่าง ณ จุดที่ตำรวจจัดกำลังมาคอยรับตัวไว้ REFERENCE: US Patent #3811643, Gustano A. Pizzo, "anti hijacking system for aircraft", May 21, 1972. สาขาฟิสิกส์ ได้แก่ Alberto Minetti, Yuri Ivanenko, Germana Cappellini, Nadia Dominici และ Francesco Lacquaniti สำหรับการค้นพบว่าคนสามารถวิ่งบนผิวน้ำได้หากบึงนั้นอยู่บนดาวเคราะห์ที่มีแรงโน้มถ่วงเท่าดวงจันทร์ REFERENCE: "Humans Running in Place on Water at Simulated Reduced Gravity," Alberto E. Minetti, Yuri P. Ivanenko, Germana Cappellini, Nadia Dominici, Francesco Lacquaniti, PLoS ONE, vol. 7, no. 7, 2012, e37300. สาขาเคมี ได้แก่ Shinsuke Imai, Nobuaki Tsuge, Muneaki Tomotake, Yoshiaki Nagatome, Toshiyuki Nagata และ Hidehiko Kumgai สำหรับงานวิจัยที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักว่ากลไกที่คนหั่นหัวหอมแล้วน้ำตาไหลนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าที่เคยคิดกัน ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสารระเหยที่ทำให้เคืองตาถูกหลั่งออกมาโดยตรงจากปฏิกิริยาที่มีเอนไซม์ alliinase เป็นตัวเร่ง แต่งานวิจัยนี้ทำให้เราทราบว่ากลไกการผลิตสารระเหยตัวนี้มีหลายขั้นตอนและมีเอนไซม์เข้ามาเกี่ยวข้องอีกหลายตัว ในจำนวนนั้นมีเอนไซม์ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วย REFERENCE: "Plant Biochemistry: An Onion Enzyme that Makes the Eyes Water," S. Imai, N. Tsuge, M. Tomotake, Y. Nagatome, H. Sawada, T. Nagata and H. Kumagai, Nature, vol. 419, no. 6908, October 2002, p. 685. สาขาโบราณคดี ได้แก่ Brian Crandall และ Peter Stahl สำหรับความตั้งใจในการศึกษาระบบการย่อยอาหารของมนุษย์ โดยการกลืนหนูผี (shrew) ที่ต้มกึ่งสุกลงท้องทั้งตัวแบบไม่เคี้ยวแล้วเก็บเอาอุจจาระของตัวเองมาดูว่ากระดูกชิ้นไหนโดนย่อย ชิ้นไหนไม่ย่อย REFERENCE: "Human Digestive Effects on a Micromammalian Skeleton," Peter W. Stahl and Brian D. Crandall, Journal of Archaeological Science, vol. 22, November 1995, pp. 789–97 สาขาสันติภาพ ได้แก่ Alexander Lukashenko ประธานาธิบดีของเบลารุสที่ออกกฏหมายให้การปรบมือในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฏหมาย, และกรมตำรวจของเบลารุสสำหรับการจับชายพิการแขนเดียวด้วยข้อหาละเมิดกฏหมายนี้ สาขาความน่าจะเป็น ได้แก่ Bert Tolkamp, Marie Haskell, Fritha Langford, David Roberts และ Colin Morgan สำหรับการค้นพบความสัมพันธ์ทางสถิติว่าวัวตัวที่นอนมานานกว่ามีแนวโน้มจะลุกขึ้นยืนมากกว่าวัวที่เพิ่งล้มตัวลงไปนอน และพวกเขายังค้นพบอีกว่า เมื่อวัวลุกขึ้นยืนแล้ว เราจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่ามันจะนอนอีกเมื่อไร REFERENCE: "Are Cows More Likely to Lie Down the Longer They Stand?" Bert J. Tolkamp, Marie J. Haskell, Fritha M. Langford, David J. Roberts, Colin A. Morgan, Applied Animal Behaviour Science, vol. 124, nos. 1-2, 2010, pp. 1–10. สาขาสาธารณสุข ได้แก่ เกษียร ภังคานนท์, Tu Chayavatana, ชุมพร พงษ์นุ่มกุล, อนันต์ ตัณมุขยกุล, ปิยะสกล สกลสัตยาทร, Krit Komaratal, และ Henry Wilde (ผมขอคงการสะกดภาษาอังกฤษสำหรับชื่อนักวิจัยชาวไทยที่ผมไม่แน่ใจการสะกดภาษาไทย ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย) สำหรับการรายงานเทคนิคที่ใช้ในการผ่าตัดต่อคืนองคชาติที่ถูกเฉือนขาดในประเทศสยาม และระบุประสบการณ์การรักษาไว้ในรายงานว่าเทคนิคเหล่านั้นใช้ไม่ได้ในกรณีที่องคชาติโดนเป็ดกินไปแล้วบางส่วน REFERENCE: "Surgical Management of an Epidemic of Penile Amputations in Siam," by Kasian Bhanganada, Tu Chayavatana, Chumporn Pongnumkul, Anunt Tonmukayakul, Piyasakol Sakolsatayadorn, Krit Komaratal, and Henry Wilde, American Journal of Surgery, 1983, no. 146, pp. 376-382. ที่มา - Improbable Research, The Guardian
https://jusci.net/node/3093
รางวัล Ig Nobel ประจำปี 2013
ขนาดเขาของแกะตัวผู้มีความสำคัญอย่างมากต่อการประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์ แกะตัวผู้ที่มีเขาใหญ่มักจะเป็นผู้ชนะในการต่อสู้และได้แกะตัวเมียมาครอบครอง การมีเขาใหญ่จึงถูกคัดเลือกไว้ด้วยแรงของ sexual selection (เหมือนนกยูงตัวผู้ที่รำแพนหางได้สวยกว่าก็จะมีโอกาสได้เมียเยอะกว่า) เมื่อเป็นเช่นนี้ลักษณะเขาเล็กของแกะตัวผู้ก็ควรที่จะถูกคัดทิ้งให้หมดไปจากประชากรหรืออย่างน้อยก็ควรเหลือแค่ปริ่มๆ แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าเหตุการณ์ไม่ได้มีผลลัพธ์ออกมาเช่นนั้น ขนาดเขาของแกะตัวผู้ยังมีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างคลุกเคล้ากันไปในประชากรแกะ ทีมวิจัยที่นำโดย Susan Johnston แห่ง University of Edinburgh ได้นำข้อมูลแกะพันธุ์ Soay ย้อนหลังไปเป็นเวลากว่าสองทศวรรษมาวิเคราะห์ (Soay เป็นแกะพันธุ์ท้องถิ่นของเกาะในสก็อตแลนด์ มันเป็นแกะสายพันธุ์เก่าแก่ที่มีความใกล้ชิดกับแกะป่า มักเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ทำให้เป็นประชากรที่เหมาะสมแก่การศึกษาทางชีววิทยาอย่างมาก) เจ้าของฟาร์มเลี้ยงแกะในสหราชอาณาจักรนิยมจดบันทึกขนาดเขาและอายุของแกะในฟาร์มตัวเองไว้เป็นสถิติอยู่แล้ว ดังนั้นนักวิจัยจึงสามารถเก็บข้อมูลของแกะมาได้เป็นจำนวนถึง 1,750 ตัว ขนาดเขาของแกะตัวผู้ขึ้นอยู่กับการทำงานของยีน RXFP2 ซึ่งยีนตัวนี้มีสอง allele คือ Ho+ และ HoP แกะตัวผู้ที่มี Ho+ คู่กันสองอัน (Ho+/Ho+) จะมีเขาขนาดใหญ่, แกะที่มี HoP คู่กัน (HoP/HoP) มีเขาขนาดเล็ก, และสุดท้ายแกะที่มี Ho+ กับ HoP (Ho+/HoP) มีเขาขนาดกลาง ไม่เล็กไม่ใหญ่ ผลจากการวิเคราะห์สถิติพบว่าแกะตัวผู้ที่มีเขาใหญ่มีอัตราการมีลูกประมาณ 3 ตัวต่อปี ส่วนแกะที่มีเขาเล็กมีลูกเพียง 1.6 ตัวต่อปี แต่ว่าแกะตัวผู้เขาใหญ่มีอัตราการรอดชีวิตต่ำกว่าแกะเขาเล็ก แกะเขาใหญ่มีอัตราการรอดในหนึ่งปีเพียง 61% ในขณะที่ในแต่ละปีแกะเขาเล็กรอดอยู่ได้ถึง 75% ผลนี้แสดงให้เห็นว่าแม้การมีเขาใหญ่จะทำให้แกะตัวผู้หาเมียทำลูกได้มาก แต่ก็ทำให้มันตายเร็วขึ้น โดยเฉลี่ยแกะเขาใหญ่แต่ละตัวมีโอกาสมีชีวิตรอดผ่านฤดูผสมพันธุ์ได้เพียง 3 ฤดู ส่วนแกะเขาเล็กมักจะรอดไปได้ถึง 4 ฤดูผสมพันธุ์ นักวิจัยไม่แน่ใจนักว่าการมีเขาใหญ่ส่งผลอย่างไรต่อการรอดชีวิตของแกะ อาจจะเป็นเพราะแกะตัวผู้เขาใหญ่อาจจะมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำกว่า, หรือแกะตัวผู้ต้องเสี่ยงและเสียพลังงานไปกับการรักษาตัวเมียในครอบครองมากกว่า เป็นต้น คราวนี้มาดูแกะชายกลางของเราบ้าง... ตัวเลขสถิติแสดงให้เห็นว่าแกะที่มีเขาขนาดกลางคือผู้ที่ทำได้ดีที่สุด มันมีอัตราการมีลูกเกือบเท่าแกะเขาใหญ่ และมีอัตราการรอดชีวิตสูงเกือบเท่าแกะเขาเล็ก อย่างที่บอกไปในย่อหน้าก่อนว่าแกะที่มีเขาขนาดกลางมียีน Ho+ กับ HoP ดังนั้นผลลัพธ์ของการคัดเลือกก็จะทำให้ยีน HoP ถูกเก็บรักษาไว้ในประชากร แม้ว่ามันจะทำให้แกะตัวผู้มีเขาเล็กลง เนื่องจากมันทำให้แกะที่มีเขาขนาดกลางอยู่มีชีวิตอยู่ทำลูกได้นานกว่าแกะที่มีเขาใหญ่ รูปแบบการคัดเลือกที่เก็บรักษาคนกลางๆ แบบนี้เรียกว่า "heterozygote advantage" (heterozygote หมายถึงสิ่งมีชีวิต diploid ตัวที่จีโนไทป์มี allele ต่างกันสองตัวอยู่ด้วยกัน ในกรณีนี้ก็คือแกะชายกลางที่มียีนเป็น Ho+/HoP) ตัวอย่างคลาสสิกของ heterozygote advantage ก็คือยีนที่ทำให้เกิดโรค sickle-cell anemia ในมนุษย์ ถ้ามียีน sickle-cell anemia อยู่คู่กันสองตัว คนนั้นจะตายจากเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ แต่ถ้าเป็น heterozygote คนคนนั้นจะมีภูมิต้านทานโรคมาลาเรียสูง ประชากรในบริเวณที่มีโรคมาลาเรียชุกชุมจึงมีผู้ป่วยโรค sickle-cell anemia เยอะ (เพราะยีน sickle-cell anemia ถูกคัดเก็บเอาไว้เยอะ) งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Nature doi:10.1038/nature12489 ที่มา - ScienceNOW
https://jusci.net/node/3094
นักวิทย์ชาวสก็อตอธิบายทำไมถึงยังมีแกะเขาเล็กเหลืออยู่
ยานบินไร้คนขับแม้จะมีน้ำหนักเบาขนาดเล็ก แต่ก็ยังมีราคาแพง วันนี้ Boeing ประกาศความสำเร็จในการทดลองบิน เครื่องบิน QF-16 ยานบินไร้คนขับที่ดัดแปลงเอา F-16 ปลดประจำการกลับมากลายเป็นโดรน หรือยานบินไร้คนขับอีกครั้ง ยานบินใช้นักบินสองคนนั่งควบคุมจากสนามบิน เครื่องบินสามารถขึ้นบิน ทำความเร็วเหนือเสียง และกลับมาลงจอดได้อย่างปลอดภัย ความได้เปรียบอย่างมากของยานบินนี้คือมันสามารถเลี้ยวในระดับที่ทำให้มีแรงเหวี่ยง 9G ได้เป็นระยะเวลานาน จากปกติที่นักบินอาจจะทนแรงเหวี่ยงระดับนี้ไม่ไหว เครื่องบินลำที่นำมาฟื้นฟูสภาพนี้จอดอยู่ที่ฐานทัพอากาศแล้วนานถึง 15 ปี การทำเป็นยานบินไร้คนขับทำให้เครื่องบินเหล่านี้ได้กลับเข้าประจำการอีกครั้ง โดยตอนนี้มีเครื่องที่นำมาดัดแปลงแล้ว 6 เครื่อง ก่อนหน้านี้กองทัพอากาศสหรัฐฯ ใช้เครื่อง F-4 แปลงเป็นยานบินไร้คนขับ QF-4 มาก่อนแล้ว แต่ใช้เพื่อเป็น "เป้าซ้อม" มากกว่าที่จะออกปฎิบัติการจริง สำหรับ QF-16 จะถูกใช้เพื่อทดสอบอาวุธและการซ้อมทางอากาศอื่นๆ ที่มา - Boeing, BBC
https://jusci.net/node/3107
Boeing แปลง F-16 ปลดประจำการกลายเป็นยานบินไร้คนขับ
หลักฐานหนึ่งของภาวะโลกร้อนคือปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกขั้วโลกเหนือที่ช่วงหน้าร้อนมักจะหดตัวลงเป็นปกติ แต่พื้นที่เล็กสุดของแต่ละปีกำลังลดลงเรื่อยๆ แต่ปีนี้พื้นน้ำแข็งที่รอดจากฤดูร้อนกลับเหลือมากกว่าปีที่แล้วที่ต่ำสุดถึง 50% Walt Meier นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่าระบุว่าการเพิ่มขึ้นของน้ำแข็งในแต่ละปีไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะน้ำแข็งมักไม่ลดลงต่ำสุดต่อเนื่องกันสองปีติดๆ อยู่แล้ว แต่การเพิ่มขึ้นปีเดียว 50% ก็นับว่ามากกว่าที่คาดไว้ การเพิ่มขึ้นในปีเดียวก็ยังไม่ใช่การแสดงว่าแนวโน้มน้ำแข็งขั้วโลกจะเหลือมากขึ้นในปีหน้า ปริมาณน้ำแข็งที่เหลือจากฤดูร้อนในปีนี้ ยังคงเทียบได้เป็นอันดับที่ 6 ของปีที่น้ำแข็งเหลือน้อยที่สุดนับแต่บันทึกมาตั้งแต่ปี 1978 และยังน้อยกว่าพื้นที่เฉลี่ยอีกมาก ที่มา - The New York Times, National Snow and Ice Data Center
https://jusci.net/node/3108
น้ำแข็งขั้วโลกเหนือกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำพูดว่า "มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้สมองเพียงแค่ 10% เราสามารถใช้งานสมองที่เหลือ 90% ได้ ถ้าเรา <เติมคำในช่องว่าง>" จากเพื่อน ญาติพี่น้อง คุณครู เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ หรือแม้กระทั่งจากในคำสอนของบางวัด บางนิกาย และในบางทีได้มีการอ้างว่าเป็นความเห็นของบุคคลสำคัญ (เช่น อัลเบิร์ต ไอสไตน์) ต้นตอของความเชื่อ มีความเป็นไปได้สูงที่ความเชื่อนี้เริ่มต้นมาจาก บทความ The Energies of Men ของนายวิลเลียม เจมส์ (William James) นักจิตวิทยาจากมหาลัยฮาร์วาร์ด ที่ตีพิมพ์เมื่อปี คศ. 1907 เกี่ยวกับทฤษฎี 'พลังงานสำรอง' ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า "ในภาวะปกติ มนุษย์เราไม่ได้ใช้ประสิทธิภาพทางร่างกายและสมองถึงขีดสุด โดยประสิทธิภาพที่ไม่ได้ใช้ที่เรียกว่าพลังงานสำรองนี้ จะถูกเรียกใช้ในเหตุการณ์พิเศษโดยจิตใต้สำนึกของเรา เมื่อถูกกระตุ้น พลังงานสำรองในตัวเรานี้จะทำให้เราสามารถทำในสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ในภาวะปกติ" ("We are making use of only a small part of our possible mental and physical resources") ทฤษฎีนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเมื่อนายโลเวล โทมัส (Lowell Thomas) นักเขียนชาวอเมริกันได้สรุปทฤษฎีของนายวิลเลียม พร้อมเพิ่มตัวเลขเปอร์เซ็นต์ลงในคำนำของหนังสือจิตวิทยายอดนิยม How to Win Friends and Influence People (PDF) ของนายเดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) โดยได้กล่าวไว้ว่า "ศาสตราจารย์วิลเลียมจากฮาร์วาร์ด ได้เคยกล่าวไว้ว่า โดยเฉลี่ย มนุษย์ใช้ประสิทธิภาพสมองแค่ 10%" ("Professor William James of Harvard used to say that the average person develops only 10 percent of his latent mental ability") ข้อมูลทั่วไปและมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจกับคำถามว่า 10% ของสมองที่พูดถึงนั้นหมายถึงอะไร? ใช่หมายถึงว่าในกะโหลกศีรษะนั้นมีส่วนนับเป็น'สมอง'อยู่ 10% แล้วที่เหลือเป็นขี้เลื่อย? หรือว่าทั้งหมดในหัวเรานั้นเป็นสมองหมดแต่ทำงาน ณ ขณะหนึ่งๆ เพียง 10%? เริ่มที่ส่วนประกอบของสมอง สมองที่เราเรียกกันอยู่ทุกวันนี้ประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือเซลล์ประสาท (neuron) ซึงหน้าที่ของมันคือทำหน้าที่ส่งสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นองค์ประกอบประมาณ 15% ของสมอง ส่วนที่เหลือคือ เซลล์เนื้อสมอง (glial cells) ซึ่งทำหน้าที่ จัดระเบียบเซลล์ประสาท, ส่งอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง, คอยแยกเซลล์ประสาทออกจากกัน, กำจัดเชื้อโรคและเซลล์ประสาทที่ตายแล้ว โดยสมองเราจะประกอบด้วยเซลล์เนื้อสมองประมาณ 85% ซึ่งถ้าอ่านคร่าวๆ น่าจะดูเหมือนเรายังมีโอกาสที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของสมองให้มากขึ้นไปกว่า 15% นี้โดยแปลงเซลล์เนื้อสมองให้กลายเป็นเซลล์ประสาท แต่ในความเป็นจริงความเป็นไปได้ที่จะให้เซลล์เนื้อสมองนี้กลายเป็นเซลล์ประสาทในสมองเรานั้นแทบจะไม่ต่างจากความเป็นไปได้ในการที่จะให้เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว (epithelium) บนมือเรากลายเป็นเซลล์เนื้อเยื่อประสาท (nervous tissue) ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในธรรมชาติ แล้วสมองเราอู้งานบ้างไหม? งานวิจัยที่สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ข้างล่างนั้นได้ยืนยันว่าสมองเราทำงานแบบแทบที่จะไม่ได้หยุดพัก สามารถสรุปย่อๆ โดยที่ถ้าเราแบ่งลักษณะการทำงานของสมองออกเป็นสองช่วง คือช่วงที่เรามีใช้งานสมองของเรา (normal activity) และช่วงที่เราพักผ่อน (resting-state activity) นักวิจัยได้สังเกตการทำงานของสมองด้วยเทคนิคการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (functional magnetic resonance imaging หรือ fMRI) ซึ่งสามารถแสดงการหมุนเวียนของเลือดในสมอง โดยเทคนิคในการวินิจฉัยนี้อยู่บนพื้นฐานความจริงทีว่า สมองส่วนที่ทำงานอยู่จะต้องการเลื้อดไปเลี้ยงมากกว่าปกติ และพบว่า ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองในภาวะพักผ่อนนั้นน้อยกว่าภาวะปกติเพียง 5-10% ในมุมมองของนักพันธุกรรมที่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตจะวิวัฒนาการเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ (natural selection) เชื่อว่าถึงแม้มันมีความเป็นไปได้ที่ธรรมชาิตจะสรรค์สร้างวิวัฒนาการที่แปลกประหลาดออกมา แต่มันเป็นเรื่องที่ตลกมากที่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่จะมีอวัยวะที่ต้องการพลังงานไปหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก สูงสุดได้ถึง 20-25% เทียบกับพลังงานที่ทั้งร่างกายต้องการ แถมยังใหญ่กว่าที่จำเป็นที่จะต้องมีถึงสิบเท่า เพื่อให้มันเป็นจุดอ่อนของร่างกายและทำให้โอกาสรอดชีวิตมีน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนคลอด งานวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมอง ก่อนจะพูดถึงงานวิจัย ผมขอพูดถึงศัพท์เทคนิคสองคำที่ได้พูดถึงเล็กน้อยไปก่อนหน้านี้ คือ สมองในภาวะที่เราใช้ใช้งาน (normal activity) ที่ผมจะขออนุญาตเรียกว่า 'สมองภาวะปกติ' และสมองในช่วงที่เราพักผ่อน (resting-state activity) ที่ผมจะของเรียกว่า 'สมองภาวะพักผ่อน' การทดลองชิ้นแรกๆ ที่ได้อธิบายถึงการทำงานของสมอง เกิดขึ้นที่วิทยาลัยการแพทย์วิสคอนซิน เมื่อนักศึกษาปริญญาเอก บารัต บิสเวล (Bharat Biswal) พยายามจะกรองสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นสัญญาณรบกวน (noise) ที่่เกิดขึ้นตลอดเวลาออกจากข้อมูลที่เขาได้รับจากเครื่อง fMRI ซึ่งในภายหลัง เขาพบว่า แม้ว่าขณะที่คนไข้คนเดิมของเขากำลังพักผ่อน ข้อมูลจากเครื่อง fMRI ก็ยังแสดงถึงสัญญาณรบกวนที่มีหน้าตาเหมือนเดิมออกมา ซึ้่งทำให้เกิดข้อสรุปว่าสมองเรานั้นทำงานตลอดเวลา และต่อมาภายหลังสัญญาณรบกวนนี้ได้ถูกเรียกว่าสมองภาวะพักผ่อน ถัดจากนั้นมาก็เริ่มมีงานค้นคว้าผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดว่าสมองทำอะไรในภาวะพักผ่อน เริ่มต้นที่ทีมวิจัยนำโดยนาย Marcus Raichle จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน โดยได้คนพบว่า สมองภาวะพักผ่อนจะทำงานน้อยลงเมื่อสมองภาวะปกติทำงาน และกลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อสมองภาวะปกติหยุดทำงาน เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ลองเปรียบเทียบการทำงานของสมองกับแบนด์วิดท์ โดยที่สมองภาวะพักผ่อนคือเรากำลังดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมากอยู่ และสมองภาวะปกติคือเรากำลังดู YouTube คือเมื่อขณะที่เราดูหนัง แบนด์วิดท์ที่ใช้การดาวน์โหลดข้อมูลจะลดลง (เปรียบเหมือนสมองภาวะพักผ่อนทำงานน้อยลง) และกลับมาใช้เยอะอีกครั้งหลังจากที่เราดูหนังเสร็จ (เปรียบเหมือนสมองภาวะปกติหยุดทำงาน) จาก การทดลองเพิ่มเติมในลิง, การค้นพบว่าสมองภาวะพักผ่อนทำงานผิดปกติในคนที่เป็นอัลไซเมอร์ และ การที่สมองภาวะพักผ่อนมีการทำงานมากผิดปกติในเด็กออทิสติก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้้งคำถามว่าสมองภาวะพักผ่อนนี้ต้องทำอะไรสักอย่างที่สำคัญมากแน่นอน ถึงแม้จะยังไม่สามารถหาคำตอบได้ในขณะนั้นก็ตาม ถัดจากนั้นกลุ่มของนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ทำการทดลองบนสมมุติฐานที่ว่า สมองภาวะพักผ่อนจะคาดเดาและประมวลผลเพื่อรองรับสิ่งที่เราจะเจอในอนาคต โดยเปรียบเทียบกับการทำงานของรถยนต์ว่า เหมือนรถยนต์ที่ได้สตาร์ทเครื่องไว้และพร้อมจะออกตัวได้เสมอ (“If your car is ready to go, you can leave faster than if you have to turn on the engine.”) การทดลองทำโดย สแกนสมองผู้ที่เข้าทำการทดลองแล้วให้ผู้ที่เข้าทำการทดลองดูภาพซึ่งสามารถจะมองเป็นหน้าคนหรือแจกันก็ได้ ผลปรากฎว่าผู้เข้าทำการทดลองที่บอกว่าเป็นรูปหน้าคนนั้น จากข้อมูลที่ได้สแกนมาล่วงหน้า มีการทำงานในส่วนที่แยกแยะใบหน้ามากกว่าผู้เข้าทดลองที่บอกว่าเป็นแจกัน ผลการทดลองนี้ทำให้เชื่อได้ว่า สมองภาวะพักผ่อนจะทำหน้าที่ประมวลผลล่วงหน้าเพื่อรองรับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากสมองจะทำงานตลอดเวลาแล้ว ยังมีงานวิจัยที่บ่งบอกว่า การเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทนั้นเปลี่ยนไปตามอายุและการเรียนรู้ของเรา โดยให้ผู้เข้าทดลองทำกิจกรรมที่ต้องจดจ่อกับการเคลื่อนไหวของเป้าหมาย ซึ่งผลก็คือ ในภายหลัง เมื่อผู้เข้าทดลองพักผ่อน สมองภาวะพักผ่อนที่ถูกปลุกขึ้นมาทำงานนั้นจะทำงานในส่วนที่วิเคราะห์การเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ นอกจากนี้แล้วยังมีงานวิจัยที่ต่อเนื่องออกมาระบุว่า สมองภาวะพักผ่อนนอกจากจะช่วยในการทำงานในอนาคตแล้วยังทำการประมวลผลเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นให้การเป็นความจำระยะยาวด้วย หมายเหตุ ที่ต้องหยิบยกประโยครวมทั้งชื่อหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษมาใส่นี้เพื่อให้ผู้อ่านค้นหาย้อนกลับได้ง่ายขึ้น (ถ้าไม่ได้คีย์เวิร์ด ผมแทบจะยืนยันความถูกต้องของเนื้อหาที่ผมหามาจำนวนมากไม่ได้) ที่มา - ข้อมูล: BBC, wiki, How to Win Friends and Influence People (PDF), Nature
https://jusci.net/node/3124
"เราใช้สมองกันเพียง 10%" จริงหรือ?
ภาพยนตร์เรื่อง Gravity นับเป็นภาพยนตร์วิทาศาสตร์ที่น่าดูมากเรื่องหนึ่งของปีนี้ คะแนน IMDB ได้มาถึง 8.5 คะแนน เนื้อเรื่องที่แปลกทำให้ชวนติดตามได้ทั้งเรื่อง แต่ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการอ้างอิงวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมาก ตลอดเรื่องเราจะเห็นเหตุการณ์ที่เป็นข่าวหลายต่อหลายครั้งแต่ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมมันจึงเป็นข่าวกัน บทความนี้่เราจะมาดูกันว่าตลอดเรื่อง Gravity แต่ละส่วนที่ภาพยนตร์เล่าออกมานั้นมีความหมายอย่างไร และโลกความเป็นจริงเป็นอย่างไรกัน คำเตือน: ย้ำอีกรอบ บทความนี้ผมไม่สนใจเลยว่าจะเล่าส่วนใดของเนื้อเรื่องไปบ้างนะครับ ขยะอวกาศ ปัญหาใหญ่กว่าระดับโลก เริ่มเรื่องมาถึงกับภารกิจการซ่อมแซมกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล แล้วสถานีภาคพื้นดินเตือนขึ้นมาถึงรัสเซียว่ายิงดาวเทียมของตัวเองทำให้มีขยะอวกาศ (space derbis) โคจรไปรอบโลก ขยะอวกาศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงจากอุบัติเหตุทุกรูปแบบนี้อวกาศ แม้แต่นักบินสักคนลืมไขควง สว่าน น๊อต (เช่นในเรื่อง) หรือสีกะเทาะออกมาจากยานสักลำก็ล้วนกลายเป็นขยะอวกาศทั้งสิ้น รวมถึงเมื่อขยะอวกาศเหล่านี้ไปชนเอายานหรือดาวเทียมลำอื่นๆ ก็จะสร้างขยะอวกาศชิ้นใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ภาพแสดงขยะอวกาศในปี 2005 จะเห็นว่าชิันส่วนส่วนมากค้างอยู่ในวงโคจรค้างฟ้า (GEO) และที่เห็นใกล้ๆ โลก คือระดับวงโคจรต่ำ (LEO) ที่ใช้โคจรดาวเทียมขนาดเล็ก ขยะอวกาศนั้นมีมาก่อนที่มนุษย์จะขึ้นไปยังอวกาศแล้ว โดยอยู่ในรูปของอุกาบาตขนาดจิ๋ว (micrometeoroid) ช่วงแรกของการขึ้นไปสำรวจอวกาศ ยานอวกาศต้องระวังอุกาบาตเหล่านี้พุ่งชนเช่นกันโดยมีการพัฒนาเกราะที่ทนทานต่อขยะอวกาศชิ้นส่วนเล็กๆ ได้ ภาพสถานีอวกาศ Mir ในปี 1998 (ปัจจุบันตกสู่โลกเผาไหม้ไปแล้ว) แผงรับแสงอาทิตย์ทางด้านขวาด้านบนบิ่นไปเพราะถูกขยะอวกาศชน ขยะอวกาศยังคงสะสมอยู่เรื่อยๆ ในทุกวันนี้เป็นอันตรายต่อดาวเทียมดวงใหม่ๆ ที่จะขึ้นประจำวงโคจร มีข้อเสนอให้สร้าง "ยานเก็บขยะ" เพื่อขจัดปัญหานี้หลายต่อหลายครั้ง (ข่าวเก่าใน jusci 1, 2) Kessler syndrome: ความฉิบหายแห่งอวกาศ จุดเปลี่ยนในเรื่อง Gravity คือการที่ดาวเทียมดวงอื่นๆ เริ่มถูกขยะอวกาศพุ่งชนจนเสียหาย ระเบิด แล้วสร้างขยะอวกาศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นลูกโซ่ ปรากฎการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นได้ และเมื่อปรากฎการณ์ลูกโซ่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งแล้ว ปริมาณขยะอวกาศเกิดใหม่จะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าขยะอวกาศที่ตกลงสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้อวกาศเต็มไปด้วยขยะที่วิ่งไปมาจนกระทั่งไม่สามารถยิงดาวเทียมใดๆ ขึ้นไปโคจรได้อีก ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า Kessler syndrome เพื่อไม่ให้เกิด Kessler syndrome ขึ้นมาจริงๆ ข้อตกลงนานาชาติจึงกำหนดวงโคจรที่เรียกว่า วงโคจรสุสาน (graveyard orbit) อยู่เหนือจากวงโคจรค้างฟ้าขึ้นไป มากกว่า 235 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้ดาวเทียมทิ้งแล้วเหล่านี้มารบกวนต่อดาวเทียมที่กำลังทำงานอยู่ ปัจจุบันสหรัฐฯ ระบุให้ดาวเทียมสื่อสารที่อยู่บนวงโคจรค้างฟ้าจะต้องถีบตัวเองออกจากวงโคจรไปได้อย่างน้อย 300 กิโลเมตรเพื่อไปจอดในวงโคจรสุสานนี้ ยิงดาวเทียม ไม่ใช่รัสเซียแต่เป็นจีน ในบรรดาขยะอวกาศที่มีขนาดใหญ่เกิน 5 เซนติเมตรจำนวน 22,000 ชิ้นที่ติดตามได้ทุกวันนี้ มีจำนวน 6,000 ชิ้นเกิดจากการระเบิดของดาวเทียมเพียงดวงเดียว คือ ดาวเทียมสำรวจอากาศ Fengyun-1C ของจีน ระดับวงโคจร SSO น้ำหนัก 750 กิโลกรัม หลังจากดาวเทียมปลดประจำการ ทางการจีนตัดสินใจจะใช้ดาวเทียมดวงนี้เป็นเป้าทดสอบจรวดต่อต้านดาวเทียม ภาพวงโคจรของขยะอวกาศที่เกิดจากการระเบิดดาวเทียม หนึ่งเดือนหลังการระเบิด วันที่ 11 มกราคม 2007 ทางการจีนยิงดาวเทียมดวงนี้สำเร็จ โดยทางจีนได้แจ้งให้ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ รับทราบว่าจะมีการทำลายดาวเทียมล่วงหน้า หนึ่งปีต่อมา วันที่ 20 กุมพาพันธ์ 2008 สหรัฐฯ ก็ยิงดาวเทียม USA-193 ของตัวเองในอวกาศเช่นกัน โดยอ้างว่าบนดาวเทียมมีก๊าซ hydrazine ที่เป็นพิษสูง สหรัฐฯ ระบุว่าได้เลือกเวลายิงให้ดาวเทียมอยู่ใกล้จะเข้าชั้นบรรยากาศและรอจนกระสวยอวกาศลงจากอวกาศเสียก่อนเพื่อลดความเสี่ยง และยืนยันว่าไม่ได้ตอบโต้จีนที่ยิงดาวเทียมไปในปีก่อนหน้า ขยะอวกาศจำนวนมาก เพิ่มขึ้นในปี 2009 จากอุบัติเหตุดาวเทียม Iridium ดวงหนึ่งไปชนกับดาวเทียม Cosmos 2251 ที่ลอยอยู่ในอวกาศตั้งแต่ปี 1993 ยานสำรอง Soyuz มีจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ สถานีอวกาศนานาชาติเป็นความร่วมมือจากชาติสมาชิกหลายชาติเนื่องจากงบประมาณที่จำกัด จากญี่ปุ่น สหรัฐฯ รัสเซีย ทุกวันนี้สถานีใกล้ครบถ้วนตามที่ออกแบบไว้ และนับแต่มีนักบินประจำการมาตั้งแต่ปี 2000 สถานีอวกาศนานาชาติยังมีนักบินประจำการอย่างต่อเนื่องมาเสมอ โดยตลอดเวลาสถานีนี้จะต้องมียาน Soyuz จอดประจำไว้ในสถานีตรงกับในเรื่อง Gravity ที่ระบุไว้ อย่างไรก็ดี สถานีอวกาศนานาชาติไม่ใช่สถานีที่ที่อ้างว้างนัก ณ ตอนที่เขียนบทความนี้มียานที่มีกำหนดการเข้าจอดในสถานีจำนวน 5 ลำ (เป็นยานไร้คนขับ 3 ลำ) และในปีนี้จะมีอีก 3 ลำตามกำหนดการ และปีหน้ามีอีก 9 ลำ แม้จะยานบางลำจะเป็นยานไร้คนขับ แต่ก็สามารถโดยสารลงสู่โลกได้ เช่น ยาน Dragon ของ SpaceX ที่อยู่ระหว่างการทดสอบ และระหว่างนี้ใช้เพื่อขนสัมภาระอย่างเดียว เทียนกง:สถานีอวกาศจีน ความฝันที่ยังไม่เป็นจริง สถานีอวกาศเทียนกงของจีนเป็นสถานีอวกาศจริง เทียนกง-1 เปิดตัวต่อสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2009 สถานีนี้ยังมีขนาดเล็กมาก มีเพียงโมดูลเดียว และใช้งานเพื่อทดสอบเทคโนโลยีของจีนเช่นการเชื่อมต่อกับยานกลางอวกาศ การปรับความดันระหว่างยาน โดยยังไม่มีนักบินประจำการอยู่บนสถานี ส่วนสถานีที่จะมีโมดูลมากกว่านี้จะต้องรอถึงปี 2020 ระหว่างนี้การทดสอบสถานีที่ไม่มีนักบินประจำการจะมีไปถึงเทียนกง-3 ในปี 2015 ยานที่ใช้ประกอบเข้ากับสถานีเทียนกง คือยานเฉินซูมีต้นแบบและเทคโนโลยีมาจากยานโซยุซของรัสเซียจริง แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าปุ่มควบคุมหน้าตาเหมือนยานโซยุซจริงหรือไม่ ส่งท้าย Gravity นั้นเป็นภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง ไม่ใช่สารคดี มันยังคงมีจุดที่ขัดต่อฟิสิกส์อยู่บ้าง เช่น เมื่อเชือกดึงกัปตันเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว ความเร็วของทั้งกัปตัน นางเอก และตัวสถานีก็ควรจะเท่ากันโดยไม่มีแรงดึงเพิ่มเติมอีก การขับชุดควบคุมทิศทางในอวกาศเล่นๆ คงไม่ใช่เรื่องที่นาซ่ายอมรับได้ในภารกิจราคานับหมื่นล้าน หรือสถานีอวกาศที่ในความเป็นจริงแล้วโคจรอยู่ต่ำกว่ากล้องฮับเบิลที่ตัวละครเข้าไปซ่อมนับร้อยกิโลเมตร แต่ความแม่นยำโดยรวมของ Gravity ก็นับว่าดีมาก มันแสดงภาพภารกิจได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจไปพร้อมกับแสดง และอาจจะนำให้ทุกคนมาอ่านบทความนี้แต่แรก :) ที่มา - Wikipedia: Space Derbis, Wikipedia: ISS, Wikipedia: Chinese Space Station
https://jusci.net/node/3126
วิทยาศาสตร์จากหนัง: Gravity กับอวกาศ [Spoil]
Escherichia coli หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อย่อว่า "E. coli" เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารส่วนล่างของคน แม้บางครั้งมันอาจจะเกเรทำให้เราไม่สบายบ้างหรือกลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธุ์อันตรายบ้าง แต่ E. coli ส่วนใหญ่ก็อยู่เฉยๆ ของมัน ไม่สร้างอันตรายอะไร ทีมนักวิจัยที่นำโดย Matthew Wook Chang แห่ง Nanyang Technological University ในประเทศสิงคโปร์ ได้ดัดแปลงพันธุกรรมสร้าง E. coli มือปืนรับจ้างขึ้นมา เพื่อที่จะส่งมันเข้าไปฆ่าแบคทีเรียตัวร้ายที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ชอบสร้าง biofilm เมื่อแบคทีเรียบางชนิดจับกลุ่มอยู่รวมกันมากๆ มันจะปล่อยสาร quorum sensing ออกมา ยิ่งมันอยู่รวมกันมาก สาร quorum sensing ก็จะเข้มข้นมากตามไปด้วย พอความเข้มข้นถึงระดับหนึ่ง แบคทีเรียก็จะหลั่งสารเมือกออกมาปกคลุมพื้นผิวและตัวพวกมัน ชั้นของสารเมือกนี้เรียกว่า biofilm ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนปราการกำแพงป้องกันแบคทีเรียข้างในจากสารพิษ, ความเป็นกรด-ด่าง, ความแห้งแล้ง, และช่วยให้พลพรรคแบคทีเรียยึดเกาะพื้นผิวได้ดีขึ้น ฉะนี้ แบคทีเรียที่อยู่ใน biofilm จึงทวีความหน้าด้านทนทานต่อยาปฏิชีวนะขึ้นหลายเท่าตัว เพราะยาปฏิชีวนะเข้าถึงตัวพวกมันไม่ได้ แต่ทว่า E. coli ดัดแปลงของทีมวิจัย Matthew Wook Chang จะใช้สาร quorum sensing ที่แบคทีเรียตัวร้ายปล่อยออกมานี่แหละเป็นสัญญาณระบุตำแหน่งเข้าจู่โจม เมื่อ E. coli ตรวจจับสาร quorum sensing ได้ ยีนที่ฝังอยู่ในตัวมันจะทำงานสั่งให้มันกระพือหางว่ายรี่เข้าไปหา biofilm รังโจรทันที เมื่อเจาะทะลุเข้า biofilm ได้ ยีนอีกชุดก็จะทำงานต่อเนื่องสั่งให้ E. coli หลั่งสารฆ่าแบคทีเรีย microcin S และเอนไซม์ DNaseI ออกมาทำลายทั้ง biofilm และแบคทีเรียที่อยู่ข้างในให้สิ้นซาก การทดลองเบื้องต้นกับแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ และนักวิจัยเชื่อว่าวิธีนี้สามารถปรับปรุงใช้ฆ่าแบคทีเรียก่อโรคชนิดอื่นได้อีกหลายสายพันธุ์ ภาพจาก Hwang et al. 2013 งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน ACS Synthetic Biology DOI: 10.1021/sb400077j ที่มา - ACS Press Room
https://jusci.net/node/3131
ใช้โจรฆ่าโจร: นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ดัดแปลง E. coli ให้ไปไล่ฆ่าแบคทีเรียก่อโรค
เครื่องคอมพิวเตอร์ D-Wave นับเป็นคอมพิวเตอร์ควันตัมเชิงการค้าเครื่องแรกของโลก จนตอนนี้ลูกค้าที่ซื้อคอมพิวเตอร์ไปยังคงเป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐเป็นส่วนมาก เพราะในแง่การใช้งานจริงแล้วการจะสามารถทำได้แค่ไหน และจะเหมือนในทฤษฎีที่สามารถคำนวณถอดรหัสได้อย่างรวดเร็วจริงหรือไม่ ยังอยู่ห่างไกลจากการทดสอบจริงอีกมาก เมื่อปีที่แล้วกูเกิลเข้าไปร่วมมือกับทางนาซ่า หนึ่งในลูกค้าของ D-Wave เพื่อร่วมกันหาทางพัฒนาปัญญาประดิษฐ์บนคอมพิวเตอร์ควันตัมกลายเป็น Google Quantum A.I. Lab กว่าหนึ่งปีผ่านไป กูเกิลยังระบุว่าการพัฒนายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แต่ก็แสดงวิดีโอภาพภายในของเครื่อง D-Wave ให้เราได้ดูกันเป็นครั้งแรกๆ เครื่อง D-Wave นั้นที่จริงแล้วเป็นเพียงชิปตัวเดียว แม้ตัวเครื่องจะมีขนาดใหญ่มากเท่าตู้เซิร์ฟเวอร์ทั้งตู้ แต่ระบบเกือบทั้งหมดเป็นระบบทำความเย็นเพื่อให้ชิปทำงานที่อุญหภูมิต่ำมากๆ กูเกิลปล่อยวิดีโอมาใกล้ๆ กับการปล่อยวิดีโอบรรยายเรื่องคอมพิวเตอร์ควันตัมที่พูดที่กูเกิลเมื่อเดือนที่แล้ว วิดีโอทั้งสองอันอยู่ท้ายข่าว ที่มา - +QuantumAILab
https://jusci.net/node/3140
กูเกิลแสดงภาพภายในคอมพิวเตอร์ควันตัม D-Wave
ระบบขนส่งมวลชนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง เมืองขนาดใหญ่ล้วนต้องการระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง ที่เมืองเฮลซิงกิกำลังทดสอบระบบรถเมล์ Kutsuplus ที่เป็นระบบรถเมล์กึ่งแท็กซี่ รถเมล์ขนาดเล็ก 9 ที่นั่งหรือใหญ่กว่าจะกำหนดเส้นทางโดยอัตโนมัติเปิดให้ผู้ใช้สมัครบริการผ่านสมาร์ตโฟน แล้วกำหนดเส้นทางที่ต้องการเดินทางล่วงหน้า แอพพลิเคชั่นจะระบุป้ายรถเมล์ให้ไปยืนรอประมาณสิบนาที ในแอพพลิเคชั่นเปิดให้เลือกได้ว่าต้องการแชร์เส้นทางกับคนอื่นๆ หรือไม่ หากยอมแชร์เส้นทางก็จะเสียค่าบริการลดลง เซิร์ฟเวอร์ของ Kutsuplus จะคำนวณหาเส้นทางร่วมกับผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่เรียกใช้บริการในเส้นทางเดียวกันแล้วจอดรับไปตามทาง ค่าบริการเริ่มต้น 3.5 ยูโร และ 0.45 ยูโรต่อกิโลเมตรพร้อมส่วนลดในกรณีเดินทางหลายคน 20% สำหรับ 2 คน 30% สำหรับ 3 คน 40% สำหรับ 4 คน และมากกว่านั้นได้ส่วนลด 50% เทียบกับค่าแท็กซี่เริ่มต้น 5.7 ยูโร และกิโลเมตรต่อไป 1.48 ยูโร ส่วนค่ารถแทรม (รถรางเบา) นั้น 2.2 ยูโรต่อชั่วโมง ที่มา - Motherboard, Kutsuplus, Wikitravel
https://jusci.net/node/3146
ฟินแลนด์ทดลองระบบรถเมล์ใหม่ ควบคุมเส้นทางด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด
บริษัทให้บริการสำรวจชื่อว่า senseFly สาธิตการทำแผนที่สามมิติของภูเขา Matterhorn ด้วยการปล่อยยานบินไร้คนขับจากยอดเขาให้บินวนเก็บภาพรอบพื้นที่รวม 28 ตารางกิโลเมตร senseFly เป็นบริษัทขายยานบินไร้คนขับสองรุ่นได้แก่ eBee และ swinglet CAM แถมมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ควบคุมอัตโนมัติ และซอฟต์แวร์ทำแผนที่ โดยผู้ควบคุมต้องปล่อยยานบินด้วยมือ เตรียมจุดลงจอดให้พร้อม ยานบินจะบินอัตโนมัติ แล้วจึงดาวน์โหลดภาพกลับลงมาทำแผนที่ การใช้งานของยานบินประเภทนี้ทำให้การสำรวจพื้นที่ที่เคยเป็นเรื่องยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การสำรวจพื้นที่ภัยพิบัติ, การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้, ไปจนถึงการทำแผนที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ท้องถิ่น สามารถทำได้ในราคาหลักแสนบาท เช่น eBee ที่ใช้สาธิตนี้ติดกล้อง 16 ล้านพิกเซล ระยะควบคุม 3 กิโลเมตร, บินต่อเนื่องได้ 45 นาทีที่ความเร็ว 45-57 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ราคา 12,000 ดอลลาร์ หรือ 370,000 บาท บ้านเราถ้าจะสร้างเขื่อนน่าจะบังคับเปิดเผยภาพสามมิติความละเอียดสูงก่อนทำ EHIA จะได้เห็นๆ กันไปว่าตรงไหนเสียหายเท่าไหร่บ้าง ที่มา - IEEE Spectrum, Gizmag
https://jusci.net/node/3147
ทำแผนที่ภูเขาแบบสามมิติด้วยยานบินไร้คนขับ
ประเด็นปัญหาแรงงานมีฝีมือเข้าประเทศสหรัฐฯ ลำบาก เป็นปัญหาที่อุตสาหกรรมในสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการผ่อนปรนมาโดยตลอด เช่น แคมเปญ FWD.us แต่กรณีล่าสุดเกิดขึ้นกับ Adi Shamir หรือตัว S ใน RSA ระบบการเข้ารหัสที่เราใช้งานกันแทบทั้งโลก กลับไม่สามารถเข้าร่วมงาน Crypto 2013 ได้แม้จะได้รับเชิญไปร่วมงานเพราะวีซ่าอนุมัติล่าช้า กำหนดการเดินทางของ Shamir ยาวนานหลายเดือน ร่วมงานตั้งแต่ Crypto 2013 ไปจนถึงงาน Cryptologic History Symposium ที่จัดโดย NSA ทำให้เขามีสิทธิ์ขอวีซ่า J-1 ซึ่งออกสำหรับผู้ที่ได้รับคำเชิญจากหน่วยงานรัฐฯ ของสหรัฐฯ และเขาได้ยื่นขอวีซ่าล่วงหน้าไปสองเดือนครึ่ง แต่กระบวนการที่ล่าช้า Shamir เพิ่งได้รับอนุมัติวีซ่าในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถร่วมงาน Crypto 2013 และรายการที่รับเชิญไปพูดตามมหาวิทยาลัยอีกจำนวนหนึ่ง เนื่องจากไม่สามารถยืนยันวีซ่าได้ การนำเสนอของ Shamir ก็ถูกถอดออกจากงาน Cryptologic History Symposium กระบวนการแลกเปลี่ยนระหว่างกันของนักวิทยาศาสตร์นับเป็นปัจจัยสำคัญที่วิทยาศาสตร์จะเดินหน้าไป งานวิจัยสำคัญๆ เช่น คอมพิวเตอร์ควันตัมที่กำลังทำวิจัยกันอยู่นั้น ความก้าวหน้าส่วนหนึ่งเกิดจากนักวิจัยชาวรัสเซียมาพบกับนักวิจัยสหรัฐฯ และได้ทำงานร่วมกัน และกระบวนการเข้าประเทศที่ไม่แน่นอนของสหรัฐฯ อาจจะทำให้นักวิจัยจากต่างประเทศหลีกเลี่ยงที่จะร่วมงานกับนักวิจัยสหรัฐฯ ในที่สุด Shamir เป็นชาวอิสราเอลที่เข้าสหรัฐฯ มาแล้วเกือบร้อยครั้ง บางครั้งนานหลายปี และไม่เคยมีประวัติอยู่ในสหรัฐฯ นานกว่าวีซ่า เขายังเป็นสมาชิกของ US National Academy of Science อีกด้วย ที่มา - Secrecy News, The Register
https://jusci.net/node/3148
Adi Shamir นักรหัสวิทยาชื่อดัง พลาดการประชุมวิชาการเพราะวีซ่าอนุมัติช้า
คอมพิวเตอร์ควันตัม D-Wave นั้นมีคำถามมากมมายนับแต่วางขาย เช่น คำถามว่ามันเป็นคอมพิวเตอร์ควันตัมจริงหรือไม่ ล่าสุดเมื่อการคำนวณแสดงให้เห็นว่ามันสามารถคำนวณตรงตามลักษณะของคอมพิวเตอร์ควันตัมจริงแต่ก็ยังต้องการทดสอบอีกมาก แต่ก็พบปัญหาที่นักวิจัยกลัวกันตั้งแต่เริ่ม คือ สัญญาณรบกวนจะทำให้คอมพิวเตอร์ควันตัมไม่สามารถทำงานได้ตามที่ออกแบบไว้ ทำให้ D-Wave ถูกตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วการทำงานทำงานด้วยควันตัมจริงหรือไม่ นักวิจัยได้ทดลองคำนวณ Ramsey numbers ซึ่งเป็นปัญหาการออปติไมซ์ โดยมีโจทย์ว่าเราต้องเชิญแขกมาร่วมงานเลี้ยงอย่างน้อยกี่คน จึงจะให้มีแขกที่ไม่รู้จักกันในงานได้อย่างน้อย n คู่ โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับคอมพิวเตอร์แบบที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ การทดลองสามารถหาคำตอบของ Ramsey number ขนาดเล็กได้เป็นผลสำเร็จ แม้ว่าโจทย์ขนาดเล็กนั้นเราจะรู้คำตอบกันอยู่ก่อนแล้ว แต่การคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ควันตัมในเวลาไม่กี่มิลลิวินาทีก็แสดงให้เห็นว่าคอมพิวเตอร์ควันตัมนั้นทำงานได้จริง แต่ปัญหาขนาดเล็กนั้นก็เป็นปัญหาที่ใช้คอมพิวเตอร์ปกติคำนวณได้อยู่แล้ว เนื่องจากเครื่อง D-Wave ไม่เปิดเผยกระบวนการทำงานภายใน นักวิจัยจึงต้องศึกษาและทดสอบคุณสมบัติการเป็นคอมพิวเตอร์ควันตัมจากการคำนวณของมัน เราพบว่ามันมีความสามารถจำกัด และสามารถทำงานเหมือนคอมพิวเตอร์ควันตัมในบางกรณี ทำให้ปัญหาบางปัญหาทำงานได้เร็วขึ้นนับพันเท่า แต่ความจำกัดของมัน ทำให้ D-Wave อาจจะไม่สามารถคำนวณงานที่น่าตื่นเต้นมากๆ เช่น การแยกตัวประกอบด้วย Shor algorithm ที่โลกเคยกลัวกันว่าคอมพิวเตอร์ควันตัมจะทำให้การเข้ารหัส RSA ทั้งโลกสามารถถอดรหัสได้โดยง่าย ที่มา - Slashdot, APS Physics
https://jusci.net/node/3151
คอมพิวเตอร์ D-Wave ยังถูกตั้งคำถามว่าเป็นคอมพิวเตอร์ควันตัมหรือไม่
ห้องแลปควันตัมของกูเกิลนอกจากจะทำงานร่วมกับนาซ่าในการทดลองโครงการใหม่ๆ แล้ว ยังออกมาสนับสนุนการเรียนรู้ฟิสิกส์ควันตัมผ่านทางเกม โดยเกมที่ทีมงานเลือกใช้คือ Minecraft อันโด่งดังนั่นเอง มอด qCraft จะเปิดให้ผู้เล่นสามารถทดลองเล่นกับคุณสมบัติควันตัมด้วยบล็อคชุดเสริมที่มีคุณสมบัติ quantum entanglement, superposition, และ observer dependency สามคุณสมบัติสำคัญในการทำคอมพิวเตอร์ควันตัม ทีมงานระบุว่า qCraft ไม่ใช่ระบบจำลองวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์แต่ผู้เล่นก็สามารถเรียนรู้ได้สนุกกว่าการอัดเนื้อหาไปมากๆ สามารถดาวน์โหลดได้ผ่านชุดมอด Tekkit, Hexxit, หรือ Feed The Beast Unleashed พ่อแม่ทั้งหลายหามาเล่นด่วน ก่อนที่สักวันลูกจะชวนเล่นแล้วงงเป็นไก่ตาแตก ที่มา - +QuantumAILab
https://jusci.net/node/3152
เรียนรู้ฟิสิกส์ควันตัมผ่านเกม Minecraft ด้วย qCraft
iLab // Haiti และ KIDmob องค์กรการกุศลที่มีเป้าหมายในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา ได้นำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติ MakeBot's dual extrusion Replicator 1 จำนวน 2 เครื่องเข้ามาในประเทศเฮติ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างเครื่องมือทางการแพทย์ไว้ใช้งานในประเทศ ในระยะเริ่มต้นทาง KIDmob ได้สอนชาวเฮติเกี่ยวกับการสร้างโมเดลด้วยโปรแกรม SketchUp และ Rhino และอาจจะสอน Autodesk's Inventor ในอนาคต โดยโปรเจ็คเริ่มต้นจะเป็น ไม้หนีบสายสะดือทารก ซึ่งตอนนี้ยังเป็นต้นแบบอยู่ การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ง่าย ๆ เหล่านี้ในพื้นที่ และส่งให้กับคลินิกใช้งานเท่าที่จำเป็น จะเป็นการลดปัญหาคอรัปชั่น และการนำเข้าที่ไร้ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นในขณะนี้ลง การมีอินเทอร์เน็ต และเครื่องมือในการผลิตที่ใช้ง่าย ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนโมเดลสามมิติที่ซับซ้อนระหว่างเฮติกับประเทศอื่น ๆ เพื่อการผลิต และแจกจ่ายทำได้สะดวกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นอกจากการพิมพ์ของเล่น โมเดลต้นแบบ ปืน อุปกรณ์ในอวกาศ และเครื่องมือแพทย์แล้ว เรายังใช้เครื่องพิมพ์สามมิติทำอะไรได้อีกไหม? ที่มา: Make:
https://jusci.net/node/3153
เฮติจะใช้เครื่องพิมพ์สามมิติผลิตไม้หนีบสายสะดือ
ทีมวิจัยที่นำโดย Patricia Yang แห่ง Georgia Institute of Technology ในแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตั้งแต่ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นสุนัข, แพะ, วัว, ช้าง ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย โดยเวลาที่ใช้ในการปล่อยน้ำปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะเต็มๆ นั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 21 วินาที บวกลบ 13 วินาที นักวิจัยได้ตั้งกล้องวิดีโอความเร็วสูงถ่ายขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดต่างๆ ในสวนสัตว์แอตแลนตากำลังปัสสาวะ รวมทั้งค้นหาคลิปวิดีโอในอินเตอร์เน็ตที่มีคนถ่ายเอาไว้ (ไม่มีคลิปของมนุษย์รวมอยู่ในงานวิจัยนี้ -- สงสัยจะเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์คลิป) จากนั้นก็เอาวิดีโอมาเล่นชะลอความเร็วลงเพื่อวิเคราะห์ดูว่าน้ำปัสสาวะไหลออกมาในลักษณะใดและใช้เวลาเท่าไร พวกเขานำเอาข้อมูลที่รวบรวมได้มาสร้างเป็นสมการกลศาสตร์ของไหลที่อธิบายการไหลของน้ำปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะ ในสมการปล่อยน้ำฉี่ของทีม Patricia Yang ประกอบด้วยตัวแปรหลายตัว ได้แก่ ปริมาตรของกระเพาะปัสสาวะ, ความดันในกระเพาะปัสสาวะ, มวลร่างกาย, เส้นผ่านศูนย์กลางและความยาวของท่อปัสสาวะ เป็นต้น หลังจากการแทนค่าตัวแปรต่างๆ และจัดรูปสมการ พวกเขาก็ได้ข้อสรุปว่าเวลาที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใช้ในการปัสสาวะแปรผันตามมวลร่างกายยกกำลังเศษหนึ่งส่วนหก (M1/6) นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวต่างกันเป็นร้อยๆ เท่าถึงใช้เวลาฉี่แทบจะเท่ากัน เหตุผลทางสรีรวิทยาที่สัตว์ใหญ่อย่างช้างปล่อยน้ำปัสสาวะร้อยกว่าลิตรได้ในเวลาเท่าๆ กับสุนัขที่มีความจุกระเพาะปัสสาวะไม่ถึงหนึ่งลิตรนั้นเกี่ยวข้องกับแรงโน้มถ่วงของโลกและความยาวของท่อปัสสาวะ ท่อปัสสาวะของช้างมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 ซม. และยาวประมาณ 1 เมตร ท่อปัสสาวะที่ยาวกว่าทำให้แรงโน้มถ่วงมีเวลามากกว่าในการเร่งความเร็วของน้ำปัสสาวะ ปัสสาวะจึงไหลออกมาได้อย่างรวดเร็ว (อัตราการไหลของปัสสาวะช้างคือ 5.7 ลิตรต่อวินาที) อย่างไรก็ตาม สมการของ Patricia Yang ไม่ครอบคลุมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู ค้างคาว ฯลฯ ที่ใช้เวลาปัสสาวะเพียงไม่กี่วินาที เนื่องจากท่อปัสสาวะของสัตว์ขนาดเล็กนั้นเล็กและสั้นมากเกินกว่าที่จะน้ำปัสสาวะจะไหลออกมาเป็นสายต่อเนื่อง อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงมีผลน้อยมากเมื่อเทียบกับความหนืดและแรงตึงผิวของน้ำในท่อปัสสาวะ น้ำปัสสาวะปริมาณน้อยนิดจึงถูกดันไหลออกมาเป็นหยดปิ๊ดๆ นักวิจัยจะรายงานการค้นพบนี้ที่การประชุม American Physical Society Division of Fluid Dynamics ที่เมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย ในเดือนพฤศจิกายน 2013 ขณะนี้ตัวบทความวิจัยสามารถดาวน์โหลดได้จาก arxiv.org/abs/1310.3737 ที่มา - New Scientist
https://jusci.net/node/3156
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ "ช้างกับหมาใช้เวลาฉี่เท่าๆกัน"
ลักษณะที่เด่นชัดที่สุดของพวกอาชญากรโรคจิต (Psychopath) คือการไม่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (empathy) ต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ดังนั้นคนพวกนี้จึงสามารถกระทำสิ่งเลวร้ายต่อผู้อื่นโดยไม่มีสำนึกอะไรติดค้างในใจ ในขณะเดียวกันจิตใจของอาชญากรโรคจิตส่วนใหญ่ก็มีสิ่งที่เรียกว่า "Fearless dominance" ด้วย พวกเขาจึงทำอะไรก็ได้แม้ว่ามันจะเป็นการกระทำที่อันตรายต่อตัวเขาเองและคนรอบข้างมากแค่ไหนก็ตาม ส่วนคนที่เราเรียกกันว่าฮีโร่หรือวีรบุรุษ/วีรสตรีนั้นคือคนที่เห็นผู้อื่นทุกข์ยากแล้วยื่นมือเข้าช่วยด้วยความกล้าหาญ หากวัดกันที่ความเสียสละต่อส่วนรวม ฮีโร่กับอาชญากรโรคจิตจึงต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่ผลการศึกษาของทีมวิจัยที่นำโดย Scott Lilienfeld แห่ง Emory University กลับแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของฮีโร่และอาชญากรโรคจิตอาจจะเป็นสองด้านของสิ่งเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของสิ่งนี้จะนำด้านไหนของมันออกมาใช้ เส้นแบ่งระหว่างวายร้ายกับซุปเปอร์ฮีโร่อาจเป็นเพียงเส้นบางๆ ที่เลือนลาง (ฉากหนึ่งจากภาพยนตร์ The Dark Knight, 2008) การศึกษาของ Scott Lilienfeld เป็นการนำอาสาสมัครที่มีสุขภาพจิตปกติสองกลุ่ม (กลุ่มแรกเป็นนักศึกษา 243 คน, อีกกลุ่มเป็นคนวัยทำงาน 457 คน) มาทำแบบสอบถามเพื่อวิเคราะห์ลักษณะบุคลิกภาพและสอบถามว่าเคยกระทำการเสียสละช่วยเหลือคนอื่นมากน้อยแค่ไหน อะไรบ้าง เช่น เข้าไปแยกคนที่กำลังวิวาท, ช่วยเหลือคนที่โดนชิงทรัพย์ หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการช่วยเข็นรถที่เสีย เป็นต้น ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าระดับของลักษณะบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับอาการโรคจิต (psychopathic personality traits) บางอย่างสัมพันธ์กับความเสียสละช่วยเหลือผู้อื่น หนึ่งในลักษณะบุคลิกภาพที่สัมพันธ์กับการเสียสละคือ Fearless dominance คนที่ได้คะแนนบุคลิกภาพในข้อนี้สูงจะมีแนวโน้มรายงานว่าตนเองเคยกระทำการเสียสละในระดับสูงกว่าและบ่อยครั้งมากกว่าคนที่ได้คะแนนต่ำ การที่ Fearless dominance สัมพันธ์กับพฤติกรรมฮีโร่อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสักเท่าไร เพราะเมื่อไม่มีความกลัว ก็ย่อมมีความกล้าที่จะทำอะไรก็ได้ทั้งสิ่งดีและสิ่งเลว แต่ลักษณะบุคลิกภาพอีกประการที่สัมพันธ์กับแนวโน้มการเสียสละในการศึกษานี้ คือ การต่อต้านสังคมอย่างหุนหัน (impulsive antisociality) คนที่ได้คะแนนความก้าวร้าวและการต่อต้านสังคมสูงก็เป็นอีกกลุ่มที่รายงานว่าตนเองเคยช่วยเหลือผู้อื่นอยู่บ่อยๆ ผลที่ออกมานี้อาจจะฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่มันก็ไม่น่าจะถูกบิดเบือนจากการโกหกของอาสาสมัครเพราะนักวิจัยได้แฝงคำถามที่ดักจับพวกขี้จุ๊เอาไว้ในแบบสอบถามด้วย และการวิเคราะห์ทางสถิติก็ได้ตัดพวกที่ตอบอย่างมีพิรุธออกไปจากการวิเคราะห์แล้ว นอกจากการทดลองด้วยแบบทดสอบ นักวิจัยยังได้ประเมินกลุ่มตัวอย่างอีกกลุ่มหนึ่งด้วยซึ่งก็คือ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา นักวิจัยได้ให้คะแนนบุคลิกภาพของประธานาธิบดี 42 คนโดยอาศัยข้อมูลจากอัตชีวประวัติและผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์อเมริกา ผลของการประเมินสรุปได้ว่าประธานาธิบดีที่ได้คะแนนสูงๆ ตรงบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับอาการโรคจิต มีแนวโน้มสูงที่จะมีประวัติแสดงความกล้าหาญในสงครามก่อนเข้ารับตำแหน่ง (งานวิจัยในปี 2012 โดย Scott Lilienfeld ก็เคยแสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหลายคนมีลักษณะบุคลิกภาพเข้าข่าย Fearless dominance DOI:10.1037/a0029392) แน่นอนว่าการศึกษานี้ไม่ได้หมายความว่าฮีโร่ทุกคนคือพวกโรคจิต หรือ พวกโรคจิตทุกคนคือฮีโร่ (แม้ว่าฆาตกรโรคจิตบางคนอาจจะมีภายนอกที่ดูเป็นคนดีมากๆ ก็ตาม) Scott Lilienfeld มองว่าลักษณะบุคลิกภาพที่เกี่ยวกับอาการโรคจิตบางอย่างอาจจะมีประโยชน์อย่างน้อยก็ในระยะสั้นเพราะมันมีรากของบุคลิกภาพที่คาบเกี่ยวร่วมกับพฤติกรรมการเสียสละอย่างวีรบุรุษ การทำความเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องเหล่านี้อาจจะช่วยขัดเกลาพฤติกรรมของอาชญากรโรคจิตและการออกแบบระบบสังคมที่เอื้ออวยโอกาสให้คนดึงเอาบุคลิกภาพเหล่านี้มาใช้ในทางบวกแทนที่จะปล่อยให้หลงทางถลำลึกเข้าสู่ด้านมืด งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Journal of Research in Personality DOI:10.1016/j.jrp.2013.05.006 ที่มา - Live Science
https://jusci.net/node/3158
ฮีโร่กับอาชญากรโรคจิตคือสองด้านของเหรียญเดียวกัน?
แมลงเกือบทุกชนิดบนโลกนี้เดินด้วยท่าทางมาตรฐานสากลของแมลงที่เรียกว่า "tripedal gait" หรือ "tripod gait" โดยเป็นการก้าวขาแบบสลับอย่างเข้าจังหวะของขาทั้งสามคู่ (ดูตัวอย่างจากรูปข้างล่าง หรือ ภาพอนิเมชั่นน่ารักๆ จากสื่อการเรียนรู้รายวิชา EN 425 ของ NCSU) การเดินด้วยท่านี้จะทำให้มีขาสามข้างแตะพื้นในทุกๆ จังหวะก้าวเดิน ยันให้แมลงทรงตัวได้อย่างมั่นคงแม้ว่าจะวิ่งบนพื้นขรุขระด้วยความเร็วสูงก็ตาม (ยกเว้นในกรณีที่วิ่งด้วยความเร็วสูงมากๆ บางจังหวะก้าวอาจจะมีขาสี่ข้างช่วยยันพื้น และในอีกบางจังหวะขาสองคู่หน้าอาจจะลงแตะพื้นไม่ทัน ทำให้มีแค่ขาคู่หลังที่แตะพื้น) นอกจากแมลงแล้ว สัตว์ขาปล้องอีกหลายชนิดก็เดินสลับขาในรูปแบบ tripedal gait เช่น แมงมุม แมงป่อง ตะขาบ เป็นต้น ขาข้างที่แรเงาสีดำหมายถึงขาที่แตะพื้นในจังหวะนั้น; ภาพจากหนังสือ The Insects: An Outline of Entomology ของ Gullan Cranston ด้วงมูลสัตว์ก็เป็นแมลงที่นักวิทยาศาสตร์ชอบจับเอามาดูมันเดิน แต่นักวิทยาศาสตร์สนใจว่ามันหาทางเดินกลับรังได้อย่างไรมากกว่าที่จะดูท่าเดินของมัน แหม! การที่สัตว์ตัวเล็กๆ สามารถหาทางเดินกลับรังกลางทะเลทรายได้โดยไม่หลงทาง มันช่างเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างยิ่ง (งานวิจัยที่ค้นพบว่าด้วงมูลสัตว์ใช้แสงจากกาแล็กซี่ทางช้างเผือกนำทางได้รับรางวัล Ig Nobel 2013 ด้วย) อย่างนี้แล้วใครจะไปสนใจท่าเดินของด้วงให้เสียเวลา เพราะขึ้นชื่อว่าแมลงยังไงมันก็เดินแบบแมลง... จริงไหม? Marcus Byrne แห่ง University of the Witwatersrand (หนึ่งในทีมวิจัยที่เพิ่งจะได้ Ig Nobel มาสดๆ ร้อนๆ) ได้ออกเดินทางร่วมกับ Clarke Scholtz แห่ง University of Pretoria และ Jochen Smolka แห่ง Lund University เข้าไปยังทะเลทราย Namaqualand ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศนามิเบียและแอฟริกาใต้เพื่อศึกษาระบบการหาทางกลับรังของด้วงมูลสัตว์สกุล Pachysoma ด้วงมูลสัตว์สกุล Pachysoma ไม่กลิ้งก้อนมูลเป็นลูกบอลกลมๆ เหมือนด้วงมูลสัตว์อีกหลายชนิด ด้วงตัวเมียจะขุดรูใต้ดินทรายชื้นๆ แล้วเอามูลสัตว์และเศษใบไม้ใบหญ้ายัดๆ เข้าไปจนเต็มรัง จากนั้นก็วางไข่เพียงหนึ่งฟองต่อหนึ่งรัง พอเสร็จ ด้วงตัวเมียก็จะลาไปทำธุระอย่างอื่น ทิ้งให้ลูกของมันเติบโตอย่างลำพัง ความพยายามครั้งล่าสุดในการทดลองกับด้วงของนักวิจัยทั้งสามเรียกได้ว่าเกือบจะล้มเหลว พวกเขาแทบจะไม่ได้อะไรเลยจากการสังเกตเก็บข้อมูลการค้นหาเส้นทางของด้วง แต่ในวันหนึ่งขณะที่เอาไม้แหย่รูหาด้วงอยู่นั้น พวกเขาก็เหลือบเห็นด้วง Pachysoma endroeydi ตัวหนึ่งเดินกุบกับๆ ผ่านหน้าด้วยท่าทางที่ดูประหลาด พอตั้งสติได้ พวกเขาก็รู้เลยว่ามันต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ เพราะพวกเขาไม่เคยเห็นแมลงที่ไหนในโลกเดินแบบนั้น พวกเขาจึงเร่งหาจับด้วง Pachysoma สปีชีส์อื่นๆ ที่อาศัยในทะเลทราย Namaqualand มาดูท่าเดิน และพวกเขาก็พบอีกสองสปีชีส์ที่เดินแบบเดียวกับ Pachysoma endroeydi ได้แก่ P. hippocrates และ P. glentoni ด้วงมูลสัตว์ Pachysoma spp. ทั้งสามเดินด้วยการยกขาคู่หน้าทั้งสองข้างก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน พอขาคู่หน้าแตะพื้น ก็ยกขาคู่กลางทั้งสองข้างก้าวขึ้นไปข้างหน้า สลับกันเป็นจังหวะเหมือนกับม้าที่กำลังวิ่งควบเต็มเหยียด แต่ว่าการควบแต่ละก้าวของด้วง Pachysoma spp. นั้นทำระยะทางได้น้อยมากเพราะเท้าของด้วงแทบจะไม่ได้ลอยขึ้นจากพื้นสักเท่าไรเลย การที่ด้วง Pachysoma สามสปีชีส์ดังกล่าวเดินท่านี้ในขณะลากมูลสัตว์ก็เป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้ เพราะการเดินแบบนี้จะทำให้เหลือขาคู่หลังในการลากพ่วงมูลสัตว์ ท่าเดินแบบควบก็อาจจะเป็นท่าที่ทำให้ลากของได้มากขึ้น แต่มันก็เหลือข้อข้องใจว่าทำไมด้วงในสกุล Pachysoma ที่เหลืออีก 4 สปีชีส์ถึงเดินด้วยท่า tripedal gait เหมือนแมลงอื่นๆ แถมด้วง P. endroeydi, P. hippocrates และ P. glentoni ก็ยังเดินด้วยท่าควบอืดๆ แบบนั้นตลอดเวลาทั้งในตอนขนของและไม่ได้ขนของ ถ้าไม่ลากพ่วงอะไร มันก็ปล่อยขาคู่หลังของมันลากพื้นอยู่อย่างนั้น ที่น่าแปลกใจสุดๆ คือ การเดินควบของด้วง Pachysoma ช้ากว่าการเดินแบบ tripedal gait ด้วยซ้ำ ด้วง P. endroeydi เดินทำความเร็วได้สูงสุด 7.6 ซม./วินาที ส่วนด้วง P. striatum ที่เดินด้วยท่า tripedal gait อย่างสมศักดิ์ศรีเผ่าพันธุ์แมลงนั้นมีความเร็วสูงสุด 9.1 ซม./วินาที ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่มีคำตอบว่าทำไมด้วง Pachysoma สามสปีชีส์ถึงได้ละทิ้งท่าเดินที่คล่องตัวสง่างามอย่าง tripedal gait หันไปเดินควบอืดๆ แบบนั้น บางทีการเดินแบบควบอาจจะทำให้มันนับก้าววัดระยะทางได้แม่นยำกว่า หรือ อาจจะเป็นเพราะมันต้องการให้หัวตั้งตรงตลอดเวลาเพื่อรักษาทิศทาง ไม่ส่ายไปส่ายมา ...แต่อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเดินแบบนี้จะต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ๆ เนื่องจากด้วง Pachysoma เป็นด้วงบินไม่ได้ การเดินจึงเป็นหนทางหลักในการเคลื่อนที่ของมัน ฉะนั้นมันคงไม่ได้ฝึกวิ่งแบบม้าแข่งเพราะนึกสนุกเล่นๆ หรอก การค้นพบนี้ตีพิมพ์ใน Current Biology DOI: 10.1016/j.cub.2013.09.031 ที่มา - New Scientist
https://jusci.net/node/3159
ค้นพบท่าเดินของด้วงประหลาดที่ไม่เหมือนใครเลยในโลกของแมลง
ความฝันอย่างหนึ่งของแพทย์ทั่วโลกคือการจ่ายยาอย่างต่อเนื่องเพื่อทดแทนการจ่ายยาด้วยการกินหรือฉีดอย่างทุกวันนี้ที่ทำให้ปริมาณยาในร่างกายคนไข้ไม่คงที่ ไอบีเอ็มร่วมงานวิจัยกับสถาบันวิศวกรรมชีวภาพและนาโนเทคโนโลยีแห่งสิงคโปร์ (Institute of Bioengineering and Nanotechnology - IBN) พัฒนาแคปซูลยาขนาดเล็กจากวิตามินอีและไฮโดรเจล ทำให้ได้ตัวยาที่สามารถฉีดฝังไว้ใต้ผิวหนังได้โดยไม่มีอาการอักเสบ และตัวยายังสามารถปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องได้นานหลายสัปดาห์ ทีมวิจัยใช้ยาก Herceptin เพื่อรักษามะเร็งเต้านมแบบหนึ่งที่ชื่อว่า human epidermal growth factor receptor 2 (HER2+) โดยปกติแล้วการให้ Herceptin ต้องจ่ายทางเส้นเลือดทุกสัปดาห์ ครั้งละ 30 ถึง 90 นาที แต่งานวิจัยใหม่นี้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ามารับยาได้เพียงเดือนละครั้งและใช้เวลาเพียง 5 นาทีต่อครั้ง การทดลองครั้งนี้ยังเป็นการทดลองในสัตว์เท่านั้น โดยการทดลองในหนูพบว่าประสิทธิ์ภาพของ Herceptin ผ่านสารประกอบใหม่นี้ ยังให้ประสิทธิภาพลดขนาดเนื้องอกลง 77% ภายใน 28 วัน นับเป็นประสิทธิภาพระดับเดียวกับการให้ยาแบบเดิมๆ ทีมงานของ IBN และ IBM กำลังยื่นขอสิทธิบัตรจากงานวิจัยนี้ งานวิจัยตีพิมพ์ลงในวารสาร Advanced Functional Materials เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา DOI: 10.1002/adfm.201301307 ที่มา - IBN (PDF)
https://jusci.net/node/3161
ไอบีเอ็มร่วมมือ IBN จากสิงคโปร์ สร้างระบบจ่ายยาต่อเนื่อง
เมื่อเวลาประมาณ 14:38 น. (หรือประมาณ 16:08 น. ตามเวลาประเทศไทย) ISRO ได้ปล่อย Mangalyaan (มังคาลยาน - ยานพาหนะของพระอังคาร) ยานสำรวจดาวอังคารจากฐานยิงจรวดทางตอนใต้ของศรีหาริโคตร (Sriharikota) เขตอันตระประเทศ (Andhra Pradesh) ขึ้นสู่อวกาศเป็นผลสำเร็จ โดยยาน Mangalyaan ใช้เวลาประมาณ 44 นาที ก็เข้าสู่วงโคจรโลก Mangalyaan จะโคจรรอบโลกอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อทำความเร็วให้สูงพอ แล้วจะเหวี่ยงตัวเองหนีแรงโน้มถ่วงของโลกมุ่งสู่ดาวอังคาร และใช้เวลาเดือนทางไปยังดาวอังคารอีกประมาณ 10 เดือน Mangalyaan มีขนาดเท่ากับรถคันเล็ก ๆ ใช้เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สภาพอากาศ หาสาเหตุการหายไปของน้ำ ซึ่งเชื่อว่าเคยมีมากบนดาวอังคาร รวมถึงค้นหาก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสารเคมีสำคัญในกระบวนการทางชีวภาพบนโลก รวมถึงกระบวนการทางธรณีวิทยาด้วย นายกรัฐมนตรีของอินเดียได้ประกาศโครงการสำรวจดาวอังคารประกาศเมื่อ 15 เดือนก่อน หลังจากที่จีนล้มเหลวในการส่งยานสำรวจดาวอังคารขึ้นสู่อวกาศเพียงไม่นาน และหลังจากที่อินเดียส่ง Chandrayaan (จันทรายาน - ยานพาหนะของพระจันทร์) ขึ้นสำรวจดวงจันทร์เพียง 5 ปีเท่านั้น ที่สำคัญ โครงการนี้ใช้งบประมาณดำเนินการเพียง 4,500 ล้านรูปี หรือประมาณ 2,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของงบประมาณโครงการสำรวจดาวอังคาร MAVEN ของนาซ่า ที่จะยิงในวันที่ 18 พฤศจิกายน ในขณะนี้มีเพียงสหรัฐ ยุโรป และรัสเซียเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานไปสำรวจดาวอังคาร ต้องรอลุ้นกันว่าอินเดีย จะเป็นประเทศที่ 4 หรือไม่ ที่มา: The Times of India (วิดีโอ), NDTV 1, 2
https://jusci.net/node/3163
อินเดียประสบความสำเร็จในการยิงดาวเทียมสำรวจดาวอังคารในระยะที่หนึ่ง
ปีที่แล้วโครงการ ArduSat ประกาศระดมทุน 35,000 ดอลลาร์เพื่อส่งดาวเทียมขนาด 1U จากระวางบรรทุกเหลือของโครงการอื่นๆ ตอนนี้การพัฒนาดาวเทียมสำเร็จ และดาวเทียมขนาดเล็กสามดวงก็ออกจากสถานีอวกาศนานาชาติเข้าสู่วงโคจรแล้ว โดยการปล่อยออกจากแขนกลบนสถานี ArduSat ทั้งสองดวงจะปล่อยสัญญาณ beacon ที่ความถี่ 437 เมกกะเฮิร์ตเพื่อยืนยันวงโคจรไปเรื่อยๆ ระหว่างที่อยู่ในอวกาศ โดย ArduSat-1 จะใช้ชื่อเรียกขาน WG9XFC-1 และ ArduSat-X ใช้ชื่อ WG9XFC-X ในข้อความจะแสดงสถานะแบตเตอรี่, ข้อมูลที่ได้รับเข้า, และข้อมูลที่ส่งออก ทาง NanoSatisfi ขอให้นักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกช่วยกันฟังข้อความเหล่านี้ บันทึกเสียง แล้วส่งไปที่ "[email protected]" นอกจาก ArduSat แล้ว การปล่อยรอบนี้ยังมี PicoSat ที่ร่วมกันพัฒนาระหว่าง IHI Aerospace กับมหาวิทยาลัยในเวียดนามและญี่ปุ่นอีกหนึ่งดวง อีกดวงหนึ่งที่มีกำหนดการปล่อยคือ TechSatEd-3 แต่ยังไม่ได้ปล่อยออกไปพร้อมกัน ที่มา - The Register CubeSats deployed at 12:18 UTC. PicoDragon, ArduSat-1 and ArduSat-X are on their way. #ISS pic.twitter.com/t7rXMuiuyl — ISS Updates (@ISS101) November 19, 2013 Koichi Wakata released 3 small satellites from the Japanese Robotic Arm today. Pretty exciting to see live. pic.twitter.com/6shSmyqtXi — Mike Hopkins (@AstroIllini) November 19, 2013
https://jusci.net/node/3171
ดาวเทียมจิ๋วสามดวง PicoDragon, ArduSat-1, และ ArduSat-X ออกสู่วงโคจรแล้ว
23andMe ทำธุรกิจขายเครื่องตรวจ DNA ได้เองที่บ้าน โดยได้รับความสนับสนุนจากกูเกิล ตอนนี้มีปัญหาว่า FDA หรือองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ สั่งห้ามขายเครื่องจัดเก็บตัวอย่าง DNA และบริการตรวจวิเคราะห์ DNA แล้ว ปัญหาคือ 23andMe โฆษณาว่าการตรวจ DNA นั้นสามารถระบุความเสี่ยงของโรคต่างๆ ได้หลายโรค โดยยังไม่มีการขออนุญาตในสรรพคุณเหล่านี้เอาไว้ และไม่มีการพิสูจน์จากการทดลองทางคลีนิคก่อนหน้านี้ ปกติแล้วบริการตรวจ DNA มักจะอ้างถึงความเสี่ยงของโรคบางโรคเท่านั้น ถ้า 23andMe ได้รับใบอนุญาต จะกลายเป็นบริการแรกที่ใช้ตรวจโรคได้หลายอาการพร้อมกัน ที่มา - Bloomberg
https://jusci.net/node/3173
23andMe ถูกห้ามขายชุดตรวจ DNA เพราะโฆษณาเกินกว่าที่ขออนุญาต
SpaceX เตรียมยิงดาวเทียม SES-8 ดาวเทียมสื่อสารในวงโคจรค้างฟ้าขึ้นสู่วงโคจร 95 องศาตะวันออกในวันนี้ แต่แผนการทั้งหมดก็ถูกยกเลิกก่อนการยิงเพียง 4 นาทีโดยไม่มีการแถลงถึงเหตุผล ระหว่างกระบวนการยิง มีการเลื่อนเวลายิงออกไปหนึ่งครั้ง ประมาณหนึ่งชั่วโมง ก่อนที่ SpaceX จะประกาศยกเลิกแล้วไปยิงใหม่อีกครั้งในวันพฤหัสที่จะถึงนี้แทน ยาน Falcon 9 ที่ใช้ในภารกิจนี้เป็นยานรุ่น 1.1 ที่ได้รับการปรับปรุงจากการยิงครั้งก่อนหน้านี้ โดยรอบที่แล้วส่วนมากมักเป็นดาวเทียมสำหรับงานวิจัย และระวางบรรทุกส่วนมากจ่ายค่าบริการในราคาถูกแลกกับความเสี่ยงในการใช้ยานรุ่นทดสอบ แต่ SES-8 เป็นดาวเทียมเพื่อการค้าที่ต้องการความน่าเชื่อถือกว่ามาก การยิงขึ้นวงโคจรค้างฟ้านั้นสูงกว่าวงโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติหลายสิบเท่า และหาก SpaceX ให้บริการได้จริงก็จะเป็นหมุดหมายของบริษัทว่าไม่ได้เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการได้เพราะการสนับสนุนจากนาซ่าอีกต่อไป ที่มา - NASA Space Flight, SpaceX Falcon 9 standing tall on the pad, ready to launch #SES8 to 80,000km orbit. Watch @ 5pm: http://t.co/wytY3mnBf1 pic.twitter.com/C3RryK0kRz — SpaceX (@SpaceX) November 25, 2013
https://jusci.net/node/3174
SpaceX ยกเลิกแผนยิงดาวเทียมเชิงพาณิชย์ขึ้นวงโคจรค้างฟ้าดวงแรก
SpaceX ประสบความสำเร็จในการยิงดาวเทียมเชิงพาณิชย์ SES ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ โดยครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งที่ 3 หลังจากที่สองครั้งก่อนหน้านี้ตรวจพบปัญหาขัดข้องทางเทคนิคก่อนที่จะยิง การยิงเกิดขึ้นที่สถานี Cape Canaveral ในรัฐ Florida โดยเริ่มจากการยิงจรวด Falcon 9 ในเวลา 17:41 (ตามเวลาท้องถิ่น) ของวันที่ 3 ธันวาคม ซึ่งได้ปล่อยดาวเทียม SES-8 สู่วงโคจรในอีก 33 นาทีต่อมา ความสำคัญของความสำเร็จในครั้งนี้ ก็คือ การที่ SpaceX สามารถยิงดาวเทียมเชิงพาณิชย์ขึ้นสู่วงโคจรที่สูงจากโลกมากขนาดนี้ได้เป็นครั้งแรก (จากไม่กี่ 100 กิโลเมตร สู่ความสูงระดับ 36,000 กิโลเมตร) ซึ่งมีความสำคัญในแง่ที่เป็นนิมิตหมายของการเปลี่ยนแปลงของผู้เล่นในตลาดที่ปัจจุบันแม้จะมีการแข่งขันสูงแต่ก็มีการผูกขาดอยู่เพียงไม่กี่เจ้า ได้แก่ Europe's Arianespace (ยุโรป) และ International Launch Services (ILS) (รัสเซีย) การเข้ามาของ SpaceX จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและการลดลงของต้นทุนในการยิงดาวเทียม ที่มา - BBC News
https://jusci.net/node/3175
ความพยายามครั้งที่ 3 ในการยิงดาวเทียมเชิงพาณิชย์ของ SpaceX ประสบความสำเร็จ
สาหร่ายนั้นถูกพิจารณาเป็นแหล่งพืชพลังงานมานานแล้ว เนื่องจากมีพื้นที่ที่ใช้ในการปลูกได้มาก แต่การจะนำมาใช้ได้นั้น จะต้องมีการทำให้แห้งซึ่งสิ้นเปลืองทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา และอาจเหลือมวลเพียงแค่ 20% วิศวกรของ Pacific Northwest National Laboratory (PNNL) ได้คิดค้นกระบวนการแปลงสาหร่ายให้กลายเป็นน้ำมันดิบได้โดยใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง และยังสามารถนำสาหร่ายมาผ่านกระบวนการโดยไม่ต้องทำให้แห้งก่อน แนวคิดนั้นนำมาจากกระบวนการเกิดน้ำมันดิบตามธรรมชาติ คืออุณหภูมิและความดัน ซึ่งใช้เวลานับล้านปี กระบวนการจริงที่ใช้ในการทดลองนั้นใช้ความร้อน 350ºC ความดัน 3,000 psi ผลผลิตที่ได้จากกระบวนการมีทั้ง น้ำมันดิบ ก๊าซเชื้อเพลิง น้ำสะอาด และแร่ธาตุ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียม ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้ปลูกสาหร่ายได้ ที่มา: Gizmag
https://jusci.net/node/3178
พบวิธีแปลงสาหร่ายเป็นน้ำมันดิบในเวลาไม่ถึงชั่วโมง
ขณะที่เราตื่นเต้นกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกันทั้งโลก แต่ในวันที่ 24 ธันวาคม 1963 มีเครือข่ายอีกชุดหนึ่งที่ทำงานเบื้องหลังทำให้เราสามารถสื่อสารกับดาวเทียมและยานสำรวจที่เดินทางไกลไปยังนอกระบบสุริยะจักรวาลได้ เครือข่ายนั้นเรียกว่า Deep Space Network (DSN) DSN เป็นเครือข่ายของศูนย์รับคลื่นวิทยุจากนอกโลกสามศูนย์ ตั้งอยู่ใน สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, และสเปน ทำมุมห่างกันประมาณ 135 องศาพอดี เพื่อให้มีจานไปยังยานที่อยู่นอกโลกได้ตลอดเวลา ทุกวันนี้มีโครงถึง 30 โครงการนอกโลกพึ่งพา DSN อยู่ นอกจากใช้รับส่งข้อมูลแล้ว DSN ยังสามารถ "ปิง" (ping) เพื่อตรวจจับวัตถุนอกโลกได้อย่างแม่นยำ เช่น เมื่อดาวหางเข้าใกล้โลกก็สามารถยิงคลื่นออกไปเพื่อวัดระยะทางและความเร็ว ความฝันของการพัฒนา DSN คือการพัฒนาให้รองรับแบนวิดท์สูงๆ ได้ เพื่อให้ในอนาคตเราจะดูวิดีโอส่งตรงจากยานสำรวจระยะไกลเช่นดาวอังคาร ที่มา - NASA JPL
https://jusci.net/node/3179
ครบรอบ 50 ปี Deep Space Network เครือข่ายเพื่อการสื่อสารข้ามดวงดาว
SpaceX ประกาศความสำเร็จในการนำส่งดาวเทียมไทยคม 6 ขึ้นสู่วงโคจร 295 x 90 กิโลเมตร นับเป็นภารกิจการนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรค้างฟ้าภารกิจที่สองของจรวด Falcon 9 ดาวเทียมไทยคม 6 เป็นดาวเทียมที่ให้บริการทั้ง C-band และ Ku-band มีน้ำหนัก 3,016 กิโลกรัม จะประจำการอยู่ที่วงโคจร 78.5 องศาตะวันออก อายุการใช้งาน 15 ปีขึ้นไป ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่สามของจรวด Falcon 9 ทำให้จรวดรุ่นนี้ผ่านเงื่อนไขการสำส่งดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ โดย Falcon 9 มีรายงานนำส่งดาวเทียมอีกกว่า 50 รายการ ในจำนวนนี้ 60% เป็นภารกิจนำส่งดาวเทียมเชิงการค้า วิดีโอการยิงดาวเทียมอยู่ท้ายข่าว ที่มา - SpaceX, SpaceX
https://jusci.net/node/3182
SpaceX นำส่ง Thaicom-6 สำเร็จ
ว่ากันตามคำจำกัดความที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หลุมดำ (Black Hole) คือบริเวณที่กาล-อวกาศ (space-time) มีความโค้งงอสูงจนไม่มีอะไรสามารถวิ่งหนีออกจากหลุมดำได้แม้แต่อนุภาคแสง และนักวิทยาศาสตร์เรียกเส้นที่กำหนดขอบเขตของหลุมดำว่า "ขอบฟ้าเหตุการณ์" (event horizon) อะไรก็ตามที่ข้ามผ่านขอบฟ้าเหตุการณ์ ก็จะไม่มีทางยูเทิร์นหนีหลุมดำได้อีกเลย ใน ค.ศ. 1975 สตีเฟน ฮอว์คิง ได้เสนอว่าหลุมดำไม่ได้ดำมืดอย่างที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดกัน เขาทำนายว่าหลุมดำจะเปล่งอนุภาคแสงออกมาจากขอบฟ้าเหตุการณ์ตลอดเวลาซึ่งจะทำให้หลุมดำระเหิดเล็กลงไปเรื่อยๆ และหายไปเองในที่สุด ต่อมาปรากฏการณ์นี้ก็ได้ชื่อว่า "Hawking radiation" เมื่อฮอว์คิงพิจารณาทฤษฎีของตัวเองต่อ เขาก็พบว่าการระเหิดของหลุมดำสร้างปัญหาชุดใหม่ขึ้นมาซะแล้ว เนื่องจากหากหลุมดำระเหิดไปจนหมด สิ่งที่ถูกดูดตกลงไปในหลุมดำก็จะต้องสูญหายไปจากเอกภพด้วย ซึ่งการหายไปนี้ขัดกับหลักการ Unitarity ของฟิสิกส์ควอนตัมที่ระบุชัดเจนว่าข้อมูลทางควอนตัมจะสูญหายไปเฉยๆ ไม่ได้ พอเรื่องนี้ประกาศสู่วงการฟิสิกส์ มันก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ทันที นักฟิสิกส์เรียกความขัดแย้งทางทฤษฎีนี้ว่า Black Hole Information Paradox และเปิดฉากถกเถียงกันอย่างดุเดือด ทั้งผ่านหน้าสื่อและบทความวิชาการ ล่วงผ่านไปเกือบ 30 ปี สตีเฟน ฮอว์คิง ก็นั่งรถเข็นออกมายอมรับใน ค.ศ. 2004 ว่าเขาคิดผิด ผลจาก AdS/CFT correspondence แสดงให้เห็นว่าข้อมูลของสิ่งที่ตกลงไปในหลุมดำไม่ได้สูญหายไปไหน หนึ่งในสมมติฐานที่ได้รับการยอมรับที่สุด ณ เวลานั้น คือ Holographic Principle ซึ่งอธิบายว่าข้อมูลของสิ่งที่ตกไปในหลุมดำจะยังคงถูกอนุรักษ์ไว้ในรูปของข้อมูลสองมิติบนผิวนอกของหลุมดำ แต่ปัญหาก็ไม่ได้จบลงที่ตรงนั้น เพราะยังไม่มีใครรู้อยู่ดีว่าข้อมูลหลุดเล็ดลอดออกจากหลุมดำหรือถูกนำมาแปะเป็นโฮโลกราฟที่ผิวหลุมดำได้อย่างไร นักฟิสิกส์พยายามที่จะปิดคดีของ Black Hole Information Paradox ให้เสร็จสมบูรณ์ ต่างคนก็พยายามหาทางอธิบายไปเรื่อย จนกระทั่งเมื่อราวกลางปี ค.ศ. 2012 นักฟิสิกส์ผู้หาญกล้า 5 คนอันมีหัวหอก ได้แก่ Joseph Polchinski แห่ง University of California ณ Santa Barbara กับ Leonard Susskind แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เสนอทฤษฎีพลิกโลกว่าขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำมีกำแพงไฟ นั่นคือ อะไรก็ตามที่ตกลงมาในขอบฟ้าเหตุการณ์จะถูกกองสะสมเป็นกำแพงไฟของชั้นอนุภาคพลังงานสูงล้อมรอบหุ้มหลุมดำเอาไว้ สสารจะถูกสลายและถูกพ่นเป็นข้อมูลออกมา ด้วยการนี้ข้อมูลจึงถูกอนุรักษ์ไว้ ไม่ได้หายไปพร้อมกับการระเหิดของหลุมดำ พอนักฟิสิกส์คนอื่นๆ เห็นทฤษฎีกำแพงไฟของหลุมดำ หลายคนก็ดีใจที่จะได้คำอธิบายมายุติข้อกังขาของ Black Hole Information Paradox อย่างสมบูรณ์แบบสักที แต่พอกำลังจะอ้าปากร้องว้าว กำแพงไฟของหลุมดำก็สร้างปัญหาของตัวมันเองขึ้นมาซะแล้ว เพราะว่าหากหลุมดำมีกำแพงไฟตามหลักฟิสิกส์ควอนตัม ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปก็ต้องผิดทันที เนื่องจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปบอกไว้ว่าสสารที่ผ่านขอบฟ้าเหตุการณ์จะไม่รู้สึกอะไรเลยขณะกำลังข้ามผ่าน มันจะลอยผ่านไปเฉยๆ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความขัดแย้งนี้ได้ชื่อเรียกว่า "Firewall Paradox" Firewall Paradox ได้ไปกระตุกความสนใจของ สตีเฟน ฮอว์คิง ซึ่งเป็นตัวการต้นเรื่องทั้งหมดทั้งมวล เขาขบคิดอยู่นานจนได้ข้อสรุปว่า "ถ้าไม่มีขอบฟ้าเหตุการณ์ ก็จะไม่มีกำแพงไฟ เมื่อไม่มีกำแพงไฟ ก็จะไม่มี Firewall Paradox ฉะนั้นก็แปลได้ว่าหลุมดำไม่มีขอบฟ้าเหตุการณ์" สตีเฟน ฮอว์คิง มองว่าเมื่อมวลสารยุบตัวลงเป็นหลุมดำ กาล-อวกาศในอาณาบริเวณรอบศูนย์กลางจะโค้งงอจนเป็นขอบฟ้าที่กักเก็บอนุภาคต่างๆ รวมถึงแสงเอาไว้ แต่การแกว่งทางควอนตัม (Quantum Fluctuation) จะทำให้อาณาบริเวณนี้อยู่ในภาวะอลหม่านและเปลี่ยนรูปร่างไปตลอดเวลา มันจึงไม่ได้เป็นขอบฟ้าเหตุการณ์ตามความจำกัดความดั้งเดิมเพราะอนุภาคที่ถูกกักไว้ในขอบฟ้าดังกล่าวมีโอกาสที่จะหลุดหนีออกจากหลุมดำได้ ฮอว์คิงเรียกขอบฟ้าของหลุมดำแบบใหม่นี้ว่า "apparent horizon" และแม้ข้อมูลที่ตกลงมาสู่ apparent horizon จะยังคงถูกอนุรักษ์อยู่ แต่มันจะกระจายเละเทะอลหม่าน ใช้การอะไรไม่ได้ เสมือนกับว่าหลุมดำย่อยข้อมูลนี้หายไป นอกจากนี้การเปลี่ยนจาก event horizon มาเป็น apparent horizon ทำให้คำจำกัดความเดิมของหลุมดำใช้การไม่ได้อีกด้วย ฮอว์คิงเสนอให้เปลี่ยนคำจำกัดความของหลุมดำใหม่โดยอธิบายหลุมดำว่าเป็นสถานะขอบเขตของสนามแรงโน้มถ่วงรูปแบบหนึ่ง The absence of event horizons mean that there are no black holes - in the sense of regimes from which light can’t escape to infinity. There are however apparent horizons which persist for a period of time. This suggests that black holes should be redefined as metastable bound states of the gravitational field. ขณะนี้ บทความของสตีเฟน ฮอว์คิง ได้ถูกฝากไว้บน arXiv ภายใต้ชื่อหัวข้อ "Information Preservation and Weather Forecasting for Black Holes" arXiv:1401.5761 ตัวเนื้อหาบทความมีสั้นๆ เพียงสองหน้ากระดาษและไม่มีการพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ประกอบเลย เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมความคิดจากการบรรยายเมื่อปีที่แล้วของฮอว์คิงเอง (วิดีโอการบรรยายอยู่ที่เว็บไซต์ของ Kavli Institute for Theoretical Physics ซึ่งเป็นเจ้าภาพงานประชุมวิชาการครั้งนั้น) วงการฟิสิกส์ตอบรับทฤษฎีใหม่ของฮอว์คิงด้วยความตื่นเต้น เราคงต้องรอคอยต่อไปว่าสุดท้ายแล้วนี่จะเป็นการกู้หน้าตัวเองหรือเป็นความผิดพลาดอีกครั้งของสตีเฟน ฮอว์คิง ที่มา - New Scientist, Nature News
https://jusci.net/node/3191
สตีเฟน ฮอว์คิง บอกว่า "ไม่มีขอบฟ้าเหตุการณ์ ไม่มีหลุมดำ"
ในโลกแห่งภาษา ความรักมักถูกเปรียบเป็นรสหวานชื่นคอ ครั้นเมื่อความรักกลายเป็นความหึงหวงริษยา มันก็กลับเปลี่ยนเป็นรสชาติอันขื่นขมฝาดคอ หลายคนอาจจะคิดว่านี่เป็นเพียงแค่การอุปมาอุปไมยตามจินตนาการของกวีนักเขียน แต่ผลการวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่าความรักส่งผลถึงการรับรู้รสชาติของคนเราได้จริงๆ ตอนแรก นักวิจัยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างโดยให้จับคู่รสชาติต่างๆ กับอารมณ์หลายอย่าง ได้แก่ ความรัก, ความเศร้า, การถูกหักหลัง, ความหลงใหล, และความหึงหวง ผลจากการสำรวจได้ออกมาว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดนึกถึงความรักเป็นรสหวาน และนึกถึงความหึงหวงเป็นรสขมหรือรสเปรี้ยว จากนั้นนักวิจัยก็เริ่มการทดลองอีกชุดโดยใช้กลุ่มตัวอย่างชุดใหม่ ก่อนการทดลอง นักวิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่มและสั่งให้กลุ่มตัวอย่างแต่ละคนเขียนเรียงความเพื่อเหนี่ยวเร้าอารมณ์ (Priming) กลุ่มแรกให้เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ความรัก กลุ่มที่สองเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ความหึงหวง และกลุ่มสุดท้าย (กลุ่มควบคุม) ให้เขียนบรรยายสถานที่สำคัญของสิงคโปร์ เมื่อทุกคนเขียนเรียงความเสร็จ นักวิจัยก็ให้กลุ่มตัวอย่างลองชิมลูกอมกับช็อกโกแลตที่เตรียมไว้และประเมินระดับรสชาติว่าหวานเท่าไร, เค็มเท่าไร, เปรี้ยวเท่าไร, ขมเท่าไร (ตามระดับคะแนน 1-7) นักวิจัยคัดเลือกลูกอมมาอย่างพิถีพิถันให้มีระดับของรสเปรี้ยวและรสหวานก้ำกึ่งกัน ส่วนช็อกโกแลตก็ให้มีรสหวานและรสขมกึ่งๆ กัน ผลจากการทดลองอันนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มที่ได้เขียนเรื่องประสบการณ์ความรักก่อนชิมจะประเมินให้ลูกอมกับช็อกโกแลตหวานกว่ากลุ่มที่เขียนเรื่องความหึงหวงและกลุ่มควบคุม แต่กลุ่มที่เขียนเรื่องหึงหวงกลับไม่ได้ประเมินให้ลูกอมหรือช็อกโกแลตมีรสเปรี้ยวหรือขมมากกว่าอีกสองกลุ่ม และในการทดลองสุดท้าย นักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างอีกชุดมาเขียนเรียงความเหมือนเดิมโดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มแรกเขียนประสบการณ์ความรัก, กลุ่มที่สองเขียนความหึงหวง, ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มควบคุมเขียนประสบการณ์ความสุขทั่วไป เมื่อเขียนเสร็จ นักวิจัยก็เอาน้ำกลั่นบริสุทธิ์มาให้กลุ่มตัวอย่างแต่ละคนชิมโดยหลอกว่าเป็นเครื่องดื่มชนิดใหม่ และให้กลุ่มตัวอย่างประเมินรสชาติเหมือนกับกลุ่มตัวอย่างในการทดลองอันก่อนหน้า ผลจากการทดลองสุดท้ายก็ยังออกมารูปเดิม นั่นคือกลุ่มที่โดนสั่งให้เขียนเรื่องความรักประเมินให้น้ำเปล่ามีรสหวานมากกว่ากลุ่มที่เขียนเรื่องหึงหวงและกลุ่มควบคุม นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การที่ความรู้สึกถึงอารมณ์รักยังทำให้คนรับรู้ถึงรสหวานได้แม้กระทั่งน้ำเปล่าซึ่งไร้รสไร้กลิ่นแสดงให้เห็นว่าความรักไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับต่อมรับรสบนลิ้นของเรา แต่มันน่าจะไปกระทบวงจรการแปลผลรสชาติในสมอง งานวิจัยก่อนหน้านี้ก็รายงานว่าการได้มองภาพคู่รักและการได้กินของหวานสามารถกระตุ้นสมองส่วน anterior cingulate cortex ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรู้สึกได้รับรางวัลได้เหมือนกัน มันอาจเป็นไปได้ว่าความรักที่วิ่งเป็นกระแสประสาทในวงจรของสมองเหนี่ยวนำให้สมองเตรียมพร้อมที่จะแปลผลรสหวานออกมาควบคู่กันไป คนที่คิดถึงความรักจึงรับรู้ถึงรสหวานเพิ่มขึ้น งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Emotion doi:10.1037/a0033758 ที่มา - RealClearScience, Popular Science, Scientific American
https://jusci.net/node/3195
ความรักทำให้ของกินหวานขึ้น
ถ้าใครเคยน้อยใจว่าทำไมทำดีแล้วยังโดนคนรุมด่า ขอให้สบายใจได้ คุณไม่ใช่คนเดียวในโลกที่ได้รับความอยุติธรรมเช่นนั้น มันเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ บ่อยครั้งที่การทำความดีไม่จำเป็นต้องได้รับคำชมสรรเสริญจากคนรอบข้างเสมอไป และในบางครั้งสังคมอาจจะมองความดีของคุณเป็นเรื่องที่แย่กว่าการไม่ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ ทีมวิจัยที่นำโดย George Newman และ Daylian Cain แห่งมหาวิทยาลัยเยลมีความสนใจอยากรู้ว่าคนเราจะมีความรู้สึกตอบสนองต่อจุดประสงค์แอบแฝงของการทำดีอย่างไร พวกเขาจึงได้เกณฑ์อาสาสมัครมาเป็นกลุ่มตัวอย่างเพื่อทำการทดลองทางจิตวิทยาหลายอัน ซึ่งได้ผลออกมาสอดคล้องกันทั้งหมดว่าคนเราจะประเมินให้การทำความดีที่มีผลประโยชน์แอบแฝงเป็นเรื่องแย่ยิ่งกว่าการไม่ทำอะไรเลยหรือการทำเพื่อหวังผลประโยชน์แบบซึ่งหน้า หนึ่งในการทดลองของนักวิจัยทั้งสองทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มตัวอย่างแต่ละคนจะได้อ่านเรื่องราวสมมติของผู้ชายที่หวังจีบสาวโดยอาสาไปช่วยงานผู้หญิง ในเรื่องที่กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกได้อ่าน นางเอกของเรื่องทำงานในสถานพักพิงคนไร้บ้าน, ส่วนในเวอร์ชันที่ให้กลุ่มที่สองอ่าน งานของนางเอกเป็นงานในร้านกาแฟ, และสุดท้าย กลุ่มที่สามได้อ่านเรื่องทั้งสองเวอร์ชัน เมื่ออ่านเสร็จ นักวิจัยก็ให้กลุ่มตัวอย่างประเมินระดับคะแนนจริยธรรมของพระเอกในท้องเรื่อง ผลปรากฏออกมาว่ากลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรก (ซึ่งอ่านเรื่องนางเอกทำงานในสถานพักพิงคนไร้บ้าน) ประเมินคะแนนให้พระเอกมีจริยธรรมต่ำกว่าการประเมินของกลุ่มที่สอง (ซึ่งอ่านเรื่องนางเอกทำงานร้านกาแฟ) แถมกลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกยังมองด้วยว่าการเสียสละอาสาทำงานการกุศลช่วยคนไร้บ้านของพระเอกนั้นสร้างประโยชน์แก่สังคมเพียงเล็กน้อย ไม่ต่างจากที่กลุ่มตัวอย่างที่สองมองการทำงานที่ร้านกาแฟเลย ส่วนกลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่สามซึ่งได้อ่านเรื่องทั้งสองเวอร์ชันให้คะแนนจริยธรรมพระเอกเท่าๆ กันในทั้งสองกรณีและมองว่าการช่วยงานการกุศลของพระเอกทำประโยชน์แก่สังคมมากกว่าการไปช่วยงานร้านกาแฟหรือนั่งจีบหญิงโดยไม่ทำอะไรเลย ในอีกการทดลอง นักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างประเมินระดับจริยธรรมของแคมเปญการกุศล Gap (RED) ซึ่งเป็นแคมเปญที่ Gap จะบริจาคกำไร 50% ให้แก่องค์กรที่ต่อสู้ปัญหาการระบาดของโรคเอดส์และมาลาเรีย กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกจะได้ฟังนักวิจัยเน้นย้ำว่า "Gap บริจาคโดยหักกำไร 50% ไว้เข้ากระเป๋าตัวเอง" ส่วนกลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่สองจะถูกชี้นำให้เห็นว่า "Gap เอากำไรจากการทำธุรกิจของตัวเอง 50% มาบริจาค" ผลจากการตอบแบบประเมินได้ออกมาตามคาด นั่นคือ พอถูกชักจูงว่า Gap หักกำไรไว้ครึ่งหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างก็จะประเมินให้คะแนนจริยธรรมของ Gap ต่ำ ส่วนกลุ่มตัวอย่างอีกกลุ่มที่โดนชี้นำว่าเงินนั้นเป็นกำไรของ Gap ทั้งหมดอยู่แล้วซึ่งจะมองว่า Gap ไม่ต้องบริจาคเลยก็ได้ กลุ่มตัวอย่างก็จะประเมินว่า Gap มีจริยธรรมสูง นักวิจัยเรียกปรากฏการณ์การประเมินระดับจริยธรรมแบบนี้ว่า "การเสียสละที่แปดเปื้อน" (Tainted altrusim) และได้สันนิษฐานถึงเหตุผลไว้ว่า เมื่อคนเราประเมินกิจกรรมการกุศล เราจะตั้งมาตรฐานในใจทันทีว่าคนที่มาช่วยงานต้องมีจิตอาสาอันบริสุทธิ์ เราคาดหวังว่าคนดีต้องไม่ได้มาทำดีเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน พอเราเจอคนที่ทำงานการกุศลด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง (หรือรู้สึกว่าเขามีผลประโยชน์แอบแฝง) เราจึงให้ความรู้สึกติดลบทั้งต่อตัวคนนั้นรวมถึงกิจกรรมการกุศลนั้นด้วย (เช่น อีแอบ ไอ้ทำดีเอาหน้า ไอ้ไม่ปิดทองหลังพระ ฯลฯ) ส่วนคนที่ไม่ทำอะไรเลยหรือหาผลประโยชน์ในงานธุรกิจ เราไม่ได้ตั้งมาตรฐานจริยธรรมของเขาไว้สูงตั้งแต่ต้น มันจะมีผลประโยชน์แอบแฝงอะไรบ้าง เราก็ไม่ติดใจเอาความสักเท่าไร งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Psychological Science DOI: 10.1177/0956797613504785 ที่มา - Science Daily
https://jusci.net/node/3198
เป็นคนดีอย่างไรให้โดนด่า?: การทำดีที่เจือปนผลประโยชน์โดนประณามมากกว่าการไม่ทำอะไรเลย
โครงการสนับสนุนโครงการวิจัยของ DARPA นั้นมีจำนวนมาก (หนึ่งในนั้นคือ ARPANET ต้นกำเนิดของอินเทอร์เน็ต) โครงการเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ หลายโครงการมีการเปิดเผยข้อมูลอยู่ก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีการรวบรวมไว้ที่เดียวกัน บางโครงการไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเป็นสาธารณะ ทำให้เข้าถึงได้ยาก ตอนนี้ทาง DARPA จึงเปิดหน้าเว็บรวบรวมซอร์สโค้ด, ข้อมูลวิจัย, และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากโครงการวิจัยที่ได้รับทุนไว้ที่เดียวกัน ข้อมูลและซอร์สโค้ดเกือบทั้งหมดถูกเก็บไว้ใน GitHub เท่าที่ผมสำรวจดูพบว่ามีไลบรารีสำหรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่จำนวนมาก ทั้งการประมวลผลบนจีพียูและไลบรารีภาษา R ไปจนถึงเครื่องมือประมวลผลภาษา Python ที่มา - DARPA Open Catalog, The Verge
https://jusci.net/node/3201
DARPA รวมข้อมูลเปิดเผยที่ได้ทุนวิจัยไว้ที่เดียวกัน
กระบวนการสำรวจดาวจากกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่างจากชั้นบรรยากาศของโลกเราเอง ทำให้การสำรวจแสงอัลตราไวโอเล็ตและอินฟราเรดเป็นไปไม่ได้เลย แต่การส่งกล้องโทรทรรศขึ้นไปสำรวจในอวกาศก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แนวทางเลือกคือการติดกล้องขึ้นไปกับบอลลูนที่ความสูง 37 กิโลเมตร อยู่เหนือบรรยากาศถึงร้อยละ 95 ทำให้แทบไม่มีอะไรกั้น ปัญหาสำคัญคือการชี้กล้องโทรทรรศน์ให้ชี้ไปที่ดาวเป้าหมายได้นิ่งๆ ซึ่งสำคัญมากสำหรับการสำรวจดวงดาว ศูนย์การบินที่เกาะ Wallops ของนาซ่าพัฒนา Wallops Arc Second Pointer (WASP) ซึ่งเป็นระบบขี้เป้าหมายความแม่นยำสูงในระดับดีกว่าอาร์ควินาที ระบบ WASP นี้ถูกทดสอบมาตั้งแต่ปี 2011 และเริ่มใช้งานครั้งแรกในปี 2013 โดยใช้ดับระบบสำรวจความเปลี่ยนแปลงบนผิวโลกที่ชื่อว่า HyperSpectral Imager for Climate Science (HySICS) แต่ความแม่นยำของมันทำใหันักวิทยาศาสตร์ที่วิจัยข้อมูลดาวเคราะห์สนใจใช้งานด้วย โดยเดือนสิงหาคมปีนี้จะมีการปล่อยกล้อง Observatory for Planetary Investigations from the Stratosphere (OPIS) ภายในเดือนสิงคมนี้ และจะอัพเกรดตัว WASP ให้สามารถเล็งมุมเงยได้มากกว่า 25 องศา เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานสำรวจดาวเคราะห์กว่าตอนนี้ ที่มา - NASA ภาพ WASP บนเครนในการทดลองใช้งาน ภาพ WASP ติดตั้งกับ HySICS
https://jusci.net/node/3203
นาซ่าทดรอบระบบชี้เป้าสำหรับกล้องโทรทรรศน์ติดบอลลูนรุ่นใหม่
BrightSource บริษัทโรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ประกาศความสำเร็จในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแบบรวมแสงอาทิตย์เป็นความร้อน (Solar Thermal) ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 392 เมกะวัตต์ เพียงพอสำหรับบ้านเรือน 140,000 หลังคาเรือน โรงงานไฟฟ้านี้สร้างให้กับบริษัทขายพลังงาน NRG Solar ที่เป็นบริษัทลูกของ NRG Energy อีกทีหนึ่ง โดยรวมแล้ว NRG Solar มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 2,000 เมกะวัตต์ โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ให้เงินกู้ยืมสำหรับโครงการนี้ 1.6 พันล้านดอลลาร์ ตัวโรงงานประกอบไปด้วยแผ่นกระจกสะท้อนแสง 173,500 แผ่น เคลื่อนที่ตามแสงอาทิตย์ ตัวเสารับแสงสูง 450 ฟุตหรือ 137 เมตร ผู้ลงทุนคนสำคัญของ BrightSource คือกูเกิลนั่นเอง ที่มา - BrightSource
https://jusci.net/node/3210
BrightSource เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ความร้อนใหญ่ที่สุดในโลก 392 เมกะวัตต์
คนเราอาจจะบอกได้ว่ารู้สึกห่อเหี่ยวเวลาเหงา แต่ผลกระทบที่ชัดเจนเพิ่งมีการนำเสนอในงาน AAAS Annual Meeting 2014 เมื่อมีการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่อายุเกิน 50 ปีจำนวน 2,101 คน ในช่วงปี 2002 ถึง 2008 พบว่าการขาดความสัมพันธ์กับสังคมเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่ออันตราการตายของคนกลุ่มนี้ การสำรวจเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างในประเด็น ความสัมพันธ์กับสังคม, พฤติกรรมสุขภาพ, และสุขภาพโดยรวม และดูอัตราการตายของกลุ่มตัวอย่าง รายงานพบว่ากลุ่มโดดเดี่ยวจากสังคมมีความเสี่ยงการตายสูงกว่าค่าเฉลี่ย 14% เป็นสองเท่าของโรคอ้วน ขณะที่ความยากจนเป็นความเสี่ยงสูงสุดถึง 19% รายงานพบว่าแม้คนบางกลุ่มจะมีความสุขกับการอยู่คนเดียว แต่บางกลุ่มก็ยังรู้สึกเหงาแม้อยู่ใกล้ชิดกับญาติและเพื่อน รายงานแสดงว่าคนเราต้องการมีส่วนร่วมกับคนรอบข้าง และการอยู่ร่วมกันนั้นไม่เพียงพอ องค์กร Age UK ออกมาแสดงความเห็นแนวทางเดียวกับรายงานนี้ โดยความช่วยเหลือคนชราในช่วงหลังจะรวมไปถึงการส่งคนเข้าไปเยี่ยม โทรศัพท์คุย และเป็นเพื่อนกับคนชรา พร้อมกับระบุว่าทุกคนสามารถช่วยกันได้ด้วยการเป็นเพื่อนที่ดีกับคนชราใกล้บ้านหรือคนที่เรารู้จัก ที่มา - The Guardian, AAAS 2014
https://jusci.net/node/3211
ความเหงาฆ่าเราได้ งานวิจัยระบุอยากอายุยืนต้องเข้าสังคมและออกกำลังกาย
หัวข้อข่าวดูโอเวอร์แต่มันเป็นความจริงครับ เมื่อนิตยสาร Sport Illustrated ที่มีธรรมเนียมประจำปี คัดนางแบบระดับโลกมาถ่ายอัลบั้มชุดว่ายน้ำสุดร้อนแรง ได้แหวกแนวโดยการดึงนางแบบสาวชื่อดัง Kate Upton (หารูปเธอกันเองนะครับ แฮ่กๆ) มาถ่ายแบบแนวเซ็กซี่ในชุดบิกินี้ บนเครื่องบิน G-Force One ของบริษัท Zero-G เครื่องบินลำนี้คือการนำเครื่องบินโดยสาร Boeing 727 มาดัดแปลง และให้บริการเชิงธุรกิจกับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักที่อยากสัมผัส "ประสบการณ์ไร้น้ำหนัก" (ค่าตั๋ว 5,000 ดอลลาร์ครับ) หรือรับงานการทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก สำหรับงานนี้ ทางทีมบรรณาธิการของ Sport Illustrated (ที่ฉลองครบรอบ 50 ปีของการถ่ายชุดว่ายน้ำพอดี) ระบุว่าโลเคชั่นอื่นมันก็ซ้ำๆ ไปถ่ายมาเกือบทุกปี ขอลองของแปลกบ้างสักที การถ่ายภาพชุดนี้ดูเหมือนง่ายแต่เอาจริงก็ไม่ง่าย เพราะต้องบินกัน 17 รอบกว่าจะถ่ายภาพได้ครบสมบูรณ์ น่าเสียดายว่าสาวเจ้าไม่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าประสบการณ์โพสต์ท่าถ่ายแบบที่ระดับ 0G เป็นอย่างไรบ้าง ลิงก์ภาพแบบเต็มๆ อยู่ที่ Sport Illustrated นะครับ ที่มา - Discovery
https://jusci.net/node/3212
สาวเซ็กซี่ในสภาพไร้น้ำหนัก Kate Upton ถ่ายบิกินีที่แรงโน้มถ่วง 0G
จรวด Falcon 9 ของ SpaceX นั้นออกแบบให้นำกับมาใช้ใหม่ได้ตั้งแต่แรก แต่เที่ยวบินก่อนหน้านี้ทั้งหมดการยิง Falcon 9 ต้องทิ้งจรวดท่อนแรกลงทะเลทั้งหมด โดยไม่ได้พยายามรักษาหรือนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง แต่ SpaceX รายงานว่าภารกิจต่อไปจะติดตั้งขาสำหรับการลงจอดขึ้นไปกับจรวดเป็นครั้งแรก การยิงจรวดในวันที่ 16 มีนาคมนี้ เมื่อจรวดท่อนแรกนำส่งท่อนที่สองขึ้นสู่อวกาศและกลับลงสู่พื้นโลกแล้ว ระหว่างที่ตกลงจะมีการสตาร์ตเครื่องใหม่อีกครั้งและกางขาเพื่อลงจอด แม้ว่าทีมงานจะคาดไว้แล้วว่าการลงจอดมีโอกาสสำเร็จต่ำกว่า 40% ก็ตาม ภารกิจวันที่ 16 มีนาคมนี้จะเป็นการนำส่งสัมภาระขึ้นไปส่งสถานีอวกาศนานาชาติครั้งที่สาม จากสัญญาทั้งหมด 12 ครั้ง จรวด Falcon 9 มีส่วนประกอบสำคัญคือเครื่องยนต์ Merlin 1D ที่ออกแบบไว้สำหรับลงจอดได้ จรวดทดลองรุ่นเล็ก คือ Grasshopper นั้นสามารถยิงขึ้นจากพื้นไปได้ถึง 744 เมตรแล้วลงสู่พื้นได้อย่างปลอดภัย แต่ยังไม่เคยมีการทดลงกับจรวด Falcon 9 ตัวเต็มที่มีเครื่องยนต์ถึง 9 เครื่อง มีขนาด น้ำหนัก และความสูงก่อนกลับสู่โลกสูงกว่าเดิมมาก Falcon 9 ถูกออกแบบให้มีกำลังในชั้นแรกอย่างเหลือเฟือ โดยสามารถทนทานต่อเครื่องยนต์ดับเสียหายไปได้ถึงสองเครื่องระหว่างยิง และยังสามารถยิงขึ้นไปต่อได้ หากสามารถนำจรวดขั้นแรกกลับมาใช้ใหม่ได้ Falcon 9 ก็จะกลายเป็นบริษัทรับส่งสัมภาระขึ้นสู่อวกาศที่มีต้นทุนต่ำกว่าเจ้าอื่นๆ อย่างมาก ที่มา - NDTV, SpaceX
https://jusci.net/node/3215
SpaceX จะติดตั้งขาลงจอดสำหรับจรวดรอบหน้า แต่คาดว่าจะลงจอดไม่สำเร็จ
FDA (U.S. Food and Drug Administration หรือองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ) เสนอให้เปลี่ยนฉลากโภชนาการของอาหารเสียใหม่เพื่อให้ตรงกับพฤติกรรมการกินมากขึ้น ข้อเสนอนี้จะขยายขนาดของ "หน่วยบริโภคต่อบรรจุ" และ "พลังงานต่อหน่วยบริโภค" ขึ้นเป็นตัวอักษรขนาดใหญ่ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อกินอาหารเข้าไปแล้วจะได้รับพลังงานแค่ไหน ขยายขนาดตัวเลขของโภชนาการต่างๆ ให้ใหญ่ขึ้นและมาอยู่ด้านหน้าของข้อมูล พร้อมกับเพิ่มข้อมูลเพิ่มเติม เช่น น้ำตาลที่ใส่เพิ่ม (added sugar) แยกออกจากน้ำตาลปกติ ข้อมูลบางส่วนถูกตัดออก เช่น พลังงานจากไขมัน เพราะรายงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าชนิดของไขมันที่ได้รับ มีผลต่อสุขภาพมากกว่า ทาง FDA ต้องรอรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะเป็นเวลา 90 วันจึงสามารถบังคับใช้ฉลากแบบใหม่นี้ได้ และจะมีผลต่ออาหารทั้งหมดยกเว้นอาหารประเภท เนื้อ, สัตว์ปีก, และไข่ไก่แปรรูป ที่กำกับดูแลโดยหน่วยงานอื่น ที่มา - FDA ฉลากแบบใหม่ ฉลากแบบเก่า คล้ายกับของไทย
https://jusci.net/node/3219
FDA เสนอฉลากโภชนาการใหม่ เห็นพลังงานชัดเจน
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ออกร่างแนวทางแนะนำการกินอาหารฉบับใหม่ เตรียมลดปริมาณพลังงานที่ได้จากน้ำตาลลงเหลือ 5% ต่อวัน หรือ 6 ช้อนชา โดยนับเฉพาะน้ำตาลที่ถูก "เติม" เข้าไปในอาหาร ไม่ว่าจะเติมไปในรูปแบบของน้ำตาล, น้ำผึ้ง, น้ำผลไม้, หรือน้ำผลไม้เข้มข้นก็ตาม แนวทางแนะนำก่อนหน้านี้ระบุว่าคนทั่วไปไม่ควรได้รับพลังงานจากน้ำตาลประเภทนี้เกิน 5% ของพลังงานทั้งหมด คำแนะนำใหม่จะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว แม้คำแนะนำเดิมที่ออกมาตั้งแต่ปี 2002 จะตั้งไว้สูง แต่ประชากรอังกฤษก็บริโภคน้ำตาลเป็นสัดส่วนถึง 11.6% ในผู้ใหญ่ และ 15.2% ในเด็ก คำแนะนำให้ลดพลังงานจากน้ำตาลเหลือเพียง 5% เป็นเป้าหมายที่ทำได้ยาก WHO ยอมรับและระบุว่าเป้าหมายนี้เป็นเพียง "คำแนะนำอย่างมีเงื่อนไข" เท่านั้น สำหรับ "คำแนะนำอย่างจริงจัง" จะแนะนำว่าให้ลดพลังงานจากน้ำตาลให้ต่ำว่า 10% ที่มา - Reuters, BBC
https://jusci.net/node/3221
องค์การอนามัยโลกเตรียมลดปริมาณน้ำตาลที่แนะนำลงครึ่งหนึ่ง
เครื่องบินขนาดเล็กแบบหลายใบพัดเริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นในหลายปีที่บ้านมา บ้านเราเองก็มีการใช้เครื่องบินเหล่านี้ทำข่าวอย่างต่อเนื่องเพราะสามารถได้ภาพมุมสูงโดยมีต้นทุนต่ำ แต่ปัญหาว่าเครื่องบินเหล่านี้จะเป็นอันตรายหรือไม่ และต้องควบคุมการใช้งานเช่นเดียวกับเครื่องบินหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ในสหรัฐฯ คดีระหว่าง FAA ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการบินทั่วสหรัฐฯ และ Raphael Pirker ที่ใช้เครื่องบินวิทยุบังคับถ่ายวิดีโอเมืองนิวยอร์คโดยเข้าไปในระยะ 100 ฟุตของลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และบินเหนือถนนเพียง 20 ฟุต ทำให้ FAA สั่งปรับ Pirker เป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์ โดยระบุว่า Pirker ต้องขออนุญาตล่วงหน้าเพราะใช้เครื่องบินไร้คนขับเพื่อการทำกำไร (เขาถ่ายวิดีโอทำโฆษณา) แต่ผู้พิพากษากฎหมายปกครอง Patrick Geraghty ประจำบอร์ดความปลอดภัยการขนส่งสหรัฐฯ ก็ออกมาวินิจฉัยว่าคำสั่งปรับของ FAA ไม่มีผลเพราะ FAA ไม่มีอำนาจควบคุมยานบินไร้คนขับขนาดเล็กเหล่านี้ โดยหากปล่อยให้ FAA ตีความขยายอำนาจตัวเองเช่นนี้ การตีความอำนาจการควบคุมของ FAA ก็อาจจะขยายไปถึงเครื่องร่อนกระดาษ และเครื่องบินไม่บัลซาร์ ที่มา - ArsTechnica
https://jusci.net/node/3223
ผู้พิพากษาสหรัฐฯ วินิจฉัย FAA ไม่สามารถกำกับการใช้โดรน
ซีรีส์ "บริษัทหุ่นยนต์ของกูเกิล" จะสรุปความเคลื่อนไหวของกูเกิลที่ไล่ซื้อบริษัทด้านหุ่นยนต์เป็นจำนวนมากในรอบปีที่ผ่านมา โดยจะนำข้อมูลของบริษัทเหล่านี้เท่าที่หาได้มาแกะรอยดูว่า กูเกิลอยากทำอะไรกันแน่ บริษัทแรกเริ่มจากบริษัทที่ดังที่สุดในกลุ่มนี้คือ Boston Dynamics ซึ่งเป็นบริษัทที่แยกตัวออกมาจากห้องแล็บของ MIT โดยผู้ก่อตั้ง Marc Raibert เคยเป็นอาจารย์ที่ Carnegie Mellon และ MIT มาก่อน เขาและทีมงานเริ่มออกมาทำบริษัทตั้งแต่ปี 1992 โดยได้รับทุนจาก DARPA องค์กรเดียวกับที่ให้ทุนวิจัยอินเทอร์เน็ต ความเชี่ยวชาญของ Boston Dynamics คือการสร้างหุ่นยนต์ที่ "เคลื่อนไหว" (dynamic ตามชื่อบริษัท) และหุ่นยนต์ที่จำลองการทำงานของมนุษย์ หุ่นยนต์ของบริษัทสามารถวิ่งและเคลื่อนตัวได้เหมือนสัตว์ เดินได้ในสภาพแวดล้อมที่ขรุขระ หรือมีสภาพสูงต่ำไม่เรียบเสมอกัน ลูกค้าของ Boston Dynamics ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานด้านทหาร ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง: ข่าวกูเกิลซื้อบริษัทหุ่นยนต์ Boston Dynamics BigDog หุ่นยนต์ที่น่าจะดังที่สุดของ Boston Dynamics คือ BigDog หุ่นยนต์หมา 4 ขาที่ไว้ขนสัมภาระหนัก สามารถเดินได้ในสภาพแวดล้อมขรุขระ ถึงแม้จะเซหรือถลา แต่ระบบควบคุมจะวัดความสมดุลและสั่งให้ตัวมันผลักดันตัวเองกลับมาในอีกทาง มันถูกออกแบบให้ดูดซับแรงกระแทก และนำพลังงานที่ใช้จากการเคลื่อนที่บางส่วนกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย ส่วนสูงประมาณ 76 ซม., ความยาว 91 ซม., น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม, แบกน้ำหนักได้ 150 กิโลกรัม, นอกจากเดินแล้วยังวิ่งได้ที่ความเร็วประมาณ 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดูหน้าตาแล้วคงเดากันออกว่า BigDog มีไว้ช่วยทหารขนสัมภาระเวลาไปรบบนภูเขาหรือท้องที่ทุรกันดาร หุ่นยนต์ตัวนี้ได้รับเงินทุนจาก DARPA และโครงการวิจัยของ Army Research Lab วิดีโอแนะนำ BigDog BigDog ในแต่ละเวอร์ชัน BigDog เดินบนหาดทราย ลุยน้ำทะเล (ที่เมืองไทยด้วยนะครับ) อันนี้เป็นวิดีโอขำๆ ที่ทีมงานเอา BigDog ไปติดเขาแบบวัวกระทิง LittleDog เป็นหุ่นยนต์ BigDog ขนาดมินิ สร้างขึ้นเพื่อการศึกษาเรื่องมอเตอร์และการควบคุม ใช้ในภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐ สามารถใช้ทำงานได้ครั้งละ 30 นาที Cheetah หุ่น BigDog เอาไว้เดิน แต่ Cheetah ออกแบบมาเพื่อวิ่งครับ มันคือหุ่นยนต์เจ้าของสถิติวิ่งเร็วที่สุดในโลก วิ่งได้เร็วถึง 46 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จุดเด่นของ Cheetah คือออกแบบ "หลัง" ให้ขยับหน้าหลังได้ในแต่ละจังหวะของการวิ่ง ซึ่งเหมือนกับสัตว์ส่วนใหญ่ หุ่นตัวนี้ก็ถูกสปอนเซอร์โดย DARPA ครับ WildCat เป็นหุ่นรุ่นอัพเกรดของ Cheetah เพิ่งออกมาในปี 2013 นี้เอง มันสามารถ "วิ่งเหยาะ" (galloping) และวิ่งเลี้ยวได้ตามที่เห็นในวิดีโอ จุดเด่นของมันเหนือ Cheetah คือสามารถปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระได้ (ไม่ต้องต่อสายควบคุมแบบ Cheetah) LS3 LS3 ย่อมาจาก Legged Squad Support Systems มันเป็นเวอร์ชันปรับปรุงของ BigDog ที่สามารถขนน้ำหนักได้เยอะขึ้นถึง 180 กิโลกรัม การปฏิบัติงานหนึ่งครั้งสามารถอยู่ได้นาน 24 ชั่วโมง (เดินระยะ 32 กิโลเมตร) ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือมันสามารถทำงาน "เป็นฝูง" ได้ โดยกำหนดตัวที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม แล้วตัวอื่นๆ จะเดินตามโดยดูจากกล้องที่ฝังอยู่ในตัว RHex หุ่นยนต์ 6 ขาสำหรับเดินในสภาพพื้นที่ขรุขระอีกตัว แต่มันใช้ขาแบบหมุนเป็นวงกลมแทน (ดูวิดีโอจะได้เห็นภาพ) โดยขาแต่ละข้างถูกขวบคุมอย่างอิสระ ลำตัวของ RHex ถูกออกแบบเก็บกล่องปิด เพื่อให้ปฏิบัติการในน้ำหรือโคลนได้ มันสามารถควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลได้ไกล 700 เมตร ฝังกล้องถ่ายรูปแล้วส่งข้อมูลกลับมาได้ (เหมาะแก่การใช้เป็นหุ่นยนต์สอดแนม) RiSE มาดูหุ่นยนต์แนวตุ๊กแกกันบ้างครับ RiSE เป็นหุ่นที่ออกแบบมาใช้ปีนตึก ปีนต้นไม้ ปีนรั้ว ปีนผนังโดยเฉพาะ เท้าของ RiSE มีกงเล็บขนาดเล็ก (micro-claws) สำหรับสัมผัสพื้นผิวที่ไม่เรียบ และปรับท่าทางในการปีนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นผิวได้ RiSE มีขา 6 ข้าง ขาแต่ละข้างถูกควบคุมด้วยมอเตอร์สองตัว มีเซ็นเซอร์สารพัดชนิดทั้งที่ลำตัว ขา และเท้า น้ำหนักตัวละ 2 กิโลกรัม SandFlea หุ่นยนต์ที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกตัว มันคือหุ่นยนต์ที่ "กระโดด" ได้สูง 10 เมตร ตัวมันเป็นหุ่นยนต์ 4 ล้อขนาดเล็กและเบา โดยทั่วไปดูเหมือนรถบังคับธรรมดา แต่พอมันกระโดดเท่านั้นล่ะครับ ไม่ธรรมดาแล้วแหละ SandFlea มีตัวสร้างความเสถียรเชิงการหมุน (gyro stabilization) ที่ช่วยให้ปรับตัวเองให้สมดุลขณะที่ลอยอยู่กลางอากาศ และช่วยให้ปรับท่าตอนตกให้ปลอดภัย PETMAN ดูหุ่นยนต์เลียนแบบสัตว์กันมาเยอะ คราวนี้เป็นหุ่นยนต์เลียนแบบคนบ้าง มันสามารถเดินและทำท่าต่างๆ ได้เหมือนกับมนุษย์ มีความสามารถในการเดินอย่างอิสระ ย่อตัว และหาจุดสมดุลไม่ให้ตัวมันเองล้ม ถ้าจับมันมาใส่เสื้อผ้าเหมือนทหาร ดูไกลๆ แล้วคงเดาว่าเป็นทหารแน่ๆ Atlas ย่อมาจาก Agile Anthropomorphic Robot เป็นหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์อีกตัวหนึ่ง นอกจากเดินแล้วมันสามารถ "ปีน" โดยใช้มือได้ด้วย จุดเด่นของ Atlas อยู่ที่มือ และจะพัฒนาให้สามารถหยิบจับเครื่องมือที่มนุษย์ใช้อยู่ในปัจจุบัน อนาคตจะถูกใช้เป็นหุ่นยนต์ด้านกู้ภัยและค้นหาคนหาย
https://jusci.net/node/3224
[บริษัทหุ่นยนต์ของกูเกิล] Boston Dynamics หุ่นยนต์เลียนแบบสัตว์และคน
FDA หรือองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ รับรองเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเพื่อลดอาการปวดหัวและไมเกรน Cefaly โดยเครื่องนี้จะมีขั้วอิเล็กโทรดให้เราสวมหัวไว้บริเวณหน้าผาก จากนั้นมันจะส่งสัญญาณกระตุ้นเส้นประสาท trigeminal ที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดหัวไมเกรน กระบวนการกระตุ้นประสาทนี้มีสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือการกระตุ้นถี่ๆ เพื่อบล็อคสัญญาณประสาทไม่ให้เดินทางออกจากศูนย์ประสาท (nerve center) แบบที่สองคือการกระตุ้นอย่างช้าๆ จนไม่สามารถรู้สึกได้และใช้งานต่อเนื่องเพื่อให้ระดับสัญญาณประสาทที่ทำให้เกิดไมเกรนสูงขึ้นจนเกิดได้ยาก งานวิจัยทดสอบประสิทธิภาพของ Cefaly ทดสอบกับคนป่วยจำนวน 67 คนที่มีอาการปวดหัวไมเกรนเฉลี่ยเดือนละสองครั้งขึ้นไป ถูกสุ่มให้รับการรักษาด้วย Cefaly กับถูกหลอกว่าใช้ Cefaly (sham group) จากนั้นนับจำนวนครั้งที่เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ช่วงเดือนแรกที่เริ่มรักษา เทียบกับเดือนที่สาม พบว่ากลุ่มที่ใช้ Cefaly มีอาการปวดหัวไมเกรนเฉลี่ย 6.94 ครั้งในช่วงเดือนแรก และเหลือ 4.88 ครั้งในเดือนที่สาม ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษามีอาการปวดหัวไมเกรนเฉลี่ย 6.54 ครั้งในเดือนแรก และเหลือ 6.22 ครั้งในเดือนที่สาม ปริมาณการใช้ยาของกลุ่มที่ใช้ Cefaly ก็ลดลงอย่างมาก รายงานทดสอบ "Migraine prevention with a supraorbital transcutaneous stimulator" นี้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Neurology doi:10.1212/WNL.0b013e3182825055 เครื่อง Cefaly มีขายแล้วในแคนาดา ราคาประมาณ 250 ดอลลาร์ ในสหรัฐฯ เองราคาก็น่าจะใกล้เคียงกัน ที่มา - CNN, Cefaly
https://jusci.net/node/3226
FDA รับรองเครื่องลดอาการปวดหัวไมเกรน Cefaly
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาศูนย์วิจัยชีววิทยาริเค็นในเมืองโกเบประกาศงานวิจัยแสดงกระบวนการย้อนเซลล์กลับไปเป็นสเต็มเซลล์แบบใหม่ที่เรียกว่า stimulus-triggered acquisition of pluripotency (STAP) (doi:10.1038/nature12968, บทความใน Nature) กระบวนการนี้เรียบง่ายกว่ากระบวนการเดิม คือ induced pluripotent stem (iPS) อย่างมากทำให้มีความหวังว่ามันจะกลายเป็นทางเลือกสำคัญของการวิจัยสเต็มเซลล์ แต่ตอนนี้ Haruko Obokata นักวิจัยหลักในโครงการนี้กลับกำลังถูกสอบสวนฐานลอกวิทยานิพนธ์ ส่วนงานวิจัยเองก็ถูกสอบสวนว่าดำเนินการวิจัยอย่างถูกต้องหรือไม่ วิทยานิพนธ์ของ Obokata เขียนมาตั้งแต่ปี 2011 เมื่อตอนที่เธอเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ และไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย STAP แต่อย่างใด โดยวิทยานิพนธ์ยาว 108 หน้า มี 20 หน้าที่เหมือนกับเนื้อหาบนหน้าเว็บของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ ขณะที่บทที่สามของวิทยานิพนธ์มีการอ้างอิงแทบจะเหมือนกับบทความในวารสารฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี 2011 คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของ Obokata มีสองคน หนึ่งในคณะกรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาคือ Charles Vacanti เป็นผู้ร่วมวิจัย STAP ด้วย ตัวงานวิจัย STAP เองก็กำลังถูกสอบสวนความถูกต้องในหกประเด็น ตั้งแต่การตกแต่งรูป การใช้ภาพและข้อความจากงานวิจัยอื่นมาใส่ในงานวิจัยรวมถึงภาพจากวิทยานิพนธ์ของ Obokata เอง โดยตอนนี้คณะกรรมการสอบสวนออกแถลงความคืบหน้าพบว่าสองข้อหานั้นคณะกรรมการพบว่าเป็นความผิดพลาดที่ยังไม่ถึงกับการประพฤติผิดทางการวิจัย (research misconduct) ส่วนอีกสี่รายการยังอยู่ระหว่างสอบสวน ระหว่างนี้ทางศูนย์ยังไม่ติดสินใจว่าจะถอดงานวิจัยออกหรือไม่ Charles Vacanti นักวิจัยร่วมในงานนี้ระบุว่าเขาไม่คิดจะถอนงานวิจัยนี้แต่อย่างใด และเชื่อว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่มีผลกระทบต่อการต้นพบและบทสรุปของงานวิจัย ที่มา - Nature, The Asahi Shimbun, Riken Press Release, The Japan News
https://jusci.net/node/3228
นักวิจัยผู้ค้นพบกระบวนการสร้างสเต็มเซลล์แบบใหม่ถูกสอบสวนการลอกวิทยานิพนธ์และความถูกต้องของงานวิจัย
ในสหรัฐฯ มีหลายรัฐที่เปิดให้ล่าสัตว์เป็นกีฬาได้ อลาสก้าเองก็เปิดให้ล่ากวางมูสและหมีป่าได้ แต่บอร์ดการล่าสัตว์ของอลาสก้าก็ออกกฎสำหรับปีนี้ให้ถือว่าการใช้โดรนเพื่อสำรวจหาสัตว์ป่าเป็นการล่าอย่างไม่ถูกกฎหมาย เช่นเดียวกับอุปกรณ์หลายอย่างที่ถูกสั่งห้ามมาก่อนหน้านี้ เช่น ยาพิษ, ระเบิด, วิทยุสื่อสาร, และอุปกรณ์อื่นๆ โดรนติดตั้งกล้องถ่ายภาพราคาถูกลงเรื่อยๆ จนต่ำกว่าพันดอลลาร์ทำให้นักล่าหลายคนเริ่มนำมาสำรวจป่าเพื่อหาสัตว์เป้าหมาย โดยทางบอร์ดยอมรับว่ากฎนี้บังคับได้ยากเพราะการที่มีโดรนบินอยู่ในอากาศยากจะบอกได้ว่าชัดเจนว่าเป็นของทีมล่าสัตว์ทีมใดหรือไม่ ก่อนหน้านี้เคยมีการออกกฎห้ามล่าสัตว์ในวันแรกบินมาถึง (same day airborne) ระบุว่าห้ามผู้ที่เดินทางทางเครื่องบินที่ไม่ใช่เที่ยวบินประจำล่าสัตว์ในวันเดียวกันทันที เพื่อป้องกันไม่ให้นักล่าบินสำรวจป่าก่อนจะลงมาล่าสัตว์ กระบวนการตรากฎหมายยังต้องผ่านการตรวจสอบเพิ่มเติมก่อนจะตราเป็นกฎหมายได้จริง ที่มา - Anchorage Daily News
https://jusci.net/node/3233
อลาสก้าสั่งห้ามให้โดรนช่วยล่าสัตว์
ข่าวตำแหน่งสุดท้ายของเที่ยวบิน MH370 อยู่กลางมหาสมุทรอินเดียไกลจากแผ่นดินรอบด้านทำให้ความหวังที่จะพบผู้ชีวิตแทบจะหมดลง อย่างไรก็ดีกระบวนการค้นหาตำแหน่งสุดท้ายของเที่ยวบินไปเรื่องที่น่าสนใจ Inmarsat เป็นองค์กรให้บริการดาวเทียมที่มีอายุยาวนานมาตั้งแต่ปี 1979 หรือกว่า 30 ปี โดย International Maritime Organization (IMO) หน่วยงานของสหประชาชาติ Inmarsat ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการการสื่อสารผ่านดาวเทียมให้กับเรือเดินสมุทรเพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยมีรายได้เพื่อดำเนินการด้วยตัวเอง หลังจากนั้นในปี 1999 บริษัทก็แยกหน้าที่ส่วนธุรกิจออกมาภายใต้ชื่อ Inmarsat เดิม และส่วนกำกับดูแลผู้ให้บริการดาวเทียมอื่นๆ เป็นชื่อ International Mobile Satellite Organization (IMSO) นับเป็นองค์กรดาวเทียมระหว่างประเทศองค์กรแรกที่แปรรูปเป็นบริษัทเอกชน และขายหุ้นในตลาดหุ้นลอนดอน ดาวเทียม Inmarsat-3 สี่ดวงที่ให้บริการทางทะเล ไม่แสดงดวงที่ห้าที่ให้บริการภาคพื้นดิน ภาพโดย historicair ทุกวันนี้ Inmarsat ดำเนินการด้วยดาวเทียม Inmarsat-3 จำนวน 5 ดวง, Inmarsat-4 จำนวน 4 ดวง, และ Inmarsat-5 อีกหนึ่งดวง บริการของ Inmarsat ให้บริการโทรศัพท์ทางไกลผ่านดาวเทียม (มีหมายเลขประเทศของตัวเองคือ 870) และบริการข้อมูลเพื่อความปลอดภัยจนแทบเป็นมาตรฐานสำหรับสายการบินที่ต้องเปิดใช้บริการ บริการเช่น Aero H นั้นเป็นบริการข้อมูลที่ความเร็ว 10.5kbps พื้นที่ให้บริการของ Inmarsat-3 การค้นหา MH370 อาศัยข้อมูลจากดาวเทียมดวงมหาสมุทรอินเดีย ที่มา - Inmarsat (PDF) เมื่ออุปกรณ์สื่อสารบนเครื่องบินเปิดทิ้งไว้แม้ไม่ได้เปิดการติดต่อ ดาวเทียมจะส่งสัญญาณตรวจสอบว่าเครื่องใดออนไลน์อยู่บ้าง และแจ้งข้อมูลเพื่อเทียบนาฬิกาบนเครื่องบิน เนื่องจากดาวเทียมแต่ละดวงมีพื้นที่ให้บริการกว้างมาก การวิเคราะห์พื้นที่ที่เป็นไปได้ของ MH370 จึงต้องอาศัยระยะเวลาระหว่างสัญญาณเช็คจากดาวเทียมไปยังเครื่องบินและจากเครื่องบินกลับมายังดาวเทียม ข้อมูลสัญญาณแสดงว่าเครื่องบินกำลังบินห่างจากศูนย์กลางของดาวเทียมไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับตำแหน่งสุดท้ายที่จับได้บริเวณทะเลอันดามัน การประมาณระยะทางทำใหี้รู้ว่าดาวเทียมอยู่ในวง 40 องศาจากดาวเทียมแต่ไม่รู้ว่าอยู่จุดใด (ภาพโดยรัฐบาลมาเลเซีย) กระบวนการประสานงานที่ล่าช้าทำให้ทางการมาเลเซียได้รับข้อมูลในวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา และเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนในวันที่ 15 มีนาคม ระหว่างนั้นวิศวกรของ Inmarsat ยังคงเดินหน้าบีบพื้นที่ค้นหาต่อไปโดยสร้างแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงของความถี่ข้อมูลที่ได้รับ เนื่องจากดาวเทียม Inmarsat-3 นั้นจะเคลื่อนที่ขึ้นลงเมื่อเทียบกับแนวเส้นศูนย์สูตรตลอดเวลา แบบจำลองและการเทียบข้อมูลกับสายการบินอื่นๆ ทำให้ยืนยันได้ว่า MH370 บินลงใต้ในที่สุด การบีบพื้นที่ค้นหาสุดท้ายในตอนนี้เป็นผลงานของ US National Transportation Safety Board และรัฐบาลออสเตรเลีย ที่ร่วมกันบีบพื้นที่ค้นหาจนเหลือเพียง 3% Inmarsat ระบุว่าส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับ UK Air Accidents Investigation Branch (AAIB) ไปแล้วเมื่อวานนี้ ที่มา - The Telegraph, Stack Exchange: Aviation, Washington Post, Wikipedia: Inmarsat
https://jusci.net/node/3234
รู้จักกับ Inmarsat ดาวเทียมสื่อสารที่ช่วยหาตำแหน่งสุดท้ายเที่ยวบิน MH370
ซีรีส์วิดีโอแอนิเมชั่นดาราศาสตร์ของ หอดูดาวกรีนนิช (Royal Observatory Greenwich) ของอังกฤษ ตอนที่สองครับ (ตอนแรก: ภายใน Black Hole มีอะไร?) ตอนนี้เป็นการอธิบายว่า "ดวงอาทิตย์" ของระบบสุริยะจักรวาลมีอายุเท่าไร โดยวิธีการประเมินจะใช้การนับอายุจากธาตุ แบบที่เราใช้วัดวัตถุโบราณบนโลกที่ใช้กรรมวิธี Carbon Dating ซึ่งกรณีของวัตถุในจักรวาลที่ประเมินว่าธาตุต่างๆ เกิดขึ้นพร้อมกันในตอนแรก ดังนั้นจึงสามารถเอาไส้ในของอุกกาบาตมาวัดอายุด้วยวิธีคล้ายๆ กันแต่เปลี่ยนธาตุเป็น Rubidium แทน (Rubidium Dating) ตัดตอนมาที่ผลลัพธ์ ได้ว่าดวงอาทิตย์ของเรามีอายุ 4,500 ล้านปีโดยประมาณ คำถามต่อไปคือ 4,500 ล้านปีนี่มันเยอะหรือน้อย ดวงอาทิตย์จะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน วิธีการในส่วนนี้ใช้การประเมินว่าดวงอาทิตย์มี "พลังงาน" เหลืออยู่เท่าไร โดยคิดจากสมการ E=MC2 ของไอน์สไตน์ หามวลของดวงอาทิตย์และพลังงานที่ตกกระทบโลก แล้วคำนวณออกมาเป็นพลังงานที่เหลืออยู่ได้ สรุปว่าดวงอาทิตย์ของเราเดินทางมาอยู่ในช่วงวัยกลางคน อยู่ประมาณครึ่งชีวิตพอดีครับ ที่มา - Gizmodo
https://jusci.net/node/3237
[แอนิเมชั่น] ดวงอาทิตย์มีอายุเท่าไร?
คั่นรายการด้วยข่าวน่ารัก และไม่ April Fool ด้วยเรื่องราวของ Geek สองคนคือ Andrew Ng ผู้อำนวยการ Stanford Artificial Intelligence Lab และผู้ร่วมก่อตั้ง Coursera และ Carol Reiley ผู้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการผ่าตัด และร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพเกี่ยวกับหุ่นยนต์ เรื่องเริ่มจากทั้งคู่พบกันในงาน ICRA ของ IEEE ซึ่งจัดที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยความสนใจและทัศนคติที่ตรงกันสุดๆ ทั้งสองคนเริ่มสานความสัมพันธ์และพัฒนามาโดยตลอด ล่าสุดทั้งคู่ได้แจ้งข่าวดีกับ IEEE ว่าทั้งคู่ตกลงหมั้นกันเรียบร้อยแล้ว ที่บอกว่าเป็นข่าวน่ารักเพราะทั้งสองได้ถ่ายภาพพรีเวดดิ้งบางส่วน เนื่องจากพบรักกันเพราะเป็นคนทำหุ่นยนต์กันทั้งคู่ ทุกภาพในพรีเวดดิ้งจึงมีหุ่นยนต์ประกอบทั้งสิ้น เชิญชมภาพได้ท้ายข่าวครับ ที่มา: IEEE Spectrum
https://jusci.net/node/3238
เมื่อคู่รักสุด Geek ที่พบรักกันเพราะหุ่นยนต์ มาถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง
มีรายงานว่าต้นซากุระที่เมล็ดถูกนำขึ้นไปท่องอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ด้านวัฒธรรมและการศึกษาในปี 2008 เริ่มออกดอกครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายนปีนี้ นับว่าเร็วกว่าต้นซากุระทั่วไปที่มักออกดอกครั้งแรกหลังปลูกนาน 8 ถึง 10 ปี เมล็ดซากุระนี้ถูกนำไปปลูกที่วัด Ganjoji ในเขตเกียวโต โดยต้นแม่ของมันมีอายุถึง 1,250 ปี ตอนนี้มันสูงสี่เมตร และดอกชุดแรกของมันมีเพียง 9 ดอก แต่ละดอกมี 5 กลีบ จนตอนนี้มีต้นซากุระในโครงการนี้ 14 ต้นที่ปลูกขึ้นจากเมล็ด มี 4 ต้นที่มีรายงานว่าออกดอกแล้ว ทาง Japan Manned Space Systems (JAMSS) ผู้รับผิดชอบโครงการนำเมล็ดขึ้นไปยังสถานีอวกาศนี้ระบุว่าโครงการเองเปิดให้เด็กๆ ส่งเมล็ดต้นไม้เข้าไปยังโครงการ โดยคาดว่าเมล็ดเหล่านี้จะออกดอกประมาณสิบปีหลังกลับมาปลูก พอดีกับเด็กที่ส่งเมล็ดเหล่านี้จะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ในทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากไม่มีกลุ่มควบคุม (เช่นเมล็ดกลุ่มเดียวกันที่สุ่มเก็บไว้บนโลกแล้วปลูกพร้อมกัน) เราคงบอกไม่ได้ว่าการนำเมล็ดขึ้นไปยังอวกาศนั้นมีผลทำให้พืชเติบโตเร็วว่าปกติหรือไม่ ที่มา - Yahoo! News ภาพตัวอย่างดอกซากุระ (ไม่ใช่ต้นในข่าว)
https://jusci.net/node/3240
ซากุระจากเมล็ดที่ไปท่องอวกาศ เริ่มบานหลังลงดินเพียงสี่ปี
ไฟถนนนับเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญในการตัดถนนสักเส้นให้มีความปลอดภัย การบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าตลอดเส้นทาง และค่าไฟที่ผู้ดูแลต้องแบกรับนับว่าหนักหนา แต่ทางเลือกใหม่ของเนเธอรแลนด์คือการใช้สีเรืองแสงมาตีเส้นถนนแทน ถนนหมายเลข N329 ช่วงสั้นๆ เพียง 500 เมตรเริ่มมีการทดสอบเส้นถนนเรืองแสงครั้งแรก โดยใช้สีจาก Studio Roosegaarde ที่พัฒนาร่วมกับบริษัทก่อสร้าง Heijman โดยผสมผงเรืองแสงเข้าไปกับสีทาพื้นถนน เทคโนโลยีสารเรืองแสงในที่มืดหลังจากได้พลังงานแสงในช่วงสว่างไม่ใช่ของใหม่ แต่งานนี้นับเป็นการใช้งานบนถนนจริงครั้งแรก ทางบริษํทหวังว่าจะพัฒนาสีรูปแบบใหม่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น โดยในอนาคตจะพัฒนาถนนที่สามารถแจ้งสถาพถนหรือการจราจร แม้จะน่าตื่นเต้น แต่ในแง่การใช้งานแล้วถนนเรืองแสงยังน่าสงสัยอยู่มาก เพราะทุกวันนี้ถนนทั่วไปก็มีเครื่องมือช่วยคนขับให้มองเส้นทางได้ชัดเจน เช่นตัวสะท้อนแสงต่างๆ อย่างในบ้านเราถนนหลายสายก็เริ่มมีไฟกระพริบตามพื้นถนน เครื่องมือเหล่านี้ทดสอบแล้วว่าใช้งานได้จริง ตัวถนนเรืองแสงหากจะก่อสร้างมากกว่านี้คงต้องตอบคำถามให้ได้ว่าดีกว่าแค่ไหน ที่มา - BBC
https://jusci.net/node/3241
เนเธอร์แลนด์เริ่มทดสอบถนนเรืองแสง แทนไฟถนน
ทีมนักวิจัยที่นำโดย Institute of Marine Research ศึกษาข้อมูลของ "ขยะในทะเล" ว่าถูกสายน้ำพัดพาไปอย่างไรบ้าง โดยสำรวจพื้นที่ร่องน้ำลึกในทะเลยุโรปจำนวน 32 แห่ง ผลปรากฏว่าแม้แต่ในท้องทะเลที่ห่างไกลผู้คนหรือลึกที่สุด ก็ยังเจอ "ขยะจากมนุษย์" ครับ เนื่องจากงานวิจัยนี้เป็นการสำรวจทะเลลึก ดังนั้นกระบวนการวิจัย (methodology) จึงจำกัดอยู่บ้าง ทีมวิจัยจึงใช้ข้อมูล ภาพ หรือวิดีโอจากการสำรวจทะเลในอดีตตั้งแต่ปี 1999-2011 ซึ่งมีข้อมูลของหุบเหวใต้ทะเลต่างๆ (จุดที่ลึกมากที่สุด ลึกถึง 4,500 เมตร) แล้วนำภาพที่ได้มาวิเคราะห์ว่าพบขยะอะไรบ้าง ผลคือในทุกพื้นที่ที่สำรวจพบขยะชัดเจน โดยขยะที่พบมากที่สุดคือถุงพลาสติก (คิดเป็น 41% ของขยะทั้งหมด) ขวดแก้ว และแหหรือตาข่ายสำหรับจับปลา โดยพื้นที่ที่พบขยะหนาแน่นมักอยู่ใกล้ชายฝั่งมากกว่าตามความคาดหมาย ภาพตัวอย่างข้างต้นเป็นขยะจากทะเลลึกที่พบในสถานที่ต่างๆ โดยภาพแรกเป็นถุงพลาสติกที่พบในทะเลลึกถึง 2.5 กิโลเมตร ส่วนภาพที่สอง (B) คือขยะที่เก็บได้จากทะเลลึก 1.5 กิโลเมตร ภาพที่เหลือ (C-F) คือขยะทะเลลึกช่วงราว 800-900 เมตรจากสถานที่ต่างๆ ในยุโรป ที่มา - PLOS ONE via Gizmodo
https://jusci.net/node/3250
อ๊ะๆ อย่าทิ้งขยะ - ผลสำรวจพบ ทะเลลึก 4.5 กิโลเมตรก็ยังเจอ "ถุงพลาสติก" ที่ก้นทะเล
Coco-Cola ประกาศเลิกใช้สาร Brominated Vegetable Oil (BVO) ที่ช่วยให้ "รส" ของเครื่องดื่มผสมกับเครื่องดื่มได้เสถียร ไม่แยกตัวออกจากน้ำเป็นชั้น ตามปกติแล้ว เครื่องดื่มซอฟต์ดริงค์เหล่านี้จะใส่รสชาติของผลไม้หรือน้ำหวานเข้ามา แต่ถ้าไม่มีสารช่วยสร้างเสถียรภาพ (stablizer) อย่าง BVO ก็จะส่งผลให้รสชาติไม่ผสมเป็นหนึ่งเดียวกับของเหลว และทำให้รสชาติของเครื่องดื่มแย่ลง (ตัวอย่างเครื่องดื่มที่ใช้ BVO ก็อย่างเช่นน้ำสีที่เราคุ้นเคยกัน Fanta รสส้ม หรือ Mountain Dew) BVO เป็นสารที่เคยเชื่อกันว่าปลอดภัย แต่การศึกษาในภายหลังพบว่าสารนี้อาจมีผลเสียต่อร่างกาย (การศึกษายังเป็นที่ถกเถียงกัน) โดยหน่วยงานด้านอาหารและยาของประเทศต่างๆ ได้จำกัดสัดส่วนของ BVO ในเครื่องดื่มไว้ที่ 0.0015% หรือ 15 ส่วนในล้านส่วน โดยทั่วไปแล้วเชื่อว่าการดื่มน้ำอัดลมในปริมาณที่พอเหมาะตามปกติ จะไม่ได้รับผลกระทบจาก BVO (ทั้งนี้ไม่รวมผลกระทบจากน้ำตาล) ค่าย Pepsi ประกาศเลิกใช้สาร BVO ในเครื่องดื่มเกลือแร่ Gatorade ไปเมื่อปีที่แล้ว ในปีนี้เป็นคิวของ Coca-Cola ที่จะเลิกใช้สาร BVO ในเครื่องดื่มเกลือแร่ของตัวเอง Powerade ก่อน และเตรียมเลิกใช้ใน Fanta ช่วงปลายปี ที่มา - Business Insider
https://jusci.net/node/3253
Coca-Cola เลิกใช้สาร BVO ในน้ำอัดลม เริ่มจาก Powerade
รัฐมินนิโซตาของสหรัฐอเมริกา เตรียมห้ามใช้สาร "ไตรโคลซาน" (triclosan) ที่มักพบในสบู่ประเภทฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าสารนี้อาจส่งต่อฮอร์โมนของมนุษย์ ข้อมูลอย่างเป็นทางการของกรมอาหารและยาของสหรัฐ (Food and Drug Administration หรือ FDA) ยังไม่ประกาศว่าสารไตรโคลซานเป็นสารอันตรายต่อมนุษย์ แต่ทาง FDA ก็ระบุว่ามีผลการศึกษาเชิงวิชาการหลายชิ้นที่พบว่าสารนี้อาจมีอันตราย ซึ่ง FDA ยังอยู่ในช่วงของการสอบสวนเชิงวิทยาศาสตร์ว่าตกลงแล้วจะกำหนดสถานะของมันอย่างไร ผู้ขายผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและทำความสะอาดบางรายก็เลิกใช้ไตรโคลซานกันบ้างแล้ว เช่น Procter & Gamble ที่ใช้นโยบายนี้แล้ว ส่วนกฎหมายของรัฐมินนิโซตานั้นมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ให้เส้นตายถึงเดือนมกราคม 2017 ในการปรับตัว ที่มา - TIME
https://jusci.net/node/3258
รัฐมินนิโซตา ห้ามใช้สาร "ไตรโคลซาน" ที่พบในสบู่กำจัดแบคทีเรีย
สหรัฐฯ เคยสำรวจปริมาณหินน้ำมันสำรอง (Shale Gas) ที่สามารถขุดขึ้นมาใช้งานได้ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันเมื่อปี 2011 รายงานระบุว่ามีน้ำมันสำรองรวมถึง 13,700 ล้านบาร์เรล แต่อุตสาหกรรมน้ำมันก็สงสัยมาตลอดว่าสหรัฐฯ มีน้ำมันเยอะขนาดนั้นจริงหรือ ล่าสุดทางสำนักงานข้อมูลพลังงานสหรัฐฯ ก็ออกมาแก้ไขตัวเลขนี้โดยลดลงถึง 96% เหลือเพียง 600 ล้านบาร์เรลเท่านั้น สาเหตุของการปรับตัวเลขนี้เพราะแหล่งหินน้ำมันขนาดใหญ่บริเวณรอยเลื่อนซาน แอนเดรีย แม้จะมีแหล่งหินน้ำมันขนาดใหญ่ แต่แหล่งนี้กลับมีลักษณะพับไปมาจากแผ่นดินไหวที่เกิดบริเวณรอยเลื่อนทำให้ไม่สามารถนำน้ำมันขึ้นมาใช้งานได้ด้วยราคาและเทคโนโลยีปัจจุบัน บริษัท Intek ผู้ทำรายงานสำรวจครั้งแรกระบุว่ารายงานแรกทำในภาพกว้างเพื่อประมาณปริมาณน้ำมันสำรอง และเมื่อทางรัฐบาลมีข้อมูลมากขึ้นก็สามารถปรับตัวเลขประมาณการได้แม่นยำขึ้น ที่มา - LA Times
https://jusci.net/node/3261
สหรัฐฯ ลดประมาณการหินน้ำมันสำรองลง 96%
โฆษกศูนย์วิจัยชีววิทยาริเค็นระบุว่า Haruko Obokata นักวิจัยผู้นำเสนองานกระบวนการสร้างสเต็มเซลล์จากเซลล์ปกติ (stimulus-triggered acquisition of pluripotency - STAP) ได้ยื่นขอถอนงานวิจัยทั้งสองฉบับไปยังวารสาร Nature แล้ว อย่างไรก็ดียังไม่ชัดเจนว่า Charles Vacanti ผู้วิจัยร่วมและอาจารย์ที่ปรึกษาของ Obokata สมัยเรียนปริญญาเอกจะยื่นถอนงานวิจัยด้วยหรือไม่ หาก Vacanti ไม่ยื่นถอนงานวิจัยทาง Nature จะต้องตัดสินใจว่าจะยอมถอนงานวิจัยตามความต้องการของ Obokata หรือไม่ กรรมการสอบสวนออกรายงานฉบับสุดท้ายเมื่อเดินเมษายนที่ผ่านมา ระบุว่าผู้วิจัย STAP ทำการวิจัยอย่างไม่ชอบ (scientific misconduct) และแนะนำให้ถอนงานวิจัยออก ในตอนนั้นตัว Obokata ยังปฎิเสธไม่ถอนงานวิจัยแม้จะยอมรับว่ามีความผิดพลาดแต่เป็นความผิดพลาดจากความไร้ประสบการณ์ไม่ใช่ความตั้งใจจะแต่งผลวิจัย งานวิจัยฉบับนี้ยังทำให้นักวิจัยตั้งคำถามถึงกระบวนการรีวิวของวารสาร Nature ว่ามีช่องโหว่อย่างไร เพราะตัวงานวิจัยเองก็มีความผิดพลาดหลายอย่าง ตั้งแต่ความผิดพลาดไวยกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงความผิดพลาดเช่นภาพซ้ำจากงานวิจัยอื่น ทาง Nature เองก็ยอมรับปัญหานี้และกำลังสอบสวนว่าทำไมจึงมีกรณีนี้หลุดออกมา ที่มา - Science Mag
https://jusci.net/node/3264
Haruko Obokata นักวิจัยสเต็มเซลล์ ยื่นถอนงานวิจัยจากวารสาร Nature
ยานพาหนะไร้คนขับเป็นประเด็นขึ้นมาในช่วงหลังจากการใช้งานทางการทหารที่มากขึ้นและเริ่มมีการเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานสำหรับคนทั่วไป ตอนนี้โครงการยานพาหนะไร้คนขับโครงการใหม่ในชื่อ Navio ก็เปิดตัวใน Indiegogo แล้ว Navio เป็นบอร์ดลูกของ Raspberry Pi ที่ออกแบบมาสำหรับยานพาหนะไร้คนขับโดยเฉพาะ ความพิเศษของมันคือมันเตรียมเซ็นเซอร์มาให้พร้อมสำหรับการเคลื่อนที่แทบทุกแบบทั้งพื้นดินและอากาศ เซ็นเซอร์สำคัญเช่น เซ็นเซอร์ระดับความสูงที่แม่นยำระดับ 10 เซนติเมตร, เข็มทิศ, เซ็นเซอร์ความเร่งและทิศทาง, GPS ราคาใน Indiegogo ราคาบอร์ดละ 145 ดอลลาร์ ค่าส่ง 10 ดอลลาร์ ที่มา - The Register
https://jusci.net/node/3266
Navio: ก้าวต่อไปของยานพาหนะไร้คนขับด้วย Raspbery Pi
เป็นธรรมเนียมของฟุตบอลโลกทุกครั้งหลังปี 1970 ที่สปอนเซอร์อย่าง Adidas จะต้องออก "ลูกฟุตบอลที่ใช้แข่ง" (match ball) รุ่นใหม่ๆ มาสร้างสีสันให้กับวงการ โดยลูกฟุตบอลเหล่านี้จะถูกออกแบบด้วยหลักด้านวิทยาศาสตร์มากมายเพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุด ทั้งความเร็ว การหมุน ความสามารถในการแหวกอากาศ น้ำหนัก ฯลฯ สำหรับลูกฟุตบอลอย่างเป็นทางการของฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิลรอบนี้ใช้ชื่อว่า Brazuca ก็ถือว่ามีคุณลักษณะที่ดีที่สุดเท่าที่ลูกฟุตบอลจะมีได้ในปัจจุบันครับ ในบอลโลกครั้งก่อนคือปี 2010 ที่แอฟริกาใต้ ลูกฟุตบอลอย่างเป็นทางการรุ่นก่อนหน้าคือ Jabulani โดนผู้รักษาประตูจากหลายชาติวิจารณ์ว่า "เดาทางยาก" และนักฟุตบอลหลายคนก็ให้ความเห็นในเชิงลบว่า "ยังกับฟุตบอลชายหาด" หรือ "ยังกับฟุตบอลที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต" รอบนี้ Adidas กลับไปทำการบ้านมาใหม่ โดยทดสอบเส้นทางการเหิน (flight path) ของลูกฟุตบอลเมื่อถูกเตะออกไปอย่างละเอียด เพื่อการันตีว่าลูกฟุตบอลจะตอบสนองนักฟุตบอลอย่างสม่ำเสมอ และสามารถเดาทิศทางการพุ่งของ Brazuca ได้ง่ายขึ้น Brazuca มีน้ำหนัก 437 กรัม มีอัตราการดูดน้ำ (water absorption rate) ที่ 0.2% ซึ่งจะช่วยให้มันมีรูปทรงและน้ำหนักคงตัวมากแม้ไปเตะกันตอนฝนตก ตัวแผ่นยางโพลียูรีเทนที่ใช้ประกอบกันเป็นลูกบอลมีทั้งหมด 6 ชิ้น (panel) และปรับร่อง/ตะเข็บ (seam) ของแต่ละแผ่นให้ลึกกว่า Jabulani (0.48 มิลลิเมตร vs 1.56 มิลลิเมตร) เพื่อให้ลูกบอลมีความกลมสมบูรณ์แบบน้อยลง อากาศสามารถผ่านร่องได้มากขึ้นตามหลักแอโรไดนามิก ช่วยให้เดาทิศทางการพุ่งได้ง่ายขึ้น และให้ความรู้สึกที่คล้ายกับลูกฟุตบอลทั่วไปตามท้องตลาด (ที่ใช้แผ่นยาง 32 แผ่นและไม่กลมเกลี้ยงมากนัก) มากกว่า Jabulani ที่มีความกลมมาก จำนวนแผ่นยางของลูกฟุตบอลที่ใช้ในฟุตบอลโลกนั้นลดลงเรื่อยๆ โดยลูกบอล Teamgeist ที่ใช้ในฟุตบอลโลก 2006 ใช้แผ่นยาง 14 แผ่น ส่วน Jabulani ใช้ 8 แผ่น แต่ Adidas ใช้เทคนิคด้านการเซาะตะเข็บและวัสดุของแผ่นยางให้มีความขรุขระ (roughness) มากขึ้น เพื่อไม่ให้ Brazuca กลมเกลี้ยงมากเกินไป Julio Cesar ผู้รักษาประตูทีมชาติบราซิล ทดสอบลูกบอล Brazuca แล้วชมว่าดี และคาดว่าผู้เล่นคนอื่นๆ จะชอบบอลรุ่นนี้ด้วยเช่นกัน ส่วน Steven Gerrard กัปตันทีมชาติอังกฤษก็บอกว่าหลังจากลอง Brazuca มาแล้วเขาคิดว่าไม่น่าจะมีนักฟุตบอลคนไหนมีความเห็นในเชิงลบ เขาบอกว่านักฟุตบอลต้องการลูกบอลที่ "เชื่อถือได้" (reliable) ซึ่ง Brazuca ตอบโจทย์นี้ได้ดีพอๆ กับฟุตบอลที่ใช้แข่งใน Champions League ลวดลายของ Brazuca ยังเน้นสีสันสดใสเพื่อให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมของบราซิล ตัวแทนของ Adidas บอกว่ามันเป็นลูกฟุตบอลสำหรับบอลโลกที่สีสันเยอะที่สุดเท่าที่เคยมีมา ที่มา - BBC, Daily Mail
https://jusci.net/node/3267
วิทยาศาสตร์เบื้องหลังการออกแบบ Brazuca ลูกฟุตบอลอย่างเป็นทางการของบอลโลก 2014
นักวิจัยจาก University of Wollongong ของออสเตรเลีย โชว์ต้นแบบ "ถุงยางรุ่นใหม่" ที่เปลี่ยนวัสดุจากยาง latex ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มาเป็นวัสดุที่สังเคราะห์จากไฮโดรเจน (นักวิจัยใช้คำว่า "tough hydro-gel") ที่มีคุณสมบัติด้านการคุมกำเนิดเหมือนกัน แต่บางกว่ามากและ "ให้ความรู้สึกเหมือนผิวหนังจริงๆ" (หน้าตาเป็นอย่างไรดูวิดีโอประกอบ) โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจาก Bill & Melinda Gates Foundation ภายใต้โปรแกรม Grand Challenges Explorations จำนวน 100,000 ดอลลาร์ เพื่อช่วยสนับสนุนเครื่องการคุมกำเนิดและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เพราะถุงยางแบบเก่าให้ความรู้สึกไม่ดีนัก ทำให้คนจำนวนมากปฏิเสธไม่ใช้งาน) ตัวของบิล เกตส์ เองก็เคยพูดถึงโครงการนี้ว่าผู้ชายไม่ชอบใส่ถุงยาง ทำให้เขาพยายามหาวิธีแก้ปัญหาเรื่องเอดส์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ถุงยางรุ่นใหม่นี้ต้องรอผลการวิจัยอีกระยะหนึ่งว่าใช้งานได้จริงแค่ไหน ถ้าหากว่าโครงการถุงยางของ University of Wollongong ให้ผลออกมาดี บิล เกตส์ จะให้เงินทุนสนับสนุนเพิ่มอีก 1 ล้านดอลลาร์ด้วยครับ ที่มา - University of Wollongong, Business Insider
https://jusci.net/node/3268
ถุงยางรุ่นใหม่ = ทำจากไฮโดรเจน บางเฉียบ ให้ความรู้สึกเหมือนผิวหนังจริง สนับสนุนงบวิจัยโดยบิล เกตส์
ไวรัสอีโบลา (Ebola) ถือเป็นโรคมรณะอีกประเภทหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ท้องเสีย อาเจียน และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ความน่ากลัวของอีโบลาคือ ตอนนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลชัดเจน แต่มันกลับติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสร่างกายผู้ติดเชื้อหรือศพผู้เสียชีวิต เชื้ออีโบลาแพร่กระจายอยู่ในทวีปแอฟริกาแถบลุ่มแม่น้ำคองโก โดยมันถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1976 และระบาดอยู่เป็นระยะ แต่การระบาดรอบล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2014 นี้อาจถือเป็นการระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุด เพราะมีคนตายจากอีโบลาไปแล้ว 337 คนและยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง (สถิติเดิมเกิดในปี 2000 ในอูกันดา คนตาย 224 คน) พื้นที่การระบาดของอีโบลาปี 2014 อยู่ในแอฟริกาตะวันตก 3 ประเทศคือ กินี เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย (ทั้ง 3 ประเทศมีพื้นที่ติดกัน โดยเซียร์ราลีโอนอยู่ตรงกลาง) สถานการณ์ตอนนี้ หน่วยงานแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders) ออกมาประกาศว่า "คุมไม่อยู่แล้วอย่างสิ้นเชิง" (totally out of control) และเรียกร้องให้หน่วยงานระดับนานาชาติ รวมถึงรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วส่งความช่วยเหลือเข้ามาเพิ่มเติมโดยด่วน Bart Jansen ผู้อำนวยการของฝ่ายปฏิบัติการของ Doctors Without Borders ให้รายละเอียดว่าการระบาดของไวรัส ณ ตอนนี้ถือเป็น "ระลอกสอง" หลังจากที่เคยระบาดมาแล้วช่วงปลายปีก่อน-ต้นปีนี้ อัตราการระบาดเริ่มต้นช้าๆ ในช่วงแรก ก่อนจะระบาดอย่างรวดเร็วในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และบุกไปถึงเมืองหลวงของไลบีเรียนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แล้ว พื้นที่การระบาดของอีโบลาครั้งนี้ค่อนข้างกระจัดกระจาย (ดูแผนที่ประกอบ) ซึ่งถือเป็นการระบาดที่จัดการได้ยาก ส่วนทางการไลบีเรียก็ยืนยันว่ากำลังเร่งมืออย่างเต็มที่ในการจำกัดบริเวณการแพร่ระบาดของอีโบลา และตอนนี้ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ๆ มาได้สักพักใหญ่แล้ว รายละเอียดของโรคไวรัสอีโบลา สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข (ภาษาไทย, ข้อมูลปี 2550) องค์การอนามัยโลก (WHO) กรมควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐ (CDC) ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของอีโบลา 2014 ได้จากเว็บไซต์ CDC (อัพเดตเยอะที่สุด) ที่มา - CTV/AP, Al Jazeera, NBC
https://jusci.net/node/3272
โรคไวรัสอีโบลาระบาดในแอฟริกา ทำลายสถิติคนตายเยอะที่สุดและยังคุมไม่ได้
ฮอนด้าพัฒนาตัวเองจากผู้ผลิตมอเตอร์ไซต์มาสู่ผู้ผลิตรถยนต์ได้อย่างสวยงาม ตอนนี้บริษัทก็ก้าวไปอีกขั้นด้วยการบุกตลาดเครื่องบินส่วนตัวในชื่อ HondaJet แม้ว่า HondaJet จะตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 2007 และทดสอบบินมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่เครื่องก่อนหน้านี้ก็เป็นเครื่องทดสอบ ตอนนี้เครื่องรุ่นสำหรับวางจำหน่าจริงก็ทดสอบบินครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว และพร้อมเริ่มให้บริการจริงในปีหน้า สำหรับเที่ยวบินของเครื่องรุ่นที่วางขายจริงเที่ยวแรกนี้ทีมงานทดสอบระยะเวลา 84 นาที ขึ้นบินสูงสุดที่ระดับ 4.72 กิโลเมตร และทำความเร็ว 644.50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง HondaJet รุ่นแรกจะมีความแปลกคือการวางเครื่องยนต์เหนือปีก (Over The Wing Engine Mount - OTWEM) ความเร็วสูงสุด 777 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพดานบิน 13 กิโลเมตร และพิสัยการบิน 2184 กิโลเมตร ราคายังไม่ระบุ แต่สามารถสั่งได้ผ่านดีลเลอร์ในสหรัฐฯ ที่มา - Honda News
https://jusci.net/node/3273
เครื่องบินฮอนด้าลำแรกขึ้นบินแล้ว
หลายคนแถวนี้น่าจะเคยชมสารคดี Five Steps to Tyranny อันโด่งดังกันมาแล้ว หนึ่งในการทดลองที่ถูกอ้างถึงในสารคดีนั้นคือ การทดลองของมิลแกรม ซึ่งเป็นการทดสอบพฤติกรรมมนุษย์ ว่าจะยอมทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจหรือไม่ แม้คำสั่งนั้นจะผิดหลักมนุษยธรรม เช่นการสั่งให้เอาไฟฟ้าไปช้อกผู้อื่นให้เจ็บปวดทรมาน ผลลัพธ์ที่ออกมาน่าตกใจ เพราะปรากฎว่าผู้เข้าทดสอบส่วนใหญ่ยอมทำ ส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ยอม ผลการทดลองครั้งนั้นจึงสรุปว่ามนุษย์ยอมทำตามคำสั่งผู้มีอำนาจ มากกว่าที่จะทำสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้อง นักจิตวิทยากลุ่มใหม่ได้ศึกษาต่อยอดจากเรื่องนี้ เพื่อค้นหาคำตอบว่า คนแบบไหนที่ยอมทำตามคำสั่งแม้จะขัดกับความเชื่อ และคนแบบไหนที่ไม่ยอม ปรากฎว่าคนที่ยอมส่วนมากคือคนประเภทที่ "ทำดีกับทุกคน" (nice) ในขณะที่พวกตรงกันข้าม (เช่นพวก ต่อต้านสังคม) กลับเป็นพวกที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งผู้มีอำนาจที่ขัดกับสามัญสำนึกหรือความเชื่อของตัวเอง นักวิจัยกลุ่มนี้สรุปว่า คนที่ทำดีกับทุกคน มักไม่อยากทำให้ผู้อื่นผิดหวัง จึงยอมทำตามคำสั่งเอาง่ายๆ และเพิกเฉยความเชื่อและความต้องการของตัวเอง ในขณะที่พวกตรงกันข้ามไม่มีปัจจัยเรื่องนั้นมาเกี่ยวข้อง จึงไม่ยอมทำตาม ดังนั้นในบางแง่มุม พวกต่อต้านสังคมต่างหากที่กลับทำเพื่อสังคมมากกว่า เพราะพวกเขายอมแลกความนิยมชมชอบของตัวเอง เพื่อทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าถูกต้อง และ การเป็นคนที่ทำดีกับทุกคน จึงเป็นการทำเพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับจากสังคม มากกว่าเป็นการทำเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ที่มา - Mic
https://jusci.net/node/3274
การเป็น "คนดี" อาจไม่ดีอย่างที่คิด เพราะคนดีไม่เป็นตัวของตัวเอง
เครื่องพิมพ์ 3 มิติเริ่มมีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นอีกครั้ง เมื่อแพทย์ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์แบบจำลองสำหรับการผ่าตัดเนื้องอกในช่วงท้อง เพื่อเอาเนื้องอกของเด็กชาวสเปนวัย 5 ขวบออก หลังจากที่ประสบความล้มเหลวในการผ่าตัดมาแล้ว 2 ครั้ง เด็กคนนี้เป็นมะเร็งต่อมหมวกไต (neuroblastoma) ซึ่งก่อให้เกิดเนื้องอกขึ้นมาบริเวณกระเพาะอาหาร ในเบื้องต้น ทีมแพทย์โรงพยาบาล Sant Joan de Deu ประสบปัญหาในการนำเนื้องอกนี้ออก เพราะเสี่ยงต่อการตัดโดนเส้นเลือดใหญ่บริเวณช่องท้อง และได้พยายามถึง 2 ครั้งก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ทีมแพทย์จึงตัดสินใจหันไปขอความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคของแคว้นคาตาลัน (บาเซโลน่า) เพื่อพิมพ์แบบจำลองจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ลักษณะเป็นก้อนเนื้องอก ที่หุ้มด้วยเส้นเลือดใหญ่และอวัยวะ สำหรับการฝึกผ่าตัด เพื่อไม่ให้ผ่าไปโดนเส้นเลือดใหญ่ ซึ่งท้ายที่สุดก็ทำให้ทีมแพทย์ประสบความสำเร็จในการนำเนื้องอกออกมา ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้แพทย์โรงพยาบาล Sant Joan de Deu ในบาเซโลน่าเริ่มประยุกต์ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไป ทีมา - el Periodico Society (translated) via CNET
https://jusci.net/node/3275
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ช่วยให้แพทย์ผ่าตัดเนื้องอกสำเร็จ หลังจากที่ล้มเหลวมา 2 ครั้ง
DARPA หรือหน่วยงานวิจัยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ จัดงานแข่งขันด้านหุ่นยนต์-รถยนต์ไร้คนขับเป็นประจำในชื่อ DARPA Grand Challenge (หรือบางครั้งก็เรียก Robotics Challenge) โดยมีบริษัทด้านหุ่นยนต์ชื่อดังจากทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขัน อย่างไรก็ตาม DARPA Grand Challenge อาจต้อง "งานกร่อย" เพราะบริษัทเต็งหนึ่งกับเต็งสองมีเหตุต้องถอนตัว "อย่างถาวร" ด้วยเหตุผลว่าโดนกูเกิลซื้อไปแล้วทั้งคู่ และกูเกิลก็มีนโยบายว่าจะไม่สร้างหุ่นยนต์เพื่อการทหาร ซึ่งการเข้าแข่งงานของ DARPA (ที่เป็นโครงการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ) อาจส่งผลต่อนโยบายนี้ของกูเกิล เต็งหนึ่งของการแข่งขันครั้งนี้คือ SCHAFT หุ่นจากญี่ปุ่น ส่วนเต็งสองคือหุ่น ATLAS จากบริษัท Boston Dynamics (ดูข่าวเก่า บริษัทหุ่นยนต์ของกูเกิล Boston Dynamics หุ่นยนต์เลียนแบบสัตว์และคน) โชคชะตาทำให้คู่แข่งรายใหญ่ทั้งสองต้องมาอยู่ใต้ชายคากูเกิลเหมือนกัน และต้องถอนตัวจากการแข่งขันของ DARPA ไปพร้อมกัน การถอนตัวของ SCHAFT และ Boston Dynamics อาจเปิดโอกาสให้บริษัทหุ่นยนต์หน้าใหม่ๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีของหุ่น ATLAS นั้นเปิดให้บริษัทอื่นๆ นำไปใช้งานหรือแข่งขันลักษณะนี้ได้ด้วย ซึ่งถือว่าไม่ผิดกฎหรือนโยบายใดๆ ของกูเกิลครับ ที่มา - ExtremeTech, ภาพประกอบจาก DARPA ตัวอย่างหุ่นของ SCHAFT
https://jusci.net/node/3276
งานแข่งหุ่นยนต์ DARPA กร่อย ตัวเต็ง SCHAFT และ Boston Dynamics ถอนตัวเพราะนโยบายกูเกิล
เชื้อไข้ทรพิษหรือฝีดาษ (smallpox) นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จของมนุษยชาติที่สามารถขจัดเชื้อโรคนี้ไม่ให้ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากโรคระบาดที่เคยระบาดเป็นวงกว้างทั่วโลกในช่วงปี 1950 องค์การอนามัยโลกและความร่วมมือของชาติต่างๆ ทั่วโลกสามารถขจัดโรคนี้ได้สำเร็จในปี 1980 ประเทศไทยเองมีการระบาดครั้งสุดท้ายในปีพ.ศ. 2504 หรือปี 1961 ตอนนี้ตัวอย่างเชื้อถูกเก็บรักษาโดยศูนย์วิจัยสองชาติ คือ รัสเซีย และสหรัฐฯ เท่านั้น แต่เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานว่าพนักงานทำความสะอาดที่ศูนย์วิจัยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health - NIH) กลับพบหลอดทดลองที่แปะป้าย "variola" ชื่อเชื้อไข้ทรพิษ อยู่ในห้องเก็บของโดยไม่มีการควบคุม ห้องเก็บของเป็นพื้นที่ขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ที่ได้รับต่อมาจาก NIH ตั้งแต่ช่วงปี 1972 ตัวหลอดทดลองเองระบุวันที่ไว้ในช่วงปี 1950 ในยุคที่เชื้อไข้ทรพิษยังระบาดอยู่ หน่วยงานควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯ (CDC) ที่เป็นผู้เก็บรักษาตัวอย่างเชื้อ เข้าตรวจสอบหลอดทดลองและยืนยันว่ามีดีเอ็นเอของไข้ทรพิษจริง ระหว่างนี้ห้องทดสอบกำลังทดสอบว่าเชื้อนี้ยังสามารถแพร่พันธุ์บนเนื้อเยื่อตัวอย่างได้หรือไม่ โดยจะใช้เวลาทดสอบสองสัปดาห์ ทาง CDC เชิญองค์การอนามัยโลกมาร่วมสอบสวนหลอดทดลองนี้และเป็นพยานในการทำลายเชื้อหลังทดสอบเสร็จสิ้น และระหว่างนี้จะทำงานร่วมกับ FBI สอบสวนว่าหลอดทดลองดังกล่าวไปอยู่ในห้องเก็บของได้อย่างไร ที่มา - Wired, CDC ที่มาภาพ - CDC
https://jusci.net/node/3281
พบหลอดตัวอย่างเชื้อไข้ทรพิษในศูนย์วิจัยโดยไม่มีการควบคุม
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ภาษามีการใช้ทั้งพจนานุกรมทางจิต (mental dictionary) และไวยากรณ์ทางจิต (mental grammar) โดยพจนานุกรมทางจิตเก็บเสียง, คำ และวลีทั่วไป ในขณะที่ไวยากรณ์ทางจิตเกี่ยวข้องกับการจัดวางองค์ประกอบของคำที่ยาวกว่า และประโยค โดยงานวิจัยส่วนใหญ่ทำความเข้าใจกับกระบวนการนี้ในผู้ใหญ่ งานวิจัยชิ้นนี้จึงศึกษาในเด็กเพื่อที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการเหล่านี้ การทดสอบใช้กริยาอปกติ 29 คำและกริยาปกติ 29 คำที่เด็ก 8 ขวบรู้จัก โดยมีประโยค 2 ประโยค ในประโยคที่สองจะเว้นช่องว่างไว้เพื่อให้เด็กสร้างรูปแบบของไวยากรณ์ในอดีต (พูดง่ายๆ คือ ให้ผันกริยาเป็นรูปอดีต) ให้เร็วที่สุด และถูกต้องที่สุด แล้วบันทึกเวลาเอาไว้ จากการทดสอบพบว่าเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะใช้พจนานุกรมทางจิต มากกว่าเด็กผู้ชายที่มักจะใช้ไวยากรณ์ทางจิต แปลง่ายๆ คือ เด็กผู้หญิงมีการจดจำคำและวลีต่างๆ มากกว่าเด็กผู้ชายที่มักใช้ความเข้าใจในการจัดวางองค์ประกอบของคำ ที่มา - Medicalxpress
https://jusci.net/node/3282
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายมีการเรียนรู้ทางด้านภาษาที่แตกต่างกัน
ข้อมูลจากทีมวิจัยชุดใหญ่จาก UCL, University of Oxford และ King’s College London แสดงให้เห็นว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของยีนที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการอ่าน ยังมีบทบาทต่อความสามารถทางคณิตศาตร์อีกด้วย ขอบเขตการเก็บข้อมูลกระทำในเด็กอายุ 12 ปีจากเกือบ 2,800 ครอบครัวในประเทศอังกฤษ โดยค่าที่เก็บคือคะแนนจากการทดสอบความสามารถด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ (สอดคล้องตามหลักสูตรการศึกษา) ควบคู่ไปกับข้อมูล DNA ของเด็กแต่ละคน นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้แบ่งชุดข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ข้อมูลของกลุ่มเด็กแฝดและไม่ใช่เด็กแฝด สำหรับกลุ่มเด็กแฝดจะสนใจการเปรียบเทียบว่า DNA ที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยส่งผลกระทบต่อคะแนนดังกล่าวหรือไม่ ผลลัพธ์ชี้ให้เห็นว่า ยีนที่มีอิทธิพลต่อความสามารถด้านการอ่าน กับยีนที่มีอิทธิพลต่อความสามารถด้านคณิตศาสตร์นั้น มีการซ้อนทับกันอยู่ ทำให้อาจตีความสรุปได้ว่า เด็กที่เก่งคณิตศาสตร์ก็มักจะเป็นหนอนหนังสือตัวยงเช่นกัน งานวิจัย The correlation between reading and mathematics ability at age twelve has a substantial genetic component ตีพิมพ์ใน Nature Communications doi:10.1038/ncomms5204 ที่มา: Neuroscience News
https://jusci.net/node/3283
ยีนการอ่านกับยีนด้านคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นยีนตัวเดียวกัน
ชื่อดาวต่างๆ เมื่อก่อนมักตั้งชื่อกันตามความนิยม ดาวบางดวงถูกเปลี่ยนชื่อไปมา แต่หลังจากก่อตั้งสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลชื่อวิทยาศาสตร์ก็ถูกตั้งโดยองค์กรนี้ทั้งหมด ทำให้เราได้ชื่อที่อาจจะน่าเบื่อสักหน่อย เช่น BD-10 3166 b หรือ HD 101930 b ตอนนี้ทาง IAU ประกาศคืนอำนาจให้คนทั่วไปเข้าลงคะแนนชื่อดาวเคราะห์จำนวน 305 ดวงที่ค้นพบก่อนปี 2008 โดยเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อโหวตผ่านเว็บ NameEXOWorld.org ชื่อจะถูกเสนอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์รวมถึงชมรมต่างๆ และคนทั่วไปต้องลงทะเบียนก่อนโหวต โดยขั้นแรกองค์กรที่จะเสนอชื่อจะต้องโหวตกันก่อนว่าจะทำดาวเคราะห์ดวงใดมาตั้งชื่อเป็นชุดแรก คาดว่าจะมีประมาณ 20 ถึง 30 ดวง ขึ้นกับจำนวนองค์กรที่ลงทะเบียน จากนั้นทุกองค์กรจะสามารถเสนอชื่อให้ดาวเคราะห์ได้หนึ่งดวง กระบวนการจนถึงช่วงที่เราเห็นชื่อที่เสนอเข้ามานี้จะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ การเปิดโหวตจะเป็นช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า และจัดพิธีประกาศผลเดือนสิงหาคม ชื่อที่เสนอห้ามเป็นชื่อสัตว์เลี้ยง ต้องออกเสียงได้อย่างน้อยหนึ่งภาษา ต้องไม่เป็นคำหยาบ และห้ามเป็นชื่อการค้า ที่มา - IAU
https://jusci.net/node/3284
คืนอำนาจปวงประชา IAU เตรียมเปิดโหวตชื่อดาวเคราะห์
บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของ Elon Musk ประกาศข่าวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ Tesla Model III (หรือบางที่ก็สะกดว่า Tesla Model 3) Tesla เริ่มต้นจากการออกรถสปอร์ต Roadster แล้วเริ่มผลิตรถยนต์ขายจริงคือ Model S สำหรับตลาดรถซีดาน (ภาพประกอบข่าวคือ Model S) และ Model X สำหรับตลาด SUV ซึ่ง Elon Musk ก็ตอบแบบติดตลกว่าพอมาถึงรถยนต์สายที่สามของบริษัท ก็น่าจะตั้งชื่อว่า Model E (จะได้เป็น S.E.X) อย่างไรก็ตาม Tesla ประสบปัญหาเรื่องชื่อ Model E กับ Ford เลยต้องเลี่ยงมาเป็น Model III แทน (Musk บอกว่ามันคือ E เขียนคนละแบบนั่นเอง) Tesla Model III จะเปิดตัวในปี 2016 และขายจริงปี 2017 ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดของมันออกมามากนัก ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวลือว่า Model III จะมีขนาดเล็กกว่า Model S ประมาณ 20% ส่วน Elon Musk ก็บอกว่าจะตั้งราคาที่ราว 35,000 ดอลลาร์ หรือ 1.2 ล้านบาท เนื่องจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ถูกลงหลัง Tesla เปิดโรงงานแบตเตอรี่เอง ที่มา - Auto Express, @TeslaMotors
https://jusci.net/node/3286
Tesla ประกาศออกรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ Model III ขายจริงปี 2017
สหรัฐฯ เตรียมนำแพทย์และมิชชันนารีที่ติดเชื้ออีโบล่ากลับมารักษาในประเทศ สร้างความตระหนกให้กับประชาชนสหรัฐฯ ว่าจะทำให้ไวรัสแพร่กระจายออกไป ทาง CDC หรือ หน่วยควบคุมโรคระบาดสหรัฐฯ ถูกต่อว่าผ่านอีเมลและโทรศัพท์จนต้องมาชี้แจง ทาง CDC ระบุว่ากระบวนการนำผู้ป่วยกลับประเทศนั้นมีขั้นตอนชัดเจนอยู่แล้ว โดยครอบคลุมตั้งแต่นำคนไข้ออกจากเตียงจนกระทั่งนำส่งเข้ามาในโรงพยาบาล เครื่องบินที่ใช้นั้นเป็นเครื่องบินพิเศษที่มีชุดขนส่งคนไข้ที่แยกออกจากโลกภายนอก ตัวเชื้ออีโบล่าเองก็ไม่ได้ติดต่อผ่านอากาศแต่อย่างใด แต่ต้องติดต่อด้วยการสัมผัสกับคนที่แสดงอาการอยู่เท่านั้น โอกาสที่จะติดต่อจึงมีน้อย คนไข้คนแรกคือนายแพทย์ Kent Brantly นั้นถูกส่งไปยังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Emory ที่มีชุดเครื่องมีพิเศษสำหรับรองรับคนไข้โรคติดต่ออยู่แล้ว ส่วนคนไข้อีกคนคือ Nancy Writebol นั้นจะตามมาภายหลัง เพราะเครื่องบินที่ใช้ขนส่งนั้นสามารถขนได้ทีละคนเท่านั้น ที่มา - CNN, CBC, Facebook: CDC
https://jusci.net/node/3293
CDC ชี้แจงกระบวนการขนส่งผู้ป่วยอีโบล่าข้ามประเทศ
Yoshiki Sasai นักวิจัยสเต็มเซลล์ผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัยสองฉบับที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature และต้องถอนงานวิจัยออกไปภายหลัง ถูกพบร่างในศูนย์วิจัยเมื่อเช้านี้ โดยมีรายงานว่าเขาเขียนจดหมายลาตายเอาไว้ แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อความในจดหมายออกมา งานวิจัยที่มีปัญหาของศูนย์วิจัยริเค็น คือ stimulus-triggered acquisition of pluripotency (STAP) ที่แสดงกระบวนการย้อนกลับเซลล์ให้กลายเป็นเป็นสเต็มเซลล์ได้โดยง่าย แต่จนทุกวันนี้ยังไม่มีกลุ่มใดสามารถทำซ้ำงานวิจัยนี้ได้ Sasai เป็นผู้ที่ดึง Haruko Obokata นักวิจัยหลักของ STAP เข้ามาทำงานที่ศูนย์วิจัยริเค็น ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในหมู่นักวิจัยสเต็มเซลล์และการที่มีชื่อของเขาในรายงานทำให้รายงานมีความน่าเชื่อถือขึ้น ตำแหน่งปัจจุบันของ Sasai คือ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ที่มา - Science Mag
https://jusci.net/node/3295
นักวิจัยสเต็มเซลล์จากศูนย์วิจัยริเค็นฆ่าตัวตาย
เรารู้กันดีว่าแบคทีเรียสามารถแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างกันได้อย่างสนุกสนาน แต่การแลกเปลี่ยน RNA ข้ามสปีชีส์ระหว่างพืชเป็นเรื่องที่มีการศึกษาน้อยมาก นั่นทำให้การค้นพบล่าสุดของทีมวิจัยที่นำโดย James H. Westwood แห่งเวอร์จิเนียเทคสร้างความประหลาดใจอย่างสุดขีดให้กับวงการชีววิทยาเมื่อพวกเขารายงานว่าพืชสามารถแลกเปลี่ยนรับส่ง mRNA ข้ามสปีชีส์กันได้ [mRNA คือ RNA ที่ถอดรหัส (transcription) มาจาก DNA มีหน้าที่นำข้อมูลพันธุกรรมไปแปลรหัส (translation) สร้างโปรตีน] ก่อนหน้านี้ James Westwood ได้เคยรายงานผลวิจัยว่าเจอ mRNA ของต้นมะเขือเทศในเนื้อเยื่อของต้นฝอยทองห้าเหลี่ยม (Cuscuta pentagona) ที่เกาะต้นมะเขือเทศ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจแต่ยังไม่น่าประหลาดนักเพราะเมื่อต้นฝอยทองแทงรากเบียน (haustorium) เข้าไปดูดน้ำและอาหารจากต้นไม้เจ้าบ้าน (host) มันก็คงไม่แปลกอะไรที่จะดูดเอา mRNA ติดมาด้วยบ้างไม่มากก็น้อย หลังจากงานวิจัยนั้นเขาสนใจต่อไปว่าต้นฝอยทองจะมี mRNA ของพืชต้นไม้เจ้าบ้านที่มันเกาะอยู่มากแค่ไหนและกระจายไปอยู่ตรงไหนของจีโนมบ้าง เขาจึงตั้งทีมปลูกต้นฝอยทองให้เกาะกับต้นไม้สองชนิด ได้แก่ มะเขือเทศ และ Arabidopsis thaliana เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลจึโนมที่สมบูรณ์ของพืชสองตัวนี้แล้ว โดยเฉพาะ Arabidopsis thaliana ที่เป็น "ต้นไม้อ้างอิง" ของงานวิจัยที่เกี่ยวกับพืช จากนั้นพวกเขาก็เก็บเอาเนื้อเยื่อของทั้งต้นฝอยทอง, ต้นมะเขือเทศ, และต้น Arabidopsis มาวิเคราะห์ mRNA ผลปรากฏว่าพวกเขาพบ mRNA ของต้นไม้เจ้าบ้านในเนื้อเยื่อของต้นฝอยทองเป็นพันๆ ตัว แค่ตรงนี้ก็นับได้ว่าเกินความคาดหมายไปมากแล้ว แต่ยัง... ความระทึกยังไม่จบ เพราะพวกเขาพบว่าในเนื้อเยื่อของต้นไม้เจ้าบ้านทั้งต้นมะเขือเทศและต้น Arabidopsis ก็มี mRNA ของต้นฝอยทองเป็นพันๆ ตัวเหมือนกัน! แสดงว่าต้นฝอยทองไม่ได้ดูด mRNA ไปธรรมดาๆ อย่างที่เคยนึกกัน แต่มันคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลพันธุกรรมระหว่างกันของต้นไม้ปรสิตกับต้นไม้เจ้าบ้าน และเป็นการสื่อสารสองทาง ไม่ใช่ทางเดียว นักวิจัยยังไม่ทราบว่า mRNA ที่แลกเปลี่ยนระหว่างต้นไม้สองสปีชีส์เข้าไปส่งผลอะไรบ้าง แต่มีความเป็นไปได้สูงว่ามันมีกลไกควบคุมการแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เกิดจากการแพร่ผ่านข้ามเซลล์มั่วๆ เพราะการแลกเปลี่ยนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะเป็นระยะปลายๆ ที่ต้นฝอยทองแทงรากเบียนเสร็จสมบูรณ์แล้ว บางทีต้นฝอยทองอาจจะเป็นฝ่ายส่ง mRNA เข้าไปเพื่อให้ต้นไม้เจ้าบ้านยอมตกเป็นจำเลยรัก ปล่อยให้มันขโมยดูดน้ำและอาหารอย่างง่ายๆ การค้นพบในครั้งนี้ยังเผยถึงความเป็นไปได้ในการส่งผ่านยีนแนวขวาง (horizontal gene transfer) ระหว่างต้นไม้ต่างสปีชีส์โดยมีต้นปรสิตเป็นตัวกลางอีกด้วย (คล้ายๆ กับการส่งผ่านยีนระหว่างแบคทีเรียโดยมีไวรัสเป็นตัวกลาง) งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Science DOI: 10.1126/science.1253122 ที่มา - PhysOrg, The Scientist
https://jusci.net/node/3297
ต้นไม้แทงดูดแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมข้ามสปีชีส์
ทีมนักวิจัยด้านระบบที่จัดการตัวเอง (self-organizing systems) จากมหาวิทยาลัย Harvard เผยผลงานวิจัยชิ้นใหม่ Kilobot ที่สร้างหุ่นยนต์ขนาดเล็กจำนวน 1 พันตัว (kilo) ที่สามารถสื่อสารระหว่างกันและจัดเรียงตัวเป็นรูปร่างที่กำหนด โดยมนุษย์ไม่ต้องควบคุมใดๆ ทีมวิจัยบอกว่าสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมีการรวมตัวกันเป็นฝูงหรือหมู่ (swarm) เพื่อจัดการตัวเองในงานขนาดใหญ่อยู่แล้ว Kilobot จึงต้องการจำลองพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ และใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับทดสอบอัลกอริทึมด้านการจัดการตัวเองว่าเป็นไปได้แค่ไหนในความเป็นจริง หุ่น kilobot แต่ละตัวมีขนาดเล็ก มีมอเตอร์ในตัวสำหรับเคลื่อนไหว และสื่อสารระหว่างกันด้วยอินฟราเรด ซึ่งมันจะสื่อสารเฉพาะกับหุ่นยนต์ที่อยู่ข้างๆ เท่านั้น หุ่นหนึ่งตัวราคาค่อนข้างถูก แต่มันถูกออกแบบอัลกอริทึมมาให้รองรับความผิดพลาดของหุ่นเป็นบางตัวได้ เช่น ถ้ามีหุ่นตัวหนึ่งมอเตอร์พัง หุ่นที่อยู่ข้างๆ จะพิจารณาว่าหุ่นตัวนี้ย้ายตำแหน่งไปในจุดที่ควรจะเป็นหรือไม่ ถ้าไม่ หุ่นตัวอื่นจะสลับเข้ามาทำหน้าที่แทน ปัจจุบันการนำ Kilobot มาจัดเรียงตัวเป็นรูปร่างต่างๆ ยังต้องใช้เวลาเป็นหลักหลายชั่วโมง เพราะหุ่นจะค่อยๆ ขยับจากกลุ่มที่อยู่วงนอกสุดไปก่อน แต่ความเร็วการขยับตัวในระดับนี้ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ยังไม่มีนักวิจัยกลุ่มไหนเคยทำได้ ที่มา - Popular Mechanics
https://jusci.net/node/3298
Kilobot เมื่อหุ่นยนต์ขนาดจิ๋ว 1 พันตัว สามารถเลียนแบบฝูงสัตว์ เรียงตัวเองได้
NASA พัฒนาแผงโซลาร์เซลล์แบบใหม่ที่สามารถพับเก็บและคลี่ออกเพื่อใช้งานได้ในลักษณะการหุบและบานออกของดอกไม้ โดยอาศัยเทคนิคพับกระดาษของญี่ปุ่นที่เรียกว่า "โอริกามิ" มาเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนาผลงาน งานวิจัยนี้เป็นผลงานการพัฒนาของ NASA ร่วมกับ Brigham Young University โดยทีมวิจัยได้พัฒนาชิ้นงานต้นแบบในขนาดเล็กกว่าของจริง 1:20 และได้ทดลองการพับแผ่นชิ้นงานหลากหลายรูปแบบ ก่อนจะมาจบในแบบปัจจุบันที่ได้รับแรงบันดาลใจในการคิดค้นจากเทคนิค "Miura fold" ซึ่งเป็นเทคนิคที่นักวิจัยของญี่ปุ่นริเริ่มปรับปรุงแผงโซลาร์เซลล์สำหรับดาวเทียมของญี่ปุ่นเอง ด้วยวิธีการพับแผงโซลาร์เซลล์นี้ หากมีการสร้างแผงโซลาร์เซลล์ขึ้นเพื่อใช้งานจริง ก็จะสามารถสร้างแผงโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดตอนจัดเก็บมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.7 เมตรเท่านั้น (ขนาดประมาณใกล้เคียงกับเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวเทียม) แต่เมื่อถึงเวลาใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ดังกล่าวจะสามารถแผ่กางออกเมื่อได้รับแรงดึงบริเวณขอบโดยรอบของแผงเกิดเป็นพื้นที่รับแสงซึ่งมีความกว้างเกือบ 25 เมตร ซึ่งจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 250 กิโลวัตต์ (สูงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่มีใช้งานจริงในปัจจุบันที่มีกำลังอยู่ราว 14 กิโลวัตต์เท่านั้น) ที่มา - Engadget
https://jusci.net/node/3301
NASA พัฒนาแผงโซลาร์เซลล์แบบพับได้โดยอาศัยเทคนิคโอริกามิ
Paul Ingrassia นักข่าว Reuters สัมภาษณ์ Dmitri Dolgov นักพัฒนาซอฟต์แวร์ของทีมพัฒนารถไร้คนขับ ระหว่างทดสอบการขับรถเป็นเวลา 25 นาที ในรถมีคนขับทดสอบนั่งที่นั่งคนขับแต่ไม่ได้จับพวงมาลัย ขณะที่ตัว Dolgov นั่งด้านข้างคนขับพร้อมโน้ตบุ๊กควบคุม Ingrassia ระบุว่าเมื่อรถสวนเลนดูกำลังจะข้ามฝั่งมา รถอัตโนมัติก็เบรกทันที กระบวนการทดสอบที่เหลือไม่ต่างจากการนั่งรถธรรมดา ยกเว้นว่าเขาเห็นคยขับปล่อยมือตลอดเวลา ที่แปลกคือรถอัตโนมัตินี้ยอมเร่งความเร็วเกินกำหนดตามรถคันอื่นๆ หากรถรอบตัวกำลังขับเร็วเกินกำหนด เหตุผลคือมีการวิจัยมาแล้วว่าหากขับรถตามกำหนดโดยที่รอบตัวขับเกินกำหนดจะยิ่งทำให้อันตรายกว่าเดิม ที่มา - Reuters ที่มาภาพ - Steve Jurvetson
https://jusci.net/node/3303
กูเกิลยอมให้รถอัตโนมัติวิ่งเร็วกว่ากำหนดได้หากรถรอบข้างวิ่งเร็วเหมือนกัน
มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลอยู่ในสกุล Homo ร่วมกับมนุษย์แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็น Homo sapiens หรือไม่ โดยมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลอาศัยอยู่ในยุโรป ช่วงประมาณ 40,000 ปีก่อน ซ้อนทับกับช่วงเวลาที่มนุษย์สมัยใหม่มาจากแอฟริกาถึงยุโรปโดยทั้งสองสปีชีส์อยู่ร่วมกันเป็นระยะเวลา 2,600 ถึง 5,400 ปี การยืนยันช่วงเวลาที่ทั้งสองกลุ่มอยู่ร่วมกันอาศัยการวิเคราะห์คาร์บอน-14 จากหลักฐานกว่า 200 ชิ้นละแหล่งขุดค้น 40 แหล่งทั่วยุโรป ก่อนหน้านี้มีความเชื่อว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลอาจจะหายไปก่อนที่มนุษย์สมัยใหม่จะเดินทางมาจากแอฟริกา Thomas Higham นักวิจัยจากมหาวิทยาอ็อกซ์ฟอร์ดระบุว่าแม้ทั้งสองกลุ่มจะมีช่วงเวลาอยู่ร่วมกันแต่ก็แยกพื้นที่กันชัดเจน เขาคาดว่าทั้งสองกลุ่มอาจจะแข่งขันกันแต่ก็มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันบ้าง รวมถึงยีนของมนุษย์ที่ปัจจุบันที่ต่างไปจากมนุษย์แอฟริกา 1.5-2.1% ก็อาจจะมาจากมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล รายงาน "The timing and spatiotemporal patterning of Neanderthal disappearance" ตีพิมพ์ในวารสาร Nature หมายเลข doi:10.1038/nature13621 ที่มา - Japan Times ภาพโดย - Photaro
https://jusci.net/node/3305
มนุษย์อาจเคยอยู่ร่วมและมีลูกกับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล
การกระทำการุณยฆาต คือ การฆ่า หรือช่วยให้บุคคลที่ทุกข์ทรมานจากโรค หรืออาการบาดเจ็บที่รักษาไม่ได้ ได้ตายอย่างไม่เจ็บปวด ทางสวิตเซอร์แลนด์อนุญาตให้บุคคอื่นที่ไม่สนใจต่อการตายของบุคคลนั้นโดยตรงสามารถกระทำได้ การกระทำการุณยฆาตนั้นถูกกฎหมายในสวิตเซอร์แลนด์มาตั้งแต่ปี 1940 นอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้วยังมี เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา ที่สามารถกระทำการุณยฆาตได้ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวรสาร Journal of Medical Ethics รายงานว่า มีชาวต่างชาติเดินทางมาเพื่อรับการุณยฆาตในสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 86 คนในปี 2009 เป็น 172 คนในปี 2012 โดยผู้ที่เดินทางมาสวิตเซอร์แลนด์เพื่อกระทำการุณยฆาตนั้นมักจะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางประสาทวิทยา เป็นต้นว่า อัมพาต หรือโรคเกี่ยวกับหน่วยประสาทเคลื่อนไหว (motor neuron) พิการ และโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อพิการต่าง ๆ อย่างเช่น ALS เป็นต้น ในการวิเคราะห์ข้อมูลจาก 611 กรณี ในช่วงปี 2008 - 2012 พบว่า มีชาวต่างชาติจาก 31 ประเทศเคยถูกช่วยฆ่าตัวตายในสวิตเซอร์แลนด์ เกือบครึ่งเป็นชาวเยอรมัน อีก 20% เป็นชาวอังกฤษ โดยมีฝรั่งเศส และอิตาลีติดหนึ่งในสิบอันดับสูงสุดด้วย ส่วนอายุเฉลี่ยของคนที่เดินทางมากระทำการุณยฆาตนั้นอยู่ที่ 69 ปี การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของชาวต่างชาติที่เดินทางมาฆ่าตัวตายที่สวิตเซอร์แลนด์ ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างรุนแรงในสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2011 มีการโหวตให้เมืองซูริคปฏิเสธการกระทำการุณยฆาต รวมทั้งปฏิเสธนักเดินทางที่เดินทางเข้าสวิตเซอร์แลนด์เพื่อกระทำการุณยฆาตด้วย แต่ในปีต่อมา ทางรัฐสภาของสวิตเซอร์แลนด์ก็โหวตค้านการควบคุมที่เคร่งครัดต่างกล่าว การตายไม่ใช่เรื่องยาก แต่การอยู่นั้นยากยิ่งกว่า ถ้าคิดว่า การมีชีวิตอยู่ของคุณสร้างความลำบากให้กับผู้อื่น ลองถามเขาสักคำว่า เขาจำใจทำ หรือเต็มใจที่จะลำบากเพื่อคุณ ถ้าเขามีความสุขที่จะทำให้ แล้วคุณจะรีบตายไปทำไมกัน "Suicide tourism: a pilot study on the Swiss" ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medical Ethics doi:10.1136/medethics-2014-102091 ที่มา: Reuters via Yahoo! News
https://jusci.net/node/3309
อัตราการกระทำการุณยฆาตของชาวต่างชาติในสวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ศูนย์วิจัยริเค็นผู้ตีพิมพ์งานวิจัยกระบวนการสร้างเต็มเซลล์ STAP ที่มีปัญหาในตัวงานวิจัยหลายอย่างจนกระทั่งต้องถอดรายงานวิจัย ตอนนี้ทางศูนย์วิจัยริเค็นก็อยู่ระหว่างการพยายามยืนยันผลงานวิจัยว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ รายงานรอบล่าสุดก็ออกมาแล้วว่ายังทำไม่สำเร็จ Hitoshi Niwa ทีมวิจัยทีมหนึ่งของทางศูนย์ที่กำลังพยายามทำซ้ำงานวิจัยระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่เซลล์ STAP อาจจะไม่มีตัวตนอยู่ ส่วนทาง Haruko Obokata นักวิจัยหลักของโครงการก็กำลังพยายามทำซ้ำงานวิจัยของตัวเองในศูนย์เช่นกัน โดยทำงานในอีกทีมแยกออกไป ศูนย์วิจัยริเค็นเตรียมจะยกเครื่องใหม่เพื่อล้างภาพลักษณ์ที่เสียหายไปจากงานวิจัย STAP นี้ ตั้งแต่การเปลี่ยนหัวหน้าศูนย์วิจัยและนักวิจัยอาวุโสหลายตำแหน่ง และลดขนาดศูนย์วิจัยในโกเบลงครึ่งหนึ่งจากเดิมมีนักวิจัย 450 คน ในห้องวิจัย 40 ห้อง อาจจะเหลือเพียง 20 ห้องเท่านั้น แผนการยืนยันผลการวิจัย STAP เริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา คาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดหนึ่งปีเต็ม ที่มา - Japan Times
https://jusci.net/node/3313
ศูนย์วิจัยริเค็นแถลง ยังไม่สามารถทำซ้ำงานวิจัย STAP ได้
Dyson แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าสุดแนว เปิดตัว Dyson 360 Eye หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวแรกของบริษัท (ลักษณะเดียวกับ Roomba iRobot) แล้ว Dyson ซึ่งบุกเบิกวงการเครื่องดูดฝุ่นมานาน ใช้เวลาถึง 16 ปีในการพัฒนาหุ่นยนต์ดูดฝุ่นของตัวเอง (เคยพยายามทำมารอบหนึ่งแล้วในปี 2001 แต่พับแผนไปก่อนวางขายไม่นาน เพราะผู้ก่อตั้ง James Dyson มองว่ามันใหญ่และแพงเกินไป) จุดเด่นของ 360 Eye คือกล้องรอบตัว 360 องศา (ตามชื่อรุ่น) ถ่ายภาพรอบตัวตลอดเวลาเพื่อนำไปใช้คำนวณอัลกอริทึมในการเคลื่อนไหวไม่ให้ซ้ำจุดเดิม รูปแบบการเคลื่อนไหวของมันคือขยับออกมาจากแท่นที่ริมผนัง แล้วหาจุดศูนย์กลางของห้อง จากนั้นเคลื่อนที่เป็นก้นหอยโดยขยายวงรอบออกไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังจำกัดขนาดไว้ใหญ่สุดที่ 10 ตารางฟุต เมื่อทำความสะอาดบริเวณนั้นหมดแล้วก็จะขยับไปสร้างวงใหม่ต่อไป (เซ็นเซอร์อินฟราเรดในตัวของ 360 Eye ยังช่วยให้มันหลบเลี่ยงขาโต๊ะหรือสัตว์เลี้ยงได้ด้วย) ในส่วนของระบบดูดฝุ่น 360 Eye ใช้มอเตอร์ดิจิทัลที่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องดูดฝุ่น Dyson รุ่นอื่นๆ ทำงานที่ 104,000 รอบต่อนาที มีพลังดูดเยอะกว่าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอื่น 20 เท่า นอกจากนี้ส่วนของล้อที่ตัวเครื่องยังช่วยให้ Eye เดินข้ามขอบประตูหรือวัตถุเตี้ยๆ ที่อยู่บนพื้นได้ด้วย Dyson 360 Eye จะเริ่มวางขายในฤดูใบไม้ผลิ 2015 ที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ตอนนี้ยังไม่เปิดเผยราคา ที่มา - Wired
https://jusci.net/node/3316
Dyson 360 Eye หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวแรกจากแบรนด์เครื่องไฟฟ้า Dyson
รถอัตโนมัติเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ต้องรอความพร้อมของหลายด้าน ทั้งเทคโนโลยี สังคม และกฎหมาย แต่ผู้ผลิตรถอย่าง GM ก็ประกาศว่าจะผลิตรถที่เริ่มอัตโนมัติบางส่วนออกวางตลาดในปี 2016 นี้แล้ว GM Super Cruise จะเป็นส่วนขยายของระบบรักษาความเร็วคงที่ (cruise mode) ที่มีในรถรุ่นใหญ่หลายรุ่น ความสามารถที่เพิ่มเติมเข้ามา ได้แก่ การควบคุมรถให้อยู่กึ่งกลางเลน, ควบคุมความเร็ว, และเบรคเมื่อพบสิ่งกีดขวาง ทาง GM สาธิตรถรุ่นทดสอบที่สามารถทำงานอัตโนมัติได้ค่อนข้างมาก รวมถึงสามารถขับหลบสิ่งกีดขวางด้วยตัวเองได้ แต่รุ่นที่ขายจริงจะทำงานได้น้อยกว่านี้ ปัญหาสำคัญคือเมื่อรถเริ่มควบคุมตัวเองได้มากขึ้น คนขับอาจจะไม่สนใจพวงมาลัยเพราะรถสามารถขับไปได้ด้วยตัวเอง มีข่าวลือว่าทาง GM อาจจะติดตั้งกล้องจับหน้าคนขับเพื่อให้แน่ใจว่าคนขับจะมองถนนตลอดเวลา GM ประกาศพัฒนาเทคโนโลยี Super Cruise และสามารถทำงานได้บนถนนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เพิ่งเปิดให้สื่อมวลชนลองนั่งจริงเมื่อสองวันก่อน ที่มา - Engadget
https://jusci.net/node/3320
GM เตรียมวางตลาดรถอัตโนมัติบางส่วนในปี 2016
บริษัทหุ่นยนต์ La Machine ของฝรั่งเศส (ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการสร้างหุ่นยนต์สัตว์ประหลาดขนาดยักษ์) สร้างหุ่นยนต์ตัวใหม่เป็น "ม้ามังกร" ชื่อ Spirit of Dragon Horse (ชื่อภาษาจีน Long Ma Jing Shen) เพื่อฉลอง 50 ปีสายสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศจีน หุ่นม้ามังกรตัวนี้จะถูกส่งไปจัดแสดงที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคมนี้ เบื้องต้นทางทีม La Machine ก็ลองนำมันมาโชว์ทดสอบที่เมือง Nantes บ้านเกิดของตัวเองก่อน ตามข่าวบอกว่ามันใช้โครงภายในเป็นเหล็กกล้า และผิวภายนอกสร้างด้วยไม้ มันเดินเองไม่ได้ (ฐานจริงๆ เป็นล้อ และต้องใช้คนควบคุมจากภายนอก) แต่สามารถขยับลำตัว ขา คอ ปาก ตา ได้ ส่งเสียงได้ และที่สำคัญคือพ่นไฟได้ด้วยครับ (มันเจ๋งตรงนี้แหละ) ภาพเพิ่มเติมดูได้จาก Facebook ของ La Machine ที่มา - CNET
https://jusci.net/node/3321
ฝรั่งเศสสร้าง "หุ่นยนต์ม้ามังกร" ฉลองสายสัมพันธ์การทูตจีน พ่นไฟได้ด้วย
บริษัท SoftBank ยักษ์ใหญ่ด้านไอที-โทรคมนาคมของญี่ปุ่น เปิดตัวหุ่นยนต์รูปทรงมนุษย์ที่แสดงอารมณ์ได้ "Pepper" ไปเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ (ข่าว Blognone ก้าวใหม่ของวงการเทคโนโลยี เมื่อหุ่นยนต์ก็มีหัวใจ) โดยเริ่มนำมาโชว์ที่ร้านของ SoftBank ในญี่ปุ่น และมีกำหนดขายจริงต้นปี 2015 เดิมที SoftBank มองว่า Pepper จะขายได้ในตลาดครอบครัว เอาไว้เป็นเพื่อนกับผู้สูงอายุ แต่หลังเปิดตัวกลับพบว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าธุรกิจที่อยากได้ Pepper มาให้บริการลูกค้าของตัวเองด้วย โดย SoftBank ให้ข้อมูลว่ามีลูกค้า 300-400 รายจากหลายวงการสนใจซื้อ Pepper มาใช้งาน นอกจากนี้ SoftBank ยังบอกว่าจะนำหุ่น Pepper มาโชว์ในร้านของ Sprint ในสหรัฐ และเริ่มทำตลาด Pepper ในสหรัฐอเมริกาภายใน 1 ปีหลังเริ่มวางขายที่ญี่ปุ่นแล้ว ทั้งนี้ SoftBank ได้ตั้งบริษัทลูก SoftBank Robotics ขึ้นมารับผิดชอบธุรกิจหุ่นยนต์โดยเฉพาะ ส่วนการพัฒนาหุ่นยนต์ริเริ่มโดย Aldebaran Robotics SA บริษัทลูกอีกแห่งของ SoftBank ที่อยู่ในฝรั่งเศส ที่มา - Bloomberg, สเปกละเอียดของหุ่น Pepper
https://jusci.net/node/3322
SoftBank เตรียมขายหุ่นยนต์ผู้ช่วย Pepper ในอเมริกา
ทีมวิจัยของ Arizona State University ได้รับเงินทุนจาก DARPA เพื่อทำงานวิจัยอุปกรณ์สำหรับการเพิ่มสมรรถภาพให้แก่ร่างกายมนุษย์ มันคือชุดไอพ่นที่ช่วยให้คนสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 4MM ซึ่งย่อมาจาก 4 Minute Mile ซึ่งเป้าหมายก็ตรงตามชื่อ คือเพื่อการสร้างเทคโนโลยีที่ทำให้ทหารสามารถเคลื่อนที่ได้ 1 ไมล์ ภายในเวลา 4 นาที ไม่ว่าทหารคนนั้นจะกำลังแบกสัมภาระอื่นใดอยู่ด้วยก็ตามที จากการทดสอบของทีมวิจัย ถึงแม้ผู้ที่วิ่งทำการทดสอบจะต้องสะพายอุปกรณ์ไอพ่นน้ำหนักกว่า 11 ปอนด์ (ราว 5 กิโลกรัม) แต่ก็สามารถทำเวลาได้ดีกว่าการวิ่งโดยปราศจากอุปกรณ์ช่วย ดังเช่นในวิดีโอประกอบข่าวได้เล่าผลทดสอบในระยะการวิ่ง 1 ไมล์ว่า การใช้อุปกรณ์ไอพ่นช่วยลดระยะเวลาที่ใช้วิ่งจาก 5 นาที 20 วินาที เหลือ 5 นาที 2 วินาที อย่างไรก็ตามทีมวิจัยยังคงต้องปรับปรุงประสิทธิภาพอุปกรณ์ของพวกเขาอีกมากเพื่อให้เข้าใกล้เป้าหมายของโครงการ 4MM ที่มา - Engadget
https://jusci.net/node/3323
DARPA พัฒนาชุดอุปกรณ์ไอพ่นช่วยให้คนวิ่งได้เร็วขึ้น
กูเกิลขออนุญาตทดสอบการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านยานบินไร้คนขับ (unmanned aerial systems - UAS) โดยใช้คลื่นย่าน 900MHz และ 2.4GHz ที่ไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้า ก่อนหน้านี้กูเกิลซื้อบริษัท Titan Aerospace ผู้เชี่ยวชาญยานบินไร้คนขับที่สามารถบินต่อเนื่องได้ถึง 5 ปี กูเกิลมีโครงการ Loon มาก่อนที่จะเข้าซื้อ Titan โดยก่อนหน้านี้กูเกิลศึกษาการใช้บอลลูนเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต แต่บอลลูนเหล่านี้จะลอยไปตามลมไปเรื่อยๆ ขณะที่การใช้ยานบินไร้คนขับจะสามารถกำหนดพื้นที่ให้บริการได้ ที่มา - FCC, ArsTechnica
https://jusci.net/node/3324
กูเกิลขออนุญาตทดสอบให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วยโดรน
Richard Branson มหาเศรษฐีชาวอังกฤษเจ้าของ Virgin Group เข้าลงทุนในบริษัท 3D Robotics บริษัทผู้สร้างหุ่น "โดรน" เครื่องบินเล็กไร้คนขับ (บ้างก็เรียก UAV) ที่ก่อตั้งโดย Chris Anderson อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Wired การลงทุนครั้งนี้ไม่เปิดเผยมูลค่า แต่ Branson ก็ระบุว่าเทคโนโลยีโดรนติดกล้องวิดีโอในปัจจุบันก้าวหน้ามาก เดิมทีเราต้องใช้เฮลิคอปเตอร์บินวนถ่ายซึ่งมีต้นทุนสูง แต่พอมีเทคโนโลยีโดรนแล้วราคาถูกลงมาก เขาเห็นศักยภาพในการผลักดัน "โดรน" สู่วงกว้าง รวมถึงเชื่อมั่นใน 3D Robotics จึงตัดสินใจควักกระเป๋าร่วมลงทุนด้วย (Branson ลงทุนในบริษัทด้านอวกาศ Virgin Galactic อยู่ก่อนแล้ว) Chris Anderson ก่อตั้ง 3D Robotics ในปี 2009 ปัจจุบันสินค้าที่ขายอยู่คือ Drone ชื่อ IRIS+ ขายตัวละ 750 ดอลลาร์ หรือประมาณสองหมื่นกว่าบาทเท่านั้น ตัวอย่างโดรนดูได้จากวิดีโอท้ายข่าว ที่มา - Business Insider วิดีโอสาธิตโดรนของ 3D Robotics ที่ Branson ร่วมแสดงด้วย
https://jusci.net/node/3328
Richard Branson ลงทุนในบริษัทโดรน 3D Robotics
ใน ค.ศ. 2012 ชุมชนนักฟิสิกส์พลังงานสูง (high energy physics) ของจีนได้เสนอให้มีการสร้างเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่กว่าเครื่องเร่งอนุภาค LHC ของ CERN หลังจากที่มีการนำเสนอโครงการ นักฟิสิกส์ทั่วโลกก็หันมาให้ความสนใจกับโครงการนี้และมีนักฟิสิกส์ชื่อดังทั้งของจีนเองและต่างประเทศเข้าร่วมในคณะกรรมการพิจารณาหลายท่าน ได้แก่ Shing-Tung Yau, Nima Arkani-Hamed, David Gross, Gerard 't Hooft, Joseph Incandela, Luciano Maiani, Hitoshi Murayama, Yifang Wang และ Edward Witten คณะกรรมการพิจารณาได้เริ่มเผยความคืบหน้าของโครงการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ของ ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา ล่าสุดโครงการก่อสร้างเครื่องเร่งอนุภาคขนาดยักษ์ที่ชื่อว่า Circular Electron Positron Collider (CEPC) ก็เดินทางมาถึงขั้นงานออกแบบร่าง (preliminary conceptual design) แล้วและมีกำหนดการเสร็จงานออกแบบร่างภายในเดือนธันวาคมของปี ค.ศ. 2014 นี้ ข้อมูลเบื้องต้นจากตัวร่างออกแบบระบุไว้ว่า CEPC จะมีเส้นรอบวงอย่างน้อย 80 กม. นั่นแปลว่าเมื่อสร้างเสร็จ CEPC จะใหญ่เป็น 2 เท่าของ LHC! หอวิจัยของโครงการ CEPC จะตั้งอยู่บนถนนฉางอาน (Chang'an Avenue) ใจกลางกรุงปักกิ่ง แต่พื้นที่ก่อสร้างวางท่อใต้ดินของเครื่องเร่งอนุภาคยังไม่ได้มีการกำหนดชัดเจน วิศวกรวางแผนว่าจะไม่ปล่อยให้พื้นที่ภายในเส้นรอบวงของ CEPC เป็นที่รกร้างว่างเปล่า บริษัทเอกชน, นักออกแบบและสถาปนิกจะได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมลงทุนสร้างเมืองขนาดเล็กๆ บนพื้นที่ของ CEPC โดยให้มีสาธารณูปโภคพร้อมพิพิธภัณฑ์ CEPC จะไม่ใช่แค่เครื่องเร่งอนุภาค แต่จะเป็นคอมเพล็กซ์แห่งการวิจัยทางฟิสิกส์ครบวงจร ภารกิจหลักของ CEPC คืองานทดลองการชนกันระหว่างอนุภาคอิเล็กตรอนและอนุภาคโพสิตรอน นักฟิสิกส์คาดว่า CEPC จะสามารถเร่งอนุภาคให้มีระดับพลังงานสูงกว่าระดับที่ LHC ทำได้ และที่ระดับพลังงานระดับนั้น นักฟิสิกส์จะสามารถค้นพบอนุภาคใหม่ๆ ที่อยู่นอกเหนือ Standard Model รวมถึงการศึกษาอนุภาคที่ค้นพบแล้วให้ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น กลไกการสลายตัวของอนุภาค Higgs boson และดูเหมือนว่าจะยังยิ่งใหญ่ไม่พอสมกับความเป็นมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์ของจีน อุโมงค์ใต้ดินที่ใช้วางท่อเครื่องเร่งของ CEPC จะยังมีท่อของเครื่องเร่งอนุภาคอีกตัวที่ชื่อว่า Super Proton Proton Collider (SPPC) ไว้เร่งอนุภาคโปรตอนวางร่วมกันไปด้วย ...งานนี้เรียกว่าสร้างหนึ่งได้ถึงสอง ศาสตราจารย์ Gao Jie แห่งสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูงในปักกิ่ง ผู้เป็นหนึ่งในแกนนำของโครงการ กล่าวว่า "เครื่องเร่งอนุภาคนี้สร้างโดยมวลมนุษยชาติและเพื่อมวลมนุษยชาติ" ที่มา: Al Jazeera ป.ล. CERN เองก็มีโครงการจะสร้างเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่กว่า LHC เช่นกัน ในตอนนี้โครงการของ CERN ใช้ชื่อ Future Circular Collider (FCC) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของ CERN เสนอขึ้นมาเมื่อต้นปี 2014 ที่ผ่านมา แต่กว่า FCC ของ CERN จะผ่านขั้นงานออกแบบร่างก็ต้องรอจนไปถึง ค.ศ. 2018-2019 เป็นอย่างเร็วที่สุด ซึ่งตามหลัง CEPC ถึง 4 ปี
https://jusci.net/node/3331
จีนเตรียมออกแบบสร้างเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก
รางวัล Ig Nobel ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลงานวิจัยที่เรียกเสียงหัวเราะประกาศผลประจำปีนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา รายการรางวัลดังนี้ สาขาฟิสิกส์ Kiyoshi Mabuchi, Kensei Tanaka, Daichi Uchijima, และ Rina Sakai หาค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานของเปลือกกล้วย โดยค่าสัมประสิทธิความเสียดทานระหว่างเปลือกกล้วยและรองเท้า กับเปลือกกล้วยและพื้น ทำให้เราสามารถคำนวณผลลัพธ์เมื่อเราเหยียบเปลือกกล้วยได้อย่างแม่นยำ รายงานวิจัย Frictional Coefficient under Banana Skin ตีพิมพ์ลงใน Tribology Online หมายเลข doi:10.2474/trol.7.147 สาขาจิตวิทยา Peter K. Jonason, Amy Jones, และ Minna Lyons สำรวจพบว่าคนที่ตื่นสายโดยเฉลี่ยแล้วจะหลงตัวเอง, หลอกง่าย, และมีโอกาสมีอาการทางจิตได้สูงกกว่าคนที่ตื่นเช้า รายงานวิจัย Seeing Jesus in Toast: Neural and Behavioral Correlates of Face Pareidolia ตีพิมพ์ลงในวารสาร Cortex หมายเลข doi: 10.1016/j.cortex.2014.01.013 สาขาสาธารณะสุข Jaroslav Flegr, Jan Havlíček, Jitka Hanušova-Lindova, David Hanauer, Naren Ramakrishnan, และ Lisa Seyfried สามทีมวิจัยจากสาธารณรัฐเช็ค, ญี่ปุ่น, และอินเดีย ที่ทำหัวข้อวิจัยอันตรายของการเลี้ยงแมวต่อสุขภาพจิต รายงานวิจัย Changes in personality profile of young women with latent toxoplasmosis ตีพิมพ์ลงใน Folia Parasitologica (PDF) รายงานวิจัย Decreased level of psychobiological factor novelty seeking and lower intelligence in men latently infected with the protozoan parasite Toxoplasma gondii Dopamine, a missing link between schizophrenia and toxoplasmosis? ตีพิมพ์ลงใน Biological Psychology หมายเลข doi: 10.1016/S0301-0511(03)00075-9 รายงานวิจัย Describing the Relationship between Cat Bites and Human Depression Using Data from an Electronic Health Record ตีพิมพ์ลงใน PLOS One หมายเลข doi: 10.1371/journal.pone.0070585 สาขาชีววิทยา Vlastimil Hart, Petra Nováková, Erich Pascal Malkemper, Sabine Begall, Vladimír Hanzal, Miloš Ježek, Tomáš Kušta, Veronika Němcová, Jana Adámková, Kateřina Benediktová, Jaroslav Červený, และ Hynek Burda ศึกษาว่าหมามีแนวโน้มจะยืนในทิศตรงกับแนวเหนือใต้ขณะที่อึหรือฉี่ รายงานวิจัย Dogs are sensitive to small variations of the Earth’s magnetic field ตีพิมพ์ลงใน Frontier in Zoology หมายเลข doi: 10.1186/1742-9994-10-80 สาขาศิลปะ Marina de Tommaso, Michele Sardaro, และ Paolo Livrea วัดความสามารถในการทนความเจ็บปวดเมื่อมองภาพวาดที่สวยเทียบกับภาพวาดที่น่าเกลียด รายงานวิจัย Aesthetic value of paintings affects pain thresholds ตีพิมพ์ลงใน Consciousness and Cognition หมายเลข doi: 10.1016/j.concog.2008.07.002 สาขาเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่งานวิจัย แต่ Ig Nobel มอบให้กับสถาบันสถิติแห่งชาติอิตาลีที่วัดขนาดเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเอารายได้จาก การค้าประเวณี, การค้ายาเสพติด, การขนสินค้าผิดกฎหมาย, และธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ ที่รายงานตัวเลขรายได้ สาขาเภสัชกรรม Ian Humphreys, Sonal Saraiya, Walter Belenky, และ James Dworkin รายงานการห้ามเลือดกำเดาแบบรุนแรงในเด็กสี่ขวบด้วยการใช้เนื้อหมูปรุงสุกใส่เกลือใส่รูจมูกเพื่อห้ามเลือด รายงาน Nasal packing with strips of cured pork as treatment for uncontrollable epistaxis in a patient with Glanzmann thrombasthenia ตีพิมพ์ลงใน Rhinology and Laryngology ไม่มีลิงก์อ้างอิงโดยตรงแต่หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก PubMed สาขาวิทยาศาสตร์อาร์กติก Eigil Reimers และ Sindre Eftestøl ศึกษาพฤติกรรมของกวางเรนเดียร์ต่อมนุษย์ที่กำลังปลอมตัวเป็นหมีขั้วโลก รายงาน Response Behaviors of Svalbard Reindeer towards Humans and Humans Disguised as Polar Bears on Edgeøya ตีพิมพ์ลงใน Arctic, Antarctic, and Alpine Research หมายเลข doi: 10.1657/1938-4246-44.4.483 สาขาโภชนาการ Raquel Rubio, Anna Jofré, Belén Martín, Teresa Aymerich, และ Margarita Garriga ได้รางวัลจากการตั้งชื่อรายงานวิจัย "คุณลักษณะของแบคทีเรียกกรดแลคติกที่นำมาจากอึของเด็กทารก ที่อาจจะนำมาเป็นตัวตั้งต้นของการหมักไส้กรอก" รายงาน Characterization of lactic acid bacteria isolated from infant faeces as potential probiotic starter cultures for fermented sausages ตีพิมพ์ลงใน Food Microbiology หมายเลข doi: 10.1016/j.fm.2013.07.015 ข่าวร้ายคือปีนี้ไม่มีคนไทยได้รางวัลเหมือนปีที่แล้ว แต่ข่าวดีคือชายไทยอาจจะถูกนำไปเป็นอาหารเป็ดกันน้อยลง ที่มา - Ig Nobel
https://jusci.net/node/3332
รางวัล Ig Nobel 2014: เปลือกกล้วยลื่นแค่ไหน, หมาชอบหันทิศเดิมขณะฉี่จริงหรือไม่
บริษัท Obayashi ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่น นำเสนอแนวคิดการสร้างลิฟต์เพื่อใช้สำหรับขนส่งคนผ่านระยะทางกว่า 96,000 กิโลเมตร ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ โดยหวังว่าจะมีการสร้างขึ้นใช้งานได้จริงในปี 2050 เท่าที่ผ่านมา การขนส่งคนหรือวัตถุขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วยยานอวกาศนั้นมีค่าใช้จ่ายราว 22,000 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม แนวคิดสรรหาวิธีการขนส่งแบบใหม่เพื่อนำคนและวัตถุออกไปนอกชั้นบรรยากาศโลกนั้นจึงผุดขึ้นมากมาย ซึ่ง Obayashi เองก็คิดถึงเรื่องนี้และพัฒนาแนวคิดมาเป็นลิฟต์ที่คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งลงมาเหลือเพียง 200 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมเท่านั้น โดยเบื้องหลังแนวคิดนี้มาจากการประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัสดุคาร์บอนด้วยนาโนเทคโนโลยีที่มีความแข็งแรงทนทานต่อแรงดึงมากกว่าเส้นลวดโลหะหลายร้อยเท่า Obayashi อธิบายว่าการทำงานของลิฟต์นี้จะสามารถพาคนจำนวน 30 คน เดินทางสู่สถานีอวกาศ โดยใช้เวลาเดินทาง 7 วัน ที่มา - ABC via Ubergizmo
https://jusci.net/node/3335
บริษัทญี่ปุ่นผุดแผนสร้างลิฟต์ขนคนขึ้นสู่อวกาศ
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 กันยายน 2014) องค์การวิจัยด้านอวกาศของอินเดีย (ISRO) ได้ประกาศว่าโครงการ MOM ที่จัดส่งดาวเทียมมังคาลยาน (Mangalyaan) ไปโคจรรอบดาวอังคารได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดีย ในช่วงที่มังคาลยานเดินทางไปยังดาวอังคารนั้น ยาน MAVEN ของนาซ่าก็เดินทางไปดาวอังคารเช่นกัน โดยที่ยาน MAVEN นั้นถึงดาวอังคารก่อนมังคลายานเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น โครงการ MAVEN นั้นจะมุ่งเน้นไปทางด้านการศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวอังคารเป็นพิเศษ ซึ่งโครงการนี้ใช้งบประมาณไปถึง 671 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่โครงการ MOM กลับใช้งบประมาณเพียง 67 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าภาพยนตร์เรื่อง Gravity ของฮอลิวูดที่ใช้เงินลงทุนไปถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเสียอีก อินเดียถือเป็นประเทศที่สี่ที่ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดาวอังคาร (3 ประเทศก่อนหน้าคือ สหรัฐ, รัสเซีย และสหภาพยุโรป) ซึ่งก่อนหน้านี้มีรัสเซียที่พยายามจะส่ง Phobos-Grunt ในเดือนพฤศจิกายน 2011 แต่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของระบบเครื่องยนต์หลังออกนอกชั้นบรรยากาศของโลกไม่นาน และสุดท้ายถูกแรงดึงดูดของโลกทำให้ตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในวันที่ 15 มกราคม 2012 ญี่ปุ่นเองก็เคยพยายามส่งดาวเทียม NOZOMI ไปโคจรรอบดางอังคารในวันที่ 4 กรกฎาคม 1998 แต่ประสบกับปัญหามากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะระบบที่ใช้ในการโคจรรอบดาวอังคาร ญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทางแต่ไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้าย มันได้กลายเป็นดาวเคราะห์เทียมที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ใกล้ ๆ กับดาวอังคารแทน และนี่คือภาพแรกที่มังคาลยานส่งมายัง ISRO ครับ แถลงการของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ที่มา: Youtube, Facebook, IBN Live, Z News, MOM Updates
https://jusci.net/node/3337
อินเดียประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดาวอังคาร
วันนี้ (วันที่ 7 ตุลาคม 2014) เป็นวันที่สองของการประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปี 2014 คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ประชุมกัน ณ ราชสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน กรุงสตอกโฮล์ม และมีมติมอบรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ 3 ท่าน คือ Isamu Akasaki, Hiroshi Amano และ Shuji Nakamura ในผลงานประดิษฐ์ไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงิน (ฺBlue LED) อันเป็นนวัตกรรมที่ปูทางให้โลกได้เห็นแหล่งกำเนิดแสงที่ประหยัดพลังงานและอุปกรณ์แสดงผลอิเล็กทรอนิกส์มากมายในปัจจุบัน เทคโนโลยีการประดิษฐ์ไดโอดเปล่งแสงนั้นมีประวัติเริ่มต้นนานเกือบศตวรรษนับตั้งแต่การค้นพบปรากฏการณ์ Electroluminescence เป็นครั้งแรกในปี 1907 และการประดิษฐ์ไดโอดเปล่งแสงในห้องปฏิบัติการในปี 1927 ไดโอดเปล่งแสงสีแดงและสีเขียวได้ถูกประดิษฐ์ออกมาและใช้แพร่หลายตั้งแต่เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว เหลือก็เพียงแสงสีฟ้าเป็นแสงสีที่สามในแม่สีทางแสง 3 สี (สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน) แม้ก่อนหน้านั้นจะมีคนทำไดโอดที่เปล่งแสงในย่านความยาวคลื่นสีน้ำเงินออกมาได้ แต่แสงก็อ่อนเกินกว่าจะใช้งานได้จริง หลักการทำงานของไดโอดเปล่งแสงอาศัยการคายพลังงานของอิเล็กตรอนที่เลื่อนจากระดับพลังงานสูงมาสู่ระดับพลังงานต่ำ หัวใจของหลอดไดโอดเปล่งแสงที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้คือแผ่นของสารกึ่งตัวนำ n-type และ p-type ที่ประกบกันเป็นแซนด์วิชโดยมีชั้น active layer กั้นไว้ตรงกลาง แผ่น n-ype เป็นสารกึ่งตัวนำที่ถูกโด๊ป (=การใส่สารเจือปนลงไปให้สารกึ่งตัวนำมีคุณสมบัตินำไฟฟ้าดีขึ้น) ให้มีอิเล็กตรอนเยอะๆ ส่วนแผ่น p-type เป็นสารกึ่งตัวนำที่ถูกโด๊ปให้มีหลุมอิเล็กตรอน (หมายถึงตำแหน่งว่างในพันธะอะตอมหรือโครงผลึกที่อิเล็กตรอนสามารถลงมาอยู่ได้) เมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไป อิเล็กตรอนในแผ่น n-type ก็จะวิ่งผ่านรอยต่อระหว่างชั้นไปลงหลุมในแผ่น p-type พร้อมทั้งปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของโฟตอนหรืออนุภาคแสง ความยาวคลื่นแสงที่เปล่งออกมาก็จะขึ้นอยู่กับความห่างระหว่างระดับพลังงาน (band gap) ของอิเล็กตรอนใน n-type และหลุมใน p-type ถ้าแตกต่างห่างกันไม่มาก โฟตอนก็จะมีพลังงานไม่สูง ความยาวคลื่นก็จะยาว (ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หลอดไดโอดเปล่งแสงที่ประดิษฐ์ได้ในยุคแรกๆ คือไดโอดเปล่งแสงอินฟราเรดและแสงสีแดง) ภาพจาก Wikipedia.org ไดโอดแสงสีน้ำเงินเป็นอุปสรรคที่นักวิทยาศาสตร์ติดขัดมาตลอดหลายทศวรรษ ในปี 1971 ห้องปฏิบัติการ RCA (Radio Corporation of America) ได้ใช้แกลเลียมไนไทรด์ (GaN) มาทำไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงินสำเร็จเป็นครั้งแรก แต่ความเข้มของแสงที่เปล่งออกมาก็น้อยจนใช้ทำอะไรไม่ได้ (เอามาแต่งร้านรัชดา RCA ยังไม่ไหวเลย) ความพยายามต่อมาก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการเพิ่มความเข้มแสงเนื่องจากติดขัดปัญหาการเลี้ยงผลึก GaN ให้มีขนาดและความบริสุทธิ์ตามต้องการ นักวิทยาศาสตร์ผู้คลั่งไคล้ไดโอดแสงสีน้ำเงินเลยหันไปพัฒนาวัสดุสารกึ่งตัวนำตัวอื่น และในปี 1989 บริษัท Cree Inc. ก็ได้เปิดตัวไดโอดแสงสีน้ำเงินที่ใช้ซิลิกอนคาร์ไบด์ (SiC) แต่มันก็ยังไม่น่าประทับใจสักเท่าไร เพราะอิเล็กตรอนของซิลิกอนคาร์ไบด์วิ่งลงหลุมผ่าน indirect band gap ซึ่งต้องสูญเสียพลังงานส่วนหนึ่งไปกับการเปลี่ยนโมเมนตัมของอิเล็กตรอน ไดโอดซิลิกอนคาร์ไบด์จึงให้ประสิทธิภาพต่ำ ถัดจากซิลิกอนคาร์ไบด์ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เริ่มหันไปลุ้นกับซิงค์เซเลไนด์ (ZnSe) แทน กระทั่งถึงตอนต้นของคริสตทศวรรษถึง 1990 นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น 3 ท่าน ได้แก่ Isamu Akasaki (มหาวิทยาลัยนาโกย่า), Hiroshi Amano (มหาวิทยาลัยนาโกย่า), และ Shuji Nakamura (ขณะนั้นทำงานให้กับบริษัท Nichia Chemicals ปัจจุบันรับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ซานตาบาร์บารา) ประสบความสำเร็จในการสร้างแสงสีน้ำเงินจากสารกึ่งตัวนำในระดับความเข้มที่ใช้งานได้เป็นครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ทั้งสามท่านประสบความสำเร็จด้วยความดื้อรั้นทวนกระแสวงการเนื่องจากพวกเขาเชื่อตรงกันว่า GaN คือวัสดุที่ถูกต้องตั้งแต่แรกแล้ว ในปี 1986 Isamu Akasaki กับ Hiroshi Amano ร่วมมือกันพัฒนาจนพบวิธีเลี้ยงผลึก GaN บนแผ่นแซฟไฟร์ให้ได้คุณภาพตามต้องการ ส่วนทางฝั่ง Shuji Nakamura ก็ค้นพบวิธีเลี้ยงผลึก GaN ในปี 1988 โดยเลี้ยงให้เกิดแผ่น GaN บางๆ ที่อุณหภูมิต่ำก่อนแล้วค่อยโปะหนาขึ้นที่อุณหภูมิสูงๆ เมื่อผ่านอุปสรรคแรกของการเลี้ยงผลึก GaN ไปได้แล้ว Isamu Akasaki กับ Hiroshi Amano ก็ชนเข้ากับด่านต่อไปทันที ไม่ว่าพวกเขาจะใช้วิธีไหน GaN ก็ไม่สามารถทำเป็นแผ่น p-type ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอได้ แต่แล้วด้วยความบังเอิญ พวกเขาค้นพบว่าแผ่น GaN ที่ถูกเอาไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนสามารถนำมาโด๊ปให้แสดงคุณสมบัติของสารกึ่งตัวนำ p-type ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในที่สุดพวกเขาก็ประดิษฐ์หลอดไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงินที่สว่างเพียงพอได้เป็นผลสำเร็จในปี 1992 Shuji Nakamura ที่ติดตามความก้าวหน้าของ Isamu Akasaki กับ Hiroshi Amano มาโดยตลอด ก็เดินหน้าการวิจัยของตัวเองต่อไปจนสามารถอธิบายได้ว่าลำอิเล็กตรอนของกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเข้าไปฟันอะตอมไฮโดรเจนออกจากแผ่น GaN ทำให้การโด๊ปสร้างแผ่น p-type ทำได้ง่ายขึ้น และด้วยองค์ความรู้ใหม่นี้ทำให้ในปี 1992 เดียวกันนั้นเอง Shuji Nakamura ก็สร้างแผ่น p-type ของ GaN ได้ด้วยวิธีการที่ง่ายและราคาถูกกว่า นั่นคือการอบด้วยความร้อน (annealing) ซึ่งสามารถกำจัดไฮโดรเจนออกจากผลึก GaN ได้เช่นเดียวกับการยิงด้วยลำอิเล็กตรอน นับจากนั้นเป็นต้นมา ไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงินก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้พลังงานน้อยลง เช่น การใช้โลหะอลูมิเนียมหรืออินเดียมมาผสมกับ GaN ให้ได้อัลลอย ในทุกวันนี้ที่โลกกำลังเข้าสู่สมัยของ Internet of Things เทคโนโลยีไดโอดเปล่งแสงได้กลายเป็นแกนหลักของจอแสดงผลที่จ้องหน้าเราอยู่เกือบจะทั้งวันทั้งคืน สิ่งเหล่านี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราไม่มีไดโอดครบทั้งสามแม่สีแสง เงินรางวัล 8 ล้านโครนสวีเดนจะแบ่งให้ทั้งสามท่านเท่าๆ กัน ที่มา - Nobel Prize Press Release ข้อมูลเพิ่มเติม - Wikipedia, วิดีโอ Blue LEDs and Nobel Prize จาก Sixty Symbols
https://jusci.net/node/3343
รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2014
กลางป่าดิบชื้นทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย มีต้นไม้ยืนต้นประจำถิ่นหายากชนิดหนึ่งที่เรียกว่าต้นบลัชวู้ด (Blushwood, Hylandia dockrillii) ชาวพื้นเมืองรู้กันดีว่าผลของต้นบลัชวู้ดเป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ทางยาอย่างรวดเร็ว งานวิจัยหลายชิ้นก็แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากเมล็ดของบลัชวู้ดมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง ทีมวิจัยที่นำโดย ดร. Glen Boyle แห่งสถาบันวิจัยการแพทย์ QIMR Berghofer ในบริสเบนจึงทุ่มเทความพยายามถึงกว่า 8 ปีเพื่อสกัดแยกสารออกฤทธิ์ออกมาจากเมล็ดบลัชวู้ด ในที่สุดพวกเขาก็ค้นพบสารองค์ประกอบที่ตามหา พวกเขาตั้งชื่อสารนี้ว่า "EBC-46" ผลของต้นบลัชวู้ด ภาพจาก ABC News ; เครดิตภาพ QIMR Berghofer Medical Research Institute EBC-46 เป็นสารประกอบประเภท diterpene ester ผลจากการทดลอบกับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง (in vitro) พบว่า EBC-46 สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้น้อยกว่าสารประกอบตัวอื่นที่มีโครงสร้างคล้ายกัน แต่เมื่อทดลองกับหนูทดลองโดยการฉีดสารเข้าไปที่ก้อนเนื้องอกโดยตรง ผลกลับกลายเป็นว่า EBC-46 สามารถทำลายก้อนเนื้องอกได้อย่างมหัศจรรย์ ภายในเวลา 5 นาที ก้อนเนื้องอกเริ่มมีสีคล้ำขึ้น พอผ่านไป 4 ชั่วโมง ก้อนเนื้องอกก็จะกลายเป็นสีดำๆ และเริ่มหดเล็กลง หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันเนื้องอกก็จะสลายไปจนหมดเกลี้ยง Glen Boyle อธิบายว่า EBC-46 ออกฤทธิ์ทำลายล้างเซลล์เนื้องอกถึง 3 ทางพร้อมๆ กัน 1. เข้าทำลายเซลล์เนื้องอกโดยตรง 2. ทำลายเส้นเลือดที่มาเลี้ยงก้อนเนื้องอก 3. ไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มาเก็บกวาดซากเนื้องอกที่ตายแล้ว ในตอนนี้ นักวิจัยได้ทดลอง EBC-46 กับเนื้องอกที่บริเวณใบหน้า, ที่คอ, และเนื้องอกเมลาโนมา (melanoma) ในสัตว์กว่า 300 ชนิด ได้แก่ แมว, สุนัข, ม้า ผลการทดลองราว 75% ของเคสทั้งหมดให้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื้องอกสลายไปและไม่กลับมาอีก รวมถึงไม่พบอาการข้างเคียงด้วย อย่างไรก็ตาม EBC-46 ก็ให้ผลได้ดีกับเนื้องอกภายนอกที่สามารถฉีดยาเข้าโดยตรงเท่านั้น ในกรณีของเนื้องอกที่เกิดข้างในร่างกายและมะเร็งในระยะ metastasis ยาที่ฉีดเข้าไปแทบจะไม่เกิดผลอะไรเลย (ซึ่งอันนี้รวมถึงกรณีของทาสมาเนียนเดวิลที่เป็นโรค Devil facial tumour disease ด้วย EBC-46 ก็ใช้ไม่ได้ผลเช่นกัน) ขณะนี้ EBC-46 ได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติให้ทำการทดลองในมนุษย์แล้ว แต่การทดลอง EBC-46 ก็คงใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากการสกัด EBC-46 ต้องอาศัยขั้นตอนที่ยุ่งยาก เมล็ดต้นบลัชวู้ดที่ใช้สกัด EBC-46 ให้ได้ความบริสุทธิ์เพียงพอ (97% ขึ้นไป) ก็จำเพาะต้องเป็นต้นบลัชวู้ดเฟาเท่นส์ (Fountain's Blushwood, Fontainea picrosperma) ซึ่งต้นไม้ประจำถิ่นของควีนส์แลนด์ที่ไม่พบในที่ไหนเลยนอกจากป่าบนที่ราบสูง Atherton Tablelands ในเขต Far North Queensland (ต้นบลัชวู้ดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae และจำแนกอยู่ในเผ่า Codiaceae ซึ่งพืชในประเทศไทยของเราที่อยู่ในเผ่านี้ ได้แก่ ตองแตก, กระเลียงฟาน, เข็มใหญ่ อ้างอิง) งานวิจัยเกี่ยวกับผลของ EBC-46 ต่อเนื้องอกรายงานลงใน PLoS ONE DOI: 10.1371/journal.pone.0108887 ที่มา - ABC News via Science Alert
https://jusci.net/node/3344
นักวิทย์ออสเตรเลียค้นพบยาฆ่าเนื้องอกจากพืชหายาก ออกฤทธิ์เร็วใน 5 นาที!
วันนี้ (วันที่ 8 ตุลาคม 2014) ที่ประชุมคณะกรรมการรางวัลโนเบล ณ ราชสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน กรุงสตอกโฮล์ม ได้ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2014 ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ 3 ท่าน คือ Eric Betzig, Stefan W. Hell และ William E. Moerner ในฐานะที่พัฒนาเทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนส์ความละเอียดสูง (super-resolved fluorescence microscopy) ใน ค.ศ. 1873 นักฟิสิกส์และนักประดิษฐ์ Ernst Abbe ได้เสนอโดยดุษฎีว่าเทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงที่ใช้กันอยู่ไม่สามารถให้ความละเอียดสูงไปได้เกินกว่า 0.2 ไมโครเมตร แต่ในตอนปลายของคริสตศตวรรษที่ 20 จนถึงตอนต้นของคริสตศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีด้านฟลูออเรสเซนส์ในระดับนาโนก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดที่ Ernst Abbe วางไว้ได้ เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนส์ความละเอียดสูงได้รับการบุกเบิกด้วยผลงานของนักวิทยาศาสตร์สามท่าน คนแรก คือ Stefan Hell แห่ง Max Planck Institute for Biophysical Chemistry เป็นผู้ที่พัฒนาเทคนิคที่เรียกว่า stimulated emission depletion (STED) microscopy เทคนิคนี้อาศัยการทำงานของลำแสงเลเซอร์พร้อมกัน 2 ลำแสง ลำแสงแรกจะไปกระตุ้นให้โมเลกุลฟลูออเรสเซนท์เรืองแสงขึ้นมา ส่วนอีกลำแสงจะไปทำหน้าที่หักล้างลำแสงลำแรกโดยเว้นให้เหลือเส้นลำแสงแคบๆ เล็กๆ ในระดับนาโนเมตร เมื่อขยับส่องไฟฉายนาโนนี้ไปทีละนาโนเมตรให้ทั่วๆ วัตถุก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นภาพที่มีความละเอียดในระดับนาโนเมตร ส่วนอีกเทคนิคหนึ่งคือเทคนิคที่เรียกว่า single-molecule microscopy ซึ่งพัฒนาโดย Eric Betzig และ William Moerner (แม้ปัจจุบันสองคนนี้จะสังกัดอยู่มหาวิทยาลัยคอร์เนลเหมือนกัน แต่ในขณะนั้นทั้งสองคนต่างทำงานพัฒนาแยกกัน) หลักการของเทคนิคนี้อาศัยพื้นฐานความน่าจะเป็นที่จะเกิดการเรืองแสงของแต่ละโมเลกุลฟลูออเรสเซนท์ เมื่อกระตุ้นให้เกิดการเรืองแสงและใช้กล้องจุลทรรศน์ถ่ายภาพในตำแหน่งเดียวกันหลายๆ ภาพ จากนั้นก็นำภาพมาซ้อนกันและประมวลรวมให้เป็นภาพเดียว ก็จะได้ภาพความละเอียดสูงออกมา ผลงานระดับรางวัลโนเบลของทั้งสามท่านทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเห็นอนุภาคและรายละเอียดขนาดเล็กได้โดยไม่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน แม้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะให้ภาพที่ละเอียดคมชัดกว่าอยู่แล้วด้วยเหตุผลข้อจำกัดด้วยคุณสมบัติการเลี้ยวเบนของคลื่น (คลื่นแสงกับคลื่นอิเล็กตรอน) แต่มันเสียเปรียบกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงตรงที่กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนไม่เหมาะกับศึกษาระบบชีวเคมีในเซลล์ที่ยังมีชีวิตเนื่องจากมันต้องทำในสุญญากาศและต้องมีการเตรียม specimen ที่ยุ่งยาก อีกทั้งลำแสงอิเล็กตรอนพลังงานสูงที่ยิงเข้าไปก็ฆ่าเซลล์อยู่แล้ว เทคนิคกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนส์ความละเอียดสูงช่วยให้เราสามารถติดตามการเคลื่อนที่ของก้อนโปรตีนในเซลล์, รายละเอียดการทำงานของไมโทคอนเดรีย เป็นต้น เงินรางวัล 8 ล้านโครนสวีเดนจะแบ่งให้ทั้งสามท่านเท่าๆ กัน ที่มา - Nobel Prize Press Release
https://jusci.net/node/3345
รางวัลโนเบลสาขาเคมีปี 2014
ปัญหาเชื้อโรคตามจุดที่คนต้องจับร่วมกันเช่นที่จับประตูทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายเป็นปัญหาที่โรงพยาบาลพบเจอเสมอ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมักแก้ปัญหาด้วยการทำประตูแบบผลักเพื่อจะไม่ต้องใช้มือจับ แต่ Purehold เปลี่ยนแนวคิดใหม่ด้วยการทำที่จับประตูให้กลายเป็นจุดรับเจลฆ่าเชื้อแทน Purehold มีทั้งแบบที่จับเดียวเพื่อบังคับให้คนที่เปิดประตูต้องล้างมือทุกครั้ง และแบบสองที่จับให้เลือกได้ว่าจะรับเจลล้างมือหรือไม่ แท่นจับเก็บเจลได้ 1.2 ลิตร ใช้ติดได้ทั้งห้องประกอบอาหาร, สถานพยาบาล, และห้องน้ำทั่วไป ที่มา - Medgadget
https://jusci.net/node/3347
Purehold ที่จับประตูแบบล้างมืออัตโนมัติ
Nokia Sensing XCHALLENGE เป็นโครงการหนึ่งของ XPRIZE ที่มุ่งหาเซ็นเซอร์สุขภาพสุคใหม่ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในการวินิจฉัยโรคและการดูแลสุขภาพ ตอนนี้ทางโครงการได้ประกาศผู้ที่เข้ารอบ 11 ทีมสุดท้ายแล้ว ได้แก่ ARCHIMEJ TECHNOLOGY: สร้างเซ็นเซอร์วิเคราะห์เลือดราคาถูกสำหรับใช้งานในพื้นที่ห่างไกล Atoptix: เซ็นเซอร์ตรวจเลือดและเนื้อเยื่อใช้กับโทรศัพท์มือถือ ฺBiovotion: ชุดเซ็นเซอร์แบบสวมใส่ได้สำหรับตรวจโรคของผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง DMI: เซ็นเซอร์ตรวจเลือดที่ใช้เลือดเพียงหยดเดียวแต่สามารถตรวจได้รับร้อยรายการ Eigen Lifescience: เซ็นเซอร์ขนาดเล็กเพื่อใช้งานกับโทรศัพท์มือถือ Endotronix Wireless Health Monitoring: เซ็นเซอร์สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ทำให้แพทย์สามารถดูแลได้จากระยะไกล eyeMITRA: เซ็นเซอร์ติดโทรศัพท์มือถือตรวจโรคจอตาเหตุเบาหวาน ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียการมองเห็นในผู้ใหญ่ Golden Gopher Magnetic Biosensing Team: เซ็นเซอร์ตรวจข้อมูลสุขภาพ 10 รายการ Hemolix: เซ็นเซอร์เพื่อตรวจอาการ HELLP ที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ SensoDx: เซ็นเซอร์ตรวจความเสี่ยงโรคหัวใจตั้งแต่เนิ่นๆ การตัดสินใจหลักจะขึ้นกับคณะกรรมการ แต่ทาง XPRIZE จะเปิดให้โหวตเป็นคะแนนอีก 10% รางวัลที่หนึ่งจะมีมูลค่าถึง 525,000 ดอลลาร์ และอีกห้ารางวัลจะได้ทีมละ 120,000 ดอลลาร์ ที่มา - IEEE Spectrum, XPRIZE
https://jusci.net/node/3351
XPRIZE ประกาศผู้เข้ารอบสุดท้าย Nokia Sensing XCHALLENGE, แข่งเซ็นเซอร์ทางการแพทย์ยุคใหม่
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกรายงานสถานะการณ์อีโบล่าวันที่ 25 ตุลาคม ระบุว่าตอนนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อ, ผู้ที่เป็นไปได้ว่าจะติดเชื้อ, และผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้ออีโบล่า รวมทั้งสิ้น 10,141 คน เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 4922 คน โดยกระจุกตัวในสามประเทศได้แก่ กินี, ไลบีเรีย, และเซียร์ราลีโอน สามประเทศที่มีการระบาดของเชื้ออีโบล่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อทั้งหมด 10,114 คน เสียชีวิตทั้งสิ้น 4,912 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อที่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขทั้งหมด 450 คน โดย 244 คนเสียชีวิตแล้ว ที่มา - ArsTechnica
https://jusci.net/node/3353
WHO รายงานผู้ติดเชื้อและต้องสงสัยติดเชื้ออีโบล่าเกิน 10,000 รายแล้ว
เจ้าหน้าที่มณฑลหูหนานเข้าจับกุมโรงงานผลิตถุงยางอนามัยที่ไม่ได้รับอนุญาตพบถุงยางอนามัยอยู่ระหว่างการผลิต 28 ล้านชิ้นและที่ผลิตเสร็จแล้วอีก 6 ล้านชิ้น นอกจากการผลิตถุงยางอนามัยซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว เจ้าหน้าที่ยังพบว่าหีบห่อของถุงยางอนามัยให้ข้อมูลปลอมรวมถึงวันผลิตที่ไม่ตรงกับความจริง ถุงยางอนามัยที่ผลิตจากโรงงานนี้วางขายทั่วประเทศจีนยกเว้นทิเบต โรงงานที่ผลิตถุงยางอนามัยเหล่านี้คือ Hunan Xindali Technology เจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมระบุว่าบริษัทนี้ยังเกี่ยวข้องกับอีกสองบริษัทที่ผลิตถุงยางอนามัยโดยไม่ได้รับอนุญาตมาถึง 182 ล้านชิ้น โดยอยู่ระหว่างการผลิต 100 ล้านชิ้น บริษัทที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเช่นกัน ที่มา - South China Morning Post
https://jusci.net/node/3359
จีนบุกจับโรงงานผลิตถุงยางอนามัยไม่ได้รับอนุญาต ยึด 34 ล้านชิ้น
Wall Street Journal รายงานว่า Elon Musk ผู้ก่อตั้งบริษัทอวกาศ SpaceX กำลังจะขยับขยายตัวเองไปทำธุรกิจด้านดาวเทียม โดยจะสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก-ราคาถูก เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตกับคนทั่วโลก งานนี้ Musk ใช้บริการ Greg Wyler ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเทียมที่เคยอยู่กับกูเกิล (ซึ่งมีแผนการด้านดาวเทียมเพื่ออินเทอร์เน็ตเช่นกัน) ปัจจุบัน Wyler เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท WorldVu Satellites ซึ่งมีใบอนุญาตใช้งานความถี่สื่อสารสำหรับดาวเทียม คาดว่าธุรกิจใหม่ของ Musk จะผลิตดาวเทียมขนาดเล็กด้วยตัวเอง และยิงดาวเทียมขนาดเล็กประมาณ 700 ดวง ซึ่งดาวเทียมเหล่านี้เล็กกว่าดาวเทียมเชิงพาณิชย์ที่เล็กที่สุดในปัจจุบันราว 2 เท่า ดาวเทียมทั้งหมดจะสร้างโครงข่ายการสื่อสารที่มีจำนวนเยอะกว่าดาวเทียม Iridium ถึง 10 เท่า คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมด 1 พันล้านดอลลาร์ มีความเป็นไปได้สูงที่กระบวนการยิงดาวเทียมจะใช้บริการของ SpaceX และใช้ใบอนุญาตของ WorldVu อย่างไรก็ตาม การยิงดาวเทียมสื่อสารนั้นไม่ง่ายและต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูง ในอดีต Wyler เคยเปิดบริษัทชื่อ O3b Networks สำหรับให้บริการดาวเทียมผ่านอินเทอร์เน็ตมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เจอทั้งปัญหาทางเทคนิคเมื่อยิงดาวเทียมได้เพียง 4 ดวง และมีปัญหาดาวเทียมอายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย ที่มา - Wall Street Journal
https://jusci.net/node/3362
[ไม่ยืนยัน] Elon Musk เตรียมบุกตลาดดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต
ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่องยิ่งใหญ่แห่งปีในปีนี้คงเป็นเรื่อง Interstellar ของ Christopher Nolan ความฝันของมนุษย์ที่จะเดินทางข้ามไปในอวกาศที่เวิ้งว้างได้ภายในชั่วอายุโดยไม่ต้องรอหลายชั่วอายุคน แต่เรื่องราวในภาพยนตร์มีวิทยาศาสตร์รองรับมากน้อยแค่ไหน เรามาดูกัน Monoculture เกษตรกรรมที่ขาดความหลากหลาย เมื่อมนุษยชาติอยู่ในช่วงถดถอย ความกันดารอาหารกดดันให้ทุกคนพยายามผลิตอาหารให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ไร่นาขนาดใหญ่ประสิทธิภาพสูงทำหน้าที่สำคัญในการผลิตอาหารป้อนมนุษยชาติ แต่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว (monoculture) แม้จะมีข้อดีที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ขณะเดียวกันก็มีความกังวลว่าจะทำให้มนุษยชาติตกอยู่ในอันตรายหากพึ่งพิงกับพืชเพียงไม่กี่ชนิดและเจอโรคระบาดกับโรคเหล่านี้ เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นจริงเช่นในปี 1846 เกิดโรคระบาดกับมันฝรั่งของไอร์แลนด์ที่ปลูกมันฝรั่งเป็นอาหารหลักเพียงสองสายพันธุ์ เมื่อเกิดโรคระบาดกับมันฝรั่งเหล่านี้ร่วมกับนโยบายสาธารณะที่ผิดพลาดทำให้เกิดการกันดารอาหารขนานใหญ่มีผู้คนเสียชีวิตถึงหนึ่งล้านคน ภาพโดย - NightThree โดรน ดาวเทียมราคาถูก ความฝันถึงการใช้โดรนหรือยานบินไร้คนบังคับให้ทำหน้าที่แทนดาวเทียมโดยบินในท้องฟ้านานนับเป็นความฝันที่ไม่ได้ไกลเกินความจริงไปนัก เพราะนอกจากการใช้งานทางทหารแล้วยานบินเหล่านี้ยังสามารถทำหน้าที่แทนดาวเทียมสื่อสาร ข้อดีสำคัญคือการซ่อมบำรุงที่สามารถทำได้ง่ายกว่าดาวเทียมมาก เราสามารถสั่งให้ยานบินเหล่านี้ร่อนลงเพื่อซ่อมแซมหรืออัพเกรดอุปกรณ์ได้ หรือการปล่อยยานขึ้นไปแทนที่ก็ทำได้ง่ายกว่าเช่นกัน บริษัทที่มีชื่อเสียงในยานบินไร้คนขับแบบนี้คือ Titan Aerospace ถูกกูเกิลซื้อไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Wormhole เดินทางข้ามอวกาศ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปจะระบุว่าไม่มีอะไรสามารถเดินทางเร็วกว่าแสงทำให้การเดินทางในอากาศที่ห่างไกลเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลายาวนาน แกแล็กซี่ในอวกาศห่างกันหลายล้านปีแสงนั่นแสดงว่าเราจะเดินทางด้วยความเร็วสูงสุดก็ยังต้องใช้เวลานับล้านปี แต่ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพก็เปิดให้จุดสองจุดในอวกาศ-เวลา สามารถเชื่อมต่อเข้าหากันได้ เรียกว่ารูหนอน (wormhole) ในภาพยนตร์พูดถึงการเดินทางข้ามระบบสุริยะ (interstellar ตามชื่อภาพยนตร์) แต่ในความเป็นจริงรูหนอนนี้สามารถเดินทางข้ามเวลาได้ด้วย แม้รูหนอนจะเกิดขึ้นได้ตามสมการแต่ก็ยังไม่เคยมีหลักฐานว่ามันมีอยู่จริง คาดกันว่าหากมันมีอยู่จะเป็นทรงกลมเชื่อมต่ออวกาศ-เวลา สองตำแหน่งเข้าด้วยกัน ภาพโดย - Corvin Zahn หลุมดำ ไม่ได้มีแต่สีดำ แม้ว่าจะได้ชื่อว่าหลุมดำ แต่ในความเป็นจริงแล้วหลุมดำไม่ได้เป็นสีดำสนิทแบบที่หลายคนเข้าใจกัน โดยส่วนนอกของหลุมดำยังสามารถมีก๊าซและวัตถุโคจรอยู่รอบและมีแสงแปล่งออกมาได้ แรงโน้มถ่วงของหลุมดำจะทำให้เวลาต่างกันตามทฤษฎีสัมพัทธภาพ แรงโน้มถ่วงยิ่งมากเวลาก็จะยิ่งเดินช้า อย่างไรก็ดี ดาวที่โคจรใกล้หลุมดำจนกระทั่งเวลาเดินช้าว่าโลกถึง 60,000 เท่า (1 ชั่วโมงบนดาวนาน 7 ปีบนโลก) นั้นไม่มีจริงเพราะดาวนั้นต้องอยู่ใกล้หลุมดำมากจนไม่สามารถโคจรรอบหลุมดำได้ และหากมีดาวใดอยู่ใกล้หลุมดำขนาดนั้นก็ควรจะถูกดูดลงไปในหลุมดำ ต้องเป็นหลุดดำที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงมาก จานก๊าซรอบหลุมดำจะร้อนมา และแผ่รังสี X-ray จนไหม้ทุกอย่างที่เข้าใกล้มัน ยานที่ Cooper พยายามจะขับเข้าไปในหลุมดำน่าจะพังก่อนที่จะไปถึงเส้นขอบฟ้าเสียอีก
https://jusci.net/node/3363
วิทยาศาสตร์กับ Interstellar [Spoil]
Elon Musk ทวีตประกาศว่า SpaceX จะเปิดเผยรายละเอียดโครงการดาวเทียมขนาดจิ๋วเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า โดยระบุว่าจะใช้กลุ่ดาวเทียมจำนวนมาก (large formations) เพื่อให้บริการ ก่อนหน้านี้ Wall Street Journal รายงานข่าวลือว่า SpaceX กำลังทำงานร่วมกับ WorldVu Satellites ที่ก่อตั้งโดย Greg Wyler อดีตผู้บริหารกูเกิล โดยโครงการจะใช้ดาวเทียมทั้งหมดถึง 700 ดวง แต่ละดวงหนักประมาณ 110 กิโลกรัม หรือครึ่งหนึ่งของดาวเทียมสื่อสารทุกวันนี้ Musk ระบุว่ารายงานของ Wall Street Journal มีความผิดพลาดหลายจุด แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าผิดตรงไหน ที่มา - TechCrunch ที่มาภาพ - NASA
https://jusci.net/node/3365
SpaceX ประกาศโครงการดาวเทียมขนาดจิ๋วให้บริการอินเทอร์เน็ตราคาถูก
ภารกิจสำรวจดาวหาง 67P/Churyumov–Gerasimenko ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency - ESA) เดินมาถึงจุดของการปล่อยยานนสำรวจพื้นผิวดาวหาง Philae ลงจอดบนผิวดาวหาง แม้จะลงจอดได้สำเร็จและภาพกลับมาได้ แต่ยาน Philae กลับไม่สามารถยึดเกาะพื้นผิวดาวได้สำเร็จ ทาง ESA กำลังสำรวจว่าเกิดอะไรขึ้นและตรวจสอบว่าสถานะของยานสำรวจเป็นเช่นไร ทางนาซ่ารายงานว่าฉมวกเกาะถูกปล่อยออกมาแล้วแต่ไม่ชัดเจนว่ามันสามารถเกาะผิวดาวได้หรือไม่ เนื่องจากท่อไอพ่นที่ใช้กดยานเข้ากับพื้นผิวดาวหางไม่ทำงาน ยาน Rosetta และ Philae ถูกยิงขึ้นไปตั้งแต่ปี 2004 ใช้เวลาถึงสิบปีในปีปรับวงโคจรให้ซ้อนทับกับดาวหาง 67P/Churyumov–Gerasimenko โดยภารกิจสำรวจตั้งเป้าไว้อย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ แม้จะออกแบบอุปกรณ์ให้ใช้งานได้หลายเดือน ยาน Philae จมลงบนพื้นผิวดาวหางลงไปประมาณ 4 เซนติเมตรจากพื้นผิวที่ค่อนข้างอ่อนนุ่ม ฉมวก (harpoon) ที่ขาของยาน Philae จะช่วยยึดตัวยานเข้ากับดาวหางทำให้สามารถเดินหน้าสำรวจได้โดยไม่ต้องกลัวว่ายานจะเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ดี Stephan Ulamec ผู้จัดการโครงการระบุว่าตัวยานลงจอดในภาวะที่ค่อนข้างเสถียร Ulamec ความเป็นไปได้หนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฉมวกไม่ทำงานคือยาน Philae ลงจอดเด้งขึ้นจากพื้นผิวก่อนจะลงจอดอีกครั้ง ในบรรดาอุปกรณ์สำรวจของยาน Philae มีแท่นเจาะลึก 23 เซนติเมตรเพื่อตรวจสอบเนื้อในของดาวหางไว้ด้วย หากฉมวกยึดไม่ทำงานคงต้องรอดูว่าทาง ESA จะเดินหน้าสำรวจได้ตามที่วางแผนไว้มากน้อยแค่ไหน ยาน Philae เป็นภารกิจครั้งแรกของมนุษยชาติที่จะลงจอดบนผิวดาวหางอย่างนิ่มนวล (soft landing) ที่มา - BBC I’m on the surface but my harpoons did not fire. My team is hard at work now trying to determine why. #CometLanding — Philae Lander (@Philae2014) November 12, 2014
https://jusci.net/node/3366
ยานสำรวจ Philae ลงจอดบนดาวหาง 67P/Churyumov–Gerasimenko สำเร็จ แต่ฉมวกเกาะผิวไม่ทำงาน
หลังจาก Philae ลงจอดบนดาวหาง 67P สำเร็จ แต่ปรากฎว่าฉมวกเกาะยึดไม่ทำงาน ตอนนี้ทีมงานก็พยายามค้นหาว่ายาน Philae ลงจอดตรงจุดไหน ภาพจากยาน Philae แสดงให้เห็นว่ายานจอดอยู่ริมหน้าผา ห่างไปจากจุดจอดจุดแรกหลายร้อยเมตร เนื่องจากทีมงานไม่แน่ใจนักว่ายานลงจอดแบบไหนทำให้ต้องพิจารณาว่าจะเจาะผิวดาวหางเพื่อสำรวจส่วนประกอบทางเคมีใต้พื้นผิวหรือไม่ แต่สุดท้ายทีมงานก็ตัดสินใจเดินหน้าหัวเจาะ และสามารถเจาะได้สำเร็จ หลังจากนั้นทาง ESA ส่งคำสั่งให้ยาน Philae ยกตัวขึ้นเล็กน้อยและหมุนยานไป 35 องศา เพื่อให้รับแสงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด แล้วดาวน์โหลดข้อมูลให้มากที่สุดจนกระทั่งพลังงานหมด ที่มา - BBC, @Philae2014 1, 2, 3
https://jusci.net/node/3367
Philae ลงจอดสำเร็จแต่ถูกหน้าผาบัง พลังงานมีจำกัด
นักวิจัยช่วงหลังนอกจากต้องนั่งทำวิจัยแล้วสิ่งที่ต้องต่อสู้ด้วยเสมอคือมักมีวารสารวิชาการคุณภาพต่ำอีเมลมาชวนให้ตีพิมพ์งานวิจัยไปลงวารสารเสมอๆ อีเมลเหล่านี้สร้างความรำคาญให้นักวิจัยอย่างมากจนกระทั่ง David Mazières รำคาญอย่างมากและเขียนเอกสารรูปร่างเหมือนรายงานงานวิจัย ที่มีหัวว่า "Get me off Your Fucking Mailing List" หรือแปลที่ความหยาบระดับเดียวกันคงได้ว่า "เอากูออกจากรายชื่อเมลของมึงได้แล้ว" เอกสารฉบับนี้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2005 เพื่อใช้ส่งให้กับวารสารวิชาการที่มักส่งอีเมลเชิญคนให้ร่วมส่งเอกสารไปอย่างน่ารำคาญ แต่ล่าสุดวารสาร International Journal of Advanced Computer Technology กลับส่งอเมลตอบรับรายงานฉบับนี้โดยมีเอกสารรีวิวแนบมาว่าเป็นรายงาน "ชั้นเยี่ยม" (Excellent) รายงานเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าวารสารไม่ได้มีการตรวจสอบจริง และตัววารสารก็สร้างขึ้นมาเพื่อหวังค่าตีพิมพ์ 150 ดอลลาร์จากนักวิจัยเท่านั้น ที่มา - Scholarly Open Access
https://jusci.net/node/3370
รายงานวิจัยปลอมหัวข้อ "เอากูออกจากรายชื่อเมลของมึงได้แล้ว" ได้รับตอบรับให้ตีพิมพ์
Topaz Solar Farm เป็นโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กำลังการผลิต 550 เมกะวัตต์ โครงการนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2011 และจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2015 ตั้งอยู่ในพื้นที่ San Luis Obispo County ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา รูปแบบของ Topaz Solar Farm เป็นเหมือนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั่วไปคือวางแผ่นฟิล์มรับแสงอาทิตย์ (ผลิตโดยบริษัท First Solar) จำนวน 9 ล้านแผง พลังไฟฟ้าที่ได้จะถูกขายต่อให้บริษัทพลังงาน Pacific Gas and Electric Company ต่อ โครงการนี้เป็นของบริษัท MidAmerican Solar ใช้พื้นที่ 4,700 เอเคอร์ (ประมาณ 19 ตร.กม.) มีมูลค่าโครงการ 2.5 พันล้านดอลลาร์ โดยได้รับเงินอุดหนุนรูปแบบเงินกู้จากกระทรวงพลังงานของสหรัฐ ชมคลิปการก่อสร้าง Topaz Solar Farm ได้ท้ายข่าวครับ ที่มา - MidAmerica Solar, Gizmodo, ภาพประกอบจาก Wikipedia
https://jusci.net/node/3372
รู้จัก Topaz Solar Farm โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
มนุษย์เงินเดือนหลายคนที่ตื่นมาซดกาแฟ-ตกเย็นซัดเบียร์เป็นกิจวัตรคงจะสังเกตว่า หากเติมให้มีระดับความสูงในถ้วยเท่าๆ กันแล้ว กาแฟมักจะกระฉอกหกออกจากถ้วยได้ง่ายกว่าเบียร์ ทีมวิจัยที่นำโดย Alban Sauret แห่งมหาวิทยาลัยปรินซ์ตั้นเกิดความสงสัยในปรากฏการณ์นี้และได้ศึกษาจนค้นพบความจริงว่าสาเหตุที่กาแฟหกง่ายกว่าเบียร์ไม่ใช่เพราะความงัวเงียในตอนเช้าตรู่แต่อย่างใด มันเป็นเพราะฟิสิกส์ของฟองเบียร์ต่างหาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Emilie Dressaire ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยตั้งสมมติฐานว่าฟองเบียร์น่าจะมีคุณสมบัติช่วยผ่อนแรงกระฉอกของของเหลวในภาชนะบรรจุ พวกเขาจึงออกแบบการทดลองโดยการเอาภาชนะบรรจุของเหลวแล้วเอามาตั้งบนฐาน จากนั้นก็กระแทกให้ฐานสั่นไหวพร้อมกับถ่ายวิดีโอคลื่นที่เกิดบนผิวของเหลว ของเหลวที่พวกเขาใช้ในการทดลองเป็นน้ำผสมกับกลีเซอรอลและสารลดแรงตึงผิวซึ่งสามารถปั่นให้เกิดฟองได้หนาและคงสภาพนานตามต้องการ การวิเคราะห์ชี้ว่าเมื่อภาชนะสั่นไหวด้วยแรงกระแทก ฟองที่อยู่ติดกับผนังของภาชนะจะถูกถูลากขึ้นลากลงตามการกระจัดของคลื่น การเสียดสีระหว่างฟองกับผนังภาชนะนี่เองที่ทำให้พลังงานของคลื่นส่วนหนึ่งสูญเสียไป เสมือนหนึ่งกลไกซับแรงกระฉอก ยิ่งชั้นฟองหนา การสูญเสียพลังงานก็ยิ่งมากเพราะพลังงานถูกกระจายไปมาก ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าชั้นฟองหนาเพียง 0.3 ซม. ก็เพียงพอที่จะสร้างให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวในระดับที่สังเกตเห็นได้แล้ว ผลการทดลองนี้ได้นำเสนอในงานประชุมวิชาการกลศาสตร์ของไหลของ American Physical Society เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2014 ที่ผ่านมา นี่คงช่วยชี้ทางสว่างให้แก่คอเบียร์และคอกาแฟทั้งหลายว่าหากไม่ต้องการให้เครื่องดื่มทรงคุณค่าในมือท่านหกเลอะเทอะ ก็ควรสั่งแบบที่มีฟองเยอะๆ เข้าไว้ เช่น ลาเต้ หรือ เบียร์กินเนส เป็นต้น (และฟิสิกส์แห่งการเดินถือกาแฟไม่ให้หกก็น่าจะช่วยได้อีกไม่น้อย) นอกจากนั้นงานทดลองฟองเบียร์นี้ก็ยังอาจจะนำไปประยุกต์พัฒนาวิธีการขนส่งสารของเหลวให้ดีขึ้น ลดการสูญเสียอันเนื่องจากการหกกระฉอกได้อีกด้วย ที่มา - PhysOrg, New Scientist
https://jusci.net/node/3376
ทำไมกาแฟถึงหกง่ายกว่าเบียร์? ...ฟิสิกส์มีคำตอบ