content
stringlengths
2
11.3k
url
stringlengths
26
27
title
stringlengths
3
125
ทีมของนักวิจัยชาวสวีเดนและฟินแลนด์ได้รวบรวมข้อมูลระดับคะแนนทักษะทางปัญญา (cognitive skill) ของผู้ชายชาวสวีเดนกว่า 1,000,000 คน (ซึ่งสกัดมาจากฐานข้อมูลการทดสอบทหารเกณฑ์) แล้วเอามาเทียบความสัมพันธ์กับประวัติอาชญากรรมของพ่อ ผลปรากฏว่าคนที่พ่อไม่มีประวัติพัวพันอาชญากรรมเลยมีระดับทักษะทางปัญญาสูงกว่าคนที่พ่อเคยมีคดีอาชญากรรมติดตัว เมื่อนักวิจัยวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีก ก็พบว่าความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการมีหรือไม่มีประวัติเท่านั้น ระดับความรุนแรงของอาชญากรรมในประวัติของพ่อยังมีผลอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย ยิ่งพ่อมีประวัติเคยก่ออาชญากรรมร้ายแรงเท่าไร ความสัมพันธ์ต่อทักษะทางปัญญาของลูกชายก็ยิ่งเห็นเด่นชัด อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์นี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์แบบเหตุไปสู่ผลโดยตรง เพราะเมื่อนักวิจัยเอาข้อมูลของความเชื่อมโยงในวงศ์เครือญาติ เช่น ประวัติของพี่น้อง, ลูกพี่ลูกน้อง, ฝาแฝดของพ่อ เข้ามาวิเคราะห์ร่วมด้วย ค่าสัมประสิทธิ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประวัติอาชญากรรมของพ่อและทักษะทางปัญญาของลูกชายก็ลดลง ชี้ให้เห็นว่าการที่พ่อถูกดำเนินคดีไม่ได้หมายว่าลูกชายจะต้องกลายเป็นคนทักษะความฉลาดอ่อนด้อยโดยอัตโนมัติ มันมีเรื่องของปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น พ่ออาจจะมีลักษณะพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้มีแนวโน้มแสดงออกพฤติกรรมรุนแรง และลักษณะทางพันธุกรรมที่ถูกส่งผ่านมายังลูกชายอันนี้ก็เป็นตัวขัดขวางการพัฒนาการทักษะทางปัญญาด้วย งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Psychological Science doi: 10.1177/0956797614555726 ที่มา - Medical Xpress
https://jusci.net/node/3381
ประวัติอาชญากรรมของพ่อสัมพันธ์กับความฉลาดของลูกชาย
เมื่อเร็วๆ นี้ SpaceX บริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมการบินอวกาศเชิงพาณิชย์ ได้เปิดรับสมัครตำแหน่งงานใหม่หลายตำแหน่ง เช่น ผู้อำนวยการภารกิจยิงจรวด, ฝ่ายวิเคราะห์โครงสร้างระบบขับเคลื่อนจรวด, วิศวกรด้านการบิน และเกษตรกร ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า SpaceX จะเอาตำแหน่งงานเกษตรกรไปทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ แต่รายละเอียดของงานไม่น่าจะใช่การส่งขึ้นไปทำไร่ทำสวนบนดาวอังคารหรือดวงจันทร์ เนื่องจากข้อกำหนดคุณสมบัติระบุไว้ว่าต้องการเกษตรกรที่มีประสบการณ์การทำงานในบริเวณเขตตอนกลางของมลรัฐเท็กซัสอย่างต่ำ 10 ปีและต้องสามารถซ่อมแซมเครื่องยนต์ทางการเกษตรของ John Deere ได้ด้วย เป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นงานเกี่ยวกับการทดลองวิจัยภายในบริเวณศูนย์ของ SpaceX นั่นแหละ นอกจากนี้ เมื่อได้รับเข้าทำงานแล้ว "เกษตรกร" ของ SpaceX จะต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับ International Traffic in Arms Regulations (ITAR) ด้วย ซึ่งเป็นกฏเกณฑ์สำหรับข้อมูลการพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหาร นั่นเท่ากับว่าผู้ที่มีสิทธิ์สมัครจะต้องเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นไปโดยปริยาย รายละเอียดการสมัครงาน: www.spacex.com/careers/position/5749 ที่มา - Popular Science
https://jusci.net/node/3383
SpaceX เปิดรับสมัครตำแหน่งงาน "เกษตรกร"
สารประกอบเซรามิกอิตเทรียมแบเรียมคอปเปอร์ออกไซด์ (Yttrium barium copper oxide หรือ YBCO) มีสูตรทางเคมี YBa2Cu3O7−x (โดย x มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 0.65) มันเป็นวัสดุชนิดแรกที่ค้นพบว่ามีอุณหภูมิวิกฤติของการเปลี่ยนสภาพเป็นตัวนำยิ่งยวดสูงกว่าจุดเดือดของไนโตรเจนเหลว คุณสมบัติพิเศษที่ทำให้ YBCO เป็นตัวนำยิ่งยวดได้ในอุณหภูมิสูงเมื่อเทียบกับวัสดุตัวนำยิ่งยวดอื่นๆ คือ ในโครงสร้างผลึกของมัน มีชั้นบางๆ ของคอปเปอร์ออกไซด์ประกบสลับกับชั้นแบเรียม/คอปเปอร์/ออกซิเจนที่หนากว่า ตรงชั้นคอปเปอร์ออกไซด์จะมีอิเล็กตรอนที่จับคู่กันเกิดเป็น Cooper pair ขึ้น ซึ่งอิเล็กตรอนที่จับคู่กันเป็น Cooper pair จะสามารถวิ่งทะลุผ่านชั้นในโครงผลึกได้เสมือนเป็น "วิญญาณ" นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้กระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านผลึก YBCO ได้โดยไม่มีแรงต้านทาน (ความจริง มันไม่ใช่วิญญาณหรอก แต่อิเล็กตรอนเป็นอนุภาค fermion มีสปิน -1/2 พอจับคู่กันเป็น Cooper pair ก็จะมีสปิน 0 หรือ 1 ทำให้มันประพฤติตัวเหมือนเป็นอนุภาค boson ได้ตามทฤษฎี BCS theory และสามารถวิ่งทะลุไปยังชั้นคอปเปอร์ออกไซด์อีกชั้นได้ด้วยปรากฏการณ์ Quantum tunneling) ภาพโครงสร้างผลึกของ YBCO ภาพจาก Wikipedia เมื่อประมาณต้นปี 2014 ทีมนักฟิสิกส์จาก Max Planck Institute ในฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ค้นพบว่าเมื่อผลึก YBCO ถูกระดมยิงด้วยเลเซอร์รังสีอินฟราเรด มันจะกลายเป็นตัวนำไฟฟ้ายิ่งยวด (superconductor) ที่อุณหภูมิห้องเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณไม่กี่พิโควินาที (1 picosecond = 1 ส่วนล้านล้านวินาที) แต่พวกเขาก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร (Phys. Rev. B 2014; 89, 184516) เพื่อที่จะศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวให้ละเอียดขึ้น นักฟิสิกส์ของ Max Planck Institute จึงร่วมมือกับนักวิจัยจากฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, และสหรัฐอเมริกา หาทางวิเคราะห์โครงสร้างผลึกของ YBCO ด้วย Linac Coherent Light Source ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดรังสีเอ็กซ์ที่ทรงพลังที่สุดในยุคนี้ ผลจากการวิเคราะห์พบว่าเลเซอร์รังสีอินฟราเรดไม่ได้แค่ทำให้อะตอมในผลึก YBCO สั่นอย่างที่พวกเขาคาดเดาไว้ในตอนแรก แต่มันยังทำให้อะตอมทั้งชั้นขยับเคลื่อนจากตำแหน่งเดิมด้วย การเคลื่อนตำแหน่งของอะตอมนี่เองคือคำตอบที่--พวกเขาเชื่อว่า--อธิบายสภาพตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิห้องของ YBCO เลเซอร์รังสีอินฟราเรดลำแสงสั้นๆ จะไปทำให้อะตอมใน YBCO เกิดการสั่น พอสั่นหนักเข้าๆ อะตอมก็จะเขยื้อนตำแหน่งไปเล็กน้อย (ประมาณ 2 พิโคเมตร หรือ 2 ส่วนล้านล้านเมตร) การเขยื้อนตำแหน่งชั่วคราวนี้ทำให้ชั้นคอปเปอร์ออกไซด์หนาขึ้นกว่าเดิมโดยปริยาย ระยะห่างระหว่างชั้นคอปเปอร์ออกไซด์จึงถูกบีบให้แคบลง เมื่อระยะห่างลดลง โอกาสที่คู่อิเล็กตรอน Cooper pair จะทะลุวิ่งผ่านผลึกได้ก็ยิ่งมีมากขึ้น พอ Cooper pair วิ่งทะลุได้มากพอ กระแสไฟฟ้าก็จะไหลโดยไร้แรงต้านทาน ผลึก YBCO จึงกลายเป็นตัวนำยิ่งยวดในชั่วระยะสั้นๆ นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการรายงานสภาพตัวนำไฟฟ้ายิ่งยวดที่อุณหภูมิห้องและสามารถยืนยันผลได้อย่างเป็นทางการ การสั่นของอะตอมในชั้นคอปเปอร์ออกไซด์ (สีเหลืองคืออะตอมคอปเปอร์หรือทองแดง สีแดงคืออะตอมออกซิเจน) ภาพจาก PhysOrg ; เครดิต Credit: Jörg Harms/Max Planck Institute งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Nature doi:10.1038/nature13875 ปัจจุบันเทคโนโลยีตัวนำยิ่งยวดจำเป็นจะต้องทำกันในอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ แม้แต่สิ่งที่เรียกกันว่า "ตัวนำยิ่งยวดอุณหภูมิสูง" ก็ยังมีอุณหภูมิวิกฤติของการเปลี่ยนสภาพการนำไฟฟ้าอยู่ที่ระดับหลักติดลบร้อยองศาเซลเซียส สภาพตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิห้องเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ใฝ่ฝันมาเนิ่นนานแล้ว หากเราค้นพบวิธีที่ทำให้สภาพตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิห้องของ YBCO อยู่ในนานขึ้นถึงในระดับที่ใช้งานได้ มันก็จะพลิกโฉมเทคโนโลยีอีกหลายสาขาเลย ที่มา - PhysOrg
https://jusci.net/node/3385
นักฟิสิกส์ยืนยันผล "ตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิห้อง" ได้เกิดขึ้นแล้วเป็นครั้งแรก
ในความเชื่อของคนทั่วไป นมคืออาหารที่มีประโยชน์ต่อกระดูกเนื่องจากนมอุดมไปด้วยแคลเซียมและโปรตีน อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมประเทศที่มีอัตราการบริโภคนมสูงๆ อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในสหภาพยุโรปถึงได้มีสัดส่วนของประชากรที่เป็นโรคกระดูกพรุนสูงขึ้นๆ บางคนพยายามเสนอ "Acid-ash hypothesis" ที่อธิบายแนวโน้มนี้ว่าเกิดจากฟอสเฟตและผลิตภัณฑ์อันเกิดจากการเมตาบอลิซึมโปรตีนในนมทำให้เลือดมีความเป็นกรดสูงขึ้น ร่างกายจึงดึงเอาแคลเซียมจากกระดูกมาเพิ่มค่า pH ในกระแสเลือด แต่สมมติฐานนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่พบหลักฐานว่าการบริโภคนมทำให้ pH ในเลือดมีค่าลดลง สัดส่วนของโรคกระดูกพรุนในประเทศพัฒนาแล้วอาจจะเกิดจากปัจจัยอย่างอื่น เช่น การใช้ชีวิตที่ออกกำลังน้อยลง, การบริโภคไขมัน เป็นต้น (J. Am. Coll. Nutr. 2011;30) และหลักฐานหลายชิ้นก็ยังคงชี้ให้เห็นว่าการบริโภคนมโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่กำลังมีพัฒนาการทางร่างกายอย่างรวดเร็วส่งผลดีต่อสุขภาพ ช่วยให้มวลกระดูกโดยรวมสูงขึ้น (JAMA Pediatr. 2014;168) อย่างไรก็ตาม งานวิจัยล่าสุดโดยทีมนักวิจัยจาก Uppsala University ประเทศสวีเดน ให้ผลออกมาว่าการบริโภคนมเยอะๆ อาจจะไม่ได้ดีต่อสุขภาพและกระดูกสักเท่าไร งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาโดยการติดตามกลุ่มตัวอย่างชาวสวีเดนอันประกอบด้วยผู้หญิงอายุระหว่าง 39-74 ปีจำนวน 61,433 คนเป็นเวลา 20.1 ปี และผู้ชายอายุระหว่าง 45-79 ปีจำนวน 45,339 คนเป็นเวลา 11.2 ปี ผลจากการวิเคราะห์ทางสถิติชี้ว่าคนที่ดื่มนมวันละ 3 แก้วหรือมากกว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและโรคกระดูกพรุนสูงกว่าคนที่ดื่มนมน้อยกว่า 1 แก้วต่อวัน ยิ่งบริโภคนมเยอะ ความเสีี่ยงก็ยิ่งสูง โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิง นอกจากนั้น นักวิจัยยังได้สุ่มกลุ่มตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะและเลือดอีกด้วย ผลปรากฏให้เห็นว่าคนที่ดื่มนมเยอะมี 8-iso-PGF2α ในน้ำปัสสาวะและ interleukin 6 ในกระแสเลือดสูงกว่าคนที่ดื่มนมน้อย ซึ่งสารสองตัวนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงพยาธิสภาพของความเครียดออกซิเดชั่นและการอักเสบตามลำดับ แต่เมื่อนักวิจัยลองวิเคราะห์ข้อมูลต่อการบริโภคผลิตภัณฑ์นมที่มีน้ำตาลแลกโตสต่ำๆ เช่น โยเกิร์ต และ ชีส ผลที่ได้กลับออกมาตรงกันข้าม กลุ่มตัวอย่างที่กินโยเกิร์ตหรือชีสเยอะๆ มีแนวโน้มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและโรคกระดูกพรุนน้อยกว่า โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งแสดงผลชัดมาก และเมื่อดูผลของการวิเคราะห์ปัสสาวะและเลือดร่วมด้วย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิงที่กินโยเกิร์ตหรือชีสเยอะๆ มี 8-iso-PGF2α ในน้ำปัสสาวะและ interleukin 6 ในกระแสเลือดต่ำกว่าคนที่ไม่ค่อยกินโยเกิร์ตกับชีส พอเทียบกันกับผลของการบริโภคนมแล้ว นักวิจัยจึงเชื่อว่าน่้ำตาลแลกโตสในนมน่าจะเป็นตัวการที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทีมนักวิจัยเจ้าของผลงานเตือนว่าผลการวิจัยนี้ยังฟันธงไม่ได้ว่าการบริโภคนมเป็นผลดีหรือผลเสียต่อสุขภาพมากกว่ากัน หรือ ควรบริโภคนมเท่าไรกันแน่ เรายังคงต้องรองานวิจัยซ้ำอีกหลายชิ้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจ ทุกวันนี้การบริโภคนมทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นตามสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขี้นของประเทศกำลังพัฒนา บทบาทของนมและผลิตภัณฑ์นมต่อสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์และนักโภชนาการสมควรพิจารณาอย่างจริงจังและรอบคอบ งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน BMJ doi:10.1136/bmj.g6015 ที่มา - Medical Daily
https://jusci.net/node/3386
น้ำตาลในนมอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
องค์กรอวกาศญี่ปุ่นประกาศความสำเร็จในการยิงตรวจจรวด H-IIA นำส่งยานสำรวจ Hayabusa2 พร้อมทั้งกางงวงสำรวจได้เป็นที่เรียบร้อย ภาพจากกล้องบนตัวยานส่งกลับมายืนยันว่าตัวงวงยืดออกจากยานเป็นที่เรียบร้อย, ระบบทรงตัวสามแกนสามารถทำงานได้ถูกต้อง, และระบบตรวจวัดวงโคจรสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง กระบวนการนี้ทำให้ JAXA ประกาศว่ายาน Hayabusa2 ผ่านกระบวนการในช่วงวิกฤติไปเรียบร้อยแล้ว ช่วงวิกฤติของภารกิจ (critical operation phase) จะนับช่วงเวลาตั้งแต่ตัวยานแยกตัวจากจรวดนำส่ง, กางแผงรับแสงอาทิตย์, และตรวจสอบระบบควบคุมต่างๆ ยาน Hayabusa2 มีภารกิจไปสำรวจอุกาบาต 1999 JU3 คาดว่าจะถึงอุกาบาตในปี 2018 โดยตัวงวงจะสามารถไปดูดตัวอย่างจากอุกาบาตเพื่อนำตัวอย่างกลับมายังโลกในปี 2020 อุปกรณ์บนยาน Hayabusa2 มีจำนวนมาก ตั้งแต่ มาร์คเกอร์วางตำแหน่งอ้างอิงบนอุกาบาต, แคปซูลนำส่งตัวอย่างกลับโลก, ยานสำรวจขนาดเล็กสามตัว, แท่งทองแดงสำหรับเปิดผิวหน้าของอุกาบาตเพื่อเก็บตัวอย่าง, Spectrometer สำหรับการสำรวจอุกาบาต, แท่นสำรวจพื้นผิวที่สามารถ "กระโดด" ได้หนึ่งครั้ง ตอนนี้ต้องรอปี 2018 ต่อไปเพื่อให้ยานไปถึงอุกาบาตครับ ที่มา - JAXA, Japan Times
https://jusci.net/node/3387
JAXA ยิงยานสำรวจ Hayabusa2 สำเร็จ เตรียมเดินหน้าภารกิจ 6 ปี
James Watson นักชีววิทยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุคจากการค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเอว่าเป็นโครงสร้างเกลียวคู่ (double helix) จนกระทั่งได้รางวัลโนเบลในปี 1962 สาขาการแพทย์ ประกาศประมูลเหรียญรางวัลของตัวเองได้เงินไปถึง 4.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลงานที่โด่งดังและก่อให้เกิดการถกเถียงเป็นวงกว้างของ Watson คือ หนังสือ The Double Helix เล่าถึงประวัติการค้นพบโครงสร้างโมเลกุลจากมุมมองของเขาเอง เขาพูดถึงประสบการณ์ระหว่างที่เขากำลังทำวิจัย นอกจากนนี้ Watson ยังเป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วยก่อตั้งโครงการ Human Genome Project แม้ว่า Watson จะมีเรื่องฉาวอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา แต่ประเด็นสำคัญเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2007 เมื่อเขาแสดงความเห็นชี้ว่าคนผิวดำฉลาดน้อยกว่าคนผิวขาว และเขาระบุว่าเหตุผลที่นำเหรียญออกมาประมูลครั้งนี้ก็เพื่อสร้างโอกาสที่จะกู้ชื่อคืนมาหลังจากแสดงความเห็นในครั้งนั้น หลังจากแสดงความเห็น เขาถูกบีบให้เกษียณออกจากตำแหน่งนักวิจัยในห้องแลบที่ Cold Spring Harbor Laboratory แม้จะยังมีตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์อยู่ก็ตาม (ตำแหน่งนี้ตำแหน่งเดียวเงินเดือนปีละ 375,000 ดอลลาร์) นอกจากนี้เขายังถูกปลดออกจากตำแหน่งบอร์ดของบริษัทต่างๆ ทั้งหมด ก่อนหน้านี้ครอบครัวของ Francis Crick ผู้รับรางวัลโนเบลร่วมกับ Watson ก็ประมูลเหรียญรางวัลเช่นกัน โดยได้เงินไป 2.27 ล้านดอลลาร์ ตัว Watson เองระบุว่าเขาอยากได้อย่างน้อยก็ให้เท่ากับที่ Crick ได้ ที่มา - The Japan Times, Scientific American (1), Scientific American (2)
https://jusci.net/node/3388
นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลประมูลเหรียญรางวัล ได้เงิน 4.75 ล้านดอลลาร์
โลกวิทยาศาสตร์กำลังเตรียมหาข้อสรุปนิยามของมวลเสียใหม่ด้วยค่าคงที่ของพลังค์ (h) และตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ของ NIST (สถาบันมาตรฐานอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ) ได้ตีพิมพ์การนำเสนอชุดทดลองหาค่าคงที่นี้ด้วยชุดเลโก้ที่ชื่อว่า LEGO Watt Balance เลียนแบบมาจากเครื่อง Watt Balance ของจริง เครื่อง Watt Balance จะหาพลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้ในการยกมวลขึ้น หากเรารู้ค่าแรงโน้มถ่วงอย่างแม่นยำ เราก็นิยามมวลให้อยู่ในรูปของค่าพลังงานไฟฟ้า และเนื่องจากกระแสไฟฟ้าและความต่างศักย์สามารถนิยามจากค่าคงที่ของพลังค์และความเร็วแสง เราก็จะสามารถนิยามมวลด้วยค่าคงที่เหล่านี้ได้เช่นกัน การนิยามมวลด้วยค่าคงที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่ต้องอิงมวลกับ แท่นกิโลกรัมต้นแบบ (international prototype kilogram - IPK) ที่เก็บรักษาไว้ในฝรั่งเศส ที่นับวันจะเสื่อมสูญไปได้ ค่าคงที่ในหน่วย SI เช่น "เมตร" ถูกนิยามใหม่ด้วยค่าคงที่ทางฟิสิกส์ไปก่อนแล้ว เครื่อง LEGO Watt Balance มีต้นทุนอยู่ที่ 633.77 ดอลลาร์ นักวิจัยรายงานชิ้นส่วนและราคาของแต่ละชิ้นอย่างละเอียด พร้อมกับระบุว่าสามารถลดต้นทุนได้อีกประมาณ 200 ดอลลาร์หากใช้อุปกรณ์ขับสัญญาณที่ราคาถูกลง รายงาน "A LEGO Watt Balance: An apparatus to demonstrate the definition of mass based on the new SI" ตีพิมพ์ลงในวารสาร Instrumentation and Detectors ที่มา - MIT Technology Review
https://jusci.net/node/3389
วัดค่าคงที่ของพลังค์ด้วยเลโก้
ลองนึกถึงเวลาเราเล่นเทนนิส ทุกๆ วินาทีเราจะจับตามองลูกเทนนิสและคาดการณ์เส้นทางการเคลื่อนที่ของลูกเทนนิสพร้อมทั้งขยับร่างกายและมือให้สัมพันธ์สอดรับจังหวะการกระทบของลูก การเคลื่อนไหวแบบคาดการณ์ล่วงหน้า (predictive movement) นี้เป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, ปลา, และนก ส่วนแมลงเป็นสัตว์ที่มีสมองขนาดเล็กและซับซ้อนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสมองของสัตว์มีกระดูกสันหลัง นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าแมลงไม่น่าจะมีพลังการประมวลผลของสมองสูงพอจะคาดการณ์เส้นทางการเคลื่อนที่ของวัตถุได้ แมลงคงแค่วิ่งหรือบินตามเหยื่ออย่างซื่อๆ เหยื่อเลี้ยวทางไหน มันก็คงเลี้ยวตาม เป็นการเคลื่อนที่แบบปฏิกิริยา (reactive movement) แต่ทีมวิจัยที่นำโดย Anthony Leonardo แห่ง Howard Hughes Medical Institute ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองและแสดงให้เห็นว่าเวลาบินไล่จับเหยื่อ แมลงปอไม่ได้เคลื่อนที่ตามแบบปฏิกิริยา แต่มันคาดการณ์เส้นทางการบินของเหยื่อแล้วบินตัดตรงเข้าไปจับ นับเป็นครั้งแรกที่มีรายงานว่าแมลงเคลื่อนที่แบบคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ทีมของ Anthony Leonardo ใช้แผ่นสะท้อนแสงขนาดเล็กแปะติดเข้ากับหัวและหลังของแมลงปอ จากนั้นก็ปล่อยแมลงเข้าไปไล่จับเหยื่อซึ่งมีทั้งแบบเหยื่อปลอมและเหยื่อจริงที่เป็นแมลงวันผลไม้ ระหว่างที่แมลงปอบินไล่เหยื่อ นักวิจัยก็จะถ่ายทั้งทิศทางการบิน, การหันหัว, และการจัดระเบียบร่างกายในอากาศของแมลงปอเอาไว้ด้วยกล้องวิดีโอความเร็วสูง ผลการวิเคราะห์เส้นทางการบินและการจัดระเบียบของร่างกายแมลงปอปรากฏออกมาว่าตลอดเวลาในการบินไล่เหยื่อ แมลงปอจะหันหัวของมันไปทางเหยื่อเสมอ แต่ใน 70% ของการทดลองแมลงปอคงระเบียบร่างกายให้บินตรงแน่วรักษาทิศตามเส้นทางออกตัวตั้งต้นของมัน ไม่ได้เปลี่ยนเส้นทางตามการเลี้ยวของเหยื่อ และ 75% ของการหักเลี้ยวทั้งหมดของแมลงปอก็ไม่ได้เข้าจังหวะกับการเลี้ยวของเหยื่อ ตัวเลขสองอันนี้ชี้ให้เห็นว่าแมลงปอไม่ได้ใช้การเคลื่อนที่แบบปฏิกิริยา มันใช้สายตาล็อคเป้าเหยื่อแล้วคาดการณ์ทิศทางก่อนพุ่งบิน การที่สมองเล็กๆ ของแมลงปอสามารถทำงานซับซ้อนอย่างการคาดการณ์เส้นทางล่วงหน้าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากสำหรับนักวิทยาศาสตร์ เพราะไม่ใช่แค่มันตั้งเส้นทางตั้งแต่เริ่มต้นออกตัวเท่านั้น งานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเมื่อเหยื่อเลี้ยวออกนอกเส้นทางอย่างฉับพลัน แมลงปอก็จะเลี้ยวและปรับเส้นทางใหม่ด้วยการคาดการณ์เส้นทางเส้นใหม่ของเหยื่อได้อย่างทันเหตุการณ์ นักวิทยาศาสตร์ที่เคยมองสมองแมลงปอว่ามีแค่วงจรโปรแกรมง่ายให้บินไล่ตามเหยื่อต่างตาสว่างกันถ้วนหน้า ทีมวิจัยของ Anthony Leonardo ตั้งเป้าหมายต่อไปว่าจะค้นหาวงจรประสาทที่เกี่ยวข้องในการคาดการณ์เส้นทางการเคลื่อนที่ของแมลงปอ เช่น ดูว่ามันส่งคำสั่งให้เส้นทางการบินและการหันหัวล็อคเป้าเหยื่อทำงานแยกกันอย่างอิสระได้อย่างไร งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Nature DOI: 10.1038/nature14045 ที่มา - New Scientist
https://jusci.net/node/3390
แมลงปอพุ่งจับเหยื่อด้วยการคาดการณ์ทิศทางล่วงหน้า
การเดินทางด้วยเครื่องบินจะไม่ใช่เรื่องที่กินเวลาอีกต่อไป เมื่อ Reaction Engines บริษัทอากาศยานสัญชาติอังกฤษกำลังพัฒนาเครื่องบินที่สามารถที่จะพาคุณไปที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ภายในเวลาเพียงแค่ 4 ชม. เครื่องบินดังกล่าวมีชื่อว่า Skylon มีความยาว 276 ฟุต หรือประมาณ 84 เมตร บรรทุกคนได้ 300 คนต่อลำ ซึ่งเชื่อว่าทำความเร็วได้ถึงมัค 5 หรือ 5 เท่าของความเร็วเสียง และสามารถบินไปยังนอกชั้นบรรยากาศได้ เคล็ดลับของความเร็วคือเครื่องยนต์ที่มีชื่อว่า Sabre และตัว Precooler ที่ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิเครื่องยนต์ได้กว่า 1,000 องศาเซลเซียส ภายในเวลาเพียง 0.01 วินาที และเมื่อความร้อนลดลงเร็วเช่นนี้ ก็ทำให้เครื่องยนต์เจ็ทเดินเครื่องได้มากขึ้น และทำให้มีความเร็วมากขึ้นตามมานั่นเอง แน่นอนว่าการที่ใช้เทคโนโลยีล้ำยุคมากเช่นนี้ก็มีข้อเสียตามมา นั่นคือประการแรกเครื่องบินลำนี้ไม่มีหน้าต่าง ทำให้ไม่สามารถชมวิวข้างนอกเมื่อไต่ไปถึงระดับนอกชั้นบรรยากาศได้ และประการต่อมา คือเครื่องบินลำนี้มีค่าใช้จ่ายในการสร้างที่สูงมากถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อลำ Skylon มีแผนที่จะบินเที่ยวบินทดสอบในปี 2019 ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อได้ขึ้นบินจริงๆ แล้ว จะไม่มีนักท่องเที่ยวชาติไหนไปพิเรนทร์เปิดประตูรับลมเล่นเหมือนที่เคยทำมาครับ คลิปสัมภาษณ์หัวหน้าฝ่ายวิศวกรของบริษัท อธิบายเรื่องเครื่องยนต์และทดสอบการทำงานของเครื่องยนต์ ที่มา - Business Insider via Picket-lint
https://jusci.net/node/3392
Reaction Engines เตรียมสร้างเครื่องบินโดยสารที่ไปที่ไหนก็ได้บนโลกภายในเวลา 4 ชม.ในปี 2019
งานวิจัย STAP หรือ stimulus-triggered acquisition of pluripotency อันโด่งดังและอื้อฉาวจนต้องถอนงานวิจัยออกจากวารสาร Nature ตอนนี้อยู่ระหว่างการยืนยันผลโดยทีมงานของศูนย์วิจัยริเค็นที่ประกาศงานวิจัยนี้ออกมาครั้งแรก ก่อนหน้านี้ทีมงานวิจัยหนึ่งของศูนย์วิจัยริเค็นออกมาประกาศว่าไม่สามารถทำซ้ำงานวิจัยนี้ได้ ตอนนี้หนังสือพิมพ์ The Japan Times อ้างแหล่งข่าวในศูนย์วิจัย ระบุว่าทีมงานของ Obotoka นักวิจัยหลักในการตีพิมพ์ครั้งแรกก็ไม่สามารถทำงานวิจัยซ้ำได้เช่นกัน คาดว่าทางศูนย์วิจัยริเค็นจะแถลงผลการทำวิจัยครั้งนี้ภายในสุดสัปดาห์นี้ ที่มา - The Japan Times
https://jusci.net/node/3393
[ข่าวลือ] Obokota นักวิจัยหลัก ไม่สามรถทำซ้ำงานวิจัย STAP ได้
ศูนย์วิจัยริเค็นแถลงข่าวระบุว่าความพยายามทำซ้ำผลงานวิจัยเซลล์ STAP ที่สร้างสเต็มเซลล์จากเซลล์ปกติประสบความล้มเหลว และตอนนี้ดร. โอโบกาตะ นักวิจัยหลักในงานวิจัยนี้ก็ลาออกจากศูนย์วิจัยแล้ว โอโบกาตะทำการทดลองซ้ำประมาณ 50 ครั้งมีบางครั้งที่สามารถสร้างเซลล์เรืองแสงสีเขียวได้แต่ปรากฎว่าอัตราต่ำมากจนเรียกได้ว่าเป็นการทดลองที่ล้มเหลว เธอไม่ได้ร่วมงานแถลงข่าวแต่ออกแถลงการณ์ระบุว่าเธอเสียใจต่อผลการยืนยันการทดลองที่ล้มเหลว งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature และทางศูนย์วิจัยและดร. โอโบกาตะยื่นถอนงานวิจัยออกมาภายหลัง โอโบกาตะระบุว่าเธอต้องทดลองซ้ำภายใต้สภาวะที่จำกัดอย่างมาก โดยเธอต้องอยู่ในห้องทดลองที่มีกล้องวิดีโอตรวจสอบตลอดเวลา และเธอได้พยายามทำการทดลองซ้ำอย่างสุดความสามารถ ที่มา - The Japan Times
https://jusci.net/node/3395
อวสานงานวิจัย STAP, Obokata ลาออกจากศูนย์วิจัยริเค็นแล้ว
Jusci เสนอข่าวอวกาศมาต่อเนื่องทั้งปี แต่เดือนนี้ถ้าใครยังไม่รู้ ตอนนี้ทางไทยคมนำนิทรรศการ NASA A Human Adventure ที่แสดงถึงความฝันนับแต่ก่อนที่เราจะมีเทคโนโลยีอวกาศจริงๆ มาจนถึงเทคโนโลยีที่เรายังใช้กันอยู่ในอวกาศ นิทรรศการนี้ตอบคำถามหลายอย่าง นับแต่ว่าความฝันที่มนุษยชาติเริ่มต้นฝันถึงการเดินทางไปอวกาศมีมาตั้งแต่เมื่อใด และเรามาถึงจุดใดกันแล้วในตอนนี้ เมื่อนิทรรศการมาถึงทางเดิน ก็จะมีมนุษย์อวกาศยืนต้อนรับ เพื่อพาเราเข้าสู่ลิฟต์ ที่จะพาเราเดินทางขึ้นไปยังจรวดเพื่อท่องอวกาศในนิทรรศการนี้ เมื่อมาถึงห้องแรก เป็นการบรรยายถึงความฝันที่จะเดินทางสู่อวกาศของมนุษยชาติ ความฝันเช่นนี้มีก่อนที่เทคโนโลยีจะทำได้จริงเป็นเวลานาน ห้องนิทรรศการเล่าถึงนิยายจากผู้ประพันธ์ชื่อดังหลายเรื่อง จากความฝันสู่ความเป็นจริง เมื่อเราออกจากห้องแรก เราจะพบกับเส้นเวลา (timeline) ลำดับเรื่องราวการแข่งขันการพิชิตอวกาศ ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียแบ่งออกเป็นซ้ายขวา ตลอดเส้นเวลานี้ นิทรรศการยังแสดงให้เห็นว่าในยุคหนึ่งแล้ว การแข่งขันทางอวกาศนั้นเข้มข้นเพียงใด นิตยสารดังในยุคนั้นมีแต่เรื่องการเดินทางสู่อวกาศขึ้นปก ผู้คนจดจ่ออยู่กับการแข่งขัน และหลักชัยแรกของการแข่งขันสู่อวกาศก็เป็นของรัสเซีย นิทรรศการให้เกียรติหลักชัยแรกด้วยแบบจำลองดาวเทียมสปุตนิกห้อยไว้บนเพดานอย่างโดดเด่น เส้นเวลานี้จบลงด้วยการแสดงว่าทั้งสองชาติสามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปยังอวกาศได้ ห้องต่อมาคือการแสดงว่าในยุคนั้นอวกาศเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราแค่ไหน ประเด็นความก้าวหน้าทางอวกาศกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสนใจ ของเล่นเด็ก ของที่ระลึก สแตมป์ ล้วนเกี่ยวข้องกับอวกาศ คำถามว่า แล้วสุดท้ายเราเดินทางขึ้นไปยังอวกาศได้อย่างไร ห้องนี้แสดงเครื่องยนต์ กระบวนการแยกตัวของจรวดในขั้นต่างๆ ชิ้นส่วนบางชิ้นเป็นของจริงที่กู้ขึ้นมาจากซากที่จมทะเล หลายชิ้นเป็นแบบจำลองเท่าของจริง ส่วนตัวผมแล้วตื่นเต้นกับเครื่องยนต์ของจรวดที่เวลาเรามองจากวิดีโอ เราจะเห็นเป็นไอพ่นนิ่งๆ ดันจรวดขึ้นไปเฉยๆ แต่เมื่อได้มามองใกล้ๆ เราจะเห็นส่วนควบคุมซับซ้อน คอยควบคุมทิศทางอย่างแม่นยำ แบบจำลองแสดงการแยกตัวของยานอพอลโลเพื่อเดินทางไปยังดวงจันทร์ แสดงให้เห็นรายละเอียดของเครื่องยนต์ในแต่ละขั้น ส่วนต่อมาเป็นอีกคำถามสำคัญ ว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์ไปอยู่ในอวกาศได้อย่างไร ส่วนนี้แสดงความซับซ้อนของชุดอวกาศแต่ละชั้นที่มีการพัฒนาไปในแต่ละยุค อาหารการกินที่ต้องนำขึ้นไปด้วย รวมไปถึงผ้าอ้อมที่ต้องใช้เวลาที่เกิดภารกิจฉุกเฉินระหว่างทำหน้าที่ ห้องต่อมาแสดงภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ที่ถือเป็นจุดสุดยอดสำคัญที่สหรัฐฯ ชนะรัสเซียได้สำเร็จ เริ่มต้นส่วนนี้มีหุ่นยนต์ที่รัสเซียเตรียมการส่งไปดวงจันทร์แสดงอยู่ แต่ในห้องก็เต็มไปด้วยการแสดงโครงการอพอลโลของสหรัฐฯ ห้องหลักห้องสุดท้ายแสดงความเป็นนาซ่าตรงตามชื่อนิทรรศการอย่างเต็มตัว ห้องนี้แสดงโครงการต่างๆ ของนาซ่านับตั้งแต่ Mecury, Gemini, Apollo, Skylab มาถึงโครงการกระสวยอวกาศ ส่วนสำคัญของห้องนี้คือแบบจำลองเท่าของจริงของห้องบังคับการยานแบบต่างๆ นับตั้งแต่โครงการแรกๆ มาจนถึงโครงการกระสวยอวกาศที่ห้องมีขนาดใหญ่โต ชิ้นส่วนเล็กๆ ก็เป็นส่วนสำคัญในห้องนิทรรศการนี้ ชิ้นส่วนสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์ในยานเป็นอย่างไรก็มีแสดงไว้อย่างละเอียด สำหรับคนที่ชอบชมภาพยนตร์ ส่วนประกอบสำคัญในห้องนี้คือการแสดงว่าที่กรองอากาศของยาน Apollo ที่ใช้ยานหลักกับยาน Lunar Module ใช้ร่วมกันไม่ได้ ที่เราเคยได้ยินในภาพยนตร์เรื่อง Apollo 13 นั้นรูปร่างเป็นอย่างไร ในภาพคือหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ในยาน ความจุ 128 x 64 บิต รายละเอียดในนิทรรศการยังคงมีอีกมาก ผมเดินดูอย่างเดียวโดยไม่ได้ยืมเครื่องบรรยายยังใช้เวลาถึงสามชั่วโมง สำหรับพ่อแม่ที่พาลูกไปเดินหากเป็นคนติดตามข่าวอวกาศ อธิบายกันได้ ผมคาดว่าน่าจะอยู่ในงานสักครึ่งวันได้สบายๆ ขอบคุณทางไทยคมที่สนับสนุนบัตรเข้างานให้ผมในครั้งนี้ครับ
https://jusci.net/node/3396
พาเดินเที่ยว NASA A Human Adventure: ความฝันพิชิตอวกาศของมนุษยชาติ
SpaceX มีกำหนดส่งสัมภาระขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติในวันนี้ด้วยยาน Dragon ตอนนี้ตัวยานก็ขึ้นสู่วงโคจรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ความน่าเสียดายคือการยิงครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จรวดขั้นต้นที่วางแผนให้ลงจอดบนแท่นจอดที่เป็นเรือรอรับกลับล้มเหลว Elon Musk ระบุว่าจรวดขั้นต้นสามารถลงตรงแท่นจอดในเรือได้สำเร็จ แต่กลับลงกระแทกแรงเกินไปทำให้การกู้จรวดกลับมาใช้ใหม่ล้มเหลว และอุปกรณ์บนเรือก็เสียหาย แต่ตัวเรือยังคงอยู่ โดยวิดีโอที่ถ่ายได้ไม่ชัดนัก แต่ทีมงานจะศึกษาข้อมูลจากเซ็นเซอร์และชิ้นส่วนที่เก็บกู้มาได้อีกต่อไป หากเราใช้จรวดขั้นต้นซ้ำได้ต้นทุนของการส่งสัมภาระขึ้นสู่อวกาศก็น่าจะลดลงอย่างมาก ที่ผ่านมาจรวดขั้นต้นนั้นถูกทิ้งเสมอแม้แต่ในโครงการกระสวยอวกาศเองก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความพยายามครั้งนี้ยังล้มเหลว แต่ก็นับเป็นความพยายามครั้งแรกที่น่าสนใจ ที่มา - SpaceX, @elonmusk 1, 2, 3, 4
https://jusci.net/node/3398
SpaceX ส่งยาน Dragon ขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติสำเร็จ แต่เก็บจรวดนำส่งขั้นต้นล้มเหลว
Elon Musk ซีอีโอคนดังของ Tesla Motors ประกาศในงาน North American International Auto Show ในดีทรอยต์ ว่าบริษัทของเขาจะตั้งโรงงานผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าอีก 3 แห่งใน 3 ทวีปคือ จีน ยุโรป และโรงงานแห่งที่สองในสหรัฐอเมริกา เป้าหมายของ Tesla คือต้องการผลิตรถยนต์ให้ได้ 2 ล้านคันต่อปีภายในปี 2015 (อีก 10 ปีข้างหน้า) โดยปัจจุบัน Tesla มีกำลังผลิตรถยนต์เพียงแค่ปีละ 3 หมื่นคันเท่านั้น (โรงงานอยู่ที่ Fremont, California ตามภาพประกอบ) ตอนนี้สถานะทางการเงินของ Tesla ยังขาดทุนเพราะทุ่มเงินไปกับการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ และขยายไลน์การผลิต แต่เขาคาดว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเป็น 5 แสนคันในปี 2020 และทำกำไรได้แล้ว ที่มา - Forbes
https://jusci.net/node/3400
Tesla Motors เตรียมสร้างโรงงานใหม่ใน 3 ทวีป ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปีละ 2 ล้านคัน
ในงานอีเว้นท์ของ SpaceX เมื่อคืนวันเสาร์ Elon Musk ซีอีโอ และซีทีโอของบริษัทออกมาเผยแผนใหม่ของ SpaceX นั่นก็คือการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่เคยมีข่าวลือมาเมื่อปลายปีก่อน แผนการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมมีเป้าหมายใหญ่ๆ สองประการคือเพิ่มความเร็วในการส่งข้อมูลในภาพรวม และให้บริการอินเทอร์เน็ตราคาถูกให้กับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ขาดแคลนอินเทอร์เน็ต ด้วยการครอบคลุมพื้นที่ปริมาณมหาศาลของดาวเทียมหนึ่งดวง ดาวเทียมสำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตของ SpaceX จะลอยอยู่เหนือพื้นโลกราว 750 ไมล์ เพื่อให้สามารถทำความเร็วในการส่งข้อมูลได้ดีกว่าดาวเทียมมาตรฐาน (ที่อยู่สูงถึง 22,000 ไมล์) และไม่ไกลเกินไปจนทำให้เกิด latency มากเกินใช้งาน ซึ่งจากความสูงระดับนี้ การใช้งานบริการจำพวกเกมออนไลน์ หรือวิดีโอคอลก็ใช้งานได้ลำบากแล้ว แต่ในอนาคต การลดเส้นทางการส่งข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งที่ระยะทางไกลมากๆจะทำได้ดีกว่าการเชื่อมต่อรูปแบบอื่นๆ ในระยะยาว ออฟฟิซของโปรเจคนี้จะตั้งอยู่ที่ซีแอตเติล โดยมีพนักงานเริ่มต้นราว 60 คน และจะเพิ่มมากกว่า 1,000 ภายใน 3-4 ปี Musk หวังว่าโปรเจคนี้จะเป็นหนึ่งในเงินทุนสำหรับแผนใหญ่ที่จะสร้างเมืองบนดาวอังคารที่เคยวาดภาพไว้อีกด้วย ที่มา - Bloomberg
https://jusci.net/node/3401
SpaceX เตรียมเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม
SpaceX เพิ่งประกาศโครงการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของตัวเองเมื่อวานนี้ ตอนนี้ก็มีข่าวออกมาว่ากูเกิลกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาลงทุนใน SpaceX มูลค่าประมาณพันล้านดอลลาร์ ดันให้มูลค่าของ SpaceX เกินหมื่นล้านดอลลาร์ กูเกิลเองมีโครงการ Loon ที่ใช้บอลลูนไปวนรอบโลกเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตของตัวเองอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่การใช้ดาวเทียมน่าจะเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมากว่ามาก ทางกูเกิลยังไม่ให้ความเห็นใดๆ กับข่าวนี้ ที่มา - VentureBeat
https://jusci.net/node/3402
[ข่าวลือ] กูเกิลเตรียมลงทุน SpaceX พันล้านดอลลาร์ สนับสนุนโครงการอินเทอร์เน็ต
เข้าฟังเลคเชอร์อาจารย์คนนี้ทีไรง่วงทุกทีเลย เกิดอะไรขึ้นกับสมองของเรากันนะ? การเรียนรู้ ความทรงจำ และ การนอนนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น นักวิทยาศาสตร์รู้เรื่องนี้มานานแล้ว โดยเฉพาะการนอนหลับที่เพียงพอนั้นช่วยให้สมองของเราเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้น (short-term memory) เป็นความทรงจำระยะยาว (long-term memory)ได้ ซึ่งเราเรียกกลไกนี้ว่า "Memory consolidation" แต่การที่เรา “ลืม” นั้นไม่ได้มาจากการที่เราอดหลับอดนอนเพียงอย่างเดียวมันเป็นกลไกทางสมองเช่นกัน คำถามคือ การนอนมันทำให้เราจำได้ดีเพราะสมองได้ทำการจัดระบบข้อมูล หรือ ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบข้อมูล กระตุ้นให้เราหลับกันแน่!? งานวิจัยล่าสุดได้ตีพิมพ์ลงวารสาร eLife จาก Brandeis University ทำการวิจัยโดย Paula R Haynes, Bethany L Christmann และ Leslie C Griffith โดยงานวิจัยได้ทำการสังเกตเซลล์ประสาท Dorsal paired medial (DPM) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไก Memory consolidation ในแมลงหวี่ (Drosophila melanogaster ) ซึ่งพบว่า เมื่อ DPM ทำงานมันจะส่งผลให้แมลงหวี่นอนหลับมากขึ้น กระบวนการเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นเป็นความทรงจำระยะยาวนั้นเริ่มขึ้นเมื่อแมลงหวี่ถูกกระตุ้นให้หลับ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสมองของแมลงหวี่บริเวณที่มีชื่อว่า Mushroom body (MB) มีหน้าที่คล้ายๆกับสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ( Hippocampus) ของเราที่มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูล โดย MB จะพบได้ในสัตว์จำพวกสัตว์ขาปล้อง(Arthropods) และ หนอนปล้อง(Annelids) บางชนิด ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และความทรงจำที่สัมพันธ์กับกลิ่น(Olfactory memory) กลไกนี้ทำงานโดย DPM ส่ง GABA (gamma-Aminobutyric acid) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ยับยั้งการตื่นตัวของเซลล์ประสาท ไปยังส่วนของ MB คุณ Christmann อธิบายประมาณว่า สมองส่วน Mushroom body จะสั่งให้เราตื่นและเรียนรู้ หลังจากนั้นซักพัก ส่วน DPM ก็จะส่งสัญญาณไประงับการทำงาน เหมือนกับบอกว่า "เอาหล่ะถ้าอยากจะจำสิ่งนี้ได้ ก็จงนอนซะ" งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการการจัดเก็บข้อมูลของสมองนั้นเกี่ยวข้องกับการนอนอย่างเห็นได้ชัด และ นี่อาจจะเป็นระบบที่สิ่งมีชีวิตอื่น เช่น มนุษย์ มีส่วนในการทำงานคล้ายๆกันก็ได้ ซึ่งช่วยเราสามารถตีกรอบงานวิจัยที่เกี่ยวกับความทรงจำและการนอนหลับของคนให้แคบลงได้ วันหลังตอนเรียนถ้าเกิดง่วงขึ้นมาและอาจารย์ว่า ก็ให้เหตุผลไปว่า “ให้ผมนอนเถอะครับ ผมอยากจะจำที่อาจารย์สอนได้” ปล.งานวิจัยนี้วิจัยในแมลงหวี่นะไม่ใช่ในคน รายงาน A single pair of neurons links sleep to memory consolidation in Drosophila melanogaster ตีพิมพ์ในวารสาร eLife DOI: 10.7554/eLife.03868 ที่มา - ScienceDaily
https://jusci.net/node/3405
ทำไมเรียนหนังสือแล้วมันง๊วงง่วง วิทยาศาสตร์ของความทรงจำและการนอน
สภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรผ่านร่างการแก้ไขข้อบังคับการผสมเทียมมนุษย์ เปิดทางให้แพทย์สามารถผสมตัวอ่อนโดยใช้ไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ (mtDNA) จากแม่ที่สองได้ ผู้หญิงบางคนมีไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอผิดปกติทำให้ลูกเกิดมาผิดปกติไปด้วย ทารกที่เกิดมาอาจจะเสียชีวิตภายในไม่กี่เดือน หรือเด็กที่ผิดปกติอาจจะผิดปกติทางสมอง, หัวใจล้มเหลว กฎหมายใหม่นี้จะเปิดทางให้ Human Fertilisation and Embryology Authority (HFEA) หน่วยงานให้อนุญาตการทดลองผสมเทียมอนุญาตให้มีการดัดแปลงพันธุกรรมไปได้ จากเดิมที่ไม่อนุญาตให้ดัดแปลงพันธุกรรมที่ผสมแล้วทุกกรณี กระบวนการนี้ผสมเทียมตามกฎหมายใหม่จะให้พ่อแม่ผสมเทียมกันก่อนจากนั้นจึงนำนิวเคลียสออกมาจากเอ็มบริโอเพื่อไปใส่ในเอ็มบริโอที่ได้มาจากแม่ที่ mtDNA สมบูรณ์ หรืออาจจะนำนิวเคลียสของใข่ของแม่คนแรกไปใส่ในไข่ของแม่คนที่สองที่ mtDNA สมบูรณ์ก็ได้เช่นกัน สภาผ่านกฎหมายนี้ด้วยเสียง 382 เสียงต่อเสียงค้าน 128 เสียง ที่มา - Science Mag, BBC ที่มาภาพ - BioMed Central Ltd
https://jusci.net/node/3409
สภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรรับรองการผสมเทียมแบบมียีนแม่สองคน
Boston Dynamics บริษัทหุ่นยนต์ชั้นนำของโลก (ปัจจุบันเป็นบริษัทลูกของกูเกิล) โชว์หุ่นยนต์สุนัข 4 ขารุ่นใหม่ของบริษัทที่ตั้งชื่อว่า 'Spot' Spot เป็นวิวัฒนาการล่าสุดของหุ่นยนต์ 4 ขาที่ Boston Dynamics เคยทำมาแล้วหลายรุ่น (ดูผลงานได้จากบทความเก่า Boston Dynamics หุ่นยนต์เลียนแบบสัตว์และคน) จากวิดีโอเราจะเห็นว่าการทรงตัวของมันดีมาก ถูกถีบแล้วไม่ล้ม และสามารถก้าวเดินขึ้นบันไดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ Spot ยังมีเซ็นเซอร์ที่หัว ช่วยนำทางและประเมินสภาพพื้นที่เป็นเนินลาดชันได้ด้วย ดูไปแล้วก็น่าทึ่ง แต่อีกมุมหนึ่งก็ดูหลอนๆ นะครับ ที่มา - YouTube Boston Dynamics
https://jusci.net/node/3412
Boston Dynamics โชว์หุ่นสุนัขรุ่นใหม่ Spot โดนถีบไม่มีล้ม เดินขึ้นบันไดได้
การสังเคราะห์แสง (photosynthesis) คือกระบวนของสิ่งมีชีวิตที่เอาพลังงานแสงมาแปลงให้อยู่ในรูปพลังงานเคมีซึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ได้ในเซลล์ เมื่ออนุภาคแสงตกกระทบคลอโรฟิลล์ในคลอโรพลาสต์ (หรือรงควัตถุรับแสงอื่นๆ) พลังงานจากแสงจะกระโดดเป็นทอดๆ ไปจนถึง Reaction center ซึ่ง ณ Reaction center พลังงานแสงจะทำให้เกิดการปล่อยอิเล็กตรอนพลังงานสูงเข้าสู่กระบวนการลูกโซ่ส่งผ่านอิเล็กตรอน (Electron transport chain) ต่อไป ภาพจาก Hyperphysics, Georgia State University ปัญหาที่คาใจนักฟิสิกส์ คือ พลังงานแสงกระโดดข้ามไปถึง Reaction center ได้อย่างไรกันแน่ เพราะทั้งฟิสิกส์แบบคลาสสิกและฟิสิกส์ควอนตัมไม่สามารถให้คำตอบที่น่าพึงพอใจได้ คำอธิบายทั้งสองทางมีช่องโหว่รูเบ้อเริ่มในตัวของมันเอง เริ่มที่การอธิบายด้วยฟิสิกส์แบบคลาสสิกในวันเดิมๆ สบายๆ กันก่อน ในทางนี้เราเชื่อว่าอนุภาคแสงกระโดดข้ามไปเหมือนกบกระโดดข้ามใบบัวไปจนถึงกลางสระ (ความจริงสิ่งที่กระโดดไม่ใช่อนุภาคแสง แต่เป็นอนุภาคเสมือนที่เรียกว่า exciton ซึ่งเกิดจากการที่อิเล็กตรอนได้รับพลังงานแล้วยกระดับตัวเองขึ้นไปอยู่ชั้นพลังงานที่สูงขึ้น) แต่นักฟิสิกส์ก็รู้ดีว่ามันไม่ใช่หรอก เพราะหากอนุภาคแสงค่อยๆ กระโดดข้ามคลอโรฟิลล์ทีละตัว มันจะกินเวลานานและสูญเสียพลังงานไปเยอะมากกว่าจะไปถึง Reaction center ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ การกระโดดของพลังงานแสงแทบจะไม่เสียเวลาและพลังงานเลย ประสิทธิภาพของการส่งพลังงานแสงเข้า Reaction center เกือบจะเต็ม 100% ด้วยซ้ำ พอฟิสิกส์เดิมๆ ไปไม่รอด ฟิสิกส์ควอนตัมเลยถูกนำเข้ามาอธิบายปรากฏการณ์นี้โดยอธิบายว่า exciton ประพฤติตัวเหมือนคลื่นที่กระโดดข้ามไปในทุกเส้นทางที่เป็นไปได้ในเวลาเดียวกันแล้วเลือกเส้นทางที่มีความน่าจะเป็นสูงสุด วิธีนี้พลังงานแสงจะไปถึง Reaction center อย่างรวดเร็วและไม่เสียพลังงานมากนัก... แต่คำอธิบายนี้ก็สร้างปัญหาว่า exciton จะไปถึง Reaction center ได้จริงหรือ? เพราะเมื่อ exciton ประพฤติตัวเหมือนคลื่น พอมันวิ่งกระจายออกไป มันก็มีโอกาสที่คลื่นจะสอดแทรกหักล้างกันเอง ทำให้ exciton ส่วนใหญ่ที่กระจายออกมาโดนกักอยู่ในเขตสอดแทรกหักล้าง ไปไม่ถึง Reaction center สักที อุปมาเหมือนคลื่นน้ำในสระที่มีตอเยอะแยะ คลื่นก็จะสะท้อนตอไปมาและหักล้างกันเอง ไม่เหลือไปถึงกลางสระ (ตอ ในที่นี้คือความไม่เสถียรหรือสิ่งปะปนในรงควัตถุรับแสง) ในปี 2008 นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและ MIT จึงเสนอทฤษฎีว่า exciton ในกระบวนการสังเคราะห์แสงกระโดดไปโดยวิธี "Quantum Walk" ซึ่งอธิบายว่าเจ้ากบ exciton ของเราจะประพฤติตัวตามหลักฟิสิกส์ควอนตัมโดยกระจายตัวเป็นคลื่นเพื่อเลือกเส้นทางที่เร็วที่สุดไว้ก่อน แต่เมื่อคลื่นวิ่งเข้าสู่เขตสอดแทรกหักล้าง แทนที่มันจะโดนกักอยู่อย่างนั้น การไหลรบกวนของโมเลกุลของเหลวในคลอโรพลาสต์ก็จะซัดแกว่งสมการคลื่น ส่งผลให้คลื่น exciton สามารถหลุดหนีออกจากเขตสอดแทรกหักล้างได้ด้วยหลักการตามฟิสิกส์แบบคลาสสิกเหมือนกบที่กระโดดข้ามใบบัว พอหลุดมาแล้ว คลื่น exciton ก็จะกระจายหาเส้นทางต่อไป วนรอบอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปถึง Reaction center วิธีนี้รับประกันว่ากบจะไปถึงกลางสระได้อย่างรวดเร็วและไม่หลงติดตกหล่นที่ตอตรงไหน ล่าสุด ทีมวิจัยที่นำโดย Filippo Caruso จาก University of Florence ได้สาธิตว่า Quantum Walk แบบลูกผสมของฟิสิกส์ควอนตัมและฟิสิกส์แบบคลาสสิกสามารถเกิดขึ้นได้จริงตามที่ทฤษฎีทำนายไว้ พวกเขาสร้างแผ่นเขาวงกตโปร่งใสขึ้นมาด้วยรูปแบบต่างๆ กัน ช่องกำแพงในเขาวงกตจะถูกวางไว้ห่างจากกันด้วยระยะที่กำหนดไว้เป็นอย่างดี หากกำแพงอยู่ชิดกันภายในระยะหนึ่ง อนุภาคแสงก็จะข้ามไปได้ด้วยการประพฤติตัวเป็นคลื่นอย่างฟิสิกส์ควอนตัม แต่หากกำแพงอยู่ห่างกัน อนุภาคแสงก็จะต้องกระโดดข้ามไปอย่างฟิสิกส์แบบคลาสสิก ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าในเขาวงกตที่อนุภาคแสงจะต้องใช้ทั้งฟิสิกส์ควอนตัมและฟิสิกส์แบบคลาสสิก ประสิทธิภาพการส่งผ่านพลังงานนั้นทำได้ดีกว่าเขาวงกตรที่บังคับให้อนุภาคแสงต้องข้ามด้วยฟิสิกส์ควอนตัมหรือฟิสิกส์แบบคลาสสิกอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของการส่งผ่านพลังงานในการทดลองนี้ยังห่างไกลจากประสิทธิภาพในกระบวนการสังเคราะห์แสงอยู่มาก นักวิจัยเชื่อว่าแม้ว่าจะยังไม่อาจเทียบชั้นกับธรรมชาติ แต่ความก้าวหน้านี้ก็อาจนำไปสู่การประยุกต์เทคโนโลยีโฟโตนิกส์ เช่น โซล่าร์เซลล์แบบใหม่ เป็นต้น งานวิจัยนี้ถูกนำขึ้นไว้อยู่ที่ arxiv.org/abs/1501.06438 ที่มา - MIT Technology Review via Science Alert
https://jusci.net/node/3413
ฟิสิกส์ควอนตัมอย่างเดียวไม่พอ: นักฟิสิกส์สาธิตฟิสิกส์ลูกผสมของกระบวนการสังเคราะห์แสง
บริษัทรถยนต์ Chevrolet ประกาศเดินหน้าผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ "Bolt EV" โดยจะวางขายจริงราวปี 2017 Bolt ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าซีรีส์ที่สามของ Chevrolet ต่อจาก Volt (ปี 2010) และ Spark EV (ปี 2013) เป้าหมายของ Chevrolet คือสร้าง Bolt ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูก ตั้งเป้าราคาขายที่คันละ 30,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1 ล้านบาท) และสามารถขับขี่ได้ไกล 200 ไมล์ (320 กิโลเมตร) ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ปัจจุบัน Bolt EV ยังเป็นรถต้นแบบ (Concept Car) เท่านั้น โดย Chevrolet จะเดินสายการผลิตที่โรงงาน Orion Assembly ในรัฐมิชิแกน โรงงานแห่งนี้จะได้รับเงินลงทุนเพิ่มอีก 200 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงสำหรับการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้า ที่มา - GM, Ars Technica
https://jusci.net/node/3414
Chevrolet เดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ Bolt EV ชาร์จหนึ่งครั้งวิ่งได้ไกล 320 กม.
นักวิทยาศาสตร์จาก SLAC National Accelerator Laboratory สามารถตรวจจับกระบวนการสร้างพันธเคมีได้เป็นครั้งแรก โดยอาศัยเลเซอร์เอกซเรย์ เพื่อตรวจจับกระบวนการสร้างพันธเคมี นักวิทยาศาสตร์ยึดอะตอมของคาร์บอนมอนนอกไซต์ (CO) เข้ากับแผ่นตัวนำ ruthenium จากนั้นจึงเพิ่มความร้อนจนกระทั่งออกซิเจนชนกับอะตอมของคาร์บอนมอนนอกไซต์ และแปลงเป็นคาร์บอนไดออกไซต์ นักวิทยาศาสตร์สังเกตกระบวนการนี้จากแสงเลเซอร์เอกซเรย์ ที่มา - SLAC
https://jusci.net/node/3415
จับข้อมูลก่อกำเนิดพันธเคมีครั้งแรกของโลก
Leonard Nimoy นักแสดงชาวอเมริกันผู้รับบทเป็น Spock ในภาพยนตร์ไซไฟซีรีส์ Star Trek ชุดต้นฉบับ เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 83 ปีจากอาการปอดอุดตันเรื้อรัง ความสำเร็จของ Star Trek สร้างฐานแฟนๆ ซีรีส์นี้เป็นจำนวนมาก และบทบาทของ Nimoy แม้จะเป็นแค่ "พระรอง" ของเรื่อง (Spock เป็นผู้ช่วยของกัปตัน Kirk) แต่ด้วยคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นทำให้บทของ Nimoy อาจเป็นที่จดจำมากกว่าตัวเอกเสียอีกในบางกรณี นอกจากบทบาทการแสดงเป็น Spock แล้ว เขายังมีผลงานภาพยนตร์อีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงการสวมบทผู้กำกับ และพากย์เสียงอีกด้วย (พากย์เสียงในการ์ตูน Sinbad, Atlantis รวมถึง Transformer และเกม Civilization IV, Kingdom Hearts) ที่มา - StarTrek.com
https://jusci.net/node/3416
Leonard Nimoy ผู้แสดงเป็น Spock ใน Star Trek เสียชีวิตแล้ว
Paul Allen ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ที่ภายหลังผันตัวไปทำงานด้านการกุศลและธุรกิจอื่นๆ (รวมถึงการสำรวจทะเลและอวกาศ) ประกาศว่าทีมงานของเขาค้นพบซากเรือรบ "มุซาชิ" ของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ถ้าใครติดตามการ์ตูนหรือภาพยนตร์ญี่ปุ่นในยุคสงครามโลก น่าจะพอคุ้นเคยว่ากองทัพญี่ปุ่นมีเรือรบขนาดยักษ์ "ยามาโตะ" เป็นเรือธง ส่วนมุซาชินั้นถือเป็นเรือรุ่นเดียวกับยามาโตะที่สร้างออกมาเพียงแค่ 2 ลำเท่านั้น เรือมุซาชิโดนจมไปในช่วงท้ายสงครามโลก (สมรภูมิที่อ่าว Leygulf ในประเทศฟิลิปปินส์ ปี 1944) โดยฝูงบินและเรือรบของสหรัฐอเมริกา และไม่เคยมีใครพบมันอีกเลย แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสังกัดของ Paul Allen ที่มีหุ่นยนต์เรือดำน้ำสำรวจใต้ทะเล (autonomous underwater robot) ไล่สแกนหาพื้นที่ในจุดที่เชื่อว่าเรือจม จนสามารถค้นพบซากเรือลำนี้ได้สำเร็จ ที่มา - Guardian, Paul Allen, @PaulAllen
https://jusci.net/node/3418
ทีมสำรวจของ Paul Allen ค้นพบซากเรือรบญี่ปุ่น "มุซาชิ" สมัยสงครามโลก
Stratolaunch เป็นบริษัทขนส่งอวกาศของ Paul G. Allen ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ โดยเขาร่วมลงทุนในบริษัทนี้กับ Burt Rutan แห่งบริษัทขนส่งอวกาศอีกแห่งคือ Scaled Composites Stratolaunch มีแนวคิดแปลกใหม่คือใช้ "เครื่องบินยักษ์" บินพาจรวดออกไปที่ชั้นบรรยากาศระดับสตราโตสเฟียร์ จากนั้นปล่อยจรวดแล้วให้จรวดติดเครื่องเพื่อดันตัวเองออกสู่อวกาศ (แทนการยิงจรวดจากพื้นดิน) เจ้าเครื่องบินที่ว่านี้มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า "Roc" และมีขนาดใหญ่มากๆ มีความยาวปีกถึง 117 เมตร (เทียบกับ Airbus A380 ที่ปีกยาวประมาณ 80 เมตร) Roc กำลังอยู่ระหว่างการสร้างอยู่ โดยจะเริ่มบินทดสอบในปีหน้า 2016 ระหว่างนี้ก็ดูภาพและวิดีโอของ Roc กันไปก่อนครับ ที่มา - Aviation Week, Gizmodo, ภาพประกอบจาก Wikipedia
https://jusci.net/node/3419
รู้จักเครื่องบินยักษ์ Stratolaunch Roc ที่ปีกยาวกว่าสนามฟุตบอล!
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมมือกับกรมการข้าว พัฒนาระบบพยากรณ์การอพยพของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว เพื่อใช้พยากรณ์พื้นที่ที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะอพยพเข้าไป ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนชาวนาได้ล่วงหน้าเพื่อให้เตรียมการรับมือต่อไป ระบบนี้แบ่งเป็นส่วนที่เป็นเว็บไซต์และส่วนที่เป็นแอพมือถือ ส่วนเว็บไซต์ใช้สำหรับให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลการทำนา และข้อมูลแมลงที่สำรวจจากแปลงนาของเกษตรกรโดยเข้าไปใช้ได้ตามลิงก์นี้ และส่วนที่เป็นแอพมือถือจะเป็นแอพ Android เพื่อใช้ในการถ่ายรูปเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่เจอในนาข้าวและแอพสำหรับอัพโหลดรูปไปยังเครื่องเซิร์ฟเวอร์ โดยมีชื่อแอพว่า Insect Shot และ Insert Server ตามลำดับ ผู้ใช้จะต้องระบุชื่อเจ้าของแปลงนาและกิจกรรมการสำรวจก่อนที่จะอัพโหลดขึ้นไป เมื่ออัพโหลดขึ้นไปแล้วระบบก็จะประมวลผลนับจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในภาพทำให้ประหยัดเวลาในการนับโดยใช้คนไปได้มาก เมื่อระบบมีข้อมูลตรงนี้และเมื่อรวมกับข้อมูลสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากกรมส่งเสริมการเกษตรย้อนหลัง 3-5 ปีแล้วก็จะสามารถสร้างแบบจำลองพยากรณ์ทิศทางการอพยพของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป เช่น เมื่อเจอเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่จังหวัดนี้ระบบก็สามารถพยากรณ์ได้ว่าอนาคตมันจะอพยพไปจังหวัดไหนต่อทำให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งเตือนชาวนาได้ล่วงหน้า โดยอนาคตยังมีโครงการที่จะพัฒนาโปรแกรมตรวจนับปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่เข้าไปในกับดักแสงไฟอีกด้วย ซึ่งกับดักแสงไฟนี้เจ้าหน้าที่จะใช้ในการตรวจสอบหรือเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูพืชตัวโปรแกรมนี้ก็จะลดขั้นตอนการนับด้วยแรงงานคนไปได้ อ่านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบนี้ได้จากลิงก์นี้ และท้ายข่าวก็จะมีคลิปที่อธิบายถึงการทำงานของระบบนี้ ที่มา - นสพ.แนวหน้า, เพจของสวทช.
https://jusci.net/node/3420
เนคเทคร่วมกับกรมการข้าวพัฒนาระบบพยากรณ์การอพยพของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ทุกวันนี้คนอยากได้เครื่องพิมพ์สามมิติอาจจะคิดไม่ค่อยออกว่าจะเอาไปทำอะไร แต่ของเล่นชิ้นล่าสุดอาจจะทำให้หลายคนไปซื้อเครื่องพิมพ์สามมิติมาเล่นกัน เมื่อ Eric Harrell วิศวกรเครื่องกลได้โพสพิมพ์เขียวของชุดเกียร์ Toyota W56 แบบ 5 ระดับทดพร้อมเกียร์ถอยหลังให้ดาวน์โหลดไปพิมพ์มาประกอบเล่นกันเองได้ ก่อนหน้านี้ Eric ได้โพสพิมพ์เขียวของเครื่องยนต์ Toyota 22RE มาก่อนแล้ว ชุดเกียร์ชุดนี้ก็ออกแบบมาไว้ทำงานคู่กันพอดี ชุดเกียร์พิมพ์เอาทั้งหมดยกเวนแท่งเหล็กที่ต้องใช้แท่งเหล็กสำหรับเครื่องบินบังคับวิทยุ ระยะเวลาพิมพ์ของชุดเกียร์นี้ยาวนานกว่า 48 ชั่วโมงบนเครื่องพิมพ์โอเพนซอร์ส Kossel Mini พิมพ์เขียวทั้งหมดเป็นสัญญาอนุญาตแบบ CC-BY-NC ดังนั้นหากใครจะเอาไปพิมพ์เล่นเอง หรือพิมพ์เพื่อการศึกษาไม่ได้เอาไปขายต่อก็ทำได้ทันที ที่มา - Atmel Blog, Thingverse
https://jusci.net/node/3423
ของเล่นสามมิติ เกียร์แมนนวล 5 ระดับ ของ Toyota W56 เปิดให้ดาวน์โหลดไปพิมพ์เล่นเอง
งานวิจัย STAP ที่อ้างว่าสามารถสร้างสเต็มเซลล์ได้ด้วยกระบวนการง่ายๆ และอาจจะเปิดโลกใหม่ให้กับการวิจัยสเต็มเซลล์ ถูกสอบสวนว่ามีการวิจัยอย่างไม่ถูกต้อง จนกระทั่งนักวิจัยหลักคือ ดร. โอโบกาตะ ต้องลาออกจากศูนย์วิจัยริเค็น ส่วนผู้วิจัยร่วมคือ โยชิกิ ซาไซ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฆ่าตัวตาย ตอนนี้ทางศูนย์วิจัยออกมาระบุว่าจะเรียกร้องค่าตีพิมพ์งานวิจัยคืนจาก โอโบกาตะเป็นเงิน 600,000 เยน ทางศูนย์วิจัยตัดสินใจว่าจะไม่ฟ้องร้องโทษอาญาจากการทำให้ศูนย์วิจัยเสียชื่อเสียง เพราะต้องเชื่อมโยงระหว่างชื่อเสียงของศูนย์กับการประพฤติผิดของนักวิจัยซึ่งทำได้ยาก ที่มา - Japan Times
https://jusci.net/node/3425
ผลจากงานวิจัย STAP ศูนย์วิจัยริเค็นเรียกค่าตีพิมพ์คืนจากโอโบกาตะ ไม่ฟ้องอาญา
exiii บริษัทจากหุ่นยนต์จากญี่ปุ่นเปิดตัวแขนกล handiii แขนกลราคาถูกสำหรับผู้พิการที่สามารถสั่งจากความคิดได้โดยตรง โดยอาศัยเซ็นเซอร์เก็บข้อมูล ECG แล้วไปประมวลผลในโทรศัพท์มือถือแทนที่จะใช้คอมพิวเตอร์เฉพาะ การใช้เทคโนโลยีง่ายๆ มาประกอบกันทำให้ handiii มีราคาต้นทุนเพียง 300 ดอลลาร์ต่อชิ้น handiii ยังผลิตด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ทำให้สามารถปรับแต่งการออกแบบสำหรับผู้ใช้แต่ละคนได้ การออกแบบใช้มอเตอร์เพียง 6 ชุดสำหรับแต่ละนิ้วแทนที่จะเป็นมอเตอร์ทุกข้อต่อ แม้จะมีข้อจำกัดมากขึ้นแต่การใช้งานโดยทั่วไปเช่นกันหยิบจับก็ยังสามารถใช้งานได้ และตัวแขนกลเองก็ทำงานเป็นโหมดต่างๆ เช่น ห้านิ้วสำหรับการหยิบของขนาดใหญ่, สามนิ้วสำหรับการหยิบของขนาดเล็ก, และการแสดงท่าทาง โบกมือ หรือสามนิ้วแสดงความรัก สำหรับการประมวลผลสัญญาณทำได้ง่ายขึ้น exiii ในตอนนี้ยังทำธุรกิจสร้างหุ่นยนต์เฉพาะทางสำหรับธุรกิจเท่านั้น โดยตัว handiii ยังไม่ได้วางขายปลีก คาดว่าเมื่อวางขายจริงราคาจะเพิ่มขึ้นไปจากต้นทุนการผลิต และการซัพพอร์ตลูกค้า ที่มา - 3D Print
https://jusci.net/node/3426
handiii แขนกลสำหรับผู้พิการ ต้นทุน 300 ดอลลาร์ อาศัยสมาร์ตโฟนและเครื่องพิมพ์สามมิติ
Johnson & Johnson ประกาศข้อตกลงกับกูเกิล โดยบริษัทลูก Ethicon ที่ทำด้านอุปกรณ์การแพทย์จะร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัด (surgical robotics) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีห้องผ่าตัดให้ก้าวหน้ากว่าเดิม การผ่าตัดในปัจจุบันนำหุ่นยนต์มาช่วย (robotic assisted) มากขึ้น เพราะช่วยให้แพทย์ควบคุมการผ่าตัดได้แม่นยำ ลดขนาดของบาดแผลและแผลเป็นลงได้ ที่มา - Johnson & Johnson
https://jusci.net/node/3427
Johnson & Johnson จับมือกูเกิล พัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัด
สถานทูตสหรัฐฯ ประกาศเปิดรับสมัครทุนสำหรับเยาวชนไทยอายุ 18 ถึง 35 ปี 3 คนไปดาวอังคาร เพื่อร่วมดูงานด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน 1 สัปดาห์ แม้ว่าจะเป็นการดูงานระยะสั้น แต่ระยะเวลาเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคารคือ 7 เดือนดังนั้นผู้ที่ผ่านทุนนี้จะต้องดังนั้นผู้ผ่านทุนจะต้องออกเดินทางตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เพื่อไปดูงานช่วงต้นปีหน้า ทางสถานทูตให้ผู้สมัครระบุว่าจะนำสินค้าใดไปขายที่ดาวอังคารด้วย ส่งใบสมัครได้ที่เว็บสถานทูตสหรัฐฯ นี่อาจจะเป็นโอกาสของคนไทยไปเปิดตลาดยางกิโลกรัมละร้อยบาทจริงๆ ที่มา - Facebook: U.S. Embassy Bangkok
https://jusci.net/node/3428
[April Fools] สถานทูตสหรัฐฯ เปิดรับสมัครทุนไปดาวอังคารหนึ่งสัปดาห์
ความพยายามสำคัญของ SpaceX คือการเก็บกู้จรวดขั้นที่หนึ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดกลับมาใช้งานใหม่ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา SpaceX ทดลองพยายามเก็บจรวดครั้งแรกแต่ล้มเหลว เมื่อวานนี้ SpaceX ก็มีภารกิจส่งสัมภาระขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติอีกครั้ง และทางบริษัทก็พยายามกู้จรวดขั้นที่หนึ่งอีกรอบ รอบนี้ทาง SpaceX มีโดรนบินเก็บภาพระยะไกลการลงจอดของจรวดขั้นที่หนึ่ง แสดงให้เห็นว่าจรวดลงจอดเกือบสำเร็จ แต่ลงมาเร็วจอดเร็วและเอียง ทำให้ทรงตัวไม่อยู่ล้มลงระเบิดไปในที่สุด จรวดขึ้นต้นเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ของการนำส่งสัมภาระขึ้นไปยังอวกาศ การนำกลับมาใช้ใหม่ได้จะช่วยลดต้นทุนของ SpaceX อย่างมาก และอาจจะทำให้ค่าส่งดาวเทียมถูกลงอย่างรวดเร็วในอนาคต ที่มา - ArsTechnica, @elonmusk
https://jusci.net/node/3429
SpaceX พยายามกู้จรวด Falcon ครั้งที่สอง ยังคงล้มเหลว
Airware บริษัทโดรนของสหรัฐอเมริกา เปิดตัว Aerial Information Platform (AIP) ระบบปฏิบัติการสำหรับโดรนที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยเจาะกลุ่มลูกค้าเป็นบริษัทที่อยากใช้งานโดรนกับองค์กรของตน แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญพอที่จะพัฒนาระบบปฏิบัติการเอง ก็สามารถซื้อไลเซนส์จาก Airware ได้ Airware บอกว่า AIP มีความสามารถครบครันทั้งด้านความปลอดภัย เสถียรภาพ มีความยืดหยุ่นสูง รองรับฮาร์ดแวร์หลายรูปแบบ และรองรับการใช้งานที่หลากหลายของแต่ละองค์กร สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เก็บจากโดรนส่งเข้าระบบไอทีขององค์กรได้ทันที ปัจจุบันมีบริษัทโดรนใช้ระบบปฏิบัติการ AIP แล้วหลายราย เช่น Delta Drone (France), Altavian (Florida), Allied Drones (California), Drone America (Nevada) การเปิดตัวระบบปฏิบัติการครั้งนี้จะทำให้บริษัทอื่นๆ ที่สนใจสามารถขอซื้อไลเซนส์ได้โดยตรง ซึ่งตอนนี้มียักษ์ใหญ่อย่าง GE เข้าร่วมแล้วหนึ่งราย ที่มา - Airware, TechCrunch
https://jusci.net/node/3430
Airware เปิดตัว "ระบบปฏิบัติการ" สำหรับโดรน
Tesla ผลิตรถไฟฟ้ามาหลายปีและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ตอนนี้ก็หันมาจับธุรกิจใหม่คือแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าในบ้าน ในชื่อ Powerwall Powerwall จะมีประโยชน์สำหรับบ้านที่จ่ายเงินค่าไฟตามเวลา (เมืองไทยเองก็มีบริการแบบนี้กันแล้ว) ผู้ใช้สามารถใช้ Powerwall ชาร์จไฟไว้ล่วงหน้าในเวลาที่ค่าไฟถูก หรือหากผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ได้เองก็สามารถชาร์จเก็บไว้ใช้ตอนกลับบ้านในเวลากลางคืน ในหลายประเทศบ้านที่ผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองและต้องกาขายไฟฟ้าคืนในกรณีที่ผลิตได้มากเกินไปจะต้องขายในราคาส่งเท่ากับโรงไฟฟ้าอื่นๆ ขณะที่หากซื้อจะต้องซื้อราคาปลีกซึ่งแพงกว่ามาก การเก็บไฟฟ้าไว้ใช้เองจึงคุ้มค่ากว่า ยิ่งสำหรับบ้านที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าแล้ว จะต้องเก็บไฟฟ้าที่ผลิตไว้ใช้เท่านั้นไม่เช่นนั้นต้องติดตั้งเครื่องปั่นไฟด้วยน้ำมัน ปัญหาการเก็บพลังงานไว้ใช้งานเวลาที่จำเป็นสำหรับการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถผลิตต่อเนื่อง เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นปัญหาใหญ่ของการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น เพราะตราบใดที่พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ไม่สามารถจ่ายพลังงานได้ตามการใช้งานจริงตลอดเวลา การบริหารพลังงานก็จำเป็นต้องสร้างโรงงานไฟฟ้าแบบอื่นๆ ขึ้นมาสำรองพลังงานกันไปเรื่อยๆ Powerwall ออกมาช่วงแรกสองรุ่น คือ 7kWh ราคา 3,000 ดอลลาร์ และรุ่น 10kWh ราคา 3,500 ดอลลาร์ ราคานี้ไม่รวมค่าติดตั้ง แต่แถมการรับประกันสิบปี และซื้อประกันเพิ่มได้อีกสิบปี นอกจากนี้ยังจะมีรุ่นขนาดใหญ่ในอนาคต เริ่มต้น 100kWh ที่มา - ArsTechnica
https://jusci.net/node/3435
Elon Musk เปิดตัวแบตเตอรี่ทำให้บ้านใช้ไฟมีประสิทธิภาพมากขึ้นจาก Tesla
ชากาแฟเคยเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่รายงานในช่วงหลังๆ ก็แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันมีผลดีในหลายกรณี เช่น ลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก, หญิงดื่มกาแฟมีแนวโน้มเป็นโรคเครียดน้อยกว่า ตอนนี้รายงานล่าสุดก็ระบุว่าการดื่มกาแฟมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, และโรคระบบทางเดินหายใจ รายงานศึกษาชาวญี่ปุ่นกว่าเก้าหมื่นคนอายุระหว่าง 40 ถึง 69 ปีที่ไม่มีประวัติโรคมะเร็ง, หลอดเลือดสมอง, หรือโรคหัวใจขาดเลือดมาก่อน แล้วติดตามผลนานเฉลี่ย 18.7 ปี มีผู้ที่เสียชีวิตระหว่างการศึกษาไปทั้งหมด 12,874 คน พบว่ากลุ่มคนที่ดื่มกาแฟจนเป็นนิสัยมีอัตราการเสียชีวิตรวมน้อยกว่าคนที่ไม่ดื่มกาแฟเลย โดยกลุ่มที่อัตราการเสียชีวิตรวมน้อยที่สุดคือกลุ่มที่ดื่มกาแฟวันละ 3-4 แก้ว แต่หากดื่มมากกว่า 5 แก้วต่อวันอัตราการเสียชีวิตจะเริ่มเพิ่มขึ้น แต่ยังน้อยกว่ากลุ่มไม่ดื่มกาแฟเลย อัตราการดื่มกาแฟยังสัมพันธ์ผกผันกับอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคโรคหัวใจ, หลอดเลือดในสมอง, ระบบทางเดินหายใจ สามโรคสำคัญที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของชาวญี่ปุ่น กรด Chlorogenic และคาเฟอีน ช่วยปรับระดับน้ำตาลในกระแสเลือด, ระดับความดัน, และบำรุงหลอดเลือดอาจเป็นกลไกที่ทำให้การเสียชีวิตโดยรวมของกลุ่มผู้ดื่มกาแฟน้อยกว่ากลุ่มผู้ไม่ดื่มกาแฟ รายงาน "Association of coffee intake with total and cause-specific mortality in a Japanese population: the Japan Public Health Center–based Prospective Study" ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ฉบับเดือนพฤษภาคม หมายเลข doi:10.3945/​ajcn.114.104273 ที่มา - The Japan Times
https://jusci.net/node/3436
รายงานการพบคนญี่ปุ่นที่ดื่มกาแฟลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจ, หลอดเลือดในสมอง, ระบบทางเดินหายใจ
โครงการ Astro Pi เตรียมนำ Raspberry Pi บินขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติไปพร้อมกับนักบินอวกาศสหราชอาณาจักร Tim Peake โดยเปิดให้นักเรียนทั่วแข่งกันเขียนโปรแกรมเพื่อให้ Peake นำขึ้นไปรันในอวกาศ ระหว่างนี้กระบวนการแข่งขันยังไม่จบ แต่กระบวนการเตรียม Raspberry Pi รุ่นพิเศษที่จะนำไปรันบนอวกาศก็ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า ทางโครงการ Raspberry Pi ได้เปิดเผยความพร้อมของ Raspberry Pi รุ่นพิเศษ สิ่งที่โครงการ Raspberry Pi ทำเคสรุ่นพิเศษเนื่องจากข้อกำหนดของโครงการ ISS ระบุว่าสิ่งที่จะนำขึ้นไปติดตั้งในสถานีจะต้องปล่อยความร้อนพื้นผิวไม่เกิน 45 องศาเซลเซียส โดยเคสรุ่นพิเศษจะใช้อลูมิเนียมเบอร์ 6063 ติดตั้งหน้าจอตาราง 8x8 และปุ่ม 6 ปุ่มเป็นจอยสติก สามารถติดตั้งเข้ากับขาตั้งในโมดูลของสถานีอวกาศเพื่อเล็งกล้องออกไปนอกหน้าต่างได้ จุดต่างสำคัญของอวกาศและโลกคือเมื่อบอร์ด Raspberry Pi ร้อน อากาศร้อนรอบๆ บอร์ดจะลอยตัวขึ้นด้านบนนำความร้อนออกไปจากตัวบอร์ดเป็นการพาความร้อน ขณะที่ในสถานีอวกาศอากาศร้อนจะลอยอยู่ที่เดิมและการระบายความร้อนจะทำได้ด้วยการนำความร้อนซึ่งอากาศปกตินำความร้อนได้ไม่ดีนัก แต่ในสถานีอวกาศนานาชาติก็มีระบบระบายอากาศที่ทำให้อากาศหมุนเวียนในสถานีที่ค่าหนึ่ง ตัวเคสจึงต้องระบายความร้อนออกมาได้มากพอที่จะระบายความร้อนได้ทันภายในสเปคการหมุนเวียนอากาศ เคสของ Astro Pi จึงเป็นเสาแท่งๆ เพื่อระบายความร้อนเสาละ 0.1 วัตต์ ตอนนี้ Astro Pi ผ่านการทดสอบแล้วสองขั้น และกำลังเข้าสู่ขั้นที่สามเพื่อขอรับรองให้ขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติได้ กระบวนการทดสอบ เช่น การทดสอบความร้อน, ทดสอบความร้อนในสภาพสุญญากาศ, ทดสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า, ทดสอบการสั่นสะเทือน, ทดสอบระบบไฟฟ้า เคสรุ่นพิเศษนี้จะไม่มีขาย แต่ทีมงาน Raspberry Pi ระบุว่าจะเปิดไฟล์ CAD ให้ไปผลิตใช้งานกันเองได้ ที่มา - Raspberry Pi
https://jusci.net/node/3438
Raspberry Pi เตรียมบุกสถานีอวกาศนานาชาติ
รหัสพันธุกรรมบนสาย DNA ไม่ใช่ข้อมูลเพียงอย่างเดียวที่กำหนดว่าสิ่งมีชีวิตจะได้ชีวิตแบบไหน มันยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กำหนดด้วยว่ายีนตัวไหนจะทำงานเปิดปิดเมื่อไรและที่ไหน ข้อมูลที่นอกเหนือรหัสพันธุกรรมเหล่านี้ทำให้สิ่งมีชีวิตแต่ละตัวในสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันมีลักษณะและการแสดงออกของยีนต่างกัน แม้แต่ฝาแฝดที่มีรหัสพันธุกรรมบน DNA เหมือนกันทุกประการก็ไม่มีทางที่จะเหมือนกันไปทุกกระเบียดนิ้ว นักชีววิทยาลักษณะความแปรผันที่เกิดจากปัจจัยนอกเหนือพันธุกรรมว่า Epigenetics หนึ่งในกระบวนการชีวเคมีที่สำคัญทาง Epigenetics คือ DNA methylation ซึ่งหมายถึงกระบวนการเติมหมู่ methyl (-CH3) เข้าไปที่เบสบนสาย DNA (ส่วนใหญ่จะเติมที่เบส Cystosine ซึ่งมีตัวย่อว่า C) ตำแหน่งเบสที่ถูกเติมหมู่ methyl จะทำให้โปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการถอดรหัส (transcription) เข้ามาเกาะได้น้อยลงและ/หรือทำให้โปรตีนที่เกาะอยู่กับเส้น DNA ตรงนั้นขดตัวมากขึ้น ส่งผลให้การถอดรหัสเกิดขึ้นได้น้อยลง ดังนั้น DNA methylation มักจะทำให้ยีนถูกปิดการทำงานลงอย่างถาวรในเซลล์นั้นๆ การควบคุมนี้เกี่ยวข้องกับการเติบโตพัฒนาของเอ็มบริโอและการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น ภาวะขาดแคลนอาหารจะทำให้ยีนบางตัวปิดการทำงานลง นอกจากนี้การแปะหมู่ methyl ยังทำหน้าที่ควบคุมรหัสพันธุกรรมแปลกปลอมที่อยู่ในจีโนมของเรา (retroelements) ไม่ให้เพ่นพ่านเปิดทำงานมั่วซั่วหรือส่งตัวเองแทรกกระจายไปยังจุดต่างๆ ของจีโนมด้วย ตามปกติแล้ว หลังจากการปฏิสนธิและแบ่งเซลล์ไม่นาน กลุ่มเซลล์ต้นกำเนิดแรก (primordial germ cell) ของเอ็มบริโอจะ "รีเซ็ต" ต้วเองเพื่อล้างหมู่ methyl ที่ถูกเติมไว้ทั้งหมด ไม่ว่า methyl หมู่นั้นๆ จะติดมาจากเซลล์สืบพันธุ์ของพ่อหรือของแม่ ผลของการรีเซ็ตนี้ทำให้ primordial germ cell กลับคืนสู่จุดเริ่มต้นแห่งการเป็นสเต็มเซลล์ สามารถแบ่งตัวและพัฒนาเปลี่ยนรูปร่าง (differentiation) ไปเป็นเซลล์อะไรก็ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์สังเกตมานานแล้วว่ารูปแบบของ DNA methylation บางส่วนสามารถส่งผ่านไปยังอีกรุ่นได้ การศึกษาเอ็มบริโอของหนูก็แสดงให้เห็นว่ากระบวนการรีเซ็ตนั้นไม่สมบูรณ์ มีบางส่วนบนสาย DNA ที่ทนทานต่อการรีเซ็ต มักจะรอดการล้างเครื่องได้เสมอๆ (อ้างอิง Magnúsdóttir et al., 2013 และ Nakaki et al., 2013) ล่าสุด ทีมวิจัยที่นำโดย Azim Surani แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ได้ศึกษากระบวนการรีเซ็ต DNA methylation ในเอ็มบริโอมนุษย์เป็นครั้งแรกด้วยเทคนิค RNA-seq (RNA Sequencing) ร่วมกับ Bisulfite sequencing ผลพบว่าบางส่วนของสาย DNA ของคนทนต่อการรีเซ็ต สอดคล้องกับผลที่พบในหนู สัดส่วนของส่วนที่มักหนีรอดการล้างเครื่องนี้คิดเป็นประมาณ 5% ของ DNA ทั้งหมดในจีโนมมนุษย์ ถึงตัวเลขสัดส่วนจะดูน้อยนิด แต่การวิเคราะห์ด้วยข้อมูล bioinformatics เผยให้เห็นว่ายีนที่มักรอดการล้างเครื่องเป็นยีนที่มีการแสดงออกในเซลล์ประสาท ความผิดปกติในยีนกลุ่มนี้มักจะส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ เช่น สคิโซฟรีเนีย, ความผิดปกติของกระบวนการเมตาบอลิซึม, โรคอ้วน นอกจากยีนสำคัญของเซลล์ประสาทแล้ว พวก retroelements ที่โดนแปะหมู่ methyl ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มักถูกยกเว้นไม่โดนล้างตอนรีเซ็ตจีโนม ผลการวิจัยนี้จึงเป็นหลักฐานอีกชิ้นที่ยืนยันหน้าที่สำคัญของกระบวนการ DNA methylation ในการช่วยปกป้องจีโนมของเรา งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Cell DOI: 10.1016/j.cell.2015.04.053 ที่มา - Press Release ของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ via ScienceAlert
https://jusci.net/node/3440
มนุษย์มีรหัสนอกพันธุกรรม 5% ที่รีเซ็ตไม่หาย
ปัญหาอุบัติเหตุจักรยานบนท้องถนนไม่ได้มีเฉพาะในไทย แต่สหรัฐฯ เองก็มีปัญหาอยู่ ทางแก้หนึ่งของรัฐเทนเนสซีคือออกกฎหมายให้รถยนต์ต้องเว้นระยะจากจักรยานอย่างน้อย 3 ฟุต โดยกฎหมายออกมาตั้งแต่ปี 2007 แต่กฎหมายกลับสร้างปัญหาใหม่คือตำรวจไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้จริง เพราะการวัดระยะห่างรถขณะกำลังวิ่งอยู่เป็นเรื่องทำได้ยาก ตอนนี้ทางตำรวจเริ่มทดสอบระบบวัดระยะด้วยเซ็นเซอร์อัลตร้าโซนิคเพื่อให้บังคับใช้กฎหมายได้จริง ชุดเซ็นเซอร์ประกอบไปด้วยกล้อง Go Pro, แท่นเซ็นเซอร์, และหน้าจอแสดงระยะ ราคาชุดละ 1,400 ดอลลาร์ ตอนนี้ตำรวจเมือง Chattanooga ในรัฐเทนเรสซีเริ่มทดสอบการใช้งานชุดเซ็นเซอร์นี้ และเรียกผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอมาตักเตือนแล้ว 17 ราย ค่าปรับการขับรถเข้าใกล้จักรยานเกิน 3 ฟุตอยู่ที่ 120 ดอลลาร์แต่ระหว่างนี้ทางตำรวจยังไม่ปรับจริงแต่เรียกคนขับเพื่อตักเตือนว่ามีกฎหมายนี้อยู่เสียก่อน ที่มา - ArsTechnica
https://jusci.net/node/3441
ตำรวจสหรัฐฯ เริ่มใช้เซ็นเซอร์วัดระยะบังคับกฎหมายป้องกันจักรยานบนท้องถนน
Stephen Hawking เข้าร่วมโครงการ Reddit AMA ตอบคำถามถึงความเสี่ยงของปัญญาประดิษฐ์ (AI) การถามตอบครั้งนี้จะยาวกว่าสัปดาห์ นับเป็น AMA ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Reddit เนื่องจากกระบวนการสื่อสารกับ Hawking จะต้องใช้เวลายาวนานกว่าปกติ ก่อนหน้านี้ Hawking เคยแสดงความเห็นถึงปัญญาประดิษฐ์ว่า "อาจจะเป็นความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ" กระทู้ถามตอบจะตั้งไว้ใน /r/science ที่มา - Engadget
https://jusci.net/node/3450
Stephen Hawking จะตอบคำถามใน Reddit AMA วันนี้
ชาร์ประบุว่าบริษัทเตรียมจะเปิดตัวเครื่องปรับอากาศที่ใช้ไฟฟ้ากระแสตรงภายในปีนี้ หลังจากประกาศแนวทางการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ากระแสตรงทั้งบ้านมาตั้งแต่ปี 2011 เหตุผลของการใช้ไฟฟ้ากระแสตรงคือบ้านยุคใหม่ใช้โซลาร์เซลล์มากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์และแบตเตอรี่จ่ายไฟเป็นกระแสตรงแต่กลับต้องมาเสียประสิทธิภาพไปกับการแปลงไฟเป็นกระแสสลับ ทำให้ประสิทธิภาพพลังงานหายไป 5-10% แนวทางของชาร์ปจะสร้างเครื่องใช้ไฟฟ้ากระแสตรงแทบทั้งบ้าน ทั้งทีวี, ตู้เย็น, หม้อหุงข้าว, และเครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงการชาร์จประจุไฟฟ้าเข้าไปยังรถยนต์ ในอนาคตบ้านทั้งหลังอาจจะมีตัวแปลงไฟฟ้าจากกระแสสลับมาเป็นไฟฟ้ากระแสตรงเพียงจุดเดียวและมีประสิทธิภาพสูง ส่วนภายในบ้านจะสามารถใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สมัยเอดิสันและเทสลาก็เป็นยุคของการแข่งขันระหว่างไฟฟ้าสองระบบ และจบด้วยชัยชนะของไฟฟ้ากระแสสลับ (แต่เทสลากลับยากจน) มาถึงยุคนี้การแข่งขันอาจจะกลับมาอีกรอบ ที่มา - Tech On, Sharp World
https://jusci.net/node/3452
กลับสู่ยุคกระแสตรง ชาร์ปเตรียมขายแอร์ไฟกระแสตรงปีนี้
สำนักข่าวซินหัวของจีนเผยแพร่ภาพการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ FAST ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เส้นผ่านศูนย์กลางถึง 500 เมตร เทียบกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่เปอร์โตริโกที่เคยครองแชมป์ใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 300 เมตร กำหนดการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2016 หลังจากเริ่มก่อสร้างในปี 2011 เมื่อสร้างเสร็จน่าจะจับสัญญาณวิทยุที่มีต้นกำเนิดได้ไกลถึงหมื่นล้านปีแสง ข้อมูลจาก FAST จะต้องการการพลังประมวลผล 200 เทราฟลอป และพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับช่วงแรกของการเปิดใช้งานทั้งหมด 10 เพตาไบต์การสร้าง Skyeye-1 เพื่อรองรับข้อมูลจาก FAST ลงนามตกลงกันไปแล้วเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่มา - Xinhuanet
https://jusci.net/node/3453
จีนประกาศความคืบหน้ากล้องโทรทรรศน์วิทยุ FAST ใหญ่ที่สุดในโลกเปิดใช้งานปีหน้า
Suntory ผู้ผลิตเครื่องดื่มจากญี่ปุ่นเตรียมนำวิสกี้ขึ้นไปบ่มบนสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อศึกษาผลกระทบจากสภาวะไร้น้ำหนักกับการบ่มวิสกี้ วิสกี้ที่จะถูกส่งขึ้นไปบ่มบนสถานีอวกาศนานาชาติมีตั้งแต่วิสกี้ที่เพิ่งผ่านการกลั่น ไปจนถึงวิสกี้ที่บ่มมาแล้ว 10 ปี, 18 ปี, และ 21 ปี ตัวอย่างวิสกี้ทั้งหมดจะถูกทิ้งไว้บนสถานีอวกาศนานาชาติอย่างน้อยหนึ่งปีก่อนจะนำกลับลงมาศึกษาต่อไป ทาง Suntory ระบุว่าบริษัทไม่มีแผนจะนำวิสกี้จากการทดลองนี้ออกขายแต่อย่างใด ที่มา - Rocketnews, The Register ที่มาภาพ - Suntory
https://jusci.net/node/3455
เพื่อวิทยาศาสตร์ Suntory เตรียมบ่มเหล้าบนสถานีอวกาศนานาชาติ
บ้านเราการติดตั้งเครื่องจ่ายน้ำยาล้างมือแบบไม่ใช้น้ำฟรีเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะช่วยลดโอกาสติดเชื้อจากจุดต่างๆ ได้ แต่ที่รัฐฟลอริดา มีปัญหาต่างออกไป เพราะแดดที่แรงมากทำให้เมืองนี้มีปัญหาคนเป็นมะเร็งผิวหน้งถึงหนึ่งในห้า ตอนนี้ทางเมืองไมอามีก็ตัดสินใจติดตั้งเครื่องจ่ายครีมกันแดดฟรี 50 จุดทั่วเมือง รวมถึงชายทะเลและสระว่ายน้ำ ครีมกันแดดที่ใช้จะเป็นแบบ SPF30 พร้อมป้องกัน UVA และ UVB นอกจากช่วยให้คนเข้าถึงครีมกันแดดได้ง่ายขึ้นแล้ว จุดจ่ายครีมกันแดดยังอาจจะช่วยกระตุ้นให้คนรู้ตระหนักว่าครีมกันแดดเป็นสิ่งจำเป็น แต่ยังมีข้อถกเถียงกันว่าในระยะยาวแล้วหากโครงการนี้จบลง คนโดยทั่วไปจะใช้ครีมกันแดดกันมากขึ้นหรือไม่ ที่มา - BBC ที่มาภาพ - Stilfehler
https://jusci.net/node/3464
เพื่อสุขภาพ ไมอามีเตรียมติดตั้งเครื่องจ่ายครีมกันแดดฟรี 50 จุดทั่วเมือง
Asuka Kamiya นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากจังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ได้รับสิทธิบัตร "เครื่องแยกขยะกระป๋องเปล่าต้นทุนต่ำ" จากงานประดิษฐ์ที่ได้รับคำแนะนำจากพ่อของเธอระหว่างปิดเทอมฤดูร้อน ถังขยะพลาสติกแยกระหว่างกระป๋องเหล็กและกระป๋องอลูมิเนียมโดยอาศัยแม่เหล็กดูดแยกกระป๋อง ขณะที่มีแผ่นพลาสติกโค้งรอรับเพื่อแยกกระป๋องออกสู่ถังเก็บ เธอระบุว่าสังเกตเห็นปู่ของเธอ9ต้องแยกประเภทกระป๋องจากถังขยะข้างตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่ติดตั้งอยู่หน้าบ้านของเธอ เธอจึงสร้างถังขยะนี้ขึ้นเพื่อให้แยกประเภทกระป๋องได้ทันทีที่ทิ้งลงถัง จนตอนนี้มีเด็กประถมญี่ปุ่นได้รับสิทธิบัตรไม่ถึงสิบคน ที่มา - Japan Times
https://jusci.net/node/3466
เด็กญี่ปุ่นอายุ 12 ปี ได้รับสิทธิบัตรเครื่องแยกขยะ
ศูนย์วิจัย Xerox PARC ประกาศความสำเร็จในการสร้างลายวงจรไอซีบนแก้วที่พร้อมแตกเป็นเสี่ยงๆ เมื่อได้รับความร้อนสูงพอ ในการสาธิต ทีมงานใช้วงจรที่ควบคุมด้วย photo diode เมื่อวงจรได้รับแสงเลเซอร์ทำให้กระแสครบวงจร ความร้อนจะทำให้ชิปทั้งแผ่นแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ทาง PARC คาดว่าชิปแบบนี้น่าจะใช้สำหรับการเก็บข้อมูลที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กุญแจเข้ารหัส ที่หากมีผู้พยายามบุกรุกก็สามารถทำลายตัวเองจนกระทั่งไม่สามารถกู้ข้อมูลคืนมาได้ โครงการนี้ได้รับทุนจาก DARPA มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเป้าหมายคือสร้างวัสดุราคาถูกที่สามารถทำลายตัวเองได้โดยเศษที่เหลืออยู่ในขนาดเล็กเป็นฝุ่นผง PARC ดัดแปลงกระจกจาก Gorilla Glass ที่ใช้ในโทรศัพท์ทั่วไป ที่มา - PC World
https://jusci.net/node/3467
ข้อความนี้จะทำลายตัวเองในห้าวินาที Xerox PARC ผลิตชิปทำลายตัวเอง
โครงการ SOHO ดาวเทียมที่ยิงขึ้นไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ตั้งแต่ปี 1995 มีส่วนสำคัญในการค้นพบดาวหาง (comet) จำนวนมาก ก่อนหน้าโครงการนี้มีบันทึกดาวหางเพียงประมาณ 900 ดวง (12 ดวงพบจากในอวกาศ) แต่หลังจากเริ่มโครงการนี้ก็มีการพบดาวหางโดยภาพจาก SOHO นับพันดวง โดยครบ 1000 ดวงในปี 2005 และครบ 2000 ดวงในปี 2010 และเมื่อวันที่ 13 ที่ผ่านมา ดาวหางดวงที่ 3000 ทึ่ค้นพบจากภาพของ SOHO ก็ถูกค้นพบโดยคุณวรเชษฐ์ บุญปลอด จากประเทศไทย (Twitter: @worachate) คุณวรเชษฐ์ระบุว่ามีความยินดีอย่างมากที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักชัยของโครงการ SOHO และขอบคุณองค์กรที่ร่วมในโครงการนี้ ทั้ง NASA, ESA, และ SOHO ที่เปิดโอกาส พร้อมกับขอบคุณนักล่าดาวหางอื่นๆ ก่อนหน้านี้คุณวรเชษฐ์คาดไว้ว่าการค้นพบดาวหางดวงที่ 3000 น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนสิงหาคมไปจนถึงต้นเดือนกันยายน การคาดการณ์นี้ไม่ผิดไปมากนัก การค้นหาดาวหางดวงที่ 3000 ของ SOHO มีการแข่งขันกันในหมู่นักล่าดาวหาง จัดโดยนาซ่าและมีของรางวัลเป็นหนังสือ, ดีวีดี, เข็มที่ระลึก, และป้ายจากนาซ่า ที่มา - NASA
https://jusci.net/node/3468
โครงการ SOHO ค้นพบดาวหางดวงที่ 3000 ผู้พบคือคุณวรเชษฐ์ บุญปลอด จากประเทศไทย
หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่า สถานีอวกาศนานาชาตินั้น จะมีการจัดการกับของเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเสียที่เกิดจากการขับถ่ายหนักของนักบินอวกาศบนสถานีได้อย่างไร ล่าสุด NASA ได้ออกมาเฉลยคำตอบดังกล่าวแล้วในภาพ infographic ที่ปล่อยออกมาเมื่อไม่นานนี้ NASA ระบุว่า นักบินอวกาศอย่าง Scott Kelly นั้นจะปล่อยของเสียจากการขับถ่ายหนักอยู่ที่ 180 ปอนด์ หรือประมาณ 82 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งของเสียเหล่านี้จะถูกปล่อย (discharged) ออกมาจากสถานีอวกาศนานาชาติเป็นระยะ แล้วให้เผาผลาญไปกับชั้นบรรยากาศโลกแบบเดียวกับดาวตกนั่นเอง ส่วนของเสียที่ได้จากการถ่ายเบาและเหงื่อนั้น จะถูกนำไปรีไซเคิลกลายเป็นน้ำดื่มให้กับนักบินอวกาศใหม่อีกครั้งหนึ่ง นักบินอวกาศก็ไม่ได้เป็นอาชีพที่สบายเสมอไป เช่นเดียวกัน ดาวตกที่เราอาจจะเข้าใจก็อาจไม่ได้เป็นดาวตกแบบที่เราคิดไว้เช่นกัน ที่มา - CNET
https://jusci.net/node/3469
ถ่ายแล้วไปไหน? NASA ระบุว่าของเสียจากการถ่ายหนักบนอวกาศ จะถูกปล่อยเพื่อให้เผาไหม้บนชั้นบรรยากาศโลก
นาซ่าประกาศการค้นพบหลักฐานว่ามีน้ำเป็นของเหลวบนดาวอังคารในรูปแบบของสารละลายเกลือ perchlorate จากเดิมที่เคยเชื่อกันว่าน้ำในรูปแบบของเหลวไม่สามารถคงสภาพอยู่ได้ เพราะระดับความกดอากาศต่ำทำให้น้ำน่าจะคงสภาพเป็นของเหลวที่ช่วงอุณหภูมิ 0-10 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่การค้นพบใหม่พบว่าผิวดาวอังคารเต็มไปด้วยเกลือ perchlorate ทำให้น้ำเหลือเข้มข้นเหล่านี้สามารถคงสภาพเป็นของเหลวได้ในช่วงอุณหภูมิที่กว้างขึ้น งานวิจัยใหม่ยืนยันว่าเส้นทางน้ำน่าจะเป็นเส้นทางใหม่ เส้นทางน้ำเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และขยายตัวในช่วงฤดูร้อนของดาวอังคารก่อนจะหายไป ทำให้เชื่อได้ว่าเส้นทางน้ำนี้เป็นเส้นทางเกิดใหม่ที่ยังเป็นวัฏจักร การที่มีน้ำในรูปแบบของเหลวบนผิวดาวอังคาร ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารมากขึ้น อย่างไรก็ดีสารละลายเกลือ perchlorate เช่นนี้จะสามารถรองรับสิ่งมีชีวิตได้หรือไม่ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ทางนักวิทยาศาสตร์ของนาซ่าระบุว่าความยากอย่างหนึ่งคือเรามีตัวอย่างดาวที่มีสิ่งมีชีวิตเดียวคือโลกของเราเอง และจนทุกวันนี้เรายังไม่เข้าใจแน่ชัดว่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร จนตอนนี้เส้นทางน้ำที่พบยังพบในหุบเขาที่เข้าถึงได้ยาก การส่งหุ่นยนต์ไปสำรวจยืนยันเส้นทางน้ำเหล่านี้โดยตรงอาจจะยังไม่สามารถทำได้เร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าจะมีทางน้ำในที่อื่นๆ ที่ยังไม่พบและสามารถเข้าสำรวจได้ง่ายกว่าเส้นทางที่พบแล้วตอนนี้ ความยากคือการถ่ายภาพความละเอียดสูงย้ำในจุดเดิมหลายๆ ครั้งในแต่ละปีเพื่อยืนยันว่าเส้นทางน้ำนั้นเป็นเส้นทางเกิดใหม่ ที่มา - NASA HD TV "Under certain circumstances, liquid water has been found on Mars" - Jim Green, NASA Planetary Science Director https://t.co/MvErxberG3 — NASA (@NASA) September 28, 2015 "These are dark streaks that form in late spring, grow through the summer & disappear in the fall" #MarsAnnouncement https://t.co/Q9wcpY28dn — NASA (@NASA) September 28, 2015
https://jusci.net/node/3471
นาซ่าพบหลักฐานหนักแน่นว่าดาวอังคารมีน้ำ
มิตซูบิชิอิเล็กทริกประกาศสร้างอาคารสาธิตในจังหวัดคากาวะ เป็นอาคารสามชั้น พื้นที่ใช้สอย 180 ตารางเมตร ความพิเศษของอาคารนี้คือมันจะใช้ไฟฟ้ากระแสตรงทั้งหลัง โดยทางมิตซูบิชิไม่ได้ระบุรายละเอียดสเปคไฟฟ้าที่ใช้ แต่ระบุว่าจะใช้ไฟฟ้ากระแสตรงความต่างศักย์ปานกลาง (ต่ำกว่า 1,500 โวลต์) แนวทางการใช้ไฟฟ้ากระแสตรงในอาคารได้รับความสนใจขึ้น จากการที่อุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวนมาก เช่น คอมพิวเตอร์ ใช้ไฟฟ้ากระแสตรงเป็นหลัก และเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ต้องสูญเสียพลังงานไปกับการแปลงไฟฟ้ากระแสสลับให้เป็นกระแสตรง ทางมิตซูบิชิระบุว่าอาคารนี้จะใช้สายไฟที่บางลง เพื่อต้นทุนในการวางสายไฟ ตอนนี้โลกของไฟฟ้ากระแสตรงยังเป็นช่วงเริ่มต้น ทางชาร์ปเองก็ออกมาผลิตเครื่องปรับอากาศใช้ไฟฟ้ากระแสตรงไปก่อนแล้ว ที่มา - Misubishi
https://jusci.net/node/3472
มิตซูบิชิเตรียมสร้างอาคารสาธิต ใช้ไฟฟ้ากระแสตรงทั้งหลัง
วันนี้ (6 ตุลาคม 2015) ณ สถาบัน Karolinska Institutet ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้มีมติตัดสินมอบรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี 2015 ให้แก่ William C. Campbell กับ Satoshi Omura และ Tu Youyou จากผลงานการค้นพบยารักษาปรสิตที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก William Campbell กับ Satoshi Omura ค้นพบยา Avermectin ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าปรสิตหลายชนิด ต่อมา Avermectin ก็ได้ถูกพัฒนาเป็นอนุพันธุ์หลายตัวรวมถึง Ivermectin ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าตัวอ่อนของพยาธิหนอนตัวกลมได้ชะงัด ผลงานของสองท่านนี้ทำให้อุบัติของโรคพยาธิตาบอด (River Blindness) และโรคเท้าช้าง (Lymphatic Filariasis) ทั่วโลกลดลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การค้นพบนี้มีจุดเริ่มจากห้องปฏิบัติการของ Satoshi Omura ที่เพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย Streptomyces ไว้หลากหลายสายพันธุ์และมุมานะทดลองคัดเลือกสายพันธุ์ที่สร้างสารปฏิชีวนะที่น่าสนใจไว้ถึง 50 สายพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือ Streptomyces avermitilis (ที่มาของชื่อ avermectin นั่นเอง) ที่แยกได้จากตัวอย่างดิน ต่อมาไม่นานนัก William Campbell ก็นำ Streptomyces สายพันธุ์ที่ Satoshi Omura คัดเลือกไว้ไปทดลองต่อ จนค้นพบวิธีสกัดสาร Avermectin บริสุทธิ์ออกมาได้ในปี 1978 Burg et al. 1979. Avermectins, New Family of Potent Anthelmintic Agents: Producing Organism and Fermentation. Antimicrobial Agents and Chemotherapy 15:361-367. Egerton et al. 1979. Avermectins, New Family of Potent Anthelmintic Agents: Efficacy of the B1a Component. Antimicrobial Agents and Chemotherapy 15:372-378. Tu Youyou ค้นพบยา Artemisinin ซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรียที่มีราคาถูก ช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคมาเลเรียจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ในปี 2011 Tu Youyou ก็เพิ่งได้รับรางวัล Lasker ไปด้วยผลงานเดียวกันนี้และตามมาด้วยความปั่นป่วนพอสมควรในวงการนักวิทยาศาสตร์จีน (อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้จากข่าวเก่า) เงินรางวัล 8 ล้านโครนสวีเดนจะแบ่งครึ่งโดย William Campbell กับ Satoshi Omura ได้ร่วมกันไปครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งเป็นของ Tu Youyou ที่มา - Nobel Prize Press Release
https://jusci.net/node/3473
รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ปี 2015
วันนี้ (วันที่ 6 ตุลาคม 2015) Göran K. Hansson เลขาธิการถาวรของราชสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนได้ประกาศผลมติการประชุมของคณะกรรมการรางวัลโนเบลว่ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2015 เป็นของ Takahashi Kajita กับ Arthur B. McDonald ในฐานะที่ค้นพบ Neutrino oscillation ซึ่งแสดงให้เห็นว่านิวตริโนเป็นอนุภาคที่มีมวล นิวตริโนเป็นอนุภาคที่มีมากที่สุดในเอกภพรองจากโฟตอน (อนุภาคแสง) อนุภาคนี้เกิดขึ้นจากบิ๊กแบง, ซุปเปอร์โนวา, ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันและฟิสชัน, การสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี ทุกวินาทีจะมีนิวตริโนหลายพันล้านตัววิ่งผ่านตัวเราด้วยความเร็วเกือบเท่าแสง สาเหตุที่เราไม่รู้สึกอะไรก็เพราะนิวตริโนนั้นแทบจะไม่ทำอันตรกิริยากับอะไรเลย ตัวมันเองก็เป็นกลางทางไฟฟ้า เครื่องมือทั่วไปไม่สามารถตรวจจับได้ การตรวจจับนิวตริโนส่วนใหญ่จะใช้เครื่องตรวจจับขนาดใหญ่มากๆ และฝังอยู่ใต้ดินลึกๆ เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน ตั้งแต่ประมาณปี 1960 นักวิทยาศาสตร์รู้สึกสงสัยกันเป็นอันมากว่าไม่ว่าจะตรวจวัดด้วยวิธีไหน นิวตริโนจากดวงอาทิตย์ที่วิ่งมาถึงโลกจะน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่ราว 2 ใน 3 เสมอ หนึ่งในทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์นี้คือนิวตริโนมีการแปลงร่างหรือที่เรียกว่า neutrino oscillation ในระหว่างทางจากดวงอาทิตย์มาถึงโลก นิวตริโนมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ electron neutrino, muon neutrino, และ tau neutrino (ตามอนุภาคประจุที่เป็นคู่ของมัน) นิวตริโนที่ผลิตออกมาจากดวงอาทิตย์มีแต่ electron neutrino ดังนั้นหากมันมีการเปลี่ยนชนิดไปเป็น muon neutrino และ tau neutrino ทุกอย่างก็จะลงตัวพอดีกับสิ่งที่สังเกตได้ ภาพจากเอกสาร Nobel Prize Press Release ในปี 1998 ก็มีหลักฐานการทดลองแรกที่สนับสนุนทฤษฎีนี้มาจากเครื่องตรวจจับนิวตริโน Super-Kamiokande ที่อยู่ใต้ดินลึก 1 กม. ในญี่ปุ่น เมื่อนิวตริโนวิ่งมาชนกับน้ำบริสุทธิ์กว่า 50,000 ตันในถังสูง 40 เมตรของ Super-Kamiokande มันจะปล่อยอนุภาคประจุที่เป็นคู่ของมันออกมา (สาเหตุที่ต้องใช้ถังน้ำใหญ่ขนาดนี้เพราะว่าโอกาสที่นิวตริโนจะชนกับอนุภาคอื่นนั้นน้อยมาก ในนิวตริโนประมาณแสนล้านตัวที่วิ่งผ่าน อาจจะมีแค่ไม่กี่พันตัวที่เกิดอันตรกิริยา) อนุภาคที่เกิดขึ้นจะมีความเร็วมากกว่าแสงในน้ำ ดังนั้นจึงเกิดแสงที่เรียกว่า Cherenkov light เรืองเป็นแสงสีฟ้าๆ ขึ้นมา นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุทิศทางและชนิดของนิวตริโนได้จากรูปร่างและความเข้มของลำแสง Cherenkov light เช่น ถ้านิวตริโนวิ่งทะลุลงมาจากฟ้า ลำแสงก็จะมีลักษณะกระจายพุ่งลง ส่วนนิวตริโนที่วิ่งผ่านแกนกลางโลกมาจากอีกซีกโลกหนึ่ง ลำแสงก็จะกระจายพุ่งขึ้น ทีมวิจัยที่นำโดย Takahashi Kajita พบว่าเครื่องตรวจจับ Super-Kamiokande เจอ muon neutrino ที่วิ่งลงสู่เครื่องตรงๆ มากกว่า muon neutrino ที่วิ่งมาจากอีกซีกโลก ทั้งที่มันควรจะเท่ากันหรือต่างกันไม่มาก เพราะนิวตริโนแทบจะไม่ทำอันตรกิริยากับอะไร ต่อให้หักลบโอกาสที่นิวตริโนจะวิ่งชนอะไรระหว่างที่มันวิ่งผ่านใจกลางโลก ตัวเลขก็ยังน้อยกว่าที่คาดคิดไว้มาก Takahashi Kajita จึงสรุปได้ว่า muon neutrino ที่มาจากอีกซีกโลกจำเป็นต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่า ดังนั้นมันจึงมีเวลาในการแปลงร่างไปเป็น tau neutrino มากกว่า ส่วนที่เปลี่ยนไปเป็น tau neutrino นี้แหละคือส่วนที่ขาดหายไป เนื่องจาก Super-Kamiokande ไม่สามารถตรวจจับ tauon (อนุภาคประจุของ tau neutrino) Y. Fukuda et al (Super-Kamiokande collaboration), “Evidence for Oscillation of Atmospheric Neutrinos”, Physical Review Letters 81, 1562 (24 August 1998) ต่อมาในปี 2001 หลักฐานอีกชิ้นที่ตอกทฤษฎี neutrino oscillation ให้แน่นเปรี๊ยะมาจาก Sudbury Neutrino Observatory (SNO) ในแคนาดา ซึ่งอยู่ใต้ดินลึก 2 กม. และใช้น้ำ 1,000 ตันเป็นตัวตรวจจับนิวตริโน ความพิเศษของน้ำใน SNO คือมันเป็น heavy water ซึ่งมีดิวทีเรียมเป็นองค์ประกอบแทนที่ไฮโดรเจนธรรมดา ทำให้มีโอกาสเกิดอันตรกิริยากับนิวตริโนมากขึ้น และ SNO ก็ออกแบบมาให้ตรวจจับนิวตริโนได้ทั้งสามแบบ ทีมวิจัยที่นำโดย Arthur McDonald ค้นพบว่า หากนับเฉพาะ electron neutrino ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ผลิตขึ้นที่ดวงอาทิตย์ เครื่องตรวจจับ SNO จะเจอนิวตริโนเพียง 1 ใน 3 ของที่คำนวณได้จากอัตราการแผ่นิวตริโนของดวงอาทิตย์ แต่หากนับรวมนิวตริโนทั้งสามแบบ จำนวนนิวตริโนที่ตรวจจับได้จะตรงกับปริมาณนิวตริโนจากดวงอาทิตย์ที่คำนวณได้อย่างพอดิบพอดี นั่นแปลได้อย่างเดียวว่า electron neutrino ได้แปลงร่างไปเป็น muon neutrino และ tau neutrino ในระหว่างทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลก Q.R. Ahmad et al (SNO collaboration), “Measurement of the Rate of νe + d → p + p + e− Interactions Produced by 8 B Solar Neutrinos at the Sudbury Neutrino Observatory”, Physical Review Letters 87, 071301 (13 August 2001) Q.R. Ahmad et al (SNO collaboration), “Direct Evidence for Neutrino Flavor Transformation from Neutral-Current Interactions in the Sudbury Neutrino Observatory”, Physical Review Letters 89, 011301 (1 July 2002) การค้นพบว่า neutrino oscillation เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในธรรมชาติ ทำให้นำไปสู่ข้อสรุปที่เหนือขึ้นไปอีกว่านิวตริโนต้องมีมวล เนื่องจากตาม Standard Model อนุภาคจะสามารถอธิบายได้ด้วยคลื่นที่มีความถี่สมมูลตามระดับพลังงานของมัน เมื่อเหล่าพลพรรคนิวตริโนวิ่งผ่านอวกาศ คลื่นอนุภาคนิวตริโนก็จะแทรกสอดกันทำให้เฟสคลื่นเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นการสั่นของลูกคลื่น (oscillation) ความถี่ของคลื่นนิวตริโนจึงเปลี่ยนแปลง ถ้านิวตริโนไม่มีมวล การเปลี่ยนแปลงความถี่นี้ก็จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนชนิดของอนุภาคนิวตริโน แต่หากนิวตริโนมีมวล การเปลี่ยนแปลงที่ความถี่ก็ย่อมหมายถึงการแปลงร่างของนิวตริโนกลับไปมาระหว่าง 3 แบบซึ่งมีมวลต่างกัน การค้นพบว่านิวตริโนมีมวล ทำให้มวลรวมของดาวฤกษ์และอนุภาคที่สังเกตได้ในเอกภพเพิ่มขึ้นไปจนพอตรงกับค่าที่คำนวณได้ มวลของนิวตริโนนั้นแม้จะน้อยแค่ไหน แต่ด้วยความที่มันมีมากมหาศาล พอรวมๆ กันมันก็เยอะอยู่ นักดาราศาสตร์ที่งงกับความคลาดเคลื่อนนี้อยู่นานก็คลายข้อข้องใจได้สักที ตอนนั้นใครจะไปนึกว่ามวลมหาศาลที่ขาดหายไปจากการคำนวณที่แท้แล้วคือมวลของอนุภาคผีตัวจิ๋วจ้อยอย่างนิวตริโน เงินรางวัล 8 ล้านโครนสวีเดนจะแบ่งให้ทั้งสองท่านเท่าๆ กัน ที่มา - Nobel Prize Press Release
https://jusci.net/node/3474
รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2015
วันนี้ (วันที่ 7 ตุลาคม 2015) ที่ประชุมคณะกรรมการรางวัลโนเบล ณ ราชสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน กรุงสตอกโฮล์ม ได้ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2015 ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ 3 ท่าน คือ Tomas Lindahl, Paul Modrich และ Aziz Sancar เนื่องด้วยผลงานการศึกษากลไกการซ่อมแซม DNA นับตั้งแต่การค้นพบ DNA และหน้าที่ของมันในฐานะสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่า DNA เป็นโมเลกุลที่เสถียรมากพอ มิฉะนั้นแล้วพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตจะกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วเลยเถิดจนไม่สามารถเกิดวิวัฒนาการได้อย่างสมดุล แต่ในราวปี 1970 Tomas Lindahl เริ่มจะสงสัยในข้อสรุปที่ทึกทักเอาจากผลไปหาเหตุแบบนี้ เพราะเขาค้นพบว่า DNA ในแบคทีเรียโดยเฉพาะที่ลำดับเบส Cytosine มีความเสียหายเกิดขึ้นได้บ่อยๆ Cytosine มักจะสูญเสียหมู่อะมิโนแล้วกลายเป็นเบสอีกตัวที่ชื่อ Uracil คราวนี้ Uracil ก็จะเข้าคู่กับ Adenine แทน ทำให้ลำดับเบสผิดเพี้ยนไปจากเดิม (Cytosine จะจับคู่กับ Guanine) แต่ Tomas Lindahl พบว่ามันน่าแปลกประหลาดมากที่ความผิดเพี้ยนลักษณะนี้ส่วนใหญ่ไม่ถูกส่งผ่านไปยังแบคทีเรียรุ่นต่อไป แปลว่าแบคทีเรียต้องมีกลไกอะไรสักอย่างที่แก้ไขความเสียหายในพันธุกรรมของตัวเอง Tomas Lindahl ค้นคว้าทดลองลงลึกไปจนค้นพบเอนไซม์ที่ชื่อว่า glycosylase เอนไซม์ตัวนี้มีหน้าที่ตรวจหาเบส Uracil ใน nucleotide ของ DNA ถ้าเจอปุ๊บ มันก็จะตัดเบสตัวนั้นทิ้ง เหลือ nucleotide ไร้เบสโล่งๆ ตรงตำแหน่งนั้น รอให้เอนไซม์อีกตัวเข้ามาตัดซาก nucleotide ไร้เบสออกไป และเอา nucleotide ที่มีเบส Cytosine ถูกต้องเข้ามาเติมเต็ม กระบวนการนี้เรียกว่า "Base excision repair" Lindahl, T. (1974) An N-Glycosidase from Escherichia coli That Releases Free Uracil from DNA Containing Deaminated Cystosine Residues, Proc. Nat. Acad. Sci. USA, 71(9), 3649–3653 หลังจากที่ Tomas Lindahl ค้นพบว่า DNA มีความเสียหายได้และสิ่งมีชีวิตมีกลไกการซ่อมแซม DNA มันก็นำไปสู่ข้อสงสัยอีกว่าความเสียหายแบบอื่นที่ไม่ใช่การเสียหมู่อะมิโนของ Cytosine เช่น ความเสียหายจากรังสี UV จะถูกซ่อมอย่างไร คำถามนี้ได้รับคำตอบโดยผลการศึกษาที่เสนอโดย Aziz Sancar ในปี 1983 Aziz Sancar ทำการทดลองกับแบคทีเรียที่มียีนกลายพันธุ์ uvrA, uvrB และ uvrC จนในที่สุดก็พบว่า Thymine dimer ซึ่งเกิดขึ้นบนสาย DNA ที่โดนรังสี UV จะกระตุ้นในเกิดกระบวนการซ่อมแซมที่เรียกว่า "Nucleotide excision repair" กระบวนการนี้เริ่มด้วยการใช้เอนไซม์ตัด nucleotide ที่มี Thymine dimer ออกไป แต่มันไม่ได้ตัดเฉพาะตำแหน่งนั้น เอนไซม์จะเหมาตัด nucleotide ข้างๆ ออกไปด้วย ส่วนที่ถูกตัดจะมีความยาวประมาณ 12-13 nucleotides ทำให้เหลือเป็นช่องว่างโล่งๆ จากนั้น DNA polymerase ก็จะใช้ DNA อีกเส้นเป็นแม่แบบเติมเต็มเส้น DNA โล่งๆ ตรงนั้น Sancar, A. and Rupp, W. D. (1983) A Novel Repair Enzyme: UVRABC Excision Nuclease of Escherichia coil Cuts a DNA Strand on Both Sides of the Damaged Region, Cell, 33(1), 249–260. ส่วนคนสุดท้าย Paul Modrich ค้นพบกระบวนการซ่อมแซมที่เรียกว่า "Mismatch repair" ซึ่งเป็นการแก้ไขลำดับเบสที่จับคู่กันผิดเพี้ยนให้ถูกต้อง ในการจำลองตัวเองของ DNA แต่ละครั้ง จะมีเบสจำนวนหนึ่งจับคู่ผิด นั่นคือ Adenine ไปจับกับ Cytosine (ที่ถูกต้องจับกับ Thymine), หรือ Guanine ไปจับกับ Thymine (ที่ถูกต้องจับกับ Cytosine) การจับคู่ผิดแบบนี้เล่นเอานักชีววิทยางุนงงว่าเซลล์สิ่งมีชีวิตรู้ได้อย่างไรว่าเบสตัวไหนในคู่ที่มันผิด การทดลองของทีมวิจัย Paul Modrich ใช้เทคนิคทางชีวเคมีสร้าง DNA ที่มีคู่เบสผิดคู่จำนวนมากแล้วใช้ไวรัสนำ DNA ผิดปกตินี้เข้าไปในแบคทีเรีย จนในที่สุดพวกเขาก็เจอว่าเคล็ดลับที่ทำให้เซลล์แยกแยะ DNA เส้นที่มีเบสถูกต้องคือองค์ประกอบเล็กๆ ที่เรียกว่าหมู่ methyl (-CH3) นั่นเอง ก่อนที่ DNA จะจำลองตัวเอง มันจะมีกระบวนการที่เรียกว่า DNA methylation ซึ่งเข้าไปเติมหมู่ methyl ไว้บนสาย DNA เพื่อให้เซลล์จำได้ว่านี่คือ DNA เส้นเดิม (ที่มีเบสถูกต้อง) หลังจากนั้นเมื่อ DNA จำลองตัวเองแล้วมีคู่เบสผิดคู่เกิดขึ้น เซลล์ก็จะใช้ DNA เส้นเดิมที่มีหมู่ methyl แปะอยู่เป็นตัวตรวจสอบความถูกต้อง nucleotide บน DNA เส้นที่ไม่มีหมู่ methyl จะถูกตัดตรงตำแหน่งความผิดพลาดแบบเหมายกส่วน (คล้ายกับ Nucleotide excision repair) แล้วรอให้ DNA polymerase มาเติมเต็มช่องว่างนั้น Lahue, R. S, Au, K. G. and Modrich, P. (1989) DNA Mismatch Correction in a Defined System, Science, 245(4914), 160–164. เงินรางวัล 8 ล้านโครนสวีเดนจะแบ่งให้ทั้งสามท่านเท่าๆ กัน ที่มาข่าวและภาพ - Nobel Prize Press Release
https://jusci.net/node/3475
รางวัลโนเบลสาขาเคมีปี 2015
ตามงานวิจัยล่าสุดในกลุ่มสตรีวัยหมดประจำเดือนโดยคุณหมอ Rebecca Thurston จาก University of Pittsburgh ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัย โดยพบว่า อาการร้อนวูบวาบยิ่งเป็นบ่อย ยิ่งอาจมีความเสียงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในงานวิจัยนี้ได้นำกลุ่มสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการร้อนวูบวาบ มาทำ อัลตราซาวนด์เส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอ (Carotid artery) สิ่งสำคัญที่พบคือกลุ่มมีอาการร้อนวูบวาบบ่อยรุนแรง (Super flashers) ก็จะยิ่งมีความหนาตัวของหลอดเลือดแดงที่ชั้นในและกลาง (Tunica intima & Tunica media) หนากว่าอย่างมีนัยสำคัญ การหนานี้เชื่อว่าสัมพันธ์กับภาวะที่เรียกว่า เส้นเลือดแข็งและหนาตัว (Atherosclerosis) อันเป็นที่ทราบอบ่างแน่นอนในปัจจุบันแล้วว่าเป็นต้นกำเนิดของโรคหัวใจและเส้นเลือดหลายชนิด เช่น โรคเส้นเลือดสมองหรือที่เราๆชอบเรียกกันว่าอัมพฤกษ์อัมพาต (Cerebrovascular accident; CVA or Stroke)โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction) โรคเส้นเลือดตีบตันส่วนปลายของแขนขา (Peripheral vascular disease) เป็นต้น แสดงกลไกการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดโดยผนังหลอดเลือดหนาตัวมากขึ้นเรื่อยๆจนตีบ และขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจในที่สุด อย่างไรก็ดีงานวิจัยนี้ยังเป็นงานวิจัยใหม่ที่พบความสัมพันธ์ที่มาพร้อมกันของอาการร้อนวูบวาบกับเส้นเลือดที่หนาตัว จึงยังสรุปไม่ได้ว่าการที่เส้นเลือดหนาตัวเป็นส่วนที่เกิดก่อนหรือเกิดตามหลังจากอาการร้อนวูบวาบจากการหมดประจำเดือนกันแน่ และงานวิจัยนี้ยังวิจัยในกลุ่มประชากรที่เล็ก การใช้ความหนาของหลอดเลือดเป็นตัวประเมินความเสี่ยง โรคหัวใจก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ อีกทั้งอาการร้อนวูบวาบมักพบอยู่แล้วทั่วไปในสตรีวัยใกล้หมดและหมดประจำเดือนอาจจำเป็นต้องศึกษาในกลุ่มประชากรที่ใหญ่กว่านี้ งานวิจัยนี้จึงไม่ได้เปลี่ยนแนวทางการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในปัจจุบัน ที่มา - Medscape, กลไกแสดงการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด Myocardial infarction
https://jusci.net/node/3477
อาการร้อนวูบวาบอาจสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด
SpaceIL จากอิสราเอลลงนามเข้าร่วมโครงการ Google Lunar XPRIZE (GLXP) รางวัล 30 ล้านดอลลาร์สำหรับเอกชนที่สามารถส่งยานไร้มนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ได้สำเร็จ ข้อกำหนดของการสำรวจคือยานต้องสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์อย่างน้อย 500 เมตร และส่งภาพและวิดีโอความละเอียดสูงกลับมาสู่โลก SpaceIL ระบุว่าซื้อระวางบรรทุกจาก SpaceX เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นระวางหลักร่วมกับผู้ซื้อรายอื่นและพื้นที่ระวางรองอีกส่วนหนึ่ง ที่มา - SpaceIL, XPRIZE
https://jusci.net/node/3478
SpaceIL ลงนามเข้าร่วม XPRIZE เตรียมส่งยานสำรวจดวงจันทร์ในปี 2017
รถยนต์อันโนมัติถูกพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ หลายบริษัทเริ่มระบุว่าการขับขี่ของรถยนต์อัตโนมัตินั้นปลอดภัยกว่าคนขับขี่แล้ว แต่ปัญหาสำคัญคงเป็นปัญหาทางกฎหมายที่ต้องวางกฎหมายใหม่ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหากรถยนต์อัตโนมัติเหล่านี้ก่ออุบัติเหตุ ตอนนี้วอลโว่ผู้ผลิตรถยนต์จากสวีเดนก็ออกมาแสดงท่าทีว่าผู้ผลิตรถยนต์เองควรรับผิด หากเกิดอุบัติเหตุจากรถอัตโนมัติเหล่านี้ Håkan Samuelsson ซีอีโอของวอลโว่ระบุว่าหากผู้ผลิตใดไม่พร้อมรับผิดชอบต่อความเสียหายจากระบบอัตโนมัติก็ไม่ควรพัฒนาระบบอัตโนมัติเช่นนี้แต่แรก บริษัทอื่นที่กำลังพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ เช่น กูเกิล และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ออกมาแสดงท่าทีแบบเดียวกัน สาเหตุส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุมาจากความผิดพลาดของผู้ขับขี่ และรถอัตโนมัติทำสถิติความปลอดภัยได้อย่างดีเยี่ยม กูเกิลเปิดเผยตัวเลขว่าตลอด 6 ปีและระยะทาง 1.6 ล้านไมล์ หรือ 2.6 ล้านกิโลเมตรเกิดอุบัติเหตุเพียง 11 ครั้งโดยรถอัตโนมัติไม่ใช่ฝ่ายผิดเลย อัตราความผิดพลาดที่ต่ำเช่นนี้ทำให้ต้นทุนการประกันภัยที่บริษัทรถต้องจ่ายหากขายรถยนต์อัตโนมัติจริงน่าจะต่ำมาก กฎหมายในสหรัฐฯ เริ่มเปิดให้ทดสอบรถยนต์อัตโนมัติเหล่านี้ในบางรัฐ ทาง National Highway Traffic Safety Administration ระบุว่ากำลังวิจัยแนวทางเพื่อให้สามารถทดสอบรถยนต์เหล่านี้ได้ในวงกว้างมากขึ้น ที่มา - Engadget
https://jusci.net/node/3481
ใครเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายจากรถยนต์อัตโนมัติ? Volvo ระบุผู้ผลิตรถต้องรับผิดชอบ
Addyi (flibanserin) ยารักษาอาการสูญเสียความต้องการทางเพศสำหรับผู้หญิง (hypoactive sexual desire disorder - HSDD) เริ่มวางจำหน่ายแล้วหลังได้รับอนุมัติจาก FDA มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงกันว่า flibanserin สามารถใช้ได้จริงหรือไม่ รายงานของ Sprout Pharmaceuticals บริษัทผู้พัฒนายานี้ระบุว่าผู้ที่รักษาด้วยยานี้สามารถเพิ่มเพศสัมพันธ์ที่น่าพึงพอใจได้ 0.5 - 1 ครั้งต่อเดือน จากกลุ่มตัวอย่าง 2,400 คน อย่างไรก็ดี ทาง FDA เดือนว่ายานี้ห้ามทานพร้อมแอลกอฮอล์หรือยาบางประเภท จากอาการข้างเคียงเช่น เป็นลม, มึนงง, และคลื่นไส้ ข้อจำกัดอีกอย่างคือ flibanserin ต้องทานยาทุกวัน ทำให้ความเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงมากขึ้น FDA อนุญาตให้แพทย์ที่ได้รับการอบรมจาก Sprout เขียนใบสั่งยานี้ได้ และเภสัชกรที่จ่ายยานี้ก็ต้องได้รับการอบรมเช่นกัน Valeant Pharmaceuticals ประกาศเข้าซื้อ Sprout ทันทีหลังยาได้รับอนุมัติด้วยมูลค่าพันล้านดอลลาร์พร้อมสัญญาจ่ายเพิ่มเติมตามเงื่อนไข ขณะที่ตลาดยาแก้อาการ HSDD อาจจะมีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ ที่มา - NBC, Drugs.com, Japan Times
https://jusci.net/node/3482
flibanserin ยารักษาอาการสูญเสียความต้องการทางเพศสำหรับผู้หญิง เริ่มวางขายในสหรัฐฯ
มหาวิทยาลัยวาเซดะประกาศถอดปริญญาเอกของ Haruko Obokata ที่จบการศึกษาไปตั้งแต่ปี 2011 และโด่งดังขึ้นมาจากงานวิจัย stimulus-triggered acquisition of pluripotency (STAP) ที่ระบุถึงกระบวนการสร้างสเต็มเซลล์จากเซลล์ปกติด้วยกระบวนการที่ง่ายมาก แต่ปรากฎว่าห้องวิจัยอื่นไม่สามารถทำซ้ำงานวิจัยได้ จนกระทั่งต้องยื่นถอนรายงานวิจัยออกจากวารสาร Nature ในที่สุด หลังมีประเด็นกับงานวิจัย วิทยานิพนธ์สมัยปริญญาเอกของ Obokata ก็ถูกสอบสวนและพบว่ามีเนื้อหาที่เหมือนกับเอกสารอื่นจำนวนมาก แถมยังมีจุดบกพร่องจนทางมหาวิทยาลัยขอให้เธอกลับมาแก้ไขภายในเวลาหนึ่งปี Obokata ยื่นเรื่องขอขยายเวลาแก้ไขวิทยานิพนธ์ไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ถูกปฎิเสธ ส่งผลให้ปริญญาเอกของเธอถูกถอนในที่สุด มหาวิทยาลัยวาเซดะเป็นหนึ่งในองค์กรที่เสียชื่อจากเหตุการณ์งานวิจัย STAP ที่สร้างความเสียหายให้กับศูนย์วิจัยริเค็นอย่างหนัก และวารสาร Nature ที่ตีพิมพ์รายงานวิจัยทั้งที่มีข้อบกพร่องหลายประการ ทางมหาวิทยาลัยวาเซดะเองหลังมีการขุดงานวิจัยของ Obokata ก็พบว่ากระบวนการตรวจสอบวิทยานิพนธ์มีปัญหาเช่นกัน ที่มา - Japan Times ภาพอาคารในมหาวิทยาลัยวาเซดะ โดย John Paul Antes
https://jusci.net/node/3485
Obokata นักวิจัย STAP ถูกถอดปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ
ทีมบรรณาธิการวารสารวิจัยด้านภาษา Lingua รวมบรรณาธิการ 6 คนและกรรมการ 31 คนประกาศลาออกหลังจากไม่สามารถเจรจากับทาง Elsevier เพื่อให้ปรับวารสารเป็นแบบเข้าถึงได้ฟรี โดยทีมงานจะทำหน้าที่ถึงปลายปีนี้และจะเปิดวารสารใหม่ ชื่อว่า Glossa ทาง Elsevier คิดค่าสมาชิกสำหรับห้องสมุดที่มีสมาชิก 10,000 คน อยู่ที่ปีละ 2,211 ดอลลาร์สำหรับสมาชิกแบบออนไลน์ และ 1,966 ดอลลาร์สำหรับฉบับพิมพ์ ขณะที่ Johan Rooryck บรรณาธิการบริหารได้รับค่าตอบแทนปีละ 5,000 ยูโร หรือ 5,500 ดอลลาร์ ทีมบรรณาธิการระบุว่าไม่สบายใจเนื่องจากห้องสมุดเริ่มร้องเรียนว่าจ่ายค่าสมาชิกไม่ไหว หรือบางครั้งการสอบถามราคาก็ยุ่งยาก ส่วนทาง Elsevier ระบุว่าทีมบรรณาธิการใหม่จะเข้ารับหน้าที่ในปีหน้าเพื่อดูแลวารสารต่อไป ความขัดแย้งระหว่างนักวิจัยที่ต้องหาทุนมาทำวิจัย, จ่ายค่าตีพิมพ์, แล้วยังต้องจ่ายค่าเข้าอ่านงานวิจัยของคนอื่นๆ ทำให้นักวิจัยจำนวนมากมองว่าสำนักพิมพ์กำลังเอาเปรียบ รัฐบาลหลายชาติเริ่มสนใจที่จะสนับสนุนการเปิดงานวิจัยให้เข้าอ่านได้ฟรี เช่น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดีวารสารเปิดที่เกิดขึ้นจำนวนมาอย่างรวดเร็วมีรายงานว่ามีปัญหาคุณภาพต่ำอยู่เรื่อยๆ วารสารบางส่วนเลือกทางสายกลาง เช่น วารสาร Language ปรับค่าสมาชิกสำหรับห้องสมุดเหลือ 300 ดอลลาร์ และรายงานวิจัยจะถูกปิดไว้สำหรับสมาชิกเพียงหนึ่งปี หลังจากนั้นจะเปิดสู่สาธารณะ หรือหากนักวิจัยอยากให้เปิดเผยงานวิจัยสู่สาธารณะทันทีก็เลือกจ่ายค่าตีพิมพ์เพิ่มอีก 400 ดอลลาร์ได้ ที่มา -Inside Higher Ed
https://jusci.net/node/3486
ทีมบรรณาธิการวารสาร Lingua ลาออกยกคณะ ประท้วง Elsevier ไม่ยอมปรับเป็น Open Access
ข่าวดีสำหรับเทรคคีครับ เมื่อซีรีส์ Star Trek กำลังถูกนำกลับมาสร้างและฉายทางทีวีในเดือนมกราคม 2017 ช่อง CBS ซึ่งเป็นเจ้าของซีรีย์ดังกล่าว ประกาศว่าจะนำซีรีส์ Star Trek กลับมาสร้างฉายใหม่อีกครั้ง หลังจากหยุดออกอากาศทางทีวีไปเมื่อปี 2005 กับซีรีส์ชุด Enterprise โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มออกอากาศทางช่องทีวีของเครือข่ายในเดือนมกราคม 2017 แล้วหลังจากนั้นจึงปล่อยแบบสตรีมมิ่งตามมาครับ ด้านเนื้อหา แม้จะได้ Alex Kurtzman ที่เคยรับหน้าที่ผู้เขียนบทร่วมให้กับภาพยนตร์ Star Trek สองตอนล่าสุด มานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสร้างให้กับซีรีส์ก็ตาม แต่เขาเผยว่าเรื่องราวในภาคซีรีส์นี้ จะเป็นการสร้างตัวละครใหม่และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวจากภาพยนตร์แต่อย่างใด อดใจรอดูรอชมกันอีกไม่นาน และท้ายนี้ก็ขอให้ยั่งยืนและรุ่งเรืองครับ \\//, ที่มา: BBC, Geek.com
https://jusci.net/node/3487
ซีรีส์ Star Trek ได้ฤกษ์หวนคืนจอแก้วต้นปี 2017
รายงานการตรวจบัญชีระหว่างปีงบประมาณ 2011 ถึง 2014 ของศูนย์วิจัยริเค็น พบว่าใช้เงินไปกับงานวิจัย STAP ที่พบว่างานวิจัยบกพร่องจนต้องขอถอนรายงานวิจัยออกจากวารสาร Nature ไปทั้งสิ้น 145 ล้านเยน ค่าใช้จ่ายแบ่งเป็นการวิจัยเอก 53.2 ล้านเยน เป็นค่าอุปกรณ์ไปเส่ีย 22.8 ล้านเยน และค่าบุคลากรอีก 16.3 ล้านเยน แต่ค่าใช้จ่ายในการสอบสวนหลังจากงานวิจัยถูกตั้งคำถามและเกิดประเด็นฉาว กลับใช้เงินถึง 91.7 ล้านเยน ที่มา - Japan Times
https://jusci.net/node/3489
ผลสอบบัญชีศูนย์วิจัยริเค็น 4 ปีใช้งบประมาณไปกับงานวิจัย STAP 145 ล้านเยน
ข้อจำกัดสำคัญของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์คือไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอดเวลาเหมือนพลังงานจากเชื้อเพลิง ทางออกคือการสร้างศูนย์เก็บพลังงานในเวลากลางวันและจ่ายไฟออกมาในเวลากลางคืน ศูนย์เหล่านี้มีราคาแพง แต่ทางออกใหม่ที่เป็นไปได้คือการใช้แบตเตอรี่รีไซเคิลมาจากรถไฟฟ้า ทาง Daimler AG ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในเยอรมัน ร่วมลงทุนกับ Mobility House AG และ GETEC เปิดศูนย์ REMONDIS SE ศูนย์แบตเตอรี่ขนาด 13MWh ใช้แบตเตอรี่ใช้แล้วจากรถยนต์มาเก็บพลังงาน แนวทางนี้ทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ที่ปกติไม่ยาวนัก เพราะหากแบตเตอรี่เริ่มเสื่อมจะกระทบกับระยะทางที่วิ่งได้ สามารถนำมาใช้ได้อีกนานเท่าตัวจึงจะปลดระวาง คาดว่าศูนย์ REMONDIS SE จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบกริดไฟฟ้าได้ในต้นปี 2016 ที่มา - Daimler
https://jusci.net/node/3490
Daimler เตรียมเปิดศูนย์เก็บพลังงานขนาด 13 MWh, ใช้แบตเตอรี่รีไซเคิลจากรถยนต์
FDA หรือองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ประกาศรับรองปลา AquAdvantage ที่ดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้เติบโตได้รวดเร็ว ใช้อาหารเลี้ยงโดยรวมลดลง 25% กระบวนการพิจารณาอาศัยการเปรียบเทียบระหว่างเนื้อปลา AquAdvantage และปลาแซลม่อนแอตแลนติกธรรมดาพบว่าไม่มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ AquAdvantage ระบุว่าปลาแซลม่อนสามารถเติบโตจนกระทั่งมีขนาด 4 กิโลกรัมได้ในเวลา 600 วัน ขณะที่ปลาแซลม่อนธรรมดาต้องเลี้ยงต่อไปอีกกว่า 200 วันจึงได้ขนาดเท่ากัน ที่มา - ArsTechnica, AquaBounty ภาพประกอบปลาแซลม่อนแอตแลนติกโดย Artizone
https://jusci.net/node/3491
FDA รองรับปลาแซลม่อน GM ให้จำหน่ายเป็นอาหารได้
ความพยายามสร้างจรวดที่สามารถนำจรวดท่อนแรกกลับมาใช้งานซ้ำได้ เป็นความฝันของอุตสาหกรรมอวกาศยานที่ต้องการลดต้นทุนการขนส่งสัมภาระขึ้นไปยังอวกาศ ความพยายามที่ผ่านมาของ SpaceX ยังล้มเหลว แต่วันนี้ Blue Origin ก็ประกาศความสำเร็จในการนำจรวด New Sheperd ลงจอดได้อย่างนิ่มนวล หลังขึ้นไปถึงระดับความสูง 329,839 ฟุต หรือประมาณร้อยกิโลเมตร Blue Origin ยังไม่ได้ใช้งานนำส่งสัมภาระใดๆ ขึ้นไปยังไปยังวงโคจร ต่างจาก Falcon 9 ของ SpaceX ที่ทำภารกิจส่งสัมภาระขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง การใช้งานของ Blue Origin อาจจะมีคุณค่าในแง่ของการท่องเที่ยว ที่มันสามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปสัมผัสภาวะไร้น้ำหนักได้นาน 4 นาที SpaceX พยายามพัฒนาระบบลงจอดของยานนำส่งขั้นแรกนี้มานาน และเคยสาธิตเป็นวิดีโอของยาน Grasshopper แต่ที่ผ่านมาจรวด Falcon 9 ที่มีขนาดใหญ่กว่ามากกลับไม่สามารถลงจอดได้สำเร็จ ที่มา - ArsTechnica ที่มาภาพ - Blue Origin The rarest of beasts - a used rocket. Controlled landing not easy, but done right, can look easy. Check out video: https://t.co/9OypFoxZk3 — Jeff Bezos (@JeffBezos) November 24, 2015
https://jusci.net/node/3492
Blue Origin ผู้ผลิตจรวดของ Jeff Bezos ลงจอดหลังขึ้นถึงความสูงร้อยกิโลเมตรได้สำเร็จ
Rhona Applebaum ผู้บริหารฝ่ายวิทยาศาตร์และสุขภาพของ The Coca-Cola Company หรือโค้ก ลาดออกจากบริษัทหลังจากมีเรื่องอื้อฉาวถึงการจ่ายเงินสนับสนุนกลุ่มวิจัยที่รายงานผลวิจัยเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ก่อนหน้าโค้กจ่ายเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์ให้กับกลุ่มวิจัย Global Energy Balance Network โดยรายงานของ The New York Times ระบุว่าโค้กไม่ได้เพียงสนับสนุนงานวิจัย แต่เข้าไปเลือกหัวหน้ากลุ่ม, ร่างเป้าหมายการทำงาน, และออกแบบเว็บ โดยกลุ่มวิจัยพยายามโน้มน้าวสังคมว่าปัญหาโรคอ้วนไม่ได้เกิดจากการกินอย่างเดียวแต่เกิดจากการออกกำลังกายไม่เพียงพอ เงินทุน 1.5 ล้านดอลลาร์จ่ายเข้าคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย Colorado ทั้งสิ้น 1 ล้านดอลลาร์ แต่มหาวิทยาลัยคืนเงินจำนวนดังกล่าวกลับไปยังบริษัท ขณะที่สำนักข่าว AP รายงานถึงอีเมลการพูดคุยระหว่างกลุ่มวิจัยกับ Applebaum แสดงให้เห็นว่ากองทุนวิจัยนี้มุ่งเป้าสนับสนุนโค้กเป็นหลัก เช่น ห้ามใช้สีน้ำเงินในเว็บไซต์ Muhtar Kent ซีอีโอของโค้กยอมรับว่าบริษัทไม่ทำความสัมพันธ์กับกลุ่มวิจัยให้โปร่งใสเพียงพอ และหลังจาก Applebaum ลาออกไปแล้วจะยังไม่มีการหาคนมาแทนที่ในตำแหน่งเดิมอีก แต่จะยกเครื่องแคมเปญสุขภาพของบริษัท ที่มา - ArsTechnica, US News, The New York Times
https://jusci.net/node/3493
ผู้บริหารโค้กลาออก เพราะประเด็นจ่ายเงินโน้มน้าวงานวิจัย
ปัญหาสินค้าปลอมที่ใช้บรรจุภัณฑ์ของจริงที่ใช้แล้วมาบรรจุใหม่เป็นปัญหาที่แบรนด์หลักๆ พบกันทั่วโลก โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาแพง งาน IoT Technology 2015 ที่โตเกียว มีสาธิตแนวทางการใช้ป้าย NFC เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเช่นนี้ โดยอาศัยวงจรที่พิมพ์ลงบนฉลาก (printed electronics) ทำเป็นป้าย NFC หากมีการเปิดบรรจุภัณฑ์วงจรจะขาดและข้อมูลที่อ่านได้จะเปลี่ยนไป จุดเด่นของการใช้ป้าย NFC แบบนี้คือผู้ใช้สามารถตรวจสอบสินค้าได้จากโทรศัพท์มือถือโดยตรง เพียงอ่านข้อมูลตัวแอปพลิเคชั่นก็จะแจ้งทันทีว่าบรรจุภัณฑ์นี้เคยเปิดมาหรือยัง เทคโนโลยี NFC Opensense พัฒนาโดยบริษัท Thin Film Electronics จากนอร์เวย์ ที่มา - Tech-On
https://jusci.net/node/3494
แก้ปัญหาเหล้าปลอมด้วยป้าย NFC
สายการบิน All Nippon Airways (ANA) ของญี่ปุ่น ประกาศแผนการนำเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) มาใช้เป็นพลังงานของเครื่องบิน โดยตั้งเป้าว่าจะต้องใช้กับเที่ยวบินพาณิชย์ให้ทันโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ANA จะใช้เชื้อเพลิง biofuel ที่ทำจากสาหร่ายขนาดเล็ก (algae) ของบริษัท Euglena Corporation ที่จะสร้างโรงงานผลิตในปีหน้าที่เมืองโยโกฮามา และตั้งเป้าผลิตให้ได้ปีละ 125,000 ลิตร รูปแบบการใช้งานจะผสม biofuel สัดส่วน 10% ของน้ำมันทั้งหมด ปัจจุบันมีสายการบินอื่นที่ทดสอบเชื้อเพลิง biofuel ได้แก่ Virgin Atlantic และ Japan Airlines (JAL) ที่มา - Euronews, The Japan Times
https://jusci.net/node/3495
ANA ประกาศใช้เชื้อเพลิง Biofuel กับเที่ยวบินพาณิชย์ภายในปี 2020
Fujitsu Laboratories ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องชาร์จที่ใช้ทรานซิสเตอร์ gallium nitride (GaN) สร้างเครื่องชาร์จจ่ายพลังงาน 12 วัตต์ ที่ขนาดเล็กเท่าๆ กับที่ชาร์จไอโฟน (ซึ่งจ่ายพลังงาน 5 วัตต์เท่านั้น) ตัวเครื่องชาร์จมีปริมาตร 15.6 ลูกบาศก์เซนติเมตร ประสิทธิภาพสูงสุด 87% เมื่อจ่ายพลังงาน 3 วัตต์ และลดลงเหลือ 80% เมื่อจ่ายพลังงาน 12 วัตต์ กำลังไฟ 12 วัตต์เพียงพอสำหรับการชาร์จแท็บเล็ตหรือชาร์จเร็วสำหรับโทรศัพท์มือถือ GaN มีความได้เปรียบวัสดุอื่นๆ ที่ทรานซิสเตอร์จะทำงานที่ความต่างศักย์สูงกว่าทรานซิสเตอร์อื่นๆ เช่น ซิลิกอน หรือแกลเลียมอาร์เซไนด์ เครื่องชาร์จต้นแบบจะแสดงในงาน Tokyo Big Sight วันพรุ่งนี้ ยังไม่มีกำหนดว่าจะออกเป็นสินค้าจริงเมื่อใด ที่มา - Fujitsu
https://jusci.net/node/3496
ฟูจิตสึพัฒนาเครื่องชาร์จ GaN สร้างที่ชาร์จ 12W ขนาดเล็กที่สุดในโลก
SpaceX ประกาศความสำเร็จในการนำจรวด Falcon 9 ขั้นแรก (first stage) ลงจอดที่ฐานจอด LZ-1 สำเร็จแล้ว หลังจากพยายามนำจรวดขั้นแรกลงจอดมาแล้วก่อนหน้านี้สองครั้งบนแท่นลอยน้ำไร้คนขับแต่ล้มเหลว ก่อนหน้านี้การจอดบนยานไร้คนขับมีพื้นที่ขนาดเล็กมาก ความกว้างเพียง 150 ฟุต ขณะที่ขาหยั่งจรวดกว้างถึง 60 ฟุต รอบนี้ SpaceX เลือกจอดบนฐานจอด พร้อมกับปรับปรุงตัวจรวด Falcon 9 เพิ่มกำลังขับและปรับโครงสร้างให้แข็งแรงขึ้น ที่มา - @SpaceX
https://jusci.net/node/3497
SpaceX นำส่งดาวเทียม ORBCOMM-2 พร้อมนำจรวดขั้นแรกลงจอดสำเร็จ
Boston Dynamics บริษัทหุ่นยนต์ในสังกัดกูเกิล เจ้าของหุ่นหมาไร้หัวที่เดินได้ในภูมิประเทศขรุขระ (ข่าวเก่า) ต้อนรับคริสต์มาสปี 2015 ด้วยหุ่นยนต์ "กวางเรนเดียร์" พร้อมซานตาคลอส (อันหลังนี่เป็นคนนะครับ) ขบวนซานตาคลอสของ Boston Dynamics ใช้หุ่นยนต์หมารุ่นล่าสุด Spot จำนวน 3 ตัว เอามาใส่เขาให้ดูเหมือนกวางขึ้นอีกสักหน่อย (แต่ก็ยังหลอนอยู่ดี) แล้วนำมาลากเลื่อนที่มีพนักงานสาวแต่งตัวเป็นซานตาคลอสอยู่บนนั้น ดูแล้วอาจหลอนๆ นิดหน่อย แต่นี่คือความก้าวหน้าของโลกหุ่นยนต์ครับ ที่มา - Gizmodo
https://jusci.net/node/3498
ต้อนรับคริสต์มาสแบบ Boston Dynamics ด้วยหุ่นยนต์กวางเรนเดียร์
SpaceX พยายามกู้ตรวจ Falcon 9 อีกครั้งหลังจากครั้งที่แล้วประสบความสำเร็จในการลงจอดบนฐานจอด รอบนี้ SpaceX กลับไปพยายามลงจอดจรวดบนโดรนลอยน้ำอีกครั้ง ทาง Elon Musk ประกาศว่าการลงจอดครั้งนี้สำเร็จบางส่วน เพราะสามารถลงจอดจนดับเครื่องได้สำเร็จ แต่ขาหยั่งกลับล็อกไม่สำเร็จทำให้จรวดล้มลง แม้การลงจอดบนฐานจอดจะสำเร็จ แต่การจอดบนโดรนกลางทะเลเป็นเป้าหมายสำคัญเพราะจะทำให้ความเร็วขณะแยกจรวดทำได้สูงกว่าเพราะไม่ต้องกังวลถึงการกลับมายังฐาน โดยการกลับฐานได้จรวดจะต้องมีความเร็วไม่เกิน 6,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่หากลงจอดบนยานลอยน้ำได้ จะทำความเร็วปลายก่อนแยกส่วนได้ถึง 9,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนหน้านี้ทาง SpaceX ได้ทดสอบจรวด Falcon 9 ที่กู้คืนจากครั้งที่แล้วพบว่ามีเครื่องยนต์หนึ่งเครื่องเสียหายไป โดยทาง SpaceX ตั้งใจว่าจะไม่นำจรวดชุดนี้กลับไปใช้ใหม่ตั้งแต่แรก ที่มา - Mashable Falcon lands on droneship, but the lockout collet doesn't latch on one the four legs, causing it to tip over post landing. Root cause may have been ice buildup due to condensation from heavy fog at liftoff. A video posted by Elon Musk (@elonmusk) on Jan 17, 2016 at 7:07pm PST
https://jusci.net/node/3499
SpaceX กู้จรวดขั้นต้นไม่สำเร็จหลังขาตั้งยานหักหลังลงจอด
ความพยายามนำจรวดขั้นแรกกลับมาใช้งานใหม่เป็นหนึ่งในหลักชัยของอุตสาหกรรมอวกาศเพราะมันจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสัมภาระขึ้นไปยังอวกาศอย่างมหาศาล และวันนี้ SpaceX ก็สามารถนำจรวด Falcon 9 ลงจอดบนโดรนลอยน้ำได้เป็นผลสำเร็จ นี่เป็นครั้งที่สองที่ SpaceX สามารถนำจรวด Falcon 9 กลับมาลงจอดได้สำเร็จ แต่ครั้งก่อนหน้านี้เป็นการลงจอดบนฐานจอดบนพื้นดิน การลงจอดบนโดรนเป็นเป้าหมายสำคัญของ SpaceX เพราะบริษัทต้องการอิสระในการเลือกจุดลงจอด เพื่อให้จรวดสามารถนำส่งสัมภาระไปยังเป้าหมายได้อย่างอิสระ โดยจะมีภารกิจเพียงครึ่งเดียวที่จะลงจอดบนพื้นดินได้ ในระยะยาว SpaceX คงต้องพิสูจน์ว่าจรวดที่นำกลับลงมาได้นี้จะสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้โดยมีต้นทุนที่ต่ำลง จากบทเรียนกระสวยอวกาศของนาซ่าที่กลับมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าจรวดธรรมดาเสียอีก โดยจรวดชุดแรกที่สามารถนำกลับลงจอดได้นั้นไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ หากจรวดชุดนี้ทดสอบสำเร็จก็อาจจะได้นำกลับมาใช้ใหม่ในกลางปีนี้ หากจรวดขั้นต้นสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ราคาการยิงจรวดแต่ละรอบจะลดลงจาก 61 ล้านดอลลาร์เหลือ 43 ล้านดอลลาร์ ที่มา - ArsTechnica
https://jusci.net/node/3502
SpaceX นำจรวด Falcon ลงจอดบนโดรนลอยน้ำสำเร็จ
ทุกข์? สุข? เหงา? เศร้าใจ? ยิ้ม โกรธกัน ขอโทษกันไปกันมาเพื่ออะไร ขั้นตอนวิธี (algorithm) ใหม่สามารถทำนายภาวะซึมเศร้าจากโพสต์ในอินสตาแกรม (Instragram) ของผู้ใช้ได้แม่นยำถึง 70% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในการวินิจฉัยของมนุษย์ที่ทำได้แม่นยำเพียง 42% Andrew Reece จากมหาวิทยาลัย Harvard และ Chris Danforth จากมหาวิทยาลัย Vermont ที่ Burlington ได้ทำการสำรวจสุขภาพจิตของผู้ใช้จำนวน 155 คน และตั้งขั้นตอนวิธีเพื่อให้ทำสืบค้นผ่านรูปกว่า 43,950 รูป เพื่อมองหาสัญญาณหรือข้อบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า ที่ผู้ใช้เหล่านั้นโพสต์ลงไปบนโซเชียลมีเดีย ผลปรากฎว่า ผู้คนที่มีภาวะซึมเศร้ามักโพสต์ภาพถ่ายที่มีโทนฟ้าหรือมืด หรือมีการใช้ฟิลเตอร์แบบขาวดำ พวกเขามีแนวโน้มที่จะโพสต์รูปที่มีหน้าคนหลายหน้าแต่จำนวนหน้าคนนั้นน้อย Danforth หนึ่งในผู้ทำวิจัยกล่าวว่า ข้อบ่งชี้อาจรวมไปถึงการรูปถ่ายตัวเอง (selfies) เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัวที่ลดน้อยลง “และมันก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายสูงอะไรเลยด้วย มันเป็นอะไรที่สามารถทำแอพใส่ในโทรศัพท์ใช้ทั่วไปยังได้เลย” Danfroth กล่าวเสริม แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นกว่าการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้งานอาจทำได้ยาก เนื่องจากมีเรื่องความลับระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเข้ามาเกี่ยวข้อง Megan Moreano จากโรงพยาบาลเด็ก Seattle ได้ให้ความเห็นไว้ (จุดนี้ผู้เขียนก็ไม่เข้าใจว่าอย่างไร ใครเข้าใจขอความกรุณาด้วยครับ) ที่มา : NewScienctist
https://jusci.net/node/3506
รูปแบบการโพสต์ IG อาจใช้ทำนายโรคซึมเศร้าได้
แทบจะเรียกได้ว่าปิดแลบฉลองกันเลยทีเดียว เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสีเป็นครั้งแรกของโลก (กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนตัวแรกของโลกสร้างขึ้นเมื่อปี 1931 เกือบ100ปี!) ดีใจขนาดไหนนั้น อาจจะลองจินตนาการดูว่า ตั้งแต่เกิดมาเห็นสิ่งของรอบกายเป็นขาวดำมาตลอด แล้วอยู่มาวันนึงคุณเดินเข้าไปในร้านดอกไม้แล้วเห็นดอกไม้หลากสีวางอยู่ตรงหน้า! เกร็ดความรู้ - กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนสามารถขยายภาพได้ถึง10ล้านเท่า ทำให้สามารถส่องดูเซลล์ ไวรัส แบคทีเรีย หรือแม้กระทั่งอะตอมของธาตุได้ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนสีนี้ใช้เวลาถึง15ปีในการพัฒนา โดยใช้เทคนิคการใส่โลหะหายากของแถวแลนทาไนด์ที่ต่างกันสามชนิดลงไปเป็นชั้นๆเหนือเซลล์บนสไลด์ที่ใช้ในกล้อง จากนั้นกล้องก็จะตรวจจับการเสียอิเล็กตรอนของโลหะแต่ละชนิดแล้วแปลงผลที่ได้เป็นสี (โลหะแต่ละชนิดจะมีพลังงานในการยึดเหนี่ยวอิเล็กตรอนเป็นค่าเฉพาะตัว) ในเบื้องต้นนี้ทีมผู้วิจัยสามารถสร้างได้เพียงสามสี คือ แดง เขียว และเหลืองเท่านั้น แล้วมันสำคัญอย่างไร นักวิทยาศาสตร์แค่อยากจะอาร์ทเท่านั้นเหรอ คำตอบคือไม่ใช่ การประสบความสำเร็จในการสร้างภาพสีช่วยให้เราแยกความคอนทราสของวัตถุที่มีความคอนทราสต่ำได้ จากภาพ ทีมวิจัยสามารถเห็นรายละเอียดเส้นใยโปรตีนเบียดเข้าไปในเยื่อหุ้มเซลล์แบบที่ภาพขาวดำไม่เคยทำได้มาก่อน รอติดตามเวอร์ชันขบวนการเรนเจอร์(ห้าสี) เร็วๆนี้ ที่มา - Science Cell
https://jusci.net/node/3507
สีสันสดใสกับเซลล์
ทีมนักวิจัยได้ตีพิมพ์บทความวิชาการลงในนิตยสาร Nature กล่าวถึงการใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์อนุภาคอันอาจเป็น "ส่วนผสม" สำคัญของสสารมืดโดยวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเอกภพ และพบว่าอนุภาคที่คำนวณได้มีมวลสอดคล้องกับที่ตั้งสมมติฐานไว้ในแบบจำลองมาตรฐาน (standard model) และ quantum chromodynamics (QCD) สสารมืด (dark matter) เป็นชื่อเรียกมวลสารในเอกภพซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังตรวจจับไม่ได้โดยตรง แต่รู้ว่ามีอยู่โดยวิเคราะห์จากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของมัน อันส่งผลต่อการหดขยายตัวของเอกภพและการโคจรของกาแล็กซี โดยประเมินว่าสสารมืดนี้มีอยู่ถึงร้อยละ 22 ของมวล-พลังงานทั้งหมดเอกภพ (วัตถุที่ตรวจจับได้มีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 74 คือพลังงานมืดซึ่งส่งผลให้เอกภพขยายตัว ตรงข้ามกับสสารมืดที่ส่งผลให้เอกภพหดตัว) นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามวิเคราะห์หาอนุภาคอันเป็น "ส่วนผสม" ของสสารมืดนี้ จากสมบัติที่ตรวจจับได้ยาก นักวิทยาศาสตร์จึงทราบว่าอันตกิริยา (interaction) ระหว่างอนุภาค "ส่วนผสม" ของสสารมืดกับอนุภาคอื่น ๆ นั้นต้องอ่อนมาก ๆ เช่น การไม่มีประจุไฟฟ้า เป็นต้น การตรวจจับสสารมืดจึงเน้นไปที่ "มวล" อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของสสารมืดนี้ จากมวลที่มหาศาลของมัน สมมติฐานการก่อตัวของสสารมืดจึงแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ การก่อตัวจากอนุภาคมวลหนักจำนวนน้อย หรืออนุภาคมวลเบาจำนวนมาก ทางทีมวิจัยนี้ได้เลือกสมมติฐานการก่อตัวแบบหลัง โดยเลือกคำนวณบนสมมติฐานที่ว่าอนุภาคแอกเซียน (axion) อาจเป็น "ส่วนผสม" สำคัญของสสารมืด อนุภาคแอกเซียนเป็นอนุภาคทางทฤษฎีที่เสนอขึ้นเมื่อปี 1977 เพื่อตอบปัญหาในทาง quantum chromodynamics (QCD) ว่าทำไม QCD จึงไม่ละเมิดลักษณะสมมาตรแบบชาร์จพาริตี (charge parity symmetry) หรือที่เรียกว่า ปัญหาซีพีแบบเข้ม (strong CP problem) แบบจำลองมาตรฐานทำนายว่าอนุภาคแอกเซียนเป็นอนุภาคมวลเบา โดยเบากว่าอิเล็กตรอนระดับพันล้านเท่า ไม่มีประจุไฟฟ้า และไม่มีสปิน จึงมีอันตกิริยากับแรงโน้มถ่วงและแรงนิวเคลียร์อย่างอ่อนเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว อนุภาคแอกเซียนได้รับการคัดเลือกว่าอาจเป็น "ส่วนผสม" สำคัญของสสารมืด ในสมมติฐานการก่อตัวแบบอนุภาคมวลเบาจำนวนมาก นักวิจัยได้ใช้ข้อมูลการกระจายตัวของอุณหภูมิและมวลสารในเอกภพ และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณความเป็นไปได้ของการให้อนุภาคแอกเซียนเป็น "ส่วนผสม" สำคัญของสสารมืด และจำลองการก่อตัวของเอกภพ พบว่าเพื่อให้เอกภพก่อตัวสอดคล้องกับที่เราสังเกตได้ในปัจจุบัน ต้องเบากว่าอิเล็กตรอนระดับพันล้านเท่า ซึ่งสอดคล้องกับมวลที่ทำนายได้จากแบบจำลองมาตรฐาน จึงมีส่วนยืนยันว่าอนุภาคแอกเซียนอาจเป็น "ส่วนผสม" สำคัญของสสารมืด ทฤษฎีนี้ทำนายว่าอนุภาคนี้ก่อตัวขึ้นจากการกระเพื่อมเชิงควอนตัม (quantum fluctuation) ซึ่งเฉลี่ยทั้งเอกภพแล้ว อนุภาคแอกเซียนจะก่อตัวขึ้นสิบล้านตัวต่อหนึ่งลูกบาศก์เซนติเมตร แต่ไม่ได้ก่อตัวสม่ำเสมอในทุกบริเวณ เนื่องจากการเรียงตัวของมวลสารในเอกภพมีโครงสร้างคล้ายร่างแห ดังนั้นบริเวณที่เป็นกระจุก เช่น บริเวณกระจุกกาแลคซีของเรา อนุภาคแอกเซียนอาจก่อตัวได้ถึงหนึ่งล้านล้านล้านตัว (trillion) ต่อหนึ่งลูกบาศก์เซนติเมตรเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี สมมติฐานที่ว่าสสารมืดเกิดจากแอกเซียนเป็นหลักยังต้องได้รับการพิสูจน์ต่อไป หากแต่การคำนวณนี้ช่วยให้นักวิจัยพุ่งเป้าหมายในการตรวจจับสสารมืดได้ชัดเจนมากขึ้น ดังที่ Andreas Ringwald จากสถาบัน Deutsches Elektronen-Synchrotron ประเทศเยอรมนี หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า "การคำนวณนี้มีส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้เรารู้ว่าควรตรวจจับอนุภาคที่มวลระดับใด ? มิฉะนั้นการค้นหาอาจกินเวลาหลายทศวรรษ เนื่องจากขอบเขตการค้นหาที่กว้าง" และ Zoltán Fodor จากมหาวิทยาลัย Wuppertal ประเทศเยอรมนี้ได้กล่าวว่า "ผลการวิจัยเหล่านี้อาจทำให้เกิดการแข่งขันที่จะตรวจจับอนุภาคเหล่านี้มากขึ้น" ที่มา: Science Alert Eurekalert
https://jusci.net/node/3508
ซูเปอร์คอมพิวเตอร์อาจช่วยเผย "ส่วนผสม" สำคัญของสสารมืด
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลเสียต่อร่างกาย งานวิจัยบางชิ้นรายงานว่าการอดนอนจะส่งผลให้ร่างกายต้องการอาหารบางประเภทมากขึ้น[1] หรือทำให้ร่างกายเสียสมดุลของพลังงานที่ได้รับและใช้ไปในแต่ละวันจนส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น[2] ถึงแม้ว่าผลการศึกษาจะบอกว่า ระยะเวลาการนอนในช่วง Rapid Eye Movement (REM) ลดลงจะทำให้อยากอาหารประเภทที่ทำให้อ้วนขึ้นมากขึ้น แต่ยังไม่มีงานใดที่ระบุว่าเพราะอะไรที่ทำให้การนอนหลับในช่วง REM นั้นเกี่ยวพันกับความอยากอาหารประเภทดังกล่าว ล่าสุดนักวิจัยจาก International Institute for Integrative Sleep Medicine (IIIS) ที่เป็นสถาบันวิจัยในสังกัดของ Tsukuba University ได้พบว่าระยะเวลานอนหลับในช่วง REM นั้นส่งผลต่อสมองส่วนที่กระตุ้นความอยากอาหารพวกน้ำตาลและไขมัน โดยทีมนักวิจัยนี้ได้ทำการลดช่วงระยะเวลา REM ของหนูทดลองแล้วให้ยายับยั้งการกระตุ้นสารสื่อประสาทในสมองส่วน prefrontal cortex เพื่อชดเชยกับผลของการอดนอนในช่วง REM แล้วพบว่าความต้องการอาหารประเภทน้ำตาลของหนูกลุ่มดังกล่าวไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับยายับยั้งสารสื่อประสาท ในขณะที่ความต้องการอาหารประเภทไขมันนั้นไม่ต่างกันในหนูทั้งสองกลุ่ม ผลการทดลองนี้จึงยืนยันว่าการอดนอนโดยเฉพาะระยะเวลานอนหลับในช่วง REM ที่ลดลงนั้น จะทำให้ร่างกายต้องการทานของหวานมากขึ้นนั่นเอง หากรู้แบบนี้แล้วก็นอนกันให้พอเถอะครับ เพื่อสุขภาพที่ดีของเรา งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสาร eLife ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มได้จาก (doi/10.7554/eLife.20269.001.) ที่มา - University of Tsukuba
https://jusci.net/node/3511
ผลศึกษาล่าสุดยัน ยิ่งอดนอนยิ่งทำให้อยากทานของหวานมากขึ้น
เคยสังเกตกันบ้างหรือไม่ว่าเวลาลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ๆ เลี้ยงโค้งหรือสะดุดอะไรสักอย่าง กระเป๋ามันจะส่ายแกว่งโยกไปมาจนล้มหรือเกือบล้ม ทีมนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสที่นำโดย Sylvain Courrech du Pont จาก Universite Paris-Diderot เห็นว่าปัญหานี้เป็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ในชีวิตประจำวันที่น่าสนใจ พวกเขาจึงอาศัยหลักการฟิสิกส์มาสร้างสมการและทดลองโดยใช้แบบจำลองเป็นคานตุ้มน้ำหนักกับล้อวิ่งบนสายพาน สมการที่พวกเขาสร้างขึ้นมานั้นอาศัยหลักการที่ว่าคันชักของด้ามจับกระเป๋าเดินทางเป็นแกนตรงที่ต่อตั้งฉากออกมาจากเพลาที่ยึดล้อทั้งสองข้าง เมื่อล้อข้างหนึ่งถูกยกขึ้นจากพื้น (ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนเข้าโค้งหรือสะดุดสิ่งกีดขวางบนพื้น) แรงควบที่เกิดจากการหมุนของล้อและการวิ่งไปข้างหน้าของกระเป๋าจะทำให้ล้ออีกฝั่งวิ่งเฉเข้าด้านใน (เฉเข้าหาแนวเส้นตรงของการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า) ส่งผลให้ล้อฝั่งที่ยกลอยกลางอากาศอยู่แล้วถูกดันให้ยกสูงขึ้นไปอีก จากนั้นแรงโน้มถ่วงก็จะดึงล้อที่ลอยให้ร่วงกลับลงมา แต่มันไม่ได้หล่นลงมาตรงๆ แล้วกระแทกพื้นปังหยุดแค่ตรงนั้น มันหล่นส่ายลงมาแบบเอียงเฉเข้าด้านในด้วยเพราะมือของเราที่จับด้ามจับกระเป๋าไว้แน่นนั้นทำหน้าที่เหมือนจุดหมุนของลูกตุ้มนาฬิกา ผลคือคราวนี้ล้อฝั่งตรงข้ามก็จะถูกยกขึ้นไปลอยแทน แรงควบจากล้อฝั่งที่แตะพื้นก็จะส่งให้มันลอยสูงขึ้นไปกว่าเดิม แล้วก็ตกลงมาอีก ส่ายสลับกันขึ้นสลับกันตกอย่างนี้วนไปเรื่อยๆ จนในที่สุดล้อฝั่งใดฝั่งหนึ่งยกสูงจนจุดศูนย์ถ่วงของกระเป๋าลอยข้ามแนวระนาบที่ตั้งฉากกับพื้น กระเป๋าก็จะเอียงข้างล้มคว่ำกะเท่เร่ อย่างไรก็ตามการทดลองแสดงให้เห็นว่ากระเป๋าไม่จำเป็นต้องแกว่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนล้มคว่ำลงทุกครั้ง เพราะเมื่อล้อหล่นกระแทกพื้น มันจะสูญเสียพลังงานไป ทำให้แรงส่งที่จะไปดันล้ออีกข้างในลอยขึ้นในแต่ละรอบเจือจางลงไปบางส่วน หากแรงรบกวนที่ดันล้อให้ลอยขึ้นจากพื้นในตอนแรกไม่มากเกินค่าวิกฤติของระบบ การแกว่งก็จะต่ำลงๆ จนในที่สุดล้อทั้งสองข้างก็กลับมาแตะพื้นและวิ่งต่อไปตรงๆ ได้เอง ในกรณีที่แรงรบกวนเท่ากับค่าวิกฤติ กระเป๋าก็จะแกว่งด้วยความสูงอยู่เท่าเดิมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีตัวแปรตัวใดสักตัวเปลี่ยนแปลงหรือมีแรงภายนอกมากระทำ การล้มคว่ำของกระเป๋าเนื่องด้วยการส่ายแบบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแรงรบกวนในตอนแรกสูงเกินค่าวิกฤติ สมการและการทดลองชี้ให้เห็นว่ายิ่งลากกระเป๋าเร็วเท่าไร ความเสถียรของระบบก็จะยิ่งน้อยลง นั่นคือกระเป๋าก็จะยิ่งอ่อนไหวต่อแรงรบกวนมากขึ้น แค่สะดุดอะไรเล็กน้อย มันก็จะเริ่มแกว่งแล้ว ทว่าในทางกลับกันความเร็วที่มากขึ้นนี้กลับทำให้ค่าวิกฤติสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าแม้กระเป๋าจะแกว่งได้ง่ายเมื่อกระทบกับแรงรบกวนขนาดเล็ก แต่มันก็จะกลับมาเอาสองล้อแตะพื้นได้เอง ยิ่งลากเร็ว กระเป๋าก็ยิ่งกลับมาวิ่งตรงๆ ได้เร็ว และยิ่งต้องใช้แรงรบกวนในตอนแรกสูงมากขึ้นในการทำให้มันแกว่งจนล้มคว่ำ นักวิจัยสังเกตว่าลักษณะของการส่ายแบบนี้มีความคล้ายคลึงกลับการไหลของมวลกระแสน้ำเชี่ยวที่วิ่งชนฝั่งคลองสลับซ้ายขวา พวกเขาจึงลองปรับค่าตัวแปรต่างๆ ในระบบและใช้ Froude number ซึ่งเป็นดัชนีทางกลศาสตร์ของไหลที่วัดค่าแรงเฉื่อยของการไหลต่อแรงโน้มถ่วง ผลปรากฏว่าค่าวิกฤติของระบบแปรผันขึ้นอยู่กับความเร็วในการลากกระเป๋า, มุมของด้ามจับ, ความยาวของคันชักด้ามจับ, และรูปทรงของกระเป๋า โดยสรุปแล้วนักวิจัยเสนอว่าหนทางที่จะทำให้กระเป๋าเดินทางมีความเสี่ยงล้มคว่ำน้อยที่สุด คือ ลากกระเป๋าให้เร็ว (แต่ไม่เร็วจนเกินไปเพราะที่ความเร็วสูงมากๆ ค่าวิกฤติของระบบจะเริ่มลดต่ำลง) กดให้ด้ามจับทำมุมกับพื้นในแนวนอนเล็กที่สุด หรือพูดง่ายๆ คือเอียงให้ด้ามจับและกระเป๋าชิดติดพื้นมากที่สุด ดึงคันชักด้านจับออกมาให้สั้นที่สุด เลือกกระเป๋าที่หน้าตัดไม่กว้างมาก, และมีระยะระหว่างล้อสองข้างไม่แคบจนเกินไป ดังนั้นสำหรับกรณีเฉพาะหน้า เช่น ขณะกำลังเดินลากกระเป๋าอยู่กลางสนามบินแล้วกระเป๋าสะดุด คำแนะนำที่ดีที่สุดคือลากกระเป๋าให้เร็วขึ้นและดันด้ามจับให้กระเป๋าก้มติดพื้นให้มากที่สุดเพราะตอนนั้นเราคงไปเปลี่ยนตัวแปรในข้อ 3 และข้อ 4 ไม่ได้แล้ว แต่ก็ควรระวังทางข้างหน้าด้วยนะ มิฉะนั้นถ้าลากไปชนคนอื่นแล้วจะยุ่งเป็นปัญหา Traveler's Dilemma ต้องไปพาพวกนักชีววิทยาเข้ามาเกี่ยวอีก งานวิจัยตีพิมพ์ใน Proceedings of the Royal Society A DOI: 10.1098/rspa.2017.0076 ที่มา - PhysOrg, Inside Science, The Guardian
https://jusci.net/node/3513
นักฟิสิกส์ไขคำตอบ "ทำไมกระเป๋าเดินทางถึงชอบล้มคว่ำ"
Jusci.net ​​​​​​​​​​​​​​​​​เป็น​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เว็บ​​​​​​​​​​​​​​​​​ไซต์​​​​​​​​​​​​​​​​​เผย​​​​​​​​​​​​​​​​​แพร่ข่าวสาร​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ที่​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เกี่ยว​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ข้อง​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​กับ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​วิทย​​​​​​​​​​​​​​​​​า​​​​​​​​​​​​​​​​​ศาสตร์​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​และ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เทคโนโลยี ​​​​​​​​​​​​​ทั้ง​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ภาย​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ใน​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ประเทศ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​และ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ต่าง​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ประเทศ​​​​​​​​​​​​​ ​​​​​​​​​​​​​ที่​​​​​​​​​​​​​นี่ก่อตั้ง​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ขึ้น​​​​​​​​​​​​​​​​​​​มา ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ต้อง​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​การ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ที่​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​จะ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ให้​​​​​​​​​​​​​​​​​​​กลุ่ม​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​คน​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ หลาก​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​หลาย​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ความ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​รู้ หลาก​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​หลาย​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​วัย​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​และ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​หลาย​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​หลาย​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​อาชีพ ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​แต่​​​​​​​​​​​​​​​​​​​มี​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ความ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​สน​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ใจ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ใน​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เรื่อง​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ดี​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ยว​​​​​​​​​​​​​​​​​​​กัน​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ นั่นก็​​​​​​​​​​​​​​​​​​​คือ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ “วิทย​​​​​​​​​​​​​​​​​​​า​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ศาสตร์​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​” ​​​​​​​​​​ได้​​​​​​​​​​มีโอกาสแลกเปลี่ยน​​​​​​​​​​ความ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​รู้ ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ประสบ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​การ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ณ์​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ความ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​คิด​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เห็น​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ ​​​​​​​​​​ให้​​​​​​​​​​​​​​​​​​​แก่​​​​​​​​​​​​​​​​​​​สัง​​​​​​​​​​​​​​​​​​​คมไทย​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​โดย​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ไม่​​​​​​​​​​​​​​​​​​​หวัง​​​​​​​​​​​​​​​​​​​สิ่งใดตอบ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​แทน​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ เพราะเรา​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เชื่อ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ใน​​​​​​​​​​​​​​​​​​​แนว​​​​​​​​​​​​​​​​​​​คิด​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ที่​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ว่า “​​​​​​​​​​​​​​​​​​​การ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เป็น​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ผู้​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ให้​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ ย่อม​​​​​​​​​​​​​​​​​​​สุข​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ใจ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​กว่า​​​​​​​​​​​​​​​​​​​การ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เป็น​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ผู้รับ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​” เนื้อหา​​​​​​​​​ทั้ง​​​​​​​​​​​​​​​​​​หมด​​​​​​​​​ใน​​​​​​​​​ Jusci ​​​​​​​​​เป็น​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​การ​​​​​​​​​​​​​​​​​​ส่งเ​​​​​​​​​ข้าม​​​​​​​​​า​​​​​​​​​โดย​​​​​​​​​ผู้​​​​​​​​​อ่าน​​​​​​​​​​​​​​​​​​ ​​​​​​​​​ทุก​​​​​​​​​ๆ ​​​​​​​​​คน​​​​​​​​​​​​​​​​​​​สาม​​​​​​​​​าร​​​​​​​​​ถ​ส่งเนื้อหาข่าว​​​​​​​​​ที่​​​​​​​​​ตัว​​​​​​​​​​​​​​​​​​เอง​​​​​​​​​สน​​​​​​​​​ใจ​​​​​​​​​ ขึ้น​​​​​​​​​มา​​​​​​​​​บน​​​​​​​​​​​​​​​​​​เว็บ​​​​​​​​​​​​​​​​​​ได้​​​​​​​​​ทันที ​​​​​​​​​และ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​สาม​​​​​​​​​าร​​​​​​​​​ถ​แลกเปลี่ยน​​​​​​​​​ความ​​​​​​​​​​​​​​​​​​คิด​​​​​​​​​เห็น​​​​​​​​​​​​​​​​​​ได้​​​​​​​​​​​​​​​​​​ที่​​​​​​​​​ ​​​​​​​​​กระดาน​​​​​​​​​สนทนา ​”​ร่วม​​​​พัฒนา​​​​สัง​​คมไทย​​ ด้วยข่าววิทย​​า​​ศาสตร์​​​​​​กัน​​เถอะ” ราย​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ละ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เอียด​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ต่าง​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ๆ ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เกี่ยว​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​กับ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ Jusci.net หลัก​​​​​​​​​​​​​​​​​​​การ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เขียนข่าว​​​​​​​​​​​​​​​​​​​เบื้องต้น​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ TimeLine » 1060 reads
https://jusci.net/node/490
เกี่ยวกับ Jusci.net
Alternative Energy Biology Computer Disease Environment Health Medical Model Research Space more tags ค้นหา
https://jusci.net/node/492
Page not found
เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะใช้อิเล็กตรอนในการส่งและประมวลผลข้อมูล นอกจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้อิเล็กตรอนเป็นฐาน ในปัจจุบันเรายังมี ควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) ที่ใช้หลักการสปินของอิเล็กตรอน และ คอมพิวเตอร์แสง (Optical Computer) ที่ใช้หลักการของโฟตอน แต่นักฟิสิกส์ชาวสิงคโปร์ อาจจะเป็นผู้ให้กำเนิดเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดใหม่ขึ้นมา เมื่อเขาได้เสนอแนวคิดของคอมพิวเตอร์ชนิดที่สี่ขึ้นมา นั่นก็คือ โฟนอนคอมพิวเตอร์ (Phononnic Computer) ซึ่งใช้ความร้อนในการทำงาน โดยทั่วไป ลอจิกเกต ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานที่สุดของคอมพิวเตอร์ จะทำงานโดยที่อินพุตจากหลายแหล่ง แล้วให้ลอจิกออกมาเพียงลอจิกเดียว โดยแทนด้วยระดับของแรงดันไฟฟ้าที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม ลอจิกเกตที่ใช้อุณหภูมิของนักฟิสิกส์คนนี้ จะแทนนลอจิกลัพธ์ที่ได้ ด้วยระดับของอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการใช้พลังงาน และสามารถนำความร้อนส่วนเกินของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการควบคุม และนำความร้อนมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สงสัยอีกหน่อยต้องมีอุปกรณ์เพิ่มความร้อน แทนที่อุปกรณ์ลดความร้อนซะแล้ว ^_^ ที่มา - PhysOrg.com » Mr.JoH's blog 106 reads
https://jusci.net/node/494
คอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลข้อมูลด้วยความร้อน !!!
พายุเฮอริเคน "โนเอล" (Hurricane Noel) เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ ได้ทดสอบอากาศยานไร้คนขับลำใหม่ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการสำรวจพายุเฮอริเคนโดยเฉพาะ ยานลำนี้จะบินเข้าไปสู่พายุในระดับต่ำ เพื่อที่จะทำการวัดกระแสลม ซึ่งมีความเร็วไม่ต่ำกว่า 125 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งด้วยกระแสลมที่มีความเร็วขนาดนี้ จะเป็นการทดสอบตัววัดข้อมูล และการส่งข้อมูลในสภาพเลวร้ายได้เป็นอย่างดี อากาศยานไร้คนขับลำนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการ เข้าใจในปรากฏการณ์ที่ใจกลางของพายุ และข้อมูลที่ได้ก็จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ เข้าใจถึงกระบวนการเปลี่ยนพลังงานของมหาสมุทร ไปสู่ชั้นบรรยากาศ เทคโนโลยีช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ปลอดภัยขึ้นจริงๆ ที่มา - Physorg.com
https://jusci.net/node/495
นักวิทยาศาสตร์ทดสอบอากาศยานไร้คนขับในพายุเฮอริเคน
ล่าสุดได้มีผลงานวิจัยบอกว่า การรับประทานอาหารซึ่งอุดมไปด้วยสาร flavonoids จะช่วยลดอาการแสดงเบื้องต้น (early signs) ของโรคหัวใจ (heart disease)ทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยอาหาร (Institute of Food Research) ได้เจาะวิจัยสารตัวหนึ่งชื่อ "quercetin" ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสาร flavonoids ที่พบมากใน ชา,? หัวหอม, แอปเปิล และไวน์แดง หัวหอม - แหล่ง quercetin จากการศึกษาเกี่ยวกับภาวะหลอดเลือดแดงตีบแคบ (atherosclerosis) ซึ่งเป็นปัจจัยชักนำอย่างดีของโรคหัวใจ ได้อธิบายถึงผลของสารตัวนี้ว่า ช่วยป้องกันการเกิดการอักเสบเรื้อรัง อันจะทำให้เกิดการหนาตัวของผนังหลอดเลือดแดง แล้วส่งผลให้หลอดเลือดแดงตีบแคบ เคยมีผลงานวิจัยชิ้นก่อนหน้านี้ บอกว่าสาร quercetin ถูกย่อย (metabolise) ได้อย่างรวดเร็วในลำไส้ และตับ ทั้งยังไม่สามารถพบสารนี้ได้ในกระแสเลือด ดังนั้นทีมนักวิจัยจึงพุ่งความสนใจไปที่สารตัวที่จะเข้าไปในกระแสเลือดหลังจากที่เจ้า quercetin นี้โดนย่อยไปแล้ว พวกเขาพบว่า หลังจากได้มีการทดลองให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะที่มีการอักเสบของหลอดเลือดรับสารตัวนี้ โดยการรับประทานหัวหอมเพียง 100-200 กรัม ก็ยังเห็นผลของสารตัวนี้ต่อหลอดเลือด ถึงแม้จะมีเพียงเล็กน้อยกว่าการทดลองด้วยสารจากห้องปฏิบัติการก็ตาม จาก BBC News
https://jusci.net/node/496
หัวหอม ?ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ? ได้ นะเนี่ย
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก (Chicago University) รายงานว่า การแสดงท่าทาง สามารถช่วยให้นักเรียน สามารถแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าปกติ นักวิจัยได้ทำการทดลองจากการสุ่มตัวอย่างของนักเรียนจำนวน 176 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ใบอกให้ใช้ท่าทางประกอบ, บอกห้ามใช้ท่าทางประกอบ, และ ไม่บอกอะไรเลย จากการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง พบว่า นักเรียนที่มีการใช้ท่าทางประกอบการอธิบาย สามารถแก้ปัญหาได้โดยวิธีการที่ถูกต้อง ได้มากกว่านักเรียนปกติถึง 4 เท่า นอกจากนี้ยังมีการทดสอบโดยบอกวิธีการแก้โจทย์ให้ แล้วให้นักเรียนทำแบบทดสอบ นักวิจัยพบว่า นักเรียนที่ถูกบอกให้ใช้ท่าทางประกอบ สามารถแก้โจทย์ได้ถูกต้อง มากกว่านักเรียนที่ถูกบอกไม่ให้ใช้ท่าทางประกอบถึง 1.5 เท่า สมัยตอนผมอยู่มัธยม เพื่อนที่เก่งๆเวลามันอธิบายเนี่ย มือมันลอยไปลอยมาเหมือนตำรวจจราจรเลย ที่มา - Eurekalert » Mr.JoH's blog 114 reads
https://jusci.net/node/497
ท่าทางประกอบช่วยให้นักเรียนแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้น
การหมุนของอิเล็กตรอน (Electron Spin) ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการวิจัยและพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการควบคุมการหมุน ก็คือใช้การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กในการควบคุม แต่ในปัจจุบัน นักวิจัยจาก สถาบันวิจัยนาโนศาสตร์ (Institute of Nanoscience) และมูลนิธิเพื่อการวิจัยอนุภาคมูลฐาน (Foundation for Fundamental Research on Matter) ประสบความสำเร็จในการควบคุมการหมุนของอิเล็กตรอนหนึ่งตัว โดยใช้สนามไฟฟ้าแทนการใช้สนามแม่เหล็ก ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ ข้อดีของการใช้สนามไฟฟ้า แทนการใช้สนามแม่เหล็กก็คือ สนามไฟฟ้าสามารถสร้างขึ้นได้ง่ายกว่า และสามารถทำการควบคุมการหมุนของอิเล็กตรอนได้อย่างอิสระ นักวิจัยกลุ่มนี้ยังคงพยายามประยุกต์เทคนิคนี้ ในการควบคุมการหมุนของอิเล็กตรอนหลายตัว ที่มา - ScienceDaily
https://jusci.net/node/498
ควบคุมการหมุนของอิเล็กตรอนด้วยสนามไฟฟ้า
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยล่าสุด แสดงให้เห็นว่า เมื่อพืชยิ่งสูญพันธุ์มากขึ้นไปเท่าไหร่ ผลผลิตที่มนุษย์จะได้จากพืชก็จะยิ่งน้อยลงไปเท่านั้น จากการศึกษาผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลอง 44 การทดลองทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพต่ำ (คือมีพืชน้อยสายพันธุ์) จะให้ผลผลิต น้อยกว่าระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (มีพืชหลายสายพันธุ์) ถึง 50 % ทีมนักวิจัยอธิบายเปรียบเทียบปรากฏการณ์นี้เหมือนการเล่นฟุตบอล ทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถอาศัพกองหน้าในการทำประตูได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัย นายประตูในการป้องกันประตู, กองหลังในกาตัดเกมคู่ต่อสู้, กองกลางในการสร้างสรรค์เกม หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ทีมนั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ ธรรมชาติก็เช่นกัน อ่านข่าวนี้ก็นึกถึงประเทศไทย ถ้าคนในประเทศมัวแต่ทะเลาะกัน เมื่อไหร่ประเทศชาติจะเจริญ ! ที่มา -? Eurekalert » Mr.JoH's blog 95 reads
https://jusci.net/node/499
นักวิทย์เตือน ?พืชสูญพันธุ์ ทำให้ผลผลิตจากธรรมชาติลดลง?
ผลการศึกษาของนักวิจัย จากมหาวิทยาลัย เวย์น เสตท (Wayne State University) พบว่าเครื่องดื่มเสริมพลังงานที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด มีส่วนกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตให้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับผู้ที่ดื่มเป็นประจำ นักวิจัยเปิดเผยผลที่ได้จากการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 15 คน ซึ่งมีสุขภาพดี และอายุเฉลี่ยคือ 26 ปี โดยให้ดื่มเครื่องดื่มเสริมพลังงาน ซึ่งมีปริมาณคาเฟอีน (Caffeine) 80 มิลลิกรัม และ ทัวริน (Taurine) 10000 มิลลิกรัม แล้วทำการวัดแรงดันเลือด, อัตราการเต้นของหัวใจ ผลจากการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ พบว่าอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มขึ้นประมาณ 7-11% และความดันเลือดเพิ่มขึ้นประมาณ 7-8% จากผลการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเครื่องดื่มเสริมพลังงาน สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายได้จริง แต่ก็มีผลข้างเคียงสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากเสี่ยงต่อการให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลว เครื่องดื่มชนิดนี้ผมก็เคยดื่ม หัวใจเต้นแรงขึ้นจริงๆแหละ ที่มา - ScienceDaily
https://jusci.net/node/500
เครื่องดื่มเสริมพลังงาน?เสี่ยงสำหรับผู้เป็นโรคหัวใจ
นักวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health) ร่วมกับ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (Maryland University) ประสบผลสำเร็จในการทดลองวัคซีนไข้หวัดนก (Avian Flu) กับลิงซึ่งเป็นสัตว์ทดลอง โรคไข้หวัดนก ถือเป็นหนึ่งโรคระบาดที่ได้รับการจับตามองในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถระบาดจากสัตว์ปีกมาสู่คน ซึ่งที่ผ่านมา ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 168 คน ความเป็นไปได้ที่จะระงับการระบาดของโรคนี้ คือการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวัคซีนโรคไข้หวัดนกก็ประสบปัญหาในหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความกังวลเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety), สารกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำ และปัญหาการกลายพันธุ์ของพันธุกรรม ที่อาจจะเกิดขึ้นจากยาที่แรงเกินไป ในการศึกษา นักวิจัยได้พัฒนา วัคซีนจากเชื้อที่ยังมีชีวิตผสมกับเชื้อ Newcastle disease virus (NDV) ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกัน และทำการทดสอบกับลิงสายพันธ์แอฟริกัน ผลการตอบสนองของลิง หลังจากการฉีดวัคซีน 1 โดส (Dose) แสดงให้เห็นว่ามีส่วนลดปริมาณของเชื้อไวรัส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จ, หลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 โดส พบภูมิคุ้มกันสูงขึ้นสำหรับลิงทุกตัวที่ได้รับการฉีดวัคซีน ขั้นตอนตอ่ไปของการทดสอบ ก็คงต้องเป็นการทดสอบกับคนจริงๆ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าจะยืนยันได้ว่าประสบผลสำเร็จ ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้น โรคไข้หวัดนกมันยังจะระบาดอีกเหรอ ? ที่มา - ScienceDaily? » Mr.JoH's blog 97 reads
https://jusci.net/node/501
วัคซีนไข้หวัดนก พร้อมทดสอบในคน
นักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซิมอน เฟรเซอร์ (Simon Fraser University) ในประเทศแคนนาดา ได้ทำการพัฒนาวัสดุชนิดใหม่ ซึ่งมีค่าไบรีฟรินเจนท์ (Birefringent) สูงสุดในบรรดาของแข็งด้วยกัน เท่าที่เคยมีการค้นพบมา โดยปกติ วัสดุที่ใช้ทำส่วนประกอบอุปกรณ์เชิงแสง จะทำจากแร่แคลไซต์ (Calcite) ซึ่งมีค่า ไบรีฟริเจนท์ประมาณ 0.17 ซึ่งวัสดุที่ได้ทำการพัฒนาใหม่ให้ค่าไบรีฟรินเจนท์ สูงถึง 0.4 ซึ่งถือว่าสูงมาก การพัฒนาวัสดุชนิดนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้งาน ในการปรับปรุง การเก็บข้อมูล, และการสื่อสารข้อมูล ที่ใช้แสงเป็นองค์ประกอบ ป.ล. ไบรีฟรินเจนท์ คือปรากฏการณ์ที่แสงเดินทางผ่านตัวกลาง ที่มีค่าดัชนีหักเหแสงแตกต่างกัน และแยกรังสีออกมาเป็นสองทาง อธิบายลำบาก ไปดูรูปประกอบใน wiki ดีกว่า ที่นี่ ที่มา - ScienceDaily » Mr.JoH's blog 117 reads
https://jusci.net/node/502
โพลีเมอร์ชนิดใหม่ สำหรับการประยุกต์ใช้งานเชิงแสง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลินอยส์ (Illinois University) ประสบความสำเร็จในการพัฒนา แบบจำลองในการสังเคราะห์แสง ซึ่งถือเป็นแบบจำลองแรก ที่สามารถจำลองขั้นตอนในการสังเคราะห์แสงได้ทั้งหมด การสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) เป็นการเปลีย่นพลังงานจากแสงอาทิตย์ ให้กลายเป็นพลังงานเคมี ซึ่งสามารถพบได้ในสิ่งมีชีวิตหลายชนิด เช่น พืช, สาหร่าย และแบคทีเรียบางชนิด ในการสังเคราะห์แสงของพืช เกี่ยวพันกับการเกิดปฏิกิริยาเคมีหลายชนิด ซึ่งต้องการ เอนไซม์ของโปรตีนจำนวนหนึ่ง และองค์ประกอบทางเคมีอีกหลายชนิด ซึ่งการสังเคราะห์แสงส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นที่ใบของพืช เราไม่สามารถใช้การทดลองจำนวนมาก มาใช้วิเคราะห์ขั้นตอนการสังเคราะห์แสงทั้งหมดได้ เนื่องจากมีโปรตีนกว่า 100 ชนิดที่เกี่ยวข้อง การทดสอบโปรตีนแต่ละตัว ต้องใช้เวลาและเงินเป็นจำนวนมาก นักวิจัยจึงสร้างแบบจำลองในการสังคราะห์แสงขึ้นมา ซึ่งสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้ ซึ่งแบบจำลองดังกล่าวมีความซับซ้อนในการคำนวณมาก จนถึงขั้นต้องใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ในการประมวลผล จากแบบจำลองที่ซับซ้อน ทำให้นักวิจัยสามารถทดสอบการเพิ่มประสิทธิภาพในการสังเคราะห์ โดยสมมุติให้ปริมาณไนโตรเจนคงที่ แล้วให้แบบจำลองค้นหาโปรตีน ที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตที่ได้จากการสังคราะห์แสง ซึ่งจากแบบจำลอง นักวิจัยค้นพบว่าการเพิ่มโปรตีนบางชนิด ทำให้ผลิตที่ได้จากการสังเคราะห์แสงมีปริมาณมากขึ้น ที่มา - ScienceDaily » Mr.JoH's blog 81 reads
https://jusci.net/node/503
นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการจำลองการสังเคราะห์แสง
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำเด็กหลอดแก้วบอกว่า ผู้หญิงอ้วนจะถูกปฏิเสธการรักษาภาวะการมีบุตรยากนะคะ British Fertility Society บอกว่าการทำเด็กหลอดแก้วในรายที่มีภาวะการมีบุตรยาก จะทำในผู้หญิงที่มีค่า BMI (Body Mass Index) น้อยกว่า 30 ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคอ้วนคนหนึ่งได้ออกมากล่าวว่าคำแนะนำนี้ "ลำเอียง" แต่ British Fertility Society บอกว่าคำแนะนำนี้ตั้งอยู่บนพิ้นฐานความปลอดภัยของทั้งแม่และเด็ก ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในระหว่างการรักษา อาทิเช่น การวางยาสลบอย่างปลอดภัย, แม้กระทั่ง ปัญหาการอัลตราซาวน์เพื่อดูรังไข่ ประเด็นถกเถียงที่เกิดตามมาคือ การลดน้ำหนักอาจจะเพิ่มความสำเร็จในการรักษา แต่เป็นการไม่ถูกต้องที่จะปฏิเสธการให้การรักษาแก่หญิงที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน และที่สำคัญคือ 25% ของผู้หญิงในสหราชอาณาจักร (UK) ก็ถือว่าอ้วน หรือมี BMI มากกว่า 30 กันทั้งนั้น ที่มา : BBC News
https://jusci.net/node/504
ความอ้วน เป็นอุปสรรคต่อการทำเด็กหลอดแก้ว
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (Virginia University) ได้ค้นพบวัสดุชนิดใหม่ ซึ่งสามารถกักเก็บและขนส่งเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัสดุชนิดใหม่นี้ หากมองในแง่ของการดูดซับไฮโดรเจน ถือว่าเป็นวัสดุที่สามารถดูดซับไฮโดรเจนได้มากที่สุดในปัจจุบัน โดยสามารถดูดซับไฮโดรเจนได้ถึง 14? % โดยน้ำหนักที่อุณหภูมิห้อง ซึ่งวัสดุทั่วไปสามารถดูดซับไฮโดรเจนได้แค่ 7-8 % โดยน้ำหนัก และเป็นการดูดซับในอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ (ต่ำว่า 0 องศาเซลเซียส) การค้นพบวัสดุชนิดใหม่นี้ เป็นความหวังของการใช้พลังงานไฮโดรเจนอย่างแพร่หลาย ป.ล. ตามข่าวไม่ได้บอกว่าวัสดุชนิดใหม่นี้ ทำจากอะไรหรือประกอบด้วยอะไร คาดว่าคงไม่อยากให้ความลับของสิทธิบัตรรั่วไหล ที่มา - ScienceDaily? » Mr.JoH's blog 444 reads
https://jusci.net/node/505
วัสดุชนิดใหม่ สำหรับเก็บเชื้อเพลิงไฮโดรเจน
ผลการศึกษาของประเทศอังกฤษ กล่าวว่า พัฒนาการทางสมองในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder ; ADHD) ล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกันผลงานวิจัยนี้ทำในเด็ก 450 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นถึงครึ่งหนี่งเลยทีเดียว และยังพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วพัฒนาการของสมองในส่วนที่เรียกว่า cortex ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมความสนใจ และการวางแผนมีการพัฒนาล่าช้าไปถึง 3 ปีทีเดียว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น การวิจัยในอนาคตจะเน้นไปที่ สาเหตุของความผิดปกติ และการส่งเสริมพัฒนาการ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในสหราชอาณาจักร (UK) กล่าวเตือนว่า การค้นพบในครั้งนี้ ไม่ใช่เครื่องชี้วัดว่า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะ "ตามทัน"เด็กปกติ ดอกเตอร์ David Coghil จาก University of Dundee กล่าวว่า "ในระยะสุดท้ายของการพัฒนาสมองส่วน cortex ที่สมองจะบางลงโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า pruning ในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น สมองจะยังคงโตต่อไป ในขณะที่ในเด็กปกติจะเข้าสู้กระบวนการ pruning" แปลโดยรวมๆ ทั้งหมด หมายความว่า "วัยรุ่นที่มีภาวะสมาธิสั้นจะมีพัฒนาการทางด้าน ความจำ, การควบคุมตัวเองและการวางแผนช้า" ที่มา : BBC News
https://jusci.net/node/506
พัฒนาการทางสมองช้า ในเด็กสมาธิสั้น
หากมีพวกมือระเบิดพลีชีพวิ่งเข้ามา คุณจะทำอย่างไร คุณจะหนีอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด วันนี้วิทยาศาสตร์มีคำตอบ นักศึกษาระดับปริญญาเอก ของสถาบันเทคโนโลยีฟลอริด้า (Florida Institute of Technology) ได้ทำการจำลองรูปแบบเหตุการณ์ของระเบิดพลีชีพ ซึ่งเขาได้จำลองเหตุการณ์กรณีที่ร้ายแรงที่สุด นั่นก็คือ ทุกคนวิ่งหนีไปคนละทิศทาง 360 องศา รอบมือระเบิด จากแบบจำลอง คนที่ปลอดภัยน้อยสุด ก็คือคนที่วิ่งตรงไปที่ทางออก, วิ่งหนีอย่างตื่นตระหนก, หรืออยู่ในแนวสายตาของมือระเบิด วิธีที่จะทำให้ปลอดภัยที่สุด นั่นก็คือให้ยืนหรือนั่งในหมู่ฝูงชน อยู่ในแนวดิ่ง (Vertical row) ซึ่งจะปลอดภัยที่สุด ผมล่ะนับถือนักศึกษาคนนี้จริงๆ ไม่รู้คิดหัวข้อวิจัยแบบนี้ออกมาได้อย่างไร ที่มา -? ScienceDaily?
https://jusci.net/node/507
ระเบิดพลีชีพ? หนีอย่างไรให้ปลอดภัย
ปัญหาการจราจร ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญสำหรับเมืองใหญ่ๆในปัจจุบัน นอกจากจะทำให้เสียเวลาในการเดินทางแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาด้านมลพิษต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, การใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง รวมถึงปัญหายอดฮิตระดับโลกในปัจจุบัน นั่นก็คือปัญหาโลกร้อน ปริมาณยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหาในการจัดการจราจรยิ่งยากขึ้นเป็นเงาตามตัว หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าระบบและวิธีที่ใช้ในการจัดการระบบสัญญาณไฟจราจร ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลพวงมาจากการออกแบบ เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา สำหรับเมืองใหญ่ๆ การเปลี่ยนแปลงปริมาณยานพาหนะในแต่ละนาทีมีจำนวนมาก ยิ่งถ้าเราคิดเป็นชั่วโมง หรือคิดเป็นวัน ก็จะยิ่งได้ปริมาณยานพาหนะจำนวนมหาศาล และยิ่งเมืองไหนมีจำนวนของสัญญาณไฟเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งส่งผลให้การคำนวนเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น จนถึงขนาดที่ว่า การใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ในการคำนวนก็ยังไม่เร็วพอที่จะทำ (กรุงเทพ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับกรณีอย่างนี้) ดังนั้นตัวเลขที่ใช้ในการคำนวน จึงมักใช้ค่าเฉลี่ยของปริมาณยานพาหนะสูงสุดในแต่ละวันมาใช้ ซึ่งทำให้ลดภาระในการคำนวนได้พอสมควร กลยุทธ์เดียว มิอาจสยบ ศาสตราจารย์ Dirk Helbing แห่ง ETH Zuric ได้เสนอ ระบบควบคุมการจราจรที่ไม่ขึ้นอยู่กับศูนย์กลางขึ้น (Decentralize) มาแทนที่ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ขับขี่ สามารถคาดเดาเวลาเดินทางได้แม่นยำขึ้น วิธีแรกก็คือ พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพของสัญญาณไฟในเส้นทางเดียวก่อน โดยเส้นทางไหนของทางแยก ที่มีปริมาณยานพาหนะสูง ก็ให้การจราจรเส้นนั้นมีความไหลลื่นมากกว่า วิธีการนี้ใช้ได้ดีพอสมควร ถ้าแยกนั้นไม่มีปริมาณการจราจรมากนัก แต่ถ้าการจราจรมีความหนาแน่นสูง วิธีการนี้ก็จะให้ผลลัพธ์ที่แย่กว่าวิธีแบบเดิมเสียอีก วิธีการที่สองก็คือ กำหนดค่าของจุดวิกฤติไว้ที่ค่าหนึ่ง เมื่อไหร่ที่ปริมาณยานพาหนะในแต่ละเส้นทางของแยกนั้นๆ ถึงจุดวิกฤติ ก็ให้เส้นทางนั้นมีโอกาสไปก่อน ซึ่งจากการศึกษา วิธีการนี้จะให้ค่าที่แย่กว่าเดิม ในทุกๆ กรณี การรวมกันของสองวิธีนี้คือทางออก ศาสตราจารย์ Dirk Helbing ซึ่งจากการจำลองของการรวมกันสองวิธี พบว่าสามารถใช้การได้ดี เราจะได้ระบบที่ไม่เป็นคาบ, สัญญาณไฟไม่วนรอบซ้ำของเดิม วิธีการของศาสตราจารย์ Dirk Helbing ที่ผมเข้าใจ (ถ้าเข้าใจไม่ผิด) จะมีลักษณะประมาณนี้ สมมุติว่าเป็นสี่แยก มีเส้นทาง A, B, C และ D ถ้าเส้นทาง A ในขณะนั้นมีปริมาณยานพาหนะมากสุด เส้นทาง A ก็จะมีโอกาสไปก่อน เมื่อเส้นทาง D มีปริมาณรองลงมา ก็ให้เส้นทาง D ไปได้ แต่ถ้าในขณะนั้น เส้นทาง A มีปริมาณยานพาหนะมากสุดอีกครั้ง ก็ให้เส้นทาง A มีโอกาสได้ไป โดยยังไม่ต้องปล่อยเส้นทาง B และ C ซึ่งเป็นการยกตัวอย่างแบบง่ายๆ ในการใช้งานจริงคงต้องมีการปรับปรุงอีกเยอะ ประเด็นสำคัญของวิธีการนี้ก็คือ การยอมรับของผู้คนบนท้องถนน คงไม่มีใครต้องการใช้เส้นทางที่ตัวเองอยู่ ต้องรอนานกว่าเส้นทางอื่นๆ ซึ่งเรื่องของการยอมรับของผู้ใช้งาน คงต้องเป็นปัญหาที่ต้องแก้ต่อไป สมัย ม.ปลาย ผมเคยส่งโครงงาน YSC ซึ่งเป็นโครงงานที่เกี่ยวกับระบบสัญญาณไฟจราจรที่มีลักษณะคล้ายๆ แบบนี้ มีคุณสมบัติเหมือนกันเลย ก็คือ ไม่มีคาบ, สัญญาณไม่วงเป็นวงรอบ และใช้ปริมาณยานพาหนะในแต่ละแยกเป็นเกณฑ์ โดยไม่ขึ้นอยู่กับศูนย์กลาง แต่วิธีการคิดบางอย่างน่าจะแตกต่างกัน ป.ล. ตัวอย่างที่ยกขึ้นมา ผมเพิ่มเติมจากข่าวในต้นฉบับ ที่มา - Physorg » Mr.JoH's blog 163 reads
https://jusci.net/node/508
ระบบควบคุมจราจรแบบใหม่
ใครที่เรียนสายวิทย์ และไม่ได้หลับในคาบวิชาฟิสิกส์ ม.ปลาย ก็คงจะเคยได้ยินเชื่อของ โธมัส ยัง (Thomas Young) มาบ้าง ซึ่งหากจำกันได้ การทดลองที่โด่งดังที่สุดของเขา ก็คือการทดลองเรื่องการแทรกสอดของแสง ซึ่งทำให้เราทราบว่าแสงมีคุณสมบัติเป็นคลื่น จนถึงวันนี้ การทดลองของยัง ก็ยังคงความขลังเอาไว้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันได้ใช้การทดลองอันนี้ กับโมเลกุลระดับไฮโดรเจน โดยการใช้ลำแสงซินโครตรอน (Synchrotron) ในการแยกอิเล็กตรอนออกมา ซึ่งอิเล็กตรอนในการทดลองนี้จะเปรียบเสมือนแสงในการทดลองเก่า ส่วนสลิตคู่ ก็ได้มาจากการนำนิวเคลียส ของไฮโดรเจน มาวางห่างกันในระยะประมาณ 0.1นาโนเมตร นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการวิจัยกล่าวว่า การทดลองนี้ ทำให้เราสามารถเข้าใจกลไกในการส่งผ่าน ระหว่างฟิสิกส์ยุคเก่า (Classical Physics) กับ ควอนตัมฟิสิกส์ (Quantum Physics) และยังจำเป็นต่อรากฐานทางด้าน การเข้ารหัสเชิงควอนตัม (Quantum Cryptography) และ การประมวลผลเชิงควอนตัม (Quantum Computation) ที่มา - ScienceDaily? » Mr.JoH's blog 168 reads
https://jusci.net/node/509
การทดลองของยัง ในระดับไฮโดรเจนโมเลกุล
56 voted คอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ล้วนแต่สร้างมาจากพื้นฐานของการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ นอกจากการใช้อิเล็กตรอนแล้ว การใช้แสงในการทำงาน ก็เป็นหนึ่งในหนทาง ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับคอมพิวเตอร์ เทคนิคก่อนๆ ที่เราใช้ควบคุมความเร็วและเก็บแสง ต้องทำงานอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ ซึ่งสิ้นเปลืองพลังงาน, มีราคาสูงมหาศาล และสามารถทำงานได้บนบางความถี่ของแสงเท่านั้น แต่เทคนิคใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาขึ้นมา ที่เรียกว่า “Trapped Rainbow” สามารถทำงานได้ด้วยอุณหภูมิปกติ เทคนิค “Trapped Rainbow” ได้ถูกเสนอโดย ศาตราจารย์ Ortwin Hess และลูกศิษย์ระดับปริญาเอก Kosmas Tsakmakidis ซึ่งมีหลักการทำงานว่า ชั้นของแก้วที่เรียวลงทีละน้อยและล้อมรอบด้วย ชั้นของวัสดุที่มีค่าดัชนีหักเหแสงเป็นลบ เมื่อแสงขาว (แสงที่เราเห็นปกติทั่วไป) ผ่านเข้าไปในวัสดุชนิดนี้ ก็จะไปหยุดอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ส่วนแสงสีอื่นๆ ซึ่งมีความถี่ต่างๆกัน ก็จะไปหยุดอยู่ตามชั้นต่างๆของวัสดุชนิดนี้ ซึ่งเป็นที่มาชองชื่อเทคนิคที่เรียกว่า “Trapped Rainbow” การควบคุมแสงด้วยเทคนิคดังกล่าว สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานด้านแสงได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต, การใช้แสงในการเก็บข้อมูลแทนที่อิเล็กตรอน จนไปถึงกระทั่งการผลิด คาปาซิเตอร์สำหรับแสง (Optical Capacitor) ก็ขอเอาใจช่วยให้มีคนนำทฤษฏีนี้ไปใช้ได้เร็วๆนะครับ ที่มา - ScienceDaily » Mr.JoH's blog 122 reads
https://jusci.net/node/510
เทคนิคใหม่ในการควบคุมแสง : ความหวังใหม่ของคอมพิวเตอร์
เสาอากาศที่เราคุ้นตาแบบเดิมๆ ส่วนมากมักทำด้วยโลหะ ยืดหดได้เมื่อต้องการ แต่เสาอากาศชนิดนี้อาจจะต้องหมดความหมาย เมื่อนักวิทยาศาสตร์สหรัฐ ได้ทำการพัฒนาเสาอากาศชนิดใหม่ โดยการใช้พลาสมา (Plasma) เป็นตัวรับสัญญาณ เสาอากาศพลาสมาที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา มีคุณสมบัติเหมือนเสาอากาศที่ทำด้วยโลหะเกือบทุกอย่าง เพราะว่า ในพลาสมาอิเล็กตรอนจะสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ซึ่งก็เป็นพฤติกรรมอย่างเดียวกันกับในโลหะ ข้อดีของเสาอากาศชนิดนี้ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดก็คือ ความสะดวกในการพกพา เนื่องจากเราสามารถปิดการทำงานของพลาสมาได้ นอกจากนี้ เสาอากาศชนิดนี้ ยังทนต่อการรบกวนของคลื่นสัญญาณได้ดีกว่าเสาอากาศชนิดโลหะทั่วๆไปอีกด้วย ที่มา - ScienceDaily?
https://jusci.net/node/511
พกพาสะดวก, ไม่เปลืองพื้นที่ ต้องนี่เลย ?เสาอากาศพลาสมา?
บริษัท GATC Biotech AG ประกาศรับวิเคราะห์จีโนม (Genome) ของลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ โดยบริษัทตั้งเป้าจะวิเคราะห์จีโนมของลูกค้า 100 คน ภายในปี ค.ศ. 2010 สำหรับราคาในการวิเคราะห์แบบธรรมดา จะมีราคาประมาณ 73,000 ดอลลาร์ต่อคน และถ้าหากต้องการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประโยชน์ในการักษา คาดว่าจะมีราคาประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์ แต่คาดว่าราคาจะลดลงเมื่อมีคนใช้บริการมากขึ้น ประธานบริษัทกล่าวว่า ถ้าหากราคาในการวิเคราะห์ถูกลงมากๆ เราอาจจะได้เห็นการวิเคราะห์จีโนม ในการรักษาพยาบาลทั่วไป และกลายเป็นขั้นตอนมาตรฐาน เหมือนกับเทคโนโลยี X-Ray ที่มา - Physorg
https://jusci.net/node/512
บริษัทเอกชน เปิดบริการวิเคราะห์จีโนม !
นักวิจัยจากสหรัฐ, อิตาลี และ ฝรั่งเศส ได้ร่วมก้นพัฒนาแบบจำลองเพื่อใช้ในการอธิบาย การแพร่ระบาดของโรค SARS ขึ้นมา โดยใช้ข้อมูลจากการแพร่ระบาด ในช่วงปี ค.ศ. 2002-2003 แบบจำลองที่ได้นี้ สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดการระบาดที่ไหน การระบาดในสถานที่ถัดไปจะเป็นอย่างไร รวมถึงความรุนแรงในการระบาดด้วย ซึ่งจากการทดสอบ พบว่าแบบจำลองนี้สามารถทำงานได้อย่าถูกต้อง ที่มา - Eurekalert? » Mr.JoH's blog 144 reads
https://jusci.net/node/513
แบบจำลองการระบาดของโรค SARS
มีการคาดการณ์กันว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ประเทศจีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นสองเท่าของปัจจุบัน หนึ่งในปัจจัยหลักของระบบพลังงาน ภายในประเทศจีนก็คือ พลังงานจากถ่านหิน สถาบัน British Geological Survey (BGS) จะเริ่มทำการศึกษา ถ่านหินมลพิษต่ำ หรือ Near Zero Emissions Coal (NZEC) ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งแผนการศึกษา จะประกอบด้วย การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 1 โรง ซึ่งติดตั้ง เครื่องกรองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 capture and storage (CCS) ซึ่งจากระบบดังกล่าว คาดว่าจะสามารถลดมลภาวะต่อไฟฟ้า 1 หน่วย ได้มากถึง 85-90% ที่มา - Physorg? » Mr.JoH's blog 137 reads
https://jusci.net/node/514
จีนเริ่มศึกษาการใช้งานถ่านหินมลพิษต่ำ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเกาหลีใต้ ได้ประกาศยินยอมมอบเงินทุนวิจัยจำนวน 5 ล้านดอลลาร์ ในการร่วมมือวิจัยและพัฒนาความรู้ทางด้าน นาโนเทคโนโลยี กับมหาวิทยาลัย Delaware เงินทุนวิจัยดังกล่าว ต้องการที่จะวิจัยในส่วนขององค์ความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยี ผ่านความร่วมมือกับทีมวิจัยนานาชาติ นอกจากการร่วมมือวิจัยในด้านนาโนเทคโนโลยีแล้ว ยังมีความร่วมมือ ในด้าน ไบโอเทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศอีกด้วย เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีความร่วมมือแบบนี้ เหมือนประเทศอื่นๆบ้างนะ ที่มา - Physorg
https://jusci.net/node/515
เกาหลีใต้และสหรัฐ ประกาศร่วมมือวิจัยนาโนเทคโนโลยี