txt
stringlengths
202
53.1k
# Twitter ไทยเปิดช่องทางสายด่วนถึงศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อค้นหาคำเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก Twitter ประเทศไทยร่วมกับ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และสภาทนายความ เปิดตัว #ThereIsHelp เมื่อผู้ใช้งานค้นหาคำสำคัญเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก จะได้รับการแจ้งเตือนอัตโนมัติเป็นภาษาไทย รวมถึงช่องทางให้บริการสายด่วนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และสภาทนายความได้ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานกฎหมายจาก iLaw ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีคนที่ถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการแสดงออกและการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากถึง 635 ราย ซึ่งมีตั้งแต่ข้อหาตามม. 112 (94 ราย) ม. 116 ยยุงปลุกปั่น (103 ราย) ไปจนถึง พรบ. การชุมนุมสาธารณะ (99 ราย) และการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ (44 ราย) การเปิดตัว #ThereIsHelp จึงเป็นอีกช่องทางเพิ่มเติมเพื่อเข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ บริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp ของ Twitter นั้นมีการร่วมมือกับองค์กรในท้องถิ่นในหลายประเทศ เน้นให้ความช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ เช่นสุขภาพจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตาย, การฉีดวัคซีน, การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก, COVID-19, ความรุนแรงตามเพศและการตอบสนองต่อภัยพิบัติ ที่มา - Twitter Thailand
# Call of Duty แบนผู้เล่นที่มีพฤติกรรมหยาบคายและเหยียดผิวกว่า 350,000 ราย ในปี 2020 นอกจาก Call of Duty: Warzone จะแบนผู้เล่นที่ใช้โปรแกรมโกงแล้ว ในรายงานการต่อต้านพฤติกรรมพยาบคายของ Call of Duty ยังระบุว่าทีมงานแบนผู้เล่นที่มีพฤติกรรมหยาบคายและใช้ชื่อในเกมเหยียดผิวไปกว่า 350,000 รายในปี 2020 จำนวนนี้เป็นการนับรวมทั้งจาก Call of Duty: Warzone, Black Ops Cold War, Modern Warfare, และ Call of Duty: Mobile นอกจากนี้ทีมงานยังใส่ฟิลเตอร์กรองคำหยาบในช่องแชทเพิ่มเติม ใช้งานได้กว่า 11 ภาษา พร้อมยอมรับว่ายังมีงานต้องทำอีกมากเพื่อให้เกมมีระเบียบขึ้น เช่นเพิ่มช่องทางให้ผู้เล่นรายงานพฤติกรรมผู้เล่นคนอื่น เพิ่มมาตรฐานในการตรวจจับและแบนผู้เล่น รวมถึงมีการสื่อสารกับชุมชนผู้เล่นมากขึ้น Call of Duty เป็นเกมยิงแนว FPS ที่โด่งดัง มีผู้เล่นทุกเพศทุกวัย ลงแทบทุกแพลตฟอร์ม ทำให้นอกจากพฤติกรรมโกงเกมแล้ว พฤติกรรมเช่นการด่าทอด้วยคำหยาบคาย หรือเยาะเย้ยหลังเกมจบด้วยการเหยียดผิวหรือเหยียดเชื้อชาติจึงเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งและทีมงานคงต้องเร่งจัดการต่อไป ที่มา - Call of Duty Blog
# นักพัฒนาเจอข้อผิดพลาดระบบให้เรตติ้งบน iOS ต้องกดรีวิว 5 ดาวเท่านั้นถึงจะเข้าใช้งานได้ Kosta Eleftheriou นักพัฒนาใน FlickType ไปเจอความผิดพลาดในระบบให้เรตติ้งของแอปบน iOS ตัวแอปจะไม่สามารถเปิดใช้งานได้ หากผู้ใช้งานไม่ให้เรตติ้ง 5 ดาว ตามปกติแล้ว เมื่อจะใช้งานแอป ผู้ใช้มีทางเลือกที่จะกด Not Now เพื่อจะให้เรตติ้งแอปในภายหลังได้ แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทดสอบใช้แอป UPNP Xtreme คือกด Not Now ไม่ได้ และกดรีวิวต่ำกว่า 5 ดาวก็ไม่ได้ ต้องกด 5 ดาวเท่านั้นถึงจะใช้งานได้ ดูได้จากวิดีโอตัวอย่างด้านล่าง ล่าสุดพบว่าแอปดังกล่าวถูกลบออกไปแล้ว ตัว Eleftheriou เคยยื่นฟ้องแอปเปิลเรื่องละเมิดสัญญากับนักพัฒนา รวมถึงวิธีที่นักพัฒนาบางรายทำเพื่อสร้างการรีวิวปลอม เขาเคยเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมดังกล่าว และยังบอกด้วยว่านักพัฒนาบางรายทำเงินได้หลายล้านดอลลาร์จากพฤติกรรมหลอกลวง ที่มา - 9to5Mac
# Facebook จะแสดงการเตือน หากเรากำลังจะกดไลค์เพจที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จบ่อยๆ Facebook เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่จัดการกับผู้ที่มักเผยแพร่เนื้อหาผิดข้อเท็จจริง หรือนำไปสู่ความเข้าใจผิดไม่ว่าจะเป็นเรื่อง COVID-19 การเลือกตั้ง หรือเรื่องเกี่ยวกับ climate change โดยผู้ใช้งานทั่วไปจะมองเห็นหน้าต่างแสดงการแจ้งเตือนหากกำลังจะกดไลค์เพจที่เผยแพร่ข้อมูลผิดบ่อย ผู้ใช้งานยังเลือกที่จะกดไลค์และติดตามเพจนั้นต่อได้หากต้องการ หรือกด learn more เพื่อดูตัวอย่างโพสต์ที่เผยแพร่ข้อมูลผิดได้ Facebook ระบุด้วยว่าจะขยายขอบเขตการลงโทษผู้แชร์เนื้อหาผิดไปยังบัญชีผู้ใช้งานทั่วไปด้วย นอกเหรือจากเพจและ Groups โดยจะลดการเผยแพร่โพสต์ทั้งหมดใน News Feed หากพวกเขาแชร์เนื้อหาซ้ำๆ ที่ได้รับการระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จจากเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ยังปรับโฉมหน้าแจ้งเตือนข้อมูลเท็จใหม่ แสดงข้อมูลให้เห็นภาพรวมชัดและเข้าใจง่ายขึ้นว่าข้อมูลผิดตรงไหน ที่มา - Facebook
# Twitter เปิดให้เข้า Spaces ผ่านบราวเซอร์ได้แล้ว แต่ยังตั้งห้องไม่ได้ Twitter เปิดให้เข้า Spaces ผ่านบราวเซอร์ช่องทางมือถือ และเดสก์ทอปได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถสร้างห้องคุยผ่านบราวเซอร์ได้ เมื่อเข้าห้องพูดคุยจะยังคงมองเห็นไทม์ไลน์ Twitter โดยห้องคุย Spaces จะแสดงเป็น หน้าต่างเล็กๆ ฝั่งขวามือ ทำให้สามารถพูดคุยและใช้งานไทม์ไลน์ต่อได้ Twitter ระบุด้วยว่า ตอนนี้ทีมงานกำลังพัฒนา Spaces โดยเน้น โครงสร้างพื้นฐานและ UI การฟังที่ปรับให้เข้ากับขนาดหน้าจอ, การตั้งค่าการแจ้งเตือน รวมถึงฟีเจอร์เพื่อการเข้าถึงและการถอดเสียงออกเป็นข้อความ ที่มา - Twitter
# Instagram เปิดตัวหน้า insights เพื่อครีเอเตอร์ แสดงสถิติของ Reels และ Live Instagram เปิดตัวหน้า insights สำหรับ Reels และ Live ให้ครีเอเตอร์เห็นว่าวิดีโอ Reels ของเรามียอดไลค์ แชร์ และรีชเท่าไร ส่วนวิดีโอ Live จะแสดงจำนวนความคิดเห็นและการแชร์ รวมถึงจำนวนบัญชีที่เข้าถึงและจำนวนผู้ชมสูงสุดพร้อมกัน ถือเป็นอีกขั้นให้ Reels สามารถแข่งขันกับ TikTok ได้ นอกจากนี้ยังอัพเดต Account Insights เพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่าง แบ่งบัญชีที่มีการโต้ตอบกับวิดีโอของเราเป็นบัญชีคนที่ติดตามเรากับคนที่ไม่ได้ติดตามเราออกจากกัน ช่วยให้เห็นภาพเพิ่มเติมว่าวิดีโอเข้าถึงคนที่ไม่ได้ติดตามเรามากขนาดไหน ในอนาคตจะสามารถเข้าหน้า Insights ผ่านเดสก์ทอปได้ และเพิ่มตัวกรองการดูข้อมูล Insights ได้ว่าให้ดูได้ย้อนหลัง 7 วันหรือ 30 วัน ภาพจาก Instagram ที่มา - Engadget
# NVIDIA ไตรมาสล่าสุด รายได้รวมโต 84% ทำสถิติสูงสุดต่ออีกไตรมาส NVIDIA รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ตามปีการเงินบริษัท 2022 สิ้นสุดวันที่ 2 พฤษภาคม 2021 รายได้รวมยังทำสถิติสูงสุดใหม่ของบริษัท 5,661 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 84% เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิตามบัญชี GAAP 1,912 ล้านดอลลาร์ รายได้จากกลุ่มธุรกิจหลักล้วนเติบโตทำสถิติใหม่สูงสุดเช่นกัน โดยธุรกิจเกมเพิ่มขึ้น 106% เป็น 2,760 ล้านดอลลาร์ ธุรกิจศูนย์ข้อมูลเพิ่มขึ้น 79% เป็น 2,048 ล้านดอลลาร์ และธุรกิจ Professional Visualization 372 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21% NVIDIA บอกว่าปัญหาซัพพลายการ์ดจอจะยังคงมีอยู่ในครึ่งหลังของปีนี้ แต่เชื่อว่าชิป CMP ที่ออกมาสำหรับขุดเงินคริปโตโดยเฉพาะจะช่วยลดปัญหาได้ เพราะ CMP ไม่มีผลต่อปริมาณการผลิตสินค้ากลุ่ม GeForce ที่มา: NVIDIA และ CNBC
# WhatsApp ฟ้องกลับรัฐบาลอินเดีย ฐานออกกฎให้รัฐตรวจสอบแชทได้ WhatsApp ฟ้องรัฐบาลอินเดียที่ออกกฎอินเทอร์เน็ตใหม่ ข้อความแชทของผู้ใช้งานสามารถติดตามหรือเข้าดูได้ กระทบความเป็นส่วนตัว โดยยื่นต่อศาลในเดลี ตัวกฎหมายมีการเสนอในเดือนกุมภาพันธ์โดย Ravi Shankar Prasad รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายและเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้กฎดังกล่าวรัฐบาลอาจกำหนดให้ บริษัทเทคโนโลยีลบโพสต์โซเชียลมีเดียที่ถือว่าผิดกฎหมาย ทั้ง WhatsApp, Signal และ บริษัทแชทอื่นๆ จะต้องสร้างฐานข้อมูลการแชทที่ "ตรวจสอบย้อนกลับได้" และต้องแนบลายนิ้วมือที่ระบุตัวตนไปยังผู้ใช้งานได้อีกด้วย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี Narendra Modi มีนโยบายควบคุมเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตมาก ในปี 2019 รัฐบาลเสนอให้ตัวเองมีอำนาจมากมายในการปราบปรามเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตโดยอ้างเรื่องคงามมั่นคงของชาติ ทำให้เกิดข้อพิพาทกับแพลตฟอร์มต่างๆ โฆษกของ WhatsApp กล่าวว่า WhatsApp จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อความส่วนตัวของผู้คนและจะทำทุกอย่างที่ทำได้ตามกฎหมายของอินเดียต่อไป ที่มา - The New York Times
# Blizzard เลิกจัดงานอีเวนต์ BlizzCon 2021 เปลี่ยนมาเป็นงานออนไลน์แทน Blizzard ประกาศยกเลิกจัดงานอีเวนต์ BlizzCon 2021 ที่ตามปกติจัดช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ต่อกันเป็นปีที่สอง หลังยกเลิกงาน BlizzCon 2020 เพราะสถานการณ์ COVID โดยเหตุผลของปีนี้ก็มาจากสถานการณ์ COVID เช่นกัน งาน BlizzCon ไม่ได้มีแต่การแถลงข่าวเกมใหม่ๆ ของ Blizzard เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การแข่งขันอีสปอร์ต และการรวมตัวกันของแฟนๆ Blizzard ทั่วโลกด้วย การยกเลิกงาน BlizzCon 2020 แบบออฟไลน์ ทำให้ Blizzard หันมาจัดงานออนไลน์แทนในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 (เปิดตัว Diablo II: Resurrected) ส่วนงาน BlizzCon 2021 ก็จะถูกแทนด้วยงานออนไลน์ช่วงต้นปี 2022 เช่นกัน ที่มา - Blizzard ภาพจากงาน BlizzConline รอบต้นปี 2021
# Instagram และ Facebook เริ่มให้ตั้งค่า ซ่อนจำนวน Like ของแต่ละโพสต์ได้แล้ว Instagram และ Facebook ประกาศแนวทางที่ชัดเจนหลังทดสอบมาหลายปี เกี่ยวกับการซ่อนจำนวน Like ในโพสต์ โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกซ่อนจำนวน Like ได้เอง (opt-in) โดยผู้ที่เลือกจะไม่แสดงตัวเลขในโพสต์ว่ามีจำนวนคน Like เท่าใด ทั้งนี้ Facebook เคยอธิบายสาเหตุของการซ่อนจำนวน Like ในงาน F8 เมื่อปี 2019 ว่าสามารถช่วยให้เจ้าของบัญชีลดความเครียดได้ ผู้ใช้งาน Instagram และ Facebook สามารถตั้งค่าให้ซ่อนจำนวน Like ที่เป็นสาธารณะได้ ทั้งกำหนดแบบรายโพสต์ หรือกำหนดให้มีผลกับทุกโพสต์ใน Settings โดยเริ่มมีผลแล้วตั้งแต่วันนี้สำหรับ Instagram ส่วน Facebook จะเริ่มใช้งานได้ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ที่มา: Facebook
# ไมโครซอฟท์ปล่อยตัวจัดการแพ็กเกจ Winget รุ่น 1.0 ไมโครซอฟท์ปล่อยตัวจัดการแพ็กเกจ Winget รุ่น 1.0 ตามสัญญาที่ประกาศไว้ในงาน Build 2020 ที่เปิดตัว Winget ครั้งแรก ในรุ่น 1.0 นี้ฟีเจอร์เริ่มครบถ้วนตามที่ระบบจัดการแพ็กเกจควรจะเป็น เช่น มีคำสั่ง upgrade และ uninstall แพ็กเกจในตัว แสดงรายชื่อแพ็กเกจที่ติดตั้งแล้วออกมาเป็นไฟล์ และสามารถติดตั้งแพ็กเกจทั้งหมดในไฟล์ได้ แบบเดียวกับ requirements.txt ของ Python หรือ packages.json ของ npm นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ เช่น ตั้งไม่ให้ส่งข้อมูลการใช้งานกลับไมโครซอฟท์ รวมถึงมีเครื่องมือสร้างแพ็กเกจสำหรับนักพัฒนาภายนอก ที่มา - GitHub: winget-cli
# นักวิจัยพบแอปเปิลออกแบบชิป M1 พลาด มี register ไม่ได้ป้องกัน สามารถใช้แชร์ข้อมูลได้ Hector Martin นักพัฒนาที่กำลังพอร์ตลินุกซ์ลงชิป Apple M1 รายงานถึงช่องโหว่ของแอปเปิลเนื่องจากออกแบบไม่ตรงกับสเปคของ Arm โดยมี register ตัวหนึ่งชื่อว่า s3_5_c15_c10_1 สามารถอ่านเขียนจากทุกโปรเซสได้โดยไม่มีการป้องกัน เปิดทางให้ทุกโปรเซสที่ร่วมมือกันอ่านและเขียนข้อมูลใน register นี้สามารถส่งข้อมูลหากันได้ โดยที่ระบบปฎิบัติการไม่สามารถควบคุมได้ register นี้มีขนาดเพียง 2 บิต ทำให้กระบวนการส่งข้อมูลจริงๆ ทำได้ช้า และการโจมตีโดยทั่วไปไม่ใช่การขโมยข้อมูลจากส่วนอื่นๆ แต่โปรเซสต้นทางและปลายทางต้องร่วมมือกัน ตอนนี้ยังไม่ยืนยันว่าชิปตัวอื่นๆ ของแอปเปิลมีช่องโหว่นี้ด้วยหรือไม่ แต่โดยทั่วไปแล้ว Apple M1 นั้นใกล้เคียงกับตัวอื่นๆ ก่อนหน้า และชุดพัฒนาของแอปเปิลก่อนหน้านี้ก็ใช้ชิป Apple A12Z สำหรับรัน Mac OS หากกระทบชิปตัวอื่นจริงช่องโหว่นี้จะมีแนวทางใช้งานที่กว้างขึ้น เช่น คีย์บอร์ดบน iOS ที่ปกติไม่สามารถเชื่อมต่อกับแอปอื่นๆ ได้ อาจจะพยายามส่งข้อมูลไปยังแอปอื่นของผู้ผลิตเดียวกัน แม้ว่าแอปเปิลอาจใช้กลไกอื่น เช่นการตรวจสอบแอปก่อนขึ้น App Store เพื่อป้องกันได้อยู่ดี บั๊กนี้ไม่มีผลต่อการรัน virtual machine โดยตัวเฟรมเวิร์ค Hypervisor ของ Mac OS ปิดไม่ให้ใช้ register นี้ทำให้ไม่มีช่องโหว่เมื่อรันใน virtual machine ที่มา - m1racles.com
# กูเกิลสาธิตการโจมตีแรม Half-Double แก้ไขข้อมูลในตำแหน่งที่ห่างออกไปได้ กูเกิลเสนอแนวทางโจมตีคอมพิวเตอร์ด้วยการแก้ไขข้อมูลในแรมส่วนที่ไม่มีสิทธิ์อ่านและเขียนข้อมูลจากเดิมที่เคยแก้ไขได้เฉพาะข้อมูลส่วนที่ติดกันเรียกว่า Rowhammer ตั้งแต่ปี 2015 สัปดาห์นี้กูเกิลเสนอแนวทางการโจมตี Half-Double ที่กูเกิลออกแบบมาใหม่สามารถโจมตีแรมส่วนที่ไกลออกไปได้ Rowhammer อาศัยการเขียนแรมถี่ๆ จนกระทั่งค่าในแรม DDR แถวข้างๆ เปลี่ยนค่าไป หลังจากกูเกิลรายงานออกมาผู้ผลิตแรมก็พยายามเพิ่มวงจรป้องกันโดยตรวจสอบการเขียนแรมแถวเดิมถี่ๆ (มีกลุ่มวิจัยสามารถโจมตีได้สำเร็จแม้มีวงจรนี้เมื่อปี 2020) แต่ข้อจำกัดสำคัญคือแฮกเกอร์สามารถเปลี่ยนค่าในแรมแถวที่ติดกันเท่านั้น แนวทาง Half-Double อาศัยการเขียนแรมถี่ๆ ในแถวที่ถูกโจมตี (agressor A) หลัก จากนั้นจึงเขียนแรมในแถวถัดออกไป (agressor B) เพียงประมาณ 12 ครั้ง ก็สามารถทำให้แรมในแถวเป้าหมาย (C) ถูกเปลี่ยนค่าไปได้ โดยกูเกิลระบุว่าหากต้องย้ายประจุออกไปยังแถวที่ไกลกว่านั้นก็เป็นไปได้ กูเกิลรายงานช่องโหว่นี้ไปยัง JEDEC หน่วยงานกลางสำหรับผู้ผลิตแรม และทาง JEDEC ได้ออกเอกสารแนะนำเพื่อให้ผู้ผลิตปิดช่องโหว่ Half-Double นี้แล้ว ที่มา - Google Security Blog
# Tesla เตรียมย้ายข้อมูลผู้ใช้ในจีนไปเก็บไว้ในศูนย​์ข้อมูลภายในประเทศ Tesla เป็นบริษัทเทคโนโลยีล่าสุดที่เตรียมย้ายข้อมูลลูกค้าในจีนเข้าไปเก็บในประเทศ โดย Tesla ประกาศผ่านทาง Weibo ระบุว่าทางบริษัทได้ตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศจีนแล้วเพื่อเก็บข้อมูลผู้ใช้ในจีนไว้ในประเทศ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดของผู้ใช้รถยนต์ Tesla ทั้งหมดที่จำหน่ายในจีนแผ่นดินใหญ่จะเก็บไว้ในประเทศเท่านั้น การที่ Tesla ย้ายข้อมูลไปเก็บไว้ในจีนเนื่องจากกฎหมายใหม่ที่ร่างโดยรัฐบาลปักกิ่งที่มีข้อกำหนดเรื่องการเก็บและใช้งานข้อมูลเกี่ยวกับกล้องและเซนเซอร์เข้ามาเพิ่มเติม รวมถึงเพิ่ม guideline ในการเก็บข้อมูลด้วยว่าบริการรถยนต์ไม่ควรติดตามผู้ใช้เป็นค่าเริ่มต้น, ต้องแจ้งผู้ใช้ว่าข้อมูลแบบใดที่จะเก็บและเก็บไปเพื่ออะไร รวมถึงถ้าเก็บไปแล้วจะต้องทำให้ระบุตัวตนไม่ได้ และจะต้องเก็บไว้เป็นระยะเวลาสั้นที่สุด Tesla ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าข้อมูลของผู้ใช้ Tesla ถูกเก็บไว้อย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐของจีนมีอำนาจในการควบคุมข้อมูลของจีนหรือไม่ ซึ่งอย่างกรณีของ Apple ทางบริษัทระบุชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่รัฐของจีนมีอำนาจเก็บกุญแจเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานที่อยู่ในประเทศจีน ที่มา - TechCrunch ภาพจาก Tesla
# เป็นทางการแล้ว! Amazon ประกาศซื้อสตูดิโอ MGM เจ้าของหนัง James Bond ที่ 2.6 แสนล้านบาท Amazon ประกาศบรรลุข้อตกลงเพื่อซื้อกิจการ MGM หรือชื่อเต็ม Metro Goldwyn Mayer บริษัทด้านสื่อบันเทิงเก่าแก่เกือบร้อยปี เจ้าของโลโก้สิงโตที่คนไทยคุ้นเคยดี โดยมูลค่าในการซื้อกิจการอยู่ที่ 8,450 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่าตัวเลขที่มีรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเล็กน้อย อย่างไรก็ตามดีลนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลก่อน ถึงแม้ดีล MGM นี้จะมีมูลค่าที่สูงมาก แต่ก็เป็นดีลซื้อกิจการใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของ Amazon โดยดีลอันดับ 1 ยังเป็น Whole Foods เมื่อปี 2017 ที่มูลค่า 13,700 ล้านดอลลาร์ Mike Hopkins รองประธานอาวุโสของ Prime Video และ Amazon Studios กล่าวว่าดีลนี้ทำให้ Amazon เข้าถึงความเป็นเจ้าของผลงานทั้งหมดของ MGM ที่มีภาพยนตร์มากกว่า 4,000 เรื่อง รายการโทรทัศน์กว่า 17,000 รายการ อาทิเช่น James Bond, Robocop, Rocky, The Pink Panther เป็นต้น รวมทั้งมีโอกาสอีกมากในการพัฒนาเนื้อเรื่องใหม่ ๆ ในอนาคต การซื้อกิจการ MGM ของ Amazon นี้ เกิดขึ้นเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์หลังจากดีลยักษ์ใหญ่ WarnerMedia ควบรวมกิจการกับ Discovery ซึ่งทำให้เห็นทิศทางของผู้ผลิตสื่อในฐานะผู้สร้างคอนเทนต์ ที่ร่วมมือกับบริการวิดีโอสตรีมมิ่งแบบเฉพาะรายอย่างชัดเจนมากขึ้นนั่นเอง ที่มา: Amazon และ CNBC
# Xiaomi ไตรมาสล่าสุด รายได้ทำสถิติสูงสุดอีกครั้ง ส่งมอบสมาร์ทโฟน 49.4 ล้านเครื่อง Xiaomi รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2021 โดยรายได้รวมทำสถิติสูงสุดอีกครั้งที่ 76,900 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 54.7% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 6,100 ล้านหยวน ตามบัญชี non-IFRS Xiaomi บอกว่าผลประกอบการที่เติบโตสูงนี้สะท้อนว่าแผนธุรกิจ และการดำเนินงานของบริษัททำได้ตามกลยุทธ์ โดยจำนวนสมาร์ทโฟนที่ส่งมอบยังคงขยายฐานไปยังลูกค้าใหม่ ๆ ทั่วโลก ส่วนแพลตฟอร์ม AIoT ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และเมื่อเดือนมีนาคม บริษัทยังประกาศแผนสำคัญในการเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ Xiaomi ไตรมาสที่ผ่านมา Xiaomi ส่งมอบสมาร์ทโฟน 49.4 ล้านเครื่อง มีส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกอันดับที่ 3 จากข้อมูลของบริษัทวิจัย Canalys ส่วนกลุ่มธุรกิจ AIoT ยังคงขยายตัวโดดเด่น สมาร์ททีวี ส่งมอบไป 2.6 ล้านเครื่อง เช่นเดียวกับสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นอย่าง สกูตเตอร์ไฟฟ้า, เครื่องฟอกอากาศ, Mi Box ที่ยังมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นมาตลอด ที่มา: Xiaomi
# Satya บอกเอง ไมโครซอฟท์จะเปิดตัว Windows ที่เปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี ปกติแล้ว ไมโครซอฟท์จะเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ของ Windows ในงานสัมมนาประจำปี Build ช่วงเดือนพฤษภาคม แต่งาน Build 2021 รอบล่าสุดกลับแทบไม่มีข่าวของ Windows เลย (เน้นไปที่ Azure แทน) Satya Nadella ซีอีโอของไมโครซอฟท์อธิบายเรื่องนี้ไว้ใน keynote เปิดงานว่า ไมโครซอฟท์จะแยกเปิดตัว Windows เวอร์ชันใหม่ที่เป็นการเปลี่ยนใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ ภายในเร็วๆ นี้ (very soon) แต่ไม่ได้ให้กำหนดเวลาที่ชัดเจน ก่อนหน้านี้มีข่าวหลุดออกมาพอสมควรว่า ไมโครซอฟท์จะยกเครื่อง UI ของ Windows ครั้งใหญ่ในโค้ดเนม Sun Valley โดยจะปรากฏตัวใน Windows เวอร์ชันปลายปีนี้ (21H2) ข้อมูลที่เราทราบคร่าวๆ คือ ใช้ดีไซน์ใหม่ตามไอคอนชุดใหม่ Fluent Design, เปลี่ยนโฉม Taskbar ใหม่โดยนำไอเดียจาก Windows 10X ที่ถูกยกเลิกไป และเปลี่ยนวิธีเขียนแอพใหม่จาก Project Reunion ที่รวม API ของ Win32 กับ UWP เข้าด้วยกัน ที่มา - Microsoft, ภาพดีไซน์ Windows 10 ในปัจจุบันจาก @MicrosoftDesign
# Windows Terminal 1.9 เพิ่ม Quake Mode กด ~ เรียกเทอร์มินัลครึ่งจอ แบบเกม Quake ไมโครซอฟท์ออก Windows Terminal 1.9 เวอร์ชันพรีวิว มีของใหม่ที่น่าสนใจคือ ตั้งค่าเทอร์มินัลดีฟอลต์ของระบบได้แล้ว การเปิด PowerShell สามารถขึ้นมาเป็น Windows Terminal (หรือ Windows Terminal Preview ที่ถือเป็นแอพคนละตัวกัน) ได้ทันที Quake Mode กดปุ่มลัด Win+~ เมื่อไรก็ได้ใน Windows แล้วเปิด Windows Terminal ขึนมาได้ทันที ตัวเทอร์มินัลจะขึ้นมาแสดงผลครึ่งบนของหน้าจอ สไตล์เดียวกับเกม Quake (ปุ่มลัดที่เรียกก็เป็น ~ เหมือนกัน) เพิ่มฟอนต์ Cascadia Code Italic เวอร์ชันพิเศษ ที่ตัวเอียงมีความหวัดมากขึ้น แตกต่างจากตัวเอียงแบบปกติในฟอนต์ Cascadia Code หน้า UI ของ Settings เพิ่มตัวสร้าง profile และตัวพรีวิวการแก้ไข profile ที่มา - Microsoft ตัวอย่าง Quake Console
# มาตรฐาน USB-C 2.1 จะรองรับกำลังไฟสูงถึง 240 วัตต์ USB-IF ได้อัพเดตรายละเอียดสเปคของ USB-C เวอร์ชัน 2.1 เพิ่มรายละเอียดฮาร์ดแวร์กำหนด และข้อจำกัดหลายรายการ แต่มีประเด็นที่สำคัญคือขยายช่วงกำลังไฟไปสูงสุดถึง 240 วัตต์ จากปัจจุบันเวอร์ชัน 2.0 รองรับสูงสุดที่ 100 วัตต์ กำลังไฟที่สูงขึ้น จะทำให้ USB-C สามารถรองรับอุปกรณ์ที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ จอภาพความละเอียด 4K, เกมมิ่งแล็ปท็อป ไปจนถึงเครื่องพิมพ์ ถึงแม้ระดับกำลังไฟ 240 วัตต์ ก็อาจยังไม่เพียงพอสำหรับฮาร์ดแวร์หลายประเภท แต่ตัวที่ขยายมานี้ก็น่าจะทำให้เห็นอุปกรณ์มากขึ้นที่รองรับ USB-C เวอร์ชันใหม่นี้ ที่มา: CNET ภาพ Pixabay
# ไมโครซอฟท์ส่งโค้ดเข้า Chromium ไปแล้ว 5,300 ครั้ง, Edge WebView 2 ออกรุ่นเสถียร ไมโครซอฟท์ประกาศออก Edge WebView2 เวอร์ชันเสถียรสำหรับ .NET/WinUI หลังออกรุ่นเสถียรสำหรับ Win32 ไปก่อนแล้ว WebView2 เป็นการนำเอนจินแสดงผลของ Edge (ที่ข้างในเป็น Chromium อีกที) มาฝังในแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อใช้เรนเดอร์หน้าเว็บภายในแอปนั้น สามารถใช้ได้กับแอปหลากหลาย ทั้งแบบเนทีฟ ไฮบริด และเว็บแอป เช่น Win32 C/C++, .NET WPF/WinForms, WinUI 3 (Project Reunion) ตัวของ WebView2 ถูกแยกขาดจาก Windows สามารถนำรันไทม์ไปรวมกับแอปเพื่อรันงานแบบออฟไลน์ และรันบนระบบปฏิบัติการเก่าย้อนไปถึง Windows 7 ด้วย รายละเอียดดูในเว็บ Edge WebView2 ไมโครซอฟท์ยังเปิดเผยว่าตั้งแต่ย้ายค่ายมา Chromium ก็ไม่ได้มามือเปล่า ส่งคนเข้ามาช่วยพัฒนา Chromium ด้วย ปัจจุบันมีจำนวนการ commit โค้ดเข้าโครงการแล้วถึง 5,300 commit ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเบราว์เซอร์ตัวอื่นๆ ที่ใช้ฐาน Chromium ด้วยเช่นกัน ที่มา - Microsoft
# Microsoft OpenJDK ออกตัวจริง, ไมโครซอฟท์บอก Azure คือบ้านของ Java ไมโครซอฟท์ประกาศออกรันไทม์ Microsoft Build of OpenJDK รุ่นเสถียร (general availability) หลังจากเปิดทดสอบมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน Microsoft Build of OpenJDK เป็นการนำซอร์สโค้ดของ OpenJDK มาคอมไพล์แจก และเปิดให้คนทั่วไปดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรี เป็นทางเลือกแทน Java SE เวอร์ชันของออราเคิลที่คิดเงินหากใช้ในเชิงพาณิชย์ โครงการนี้เป็นผลงานของ jClarity ที่ไมโครซอฟท์ซื้อกิจการมาในปี 2019 คนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้แล้วจาก Microsoft Build of OpenJDK ตอนนี้มีให้เลือกทั้ง OpenJDK 11 และ 16 สถาปัตยกรรม x86 ทั้ง 3 ระบบปฏิบัติการ (แมค ลินุกซ์ วินโดวส์) และมี OpenJDK 16 สถาปัตยกรรม AArch64/ARM64 ให้ทดสอบแบบพรีวิว ไมโครซอฟท์บอกว่ายุทธศาสตร์ของตัวเองคือทำให้ Azure เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นมิตรกับแอปพลิเคชัน Java ฝั่งองค์กร (Azure is the home for your enterprise Java applications) ปัจจุบันไมโครซอฟท์มีบริการที่รองรับงานสาย Java หลายตัว เช่น Azure Spring Cloud ที่ร่วมกับ VMware ทำเพื่อรองรับแอปพลิเคชัน Spring Boot, รองรับการรัน Red Hat JBoss Enterprise และ IBM WebSphere เป็นต้น ภายในบริษัทไมโครซอฟท์เองก็มีหลายทีมที่ใช้ Java เช่น LinkedIn, Yammer, Minecraft, Azure, SQL Server และมีรัน VM ของตัวเองหลายแสนตัวที่รับโหลด Java ภายในบริษัท ที่มา - Microsoft
# ศาลสหรัฐสั่งปลดแบน Xiaomi หลังโดนรัฐบาลทรัมป์ขึ้นบัญชีดำในเดือน ม.ค. ความคืบหน้าจากกรณีรัฐบาลสหรัฐแบน Xiaomi เมื่อเดือนมกราคม 2021 โดย Xiaomi ยื่นฟ้องศาลในเดือนกุมภาพันธ์ และศาลคุ้มครองชั่วคราวในเดือนมีนาคม ล่าสุด ศาลเขตวอชิงตันดีซีได้มีคำสั่ง (ถาวร) ให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐปลดแบน Xiaomi แล้ว ผลคือประชาชนสหรัฐสามารถเข้ามาซื้อหุ้นของ Xiaomi (อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง) ได้ตามปกติ ที่มา - Xiaomi
# Azure Cosmos DB เพิ่มฟีเจอร์ครั้งใหญ่ รองรับ Serverless เต็มรูปแบบ, ขยายโควต้าใช้ฟรี, แจกอีมูเลเตอร์ Azure Cosmos DB บริการฐานข้อมูลแบบ NoSQL ของไมโครซอฟท์ประกาศเพิ่มฟีเจอร์สำคัญในงาน BUILD ได้แก่ รองรับการคิดค่าบริการแบบ Serverless: ในกรณีโหลดใช้งานไม่แน่นอน จะคิดตามความซับซ้อนของการคิวรีแต่ละครั้งเป็น request units (RU) ไม่มีขั้นต่ำ คิดเฉพาะค่าสตอเรจเท่านั้น แจกอีมูเลเตอร์ให้ใช้งานในเครื่องพัฒนาเป็นคอนเทนเนอร์ ตอนนี้ยังรองรับเฉพาะ Core API เท่านั้น ฟีเจอร์ role-based access control (RBAC) เข้าสู่สถานะ GA เพิ่มแคชในตัวโดยไม่ต้องแก้โค้ดใหม่ อาศัยการสร้างเกตเวย์เพื่อแคชผลลัพธ์เอาไว้ก่อนถึงตัวฐานข้อมูล ตัวเกตเวย์มีค่าใช้จ่าย และตอนนี้ยังรองรับเฉพาะ Core SQL เท่านั้น ฟีเจอร์แก้เอกสารบางส่วน (partial document update) ช่วยลด latency ของการเรียกฐานข้อมูลลงเพราะไม่ต้องอัพเดตเอกสารทั้งชุดเหมือนเดิม ฟีเจอร์นี้กำลังมาเร็วๆ นี้ สำหรับผู้ใช้ free tier ไมโครซอฟท์ยังขยายบริการฟรี จาก 400RU ต่อวินาทีเป็น 1000RU และเพิ่มสตอเรจเป็น 25GB ที่มา - Dev Blog 1, 2
# เหมือนสั่งโปรแกรมเมอร์ ไมโครซอฟต์ใช้ AI แปลงคำพูดเป็นโค้ด Power Fx, เขียนโค้ดจากเอาท์พุตตัวอย่าง ไมโครซอฟท์ประกาศอัพเดตแพลตฟอร์ม Power Apps ให้มีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเขียนโค้ด โดยแบ่งเป็นสองฟีเจอร์ คือการเขียนโค้ดด้วยประโยคธรรมชาติ และการเขียนโปรแกรมโดยใส่ตัวอย่างเอาท์พุต การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาธรรมชาติ อาศัยปัญญาประดิษฐ์ GPT-3 จูนมาพิเศษสำหรับการสร้างสูตร Power Fx ทำให้ผู้ใช้สามารถเขียนโปรแกรมด้วยภาษาเหมือนพูดกับคนจริงๆ ส่วนการเขียนโปรแกรมตามตัวอย่าง (Programming by examples - PBE) ทำงานคล้ายกัน เพียงแต่ใส่เอาท์พุตที่ต้องการ บางครั้งใส่เพียงตัวอย่างเดียว ตัว GPT-3 ก็สามารถสร้างสูตรที่จำเป็นออกมาได้ ฟีเจอร์นี้เพิ่มเปิดให้ใช้งานเดือนมิถุนายนนี้ โดยช่วงแรกจะใช้กับฟังก์ชั่น Search(), Sort(), SortByColumns(), Filter(), FirstN(), และ LastN() เท่านั้น แม้ว่าตัวอย่างที่ไมโครซอฟท์นำมาแสดงจะใช้ฟังก์ชั่นเยอะกว่านี้ ที่มา - Power Apps Blog
# Panasonic เผยรายละเอียดกล้องเน้นวิดีโอรุ่นใหม่ Lumix DC-GH6 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา Panasonic ประกาศการพัฒนากล้องเน้นวิดีโอรุ่นถัดไป Lumix DC-GH6 โดยเผยรายละเอียดเบื้องต้นบางอย่างของกล้องเรือธงในซีรีส์ G สำหรับกล้องรุ่นที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนานี้ Panasonic ระบุว่าจะใช้เซนเซอร์ Micro Four Thirds รุ่นใหม่ พร้อมหน่วยประมวลผลภาพแบบใหม่ที่เรียกว่า Venus Engine ถ่ายวิดีโอได้สูงสุดถึง 4:2:2 10-bit DCI 4K/60p, ระบบอัดวิดีโอแบบ High Frame Rate (HFR) และ Variable Frame Rate (VFR) ที่ 10-bit 4K 120p สำหรับวิดีโอ slow/quick motion แบบความละเอียดสูง และ 10-bit 5.7K 60p ที่ดึงความสามารถจากเซนเซอร์ Micro Four Thirds ที่พัฒนาใหม่ออกมาได้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมโครงสร้างที่ออกแบบให้สามารถอัดวิดีโอได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องหยุดพักกล้องเมื่อใช้งานในอุณหภูมิที่เหมาะสม Panasonic ระบุว่าจะวางจำหน่าย GH6 ที่ราคาขายปลีกราว 2,500 ดอลลาร์ หรือราว 78,000 บาท นอกจากตัวกล้องแล้ว Panasonic ยังเผยรายละเอียดของเลนส์รุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาด้วย คือเลนส์ LEICA DG 25-50mm F1.7 ซึ่งจะเหมาะกับการใช้ร่วมกับเลนส์ LEICA DG VARIO-SUMMILUX 10-25mm / F1.7 ASPH เพื่อให้ครอบคลุมระยะตั้งแต่ 10-50mm โดยเลนส์ทั้งสองตัวนี้จะมีรูรับแสงเท่ากัน รวมถึงประสิทธิภาพโดยรวม, ลักษณะ และวิธีการใช้งานตัวเลนส์จะคล้าย ๆ กัน ที่มา - dpreview
# Panasonic เปิดตัว Lumix DC-GH5 II กล้องเน้นถ่ายวิดีโอรุ่นใหม่ สเปคดีขึ้นในราคาที่เข้าถึงง่ายกว่าเดิม Panasonic เปิดตัวกล้อง Lumix DC-GH5 II เป็นรุ่นอัพเดตของกล้อง Micro Four Thirds ที่เน้นวิดีโอ โดย Panasonic อัพเกรดด้วยการโปรเซสเซอร์ใหม่เข้ามา, ปรับสเปคของวิดีโอ, อัพเดตระบบออโต้โฟกัส และอื่น ๆ และมาพร้อมราคาขายที่ถูกกว่า GH5 ราว 400 ดอลลาร์ สำหรับสเปคของตัวกล้อง GH5 II จะยังคงใช้เซนเซอร์ 20 ล้านพิกเซล Micro Four Thirds เหมือนรุ่นก่อน แต่มาพร้อมโค้ตติ้ง anti-reflective พร้อมกับหน่วยประมวลผลภาพใหม่ และระบบโฟกัสแบบใหม่ที่เร็วและแม่นยำที่ใช้เทคโนโลยี advanced deep learning ในการตรวจพบวัตถุ ซึ่ง Panasonic เคลมว่าสามารถตรวจพบตาและหน้าได้เร็วกว่า GH5 ถึง 2 เท่า และตรวจพบวัตถุได้แม้วัตถุจะเล็กประมาณครึ่งเดียวของขนาดเล็กสุดที่ GH5 จับได้ถึง ระบบวิดีโอที่เป็นตัวชูโรงของกล้องซีรีส์นี้ก็อัพเดตใหม่เช่นกัน โดย GH5 II รองรับการถ่ายวิดีโอที่ DCI หรือ UHD 4K ระดับ 10-bit 4:2:0 ที่ 60 เฟรมต่อวินาที (รุ่นก่อนต้องใช้อุปกรณ์ต่อแยก) พร้อมกับระบบกันสั่นที่ Panasonic อัพเกรดให้กันสั่นได้สูงสุดถึง 6.5EV เมื่อใช้งานร่วมกับเลนส์ที่รองรับฟีเจอร์ Dual IS 2 ส่วนอัพเดตอื่น ๆ เช่น เพิ่มระบบรองรับวิดีโอสตรีมมิ่งไปเครือข่าย Wi-Fi หรือยังสมาร์ทโฟนผ่านสายหรือไร้สาย เพื่อให้ใช้งานออกอากาศสดผ่านอินเทอร์เน็ต หรือจะใช้เป็นเว็บแคมก็ได้ รวมถึงมีช่องเสียบ USB-C สำหรับตัวกล้องที่ชาร์จแบตเตอรี่ได้ และแบตเตอรี่แบบใหม่ที่มีความจุสูงกว่าเดิม Panasonic DC-GH5 II จะวางจำหน่ายที่ราคา 1,699 ดอลลาร์หรือราว 53,000 บาทสำหรับบอดี้อย่างเดียว หรือ 2,299 ดอลลาร์หรือราว 72,000 บาทสำหรับกล้องพร้อมเลนส์ 12-60mm F2.8-4 ที่มา - dpreview
# iFixit แกะ iMac M1 พบว่าผลิตในประเทศไทย คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ iMac M1 เพิ่งวางขายได้ไม่กี่วัน เว็บไซต์ iFixit ก็ได้รับเครื่องและเริ่มแกะแยกชิ้นส่วนแล้ว โดยเริ่มจากการสำรวจภายนอกก่อนและพบว่าบริเวณขาตั้งมีระบุรหัสรุ่น A2438 พร้อมข้อความ Designed by Apple in California แต่แทนที่จะตามมาด้วย Assembled in China กลับกลายเป็นข้อความ Made in Thailand แทน แปลว่า iMac M1 มีล็อตที่ผลิตในประเทศไทย และไม่ใช่แค่การ "ประกอบ" (assemble) เฉยๆ ภาพโดย iFixit (Arthur Shi; CC BY-NC-SA) ทาง iFixit ตั้งข้อสังเกตที่แอปเปิลย้ายฐานการผลิต iMac ออกจากจีนอาจเป็นเพราะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนนั่นเอง ส่วนรายละเอียดการแกะเครื่องยังออกมาไม่ครบ แต่เบื้องต้นคือกระจกหน้าจอยังใช้การติดกาวอยู่เหมือนเดิม, โลจิคบอร์ดมีลักษณะแคบและยาว ขนาบข้างด้วยพัดลม 2 ตัว มาพร้อมชิป M1 แบบ 8 คอร์ จับคู่กับแรม LPDDR4 จาก SK Hynix และชิป SSD จาก Kioxia รายละเอียดส่วนอื่นเช่นเซ็นเซอร์ Touch ID บนคีย์บอร์ด, เจาะลึกตัวลำโพง และคะแนนความซ่อมง่าย จะตามมาในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ มีรายงานจากผู้ที่ได้รับ iMac M1 ในไทยบางรายระบุว่าได้เครื่องที่ประกอบจากประเทศจีน ที่มา - iFixit แก้ไข ในเวอร์ชันแรกของข่าวนี้ระบุว่าเป็นครั้งแรกที่ iMac ผลิตในประเทศไทย แต่จริงๆ แล้วเคยมีผู้ใช้บน Reddit ในสหรัฐอเมริกาได้รับ iMac รุ่นปี 2020 ที่ระบุว่าผลิตในประเทศไทยมาแล้ว ภาพโดย iFixit (Sam Omiotek; CC BY-NC-SA)
# Tidal เปิดตัวแอปบน Apple Watch สตรีมและเล่นเพลงได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อ iPhone Tidal เปิดตัวแอปบน Apple Watch เป็นครั้งแรก มาพร้อมคุณสมบัติที่ผู้สมัครใช้งานสามารถสตรีม และควบคุมการเล่นเพลงได้โดยตรงจากตัว Apple Watch ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับ iPhone โดยตัวแอปสามารถดาวน์โหลดได้ผ่าน App Store ใน watchOS นอกจากนี้ยังสามารถดาวน์โหลดเพลงเพื่อฟังแบบออฟไลน์ได้อีกด้วย ในการเปิดใช้งาน ต้องตั้งค่าครั้งแรก โดยเข้าไปที่ลิงก์และกรอกรหัสให้ตรงกันจึงเริ่มเปิดใช้งานได้ สำหรับฟีเจอร์ฟังเพลงโดยตรงผ่าน Apple Watch นี้ Spotify ก็เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันก่อน ที่มา: Engadget
# Arm เปิดตัวจีพียู Mali ใหม่ของปี 2021 จำนวน 4 รุ่น G710, G610, G510, G310 นอกจากซีพียูใหม่ชุด Armv9 จำนวน 3 รุ่น ทางบริษัท Arm ก็เปิดตัวจีพียูใหม่ตระกูล Mali มาพร้อมกัน 4 รุ่นรวด ปรับระบบชื่อเลขรุ่นเป็น 3 หลักแบบเดียวกัน Mali-G710 รุ่นท็อปสุด ประสิทธิภาพดีขึ้น 20%, ประหยัดพลังงานเพิ่ม 20% เมื่อเทียบกับ Mali-G78 ตัวท็อปรุ่นก่อน มีฟีเจอร์สำคัญคือ Command Stream Frontend (CSF) ตัวจัดคิวงาน (job manager) ตัวใหม่ รองรับการทำงานร่วมกับ Vulkan API สมัยใหม่ได้ดีขึ้น เพิ่ม shader เป็น 8 ตัวจาก 4 ตัวในรุ่นเดิม Mali-G610 รุ่นรองท็อป เป็นเซกเมนต์ใหม่ที่ออกมาครั้งแรกในปีนี้ มีฟีเจอร์ CSF แบบเดียวกัน แต่ลดจำนวน shader เป็น 6 ตัว Mali-G510 จีพียูระดับกลาง มาแทน Mali-G57 ที่ออกในปี 2019 ประสิทธิภาพดีขึ้น 100%, ประหยัดพลังงาน 22% นอกจากสมาร์ทโฟนแล้วยังจะนำไปใช้ในสมาร์ททีวี หรือกล่อง set-top ด้วย Mali-G310 จีพียูระดับล่าง มาแทน Mali-G31 ประสิทธิภาพเท็กเจอร์ดีขึ้น 6x, ประสิทธิภาพ Vulkan ดีขึ้น 4.5x นอกจากสมาร์ทโฟนแล้วจะใช้กับแว่น AR หรืออุปกรณ์สวมใส่ ที่มา - Arm
# Arm เปิดตัวซีพียูสถาปัตยกรรมใหม่ v9 ชุดใหญ่ Cortex-X2, Cortex-A710, Cortex-A510 บริษัท Arm เปิดตัวซีพียูใหม่ที่ใช้สถาปัตยกรรมใหม่ Arm v9 ออกมาพร้อมกัน 3 รุ่นรวดคือ Cortex-X2, Cortex-A710, Cortex-A510 Cortex-X2 ซีพียูตัวแรงที่สุด เป็นซีพียูเซมิคัสตอมรุ่นที่สอง ต่อยอดจาก Cortex-X1 ที่เปิดตัวในปี 2020 ซึ่งเป็นคอร์หลักของชิปเรือธงอย่าง Snapdragon 888 กับ Exynos 2100 จุดเด่นของการเปลี่ยนมาใช้สถาปัตยกรรมใหม่คือ ประสิทธิภาพดีขึ้น 30% ซึ่ง Arm ระบุว่ามันจะถูกใช้ทั้งในสมาร์ทโฟนและโน้ตบุ๊ก Cortex-A710 ซีพียูตัวใหญ่ (big) ที่มาแทน Cortex-A78 ประสิทธิภาพดีขึ้น 10% และอัตราการใช้พลังงานดีขึ้น 30% Cortex-A510 ซีพียูตัวเล็ก (LITTLE) ตัวใหม่ในรอบ 4 ปี มาแทน Cortex-A55 ประสิทธิภาพดีขึ้น 35% ใกล้เคียงกับซีพียู big เมื่อหลายปีก่อนแล้ว ซีพียูทั้ง 3 รุ่นสามารถนำมาจัดเรียงเป็น "คลัสเตอร์" ได้หลายแบบ ขึ้นกับรูปแบบของงาน Arm เรียกระบบคลัสเตอร์แบบใหม่ของ v9 ว่า DynamIQ Shared Unit (DSU-110) ที่สามารถจัดเรียงได้หลากหลาย เช่น โน้ตบุ๊กที่ต้องการประสิทธิภาพสูง ใช้ X2 จำนวน 4 ตัว + A710 จำนวน 4 ตัว สมาร์ทโฟนเรือธง ใช้ X2 จำนวน 1 ตัว + A710 จำนวน 3 ตัว + A510 จำนวน 4 ตัว (ท่าที่ Snapdragon 888 ใช้อยู่) อุปกรณ์สวมใส่ที่ต้องการประหยัดพลังงานมากๆ ใช้ A510 ล้วนๆ 4 ตัวเลยก็ได้ การที่ซีพียูชุดนี้เป็นสถาปัตยกรรม Armv9 ทำให้ได้ฟีเจอร์ใหม่ของตัวสถาปัตยกรรมอีก 2 อย่างคือ ชุดคำสั่งเวกเตอร์ SVE 2 เพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล machine learning ฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยอีกหลายอย่าง เช่น Memory Tagging ป้องกันการเขียนหน่วยความจำ หรือเร่งความเร็วการเข้ารหัส-ถอดรหัส ที่มา - Arm
# Google เตรียมอัพเดตระบบปฏิบัติการ Fuchsia ให้ Nest Hub รุ่นแรก หลังกูเกิลออกมาให้ข้อมูลแบบเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้ว ระบบปฏิบัติการ Fuchsia ที่ออกแบบมาสำหรับใช้กับงานทั่ว ๆ ไป (general purpose) ก็เริ่มนำมาเผยแพร่ใช้งานจริง โดยจะอัพเดตกับผู้ใช้งาน Nest Hub รุ่นแรกก่อน (ชื่อเดิม Google Home Hub) ซึ่งแทนที่ระบบปฏิบัติการเดิม CastOS ที่มีรากฐานเป็น Linux ผู้ใช้ Nest Hub จะทยอยได้รับอัพเดตได้ไม่กี่เดือนข้างหน้า เริ่มจากกลุ่มผู้ใช้งานใน Preview Program ก่อน ซึ่ง 9to5Google บอกว่าผู้ใช้งานอาจไม่สังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงจากหน้าตาการใช้งานมากนัก จากนี้ก็ต้องดูต่อไปว่า Fuchsia จะถูกนำมาใช้งานกับอุปกรณ์ใดของกูเกิลต่อไป ที่มา: The Verge
# Google Photos เตือนอีกครั้ง เลิกให้พื้นที่ฟรีไม่จำกัด 1 มิถุนายนนี้ - เพิ่มเครื่องมือช่วยลบรูปที่ไม่ต้องการออก กูเกิลประกาศเตือนผู้ใช้งาน Google Photos อีกครั้ง ว่าในสัปดาห์หน้าตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2021 เป็นต้นไป Google Photos จะเลิกให้พื้นที่สตอเรจฟรีแบบไม่จำกัดจำนวน (รูป High Quality ที่ถูกบีบอัด) และเริ่มนับโควต้าพื้นที่ใช้งานรวมกับบริการอื่นในบัญชี Google Account ซึ่งพื้นที่ฟรีอยู่ที่ 15GB หากอยากได้เพิ่มต้องจ่ายเงินผ่าน Google One เริ่มต้นที่ 69 บาทต่อเดือน ในประกาศนี้กูเกิลให้ข้อมูลเพิ่มเติม 4 อย่างดังนี้ รูปภาพและวิดีโอแบบ High Quality ที่อัพโหลดก่อน 1 มิถุนายน 2021 จะไม่นำมาคำนวณพื้นที่ ผู้ใช้งานสามารถดูค่าประมาณ จากพฤติกรรมอัพโหลดได้ว่าพื้นที่จะเต็มในเวลาเท่าใด โดยกูเกิลบอกว่าผู้ใช้งานมากกว่า 80% จะใช้งานได้มากกว่า 3 ปี สำหรับเนื้อที่ 15GB กูเกิลจะเพิ่มเครื่องมือในแอป Google Photos ที่แนะนำรูปที่สามารถลบออกเพื่อเพิ่มพื้นที่ เช่นภาพที่ไม่ชัด ภาพแคปเจอร์หน้าจอ หรือวิดีโอขนาดใหญ่ สุดท้าย กูเกิลจะเปลี่ยนคำเรียกรูปภาพแบบ High Quality เป็นรูปแบบ Storage Saver แทน ซึ่งทำให้เข้าใจชัดเจนกว่า ที่มา: กูเกิล
# Poparazzi โซเชียลมีเดียแนวคิดกลับด้าน มาแรงใน App Store อเมริกาตอนนี้ Poparazzi เป็นแอปโซเชียลมีเดียที่เปิดตัวแบบทางการไปไม่กี่วันที่ผ่านมา กระแสความแรงในอเมริกาแบบปากต่อปากทำให้ตอนนี้แอปขึ้นเป็นอันดับ 1 ใน App Store แล้ว (ตอนนี้มีเฉพาะ iOS) โดยแอปนี้เป็นโซเชียลมีเดียไว้แชร์ภาพถ่ายแบบ Instagram แต่มีแนวคิดพื้นฐานที่กลับด้านกัน โดย Poparazzi นิยามตัวแอปว่าต่อต้านการเซลฟี่ สิ่งที่แอปให้ความสำคัญคือการสร้างปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อน โดยมีหลักการใช้งานคือผู้ใช้ห้ามอัพรูปถ่ายตนเอง แต่ให้อัพรูปของเพื่อนเท่านั้นและต้องแท็กเพื่อนด้วย (ประหนึ่งว่าเป็นปาปารัสซี) ซึ่งผู้ถูกแท็กก็ควบคุมได้ว่ารูปนี้จะลงได้หรือไม่ ทำให้การใช้งานแอปนี้เป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน ตรงข้ามการนำเสนอตัวตนผู้ใช้งานแบบโซเชียลมีเดียอื่น Poparazzi เปิดทดสอบสถานะเบต้าไปเมื่อหลายเดือนก่อน และมีผู้ใช้งานช่วงแรกมากกว่า 1 หมื่นคน มีภาพที่แชร์ไปแล้วมากกว่า 1 แสนภาพ ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่าโซเชียลมีเดียที่คิดตรงข้ามกับรายอื่นแบบนี้จะได้รับการตอบรับเมื่อเวลาผ่านไปดีแค่ไหน ที่มา: Poparazzi ผ่าน Josh Constine's PressClub
# วงการเกมอิตาลีบูม มีสตูดิโอกว่า 160 แห่ง เติบโต 45% นับตั้งแต่ปี 2018 เกมรถแข่งมาแรง สมาคมสื่อบันเทิงดิจิทัลอินเทอร์แอคทีฟของอิตาลี (Italian Interactive Digital Entertainment Association - IIDEA) ร่วมกับบริษัทวิจัย IDG Consulting เปิดเผยผลสำรวจวงการพัฒนาเกมอิตาลี พบว่าเติบโตถึง 45% ตั้งแต่ปี 2018-2021 มีนักพัฒนากว่า 1,600 คน จากสตูดิโอกว่า 160 แห่งภายในประเทศ รวมถึงมีนักพัฒนากว่า 73% ที่มีประสบการณ์พัฒนาเกมมากกว่า 4 ปี เกมที่มีการพัฒนามากที่สุดสามอันดับแรกจะเป็นเกมแอ็กชั่นผจญภัย เกมอาร์เขต และเกมปริศนา แต่เกมดังๆ เช่นเกมแนวขับรถแข่งที่คิดเป็น 11% จากจำนวนเกมที่พัฒนาในอิตาลีทั้งหมด ก็กำลังมีกระแสและการสนับสนุนที่ดีขึ้นเรื่อยๆ Luisa Bixio รองประธาน IIDEA และซีอีโอ Milestone Studios สตูดิโอสร้างเกม MotoGP 21, Hot Wheels: Unleashed และ MXGP 20 ระบุว่าทีมสร้างเกมส่วนใหญ่ในอิตาลีได้แรงบันดาลใจจากบริษัทรถยนต์ Ferrari แถม Ferrari เอง ยังเป็นสปอนเซอร์รายการอีสปอร์ตเกมแข่งรถ ที่ให้ผู้ชนะได้ขับรถแข่งในสนามจริงๆ ในรอบสุดท้ายอีกด้วย อิตาลีเองยังมีสตูดิโอผลิตเกมสยองขวัญ เช่น The Suicide of Rachel Foster ของ ONE-O-ONE GAMES, Close to the Sun ของ Storm in a Teacup, และ Remothered: Tormented Fathers ของ Stormind Games ที่แม้จะเป็นเกมนอกกระแส แต่ก็ได้คะแนนรีวิวในแง่ดีแทบทุกเกมบน Steam Remothered: Tormented Fathers ปัจจุบันสตูดิโอพัฒนาเกมขนาดใหญ่ในอิตาลี ที่วัดจากรายได้สูงกว่า 50,000 ยูโร (ราว 1.92 ล้านบาท) และมีพนักงานมากกว่า 20 คน คิดเป็นราว 1 ใน 5 ของสตูดิโอทั้งหมดและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เทียบกับผลสำรวจในปี 2018 ที่มีเพียงไม่ถึง 1 ใน 5 (17%) ที่มีพนักงานมากกว่า 10 คน ส่วนสตูดิโอที่เหลือมีพนักงานน้อยกว่า 10 คน สตูดิโอต่างๆ ยังมีกระแสการเติบโตอยู่เรื่อยๆ โดยบริษัทพัฒนาเกมกว่า 35% จ้างพนักงานเพิ่มในช่วงสามปีที่ผ่านมา และอีก 59% มีโครงการจ้างงานเพิ่มภายใน 2 ปีนี้ แหล่งรายได้หลักของวงการพัฒนาเกมอิตาลียังเป็นยุโรป คิดเป็นสัดส่วน 54% แถบอเมริกาเหนือ 25% เอเชีย 7% และในอิตาลีเอง 6% แต่หลายๆ บริษัทก็มีแผนขยายฐานรายได้ในเอเชียให้สูงขึ้นในอนาคต นอกเหนือไปจากบริษัทพัฒนาเกม อิตาลียังเป็นบ้านเกิดของ 505 Games ผู้จัดจำหน่ายเกมดังๆ อย่าง Sniper Elite III, Payday 2, Dead by Daylight, Control และเวอร์ชั่นพีซีของ Death Stranding อีกด้วย ซึ่ง 505 Games ก่อตั้งขึ้นที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เมืองมิลานนี้เองที่เป็นสถานที่ที่มีการจัดงาน Milan Games Week ทุกเดือนตุลาคม ซึ่งช่วงก่อน COVID-19 ระบาด มีผู้เข้าร่วมกว่า 150,000 คน นอกจากนี้ยังมีการจัดงาน Italian Video Game Awards ประกาศรางวัลของวงการเกมในเมืองปิซา (เมืองหอเอนปิซ่า) และงาน International Game Developers Association ในเมืองตูริน ที่เป็นการพบกันของนักพัฒนาและนักลงทุนในวงการเกมมากมาย ดูเหมือนว่าทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนของอิตาลี กำลังร่วมมือเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมเกม เป็นอีกแหล่งรายได้ของประเทศนอกเหนือไปจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ทำให้วงการพัฒนาเกมอิตาลีเป็นที่น่าจับตามองต่อไปในอนาคต และอาจกลายเป็นบ้านเกิดของสตูดิโอสร้างเกมดังๆ ได้อีกมากมาย ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่ ที่มา - IIDEA via VentureBeat
# ของจริงมาแล้ว Huawei เตรียมปล่อย Harmony OS สำหรับโทรศัพท์มือถือ 2 มิถุนายนนี้ สำนักข่าว Xinhua รายงานว่า Huawei เตรียมเริ่มปล่อย Harmony OS ระบบปฏิบัติการที่พัฒนาโดย Huawei เอง สำหรับโทรศัพท์มือถือ วันที่ 2 มิถุนายนนี้ หลังไปอยู่บนรถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ททีวี ไปจนถึงเครื่องปิ้งขนมปังและเครื่องฟอกอากาศ Huawei เริ่มปล่อย Harmony OS 2.0 เวอร์ชั่นเบต้าให้นักพัฒนาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งนักพัฒนาพบว่าภายในยังใช้ AOSP ที่ตัดคำว่า Android ออก ยังไม่แน่ชัดว่าเวอร์ชั่นใหม่ที่เตรียมเปิดตัวนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง Huawei ตั้งเป้าให้ Harmony OS อยู่บนมือถือ Huawei กว่า 200 ล้านเครื่อง และ 300 ล้านเครื่องเมื่อรวมอุปกรณ์ third-party ภายในสิ้นปีนี้ ที่มา - Xinhua News
# ครม. อนุมัติกฎกระทรวงเปิดทางรถนำรถส่วนบุคคลให้โดยสารผ่านแอป วันนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างกฎกระทรวงคมนาคมที่จะเปิดทางให้นำรถนั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งมาให้บริการผ่านแอป เช่น GrabCar ได้อย่างถูกกฎหมาย ร่างล่าสุดที่เปิดเผยออกมา มีการควบคุมการลงทะเบียน รถที่ใช้งานได้ต้องอายุไม่เกิน 9 ปี (อธิบดีกำหนดอายุได้) มีการติดเครื่องหมายแสดงการเป็นรถรับจ้างเอาไว้ที่ตัวรถ ตัวแอปต้องมีระบบคิดค่าโดยสารล่วงหน้า และเก็บข้อมูลย้อนหลังไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ส่วนข้อบังคับเพิ่มเติมของผู้ขับขี่นั่นระบุให้แต่งกายสะอาด สุภาพ แนวทางนี้นับว่าคล้ายกับแนวทางของสิงคโปร์ แต่ไม่มีเงื่อนไขการสอบใบขับขี่แบบพิเศษแบบสิงคโปร์แต่อย่างใด แม้กฎกระทรวงของไทยจะผ่านมติครม. แล้วแต่ยังต้องรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษาจึงมีผลบังคับใช้จริง ที่มา - รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล ภาพโดย Free-Photos
# รีวิว Surface Pro 7+ อัพเกรดย่อยครึ่งรอบ พลัง Tiger Lake, ใส่ซิม 4G, SSD ถอดเปลี่ยนได้ ไมโครซอฟท์เปิดตัวฮาร์ดแวร์รอบต้นปี 2021 ไม่มากนัก มีเพียง 2 รุ่นเท่านั้นคือ Surface Pro 7+ และ Surface Laptop 4 ซึ่งเป็นการอัพเกรดสเปกภายในล้วนๆ โดยยังคงบอดี้ภายนอกแบบเดิม กรณีของ Surface Pro 7+ ถือเป็นครั้งแรกที่ไมโครซอฟท์ออกรุ่น + ให้กับสินค้าแบรนด์ Surface อีกทั้งยังเป็น Surface for Business ขายเฉพาะลูกค้าองค์กรเท่านั้นด้วย สำหรับในประเทศไทย Surface Pro 7+ เปิดราคาและเริ่มวางขายมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดย Blognone ก็ได้เครื่องมาทดสอบด้วย สเปกเครื่อง การเปลี่ยนแปลงสำคัญในแง่สเปกของ Surface Pro 7+ เทียบกับ Surface Pro 7 มีเพียงอย่างเดียว คืออัพเกรดซีพียูมาใช้ 11th Gen Core หรือที่เราเรียกตามโค้ดเนมว่า Tiger Lake (รุ่น Pro 7 เป็น 10th Gen Ice Lake) และสามารถเลือกซื้อรุ่นที่มีช่องเสียบซิม LTE ได้ถ้าต้องการ ซีพียู Tiger Lake ของ Surface Pro 7+ มีทั้งหมด 3 รุ่นย่อยคือ Core i3-1115G4, Core i5-1135G7, Core i7-1165G7 โดยสามารถใส่แรมได้สูงสุด 32GB และสตอเรจได้สูงสุด 1TB (มีเฉพาะในรุ่น Core i7 รุ่นท็อปสุด) เครื่องบางรุ่นย่อยมีแบบสีดำให้เลือกด้วย แต่สีมาตรฐานคือสีเทา เครื่องตัวอย่างที่ได้รับมาทดสอบ มีสเปกดังนี้ ซีพียู: 11th Gen Core i5-1135G7 จีพียู: Iris Xe แรม: 16GB สตอเรจ: 256GB เป็นรุ่น Wi-Fi + LTE ระบบปฏิบัติการ Windows 10 Pro ราคาขายในไทยตามประกาศของไมโครซอฟท์ อยู่ที่ 55,900 บาท ราคานี้รวมปากกา Surface Pen แล้ว แต่ยังไม่รวมคีย์บอร์ด Type Cover ที่ราคา 4,900 บาท เนื่องจาก Blognone เคยรีวิว Surface Pro 7 รุ่นดั้งเดิมไปแล้ว รีวิวนี้จะเน้นไปที่จุดแตกต่างของ Pro 7+ ที่เพิ่มเข้ามาเท่านั้น ตัวเครื่องภายนอก หน้าตาของ Surface Pro 7+ เหมือนกับ Surface Pro 7 ทุกประการ (ต้องบอกว่าหน้าตาแบบนี้ เหมือนเดิมมาหลายรุ่นแล้วด้วย) ข้อดีคือใช้อุปกรณ์เสริมอย่างคีย์บอร์ดหรือเคสร่วมกันได้ ไม่ต้องซื้อใหม่ หน้าจอยังเป็นจอขนาด 12.3" PixelSense ความละเอียด 2736x1824 สัดส่วน 3:2 เหมือนเดิม ขอบเครื่องด้านซ้าย มีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรเพียงอย่างเดียว ขอบเครื่องด้านขวา มีพอร์ต USB-C หนึ่งพอร์ต (ยังไม่รองรับ Thunderbolt 3), USB-A หนึ่งพอร์ต และสายชาร์จ Surface Connect หนึ่งพอร์ต การชาร์จไฟสามารถทำได้ทั้งผ่าน Surface Connect และ USB-C เท่าที่ลองชาร์จด้วยอแดปเตอร์ USB-C ของยี่ห้ออื่นก็ทำได้ปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร กล้องหน้ายังถือเป็นจุดเด่นของ Surface มานาน และยิ่งเห็นประโยชน์ในยุคที่เราต้องประชุมออนไลน์กันบ่อยขึ้นมาก กล้องมีความละเอียด 5MP และเป็นกล้อง Infrared รองรับการล็อกอินด้วยใบหน้า Windows Hello เช่นเดิม สะดวกสบายในการใช้งาน แม้ตัวกล้องไม่ได้อัพเกรดใดๆ มานานแล้ว ช่องเสียบซิม LTE และ SSD ถอดเปลี่ยนได้ การเปลี่ยนแปลงสำคัญของฮาร์ดแวร์ Pro 7+ ซ่อนอยู่ด้านหลังขาตั้ง เพราะมีช่องเสียบซิม และ SSD แบบถอดเปลี่ยนได้เองเพิ่มมา กรณีของ SSD ต้องใช้เข็มจิ้มซิมกดตรงรู เพื่อให้ฝาหลุดออกมา (ตัวฝามีส่วนที่เป็นแม่เหล็กซะด้วย) ถ้าต้องการอัพเกรดเป็น SSD ขนาดที่ใหญ่ขึ้น สามารถซื้อ SSD ไซส์ M2 มาเปลี่ยนเองได้เลย ตรงนี้มีโน้ตเล็กๆ ว่า SSD ของไมโครซอฟท์จะมีตัวระบายความร้อนหุ้มมาให้ด้วย ขนาดจึงอาจไม่พอดี 100% แต่เห็นมีตัวอย่างยูทูบเบอร์บางราย ใช้เทประบายความร้อนมาแปะให้พอดีกันแทน ตามคลิปด้านล่าง ส่วนช่องใส่ซิมของ Surface Pro 7+ มาแทนช่องใส่ microSD เดิม แปลว่าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าจะเอาช่องใส่ซิมก็ไม่มี microSD มาให้ ข้อจำกัดอีกอย่างคือยังรองรับเฉพาะ 4G LTE เท่านั้น (โมเด็มเป็น Snapdragon X20) ไม่รองรับ 5G ผมลองนำซิมจากมือถือมาใส่ดู พบปัญหาเล็กน้อยว่ารูสำหรับจิ้มมีขนาดเล็กมาก ใช้เข็มจิ้มซิมของตัวเองแล้วจิ้มไม่เข้า (รูเล็กเกิน) แต่ไมโครซอฟท์ก็ให้เข็มจิ้มซิมมาในกล่องด้วย ซึ่งจิ้มได้ไม่มีปัญหา ใส่ซิมเรียบร้อยแล้วก็เข้าในหน้า Settings > Cellular สามารถเลือกได้ทั้งซิมแบบปกติ (SIM1) หรือจะเป็น eSIM ก็รองรับ ตั้งค่าเรียบร้อยก็พร้อมใช้งานได้ทันที ซีพียู Core 11th Gen Tiger Lake และจีพียู Iris Xe ในแง่สเปก ของใหม่ใน Pro 7+ มีเพียงอย่างเดียวคืออัพเกรดซีพียูมาเป็น 11th Gen Tiger Lake ซึ่งจุดขายสำคัญคือใช้จีพียูตัวใหม่ Iris Xe ที่คุยว่าแรงขึ้นจาก Intel UHD ของเดิมมาก แต่ก็ต้องโน้ตไว้ก่อนว่า แม้แต่อินเทลยังไม่กล้านำ Iris Xe มาจับตลาดเกมมิ่งเลย (จะเริ่มทำตลาดด้วยการ์ด Xe-HPG ที่จะออกในปีนี้) และไมโครซอฟท์เองก็ระบุชัดเจนว่า Surface Pro 7+ เป็น "for Business" นั่นคือไม่เน้นเกมมิ่ง ดังนั้นประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของ Xe จะมุ่งไปที่แอปพลิเคชันทั่วไป (เช่น ออฟฟิศ กราฟิก ออกแบบ ตัดต่อ ฯลฯ) เป็นหลัก เครื่องที่ได้รับมาทดสอบเป็น Core i5-1135G7 ที่จีพียู Iris Xe มี execution unit (EU) จำนวน 80 ตัว ลดจากรุ่นท็อป Core i7-1165G7 ที่มี EU เยอะกว่าคือ 96 ตัว ผมลองรัน Surface Pro 7+ เพื่อดูประสิทธิภาพของ Iris Xe 80 EU ด้วยเบนช์มาร์ค 3DMark Time Spy ได้คะแนนรวม 996 คะแนน (เทียบกับ Iris Xe 96 EU ที่ทำได้ราว 1,200 คะแนน) นับเฉพาะคะแนนกราฟิกที่ 931 คะแนน แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานของจีพียูโน้ตบุ๊กสายทำงานทั่วไป ภาพรวมแล้ว การมาถึงของ Iris Xe คงไม่ได้ช่วยให้เล่นเกมได้ดีขึ้นมากนัก พอเล่นเกมที่กราฟิกไม่แรงได้บ้าง แต่ประโยชน์ของมันคงอยู่ที่การใช้งานเชิงธุรกิจเป็นหลัก ความร้อน แบตเตอรี่ และการใช้งาน Surface Pro 7/7+ รุ่นที่เป็น Core i3 และ i5 เป็นดีไซน์แบบ fanless คือไม่มีพัดลม เพราะการปล่อยความร้อนไม่ได้เยอะมาก ในขณะที่รุ่น Core i7 ยังเป็นดีไซน์แบบมีพัดลมอยู่ เท่าที่ทดลองใช้งานท่องเว็บ โซเชียล ดูวิดีโอทั่วๆ ไป ตัวเครื่อง Surface Pro 7+ ค่อนข้างเย็นทีเดียว จะมีแค่ตอนรันงานหนักๆ (เช่น รันเบนช์มาร์คข้างต้น) ที่ตัวเครื่องด้านหลังซีกบนจะอุ่นขึ้น แต่ก็ยังไม่ร้อนจัดจนจับไม่ได้ ประเด็นเรื่องแบตเตอรี่ ไมโครซอฟท์คุยว่าใช้ได้นานสูงสุด 15 ชั่วโมง (รุ่น Wi-Fi) หรือ 13.5 ชั่วโมง (รุ่น LTE) ซึ่งในการใช้งานจริงย่อมไม่ถึงอยู่แล้ว จากการใช้งานทั่วๆ ไป ไม่ได้รันลูปงานเพื่อทดสอบแบบจริงจัง อยู่ได้ประมาณ 8 ชั่วโมง ถือว่าระดับกลางๆ ไม่ได้น้อยจนน่าเกลียด หรือนานจนตะลึง การใช้งานอื่นๆ ไม่มีอะไรแตกต่างจาก Surface Pro รุ่นก่อนๆ เพราะเป็น form factor ที่ผ่านการพิสูจน์ตัวเองมานานพอสมควรแล้ว หลายสิ่งที่ Surface ทำได้ดี (เช่น จดโน้ตด้วยปากกา ปรับเป็นแท็บเล็ตได้ง่าย ล็อกอินด้วยใบหน้าได้) ก็ยังทำได้ดีเหมือนเดิม ส่วนสิ่งที่เป็นจุดอ่อนหรือทำได้ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางฮาร์ดแวร์ (เช่น ขาตั้งวางบนพื้นที่ไม่ใช่โต๊ะได้ยาก) หรือซอฟต์แวร์ (จากตัว OS เอง) ก็ยังเป็นเช่นเดิม Surface Pro 7+ วิวัฒนาการขั้นสุดของ Surface Pro ก่อนเข้าสู่ยุคใหม่ ประเด็นที่น่าพูดถึงมากที่สุดของ Surface Pro 7+ คือตัว + ในชื่อรุ่น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ไมโครซอฟท์ตั้งชื่อด้วย + เพื่อแสดงให้เห็นว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจาก Surface Pro 7 แต่ยังไม่นับเป็น Surface Pro 8 การตั้งชื่อรุ่นแบบนี้ ต่างจากธรรมเนียมเดิมที่ไมโครซอฟท์ออก Surface Pro รุ่นใหม่แทบทุกปี (ตามรอบการออกซีพียูของอินเทล) แล้วขยับเลขท้ายขึ้นเรื่อยๆ แต่รอบนี้การอัพเกรดซีพียูใหม่เป็น Tiger Lake กลับไม่เพิ่มเลขรุ่นแบบที่แล้วๆ มา มิหนำซ้ำยังแปะตรา for Business มาขายเฉพาะตลาดองค์กรด้วย ท่าทีนี้ของไมโครซอฟท์เป็นสิ่งบ่งชี้กลายๆ ว่าการอัพเกรดซีพียู และการเปลี่ยนอย่างอื่นเล็กๆ น้อย (SSD อัพเกรดได้, ช่องใส่ซิม) คงไม่เพียงพอแล้วสำหรับการอัพเกรดเครื่องในสายตาผู้บริโภค ตัวบอดี้ของ Surface Pro นั้นไม่ถูกอัพเกรดใหญ่มานานมากแล้ว เราใช้บอดี้รุ่นนี้มาตั้งแต่ Surface Pro 4 ที่ออกในปี 2015 โน่นเลย ระหว่างนั้นมีเพียงการอัพเกรดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เช่น อัพเกรดขาตั้งให้กางได้มากขึ้น (Surface Pro 5), เพิ่มรุ่นสีดำ (Surface Pro 6), และเปลี่ยนพอร์ต Mini DisplayPort มาเป็น USB-C (Surface Pro 7) ดังนั้น Surface Pro 7+ ที่เพิ่ม SSD ถอดเปลี่ยนได้ และช่องใส่ซิมเข้ามา ถือเป็นอีกขั้นเล็กๆ ของวิวัฒนาการนี้ และน่าจะเป็นจุดสุดทางของบอดี้นี้แล้ว มาถึงปี 2021 หน้าตาแบบของ Surface Pro 7+ ถือว่าเริ่มล้าสมัยแล้ว เรายังเห็นแท็บเล็ตขอบจอหนาแบบเดียวกับ Surface Pro 4 ที่ออกในปี 2015 อยู่เช่นเดิม ปากกาต้องพกแยก ที่น่าสนใจคือ ไมโครซอฟท์เองก็มี "วิสัยทัศน์" ของ Surface แห่งอนาคตออกมาให้เห็นกันแล้ว มันคือ Surface Pro X ที่ขอบจอเล็กลง ตัวเครื่องเล็กลง คีย์บอร์ดมีช่องเก็บปากกา เปลี่ยนมาใช้หน่วยประมวลผลที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น เพียงแต่ข้อจำกัดเรื่องสถาปัตยกรรม Arm ทำให้เรายังเห็น Surface Pro X มีสถานะเป็น "อุปกรณ์กึ่งทดลอง" ที่แยกสายจาก Surface Pro รุ่นหลัก วางขายคู่ขนานกัน Surface Pro X ออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 พร้อมกับ Surface Pro 7 แต่พอมาถึงปี 2021 เรายังเห็น Surface Pro 7+ ที่หน้าตาแบบเดิมออกมาขายอยู่ ตรงนี้ทุกคนคงมีความเห็นร่วมกันว่า Surface Pro รุ่นถัดไป ที่น่าจะเปิดตัวช่วงปลายปี 2021 (และยังไม่รู้ว่าจะเรียกว่า Pro 8, X2 หรือชื่ออื่น) น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่รอคอยกันมานาน
# Qualcomm เปิดตัว Snapdragon 7c Gen 2 ซีพียูสำหรับโน้ตบุ๊กรุ่นเริ่มต้นและโครมบุ๊ก รองรับ 4G Qualcomm เปิดตัวซีพียูสถาปัตยกรรม ARM สำหรับโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ ต่อยอดจาก Snapdragon 7c ที่เปิดตัวในปี 2019 ซีพียูยังเป็น Kyro 468 แบบ 8แกน แต่เพิ่มความเร็วจากเดิม 2.4GHz เป็น 2.55GHz จีพียู Adreno ไม่ระบุรุ่น มีชิปโมเด็ม Snapdragon X15 รองรับ 4G (LTE) ในตัว รองรับ Bluetooth 5.0 รองรับ Wi-Fi 2.4GHz และ 5GHz ยังไม่รองรับ Wi-Fi 6 Snapdragon 7c Gen 2 รองรับทั้ง Windows 10 และ Chrome OS เตรียมเจาะตลาดโน้ตบุ๊กรุ่นเริ่มต้น (entry-level) และโครมบุ๊ก โดย Qualcomm ระบุว่า Snapdragon 7c Gen 2 ทำให้โน้ตบุ๊กแสตนด์บายได้ติดต่อกันหลายวัน (multi-day battery) รวมถึงรองรับหน้าจอความละเอียด QXGA, FHD ที่อัตรารีเฟรช 60Hz และรองรับการต่อหน้าจอภายนอก ความละเอียด QHD อัตรารีเฟรช 60Hz โน้ตบุ๊กรุ่นแรกที่ใช้ Snapdragon 7c Gen 2 จะวางจำหน่ายช่วงฤดูร้อนปีนี้ (มิถุนายน-สิงหาคม) แต่ยังไม่ระบุว่าเป็นแบรนด์ใด ส่วนหนึ่งในแบรนด์ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Qualcomm และเตรียมออกโน้ตบุ๊ก Snapdragon 7c Gen คือ Lenovo ที่เตรียมออกโน้ตบุ๊กใช้ Snapdragon 7c Gen 2 ภายในปีนี้ ที่มา - Qualcomm
# ชุมชนคริปโตฮังการี เตรียมสร้างอนุสาวรีย์ Satoshi Nakamoto ผู้สร้างบิตคอยน์ กลางกรุงบูดาเปสต์ Satoshi Nakamoto คือนามแฝงที่อยู่บน White Paper เอกสารชี้แจงจุดประสงค์และอธิบายการทำงานของบิตคอยน์ ปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ว่าตัวจริงของเขาเป็นใครกันแน่ เขาส่งข้อความถึงเหล่านักพัฒนาเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 26 เมษายน ปี 2011 หรือราว 10 กว่าปีมาแล้ว แล้วหายสาบสูญไป ล่าสุด 4 เว็บไซต์และองค์กรบิตคอยน์ในฮังการี คือ Mr.Coin เว็บกระดานเทรดบิตคอยน์, Crypto Academy เว็บคอร์สออนไลน์สอนเกี่ยวกับคริปโต, Blockchain Hungary Association สมาคมบล็อกเชนฮังการี และ Blockchain Budapest สมาคมบล็อกเชนประจำเมืองหลวง รวมเงินกับเงินบริจาคของสมาชิกชุมชนคริปโตในฮังการีทั้งหมด 10,556.94 ดอลลาร์ หรือราว 331,000 บาท เป็นทุนให้ศิลปิน Réka Gergely และ Tamás Gilly สร้างรูปปั้นครึ่งตัวของ Satoshi Nakamoto ตามไอเดียของ András Györfi นักข่าวสายคริปโตชาวฮังการี ลักษณะของรูปปั้นจะยังเป็นบุคคลลึกลับ แต่ส่วนใบหน้าจะทำจากวัตถุสะท้อนคล้ายกระจก ที่สามารถสะท้อนใบหน้าผู้ที่ผ่านไปผ่านมาได้ ตามไอเดียที่ว่า Satoshi Nakamoto จะเป็นใครก็ได้ในโลกนี้ และสะท้อนเอกลักษณ์ความ Decentralized หรือการเป็นเงินไร้ศูนย์กลางของบิตคอยน์ โดยรูปปั้นจะตั้งอยู่ในกรุงบูดาเปสต์ และยังไม่มีกำหนดการเสร็จสิ้น ที่มา - Entrepreneur.com
# นินเทนโดเผย 1 ใน 5 ของ Switch ที่ขายได้ คนซื้อมี Switch ในบ้านอยู่แล้ว ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในงานแถลงผลประกอบการของนินเทนโด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือ Shuntaro Furukawa ประธานของนินเทนโด ให้ข้อมูลต่อนักลงทุนว่า ถ้าดูจากยอดขาย Switch ในรอบปีการเงินล่าสุด ยอดขายสัดส่วน 20% จะขายไปยังครอบครัวที่มี Switch อยู่ก่อนแล้ว สถิตินี้เท่ากับว่า 1 ใน 5 ของ Switch ที่ขายได้ ถือเป็นเครื่องที่สองหรือสามในบ้าน ตัวของ Furukawa ยังประเมินว่าจำนวนเฉลี่ยของ Switch ต่อบ้านจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ถือเป็นจุดแข็งของ Nintendo ที่สามารถขาย Switch ได้อีกเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับคอนโซลอื่นๆ ที่มักซื้อกันบ้านละ 1 เครื่องเท่านั้น Shigeru Miyamoto เคยพูดไว้ในปี 2018 ว่าเป้าหมายของนินเทนโดคือ ทุกคนมี Switch เป็นของตัวเอง ซึ่งไปไกลกว่าเป้าหมาย 1 บ้าน 1 เครื่องด้วย ที่มา - Ars Technica
# Google Docs แสดงรูปภาพซ้อนด้านหลังข้อความได้แล้ว เปิดไฟล์ Word แล้วไม่เพี้ยน Google Docs เพิ่มฟีเจอร์สำคัญคือ วางรูปภาพไว้อยู่ด้านหน้าหรือด้านหลังข้อความได้แล้ว (บางคนแซวว่าไมโครซอฟท์ทำมาตั้งแต่ Word 97) กูเกิลยอมรับว่าฟีเจอร์นี้ออกแบบมาเพื่อเปิดเอกสารจาก Word แล้วไม่เพี้ยน ที่มา - Google Workspaces Update via 9to5google, Android Police
# Surface Duo รองรับการเล่นเกม xCloud แบ่งจอบน-ล่าง จอล่างเป็นคอนโทรลเลอร์ ไมโครซอฟท์อัพเดตแอพ Xbox for Android ให้รองรับการเล่นเกมผ่านคลาวด์ xCloud บนมือถือสองจอ Surface Duo รูปแบบการเล่นจะคล้าย Nintendo DS คือแบ่งสองจอบนล่าง โดยจอบนเป็นหน้าจอแสดงผลตามปกติ ส่วนจอล่างเป็นคอนโทรลเลอร์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละเกม ข้อมูลของไมโครซอฟท์ระบุว่าตอนนี้มีเกมกว่า 50 เกมใน Xbox Game Pass Ultimate ที่รองรับคอนโทรลแบบสัมผัส ไม่ต้องใช้จอยแล้ว ที่มา - @Panos_Panay
# Apple ออกอัพเดต iOS 14.6 รองรับ Podcasts Subscription แอปเปิลออกอัพเดตระบบปฏิบัติการ iOS 14.6 และ iPadOS 14.6 วันนี้ ผู้ใช้งานสามารถอัพเดตได้โดยไปที่แอป Settings เลือก General > Software Update ของใหม่ที่สำคัญในอัพเดตนี้มีดังนี้ เพิ่มคุณสมบัติใช้อีเมลใน AirTag สำหรับ Lost Mode AirTag แสดงข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์เพียงบางส่วนเมื่อสแกนดูผ่าน NFC รองรับ Subscription ของช่องใน Podcasts รองรับ Apple Card Family (ยังไม่มีในไทย) แก้ไขบั๊กหลายรายการ แอปเปิลยังออกอัพเดตซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการอื่นในเครือดังนี้ watchOS 7.5 รองรับ Podcasts Subscription macOS Big Sur 11.4 รองรับ Podcasts Subscription และแก้ไขช่องโหว่ที่ผู้โจมตีสามารถจับ screenshot ออกไปได้ (รายละเอียดทั้งหมด) tvOS 14.6 รองรับ Spatial Audio กับ Lossless ใน Apple Music ที่มา: MacRumors [1], [2], [3], [4]
# Qualcomm เปิดตัวชุดพัฒนาแอปสำหรับวินโดวส์ที่รันบนชิป Arm Qualcomm เปิด Snapdragon Developer Kit for Windows พีซีชิป Arm สำหรับนักพัฒนาที่ต้องการพอร์ตแอปไปยังวินโดวส์บน Arm ในอนาคต รูปแบบเดียวกับ Developer Transition Kit (DTK) ของแอปเปิลที่เปิดให้นักพัฒนาเข้าถึงเครื่องก่อนเปิดตัวเครื่องแมคชิป M1 ออกมา ทาง Qualcomm ระบุว่าตัวเครื่องมาพร้อมกับชุดพัฒนาและซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องหลายตัว ได้แก่ Visual Studio Code, LLVM, Chromium framework, .NET 5.0 framework, WIX installers, WSL/WSL2, MinGW/GCC, Cygwin, Electron, Qt, GTK, OpenVPN, FFMPEG library, Boost, GStreamer. GIMP, Handbrake ตอนนี้ Qualcomm ยังไม่ระบุราคาและวันวางจำหน่าย รวมถึงไม่ยอมบอกสเปคภายในเครื่อง แต่บอกเพียงว่าชุดพัฒนานี้เป็นทางเลือกคุ้มราคาสำหรับการพัฒนาแอปบน Snapdragon เมื่อมีอุปกรณ์สำหรับผู้ใช้ทั่วไปวางขาย ที่มา - Qualcomm, The Register
# Raspberry Pi เปิดตัว PoE+ HAT จ่ายไฟได้ 25.5 วัตต์ ราคา 20 ดอลลาร์เท่าเดิม Raspberry Pi เปิดตัวอุปกรณ์เสริม PoE+ HAT รุ่นปรับปรุงจาก PoE HAT ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2018 ความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือรองรับมาตรฐาน 802.3at เพิ่มเติมจาก 802.3af รองรับกำลังไฟมากขึ้นเป็น 25.5 วัตต์ จุดเปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือหม้อแปลงที่หันไปใช้ Bourns planar transformer หม้อแปลงแบบบางพิเศษทำให้ไม่ต้องใช้ขดลวดพันกับแกนแม่เหล็กเหมือนเดิมจนทำให้ตัวเครื่องสูงกว่าปกติมาก สามารถใช้ได้กับ Raspberry Pi 3B+ และ 4B ราคา 20 ดอลลาร์เท่าเดิม ที่มา - Raspberry Pi
# บริษัทขุดเงินคริปโต Huobi Mall และ BTC.TOP หยุดให้บริการในจีน เตรียมส่งอุปกรณ์ไปขุดประเทศอื่น บริษัทรวมกลุ่มขุดเงินคริปโต (mining pool) Huobi Mall และ BTC.TOP ประกาศหยุดให้บริการในจีน หลังทางการจีนเริ่มแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะ "กำจัด" เงินคริปโตเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงของบุคคลทั่วไป ตัว Huobi Mall นั้นระบุว่ากำลังติดต่อศูนย์ข้อมูลต่างประเทศเพื่อย้ายเหมืองออกไปเปิดใหม่ ส่วน Jiang Zhuoer ผู้ก่อตั้ง BTC.TOP ก็ระบุว่าธุรกิจ mining pool ในจีนนั้นเป็นธุรกิจส่วนเล็กของบริษัทอยู่แล้ว จึงไม่คุ้มจะเปิดบริการต่อไป แต่จะย้ายไปเปิดเหมืองแถบอเมริกาเหนือแทน Jiang ยังเชื่อว่าผู้เปิดเหมืองรายอื่นๆ ก็จะย้ายอุปกรณ์ไปเปิดเหมืองต่อในประเทศอื่นๆ เหมืองขนาดใหญ่บางรายยังคงเปิดในจีนต่อไป เช่น HashCow ระบุว่าจะหยุดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม และคืนเงินผู้ลงทุนที่จองอุปกรณ์ไว้ก่อนหน้านี้และยังไม่ได้เริ่มใช้งาน แต่ยืนยันว่าบริษัททำตามข้อบังคับของทางการแล้ว ที่มา - NDTV ภาพโดย rebcenter-moscow
# สิงคโปร์อนุมัติเครื่องตรวจ COVID-19 ทางลมหายใจ รู้ผลในหนึ่งนาที ไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ฝึกเฉพาะ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Health Sciences Authority - HSA) ของสิงคโปร์ประกาศรับรอง BreFence Go COVID-19 Breath Test System เครื่องตรวจ COVID-19 จากบริษัท Breathonix สตาร์ตอัพด้านสุขภาพในสิงคโปร์เอง และเป็นเครื่องตรวจแรกในหมวด "อื่นๆ" ที่สิงคโปร์รับรองให้ใช้งานได้ หลังจากก่อนหน้านี้ชุดตรวจมีเฉพาะในหมวด PCR, Antigen, และ Antibody เท่านั้น BreFence Go ตรวจลมหายใจเพื่อหาสารประกอบที่เกิดขึ้นในร่างกายผู้ติด COVID-19 (volatile organic compounds - VOCs) ที่หลุดมาพร้อมกับลมหายใจ แล้วพยายามวัดว่ามีสารประกอบเหล่านี้มากเพียงใด จุดเด่นของระบบนี้คือผู้เข้าตรวจสามารถรู้ผลภายในหนึ่งนาทีหลังตรวจ สำหรับความแม่นยำของเครื่อง BreFence Go ในมุม sensitivity (จำนวนผู้ที่เครื่องระบุว่าติดเทียบกับผู้ที่ติดทั้งหมด) อยู่ที่ 85.% ในมุม specificity (จำนวนผู้ที่เครื่องระบุว่าไม่ติดเทียบกับผู้ไม่ติดทั้งหมด) อยู่ที่ 97% ระหว่างนี้ทาง Breathonix ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้ผลแม่นยำขึ้น ที่มา - Breathonix
# SUSE ออกซอฟต์แวร์ Harvestor ระบบจัดการโครงสร้าง hyperconverged รุ่นเบต้า SUSE เตรียมบุกตลาดซอฟต์แวร์ hyperconverged infrastructure (HCI) จัดการโครงสร้างพื้นฐานระบบไอทีในองค์กร ด้วยการพัฒนาโปรแกรมโอเพนซอร์สชื่อ Harvestor โดยตอนนี้ก็ออกเวอร์ชั่น 0.2.0 ที่ความสมารถเริ่มใกล้เคียงซอฟต์แวร์ HCI ตัวอื่นๆ Harvestor เวอร์ชั่นนี้อาศัยระบบสตอเรจ Longhorn ที่ได้มาจาก Rancher มาใช้จัดการอิมเมจ VM และใช้ฟีเจอร์ Backing Image ทำให้อิมเมจของแต่ละ VM ใช้อิมเมจพื้นฐานร่วมกันได้ ลดความสิ้นเปลืองสตอเรจ และยังทำให้ backup ตัวอิมเมจทั้งก้อนไปยังสตอเรจที่ใช้ S3 API ในส่วนการจัดการ VM เองก็รองรับการทำ live migration ย้าย VM ข้ามเครื่องได้แล้ว สำหรับการจัดการ Kubernetes ใน Harvestor เวอร์ชั่นนี้จะใส่ Rancher มาให้ในตัว รูปแบบเดียวกับ VMware ที่ใส่ Tanzu มาในระบบจัดการ VM เช่นกัน ตอนนี้ Harvestor ยังเป็นโครงการโอเพนซอร์สที่ไม่มีซัพพอร์ตเต็มรูปแบบ ทาง SUSE วางแผนว่าจะออกเวอร์ชั่น 0.3.0 อีกครั้งหนึ่งแล้วจึงออกเป็นเวอร์ชั่น GA ที่มา - SUSE
# Embracer Group บริษัทเกมสวีเดน รายได้โต 80% รายได้หลักมาจากเกม Valheim Embracer Group บริษัทเกมสวีเดนที่เป็นบริษัทแม่ของ THQ Nordic และ Coffee Stain Studios ผู้จัดจำหน่ายเกมเอาตัวรอดแนวไวกิ้ง Valheim ที่พัฒนาโดย Iron Gate Studio เปิดรายงานรายได้ไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2021) เติบโตถึง 80% จาก 161 ล้านดอลลาร์จากช่วงเดียวกันในปี 2020 เป็น 289.5 ล้านดอลลาร์ และกำไรจากการดำเนินงาน เติบโต 216% จาก 34.4 ล้านดอลลาร์ เป็น 108.7 ล้านดอลลาร์ รายได้หลักมาจากเกม Valheim จากผู้จัดจำหน่าย Coffee Stain Studios ที่ขายได้กว่า 6.8 ล้านชุด ทำรายได้ไปกว่า 94 ล้านดอลลาร์ ส่วนสตูดิโอและฝั่งอื่นทำรายได้ดังนี้ THQ Nordic (ทีมสร้าง Darksiders, Destroy All Humans) - 42.6 ล้านดอลลาร์ Deep Silver (เกมตระกูล Metro, Dead Island) - 55.8 ล้านดอลลาร์ Saber Interactive (พอร์ตเกม The Witcher 3 ลง Nintendo Switch) - 32.5 ล้านดอลลาร์ Deca Games (ทีมสร้างเกมมือถือ) - 12.5 ล้านดอลลาร์ ฝั่งจัดจำหน่ายเกมของพาร์ทเนอร์และภาพยนตร์ - 51.6 ล้านดอลลาร์ หลัง Embracer Group ประกาศซื้อสตูดิโอพัฒนาเกมกว่า 11 แห่ง ช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ล่าสุดซื้อกลุ่มสตูดิโอเพิ่มอีก 5 สตูดิโอคือ Appeal Studios, Kaiko Massive Miniteam, Frame Break และ Gate21 ในเอกสารยังระบุว่า Embracer Group จัดตั้งสตูดิโอ Free Radical Design ผู้สร้างเกม Timesplitters ขึ้นมาอีกครั้งโดยให้อยู่ใต้สังกัด Deep Silver และกำลังเตรียมนำแฟรนไชส์ Timesplitters กลับมาอยู่ในมือผู้ให้กำเนิดคือ Steve Ellis และ David Doak หลัง THQ Nordic ซื้อมาจาก Crytek ในปี 2020 ปัจจุบัน Embracer Group มีเกมที่พัฒนาอยู่รวม 160 เกม เตรียมวางจำหน่ายภายในเดือนมีนาคม ปี 2022 กว่า 90 เกม และมีเกมที่จะวางจำหน่ายในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ คือเกม Biomutant เกมแนวแอ็กชั่นสวมบทบาทของ THQ Nordic ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายงานผลประกอบการฉบับเต็มได้ที่นี่ ค่าเงินในเอกสารเป็นหน่วยสวีดิชโครน (SEK) ที่มา - Embracer Group via VentureBeat
# อดีตหัวหน้าสตูดิโอ Middle-earth: Shadow of Mordor เตรียมเปิดสตูดิโอใหม่ในเครือ EA EA แถลงเตรียมนำ Kevin Stephens อดีตหัวหน้าสตูดิโอ และ VP ของ Monolith Productions ทีมสร้างเกม Middle-earth: Shadow of Mordor และ Shadow of War มาเปิดสตูดิโอใหม่กับ EA ในรัฐซีแอทเทิล สตูดิโอใหม่ที่ยังไม่มีชื่อนี้จะรับหน้าที่สร้างเกมแนวแอ็กชั่นผจญภัยแบบโอเพ่นเวิลด์ให้กับ EA และ Kevin Stephens จะได้กลับมาร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานเก่า Samantha Ryan ประธาน Monolith Productions ในยุค 90 ที่ปัจจุบันเป็น Senior VP และผู้บริหารทั่วกลุ่มธุรกิจ (group general manager) ของ EA รายละเอียดอื่นๆ ของสตูดิโอยังไม่เปิดเผย ทั้งเรื่องจะสร้างเกมแฟรนไชส์ใหม่ หรือนำแฟรนไชส์ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาเป็นแนวแอ็กชั่นผจญภัยโอเพ่นเวิลด์ แปลว่าอาจจะใช้เวลาสักพักกว่าที่เราจะได้เห็นเกมจากสตูดิโอใหม่นี้ Samantha Ryan ยังพูดถึงความสำเร็จของเกม Star Wars: Jedi Fallen Order ซึ่งเป็นเกมแนวแอ็กชั่นผจญภัยเล่นคนเดียวแบบมีเนื้อเรื่อง และระบุว่าต้องการสร้างเกมที่ตอบสนองแฟนเกมแนวนี้มากขึ้นในอนาคตซึ่งน่าจะเป็นข่าวดีของผู้เล่นที่อยากเห็นเกมแนวแอ็กชั่นผจญภัยมีเนื้อเรื่องมากขึ้น หลัง EA เคยพูดว่าเกมเนื้อเรื่องแบบเล่นคนเดียวนั้นตายไปแล้ว ที่มา - Gameindustry.biz
# Chrome ประกาศแผนใช้ User-Agent Client Hints (UA-CH) แทน User-Agent String Chrome ประกาศแผนการใช้ User-Agent Client Hints API (UA-CH) แบบใหม่ ที่ต้องการใช้แทน User-Agent String ที่วงการเบราว์เซอร์ใช้กันมานาน โปรแกรมเมอร์สายเว็บคงคุ้นเคยกับข้อความ User-Agent String ที่เบราว์เซอร์ใช้ประกาศข้อมูลของตัวเองให้เซิร์ฟเวอร์ทราบ ปัญหาคือข้อความนี้ยาวเกินไป เพราะพยายามรักษาความเข้ากันได้ในอดีต และเปิดเผยข้อมูลตัวเองมากเกินไป (เช่น OS, รุ่นของอุปกรณ์ที่ใช้) ทำให้เซิร์ฟเวอร์สามารถ track ไคลเอนต์ เจาะจงตัวผู้ใช้ได้ง่าย เสียความเป็นส่วนตัว กูเกิลเสนอแนวทางใหม่คือ User-Agent Client Hints มาตั้งแต่ต้นปี 2020 (ข่าวเก่า) เปลี่ยนมาเป็นการส่งข้อมูลถาม-ตอบ (request-response) ระหว่างไคลเอนต์-เซิร์ฟเวอร์ แทนการ broadcast ออกมาจากไคลเอนต์แบบที่เป็นอยู่ ตัวอย่างวิธีการถามตอบข้อมูลสามารถดูได้จากตาราง (รายละเอียดอ่านได้จาก web.dev) แผนการใช้ UA-CH ถูกเลื่อนเพราะปัญหา COVID-19 จนตอนนี้กูเกิลคิดว่าโลกพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว ปัจจุบัน UA-CH มีใช้แล้วใน Chrome 89 ขึ้นไป (Chrome เวอร์ชันปัจจุบันคือ 90) แต่แผนการของกูเกิลจะค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มแจ้ง deprecated ตั้งแต่ Chrome 92 เป็นต้นไป, เปิดให้ฝั่งเว็บไซต์ opt-in มาลองใช้งานกันก่อน 6 เดือน เว็บเบราว์เซอร์ตัวอื่นยังไม่รองรับ UA-CH แต่ก็เริ่มลดการแจ้งข้อมูลเวอร์ชันระบบปฏิบัติการแล้ว เช่น Safari จะแสดงเลขเวอร์ชัน macOS สูงสุดที่ 10.15 เท่านั้น หรือ Firefox แจ้งเลขเวอร์ชัน Windows สูงสุดที่ 10.00 ด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นส่วนตัวเช่นกัน ที่มา - Chromium Blog
# 1Password เปิดไคลเอนต์รุ่นลินุกซ์ เปลี่ยนไลบรารีเข้ารหัสเป็น Rust 1Password ประกาศเปิดตัวรุ่นลินุกซ์เต็มรูปแบบ อินทิเกรตกับลินุกซ์ เช่น การอ่านค่าธีมสว่างหรือมืดจากค่าคอนฟิก GTK, เติมรหัสผ่านให้เบราว์เซอร์, ทำงานร่วมกับ clipboard ของ X11, และเชื่อมต่อกับการล็อกระบบ จุดน่าสนใจของ 1Password ลินุกซ์คือฟีเจอร์หลายตัวนั้นนำหน้าเวอร์ชั่นอื่นๆ ไปเสียอีก เช่น การแนบไฟล์แบบเข้ารหัส, เก็บรหัสผ่านที่ไม่ได้ใช้ (archiving), dashboard สำหรับตรวจความปลอดภัยรหัสผ่าน ในเวอร์ชั่นลินุกซ์นี้ทาง 1Password พัฒนาด้วย React และ Electron โดยอาศัย Neon เพื่อเชื่อมต่อกับ Rust ด้านหลัง ไลบรารีเข้ารหัสเป็น ring crypto และยังพยายามเข้าไปสนับสนุนโครงการโอเพนซอร์สอีกหลายตัว เช่น Tokio, rust-analyzer ที่มา - 1Password
# Notebookcheck ตั้งคำถาม ทำไม ThinkPad รุ่นแพง คีย์บอร์ดถึงห่วยลงเรื่อยๆ เว็บไซต์รีวิวโน้ตบุ๊กชื่อดัง Notebookcheck ออกมาวิจารณ์แนวทางของ Lenovo ที่ปรับคีย์บอร์ดของ ThinkPad รุ่นใหม่ๆ ให้มีระยะกดปุ่ม (key travel) สั้นลง จากเดิม 1.8 มิลลิเมตรมาเหลือ 1.5 มิลลิเมตร ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการพิมพ์ Notebookcheck ตั้งข้อสังเกตว่าทิศทางของ Lenovo จะปรับระยะกดปุ่มให้สั้นลง เฉพาะใน ThinkPad รุ่นราคาแพงคือ X1 Carbon (เริ่มใน Gen 7 ส่วน Gen 9 ตัวล่าสุดยังเท่าเดิม แถมปรับความสูงและขนาดปุ่มบางปุ่มให้ลดลง) ส่วน ThinkPad X1 Extreme รุ่นปัจจุบัน (Gen 3) ยังเป็นระยะ 1.8 มิลลิเมตรอยู่ แต่คาดว่ารุ่นหน้า Gen 4 จะลดมาเหลือ 1.5 มิลลิเมตรเช่นกัน ในขณะที่รุ่นราคาถูกกว่าคือซีรีส์ T หรือ L กลับยังใช้คีย์บอร์ดตัวเดิมอยู่ Notebookcheck บอกว่าในเครื่องที่มีขนาดเล็กหรือบางมากๆ อย่าง ThinkPad X1 Nano หรือ X1 Titanium Yoga การลดระยะคีย์บอร์ดเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ความหนาของ X1 Carbon แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยในช่วงหลัง จึงเกิดคำถามว่าทำไม Lenovo ถึงต้องลดระยะกดปุ่มลง ทางเว็บไซต์ยังเสนอว่าถ้าเพิ่มความหนาของเครื่องอีกเล็กน้อย แลกกับการกดปุ่มที่ดีขึ้น ลูกค้ากลุ่มนี้น่าจะชอบมากขึ้นด้วยซ้ำ ส่วนลูกค้าที่อยากได้บางมากๆ ก็มีทางเลือกใหม่คือ X1 Nano แทนแล้ว ผู้เขียนบทความสรุปว่า คีย์บอร์ดของ ThinkPad รุ่นใหม่ๆ ยังถือว่าดีอยู่ และดีกว่าโน้ตบุ๊กยี่ห้ออื่นๆ แต่ประเด็นสำคัญคือ ถ้าเทียบกับรุ่นเก่าแล้วคุณภาพแย่ลง ThinkPad X1 Carbon Gen 9 ภาพจาก Lenovo ที่มา - Notebookcheck
# ซัมซุงออกโฆษณาใหม่ โชว์กล้อง Galaxy S21 5G เหนือกว่า iPhone 12 Pro Max ซัมซุงออกคลิปโฆษณาสองตัว โชว์ว่าคุณภาพกล้อง Galaxy S21 5G เหนือกว่า iPhone 12 Pro Max คลิปแรกเน้นเรื่องรายละเอียดภาพที่ S21 5G มีจำนวนพิกเซล 108 ล้านพิกเซลเทียบกับ 12 ล้านพิกเซลบน iPhone 12 Pro Max และมีสีที่สดกว่า ส่วนโฆษณาอีกตัวโชว์กล้องซูมได้ไกลกว่าถึง 100x บน S21 5G เทียบกับสูงสุด 12x บน iPhone 12 Pro Max พร้อมประโยคเด็ดของทั้งสองวิดีโอ “จะอัพเกรดมือถือใหม่ ต้องไม่ดาวน์เกรด” (Your phone upgrade shouldn’t be a downgrade) ในด้านฮาร์ดแวร์ iPhone ตามหลังมือถือซัมซุงและฝั่งแอนดรอยด์โดยเฉพาะหน้าจอที่ยังมีอัตรารีเฟรชสูงสุดแค่ 60Hz และกล้องหลายตัวให้ตัวเลือกซูมมากๆ หรือพิกเซลสูงๆ เช่นเดียวกับ Galaxy S21 นี้ ส่วนเรื่องระยะเวลาซัพพอร์ตที่ในอดีต iPhone เคยได้รับการซัพพอร์ตนานกว่าซัมซุง ปัจจุบันในรุ่นเรือธงของซัมซุงก็การันตีอัพเกรดเวอร์ชั่นแอนดรอยด์ให้ 3 เวอร์ชั่นแล้ว และขยายเวลาอัพเดตแพทช์ความปลอดภัยให้ถึง 4 ปีในหลายๆ รุ่น แถมอัพเดตแพทช์ความปลอดภัยไวพอๆ กับ Pixel ทำให้ข้อได้เปรียบของแอปเปิลในจุดนี้ลดลงไปอีก แม้มือถือซัมซุงเองจะมีราคาใกล้เคียงกับ iPhone มากขึ้นก็ตาม ที่มา - SamMobile
# คณะกรรมการเสถียรภาพการเงินจีน เตรียม "กำจัด" เงินคริปโต ทั้งการเทรดและขุดเหมือง คณะกรรมการเสถียรภาพการเงินของจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลจีน เผยแพร่บันทึกการประชุมรอบล่าสุดเมื่อ 21 พ.ค. มีประเด็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องกำจัด (ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้คำว่า crack down หรือ combat) การทำเหมืองและการเทรด Bitcoin เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงของบุคคลทั่วไป (ต้นฉบับใช้คำว่า Bitcoin แต่น่าจะหมายถึงเงินคริปโตในภาพรวม) บันทึกที่เผยแพร่เป็นการสรุปประเด็นสั้นๆ และไม่ได้ให้รายละเอียดว่าคณะกรรมการจะมีมาตรการอะไรบ้าง ประธานคณะกรรมการชุดนี้คือ Liu He ซึ่งปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรีของประเทศจีน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สมาคมการเงินจีนภาคเอกชน 3 สมาคม เพิ่งออกแถลงการห้ามให้บริการเกี่ยวกับเงินคริปโต ที่มา - Gov.cn (ภาษาจีน) via The Register ภาพประกอบ: Parolan Harahap / Flickr / Creative Commons
# RHEL 8.4 ออกแล้ว เพิ่มอิมเมจแบบ Micro, ปรับวิธีสร้างอิมเมจสำหรับ Edge Red Hat ออก Red Hat Enterprise Linux (RHEL) 8.4 ตามรอบการออกรุ่นย่อยทุก 6 เดือน ของใหม่ในรุ่นนี้ได้แก่ เพิ่มอิมเมจ Universal Base Image (UBI) แบบ Micro ขนาดเล็กที่สุด (นอกเหนือจาก Standard, Minimal ที่มีอยู่) โดยอิมเมจแบบนี้ไม่มี package manager ในตัว container-tools 3.0 ประกอบด้วย Podman 3.0, Buildah 1.9, Skopeo 1.2 โดย Podman รองรับ auto-update แล้ว ปรับวิธีการสร้างอิมเมจให้ง่ายต่อการติดตั้งบนเครื่องปลายทาง (Edge) ที่อาจไม่มีอินเทอร์เน็ตให้เลย ปรับปรุง subscription management การจัดการไลเซนส์เครื่อง ให้เป็นภาระของแอดมินน้อยลง ปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มหน้า web console แสดงประสิทธิภาพของระบบ ที่มา - Red Hat (1), Red Hat (2)
# เฟซบุ๊กสร้าง AI แปลงเสียงเป็นข้อความ ฝึกด้วยการใส่เสียงคนพูดและข้อความแยกกัน ไม่ต้องแปลงให้ดู เฟซบุ๊กรายงานความสำเร็จในการสร้างปัญญาประดิษฐ์แปลงเสียงเป็นข้อความ (speech recognition) ในชื่อ wav2vec-U โดยมีจุดเด่นคือเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ฝึกแบบ unsupervised ที่เป็นการฝึกปัญญาประดิษฐ์โดบไม่ต้องการข้อมูลตัวอย่างโดยตรง การสร้างปัญญาประดิษฐ์แปลงเสียงเป็นข้อความโดยปกติแล้วจะต้องใช้ชุดข้อมูลคู่กันระหว่างเสียงและข้อความที่แปลงไว้ก่อนหน้า (labeled data) เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์พยายามเลียนแบบ กระบวนการสร้างชุดข้อมูลนี้มีต้นทุนสูงที่ต้องแปลงข้อมูลเสียงเป็นข้อความนับพันชั่วโมง และในภาษาที่มีชุดข้อมูลอยู่น้อยก็สามารถฝึกปัญญาประดิษฐ์ได้ยาก wav2vec-U ต้องการข้อมูลสำหรับฝึกเป็นเพียงเสียงพูดของแต่ละภาษาโดยไม่ต้องมีข้อความประกบแต่อย่างใด อีกทางหนึ่งคือข้อความในภาษาเดียวกันแต่อาจจะเป็นคนละเรื่องราวกันเลยก็ได้ (unlabeled data) ข้อมูลทั้งสองชุดสามารถนำมาสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่แปลงเสียงเป็นข้อความออกมาได้ กระบวนการทำงานภายในของ wav2vec-U เป็นการสร้างปัญญาประดิษฐ์เพื่อแปลงเสียงออกมาเป็นคำอ่าน (phonemize) และแปลงข้อความออกมาเป็นคำอ่านเช่นกัน จากนั้นอาศัยปัญญาประดิษฐ์ discriminator พยายามตัดสินว่าคำอ่านที่ได้นั้นมาจากข้อความจริงหรือมาจากการแปลงเสียง ระหว่างการฝึกปัญญาประดิษฐ์เมื่อ discriminator เก่งขึ้นเรื่อยๆ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่แปลงเสียงเป็นคำอ่านก็ต้องพยายามสร้างข้อความที่สมจริงขึ้นเรื่อยๆ จนได้เป็นการแปลงเสียงเป็นข้อความ การทดสอบประสิทธิภาพของ wav2vec-U ด้วยชุดทดสอบ Librispeech ได้คะแนน word error rate (WER) อยู่ที่ 5.9 ระดับเดียวกับปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ข้อมูลแปลงเสียงเป็นข้อความโดยตรงที่ดีที่สุดในปี 2019 ที่มา - Facebook AI Blog
# ทำไมพนักงาน Blizzard ลาออกกันเยอะ วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยน หนีไปตั้งสตูดิโอใหม่ เว็บข่าวเกม IGN มีสกู๊ปพิเศษเจาะลึกสถานการณ์ของ Blizzard ช่วงหลัง ที่มีพนักงานเก่าลาออกอย่างต่อเนื่อง โดยเคสล่าสุดที่ดังที่สุดคือ Jeff Kaplan ผู้กำกับเกม Overwatch ว่าจริงๆ แล้วสาเหตุที่พนักงานลาออกคืออะไรกันแน่ IGN สัมภาษณ์พนักงานและอดีตพนักงาน Blizzard หลายคน โดยคำตอบที่ได้มีหลากหลาย ตั้งแต่โครงการเกมที่รับผิดชอบถูกยกเลิก, เหน็ดเหนื่อยจากการทำเกมเดิมมาเกิน 10 ปี, อยากกลับสู่บรรยากาศทีมพัฒนาเล็กๆ ที่อบอุ่น แทนทีมใหญ่ที่ลำดับขั้นเยอะ นอกจากประเด็นเรื่องพนักงานลาออกแล้ว ตัวบริษัท Blizzard เองก็มีปัญหาว่าไม่สามารถออกเกมใหม่ๆ ได้ต่อเนื่อง เกมสุดท้ายที่ออกคือ Overwatch ในปี 2016 (ซึ่งตัวมันเองก็แบกรับความความกดดันที่ไม่มีเกมใหม่ใหญ่ๆ นับจาก World of WarCraft) ความสำเร็จของ Overwatch ทำให้บรรยากาศของ Blizzard เต็มไปด้วยความโล่งใจ แต่นับจากนั้นมา 5 ปี ก็ยังไม่มีความสำเร็จแบบเดียวกันเกิดขึ้นอีก ระบบการจัดคิวเกมออกใหม่ของ Blizzard ในช่วงหลังก็ดูมีปัญหาไม่น้อย เพราะในงาน BlizzCon ปี 2018 มีเพียง Diablo Immortal ที่เป็นเกมมือถือ แถมทีมพัฒนาหลักเป็น NetEase ไม่ใช่ Blizzard จนโดนแฟนๆ ถล่มเละ ทำให้ปีต่อมา Blizzard ต้องแก้มือด้วยการประกาศ Diablo IV และ Overwatch 2 แต่ทั้งสองเกมก็ยังห่างไกลกับการวางขายจริง ส่วน Warcraft III: Reforged ก็เต็มไปด้วยปัญหา จนต้องยอมคืนเงิน จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างของ Blizzard คือ Michael Morhaime ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ลงจากตำแหน่งและลาออกจากบริษัทในปี 2018 ส่วน Frank Pearce ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนลาออกในปี 2019 (ซีอีโอคนปัจจุบันคือ J. Allen Brack ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้กำกับ World of WarCraft) ทำให้วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนไปจากเดิม ก่อนหน้านี้ Blizzard เน้นเรื่องความสร้างสรรค์ เน้นคุณภาพ ไม่สนใจเรื่องเงินหรือค่าใช้จ่าย แต่หลังปี 2018 เป็นต้นมา บริษัทเริ่มยกเลิกเกมที่ไม่ทำเงิน (เช่น Heroes of the Storm หรือโครงการทดลอง StarCraft FPS ที่เกิดขึ้นเพื่อหาเกมฮิตเกมต่อไปหลัง Overwatch), ลดค่าใช้จ่าย และปลดพนักงาน ภาพรวมของ Blizzard ยังเติบโตและมีกำไร เกมฮิตตลอดกาล World of Warcraft ยังทำเงินได้ดี แต่ก็เริ่มเจอปัญหาว่าผู้เล่นลดลงเรื่อยๆ และกลายเป็นยูนิตที่เล็กที่สุดของ Activision Blizzard แล้ว (อันดับหนึ่งคือ Activision อันดับสองคือสตูดิโอเกมมือถือ King) ปัจจัยทั้งหมดนี้รวมๆ กันทำให้เราเห็นการลาออกของทีมงานรุ่นเก่าๆ และถือเป็นการถ่ายเลือดใหม่ของ Blizzard ไปในตัว ประเด็นที่น่าสนใจคือ อดีตพนักงานของ Blizzard แทบไม่มีใครลาออกไปอยู่ค่ายเกมใหญ่ค่ายอื่นๆ แต่ใช้วิธีมาตั้งบริษัทเองเกือบหมด บริษัทที่เรารู้จักชื่อกันแล้วมีอย่างน้อย 5 แห่งคือ Second Dinner Frost Giant โดยอดีตทีม StarCraft II และตั้งเป้าทำเกม RTS Lightforge Games ก่อตั้งโดยอดีตทีม Bliizard และ Epic Secret Door ในเครือ Dreamhaven ของอดีตซีอีโอ Michael Morhaime Moonshot ในเครือ Dreamhaven เช่นกัน เหตุผลที่อดีตพนักงานเลือกก่อตั้งสตูดิโอใหม่ อาจเป็นเพราะโหยหาบรรยากาศทีมเล็กๆ แต่มีอิสระอย่างที่กล่าวไป บวกกับสถานการณ์ของวงการเกมตอนนี้ ที่นักลงทุน VC เริ่มสนใจมากขึ้น ทำให้การหาเงินทุนมาตั้งบริษัทเกมใหม่ๆ โดยทีมงานที่พิสูจน์ตัวเองแล้วจาก Blizzard ทำได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีตด้วย ที่มา - IGN
# iPad 2 เข้าสู่สถานะสินค้า obsolete แล้ว หลังเปิดตัวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แอปเปิลอัพเดตรายชื่อสินค้าที่เข้าสู่สถานะ Vintage and obsolete หรือผลิตภัณฑ์รุ่นเก่า-เลิกผลิตแล้ว โดย iPad 2 ได้เข้าสู่สถานะผลิตภัณฑ์ที่เลิกผลิตแล้ว เนื่องจากหยุดการจัดจำหน่ายมาเกิน 7 ปี ซึ่งแอปเปิลจะหยุดให้บริการด้านฮาร์ดแวร์ทั้งหมด ในสินค้ากลุ่มนี้ สตีฟ จ็อบส์ เปิดตัว iPad 2 เมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 หรือ 10 ปีที่แล้ว มีจุดเด่น (ในตอนนั้น) คือขนาดที่บางลง 33% เมื่อเทียบกับ iPad รุ่นแรก มีกล้องหน้าสำหรับคุย FaceTime มี Gyroscope และใช้ซีพียู A5 ที่เร็วขึ้นสองเท่า รวมทั้งขาย Smart Cover เป็นครั้งแรกด้วย iPad 2 ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จสูง สร้างฐานสินค้ากลุ่มแท็บเล็ตที่ชัดเจนขึ้น และทำให้ iPad ต่อยอดออกมาอีกหลายรุ่น ที่มา: MacRumors
# Apple ไม่ใส่ชิป AirTag ในรีโมท Apple TV รุ่นใหม่ บอกเพราะหนาขึ้น ทำหายได้ยาก Tim Twerdahl รองประธานของแอปเปิลฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ กลุ่มสินค้าในบ้านและเครื่องเสียง ให้สัมภาษณ์กับเว็บ Mobile Syrup เกี่ยวกับ Apple TV 4K รุ่นใหม่ ที่ใช้ชิป A12 Bionic และ Siri Remote แบบใหม่ (ในไทยใช้ชื่อว่า Apple TV Remote เนื่องจากยังไม่รองรับ Siri) ถึงอนาคตของสินค้าที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในห้องนั่งเล่น และแผนงานต่าง ๆ ในตอนหนึ่งมีคำถามว่าทำไม Siri Remote จึงไม่ใส่ชิป U1 เข้ามาด้วย ซึ่งทำให้รองรับการค้นหาผ่าน Find My เวลาทำรีโมทหาย แบบเดียวกับใน AirTag ซึ่ง Twerdahl บอกว่า Siri Remote ถูกทำให้มีขนาดหนาขึ้น เพื่อให้มันหายหรือหล่นไปในโซฟาได้ยากขึ้น ซึ่งก็น่าจะเพียงพอแล้ว Twerdahl ยังให้สัมภาษณ์กับ Express บอกว่าการออกแบบส่วนควบคุมการเล่นวิดีโอ ซึ่งเป็นแผ่นกลมนั้นทำให้นึกถึงคลิ้กวีลใน iPod ซึ่งน่าจะทำให้คนคุ้นเคยได้ง่าย แม้จะเป็นรูปแบบการควบคุมใหม่สำหรับรีโมท ที่มา: Mobile Syrup ผ่าน The Verge
# Air India รายงานข้อมูลถูกแฮก กระทบผู้โดยสารกว่า 4.5 ล้านคน สายการบิน Air India รายงานเหตุการณ์ข้อมูลหลุดครั้งใหญ่ กระทบผู้โดยสารที่เคยโดยสารกับสายการบินกว่า 4.5 ล้านคนที่ลงทะเบียนผ่านระบบ SITA ซึ่งเป็นระบบเก็บและประมวลผลข้อมูลผู้โดยสารของ Air India ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2011 จนถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คิดเป็นเวลาราว 10 ปี สำหรับข้อมูลที่ Air India ระบุว่าหลุดออกไปมีทั้งชื่อผู้โดยสาร, วันเดือนปีเกิด, ข้อมูลการติดต่อ, ข้อมูลบัตรโดยสาร และข้อมูลโปรแกรมสมาชิก frequent flyer ของทั้ง Air India เอง รวมถึงของพาร์ทเนอร์สายการบินสมาชิกในกลุ่ม Star Alliance ด้วย ซึ่งข้อมูล frequent flyer จะมีหลุดในส่วนของชื่อ, เลขสมาชิก และสถานะของสมาชิกเท่านั้น (ไม่มีรหัสผ่านหลุดออกไป) ส่วนข้อมูลการชำระเงินก็มีหลุดออกไปในครั้งนี้เช่นกัน โดยเฉพาะข้อมูลบัตรเครดิต แต่ไม่มีเลข CVV/CVC หลุดออกไปในการรั่วครั้งนี้ Air India รับทราบเหตุการณ์นี้ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เริ่มออกแจ้งเตือนครั้งแรกวันที่ 19 มีนาคม ซึ่งตอนนี้ทางสายการบินได้จัดการล็อกดาวน์เซิร์ฟเวอร์ที่ได้รับผลกระทบ และรีเซ็ทรหัสผ่านของโปรแกรมสมาชิก frequent flyer ของบริษัทแล้ว รวมถึงทำการสืบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้ทันทีที่ได้รับรายงานความผิดปกติ โฆษกของ SITA ระบุว่า การรั่วของข้อมูลครั้งนี้ไม่ได้มีเฉพาะ Air India ที่ได้รับผลกระทบ แต่มีบางสายการบินที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เช่น Lufthansa (และสายการบินลูก), Air New Zealand, Singapore Airlines, SAS, Cathay Pacific, Jeju Air, Malaysia Airlines และ Finnair ที่มา - Bleeping Computer, Engadget, Air India ภาพจาก Pixahive
# Apple บอกเอง Homepod จะมีอัพเดตซอฟต์แวร์ ที่รองรับ Apple Music แบบ Lossless สืบเนื่องจากข่าว Apple Music เปิดตัวการฟังเพลงแบบ Lossless แต่หูฟังไร้สายของแอปเปิลเอง จะไม่รองรับการส่งข้อมูลเสียงแบบ Lossless ทั้ง AirPods, AirPods Pro และ AirPods Max เนื่องจากใช้ codec แบบ AAC ที่บีบอัดเสียคุณภาพเสียงบางส่วนไป ล่าสุดแอปเปิลอธิบายเพิ่มเติมแล้ว โดยในหน้า Support ของแอปเปิล ได้ระบุชัดเจนว่า การฟังเพลงผ่านหูฟังไร้สายที่เชื่อมต่อด้วยบลูทูธจะไม่รองรับ Lossless ซึ่งรวมทั้ง AirPods, AirPods Pro, AirPods Max และหูฟังไร้สาย Beats ทั้งหมด การฟังด้วย AirPods Max แบบเสียบสายใช้งานก็ทำไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้การฟังเพลง Lossless ผ่าน iPhone, iPad, Mac ทำได้โดยฟังผ่านลำโพงของอุปกรณ์ หรือเชื่อมต่อลำโพงแบบสาย อย่างไรก็ตามยังมีอุปกรณ์เสริมของแอปเปิลที่รองรับนั่นคือ HomePod และ HomePod mini ซึ่งแอปเปิลบอกว่าจะรองรับ Lossless ในอัพเดตซอฟต์แวร์ที่จะออกมาในอนาคต ที่มา: แอปเปิล ผ่าน 9to5Mac
# Techsauce เปิดตัว Startup Directory รวมข้อมูลการลงทุนสตาร์ตอัพไทย Techsauce เว็บข่าวด้านสตาร์ตอัพของไทย เปิดตัว Startup Directory แพลตฟอร์มรวมข้อมูลของสตาร์ตอัพไทย โดยเฉพาะข้อมูลการระดมทุนของสตาร์ตอัพบริษัทต่างๆ (ขณะที่เขียนมีข้อมูล 233 บริษัท) ช่วยให้ติดตามความเคลื่อนไหวของสตาร์ตอัพในไทย และบริษัทลงทุน (VC, CVC, Angel) ได้ง่ายขึ้น สามารถดูแยกข้อมูลตามอุตสาหกรรม และตามปีที่ลงทุนได้ ที่มา - Techsauce
# Twitter จะเปิด Ticketed Spaces ห้องคุยเสียงแบบคิดเงินค่าตั๋ว หักส่วนแบ่ง 20% เข้าบริษัท Twitter เปิดเผยกับเว็บไซต์ The Verge ว่าจะออกบริการ Ticketed Spaces ต่อยอดจากบริการห้องคุยเสียง Spaces เพื่อให้โฮสต์ของห้องสามารถขายตั๋วเข้าฟังได้ โดย Twitter จะหักส่วนแบ่ง 20% จากค่าตั๋ว ในช่วงแรก โฮสต์ที่จะขายตั๋วได้ต้องเข้าเงื่อนไขมีผู้ติดตาม 1,000 คนขึ้นไป, เคยเป็นโฮสต์การคุยใน Spaces มาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้งในรอบ 30 วัน และมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เบื้องต้นจะเปิดให้เฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาที่สามารถซื้อตั๋วได้ และทยอยเปิดให้ผู้ใช้กลุ่มเล็กๆ ก่อน ที่มา - The Verge
# [ไม่ยืนยัน] CNA Financial บริษัทประกันใหญ่ในสหรัฐฯ จ่ายค่าไถ่ ransomware ไปถึง 1,200 ล้านบาท สำนักข่าว Bloomberg อ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวตนระบุว่า CNA Financial Corp บริษัทประกันรายใหญ่ในสหรัฐฯ จ่ายค่าไถ่ข้อมูลรวมมูลค่าถึง 40 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1,200 ล้านบาทเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากถูกมัลแวร์เข้ารหัสเรียกค่าไถ่ Phoenix Locker โจมตี ทาง CNA ระบุว่าได้แจ้งถึงการโจมตีต่อ FBI แล้ว และทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่แสดงความเห็นต่อกรณีการจ่ายค่าไถ่ข้อมูล แต่แหล่งข่าวระบุกับ Bloomberg ว่าแฮกเกอร์เรียกค่าไถ่เริ่มต้น 60 ล้านดอลลาร์หรือ 1,800 ล้านบาท ก่อนจะต่อรองในสัปดาห์ต่อมาจนเหลือ 40 ล้านดอลลาร์หรือ 1,200 ล้านบาท การโจมตี CNA เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทประกาศบนหน้าแรกของเว็บไซต์ โดยไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดใดๆ ของการโจมตี รวมถึงไม่ระบุว่าเป็นการโจมตีด้วย ransomware ที่มา - Bloomberg ภาพโดย iAmMrRob
# [ลือ] Netflix สนใจเข้าสู่ธุรกิจวิดีโอเกมแบบสตรีมมิ่ง มีรายงานจาก The Information อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง เผยว่า Netflix ได้เริ่มติดต่อทาบทามผู้บริหารผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมวิดีโอเกม เพื่อมาร่วมงานกับบริษัท เนื่องจาก Netflix มีแผนจะขยายไปสู่ธุรกิจวิดีโอเกม รูปแบบบริการที่คาดว่า Netflix จะทำ น่าจะเหมือนกับ Apple Arcade นั่นคือเก็บค่าบริการรายเดือน และสามารถเล่นเกมได้ทั้งหมดที่มีให้ ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า Netflix จะเป็นผู้พัฒนาเกมเองด้วยหรือไม่ แต่มีข้อมูลว่าตัวเกมจะไม่มีการแทรกโฆษณาเข้ามา ตัวแทนของ Netflix ชี้แจงกับข่าวดังกล่าวว่าบริษัทมีการขยายรูปแบบคอนเทนต์มาโดยตลอด ทั้งคอนเทนต์แบบผู้ชมเลือกแนวทางตอนจบอย่าง Black Mirror: Bandersnatch หรือเกมที่ต่อยอดจากซีรี่ส์ Stranger Things บริษัทจึงพร้อมที่จะขยายไปสู่ความบันเทิงแบบใหม่อยู่แล้ว ที่มา: IGN
# AWS เปิดบริการ AWS App Runner รันคอนเทนเนอร์แบบไม่ต้องจัดการโครงสร้างเอง AWS เปิดบริการ AWS App Runner บริการรันคอนเทนเนอร์โดยไม่ต้องจัดการเลเยอร์อื่นๆ รวมถึงไม่ต้องเรียนรู้บริการที่ซับซ้อนอย่าง Kubernetes ผู้ใช้หลักของบริการนี้น่าจะเป็นเว็บต่างๆ ที่โครงสร้างไม่ซับซ้อน และไม่ต้องการจัดการระบบปฎิบัติการ หรือเวอร์ชั่น Docker เอง โดยบริการ App Runner นี้ทาง AWS จะคอนฟิก load balancer, สร้างใบรับรองเข้ารหัส, และจัดการการ scale ระบบให้เอง ผู้ใช้สามารถเลือกดีพลอยจากอิมเมจใน ECR หรือจากซอร์สโค้ดโดยตรง โดยตัว App Runner จะเปิดให้คอนฟิกคำสั่ง build และคำสั่งรัน ค่าบริการ App runner คิดตามทรัพยากรที่คอนเทนเนอร์ใช้งาน โดยมีเครื่องขนาด 1-2 ซีพียู และแรม 2-4 GB คิดค่าบริการรายชั่วโมง ค่าซีพียูคอร์ละ 46 ดอลลาร์ต่อเดือนและค่าแรม 5.04 ดอลลาร์ต่อกิกะไบต์ต่อเดือน หากไม่มีการใช้งานจะคิดเฉพาะค่าแรมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีค่า automatic deployment และคิดเวลารัน build ตลอดจนค่าทราฟิกแยกต่างหาก ที่มา - AWS
# AWS ระบุบริการสตรีมมิ่งหลักๆ ล้วนเป็นลูกค้า ชูบริการสตรีมมิ่งแบบผู้ชมมีส่วนร่วม ในงานประชุมออนไลน์ AWS Summit Online ASEAN Media Briefing: Next Generation Technologies เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา Dean Samuels, Chief Technologist ประจำ ASEAN และ Shweta Jain หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจฝั่งมีเดียและสื่อบันเทิงประจำ APAC ของ AWS ให้ข้อมูลถึงเทคโนโลยีสตรีมมิ่งในปัจจุบัน และอนาคตของวิดีโอสตรีมมิ่ง AWS พูดถึงการที่ทั้ง Netflix และ Disney+ รวมถึง Disney+ Hotstar ที่เตรียมเปิดตัวในบ้านเรา ใช้ระบบ AWS เป็นระบบหลังบ้าน เพื่อจัดการข้อมูลไฟล์วิดีโอสตรีมมิ่ง ลดการดีเลย์ของการถ่ายทอดกีฬาสด วิเคราะห์คอนเทนต์ ระบบฐานข้อมูล รวมไปถึงการใช้ระบบ AI / machine learning ชื่อ Amazon Rekognition ของ AWS เพื่อช่วยในการตรวจสอบจัดการคอนเทนต์ Amazon Rekognition สามารถตรวจหาไตเติ้ลเริ่มเรื่องและเอนด์เครดิต (ส่วนหนึ่งของระบบ Skip Intro และเล่นตอนต่อไปของบริการต่างๆ) รวมไปถึงยังวิเคราะห์ ใบหน้า สิ่งของ หรือการเปลี่ยนฉากในวิดีโอได้ด้วย computer vision สามารถใช้ตรวจจับช่วงเปลี่ยนฉากเพื่อตัดเข้าสู่โฆษณา รวมถึงตรวจจับและเซ็นเซอร์ปืนหรือภาพโป๊เปลือยโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เหมาะกับระดับผู้ชมและตรงตามมาตรฐานที่แตกต่างกันไปของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียได้ AWS ยังแสดงตัวอย่างการใช้งานที่หลากหลายของระบบ Amazon Interactive Video Service (Amazon IVS) หรือระบบวิดีโอสตรีมมิ่งที่ผู้ชมมีส่วนรวม ซึ่งพัฒนาต่อมาจาก Twitch และเปิดให้เช่าใช้งานได้เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยโชว์การใช้งานต่างๆ เช่นใช้ไลฟ์ขายของ โดยระบบจะแสดงลิงก์ซื้อของขึ้นมาด้านข้างวิดีโอทันที ใช้ในการศึกษา เช่นการตอบคำถามหรือแบบสอบถาม การคอมเมนต์ในวิดีโอแบบทันที โดยมีความหน่วงของการโต้ตอบที่ต่ำมาก ตัวอย่างบริการที่เริ่มนำ Amazon IVS ไปใช้ในอาเซียน ได้แก่ GOX บริการสตรีมเกมสดของอินโดนีเซีย ที่ระยะดีเลย์ของวิดีโอลดลงจาก 20 วินาที เหลือเพียง 4 วินาทีหลังเปลี่ยนจากใช้ระบบของท้องถิ่นมาเป็น IVS และทำให้การมีส่วนร่วมของคนดูเพิ่มขึ้นถึง 379% ยิ่งบริการวิดีโอสตรีมมิ่งเป็นที่แพร่หลายเท่าไร ดูเหมือนว่าระบบของ AWS จะถูกนำไปใช้งานมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะบริการวิดีโอสตรีมมิ่งที่ผู้ชมมีส่วนร่วมได้ ซึ่งน่าจะแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจมีการใช้งานที่นอกเหนือไปจากวงการสตรีมเกม ไลฟ์สดขายของ หรือการศึกษามากขึ้นในอนาคต ที่มา - งาน AWS Summit Online ASEAN Media Briefing: Next Generation Technologies
# Seagate เปิดตัวฮาร์ดดิสก์ Mach.2 Exos เร็วที่สุดในโลก แซง SSD บางรุ่น, ใช้ชุดหมุนเข็ม 2 ตัว Seagate เปิดเผยสเปกของฮาร์ดดิสก์รุ่นใหม่ Mach.2 Exos 2X14 ที่ครองแชมป์ฮาร์ดดิสก์เร็วที่สุดในโลก มีอัตราการส่งข้อมูล 524 MBps ที่อาจเร็วกว่า SSD รุ่นราคาถูกหลายๆ ตัว ฮาร์ดดิสก์ Mach.2 ตัวนี้มีความจุรวม 14TB แต่จริงๆ แล้วมันคือฮาร์ดดิสก์ 7TB สองตัวอยู่ในไดรฟ์ขนาด 3.5" มาตรฐาน มีความเร็วการหมุนจานที่ 7200 RPM ในเอกสารของ Seagate อธิบายการเพิ่มสมรรถนะของฮาร์ดดิสก์ในอดีต ว่าสามารถเพิ่มได้ 3 แนวทางคือ หมุนจานให้เร็วขึ้น แต่จานในไดรฟ์ขนาด 3.5" มาตันที่ 7200 RPM นานแล้ว (ไดรฟ์ 2.5" ยังไปได้ถึง 10-15K) เพิ่มแคชของฮาร์ดดิสก์ ซึ่งช่วยได้แค่ในบางกรณี (ถ้าเรียกข้อมูลไม่ตรงกับที่แคชไว้ ก็ไม่ช่วยอะไร) เพิ่มความยาวคิวการเรียกข้อมูล (higher queue depths) ซึ่งต้องแลกมาด้วย latency ที่เพิ่มขึ้น เมื่อทุกแนวทางมาถึงข้อจำกัดแล้ว ทำให้อัตรา IOPS/TB ของฮาร์ดดิสก์จะลดลงเรื่อยๆ ตามความจุที่เพิ่มขึ้น (เรียกว่าจุเยอะขึ้นก็เรียกใช้งานได้ยากขึ้น) ทางออกของ Seagate คือเพิ่มชุดหมุนเข็ม (actuator) เป็น 2 ตัวในฮาร์ดดิสก์ลูกเดียวกัน ทำงานเป็นอิสระจากกัน (แยกอ่านจานครึ่งบน + จานครึ่งล่าง) ช่วยให้เรียกข้อมูลได้ 2 ชุดพร้อมกัน เพิ่มประสิทธิภาพขึ้นได้ 2 เท่า เทคโนโลยีนี้มีชื่อการค้าว่า Mach.2 ข้อเสียของ Mach.2 คือใช้พลังงานเยอะขึ้นกว่าไดรฟ์ single actuator แบบดั้งเดิม (ตามตาราง) แต่ Seagate ก็ระบุว่าพยายามกดให้อยู่ในกรอบ 12 วัตต์ และในการใช้งานจริง ต้องเทียบกับการใช้ฮาร์ดดิสก์ 2 ไดรฟ์ ซึ่ง Mach.2 ที่ยัดทุกอย่างลงไดร์ฟเดียวได้ ย่อมประหยัดพลังงานกว่า อีกทั้งไดรฟ์ซีรีส์ Exos เน้นการใช้ในศูนย์ข้อมูลอยู่แล้ว ไดรฟ์ Mach.2 ยังไม่เปิดขายให้ลูกค้าคอนซูเมอร์ทั่วไป ตอนนี้ความจุยังจำกัดที่ 14TB แต่ Seagate ก็ตั้งเป้าจะดันให้ไปถึง 30TB ในช่วงประมาณปี 2023 ที่มา - Seagate, ExtremeTech, Tom's Hardware
# Spotify เพิ่มการฟังเพลงแบบออฟไลน์ผ่าน Apple Watch โดยตรง เฉพาะผู้ใช้ Premium Spotify ประกาศว่าผู้ใช้ Apple Watch จะสามารถดาวน์โหลดเพลย์ลิสต์ อัลบั้ม และพอดคาสต์ ลง Apple Watch เพื่อฟังแบบออฟไลน์ โดยไม่ต้องมีโทรศัพท์เชื่อมต่อแล้ว มีผลเฉพาะกับผู้ใช้งานแบบ Premium ในการใช้งานสามารถกำหนดผ่านแอป Spotify บน Apple Watch ได้เลยว่าจะให้เล่นเพลงและเนื้อหาผ่านอุปกรณ์ใด รวมทั้งสามารถสั่งการด้วยเสียงได้ผ่าน Siri ในการกำหนดเพลย์ลิสต์ที่จะให้ดาวน์โหลดลงใน Apple Watch ให้กด (…) เลือก Download to Apple Watch คุณสมบัตินี้รองรับ Apple Watch Series 3 ขึ้นไป และเป็นระบบปฏิบัติการ watchOS 6.0 ขึ้นไป แต่ Spotify แนะนำ 7.1 ขึ้นไป รวมทั้งแอป Spotify บน iPhone ต้องเป็นเวอร์ชันล่าสุด ที่มา: Spotify
# ซีอีโอ Snapchat บอก เราแฮปปี้ดีกับการถูกหักส่วนแบ่ง 30% ของ Apple ช่วงนี้แอปเปิลกับ Epic มีคดีความเรื่องการผูกขาดใน App Store ประเด็นหนึ่งคือการหักส่วนแบ่ง 30% จากผู้พัฒนาแอป แต่มีมุมมองที่แตกต่างออกไปจาก Evan Spiegel ซีอีโอ Snap โดยเขาบอกว่าบริษัทรู้สึกดีสำหรับส่วนแบ่งที่ระดับ 30% นี้ Spiegel บอกเขารู้สึกว่าที่ Snapchat มาได้ถึงวันนี้ เพราะมี iPhone และแพลตฟอร์มที่สุดยอดของแอปเปิล เขาเองไม่แน่ใจว่ามีทางเลือกอื่นไหมนอกจากการจ่ายส่วนแบ่ง 30% แต่ก็รู้สึกดีเมื่อได้แลกกับเทคโนโลยีที่สุดยอด ซึ่งแอปเปิลให้ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เมื่อถามถึงประเด็นข้อกำหนดความเป็นส่วนตัวใหม่ใน iOS ซึ่งกระทบต่อการโฆษณาในแอป Spiegel บอกว่าเขายินดีปรับเปลี่ยนตามแนวทางใหม่ และกำลังทำงานร่วมกับตัวแทนโฆษณาเพื่อย้ายไปแพลตฟอร์ม SKAdNetwork ของแอปเปิล ที่มา: CNBC
# วัคซีนที่ดี ฉีดแล้วต้องได้แฟน ทำเนียบขาวจับมือแอพนัดเดท ทำป้าย "ฉีดแล้วนะ" แปะโพรไฟล์ คณะทำงานของทำเนียบขาว ประกาศความร่วมมือกับแอพนัดเดทหลายค่าย ที่ระบุชื่อคือ Bumble, Tinder, Hinge, Match, OkCupid, BLK, Chispa, Plenty of Fish, Badoo ให้เพิ่มฟีเจอร์กระตุ้นคนอเมริกันออกไปฉีดวัคซีนมากขึ้น แอพนัดเดทเหล่านี้จะเพิ่มป้ายสถานะการฉีดวัคซีน, เพิ่มฟิลเตอร์กรองเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว รวมถึงฟีเจอร์พรีเมียมอื่นๆ ตามแต่ละแอพ เช่น บูสต์การมองเห็นโพรไฟล์ฟรี 1 ครั้ง (OkCupid) หรือได้ Super Like ฟรี 1 ครั้ง (Tinder) ตัวเลขจาก OkCupid บอกว่าคนที่แสดงสถานะฉีดวัคซีนแล้ว (I'm Vaccinated) ในโพรไฟล์ มีโอกาสที่จะ match ความสนใจระหว่างกันเพิ่มขึ้น 14% ก่อนหน้านี้ ทำเนียบขาวเพิ่งจับมือ Uber และ Lyft แจกโค้ดเรียกรถไปฉีดวัคซีน COVID-19 ฟรี ที่มา - Whitehouse, OkCupid, Tinder, Ars Technica ภาพตัวอย่าง Tinder ภาพตัวอย่าง OkCupid
# Clubhouse for Android เปิดให้ทุกคนดาวน์โหลดได้แล้ว Clubhouse for Android เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปดาวน์โหลด ตามที่ประกาศไว้ หลังจากทดสอบในกลุ่มปิดเฉพาะบางประเทศมาก่อนหน้านี้ แอพเวอร์ชัน Android ยังมีฟีเจอร์บางอย่างตามหลังเวอร์ชัน iOS เช่น การติดตามหัวข้อ (topic following), การสร้างห้องคลับ, การเชื่อมบัญชี Twitter/Instagram และการแก้ไขชื่อผู้ใช้จากในแอพ เป็นต้น ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้แล้วจาก Google Play
# Chrome OS ยอดขายเติบโต 92%, อัพเกรดรันไทม์ Android 11, รองรับแอพลินุกซ์แบบเสถียร กูเกิลอัพเดตความเคลื่อนไหวของ Chrome OS ในงาน Google I/O 2021 ดังนี้ ปี 2020 ยอดขายอุปกรณ์ที่เป็น Chrome OS เติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 92% คิดเป็น 5 เท่าของการเติบโตตลาดพีซีในภาพรวม อัตราการเติบโตฝั่งลูกค้าองค์กรโตขึ้น 83%, ตลาดการศึกษา มีนักเรียน นักศึกษา ครู ใช้งาน 40 ล้านคน Play Store บน Chrome OS รองรับเว็บแอพ PWA แล้ว กูเกิลยังออกเครื่องมือ Bubblewrap ช่วยแปลง PWA เป็นแพ็กเกจขึ้น Play Store ได้สะดวก เดิมที รันไทม์ Android ใน Chrome OS เป็น Android 9 แต่ปีนี้จะอัพเกรดมาเป็น Android 11 ทั้งหมด Android ยังรันในคอนเทนเนอร์ แต่จะเปลี่ยนมาเป็นรันใน VM แทน ประสิทธิภาพ เสถียรภาพดีขึ้น การรองรับแอพลินุกซ์บน Chrome OS เปลี่ยนจากสถานะ Beta ที่ทดสอบมานาน 2 ปี มาเป็นรุ่นเสถียรแล้ว ที่มา - Chrome OS
# Twitter กลับมาเปิดให้ขอป้ายยืนยัน Verified Account อีกครั้ง Twitter กลับมาเปิดให้ขอเครื่องหมายยืนยัน (Verified) อีกครั้ง ตามที่เคยประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ ผู้ที่มีสิทธิขอยืนยันต้องเข้าข่าย 6 ประเภทคือ หน่วยงานภาครัฐ บริษัท แบรนด์ องค์กร หน่วยงานด้านข่าว และสื่อมวลชน บันเทิง กีฬาและเกม นักเคลื่อนไหว องค์กร และ influencer อื่นๆ กระบวนการยื่นขอป้าย Verified สามารถทำได้จากหน้า Account Settings ในแอพหรือในเว็บ จากนั้นยืนยันตัวตนด้วยวิธีการต่างๆ (เช่น อีเมล แสดงบัตรประจำตัว) ที่มา - Twitter Blog
# เบราว์เซอร์เกมมิ่ง Opera GX Mobile เปิดตัวเวอร์ชันมือถือ, บนเดสก์ท็อปมีคนใช้ 9 ล้าน Opera เปิดเผยว่ามีผู้ใช้งาน Opera GX เว็บเบราว์เซอร์สำหรับเกมเมอร์ มากกว่า 9 ล้านคนแล้ว และเปิดตัว Opera GX Mobile สำหรับอุปกรณ์พกพา ทั้งบน Android และ iOS ตัวอย่างฟีเจอร์ของ Opera GX Mobile ได้แก่ UI มีให้เลือกทั้งแบบ One Hand เมนูวงกลม ที่เรียกว่า Fast Action Button (FAB) สั่นเมื่อกดได้ (haptic feedback) และแบบปุ่มมาตรฐาน Flow ซิงก์ข้อมูลกับ Opera ฝั่งเดสก์ท็อป GX Corner ข่าวสารของวงการเกม ปฏิทินเกมออกใหม่ ดีลเกมลดราคา แจกเกมฟรี เปลี่ยนธีมได้หลากหลาย มีระบบบล็อคโฆษณา บล็อคหน้าถามคุกกี้ในตัว ที่มา - Opera
# แอป Microsoft Office บนแอนดรอยด์ มี Dark Mode แล้ว หลังจากที่หลายแอปในแอนดรอยด์มี Dark Mode กันเกือบหมดแล้ว คราวนี้ถึงคิวของ Microsoft Office บ้าง หลังเปิดตัวเป็นแอปรวมทั้ง Word, Excel และ PowerPoint เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2019 มีความสามารถอ่านและแก้ไขเอกสารเบื้องต้น เซ็นชื่อใน PDF รวมถึงแชร์ไฟล์ต่อ และสร้างไฟล์ Word หรือตาราง Excel จากภาพถ่ายของเอกสารได้ Microsoft อัพเดตการเปลี่ยนแปลงนี้ใน บล็อกโพสต์ล่าสุดล่าสุดและระบุว่าการอัพเดตนี้ช่วยให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อยได้ดีขึ้น และประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้น ผู้ที่มีแอปอยู่แล้วจะทยอยได้รับการอัพเดตภายในช่วงสองสามสัปดาห์ข้างหน้า หรือดาวน์โหลดได้ ที่นี่ เมื่ออัพเดต แอปจะเปลี่ยนเป็น Dark Mode ตามการตั้งค่าบนระบบแอนดรอยด์ให้อัตโนมัติ และสามารถเข้าไปเปลี่ยนเป็นแบบอื่นได้ในหน้าการตั้งค่าของแอป มีตัวเลือกให้สามแบบคือ Light, Dark, และ System Default (ตั้งค่าตามแอนดรอยด์) ที่มา - Microsoft
# Flutter เตรียมรองรับ Windows UWP, รันบนลินุกซ์ ARM64 ในงาน Google I/O โครงการ Flutter ก็ออกอัพเดตย่อยเวอร์ชั่น 2.2 ที่รวมแพตช์เข้ามาถึง 2,456 ชุด ฟีเจอร์หลักๆ ได้แก่ Dart 2.13 เพิ่มฟีเจอร์ Type Alias Flutter web ปรับปรุงการทำงาน SemanticsNode ให้เรียงโหนดตรงจุดไม่ว่าจะเป็นโมบายหรือเดสก์ทอป ทำให้โปรแกรมอ่านหน้าจอทำงานได้ดีขึ้น ตัว DevTools ยังสามารถแสดง semantic element รองรับ deferred component ดาวน์โหลดส่วนของแอปภายหลังบน Android ทำให้แอปเล็กลง นอกจากตัวเวอร์ชั่น 2.2 แล้ว ตัวโครงการ Flutter ยังเพิ่ม Flutter Windows UWP เข้าใน dev channel และวิศวกรจากโซนี่พอร์ต Flutter ลงลินุกซ์บน ARM64 และทาง Flutter ยังแนะนำ FlutterFlow ที่เป็นบริการ low code สำหรับสร้างโค้ดเป็น Flutter ที่เพิ่งเปิดบริการพร้อมกับงาน Google I/O แม้จะเป็นบริการแบบเสียเงิน แต่ก็มีแบบฟรีให้ลองใช้งาน ที่มา - Flutter
# AIS จัดงานใหญ่ AIS Business Digital Future 2021 อัดแน่นเทรนด์สำคัญจากพันธมิตรธุรกิจ AIS Business ผู้นำโซลูชัน ICT แก่กลุ่มองค์กร จัดงาน AIS Business Digital Future 2021 สัมมนาใหญ่ออนไลน์ประจำปี ภายใต้คอนเซปต์ Your Trusted Smart Digital Partner อัพเดตเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญ เพื่อการปรับตัวสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ภายในงานสัมมนา มีพาร์ทเนอร์สำคัญหลายรายมาร่วมแบ่งปันกรณีศึกษา ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, National Digital ID (NDID), Microsoft Thailand, SC Asset Corporation, Toyota Motor Thailand, Palo Alto, VMware, BOSCH, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, SCN, datafarm, Gorilla และ Opsta อัดแน่นด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางดิจิทัลแห่งปี 2021 สำหรับทุกภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมทุกหัวข้อที่ธุรกิจและองค์กรควรรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี พร้อมด้วยลูกค้าจากองค์กรชั้นนำในประเทศเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสังคมและธุรกิจ AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล จึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมในโครงการต่างๆ เช่น จัดตั้ง ร.พ.สนาม, AI-CT Scan ปอด, อสม.ออนไลน์, Telemedicine, Phuket Yacht Quarantine และล่าสุด V-Avenue ห้างเสมือนจริงที่สร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและใหญ่ สถานการณ์ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้องค์กรทั้งขนาดเล็กและใหญ่ต้อง transform ตัวเองอย่างรวดเร็ว องค์กรในกลุ่มผู้นำทางด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้มีแนวโน้มจะฟื้นตัวกลับมาที่ระดับเดิมก่อน COVID ได้ภายใน 2 ปี (2020–2022) และทิ้งห่างองค์กรในกลุ่มผู้ตามไปได้มากขึ้นกว่าที่เคย AIS เองได้ transform ตัวเองจาก Telecom Service Provider มาสู่ Digital Life Service Provider ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาสร้าง Digital Platform สำหรับให้บริการ FBB, Enterprise และบริการดิจิทัลอื่นๆ ที่หลากหลาย รวมทั้งเปลี่ยน culture การทำงานของพนักงานโดยนำหลักการ FIT-FUN-FAIR มาปรับใช้เพื่อให้องค์กรมุ่งสู่การทำงานที่เข้าใจและตอบสนองลูกค้าได้แบบ 360 องศา ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ทำให้ AIS มีบริการที่หลากหลายสำหรับลูกค้าองค์กร เครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมทั้งทางด้านพื้นที่การใช้งาน (77 จังหวัด) และด้านรูปแบบการใช้งานต่างๆ รวมถึง platform และ solutions สำหรับลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ โครงข่ายสื่อสารข้อมูลผ่านไฟเบอร์ออพติก (160,000 ก.ม.) สำหรับธุรกิจที่ต้องการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงและปลอดภัย ทั้งในประเทศและเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ Cloud และ Data Center ที่มีบริการครบวงจร ตั้งแต่ Infrastructure & Platform, Software ที่หลากหลายและบริการ Managed Service ที่ช่วยดูแลจัดการให้ธุรกิจไม่ต้องกังวลใจกับการใช้งาน บริการปกป้องความปลอดภัยด้านไซเบอร์แบบครบวงจร ได้แก่ การให้คำปรึกษาและอบรมพนักงาน การทดสอบประเมินความปลอดภัยของระบบ การติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย การดูแลแจ้งเตือนภัยคุกคาม ความแข็งแกร่งทางด้านโครงข่าย IoT, IoT Platform ประกอบกับการสร้าง IoT Ecosystem ทำให้ AIS สามารถเติมเต็มความต้องการของรูปแบบการใช้งาน IoT ต่างๆ ที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของผู้ผลิตอุปกรณ์และโซลูชันในแต่ละอุตสาหกรรม ด้วยความเชี่ยวชาญของ CSL (บริษัทในเครือ) ในด้าน ICT และ Managed Service ทำให้ AIS สามารถให้คำปรึกษา ออกแบบโซลูชัน ติดตั้งและดูแลการทำงานของระบบ ICT ให้กับลูกค้าองค์กรได้ ทั้ง Network, Cloud & Data Center, Security และ ICT ต่างๆ บริการที่หลากหลายเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง AIS กับ Technology Partner ระดับโลกต่างๆ เช่น Microsoft – เป็นความร่วมมือกันทั้งในด้านโครงข่าย ด้วยการผสานเครือข่าย AIS เข้ากับระบบคลาวด์ระดับโลกอย่าง Edge node, Azure ExpressRoute (AIS เป็น Partner ทั้งในแบบ CSP & LSP) และการบริการลูกค้าด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ครอบคลุมตั้งแต่ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ไปจนถึงธุรกิจ SMB เพื่อมอบประสบการณ์ในการใช้งานบริการคลาวด์ที่เหนือกว่า VMware – ร่วมให้บริการ Local Cloud Service กับลูกค้าองค์กรมายาวนาน วันนี้ขยายขอบเขตจาก Infrastructure as a Service สู่ Container as a Service บนแพลตฟอร์ม VMware Tanzu ทั้งนี้ AIS ยังถือเป็นผู้ให้บริการคลาวด์รายแรกในประเทศไทยที่สามารถให้บริการ DevSecOps Platform as a Service เพื่อช่วยให้นักพัฒนาสามารถส่งมอบ Applications ให้กับผู้ใช้งานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น Palo Alto – นำเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยระดับโลกที่สามารถตอบโจทย์ความซับซ้อนของภัยคุกคามที่มากับเทคโนโลยีต่างๆ ในยุคดิจิทัลได้ครบจบที่เดียว ได้แก่ การป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลบนคลาวด์ด้วยโซลูชัน PRISMA, ดูแลความปลอดภัยในการเชื่อมต่อของเครือข่าย และ Data Center ด้วยโซลูชัน STRATA และตรวจสอบภัยคุกคามพร้อมแจ้งเตือนธุรกิจด้วยโซลูชัน CORTEX และด้วยความไว้วางใจที่ AIS ได้รับจาก partner ในธุรกิจต่างๆ AIS จึงมีโอกาสได้นำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยเพิ่มขีดความสามารถของการทำธุรกิจให้แก่ partner มากมาย เช่น การนำโครงสร้างพื้นฐานและโซลูชันด้าน 5G "Private Network" และ "Edge Computing" มาร่วมพัฒนา use case กับ Bosch และ SNC ผู้นำด้านการผลิตอัจฉริยะ 4.0 ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้ critical application ต่างๆ ความร่วมมือกับ National Digital ID. (NDID) ในการนำเอาโซลูชันการพิสูจน์ยืนยันตัวตนของ AIS ไปช่วยเสริมสร้าง digital journey ของลูกค้าธนาคารเกียรตินาคินภัทร ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นผ่านช่องทางของ AIS SC Asset ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรม ที่เปลี่ยนองค์กรจาก "Property Developer" เป็น "Living Solutions Provider" ใช้บริการดิจิทัลต่างๆ รวมถึง application platform จาก AIS เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Smart Village, Smart Building Toyota ในฐานะผู้นำของอุตสาหกรรม ที่จะก้าวข้ามจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ไปสู่ “องค์กรแห่งการขับเคลื่อน” Mobility Company ไว้วางใจ AIS ในการต่อยอดธุรกิจเข้าสู่ internet ด้วยโครงข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อม platform และบริการ telematics การที่องค์กรจะทำ Digital Transformation ให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัย Ecosystem ที่ประกอบด้วยทั้ง partner ที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีต่างๆ และ partner ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละธุรกิจ จึงขอเชิญชวนองค์กรทุกภาคส่วนมาร่วมเป็น partner กับ AIS ในการพัฒนาการทำ Digital Transformation ร่วมกัน สนใจบริการจาก AIS Business ติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดูแลท่าน หรือคลิก https://business.ais.co.th/
# Amazon ปิดตัวแอปและเว็บส่งสินค้าเร็ว Prime Now รวบเป็นส่วนหนึ่งของแอปหลัก Amazon เปิดบริการ Prime Now บริการส่งสินค้าเร็วภายใน 2 ชั่วโมงมาตั้งแต่ปี 2014 ล่าสุด Amazon ประกาศปิดตัว Prime Now แล้วทั้งรูปแบบแอปและเว็บไซต์ โดยลูกค้ายังคงเข้าถึงบริการส่งเร็วจากได้ช่องทางหลักของ Amazon และ Amazon Fresh หรือ Whole Foods Amazon เปิดตัว Prime Now ในปี 2014 เพื่อให้สมาชิก Prime ได้รับสินค้าส่งถึงหน้าประตูบ้านภายในหนึ่งหรือสองชั่วโมงโดยมีค่าธรรมเนียมเล็กน้อย Prime Now เปิดตัวครั้งแรกในไม่กี่เมือง ปัจจุบันมีให้บริการมากกว่า 5,000 เมือง ส่วนร้านค้าภายนอกใน Prime Now จะถูกย้ายไปยัง Amazon ช่องทางหลัก ตัวอย่างเช่น Bartell Drugs เครือร้านขายยาในซีแอตเทิลและ Union Square Wines & Spirits ในนิวยอร์กซิตี้ ผู้ใช้งานที่เข้าแอป Prime Now จะมองเห็นแบนเนอร์แจ้งเตือนการปิดบริการ ซึ่งจะปิดอย่างสมบูรณ์ภายในปีนี้ ที่มา - CNBC
# Apple ประเทศไทยเปิดจำหน่าย iMac M1 และ iPad Pro M1 ผ่านทางหน้าร้านแล้ววันนี้ แอปเปิลประเทศไทยเปิดจำหน่าย iMac และ iPad Pro ที่ใช้ชิป M1 ผ่านหน้าร้าน Apple Store และร้านตัวแทนจำหน่ายแล้วตั้งแต่วันนี้ โดยผู้เขียนได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ที่หน้าร้าน Apple Central World แล้วได้รับการยืนยันว่ามี iMac ให้ชมครบทั้ง 7 สี จากข่าวเก่าที่ระบุว่าอาจมีเพียง 4 สีเท่านั้น ผู้สนใจสามารถรับสินค้าที่หน้าร้าน Apple Store ทั้ง 2 สาขาได้ทันทีสำหรับ iMac ทุกรุ่นย่อยในสีเขียว สีชมพู สีฟ้าและสีเงิน รวมทั้ง iPad Pro ทั้งสี Silver และ Space Grey ทุกความจุ เฉพาะรุ่น Wi-Fi สำหรับรุ่นย่อยที่ไม่มีสินค้าที่หน้าร้านกำหนดการจัดส่งในขณะนี้อยู่ในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนมิถุนายน ราคาสำหรับ iMac ดังนี้ iMac รุ่น 24 นิ้ว ชิป M1(GPU 7 คอร์) + พอร์ต Thunderbolt 2 ช่อง + แรม 8GB + SSD 256GB ราคา 42,900 บาท iMac รุ่น 24 นิ้ว ชิป M1(GPU 8 คอร์) + พอร์ต Thunderbolt 4 ช่อง และ Gigabit Ethernet + แรม 8GB + SSD 256GB ราคา 49,900 บาท iMac รุ่น 24 นิ้ว ชิป M1(GPU 8 คอร์) + พอร์ต Thunderbolt 4 ช่อง และ Gigabit Ethernet + แรม 8GB + SSD 512GB ราคา 57,900 บาท ราคาสำหรับ iPad ดังนี้ iPad Pro 11 นิ้ว รุ่น WiFi เริ่มต้น 27,900 บาท iPad Pro 11 นิ้ว รุ่น WiFi+Cellular เริ่ม 32,900 บาท iPad Pro 12.9 นิ้ว รุ่น WiFi เริ่ม 37,900 บาท iPad Pro 12.9 นิ้ว รุ่น WiFi+Cellular เริ่ม 42,900 บาท ตรวจสอบสต็อกและราคาโดยละเอียดได้ที่ Apple Store สั่งซื้อ iMac และ Apple Store สั่งซื้อ iPad ที่มา - Apple
# Qualcomm เปิดตัว Snapdragon 778G ชิปรุ่นกลางรองรับ 5G จีพียู Adreno 642L Qualcomm เปิดตัวชิประดับกลาง Snapdragon 778G (รุ่นรองของซีรีส์ 7 จากตัวท็อป Snapdragon 780G ที่มาพร้อม Mi 11 Lite 5G) ซีพียูเป็น Kyro 670 แบ่งเป็น Cortex-A78 ความเร็ว 2.4GHz จำนวน 4 แกน และ Cortex-A55 ความเร็ว 1.8GHz อีก 4 แกน เมื่อนำมาเทียบกับ 780G แล้ว 780G มีแกน Cortex-A78 ความเร็ว 2.4GHz แกนเดียว และ 2.2GHz อีก 3 แกน แต่มีแกนพลังงานต่ำที่ความเร็ว 1.95GHz และผลิตด้วยกระบวนการ 5nm ของ Samsung ขณะที่ Snapdragon 778G ผลิตด้วยกระบวนการ 6nm ของ TSMC จีพียูเป็น Adreno 642L ประสิทธิภาพมากขึ้นกว่ารุ่นก่อน 40% (Qualcomm ไม่ได้ระบุว่าเทียบกับรุ่นไหนคาดว่าเป็น Snapdragon 678) และใช้ชิปเอไอ Hexagon 770 พลังประมวลผล 12 TOPs Snapdragon 778G รองรับตัวประมวลผลภาพถ่าย (ISP) สามตัวเหมือน Snapdragon 888 และ 780G รองรับวิดีโอ 4K HDR10+ มาพร้อมโมเด็ม X53 รองรับ 5G ทั้งแบบ Sub 6GHz และ mmWave รองรับหน้าจอมือถือความละเอียดสูงสุด FHD+ อัตรารีเฟรช 144Hz รองรับ WiFi 6, WiFi 6E และ Bluetooth 5.2 Snapdragon 778G เตรียมเปิดตัวในมือถือ HONOR รุ่น HONOR 50 และบนมือถือจาก iQOO, Motorola, OPPO, realme และ Xiaomi ภายในไตรมาสที่สองของปี 2021 (เดือนเมษายน-มิถุนายนนี้) ที่มา - Qualcomm
# Qualcomm ประกาศอัพเดตไดรเวอร์หน่วยประมวลผล AI (NNAPI) ผ่าน Google Play Qualcomm เคยประกาศอัพเดตไดรเวอร์จีพียูของ Snapdragon ผ่าน Google Play ในช่วงต้นปี 2020 (ข่าวเก่า) เวลาผ่านมาปีกว่า Qualcomm กับกูเกิลประกาศความร่วมมือลักษณะเดียวกัน เพิ่มการอัพเดตไดรเวอร์หน่วยประมวลผล AI (NNAPI driver) ผ่าน Google Play Services ทำให้ผู้ใช้ Snapdragon ได้รับไดรเวอร์ล่าสุดโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม ผลคือแอพที่ใช้การประมวลผล AI ในเครื่อง (เช่น Google Maps หรือ Assistant) ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัญหาเรื่องการอัพเดตเวอร์ชัน Android ส่วนหนึ่งเกิดจากไดรเวอร์ของฮาร์ดแวร์ ที่ผู้ผลิตชิปไม่อัพเดตต่อให้แล้ว (Qualcomm ก็คือหนึ่งในนั้น) โครงการต่างๆ ของกูเกิลในช่วงหลัง เช่น Project Treble ที่แยกส่วนระบบปฏิบัติการออกจากฮาร์ดแวร์ หรือ Project Mainline ที่อัพเดตบางส่วนของระบบปฏิบัติการผ่าน Play Store รวมถึงความร่วมมือกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ในลักษณะนี้ ย่อมช่วยให้ผู้ใช้ Android ได้รับการอัพเดตซอฟต์แวร์มากขึ้นในภาพรวม ที่มา - Qualcomm
# Blizzard จัดพรีวิว Overwatch 2 เป็นเกมเล่น 5 ต่อ 5 ยังไม่ระบุวันเปิดตัว Blizzard จัดพรีวิว Overwatch 2 ให้ดูในไลฟ์ developer livestream พบข้อมูลใหม่คือ เกมจะแข่งกันเป็นทีมละ 5 คน จากเดิม 6 คน โดยรูปแบบทีมใหม่ประกอบด้วยตัวละครจากสาย tank 1 คน, DPS หรือ ตัวสร้างความเสียหายแก่ฝ่ายตรงข้าม 2 คน และตัว support 2 คน ในพรีวิวไม่มีการพูดถึงวันและเวลาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ Aaron Keller ผู้กำกับเกมคนใหม่ของ Overwatch บอกเหตุผลที่ลดเป็น 5 คน เพราะการโฟกัสว่าที่เหลืออีก 11 คนกำลังทำอะไรอยู่ในสนามรบเป็นเรื่องยาก ตัดออก 2 คนเพื่อการเล่นเกมที่ง่ายขึ้น และให้ตัดสินใจกลยุทธ์ในเกมได้ดีขึ้น ในพรีวิวยังแสดงการอัพเดตอาวุธปืน Tesla Cannon ใช้การยิงแบบใหม่ และอัพเดตตัวละครสาย tank เพิ่มพลังชีวิตและพลังป้องกัน รวมถึงแผนที่ใหม่ๆ อย่างสถานที่ในแคนาดา Hotel Montebianco, Tim Fordsons, Maple Leaf Trees ในนิวยอร์ก ในกรุงโรม เป็นต้น ที่มา - Engadget
# Epic Games Store แจกเกมบาส NBA2K21 ฟรี กดรับได้ถึง 27 พฤษภาคมนี้ Epic Games Store เปิดเกมฟรีประจำสัปดาห์นี้ออกมาเป็น NBA2K21 เกมบาสเก็ตบอลสุดฮิตภาคล่าสุดมูลค่าเต็มอยู่ที่ 1,490 บาท เข้าไปล็อกอินและกดรับเกมได้ถึงวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ ที่หน้าเว็บ Epic Games Store NBA2K21 เปิดตัวเมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี 2020 แต่ได้รับเสียงวิจารณ์ที่ไม่ดีนัก คะแนนฝั่งนักวิจารณ์บน Metacritic อยู่ที่ 67 คะแนน ส่วนฝั่งผู้เล่นอยู่ที่ 1.1 คะแนนเท่านั้น คำวิจารณ์จากผู้เล่นส่วนใหญ่บอกว่าเกมแทบจะไม่มีอะไรใหม่เลย แทบจะไม่ต่างจากภาคปีที่แล้ว แถมยังเน้นขายส่วนเสริมต่างๆ ยิบย่อย และมีโฆษณาในเกมอีก ส่วนรีวิวของ Blognone อ่านได้ที่นี่ ที่มา - Epic Games Store
# UAT ที่ดีคือ UAT ที่มี แอปหมอพร้อมทดสอบแจ้งเตือนให้คนรับวัคซีนบนโปรดักชั่น เช้าวันนี้ผู้ใช้แอปหมอพร้อมจำนวนมากได้รับแจ้งเตือนให้ไปรับวัคซีน COVID-19 โดยแจ้งเตือนย้อนหลังให้ไปรับวัคซีนในวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา และผู้ที่ได้รับข้อความจะได้รับคนละ 2-3 ข้อความในเวลาสั้นๆ ภายหลังแอปหมอพร้อมขึ้นข้อความขออภัยระบุว่าเป็นการทดสอบแจ้งเตือน กระบวนการทดสอบซอฟต์แวร์ที่ดีปกติแล้วควรแยกระบบทดสอบออกจากระบบจริง แม้แต่กรณีที่เตรียมขึ้นระบบจริงและต้องการให้สภาพแวดล้อมเหมือนจริงที่สุดก็มักแยกเป็นระบบ User Acceptance Test (UAT) เพื่อตรวจสอบขั้นสุดท้ายก่อนนำขึ้นโปรดักชั่น ที่มา - Twitter: @muenue, @Maerioza
# กลุ่มพนักงานมุสลิมแอปเปิลยื่นจนหมายถึง ทิม คุก ชี้บริษัทนิ่งเฉยต่อความรุนแรงในฉนวนกาซา ก่อนหน้านี้ พนักงานกูเกิลยื่นจดหมายถึงซีอีโอเรียกร้องให้ออกมาประณามความรุนแรงในปาเลสไตน์ ล่าสุดพนักงานแอปเปิลก็ยื่นจดหมายถึง ทิม คุกในลักษณะเดียวกันด้วย มีพนักงานร่วมลงชื่อหลักพันราย กลุ่มผู้เขียนจดหมายส่วนหนึ่งเป็นกลุ่ม Apple Muslim Association เรียกร้องขอให้บริษัทตระหนักเป็นพิเศษว่าปัจจุบันชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนต้องทนทุกข์ทรมาน และบริษัทก็ล้มเหลวในการออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ พวกเรารู้สึกท้อแท้และผิดหวังเพราะหลายคนที่อยู่ในตำแหน่งเลือกที่จะนิ่งเฉยกับเหตุการณ์นี้ การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทิ้งระเบิดร้ายแรงของอิสราเอลในฉนวนกาซาซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วประมาณ 227 คนรวมถึงเด็กอย่างน้อย 63 คน จนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมารัฐบาลอิสราเอลได้อนุมัติการหยุดยิง แหล่งข่าวกล่าวกับ The Verge ว่า ในองค์กรมีการพูดคุยประเด็นการเมือง และในบางครั้งก็ถูกครอบงำการสนทนาด้วยกลุ่มโปรไซออนนิสต์ หรือแนวคิดสนับสนุนยิวแบบอนุรักษ์นิยม ที่มา - The Verge
# ฟีเจอร์ใหม่ Slack ตั้งปิดแจ้งเตือนชั่วคราว โดยให้ Slack เปิดแจ้งเตือนให้ภายหลังได้ กันลืม Slack เปิดใช้งานฟีเจอร์ใหม่เล็กน้อย ที่ดูมีประโยชน์มหาศาล คือการตั้งเวลาปิดแจ้งเตือนชั่วคราวด้วยตัวเอง และ Slack จะเปิดการแจ้งเตือนให้ภายหลังหากเราลืมกลับมาเปิดระบบแจ้งเตือน วิธีการใช้งานคือ เข้าไปที่เมนูตั้งสเตตัส หากเรากำลังจะมีประชุม หรือมีคุยวิดีโอคอลสำคัญและไม่อยากถูกรบกวนจากการแจ้งเตือนใน Slack ไม่ว่าจะมาจากช่องทาง DM หรือ Mention ก็สามารถไปตั้งที่สเตตัสได้ โดยจะมองเห็นกล่อง Pause Notifications และเลือกได้ว่าจะให้เปิดแจ้งเตือนภายในกี่นาที มีตัวเลือกในตอนนี้คือ 30 นาที, 1 ชั่วโมง, 4 ชั่วโมง, ทั้งวัน, ทั้งสัปดาห์ เป็นต้น ที่มา - The Verge
# ขยายสู่ตลาดหนังสือเสียง Spotify ร่วมกับ Storytel แพลตฟอร์มหนังสือเสียง นำเนื้อหามาลงแพลตฟอร์ม ก่อนหน้านี้ไม่นาน Spotify เปิดตัว Spotify Open Access Platform เปิดพื้นที่สำหรับครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามระดับหนึ่ง และมีเนื้อหาที่ต้องจ่ายเพื่อเข้าถึง นำเนื้อหาพอดคาสต์มาแสดงในแพลตฟอร์ม โดยคนติดตามใช้การล็อกอินครั้งเดียวจากแพลตฟอร์มนั้นๆ ได้ ล่าสุด Spotify เปิดตัวพันธมิตรรายใหม่ที่มาใช้ Spotify Open Access Platform คือ Storytel แพลตฟอร์มหนังสือเสียง ผู้ที่ใช้งานระบบ Storytel อยู่แล้วสามารถเชื่อมบัญชีกับ Spotify ได้ แต่หากผู้ใช้ Spotify ไม่ได้เป็นลูกค้าของ Storytel ก็สามารถกดเพื่อสมัครใช้บริการผ่าน Spotify ได้ด้วย Jonas Tellander ผู้ก่อตั้ง Storytel ระบุว่า ตอนนี้มีหนังสือเสียงมากกว่า 5 แสนเล่ม และให้บริการใน 25 ประเทศ การร่วมมือกับ Spotify ช่วยให้เนื้อหาของเราเข้าถึงผู้ฟังได้กว้างขวางกว่าเดิม Storytel มีค่าบริการใช้งานอยู่ที่ราวๆ 20 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยทั่วไปผู้ใช้งานสามารถฟังได้ผ่านแอปของ Storytel โดยตรงอยู่แล้ว เปิดใช้งานในประเทศไทยและมีหนังสือภาษาไทยอยู่จำนวนหนึ่ง ราคาแพ็กเกจเริ่มต้นที่เดือนละ 229 บาท หน้าตาการใช้งาน หากผู้ใช้ Spotify ไม่ได้เป็นสมาชิกใช้บริการเนื้อหานั้นๆ บน Open Access Platform ที่มา - Spotify, TechCrunch
# ก.คลังสหรัฐ เสนอกฎ ธุรกรรมคริปโตเกิน 10,000 ดอลลาร์ต้องแจ้งสรรพากร กระทรวงการคลังสหรัฐ (U.S. Treasury) ภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน เสนอแผนการเก็บภาษีจากธุรกรรมเงินคริปโต ข้อเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผน The American Families Plan Tax Compliance Agenda ซึ่งเป็นแผนปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีของรัฐบาลไบเดน ในรายงานระบุว่าธุรกรรมจากเงินคริปโตและทรัพย์สินคริปโต ถือเป็นช่องโหว่ให้ภาคธุรกิจใช้เลี่ยงภาษีได้ จึงเสนอให้ออกกฎว่า ธุรกิจที่มีธุรกรรมคริปโตมูลค่ามากกว่า 10,000 ดอลลาร์ จะต้องแจ้งข้อมูลไปยัง Internal Revenue Service (IRS เทียบได้กับสรรพากรสหรัฐ) ที่มา - U.S. Treasury (PDF) via CNBC
# เทรนด์วงการสตรีมมิ่ง เปิดแพ็กราคาถูกมีโฆษณา HBO Max ทำแพ็กเกจ 10 ดอลลาร์ แต่ดูหนังใหม่ไม่ได้ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสตรีมมิ่งที่ดุเดือด HBO Max สตรีมมิ่งในเครือ WarnerMedia ประกาศแพ็กเกจราคาถูก 10 ดอลลาร์ต่อเดือน จากเดิมที่ราคาเต็ม 15 ดอลลาร์ แพ็กเกจใหม่นี้มีโฆษณา และไม่รองรับการเข้าถึงหนังที่ออกฉายใหม่ในเครือ Warner Bros. ไม่ว่าจะเป็น Those Who Wish Me Dead, The Conjuring: The Devil Made Me Do It, In the Heights, The Matrix 4 อย่างไรก็ตาม ราคาแพ็กเกจ 10 ดอลลาร์ของ HBO Max ยังสูงกว่า Hulu และ Paramount+ ในแพ็กเกจไม่มีโฆษณา ซึ่งทั้งสองต่างมีแพ็กเกจราคาถูกแบบมีโฆษณาเช่นกันที่ราคา 6 ดอลลาร์ และ 5 ดอลลาร์ ตามลำดับ ถือเป็นเทรนด์ของธุรกิจสตรีมมิ่งที่ให้บริการในราคาถูกลงเพื่อให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น และหารายได้จากโฆษณาได้ด้วย WarnerMedia ก่อนหน้านี้ประกาศชัดว่าจะนำหนังใหม่ที่ตั้งใจฉายโรง มาลง HBO Max ทั้งหมด รวมถึงพยายามสร้างกองทัพเนื้อหาให้ไล่ตามคู่แข่งรายใหญ่ทัน ด้วยการควบรวมเนื้อหากับ Discovery, Inc. แพ็กเกจ HBO Max ราคา 10 ดอลลาร์ จะเริ่มเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายนนี้ ที่มา - Tech Hive
# JD.com ไตรมาส 1/2021 ครบรอบ 18 ปี บริษัท รายได้เติบโต 39% JD.com รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 1 ปี 2021 รายได้รวม 31,010 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 552 ล้านดอลลาร์ จำนวนลูกค้าที่มีการใช้งาน JD.com ในรอบ 1 ปี เพิ่มขึ้น 29% เป็น 499.8 ล้านบัญชี ซีอีโอ Richard Liu กล่าวว่า JD.com มีอายุครบ 18 ปี และเราก็เริ่มต้นปีด้วยไตรมาสที่แข็งแกร่ง JD ยังคงโฟกัสในการคัดเลือกสินค้าให้กับลูกค้า ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพ JD ยังกล่าวว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ซึ่งในจีนยังคงควบคุมการเดินทาง บริการ JD Logistics ได้เข้ามาเติมเต็มการจัดส่งสินค้าต่อเนื่องตลอดช่วงเทศกาล รวมถึงขยายบริการจัดส่งสินค้าภายใน 1 ชั่วโมง ครอบคลุมกว่า 1400 ย่านและเมืองทั่วประเทศ ที่มา: JD.com
# Tencent ไตรมาส 1/2021 รายได้เพิ่มขึ้น 25% Tencent รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 1 ปี 2021 รายได้รวม 135,303 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 33,118 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 22% ตามมาตรฐานบัญชี non-IFRS ซีอีโอ Ma Huateng กล่าวว่าบริษัทได้มองหาโอกาสขยายตลาด ผ่านเทคโนโลยีที่เป็นโซลูชันทั้งระดับลูกค้าบุคคลและองค์กร ทำให้ช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในบริการสำหรับภาคธุรกิจ และซอฟต์แวร์องค์กร ในธุรกิจเกมที่มีมูลค่าการผลิตสูง ไปจนถึงบริการวิดีโอขนาดสั้น จำนวนผู้ใช้งานแบบ MAU ของ WeChat รวมกับ Weixin ที่เป็นชื่อแอปในจีนรวมกันมี 1,241.6 ล้านบัญชี ส่วนเกมทำเงินในไตรมาสยังเป็น Honour of Kings, PUBG Mobile และ Peacekeeper Elite (PUBG จีน) ที่มา: Tencent (pdf)
# Google เตรียมเปิดร้าน Google Store แห่งแรกในนิวยอร์ก กูเกิลประกาศเตรียมเปิดร้านค้าแบบมีหน้าร้านแห่งแรกในนิวยอร์ก โดยใช้ชื่อว่า Google Store ซึ่งร้านจะตั้งอยู่ในย่าน Chelsea ซึ่งสำนักงานสาขาของกูเกิลในนิวยอร์กก็ตั้งอยู่ที่นั่น กูเกิลยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของร้านค้ามากนัก บอกเพียงจะมีการนำเสนอและจำหน่ายสินค้าของกูเกิล ตั้งแต่สมาร์ทโฟน Pixel, อุปกรณ์ตระกูล Nest, Fitbit ไปจนถึง Pixelbook ลูกค้าสามารถจองสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และรับสินค้าได้ที่ร้าน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ และแก้ไขปัญหาการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีการจัดเวิร์กชอปตลอดทั้งปี ที่น่าสนใจคือร้านค้าแห่งนี้เปิดตัวในช่วงที่โควิด-19 ยังมีการระบาด กูเกิลจึงออกแบบร้านค้าตั้งแต่ต้นให้เข้ากับการใช้ชีวิตยุคหลังโควิด จำกัดจำนวนคนในร้าน มีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ และยังกำหนดให้ลูกค้าต้องใส่หน้ากากเมื่อเข้ามาใช้บริการในตอนนี้ Google Store สาขาแรกมีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงฤดูร้อนของอเมริกาปีนี้ ที่มา: กูเกิล
# ซีอีโอ ByteDance เจ้าของ TikTok ประกาศลงจากตำแหน่ง ส่งไม้ต่อให้ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน Zhang Yiming ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ByteDance บริษัทเจ้าของแอป TikTok ประกาศว่าจะลงจากตำแหน่งซีอีโอกำหนดสิ้นปี 2021 นี้ โดยจะเปลี่ยนบทบาทมาดูแลกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท วัฒนธรรมองค์กร และงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม CSR ซึ่งเขาเป็นซีอีโอ ByteDance ตั้งแต่บริษัทก่อตั้งเมื่อปี 2012 ซีอีโอคนใหม่ที่จะขึ้นมาแทนคือ Liang Rubo ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ByteDance ด้วยเช่นกัน Liang เป็นเพื่อนกับ Zhang ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย โดยปัจจุบันเขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบุคคล ทั้งคู่จะทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการส่งมอบงาน ในจดหมายถึงพนักงานของ ByteDance นั้น Zhang เล่าเรื่องราวในหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเขายอมรับว่าเป็นคนไม่มีทักษะบริหารจัดการบุคคลที่ดีมากนัก แต่ชอบบริหารจัดการทรัพยากร ดูวิเคราะห์ข้อมูลมากกว่า รวมทั้งไม่ชอบเข้าสังคม ซึ่ง Liang มีความเหมาะสมที่จะมารับหน้าที่นี้ต่อ ที่มา: ByteDance
# Zoom เปิดตัว Zoom Events ระบบจัดการอีเวนต์ออนไลน์ ขายตั๋วเข้างานได้ Zoom เตรียมลงมาลุยตลาดอีเวนต์ออนไลน์ด้วย Zoom Events ที่เป็นพื้นที่ให้ผู้จัดอีเวนต์มาขายตั๋วร่วมงานให้ผู้สนใจได้ รูปแบบงานอีเวนต์ออนไลน์สามารถเป็นได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรี แสดง สัมมนา ฯลฯ จุดเด่นสำคัญของ Zoom Events คงอยู่ที่หน้ารายการอีเวนต์ที่มีให้เลือกหลากหลาย เปิดให้บริษัทใดๆ สามารถมาขายตั๋วเข้าอีเวนต์ได้เอง มีระบบจัดการตั๋ว ลงทะเบียน แยกห้องย่อย เก็บสถิติผู้เข้าร่วมให้เสร็จสรรพ นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ยังสามารถจัดอีเวนต์ภายในให้พนักงานหรือคู่ค้าได้ด้วย ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า Zoom Events จะเปิดบริการเมื่อใด และ Zoom จะหักค่าธรรมเนียมจากการขายตั๋วหรือไม่ ที่มา - Zoom Blog
# ผู้ก่อตั้ง Telegram ซัดแรง ใช้ไอโฟนเหมือนเป็น “ทาสดิจิทัล” ของแอปเปิ้ล Pavel Durov ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแอป Telegram แชร์บทความ The New York Times เรื่องแอปเปิ้ลไม่เข้ารหัสเซิฟเวอร์ในจีน บน Telegram Chanel ของเขาเอง พร้อมพิมพ์ข้อความวิจารณ์หลายย่อหน้า Durov บอกว่าแอปเปิ้ลเก่งเรื่องขายอุปกรณ์ล้าสมัยที่ราคาแพงเกินเหตุให้กับลูกค้าที่ถูกล็อกอยู่ในระบบ ทุกครั้งที่เขาใช้ไอโฟน หรือแอปบน iOS เขารู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในยุคกลาง หน้าจอก็มีอัตรารีเฟรชแค่ 60Hz เทียบแอนดรอยด์ที่ไป 120Hz แล้วไม่ได้ เขาระบุว่าส่วนที่แย่ที่สุดไม่ใช่ฮาร์ดแวร์ แต่เป็นเรื่องที่แอปเปิ้ลทำให้ผู้ใช้เหมือนเป็น “ทาสดิจิทัล” ที่ดาวน์โหลดและใช้งานได้แค่แอปที่แอปเปิ้ลยอมให้ใช้บน App Store เท่านั้น จะแบคอัพข้อมูลก็ทำได้แค่บน iCloud และไม่แปลกใจที่ทำไมพรรคคอมมิวนิสต์จีนถึงชอบแนวทางของแอปเปิ้ล Telegram เป็นแอปที่ให้ความสำคัญต่อข้อมูลผู้ใช้มาเป็นอันดับต้นๆ ทำให้ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐในหลายๆ ประเทศนิยมใช้สื่อสาร รวมถึงการประท้วงในฮ่องกงที่ทำให้แอปถูกโจมตีแบบ DDoS โดยมีต้นทางจากประเทศจีน นอกจากนี้ Telegram ยังปฏิเสธคำขอด้านข้อมูลของรัฐบาลฮ่องกง เนื่องจากกังวลด้านความเป็นส่วนตัวในข้อมูลของผู้ใช้ อย่างไรก็ตามแนวทางการปกป้องข้อมูลนี้ก็ทำให้ Telegram กลายเป็นแอปที่มีการทำผิดกฎหมายบ่อยครั้งโดยมีทั้งบอทปล่อยขายข้อมูลหลุดจาก Facebook บอทสร้างภาพเปลือย แชนแนลปลุกระดมความรุนแรงในสหรัฐช่วงหลังเลือกตั้ง และล่าสุดก็เป็นอีกหนึ่งแอปที่กลุ่มชาวอิสราเอลหัวรุนแรงใช้ปลุกระดมการต่อต้านชาวปาเลสไตน์ ซึ่ง Telegram คงต้องเร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไป ที่มา - Durov’s Telegram Channel via Android Authority
# Spotify เริ่มหาเงินจากคอนเสิร์ตออนไลน์ ขายตั๋ว 470 บาท Spotify เข้าวงการคอนเสิร์ตออนไลน์ เปิดขายตั๋วคอนเสิร์ตของ 5 ศิลปิน คือ The Black Keys, Jack Antonoff of Bleachers, Leon Bridges, girl in red และ Rag 'n' Bone Man ขายที่ราคา 15 ดอลลาร์ต่อ 1 ใบ หรือราว 470 บาท ผู้ใช้งานต้องมีบัญชี Spotify ด้วย เป็นบัญชีใช้งานฟรีก็ได้ ตัวคอนเสิร์ตเป็นรายการที่อัดไว้ก่อน เข้าดูได้ผ่านบราวเซอร์เท่านั้นในเวลาที่กำหนดให้ และไม่สามารถดูบนแอป Spotify ระบบขายตั๋วเชื่อมกับบัญชีผู้ใช้ จึงโอนตั๋วให้กันไม่ได้ และถ้าพลาดชมการแสดงก็ไม่สามารถรับเงินคืนได้ด้วย ก่อนหน้านี้ Spotify เปิดให้ศิลปินแสดงตารางเล่นคอนเสิร์ตของตัวเองลงในโปรไฟล์ และเสนอเพลย์ลิสต์คอนเสิร์ตที่กำลังจะจัดขึ้นในประเทศนั้นๆ ให้ด้วย Spotify ยังเคยบอกด้วยว่าสามารถสร้างยอดขายตั๋วได้มากกว่า 40 ล้านดอลลาร์ผ่านโปรแกรม Fans First ซึ่งจะมอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้กับแฟนๆ เช่นการเข้าถึงตั๋วก่อนใคร ที่มา - The Verge
# WordPress ประกาศหยุดรองรับ IE11 เริ่มต้นใน WordPress 5.8 WordPress ประกาศหยุดซัพพอร์ต Internet Explorer 11 ตามประกาศของไมโครซอฟท์ โดยจะเริ่มมีผลใน WordPress 5.8 ที่ออกช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ WordPress บอกว่าการหยุดซัพพอร์ตหมายถึงว่าจะไม่ทดสอบฟีเจอร์ใหม่ๆ กับ IE11 อีกแล้ว แปลว่าอาจใช้งานได้ (โชคดีไป) หรือไม่ได้ จากข้อมูลของ WordPress เองคาดว่าจุดที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือ block editor ตัวใหม่ (Gutenberg) และหน้า dashboard ที่ใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ CSS หลายอย่างที่ไม่มีใน IE11 ที่มา - WordPress
# กูเกิลประกาศรองรับโพรโทคอล Matter สำหรับสมาร์ทโฮม ทั้งใน Android และ Nest กูเกิลประกาศรองรับโพรโทคอลสำหรับอุปกรณ์สมาร์ทโฮม Matter ที่พัฒนาโดยกลุ่มพันธมิตร CSA (ZigBee Alliance เดิม) ในอุปกรณ์ Android และ Nest Matter เป็นโพรโทคอลมาตรฐานกลางที่หลายบริษัทช่วยกันพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาอุปกรณ์สมาร์ทโฮมข้ามค่ายคุยกันยาก โดยมี CSA เป็นหน่วยงานกลางคอยประสาน ตัวโพรโทคอลวิ่งอยู่บนเครือข่าย IP (ในที่นี้คือ Wi-Fi และ Thread) ความน่าสนใจของ Matter คือสมาชิกที่ร่วมผลักดันมีรายใหญ่พร้อมหน้า ทั้ง Apple, Amazon, Google, Samsung SmartThings ทำให้ปัญหาการเมืองระหว่างค่ายน่าจะหมดไป (สักที) โดยกูเกิลเป็นบริษัทใหญ่รายแรกที่ออกมาประกาศรองรับ Matter อย่างเป็นทางการ กูเกิลบอกว่าระบบปฏิบัติการ Android จะรองรับ Matter ในตัว (ยังไม่บอกว่าเวอร์ชันไหน และเมื่อไร) ส่วน Nest รุ่นที่รองรับโพรโทคอล Thread อยู่แล้ว (เช่น Nest Wifi, Nest Hub Max, Nest Hub 2nd gen) ก็จะสามารถเป็นฮับไปต่อเชื่อมอุปกรณ์ Matter อื่นได้ด้วย ที่มา - Google