txt
stringlengths
202
53.1k
# กูเกิลจะเริ่มเปิดใช้ล็อกอิน 2FA เป็นดีฟอลต์ ต้องยืนยันตัวตนอีกชั้นผ่านมือถือ กูเกิลประกาศยกระดับความปลอดภัยของบัญชีผู้ใช้ โดยจะเปิดใช้ two-step verification (2SV หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า 2FA) เป็นค่าดีฟอลต์ ผู้ใช้จะต้องยืนยันตัวตนผ่าน Google prompt บนสมาร์ทโฟน แม้ไม่ได้เปิดใช้งาน 2SV/2FA ก็ตาม กูเกิลบอกว่าจะเปิด 2SV สำหรับบัญชีที่มีคอนฟิกไว้อย่างเหมาะสม (appropriately configured) ซึ่งไม่ได้บอกชัดว่าหมายถึงอะไร แต่น่าจะหมายถึงมีล็อกอินบัญชีกูเกิลไว้บนสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ในกรณีที่เป็นมือถือ iOS สามารถใช้แอพ Google Smart Lock เพื่อยืนยันตัวตนได้แบบเดียวกับ Android การเปิดใช้ 2SV จะเริ่มในเร็วๆ นี้ แต่ไม่ระบุชัดเจนว่าเมื่อไร (ใช้คำว่า soon) นอกจากนี้ กูเกิลยังประกาศว่า Chrome for iOS รองรับฟีเจอร์ Password Manager แล้ว และ Password Manager บนทุกแพลตฟอร์มยังเพิ่มฟีเจอร์ Password Import สามารถนำเข้าไฟล์รหัสผ่านที่เป็น .csv มาเก็บรวมกันในระบบของกูเกิลได้ด้วย ที่มา - Google
# ทวีตถูกใจ กดเปย์ ทวิตเตอร์เปิดตัว Tip Jar ระบบจ่ายทิปแล้ว ยังใช้งานในวงจำกัด ก่อนหน้านี้ Jane Manchun Wong นักแกะแอปไปเจอทวิตเตอร์กำลังทดสอบ Tip Jar ฟีเจอร์จ่ายทิปให้เจ้าของบัญชี ล่าสุด ทวิตเตอร์เปิดตัวฟีเจอร์นี้แล้วแต่เป็นการใช้งานในวงจำกัด ผู้ใช้ที่ได้สิทธิ์เข้าถึง Tip Jar จะได้ไอคอน Tip Jar ถัดจากปุ่มติดตามในหน้าโปรไฟล์ เมื่อแตะไอคอนแล้ว จะเห็นรายการแพลตฟอร์มการชำระเงินที่รองรับ คือ Bandcamp, Cash App, Patreon, PayPal และ Venmo โดยทวิตเตอร์ไม่เก็บส่วนแบ่งใดๆ วิธีการเพิ่ม Tip Jar เข้ามาในหน้าบัญชีของตัวเองสำหรับผู้ใช้ที่มีสิทธิ์ใช้งานคือ กด Edit Profile มองเห็นเมนู Tip Jar สามารถกดเข้าไปตั้งค่าเพิ่มเติมได้ว่าเราอยากรับเงินช่องทางไหน จนถึงตอนนี้ Tip Jar ยังจำกัดการใช้งานเฉพาะบัญชีที่ใช้งานในภาษาอังกฤษ ซึ่งจะขยายไปยังภาษาอื่นและกลุ่มผู้ใช้งานอื่นๆ เพิ่มเติม ที่มา - ทวิตเตอร์
# [ไม่ยืนยัน] Netflix เตรียมสร้าง N-Plus สร้างเพลย์ลิสต์หนังที่ชอบ ลงพอดแคสต์โปรโมทออริจินัลคอนเทนต์ เว็บไซต์ Protocol รายงานว่า Netflix กำลังสร้างแพลตฟอร์มใหม่ N-Plus เป็นชุมชนออนไลน์ที่จะเปิดให้คนดู รู้จักออริจินัลคอนเทนต์ของ Netflix ในแง่มุมอื่นๆ เพิ่มเติม เช่นเบื้องหลังการถ่ายทำโดยจะมีเนื้อหาอย่างพวกพอดคาสต์ และเพลย์ลิสต์เนื้อหาในแบบที่ผู้ใช้สร้างขึ้นหรือ UGC (User Generated Content) ด้วย ไอเดียเรื่องเพลย์ลิสต์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะผู้ใช้งานก็นิยมสร้างเพลย์ลิสต์หนังและซีรีส์ที่ชอบแล้วแชร์ลงออนไลน์อยู่แล้ว Netflix จึงคิดว่า แนวทางนี้สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้รายใหม่ได้ โดยคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก Netflix เข้าถึง N-Plus ได้ สามารถดูตัวอย่างหนังเพื่อประกอบการตัดสินใจในการสมัคร ทุกวันนี้ Netflix ก็โปรโมทเนื้อหาอย่างหนักทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์อยู่แล้ว จึงไม่แปลกใจที่ Netflix จะลองช่องทางใหม่ๆ บ้าง และอาจมีส่วนช่วยผู้ใช้งานในการตัดสินใจเมื่อไม่รู้จะดูอะไรดี ซึ่งเป็น pain point ของผู้ใช้งานอยู่แล้ว ที่มา - Engadget
# แบงค์ชาติออกรายงานธนาคารล่มไตรมาสแรกปี 2021 พบ SCB ล่มบ่อยสุดทั้งแอปและเว็บ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกรายงานสถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องที่กระทบต่อการให้บริการผ่านช่องทางสำคัญประจำไตรมาสแรกปี 2021 พบว่าธนาคารไทยพาณิชย์มีสถิติการล่มบ่อยขึ้นโดยบริการธนาคารผ่านโทรศัพท์ล่ม 5 ครั้งรวมระยะเวลาล่ม 7 ชั่วโมง และบริการผ่านอินเทอร์เน็ต (เว็บ) ล่ม 3 ครั้งรวม 6 ชั่วโมง ธนาคารที่ล่มน้อยรองลงไป คือ ธนาคารธนชาต ที่บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์ล่ม 1 ครั้ง 5 ชั่วโมง และยังมีรายงานระบบ ATM/CDM และบริการที่สาขาล่ม 2 ครั้งรวม 7 ชั่วโมงทั้งสองรายการ และธนาคารทหารไทยที่บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์ล่ม 5 ครั้งรวม 5 ชั่วโมง ภาพรวมปีที่ผ่านมาหากยึดตามรายงานนี้ (ซึ่งมีเคยมีการแก้ไขรายการลดจำนวนครั้งที่ล่มโดยไม่มีการชี้แจง) จะพบว่าโดยรวมแล้วอัตราระบบต่างๆ มีปัญหานั้นน้อยลงเรื่อยๆ ที่มา - 1213.or.th
# Google ออกนโยบายทำงานแบบไฮบริด เข้าออฟฟิศ 3 วัน, เลือกสถานที่ทำงานได้ หลังจากที่พนักงาน Google ในสหรัฐฯ​ เริ่มกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแล้ว Sundar Pichai ซีอีโอ Google ได้ออกประกาศนโยบายทำงานแบบไฮบริด โดยกำหนดนโยบายการทำงานของ Google ใหม่ที่ให้พนักงานทำงานได้ยืดหยุ่นกว่าเดิม โดยขึ้นกับว่าพนักงานกำลังทำงานในส่วนผลิตภัณฑ์ใดและอยู่ในทีมไหน นโยบายของ Google คือจะในแต่ละสัปดาห์จะให้พนักงานใช้เวลา 3 วันในออฟฟิศ และอีก 2 วันทำงานที่ไหนก็ได้ที่ให้ผลงานดี (wherever they work best) ซึ่งในออฟฟิศจะเป็นงานที่ต้องร่วมมือกันทำเป็นหลัก การที่จะเข้ามาออฟฟิศเมื่อไรจะให้ขึ้นกับงานและผลิตภัณฑ์ที่กำลังทำอยู่ ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะงานที่ทำด้วย เนื่องจากงานบางอย่างจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศมากกว่า 3 วัน นอกจากการทำงานที่ออฟฟิศตามปกติแล้ว ภายในกลางเดือนมิถุนายน Google จะออกขั้นตอนที่อนุญาตให้ผู้ใช้ทำงานได้ไม่จำกัดแค่เฉพาะที่ออฟฟิศหลัก คือสามารถเข้าไปทำงานที่ไซต์ไหนก็ได้ของ Google ทั่วโลกที่มีระบบพร้อมซัพพอร์ตการทำงานของพนักงาน รวมถึงมีตัวเลือกให้ทำงานระยะไกลแบบ 100% (completedly remote work) สำหรับงานบางอย่าง สุดท้ายคือนโยบายเพื่อความยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิต Google จะอนุญาตให้พนักงานทำงานนอกจากออฟฟิศหลักเป็นระยะเวลานานสุดถึง 4 สัปดาห์ต่อปี (ต้องผ่านการอนุมัติจากหัวหน้างานก่อน), มี focus time ที่จะจำกัดการประชุมภายในช่วงเวลานั้น เพื่อให้พนักงานร่วมกันพัฒนาโปรเจคอย่างเต็มที่ และ reset days ที่ช่วยให้พนักงาน recharge ตัวเองจากสถานการณ์แพร่ระบาด โดย reset day รอบถัดไปคือวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ที่มา - Google ภาพจาก Google
# Nintendo ขาย Switch ไปรวม 84.59 ล้านเครื่อง แซง Game Boy Advance แล้ว นินเทนโดรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสเดือนมกราคม-มีนาคม 2021 ยอดขายรวม 354,447 ล้านเยน และมีกำไรสุทธิ 103,711 ล้านเยน Switch ขายได้ 4.72 ล้านเครื่องในไตรมาสที่ผ่านมา แบ่งเป็น Switch 3.55 ล้านเครื่อง และ Switch Lite 1.17 ล้านเครื่อง ตัวเลขยอดขายสะสมของ Switch รวมนับตั้งแต่เริ่มวางจำหน่ายอยู่ที่ 84.59 ล้านเครื่อง ทำให้จำนวนรวมแซง Game Boy Advance (81.51 ล้านเครื่อง) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด่านถัดไปของนินเทนโดเองคือ Wii ที่ 101.63 ล้านเครื่อง จำนวนเกมที่ขายได้ในไตรมาสนี้ 54.78 ล้านชุด มีเกมเด่นของนินเทนโดที่เพิ่งเริ่มวางขายคือ Super Mario 3D World + Bowser’s Fury ขายไปได้แล้วรวมทั้งหมด 5.59 ล้านชุด ฮาร์ดแวร์และเกมใหม่ที่จะวางขายในไตรมาสปัจจุบัน ได้แก่ Switch Lite สีน้ำเงิน, Pokemon Snap, Miitopia, Game Builder Garage และ Mario Golf Super Rush ที่มา: The Verge, Nintendo Everything [1], [2] และนินเทนโด (pdf)
# รีวิว Mi 11 Ultra กล้องดี สเปกแรง มีจอเล็กให้เซลฟี่ด้านหลัง แต่ตัวเครื่องหนักอึ้ง หลังจากผู้เขียนรีวิว Xiaomi Mi 11 ที่ไม่ค่อยมีอะไรใหม่ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุด Xiaomi ก็ได้ออก Mi 11 Ultra เรือธงรุ่นจัดเต็ม ที่ใส่ฟีเจอร์มาเหมือนพยายามลบคำสบประมาทที่ว่าไม่มีอะไรใหม่ เพราะนอกจากกล้องหลัก 50MP, กล้องซูม periscope 5x, กล้องอัลตร้าไวด์มุมมอง 128 องศา ที่ปัจจุบันครองอันดับ 1 ด้านกล้องถ่ายภาพมือถือบน DxoMark แล้ว ยังใส่หน้าจอเล็กด้านหลังเพิ่มเอาไว้ข้างกล้องอีกด้วย จอด้านหลังนี้เป็นจอขนาด 1.1 นิ้ว ความละเอียด 126x294 พิกเซล เป็นจอแบบเดียวกับ Mi Smart Band 5 ทำหน้าที่เป็นจอแสดงนาฬิกากับสถานะอื่นๆ ได้ เวลาที่วางเครื่องคว่ำหน้า และยังเป็นจอเสริมสำหรับใช้กล้องหลังถ่ายภาพเซลฟี่ได้ ภายใน Mi Ultra 11 มาพร้อมชิปเรือธง Snapdragon 888 เช่นเดียวกันกับ Mi 11 และให้แบตเตอรี่มาใหญ่ถึง 5,000 mAh แบบจุใจ ส่วนในด้านแรมหน่วยความจำ เครื่องที่ผู้เขียนรีวิวจะเป็นรุ่นแรม 12GB หน่วยความจำภายในประเภท UFS 3.1 ความจุ 256GB และเป็นตัวเครื่องสีดำ ปัจจุบัน Mi 11 Ultra วางจำหน่ายในไทยแล้ว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในราคา 33,990 บาท (Mi 11 ธรรมดา 27,999 บาท) แต่มีจำนวนจำกัดแค่ 100 เครื่องเท่านั้น และยังไม่แน่ว่าจะมีมาเพิ่มในอนาคตหรือไม่ แกะกล่อง Mi 11 Ultra มาในกล่องสีดำเรียบหรู สวนทางเทรนด์เรือธงด้วยการแถมที่ชาร์จชาร์จเร็ว 67W แบบ GaN มาให้เช่นเคยพร้อมสาย USB-C to USB-C ที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ 5000 mAh ของ Mi 11 Ultra ได้ 89% ภายใน 30 นาที และชาร์จเต็มภายใน 37 นาทีเท่านั้น และยังมีเคสพลาสติก TPU แถมมาให้ เช่นเดียวกับมือถือ Xiaomi รุ่นอื่น ตัวเครื่อง และรูปลักษณ์ภายนอก หน้าจอ OLED ขนาด 6.81 นิ้ว ความละเอียด WQHD+ (1440 x 3200 พิกเซล) อัตรารีเฟรชสูงสุด 120Hz มีระบบ adaptive refresh rate ปรับลดเหลือ 90Hz, 60Hz และ 30Hz ได้ตามคอนเทนต์ สีสันสดใส สว่างเตะตามาก เพราะมีความสว่างสูงสุดที่ 900nits และ 1700nits ในโหมด HDR ที่รองรับทั้ง Dolby Vision และ HDR10+ รวมถึงรองรับการแสกนลายนิ้วมือใต้หน้าจอแบบออปติคัล และด้านหน้าครอบด้วยกระจก Gorilla Glass Victus ขอบจอด้านบนและล่างบางมาก ขอบจอด้านข้างเป็นแบบโค้ง แต่โค้งไม่มากนัก ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้งาน หรือทำให้เกิดการสัมผัสโดยไม่ตั้งใจ กล้องหน้าเป็นแบบเจาะรู อยู่มุมบนซ้ายของหน้าจอ ไม่ทำให้รู้สึกเกะกะ สิ่งที่ทำให้ติดขัดในการใช้งานพอสมควรน่าจะเป็นโมดูลกล้องด้านหลังที่ยื่นออกมาจากตัวเครื่องมากพอสมควร และมีขนาดใหญ่มาก รวมถึงมีน้ำหนัก 234 กรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับ iPhone 12 Pro น้ำหนัก 190 กรัมที่ผู้เขียนรู้สึกว่าหนักแล้ว ก็ยังหนักมากกว่าถึง 44 กรัมเลยทีเดียว แถมน้ำหนักส่วนมากก็อยู่ที่ครึ่งบนของตัวเครื่อง (น่าจะมาจากโมดูลกล้องและจอด้านหลัง) ทำให้เวลาถือ รู้สึกเกะกะมือ และเหมือนศูนย์ถ่วงเอียงไปด้านบนพอสมควร ด้านซ้ายของตัวเครื่องไม่มีปุ่มใดๆ ด้านขวามีปุ่มเพิ่ม-ลด เสียง และปุ่มพาวเวอร์ ด้านบนล่างเป็นลำโพงที่จูนเสียงโดย harman/kardon ให้เสียงที่ดังสะใจ ไม่แตกแม้เปิดสุด แต่เสียงเบสก็ไม่หนานัก ออกไปทางโทนใสๆ พุ่งๆ มากกว่า แต่ก็ดูวิดีโอที่มีเสียงคนพูดบน Youtube หรือซีรีส์ Netflix ได้สบาย พอร์ตชารร์จ USB-C และช่องใส่ซิมจะอยู่ด้านล่างของตัวเครื่อง น่าเสียดายที่ไม่รองรับ microSD card แต่ความจุเริ่มต้น 256GB ก็น่าจะพอแบบเหลือเฟือ ประสิทธิภาพและประสบการณ์การใช้งาน Mi 11 Ultra มาพร้อม MiUI 12.0.1 รันครอบอยู่บน Android 11 ซึ่ง UI ของ Xiaomi ยุคหลังๆ แทบจะไม่มี bloatware เกะกะติดมาด้วยแล้ว และโฆษณาก็น้อยลงมากจนกลายเป็น UI ของฝั่ง Android ที่สะอาดสะอ้านใช้งานได้อีกเจ้า ภาพด้านล่างเป็นตัวอย่างแอปที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องทั้งหมด และข้อมูลตัวเครื่องจากหน้า About กับแอป Geekbench 5 การทดสอบบน Geekbench 5 ชิป Snapdragon 888 ทำคะแนนได้ Single Core ได้ 1,125 คะแนน และ Multi Core ได้ 3,623 คะแนน สูงกว่า Mi 11 รุ่นธรรมดาที่ผู้เขียนรีวิวไปพอสมควร ซึ่งได้คะแนน 900 และ 3047 คะแนน พอสมควร อาจเป็นเพราะแรมที่เพิ่มมาเป็น 12GB และปัจจัยอื่นเช่น การระบายความร้อน ความเร็วหน่วยความจำ กล้องถ่ายภาพ กล้องหลังหลักที่มีขนาดใหญ่ เพราะใช้เซ็นเซอร์ภาพ ISOCELL GN2 ของ Samsung ที่มีขนาด 1/1.12 นิ้ว ความละเอียดอยู่ที่ 50MP รูรับแสง f/2.0 กล้องรองสองกล้องเป็นกล้องอัลตร้าไวด์ 48MP f/4.1 และกล้องซูม periscope 48MP f/2.2 ซูมได้ 5x ไฮบริดซูมสูงสุด 120x ส่วนกล้องหน้าเป็นแบบเจาะรู 20 MP, f/2.2 ไม่มีอะไรพิเศษ มีโหมด Beauty ติดมาเช่นเคย ตัวอย่างภาพถ่าย ภาพจากกล้องหลัก ภาพจากกล้องหลัง เมื่อเปิด Night Mode ภาพจากกล้องอัลตร้าไวด์ ภาพจากเลนส์เทเล ซูม 5x สำหรับกล้องซูม 5x ภาพยังชัดเจน แต่เมื่อลองนำมาทดสอบซูมแบบไฮบริด 120x ภาพค่อนข้างแตกเป็นวุ้น และถ่ายภาพยากพอสมควร เพราะสั่นนิดเดียวภาพก็หลุดไปจากจุดที่อยากถ่ายแล้ว หลังจากนั้นผู้เขียนจึงลดการซูมลงมาเรื่อยๆ และพบว่าการซูมที่ 50x น่าจะเป็นระดับการซูมสูงสุดที่ภาพยังใช้งานได้จริง นอกจากนี้ในการทดสอบถ่ายภาพ ผู้เขียนพบว่าบริเวณโมดูลกล้องอุ่นขึ้นอย่างรู้สึกได้ การประมวลผลภาพน่าจะใช้ประสิทธิภาพเครื่องหนักพอสมควร ภาพจากกล้องหลัก ก่อนทดสอบการซูมยอดเสาในกรอบสีแดง ซูม 120x ซูม 50x ตัวอย่างภาพจากกล้องหน้า การใช้งานหน้าจอเล็กด้านหลัง สำหรับการใช้หน้าจอเล็กด้านหลังเพื่อถ่ายภาพเซลฟี่ Mi 11 Ultra จะไม่ได้ตั้งค่าเปิดการใช้งานฟีเจอร์นี้มาจากโรงงาน ผู้ใช้จะต้องเข้าไปเปิดเองในการตั้งค่าตอนถ่ายภาพ ซึ่งผู้เขียนพบว่าหากพยายามถ่ายเซลฟี่โดยยืดสุดแขน จอพรีวิวนี้จะเลิกเกินกว่าจะมองเห็นไปหน่อย ส่วนการใช้งานเพื่อบอกสถานะ หรือแสดงภาพอื่นๆ แทนจอ Always On Display สามารถเข้าไปตั้งค่าได้ที่ Rear Display Theme โดยจะสามารถแสดงข้อความ นาฬิกา สถานะแบตเตอรี่ แสดงว่ามี notifications ค้างอยู่หรือไม่ หรือจะใช้รูปตัวเองก็ได้ วิธีเปิดดูคือแตะที่ส่วนจอด้านหลังแบบสองครั้งติดกันแบบดับเบิ้ลแทป สรุป Mi 11 Ultra ยังสมกับชื่อรุ่น Ultra ของ Xiaomi อยู่ ด้วยกล้องที่ใส่มาแบบจัดเต็ม และหน้าจอด้านหลัง ที่ล้ำกว่า Mi 11 ธรรมดา รวมถึงมือถือรุ่นอื่นๆ แต่พอมาจับใช้งานจริงแล้ว ประโยชน์ที่ได้มาเช่นการถ่ายภาพที่ดีขึ้น หรือจอพรีวิวด้านหลัง อาจไม่คุ้มกับโมดูลกล้องที่ใหญ่เทอะทะ และน้ำหนักที่มากขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานเป็นเวลานาน Mi 11 Ultra มีวางจำหน่ายแค่ 100 เครื่องเท่านั้น ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเป็นการลองตลาด เพื่อเตรียมนำมาจำหน่ายเพิ่ม หรือต้องการให้เป็นแบบจำนวนจำกัดจริงๆ แต่ในราคา 33,990 บาท ผู้เขียนมองว่าข้อเสียของตัวเครื่อง อาจจะมีเยอะเกินไปสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป แต่จะเหมาะมากกับผู้ที่ต้องการใช้งานเป็นมือถือเครื่องที่สอง สำหรับใช้แทนกล้องถ่ายภาพ หรือผู้ที่ต้องการฟีเจอร์ที่จัดเต็มที่สุดของ Xiaomi เท่านั้น
# เกม Fable ภาคใหม่จะใช้เอนจิน ForzaTech ตัวเดียวกับเกมแข่งรถซีรีส์ Forza ข่าวเซอร์ไพร์สสำคัญของวงการเกมปี 2020 คือการกลับมาของซีรีส์ Fable ที่พัฒนาโดย Playground Games สตูดิโอในสังกัดไมโครซอฟท์ที่สร้างชื่อจากเกมแข่งรถซีรีส์ Forza Horizon ที่ผ่านมา เรายังแทบไม่รู้ข้อมูลใดๆ ของเกมเลย มีแค่เทรลเลอร์เปิดตัวสั้นๆ ไม่มีเกมเพลย์ ตัวละคร หรือวันวางจำหน่าย (ลงพีซีและ Xbox Series) แต่ล่าสุด ข้อมูลรับสมัครงานของ Playground Games ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกม Fable จะใช้เอนจิน ForzaTech ของเกมแข่งรถซีรีส์ Forza ตรงนี้อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกนัก เพราะเอนจินเกมอย่าง Unreal/Unity ก็ใช้กับเกมได้ทุกแนวอยู่แล้ว หรือถ้าเป็นเอนจินเฉพาะค่ายอย่าง FrostBite ของ EA ก็ใช้ได้กับทั้งเกมยิง Battlefield, เกมกีฬา FIFA และเกมแข่งรถ Need for Speed เช่นกัน แต่การที่เกม RPG คลาสสิคอย่าง Fable จะถูกสร้างภาคใหม่โดยทีมงานเกมแข่งรถ (Playground ไม่เคยทำเกมแนวอื่นเลย) ด้วยเอนจินเกมแข่งรถ ก็เป็นสิ่งที่ยิ่งทำให้ Fable ภาคนี้น่าจับตามองมากขึ้นด้วย ที่มา - IGN, Kotaku
# เบื้องหลังความสำเร็จไมโครซอฟท์เข้าถึงผู้พิการ เพราะมีประธานฝ่าย Accessibility โดยเฉพาะ ไมโครซอฟท์ถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทเทคที่จริงจังสร้างอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ให้มีความเข้าถึงผู้พิการหรือ Accessibility ในปี 2018 ไมโครซอฟท์เปิดตัวคอนโทรลเลอร์สำหรับผู้พิการ Xbox Adaptive Controller มาพร้อมกล่องบรรจุที่ใช้ฟันเปิดได้ และยังเปิดรับนักพัฒนาเกมทำเกมเพื่อผู้พิการด้วย และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ไมโครซอฟท์เปิดตัวแผนการ 5 ปี ใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ WSJ เข้าสัมภาษณ์ Jenny Lay-Flurrie ประธานฝ่ายการเข้าถึงของไมโครซอฟท์ ซึ่งมีไม่กี่บริษัทที่มีตำแหน่งนี้อยู่ พูดคุยถึงแนวคิดการทำงานที่ส่งผลให้ไมโครซอฟท์เป็นผู้นำที่จริงจังเรื่อง Accessibility และที่สำคัญเธอยังเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการได้ยินด้วย ภาพจาก ไมโครซอฟท์ Lay-Flurrie ได้แต่งตั้งเข้ามาในตำแหน่งปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงที่ไมโครซอฟท์ปรับแผนในองค์กร พยายามยกเรื่อง Accessibility เข้ามาในศูนย์กลางธุรกิจมากขึ้น เธอบอกว่า ในองค์กรไม่ใช่เฉพาะสายเทคโนโลยีเท่านั้น ควรจะมีตำแหน่ง CAO (chief accessibility officer) มากกว่านี้ ซึ่งเธอพบว่ามันน้อยมากอย่างน่าเวทนา เมื่อถามถึงวิธีการทำงานภายในทีม Accessibility ในไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นบริษัทที่คุมผลิตภัณฑ์หลายอย่าง Lay-Flurrie บอกว่า วิธีการทำงานคือ กระตุ้นให้ทีมอื่นๆ ได้เห็นวิสัยทัศน์และประโยชน์ที่จะได้จาก Accessibility ซึ่งในองค์กรมีความเปิดกว้างให้เข้าถึงทีมงานได้ทุกทีม ตั้งแต่ฝ่าย HR และ ฝ่าย Xbox เป็นต้น ก่อนหน้านี้ตำแหน่ง CAO ไม่ได้มีเป็นตำแหน่งแยกออกมา แต่อยู่ในทีมสร้างผลิตภัณฑ์อีกทีหนึ่ง ซึ่งทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นไม่ครอบคลุมมากพอถ้า CAO นั่งเป็นคนในทีมนั้นๆ ทำให้ต้องเพิ่มการจ้างงาน จ้างผู้พิการ และที่สำคัญที่สุดคือการรับฟังลูกค้าและผู้ใช้งาน ด้านผลตอบแทนจากการลงทุนใน Accessibility นั้น Lay-Flurrie บอกว่า มันน้อยมากอยู่แล้ว แต่จะให้กับดักเรื่องผลตอบแทนการลงทุนมากำหนดกรอบการพัฒนาเพื่อผู้พิการไม่ได้ ด้านการทำองค์กรให้ friendly ต่อผู้พิการ รวมถึงการจ้างงานผู้พิการ อาจดูเป็นเรื่องที่เฉพาะองค์กรใหญ่สามารถทำได้ Lay-Flurrie ตอบเรื่องนี้ว่า จริงๆ แล้ว มันสามารถเริ่มได้เลย ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนสีเฟอร์นิเจอร์ในที่ทำงานให้มีสีต่างกัน ผู้ที่มีสายตาเลือนรางจะได้มองแยกแยะออก, ประตูเปิดปิด ที่ไม่เปิดยากจนเกินไป ซึ่งในไมโครซอฟท์เองก็ได้เผยแพร่คู่มือเกี่ยวกับการจ้างงานผู้พิการ และคาดหวังว่ามันจะช่วยให้องค์กรอื่นเห็นคุณค่าของสิ่งนี้ แม้ Lay-Flurrie จะเป็นผู้มีปัญหาการได้ยินแต่เธอก็ชอบดนตรีมาก เธอจบปริญญาตรีสาขาดนตรีจาก University of Sheffield, ปริญญาโทสาขาการจัดการจากมหาวิทยาลัย Bradford ในอังกฤษ ทำงานใน T-Mobile ก่อนจะมาเป็นหัวหน้าฝ่ายสนับสนุนลูกค้าของไมโครซอฟท์ ที่มา - WSJ, ไมโครซอฟท์
# ผู้บริหาร Xbox เผยในคดี Epic vs Apple ว่ายังไม่เคยกำไรจากการขายเครื่องคอนโซลได้เลย นอกจากเปิดเผยเรื่องการเก็บเงินสำหรับเล่น cross-play ของ PlayStation แล้ว คดี Epic v. Apple ก็ทำให้มีข้อมูลจากฝั่ง Xbox หลุดมาด้วยเช่นกัน โดยคราวนี้ Lori Wright ตำแหน่ง VP จากฝั่ง Xbox ตอบคำถามศาลในเรื่องกำไรของเครื่องคอนโซล ว่า Xbox ไม่เคยทำกำไรจากการขายเครื่องคอนโซลได้เลย และขายในราคาขาดทุนมาโดยตลอด (กำไรส่วนใหญ่มาจากการขายเกมและบริการเสริม) การให้ปากคำของ Wright อยู่ในบริบทที่ว่า ทำไมอัตราส่วนแบ่ง 30% บนแพลตฟอร์มขายเกมบนคอนโซล ถึงเป็นอัตราที่เหมาะสม (เพราะเครื่องคอนโซลมักขายขาดทุน) และแตกต่างจากอัตราส่วนแบ่ง 30% บน App Store ของ Apple ที่ขาย iPhone ในราคาที่ทำกำไรอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม Daniel Ahmad นักวิเคราะห์วงการเกมจากบริษัทวิจัยตลาด Niko Partners ได้ทวิตเพิ่มเติมไว้ว่า แม้เครื่องเกมคอนโซลมักจะขายในราคาขาดทุน แต่ก็มีบางเจ้าเช่น Nintendo ที่จะตั้งราคาขายแบบทำกำไรตั้งแต่แรก เช่น Nintendo Switch ส่วน PS4 ก็ทำกำไรเช่นกัน หลังตรึงราคา 299 ดอลลาร์ไว้หลายปี และแม้ PS5 จะตั้งราคาขาดทุน ในตอนนี้ แต่เมื่อมียอดจำหน่ายมากขึ้น และผลิตสเกลใหญ่ขึ้น ราคาก็อาจกลายเป็นเท่าทุน หรือทำกำไรได้ในอนาคต ที่มา - IGN
# Lenovo เปิดตัว Xiaoxin Pad Pro 2021 ชิป Snapdragon 870 จอ OLED 90Hz Lenovo เปิดตัวแท็บเล็ตรุ่นใหม่รูปทรงคล้ายกับ iPad Pro ชื่อ Xiaoxin Pad Pro 2021 ในประเทศจีน ซึ่งชื่อนี้อาจจะเป็นชื่อที่ใช้เฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น และอาจมีเวอร์ชั่นโกลบอลตามมาในอนาคต ที่ใช้ชื่อตระกูล Yoga Tab หรือ Lenovo Tab อื่น ตัวแท็บเล็ตใช้ชิป Snapdragon 870 ที่เป็นรุ่นพัฒนาต่อยอดจาก Snapdragon 865+ ทำให้น่าจะเป็นแท็บเล็ตรุ่นเกือบเรือธงของ Lenovo แต่ยังไม่มีรายละเอียดสเปกภายในอื่นๆ หน้าจอยังไม่ระบุขนาด แต่เป็นจอ OLED อัตรารีเฟรช 90Hz ความละเอียด 2,560 x 1,600 พิกเซล ความสว่างสูงสุด 600 nits อัตราส่วน 16:10 คอนทราสต์ 800,000:1 รองรับ Dolby Vision, ผ่านมาตรฐานถนอมสายตา TÜV Rheinland และรองรับ HDR 10 ส่วนลำโพงเป็นแบบ quad สี่ช่อง ราคาและวันวางจำหน่ายของ Xiaoxin Pad Pro 2021 ยังไม่เปิดเผย คงต้องติดตามรายละเอียดเมื่อใกล้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการต่อไป ที่มา - Notebookcheck
# แบงก์ชาติเผยตัวเลขพร้อมเพย์ 56.7 ล้านเลขหมาย ธุรกรรมต่อวันพุ่ง 22.3 ล้านรายการ ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อระหว่าง PayNow และพร้อมเพย์ มีอัพเดตเกี่ยวกับพร้อมเพย์ไทยด้วย ตัวเลขล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า คนไทยลงทะเบียนหมายเลขพร้อมเพย์แล้ว 56.7 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 34.3 ล้านเลข, โทรศัพท์มือถือ 21.4 ล้านหมายเลข และช่องทางอื่นๆ อีก 1 ล้านหมายเลข ด้านปริมาณธุรกรรมต่อวัน พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 22.3 ล้านรายการ โดยปริมาณธุรกรรมสูงสุดต่อวันที่พบคือ 27.1 ล้านรายการ ตัวเลขพร้อมเพย์ในเดือนมีนาคม ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงระบาดใหม่ๆ พบว่ามีผู้ใช้งานลงทะเบียนเป็น 51 ล้านหมายเลข ใช้งานสูงสุด 15.3 ล้านรายการต่อวัน ด้านรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการเชื่อต่อกับ PayNow ในสิงคโปร์ มีการตรึงราคาค่าธรรมเนียมการโอนไว้ที่ 150 บาทต่อรายการ โดยช่วงโปรโมชั่นตรึงราคาที่ 75 บาทไปจนถึง 31 กรกฎาคม และยังมีการพูดคุยกับธนาคารในมาเลเซียและอินโดนีเซียถึงการเชื่อมระบบ Fast Payment System แบบเดียวกับสิงคโปร์ด้วย ด้านภาพรวมการเชื่อมโยงระบบโอนเงินในต่างประเทศ ตอนนี้ไทยสามารถโอน QR ไปยังประเทศต่างๆ ได้ คือ ลาว เวียดนาม กัมพูชา ญี่ปุ่น และมีสิงคโปร์ที่เป็นระบบ Fast Payment System หรือโอนเรียลไทม์ ที่มา - งานแถลงข่าว
# Pyston โครงการภาษาไพธอนประสิทธิภาพสูง เปิดเป็นโอเพนซอร์สแล้ว Pyston โครงการภาษาไพธอนประสิทธิภาพสูงที่เริ่มต้นโครงการโดย Dropbox เมื่อปี 2014 กลับมาพัฒนาและเปิดซอร์สอีกครั้งในเวอร์ชั่น 2.2 หลังจากทาง Dropbox ทิ้งโครงการไปเมื่อปี 2017 ทีมงานตัดสินใจออกมาตั้งบริษัทแยกเพื่อให้บริการซัพพอร์ตในปี 2020 Pyston เป็นรันไทม์ไพธอนที่มี C API เข้ากันได้กับโครงการหลัก ทำให้สามารถใช้แพ็กเกจหลักๆ ได้ทันทีผ่านทางคำสั่ง pip-pyston3 ตัวโครงการรองรับภาษาไพธอนเวอร์ชั่น 3.8 แนวทางการเร่งความเร็วของ Pyston อาศัยการคอมไพล์โค้ดด้วย DynASM ของโครงการ Lua และลบโค้ดต่างๆ ที่ใช้งานน้อยออกไป ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า Pyston ประสิทธิภาพดีกว่าโครงการหลักเป็นส่วนใหญ่ กรณีสำคัญๆ เช่นการใช้เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์นั้นประสิทธิภาพดีขึ้นถึง 30% ตอนนี้โครงการหลักปล่อยซอร์สโค้ดออกมาแล้ว พร้อมแพ็กเกจ deb สำหรับ Ubuntu 16.04/18.04/20.04 ที่มา - Pyston Blog ภาพโค้ดภาษา Python โดย JohnsonMartin
# Nintendo ทำ Game Builder Garage เครื่องมือช่วยเด็กสร้างเกมของตัวเองในเครื่อง Switch Nintendo เปิดตัว Game Builder Garage เครื่องมือสอนสร้างเกม เจาะกลุ่มเด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป โดยใช้ Switch เป็นอุปกรณ์ในการสร้าง มาพร้อมชุดเครื่องมือสำเร็จรูปในการสร้างเกมง่ายๆ อย่างเกมรถแข่ง, เกมหนีออกจากห้องปริศนา เป็นต้น เว็บไซต์ CNET ได้เข้าถึงงานแถลงที่บริษัทเดโม่ให้ดูผ่าน Zoom พบว่า Game Builder Garage มีแพทเทิร์นเกมให้เด็กสร้าง 7 แบบ คือ On a Roll เกมกลิ้งบอล, Alien Blaster เกมยิงวัตถุประหลาด, Risky Run เกมวิ่งไปเรื่อยๆ ฝ่าด่านวิบาก, Mystery Room เกมไขปริศนาเอาตัวรอดจากห้อง, Thrill Racer เกมแข่งรถ, Tag Showdown เกมต่อสู้ และ Super Person World ที่คล้ายกับเกม Super Mario 3D World เด็กๆ ใช้ Joy-Con เพื่อควบคุมการสร้างเกมได้ นอกเหนือจากการลากหน้าจอ สามารถเสียบสายเมาส์เพื่อทำงานได้ง่ายขึ้น (ไม่รองรับ Bluetooth) ตัว Game Builder Garage มีโมดูลที่ในเกมเรียกว่า Nodons เป็นชุดคำสั่งที่ปรับแต่งเพิ่มเติมได้ ขึ้นอยู่กับจินตนาการของเด็ก เมื่อทำเกมเสร็จแล้วสามารถกดอัพโหลดเข้ามาในโปรไฟล์ได้ แต่ไม่สามารถแชร์ข้ามแพลตฟอร์มได้ Game Builder Garage เปิดให้ดาวน์โหลดวันที่ 11 มิถุนายนนี้ขายในราคา 30 เหรียญ มีขนาด 10.5 GB รองรับภาษา ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ดัตช์, รัสเซีย, สเปน, อิตาลี, เกาหลี, จีน, อังกฤษ Nintendo เคยมีไอเดียสอนเด็กสร้างเกมหรือทำโปรแกรมมิ่งมาแล้วจากการเปิดตัว Nintendo Labo ที่เป็น card box นำไปประกอบเอง เชื่อมต่อกับ Joy-Con ได้ ที่มา - CNET, Nintendo
# Activision ยืนยัน Call of Duty ปี 2021 เป็นคิวสตูดิโอ Sledgehammer Games ปีที่แล้ว Activision เปลี่ยนธรรมเนียมวนรอบ 3 ปีของสตูดิโอที่สร้างเกม Call of Duty ภาคหลัก ตามคิวแล้วปี 2020 ต้องเป็นคิวของสตูดิโอ Sledgehammer Games (ที่ทำภาค Advanced Warfare และ WWII) แต่ด้วยปัญหาภายในของ Sledgehammer เอง ทำให้สตูดิโอ Treyarch ถูกสลับคิวขึ้นมาแทน ออกมาเป็นภาค Black Ops Cold War ในงานแถลงผลประกอบการของ Activision Blizzard เมื่อวานนี้ ผู้บริหารของ Activision ยืนยันแล้วว่าคิวของปี 2021 จะกลับมาเป็น Sledgehammer อีกครั้ง แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเกมภาคนี้ชื่ออะไร ใช้ธีมแบบไหน (ตามข่าวลือคือจะชื่อภาค WWII Vanguard) สตูดิโอ Sledgehammer เองก็ประกาศข่าวตั้งสำนักงานเพิ่มในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา (ถือเป็นสำนักงานแห่งที่สาม ถัดจากในแคลิฟอร์เนียและเมลเบิร์น) แถมยังโพสต์ภาพ GIF ยืนยันข่าวการพัฒนา Call of Duty ภาคใหม่ด้วย ที่มา - Destructoid
# SpaceX ทดสอบยิงจรวด Starship SN15 กลับมาลงจอดสำเร็จแบบไม่ระเบิดเป็นครั้งแรก ช่วงนี้ถือว่าเป็นนาทีทองของ SpaceX ก็ว่าได้ เพราะทำภารกิจสำคัญติดๆ กันหลายภารกิจ ตั้งแต่การยิงจรวดส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในภารกิจ Crew-2 เมื่อวันที่ 23 เมษายน และพานักบินอวกาศอีกทีมของภารกิจ Crew-1 จาก ISS กลับมายังโลกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา แถมระหว่างนั้นก็ยังมียิงจรวด Falcon 9 ปล่อยดาวเทียม Starlink ควบคู่ไปด้วย ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 6 พฤษภาคม ตามเวลาประเทศไทย SpaceX ได้เดินหน้าทดสอบยิงจรวดต้นแบบ Starship SN15 จากฐานยิงที่เมือง Boca Chica รัฐ Texas โดยจรวดนี้ใช้เครื่องยนต์ Raptor จำนวน 3 เครื่อง ยิงขึ้นไปสูง 10 กิโลเมตร แล้วดับเครื่อง ก่อนจะพลิกตัวเป็นแนวราบแล้วปล่อยหล่นกลับลงมา จากนั้นก็ติดเครื่องตั้งลำอีกครั้งแล้วลงจอดได้สำเร็จ รวมทั้งหมดใช้เวลาราว 6 นาที ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม SpaceX ได้ทดสอบยิง Starship SN10 ที่เข้าใกล้คำว่าสำเร็จมากที่สุด โดยจรวดกลับมาลงจอดได้แบบเอียงๆ เนื่องจากลงมาเร็วเกินไปทำให้ขาตั้งเสียหาย ซึ่งตั้งอยู่ได้สักพักก็ล้มลงแล้วระเบิด และต่อมาได้ทดสอบยิง Starship SN11 แต่ก็ระเบิดอีก ทำให้การทดสอบของ SN15 วันนี้เป็นครั้งแรกที่ทุกอย่างเป็นไปตามแผน โครงการจรวด Starship เป็นโครงการใหญ่ของ Elon Musk และ SpaceX ที่วาดฝันไว้ว่าจะใช้ขนส่งมนุษย์และสัมภาระไปดวงจันทร์, ดาวอังคาร หรือจุดหมายอื่นๆ ได้ในอนาคต ซึ่งในจรวด Starship ของจริงจะใช้เครื่องยนต์ Raptor จำนวน 6 เครื่อง แปลว่าการทดสอบในอนาคตจะเพิ่มจำนวนเครื่องยนต์ไปอีก มีกำลังมากขึ้นอีก โดยเป้าหมายภายในปีนี้คือการทดสอบยิงจรวด Starship ไปสู่ระดับวงโคจรได้ ดูวิดีโอการทดสอบได้ท้ายข่าว ที่มา - Space.com ภาพทั้งหมดโดย SpaceX
# ผู้เล่นต่อเดือนของ Blizzard ลดลง 11 ล้านคนในสามปี เพราะเปิดตัวเกมใหม่น้อย หลัง Activision Blizzard เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2021 พบว่าฝั่ง Activision เติบโตถึง 72% ส่วนฝั่ง Blizzard เติบโตแค่ 7% ข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ข่าวเกม MassivelyOP ที่เปรียบเทียบยอดผู้เล่นรายเดือน (Monthly Active Users - MAU) ของ Blizzard ตั้งแต่ปี 2018 จนถึงไตรมาส 1/21 พบว่าลดลงจาก 38 ล้านคนต่อเดือน เหลือ 27 ล้านคนเท่านั้น หรือลดลงถึง 11 ล้านคนภายใน 3 ปี และลดลงจากไตรมาส 4/2020 ถึง 2 ล้านคน สาเหตุหลักน่าจะมาจาก Blizzard ไม่ได้ออกเกมใหม่ (ที่ไม่ใช่ภาคเสริมและไม่ใช่เกมรีมาสเตอร์) มาเป็นเวลานาน โดยเกมหลักล่าสุดที่ออกคือ Overwatch ในปี 2016 รายได้ของ Blizzard ที่ยังเติบโตได้ 7% สาเหตุหลักยังมาจากภาคเสริม Shadowlands ของเกม World of Warcraft ที่เปิดตัวในปี 2019 รวมถึงอัพเดตใหม่ Forged in the Barrens ของเกม Hearthstone ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถ้า Blizzard ยังไม่เร่งออกเกมใหม่ๆ จำนวนผู้เล่นต่อเดือนอาจลดลงเรื่อยๆ จนเกิดผลกระทบหนักกว่านี้ได้ แม้ปีนี้ Blizzard จะเตรียมวางขายภาครีเมคของ Diablo 2 แต่ก็ยังเป็นเกมรีมาสเตอร์ที่อาจจะไม่ได้จะเพิ่มยอดผู้เล่นและรายได้ให้กับ Blizzard มากนัก และอาจต้องฝากความหวังไว้กับ Diablo 4 และ Overwatch 2 ที่ยังไม่มีวันวางจำหน่ายที่ชัดเจนต่อไป ที่มา - MassivelyOP via PCGamer, Activision Q1 2021 Financial Results
# EA ซื้อสตูดิโอเกม Metalhead เจ้าของเกมเบสบอล Super Mega Baseball EA เดินหน้าซื้อกิจการต่อเนื่อง ประกาศข่าวซื้อ Metalhead Software สตูดิโอจากแคนาดาผู้พัฒนาเกมเบสบอล Super Mega Baseball Super Mega Baseball เป็นเกมเบสบอลแนวการ์ตูน ออกครั้งแรกในปี 2014 โดยภาคล่าสุดคือ Super Mega Baseball 3 ออกในปี 2020 มีให้เล่นบนทุกแพลตฟอร์ม EA บอกว่าชื่นชอบในเกมซีรีส์นี้มานาน และต้องการขยายฐานผู้เล่นด้วยพลังของเครือ EA ต่อไป ปัจจุบัน EA Sports ไม่มีเกมกีฬาเบสบอลอยู่ในมือ (เคยมีซีรีส์ MVP Baseball แต่ออกภาคสุดท้ายในปี 2005 ก่อนเสียสิทธิของลีก MLB ให้กับ Take Two และ Sony) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา EA เพิ่งซื้อกิจการสตูดิโอเกมมือถือ Glu ซึ่งมีเกมเบสบอล MLB Tap Sports บนมือถือด้วย ที่มา - EA, IGN
# กูเกิลเปิดตัว Woolaroo โอเพ่นซอร์สใช้ AI แปลรูปภาพเป็นภาษาถิ่น มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ กูเกิลนำโดย Google Arts & Culture แอปพลิเคชั่นเพื่อสำรวจวัฒนธรรมและงานศิลปะทั่วโลก เปิดตัว Woolaroo เครื่องมือโอเพ่นซอร์สใช้ AI บน Google Cloud ในการแปลความหมายของรูปภาพ ออกมาเป็นภาษาถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ตัว Woolaroo ใช้ Google Cloud Vision API ในการแปลรูปภาพเป็นภาษาถิ่น พร้อมการออกเสียงด้วย โดยผู้ใช้งานถ่ายรูปแล้วอัปโหลดขึ้นระบบแล้วสามารถปรับแต่ง แก้ไขข้ความได้ ตอนนี้รองรับภาษาถิ่น 10 ภาษา เช่น Calabrian Greek, Louisiana Creole, Maori และ Yiddish เป็นต้น ที่มา - กูเกิล
# ทวิตเตอร์กับ Billboard ทำชาร์ตเพลงฮิตจากการขึ้นเทรนด์บนทวิตเตอร์ อัพเดตชาร์ตรายวัน ทวิตเตอร์ร่วมกับ Billboard ทำชาร์ตเพลง The Billboard Hot Trending ที่อิงจากการที่มีคนพูดถึงเพลงและขึ้นเทรนด์บนทวิตเตอร์ โดยชาร์ตเพลงเปลี่ยนทุก 24 ชั่วโมง ตัวชาร์ตนี้เปิดพื้นที่โฆษณาด้วย โดย Julian Holguin หัวหน้าของ Billboard ระบุว่า ผู้ลงโฆษณาสามารถเข้าถึงชาร์ต The Billboard Hot Trending ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมตเพลงโดยตรงในรูปแบบเนื้อหาคลิปที่จะปรากฏบนชาร์ต ชาร์ต The Billboard Hot Trending ต่างจากชาร์ตเพลงทั่วไปตรงที่ ไม่ได้นับยอดจากการสตรีมฟังเพลง แต่นับยอดจาการขึ้นเทรนด์บนทวิตเตอร์ จำนวนการกล่าวถึง ซึ่งอาจมาจากการปั่นเทรนด์เพื่อสนับสนุนศิลปินที่ชอบได้ ถือเป็นอีกเครื่องมือที่สร้างความสนุกสนานแก่แฟนเพลง และในขณะเดียวกันยังสร้างรายได้ให้แพลตฟอร์มด้วย Sarah Rosen หัวหน้าพันธมิตรด้านความบันเทิงของทวิตเตอร์กล่าวว่า เพลงเป็นหัวข้อที่โดดเด่นบนทวิตเตอร์มานาน โดยเฉพาะเมื่อศิลปินปล่อยซิงเกิลใหม่ หรือมีคอนเสิร์ต แฟนๆ ก็จะพูดถึงสิ่งนั้นบนทวิตเตอร์ ซึ่งเพลงที่ขึ้นเทรนด์ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงใหม่ แต่อาจเป็นเพลงจากโอกาสครบรอบก็ได้ ที่มา - Bloomberg
# [Canalys] โรคระบาดทำยอดส่งมอบ Chromebook พุ่ง 12 ล้านเครื่อง HP, Lenovo ขายดีสุด โรคระบาดทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขายดี ไม่เว้นแม้แต่ Chromebook ล่าสุด บริษัทวิจัยตลาด Canalys รายงานภาพรวมตัวเลข Chromebook พบว่าเฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ มียอดส่งมอบไปแล้ว 12 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 275% ปีต่อปี แบรนด์ที่ทำยอดส่งมอบสูงสุดคือ HP ส่งมอบไป 4.36 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 633.7% รองลงมาเป็น Lenovo ส่งมอบไป 3.108 ล้านเครื่อง, Acer 1.428 ล้านเครื่อง, Samsung 1.200 ล้านเครื่อง, Dell 1.005 ล้านเครื่อง Bryan Lynch นักวิเคราะห์ Canalys ระบุว่า Chromebook กำลังจะเป็นสินค้าคอมพิวเตอร์แบบเมนสตรีมไปแล้ว ภาคการศึกษายังคงครองส่วนแบ่วส่วนใหญ่ของ Chromebook แต่ Chromebook ก็เริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา HP และ Lenovo ครองตลาด Chromebook อยู่แล้ว และส่งผลให้แบรนด์อื่นมีส่วนแบ่งเข้ามาใน Chromebook เพิ่มเช่น Samsung, Acer ภาพจาก Google Chromebook ด้านประเด็นชิปขาดแคลน Rishabh Dosh ผู้อำนวยการวิจัย Canalys บอกว่า สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งมอบไปเป็น backlog หรือสินค้าที่มีอยู่ก่อนจะเกิดปัญหาชิ้นส่วนขาดแคลน ซึ่งเมื่อพิจารณาสถานการณ์แล้วส่งผลกระทบในภาพกว้างแน่นอน ซึ่งแบรนด์ผู้ขายได้จัดลำดับความสำคัญของการสั่งซื้อให้กับผู้มีความต้องการระยะสั้นก่อน เช่น องค์กร กลุ่มธุรกิจ และจัดซื้อชิ้นส่วนมากกว่าที่ตัวเองจะผลิตได้ ที่มา - The Register
# Mass Effect: Legendary Edition รัน 120fps บน Xbox Series X แต่ได้ 60fps บน PS5 กลายเป็นวิวาทะในวงการเกมคอนโซลอีกรอบ หลัง Bioware เปิดเผยข้อมูลเทคนิคของเกม Mass Effect: Legendary Edition ภาครีมาสเตอร์ ที่จะเริ่มขาย 14 พฤษภาคมนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่พลังกราฟิกของคอนโซลรุ่นท็อป ที่ได้เฟรมเรตสูงสุดไม่เท่ากันในโหมดเน้นเฟรมเรต (Favor Framerate) Xbox Series X รองรับ 120fps ที่ความละเอียด 1440p PS5 รองรับ 60fps ที่ความละเอียด 1440p หากเล่นที่ความละเอียด 4K (Favor Quality) คอนโซลทั้งสองจะรันที่ 60 fps เท่ากัน ตรงนี้อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะสเปกของ Xbox Series X แรงกว่า PS5 อยู่แล้ว โดยเหตุผลหลักคือ Xbox Series X ใช้จีพียู RDNA รุ่นใหม่กว่า PS5 อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ PS5 จะได้เฟรมเรตที่ 60 fps ไม่ว่าจะเลือกโหมดไหน ความละเอียดไหนก็ตาม (แล้วใครล่ะจะเล่น 1440p หากได้เฟรมเรต 60fps เหมือกับ 4K) ซึ่ง IGN สอบถามไปยัง EA/Bioware แต่ก็ยังไม่ได้ความชัดเจนตรงนี้ ส่วนคอนโซลรุ่นเก่าๆ ก็ได้เฟรมเรตลดหลั่นกันไปตามสเปก PS4 Pro/Xbox Series S/Xbox One X รองรับ 30fps ที่ 4K (Favor Quality), 60 fps ที่ 1440p (Favor Framerate) PS4/Xbox One รองรับ 30fps ที่ 1080p (Favor Quality), 60fps ที่ 1080p (Favor Framerate) ที่มา - IGN
# กูเกิลบอกแท็บเล็ต Android มีคนใช้เพิ่ม 30%, เปิดตัว Entertainment Space รวมความบันเทิงบนแท็บเล็ต ปีที่แล้ว กูเกิลเปิดตัว Kids Space โหมดเด็กบนแท็บเล็ต Android แสดงเนื้อหาสำหรับเด็กรวมมาไว้ที่เดียว ปีนี้กูเกิลเปิดตัวของคล้ายๆ กันคือ Entertainment Space ศูนย์รวมความบันเทิงบนแท็บเล็ต อินเทอร์เฟซ Entertainment Space มีทั้งหมด 3 แท็บคือ Watch (ภาพยนตร์ ซีรีส์ คลิปจาก YouTube/Twitch), Games (เกมจาก Google Play Games) และ Read (อีบุ๊กจาก Google Play Books) กูเกิลให้ข้อมูลว่าในรอบปีที่ผ่านมา มีคนใช้งานแท็บเล็ต Android เพิ่มขึ้น 30% และพบว่าพฤติกรรมการใช้งานคือ แท็บเล็ตตัวเดียวแชร์กันใช้หลายคนในบ้าน จึงออกแบบ Kids Space และ Entertainment Space มาจับตลาดผู้ใช้แต่ละกลุ่ม ให้เข้าถึงคอนเทนต์ง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแอพ Entertainment Space จะถูกใช้งานบนแท็บเล็ตบางยี่ห้อ ที่ระบุชื่อมี Walmart, Lenovo, Sharp เว็บไซต์ Android Police รายงานว่า Entertainment Space จะมาแทนหน้า Google Discover ของแอพ Google บนแท็บเล็ต และฝังมากับตัว launcher ของกูเกิลเอง ที่มา - Google, Android Police
# Uber ไตรมาส 1/2021 ธุรกิจเดลิเวอรียังทำเงินสูง ส่วนรถโดยสารเพิ่งฟื้นตัว Uber รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2021 รายได้รวม 2,903 ล้านดอลลาร์ ลดลง 11% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และขาดทุน 108 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขการจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มสุทธิ (Gross Booking) เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 19,536 ล้านดอลลาร์ โดยมาจากบริการเดินทาง of 6,773 ล้านดอลลาร์ (-38%) และเดลิเวอรี 12,461 ล้านดอลลาร์ (+166%) ซีอีโอ Dara Khosrowshahi รายงานสถานการณ์ล่าสุดว่าลูกค้าเริ่มกลับมาใช้บริการรถโดยสารกันแล้ว ขณะที่ธุรกิจเดลิเวอรียังคงขยายการเติบโตต่อเนื่อง ที่มา: Uber
# Sony เริ่มถอดข้อมูล DSLR ออกจากเว็บไซต์ของตัวเองและเว็บร้านขายกล้องแล้ว อาจเลิกขายเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์ SonyAlpha Rumors รายงานว่า ตอนนี้ Sony เริ่มทยอยหยุดขายกล้อง DSLR A-mount แล้ว โดยพบว่า A68, A99 II และ A77 II ถูกนำข้อมูลออกจากเว็บไซต์ รวมถึงในเว็บไซต์ B&H Photo Video เริ่มแสดงเป็นสถานะ no longer available แล้ว ตอนนี้ Sony ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่จากการเปิดตัวกล้อง DSLR (แต่ Sony เรียกว่า SLT เนื่องจากใช้กระจกโปร่งแสง) รุ่นล่าสุดคือ A99 II ล่าสุดคือประมาณ 5 ปีที่แล้ว ในขณะที่ Sony ยังคงเปิดตัว Mirrorless อยู่เรื่อย ๆ จึงคาดว่า Sony น่าจะถอยห่างจาก DSLR และหันไปทุ่มทรัพยากรเพื่อการพัฒนา Mirrorless เต็มตัวแล้ว ที่มา - Engadget, SonyAlpha Rumors
# Volkswagen โดน ก.ล.ต. สหรัฐตั้งคำถามเรื่องเปลี่ยนชื่อแบรนด์ Voltswagen จากกรณี Volkswagen เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น Voltswagen สะท้อนโลกยุครถยนต์ไฟฟ้า ที่สุดท้ายกลายเป็นมุก April's Fools ประกอบการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า ID.4 ในสหรัฐอเมริกา คนที่ไม่ตลกด้วยคือ SEC หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์สหรัฐ ที่เข้ามาตั้งคำถามว่ามุกนี้ของ Volkswagen ส่งผลต่อราคาหุ้นหรือไม่ Volkswagen Group of America บอกว่าได้รับคำขอข้อมูลจาก SEC แล้ว และยินดีให้ความร่วมมือ แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่า SEC จะตัดสินอย่างไรบ้าง ที่มา - De Spiegel via The Verge
# ระบบ Nasdaq หยุดแสดงราคาหุ้น Berkshire ของ Warren Buffett ชั่วคราว เนื่องจากใกล้แตะ 429,496.7295 ดอลลาร์ Nasdaq ได้แจ้งลูกค้าที่ใช้บริการระบบแสดงข้อมูลราคาหุ้น ว่าบริษัทจะหยุดแสดงข้อมูลราคาเรียลไทม์ของหุ้นบริษัท Berkshire Hathaway คลาส A ชั่วคราว เพื่ออัพเกรดระบบซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ Berkshire Hathaway เป็นบริษัทด้านการลงทุนของมหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อดัง Warren Buffett ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้มาจากราคาหุ้นคลาส A ของ Berkshire ที่ราคา ณ ตอนนี้อยู่ที่ราว 424,000 ดอลลาร์ต่อหุ้น ขณะที่ระบบแสดงราคาหุ้นของ Nasdaq ใช้ตัวเลข 32 บิต แบบ unsigned integer กำหนดทศนิยมไว้ 4 ตำแหน่ง จึงแสดงค่าได้สูงสุดที่ 429,496.7295 ดอลลาร์ (232-1) ทั้งนี้หุ้นของ Berkshire Hathaway ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ซึ่งไม่มีปัญหาการแสดงผลราคานี้ ราคาหุ้นที่สูงมากของ Berkshire เป็นคำถามมานานจากนักลงทุน ซึ่งสำหรับบริษัททั่วไป เมื่อราคาหุ้นสูงถึงระดับหนึ่งจะนิยมแตกหุ้นออกมา เพื่อทำให้ราคาต่อหุ้นอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ Buffett ปฏิเสธแนวทางนี้มาโดยตลอดสำหรับหุ้นคลาส A จึงกลายมาเป็นปัญหาดังกล่าวนั่นเอง ที่มา: The Wall Street Journal
# Xiaomi Mi 11 Ultra วางขายในไทย ตั้งราคา 33,990 บาท จำกัดแค่ 100 เครื่อง Xiaomi ประเทศไทยเปิดราคาของ Mi 11 Ultra มือถือแชมป์กล้อง DXOMARK รายล่าสุด ที่ 33,990 บาท สำหรับรุ่นความจุ 12GB+256GB อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ Xiaomi ระบุว่าขาย Mi 11 Ultra ในไทยเพียง 100 เครื่องเท่านั้น โดยเริ่มขายแล้ววันนี้ 5 พฤษภาคม ผ่านช่องทาง JD Central เพียงช่องทางเดียว
# เฟซบุ๊กยืนยันแบนทรัมป์ต่อไป แต่จะปรับปรุงนโยบายเพิ่มเติม เฟซบุ๊กประกาศผลการประชุมของ Oversight Board ที่เฟซบุ๊กเคยให้อำนาจเป็นคนตัดสินใจว่าการแบนโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ โดย Oversight Board ยืนยันว่าจำเป็นเนื่องจากเหตุการณ์นอกจากที่เคยพบกันมาก (unprecedented circumstances) อย่างไรก็ตาม Oversight Board วิจารณ์ว่าการแบนทรัมป์โดยไม่มีกำหนดเวลาเช่นนี้เป็นมาตรการที่คาดเดาไม่ได้ และไม่มีมาตรฐาน โดยขอให้เฟซบุ๊กปรับปรุงนโยบายเสียใหม่ แต่ระหว่างนี้ก็บัญชีของทรัมป์ก็จะถูกแบนต่อไป กระบวนการ Oversight Board เป็นการเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาตรวจสอบการทำงานของเฟซบุ๊กโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2019 ที่ผ่านมา Oversight Board หยิบประเด็นที่เฟซบุ๊กตัดสินใจไปแล้วกลับมารีวิวซ้ำ เช่นเดียวกับประเด็นการแบนทรัมป์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากทรัมป์ชักชวนผู้สนับสนุนของเขาให้บุกสภาคองเกรส ที่มา - Facebook ภาพจาก Getty Images
# เปิดทดสอบ Facebook Neighborhoods ทำความรู้จักคนบ้านเดียวกัน ในสหรัฐและแคนาดา ปีที่แล้ว มีคนไปเจอ Facebook ทดสอบใช้งาน Facebook Neighborhoods เป็นอีกฟีเจอร์แยกไว้รวมตัวคน ข่าวสารในละแวกเดียวกันกับที่อยู่อาศัย ล่าสุด Facebook ประกาศอย่างเป็นทางการว่า เปิดทอดสอบ Neighborhoods ใน 4 เมืองในสหรัฐฯ (Charlotte, North Carolina; San Diego, California; Baton Rouge, Louisiana และ Newark, New Jersey) และแคนาดา นอกจากนี้ Facebook ให้รายละเอียดเพิ่มว่า Neighborhoods จะเป็นอีกเซกชั่นแยก ผู้ใช้สามารถสร้างโปรไฟล์แยกใน Neighborhoods ได้ โดยผู้ใช้งานต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในการใช้งาน จำเป็นต้องระบุพิกัด และความสนใจเช่นกีฬาประเภทต่างๆ เพื่อจะได้หาเพื่อนใหม่ในละแวกเดียวกันได้ หรือใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆ ได้ เช่น ตามหาสัตว์เลี้ยง จัดทริป ทำกิจกรรม Facebook Neighborhoods มีความสามารถเหมือน Nextdoor ที่เปิดใช้งานในสหรัฐฯมาก่อนหน้านี้แล้ว ที่มา - Facebook, CNET
# Twilio ซอร์สโค้ดหลุด เนื่องจากบริการ Codecov ถูกแฮก Twilio ผู้ให้บริการ API ด้านการสื่อสาร เช่น SMS, โทรศัพท์, และอีเมล ประกาศว่าซอร์สโค้ดของบริษัทถูก clone ออกไปจากบัญชี GitHub เนื่องจากใช้บริการตรวจสอบความครอบคลุมของชุดทดสอบโค้ด Codecov ที่ถูกแฮกอีกทีหนึ่ง Codecov ถูกแฮกเกอร์แฮกเข้าไปเปลี่ยนโค้ดสำหรับรันในระบบ CI โดยแทรกบรรทัดสำหรับอัพโหลดตัวแปร environment ทั้งหมดกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์คนร้าย ทำให้ลูกค้าของ Codecov ที่รัน action ตรวจสอบโค้ดกลับถูกขโมยรหัสผ่านและกุญแจสำหรับเข้าถึงซอร์สโค้ดไป แนวทางการโจมตีบริษัทผู้ให้บริการหรือผู้ผลิตซอฟต์แวร์โดยมีเป้าหมายเพื่อโจมตีผู้ใช้อีกรอบเช่นนี้เรียกว่า supply chain attack โดยการโจมตีครั้งสำคัญก่อนหน้านี้คือการโจมตี SolarWinds เพื่อฝังมัลแวร์ลงในซอฟต์แวร์มอนิเตอร์เน็ตเวิร์คเสียเอง โดยมีเหยื่อเป็นบริษัทจำนวนมากรวมถึงไมโครซอฟท์ ทาง Twilio ได้รับแจ้งทาง GitHub ว่ามีการใช้งาน token ผิดปกติตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา และยืนยันว่าคนร้ายสามารถดาวน์โหลดซอร์สโค้ดออกไปได้ หลังจากนั้นจึงตรวจสอบว่ามีข้อมูลลูกค้าอยู่ในระบบหรือไม่ โดยพบว่ามีอีเมลลูกค้าอยู่ในซอร์สโค้ดจำนวนไม่มากนัก ทาง Twilio เปลี่ยนกุญแจเข้าถึง repository ทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่าคนร้ายไม่สามารถเข้าระบบได้อีก ที่มา - Twilio
# YouTube ทดสอบ เมื่อพิมพ์ค้นหาในภาษาอังกฤษ ระบบจะแสดงชื่อคลิปเป็นภาษาถิ่นให้ เว็บไซต์ Android Police ไปเจอ YouTube กำลังทดสอบฟีเจอร์ใหม่ เมื่อผู้ใช้ค้นหาคลิปใดๆ ก็ตามเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อคลิป แคปชั่น คำบรรยายคลิป ที่แสดงในผลการค้นหาจะถูกแปลเป็นภาษาท้องถิ่นของผู้ใช้โดยอัตโนมัติ โดยตอนนี้พบว่าใช้งานได้ในภาษาตุรกีและโปรตุเกส และใช้งานได้ทั้งบนแอปมือถือและเดสก์ทอป เพื่อให้เห็นภาพเพิ่มเติม สามารถกดดูรูปที่แหล่งข่าวต้นทางได้ การแปลภาษาเรียลไทม์ใน YouTube ถือว่ามีประโยชน์ และทำได้ดี การเพิ่มความสามารถแปลภาษาในคลิป ช่วยให้คนหาคลิปเจอมากขึ้น และให้โอกาสยูทูเบอร์ในการเข้าถึงผู้คนในวงกว้างกว่าเดิม Pew Research ยังเคยทำการวิจัยในปี 2019 พบว่าเนื้อหาบน YouTube ถึง 67% ไม่ใช่เนื้อหาภาษาอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นตลาดกลุ่มผู้ใช้งานที่ใหญ่มากทีเดียว ที่มา - The Next Web
# มติครม. เลื่อนบังคับพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปอีก 1 ปี วันนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเลื่อนบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 บางหมวดออกไปอีก 1 ปี หลังจากเลื่อนมาหนึ่งปีก่อนหน้านี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่าภาคธุรกิจอย่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, และกลุ่มสมาคมด้านการท่องเที่ยว ได้ขอให้รัฐบาลบรรเทาผลกระทบจากความไม่พร้อมต่อกฎหมายนี้ ทางกระทรวง DE จึงเสนอให้ครม. เลื่อนกฎหมายออกไป ที่ผ่านมากระทรวง DE ยังอยู่ระหว่างการทำกฎหมายลำดับรองและแนวปฎิบัติของอุตสาหกรรม 7 ด้าน คือ การท่องเที่ยว, สาธารณสุข, การศึกษา, ค้าปลีกและค้าออนไลน์, คมนาคมและขนส่ง, อสังหาริมทรัพย์, และหน่วยงานของรัฐ กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่เรียบร้อย ที่มา - Facebook: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภาพโดย Pexels
# เปิดตัวสมาร์ททีวี Huawei Vision S รัน HarmonyOS มาพร้อมกล้องสำหรับวิดีโอคอล เริ่ม 2,999 ริงกิตมาเลเซีย หลังเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารัน HarmonyOS ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน วันนี้ Huawei เปิดตัวสมาร์ททีวี Huawei Vision S รัน HarmonyOS สองขนาด คือ 55 และ 65 นิ้ว ความละเอียด 4K อัตรารีเฟรชหน้าจอ 120Hz มาพร้อมกล้องติดด้านบนหน้าจอสำหรับวิดีโอคอล ความละเอียด 13MP รองรับระบบ Huawei Share, รองรับวิดีโอคอล MeetTime ของ HarmonyOS และทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ บนอีโค่ซิสเท็ม HarmonyOS ได้ สองขนาดมีราคาดังนี้ รุ่น 55 นิ้ว ราคาเริ่มต้น 2,999 ริงกิตมาเลเซีย หรือราว 22,600 บาท รุ่น 65 นิ้ว ราคาเริ่มต้น 3,999 ริงกิตมาเลเซีย หรือราว 30,100 บาท ผู้สนใจสามารถดูข้อมูล Huawei Vision S ได้เพิ่มเติม ที่หน้าเว็บไซต์ของ Huawei Malaysia ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าวางจำหน่ายในไทยหรือไม่ ที่มา - Huawei Central
# ลูกค้าลงเงินจองบริการ Starlink แล้ว 500,000 คน ไม่รับประกันว่าจะได้ใช้ แต่ Elon Musk คาดจะได้ใช้ครบเกือบทั้งหมด หลังจาก Starlink เริ่มเปิดให้จองใช้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตอนนี้ Starlink ก็รายงานว่ามีลูกค้าลงชื่อและจ่ายเงิน 99 ดอลลาร์จองแล้วถึง 500,000 คน ระหว่างการถ่ายทอดภารกิจนำส่งดาวนเทียม Starlink ครั้งล่าสุด การจองบริการ Starlink เป็นเพียงการฝากเงินเพื่อจองคิว โดยลูกค้าสามารถถอนชื่อออกจากคิวโดยได้เงินคืนเต็มจำนวน ขณะเดียวกันสัญญาจองก็ระบุชัดว่าไม่รับประกันว่าจะได้ใช้บริการ โดยก่อนหน้านี้กสทช. ของไทยก็ออกมาระบุว่า Starlink ต้องมาขออนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตก่อนจึงจะให้บริการได้ Elon Musk ระบุว่าที่ต้องแจ้งลูกค้าว่าอาจจะไม่ได้รับบริการเพราะแบนวิดท์สำหรับให้บริการพื้นที่ประชากรหนาแน่นเช่นในเมืองนั้นมีจำกัด แต่คาดว่าผู้จองห้าแสนคนแรกจะได้ใช้งานเกือบทั้งหมด และจะเริ่มยากขึ้นเมื่อผู้ใช้งานเกินระดับหลายล้านคน ปัจจุบัน Starlink มีดาวเทียมในวงโคจร 1,500 ดวง แม้จะเริ่มให้บริการได้ครอบคลุมซีกโลกเหนือแต่ยังห่างจากเป้าหมายที่จะครอบคลุมทั้งโลกที่ต้องใช้ดาวเทียมถึง 12,000 ดวง คาดว่าจะใช้ต้นทุนทั้งหมดถึงหมื่นล้านดอลลาร์หรือกว่าสามแสนล้านบาท ที่มา - CNBC, IT News, @elonmusk
# ไลนัสชี้ shared library สร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ หลายแพ็กเกจแชร์กับใครไม่ได้ ไลนัสแสดงความเห็นว่า shared library นั้นสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ระหว่างการพูดคุยแก้ปัญหา clang ในเคอร์เนลทำงานได้ช้า ขณะที่ดิสโทรสำคัญอย่าง Fedora นั้นมีนโยบายบังคับให้แพ็กเกจต่างๆ ที่ใช้ไลบรารีจากแพ็กเกจอื่นต้องลิงก์แบบ dynamic เท่านั้น ไลบรารี dynamic หรือไฟล์ .dll บนวินโดวส์และ .so บนลินุกซ์ เป็นไลบรารีที่คอมไฟล์ไว้ล่วงหน้าแต่ไม่ใช่ไฟล์พร้อมรัน (executable) ด้วยตัวเอง แต่ต้องให้โปรแกรมอื่นๆ มารวมเอาไลบรารีเข้าไปเมื่อโหลดโปรแกรม การทำงานเช่นนี้ทำให้ระบบปฎิบัติการสามารถใส่ไลบรารีไว้เพียงชุดเดียว หลังจากนั้นทุกโปรแกรมก็สามารถใช้ไลบรารีร่วมกันได้ ทำให้ประหยัดพื้นที่ดิสก์และหน่วยความจำ ไลนัสแย้งว่าหากไม่ใช่ไลบรารีแกนกลางจริงๆ เช่นไลบรารี GUI อย่าง Gnome หรือ Qt แล้วอัตราการใช้ไลบรารีซ้ำกันนั้นน้อยมาก จนทำให้ดิสก์ที่ประหยัดได้มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนการประหยัดหน่วยความจำก็น้อยมากและหลายครั้งก็เปลืองหน่วยความจำกว่าเดิม พร้อมกันนั้นไลนัสชี้ปัญหาของไลบรารี dynamic ว่ามีโครงการจำนวนมากสร้างไลบรารีที่ไม่มีคนอื่นใช้งานยกเว้นแต่โปรแกรมบางตัวเท่านั้ แต่โครงการก็ต้องคอมไพล์ไลบรารี dynamic ออกมา แม้การใช้งานจริงจะต้องใช้งานกับตัวโปรแกรมที่เวอร์ชั่นตรงกันเท่านั้น ที่มา - kernel.org ภาพการทำงานของ linker โดย Qef
# Call of Duty ช่วยดันรายได้ Activision โต 72% ในปีเดียว, ฝั่ง Blizzard โตแค่ 7% Activision Blizzard เผยผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2021 ที่ 2,275 ล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 27% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สะท้อนภาพรวมของอุตสาหกรรมเกมที่รายได้เติบโตกันถ้วนหน้าจากปัจจัยคนต้องอยู่บ้าน ฝั่ง Activision รายได้เติบโตถึง 72% จากการขายของในเกม Call of Duty: Black Ops Cold War และ Warzone จำนวนผู้เล่น Call of Duty ต่อเดือน (MAU) แตะ 150 ล้านคน เติบโต 40% จากปัจจัยการเปิดให้เล่น free-to-play และการออกเกมบนมือถือ Call of Duty Mobile แตะ 500 ล้านดาวน์โหลดแล้ว ทำรายได้รวมทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์ ยอดขายเกม Call of Duty แบบดั้งเดิมทุกภาครวมกัน เกิน 400 ล้านชุด รายได้จากการขายของในเกมบนคอนโซลและพีซี เติบโต 60% ฝั่ง Blizzard รายได้เติบโต 7% จากปัจจัยหลักคือ World of Warcraft: Shadowlands ที่ยังทำเงินได้ดี ฝั่ง King รายได้เติบโต 22% และมีผู้เล่นต่อเดือน 258 ล้านคน ปัจจัยสำคัญคือสองเกมเด่น Candy Crush กับ Farm Heroes ทำรายได้สูง ที่มา - Activision Blizzard, VentureBeat
# Rancher Desktop โปรแกรมใหม่สำหรับสร้าง Kubernetes บนเดสก์ทอป ใช้ WSL 2 Rancher Labs ผู้พัฒนาดิสโทร Kubernetes รายใหญ่ในเครือ SUSE เปิดโครงการ Rancher Desktop ให้นักพัฒนาสามารถรัน Kubernetes ในเครื่องตัวเองได้ ก่อนนำไปใช้รันบนคลัสเตอร์จริง ก่อนหน้านี้นักพัฒนามีทางเลือกสำหรับการรัน Kubernetes ในเครื่องอยู่แล้วด้วยการใช้ Docker Desktop แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น ตัวเอนจิน Kubernetes บน Docker Desktop ทุกวันนี้ยังเป็นเวอร์ชั่น 1.19 อยู่ ส่วน Rancher Desktop นั้นใส่ Kubernetes เวอร์ชั่น 1.20 มาแล้ว และมีแนวทางให้เลือกเวอร์ชั่นใช้งานได้ สิ่งที่ Rancher Desktop ต่างจาก Docker Desktop คือทุกอย่างต้องทำงานใน Kubernetes เท่านั้น แม้แต่กระบวนการ build image ต่างๆ ขณะที่ Docker Desktop นั้นใช้ Docker Engine ในการ build Rancher Desktop ยังเป็นโครงการระดับทดลองเท่านั้น ตอนนี้รองรับทั้งวินโดวส์และ Mac OS ที่มา - GitHub: rancher-sandbox ภาพโดย Emo Hayden Barnes @unixterminal
# แอป Signal รันโฆษณาบน Instagram โชว์ผู้ใช้ว่าถูกเก็บข้อมูลอะไรบ้าง แต่ถูก Facebook แบนอย่างรวดเร็ว แอป Signal แอปแชทเข้ารหัสที่คล้ายคลึงกับ Telegram ลงโฆษณาบน Instagram เป็นรูปภาพระบุว่าผู้ใช้เห็นโฆษณานี้เพราะถูกเก็บข้อมูลอะไรบ้าง เช่น “คุณเห็นโฆษณานี้เพราะคุณวิศวกรเคมีที่ชอบเคป็อป อาศัยอยู่ในเบอร์ลิน เพิ่งมีลูก เพิ่งย้ายบ้าน และกำลังสนใจการออกกำลังหลังคลอด” โฆษณาเหล่านี้สะท้อนถึงการถูกเก็บข้อมูลเช่น อาชีพ ความชอบ ตำแหน่งที่อยู่ และความสนใจอื่นๆ ของ Facebook และ Instagram ที่ใช้ข้อมูลเดียวกันในการแสดงโฆษณาเจาะกลุ่มเป้าหมายมาให้ผู้ใช้งาน Signal ระบุว่าบัญชีโฆษณาของ Signal ถูกแบนโดยที่โฆษณาส่วนใหญ่ยังไม่ได้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ และ Facebook ก็ยังไม่ชี้แจ้งว่า Signal ทำผิดกฎระเบียบข้อไหนของการลงโฆษณา ที่มา - Gizmodo ตัวอย่างโฆษณาของ Signal
# Adobe เพิ่มการเรียกดูงานจาก Creative Cloud Libraries เข้ามาใน Google Docs และ Slides Adobe และ Google Workspace เพิ่มการทำงานร่วมกัน ให้สามารถเรียกดูผลงานจำพวก อาร์ตเวิร์ค โลโก้ ธีมสีที่ทำไว้บน Creative Cloud Libraries เข้ามาใน Google Docs และ Slides ได้ ลดขั้นตอนในการตัดแปะรูปภาพเข้ามาในเอกสาร ปีที่แล้วการทำงานร่วมกันระหว่าง Adobe และ Google Workspace จำกัดอยู่แค่บน Gmail เท่านั้น ล่าสุดเพิ่ม Google Docs และ Slides เข้ามาช่วยให้คนที่ไม่มีบัญชี Creative Cloud เข้ามาทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น ที่มา - Adobe
# ผู้กำกับเกม The Witcher 3 ลาออกจาก CD Projekt แล้ว หลังถูกสอบสวนกรณีรังแกเพื่อนร่วมงาน Konrad Tomaszkiewicz ผู้กำกับเกม The Witcher 3 ลาออกแล้ว หลังถูกกล่าวหาและสอบสวนกรณีรังแกเพื่อนร่วมงาน (ไม่มีข้อมูลระบุว่ามีพฤติกรรมอะไรบ้าง) แม้เขาจะระบุว่าคณะกรรมการการสอบสวนพบว่าเขาไม่มีความผิดก็ตาม แต่เขาก็รู้สึกว่าได้ทำให้หลายคนที่ร่วมงานกับเขาเกิดความรู้สึก “กลัว อึดอัด และไม่สบายใจ” ขอโทษที่ทำให้เกิดความรู้สึกแย่ๆ และจะปรับปรุงตัวเองต่อไป แม้จะเป็นสิ่งที่ยากลำบากและใช้เวลานานแค่ไหน แต่เขาก็จะไม่ยอมแพ้ที่จะเปลี่ยนแปลง Tomaszkiewicz เริ่มทำงานกับ CD Projekt ในปี 2004 ในตำแหน่งนักทดสอบเกมระดับต้น (junior tester) ก่อนจะมาเป็นดีไซเนอร์ร่วมพัฒนา The Witcher ภาคแรก และขยับตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้กำกับเกมใน The Witcher 3 และเป็นผู้กำกับลำดับสอง ควบตำแหน่ง หัวหน้าทีมโปรดักชั่น ในเกม Cyberpunk 2077 ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องในมรสุมที่ CD Projekt กำลังเผชิญ แม้ Cyberpunk 2077 จะไม่มีปัญหาเรื่องรายได้และยอดขาย แต่ความไม่สมบูรณ์ของเกมก็เริ่มทำให้เกมเมอร์เสื่อมศรัทธาในตัวบริษัทลงไปมาก จนมีผู้ขอเงินคืนกว่าสามหมื่นชุด ถูกฟ้องแบบกลุ่ม แถมเครือข่ายภายในยังถูกแฮกและขโมยข้อมูล จนทำงานไม่ได้ราวสองสัปดาห์ คงต้องติดตามต่อไปว่า CD Projekt จะฟื้นกลับมาได้หรือไม่หลังจากนี้ ที่มา - Bloomberg via Eurogamer
# Red Hat เตรียมโอเพนซอร์ส StackRox ซอฟต์แวร์ความปลอดภัย Kubernetes Red Hat เตรียมเปิดซอร์ส StackRox ซอฟต์แวร์ความปลอดภัย Kubernetes ที่ซื้อกิจการมาในเดือนมกราคม 2021 ซอฟต์แวร์ของ StackRox จะกลายมาเป็นโครงการต้นน้ำของ Red Hat Advanced Cluster Security for Kubernetes ที่เป็นผลิตภัณฑ์จับลูกค้าองค์กรแบบคิดเงิน ของ Red Hat (ลักษณะจะคล้าย Fedora ที่เป็นฐานของ RHEL) แนวทางจัดการความปลอดภัยของ StackRox คือการรันซอฟต์แวร์มอนิเตอร์ของ StackRox ในคลัสเตอร์ Kubernetes และมีเซิร์ฟเวอร์ที่ดึงข้อมูลกลับมาวิเคราะห์-แสดงผลให้แอดมินทราบสถานะความปลอดภัยของทั้งระบบ (ตามแผนผัง) ซอฟต์แวร์ของ StackRox สามารถใช้กับคอนเทนเนอร์ Kubernetes ได้ทุกเจ้า เช่น Amazon EKS, Google GKE, Azure AKS, Docker Enterprise และ Red Hat OpenShift ที่ผ่านมา บริษัท StackRox มีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอยู่แล้วหนึ่งตัวคือ KubeLinter และจะทยอยเปิดซอร์สของซอฟต์แวร์อื่นๆ ตามมาในเร็วๆ นี้ ที่มา - StackRox, Red Hat, The Register
# อัพเดตกันด่วน Dell ออกเฟิร์มแวร์อุดช่องโหว่เก่า กระทบพีซี Dell แทบทุกรุ่น ข่าวสำคัญของผู้ใช้ Dell เพราะ Dell ออกอัพเดตเฟิร์มแวร์ อุดช่องโหว่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อพีซี Dell จำนวนมาก เนื่องจากเป็นช่องโหว่ BIOS ที่อยู่มานาน 12 ปีแล้ว ถ้าไม่นับประเด็นเรื่องความแพร่หลาย ตัวช่องโหว่นี้ไม่ได้มีความร้ายแรงเป็นพิเศษ เป็นเรื่องสิทธิการเข้าถึง (access control) บนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ดังที่พบได้ทั่วไป (ลินุกซ์ไม่โดน) การโจมตีจำเป็นต้องเข้าถึงบัญชี local ของเครื่องเท่านั้น และ Dell บอกว่ายังไม่พบการใช้งานช่องโหว่นี้จากกลุ่มแฮ็กเกอร์ ไฟล์ที่เป็นปัญหาคือไดรเวอร์ของ Dell เอง (dbutil_2_3.sys) วิธีการคือให้ลบไฟล์นี้ออกจากระบบ (อยู่ใน C:\Users\<username>\AppData\Local\Temp หรือ C:\Windows\Temp) หรือดาวน์โหลด ตัวอัพเดตของ Dell มาจัดการให้อัตโนมัติก็ได้เช่นกัน (Dell จะเริ่มปล่อยอัพเดตตัวนี้ผ่านช่องทางอัพเดตของตัวเองในวันที่ 10 พฤษภาคม ตอนนี้ดาวน์โหลดกันเองไปก่อน) รายชื่อฮาร์ดแวร์ของ Dell ที่ได้รับผลกระทบ (ยาวมากเพราะโดนแทบทุกรุ่น) ตรวจสอบได้จากที่มา ที่มา - Dell (1), Dell (2), The Record, The Register
# Android Studio 4.2 ออกแล้ว รุ่นสุดท้ายที่ใช้เลขรุ่นแบบเดิม Android Studio ออกรุ่นเสถียร 4.2 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายที่ใช้ระบบเลขรุ่นแบบเดิม หลังจากนี้จะเปลี่ยนไปใช้ระบบเลขรุ่นแบบ IntelliJ เช่น 2020.3.1 ของใหม่ใน Android Studio 4.2 ได้แก่ Android Gradle plugin (AGP) 4.2 เปลี่ยนมาใช้ JDK 11 แทน JDK 8, เพิ่ม Upgrade Assistant ช่วยอัพเกรดปลั๊กอินเวอร์ชันเก่า Database Inspector ปรับปรุงหลายอย่าง ทั้งหน้าตา และฟีเจอร์ สามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลได้แม้โพรเซสแอพตายไปแล้ว เพื่อให้ดีบั๊กการแครชของแอพได้ System Trace เพิ่มฟีเจอร์หลายอย่าง เช่น วัดค่าความถี่ของซีพียูแยกตามคอร์ ดูได้ว่าคอร์ไหนทำงานหนัก, แสดงปริมาณแรมทั้งหมดที่โพรเซสนั้นใช้งาน Layout Inspector สามารถตรวจสอบแอพในช่วงที่บันทึก snapshot มาได้ ไม่ต้องรันสดแบบเรียลไทม์ Deploy to multiple devices ส่งแอพไปทดสอบบนอุปกรณ์หลายๆ ตัวได้ในครั้งเดียว หน้า New Project ปรับโฉมใหม่ เลือกชนิดของโปรเจคต์ง่ายขึ้น ที่มา - Android Studio
# ทวิตเตอร์ซื้อ Scroll ตัวลบโฆษณาป๊อบอัพออกจากหน้าเว็บ เตรียมนำฟีเจอร์มาทำบริการพรีเมี่ยม ทวิตเตอร์ประกาศเข้าซื้อ Scroll ตัวช่วยลบโฆษณาออกจากหน้าเว็บไซต์ ให้ประสบการณ์การอ่านเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นข่าว บล็อก บทความในอินเทอร์เน็ตนั้นสะอาดตามากขึ้น ไม่ต้องเจอป๊อบอัพโฆษณาขึ้นมารบกวน โดยทวิตเตอร์ระบุวัตถุประสงค์การเข้าซื้อว่า Scroll จะมาเป็นส่วนเสริมในบริการรับสมัครข้อมูลของทวิตเตอร์ที่กำลังพัฒนาอยู่ ทวิตเตอร์เผยรายละเอียดเรื่องบริการรับสมัคร subscription เพิ่มเติมว่า ผู้ใช้งานจะสามารถเข้าถึงฟีเจอร์พรีเมี่ยม ทั้งการอ่านเนื้อหาจากแหล่งข่าวที่ชอบ หรือจดหมายข่าวของนักเขียนจาก Revue ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพพัฒนาเซอร์วิสสำหรับสร้างและจัดการจดหมายข่าวที่จะส่งอีเมลให้ผู้สมัครสมาชิกที่ทวิตเตอร์เข้าซื้อไปก่อนหน้านี้ โดยเม็ดเงินส่วนหนึ่งจะเป็นของผู้ผลิตเนื้อหาด้วย สำหรับการเปลี่ยนแปลงของ Scroll จะปิดกั้นการลงทะเบียนใหม่ และจะรวบบริการเข้ามาในทวิตเตอร์ในอนาคต โดยจะยังสนับสนุนผู้ผลิตเนื้อหาที่เป็นสมาชิก Scroll ต่อไป ที่มา - ทวิตเตอร์
# โดนัลด์ ทรัมป์ กลับสู่โลกออนไลน์แล้ว ไม่ใช่โซเชียลมีเดียอย่างที่คาดไว้ แต่เป็นเว็บบล็อกของเขาเอง ก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะกลับคืนสู่โลกออนไลน์อีกครั้งด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเอง หลังแพลตฟอร์มใหญ่แบนเขามาเรื่อยๆ ล่าสุดกลับมาแล้ว ซึ่งไม่ใช่โซเชียลมีเดียอย่างที่เราคาดกันไว้ แต่เป็นเพียงเว็บบล็อกเท่านั้น ในชื่อว่า From the Desk of Donald J. Trump ตัวบล้อกเป็นคล้ายๆ การสื่อสารทางเดียว คือผู้ใช้สามารถอ่านโพสต์สั้นๆ ของเขาได้ แต่คอมเม้นท์ไม่ได้ และดูเหมือนจะยังกดไลค์ไม่ได้ด้วย อย่างไรก็ตามสามารถแชร์ไปยัง Facebook ได้ แต่เมื่อแชร์ไปยัง Twitter แล้วพบว่าระบบยังปิดกั้นเว็บบล็อกของทรัมป์อยู่ โฆษก Twitter บอกว่าตามปกติแล้วผู้ใช้งานสามารถแชร์โพสต์จากเว็บไซต์นอกมายังแพลตฟอร์มได้ ตราบใดที่เว็บนั้นมีเนื้อหาสอดคล้องกับนโยบายแพลตฟอร์ม ส่วน Facebook ยังไม่ออกมาพูดอะไร บล็อก From the Desk of Donald J. Trump เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 4 พ.ค. แต่เนื้อหาโพสต์ต่างๆ สามารถอ่านย้อนหลังไปได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมาแล้ว Fox News รายงานด้วยว่าเว็บไซต์ From the Desk of Donald J. Trump จัดทำโดย Campaign Nucleus สร้างโดย Brad Parscale ซึ่งเป็นอดีตผู้จัดการแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวางแผนจะใช้บล็อกนี้โต้ตอบกับผู้สนับสนุนด้วย แต่ยังไม่ชัดเจนว่ากระบวนการนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเร็วๆ นี้ Facebook Oversight Board หน่วยคานอำนาจของ Facebook จะพิจารณาว่า โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถกลับมายังโลก Facebook ได้หรือไม่ จากที่ถูกแบนไปเพราะเผยแพร่ข้อความเกลียดชัง ที่มา - The Verge, Engadget
# Facebook Workplace มีผู้ใช้เสียเงิน 7 ล้านราย เพิ่มจากปีที่แล้ว 40% Facebook มีผลิตภัณฑ์ Facebook Workplace สำหรับใช้งานในองค์กร เป็นคล้ายๆ โซเชียลแต่เพื่อการทำงาน เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2016 ล่าสุด Facebook เผยตัวเลขผู้ใช้งานแบบเสียเงินมี 7 ล้านราย ซึ่ง Facebook ระบุว่าเพิ่มขึ้น 40% จากปี 2020 ด้านฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่กำลังจะเปิดใช้งานคือ Q&A เพิ่มคำถามระหว่างคุยวิดีโอคอลได้, ดึงข้อมูลจากแหล่งอื่นเข้ามาใน Knowledge Library ช่องทางแชร์ข่าวสารและแบ่งปันความรู้ในองค์กร Facebook ระบุรายชื่อลูกค้าจำนวนหนึ่ง มี Virgin Atlantic, Walmart, Telefónica, BT, Booking.com, Deliveroo, AstraZeneca, Starbucks และ Save the Children เป็นต้น (องค์กรการกุศลและหน่วยงานไม่หวังผลกำไรใช้งานฟรี) การคิดเงินของ Facebook Workplace คิดราคาตามจำนวนผู้ใช้งานจริง (monthly active users) ที่มา - Facebook
# Instagram Stories เพิ่มสติกเกอร์แสดงคำบรรยายคลิป ไม่ต้องเปิดเสียงก็รู้ว่าพูดอะไร เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์เพื่อการเข้าถึงหรือ accessibility โดย Instagram Stories เพิ่มสติกเกอร์แสดงคำบรรยายคลิปหรือ auto-caption แสดงข้อความของคนที่กำลังพูด สามารถดูได้โดยไม่เปิดเสียง โดย Instagram เริ่มเปิดใช้งานในบางประเทศ และจะใช้งานใน Reels ต่อไปในอนาคต คำบรรยายคลิป หรือ closed captions แทบจะเป็นฟีเจอร์มาตรฐานสำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไปแล้ว กูเกิลเปิดตัว Live Transcribe ตั้งแต่ปี 2019 และปีที่แล้ว Facebook ก็เปิดใช้งานแสดงคำบรรยายคลิปใน IGTV ทวิตเตอร์เองก็กำลังพัฒนาใช้งาน closed captions ในวิดีโอ ที่มา - CNET
# AMD ออกชุดซอฟต์แวร์สำหรับจีพียูตัวใหม่, เล่นเกม local co-op จากระยะไกลได้ผ่านฟีเจอร์ AMD Link เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา AMD ได้ออกไดรเวอร์และชุดซอฟต์แวร์จัดการจีพียู Radeon Software Adrenalin Edition เวอร์ชัน 21.41 ที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่น่าสนใจอย่าง "Link Game" ซึ่งเปิดให้ผู้เล่นสามารถสตรีมมี่งหน้าจอและแชร์การควบคุมเครื่องพีซีให้ผู้อื่นจากระยะไกล เพื่อช่วยให้ผู้เล่นและเพื่อนสามารถเล่นเกมเดียวกันได้โดยไม่ต้องนั่งอยู่ด้วยกัน ฟีเจอร์ข้างต้นป็นการต่อยอดความสามารถของ AMD Link ซึ่งเดิมมีไว้สตรีมมี่งหน้าจอพีซีเข้าสู่อุปกรณ์พกพา/สมาร์ททีวีเพื่อความสะดวกในการเล่นเกมคนเดียว การมาของ Link Game ที่โดยหลักการแล้วก็คือการแชร์หน้าจอรวมถึงการควบคุมพีซีให้ผู้อื่นจากระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะช่วยให้ผู้เล่นและเพื่อนสามารถเล่นเกมด้วยกันได้ทั้งเกมประเภท local co-op, เกม single player (เช่นผลัดกันเล่นโหมดเนื้อเรื่อง) โดยไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ใกล้กัน หรือจะประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ให้ผู้อื่นจากระยะไกลก็ทำได้ นอกจากนี้ AMD ยังได้ผนวก AMD Link for Windows ไคลเอนต์รับภาพสตรีมมี่งจาก AMD Link เข้ามาในไดรเวอร์ตั้งแต่เวอร์ชันนี้เป็นต้นไป ทำให้สามารถสตรีมเกมผ่าน AMD Link บนพีซี Windows 10 ได้อีกช่องทาง เพิ่มจากเดิมที่มีแอพให้ใช้งานเฉพาะบนอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการ Android, Android TV, iOS และ tvOS เท่านั้น อย่างไรก็ตามด้วยความที่ AMD Link for Windows ถูกผนวกมากับตัวไดรเวอร์เลย การเล่นเกมผ่านฟีเจอร์ AMD Link / Link Game ระหว่างพีซีกับพีซีด้วยกัน จึงถูกจำกัดไว้เพียงแค่พีซีที่มีจีพียู Radeon ที่ติดตั้งไดรเวอร์ได้เท่านั้น Radeon Software Adrenalin Edition 21.41 ยังมาพร้อมกับการปรับปรุงอีกหลายอย่างเช่น การขยายขีดจำกัดของความละเอียดและเฟรมเรทที่ AMD Link สตรีมมี่งได้เป็น 4K/144fps, เพิ่มตัวเลือกติดตั้งเฉพาะไดรเวอร์, เพิ่มโปรไฟล์ปรับแต่งภาพสำหรับผู้ที่มีปัญหาตาบอดสี, เพิ่มมาตรวัดประสิทธิภาพซีพียู (เฉพาะ Ryzen), เริ่มรองรับการความเร็วการถอดรหัส AV1 ด้วยฮาร์ดแวร์ (บน Radeon รุ่น RX 6000) ไปจนถึงการปรับปรุง UI ในหลายๆ ส่วน ดาวน์โหลดได้แล้วที่เว็บ AMD ครับ ที่มา - AMD blog via Windows Central, PC Gamer
# Targus เข้าซื้อกิจการ Sanho ผู้ผลิตอุปกรณ์เสริม HyperDrive Targus ผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมสำหรับคอมพิวเตอร์ ประกาศเข้าซื้อกิจการบริษัท Sanho เจ้าของอุปกรณ์เสริม USB-C Hub และอะแดปเตอร์ แบรนด์ Hyper ซึ่งมีจุดขายคือการออกแบบฮับที่ใช้งานร่วมกับ MacBook Pro และสินค้าแอปเปิลตัวอื่นได้ดี สินค้าเด่นของ Hyper คือสินค้ากลุ่มฮับ HyperDrive ที่รองรับการเชื่อมต่อด้วย USB-C และทำงานร่วมกับ MacBook Pro ได้ดี รวมทั้งรองรับพีซีและ ChromeBook นอกจากนี้ยังมี HyperJuice แบตเตอรี่เสริม และสายชาร์จ HyperThin Targus บอกว่าแบรนด์ Hyper จะยังแยกทำการตลาดต่อไป รวมทั้งแยกสำนักงานกับ Targus หลังควบรวมกิจการเสร็จสิ้น ที่มา: Targus
# Halo: The Master Chief Collection มีผู้เล่นพีซี 10 ล้านคน ส่วนใหญ่ไม่เคยเล่น Halo มาก่อน ช่วงหลังเราเริ่มเห็นเกมเก่าๆ ที่กลับมารุ่งบน Steam เช่น Titanfall 2 อีกเกมที่กลับมารุ่งเช่นกันคือ Halo: The Master Chief Collection ที่ตัวเลขของไมโครซอฟท์เองระบุว่ามีผู้เล่นบนพีซีแตะหลัก 10 ล้านคนแล้ว เว็บไซต์ PCGamesN สัมภาษณ์ Shannon Loftis หัวหน้าสตูดิโอ World's Edge ในสังกัด Xbox Game Studios ที่ให้ข้อมูลว่า หลัง Halo: MCC ขายบน Steam ในปี 2019 ตอนนี้มีผู้เล่นบนพีซีเกิน 10 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้เป็นไปไม่ได้เลยหากไม่ได้นำมาขายบน Steam Loftis บอกว่าผู้เล่นส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นเกมตระกูล Halo มาก่อนเลย ถือเป็นการสร้างฐานแฟนเกม Halo รุ่นใหม่ๆ ด้วยอีกช่องทางหนึ่ง ที่มา - PCGamesN
# เผยรายได้ Epic ปี 2020 สูงถึง 5.1 พันล้านดอลลาร์, รายได้เกม Fortnite สูงสุดปี 2018 คดีระหว่าง Epic กับ Apple เริ่มต้นการไต่สวนในศาลแล้ว จึงมีข้อมูลใหม่หลุดออกมาเรื่อยๆ อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือรายได้ของเกมดังแห่งยุค Fortnite ที่เปิดเผยเป็นครั้งแรก (Epic ไม่ได้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์) รายได้ปี 2018 ที่ 5.5 พันล้านดอลลาร์ รายได้ปี 2019 ที่ 3.7 พันล้านดอลลาร์ รายได้ปี 2020 ยังไม่เป็นทางการ (เอกสารยื่นต่อศาลในเดือนมกราคม 2020) คาดว่าที่ 2.8 พันล้านดอลลาร์ เหตุผลที่ Epic ประเมินว่ารายได้ของ Fortnite ลดลงในปีหลังๆ มาจากสภาพการแข่งขันในตลาด จำนวนผู้เล่นลดลง (ตามปกติของเกมทั่วไป) และผู้เล่นซื้อไอเทมตกแต่งในเกมน้อยลง ส่วนรายได้ของบริษัท Epic ทั้งบริษัท ที่มีรายได้จากช่องทางอื่นๆ เช่น การขายไลเซนส์ Unreal หรือร้านขายเกม Epic Games Store ด้วยคือ รายได้ปี 2018 ที่ 5.6 พันล้านดอลลาร์ รายได้ปี 2019 ที่ 4.2 พันล้านดอลลาร์ รายได้ปี 2020 ที่ 5.1 พันล้านดอลลาร์ (ตัวเลขนี้มาจาก Tim Sweeney ให้ข้อมูลต่อศาลโดยตรง) ปัจจัยที่ทำให้รายได้พุ่งในปี 2020 น่าจะเป็นเรื่อง COVID-19 ทำให้ยอดผู้เล่นเพิ่มขึ้น (และตัวเลขคาดการณ์รายได้ 2.8 พันล้านดอลลาร์น่าจะผิดจากความจริงไปมาก) ส่วนจำนวนผู้เล่น Fortnite นั้น Sweeney ให้ตัวเลขที่ 400 ล้านคนที่ลงทะเบียนในระบบ รายได้มหาศาลของเกม Fortnite คงไม่น่าแปลกใจนักว่าทำไม Epic ถึงทุ่มเทกับ Epic Games Store อย่างมาก แม้ขาดทุนมากเช่นกัน ที่มา - IGN
# ผลสำรวจของ Mastercard พบคนกลุ่ม Millennial 40% สนใจใช้จ่ายด้วยเงินคริปโตภายในหนึ่งปีข้างหน้า Mastercard ออกรายงานผลสำรวจดัชนีวิธีการจ่ายเงิน The Mastercard New Payments Index จากกลุ่มตัวอย่าง 15,569 คน จาก 18 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย พบว่าพฤติกรรมลูกค้าปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการจ่ายเงินรูปแบบใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้คนเลือกวิธีจ่ายเงินที่ลดการสัมผัส ผลสำรวจพบว่า 93% มีแผนจะจ่ายเงินด้วยวิธีการชำระเงินรูปแบบใหม่ อาทิ เงินคริปโต, biometric, contactless หรือด้วย QR code 63% เคยลองจ่ายเงินด้วยวิธีการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน แต่ได้ลองเนื่องจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 และมากกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างบอกว่า จะหลีกเลี่ยงร้านที่ไม่มีช่องทางการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผลสำรวจอื่นที่น่าสนใจมีดังนี้ 40% โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่เจน Millennial มีแผนใช้จ่ายเงินด้วยคริปโตภายในปีหน้า, 77% บอกว่าสนใจศึกษาเรื่องเงินคริปโต และ 75% บอกว่าจะใช้เงินคริปโตเมื่อมีความเข้าใจดีกว่าตอนนี้ 53% มองว่าการจ่ายเงินด้วย Biometric มีความปลอดภัย 76% ของกลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก มองการจ่ายด้วย QR code ปลอดภัย ขณะที่ภูมิภาคอื่นเห็นแนวโน้มการใช้ QR code มากขึ้น ยกเว้นอเมริกาที่เน้นการจ่ายเงินแบบ contactless มากกว่า ที่มา: Mastercard
# ย้ายบริษัทกันเถอะ John Justice หัวหน้าทีมผลิตภัณฑ์ Stadia ลาออกจาก Google แล้ว Google ยืนยันกับ 9to5Mac ว่า John Justice รองประธานและหัวหน้าทีมผลิตภัณฑ์ Stadia ที่อยู่กับ Google มาตั้งแต่ปี 2019 ลาออกจากบริษัทแล้ว ก่อนหน้านี้เขาทำหน้าที่ดูแลประสบการณ์ของผู้ใช้บน Stadia และเป็นผู้เปิดเผยฟีเจอร์และเกมใหม่ๆ ที่กำลังพัฒนาบน Stadia หลายครั้ง ก่อนจะให้สัมภาษณ์ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ว่าจะไม่พูดถึงฟีเจอร์ก่อนเปิดตัว เพื่อป้องกันการพูดไว้แล้วทำตามไม่ได้ Google Stadia แพลตฟอร์มเกมสตรีมมิ่งจาก Google เปิดตัวไปเมื่อปี 2019 แต่เพิ่งมี Search Box และผลตอบรับของแพลตฟอร์มก็ไม่ค่อยดีนัก จนต้องปิดสตูดิโอสร้างเกมของตัวเอง แถมยังมีปัญหาถูกฟ้องเพราะเล่นเกมความละเอียด 4K ไม่ได้จริงตามโฆษณา และล่าสุดยังมีข่าวลือจาก Bloomberg ว่า Stadia มียอดผู้เล่นต่ำกว่าเป้าหลายแสนอีกต่างหาก คงต้องติดตามอนาคตของ Stadia ต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรหลัง John Justice ลาออก ปัจจุบัน John Justice ยังไม่อัพเดตหน้า Linkedin ว่าลาออกแล้ว และยังไม่มีข้อมูลว่าเขาจะย้ายไปที่บริษัทอื่นหรือไม่ ที่มา 9to5Google
# [ไม่ยืนยัน] FDA กำลังอนุมัติวัคซีน COVID-19 ของ Pfizer ให้ใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป หนังสือพิมพ์ The New York Times อ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวตน ระบุว่าองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) กำลังจะอนุมัติวัคซีน BNT162b2 ที่พัฒนาโดย Pfizer และ BioNTech ให้ใช้งานกับเด็กอายุ 12 ถึง 15 ปีได้ภายในไม่กี่วันข้างหน้านี้ จากเดิมที่อนุมัติให้ใช้งานในผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปเท่านั้น Pfizer ทดสอบเฟส 3 กับกลุ่มตัวอย่างอายุ 12-15 ปีเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในกลุ่มทดสอบขนาดเล็ก มีผู้ร่วมทดสอบเพียง 2,260 คนแบ่งทดสอบยาหลอกและวัคซีนอย่างละครึ่ง หลังการทดสอบพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 18 ราย อยู่ในกลุ่มได้รับยาหลอกทั้งหมด แม้ผลการทดสอบนี้จะเก็บเคสผู้ติดเชื้อได้ปริมาณน้อย (ส่งผลให้ความมั่นใจต่อตัวเลขประสิทธิภาพต่ำ) แต่ผลการทดลองก็ระบุว่าอัตราการเกิดภูมิ (antibody geometric mean titers - GMTs) ของกลุ่มที่ได้รับวัคซีน สูงถึง 1,239.5 GMTs เทียบกับการทดสอบในกลุ่มอายุ 16 ถึง 25 ปีที่ได้ 705.1 GMTs เท่านั้น ขณะที่ผลข้างเคียงจากวัคซีนอยู่ในระดับเดียวกับที่พบในการทดลองในกลุ่มอายุ 16 ถึง 25 ปี ทาง Pfizer กำลังทดสอบการใช้วัคซีน BNT162b2 ในอีก 3 กลุ่มอายุ ได้แก กลุ่ม 5 ถึง 11 ปี, กลุ่ม 2 ถึง 5 ปี, และกลุ่ม 6 เดือนถึง 2 ปี ที่มา - ArsTechnica, Pfizer
# Xbox Series X เพิ่มฟีเจอร์ FPS Boost เร่งเฟรมเรตเกมเก่า 97 เกม รองรับสูงสุด 120Hz แนวทางด้านเกมของไมโครซอฟท์ในคอนโซลยุคนี้คือ รองรับเกมเก่าย้อนไปตั้งแต่ Xbox รุ่นแรก และเพิ่มประสิทธิภาพของเกมเก่าด้วยพลังคอนโซลเจนใหม่ เช่น การใช้ AI ช่วย upscale กราฟิกเดิมให้คมขึ้น หรือการเปิด Auto HDR เป็นต้น อีกฟีเจอร์หนึ่งที่เข้าข่ายนี้คือ FPS Boost ที่ช่วยดันเฟรมเรตของเกมยิง FPS ให้สูงขึ้น หลังจากทดสอบกับเกมกลุ่มเล็กๆ มาสักพัก ไมโครซอฟท์ก็ประกาศเปิดใช้ FPS Boost ชุดใหญ่ให้ 74 เกม (รวมเป็นทั้งหมด 97 เกมแล้ว) ตัวอย่างเกมดังๆ ที่ได้ฟีเจอร์นี้คือ Battlefield V, Assassin’s Creed Unity, Anthem, Far Cry 5, The Elder Scrolls V, Watch Dogs 2 เป็นต้น ในกรณีของบางเกมอย่าง Titanfall 2 หรือ Metro: Last Light สามารถดันเฟรมเรตไปได้ถึง 120 Hz รายชื่อเกมสามารถดูได้จากที่มา โดยเกมแต่ละเกมอาจรองรับบน Xbox Series X และ Xbox Series S แตกต่างกัน (บางเกมอาจต้องลดความละเอียดภาพเพื่อเร่ง FPS) ที่มา - Major Nelson, Kotaku
# Epic เผย PlayStation เรียกเก็บเงินเพิ่ม ถ้าอยากให้เกมเล่น cross-play ข้ามแพลตฟอร์ม การไต่สวนคดีความระหว่าง Epic Games กับ Apple ทำให้รายละเอียดต่างๆ จากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง หลุดมาให้สาธารณะชนได้รับรู้มากมาย หลังก่อนหน้านี้ข้อมูลในศาลยืนยันว่า Apple จงใจไม่ทำ iMessage บน Android เพราะกลัวส่วนผู้ใช้หนีจาก iOS ง่ายขึ้น ล่าสุดมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า แพลตฟอร์ม PlayStation ของ Sony เป็นเจ้าเดียวที่เรียกเก็บเงินเพิ่ม หากนักพัฒนาเปิดให้เกมสามารถเล่นข้ามแพลตฟอร์มได้ด้วยฟีเจอร์ cross-play แล้วส่งผลให้สัดส่วนรายได้บน PlayStation Network ลดลง เอกสารที่เปิดเผยในชั้นศาล เป็นอีเมลจาก Joe Kreiner หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ Epic Games ในช่วงปี 2018 ที่พยายามยื่นข้อเสนอกับ Sony แบบสุดตัวเพื่อให้เกม Fortnite เล่นข้ามแพลตฟอร์มได้ ทั้งยอมมอบข้อมูลการตลาดให้ ยอมยกเครดิตให้ Sony ทั้งหมดหากมีการแถลง cross-play ไปจนถึงยอมยืดอายุการใช้งานไลเซนส์ Unreal Engine 4 ให้ แต่ Sony ก็ยังไม่ยอม และตอบกลับว่า “...ยังไม่เห็นว่าการเล่นแบบ cross-console (cross-play) จะมีประโยชน์ต่อธุรกิจ PlayStation ได้ยังไง” เอกสารอีเมลของ Joe Kreiner Sony เปลี่ยนใจภายหลัง ในช่วงปี 2019 โดยคิดนโยบายเก็บเงินเพิ่มจากการอนุญาตให้เกมเล่น cross-play ได้ ในเอกสารของ Sony มีรายละเอียดว่า หากเปอร์เซ็นต์รายได้บน PSN หารด้วยเปอร์เซ็นต์ของผู้เล่นบน PS4 น้อยกว่า 0.85 นักพัฒนาจะต้องจ่ายเงินเพิ่มให้กับ Sony เป็นจำนวนเงินเท่ากับ 15% ของรายได้จากทุกแพลตฟอร์มคูณด้วยเปอร์เซ็นต์สัดส่วนผู้เล่นบน PS4 และลบด้วยรายได้บน PSN ในเดือนนั้น (ดูรายละเอียดตัวอย่างในรูปด้านล่าง) ตัวอย่างโมเดลเก็บเงินของ Sony Tim Sweeney ซีอีโอของ Epic Games ยืนยันว่า PlayStation เป็นแพลตฟอร์มเดียวที่ทำแบบนี้ และอธิบายเพิ่มเติมว่าถ้ามีคนเล่นบน PS4 แต่จ่ายเงินบน iPhone เยอะ ทำให้ Epic ต้องเสียค่าปรับนี้ และ Epic ก็ต้องตกลงจ่ายค่าเงินส่วนนี้ก่อน Sony ถึงจะยอมเปิดให้เล่น cross-play แต่ก็ยังไม่จบ เพราะมีข้อบังคับห้ามนำเงินในเกมข้ามแพลตฟอร์ม และต้องมีตัวเลือกให้ผู้เล่นปิด cross-play ได้เสมออีก ช่วงหลังมานี้ PlayStation มีพฤติกรรมไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคหลายอย่าง ทั้งเตรียมปิดร้านขายเกมรุ่นเก่า และทำให้เกมของผู้เล่นหายไปทั้งหมด แต่โดนก่นด่าจากชาวเน็ตจนยอมเปลี่ยนใจ และยังจะมีข้อมูลนี้หลุดออกมา ทำให้เห็นว่า PlayStation เห็นความสำคัญของเงินมากกว่าประสบการณ์ของผู้บริโภคอีก คงต้องติดตามว่า Sony จะเร่งแก้ภาพลักษณ์ให้กับ PlayStation ได้หรือไม่ และจะทำอย่างไรต่อไป ที่มา - The Verge
# X10 Esports จากประเทศไทยคว้าแชมป์ VALORANT Challengers SEA Finals คว้าตั๋วแข่ง Master ที่ประเทศไอซ์แลนด์ จบไปเป็นที่เรียบร้อยกับการแข่งขัน VALORANT Challengers SEA Finals ซึ่งเป็นการแข่งขันในสายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แชมป์ประจำสายได้แก่ทีม X10 Esports จากประเทศไทย เป็นการคว้าชัยชนะ Challengers สายภูมิภาค 2 สมัยซ้อนของทีม คว้าตั๋วไปชิงชัยต่อในระดับ Masters ที่ประเทศไอซ์แลนด์ สำหรับการแข่งขันในสายภูมิภาคนี้ เป็นการนำผู้ชนะในแต่ละประเทศมาเจอกันได้แก่ Bren Esports และ 6045Pirates จากฟิลิปปินส์, CBT Gaming ทีมผสมจากฮ่องกงและไต้หวัน, Paper Rex ทีมผสมจากมาเลเซียและสิงคโปร์, Team nxl และ BOOM Esports จากอินโดนีเซีย, CERBERUS Esports และ FEARUS จากเวียดนาม, X10 Esports และ FULL SENSE จากประเทศไทย ผลปรากฎว่าทีมจากประเทศไทยทั้ง 2 ทีมเข้าสู่รอบไฟนอล แข่งกันในรูปแบบ Best Of 5 ผลการแข่งขันคือ X10 Esports ชนะ FULL SENSE ไปด้วยคะแนน 3 ต่อ 1 เกม รับเงินรางวัลในการแข่งขัน 15,000 ดอลล่าห์สหรัฐ รวมไปถึงสิทธิ์ในการเข้าแข่งในทัวร์นาเมนต์ระดับ Masters จัดในรูปแบบออฟไลน์ที่เมือง Reykjavík ประเทศไอซ์แลนด์ โดยจะไปเจอกับทีมในภูมิภาคอื่นๆ ได้แก่ญี่ปุ่น, เกาหลี, บราซิล, ยุโรปและตะวันออกกลาง, ลาตินอเมริการวมไปถึงอเมริกาเหนือ ที่จะเจอกับทีม Sentinels ที่มีผู้เล่นอย่าง Tenz โปรเพลเยอร์ VALORANT เข้าร่วมแข่งขันอีกด้วย มาเอาใจช่วย X10 Esports จากทีมไทยในการคว้าแชมป์และติดตามการแข่งขัน VALORANT Champions Tour 2021: Stage 2 Masters ได้ในวันที่ 24 - 30 พฤษภาคมนี้ โดยมีเจ้าภาพงานคือ Riot Games ที่มา : ESL Thailand ภาพจาก : liquipedia
# [ลือ] Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์ซัพพลายเชนแอปเปิ้ล ระบุ iPhone พับได้ จอ 8 นิ้ว มาปี 2023 Ming-Chi Kuo ระบุจากการวิเคราะห์ซัพพลายเชนในวงการอุตสาหกรรมการผลิต ว่า iPhone รุ่นจอพับได้ น่าจะเปิดตัวช่วงปี 2023 มาพร้อมหน้าจอ OLED แบบพับได้ขนาด 8 นิ้ว ความละเอียด QHD+ ใช้เทคโนโลยีจอสัมผัสแบบ silver nanowire ของ TPK ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดบนหน้าจอแบบพับหลายทบได้ ต่างจากเทคโนโลยีจอสัมผัสแบบ Y-Octa ของ SDC ที่ใช้กับหน้าจอพับได้ทบเดียว Kuo คาดจำนวนเครื่องที่เตรียมวางจำหน่ายไว้ 15-20 ล้านเครื่องภายในปี 2023 จากยอดเตรียมสั่งผลิตของแอปเปิ้ล พร้อมระบุว่าจากข้อได้เปรียบด้านอีโค่ซิสเท็ม และข้อได้เปรียบด้านฮาร์ดแวร์ดีไซน์ ทำให้แอปเปิ้ลอาจกลายเป็นผู้ชนะในเทรนด์อุปกรณ์พับได้ ที่จะทำให้เส้นแบ่งระหว่างมือถือกับแท็บเล็ตบางลงในครั้งนี้ มีข่าวลือตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปี 2020 ว่า Apple เตรียมสั่งจอพับได้จาก Samsung มาทดสอบ ส่วนในข่าวล่าสุดนี้ Kuo ก็ระบุเช่นกันว่า Samsung Display Corporation จะเป็นผู้ผลิตหน้าจอ ส่วน Samsung Foundry เป็นผู้ผลิต Display Driver IC (DDI) ที่มา - Macrumors
# Galaxy S8 สิ้นอายุซัพพอร์ต ไม่ได้แพตช์ความปลอดภัยแล้ว รวมได้แพตช์นาน 4 ปี ซัมซุงหยุดอัพเดตแพตช์ความปลอดภัยให้ Galaxy S8 และ S8+ มือถือเรือธงที่ออกในปี 2017 แล้ว โดยแพตช์สุดท้ายที่ได้คือรอบเดือนเมษายน 2021 รวมระยะซัพพอร์ตนาน 4 ปีพอดี บางรุ่นย่อยของ Galaxy S8 เช่น Galaxy S8 Lite และ Galaxy S8 Active นั้นยังได้อัพเดตอยู่ แต่เป็นอัพเดตรายไตรมาส (Active) และอัพเดตทุกครึ่งปี (Lite) แทน เดิมที ซัมซุงการันตีการอัพเดตแพตช์ความปลอดภัยนาน 3 ปี และเพิ่งขยายเป็น 4 ปีเมื่อต้นปี 2021 นี้เอง กรณีของ Galaxy S8 ถือว่าได้อัพเดตยาวนานเป็นพิเศษกว่าที่ประกาศไว้ Galaxy S8 ถือเป็นมือถือรุ่นยอดนิยมรุ่นหนึ่งของซัมซุง และเป็นผู้บุกเบิกดีไซน์ "ด้านหน้าเกือบไร้ขอบ" ที่กลายเป็นมาตรฐานในทุกวันนี้ ที่มา - 9to5google
# ไมโครซอฟท์ประกาศแผน ถอน Flash ออกจาก Windows อย่างถาวรเดือน ก.ค. 2021 Adobe Flash สิ้นอายุขัยไปตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2020 แต่ในทางปฏิบัติ ระบบปฏิบัติการรุ่นเก่าหน่อยยังมี Flash ฝังเก็บไว้อยู่ ไมโครซอฟท์เคยออกแพตช์สำหรับถอน Flash ออกจากระบบมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 โดยที่ผ่านมายังใช้วิธีให้ดาวน์โหลดมาติดตั้งกันแบบสมัครใจ ล่าสุดไมโครซอฟท์ประกาศแผนการปล่อยอัพเดตถอน Flash ผ่าน Windows Update ดังนี้ มิถุนายน 2021 จะออก KB4577586 สำหรับ Windows 10 v1809 ขึ้นไป กรกฎาคม 2021 จะออก KB4577586 สำหรับ Windows 10 v1607 และ v1507 รวมไปถึงระบบปฏิบัติการเก่าคือ Windows 8.1, Windows Server 2012, Windows Embedded 8 Standard ด้วย ส่วนระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่คือ Windows 10 v21H1 ที่จะออกในเร็วๆ นี้ จะไม่มี Flash รวมมาให้แล้ว ที่มา - Microsoft via XDA
# Clubhouse ยอดดาวน์โหลดวูบ จาก 9.6 ล้านครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ เหลือราว 9 แสนครั้งในเดือนเมษายน SensorTower บริษัทวิเคราะห์ตลาดแอป เปิดเผยข้อมูลกับ Business Insider ว่าแอป Clubhouse แอปโซเชียลแนวห้องคุยเสียงที่บูมในช่วงสองสามเดือนก่อนนี้ มียอดดาวน์โหลดเหลือเพียงราว 922,000 ครั้งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลดลงเรื่อยๆ จาก 2.7 ล้านครั้งในเดือนมีนาคม และยอดสูงสุด 9.6 ล้านครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ข้อมูลก่อนหน้าของ SensorTower ในเดือนเมษายน เผยว่าแอป Clubhouse มีผู้ดาวน์โหลดนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมไปแล้วราว 16.4 ล้านครั้ง และถ้ารวมยอดเดือนเมษายนล่าสุดนี้จะอยู่ที่ราว 25.4 ล้านครั้ง และมียอดดาวน์โหลดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่มา - Business Insider
# ทวิตเตอร์เปิดใช้ห้องคุยสด Spaces แก่บัญชีผู้ติดตาม 600 คนขึ้นไป เตรียมเปิดให้ขายตั๋วเพื่อเข้าร่วมห้องคุย ทวิตเตอร์เปิดใช้งาน Spaces หรือการคุยเสียงไลฟ์แบบ Clubhouse มาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยเป็นการทดลองใช้ในกลุ่มจำกัด ผู้ใช้งานในไทยหลายคนก็ได้ใช้งานแล้ว ล่าสุด ทวิตเตอร์ประกาศใช้งานอย่างเป็นทางการ โดยบัญชีที่มีผู้ติดตาม 600 รายขึ้นไปสามารถสร้างห้องคุยได้ ทวิตเตอร์เผยด้วยว่ากำลังทดสอบใช้งานฟีเจอร์ใหม่ๆ หลายตัวเช่น Tickets หรือระบบซื้อตั๋วเพื่อเข้าร่วมห้องพูดคุย Spaces โดยจะจำกัดการใช้งานในบางกลุ่ม โฮสต์สามารถตั้งราคาและจำนวนผู้เข้าร่วมได้เอง ถือเป็นอีกช่องทางทำเงินให้ครีเอเตอร์ ซึ่งทวิตเตอร์จะเก็บส่วนแบ่งด้วย แต่ไม่มาก นอกจาก Tickets แล้ว จะเปิดใช้งานระบบแจ้งเตือนให้เข้าร่วม Spaces เพื่อไม่ให้พลาดห้องที่อยากเข้าฟัง, แสดงสีที่รูปโปรไฟล์เพื่อให้รู้ว่ากำลังมีห้อง Spaces เกิดขึ้น เพื่อให้การตามหา Spaces บนทวิตเตอร์นั้นง่ายขึ้น ทวิตเตอร์อธิบายความสามารถของ Spaces เพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำได้เหมือน Clubhouse คือ กดเพื่อขอพูด, โฮสต์ควบคุมและมองเห็นได้ว่าใครกำลังพูดอะไร, แสดงอีโมจิระหว่างคุยสดได้, เปิดโหมดแคปชั่นหรือถอดข้อความเสียงสดได้ แต่ยังรองรับเฉพาะภาษาอังกฤษ ในแง่ความปลอดภัยของการพูดคุย โฮสต์สามารถกดปิดไมค์ของทุกคนได้, ทั้งโฮสต์และผู้เข้าร่วมผัง สามารถรายงานหรือบล็อกผู้ใช้งานคนอื่นได้ โดยผู้ใช้งานคนนั้นจะไม่สามารถเข้าร่วม Spaces ที่โฮสต์สร้างขึ้น ในขณะเดียวกัน ถ้าโฮสต์ไปเข้าฟังห้องอื่น ก็จะสามารถมองเห็นได้ด้วยหากมีคนที่เราบล็อกไปเข้าร่วมในห้องเดียวกัน ที่มา - ทวิตเตอร์
# PlayStation ประกาศเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมลงทุนใน Discord Sony Interactive Entertainment (SIE) ประกาศนำ Discord เชื่อมต่อกับบริการของ PlayStation Network เริ่มต้นในช่วงต้นปี 2022 ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งาน PSN กับ Discord ทั้งบนพีซีและมือถือ ติดต่อหากันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น SIE บอกว่าข้อตกลงในดีลนี้ บริษัทได้ลงทุนส่วนหนึ่งใน Discord รอบการเพิ่มทุนซีรี่ส์ H ด้วย แต่ไม่ได้เปิดเผยมูลค่า บอกเพียงเป็นการลงทุนส่วนน้อย ปัจจุบัน Xbox รองรับการเชื่อมต่อกับ Discord อยู่แล้ว แต่จำกัดการแสดงข้อมูล อย่างไรก็ตามดีล PSN นี้จะทำให้ผู้ใช้ Discord เชื่อมต่อหากันระหว่าง PlayStation, Xbox, พีซี และสมาร์ทโฟนได้ดีมากขึ้น ที่มา: SIE และ VentureBeat
# Apple ออกอัพเดต iOS 14.5.1, Big Sur 11.3.1 และ watchOS 7.4.1 แก้ไขช่องโหว่ WebKit แอปเปิลออกอัพเดต iOS 14.5.1 และ iPadOS 14.5.1 ตลอดจนระบบปฏิบัติการอื่น ได้แก่ macOS Big Sur 11.3.1 และ watchOS 7.4.1 ตลอดจน iOS 12.5.3 สำหรับอุปกรณ์รุ่นเก่าที่ไม่สามารถอัพเดตเป็น iOS 14 ได้ ในวันนี้ แอปเปิลระบุว่าในอัพเดตนี้มีการแก้ไขข้อบกพร่อง และรายการอัพเดตความปลอดภัยที่สำคัญ แนะนำให้ผู้ใช้ทุกคนอัพเดต นอกจากนี้สำหรับ iOS ยังแก้ไขบั๊กที่อาจทำให้แอปไม่แสดงคำเตือน App Tracking Transparency ขึ้นมา รายละเอียดด้านความปลอดภัยระบุว่าเป็นการแก้ไขช่องโหว่ของ WebKit ผู้ใช้งานสามารถอัพเดตเป็นระบบปฏิบัติการเวอร์ชันล่าสุดได้ โดยสำหรับ iOS ไปที่แอป Settings > General > Software Update ที่มา: MacRumors
# Bill และ Melinda Gates ประกาศหย่าร้างกัน หลังแต่งงานมา 27 ปี Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft และ Melinda Gates ภรรยา ได้ประกาศหย่าร้างกันทางทวิตเตอร์ของทั้งคู่ สิ้นสุดการแต่งงานนาน 27 ปี โดยระบุว่ามีการคิดทบทวนเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้มาอย่างมากแล้ว ทั้งคู่ตัดสินใจจะจบการแต่งงานลง ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 3 คน และร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation เพื่อช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั่วโลกมายาวนาน ซึ่งทั้งสองคนจะยังร่วมกันทำงานให้กับมูลนิธิต่อไป แต่ทั้งคู่เชื่อว่าไม่สามารถเติบโตต่อไปด้วยกันได้อีกแล้ว Bill และ Melinda พบกันครั้งแรกที่ Microsoft ในปี 1987 ที่งานกินเลี้ยงของบริษัท โดยขณะนั้น Melinda ทำงานตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป (General manager) ซึ่ง Melinda ไปถึงงานช้าและเหลือที่นั่งว่างติดกันสองที่ เธอจึงเข้าไปนั่ง และไม่กี่นาทีต่อมา Bill ก็มาถึงงานและนั่งที่เก้าอี้ว่างอีกตัวข้างๆ เธอ ทั้งคู่พัฒนาความสัมพันธ์กันจนแต่งงานในปี 1994 Bill และ Melinda Gates ในปี 2009 | ภาพโดย Kjetil Ree ทั้งคู่ยังได้ก่อตั้งโครงการ Giving Pledge ร่วมกับ Warren Buffett ที่ผู้เข้าร่วมต้องบริจาคเงินเกินครึ่งของทรัพย์สินที่ตัวเองมี ด้านมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation ก็ได้บริจาคเงินไปมากมาย เฉพาะเกี่ยวกับโรค COVID-19 ก็ได้บริจาคเงินไปแล้วถึง 1.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่าทั้งคู่จะแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไรหลังจากการหย่าร้างเสร็จสิ้น ก่อนหน้านี้ Jeff Bezos และ MacKenzie Bezos ก็ประกาศหย่ากันเมื่อต้นปี 2019 โดยคู่นั้นแต่งงานกันมา 25 ปี ที่มา - CNBC, CNN Bill และ Melinda Gates ระหว่างทำงานให้มูลนิธิ | ภาพจากเว็บไซต์ Bill & Melinda Gates Foundation
# Yahoo คืนชีพ! Verizon ขายธุรกิจสื่อให้บริษัทลงทุน Apollo เตรียมเปลี่ยนชื่อกลับเป็น Yahoo หลังจากลือกันมานาน ในที่สุด Verizon ก็ตัดขายธุรกิจสื่อออนไลน์ Verizon Media ซึ่งรวมถึง AOL และ Yahoo ออกไปให้บริษัทลงทุน Apollo Global Management นำไปบริหารต่อ ในราคา 5 พันล้านดอลลาร์ บริษัท Verizon Media เกิดจากการควบรวมธุรกิจสื่อและบริการออนไลน์ AOL กับ Yahoo เข้าด้วยกันในปี 2017 โดยตอนนั้นใช้ชื่อว่า Oath แต่จากนั้นไม่นานก็พบว่าธุรกิจไปไม่สวยอย่างที่คิด ต้องปลดคน และเปลี่ยนชื่อเป็น Verizon Media ในช่วงปลายปี 2018 ธุรกิจในเครือ Verizon Media ได้แก่บริการใต้แบรนด์ Yahoo และ AOL ทั้งหมด รวมถึงสื่อออนไลน์เจ้าดังอย่าง TechCrunch, Engadget, Autoblog, แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลแอพ Flurry และแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ที่เป็นช่องทางรายได้หลัก (ก่อนหน้านี้เคยมี Tumblr แต่ขายทิ้งไปแล้ว) หลังขายกิจการเสร็จแล้ว บริษัท Verizon Media จะเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น Yahoo โดยที่ Verizon ยังถือหุ้นอยู่ 10% ส่วนการบริหารจะยังเป็น Guru Gowrappan ซีอีโอคนปัจจุบันทำงานต่อไปดังเดิม Apollo ในฐานะเจ้าของใหม่บอกว่ามั่นใจในศักยภาพของแบรนด์ Yahoo และต้องการจะนำบริษัทกลับมาเติบโตได้ใหม่อีกครั้ง การซื้อกิจการของบริษัทลงทุนลักษณะนี้มักมีเป้าหมายที่การพลิกฟื้นกิจการมาทำกำไร แล้วขายต่อหรือขายหุ้น IPO กลับเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกรอบ ที่มา - Verizon
# Android Studio ออกเวอร์ชั่น Arctic Fox Canary 15 รองรับ Apple M1 Android Studio ออกเวอร์ชั่น Arctic Fox รุ่นทดสอบ Canary 15 หลังจากออกเวอร์ชั่นแรกมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 โดยมีฟีเจอร์สำคัญคือรองรับ Apple Silicon เป็นเวอร์ชั่นแรก ชื่อเวอร์ชั่นเต็มๆ ของเวอร์ชั่นนี้คือ Android Studio - Arctic Fox | 2020.3.1 Canary 15 ตามระบบการตั้งชื่อใหม่ที่อิงชื่อเวอร์ชั่น IntelliJ ไว้ในตัว แม้จะบอกว่ารองรับ Apple Silicon แต่ส่วนประกอบหลายอย่างก็ยังรองรับเฉพาะ x86_64 เช่น ไบนารีใน SDK และตัว NDK ทั้งชุด รวมถึงตัว Android Device Emulator ก็จะแจ้งเตือนให้ใช้อิมเมจ x86 ที่มา - Android Studio
# แบรนด์เครื่องไฟฟ้าจีน Midea เปิดตัวเครื่องปิ้งขนมปัง-แอร์ตั้งพื้น ที่ใช้ HarmonyOS Midea ยักษ์ใหญ่วงการเครื่องใช้ไฟฟ้าจีน ออกเครื่องปิ้งขนมปังและเครื่องปรับอากาศที่ใช้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS (Hongmeng OS) ของ Huawei ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนนักว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ใช้งาน HarmonyOS อย่างไร เท่าที่ระบุคือมีชิป smart sensor เพิ่มเข้ามา และเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของ Huawei ได้ผ่าน NFC เครื่องปิ้งขนมปังขายราคา 1,699 หยวน (8,200 บาท) ส่วนแอร์แบบตั้งพื้น ยังไม่ระบุราคา ตามข่าวบอกว่า Midea ยังมีแผนออกเครื่องล้างจาน เครื่องกรองน้ำ เตาอบ เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องดูดควัน ที่ใช้ HarmonyOS ตามมาอีกด้วย ที่มา - Huawei Central (1), Huawei Central (2)
# Facebook และ Instagram ขึ้นหน้าชี้แจงประโยชน์จากการให้แอปติดตามผู้ใช้บน iOS 14.5 Facebook เริ่มปล่อยหน้าโปรโมตฟีเจอร์ app tracking เพื่อขอติดตามผู้ใช้ พร้อมทั้งชี้แจงประโยชน์เมื่อผู้ใช้อนุญาตให้แอปติดตาม หลังจากที่ Apple เริ่มจำกัดการติดตามผู้ใช้ของตัวแอปที่ผู้ใช้มีสิทธิ์เลือกจะให้แอปเก็บข้อมูลหรือไม่ก็ได้ ส่งผลให้ Facebook แสดงโฆษณาตามกลุ่มเป้าหมายได้ยากขึ้น นโยบายใหม่ของ Apple เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ iOS 14.5 ส่งผลโดยตรงต่อ Facebook และ Instagram ที่ทำธุรกิจด้วยการใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์นี้ Facebook จึงเริ่มแสดงข้อความแจ้งเตือนผู้ใช้ให้รับทราบถึงประโยชน์ในการอนุญาตให้ Facebook ติดตามผู้ใช้ ได้แก่ แสดงโฆษณาที่ตรงกับผู้ใช้, ช่วยให้ใช้ Facebook และ Instagram โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงสนับสนุนธุรกิจที่ใช้โฆษณาเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การพยายามอธิบายแบบกึ่งฮาร์ดเซลฟีเจอร์ติดตามผู้ใช้ของ Facebook ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องแปลกใจเนื่องจากเป็นธุรกิจสำคัญของบริษัท แต่ก็เป็นการย้ำเตือนให้ผู้ใช้รับทราบได้เป็นอย่างดีว่า ข้อมูลผู้ใช้สำคัญกับ Facebook มากแค่ไหน ที่มา - Engadget
# Dell ขายกิจการ Boomi ให้กับบริษัทด้านการลงทุน มูลค่าดีล 4 พันล้านดอลลาร์ Dell Technologies ประกาศบรรลุข้อตกลงในการขาย Boomi แพลตฟอร์มรวมบริการบนคลาวด์ (iPaaS - integration platform as a service) ให้กับ Francisco Partners และ TPG Capital บริษัทด้านการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี ที่มูลค่าดีลราว 4 พันล้านดอลลาร์ Dell ซื้อกิจการ Boomi มาเมื่อปี 2010 โดยในการขายกิจการครั้งนี้ Jeff Clarke ซีโอโอของ Dell บอกว่าเพื่อให้ Boomi เติบโตต่อไปตามกลยุทธ์ของทั้ง Boomi และ Dell ซึ่ง Dell จะมาโฟกัสที่ธุรกิจหลักคือ Infrastructure และพีซี ตลอดจนบริการไฮบริดคลาวด์, ไพรเวทคลาวด์ และ APEX Boomi มีลูกค้ามากกว่า 15,000 รายทั่วโลก สำหรับบริหารจัดการแอพพลิเคชันและกระบวนการทำงานต่าง ๆ ให้เชื่อมต่อและส่งข้อมูลหากันได้ง่ายขึ้น ที่มา: Dell Technologies
# ซีอีโอ Volkswagen ให้สัมภาษณ์ เผยจะออกแบบชิปและซอฟต์แวร์รถยนต์ไร้คนขับเองในอนาคต Volkswagen ยังคงเดินหน้าพัฒนารถยนต์ไร้คนขับอย่างต่อเนื่อง โดย Herbert Diess ซีอีโอของบริษัทได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเยอรมัน Handelsblatt ระบุว่าทางบริษัทจะออกแบบชิปและซอฟต์แวร์สำหรับใช้กับรถยนต์ไร้คนขับด้วยตัวเอง สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใช้เองภายในบริษัทนั้น Diess ระบุว่าทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จะต้องทำมาด้วยกันเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่เหมาะสม พร้อมยกตัวอย่าง Apple และ Tesla ว่ามีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่าเนื่องจากออกแบบชิปเอง จึงสามารถพัฒนาฟีเจอร์ได้ไวกว่า เป้าหมายของ Volkswagen คือทางบริษัทต้องการถือสิทธิบัตร แต่จะไม่ผลิตชิปเอง ส่วนซอฟต์แวร์คาดว่าจะให้บริษัท Cariad ที่เป็นหน่วยซอฟต์แวร์ในเครือ Volkswagen รับหน้าที่นี้ ที่มา - Autoblog, Engadget I.D. Vizzion ภาพจาก Volkswagen, Handelsblatt
# สัญญาณที่ดี EA เริ่มทดลองขายชุดตกแต่งใน FIFA 21 โดยตรง ไม่ต้องผ่าน Loot Box EA โดนวิจารณ์อย่างมากเรื่องการขาย loot box โดยเฉพาะในเกม FIFA (EA บอกระบบ Loot Box ของเรามีจริยธรรม) แต่ในอัพเดตล่าสุดประจำเดือนพฤษภาคม 2021 ของเกม FIFA 21 ดูมีพัฒนาการในทางบวกมากขึ้น อัพเดตนี้ EA หันมาขายชุดตกแต่ง (cosmetics ที่ไม่มีผลต่อเกมเพลย์) เช่น ธีมสนาม ป้ายในสนาม ชุดแข่ง ป้ายเชียร์ของแฟนบอล (tifo) โดยตรง จากเดิมที่ต้องซื้อผ่าน loot box แล้วรอสุ่มเอาเท่านั้น การซื้อชุดตกแต่งจำเป็นต้องจ่ายด้วยเงินในเกม (FIFA Points หรือ FUT Coins) ซึ่งกรณีของ FIFA Points สามารถซื้อด้วยเงินจริงได้ ในประกาศของ EA ระบุว่านำไอเทมตกแต่งเหล่านี้มาขายแบบจำกัดเวลา (a limited window of time) และอาจนำกลับมาขายอีกในอนาคต (at various points in time) เว็บไซต์ Eurogamer วิจารณ์ว่าการเปิดให้ซื้อชุดตกแต่งในเกมถือเป็นสัญญาณที่ดีว่า EA เริ่มหันเหจากแนวทางขาย loot box แต่ก็มองว่าราคาที่ EA ตั้งไว้นั้นแพงเกินไป ที่มา - EA, Eurogamer
# เอกสารจาก Epic เผย ไมโครซอฟท์เตรียมลดค่าธรรมเนียมขายเกม Xbox เหลือ 12% ต่อจากข่าว Microsoft Store ปรับค่าธรรมเนียมขายเกมพีซี จาก 30% เหลือ 12% เท่า Epic Store ก็เกิดคำถามตามมาทันทีว่า ค่าธรรมเนียมขายเกมบน Xbox Games Store จะปรับลดลงมาหรือไม่ เว็บไซต์ The Verge ไปค้นเจอในเอกสารของ Epic Games ที่เปิดสงครามกฏหมายกับแอปเปิลเรื่องค่าธรรมเนียม App Store ว่ามีข้อมูลจากไมโครซอฟท์ที่ส่งให้ Epic สู้คดีในศาล ระบุว่าไมโครซอฟท์มีแผนปรับค่าธรรมเนียมฝั่ง Xbox ลงมาที่ 12% เท่ากันด้วย Epic นำเอกสารนี้ไปสู้คดีในศาล โดยเป็นหลักฐานสนับสนุนว่าค่าธรรมเนียม 30% ไม่เป็นธรรม และอย่างน้อยๆ มีไมโครซอฟท์หนึ่งรายที่เตรียมลดค่าธรรมเนียมลงมา เอกสารนี้ถูกใช้ในศาลตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 (แต่ไม่เคยมีใครสังเกตเห็นจนเป็นข่าว) ระบุว่าปัจจุบันไมโครซอฟท์คิดค่าธรรมเนียมขายเกมที่ 30% แต่จะปรับลดลงมาเหลือ 12% ภายในครึ่งแรกของปี 2021 (H1 CY21) ซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้วสำหรับฝั่ง Microsoft Store บนพีซี ตัวแทนของไมโครซอฟท์ตอบคำถามของ The Verge ว่ายังไม่มีข่าวประกาศเรื่องฝั่ง Xbox ในตอนนี้ แต่หากมันเกิดขึ้นจริงตามแผน ก็จะกระทบไปยังคู่แข่งฝั่งคอนโซลอย่างโซนี่และนินเทนโด ที่คิดค่าธรรมเนียม 30% เช่นกัน ที่มา - The Verge
# Max Hodak ผู้ร่วมก่อตั้ง Neuralink ร่วมกับ Elon Musk ลาออกจากบริษัท Max Hodak ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง Neuralink กับ Elon Musk ประกาศว่าลาออกจากบริษัทแล้ว แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลที่ลาออก Hodak จบการศึกษาด้าน biomedical engineering และเคยก่อตั้งบริษัท Transcriptic ทำธุรกิจคลาวด์สำหรับงานสายชีววิทยา ก่อนมาร่วมก่อตั้ง Neuralink กับ Elon Musk ในปี 2017 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับสมองมนุษย์ ที่มา - Gizmodo
# [Canalys] ตลาดรวมบริการ Cloud ไตรมาส 1/21 เติบโต 35% - AWS ยังครองส่วนแบ่งมากที่สุด 32% บริษัทวิจัยตลาด Canalys รายงานภาพรวมตลาดผู้ให้บริการคลาวด์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 โดยมีการจ่ายเงินรวมราว 41,800 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน AWS ยังครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 32% และเติบโต 32% อันดับ 2 คือ Azure ของไมโครซอฟท์ มีส่วนแบ่ง 19% เติบโต 50% และ Google Cloud ในอันดับที่ 3 ส่วนแบ่งตลาด 7% และเติบโต 56% Blake Murray นักวิเคราะห์ของ Canalys มองว่าแนวโน้มของบริการคลาวด์ปีนี้ยังเติบโตสูง อันเป็นผลจากโควิด-19 โดยเมื่อปี 2020 หลายองค์กรเพิ่งจะเริ่มย้ายเวิร์กโหลดมาบนคลาวด์ ที่มา: Canalys
# Windows Terminal ออกเวอร์ชัน 1.7, ใช้งานหน้า Settings แบบ UI ได้แล้ว หลังจากที่ไมโครซอฟท์ได้เปิดให้ทดลองหน้า Settings UI บน Windows Terminal รุ่นทดสอบ (Preview) มาได้มาระยะหนึ่ง เมื่อกลางเดือนเมษายนที่เพิ่งผ่านมา Windows Terminal รุ่นเสถียรก็ได้ออกอัพเดตเวอร์ชัน 1.7 เพื่อเพิ่มหน้า Settings UI ที่พร้อมใช้งานจริงเป็นที่เรียบร้อย ในส่วนของการใช้งาน เมื่ออัพเดต Windows Terminal เป็นเวอร์ชัน 1.7 แล้ว ผู้ใช้จะสามารถเรียกหน้า Settings UI ได้ผ่านปุ่ม settings ภายใต้เมนู dropdown ได้ทันที ส่วนใครที่ถนัดตั้งค่าผ่านไฟล์ settings.json แบบเวอร์ชันก่อนๆ ก็ยังสามารถเลือกเปิดไฟล์ขึ้นมาแก้ไขได้ผ่านปุ่ม Open JSON file ที่อยู่ภายในหน้า Settings UI อีกที ภาพตัวอย่าง Settings UI ดาวน์โหลด Windows Terminal 1.7 ได้แล้วที่ Microsoft Store หรือจากหน้า Release ของโปรเจ็กต์บน GitHub ครับ ที่มา - Microsoft
# เผยวิธีซื้อกิจการสไตล์ Apple: เน้นบริษัทเล็ก เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเฉพาะ และทุกอย่างเป็นความลับ เราเห็นข่าวบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ทำดีลซื้อกิจการบริษัทอื่นกันอยู่เรื่อย ๆ แต่ในบรรดาบริษัทใหญ่เหล่านั้น แอปเปิลกลับมีรูปแบบการซื้อกิจการที่แตกต่างจากคนอื่น ซีอีโอ Tim Cook ได้เปิดเผยในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี ว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา แอปเปิลซื้อกิจการบริษัทอื่นไปแล้วเกือบ 100 แห่ง เฉลี่ยแล้วทุก 3-4 สัปดาห์ (ข่าวเก่า) CNBC ได้สัมภาษณ์พนักงานในบริษัทที่แอปเปิลซื้อกิจการไปหลายคน พบว่ากลยุทธ์ของแอปเปิลเวลาซื้อกิจการคือเน้นซื้อตัวทีมงานวิศวกรให้เข้ามาเป็นพนักงานแอปเปิล มากกว่าสนใจการซื้อตัวกิจการบริษัทและสินค้า (acquihire) แอปเปิลจึงนิยมซื้อสตาร์ทอัพขนาดเล็กมากกว่า มีข้อมูลว่าวิธีประเมินมูลค่าเวลาซื้อกิจการ แอปเปิลใช้วิธีนับจำนวนพนักงานสายเทคนิคคูณด้วยตัวเลขหนึ่งออกมา และไม่มีการให้มูลค่าจากแบรนด์ หรือฐานลูกค้าเดิม วิธีการซื้อกิจการของแอปเปิล มักเริ่มต้นจากฝ่ายพัฒนาภายในพบปัญหาอุปสรรคใดอยู่ ก็จะส่งเรื่องให้แผนกเจรจาซื้อกิจการ ไปค้นหาบริษัทที่มีทีมงานซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องดังกล่าว และซื้อกิจการเพื่อให้ได้ทีมงานเข้ามาในบริษัท ตัวอย่างเช่นดีล AuthenTec ในปี 2012 ที่พัฒนาเป็นตัวสแกน Touch ID หรือในปี 2010 แอปเปิลซื้อ Siri Assistant ที่มาเป็น Siri ตั้งแต่ iPhone 4S โดยช่วงหลังหัวข้อที่แอปเปิลซื้อกิจการเข้ามาตลอดคือ AR, VR, AI, ระบบแผนที่, ระบบสุขภาพ และเซมิคอนดักเตอร์ ตัวอย่างเช่น Akonia, NextVR, Xnor․ai, Voysis หรือ PullString เมื่อเป็นแอปเปิลที่นิยมทำทุกอย่างให้เป็นความลับ การซื้อกิจการก็มีแนวทางแบบนี้เช่นกัน โดยข้อกำหนดหนึ่งที่แอปเปิลระบุให้พนักงานบริษัทที่ถูกซื้อกิจการทำ คือห้ามอัพเดตข้อมูลใน LinkedIn ว่าตอนนี้ย้ายมาทำงานให้แอปเปิล และหากมีข่าวหลุดออกไป พนักงานทุกคนก็ห้ามตอบคำถามนี้ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัว อีกข้อกำหนดที่แอปเปิลระบุไว้ เนื่องจากบริษัทต้องการตัวพนักงาน ฉะนั้นพนักงานบริษัทเดิมจึงห้ามลาออกจากแอปเปิลในเวลาที่กำหนด ซึ่งแอปเปิลก็ให้หุ้นบริษัทแบบที่ทยอยขายได้ในช่วงเวลาที่กำหนดเป็นสิ่งจูงใจ อย่างไรก็ตามหากย้อนดูดีลในอดีตของแอปเปิล ก็มีดีลขนาดใหญ่อยู่เช่นกัน อาทิ การซื้อธุรกิจชิปโมเด็มจาก Intel มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือ Beats มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ที่มา: CNBC
# มาช้ายังดีกว่าไม่มา JetBrains ออก TeamCity Cloud ซอฟต์แวร์ CI/CD แบบโฮสต์ให้ ตลาดซอฟต์แวร์ CI/CD เป็นอีกตลาดที่ได้รับความนิยมสูงในช่วงหลัง มีผู้เล่นหลายรายเข้ามาในตลาดนี้ เช่น GitLab, CircleCI, Travis CI, Atlassian Bamboo รวมถึงซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอย่าง Jenkins และ Tekton ทิศทางช่วงหลังของ CI/CD คือเราเริ่มเห็นบริการผ่านคลาวด์ (managed service) กันมากขึ้น เช่น GitLab ที่มีเวอร์ชันคลาวด์มานาน หรือสายคลาวด์มาทำเองอย่าง Google Cloud Build กับ GitHub Actions JetBrains เจ้าของ IDE ชื่อดังตระกูล IntelliJ ก็มีซอฟต์แวร์ด้านนี้คือ TeamCity มานานแล้ว แต่ที่ผ่านมามีเฉพาะเวอร์ชัน on premise ตอนนี้ก็ต้านกระแสไม่อยู่ ต้องออก TeamCity Cloud มาบ้าง TeamCity Cloud คิดราคาเริ่มต้นที่ 45 ดอลลาร์ต่อเดือน (ผู้ใช้ขั้นต่ำ 3 บัญชี) โดยจะได้ build credit นำไปหักเป็นค่า build time ตามนาที ตอนนี้ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ยังมีเฉพาะวินโดวส์และลินุกซ์ ส่วนแมคจะตามมาในอนาคต ฟีเจอร์อื่นก็ตามมาตรฐานของ TeamCity เวอร์ชันปกติคือ เชื่อมต่อกับ IDE และ VCS ยอดนิยม, ฟีเจอร์ด้านการทดสอบโปรแกรมและวิเคราะห์คุณภาพโค้ด เป็นต้น ทาง JetBrains บอกว่าผู้ใช้เดิมคงไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่การใช้เวอร์ชันคลาวด์จะช่วยลดภาระในการดูแลเครื่องลง ที่มา - JetBrains
# Google Cloud ออก Open Saves ซอฟต์แวร์ช่วยจัดการสตอเรจของเซิร์ฟเวอร์เกม อุตสาหกรรมเกมในช่วงหลังนิยมใช้คลาวด์เป็น backend กันมากขึ้น และผู้ให้บริการคลาวด์เองก็เริ่มออกบริการ-ซอฟต์แวร์มาจับตลาดบริษัทเกมเช่นกัน กรณีล่าสุดคือ Google Cloud ร่วมกับ 2K Games เปิดตัวซอฟต์แวร์ชื่อ Open Saves เอาไว้จัดการระบบสตอเรจของเกมบนคลาวด์ ปัญหาเกิดจากสตอเรจบนคลาวด์มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งแบบแคชระยะสั้น, ข้อมูลเชิงโครงสร้าง (structured), ข้อมูลแบบวัตถุ (object) ทำให้นักพัฒนาเกมอาจเจอปัญหาเลือกไม่ถูก ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพ-ต้นทุนค่าสตอเรจ กูเกิลกับ 2K จึงพัฒนา Open Saves เป็นตัวคั่นกลาง คอยเลือกสตอเรจให้เหมาะสมกับข้อมูลแต่ละประเภทโดยอัตโนมัติ เช่น เลือกชนิดของแคชให้โดยอิงจากขนาดข้อมูล-ความถี่ในการเรียกใช้ ตัวโปรแกรมเป็นโอเพนซอร์ส นำไปรันบนเครื่องตัวเอง (on premise) ได้แบบไม่ต้องเช่า Google Cloud (แต่ยังรองรับเฉพาะสตอเรจ Google Cloud) เขียนด้วย Go แต่สามารถเชื่อมกับโปรแกรมภาษาใดๆ ก็ได้ผ่าน gRPC API ก่อนหน้านี้ Google Cloud เคยออกบริการชื่อ Open Match สำหรับจับคู่แข่งขัน (matchmaking) เป็นโอเพนซอร์สให้ใช้งานเช่นกัน ที่มา - Google
# Google หยุดให้บริการสมัครสมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติในอินเดียชั่วคราว หลังธนาคารกลางออกกฎการชำระเงินออนไลน์ใหม่ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Reserve Bank of India หรือธนาคารกลางอินเดียได้ออกข้อกำหนดเรื่องการทำธุรกรรมออนไลน์ซ้ำ ๆ (recurring online transaction) โดยระบุว่าผู้ให้บริการจะต้องมีการยืนยันตัวตนเพิ่มเติมเมื่อมีการทำธุรกรรมประเภทนี้ ซึ่งบริการประเภทสมัครสมาชิกแบบจ่ายเงินเป็นรอบเพื่อต่ออายุทั้งหมดจะเข้าข่ายข้อกำหนดใหม่ของธนาคารกลางอินเดีย ล่าสุด Google ออกมาประกาศว่า ทางบริษัทจะหยุดให้บริการสมัครสมาชิกแบบชำระเงินเพื่อต่ออายุอัตโนมัติ รวมถึงบริการทดลองใช้ฟรีและโปรโมชั่นค่าบริการครั้งแรก (introductory price) ในประเทศอินเดียทั้งหมด เนื่องจากบริการเหล่านี้ผูกกับระบบสมัครสมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติของ Google ซึ่งจะเป็นการหยุดชั่วคราวจนกว่าบริษัทจะสามารถจัดการระบบได้ (Until the ecosystem challenges are addressed) Google ระบุว่า ตอนนี้ถ้าผู้ใช้สมัครสมาชิกในอินเดีย จะต้องสมัครสมาชิกแบบชำระเงินครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าหมดรอบบิลผู้ใช้จะต้องสมัครใหม่ (เช่น สมัครสมาชิกแอปชมภาพยนตร์ 1 เดือน เดือนหน้าต้องกดสมัครต่ออายุเอง) ดังนั้นนักพัฒนาแอปที่ใช้ระบบบิลของ Google Play จะต้องเปลี่ยน SKU จากระบบสมัครสมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติ มาเป็นระบบสมาชิกแบบชำระเงินครั้งเดียว รวมถึงต้องสื่อสารให้ผู้ใช้เข้าใจด้วยว่าจะไม่ต่ออายุให้อัตโนมัติ Google ระบุว่าการหยุดสมัครสมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติจะมีผลเฉพาะสมาชิกใหม่เท่านั้น สมาชิกเดิมยังคงใช้บริการชำระเงินต่ออายุเป็นรอบได้เหมือนเดิม และจะมีผลเฉพาะในประเทศอินเดียเท่านั้น ที่มา - Engadget, XDA Developers, Reserve Bank of India ภาพจาก Flickr / CIAT (CC BY-SA 2.0)
# [IDC] ตลาด Tablet ไตรมาส 1/2021 เติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2013 - Apple ยังคงครองตลาดมากที่สุด IDC บริษัทวิจัยตลาด รายงานตัวเลขยอดขายแท็บเล็ตและ Chromebook ในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 โดยภาพรวมของแท็บเล็ตยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 55.2% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2020 จำนวนส่งมอบ 39.9 ล้านเครื่อง เป็นอัตราการเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2013 ส่วน Chromebook การเติบโตสูงกว่ามาก โดยส่งมอบในไตรมาส 1 ปี 2021 13 ล้านเครื่อง เทียบกับปีก่อนที่ 2.8 ล้านเครื่อง Anuroopa Nataraj นักวิเคราะห์ของ IDC มองว่าผลกระทบจากโควิด ยังทำให้ความต้องการแท็บเล็ตเพิ่มสูงไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามมองว่าตลาดแท็บเล็ต มีแนวโน้มจะเป็นการแข่งขันของผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่ราย ส่วน Jitesh Ubrani นักวิเคราะห์อีกคนของ IDC มองตลาด Chromebook ว่า ยังคงเน้นไปที่ตลาดการศึกษา เนื่องจากไม่โดดเด่นพอที่จะเข้ามาในตลาดลูกค้าทั่วไป แต่ถึงเป็นตลาดการศึกษา ก็ยังจำกัดไม่มากประเทศ เนื่องจากต้องพึ่งการเชื่อมต่อกับคลาวด์ แอปเปิลยังครองส่วนแบ่งตลาดแท็บเล็ตในอันดับ 1 ที่ 31.7% ด้วยจำนวนส่งมอบ 12.7 ล้านเครื่อง ตามด้วย ซัมซุง เลอโนโว อเมซอน และหัวเหว่ย ส่วนตลาด Chromebook เอชพีเป็นอันดับ 1 ที่ 33.5% จำนวน 4.4 ล้านเครื่อง ตามด้วย เลอโนโว เอเซอร์ เดลล์ และซัมซุง ในลำดับที่ 2-5 ที่มา: IDC
# Epic Games ซื้อกิจการ ArtStation เว็บซื้อขายงานอาร์ท-กราฟิก ต่อยอด Unreal Engine Epic Games เข้าซื้อกิจการ ArtStation เว็บไซต์ซื้อขายแลกเปลี่ยนงานอาร์ทและกราฟิก เพื่อต่อยอดตลาดครีเอเตอร์ที่ใช้งาน Unreal Engine ArtStation บอกว่ามีสายสัมพันธ์กับ Epic Games มาตั้งแต่ปี 2014 โดยเป็นความร่วมมือกับทีม Unreal Engine หลังการซื้อกิจการ ArtStation จะยังบริหารงานเป็นอิสระจาก Epic Games ดังเดิม และเนื้อหาบนแพลตฟอร์มก็สามารถใช้ได้กับทุกคน แม้ไม่ได้ใช้ Unreal Engine ก็ตาม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ ArtStation ปรับลดค่าคอมมิชชันของแพลตฟอร์มลงทันที จากเดิม 30% ลงมาเหลือ 12% ตามเรตมาตรฐานของ Epic และหากเป็นสมาชิกแบบ Pro ก็จะลดจาก 20% ลงมาเหลือ 8% ด้วย ก่อนหน้านี้ Epic Games เพิ่งซื้อบริษัท RAD Tools เข้ามาเสริมทีม Unreal เช่นกัน นอกเหนือจากการซื้อค่ายเกมหลายค่ายในช่วงหลัง (ล่าสุดคือ Fall Guys) ที่มา - ArtStation, Epic Games, VentureBeat
# Adobe XD ออกปลั๊กอินแปลง UI เป็นโปรแกรม Flutter เวอร์ชัน 2.0 Adobe XD ออกปลั๊กอินสำหรับแปลงเป็น Flutter เวอร์ชัน 2.0 เพื่อให้สอดคล้องกับ Flutter 2.0 ที่เพิ่งออกเมื่อเร็วๆ นี้ Adobe ออกตัวแปลงจาก XD เป็น Flutter ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2019 ออกเวอร์ชัน 1.0 เมื่อกลางปีที่แล้ว และมาเป็นเวอร์ชัน 2.0 ในรอบนี้ ของใหม่นอกจากการรองรับ Flutter 2.0 มีฟีเจอร์ responsive resize ที่ผู้ใช้สามารถยืดขนาดของ UI ในแอพจริงได้, stacks & scroll group กำหนดพื้นที่ใน UI ที่ให้เลื่อนขึ้นลงหรือซ้ายขวา, ตั้งค่า padding ขอบระยะห่างของวัตถุ เป็นต้น ผู้ใช้ Adobe XD สามารถติดตั้งปลั๊กอิน Flutter ได้จากในโปรแกรมเลย หรือจากหน้าเว็บ Adobe XD ที่มา - Flutter
# IBM ซื้อกิจการ Turbonomic ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ Resource Management บนคลาวด์ด้วย AI ไอบีเอ็มประกาศเข้าซื้อกิจการ Turbonomic ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับบริการจัดการทรัพยากรแอพพลิเคชัน (Application Resource Management) และจัดการประสิทธิภาพเครือข่าย (Network Performance Management) โดยใช้ AI ในการจัดการทั้ง full stack บนคลาวด์ ดีลนี้ไม่มีการเปิดเผยมูลค่า แต่มูลค่ากิจการล่าสุดจากการเพิ่มทุนของ Turbonomic อยู่ที่ 963 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ Reuters อ้างข้อมูลว่าดีลนี้อยู่ราว 1,500-2,000 ล้านดอลลาร์ นักลงทุนเดิมมีทั้ง General Atlantic, Cisco และ Red Hat ซึ่งรายสุดท้ายปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือไอบีเอ็มนั่นเอง ไอบีเอ็มบอกว่าเทคโนโลยีของ Turbonomic จะนำมารวมเข้ากับแพลตฟอร์มจัดการทรัพยากร Instana ที่ซื้อกิจการไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่มา: ไอบีเอ็ม และ TechCrunch
# EU ชี้ แอปเปิลกีดกันการแข่งขันตลาดเพลงสตรีมมิ่ง ตามคำร้องของ Spotify คณะกรรมการยุโรป (European Commission) ส่งจดหมายถึงแอปเปิล ให้รับทราบว่า EC ประเมินเบื้องต้น (preliminary view) ว่าแอปเปิลกีดกันการแข่งขันในตลาดเพลงสตรีมมิ่ง มุมมองของ EC คือ แอปเปิลใช้เงื่อนไขเรื่อง in-app purchase (IAP) บน App Store ทำให้บริการ Apple Music ของตัวเองได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากคำร้องเรียนของ Spotify ทำให้ EC เริ่มเข้ามาสอบสวนแอปเปิลในเดือนมิถุนายน 2020 และได้ข้อสรุป (เบื้องต้น) ว่าแอปเปิลกีดกันการแข่งขันจริง จากนโยบายบังคับ IAP ผ่าน App Store และห้ามนักพัฒนาแอพโฆษณาวิธีการจ่ายเงินทางอื่น การแจ้งของ EC เป็นการแจ้งข้อมูลให้แอปเปิลรับทราบเพื่อเตรียมตัวสู้คดีเท่านั้น กระบวนการสอบสวนของ EC ยังดำเนินต่อไป และจะมีข้อสรุปอย่างเป็นทางการตามมา ที่มา - European Commission
# Spectre กลับมาแล้ว ทีมวิจัยพบช่องโหว่ใหม่ ระบุหากแพตช์เครื่องจะช้าลงมาก ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียร์รายงานถึงช่องโหว่ซีพียูแบบเดียวกับช่องโหว่ Spectre/Meltdown อันโด่งดัง ทีมวิจัยอาศัยการสังเกต micro-op cache ภายในของซีพียูสามารถดึงข้อมูลความลับออกจากซีพียูได้ Spectre/Meltdown นั้นเป็นช่องโหว่ที่อาศัยการสังเกตพฤติกรรมซีพียูว่าตอบสนองต่อคำสั่งใดช้าเร็วเป็นพิเศษบ้าง ทำให้สามารถคาดเดาได้ว่าข้อมูลในหน่วยความจำส่วนที่คนร้ายไม่สามารถอ่านออกมาได้นั้น ที่จริงแล้วมีข้อมูลว่าอะไร micro-op เป็นแนวทางของซีพียูยุคใหม่ที่จะแตกคำสั่งออกเป็นคำสั่งย่อยๆ จำนวนมาก เพื่อให้ซีพียูสามารถเรียงคำสั่งให้เต็มประสิทธิภาพขึ้น ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่าทีมวิจัยมีเทคนิคในการโจมตีซีพียูด้วย micro-op cache นี้อย่างไรบ้าง แต่ทีมงานระบุว่าหากต้องปิดการทำงาน micro-op cache ไปจะทำให้ประสิทธิภาพซีพียูต่ำลงมาก และยังไม่แน่ชัดว่าทางผู้ผลิตซีพียูจะมีแนวทางแก้ช่องโหว่นี้อย่างไร ทีมงานได้นำเสนอรายละเอียดให้กับทีมงานจากอินเทลและเอเอ็มดีแล้วเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา และตัวรายงานเต็มได้รับให้นำเสนอในงานประชุมวิชาการ International Symposium on Computer Architecture เดือนมิถุนายนนี้ ที่มา - University of Virginia ภาพเวเฟอร์ซีพียู โดยอินเทล
# Titanfall 2 เปิดให้เล่นฟรีบน Steam ช่วงสุดสัปดาห์ วันนี้ ถึง 4 พฤษภาคมนี้ หลังกระแส Apex Legends Season 9 และการลดราคา ปลุกให้ยอดผู้เล่นสูงสุดของเกม Titanfall 2 เพิ่มขึ้นถึง 535% แต่ยังไม่พอ Steam จัดให้ทุกคนเล่น Titanfall 2 ได้ฟรีๆ ช่วงสุดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ เวลาเที่ยงคืน (ก่อนเช้าวันอังคาร) ตามเวลาประเทศไทย เกม Titanfall 2 เป็นเกมยิงที่ผู้เล่นจะได้เล่นเป็น “ไพล็อต” หรือผู้ขับขี่หุ่นยักษ์ที่เรียกว่า Titan และสามารถยิงถล่มทหารของศัตรูที่บังคับโดย AI เพื่อเก็บแต้มเรียกหุ่น และต่อสู้กับผู้เล่นอีกฝั่งที่เป็นไพล็อตได้ โดยมีจุดเด่นคือเกมที่เร็ว และการเคลื่อนไหวที่ผู้เล่นสามารถกระโดดสองต่อ พร้อมไต่กำแพงและยิงไปด้วยได้ ซึ่งเกมนี้เปิดตัวตั้งแต่ปี 2016 แต่เพิ่งมาอยู่บน Steam ในปี 2020 และมีผู้เล่นพุ่งขึ้นสูงในช่วงนี้ ที่มา - Steam
# ไมโครซอฟท์พบระบบปฎิบัติการ IoT จำนวนมากมีช่องโหว่ร้ายแรงเพราะฟังก์ชั่น malloc ไม่ตรวจสอบอินพุต ทีมความปลอดภัยไซเบอร์ Section 52 ของไมโครซอฟท์ที่มีหน้าที่วิจัยความปลอดภัยในอุปกรณ์กลุ่ม IoT รายงานถึงช่องโหว่ BadAlloc กลุ่มช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ IoT สำคัญๆ จำนวนมากที่ไม่ตรวจสอบอินพุตก่อนจองหน่วยความจำจนกลายเป็นช่องโหว่ heap overflow นำไปสู่การโจมตีแบบรันโค้ดระยะไกลหรือไม่ก็ทำให้อุปกรณ์แครชไปได้ ตัวอย่างของช่องโหว่ BadAlloc เช่น ฟังก์ชั่น malloc สำหรับจองหน่วยความจำเมื่อรับค่าขนาดหน่วยความจำที่ต้องการมาแล้วก็นำค่าเป็นบวกกับค่าคงที่ เช่น ขนาด struct สำหรับเก็บข้อมูล heap โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าขนาดหน่วยความจำใหญ่เกินไปหรือไม่ ทำให้เมื่อนำค่าไปบวกกับค่าคงที่ต่างๆ แล้วเกิด integer overflow ทำให้ค่าที่ได้วนกลับไปเริ่มจากศูนย์หรือติดลบ ทาง Section 52 แนะนำว่าผู้ใช้อุปกรณ์ IoT ควรติดตั้งแพตช์จากผู้ผลิตเสมอ, มอนิเตอร์การทำงานผ่านระบบเก็บ log, จำกัดการเข้าถึงอุปกรณ์ เช่น บังคับต้อง VPN ก่อน, แบ่งวงเน็ตเวิร์คออกจากวงอื่นๆ ซอฟต์แวร์ที่ยืนยันว่ามีช่องโหว่ BadAlloc มีซอฟต์แวร์ดังๆ หลายตัว เช่น Amazon FreeRTOS, ARM Mbed OS, Google Cloud IoT Device SDK, Linux Zephyr RTOS, Samsung Tizen RTOS, TencentOS-tiny ที่มา - Microsoft Security Response Center
# Riot Games จะบันทึกเสียง Voice Chat เพื่อแก้ปัญหาด่าทอ-เหยียด เริ่มที่ Valorant เกมแรก การคุยด้วยเสียงขณะเล่นเกมมัลติเพลเยอร์ (voice chat) กลายเป็นมาตรฐานไปแล้วในยุคสมัยนี้ สิ่งที่ตามมาคือปัญหาเรื่องด่าทอ กลั่นแกล้ง เกลียดชัง หรือเหยียดเพศ/เชื้อชาติ ซึ่งแก้ไขได้ยากกว่าบริการโซเชียลที่เน้นข้อความ (แบบ Facebook) เพราะไม่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาดักจับคำพูดที่เป็นเสียงได้ง่ายนัก อีกทั้งเป็นการสนทนาสดๆ ไม่ได้มีบันทึกเสียงไว้ย้อนฟังภายหลัง ล่าสุด Riot Games เจ้าของเกมยิง Valorant ประกาศแก้ปัญหานี้ด้วยการบันทึกเสียงพูดขณะเล่นเกม เพื่อใช้วิเคราะห์ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น หากมีผู้เล่นรายงานปัญหาเข้ามา Riot Games บอกว่าจำเป็นต้องปรับแก้เงื่อนไข Privacy Notice และ Terms of Service เพื่อให้ผู้เล่นยอมรับการบันทึกเสียงด้วย บริษัทยืนยันว่าไม่ได้ฟังเสียงผู้เล่นตลอดเวลา และจะมาเปิดฟังเมื่อได้รับแจ้งปัญหาเท่านั้น หากผู้เล่นไม่ต้องการให้บันทึกเสียง มีทางเดียวคือต้องปิดฟีเจอร์ voice chat นโยบายนี้ยังมีผลเฉพาะเกม Valorant เพียงเกมเดียวเท่านั้น ส่วนเกมอื่นๆ ของค่ายคือ League of Legends, Teamfight Tactics, Legends of Runeterra, Wild Rift ก็จะประกาศข่าวตามมาในอนาคต ที่มา - Riot Games
# Google ออกกฎใหม่สำหรับแอปบน Google Play: ระบุชื่อแอปและหัวข้อให้ชัดเจน, ห้ามใส่อีโมจิหรืออันดับ Google ออกกฎใหม่สำหรับการตั้งชื่อแอป, ชื่อผู้พัฒนา, รูปภาพไอคอนของแอป และภาพพรีวิวของตัวแอปบน Google Play โดยเป้าหมายคือเพื่อลดการตั้งชื่อแอปแบบชี้นำไปในทางที่ผิดเพื่อหลอกล่อให้ผู้ใช้ดาวน์โหลด ซึ่ง Google จะเริ่มบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ Google ระบุว่า ชื่อแอปจะต้องไม่ยาวกว่า 30 ตัวอักษร โดยจะต้องระบุชื่อและหัวข้อของแอปให้ชัดเจน ห้ามใช้คีย์เวิร์ดระบุชื่อผู้พัฒนา, โปรโมชั่น, อันดับที่ในสโตร์ และอื่น ๆ ทั้งในชื่อแอปและภาพไอคอน รวมถึงจะห้ามใส่กราฟิกที่ชี้นำผู้ใช้ในทางที่ผิด และไม่อนุญาตให้ใช้ตัวอักษรเพื่อดึงดูดความสนใจ เช่น ตัวอักษรใหญ่ทั้งหมด (มีข้อยกเว้นให้ใช้ได้หากเป็นชื่อแบรนด์), อีโมจิ หรืออักขระพิเศษ ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ Google จะไม่อนุญาตให้แอปขึ้น Google Play นอกจากนี้ Google ยังกำหนดด้วยว่าพรีวิวที่ส่งเข้ามาจะต้องเป็นตัวอย่างของแอปและเกมอย่างถูกต้อง, ให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อผู้ใช้ในการตัดสินใจติดตั้ง, ห้ามใช้ buzzword เช่น free, best หรืออื่น ๆ รวมถึงจะต้องอ่านง่ายด้วย ซึ่งแอปที่ไม่ปฏิบัติตาม Google จะไม่โปรโมตแอปให้ และจะไม่แนะนำแอปผ่านทางหน้าหลักอย่างเช่นหน้าโฮมของแอปหรือเกมบน Google Play ด้วย ที่มา - Android Developers Blog ภาพจาก Google
# ระดมกำลังทั้งค่าย Activision โยกสตูดิโอ Crash Bandicoot มาช่วยทำ Call of Duty Activision ประกาศโยกบริษัทลูก Toys for Bob สตูดิโอที่พัฒนาเกม Crash Bandicoot 4 มาร่วมพัฒนาเกม Call of Duty: Warzone เกมแนว battle royale ในจักรวาล Call of Duty ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มียอดดาวน์โหลดเกิน 100 ล้านครั้ง ทิศทางของ Activision (ไม่นับฝั่ง Blizzard) ในช่วงหลังนั้นชัดเจนมากๆ ว่าไม่สนใจทำเกมอื่นเลยนอกจากตระกูล Call of Duty ที่ทำรายได้มหาศาล มีผู้เล่นรวมกัน 148 ล้านคนต่อเดือน ปัจจุบัน Call of Duty มีเกมอยู่ 4 เกมหลักคือ Call of Duty: Modern Warfare (2019) มี Infinity Ward เป็นสตูดิโอหลัก Call of Duty: Black Ops Cold War มี Treyard เป็นสตูดิโอหลัก Call of Duty: Warzone มี Infinity Ward ร่วมพัฒนากับ Raven Software Call of Duty: Mobile พัฒนาโดย TiMi Studios ของ Tencent ช่วงหลัง สตูดิโออื่นๆ ในเครือ Activision ที่เคยทำเกมซีรีส์อื่น ถูกโยกมาช่วยงานสนับสนุน Call of Duty แทบทั้งหมด เช่น Beenox, High Moon และล่าสุดคือ Toys for Bob ด้วย หากดูรายชื่อเกมของ Activision ในช่วงหลัง มีแต่ Call of Duty และซีรีส์ Crash/Spyro ที่พัฒนาโดย Toys for Bob เท่านั้น เมื่อ Toys for Bob ที่เชี่ยวชาญเกมแนวการ์ตูน ถูกโยกมาทำเกมสงคราม Call of Duty แล้วก็เรียกได้ว่าเราแทบไม่มีโอกาสเห็นเกมชื่ออื่นจาก Activision ในอนาคตอันใกล้นี้ กรณีของค่ายคู่แข่ง EA ก็มีทิศทางคล้ายๆ กันคือ โยกสตูดิโอที่ทำ Need for Speed มาช่วยทำ Battlefield เช่นกัน Nicholas Kole อดีตพนักงานของ Toys for Bob โพสต์ถึงข่าวการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า ถือเป็นจุดสิ้นสุดของ Toys for Bob ยุคเดิมแล้ว ที่มา - Eurogamer
# dtac ไตรมาส 1/2564 รายได้รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 2.29 แสนเลขหมาย ดีแทครายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 รายได้รวม 20,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากไตรมาสเดียวกันในปี 2563 ปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ในการขายโทรศัพท์และชุดเลขหมาย รวมทั้งรายได้จากค่าเช่าเครือข่าย 2300MHz จาก TOT มีกำไรสุทธิ 822 ล้านบาท จำนวนผู้ใช้งานบริการรวม 19.1 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 2.29 แสนเลขหมายจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของลูกค้าระบบเติมเงิน และมีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย IC (ARPU) 248 บาทต่อเดือน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย จำนวนสถานีฐานบนเครือข่าย 2300MHz อยู่ที่ประมาณ 20,700 สถานีฐาน มีจำนวนผู้ใช้งาน 4G 12.6 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 66% ของลูกค้ารวม ส่วนบริการ 5G พร้อมเปิดให้บริการใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี และจะขยาย 5G ไปยังพื้นที่อื่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ที่มา: ดีแทค (pdf)
# AIS ไตรมาส 1/64 รายได้โต 7% ลูกค้ามือถือกลับมาโต 1.3 ล้านราย ไฟเบอร์ยังโตต่อ AIS แถลงผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2021 หรือ 1/2564 ภาพรวมคือรายได้ 45,861 ล้านบาท เติบโต 7% จากไตรมาส 1/2020 กำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) 22,580 ล้านบาท ลดลง 0.9% และกำไรสุทธิ 6,644 ล้านบาท ลดลง 1.7% ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ รายได้รวมลดลง 3.2% แต่ฐานลูกค้ากลับมาเติบโตถึง 1.33 ล้านรายในไตรมาสเดียว ลูกค้าแบบเติมเงินโตถึง 8.88 แสนราย ตอนนี้ AIS มีลูกค้าแพ็กเกจ 5G เป็นจำนวน 7.19 แสนราย เพิ่มขึ้นอย่างมากจากไตรมาส 4/2020 ที่มีเพียง 2.39 แสนราย และยังเป็นไปตามเป้าที่ 1 ล้านรายภายในสิ้นปี 2021 ธุรกิจบรอดแบนด์ของ AIS ก็ยังร้อนแรง เติบโตขึ้นทุกไตรมาส ตอนนี้มีฐานลูกค้า 1.43 ล้านราย เพิ่มมาอีก 9.5 หมื่นรายในไตรมาสนี้ ครองส่วนแบ่งตลาดบรอดแบนด์ไทยประมาณ 12% ธุรกิจลูกค้าองค์กร (enterprise) ที่ไม่ใช่โทรศัพท์ กลับมาเติบโตไตรมาสละ 10% เท่ากับช่วงก่อน COVID แล้ว ที่มา - AIS (PDF)
# ชวนร่วมสัมมนา Salesforce กับบทบาทผู้บริหารไอที ในการผลักดันองค์กรเข้าสู่ Digital-first COVID-19 ทำให้ Digital Transformation กลายเป็นแนวทางภาคบังคับ ดังนั้นเราจึงเห็นองค์กรต่าง ๆ พยายามปรับตัวสูงสุดเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่เนื่องด้วยเทคโนโลยีมีหลากหลายระดับ หากองค์กรไหนนำเทคโนโลยีที่ล้าหลัง หรือไม่ตอบโจทย์มาใช้ จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และผลประกอบการได้อย่างคาดไม่ถึง มีผลสำรวจน่าสนใจจาก Salesforce ที่ทำร่วมกับ YouGov Galaxy บริษัทวิจัยตลาดจากประเทศอังกฤษ โดยมีการทำแบบสำรวจเรื่องการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร ผ่านการสัมภาษณ์ออนไลน์กับพนักงานออฟฟิศกว่า 3,000 คน และสัมภาษณ์เชิงลึกกับ CIO (Chief Information officer) หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจทางด้านไอทีกว่า 75 ราย ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจากผลสำรวจดังกล่าว พบแนวคิดที่น่าสนใจ และมีประโยชน์ต่อแนวทางการตัดสินใจของผู้บริหารองค์กรเป็นอย่างยิ่ง จากผลสำรวจ พบว่า เทคโนโลยีที่ล้าหลัง ส่งผลกระทบต่อ performance ของพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพของบริษัท และชื่อเสียงทางธุรกิจ ได้รับผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจทางด้านไอที ไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของพนักงานในเรื่องของการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ได้มากพอ เมื่อผู้นำทางด้านไอที ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปกระบวนการทางด้านไอที จะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ผู้นำที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี เพื่อการปรับปรุงประสบการณ์ทำงานของพนักงาน จะสามารถมองเห็นผลลัพธ์ทางธุรกิจที่จับต้องได้ โซลูชันของ Salesforce คือกุญแจสำคัญขององค์กร เพื่อมุ่งสู่โลกแห่ง Digital-first ปัจจุบัน ด้วยความคาดหวังของพนักงานในองค์กรที่สูงมากขึ้น และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปจนถึงปัญหาการขาดแคลนเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ด้วยโซลูชันของ Salesforce จะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ที่สุด เพื่อผลักดันองค์กรไปสู่ความสำเร็จ โซลูชันของ Salesforce จะสามารถพัฒนาศักยภาพการทำงานร่วมกันภายในองค์กรได้ ดังนี้ การเชื่อมต่อพนักงานทั้งองค์กรภายใต้แพลตฟอร์มเดียว ลดเวลาการล็อกอินไปมาระหว่างแอปพลิเคชั่น เพิ่ม productivity ในการทำงานได้มากกว่า 29% ใช้ AI หรือแชทบ็อท เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่พนักงานได้เร็วขึ้นถึง 31% ประหยัดเวลาในการพัฒนา appliaction เพื่อใช้ภายในองค์กรได้ถึง 57% เข้าร่วมงานสัมมนาดี ๆ จาก Salesforce ในหัวข้อ “สรรหาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ เพื่อก้าวสู่การทำงานแห่งอนาคต” เพื่อยกระดับและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงานในองค์กร ผ่านการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จาก Salesforce Platform สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้เลย ที่นี่
# Arm โชว์ข้อมูล Neoverse N2 ซีพียูตัวแรกที่ใช้สถาปัตยกรรมใหม่ Arm v9 Arm เปิดตัวพิมพ์เขียวซีพียูตัวแรกที่ใช้สถาปัตยกรรม Arm v9 เวอร์ชันใหม่ล่าสุด มันคือซีพียูเซิร์ฟเวอร์ Arm Neoverse N2 ที่เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกันยายน 2020 (แต่ตอนนั้นไม่ได้บอกว่าเป็น Arm v9) Arm Neoverse N2 พัฒนาต่อยอดมาจาก Neoverse N1 ที่ออกในปี 2019 (เป็น Arm v8.4) โดยผนวกเอาฟีเจอร์ของสถาปัตยกรรมยุคหลังจากนั้นคือ Arm v8.5, v8.6, v9 ของใหม่ที่สำคัญของ Arm v9 คือชุดคำสั่งเวกเตอร์ SVE2 ซึ่งจะมีใน Neoverse N2 เป็นตัวแรกด้วย ในแง่ของประสิทธิภาพแบบเธร็ดเดียวเพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับ N1 (ที่ระดับพลังงานเดียวกัน) ตัวเลขของ Arm เองระบุว่ารัน Nginx แล้วประสิทธิภาพดีขึ้น 1.3 เท่า บริษัทที่สั่งซื้อพิมพ์เขียวของ Neoverse N2 แล้วคือ Marvell ที่จะทำตลาดในชื่อชิป OCTEON สำหรับอุปกรณ์เครือข่าย โดยจะออกสินค้าตัวอย่างได้ในช่วงปลายปี 2021 นอกจาก Neoverse N2 แล้ว Arm ยังมีซีพียูอีกตัวคือ Neoverse V1 ที่จับตลาดเซิร์ฟเวอร์สมรรถนะสูงขึ้น (performance-first) โดยไม่สนใจเรื่องพลังงานเท่ากับซีรีส์ N Neoverse V1 ใช้สถาปัตยกรรมที่เก่ากว่า 1 ขั้นคือ Arm v8.6 และรองรับชุดคำสั่ง SVE เวอร์ชัน 1 เท่านั้น แต่ก็มีฟีเจอร์หลายอย่างที่เหมาะกับงานฝั่งเซิร์ฟเวอร์ เช่น nested virtualization/hypervisor และชนิดของข้อมูล/ชุดคำสั่งที่เหมาะกับงาน machine learning (เช่น ตัวแปรชนิด Int8 และ Bfloat16) ลูกค้าที่สั่งซื้อพิมพ์เขียว Neoverse V1 ไปแล้วคือ กระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และไอทีของอินเดีย (MeitY) ที่จะนำไปใช้สร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระดับ exascale ที่มา - Arm (N2), Arm (V1), Arm
# ผลสำรวจงาน GDC นักพัฒนา 44% ทำเกมเสร็จล่าช้าเพราะ COVID-19 แต่อยู่บ้านทำงานได้ดีขึ้น GDC (Game Developers Conference) งานสัมมนาสำหรับนักพัฒนาเกม ออกรายงานผลการสำรวจภายในงาน ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน หนึ่งในหัวข้อการสำรวจ เป็นคำถามว่า “เกมที่นักพัฒนาเหล่านั้นทำอยู่ ล่าช้าเพราะการระบาดของไวรัส COVID-19 หรือไม่” โดยนักพัฒนากว่า 44% ตอบว่าใช่ อีก 49% ไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนอีก 7% ไม่มีเกมที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน แม้สัดส่วนผู้ได้รับผลกระทบจะยังต่ำกว่า (44% ต่อ 49%) แต่ก็เพิ่มขึ้นจาก 33% ที่ GDC สำรวจช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว แปลว่าผลกระทบของ COVID-19 ต่อวงการเกม มีมากขึ้น และอาจมีเกมที่ต้องเลื่อนวันวางจำหน่ายเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ ผลสำรวจอีกหมวด ถามว่าการทำงานจากบ้านส่งผลกระทบถึงพลังความคิดสร้างสรรค์และปริมาณงานที่ทำได้มากแค่ไหน พบว่านักพัฒนาส่วนใหญ่ทำงานได้ดีขึ้นมาก ดีขึ้นหรือเท่าเดิม รวมกันราว 67% ส่วนอีก 24% ทำงานได้แย่ลง และ 8% บอกว่าทำงานได้แย่ลงมาก แปลว่าปัจจัยหลักในการทำงานที่ล่าช้า อาจมาจากการที่ไม่สามารถเดินทางได้ และปัญหาด้านการสื่อสารมากกว่าตัวเนื้องานจริงๆ ตามที่นักพัฒนาหลายคนได้ให้ความเห็นไว้ในรายงาน นอกจากนี้ในรายงานยังมีผลสำรวจอื่นๆ เช่น มีนักพัฒนาเห็นด้วยกับส่วนแบ่ง 30% ให้ร้านค้าออนไลน์ แค่ 3% เท่านั้น ส่วนใหญ่ต้องการส่วนแบ่ง 10-15%, แพลตฟอร์มยอดนิยมของนักพัฒนา ที่ยังเป็นพีซีอยู่ ตามมาด้วย iOS, Android และ PS5 ผู้ที่สนใจสามารถกรอกข้อมูลและดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ ที่ลิงก์นี้ ที่มา - GDC
# ไบเดนเสนอตั้งหน่วยวิจัยสุขภาพ ARPA-H ใช้โมเดลเดียวกับ DARPA ที่สร้างอินเทอร์เน็ต ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงผลงานต่อรัฐสภาสหรัฐในโอกาสทำงานครบ 100 วัน ประเด็นที่น่าสนใจคือเขาเสนอตั้งหน่วยงานวิจัยแบบเดียวกับ DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ แต่มีภารกิจด้านสุขภาพและการแพทย์แทน ไบเดน อ้างถึงผลงานของ DARPA ที่ก่อตั้งในปี 1958 ว่าถึงแม้เป็นหน่วยงานด้านการทหาร มีภารกิจด้านความมั่นคง แต่ผลจากงานวิจัยของ DARPA ก็สร้างคุโณปการต่อโลกเทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น อินเทอร์เน็ตและ GPS ในโอกาสที่สหรัฐต้องการเพิ่มงบวิจัยเพื่อแข่งกับประเทศอื่นๆ และประเด็นเรื่องสุขภาพกลายเป็นวาระหลักของโลก เขาจึงเสนอให้ตั้ง Advanced Research Projects Agency for health (ARPA-H) ขึ้นมาในลักษณะเดียวกัน โดยจะให้อยู่ภายใต้ National Institutes of Health ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านสาธารณสุขของสหรัฐ ในแผนงบประมาณของไบเดน ได้เสนอตั้ง ARPA-H ด้วยงบประมาณ 6.5 พันล้านดอลลาร์ และยังมีข้อเสนอตั้งอีกหน่วยงานแบบเดียวกันคือ ARPA-C สำหรับภารกิจด้าน climate crisis ภายใต้กระทรวงพลังงานสหรัฐด้วยเช่นกัน ข้อเสนอตั้ง ARPA-H ของไบเดน จำเป็นต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาสหรัฐก่อน ที่มา - Whitehouse, New Scientist
# Netflix เปิดใช้งานปุ่ม Play Something แก้ปัญหาคนใช้เวลาบนหน้า Home นานเกินไป ปัญหาคนไม่รู้จะดูอะไร และทำให้ใช้เวลาบนหน้า Home นานเกินความจำเป็น ถือเป็น pain point ของผู้ใช้งาน Netflix มานาน จน Netflix ทำการทดลองปุ่ม Shuffle Play หรือ Play Something ถ้าไม่รู้จะดูอะไร ก็ให้ Netflix เลือกมาให้เสียเลย ล่าสุด Netflix ประกาศใช้งานปุ่ม Play Something อย่างเป็นทางการ ตัวปุ่มอยู่ในส่วนหนึ่งของแถบเมนูทางซ้ายมือ เมื่อกดแล้ว Netflix จะแสดงเนื้อหาขึ้นมาให้ทันที ซึ่งจะต่างจากการเล่นวิดีโอทันทีในหน้า Home เพราะในหน้า Home จะเล่นแค่ตัวอย่างหนังให้ดู ในขณะที่ยังมองเห็นแคตตาล็อกหนังเรื่องอื่นๆ อยู่ แต่ Play Something จะเล่นหนังและซีรีส์ให้ดูตั้งแต่เริ่มต้น โดยระบบยังเแสดงปุ่ม Play Something Else ไว้ที่ด้านขวา เผื่อในกรณีที่ผู้ใช้ไม่ชอบเนื้อหาที่ Netflix เลือกมา ให้ความรู้สึกเหมือนดูทีวีแล้วเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ Netflix ไม่ได้บอกว่าเลือกเนื้อหาจากพฤติกรรมคนดู หรือจากปัจจัยใด และมีโอกาสที่จะเลือกเนื้อหาที่เคยดูไปแล้วหรือไม่ ที่มา - Netflix
# VMware ระบุ Fusion บน M1 รันอิมเมจ x86 ไม่ได้, อาจจะรันวินโดวส์ได้แต่ไมโครซอฟท์ไม่ขายไลเซนส์ Michael Roy ผู้จัดการฝ่ายสินค้าเดสก์ทอปของ VMware เขียนบล็อกเล่าถึงความคืบหน้าของการพัฒนา VMware Fusion สำหรับเครื่องที่ใช้ซีพียู Apple M1 ว่าทีมงานสามารถบูตลินุกซ์บน Fusion ได้เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะออกรุ่น Technology Preview ให้ผู้ใช้ทั่วไปได้ภายในปีนี้ แม้ว่าตัว Fusion จะทำงานได้แล้ว แต่แพ็กเกจ open-vm-tools ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำงานสลับไปมาระหว่าง host และ guest ได้ดีขึ้นนั้นยังไม่รองรับสถาปัตยกรรม aarch64 (Armv8) เต็มรูปแบบและโครงการ ESXi บน Arm ที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้วนั้น ผู้ใช้ต้องคอมไพล์แพ็กเกจนี้ด้วยตัวเองเสมอ ซึ่งไม่สะดวกสำหรับลูกค้าเดสก์ทอป อย่างไรก็ดี Roy ระบุถึงข้อจำกัดของ Fusion รุ่นนี้ว่าทีมงานตัดสินใจไม่รองรับอิเมจ x86 โดยตรงเนื่องจากการใช้งานจริงมีประโยชน์จำกัด และหากผู้ใช้ต้องการจำลองเครื่อง x86 จริงๆ ก็ใช้ Qemu ที่เป็นโครงการโอเพนซอร์สได้ สำหรับวินโดวส์นั้นแม้ทุกวันนี้ไมโครซอฟท์จะมีอิมเมจวินโดวส์สำหรับสถาปัตยกรรม aarch64 แต่เปิดให้ใช้งานเฉพาะซีพียูของไมโครซอฟท์เองหรือ Snapdragon และ host ต้องเป็น Windows 10 Pro หรือ Windows 10 Enterprise เท่านั้น ไม่มีตัวเลือกซื้อไลเซนส์มารันบน Apple M1 ทำให้ไม่มีทางรันได้ (อย่างถูกกฎหมาย) ทาง VMware กำลังติดต่อไมโครซอฟท์เพื่อขอความเห็นเรื่องนี้ว่าจะสามารถเปิดให้ผู้ใช้นำมารันได้หรือไม่ และหากไมโครซอฟท์ยอมทาง VMware ก็น่าจะพร้อมซัพพอร์ตในอนาคต ที่มา - VMware