txt
stringlengths 202
53.1k
|
---|
# ยูทูเบอร์ดังๆ เริ่มเปิดแพลตฟอร์มวิดีโอตัวเอง ทำเงินจากแฟนคลับโดยตรงผ่านการจ่ายรายเดือน
BBC สัมภาษณ์ยูทูเบอร์ดังๆ บางราย พบว่าคนที่ดังมากๆ แล้วบน YouTube เริ่มเปิดแพลตฟอร์มวิดีโอของตนเอง ทำเงินจากแฟนคลับโดยตรงไม่ว่าจะเป็นวิธีการระดมทุนหรือจ่ายค่าบริการรายเดือน ด้วยเหตุผลหลายอย่างคือ YouTube ยังเต็มไปด้วย Hate Speech, อัลกอริทึมการแนะนำวิดีโอบนฟีด และยังมีปัญหาระหว่างครีเอเตอร์กับ YouTube บ่อยครั้งเรื่องรายได้โฆษณา
ภาพจาก Floatplane
Linus Sebastian คือหนึ่งในยูทูเบอร์ชาวแคนาดาที่ดังจากเนื้อหา IT ปัจจุบันมีคนติดตามช่องของเขากว่า 13 ล้านราย เปิดตัวแพลตฟอร์มของตัวเองในชื่อว่า Floatplane ในมุมของเขาคือไม่ได้ก่อตั้งมาเพื่อให้เป็นศัตรูกับ YouTube แต่สร้างขึ้นเพื่อให้แฟนตัวจริงจ่ายเงินให้ครีเอเตอร์ที่ตัวเองชอบโดยตรง ซึ่งตอนนี้ยอดผู้ใช้งานก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ก่อตั้งมีความตั้งใจจะให้โตขึ้นช้าๆ และไม่ลงทุนมากเกินไป
ช่อง Corridor ทำเนื้อหาเกี่ยวกับเทคนิคทำหนังทั้งงานวิชวลเอฟเฟกต์ งานสตั๊นแมน เป็นต้น ก่อตั้งโดย Sam Gorski และ Niko Pueringer มีคนติดตามช่อง 8.77 ล้านราย ก่อตั้งอีกแพลตฟอร์มแยกออกมาคือ Corridor Digital ใช้วิธีเก็บค่าดูรายเดือน 4 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ตัวผู้ก่อตั้งยอมรับว่า รายได้จะไม่มากเท่าที่ทำได้บน YouTube แต่การทำแพลตฟอร์มของตัวเองคือสิ่งที่ควบคุมได้มากกว่า
ภาพจาก Corridor Digital
Nebula คืออีกแพลตฟอร์มวิดีโอที่เริ่มติดตลาด เป็นแหล่งรวมครีเอเตอร์ เสนอเครื่องมือดิจิทัลให้ครีเอเตอร์ทำเนื้อหารูปแบบออริจินัลคอนเทนต์ และเก็บค่าบริการรายเดือน 5 ดอลลาร์ ทางบริษัทบอกว่าจนถึงตอนนี้มีสมาชิกใช้งาน 2 แสนรายแล้ว แพลตฟอร์มก่อตั้งโดย Dave Wiskus เขาบอกว่าการเริ่มต้นธุรกิจบน YouTube เหมือนกับการเปิดร้านใหม่ในศูนย์การค้า แต่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่า วันไหนที่ทางศูนย์การค้าจะย้ายร้านค้าของเราไปในที่ที่ไม่มีคนเดินหรือเปล่า
ภาพจาก Nebula
Jordan Harrod นักศึกษาแพทย์หนึ่งในครีเอเตอร์ของ Nebula บอกว่า เธอทำเนื้อหาเกี่ยวกับจรรยาบรรณ AI และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งดูไม่ใช่เนื้อหาที่เข้ากันได้กับ YouTube เธอประเมินว่ารายได้จจาก Nebula นั้นใกล้เคียงกันกับสิ่งที่เธอได้รับจากโปรแกรม AdSense ของ Google
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการพัฒนาแพลตฟอร์มทางเลือกนอกจาก YouTube มีมานานแล้ว และเป็นหนทางที่ไม่ง่าย ในปี 2016 มีอีกแพลตฟอร์มเกิดขึ้นคือ Fullscreen รวมเนื้อหาจากยูทูเบอร์ดังสายตลกอย่าง Jack Howard และ Dean Dobbs แต่ก็ปิดตัวลงไปในปี 2017 และยังมีแพลตฟอร์ม Vessel ที่ปิดตัวลงในสองปี นอกจากนี้ผู้ลงโฆษณา ก็ยังชอบการลงโฆษณาในพื้นที่ที่มีคนเห็นเยอะมากกว่า
ที่มา - BBC |
# ว่าที่ซีอีโอ Qualcomm บอกปัญหาชิปขาดแคลนจะดีขึ้นปลายปี 2021, ยืนยันไม่สร้างโรงงานเอง
Cristiano Amon วาที่ซีอีโอคนใหม่ของ Qualcomm ที่จะรับตำแหน่งแทน Steve Mollenkopf ซีอีโอคนปัจจุบัน ช่วงกลางปีนี้ ให้สัมภาษณ์กับ CNET ในหลายประเด็น
ประเด็นแรกคือปัญหาขาดแคลนชิปที่เป็นวาระใหญ่ของโลกตอนนี้ Amon บอกว่าเกิดจากโรงงานต้องปิดในช่วง COVID ระบาดใหม่ๆ และความต้องการชิปกลับมาสูงเกินคาดเพราะกระแส work from home บวกกับอุปกรณ์ชนิดใหม่ๆ เช่น รถยนต์ยุคใหม่ที่ต้องใช้งานชิปมากขึ้น
Amon ชี้ว่าปัญหาชิปขาดแคลนจะค่อยๆ ดีขึ้นช่วงปลายปี 2021 เมื่อบริษัทรับจ้างผลิตชิปขยายความสามารถในการผลิตได้บ้างแล้ว ซึ่งปกติต้องใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือน เขายังยืนยันว่า Qualcomm จะไม่สร้างโรงงานผลิตชิปเอง เพราะเก่งเรื่องออกแบบชิป แต่การผลิตชิปเป็นความเชี่ยวชาญคนละแบบกัน
เขายังอธิบายเหตุผลที่ Qualcomm ทุ่มเงินซื้อบริษัทออกแบบชิป Nuvia เมื่อเร็วๆ นี้ว่า พิมพ์เขียวชิปมาตรฐานของ ARM เริ่มไม่ตอบโจทย์เรื่องประสิทธิภาพแล้ว Qualcomm จึงต้องพัฒนาชิปเอง และวิจารณ์ดีล NVIDIA ซื้อ ARM ว่าควรให้ ARM รักษาความเป็นอิสระต่อไป เพราะจริงๆ แล้ว NVIDIA ไม่จำเป็นต้องซื้อ ARM ก็สามารถเดินหน้าตามแผนของตัวเองได้
ที่มา - CNET, ภาพจาก Qualcomm |
# ไมโครซอฟท์เริ่มทดสอบใช้งานบราวเซอร์ Edge Chromium บน Xbox แล้ว
ไมโครซอฟท์เริ่มทดสอบใช้งานบราวเซอร์ Edge Chromium บน Xbox แล้ว ผู้ใช้งานกลุ่ม Alpha Skip-Ahead สามารถเข้าใช้งานได้เลย การทดสอบใช้งานช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงเว็บไซต์อื่นๆ บนคอนโซล Xbox One หรือ Xbox Series S / X เข้าถึงเกมในรูปแบบ web base ได้ หรือเข้าใช้งานเว็บไซต์ Discord ได้ดียิ่งขึ้น
การใช้งาน Edge Chromium ยังช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึง Stadia ของกูเกิลได้อีกด้วย ซึ่งก็เป็นความสามารถจากเอนจิ้น Chromium แต่การใช้งานบน Xbox นั้นจะยังไม่สามารถซัพพอร์ตการใช้เมาส์และคีย์บอร์ดได้อย่างเต็มที่
ที่มา - The Verge |
# Nikon เปิดตัว NX Studio ซอฟต์แวร์จัดการและตกแต่งภาพสำหรับผู้ใช้ Nikon
Nikon เปิดตัว NX Studio โปรแกรมสำหรับจัดการและปรับแต่งรูปภาพสำหรับ Mac และ Windows สามารถโปรเซสภาพได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว พร้อมให้ดาวน์โหลดฟรีสำหรับผู้ใช้ Nikon
ตัว NX Studio ทาง Nikon ระบุว่าเป็นการรวมความสามารถของทั้ง ViewNX-I (ซอฟต์แวร์สำหรับจัดการ) และ Capture NX-D (ซอฟต์แวร์สำหรับโปรเซส) เป็นซอฟต์แวร์เดียวที่ช่วยให้ทำได้ทั้งสองอย่างในตัวเดียว ทำให้เวิร์คโฟลวโดยรวมเหมือนกัน Lightroom และ Capture One ที่สามารถจบทุกอย่างได้ในตัว โปรเซสรูปภาพได้หลายรูปแบบ เช่น JPG, TIFF, NEF (ไฟล์ RAW ของ Nikon) เป็นต้น รวมถึงอินทิเกรตกับบริการอื่น ๆ อย่าง Nikon Image Space บริการแชร์รูปภาพและสตอเรจได้ หรือจะอัพโหลดขึ้น YouTube ก็ได้เช่นกัน
Nikon NX Studio ดาวน์โหลดได้ที่นี่ สามารถติดตั้งได้บน Windows 8.1 หรือใหม่กว่า ส่วน Mac สามารถติดตั้งได้ตั้งแต่ macOS Mojave 10.14 หรือใหม่กว่า โดยกรณีของ Mac หากใช้ซีพียู Apple Silicon ตอนนี้จะไม่สามารถรันแบบเนทีฟได้ แต่จะเป็นการรันผ่านอีมูเลเตอร์ Rosetta 2
ที่มา - Nikon USA, dpreview
ภาพจาก Nikon |
# Adobe ประกาศจัดงาน MAX 2021 วันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ เป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด
Adobe ประกาศรายละเอียดงานสัมมนาประจำปีซึ่งมักจะเป็นอีเว้นท์ปล่อยของใหม่ของบริษัทหรือ Adobe MAX ซึ่งมักจะจัดในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี และในปีนี้ Adobe ก็ประกาศจัดงานในวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ เป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมดเช่นเดียวกับปีที่แล้ว
จุดเด่นของงาน Adobe MAX คือเป็นงานสัมมนาที่เน้นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท และจัดเวิร์คชอปสำหรับผู้ที่เข้าร่วมงาน โดยในปี 2019 ทางบริษัทจัดที่เมือง Los Angeles ซึ่งบัตรเข้าร่วมงานอยู่ที่ 1,895 ดอลลาร์ หรือเกือบหกหมื่นบาท แต่เนื่องจากปีที่แล้วจนถึงปีนี้ยังคงมีการจำกัดการเดินทาง จึงทำให้ Adobe ต้องเลือกจัดงานออนไลน์อีกครั้ง และผู้สนใจสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
สำหรับสถิติของ Adobe MAX ปีที่ผ่านมา วิดีโอของ Adobe มีผู้ชมทั้งหมด 21 ล้านครั้ง จากผู้เข้าชมกว่า 2.2 ล้านราย โดยมีเซสชั่น, แล็บ และเวิร์คชอปกว่า 350 รายการ สามารถดูย้อนหลังได้ที่นี่
ที่มา - Adobe Blogs, dpreview
ภาพจาก Adobe Blogs |
# Huawei ตอบประเด็น HarmonyOS คือ Android ว่าคนเข้าใจโอเพนซอร์สผิดไป
เว็บไซต์ Huawei Central อ้างบทสัมภาษณ์ของ Wang Chengdu ผู้บริหารฝ่ายซอฟต์แวร์ของ Huawei Consumer กับสื่อจีน ในประเด็น HaymonyOS คือ Android ที่ตัดคำว่า AOSP ออก
คำตอบของ Chengdu คือ "การบอกว่า AOSP คือฐานรากของ HongmengOS และ Huawei แค่เปลี่ยนสกินของ OS เท่านั้น แปลว่าทุกคนเข้าใจความหมายของโอเพนซอร์สผิดไป" เขายังบอกว่าโค้ดส่วนใหญ่ใน AOSP มาจากชุมชนโอเพนซอร์ส และระบุว่า HongmengOS จะใช้โค้ดจากชุมชนเหล่านี้
ทั้งนี้ คำตอบของ Chengdu ที่ Huawei Central นำมาสรุปยังไม่ค่อยชัดเจนนัก และยังไม่พบเว็บไซต์อื่นที่รายงานข่าวนี้โดยตรง
ที่มา - Huawei Central, ภาพจาก Huawei |
# แคนาดาประกาศลงทุนปรับระบบขนส่งมวลชนทั่วประเทศเป็นพลังงานไฟฟ้าในระยะเวลา 5 ปี
รัฐบาลแคนาดาประกาศลงทุนระบบขนส่งมวลชนเพื่อแปลงเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมดทั่วประเทศในระยะเวลา 5 ปี มูลค่ากว่า 2.75 พันล้านดอลลาร์แคนาดา โดยจะเริ่มต้นดำเนินงานในปีนี้
เป้าหมายของโครงการนี้คือทางรัฐบาลแคนาดาต้องการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะและเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยส่วนหนึ่งของแผนคือทางรัฐบาลจะสนับสนุนการซื้อรถประจำทางและรถโรงเรียนเป็นรถแบบใหม่เป็นรถที่ไม่ปล่อยไอเสีย และการลงทุนครั้งนี้จะเป็นการสร้างงานในประเทศแคนาดาในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตเพื่อให้แข่งขันกับธุรกิจประเภทเดียวกันในระดับโลกได้ด้วย
สำหรับโครงการรถยนต์ไฟฟ้านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอัพเกรดระบบขนส่งสาธารณะของประเทศวงเงิน 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์ของนายกรัฐมนตรี Justin Trudeau ซึ่งจะคอยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านระบบขนส่งให้เทศบาล, บริษัทขนส่ง และโรงเรียนทั่วประเทศ
ที่มา - Government of Canada, Engadget
ภาพจาก jameswheeler/Pixabay |
# Jack Dorsey เปิดประมูลข้อความแรกของ Twitter ราคาสูงสุดตอนนี้ 2.5 ล้านดอลลาร์
Jack Dorsey ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Twitter เปิดประมูลข้อความทวีตข้อความแรกของโลก ซึ่งเป็นข้อความที่เขาโพสต์ในปี 2006 ว่า "just setting up my twttr" (ชื่อในขณะนั้น)
แนวทางการประมูลของ Dorsey ใช้วิธีขายสิทธิผ่าน Non-Fungible Token (NFT) โทเคนที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ ที่กำลังนิยมอยู่ในขณะนี้ นั่นแปลว่าข้อความต้นฉบับจะยังคงอยู่บน Twitter เช่นเดิม แต่ผู้ชนะการประมูลจะได้สิทธิความเป็นเจ้าของผ่าน NFT และได้ใบรับรองดิจิทัลที่เซ็นแบบดิจิทัลโดย Dorsey เอง
Dorsey นำข้อความของเข้าขึ้นประมูลบนเว็บไซต์ Valuables ตอนนี้ราคาประมูลล่าสุดอยู่ที่ 2.5 ล้านดอลลาร์
ข้อความต้นฉบับ
ข้อความชวนประมูล
ที่มา - BBC |
# เกิดอะไรขึ้นที่อินเทล ตอนที่ 2: ทำไมอินเทลไป 10 นาโนเมตรยาก แต่ TSMC ทำได้
ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ปัญหาที่ทุกคนสงสัยคงเป็นว่าทำไมอินเทลติดหล่ม 14 นาโนเมตรอยู่หลายปี มาถึงวันนี้ (ต้นปี 2021) ยังก้าวไม่ถึง 10 นาโนเมตรได้สมบูรณ์ 100% เลยด้วยซ้ำ แถมแผนการผลิตชิป 7 นาโนเมตรก็ล่าช้ากว่ากำหนด
ในทางกลับกัน คู่แข่งสายโรงงานผลิตชิปทั้ง TSMC และซัมซุง สามารถผลิตชิประดับ 7 นาโนเมตรได้ก่อนแล้วหลายปี (Radeon VII ที่ผลิตโดย TSMC 7nm ออกต้นปี 2019) ตอนนี้ยังเริ่มผลิตชิปที่ 5 นาโนเมตรได้แล้ว
อะไรคือความแตกต่างระหว่างอินเทลกับคู่แข่ง คำตอบของคำถามนี้ต้องย้อนไปดูพัฒนาการของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กันก่อน
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ มีทุกอย่างในตัว vs รับจ้างผลิตอย่างเดียว
ในอดีต บริษัทผลิตชิปชั้นนำมักมีโรงงานผลิตชิปของตัวเอง เพื่อให้ควบคุมปริมาณการผลิตและต้นทุนได้ การมีเทคโนโลยีฝั่งการผลิตของตัวเองถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญในการแข่งขัน เพราะเทคโนโลยีการออกแบบชิป (design) นั้นผูกพันกับการผลิต (manufacturing) อย่างแนบแน่น บริษัทกลุ่มนี้เรียกว่า integrated device manufacturer (IDM) ทุกอย่าง integrated เข้าด้วยกันตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
อินเทลถือเป็นเรือธงของบริษัทที่ใช้แนวคิด "ออกแบบ-ผลิต" ทำทุกอย่างเอง ตั้งแต่สถาปัตยกรรม (x86) ชุดคำสั่ง และการผลิต แนวทาง vertical integration นี้ถือเป็นจุดแข็งของอินเทล และส่งผลให้อินเทลกลายเป็นราชาแห่งโลกซีพียูมายาวนาน
แต่นอกจากอินเทล ยังมีบริษัทอื่นๆ อีกมากที่เคยใช้แนวทางนี้ เช่น คู่แข่งหน้าเดิมๆ AMD, Texas Instruments, Motorola (ที่ทำ PowerPC), ยักษ์ใหญ่ IBM (จำ Cell ซีพียูพลิกโลกกันได้ใช่ไหมครับ) หรือบริษัทฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Toshiba, Hitachi, NEC ล้วนแต่มีโรงงานผลิตชิปกันมาก่อนทั้งนั้น
ในอดีต บริษัทเหล่านี้ถือเป็นผู้ผลิตชิป "ชั้นนำ" ที่มีดีไซน์ของตัวเอง ผลิตเอง ขายเอง สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่ามาก ซึ่งมักเป็นบริษัทฝั่งตะวันตกหรือญี่ปุ่น บริษัทบางแห่งอาจเลือกเปิดรับออเดอร์จ้างผลิตจากบริษัทอื่นบ้าง (เช่น ชิปของ Cyrix ผลิตที่โรงงานของ TI และ IBM)
ในอีกด้าน เรามีบริษัทผลิตชิป "ชั้นรอง" ที่ไม่มีดีไซน์ของตัวเอง จึงต้องรับงานจ้างผลิตชิปแบบพื้นๆ เทคโนโลยีไม่สูงมาก (เช่น ชิปที่ตกรุ่นไปแล้ว ใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ทันสมัยมาก หรือชิปสำหรับอุปกรณ์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ต้องล้ำเท่าพีซี) โมเดลรับจ้างผลิตมีอัตรากำไรต่ำกว่า บริษัทกลุ่มนี้มักอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา (ในสมัยนั้น) เช่น ไต้หวัน (TSMC, UMC, Vanguard), เกาหลีใต้ (Dongbu), สิงคโปร์ (Chatered), จีน (SMIC), อิสราเอล (Tower) เป็นต้น
บริษัทกลุ่มที่สองมีชื่อเรียกรวมๆ ว่า Pure-play รับจ้างผลิตอย่างเดียว ไม่ออกแบบชิปเองเลย ชิปที่บริษัทกลุ่มนี้รับจ้างผลิต มักเป็นชิปที่ไม่ต้องเป็นเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุด (อย่างที่ซีพียูคอมพิวเตอร์ต้องเป็น) เช่น อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์อุตสาหกรรม หน่วยความจำ เป็นต้น
แผนที่แสดงโรงงานผลิตชิปทั่วโลกของอินเทล ภาพจาก Intel
กฎข้อที่สองของมัวร์ ราคาโรงงานผลิตชิปจะแพงขึ้นเรื่อยๆ
คนในแวดวงไอทีคงคุ้นเคยกับ "กฎของมัวร์" (Moore's law) ของกอร์ดอน มัวร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอินเทล ที่สังเกตพบว่าปริมาณทรานซิสเตอร์ในชิปจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 2 ปี กฎข้อนี้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนวงการเซมิคอนดักเตอร์มาตลอด
แต่จริงๆ แล้ว กอร์ดอน มัวร์ยังมีกฎอีกข้อ ที่เรียกกันเล่นๆ ว่ากฎข้อที่สองของมัวร์ (Moore's second law) ที่บอกว่า "ต้นทุนของโรงงานผลิตชิปจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 4 ปี" (กฎข้อนี้มีอีกชื่อว่า Rock's Law เรียกตาม Arthur Rock หนึ่งในนักลงทุนคนแรกของอินเทล ที่สังเกตพบเรื่องนี้เช่นกัน)
กฎของมัวร์ทั้งสองข้อถือเป็นด้านกลับซึ่งกันและกัน ในทางหนึ่ง จำนวนทรานซิสเตอร์ในชิปจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความหนาแน่นสูงขึ้น ตัวทรานซิสเตอร์จึงต้องมีขนาดเล็กลง
แต่ในอีกทางหนึ่ง ขนาดทรานซิสเตอร์ที่เล็กลง ทำให้ต้นทุนในการผลิตชิปเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เพราะต้องใช้เครื่องจักรและกลไกการผลิตที่ซับซ้อนมากขึ้น มีปัญหาเรื่องอัตราผลิตสำเร็จ (yield) เพิ่มขึ้น
ถ้าลองเทียบตัวเลขแบบหยาบๆ โรงงานของอินเทล Fab 22 ในแอริโซนา ที่เริ่มก่อสร้างในปี 2000 (ผลิตชิป 22nm ภายหลังอัพเกรดเป็น 14nm) ใช้เงินลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ (อ้างอิงจากเว็บอินเทล) ส่วนโรงงานใหม่ล่าสุด Fab 42 ในเมืองเดียวกัน ผลิตชิป 10nm/7nm สร้างเสร็จในปี 2020 ใช้เงินลงทุนถึง 7 พันล้านดอลลาร์ (อ้างอิงจาก Tom's Hardware) เรียกว่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อยๆ 3 เท่า
คลิปวิดีโอของอินเทลเอง พาทัวร์ Fab 42
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ Fabless
การที่โรงงานผลิตชิปมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ย่อมส่งผลให้มีบริษัทชิปที่ไปต่อไม่ไหว กรณีของอินเทลที่เป็นเบอร์หนึ่งของวงการมายาวนาน มีกำไรอู้ฟู่เสมอมา ย่อมไม่มีปัญหานี้ แต่คู่แข่งระดับรองๆ ที่ไม่รวยแบบอินเทล ก็เริ่มไม่สามารถลงทุนโรงงานในระดับหลายพันล้านดอลลาร์อีกแล้ว
AMD คือตัวอย่างที่ดีที่สุดของการเปลี่ยนแปลงนี้ ในฐานะเบอร์สองที่ตามหลังอินเทลแบบห่างมากๆ และเคยมีสถานการณ์การเงินย่ำแย่อยู่พักใหญ่ๆ AMD จึงไม่สามารถไปต่อในโมเดล vertical integration ได้อีกแล้ว ในช่วงปี 2008-2009 เราจึงเห็น AMD แยกบริษัท GlobalFoundries ออกมาเป็นอิสระ ทำหน้าที่รับจ้างผลิตชิปอย่างเดียว (pure-play) ในขณะที่ AMD กลายเป็นบริษัทออกแบบชิปอย่างเดียว ไม่มีโรงงานของตัวเอง (fabless)
ยุทธศาสตร์การแยกบริษัททำให้ AMD เป็นอิสระและคล่องตัวขึ้นมาก สามารถไปจ้างโรงงานที่ไหนผลิตชิปให้ก็ได้ (ซึ่งในระยะเวลาต่อมา เราเห็น AMD ไปจ้าง TSMC) ในขณะเดียวกัน GlobalFoundries ก็มีความอิสระขึ้นเช่นกัน เปลี่ยนสถานะเป็นโรงงานรับจ้างผลิตอย่างเดียว และภายหลัง AMD ก็ขายหุ้นทั้งหมดใน GlobalFoundries ด้วย ทำให้ GlobalFoundries แยกขาดจาก AMD อย่างสมบูรณ์
อีกบริษัทที่เดินตามแนวทางนี้คือ IBM ซึ่งในอดีตเป็น vertical integration แบบสุดๆ เช่นกัน ตั้งแต่เป็นเจ้าของสถาปัตยกรรมเอง (Power) ไปจนถึงเป็นเจ้าของโรงงานเอง แต่พอโมเดลนี้เดินต่อไปไม่ได้ IBM ก็ขายโรงงานผลิตชิปให้ GlobalFoundries ในปี 2014 (แถมเป็นการขายแบบขาดทุนด้วย) หลุดพ้นจากธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์เช่นกัน
ภาพโรงงานผลิตชิปของ IBM เมื่อปี 2005 ที่ตอนนั้นถูกยกย่องว่าก้าวหน้าที่สุดในโลก - IBM
ในอีกทาง อุตสาหกรรมรับจ้างผลิตชิปแบบ pure-play ก็เริ่มค้นพบฐานลูกค้าใหม่ๆ คือ บริษัทออกแบบชิปรุ่นใหม่ที่ทำงานออกแบบชิปอย่างเดียว ไม่มีโรงงานเป็นของตัวเอง (fabless)
ตัวอย่างบริษัท fabless ที่โดดเด่นที่สุดในยุคแรกคือ NVIDIA ที่ค้นพบตลาดเกิดใหม่ (จีพียู) ทำให้ไม่ต้องไปแข่งขันโดยตรงกับยักษ์ใหญ่แบบอินเทล
NVIDIA เริ่มต้นจากการเป็นสตาร์ตอัพ (ก่อตั้งในปี 1993) ย่อมไม่มีเงินไปลงทุนสร้างโรงงานเองแน่ๆ บริษัทมีดีอย่างเดียวคือดีไซน์ จึงต้องใช้วิธีจ้างผลิต โดย GeForce 256 รุ่นแรกที่ออกในปี 1999 เลือกใช้โรงงานของ TSMC ที่ตอนนั้นใช้กระบวนการผลิต 220 นาโนเมตร ส่วนบริษัทผลิตชิปในรุ่นหลังที่ใช้โมเดลนี้ โดดเด่นที่สุดย่อมหนีไม่พ้น Apple กับชิปตระกูล A Series ของ iPhone นั่นเอง
การจับคู่ระหว่างบริษัท pure-play และ fabless กลับกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว สมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย บริษัทออกแบบ (fabless) ไม่ต้องลงทุนเยอะ ในขณะที่บริษัทผลิต (pure-play) รวมออเดอร์เยอะพอคุ้มค่าแก่การสร้างโรงงานราคาแพง ทำให้พันธมิตร pure-play + fabless สามารถต่อสู้กับ IDM แบบดั้งเดิมได้
ภาพจาก Stratechery
TSMC ตำนานแห่งไต้หวัน เบอร์หนึ่งของโลก Pure-play
หาก NVIDIA เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของบริษัท fabless แท้ๆ ฝั่งของบริษัท pure-play ที่โดดเด่นที่สุดย่อมหนีไม่พ้น TSMC หรือชื่อเต็ม Taiwan Semiconductor Manufacturing Company
TSMC ก่อตั้งในปี 1987 โดย Morris Chang ชาวไต้หวันที่เคยทำงานเป็นผู้บริหารของ Texas Instruments นานถึง 25 ปี แล้วจึงกลับไต้หวันมาก่อตั้ง TSMC ถือเป็นต้นแบบของบริษัทรับจ้างผลิตชิป pure-play ยุคแรก
TSMC เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน (ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์กลางด้านเซมิคอนดักเตอร์ของโลกไปแล้ว) บริษัทใช้เวลาเพียง 10 ปี ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นบริษัทไต้หวันรายแรกที่ขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้สำเร็จ
ลูกค้าของ TSMC เป็นบริษัทผลิตชิปจากทั่วโลก ที่เคลื่อนย้ายตามกระแส offshoring แสวงหาโรงงานผลิตที่ต้นทุนถูกลง ข้อมูลเก่าที่สุดที่ผมสามารถหาได้คือ รายงานประจำปีของ TSMC ในปี 1994 ที่ระบุว่าสัดส่วนลูกค้า 57% มาจากสหรัฐอเมริกา กลุ่มสินค้าที่รับจ้างผลิตมีตั้งแต่ SRAM, DRAM, CMOS, ASIC เป็นต้น
ในทศวรรษ 2000 บริษัทรับจ้างผลิตได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่างจีพียูของ NVIDIA แต่พอเข้าทศวรรษ 2010s บริษัทก็เจอตลาดที่ใหญ่กว่ามากๆ นั่นคือชิปสำหรับสมาร์ทโฟน
บริษัทที่ผลิตชิปเกี่ยวกับการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น Broadcom, Qualcomm, Marvell, MediaTek, Apple ล้วนแต่เป็นลูกค้าของ TSMC ด้วยเหตุผลข้างต้นว่า โรงงานผลิตชิปมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ การทุ่มเงินผลิตย่อมไม่คุ้มค่า การออกแบบชิปเอง เป็นบริษัทแบบ fabless แล้วมาจ้างบริษัทแบบ TSMC ผลิตให้ ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามากในแง่ต้นทุน
โครงสร้างรายได้ของ TSMC ปี 2005 - TSMC
โครงสร้างรายได้ของ TSMC ปี 2010 - TSMC
โครงสร้างรายได้ของ TSMC ปี 2015 - TSMC
จะเห็นว่า TSMC ได้ลูกค้าทั้งกลุ่มซีพียู จีพียู และสมาร์ทโฟน ทั้งหมดเป็นตลาดที่เติบโตอย่างมากในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดวัฏจักรขาขึ้น (virtuous cycle) ทำให้บริษัทมีรายได้มั่นคง สามารถนำเงินไปลงทุนสร้างโรงงานใหม่ที่มีเทคโนโลยีการผลิตดีขึ้น เพื่อรับงานผลิตชิปรุ่นใหม่ๆ ที่ก้าวหน้าขึ้น มีรายได้เพิ่มเข้ามาอีกไปเรื่อยๆ
วัฏจักรความรุ่งเรืองของ TSMC ส่งผลให้เทคโนโลยีการผลิตของบริษัทก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว บนเว็บไซต์ของ TSMC ประกาศ "วิสัยทัศน์" ของบริษัทไว้ 3 ข้อ โดยข้อแรกสุดคือบอกว่า ต้องการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ที่สามารถแข่งขันกับบริษัท IDM ชั้นแนวหน้าได้ (be a technology leader, competitive with the leading IDMs)
มาถึงตอนนี้แล้วคงไม่ต้องเดาว่า "บริษัท IDM ชั้นแนวหน้า" ที่ว่านี้คือใคร
เป้าหมายของ TSMC บริษัทที่มีเทคโนโลยีการผลิตชิปก้าวหน้าที่สุดในโลก... อินเทล
TSMC แซงหน้าอินเทลได้อย่างไร
อินเทลและ TSMC ถือเป็นตัวอย่างของโมเดลบริษัทผลิตชิปที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยอินเทลเป็นเบอร์หนึ่งของบริษัท IDM ที่มีครบทุกอย่างมายาวนาน ในขณะที่ผู้ท้าชิง TSMC อาศัย economy of scale รวมพลังของบริษัท fabless จำนวนมาก ก้าวขึ้นมาท้าทายอินเทลได้สำเร็จ
หมายเหตุ: อีกบริษัทที่ขึ้นมาท้าทายอินเทลได้ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตคือ Samsung Semiconductor เพียงแต่โมเดลของซัมซุงต่างไป เพราะมีผลิตภัณฑ์ชิปของตัวเองด้วย (เช่น แรม สตอเรจ เซ็นเซอร์กล้อง ซีพียู) ต้องถือว่าซัมซุงเป็นบริษัท IDM ที่เปิดรับออเดอร์จากบริษัทอื่นด้วย ในขณะที่อินเทลเป็น IDM แบบไม่รับจ้างคนอื่นเลย กรณีของซัมซุงจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้มากนัก
หากดูข้อมูลย้อนหลัง อินเทลสามารถออกชิป 14 นาโนเมตรได้ในปี 2014 (Broadwell) แต่ในปี 2014 ปีเดียวกัน TSMC ยังทำชิปได้เล็กที่สุดที่ 20 นาโนเมตรเท่านั้น (ข้อมูลจาก TSMC Q4/2014)
ในปี 2015 TSMC ก็ยังทำได้ที่ 16 นาโนเมตร และเริ่มผลิต 10 นาโนเมตรเป็นจำนวนมากได้จริงๆ ในปี 2017
หากดูแผนการเดิมของอินเทลที่ตั้งเป้า 10 นาโนเมตรในปี 2016 จะเห็นว่าตอนนั้นอินเทลยังนำหน้า TSMC อยู่พอสมควร (นี่ยังไม่นับเรื่องปัจจัย "นาโนเมตร" ของแต่ละบริษัทไม่เท่ากัน ซึ่งจะกล่าวต่อไป) นั่นแปลว่าถ้าอินเทลไม่พลาดเอง TSMC คงไม่สามารถเอาชนะอินเทลได้ง่ายนัก
คำถามคือ ในช่วงปี 2014-2015 อินเทลนำหน้าไปไกลกว่า TSMC ไปนานพอสมควร ทำไมอินเทลถึงไปต่อไม่ได้ และติดขัดอยู่หลายปีจนถูกแซง
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องเข้าใจคำนิยามเรื่อง "นาโนเมตร" กันก่อน
ภาพจาก Intel
นาโนเมตรของเราไม่เท่ากัน
ตัวเลขกระบวนการผลิตที่เรียกกันตามตัวเลข "นาโนเมตร" เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวงการเซมิคอนดักเตอร์มานาน แต่ในรอบทศวรรษหลัง เมื่อชิปมีความซับซ้อนมากขึ้น แพ็กเกจชิปหนึ่งตัวประกอบด้วยชิปหลากหลายประเภทที่ทำหน้าที่คนละอย่าง ทรานซิสเตอร์ในชิปตัวเดียวกันกลับใช้กระบวนการผลิตไม่เท่ากัน การเรียกว่าชิปตัวนี้ผลิตที่กระบวนการขนาดไหน เริ่มกลายเป็นสิ่งที่ยากขึ้น
"นาโนเมตร" จึงกลายเป็นศัพท์ทางการตลาด มากกว่าคำนิยามในทางเทคนิคจริงๆ
ตัวเลขอื่นที่อาจเหมาะสมกว่าในการวัดระดับเทคโนโลยีการผลิตชิป จึงเป็นความหนาแน่น (transistor density) ที่วัดเป็นจำนวนชิปต่อตารางมิลลิเมตร (transistors/mm2)
หากดูข้อมูลเปรียบเทียบในแหล่งที่ค่อนข้างเป็นกลาง (Wikipedia) จะเห็นว่าที่กระบวนการผลิตระดับ 14 นาโนเมตร ความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์ฝั่งอินเทลเยอะที่สุด (37.5 ล้านตัวต่อตารางมิลลิเมตร) ใกล้เคียงกับตัวเลขของ GlobalFoundries ในขณะที่ตัวเลขของ TSMC น้อยกว่าพอสมควร (28.8 ล้านตัว)
พอลดขนาดลงมาเหลือ 10 นาโนเมตร (GlobalFoundries เริ่มลงทุนไม่ไหวแล้ว โลกเหลือแค่ 3 ราย) จะเห็นว่าตัวเลขของฝั่ง TSMC และซัมซุงค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่อินเทลกระโดดไปไกลถึงระดับ 100 ล้านตัวต่อตารางมิลลิเมตร หรือมากกว่ากันเกือบ 2 เท่า - Wikipedia
ฝ่ายที่เสียประโยชน์จาก "การตลาดนาโนเมตร" อย่างอินเทลย่อมออกมาแก้ความเข้าใจผิดนี้ ในปี 2017 (นับเป็นเวลาสองปี หลังจาก 10 นาโนเมตรผิดแผน) อินเทลออกโพสต์ที่ชื่อว่า Let’s Clear Up the Node Naming Mess เสนอให้ใช้การวัดความหนาแน่นทรานซิสเตอร์เป็นมาตรฐานของวงการ แทนการระบุเลขนาโนเมตร (ซึ่งแน่นอนว่าข้อเรียกร้องของอินเทลไม่เป็นผล)
จากกราฟจะเห็นว่าความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์ในยุค 10nm ของอินเทล เพิ่มขึ้นจาก 14 นาโนเมตรแบบก้าวกระโดดมาก และนี่คือเหตุผลว่าทำไมอินเทลไป 10 นาโนเมตรไม่สำเร็จสักที เพราะเป็นการตั้งเป้าที่สูงเกินไปมากนั่นเอง
เท่านั้นยังไม่พอ หากเราดูการผลิตระดับ 7 นาโนเมตรในปัจจุบัน จะเห็นว่าตัวเลขความหนาแน่นของ TSMC หรือซัมซุง ยังน้อยกว่า 10 นาโนเมตรของอินเทลด้วยซ้ำ
นั่นแปลว่าถ้าพิจารณาจากตัวเลขความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์เพียงอย่างเดียว สิ่งที่อินเทลพยายามทำกับ 10 นาโนเมตรในปี 2016 ก็เทียบได้กับ TSMC ทำ 7 นาโนเมตร ในช่วงปี 2018
ภาพจาก Wikichip
10 นาโนเมตร ผู้มาก่อนกาล
ทั้งหมดที่กล่าวมาเพื่อชี้ให้เห็นว่า อินเทลในปี 2016 นำหน้า TSMC อยู่พอสมควร แต่เลือกจะ "ก้าวกระโดดครั้งใหญ่" ด้วย 10 นาโนเมตรที่มีความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์สูงมาก
ในขณะที่ TSMC และซัมซุงเลือกแนวทางค่อยๆ เดิน ใช้วิธีเดินมาทีละก้าว จนมาถึง 7 นาโนเมตรที่เทียบได้กับ 10 นาโนเมตรของอินเทล มาถึงวันนี้ก็พิสูจน์ชัดแล้วว่าวิธีการของ TSMC และซัมซุงถูกต้องเหมาะสมกว่า
แต่บริษัทระดับอินเทลพลาดกันง่ายๆ อย่างนี้เลยหรือ
นอกจากปัจจัยเรื่องการตั้งเป้าทรานซิสเตอร์หนาแน่น 100 ล้านตัวที่ "ทะลุเพดาน" ไปมากแล้ว ผมคิดว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้แผน 10 นาโนเมตรของอินเทลผิดพลาด คือตัวเทคโนโลยีการผลิตเอง
ในโลกของทรานซิสเตอร์ที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ปัญหาเรื่องความแม่นยำ (accuracy) ของการผลิตขาของทรานซิสเตอร์ย่อมยากขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบันต้องใช้เทคนิคการพิมพ์ (lithography) ตัวแผ่นวงจรด้วยแสง-รังสี หรือที่เรียกว่า photolithography กันแล้ว (เพราะไม่มีเครื่องมืออื่นที่เล็กขนาดนั้นแล้ว)
ภาพจาก Intel
เทคนิคสำคัญที่ใช้ในยุค 7 นาโนเมตรคือ extreme ultraviolet lithography (EUV หรือ EUVL) เป็นการใช้รังสีอัลตร้าไวโอเล็ตความเข้มข้นสูงกว่าปกติมาก ความยาวคลื่น 13.5 นาโนเมตร เกือบเท่ารังสี X-ray แล้ว (ก่อนยุค EUV เป็นยุคของ DUV หรือ deep ultraviolet)
เทคนิค EUVL มีข้อจำกัดสูง มีความซับซ้อนสูง ต้องอยู่ในสภาพสุญญากาศ ต้องใช้พลังงานมาก และที่สำคัญมีราคาแพงมาก!
บริษัทที่เป็นแกนกลางของโลกเซมิคอนดักเตอร์ยุคใหม่คือ ASML จากเนเธอร์แลนด์ ที่สร้างเครื่องยิง EUVL มาขายให้เหล่าโรงงานผลิตชิปอีกทีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอินเทล, TSMC, ซัมซุง ล้วนแต่ใช้เครื่องของ ASML ด้วยกันทั้งสิ้น
เครื่อง EUVL ของ ASML มีราคาแพงถึงระดับเครื่องละ 100 ล้านดอลลาร์ และ ASML มีกำลังการผลิตเครื่องได้จำนวนจำกัดในแต่ละปีด้วย (ปัจจุบันมีเครื่อง EUVL เพียงแค่หลักไม่กี่สิบเครื่องในโลก) เรียกได้ว่าแพง แถมต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ง่ายๆ อีกด้วย
หน้าตาเครื่อง EUVL รุ่นล่าสุดของ ASML
บริษัทอย่างอินเทลมองข้ามเทคโนโลยี EUVL หรือไม่? ก็ไม่ใช่แบบนั้นอีก เพราะในปี 2012 ทั้งสามบริษัทต่างเข้ามาลงทุนใน ASML เพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยี EUVL เพื่ออนาคตภายภาคหน้า โดยอินเทลเคยเข้าไปลงทุนเป็นเงิน 4 พันล้านดอลลาร์ ซื้อหุ้น 10% ใน ASML ด้วย - EE Times
เมื่อเทคโนโลยี EUVL เริ่มเดินหน้าได้ ทั้งสามบริษัทก็ลดจำนวนหุ้นของตัวเองใน ASML ลง และลดความสัมพันธ์จากการเป็นเจ้าของ มาเป็นคู่ค้าเพียงอย่างเดียว
ถ้าอินเทลรู้จัก EUVL มาตั้งแต่แรก ทำไมอินเทลไม่ใช้ EUVL คำตอบคือเรื่องของช่วงเวลา
ในตอนที่อินเทลอยากไป 10 นาโนเมตรในปี 2015-2016 เทคโนโลยี EUVL ยังไม่พร้อม ทำให้อินเทลเลือกเดินหน้าต่อด้วยเทคโนโลยีเดิม (multi-patterning) ไปก่อน บนเว็บไซต์อินเทลยังมีโพสต์ถึง EUVL ในปี 2016 ที่บอกว่าเป็นการเดินทางระยะไกล
เทคนิคของอินเทลเรียกว่า Hyper Scaling มันคือการยัดทรานซิสเตอร์จำนวน 2.7 เท่าจากเดิมลงในพื้นที่เดิม เมื่อเทียบกับการผลิตระดับ 14 นาโนเมตร
แต่เมื่อแผน Hyper Scaling ของอินเทลทะเยอทะยานเกินไป จนการผลิตระดับ 10 นาโนเมตรเกิดปัญหาขึ้นมา ในโลกของเซมิคอนดักเตอร์ที่การลงทุนสร้างโรงงานมีราคาแพงมากๆ การที่อินเทลจะสร้างโรงงานใหม่ เปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่ ก็คงไม่ง่ายนัก ได้แต่ต้องเดินหน้าต่อไปด้วยเทคโนโลยีเดิม เพราะลงทุนไปมากแล้ว
ในขณะที่ TSMC และซัมซุงตามมาทีหลัง ด้วยแผนการที่ไม่ทะเยอทะยานเท่ากับอินเทลในตอน 10 นาโนเมตร และเมื่อโลกเข้าสู่ระดับ 7 นาโนเมตรอย่างรวดเร็ว (ด้วยปัจจัยเรื่องตลาดเกิดใหม่ ทั้งจีพียูและมือถือ ที่เป็นลูกค้าของ TSMC/ซัมซุง ช่วยให้มีกำลังเงินขยายโรงงานได้รวดเร็วขึ้นมาก) เทคโนโลยี EUVL ก็มีความพร้อมแล้ว
หมายเหตุ: ปัจจุบัน อินเทลมี EUVL แล้ว แถมยังเคยเปิดให้ Engadget เข้ามาดูโรงงานที่มี EUVL ในปี 2020 ตามคลิปด้านล่าง แต่ความพร้อมในระดับผลิตจำนวนมากมีแค่ไหนก็เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อไป
บทสรุป: การต่อสู้กันของสองโมเดลการผลิต
ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมอินเทลถึงไม่สามารถก้าวข้ามจาก 14 นาโนเมตรได้สักที คำตอบคือเกิดจากปัจจัยหลายอย่างผสมกัน ทั้งมาก่อนกาล ทั้งทะเยอทะยานเกินไป ทั้งโมเดลการผลิตแบบ IDM ที่ปรับเปลี่ยนตัวเองได้ช้ากว่า พอพลาดแล้วเลยกลับตัวลำบาก
ในทางกลับกัน บริษัทรับจ้างผลิตแบบ TSMC เกิดจากปัจจัยเรื่องชิปประเภทใหม่ๆ (จีพียู/มือถือ), ความสัมพันธ์กับบริษัท fabless ที่เปิดให้ทุกคนเติบโตได้, และการขยับขยายโรงงานผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดดแบบอินเทล
เมื่อกระบวนการผลิตของอินเทล ผูกกับแผนการออกซีพียูใหม่อย่างแนบแน่น (ตามโมเดล Tick-Tock ที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว) การออกซีพียูใหม่ที่เป็นหัวใจสำคัญของบริษัทจึงติดขัดตามไปด้วย
เรียกได้ว่า อินเทลมาพลาดเอาจุดที่เป็นแกนกลางสำคัญของทุกสิ่ง พอพลาดแล้วก็เลยสะเทือนไปทั้งบริษัทเลยทีเดียว
แต่นี่ยังเป็นเพียงแค่ปัญหาข้อเดียวของอินเทลในรอบ 10 ปีให้หลังเท่านั้น
อินเทลยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตกขบวนจีพียู การพลาดโอกาสของชิปมือถือ รวมถึงปัจจัยด้านการบริหาร ค่านิยมในองค์กร ฯลฯ แม้กระทั่งปัญหาซีอีโอต้องลาออกเพราะผู้หญิง ซึ่งเราจะกล่าวถึงประเด็นเหล่านี้กันใน ตอนที่สาม
หมายเหตุ: เราอาจเปรียบเทียบว่าเป็นการต่อสู้กันของโมเดล 3 แบบคือ pure-play (TSMC), IDM แบบดั้งเดิม (อินเทล), IDM แบบเปิดรับลูกค้าภายนอก (ซัมซุง) ส่วนกรณีของ GlobalFoundries ถือเป็นเบอร์สองของ pure-play แต่ก็หลุดสมการไปแล้วเพราะลงทุน 7 นาโนเมตรไม่ไหว แสดงให้เห็นว่าวงการนี้แข่งขันสูง และมีราคาแพงแค่ไหน
บทความนี้เน้นไปที่การต่อสู้กันของ 2 โมเดลที่สุดปลายคือ TSMC และอินเทลเป็นสำคัญ ส่วนกรณีของซัมซุงที่เป็น IDM แบบลูกผสมนั้นถือเป็นกรณีค่อนข้างเฉพาะ และซัมซุงเองก็มีธุรกิจอื่นอีกจำนวนมากที่เป็นปัจจัยผันแปรด้วย (เช่น นำกำไรจากธุรกิจอื่นมาสนับสนุนธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์) ทำให้การวิเคราะห์ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ของซัมซุงโดยตรงทำได้ยาก
หมายเหตุ 2: สำหรับผู้ที่สนใจปัญหา 10 นาโนเมตรของอินเทล บทความที่ให้รายละเอียดได้ดีมากคือ EE Times ที่มี 2 ตอน ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 |
# Apple ขึ้นข้อความหน้าสั่งซื้อ iMac Pro "จนกว่าผลิตภัณฑ์จะหมด" ไม่สามารถปรับสเป็กได้
มีผู้พบว่าในหน้าสั่งซื้อ iMac Pro บนเว็บของแอปเปิล ได้เพิ่มข้อความว่า "จนกว่าผลิตภัณฑ์จะหมด" และตัวเลือกในการสั่งซื้อมีเฉพาะสเป็กพื้นฐานเท่านั้น ไม่สามารถเลือกปรับแต่งฮาร์ดแวร์เพิ่มเติมได้ ซึ่งอาจแปลว่าแอปเปิลเตรียมหยุดผลิตและจำหน่าย iMac Pro รุ่นนี้แล้ว
iMac Pro รุ่นล่าสุดเปิดตัวเมื่อปี 2017 แต่ก็วางขายจริงในช่วงปลายปี ที่ราคาเริ่มต้น 172,900 บาท และมีรุ่นที่อัพเดตซีพียูวางขายเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้มีข่าวลือออกมาเป็นระยะว่าแอปเปิลเตรียมออก iMac Pro รุ่นใหม่ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไป
ที่มา: MacRumors |
# Visual Studio Code 1.54 รองรับ Apple Silicon แล้ว
Visual Studio Code ออกเวอร์ชัน 1.54 รอบอัพเดตเดือนกุมภาพันธ์ 2021 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ
รองรับ Apple Silicon แบบเสถียรแล้ว โดยไบนารีเวอร์ชันแมคเป็น Universal ใช้ได้ทั้งสองสถาปัตยกรรมซีพียู
โพรเซส terminal จะถูกคืนค่ากลับมาเหมือนเดิม หากเรารีโหลดหน้าต่างใหม่
notebook จะรีโหลดข้อมูลใหม่ หากไฟล์บนดิสก์เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้การใช้ notebook ร่วมกับ version control ง่ายขึ้นมาก
timeline view รองรับการเปรียบเทียบ commit ตลอดทั้ง Git history
รองรับภาษา TypeScript เวอร์ชัน 4.2.2
ที่มา - VS Code |
# Coursera สตาร์ทอัพ EdTech ยื่นเอกสารเตรียมไอพีโอเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กแล้ว
Coursera สตาร์ทอัพ EdTech พัฒนาแพลตฟอร์มรวมคอร์สออนไลน์ได้ยื่นเอกสาร S-1 แก่ ก.ล.ต. สหรัฐฯ เพื่อเตรียมไอพีโอแล้ว โดยบริษัทเตรียมจะออกจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กโดยใช้สัญลักษณ์ซื้อขาย COUR
ธุรกิจหลักของ Coursera คือพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรวมคอร์สเรียนพร้อมรับวุฒิการศึกษาจากคอร์สเรียนออนไลน์ โดยปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยและบริษัทชื่อดังเข้าร่วมหลายแห่ง มีคอร์สให้เรียนหลากหลาย ตั้งแต่ด้านธุรกิจ, เทคโนโลยี, วิทยาการข้อมูล และอื่น ๆ ซึ่งธุรกิจของ Coursera เติบโตสูงมากในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มมียอดการสมัครเรียนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้นเนื่องจากแผนประเภท freemium และค่าใช้จ่ายด้านการตลาด
รายได้ของ Coursera ในปี 2020 โตขึ้น 59% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่บริษัทยังมีผลประกอบการขาดทุนที่ 66.8 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผลประกอบการของบริษัทขาดทุนเพิ่มขึ้นราว 20 ล้านดอลลาร์ทุกปี โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทางบริษัทมีผู้เรียนที่ได้รับวุฒิการศึกษาแล้วกว่า 12,000 คน ส่วนยอดการสมัครในปีที่แล้วเติบโตขึ้น 65% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
Coursera ก่อตั้งโดย Daphne Koller และ Andrew Ng อาจารย์วิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 2012 และตอนนี้แพลตฟอร์มมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมบนแพลตฟอร์มกว่า 150 แห่ง พร้อมให้บริการคอร์สเรียนกว่า 4,000 คอร์ส ซึ่งจุดขายคือให้วุฒิการศึกษาในราคาที่ถูกกว่า รวมถึงมีคอร์สฝึกทักษะด้านอาชีพให้บริการด้วย
ที่มา - CNBC
ภาพจาก Coursera |
# บริษัทผลิตทีวี Vizio ยื่นเอกสารต่อ ก.ล.ต. สหรัฐฯ เตรียมไอพีโอเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก
บริษัทผู้ผลิตทีวีจากสหรัฐฯ Vizio ยื่นเอกสาร S-1 ต่อ ก.ล.ต. สหรัฐฯ เตรียมเปิดจำหน่ายหุ้นไอพีโอพร้อมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเร็ว ๆ นี้
สำหรับผลประกอบการของบริษัท Vizio ทางบริษัทรายงานรายได้สุทธิในปี 2020 อยู่ที่ 2.04 พันล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 102.5 ล้านดอลลาร์ โตกว่าปีก่อนหน้ามากกว่า 4 เท่า ซึ่งปีที่แล้วเพียงปีเดียว Vizio ขายทีวีไปได้กว่า 7 ล้านเครื่อง และตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาในปี 2002 ทางบริษัทขายทีวีไปแล้วกว่า 80 ล้านเครื่อง และซาวด์บาร์อีก 11 ล้านตัว
ผลิตภัณฑ์ชูโรงของบริษัทคือ SmartCast ระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ททีวีที่สามารถเข้าใช้งานคอนเทนต์อย่าง Amazon Prime Video, Apple TV+, Disney+, Hulu, Netflix, Peacock (ของ NBCUniversal) และ YouTube TV โดยแพลตฟอร์มนี้มีบัญชีผู้ใช้งานแอคทีฟที่ 12.2 ล้านบัญชีในสิ้นปี 2020 โตขึ้นจาก 7.6 ล้านบัญชีของปีก่อนหน้า และรายได้ต่อผู้ใช้จาก SmartCast ก็โตขึ้นเป็น 12.99 ดอลลาร์ต่อผู้ใช้ จากปีที่แล้วอยู่ที่ 7.31 ดอลลาร์ ซึ่ง Vizio มีแผนจะขยายแพลตฟอร์ม SmartCast ให้รองรับโซเชียลเน็ตเวิร์ค, บริการส่งข้อความ, วิดีโอคอนเฟอเรนซ์, ฟิตเนส รวมถึงออนไลน์ช้อปปิ้งด้วย
ในมุมของปัจจัยเสี่ยงของบริษัท Vizio ระบุว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับบริษัทผู้ให้บริการคอนเทนต์ว่าถ้ามีปัญหาจนไม่สามารถให้บริการคอนเทนต์ผ่าน SmartCast ได้ ทางบริษัทก็อาจสูญเสียกลุ่มลูกค้าไป
Vizio จะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนคลาส A โดยวางแผนจะนำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กภายใต้สัญลักษณ์ซื้อขาย VZIO
ที่มา - SEC, The Verge, Engadget
ภาพจาก Vizio |
# Alibaba ซื้อกิจการ HungryNaki ผู้ให้บริการ Food Delivery ในบังกลาเทศ
Alibaba เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ HungryNaki บริการเดลิเวอรีอาหารในบังกลาเทศ โดยไม่เปิดเผยมูลค่าของดีล ซึ่งดีลนี้เป็นการซื้อกิจการผ่าน Daraz อีคอมเมิร์ซจากปากีสถานที่ Alibaba เข้าซื้อกิจการไปเมื่อปี 2018
HungryNaki ก่อตั้งในปี 2013 ปัจจุบันให้บริการใน 5 เมืองของบังกลาเทศ มีจำนวนผู้ใช้งานราว 5 แสนคน ร้านอาหารในระบบกว่า 4 พันแห่ง เงินลงทุนก้อนใหม่นี้จะนำมาใช้ขยายโครงสร้างพื้นฐานของแพลตฟอร์ม รวมทั้งขยายตลาดสู่เมืองใหม่ ๆ เพิ่มเติม
สิ่งที่น่าสนใจของดีลนี้คือการขยายฐานของ Alibaba ที่ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียใต้มากขึ้นผ่าน Daraz
ที่มา: Tech In Asia และ New Age BD |
# Tesla เตรียมปิดส่วนฟอรั่มถามตอบบนเว็บไซต์ ย้ายผู้ใช้ไปโซเชียลแพลตฟอร์มใหม่
Tesla เตรียมปิดส่วนฟอรั่มบนเว็บไซต์เพื่อย้ายผู้ใช้ไปยังแพลตฟอร์มใหม่ Tesla Engagement Platform ที่เว็บไซต์ engage.tesla.com
สำหรับแพลตฟอร์ม Engage Tesla ที่สร้างขึ้นมาใหม่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับทีม public policy ของ Tesla และคลับสำหรับเจ้าของรถยนต์ Tesla ลักษณะของแพลตฟอร์มจะเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้น ผู้ใช้สามารถคอมเมนท์บนโพสต์, ไลค์โพสต์ รวมถึงติดตามบัญชีผู้ใช้คนอื่น ๆ ได้
ส่วนระบบฟอรั่มที่เว็บไซต์ forums.tesla.com ทางบริษัทเริ่มแจ้งเตือนผู้ใช้ว่าระบบฟอรั่มจะเปลี่ยนเป็นโหมดอ่านอย่างเดียวตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมนี้ และโพสต์ที่แนะนำแพลตฟอร์มใหม่ Engage Tesla ก็มีผู้ใช้งานบ่นเสียดายฟอรั่มจำนวนมาก
Tesla ใช้ระบบฟอรั่มมาค่อนข้างนาน ซึ่งฟอรั่มของ Tesla นี้เป็นศูนย์รวมของผู้ใช้งานรถยนต์ Tesla ที่ยืนยันแล้ว, แฟนรถยนต์ Tesla รวมถึงนักลงทุน โดยในฟอรั่มจะเน้นระบบถามตอบเป็นหลัก ในขณะที่แพลตฟอร์ม Engage Tesla จะออกแนวเป็นบล็อกสำหรับแชร์ข้อมูลข่าวสารในอุตสาหกรรม, อีเว้นท์หรือแคมเปญของ Tesla รวมถึงประชาสัมพันธ์งานที่สำเร็จลุล่วงโดยกลุ่มผู้สนับสนุน Tesla มากกว่า และเนื่องจากตอนนี้ Engage Tesla ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นซึ่งน่าจะมีฟีเจอร์เพิ่มได้อีกในอนาคต
ที่มา - TechCrunch, The Verge, Engage Tesla, Tesla Forums
ภาพจาก Tesla |
# Clubhouse ออกฟีเจอร์ใหม่ สร้าง Club สำหรับคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน
Clubhouse ออกฟีเจอร์ใหม่คือการสร้าง "คลับ" (club) ได้จากในตัวแอพโดยตรง จากเดิมที่สร้างได้เฉพาะ "ห้อง" (room) เท่านั้น
ฟีเจอร์ club ของ Clubhouse เทียบได้กับการสร้างกลุ่มหรือชุมชนผู้มีความสนใจอย่างเดียวกัน และติดตามการสนทนาในประเด็นนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น
ทีมงาน Clubhouse ยังระบุในรายการฟีเจอร์ใหม่ว่า ช่วงก่อนหน้านี้หันไปโฟกัสเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับโหลดจำนวนมากๆ แต่ตอนนี้จะเริ่มกลับมาเน้นเรื่องฟีเจอร์ใหม่แล้ว ของใหม่อีกอย่างในเวอร์ชันล่าสุดคือ ปรับปรุงคุณภาพเสียงให้ดียิ่งขึ้น ผู้ใช้สามารถเลือก Audio Quality เป็น High ได้ถ้าต้องใช้จริงๆ เช่น ร้องเพลงในห้อง
ตลาดห้องแชทด้วยเสียงร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยคู่แข่งอย่าง Twitter Spaces เปิดทดสอบบน Android แล้ว และคุยว่าไม่มีปัญหาห้องเต็ม จุคนฟังได้ระดับล้านคน (Clubhouse ได้สูงสุดที่ 8,000 คนในตอนนี้)
ที่มา - Clubhouse |
# OPPO ครองส่วนแบ่งยอดขายในจีนอันดับ 1 เป็นครั้งแรก
บริษัทวิจัยตลาด Counterpoint Research ออกรายงานตลาดสมาร์ทโฟนในเดือนมกราคม 2021 มีประเด็นน่าสนใจคือ OPPO มีส่วนแบ่งการตลาด เป็นอันดับ 1 ในจีนครั้งแรก ที่ 21% ตามด้วย Vivo 20% ส่วน หัวเหว่ย แอปเปิล และ Xiaomi อยู่ที่ 16%
ทั้งนี้ข้อมูลของ Counterpoint ระบุเฉพาะเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งการตลาด แต่ไม่ได้บอกว่าคิดเป็นจำนวนเครื่องมากน้อยเท่าใด
Varun Mishra นักวิเคราะห์ของ Counterpoint มองว่าที่ OPPO ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ได้สำเร็จ เนื่องจากการปรับไลน์สินค้าในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตระกูล Reno ที่มีสเป็กเหมาะสม ในราคาที่ถูกลงกว่ารุ่นก่อนหน้า ขณะที่สินค้าตระกูล A ได้รับการตอบรับที่ดีในกลุ่มรองรับ 5G ตลอดจนยังแย่งส่วนแบ่งมาจากหัวเหว่ยได้ด้วย
ที่มา: Counterpoint Research |
# รีวิวซีพียู Core 11th Gen รุ่นหลุดมาขายก่อน แรงขึ้นเล็กน้อย แต่ร้อนขึ้นมาก ยังแพ้ AMD
อินเทลมีกำหนดเปิดตัว ซีพียู Core 11th Gen ฝั่งเดสก์ท็อป "Rocket Lake" เริ่มวางขายวันที่ 30 มีนาคมนี้ แต่กลับมีสินค้าหลุดออกมาขายก่อนแล้ว และเว็บไซต์ AnandTech ได้สินค้าชุดแรกนี้มารีวิวก่อนกำหนด (ไม่ได้มาจากตัวอย่างที่อินเทลส่งให้)
ซีพียูรุ่นที่ได้มาคือ Core i7-11700K จำนวน 8 คอร์ 16 เธร็ด ถือเป็นรุ่นรองจาก Core i9-11900K ที่อินเทลนำเบนช์มาร์คมาโชว์ก่อนหน้านี้ (ซึ่งเป็น 8 คอร์ 16 เธร็ดเหมือนกัน น่าจะต่างกันแค่คล็อค) จีพียูเป็น Xe-LP และยังใช้การผลิตที่ 14 นาโนเมตร
ของใหม่จริงๆ ใน Core 11th Gen ฝั่งเดสก์ท็อปคือ สถาปัตยกรรมย่อย (microarchitecture) ที่อัพเกรดจาก Sunny Cove ในซีพียูโน้ตบุ๊ก (Gen 10 Ice Lake) มาเป็น Cypress Cove ที่ต่างจากเดิมเล็กน้อย แต่เป็นครั้งแรกที่ซีพียูฝั่งเดสก์ท็อปได้ใช้สถาปัตยกรรมใหม่นี้ ของใหม่อีกอย่างคือรองรับชุดคำสั่ง AVX-512 ที่เดิมมีเฉพาะใน Xeon หรือซีพียูเดสก์ท็อปกลุ่ม Core-X เท่านั้น
AnandTech ทดสอบ Core i7-11700K เทียบกับรุ่นพี่ที่ระดับเดียวกันคือ Core i7-10700K และคู่แข่งระดับเดียวกันคือ Ryzen 7 5800X (8 คอร์ 16 เธร็ดเท่ากัน)
สิ่งที่พบได้ชัดเจนคือ i7-11700K ร้อนกว่าเดิมมาก (ทั้งที่ใช้พลังงาน 125 วัตต์เท่ากัน) ปัจจัยสำคัญมาจาก AVX-512 นั่นเอง ส่วนในแง่ประสิทธิภาพ ในภาพรวมแล้ว i7-11700K แรงขึ้นจาก i7-10700K แต่ยังแพ้ Ryzen 7 5800X อยู่ในแทบทุกการทดสอบ
AnandTech บอกว่า Rocket Lake เป็นความพยายามดิ้นรนของอินเทล ที่ยังก้าวไป 10 นาโนเมตรได้ไม่สมบูรณ์ จึงต้องแก้ขัดด้วยการนำสถาปัตยกรรม Sunny Cove ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ 10 นาโนเมตร backport กลับมาใช้กับ 14 นาโนเมตร (กลายเป็น Cypress Cove), ใส่จีพียูตัวใหม่ Xe และฟีเจอร์ใหม่อย่าง AVX-512 กับ PCIe 4.0 เข้ามา ผลคือประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิมจริง แต่ต้องแลกมาด้วยพลังงานและความร้อนที่เยอะกว่าเดิมมาก
ที่มา - AnandTech |
# Blizzard ยืนยัน Diablo II: Resurrected ใช้เซฟเกมเดิมได้ เปิดมาแล้วเล่นต่อได้เลย
Matthew Cederquist โปรดิวเซอร์ของเกม Diablo II: Resurrected ภาครีเมคกราฟิก ออกมาให้ข้อมูลว่าเกมภาครีเมคจะสามารถใช้ไฟล์เซฟเก่าของ Diablo II ภาคต้นฉบับได้ด้วย (หากยังมีเก็บเอาไว้ เพราะเกมมีอายุ 20 ปีแล้ว)
นั่นแปลว่าเราสามารถนำไฟล์เซฟเดิมมาเปิดใน Diablo II: Resurrected แล้วเล่นต่อจากจุดเดิมได้ทันที
Blizzard ระบุว่า Diablo II: Resurrected ถือเป็นเกมเดิมนำมาทำกราฟิกใหม่ ตัวเอนจินเกมยังเป็นของเดิม ไม่ได้เป็นการสร้างเอนจินใหม่ให้ดูเหมือนของเดิม เซฟเดิมจึงยังใช้งานได้ปกติ เกมยังมีปุ่มให้สลับโหมดกราฟิกแบบเก่า-ใหม่ (legacy toggle) ได้ด้วย
ที่มา - The Verge |
# John McAfee และพวก โดนตั้งข้อหาฉ้อโกง หลอกให้คนลงทุนเงินคริปโต
ความคืบหน้าต่อจากข่าวเมื่อปลายปีที่แล้ว John McAfee ถูกจับในข้อหาเลี่ยงภาษี ใช้นอมินีรับเงินจากการโปรโมทคริปโต โดยเขาถูกจับในสเปนตามคำขอของรัฐบาลสหรัฐ
วันนี้ อัยการสหรัฐและ FBI ตั้งข้อหาเพิ่มเติม John McAfee และพวกคือ Jimmy Watson Jr. ที่เพิ่งถูกจับกุมเมื่อวาน ทั้งสองคนถือเป็นผู้บริหารของ "McAfee Team" ที่ทำธุรกิจเงินคริปโต ความผิดที่โดนเป็นความผิดอาญา มีทั้งหมด 7 ข้อหา ตั้งแต่การฉ้อโกง ฟอกเงิน ฯลฯ จากการหลอกให้คนมาร่วมลงทุนในเงินคริปโต มีความเสียหาย 13 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ยังจะยื่นฟ้องศาลในคดีแพ่งด้วย ปัจจุบัน McAfee ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในประเทศสเปน
ที่มา - Department of Justice
ภาพจาก @officialmcafee |
# หลุดฟีเจอร์ Undo Send ยกเลิกการส่งข้อความของ Twitter, อาจเป็นฟีเจอร์แบบเสียเงิน
ฟีเจอร์ Edit Tweet แก้ไขข้อความไปแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ใช้เรียกร้องกันมานาน แต่ Jack Dorsey ซีอีโอก็ประกาศชัดว่าคงไม่ทำ เพราะมีผลกระทบตามมาอยู่มาก เช่น ข้อความเก่าที่คนรีทวีตกันมากๆ ถูกนำมาแก้ในภายหลังเป็นข้อความอื่นแทน
อย่างไรก็ตาม มีคนไปเจอภาพหลุดของฟีเจอร์ Undo Send ที่เปิดโอกาสให้ยกเลิกข้อความทั้งโพสต์แทน โดยลักษณะจะคล้ายๆ กับ Undo Send ของ Gmail ที่เปิดโอกาสให้กด Undo หลังกดปุ่มส่งอีเมลไประยะเวลาหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่า Undo Send จะเป็นฟีเจอร์สำหรับสมาชิก Twitter แบบเสียเงินที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ตามแนวทางการหารายได้แบบใหม่ๆ ของ Twitter นอกเหนือจากการโฆษณาด้วย
ที่มา - The Verge |
# นักวิจัยวิทยาการเข้ารหัสลับชื่อดังอ้างแกะการเข้ารหัส RSA ได้ แต่นักวิจัยอื่นพบไม่ได้ดีกว่าวิธีก่อนหน้านี้
Claus Peter Schnorr นักวิจัยด้านวิทยาการเข้ารหัสลับชื่อดังเผยแพร่รายงาน "Fast Factoring Integers by SVP Algorithms" โดยอ้างในบทคัดย่อว่ากระบวนแยกตัวประกอบเฉพาะนี้มีประสิทธิภาพพอจะทำลายกระบวนการเข้ารหัส RSA อย่างไรก็ดีตอนนี้ยังไม่มีนักวิจัยภายนอกสามารถอิมพลีเมนต์กระบวนการในรายงานและได้ประสิทธิภาพอย่างที่รายงานอ้าง
หากนักวิจัยสร้างอัลกอริทึมมีความสามารถในการแยกตัวประกอบเฉพาะที่ประสิทธิภาพสูงจริง กระบวนการพิสูจน์นั้นทำได้ด้วยการแยกตัวประกอบ RSA ที่มีการแข่งขันโดยเปิดเผย การแยกตัวประกอบที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้อยู่ที่ RSA-250 ที่มีขนาด 829 บิต แต่รายงานของ Schnorr ไม่ได้แสดงด้วยการแยกตัวประกอบใหม่ๆ แต่อย่างใด
Schnorr เป็นผู้สร้างอัลกอริทึม Schnorr signature สำหรับการยืนยันเอกสาร เมื่อปี 1989 เขาเคยได้รับรางวัล Leibniz ที่เป็นรางวัลนักวิจัยที่เงินรางวัลสูงสุดในเยอรมนี ร่วมกับ Johannes Buchmann เมื่อปี 1993
Bruce Schneier นักวิจัยด้านวิทยาการเข้ารหัสลับผู้ร่วมสร้างกระบวนการแฮช Skein วิจารณ์ว่ารายงานของ Schnorr นั้นอย่างมากก็ปรับปรุงกระบวนการแยกตัวประกอบไปบ้างเท่านั้น กระนั้นเขายังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ากระบวนการดีกว่าวิธีเดิมๆ จริงหรือไม่
รายงานของ Schnorr ยังเป็นสถานะ pre-print ที่เผยแพร่ออกมาก่อนการตรวจสอบ (peer review) และอาจจะมีการปรับปรุงในอนาคตก่อนตีพิมพ์จริง
ที่มา - Schneier on Security, Cryptography StackExchange
ตัวเลข RSA-2048 ขนาดเท่าๆ กับกระบวนการเข้ารหัสที่ได้รับความนิยมในทุกวันนี้ หากแยกตัวประกอบได้จะมีเงินรางวัล 200,000 ดอลลาร์ |
# SITA ผู้ให้บริการไอทีสายการบินถูกแฮก ข้อมูลลูกค้า Star Alliance บางส่วนรั่วไหล
SITA ผู้ให้บริการไอทีสายการบินและสนามบินรายงานว่าบริษัทถูกแฮกระบบ Passenger Service System (SITA PSS) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ข้อมูลลูกค้าที่อยู่บนเซิร์ฟเวอร์รั่วไหลออกไป
ทาง SITA ไม่ได้ระบุว่าเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกแฮกนี้ให้บริการสายการบินใด แต่ทาง Singapore Airlines ได้ออกอีเมลแจ้งเตือนลูกค้า ระบุว่าทาง Singapore Airlines ไม่ได้เป็นผู้ใช้ SITA PSS เองแต่เซิร์ฟเวอร์ที่รั่วไหลเป็นของสายการบินแห่งหนึ่งในกลุ่มสมาชิก Star Alliance ที่มีทั้งหมด 26 สายการบิน และเนื่องจากสายการบินต่างๆ ในกลุ่มต้องยืนยันสถานะสมาชิกระหว่างกัน จึงมีการส่งข้อมูลสมาชิกบางส่วนไปมา ทำให้ลูกค้าของ Singapore Airlines ได้รับผลกระทบไปด้วย
ระหว่างนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสายการบินต้นทางที่ถูกแฮกเป็นสายการบินใด และข้อมูลของลูกค้าสายการบินนั้นๆ โดยตรงจะรั่วไหลมากน้อยเพียงใด แต่สำหรับลูกค้า Star Alliance อื่นๆ ข้อมูลที่กระทบได้แก่ ชื่อสมาชิก, หมายเลขสมาชิก, ระดับสมาชิก โดยข้อมูลเหล่านี้มีไว้เพื่อยืนยันความเป็นสมาชิกของสายการบินในเครือ Star Alliance เท่านั้น ข้อมูลอื่นๆไม่ว่าจะเป็นรหัสผ่าน, เที่ยวบิน, หรือหมายเลขหนังสือเดินทาง ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
ทาง SITA ระบุว่าได้แจ้งลูกค้าที่เกี่ยวข้องแล้ว และกำลังสอบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้ต่อโดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาช่วยด้วย
ที่มา - SITA
ภาพหางเครื่องบินของสายการบินสมาชิก Star Alliance ทั้ง 26 สายการบิน |
# WhatsApp เปิดตัวฟีเจอร์โทรด้วยเสียงและวิดีโอคอลบนแอปเวอร์ชันเดสก์ท็อป
WhatsApp เปิดตัวฟีเจอร์ระบบโทรด้วยเสียงและวิดีโอคอลบนแอปเวอร์ชันเดสก์ท็อปแล้ว เพื่อให้ผู้ใช้สามารถโทรศัพท์ผ่านคอมพิวเตอร์ได้จากเดิมที่จะต้องใช้ผ่านแอปบนมือถือเท่านั้น
ฟีเจอร์โทรของ WhatsApp บนเดสก์ท็อปนั้นทางบริษัทระบุว่าจะยังคงเป็นการเข้ารหัสแบบ end-to-end เหมือนเดิม ดังนั้น WhatsApp จะไม่สามารถฟังได้ว่าผู้ใช้สนทนาอะไรกัน และตอนนี้ฟีเจอร์ยังคงจำกัดเฉพาะโทรแบบระหว่างบุคคลเท่านั้น ส่วนโทรแบบกลุ่มทั้งแบบเสียงหรือวิดีโอคอลจะตามมาในอนาคต
WhatsApp ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมาทางบริษัทเห็นการเติบโตของฟีเจอร์โทรศัพท์บนแพลตฟอร์ม และมีการสนทนาที่ยาวขึ้น โดยช่วงพีคสุดที่ผ่านมาคือวันสิ้นปี ยอดโทรด้วยเสียงและวิดีโอคอลรวมทั้งหมด 1.4 พันล้านครั้งในวันเดียว
ที่มา - WhatsApp |
# Okta ผู้ให้บริการ Identity Management ซื้อกิจการคู่แข่ง Auth0 มูลค่า 6,500 ล้านดอลลาร์
Okta ผู้ให้บริการด้านการจัดการข้อมูลระบุตัวตนบนคลาวด์ (Identity Management) ประกาศซื้อกิจการบริษัทคู่แข่ง Auth0 ด้วยมูลค่า 6,500 ล้านดอลลาร์ โดยจ่ายเป็นหุ้นของ Okta ทั้งนี้ Auth0 ได้เพิ่มทุนรอบล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ที่มูลค่ากิจการราว 1,920 ล้านดอลลาร์ โดยมี Salesforce Ventures เป็นผู้ลงทุนหลักในรอบนั้น
Todd McKinnon ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Okta พูดถึงดีลนี้ว่าบริการของ Auth0 เน้นไปที่กลุ่มนักพัฒนา โดยสร้างเครื่องมือ API เพื่อให้จัดการระบบระบุตัวตนได้ง่าย การรวมกับบริการของ Okta ที่เน้นเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการคลาวด์ จึงทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้าของทั้งสองบริษัท
ทั้งนี้ Auth0 จะยังคงดำเนินงานแยกเป็นอีกบริษัทต่อไป ในฐานะหน่วยงานภายใต้ Okta แต่ทั้งสองบริษัทจะร่วมมือในการพัฒนาและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน
ที่มา: Okta |
# Bing ปรับหน้าตาผลการค้นหา แสดงภาพเด่นแทนลิงก์ แนวเดียวกับ Pinterest
วันนี้ Bing ประกาศอัพเกรดหน้าตาครั้งใหญ่ โดยผลการค้นหาคีย์เวิร์ดบางประเภท (เช่น สูตรอาหาร ไอเดีย แนวทาง) จะแสดงเป็นภาพแทนลิงก์แบบดั้งเดิม ตั้งแต่ในแท็บหลักของหน้าผลการค้นหาเลย
ตัวอย่างคือ การค้นหาสูตรอาหารจะเห็นภาพของอาหาร พร้อมข้อมูลอื่น เช่น คะแนนรีวิว ปริมาณแคลอรี, การค้นหาไอเดียแต่งบ้าน จะเห็นภาพของสิ่งนั้นๆ ลักษณะคล้ายกับการใช้งาน Pinterest
นอกจากนี้ การค้นหาบางคีย์เวิร์ดจะเพิ่ม infographic ด้านข้างที่สวยงามกว่าเดิมมาก เช่น ข้อมูลของสัตว์ประเภทต่างๆ หรือประเทศบางแห่ง (ประเทศไทยยังเป็นแบบเก่าอยู่)
ผมลองแล้วพบว่าสามารถใช้งานได้แล้วกับ Bing โดยต้องตั้งค่าประเทศเป็นสหรัฐอเมริกาด้วย และยังใช้ได้เฉพาะบางคีย์เวิร์ดเท่านั้น
ที่มา - Bing |
# AMD เตรียมเปิดให้ Ryzen 3000 ใช้ Smart Access Memory ได้ ร่วมกับเมนบอร์ดและการ์ดจอที่รองรับ
Smart Access Memory เป็นฟีเจอร์ของ AMD ที่เปิดให้ซีพียูสามารถเข้าถึงแรมของจีพียู Radeon ได้โดยตรงผ่าน PCIe 4.0 โดยใช้เทคโนโลยี Resizable BAR เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกมให้ดีขึ้น ซึ่งเปิดตัวมาพร้อมกับ Radeon RX 6000
ก่อนหน้านี้เทคโนโลยี SAM สามารถใช้งานได้บนการ์ดจอรุ่นใหม่ๆ ของ AMD เช่นตระกูล Radeon RX 6000 ร่วมกับเมนบอร์ดและซีพียูตระกูล Ryzen 5000 เท่านั้น แต่ในงาน “Where Gaming Begins: Ep. 3” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว AMD ประกาศเตรียมนำฟีเจอร์นี้มาให้ใช้งานบน Ryzen 3000 ผ่านการอัพเดต BIOS ของเมนบอร์ด แต่ยังไม่เปิดเผยรุ่น และช่วงเวลาการอัพเดตที่แน่นอน
จากการทดสอบบน Radeon RX 6900 XT ของ PC World SAM สามารถช่วยเพิ่มเฟรมเรตได้ประมาณ 4-8 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลที่ได้ก็ค่อนข้างแตกต่างกันออกไปในแต่ละเกม รวมถึงมีบางเกมที่เฟรมเรตต่ำลงเล็กน้อยอีกด้วย
ที่มา - PC World |
# [Counterpoint] ตลาด Smartwatch ไตรมาส 4/2020 Apple Watch ยังครองส่วนแบ่งเบอร์ 1 ที่ 40%
บริษัทวิจัยตลาด Counterpoint Research รายงานภาพรวมตลาดสมาร์ทวอทช์ของไตรมาสที่ 4 ปี 2020 ตัวเลขส่งมอบรวมทุกยี่ห้อลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2019 สาเหตุหลักจากการระบาดของโควิด-19
ส่วนแบ่งรายยี่ห้อ แอปเปิลครองอันดับที่ 1 ด้วยส่วนแบ่ง 40% จำนวนส่งมอบ Apple Watch 12.9 ล้านเรือน ตามด้วยซัมซุงในอันดับที่ 2 ส่วนแบ่ง 10% อันดับ 3-4-5 คือ หัวเหว่ย Fitbit และ BBK (Oppo, Vivo) ตามลำดับ
Sujeong Lim นักวิเคราะห์ของ Counterpoint ให้ความเห็นว่าตลาดสมาร์ทวอทช์มีแนวโน้มเติบโตต่อได้ดีในตลาดพรีเมียม เนื่องจากปีที่ผ่านมายอดขายกลุ่มสมาร์ทวอทช์ระดับบนยังเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รุ่นราคาถูกยอดขายลดลง ซึ่งทั้ง 3 แบรนด์ใหญ่ในตลาดนี้ แอปเปิล ซัมซุง และหัวเหว่ย ต่างก็มีสมาร์ทวอทช์รุ่นพรีเมียมจำหน่าย
ที่มา: Counterpoint Research |
# เปิดตัว Snapdragon Sound มาตรฐานอุปกรณ์เสียงไร้สาย ที่ใช้เทคโนโลยีจาก Qualcomm
Qualcomm เปิดตัว Snapdragon Sound มาตรฐานเสียงที่ Qualcomm กล่าวว่าเป็นการทำงานร่วมกันของ “นวัตกรรมเสียง และซอฟต์แวร์” ของ Qualcomm เพื่อพัฒนาคุณภาพเสียงของอุปกรณ์ไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นหูฟัง ลำโพง และอื่นๆ เพื่อให้มีคุณภาพเสียงเทียบเท่ากับอุปกรณ์แบบมีสาย รองรับเสียงความละเอียดสูง ดีเลย์ต่ำ เชื่อมต่ออุปกรณ์ง่ายขึ้น และให้เสียงสนทนาที่ชัดเจนกว่าเดิม
Qualcomm ระบุว่าการพัฒนาคุณภาพเสียงตามมาตรฐาน Snapdragon Sound เป็นการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ล่าสุดจาก Qualcomm เช่นชิปตระกูล Snapdragon 8xx ชิปโมเด็ม Qualcomm FastConnect 6900 ชิปเสียง Bluetooth รุ่น QCC514x, QCC515x, QCC3056
ร่วมกับซอฟต์แวร์อย่าง Qualcomm ANC ตัดเสียงรบกวน, ตัวถอดรหัสเสียง (codec) Qualcomm aptX Adaptive ที่เล่นเสียงความละเอียดสูงได้ถึง 24-bit 96kHz และมีค่าความหน่วงต่ำสุดที่ 89ms ต่ำกว่าคู่แข่ง 45% ทำให้ดูวิดีโอหรือเล่นเกมได้โดยดีเลย์น้อยลง และรองรับโคเด็ค Qualcomm Aqstic DAC, รองรับไฟล์เสียง PCM 32-bit ที่ 384kHz และไฟล์ DSD ที่มี THD+N ต่ำ (ค่าความเพี้ยนทาง harmonic รวมกับ noise ต่ำ แปลว่าคุณภาพเสียงจะดีกว่า)
นอกจากนี้ Qualcomm ยังพาร์ทเนอร์กับ Amazon Music ออกเพลย์ลิสต์ Snapdragon Sound รวมเพลงมากกว่า 70 ล้านเพลง ที่เล่นผ่าน Amazon Music ได้ในระดับเสียง High Definition เพื่อโชว์คุณภาพเสียงของอุปกรณ์ Snapdragon Sound ได้แบบเต็มที่
มาตรฐานนี้จะไม่ถูกรับรองแบบย้อนหลัง แม้จะมีฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่กล่าวไป แปลว่าอุปกรณ์ที่จะแปะตราสัญลักษณ์ Snapdragon Sound ได้ จะต้องออกหลังจากนี้เท่านั้น พาร์ทเนอร์สองเจ้าแรกที่เซ็นสัญญาเตรียมออกอุปกรณ์ใหม่ภายในปีนี้ มี Xiaomi และ Audio-Technica ส่วนอุปกรณ์จะมาในรูปแบบไหน คงต้องติดตามกันต่อไป
ที่มา - Qualcomm |
# YouTube ลบช่องทีวีของทหารในเมียนมาร์ 5 ช่องออกจากแพลตฟอร์ม
สถานการณ์ในเมียนมาร์ยังตึงเครียด และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการประท้วงรัฐประหาร 38 คนแล้วตามรายงานของ UN และประเทศต่างๆ เริ่มมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาร์แล้ว ล่าสุด YouTube ลบช่องทีวีที่ดำเนินการโดยกองทัพเมียนมาร์ออก 5 ช่อง เช่น MRTV (Myanma Radio and Television), Myawaddy Media, MWD Variety และ MWD Myanmar
YouTube ระบุเหตุผลที่ลบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของชุมชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนหน้านี้ Facebook ก็สั่งแบนบัญชีที่เกี่ยวกับกองทัพเมียนมาร์ทุกบัญชีในทุกแพลตฟอร์มทั้ง Facebook, Instagram และในช่วงทำรัฐประหารใหม่ๆ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในประเทศบ่อยครั้ง
ภาพนายพล Min Aung Hlaing หัวหน้าคณะรัฐประหารพม่า จากช่อง YouTube กองทัพเมียนมาร์
ที่มา - Channel News Asia |
# SEAMONEY เริ่มปล่อยสินเชื่อตามใบอนุญาต Digital Personal Loan
SEAMONEY (CAPITAL) ในเครือ Sea Group (Shopee, Airpay, Garena) ผู้ได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือ (Non-bank) เริ่มให้บริการปล่อยสินเชื่อแล้วหลังจากได้รับใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้
ในการทำบริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลนั้น ผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลทางเลือก (alternative data) มาใช้เพื่อการบริการได้ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาฐานะทางการเงิน หรือกระแสเงินสด ไปจนถึงไม่ต้องใช้แหล่งข้อมูลกลาง (เช่นเครดิตบูโร) มาพิจารณาสินเชื่อ แต่ก็จำกัดว่าสามารถให้วงเงินได้คนละไม่เกิน 20,000 บาทและสัญญาไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น
ส่วนผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินนั้น ทางแบงก์ชาติระบุว่าเป็นผู้ให้บริการที่อยู่ภายใต้การกำกับตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกิจการที่ต้องขออนุญาต นาง นวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า ตั้งแต่เปิดให้บริษัทแจ้งความประสงค์เพื่อให้บริการสินเชื่อดิจิทัล ก็มีผู้ยื่นเข้ามาแล้วราว 8 ราย
ที่มา - ธนาคารแห่งประเทศไทย, ประชาชาติธุรกิจ |
# Razer เปิดตัว Anzu Smart Glasses แว่นตากึ่งหูฟังไร้สาย ฟังได้ 5 ชั่วโมง กันน้ำ IPX4 ราคา 200 ดอลลาร์
Razer เปิดตัว Anzu Smart Glasses ที่แม้จะชื่อ Smart Glasses แต่จริงๆ จะคล้ายคลึงกับหูฟังไร้สายมากกว่า และไม่มีการแสดงผลภาพใดๆ บนเลนส์ แต่ใช้ฟังเพลง รับโทรศัพท์ หรือสั่งการผู้ช่วยเสียงได้ วางจำหน่ายในราคา 199.99 ดอลลาร์ (ราว 6,100 บาท)
Anzu ใช้ไดรเวอร์เสียงเหมือนหูฟังไร้สาย ขนาด 16 มิลลิเมตร แยกสองข้าง แต่ไม่ได้เสียบเข้าไปในหู ซึ่ง Razer ระบุว่าเสียงที่ออกมาจะได้ยินถึงแค่ผู้คนที่อยู่ใกล้ในระยะที่มือเอื้อมถึง (แต่ก็แปลว่าคงไม่เหมาะใส่ขึ้นรถไฟฟ้าหรือออกไปข้างนอกเท่าไร)
ในชุดแถมกระเป๋าหนัง เลนส์ใสกันแสงสีน้ำเงิน 35% หนึ่งคู่ และเลนส์กันแดด กันยูวี 90% อีกหนึ่งคู่ ตัวลำโพงกันน้ำ IPX4 แบตเตอรี่ใช้งานได้สูงสุด 5 ชั่วโมง แสตนด์บายได้สูงสุด 2 สัปดาห์ ปิดเครื่องอัตโนมัติเมื่อพับขาแว่น แต่เวลาชาร์จต้องชาร์จทั้งขาซ้ายและขวาพร้อมกัน เชื่อมต่อด้วย Bluetooth ที่ Razer ระบุว่ามีความหน่วงแค่ 60ms
ตอนนี้ Anzu Smart Glasses ยังมีจำหน่ายแค่บน Razer.com และร้าน Razer ในสหรัฐเท่านั้น ในบ้านเราคงต้องติดตามกันต่อไป
ที่มา - The Verge |
# Realme GT เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ชิป Snapdragon 888 แรมสูงสุด 12GB เริ่ม 2,799 หยวน
หลัง Realme GT เปิดภาพแรกในงาน MWGC ที่เซี่ยงไฮ้ ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้ Realme GT เปิดตัวและเปิดสเปกอย่างเป็นทางการแล้ว ดังนี้
หน้าจอ AMOLED 6.43 นิ้ว ความละเอียด FHD+ รีเฟรชเรต 120Hz อัตราตอบสนองการสัมผัส 360Hz แสดงผลสี DCI-P3 ได้ 100% สแกนลายนิ้วมือใต้จอ
ชิป Snapdragon 888
แรม 8GB / 12GB LPDDR5
หน่วยความจำภายใน UFS 3.1 ขนาด 128GB และ 256GB
กล้องหลังหลัก 64MP f/1.8, กล้องอัลตร้าไวด์ 8MP f/2.3, กล้องมาโคร 2MP f/2.4
กล้องหน้า 16MP f/2.5
แบตเตอรี่ 4,500mAh ชาร์จเร็ว 65W (แถมที่ชาร์จในกล่อง)
มีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
รองรับ 5G ไม่รองรับ Wi-Fi 6
รัน Android 11 ครอบด้วย Realme UI 2.0
Realme มีสีขาว น้ำเงิน และหนังแบบทูโทนสีเหลืองดำ วางจำหน่ายในประเทศจีนแล้วในราคาดังนี้
รุ่น 8GB + 128GB ราคา 2,799 หยวน (ราว 13,200 บาท)
รุ่น 12GB + 256GB ราคา 3,299 หยวน (ราว 15,600 บาท)
ที่มา - Android Police |
# หน่วยกำกับดูแลอังกฤษสอบสวนแอปเปิล ถึงเงื่อนไข App Store ไม่เป็นธรรมต่อนักพัฒนาหรือไม่
หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของสหราชอาณาจักร (Competition and Markets Authority หรือ CMA) ประกาศกำลังสอบสวนแอปเปิล หลังมีการร้องเรียนเข้ามาว่า ข้อกำหนดและเงื่อนไขสำหรับนักพัฒนาแอปลง App Store นั้นไม่เป็นธรรม และไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันทางการค้า ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าเสียโอกาสในการซื้อและใช้แอป
กฎของแอปเปิลข้อหนึ่งที่นักพัฒนามองว่าเป็นปัญหาคือ นักพัฒนาต้องใช้ระบบการชำระเงินในแอปของแอปเปิล และโดนหักค่าคอมมิชชั่น 30% ในการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมด ซึ่งในการสอบสวนครั้งนี้ของ CMA นอกจากจะดูเรื่องค่าคอมมิชชั่นแล้ว ยังสอบสวนไปถึงเรื่องที่แอปเปิลแจกจ่ายแอปบน iPhone ให้กับลูกค้าชาวอังกฤษอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ตัวอย่างเช่น Spotify ฟ้องว่าแอปเปิลแสดงแอปสตรีมมิ่งเพลงของตัวเองมากกว่า เป็นต้น
การฟ้องแอปเปิลผูกขาดเริ่มเป็นประเด็นใหญ่จาก Epic ที่โจมตีการหักส่วนแบ่งของแอปเปิลมาโดยตลอด ล่าสุดก็ทาง Epic ก็ฟ้องร้องแอปเปิลข้อหาผูกขาดไปในหลายประเทศแล้ว ซึ่งแอปเปิลก็พยายามผ่อนปรนกฎด้วยการหักธุรกิจรายเล็กเพียง 15% แทน
ที่มา - The Register, CMA |
# ซัมซุงเปิดตัวมือถือสมบุกสมบัน Galaxy XCover 5 ทนกระแทกจากที่สูง 1.5 ม., ทนน้ำนาน 30 นาที
ซัมซุง เปิดตัวมือถือรุ่นบุกน้ำลุยไฟหรือ Rugged Phone ตัวใหม่ Galaxy XCover 5 มาพร้อมความสามารถทนสภาพแวดล้อมที่ไม่ปกติเช่นการใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม
ซัมซุงระบุว่า Galaxy XCover 5 สามารถทนการกระแทกจากการตกที่สูงได้ 1.5 เมตร, อยู่ในน้ำลึก 1 เมตรได้นาน 30 นาที, มี Glove Touch ให้สามารถใช้งานสัมผัสหน้าจอได้แม้สวมถุงมือ, กล้องหลัง 16 ล้านพิกเซล, โปรเซสเซอร์ Exynos 850, RAM 4 GB, ที่เก็บข้อมูลภายในสูงสุด 64 GB, หน้าจอ 5.3 นิ้ว, บรรจุแบตเตอรี่ 3,000mAh สามารถถอดเปลี่ยนได้, มี NFC เป็นเครื่องรับชำระเงินได้
Galaxy XCover 5 วางขายในบางประเทศในเอเชีย, ยุโรป, ละตินอเมริกา ราคาชายในอังกฤษอยู่ที่ 330 ปอนด์
ที่มา - ซัมซุง, GSMArana |
# เอาทุกหยด เกาหลีใต้เตรียมดึงวัคซีน Pfizer ให้ได้ขวดละ 7 โดส แม้บริษัทแนะนำให้ใช้เพียง 6 โดส
ทางการเกาหลีใต้เตรียมใช้เข็ม low dead space ดึงวัคซีนออกจากขวดวัคซีนของ Pfizer ให้ได้ถึง 7 โดสต่อขวด แม้ว่าบริษัทจะระบุว่าหนึ่งขวดใช้ได้ 5-6 โดสก็ตาม
ก่อนหน้านี้ Pfizer เคยระบุว่าวัคซีนหนึ่งขวดสามารถใช้เข็มดึงออกมาได้ 5 โดสสำหรับเข็มธรรมดา และ 6 โดสสำหรับเข็ม low dead space แต่ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีบุคคลากรสาธารณสุขหลายชาติ เริ่มหาทางดึงเอาวัคซีนที่เหลือในก้นขวดออกมาใช้งาน เช่น ฟินแลนด์ และสเปน
ผู้เชี่ยวชาญของเกาหลีเตือนว่าการพยายามให้พยาบาลดึงวัคซีนให้มากที่สุดเช่นนี้อาจทำให้กระบวนการเกิดความผิดพลาด และสร้างความเครียดให้คนปฎิบัติงาน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเบลเยียมสั่งห้ามใช้โดสที่ 7 เช่นนี้เพราะพยาบาลไม่สามารถดึงวัคซีนออกมาได้ทุกครั้ง ทำให้ผู้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วอาจจะไม่สามารถรับวัคซีนเข็มที่สองตามกำหนด
ปัญหาของการจัดส่งวัคซีนในตอนนี้นอกจากตัววัคซีนไม่เพียงพอแล้ว เข็มฉีดยาแบบ low dead space ก็ยังขาดตลาดเช่นกัน โดยทางการญี่ปุ่นเคยออกมาระบุว่าหากหาเข็มพิเศษนี้ไม่ได้ก็จะใช้เข็มธรรมดาเดินหน้าโครงการไปเลย ทำให้ฉีดได้ขวดละ 5 โดสเท่านั้น
ที่มา - The Korea Herald
ภาพวัคซีน BNT162b2 จาก BioNTech |
# ห้องเต็มคืออะไร Twitter Spaces ระบุรองรับผู้ฟังได้นับล้าน
วันนี้ทีมงาน Twitter Spaces จัดงานตอบคำถามในบริการ Spaces เอง โดยแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมระบุว่าขนาดห้องของ Spaces นั้นไม่มีจำกัดเอาไว้ และน่าจะสร้างห้องที่มีผู้ฟังได้นับล้าน
บริการคู่แข่งอย่าง Clubhouse นั้นจำกัดขนาดห้องที่ 8,000 คน แม้จะเพิ่มขึ้นมาแล้วหลายครั้งในช่วงเดือนที่ผ่านมาแต่ผู้ใช้ในไทยเองก็ยังพบปัญหาห้องเต็มกันอยู่เรื่อยๆ
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Twitter Spaces คือเวอร์ชั่นแอนดรอยด์ที่สามารถเข้าฟังและร่วมพูดคุยได้ แต่ยังต้องสร้างห้องจากแอป iOS เท่านั้น โดยทีมงานระบุว่าต้องการนำ Spaces มายังแอนดรอยด์ให้เร็วที่สุดแม้จะยังมีฟีเจอร์ไม่ครบถ้วนก็ตาม
ทีมงานยังระบุว่ากำลังสำรวจความเป็นไปได้ของฟีเจอร์เผยแพร่เสียงและข้อความจากห้อง Spaces แต่ต้องทำให้ผู้ใช้รู้ตัวชัดเจนว่าข้อความจะถูกนำไปใช้ต่อ
ที่มา - Twitter Spaces พูดคุยกับทีมงาน |
# Xiaomi เปิดตัว Redmi Note 10 พร้อมกัน 4 รุ่น Note 10, 10S, 10 Pro และ Note 10 5G
Xiaomi เปิดตัวมือถือตระกูล Redmi Note 10 พร้อมกันถึง 4 รุ่น เริ่มที่รุ่น Redmi Note 10 Pro สเปกดังนี้
ชิป Snapdragon 732G
หน้าจอ AMOLED 6.67 นิ้ว, 1080x2040 พิกเซล รีเฟรชเรต 120Hz
หน้าจอครอบด้วย Gorilla Glass 5
กล้องหลัก 108MP f/1.9 เซ็นเซอร์ ISOCELL HM2, ใช้เทคโนโลยีรวมพิกเซลแบบ 9 ต่อ 1 (9 to 1 binning) กล้องอัลตร้าไวด์ 8MP กล้องเทเลมาโคร 5MP และ depth sensor 5MP
กล้องหน้า 16MP
แบตเตอรี่ 5,020mAh ชาร์จเร็ว 33W
สแกนลายนิ้วมือด้านข้าง
ไม่รองรับ 5G
Redmi Note 10 Pro วางจำหน่าย 8 มีนาคม ในประเทศจีน มี 3 สี คือ Onyx Gray, Glacier Blue และ Gradient Bronze ราคาดังนี้
รุ่น แรม 6 GB + 64 GB ราคา 279 เหรียญ (ราว 8,500 บาท)
รุ่น แรม 6 GB + 128 GB ราคา 299 เหรียญ (ราว 9,100 บาท)
รุ่น แรม 8 GB + 128 GB ราคา 329 เหรียญ (ราว 10,000 บาท)
รุ่นรองลงมา Note 10 ตามด้วย Note 10S สเปกดังนี้
Redmi Note 10
ชิป Snapdragon 678
หน้าจอ AMOLED 6.43 นิ้ว, 1080x2040 พิกเซล
กล้องหลัก 48MP f/1.79, อัลตร้าไวด์ 8MP, เทเลมาโคร 2MP และ depth sensor 2MP
กล้องหน้า 13MP
แบตเตอรี่ 5,000mAh ชาร์จเร็ว 33W
สแกนลายนิ้วมือด้านข้าง
ไม่รองรับ 5G
วางจำหน่าย 8 มีนาคมนี้เช่นกัน มี 3 สี คือ Onyx Gray, Pebble White และ Lake Green ราคาดังนี้
รุ่น แรม 4 GB + 64 GB ราคา 199 เหรียญ (ราว 6,100 บาท)
รุ่น แรม 6 GB + 128 GB ราคา 279 เหรียญ (ราว 8,500 บาท)
Redmi Note 10S
ชิป MediaTek Helio G95
หน้าจอ AMOLED 6.43 นิ้ว, 1080x2040 พิกเซล
กล้องหลัก 64MP f/1.79, อัลตร้าไวด์ 8MP, เทเลมาโคร 2MP และ depth sensor 2MP
กล้องหน้า 13MP
แบตเตอรี่ 5,000mAh ชาร์จเร็ว 33W
สแกนลายนิ้วมือด้านข้าง
ไม่รองรับ 5G
Redmi Note 10S วางจำหน่ายในเดือนเมษายน มี 3 สี Onyx Gray, Pebble White และ Ocean Blue ราคาดังนี้
รุ่น แรม 6 GB + 64 GB ราคา 229 เหรียญ (ราว 7,000 บาท)
รุ่น แรม 6 GB + 128 GB ราคา 249 เหรียญ (ราว 7,600 บาท)
รุ่น แรม 8 GB + 128 GB ราคา 279 เหรียญ (ราว 8,500 บาท)
สุดท้ายรุ่น Redmi Note 10 5G รองรับ 5G แต่ลดสเปกเล็กน้อย กล้องหลังเหลือ 3 กล้อง สเปกดังนี้
MediaTek Dimensity 700
หน้าจอ LCD 6.5 นิ้ว, 1080x2040 พิกเซล รีเฟรชเรต 90Hz
กล้องหลัก 48MP, มาโคร 2MP และ depth sensor 2MP
กล้องหน้า 8MP
แบตเตอรี่ 5,000mAh ชาร์จเร็ว 18W
Redmi Note 10 5G วางจำหน่ายในเดือนเมษายน มี 3 สี Onyx Gray, Glacier Blue และ Gradient Bronze ราคาดังนี้
รุ่น แรม 6 GB + 64 GB ราคา 199 เหรียญ (ราว 6,100 บาท)
รุ่น แรม 4 GB + 128 GB ราคา 229 เหรียญ (ราว 7,000 บาท)
รุ่น แรม 8 GB + 128 GB ราคา 279 เหรียญ (ราว 8,500 บาท)
ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์, GSM Arena |
# Edge 89 เพิ่มแท็บแนวตั้ง Vertical Tabs, Startup Boost เปิดโปรแกรมเร็วขึ้น 41%
ไมโครซอฟท์ออก Edge 89 ตามรอบการออกของ Chrome 89 ของใหม่ที่สำคัญในเวอร์ชันนี้มีด้วยกัน 3 อย่าง
เริ่มจากแท็บแนวตั้ง (vertical tabs) ที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อที่ด้านข้างของหน้าจอ (เหมือนกับของ Opera) และสามารถสลับไปมาได้ระหว่างแท็บแนวตั้ง-แนวนอน
อย่างที่สองคือ เมนู History แบบป๊อปอัพ และสามารถปักหมุดไว้ใน sidebar ด้านขวาของหน้าจอได้ ลักษณะเดียวกับ Edge ตัวเก่า
อย่างที่สามคือฟีเจอร์ startup boost ที่รันโพรเซสของ Edge ตั้งแต่ตอนล็อกอิน ช่วยให้เปิด Edge ครั้งแรกได้เร็วขึ้น (ตัวเลขของไมโครซอฟท์คือ 29-41%) ฟีเจอร์นี้กำลังทยอยเปิดให้ผู้ใช้ทีละกลุ่ม และสามารถปิดได้ถ้าไม่ต้องการ
ไมโครซอฟท์ยังให้ข้อมูลเพิ่มว่า ฟีเจอร์แท็บหลับ Sleeping Tabs ที่เริ่มใช้ใน Edge 88 สามารถลดการใช้ซีพียูลงได้เฉลี่ย 26% และลดแรมลงได้เฉลี่ย 16% ขึ้นกับสภาพการใช้งาน โดยยิ่งเปิดแท็บค้างไว้มาก ยิ่งเห็นผลมากขึ้น
ที่มา - Microsoft |
# เข็นต่อไม่ไหว Artifact การ์ดเกม Dota 2 ยุติการพัฒนาต่อ - เปิดให้เล่นฟรี
หลังจากที่ Artifact การ์ดเกมที่อิงเนื้อเรื่องจาก Dota 2 ของ Valve สร้างกระแสความฮือฮาแต่ผลตอบรับจากผู้เล่นกลับไม่เป็นไปตามหวัง จนต้องปิดการอัพเดตชั่วคราวและรื้อระบบใหม่เป็น Artifact 2.0 Beta ซึ่งเปิดให้ผู้เล่นได้ทดลองเล่นมาระยะนึงแล้ว แต่ท้ายที่สุด Valve ก็ดัน Artifact ต่อไปไม่ไหว ประกาศยุติการพัฒนาเกมนี้ต่อ พร้อมเปิดให้ทุกคนได้เล่นฟรี
Valve ได้ให้เหตุผลถึงการตัดสินใจครั้งนี้ว่า แม้ว่าการยกเครื่องของ Artifact 2.0 Beta นั้นจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ แต่จำนวนผู้เล่นของเกมนี้กลับไม่ถึงเป้าที่คุ้มค่าที่จะพัฒนาเกมนี้ต่อ จนต้องล้มเลิกโปรเจ็กต์นี้ไปในที่สุด
Artifact และ Artifact 2.0 Beta (ที่จะถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Artifact Foundry) จะเปิดให้เล่นได้ฟรี โดยผู้เล่นจะได้รับการ์ดทุกใบใน Artifact ฟรี และผู้เล่นที่เคยซื้อการ์ดไปแล้ว การ์ดเหล่านั้นจะถูกเปลี่ยนเป็น Collector's Edition ซึ่งสามารถซื้อขายได้ ส่วน Artifact 2.0 Beta ผู้เล่นจะได้รับการ์ดจากการเล่นเกมตามเนื้อเรื่องและการ์ดทุกใบที่อยู่ช่วงการพัฒนาก็ได้ถูกใส่เข้าไปในเกมครบทุกใบแล้ว
ที่มา: Artifact |
# ครั้งแรกของ Marshall เปิดตัวหูฟังไร้สาย Mode II ขายที่ราคา 6,000 บาท
ในที่สุด Marshall แบรนด์เครื่องเสียงชื่อดังก็เข้าวงการหูฟังไร้สาย เปิดตัว Mode II หูฟังไร้สายสีดำล้วน มีแป้นรับสัมผัส ระบบกันน้ำ IPX4, Bluetooth 5.1 , พอร์ทชาร์จ USB-C แต่น่าเสียดายที่ไม่มีระบบตัดเสียงรบกวนรอบข้าง
ทางบริษัทบอกว่าสามารถฟังได้ยาวนาน 25 ชั่วโมง โดยเป็นการฟังบนหูฟัง 5 ชั่วโมง ส่วนเคสสามารถชาร์จแบตเตอรี่หูฟังได้ 4 ครั้ง Mode II เปิดพรีออเดอร์ทางเว็บไซต์ทางการแล้ว ขายที่ราคา 199 ดอลลาร์ หรือราว 6,000 บาท
ที่มา - Engadget, Marshall |
# Samsung และ Mastercard ร่วมกันทำสแกนนิ้วบนบัตรเครดิต ใส่ชิปเพื่อความปลอดภัยอีกชั้น
Samsung และ Mastercard เซ็น MOU ร่วมกันพัฒนาระบบสแกนนิ้วบนบัตรเครดิต ลดการสัมผัสปุ่มกดเครื่องรับจ่าย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ Mastercard เสนอไว้ในปี 2017 แต่ Samsung เพิ่มชิปเซ็ตความปลอดภัยใหม่จาก System LSI Business ของ Samsung ที่รวมชิปแยกคีย์หลายตัวเข้าด้วยกัน
เป้าหมายคือ เพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงิน และลดการสัมผัสกับอุปกรณ์ POS โดยเป็นการแตะนิ้วที่บัตรโดยตรง ไม่ใช่อุปกรณ์ POS อย่างไรก็ตามการ์ดดังกล่าวยังใช้งานได้เฉพาะกับเทคโนโลยีการพิสูจน์ตัวตนของ Mastercard เท่านั้น
ภาพจาก Mastercard ในปี 2017
ที่มา - Engadget |
# Windows 10 Insider ดีไซน์หน้าฟีดข่าวใหม่ แสดงการ์ดข่าวพร้อมกดอีโมจิได้, taskbar ใหม่สวยขึ้น
ไมโครซอฟท์อัพเดต Windows 10 ในกลุ่ม Insider หรือกลุ่มที่ได้รับการทดสอบของใหม่จากไมโครซอฟท์โดยตรง ออกรุ่น Preview Build 21327 เริ่มจากอัพเดตดีไซน์ใหม่ตรง Windows taskbar ที่เป็นข่าวสารให้สวยงามเตะตายิ่งขึ้น เพิ่มสีสดเข้ามามากขึ้น
และเมื่อกด See more news ก็จะมองเห็นดีไซน์หน้าฟีดข่าวใหม่ แสดงเนื้อหาเป็นการ์ด แสดงการ์ดเฮดไลน์ข่าวต่างๆไว้ด้านบนสุด ด้านล่างการ์ดแยกแต่ละข่าวสารที่เพิ่มข้อความเข้ามาเพื่อให้เห็นบริบทของแต่ละข่าวก่อนกดเข้าไปอ่าน กดอีโมจิแสดงความมีส่วนร่วมกับข่าวสารนั้นๆ ได้ด้วย
ที่มา - ไมโครซอฟท์ |
# Google ปรับรอบการออก Chrome เวอร์ชันใหม่ เร็วขึ้นเป็นทุก 4 สัปดาห์
กูเกิลประกาศปรับความถี่ในการออกอัพเดตเวอร์ชันใหญ่ของ Chrome จากเดิมทุก 6 สัปดาห์ มาเป็นทุก 4 สัปดาห์ ทำให้มีความถี่เท่ากับ Firefox ที่เปลี่ยนมาเป็น 4 สัปดาห์ตั้งแต่ปีที่แล้ว
Chrome จะเริ่มออกอัพเดตทุก 4 สัปดาห์ มีผลตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 หรือเวอร์ชัน 94 ส่วนอัพเดตย่อยด้านความปลอดภัยยังออกทุก 2 สัปดาห์เหมือนเดิม
กูเกิลยังประกาศเพิ่มตัวเลือก Extended Stable สำหรับผู้ดูแลระบบในองค์กร ที่ยังไม่ต้องการอัพเดตฟีเจอร์ใน Chrome เป็นเวอร์ชันล่าสุด โดยมีรอบอัพเดตทุก 8 สัปดาห์ แต่ยังได้รับอัพเดตเฉพาะส่วนความปลอดภัยทุก 2 สัปดาห์ เช่นเดียวกัน
ที่มา: Chromium |
# Apple บอกเอง iOS 14.5 ยังไม่มีตัวเลือกให้เปลี่ยนแอป default สำหรับฟังเพลง
iOS 14.5 ออกเวอร์ชันเบต้าให้นักพัฒนาทดสอบมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว พร้อมของใหม่หลายรายการ อาทิ การปลดล็อกหน้าจอขณะใส่มาสก์ และอีโมจิใหม่ แต่มีผู้พบอีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจ โดยเมื่อสั่งให้เปิดเพลงผ่าน Siri จะได้คำถามกลับมาว่า Siri กำลังเรียนรู้ว่าจะให้เปิดผ่านแอปฟังเพลงตัวใด พร้อมแสดงตัวเลือกแอปฟังเพลงที่มีอยู่ขึ้นมา
คุณสมบัติใหม่นี้ทำให้เกิดความเข้าใจว่า เราสามารถเปลี่ยนแอปฟังเพลงค่าเริ่มต้น (default) ได้ผ่านการสั่ง Siri แต่ล่าสุดแอปเปิลออกมาชี้แจงแล้ว
แอปเปิลอธิบายว่ากระบวนการดังกล่าว เป็นการเรียนรู้ของ Siri ว่าผู้ใช้งานช่วงเวลานั้น เลือกฟังเพลงหรือพอดคาสต์ผ่านแอปใดแล้วจดจำ แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนค่า default ของแอปฟังเพลง และตอนนี้ก็ยังไม่มีตัวเลือกดังกล่าวใน iOS
ปัจจุบัน iOS สามารถกำหนดค่าแอปเริ่มต้นได้สำหรับอีเมลและเบราว์เซอร์
ที่มา: TechCrunch |
# ไมโครซอฟท์เปิดตัว Azure Percept บอร์ดประมวลผล AI พร้อมชุดกล้อง-ไมโครโฟน
เก็บตกของใหม่ไมโครซอฟท์จากงาน Ignite 2021 คือ Azure Percept ชุดฮาร์ดแวร์สำหรับประมวลผล AI ที่ปลายทาง (edge AI)
Azure Percept เป็นโซลูชันที่ประกอบด้วยชุดฮาร์ดแวร์ Azure Percept DK ที่รวมเอากล้อง/เซ็นเซอร์ เข้ากับหน่วยประมวลผล NXP iMX8m และตัวเร่งความเร็ว AI คือ Intel Movidius Myriad X มาให้พร้อมสรรพ สามารถประมวลผลภาพหรือเสียงที่ปลายทาง โดยใช้โซลูชันโมเดลของ Azure AI และ Azure IoT ได้ทันที รวมถึงต่อเชื่อมกับบริการอื่นๆ ของ Azure บนคลาวด์ได้ด้วย
ชุดฮาร์ดแวร์ Azure Percept ผลิตโดย ASUS แบ่งออกเป็น 2 ชิ้นย่อย ได้แก่
Azure Percept DK ตัวฮาร์ดแวร์หลัก 2 ชิ้น แยกเป็นตัวบอร์ดประมวลผล และชุดกล้อง Azure Percept Vision ขายทั้งชุดในราคา 349 ดอลลาร์
Azure Percept Audio สำหรับคนต้องการเก็บข้อมูลเสียงด้วย เป็นชุดฮาร์ดแวร์พร้อมไมโครโฟน 4 ตัว ราคา 79 ดอลลาร์
ฮาร์ดแวร์จะต้องใช้ร่วมกับ Azure Percept Studio เป็นซอฟต์แวร์ที่รวมเอาบริการหลายอย่างของ Azure ที่เกี่ยวข้องมาไว้ด้วยกัน ตอนนี้บริการคลาวด์ Azure Percept ยังฟรีสำหรับคนที่ซื้อฮาร์ดแวร์ และจ่ายค่าบริการตัวอื่นของ Azure ด้วยเรตปกติของบริการนั้นๆ
ไมโครซอฟท์บอกว่าจุดเด่นของ Azure Percept คือการเป็นโซลูชันจบในตัว นอกจากมีหน่วยประมวลผลปกติ, หน่วยเร่งประมวลผล AI, เซ็นเซอร์หรือกล้อง ยังมีโซลูชันด้านความปลอดภัยฝังมาด้วยเลย เช่น TPM และ Hardware Root of Trust ไม่ต้องมาทำเพิ่ม ช่วยให้เริ่มต้นโครงการ Edge AI ได้เร็วขึ้น เพราะมีทุกอย่างให้พร้อมหมดแล้วตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ยันคลาวด์
ฝั่งกูเกิลมีโครงการคล้ายๆ กันคือ Coral ที่ตัวบอร์ดใช้ซีพียู iMX8m รุ่นเดียวกัน
ที่มา - Microsoft |
# Square แพลตฟอร์มการเงินของ Jack Dorsey ซีอีโอ Twitter เข้าถือหุ้นใหญ่แอปฟังเพลง Tidal
Square บริษัทผู้ให้บริการระบบจ่ายเงิน ที่มี Jack Dorsey ซีอีโอ Twitter เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นซีอีโอบริษัทนี้ด้วย ประกาศบรรลุข้อตกลงเพื่อเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ใน Tidal บริการฟังเพลงสตรีมมิ่ง ตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ โดย Square จะจ่ายเป็นเงินสดและหุ้นของบริษัทมูลค่ารวม 297 ล้านดอลลาร์
Jay-Z ศิลปินผู้ก่อตั้ง Tidal จะเข้ามาเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของ Square จากดีลนี้ ทั้งนี้ Tidal มีหุ้นส่วนเป็นศิลปินชื่อดังหลายคน โดยทั้งหมดจะยังคงถือหุ้น Tidal ต่อไป และ Tidal จะมาเป็นบริษัทในเครือของ Square แต่ยังบริหารงานอย่างอิสระต่อไป
คำถามที่หลายคนสนใจก็คือแพลตฟอร์มรับจ่ายเงินอย่าง Square ทำไมถึงมาซื้อกิจการแอปฟังเพลง ซึ่ง Jack Dorsey ก็อธิบายว่าเพื่อสร้างแนวทางใหม่ให้ศิลปินสร้างรายได้ผ่านแพลตฟอร์มของ Square ขณะที่ Jay-Z บอกว่าสตรีมมิ่งอย่าง Tidal สร้างขึ้นบนหลักการรักษาผลประโยชน์ให้ศิลปินมากที่สุด การร่วมมือกับ Square จะทำให้มีเครื่องมือใหม่ ๆ สำหรับสนับสนุนศิลปินนั่นเอง
ที่มา: Square |
# สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ปล่อยชุดข้อมูลตรวจจับความรู้สึกจากเสียงภาษาไทย
วันนี้ทางสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยเปิดตัวชุดข้อมูลจำแนกอารมณ์จากเสียงพูดภาษาไทย (Thai Speech Emotion Recognition) หลังจากใช้เวลาพัฒนา 2 ปี ภายใต้ความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด
ชุดข้อมูลจำแนกอารมณ์จากเสียงพูดภาษาไทยประกอบไปด้วย 5 อารมณ์ ได้แก่ โกรธ เศร้า สุข หงุดหงิด ปกติ นักแสดง 200 คน (ชาย 87 และหญิง 113) จำนวน 36 ชม. (23,797 ประโยค) ถือเป็นชุดข้อมูลจำแนกอารมณ์จากเสียงพูดภาษาไทยที่ใหญ่ที่สุด ณ ปัจจุบัน
ท่านใดสนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่ airesearch.in.th
ที่มา: สยามรัฐ และ สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย |
# AMD เปิดตัว Radeon RX 6700 XT เน้นเล่นเกม 1440p ขาย 18 มีนาคม เริ่มต้น 479 ดอลลาร์
AMD เปิดตัว Radeon RX 6700 XT สถาปัตยกรรม RDNA 2 ที่ยังไม่เปิดเผยชื่อ แต่ตามรูปแบบการตั้งชื่อของ AMD แล้วน่าจะเป็น Navi 22 และจะเน้นสำหรับการเล่นเกมบนความละเอียด 1440p ท้าชน RTX 3070 ของฝั่ง Nvidia
Radeon RX 6700 XT มี compute unit 40 ตัว ความเร็ว Game Clock 2424MHz, Boost Clock 2581MHz แรม GDDR6 ขนาด 12GB แคช 96MB กินพลังงาน 230 วัตต์ วางจำหน่าย 18 มีนาคมนี้ ในราคา 479 ดอลลาร์ ถูกกว่าราคาเปิดตัว RTX 3070 ที่ 499 ดอลลาร์เล็กน้อย แต่มีแรมมากกว่า (12GB เทียบกับ 8GB)
ดูจากรูปแบบการโปรโมตแล้ว AMD ตั้งใจวาง RX 6700 XT ไว้เป็นการ์ดจอสำหรับเล่นเกมบนความละเอียด 1440p โดยโชว์ประสิทธิภาพว่าทำได้ดีกว่า RTX 2080 Super ในเกมอย่าง Assassin’s Creed: Valhalla, Borderlands 3, Cyberpunk 2077 และ Dirt 5
ที่มา - Anandtech |
# Brave ซื้อกิจการเว็บค้นหา Tailcat นำมาทำ Brave Search แข่งกับกูเกิล
เว็บเบราว์เซอร์ Brave ประกาศซื้อกิจการเว็บค้นหา Tailcat เพื่อนำมาพัฒนาเป็นบริการค้นหาของตัวเอง Brave Search ที่จะเชื่อมโยงกับเบราว์เซอร์อย่างแนบแน่น
Brave คุยว่าแนวทางของ Brave Search จะแตกต่างจาก Google Search/Chrome ตรงที่ไม่ตามรอยผู้ใช้ ไม่เก็บหมายเลข IP หรือข้อมูลระบุตัวใดๆ เพื่อนำไปพัฒนาผลการค้นหา
Brave ยังเผยตัวเลขผู้ใช้งานว่าเพิ่มจากเดือนละ 11 ล้านคนในปี 2019 เป็น 25 ล้านคนในปี 2020 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก ด้วยเหตุผลว่าผู้ใช้สนใจเรื่องความเป็นส่วนตัวขึ้นมาก ซึ่งเบราว์เซอร์ Brave ตั้งใจชูประเด็นเรื่องนี้เป็นสำคัญ
นอกจากธุรกิจเว็บค้นหาแล้ว Brave ยังมีธุรกิจโฆษณา Brave Ads และเว็บอ่านข่าว Brave Today ด้วย
ที่มา - Brave |
# Xiaomi บอกมือถือซีรีส์ Redmi K40 รอบแฟลชเซลขายออกไปแล้ว 3 แสนเครื่องภายใน 5 นาที
Xiaomi เปิดตัวมือถือ Redmi K40 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเปิดขายรอบแฟลชเซลวันนี้ ล่าสุด Xiaomi โพสต์ลง Weibo ว่าตัวเครื่องขายออกไปแล้ว 3 แสนเครื่องภายในเวลา 5 นาที โดยเป็นจำนวนรวมของมือถือทั้ง 3 รุ่นแล้วทั้ง Redmi K40, Redmi K40 Pro และ Redmi K40 Pro+
Redmi K40 ใช้ชิป Snapdragon 870 กล้อง 48MP ส่วน Redmi K40 Pro และ Redmi K40 Pro+ ใช้ชิป Snapdragon 888 ความละเอียดกล้อง 64MP และ 108MP ตามลำดับ ราคามือถือเริ่มต้น 14,000 บาท
Xiaomi จะเปิดขาย Redmi K40 อีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคม
ที่มา - GSMArena |
# ซัมซุงอัพเดตฟีเจอร์จาก Galaxy Buds Pro กลับมาให้ Buds+ และ Buds Live
ซัมซุงยุคใหม่ ขยันอัพเดตซอฟต์แวร์ให้ฮาร์ดแวร์รุ่นเก่า ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเท่านั้น สินค้าข้างเคียงอย่างหูฟังไร้สายก็ได้อัพเดตฟีเจอร์ด้วยเช่นกัน
ปีนี้ซัมซุงเปิดตัว Galaxy Buds Pro ที่นับเป็นหูฟังไร้สายรุ่นที่ 4 ของบริษัท และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้อัพเดตเฟิร์มแวร์ให้กับ Galaxy Buds+ (รุ่นที่ 2) และ Galaxy Buds Live (รุ่นที่ 3) ให้มีฟีเจอร์ Auto Switch สลับอุปกรณ์อัตโนมัติ และเพิ่มเมนูควบคุมหูฟังจากหน้า Bluetooth Settings ด้วย ซึ่งฟีเจอร์สองอย่างนี้ยกมาจากตัว Buds Pro
ที่มา - SamMobile
ภาพ Galaxy Buds+ จากซัมซุง |
# เรา (ยัง) ไม่ทิ้งกัน Nintendo ออกอัพเดตใหม่ให้ Wii U เป็นครั้งแรก หลังปี 2018
Nintendo ออกอัพเดตใหม่ให้เครื่อง Wii U เครื่องคอนโซลรุ่นต่อจาก Nintendo Wii ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่ารุ่นก่อนหน้า สาเหตุหนึ่งมาจากแคมเปญมาร์เก็ตติ้งที่คลุมเครือว่าเป็นอุปกรณ์แยกหรือเป็นเครื่องเกมรุ่นใหม่กันแน่ ก่อนจะมาประสบความสำเร็จกับ Nintendo Switch
อัพเดตใหม่นี้เป็นครั้งแรกที่ Nintendo ปรับปรุงเฟิร์มแวร์ให้ Wii U นับตั้งแต่ปี 2018 โดยอัพเกรดจากเวอร์ชั่น 5.5.3 เป็น 5.5.5 ส่วนในแพทช์โน้ต เขียนไว้แค่ว่า “ปรับปรุงความเสถียรของระบบและแก้ไขสิ่งอื่นเล็กน้อย เพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้” เหมือนกับเวอร์ชั่นก่อน โดยไม่มีรายละเอียดรายการที่ปรับปรุงแก้ไขที่ชัดเจนแต่อย่างใด
อย่างน้อยก็ถือว่า Nintendo ยังไม่ละทิ้งเครื่อง Wii U โดยสิ้นเชิง แม้ Nintendo Switch จะประสบความสำเร็จมากกว่า และหลายๆ เกมที่เคยลง Wii U ก็ถูกนำมาพอร์ต และขายดีเป็นเทน้ำเทท่าบน Nintendo Switch เช่น Mario Kart 8
แม้แต่ The Legend of Zelda: Breath of the Wild เอง ในช่วงแรกก็เป็นเกมที่พัฒนาสำหรับ Nintendo Wii U เช่นกัน และยังเป็นเกมสุดท้ายของ Nintendo บนเครื่อง Wii U อีกด้วย
ที่มา - The Verge |
# [ไม่ยืนยัน] ByteDance เจ้าของ TikTok กำลังพัฒนาแอปแนว Clubhouse
REUTERS รายงานจากแหล่งข่าวใกล้ชิดว่า ByteDance เจ้าของ TikTok กำลังพัฒนาแอปแนว Clubhouse ใช้งานในประเทศจีน หลังจีนบล็อก Clubhouse ไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตอนนี้ยังอยู่ในขั้นแรกๆ ของการพัฒนาแอป
จนถึงตอนนี้ก็มีแอปคล้ายกันผุดขึ้นมาในจีนมากมาย ซึ่ง Clubhouse ได้รับความนิยมในจีนมากเช่นเดียวกับที่อื่น ประเด็นที่นิยมพูดคุยคือชาวอุยกูร์ ประเด็นฮ่องกง เป็นต้น จนเป็นสาเหตุให้แอปโดนแบน
ที่มา - The Strait Times |
# Apple เปิดให้ผู้ใช้ในยุโรปย้ายรูปจาก iCloud Photos ไปไว้บน Google Photos ได้แล้ว
หลังยุโรปบังคับใช้ GDPR หรือกฎเกณฑ์ใหม่สำหรับข้อมูลส่วนตัว ไปเมื่อปี 2018 และ Apple เริ่มเปิดให้ผู้ใช้ในยุโรปดาวน์โหลดข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดของตัวเองได้ ในเดือนพฤษภาคม และตามมาด้วยประเทศอื่นภายในปี 2018
ล่าสุด Apple ได้เปิดให้ผู้ใช้ในยุโรปสามารถนำรูปภาพที่อยู่บน iCloud Photos ไปไว้บน Google Photos ผ่านหน้า Data & Privacy ได้แล้ว ส่วนในประเทศไทยอาจต้องรออีกสักพัก และจะมีรายละเอียดดังนี้
ผู้ใช้ต้องมี
รูปภาพหรือวิดีโอบน iCloud
เปิดใช้ two-factor authentication บน Apple ID
มี Google account ที่มีพื้นที่พอเก็บไฟล์ที่จะย้ายมา
วิธีการย้ายรูป มีดังนี้
เข้าไปล็อกอินหน้า Data & Privacy ของ Apple ด้วย Apple ID
เลือก Request to transfer a copy of your data ในหมวด Transfer a copy of your data
เลือก Google Photos เป็นจุดหมาย
เลือกว่าจะย้ายทั้งรูปภาพ และวิดีโอ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง
ยืนยันว่ามีพื้นที่บน Google Photos มากพอ และล็อกอินเข้าบัญชี Google ที่ต้องการย้ายรูปไปใส่
ยืนยันบัญชีให้เรียบร้อย แล้วอนุญาตให้ Apple เข้าถึง Google Photos ได้
ตรวจสอบรายละเอียด แล้วกดยืนยัน
การย้ายรูปจะไม่ลบไฟล์เก่าบน iCloud Photos แต่จะเป็นการก็อปปี้รูปไปใส่ Google Photos แทน โดยรูปจะไปทั้งอัลบั้ม หากมีการจัดอัลบั้มไว้ แต่วิดีโอจะแยกไปเป็นไฟล์เดี่ยวๆ ชื่ออัลบั้มและวิดีโอจะขึ้นต้นด้วย “Copy of…” ทั้งสิ้น ส่วนไฟล์ที่อยู่ใน shared albums, smart albums, photo stream ไฟล์ที่ภาพหรือวิดีโอที่เก็บไว้ในโฟลเดอร์แอปอื่นๆ รวมถึง live photos และข้อมูล metadata บางส่วน จะไม่สามารถย้ายไปได้
ภาพจาก 9to5Mac ถ้าล็อกอินจากประเทศไทย จะยังไม่มีตัวเลือกนี้
ตอนนี้การโอนย้ายข้อมูลนี้ยังรองรับแค่ Google Photos ซึ่งจะเลิกให้พื้นที่ไม่จำกัด เหลือให้ฟรีแค่ 15GB ภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่คาดว่า Apple น่าจะเพิ่มตัวเลือกให้สามารถย้ายรูปและวิดีโอไปยังบริการอื่นได้ และน่าจะเปิดฟีเจอร์การย้ายข้อมูลนี้ในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมเร็วๆ นี้
ที่มา - 9to5Mac |
# CFO ทวิตเตอร์บอก App Tracking ของแอปเปิลทำให้การแข่งขันโฆษณาออนไลน์เท่าเทียมมากขึ้น
หลังแอปเปิลบังคับนโยบายความเป็นส่วนตัวใหม่ ที่ผู้ใช้ต้องอนุญาตให้แอปเก็บข้อมูล Advertising Identifier (IDFA) ของตัวเครื่อง ซึ่งเปรียบเสมือนการเก็บคุกกี้บนเบราว์เซอร์ สำหรับการทำ Target Ads โดยมีเฟซบุ๊กออกมาโวยวายเรื่องนี้มากที่สุด เพราะกระทบโดยตรง
ตรงกันข้ามกับฝั่งทวิตเตอร์ที่มองเรื่องนี้เป็นโอกาสมากกว่า โดย Ned Segal ตำแหน่ง CFO ของทวิตเตอร์แสดงความเห็นว่า ปกติทวิตเตอร์ก็ไม่ได้พึ่งพาการยิงโฆษณาผ่าน IDFA เป็นหลักอยู่แล้ว ฉะนั้นนโยบายใหม่ของแอปเปิลน่าจะสร้างความได้เปรียบให้ทวิตเตอร์มากขึ้นบ้าง จากการใช้หลายองค์ประกอบในการยิงโฆษณามาประกอบกัน
นอกจากนี้ Segal บอกด้วยว่านโยบายนี้ ทำให้พื้นที่การแข่งขันโฆษณาออนไลน์มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น (level the playing field) จากการยอมรับว่ามีหลายบริษัทที่ทำ Target Ads จากข้อมูลผู้ใช้ที่เก็บจากที่ต่าง ๆ ได้ดีกว่า แต่ตอนนี้ทุกบริษัทมีความท้าทายและโจทย์ที่คล้าย ๆ กันแล้ว
ที่มา - MacRumor |
# Kings of Leon วงดนตรีอเมริกัน ออกอัลบั้มใหม่แบบ NFT หรือโทเคน พร้อมประมูลตั๋วคอนเสิร์ตแถวหน้า
Kings of Leon วงดนตรีร็อคอเมริกันออกอัลบั้มใหม่ When You See Yourself ในรูปแบบ Non-Fungible Token หรือ NFT หรือโทเคนที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ โดย Kings of Leon จะนำเสนอแพ็คเกจอัลบั้มพร้อมไวนิลและการดาวน์โหลดแบบดิจิทัลสำหรับโทเค็นราคา 50 เหรียญ วางจำหน่ายในวันศุกร์นี้ที่ YellowHeart แพลตฟอร์มการจำหน่ายตั๋ว NFT
นอกจากนี้ วง Kings of Leon ยังเสนอให้ประมูล NFT Yourself เพื่อชิงตั๋วคอนเสิร์ตที่นั่งแถวหน้าในแต่ละการแสดงของวงได้ตลอดชีวิตด้วย ไม่แน่ว่า NFT อาจเป็นอีกช่องทางที่ศิลปินจะสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการที่รายได้หดหายเพราะออกทัวร์คอนเสิร์ตไม่ได้
ในวงการดนตรี การใช้งาน NFT นั้นค่อนข้างเป็นเรื่องนอกกระแส มีนักดนตรีและดีเจไม่กี่รายที่ใช้ช่องทางนี้ แต่ระยะหลัง NFT เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงโรคระบาดที่ศิลปินขาดรายได้
ที่มา - CNBC, Rolling Stones |
# Doom 3 เตรียมลง PlayStation VR รวมทุกภาคเสริม เล่นได้ทั้ง PS4 และ PS5
id Software เตรียมพอร์ตเกม Doom 3 รวมภาคเสริม Resurrection of Evil และ The Lost Mission ลง PlayStation VR โดยจะยึด PS4 เป็นหลัก แต่เล่นบน PS5 ได้ ผ่าน backward-compatibility และจะวางจำหน่ายในวันที่ 29 มีนาคมนี้
Doom 3 เป็นเกม Doom ภาคก่อนที่จะถูกรีบูตในปี 2016 ตัวเกมเน้นบรรยากาศและความสยองขวัญมากกว่าการเคลื่อนที่หรือยิงปืนที่รวดเร็วในภาคใหม่ๆ และแทบจะต้องใช้ไฟฉายเพื่อเล่นเกือบทั้งเกม แต่ก็ดูจะเหมาะกับแนวเกมแบบ VR ที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกอินกับบรรยากาศได้กว่าเดิม
ถือเป็นครั้งแรกที่เกม Doom แบบเต็มเกม ถูกนำมาทำเป็นเกม VR หลัง Bethesda เคยนำเกม Doom ภาค 2016 มาซอยเป็นเกมย่อยในชื่อ Doom VFR ซึ่งเป็นเกมเล็กๆ ที่เหมือนเป็น tech demo มากกว่า
ที่มา - Polygon |
# SpaceX ทดสอบนำยาน Starship ลงจอดสำเร็จครั้งแรก แต่จรวดระเบิดภายหลัง
SpaceX ทดสอบนำยาน Starship SN10 ขึ้นบินไปยังระดับความสูง 10 กิโลเมตรแล้วลงจอด นับเป็นความพยายามลงจอดครั้งที่ 3 ของยาน Starship และเป็นครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดีหลังจากลงจอดไป 8 นาทียานก็กลับระเบิด
ตัวยาน Starship นั้นสูงถึง 50 เมตรและบรรจุเชื้อเพลิงเต็มท่ได้ 1,200 ตัน พร้อมระวางบรรทุกอีก 100 ตัน ตัวยานติดตั้งเครื่องยนต์ Raptor 3 เครื่อง การลงสู่พื้นโลกเป็นการลงแบบแนวนอน ควบคุมทิศทางด้วยครีบข้างลำตัวยานสี่จุด และช่วงท้ายจึงใช้เครื่องยนต์ Raptor ผลักดันเพื่อลงจอดแบบ soft-landing
ยาน Starship นับเป็นความฝันระยะยาวของ SpaceX ที่จะสร้างยานที่สามารถเดินทางไปยังดวงจันทร์ และดาวอังคาร ยานออกแบบให้ใช้ซ้ำได้และสามารถเติมเชื้อเพลิงในอวกาศ
ที่มา - SpaceX |
# ผู้ใช้งาน Sony Xperia ที่ได้รับอัพเกรดไป Android 11 พบปัญหาสแกนลายนิ้วมือไม่ได้หลังจากอัพเกรดในเวลาไม่นาน
ปัญหาไม่สามารถแสกนลายนิ้วมือได้ถูกพบหลังจากอัพเกรด OS บน Sony Xperia เป็น Android 11 ผ่าน OTA ซึ่งลักษณะการใช้งานในช่วงแรกคือ ระบบตอบสนองต่อการแสกนลายนิ้วมือได้แย่ลง และต้องทำการ restart เครื่องเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ตามปรกติ แต่ในเวลาไม่นานก็จะกลับมามีปัญหาอีกครั้ง ข้อสังเกตพบว่า เมื่อเครื่องร้อน จะมีปัญหาหนักกว่าปรกติ
และภายหลังจากนั้น (ระบุระยะเวลาไม่ได้) จะพบว่า fingerprint manager หายไปจากตัว Setting ใน Android ในบางครั้งหลังจาก restart เครื่อง
ในเวลาต่อมาจะใช้งานไม่ได้โดยสิ้นเชิง พร้อมขึ้นข้อความ "fingerprint enrolment time limit has been reached"
โดยปัญหาดังกล่าวมีกลุ่มผู้ใช้งายได้รายงานใน reddit /r/SonyXperia และ Sony Community โปรตุเกส รายงานปัญหานี้อยู่จำนวนหนึ่ง Fingerprint scanner option has now disappeared, Finger print scanner disappeared
และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นปัญหาที่ Sony รับทราบ และมีคำแนะนำเบื้องต้นทั้งภาษาอังกฤษลงวันที่ 19/02/2021 และภาษาไทยลงวันที่ 01/03/2021 คือ
โดยระหว่างนี้คงต้องหวังว่า Sony จะออกอัพเดทซอฟต์แวร์เพื่อให้ระบบสแกนลายนิ้วมือกลับมาใช้งานได้ตามเดิมต่อไป
หมายเหตุ ผู้เขียนข่าวซึ่งใช้ Sony Xperia 1 ก็พบปัญหาเช่นกัน |
# [ลือ] Nintendo Switch รุ่นใหม่ ใช้จอ OLED 7 นิ้วของ Samsung เตรียมส่งมอบจอกรกฎาคมนี้
Bloomberg รายงานข้อมูลเกี่ยวกับ Nintendo Switch รุ่นใหม่ที่น่าจะวางจำหน่ายภายในปีนี้ โดยอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวตนที่เกี่ยวข้อง ว่าจะมาพร้อมกับหน้าจอ OLED ของ Samsung ขนาด 7 นิ้ว (จอรุ่นปัจจุบันเป็น LCD 6.2 นิ้ว) และตัวเครื่องจะมีขนาดเท่าเดิม แปลว่าอาจใช้การลดขนาดขอบจอแทน
หน้าจอ OLED จะประหยัดพลังงานมากขึ้น แปลว่าแบตเตอรี่ของ Switch รุ่นใหม่อาจอยู่ได้นานขึ้น มีคอนทราสต์สูงขึ้น อัตราการตอบสนองดีขึ้น ความละเอียด 720p แต่เมื่อต่อเข้าทีวี จะแสดงภาพได้ถึง 4K โดยยังไม่ระบุเทคนิคที่ใช้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นการอัพสเกล ผนวกกับเทคนิค DLSS ของ Nvidia
Samsung เตรียมเริ่มผลิตหน้าจอให้ Nintendo Switch รุ่นใหม่ในเดือนมิถุนายน ตั้งเป้าไว้ที่เดือนละเกือบหนึ่งล้านยูนิต ก่อนจะเริ่มส่งมอบและประกอบภายในเดือนกรกฎาคมนี้ Bloomberg ติดต่อไปสอบถามทั้ง Samsung และ Nintendo แต่ไม่มีบริษัทไหนยอมให้ความเห็น
จากไทม์ไลน์ มีความเป็นไปได้ที่เราจะเห็น Nintendo Switch รุ่นใหม่วางจำหน่ายภายในปีนี้ แม้ Shuntaro Furukawa ประธาน Nintendo คนปัจจุบันจะเคยกล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้ว ว่าบริษัทยังไม่มีแผนเปิดตัว Nintendo Switch รุ่นใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องปกติ เมื่อดูจากความพยายามปฏิเสธเพื่อปกปิดความลับของ Nintendo ในอดีตที่ผ่านๆ มา
ที่มา - Bloomberg |
# ไมโครซอฟท์ประกาศช่วยพัฒนา Flutter, Canonical เลือกใช้ Flutter เป็นดีฟอลต์
นอกจากข่าว Flutter ออกเวอร์ชัน 2.0 กูเกิลยังประกาศรายชื่อพันธมิตรชุดใหญ่มาพร้อมกัน และให้ตัวเลขว่าตอนนี้มีแอพและแพ็กเกจ Flutter รวมแล้วกว่า 150,000 รายการ
รายที่โดดเด่นที่สุดหนีไม่พ้นไมโครซอฟท์ ที่ประกาศเข้ามาช่วยพัฒนา Flutter โดยเฉพาะการนำมาใช้กับอุปกรณ์ 2 จออย่าง Surface Duo สิ่งที่ไมโครซอฟท์เข้ามาช่วยทำคือ MediaQuery หรือการให้แอพ Flutter สามารถสอบถามไปยังอุปกรณ์ที่รันว่ามีหน้าจอแบบไหน มีรอยบาก (cutout) หรือบานพับ (hinge) หรือไม่ สถานะตอนนั้นกางจอออกหรือพับอยู่ เพื่อให้วาด UI ได้ตรงจุด
รายต่อมาคือ Canonical บริษัทแม่ของ Ubuntu ที่ประกาศความร่วมมือกับกูเกิลเมื่อปีที่แล้ว วันนี้ประกาศว่าแอพของบริษัท Canonical เอง (ไม่นับรวมแอพจากชุมชน Ubuntu) จะเลือกใช้ Flutter เป็นดีฟอลต์ ตอนนี้ตัวติดตั้งตัวใหม่ของ Ubuntu กำลังถูกเขียนใหม่ด้วย Flutter เช่นกัน
Toyota ยักษ์ใหญ่ของวงการรถยนต์ ประกาศนำ Flutter มาใช้เขียน infotainment เวอร์ชันใหม่ของบริษัท ตอนนี้ยังไม่มีตัวอย่างให้ดู แต่ Toyota บอกว่าเลือกใช้ Flutter เพราะประสิทธิภาพสูง และประสบการณ์เหมือนกันบนทุกแพลตฟอร์ม
ฝั่งแอพของกูเกิลเองก็มีตัวที่เขียนด้วย Flutter มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น Google Pay, Stadia และแอพฝั่งโฆษณา ล่าสุดกูเกิลยังเปิดตัว Mobile Ads SDK for Flutter ทำให้นักพัฒนาสาย Flutter แปะโฆษณาหาเงินได้ง่ายขึ้นอีก
บริษัทอื่นๆ ที่ระบุชื่อว่าใช้ Flutter มีตั้งแต่ Amazon, Adobe, Alibaba, eBay, Square, WeChat, Grab เป็นต้น
ที่มา - Google, Microsoft |
# ไมโครซอฟท์ออกตัวช่วยอัพเกรดแอพเก่า .NET Framework เป็น .NET 5
ทิศทางของโลก .NET ชัดเจนว่ามุ่งไปทาง .NET 5 ที่พยายามหลอมรวม .NET Framework กับ .NET Core เข้าด้วยกัน แต่โลกของเราก็ยังมีแอพเก่าๆ ที่เขียนด้วย .NET Framework จำนวนมหาศาล และการอัพเกรดเป็น .NET 5 (ที่ไม่ได้เข้ากัน 100%) ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
เมื่อวานนี้ไมโครซอฟท์เลยออกตัวช่วยอัพเกรดชื่อ .NET Upgrade Assistant เป็นคำสั่งคอมมานด์ไลน์ที่ช่วยวิเคราะห์แอพเก่า และแปลงโค้ดส่วนต่างๆ ให้เข้ากับ .NET 5 (ยังไม่ถึงขั้นรันคำสั่งเดียวแล้วแปลงให้อัตโนมัติ แต่จะเป็นเหมือน wizard ช่วยไกด์เราว่าต้องปรับตรงไหนบ้าง)
ไมโครซอฟท์บอกว่า .NET Upgrade Assistant รองรับแอพหลากหลายประเภท ทั้ง ASP.NET MVC, Windows Forms, WPF รวมถึงแอพคอนโซลและไลบรารีที่ไม่มี GUI
ตัวโปรแกรมยังมีสถานะเป็นพรีวิว และโอเพนซอร์สบน GitHub
ที่มา - Microsoft |
# Flutter 2.0 ออกแล้ว รองรับ 6 แพลตฟอร์ม ปรับปรุง Flutter Web ครั้งใหญ่
กูเกิลประกาศออก Flutter 2.0 และ Dart 2.12 ซึ่งถือเป็นการอัพเกรดครั้งใหญ่ของโลก Flutter
ปัจจุบัน Flutter รองรับการเขียนแอพเนทีฟบน 5 ระบบปฏิบัติการคือ Android, iOS, macOS, Linux, Windows บวกด้วยการเขียนเว็บอีก 1 แพลตฟอร์ม
นอกจาก 6 แพลตฟอร์มข้างต้นแล้ว กูเกิลยังประกาศความร่วมมือกับ Toyota ที่จะนำ Flutter ไปใช้ในระบบ infotainment ของรถยนต์ด้วย แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดมากนักในตอนนี้
ของใหม่ที่สำคัญที่สุดของ Flutter 2.0 คือรองรับการเขียนเว็บแอพเต็มรูปแบบ (ก่อนหน้านี้เป็น Beta ตอนนี้คือ Stable) โดยระบบ Flutter จะมองเว็บเป็น device target อีกตัวหนึ่ง เหมือนกับการตั้ง target ของระบบปฏิบัติการอื่นๆ
ฟีเจอร์สำคัญของ Flutter Web ในเวอร์ชัน 2.0 ได้แก่
รองรับ Progressive web apps (PWAs)
รองรับ Single page apps (SPAs) เว็บแบบหน้าเดียว โหลดครั้งเดียว
สามารถพอร์ตแอพ Flutter เวอร์ชันมือถือไปเป็นเว็บแอพได้ทันที ใช้โค้ดเดียวกันได้เลย
นอกจากฟีเจอร์หลัก 3 อย่างแล้ว ยังมีเอนจินเรนเดอร์เว็บตัวใหม่ที่เขียนด้วยเทคโนโลยี CanvasKit และ WebAssembly ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น, รองรับ text autofill, เพิ่มการควบคุม URL ใน adress bar ของเบราว์เซอร์ เป็นต้น
ฝั่งของ Flutter Desktop ตอนนี้สถานะเป็น Stable แบบ Early Access ก่อนออกรุ่น Stable ภายในปีนี้ ของใหม่คือปรับปรุง text selection, context menu, ปรับปรุงการทำงานของ scrollbar และเพิ่ม grab handle ตัวลากลิสต์สลับไปมาใน ReorderableListView
ภาษา Dart 2.12 ยังมีฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญคือ Sound Null Safety ซึ่งเป็นการแยกชนิดของตัวแปรแบบ nullable และ non-nullable ออกจากกัน เพื่อให้โปรแกรมเมอร์ป้องกันแครชแบบ null error ได้ (การตรวจสอบ null อยู่ที่ระดับของตัวแปรเลย ดักเจอตั้งแต่ตอนเขียน)
กูเกิลบอกว่าตอนนี้ Flutter ออกมาได้ 6 แพลตฟอร์มแล้ว รองรับอุปกรณ์จอเล็กไปจนถึงจอใหญ่ มีอินพุตหลายแบบ ทั้งทัช คีย์บอร์ด เมาส์ และมีมุมมองการใช้งานแอพต่างกัน (เว็บ มือถือ เดสก์ท็อป) นักพัฒนาอาจสับสนว่าต้องเขียนแอพอย่างไรให้รองรับทุกอย่างได้ครบ จึงได้ออกแอพตัวอย่างชื่อ Flutter Folio มาให้ดูกันเป็นแนวทาง
ที่มา - Flutter 2.0, Google Developer |
# ไมโครซอฟท์เปิดตัว Group Transcribe แอปถอดเสียงประชุมและแปลข้อความให้ รองรับภาษาไทยด้วย
Microsoft Garage หน่วยบ่มเพาะนวัตกรรมใหม่ในไมโครซอฟท์ เปิดตัวแอปพลิเคชั่น Group Transcribe แอปบันทึกเสียงการประชุม ที่สามารถถอดเสียงเป็นคำบรรยาย และแปลภาษาในข้อความไปด้วยได้ รองรับ 80 ภาษา รองรับภาษาไทยด้วย ผู้ใช้งานจะได้โฟกัสกับการประชุมเต็มที่โดยไม่ต้องจดโน้ต เปิดให้ใช้งานเฉพาะ iOS แล้วทั่วโลก
วิธีการทำงานของ Group Transcribe คือ เริ่มการประชุมจากในแอป และส่งลิงค์หรือส่ง QR Code ให้คนอื่นเพื่อเชิญให้เข้าร่วมประชุม ในการประชุมผู้ใช้งานต้องวางโทรศัพท์ไว้ในระยะเอื้อมถึง เพื่อให้ระบบถอดเสียงได้เต็มที่
ผู้ใช้งานสามารถเลื่อนดูข้อความบันทึกเก่าๆ และมองเห็นด้วยว่าใครพูดประโยคอะไร รวมถึงข้อความแปลภาษาใต้ข้อความนั้นๆ และแชร์ข้อความบรรยายให้ผู้อื่นได้ด้วย
ไมโครซอฟท์เผยกลไกสำคัญของ Group Transcribe คือ AI จับเสียงถอดเป็นข้อความอัตโนมัติ และแปลอัตโนมัติ รวมถึงระบุที่มาของเสียงว่ามาจากลำโพงตัวไหนให้ได้อย่างแม่นยำ
ภาษาที่รองรับตอนนี้ตัวอย่างเช่น อาหรับ, บัลแกเรีย, คาตาลัน, กวางตุ้ง, จีน, โครเอเชีย, เช็ก, เดนมาร์ก, ดัตช์, อังกฤษ, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, กรีก, ฮินดี, ไอริช, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลี, ลิทัวเนีย, ลัตเวีย, มอลตา, นอร์เวย์, โปแลนด์, โปรตุเกส, โรมาเนีย, รัสเซีย, สเปน, สโลวัก, สโลวีเนีย, สวีเดน, ไทย, ตุรกี เป็นต้น
ที่มา - ไมโครซอฟท์ |
# ทวิตเตอร์ทดสอบฟีเจอร์ขายของ แสดงปุ่มซื้อ และโพสต์ที่มองเห็นชื่อสินค้า ราคา ร้านค้า
ทวิตเตอร์ทดสอบฟีเจอร์เพื่อการช้อปปิ้ง ใส่ลิงค์กดซื้อของได้จากโพสต์ มองเห็นปุ่ม Shop ในโพสต์ที่มาในรูปแบบการ์ดแสดงสินค้า และยังมองเห็นชื่อสินค้า ร้านค้า และราคาสินค้าได้ด้วย
ฟีเจอร์ใหม่นี้คาดว่าส่งผลประโยชน์ต่อธุรกิจโฆษณาและช่วยขับเคลื่อนทวิตเตอร์สู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับครีเอเตอร์ ซึ่งเห็นได้จากการเปิดตัว Super Follow จ่ายเงินเพื่อเข้าถึงเนื้อหา exclusive ที่เป็นโมเดลคล้ายกับ OnlyFans ฟีเจอร์ช้อปปิ้งก็จะส่งเสริมกันดับการสร้างเนื้อหาของครีเอเตอร์ได้ด้วย
ภาพจาก Twitter
ที่มา - TechCrunch |
# Facebook กลับมารับโฆษณาการเมืองอีกครั้ง หลังหยุดไป 5 เดือนตั้งแต่เลือกตั้งสหรัฐจบลง
Facebook ประกาศแบนโฆษณาการเมืองไปตั้งแต่จบการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 เริ่มระงับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. ปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลป้องกันข่าวปลอมเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง และขยายเวลาแบนออกไปอีกเมื่อเกิดเหตุการณ์บุกรัฐสภา 6 ม.ค. ล่าสุด Facebook จะกลับมารับโฆษณาการเมืองอีกครั้ง เริ่ม 4 มีนาคมนี้
Facebook ยืนยันเช่นเดิมว่าผู้ซื้อโฆษณาต้องยืนยันตัวตน และเปิดเผยให้ชัดเจนว่าเป็นใคร มาจากหน่วยงานอะไร และตัวโฆษณาก็จะแสดงให้ผู้ใช้งานเห็นด้วยว่า ใครเป็นผู้ซื้อโฆษณานี้ โดย Facebook จะใช้เวลา 48 ชั่วโมงสำหรับการยืนยันตัวตน, 24 ชั่วโมงสำหรับการตรวจสอบข้อจำกัดและความรับผิดชอบ และ 72 ชั่วโมงสำหรับการตรวจทานโฆษณา
ที่มา - Facebook |
# Netflix เปิดตัวคลิปสั้น Fast Laughs รวมฟุตเทจตลก ปัดขึ้นเพื่อดูได้เรื่อยๆ เหมือน TikTok
คลิปสั้นจะอยู่ในทุกๆ ที่ Netflix เปิดตัวลูกเล่นใหม่ Fast Laughs เป็นการรวมคลิปสั้นที่คัดเฉพาะตอนตลกจากซีรีส์, ทอล์คโชว์, การ์ตูนที่มีอยู่ใน Netflix มาไว้รวมกัน ปัดขึ้นเพื่อดูได้เรื่อยๆ หน้าตาเหมือน TikTok ระหว่างปัดดูก็สามารถกดบันทึกซีรีส์นั้นไว้เก็บเข้า My List ได้ หรือกดเพื่อดูซีรีส์นั้นเต็มๆ ได้ด้วย
ตัวฟีเจอร์ Fast Laughs อยู่ด้านล่างของมือถือ ตอนนี้ยังใช้งานได้เฉพาะแอปพลิเคชั่นบน iOS ในบางประเทศ และกำลังทดสอบการใช้งานบน Android อยู่
จากรายงานการประกอบการ Netflix มีการอ้างอิงถึง TikTok ว่าเป็นหนึ่งในคู่แข่งด้วย ซึ่งไม่ใช่คู่แข่งเชิงเนื้อหา แต่เป็นคู่แข่งเรื่องการช่วงชิงเวลาจากผู้บริโภคไปอยู่บนแพลตฟอร์ม เพราะ TikTok ก็เป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ สร้างความรู้สึกดูได้เรื่อยๆ ไม่รู้จบ การเปิดตัว Fast Laughs ยังสะท้อนปริมาณเนื้อหาที่มีมหาศาลใน Netflix จนสามารถคัดออกมาทำเป็นคลิปสั้นได้
ที่มา - The Verge |
# บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์ Qualys ถูกแฮกเกอร์เจาะเซิร์ฟเวอร์ขโมยไฟล์ แฮกเกอร์เริ่มโพสไฟล์ตัวอย่างแล้ว
Qualys บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์ที่เป็นที่รู้จักจากบริการ SSL Labs ถูกแฮกเกอร์กลุ่ม CLOP ransomware เจาะเซิร์ฟเวอร์ Accellion FTA ด้วยช่องโหว่ zero-day ทำให้แฮกเกอร์ได้ไฟล์ออกไป และเริ่มโพสตัวอย่างไฟล์บางส่วนในเว็บ Tor เป็นไฟล์เอกสารสั่งซื้อ, เอกสารภาษี, และข้อตกลงการใช้งานกับลูกค้าของ Qualys
FireEye รายงานว่าพบการโจมตี Accellion FTA ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว เป็นช่องโหว่ SQL Injection และทาง Accellion ก็ออกแพตช์หลังได้รับรายงานไม่กี่วัน แต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาก็กลับพบการโจมตีช่องโหว่ชุดใหม่อีกครั้ง แม้ทาง Accellion จะแก้ไขได้เร็วเช่นเดิมแต่ก็ตัดสินใจจ้างทาง FireEye ให้ตรวจสอบความปลอดภัยซอฟต์แวร์จนพบช่องโหว่อีกชุดและแก้ไขไปแล้วทั้งหมด
ไม่แน่ชัดว่าคนร้ายได้ข้อมูลจาก Qualys ไปในรอบใด โดยกลุ่ม CLOP มักส่งอีเมลเรียกค่าไถ่ไปล่วงหน้า หลังจากนั้นก็มักนำข้อมูลขึ้นเว็บและติดต่อนักข่าว
ที่มา - Bleeping Computer, Global News Wire |
# กูเกิลเตรียมเลิกขายโฆษณาแบบติดตามตัวคน
กูเกิลประกาศว่ากำลังเตรียมเลิกขายโฆษณาแบบติดตามตัวคน จากเดิมที่ทุกวันนี้โฆษณามักติดตามผู้ใช้ไปได้ผ่านทาง third-party cookie แต่เบราว์เซอร์ต่างๆ กำลังจำกัดความสามารถนี้อย่างต่อเนื่อง
วงการโฆษณามีความสามารถในการติดตามตัวผู้ใช้ได้ทางช่องทาง เช่น การใช้ cookie ในเบราว์เซอร์เพื่อติดตามข้ามเว็บ และการใช้หมายเลขประจำตัวอุปกรณ์สำหรับการโฆษณา (AdID บนแอนดรอยด์ และ IDFA บน iOS) แต่ปัจจุบันเบราว์เซอร์ต่างๆ เริ่มจำกัดการใช้ cookie ข้ามเว็บให้ใช้งานได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่หมายเลขประจำตัวอุปกรณ์นั้น ทางแอปเปิลก็กำลังจำกัดการใช้งานใน iOS เร็วๆ นี้
กูเกิลยืนยันว่าจะไม่พัฒนาเทคโนโลยีอื่นที่ระบุตัวตนผู้ใช้งานเป็นรายคนได้อีกต่อไป แต่จะมุ่งพัฒนา FLoC API ที่ช่วยกำหนดกลุ่มเนื้อหาที่สนใจได้โดยไม่เปิดเผยข้อมูลรายคนหรือรายเว็บ ทำให้การยิงโฆษณายังคงได้ความแม่นยำอยู่
กูเกิลคาดว่าจะเริ่มขายโฆษณาจากการเจาะจงกลุ่มด้วย FLoC API ภายในไตรมาสที่สองของปีนี้ ขณะเดียวกันก็เตรียมทำงานร่วมกับเว็บคอนเทนต์ต่างๆ ให้กูเกิลสามารถส่งโฆษณามาลงได้ตรงกลุ่มมากขึ้น
แนวทางการโฆษณาโดยไม่ติดตามตัวผู้ใช้แต่อาศัยข้อมูลที่ผู้ใช้เข้าชมนั้นมีมานาน เช่น บริการ DuckDuckGo นั้นขายโฆษณาโดยโยงโฆษณาเข้ากับคำค้นหาเท่านั้น เว็บไซต์ต่างๆ อาจจะแจ้งเครือข่ายโฆษณาว่าเนื้อหาในหน้าต่างๆ นั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรบ้างเพื่อให้เครือข่ายโฆษณายิงโฆษณาที่เกี่ยวข้องมาแสดง
ที่มา - Google Blog |
# เฟซบุ๊กลบบัญชีไอโอ กอ.รมน. ของไทย เน้นดำเนินการในภาคใต้
เฟซบุ๊กรายงานถึงเครือข่ายบัญชีที่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. ของไทย โพสเนื้อหาสนับสนุนกองทัพ, สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์, เรียกร้องความสงบ, รายงานข้อมูล COVID-19, โจมตีกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยไม่ได้เปิดเผยว่าบัญชีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ
ทางเฟซบุ๊กลบบัญชีเฟซบุ๊ก 77 บัญชี, 72 เพจ, 18 กลุ่ม และยังมีอินสตาแกรมอีก 18 บัญชี รวมมีผู้ติดตามทุกช่องทาง 703,000 บัญชี ผู้ร่วมกลุ่มกว่าแสนราย และคนติดตามอินสตาแกรม 2,500 คน มีการใช้เงินโฆษณาไปทั้งหมดประมาณ 10,000 บาท
เพจเหล่านี้ไม่เปิดเผยตัวตนว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ และมักโพสเนื้อหาลงหลายๆ เพจและช่วยกันทำให้ดูเหมือนเพจได้รับความนิยม
ที่มา - Facebook
ตัวอย่างเพจที่ถูกลบจากรายงานของเฟซบุ๊ก |
# Google เลิกขายแว่นตา VR ราคาถูก Google Cardboard แล้ว
Google เลิกขาย Cardboard อุปกรณ์แปลงมือถือให้เป็นแว่น VR ราคาถูกอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ทางบริษัทเริ่มทยอยเลิกทำผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม VR ไปทีละอย่าง
Google Cardboard เปิดตัวครั้งแรกในปี 2014 หรือราว 7 ปีมาแล้ว (เป็นช่วงเดียวกับที่ Facebook ซื้อ Oculus VR) ซึ่งตัว Cardboard เป็นแว่นจำลองภาพเสมือนจริงที่เน้นราคาถูกและทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนเพื่อให้ประสบการณ์ VR แบบง่าย ๆ มีพิมพ์เขียวให้ลองตัดกระดาษและทำเองกันได้ และ Google เองก็มีขายฮาร์ดแวร์ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการเลิกจำหน่าย Google Cardboard รอบนี้เป็นการประกาศอย่างเป็นทางการว่า Google จะไม่ทำ Cardboard อีกต่อไป
Google เริ่มส่งสัญญาณเลิกทำผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม VR มาสักระยะแล้ว ตั้งแต่เลิกซัพพอร์ต Daydream VR บน Pixel 4 ไปจนถึงโอเพ่นซอร์ส Cardboard SDK และยกหน้าที่พัฒนาให้ชุมชน โดยทิศทางของ Google ตอนนี้จะหันไปพัฒนา AR ที่ดูจะใช้งานกับโลกแห่งความจริงได้ง่ายกว่า
ที่มา - Engadget, Android Police |
# หลักฐานในซอร์สโค้ดเคอร์เนลชี้ Samsung อาจกำลังทำสมาร์ทวอทช์ Wear OS จริง
หลังก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่า Samsung กำลังพัฒนาสมาร์ทวอทช์รัน Wear OS และอาจเลิกใช้ Tizen ล่าสุดนักพัฒนาชื่อ Ivan_Meler บนฟอรั่ม XDA Developer ค้นพบโค้ดในไดรเวอร์ WiFi บนซอร์สโค้ดเคอร์เนลของ Galaxy S20 ที่พูดถึงโค้ดเนมอุปกรณ์ชื่อ “Merlot WearOS” อยู่กับรหัสชิป BCM43013 ซึ่งเป็นชิป WiFi/Bluetooth ของ Broadcom
นอกจากนี้อีกจุดที่พบคำว่า Merlot คือจุดที่เป็นโค้ด config อยู่คู่กับโค้ดเนมอุปกรณ์อื่นที่ใช้ชิป Broadcom เช่น A7LTE (Galaxy Tab A7 LTE) และ NOBLESSE (Galaxy Watch 3) ทำให้มีความเป็นไปได้ที่อุปกรณ์ใหม่นี้อาจเป็นสมาร์ทวอทช์รุ่นต่อไปของ Samsung ที่รัน Wear OS แทน Tizen ตามข่าว ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเป็นการทิ้ง Tizen ไปเลย หรือเป็นเพียงการเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้ใช้
ที่มา - XDA Developers
ภาพ Galaxy Watch 3 ที่ยังใช้ Tizen อยู่ |
# ไมโครซอฟท์จับมือ Oracle WebLogic และ IBM WebSphere รันบน Azure AKS
ประกาศเล็กๆ ที่น่าสนใจของไมโครซอฟท์ในงาน Ignite เมื่อคืนนี้คือ ไมโครซอฟท์จับมือกับทั้ง Oracle และ IBM ซัพพอร์ต Oracle WebLogic และ IBM WebSphere Liberty บน Azure Kubernetes Service (AKS)
ประกาศนี้ทำให้ Azure สามารถรองรับแอปพลิเคชันที่เขียนด้วย Java EE ทั้งสายที่เป็น WebLogic และ WebSphere ได้เต็มรูปแบบ สามารถใช้ประโยชน์จากระบบเซิร์ฟเวอร์รุ่นใหม่ ที่เป็นเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์/คลัสเตอร์ด้วย (AKS)
ไมโครซอฟท์บอกว่าร่วมมือกับทั้ง Oracle และ IBM พัฒนาโซลูชันนี้ให้ทำงานได้สะดวก ราบรื่น ลูกค้าสามารถดึงอิมเมจและสคริปต์จาก Azure Marketplace ได้เลย ทำให้องค์กรที่รันแอปพลิเคชัน Java EE สะดวกในการย้ายขึ้นคลาวด์ Azure มากขึ้น
ถึงแม้ไมโครซอฟท์เป็นคู่แข่ง-คู่กัดกับ Oracle มาตลอด อีกทั้งยังเป็นคู่แข่งในตลาดคลาวด์กับ Oracle Cloud และ IBM Cloud เช่นกัน แต่ในจุดที่สามารถทำเงินร่วมกันได้ ความร่วมมือก็เกิดขึ้นได้ ลักษณะจะคล้ายกับดีล Microsoft ขาย Red Hat OpenShift ช่วงก่อนหน้านี้
ที่มา - Microsoft (WebLogic), Microsoft (WebSphere) |
# ไมโครซอฟท์ออกแพตช์ Exchange นอกรอบหลังพบแฮกเกอร์จากจีนโจมตี อ่านเมล, รันโค้ดได้โดยไม่ต้องล็อกอิน
ไมโครซอฟท์ออกแพตช์ฉุกเฉินอุกช่องโหว่ CVE-2021-26855, CVE-2021-26857, CVE-2021-26858, และ CVE-2021-27065 กระทบเซิร์ฟเวอร์ Microsoft Exchange 2013 ขึ้นมาทั้งหมด หลังจาก Volexity ตรวจพบว่ามีแฮกเกอร์โจมตีเซิร์ฟเวอร์ชั่นแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ช่องโหว่ชุดนี้เปิดทางให้แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงอีเมลในเซิร์ฟเวอร์โดยไม่ต้องล็อกอิน สามารถดาวน์โหลดอีเมลออกไปจากเซิร์ฟเวอร์ รวมถึงสามารถยิงโค้ดขึ้นไปรันบนเซิร์ฟเวอร์ได้
ไมโครซอฟท์มั่นใจว่ากลุ่มแฮกเกอร์ HAFNIUM เป็นผู้รับผิดชอบการโจมตีครั้งนี้ โดย HAFNIUM เป็นแฮกเกอร์ระดับที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ (state-sponsored) มุ่งโจมตีหน่วยงานในสหรัฐฯ
หน่วยงานที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ Exchange เองควรติดตั้งแพตช์ทันที หรือบล็อคพอร์ต 443 ไม่ให้เข้าถึงจากอินเทอร์เน็ต แล้วให้ผู้ใช้เข้าอ่านเมลผ่าน VPN แทน
ที่มา - Microsoft Security Blog
สถาปัตยกรรม Microsoft Exchange 2016 |
# ไม่ได้มีแค่ฉีดเข้ากล้าม : อนาคตของวัคซีนโควิด-19 มีทั้งแบบกิน หยอดจมูก และ print on demand
ปัจจุบัน มีวัคซีนอีกหลายรูปแบบที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ทั้งชนิดกิน ฉีด หยอดจมูก หรือแม้กระทั่ง portable mRNA printer ที่ผลิตวัคซีนแบบ on demand ได้ วารสาร NewScientist ฉบับต้นเดือน กพ. รวบรวมรายละเอียดล่าสุดมาให้เราอ่านกันครับ
※ Codagenix
- nasal spray
- live,weakened coronavirus (ใช้เชื้อยังมีชีวิตที่ทำให้อ่อนแอลง)
- ข้อดี : ฉีดครั้งเดียว ให้ภูมิคุ้มกันที่ประสิทธิภาพสูงและยาวนาน
- ข้อด้อย : ประเด็นที่ว่าเชื้อที่ใช้อาจจะกลับมาก่อโรคได้ยังเป็นที่กังวล แม้ผู้ผลิตจะยืนยันว่าได้ทำการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเชื้อไปแล้วถึง283จุดเพื่อไม่ให้ก่อโรค
- สถานะปัจจุบัน : phase 1 trial (ทำการทดสอบในกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่มาก)
※ Valneva
- ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
- whole, inactivated virus (ใช้เชื้อทั้งตัวที่ผ่านรังสีuvและสารเคมีเพื่อให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ แต่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อยู่)
- ข้อดี : ความปลอดภัยสูง เหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้วัคซีน หรือมีประวัติเคยแพ้วัคซีนชนิดอื่น
- สถานะปัจจุบัน : phase 2 trial (ทดสอบในประชากรจำนวนมากกว่า phase 1) และกำลังศึกษาผลในเด็ก
※ Inovio
- ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง
- DNA สังเคราะห์โดยใช้ต้นแบบจากRNAที่สร้างส่วน spike protein ของไวรัส
- ข้อดี : เก็บที่อุณหภูมิห้องได้นาน 1 ปี , แช่ตู้เย็นจะเก็บได้ถึง 5 ปี , เกิดอาการแพ้ได้น้อยกว่า mRNA vaccine
- สถานะปัจจุบัน : phase 2 trial
※ CureVac
- ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
- Natural RNA
- ข้อดี : สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการใช้ mRNAสังเคราะห์
- สถานะปัจจุบัน : phase 3 trial และกำลังพัฒนา portable mRNA printer (ร่วมกับTesla) ที่จะสามารถเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ที่ต้องการใช้วัคซีนอย่างเร่งด่วน เพื่อผลิตวัคซีนแบบ on demand ได้
※ Vaxart
- วัคซีนแบบเม็ด กินได้
- Weakened human adenovirus A5 with genes from coronavirus (adenovirusที่ทำให้อ่อนแรงและใส่รหัสพันธุกรรมของcoronavirusลงไป) โดยเม็ดยาจะแตกตัวเมื่อถึงลำไส้เล็ก แล้วกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน
- ข้อดี : ไม่ต้องฉีด , สามารถให้วัคซีนได้รวดเร็วและทั่วถึงด้วยการส่งไปทางไปรษณีย์ ลดความแออัดของผู้รับวัคซีน
- ข้อด้อย : ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะพบantibodyแค่ในเยื่อบุโพรงจมูก แต่ยังไม่พบในกระแสเลือด อย่างไรก็ตามผู้พัฒนายืนยันที่จะปรับปรุงวัคซีนต่อไปให้ได้ผลดีกว่านี้
- สถานะปัจจุบัน : phase 1 trial
จะเห็นได้ว่าในอนาคตอันใกล้ เราน่าจะมีตัวเลือกของวัคซีนที่หลากหลายขึ้น โดยให้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ต่างจากวัคซีนที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ทั้งนี้ ผู้พัฒนาต่างก็มุ่งไปในทางเดียวกันคือ เพื่อให้วัคซีนเข้าถึงประชากรส่วนใหญ่ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด
ที่มา : New Scientist 13 February 2021 |
# PlayStation แจก Ratchet & Clank ในกิจกรรม Play At Home แจกเกมฟรีทุกเดือน ถึงมิถุนายนนี้
แคมเปญ Play At Home ของ PlayStation กลับมาแล้ว หลังปีที่แล้วจัดขึ้นมาเพื่อแจกเกมให้ผู้เล่นอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ COVID-19 โดยแจก Uncharted: The Nathan Drake Collection และ Journey ไปเมื่อเดือนเมษายน โดยผู้ใช้ไม่ต้องมี PlayStation Plus แต่อย่างใด
คราวนี้ Play At Home จะแจกเกมทุกเดือน ยาวถึงเดือนมิถุนายน เกมแรกที่จะรับได้ตอน 11 นาฬิกา วันที่ 2 มีนาคมนี้ ตามเวลาประเทศไทย คือ Ratchet & Clank บน PS4 โดยผู้ใช้จะสามารถเก็บเกมนี้ไว้ได้ถาวร แค่ต้องเข้าไปดาวน์โหลดเก็บไว้ ก่อน 2 เมษายน เวลา 11 นาฬิกา
ที่มา - PlayStation Blog |
# IBM เปิดตัว Cloud Satellite รันคลาวด์ในศูนย์ข้อมูลตัวเอง สร้างเป็นไฮบริดคลาวด์
IBM เปิดตัวบริการใหม่ IBM Cloud Satellite เป็นการยกซอฟต์แวร์ของ IBM Cloud ไปรันบนศูนย์ข้อมูลของลูกค้าแบบไฮบริด และคิดเงินแบบ As-a-service แบบเดียวกับบนคลาวด์
IBM บอกว่า Cloud Satellite ช่วยให้การใช้งานคลาวด์ยืดหยุ่นขึ้น เพราะยังเป็นซอฟต์แวร์ชุดเดิม แต่ไม่จำกัดทางกายภาพอีกต่อไป เช่น ประเทศนั้นไม่มีศูนย์ข้อมูลของ IBM หรือ ติดกฎระเบียบบางอย่างที่ทำให้นำข้อมูลออกนอกประเทศไม่ได้
แนวคิดเรื่องการยกซอฟต์แวร์คลาวด์ไปรันในศูนย์ข้อมูลแบบ on-premise ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะผู้ให้บริการคลาวด์รายอื่นก็มีโซลูชันแบบนี้มาสักระยะแล้ว เช่น Azure Stack, AWS Outposts, Google Anthos
จากเอกสารของ IBM ระบุว่าศูนย์ข้อมูลต้องมีคลัสเตอร์ที่มีเครื่องอย่างน้อย 3 เครื่อง และต้องใช้ระบบปฏิบัติการ Red Hat Enterprise Linux 7 ขึ้นไป หรือในอีกทางก็สามารถเช่าเครื่องเปล่าจากผู้ให้บริการคลาวด์รายอื่นๆ (เช่น AWS, Azure, GCP) มาติดตั้ง IBM Cloud Satellite ก็ได้เช่นกัน
ที่มา - IBM, IBM |
# SoundCloud เปิดตัว fan-powered ศิลปินดีเจทำเงินจากแฟนคลับได้ผ่าน subscription
SoundCloud เปิดตัวเครื่องมือใหม่ fan-powered ให้ศิลปินอินดี้, ศิลปินอิสระ ทำเงินจากแฟนคลับผ่านระบบ subscription หรือสามารถจ่ายเงินค่าโฆษณาให้ศิลปินที่เราอยากสนับสนุนโดยตรง จากเดิมที่ศิลปินจะได้ค่าโฆษณาที่ถูกเก็บไว้ที่ส่วนกลางหรือ pool ก่อน จากนั้นค่อยแบ่งรายได้ให้ศิลปินโดยอิงกับยอดแชร์และยอดสตรีม
SoundCloud เป็นแพลตฟอร์มเน้นครีเอเตอร์ที่เป็นศิลปิน,ดีเจอิสระ มาปล่อยผลงานเพลง ในขณะเดียวกัน SoundCloud ก็ตกเป็นที่วิจารณ์มานานแล้วว่าแบ่งเงินให้ศิลปินอย่างไม่เหมาะสม โดยให้เงินเฉพาะศิลปินดังเท่านั้น ส่วนศิลปินอิสระได้เงินน้อยมาก ซึ่ง SoundCloud ก็คาดหวังว่า fan-powered จะช่วยแก้ปัญหานี้ตรงจุด
รายได้ที่จะแจกแจงให้ศิลปินพิจารณาจากปัจจัยดังนี้ แฟนๆ ฟังศิลปินคนนั้นมากน้อยเพียงใดเทียบกับเวลาฟังทั้งหมดใน 1 เดือน, โฆษณา, แฟนๆ ที่ฟังเพลงนั้นเป็น SoundCloud Go + แบบชำระเงินหรือไม่ ตัว fan-powered จะเริ่มเปิดใช้งานในวันที่ 1 เมษายนนี้ ศิลปินระดับ Premier จะได้รอบการชำระเงิน 45 วัน ส่วนศิลปินระดับ Repost จะได้รอบชำระบิล 60 วัน
ด้านองค์กรเพลง Music Business Worldwide บอกว่ายังไม่แน่ใจว่าเครื่องมือใหม่ของ SoundCloud จะทำงานได้จริงหรือไม่ในทางปฏิบัติ เพราะการสร้างคอนเทนต์เพื่อให้เกิดลอยัลตี้กับแฟนๆ นั้นใช้งบประมาณมาก ศิลปินระดับกลางที่มียอดผู้ติดตามไม่มาก อาจไม่ได้อะไรจากตรงนี้
ที่มา - Engadget, SoundCloud |
# Twitter Spaces ออกเวอร์ชัน Android ก่อน Clubhouse แต่ยังทดสอบในวงปิด
Twitter เปิดบริการ Spaces ห้องสนทนาด้วยเสียงแบบเดียวกับ Clubhouse เวอร์ชัน Android อย่างเป็นทางการแล้ว จากเดิมที่ก่อนหน้านี้มีแต่บน iOS อย่างเดียว
ผู้ใช้จำเป็นต้องใช้แอพ Twitter เวอร์ชัน Beta (ซึ่งจำกัดเฉพาะผู้ได้รับเชิญ) สามารถเข้าร่วมห้องสนทนาได้อย่างอิสระ แต่เวอร์ชัน Android จะยังไม่สามารถสร้างห้องได้เองในตอนนี้ ซึ่ง Twitter ระบุว่าฟีเจอร์นี้จะตามมาในระยะถัดไป
การที่ Twitter ออก Spaces เวอร์ชัน Android ได้ก่อน Clubhouse (แม้ยังจำกัดผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม) แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันในตลาดห้องสนทนาด้วยเสียง ที่กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา - Engadget
หน้าตาของ Twitter Spaces เวอร์ชัน iOS ภาพจาก @Mayagpatterson หนึ่งในทีมงาน Twitter |
# Gomi Speaker ลำโพงที่ใช้แบตเตอรี่จากจักรยานไฟฟ้าเก่า ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
Gomi ผู้ผลิตอุปกรณ์ชาร์จไฟจากอังกฤษ เปิดตัวสินค้าใหม่ลำโพงบลูทูธพกพา Gomi Speaker มีจุดขายคือใช้แบตเตอรี่ ที่ถอดออกมาจากจักรยานไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานแล้ว นำมาผลิตซ้ำ โดยเป็นความร่วมมือกับ Lime แพลตฟอร์มแชร์จักรยาน ทำให้ลดการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้วัสดุภายนอกทั้งหมดก็ทำจากพลาสติกรีไซเคิลเช่นกัน
Gomi Speaker เป็นลำโพง 25W แบตเตอรี่อยู่ได้นาน 20 ชั่วโมง ชาร์จแบบ USB-C น้ำหนัก 800 กรัม สามารถนำลำโพงมาวางคู่กันเพื่อสร้างระบบเสียงสเตอริโอได้ มีตัวเลือกทั้งหมด 4 สี ได้แก่ ขาว-ดำ, น้ำเงินน้ำทะเล, เขียวมะนาว และสีเค้กวันเกิด
สินค้ามีสถานะเป็นโครงการใน Kickstarter ราคา 99 ปอนด์ เริ่มจัดส่งสินค้าเดือนพฤศจิกายนปีนี้
ที่มา: Engadget |
# Outlook เพิ่มฟีเจอร์ Calendar Board จัดปฏิทินงานลงบอร์ด ลักษณะเดียวกับ Trello
ไมโครซอฟท์เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ให้ปฏิทิน Outlook แสดงมุมมองแบบ calendar board ทำให้เราสามารถจัดการ "งาน" ได้ในลักษณะเดียวกับโปรแกรมอย่าง Trello
ไมโครซอฟท์ให้เหตุผลว่า พฤติกรรมเรื่องการจัดตารางงานของคนเปลี่ยนไป งานส่วนตัวและงานที่ทำงานผสมปนเปกัน ตัวงานก็มีความซับซ้อนสูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถแบ่งงานลงสล็อตปฏิทิน 30 นาทีได้แล้ว จึงออกแบบวิธีจัดการงานใหม่ แนวคิด board เป็นการจัดการงานแบบ free-form ที่ให้อิสระสูงกว่า ทั้งในแง่สล็อตเวลา และชนิดของงาน เช่น calendar, reminders, task lists, notes, files, links, goals
ฟีเจอร์นี้จะเริ่มเปิดใช้กับ Outlook for Web ก่อน แล้วค่อยขยายไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ในภายหลัง
ที่มา - Microsoft |
# PlayStation Store เตรียมเลิกขาย, ให้เช่า หนังและซีรีส์ หลังผู้บริโภคใช้บริการสตรีมมิ่งมากกว่า
PlayStation Store ออกประกาศเตรียมเลิกขายและให้เช่า หนังและซีรีส์ บน PlayStation Store ทั้งหมดภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ให้เหตุผลว่าเพราะผู้ใช้งาน PlayStation หันไปใช้บริการสตรีมมิ่งกันเยอะแล้ว โดยผู้ใช้จะยังสามารถดูหนังที่เคยซื้อและอยู่ในบัญชี PlayStation ได้อยู่ ทั้งบน PS4, PS5 และมือถือ แต่แค่จะไม่สามารถซื้อหนังหรือซีรีส์เรื่องใหม่ๆ ได้ต่อไป
ที่มา - PlayStation Blog |
# Windows Server 2022 ยกระดับความปลอดภัย, เน้นทำงานไฮบริด, อิมเมจขนาดเล็กลง
ไมโครซอฟท์เปิดตัว Windows Server 2022 อย่างเป็นทางการ โดยจะเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับเซิร์ฟเวอร์ที่ซัพพอร์ตระยะยาว (Long-Term Servicing Channel หรือ LTSC) ตามนโยบายใหม่ของบริษัท
Windows Server 2022 ต่อยอดมาจาก Windows Server 2019 โดยฟีเจอร์ใหม่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
ความปลอดภัย ฟีเจอร์หลักคือ secured-core server ยกระดับความปลอดภัยหลายด้าน, นอกจากนี้ยังเปิดใช้ TLS 1.3 เป็นดีฟอลต์, เลือกเข้ารหัส SMB แบบ AES-256 ได้
การทำงานแบบไฮบริดร่วมกับบริการของ Azure เช่น Azure Arc และ Storage Migration Service เพื่อให้ย้ายงานไป-กลับ ระหว่าง on premise กับ on cloud ได้ดีกว่าเดิม
ฟีเจอร์ด้าน Windows Containers และ Kubernetes โดยฟีเจอร์สำคัญคือลดขนาดอิมเมจลง (ไม่บอกว่าเล็กลงแค่ไหน), ปรับปรุงเรื่อง IPv6 เป็นต้น
Windows Server 2022 ยังขยายการรองรับเครื่องขนาดใหญ่มากๆ เช่น ฐานข้อมูล SQL Server ที่ต้องใช้แรม 48TB, คอร์เสมือน 2,048 คอร์
ตอนนี้ Windows Server 2022 เปิดให้ทดสอบแบบพรีวิวแล้ว สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ทั้งแบบติดตั้งเอง และติดตั้งบน Azure
ที่มา - Microsoft |
# Epic Games ซื้อกิจการ Tonic Games Group บริษัทแม่ผู้พัฒนา Fall Guys
Epic Games ประกาศซื้อกิจการ Tonic Games Group บริษัทแม่ของ Mediatonic ผู้พัฒนาเกม Fall Guys: Ultimate Knockout
รายละเอียดของดีลหรือแผนการหลังจากนี้ Epic และ Tonic Games Group ไม่ได้เปิดเผยออกมา นอกจากยืนยันว่า Fall Guys จะยังเหมือนเดิมทุกอย่าง มีแค่ขยายไปยังแพลตฟอร์มอื่นอย่าง Nintendo Switch และ Xbox ขณะที่ทาง Tonic บอกว่าที่ยอมขายให้ Epic เพราะพอได้รู้จักแล้วมีอะไรหลาย ๆ อย่างเหมือนกัน รวมถึงมีเป้าหมายเดียวกัน
ที่มา - Epic Games, Mediatonic |
# "พี่โทนี่" เผยพอร์ตสตาร์ตอัพที่ไปลงทุน, ชวน SoftBank Vision Fund มาลง DnaNudge
เมื่อคืนนี้ นักธุรกิจชื่อดัง Tony Woodsome เข้ามาสนทนาในรายการ "SMEs มีปัญหา ปรึกษาพี่ Tony" ของกลุ่ม CARE โดยช่วงตอบคำถามจากผู้ฟัง มีคนถามประเด็นเรื่อง Unicorn ในประเทศไทยว่าเป็นไปได้หรือไม่
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ คุณโทนี่ได้เล่าว่ามีโอกาสได้คุยกับ Rajeev Misra ซีอีโอของ SoftBank Investment Advisers หน่วยลงทุนของบริษัท SoftBank และผู้บริหารสูงสุดของ SoftBank Vision Fund บริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ประเทศดูไบ เพื่อชวนให้กองทุนอย่าง Vision Fund เข้ามาลงทุนในบริษัท DnaNudge ที่เคยไปลงทุนเอาไว้
คุณโทนี่ยังเปิดเผยชื่อบริษัทสายเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เข้าไปลงทุน เช่น Auto1 แพลตฟอร์มซื้อขายรถมือสองของยุโรป และ Didi Chuxing แพลตฟอร์มเรียกรถรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยเกทับ Misra ด้วยว่าเข้าไปลงทุนก่อน Vision Fund ในจังหวะที่มูลค่ากิจการถูกกว่า เช่น ลงทุนใน Didi ตอนมูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ SoftBank เข้าตอน 50 พันล้านดอลลาร์
ประมาณนาทีที่ 1:14:00 ในคลิป |
# Postmates X บริษัทหุ่นยนต์ส่งของ แยกตัวจาก Uber ออกมาเป็นบริษัทแยกชื่อ Serve Robotics
Postmates X บริษัทหุ่นยนต์ส่งของที่ Uber เข้าซื้อด้วยมูลค่า 2.65 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ล่าสุดประกาศแยกตัวออกมาเป็นอีกบริษัท ใช้ชื่อใหม่ว่า Serve Robotics ซึ่งเป็นชื่อหุ่นยนต์เดินส่งของตามบ้านที่ Postmates X พัฒนาขึ้นนั่นเอง
Postmates X เปิดตัวหุ่นยนต์ส่งอาหารตัวแรกในเดือนธันวาคม 2018 ต่อมาในรุ่นที่สองเพิ่มมีเซ็นเซอร์ lidar และการอัปเกรดอื่นๆ ก่อนจะเปิดตัวเชิงพาณิชย์ตามแผนในลอสแองเจลิส
บริษัทใหม่ดำเนินการโดย Ali Kashani ซึ่งเป็นหัวหน้าของ Postmates X และผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ ได้แก่ Dmitry Demeshchuk วิศวกรคนแรกที่เข้าร่วมทีม และ MJ Chun หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ มีพนักงาน 60 คน สำนักงานอยู่ที่ซานฟรานซิสโก, ลอสแองเจลิสและแวนคูเวอร์ประเทศแคนาดา
Postmates X ได้ระดมทุนจากบริษัทลงทุนหลากหลายอย่าง โดยบริษัทลงทุน Neo, Uber, Lee Jacobs, Cyan Banister’s Long Journey Ventures, Western Technology Investment รวมทั้ง Scott Banister, Farhad Mohit และ Postmates ผู้ร่วมก่อตั้ง Bastian Lehmann และ Sean Plaice ทาง Serve Robotics ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเฉพาะของการระดมทุนยกเว้นเพื่อยืนยันว่ารอบซึ่งจะเป็นซีรี่ส์ A ยังไม่เสร็จสิ้น
ด้าน Uber เองก็พยายามผลักดันบริษัทให้ทำกำไรให้ได้ หลังเจอวิกฤตโรคระบาด โฟกัสเต็มที่กับเดลิเวอรี่ เข้าซื้อ Postmates ผู้ส่งอาหารรายใหญ่ในสหรัฐฯ และขายธุรกิจอื่นออกไป
ที่มา - TechCrunch |
# Amazon เปลี่ยนไอคอนแอปเงียบๆ จากเดิมที่คล้ายหนวดฮิตเลอร์ เปลี่ยนเป็นเทปกาวสีฟ้าพับมุม
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Amazon เปลี่ยนดีไซน์ไอคอนแอปพลิเคชั่น ตัวเทปกาวสีฟ้าคาดกล่องเป็นเทปรอบหยัก เมื่ออยู่เหนือรอยยิ้มบนหน้ากล่อง ทำให้หลายคนนึกถึงการไว้หนวดในยุค 1900 หรือหนวดสไตล์ฮิตเลอร์นั่นเอง ล่าสุด Amazon เปลี่ยนดีไซน์ไอคอนแอปเงียบๆ ตรงเทปกาวสีฟ้าพับมุมข้างหนึ่ง ดูเป็นเทปกาวมากขึ้น
โฆษกของ Amazon ให้ความเห็นว่า Amazon มักจะหาวิธีใหม่ๆ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า โดยออกแบบไอคอนใหม่เพื่อจุดประกายความตื่นเต้นและความสุขเมื่อลูกค้าเริ่มจับจ่ายทางซื้อของผ่านแอป จนถึงตอนที่มีกล่องสินค้ามาวางหน้าประตูบ้าน
ที่มา - The Verge |
# Cisco Webex เพิ่มการแปลเรียลไทม์จากภาษาอังกฤษไปยังภาษาอื่นอีกกว่า 100 ภาษา
Cisco Webex ประกาศฟังก์ชั่นแปลภาษาเรียลไทม์ จากภาษาอังกฤษเป็น อาหรับ, ดัตช์, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, จีนกลาง, รัสเซียและสเปน ซึ่งเริ่มเปิดใช้งานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ล่าสุด Cisco Webex ประกาศจะขยายไปยังภาษาอื่นๆ ให้ครอบคลุมภาษาท้องถิ่นอย่างเดนมาร์ก, ฮินดี, มาเลย์, ตุรกีและเวียดนาม รวมๆ แล้วกว่า 100 ภาษาตามที่ Cisco ระบุ
Cisco Webex บอกด้วยว่า จากรายงานของสำนักวิจัย Metrigy ระบุว่า 24% ของผู้เข้าร่วมงานประชุมออนไลน์ มีการประชุมกับคนที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยในบรรดาผู้เข้าร่วมเหล่านี้ มากกว่าครึ่งใช้บริการของบุคคลที่สามเพื่อแปลการประชุมเป็นภาษาอื่นโดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 172 ดอลลาร์ต่อการประชุมหนึ่งครั้ง จึงหวังว่าฟังก์ชั่นแปลภาษาเรียลไทม์จะช่วยลดรายจ่ายตรงนี้ได้
ฟังก์ชั่นแปลภาษาเรียลไทม์จะแสดงเป็นพรีวิวตั้งแต่เดือนนี้ และสามารถสั่งซื้อได้ในเดือน พ.ค.
ที่มา - Cisco Webex |
# Microsoft Teams เพิ่ม Presenter mode มองเห็นตัวคนพรีเซนต์งานบนสไลด์ PowerPoint
Microsoft Teams เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานชุดใหญ่สำหรับคนจัดประชุม เริ่มจาก Presenter mode ที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะมองเห็นตัวคนพรีเซนต์ได้ระหว่างที่ดูสไลด์ไปด้วย (ให้ความรู้สึกเหมือนดูแคสต์เกม) ส่วนในมุมมองของผู้พรีเซนต์ก็สามารถมองเห็นตัวเองและคำบรรยายที่จะพูดไปด้วยพร้อมๆ กัน ฟังก์ชั่นนี้จะเริ่มเปิดตัวให้แก่กลุ่มลูกค้าในระยะถัดไป
Presenter mode มี 3 แบบ คือ Standout แสดงฟีดวิดีโอของตัวผู้พูดเป็นภาพเงาด้านหน้าเนื้อหาที่แชร์ตามภาพด้านล่าง กับโหมด Reporter ที่สไลด์จะอยู่เหนือไหล่ผู้พูด เหมือนเวลาดูรายการข่าว และโหมด Side-by-side แสดงเนื้อหาคู่กับตัวคนพูด
นอกจากนี้ยังมี PowerPoint Live ที่ให้ผู้จัดประชุม สามารถหยิบไฟล์ PowerPoint ได้จากเมนู Share content เลย โดยจะมองเห็นไฟล์ PowerPoint ต่างๆ ปรากฏอยู่ในเซกชั่น PowerPoint Live นี้ ผู้จัดประชุมกดเลือกไฟล์มาพรีเซนต์ได้ทันที
PowerPoint Live ยังให้ผู้จัดประชุมสามารถมองเห็นทุกอย่างได้ ในขณะที่ผู้เข้าร่วมกำลังจดจ่ออยู่กับสไลด์พรีเซนเทชั่น ผู้จัดประชุมสามารถกดดูได้ว่าสไลด์ถัดไปเกี่ยวกับเรื่องอะไร มองเห็นคำบรรยายที่จะพูดเกี่ยวกับสไลด์นั้นๆ และกดดูแชทระหว่างพรีเซนต์งานได้ เพื่อให้การพรีเซนต์ลื่นไหล
ในกรณีที่มีคนพรีเซนต์งานหลายคน ผู้จัดประชุมสามารถกดปุ่ม Take control ให้กลายเป็น Stop presenting ได้ เพื่อส่งต่อให้คนถัดไปเข้ามาเสนองานในสไลด์ที่คนๆ นั้นเตรียมมา ลดความกระอักกระอ่วนเวลาเปลี่ยนผู้นำเสนองาน
เพิ่มโหมด high-contrast ปรับสไลด์ให้ตัวอักษรเด่นชัด สำหรับผู้มีปัญหาในการมองเห็นได้ ฟังก์ชั่นนี้จะตามมาในเร็วๆ นี้
ที่มา - ไมโครซอฟท์ |
# HPE รายงานผลประกอบการไตรมาส กลุ่ม Intelligent Edge รายได้เพิ่มขึ้น 12%
HPE (Hewlett Packard Enterprise) รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ตามปีการเงินบริษัท 2021 สิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2021 รายได้รวม 6,833 ล้านดอลลาร์ ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน มีกำไรสุทธิ 223 ล้านดอลลาร์
Intelligent Edge ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจดาวรุ่งของ HPE รายได้เพิ่มขึ้น 12% เป็น 806 ล้านดอลลาร์ ส่วนกลุ่ม HPC (High Performance Compute) และ MCS (Mission Critical Systems) รายได้ 762 ล้านดอลลาร์ ลดลง 9% กลุ่มธุรกิจ Compute ลดลง 1% เป็น 2,986 ล้านดอลลาร์ กลุ่ม Storage ลดลงเป็น 1,193 ล้านดอลลาร์ และธุรกิจให้คำปรึกษาและการเงินรายได้ 860 ล้านดอลลาร์
Antonio Neri ซีอีโอ HPE กล่าวว่าผลประกอบการที่ออกมา รายได้ทำได้ดีกว่าที่บริษัทประเมินไว้ก่อนหน้านี้ อัตรากำไรก็เพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ
ที่มา: HPE และ Barron's |
# ไมโครซอฟท์ขยายโครงการ Secured-core ไปยัง Windows Server 2022 และ IoT
ไมโครซอฟท์ประกาศขยายโครงการ Secured-core ที่เคยเป็นโครงการสำหรับพีซีมาตั้งแต่ปี 2019 มายังเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์ IoT เพิ่มเติม
โครงการ Secured-core เป็นการกำหนดเงื่อนไขความปลอดภัยอุปกรณ์ในระดับแก่นของซอฟต์แวร์ เช่น คอมพิวเตอร์ต้องบูตขึ้นมาด้วยซอฟต์แวร์ที่เชื่อถือได้ ในกรณีของพีซีมีเงื่อนไข เช่น ผู้ผลิตต้องเปิด Secure Boot เป็นค่าเริ่มต้น, เครื่องต้องรองรับ Windows Hello, และรองรับการเข้ารหัสข้อมูลด้วย BitLocker
สำหรับ Secured-core Server ไมโครซอฟท์กำหนดเงื่อนไขต่างออกไปจากพีซีบางส่วน โดยเงื่อนไขหลักได้แก่
รองรับ TPM 2.0 เพื่อยืนยันว่าซอฟต์แวร์ที่บูตขึ้นมาเชื่อถือได้
ป้องกันช่องโหว่เฟิร์มแวร์ ตัวเฟิร์มแวร์ต้องตรวจสอบความถูกต้องด้วย Dynamic Root of Trust of Measurement (DRTM) และยังรันใน sandbox เพื่อลดผลกระทบในกรณีที่ตัวเฟิร์มแวร์มีช่องโหว่
Virtualization-based security (VBS) แยกเคอร์เนลออกจากส่วนอื่นของระบบ
สำหรับอุปกรณ์ IoT ไมโครซอฟท์เรียกว่า Edge Secured-core มีเงื่อนไข ได้แก่
ยืนยันตัวตนของอุปกรณ์ได้ที่ระดับฮาร์ดแวร์
กำหนดเงื่อนไข integrity ของระบบได้
อัพเดตซอฟต์แวร์ให้ทันสมัย และจัดการจากระยะไกลได้
ปกป้องข้อมูลทั้งขณะเก็บในอุปกรณ์และขณะส่งข้อมูล
มีตัวควบคุมความปลอดภัยในตัว
สำหรับ Windows Server 2022 ทั้งอินเทลและเอเอ็มดีออกมาสนับสนุนแนวทาง Secured-core Server แล้ว แต่ยังไม่มีผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์ออกมาตอบรับแนวทางนี้ โดยผู้ใช้สามารถตรวจสอบเครื่องที่ผ่านเงื่อนไขได้เองผ่านทางหน้าจอ Windows Admin Center
ที่มา - Microsoft Security Blog |
# ไมโครซอฟท์เปิดตัว Microsoft Mesh แพลตฟอร์มโลกเสมือนผสมกับโลกจริง
ไมโครซอฟท์เปิดตัวแพลตฟอร์ม Microsoft Mesh ที่สร้างขึ้นบนบริการคลาวด์ Azure แต่เป็นบริการสำหรับการสร้างโลกเสมือนแบบผู้ใช้จำนวนมาก โดยผู้ใช้สามารถเข้าร่วมในโลกเสมือนนี้ผ่านทางแว่น HoloLens หรือจะใช้แว่นตา VR ไปจนถึงหน้าจอสองมิติธรรมดาจากโทรศัพท์หรือเดสก์ทอปก็ได้
ผู้ใช้ใน Mesh สามารถสร้างตัวแทน (avatar) เดินทางในโลกเสมือน วางวัตถุให้ผู้ใช้คนอื่นเห็น ตัวแพลตฟอร์มจะซิงก์ข้อมูลระหว่างผู้ใช้แต่ละคนให้เอง รวมถึงการส่งข้อมูลเสียงก็สามารถบอกทิศทางเสียงได้เหมือนอยู่ในห้องเดียวกันจริงๆ
แนวทางการใช้งานเช่นนักพัฒนาสามารถสร้างห้องประชุมที่ทุกคนจะมองเห็น avatar ของแต่ละคนเหมือนอยู่ในห้องเดียวกัน และได้ยินเสียงตามทิศทางที่แต่ละคนยืนอยู่ในห้องเสมือนจริงๆ
ตัว SDK เริ่มเปิดให้ทดลองใช้งานแล้ว โดยใช้ Unity ร่วมกับโค้ด C++ หรือ C# มาพร้อมกับชุด UX เริ่มต้น หลังจากนี้ไมโครซอฟท์เตรียมจะรองรับชุดพัฒนาอื่น เช่น Unreal, Babylon, และ React Native
ที่มา - Microsoft |
# Chrome 89 เพิ่มฟีเจอร์แยกโปรไฟล์บนเดสก์ท็อป, reading list บันทึกสิ่งที่สนใจไว้อ่านต่อภายหลัง
Google ประกาศยกเครื่องระบบโปรไฟล์ในเบราว์เซอร์ Chrome ใหม่ โดยรอบนี้เป้าหมายคือเพื่อทำให้ Chrome สามารถใช้งานหลายคนแยกโปรไฟล์กันได้สะดวกกว่าเดิม และระบบ reading list ที่สามารถเพิ่มสิ่งที่สนใจไว้อ่านต่อภายหลังได้
ระบบโปรไฟล์ของ Chrome แบบใหม่คือเปิดมาแล้วจะสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าโปรไฟล์ไหน ซึ่งเมื่อเข้าไปที่โปรไฟล์ทีต้องการแล้วก็จะพบกับข้อมูลที่เซ็ทอัพไว้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นธีม, รหัสผ่าน, บุ๊คมาร์ก และอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังซิงค์ระหว่างอุปกรณ์ด้วย ซึ่งการแยกโปรไฟล์นี้สะดวกในมุมของการใช้งานหลายคน หรือถ้าเป็นการใช้งานคนเดียวก็สามารถแยกโปรไฟล์ทำงานหรือส่วนตัว (ล็อกอินคนละอีเมล) ได้
ส่วน reading list เป็นฟีเจอร์ใหม่ที่สามารถบันทึกหน้าเว็บที่สนใจไว้อ่านต่อภายหลังได้ โดยระบบ reading list นี้ก็จะติดกับโปรไฟล์และสามารถซิงค์ข้ามอุปกรณ์ได้เช่นเดียวกัน
Google ระบุว่าระบบโปรไฟล์แบบใหม่จะเริ่มเปิดใช้งานกับ Chrome เวอร์ชันเดสก์ท็อปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ที่มา - Engadget |
# ไมโครซอฟท์ประกาศแจก Power Automate Desktop ซอฟต์แวร์ RPA ให้ผู้ใช้ Windows 10 ฟรี
ไมโครซอฟท์ประกาศแจก Power Automate Desktop ซอฟต์แวร์ RPA (robotic process automation) เวอร์ชั่นเดสก์ทอปให้ผู้ใช้ Windows 10 ฟรี แนวทางการใช้งาน Power Automate Desktop เช่นการเซฟข้อมูลจากเว็บ และนำไปใส่ Excel หรือส่งอีเมลแจ้งเตือนค่าต่างๆ
Power Automate มีเวอร์ชั่นเดสก์ทอปที่ใช้งานกับแอปเดสก์ทอปอย่างเดียว และเวอร์ชั่นคลาวด์ที่เป็นบริการ Flow เดิมที่ใช้เชื่อมแหล่งข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกันคิดค่าบริการ 15 ดอลลาร์ต่อเดือน ส่วนรุ่นที่มีความสามารถ RPA ด้วยจะคิดราคาเพิ่มไปอีก
ไมโครซอฟท์เปิดให้ดาวน์โหลด Power Automate Desktop ได้ฟรีแล้ววันนี้ และในอนาคตจะรวมมากับ Windows เลย เริ่มจาก Windows Insider Preview เวอร์ชั่นต่อไปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ที่มา - Microsoft |
# ไมโครซอฟท์เปิดตัวภาษา Power Fx ภาษา Low Code สร้างจากสูตร Excel
ไมโครซอฟท์เปิดตัวภาษา Power Fx ภาษาสำหรับแพลตฟอร์ม Low Code ที่มีพื้นฐานมาจากสูตรของ Excel และตอนนี้ใช้สำหรับบริการ Power Apps ของไมโครซอฟท์เอง โดยไมโครซอฟท์เตรียมดึงตัวภาษาออกมาเป็นโครงการแยกต่างหากทำให้ใช้งานนอก Power Apps ได้ รวมถึงไปใช้ในบริการอื่นๆ ของไมโครซอฟท์เอง เช่น Microsoft Dataverse, Microsoft Power Automate, Microsoft Power Virtual Agents เป็นต้น
แม้ตัวภาษายังแยกออกมาไม่เสร็จ แต่ไมโครซอฟท์ก็พรีวิวให้ดูว่าเราสามารถสร้างแอป GUI ได้โดยสร้างหน้าจอจากไฟล์ YAML และฝังโค้ดไว้ภายใน
เนื่องจากภาษามีพื้นฐานมาจาก Excel พฤติกรรมจึงคล้ายกัน ตัวฟังก์ชั่นมีชื่อตรงกัน การทำงานเป็นรูปแบบ content-centric มองข้อมูลเป็นตาราง และโค้ดจะประมวลผลทันทีที่ข้อมูลเปลี่ยนแปลงไป
ตอนนี้ไฟล์โครงการใน GitHub ยังมีแต่เอกสารภาษาเท่านั้น ตัวโค้ดที่ใช้รันภาษายังอยู่ระหว่างการแยกออกมาจาก Power Apps
ที่มา - Microsoft |
# DJI เปิดตัว FPV Combo ชุดโดรนพร้อมแว่น first-person view ที่ใช้งานง่าย
หลังจากหลุดมาสักพัก DJI ได้เปิดตัว FPV Combo โดรนแบบ FPV (first-person view) ที่มีกล้องให้มุมมองสายตามนุษย์ตัวแรกของ DJI ใช้งานร่วมกับ FPV Goggles พร้อมบินตั้งแต่แกะกล่องเพื่อทำให้บุคคลทั่วไปใช้งานโดรน FPV ได้ง่ายขึ้น
สเปคของตัวกล้องในโดรน DJI ระบุว่าสามารถใช้ถ่ายวิดีโอ 4K ได้ถึง 60 เฟรมต่อวินาที โดยภายในตัวใช้ระบบกันสั่นจาก RockSteady จาก GoPro พร้อมกับมุมมองกว้างสุดถึง 150 องศา พร้อมระบบ slow-motion ที่ถ่ายวิดีโอ 1080p ได้ 120 เฟรมต่อวินาที และสามารถเก็บฟุตเทจเป็น H.264 หรือ H.265 ได้
ในด้านสเปคของตัวโดรน สามารถบินได้เร็วสุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสามารถบินได้จาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในระยะเวลาเพียง 2 วินาทีเท่านั้น และสามารถบินได้นานสุดถึง 20 นาทีต่อการชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ก้อน
ส่วนการใช้งานร่วมกับแว่นตา DJI ระบุว่า ระบบเชื่อมต่อของตัวโดรนสามารถใช้งานแบบเสถียรได้ไกลสุด 10 กิโลเมตร สามารถส่งวิดีโอได้สูงสุดที่บิตเรท 50Mbps พร้อมกับตัวเลือกโหมดสองแบบ คือโหมดมาตรฐานที่ถ่ายทอดสดภาพ 810p ที่ 120 เฟรมต่อวินาที พร้อมกับ field-of-view ที่ 142 องศา หรือ 50 เฟรมต่อวินาทีที่ field-of-view ที่ 150 องศา โดยให้ latency ต่ำที่ 40 มิลลิวินาที กับโหมด smooth ที่ให้เฟรมสูงกว่าแต่ latency จะสูงกว่า
นอกจากนี้ยังมีโหมด audience สำหรับเชื่อมต่อกับกล้องได้สูงสุด 8 ชุดเพื่อให้ผู้ใช้งานแชร์มุมมองเหมือนผู้บังคับโดรนได้เลย
สำหรับราคาของชุดมาตรฐานที่มีโดรน FPV, คอนโทรลเลอร์, FPV Goggles v2, สาย และแบตเตอรี่ ราคา 1,299 ดอลลาร์หรือราว 40,000 บาท โดยมีชุด Fly More ที่มาพร้อมแบตเตอรี่เพิ่มอีก 2 ก้อน และฮับในการชาร์จแบตเตอรี่แยก ให้ซื้อเพิ่มในราคา 299 ดอลลาร์ หรือราว 9,000 บาท และตัวควบคุมการเคลื่อนไหวให้ซื้อเพิ่มที่ราคา 199 ดอลลาร์ หรือราว 6,000 บาท
ที่มา - Engadget, dpreview |
# Merck เตรียมผลิตวัคซีน COVID-19 ให้ Johnson & Johnson หลังสหรัฐฯ รับรองให้ใช้งาน
Merck ผู้ผลิตยารายใหญ่ของโลกเตรียมผลิตวัคซีน Janssen COVID-19 ของบริษัท Johnson & Johnson เพื่อเร่งโครงการฉีดวัคซีนของสหรัฐฯ หลังวัคซีน Janssen COVID-19 ได้รับการรับรองให้ใช้งานในสหรัฐฯ ได้ในสัปดาห์นี้
ทาง Johnson & Johnson ส่งมอบวัคซีนแล้ว 4 ล้านโดส และกำลังส่งมอบเพิ่มเติมอีก 16 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนมีนาคม
วัคซีน Janssen COVID-19 นั้นมีจุดเด่นที่สามารถเก็บรักษาที่ตู้เย็นปกติได้นานถึง 3 เดือน, ต้องฉีดเพียงเข็มเดียว, และผลการทดสอบเฟส 3 นั้นมีข้อมูลของผู้สูงอายุเกิน 60 ปีจำนวนมาก ไปจนถึงมีการเก็บข้อมูลว่าวัคซีนมีผลดีแม้จะเป็นเชื้อวัคซีน COVID-19 กลายพันธุ์ในสายพันธุ์แอฟริกา
ที่มา - NBC
ภาพโดย geralt |
# Seagate เปิดตัว Lyve Cloud บริการคลาวด์สตอเรจ S3 API, ยังไม่เปิดเผยราคา
Seagate เปิดตัว Lyve Cloud บริการคลาวด์สตอเรจ ที่ใช้ S3 API ทำให้ใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ได้เป็นจำนวนมาก บริการนี้เน้นลูกค้าองค์กร และอาศัยความร่วมมือกับ Equinix
บริการนี้ Lyve Cloud วางอยู่ในศูนย์ข้อมูลของ Equinix ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการเซิร์ฟเวอร์ Equinix Metal สามารถเข้าถึงสตอเรจได้อย่างรวดเร็ว
ทาง Seagate ยังไม่เปิดเผยราคาของ Lyve Cloud แต่บอกเพียงว่าจะไม่มีค่าอัพโหลดขึ้นคลาวด์ (ingress) หรือดาวน์โหลดออกจากคลาวด์ (egress)
ที่มา - Seagate |
# Huawei ระบุ HarmonyOS จะอยู่บนมือถือกว่า 200 ล้านเครื่อง, ครอบคลุมเกือบทุกรุ่น ภายในปีนี้
หลัง Huawei ประกาศเตรียมอัพเดตมือถือเป็น HarmonyOS ในเดือนเมษายน เริ่มที่ Huawei Mate X2 เป็นรุ่นแรก ล่าสุด Wang Chenglu หัวหน้าทีมซอฟต์แวร์ของ Huawei ออกมาเปิดเผยเพิ่มเติมว่า HarmonyOS จะอยู่บนมือถือ Huawei กว่า 200 ล้านเครื่อง ครอบคลุม 90% จากมือถือทุกรุ่นของ Huawei ในท้องตลาด และเป็นกว่า 300 ล้านเครื่อง เมื่อรวมอุปกรณ์ third-party
การอัพเดตน่าจะทำได้ไม่ยากนัก เนื่องจากนักพัฒนาที่ได้เข้าทดสอบในช่วง Beta ระบุว่าไส้ในของ HarmonyOS ยังอิง Android OS อยู่พอสมควร จนเหมือนกับเป็น AOSP เฟรมเวิร์ค ที่ตัดคำว่า Android ออกไปเลยทีเดียว คงต้องติดตามต่อไปว่าการใช้งานจริง และแอปที่รองรับจะเป็นอย่างไรบ้าง
ที่มา - Huawei Central |
Subsets and Splits
No community queries yet
The top public SQL queries from the community will appear here once available.