txt
stringlengths 202
53.1k
|
---|
# นักวิจัยเริ่มพบมัลแวร์บน MacOS ที่เขียนมาสำหรับชิป M1
Patrick Wardle นักวิจัยอิสระด้านความปลอดภัยเขียนบล็อกรายงานการค้นพบมัลแวร์ที่เขียนขึ้นมาสำหรับ Apple M1 เป็นตัวแรกโดยเฉพาะ
มัลแวร์ตัวนี้เป็นมัลแวร์ที่ดักข้อมูลเพื่อการโฆษณา (adware) แฝงตัวมาในรูปส่วนเสริมของ Safari ซึ่งดักข้อมูลจากทั้งเบราว์เซอร์, ป๊อปอัพ, แบนเนอร์ ฯลฯ และ Wardle คาดว่ามัลแวร์ตัวนี้เป็นเวอร์ชันอัพเดตของ adware ที่ชื่อว่า Pirrit ที่เริ่มเป็นที่รู้จักช่วงปี 2016-2017 ทั้งนี้แอปเปิลได้ยกเลิกใบรับรองนักพัฒนาที่ทำ Pirrit ไปแล้ว ทำให้ไม่น่ามีผู้ใช้คนไหนติดตั้งมัลแวร์ตัวนี้ได้
นอกจากนี้ Wardle เตือนว่าแอนตี้ไวรัสหลายตัวน่าจะยังไม่สามารถตรวจจับมัลแวร์ที่เขียนมาบน ARM64 ได้ ซึ่งเขาก็หวังว่าการค้นพบนี้น่าจะช่วยให้วงการความปลอดภัยตื่นตัวมากขึ้นกับมัลแวร์ ARM64
ที่มา - VICE |
# Nintendo เปิดตัว Splatoon 3 บน Switch วางขายปี 2022
Nintendo เปิดตัวเกม Splatoon 3 เกมยิงออนไลน์สีสันสดใสบน Nintendo Switch ยังไม่มีรายละเอียดอื่นเพิ่มเติมนอกจากวันวางจำหน่ายในปี 2022 ถือว่าเป็นเกมออนไลน์อีกเกมที่ขายดีจนสร้างมาถึงภาค 3 แล้ว จากจุดกำเนิดบน Wii U
แม้ระบบพูดคุยด้วยเสียงและบริการออนไลน์ของ Nintendo จะยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง เช่นไม่มีระบบคุยเสียงบน Switch แต่ต้องใช้แอปในมือถือเพื่อคุยเสียงแยกอีกอุปกรณ์
ที่มา - Nintendo |
# Twitter เริ่มเปิดฟีเจอร์ DM ด้วยเสียงพูดในบางประเทศ จำกัดความยาว 140 วินาที
Twitter เริ่มทดสอบการส่งข้อความส่วนตัว (direct message หรือ DM) ด้วยเสียงพูด ความยาวจำกัดที่ 140 วินาที ในบางประเทศแล้ว เช่น อินเดีย บราซิล ญี่ปุ่น โดยทยอยเปิดให้ผู้ใช้ทีละกลุ่ม
ในคลิปโปรโมทของ Twitter อธิบายชัดเจนว่าฟีเจอร์ DM ด้วยเสียงออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา "ขี้เกียจพิมพ์" ซึ่งแอพส่งข้อความส่วนตัวอย่าง WhatsApp, Facebook Messenger หรือ LINE ต่างก็มีฟีเจอร์อัดเสียงแบบเดียวกันอยู่ก่อนแล้ว
Twitter เริ่มทดสอบฟีเจอร์นี้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 ตอนนั้นจำกัดที่ 20 วินาที
ที่มา - Android Central |
# เปิดตัว Project Triangle Strategy เกมคล้าย Octopath Traveler บน Nintendo Switch
Square Enix เปิดตัว Project Triangle Strategy บน Nintendo Switch เป็นเกม RPG ที่มีดีไซน์คล้ายกับ Octopath Traveler ตัวเกมเป็นแอคชันแบบเทิร์นเบส แต่ยังไม่มีรายละเอียดอะไรออกมามากนัก
ตอนนี้เดโมของ Project Triangle Strategy ถูกปล่อยออกมาให้เล่นแล้ว ส่วนเกมเต็มจะออกปี 2022
ที่มา - Nintendo |
# คลังยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนหุ่นยนต์ เซ็นเซอร์สามมิติ, ซอฟต์แวร์ CAD เข้าข่ายด้วย
กระทรวงการคลัง ประกาศยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าจำพวกชิ้นส่วนในการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกเว้นภาษีในกลุ่มสินค้า 12 รายการ มีสินค้าจำพวก เซ็นเซอร์สามมิติ, ซอฟต์แวร์ CAD, หุ่นยนต์หยิบยกขนย้าย, ซอฟต์แวร์ Image Processing เป็นต้น
โดยผู้ขอใช้สิทธิยกเว้นอากรต้องได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองคุณสมบัติผู้ประกอบการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Automation Machinery Builder : AMB) และ/หรือผู้ออกแบบและพัฒนาระบบอัตโนมัติ (Automation System Integrator : ASI) จากคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และต้องขออนุมัติหลักการก่อนนำเข้า
ภาพจาก Shutterstock
กลุ่มสินค้า 12 รายการ ประกอบด้วย
Electric Motor เช่น ชุดมอเตอร์ไฟฟ้าเซอร์โว, อุปกรณ์ส่งพลังงานไฟฟ้า
Sensor/Transmitter เช่น Detector Sensor, ชุดอุปกรณ์ RFID, Scanning Range Finder 2D & 3D Sensor
Machine vision System เช่น กล้องที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม, อุปกรณ์ควบคุมกล้อง, Image Processing Software
Controller เช่น ชุดอุปกรณ์ควบคุม ส่วนประกอบ โมดูล การ์ด และซอฟท์แวร์ที่ใช้เฉพาะสำหรับเครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ
Interface เช่น อุปกรณ์ควบคุมและสั่งการแบบจอสัมผัส พร้อมซอฟท์แวร์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม
Industrial Software เช่น ซอฟต์แวร์ CAD
Precision Mechanical Transmission เช่น เครื่องเกียร์ บอลล์สกรู
Manipulator Industrial Robot เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับหยิบยก ลำเลียง ขนย้าย
Hydraulic เช่น เครื่องสูบไฮดรอลิกแบบลูกสูบ, เซอร์โววาล์วสำหรับใช้ในระบบส่งกำลังแบบไฮดรอลิก
Pneumatic เช่น อุปกรณ์สุญญากาศ, กระบอกสูบลมชนิดไม่มีก้านสูบ
Power Supply/Battery เช่น แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนเฉพาะใช้ในหุ่นยนต์
Signal Cable & Accessories เช่น สายเคเบิลนำสัญญาณ, สายเคเบิลใยนำแสงเฉพาะใช้ในหุ่นยนต์
ที่มา - ประกาศกระทรวงการคลัง |
# เปิดตัว Mario Golf: Super Rush เกมกอล์ฟบน Nintendo Switch
Nintendo เปิดตัว Mario Golf: Super Rush เกมกอล์ฟเกมแรกจากซีรีย์ Mario บน Nintendo Switch ฟีเจอร์การเล่นกอล์ฟจะค่อนข้างเสมือนจริง ไม่ได้มีรูปแบบการตีที่หวือหวาเหมือนเกมแฟนตาซีหลาย ๆ เกม แต่ก็มาพร้อมฟีเจอร์ช่วยเหลือเวลาตีอยู่
นอกจากนี้ยังมีโหมด Speed Golf ที่เล่นพร้อมเพื่อน tee off พร้อมกันและแข่งกันวิ่งไปหาลูกเพื่อตีไปลงหลุมให้ได้เร็วที่สุด และ Story Mode ที่เราจะต้องเล่นเป็นนักกอล์ฟมือใหม่ ค่อย ๆ เก็บประสบการณ์และทักษะไประหว่างทาง (ตัวละครหลักหน้าเหมือนหยิบเอาตัวละครจาก Nintendo Wii มาใช้) นอกจากนี้ Joy-Con ยังสามารถใช้เป็นวงสวิงจริงได้ด้วย
Mario Golf: Super Rush วางขาย 25 มิถุนายนนี้
ที่มา - Nintendo |
# Nintendo ประกาศครอสโอเวอร์ Super Mario ไปโผล่ใน Animal Crossing: New Horizon
Nintendo ประกาศการครอสโอเวอร์ระหว่าง Animal Crossing: New Horizon และ Super Mario เป็นการฉลองครบรอบ 35 ปี Super Mario ทำให้ตัวละครจาก Super Mario ทั้ง Mario, Luigi และ Wario และธีมต่าง ๆ อย่างเห็ด, เหรียญทอง ไปปรากฎในเกม Animal Crossing รวมถึงสามารถมุดท่อเพื่อวาร์ปไปปรากฎในที่ต่าง ๆ ได้
การครอสโอเวอร์นี้จะอัพเดตให้ฟรีวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้
ที่มา - Nintendo |
# Google Maps รองรับการจ่ายเงินที่จอดรถและรถสาธารณะผ่าน NFC ในตัว
Google Maps ได้อัพเดตความสามารถใหม่ แต่ไม่น่าใช้กับประเทศไทยได้ไม่ว่าจะอนาคตอันใกล้หรือไกล เพราะเป็นการรองรับการจ่ายเงินที่จอดรถริมถนนและรถโดยสารสาธารณะได้ในตัว ผ่าน NFC ที่เชื่อมกับ Google Pay
การจอดรถริมถนนในสหรัฐจะมีเครื่องเก็บค่าที่จอดอยู่บริเวณริมฟุตบาธ ซึ่ง Google Maps ล่าสุดก็รองรับให้สามารถไปแตะจ่ายที่ผู้ให้บริการที่รองรับ (Passport และ ParkMobile) ด้วยการกดปุ่ม Pay for Parking ที่จะปรากฎขึ้นมาเมื่อเราเดินทางใกล้ถึงที่หมาย ขณะที่การจ่ายเงินรถสาธารณะ เมื่อเรากดนำทางและเลือกเส้นทางที่เดินทางด้วยรถสาธารณะ จะมีปุ่ม Pay แสดงขึ้นมาให้ข้าง ๆ โลโก้ผู้ให้และเลขรถสาธารณะ
ฟีเจอร์ Pay for Parking จะรองรับบน Android ในสหรัฐก่อน ส่วนจ่ายเงินรถสาธาธารณะเตรียมรองรับผู้ให้บริการรถ 80 รายทั่วโลก เริ่มที่ Android เช่นกันในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ที่มา - Google |
# Martin Scorsese บอก สตรีมมิ่งทำภาพยนตร์ด้อยค่า, อยากให้ใช้คนจัดหนังแทนอัลกอริทึ่ม
Matin Scorsese เขียนบทความลงนิตยสาร Harper’s บริการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Disney+ หรือ Netflix ด้อยค่าภาพยนตร์ โดยการทำให้ภาพยนตร์กลายสภาพเป็นแค่ “คอนเทนต์” หรือสินค้าชิ้นหนึ่งที่ไร้คุณค่าทางศิลปะ ซึ่งแม้การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นคอนเทนต์เหมือนกันหมด จะฟังดูเท่าเทียม แต่เขาไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าถ้าคอนเทนต์ถูกจัดลำดับโดยอัลกอริทึ่ม จากสิ่งที่คนดูเคยดูไปแล้ว มันจะส่งผลในทางลบต่อวงการศิลปะภาพยนตร์
แต่ Scorsese ก็ชื่นชมบริการสตรีมมิ่งอย่าง Criterion Channel หรือ MUBI ที่มีการตั้งใจจัดลิสต์หนังโดยใช้มนุษย์ เพราะการใช้มนุษยต่างหาก ที่จะเป็นการ “จัดลิสต์ภาพยนตร์” (curated) อย่างแท้จริง แทนที่จะเป็นการ “ประกอบสร้าง” (engineered) เหมือนอัลกอริทึ่ม ที่เป็นแค่การเอาเครื่องจักรมาคาดเดาว่าผู้บริโภคชอบดูอะไร โดยการใช้คณิตศาสตร์เป็นองค์ประกอบเท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า COVID-19 อาจจะเร่งการเปลี่ยนแปลงโลกการชมภาพยนตร์ไปอย่างมากภายในเวลาแค่ปีเดียว และอนาคตของโรงภาพยนตร์เอง หากไม่ปรับตัว ก็ดูจะไม่แน่นอนนัก หลังค่ายหนังใหญ่ๆ เริ่มนำภาพยนตร์มาลงสตรีมมิ่งโดยตรงมากขึ้น หรือแม้แต่ Scorsese เองก็เคยทำ The Irishman ลง Netflix เพราะไม่ค่อยมีค่ายหนังอื่นยอมให้ทำหนังยาวขนาดนั้น
คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีบริการสตรีมมิ่งที่เน้นความสำคัญในการใช้คนมาจัดลิสต์ภาพยนต์นอกกระแส ภาพยนตร์อินดี้ หรืออื่นๆ เช่น MUBI หรือ Criterion Channel เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ และจะมีคนสนใจบริการเหล่านั้นมากแค่ไหนในอนาคต
ที่มา - Harper’s Magazine |
# เฟซบุ๊กตอบโต้กฎใหม่ด้วยการปิดกั้นคนออสเตรเลียจากการมองเห็นและแชร์ข่าว เผยตัวเองไม่มีทางเลือก
จากประเด็นกฎหมายใหม่ออสเตรเลีย News Media Bargaining Code บังคับแพลตฟอร์มออนไลน์จ่ายเงินให้สำนักข่าว ทำให้เฟซบุ๊กต้องออกมาตอบโต้ด้วยการประกาศปิดกั้นสื่อและผู้ใช้งานในออสเตรเลียจากการการมองเห็นและแชร์ข่าวเสียเลย
เฟซบุ๊กบอกด้วยว่า เดิมทีกฎหมายนี้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มและสำนักข่าวผิดตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยเฟซบุ๊กมีสองทางเลือกคือ ทำตามกฎหมายแต่โดยดี โดยละเลยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หรือหยุดเสนอเนื้อหาข่าวในออสเตรเลียไปเสียเลย ซึ่งเฟซบุ๊กเลือกอย่างหลัง
ผู้ผลิตเนื้อหาและสำนักข่าวในออสเตรเลีย จะถูกจำกัดไม่ให้แบ่งปันหรือโพสต์เนื้อหาใดๆ บนเพจ โดยแอดมินยังใช้งานเครื่องมือหลังบ้านของเฟซบุ๊กได้ทั้ง Page insights, Creator Studio, CrowdTangle ส่วนสำนักข่าวในต่างประเทศนั้น พวกเขายังสามารถเผยแพร่เนื้อหาข่าวบนเฟซบุ๊กต่อไปได้ แต่ผู้ใช้งานชาวออสเตรเลียจะไม่สามารถดูหรือแชร์ลิงก์และโพสต์ข่าวได้ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานในประเทศอื่นๆ ก็จะไม่สามารถมองเห็นข่าวสารในออสเตรเลียผ่านเฟซบุ๊กได้
เฟซบุ๊กบอกด้วยว่า สิ่งนี้จะเป็นผลเสีย เพราะปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้สร้างการอ้างอิงถึงผู้เผยแพร่โฆษณาในออสเตรเลียฟรีประมาณ 5.1 พันล้านคน มูลค่าประมาณ 407 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ส่วนกำไรทางธุรกิจจากข่าวสารก็มีน้อยมาก น้อยกว่า 4% จากที่ผู้คนเห็นใน News Feed การรับข่าวสารเป็นส่วนสำคัญในสังคมประชาธิปไตย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ เฟซบุ๊กสร้างเครื่องมือฟรีเพื่อสนับสนุนองค์กรข่าวทั่วโลกในการสร้างสรรค์เนื้อหา
ด้านผู้ใช้งานออสเตรเลีย ก็พบว่าตัวเองเข้าถึงเนื้อหาข่าว และเนื้อหาสำคัญอื่นๆ อย่างเพจข่าวและหน่วยงานสุขภาพบนเฟซบุ๊กไม่ได้ รัฐบาลออสเตรเลียบอกว่าท่าทีเช่นนี้ของเฟซบุ๊ก กำลังบั่นทอนความน่าเชื่อถือของตัวบริษัทเอง Paul Fletcher รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร กล่าวว่า เฟซบุ๊กต้องคิดอย่างรอบคอบว่าสิ่งนี้มีผลต่อชื่อเสียงและจุดยืนของตัวเองอย่างไรบ้าง
เรียกได้ว่าท่าทีของเฟซบุ๊กอยู่ตรงข้ามกับกูเกิลชัดเจน โดยกูเกิลมีท่าทียอมผ่อนปรนกับกฎหมายมากกว่า และเริ่มมีการทำข้อตกลงกับสำนักข่าวในออสเตรเลียแล้ว
ที่มา - เฟซบุ๊ก, BBC |
# News Corp บริษัทกลุ่มสื่อ ดีลกับกูเกิลทำข่าวลง Google News Showcase แชร์รายได้ร่วมกัน
News Corp บริษัทกลุ่มสื่อที่เป็นเจ้าของสำนักข่าวใหญ่ในหลายประเทศทั้งออสเตรเลีย สหรัฐฯ อังกฤษ แถลงการณ์ว่าได้ทำข้อตกลงเรื่องเนื้อหาข่าวกับกูเกิลเป็นระยะเวลา 3 ปี ในการนำเสนอเนื้อหาข่าวแบบพรีเมี่ยมลง Google News Showcase
ตัวอย่างสื่อในเครือ News Corp คือ The Wall Street Journal, Barron’s, MarketWatch, New York Post ในอังกฤษ, The Times, The Sunday Times, The Sun, The Australian, news.com.au, Sky News เป็นต้น
ทาง News Corp เปิดเผยด้วยว่า ส่วนหนึ่งของข้อตกลงระยะเวลา 3 ปีนี้ ยังรวมถึงการร่วมกับกูเกิลในการพัฒนาแพลตฟอร์ม subscription และแชร์รายได้โฆษณาร่วมกัน การฝึกอบรมนักข่าวในการทำข่าวรูปแบบเสียงและวิดีโอ
Don Harrison ประธานฝ่ายพันธมิตรระดับโลกของกูเกิลกล่าวว่า ข้อตกลงกับ News Corp ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น News Showcase, YouTube, Web Stories, Audio และเทคโนโลยีโฆษณา ซึ่งจนถึงตอนนี้ News Showcase ความร่วมมือกับสิ่งพิมพ์มากกว่า 500 รายการทั่วโลกแล้วและหวังว่าจะเพิ่มขึ้น
การทำข้อตกลงของกูเกิลถือเป็นความพยายามที่จะผ่อนปรนและปรับตัวเข้ากับกฎใหม่ News Media Bargaining Code ของออสเตรเลีย บังคับแพลตฟอร์มออนไลน์จ่ายเงินให้สำนักข่าว และเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการสื่อที่จะมีรายได้เพิ่มหลังเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ไหลไปอยู่ที่กูเกิลและเฟซบุ๊ก
ที่มา - News Corp |
# นินเทนโดส่ง Zelda: Skyward Sword HD ลง Switch วางขาย ก.ค. 2021
นินเทนโดประกาศนำ The Legend of Zelda: Skyward Sword HD เกมที่เคยออกบน Wii ในปี 2011 มารีมาสเตอร์ลง Nintendo Switch เป็นเวอร์ชัน HD กำหนดขาย 16 กรกฎาคม 2021
Skyward Sword ถือเป็นเกมตระกูล Zelda ภาคที่สองของ Wii (ถัดจาก Twilight Princess ที่ลงควบ GameCube/Wii) โดยเป็นเกมภาคที่ลง Wii เพียงอย่างเดียวเท่านั้น (มีขายบน Wii U eShop แต่เป็นเวอร์ชัน Wii) เกมได้คะแนนรีวิวเฉลี่ย 93/100
การนำมาลง Switch ถือเป็นการสานต่อยุทธศาสตร์ของนินเทนโดที่นำเกมดังๆ หลายเกมในยุค Wii/Wii U มาให้ผู้เล่น Switch เล่นกัน
นินเทนโดยังออก Joy-Con รุ่นพิเศษสีน้ำเงิน-ม่วง ที่ทำลายเหมือนโล่และดาบของ Link ในเกมภาคนี้ด้วย |
# Amazon เปิดตัวโครงการ Build It ให้จองสินค้าล่วงหน้า ก่อนผลิตขายจริงแบบ Kickstarter
Amazon ประกาศโครงการ Build It ที่มีรูปแบบคล้ายกับ Kickstarter โดย Amazon จะนำสินค้าต้นแบบมานำเสนอ และลูกค้าที่สนใจสามารถเลือกสั่งจองสินค้าล่วงหน้าได้ โดยหลังประกาศไปแล้ว 30 วัน ถ้ามีจำนวนลูกค้าที่แสดงความสนใจจำนวนมากพอตามเงื่อนไข Amazon ก็จะผลิตสินค้านั้นเพื่อจำหน่ายต่อไป
กรณีที่สินค้านั้นมีจำนวนผู้สนใจตามเงื่อนไข ลูกค้าที่สั่งจองได้จะได้รับสินค้าเป็นกลุ่มแรก และถูกหักเงินในราคาส่วนลด แต่หากสินค้ามีผู้สนใจไม่ครบจำนวน จะไม่มีการหักเงินแต่อย่างใด ทั้งนี้ Amazon เคยทดลองทำโครงการรูปแบบดังกล่าวในชื่อ Day 1 Editions ซึ่งมีสินค้าที่ได้รับการสนับสนุนจนผลิตออกมาขายทั่วไปแล้วอย่าง Echo Frames แว่นที่เชื่อมต่อกับ Alexa
สินค้า 3 รายการแรก ที่ Amazon นำเสนอในโครงการ Build It ให้ลูกค้าที่สนใจสั่งจองได้ล่วงหน้ามีดังนี้
Smart Sticky Note Printer เครื่องพิมพ์กระดาษโน้ตมีแผ่นกาวด้วยความร้อน แบบสั่งงานด้วยเสียงผ่าน Alexa เวลาพิมพ์ ราคาสั่งจอง 89.99 ดอลลาร์
Smart Nutrition Scale เครื่องชั่งที่เชื่อมต่อข้อมูลด้านโภชนาการ ทำงานร่วมกับจอ Echo Show รองรับคำสั่งเช่น ให้คำนวณน้ำตาลในบลูเบอร์รีนี้ ราคาสั่งจอง 34.99 ดอลลาร์
Smart Cuckoo Clock นาฬิกาแขวนผนังมีนกร้อง (นาฬิกากุ๊กกู) ที่สามารถตั้งค่าการแจ้งเตือนต่าง ๆ ได้ ผ่านคำสั่งเสียง ราคาสั่งจอง 79.99 ดอลลาร์
ที่มา: Amazon ผ่าน Engadget |
# Dapr โครงการรันไทม์โอเพ่นซอร์สสำหรับพัฒนาไมโครเซอร์วิสออกเวอร์ชัน 1.0 แล้ว
Dapr โครงการรันไทม์โอเพ่นซอร์สจาก Microsoft เพื่อการพัฒนาแอปแบบ event-driven โดยเฉพาะไมโครเซอร์วิสเข้าสู่เวอร์ชัน 1.0 และพร้อมใช้งานในโปรดักชั่นแล้ว
Dapr ย่อมาจาก Distributed Application Runtime เปิดตัวโครงการครั้งแรกเมื่อปลายปี 2019 ออกอัพเดตมาแล้ว 14 ครั้ง รองรับคลาวด์รายใหญ่หลายเจ้า ทั้ง AWS, Google Cloud, Azure และ Alibaba ซึ่งตอนนี้โครงการมีผู้ร่วมส่งโค้ดราว 700 คน และมีองค์กรบางแห่งเริ่มใช้งานในโปรดักชั่นบ้างแล้ว
Mark Russinovich ซีทีโอของ Azure ระบุว่า โครงการ Dapr เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยองค์กรที่ระบบไอทีเป็นรูปแบบดั้งเดิม คือไคลเอนท์, เซิร์ฟเวอร์, เว็บ, ฐานข้อมูล แต่ตอนนี้ต้องทำแอปแบบคอนเทนเนอร์เพื่อสร้างไมโครเซอร์วิสสำหรับ scale-out และอัพเดตแบบไม่มีดาวน์ไทม์ รวมถึงอินทิเกรตกับบริการคลาวด์ต่าง ๆ และต้องย้ายไปมาระหว่าง on-premise กับคลาวด์หลาย ๆ บริษัทได้
โครงการ Dapr จึงพัฒนาเป็นรันไทม์ตัวเดียวเพื่อให้นักพัฒนาที่ต้องการสร้างไมโครเซอร์วิสแบบ event-driven มี building blocks สำหรับการคุยกันระหว่างเซอร์วิส, การจัดการสถานะ, pub/sub และระบบจัดการ secret เพื่อให้นักพัฒนาโฟกัสกับงานส่วนของโค้ดเป็นหลัก
สำหรับใครที่สนใจรายละเอียดของ Dapr สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของโครงการ Dapr.io หรือ GitHub
ที่มา - TechCrunch |
# ไมโครซอฟท์เปิดตัว Azure Firewall Premium ไฟร์วอลล์เต็มรูปแบบกรองเว็บ ตรวจสอบข้อมูลเข้ารหัสได้
ไมโครซอฟท์เปิดบริการ Azure Firewall Premium ขยายบริการไฟร์วอลล์จากเดิมกรองได้เฉพาะไอพีและโดเมนกลายเป็นบริการตรวจสอบข้อมูลการเชื่อมต่อเต็มรูปแบบ
ความสามารถสำคัญของ Azure Firewall Premium คือการถอดรหัสการเชื่อมต่อเข้ารหัส (TLS termination) ได้ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก โดยองค์กรต้องติดตั้ง root CA ที่สร้างจาก Azure Key Vault ตัว Azure Firewall จะออกใบรับรองสำหรับทุกโดเมนที่ผู้ใช้พยายามเชื่อมต่อเพื่อถอดรหัสการเชื่อมต่อมาตรวจสอบข้อมูล เก็บข้อมูลบางส่วนลงล็อก และแจ้งเตือนเมื่อพบรูปแบบข้อมูลที่น่าจะอันตราย
เนื่องจากไฟร์วอลล์สามารถถอดรหัสข้อมูลได้ทำให้สามารถกรอง URL ได้อย่างละเอียด องค์กรสามารถบล็อคหรือเปิดเว็บตามประเภทเนื้อหาและโดเมน
ค่าวางระบบคิด 1.75 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงแพงกว่าไฟร์วอลล์รุ่นปกติ 50 เซนต์ และค่าตรวจสอบทราฟิก 0.016 ดอลลาร์ต่อกิกะไบต์เท่ารุ่นปกติ ในช่วงพรีวิวนี้คิดราคาเพียงครึ่งเดียวทำให้ถูกกว่ารุ่นปกติเสียอีก
ที่มา - Azure Blog |
# ราคา Bitcoin ทำนิวไฮ ทะลุ 50,000 ดอลลาร์ แล้ว
ราคาบิตคอยน์ยังคงปรับเพิ่มสูงต่อเนื่อง โดยสถิติใหม่สูงสุด มีราคามากกว่า 50,000 ดอลลาร์ต่อบิตคอยน์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ราว 51,000 ดอลลาร์ อ้างอิงจากราคาใน Coinmarketcap
การปรับราคาขึ้นของบิตคอยน์ในช่วงที่ผ่านมา มาพร้อมกับข่าวสนับสนุนหลายอย่าง อาทิ วาณิชธนกิจขนาดใหญ่อย่าง JPMorgan, Goldman Sach และ Morgan Stanley แสดงความสนใจลงทุนในบิตคอยน์ และเงินคริปโตในฐานะสินทรัพย์ทางเลือก ขณะที่บริการชำระเงิน PayPal และ Mastercard ก็เตรียมสนับสนุนการจ่ายด้วยเงินคริปโต รวมทั้งข่าวที่ Tesla เผยว่าบริษัทได้ซื้อบิตคอยน์เพื่อการลงทุน เป็นมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์
ที่มา: CNBC |
# Palo Alto Networks ซื้อกิจการ Bridgecrew แพลตฟอร์มความปลอดภัยสำหรับ DevOps มูลค่าดีล 156 ล้านดอลลาร์
Palo Alto Networks ประกาศบรรลุข้อตกลงเพื่อเข้าซื้อกิจการ Bridgecrew บริษัทด้านความปลอดภัยบนคลาวด์สำหรับนักพัฒนา ด้วยมูลค่า 156 ล้านดอลลาร์ โดยจ่ายเป็นเงินสด และไม่รวมรายการหุ้นเพิ่มเติมที่แยกต่างหาก
เครื่องมือของ Bridgecrew จะถูกนำมารวมเข้ากับ Prisma ผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยของ Palo Alto Networks ที่ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาโปรแกรม ไปจนถึงกระบวนการ DevOps ตลอดวงจรของการพัฒนา
Nikesh Arora ซีอีโอ Palo Alto Networks กล่าวถึงดีลดังกล่าวว่าการตรวจสอบความปลอดภัยตั้งแต่ระดับโค้ด เป็นสิ่งจำเป็นบนแพลตฟอร์มคลาวด์ นักพัฒนาไม่ต้องการรอจนถึงขั้นตอนการรันเพื่อพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย ลูกค้าจึงได้ประโยชน์จากบริการของ Prisma Cloud ที่จะรวมกับ Bridgecrew ทำให้มีความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น
ที่มา: Palo Alto Networks |
# โรงงานชิปซัมซุงในสหรัฐฯ หยุดสายการผลิตเนื่องจากปัญหากระแสไฟฟ้าในสหรัฐฯ
โรงงานชิปของ Samsung Electronics ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัสต้องหยุดสายการผลิตหลังจากบริษัทไฟฟ้า Austin Energy แจ้งให้ซัมซุงหยุดการผลิตเนื่องจากไฟฟ้าไม่เพียงพอ และยังไม่มีกำหนดว่าจะกลับมาเดินสายการผลิตได้เมื่อใด
รัฐเท็กซัสมีปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอจากเหตุพายุลมหนาวและเกิดเหตุไฟดับเป็นวงกว้าง
ปีนี้ปัญหาชิปขาดแคลนกระทบอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ก่อนหน้านี้โรงงาน Renesas ในญี่ปุ่นก็เพิ่งต้องหยุดสายการผลิตไป จากเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น แม้ว่ากำลังผลิตชิปส่วนมากในโลกจะมาจากไต้หวันก็ตาม
ที่มา - Nikkei Asian Review
ภาพโรงงาน Samsung Austin Semiconductor จากซัมซุง |
# Ford ทุ่ม 1 พันล้านดอลลาร์ ปรับปรุงโรงงานในเยอรมนีเป็นโรงงานรถ EV เต็มรูปแบบ
นาทีนี้ใครก็มุ่งหน้าไปยังรถยนต์ไฟฟ้ากันทั้งนั้น ล่าสุดเป็น Ford ที่ประกาศลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 หมื่นล้านบาท ในการปรับปรุงโรงงานประกอบรถยนต์ของตนที่เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี ให้กลายเป็นโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
Ford ระบุว่าบริษัทมีเป้าว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วนทั้งหมดในอนาคต จึงตัดสินใจลงทุนเพื่อปรับโรงงานในเยอรมนีให้เป็นศูนย์ Ford Cologne Electrification Center ซึ่งโรงงานนี้ก็เป็นสำนักงานใหญ่ของ Ford ภูมิภาคยุโรปอยู่แล้ว
นอกจากนี้ Ford ยังประกาศขายเฉพาะรถปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าล้วนในยุโรปภายในกลางปี 2026 และจะขายเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าล้วนในยุโรปภายในปี 2030 อีกทั้งรถยนต์เชิงพาณิชย์ก็จะเป็นไฟฟ้าล้วนหรือปลั๊กอินไฮบริดภายในปี 2024
ที่มา - Electrek
2021 Ford Mustang Mach-E | ภาพโดย Ford |
# Apple ประกาศ App Store จะรับแอปที่แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนหรือตรวจโรคจากองค์กรสาธารณสุขเท่านั้น
ตอนนี้หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 แล้ว และการฉีดวัคซีนรวมถึงการตรวจโรค COVID-19 จะต้องมีหลักฐานยืนยันเพื่อการเดินทางหรือดำเนินกิจกรรมอย่างอื่นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันหลักฐานการฉีดวัคซีนสามารถเก็บไว้ในแอปได้ จึงทำให้มีแอปกลุ่มนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก
Apple จึงเริ่มออกกฎเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยทางบริษัทระบุว่าได้กำหนดกฎให้แอปกลุ่มที่สร้างบัตรยืนยันการฉีดวัคซีนหรือการตรวจโรคจะต้องส่งมาจากนักพัฒนาที่ทำงานร่วมกับบริษัทหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น ห้องปฏิบัติการวิจัย, บริษัทผลิตชุดทดสอบการติดเชื้อ, องค์กรด้านสุขอนามัย, หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขจึงจะมีสิทธิ์ส่งแอปขึ้นไปยัง App Store ได้
Apple ระบุว่าเหตุผลที่อนุมัติเฉพาะแอปจากกลุ่มองค์กรเหล่านี้ เนื่องจากแอปกลุ่มนี้จะต้องบริหารจัดการข้อมูลสำคัญจากผู้ใช้งานจำนวนมาก และจะต้องทำงานได้อย่างแม่นยำจึงต้องกำหนดว่าจะรับแอปที่มาจากองค์กรที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
ที่มา - Apple Developer, Engadget
ภาพจาก PIRO4D/Pixabay |
# [IDC] ตลาดคอมพิวเตอร์ปี 2020 Chrome OS มีส่วนแบ่งตลาดชนะ macOS ได้เป็นครั้งแรก
IDC เปิดเผยข้อมูลกับเว็บไซต์ GeekWire ถึงยอดขายคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งปี 2020 (นับรวมเดสก์ท็อป, โน้ตบุ๊ก, เวิร์คสเตชัน) แยกตามระบบปฏิบัติการ พบว่า Chrome OS มียอดขายสูงกว่า macOS เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
Windows ส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 85.4% ในปี 2019 มาเหลือ 80.5% ในปี 2020
Chrome OS ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 6.4% ในปี 2019 เป็น 10.8% ในปี 2020
macOS ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 6.7% ในปี 2019 เป็น 7.5% ในปี 2020
ถ้าดูตัวเลขเจาะเป็นรายไตรมาส ไตรมาสแรกของปี 2020 ส่วนแบ่งตลาดของ Chrome OS กับ macOS ยังพอๆ คือ 5.3% และ 5.8% ตามลำดับ แต่ในไตรมาสสองเป็นต้นมา Chrome OS ก็เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยในไตรมาสสี่ของปี Chrome OS มีสัดส่วนยอดขายสูงถึง 14.4% มากกว่า macOS ที่ทำได้ราว 7.7%
ภาพรวมของ macOS ยังทำได้ดี มียอดขายเพิ่มขึ้นแม้ถูก Chrome OS บดบัง ซึ่งกลายเป็น Windows ที่ได้รับผลกระทบหนัก ส่วนแบ่งตลาดโดยรวมลดลงจากเดิมมาก (และน่าจะเป็นสาเหตุว่าทำไมไมโครซอฟท์ถึงเร่งทำ Windows 10X มาสู้)
ภาพรวมของตลาดคอมพิวเตอร์ปี 2020 ได้รับผลกระทบจากกระแส work from home ทำให้ยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด และกลายเป็น Chrome OS คือผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
ที่มา - GeekWire |
# รีวิว Galaxy S21 Ultra: เหล้าเก่าในขวดใหม่ เมื่อฮาร์ดแวร์มีไมเนอร์อัพเดตเหมือนซอฟต์แวร์
ภาษาอังกฤษมีสุภาษิตหนึ่งคือ third time's a chime แปลว่าความพยายามครั้งที่ 3 มักจะประสบผลสำเร็จเสมอ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าน่าจะเอามาใช้เรียกความพยายามทำรุ่น Ultra หรือรุ่นเรือธงท็อปที่สุดในไลน์ของซัมซุง หลังเริ่มมาตั้งแต่ S20 Ultra และตามมาด้วย Note 20 Ultra
ที่บอกว่า Galaxy S21 Ultra เข้าข่าย third time's a chime ก็เพราะมันแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ จากรุ่นก่อนหน้าไปเกือบหมดแล้ว ขณะเดียวกันตัวมันเองก็อยู่ในจุดสูงสุดของสมาร์ทโฟนที่เครื่องหนึ่งจะพึงให้ได้แล้ว ดังนั้น Galaxy S21 Ultra เลยแทบจะสมบูรณ์แบบในตัวมันเอง แต่ถึงกระนั้น ในภาพรวมมันก็ไม่ได้แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้ามากนัก (เหล้าเก่าในขวดใหม่) และหากพิจารณาร่วมกับราคาและความอิ่มตัวของพัฒนาการสมาร์ทโฟนแล้ว ก็อาจจะไม่ได้มีความว้าวมากเช่นกัน
ไมเนอร์อัพเกรดฮาร์ดแวร์
ฮาร์ดแวร์ของ Galaxy S21 Ultra ยังคงท็อปที่สุดในรุ่นและในช่วงเวลา ตั้งแต่หน้าจอ 6.8 นิ้ว 120Hz OLED ความละเอียด QHD+ แต่ดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ในแง่ว่าหน้าจอไม่ได้มีความโค้งเหมือนเดิม มีความแบนมากขึ้น โค้งเพียงเล็กน้อยและไม่ได้แบนเท่า S21 / S21+ รู้สึกไม่น่ารำคาญและใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิมหน่อย (จอโค้งเดิมคือมือพลาดไปโดนบ่อย)
ความสวยงามของหน้าจอของซัมซุงขึ้นชื่ออยู่แล้วและไม่น่าจะต้องสาธยายมากนัก (งานเปิดตัว S21 Ultra รอบนี้ซัมซุงก็ไม่อารัมภบทกับหน้าจอมากเท่าเดิม) ความสว่างสูงสุด 1,500nits ใช้งานกลางแจ้งได้สบาย การแสดงผล HDR ก็สวยงามตามท้องเรื่อง
ซีพียูอัพเกรดตามรอบ Exyson 2100 แรม 12GB/16GB รองรับ Wi-Fi 6E สี Matte Black ซึ่งสวยงามมากและไม่ติดลายนิ้วมือ แต่น้ำหนักมากขึ้นเป็น 229 กรัม (Note 20 Ultra 208 กรัม S20 Ultra 222 กรัม) แต่ในแง่ความรู้สึกไม่ได้แตกต่างมากนักจาก S20 Ultra คือรู้สึกหนักแต่กระชับมือ จะต่างก็แค่ Note 20 Ultra ที่เบากว่ามาก
เสียดายที่ผมไม่ได้ใช้และไม่มีคนใกล้ตัวใช้ Galaxy Note เลยไม่ได้ลอง S Pen บน S21 Ultra จริง ๆ จัง ๆ แต่จากที่เคยลองจับ ก็คาดว่าฟีเจอร์และประสบการณ์ใช้งานน่าจะยังแตกต่างกับบน Galaxy Note อยู่ไม่น้อย
หนึ่งจุดที่รู้สึกได้ว่าดีขึ้นจาก S20 Ultra คือเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือใต้หน้าจอที่ปรับมาใช้ 3D Sonic Sense Gen 2 ตัวใหม่ของ Qualcomm ที่เร็วและแม่นยำขึ้นมาก ๆ ในระดับที่แตะ (แตะไม่ใช่วาง) ปุ๊บปลดล็อกปั๊บ (บน Note 20 Ultra จำได้ว่าค่อนข้างเร็วอยู่แล้ว เลยเปรียบเทียบไม่ถูกว่าเร็วกว่าแค่ไหน แต่เร็วกว่า S20 Ultra แน่ ๆ) อาจเรียกได้ว่า การสแกนนิ้วบนหน้าจอด้วย S21 Ultra น่าจะใกล้เคียงกับการสแกนลายนิ้วมือด้านหลังเครื่องแล้วก็ว่าได้
กล้อง 4 บวก 1 เลเซอร์
สำหรับกล้องรอบนี้เป็นการปรับปรุงกล้องที่ทำมาตั้งแต่ S20 Ultra ให้ดีขึ้นและสมบูรณ์มากขึ้น โดยสเปคกล้องหลังมีดังนี้
กล้องหลัก เลนส์ไวด์ 108 ล้านพิกเซล OIS, f/1.8
อัลตร้าไวด์ 12 ล้านพิกเซล, มุมกว้าง 120 องศา, f/2.2
เลนส์เทเลตัวแรก 10 ล้านพิกเซล ทำออพติคัลซูม 3X, OIS, f/2.4
เลนส์เทเลตัวที่สอง 10 ล้านพิกเซล ทำออพติคับซูม 10X, OIS, f/4.9
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงเรื่องกล้องที่ชัดเจนที่สุดคือซัมซุงให้กล้องซูมมา 2 ตัว ตัวนึงยังเป็นเลนส์ periscope เหมือนเดิมจากที่เคยทำใน Galaxy S20 Ultra ที่ใช้การสะท้อนกระจก เพื่อวางเลนส์ซูมไว้ด้านข้าง 90 องศา เพื่อให้มีระยะเลนส์ยาวพอที่จะซูมได้เยอะขึ้น แต่ทางยาวโฟกัสก็มีการปรับปรุงให้เพิ่มขึ้นจากเดิม 103มม. มาเป็น 240มม. ส่วนอีกเลนส์เป็นเลนส์ซูมธรรมดา ทางยาวโฟกัสที่ 70 มม.
1x
4x
10x
30x
100x
ปัจจัยหลักที่ซัมซูงใส่กล้องซูมมา 2 ตัว น่าจะเป็นการนำเอากล้อง 2 ตัวมาช่วยเก็บภาพสำหรับประมวลผลภาพซูมให้คมชัดยิ่งขึ้น ตั้งแต่ระยะกลางเป็นต้นไปก็คือตั้งแต่ 10x และ 30x ที่เป็นดิจิทัลซูมหรือการใช้ซอฟต์แวร์มาช่วยขยายภาพเป็นหลัก ซึ่งก็ค่อนข้างชัดเจนว่าการทำ Hybrid Optical Zoom และ Digital Zoom บน S21 Ultra ดีกว่าเดิม แต่ส่วนตัวยังรู้สึกว่าการทำ 100x ภาพยังคงค่อนข้างแตกอยู่เหมือนเดิม
ซูม 10x บน iPhone 12 Pro Max
ซูม 10x บน Galaxy S21 Ultra
อีกจุดหนึ่งที่ดีขึ้น (ตั้งแต่ Note 20 Ultra) คือการโฟกัสที่เร็วขึ้นมากจากการใช้เลเซอร์มาช่วย AF ทำให้การถ่ายมาโครมาได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้เลนส์มาโครแยก เช่นเดียวกับการถ่าย Portrait (Live Focus) ที่ตัดวัตถุได้คมมากขึ้น
live focus
live focus
ส่วนเลนส์หลักและเลนส์อัลตร้าไวด์ในแง่ฮาร์ดแวร์ ไม่ได้แตกต่างจาก Galaxy S20 Ultra มากนัก ส่วนตัวแยกความแตกต่างระหว่าง S20 Ultra และ S21 Ultra ไม่ได้ขนาดนั้น แต่หากมองเฉพาะตัวมันเองแล้ว หากจะยกให้กล้อง S21 Ultra ดีที่สุดรุ่นหนึ่งแล้วก็คงไม่น่าเกลียดเกินไปนัก (อาจแตกต่างในเชิงดีกว่าแย่กว่ากับรุ่นอื่นแบบไม่แตกต่างกันเห็นได้ชัดมากนัก)
night mode
night mode
night mode
night mode
มาโคร เปิดโหมดได้ด้วยการเอากล้องไปจ่อใกล้ ๆ แล้วซอฟต์แวร์จะปรับมาโหมดนี้ให้อัตโนมัติ
มาโคร
กล้องหน้า ที่รู้สึกว่าฟิลเตอร์หน้าเนียนถูกปรับให้สมจริงมากขึ้น สิวมาเต็ม
กล้องหน้า + Live Focus
แบตเตอรี่
ซัมซุงให้แบตเตอรี่มามหาศาลกว่าเดิมที่ 5,000mAh จากเดิมที่รู้สึกว่าเยอะอยู่แล้ว (S20 Ultra ที่ 4,510mAh และ Note 20 Ultra ที่ 4,500mAh) เพียงพอต่อการใช้งานทั้งวันอยู่แล้ว แต่บน S21 Ultra รู้สึกว่ายิ่งกว่าเหลือ เพราะมีทดสอบใช้งานหนักทั้งวัน เช่น ถ่ายรูป เล่นเกม ดู Netflix, YouTube เปิดความสว่างสุด แชร์แบตเตอรี่ผ่าน Wireless Sharing ให้กับ Galaxy S10 และ Pixel 5 ประมาณ 20-30% ของทั้ง 2 เครื่อง แบตก็ยังเหลือพอประมาณ เลยคิดว่าสำหรับ Galaxy S21 Ultra หากใช้แบบพอประมาณ ตอบแชท ตอบเมล เล่นโซเชียล อาจจะมีเพียงพอถึง 2 วัน
สรุป
จริง ๆ สถานการณ์เรือธงของซัมซุงเริ่มสะท้อนออกมาตั้งแต่ S20 Ultra แล้วว่ามันรุ่นท็อปของเรือธงมันคือสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดในตอนนั้น ๆ หากกำลังทรัพย์พอและโอเคกับมือถือขนาดใหญ่ก็ไม่น่ามีปัญหา เพียงแต่การอัพเกรดจากรุ่นก่อนหน้า (เช่น S20 Ultra หรือ Note 20 Ultra) อาจไม่ได้น่าสนใจมากขนาดนั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ๆ จนแทบไม่มีอะไรแตกต่างมากขนาดนั้น |
# Epic Games ขยายวง ยื่นฟ้องร้อง Apple ผูกขาดในสหภาพยุโรป
ต่อเนื่องจากการฟ้องร้องในสหรัฐ, ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร ล่าสุด Epic Games ขยายวงของคดีความไปยังสหภาพยุโรปแล้ว
Epic Games ยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการทั่วไปด้านการแข่งขันของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission’s Directorate-General for Competition) ในข้อหาคล้ายกันคือผูกขาด App Store และปิดกั้นกระบวนการชำระเงิน เป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดในทางที่ผิดในสหภาพยุโรป
Epic ยังแสดงจุดยืนคล้ายเดิมว่าประเด็นนี้ไม่ใช่แค่การต่อสู้ระหว่าง Apple vs Epic แต่เป็นกลุ่มนักพัฒนาและลูกค้าที่ถูกบีบให้ใช้งานช่องทางการโหลดแอปและใช้จ่ายภายในแอปเพียงช่องทางเดียว และ Epic ไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหายจากการฟ้องร้องเช่นเดิม
ที่มา - Epic Games |
# กระทรวงดีอีเตือนคนใช้ Clubhouse พร้อมดำเนินคดี หากเจอการคุยที่ให้ข้อมูลบิดเบือน ล่วงละเมิด
เมื่อวานนี้ 16 ก.พ. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เปิดห้องพูดคุยใน Clubhouse โซเชียลมีเดียใหม่ที่กำลังมาแรง ซึ่งแต่ละห้องรองรับได้ในจำนวนจำกัด แต่ห้องของปวินก็เต็มด้วยระยะเวลารวดเร็ว
ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำโดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ออกมาเตือนผู้ใช้งาน Clubhouse ว่าควรใช้ด้วยความระมัดระวัง อย่าละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ไม่ทำผิดกฎหมาย ชี้ เจ้าหน้าที่พร้อมติดตามตรวจสอบและดำเนินคดีทันที ทั้งกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทันที เช่นเดียวกับที่ได้ติดตามตรวจสอบการใช้งานโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย
ทางกระทรวงระบุว่า จากการสังเกตการณ์และติดตามจากสื่อมวลชนรายงาน พบว่ามีกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง และกลุ่มต่าง ๆ ได้ใช้แอพพลิเคชันนี้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลที่เข้าข่ายบิดเบือน สร้างความเสียหาย และอาจนำไปสู่การกระทำความผิดกฎหมายได้นั้น แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นใครและกลุ่มไหนกันแน่ นอกจากนี้ยังไม่มีแนวทางดำเนินการชัดเจนว่าจะใช้หลักฐานอย่างไร เพราะ Clubhouse เป็นแอปคุยสด ไม่มีอัดเสียงย้อนหลัง แต่มีข้อจำกัดในการใช้งานและเข้าร่วมห้องแชท
ที่มา - กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม |
# สื่อออสเตรเลียเผยกูเกิล ยอมดีลกับบริษัทสื่อใหญ่ 2 ราย ยอมประนีประนอมกับกฎหมายใหม่
จากประเด็นกฎหมายใหม่ของออสเตรเลีย ให้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กจ่ายเงินค่าเนื้อหาให้สำนักข่าวและบริษัทสื่อเพื่อนำเนื้อหามาปรากฏบนแพลตฟอร์ม หรือ News Media Bargaining Code ล่าสุดสื่อออสเตรเลีย Sydney Morning Herald รายงานว่า กูเกิลมีท่าทียอมผ่อนปรนกับกฎหมายใหม่มากขึ้น จากเดิมที่ต่อต้านตลอดถึงขั้นขู่เอาบริการค้นหาออกจากประเทศ
รายงานข่าวระบุว่า กูเกิลยอมทำข้อตกลงจ่ายเงินให้บริษัทสื่อใหญ่ในออสเตรเลีย 2 รายคือ Nine Entertainment เจ้าของสื่อหลายเจ้าและล็อบบี้ยิสต์รายใหญ่ เป็นเงิน 23 ล้านเหรียญต่อปี และบริษัท Seven West เจ้าของสื่อทีวีและสิ่งพิมพ์ เป็นเงิน 30 ล้านเหรียญ
ซึ่งการยอมประนีประนอมของกูเกิล จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวงการสื่อ และเป็นไปได้ว่า กูเกิลต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบการจ่ายเงินให้กับสำนักข่าวทั่วโลก ก่อนหน้านี้ยุโรปก็มีท่าทีจะนำร่างกฎหมายของออสเตรเลียมาปรับใช้
อย่างไรก็ตามกูเกิลพยายามบอกสังคมว่า ตอนนี้กูเกิลมี Google News Showcase ที่จ่ายเงินให้ผู้ผลิตเนื้อหาระยะยาว 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งกูเกิลเคยเสนอช่องทางนี้ให้ Nine Entertainment ด้วย แต่ถูกปฏิเสธ ทางโฆษก Nine Entertainment บอกว่า นี่คือสิ่งที่บริษัทผูกขาดมักจะทำ คือยื่นข้อเสนอในรูปแบบของ Google Showcase แต่ไม่ยอมเจรจา
แม้ News Media Bargaining Code มีเป้าหมายเพื่อลดทอนอำนาจของแพลตฟอร์มใหญ่มาให้สำนักข่าวบ้าง แต่ก็มีความกังวลเช่นกันว่า กฎหมายนี้จะทำให้บริษัทสื่อรายเล็กอยู่ยากขึ้นอีกหรือไม่ เพราะไม่มีกำลังต่อรองมากเท่าบริษัทสื่อใหญ่อย่าง Nine Entertainment และ Seven West
ที่มา - CNET |
# GitHub เรียกร้องนักพัฒนาใช้ scoped package ลดการโจมตีจากแฮกเกอร์อัพโหลดแพ็กเกจชื่อซ้ำบน npm
หลังจาก Alex Birsan รายงานถึงการโจมตีด้วยการตั้งชื่อแพ็กเกจซ้ำกับแพ็กเกจภายในของบริษัทต่างๆ ทาง GitHub ก็ออกมาเรียกร้องให้นักพัฒนาที่ใช้งานแพ็กเกจภายในว่าควรใช้ scoped package ที่เป็นฟีเจอร์ของ npm
scoped package เป็นฟีเจอร์ของ npm ตั้งแต่ปี 2014 เมื่อประกาศแพ็กเกจแบบ scoped แล้วแพ็กเกจนั้นจะถูกล็อกเข้ากับรีจิสตรีที่นักพัฒนาระบุไว้ ซึ่งอาจจะเป็นเซิร์ฟเวอร์ในองค์กร หรือจะเป็น npm เองที่สามารถตั้งรีจิสตรีแยกสำหรับองค์กรได้
นอกจากการใช้ scoped package แล้วทาง GitHub ยังแนะนำถึงการพรอกซี่แพ็กเกจเอาไว้ในองค์กรว่าควรระมัดระวังในการคอนฟิก ไม่พรอกซี่แพ็กเกจภายในองค์กรเอง เพราะอาจจะทำให้พรอกซี่หันไปดึงแพ็กเกจชื่อซ้ำจากภายนอกได้หากลบแพ็กเกจออกไปในอนาคต, ไม่ควรใช้ชื่อแพ็กเกจซ้ำกันแม้แพ็กเกจเดิมจะลบไปแล้ว, และตรวจสอบการ build ที่ล้มเหลวเสมอว่าเกิดจากการโจมตีหรือไม่
ที่มา - GitHub |
# Amazon เข้าซื้อ Selz เว็บแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ, ไม่เปิดเผยรายละเอียดการซื้อขาย
Amazon เข้าซื้อบริษัท Selz เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ แต่ซีอีโอของ Selz เปิดเผยการเข้าซื้อนี้ด้วยข้อความสั้นๆ บนบล็อกโพสต์หน้าเว็บ ระบุว่า เซ็นสัญญาเข้าซื้อกิจการกับ Amazon แล้ว แต่ในมุมของลูกค้า จะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจนกว่าจะมีอัพเดตในอนาคต
Selz ก่อตั้งในปี 2013 ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย เป็นเว็บไซต์แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ มุ่งเป้าผู้ใช้งานไปที่บริษัทขนาดกลางถึงเล็ก จากข้อมูลในหน้า Linkedin ของบริษัท ปัจจุบัน Selz มีพนักงานไม่ถึง 50 คน ถือเป็นอีกหนึ่งการเข้าซื้อเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ third-party ของ Amazon ที่ปัจจุบันมีผู้จำหน่ายสินค้ากว่า 2.5 ล้านราย คิดเป็นกำไรเกินครึ่งจากฝั่งอีคอมเมิร์ซของ Amazon
ที่มา - Selz via CNBC |
# Trend Micro เตือน แอพแชร์ไฟล์ SHAREit บน Android มีช่องโหว่หลายตัว แจ้งบริษัทแล้วไม่สนใจ
SHAREit เป็นแอพแชร์ไฟล์ข้ามอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เดิมทีมันเป็นบริการของ Lenovo แต่ภายหลังก็แยกบริษัทออกมาเป็นเอกเทศในชื่อ Smart Media4U
SHAREit เวอร์ชัน Android มียอดดาวน์โหลดบน Play Store เกิน 1 พันล้านดาวน์โหลด อย่างไรก็ตาม บริษัทความปลอดภัย Trend Micro ก็แจ้งเตือนว่าแอพเวอร์ชัน Android มีช่องโหว่ความปลอดภัยหลายอย่าง ที่อาจเปิดให้แฮ็กเกอร์รันโค้ดจากระยะไกล หรือติดตั้งไฟล์ APK ที่เป็นมัลแวร์ได้ รวมถึงอาจโดน man-in-the-middle (MITM) หลอกดาวน์โหลดไฟล์ได้ด้วย
Trend Micro บอกว่าส่งข้อมูลให้ SHAREit แล้วแต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ เป็นเวลา 3 เดือนแล้ว จึงตัดสินใจออกมาเปิดเผยข้อมูลนี้ต่อสาธารณะ
ที่มา - Trend Micro |
# บริการสตรีมมิ่งเพลงจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในสหรัฐรวมกันกว่า 424 ล้านเหรียญ, Apple, Spoitfy เยอะสุด
The Mechanical Licensing Collective (The MLC) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ดูแลเรื่องใบอนุญาตในการใช้งานเพลงสำหรับสตรีมมิ่งหรือดาวน์โหลดในสหรัฐ เปิดเผยว่าได้รับค่าลิขสิทธิเพลงที่ค้างจ่ายรวมกันกว่า 424 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผู้ให้บริการจ่ายลิขสิทธิเยอะที่สุดคือ Apple ที่ราว 163 ล้านเหรียญและ Spotify 152 ล้านเหรียญ โดยมี Amazon ตามมาห่าง ๆ ที่ 42 ล้านเหรียญและ Google 32 ล้านเหรียญ
ทั้งนี้ MLC เป็นหน่วยงานที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายการปรับปรุงลิขสิทธิ์เพลง (Music Modernization Act หรือ MMA) เมื่อปี 2018 เพื่อดูแลเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งรวมถึงนักแต่งเพลง นักประพันธ์ ผู้แต่งเนื้อร้อง และผู้เผยแพร่ ให้ได้ค่าลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องและตรงเวลา ซึ่ง MLC เริ่มดำเนินงานเมื่อ 1 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ค่าลิขสิทธิ์ข้างต้น เป็นการเก็บค่าลิขสิทธิ์ของเพลงที่ถูกใช้งานมาก่อน 1 มกราคม
ที่มา - The MLC |
# โซนี่ถูกยื่นฟ้องกลุ่ม หลังไม่รับประกัน DualSense ค้าง (drifting)
หลังมีรายงาน DualSense ของ PS5 พบปัญหาค้างหรือ drifting ซึ่งเบื้องต้นดูเหมือนว่าการรับประกันของตัวเครื่องจะครอบคลุมคอนโทรลเลอร์ด้วย แต่ล่าสุดโซนี่ถูกฟ้องแบบกลุ่มเรื่องนี้แล้วที่ศาลแขวงใต้นิวยอร์ก
คำฟ้องต่อโซนี่คือละเมิดกฎหมายหลอกลวงผู้บริโภคและละเมิดข้อตกลงการรับประกันที่เกี่ยวข้องกับ DualSense โดย Lmarc Turner หนึ่งในโจทก์หลักอ้างว่า หลังคอนโทรลเลอร์ตนเองพบปัญหาก็ติดต่อไปยังศูนย์บริการลูกค้าโซนี่ ก่อนจะได้รับคำแนะนำที่ห่วยแตก (lame) ที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหามากนัก
คำฟ้องระบุด้วยว่าโซนี่น่าจะรู้ปัญหานี้นานแล้ว จากทั้งช่องทางออนไลน์ที่ผู้ใช้รายงานหรือการทดสอบก่อนการวางขาย ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้โซนี่ออกโครงการแลก DualSense ที่มีปัญหาได้ฟรีให้กับกลุ่มฟ้องร้อง และจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้าทุกคน ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อคอนโทรลเลอร์ใหม่หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เป็นการแก้ปัญหา drifting
ที่มา - Gizmodo |
# ไมโครซอฟท์ทดสอบ Kids Mode บนเบราวเซอร์ Edge ปิดกั้นการค้นหาที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
ไมโครซอฟท์กำลังทดสอบการใช้งาน เบราวเซอร์ Edge สำหรับเด็กอายุ 5-12 ปี หรือ Kids Mode กำลังเปิดทดสอบในกลุ่มผู้ทดสอบ Edge Insiders ในช่อง Dev และ Canary
Kids Mode มาพร้อม Bing SafeSearch ป้องกันการติดตามจากการ track โฆษณาต่างๆ เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องสร้างบัญชีผู้ใช้งาน เท่ากับว่าสามารถเข้าใช้งานในคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่ไม่ใช่ของตนได้ และหากเข้าเว็บที่ปลอดภัยแก่เด็ก แต่ถูกปิดกั้นไว้ไม่ให้เข้า ก็สามารถสร้างคำร้องเพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ได้ สำหรับผู้ปกครอง สามารถสร้างรายการเว็บไซต์ที่ปลอดภัยบน Kids Mode ได้
ที่มา - Windows Central |
# อีโมจิ iOS 14.5 เปลี่ยนเข็มฉีดยาพร้อมเลือดเป็นเข็มฉีดวัคซีน, อีโมจิใหม่ หน้าเหนื่อยถอนหายใจ ฯลฯ
iOS 14.5 รุ่นเบต้าของแอปเปิล มีการแสดงตัวอย่างอีโมจิใหม่ที่จะมาในฤดูใบไม้ผลินี้ เช่น หัวใจลุกเป็นไฟ หัวใจบาดเจ็บ คู่รักในความหลากหลายทางเพศและสีผิว นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนอีโมจิเข็มฉีดยา จากเดิมที่มีเลือดอยู่ในหลอด ของใหม่มีการเอาเลือดออก เพื่อสื่อถึงวัคซีน COVID-19 มากขึ้น
ส่วนอีโมจิ smileyหรืออีโมจิหน้ายิ้มที่เราคุ้นเคยกัน ก็ได้เพิ่มสีหน้าใหม่ๆ น่าสนใจเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็น หน้าตอนถอนหายใจ, หน้าตอนมึนงง และหน้าที่ถูกบดบังด้วยก้อนเมฆ
ที่มาข่าวและภาพ - Emojipedia.org |
# ไมโครซอฟท์เปิดตัวโครงการให้นักพัฒนาเกม เข้ามาทดสอบการพัฒนาเกมให้คนพิการเล่นได้
ในตลาดเกม ไมโครซอฟท์ถือเป็นบริษัทที่พยายามกระตุ้นเรื่องการเข้าถึงเกมได้ทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนพิการมาตลอด ปี 2018 ไมโครซอฟท์ออก Xbox Adaptive Controller คอนโทรลเลอร์เกมที่สามารถปรับแต่งการใช้งานให้เหมาะกับผู้พิการได้ ล่าสุด ไมโครซอฟท์เปิดตัวโครงการให้นักพัฒนาเกมจากสตูดิโอต่างๆ เข้ามาทดสอบการพัฒนาเกมอย่างไร ให้คนพิการเล่นได้
โดยไมโครซอฟท์จะร่วมสร้างความเข้าใจว่า จะพัฒนาเกมอย่างไรและมีส่วนไหนของเกมที่ผู้พิการเล่นลำบากเป็นพิเศษ จะแก้ไขอย่างไร เป็นต้น โดยให้ผู้พิการเข้ามาร่วมทดสอบการเล่นเกมด้วยจริงๆ และจะมอบทรัพยากรที่จำเป็นและแนวทางการออกแบบให้เหมาะกัยผู้พิการด้วย
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังอัพเดตแนวทาง Xbox Accessibility Guidelines หรือแนวทางการสร้างเกมมห้คนพิการเข้าถึงได้ที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี 2019 ส่วนหนึ่งคือลดภาษาเทคนิคที่เข้าใจยาก เพิ่มรูปภาพตัวอย่างการใช้งานมากขึ้นเพื่อให้เห็นภาพรวมและเข้าใจแนวทางได้ดีขึ้น เป็นต้น
ที่มา - Engadget, ไมโครซอฟท์ |
# Trello ยกเครื่อง UI ครั้งใหญ่ เพิ่มมุมมอง Timeline, Calendar, Table เปลี่ยนโลโก้ใหม่ด้วย
Trello ประกาศยกเครื่อง UI และฟีเจอร์ครั้งใหญ่ในรอบหลายปี พร้อมปรับโลโก้ของบริษัทเล็กน้อยให้ทันสมัยขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสำคัญของแอพ Trello คือเพิ่มมุมมองการแสดงผล (views) เข้ามาอีก 4 แบบ ได้แก่ Timeline, Table, Dashboard, Calendar ทำให้ผู้ใช้สามารถอ่านสถานะของงานในโปรเจคต์ในรูปแบบที่เหมาะกับตัวเอง นอกเหนือจากการแสดงผลแบบบอร์ด
Trello ยังบอกว่าในอนาคตจะพัฒนาให้มุมมองแบบ Calendar, Timeline, Dashboard สามารถย้ายการ์ดได้ มีระบบฟิลเตอร์ช่วยกรองข้อมูล และเปิดให้นักพัฒนาภายนอกเข้ามาสร้าง view แบบใหม่ๆ เพิ่มด้วย
Timeline
Table
Dashboard
Calendar
ฟีเจอร์ที่สองคือ การ์ดงานใน Trello มีความสามารถมากขึ้น พรีวิวเนื้อหาจากเว็บภายนอก เช่น YouTube, Instagram, Dropbox, Google Drive, Salesforce ได้โดยตรง ถ้าใส่ลิงก์ของการ์ด Trello เองจะมีพรีวิวการ์ดซ้อนการ์ดให้ด้วย
ในอนาคตจะมี Mirror Card การ์ดใบเดียวกันปักข้ามหลายบอร์ด เพื่อให้ทีมที่ทำงานหลายบอร์ดเห็นสถานะงานล่าสุดเสมอ
ฟีเจอร์ที่สามคือการเพิ่มแถบ sidebar ด้านข้างเพื่อให้เห็นโครงสร้างของงานชัดเจนขึ้น โดยแถบ sidebar จะอิงตาม workspace ที่เราเปิดอยู่
สุดท้ายคือโลโก้ใหม่ของ Trello ที่ยังใช้รูปการ์ดงานแบบเดิม แต่ปรับสัดส่วนเล็กน้อย (แท่งข้างในเล็กลง) และเปลี่ยนฟอนต์ใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้น
โลโก้เก่า
ที่มา - Trello |
# Valve และ Netflix สร้าง Dragon’s Blood อนิเมะจากจักรวาล DOTA ลงฉาย 25 มีนาคม
Valve และ Netflix จับมือสร้างอนิเมะ Dragon’s Blood สร้างจากจักรวาลเกม DOTA เป็นซีรีส์ความยาว 8 ตอน ลงฉายใน Netflix 25 มีนาคมนี้ เนื่อเรื่องพูดถึง Davion อัศวินมังกรชื่อดังที่อุทิศตนเพื่อขจัดความหายนะให้หมดไปจากโลก ต้องเผชิญกับสิ่งมีชีวิตทรงพลัง และยังมีภารกิจลับของ Princess Mirana ทำให้ Davion ต้องเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะจินตนาการได้
Dragon’s Blood สร้างโดย Studio MIR ที่สร้าง The Legend of Korra และ Voltron: Legendary Defender ใน Netflix และการทำเกมให้เป็นหนังและซีรีส์ก็เริ่มมีให้เห็นเรื่อยๆ Riot Games ก็กำลังสร้างแอนิเมชั่น Arcane จากเกม League of Legends ที่คาดว่าจะลงฉายในปีนี้
ที่มา - The Verge |
# LastPass ปรับเงื่อนไขการใช้งานฟรี เลือกได้เพียง 1 ประเภทอุปกรณ์ Mobile หรือ Computer
LastPass แอปจัดการรหัสผ่านที่หลายคนนิยมใช้ ประกาศเงื่อนไขการให้บริการสำหรับรุ่นฟรี จากเดิมที่สามารถใช้งานได้ในอุปกรณ์ 2 ประเภท ปรับเหลือเพียง 1 ประเภท มีผลตั้งแต่ 16 มีนาคม 2021 เป็นต้นไป
ประเภทอุปกรณ์ที่ LastPass กำหนด แบ่งเป็น Computer กับ Mobile Device ผู้ใช้งานต้องเลือกว่าจะใช้ LastPass กับอุปกรณ์ประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น เช่น ถ้าเลือก Computer ก็จะใช้งานได้บนแล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ หรือคอมพิวเตอร์คนอื่น แต่จะใช้บนสมาร์ทโฟน แท็บแล็ต สมาร์ทวอทช์ ไม่ได้ (ในทางกลับกัน เหมือนกรณีเลือก Mobile Device)
ทั้งนี้ LastPass จะเลือกประเภทอุปกรณ์ให้ทันทีสำหรับการล็อกอินครั้งแรกตั้งแต่ 16 มีนาคม 2021 ผู้ใช้งานมีโอกาสเลือกสลับประเภทอุปกรณ์ได้ 3 ครั้ง
ที่มา: LastPass ผ่าน 9to5Google |
# 4 ประเด็นความเป็นส่วนตัวควรรู้กับการเล่นแอป Clubhouse
สัปดาห์นี้แอป Clubhouse กลายเป็นแอปยอดฮิตของประเทศไทย โดยวันนี้ห้องที่ตั้งโดยนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการไทยผู้ตั้งกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส มีคนเข้าฟังเต็มความจุ 6,000 คนถึงสองห้อง และช่วงค่ำห้องที่ตั้งโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ก็มีผู้เข้าฟังจนเต็มและมีการเปิดห้องเพิ่มเติมอีกเช่นกัน
แต่ขณะที่ความนิยมในตัวแอปกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนหลายคนอาจจะตัดสินใจหาซื้ออุปกรณ์ iOS เพื่อมาใช้งานแอปนี้โดยเฉพาะ เราควรตระหนักว่าแอป Clubhouse มีแนวทางความเป็นส่วนตัวที่ต่างจากแอปอื่นๆ พอสมควร ผมแนะนำ 4 ประเด็นความเป็นส่วนตัวสำหรับการใช้งาน Clubhouse ที่ควรตระหนัก
บังคับใช้หมายเลขโทรศัพท์ พยายามดึงหมายเลขติดต่อ
Clubhouse ใช้หมายเลขโทรศัพท์มากกว่าบริการสื่อสังคมออนไลน์อย่างอื่นมาก การลงทะเบียนต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น เทียบกับทวิตเตอร์ที่สามารถอีเมลได้ (หากใช้งาน Gmail ยังสามารถใช้ alias ได้ด้วย)
สิ่งที่ทำให้ Clubhouse ต่างจากแอปอื่นอย่างชัดเจนคือระบบการชวนเพื่อนในช่วงนี้ ผู้ที่จะชวนเพื่อนให้เข้าไปใช้งาน Clubhouse ได้จะต้องส่งรายชื่อติดต่อ (contact) ทั้งหมดให้กับ Clubhouse และทาง Clubhouse จะใช้หมายเลขติดต่อนี้แนะนำคนอื่นๆ ที่เข้ามาใช้งานให้เราไป follow อย่างต่อเนื่อง
เปิดเผยการนั่งฟังเฉยๆ
โดยทั่วไปแล้วแพลตฟอร์มต่างๆ มักแนะนำคอนเทนต์ให้เพื่อนหรือผู้ติดตามของเราต่อเมื่อเรา "กระทำ" กับคอนเทนต์ในแพลตฟอร์ม เช่นการกดรีทวีตหรือกดไลค์บนทวิตเตอร์, การคอมเมนต์หรือกดไลค์บนเฟซบุ๊ก หรือ YouTube Live ที่จะรู้ว่าใครดูวิดีโอใดต่อเมื่อแชตในระบบเท่านั้น แต่กรณีของ Clubhouse นั้น การกดเข้าไปร่วมฟังในห้องหนึ่งๆ จะเป็นการเปิดเผยว่าเรากำลังฟังทันที ผู้ที่ follow เราอยู่บน Clubhouse จะเห็นว่าเราอยู่ในห้องใดบน timeline ของแอป รวมถึงผู้ร่วมห้องจะเห็นรายชื่อของผู้ที่ฟังในห้องอยู่ทั้งหมด
ไม่เข้ารหัสหมายเลขผู้ใช้ และหมายเลขห้อง ทำให้อาจถูกดักฟังว่าฟังหรือพูดในห้องใดอยู่
ตัวแอป Clubhouse ใช้แพลตฟอร์ม Agora เพื่อกระจายเสียงไปยังผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้เข้าห้องในแอป ตัวแอปจะเชื่อมต่อตรงไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Agora เช่น qos-america.agoralab.co โดยแพ็กเก็ตที่เชื่อมต่อนั้นไม่เข้ารหัสข้อมูลการเชื่อมต่อ (metadata) ทำให้ผู้ที่สามารถดักฟังการเชื่อมต่อจะเห็นหมายเลขประจำตัวผู้ใช้ และหมายเลขห้องในแอปได้
ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด หากผู้ดักฟังสามารถเข้าฟังห้องเดียวกับเหยื่อที่ถูกดักฟังได้ก็จะรู้ว่าหมายเลขไอพีต้นทางของผู้พูดคือชื่อผู้ใช้ใดในแอป
มีการอัดเสียงเก็บไว้
Clubhouse ประกาศในนโยบายความเป็นส่วนตัวระบุว่าบริษัทจะเก็บเสียงของแต่ละห้องไว้ชั่วคราว เพื่อสอบสวนในกรณีที่มีการร้องเรียน โดยทั่วไปแล้วไฟล์เสียงของแต่ละห้องจะถูกลบเมื่อห้องปิดตัวลงและไม่มีการร้องเรียนใดๆ แต่หากมีการร้องเรียนในห้อง ทางแอปก็จะเก็บไฟล์เสียงไว้จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น
ข้อจำกัดเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับคนจำนวนมาก (หลายคนอาจจะอัพโหลดรายชื่อติดต่อในทุกแอปแชตอยู่แล้ว) แต่ก็ควรตระหนักว่าแอปยังไม่มีตัวเลือกความเป็นส่วนตัวที่ละเอียดเท่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ในกรณีที่มีการพูดคุยในเรื่องอ่อนไหวก็ควรตระหนักว่าแพลตฟอร์มยังมีประเด็นความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่ควรปรับปรุงอีกหลายจุด |
# Chevrolet เปิดตัว Bolt EV ใหม่ 2 รุ่น พร้อมตั้งเป้าเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 30 รุ่นใน 4 ปี
General Motors บริษัทแม่ของ Chevrolet เดินหน้าเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่อีก 2 รุ่น คือ Bolt EV และ Bolt EUV โดยทั้งสองรุ่นนี้มีความคล้ายกันหลายจุด แต่ก็มีจุดขายที่แตกต่างกันชัดเจน
Bolt EUV เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบครอสโอเวอร์ ซึ่งตัวย่อ EUV เป็นตัวย่อที่ GM ตั้งขึ้นมาเองจาก electric utility vehicle หรือรถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์ โดย Bolt EUV มีฐานล้อยาวกว่า Bolt EV ราว 3 นิ้ว และตัวรถยาวกว่า ทำให้ผู้โดยสารตอนหลังนั่งสบายขึ้น
GM ระบุว่า Bolt EUV สามารถวิ่งได้ระยะทาง 250 ไมล์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง หรือราว 402 กิโลเมตร ระบบชาร์จสามารถเลือกได้ทั้ง 120 และ 240 โวลท์
Chevrolet Bolt EUV
ส่วน Bolt EV เป็นภาคต่อของรถรุ่นนี้ที่เปิดตัวครั้งแรกกว่าสี่ปีที่แล้ว มาในทรงแฮตช์แบ็ค โดยแพลตฟอร์มยังคงเดิม เปลี่ยนแค่ฟีเจอร์และหน้าตา ด้านแบตเตอรี่มีความจุ 65 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้รถวิ่งได้ราว 259 ไมล์ หรือราว 416 กิโลเมตร ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ตัวเดียว มีกำลัง 200 แรงม้า แรงบิด 360 นิวตันเมตร
Chevrolet Bolt EV
ด้านระบบช่วยขับ ลูกค้าที่ซื้อ Bolt EUV สามารถซื้อระบบ Super Cruise เพิ่มได้ ซึ่งเป็นระบบช่วยขับที่รักษารถให้อยู่ในเลน โดยโฆษณาว่าไม่ต้องจับพวงมาลัย และเปลี่ยนเลนได้เองเมื่อคนขับเปิดไฟเลี้ยว
Bolt EV มีราคาเริ่มต้น 31,995 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 958,000 บาท ส่วน Bolt EUV ราคาเริ่มต้นที่ 33,995 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.02 ล้านบาท
ทั้ง Bolt EV และ Bolt EUV เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่นใน 30 รุ่นที่ GM ตั้งเป้าจะเปิดตัวภายใน 4 ปีข้างหน้า
ที่มา - TechCrunch
ภาพทั้งหมดโดย GM |
# ผู้สร้าง Silent Hill ยั่วน้ำลายโปรเจกต์เกมใหม่ด้วยคอนเซปต์อาร์ตสุดสยอง
Keiichiro Toyama ผู้สร้างเกม Silent Hill ภาคแรก, เกมตระกูล Siren และ Gravity Rush เปิดเผยตัวอย่างภาพคอนเซปต์อาร์ตบางส่วนของเกมสยองขวัญเกมใหม่ของ Bokeh Game Studio ที่เขาก่อตั้งหลังออกจาก SCE Japan ในวิดีโอโปรโมตสตูดิโอตัวล่าสุด
เขากล่าวถึงตีมเกมใหม่นี้ ว่าจะเป็นการนำชีวิตประจำวันทั่วไปมาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เขย่าขวัญ และทำให้ผู้เล่นตั้งคำถามกับชีวิตประจำวันที่แสนสงบสุข แทนที่จะเป็นอะไรที่แค่น่ากลัวเฉยๆ
ตัวเกมยังได้รับแรงบันดาลใจจากแนว ‘death game’ หรือเกมชี้เป็นชี้ตาย แบบในภาพยนตร์ญี่ปุ่นหลายๆ เรื่อง หรือภาพยนตร์ 13 เกมสยองในบ้านเรา เพราะเป็นสถานการณ์ที่เอาคนธรรมดาทั่วๆ ไป เข้าไปเผชิญกับเหตุการณ์ที่สุดขั้ว โดยต้องจัดการทั้งกับอารมณ์ของตัวเอง และสถานการณ์แอ็กชั่นหรือดราม่าที่อยู่ตรงหน้าไปพร้อมๆ กัน
Toyama เคยให้สัมภาษณ์กับ IGN Japan ก่อนหน้านี้ ว่ากำลังทำเกมสยองขวัญกึ่งแอ็กชั่นผจญภัย เตรียมวางจำหน่ายในปี 2023 ซึ่งก็น่าจะเป็นเกมนี้ ในบทสัมภาษณ์ระบุว่าตัวเกมจะลงพีซีเป็นหลัก แต่เขาก็ยืนยันว่าเขาจะพยายามนำเกมนี้ไปลงให้ได้หลายแพลตฟอร์มมากที่สุด แฟนๆ เกมสยองขวัญคงต้องตามลุ้นกันต่อไป ว่าตัวเกมจะออกมาเป็นเกมแบบไหน และเล่นได้บนเครื่องไหนบ้าง
ที่มา - Bokeh Studio |
# Pat Gelsinger ซีอีโอใหม่อินเทลรับตำแหน่งแล้ว กลับคืนอินเทลหลังเว้นไป 11 ปี
Pat Gelsinger ซีอีโอใหม่ของอินเทลเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (15 ก.พ. ตามเวลาสหรัฐ) เขาถือเป็นซีอีโอคนที่ 8 ของอินเทล แถมยังเคยเป็นลูกหม้อของอินเทล ทำงานที่นี่มานาน 30 ปี ก่อนย้ายไปรับตำแหน่งบริหารที่ EMC และซีอีโอของ VMware
เขากล่าวในโอกาสรับตำแหน่งซีอีโอว่า อินเทลคือไอคอนของวงการไอที ในฐานะที่เขาเป็นนักเทคโนโลยี เป็น geek เต็มตัว เขาก็ตื่นเต้นที่ได้มากุมบังเหียนของบริษัทนี้เพื่อพาบริษัทก้าวสู่ยุคใหม่
Pat Gelsinger เริ่มงานที่อินเทลตอนอายุ 18 ในตำแหน่ง quality control technician แล้วเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าระหว่างทำงานกับอินเทล เขาอยู่ในทีมออกแบบซีพียู 386 และ 486 อีกทั้งเคยเป็น CTO คนแรกของบริษัทด้วย ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือ Vice President ของ Digital Enterprise Group ต่อสู้กับ AMD Opteron ในตลาดเซิร์ฟเวอร์ แล้วลาออกไปอยู่กับ EMC ในปี 2009 เท่ากับว่าห่างหายจากอินเทลไปนานประมาณ 11 ปี
Pat เดินเข้าตึกสำนักงานใหญ่ของอินเทลวันแรก ชื่อตึกตั้งตาม Robert Noyce ซีอีโอคนแรกของอินเทล
ที่มา - Intel |
# พบเว็บขายรีวิวสินค้าแบบปลอมๆ บน Amazon เขียนรีวิวเชิงบวกแลกเงินและของฟรี
Which? บริการข้อมูลและตรวจสอบสินค้าในอังกฤษเผยว่า ตอนนี้มีเว็บไซต์ขายรีวิวสินค้าที่ขายบน Amazon แบบปลอมๆ ร่วม 10 แห่ง โดยขายรีวิวละ 5 ปอนด์ ให้เขียนรีวิวสินค้าออกไปในทางบวก แลกกับเงินและสินค้าฟรีต่างๆ ด้านโฆษก Amazon บอกว่า ทางบริษัทได้ดำเนินการกำจัดการรีวิวสินค้าแบบปลอมๆ และจะจัดการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
Natalie Hitchins หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์และบริการ Which? เรียกร้องให้หน่วยงานการแข่งขันและการตลาดในอังกฤษ หรือ CMA เข้ามาตรวจสอบกรณีรีวิวปลอม เพราะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม กระตุ้นรัฐบาลเร่งเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์อย่างเร่งด่วน
Hitchins บอกด้วยว่า พฤติกรรมนี้พบเจอได้ตาม Facebook Groups ด้วย ผู้ขายสร้างกลุ่มใน Facebook เพื่อรวบรวมคนมารีวิวสินค้าให้ปลอมๆ หลังจากนั้น Facebook และ eBay ได่ร่วมเซ็นสัญญากับ CMA เพื่อทำการตรวจสอบและตอบสนองต่อรีวิวปลอมให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ ก็ต้องเร่งสร้างมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรีวิวปลอมๆ เช่นนี้
ภาพตู้ขนสินค้า Amazon
ที่มา - BBC |
# Samsung รุ่นเรือธงปี 2020 อัพเดตแพทช์ความปลอดภัยไวพอๆ กับ Pixel 5/4/4a 5G
Android Police ทำบทความให้คะแนนการอัพเดตแพทช์ความปลอดภัยของมือถือแอนดรอยด์รุ่นเรือธง 18 รุ่น โดยดูจากดีเลย์หลังจากที่แพทช์ออก และเดือนที่มือถือรุ่นนั้นข้ามอัพเดตไป มือถือที่ไม่ข้ามอัพเดต และมีดีเลย์น้อยที่สุดได้ 10 คะแนนเต็ม หลังจากนั้นคะแนนลดหลั่นจาก 10 ถึง 0 ซึ่ง Pixel 5/4/4a 5G ได้คะแนนเต็ม 10 เป็นลำดับแรกตามความคาดหมาย
ที่น่าสนใจคือมือถือรุ่นเรือธงในปีก่อนของ Samsung อย่าง Galaxy S20, Galaxy Note 20 Ultra หรือแม้แต่ S20 FE ที่เป็นเรือธงราคาประหยัด ก็ได้คะแนนอัพเดตเต็ม 10 เท่ากับ Pixel เช่นกัน แถม Galaxy S20 ยังได้อัพเดตแพทช์ความปลอดภัยเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน ก่อน Pixel 4 จะได้อัพเดตซะอีก และได้อัพเดตแพทช์เดือนกรกฎาคม ตั้งแต่ในเดือนมิถุนายนเช่นกัน
อันดับรองลงมาเป็น Sony Xperia 1 II ได้ไป 7.5 คะแนน ข้ามอัพเดตไปเพียงเดือนเดียว หลังอัพเดตเป็นแอนดรอยด์ 11 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ใช้แพทช์ความปลอดภัยของเดือนธันวาคม ส่วนดีเลย์การอัพเดตเฉลี่ย อยู่ที่ 17 วัน
OnePlus 7 Pro และ 7T Pro และ ROG Phone 2 รั้งสามอันดับสุดท้าย OnePlus ได้ 2.5 คะแนนทั้งสองรุ่น 7 Pro ข้ามการอัพเดตไปแล้ว 9 เดือน ดีเลย์เฉลี่ย 29 วัน 7T Pro ข้ามไป 7 เดือน ดีเลย์เฉลี่ย 33 วัน ส่วน ROG Phone 2 ได้ 0 คะแนน ข้ามอัพเดตไปแล้วกว่า 10 เดือน และดีเลย์ถึง 44 วัน
ที่มา - Android Police |
# Valheim เกมเอาตัวรอดในแดนไวกิ้ง ขายได้ 2 ล้านก็อปปี้ ภายในไม่ถึงสองสัปดาห์
Valheim เกมเอาตัวรอดในแดนไวกิ้งที่กำลังมาแรง ทำยอดขายไปได้กว่า 2 ล้านชุดแล้ว แม้เกมยังเป็น Eary Access เท่านั้น
ล่าสุดทีมพัฒนา Iron Gate Studio ออกมาโพสต์ฉลองยอดขาย 2 ล้านก็อปปี้บน Steam พร้อมแสดงความขอบคุณแฟนๆ เกม และเตรียมเผยแผนการอัพเดตต่อไปเร็วๆ นี้
ตามสถิติของ Steam Charts Valheim มีผู้เล่นสูงสุดพร้อมกันราว 390,000 คน เป็นอันดับสองบน Steam (เป็นรองเพียง CS:GO เท่านั้น) ถือเป็นเกมอินดี้ใน Early Access ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้ไม่ได้มีกราฟฟิกสุดยอดหรือมีงบการตลาดมหาศาลแบบเกม AAA แต่ขายได้ด้วยการบอกเล่าปากต่อปาก และความสนุกของตัวเกมเอง
ที่มา - Eurogamer |
# กูเกิลปล่อย TensorFlow 3D ปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับวัตถุจากภาพสามมิติ
ทีม Google Research ปล่อยโครงการ TensorFlow 3D (TF 3D) โมเดลปัญญาประดิษฐ์สำหรับตรวจจับวัตถุสามมิติโดยเฉพาะ สำหรับใช้งานจากข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์สามมิติไม่ว่าจะเป็นโมดูล LIDAR หรือกล้องสามมิติก็ตาม
TF 3D มีโมเดลสำหรับแยกส่วนวัตถุจากข้อมูลสามมิติ (segmentation) และตรวจจับวัตถุ (object detection) การตรวจจับวัตถุจะได้เอาต์พุตเป็นกล่องสามมิติ สามารถบอกจุดศูนย์กลางและทิศทางที่วัตถุหันอยู่ได้
ตัวโครงการพัฒนาบน TensorFlow 2 รองรับชุดข้อมูล Waymo Open (สแกนถนน), ScanNet (ในอาคาร), และ Rio สำหรับการฝึก
ที่มา - Google AI Blog |
# Let's Encrypt ปรับระบบให้พร้อม หากต้องออกใบรับรองใหม่ 200 ล้านฉบับภายใน 24 ชม.
เราเห็นปัญหาความปลอดภัยของระบบใบรับรองดิจิทัลบ่อยขึ้นเรื่อยๆ (อ่านในแท็ก Digital Certificate) แม้แต่ผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง Let's Encrypt ก็เคยเจอปัญหาบั๊กในระบบ จนต้องออกใบรับรองใหม่ 3 ล้านฉบับเมื่อต้นปี 2020
Let's Encrypt บอกว่าปกติแล้วออกใบรับรองใหม่วันละ 2 ล้านฉบับ ออกใบรับรองไปเกิน 1 พันล้านฉบับแล้ว (ตัวเลขเมื่อต้นปี 2020) ถ้านับเฉพาะใบรับรองที่ยังไม่หมดอายุและใช้งานอยู่จริง มีอยู่ราว 150 ล้านฉบับ
แต่จากกรณีบั๊กข้างต้น ทำให้ต้องออกใบรับรองใหม่ 3 ล้านใบโดยด่วน ทำให้ Let's Encrypt ประเมินว่าอาจเกิดเหตุแบบนี้ได้เสมอ และกรณีเลวร้ายที่สุดคือต้องออกใบรับรองใหม่ทั้งหมด (ตีว่า 200 ล้านฉบับ) ภายในกรอบเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้ Let's Encrypt เริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์แบบนี้
พอกำหนดสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น Let's Encrypt ก็ประเมินความสามารถของระบบ และพบคอขวด 4 จุดคือ
ฐานข้อมูล ซึ่งมีพฤติกรรมเขียนข้อมูลหนักมาก (write heavy) ระบบเดิมเป็นฐานข้อมูลเดี่ยว ไม่ใช้คลัสเตอร์ ข้อดีคือไม่ซับซ้อน ดูแลรักษาง่าย แต่ก็เป็นคอขวดเช่นกัน ทางแก้เบื้องต้นคืออัพเกรดเครื่องให้แรงขึ้น ระบบเดิมใช้ Xeon E5-2650 แรม 1TB ระบบใหม่เปลี่ยนมาใช้ EPYC 7542 เพิ่มแรมเป็น 2TB นอกจากแรงขึ้นแล้วยังมีจุดเด่นที่มีเลน PCIe มากกว่า อัดไดรฟ์ NVMe เข้าไปได้ 24 ตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ I/O
เครือข่ายภายใน ของเดิมเป็นการผสมผสานระหว่างสวิตช์พอร์ต 10G จำนวนจำกัด กับพอร์ต 2G/1G ของเดิม ซึ่งพอใช้มาตลอดจนถึงปี 2020 เลยตัดสินใจอัพเกรดเป็น 25G fiber เลย โดยได้รับบริจาคอุปกรณ์จาก Cisco ด้วย
เครื่องเข้ารหัส cryptographic signing module (HSM) ของเดิมใช้เครื่อง Luna HSM ของบริษัทความปลอดภัย Thales รุ่นเก่า มีสมรรถนะ 1,100 signing operations ต่อวินาที รวมทุกเครื่องแล้วทำได้ 190 ล้านครั้งต่อ 24 ชั่วโมง (ถ้าต้องการออกใบรับรอง 200 ล้านฉบับ ต้องทำได้ 600 ล้านครั้ง) เรื่องนี้ Thales บริจาคเครื่อง Luna รุ่นใหม่ประสิทธิภาพดีขึ้น 10 เท่า ทำได้ 10,000 ครั้งต่อวินาที รวมแล้ว 864 ล้านครั้งต่อ 24 ชั่วโมง เพียงพอต่อความต้องการ
แบนด์วิดท์ การออกใบรับรองใช้แบนด์วิดท์ไม่เยอะ แต่จำเป็นต้องดึงข้อมูลการกู้คืนระบบ (system recovery) และไฟล์ log จำนวนมหาศาลเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบ ทำให้ Let's Encrypt ต้องเพิ่มแบนด์วิดท์ในศูนย์ข้อมูลของตัวเอง โดย Fortinet บริจาคฮาร์ดแวร์ช่วยป้องกันและจัดการการเชื่อมต่อ
หน้าตาเครื่อง Luna HSM
Let's Encrypt บอกว่าระบบพื้นฐานค่อนข้างพร้อมแล้ว ขั้นต่อไปคือพัฒนาระบบแจ้งเตือนให้เปลี่ยนใบรับรอง ซึ่งปกติแล้ว ไคลเอนต์เป็นฝ่ายสื่อสารขอใบรับรองฉบับใหม่ (เมื่ออายุเหลือ 1/3) ผ่านโปรโตคอล Automated Certificate Management Environment (ACME) แต่กลับไม่มีระบบให้ฝั่งผู้ออกใบรับรองแจ้งเตือนไปยังไคลเอนต์
สิ่งที่ Let's Encrypt ทำคือเสนอสเปกส่วนขยายของการแจ้งเตือนไปยัง ACME เพื่อให้เป็นมาตรฐานของวงการต่อไป
ที่มา - Let's Encrypt via The Register |
# Apple ประกาศซ่อม Apple Watch Series 5 และ SE ที่ชาร์จไฟไม่เข้า อัพเดต watchOS 7.3.1 ไม่ได้ ให้ฟรี
ในอัพเดต watchOS 7.3.1 ที่ออกมาวันนี้ สำหรับ Apple Watch Series 5 และ Apple Watch SE โดยเฉพาะ แอปเปิลบอกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่นาฬิกาสองรุ่นนี้ชาร์จไฟไม่ได้ หากเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน (Power Reserve) ก็อาจมีข้อสงสัยว่าถ้า Apple Watch เข้าสู่โหมดดังกล่าว และชาร์จไฟไม่ได้จริง ๆ จนเกิดปัญหาอัพเดตไม่ได้ จะทำอย่างไร
แอปเปิลระบุในหน้าสนับสนุนว่า มีผู้ใช้ Apple Watch Series 5 และ Apple Watch SE ที่ใช้ watchOS 7.2 หรือ 7.3 กลุ่มเล็ก ๆ ที่เจอปัญหานี้ โดยสามารถตรวจสอบว่า Apple Watch ที่ใช้พบปัญหานี้ด้วยหรือไม่ ให้วางนาฬิกาบนที่ชาร์จ จากนั้นรออย่างน้อย 30 นาที
หากผ่านไป 30 นาที นาฬิกายังไม่ชาร์จ แอปเปิลแนะนำให้ติดต่อฝ่ายช่วยเหลือของแอปเปิล เพื่อส่งซ่อมแบบไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ใช้งานยังไม่เจอปัญหานี้ก็ให้อัพเดตเป็น watchOS 7.3.1 ที่ป้องกันปัญหานี้แล้ว
ที่มา: MacRumors |
# Edge Computing ของแท้ HPE ส่งเซิร์ฟเวอร์รุ่นใหม่ขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติ
HPE เคยจับมือกับ NASA ส่งคอมพิวเตอร์ขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อปี 2017 ใช้ชื่อโครงการว่า Spaceborne Computer มีกำหนดทดสอบเป็นเวลา 1 ปี เพื่อดูว่าคอมพิวเตอร์ใช้งานบนอวกาศได้ดีแค่ไหน
ปีนี้ HPE สานต่อด้วยโครงการ Spaceborne Computer-2 (SBC-2) ส่งเซิร์ฟเวอร์รุ่นใหม่ขึ้น ISS อีกรอบ รอบนี้จะอยู่นาน 2-3 ปี ตัวระบบเป็นเครื่องรุ่น HPE Edgeline Converged Edge EL4000 และ HPE ProLiant DL360
HPE บอกว่านี่เป็นตัวอย่างของ edge computing ของจริง (ประมวลผลที่สุดขอบฟ้า) งานที่ประมวลผลคือนำข้อมูลจากดาวเทียม กล้อง เซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เซิร์ฟเวอร์ตัวนี้มี GPU ช่วยเร่งการประมวลผลภาพความละเอียดสูง ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศมีระยะเวลารอภาพสั้นลง
เครื่อง SBC-2 มีกำหนดยิงขึ้นฟ้าพร้อมจรวดภารกิจ NG-15 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2021
ที่มา - HPE |
# Parler แอปโซเชียลฝ่ายขวากลับมาออนไลน์หลังโดนปิดไปเป็นเดือน ส่วนแอปยังไม่กลับมา
Parler แพลตฟอร์มโซเชียลที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดนแบนจากแอปเปิล, กูเกิล และ AWS ทำให้เว็บไซต์ถูกปิดด้วย เพราะสืบพบว่า ม็อบบุกรัฐสภาสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งใช้ Parler ไว้สื่อสารกันเรื่องการโจมตี รวมถึงมีเนื้อหารุนแรง ไร้ระบบคัดกรอง
ล่าสุด Parler กลับมาออนไลน์แล้ว และได้แหล่งโฮสต์เว็บใหม่คือ Epik ซึ่งเว็บไซต์ฝ่ายขวามักไปจดทะเบียนใช้งานกัน นอกจากนี้ Parler ยังได้ซีอีโอใหม่คือ Mark Meckle ผู้ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกไปทางขวาจัด Tea Party Patriots
บัญชีผู้ใช้งานเก่า ได้รับการกู้คืน แต่เนื้อหาส่วนใหญ่หายไป โดย Parler อธิบายตัวเองว่าไม่มีความเกี่ยวข้องทางการเมือง แต่ด้วยระบบที่ไม่มีการคัดกรองเนื้อหา ทำให้ Parler ได้รับความนิยมในกลุ่มอนุรักษ์นิยม และคนที่ถูกแบนจากระบบคัดกรองของ Facebook, Twitter เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ Parler ก็ยังคงไม่มั่นคง เพราะแอปพลิเคชั่นยังไม่กลับมา กูเกิลและแอปเปิลยังแบนแอปนี้ต่อไป และแม้ Parler จะฟ้อง AWS ข้อหาผูกขาด แต่ศาลก็ปัดตกคำฟ้องไปแล้ว
ที่มา - The Verge |
# Overcooked All You Can Eat เปิดให้เล่นบน Switch, PlayStation 4, Xbox One และ Steam 23 มี.ค.
Overcooked All You Can Eat ที่รวมเอาเกมทั้งสองภาค Overcooked และ Overcooked 2 เข้ามาไว้ในแพ็กเกจเดียวกัน จะเปิดให้เล่นบนแพลตฟอร์มอื่นเพิ่มเติมหลังจากเปิดให้เล่นใน PlayStation 5 และ Xbox Series X แล้วคือ Switch, PlayStation 4, Xbox One และ Steam เปิดให้เล่น 23 มีนาคมนี้
Overcooked All You Can Eat ยังมาพร้อมความละเอียด 4K, รองรับการเล่นวิดีโอแบบ 60 fps, ระยะเวลาดาวน์โหลดไวขึ้น นอกจากนี้ ผู้พัฒนาหรือ Ghost Town Games ยังบอกด้วยว่า Overcooked All You Can Eat จะรองรับการเล่นแบบมัลติเพลเยอร์ได้ด้วยในทุกแพลตฟอร์ม
ที่มา - The Verge |
# Apple ออกอัพเดต watchOS 7.3.1 แก้ปัญหาชาร์จไฟเฉพาะ Apple Watch Series 5 และ Apple Watch SE
ในวันนี้แอปเปิลได้ออกอัพเดตย่อย watchOS 7.3.1 ระบบปฏิบัติการสำหรับ Apple Watch ซึ่งเป็นอัพเดตถัดจาก watchOS 7.3 ที่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว อัพเดตนี้มีผลเฉพาะกับ Apple Watch Series 5 และ Apple Watch SE เท่านั้น
ในอัพเดตนี้แอปเปิลระบุว่าได้แก้ไขปัญหาที่ทำให้ Apple Watch Series 5 และ Apple Watch SE บางเรือนไม่สามารถชาร์จได้หลังจากเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน (Power Reserve)
ผู้ใช้ Apple Watch ทั้งสองรุ่นดังกล่าว สามารถอัพเดตได้ผ่านแอปบน iPhone ไปที่ General > Software Update โดย Apple Watch ต้องมีแบตเตอรี่อย่างต่ำ 50% และกำลังชาร์จไฟอยู่
ที่มา: MacRumors |
# บริษัท Nothing ของ Carl Pei ซื้อเครื่องหมายการค้า Essential ของ Andy Rubin
Nothing บริษัทใหม่ของ Carl Pei ผู้ร่วมก่อตั้ง OnePlus เข้าซื้อแบรนด์สมาร์ทโฟน Essential จากเจ้าของเก่า Andy Rubin บิดาแห่ง Android ที่ปิดตัวในช่วงต้นปี 2020
9to5google ค้นพบเอกสารการโอนทรัพย์สินทางปัญญา ชื่อแบรนด์ โลโก้ ที่ Nothing ยื่นต่อสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของอังกฤษ กระบวนการเสร็จสิ้นตั้งแต่ 6 มกราคม 2021
ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า Nothing อยากได้แบรนด์ Essential ไปทำไม เพราะตัวแบรนด์ Essential เองก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก
ที่มา - 9to5google |
# RTX 3080 รุ่นโน้ตบุ๊ก ช้ากว่าเดสก์ท็อปราว 40% เพราะอุปสรรคการระบายความร้อน
ผลการทดสอบของการ์ดจอ RTX 3080 ในโน้ตบุ๊กของเว็บไซต์ Notebookcheck แสดงให้เห็นว่า RTX 3080 รุ่นโน้ตบุ๊ก มีประสิทธิภาพต่ำกว่ารุ่นเดสก์ท็อปโดยเฉลี่ยราว 40%
ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องธรรมดาที่การ์ดจอโน้ตบุ๊กจะมีประสิทธิภาพด้อยกว่ารุ่นเดสก์ท็อป เพราะ CUDA core ก็ไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่เมือเปรียบเทียบกับ RTX 2080 บนโน้ตบุ๊กกับเดสก์ท็อป ที่ห่างกันแค่ราว 10% แล้ว ถือว่าช่องว่างเพิ่มขึ้นเยอะพอสมควร
สาเหตุเพิ่มเติมด้านช่องว่างของประสิทธิภาพในเจ็นนี้ อาจมาจากการที่ RTX 3080 รุ่นเดสก์ท็อป ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มอัตราการใช้พลังงาน ไปอยู่ที่ 320W หรือเพิ่มขึ้นกว่า 40% จาก 225W ใน RTX 2080 และเมื่อมีอัตราการใช้พลังงานสูงขึ้น ความร้อนย่อมสูงขึ้นด้วย
ประเด็นนี้กลายมาเป็นอุปสรรคในโน้ตบุ๊กที่ TGP (Total Graphics Power อัตราการใช้พลังงานของทั้งการ์ด) ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ซึ่ง RTX 3080 ยังมี TGP อยู่ที่ 150W เท่านั้น เท่ากับ RTX 2080 และหากจะเพิ่ม TGP ความร้อนก็จะเพิ่มขึ้น และระบบระบายความร้อนที่ต้องเพิ่มตาม อาจทำให้เครื่องหนาและหนักขึ้น ซึ่งไม่น่าเป็นผลดีต่อยอดขาย หลังผู้บริโภคได้ลองสัมผัสความบางเบาของโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่มาพร้อมการ์ดจอตระกูล Max-Q ไปแล้ว
แม้สุดท้ายแล้วประสิทธิภาพของ RTX 3080 บนโน้ตบุ๊กจะเพิ่มขึ้นจาก RTX 2080 บนโน้ตบุ๊กเล็กน้อย แต่ขีดจำกัดในด้านการระบายความร้อน คงเป็นอุปสรรคใหญ่ของการ์ดจอโน้ตบุ๊ก หาก NVIDIA ยังไม่ปรับลดอัตราการใช้พลังงานของการ์ดจอในอนาคต คงต้องติดตามกันต่อไปว่าทั้งผู้ผลิตโน้ตบุ๊ก และ NVIDIA จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
ผลการทดสอบจาก Notebookcheck
ที่มา - Notebookcheck |
# ค่า ping 35 ชั่วโมง นาซ่าส่งคำสั่งไปยังยาน Voyager 2 ได้อีกครั้งหลังอัพเกรดเสาอากาศขนาดใหญ่
นาซ่าส่งคำสั่งรีเซ็ตนาฬิกาภายในของยาน Voyager 2 เป็นอย่างแรกหลังจากไม่สามารถส่งคำสั่งใดๆ ไปยังยานมานานถึง 11 เดือน เนื่องจากเสาอากาศ DSS 43 ในออสเตรเลียปิดปรับปรุงเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์และเพิ่มความแม่นยำในการเคลื่อนตัวเสาอากาศ การอัพเกรดครั้งนี้จานเสาอากาศน้ำหนัก 4,000 ตันต้องเคลื่อนที่ที่ความแม่นยำระดับเส้นผม
ยาน Voyager 2 มีนาฬิกานับถอยหลังอยู่ภายใน โดยหากไม่ได้รับคำสั่งใดๆ จากโลกเป็นระยะเวลาที่กำหนดก็จะปิดตัวเองเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กังวลว่าหากเข้าโหมดนี้ไปแล้วก็อาจจะเรียกให้ยานกลับมาทำงานได้ยาก เสาอากาศ DSS 43 ส่งคำสั่งไปยังยาน Voyager 2 เพื่อยืนยันว่าเสาอากาศบนโลกยังทำงานอยู่และให้ยานรีเซ็ตนาฬิกานับถอยหลังอันนี้ หลังจากส่งคำสั่งไปแล้ว 35 ชั่วโมงก็ได้รับแพ็กเกจ ACK ยืนยันว่ารีเซ็ตนาฬิกาสำเร็จ
ตอนนี้ยาน Voyager 2 อยู่ห่างจากโลก 18,800 ล้านกิโลเมตร และยังเปิดเซ็นเซอร์ให้ส่งค่ากลับมายังโลกอยู่ 5 ตัวจาก 10 ตัวบนยาน ทางนาซ่าวางแผนจะค่อยๆ ปิดเซ็นเซอร์ลงไปเรื่อยๆ เพื่อยืดอายุยานให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่คาดว่าจะไม่สามารถติดต่อยานได้อีกต่อไปในปี 2032
ที่มา - The Register |
# Samsung เปิดตัว Galaxy F62 ในอินเดีย แบต 7,000mAh ราคาเริ่มต้นราว 9,900 บาท
Samsung เปิดตัว Galaxy F62 สมาร์ทโฟน หน้าจอ AMOLED ขนาด 6.7 นิ้ว ความละเอียด FHD+ มาพร้อมชิป Exynos 9825 ผลิตด้วยกรรมวิธี EUV แบบ 7nm ของ Samsung
แรมมีสองขนาด คือ 6GB และ 8GB หน่วยความจำภายในความจุเดียว ที่ 128GB รองรับ microSD card สูงสุด 1TB รองรับ Samsung Pay (NFC) รัน Android 11 ครอบด้วย One UI 3.1 แบตเตอรี่ 7,000mAh และแถมที่ชาร์จ 25W มาในกล่อง
กล้องหลังหลัก 64MP ถ่ายวิดีโอ 4K ได้ เซ็นเซอร์ Sony IMX 682 กล้องอัลตร้าไวด์ 12MP มุมมอง 123 องศา กล้องมาโคร 5MP และ depth sensor 5MP กล้องหน้า 32MP แบบเจาะรู ถ่ายวิดีโอ 4K ได้เช่นกัน
Galaxy F62 เตรียมวางจำหน่ายบนเว็บไซต์ FlipKart ของอินเดีย วันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ มีสามสี Laser Green, Laser Blue และ Laser Grey รุ่น 6GB + 128GB ราคา 23,999 รูปี (ราว 9,900 บาท) รุ่น 8GB + 128GB ราคา 25,999 รูปี (ราว 11,000 บาท)
ที่มา - Samsung |
# AIS ให้ฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์กับคนส่งไปรษณีย์ไทยได้ฟรี ไม่ต้องนำไปทิ้งที่ศูนย์เอง
AIS ทำจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโครงการ AIS E-Waste มาระยะหนึ่งแล้ว โดยให้ทิ้งตามจุด AIS Shop และตามห้างสรรพสินค้า ล่าสุด AIS ขยายช่องทางทิ้งขยะ ร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย ให้คนส่งเป็นพัสดุมาทิ้งได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย
ขั้นตอนคือ เตรียม E-Waste ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, สายชาร์จ, หูฟัง, พาวเวอร์แบงก์ และแบตเตอรี่มือถือ นำใส่กล่อง พร้อมเขียนหน้ากล่อง “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” จากนั้น ฝากทิ้ง กับพี่ไปรษณีย์ ที่มาส่งจดหมายหรือพัสดุ ที่บ้านได้เลย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ที่มา - ข่าวประชาสัมพันธ์ |
# กูเกิลบริจาคเงิน Python เพิ่มความปลอดภัย PyPI ป้องกันปัญหา Supply-Chain Attack
กูเกิลเป็นผู้สนับสนุนมูลนิธิ Python Software Foundation (PSF) มานาน 11 ปี (ล่าสุดเพิ่งอัพเกรดเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ที่สุด ที่เรียกระดับ Visionary Sponsors) ล่าสุดกูเกิลประกาศสนับสนุนเงินเพิ่มอีก 350,000 ดอลลาร์เป็นพิเศษสำหรับเรื่อง supply-chain security ที่กำลังเป็นประเด็นหลังกรณีแฮ็ก SolarWinds
เงินก้อนนี้จะถูกนำไปใช้
ตรวจจับมัลแวร์ใน PyPI (Python Package Index) ระบบข้อมูลแพ็กเกจในโลก Python
ปรับปรุงเครื่องมือและบริการพื้นฐานของ Python
จ้างนักพัฒนาฟูลไทม์ 1 คนเข้ามาช่วยพัฒนา CPython (Python เวอร์ชันหลักที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน)
ประเด็นปัญหา supply-chain attack ถูกมองว่าสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะแฮ็กเกอร์หันมาเจาะที่ไลบรารีพื้นฐานที่คนใช้กันเยอะ แต่คนดูแลน้อย กลายเป็นช่องโหว่ความปลอดภัยที่ป้องกันยาก ก่อนหน้านี้เพิ่งมีข่าวนักวิจัยความปลอดภัยลองสร้างไลบรารีปลอม แล้วพบว่ามีบริษัทใหญ่ๆ ดาวน์โหลดไปใช้เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นช่องโหว่สำคัญของ supply-chain attack ที่ไม่มีใครมีหน้าที่ตรวจสอบตรงนี้มากนัก
นอกจากประเด็นความปลอดภัยแล้ว กูเกิลยังบริจาคเครื่องในระบบ Google Cloud ให้มูลนิธิ PSF ใช้งานฟรี และรับอาสาโฮสต์สถิติของแพ็กเกจ PyPI บน Google Cloud Public Database ด้วย
ที่มา - Google |
# เกลือเป็นหนอน แอดมินบริการอีเมล Yandex ขายล็อกอินผู้ใช้ให้คนนอก กระทบผู้ใช้ 4,887 คน
Yandex.Mail บริการอีเมลฟรีที่ได้รับความนิยมในรัสเซียประกาศว่าทีมความปลอดภัยภายในพบการเข้าถึงอีเมลผู้ใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อสอบสวนไปจึงพบว่าผู้ดูแลระบบระดับสูงคนหนึ่งขายสิทธิ์การเข้าถึงอีเมลของผู้ใช้ ผลทำให้มีอีเมลถึง 4,887 บัญชีถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทาง Yandex ระบุว่าแอดมินผู้นี้เป็นแอดมินระดับสูงที่มีสิทธิ์เข้าถึงอีเมลผู้ใช้เพื่อซัพพอร์ตลูกค้า และแอดมินที่มีสิทธิ์ระดับนี้มีเพียง 3 คนเท่านั้น หลังจากพบเหตุครั้งนี้ทางบริษัทจะเปลี่ยนกระบวนการที่แอดมินเข้าถึงข้อมูลลูกค้าเพื่อลดความเสี่ยงของเหตุการณ์แบบนี้ในอนาคต
บริษัทระบุว่าติดต่อผู้ใช้ที่ถูกเข้าถึงอีเมลโดยไม่ได้รับอนุญาตเรียบร้อยแล้ว และแจ้งให้ผู้ใช้ทั้งหมดเปลี่ยนรหัสผ่าน
ที่มา - Yandex
ภาพสำนักงานใหญ่ Yandex ในกรุงมอสโควเมื่อปี 2019 โดย WikiFido |
# กลัวซ้ำรอย? Nissan ปฏิเสธไม่ได้คุยกับ Apple เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า หลังมีข่าวลือว่า Apple เข้าหา
ไม่นานหลัง Financial Times ให้ข้อมูลวงในว่า Apple เข้าหา Nissan เพื่อเจรจาการพัฒนาโปรเจ็ครถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับร่วมกัน ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
ล่าสุด Nissan ออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าวแล้วว่าไม่ได้กำลังเจรจากับ Apple แต่ก็เปิดรับความร่วมมือและการเป็นพาร์ทเนอร์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมร่วมกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น Nissan อาจออกมาปฏิเสธกับสื่อเพื่อป้องกันปัญหากับ Apple ที่ต้องการเก็บทุกอย่างเอาไว้เป็นความลับ หลังก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่า Hyundai กำลังเจรจากับ Apple ก่อนที่ทาง Hyundai จะยอมรับเอง และในท้ายที่สุดก็ถูก Apple สั่งเบรค
ที่มา - Reuters |
# หลุดแกะกล่อง DJI FPV Combo โดรนตัวแรกของ DJI มาพร้อมแว่น First-person view
แชนแนลยูทูบ SpiderMonkey FPV โพสต์วิดีโอที่มีลายน้ำของเว็บไซต์จำหน่ายโดรน Dominion Drones โชว์การแกะกล่อง DJI FPV Combo โดรน FPV หรือโดรนแบบ first-person view ที่มีกล้องเหมือนมุมมองจากสายตามนุษย์ตัวแรกของ DJI หลังมีข่าว DJI เตรียมเปิดตัวโดรนรุ่นนี้ หลุดมาช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
ในคลิปผู้พูดโชว์กล่อง DJI FPV Combo ที่มีสติกเกอร์แปะว่า “NOT FOR SALE” ที่ระบุว่าเป็น display demo ที่ใช้งานได้จริง พร้อมแกะโชว์ตัวโดรน แว่น FPV Goggles เวอร์ชั่น 2 ของ DJI ที่น้ำหนักเบาลง และจอยบังคับโดรน ในข่าวหลุดก่อนหน้า มีข้อมูลว่าโดรนรุ่นนี้ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 93 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่มีการเปิดลองใช้งานจริง
ข่าวเบื้องต้นระบุว่า DJI อาจเปิดตัวและวางขายโดรนรุ่นนี้ภายในเดือนมีนาคม แต่ก็อาจล่าช้าได้ เพราะเมื่อช่วงเดือนธันวาคม DJI เพิ่งถูกแบนไม่ให้ซื้อชิ้นส่วนจากสหรัฐอเมริกาไป โดยอ้างประเด็นการใช้โดรนที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน
ที่มา - SpiderMonkey FPV via Engadget |
# แล้วของตัวเองล่ะ? ซีอีโอ Huawei ชมอีก บอกแอปเปิลทำสมาร์ทโฟน 5G ที่ดีที่สุดในโลก
Ren Zhengfei ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Huawei เคยให้สัมภาษณ์ยกย่องแอปเปิลไปแล้วครั้งหนึ่งว่าเปรียบเสมือนครู ในแง่ว่าให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของลูกค้า
ล่าสุดเจ้าตัวกล่าวชมแอปเปิลอีกครั้งว่าทำสมาร์ทโฟน 5G ที่ดีที่สุดในโลกออกมา จากการทำความเร็วดาวน์โหลดบน iPhone 12 ได้สูงสุดถึง 1.82Gbps พร้อมบอกว่า Huawei เองก็ช่วยสร้างโครงข่ายที่ดีและเร็วที่สุดในหลายประเทศ โดยผู้ใช้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในยุโรปคือ iPhone และการที่ iPhone ทำความเร็วบนโครงข่ายที่ใช้ Huawei ได้เต็มประสิทธิภาพ ก็เป็นสัญญาณว่า Huawei มาถูกทางและเป็นบทพิสูจน์ถึงคุณภาพของ Huawei ด้วย
ที่มา - Forbes |
# วันหยุดแรกของ Joe Biden เล่นเกมตู้ Mario Kart Arcade GP DX กับหลานสาว
Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐ ใช้เวลาช่วงวันหยุดแรกหลังเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ Camp David สถานที่พักผ่อนประจำตำแหน่ง โดยกิจกรรมวันหยุดที่เขาทำคือ เล่นเกมตู้ Mario Kart Arcade GP DX กับหลานสาว Naomi Biden
Naomi Biden เขียนแคปชั่นในโพสต์ Stories เชิงว่า Joe ดูมีทักษะดี แต่ก็ยังแทบจะเล่นไม่ชนะเธอเท่าไร แสดงให้เห็นว่า Joe Biden อาจเคยเล่น Mario Kart มาก่อน และยังมีตู้เกมขนาดใหญ่อยู่ที่ Camp David ด้วย
ภาพจาก Joe Biden
ที่มา - Kotaku |
# หลุดเครื่องจริง Mi 11 Ultra จากยูทูบเบอร์ชาวฟิลิปปินส์ กล้องซูมได้ 120x มีจอเล็กข้างกล้องหลัง
ดูเหมือนเครื่อง Mi 11 Ultra จะหลุดออกมาก่อนวันวางจำหน่ายจริงซะแล้ว เพราะล่าสุด ยูทูบเบอร์ชาวฟิลิปปิน Tech Buff PH ถึงกับเอาเครื่องมาโชว์ในคลิปแบบเต็มๆ ก่อนจะตั้งคลิปเป็น private ในภายหลัง แต่ XDA Developers ก็อัพคลิปเป็น mirror ไว้
ในคลิป Tech Buff PH นำเครื่อง Mi 11 Ultra รหัส M2102K1G ทั้งสีดำและขาวมาโชว์ ซึ่งรหัสรุ่นนี้ ตรงกับในใบอนุญาตจากหน่วยงาน EEC ของยุโรป ตัวเครื่องมีโมดูลกล้องที่ค่อนข้างใหญ่ กล้องซูมได้ 120x และมีจอเล็กๆ อยู่ด้านข้างของกล้อง ที่คาดว่าใช้สำหรับพรีวิวภาพถ่าย แต่ในคลิปก็ระบุว่าใช้เปิดแอปอื่นๆ ได้เช่นกัน
สเปกด้านอื่น Tech Buff PH ระบุว่าหน้าจอขนาด 6.8 นิ้ว เป็นจอ OLED ความละเอียด WQHD+ รีเฟรชเรตแบบ adaptive สูงสุด 120Hz กล้องหน้าเจาะรู ความละเอียด 20MP ครอบด้วยกระจก Gorilla Glass Victus กันน้ำ IP68 แบต 5,000mAh ชิป Snapdragon 888 ชาร์จ 67W ทั้งมีสายและไร้สาย รวมถึงชาร์จอุปกรณ์อื่นได้แบบ 10W
ที่มา - Tech Buff PH |
# กสทช. ยืนยัน Starlink ต้องขอใบอนุญาตก่อน ถึงให้บริการในประเทศไทยได้
จากกรณี Starlink เปิดจองคิวทั่วโลก (รายละเอียดเรื่องค่าบริการ) ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า Starlink สามารถให้บริการโดยไม่ต้องขอใบอนุญาต
วันนี้ Blognone ได้รับหนังสือจากสำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียม ยืนยันว่าการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม (กรณีนี้คือ Starlink แต่ก็รวมถึงกรณีอื่นๆ ด้วย) จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมก่อน
สำนักงาน กสทช. ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันยังไม่มีผู้มายื่นขอรับใบอนุญาตแต่อย่างใด "มีแต่การขอข้อมูลและปรึกษาการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมต่างชาติ" เท่านั้น
ภาพประกอบจาก Starlink |
# ซีอีโอ VW พูดถึง Apple Car: อุตสาหกรรมรถไม่ใช่เทคโนโลยี ที่แอปเปิลจะยึดได้แค่ข้ามคืน
ประเด็นของแอปเปิล จากช่วงที่ผ่านมาเรื่องการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ ถูกสื่อเยอรมนีนำไปถาม Herbert Diess ซีอีโอของ Volkswagen ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับตรง ๆ ว่าไม่ได้กลัวแอปเปิลหรือรถของแอปเปิลเลย
Diess ให้เหตุผลว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่เหมือนเทคโนโลยี ไม่ว่าแอปเปิลจะมีไพ่อะไรซ่อนอยู่ มันก็ไม่ได้สามารถทำให้แอปเปิลยึดครองอุตสาหกรรมนี้ไปได้ในชั่วข้ามคืน ถึงกระนั้น Diess ก็มองการเข้าสู่อุตสาหกรรมรถของแอปเปิลว่าเป็นอะไรที่เข้าใจได้ เพราะแอปเปิลเชี่ยวชาญทั้งเรื่องแบตเตอรี่, ดีไซน์และซอฟต์แวร์
ที่มา - Engadget |
# ผลทดสอบชิปบน Galaxy S21 Ultra: Exynos 2100 ยังแพ้ Snapdragon 888 อยู่
ประเด็น Exynos vs Snapdragon มีมายาวนานหลายปี กับการที่ผลิตภัณฑ์เดียวกัน ราคาเดียวกัน แต่ผู้ใช้กลับได้ประสิทธิภาพต่างกันจากชิปสองรุ่นที่ใช้ มาปีนี้ Samsung ก็ยังใช้ชิปสองรุ่นเหมือนเดิมคือ Exynos 2100 และ Snapdragon 888 แต่ Samsung หันมาใช้แกนประสิทธิภาพสูง Cortex-X1 บนชิป Exynos 2100 แทนแกนประสิทธิภาพสูงตระกูล Exynos ของซัมซุงเองแบบในรุ่นก่อนๆ แล้ว
ปีนี้ Exynos 2100 ใช้แกน Cortex-X1, Cortex-A78 และ Cortex-A55 และมีจำนวนเท่ากับ Snapdragon 888 คือ 1, 3 และ 4 แกนตามลำดับ มีสัญญาณนาฬิกาสูงสุดของแกน X1 อยู่ที่ 2.91GHz แกน A78 ที่ 2.81GHz, A55 ที่ 2.20GHz ใช้จีพียู Mali G78MP14 ความเร็ว 854MHz และผลิตโดยกระบวนการผลิต 5nm ของ Samsung
ส่วน Snapdragon 888 มีสัญญาณนาฬิกาสูงสุดของแกน X1 อยู่ที่ 2.84GHz แกน A78 ที่ 2.42GHz, A55 ที่ 1.80GHz ใช้จีพียู Adreno 660 ความเร็ว 840MHz และผลิตด้วยกระบวนการผลิต 5nm ของ TSMC
ผลทดสอบจากเว็บไซต์ Anandtech แสดงให้เห็นว่า Snapdragon 888 ยังนำ Exynos อยู่ในหลายๆ ด้าน เพราะแคช L2 บนแกน Cortex-X1 ของ Snapdragon 888 ให้มาถึง 1MB ส่วน Samsung ใส่มาแค่ 512KB และแม้ Samsung จะเพิ่ม system level cache ขึ้น แต่ก็ทำให้ความหน่วง (latency) สูงขึ้น กว่า Exynos 990 เล็กน้อย (136ns จาก 121ns ในรุ่นก่อน)
ผลทดสอบด้านประสิทธิภาพ แม้ Exynos 2100 จะมีประสิทธิภาพด้านการทำงานแบบ single-thread สูงกว่า Exynos 990 ถึง 27% แต่ก็ยังแพ้ Snapdragon 888 อยู่ ในการทดสอบส่วนใหญ่ แถมยังกินไฟมากกว่า รวมถึงร้อน และ throttle ไวกว่า ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมแย่กว่าอีกด้วย แม้ Exynos 2100 จะมีความเร็วสัญญาณนาฬิกาแกน X1 สูงสุด มากกว่า SD888 แต่ Anandtech ก็ถึงกับต้องทำการทดสอบโดยเอาไปใส่ตู้เย็น ถึงจะเร่งความเร็วแซง SD888 ที่ทดสอบโดยวางไว้ใต้พัดลม 40 มิลลิเมตรได้
สัญญาณนาฬิกาของทั้งสองรุ่นในการทดสอบ หมวด Exynos 2100 มีทดสอบใน Freezer ด้วย
ในด้านจีพียูทั้ง Mali-G78 และ Adreno มีปัญหาด้านความร้อน โดยจะสามารถรันที่ความเร็วสูงสุด ด้วย peak power ประมาณ 8-9W ได้เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น ก่อนจะ throttle ลงมาอยู่ที่ประมาณ 3W แต่สุดท้ายแล้วประสิทธิภาพของ Mali-G78 ก็ยังแพ้ Adreno 660 ในการทดสอบส่วนใหญ่อยู่ แม้ Mali-G78 บน Exynos 2100 จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่า Mali-G77 ใน Exynos 990 ถึง 40% ก็ตาม
ส่วนในด้านแบตเตอรี่ S21 Ultra รุ่นที่ใช้ Snapdragon 888 ก็ยังชนะ Exynos 2100 อยู่ โดยรุ่น Snapdragon 888 ใช้งานได้ราว 10 ชั่วโมงครึ่ง บนการทดสอบ PC Mark Work 2.0 ขณะที่รุ่น Exynos 2100 อยู่ได้ราว 9 ชั่วโมง ส่วนในการทดสอบเล่นอินเทอร์เน็ตด้วย WiFi รุ่น Snapdragon 888 อยู่ได้ ราว 15 ชั่วโมง ในขณะที่รุ่น Exynos 2100 อยู่ได้ประมาณ 13 ชั่วโมง
สุดท้ายแล้ว Exynos 2100 แม้จะดีขึ้นกว่า Exynos 990 พอสมควร แต่ก็ยังแพ้ Snapdragon 888 อยู่เหมือนเคย ทั้งในด้านประสิทธิภาพ และการใช้พลังงาน แต่ Anandtech ก็ชี้ให้เห็นว่าชิปทั้งสองรุ่น พบปัญหาด้านความร้อน และ throttling บ่อยมาก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการกดดันของชิป A14 ของ Apple ที่ประสิทธิภาพนำไปไกล ทำให้ทั้ง Snapdragon และ Samsung ต้องอัดฉีดประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นพิเศษ แม้ระบบระบายความร้อนของสมาร์ทโฟน จะยังเป็นแบบเดิมๆ คงต้องติดตามดูกันต่อไปในปีนี้ ว่าการพัฒนาจะเป็นไปในทิศทางใด
ที่มา - Anandtech |
# ส่วนหนึ่งของการปฏิรูปตำรวจ Minneapolis โหวตไม่ให้ตำรวจใช้ระบบจดจำใบหน้า
จากกรณี George Floyd ทำให้สังคมตื่นตัวกับการเหยียดผิวรวมถึงการปฏิรูปวงการตำรวจในสหรัฐฯ ล่าสุด Minneapolis เมืองใหญ่ในรัฐมินนิโซตา ซึ่งเป็นสถานที่ต้นตอของเหตุการณ์ George Floyd โหวตแบนไม่ให้ตำรวจใช้ระบบจดจำใบหน้า สมาชิกสภาเมือง 13 คนลงมติเห็นชอบกับคำสั่งดังกล่าวโดยไม่มีสมาชิกเห็นค้าน
การใช้ระบบจดจำใบหน้าในหน่วยงานตำรวจ ยังมีข้อกังวลเรื่องความโน้มเอียงของระบบ กลุ่มสนับสนุนด้านความเป็นส่วนตัวหลายคนกังวลว่าระบบจดจำใบหน้าที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะไม่เพียงแต่กำหนดเป้าหมายอย่างไม่เป็นสัดส่วนเท่านั้น แต่ยังมีข้อบกพร่องทางเทคนิคโดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายที่ไม่ใช่คนผิวขาว ซึ่งอาจทำให้ปัญหาเหยียดผิวในวงการตำรวจหนักข้อขึ้นไปอีก
ที่ผ่านมา หน่วยงานตำรวจ Minneapolis นั้นมีการใช้งานระบบจดจำใบหน้าของ Clearview AI ที่ขายระบบและข้อมูลใบหน้าให้กับหลายบริษัทในสหรัฐ รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานของตำรวจหลากหลาย
ที่มา - TechCrunch |
# สถานการณ์ในเมียนมาตึงเครียด อินเทอร์เน็ตถูกตัดแทบทั้งประเทศแล้ว
สถานการณ์ในเมียนมาตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ หลังทหารเข้ายึดอำนาจ มีการจับกุมผู้ประท้วงและปิดการใช้งานโซเชียลมีเดียหลายรอบ ล่าสุด กลุ่ม NetBlocks ผู้มอนิเตอร์การใช้งานอินเทอร์เน็ตระบุว่า เมียนมามีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตรอบใหม่ การใช้งานอัมพาตแทบทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูบภาพสตรีมสดตามท้องถนน พบว่าทหารนำรถถังและกองทัพเพื่อควบคุมประชาชนในหลายสาขาอาชีพที่เข้าร่วมประท้วงต่อต้านรัฐประหารมากขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้แก๊สน้ำตา และอาวุธด้วย Tom Andrews ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติกล่าวว่าความพยายามของรัฐบาลทหารในการควบคุมการประท้วงที่กำลังขยายตัวนี้ เป็นสัญญาณของความสิ้นหวังและเป็นการประกาศสงครามกับประชาชนของตน
ภาพจาก Shutterstock
ที่มา - Channel News Asia |
# Google Stadia ประกาศเพิ่ม 100 เกมเข้าแพลตฟอร์ม แม้ปิดสตูดิโอสร้างเกมไปแล้ว
ก่อนหน้านี้กูเกิลประกาศปิดสตูดิโอพัฒนาเกม Stadia Games and Entertainment ทั้ง 2 แห่งในแคนาดาและลอสแองเจลิส แต่แพลตฟอร์ม Stadia ยังต้องดำเนินต่อไป ล่าสุดกูเกิลประกาศจะเพิ่มเกมเข้าแพลตฟอร์ม 100 เกม
ตัวอย่างเช่น FIFA 21 (17 มีนาคม), Judgment (23 เมษายน), Kaze and the Wild Masks (26 มีนาคม), Shantae: Half-Genie Hero Ultimate Edition และ Shantae: Risky's Revenge - Director's Cut (23 กุมภาพันธ์) รวมถึง Killer Queen Black, Street Power Football และ Hellpoint ที่ยังไม่กำหนดวันเปิดให้เล่น
อ่านบทวิเคราะห์ ตลาดเกมไม่ง่าย รวยล้นฟ้าแบบ Google และ Amazon ก็ซื้อความสำเร็จไม่ได้
ที่มา - Engadget, Stadia |
# เตรียมพบปัญหาชิปขาดตลาดต่อไป Renesas หยุดสายการผลิตตรวจสอบหลังเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น
ปัญหาชิปขาดตลาดกำลังลามไปทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการพีซี หรือวงการรถยนต์ และเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ก็อาจจะสร้างผลกระทบอีกขั้นเมื่อบริษัท Renesas Electronics ประกาศหยุดสายการผลิตเพื่อตรวจสอบโรงงาน
Renesas เป็นบริษัทผลิตชิปที่รวมเอาบริษัทผลิตชิปจากฮิตาชิ, มิตซูบิชิ, และเอ็นอีซี ปัจจุบันบริษัทยังเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ รองจาก NXP และ Infineon
ทางบริษัทระบุว่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เบื้องต้นไม่พบความเสียหายในโรงงานแต่ก็ตัดสินใจหยุดเพื่อตรวจสอบ clean room ที่ใช้ผลิตชิปอีกครั้ง และยังไม่แน่ใจว่าจะเดินสายการผลิตได้อีกครั้งเมื่อใด
ที่มา - Renesas, Japan Times
ภาพชิป R-Car V3H ซีพียูสำหรับรถยนต์อัตโนมัติระดับ 2+ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา |
# Datadog เข้าซื้อ Timber Technology บริษัทซอฟต์แวร์เก็บล็อก Vector
Datadog บริษัทแพลตฟอร์มมอนิเตอร์และเก็บข้อมูลความมั่นคงปลอดภัยประกาศเข้าซื้อบริษัท Timber Technologies ผู้พัฒนาโครงการซอฟต์แวร์เก็บล็อก Vector โดยไม่ได้ระบุมูลค่าโครงการ
Vector เป็นระบบจัดเก็บล็อก (collect), เสริมข้อมูล (enrich), แปลงข้อมูล (transform) รูปแบบเดียวกับซอฟต์แวร์ยอดนิยม เช่น Logstash ใน ELK หรือ Fluentd จุดเด่นของโครงการ Vector คือมันพัฒนาด้วยภาษา Rust เพื่อรีดประสิทธิภาพสูงสุดโดยใช้หน่วยความจำน้อย และรองรับรูปแบบการส่งต่อข้อมูลล็อกที่หลากหลาย รวมถึงสามารถคอนฟิกรูปแบบที่ซับซ้อน เช่น ต้องส่งปลายทางอย่างน้อยหนึ่งจุด (at-least-once)
ที่มา - PRNewsWire |
# Clubhouse เตรียมยกระดับความปลอดภัยไม่ให้วิ่งผ่านเซิร์ฟเวอร์ในจีน ป้องกันรัฐบาลจีนสอดแนม
Clubhouse แอปสนทนาแลกเปลี่ยนที่กำลังเป็นที่นิยมกำลังจะเริ่มยกระดับความปลอดภัยขึ้นไปอีกขั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สายลับจากรัฐบาลจีนดักฟังแบบง่าย ๆ
Clubhouse ถือเป็นที่นิยมในจีนมากเพราะคนจีนจำนวนมากยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสิทธิ์ invite เพื่อพูดคุยและหารือประเด็นที่ถูกสั่งห้ามโดยรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฮ่องกงหรือซินเจียง จนช่วงหลังชาวจีนเริ่มพบปัญหาการเข้าใช้งานบ้าง ซึ่งรัฐบาลจีนน่าจะสั่งแบนแอปนี้ไปแล้ว แต่คาดว่าน่าจะยังมีผู้ใช้งานที่แอบใช้แอปนี้อยู่จำนวนหนึ่ง
ตอนนี้ Alpha Exploration ผู้พัฒนา Clubhouse ระบุกับ Stanford Internet Observatory ว่าทางบริษัทจะดำเนินการนโยบายความปลอดภัยที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการบล็อคไม่ให้แอป Clubhouse ส่ง ping ไปยังเซิร์ฟเวอร์ในจีน ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วจะทำให้รัฐบาลจีนสอดแนมกิจกรรมบนแอปได้ยากขึ้น เพราะการวิ่งผ่านเซิร์ฟเวอร์ในจีนทำให้รัฐบาลจีนมีอำนาจตามกฎหมายในการบันทึกและเรียกตรวจสอบการสนทนาที่ต้องการได้
ปัจจุบัน Clubhouse เติบโตและได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังคงนิยมในวงจำกัด ซึ่ง Alpha Exploration ยังต้องพัฒนาระบบเพื่อรองรับการเติบโตของ Clubhouse ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัยหรือแม้แต่ระบบบล็อคที่ยังคงต้องปรับปรุงถ้าในอนาคต Clubhouse มีบนแพลตฟอร์มอื่นและเลิกใช้ระบบ invite ที่อาจจะทำให้ผู้ใช้ทะลักเข้ามาในแพลตฟอร์มนี้อีกจำนวนมาก
ที่มา - Engadget, Stanford Internet Observatory |
# Capcom เผยเบื้องหลังการออกแบบ Lady Dimistrescu แวมไพร์หญิงใน RE: Village
ตัวละครที่สร้างเสียงฮือฮาในวงการเกมช่วงนี้ไม่มีใครเกิน Lady Dimistrescu แวมไพร์หญิงจาก Resident Evil: Village ที่มีความสูงถึง 2.9 เมตร กลายเป็นจุดสนใจให้เธอมีแฟนคลับมากมายแม้เกมยังไม่ออก
Tomonori Takano ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของ RE: Village ให้สัมภาษณ์กับ IGN ถึงเบื้องหลังการออกแบบ Lady Dimistrescu ว่าแนวคิดของเกมภาคนี้คือ "ปราสาทและแวมไพร์" แต่ไม่อยากจำกัดกรอบอยู่ที่แวมไพร์แบบเดิมๆ ที่คุ้นเคยกัน จึงพัฒนาแนวคิด "แวมไพร์แม่มด" (bewitching vampire) ขึ้นมา โดยอิงจากตำนานต่างๆ ทั้งฝั่งตะวันตกและญี่ปุ่น
เขาเล่าว่าซีนแรกที่เขาลองวาดออกมาดูคือ ซีนที่ Lady Dimistrescu ก้มตัวต่ำลอดใต้ประตูแล้วยืนขึ้น ทำให้เห็นว่าเธอสูงเพียงใด ซึ่งสังหรณ์ของเขาก็ไม่พลาด เพราะเทรลเลอร์แรกที่ Lady Dimistrescu ปรากฏตัวมาเพียงแวบเดียว ก็ดังสนั่นอินเทอร์เน็ตทันที
Takano บอกว่าทิศทางใหม่ของเกม Resident Evil หลังภาค 7 เป็นต้นมา คือการวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ของเกมว่ายัง "น่ากลัว" อยู่หรือไม่ หรือว่าเป็นดีไซน์ที่ผลิตออกมาซ้ำๆ จนผู้เล่นรู้สึกเฉยๆ ไม่กลัวอีกต่อไปแล้ว ทีมผู้สร้างจึงต้องเค้นหาตัวร้ายใหม่ๆ ที่ไปไกลกว่าซอมบี้แบบเดิมๆ
เกมมีกำหนดวางขาย 7 พฤษภาคม 2021 โดยลง PS4/PS5, Xbox One/Xbox Series, PC
ที่มา - IGN |
# VLC ฉลองอายุครบ 20 ปี เวอร์ชันหน้า 4.0 จะมี UI แบบใหม่
โปรแกรมดูวิดีโอยอดนิยม VLC มีอายุครบ 20 ปีในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จุดเริ่มต้นของ VLC มาจากฝรั่งเศสในปี 1996 เมื่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัย École Centrale Paris อยากเล่นเกม Duke Nukem 3D แต่ติดปัญหาเรื่องเครือข่ายภายในที่เป็น Token Ring ช้าเกินไป กลุ่มนักศึกษาจึงพัฒนาเทคนิคการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายที่ดีกว่าเดิม
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัททีวีของฝรั่งเศส ที่หาวิธีส่งสัญญาณทีวีผ่านเครือข่ายเช่นกัน (แทนการใช้จานดาวเทียม) ผลจึงออกมาเป็นโครงการ VideoLAN ที่มีระบบเซิร์ฟเวอร์และไคลเอนต์ ที่ภายหลังกลายมาเป็น VLC (VideoLAN Client)
VideoLAN กลายเป็นโอเพนซอร์สในปี 2001 และถูกพัฒนาต่อมาอย่างรวดเร็ว มีฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างระบบ codec ครอบจักรวาลไม่ต้องดาวน์โหลดเพิ่ม, โครงการลูก x264 ตัวเข้ารหัสวิดีโอแบบ H.264
Jean-Baptiste Kempf ที่เข้ามารับช่วงโครงการ VideoLAN ในปี 2005 ตัดสินใจตั้งหน่วยงาน VideoLAN organization มาดูแลโครงการต่อ หารายได้จากเงินบริจาค เขายังตั้งบริษัท Videolabs ที่ไม่เกี่ยวข้องกันแต่ทำงานใกล้ชิดกัน โดยดึงนักพัฒนาหลักๆ ของ VideoLAN เข้ามาเป็นพนักงาน และทำธุรกิจปรับแต่ง VLC ให้อุปกรณ์เซ็ตท็อปยี่ห้อต่างๆ
Kemf ให้สัมภาษณ์กับ Protocol ถึงแผนการของ VLC ในอนาคต ว่า VLC เวอร์ชัน 4.0 ที่จะออกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยจะมี UI แบบใหม่ (ยังไม่เปิดเผยหน้าตา) และรองรับ codec ใหม่ๆ อย่าง AV1/AV2 ที่กำลังเริ่มพัฒนาอยู่
เขายังพูดถึงความเป็นไปได้ว่า VLC อาจมีโมเดลหาเงินแบบอื่นๆ เพิ่มเข้ามา โดยยกตัวอย่างโครงการ Plex ที่เพิ่มช่องสตรีมมิ่งให้ดูฟรีแบบมีโฆษณา และส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาก็กลับเข้ามาช่วยหล่อเลี้ยงให้องค์กรเดินหน้าต่อได้
ที่มา - VideoLAN, Protocol |
# OpenTTD โอเพนซอร์สรีเมคของเกมบริหารจัดการบริษัทขนส่งสุดคลาสสิก, เตรียมลง Steam เมษายนนี้
ทีมผู้พัฒนา OpenTTD เกมซึ่งนับได้ว่าเป็นการรีเมค Transport Tycoon Deluxe เกมบริหารจัดการบริษัทขนส่งสุดคลาสสิกซึ่งวางขายมาตั้งแต่ปี 1995 ประกาศนำเกมลง Steam อย่างเป็นทางการ โดยได้วางแผนจะปล่อยเกมให้เล่นผ่าน Steam ได้ในวันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้ เปลี่ยนจากแนวทางเดิมที่เคยเปิดให้ดาวน์โหลดเกมผ่านหน้าเว็บไซต์ OpenTTD เป็นหลัก
สำหรับเหตุผลในการนำเกมลง Steam นั้น นอกเหนือจากการทำให้ OpenTTD เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้างขึ้นแล้ว ทางทีมพัฒนายังต้องการลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับการแจกจ่ายตัวเกมบนช่องทางที่ไม่เป็นทางการ
เนื่องจากความเป็นโครงการโอเพนซอร์สของ OpenTTD เอง ที่ทำให้ผู้อื่นสามารถนำโค้ดเกมไปแจกจ่ายหรือนำขึ้นสโตร์อื่นๆ ได้ฟรี ทำให้บางสโตร์ที่ทางทีมพัฒนาไม่ได้เป็นผู้อัพโหลดเกมขึ้นไป อาจไม่ได้ถูกอัพเดตเป็นเวอร์ชันล่าสุด และไม่อาจรับประกันได้เลยว่าตัวเกมจะถูกแก้ไขโดยผู้ไม่ประสงค์ดีหรือไม่
ทางทีมจึงตัดสินใจนำ OpenTTD ลง Steam เพื่อเพิ่มช่องทางแจกจ่ายเกมที่เป็นทางการ นับเป็นสโตร์ที่สองที่ทีมงานเป็นผู้รับผิดชอบอัพโหลดเกมด้วยตัวเอง (อีกช่องทางก่อนหน้านี้คือ Microsoft Store)
ภาพสกรีนช็อตจาก Steam
สำหรับผู้ที่ไม่เคยเล่น Transport Tycoon Deluxe เกมเวอร์ชันต้นฉบับเป็นหนึ่งในเกมแนวจำลองการบริหารธุรกิจที่เป็นที่ชื่นชอบอย่างมากในสมัยนั้น ผู้เล่นจะได้สร้างและจัดการเครือข่ายการขนส่งทั้งทางถนน, ทางรถไฟ, ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อทำกำไรจากขนส่งผู้โดยสาร/สินค้าตามความต้องการของเมืองและโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะต้องแข่งกับบริษัทขนส่งอื่นที่ควบคุมด้วย AI และ/หรือผู้เล่นคนอื่น
ส่วนผู้ที่เคยเล่นเกมต้นฉบับและอยากลองเล่น OpenTTD เพื่อรำลึกความหลัง แม้ว่าตัวเกมจะใช้ระบบการเล่นของ Transport Tycoon Deluxe เป็นฐาน OpenTTD นั้นได้ปรับปรุงการควบคุมให้ทันสมัยขึ้นในหลายๆ ส่วน และยังได้ลดข้อจำกัดที่ตัวเกมต้นฉบับเคยกำหนดไว้หลายอย่าง
นอกจากนี้ OpenTTD ยังมาพร้อมฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นและความซับซ้อนให้กับการเล่น (ยกตัวอย่างเช่นระบบสับรางและสัญญาณไฟแบบใหม่) ไปจนถึงเปิดให้ผู้เล่นสามารถโหลดชุดกราฟฟิกหรือเพลงประกอบใหม่เพื่อใช้แทนชุดกราฟิกและเพลงประกอบเวอร์ชันโอเพนซอร์ส (หรือถ้าใครต้องการภาพและเพลงแบบเดิมๆ ก็สามารถเลือกโหลดจากไฟล์เกมต้นฉบับได้เช่นกัน)
ภาพสกรีนช็อตพร้อมกราฟฟิกต้นฉบับจากเว็บไซต์ OpenTTD
ท่านใดสนใจเข้าไปกดเป็น wishlist รอเกมออกได้แล้วที่ Steam ครับ
ที่มา - OpenTTD via PC Gamer |
# โรงงานผลิตในออสเตรเลียเปิดเผยรายละเอียดกระบวนการผลิตวัคซีน COVID-19 ของ AstraZeneca
วัคซีน COVID-19 ของ AstraZeneca ต่างจากผู้ผลิตรายอื่นเนื่องจากทางบริษัทพยายามจับมือกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อร่วมผลิตวัคซีนกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยมีเป้าหมายถึง 3,000 ล้านโดสต่อปี สัปดาห์นี้ทาง CSL Behring ผู้ผลิตจากออสเตรเลียออกมาเปิดเผยกระบวนการผลิตอย่างละเอียดกับสำนักข่าว ABC ทำให้เรารู้ว่ากว่าจะเป็นวัคซีนจาก AstraZeneca นั้นต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง และความยากของการผลิตวัคซีนตัวนี้เป็นอย่างไร
Adenovirus เป้าหมายของการผลิตวัคซีน
ภาพตัวอย่างวัคซีนของ AstraZeneca จากมหาวิทยาลัย Oxford
วัคซีน ChAdOx1 nCoV-2019 พัฒนาโดย Oxford นั้นเป็นวัคซีนชีวภาพทำให้กระบวนการผลิตต้องอาศัยเซลล์มีชีวิตจริงเพื่อผลิตตัววัคซีนออกมา ทาง AstraZeneca ผลิตวัคซีนโดยใช้เซลล์ไตของเอ็มบริโอมนุษย์ (human embryo kidney) ที่ชื่อว่า HEK 293 ที่ดัดแปลงมาเฉพาะเพื่อการผลิตวัคซีน ร่วมกับไวรัส adenovirus ที่ดัดแปลงมาเพื่อผลิตวัคซีนเช่นกัน โดยไวรัสที่ดัดแปลงมานี้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ในเซลล์มนุษย์ปกติได้ ต้องอาศัยเซลล์ HEK ดัดแปลงนี้เท่านั้น
แผนที่กำลังผลิตของพันธมิตร AstraZeneca แถบเอเชียแปซิฟิก
ทาง AstraZeneca ส่งมอบเซลล์ HEK 293 ให้กับโรงงานผู้ผลิตคือ CSL Behring ประมาณ 1 มิลลิลิตรเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากนั้นทางโรงงานจึงนำเซลล์มาเพาะจากหลอดทดลองขนาด 10 มิลลิลิตรและค่อยๆ ขยายขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงการเพาะในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ (bioreactor) ขนาด 2,000 ลิตร
เมื่อได้เซลล์ HEK จนเต็มเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพแล้ว ทางโรงงานจะเติม adenovirus ที่ AstraZeneca ส่งมอบให้ลงไป แล้วรออีก 6 วันเพื่อให้ adenovirus แพร่ไปยังเซลล์ HEK ที่มีอยู่เต็มเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ เมื่อครบเวลาที่กำหนดแล้วโรงงานจะแยก adenovirus ออกจากสารอื่นๆ ในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพด้วยเทคนิค capture chromatography ทำให้ได้ไวรัสในของเหลวออกมา เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตวัคซีนนำไปแช่แข็งไว้
เครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ Biostat STR (นำมาประกอบเป็นตัวอย่าง)
หลังจากนั้นโรงงานบรรจุจะนำวัคซีนแช่แข็งออกมาละลายกับสาร buffer เพื่อรักษาระดับค่ากรดด่าง แบ่งบรรจุขวดทีละ 6.5 มิลลิลิตร (10 โดส) เมื่อปิดขวดปิดฉลากแล้วเป็นอันเสร็จได้วัคซีน
กระบวนการแต่ละขั้นถูกตรวจสอบอย่างหนัก ตั้งแต่การรับวัตถุดิบต่างๆ เช่น เคมีสำหรับเลี้ยงเซลล์ HEK คุณภาพและความบริสุทธิ์ของผลการผลิตในขั้นตอนต่างๆ แม้กระทั่งเมื่อบรรจุขวดเรียบร้อยแล้ว ขวดวัคซีนก็ต้องผ่านการตรวจสอบสุดท้ายอีกครั้ง ซึ่งอาจจะมีวัคซีนถูกทำลายในขั้นตอนสุดท้าย 2-5% ทีเดียว
ทางโรงงาน CSL นั้นมีกำลังผลิตเต็มที่อยู่ที่ 53.8 ล้านโดสต่อปี แต่หลังจากผลิตวัคซีนได้สองรอบ (batch) แล้วทางโรงงานยอมรับว่าวัคซีนที่ได้รับจริง (yield) นั้นต่ำกว่าที่คาดแต่กำลังเร่งกำลังผลิตเต็มที่ ปัญหาเช่นนี้เหมือนกับในยุโรปที่โรงงานมีกำลังผลิตถึง 400 ล้านโดสต่อปี แต่กลับได้ผลผลิตต่ำจนกระทั่งเกิดปัญหาส่งมอบล่าช้า
ตามรายงานของ AstraZeneca ทางบริษัทยังไม่ระบุกำลังผลิตที่ชัดเจน แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขของไทยจะยืนยันว่ามีกำลังผลิต 200 ล้านโดสต่อปีก็ตาม
ที่มา - ABC |
# [ลือ] Facebook ซุ่มพัฒนา Smartwatch คาดเปิดตัวปีหน้า
มีรายงานจาก The Information ว่า Facebook กำลังพัฒนาสมาร์ทวอทช์ ซึ่งมีคุณสมบัติทั้งด้านตรวจจับข้อมูลสุขภาพ รับส่งข้อความ และแจ้งเตือนต่าง ๆ โดยคาดจะเปิดตัวได้ภายในปีหน้า และเตรียมออกรุ่นถัดมาในปี 2023 ด้วย
รายงานบอกว่าสมาร์ทวอทช์นี้จะรันด้วย Android เวอร์ชัน fork พัฒนาเองโดย Facebook ไม่ได้ใช้ Wear OS แต่แผนในอนาคตอาจพัฒนาระบบปฏิบัติการขึ้นมาเอง จึงวางแนวทางไปจนถึงรุ่นที่สองที่จะออกตามมา นอกจากนี้คุณสมบัติเด่นของสมาร์ทวอทช์นี้ อาจทำงานร่วมกับแว่นตา AR ที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ด้วย
การที่ Facebook สนใจธุรกิจสมาร์ทวอทช์ไม่ใช่ประเด็นใหม่แต่อย่างใด ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่าบริษัทพยายามซื้อ Fitbit แต่เสนอราคาต่ำกว่า กูเกิลจึงเป็นผู้ปิดดีลได้ไป
ที่มา: The Next Web |
# สรรพากรออกกฎหมาย e-Service ผู้ให้บริการ-แพลตฟอร์มต่างประเทศต้องเสีย VAT ในไทย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) ตามที่กรมสรรพากรเสนอ หรือเรียกสั้นๆ ว่า "กฎหมาย e-Service"
เนื้อหาสำคัญของกฎหมาย e-Service คือเพิ่มนิยามของ
บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ (เช่น หนัง เพลง เกม สติ๊กเกอร์)
อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใดที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ (เช่น Google Facebook LINE Netflix)
จากนั้นได้กำหนดให้ ผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่ม (บริการ/แพลตฟอร์ม) จากต่างประเทศ ที่ให้บริการดังกล่าวในราชอาณาจักรไทยต่อผู้ใช้ในไทยที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยด้วย
กฎหมายนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา 10 กุมภาพันธ์ 2564 และมีผลบังคับใช้ 1 กันยายน 2564
ที่มา - กรมสรรพากร, กรมสรรพากร (2) |
# YouTube บน iOS ออกอัพเดตเป็นครั้งแรกใน 2 เดือน พร้อมแสดงข้อมูลที่จัดเก็บ
กูเกิลออกอัพเดตแอป YouTube บน iOS เป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 2 เดือน ทำให้เป็นแอปที่มีฐานผู้ใช้งานสูงแอปแรกของกูเกิล ที่ออกอัพเดตบน iOS หลังจากแอปเปิลออกกฎใหม่ ให้นักพัฒนาต้องเปิดเผยว่าเก็บข้อมูลใดบ้าง
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กูเกิลไม่ได้ออกอัพเดตแอปบน iOS จากปกติที่มีความถี่ในการอัพเดตสม่ำเสมอ จนเกิดข้อสงสัยตามมา แต่กูเกิลก็ยืนยันในตอนนั้นว่าจะออกอัพเดตแน่นอน
ทั้งนี้กูเกิลได้เพิ่มรายละเอียดข้อมูลที่จัดเก็บของแอป YouTube บน App Store ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่เพิ่งออกอัพเดตแอปตามมา ส่วนแอปยอดนิยมอื่นของกูเกิล เช่น Google, Chrome, Gmail, Google Maps ยังไม่มีอัพเดตออกมาตอนนี้
ที่มา: MacRumors |
# NVIDIA ยืนยันเอง นำ GPU รุ่นเก่า RTX 2060 และ GTX 1050 มาขายอีกครั้งผ่านพาร์ทเนอร์
มีรายงานข่าวก่อนหน้านี้ว่า NVIDIA จะนำ GPU รุ่นเก่ากลับมาขายอีกครั้ง ซึ่งรวมทั้งรุ่น RTX 2060 และ GTX 1050 โดยเป็นการขายผ่านพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตเมนบอร์ด เพื่อลดปัญหาซัพพลาย GPU ขาดตลาด
PC World ได้สอบถามไปยัง NVIDIA ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริง โดยตัวแทนของ NVIDIA อธิบายว่าไม่ใช่การนำกลับมาผลิตขาย เพราะสินค้ากลุ่มนี้ยังไม่ยุติการผลิต (EOL) การนำมาขายทำเพื่อรองรับความต้องการของตลาด GPU ที่สูงมากตอนนี้
ปัญหาสินค้าในกลุ่มชิปที่ขาดแคลนตอนนี้ถือเป็นวาระใหญ่ ล่าสุดรัฐบาล โจ ไบเดน ก็เตรียมลงนามเพื่อแก้ไขปัญหานี้
ปัจจุบัน GTX 1050 และ RTX 2060 ยังคงมีขายในเว็บจำหน่ายฮาร์ดแวร์ในราคาที่สูงกว่าราคาตั้งต้น และยังสามารถนำมาใช้กับงานบางประเภทได้ เช่น เกมที่ไม่ต้องการสเป็กสูง หรือการขุดเหมืองเงินคริปโตในบางประเภท
ที่มา: PC World |
# Facebook ลดการแพร่กระจายโพสต์จากเพจของกองทัพพม่า
Facebook ประกาศมาตรการรับมือรัฐประหารในพม่า โดยจะลดการแสดงผลโพสต์จากเพจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ เช่น เพจข่าวสารของทหาร Tatmadaw Information Team และบัญชีโฆษกของกองทัพ Brigadier-General Zaw Min Tun
Facebook ยังจะไม่รับคำขอของรัฐบาลพม่าในการลบโพสต์ต่างๆ ในระบบ (อย่างที่รัฐบาลประเทศอื่นๆ สามารถทำได้), เดินหน้าแบนบัญชี IO แบบที่ทำอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว, คุ้มครองบัญชีของนักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน นักการเมือง จากการโดนแฮ็กบัญชี เป็นต้น
ที่มา - Facebook
ภาพนายพล Min Aung Hlaing หัวหน้าคณะรัฐประหารพม่า จากช่อง YouTube กองทัพพม่า |
# [ไม่ยืนยัน] Qualcomm คุยหน่วยงานกำกับการแข่งขัน ค้านดีล NVIDIA ซื้อ Arm
CNBC อ้างแหล่งข่าวว่า Qualcomm เดินสายพบปะหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศต่างๆ เพื่อคัดค้านดีล NVIDIA ซื้อ Arm
เหตุผลที่ Qualcomm คัดค้านก็เพราะกลัวว่า NVIDIA จะกีดกันผู้ผลิตชิปรายอื่นๆ ไม่ให้เข้าถึงสิทธิบัตรและเทคโนโลยีของ Arm
ตามข่าวบอกว่า Qualcomm พูดคุยกับคณะกรรมการการค้าของสหรัฐ (FTC), คณะกรรมการยุโรป (European Commission), คณะกรรมการการแข่งขันของอังกฤษ (Competition and Markets Authority) และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีน (State Administration for Market Regulation)
NVIDIA จำเป็นต้องให้หน่วยงานเหล่านี้อนุมัติการซื้อกิจการ โดยในสหรัฐ FTC ยังอยู่ในขั้นตรวจสอบ และขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
ที่มา - CNBC
ภาพจาก Qualcomm |
# Coupang อีคอมเมิร์ซรายใหญ่เกาหลีใต้ เตรียม IPO เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก คาดมูลค่ากิจการ 50,000 ล้านดอลลาร์
Coupang อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในเกาหลีใต้ ยื่นเอกสารไฟลิ่งเพื่อเตรียมนำบริษัทไอพีโอเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กด้วยตัวย่อ CPNG ในการซื้อขาย โดยบริษัทคาดจะไอพีโอที่มูลค่ากิจการราว 50,000 ล้านดอลลาร์
ที่มูลค่ากิจการประเมินนี้ จะทำให้ Coupang เป็นไอพีโอขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทอเมริกา นับตั้งแต่ Alibaba เข้าตลาดหุ้นในเมื่อ 2014
Coupang ก่อตั้งเมื่อปี 2010 โดย Bom Kim มีจุดเด่นคือบริการ Rocket Delivery ที่การันตีจัดส่งสินค้าภายใน 24 ชั่วโมง บริษัทมีมูลค่ากิจการจากการเพิ่มทุนรอบล่าสุดในปี 2018 ที่ราว 9,000 ล้านดอลลาร์ ในไฟลิ่งระบุว่าบริษัทมีรายได้ปี 2020 เพิ่มขึ้น 91% จากปีก่อนหน้าที่ 11,967 ล้านดอลลาร์ แต่ยังขาดทุนอยู่ 474.9 ล้านดอลลาร์
ผู้ลงทุนเดิมใน Coupang มีทั้ง SoftBank ซึ่งลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2015 และลงทุนผ่าน Vision Fund อีก 2,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2018 รวมทั้งกองทุนรายใหญ่ อาทิ BlackRock, Sequoia Capital และนักลงทุนอย่าง Bill Ackman
ที่มา: Reuters
เพิ่มเติม: ทำความรู้จัก Start-Up ระดับยูนิคอร์นของเกาหลีใต้ ที่ตอนนี้มี 11 บริษัท |
# Jack Dorsey ซีอีโอทวิตเตอร์ร่วมกับแร็ปเปอร์ชื่อดัง Jay Z เปิดตัวกองทุนเพื่อการพัฒนาบิตคอยน์
Jack Dorsey ซีอีโอ Twitter และ Square ร่วมกับ Jay Z แร็ปเปอร์ชื่อดังซึ่งเป็นเจ้าของ Tidal เปิดตัวโครงการกองทุนเพื่อการพัฒนาบิตคอยน์ โดยเริ่มต้นในแอฟริกาและอินเดียในชื่อว่า ₿trust
Dorsey โพสต์ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของเขา โดยระบุว่าเขาและ Jay Z จะตั้งกองทุนด้วยสินทรัพย์ 500 บิตคอยน์ คิดเป็นมูลค่า 23.6 ล้านดอลลาร์ โดยการจัดตั้งกองทุนนี้เป็นระบบ blind irrevocable trust ที่ Dorsey และ Jay Z ไม่สามารถกำหนดทิศทางได้ว่าจะให้กองทุนนี้ดำเนินไปในทิศทางใด ดังนั้น Dorsey จึงทวีตพร้อมลิงก์รับสมัครสมาชิกบอร์ด 3 คนเพื่อเริ่มโครงการนี้ด้วย แต่ Dorsey ก็ยังไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนนี้
กรณีของประเทศในแถบแอฟริกานั้น ตอนนี้สกุลเงินคริปโตเริ่มนิยมกันมากขึ้น ในขณะที่อินเดียจะแบนสกุลเงินคริปโตทั้งหมดโดยกำหนดระยะเวลาเพื่อให้นักลงทุนมีเวลาวางแผนในการขายสินทรัพย์เหล่านี้ออกไปก่อนที่จะแบนถาวร
ที่มา - Engadget |
# Intel ออกแคมเปญ "Go PC" ชูจุดเด่นของพีซี เมื่อเทียบกับ Mac
หลังจากรายงานผลเบนช์มาร์ค ว่าซีพียู Tiger Lake ใช้งานได้ดีกว่า Apple M1 อินเทลก็จัดแคมเปญเพื่อชูจุดเด่นของพีซีออกมาอีกชุด
โดยแคมเปญนี้อินเทลได้นำเสนอผ่านบัญชีทวิตเตอร์ ในชื่อ Go PC โดยโพสต์แรกพูดถึงคุณสมบัติการเล่นเกม ยกตัวอย่างเกม Rocket League ที่เล่นได้บนพีซี Windows แต่ไม่มีบน macOS ส่วนอีกโพสต์พูดถึงระบบหน้าจอสัมผัส ที่แท็บเล็ต Windows ซีพียูอินเทลมีให้ใช้งานเป็นตัวเลือก ขณะที่ Mac ไม่มีแบบจอสัมผัส
ทั้งสองโพสต์เป็นลิงก์ไปยังวิดีโอบน YouTube ที่อินเทลให้การสนับสนุน โดยเป็นยูทูบเบอร์ Jon Rettinger รีวิวแล็บท็อปซีพียูอินเทล เทียบกับการใช้ Mac ซีพียู M1
ที่มา: Apple Insider |
# อดีตซีอีโอ Netflix มอง Apple ไม่จริงจังมากพอในการสร้างคอนเทนต์ลง Apple TV+
Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอ Netflix ให้สัมภาษณ์กับ Yahoo Finance โดยมีช่วงหนึ่งเขาได้ให้มุมมองเกี่ยวกับบริการสตรีมมิ่งที่เป็นคู่แข่งของ Netflix อย่าง Disney+ และ Apple TV+
Randolph พูดถึง Apple TV+ ว่าแอปเปิลไม่จริงจังมากพอในการสร้างคอนเทนต์ บริษัทกลับเน้นให้ข้อเสนอรับชมได้ฟรี ทำให้ตัวเลขผู้สมัครใช้งานตอนนี้มีแต่คนที่ยังไม่จ่ายเงิน เขายังบอกว่าเมื่อเทียบกันแล้ว Apple TV+ เป็นสตรีมมิ่งที่มีคนยกเลิกมากที่สุดด้วย ซึ่งคอนเทนต์ที่มีมาต่อเนื่องจะทำให้คนอยู่ต่อ
ทั้งนี้แอปเปิลได้ขยายเวลาแคมเปญดู Apple TV+ ฟรี 12 เดือน สำหรับผู้ซื้อฮาร์ดแวร์ใหม่ถึงสองครั้ง ทำให้ลูกค้ากลุ่มแรกที่เริ่มสมัครดูฟรีตั้งแต่ปลายปี 2019 ถึงตอนนี้ก็ยังดู Apple TV+ ได้ฟรีไม่เสียเงิน ซึ่งล่าสุดขยายเวลาถึงกลางปีนี้
ส่วนมุมมองต่อ Disney+ นั้น เขาบอกว่าเป็นสตรีมมิ่งที่หาจุดแข็งของตนได้ดี มีการสร้างคอนเทนต์ออกมาต่อเนื่อง สอดคล้องกับรายงานผลประกอบการล่าสุดที่มีผู้สมัครใช้งานแล้วเกือบ 95 ล้านคน ขณะที่ Apple TV+ ไม่เคยเปิดเผยตัวเลขจำนวนผู้ชม
ที่มา: MacRumors |
# Canon เปิดตัว Photo Culling แอปแนะนำรูปที่ดีที่สุดจากอัลบั้มโดยใช้ AI วิเคราะห์
Canon เปิดตัวแอป Photo Culling แอปสำหรับแนะนำคัดรูปภาพโดยใช้ Computer Vision Artificial Intelligence Engine ของ Canon ที่จะแนะนำรูปภาพที่ควรเก็บไว้ในกลุ่มภาพที่ถ่ายมาจำนวนมาก
Canon ระบุว่า Photo Culling มีตัวเลือกคัดรูปสองแบบ คือคัดรูปทั้งหมด (Whole Culling) จะพิจารณาจากความคมชัด, สัญญาณรบกวน, อารมณ์ในรูปภาพ และการปิดของดวงตาออกมาเป็นคะแนน ผู้ใช้สามารถกำหนด threshold ว่าคะแนนเท่าไรจึงเก็บไว้ ส่วนคัดเฉพาะรูปคล้าย (Similar Culling) จะคัดเฉพาะรูปที่ถ่ายมาหลาย ๆ ช็อตคล้าย ๆ กันโดยให้คะแนนภาพถ่าย และจะแนะนำเฉพาะภาพถ่ายที่ได้คะแนน 2 อันดับแรก
เมื่อคัดรูปภาพที่ดีที่สุดออกมาให้แล้วก็จะแนะนำให้ลบรูปที่เหลือทิ้งเพื่อประหยัดพื้นที่บน iPhone รวมถึงมีฟีเจอร์สร้างอัลบั้มที่เน้นเหตุการณ์หรือช่วงเวลาจากในอดีตได้
ตัวแอป Photo Culling เปิดให้ดาวน์โหลดแล้วบน iOS ตัวแอปให้ดาวน์โหลดเพื่อมาทดลองใช้งานฟรี 3 วัน หลังจากนั้นผู้ใช้จะต้องจ่าย 2.99 ดอลลาร์ต่อเดือนหรือ 14.99 ดอลลาร์ต่อปีเพื่อใช้งานแอปต่อไป
ที่มา - PR Newswire, Engadget |
# Mastercard จะสนับสนุนการชำระเงินด้วยสกุลเงินคริปโตบนเครือข่ายของบริษัทภายในปีนี้
Mastercard เป็นบริษัทระบบชำระเงินรายล่าสุดที่ออกมาพูดถึงเรื่องสกุลเงินคริปโต โดย Raj Dhamodharan รองประธานฝ่ายสินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชนระบุว่า Mastercard จะซัพพอร์ตสกุลเงินคริปโตในปีนี้เป็นบางสกุลเงินบนเครือข่ายของ Mastercard ซึ่งแม้ว่าก่อนหน้านี้แม้จะออกบัตรคริปโตร่วมกับ Wirex และ BitPay มาแล้วก็ยังไม่ใช่การชำระเงินด้วยคริปโตแบบวิ่งบนเครือข่าย Mastercard โดยตรง เพราะยังต้องแปลงเป็นสกุลเงินดั้งเดิมก่อนจะวิ่งผ่านเครือข่าย Mastercard
การที่ Mastercard ตัดสินใจเลือกสนับสนุนสกุลเงินคริปโตก็เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค เป้าหมายหลักไม่ใช่การสนับสนุนให้ใช้สกุลเงินคริปโต แต่เป็นการเปิดช่องทางให้ผู้บริโภค, ผู้ค้าขาย และภาคธุรกิจให้เคลื่อนย้ายมูลค่าทางดิจิทัลในรูปแบบที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินแบบดั้งเดิม หรือจะเป็นคริปโต
แต่การจะนำสกุลเงินคริปโตมาใช้ยังมีข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องผู้บริโภค ทั้งความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าในระดับเดียวกับที่ผู้บริโภคคาดหวังจากบัตรเครดิต ดังนั้นถ้าจะนำมาใช้จริงจะต้องมีสิ่งที่ต้องอิมพลีเมนต์เพิ่มอีกมาก อย่างเช่น KYC (Know Your Customer) และสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับในประเทศที่ใช้งานด้วย รวมถึงการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับใช้จ่ายเพื่อการบริโภคก็จะต้องมีความเสถียรและมั่นคงเพียงพอที่จะใช้ชำระเงิน ไม่ใช่เสถียรเพียงพอในแง่มุมการลงทุน
ตอนนี้ Mastercard ระบุว่าทางบริษัทถือสิทธิบัตรบล็อคเชนกว่า 89 รายการ และกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการขออีก 285 รายการ ทำให้ Mastercard เป็นหนึ่งในองค์กรด้านระบบชำระเงินที่ถือสิทธิบัตรบล็อคเชนมากที่สุด และจะทำให้โครงการเหล่านี้สำเร็จขึ้นมาให้ได้
ที่มา - Engadget, Mastercard
ภาพจาก Shutterstock |
# Google Photos เพิ่มฟีเจอร์ AI แต่งภาพ Portrait Light แม้ไม่ถ่ายโหมด Portrait แต่เฉพาะผู้ใช้เสียเงิน
กูเกิลประกาศนำฟีเจอร์แต่งภาพของ Google Photos คือ Portrait Blur และ Portrait Light ที่เคยใช้ได้เฉพาะ Pixel มาให้กับมือถือรุ่นอื่นๆ ด้วย แต่จำกัดเฉพาะคนที่จ่ายเงินซื้อแพ็กเกจ Google One เท่านั้น (ต้องเป็น Android 8.0 ที่มีแรม 3GB ขึ้นไปด้วย)
ฟีเจอร์ Portrait Blur และ Portrait Light เป็นการใช้ AI อ่านค่าในรูปภาพ แล้วแต่งภาพให้เบลอพื้นหลังหรือใส่แสงไฟส่องหน้าได้ แม้ว่ารูปถ่ายจากมือถือที่ไม่มีโหมด Portrait หรือไม่ได้ถ่ายด้วยโหมด Portrait ก็ตาม
ฟีเจอร์อีกอย่างของสมาชิก Google One คือ Dynamic suggestion ปรับแต่งความสว่างและคอนทราสต์ และการอ่านค่าท้องฟ้า (sky suggestions) แล้วปรับแต่งภาพให้สวยขึ้นอัตโนมัติ เช่น ซีนพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก
แนวทางของกูเกิลในช่วงหลังเริ่มออกฟีเจอร์ "พิเศษ" ให้กับสมาชิก Google One แบบเสียเงิน ก่อนหน้านี้คือเปิดบริการ VPN แต่จำกัดเฉพาะแพ็กเกจระดับ 2TB เท่านั้น
กูเกิลยังออกตัวตัดต่อวิดีโอเวอร์ชันใหม่ (new video editor) ของ Google Photos ที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นจากเดิม สามารถ crop, ปรับสัดส่วน, เพิ่มฟิลเตอร์ ปรับความสว่างและสี
ฟีเจอร์นี้เปิดให้ใช้ฟรีทุกคน ตอนนี้ใช้ได้แล้วบนเวอร์ชัน iOS ส่วนเวอร์ชัน Android จะตามมาในเร็วๆ นี้
ที่มา - Google |
# ทวิตเตอร์ขยายการระบุสื่อที่เป็นของรัฐบาลไปยังประเทศอื่นเพิ่มเติม มีไทยด้วย
ทวิตเตอร์เริ่มระบุใต้โปรไฟล์สำนักข่าวที่รัฐบาลเป็นเจ้าของเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และเริ่มใช้งานในสหรัฐฯ อังกฤษ รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส ล่าสุด ทวิตเตอร์บอกว่าเตรียมจะขยายไปยังประเทศอื่นเพิ่มเติม คือ แคนาดา, คิวบา, เอกวาดอร์, อียิปต์, เยอรมนี, ฮอนดูรัส, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, อิตาลี, ญี่ปุ่น, ซาอุดีอาระเบีย, เซอร์เบีย, สเปน, ไทย, ตุรกีและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ทวิตเตอร์จะระบุบัญชีสื่อที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของรัฐ โดยอ้างอิงการยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานทางการทูต รวมถึงจะยืนยันบัญชีบุคคลของรัฐด้วย โดยไทยอยู่ในเฟสสอง เริ่มเปิดใช้งานวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้
ที่มา - ทวิตเตอร์ |
# รัฐบาลโจ ไบเดน เตรียมลงนามแก้ปัญหาชิปขาดแคลน ด้านผู้ผลิตในสหรัฐฯ หนุนการผลิตในประเทศ
Jen Psaki เลขาธิการสำนักข่าวทำเนียบขาว เผยว่ารัฐบาล โจ ไบเดน วางแผนจะดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์, ผู้ผลิตแล็ปท็อป และอุตสาหกรรม semiconductor ต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดโรคระบาด และคนต้องทำงานและเรียนที่บ้าน
Psaki บอกด้วยว่า ตอนนี้คณะรัฐบาล กำลังทำงานร่วมกับบุคคลในอุตสาหกรรมนั้นๆ และ โจ ไบเดน จะลงนามในคำสั่งผู้บริหารในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของสินค้าสำคัญ โดยต้องผ่านการตรวจสอบ 100 วัน นำโดยสภาเศรษฐกิจแห่งชาติและสภาความมั่นคงแห่งชาติ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท ชิปรวมถึง Intel Corp. , Qualcomm Inc. และ Advanced Micro Devices Inc. เขียนจดหมายถึงไบเดน กระตุ้นให้เกิดการผลิตชิปในประเทศ เพื่อที่ประเทศชาติจะไม่สูญเสียความได้เปรียบทางนวัตกรรม เสนอให้รัฐบาลสร้างแรงจูงใจอย่างเงินทุน เครดิตภาษีเพื่อมาฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานการผลิต เพราะส่วนแบ่งของสหรัฐในการผลิตชิปทั่วโลกลดลงเหลือ 12% จาก 37% ในปี 1990
ในจดหมายนั้นมีผู้บริหารคนสำคัญร่วมลงนาม 21 คน เช่น Bob Swan จาก Intel, Steve Mollenkopf จาก Qualcomm และ Lisa Su จาก AMD โดยปัจจุบันการผลิตชิปในบริษัทสหรัฐ มักพึ่งพาเอาท์ซอร์สจากไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งล่าสุด ซัมซุงก็อาจตั้งโรงงานผลิตชิป 3nm ในสหรัฐเพื่อแข่ง TSMC และบริษัทจีนเองก็รุกหนักเพื่อขยายอุตสาหกรรมชิปของตนเองเพื่อแก้ปัญหาการกีดกันการค้า จีน-สหรัฐ
ที่มา - Bloomberg |
# Square Enix ประกาศ Kingdom Hearts ลงพีซี แต่เอ็กซ์คลูซีฟ Epic Games Store
Square Enix ประกาศส่งเกมซีรีส์ Kingdom Hearts ลงพีซีเป็นครั้งแรก โดยจะเป็นเอ็กซ์คลูซีฟของ Epic Games Store เริ่มวางจำหน่าย 30 มีนาคม 2021 (ไม่ระบุว่าเป็นเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะช่วงเวลาหรือไม่)
เกมที่วางขายมีทั้งหมด 4 เกม โดยภาค 1-2 เป็นเวอร์ชัน collection ที่เคยทำลง PS4 และ Xbox One มาก่อน
Kingdom Hearts HD 1.5 + 2.5 Remix
Kingdom Hearts HD 2.8 Final Chapter Prologue
Kingdom Hearts III
Kingdom Hearts: Melody of Memory เกมดนตรีที่เพิ่งออกในปี 2020
เกมภาค 1.5+2.5 ขายในราคา 49.99 ดอลลาร์ ส่วนเกมที่เหลือตั้งราคา 59.99 ดอลลาร์ สามารถซื้อล่วงหน้าได้แล้วบนเว็บ Epic Games
ที่มา - Square Enix |
# Disney+ มีสมาชิกแล้ว 94.9 ล้านคน ซึ่งเดิมคาดว่าต้องใช้เวลา 4 ปี
ดิสนีย์รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสสิ้นสุด 2 มกราคม 2021 โดยมีประเด็นสำคัญคือจำนวนผู้สมัครใช้งาน Disney+ ตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 94.9 ล้านคน สูงกว่าตัวเลขที่บริษัทเคยประเมินไว้ช่วงเปิดตัว ว่าจะทำได้ 60-90 ล้านคนในปี 2024 ทำให้ดิสนีย์ปรับตัวเลขเป้าหมายในปี 2024 เป็นจำนวนสมาชิก 230-260 ล้านคน
อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มสูงนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากการขายแบบรวมแพ็คเกจกับบริการอื่น หรือเป็นส่วนลดจากผู้ให้บริการเครือข่ายที่ร่วมมือกับดิสนีย์ ซึ่งดิสนีย์ไม่ได้แยกว่ามีอัตราส่วนเท่าใด รวมทั้งปัจจัยการระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้คนสมัครบริการสตรีมมิ่งมากขึ้นด้วย
เมื่อเดือนธันวาคม ดิสนีย์เปิดเผยจำนวนสมาชิกที่ 86.8 ล้านคน รวมทั้งเปิดแผนงานคอนเทนต์ทั้งซีรี่ส์ Star Wars และ Marvel
ที่มา: CNBC |
# เกิดอะไรขึ้นที่อินเทล ตอนที่ 1 Tick-Tock ภัยซ่อนเร้น และหลุมดำ 14 นาโนเมตร
บริษัทเทคโนโลยีรายสำคัญที่กำลังเพลี่ยงพล้ำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ "อินเทล" ยักษ์ใหญ่ของโลกซีพียูที่กำลังเจอศึกหลายทางพร้อมกัน ตั้งแต่คู่แข่งในอดีต AMD ที่กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง, การรุกเข้ามาจากโลกจีพียูของ NVIDIA, การแท็กทีมของฝั่งสถาปัตยกรรม ARM ในหลายแนวรบ ไปจนถึงปัญหาภายในของตัวเอง ทั้งเรื่องเทคโนโลยีการผลิตไม่เป็นไปตามเป้า และผลิตสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ล่าสุด อินเทลตอบสนองต่อปัญหาทั้งหมดข้างต้นด้วยการเปลี่ยนตัวซีอีโอใหม่เป็น Pat Gelsinger อดีตลูกหม้อที่ดำรงตำแหน่งซีอีโอของ VMware โดยการเปลี่ยนแปลงจะมีผลวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้
บทความซีรีส์ "เกิดอะไรขึ้นที่อินเทล" พยายามสรุปสถานการณ์ทั้งหมดว่าอินเทลกำลังเผชิญกับอะไรอยู่บ้าง ปัญหาแต่ละอย่างมีสาเหตุอย่างไร ในตอนแรกจะกล่าวถึงปัญหาของอินเทลเองที่เกิดจากแนวคิดแบบ Tick-Tock ในอดีต
Tick-Tock จากเครื่องยนต์สำคัญ สู่รากเหง้าของปัญหา
ตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ถือเป็นยุคทองของอินเทลที่ครองตลาดซีพียูได้เกือบเบ็ดเสร็จ อินเทลก้าวข้ามจากยุค Pentium มาสู่แบรนด์ Core ครั้งแรกในปี 2006 (Yonah) ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับตลาดโน้ตบุ๊กเริ่มบูม (หลายคนน่าจะยังจำแบรนด์ Centrino กันได้)
เครื่องจักรสำคัญที่ช่วยให้อินเทลทิ้งคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น คือกระบวนการออกสินค้าที่เรียกว่า Tick-Tock ซึ่งเป็นการสลับระหว่างการลดขนาดการผลิต (Tick) และการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมย่อย (microarchitecture) ใหม่ (Tock)
Tick-Tock ถูกคิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทางวิศวกรรมที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนเกินไป (เปลี่ยนสถาปัตยกรรมพร้อมกับกระบวนการผลิตพร้อมกัน) อินเทลจึงใช้วิธีสลับปี ทำทีละอย่าง ปีนี้ใช้สถาปัตยกรรมเดิม ลดขนาดการผลิต ปีหน้าเปลี่ยนสถาปัตยกรรมใหม่ แต่ใช้การผลิตขนาดเดิม
อินเทลนำ Tick-Tock มาใช้งานครั้งแรกในปี 2007 กับซีพียูตระกูล Core "Penryn" ที่ลดขนาดการผลิตจาก 65 นาโนเมตร มาเป็น 45 นาโนเมตร แล้วปีถัดมา 2008 เปลี่ยนสถาปัตยกรรมซีพียูมาเป็น "Nehalem" โดยยังคงการผลิตที่ 45 นาโนเมตรเท่าเดิม
กระบวนท่า Tick-Tock ใช้ได้ผลดีเป็นอย่างมาก ช่วยอินเทลลดขนาดจาก 45 นาโนเมตรมาสู่ 32 นาโนเมตร, 22 นาโนเมตร, 14 นาโนเมตรได้อย่างราบรื่น เมื่อบวกกับ AMD ในตอนนั้นประสบปัญหาด้านผลิตภัณฑ์ซีพียูพอดี (ยุค Bulldozer เป็นต้นมา) ยิ่งทำให้อินเทลครองความยิ่งใหญ่ในช่วงต้นทศวรรษ 2010s แบบไร้คู่แข่ง
ในปี 2015 ซีพียู Core 6th Gen สืบทอดการผลิต 14 นาโนเมตรจากปีก่อน แล้วเปลี่ยนสถาปัตยกรรมใหม่เป็น Skylake ที่เพิ่มประสิทธิภาพอย่างโดดเด่น ก้าวต่อไปของอินเทลคือปี 2016 จะลดขนาดของ Skylake ลงเหลือ 10 นาโนเมตร ในชื่อโค้ดเนมว่า Canon Lake ตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิม
แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามแผน
แผน 10 นาโนเมตรเดิมของอินเทลที่ประกาศไว้ในปี 2013
หลุมดำ 14 นาโนเมตร
Cannon Lake ไม่สามารถย่อขนาดลงเหลือ 10 นาโนเมตรได้ตามที่คิดไว้ อินเทลจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยกเลิก Tick-Tock และนำกระบวนการผลิตที่ดีที่สุดในตอนนั้นคือ 14 นาโนเมตรมาใช้ขัดตาทัพไปก่อน
คำประกาศของอินเทลเมื่อต้นปี 2016 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ 10 นาโนเมตรผิดแผน คือบอกว่าจะเปลี่ยนรอบ 2 ปีของ Tick-Tock มาเป็นรอบ 3 ปีที่เรียกว่า Process-Architecture-Optimization แทน
ปี 2016 เราจึงได้เห็นซีพียู Kaby Lake (Core 7th Gen) ที่ใช้สถาปัตยกรรมตัวเดียวกับ Skylake แต่ปรับปรุงเล็กน้อย และใช้กระบวนการผลิต 14 นาโนเมตรแบบปรับแต่งให้ดีขึ้น (14nm+)
ตอนนั้น อินเทลคงคิดว่าปัญหา 10 นาโนเมตรน่าจะล่าช้าไปแค่ปีเดียว การเปลี่ยนจาก Tick-Tock มาเป็น Process-Architecture-Optimization คงไม่ใช่ปัญหาอะไรมากมายนัก ยิ่งเทียบกับคู่แข่งในเวลานั้น TSMC ปี 2016 ยังผลิตชิป 10 นาโนเมตรเป็นจำนวนมากไม่ได้ (ในทางเทคนิคแล้ว 10 นาโนเมตรของแต่ละค่ายก็ไม่เท่ากันด้วย เทียบกันตรงๆ ไม่ได้)
แต่ในปี 2017 ฝัน 10 นาโนเมตรก็ยังไม่เป็นจริง เพราะอินเทลกลับมาด้วย 14 นาโนเมตรอีกครั้ง (พร้อมกับเครื่องหมายบวกอีกหนึ่งตัว เป็น 14nm++) แถมปีนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่อินเทลแยกสายผลิตภัณฑ์ซีพียูเดสก์ท็อปกับโน้ตบุ๊กออกจากกัน (ด้วยเหตุผลว่าทำไม่ทัน) โดยฝั่งเดสก์ท็อปเป็น Coffee Lake และฝั่งโน้ตบุ๊กเป็น Kaby Lake Refresh แต่ชื่อทางการค้าเรียกเป็น Core 8th Gen เหมือนกัน
ปี 2018 สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอีก เราจึงเห็นการ Refresh รอบที่สามด้วย Coffee Lake Refresh ที่นับเป็น Core 9th Gen และมีเฉพาะเดสก์ท็อปเท่านั้น ฝั่งโน้ตบุ๊กยิ่งมั่วเข้าไปอีก เพราะมีทั้ง Whiskey Lake / Amber Lake ที่นับเป็น Core 8th Gen ผสมผสานกับ Kaby Lake Refresh จากปีก่อน
ปี 2018 ยังมี Cannon Lake ซีพียู 10 นาโนเมตรตัวแรก ที่มาช้ากว่ากำหนดเดิม 2 ปี แถมยังมีสินค้าวางขายจริงได้เพียงแค่รุ่นเดียว (Core i3-8121U) ที่ใช้ในโน้ตบุ๊กเพียงไม่กี่รุ่น ด้วยเหตุผลว่าผลิตได้น้อยกว่าที่คาดไว้ แสดงให้เห็นว่าอินเทลทำ 10 นาโนเมตร แต่ยังมีปัญหาเรื่อง yield
อินเทลมาผลิตซีพียูระดับ 10 นาโนเมตรได้จริงๆ จังๆ คือ Ice Lake ในปี 2019 แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนซีพียูโน้ตบุ๊กทั้งหมดเป็น 10 นาโนเมตรได้อยู่ดี และต่อให้เป็นปี 2020 ที่มี Tiger Lake ออกมาแล้ว ก็ยังต้องมีซีพียูแบบ 14 นาโนเมตร Comet Lake-H มาช่วยแบ่งเบาภาระในฝั่งซีพียูสมรรถนะสูง (ซีรีส์ H) ด้วยเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ 10 นาโนเมตรในปี 2019
มาถึงปีนี้ 2021 อินเทลยังไม่มีซีพียู 10 นาโนเมตรในฝั่งเดสก์ท็อปออกวางขายได้เลยสักตัว (ซีพียูตัวหน้า Rocket Lake ที่จะออกภายในไตรมาส 1/2021 ยังเป็น 14 นาโนเมตร)
หากดูตามแผนของอินเทล บริษัทจะเปลี่ยนซีพียูทั้งหมดเป็น 10 นาโนเมตรได้อย่างสมบูรณ์ทั้งเดสก์ท็อป-โน้ตบุ๊ก ก็ต้องรอกันถึงปลายปีนี้กับ Alder Lake ที่นับรุ่นเป็น Core 12th Gen
คำถามสำคัญคือ อินเทลมีแผนจะเปลี่ยนซีพียูเป็น 10 นาโนเมตรในปี 2016 แบบสบายๆ นำหน้าคู่แข่งรายอื่นไปไกล แต่กลับมาทำได้จริงในช่วงปลายปี 2021 ด้วยซ้ำ (และอินเทลยุคนี้ยังมีโอกาสเลื่อนได้เสมอ) เวลาที่ผ่านมายาวนานถึง 5-6 ปี เกิดปัญหาอะไร ทำไมอินเทลถึงไม่สามารถก้าวข้ามหลุมดำ 14 นาโนเมตรไปได้
แล้วทำไมคู่แข่งทั้ง TSMC และซัมซุงสามารถไปได้ถึงระดับ 7 นาโนเมตร หรือ 5 นาโนเมตรกันแล้ว เราจะก้าวเข้าไปสู่คำตอบนี้กันในตอนหน้า |
# ไม่มีใครเบรกใคร Starlink ต้องขออนุญาตทุกประเทศที่เปิดให้บริการ
วันนี้มีข่าวจาก The Standard Wealth ระบุว่า "กสทช. แตะเบรก" บริการ Starlink สร้างการวิจารณ์เป็นวงกว้าง แต่ผู้อ่าน Blognone ควรตระหนักว่าบริการอินเทอร์เน็ตแม้เป็นบริการผ่านดาวเทียมนั้นต้องขออนุญาตประเทศที่บริษัทจะเข้าไปให้บริการเป็นเรื่องปกติ (ผมเองเขียนแจ้งไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของข่าวเปิดจอง)
ย้อนดูการเปิดบริการของ Starlink ในช่วงที่ผ่านมา ปีที่แล้วก่อนที่ Starlink จะให้บริการได้ก็ต้องขออนุญาตจาก FCC เมื่อต้นปี 2020 และหลังจากนั้นเมื่อต้องการขยายพื้นที่ให้บริการไปยังแคนาดาก็ต้องขออนุญาตไปยัง CRTC และได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา
สำหรับประเทศที่เปิดจองให้บริการพร้อมไทยอย่างสหราชอาณาจักรที่มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2021 นี้ ทาง Ofcom หรือกสทช. สหราชอาณาจักรระบุว่าได้ออกใบอนุญาตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา
ข้อเท็จจริงอีกประการที่ผู้สนใจ Starlink ควรตระหนักคือบริการนี้อาศัยสถานีฐานบนพื้นโลกจำนวนมาก เฉพาะในสหรัฐฯ เองก็มีนับร้อยสถานี และเมื่อจะเปิดบริการในแคนาดาก็เริ่มเข้าไปตั้งสถานีฐานในแคนาดาเพิ่มเติม ส่วนยุโรปนั้นมีข่าวว่าจะตั้งสถานีฐานอยู่ในฝรั่งเศส แม้จะไม่มีข้อมูลยืนยันจากบริษัทแต่อย่างใด และในสหราชอาณาจักรก็คาดว่าจะใช้สถานีฐานในเกาะอังกฤษเองร่วมกับผู้ให้บริการรายอื่น |
# Nintendo แจก Overcooked 2 เกมหัวร้อนให้สมาชิกออนไลน์เล่นฟรี 1 สัปดาห์ ช่วงวาเลนไทน์
วาเลนไทน์นี้ คู่รักอาจไม่มีโอกาสไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือไปดินเนอร์เนื่องจากโรคระบาด ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เล่นเกม สานสัมพันธ์ให้แนบแน่นขึ้นด้วยกัน ล่าสุด Nintendo แจกเกม Overcooked 2 ให้สมาชิก Nintendo Switch Online Member เล่นฟรีเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ช่วงวันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์
Overcooked 2 พัฒนาโดย Ghost Town Games เปิดให้เล่นเมื่อเดือนเมษายนปี 2020 ที่ผ่านมา ต่อยอดความสำเร็จจากภาพแรก เกมร่วมทำอาหารกับเพื่อนให้ทันตามออเดอร์ ที่มาพร้อมอุปสรรคมากมาย ถือเป็นเกมบ้านแตกอีกเกมก็ว่าได้
ภาพจาก Nintendo
ที่มา - Engadget |
# รัฐบาล Biden กำลังทบทวนคำสั่งแบน TikTok ของ Trump ใหม่อีกรอบว่าเป็นภัยจริงหรือไม่
เรียกได้ว่าตามล้างตามเช็ดทุกอย่างหลัง Joe Biden เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนที่แล้ว (แค่วันแรกก็เซ็นคำสั่งมากที่สุดที่เคยมีมา 17 ฉบับ เพื่อยกเลิกนโยบาย Trump)
และล่าสุดก็เป็นคิวของ TikTok ที่ตอนนี้กระบวนการแบนจากคำสั่งของ Trump อยู่ในชั้นศาล ซึ่งกระทรวงยุติธรรมก็ยื่นเรื่องไปยังศาลขอให้ระงับกระบวนการพิจารณาก่อน เพราะรัฐบาลจะกลับมาทบทวนดูอีกครั้งว่า TikTok เป็นภัยต่อความมั่นคงจนควรถูกสั่งแบนจริงหรือไม่
นอกจากคำสั่งแบนที่ถูกระงับแล้ว รัฐบาล Joe Biden ยังระงับคำสั่งที่บีบให้ TikTok สหรัฐต้องขายให้กับบริษัทสหรัฐด้วย
ที่มา - FT, WSJ |
# Slack เตือนผู้ใช้แอนดรอยด์ให้เปลี่ยนพาสเวิร์ด หลังพบบั๊กเก็บรหัสเป็น plaintext
Slack เริ่มส่งอีเมลหาผู้ใช้งานบนสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ เตือนว่าให้เปลี่ยนพาสเวิร์ด หลังจาก Slack ค้นพบบั๊กเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ทำให้แอปแอนดรอยด์บางเวอร์ชัน เปลี่ยนรหัสที่เก็บเอาไว้เป็น plaintext และทีมงานก็แก้บั๊กนี้ไปแล้วเมื่อ 21 มกราคม รวมถึงสั่งระงับใช้งานเวอร์ชันที่กระทบ
Slack ยืนยันว่ายังไม่มีรายงานความเสียหายหรือการล็อกอินผิดปกติใด ๆ ออกมา แต่แจ้งอีเมลผู้ใช้งานเพื่อเป็นการป้องกันเอาไว้ก่อน พร้อมแนะนำให้ผู้ใช้งานแอนดรอยด์เคลียร์ข้อมูลของตัวแอปในเครื่อง (Settings -> Apps -> Slack -> Storage -> Clear Data) อัพเดตแอปเป็นเวอร์ชันล่าสุดและเปลี่ยนพาสเวิร์ด
ที่มา - Android Police |
# รัฐบาลสหรัฐระบุไม่ยอมแพ้ เดินหน้าทำเรื่องให้อังกฤษส่งตัว Julian Assange
หลังศาลอังกฤษปัดตกคำร้องของสหรัฐ ไม่อนุญาตให้ส่งตัว Julian Assange ไปสหรัฐ ล่าสุดกระทรวงยุติธรรมสหรัฐยืนยันว่าจะไม่ยอมแพ้และจะผลักดันจนอังกฤษยอมส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
อย่างไรก็ตาม ท่าทีล่าสุดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐในยุค Biden ถือว่าสวนทางกับในยุคของ Obama ที่มองว่า Wikileaks เป็นเสรีภาพในการแสดงออกตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรก (the First Amendment)
ที่มา - Reuters
ภาพจาก shutterstock |
# นักวิจัยอัพโหลดแพ็กเกจไลบรารีเลียนแบบชื่อไลบรารีภายใน ส่งโค้ดเข้าไปรันใน Apple, Microsoft, Netflix, Uber สำเร็จ
Alex Birsan รายงานถึงการโจมตีองค์กรขนาดใหญ่จำนวนมากด้วยการสร้างแพ็กเกจไลบรารีเลียนแบบชื่อไลบรารีในองค์กรแล้วไปวางตามบริการดาวน์โหลดไลบรารีไม่ว่าจะเป็น RubyGems, npm, หรือ PyPI
องค์กรขนาดใหญ่จำนวนมากมักมีไลบรารีเฉพาะทางของตัวเองใช้งานภายในเป็นเรื่องปกติ และหลายครั้งชื่อไลบรารีเหล่านี้ก็หลุดออกมาสู่โลกภายนอก เช่น Paypal เคยทำไฟล์ package.json ที่ใช้ภายในหลุดออกมาอยู่บน GitHub ทำให้รู้ว่าบริษัทมีการใช้งานไลบรารีภายในเช่น pplogger, auth-paypal, wurfl-paypal, analytics-paypal เป็นต้น หรือแม้แต่แอปเปิลก็เคยทำรายชื่อแพ็กเกจเหล่านี้หลุดออกมาเช่นกัน
การติดตั้งไลบรารีนับเป็นสิทธิค่อนข้างสูง ตัวติดตั้งไลบรารีมักรันโค้ดในส่วนติดตั้งแพ็กเกจทันทีที่ดาวน์โหลดเสร็จ ทำให้หากแฮกเกอร์หลอกให้องค์กรดาวน์โหลดแพ็กเกจได้ก็จะรันโค้ดจากภายในองค์กรได้ทันที ตัว Alex เองพัฒนาแพ็กเกจพิเศษที่จะรายงานกลับเซิร์ฟเวอร์ทุกครั้งที่มีคนติดตั้งแพ็กเกจไป โดยรายงานผ่าน DNS lookup ทำให้เซิร์ฟเวอร์ควบคุมรู้ได้ว่าเครื่องอะไรติดตั้งแพ็กเกจไปแล้วบ้างแม้ตัวเครื่องนั้นจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้ก็ตามที เขาวางแพ็กเกจแบบเดียวกันใน 3 ภาษาคือ Ruby, JavaScript, และ Python
ผลของการวางแพ็กเกจทำให้ Alex สามารถรันโค้ดจากภายในองค์กรใหญ่ๆ ได้จำนวนมาก ทั้ง Apple, Microsoft, Netflix, Shopify, Uber, Yelp ส่งผลให้เขาได้รางวัลรายงานช่องโหว่ระดับสูงจากบริษัทเหล่านี้
ต้นตอของปัญหาคือระบบดาวน์โหลดแพ็กเกจของภาษาต่างๆ จะพยายามเลือกแพ็กเกจเวอร์ชั่นสูงสุดให้เสมอ หากพบว่ามีแพ็กเกจชื่อเดียวกันแต่เลขเวอร์ชั่นสูงกว่าในเซิร์ฟเวอร์นอกบริษัท ตัวดาวน์โหลดแพ็กเกจก็จะพยายามดาวน์โหลดจากภายนอกทันที
ทางด้าน Microsoft Azure ออกรายงานแนะนำกระบวนการป้องกันการโจมตีรูปแบบนี้พร้อมกับรายงานของ Alex
ที่มา - Medium: @alex.birsan |
# Epic เปิดตัว MetaHuman Creator เครื่องมือสร้างโมเดลมนุษย์เสมือนจริงบน Unreal Engine
Epic เปิดตัว MetaHuman Creator เครื่องมือบน Unreal Engine ช่วยนักพัฒนาสร้างโมเดลมนุษย์ความละเอียดสูง พร้อมปรับระดับรายละเอียดได้ถึง 8 ระดับ ตั้งแต่รันบนมือถือไปจนเรนเดอร์ระดับเท่าภาพยนตร์ และนักพัฒนาสามารถนำโมเดล Unreal Engine นี้ไปใส่ rig ทำแอนิเมชั่น หรือนำไปใช้ในเกมต่อได้ทันที
MetaHuman สามารถปรับตั้งค่าต่างๆ ทั้งโครงหน้า ความละเอียดของรูขุมขน สีผิว สัดส่วนร่างกาย ฟัน สีฟัน ได้อย่างละเอียด คล้ายคลึงกับระบบสร้างตัวละครในเกม RPG ในเวอร์ชั่นอัพเกรด นอกจากนี้ คาดว่าสามารถใช้งานร่วมกับแอป Live Link Face เพื่อสร้างแอนิเมชั่นการเคลื่อนไหวของใบหน้าที่สมจริง และอาจจะนำไปใช้งานอื่นๆ เช่นสร้าง VTuber ที่มีโมเดลสมจริง แทนที่จะเป็นภาพการ์ตูน เป็นต้น
ที่มา - Unreal Engine |
Subsets and Splits
No community queries yet
The top public SQL queries from the community will appear here once available.