txt
stringlengths
202
53.1k
# [ลือ] แอปเปิลกำลังพัฒนาจอ micro OLED บนแผ่นเวเฟอร์ร่วมกับ TSMC สำหรับแว่น AR Nikkei รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิดกับโปรเจ็คว่าแอปเปิลกำลังพัฒนาหน้าจอ micro OLED แบบใหม่ร่วมกับ TSMC ที่น่าสนใจคือวัสดุตั้งต้นของจอจะไม่ใช่กระจกเหมือนจอที่ผ่านมา แต่เป็นแผ่นเวเฟอร์ที่ใช้สำหรับผลิตชิป วิธีนี้ Nikkei บอกว่าจะทำให้หน้าจอบางกว่า เล็กกว่าและใช้พลังงานน้อยกว่า ซึ่งเหมาะกับการนำมาใช้กับแว่น AR โดยตอนนี้ โปรเจ็คนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองผลิต (trial production) และหน้าจอที่ทดสอบตอนนี้มีขนาดเล็กกว่า 1 นิ้ว แต่ก็น่าจะใช้เวลาอีกเป็นปี ๆ กว่าจะผลิตจำนวนมากได้ ที่มา - Nikkei Asian Review
# นิสสันส่งสัญญาณพร้อมคุยแอปเปิล พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับร่วมกัน หลังดีลระหว่างแอปเปิลกับ Hyundai ต้องหยุดลง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากแนวทางการรักษาความลับขั้นสูงสุดของแอปเปิล แต่ก็ใช่ว่าแอปเปิลจะไม่มีทางเลือกอื่นเลย นิสสันล่าสุดส่งสัญญาณไปยังแอปเปิลว่าพร้อมเปิดโต๊ะเจรจาในการพัฒนาโปรเจ็คร่วมกัน หลัง Makoto Uchida ซีอีโอถูกถามถึงความสนใจจะร่วมงานกับแอปเปิลจากสื่อ ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ Nikkei ของญี่ปุ่นรายงานด้วยว่าแอปเปิลอาจไม่ได้พึ่งพาแค่ผู้ผลิตรถยนต์แค่ค่ายเดียว แต่มีการเจรจากับซัพพลายเออร์ญี่ปุ่นด้วย ที่มา - WSJ
# ญี่ปุ่นพบปัญหาเข็ม low dead space ขาดตลาด ทำให้ฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ รัฐมนตรีสาธารณสุขญี่ปุ่นยอมรับว่าอาจจะไม่สามารถจัดหาเข็มฉีดยาแบบ low dead space ได้มากพอ ทำให้ต้องใช้เข็มธรรมดาที่ฉีดได้ 5 โดสต่อขวดแทนที่จะเป็น 6 โดส เหลือวัคซีน Pfizer ใช้งานได้สำหรับประชากร 60 ล้านคน หรือ 120 ล้านโดส ก่อนหน้านี้ Pfizer เคยระบุว่าสามารถเร่งกำลังผลิตได้จนถึง 2,000 ล้านโดสภายในปี 2021 แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือต้องใช้เข็มแบบเหลือยาค้างในเข็มน้อย (low dead space) ทำให้เพิ่มปริมาณโดสได้ถึง 20% แต่ภาวะเข็ม low dead space ขาดตลาดทั่วโลกเช่นนี้ทำให้คาดเดาได้ยากว่าจะมีผู้ได้รับวัคซีนจริงๆ เป็นจำนวนเท่าใด ทางรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าจะใช้เข็ม low dead space เท่าที่หาได้ ทำให้วัคซีนบางขวดจะฉีดได้ 6 โดส แต่ก็แจ้งล่วงหน้าว่าเข็มจะไม่พอใช้งานแม้จะขอให้โรงงานเร่งกำลังผลิตแล้ว ที่มา - Japan Times ภาพวัคซีน BNT162b2 จาก BioNTech
# Pedro Pascal และ Bella Ramsey ได้รับบท Joel / Ellie ในซีรีย์ The Last of Us ของ HBO HBO ประกาศคว้าสิทธิสร้างซีรีย์ The Last of Us เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยผู้กำกับเกม Neil Druckmann มาเขียนบทให้ ล่าสุดทีมแคสต์ตัวละครเอกได้แล้ว และคนที่จะมารับบทเป็น Joel และ Ellie คือ Pedro Pascal จาก The Mandalorian, Narcos, Game of Throne และ Bella Ransey ที่เคยรับบท Lyanna Mormont จาก Game of Throne ตามลำดับ HBO ยังไม่กำหนดวันฉายของซีรีย์ The Last of Us ที่มา - Deadline, Hollywood Reporter Image courtesy of shutterstock and SIE Image courtesy of bellaramsey and SIE
# ซอสโค้ด The Witcher 3 ที่หลุดออกมาเตรียมถูกประมูล, แฮกเกอร์โพสต์ซอสโค้ด Gwent แล้ว เพียง 2 วันหลัง CD Projekt RED ออกมาเปิดเผยว่าถูกเจาะเข้าระบบหลังบ้านและมีข้อมูลถูกดึงออกไป ล่าสุดชื่อทวิตเตอร์ด้านความปลอดภัยที่ชื่อว่า vxunderground พบซอสโค้ดของเกม Gwent, Cyberpunk 2077, Thronebreaker, The Witcher 3 และ The Witcher 3 RTX (ที่ยังไม่วางขายสำหรับคอนโซลยุคใหม่) บนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตามมีแค่ Gwent เท่านั้นที่ซอสโค้ดถูกปล่อยบนโลกออนไลน์ แต่ Cyberpunk 2077 และ The Witcher 3 ถูกปล่อยออกมาเพียงส่วนเดียวเป็นตัวอย่างเท่านั้น โดยชุดข้อมูลทั้งหมดถูกเปิดประมูลด้วยราคาเริ่ม 1 ล้านเหรียญ และแฮกเกอร์จะขายทันทีถ้าจ่าย 7 ล้านเหรียญ ที่มา - @vxunderground
# Motorola จับมือ Bullitt Group ผู้ผลิต rugged device เตรียมทำมือถือ Moto รุ่นถึก Motorola เซ็นดีลกับ Bullitt Group บริษัทสัญชาติอังกฤษ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายมือถือสายถึก (rugged device) ให้กับแบรนด์ Cat และ Land Rover ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดย Bullitt Group ระบุในแถลงการว่าจะเปิดเผยข้อมูลมือถือ rugged ที่ทำร่วมกับแบรนด์ Motorola ภายในไตรมาสนี้ Motorola เอง เคยทำมือถือที่ใช่กระจกกันกระแทกมาสองรุ่น คือ Moto Z Force และ Moto Z2 Force ในปี 2016-2017 คงต้องลุ้นว่าสองรุ่นนี้จะเข้ามาทำตลาดในไทยหรือไม่ และจะมีแผนการอัพเดตซอฟต์แวร์เป็นอย่างไร เพราะ Motorola ยืนยันอัพเดต Android สองเวอร์ชั่นให้กับมือถือรุ่นเรือธงเท่านั้น ที่มา - Bullitt Group via GSM Arena
# Ubisoft ยอมรับ Rainbow Six Quarantine อาจต้องเปลี่ยนชื่อ เพราะมีคำว่า Quarantine Yves Guillemot ซีอีโอของ Ubisoft ตอบคำถามในงานแถลงผลประกอบการไตรมาสล่าสุด ถึงเกม Rainbow Six Quarantine ภาคใหม่ ยอมรับว่าอาจต้องเปลี่ยนชื่อเกม เพราะมีคำว่า "Quarantine" ที่ภาพลักษณ์อาจไม่ดีนักในยุคที่มีโรคระบาด และคนจำนวนมากต้องถูกกักตัว Rainbow Six Quarantine เปิดตัวช่วงกลางปี 2019 (ก่อน COVID-19) โดยพัฒนามาจากโหมด Outbreak ในเกมภาคก่อนหน้า Rainbow Six Siege เป็นการเล่นแบบทีม 3 คน เอาตัวรอดจากมนุษย์ที่ถูกสิงโดยเชื้อปรสิตจากนอกโลก เดิมทีเกมมีกำหนดออกในปี 2020 แต่เลื่อนออกไปเพราะ COVID-19 (ประกาศข่าวเลื่อนพร้อม Far Cry 6) โดย Guillemot ให้ข้อมูลว่าเกมจะออกภายในวันที่ 30 กันยายน 2021 ที่มา - IGN
# กูเกิลออกหลักสูตร Android Development with Kotlin ให้ครูนำไปสอนนักเรียนต่อ กูเกิลออกหลักสูตรพัฒนาแอพ Android ด้วยภาษา Kotlin เพื่อให้ครูสามารถนำไปสอนนักเรียนต่อได้ หลักสูตรนี้เป็นการอัพเดตหลักสูตร Android Development เดิมในปี 2018 ให้ทันสมัย เปลี่ยนมาใช้ภาษา Kotlin เป็นหลัก และใช้เทคนิคใหม่ๆ ของโลก Android เช่นการเรียกใช้ไลบรารี Android Jetpack สิ่งที่กูเกิลมีให้คือ สไลด์สำหรับครูใช้สอน, แบบทดสอบเขียนโค้ดจริง, โค้ดตัวอย่างบน GitHub โดยครูสามารถนำไปดัดแปลงให้เหมาะกับวิธีสอนของตัวเอง ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ Android หรือ Kotlin มาก่อน แต่ควรมีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมแบบ object-oriented, ใช้โปรแกรม IDE และ GitHub เป็น กูเกิลบอกว่าจับมือกับสถาบันศึกษาหลายแห่งในอินเดีย เพื่อนำหลักสูตรนี้ไปใช้สอนนักเรียนจริงๆ ในช่วงเปิดเทอมใหม่ที่จะถึงนี้ ข้อมูลและเอกสารสำหรับครูผู้สอนสามารถดูได้จาก Android Development Resources for Educators ส่วนนักพัฒนาและผู้สนใจทั่วไปที่อยากเรียนวิชา Android แบบออนไลน์ มีให้เรียนผ่านเว็บ Android Developers Training แยกต่างหากอยู่แล้ว และกูเกิลยังเพิ่ม Android Study Jam ระบบการเรียนด้วยตัวเองเป็นกลุ่ม สำหรับคนที่อยากเรียนด้วยตัวเองแต่ไม่มีพื้นการเขียนโปรแกรมมาก่อนด้วย กูเกิลยังมีวิดีโอเล่าเรื่องนักพัฒนา 2 คน ที่ฝึกการเขียนโปรแกรมด้วยตัวเองผ่านคอร์สออนไลน์ และสามารถเข้าสู่อาชีพนี้ได้สำเร็จ ที่มา - Google
# [ข่าวลือ] ไมโครซอฟท์สนใจซื้อกิจการ Pinterest Financial Times รายงานข่าวว่าไมโครซอฟท์เจรจาซื้อกิจการ Pinterest มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่การเจรจาไม่ได้คืบหน้ามากนัก ปัจจุบัน Pinterest เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq มีมูลค่าบริษัทตามราคาหุ้นที่ราว 51 พันล้านดอลลาร์ หากไมโครซอฟท์ซื้อกิจการ Pinterest สำเร็จขึ้นมาจริงๆ ก็จะกลายเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟท์ (สถิติเดิมคือซื้อ LinkedIn 26 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016) ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าไมโครซอฟท์จะซื้อ Pinterest ไปทำไม เพราะธุรกิจไม่เกี่ยวข้องกันมากนัก ต่างจากกรณีของ LinkedIn ที่ฐานลูกค้าฝั่งธุรกิจค่อนข้างใกล้เคียงกับไมโครซอฟท์ ที่มา - Financial Times, ภาพจาก Pinterest
# ทวิตเตอร์บอก โดนัลด์ ทรัมป์ โดนแบนตลอดไป แม้เขาลงเลือกตั้งอีกในสมัยหน้าก็ตาม Ned Segal ซีเอฟโอของทวิตเตอร์ให้สัมภาษณ์กับ CNBC นักข่าวถามคำถามว่า ทวิตเตอร์จะมีท่าทีอย่างไรในระยะยาวต่อการแบนโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ Segal บอกว่า ตามนโยบายของทวิตเตอร์ ไม่ว่าผู้ใช้คนนั้นจะเป็นใคร หสกเขาถูกลบออกไปจากทวิตเตอร์แล้ว เท่ากับถูกลบออกตลอด Segal บอกเพิ่มด้วยว่า นโยบายของทวิตเตอร์ คือไม่ให้คนมาใช้งานเพื่อยุยงส่งเสริมความรุนแรง หากมีใครทำเช่นนั้น ก็ต้องถูกลบ และตามนโยบายของทวิตเตอร์แล้วนั้น ไม่อนุญาตให้คนนั้นๆ กลับมาได้อีก ทรัมป์โดนแบนจากทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์ม็อบสนับสนุนทรัมป์บุกรัฐสภาสหรัฐฯเพียงสองวัน เพราะเขามีพฤติกรรมโพสต์ยุยงให้เกิดความรุนแรง ตามด้วย Facebook, Instagram, Snapchat, Twitch ภาพจาก Facebook Donald Trump ก่อนหน้านี้ Facebook โยนเรื่องให้ Oversight Board หรือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบอำนาจของ Facebook พิจารณาว่าการแบนทรัมป์เหมาะสมหรือไม่ และมีวิจัยด้วยว่า หลังแบนทรัมป์ ข้อมูลปลอมตามโซเชียลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ที่มา - Techcrunch, Mashable
# Facebook จะทดสอบลดเนื้อหาการเมืองบนหน้าฟีดในแคนาดา, บราซิล, อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ จากประเด็นมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก บอก Facebook จะหยุดแนะนำเนื้อหากลุ่มและเพจการเมือง วันนี้ Facebook มีแถลงเพิ่ม โดยบอกว่าหนึ่งในเสียงสะท้อนของผู้ใช้งานคือ ไม่ต้องการให้เนื้อหาการเมืองเข้ามาควบคุมหรือ take over หน้าฟีด และจะเริ่มทดลองลดเนื้อหาการเมืองในกลุ่มผู้ใช้บางส่วนในแคนาดา, บราซิล, อินโดนีเซียในสัปดาห์นี้ และจะเริ่มทดลองใช้ในสหรัฐฯในสัปดาห์ถัดไป ในระหว่างทดสอบใช้งาน Facebook ก็จะเก็บฟีดแบคจากผู้ใช้งานไปเรื่อยๆ เพื่อมองหาแนวทางที่ดีที่สุดในการลดเนื้อหาทางการเมือง Facebook ยืนยันว่าจะไม่ลบเนื้อหาทางการเมืองออกโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการรักษาความสามารถของผู้คนในการค้นหาและโต้ตอบกับเนื้อหาทางการเมืองบน Facebook ในขณะที่ยังคงเคารพการเสพเนื้อหาด้านอื่นของผู้ใช้คนอื่นๆ ด้วย Facebook บอกด้วยว่าจากการวิจัย พบว่าเนื้อหาการเมืองปรากฏบนหน้าฟีด 6% จากเรื้อหาทั้งหมด แต่หน้าฟีดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และ Facebook ก็มีเครื่องมือจำกัดเนื้อหา ซ่อนเนื้อหาที่ไม่อยากเห็น หรือการทำงานของอัลกอริทึมของแต่ละโปรไฟล์ ที่มา - Facebook
# [ลือ] Facebook กำลังพัฒนาแอปสนทนาเสียง เพื่อแข่งกับ Clubhouse มีรายงานจาก The New York Times อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องสองคน ว่า Facebook กำลังพัฒนาแอปสนทนาเสียง ที่มีรูปแบบการทำงานคล้ายกับ Clubhouse แอปโซเชียลที่กำลังมาแรงในตอนนี้ โดยใช้โค้ดเนมภายในว่า Fireside เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Facebook ก็ได้เข้าร่วมใช้งาน Clubhouse แต่ร่วมสนทนาในหัวข้อเกี่ยวกับ AR และ VR ตัวแทนของ Facebook ไม่ได้ออกมายืนยันข่าวดังกล่าว แต่บอกว่าบริษัทให้บริการเชื่อมต่อผู้คนด้วยเสียงและวิดีโอมานานแล้ว แต่บริษัทก็ยังคงหาแนวทางใหม่เพื่อเพิ่มประสบการณ์ใช้งาน ที่มา: The New York Times
# Uber ไตรมาส 4/2020 รายได้จาก Delivery โต 3 เท่า Uber รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ปี 2020 มีการจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์ม (Gross Booking) 17,152 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน แบ่งเป็นบริการด้านการเดินทาง 6,789 ล้านดอลลาร์ ลดลง 47% และเดลิเวอรี 10,050 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 128% คิดเป็นรายได้ส่วนของบริษัท 3,165 ล้านดอลลาร์ ลดลง 16% โดยรายได้การเดินทาง ลดลง 52% (1,471 ล้านดอลลาร์) และเดลิเวอรีเพิ่มขึ้น 224% (1,356 ล้านดอลลาร์) สุทธิแล้วขาดทุน 968 ล้านดอลลาร์ ตามบัญชี GAAP จากตัวเลขข้างต้นจะเห็นว่ารายได้ส่วนบริการการเดินทาง กลับมาสูงกว่าเดลิเวอรีอีกครั้ง หลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ส่วนนี้ลดลงไปมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง Dara Khosrowshahi ซีอีโอ Uber ก็กล่าวในช่วงแถลงผลประกอบการว่าเขาเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในหลายเมือง บริการเหมาจ่าย Uber Pass และ Uber Eats Pass มีผู้สมัครใช้งานแล้วมากกว่า 5 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้ทำให้ Khosrowshahi มองว่า Uber จะมีค่าใช้จ่ายการตลาดลดลง ที่มา: Uber และ CNBC
# Microsoft Teams เพิ่มสองแอปใหม่ Bulletin และ Milestone ไมโครซอฟท์ประกาศเพิ่ม 2 แอปเสริมใน Microsoft Teams สำหรับบริหารจัดการการทำงาน ซึ่งทั้งสองแอปพัฒนาขึ้นจากแพลตฟอร์ม Power Apps องค์กรและทีมจึงสามารถปรับแต่งรายละเอียดในการใช้งานได้ด้วย ของใหม่ที่เพิ่มมา 2 อย่าง มีดังนี้ Bulletin สำหรับสร้างประกาศ แชร์ข้อมูลข่าวสารสำคัญ โดยแทรกภาพหรือวิดีโอเข้าไปได้ รวมทั้งรองรับการแสดงผลบนมือถือ จึงใช้กับการแจ้งข้อมูลสำคัญให้คนที่อยู่หน้างาน อาทิ สภาพอากาศ หรือสถานะของระบบ ได้ด้วย Milestone เป็นหน้าหลักแสดงสถานะล่าสุดของแต่ละงาน ว่าดำเนินการไปถึงขั้นตอนใดแล้ว และแจ้งเตือนไปยังผู้เกี่ยวข้องแต่ละส่วนงานได้ ที่มา: ไมโครซอฟท์
# โครงการ SDL เลิกใช้ Mercurial หันมาใช้ GitHub โครงการ SDL ไลบรารีมัลติมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะในวงการเกมเลิกดูแลเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองพร้อมกับย้ายระบบจัดการซอร์สโค้ดจาก Mercurial (hg) มาเป็น git บน GitHub ไลบรารี Simple DirectMedia Layer (SDL) เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 1998 หรือ 23 ปีมาแล้ว เคยใช้ระบบจัดการซอร์สโค้ดมาตั้งแต่ CVS, Subversion, และ Mercurial และก่อนย้ายมา GitHub ผู้ดูแลโครงการเช่าเซิร์ฟเวอร์บน Digital Ocean เพื่อติดตั้ง Bugzilla สำหรับติดตามบั๊กกันเอง Ryan Gordon ผู้พัฒนาหลักระบุว่าตัวเขาเองไม่ได้เป็นแฟน git นักแต่นักพัฒนาจำนวนมากชินกับ git และ GitHub มากกว่า ขณะเดียวกัน Bugzilla ก็ไม่ได้ดูแลซอฟต์แวร์ดีนักโดยบางครั้งการอัพเดต MySQL ก็ทำซอฟต์แวร์พังได้ โดยรวมแล้วการดูแลโครงสร้างพื้นฐานเองก็เป็นงานหนักขึ้นเรื่อยๆ Mercurial เป็นระบบจัดการเวอร์ชั่นซอฟต์แวร์แบบกระจายตัวที่เกิดมาในช่วงปี 2005 ใกล้ๆ กับ git และ Bazaar (bzr) แต่ความนิยมของ git ก็นำหน้าไปเรื่อยๆ จนแทบกลายเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมในทุกวันนี้ ที่มา - The Register
# รู้ก่อนกดจอง Starlink มีค่าแรกเข้า 18,000 บาทและค่าส่งจานอีก 2,200 บาท นอกเหนือจากค่ารายเดือน เมื่อวานนี้ Starlink เริ่มเปิดให้กดจองคิวใช้บริการหลายคนอาจจะสนใจกดจองกัน แต่เมื่อไปสำรวจพื้นที่ที่ Starlink น่าจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ก็พบว่าบริษัทแจกแจงรายละเอียดเพิ่มขึ้น เช่นในสหราชอาณาจักร ทาง Starlink ระบุว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2021 นี้ และเมื่อแจกแจงค่าบริการเป็นเงินปอนด์ จะมีค่าจาน 439 ปอนด์หรือ 18,000 บาท, ค่าส่งจาน 54 ปอนด์หรือ 2,200 บาท และค่าบริการรายเดือนอีก 89 ปอนด์หรือ 3,700 บาท ปกติสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในสหราชอาณาจักรมีราคาสูงกว่าในสหรัฐฯ พอสมควร โดยก่อนหน้านี้ในสหรัฐฯ Starlink คิดค่าอุปกรณ์ 499 ดอลลาร์หรือประมาณ 15,000 บาทรวมค่าขนส่ง และค่าบริการเดือนละ 99 ดอลลาร์หรือ 3,000 บาท สำหรับประเทศไทยเว็บไซต์ Starlink ระบุว่าน่าจะขยายพื้นที่จนครอบคลุมภายในปี 2022 ยังไม่บอกค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากค่าจองเท่านั้น
# Uber จับมือ Walgreens รับคนไปฉีดวัคซีน COVID-19 ไม่เก็บค่าโดยสาร Uber จับมือ Walgreens เตรียมรับส่งผู้โดยสารไปฉีดวัคซีน COVID-19 ฟรี เน้นคนในชุมชนด้อยโอกาส เริ่มเปิดตัวเป็นโครงการนำร่องในบางเมืองในชิคาโก, เท็กซัส เมื่อประชาชนได้รับการยืนยันการนัดหมายฉีดวัคซีนจาก Walgreens แล้ว จะได้สิทธิ์จองรถ Uber ฟรีเพื่อพาไปส่งยังคลินิกด้วย ซึ่งทาง Walgreens ได้ขยายคลีนิกนอกสถานที่เพื่อให้เข้าถึงชุมชนด้อยโอกาสมากขึ้น การร่วมมือกับ Walgreens นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ Uber เคยให้คำมั่นสัญญาไว้เมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 ว่า จะวิ่งรถโดดยสารฟรีพร้อมทั้งส่วนลดค่าโดยสาร 10 ล้านเที่ยวเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงวัคซีน ภาพจาก Walgreens ที่มา - Engadget
# นักพัฒนาร้อง Apple จัดการแอปปลอมบน App Store ที่หากินจากระบบ subscription รายสัปดาห์ Kosta Eleftheriou ผู้พัฒนาแอป FlickType แอปคีย์บอร์ดแบบปาด (swipe) บน Apple Watch ออกมาทวีตแฉปัญหาบน App Store ว่ามีแอปคู่แข่งของเขาและแอปอื่นๆ ที่ใช้งานไม่ได้จริง แต่กลับทำเงินได้เดือนละหลายแสนดอลลาร์สหรัฐ จากระบบจ่ายเงินแบบ subscription รายสัปดาห์ (ที่เมื่อกดจ่ายแล้ว ถึงจะยกเลิกก็ยังเสียเงิน) โดยแอปคีย์บอร์ดปลอมบางแอปถึงกับขโมยวิดีโอโฆษณาของเขาไปใช้เป็นโฆษณาบน Facebook ของตัวเองเลยทีเดียว Eleftheriou ระบุว่าแอป KeyWatch แอปคีย์บอร์ดบน Apple Watch ที่ลอกเลียนแอปเขา แต่ใช้งานไม่ได้จริง โดยมีเพียงหน้าขาวๆ พร้อมปุ่ม “Unlock Now” ขึ้นมาให้ผู้ใช้จ่าย subscription ที่แม้จ่ายแล้วก็ยังใช้งานไม่ได้อยู่ดี และก่อนหน้านี้ทำเงินได้กว่า 2 ล้านดอลลาร์ต่อปี และหลอกผู้ใช้ได้เรื่อยๆ ด้วยรีวิวและการให้เรตติ้งปลอม ภาพหน้าจอแอป KeyWatch จาก Eleftheriou Apple ลบแอป KeyWatch ออกไปจาก App Store เมื่อ Eleftheriou ออกมาแฉ แต่เขาก็บอกว่าไม่ได้มีเพียงแอปนี้เท่านั้นที่หากินแบบนี้ อีกแอปจากผู้พัฒนาเดียวกันอย่าง GPS Speedometer ก็ยังทำเงินได้กว่า สองแสนดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนอยู่ นอกจากนี้แอปจากผู้พัฒนาอื่นเช่น Star Gazer+ ที่ผู้ใช้ต้องจ่าย subscription ราคาถึง 9.99 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์เพื่อใช้งาน แม้จะใช้งานได้จริง (แบบไม่ค่อยดีนัก) แต่รีวิวแย่ๆ และคำเตือนจากผู้ใช้ ก็ถูกกลบโดยรีวิวห้าดาวปลอม ที่ Eleftheriou ระบุว่าขึ้นเป็นรายการแรก เพราะผู้พัฒนาซื้อคนมากดให้คะแนนรีวิวปลอมนี้ว่า “helpful” แถมยังมีการให้เรตติ้ง 5 ดาว กว่าเจ็ดหมื่นครั้ง ที่ Eleftheriou เปิดชาร์ตให้ดู ว่าไม่ใช่การให้ดาวตามปกติจากผู้ใช้ทั่วไปแน่นอน ผู้พัฒนารายอื่นเข้ามาร่วมทวีตแนะนำวิธีแก้ไขปัญหา เช่น Marco Arment ผู้สร้างแอป InstaPaper ที่ระบุว่า Apple ควรจะตัด subscription รายสัปดาห์ออก แล้วให้เหลือต่ำสุดเป็นรายเดือนไปซะ หรือ David Barnard ผู้ก่อตั้ง Contrast ก็รีทวีตดีไซน์หน้าต่างยืนยันการสมัคร subscription ที่เขาออกแบบไว้ในปี 2019 ให้มียอดเงินที่ผู้ใช้ต้องจ่าย ละระยะเวลาสมาชิกอยู่ด้านบนสุด รวมถึงใช้ตัวอักษรที่ใหญ่ขึ้นและชัดเจนขึ้น Eleftheriou ระบุในทวิตเพิ่มเติมว่า Apple พยายามลบแอปที่เขาแฉออกไปเรื่อยๆ แต่ยังมีแอปอีกมากที่ทำเงินจากวิธีนี้ (subscription รายสัปดาห์ + รีวิวปลอม) หลังจากนั้นเขาก็ทวีตข้อความโฆษณาที่ Apple เคยบอกว่า App Store ปลอดภัยแค่ไหนแนบมาด้วย และบอกว่าอยากให้ Apple ควรเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหานี้มากขึ้นซะที ที่มา - @keleftheriou, 9to5Mac
# Apple ประกาศโครงการเปลี่ยนแบตฯ MacBook Pro ปี 2016-17 ที่เจอปัญหาชาร์จแบตเกิน 1% ไม่ได้ แอปเปิลประกาศโครงการเปลี่ยนแบตเตอรี่ฟรี สำหรับผู้ใช้ MacBook Pro รุ่นปี 2016 และ 2017 ที่พบปัญหาแบตเตอรี่ชาร์จเกิน 1% ไม่ได้ ซึ่งแอปเปิลระบุว่ามีลูกค้าส่วนน้อยที่พบปัญหานี้ หากผู้ใช้งานพบปัญหาดังกล่าว สามารถตรวจสอบว่าเครื่องเข้าเกณฑ์กลุ่มปัญหานี้หรือไม่ สำหรับ Big Sur ไปที่เมนู Apple เลือก System Preferences > Battery > Battery Health ถ้าสถานะระบุว่า Service Recommended (แนะนำให้เข้ารับบริการ) ให้ติดต่อ Apple Store หรือศูนย์บริการ AASP เพื่อรับการเปลี่ยนแบตเตอรี่ฟรี โดยแอปเปิลจะตรวจสอบคอมพิวเตอร์อีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าเครื่องเข้าเกณฑ์ แต่หากระบุว่าสถานะปกติ แปลว่าแบตเตอรี่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ กรณี macOS เป็นเวอร์ชัน Catalina หรือเก่ากว่านั้น ให้กดปุ่ม Option ค้างไว้แล้วคลิกที่ไอคอนแบตเตอรี่ในแถบเมนูเพื่อดูสถานะ ทั้งนี้แอปเปิลแนะนำให้ผู้ใช้งานอัพเดต macOS Big Sur เป็นเวอร์ชันล่าสุด 11.2.1 ซึ่งแก้ไขปัญหาการชาร์จแบตเตอรี่แล้ว หรือเลือกอัพเดตเสริมสำหรับ macOS Catalina 10.15.7 ที่มา: The Verge และแอปเปิล
# Photoshop, Illustrator และ Fresco เพิ่มปุ่มเชิญคนมาแก้งานอาร์ตเวิร์คด้วยกัน Adobe เพิ่มปุ่ม Invite to Edit เป็นไอคอนรูปคนและเครื่องหมายบวก เชิญคนอื่นมาร่วมแก้ไขงานอาร์ตเวิร์คด้วยกัน ทั้งใน Photoshop, Illustrator และ Fresco (แอปพลิเคชั่นวาดรูปสมจริง) โดยเชิญเข้ามาได้แค่คนเดียว ปุ่ม Invite to Edit ใช้งานได้ทั้งแอปบนเดสก์ทอป, iPad และ iPhone ในกรณีของ Fresco นอกจากนี้ Adobe ยังเพิ่มฟังก์ชั่น Preset sync ใน Photoshop แบคอัพข้อมูลแพทเทิร์น, บรัช, สไตล์อาร์ตเวิร์คที่ใช้งานบ่อยๆ ไว้บนคลาวด์ได้ เปิดใช้งานในเวอร์ชันเดสก์ท็อปบน Mac และ Windows ที่มา - Adobe
# แอปนำทาง Waze เพิ่มการรองรับ Audible ฟัง audiobook ระหว่างขับรถได้แล้ว หลังจากเชื่อมกับ Google Assistant และ Spotify ไปแล้ว ล่าสุด Waze แอปนำทางแบบ crowd-sourcing ประกาศความร่วมมือกับ Amazon รองรับ Audible ในตัวแอปแล้ว ผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิก Audible อยู่แล้ว สามารถเลือก Audible ในรายการตัวเลือกแอปเล่นเพลงได้เลยเหมือนกับเวลาเลือก Spotify ในทางตรงกันข้าม หากเปิดแอป Audible ก็จะได้รับการแจ้งเตือนทิศทางเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาจาก Waze ในแอปเช่นกัน ที่มา - Audible
# รีวิว Asus TUF Gaming A15 สเปคครบเครื่องในราคาที่แพงขึ้นกว่าเดิม แล็บท็อป TUF Gaming ที่เป็นแบรนด์เกมมิ่งรุ่นเริ่มต้น ราคาเข้าถึงได้ของ ASUS ในปีนี้มีการอัพเกรดที่มากขึ้นกว่าเดิมในปีที่แล้วโดยเฉพาะการ์ดจอ จากที่ปีที่แล้วใช้แค่รุ่นเก่ากลาง ๆ อย่าง GTX 1660Ti แต่ปีนี้ ASUS ให้มาเกือบสุดที่ RTX 3070 แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่กระโดดขึ้นมากว่า 10,000 บาทเลย แต่ในภาพรวมก็ถือเป็นแล็บท็อปเกมมิ่งที่น่าสนใจรุ่นหนึ่ง เพราะสเปคที่ไปเกือบสุด แต่ค่าตัวค่ำกว่ารุ่นสเปคใกล้ ๆ กันในแบรนด์ ROG ด้วยซ้ำไป ดีไซน์และสเปค ในแง่ของดีไซน์อาจเป็นหนึ่งในจุดด้อยของซีรีย์ TUF Gaming ที่ดูเน้นแสดงความอึดถึกทน ไม่ได้เน้นไปที่ความโฉมเฉี่ยวเหมือนรุ่นใหญ่อย่าง ROG ซึ่งก็เข้าใจได้ในแง่การวางตัวสินค้า โดยดีไซน์ขชอง TUF Gaming A15 (FA506QR-AZ001T) รุ่นที่ผมได้มารีวิวยังคงดีไซน์เอาไว้แบบเดียวกันกับปีที่แล้ว ส่วนสเปคก็อย่างที่เกริ่นไปว่าค่อนข้างสุด ซีพียู AMD Ryzen 7 5800H แรม 16GB DDR4 3200MHz (8GB x2) อัพได้สูงสุด 32GB การ์ดจอ GeForce RTX 3070 8GB GDDR6 SSD NVMe PCIe 3.0x4 ความจุ 1TB และมีสล็อต M.2 เหลือให้เพิ่มอีกสล็อต หน้าจอ 15.6 นิ้ว FHD IPS รีเฟรชเรท 240Hz รองรับ sRGB 100.00% เบนช์มาร์ค การใช้งานเล่นเกมจริง หนึ่งในเกมที่น่าจะกินสเปคที่สุดแล้วตอนนี้คือ Cyberpunk 2077 ผมเล่นด้วยการตั้งค่า Ultra ทุกอย่างรวมถึง Ray Tracing ด้วย และลองไปวิ่งเล่นในเมืองที่ asset ค่อนข้างเยอะ ผลออกมาคือ FPS เฉลี่ยอยู่ที่ราว 40 FPS ซึ่งก็ถือว่าไม่แย่ ส่วนหากออกนอกเมืองที่เป็นทะเลทราย ก็มีขึ้นไปที่ 60-70 อยู่เหมือนกัน ส่วนอีกเกมคือ Assassin’s Creed: Odyssey (รอ Valhalla ลดราคา) ที่แอบกินสเปคอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ตั้งค่า Ultra ทุกอย่าง และลองรันด้วยเบนช์มาร์คผลออกมาตามนี้ อีกเกมคือ GTA V ที่ตั้งสุดทุกอย่างและเปิด MSAA ที่กินพลังฮาร์ดแวร์มากกว่า FXAA ผลเบนช์มาร์คเท่าที่สังเกตต่ำสุดจะอยู่ราว 50-60FPS เฉลี่ย ๆ ก็อยู่ที่ 70-80FPS ส่วนเรื่องความร้อน แน่ล่ะว่าตอนเล่นเกมหนัก ๆ และพัดลมตัวเครื่องเปิดสุด เสียงดังอยู่เหมือนกัน แต่สำหรับอุณหภูมิบนคีย์บอร์ดถือว่าไม่ร้อนเกินไปเลย สามารถใช้งานต่อเนื่องได้สบาย อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่ง (อาจจะไม่ถึงกับเป็นปัญหาเสียทีเดียว) ที่เจอคือลำโพงของ A15 รุ่นนี้ไม่ได้ดังหรือเด่นชัดมากนัก แม้ ASUS จะบอกว่ามีการปรับปรุงเรื่องเบสหรือความดังขึ้นก็ตาม คิดว่าต่อลำโพงนอกหรือใส่หูฟังน่าจะได้อรรถรสในการเล่นมากกว่า Asus TUF Gaming A15 (FA506QR-AZ001T) ราคา 46,990 บาท ส่วนรุ่น 512GB (FA506QR-HN035T) ราคา 42,990 บาท
# ซีอีโอ Riot Games ถูกอดีตผู้ช่วยฟ้องข้อหาล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน Sharon O’Donnell อดีตผู้ช่วยผู้บริหารของซีอีโอ Nicolo Laurent แห่ง Riot Games เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรณีถูก Nicolo Laurent ล่วงละเมิดทางเพศ สมัยยังทำงานอยู่กับ Riot ก่อนเธอจะถูกไล่ออกในปี 2020 ในคำฟ้อง O’Donnell ระบุว่า Laurent พูดจาสองแง่สองง่ามกับเธอ เช่น ชวนเธอมาที่บ้านโดยใช้ข้อความไม่สุภาพ (“cum over”) เพื่อเป็นการพูดโดยนัยถึงการมีเซ็กส์ บอกว่าเขาไซส์เอ็กซ์แอล แต่แค่ชอบอะไร “ฟิตๆ” (that he really was a size extra-large but that he just liked a ‘tight fit’) ใช้แขนโอบเอวเธอก่อนชวนเธอไปเที่ยว, ถามเธอว่าดูแลเขาตอนอยู่บ้านคนเดียวได้มั้ย และอื่นๆ นอกจากนี้ยังวิจารณ์รูปร่างของเธอ บอกให้เธอทำตัวเหมือนผู้หญิงมากขึ้นและให้ระวังคำพูดตอนพูดกับเขา และยังเคยบอกให้พนักงานหญิงคนอื่น จัดการกับความเครียดช่วง COVID-19 โดยการไปมีลูกซะ O’Donnell ระบุว่าเมื่อเธอปฏิเสธการรุ่มร่ามของ Laurent บ่อยครั้งเข้า เธอก็ถูกลงโทษต่างๆ ในที่ทำงาน จนสุดท้ายก็ถูกไล่ออก เธอยังบอกว่ายังได้ค่าจ้างในช่วงทำงานไม่ครบ ไม่ได้รับค่าโอที และตอนทำงานอยู่ก็ไม่มีเวลาพักเบรกเลยอีกด้วย ฝั่ง Riot Games ระบุว่า เมื่อเป็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับผู้บริหาร บอร์ดบริหารจึงให้บริษัทกฎหมายภายนอกเข้ามาสืบสวนกรณีนี้โดย Laurent จะให้ความร่วมมือเต็มที่ พร้อมระบุว่าการเลิกจ้าง O’Donnell เป็นไปเพราะมีเรื่องร้องเรียนจากพนักงานอื่นมากมาย และบริษัทมีหลักฐานยืนยันได้ ก่อนหน้านี้ Kotaku เคยตีแผ่เรื่องปัญหาการเหยียดเพศ และสังคมชายเป็นใหญ่ใน Riot Games ไปเมื่อปี 2018 โดยจบลงที่ Riot Games ต้องจ่ายเงินรวมกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับพนักงานหญิงทุกคน ที่ร่วมทำงานกับ Riot Games ตั้งแต่ปี 2014 และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะยังไม่จบง่ายๆ คงต้องติดตามคดีความนี้กันต่อไป ที่มา - VICE
# จอย DualSense พบปัญหาค้าง (drifing) แบบ Joy-Con แม้ DualSense จะได้รับคำชมและหลายคนตื่นเต้นกับมันมากแค่ไหน แต่สุดท้ายก็เจอปัญหาใหญ่จนได้ เมื่อผู้ใช้งานหลายคนรายงานว่า DualSense เจอปัญหา drifting หรือจอยค้างแบบเดียวกับ Joy-Con ผู้ใช้งาน u/Verity21 อัพคลิปบน Reddit แสดงปัญหานี้อย่างชัดเจนว่าตัวละครในเกมขยับทั้งที่ตัวเขาไม่ได้แตะคอนโทรลเลอร์เลย โชคดีว่าปัญหานี้อยู่ในประกันของตัวเครื่อง เจ้าของ PS5 ที่พบปัญหานี้สามารถนำ DualSense ไปเคลมที่ศูนย์โซนี่ได้เลย แต่อาจต้องลองติดต่อสอบถามซัพพอร์ทก่อนอีกครั้ง ที่มา - Kotaku
# MIUI 12.5 กินซีพียูน้อยลง ลบแอปติดเครื่องได้ เริ่มอัพเดตไตรมาสสองปีนี้ ในงานเปิดตัว Mi 11 Xiaomi ยังเปิดตัว MIUI 12.5 และพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้น โดยหลักๆ คือมีการปรับ UI ให้ใช้งานซีพียูน้อยลง ประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้น แอนิเมชั่นลื่นไหลขึ้น ผู้ใช้ยังสามารถลบแอปติดเครื่อง (system apps) ส่วนใหญ่ได้ ยกเว้นแค่แอปสำคัญบางแอป มี super wallpaper ภาพหน้าจอแบบเคลื่อนไหวตาม UI ได้ เสียงใหม่ในระบบ และปรับปรุงการทำงานรวมกับพีซีที่ใช้ Windows ให้ดีขึ้น Xiaomi จะเริ่มทยอยอัพเดต MIUI 12.5 ระลอกแรกให้กับ Mi 11, Mi 10T, Mi 10T Pro, Mi 10, และ Mi 10 Pro ในช่วงต้นไตรมาสที่สองของปีนี้ก่อน และในช่วงท้ายไตรมาสที่สอง ก็จะเริ่มทยอยอัพเดตระลอกสองให้กับมือถือรุ่นดังนี้ Mi 10 Lite 5G, Mi 10T Lite Mi Note 10 Pro, Mi Note 10, Mi Note 10 Lite Redmi Note 9T, Redmi Note 9 Pro, Redmi Note 9S, Redmi Note 9 Redmi Note 8 Pro Redmi 9 ส่วนรุ่นอื่นนอกเหนือจากนี้จะมีการประกาศเพิ่มเติมในอนาคต โดยผู้ใช้จะได้รับแจ้งเตือนให้อัพเดตเวอร์ชั่น เมื่อมือถือรองรับ ที่มา - Android Police
# Microsoft Office เพิ่มธีม Dark ตัวใหม่ ตัวเอกสารสีดำแล้ว Microsoft Office มี Dark Mode มาได้สักพัก แต่ข้อจำกัดคือสีโทนมืดเฉพาะแถบเครื่องมือเท่านั้น ตัวเอกสาร Word ยังสีขาวสว่างเหมือนธีมปกติ ไมโครซอฟท์ปรับปรุงแก้ไขปัญหานี้แล้ว ธีม Black ตัวใหม่ปรับสีเอกสารให้เป็นสีโทนมืดด้วย วิธีการใช้งานให้เลือกจาก File > Account > Office Theme > Black เท่านั้นเอกสารจะเป็นสีโทนมืดทันที แต่ถ้ายังต้องการให้เอกสารสีขาวเหมือนเดิม ก็สามารถตั้งค่าได้จากหน้า Options เช่นกัน ฟีเจอร์นี้ใช้ได้แล้วใน Microsoft Office Build 13518.10000 ตอนนี้ยังมีสถานะเป็น Beta Channel เปรียบเทียบธีมสีขาว-ดำ หน้าจอตั้งค่าเอกสารให้กลับเป็นสีขาว ที่มา - Microsoft
# ทนายความติดปัญหาปิดฟิลเตอร์ใน Zoom ไม่ได้ หน้ากลายเป็นลูกแมวเศร้าเมื่อเข้าไต่สวนออนไลน์ โรคระบาดทำให้การทำงานการเรียนต้องทำผ่านประชุมออนไลน์ การไต่สวนในศาลก็เช่นกัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถใช้งานเครื่องมือการประชุมออนไลน์ได้อย่างชำนาญ ทนายความคนหนึ่งเข้าประชุมไต่สวนผ่าน Zoom แต่ติดปัญหาตรงตั้งค่าฟิลเตอร์วิดีโอ ทำให้หน้าเขากลายเป็นฟิลเตอร์แมวหน้าเศร้า ตัวฟิลเตอร์คาดว่ามาจาก Snap Camera filter ที่สามารถใช้งานกับ Zoom ได้ และคาดว่าเป็นเพราะมีเด็กคนอื่นเข้าใช้งาน Zoom จากคอมพิวเตอร์ของทนายคนดังกล่าว โดยไม่ได้ปิดฟิลเตอร์วิดีโอ ทำให้หน้าเขากลายเป็นแมวเมื่อกดเข้าร่วมประชุม เมื่อไม่สามารถใช้งานได้เชี่ยวชาญ ทนายความคนนั้นก็ต้องทำงานต่อ เพราะกระบวนยุติธรรมยังต้องดำเนินต่อไป ทนายความคนนั้นยืนยันจะว่าความต่อ และพูดยืนยันว่าเขาไม่ใช่แมว Roy Ferguson ผู้พิพากษา นำวิดีโอนี้มาเผยแพร่ โดยบอกว่าไม่ได้เผยแพร่เพื่อล้อเลียนทนายความคนดังกล่าว แต่เผยแพร่เพื่อเป็นตัวอย่างความเป็นมืออาชีพในการอุทิศตนเพื่อกฎหมาย ที่มา - The Verge, PC Mag
# Ubisoft แจกเกมฟรีรับตรุษจีน Assassin’s Creed Chronicles: China Ubisoft ประกาศแจกเกมฟรีช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยเลือกเกมตรงธีมคือ Assassin’s Creed Chronicles: China มาแจกบน Ubisoft Store กดรับสิทธิได้ผ่าน Ubisoft Connect (Uplay เดิม) จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ Assassin’s Creed Chronicles เป็นซีรีส์แยกย่อยของ Assassin’s Creed ภาคหลัก ใช้เกมเพลย์แบบมุมมอง side-scrolling ด้านข้าง เกมมีทั้งหมด 3 ภาคคือ China, India, Russia ออกระหว่างปี 2015-2016 พัฒนาโดยสตูดิโอ Climax Studios จากอังกฤษ โดย Ubisoft ทำหน้าที่แค่จัดจำหน่ายให้ Ubisoft ยังจัดเทศกาลลดราคาเกมช่วงตรุษจีนด้วย มีเกมใหม่ๆ อย่าง Assassin’s Creed Valhalla, Watch Dogs: Legion, Immortals Fenyx Rising มาร่วมลดราคา ส่วนภาคก่อนหน้าอย่าง Origins หรือ Odyssey ก็ลดมากถึง 80-85% ที่มา - Ubisoft
# Galaxy A51 5G และ A71 5G เริ่มได้อัพเดต Android 11 แล้ว หลังอัพเดตมือถือกลุ่มเรือธง (S และ Note) ทั้งในปัจจุบันและอดีตให้เป็น Android 11 แล้ว ซัมซุงก็เดินหน้าอัพเดตมือถือระดับกลางตามมา มือถือที่ได้อัพเดตรอบนี้คือ Galaxy A51 5G, A71 5G, M30s, M31s ทั้งหมดได้อัพเดตรอมเป็น One UI 3.0 พร้อมแพตช์รอบเดือนมกราคม 2021 มาเรียบร้อยแล้ว ตามแผนที่ซัมซุงเคยประกาศไว้ จะทยอยอัพเดต Android 11 ไปจนถึงมือถือรุ่นล่างๆ อย่าง Galaxy A01 Core เลยด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้ เว็บสาย Android หลายแห่งก็ออกมาชื่นชมซัมซุงเรื่องการอัพเดตที่รวดเร็วขึ้นมาก ที่มา - Android Police
# Nothing บริษัทใหม่ของ Carl Pei รับเงินลงทุนจาก Alphabet, สินค้าตัวแรกคือหูฟังไร้สาย Nothing บริษัทใหม่ของ Carl Pei ผู้ร่วมก่อตั้ง OnePlus ประกาศรับเงินลงทุน Series A 15 ล้านดอลลาร์จากนักลงทุนหลายราย นำโดย GV บริษัทลงทุนของ Alphabet (ชื่อเดิมคือ Google Ventures ตอนหลังเปลี่ยนเป็นชื่อย่อ GV) ตอนนี้ Nothing ระดมทุนได้แล้วทั้งหมด 22 ล้านดอลลาร์ Pei ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg เปิดเผยว่าสินค้าตัวแรกของ Nothing คือหูฟังไร้สาย แต่ก็จะขยายไปยังสินค้าประเภทอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด้านเสียงด้วย เป้าหมายในระยะยาวคือสินค้าของบริษัทต้องสามารถสื่อสารกันเองได้ ที่มา - Nothing, Bloomberg
# กองทุน Vision Fund ของ SoftBank กลับมามีกำไรสูง จากไอพีโอ Doordash และ Uber SoftBank รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2020 โดยมีไฮไลท์สำคัญคือผลตอบแทนของกองทุน Vision Fund มีกำไรสุทธิสูงถึง 844,100 ล้านเยน เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ขาดทุน เป็นผลจากสตาร์ทอัพหลายแห่งที่ SoftBank ไปลงทุน เริ่มไอพีโอเข้าตลาดหุ้น หรือมีราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงช่วงที่ผ่านมา อาทิ Doordash และ Uber Masayoshi Son ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง SoftBank นำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุนในงานแถลงผลประกอบการ บอกว่าการลงทุนของ SoftBank ช่วงที่ผ่านมา เปรียบเสมือนห่านที่ออกไข่ทองคำ และจำนวนไข่ทองคำนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นมาก นับตั้งแต่บริษัทเริ่มตั้งกองทุน Vision Fund ซึ่งตอนนี้ก็ได้เวลารับรู้ผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว จนถึงตอนนี้บริษัทในการลงทุนของ Vision Fund ได้ไอพีโอไปแล้ว 15 บริษัท อาทิ Doordash, Uber, Slack, Ping An Good Doctor เป็นต้น หากรวมการลงทุนทั้งหมดของกองทุน Vision Fund 1 และ 2 ตอนนี้ได้ลงทุนไปแล้ว 131 บริษัท ที่มา: Japan Times และ SoftBank
# Apple อัพเดต macOS Big Sur 11.2.1 แก้ปัญหาชาร์จไฟใน MacBook Pro และแก้ไขช่องโหว่ Sudo แอปเปิลออกอัพเดตย่อยของระบบปฏิบัติการ macOS Big Sur 11.2.1 ซึ่งเป็นอัพเดตที่ออกมาต่อจาก Big Sur 11.2 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ใช้ macOS สามารถอัพเดตได้ที่ส่วน Software Update ใน System Preferences ในอัพเดตนี้แอปเปิลระบุว่าได้แก้ไขปัญหาที่อาจทำให้ไม่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ มีผลกับ MacBook Pro รุ่นปี 2016 และ 2017 และยังแก้ไขช่องโหว่ CVE-2021-3156 ที่ผู้โจมตีอาจเข้าถึง root ผ่าน Sudo ได้ โดยได้อัพเดต Sudo เป็นเวอร์ชัน 1.9.5p2 แอปเปิลยังออกอัพเดต macOS Catalina 10.15.7 และ macOS Mojave 10.14.6 สำหรับ Mac รุ่นเก่าที่ไม่สามารถอัพเดตเป็น Big Sur เพื่อแก้ไขช่องโหว่นี้ด้วยเช่นกัน ที่มา: MacRumors
# Twitter ไตรมาส 4/2020 จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 192 ล้านบัญชี Twitter รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2020 รายได้รวม 1,289 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน รายได้จากโฆษณาเพิ่มขึ้น 31% เป็น 1,155 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิ 222 ล้านดอลลาร์ จำนวนผู้ใช้งานประจำทุกวันซึ่งสร้างรายได้ (mDAU - monetizable daily active users) เพิ่มขึ้น 5 ล้านบัญชีจากไตรมาสก่อนหน้านี้เป็น 192 ล้านบัญชี แบ่งเป็นผู้ใช้งานในอเมริกา 37 ล้านบัญชี และต่างประเทศ 155 ล้านบัญชี Jack Dorsey ซีอีโอ Twitter กล่าวในรายงานว่าปี 2020 ที่ผ่านมา Twitter ได้ร่วมสร้างการสนทนามากมายท่ามกลางภาวะที่ยากลำบาก และบริษัทยังมีแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มต่อไปในปี 2021 นี้ เขายังกล่าวเพิ่มเติมในช่วงแถลงผลประกอบการว่า Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่มากกว่า การสนทนาจะจำกัดแค่บางหัวข้อ หรือกับบางบัญชีผู้ใช้งานเท่านั้น ซึ่งน่าจะหมายถึงการแบนบัญชีของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มา: Twitter (pdf) และ CNBC
# Cisco ไตรมาสล่าสุด รายได้จากกลุ่ม Security, Services ยังเติบโต Cisco รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 2 ตามปีการเงินบริษัท 2021 สิ้นสุดวันที่ 23 มกราคม 2021 รายได้รวมใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 11,960 ล้านดอลลาร์ มีกำไรสุทธิแบบ GAAP 2,545 ล้านดอลลาร์ กลุ่มสินค้า Infrastructure Platform รายได้ลดลง 3% ขณะที่กลุ่มสินค้า Security มีรายได้เพิ่มขึ้น 10% และรายได้ส่วน Services เพิ่มขึ้น 2% Cisco ระบุว่าผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้โดดเด่นในไตรมาสได้แก่ Catalyst 9000 และกลุ่มสวิตช์สำหรับศูนย์ข้อมูล Scott Herren ซีเอฟโอ Cisco กล่าวว่ารายได้จากธุรกิจซอฟต์แวร์เติบโตในระดับเลขสองหลัก และมีทิศทางที่ดีเนื่องจากลูกค้าจ่ายเงินแบบ subscription มากขึ้น โดยคิดเป็น 76% ของรายได้ซอฟต์แวร์รวม ที่มา: Cisco ผ่าน ZDNet
# เปิดตัวชิป Snapdragon X65 5G ใช้กับชิปเซ็ตเรือธงปีหน้า รองรับการอัพเกรดมาตรฐาน 5G Snapdragon X60 เพิ่งเริ่มนำมาใช้งานกับชิปเซ็ต Snapdragon 888 ไม่นาน Qualcomm เปิดตัวชิปโมเด็ม Snapdragon X65 ตัวใหม่แล้ว และแน่นอนว่าเอาไว้ใช้งานคู่กับชิปเซ็ตเรือธงรุ่นใหม่ที่จะออกปลายปีนี้ ซึ่งก็น่าจะได้เห็น X65 บนสมาร์ทโฟนเรือธงปีหน้า นอกจากการรองรับความถี่ที่หลากหลาย, การผสมคลื่น (FDD-TDD CA) และรองรับทั้ง NSA, SA เหมือนเดิมแล้ว ความเร็วขาดาวน์ก็เร็วขึ้นกว่าเดิมที่สูงสุด 10Gbps (แม้จะ throughput 5G จะยังไม่ถึงก็ตาม) ที่สำคัญคือรองรับการอัพเกรดมาตรฐาน 5G ที่กำลังจะมา เช่น 3GPP Release 16 ผ่านซอฟต์แวร์อัพเดต สุดท้ายคือ X65 มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ที่ Qualcomm เรียกว่า AI Antenna Tuning ที่สำหรับตรวจจับรูปแบบการจับมือถือ และปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพของสัญญาณ ช่วยประหยัดพลังงาน เพิ่มความเร็วและจับสัญญาณได้กว้างกว่าเดิม โดย Qualcomm บอกว่า AI ช่วยให้ความแม่นยำในการตรวจจับมือที่ถือสมาร์ทโฟนได้แม่นยำขึ้น 30% ที่มา - Qualcomm
# Great Wall Motor เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการด้วยรถสันดาปฯ และรถ EV อย่างละรุ่น ช่วงค่ำวันนี้ Great Wall Motor หรือ GWM ได้จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ระบุว่าจะเปิดตัวรถยนต์ทั้งหมด 9 รุ่นใน 3 ปีนับจากนี้ โดยวันนี้เปิดตัวก่อน 2 รุ่นและจะเปิดตัวในปีนี้เพิ่มอีก 2 รุ่น ซึ่งในทีแรกอาจคาดกันไว้ว่า GWM จะทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน, รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดอย่างเดียว แต่กลับกลายเป็นว่ารถ 1 ใน 2 รุ่นที่เปิดตัววันนี้เป็นรถยนต์สันดาปภายในธรรมดา GWM ประเทศไทยระบุว่ามีแบรนด์รถยนต์ในมือทั้งหมด 4 ยี่ห้อ คือ Haval (รถ SUV), Ora (รถยนต์ไฟฟ้า), Poer (รถกระบะ) และ Wey (รถ SUV แบบเน้นความหรูหรา) รถรุ่นแรกที่เปิดตัวคือ Haval H6 รถยนต์สันดาปภายในแบบ SUV ที่ครองตำแหน่งรถ SUV ที่ขายดีที่สุดในประเทศจีนนาน 91 เดือนติดต่อกัน แต่ในงานเปิดตัวไม่มีรถคันจริงให้ดู ไม่ได้ให้รายละเอียดทางเทคนิคใดๆ และยังไม่เปิดเผยราคา รถรุ่นที่สองที่เปิดตัวคือ Ora Good Cat รถเก๋งท้ายตัด เน้นหน้าตาน่ารัก โดยในงานเปิดตัวบอกเพียงว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดสเปกใดๆ เลย รวมถึงไม่มีรถคันจริงมาโชว์ และไม่เปิดเผยราคาเช่นกัน ส่วนรถอีกสองรุ่นที่จะเปิดตัวเพิ่มเติมภายในปีนี้ ก็จะเป็นรถในแบรนด์ Haval และ Ora อย่างละรุ่น Great Wall Motor เริ่มมีชื่อและเป็นข่าวในประเทศไทยจากการตกลงซื้อโรงงานประกอบรถยนต์ที่จังหวัดระยองต่อจาก General Motors (GM) ที่ประกาศถอนตัวจากตลาดประเทศไทยไปเมื่อต้นปี 2020 ที่มา - Facebook: GWM Thailand ภาพทั้งหมดโดย GWM Thailand
# Starlink เริ่มเปิดจองคิวทั่วโลกรวมถึงไทย คาดจะให้บริการได้ปี 2022 วันนี้ Starlink เริ่มเปิดให้ผู้สนใจวางเงินจองคิวใช้บริการ โดยหลังจากผมทดลองใส่พื้นที่หลายประเทศพบว่าเว็บไซต์บอกเหมือนกันทั้งหมดว่าน่าจะมีพื้นที่บริการครอบคลุมภายในปี 2022 ผู้สนใจต้องวางเงินจองคิว 99 ดอลลาร์ โดยไม่มีสัญญาอะไรว่าจะได้ใช้บริการเมื่อใด แต่หากบริการเปิดจริงก็จะเรียงตามคิวที่จองไว้ ตอนนี้ Starlink มีดาวเทียมในวงโคจรมากกว่า 1,000 ดวงแล้ว แต่พื้นที่ให้บริการก็ยังจำกัดอยู่ในแถบซีกโลกเหนือ และหากยังคงอัตราการส่งดาวเทียมเดือนละ 120 ดวงไปได้เรื่อยๆ ภายในปี 2022 ก็จะมีดาวเทียมในวงโคจร 2,000-3,000 ดวง แม้อัตราการส่งดาวเทียมจะน่าประทับใจ และเป็นไปได้ที่ Starlink จะสามารถขยายพื้นที่ให้บริการทางดาวเทียมจนครอบคลุมประเทศไทยแต่การให้บริการอินเทอร์เน็ตแต่ละประเทศก็ต้องวางโครงสร้างพื้นฐานและขออนุญาตในแต่ละประเทศอีกครั้ง กระบวนการนี้จึงอาจจะไม่เร็วเท่าที่เราๆ หวังกัน ที่มา - Starlink
# แฮกเกอร์เจาะ TeamViewer เข้าคอมพิวเตอร์โรงกรองน้ำในฟลอริด้า แล้วเพิ่มสัดส่วนสารเคมีอันตราย, ผู้ดูแลแก้ไขทัน แฮกเกอร์เจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมระบบกรองน้ำของโรงกรองน้ำ Oldsmar ในเมือง Pinellas County รัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนพยายามเพิ่มสารโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟในน้ำ แต่โชคดีที่ผู้ดูแลระบบเห็นทัน และเปลี่ยนค่ากลับเหมือนเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงจะมีผลต่อคุณภาพน้ำประปา ที่เป็นแหล่งน้ำดื่มหลักของเมือง Bob Gualtieri นายอำเภอ Pinellas County เล่าว่าผู้ดูแลระบบเห็นเคอร์เซอร์เม้าส์ของเขาเคลื่อนไหวไปเปลี่ยนระดับโซเดียมไฮดรอกไซด์ในน้ำประปา จาก 100 ต่อล้านส่วน (100 ppm) เป็น 11,100 ต่อล้านส่วน (11,100 ppm) ก่อนออกจากระบบไป เขาจึงล็อกระบบ และแก้ไขค่ากลับคืนทัน โชคดีที่การเปลี่ยนแปลงนี้ปกติต้องใช้เวลาหนึ่งวันถึงจะส่งผล ก่อนหน้าที่แฮกเกอร์จะเปลี่ยนค่าในระบบครั้งนี้ Gualtieri ระบุว่าเห็นหน้าจอถูกควบคุมอยู่ก่อนหน้านี้แล้วแต่ไม่ได้ผิดสังเกตุ เนื่องจากในสำนักงานก็ใช้ TeamViewer เพื่อซัพพอร์ตปัญหาด้านไอทีอยู่เรื่อยๆ หรือแม้แต่หัวหน้าของเขาเองก็เข้ามาดูแลระบบจากระยะไกล Gualtieri ยังยืนยันว่าถึงผู้ดูแลจะไม่เข้ามาเห็น ระบบก็ยังมีการป้องกันอื่นในการตรวจสอบคุณภาพและค่าความเป็นกรดของน้ำอยู่ ปัจจุบันทางการเมือง Pinellas County, FBI และหน่วย Secret Service ของสหรัฐ กำลังร่วมกันสืบหาผู้กระทำการครั้งนี้ ที่มา - Tampa Bay Times via The Verge, WIRED
# Snapchat ทำฟีเจอร์ Friend Check Up ให้เช็ครายการเพื่อนว่าอยากลบใครออกหรือไม่ Snapchat เพิ่มฟีเจอร์ Friend Check Up เป็นการเตือนให้ผู้ใช้งานดูรายการเพื่อว่าอยากลบใครออกจากเพื่อนหรือไม่ เมื่อกดที่แบนเนอร์ข้อความว่า Snapchat is for Real Friends ระบบจะแสดงรายชื่อคนอื่นๆ เพื่อให้ตรวจสอบดูว่า เรายังอยากเก็บคนเหล่านี้ไว้ในรายชื่อเพื่อนที่สามารถมองเห็นเนื้อหาของเราหรือไม่ สามารถกดลบได้ทันที Snapchat ทำฟีเจอร์นี้มา 2-3 สัปดาห์แล้ว แต่เลือกมาโปรโมทวันนี้ซึ่งเป็นวันใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย หรือ Safer Internet Day และจะทยอยเปิดใช้งานทั้ง iOS และแอนดรอยด์ ที่มา - Engadget
# Forza Horizon 4 วางขายบน Steam ครั้งแรกของซีรีส์ Forza บน Steam ด้วย ไมโครซอฟท์ประกาศนำเกมรถแข่ง Forza Horizon 4 (เกมออกปี 2018) ลงขายบน Steam ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ถือเป็นครั้งแรกของเกมซีรีส์ Forza ที่ขายบน Steam ด้วย เมื่อปี 2019 ไมโครซอฟท์ปรับแนวทาง นำเกมของตัวเองไปขายบน Steam อีกช่องทางหนึ่ง (นอกเหนือจาก Microsoft Store ของตัวเอง) ซึ่งรวมถึงเกมใหญ่ๆ อย่าง Halo: The Master Chief Collection และประสบความสำเร็จด้วยดีในแง่ยอดผู้เล่นบน Steam หลังจากนั้นเราจึงเห็นเกมเด่นอื่นๆ เช่น Sea of Thieves, Microsoft Flight Simulator ทยอยตามมาลง Steam ด้วย และคิวล่าสุดคือ Forza นี่เอง Forza Horizon เป็นเกมแข่งรถแนว open world บนถนนจริงๆ ส่วนอีกเกมในซีรีส์คือ Forza Motorsport ที่เป็นการแข่งในสนามแข่ง เกมซีรีส์ Horizon พัฒนาโดยสตูดิโอ Playground Games จากอังกฤษ ที่ล่าสุดได้รับมอบหมายให้ทำเกม Fable ภาคใหม่ด้วย ที่มา - Xbox
# ซัมซุงเปิดราคาไทย Galaxy SmartTag 890 บาท ขายสองสีคือสีดำและสีโอ๊ตมีล ซัมซุงเปิดตัว Galaxy SmartTag และ Galaxy SmartTag+ ในงาน Unpacked 2021 ไปก่อนหน้านี้ ล่าสุดเปิดเผยราคาไทยแล้วเฉพาะตัว Galaxy SmartTag คือ 890 บาท และนำมาขาย 2 สีคือ สีดำและสีโอ๊ตมีล ส่วนตัว Galaxy SmartTag+ ยังไม่มีรายละเอียดราคาไทย Galaxy SmartTag คืออุปกรณ์คล้ายพวงกุญแจ ทำงานร่วมกับฟีเจอร์ SmartThings Find ในแอป SmartThings นำไปติดตามสิ่งของที่เราต้องติดตาม เช่นกระเป๋า สัตว์เลี้ยง โดย SmartTag จะส่งสัญญาณไปยังมือถือ Samsung Galaxy ที่อยู่ใกล้เคียง จากนั้นมือถือจะส่งข้อมูลไปยัง SmartThings Find เพื่อแจ้งให้เจ้าของทราบตำแหน่ง และยังสามารถควบคุมการสั่งงานระบบอัตโนมัติในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ ที่มา - ข่าวประชาสัมพันธ์, ซัมซุง
# เจอปีชง CD Projekt เผยถูกโจมตีเข้าถึงเครือข่ายภายใน ถูกขโมยข้อมูลบางส่วน CD Projekt บริษัทแม่ของสตูดิโแ CD Projekt RED เปิดเผยว่าตกเป็นเป้าหมายโจมตีไซเบอร์และคนร้ายเข้าถึงเครือข่ายภายใน ได้ข้อมูลบางส่วนของบริษัทไป พร้อมทิ้งโน้ตเรียกค่าไถ่เอาไว้ด้วย CD Projekt ยืนยันว่าข้อมูลบางส่วนขององค์กรมีการเข้ารหัสเอาไว้และส่วนที่แบ็คอัพไว้ก็ไม่ได้รับผลกระทบ และทีมงานก็ได้แก้ข่องโหว่และกู้คืนข้อมูลจากแบ็คอัพแล้ว พร้อมยืนยันว่าข้อมูลที่ถูกเข้าถึงไม่มีข้อมูลส่วนตัวของผู้เล่นหรือลูกค้าบริษัท CD Projekt บอกด้วยว่าจะไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของแฮกเกอร์แน่นอน และจะบรรเทาผลกระทบจากข้อมูลที่หลุดออกไป รวมถึงติดต่อหาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่มา - CDPR
# กูเกิลงานเข้า ยุโรปกำลังหาช่องทางบังคับแพลตฟอร์มจ่ายเงินให้สำนักข่าวเหมือนออสเตรเลีย คณะนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปที่ทำงานเกี่ยวกับร่างกฎระเบียบด้านดิจิทัลของยุโรป 2 ฉบับคือ Digital Services Act (DSA) และ Digital Markets Act (DMA) เผยกับ Financial Times เล็งจะนำร่างกฎหมายของออสเตรเลียหรือ News Media Bargaining Code กฎหมายจ่ายเงินให้สำนักข่าวที่แสดงเนื้อหาบนแพลตฟอร์มมาปรับใช้ ด้วยเห็นว่าเป็นช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับสำนักข่าวและผู้ผลิตเนื้อหา Alex Saliba หนึ่งในสมาชิกสภายุโรป กล่าวว่าแนวทางของออสเตรเลียที่มีต่อ Google และ Facebook นั้นสามารถจัดการกับความไม่สมดุลของอำนาจระหว่างแพลตฟอร์มโซเชียลและผู้ผลิตเนื้อหาได้ ด้าน Andrus Ansip สมาชิกสภายุโรปชาวเอสโตเนีย และมีบทบาทในกฎหมายลิขสิทธิ์ ระบุว่า ลิขสิทธิ์ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ผู้ผลิตเนื้อหา และได้รับรู้ด้วยว่ากระบวนการนี้กำลังเกิดขึ้นที่ออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ยังเปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และต้องดูรายละเอียดของกฎหมาย DSA ให้ชัดเจนขึ้นอีก กูเกิลบอกว่ากฎหมายยุโรปมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างผู้เผยแพร่เนื้อหาและแพลตฟอร์ม ผู้ใช้กูเกิลค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเชื่อถือได้จากเว็บไซต์ต่างๆ เรายินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนการสื่อสารมวลชนต่อไปและเรากำลังทำเช่นนั้นทั่วโลก เห็นได้จาก Google News Showcase ที่จ่ายเงินให้ผู้ผลิตเนื้อหาระยะยาว 1 พันล้านดอลลาร์ ส่วน Facebook ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นใด ที่ผ่านมา กูเกิลค้านกฎหมาย News Media Bargaining Code ของออสเตรเลียมาตลอด บอกว่ากฎหมายจะทำร้ายบริการฟรี และทำร้ายเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และยังขู่จะนำบริการค้นหาออกจากออสเตรเลียด้วย ที่มา - Financial Times
# Ren Zhengfei ซีอีโอ Huawei แสดงความจำนงอยากพูดคุยกับ Joe Biden หลังรัฐบาล Joe Biden เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้มีการคาดการณ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายหลาย ๆ อย่างจากสมัย Trump โดยเฉพาะนสงครามการค้าต่อจีน ซึ่งความคาดหวังนี้ก็มีไปถึง Huawei ด้วย Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Huawei ให้สัมภาษณ์กับสื่อในจีน แสดงความจำนงค์ว่ายินดีที่จะพูดคุยกับประธานาธิบดี Joe Biden และการพูดคุยก็จะอยู่ที่เรื่องการพัฒนาและความสำเร็จร่วมกัน ซีอีโอ Huawei บอกด้วยว่าบริษัทมีแผนจะขยายความสามารถในการผลิตให้มากขึ้นอีก ซึ่งหากสามารถทำธุรกิจกับสหรัฐได้ บริษัทซัพพลายเชนของอเมริกันก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน และปิดท้ายด้วยว่า หวังว่ารัฐบาลใหม่ของสหรัฐจะคิดถึงผลประโยชน์เรื่องนี้เมื่อพิจารณานโยบายใหม่ ที่มา - The Verge
# รีวิว Synology DS420+: NAS ที่ใช้งานเป็นเซิร์ฟเวอร์เต็มรูปแบบได้ในตัว แม้ในช่วงหลังบริการคลาวด์สตอเรจจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ความสะดวกในการถ่ายรูปและแชร์เอกสารที่มากขึ้นก็ทำให้หลายคน มองหา NAS มาใช้งานในบ้านกัน โดย NAS ในช่วงหลังเริ่มปรับปรุงซอฟต์แวร์จนใกล้เคียงบริการคลาวด์มากขึ้น พร้อมกับความได้เปรียบด้านความเร็วที่ตัว NAS เชื่อมต่อเน็ตเวิร์คในระดับกิกะบิตต่อวินาทีทำให้การซิงก์ไฟล์ขนาดใหญ่ทำได้สะดวกขึ้น ทาง Synology ได้ส่ง Synology DS420+ มาให้ Blognone ได้ทดสอบ (ข้อมูลเปิดเผย ทีมงานได้รับ NAS ตัวนี้ไว้เลยหลังการรีวิว แต่ไม่มีข้อตกลงอื่นรวมถึงการส่งรีวิวให้ทางบริษัทตรวจสอบแต่อย่างใด) สเปคฮาร์ดแวร์ Synology DS420+ เป็นหนึ่งใน NAS ตระกูลผู้ใช้ตามบ้านที่ออกมาชุดล่าสุด ความเหมือนกันในตระกูลที่ออกมาพร้อมกันเหล่านี้คือจะใช้ซีพียู Celeron ทำให้สามารถรันซอฟต์แวร์ x86 ได้เหมือนกับพีซีทั่วไป ซีพียู Intel Celeron J4025 2 คอร์ 2 เธรด แรม DDR4 2GB ใส่เพิ่มได้ 1 slot ตามข้อมูลบริษัทระบุว่าเพิ่มได้อีก 4GB (รวมถึงแนะนำว่าให้ติดตั้งแรมจาก Synology โดยตรงเท่านั้น) แต่ก็มีผู้ทดสอบว่าสามารถติดตั้งแรมเพิ่มอีก 16GB ได้ ช่อง HDD 3.5 นิ้ว 4 ช่อง รองรับการเปลี่ยนแบบ hot-swap ช่อง SSD ขนาด 2280 2 ช่อง LAN แบบกิกะบิต 2 ช่อง รองรับการทำ link aggregation USB 3.1 2 ช่อง น้ำหนัก 2.18 กิโลกรัม การออกแบบฮาร์ดแวร์ ภาพรวมของการออกแบบเคสของ Synology DS420+ ค่อนข้างตรงไปตรงมา ฮาร์ดดิสก์ทั้งหมดสามารถถอดเปลี่ยนได้จากด้านหน้า ความพิเศษเล็กๆ ของช่องฮาร์ดดิสก์คือมี “กุญแจ” สำหรับล็อกฮาร์ดดิสก์มาให้ด้วย แม้จะไม่ใช่มาตรการความปลอดภัยหลัก (เพราะงัดจริงๆ ก็เอาฮาร์ดดิสก์ไปได้) แต่น่าจะลดอุบัติเหตุการถอดฮาร์ดิสก์ผิดลูกไปได้มาก อีกส่วนที่น่าสนใจคือฮาร์ดแวร์เสริมทั้งหมดสามารถติดตั้งได้โดยไม่ต้องใช้ไขควงเปิดเคสออกมาแต่อย่างใด มีเพียงฮาร์ดดิสก์ที่มีน็อตให้ยึดกับถาดเท่านั้น แต่แรมและ SSD สามารถติดตั้งได้ทันที ตัวแปลงไฟ AC-DC เป็นแบบ 4 ขา กำลังไฟรวม 90 วัตต์ หนักเกือบครึ่งกิโลกรัม Synology DiskStation Manager จุดขายของ NAS นอกจากเคสภายนอกที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการติดตั้งสตอเรจจำนวนมากแล้ว จุดสำคัญอย่างมากก็คือซอฟต์แวร์ที่มักเป็นลินุกซ์ที่ปรับแต่งมาเฉพาะ เว็บอินเทอร์เฟซสามารถใช้งานได้ง่าย และรองรับฟีเจอร์ทั่วๆ ไปโดยไม่ต้องมีความรู้เทคนิคมากนัก ซอฟต์แวร์ของ Synology เองก็ใช้ชื่อว่า DiskStation Manager หรือ DSM โดยปัจจุบันอยู่ที่เวอร์ชั่น 6.5 แม้จะเปิดตัวเวอร์ชั่น 7 ออกมาแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในสถานะพรีวิว ตัว DSM เปล่าๆ เมื่อติดตั้งครั้งแรกนั้น จะมาพร้อมกับฟีเจอร์พื้นฐานสำหรับการจัดการสตอเรจ เช่น เพิ่มบัญชีผู้ใช้, จัดการฮาร์ดดิสก์, และเปิดแชร์สตอเรจในตัวเครื่องออกไปด้วยโปรโตคอลต่างๆ สำหรับโปรโตคอลแชร์ไฟล์ที่ DSM รองรับในตัวแต่แรก คือ SMB (Windows Share), AFP (Apple Filing Protocol), NFS (Network File System), FTP พร้อมการเข้ารหัสแบบ FTPS, TFTP, และ rsync แต่ฟีเจอร์เด่นๆ จำนวนมากของ DSM จะเป็นซอฟต์แวร์แยกที่ต้องกดติดตั้งเพิ่มภายหลัง ในบทความนี้จะแนะนำ 4 ฟีเจอร์ที่ผมมองว่าสำคัญสำหรับการใช้งานโดยทั่วไป คือ Synology Drive, Cloud Sync, Survillance Station, และ Docker Synology Drive แชร์ไฟล์เหมือนบริการคลาวด์ บริการตัวสำคัญตัวหนึ่งของ DSM คือ Synology Drive ที่ให้บริการแชร์ไฟล์ผ่านเว็บและแอปแทนที่จะเป็นการแชร์ผ่านไดรฟ์ของระบบปฎิบัติการ ข้อจำกัดสำคัญของการแชร์ไฟล์ผ่าน Synology Drive นี้คือหากเราไม่มี public IP จริงแล้วก็จะใช้งานได้เฉพาะภายในบ้านหรือบริษัทเท่านั้น แต่ข้อดีคือแบนวิดท์ที่เราเชื่อมต่อกับตัว NAS อยู่สามารถวางเน็ตเวิร์คระดับกิกะบิตไม่ได้ไม่ยาก ทำให้การแชร์ไฟล์ขนาดใหญ่ก็ง่ายขึ้นมาก ถัดจากการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มตามรายชื่อผู้ใช้ในองค์กรแล้ว ตัว Synology Drive ยังสามารถแชร์เป็นลิงก์สาธารณะ ซึ่งหากไม่ได้ต่อตัว NAS เป็น public IP ไว้แล้วก็แปลว่าจะใช้งานได้ในสำนักงานเท่านั้น นอกจาก Synology Drive แล้วแพ็กเกจซอฟต์แวร์เพิ่มเติมยังมีอีกหลายตัว เช่น Synology Office สำหรับงานเอกสาร, บริการเซิร์ฟเวอร์อีเมล (จำกัดจำนวนผู้ใช้ ต้องซื้อไลเซนส์เพิ่ม), ไปจนถึงบริการแชต Single Sign-On ระบบผู้ใช้ของ Synology เองก็ทำได้เป็นพื้นฐาน เช่นหากเราต้องการสร้างบัญชีสำหรับทุกคนในบ้านก็สามารถสร้างบัญชีภายในตัว NAS ได้เองเลย ส่วนระดับองค์กรอาจจะต้องการสร้าง LDAP Server สำหรับควบคุมบัญชีผู้ใช้จากศูนย์กลาง เวลาที่พนักงานออกจากบริษัทไปจะได้ตัดทุกบริการไปพร้อมกัน ตัว DSM เองมีแพ็กเกจ LDAP Server ให้ใช้งาน และตัว NAS เองก็สามารถเชื่อมต่อบัญชีเข้ากับ LDAP ได้ ที่น่าสนใจคือมันรองรับบริการ Single Sign-On (SSO) ด้วย โดยการล็อกอินผ่าน SSO นี้จะสร้างเว็บกลางของบริษัทขึ้นมา และหากพนักงานล็อกอินเว็บกลางนี้แล้วก็จะเข้าถึงบริการทั้งหมดที่รองรับได้ทันที รูปแบบเดียวกับทุกวันนี้ที่เราล็อกอิน Gmail แล้วเข้าทุกบริการของกูเกิลได้ทั้งหมด หรือล็อกอิน Outlook แล้วเข้าใช้งาน Office.com ของไมโครซอฟท์ได้ทันที บริการหลายตัวใน DSM รวมถึง Synology Drive นั้นรองรับการล็อกอินแบบ SSO อยู่ 3 ช่องทางหลัก คือ SSO Server ของ DSM เอง เป็นโปรโตคอลเฉพาะแม้จะใช้ OAuth เป็นฐาน แต่ไม่ใช้ได้ OpenID Connect สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ใช้โดยตรง ทาง Synology มี JavaScript SDK สำหรับใช้งาน SSO Server บนเว็บอื่นๆ นอก DSM เองด้วย AzureAD สำหรับองค์กรที่ใช้งาน AzureAD อยู่แล้วสามารถเชื่อมเข้าได้ทันที ทำให้ทุกครั้งที่เข้าใช้งาน Synology ผู้ใช้สามารถล็อกอินจากหน้าเว็บไมโครซอฟท์ได้เลย IBM WebSphere แม้ว่าเบื้องหลังแล้ว DSM จะรองรับ OpenID Connect แต่ก็รองรับไม่ครบทั้งโปรโตคอล ทำให้ไม่สามารถใช้เซิร์ฟเวอร์อื่นๆ ตามใจได้ เช่นบางองค์กรอาจจะติดตั้ง Keycloak สำหรับล็อกอินบริการภายใน ก็ต้องรอทาง Synology รองรับ Keycloak โดยมีข่าวว่าน่าจะออกแพตช์มาในอนาคต Cloud Sync แม้ว่าความเร็วจะเป็นจุดได้เปรียบของการใช้ NAS ในองค์กร แต่การสำรองข้อมูลไว้บนคลาวด์อีกทีก็น่าจะสร้างความสบายใจได้ดีกว่ามาก ตัว DSM มีแพ็กเกจ Cloud Sync สำหรับสำรองข้อมูลกลับออกไปยังคลาวด์หลัก แทบทุกเจ้า เช่น AWS S3, Azure Storage, Backblaze, Alibaba Cloud, JD Cloud, Tencent Cloud รวมถึงบริการคอนซูมเมอร์เช่น Dropbox, Google Drive, หรือ Microsoft OneDrive ก็ตาม ผมทดสอบใช้ Backblaze B2 เนื่องจากราคาค่อนข้างถูกก็สามารถใช้งานได้ดี เมื่อใส่ข้อมูล keyID และ Application key แล้ว ตัว Cloud Sync จะแสดงรายการ bucket ขึ้นมาให้เลือกทันที เมื่อเปิดการซิงก์ เราสามารถเลือกเข้ารหัสไฟล์บนคลาวด์ได้ โดย Cloud Sync จะให้ตั้งรหัสผ่านกุญแจเข้ารหัส และให้เราเซฟไฟล์กุญแจเข้ารหัสเก็บเอาไว้ หลังจากนั้นตัว NAS ก็จะซิงก์ไฟล์ตลอดเวลา โดยเราอาจจะเลือกใช้ซิงก์เฉพาะบางช่วงเวลา เช่น นอกเวลาทำงานก็ได้ Surveillance Station ฟีเจอร์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ DSM คือมันสามารถทำหน้าที่สตอเรจสำหรับกล้องวงจรปิดได้โดยไม่ต้องซื้อกล่อง DVR แยกต่างหาก โดย Surveillance Station รองรับกล้องหลากหลายยี่ห้อที่รองรับโปรโตคอล ONVIF ซึ่งกล้องแบรนด์ที่มี DVR ขายเป็นชุดด้วยกันก็มักจะรองรับอยู่แล้ว ข้อดีของการใช้ NAS เป็น DVR คือเราไม่ต้องจัดการสตอเรจหลายแห่งแยกกัน รวมถึง DSM มีความสามารถในการลดระยะเวลาเก็บภาพกล้องวงจรปิดลงหากสตอเรจเริ่มเหลือพื้นที่น้อย ในกรณีองค์กรก็อาจจะจัดการการเข้าถึงภาพกล้องวงจรปิดผ่านทางระบบ LDAP และ SSO ของ DSM ไปได้พร้อมกันด้วย อย่างไรก็ดีควรระวังว่า Synology DS420+ นี้จำกัดไลเซนส์กล้องวงจรปิดที่ใช้งานได้เพียงสองตัวเท่านั้น หากต้องการใช้งานกล้องมากกว่านั้นจำเป็นต้องซื้อไลเซนส์มาติดตั้งเพิ่ม Docker ฟีเจอร์สุดท้ายของ DSM ที่ผมคิดว่าควรกล่าวถึงคือ Docker เนื่องจาก DS420+ ใช้ซีพียู x86 และรองรับ Docker ค่อนข้างเต็มรูปแบบทำให้สามารถเพิ่มบริการบน DS420+ ขึ้นมาได้ บริการหนึ่งที่หายไปจากระบบปฏิบัติการ DSM คือการรองรับการแชร์ไฟล์ด้วยโปรโตคอล S3 ที่ซอฟต์แวร์สำรองข้อมูลจำนวนมากรองรับ ในกรณีนี้เราก็อาจจะรัน Docker ด้วยอิมเมจ minio เพื่อให้บริการสำรองข้อมูลจากโปรแกรมที่รองรับโปรโตคอล S3 ได้ บริการ Docker ใน DSM รองรับ private registry แต่ไม่รองรับการ build Dockerfile ในตัว เราจึงต้องสร้างอิมเมจพร้อมใช้งานเตรียมไว้ล่วงหน้าหรือใช้อิมเมจสำเร็จรูปเท่านั้น บทสรุป ผมคิดว่า NAS อย่าง Synology DS420+ น่าจะเป็นตัวเลือกสำหรับ power user ที่ต้องการเซิร์ฟเวอร์ในบ้านที่ใช้งานหลากหลายมากขึ้น มันไม่ได้เป็นเพียงสตอเรจสำหรับสำรองข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ในบ้านเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป การใช้งานที่หลากหลายและการใช้งานที่สะดวกทำให้ NAS เหล่านี้กลายเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการเสียเวลาติดตั้งทุกอย่างจากศูนย์เอง เช่น ซื้อ Raspberry Pi หรือ NUC มาทำเซิร์ฟเวอร์ในบ้าน เคสที่เหมาะสมพอดีกับการใช้งานสตอเรจและซอฟท์แวร์ที่ใช้งานง่ายกว่าก็น่าจะคุ้มค่าตัวของ DS420+ แล้ว สำหรับสำนักงานขนาดเล็ก DS420+ อาจจะเหมาะกับสำนักงานที่ใช้งานไม่เกิน 10-20 คน เนื่องจากพลังประมวลผลที่ไม่สูงนัก อย่างไรก็ดี DSM เองก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ตัวแรมเริ่มต้นให้มา 2GB อาจจะน้อยเกินไปสำหรับคนที่ต้องการรันแอปพลิเคชั่นหลากหลายขึ้น แถมบริษัทยังพยายามบอกให้ใช้แรมของบริษัทเองที่อัพเกรดได้สูงสุดที่ 6GB และแม้การขายไลเซนส์จะเป็นเรื่องปกติของวงการ NAS แต่สำหรับ DS420+ หากให้ไลเซนส์มารองรับกล้องสัก 4 ตัวก็น่าจะทำหน้าที่เซิร์ฟเวอร์กลางในบ้านได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องไลเซนส์กันมากเกินไป
# [Sensor Tower] Telegram มียอดดาวน์โหลดสูงสุดประจำ ม.ค. อินเดียโหลดเพิ่มสูงสุด Sensor Tower เปิดอันดับยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่ไม่ใช่เกม ประจำเดือนมกราคม 2021 และคาดว่าจะมาจากการเปลี่ยนนโยบายของ WhatsApp แชร์ข้อมูลร่วมกับ Facebook ส่งผลให้ Telegram มียอดดาวน์โหลดเป็นอันดับ 1 เมื่อรวมการดาวน์โหลดจากทั้ง App Store และ Google Play มียอดดาวน์โหลดโดยรวม 63 ล้านครั้ง มากกว่ายอดดาวน์โหลดในเดือนมกราคมปีที่แล้ว 3.8 เท่า ประเทศที่มีการดาวน์โหลด Telegram สูงสุดคืออินเดีย มีสัดส่วน 24% ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 10% ส่วน Signal ที่คนแห่ดาวน์โหลดหลัง WhatsApp เปลี่ยนนโยบายก็มาแรงเช่นกัน มียอดโหลดติดอันดับ 3 ของทั้งหมด และติดันดับ 2 ใน Google Play ด้าน TikTok ก็มียอดดาวน์โหลดสูงเป็นอับ 2 ของทั้งหมด (รวมการดาวน์โหลดของ Douyin หรือ TikTok เวอร์ชั่นจีนแล้ว) และเป็นอันดับ 1 ใน App Store และเป็นอันดับ 3 ใน Google Play ที่มา - Sensor Tower, Gadget360
# แสร้งว่า Android: นักพัฒนาพบไส้ใน HarmonyOS เป็น AOSP ที่ตัดคำว่า Android ออก ปลายปีที่แล้ว นักพัฒนาจีนที่ได้ลองเล่น HarmonyOS 2.0 Beta แล้วก็พบว่าไส้ในยังเต็มไปด้วยเฟรมเวิร์คของ AOSP ล่าสุด Ron Amadeo นักเขียนของ ArsTechnica ได้ยื่นเรื่องขอทดสอบ HarmonyOS 2.0 ก่อนจะพบว่ามันไม่ใช่แค่ใช้เฟรมเวิร์ค AOSP แต่มันคือ AOSP ที่เหมือนครอบด้วย EMUI และตัดคำว่า Android ออกไปทั้งหมด Ron เล่าตั้งแต่ปัญหาของการลงทะเบียนเพื่อขอทดสอบ HarmonyOS แล้วว่าทาง Huawei ขอเอกสารยืนยันตัวตนด้วยไม่ว่าจะพาสปอร์ตหรือกระทั่งบัตรเครดิต สำหรับการสมัครบัญชีนักพัฒนา และใช้เวลาตรวจสอบกว่า 2 วัน ไม่เหมือนกรณีของ Google หรือ Apple ที่หากจะโหลด SDK มาใช้งาน สามารถทำได้แค่ไม่กี่คลิก เมื่อผ่านการตรวจและโหลด HarmonyOS มาได้แล้ว อย่างแรกที่ Ron พบคือตัว SDK ไม่ได้เป็นอีมูลเตอร์ที่รันอยู่ในเครื่อง แต่เป็นรีโมทอีมูเลเตอร์ ที่สตรีมมาจากสมาร์ทโฟน Huawei ที่เสียบอยู่กับ rig สักแห่งในจีน หลักฐานที่ชัดเจนคือเมื่อเปิด USB Debugging ตัวอีมูเลเตอร์จะใช้งานไม่ได้และเหมือนหลุดการเชื่อมต่อไปเลย ขณะที่ตัว HarmonyOS แม้ "หน้าตา" ที่เหมือน EMUI บน Android แต่ Huawei ตัดคำว่า Android ออกไปจากข้อมูลในเครื่อง อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าไปดูในรายการแอป จะพบเฟรมเวิร์คและไลบรารี่ของ Android เต็มไปหมดตรงกับที่นักพัฒนาจีนพบ ขณะที่แอป HarmonyOS System ก็ขึ้นบอกว่า version 10 (ทั้งที่เพิ่งออก 2.0) จึงคาดว่า HarmonyOS น่าจะยกเอา Android 10 มาทำ ก่อนจะได้รับการยืนยันจากแอป System Info ที่แสดงข้อมูลว่า ตัวระบบปฏิบัติการเป็น Android 10 (API Level 29) นอกจากนี้เอกสารสำหรับนักพัฒนาของ HarmonyOS ก็เต็มไปด้วยความกำกวมและไม่ได้ให้ความกระจ่างใด ๆ ถึงตัวระบบปฏิบัติการหรือฟีเจอร์ต่าง ๆ มีแต่คำอธิบายงง ๆ เหมือนในเอกสารพีอาร์หรือมาร์เก็ตติ้ง เหมือนตั้งใจเขียนให้สับสนเล่นมากกว่า Hauwei บอกว่า HarmonyOS จะมาพร้อมกับฟอร์แมทแอปใหม่ที่เรียกว่า App Pack หรือ .app ซึ่งเมื่อลองเขียนแอปจาก SDK แล้วกลับได้ไฟล์ฟอร์แมท .hap (HarmonyOS Ability Packages) ที่เป็นส่วนย่อยของ App Pack อีกทีแทน ก่อนจะพบว่าสามารถ unzip ได้เหมือน .apk และเมื่อคุ้ยดูภายในก็จะพบโค้ดและเฟรมเวิร์ค Android ทั้งหมด และแน่นอนว่าเครื่องมือดีคอมไพล์ของ Android ก็สามารถใช้งานกับ .hap ได้ Ron บอกว่าต่อให้ไม่ต้องคุ้ยข้างในดูก็น่าสงสัยอยู่แล้วว่า HarmonyOS ที่เป็นระบบปฏิบัติการใหม่มันสมบูรณ์เกินกว่าที่จะเป็นของใหม่ ลองดู Fushsia หรือ Tizen ดูก็ได้ที่อย่างน้อยซัพพอร์ทหลาย ๆ อย่างมันไม่สมบูรณ์เท่า ทำให้ HarmonyOS จริง ๆ มันคือ fork ของ Android ที่ Huawei ไม่กล้ายอมรับตรง ๆ ว่า fork เพราะไม่เมนชันชื่อนี้ในเอกสารหรือออกสื่อที่ไหนเลย ซึ่ง Ron บอกว่าเอาเข้าจริงการ fork มันไม่ใช่เรื่องเสียหายเลย เป็นปกติในวงการด้วยซ้ำ แต่ก็โจมตีว่ากล้า ๆ หน่อยที่จะบอกว่า fork ไม่ใช่บอกว่าทำขึ้นมาใหม่หมด (all-new) ที่มา - ArsTechnica
# Tesla สิงคโปร์เปิดให้สั่งซื้อ Model 3 ได้แล้ว ราคารวมภาษีกว่า 2.5 ล้านบาท ไม่รวมใบ COE เรียกว่าเข้าใกล้ไทยเข้ามาอีกนิด กับ Tesla ที่ขณะนี้เปิดให้สั่งซื้อผ่านหน้าเว็บของประเทศสิงคโปร์แล้ว โดยรถรุ่นเดียวที่ให้สั่งซื้อตอนนี้คือ Model 3 มีให้เลือกสองรุ่นย่อยคือ Standard Range Plus และ Performance สำหรับ Tesla Model 3 Standard Range Plus มีราคาหน้าเว็บอยู่ที่ 77,990 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 1.76 ล้านบาท แต่หากรวมภาษีต่างๆ และค่าจดทะเบียนรถแล้วราคาพุ่งไปอยู่ที่ประมาณ 113,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 2.54 ล้านบาท โดยวิ่งได้ไกล 448 กิโลเมตรตามมาตรฐาน WLTP ความเร็วสูงสุดที่ 225 กม./ชม. เร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 5.6 วินาที ส่วนรุ่น Performance ตั้งราคาไว้ที่ 94,990 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 2.14 ล้านบาท แต่หากรวมภาษีต่างๆ และค่าจดทะเบียนรถแล้วราคาอยู่ที่ประมาณ 155,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 3.5 ล้านบาท โดยวิ่งได้ไกล 567 กิโลเมตรตามมาตรฐาน WLTP ความเร็วสูงสุดที่ 261 กม./ชม. เร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 3.3 วินาที ทั้งนี้ ราคาด้านบนไม่รวมค่าประมูลใบรับรองการเป็นเจ้าของรถยนต์ (Certificate of Entitlement - COE) ที่สิงคโปร์บังคับใช้เป็นกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1990 เพื่อจำกัดปริมาณรถยนต์ในประเทศ โดยราคาใบ COE นี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามความต้องการรถในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งบางครั้งมีราคาสูงกว่าตัวรถด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม แม้ราคาจะดูสูงสำหรับคนไทย แต่นี่คือราคาปกติของรถยนต์ในสิงคโปร์ โดยมีการคาดการณ์ว่าราคารถ Tesla Model 3 Standard Range Plus พร้อมใบ COE จะถูกกว่า Toyota Camry เสียอีก เป็นผลมาจากที่รัฐบาลสิงคโปร์มีส่วนลดทางภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง หากกดสั่งซื้อตอนนี้ ต้องรอรถนาน 12-14 สัปดาห์ทั้งสองรุ่นย่อย ส่วนฟีเจอร์ขับอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Full Self-Driving) ก็สามารถซื้อเพิ่มได้เช่นกัน ที่ราคา 11,500 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 260,000 บาท ซึ่งถูกกว่าราคาในสหรัฐอเมริกา ที่มา - The Straits Time ภาพโดย Tesla
# อิสราเอลเริ่มพบปัญหาคนไม่ยอมไปฉีดวัคซีน ห้างร้านเริ่มออกมาตรการทั้งจูงใจทั้งบังคับ อิสราเอลสามารถจัดหาวัคซีน COVID-19 จนเพียงพอ และน่าจะฉีดกลุ่มประชากรเข้าข่ายได้ทั้งประเทศภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ดีปัญหาใหม่ของอิสราเอลตอนนี้คือกลุ่มประชากรที่เหลืออยู่กลับไม่กระตือรือร้นไปฉีดวัคซีนเท่าที่ควรทำให้ห้างร้านเริ่มออกมาตรการจูงใจให้พนักงานไปฉีด ตอนนี้อิสราเอลมีความสามารถในการฉีดวัคซีน COVID-19 มากกว่า 200,000 โดสต่อวัน และเคยฉีดมากที่สุดถึง 240,000 โดสในหนึ่งวัน แต่ในวันจันทร์ที่ผ่านมากลับมีผู้มาฉีดเพียง 119,000 คนเท่านั้น และมีเพียง 53,000 คนที่เป็นคนฉีดเข็มแรก โดยตัวเลขล่าสุดปริมาณผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสในอิสราเอลคิดเป็น 64.26% ของประชากร อย่างไรก็ดีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันของอิสราเอลยังคงค่อนข้างสูง สัปดาห์นี้ยังมีรายงานเคสใหม่ต่อวันอยู่ในช่วง 6,000-7,000 ราย แต่กว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพเต็มที่ก็ต้องรอได้รับเข็มที่สองไปแล้วหนึ่งสัปดาห์ ธุรกิจหลายแห่งในอิสราเอลเริ่มออกมาตรการจูงใจให้พนักงานไปฉีด มีตั้งแต่การจ่ายค่าแรงพนักงานรายชั่วโมงเมื่อลาไปฉีดวัคซีน, จ่ายโบนัสเป็นเงินแถมให้ หรือบางบริษัทเริ่มวางมาตรการว่าหากพนักงานไม่ไปฉีดวัคซีนจะไม่อนุญาตให้เข้าสำนักงาน หรือบางบริษัทก็มีแคมเปญบริจาคอาหารให้คนยากไร้หนึ่งชุดเมื่อพนักงานไปฉีดวัคซีนหนึ่งคน ที่ดูจะแย่สักหน่อยคือพนักงานสาธารณสุขของอิสราเอลเองก็ยังได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วนแม้จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีสิทธิฉีดวัคซีน บางโรงพยาบาลระบุว่าบุคคลากรได้รับวัคซีนไม่ถึง 2 ใน 3 ส่วนโรงพยาบาลที่ดีที่สุดคือ Hadassah Ein Kerem Medical Center มีแพทย์ได้รับวัคซีน 94% และพยาบาลได้รับวัคซีน 89% ที่มา - Times of Israel ภาพวัคซีน BNT162b2 จาก BioNTech
# VS Code 1.53 แสดงแท็บล้นลงอีกบรรทัดเมื่อย่อหน้าต่าง ตั้งค่าสีแท็บได้ ไมโครซอฟท์ออก Visual Studio Code 1.53 เวอร์ชันอัพเดตรอบเดือนมกราคม 2021 มีฟีเจอร์น่าสนใจหลายตัว ตัวแรกคือ wrap tabs หรือการเรียงแท็บให้ "ล้น" ลงมาอยู่บรรทัดใหม่เมื่อย่อขนาดหน้าต่าง เป็นอีกทางเลือกแทนการ scroll bar ที่บางคนอาจไม่ชอบเพราะคลิกยาก VS Code เวอร์ชันนี้ยังเพิ่มตัวเลือก tab decorations ให้สามารถตั้งค่าสีของแท็บ หรือแปะป้ายข้อความท้ายแท็บ (เช่น เพิ่มตัว M หากแก้เนื้อหาในแท็บนั้นแล้วยังไม่เซฟกลับลง git) ฟีเจอร์อื่นๆ คือการปรับแต่งหน้า Search ว่าต้องการเลือกค่าดีฟอลต์แบบไหน ตั้งแต่การค้นหาใน search sidebar, การเปิดในหน้าต่าง search editor อันใหม่หรืออันเดิม ปรับ UI ของ Notebook ให้แสดง outline และ breadcrumb เพื่อให้ดูโครงสร้างเอกสารได้ง่ายขึ้น รายการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดอ่านได้จากที่มา ที่มา - Visual Studio Code
# อิสราเอลพบวัคซีน Pfizer ลดอัตราการแพร่ COVID-19 ได้ อิสราเอลตอนนี้กลายเป็นห้องวิจัยวัคซีน COVID-19 ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ล่าสุดห้องปฎิบัติการ MyHeritage ที่ตรวจการติด COVID-19 กว่าหมื่นรายต่อวัน เผยแพร่ผลของการฉีดวัคซีนพบว่าวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ลดปริมาณเชื้อ (viral load) ในผู้ติดเชื้อได้ทำให้อนุมานได้ว่าผู้ป่วยเหล่านี้จะลดการแพร่เชื้อลงด้วย เนื่องจากมีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าปริมาณเชื้อส่งผลต่อการแพร่เชื้อ งานวิจัยนี้ไม่ได้แบ่งกลุ่มทดสอบ แต่อาศัยแนวทางการฉีดวัคซีนของอิสราเอลที่จะฉีดกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีก่อนจึงฉีดกลุ่มช่วงอายุ 40-60 ปี ทางห้องปฎิบัติการติดตามข้อมูลค่า Ct ของผู้ติดเชื้อแยกตามกลุ่มอายุ พบว่าผู้ป่วยที่พบเชื้อหลังจากวันที่ 15 มกราคมเป็นต้นมา ในกลุ่มอายุสูงกว่า 60 ปีมีค่า Ct สูงกว่ากลุ่มอายุ 40-60 ปี ซึ่งแปลว่ากลุ่มผู้สูงอายุมีปริมาณเชื้อต่ำกว่า แม้ก่อนหน้านี้ทั้งสองกลุ่มจะมีปริมาณเชื้อพอๆ กัน ก่อนหน้านี้งานวิจัยเฟส 3 ของวัคซีนมักวัดประสิทธิภาพของการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 แบบมีอาการ ทำให้ข้อมูลประสิทธิภาพด้านอื่นๆ เช่น การแพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่นยังไม่ชัดเจนนัก งานวิจัยนี้อาศัยข้อมูลผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อในกลุ่มอายุเกิน 60 ปีจำนวน 5,317 คน และกลุ่มอายุ 40-60 ปีจำนวน 10,980 คน ทางกลุ่มนักวิจัยเผยแพร่งานวิจัยนี้ออกทาง GitHub โดยยังไม่ได้ส่งเข้าวารสารทางการแพทย์ที่มีการรีวิว ที่มา - Times of Israel ภาพบน: กราฟแสดงค่า Ct (ยิ่งสูงเชื้อยิ่งน้อย) ในกลุ่มผู้ป่วยอายุสูงกว่า 60 ปีในสีฟ้า และในกลุ่ม 40-60 ปีในสีแดง ภาพล่าง: กราฟแสดงสักส่วนประชากรในกลุ่มอายุสูงกว่า 60 ปีที่ได้รับวัคซีนแล้วในสีฟ้า และในกลุ่ม 40-60 ปีในสีแดง
# Chromium เตรียมอัพเดตไม่รองรับซีพียูเก่าที่ไม่รองรับชุดคำสั่ง SSE3 ทีมพัฒนา Chromium เพิ่งอัพเดตนโยบายใหม่ว่าตัวเอนจินจะเลิกรองรับซีพียู x86 เก่า ๆ ที่ไม่ซัพพอร์ทชุดคำสั่ง SSE3 โดยจะเริ่มตั้งแต่ Chrome 89 เป็นต้นไป เครื่องที่รันด้วยซีพียูเก่า ๆ ที่ไม่ได้ซัพพอร์ท SSE3 จะไม่สามารถลง Chrome ได้หรือหากมีอยู่ในเครื่องแล้วก็จะไม่สามารถรันได้ โดยจะเริ่มได้รับคำเตือนตั้งแต่ Chrome 87 แล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้กระทบเฉพาะผู้ใช้งานซีพียูเก่าบนวินโดวส์เป็นหลัก เพราะ MacOS, Android และ ChromeOS บังคับใช้ SSE3 มาตั้งแต่ต้น ที่มา - TechRadar
# โหด ถึก ทน ยูทูบเบอร์สตรีมสด Galaxy S21 ในตู้ปลามาแล้วเกิน 10 วัน ยังไม่พัง ช่องยูทูบ Photo Owl Time Lapse สตรีมสด นำ Samsung Galaxy S21 มาทดสอบแช่น้ำไว้ในตู้ปลา นานเกิน 10 วัน หรือ 240 ชั่วโมงแล้ว โดยใช้แท่นชาร์จไร้สายติดไว้ด้านหลัง และกดนาฬิกาทิ้งไว้เพื่อทดสอบ โดยคอยอัพเดตรายละเอียดปัญหา หรืออาการติดขัดของเครื่องในคำอธิบาย อัพเดตครั้งแรก เขาค้นพบว่านาฬิกาจับเวลาบน Galaxy S21 จับเวลาได้สูงสุด 99 ชั่วโมง 59 นาที 59 วินาที และเขาต้องรีเซ็ตเองเมื่อถึงเวลา เขาระบุว่ารีเซ็ตไป 2 รอบแล้ว รวมเวลามากกว่า 200 ชั่วโมง อัพเดตครั้งที่สอง เครื่องเริ่มขึ้นเตือนความชื้น หลังผ่านไปประมาณ 117 ชั่วโมง 53 นาที หน้าจอสัมผัสไม่ทำงาน และกระโดดไปมาระหว่างแอป แต่พอกดๆ ปุ่มนิดหน่อย ก็กลับมาทำงานได้ใหม่ แต่คำเตือนความชื้นยังขึ้นอยู่ อัพเดตครั้งล่าสุด ผ่านมาตอน 241 ชั่วโมง 10 นาที เขาลองเล่นเสียงผ่านลำโพงให้คนดูฟัง ดูเหมือนลำโพงจะไม่ค่อยดัง และแทบจะแยกเสียงไม่ออก รวมถึงน้ำก็ไปกดปุ่ม LAP บนนาฬิกาตามที่เห็นในปัจจุบัน และเขาก็ยังไลฟ์ต่อไป น่าสนใจว่า Galaxy S21 ที่กันน้ำ IP68 (น้ำลึก 1.5 เมตร สูงสุด 30 นาที) จะสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานเท่าไรก่อนจะพัง อย่างไรก็ตาม นอกจากคลิปสตรีมสดบนยูทูบที่ไม่สามารถเลื่อนย้อนไปดูช่วงก่อนหน้าได้ ยังไม่มีหลักฐานอื่นว่า Photo Owl Time Lapse สตรีมสดโดยแช่เครื่องไว้ในน้ำตลอดเวลาจริงหรือไม่ อาจจะต้องรอดูวิดีโอตัวเต็ม หลังเครื่องพัง หรือสตรีมจบกันอีกครั้ง ที่มา - Photo Owl Time Lapse via Android Police
# ศาลอังกฤษตัดสินข้อมูลในแรมคือ Data at Rest ไม่ใช่ Data in Transit ศาลอังกฤษและเวลส์วินิจฉัยว่าข้อมูลที่อยู่ในแรมนั้นเป็น data at rest หรือข้อมูลที่อยู่ในเครื่อง หลังทางตำรวจต้องสู้คดีกับผู้ต้องสงสัยเนื่องจากตรวจค้นโทรศัพท์โดยใช้หมายค้นอุปกรณ์ ข้อมูลในคอมพิวเตอร์และการสื่อสารนั้น มีการแบ่งประเภทตามช่วงเวลาใช้งานเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ข้อมูลขณะจัดเก็บ (data at rest) และข้อมูลขณะส่งต่อ (data in transit) ซึ่งมักมีข้อบังคับตามอุตสาหกรรมและกฎหมายต่างๆ ที่ต่างกัน เช่น บางอุตสาหกรรมอาจจะบังคับเข้ารหัส data in transit อย่างเดียว หรือบางอุตสาหกรรมต้องเข้ารหัสทั้งสองอย่าง ในกรณีนี้กฎหมายอาชญากรรมของสหราชอาณาจักร การเข้าตรวจค้นข้อมูลนั้นมีการแบ่งแยกประเภทกัน โดยหากต้องการค้น data at rest ต้องขอหมายค้น Targeted Equipment Interference (TEI) ขณะที่หากต้องการ data in transit ต้องขอหมาย Targeted Interception (TI) คดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าหน้าที่ของสหราชอาณาจักรเข้าตรวจค้นโทรศัพท์ EncroChat ของผู้ต้องสงสัย และกวาดข้อมูลออกจากแรมในโทรศัพท์ โดยขอหมาย TEI สำหรับตรวจค้นอุปกรณ์ แล้วติดตั้งมัลแวร์ลงในโทรศัพท์เพื่อให้ส่งข้อความที่ผู้ต้องหาแชตกับผู้อื่น ที่มา - The Register ภาพโดย geralt
# Sony จะเปิดตัว PlayStation 5 ในจีนไตรมาสสองนี้ Sony เปิดตัว PlayStation 5 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ซึ่งจีนไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่จะเปิดตัวเป็นกลุ่มแรกๆ ล่าสุด มีการยืนยันจาก Sony แล้วว่าจะเปิดตัว PlayStation 5 ในจีนไตรมาสสองนี้ Daniel Ahmad นักวิเคราะห์เกม รีทวีตวิดีโออวยพรปีใหม่จีน โดยในวิดีโอนั้น Tatsuo Eguchi ประธาน Sony Interactive Entertainment ประจำเซี่ยงไฮ้ และรองประธาน Soeda Takehito ได้ยืนยันข่าวดังกล่าว Daniel Ahmad ระบุด้วยว่า เดิมทีฮาร์ดแวร์ของ PlayStation 5 ได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายในจีนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยอยู่ระหว่างการเตรียมการอนุมัติจากทางการรวมถึงการอนุมัติทำซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง จนถึงตอนนี้ มีคอนโซลใหม่ๆ จำหน่ายในจีนอย่างเป็นทางการไม่กี่รุ่น คือ PlayStation 4, Xbox One และ Nintendo Switch ซึ่ง PlayStation 5 จะกลายเป็นคอนโซลรุ่นใหม่สุดในตลาดจีน ส่วนไมโครซอฟท์ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีแผนเปิดตัว Xbox Series X และ S ในจีนหรือไม่ ที่มา - The Verge
# EA ซื้อสตูดิโอเกมมือถือ Glu Mobile ในราคา 2.1 พันล้านดอลลาร์ ดีลใหญ่ของวงการเกมมาอีกแล้ว รอบนี้ EA ประกาศซื้อ Glu Mobile สตูดิโอเกมมือถือชื่อดัง ในราคา 2.1 พันล้านดอลลาร์ Glu Mobile เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งในปี 2001 และปัจจุบันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq โดยมีเกมมือถือจำนวนมาก (ส่วนใหญ่เป็นเกมแคชวล) เกมที่เด่นๆ ในช่วงหลังคือเกมซีรีส์ Kim Kardashian, MLB Tap Sports, Design Home, Covet Fashion และ Disney Sorcerer’s Arena ส่วนเกมอื่นๆ ของบริษัทคือ Deer Hunter, Diner Dash, Restaurant Dash, Cooking Dash, Blood & Glory, Contract Killer เป็นต้น Glu Mobile มีรายได้ 544 ล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนใหญ่มาจากผู้เล่นในอเมริกาเหนือ มีผู้เล่นโดยรวมประมาณ 100 ล้านคนต่อเดือน EA มีธุรกิจเกมมือถืออยู่แล้ว ทั้งเกมจาก PopCap ที่ซื้อกิจการมาในปี 2011 เช่น Bejeweled, Plants vs Zombies และเกมแฟรนไชส์ EA เอง เช่น SimCity, The Sims, FIFA, Madden, Need for Speed เป็นต้น มีรายได้รวมกัน 779 ล้านดอลลาร์ต่อปี EA ให้เหตุผลของการซื้อกิจการว่า Glu Mobile มีธุรกิจเกมมือถือที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว และเน้นการไลเซนส์แบรนด์ต่างๆ มาทำเกม (เช่น Disney, Kim Kardashian, MLB) จึงสามารถต่อยอดจากแบรนด์เกมฝั่งพีซีและคอนโซลของ EA มาทำเกมมือถือได้ และเกมเบสบอล MLB Tap Sports ก็ใช้เป็นต้นแบบต่อยอดเกมกีฬาของ EA บนมือถือ รวมถึงใช้เครือข่ายรอบโลกของ EA ขยายฐานผู้เล่นไปยังภูมิภาคอื่นๆ ได้อีก ที่มา - EA
# Steam มีแพลตฟอร์มเวอร์ชั่นจีนแล้ว มีเกมกว่า 40 รายการ รวมถึงเกมของ Valve ด้วย ปี 2018 มีโครงการการเปิดตัว Steam ในประเทศจีนของ Valve ภายใต้ชื่อ Steam China เป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลเซี่ยงไฮ้และ Perfect World แต่ตัวแพลตฟอร์มเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเมื่อไม่นานมานี้เอง ล่าสุดมีคนไปเจอว่ามี Steam เวอร์ชั่นภาษาจีนแล้ว รวมเกมจีนไว้ราว 40 รายการ หนึ่งในนั้นมีเกมของ Valve อย่าง Counter-Strike: Global Offensive และ Dota 2 ด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในจีนสามารถเข้าถึง Steam เวอร์ชั่น global ได้อยู่แล้ว ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าการเปิดตัวเวอร์ชั่นจีนอย่างเป็นทางการนี้ จะกระทบเวอร์ชั่น global อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลจีนมีความเข้มงวดเรื่องเนื้อหาเกม และในแพลตฟอร์มก็ยังมีเกมหลายตัวที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลจีน ที่มา - The Verge
# Terraria เลิกทำเกมเวอร์ชัน Stadia เพราะนักพัฒนาหลักโดนแบนบัญชี Google Account Andrew Spinks นักพัฒนาผู้สร้าง Terraria เกมแนวแซนด์บ็อกซ์ 2 มิติชื่อดัง ประกาศยกเลิกโครงการพอร์ต Terraria เวอร์ชัน Stadia เนื่องจากเขาโดนแบนบัญชีกูเกิลโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่สามารถกู้คืนบัญชีได้ Andrew Spinks เล่าเรื่องผ่านทวิตเตอร์ว่า บัญชี Google Account ของเขาโดนแบนเป็นเวลา 3 สัปดาห์แล้ว ส่งผลกระทบต่อทุกอย่างที่เป็นกูเกิล เช่น Google Play, Google Drive, YouTube, Gmail โดยไม่ทราบสาเหตุ เขาพยายามติดต่อกูเกิลผ่านช่องทางต่างๆ แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน เขาจึงตัดสินใจยกเลิก Terraria บน Stadia เพราะไม่ต้องการร่วมมือกับกูเกิลอีกต่อไป เขาบอกว่าบริษัทแห่งนี้ไม่สนใจลูกค้าและพาร์ทเนอร์เลย การทำธุรกิจด้วยจึงเป็นภาระมากกว่าเป็นประโยชน์ Re-Logic สตูดิโอของ Spinks ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า Terraria และเกมอื่นๆ ในอนาคตจะไม่ลงแพลตฟอร์มของกูเกิลอีกแล้ว แต่ Terraria เวอร์ชัน Android ที่มีอยู่แล้วจะยังมีให้เล่นต่อไป ข่าวนี้คงไม่ใช่ข่าวดีสำหรับ Stadia มากนัก เพราะเพิ่งประกาศปิดสตูดิโอพัฒนาเกมของตัวเอง และหวังพึ่งเกมจากพาร์ทเนอร์อย่างเดียว แต่ไม่ทันไรก็มีปัญหากับพาร์ทเนอร์ซะแล้ว ที่มา - IGN
# Facebook เตรียมยกระดับจัดการข้อมูลเท็จวัคซีน ถ้าเจอ ลบออกทั้งหมด ปี 2020 ที่ผ่านมา Facebook ออกนโยบายจัดการข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนมากขึ้น การระบาดของ COVID-19 ทำให้มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนแพร่กระจายมากกว่าเดิม จากเดิมที่มีกลุ่มต่อต้านวัคซีนอยู่แล้ว ล่าสุด Facebook บอกว่าจะยกระดับมาตรการด้วยการลบโพสต์นั้นออกไปเลย ที่ผ่านมา Facebook บอกว่าจะใช้มาตรการทำให้การมองเห็นของโพสต์เหล่านี้น้อยลง ห้ามไม่ให้ซื้อโฆษณาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน และลบโพสต์ที่ WHO ยืนยันแล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ มาตรการใหม่จึงเป็นการยกระดับเข้มงวดกับข้อมูลเท็จมากขึ้น โดยจะปรึกษากับ WHO ว่าชุดข้อมูลใดบ้างที่เป็นเท็จ Facebook บอกด้วยว่ามาตรการใหม่นี้มาจากเสียงสะท้อนของ Facebook Oversight Board คณะกรรมการอิสระตรวจสอบนโยบาย Facebook มองว่า Facebook ต้องสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับสุขภาพ เนื่องจากกฎปัจจุบันมีความคลุมเครือ ภาพตัวอย่างวัคซีนของ AstraZeneca จากมหาวิทยาลัย Oxford ที่มา - The New York Times
# Automattic เจ้าของ Wordpress ซื้อกิจการ Parse.ly เครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์ Automattic เจ้าของ Wordpress ประกาศซื้อกิจการ Parse.ly ผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลเว็บไซต์ โดยไม่ได้เปิดเผยมูลค่าของดีลดังกล่าว บริการของ Parse.ly จะถูกนำมารวมเป็นส่วนหนึ่งของบริการ WPVIP ส่วนธุรกิจที่ให้บริการ Wordpress สำหรับลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะของ Automattic Nick Gernert ซีอีโอส่วนธุรกิจ WPVIP ระบุว่าทั้ง WPVIP และ Parse.ly มีรากฐานเหมือนกันคือโฟกัสที่การสร้างคอนเทนต์บนดิจิทัล การรวมกิจการกันจะทำให้บริษัทสามารถสร้างเครื่องมือที่มากกว่าตัววิเคราะห์เว็บไซต์แบบเดิม แต่สามารถวิเคราะห์ในด้านอื่นซึ่งสอดคล้องกับมุมมองทางการตลาดที่มากขึ้น ทั้งนี้บริการของ Parse.ly บน CMS อื่น จะยังคงให้บริการต่อไป ไม่จำกัดว่าต้องเป็น Wordpress ที่มา: TechCrunch
# Speedtest เพิ่มเครื่องมือวัดประสิทธิภาพการสตรีมวิดีโอ ตอนนี้มีเฉพาะ iOS Speedtest แอปทดสอบความเร็วเน็ตยอดนิยมของ Ookla ประกาศเพิ่มเครื่องมือทดสอบใหม่ โดยเป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการสตรีมวิดีโอโดยเฉพาะ ที่ระดับความละเอียดต่าง ๆ จากนั้นดูระยะเวลาในการโหลดและเวลาในการบัฟเฟอร์ Ookla ให้เหตุผลที่เพิ่มเครื่องมือนี้เข้ามา เนื่องจากคนใช้เวลามากขึ้นกับการดูวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต จึงต้องมีตัววัดที่ดูประสิทธิภาพสำหรับวิดีโอ ซึ่งแตกต่างจากการดูค่าอัปโหลด, ดาวน์โหลด และความหน่วง (latency) แบบเดิมนั่นเอง เครื่องมือทดสอบวิดีโอตอนนี้ในเฉพาะในแอป Speedtest สำหรับผู้ใช้ iOS เท่านั้น ที่มา: Speedtest
# Bloomberg ระบุ Dan Riccio หัวหน้าฝ่ายฮาร์ดแวร์ Apple ที่ย้ายไปดูแลโครงการใหม่ คือเฮดเซต VR/AR ก่อนหน้านี้แอปเปิลประกาศปรับเปลี่ยนตำแหน่งในฝ่ายบริหาร โดยระบุว่า Dan Riccio ที่เคยดูงานวิศวกรรมฮาร์ดแวร์ จะมารับผิดชอบโครงการใหม่ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นโครงการเกี่ยวกับอะไร ล่าสุด Mark Gurman จาก Bloomberg อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง บอกว่า Riccio จะรับผิดชอบโครงการ AR/VR ข่าวนี้สอดคล้องกับข่าวลือที่ออกมาในช่วงเดียวกัน ว่าแอปเปิลมีแผนพัฒนาเฮดเซต VR/AR ที่มีจุดเด่นคือชิปประมวลผล และจอภาพความละเอียดสูง Gurman บอกว่าการย้ายตำแหน่งของ Riccio ครั้งนี้ คล้ายกับกรณีของ Phil Schiller หัวหน้าฝ่ายการตลาด ที่ออกจากตำแหน่งด้านการตลาด และย้ายมาดูแลด้าน App Store กับงานอีเวนต์ของแอปเปิล เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้อยู่กับแอปเปิลต่อไป ที่มา: Bloomberg
# Rust Foundation ก่อตั้งเรียบร้อย AWS, Huawei, Google, Microsoft, Mozilla ร่วมลงขัน โครงการภาษา Rust ก่อตั้งเป็นมูลนิธิตามกฎหมายในชื่อ Rust Foundation อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว โดยมีบริษัทร่วมก่อตั้ง ได้แก่ AWS, Huawei, Google, Microsoft, และ Mozilla โดยรวมทางมูลนิธิจะมีงบประมาณสำหรับบริการโครงการ Rust อย่างน้อยปีละล้านดอลลาร์ไปอีก 2 ปี กรรมการชุดแรกของมูลนิธิมี 10 คนประกอบด้วยตัวแทนจาก 5 บริษัทร่วมก่อตั้ง และ 2 คนจากโครงการพัฒนาหลัก และอีก 3 คนที่ดูแลโครงการสำคัญ ได้แก่ เสถียรภาพ (reliability), คุณภาพ (quality), และ การมีส่วนร่วม (collaboration) เดิมโครงการ Rust นั้นเป็นโครงการของ Mozilla หลังจากตั้งมูลนิธิได้แล้วทาง Mozilla จะโอนทรัพย์สินได้แก่ เครื่องหมายการค้า และโดเมนดาวน์โหลดแพ็กเกจ crates.io มายังมูลนิธิ ที่มา - Rust Foundation
# รวมโฆษณาบริษัท Tech ใน Super Bowl ครั้งที่ 55 มีทั้ง Amazon, Logitech และโฆษณา 5 วินาที จาก Reddit การแข่งขันอเมริกาฟุตบอล Super Bowl ครั้งที่ 55 ได้จบลงไปเรียบร้อย หนึ่งในสีสันจากการถ่ายทอดสดคือโฆษณาในช่วงการแข่งขัน ซึ่งมีอัตราค่าโฆษณาที่สูงมาก และในปีนี้บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง ก็ได้ซื้อโฆษณาในช่วงเวลานี้เช่นกัน หลายบริษัทเป็นขาประจำมาหลายปีแล้ว บางรายเพิ่งซื้อโฆษณาเป็นครั้งแรก เริ่มกันที่ Reddit เว็บบอร์ดที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับหุ้น GameStop จากห้อง Wallstreetbets ได้ซื้อโฆษณาเพื่อฉายในบางเมืองเป็นเวลา 5 วินาที โดยย้ำพลังของ Reddit จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น ส่วนเหตุที่ซื้อได้เพียง 5 วินาที เพราะบริษัทมีงบการตลาดเท่านี้ ดูโฆษณายาว 5 วินาทีนี้ได้ที่ Reddit ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ T-Mobile นำเสนอโฆษณาย้ำความสำคัญของเครือข่ายโทรศัพท์ โดยมี Adam Levine, Gwen Stefani และ Blake Shelton ร่วมแสดง Verizon ผู้ให้บริการเครือข่ายอีกราย นำเสนอเนื้อหาเจาะไปที่กลุ่มเกมเมอร์ Amazon ได้นักแสดง Michael B. Jordan มารับบทเป็นลำโพง Echo รุ่นใหม่ Fiverr แพลตฟอร์มรวมฟรีแลนซ์ ซื้อโฆษณาใน Super Bowl เป็นครั้งแรก Robinhood แอปเทรดหุ้นที่เป็นข่าวต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีโฆษณาตัวแรกใน Super Bowl ด้วย Uber Eats นำคู่หู Wayne’s World กลับมาอีกครั้ง เพื่อสนับสนุนเดลิเวอรีร้านอาหารจากผู้ประกอบการรายย่อย DoorDash แพลตฟอร์มเดลิเวอรีอีกราย ก็มีโฆษณาใน Super Bowl เช่นกัน นำเสนอโดยเหล่าคาแรกเตอร์จาก Sesame Street Logitech ซื้อโฆษณา Super Bowl ครั้งแรกเช่นกัน นำเสนออุปกรณ์สร้างสรรค์ที่หลากหลาย ไปพร้อมกับศิลปิน Lil Nas X ทั้งนี้มีข้อมูลประเมินว่าค่าโฆษณา Super Bowl ในปีนี้ อยู่ที่ 5.5 ล้านดอลลาร์ สำหรับโฆษณาความยาว 30 วินาที ที่มา: CNBC
# Elon Musk บริจาค 3 พันล้านบาท เปิดแข่งขันดักจับคาร์บอนระดับกิกะตัน หวังลดโลกร้อน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Elon Musk ได้ทวีตว่าจะบริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 พันล้านบาทสำหรับการแข่งขันดักจับคาร์บอน การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon capture and storage - CCS) เป็นกระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จุดกำเนิดก๊าซและกักเก็บไม่ให้รั่วไหลออกสู่บรรยากาศ มีจุดประสงค์เพื่อชะลอหรือลดภาวะโลกร้อน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร รวมถึงมีราคาสูงจนไม่คุ้มที่จะทำ ล่าสุดมีรายละเอียดการแข่งขันออกมาแล้ว การแข่งขันนี้จะจัดโดย XPRIZE องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการแข่งขันด้านเทคโนโลยีเพื่อมนุษยชาติ โดยเงื่อนไขคือทีมที่เข้าร่วมต้องสาธิตโมเดลการดักจับคาร์บอนในสเกลขนาดใหญ่ระดับกิกะตัน ซึ่งเป้าหมายคือการกักเก็บคาร์บอนได้ปีละ 10 กิกะตันภายในปี 2050 เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรับสมดุลของคาร์บอนในโลก ทีมที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินจะต้องสาธิตระบบต้นแบบที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้อย่างน้อยวันละ 1 ตัน และสามารถสเกลให้ขึ้นสู่ระดับกิกะตันได้ รวมถึงจะมีการพิจารณาต้นทุนการกักเก็บคาร์บอนต่อตัน และต้องกักเก็บคาร์บอนไว้ได้อย่างน้อย 100 ปี ด้าน Elon Musk ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า "เราต้องการทีมที่สร้างระบบของจริงที่วัดผลได้จริงในระดับกิกะตัน แม้ว่าจะใช้ความพยายามแค่ไหนก็ตาม จะไม่มีเวลาแล้ว" งานนี้มีเงินรางวัล 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีระยะเวลาแข่งขันนาน 4 ปี โดยหลังเริ่มการแข่งขันได้ 18 เดือน 15 ทีมแรกที่ผ่านเข้ารอบจะได้รับเงินทีมละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30 ล้านบาท) เพื่อนำไปต่อยอดโครงการที่จะกลับมาเป็นระบบในสเกลใหญ่ และทีมที่ชนะเลิศจะได้รางวัล 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,500 ล้านบาท), รองชนะเลิศได้ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (600 ล้านบาท) และที่สามได้ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (300 ล้านบาท) นอกจากนี้หากมีทีมที่เป็นนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมไม่เกิน 25 ทีม ก็จะได้เงินทีมละ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ (6 ล้านบาท) ด้วย รายละเอียดแบบเต็มๆ พร้อมการเปิดรับสมัครจะถูกเปิดเผยในวันที่ 22 เมษายนนี้ ตรงกับวันคุ้มครองโลก (Earth Day 2021) และจะจบการแข่งขันในวันคุ้มครองโลก 2025 ที่มา - Electrek, XPRIZE ภาพโดย XPRIZE
# AIS ไตรมาส 4/63 รายได้-กำไรลดลงจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ธุรกิจไฟเบอร์ยังโตต่อเนื่อง AIS ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 4/2020 และผลประกอบการตลอดทั้งปี 2020 ตัวเลขของไตรมาส 4/2020 รายได้รวม 4.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.4% จากไตรมาส 4/2019 โดยธุรกิจที่มีรายได้ลดลงคือธุรกิจหลักอย่างโทรศัพท์มือถือ รายได้ลดลง 8.7% จากภาวะเศรษฐกิจหดตัว และนักท่องเที่ยวที่หายไป (แม้ตัวเลขลูกค้ารวมจะกลับมาโตในไตรมาส 4 แล้ว) อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไฟเบอร์ยังเติบโตต่อเนื่องจากกระแส work from home รายได้เติบโต 17% โดยมีลูกค้าเพิ่มขึ้น 8.1 หมื่นรายในไตรมาสล่าสุด ยอดสมาชิกรวม 1.33 ล้านคน AIS รายงานตัวเลขผู้ใช้ 5G ณ สิ้นปี 2020 ที่ 239,300 เลขหมาย คิดเป็น 2.4% ของลูกค้ากลุ่มรายเดือน โดยสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 1 แสนเลขหมาย บริษัทคาดว่าเมื่อราคาโทรศัพท์มือถือ 5G เริ่มลดลงจะทำให้อัตราการใช้งาน 5G เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตั้งเป้าฐานลูกค้า 5G ที่ 1 ล้านคน ณ สิ้นปี 2021 ผลประกอบการทั้งปี 2020 หากดูตัวเลขทั้งปี 2020 รายได้รวมของ AIS อยู่ที่ 1.72 แสนล้านบาท ลดลง 4.4% จากรายได้ปี 2019 โดยธุรกิจมือถือทั้งปีหดตัว 6.5%, ธุรกิจไฟเบอร์เติบโต 22%, ธุรกิจภาคองค์กรเติบโต 6% ภาพรวมการเงินของ AIS ยังแข็งแกร่ง มีกำไร 2.8 หมื่นล้านบาท แม้ลดลง 8.9% จากปีก่อน โดย AIS ระบุว่าจัดการต้นทุนได้ดี มีต้นทุนหลายอย่างลดลง เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าการตลาด ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ฯลฯ ที่มา - AIS, AIS
# Xiaomi เปิดตัวเรือธง Mi 11 กล้อง 108 ล้าน ระบายความร้อนด้วยน้ำ ราคาเริ่มราว 27,000 บาท Xiaomi เปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นล่าสุด Mi 11 ชิปเซ็ต Snapdragon 888 แรม 8GB ชิปโมเด็ม X50 หน้าจอ 6.81 นิ้ว AMOLED ความละเอีดยด WQHD+ สัดส่วน 20:9 รีเฟรชเรท 120Hz ความสว่างสูงสุด 1500nits รองรับ HDR10+ ครอบด้วย Gorilla Glass Victus กล้องหลัง 3 ตัว กล้องหลังเลนส์ไวด์ 108 ล้านพิกเซล, อัลตร้าไวด์ 13 ล้านพิกเซลและเลนส์มาโคร 5 ล้านพิกเซล รองรับการถ่ายภาพ RAW และถ่ายวิดีโอแบบ HDR10+ ระบบเสียงพัฒนาร่วมกับ Harman Kardon แบตเตอรี่จุ 4,600mAh รองรับชาร์จไร้สาย 50W และมีระบบระบายความร้อน LiquidCool Mi 11 รัน Android 10 ครอบด้วย MIUI 12 มีสองรุ่น คือ 8GB+128GB และ 8GB+256GB ราคาเริ่ม 749 ยูโรหรือราว 27,000 บาท วางขายภายในเดือนนี้ ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์
# Tesla เผย ซื้อ Bitcoin ไป 1,500 ล้านดอลลาร์ Tesla ส่งเอกสารรายงานต่อคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์สหรัฐฯ หรือ SEC ว่าบริษัทได้ซื้อบิตคอยน์ เป็นมูลค่ารวม 1,500 ล้านดอลลาร์ บริษัทให้เหตุผลว่าการซื้อบิตคอยน์นั้นเป็นการกระจายการลงทุน และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากเงินสดที่บริษัทมีอยู่ นอกจากนี้ยังระบุว่า Tesla อาจรับชำระค่าสินค้าด้วยบิตคอยน์ในอนาคต ราคาบิตคอยน์ปรับเพิ่มขึ้นไปถึงเกือบ 43,000 ดอลลาร์ ทันที หลังจากมีรายงานข่าวดังกล่าว ที่มา: CNBC
# ผู้ใช้ Clubhouse ในจีนเริ่มพบปัญหาการใช้งาน ช่วงค่ำที่ผ่านมาผู้ใช้แอป Clubhouse ในจีนเริ่มรายงานว่ามีปัญหาการเชื่อมต่อ ทำให้ชวนสงสัยว่าทางการจีนกำลังเตรียมบล็อคแอปตามแอปสื่อสังคมออนไลน์ตัวอื่นๆ ไปหรือไม่ เมื่อเที่ยงวันนี้หนังสือพิมพ์ Global Times ลงบทความโจมตีแอป Clubhouse ว่าเป็นสื่อออนไลน์ที่วิจารณ์การเมืองจีนด้วยข้อมูลด้านเดียว และตัวแพลตฟอร์มขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง และบทความยังชี้ว่าแพลตฟอร์มอย่างทวิตเตอร์ก็มีแนวทางปิดกั้นความเห็นสนับสนุนรัฐบาลจีน ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าชาวจีนยอมจ่ายเงินนับพันบาทเพื่อซื้อสิทธิเชิญเข้าใช้งานแอป ที่มา - Reuters, Global Times
# อินเทลฟ้องอดีตพนักงานแอบโหลดเอกสารราคาซีพียูไปทำงานกับไมโครซอฟท์ ใช้ต่อรองซื้อซีพียูเข้าคลาวด์ อินเทลฟ้อง Varun Gupta อดีตพนักงานตำแหน่ง product engineer หลังจากเขาลาออกจากอินเทลเมื่อต้นปี 2020 ไปทำงานที่ไมโครซอฟท์ด้านการวางแผนกลยุทธ์สำหรับงานคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ คำฟ้องระบุว่าในวันทำงานวันสุดท้าย Varun ได้โหลดไฟล์ข้อมูลการค้า 3,900 ไฟล์ไปใส่ไดร์ฟ USB และหลังจากนั้นก็ได้ใช้ข้อมูลในเอกสารไปเจรจาซื้อซีพียูจากอินเทล จนทางอินเทลสงสัยและติดต่อขอให้ไมโครซอฟท์ช่วยตรวจสอบให้ ทางไมโครซอฟท์ร่วมมือกับอินเทลยืนยันว่าไดร์ฟ USB ที่เคยโหลดไฟล์ออกจากคอมพิวเตอร์ของอินเทลนั้น เคยนำมาใช้งานกับ Surface ที่ไมโครซอฟท์ให้ Varun ใช้ทำงานกับไมโครซอฟท์จริง เอกสารคำฟ้องนี้ทำให้เราเห็นถึงแนวทางการจัดการข้อมูลของอินเทลที่มีการติดตามการเข้าถึงข้อมูลในบริษัทตลอดเวลา ทางอินเทลระบุว่ามีพนักงานเต็มเวลา 450 คนคอยควบคุมการเข้าถึงระบบไอที และข้อมูลภายในบริษัทก็มีชั้นความลับ เช่น Intel Top Secret และ Intel Confidential ที่มา - The Register
# Valheim เกมเอาตัวรอดแดนไวกิ้ง ติดหนึ่งในสิบอันดับผู้เล่นสูงสุดบน Steam หลังเปิดตัวไม่ถึงสัปดาห์ Valheim เกมเอาตัวรอดในโลกไวกิ้งสุดเมทัล โดย Iron Gate Studio ทีมพัฒนาเกมจากสวีเดน ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังเป็น Early Access อยู่ กลับฮิตติดอันดับผู้เล่นสูงสุดบน Steam ด้วยจำนวนผู้เล่นสูงสุดกว่า 130,000 คน พร้อมคะแนนรีวิว “แง่บวกเป็นอย่างยิ่ง” จากเกือบ 9,000 รีวิวและปัจจุบันติดอันดับหนึ่งบนชาร์ตเกมขายดีของหน้า Steam ประเทศไทยแล้ว ใน Valheim ผู้เล่นจะได้รับบทนักรบไวกิ้งที่ตายในสนามรบและถูกเหล่าวัลคิวรี่พาดวงวิญญาณไปยัง Valheim ดินแดนที่สิบแห่งตำนานนอร์ส ที่คาดว่าผู้พัฒนาเขียนขึ้นเองโดยการตีความ Valhalla โลกหลังความตายของนักรบไวกิ้งในรูปแบบใหม่ เพราะตำนานนอร์สมีเพียงเก้าดินแดนเท่านั้น และผู้เล่นจะต้องรวบรวมทรัพยากร คราฟต์ของ ต่อสู้ และเอาตัวรอดในโลกไวกิ้งในภาพกราฟฟิกสามมิติโพลีกอนต่ำย้อนยุค และสามารถเล่นออนไลน์ร่วมกับเพื่อนได้ แฟนๆ เกมเอาตัวรอดอย่าง Minecraft, Rust, The Forest และอื่นๆ น่าจะชื่นชอบเกมนี้ เพราะในรีวิวก็มีคนเขียนไว้ว่ารู้สึกเหมือนได้เล่น Minecraft ครั้งแรก และนอกจากนี้ก็มีคำชมในด้านโลกโอเพ่นเวิลด์แบบตำนานนอร์สที่กว้างใหญ่ รายละเอียดการเอาตัวรอดที่ผู้เล่นต้องการทั้งน้ำ อาหาร และรักษาอุณหภูมิตัวเอง การคราฟต์ของที่หลากหลาย และอื่นๆ อีกมากมาย ปัจจุบันตัวเกมวางขายอยู่ในราคา 289 บาท บน Steam ที่มา - SteamCharts, PC Gamer
# [ลือ] Huawei เตรียมออก EMUI 11.1 เป็นเวอร์ชั่นสุดท้าย ก่อนเปลี่ยนเป็น Harmony OS ข้อมูลจากโซเชียล Weibo ระบุว่า Huawei เตรียมออก EMUI 11.1 เป็น EMUI เวอร์ชั่นสุดท้าย และจะมาพร้อมกับเคอร์เนล Harmony OS เป็นค่าเริ่มต้น เตรียมส่งต่อผู้ใช้เข้าสู่ Harmony OS แบบเต็มตัว หลังเปิดตัว EMUI 11 ที่ครอบบน Android 10 ไปเมื่อปีที่แล้ว โดยไม่สามารถพัฒนาบน Android 11 ได้ เนื่องจากการแบนของสหรัฐ แถม EMUI 11 เอง ก็ยังเปิดให้อัพเดตไม่ครบทุกรุ่น คาดว่า Huawei อาจรออัพเดต OS ทั้งหมดเป็น Harmony OS ไปเลยในทีเดียว Huawei เปิดให้ทดสอบ Harmony OS 2.0 เวอร์ชั่นเบต้าไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งนักพัฒนาพบว่าไส้ในยังมีเฟรมเวิร์คของ Android อยู่เต็มไปหมด ส่วนแผนคร่าวๆ ในปีนี้ของ Huawei คือตั้งเป้ารัน Harmony OS บนอุปกรณ์กว่า 100 ล้านชิ้นให้ได้ โดยนับรวมทั้งสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ IoT และอื่นๆ ด้วย และเราอาจได้เห็นแผนอัพเดตอย่างละเอียดต่อไป หลัง Huawei เปิดตัว EMUI 11.1 ที่มา - Weibo via Huawei Central
# กูเกิลปรับปรุง Google Meet ใน Chromebook ใช้งานหลายแอปได้ไม่กระทบคุณภาพวิดีโอคอล กูเกิลประกาศเพิ่มประสิทธิภาพ Google Meet ใน Chromebook และระบบ Chrome OS เพื่อให้ผู้ใช้งานโดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา สามารถใช้งานแอปอื่นๆ ควบคู่ไปกับการเรียนได้โดยไม่กระทบต่อคุณภาพของวิดีโอคอล ดังนี้ สามารถใช้งาน grid view หรือโหมดแสดงหน้าคนเข้าประชุมสูงสุด 49 คนได้ โดยไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของแอปอื่นๆ เช่นเวลาที่นักเรียนใช้ Google Doc จดโน้ต หรือใช้ Kahoot! ระหว่างเรียน, ปรับปรุงประสิทธิภาพกล้องดีขึ้น ลดการประมวลผลที่ไม่จำเป็นเพื่อให้คุณภาพเสียงและกล้องยังทำงานได้ดี, ปรับการใช้งาให้เข้ากับความเร็วของเครือข่ายที่ผู้ใช้งานใช้อยู่ ปิดฟีดวิดีโอบางรายการชั่วคราวเพื่อให้ไม่กระทบเวลาครูแชร์หน้าจอ นอกจากนี้กูเกิลยังร่วมกับทีมงานของ Zoom พัฒนาประสิทธิภาพการใช้งาน Zoom บน Chromebook ด้วย แต่ไม่ได้ระบุละเอียดว่าปรับเพิ่มด้านใดบ้าง ที่มา - กูเกิล
# GitHub Marketplace ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ จากเดิมเก็บ 25% เหลือเพียง 5% GitHub มีระบบตลาด Marketplace ให้นักพัฒนาเขียนแอพช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานบน GitHub มาขายนักพัฒนาคนอื่นๆ อีกที รูปแบบของ GitHub Marketplace ไม่ต่างอะไรจากสโตร์ยี่ห้ออื่นๆ ในท้องตลาด ที่เจ้าของสโตร์หักส่วนแบ่งรายได้ 20-30% จากนักพัฒนาที่ส่งแอพขึ้นมาขาย ล่าสุด GitHub ประกาศนโยบายใหม่ ลดส่วนแบ่งรายได้จากเดิมคิด 25% มาเก็บเพียง 5% เท่านั้น ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้นักพัฒนาได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น อีกทั้งปรับกระบวนการตรวจสอบแอพจากนักพัฒนาให้ง่ายขึ้น ส่งแอพขึ้นสโตร์ได้เร็วขึ้นด้วย ก่อนหน้านี้มีเคสคล้ายๆ กันคือ Epic Games ที่ประกาศเก็บส่วนแบ่งจากนักพัฒนาเพียง 12% น้อยกว่า Steam ที่เก็บ 30% ที่มา - GitHub
# พบแอปแอนดรอยด์ Barcode Scanner ที่ให้บริการฟรีมาหลายปีแปลงร่างเป็นมัลแวร์ Malwarebytes รายงานถึงแอป Barcode Scanner ของ Lavabird LTD แอปเก่าที่ให้บริการมานานหลายปี และมีผู้ติดตั้งไปแล้วกว่า 10 ล้านครั้ง กลับอัพเดตแอปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อแปลงตัวเองกลายเป็นมัลแวร์ประเภท Adware หลังจากอัพเดตแล้วโทรศัพท์ที่ติดตั้ง Barcode Scanner จะเปิดเว็บโดยผู้ใช้ไม่ได้สั่งพร้อมกับขึ้นโฆษณาให้ผู้ใช้ติดตั้งแอปรักษาความปลอดภัยในเครื่อง ทาง Malwarebytes ระบุว่าแอปฟรีที่อยู่ๆ กลายร่างเป็นมัลแวร์นั้นเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ หลายครั้งเนื่องจากตัวแอปไปใช้ SDK ของผู้ให้บริการโฆษณาที่ไม่น่าเชื่อถือ และตัว SDK แปลงร่างกลายเป็นมัลแวร์ แต่ในกรณีของ Barcode Scanner นี้ทาง Malwarebytes พบว่าผู้พัฒนาจงใจใส่โค้ดมุ่งร้ายเข้าไปเอง กูเกิลถอดแอปนี้ออกจาก Google Play เรียบร้อยแล้ว และหากใครเปิดบริการ Google Protected ไว้ก็น่าจะลบแอปนี้ออกไปโดยอัตโนมัติ แต่หากไม่ได้เปิดไว้ควรรีบลบแอปออกโดยเร็ว อย่างไรก็ดีกูเกิลยังไม่ได้ถอดแอปอื่นๆ ของ Lavabird ออกจาก Google Play โดยแอปที่เหลือไม่ได้รับความนิยมเท่า Barcode Scanner และมีอัตราการติดตั้งระดับหมื่นครั้งเท่านั้น ที่มา - Malwarebytes ภาพหน้าจอ Google Play บนแอนดรอยด์โดย mohamed_hassan
# ชาวจีนแห่ซื้อสิทธิใช้งาน Clubhouse แอปแชทด้วยเสียง เพื่อคุยการเมืองที่รัฐบาลจีนห้าม Clubhouse แอปแชทที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในสหรัฐตอนนี้ รูปแบบการใช้งานจะเน้นใช้เสียงในการพูดคุยแลกเปลี่ยนตามประเด็นของแต่ละห้องเป็นหลัก โดย Clubhouse ตอนนี้มีแต่เฉพาะบน iOS และเป็นแบบ invite-only เท่านั้น ซึ่งความนิยมของตัวแอปก็ลามไปจนถึงคนจีนด้วย แม้ Clubhouse จะใช้งานฟรี แต่คนจีนจำนวนมากก็ยอมจ่ายเงินมากถึง 2,000 กว่าบาท เพื่อซื้อสิทธิ invite จากเว็บอีคอมเมิร์ซบน Taobao เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือหาข้อมูลประเด็นที่ถูกรัฐบาลจีนแบนบนโซเชียลมีเดีย อาทิ เรื่องฮ่องกงและซินเจียง ซึ่งที่ผ่านมาคนจีนไม่มีช่องทางไหนที่จะหันไปหาได้ แต่กลายเป็นว่า Clubhouse กลายเป็นช่องทางให้ได้ เพราะเป็นโซเชียลมีเดียตะวันตกไม่กี่แอปที่สามารถให้บริการในจีนได้ อย่างตัวเลขผู้ใช้งานภาษาจีนใน Clubhouse ห้องหนึ่ง มีคนแสดงตัวว่าอาศัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันรวมกันถึงราว 700 คน น่าสนใจว่า Clubhouse จะอยู่รอดปลอดภัยจากเงื้อมมือรัฐบาลจีนไปได้นานแค่ไหน ที่มา - FT
# [ไม่ยืนยัน] TikTok เตรียมเพิ่มฟีเจอร์ด้านอีคอมเมิร์ซในสหรัฐ Financial Times รายงานอ้างอิงข้อมูลข้อมูลจากหลายแหล่งว่า TikTok ในสหรัฐเตรียมออกฟีเจอร์ใหม่ด้านอีคอมเมิร์ซ เช่น ไลฟ์สตรีมช็อปปิ้งหรือเพิ่มลิงก์สินค้า ในรูปแบบคล้าย ๆ กับที่กำลังเป็นที่นิยมในจีน โดยตอนนี้ TikTok เริ่มบรีฟนักโฆษณาถึงฟีเจอร์ใหม่นี้แล้ว ฟีเจอร์ใหม่ของ TikTok จะชนกับ Facebook และ Instagram โดยตรง ขณะเดียวกันสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของ TikTok เมื่อปีที่แล้วก็ดูผ่อนคลายลงและนักโฆษณาหรือลูกค้าก็เริ่มมั่นใจในแพลตฟอร์มมากขึ้น หลังเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นของ Joe Biden ที่มา - FT
# Lalamove หยุดบริการส่งอาหาร Lalafood ในฟิลิปปินส์ กลับไปเน้นส่งของเป็นหลัก Lalamove สตาร์ทอัพบริการขนส่งสินค้า สำนักงานใหญ่อยู่ฮ่องกงประกาศหยุดบริการส่งอาหารหรือ Lalafood ในฟิลิปปินส์ มีผล 15 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะเน้นที่บริการหลักคือส่งของ Lalamove บอกด้วยว่าจะขยายบริการโลจิสติกส์ในกรุงมะนิลาและจังหวัดปัมปังกา Lalamove เปิดตัว Lalafood ในฟิลิปปินส์ปี 2018 โดยมี Grab และ Foodpanda เป็นคู่แข่งด้วย ในข้อความแถลงฟยุดบริการ Lalafood ระบุว่า ปี 2021 จะยังคงเป็นอีกปีที่ Lalamove เติบโตอย่างแข็งแกร่งในฟิลิปปินส์ มีความมุ่งมั่นจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับการลงทุนในฟิลิปปินส์เพื่อให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้นและมอบโอกาสที่มากขึ้นให้กับผู้ขับขี่และพนักงาน ยังมีรายงานด้วยว่า Lalamove ระดมทุนเพิ่ม 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐนำโดย Hillhouse Capital Group ในเดือนมกราคม ส่งผลให้มูลค่าบริษัทที่ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพจาก Facebook Lalafood Our mission doesn’t end here -- 2021 will continue to be another year of strong growth for Lalamove in the Philippines. The year is just unfolding and there’s so much in store for us all. #letsLALA ? Posted by LalaFood on Sunday, February 7, 2021 ที่มา - Tech in Asia
# ไม่ใช่แค่หาของ, ซัมซุงเผย Galaxy SmartTag ใช้คุมสมาร์ทโฮมบน SmartThings ได้ด้วย Samsung เปิดตัว Galaxy SmartTag และ SmartTag+ ไปเมื่อกลางเดือนที่แล้ว รุ่นธรรมดาใช้งาน bluetooth low energy เพื่อเชื่อมกับเครือข่ายมือถือ Galaxy ระบุตำแหน่งอุปกรณ์ผ่าน SmartThings Find ส่วนรุ่นพลัสใช้คลื่น ultra wide-band เพื่อหาของด้วย AR ในพื้นที่จริงได้ แต่ Samsung กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Fast Company ว่า SmartTag ทำได้มากกว่านั้น Jaeyeon Jung รองประธาน Samsung และหัวหน้าทีม SmatThings ให้สัมภาษณ์ว่า SmartTags และ SmartTags+ จะเป็นส่วนหนึ่งของ SmartThings นอกจากใช้หาของหายแล้ว ยังสามารถใช้เป็นปุ่มกดเพื่อสั่งการระบบ Automation บน SmartThings ได้ เช่น เปิด-ปิดไฟ เมื่อออกจากบ้าน, เปิดประตูโรงรถ เปิดไฟ และเครื่องปรับอากาศเมื่อถึงบ้าน และอื่นๆ Jung ยังระบุว่านอกจากการใช้งานในผู้บริโภคทั่วไปแล้ว Samsung อาจมีการขาย SmartTag ให้กับธุรกิจแบบ B2B พร้อมยกตัวอย่างว่าตอนนี้ Samsung ก็ใช้ SmartTag เพื่อระบุตำแหน่งรถขนของว่าอยู่บริเวณไหนของบริษัท พร้อมแอบแง้มไว้เพิ่มเติมว่า SmartThings Find อาจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการ Android ในอนาคต แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่น การที่ Samsung มีธุรกิจ B2B ที่แข็งแรง ผนวกกับระบบความปลอดภัย Samsung Knox และความพร้อมที่จะปรับแต่งและออกแบบโซลูชั่นสำหรับธุรกิจอื่นๆ อาจเป็นโอกาสดีที่ของ Galaxy SmartTag ที่จะถูกนำไปใช้งานได้หลากหลาย แตกต่างจาก AirTags ที่ทำงานได้แค่บนระบบของ Apple เท่านั้น น่าสนใจว่าแม้ AirTags ของ Apple จะยังไม่เปิดตัว แต่ Samsung ก็พยายามแสดงถึงความแตกต่าง พร้อมข้อดีที่เหนือกว่าให้เห็น ผ่านระบบที่เป็นส่วนหนึ่งของ SmartThings แล้ว คงต้องติดตามกันต่อไปว่า AirTags จะสามารถใช้งานในรูปแบบไหนได้บ้าง เมื่อถึงเวลาเปิดตัวจริง ที่มา - Fast Company
# พาไปดูเทคโนโลยี AI ที่ซีพีใช้ ตรวจสอบคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัย สู้โควิด-19 นับตั้งแต่เกิดวิกฤตขาดแคลนหน้ากากอนามัยใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือซีพี ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกจ่ายฟรีแก่ แพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เป็นด่านหน้าที่ต้องรับมือกับวิกฤตโควิด-19 อย่างเร่งด่วน รวมทั้งประชาชนที่ขาดโอกาส เพื่อเร่งบรรเทาวิกฤตการขาดแคลนหน้ากากอนามัย จึงได้ก่อตั้ง บริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด ขึ้นมาดูแลเปิดโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยซีพีใช้เวลาก่อสร้างด้วยความรวดเร็วภายใน 5 สัปดาห์ ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการผลิตตั้งแต่การออกแบบห้องคลีนรูม (Clean Room) นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตและเชื่อมต่อกับระบบ AI ที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการผลิตและการบรรจุ ซึ่งในทุกขั้นตอนเชื่อมต่อเป็นระบบอัตโนมัติและใช้กำลังคนน้อยที่สุดเพื่อให้หน้ากากอนามัยที่ผลิตปลอดเชื้อเป็นไปตามมาตรฐานสากล Blognone พาไปดูโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี ศึกษาวิธีการผลิตและพูดคุยกับ คุณศักดิ์ชัย บัวมูล ผู้รับผิดชอบสายงานด้านวิศวกรรมและการออกแบบกระบวนการผลิตโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี และคุณสรสิช กมลชัยวานิช หนึ่งในทีมวิศวกร ถึงวิธีการทำงานของ AI ว่ามีหลักในการคัดกรองคุณภาพหน้ากากอย่างไร ให้ได้หน้ากากที่ดีที่สุด AI ช่วยตรวจสอบคุณภาพหน้ากากอนามัยได้ทุกจุดพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ คุณศักดิ์ชัย เล่าที่มาและแนวคิดการพัฒนา AI ที่ใช้งานในโรงงานหน้ากากอนามัยซีพีให้ฟังว่า การออกแบบการผลิตสินค้าในเครือซีพี ต้องคิดถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว เมื่อเราได้รับภารกิจให้สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เราต้องคิดกันก่อนว่า งานส่วนไหนที่ระบบอัตโนมัติ และ AI จะเข้ามาช่วยได้ดีที่สุด คุณศักดิ์ชัย บัวมูล ผู้รับผิดชอบ ด้านวิศวกรรมและการออกแบบกระบวนการผลิตโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี ในโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย มีหลายจุดที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่จุดที่เหมาะกับงาน AI มากที่สุดคือ การตรวจสอบคุณภาพหน้ากากอนามัย เพราะต้องอาศัยความละเอียดและต้องใช้เวลามาก เราจึงเริ่มต้นจากการสอน AI ให้รู้จักหน้ากากอนามัยที่ทั้งดีและไม่ดี เพื่อที่จะคัดกรองสินค้าออกไปได้ นอกจาก AI ที่คัดกรองคุณภาพหน้ากากอนามัยเป็นด่านสุดท้ายแล้ว ในส่วนงานอื่นยังมีการใช้เทคโนโลยีหลากหลาย เช่น Image Processing ซอฟต์แวร์พร้อมกล้องเพื่อตรวจสอบม้วนผ้าทั้งสามชั้น ประกอบด้วย ชั้นแรก เป็นนอนวูฟเวนชนิดสปันบอนด์ (สีเขียว) เคลือบสารไฮโดรโฟบิก มีคุณสมบัติป้องกันน้ำ ชั้นต่อมา เป็นนอนวูฟเวนชนิดเมลต์โบลน (สีขาว) ใช้ป้องกันเชื้อโรค และชั้นสุดท้าย เป็นนอนวูฟเวนชนิดสปันบอนด์ส (สีขาว) โดยต้องให้อยู่ในแนวเดียวกันทั้งสามชั้น ไม่ให้ชั้นใดชั้นหนึ่งเอียงออกมา คุณสรสิช หนึ่งในทีมงานวิศวกรที่ทำงานใกล้ชิดกับ AI ในโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยซีพีตั้งแต่ต้น ได้พูดถึงวิธีการสอน AI ให้รู้จักการตรวจสอบแยกแยะคุณภาพของหน้ากากอนามัยว่า ทางทีมวิศวกรนำรูปภาพหน้ากากอนามัยในสภาวะที่แตกต่างกันเป็นพันๆ รูป ให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ ตัวอย่างรูปภาพเช่น หน้ากากอนามัยเบี้ยว เอียง มีสภาวะปนเปื้อน เป็นต้น เพื่อให้ AI รู้ว่า หน้ากากจำพวกนี้ ไม่ควรปล่อยออกมาใช้งานจริง คุณสรสิช กมลชัยวานิช (วิศวกร) เมื่อ AI ทำงานได้สมบูรณ์แล้ว จะช่วยให้โรงงานสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ในอัตราความเร็วจำนวนมากเท่าที่ต้องการได้ AI ยังสามารถตรวจสอบคุณภาพหน้ากากอนามัยได้ทุกจุดพร้อมกันในหลักวินาทีต่อชิ้น ส่งผลให้ที่โรงงานตอนนี้ มีกำลังผลิต 1 แสนชิ้นต่อวัน ซึ่งหากเทียบกับการไม่ใช้ AI ในโรงงานเลย จะทำให้มีความเสี่ยงกว่ามาก ทั้งเสี่ยงต่อการผลิตไม่ทัน และเสี่ยงต่อการที่สินค้าไม่ได้คุณภาพ หรือมีสภาวะปนเปื้อนออกไปถึงมือผู้ใช้งาน หน้ากากอนามัยแบบใด ที่ AI ให้ผ่านการคัดกรอง คุณศักดิ์ชัยระบุว่า หน้ากากอนามัยที่โรงงานผลิตมีชนิดเดียว คือ หน้ากากอนามัยที่ใช้ในการแพทย์ ที่เรียกว่า Surgical Mask จัดอยู่ในกลุ่มของอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ AI จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบส่วนประกอบของการผลิตหน้ากากอนามัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ คือ 1. สายคล้องหู ต้องใช้วัสดุที่มีความแข็งแรง ไม่ขาดหลุดง่าย และมีการเย็บติดเข้ากับตัวหน้ากากอย่างแน่นหนา 2. โครงลวด ต้องใช้โครงลวดที่มีขนาดตามมาตรฐาน และมีการปะยึดลวดไม่ให้หลุดระหว่างการใช้งาน 3. ตัวล็อคโครงลวด มีความสำคัญในการช่วยยึดลวดให้ไม่เลื่อนหลุดจากตัวหน้ากาก ซึ่งอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของหน้ากาก ทำให้ผู้ใช้ได้รับอันตราย รวมถึงเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรค 4. ตัวแผ่นหน้ากาก จะต้องมีความหนาแน่นของเส้นใยที่ได้มาตรฐาน แผ่นหน้ากากชั้นนอกและชั้นในใช้เส้นใยชนิดเดียวกัน มีรูพรุนขนาด 3 ไมครอน ในขณะที่ชั้นกลางซึ่งเป็นชั้นที่ใช้ป้องกันไวรัส จะต้องมีรูพรุนสูงประมาณ 1 ไมครอนหรือต่ำกว่า และมีความหนาแน่นของเส้นใยสูง เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัส นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยของซีพี ออกแบบให้มีขนาดพอดีกับทุกคน สามารถใช้งานได้ทั่วไป ใส่แล้วพอดีกับขนาดใบหน้า ไม่เกิดรูโหว่เมื่อสวมใส่ สายคล้องยืดหยุ่น ไม่หลวมและไม่รัดจนเกินไป งาน AI ของซีพีจะไม่หยุดแค่การผลิตหน้ากากอนามัย ซีพีมีการนำระบบ AI มาใช้ในการผลิตสินค้าหลายจุด ไม่จำกัดเฉพาะหน้ากากอนามัย แต่ยังคงใช้งานในหลักการเดียวกันคือ ตรวจสอบคุณภาพสินค้าโดยเฉพาะอาหาร ก้าวต่อไปคือ การนำ AI เข้ามาใช้ควบคุมการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร คุณศักดิ์ชัย ให้ภาพรวมว่า วัตถุดิบทางการเกษตรมีความหลากหลาย และมีความไม่แน่นอนสูง เช่นความหนาของใบผัก ขนาดของผักผลไม้ที่แตกต่างกัน เราจึงต้องกำหนดเงื่อนไขที่ซับซ้อนมากกว่าหน้ากากอนามัยให้ AI เรียนรู้ ซึ่งถ้า AI สามารถคัดกรองหน้ากากอนามัยได้ ก็มั่นใจว่าจะสามารถคัดกรองวัตถุดิบการเกษตรได้ด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน หน้ากากอนามัยจากโรงงานผลิตของซีพีไม่มีวางขายทั่วไป แต่เป็นการผลิตมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และกลุ่มเปราะบางเท่านั้น โดยมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้ประสานงานด้านคำสั่งการผลิตและการกำหนดการแจกจ่าย
# จีนออกแนวทางแก้ผูกขาด ห้ามแพลตฟอร์มใหญ่บังคับร้านค้าเลือกขายของบนเว็บใดเว็บหนึ่งเท่านั้น หน่วยงานของรัฐจีนที่ทำหน้าที่ควบคุมตลาดหรือ State Administration for Market Regulation (SAMR) ออกแนวทางกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของจีน ป้องกันการผูกขาด หนึ่งในแนวทางคือห้ามไม่ให้แพลตฟอร์มใหญ่ บังคับร้านค้าต้องเลือกขายในเว็บใดเว็บหนึ่งเท่านั้น พฤติกรรมดังกล่าวมีให้เห็นมานานแล้วในวงการอีคอมเมิร์ซของจีน และ SAMR สืบสวนอาลีบาบาเมื่อเดือนธันวาคม 2020 ว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งแนวทางกำกับดูแลใหม่นี้กระทบอาลีบาบาเต็มๆ เพราะเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหญ่ทั้ง Taobao และ Tmall รัฐบาลจีนในช่วงนี้มีความพยายามจะควบคุมบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ในจีนโดยเฉพาะฟินเทค ช่วงต้นปี 2021 จีนได้ทำการสืบสวน Ant Group เจ้าของอาลีบาบา หลังสั่งเบรค IPO ของ Ant Group บริษัทลูกอาลีบาบา ที่คาดว่ามาจากความไม่พอใจที่แจ๊ค หม่าวิจารณ์กฎหมายจีน นอกจากนี้ธนาคารกลางของจีนเตรียมเพิ่มมาตรการในกฎหมายต้านการผูกขาด พุ่งเป้าที่บริการเพย์เมนต์ที่ไม่ได้มาจากธนาคารโดยตรง กระทบ Alipay และ WeChat Pay เต็มๆ ที่มา - Reuters
# ไบเดนเริ่มออกอากาศรายการประจำสัปดาห์ของประธานาธิบดี แต่เปลี่ยนจากวิทยุเป็น YouTube ประธานาธิบดีไบเดนเริ่มฟื้นฟูรายการประจำสัปดาห์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับมาออกอากาศอีกครั้ง หลังจากที่หายไปในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยการกลับมาของรายการนี้จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นแนวไม่เป็นทางการคล้ายกับพอดคาสท์ และแทนที่จะออกรายการผ่านวิทยุเหมือนอย่างที่เคยเป็น ทีมงาน Biden เลือกใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียและ YouTube ในการออกอากาศแทน รายการของประธานาธิบดีนี้มีชื่อว่า A Weekly Conversation ในสัปดาห์แรกเป็นการสนทนาทางโทรศัพท์กับ Michele Voelkert ที่เขียนจดหมายถึงเขาจากการถูกเลย์ออฟจากงานเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส สำหรับรายการ A Weekly Conversation นี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีเลือกใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่รายการประจำสัปดาห์ และเป็นรูปแบบพอดคาสท์ที่ลดความเป็นทางการลง แต่ยังคงสามารถใช้สร้างการรับรู้และเผยแพร่ข้อความของประธานาธิบดีได้ ที่มา - The New York Times, Engadget
# อินเทอร์เน็ตในเมียนมาร์กลับมาบางส่วน เมื่อวานนี้อินเทอร์เน็ตในเมียนมาร์ดับไปแทบทั้งหมด แต่ช่วงบ่ายที่ผ่านมาก็พบว่ากลับมาประมาณครึ่งหนึ่งของทราฟิกปกติแล้ว โดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าทางรัฐบาลทหารของเมียนมาร์ยกเลิกคำสั่งหรือไม่ ทางด้าน Telenor ประกาศทางทวิเตอร์เพียงสั้นๆ ว่า Telenor Myanmar กลับมาให้บริการอินเทอร์เน็ตแล้ว ทางด้าน Netblocks แสดงทราฟิกว่ากลับมาประมาณ 50% ของช่วงเวลาปกติ ซึ่งเท่ากับวันก่อรัฐประหารที่บริการหลักๆ หลายตัวถูกตัดขาด แม้จะไม่ได้ตัดอินเทอร์เน็ตไปทั้งหมด ภาพจาก Wilfried Strang from Pixabay
# Nintendo คาดยอดขาย Switch จะแซง Wii ได้ มอง 1 ครอบครัว ซื้อมากกว่า 1 เครื่อง เป็นกลยุทธ์หนึ่ง นินเทนโดตอบคำถามจากนักลงทุน หลังการแถลงผลประกอบการประจำไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งยอดขาย Switch ทำสถิติขายได้เกือบ 12 ล้านเครื่อง และมียอดขายรวมมากกว่า 80 ล้านเครื่อง จึงน่าจะแซงตัวเลขของ Wii ที่ทำไว้ 101 ล้านเครื่องได้ โดยสอบถามว่านินเทนโดมีกลยุทธ์ใดที่จะเพิ่มยอดขาย Switch อีกต่อจากนี้ โดย Shuntaro Furakawa ประธานนินเทนโดให้ข้อมูลว่า Nintendo Switch ตอนนี้เข้าสู่ช่วงกลางของวัฏจักรคอนโซลรุ่นนี้แล้ว เพราะเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่เปิดตัว ยอดขายเครื่องที่เพิ่มสูงจากไตรมาสที่ผ่านมา ก็เพราะความนิยมใน Animal Crossing: New Horizons เป็นปัจจัยหลัก เขาเชื่อว่าแนวโน้มนี้ยังส่งผลดีต่อไปอีกระยะ ยอดขาย Switch จึงน่าจะแซง Wii ได้ เขายังบอกว่าหลายคนเพิ่งมาซื้อ Swicth ในปี 2020 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้าน รวมทั้งแคมเปญ 35 ปี Super Mario Bros. ก็ทำให้หลายคนมาซื้อเครื่อง Switch เช่นกัน นินเทนโดก็จะหาแนวทางอื่นเพื่อกระตุ้นให้คนมาซื้อเครื่องมากขึ้น สุดท้ายเขาบอกว่ามีการสำรวจ พบว่ายอดขาย Nintendo Switch ในไตรมาสที่ผ่านมา 20% มาจากการซื้อเครื่องเพิ่มเติมไว้เล่นกันในครอบครัว ซึ่งนินเทนโดก็จะลงมาโฟกัสการพัฒนาเกมที่เป็นระบบใช้หลายเครื่องเล่นเพิ่มเติมอีกด้วย ที่มา: นินเทนโด (pdf) ผ่าน Nintendo Life
# รัฐบาลเมียนมาร์สั่งตัดอินเทอร์เน็ตในประเทศแล้ว โทรศัพท์-SMS ยังใช้งานได้ เมื่อวานนี้ (6 ก.พ.) รัฐบาลเมียนมาร์ สั่งตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตภายในประเทศ โดยอ้างสาเหตุเรื่องข่าวปลอมและความสงบเรียบร้อยในประเทศ ส่งผลให้เว็บไซต์หลายแห่งของพม่าไม่สามารถเข้าถึงได้จากนอกประเทศ เครือข่าย Telenor ประกาศว่าต้องทำตามคำสั่งนี้ แต่ก็แสดงความไม่เห็นด้วย และระบุว่าเครือข่ายโทรศัพท์แบบเดิม (โทรด้วยเสียงและ SMS) ยังสามารถใช้งานได้ เมื่อวานนี้ยังมีเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารเมียนมาร์ในเมืองย่างกุ้ง ทำให้แอพแชทที่คุยผ่าน mesh network อย่าง FireChat หรือ Bridgefy ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน ที่มา - Telenor, BBC, Guardian ภาพจาก Wilfried Strang from Pixabay
# [วิเคราะห์] ตลาดเกมไม่ง่าย รวยล้นฟ้าแบบ Google และ Amazon ก็ซื้อความสำเร็จไม่ได้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวน่าสนใจในวงการเกมที่เกี่ยวเนื่องกันคือ กูเกิลตัดสินใจปิดสตูดิโอพัฒนาเกมของ Stadia และ Amazon Games ประสบปัญหาในการพัฒนาเกมให้ดี แม้เปิดมาหลายปีแล้ว ทั้งสองข่าวนี้แสดงให้เห็นว่า การเข้ามาสู่วงการเกมไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อให้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ Top 5 ของโลก มีเงินล้นฟ้า ก็ยังไม่สามารถประสบความสำเร็จโดยง่าย หากไม่มีประสบการณ์ในวงการเกมมาก่อน บทความนี้จะวิเคราะห์การแข่งขันในตลาดเกมยุคหน้า ที่คลาวด์เกมมิ่งกำลังกลายมาเป็นสมรภูมิสำคัญ จากคอนโซลสู่คลาวด์เกมมิ่ง เปิดโอกาสผู้เล่นหน้าใหม่ชิงตลาด เกมในฐานะ interactive entertainment ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และธุรกิจเกมก็มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนหลายบริษัทสนใจเข้ามาชิงเค้กก้อนมหึมานี้ ในอดีตเราอาจเห็นโมเดลการเล่นเกมผ่านคอนโซลที่เป็นระบบปิด ใช้เงินลงทุนสูง (มาก) ต้องลงทุนวิจัยทั้งฮาร์ดแวร์ และสร้างซอฟต์แวร์เกมเพื่อดึงดูดเหล่าเกมเมอร์ให้มาซื้อเครื่อง การแข่งขันที่ดุเดือนทำให้ปัจจุบัน ตลาดคอนโซลจึงเหลือผู้เล่นเพียงแค่ 3 รายคือ Xbox, PlayStation และ Nintendo แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเครือข่ายที่พัฒนาขึ้นมาก เปิดโอกาสให้เราสามารถให้บริการเกมผ่านสตรีมมิ่ง หรือที่เราเรียกกันว่า "คลาวด์เกมมิ่ง" บนอุปกรณ์ใดๆ ก็ได้ กำแพงเรื่องการเล่นเกมบนคอนโซลหรือฮาร์ดแวร์จำเพาะใดๆ เพียงอย่างเดียวจึงเริ่มถูกทำลายลงไป การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้บริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ไม่เคยอยู่ในธุรกิจเกมมาก่อน หันมาสนใจตลาดนี้กันมากมาย โดยรายที่เข้ามาสู่ธุรกิจเกมจริงจังได้แก่ GeForce Now ในรูปแบบของคลาวด์เกมมิ่ง Google Stadia ในรูปแบบของคลาวด์เกมมิ่ง Amazon ในรูปแบบของคลาวด์เกมมิ่ง (Luna) และพัฒนาเกมแบบดั้งเดิม (Amazon Games) Apple Arcade ในรูปแบบของบริการเหมาจ่าย (subscription) Facebook Gaming ในรูปแบบของบริการไลฟ์สตรีม ที่เริ่มมีคลาวด์เกมมิ่งด้วย สังเกตว่าบริษัททั้ง 5 รายนี้มียุทธศาสตร์คล้ายกันคือ เริ่มบุกตลาดมาทางฝั่งแพลตฟอร์มก่อน ตัวบริการใช้โมเดล subscription (ส่วนจะเล่นผ่านคลาวด์หรือไม่นั้นอีกเรื่อง) และบางบริษัทเริ่มหันมาสร้างเกมของตัวเองด้วยเพื่อเป็นจุดขาย (Stadia/Amazon) บริษัทซอฟต์แวร์เกมเริ่มขยับ จากขายขาดสู่เหมาจ่าย ในอีกทาง เราเริ่มเห็นบริษัทพัฒนาเกมแบบดั้งเดิม เริ่มขยับตัวจากโมเดลขายขาด (ซื้อเกมแล้วจบ) มาเป็นบริการเหมาจ่ายรายเดือน subscription เล่นเกมได้ไม่อั้นเช่นกัน บริษัทเกมยักษ์ใหญ่รายแรกๆ ที่ลองทำตลาดด้วยวิธีนี้คือ EA เริ่มทำบริการเหมาจ่าย EA Access ก่อนใครตั้งแต่ปี 2014 ตามด้วย Origin Access บนพีซีในปี 2016 แล้ววิวัฒนาการมาเป็น EA Play ในปี 2020 แถมยังไปจับมือกับ Xbox Game Pass อีกต่างหาก โมเดลของ EA ถูกตอกย้ำด้วยทิศทางของ Ubisoft ที่เปิดบริการคล้ายๆ กันชื่อ Uplay+ ในปี 2019 แล้วรีแบรนด์เป็น Ubisoft+ ในปี 2020 โดยแนวทางของ Ubisoft ที่เป็นเจ้าของไลเซนส์เกมอย่างเดียว ใช้วิธีไปจับมือกับเจ้าของแพลตฟอร์มคลาวด์ (ที่ยังไม่ค่อยมีเกม) ทั้ง Stadia และ Luna ตอนนี้เรายังไม่เห็นท่า subscription จากค่ายเกมใหญ่รายอื่นๆ มากนัก เพราะการทำท่านี้ได้ต้องมีคลังเกมในมือจำนวนมหาศาล แต่เราก็เห็นค่ายใหญ่อย่าง Take Two นำเกมลงสตรีมมิ่ง (เช่น Red Dead Redemption 2 บน Stadia) หรือ Cyberpunk 2077 ที่ลงทั้ง Stadia/GeForce Now เจ้าของคอนโซลก็ขยับ แต่ด้วยโมเดลที่แตกต่าง ในฝั่งของเจ้าของแพลตฟอร์มคอนโซลเองก็ไม่ปล่อยให้ผู้เล่นสายคลาวด์มาแย่งตลาดไปง่ายๆ เช่นกัน เพราะมีทุกอย่างครบหมดแล้วทั้งฐานผู้เล่นและซอฟต์แวร์เกมที่เป็นเอ็กซ์คลูซีฟ การต่อยอดมาทำคลาวด์เกมมิ่งจึงไม่ยากเลย เอาเข้าจริงแล้ว เจ้าพ่อคอนโซลอย่าง Sony ถือเป็นผู้ริเริ่มบริการคลาวด์เกมมิ่งรายแรกๆ เลยด้วยซ้ำ เพราะ PlayStation Now (Gaikai เดิม) เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2014 แต่จะเป็นด้วยปัจจัยว่ามาก่อนกาล หรือเป็นเพราะวิธีคิดที่มองว่าขัดแย้งกับธุรกิจคอนโซลแบบดั้งเดิม (ซื้อเครื่อง ซื้อเกม) ก็ไม่ทราบได้ Sony กลับไม่ค่อยจริงจังกับ PS Now เท่าที่ควร ตัวเลขสมาชิกที่เปิดเผยล่าสุดคือ 2.2 ล้านคนในปี 2020 กลายเป็น Microsoft ที่มาแรงแซงโค้ง จัดหนักทั้งบริการเกมเหมาจ่าย Xbox Game Pass ที่ทุ่มสรรพกำลังส่งเกมมาให้เล่นแบบ Day 1 และต่อยอดด้วยบริการคลาวด์เกมมิ่ง xCloud เล่นจากที่ไหนก็ได้ (ตัวเลขล่าสุดของสมาชิก Game Pass คือ 18 ล้านคน) เท่านั้นยังไม่พอ ทุ่มเงินมหาศาลไล่ซื้อสตูดิโอเกมอีกรัวๆ โดยเฉพาะเคสสำคัญคือการซื้อ ZeniMax/Bethesda ในปี 2020 ผู้เล่นตลาดคอนโซลรายเดียวที่ยังไม่สนใจขยับมาตลาดนี้คือ Nintendo ซึ่งเรารู้กันดีว่ามีความเป็นตัวของตัวเองสูง (มาก) และเมื่อยอดขาย Switch ยังไปได้สวย Nintendo ย่อมไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ต้องดิ้นรนออกมาจากฐานที่มั่นตัวเอง จะเห็นว่าเจ้าของคอนโซลทั้ง 3 รายต่างขยับตัวด้วยโมเดลที่ต่างกัน เริ่มจาก Microsoft ทุ่มสุดตัว (เพราะเป็นรองในตลาดฮาร์ดแวร์), Sony มาบ้างแบบกั๊กๆ (เพราะฮาร์ดแวร์ยังขายดีอยู่) และ Nintendo ที่ไม่สนใจเลย วิเคราะห์ศึกชิงเค้กคลาวด์เกมมิ่ง เมื่อเรานำผู้เล่นทั้ง 3 กลุ่มมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน จะได้ออกมาเป็นแผนภาพ Venn Diagram ดังที่เห็น กลุ่มแพลตฟอร์ม พยายามชิงตลาดนี้ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มอย่างเดียว (มี Apple รายเดียวที่เป็นเจ้าของ iPhone/Apple TV แต่ก็ไม่ใช่เครื่องเล่นเกมโดยตรง ถือเป็นฮาร์ดแวร์อื่นที่เล่นเกมได้) โดย Google และ Amazon พยายามสร้างความแตกต่างด้วยการพัฒนาเกมเอง ผลคือ Google ล้มเหลวต้องถอนตัว ส่วน Amazon ไม่ประสบความสำเร็จเลย แต่ซีอีโอใหม่ Andy Jassy ก็ยังสัญญาว่าจะสู้ต่อ ทิศทางของตลาดนี้ในระยะยาวคือ ตัวฟีเจอร์พื้นฐานของแพลตฟอร์มคลาวด์เกมมิ่งจะทันกันหมด การเล่นเกมเดียวกัน (เช่น Cyberpunk) บน GeForce Now, Stadia หรือ Luna จะไม่แตกต่างกันเลย เจ้าของแพลตฟอร์มจึงต้องไปสร้างจุดขายด้วยวิธีอื่น เช่น ซื้อสิทธิ์เอ็กซ์คลูซีฟ (Epic Model!) หรือใช้ประโยชน์จากการขายพ่วงบริการอื่น เช่น Stadia พ่วง YouTube, Luna พ่วง Twitch หรือ Apple Arcade พ่วง iPhone กลุ่มผู้สร้างเกม ทิศทางชัดเจนว่าเริ่มเข้าสู่ subscription มากขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ระดับคือ จ่ายรายเดือน เข้าถึงสิทธิเล่นเกมแบบดั้งเดิม (ดาวน์โหลดมาติดตั้งในเครื่อง) และจ่ายรายเดือน เล่นเกมผ่านคลาวด์โดยตรง บริษัทเกมแบบ EA และ Ubisoft ยังสามารถให้บริการได้เฉพาะในระดับแรก (ดิจิทัลดาวน์โหลดมาติดตั้งก่อน) แต่หากมองไปถึงคลาวด์เกมมิ่ง อาจไม่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีถึงขั้นนั้น ทำให้ทั้ง EA และ Ubisoft ต้องไปจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นแพลตฟอร์ม (EA จับมือ Xbox, Ubisoft จับมือ Stadia/Luna) ซึ่งทิศทางของบริษัทเกมรายอื่นๆ คงไปในลักษณะเดียวกัน บริษัทเกมมีจุดแข็งคือเป็นเจ้าของเกมอยู่แล้ว (ในโลกของเกม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือตัวเกม) อำนาจต่อรองกับแพลตฟอร์มจึงสูงกว่า การขายไลเซนส์เกมให้แพลตฟอร์มจึงเป็นโมเดลที่ปลอดภัยกว่าไปลงทุนทำแพลตฟอร์มเอง กลุ่มคอนโซล ถ้าพิจารณาผู้เล่น 2 กลุ่มข้างต้น จะเห็นว่าแต่ละกลุ่มต่างมีจุดอ่อนสำคัญ เจ้าของแพลตฟอร์มคลาวด์ไม่มีเกม เจ้าของเกมไม่มีแพลตฟอร์ม ทำให้ต้องมาร่วมมือกัน แต่เจ้าของคอนโซลไม่มีปัญหาแบบนั้น เพราะมีทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว ทั้งสตูดิโอเกม แบรนด์ ฐานผู้เล่นมหาศาล การปรับตัวเข้าสู่บริการเหมาจ่ายและคลาวด์เกมมิ่งจึงไม่ต้องลงทุนมากเท่ากับผู้เล่นกลุ่มอื่นๆ แถมยังมีจุดเด่นเรื่องเกมเอ็กซ์คลูซีฟที่มีเฉพาะแพลตฟอร์มนี้เท่านั้น หากมีแพลตฟอร์มเกมที่เล่นจากที่ไหนก็ได้ (คลาวด์เกมมิ่ง) มีเกมใหญ่ๆ ระดับ Cyberpunk หรือ RDR2 ให้เล่นตั้งแต่วันแรก (หลายแพลตฟอร์มมีเหมือนกัน) แต่มีอยู่หนึ่งแพลตฟอร์มมีเกมอย่าง The Last of Us หรือ God of War ให้เล่นเพียงที่เดียว แทบไม่ต้องคิดเลยว่าผู้เล่นจะเลือกจ่ายรายเดือนให้แพลตฟอร์มไหน ปัจจัยที่เหลือจึงมีแค่เรื่องเทคโนโลยีคลาวด์ กับความจริงจังในการบุกตลาดนี้เท่านั้น ตรงนี้ทำให้ Microsoft โดดเด่นกว่า Sony มาก เพราะมีคลาวด์ของตัวเองมาตั้งแต่แรก (และ Sony ต้องใช้คลาวด์ Microsoft) มีแรงจูงใจในการทำตลาดนี้ (เพราะยอดขายคอนโซลเป็นรอง) ที่สำคัญที่สุดคือมีเงิน! เพราะไมโครซอฟท์ร่ำรวยจากธุรกิจอื่นๆ จนสามารถเอาเงินมาทุ่มซื้อสตูดิโอเกมชุดใหญ่ และเอาเงินมาชดเชยการขาดทุนของ Game Pass/xCloud ได้ในช่วงแรก นั่นแปลว่าในช่วงที่ Stadia เพลี่ยงพล้ำ Amazon ยังเข็นไม่ขึ้น ผู้เล่นรายอื่นในตลาดแพลตฟอร์มยังไม่สามารถหาจุดเด่นที่ดึงดูด ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งดีที่สุดคือ Microsoft ที่มีพร้อมแล้วทุกอย่างนั่นเอง ภาพประวัติศาสตร์ Sony เซ็นสัญญาใช้คลาวด์ Microsoft
# Opera GX เพิ่มฟีเจอร์สตรีมมิ่งเพลงบน sidebar, หยุดเล่นเพลงอัตโนมัติเมื่อเล่นวิดีโอ/เสียงอื่นในเบราว์เซอร์ นับเป็นข่าวดีสำหรับเกมเมอร์ผู้รักเสียงดนตรี เมื่อ Opera GX เบราว์เซอร์ที่ออกแบบมาเพื่อเกมเมอร์ ได้ออกอัพเดตเพื่อเพิ่มฟีเจอร์สตรีมมิ่งเพลงบน sidebar ของตัวเบราว์เซอร์ เช่นเดียวกันกับ Opera Desktop ที่ได้รับฟีเจอร์นี้มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว การสตรีมมิ่งเพลงจากเว็บอาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดาที่เบราว์เซอร์ใดๆ ก็ทำได้ แต่สิ่งที่ทำให้ฟีเจอร์ข้างต้นมีความพิเศษกว่าการเปิดเว็บขึ้นมาฟังเพลงแบบปกติคือ Opera จะช่วยควบคุมการเล่นเพลงบน sidebar ไม่ให้เสียงเพลงซ้อนทับไปการเล่นวิดีโอและเสียงอื่นภายในเบราว์เซอร์ โดยจะหยุดเล่นเพลงและกลับมาเล่นเพลงต่อให้อัตโนมัติ ไม่ต้องคอยสลับแท็บไปสั่งหยุดเล่นเพลงเอง นอกจากนี้ฟีเจอร์สตรีมมิ่งเพลงบน sidebar ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงไลบรารีของบริการสตรีมมิ่งได้ตลอดเวลา เพียงแค่กดไอคอน Player ที่อยู่ทางด้านซ้ายของ Opera เท่านั้น และยังสามารถนำเมาส์ไปชี้ที่ไอคอน Player เพื่อสั่งให้ Opera แสดงตัวควบคุมการเล่นเพลงขนาดเล็ก หากต้องการเพียงแค่กดข้ามเพลงหรือหยุดเล่นเพลงชั่วคราว ปัจจุบันฟีเจอร์ดังกล่าวใช้งานได้กับบริการสตรีมมิ่งเพลงถึง 3 เจ้า คือ Spotify, Apple Music และ YouTube Music วิดีโอตัวอย่างการใช้งาน Player บน Opera Desktop (ใช้งานแทบไม่ต่างจาก Opera GX) ดาวน์โหลด Opera GX เวอร์ชันล่าสุดได้แล้วที่นี่ ส่วนท่านที่ติดตั้งไว้แล้วสามารถกดเช็กอัพเดตได้จากตัวโปรแกรมครับ ที่มา - Opera blogs
# แอปเป๋าตังล่มตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา วันนี้แอปเป๋าตังของธนาคารกรุงไทยล่มตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา แอปเป๋าตังค์เป็นแอปที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในช่วงหลังเนื่องจากเป็นช่องทางรับความช่วยเหลือของรัฐในหลายโครงการ ยอดการติดตั้งล่าสุดใน Google Play สูงกว่าสิบล้านคน
# [ไม่ยืนยัน] กูเกิลเตรียมปรับแนวทางการติดตามผู้ใช้บน Android ตามแนวทาง iOS สำนักข่าว Bloomberg อ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวระบุว่ากูเกิลกำลังหาทางเพิ่มฟีเจอร์ป้องกันการติดตามผู้ใช้บน Android หลังจาก iOS ปรับแนวทางไปก่อนหน้านี้จนกระทบกับทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊ก โฆษกของกูเกิลตอบคำถามของ Bloomberg เพียงว่าบริษัทหาทางยกระดับความส่วนตัวไปพร้อมกับการเปิดทางให้ระบบนิเวศของแอปที่อาศัยรายได้จากโฆษณาสามารถพัฒนาไปได้พร้อมกัน แต่เดิมการขอติดตามผู้ใช้ด้วยหมายเลขประจำตัวสำหรับโฆษณา หรือ Advertising Identifier (IDFA) นั้นผู้ใช้เลือกปิดได้จากการตั้งค่าโดยรวมของระบบ แต่ใน iOS 14 ทุกแอปที่ขอติดตามค่า IDFA ตัว iOS จะแสดงหน้าจอขออนุญาตทุกครั้ง ซึ่งหากผู้ใช้กดไม่ยอมรับแอปก็จะไม่สามารถแสดงโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่ม (targeted ads) ได้ ทำให้รายได้ต่อการคลิกและต่อครั้งของการแสดงโฆษณานั้นต่ำลง ที่มา - Bloomberg ภาพตัวอย่าง dialog ขออนุญาตติดตามผู้ใช้จากเอกสารเตรียมตัวของ Google AdMob
# ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โซนี่ทำเกมลง Xbox คือเกมเบสบอล MLB The Show 2021 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดหลักไมล์สำคัญของวงการเกม เพราะเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นเกมจาก Sony San Diego Studio ประกาศลงเครื่อง Xbox เกมประวัติศาสตร์เกมนี้คือเกมเบสบอล MLB The Show 2021 ภาคล่าสุดของซีรีส์เกมเบสบอล The Show ที่พัฒนาโดย San Diego Studio สตูดิโอในเครือ SIE Worldwide Studios ข่าวนี้ไม่ใช่เซอร์ไพร์สนัก เพราะมีภาพหลุดของ MLB The Show 2021 เวอร์ชัน Xbox มาสักระยะแล้ว ในแถลงการณ์บนบล็อก PlayStation เองก็ระบุเหตุผลว่าต้องการขยายผู้เล่นของเกมนี้ออกไปให้มากขึ้น และเป็นความร่วมมือกันจากทั้งฝั่งโซนี่และไมโครซอฟท์ที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริง เกมลงทั้งหมด 4 แพลตฟอร์มคือ PS4, PS5, Xbox One, Xbox Series X|S แถมยังรองรับ cross play เล่นข้ามแพลตฟอร์มกันได้อย่างสมบูรณ์ ท่าทีของโซนี่ในช่วงหลังเริ่มผ่อนคลายนโยบายการทำเกมลงแพลตฟอร์มตัวเองอย่างเดียว ปีที่แล้วเราเห็น Horizon Zero Dawn ลงพีซี กันมาแล้ว และปีนี้ก็เห็นเกมของโซนี่ลง Xbox เป็นครั้งแรกเช่นกัน ที่มา - PlayStation Blog, Xbox Wire
# Xiaomi เปิดตัวคอนเซปต์สมาร์ทโฟน หน้าจอโค้งรอบเครื่อง 4 ด้าน Xiaomi เปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ยังมีสถานะเป็นคอนเซปต์ โดยมีจุดเด่นคือหน้าจอโค้งรอบทั้ง 4 ด้าน โดยตัวจอด้านข้างทำมุม 88 องศา สามารถแสดงผลต่อเนื่องไหลลื่นกับหน้าจอหลักได้ โดย Xiaomi บอกว่าเหมือนกับน้ำตก Xiaomi บอกว่าความท้าทายในการผลิตสมาร์ทโฟนหน้าจอแบบนี้ คือการทำให้หน้าจอเชื่อมต่อโค้งเข้า 4 ด้าน ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้หน้าจอที่โค้งรับตลอด 4 ด้าน ทำให้สมาร์ทโฟนนี้ไร้ปุ่มและไร้พอร์ตเชื่อมต่ออีกด้วย ดูวิดีโอตัวอย่างได้ท้ายข่าว ที่มา: Xiaomi
# Sony เข้าถือหุ้นเกือบ 2% ใน Kadokawa บริษัทสื่อญี่ปุ่น บริษัทแม่ของ FromSoftware Sony เข้าถือหุ้น 1.93% ใน Kadokawa Corporation บริษัทสื่อรายใหญ่ของญี่ปุ่น และบริษัทแม่ของสตูดิโอเกม FromSoftware และ Spike Chunsoft Kadokawa Corporation เป็นบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ที่มีธุรกิจทั้งนิตยสาร สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ เกม อนิเมะ (สตูดิโอในเครืออย่างเช่น ASCII Media Works, Enterbrain, Media Factory) Kadokawa ประกาศแผนการเป็นพันธมิตรกับ Sony และ CyberAgent บริษัทโฆษณาดิจิทัล (บริษัทแม่ของสตูดิโอเกมมือถือ Cygames เจ้าของเกม Granblue Fantasy) โดยทั้ง Sony และ CyberAgent จะเข้ามาถือหุ้น Kadokawa สัดส่วนรายละ 1.93% ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ Kadokawa จะนำเนื้อหาของตัวเองในสื่อต่างๆ ไปขยายผลเป็นเกมมือถือผ่าน CyberAgent และนำเกม-อนิเมะไปทำตลาดนอกญี่ปุ่นผ่านเครือข่ายของ Sony ที่มีอยู่ทั่วโลก ในฝั่งอนิเมะคงเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะ Sony เป็นเจ้าของบริการสตรีมมิ่งอนิเมะทั้ง Funimation และ Crunchyroll (ที่เพิ่งซื้อกิจการมา) การนำอนิเมะของ Kadokawa ไปทำตลาดนอกญี่ปุ่นผ่านบริการเหล่านี้จึงตรงไปตรงมา ฝั่งของเกมกลับยังไม่ชัดเจนมากนัก ปัจจุบัน Kadokawa เป็นเจ้าของสตูดิโอเกมใหญ่ๆ สองแห่งคือ FromSoftware กับ Spike Chunsoft ซึ่งที่ผ่านมา เกมของ FromSoftware มักเลือกใช้ Bandai Namco เป็นผู้จัดจำหน่ายนอกญี่ปุ่น (ยกเว้น Sekiro ใช้บริการ Activision และ Bloodbourne ที่เป็นเอ็กซ์คลูซีฟ PS4) การผนึกกำลังเป็นพันธมิตรกับ Sony จึงเป็นไปได้ว่าเราอาจเห็นดีลคล้ายๆ Bloodbourne เกิดขึ้นอีก (Bloodbourne 2?) ตอนนี้ FromSoftware กำลังพัฒนาเกมใหม่ Elden Ring ที่ยังไม่ระบุวันวางขาย โดยตอนเปิดตัวเกมนี้ FromSoftware ใช้เวทีของไมโครซอฟท์ที่งาน E3 2019 (แต่เกมเป็นมัลติแพตลฟอร์ม ลงทั้ง PS, Xbox, PC) ที่มา - Kadokawa, Gematsu, DualShockers
# PayPal ประกาศยุติให้บริการรับ-จ่ายเงิน ภายในประเทศอินเดีย จากการแข่งขันที่สูง PayPal ประกาศปิดให้บริการรับ-จ่ายเงิน สำหรับลูกค้าและร้านค้าในประเทศอินเดีย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2021 โดยระบุว่า PayPal จะยังคงให้บริการสำหรับการจ่ายเงินออนไลน์ข้ามประเทศต่อไป รวมทั้งพนักงานในอินเดียจะย้ายไปดูแลส่วนธุรกิจอื่นแทน บริการรับ-จ่ายเงินของ PayPal ในอินเดีย มีร้านค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์มากกว่า 360,000 ราย รวมทั้งบริการออนไลน์อย่าง BookMyShow, MakeMyTrip และแอปสั่งอาหาร Swiggy มีการจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มในปีที่ผ่านมามากกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์ อินเดียเป็นประเทศที่มีการแข่งขันของแพลตฟอร์มจ่ายเงินผ่านมือถือสูง คาดการณ์ว่าตลาดในประเทศนี้อาจสูงถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2023 มีผู้เล่นรายใหญ่ปัจจุบันอาทิ Paytm, PhonePe ไปจนถึงบริษัทเทคโนโลยีใหญ่จากอเมริกาทั้ง กูเกิล, Facebook และ Amazon ที่มา: TechCrunch
# อินเทลโชว์เบนช์มาร์ค ซีพียู Tiger Lake ใช้งานท่องเว็บ เร็วกว่า Apple M1 เฉลี่ย 30% อินเทลออกซีพียู Tiger Lake มาได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว แต่เพิ่งออกผลการเบนช์มาร์คเทียบกับ Apple M1 โดยระบุว่าใช้งานท่องเว็บผ่าน Chrome ได้เร็วกว่าเฉลี่ย 30% เบนช์มาร์คของอินเทลใช้ Chrome v87 ทั้งบนวินโดวส์และแมค รันชุดทดสอบ WebXPRT 3 ที่รวมงานหลายประเภทบนเว็บ เช่น แต่งภาพ ดูราคาหุ้น ฯลฯ ผลคือฮาร์ดแวร์ Tiger Lake ทำงานได้เร็วกว่า 30% ในภาพรวม และบางการทดสอบ เช่น แต่งภาพ เร็วกว่าเกือบ 3 เท่า ในกราฟเดียวกัน อินเทลยังโชว์ผลทดสอบ Office 365 เทียบ Tiger Lake กับ M1 ผลคือบางการทดสอบ เช่น แปลงเอกสาร PowerPoint เป็น PDF เร็วกว่า 2.3 เท่า ฮาร์ดแวร์ที่ใช้ทดสอบเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นต้นแบบของอินเทลเอง ใช้ Core i7-1185G7 แรม 16GB เทียบกับ MacBook Pro M1 แรม 16GB เท่ากัน เว็บไซต์ Tom's Hardware เปรียบเทียบเบนช์มาร์คชุดนี้ของอินเทล กับเบนช์มาร์คที่ทดสอบเอง พบว่าฝั่งของ M1 ได้ผลใกล้เคียงกัน แต่ฝั่ง Tiger Lake ได้ผลที่แตกต่างกันมาก อย่างไรก็ตาม ซีพียู Core i7-1185G7 ไม่ค่อยมีใช้งานในโน้ตบุ๊กหลายรุ่นนัก ส่วนใหญ่นิยมใช้ Core i7-1165G7 เป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถเทียบเบนช์มาร์คกันได้ตรงๆ ซะทีเดียว ที่มา - Tom's Hardware
# Google จ่ายเงินให้นักวิจัยในโครงการ Bug Bounty ปี 2020 ไป 6.7 ล้านดอลลาร์ กูเกิลออกรายงานโครงการ bug bounty หรือรายงานการพบช่องโหว่เพื่อรับเงินรางวัลของปี 2020 ซึ่งจ่ายเงินให้กับนักวิจัยไปรวม 6.7 ล้านดอลลาร์ มีนักวิจัยที่ได้รับเงินทั้งหมด 662 คน จาก 62 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่จ่ายไป 6.5 ล้านดอลลาร์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ Chrome มีการจ่ายเงินรางวัลสูงสุด 2.1 ล้านดอลลาร์ จากช่องโหว่ 300 รายการ ส่วน Android จ่ายเงินไป 1.74 ล้านดอลลาร์, Google Play 2.7 แสนดอลลาร์ ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ มีการจ่ายเงินมากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้กับรายงานช่องโหว่ใน Android 11 รวม 11 รายการ ทำให้กูเกิลออกแพตช์แก้ไขได้ก่อนออกเวอร์ชันสาธารณะ ส่วนนักวิจัยที่รายงานช่องโหว่มากที่สุดคือ Guang Gong (@oldfresher) และทีมงานจาก 360 Alpha Lab กับ Qihoo 360 Technology ซึ่งรายงาน 8 ช่องโหว่ในปีที่ผ่านมา ที่มา: กูเกิล และ ZDNet ภาพ กูเกิล
# กูเกิลเตรียมออก Google Drive for Desktop ตัวใหม่ มาแทน Backup and Sync ของเดิม คนที่ใช้ Google Drive บนเดสก์ท็อปคงคุ้นกับโปรแกรมซิงก์ชื่อ Backup and Sync from Google (ที่ไม่ค่อยสื่ออะไรมากนัก) ล่าสุดกูเกิลประกาศเปลี่ยนชื่อโปรแกรมเป็น Google Drive for Desktop อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ประเด็นเรื่องชื่อแอพตัวนี้ไม่ใช่แค่เรื่องตั้งชื่ออย่างเดียว ที่มาที่ไปคือกูเกิลเองดันมีโปรแกรมซิงก์ไฟล์บนเดสก์ท็อป 2 ตัว ได้แก่ Backup and Sync สำหรับผู้ใช้ทั่วไป Drive File Stream สำหรับผู้ใช้องค์กร ไคลเอนต์ทั้ง 2 ตัวมีฟีเจอร์ไม่เท่ากัน จึงถูกตั้งชื่อแตกต่างกัน สิ่งที่ตามมาคือความสับสนของผู้ใช้ ทางแก้ของกูเกิลจึงเป็นการรวมไคลเอนต์ทั้ง 2 ตัวเข้าด้วยกัน ไคลเอนต์หลักที่ได้ไปต่อคือ Drive File Stream ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Google Drive for Desktop เรียบร้อยแล้ว โดยมีฟีเจอร์เหมือนกันทุกประการ และในอนาคตจะได้ฟีเจอร์จากฝั่งคอนซูเมอร์ (เช่น แบ็คอัพรูปภาพขึ้น Google Photos) เพิ่มมาด้วย ส่วนผู้ใช้ Backup and Sync ในปัจจุบันจะถูกย้ายไปใช้ Google Drive for Desktop ภายในปีนี้ (รอกูเกิลทำฟีเจอร์ฝั่งคอนซูเมอร์ให้ไคลเอนต์ตัวใหม่เสร็จก่อน) ซึ่งกูเกิลจะประกาศรายละเอียดให้ทราบต่อไปเมื่อพร้อม ที่มา - Google, 9to5google
# รัฐบาลเมียนมาร์สั่งบล็อค Twitter, Instagram เพิ่ม จากที่บล็อค Facebook ไปแล้ว กระทรวงการสื่อสารของเมียนมา สั่งให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศบล็อค Twitter และ Instagram เพิ่มเติมจากที่สั่งบล็อค Facebook ไปก่อนแล้ว หลังเหตุการณ์รัฐประหาร ข้อมูลนี้เปิดเผยโดย Telenor ที่มีธุรกิจในเมียนมาร์ ทาง Telenor ระบุชัดว่าไม่เห็นด้วยกับการบล็อคครั้งนี้ แต่ต้องทำตามเพราะเป็นคำสั่งตามกฎหมายของเมียนมาร์ ซึ่งบริษัทจะพยายามหาวิธีให้เปิดการเข้าถึงโดยเร็วที่สุด คำสั่งบล็อคนี้ยังมีผลให้ Twitter ล่มในแถบเอเชียเมื่อคืนนี้ ซึ่งเกิดจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพม่าปรับคอนฟิกเราเตอร์ใหม่ ที่มา - Telenor, CNN, ภาพจาก Twitter
# Kuaishou แอปวิดีโอสั้นคู่แข่ง TikTok ไอพีโอเข้าตลาดหุ้นฮ่องกงแล้ว ราคาเปิดพุ่ง 194% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา Kuaishou แอปโซเชียลมีเดียวิดีโอสั้นคู่แข่งรายสำคัญของ TikTok เข้าไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงอย่างเป็นทางการแล้ว Kuaishou จำหน่ายหุ้นไอพีโอทั้งหมด 365,218,600 หุ้น ที่ราคาไอพีโอที่ 115 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งหลังเปิดตลาด ราคาหุ้นของ Kuaishou พุ่งขึ้นไปที่ 338 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น หรือกระโดดขึ้น 194% เมื่อเทียบกับราคาไอพีโอ Kuaishou เป็นบริษัททำแอปโซเชียลมีเดียประเภทวิดีโอสั้นจากประเทศจีนที่กำลังมาแรงทั้งในและนอกประเทศ โดย Kuaishou ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของ TikTok หรือ Douyin มีผู้ลงทุนรายใหญ่คือ Tencent และตอนนี้ Kuaishou ก็เริ่มขยายแพลตฟอร์มมาสู่ไลฟ์สตรีมมิ่งด้วย ปัจจุบัน Kuaishou มีผู้ใช้งานรายดือนที่ 481 ล้านรายในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (นับจนจบเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว) ทำให้หุ้น Kuaishou เป็นที่ต้องการมาก ซึ่งสำนักข่าว SCMP ระบุว่า Kuaishou ถือเป็นดีลที่มีผู้จองเกินจำนวนทำลายสถิติของฮ่องกง ที่มา - TechCrunch ภาพหน้าเว็บ kuaishou.com
# [ลือ] Apple สั่งหยุดการเจรจาโครงการรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกับ Hyundai สำนักข่าว Bloomberg อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง เผยว่าแอปเปิลได้สั่งหยุดการเจรจาโครงการรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกับ Hyundai และ Kia แล้ว หลังจากมีรายงานข่าวออกมาก่อนหน้านี้ รวมทั้งข่าวว่า Hyundai จะให้ Kia เป็นผู้ผลิตรถยนต์ รายงานระบุว่าแอปเปิลสั่งหยุดการเจรจาหลัง Hyundai ออกมาให้ข่าวยืนยันว่ากำลังเจรจาเรื่องร่วมมือกันผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากับบริษัทแห่งหนึ่งจริง อย่างไรก็ตามคาดว่าแอปเปิลน่าจะกลับมาเจรจากับ Hyundai อีกครั้ง เนื่องจากแนวทางหาพาร์ทเนอร์ผลิตรถยนต์ให้ที่แอปเปิลเลือกนั้น มีข้อจำกัดที่ผู้ที่สามารถผลิตรถยนต์ให้ได้แบบนี้ในโลกก็ไม่ได้มีมากนัก แหล่งข่าวอีกรายให้ข้อมูลว่า Hyundai เองก็ยังไม่มีข้อสรุปภายใน ว่าจะให้แบรนด์ใดเป็นผู้ผลิตรถยนต์ให้แอปเปิลระหว่าง Hyundai กับ Kia ที่มา: Bloomberg
# ไมโครซอฟท์เตรียมลบ Edge ตัวเก่าออกจาก Windows 10 ในเดือนเมษายน 2021 ไมโครซอฟท์ประกาศแผนการถอด Microsoft Edge Legacy ตัวเก่าออกจาก Windows 10 ในเดือนเมษายน 2021 ในเดือนเมษายนนี้ ไมโครซอฟท์จะใช้อัพเดตเดือนรอบปกติ (Patch Tuesday) วันที่ 13 เมษายน 2021 ลบ Edge ตัวเก่าออกจากระบบ และติดตั้ง Edge ตัวใหม่ให้อัตโนมัติ (หากยังไม่มี) โดยอัพเดตนี้จะมีผลตั้งแต่ Windows 10 v1803 ขึ้นมาจนถึง Windows 10 v20H2 ตัวล่าสุดในปัจจุบัน ตัวเอนจินเรนเดอร์เว็บ EdgeHTML ของ Edge ตัวเก่า จะยังถูกซัพพอร์ตต่อไปบน Windows 10 แต่ไมโครซอฟท์ก็แนะนำให้ใช้เอนจิน Edge WebView2 ที่พัฒนามาจาก Chromium แทนแล้ว ที่มา - Microsoft