txt
stringlengths
202
53.1k
# ซัมซุงเริ่มปล่อยอัพเดต One UI 5.0 (Android 13) รุ่นเสถียรให้ Galaxy S22 แล้ว ซัมซุงเริ่มปล่อยรอม One UI 5.0 (Android 13) รุ่นเสถียรให้กับ Galaxy S22 ในหลายประเทศแล้ว หลังทดสอบ Beta มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม เว็บไซต์ข่าวสายซัมซุง SamMobile ใช้งานรอมแล้วพบว่าหน้าตาของ One UI 5.0 แทบไม่ต่างจาก One UI 4.1 มากนัก (เหตุผลหนึ่งก็เพราะ Android 13 หน้าตาเหมือน Android 12) แต่การเปลี่ยนแปลงไปอยู่ที่ระดับของการตอบสนองที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ส่วนฟีเจอร์เด่นๆ อย่าง Bixby Text Call ยังจำกัดเฉพาะในเกาหลีใต้เท่านั้น ที่มา - SamMobile (1), SamMobile (2)
# iTunes for Windows อัพเดตเวอร์ชัน 12.12.6 เพื่อรองรับ iPad รุ่นใหม่ แอปเปิลออกอัพเดต iTunes บน Windows เวอร์ชัน 12.12.6 เพื่อรองรับ iPad รุ่นใหม่ และแก้ไขช่องโหว่ความปลอดภัย โดยในอัพเดตนี้ แอปเปิลระบุว่าเพิ่มการรองรับ iPad 10th Gen ที่เป็น iPad รุ่นทั่วไปที่ตัดปุ่ม Home ออกเป็นครั้งแรก และรองรับ iPad Pro ใหม่ที่ใช้ชิป M2 รวมทั้งแก้ไขช่องโหว่ความปลอดภัยทั่วไป ผู้ใช้งานสามารถอัพเดตได้ผ่าน iTunes และ Microsoft Store ที่มา: MacRumors
# Samsung เตรียมให้บริการ Samsung Wallet เพิ่มอีก 13 ประเทศ, ยังไม่มีไทย Samsung เตรียมเปิดให้ผู้ใช้ในอีก 13 ประเทศใช้งาน Samsung Wallet แอปจ่ายเงินด้วยมือถือและใช้เก็บบัตรอิเล็กทรอนิกส์และรหัสผ่านต่างๆ หลังจากเปิดตัวแอปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 13 ประเทศใหม่ที่จะได้ใช้งาน Samsung Wallet ประกอบไปด้วยบาห์เรน, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, คาซัคสถาน, คูเวต, นอร์เวย์, โอมาน, กาตาร์, แอฟริกาใต้, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, เวียตนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยจะสามารถใช้งานได้ภายในปีนี้ ในตอนนี้ Samsung Wallet ยังคงให้บริการอยู่เพียงแค่ 8 ประเทศ ได้แก่ จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เกาหลีใต้, สเปน, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่มา - Samsung Newsroom
# ไมโครซอฟท์เริ่มขายชุดพัฒนาแอป Windows บนสถาปัตยกรรม Arm ไมโครซอฟท์เริ่มวางขาย Windows Dev Kit 2023 หรือ Project Volterra ที่เปิดตัวตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา โดยตอนนี้สเปคก็ออกมาครบถ้วนแล้ว ได้แก่ ซีพียู Snapdragon® 8cx Gen 3 แรม LPDDR4x 32GB สตอเรจ NVMe 512GB พอร์ตเชื่อมต่อ USB-C 2 ช่อง, USB-A 3 ช่อง เป็น USB 3.2 Gen2 ทั้งคู่, mini Display Port, และ RJ45 Wi-Fi 6 และ Bluetooth 5.1 Windows 11 Pro น้ำหนัก 960 กรัม ตอนนี้ซอฟต์แวร์ที่พอร์ตมาลง Windows on Arm แล้วได้แก่แอปพลักๆ ของไมโครซอฟท์เอง เช่น Microsoft Teams, Microsoft 365, Edge, Microsoft Defender, OneDrive ขณะที่ซอฟต์แวร์ของผู้ผลิตอื่นๆ ก็เริ่มมีมากขึ้น เช่น Photoshop, Lightroom, Zoom, OpenVPN เป็นต้น ราคาขายของเครื่อง Windows Dev Kit 2023 อยู่ที่ 599 ดอลลาร์ เป็นการขายขาดมีประกัน 1 ปี (เทียบกับชุดพัฒนา macOS บน Arm ที่ราคา 500 ดอลลาร์แต่ต้องคืนเครื่อง) สามารถสั่งได้แล้ววันนี้ ใช้เวลาส่งสินค้า 2-3 วัน ที่มา - Windows Developer Blog
# Apple ออกอัพเดต iPadOS 16.1, iOS 16.1 และ macOS Ventura สำหรับผู้ใช้งานทุกคน แอปเปิลออกอัพเดตระบบปฏิบัติการประจำปี iPadOS 16 สำหรับผู้ใช้ iPad และ macOS Ventura สำหรับผู้ใช้ Mac ตามที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ โดยสำหรับ iPadOS แอปเปิลออกอัพเดตข้ามเป็นเวอร์ชัน iPadOS 16.1 เลย เพื่อให้สอดคล้องกับ iOS 16.1 ที่ออกอัพเดตพร้อมกันด้วย ทั้ง iPadOS 16.1 และ macOS Ventura มีคุณสมบัติใหม่ที่สำคัญคือฟีเจอร์มัลติทาสก์ Stage Manager โดยใน iPad รองรับ iPad รุ่น M1 ขึ้นไป รวมทั้ง iPad Pro 11 นิ้ว รุ่นที่ 1 ขึ้นไป และ iPad Pro 12.9 นิ้ว รุ่นที่ 3 ขึ้นไป ส่วน iOS 16.1 มีการเพิ่มคุณสมบัติ iCloud Shared Photo Library, การแสดงข้อมูลเรียลไทม์ในหน้าเตือน Live Activities และแก้ไขบั๊กหลายรายการ เช่น การเชื่อมต่อ CarPlay ขณะ VPN, ปัญหาใน Messages, ปัญหาการแสดงผล Dynamic Island แอปเปิลยังออกอัพเดตระบบปฏิบัติการอื่นด้วยดังนี้ tvOS 16.1 ปรับปรุงการทำงานของ Siri watchOS 9.1 ปรับปรุงการใช้แบตเตอรี่ขณะเดิน-วิ่งนอกบ้าน ที่มา: MacRumors [1], [2], [3], [4], [5]
# Apple ขึ้นราคาค่าสมาชิกรายเดือนทั้ง Apple Music, Apple TV+ และ Apple One มีผลทันที แอปเปิลปรับขึ้นราคาบริการออนไลน์ ที่ให้สมัครสมาชิกรายเดือนทั้ง Apple Music และ Apple TV+ ตลอดจน Apple One บริการแบบเหมารวมหลายอย่าง มีผลทันทีตั้งแต่วันนี้ โดยราคาในอเมริกาปรับเพิ่ม 1-3 ดอลลาร์ ต่อเดือน ขึ้นอยู่กับรูปแบบแพ็คเกจ ส่วนราคาในไทยที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นดังนี้ Apple Music แผนนักศึกษา 79 บาท/เดือน เท่าเดิม แผนบุคคล 139 บาท/เดือน (เดิม 129 บาท) แผนครอบครัว 219/เดือน (เดิม 199 บาท) Apple TV+ 199 บาท/เดือน (เดิม 99 บาท) Apple One แผนบุคคล 295 บาท/เดือน (เดิม 225 บาท) แผนครอบครัว 379 บาท/เดือน (เดิม 295 บาท) แอปเปิลบอกว่าเหตุผลที่ต้องขึ้นราคา เนื่องจากต้นทุนลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้นของเพลงใน Apple Music ส่วน Apple TV+ ขึ้นราคาเนื่องจากมีคอนเทนต์ที่มากขึ้น ที่มา: 9to5Mac
# Cloudflare Pages รองรับ Next.js แล้ว Cloudflare Pages บริการโฮสต์เว็บที่เดิมเน้นเว็บ static เป็นหลักประกาศรองรับเฟรมเวิร์ค Next.js โดยอาศัยฟีเจอร์ Edge Runtime ของ Next.js ที่เพิ่งปล่อยออกมาปีนี้และยังเป็นฟีเจอร์ระดับทดลองเท่านั้น ตัว Cloudflare Pages เองรองรับการประมวลผลฝั่งเซิร์ฟเวอร์ด้วยฟีเจอร์ Pages Functions มาตั้งแต่ปีที่แล้ว เบื้องหลังการทำงานนั้นก็คือการไปสร้าง Workers มารันโค้ดอีกที การใช้งาน Next.js บน Cloudflare Pages นั้นแทบไม่ต้องแก้โค้ดอะไร นอกจากคอนฟิกเปลี่ยนเอนจินให้เป็น Edge Runtime หลังจากนั้นโค้ดในหน้าต่างๆ ก็สามารถเรียกใช้ getServerSideProps ได้ทันที กระบวนการอัพโหลดโค้ดขึ้น Cloudflare Pages จะอาศัยคำสั่ง next-on-pages ที่ทาง Cloudflare โอเพนซอร์สออกมา ตอนนี้บริการ Pages Functions ยังเป็นบริการระดับเบต้า แต่ทาง Cloudflare คาดว่าจะให้บริการเต็มรูปแบบได้เร็วๆ นี้ ที่มา - Cloudflare
# Will Wright ผู้สร้าง Sim City เปิดตัวเกมใหม่ VoxVerse เกมแนวบล็อคเชน ขาย NFT Will Wright บิดาผู้ให้กำเนิดเกม Sim City และ The Sims (ลาออกจาก Maxis เมื่อปี 2009) ล่าสุดประกาศทำเกมใหม่ชื่อ VoxVerse ที่ระบุว่าเป็นเกมบนบล็อกเชน หลัง Wright ลาออกจาก Maxis เขาเงียบหายไปพักใหญ่ๆ ก่อนกลับมาในปี 2018 เปิดตัวสตูดิโออินดี้ชื่อ Gallium Studios (ร่วมกับ Lauren Elliott อดีตเพื่อนร่วมงาน และผู้สร้างเกม Where in the World is Carmen Sandiego) พัฒนาเกมซิมูเลชันบนมือถือชื่อ Proxi ที่จนบัดนี้ก็ยังพัฒนาไม่เสร็จ เกม VoxVerse ยังเป็นผลงานของ Gallium ร่วมกับ Gala Games บริษัทที่ทำระบบเกมบล็อคเชน (ข่าวเก่าของเกม Grit) ที่เข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนา บวกกับการปั๊ม NFT ขายภายใต้แบรนด์ Vox และนำตัวละครมาจากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Trolls ของ DreamWorks Wright ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Axios ว่าเขาไม่ได้สนใจเรื่อง NFT มากนัก สนใจเรื่องการทำเกมให้คนหลักล้านคนเข้ามาเล่นฟรีๆ แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าการมีผู้เล่นรวยๆ (whale) สัก 10,000 คน จะช่วยให้ธุรกิจของเกมเดินหน้าไปได้ แนวคิดของ VoxVerse คล้ายกับเกมแนวบล็อกเชนอื่นๆ คือการเป็นเจ้าของที่ดิน สร้างสิ่งปลูกสร้าง ขุดทรัพยากร ฯลฯ Wright มองว่าผู้เล่นในเกมนี้จะมี 3 ระดับคือ คนรวยจำนวนน้อยเป็นเจ้าของที่ดิน จ่ายเงินซื้อที่ดินด้วยคริปโต, คนกลุ่มตรงกลางที่เจ้าของที่ดินจ้างให้มาสร้างสิ่งปลูกสร้าง สิ่งของในเกม และขายเพื่อทำงาน, ผู้เล่นฟรีจำนวนมากเข้ามาสร้างสังคมในเกม VoxVerse ยังมีระบบจากเกมก่อนๆ ของ Wright อย่างระบบชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ, ความหิวและระดับพลังงานของผู้เล่น, ระบบวิวัฒนาการของสิ่งต่างๆ ที่มา - Axios
# ผลรีวิว Core i9-13900K ใกล้เคียงกับ Ryzen 7950X มาก ในราคาถูกกว่า 100 ดอลลาร์ สัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อฮาร์ดแวร์หลายรายออกรีวิว Intel Core 13th Gen "Raptor Lake" ซึ่งรอบนี้ออกมาชนกับ AMD Ryzen 7000 พอดี ทำให้เราได้เห็นการเปรียบเทียบกันตรงๆ ของซีพียูเดสก์ท็อปจากทั้งสองค่าย รีวิวที่ออกมา ส่วนใหญ่เป็นของ Core i9-13900K รุ่นบนสุด และ Intel Core i5-13600K ซีพียูระดับกลาง แล้วนำไปรันเบนช์มาร์คเทียบกับ Ryzen 9 7950X และ Ryzen 5 7600K ที่ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกัน Raptor Lake ยังใช้โครงสร้างของ 12th Gen "Alder Lake" ที่ใช้ระบบ P-core + E-core สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ อินเทลเพิ่มจำนวน E-core เป็นสองเท่าจากเดิม (ยังเป็นคอร์ Gracemont ตัวเดิมเป๊ะ) และอัพเกรด P-core เป็นตัวใหม่ขึ้น (Raptor Cove แทน Golden Cove) รวมถึงเพิ่มคล็อคของ P-core มากขึ้นด้วย i9-13900K เป็น 8P+16E (32 เธร็ด) เทียบกับ i9-12900K เป็น 8P+8E (24 เธร็ด) i5-13600K เป็น 6P+8E (20 เธร็ด) เทียบกับ i5-12600K เป็น 6P+4E (16 เธร็ด) การเพิ่มจำนวน E-core มาอีกเท่าตัว ทำให้ i9-13900K มีจำนวนเธร็ดเท่ากับ Ryzen 9 7950X (32 เธร็ด) แล้ว หลังจากที่ตอน i9-12900K มีจำนวนเธร็ดเป็นรอง นอกจากนี้ Raptor Lake ยังเพิ่มจำนวนแคช L2 ต่อคอร์ (2MB ต่อ P-core และ 4MB ต่อ E-core) และเพิ่มแคช L3 ขึ้นตามด้วย เนื่องจาก Raptor Lake ใช้โครงสร้างเดิมของ Alder Lake ทำให้ใช้บอร์ดร่วมกันได้ แม้อินเทลออกชิปเซ็ตใหม่ Z790 มาพร้อมกันก็ตาม (ปรับปรุงจาก Z690 เฉพาะฝั่ง I/O) ระบบคอร์ผสมของ Raptor Lake ทำให้ตัวระบบปฏิบัติการต้องซัพพอร์ตการสลับงานระหว่างคอร์ได้เป็นอย่างดีด้วย ตรงนี้อินเทลแนะนำให้ใช้ Windows 11 22H2 รุ่นใหม่ล่าสุด ที่ทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์ให้รองรับ Intel Threat Director ของฝั่งซีพียูได้ดีขึ้น ผลการทดสอบเบนช์มาร์คต่างๆ พบว่า Core i9-13900K อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ Ryzen 9 7950X มาก ผลัดกันแพ้ชนะในชุดทดสอบแต่ละประเภท และมีความแตกต่างกันไม่เยอะนัก (ส่วนใหญ่แพ้ชนะกันแค่ 1-2%) โดย i9-13900K ขึ้นมาครองแชมป์เบนช์มาร์ค CineBench R23 Multi-Thread และเป็นซีพียูตัวแรกที่มีคะแนนสูงกว่า 40,000 คะแนน (7950X ทำสถิติเดิมไว้ที่ราว 38,000 คะแนน) หากเทียบ i9-13900K กับรุ่นพี่ i9-12900K ที่ออกมาก่อนหน้า ประสิทธิภาพที่ได้ก็เพิ่มขึ้นราว 15% (เธร็ดเดียว) ตัวเลขของอินเทลเองบอกว่าถ้าเป็นงานมัลติเธร็ด ประสิทธิภาพจะดีขึ้นราว 40% ผลการทดสอบด้านเกมมิ่ง i-13900K ยังฟัดเหวี่ยงกับ Ryzen 9 7950X เช่นเดิม แต่ในบางเกม (เช่น Borderlands 3 หรือ GTA V) อาจมี Ryzen 7 5800X3D ที่ใช้แคช L3 ขนาดใหญ่ เหมาะกับการเล่นเกมมาครองอันดับหนึ่งแทน ในแง่ประสิทธิภาพอาจพอฟัดเหวี่ยงกัน แต่ถ้านำราคามาพิจารณาร่วมด้วย i9-13900K ตั้งราคาขายปลีกที่ 589 ดอลลาร์ ส่วน 7950X ขายแพงกว่าที่ 699 ดอลลาร์ (แถมยังต้องเปลี่ยนบอร์ดเป็นยุค Zen 4) ตรงนี้ย่อมทำให้ 13900K น่าสนใจมากขึ้นในแง่ประสิทธิภาพต่อราคา อีกตัวเลือกหนึ่งที่คุ้มค่ามากคือ Core i5-13600K ที่เกาะกลุ่มประสิทธิภาพมาแบบเงียบๆ โดยตัวเลขเบนช์มาร์คตามหลัง 13900K ไม่มากนัก (บางการทดสอบชนะ 12900K ด้วยซ้ำ) ในราคาที่ถูกกว่าเกือบครึ่ง (319 ดอลลาร์) อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการใช้พลังงาน Core i9-13900K ยังมีค่า TDP พื้นฐาน 125 วัตต์ (7950X 170 วัตต์) แต่ในการใช้งานจริงแบบ full load จะขึ้นไปที่ 253 วัตต์ (7950X ที่ 230 วัตต์) แถมยังสามารถปลดล็อคให้กินไฟได้สูงถึงราว 335-345 วัตต์ ถือเป็นซีพียูที่กินไฟเพิ่มขึ้นมากทีเดียว (จากทั้งคอร์ที่เพิ่มขึ้น และคล็อคที่เพิ่มขึ้น) ที่มา - AnandTech, Notebookcheck
# Basecamp ประกาศเตรียมย้ายออกจากคลาวด์ เหตุเพราะแพงและทำอินเทอร์เน็ตรวมศูนย์ David Heinemeier Hansson (@dhh) ผู้ร่วมก่อตั้ง Basecamp และบริการอีเมล HEY เขียนบล็อกระบุแนวทางว่า Basecamp กำลังเตรียมแผนเพื่อย้ายบริการออกจากคลาวด์แล้วแม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทจะใช้คลาวด์มาตลอดก็ตามที Hansson ระบุว่าคลาวด์นั้นได้เปรียบเมื่อโหลดมีความไม่แน่นอนสูงๆ เช่น สมัย HEY เปิดบริการใหม่ๆ ก็คาดเดาได้ยากว่าคนจะใช้งานมากน้อยแค่ไหน จากที่คาดไว้ว่าจะมีคนใช้งาน 30,000 คนในช่วง 6 เดือนแรกกลับมีผู้สมัครถึง 300,000 รายใน 3 สัปดาห์เท่านั้น แต่หลังจากนั้นโหลดก็ค่อนข้างนิ่งแล้ว โดยเฉพาะ Basecamp ที่เปิดบริการมานาน เขาให้เหตุผลที่ย้ายออกไว้ 3 ข้อได้แก่ ราคาแพง: HEY บริการเดียวจ่ายค่าฐานข้อมูล SQL (RDS) และ Elasticsearch กว่า 500,000 ดอลลาร์ต่อปีให้ AWS แม้ว่าจะเพราะว่าใช้ข้อมูลเยอะแต่ราคานี้ก็แพงเกินไป และองค์กรซื้อเซิร์ฟเวอร์เองได้เยอะถ้ามีงบประมาณเท่ากัน การจัดการไม่ได้ง่ายทั้งหมด: Hansson ระบุว่ามีแต่คนที่ไม่เคยจัดการโครงสร้างขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าพอย้ายไปคลาวด์แล้วการจัดการจะง่ายจนลดคนดูแลได้ ระบบรวมศูนย์; เวลาที่ศูนย์ข้อมูลหลักของ AWS ล่มไปสักแห่ง อินเทอร์เน็ตแทบจะหายไปครึ่งโลก แนวทางนี้ไม่ใช่อินเทอร์เน็ตที่ DARPA ออกแบบไว้ ตอนนี้ Hansson ยังไม่ระบุแผนชัดเจนว่าจะย้ายบริการออกจากคลาวด์มากน้อยเพียงใดในกรอบเวลาเท่าใด ที่มา - @dhh
# Steam ทำสถิติใหม่ คนล็อกอินพร้อมกันสูงสุดมากกว่า 30 ล้านบัญชี Steam ทำสถิติผู้เล่นล็อกอินเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกันสูงสุดอีกครั้งที่มากกว่า 30 ล้านบัญชี โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 30,032,005 ตัวเลขนี้น่าสนใจเนื่องจาก Steam ทำสถิติ 27 ล้านบัญชีไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และเป็นการก้าวกระโดดจากปี 2020 ซึ่งทำได้ 20 ล้านบัญชี เหตุผลในสองปีที่ผ่านมาคือโควิด 19 ทำให้คนอยู่บ้านเล่นเกม แต่ตอนนี้ 2022 ตัวเลขยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด ที่มา: Kotaku
# กูเกิลส่งโครงการ ko ระบบสร้างคอนเทนเนอร์อิมเมจ Go ใน Kubernetes เข้า CNCF กูเกิลประกาศส่งโครงการ ko ที่ใช้สำหรับสร้างอิมเมจคอนเทนเนอร์ (container image builder) สำหรับแอปพลิเคชั่นภาษา Go ใน Kubernetes โดยไม่ต้องใช้ Docker เลย ภาษา Go ได้รับความนิยมสำหรับแอปพลิเคชั่นบนคลาวด์จำนวนมาก การที่นักพัฒนาสามารถคอมไพล์โปรแกรมใน Kubernetes ได้โดยตรงทำให้สามารถใช้งานกับระบบ CI/CD ได้สะดวกขึ้น CNCF เองมีโครงการที่ดูแลหลักคือ Kubernetes ที่กูเกิลส่งโครงการเข้าไปแล้วก่อนหน้านี้ การส่งโครงการเข้า CNCF ทำให้องค์กรอื่นๆ สามารถใช้งานได้สะดวกใจยิ่งขึ้น เพราะทั้งโค้ด, ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้อง, และเครื่องหมายการค้าต่างๆ จะดูแลโดย CNCF ที่เป็นองค์กรกลาง ที่มา - Google Open Source Blog
# จีนเตรียมสร้างฟาร์มไฟฟ้าพลังงานลมที่ผลิตไฟได้มากกว่าโรงไฟฟ้าไทยรวมกันทั้งประเทศ ในช่วงไม่กี่ปีหลังจีนเดินหน้าลงทุนในโครงการเกี่ยวกับพลังงานสะอาดเป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่จีนให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าแบบอื่นคือระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม โครงการระบบไฟฟ้าพลังงานลมแห่งล่าสุดที่กำลังจะเริ่มก่อสร้างคือฟาร์มผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งที่เมือง Chaozhou ซึ่งโครงการนี้เรียกได้ว่าใหญ่สะท้านโลกเลยทีเดียว เพราะกำลังการผลิตไฟของฟาร์มนี้สูงถึง 43.3 GW ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการสร้างมา หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้นว่ากำลังการผลิตไฟของฟาร์มไฟฟ้าพลังงาน Chaozhou นั้นมากมายแค่ไหน ลองเปรียบเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงงานไฟฟ้าในประเทศไทยอาจช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของทั้งประเทศในเดือนกันยายน 2022 อยู่ที่ 42.3 GW (ไม่นับรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ซื้อจากโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน) โดยแบ่งกำลังการผลิตของ กฟผ. และกำลังการผลิตของภาคเอกชนได้ดังนี้ โรงไฟฟ้าของ กฟผ. 16.9 GW ผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) 16.1 GW ผู้ผลิตเอกชนรายเล็ก (SPP) 9.3 GW จึงเท่ากับว่าโครงการฟาร์มผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Chaozhou นั้นมีกำลังการผลิตไฟมากกว่าโรงไฟฟ้าทุกแห่งในประเทศไทยรวมกัน ความใหญ่ของโครงการนี้หากเทียบกับฟาร์มผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งแห่งอื่นแล้วถือว่าใหญ่กว่ากันมาก ในปัจจุบันนี้ฟาร์มที่ดำเนินการผลิตไฟอยู่ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดคือโครงการ Hornsea Project Two ในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟเพียง 1.4 GW เท่านั้น สำหรับโครงการยักษ์ใหญ่ของจีนนี้จะสร้างฟาร์มผลิตไฟในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ห่างออกไปจากชายฝั่งเมือง Chaozhou ไปทางตะวันออกเป็นระยะทาง 75 และ 185 กิโลเมตร โดยทางการจีนระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวมีลมแรงที่สามารถปั่นกังหันลมได้ 3,800-4,300 ชั่วโมงต่อปี (หรือคิดเป็น 43% - 49% ของระยะเวลาใช้งาน) ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนเวลาใช้งานที่สูงมากหากเทียบกับฟาร์มไฟฟ้าพลังงานลมทั่วไป ทั้งนี้ทางการจีนมีแผนจะก่อสร้างฟาร์มแห่งนี้ให้แล้วเสร็จในปี 2025 ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานลมได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในช่วง 5 ปีหลังมานี้หากรวมกำลังการผลิตไฟของฟาร์มไฟฟ้านอกชายฝั่งประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมกันยังไม่เท่ากับฟาร์มนอกชายฝั่งที่จีนสร้างขึ้นภายในปี 2021 ปีเดียว โดยในปัจจุบันกำลังการผลิตไฟของฟาร์มไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทั่วโลกรวมกันเท่ากับ 54 GW ซึ่งในจำนวนนั้น 26 GW เป็นกำลังการผลิตจากฟาร์มของจีน จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในจีนก็ได้มีความพยายามพัฒนาระบบสำรองพลังงานเพื่อเก็บพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้เอาไว้ใช้ในภายหลัง โดยเมื่อต้นเดือนก็มีการเปิดใช้งานระบบเก็บพลังงานแบบอัดอากาศขนาด 400 MWh ซึ่งก็ถือเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นเดียวกันสำหรับระบบเก็บพลังงานลักษณะนี้ ที่มาภาพ: pixabay: aitoff, License CC 0) ที่มา - Electrek
# [ลือ] Mac Pro ซีพียู Apple Silicon จะเริ่มขายปีหน้า Mark Gurman แห่ง Bloomberg ให้ข้อมูลในจดหมายข่าวรายสัปดาห์ Power On ตอนล่าสุด ว่าด้วยสินค้าตระกูล Mac ที่เตรียมขายในอนาคตอันใกล้นี้ มีรายละเอียดดังนี้ เริ่มที่ Mac Pro ซึ่งเป็นไลน์สินค้าตัวเดียวที่ยังไม่มีรุ่นซีพียู Apple Silicon ข้อมูลที่เขามีคือแอปเปิลเริ่มทดสอบ Mac Pro ใหม่แล้ว โดยคอนฟิกที่มีคือ 24 คอร์ซีพียู, 76 คอร์กราฟิก และแรม 192GB มีตัวเลือกให้อัพเกรดได้เป็น 48 คอร์ซีพียู, 152 คอร์กราฟิก, แรม 256GB อย่างไรก็ตามเขาให้ข้อมูลว่า Mac Pro ซีพียู Apple Silicon จะยังไม่วางขายภายในปีนี้ ส่วนสินค้าอื่นที่คาดว่าจะขายภายในปีนี้คือ MacBook Pro ซีพียู M2 Pro และ M2 Max รวมทั้ง Mac mini ที่เป็น M2 ด้วย ที่มา: 9to5Mac
# Harvard พัฒนาหุ่นยนต์หนวดปลาหมึก หยิบจับวัตถุบอบบางหรือรูปทรงประหลาดได้ง่าย นักวิจัยจาก School of Engineering and Applied Sciences (SEAS) แห่ง Harvard University ได้พัฒนาหุ่นยนต์หนวดปลาหมึก "Tentacle Robot" ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการหยิบจับวัตถุต่างๆ ไม่ว่าวัตถุนั้นจะเป็นสิ่งของที่มีความอ่อนนุ่มยืดหยุ่น หรือมีความเปราะบาง ก็สามารถหยิบจับวัตถุดังกล่าวได้ การออกแบบส่วนหยิบจับวัตถุของหุ่นยนต์นั้น หากวัตถุดังกล่าวมีความแข็งเกร็ง, มีรูปทรงไม่ซับซ้อน, ไม่เปลี่ยนรูปร่างโดยง่าย และมีความแข็งแรงในตัวมันเอง ก็สามารถออกแบบกลไกส่วนแขนกลหรือมือจับชิ้นงานได้ไม่ยากนัก เพราะสามารถออกแบบขนาดมือจับให้เหมาะสมสัมพันธ์กับขนาดชิ้นงานและไม่ต้องกังวลว่าแรงกระทำของมือจับจะสร้างความเสียหายให้แก่วัตถุ แต่วัตถุที่มีความบอบบาง, มีความอ่อนนุ่ม หรือมีส่วนที่เป็นซอกหลืบหรือมีขนาดชิ้นส่วนโครงสร้างขนาดเล็กนั้น ถือเป็นโจทย์ที่ยากกว่าสำหรับการออกแบบมือจับ หากมือจับหนีบแรงไปก็อาจทำให้ของเสียหาย แต่หากมือจับออกแรงบีบหลวมไปตัววัตถุก็มีโอกาสคลายตัวเคลื่อนหลุดจากมือจับได้ง่าย โดยทั่วไปการจะออกแบบมือจับเพื่อหยิบวัตถุที่บอบบางอ่อนนุ่มและมีรูปร่างซับซ้อนนี้อาจต้องอาศัยความแม่นยำในการเคลื่อนที่และหมุนหาตำแหน่งของหุ่นยนต์รวมทั้งอาจต้องใช้ระบบเซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบตำแหน่งและรูปร่างของวัตถุเป้าหมาย ทั้งยังต้องใช้เซ็นเซอร์ตรวจสอบแรงกระทำเพื่อควบคุมแรงของมือจับไม่ให้มากเกินไปจนสร้างเสียหาย และบางครั้งอาจต้องอาศัยทักษะผู้ควบคุมหุ่นยนต์เข้าช่วยด้วยอีกทาง ทีมวิจัย SEAS ได้พยายามตีโจทย์นี้ด้วยการสร้างหุ่นยนต์หนวดปลาหมึก โดยมีท่อลมปลายปิดหลายเส้นห้อยเป็นรยางค์ออกมาจากแขนของหุ่นยนต์ ท่อลมที่ว่านี้ทำจากยางที่มีความยืดหยุ่นและมีผนังท่อด้านหนึ่งหนากว่าด้านอื่น เมื่อมีการสูบลมออกจากท่อแรงดันอากาศภายในท่อที่ลดลงจะทำให้ท่อลมหดตัวงอไปในด้านที่มีผนังท่อบางกว่า ท่อลมที่งอตัวจะไปเกี่ยวรั้งกับวัตถุเป้าหมายที่ต้องการหยิบ แรงกดที่ท่อลมกระทำต่อพื้นผิววัตถุเป้าหมายนั้นมากพอจะสร้างแรงเสียดทานเพื่อยกวัตถุขึ้นมาได้โดยที่ไม่สร้างความเสียหายต่อตัววัตถุเอง ในการใช้งานสามารถปรับเพิ่มและลดจำนวนท่อลมที่ใช้หยิบจับวัตถุได้ ขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของวัตถุที่ต้องการหยิบ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของงานวิจัยหุ่นยนต์หนวดปลาหมึกของ Harvard ได้ที่นี่ ที่มา - Tech Xplore, Harvard John A. Paulson School of Engineering and Applied Sciences
# TensorFlow เผยแผนออกรุ่นใหญ่ปี 2023, รองรับโค้ดเก่าของ TensorFlow 2 ทั้งหมด 100% ทีม TensorFlow ประกาศแผนการออกเวอร์ชันใหญ่รุ่นหน้า (น่าจะเรียกว่า TensorFlow 3 นับต่อจาก TensorFlow 2.x ในปัจจุบัน เวอร์ชัน 2.0 ออกเมื่อปี 2019) โดยมีกำหนดออกรุ่นพรีวิวในไตรมาส 2/2023 และออกรุ่นจริงภายในปี 2023 ทีม TensorFlow การันตีว่าโค้ดเก่าทั้งหมดของ TensorFlow 2 จะเข้ากันได้กับเวอร์ชันใหม่ 100% ไม่ต้องแก้หรือแปลงโค้ดของเก่าใดๆ นำมารันได้ทันที ของใหม่ใน TensorFlow เวอร์ชันถัดไป แบ่งออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ Fast and scalable รองรับการทำ XLA (Accelerated Linear Algebra) Compilation ซึ่งเป็นเทรนด์ของวงการ machine learning ที่ให้กระบวนการเทรนโมเดลรวดเร็วขึ้น โดยจะผลักดันผ่านโครงการ OpenXLA พัฒนา API ใหม่สำหรับการประมวลผลแบบขนานชื่อ DTensor ปรับแต่งประสิทธิภาพในภาพรวม ผ่านการทำ optimization ต่างๆ Applied ML พัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ อย่าง KerasCV (computer vision) และ KerasNLP (natural language processing) เพื่อให้นำ machine learning ไปประยุกต์ใช้ในงานด้านอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น Ready to deploy พัฒนาฟีเจอร์ด้านการ export โมเดลไปยังอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สมาร์ทโฟน ไมโครคอนโทรลเลอร์ JavaScript ผ่านช่องทางอย่าง TFLite และ TF.js พัฒนา API สำหรับเชื่อมต่อ TensorFlow 2 กับแอพพลิเคชันที่เป็น C++ พัฒนาการดีพลอยโมเดล JAX ผ่าน TensorFlow Serving Simplicity รองรับ Numpy API สำหรับการคำนวณทางคนิตศาสตร์ที่นิยม NumPy อยู่แล้ว ปรับปรุงการดีบั๊กให้ง่ายขึ้น ที่มา - TensorFlow Blog
# Samsung จดสิทธิบัตรแหวนอัจฉริยะ วัดข้อมูลชีวภาพได้หลายอย่างและมีจอแสดงข้อมูล ในช่วง 2-3 ปีมานี้ Samsung ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรต่อ USPTO หลายครั้งกับสิ่งประดิษฐ์ที่พวกเขาระบุในเอกสารว่า "Ring-Type Wearable Device" ซึ่งมีรายละเอียดว่าด้วยการประดิษฐ์แหวนอัจฉริยะที่มีเซ็นเซอร์วัดข้อมูลของร่างกายผู้ใช้งานหลากหลายประเภท พร้อมมีจอแสดงข้อมูลในตัว เอกสารสิทธิบัตรของ Samsung มีภาพวาดของแหวนที่แสดงให้เห็นโครงสร้างอันประกอบไปด้วยโครงแหวนวงนอก, ปลอกแหวนด้านใน และชุดเซ็นเซอร์พร้อมวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างโครงด้านนอกกับปลอกด้านใน ภาพแหวนของ Samsung และภาพ exploded drawing แสดงชิ้นส่วนองค์ประกอบของแหวน ชุดวงจรในแหวนมีเซ็นเซอร์เพื่อเก็บข้อมูลและรับการสั่งงานจากผู้ใช้หลายประเภท โดยมีส่วนควบคุมที่จะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้และติดต่อส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ได้ด้วย สำหรับเซ็นเซอร์ในแหวนของ Samsung มีดังนี้ เซ็นเซอร์ PPG วัดชีพจรและปริมาณออกซิเจนในเลือดโดยใช้การส่องแสงและตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดฝอย เซ็นเซอร์ GSR วัดค่าความต้านของผิวหนังโดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงของความนำไฟฟ้าที่แปรผันตามปริมาณเหงื่อ ใช้วิเคราะห์ระดับอารมณ์ของผู้ใช้ เซ็นเซอร์ ECG วัดชีพจรและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เซ็นเซอร์อัตราเร่ง ใช้ตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ เซ็นเซอร์ลายนิ้วมือ ใช้เพื่อตรวจสอบลายนิ้วมือของผู้ใช้เพื่อรับการสั่งงานและใช้เป็นอุปกรณ์ยืนยันตัวตน ซ้าย: แผนภูมิแสดงเซ็นเซอร์ประเภทต่างๆ , ขวา: ด้านหน้าและด้านหลังของแผงเซ็นเซอร์ที่ฝังในตัวแหวน ในเอกสารระบุว่า Samsung ออกแบบสามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนปลอกด้านในของแหวนได้ โดยสาเหตุที่ Samsung ออกแบบเช่นนี้ก็เป็นเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าโดยปกติแล้วแหวนเป็นเครื่องประดับที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนขนาดวงตามสรีระของผู้ใช้แต่ละคน แตกต่างจากการสวมนาฬิกาข้อมือที่ผู้ใช้สามารถปรับขนาดของสายรัดเพื่อสวมใส่อุปกรณ์ให้กระชับได้ ดังนั้น Samsung จึงคิดเผื่อความหลากหลายของขนาดนิ้วมือให้ผู้ใช้เลือกปลอกด้านในแหวนที่กระชับกับนิ้วมือของตนเอง ซ้าย: ปลอกแหวนด้านในที่มีขนาดรัศมีของช่องว่างภายในแตกต่างกัน, ขวา: ระบบเซ็นเซอร์ GSR ซึ่งจะวัดความต้านทานผิวหนังจะตรวจสอบความหนาของปลอกแหวนด้านในเพื่อชดเชยค่าการวัดให้ถูกต้องแม่นยำ นอกจากนี้ Samsung ยังได้ระบุในเอกสารสิทธิบัตรโดยแสดงรูปของแหวนที่มีรูปร่างเป็นวงกลมด้วยอีกแบบหนึ่ง ซึ่งการออกแบบแหวนวงกลมนี้มีความแตกต่างจากแหวนแบบแรกตรงที่แหวนแบบวงกลมอาจถูกสวมโดยหันด้านใดออกทางหลังมือของผู้ใช้ก็ได้เนื่องจากไม่มีจุดสังเกตที่แน่ชัดว่าด้านไหนคือหัวแหวน Samsung จึงวางแผนจะใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวมาช่วยหาว่าด้านใดของแหวนวงกลมที่ถูกหันขึ้นสู่ด้านบนและมันจะแสดงไอคอนสัญลักษณ์ต่างๆ เฉพาะตรงพื้นที่แสดงผลด้านที่หันขึ้นด้านบนที่ผู้ใช้มองเห็นเท่านั้น ภาพดีไซน์แหวนอีกแบบของ Samsung ที่มีรูปร่างเป็นวงกลม โดยมีหน้าจอแสดงผลขนาดเล็กบริเวณขอบของแหวน เอกสารสิทธิบัตรของ Samsung ฉบับนี้ระบุเรื่องการทำงานโดยเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อส่งข้อมูลไปยังแอปที่ติดตั้งไว้ สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปรวบรวมและวิเคราะห์ร่างกายของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ Samsung ยังมีไอเดียประยุกต์ใช้งานแหวนอัจฉริยะเพื่อวัตถุประสงค์อื่นด้วย เช่นช่วยตรวจสอบอาการหลับในของผู้ใช้ในระหว่างการขับรถ โดยหากแหวนตรวจพบสัญญาณชีพคล้ายกำลังหลับ (วิเคราะห์จากชีพจร, ปริมาณเหงื่อ) ร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว และอาจทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์อื่นที่ติดตั้งอยู่บนพวงมาลัยรถยนต์ด้วย ซ้าย: การเชื่อมต่อแหวนกับสมาร์ทโฟนด้วยการสื่อสารแบบไร้สาย, ขวา: การใช้แหวนเพื่อช่วยตรวจสอบอาการหลับในระหว่างขับรถ เกี่่ยวกับการขอจดสิทธิบัตรนี้ Samsung ได้ยื่นเรื่องเพื่อจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์โดยใช้ชื่อว่า "Ring-Type Wearable Device" ตั้งแต่ปี 2016 ก่อนที่ USPTO จะอนุมัติสิทธิบัตรที่ว่านี้เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทว่าล่าสุด Samsung ได้แก้ไขเอกสารเพิ่มเติมและยื่นเรื่องต่อ USPTO เพื่อขอจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์อีกครั้งและตอนนี้สถานะของมันยังเป็นคำขอจดสิทธิบัตร ที่มา - ข้อมูลสิทธิบัตรจาก FPO - 1, 2, 3
# Waymo ประกาศให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับใน Los Angeles เป็นเมืองที่ 3 Waymo บริษัทผู้พัฒนารถยนต์ไร้คนขับที่แยกตัวออกมาจาก Google ได้ให้บริการรถแท็กซี่ไร้คนขับแบบสาธารณะในเมือง Phoenix รัฐ Arizona มาตั้งแต่กลางปี 2020 และเพิ่งเริ่มขยายบริการสู่เมืองที่ 2 ใน San Francisco เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุดได้ประกาศเตรียมให้บริการใน Los Angeles เป็นเมืองที่ 3 แล้ว Los Angeles ถือเป็นเมืองที่มีความยากในการให้บริการแท็กซี่ยิ่งกว่า Phoenix และ San Francisco มาก เพราะ Phoenix นั้นมีถนนกว้างและเส้นทางส่วนใหญ่อยู่บนพื้นราบ ทั้งยังมีผังเมืองที่วางถนนแบบตารางทำให้การทำงานของรถยนต์ไร้คนขับนั้นถือว่าไม่ยากมากนัก ในขณะที่ San Francisco นั้นแม้จะมีความซ้อนซ้อนของเส้นทางมากขึ้นแต่ขนาดพื้นที่ให้บริการก็ไม่กว้างมาก (ประมาณ 50 ตารางไมล์) เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองลำดับที่ 3 ของ Waymo อย่าง Los Angeles ที่นอกจากจะมีพื้นที่ใหญ่แล้ว เส้นทางเองก็ทั้งซับซ้อนและมีขึ้นลงตามภูมิประเทศที่หลากหลาย ยังมีสภาพพื้นผิวถนนที่แตกต่างออกไป รวมทั้งพฤติกรรมคนใช้ถนนที่มีความพลุกพล่านยิ่งไปกว่า 2 เมืองแรก จึงถือได้ว่านี่เป็นการตัดสินใจขยายพื้นที่บริการครั้งสำคัญของ Waymo ในปัจจุบันนี้ Waymo ยังให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับใน Phoenix โดยไม่เก็บเงินค่าโดยสาร ส่วนใน San Francisco นั้นแม้จะได้รับใบอนุญาตให้เก็บค่าโดยสารได้ แต่ Waymo ก็ยังให้บริการโดยสารฟรีเช่นเดียว (ในขณะที่ GM Cruise ผู้ให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับอีกรายใน San Francisco นั้นเริ่มเก็บค่าโดยสารแล้ว) Waymo ยังไม่ได้ระบุวันที่แน่นอนว่าจะเริ่มให้บริการใน Los Angeles เมื่อไหร่ แต่จากประกาศในบล็อกของบริษัทนั้นระบุไว้กว้างๆ ว่าภายในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ที่มา - Electrek, Waymo
# Meta ขู่แบนการโพสต์ข่าวของผู้ใช้ในแคนาดา หลังมีกฎหมายบังคับแบ่งรายได้ให้สื่อท้องถิ่น Meta แถลงผ่านบล็อกว่าบริษัทกำลังพิจารณาว่าอาจปิดไม่ให้ผู้ใช้งาน Facebook ในแคนาคาทำการโพสต์บทความข่าวบนแพลตฟอร์ม หลังจากที่แคนาดาเตรียมออกกฎหมาย Online News Act (Bill C-18) ซึ่งระบุว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์เช่น Facebook ต้องแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้สำนักข่าวท้องถิ่น ท่าทีของ Meta นี้ได้ถูกสื่อออกมาภายหลังการประชุมของ House of Commons Heritage Committee (CHPC) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่กำกับดูแลเกี่ยวกับแผนงานด้านวัฒนธรรม, ศิลปะ, ภาษา, กีฬา และการสื่อสารของประชาชน โดยสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวง Department of Canadian Heritage โดยการประชุมดังกล่าวว่าด้วยเรื่องกฎหมายใหม่ Online News Act นี้ซึ่งไม่ได้มีการเชิญตัวแทน Meta เข้าร่วมหารือด้วย (แต่มีตัวแทนของ Google เข้าร่วมให้ความเห็นหลังการร้องขอจาก Google) ทางฝั่งของ CHPC ให้ความเห็นว่าเจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง Meta ควรแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งที่เกิดจากการทำกำไรโดยใช้เนื้อหาข่าวให้แก่ผู้ผลิตข่าวท้องถิ่นด้วยเพื่อความเป็นธรรม แต่ฝั่ง Meta แย้งว่ารายได้ที่เกิดขึ้นจากเนื้อหาส่วนนั้นน้อยมาก จึงนำมาสู่ความเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องการแบ่งผลประโยชน์จากการใช้เนื้อหาข่าว ก่อนหน้านี้ประเทศออสเตรเลียก็ได้ออกกฎหมายแบบเดียวกันนี้โดยประกาศใช้เมื่อตอนต้นปี 2021 ในชื่อ News Media Bargaining Code ซึ่งในเวลานั้นก็มีการคัดค้านจาก Facebook และ Google แบบเดียวกันนี้ โดยครั้งนั้น Meta ได้ตัดสินใจปิดกั้นผู้ใช้งานในออสเตรเลียมิให้โพสต์ข่าวบนแพลตฟอร์มของตนเองได้ ก่อนที่ต่อมาภายหลังจะมีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง Meta และกลุ่มสื่อในออสเตรเลีย ทำให้มีการโพสต์ข่าวบน Facebook ได้ดังเดิม ที่มา - Engadget
# แฮคเกอร์อังกฤษถูกจำคุก 18 เดือนหลังแฮคเพลงที่ยังไม่ปล่อยของ Ed Sheeran เอาไปขาย Adrian Kwiatkowski แฮคเกอร์ชาวอังกฤษถูกตัดสินจำคุก 18 เดือน โดยยอมรับผิดใน 19 กระทงฐานขโมยทรัพย์สิน และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หลังจากแฮคเอาเพลงที่ยังไม่ปล่อยในขณะนั้นของ Ed Sheeran และเพลงของ Lil Uzi Vert แรปเปอร์อเมริกันอีก 12 เพลง นำไปขายในเว็บมืดเพื่อแลกกับเงินคริปโตมูลค่า 131,000 ปอนด์ อัยการสหราชอาณาจักรระบุว่า Kwiatkowski ได้แฮคบัญชีใช้งานของศิลปินที่ใช้สำหรับระบบเก็บข้อมูลบนคลาวด์ โดยจากการตรวจค้นหลังการจับกุม พบว่าแฮคเกอร์มีเพลงที่ยังไม่ปล่อยของศิลปิน 89 คนรวมกัน 1,263 เพลงอยู่ในครอบครอง ทั้งนี้ไม่มีการระบุชื่อว่าผู้ให้บริการคลาวด์ที่เกี่ยวข้องกับการแฮคครั้งนี้คือรายใด การสืบสวนคดีนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2019 เมื่อมีศิลปินหลายรายได้ร้องต่ออัยการใน New York ว่ามีแฮคเกอร์ที่ใช้นามแฝงว่า "Spirdark" ได้ขโมยผลงานของพวกเขาเอาไปขายบนอินเทอร์เน็ต ทำให้เจ้าหน้าที่ในสหรัฐอเมริกาเริ่มการสืบสวนจนสาวไปถึงตัว Kwiatkowski โดยอาศัยข้อมูลอีเมลแอดเดรสซึ่งผูกกับบัญชีเงินคริปโตที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์นี้ ก่อนที่ต่อมาเจ้าหน้าที่ฝั่งสหราชอาณาจักรจะตรวจสอบที่อยู่ IP ที่เกี่ยวข้องกับการแฮคก่อนจะพบว่าหนึ่งในนั้นตรงกับที่อยู่จริงของ Kwiatkowski จนนำไปสู่การจับกุมและตรวจค้นในที่สุด จากการตรวจค้นนอกเหนือจากจะเจอเพลงที่ถูกแฮคมา 1,263 เพลงแล้ว เจ้าหน้าที่ยังได้อุปกรณ์ที่ถูกใช้ในการแฮค, ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้องกับวิธีการแฮค รวมทั้ง Bitcoin จำนวนหนึ่งซึ่ง Kwiatkowski ยอมรับว่าได้มาจากการเอาเพลงที่แฮคได้ไปขาย ที่มาภาพ: Wikimedia: Christopher Johnson, License CC-SA 2.0) ที่มา - Engadget
# นักวิจัยเดนมาร์กสร้างชิปที่ส่งข้อมูลได้เร็ว 1.84 Pbps (1.84 พันล้านล้านบิตต่อวินาที) นักวิจัยจาก Technical University of Denmark สร้างชิปที่สามารถส่งข้อมูลผ่านสายใยแก้วได้เร็ว 1.84 Pbps (ประมาณ 1.84 ล้าน Gbps) หรือเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าหากไฟล์รูปภาพมีขนาด 1MB ก็เท่ากับว่าสามารถส่งไฟล์รูปได้วินาทีละ 230 ล้านรูป การส่งข้อมูลนี้ใช้ชิปโฟโตนิกซึ่งเป็นชิปที่ส่งข้อมูลด้วยแสงแตกต่างจากชิปทั่วไปที่ส่งด้วยสัญญาณไฟฟ้า โดยชิปแบบโฟโตนิกนี้สามารถตรวจจับ, สร้าง, ส่ง และปรับแต่งสัญญาณแสงเพื่อแบ่งการโอนถ่ายข้อมูลออกเป็นหลายพันช่องสามารถส่งข้อมูลด้วยแสงเป็นระยะทางไกลกว่า 7.9 กิโลเมตร สำหรับงานวิจัยนี้ทีมวิจัยได้แบ่งการส่งข้อมูลเพื่อส่งผ่านแกนของเส้นใยแก้วแต่ละแกน เป็นการแยกช่องสัญญาณด้วยตัวนำก่อนเป็นอย่างแรกจำนวน 37 ช่อง ในแต่ละแกนของเส้นใยแก้วก็มีการแบ่งช่องสัญญาณด้วยความถี่ของคลื่นแสงโดยแบ่งออกเป็น 223 ช่องความถี่ ซึ่งข้อมูลแต่ละชุดจะถูกประมวลด้วยคลื่นแสงคนละย่านความถี่กัน (เปรียบเปรยคล้ายคลึงกับการส่งสัญญาณด้วยคลื่นวิทยุที่ใช้เสาอากาศและเสารับสัญญาณชุดเดียวกัน แต่สามารถส่งข้อมูลที่แยกจากกันได้โดยใช้ความถี่คลื่นแตกต่างกันไปคนละช่อง) อันที่จริงก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยพัฒนาการส่งข้อมูลด้วยความเร็ว 10.66 Pbps ให้เห็นมาก่อนแล้ว แต่ครั้งนั้นการทำงานยังต้องใช้อุปกรณ์ที่ใหญ่โตยากจะสร้างขึ้นมาใช้งานได้ในสถานการณ์จริงนอกห้องปฏิบัติการและประสิทธิภาพในการส่งข้อมูลก็ไม่ดีนัก แต่งานวิจัยจาก Technical University of Denmark นี้อาศัยเพียงแค่ชิปคอมพิวเตอร์ตัวเดียวเป็นแหล่งกำเนิดแสงเพื่อการส่งข้อมูล ซึ่งดูมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการพัฒนาไปสู่การสร้างชิปเพื่อใช้งานจริงในท้องตลาด ในการทดสอบความสามารถในการส่งข้อมูลของชิปนั้น ทีมวิจัยต้องสร้างข้อมูลเทียม (dummy data) ปริมาณมหาศาล เนื่องจากไม่มีคอมพิวเตอร์ใดในโลก ณ ตอนนี้ที่สามารถป้อนหรือรับข้อมูลมากมายเพียงนี้ได้ทัน ทีมวิจัยใช้การส่งข้อมูลเทียมเหล่านี้ผ่านช่องสัญญาณทุกช่อง และทำการทดสอบเพื่อตรวจสัญญาณฝั่งขาออกทีละช่องเพื่อยืนยันว่าการส่งข้อมูลเกิดขึ้นจริงและมีความถูกต้องหรือไม่ Asbjørn Arvad Jørgensen หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าปริมาณการรับส่งข้อมูลของอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้โดยเฉลี่ยมีค่าราว 1 Pbps ในขณะที่ความเร็วที่ทีมวิจัยทำการทดลองนี้แทบจะเร็วเป็น 2 เท่าของค่าดังกล่าว ยิ่งถ้าพิจารณาจากข้อมูลที่ว่าการทดสอบนี้ใช้สายใยแก้วที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ตารางมิลลิเมตร ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เห็นว่าโลกเรามีโอกาสเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลได้อีกมาก ตัวชิปที่ทีมวิจัยสร้างขึ้นแม้จะส่งข้อมูลได้เร็วมากแต่ยังไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว ในตอนนี้มันยังต้องอาศัยการต่ออุปกรณ์เลเซอร์และตัวเข้ารหัสสัญญาณมาเชื่อมต่อกับช่องปล่อยสัญญาณแต่ละช่องอยุ่ แต่ Jørgensen ระบุว่าสามารถปรับปรุงโดยผนวกรวมส่วนประกอบเหล่านี้ไปอยู่ในตัวชิปเป็นชิ้นงานเดียวกันได้ในอนาคต ซึ่งขนาดของชิปก็จะมีขนาดใกล้เคียงกล่องไม้ขีดไฟ ซึ่งนั่นน่าจะทำให้การผลิตเพื่อใช้งานจริงในท้องตลาดไม่ไกลเกินเอื้อม ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยชิปส่งข้อมูลระดับ Pbps นี้ได้ที่นี่ ที่มาภาพ: pixabay: chaitawat, License CC 0) ที่มา - Interesting Engineering
# ยังใช้ Java 8 อยู่ใช่ไหม, Oracle ออก Performance Pack นำฟีเจอร์ Java 17 พอร์ตกลับมาให้ ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการ Java ไม่น้อย เมื่อ Oracle ออก Java Enterprise Performance Pack ที่นำเอาฟีเจอร์บางอย่างของ Java 17 LTS รุ่นใหม่ (ออกปี 2021) พอร์ตย้อนกลับไปให้ Java 8 (ออกปี 2014 ห่างกัน 7 ปี) เพื่อให้องค์กรที่ยังย้ายจาก Java 8 ไม่ได้ (น่าจะมีเยอะเลย) สามารถรันงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงใน Enterprise Performance Pack อยู่แค่ในระดับรันไทม์เท่านั้น ได้แก่ การปรับมาใช้ G1/Z Garbage Collector ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ค่าดีฟอลต์คือ G1), รองรับ Compact Strings ช่วยลดหน่วยความจำลง, เปลี่ยนมาใช้ Unified JVM Logging Oracle บอกว่า Enterprise Performance Pack สามารถ drop-in คือนำมาใช้แทน Java 8 ตัวเดิมได้เลย เข้ากับแอพพลิเคชันเดิมที่รันอยู่แล้วได้ จากสถิติของ Oracle เองพบว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้สูงสุด 40% ในกรณีที่งานโหลดหนักๆ แต่ถ้าเป็นงานทั่วๆ ไปก็ช่วยให้ดีขึ้น 5% Enterprise Performance Pack รองรับเฉพาะระบบปฏิบัติการลินุกซ์ 64 บิท ทั้งสถาปัตยกรรม x86 และ Arm ของดีๆ แบบนี้ย่อมต้องฟรี สำหรับคนที่จ่าย Java SE subscription และ Oracle Cloud Infrastructure อยู่แล้ว ที่มา - Java Blog, Oracle, Infoworld
# Redmonk จัดอันดับภาษาโปรแกรมยอดนิยม ไตรมาส 3/2022: JavaScript ยังครองที่ 1, Python ที่ 2 Redmonk บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลนักพัฒนา รายงานอันดับภาษาโปรแกรมยอดนิยม ของไตรมาสที่ 3 ปี 2022 โดยใช้ข้อมูลอ้างอิงจาก GitHub และ Stack Overflow (ซึ่ง Redmonk บอกว่าหากภาษาที่คิดว่าน่าจะติด แต่ไม่ติดอันดับ ก็อาจเพราะแพลตฟอร์มอันใดอันหนึ่งไม่มีภาษานี้) ในอันดับต้น ๆ นั้นแทบไม่มีการขยับตำแหน่ง แต่มีอันดับที่น่าสนใจ เช่น TypeScript ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมาเรื่อย ๆ เนื่องจากนำไปใช้ในงานได้หลากหลาย ส่วนภาษา Go ก็ไม่สามารถไต่อันดับขึ้นมาที่เลขหลักเดียว ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับ Kotlin และ Rust รายชื่ออันดับทั้งหมดเป็นดังนี้ 1 JavaScript 2 Python 3 Java 4 PHP 5 C# 6 CSS 7 C++ 7 TypeScript 9 Ruby 10 C 11 Swift 12 R 12 Objective-C 14 Shell 15 Scala 15 Go 17 PowerShell 17 Kotlin 19 Rust 19 Dart ที่มา: Redmonk
# แอพพ็อดแคสต์ Pocket Casts ประกาศโอเพนซอร์สเวอร์ชัน iOS และ Android แอพฟังพ็อดแคสต์ Pocket Casts ที่ปัจจุบันเป็นของบริษัท Automattic บริษัทแม่ของ WordPress (ซื้อปี 2021) ประกาศโอเพนซอร์สตัวไคลเอนต์ทั้งบน iOS และ Android ทีมผู้ก่อตั้ง Pocket Casts บอกว่าแนวทางของ Automattic คือการโอเพนซอร์สอยู่แล้ว และหวังว่าการโอเพนซอร์ส Pocket Casts จะช่วยทำให้ ecosystem กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม มีคนเข้ามาช่วยกันแจ้งบั๊ก-ส่งโค้ดเข้าโครงการมากขึ้น เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมพ็อดแคสต์ถูกผูกขาดอยู่กับ Apple และ Spotify แต่เพียงอย่างเดียว ตัวซอฟต์แวร์ Pocket Casts เปิดให้ใช้ฟรีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ส่วนโมเดลธุรกิจของบริษัทคือออกเวอร์ชัน Plus ที่มีความสามารถมากขึ้น ปรับธีมได้ จัดโฟลเดอร์ได้ มีเว็บแอพ แอพเดสก์ท็อปทั้งแมคและวินโดวส์ รวมถึงแอพบน Apple Watch (ไม่ได้โอเพนซอร์สมาด้วย) ที่มา - Pocket Casts
# App Store ของ Apple จะเพิ่มพื้นที่โฆษณาในหน้า Today ตั้งแต่ 26 ตุลาคม เป็นต้นไป แอปเปิลส่งอีเมลแจ้งนักพัฒนา บอกว่า App Store จะเริ่มแสดงผลโฆษณาของแอปที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ในแถบหัวข้อ Today ระบุในส่วน You Might Also Like เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม เป็นต้นไป มีผลกับทุกประเทศยกเว้นจีน แอปที่เป็นโฆษณาในหน้า Today จะมีไอคอนสีฟ้าระบุว่าเป็น Ad Today เป็นหัวข้อที่ทีมบรรณาธิการของแอปเปิล จะเลือกแอปน่าสนใจมาแนะนำในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่มีส่วนโฆษณาที่มาแสดงผลแทรก การเปลี่ยนแปลงทำให้นักพัฒนาสามารถจ่ายเงินเพื่อแทรกแอปของตนในเนื้อหาได้ แอปเปิลเดิมแสดงผลโฆษณาใน App Store เฉพาะหน้าผลการค้นหา แต่ทิศทางที่แอปเปิลต้องการเพิ่มรายได้จากโฆษณามากขึ้น ทำให้จากนี้เราจะเห็นพื้นที่โฆษณาเพิ่มอีกนั่นเอง ที่มา: MacRumors
# Lawson เริ่มให้บริการร้านสะดวกซื้อไร้แคชเชียร์แบบเดียวกับ Amazon Go Lawson เครือร้านสะดวกซื้อชื่อดังของญี่ปุ่นเตรียมเปิด Lawson Go ร้านสะดวกซื้อแบบไม่มีพนักงานคิดเงิน โดยใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกับ Amazon Go ที่ว่าใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้หมายถึงการใช้ระบบ computer vision ในการตรวจสอบการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าภายในร้าน โดยในการใช้บริการลูกค้าจะต้องติดตั้งแอป Lawson Go ในสมาร์ทโฟนและผูกบัญขีบัตรเครดิตกับแอป เมื่อเดินเข้าไปภายในร้านก็เปิดแอปเพื่อสร้างรหัส QR แล้วนำไปสแกนตรงทางเข้าร้าน หลังจากนั้นก็เพียงแต่เดินเลือกซื้อสินค้าภายในร้านแล้วเดินออกจากร้านได้เลย ร้าน Lawson Go ให้บริการแบบไม่มีแคชเชียร์ ระบบ computer vision และเซ็นเซอร์วัดน้ำหนักสินค้าบนชั้นวางจะทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบว่าลูกค้าผู้ใช้บริการแต่ละคนได้เลือกซื้อหยิบสินค้าอะไรไปบ้าง เมื่อลูกค้าคนดังกล่าวเดินออกจากร้านระบบก็จะรวมข้อมูลสินค้าทั้งหมดเพื่อคิดเงินโดยการตัดเงินผ่านบัตรเครดิตที่ผูกกับแอป Lawson Go ไว้ โดยใบเสร็จค่าสินค้าจะถูกส่งไปยังลูกค้าผ่านทางแอป แอป Lawson Go ที่ใช้ยืนยันตัวตนโดยสร้างรหัส QR ไปสแกนที่ทางเข้าร้าน และเป็นช่องทางรับใบเสร็จดิจิทัลค่าสินค้า Lawson Go เปิดให้บริการสาขาแรกที่อาคาร Mitsubishi Shokuhin ใน Tokyo เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ภายในร้านจะยังมีพนักงานทำงานอยู่แต่จะทำหน้าที่หลักเพื่อเติมสินค้าและดูแลความเรียบร้อยภายในร้านเท่านั้นโดยไม่ได้ให้บริการคิดเงิน Lawson ระบุว่าในอนาคตจะขยายสาขา Lawson Go และจะเพิ่มเคาน์เตอร์คิดเงินด้วยตนเองเป็นทางเลือกการจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้มาใช้บริการอีกทางหนึ่งด้วย ที่มา - Lawson ผ่าน SoraNews24
# ทำเนียบขาวหารือ Elon Musk วางแผนปรับปรุงบริการอินเทอร์เน็ต Starlink ในอิหร่าน เมื่อเดือนที่แล้ว Elon Musk ได้เสนอให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่นักกิจกรรมในประเทศอิหร่านหลังจากเกิดเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่จนรัฐบาลอิหร่านพยายามปิดกั้นการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต แผนงานของ Musk ก็ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่หลังจากออนไลน์ระบบก็เจอปัญหาว่าจำนวน terminal ที่สามารถรับสัญญาณได้ในอิหร่านนั้นมีน้อยเกินไป ซึ่ง Musk ระบุว่าอาจต้องมีการตั้ง terminal แบบพิเศษเพื่อให้การใช้งานอินเทอร์เน็ต Starlink ในอิหร่านสามารถดำเนินการได้ตามที่ตั้งใจไว้ ให้หลังจากที่ Musk ทวีตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่นาน ทำเนียบขาวก็ได้ติดต่อไปเพื่อคุยกับเจ้าตัวเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของโครงการนี้ อย่างไรก็ตามไม่แน่ชัดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะเสนอออกค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการติดตั้ง terminal แบบพิเศษสำหรับการใช้งานในอิหร่านหรือไม่ รายงานข่าวการหารือในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ Musk และ Pentagon ได้คุยกันเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้บริการ Starlink ในยูเครน ซึ่งภายหลัง Musk ได้ทวีตข้อความยืนยันว่า SpaceX จะยังคงรับภาระค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตในยูเครนต่อไป ที่มา - CNN ผ่าน Ars Technica
# นักวิจัย AI สร้างเว็บไซต์เปลี่ยนภาพขาวดำให้กลายเป็นภาพสีได้ภายในคลิกเดียว Emil Wallner นักวิจัยปัญญาประดิษฐ์ได้สร้างเว็บไซต์ Palette.fm ซึ่งมีระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เขาพัฒนาขึ้น สามารถเปลี่ยนภาพขาวดำที่ถูกอัพโหลดขึ้นไป ให้กลายเป็นภาพสีได้ภายในคลิกเดียว นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถแก้ไขข้อความบรรยายภาพเพื่อปรับแต่งภาพสีที่ได้ให้มีลักษณะตรงความต้องการได้มากขึ้นด้วย Pallete.fm จะเรียนรู้วัตถุในภาพที่มันได้รับและทายว่าวัตถุนั้นมีสีอะไรตามธรรมชาติโดยอาศัยข้อมูลจากที่มันได้รับการเทรนมา Wallner อธิบายว่าเขาสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมา 2 โมเดล โมเดลแรกจะดูภาพและสร้างข้อความบรรยายภาพนั้นขึ้นมา ส่วนโมเดลที่ 2 จะใช้ข้อความที่ถูกสร้างขึ้นประกอบกับภาพขาวดำที่ถูกป้อนให้มันมาประมวลรวมกันเพื่อเปลี่ยนภาพดังกล่าวให้เป็นภาพสี ตัวอย่างผลงานการแปลงภาพถ่ายขาวดำ ให้เป็นภาพสีของ Palette.fm จากการทดลองใช้งาน Pallete.fm สามารถเปลี่ยนภาพขาวดำหลายประเภทให้เป็นภาพสีได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายบุคคล, ภาพวิวทิวทัศน์, ภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้าง, อาหาร หรือภาพถ่ายกลางคืน โดยมันสามารถแต่งสีให้วัตถุธรรมชาติเช่น สีของต้นไม้, น้ำทะเล หรือท้องฟ้าได้ดี ในขณะที่วัตถุซึ่งเป็นสิ่งของที่คนสร้างขึ้นนั้นอาจมีการให้สีที่แตกต่างผิดเพี้ยนไปได้บ้าง เช่น สีของน้ำซุปในชาม หรือชิ้นส่วนผักในจานอาหาร ปัญญาประดิษฐ์สามารถแต่งภาพขาวดำให้เป็นภาพสีได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพทิวทัศน์, ภาพถ่ายวัตถุ, ภาพถ่ายกลางคืน เว็บไซต์ Pallete.fm ยังมีฟิลเตอร์แต่งภาพแบบต่างๆ ให้สามารถเลือกใช้งานได้ด้วย ตัวอย่างด้านล่างคือภาพที่ได้จากภาพต้นฉบับขาวดำภาพเดียวกัน โดยมีการเลือกฟิลเตอร์หลายแบบ เพื่อให้ได้ภาพผลลัพธ์ในบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไป 1: ภาพสีต้นฉบับที่ถ่ายจริง, 2: ภาพที่ถูกแปลงให้เป็นขาวดำเพื่อทดลองป้อนให้ Palette.fm ทำการตกแต่งภาพ, 3: ภาพสีพื้นฐานที่ได้จาก Palette.fm, 4-6: ภาพที่ได้จากการเลือกฟิลเตอร์สำเร็จรูปแบบต่างๆ และเช่นเดียวกับปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถวาดภาพหรือตกแต่งภาพอีกมากมายหลายตัวในปัจจุบัน Palette.fm สามารถรับคำสั่งแบบข้อความที่เรียกว่า prompt ได้ ผู้ใช้สามารถเลือกเพิ่มหรือปรับเปลี่ยนข้อความบรรยายเพื่อให้ได้ลักษณะของภาพใกล้เคียงตรงกับความต้องการมากขึ้น เช่น การระบุชื่อของสิ่งที่อยู่ในภาพ หรือการระบุสีของวัตถุนั้น รวมทั้งการใช้คำคุณศัพท์อื่นเพื่อบรรยายลักษณะของแสงหรืออารมณ์ของภาพก็ทำได้เช่นกัน ซ้าย: ภาพขาวดำต้นฉบับที่ถูกป้อนให้ Palette.fm, กลาง: ภาพที่ถูกตกแต่งให้เป็นภาพสีโดยไม่มีการแก้ไข prompt, ขวา: ภาพที่ถูกปรับแต่งโดยเพิ่มคำบรรยายว่า "green grass" เพื่อให้พื้นหญ้าในภาพมีสีเขียวยิ่งขึ้น ในตอนนี้ Palette.fm ยังเปิดให้ใช้งานได้ฟรีและไม่ต้องมีการสร้างบัญชีผู้ใช้งานแต่อย่างใด โดยข้อความบนเว็บระบุว่าระบบไม่ได้มีเก็บข้อมูลภาพเอาไว้ ซึ่งแปลความได้ว่ามันอาศัยการประมวลผลบนคลาวด์ ทั้งนี้จากการทดสอบพบว่า Palette.fm สามารถแปลงภาพได้ความละเอียดสูงสุด 1920*1440 พิกเซล ในอนาคต Wallner ตั้งใจจะพัฒนา Palette.fm เวอร์ชั่นแบบเสียเงินให้เลือกใช้งาน ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะมีฟีเจอร์พิเศษอะไรเพิ่มจากเวอร์ชั่นในปัจจุบันนี้บ้าง นอกจากนี้ Wallner ยังได้พัฒนาบอทบน Twitter ให้ลองเล่นกันเพื่อเปลี่ยนภาพขาวดำเป็นภาพสีได้ด้วย ที่มา - Ars Technica
# Twitter ปรับดีไซน์ไอคอนในหน้าเว็บ-แอพใหม่ ใช้เส้นหนาขึ้น รูปทรงมีสไตล์มากขึ้น คนที่ใช้ Twitter ในวันนี้ ผ่านทั้งเว็บและแอพ (อาจต้องรออัพเดตจากสโตร์สักหน่อย) อาจเห็นหน้าตาของไอคอนต่างๆ เปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย ไอคอนชุดใหม่นี้เป็นความตั้งใจของ Twitter ที่ต้องการปรับดีไซน์ในภาพรวมให้ดูทันสมัยขึ้น บัญชี @TwitterDesign อธิบายเรื่องนี้ว่า เริ่มกระบวนการออกแบบ Twitter ดีไซน์ใหม่มาตั้งแต่กลางปี 2021 แต่จะทยอยเปลี่ยนดีไซน์ทีละส่วน ซึ่งรอบนี้เปลี่ยนไอคอนใหม่ให้เส้นหนาขึ้น มีสไตล์ชัดเจนขึ้น ภาพตัวอย่างดีไซน์ใหม่ของ Twitter ที่เริ่มในปี 2021 แต่ตอนนี้ยังเริ่มเปลี่ยนเฉพาะไอคอน ที่มา - XDA
# นักวิชาการพบบันทึกรายชื่อดวงดาวฉบับแรกสุดของโลก ซ่อนอยู่ในบันทึกโบราณชาวคริสต์ นักวิชาการค้นพบบันทึกรายชื่อดวงดาวที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบซึ่งเขียนโดย Hipparchus นักดาราศาสตร์ชาวกรีก โดยบันทึกรายชื่อดวงดาวนี้ซ่อนอยู่ในแผ่นบันทึกโบราณ Codex Climaci Rescriptus ที่ค้นพบจากอียิปต์เมื่อ 100 กว่าปีก่อน การค้นพบนี้อาศัยเทคนิคการถ่ายภาพแบบ multispectral Codex Climaci Rescriptus เป็นบันทึกโบราณที่มีการจดบันทึกตัวอักษรลงบนแผ่นหนังสัตว์ โดยข้อความที่ปรากฏบนแผ่นบันทึกนี้เป็นอักขระภาษา Syriac (เป็นชุดตัวอักษรที่ใช้ในหมู่ชาวคริสต์ในซีเรีย) และภาษา Christian Palestinian Aramaic (เป็นภาษาที่ชาวคริสต์ในปาเลสไตน์และ East Bank ใช้งานกัน) เนื้อหาในบันทึกที่ปรากฏเป็นเรื่องเล่าในศาสนาคริสต์ "มัทธิว 21:27–31" ข้อความเหล่านี้ถูกบันทึกลงบนแผ่นหนังสัตว์เมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5-8 โดย เป็นบันทึกโบราณที่มีการจดบันทึกตัวอักษรลงบนแผ่นหนังสัตว์ โดยข้อความที่ ถูกค้นพบเมื่อปี 1895 ที่อารามนักบุญแคเธอริน เขาซีนาย ในประเทศอียิปต์ ภาพบันทึกโบราณ Codex Climaci Rescriptus ตามปกติของบันทึกโบราณนั้นจะมีการเขียนข้อความใหม่ทับข้อความเดิม ซึ่งบันทึกรายชื่อดวงดาวของ Hipparchus ที่เพิ่งค้นพบนี้ก็เป็นร่องรอยการจดบันทึกที่มีอยู่เดิมบนแผ่นหนังสัตว์ก่อนจะถูกเขียนทับด้วยเรื่องเล่าทางศาสนาคริสต์ในภายหลังนั่นเอง ถือได้ว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญหลังจากที่นักวิชาการได้เพียรค้นหาแผนที่ดวงดาวนี้มานานมานานหลายปี บันทึกรายชื่อดวงดาว (star catalogue) นั้นหมายถึงบันทึกที่ระบุรายชื่อของดาวฤกษ์ที่สังเกตเห็นได้บนท้องฟ้า ซึ่งมีการระบุหมายเลขกำกับและชื่อเรียกต่างๆ เป็นข้อมูลสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาด้านดาราศาสตร์ สำหรับบันทึกรายชื่อดวงดาวของ Hipparchus ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งดาราศาสตร์ยุคกรีกโบราณนี้มีอายุเก่าแก่มากกว่า 2 พันปี ประมาณการว่า Hipparchus ได้จัดทำบันทึกนี้ขึ้นในช่วงเวลา 162-127 ปีก่อนคริสต์ศักราช วิธีที่ใช้ในการตรวจสอบบันทึกโบราณจนนำมาสู่การค้นพบครั้งสำคัญนี้คือการถ่ายภาพแบบ multispectral ซึ่งเป็นการถ่ายภาพวัตถุโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แตกต่างกันในหลายช่วงความถี่ (เปรียบเทียบกับการถ่ายภาพโดยทั่วไปแล้ว มันก็คือถ่ายโดยอาศัยอาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่วงคลื่นเดียวในย่านคลื่นแสงที่มองเห็นได้) โดยการถ่ายบันทึกนี้อาศัยภาพถ่ายในช่วงคลื่นแสงสีแดง, น้ำเงิน, เขียว, คลื่นใกล้ย่านอินฟราเรด และคลื่นรังสี X นำมาประมวลผลรวมเข้าด้วยกัน ภาพที่ใช้เทคนิคการถ่ายแบบ multispectral การถ่ายภาพแบบ multispectral ทำให้มองเห็นร่องรอยของหมึกหรือภาพเขียนของเดิมที่ซ่อนอยู่ใต้บันทึกข้อความใหม่ที่มีการเขียนทับลงไปในภายหลัง ซึ่งเทคนิคการถ่ายภาพนี้เป็นวิธีการตรวจสอบโบราณวัตถุที่นักวิชาการใช้กันอยู่แล้วในปัจจุบัน ข้อความบันทึกรายชื่อดวงดาวของ Hippachus ที่ซ่อนอยู่ใต้เรื่องเล่าทางศาสนา เดิมทีนักวิชาการคาดว่าภายใต้เนื้อความเรื่องเล่าทางศาสนาบนแผ่นบันทึกโบราณทั้งหลายที่เคยค้นพบกันนั้น พวกเขาจะพบร่องรอยบันทึกของเก่าที่เป็นเรื่องเล่าอื่นๆ ในทางศาสนาคล้ายคลึงกัน แต่ทว่าในปี 2012 นักวิชาการจาก Cambridge University ได้บังเอิญพบข้อความทางดาราศาสตร์ซ่อนอยู่ใต้ข้อความเรื่องเล่าทางศาสนา จากนั้นมาจึงมีการไล่ตรวจสอบแผ่นบันทึกโบราณอื่นๆ จนมาถึงการค้นพบบันทึกรายชื่อดวงดาวของ Hipparchus ที่ซ่อนอยู่ในแผ่นบันทึก Codex Climaci Rescriptus ในครั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดทางวิชาการเกี่ยวกับการค้นพบบันทึกรายชื่อดวงดาวของ Hipparchus เพิ่มเติมได้ที่นี่ ที่มา - Ars Technica
# ดราม่าเกม Bayonetta 3 นักพากย์คนเดิมบอกได้ค่าจ้างน้อยเกินไป ขอให้แฟนๆ บอยคอตเกม สัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นดราม่าของเกม Bayonetta 3 ที่จะวางขาย 28 ตุลาคมนี้บน Nintendo Switch หลัง Hellena Taylor นักพากย์เสียงตัวละครหลักแม่มดสาว Bayonetta ฉบับภาษาอังกฤษในภาคก่อนๆ (พากย์ทั้งภาค 1-2) ออกมาโวยวายว่าเธอได้รับข้อเสนอค่าจ้างน้อยเกินไป Taylor บอกว่าได้รับข้อเสนอจากสตูดิโอ PlatinumGames ให้กลับมาพากย์เสียงในภาค 3 ด้วยค่าตอบแทนเพียง 4,000 ดอลลาร์ ซึ่งแทบไม่พอใช้ และถือเป็นการดูถูกความสามารถของเธอ เธอจึงปฏิเสธงานนี้และขอให้แฟนๆ ของซีรีส์ช่วยกันบอยคอตเกมนี้ หลังมีประเด็นของ Hellena Taylor ออกมา เว็บไซต์ Bloomberg และเว็บเกม VGC สอบถามไปยังแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเกมที่เกี่ยวข้อง และอ้างว่าได้เห็น "เอกสาร" ภายในของสตูดิโอ PlatinumGames สรุปว่าตัวเลข 3,000-4,000 ดอลลาร์เป็นค่าจ้าง "ต่อครั้ง" โดยใช้เวลาในห้องอัด 4 ชั่วโมง โดยสตูดิโอจ้างเธอประมาณ 4-5 ครั้ง ด้วยค่าจ้างรวม 15,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 5.7 แสนบาท) ฝั่ง PlatinumGames ออกแถลงการณ์ว่าได้เปิดออดิชั่นหานักพากย์คนใหม่ของเกมภาค 3 และได้ Jennifer Hale ที่เสียงเหมาะกับคาแรกเตอร์ของ Bayonetta ซึ่งบริษัทยืนยันสนับสนุนผลงานของ Hale อย่างเต็มที่ ที่มา - Nintendo Life, VGC, Kotaku
# Telegram สร้างแพลตฟอร์มให้ประมูลซื้อขายชื่อ Account ทำงานบนบล็อกเชน TON Telegram ประกาศสร้างแพลตฟอร์มสำหรับประมูลซื้อขายชื่อบัญชี เพื่อให้ผู้จดชื่อบัญชี @username ที่อาจเป็นชื่อที่มีความต้องการสูง สามารถสร้างรายได้ส่วนนี้อย่างเป็นระบบ แพลตฟอร์มการประมูลนี้จะทำงานบนเครือข่ายบล็อกเชน TON ที่ Telegram เคยร่วมพัฒนา แต่ปัจจุบันแยกออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ โดยมี Pavel Durov ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Telegram ยังให้การสนับสนุน โดยใช้ TON ในการยืนยันความเป็นเจ้าของและบันทึกสัญญาการซื้อขาย Telegram ยังไม่ได้ให้ข้อมูลวิธีการจ่ายเงิน แต่คาดว่าจะใช้เหรียญ Toncoin (TON) เป็นเป็นเหรียญหลักของบล็อกเชน TON นี้ ทำให้ราคาเหรียญ TON ปรับเพิ่มสูงทันทีหล้งมีประกาศออกมา ที่มา: CoinDesk
# โปรดิวเซอร์ Resident Evil บอกยังไม่มีแผนรีเมค Code: Veronica แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ กระแสการรีเมคเกม Resident Evil จำนวน 3 ภาครวดคือ 2 Remake (2019), 3 Remake (2020), 4 Remake (2023) ทำให้แฟนๆ ย่อมเรียกร้องให้นำเกมภาค Code: Veronica ที่ออกบนเครื่อง Dreamcast ในปี 2000 (อยู่ระหว่างภาค 3 กับภาค 4) มารีเมคใหม่ด้วย Yoshiaki Hirabayashi โปรดิวเซอร์ของเกม RE 4 Remake ให้สัมภาษณ์กับเว็บเกม Noisy Pixel และตอบคำถามนี้ไว้ว่ายังไม่มีแผนในตอนนี้ แต่ "มีโอกาสเป็นไปได้" ([if the] opportunity comes, maybe) ในอนาคต โดยเขาขอโฟกัสกับ RE 4 Remake ให้เสร็จก่อน ประเด็นเรื่องตัวเลขของเกมภาค Code: Veronica นั้น Shinji Mikami ผู้สร้างซีรีส์ Resident Evil เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อปี 2020 ว่าเป็นเหตุผลเรื่องการเมืองระหว่าง Capcom กับบริษัทผู้ผลิตคอนโซล แต่ส่วนตัวแล้วเขาอยากให้เกมภาค Code: Veronica เป็นภาคหลักที่นับเลขด้วย (a numbered title) ที่มา - Noisy Pixel, Kotaku
# dtac ไตรมาส 3/2565 รายได้รวมโต 4.1% จากการขาย iPhone ในไตรมาสที่ผ่านมา ดีแทครายงานผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 7.75 แสนเลขหมาย ทำให้มีผู้ใช้บริการรวม 21.1 ล้านเลขหมาย ส่วนใหญ่มาจากระบบเติมเงิน และมีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (APRU) 222 บาทต่อเดือน ซึ่งลดลงจากการแข่งขันสูงในตลาด มีผู้ใช้งาน 4G ที่ 16.7 ล้านเลขหมาย รายได้รวมในไตรมาสเท่ากับ 20,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน ส่วนที่เติบโตเด่นคือรายได้จากการขายโทรศัพท์ 2,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 73.3% เนื่องจากมีการขาย iPhone ในไตรมาสที่ 3 ดีแทคมีกำไรสุทธิ 488 ล้านบาท สาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายในการควบรวมกิจการ ดีแทคยังคงแนวโน้มสำหรับปี 2565 โดยรายได้จากการให้บริการจะอยู่ในระดับคงที่จนถึงลดลงในอัตราเลขหลักเดียว และคงงบลงทุนที่ 11,000-13,000 ล้านบาท ที่มา: ดีแทค (pdf)
# พีซีของคุณช้าไปหรือไม่ ไมโครซอฟท์ทำแอพ PC Manager ช่วยปรับประสิทธิภาพเครื่อง ไมโครซอฟท์กำลังพัฒนาแอพช่วยปรับแต่งประสิทธิภาพของพีซีลักษณะเดียวกับ CCleaner ในชื่อว่า PC Manager ตอนนี้เปิดใช้งานแบบ Beta แล้วในประเทศจีน (หน้าเว็บ PC Manager เวอร์ชันจีน) PC Manager เป็นเครื่องมือ utility ช่วยลบไฟล์แคช-ไฟล์ชั่วคราว, วิเคราะห์พื้นที่สตอเรจเครื่อง, ช่วยปิดการทำงานของโปรแกรม startup ที่อาจส่งผลให้เครื่องบูตช้าลง, ตรวจสอบความปลอดภัยผ่าน Defender ฯลฯ ฟีเจอร์ทั้งหมดมีใน Windows อยู่แล้ว แต่ไมโครซอฟท์ไม่เคยนำมารวมกันในแอพเดียวให้ค้นหาได้ง่าย ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าไมโครซอฟท์ทำ PC Manager มาสำหรับตลาดจีน (ที่ชอบแอพแนวๆ นี้) เพียงประเทศเดียว หรือมีแผนจะทำตลาดในประเทศอื่นๆ ด้วย ที่มา - Windows Latest
# Amazon ปิดเว็บขายผ้าและการฝีมือ Fabric ที่ซื้อกิจการมาเมื่อปี 2008 Amazon ปิดเว็บไซต์ Fabric.com เว็บขายผ้าและสินค้าการฝีมือ มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม เป็นต้นไป โดยลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าเป็นประจำจากที่นี่ แนะนำให้ไปซื้อที่หมวดสินค้าผ้าและการฝีมือใน Amazon แทน Fabric.com ก่อตั้งเว็บในปี 1999 โดย Phoenix Textiles Group ที่เป็นบริษัทค้าส่งผ้า เพื่อเป็นช่องทางในการขายสินค้าโดยตรงกับลูกค้า Amazon มาซื้อกิจการไปในปี 2008 และยังให้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป จนมาถึงการประกาศปิดส่วนเว็บไซต์นี้ในที่สุด ฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า Fabric.com เป็นเว็บที่มีราคาสินค้าที่ถูกกว่า และมีการออกแบบเพื่อการค้นหาผ้าและลวดลายที่สะดวกมากกว่าใน Amazon ที่มา: The Verge
# Evans Hankey หัวหน้าฝ่ายดีไซน์ฮาร์ดแวร์แอปเปิล (ผู้สืบทอด Jony Ive) ลาออกแล้ว Evans Hankey ผู้บริหารฝ่ายดีไซน์ฮาร์ดแวร์ (VP of Industrial Design) ของแอปเปิล ที่สืบทอดตำแหน่งของ Jonathan Ive ในปี 2019 ลาออกจากบริษัทหลังทำงานในตำแหน่งนี้มาได้ 3 ปี แอปเปิลประกาศข่าวนี้เป็นการภายในแล้ว แต่ยังไม่ได้แต่งตั้งใครขึ้นมาแทนในตอนนี้ ผู้สืบทอดของ Ive ยังมีอีกคนคือ Alan Dye (VP of Human Interface Design) ที่เน้นเรื่องซอฟต์แวร์ และยังทำงานกับบริษัทต่อไปตามปกติ ที่มา - Bloomberg
# FTC เตรียมออกกฎให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากประหยัดพลังงานต้องมีคู่มือการซ่อมให้ด้วย ประชาชนชาวไทยน่าจะคุ้นเคยกับ "ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5" กันดี ซึ่งเป็นฉลากที่ใช้ติดกำกับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อแสดงถึงประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า โดยฉลากที่ว่านี้เป็นโครงการที่ริเริ่มดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเองก็มีฉลากคล้ายๆ กัน เรียกว่า "ฉลาก Energy Guide" โดยผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญในการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยการมองหาฉลากเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจด้วย ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่จะติดฉลาก Energy Guide นั้นจะต้องผ่านการทดสอบเพื่อวัดการใช้พลังงาน แต่ตอนนี้ FTC (คณะกรรมการการค้าของสหรัฐฯ) ได้ออกประกาศเตรียมที่จะเพิ่มข้อกำหนดให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการขอฉลาก Energy Guide ไปติดบนผลิตภัณฑ์ต้องจัดทำคู่มือซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวสำหรับให้ผู้บริโภคไว้อ่านเพื่อการซ่อมเครื่องด้วยตนเองได้ด้วย ตัวอย่างฉลาก Energy Guide, ซ้าย: ฉลากแบบเก่าก่อนปี 2015, ขวา: ฉลากแบบใหม่หลังปี 2015 ไอเดียของ FTC นี้เป็นอีกขั้นของการผลักดันกฎหมายว่าด้วยเรื่อง "สิทธิ์ในการซ่อมแซม" (Right to Repair) ซึ่งเป็นนโยบายที่ Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งการมายัง FTC โดยตรงให้ร่างกฎหมายนี้ขึ้น ซึ่งเดิมทีกระแสความสนใจนั้นมุ่งไปที่อุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์กันเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ FTC เองได้ขยายขอบเขตมายังเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ภายในบ้านด้วย อย่างไรก็ตามด้วยแนวทางการผูกติดเงื่อนไขไว้กับการขอฉลาก Energy Guide ทำให้ข้อบังคับเรื่องการจัดทำเอกสารคู่มือการซ่อมนี้ไม่ได้ครอบคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทุกชนิด แต่อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งก้าวของความพยายามสร้างผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการบำรุงรักษาทรัพย์สินของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเพียงการส่งเครื่องคืนให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ช่วยซ่อมให้ (ซึ่งทำให้ขาดการแข่งขันเรื่องราคาค่าบริการซ่อมแซม) กระบวนการในตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ และยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่กฎใหม่นี้จะไปถึงขั้นตอนที่ประกาศบังคับใช้ได้จริง สำหรับฉลาก Energy Guide นั้นเกิดจากข้อบังคับที่ออกโดยรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ระบุประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าว่ามีชนิดใดบ้างที่ต้องแสดงฉลากนี้บนตัวผลิตภัณฑ์ ณ จุดจำหน่าย เพื่อให้ข้อมูลด้านการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงแก่ผู้บริโภคอย่างชัดเจน ที่มา - iFixit
# Wizarding World เปิดตัว Magic Caster Wand ไม้กายสิทธิ์ที่โบกไปมาร่ายคาถาได้ แฟนวรรณกรรมและภาพยนตร์ชุด Harry Potter รวมทั้ง Fantastic Beasts ตอนนี้มีโอกาสได้จับจองเป็นเจ้าของไม้กายสิทธื์กันได้แล้ว เมื่อ Wizarding World ผู้ผลิตสื่อและสินค้าจากงานเขียนและภาพยนตร์ในจักรวาลของ Harry Potter ได้เปิดตัว Magic Caster Wand ไม้กายสิทธ์ที่ไม่ใช่เป็นเพียงของไว้ถือโชว์เท่านั้น แต่ยังสามารถเล่นกับมันด้วยการโบกไปมาเพื่อร่ายคาถาได้ด้วย Magic Caster Wand เป็นของเล่น (หรือเครื่องประดับ?) ที่มีเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวอยู่ภายใน พร้อมทั้งมีเซ็นเซอร์การสัมผัสและระบบ haptic feedback พร้อมทั้งไฟ LED ตกแต่งเพื่อความสวยงาม ตัวอุปกรณ์รองรับการเชื่อมต่อผ่านบลูทูธและ Wi-Fi และใช้แบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จไฟได้ ไม้กายสิทธิ์ Magic Caster Wand พร้อมกล่องใส่ที่มีไฟ LED เปลี่ยนสีได้ ในการใช้งาน (หรือเรียกให้ถูกคือการเล่น) Magic Caster Wand ผู้ใช้ต้องเชื่อมต่อไม้กายสิทธ์เข้ากับสมาร์ทโฟนที่ติดตั้งแอปชื่อเดียวกัน ภายในแอปจะแสดงวิธีการใช้ไม้กายสิทธิ์เพื่อร่ายคาถาต่างๆ ว่าต้องโบกไม้กายสิทธิ์ในลักษณะใด นอกจากนี้ตัวแอปจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมต่อสั่งงานอุปกรณ์สมาร์ทโฮมให้ทำงานตอบสนองต่อการร่ายคาถาเพื่อให้การแสดงเอฟเฟคต่างๆ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟอัจฉริยะ, สมาร์ททีวี, ลำโพงบลูทูธ ผู้ใช้จะต้องโบกไม้กายสิทธิ์ในทิศทางที่ถูกต้องและใช้นิ้วมือสัมผัสเซ็นเซอร์ในจังหวะที่ถูกต้องสัมพันธ์กันจึงสำเร็จการร่ายคาถาก่อให้เกิดการแสดงเอฟเฟคต่างๆ ขึ้นได้ และนอกจากจะใช้เล่นคนเดียวเพื่อร่ายคาถามากกว่า 50 คาถาตามที่ Wizarding World ระบุว่าจะมีมาให้ในแอปแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถ "ประลอง" กับผู้ใช้ Magic Caster Wand คนอื่นได้ด้วย ซึ่งการเล่นร่วมกันนี้ต้องอาศัยแอปอีกเช่นกัน Magic Caster Wand มีให้เลือกด้วยกัน 4 แบบ คือ Honourable, Defiant, Loyal และแบบ Heroic ซึ่งแบบหลังสุดนั้นสงวนไว้ให้เฉพาะคนที่เป็นสมาชิก Harry Potter Fan Club เท่านั้นที่จะสามารถสั่งจองได้ (่ล่าสุดไม้กายสิทธ์ Heroic ถูกสั่งจองหมดเกลี้ยงแล้ว) ทั้งนี้ราคาขาย Magic Caster Wand ในสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ที่อันละ 149.99 ดอลลาร์ ส่วนราคาในสหราชอาณาจักรอยู่ที่อันละ 149 ปอนด์ Magic Caster Wand ทั้ง 4 แบบ จากบนลงล่าง: Honourable, Defiant, Loyal และ Heroic สำหรับ Wizarding World นั้นเป็นเว็บไซต์และผู้ผลิตสื่อที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Warner Bros. สตูดิโอผู้ถือสิทธิ์ในการผลิตภาพยนตร์ในจักรวาลโลกเวทมนตร์ของ Harry Potter ที่จับมือกับ Pottermore บริษัทผลิตสื่อที่ร่วมก่อตั้งโดย J.K Rowling ผู้ให้กำเนิดจักรวาลโลกเวทมนตร์ ที่มา - Wizarding World
# YouTube Premium ขึ้นราคา ยังมีผลเฉพาะ Family Plan, ไทยยังใช้ราคาเดิม YouTube ขึ้นราคาแพ็กเกจ YouTube Premium โดยมีผลเฉพาะ Family Plan เพียงอย่างเดียว จากเดิมราคา 17.99 ดอลลาร์ต่อเดือน เป็น 22.99 ดอลลาร์ต่อเดือน (ขึ้น 5 ดอลลาร์) การขึ้นราคายังมีผลในหลายประเทศ เช่น แคนาดา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เป็นต้น (แต่ในไทยยังไม่ขึ้น ยังเป็น 299 บาท/เดือนเช่นเดิม ของไทยเพิ่งขึ้นราคามารอบหนึ่งในเดือนธันวาคม 2021) หากเป็นผู้ใช้ iOS และสั่งซื้อแพ็กเกจ YouTube Premium ผ่าน App Store ค่าแพ็กเกจจะเพิ่มเป็น 29.99 ดอลลาร์ เนื่องจากต้องจ่ายส่วนแบ่งให้แอปเปิลด้วย ที่มา - 9to5google
# โซนี่ไทยเปิดตัว Xperia 5 IV ราคา 39,990 บาท มีโปรลูกค้าเก่า Xperia ลด 8,000 บาท บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด เปิดตัวสมาร์ทโฟน Xperia 5 IV ในประเทศไทย ที่ราคา 39,990 บาท Xperia 5 IV เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ยังคงคอนเซปต์สมาร์ทโฟนจอเล็ก 6.1" สเปกแรง ใช้ชิป Snapdragon 8 Gen 1 และใส่แบตมาให้ถึง 5000 mAh กล้องหลังของ Xperia 5 IV มีทั้งหมด 3 ตัว ความละเอียด 12MP เท่ากัน ในรุ่นนี้ยังอัพเกรดกล้องหน้าเป็น 12MP เน้นการถ่าย Vlog 4K HDR ด้วย อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ โซนี่ไทยออกโปรโมชั่นให้ Xperia 5 IV สองแบบ เลือกของแถมเป็นหูฟังไร้สาย LinkBuds S รุ่น WF-L900N สีดำ มูลค่า 7,490 บาท หรือ เลือกรับส่วนลด 8,000 บาท เหลือ 31,990 บาท โดยต้องแสดงเครื่อง Xperia รุ่นเก่า (รุ่นใดก็ได้) ตอนที่ซื้อ
# ไมโครซอฟท์ประกาศแผนอัพเดต Windows Subsystem for Android เป็น Android 13 ไมโครซอฟท์ออกอัพเดต Windows Subsystem for Android ให้กับ Windows Insider กลุ่ม Dev และ Beta Channel ปรับปรุงเสถียรภาพของ clipboard, ประสิทธิภาพของการทำงานมัลติเธร็ด, ความปลอดภัยของเคอร์เนลลินุกซ์ และอัพเดต Chrome WebView เป็นเวอร์ชัน 105 นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังเผย Roadmap ในอนาคตบนหน้า GitHub ของ Windows Subsystem for Android ว่าจะอัพเกรดเป็น Android 13, รองรับการถ่ายโอนไฟล์, picture-in-picture ด้วย แต่ยังไม่บอกว่าเมื่อไร (หากไมโครซอฟท์ยังอัพเดต WSA ด้วยอัตราเร็วขนาดนี้ ก็น่าจะออก Android 13 ได้ก่อนแบรนด์มือถือหลายๆ แบรนด์ด้วยซ้ำ) ที่มา - Windows Insider, Windows Latest
# TikTok ปฏิเสธ ไม่มีแผนเก็บข้อมูลโลเคชันผู้ใช้สหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ Forbes รายงานว่า ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok มีแผนจะใช้แอปพลิเคชันเพื่อเก็บข้อมูลโลเคชันผู้ใช้สหรัฐฯ ในบางกรณี ตอนนี้ทาง TikTok ก็ออกมาปฎิเสธข้อกล่าวหานี้แล้ว Forbes ระบุว่าเห็นเอกสารของฝ่าย Risk Control และ Internal Audit ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและควบคุมการกระทำความผิดของพนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงาน แต่เอกสารก็ระบุว่าอาจเก็บข้อมูลโลเคชั่นของบุคคลที่ไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทในบางกรณี TikTok ได้ออกมาปฏิเสธกรณีดังกล่าวผ่านทาง Twitter ว่า TikTok ไม่ได้เก็บข้อมูลโลเคชั่นแบบละเอียด ทำให้ไม่สามารถใช้ติดตามผู้ใช้รายคนได้ และไม่ได้ตั้งเป้ากับกลุ่มผู้ใช้พิเศษ เช่น นักการเมือง, นักกิจกรรม, บุคคลสาธารณะ, หรือนักข่าวแต่อย่างใด การใช้งานข้อมูลของฝ่าย Internal Audit นั้นใช้สำหรับการสอบสวนภายในเท่านั้น หากมีการใช้งานอื่นอย่างที่ Forbes รายงานก็จะต้องถูกไล่ออก ก่อนหน้านี้ TikTok ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ByteDance จะไม่ส่งข้อมูลผู้ใช้ให้กับรัฐบาลจีน ที่มา: Engadget และ Forbes
# แตกอีกหนึ่ง @GooglePixel_US ใช้ไอโฟนทวีตแซวทิม คุก ก่อนการเปิดตัว iPad Pro M2, iPad 10th Gen และ Apple TV ซีอีโอ Tim Cook ได้โพสต์ลง Twitter พูดถึงสินค้าที่จะเปิดตัวโดยใช้ #TakeNote หลังจากนั้น บัญชี @GooglePixel_US ก็มาตอบกลับ Tim Cook ว่า Pixel สามารถทำให้แฟนๆ เข้าใกล้กับทีมที่ชอบได้มากขึ้น ก่อนจะลบโพสต์ดังกล่าวไปเพราะมีผู้ใช้สังเกตเห็นว่าทวิตดังกล่าวโพสต์ด้วย iPhone หลังจากนั้นGoogle Pixel ได้โพสต์ลง Twitter ใหม่ด้วยเนื้อหาเดิมแล้วแต่คราวนี้เลยโพสต์ผ่าน Twitter Web App แทน เรื่องราวคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง เพราะคนจำนวนมากไม่ตระหนักว่า Twitter เปิดเผยว่าใช้แอปอะไรทวีต ครั้งหนึ่งคือทวิตเตอร์ของหัวเว่ยเมื่อต้นปี 2019 ที่พนักงานถึงกับถูกลดเงินเดือน ที่มา: Business Insider
# Microsoft ทำข้อมูลภายในและข้อมูลสำคัญของลูกค้าหลุดออกไป 2.4 TB SOCRadar บริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ได้เปิดเผยรายงานระบุว่า Microsoft ทำข้อมูลภายในรั่วไหล ซึ่งเป็นข้อมูลที่เก็บตั้งแต่ปี 2017 มาจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ รวมปริมาณ 2.4 TB ข้อมูลที่หลุดออกมามีทั้งเอกสารภายในเกี่ยวกับการดำเนินของบริษัท, ข้อมูลผู้ใช้, รายละเอียดการสั่งซื้อและการเสนอขายผลิตภัณฑ์, รายละเอียดโครงการต่างๆ, ข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้ระบุตัวตนได้ รวมทั้งเอกสารอื่นที่อาจนำไปสู่การเปิดเผยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท ทั้งนี้ SOCRadar ระบุว่าข้อมูลชุดนี้มาจากการปรับแต่งที่ผิดพลาดของ Azure Blob Storage Microsoft เองก็โพสต์บล็อกอธิบายเรื่องการสืบสวนเกี่ยวกับปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลในครั้งนี้ โดยกล่าวว่า SOCRadar ระบุเรื่องขอบข่ายความเสียหายเกินจริงไปมาก เพราะข้อมูลหลายส่วนนั้นแท้จริงแล้วเป็นข้อมูลสำเนาที่อ้างอิงมาจากอีเมลชุดเดียวกัน, โครงการเดียวกัน, ผู้ใช้กลุ่มเดียวกัน นอกจากนี้ Microsoft ระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากช่องโหว่ของ Microsoft แต่มาจากการปรับแต่งค่าที่ผิดพลาดโดยไม่ได้เจตนาเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อมีลูกค้ารายหนึ่งได้ติดต่อสอบถาม Microsoft ว่ามีข้อมูลของพวกเขาหลุดออกไปด้วยหรือไม่ Microsoft ตอบแต่เพียงว่าไม่สามารถระบุข้อมูลที่ได้รับผลกระทบได้ แม้ลูกค้ารายดังกล่าวจะทักท้วงแต่ก็ได้รับการปฏิเสธจาก Microsoft อีกครั้งในภายหลัง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและท่าทีของ Microsoft ต่อเรื่องนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ Microsoft และการตั้งคำถามถึงวิธีจัดการปัญหา รวมทั้งนโยบายการสำรองข้อมูลและการทำลายข้อมูลเก่า ตลอดจนแนวปฏิบัติในการแจ้งเตือนผู้ดูแลระบบของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลว่าขาดประสิทธิภาพในการสื่อสาร ไปจนถึงการรายงานเหตุการณ์ต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ที่มา - Ars Technica
# เท็กซัสฟ้อง Google เก็บข้อมูล Biometric ทั้งใบหน้าและเสียงโดยขอความยินยอมไม่ครบถ้วน Ken Paxton อัยการสูงสุดรัฐเท็กซัสยื่นฟ้อง Google กล่าวหาว่าบริษัทละเมิดกฎหมายรัฐโดยการเก็บข้อมูลชีวมิติ (biometric) ซึ่งนับเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวที่ต้องขออนุญาตผู้ใช้แยกจากการขอข้อมูลส่วนบุคคลปกติ คำฟ้องระบุว่า Google ใช้ฟีเจอร์ใน Google Photos, Google Assistant และผลิตภัณฑ์กลุ่ม Nest เพื่อเก็บข้อมูลใบหน้าและการจดจำเสียงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้อย่างครบถ้วน และยังนำข้อมูลไปใช้สำหรับจุดประสงค์ทางการค้า เช่น การพัฒนาอัลกอริธึมของปัญญาประดิษฐ์หรือการขายพื้นที่จัดเก็บข้อมูล คำฟ้องกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกฎหมาย Capture or Use of Biometric Identifier Act ที่ควบคุมการเก็บข้อมูลชีวมิติ ได้แก่ การสแกนม่านตา, ลายนิ้วมือ, ลักษณะเสียง (voiceprint), ภาพมือหรือใบหน้า โดยองค์กรที่จะเก็บข้อมูลต้องแจ้งผูใช้ และต้องทำลายข้อมูลเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ทางฝั่ง Google ออกมาโต้แย้งว่า Google Photos เป็นบริการที่ทำให้ผู้ใช้จัดการรูปภาพได้ง่ายขึ้น และผู้ใช้สามารถปิดการใช้งานได้ง่าย เช่นเดียวกับบริการอื่นๆ ของบริษัท ที่มา: Wall Street Journal
# Google โดนอินเดียสั่งปรับเงิน 6.2 พันล้านบาท จากประเด็นผูกขาดทางการค้า Competition Commission of India (CCI) คณะกรรมการด้านการแข่งขันทางการค้าของอินเดีย ได้สั่งปรับเงิน Google เป็นจำนวน 133.78 พันล้านรูปี (คิดเป็นเงินไทยราว 6.2 พันล้านบาท) ในประเด็นการผูกขาดทางการค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ Android CCI ได้ออกประกาศการสั่งปรับเงินนี้ โดยอ้างถึงแนวทางที่ Google กำหนดให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ Android ต้องติดตั้งชุดแอป Google Mobile Suite ทำให้ Google ได้เปรียบเหนือผู้ให้บริการอื่นหลายอย่างในการเสนอบริการผ่านแอปบนอุปกรณ์เหล่านั้น CCI ได้แจกแจงว่าผลจากนโยบายบังคับติดตั้งแอปทำให้ Google ได้เปรียบการแข่งขันใน 5 ตลาด ดังนี้ ระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟน: ระบุถึงการกำหนดนโยบายบีบให้ผู้ผลิตอุปกรณ์เลือกใช้ระบบปฏิบัติการ Android ของ Google และทำให้ไม่เกิดสภาพที่ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการอื่นที่ fork แยกออกมาสามารถแข่งขันได้ ร้านค้าแอปต่างๆ สำหรับอุปกรณ์ที่รัน Android: หมายถึง Google Play บริการค้นหาข้อมูลผ่านเว็บ: หมายถึงแอปค้นหาของ Google เอง เว็บเบราว์เซอร์แบบไม่จำกัดระบบปฏิบัติการ: หมายถึง Google Chrome แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์: หมายถึง YouTube โดยรวมแล้ว CCI สรุปว่าการที่ Google มีข้อกำหนดให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ Android ติดตั้งชุดแอปของตนเองไปในขั้นตอนผลิตเครื่อง ส่งผลให้แอปและบริการของ Google มีฐานผู้ใช้เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติและแทบจะปิดโอกาสการแข่งขันของผู้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์และบริการรายอื่นที่จะนำเสนอเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ในประกาศของ CCI ยังมีการกล่าวถึงข้อโต้แย้งของ Google ที่ระบุพาดพิงถึง Apple คู่แข่งสำคัญในแง่ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์พกพา โดย CCI ได้แสดงข้อคิดเห็นเปรียบเทียบว่า Apple ดำเนินธุรกิจโดยเน้นการหาผลกำไรจากการขายสินค้าและบริการมูลค่าสูงด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ของผลิตภัณฑ์ตนเองเป็นหลัก กล่าวคือเน้นการทำธุรกิจในแนวดิ่ง ในขณะที่ Google เน้นการขยายธุรกิจในแนวราบโดยมุ่งเพิ่มจำนวนผู้ใช้เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ผ่านบริการต่างๆ อาทิ บริการค้นหาข้อมูล ซึ่ง CCI มองว่าแนวทางของ Google ขัดต่อกฎหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้า นอกเหนือจากโทษสั่งปรับเงินแล้ว CCI ยังมีคำสั่งให้ Google ระงับการบังคับใช้นโยบายที่ขัดต่อกฎหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้า โดยสั่งให้ Google ดำเนินการดังน้ หยุดบังคับผู้ผลิตอุปกรณ์ให้ลงแอปของ Google ไปกับผลิตภัณฑ์ (ผู้ผลิตยังมีสิทธิ์เลือกได้โดยอิสระว่าจะใช้แอปของ Google บางส่วนหรือทั้งหมดหรือไมใช้ก็ได้) การขายใบอนุญาตใช้บริการ Google Play ต้องไม่พ่วงเงื่อนไขบังคับติดตั้งชุดแอปของ Google อาทิ YouTube, Google Maps, Google Chome เป็นต้น ห้ามปิดกั้นการเข้าถึง API ของ Google Play Service เพื่อเปิดทางให้นักพัฒนาภายนอกสามารถพัฒนาแอปที่ทำงานกับระบบปฏิบัติการ Android ได้อย่างมีคุณภาพสามารถแข่งขันกับ Google ได้ ห้ามเสนอส่วนแบ่ง หรือผลตอบแทนเป็นเงินแก่ผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อทำข้อตกลงแบบปิดกั้น เพื่อบังคับให้ใช้เครื่องมือค้นหาของ Google ห้ามใส่ข้อกำหนดที่ผูกมัดผู้ผลิตอุปกรณ์มิให้สามารถเลือกใช้ระบบปฏิบัติการอื่นด้วยการทำสัญญา Anti-Fragmentation Agreement (AFA) และสัญญา Android Compatibility Commitment Agreement (ACC) เพื่อเปิดทางให้ผู้ผลิตอุปกรณ์มีอิสระสามารถพัฒนาระบบปฏิบัติการที่ fork จาก Android ได้ ห้ามเสนอผลตอบแทนเพื่อจูงใจผู้ผลิตอุปกรณ์มิให้ขายผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการที่ fork จาก Android ห้ามปิดกั้นสิทธิ์การถอนแอปของ Google ที่ติดไปกับอุปกรณ์ตั้งแต่แรก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถถอนการติดตั้งแอปเหล่านั้นได้โดยอิสระ ต้องมีระบบให้ผู้ใช้เลือกตั้งค่าแอปพื้นฐานสำหรับบริการค้นหาในการเปิดใช้งานอุปกรณ์ครั้งแรกได้เอง (ห้ามเลือกให้ผู้ใช้ตั้งแต่แรก) และระบบต้องเอื้อให้ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนแอปตั้งต้นสำหรับการใช้งานต่างๆ ได้โดยง่าย ต้องเปิดให้ผู้พัฒนาร้านขายแอปรายอื่น สามารถเผยแพร่ข้อมูลใน Googe Play Store ได้ ห้ามมิให้ปิดกั้นผู้พัฒนาแอปภายนอกในการเสนอบริการและขายแอปผ่านการดาวน์โหลดจากที่อื่นนอกเหนือ Google Play Store CCI กำหนดว่าให้ Google ปรับปรุงนโยบายและการทำงานให้เป็นไปตามคำสั่งภายในกรอบเวลาที่แน่นอน (แต่ยังไม่มีข้อมูลระบุระยะเวลาที่ชัดเจนในประกาศ) โดยสำหรับโทษปรับเงินงั้น CCI ให้เวลา Google ในการเตรียมข้อมูลและเอกสารต่างๆ เพื่อแสดงต่อ CCI ภายใน 30 วันหลังประกาศ ในปัจจุบันอินเดียถือเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้อุปกรณ์ Android มากที่สุดในโลกราว 600 ล้านเครื่อง โดยส่วนแบ่งการตลาดของ Android ในตลาดอุปกรณ์พกพาของอินเดียนั้นสูงถึง 97% ซึ่งนั่นทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Google ได้ทุ่มเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับตลาดเอเชียใต้ ภาพ Google Doodle วันประกาศอิสระภาพอินเดียปี 2017 ที่มา - TechCrunch
# BMW เตรียมลงทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ BMW ประกาศข่าวเตรียมลงทุนเพื่อเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาด้วยเงิน 1.7 พันล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นการลงทุนเพื่อขยายโรงงานเดิมที่ Spartanburg ในรัฐ South Carolina เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ และอีก 700 ล้านดอลลาร์เป็นการลงทุนระบบไฟฟ้าแรงสูงในพื้นที่ใกล้โรงงาน สำหรับโรงงานที่ Spartanburg นั้นเป็นฐานการผลิตรถรตระกูล X อยู่ก่อนแล้ว โดย BMW ตั้งใจจะใช้ที่นี่เป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์ไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้ Oliver Zipse ประธานบริหารของ BMW ประจำประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่าบริษัทตั้งเป้าจะออกรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 6 รุ่นภายในปี 2030 ทั้งนี้ BMW จะเลือกใช้งานแบตเตอรี่ของ Envision AESC (เป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เกิดจากการร่วมทุนกันของ Nissan, NEC และ Tokin Corporation) กับรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง โดยแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่ได้รับการพัฒนามาเป็นรุ่นที่ 6 นี้จะมีความจุพลังงานมากกว่าเดิม 20% รวมทั้งชาร์จเร็วกว่าเดิม 30% พร้อมทั้งช่วยให้รถยนต์มีพิสัยการวิ่งที่ไกลกว่าเดิมด้วย โรงงาน Spartanburg ของ BMW ที่มา - Engadget
# พบช่องโหว่ Buffer Overflow ในโค้ด SHA-3 ตัวดั้งเดิม Nicky Mouha นักวิจัยกระบวนการเข้ารหัสลับรายงานถึงช่องโหว่ buffer overflow ในฟังก์ชั่นแฮช SHA-3 ของไลบรารี XKCP ซึ่งเป็นไลบรารีดั้งเดิมของทีมงานออกแบบกระบวนการแฮช Keccak และเสนอเข้าแข่งขัน SHA-3 จนชนะเป็นมาตรฐาน ช่องโหว่นี้อาศัยการเรียกฟังก์ชั่นแฮช SHA-3 ด้วยข้อมูลขนาด 4GB จนซอฟต์แวร์ภายในเกิด integer overflow ความน่ากังวลของช่องโหว่นี้คือโค้ดถูกเขียนตั้งแต่ปี 2011 และมีการตรวจสอบจากหลายคนในช่วงแข่งขันเลือก SHA-3 และโค้ดนี้ถูกนำไปใช้ในไลบรารีจำนวนมาก ทาง XKCP แพตช์ช่องโหว่นี้แล้ว คาดว่าซอฟต์แวร์อื่นๆ ก็น่าจะนำแพตช์นี้ไปใช้งานในการอัพเดตรอบต่อไป ที่มา - mouha.be
# กสทช. เสียงข้างน้อยโพสต์ความเห็น อธิบาย 7 เหตุผลที่ไม่ควรให้ควบรวม DTAC-True ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต หนึ่งใน กสทช. เสียงข้างน้อย ในกรณีควบรวม DTAC/True โพสต์แสดงความเห็นของตัวเองผ่าน Facebook โดยให้เหตุผล 7 ข้อที่ยืนยันว่าไม่ควรอนุญาตให้เกิดการควบรวม เหตุผลหลักๆ คือการแข่งขันในตลาดจะลดลง เหลือผู้เล่นรายใหญ่แค่ 2 ราย และเงื่อนไขการบรรเทาผลกระทบที่ออกมา ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับของการแข่งขันในตลาดได้ ที่มา - Facebook Pirongrong Ramasoota
# Capcom โชว์เทรลเลอร์ใหม่ Resident Evil 4 Remake, ภาค Re:Verse เปิดให้เล่น 28 ต.ค. Capcom โชว์เทรลเลอร์ใหม่ของ Resident Evil 4 Remake ที่เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2022 โชว์ให้เราเห็นตัวละครต่างๆ ในเวอร์ชันรีเมคกันมากขึ้น เช่น Ashley Graham และ Ada Wong เนื้อเรื่องของ Resident Evil 4 คือ Leon S. Kenedy พระเอกจากเกมภาค 2 ต้องไปคุ้มครอง Ashley Graham ลูกสาวของประธานาธิบดีสหรัฐ (โค้ดเนม Baby Eagle) ที่ถูกลักพาตัวโดยลัทธิปริศนา และต้องไปผจญภัยในหมู่บ้านที่คนในหมู่บ้านถูกควบคุมโดยปรสิต Las Plagas เกมเวอร์ชันต้นฉบับออกครั้งแรกบนเครื่อง GameCube เมื่อปี 2015 ได้คะแนนรีวิวเฉลี่ยสูงถึง 96/100 และหลังจากนั้นก็พอร์ตไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ เป็นจำนวนมาก เกมลง PS4, PS5, Xbox Series X|S, PC (Steam) วางขาย 24 มีนาคม 2023 เปิดให้พรีออเดอร์แล้ววันนี้ และมีชุด Deluxe Edition และ Collector’s Edition ที่รวมฟิกเกอร์ Leon ให้ด้วย Capcom ยังประกาศออก Resident Evil Village Gold Edition ที่ขายพร้อมภาคเสริมใหม่ Winters’ Expansion เนื้อเรื่อง 16 ปีหลังเกมภาคหลัก ในวันที่ 28 ตุลาคม 2022 ลงเครื่อง PlayStation 5, PlayStation 4, Xbox Series X|S, Xbox One, PC (Steam) ในวันเดียวกัน 28 ตุลาคม เกม Resident Evil Re:Verse ที่เป็นมัลติเพลเยอร์แบบ Deathmatch รวมตัวละครจากเกมภาคเก่าๆ จะเปิดบริการอย่างเป็นทางการ เล่นฟรีสำหรับคนที่ซื้อ Resident Evil: Village ที่มา - Capcom
# เผย Microsoft เจรจาเตรียมลงทุนใน OpenAI เพิ่มเติม เพื่อนำเทคโนโลยีมาต่อยอด มีรายงานว่า ไมโครซอฟท์เริ่มเจรจาเพื่อลงทุนเพิ่มเติมใน OpenAI บริษัทที่เน้นงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยหวังการนำเทคโนโลยีมาใช้กับผลิตภัณฑ์บริษัท ซึ่ง OpenAI ก็มีแผนเตรียมเปิดระดมทุนรอบใหม่อยู่แล้ว ไมโครซอฟท์ลงทุนใน OpenAI ไปครั้งแรกในปี 2019 ด้วยเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหลังจากนั้น Azure ก็ทำข้อตกลงให้ใช้สิทธิ GPT-3 ได้เพียงรายเดียว และน่าจะได้เทคโนโลยีใหม่ในอนาคตมาเสริมอีก OpenAI ก่อตั้งในปี 2015 โดย Sam Altman และได้เงินทุนสนับสนุนก้อนแรกจาก Elon Musk, Reid Hoffman และนักลงทุนอีกหลายคน ในตอนแรกตั้งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร แต่ปัจจุบันใช้การตั้งบริษัทลูกเพื่อเน้นงานวิจัยที่สร้างกำไร แล้วจำกัดส่วนกำไรไว้ ส่วนเกินก็นำมาเป็นเงินทุนให้บริษัทที่ไม่แสวงหากำไรต่อ ที่มา: The Wall Street Journal
# Dell ประเทศไทย วางขายโน้ตบุ๊ก XPS 13 Plus ดีไซน์ใหม่ ราคา 73,990 บาท เมื่อต้นปี Dell ออกโน้ตบุ๊ก XPS 13 Plus ที่ใช้ดีไซน์ต่างไปจากไลน์ XPS 13 รุ่นมาตรฐานที่ออกรุ่นอัพเดตทุกปี จุดเด่นคือดีไซน์แบบ minimalist ทัชแพดกระจกไร้เส้นขอบ และคีย์บอร์ดแถวบนเป็นจอสัมผัส วันนี้ Dell ประเทศไทยนำ XPS 13 Plus รุ่นนี้มาขายแล้วในราคา 73,990 บาท สเปกของรุ่นย่อยที่วางขายคือ ซีพียู Core i7-1260P, แรม 16GB LPDDR5, สตอเรจ 512GB NVMe, จีพียู Iris Xe, Windows 11 Home และมี Office Home & Student 2021 มาให้ด้วย เท่าที่เห็นวางขายในไทยมีสี Graphite เพียงสีเดียว (หน้าสั่งซื้อสินค้าของ JIB, Advice) ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์ Dell Thailand
# Facebook Groups ให้สมาชิกกลุ่มโพสต์คอนเทนต์แบบ Reels ได้แล้ว Facebook ประกาศเพิ่มคุณสมบัติหลายอย่างให้กับ Groups มีรายละเอียดดังนี้ Reels หนียังไงก็ไม่พ้น โดยผู้ใช้งานสามารถโพสต์คอนเทนต์วิดีโอสั้นในฟอร์แมตแบบ Reels ลง Groups ได้ โปรไฟล์ใน Group เพิ่มการใส่ข้อมูลสำหรับโปรไฟล์แต่ละคนใน Groups ให้สมาชิกทำความรู้จักดีขึ้น แชร์อีเวนต์ของ Groups ลง Instagram Stories ได้ นอกจากนี้ Facebook ยังปรับปรุงเครื่องมือสำหรับแอดมินกลุ่ม ในการตรวจสอบเนื้อหาข่าวปลอม หรือเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้ง่ายขึ้นด้วย ที่มา: Facebook
# เอกสารเผย Elon Musk อาจปลดพนักงาน Twitter ถึง 75% หลังเข้าซื้อกิจการ The Washington Post อ้างเอกสารและการสอบถามจากนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับดีลที่ Elon Musk ซื้อ Twitter ระบุว่า เขามีแผนจะปลดพนักงาน Twitter ออกราว 75% ของพนักงานทั้งหมดประมาณ 7,500 คน หลังการซื้อกิจการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายทันที ดีลที่ Elon Musk จะซื้อ Twitter นั้นกลับมาเดินหน้าต่อ หลังเขากลับมาแสดงความต้องการซื้อกิจการ ซึ่งส่วนคดีที่ Twitter ฟ้องนั้นก็หยุดพักชั่วคราว โดยมีเส้นตายว่าดีลนี้ต้องแล้วเสร็จในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ก่อนหน้านี้ Twitter มีข่าวอยู่แล้วว่าบริษัทมีแผนจะปลดพนักงานจำนวนมากอยู่แล้วประมาณ 25% แต่หากเป็น 75% ตามตัวเลขของ Musk ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานอยู่หลายอย่างด้วย ที่มา: The Washington Post
# Snap รายงานผลประกอบการไตรมาส เติบโตน้อยลงจากหลายปัจจัย ราคาหุ้นร่วงกว่า 25% Snap รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 3 ปี 2022 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 1,128 ล้านดอลลาร์ เป็นการเติบโตที่เลขหลักเดียวครั้งแรกตั้งแต่บริษัทเข้าตลาดหุ้น และขาดทุนสุทธิ 360 ล้านดอลลาร์ โดยมาค่าใช้จ่ายจากการปรับโครงสร้างบริษัท 155 ล้านดอลลาร์ แม้รายได้เติบโตไม่สูง แต่จำนวนผู้ใช้งานประจำทุกวัน DAU เพิ่มขึ้น 19% เป็น 363 ล้านบัญชี สะท้อนว่าแอปยังดึงดูดผู้ใช้งานมาเพิ่มได้ Snap อธิบายในรายงานผลประกอบการว่าการเติบโตที่น้อยลงในไตรมาสนี้ มาจากผลกระทบทั้งการปรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของ iOS, ปัญหาเศรษฐกิจโลกในภาพรวม และการแข่งขันในธุรกิจที่มากขึ้น บริษัทยังพบว่าหลายอุตสาหกรรมเริ่มลดงบค่าใช้จ่ายการโฆษณา ที่เป็นผลจากทั้งต้นทุนอื่นที่เพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อ ราคาหุ้น Snap ปรับลดลงมากกว่า 25% หลังรายงานผลประกอบการ ที่มา: CNBC
# ตัวอย่างใหม่ Final Fantasy XVI เผยโฉมร่างสถิตของ Bahamut และ Odin หลังจากการเปิดเผยข้อมูลชุดใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Square Enix ได้เผยตัวอย่างใหม่ของ Final Fantasy XVI ที่มีชื่อว่า "Ambition" ซึ่งเน้นการเล่าเรื่องราวเบื้องต้นและโลกทัศน์ของเกม พร้อมกันนี้ยังเผยโฉมสองตัวละครใหม่ คือ Dion Lesage มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิ Sanbreque ร่างสถิตของ Bahamut และ Barnabas Tharmr กษัตริย์แห่งราชอาณาจักร Waloed ร่างสถิตของ Odin Hiroshi Takai ผู้กำกับเกมนี้กล่าวว่า Final Fantasy XVI ยังเหลือขั้นตอนการปรับแต่งอีกเล็กน้อย เพื่อที่จะเผยความพิเศษในอีกไม่นานข้างหน้า ซึ่งเกมกำหนดวางจำหน่ายในช่วงฤดูร้อนปี 2023 ที่มา: Square Enix Press Release
# CEO บอกเอง "OnlyFans จะยังเป็นบ้านให้ผู้ผลิตสื่อสำหรับผู้ใหญ่ไปอย่างน้อยอีก 5 ปี" ในงานสัมมนา TechCrunch Disrupt หนึ่งในแขกที่รับเชิญมาพูดคุยบนเวทีคือ Ami Gan สุภาพสตรี CEO ของ OnlyFans ซึ่งจากการพูดคุยมีหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจนั่นคือ Gan ระบุว่า OnlyFans ยังยินดีเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้ผลิตสื่อเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ไปอย่างน้อยอีก 5 ปี ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม OnlyFans ได้ออกกฎเพื่อแบนสื่อเนื้อหาทางเพศอันเป็นผลมาจากแรงกดดันจากนักลงทุน อย่างไรก็ตามเพียงไม่กี่วันให้หลัง OnlyFans ก็ตัดสินใจระงับการใช้กฎใหม่ดังกล่าวเนื่องจากเสียงคัดค้านจำนวนมากจากผู้ใช้งาน ทำให้ในตอนนี้ OnlyFans จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ยังเป็นมิตรต่อกลุ่มผู้ผลิตสื่อสำหรับผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามหลังการประกาศปรับปรุงฟีเจอร์การถ่ายทอดสดของ TikTok เสียใหม่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่อนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดโดยสามารถกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้เช้าชมการถ่ายทอดได้ ก็ชัดเจนว่า Tiktok กำลังพร้อมเปิดแนวรบท้าสู้กับ OnlyFans ในฐานะแพลตฟอร์มสำหรับการถ่ายทอดสดสำหรับผู้ใหญ๋ ด้วยเหตุนี้ Gan จึงต้องการสื่อออกไปให้ชัดเจนว่า OnlyFans ยังคงต้องการรักษาตำแหน่งแพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับผู้ผลิตและผู้รับชมเนื้อหากลุ่มนี้ ทั้งนี้ OnlyFans ใช้การหักส่วนแบ่งรายได้จากผู้ผลิตเนื้อหาในอัตรา 20% โดยในปี 2021 บริษัทจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ผลิตเนื้อหาไปเป็นเงินเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์ และทำผลกำไรเมื่อปีก่อน 433 ล้านดอลลาร์ โดยในปีที่แล้วมีผู้ผลิตสื่อ 2.1 ล้านคน ในขณะที่ยอดผู้เข้าชมสื่อนั้นมีจำนวนถึง 188 ล้านคน ภาพจากเวทีสัมมนางาน TechCrunch Disrupt, ซ้าย: Ami Gan ผู้เป็น CEO คนปัจจุบันของ OnlyFans, ขวา: Keily Blair หัวหน้าฝ่ายวางแผนของ OnlyFans ที่มา - TechCrunch
# กูเกิลเปิดบริการ My Ad Center ปรับแต่งการแสดงโฆษณา ปิดการใช้ประวัติการใช้งานเพื่อโฆษณาได้ กูเกิลเปิดบริการ My Ad Center บริการปรับแต่งโฆษณาที่แสดงบนแพลตฟอร์มของกูเกิลเอง เช่น Google Search, YouTube, และ Discover โดยผู้ใช้สามารถปรับแต่งค่าการแสดงโฆษณาแยกออกจากการปรับค่าเพื่อใช้งานตามปกติ ผู้ใช้สามารถเลือกหมวดโฆษณาที่อยากดูหรือไม่อยากดู และเข้าไปดูได้ว่าระบบคาดเดาข้อมูลสำหรับการยิงโฆษณาไว้อย่างไรบ้าง (เช่น เพศ, อายุ, หรือความสนใจ) นอกจากนี้เรายังสามารถปรับการใช้ประวัติการใช้งานมายิงโฆษณาได้ เช่น YouTube ที่เก็บประวัติการดูวิดีโอของผู้ใช้เอาไว้เพื่อแนะนำวิดีโอ เราสามารถปิดการใช้ประวัติการดูวิดีโอเพื่อเลือกโฆษณา ขณะที่ยังปล่อยให้ YouTube เก็บประวัติการใช้งานเพื่อแนะนำวิดีโอปกติที่ไม่ใช่โฆษณาต่อไปได้ การตั้งค่าใน My Ad Center จะมีผลเฉพาะบนอุปกรณ์ที่ล็อกอินบัญชี Google ไว้เท่านั้น ที่มา - Google Blog
# Lionel Messi ลงทุนเปิดบริษัทใหม่ทำธุรกิจด้านสื่อกีฬาและเทคโนโลยีเกี่ยวกับฟุตบอล Lionel Messi ยอดนักเตะชาวอาร์เจนตินาได้ลงทุนเปิดบริษัทใหม่ชื่อ Play Time ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ทำธุรกิจด้านสื่อกีฬาและเทคโนโลยี Play Time เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยการลงทุนกับสตาร์ทอัพและบริษัทอื่นอีกต่อหนึ่ง โดยนอกจาก Messi แล้วยังมีผู้ร่วมลงทุนอีกคนคือ Razmig Hovaghimian ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริการสตรีมมิ่ง Viki และมีตำแหน่งบริหารใน Rakuten ด้วยอีกที่หนึ่ง ทั้งนี้บริษัท Play Time ที่ก่อตั้งใหม่นี้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ San Francisco ประเทศสหรัฐอเมริกา ในตอนนี้ Play Time ได้ลงทุนในธุรกิจเกม, สื่อกีฬาและเทคโนโลยีตามที่แถลงออกมา ดังนี้ Matchday สตูดิโอเกมซึ่งกำลังจะเปิดตัวเกมฟุตบอลในช่วงก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเกมมากนัก โดยตอนนี้เปิดให้ผู้ที่สนใจเกมของ Matchday ลงทะเบียนเป็นสมาชิกได้ที่นี่ AC Momento แอปประมูลเสื้อฟุตบอลที่นักเตะใช้สวมแข่งจริง โดยแอปจะเปิดให้ผู้ใช้ร่วมประมูลเสื้อแข่งของนักเตะได้ทันทีที่เกมฟุตบอลนัดนั้นเริ่มการแข่งขัน และจะปิดประมูลหลังจบเกมการแข่งขันไม่นาน โดยผู้ชนะการประมูลจะได้รับเสื้อส่งตรงจากนักเตะหรือสโมสรต้นสังกัดของผู้เล่นพร้อมใบรับประกันดิจิทัล โดยตอนนี้มีสโมสรที่เข้าร่วมกับระบบของ AC Momento แล้ว 4 สโมสร และนักเตะอีก 16 ราย BALLERtv แพลตฟอร์มถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา 6 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอล, บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล, ซอฟต์บอล, ลาครอส และอเมริกันฟุตบอล โดยเน้นเฉพาะรายการแข่งขันระดับเยาวชน นอกเหนือจากธุรกิจและบริการข้างต้น Play Time ยังคงอยู่ในขั้นตอนหาธุรกิจอื่นๆ เพื่อร่วมลงทุนโดยเน้นการลงทุนกับทีมกีฬา และธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสำหรับฟุตลอล ยอดดาวยิงหมายเลข 10 แห่งอาร์เจนตินาคนปัจจุบันได้แถลงถึงการลงทุนครั้งนี้ว่า ทั้งนี้ในแง่การบริหารงานต่างๆ Hovaghimian จะรับหน้าที่หลักในการดูแลงานของ Play Time และมีที่ปรึกษาคือ Michael Marquez ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการลงทุนและพัฒนาสตาร์ทอัพ โดยเขาเป็นผู้ก่อตั้ง CODE Advisors ธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งก่อตั้ง Morado กองทุนที่เน้นการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ นอกจากนี้ Maquez ที่ปรึกษาคนนี้ยังเคยผ่านงานบริหารใน CBS Interactive และ Yahoo! มาแล้ว Lionel Messi หนึ่งในนักฟุตบอลที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลก ผู้ลงทุนก่อตั้งบริษัท Play Time ที่มา - TechCrunch
# เน็ตดับงานเดิน Stack Overflow เปิดโครงการ Overflow Offline Stack Overflow ร่วมมือกับ Kiwix องค์กรไม่หวังผลกำไรที่พยายามรวบรวมชุดข้อมูลความรู้จำนวนมากให้สามารถใช้งานได้ในพื้นที่ห่างไกล เปิดโครงการ Overflow Offline สำหรับใช้งานเว็บถามตอบได้โดยไม่ต้องมีอินเทอร์เน็ต ก่อนหน้านี้ Kiwix สร้างเครื่องมือดูดเว็บเพื่อให้ใช้งาน Stack Overflow แบบออฟไลน์ได้อยู่แล้ว แต่ความยากคือการอัพเดตเนื้อหาให้ทันสมัย ทาง Stack Overflow เข้าไปทำงานร่วมกับ Kiwix ให้สามารถอัพเดตข้อมูลจาก Stack Overflow และ Stack Exchange ทั้ง 180 เว็บได้ บริการข้อมูลแบบออฟไลน์สำคัญสำหรับการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล เช่น คาเมรูนมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียง 34% หรือใช้งานในสถานีวิจัยขั้วโลกใต้ที่ปกติต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Kiwix ใช้งานได้บนแพลตฟอร์มหลักๆ ทั้งหมด ตัว Stack Overflow มีให้ดาวน์โหลดขนาด 80GB ที่มา - Stack Overflow
# OpenBSD ออกรุ่น 7.2 รองรับ Arm ทั้ง Ampere, Apple M2, และ Qualcomm 8cx OpenBSD ระบบปฎิบัติการกลุ่ม POSIX ออกเวอร์ชั่น 7.2 ความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือรองรับชิปในกลุ่ม Arm ยอดนิยมหลายตัว ได้แก่ Ampere Altra ที่ใช้งานในคลาวด์หลายแห่ง, Apple M2, และ Qualcomm Snapdragon 8cx ที่ใช้ใน ThinkPad X13s แพ็กเกจที่มากับเวอร์ชั่นนี้อัพเกรดตามรอบ ได้แก่ LibreSSL 3.6.0, OpenSSH 9.1 ที่เพิ่งออกมา ที่มา - OpenBSD
# Ubuntu 22.10 ไม่รัน OpenSSH หลังบูตแล้ว แต่จะรันอัตโนมัติเมื่อมีการเชื่อมต่อ Canonical ปล่อย Ubuntu 22.10 Kinetic Kudu รุ่นคั่นกลาง โดยเน้นสองแนวทาง คือการใช้งานในคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก และการใช้งานสำหรับนักพัฒนา การใช้งานในคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กนั้น OpenSSH ในเวอร์ชั่นนี้จะไม่รันเป็น daemon หลังบูตเครื่องอีกต่อไป แต่ใช้ฟีเจอร์ socket activation ของ systemd ให้รัน OpenSSH ขึ้นมาเองหลังมีการเชื่อมต่อ ทำให้โดยรวมระบบกินแรมน้อยลง การพัฒนาบน IoT ยังรองรับ MicroPython เต็มรูปแบบ โดยแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง เช่น rshell, thonny, และ mpremote กลายเป็นแพ็กเกจมาตรฐานของ Ubuntu ระบบกราฟิกในเวอร์ชั่นนี้รองรับการแสดงบนหน้าจออื่นนอกเดสก์ทอป ซึ่งใช้งานกันบ่อยในงาน kiosk เช่นจอสัมผัสของ Raspberry Pi ที่มา - Ubuntu
# กสทช. “รับทราบ” DTAC ควบรวม True ประธานลงสองเสียง ต้องแยกแบรนด์ไปอีก 3 ปี กสทช. ลงมติรับทราบการควบรวมระหว่าง DTAC และ True พร้อมกับระบุมาตรฐานควบคุมหลังควบรวมแล้วให้ลดราคาค่าบริการโดยเฉลี่ยลง การออกเสียงครั้งนี้ครั้งแรกออกเสียงเท่ากัน 2 ต่อ 2 โดยงดออกเสียงหนึ่งเสียง ทำให้ประธานกสทช. มีอำนาจออกเสียงชี้ขาดอีกรอบกลายเป็น 3 ต่อ 2 นอกจากการรับทราบแล้ว ทางกสทช. ก็ระบุเงื่อนไขต่างๆ หลังการควบรวม ได้แก่ การกำหนดค่าบริการที่ต้องต่ำลงโดยเฉลี่ย การควบคุมต้นทุนที่ต้องมีการตรวจสอบ โดยทั้งสองบริษัทต้องให้บริการแยกแบรนด์กันไปอีก 3 ปี นอกจากนี้ทั้งสองบริษัทจะต้องไม่ลดจำนวนเสาสัญญาณ ที่มา - Brand Inside
# MIT ทดลองใช้คลื่นวิทยุตรวจจับความเคลื่อนไหวของผู้ป่วยพาร์กินสัน ทีมวิจัยจาก MIT สร้างอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวของคนในห้องด้วยสัญญาณวิทยุเพื่อติดตามอาการของโรคพาร์กินสัน โดยตรวจจับทั้งความเคลื่อนไหวและความเร็วในการเดิน ระบบอาศัยการยิงคลื่นวิทยุพลังงานต่ำจากอุปกรณ์รูปร่างคล้าย access point ในบ้าน แล้ววัดการสะท้อนคลื่นจากตัวคนที่อยู่ในบ้านจากนั้นนำข้อมูลผ่านระบบ machine learning เพื่อแปลค่าเป็นความเคลื่อนไหว ทีมวิจัยติดตั้งเครื่องในกลุ่มทดลองจำนวน 50 คนเป็นเวลา 1 ปี สามารถเก็บข้อมูลรวม ​200,000 รายการ ใช้ติดตามอาการโรคพาร์กินสันว่าหนักขึ้นหรือไม่ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่อาการค่อยๆ ทรุดลงนั้นเดินช้าลงเรื่อยๆ ในอัตราสองเท่าตัวของผู้ที่ไม่ได้ป่วย ก่อนหน้านี้แพทย์ต้องสังเกตอาการของผู้ป่วยที่สถานพยาบาลซึ่งหลายครั้งก็ไม่ตรงนัก เพราะผู้ป่วยอาจจะเหนื่อยจากการเดินทาง การติดตามอาการผ่านคลื่นวิทยุทำให้แพทย์สามารถปรับการให้ยาได้ตามอาการที่เกิดขึ้นจริง งานวิจัย Monitoring gait at home with radio waves in Parkinson’s disease ตีพิมพ์ในวารสาร Science Translational Medicine และได้รับทุนจาก National Institutes of Health และ the Michael J. Fox Foundation ที่มา - MIT News
# Docker ขึ้นค่าสมาชิกแบบ Team และ Business Docker ประกาศขึ้นค่าสมาชิกแบบ Team จาก 7 ดอลลาร์ต่อเดือนเป็น 9 ดอลลาร์ต่อเดือน และแบบ Business จาก 21 ดอลลาร์ต่อเดือนเป็น 24 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยมีผลวันที่ 27 ตุลาคมนี้ โดยระบุเหตุผลว่าลงทุนกับการสร้างเครื่องมือเพื่อนักพัฒนาไปมาก การประกาศครั้งนี้ยังไม่ขึ้นราคาแบบ Pro ที่ 5 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับนักพัฒนาทั่วไป แต่ก็เพิ่มข้อจำกัดแบบ Team ให้ใช้งานได้สูงสุด 100 คนเท่านั้น หากใช้งานเกินนั้นจะต้องใช้งานแบบ Business Docker หันมาทำเงินกับการเก็บค่าสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ ลดบริการฟรีลง เช่น การจำกัดการใช้งาน Docker Hub และ Docker Desktop การปรับราคาไปพร้อมกับบีบองค์กรขนาดกลางให้อัพเกรดแพ็กเกจก็เป็นอีกแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้บริษัท ที่มา - Docker
# ไมโครซอฟท์โชว์หน้าตาแอพ Microsoft 365 ตัวใหม่ ที่มาแทนแอพ Office บนวินโดวส์ จากข่าว ไมโครซอฟท์จะเลิกใช้ชื่อ Office เปลี่ยนเป็น Microsoft 365 ล่าสุดไมโครซอฟท์โชว์คลิปของแอพ Microsoft 365 ตัวใหม่บนวินโดวส์แล้ว แอพ Microsoft 365 ตัวใหม่มาแทนแอพ Office Hub ของเดิม หน้าที่หลักของมันคือเป็นจุดรวมเอกสารต่างๆ ในระบบ Microsoft 365 ที่เราใช้งาน แต่ก็รองรับการแสดงไฟล์ชนิดอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในชุด Office ด้วย (ในคลิปโชว์ตัวอย่างไฟล์ PDF และ Figma) ฟีเจอร์อื่นๆ ของแอพ Microsoft 365 คือการแสดงแอพขององค์กรเอง และแอพจากบริษัทอื่นๆ (third party) ที่เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบ Microsoft 365, หน้าแสดง Feed บอกสิ่งที่เราควรรู้ประจำวัน เช่น นัดหมายประชุมถัดไป หรือ เนื้อหาที่โพสต์-ส่งทางเมลจากคนที่เราติดตาม ไมโครซอฟท์ระบุว่าแอพตัวใหม่จะเริ่มปล่อยอัพเดตในเดือนพฤศจิกายน 2022 โดยมาแทนแอพ Office เดิมเลย ตัวเทคโนโลยีเขียนด้วยเว็บแอพ ดังนั้นหน้าตาจะเหมือนกันหมดทุกแพลตฟอร์ม ที่มา - Windows Central
# ประธานกรรมาธิการสภารัสเซียเสนอแบน WhatsApp หนุนสร้างแอปของรัสเซียเอง Anton Gorelkin ประธานคณะกรรมาธิการด้านนโยบายข้อมูลของรัฐสภารัสเซียเสนอผ่านแอปพลิเคชัน Telegram ให้รัฐบาลรัสเซียรวมทั้งประชาชนแบนแอปพลิเคชัน WhatsApp ของ Meta เพื่อประโยชน์ของทางการ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนแอปพลิเคชันใหม่ที่เป็นของรัสเซียเองเพื่อเลิกใช้เทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงเผยว่าตนเองได้ลบและเลิกใช้แอปพลิเคชันไปแล้ว ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นปี สำนักงานบริการเผ้าระวังทางการเงินของรัสเซีย (Federal Financial Monitoring Service หรือ Rosfinmonitoring) ก็ได้เพิ่มรายชื่อบริษัท Meta ลงในบัญชีว่าเป็นองค์กรผู้ก่อการร้ายและหัวรุนแรง ทำให้ Facebook และ Instagram ก็ได้ถูกแบนออกจากรัสเซียตอบโต้ Meta ที่จำกัดการใช้สื่อของรัสเซียและสนับสนุนยูเครน ที่มา: South China Morning Post
# OceanEnergy เตรียมทดสอบเครื่องปั่นไฟพลังคลื่นแบบลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 1 MW OceanEnergy ผู้ผลิตเครื่องปั่นไฟพลังคลื่นจากประเทศไอร์แลนด์ ได้ลงนามทำสัญญากับบริษัทและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสเปน เพื่อร่วมมือกันในโครงการ WEDUSEA ซึ่งจะมีการทดสอบเครื่องปั่นไฟขนาด 1 MW โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเป็นเงิน 19.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย เครื่องปั่นไฟที่ว่านี้เป็นเครื่องรุ่น OE35 ของ Ocean Energy มีกำลังการผลิตไฟ 1 MW ซึ่งในตอนนี้จะถือเป็นเครื่องปั่นไฟพลังคลื่นแบบลอยน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่จะถูกนำมาทดสอบใช้งาน อย่างไรก็ตาม Ocean Energy เองยังมีการออกแบบเครื่องรุ่นใหญ่กว่านี้คือ OE50 ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟ 2 MW ด้วย การผลิตประกอบเครื่องปั่นไฟ OE35 เครื่องปั่นไฟที่ Ocen Energy ออกแบบนั้นมีส่วนล่างเป็นโพรงเปิดที่จะจุ่มลงบนผิวน้ำทะเลโดยตรง เมื่อคลื่นผ่านมาใต้ทุ่นของเครื่องปั่น การเคลื่อนตัวสูงขึ้นของผิวน้ำจะดันอากาศที่อยู่ในโพรงดังกล่าวขึ้นมาพัดขับใบกังหันเครื่องปั่นไฟ และเมื่อผิวน้ำลดระดับต่ำลงก็จะดูดอากาศให้ไหลผ่านใบพัดกังหันกลับเข้าสู่โพรงเปิดใต้เครื่อง โดยตลอดเวลานั้นใบพัดของกังหันจะยังคงหมุนอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดิมไม่ว่าอากาศจะไหลผ่านตัวมันในทิศทางใด การทดสอบและอธิบายหลักการทำงานทุ่นปั่นไฟของ Oceen Energy ที่พัฒนาต้นแบบเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา สำหรับโครงการ WEDUSEA ที่จะมีการทดสอบเครื่องปั่นไฟ OE35 นี้มีแผนจะมีการปั่นไฟเพื่อจ่ายเข้าสู่ระบบไฟฟ้าหลักบนแผ่นดิน โดยตัวเครื่องของ OceanEnergy จะถูกนำไปติดตั้งที่ศูนย์ทดสอบด้านพลังงานทางทะเลของยุโรปที่เมือง Orkney ประเทศ Scotland แผนงานของโครงการถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ในระยะแรกคือการออกแบบเครื่อง OE35 ที่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับสถานที่ทดสอบและกระบวนการผลิตซึ่งจะกินเวลา 1 ปี จากนั้นจะเป็นการติดตั้งทดลองใช้งานจริงและเก็บข้อมูลต่างๆ เป็นเวลา 2 ปี ส่วนแผนงานขั้นตอนสุดท้ายหลังจากนั้นเป็นการศึกษาวิเคราะห์เพื่อวางแนวทางการพัฒนาเครื่องปั่นไฟเพื่อการใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งวิเคราะห์ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ ที่มา - Interesting Engineering
# ตามคาด "เดี่ยว 13" ครองอันดับ 1 รายการทีวีของ Netflix ประเทศไทย ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ฉาย Netflix ประเทศไทย เผยสถิติว่ารายการโชว์ stand-up comedy "เดี่ยว 13" ของโน้ต อุดม แต้พาณิช ขึ้นอันดับ 1 ของรายการหมวดทีวีในประเทศไทย นับตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ขึ้นฉายบน Netflix (10-16 ตุลาคม 2562) ซีรีส์ "เดี่ยวไมโครโฟน" ของโน้ต ได้รับความนิยมในประเทศไทยมายาวนาน การได้ฉายผ่านช่องทางสตรีมมิ่งอย่าง Netflix แล้วได้รับความนิยมตามไปด้วย คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก แต่กรณีของ "เดี่ยว 13" กลายเป็นข่าวใหญ่ของประเทศไทย เพราะเนื้อหารายการมีวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย (แต่เพิ่งมาเป็นข่าวตอนฉายสตรีมมิ่ง) ทำให้ "เดี่ยว 13" ได้รับความสนใจในวงกว้างมากยิ่งขึ้นไปอีก จนสามารถทะยานขึ้นเป็นอันดับ 1 ของรายการทีวีในไทยได้สำเร็จ คู่แข่งของ "เดี่ยว 13" มีทั้งซีรีส์จากต่างประเทศ เช่น ซีรีส์เกาหลี Little Women รวมถึงละครไทยอย่าง Suptar 2550 ดูอันดับทั้งหมดได้ตามภาพ (อ้างอิงอันดับจาก Netflix Top 10)
# นักวิจัยอังกฤษพัฒนาสิ่งทอที่มีโซลาร์เซลล์ในตัว ใช้ทำเครื่องนุ่งห่มที่ผลิตไฟฟ้าได้ ทีมนักวิจัยจาก Nottingham Trent University (NTU) พัฒนาสิ่งทอที่ฝังโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กจำนวนมากถักรวมไปกับเส้นใยของผ้า เป็นต้นแบบสิ่งทอที่อาจพัฒนาไปใช้ในการผลิตเครื่องแต่งกายที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในขณะสวมใส่ ทีมวิจัยสร้างต้นแบบผ้าขนาดกว้าง 27 เซนติเมตร ยาว 51 เซนติเมตร โดยมีโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กจิ๋วมากกว่า 1,200 ชิ้นเป็นส่วนประกอบ ตัวเซลล์ผลิตไฟแต่ละชิ้นนั้นมีขนาดกว้าง 1.5 มิลลิเมตร ยาว 5 มิลลิเมตร โดยมันสามารถผลิตไฟฟ้าได้สำหรับการชาร์จไฟให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิด ตัวเซลล์ถูกฝังในเนื้อพอลิเมอร์กันน้ำ ทำให้เมื่อนำไปถักทอกับเส้นใยกลายเป็นผ้าแล้วผู้ที่สัมผัสจะไม่รู้สึกระคายหรือรู้สึกแตกต่างจากการสัมผัสผ้าทั่วไป ทั้งนี้ตัวผ้าที่ได้ยังมีความโปร่งสามารถระบายอากาศได้ สิ่งทอชนิดพิเศษที่มีโซลาร์เซลล์ขนาดจิ๋วเป็นส่วนประกอบในเนื้อผ้า องค์ประกอบหลักที่ใช้เพื่อการสร้างโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กนั้นเป็นซิลิกอน ทำให้มีความเสถียรทางเคมี และด้วยการออกแบบใช้ตัวนำไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นแต่ทนทาน ทำให้ผ้าที่ฝังโซลาร์เซลล์นี้สามารถใช้งานได้เหมือนสิ่งทอทั่วไป สามารถทนรับแรงกดทับที่เกิดจากการใช้งานเป็นส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหรือกระเป๋าใส่ของได้ตามปกติ นอกจากนี้ตัวผ้าที่ทีมวิจัยสร้างขึ้นนี้ยังสามารถนำไปซักด้วยเครื่องซักผ้าและทนการซักด้วยน้ำอุ่น 40 องศาเซลเซียสได้ ตัวโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กที่ทีมวิจัยสร้างขึ้น กระบวนการถักรวมโซลาร์เซลล์เข้าไปในเนื้อผ้า จากการทดสอบความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ตัวผ้าที่มีโซลาร์เซลล์ราว 1,200 ชิ้นนี้สามารถผลิตไฟฟ้ารวมกันได้ 335.3 mW ภายใต้แสงสว่าง 0.8 เท่าของแสงอาทิตย์ ซึ่งเท่ากับว่าภายใต้แดดจ้ามันจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 394 mW ซึ่งหากใช้ผ้าที่มีขนาดใหญ่มากกว่านี้ก็จะผลิตไฟได้กำลังงานมากขึ้นตามไปด้วย การพัฒนาของทีมวิจัยในตอนนี้ยังใช้การผลิตชิ้นงานด้วยมือเป็นหลัก แต่หากสามารถตีโจทย์เรื่องเทคนิคการผลิตให้สามารถทำได้จริงในระดับอุตสาหกรรมได้เมื่อไหร่ก็น่าจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญของวงการสิ่งทอในอนาคต ที่มา - InceptiveMind, Nottingham Trent University
# Amazon ถูกฟ้อง ใช้อัลกอรึธึมลับดันสินค้าตัวเองแทนสินค้าที่ถูกกว่าจากร้าน third-party Amazon ถูกยื่นฟ้องแบบกลุ่มในสหราชอาณาจักร ถูกกล่าวหาว่าบริษัทใช้อัลกอริธึม “ลับ” กับฟีเจอร์ Buy Box ที่เป็นการเลือกร้านค้าตั้งต้นให้ผู้ซื้อสามารถกดซื้อได้ทันทีแม้จะมีผู้ขายหลายราย โดยการฟ้องระบุว่าบริษัทใช้อัลกอริธึมเพื่อทำให้สินค้าของ Amazon เองขึ้นมาก่อนสินค้าจากผู้ขายภายนอก (third party) แม้จะขายในราคาถูกกว่าทั้งบนเว็บไซต์และในแอปพลิเคชัน การยื่นฟ้องดำเนินการโดยสำนักงานกฎหมาย Hausfeld โดยมี Julie Hunter ซึ่งเป็นที่ปรึกษาขององค์กรสิทธิผู้บริโภคเป็นตัวแทนของคนหลายล้านคน ส่วนมูลค่าความเสียหายของคดีนี้ นักเศรษฐศาสตร์ประมาณการไว้ว่าอาจสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าจำนวนมากบนหน้าเว็บของ Amazon มีผู้ขายหลายราย และผู้ขายแต่ละรายต้องพยายามแข่งกันเพื่อให้ร้านของตนถูกเลือกอยู่ใน Buy Box เพราะผู้ซื้อส่วนมากไม่พยายามกดหาว่าที่จริงสินค้าแต่ละชิ้นมีผู้ขายกี่รายและราคาต่างกันอย่างไรบ้าง กระบวนการเลือกร้านค้าที่จะได้ตำแหน่ง Buy Box นั้นไม่เปิดเผยชัดเจนว่าใช้เงื่อนไขอะไรบ้าง ทั้งนี้ คดียังต้องได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการจากผู้พิพากษาก่อนว่าเป็นการฟ้องร้องแบบกลุ่มตามกฎหมายของสหราชอาณาจักร ซึ่งหมายความว่าผู้เสียหายจะได้รับส่วนแบ่งหากมีการจ่ายค่าชดเชยแม้จะไม่ได้มีส่วนร่วมในการฟ้องร้อง ก่อนหน้านี้ Amazon ก็ได้ถูกรัฐแคลิฟอร์เนียฟ้องร้องฐานผูกขาดการค้า ที่มา: Bloomberg
# Meta พัฒนา AI แปลภาษาจากเสียงพูดโดยตรง แปลภาษาจีนฮกเกี้ยนได้แล้ว Meta พัฒนาปัญญาประดิษฐ์แปลภาษาที่ใช้สำหรับแปลคำพูดโดยตรงสำหรับภาษาจีนฮกเกี้ยนที่ไม่มีภาษาเขียน ระบบแปลภาษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Universal Speech Translator ที่ต้องการพัฒนาการใช้ AI เพื่อช่วยแปลคำพูดเป็นคำพูดแบบเรียลไทม์ซึ่งไม่สามารถใช้วิธีปกที่แปลงคำพูดออกมาออกมาเป็นภาษาเขียนได้แล้วค่อยแปลภาษาจากข้อความ ในงานวิจัยนี้ Meta อาศัยการแปลงเสียงพูดภาษาฮกเกี้ยนออกมาเป็นข้อความแทนเสียงตรงๆ หรือแปลงเสียงเป็นข้อความในภาษาจีนกลางที่ใกล้เคียงกัน แล้วค่อยแปลภาษาอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ Meta ยังปล่อย SpeechMetrix ที่เป็นชุดข้อมูลแปลภาษาจากคำพูดเป็นคำพูดที่สร้างจากเครื่องมือของ Meta ที่ชื่อว่า LASER เพื่อให้นักวิจัยคนอื่น ๆ สามารถสร้างวิธีการแปลคำพูดเป็นคำพูดเป็นของตัวเองและนำมาใช้ร่วมกับระบบของ Meta ได้ ขณะนี้ โมเดลยังอยู่ในช่วงพัฒนา และสามารถแปลประโยคทีละ 1 ประโยคเท่านั้น ก่อนหน้านี้ Meta ก็ได้ประกาศโอเพนซอร์สโมเดล AI สำหรับแปลภาษา ที่มา: Meta
# Netflix บอกกำลังสนใจทำบริการคลาวด์เกมมิ่งด้วย, เปิดสตูดิโอพัฒนาเกมแห่งที่ 5 Mike Verdu หัวหน้าฝ่ายเกมของ Netflix ไปพูดในงานสัมมนาของ TechCrunch ระบุว่าบริษัทกำลังสนใจว่าจะเข้าตลาดคลาวด์เกมมิ่งด้วยเหมือนกัน (seriously exploring a cloud gaming offering) ตอนนี้ Netflix เริ่มเข้ามาทำตลาดเกมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทุกเกมยังเป็นเกมที่ต้องดาวน์โหลดมาไว้ในเครื่องก่อนเล่น แต่เนื่องจากธุรกิจหลักของ Netflix คือการสตรีมวิดีโอ ทำให้เกิดคำถามเสมอมาว่า Netflix จะให้บริการเกมที่สตรีมมาจากเซิร์ฟเวอร์ด้วยหรือไม่ (ลักษณะเดียวกับ xCloud หรือ GeForce Now) Verdu ยืนยันว่าบริการเกมของ Netflix เป็นบริการเสริมที่ช่วยให้แพ็กเกจสมาชิกรายเดือนมีคุณค่ามากขึ้น (a value add) บริษัทไม่ได้คาดหวังว่ามันจะมาแข่งกับเกมคอนโซล Netflix ยังประกาศเปิดสตูดิโอพัฒนาเกมอีกแห่ง นับเป็นแห่งที่ห้าแล้ว (ข่าวของ 4 แห่งแรก) โดยจะอยู่ที่แคลิฟอร์เนียทางใต้ และได้ Chacko Sonny อดีตผู้บริหาร Blizzard ที่ดูแล Overwatch มาเป็นหัวหน้าสตูดิโอ ที่มา - TechCrunch
# อินเทลโชว์ Thunderbolt เวอร์ชันใหม่ เพิ่มแบนด์วิดท์เป็น 80 Gbps เท่ากับ USB4v2 อินเทลโชว์ต้นแบบของอินเทอร์เฟซ Thunderbolt เวอร์ชันใหม่ (ยังไม่ระบุเลขว่าเป็น Thunderbolt 5 หรือเป็น Thunderbolt 4.x แต่ใช้คำว่า Next-Generation Thunderbolt แทน) โดยจะอยู่บนอินเทอร์เฟซตามสเปกของ USB 4.0 v2 ที่ออกมาตรฐานเมื่อเดือนกันยายน 2022 หลายคนอาจมีภาพจำว่า Thunderbolt ในอดีตวางตัวเป็นคู่แข่งกับ USB โดยตรง แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป ทิศทางของ Thunderbolt เริ่มหลอมรวมจนเกือบเหมือนกับ USB แล้ว โดยเฉพาะ Thunderbolt 4 ที่เป็นซูเปอร์เซ็ตของ USB 4.0 ของใหม่ใน Thunderbolt vNext คือเพิ่มอัตราแบนด์วิดท์การส่งข้อมูลเป็น 80 Gbps บนสายเคเบิลเดิม เท่ากับที่ USB 4.0 v2 ขยายแบนด์วิดท์ขึ้นมา (ของเดิมใน Thunderbolt 4/USB4 คือ 40 Gbps) Thunderbolt vNext ยังสามารถใช้ท่าเปลี่ยนเลนส่งข้อมูลจากเดิมไป 2 เลน + กลับ 2 เลน (เลนละ 40 Gbps) มาเป็น ไป 3 + กลับ 1 สำหรับงานส่งข้อมูลทางเดียว (เช่น สตรีมวิดีโอจากคอมไปยังจอมอนิเตอร์) ทำให้แบนด์วิดท์สูงสุดที่เป็นไปได้คือ 120 Gbps อินเทลบอกว่าจะเปิดตัวแบรนด์ตัวเลขอย่างเป็นทางการของ Thunderbolt vNext รวมถึงข้อมูลฟีเจอร์อื่นๆ ในปีหน้า 2023 ที่มา - Intel
# Konami เปิดตัวเกม-หนัง Silent Hill รวม 5 โปรเจค นำโดย Silent Hill 2 Remake ลง PS5/PC หลังจากห่างหายจากเกมสยองขวัญซีรีส์ Silent Hill ไปนานหลายปี (ครั้งสุดท้ายคือยกเลิกโปรเจค Silent Hills ของ Hideo Kojima ในปี 2015) Konami กลับมาพร้อมกับข่าว Silent Hill ชุดใหญ่ทั้งหนังและเกม จำนวน 5 โปรเจค โปรเจคเด่นที่สุดหนีไม่พ้น Silent Hill 2 Remake การรีเมคเกมภาค 2 ที่ออกในปี 2001 และประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งคะแนนรีวิวและยอดขาย เนื้อเรื่องคือตัวเอก James Sunderland ตามหาภรรยาที่หายสาบสูญไปในเมือง Silent Hill เมืองเดียวกับในเกมภาคแรก เกมภาครีเมคพัฒนาโดย Bloober Team สตูดิโอเกมจากโปแลนด์ที่เชี่ยวชาญเกมสยองขวัญ เจ้าของผลงานล่าสุดคือ Blair Witch (2019) และ The Medium (2021) เกมเวอร์ชันนี้จะลงพีซี Steam และเป็นเอ็กซ์คลูซีฟคอนโซล PS5 ยังไม่ประกาศวันวางขาย เกมที่สองคือ Silent Hill: Townfall ที่ Konami ร่วมพัฒนากับ No Code Studios สตูดิโอจากอังกฤษ (Stories Untold, Observation) และผู้จัดจำหน่าย Annapurna Interactive แต่ตอนนี้ยังมีเฉพาะเทรลเลอร์เปิดตัว ยังไม่เปิดเผยรูปแบบเกมเพลย์ เนื้อเรื่อง แพลตฟอร์ม และวันวางจำหน่าย เกมที่สาม Silent Hill f เนื้อเรื่องใหม่ในจักรวาล Silent Hill รอบนี้ไปอยู่ที่ญี่ปุ่นยุค 1960s ตัวเอกเป็นนักเรียนหญิงที่พบกับเรื่องราวสยองขวัญ เนื้อเรื่องของเกมภาคนี้เขียนโดย Ryūkishi07 นักเขียนนิยาย visual novel ชื่อดังของญี่ปุ่น เกม Silent Hill f พัฒนาโดยสตูดิโอ NeoBards Entertainment ที่มีผลงานทำเกม Resident Evil Re:Verse (2022) ยังไม่ประกาศวันวางขายและแพลตฟอร์ม โปรเจคที่สี่ Silent Hill Ascension ระบุว่าเป็นวิดีโอสตรีมมิ่งแบบอินเตอร์แอคทีฟ พัฒนาโดย 4 บริษัทคือ Bad Robot Productions, Behavior Interactive, Genvid Technologies, DJ2 Entertainment รูปแบบการใช้งานเป็นเว็บไซต์ ascension.com เปิดบริการในปี 2023 โปรเจคที่ห้าเป็นภาพยนตร์ Return to Silent Hill โดยผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Christophe Gans ที่กำกับภาพยนตร์ Silent Hill ภาคแรกในปี 2006 เนื้อหาของภาคนี้จะอิงกับเกม Silent Hill 2
# [Canalys] ตลาดสมาร์ทโฟนไตรมาส 3/2022 ลดลง 9% เหตุจากปัญหาเศรษฐกิจ บริษัทวิจัยตลาด Canalys รายงานภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกของไตรมาสที่ 3 ปี 2022 จำนวนส่งมอบลดลง 9% จากไตรมาสเดียวกันในปี 2021 ซึ่งถือเป็นไตรมาส 3 ที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014 โดย Canalys ให้เหตุผลจากปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้คนชะลอการซื้อ และน่าจะส่งผลต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 6-9 เดือน ซัมซุงยังครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 22% ขณะที่แอปเปิลที่อยู่อันดับ 2 เป็นผู้ผลิตรายเดียวใน 5 อันดับแรก ที่มีจำนวนเครื่องส่งมอบเพิ่มขึ้น และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 18% ส่วนอันดับ 3-5 คือ Xiaomi, OPPO และ vivo ตามลำดับ นักวิเคราะห์จาก Canalys มองว่าการที่ผู้ซื้อชะลอการใช้จ่าย ทำให้ผู้ผลิตต้องโฟกัสการบริหารซัพพลายเชนมากขึ้น ตลอดจนกำหนดราคาให้เหมาะสม เพราะอาจส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ ซึ่งเป็นปัญหากับทุกผู้ผลิตไม่เว้นแอปเปิล อย่างไรก็ตามไตรมาสถัดไปเป็นไตรมาสสิ้นปี ซึ่งอาจมีบรรยากาศการจับจ่ายที่มากขึ้นก็ต้องดูตัวเลขต่อไป ที่มา: Canalys
# Android 13 (Go edition) เปิดตัว, รองรับธีม Material You, อัพเดต OS บางส่วนผ่าน Google Play กูเกิลเปิดตัว Android 13 (Go edition) ระบบปฏิบัติการสำหรับมือถือสเปกต่ำ พร้อมประกาศว่ามีอุปกรณ์ใช้งาน Android Go จำนวน 250 ล้านเครื่องแล้ว (นับเป็น monthly active devices) ของใหม่ใน Android 13 (Go edition) ได้แก่ อัพเดตบางส่วนของ OS ผ่าน Google Play System Updates เหมือนกับ Android รุ่นปกติ ไม่ต้องรอชะตาฟ้าจากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ Launcher เพิ่มหน้า Discover ที่ด้านซ้ายมือของหน้า Home ปัดขวาเพื่อค้นพบเนื้อหาใหม่ๆ ที่แนะนำโดยกูเกิล รองรับระบบธีม Material You เป็นครั้งแรก (เริ่มใช้ใน Android 12) ปรับแต่งชุดสีอัตโนมัติตามสีของภาพพื้นหลัง ฟีเจอร์หลักบางอย่างของ Android 13 เช่น Notification Permissions, App Language Preferences กูเกิลบอกว่าสมาร์ทโฟนที่ใช้ Android 13 (Go edition) จะเริ่มวางขายในปี 2023 เป็นต้นไป ที่มา - Google
# ไมโครซอฟท์ยืนยัน กำลังทำ Xbox Mobile Store ขายเกมบนมือถือ แข่งกับแอปเปิล-กูเกิล ไมโครซอฟท์เผยในเอกสารที่ส่งต่อ Competition and Markets Authority (CMA) หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของอังกฤษ จากกรณีซื้อ Activision Blizzard ระบุว่ากำลังทำ "ร้านขายเกม" ของตัวเองที่รองรับอุปกรณ์หลากหลายประเภท รวมถึงสมาร์ทโฟนด้วย ไมโครซอฟท์บอกว่าต้องการขยาย Xbox Store ในปัจจุบันไปยังอุปกรณ์พกพา สร้างเป็น Xbox Mobile Platform เพื่อแข่งขันกับ Play Store และ App Store อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ยอมรับว่าการแข่งขันกับสโตร์ 2 รายใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องรอให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน ซึ่งการได้เกมดังๆ จาก Activision Blizzard มาเป็นจุดดึงดูดก็จะช่วยให้เกมเมอร์ยอมเล่นของใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ Activision Blizzard มีเกมบนมือถือหลายตัว เช่น Call of Duty Mobile, Candy Crush, Diablo Immortal แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า Xbox Mobile Platform จะเป็นเกมแบบดาวน์โหลดอย่างเดียว หรือผสมผสานกับการเล่นเกมบนคลาวด์ผ่าน xCloud ด้วย เว็บไซต์ The Verge ชี้ว่าไมโครซอฟท์พยายามนำเสนอภาพรวมของอุตสาหกรรมเกมในมุมกว้าง โดยเฉพาะฝั่งเกมมือถือที่ไมโครซอฟท์แทบไม่มีตัวตนอยู่เลย ในขณะที่ CMA สนใจไปที่การแข่งขันระหว่างคอนโซล PlayStation vs Xbox เป็นหลัก ที่มา - The Verge
# AIS แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาดีลซื้อ 3BB ใหม่ หลังผู้ถือหน่วยลงทุน JASIF ไม่อนุมัติแก้ไขสัญญา AIS รายงานความคืบหน้าในการซื้อธุรกิจบรอดแบนด์ 3BB ที่ดำเนินการโดยบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB) จากกลุ่มบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ผ่าน ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ JAS อนุมัติดีลนี้ไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน รายละเอียดของดีลนี้นอกจาก AIS ซื้อหุ้น TTTBB แล้ว บริษัทจะซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจัสมิน (JASIF) ซึ่ง TTTBB ปัจจุบันมีฐานะเป็นผู้เช่าสายไฟเบอร์ของกองทุนนี้ด้วย เพื่อให้เป็นการซื้อกิจการที่ครบทั้งหมด อย่างไรก็ตามที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน JASIF มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 โดยไม่อนุมัติ 1 วาระจากทั้งหมด 3 วาระ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ AIS ขอให้แก้ไขสัญญาการเช่าหลายอย่างที่ TTTBB ทำไว้กับ JASIF ก่อนหน้านี้ AIS บอกว่าการที่วาระดังกล่าวไม่ผ่านการอนุมัติ เป็นประเด็นสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของ TTTBB ได้อย่างยั่งยืน จึงมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อหุ้น TTTBB และหน่วยลงทุน JASIF ซึ่งบริษัทจะนำมาพิจารณาใหม่ และจะแจ้งความคืบหน้าอีกครั้ง ที่มา: AIS (pdf)
# Tesla ไตรมาส 3/2022 เติบโตทั้งรายได้-กำไร-กระแสเงินสด ทำสถิติใหม่สูงสุดอีกครั้ง Tesla รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2022 รายได้รวม 21,454 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 56% เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน กระแสเงินสดอิสระเพิ่มขึ้นเป็น 3,297 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิแบบ non-GAAP 3,654 ล้านดอลลาร์ Tesla ให้ข้อมูลน่าสนใจตัวหนึ่ง คือรูปแบบการส่งมอบรถ โดยช่วงสัปดาห์สุดท้ายของแต่ละไตรมาส การส่งมอบจะมีจำนวนสูงมาก และเกิดต้นทุนที่สูงมากกว่าปกติเพราะทุกอุตสาหกรรมต่างมีความต้องการขนส่งสินค้าในช่วงเวลาเดียวกัน Tesla จึงเตรียมปรับการส่งมอบให้คงที่มากขึ้น (ดูสไลด์ที่ท้ายข่าว) ข้อมูลการผลิตที่น่าสนใจ รถบรรทุก Tesla Semi ที่ผลิตจากโรงงาน Nevada จะเริ่มส่งมอบล็อตแรกในเดือนธันวาคม, โรงงานเซี่ยงไฮ้กลับมาทำการผลิตเต็มรูปแบบ และผลิตรถได้เป็นสถิติสูงสุดของไตรมาส โดยโรงงานนี้เน้นส่งออกไปยังตลาดนอกอเมริกา Elon Musk ซีอีโอ Tesla ตอบหลายคำถามจากนักวิเคราะห์ในช่วงแถลงผลประกอบการ โดยเขามองภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่ามีความเสี่ยงถดถอยจากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในจีน, ปัญหาพลังงานในยุโรป และปัญหาการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐ อย่างไรก็ตามเขามอง Tesla ว่าจะทำผลการดำเนินงานได้ยอดเยี่ยมต่อเนื่องในไตรมาสปัจจุบัน โรงงานยังคงผลิตเต็มความสามารถ รถทุกคันที่ผลิตขายได้ทันที การบริหารต้นทุนยังทำได้ดี เขายังให้ความเห็นว่าวันหนึ่ง Tesla อาจมีมูลค่ากิจการสูงกว่าแอปเปิลก็ได้ ที่มา: CNBC และ Tesla (pdf)
# IBM ไตรมาส 3/2022 รายได้เติบโตทุกกลุ่มธุรกิจหลัก ไอบีเอ็มรายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 3 ปี 2022 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 6% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 14,107 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสนี้ไอบีเอ็มมีบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษครั้งเดียวเกี่ยวกับเงินสำรอง ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ไม่มีการจ่ายเงินสด แต่ทำให้สุทธิแล้วไตรมาสนี้ขาดทุน รายได้จากธุรกิจซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น 7% เป็น 5,811 ล้านดอลลาร์, งานให้คำปรึกษา เพิ่มขึ้น 5% เป็น 4,700 ล้านดอลลาร์, Infrastructure เพิ่มขึ้น 15% เป็น 3,352 ล้านดอลลาร์ Arvind Krishna ซีอีโอและประธานไอบีเอ็ม กล่าวว่าผลการดำเนินงานที่ออกมา สะท้อนการเติบโตรายได้ที่มาจากกลยุทธ์โฟกัสเป็นรายธุรกิจ และการตอบรับจากลูกค้าทั่วโลกที่ไอบีเอ็มเข้ามาช่วยเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจ ที่มา: ไอบีเอ็ม
# Replit เปิดตัว IDE บนโทรศัพท์มือถือ Replit บริการ IDE บนเว็บ ประกาศเปิดบริการบนโทรศัพท์มือถือ เปิดทางให้ทุกคนเขียนโค้ดได้ตลอดเวลา หลักจากที่ก่อนหน้านี้ Replit มีเวอร์ชั่นเว็บสำหรับโทรศัพท์อยู่แล้ว เวอร์ชั่นแอปมีความสามารถเพิ่มเติมจากเว็บ การควบคุมสามารถใช้จอยสติ๊กบนจอภาพได้เหมือนเมาส์ทำให้เลือกข้อความได้ง่ายขึ้น ตัว IDE สามารถทำ autocomplete ได้จากข้อมูลบนเครื่องโดยตรง และรองรับปัญญาประดิษฐ์เขียนโค้ด Ghostwriter แม้ฟีเจอร์ด้านการเขียนโค้ดจะค่อนข้างครบ แต่ฟีเจอร์การทำงานร่วมกับชุมชนยังขาดอยู่ และทีมงานจะเพิ่มเข้าภายหลัง ที่มา - Replit
# Adobe อัพเดตปัญญาประดิษฐ์ เลือกวัตถุในภาพได้ละเอียดระดับไรผม เติมภาพและซ่อมภาพได้ Adobe ประกาศอัพเดตฟีเจอร์ของ Adobe Creative Cloud เน้นฟีเจอร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยในการปรับแต่งภาพและวิดีโอ ไปจนถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์เติมภาพหรือวัตถุในลงภาพได้แล้ว Photoshop ปรับตัวเครื่องมือ Selection ช่วยเลือกวัตถุในภาพอย่างฉลาด โดยเวอร์ชั่นนี้จะเลือกได้แม่นยำแม้เป็นส่วนเส้นผมที่ปกติเลือกได้ยาก ฟีเจอร์ซ่อมภาพอัตโนมัติ Photo Restoration Neural Filter แก้ไขภาพเก่าให้เหมือนภาพใหม่ได้ในฟิลเตอร์เดียว ทั้งการลดรอยเปื้อนในภาพ, ปรับแต่งภาพขาวดำให้เป็นภาพสี, พร้อมกับเติมภาพในกรณีที่ภาพเดิมขาดหาย Generative AI เป็นฟีเจอร์สร้างภาพตามคำบรรยาย แต่อาศัยภาพเติมเป็นตัวตั้งต้น โดยผู้ใช้สามารถเลือกพื้นที่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงภาพแล้วพิมพ์คำสั่งลงไป เช่นการสร้างภาพเมืองบาดาล ที่มา - Abobe
# SpaceX เตรียมเปิดบริการอินเทอร์เน็ต Starlink Aviation สำหรับเครื่องบินโดยสาร SpaceX เตรียมเปิด Starlink Aviation บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสำหรับเครื่องบินโดยสาร โดยจะคิดค่าบริการเดือนละ 12,500 - 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ความเร็วอินเทอร์เน็ตสูงสุดของ Starlink Aviation จะเร็วได้ถึง 350 Mbps ซึ่ง SpaceX ระบุว่าผู้โดยสารเที่ยวบินสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อเล่นเกม, วิดีโอคอลหรือใช้บริการสตรีมมิ่งต่างๆ ได้ เครื่องบินโดยสารที่ติดตั้ง Starlink Aviation นอกเหนือจากค่าบริการอินเทอร์เน็ตแล้ว SpaceX จะเรียกเก็บค่าอุปกรณ์สำหรับ Starlink Avaiation แยกต่างหากด้วยราคา 150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอุปกรณ์ที่ว่านี้ประกอบไปด้วย terminal ตัวรับ-ส่งสัญญาณกับดาวเทียมที่ SpaceX ออกแบบมาพิเศษสำหรับติดตั้งด้านบนของเครื่องบิน เรียกว่า "Aero Terminal" จำนวน 1 ชิ้น, ระบบจ่ายไฟ และ access point แบบไร้สายจำนวน 2 ตัว Aero Terminal ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นแผ่นเรียบแตกต่างจากจานดาวเทียม Starlink ที่คุ้นตา Starlink Aviation จะเริ่มให้บริการในปี 2023 ที่มา - Business Insider
# และแล้วก็มีวันนี้ Windows 11 22H2 เปลี่ยนมาใช้ Windows Terminal เป็นดีฟอลต์ Windows 11 22H2 อัพเดตย่อยล่าสุด เปลี่ยนมาใช้แอพ Windows Terminal เป็นดีฟอลต์ แทน Windows Console Host ตัวเดิม ตามที่ไมโครซอฟท์ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2021 การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลเฉพาะแอพเทอร์มินัล ที่ตัวมันเองรองรับ shell หลายแบบ (เช่น Command Prompt, PowerShell, Ubuntu ที่ลงผ่าน WSL) ผลคือผู้ใช้จะได้แอพเทอร์มินัลที่ทันสมัยขึ้น มีฟีเจอร์ต่างๆ มากขึ้น เช่น รองรับการเปิดหลายแท็บ การเปิดหลายจอ (pane) ในหน้าต่างเดียวกัน แต่ถ้าไม่พอใจก็สามารถเปลี่ยนค่าไปใช้เทอร์มินัลตัวอื่นได้จาก Settings ได้ตามชอบ ที่มา - Microsoft via Windows Central
# Open Compute เปิดตัวโครงการ Caliptra สเปกกลางใช้ตรวจสอบ Root of Trust ของชิป โครงการโอเพนซอร์สฮาร์ดแวร์ Open Compute Project (OCP) ร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายคือ AMD, Google, Microsoft, NVIDIA เปิดตัวโครงการ Caliptra การสร้าง "รากแห่งความเชื่อถือ" (root of trust หรือ RoT) ลงไปที่ระดับชิปทุกประเภท แนวคิด root of trust คือการให้ฮาร์ดแวร์สามารถยืนยันกันต่อได้เป็นชั้นๆ ว่าชั้นก่อนหน้าตัวเองปลอดภัย ไม่แปลกปลอม โดยใช้กระบวนการเข้ารหัสลับ (cryptography) ช่วยยืนยัน แต่ที่ผ่านมา การทำ RoT มักแยกส่วนกันตามผู้ผลิตฮาร์ดแวร์แต่ละชิ้น เช่น SoC แยกจากเมนบอร์ด ทำให้การตรวจสอบยืนยันทำได้ยาก โดยเฉพาะงานประมวลผลยุคใหม่ที่รันงานในคลาวด์ มีความซับซ้อนของฮาร์ดแวร์สูง แต่ก็ต้องการระดับความปลอดภัยที่สูงมาก โครงการ Caliptra เป็นการพัฒนาสเปกกลางเพื่อให้ชิปและชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ชนิดต่างๆ คุยกันเพื่อตรวจสอบยืนยัน RoT ได้ง่ายขึ้น (มันถูกเรียกว่า Silicon RoT) เพื่อที่ผู้ให้บริการคลาวด์ (ตอนนี้มี 2 รายเข้าร่วมคือ Google Cloud และ Microsoft Azure) จะนำไปใช้บริหารความปลอดภัยในอุปกรณ์ของตัวเองได้ ตอนนี้เอกสารสเปก Caliptra เวอร์ชัน 0.5 เผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็น และพัฒนาต่อออกมาเป็นสเปกเวอร์ชัน 1.0 ต่อไป ที่มา - Open Compute
# กูเกิลปรับหน้าตาแอพ Family Link ที่พ่อแม่ใช้จัดการมือถือลูก, Google TV เพิ่ม Watchlist ของเด็ก กูเกิลออกของใหม่ด้าน parental control ให้พ่อแม่คอยควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ไอทีของลูกๆ ได้สะดวกขึ้น 2 อย่างดังนี้ อย่างแรกคือแอพ Family Link บนมือถือ ที่ใช้จัดการ parental control ของเครื่องลูกๆ ได้รับการดีไซน์ใหม่ แสดงเครื่องมือจำกัดเวลาใช้งาน (screen time limits) ซึ่งเป็นฟีเจอร์ยอดนิยมอยู่ในหน้าแรกของแอพเลย ตั้งค่าการใช้งานหน้าจอเฉพาะของวันนี้ (Today's limit) เช่น การต่อเวลาให้เป็นพิเศษในวันหยุด อีกฟีเจอร์คือแท็บ Location แสดงพิกัดของลูกๆ โดยเฉพาะหากมีลูกหลายคน สามารถดูพิกัดของลูกทุกคนได้จากแผนที่เดียวกัน ดูปริมาณแบตเตอรี่ของมือถือลูกๆ ได้, สั่งให้มือถือของลูกๆ ส่งเสียงเพื่อตามหามือถือที่หายได้, เพิ่มการแจ้งเตือนเมื่อลูกเดินทางจากหรือถึงสถานที่ที่กำหนดได้ (เช่น เริ่มออกจากโรงเรียน หรือ ถึงบ้านแล้ว) อย่างที่สองคือแพลตฟอร์มสมาร์ททีวี Google TV เดิมทีรองรับ Kid Profile อยู่แล้ว สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถตั้งค่า watchlist แนะนำคลิปที่อยากดูให้ได้ แทนการให้อัลกอริทึมสุ่มเลือกมาที่อาจไม่ตรงใจนัก แต่ถ้ายังอยากให้อัลกอริทึมเลือกให้ ก็มีปุ่ม hide ให้พ่อแม่ซ่อนสิ่งที่เสนอแนะมาไม่ตรงกับที่ต้องการได้เช่นกัน นอกจากนี้ พ่อแม่ยังสามารถควบคุมการใช้งาน YouTube ของ Kid Profile ให้เข้าถึงเนื้อหาเฉพาะเด็กๆ และบล็อคการเข้าถึงบางช่องได้ด้วย ที่มา - Google (Family Link), Google (Google TV)
# อินโดนีเซียตั้งเป้าเพิ่มจำนวนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าบนถนนให้ถึง 2 ล้านคันภายในปี 2025 อินโดนีเซียเตรียมออกกฎหมายเพื่อผลักดันให้มีการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะให้มีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 2 ล้านคันภายในปี 2025 Budi Karya Sumadi รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของอินโดนีเซียเป็นผู้ออกมาแถลงถึงนโยบายนี้ โดยเน้นย้ำว่าปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่จะส่งผลให้นโยบายนี้ประสบความสำเร็จได้ ทั้งเรื่องการสร้างความมั่นใจในมาตรฐานการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, การเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จไฟและสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ และการสร้างความมั่นใจในมาตรฐานของคุณภาพมอเตอร์ที่เป็นหัวใจสำคัญของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การแถลงนโยบายนี้สอดคล้องกับข่าวการลงทุนของ Gogoro ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, สกู๊ตเตอร๋ไฟฟ้า และพาหนะไฟฟ้าอื่นๆ และเป็นบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบถอดเปลี่ยนได้พร้อมระบบพื้นฐานสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยเมื่อปีที่แล้ว Gogoro ได้ประกาศข่าวร่วมลงทุนกับ Gojek สร้างสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ "Swap & Go" ในอินโดนีเซีย ระบบ Swap & Go ของ Gogoro ซึ่งเก็บค่าบริการ subscription จากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตามยังไม่มีการประกาศรายละเอียดชัดเจนว่าจะมีการออกกฎหมายหรือมาตรการจูงใจอย่างไรให้ประชาชนหันมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากกขึ้นในอนาคต แต่อาจคาดเดาได้จากการออกกฎหมายเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนรถใหม่ รวมถึงมาตรการทางภาษี และการช่วยเหลือต้นทุนพลังงานไฟฟ้าเพื่อจูงใจผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ตลาดของธุรกิจรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในเอเชียนั้นมีมูลค่ามหาศาลมาก อินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้อย่างรวดเร็ว มีบริษัทผู้ผลิตรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ประเทศจีนก็มีการจดทะเบียนรถใหม่ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดน้อยลงมากสวนทางกับจำนวนการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและจักรยานไฟฟ้า น่าสนใจว่า 3 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปเอเชียเริ่มขยับตัวและมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ากันแล้ว ประเทศไทยเราเองจะมีมาตรการหรือมีบริษัทใดเข้ามาทำการตลาดในธุรกิจนี้อย่างจริงจังบ้างหรือไม่ ที่มา - Electrek
# ซัมซุงไทยเปิดตัว Galaxy XCover 6 และ TabActive 4 สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต Rugged ที่รองรับ 5G ซัมซุงประเทศไทยเปิดตัวมือถือ-แท็บเล็ต 5G ที่เป็น rugged devices มีความทนทานสูง ถือเป็นสินค้ากลุ่ม rugged ที่รองรับ 5G ชุดแรกที่วางขายในไทย Samsung Galaxy XCover 6 Pro 5G กระจก Gorilla Glass Victus, รองรับ Wi-Fi 6E Samsung Galaxy TabActive 4 Pro 5G กระจก Gorilla Glass 5, Wi-Fi 6 อุปกรณ์ทั้งสองรุ่นผ่านมาตรฐาน IP68 และ MIL-STD 810H มีแบตเตอรี่แบบถอดเปลี่ยนได้ รองรับการชาร์จเร็วด้วยพอร์ต POGO โดยกรณีของ Galaxy TabActive4 ยังทำงานได้ในโหมดไม่มีแบตเตอรี่ สามารถใช้ในยานพาหนะที่มีไฟเลี้ยงตลอดเวลา หรือใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงจนแบตเสื่อมได้ง่าย ระบบปฏิบัติการเป็น One UI 4 การันตีอัพเกรดระบบปฏิบัติการ Android 3 เวอร์ชันหลัก และอัพเดตแพตช์ความปลอดภัยนาน 5 ปี สินค้าทั้งสองตัวขายผ่านช่องทางลูกค้าองค์กร และไม่ได้ระบุราคาขายปลีก
# Audi ออกแบบระบบกรองอากาศใส่หน้ารถยนต์ไฟฟ้า วิ่งไปพลางกรองอากาศให้เมืองไปพลาง Audi ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมนีร่วมมือกับ MANN + HUMMEL พัฒนาแผ่นกรองอากาศเพื่อดักอนุภาคฝุ่นในระหว่างที่รถวิ่งและชาร์จไฟ โดยแผ่นกรองดังกล่าวจะถูกติดตั้งไว้ตรงส่วนกระจังหน้ารถ Audi ระบุว่า 85% ของฝุ่นบนถนนมาจากการสึกหรอของเบรก, ยางรถยนต์ และพื้นผิวถนนเอง โดยฝุ่นเหล่านี้อาจมีขนาดเล็กสุดแค่ไม่กี่ไมโครเมตรและถูกสูดหายใจเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย (อนุภาคฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหามลภาวะทางอากาศที่คนไทยเริ่มตื่นตัวตระหนักกันดี ก็คืออนุภาคฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร ซึ่งฝุ่นจากท้องถนนก็มีอาจขนาดเล็กไม่แตกต่างกันมาก) ด้วยการตระหนักถึงปัญหานี้ Audi จึงมีไอเดียที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่มีส่วนช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมมีความสะอาดปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วยการติดแผ่นกรองดักอนุภาคฝุ่นที่ว่า Audi ได้ริเริ่มพัฒนาแผ่นกรองอากาศนี้และทดลองใช้งานมาตั้งแต่ปี 2020 และจะทดสอบยาวไปจนถึงปี 2024 โดยตัวแผ่นกรองถูกออกแบบมาให้ติดตั้งไว้หน้าแผงระบายความร้อน ซึ่งการแก้ไขดัดแปลงเพื่อติดตั้งแผ่นกรองอากาศนี้จะทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน เมื่อผู้ใช้เปิดระบบดึงอากาศภายนอกเข้าสู่ตัวรถ พัดลมดูดอากาศจะทำงานเพื่อดึงอากาศจากบริเวณหน้าตัวรถโดยมีแผ่นกรองอากาศนี้คอยดักจับอนุภาคฝุ่นเอาไว้ก่อนปล่อยอากาศสะอาดให้ไหลผ่านมันไป นอกจากนี้ระบบกรองอาอากาศนี้ยังสามารถเปิดใช้งานได้ในตอนที่จอดเพื่อชาร์จไฟด้วย ตัวแผ่นกรองทำมาจากวัสดุรีไซเคิล 15% และเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว วัสดุ 60% ของแผ่นกรองสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้งานอย่างอื่นต่อได้อีก โดย Audi ระบุว่าการเปลี่ยนแผ่นกรองนี้จะทำได้ง่ายสามารถทำที่ศูนย์บริการไหนก็ได้ และในอนาคตทาง Audi วางแผนร่วมมือกับ MANN + HUMMEL พัฒนาระบบเซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบอายุการใช้งานของแผ่นกรองอากาศนี้และคอยแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ได้ทราบเมื่อถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนแผ่นกรองใหม่ Audi ทดลองประสิทธิภาพการทำงานของแผ่นกรองอากาศโดยติดตั้งในรถรุ่น e-tron ของบริษัทและวิ่งทดสอบมาแล้วมากกว่า 50,000 กิโลเมตร โดยไม่พบปัญหาใดๆ ที่ส่งกระทบลดทอนประสิทธิภาพทำงานของระบบรถยนต์ทั้งในขณะรถวิ่ง และในขณะที่ชาร์จไฟให้รถ Audi เชื่อว่าระบบกรองอากาศนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่บังคับใช้กับผู้ผลิตรถยนต์ในอนาคต ที่มา - Audi MediaCenter ผ่าน Electrek
# กระทรวง อว. เปิดตัว "คลังหน่วยกิตแห่งชาติ" คนทำงานเรียนคอร์สแล้วสะสมหน่วยกิตได้ เริ่มกลางปี 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศโครงการนำร่องเพื่อทำ "คลังหน่วยกิตแห่งชาติ" (National Credit Bank System) ให้คนทุกช่วงวัยสามารถเรียนหลักสูตรต่างๆ หรือนำประสบการณ์ทำงาน มาเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตไว้ที่คลังหน่วยกิตแห่งชาติ แล้วนำขอรับปริญญาบัตรจากสถาบันอุดมศึกษาของไทยได้ ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. ระบุว่าโครงการนี้มีเพื่อสนับสนุนนโยบายเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) คนไทยทุกช่วงวัยเข้าถึงการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา เรียนหลักสูตรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยหรือหน่วยฝึกอบรมอื่นๆ ที่ได้รับการรับรอง แล้วมาสะสมหน่วยกิตไว้ที่ National Credit Bank System ได้ โครงการนำร่องจะเริ่มต้นช่วงกลางปี พ.ศ. 2566 โดยมีมหาวิทยาลัย 4 แห่งเข้าร่วมคือ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยมีบริษัท SkillLane สตาร์ตอัพด้านการเรียนรู้ออนไลน์ของไทย เป็นผู้พัฒนาระบบเชื่อมต่อคลังหน่วยกิตของแต่ละสถาบันเข้าด้วยกัน ภาพกราฟิกอธิบายการใช้งาน NCBS ของกระทรวง อว.
# Huawei เปิดตัวมือถือ Nova 10, Nova 10 Pro, Nova 10 SE ในไทย ราคาเริ่มต้น 13,990 บาท Huawei เปิดตัวมือถือระดับกลางซีรีส์ Nova 10 ในไทย แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อยคือ Nova 10 Pro หน้าจอ 6.78" 120Hz, กล้องหน้าคู่ 60MP + 8MP รองรับการซูม 2 เท่า, กล้องหลัง 3 ตัว 50MP + Ultrawide 8MP, มาโคร 2MP, แบตเตอรี่ 4500mAh ชาร์จเร็ว 100W - ราคา 24,990 บาท Nova 10 หน้าจอ 6.67" 120Hz, กล้องหน้า 60MP, กล้องหลัง 3 ตัว 50MP + Ultrawide 8MP + มาโคร 2MP, แบตเตอรี่ 4000mAh ชาร์จเร็ว 66W - ราคา 19,990 บาท Nova 10 SE หน้าจอ 6.67", กล้องหลัง 3 ตัว 108MP + Ultrawide 8MP + มาโคร 2MP, แบตเตอรี่ 4500mAh ชาร์จเร็ว 66W - ราคา 13,990 บาท ช่วงเปิดตัว (19-28 ตุลาคม) มือถือทุกรุ่นจะแถม Huawei Freelace มูลค่า 2,490 บาท และรุ่น Pro จะแถมตาชั่ง Huawei Body Fat Scale มูลค่า 799 บาทด้วย
# รายงานเผย คนส่วนใหญ่เก็บโทรศัพท์เก่าไว้ ไม่ยอมทิ้ง ขณะที่ขยะ E-waste ถูกรีไซเคิลไม่ถึง 20% WEEE Forum (Waste Electrical & Electronic Equipment) เผยรายงานคาดการณ์ว่าในปี 2022 จะมีสมาร์ทโฟนถูกทิ้งหรือเก็บไว้โดยไม่ได้ใช้งานกว่า 5.3 พันล้านเครื่อง ในขณะที่ทั่วโลกมีโทรศัพท์มือถือทั้งหมดราว 1.6 หมื่นล้านเครื่อง การจัดการกับโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างไม่ถูกวิธีจะก่อให้เกิดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-waste ซึ่ง WEEE คาดว่าภายในปี 2030 จะมีขยะ E-waste เพิ่มจนถึง 74 ล้านตันต่อปี WEEE เผยว่าการนำโทรศัพท์ที่ไม่ใช้แล้วไปรีไซเคิลเป็นวิธีที่ถูกต้องในการจัดการกับสมาร์ทโฟนที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพราะการรีไซเคิลมือถือเก่าทำให้สามารถนำแร่ที่ได้มาสร้างผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ได้ เช่น ทอง ทองแดง เงิน และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าการทำเหมืองขุดแร่ใหม่เพื่อมาทำโทรศัพท์ที่ทำให้เกิดปัญหาทรัพยากรขาดแคลนและปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีขยะ E-waste กว่า 17% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งรายงานเผยว่าผู้ใช้ 46% เก็บโทรศัพท์ที่ไม่ใช้แล้วไว้เพราะมองว่าอาจจะใช้อีกในอนาคต อีก 15% กล่าวว่าวางแผนว่าจะให้ผู้อื่นหรือขาย ส่วน 13% ตอบว่าโทรศัพท์มีคุณค่าทางจิตใจ ทั้งนี้ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศของสหประชาชาติได้ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มการรีไซเคิลให้ถึง 30% ในปีหน้า อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ WEEE Forum ที่มา: BBC
# ซีอีโอร่วม Kakao ลาออก หลังแอปใช้งานไม่ได้จนผู้ใช้เดือดร้อนเพราะไฟไหม้ศูนย์ข้อมูล Namkoong Whon ซีอีโอร่วมของบริษัท Kakao ลาออกจากตำแหน่งหลังจากแอปแชทของเกาหลีใต้ Kakao ใช้งานไม่ได้ทั้งฝั่งแอปแชทและฝั่งบริการอื่น ๆ เพราะเกิดเหตุเพลิงไหม้ศูนย์ข้อมูลที่ตั้งอยู่ใกล้กรุงโซล จนขณะนี้เหลือเพียง Hong Euntaek เป็นซีอีโออยู่คนเดียว ไฟไหม้เกิดขึ้นตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมาและแอปพลิเคชันได้รับการแก้ไขก่อนวันพุธ แต่ฝั่งบริการยังคงติดขัดอยู่ เช่น การจองร้านอาหาร หรือการจ่ายเงินค่าโดยสาร ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กกว่า 500 แห่งได้รับความเดือนร้อนเพราะขายของไม่ได้ แอปแชท KakaoTalk มีผู้ใช้ในเกาหลีใต้กว่า 47 ล้านคนจากประชากรเกาหลีที่มีจำนวนทั้งหมด 51.6 ล้านคน การที่แอปพลิเคชันใช้งานไม่ได้ทำให้เดือดร้อนไปทั่วประเทศ จนประธานาธิบดี Yoon Suk-yeol สั่งให้ตรวจสอบสาเหตุเพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้อีกในอนาคต ที่มา: South China Morning Post
# USB-C สายถักมาแล้ว แถมกับ iPad รุ่นใหม่ พร้อมขายแยก 790 บาท หลังจากที่ได้มีการเปิดตัว iPad Pro ชิป M2 และ iPad 10th Gen ไป ทั้ง 2 รุ่นนี้ Apple ได้แถมสายถัก USB-C ยาว 1 เมตรมาให้ด้วยเป็นครั้งแรก และมีขายสายถักแยกผ่านทางออนไลน์ในราคา 790 บาท สำหรับสาย USB-C แบบธรรมดาที่ไม่ได้เป็นสายถัก ความยาว 2 เมตร ก็ยังคงขายผ่านทางออนไลน์ในราคา 790 บาทเช่นเดียวกัน ที่มา: Apple สายถัก USB-C ความยาว 1 เมตร
# ค่าบัตรใครจ่าย ปปง. แถลงเรื่อง CDM ระบุหลักการต้องไม่สร้างภาระเกินสมควร ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม หลังจากธนาคารในไทยเตรียมบังคับยืนยันตัวตนผู้ฝากเงินด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตตามคำสั่งของปปง. เมื่อวานนี้ทางปปง. ก็แถลงว่าได้หารือเบื้องต้นกับสมาคมธนาคารและธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงของของปปง. ระบุว่าได้หารือกับทั้งสองหน่วยงานโดยมีหลักการว่าต้องไม่สร้างภาระประชาชนเกินสมควร และต้องมีวิธีการแสดงตนได้หลายรูปแบบโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แม้แถลงจะบอกว่าต้องไม่เป็นภาระและไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ในความเป็นจริงการใช้งานบัตรเดบิตนั้นมีและการฝากผ่าน bank agent นั้นมีค่าใช้จ่าย และแถลงเขียนโดยไม่ระบุให้ชัดว่าการแสดงตนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายนั้นจะต้องมีก่อนเริ่มบังคับใช้มาตรการของปปง. ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้หรือไม่ ทำให้ตอนนี้มีผู้เข้าไปแสดงความไม่เห็นด้วยกับปปง. ในเฟซบุ๊กจำนวนหนึ่ง ที่มา - ปปง.
# Windows 11 2022 Update (22H2) ออกอัพเดตอีกรอบ File Explorer มีแท็บแล้ว ไมโครซอฟท์เพิ่งออก Windows 11 2022 Update (22H2) ไปเมื่อเดือนที่แล้ว และหลายคนอาจยังไม่ได้อัพเดตกันเลยด้วยซ้ำ ล่าสุดไมโครซอฟท์ประกาศออกอัพเดตย่อยครั้งแรกให้ Windows 11 2022 Update แล้ว (ชื่อโค้ดเนมคือ "Moment 1") โดยจะมาพร้อมอัพเดตแพตช์ความปลอดภัยรอบเดือนพฤศจิกายน 2022 ของใหม่ที่สำคัญในอัพเดตตัวนี้คือ Tabbed File Explorer แท็บในแอพจัดการไฟล์ที่เปิดทดสอบมาแล้วระยะหนึ่ง Suggested Action ฟีเจอร์คลิกขวาที่ข้อความบางประเภท เช่น วันที่ เบอร์โทร แล้วมีคำแนะนำว่าควรทำอะไรต่อ เช่น โทรออกที่เบอร์นี้ สร้างนัดหมายตามวันที่นี้ (ข่าวเก่า) Taskbar Overflow แสดงไอคอนชั้นที่สองหากเรามีไอคอนบน Taskbar เยอะเกินไปจนล้นจอ นอกจากนี้ยังคลิกขวาที่ Taskbar เพื่อเรียก Task Manager ได้แล้ว นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังประกาศว่าจะออกอัพเดตใหม่ให้แอพ Photos แยกต่างหากช่วงปลายเดือนตุลาคม (เป็นการอัพเดตผ่าน Microsoft Store ไม่ต้องรอรอบของ OS) ให้เป็นดีไซน์ใหม่, เชื่อมต่อ OneDrive ได้ และจะออกอัพเดตอีกรอบในเดือนพฤศจิกายน รองรับการซิงก์ภาพจาก iCloud Photos ที่มา - Microsoft
# ไร้ศูนย์กลาง Unstoppable Domains ผู้ให้บริการ DNS แบบ NFT ยกเลิกโดเมน .coin หลังพบชื่อซ้ำกับผู้ให้บริการอื่น Unstoppable Domain ผู้ให้บริการ DNS แบบ NFT ประกาศยกเลิกโดเมน .coin ที่ขายมาตั้งแต่ปี 2021 หลังตรวจสอบแล้วพบว่า .coin นั้นซ้ำกับบริการ Emercoin ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2014 แต่ทาง Unstoppable Domain ระบุว่า Emercoin ไม่ได้ทำตลาดมากนักจึงไม่ทันรู้ว่ามีคนขายโดเมนเดียวกันมาก่อน บริการโดเมนของกลุ่มคริปโตและ NFT นั้นมักโฆษณาความเป็นเจ้าของที่แท้จริง เพราะเจ้าของโดเมนไม่จำเป็นต้องเสียเงินค่าต่ออายุโดเมนรายเดือน แต่กรณีนี้เมื่อ Unstoppable Domain ประกาศหยุดให้บริการ ลูกค้าทั้งหมดที่ซื้อโดเมนไปก็จะไม่สามารถ resolve ชื่อโดเมนได้อีกต่อไป แต่ทางบริษัทก็ประกาศรับซื้อโดเมนคืนในราคาสามเท่าตัวของราคาแรก ชื่อโดเมนที่ใช้เทคโนโลยีกลุ่มคริปโตทั้งหลายนั้นไม่มีศูนย์ลงทะเบียนกลางเหมือนชื่อโดเมนที่เราใช้งานกันทุกวันนี้ โดยชื่อโดเมนในโลกที่ใช้งานกัน เช่น .com, .net, หรือ .co.th ดูแลรายชื่อโดย IANA ทำให้ไม่มีเหตุซ้ำกัน ที่มา - Unstoppable Domain
# Jakarta EE ออกเวอร์ชัน 10 เพิ่ม Core Profile ชุดเล็ก เน้นความเบา ใช้รันงานบนคลาวด์ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว โครงการ Jakarta EE ที่เป็นผู้สืบทอด Java EE ในยุคโอเพนซอร์ส ที่ Oracle ยกให้ Eclipse Foundation ดูแลต่อ ประกาศออก Jakarta EE 10 ซึ่งถือเป็นรุ่นใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ออก Jakarta EE 8 รุ่นแรกภายใต้โครงการใหม่ ของใหม่ที่สำคัญในเวอร์ชันนี้คือการเพิ่ม Jakarta EE Core Profile 10 ถือเป็น profile ใหม่ที่ขนาดเล็กและเบากว่า Web Profile ของเดิม เพื่อใช้รันงานประเภท microservice/container บนคลาวด์ ตัว Core Profile ยังเพิ่ม Jakarta Contexts and Dependency Injection (CDI) 4.0 เวอร์ชัน Lite (CDI-Lite) สำหรับสร้างแอพที่ขนาดเล็กและเบาด้วย Jakarta EE 10 ยังรองรับ Java เวอร์ชันใหม่คือ Java SE 17 ที่เป็น LTS โดยเลือกใช้ควบคู่กับ Java SE 11 ของเดิมได้ ที่มา - Jakarta EE