txt
stringlengths
202
53.1k
# รู้จัก Arise พื้นที่ปล่อยพลังนวัตกรรม สร้างเทคโนโลยีสุดล้ำไประดับโลก ของ ธนาคารกรุงไทย บริษัท Infinitas by krungthai คือเบื้องหลังของแอปพลิเคชัน เป๋าตัง และบริการดิจิทัลต่าง ๆ มีนักพัฒนาอยู่ในองค์กรจำนวนมาก แต่ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จึงสำคัญมากกว่าเดิม Infinitas by krungthai จึงร่วมมือกับ เอคเซนเชอร์ บริษัทที่ปรึกษาไอทีชั้นนำของโลก สร้างบริษัท Arise by infinitas พื้นที่ปล่อยพลังนวัตกรรม และสร้างเทคโนโลยีสุดล้ำไประดับโลก ยกระดับบุคลากรเดิม และดึงดูดคนเก่ง ๆ ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน Arise by infinitas เปิดโอกาสให้นักพัฒนามากขนาดไหน, มีความท้าทายในการทำงานอย่างไร และทำไมต้องมาทำงานกับ Arise by infinitas ทาง Blognone ได้สรุปมาให้แล้วดังนี้ Arise จูงใจคนเก่งด้วยความท้าทาย ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เล่าให้ฟังว่า ในเวลาปกติ โลกดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งมีการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เร็วยิ่งขึ้น ทำให้ ธนาคารกรุงไทย ต้องเร่งปรับตัวเพื่อขึ่คลื่นดิจิทัล และเติบโตไปกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ "เราทำงานกับ เอคเซนเชอร์ นานกว่า 3 ปี เพื่อก้าวทัน และเติบโตในโลกดิจิทัล แต่ด้วยสถานการณ์ไม่ปกติในตอนนี้ การทำงานด้วยกันอาจไม่เพียงพอ ธนาคารกรุงไทย จึงตัดสินใจตั้งบริษัทร่วมกับ แอคเซนเชอร์ ในชื่อ Arise เพื่อเพิ่มความชัดเจนในการดึงนักพัฒนาเก่ง ๆ มาช่วยให้เราเติบโตได้ในอนาคต" นักพัฒนาที่เข้ามาร่วมงานกับธนาคารจะได้พบกับความท้าทายใหม่ ๆ ภายใต้แนวคิด Speed Boat ที่บุกเบิกธุรกิจใหม่ด้านดิจิทัลในอนาคต รวมถึงการได้พัฒนาบริการดิจิทัลที่ถูกใช้งานโดยคนไทยทั้งประเทศ เหมือนกับที่แอปพลิเคชัน เป๋าตัง ที่มีผู้ใช้กว่า 33 ล้านราย และบริการอื่น ๆ ทำอยู่ตอนนี้ ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย สร้าง นวัตกร มูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท การจัดตั้งบริษัท Arise ธนาคารกรุงไทยตั้งเป้าหมายสร้างนวัตกรมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี โดยมี แอคเซนเซอร์ ช่วยเหลือในการหานวัตกร และออกแบบทักษะต่าง ๆ ที่จะมอบให้กับนวัตกรในอนาคต "Arise จะรวมคนเก่ง ๆ ไว้ในองค์กร ครอบคลุมทุกมิติการทำงาน ยิ่งเรามี แอคเซนเซอร์ เข้ามาช่วย ทำให้ธนาคารสามารถแข่งขันในสงครามแย่งนวัตกรได้ดีขึ้น เพราะนวัตกรเหล่านี้คือ Global Citizen พวกเขาสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก จะอาศัยแค่ ธนาคารกรุงไทย และ อินฟินิธัส คงทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ" สำหรับ Arise มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Arise by Infinitas ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท วางตัวเป็นศูนย์กลางพัฒนาบุคคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ รองรับการขยายธุรกิจของ ธนาคารกรุงไทย, อินฟินิธัส และพันธมิตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สร้าง Impact ต่อกลุ่มธนาคาร และการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ แอคเซนเซอร์ ร่วมทุนในเอเชียเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกัน Arise ยังเป็นการร่วมทุนครั้งแรกของ แอคเซนเซอร์ กับกลุ่มสถาบันการเงินในเอเชีย เพิ่มมิติใหม่ ๆ ทั้งในด้านนวัตกรรมทางการเงิน และการพัฒนาบุคลากร พร้อมแผนจัดตั้ง Virtual Office ในหลายประเทศ หากเจาะไปที่ทิศทางการดำเนินงานของ Arise จะประกอบด้วย Agility การสร้างความคล่องตัวในองค์กร เพื่อรองรับธุรกิจในอนาคต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ Reliablity การสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อเปิดโอกาสสังคมไทย Innovation การสร้างความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าทุกกลุ่ม Stability การสร้างผลงานที่มีเสถียรภาพและมอบประสบการณ์ที่ดีให้ทั้งลูกค้าและพนักงาน Equality การสร้างความเท่าเทียม ความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อบรรลุเป้าหมาย "ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของ เอคเซนเชอร์ จะสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท Arise ทั้งการ Set Up องค์กรให้ดึงดูด Talents จากทั่วโลก พร้อมวางแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการ และโปรแกรมการพัฒนาบุคลากร โดยมองถึงทักษะที่สำคัญ และเป็นที่ต้องการสำหรับเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต" จักรกฤษณ์ กลิ่นสมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ Arise ก้าวผ่านจุดวิกฤตของอุตสาหกรรม จักรกฤษณ์ กลิ่นสมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ Arise เสริมว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงในการแย่งชิงบุคลากร เพราะคนในอุตสาหกรรมค่อนข้างขาดแคลน และในประเทศไทยมีหลายคนที่จบด้านเทคโนโลยี แต่สุดท้ายทำงานไม่ตรงสาย ทำให้คนยิ่งไม่เพียงพอ "บางคนจบเทคโนโลยี แต่ทำงานไม่ตรงสาย บางคนท้อ หรือบางคนไม่เข้าใจ แต่ปัญหาเหล่านั้นจะถูกแก้ด้วยความร่วมมือกับ แอคเซนเซอร์ ที่จะดึง, รักษา และยกระดับวัฒนธรรมองค์กรให้ดีกว่าเดิม ยกระดับองค์กรให้แข่งขันในตลาดโลกได้จริง" ดังนั้นการที่ ธนาคารกรุงไทย ต้องการเปลี่ยนจาก สถาบันการเงิน เป็น ผู้ให้บริการทางการเงิน และเติมเต็มปัจจัย 4 ของผู้บริโภคได้จริง การร่วมมือกับ Arise คือหนึ่งกลุยุทธ์สำคัญ และช่วยให้ ธนาคารกรุงไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถ Empower Life for Thai ได้ตามเป้าหมาย
# ซีอีโอ OnePlus ยอมรับ รวมรอมเข้ากับ Oppo ColorOS ไม่ง่าย สัญญาจะแก้บั๊กให้เร็ว ปีนี้เราเห็นข่าว OnePlus ควบรวมกลับเข้า Oppo เป็นบริษัทเดียวกันแต่ยังแยกแบรนด์ ส่วนรอม Oxygen/Hydrogen OS ของ OnePlus ก็รวมฐานโค้ดเข้ากับ ColorOS ของ Oppo ด้วย แต่การรวมโค้ดเข้าด้วยกันย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ โดยทีม OnePlus เริ่มรวม HydrogrenOS (ชื่อรอมเวอร์ชันจีน) เข้ากับ ColorOS 12 และปล่อยรอมให้ OnePlus 9/9 Pro ในจีนแล้ว ผลก็อย่างที่คาดกันคือฟีเจอร์หาย บั๊กเพียบ รอมไม่เสถียร ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์มากมายจากผู้ใช้ ปัญหานี้ทำให้ Pete Lau ซีอีโอของ OnePlus (ปัจจุบันยังมีตำแหน่งเป็นซีโอโอของ Oppo ด้วย) ต้องออกมาแถลงผ่าน Weibo ยอมรับว่าการรวมโค้ดเข้าด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมงานกำลังพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ เขาสัญญาว่าในอนาคตจะออกอัพเดตรอม ColorOS ให้บ่อยขึ้น เสถียรขึ้น อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ Pete Lau บอกว่าการอัพเดต HydrogenOS เป็น ColorOS 12 ต้องแก้ปัญหาย้ายข้อมูลในเครื่องข้ามไปยังรอมใหม่ แต่ก็ไม่ถึงขั้นต้อง factory reset ล้างข้อมูลทั้งเครื่องกันใหม่ ผู้ใช้ยังสบายใจได้ว่าข้อมูลไม่หาย ที่มา - Android Community
# Xiaomi เปิดตัว MIUI 13 ปล่อยอัพเดตรอม Global ไตรมาส 1/2022 Xiaomi ประกาศออกรอม MIUI เวอร์ชัน 13 ตามธรรมเนียมการเปิดตัวพร้อมมือถือเรือธงรุ่นใหม่ (รอบนี้คือ Xiaomi 12) ของใหม่ใน MIUI 13 เน้นที่ความลื่นไหลเพิ่มขึ้น 52%, ฟีเจอร์ด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย, ฟีเจอร์ด้านหน่วยความจำและสตอเรจ Atomized Memory/Liquid Storage ช่วยลดปริมาณการเขียนหน่วยความจำลงได้ 5% ในระยะเวลา 36 เดือน ช่วยให้เครื่องเสื่อมช้าลง, ฟีเจอร์ Mi Smart Hub สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ของใหม่ในแง่ความสวยงามคือฟอนต์ใหม่ MiSans, ดีไซน์ widget ใหม่อีกจำนวนมาก, ภาพพื้นหลังใหม่รูปดอกไม้บาน และปรับอินเทอร์เฟซให้เหมาะกับจอที่ใหญ่ขึ้น โดยแยกเป็น MIUI 13 Pad ออกมาเลย Xiaomi บอกว่ารอมเวอร์ชัน Global จะออกในไตรมาส 1 ปี 2022 รายชื่ออุปกรณ์ชุดแรกที่ได้อัพเดตคือ Mi 11, Mi 11 Ultra, Mi 11i, Mi 11X Pro, Mi 11X, Xiaomi Pad 5, Redmi 10, Redmi 10 Prime, Xiaomi 11 Lite 5G NE, Xiaomi 11 Lite NE, Redmi Note 8 (2021), Xiaomi 11T Pro, Xiaomi 11T, Redmi Note 10 Pro, Redmi Note 10 Pro Max, Redmi Note 10, Mi 11 Lite 5G, Mi 11 Lite, Redmi Note 10 JE ที่มา - MIUI, Xiaomi, GSM Arena
# เปิดตัว Xiaomi 12 และ Xiaomi 12 Pro, ชิป Snapdragon 8 Gen 1, กล้องหลัง 50MP ทั้งสามตัว Xiaomi เปิดตัวมือถือเรือธงรุ่นใหม่ประจำปี 2022 คือ Xiaomi 12 และ Xiaomi 12 Pro โดยยังเป็นการเฉพาะในประเทศจีนตามธรรมเนียม จุดขายหลักของ Xiaomi 12 และ 12 Pro ย่อมเป็นหน่วยประมวลผล Snapdragon 8 Gen 1 รุ่นใหม่ล่าสุดจาก Qualcomm ที่ชูประสิทธิภาพจีพียูดีขึ้น 30% และชิป AI รุ่นใหม่ที่ประสิทธิภาพดีขึ้น 5 เท่า สิ่งที่ทำให้ Xiaomi 12 และ 12 Pro ต่างกันคือขนาดหน้าจอ โดย Xiaomi 12 ใช้หน้าจอขนาด 6.28" OLED ความละเอียด 2400x1080 ความสว่างสูงสุด 1100 nit อัตรารีเฟรช 120Hz ส่วนรุ่น 12 Pro ใช้หน้าจอขนาด 6.73" แบบประหยัดพลังงานของซัมซุง LTPO ความละเอียด 2K 3200x1440 ความสว่างสูงสุด 1500 nit หน้าจอทั้งสองรุ่นรองรับภาพ HDR มาตรฐาน HDR10+ และ Dolby Vision ของใหม่ที่น่าสนใจคือการใช้แรม LPDDR5 อัตราการส่งข้อมูลสูงสุดที่ 6400 Mbps, สตอเรจ UFS 3.1 รองรับการเขียน 1450 MBps, อีกอย่างที่มือถือมักไม่ค่อยพูดถึงกันนักคือ ระบบระบายความร้อนที่ใช้แผ่นระบายความร้อนขนาดใหญ่ 2600 ตารางมิลลิเมตร (Xiaomi 12) และ 2900 ตารางมิลลิเมตร (Xiaomi 12 Pro) ร่วมกับแผ่นแกรไฟต์ขนาดใหญ่อีกชั้นด้วย กล้องหลังของ Xiaomi 12 และ Xiaomi 12 Pro มีทั้งหมด 3 ตัวเท่ากัน แต่ใช้กล้องคนละชุดกันเลย โดยกรณีของ Xiaomi 12 Pro เป็นเซ็นเซอร์ขนาด 50MP ทุกตัวด้วย สเปกกล้องมีดังนี้ Xiaomi 12 กล้องหลัก 50MP Sony IMX766 ขนาดเซ็นเซอร์ 1/1.56" อัลตร้าไวด์ 13MP เทเล 5MP Xiaomi 12 Pro กล้องหลัก 50MP Sony IMX707 ขนาดเซ็นเซอร์ 1/1.28" อัลตร้าไวด์ 50MP Samsung JN1 มุมกว้าง 115 องศา เทเล 50MP Samsung JN1 ซูม 2x ฟีเจอร์ด้านเสียง มีลำโพงคู่ที่ปรับจูนโดย Harman Kardon, รองรับ Dolby Atmos โดยรุ่น 12 Pro จะเพิ่มฟีเจอร์ frequency division scheme รองรับคลื่นเสียงความถี่สูงได้ดีขึ้น แบตเตอรี่ของ Xiaomi 12 มีขนาด 4,500mAh ส่วนรุ่น 12 Pro อัพเกรดอีกขั้นเป็น 4,600 mAh แต่ใช้แบตเตอรี่แบบเซลล์เดียว 120W ถือเป็นมือถือรุ่นแรกที่ทำแบบนี้ได้ ข้อดีของแบตเซลล์เดียวคือมีความจุมากกว่าแบตสองเซลล์ ในขนาดที่เท่ากัน รุ่น 12 Pro รองรับการชาร์จเร็ว 120W ระบบปฏิบัติการเป็นรอม MIUI 13 รุ่นใหม่ล่าสุดที่เปิดตัวพร้อมกัน Xiaomi 12 และ 12 Pro มีทั้งหมด 4 สีคือ ดำ น้ำเงิน ม่วง เขียว (รุ่นสีเขียวใช้วัสดุเป็นหนังจากพืช) เริ่มขายในประเทศจีนวันที่ 31 ธันวาคม มีราคาดังนี้ Xiaomi 12 8GB+128GB ราคา 3,699 หยวน (ประมาณ 19,500 บาท) 8GB+256GB ราคา 3,999 หยวน (ประมาณ 21,100 บาท) 12GB+256GB ราคา 4,399 หยวน (ประมาณ 23,500 บาท) Xiaomi 12 Pro 8GB+128GB ราคา 4,699 หยวน (ประมาณ 25,000 บาท) 8GB+256GB ราคา 4,999 หยวน (ประมาณ 26,500 บาท) 12GB+256GB ราคา 5,399 หยวน (ประมาณ 29,000 บาท) ที่มา - Xiaomi
# Instagram เผยแผนงานปี 2022 - เน้นวิดีโอมากยิ่งขึ้น Adam Mosseri หัวหน้าฝ่าย Instagram พูดถึงแผนงานและการให้ความสำคัญของแพลตฟอร์มในปี 2022 โดยบอกว่าเนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก Instagram ก็ต้องปรับตัวให้ทันเช่นกัน สิ่งสำคัญแรกคือ Instagram จะเพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้นกับวิดีโอ พร้อมย้ำว่า Instagram จะไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มแชร์รูปภาพอีกต่อไป ระบบวิดีโอทั้งหมดเปลี่ยนมาเชื่อมโยงกับ Reels (ก่อนหน้านี้รวม IGTV เข้ามาแล้ว) ส่วนประเด็นอื่นที่ Instagram จะให้ความสำคัญ มีทั้งการให้ผู้ใช้งานควบคุมเนื้อหาที่จะแสดงได้มากขึ้น, เน้นระบบการรับส่งข้อความที่มากขึ้น และเพิ่มความโปร่งใสให้ผู้ใช้งาน เห็นและเข้าใจว่าระบบของ Instagram ทำงานอย่างไร ที่มา: Engadget
# Beats Studio Buds ออกรุ่นพิเศษต้อนรับปีเสือ ผลิตจำนวนจำกัด แอปเปิลเปิดตัวหูฟังไร้สาย Beats Studio Buds รุ่นพิเศษ เพื่อต้อนรับการเข้าสู่ปีเสือ โดยกล่องชาร์จและหูฟังเป็นสีแดง พิมพ์ลวดลายสีทองแบบลายเสือ สินค้าเริ่มขายตั้งแต่ 1 มกราคม 2022 เป็นต้นไป ราคาในจีนตั้งไว้ที่ 1,099 หยวน ซึ่งเป็นราคาที่เท่ากับหูฟัง Studio Buds ปกติ หูฟัง Beats Studio Buds เปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายน มีตัวเลือก 3 สี คือ แดง ดำ ขาว ราคาขายในไทยบน Apple Store อยู่ที่ 5,500 บาท รองรับการตัดเสียงรบกวนแบบแอ็คทีฟ (ANC) เวลาการฟังนานสูงสุด 8 ชั่วโมง รองรับ Hey Siri กันน้ำ IPX4 และอื่น ๆ ยังไม่มีรายละเอียดว่าหูฟังรุ่นนี้จะมีจำหน่ายในไทยด้วยหรือไม่ ที่มา: MacRumors
# เผย Apple แจกโบนัสพนักงานชุดใหญ่ เพื่อไม่ให้ย้ายไปทำงานที่ Meta Mark Gurman แห่ง Bloomberg รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าวภายในแอปเปิล เผยว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แอปเปิลได้แจ้งข่าวกับวิศวกรบางคน โดยพวกเขาจะได้รับโบนัสพิเศษเป็นหุ้นที่ทยอยให้ตามเวลา หรือ Restricted Stock ซึ่งจะได้รับหุ้นเมื่อทำงานอยู่ในบริษัทครบกำหนดเวลา ทั้งนี้เพื่อไม่ให้วิศวกรเหล่านั้นย้ายงานไปบริษัทอื่น โดยมูลค่าผลประโยชน์นั้นเริ่มต้นที่ 50,000 ดอลลาร์ ไปจนถึง 180,000 ดอลลาร์ มีรายงานว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แอปเปิลพบปัญหาวิศวกรย้ายไปทำงานที่ Meta มากกว่า 100 คน จึงทำให้แอปเปิลตัดสินใจออกโปรแกรมดังกล่าว ซึ่งนอกเหนือจากสวัสดิการและผลประโยชน์ที่ให้พนักงานปกติ ซึ่งตำแหน่งงานที่แย่งชิงกันตอนนี้คือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ AR และ VR ทั้งในฝ่ายฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ตลอดจน AI ซึ่งเป็นสิ่งที่ Meta บริษัทแม่ของ Facebook กำลังให้ความสำคัญมาก ตัวแทนของแอปเปิลปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข่าวดังกล่าว ที่มา: Bloomberg
# จีนโวย Starlink เข้าใกล้สถานีอวกาศเทียนกงสองครั้งในปี 2021 รัฐบาลจีนระบุว่าสถานีอวกาศเทียนกงต้องหลบดาวเทียม Starlink ของ SpaceX สองครั้งในปีนี้ ในวันที่ 1 กรกฎาคม และ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ดูแลกิจการอวกาศในประเทศไม่ให้เป็นอันตรายต่อนักบินอวกาศของจีน รัฐบาลจีนรายงานเหตุการณ์ทั้งสองครั้งไปยังสำนักงานกิจการอวกาศของสหประชาชาติ โดยตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานอื่นออกมายืนยันว่าดาวเทียม Starlink เข้าใกล้สถานีอวกาศเทียนกงตามที่จีนระบุหรือไม่ ก่อนหน้านี้ทางการจีนเคยถูกวิจารณ์ว่าเป็นต้นเหตุของขยะอวกาศจำนวนมาก จากการทดสอบขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียมเมื่อปี 2007 จนถูกวิจารณ์จากหลายชาติรวมถึงสหรัฐฯ จนตอนนี้ยังมีขยะอวกาศนับพันชิ้นจากการทดสอบครั้งนั้น โดยเมื่อปี 2011 ขยะอวกาศจากการทดสอบชิ้นหนึ่งเคยเข้าใกล้สถานีอวกาศนานาชาติที่ระยะ 6 กิโลเมตร ที่มา - CGTN, CNBC ภาพดาวเทียมในภารกิจ Transporter-1 ของ SpaceX รวมถึง Starlink ชุดใหม่ 10 ดวง
# Alexa ท้าเด็กสิบขวบให้เอาเหรียญแหย่ปลั๊กไฟ Amazon ระบุแก้ไขแล้ว Kristin Livdahl แม่ของเด็กหญิงวัยสิบขวบระบุว่า Alexa ซอฟต์แวร์ผู้ช่วยของ Amazon ที่อยู่ในลำโพง Echo บอกให้ลูกของเธอลอง "เสียบที่ชาร์จโทรศัพท์แค่ครึ่งเดียว แล้วเอาเหรียญแตะขาปลั๊กดู" Livdahl และลูกสาวของเธอกำลังออกกำลังกายยืดหยุ่นตามวิดีโอบน YouTube และขอให้ Alexa "ท้าทาย" (challenge) เพิ่มเติม การท้าทายเสี่ยงอันตรายระบาดทั่วอินเทอร์เน็ตเป็นระยะ การท้าให้แตะปลั๊กให้ไฟดูดเช่นนี้ก็ระบาดอยู่ใน TikTok อยู่ช่วงหนึ่ง หรือบ้านเราก็เคยมีการท้ากินโรตีดิบที่เป็นอันตรายอยู่ ซอฟต์แวร์ผู้ช่วยค่ายต่างๆ มักหาคำตอบโดยอัตโนมัติผ่านข้อมูลจากเว็บโดยเนื้อหาจำนวนมากไม่ได้คัดกรองมาก่อน ในกรณีนี้ทาง Amazon ระบุว่าได้ป้องกันไม่ให้ Alexa แนะนำกิจกรรมแบบนี้อีกในอนาคต ที่มา - BBC
# หน่วยงานโฆษณาของอังกฤษสั่งห้ามสโมสร Arsenal โฆษณาขายเหรียญ $AFC เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Advertising Standards Authority (ASA) หน่วยงานด้านกำกับดูแลโฆษณาของสหราชอาณาจักร มีคำสั่งห้ามสโมสรฟุตบอล Arsenal โฆษณาการขายเหรียญ $AFC เนื่องจากเข้าข่ายเป็นการลงทุนในทรัพย์สินคริปโต และวิธีโฆษณาของสโมสรไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโฆษณาการลงทุน เหรียญ $AFC เป็นความร่วมมือของ Arsenal กับบริษัท Socios.com ที่ทำธุรกิจ fan token ขายเหรียญของสโมสรกีฬาต่างๆ ให้แฟนมาซื้อเพื่อสิทธิในการโหวตการตัดสินใจของสโมสร (อ่านข่าว สโมสร Inter Milan เปลี่ยนสปอนเซอร์มาเป็นบริษัทคริปโต $INTER บนเสื้อ ประกอบ โดย Socios.com ยังจับมือกับสโมสรกีฬาอื่นๆ อีกหลายแห่ง) หน้าโฆษณาขายเหรียญ $AFC บนเว็บไซต์ Arsenal อย่างไรก็ตาม เหรียญ $AFC สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ มีราคาขึ้นลงเหมือนเหรียญคริปโตอื่นๆ (ต้องซื้อผ่านแอพ Socios เท่านั้น และต้องใช้เหรียญ $CHZ ไปแลกมาอีกชั้น) ทำให้ ASA มองว่าเหรียญ $AFC เป็นสินทรัพย์ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านการลงทุน เช่น ระบุเรื่องความเสี่ยงของผู้ซื้อ แต่วิธีการโฆษณาของ Arsenal พยายามชี้นำว่านี่ไม่ใช่การลงทุน โดยไม่เขียนไว้ชัดๆ ว่า "token" คือ "cryptoasset" ASA จึงมีคำสั่งให้ Arsenal หยุดการเผยแพร่โฆษณาชิ้นดังกล่าวโดยทันที และขอให้ Arsenal ระมัดระวังเรื่องการโฆษณาในอนาคต ไม่ให้ผิดกฎหมายด้านการลงทุนอีก กลุ่มกองเชียร์ของ Arsenal เองก็แสดงจุดยืนคัดค้านการขายเหรียญในลักษณะนี้ โดยตัวแทนจากกลุ่ม Arsenal Supporters Trust ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าสโมสรฟุตบอลไม่ควรสามารถขายผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงแบบนี้ได้ และเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามากำกับดูแลด้วย ที่มา - ASA, Guardian, BBC
# รีวิว Halo Infinite การคืนฟอร์มของ Master Chief ในรูปแบบโอเพ่นเวิลด์ เมื่อพูดถึง Halo หลายคนอาจจะนึกถึงเกมยิงรุ่นเดอะที่เป็นของคู่กันกับเครื่อง Xbox ที่ขับเคี่ยวกันมากับ Call of Duty และบูมที่สุดยุค Halo 3 บนเครื่อง Xbox 360 ซึ่งได้คะแนนไปถึง 94 คะแนนจาก Metacritic ก่อนจะเงียบหายไปจากสังคมป็อปคัลเจอร์ เพราะภาคหลังๆ อย่าง Halo 4 และ Halo 5: Guardians แม้จะได้คะแนนจากนักรีวิวดีพอสมควร แต่ตัวเกมก็เริ่มซ้ำเดิม ร่วมถึงทิศทางเนื้อเรื่องไม่ค่อยถูกใจผู้เล่นนัก Halo Infinite แม้จะเปิดตัวได้ไม่ค่อยสวยนัก จากการเร่งรีบนำตัวเกมออกมาโชว์จนเหมือนยังไม่เสร็จดี จนถูกกระแสวิจารณ์อย่างหนักว่ากราฟฟิกล้าหลัง จนทีมงาน 343 Industries ต้องเลื่อนวางจำหน่ายตัวเกม จากปี 2020 มาเป็น 8 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่นับได้ว่าการเลื่อนวางจำหน่ายครั้งนี้ไม่ทำให้ผู้เล่นผิดหวัง เพราะตัวเกมกลับคืนฟอร์มในแง่เนื้อเรื่อง แถมยังนำ Master Chief กลับมาในรูปแบบเกมยิงทำภารกิจในโลกเปิด สไตล์ Far Cry พร้อมปรับปรุงกราฟฟิกให้ดีขึ้นกว่าตัวอย่างแรกมาก และผู้เขียนจะมารีวิวประสบการณ์การเล่นบนพีซีในโหมดผู้เล่นคนเดียว โดยอาจมีสปอยล์เล็กน้อยในภารกิจเปิดตัวของเกม แต่ไม่มีสปอยล์จุดสำคัญในเนื้อเรื่องส่วนอื่น Disclaimer: รีวิวนี้เล่นเกมเวอร์ชั่น Steam (PC) โค้ดรีวิวได้รับการสนับสนุนจากทีมงาน 343 Industries Master Chief ยังไม่ตาย เขาแค่หายไปจำศีล เนื้อเรื่องเกมภาคนี้เกิดขึ้นหลังยาน UNSC Infinity ถูกโจมตีโดย The Banished กบฎที่แยกออกมาจาก The Covenant นำโดย Atriox และ Master Chief พ่ายแพ้ในการรบบนยาน จนสลบและลอยออกไปในอวกาศ แต่เกราะ Mjolnir ก็ช่วยรักษาชีวิต Master Chief ไว้ได้ ก่อนเขาจะถูกช่วยโดย Echo-216 และกลับมายัง Zeta Halo เพื่อรวบรวมกำลัง UNSC และสู้กับ The Banished ต่อไป เนื้อเรื่องที่เหลือในภาคนี้ พยายามดึงเนื้อเรื่องหลักกลับมาจากการออกทะเลพอสมควร มีการหักมุมเล็กน้อยให้ได้แปลกใจ โดยผู้เล่นจะได้พบกับเสียงพากย์ที่คุ้นเคยของ Jen Taylor ผู้พากย์ Cortana ในบทบาทที่แตกต่างไป ส่วน Steve Downes ผู้พากย์ Master Chief ก็กลับมาพูดไลน์สั้นๆ เท่ๆ อีกครั้งในเกมนี้ ซึ่งมีให้ฟังกันจนจุใจแน่นอน กราฟฟิก สเปกเครื่องรีวิว ซีพียู Core i5 8600k (Stock) การ์ดจอ RTX 3070 VRAM 8GB แรม 32GB เล่นบน HDD จานหมุน การตั้งค่า กราฟฟิกของเกมพัฒนาจากตัวอย่างแรกขึ้นเยอะ แต่ในหลายๆ จุดก็ยังไม่ได้ถือว่าล้ำหน้าในระดับเน็กซ์เจ็นขนาดนั้น รายละเอียดของแสงเงายังมีผิดเพี้ยนบ้าง พื้นผิวที่เท็กซ์เจอร์ไม่ละเอียดก็ยังมีอยู่หลายจุด ถือว่าเป็นกราฟฟิกในระดับที่ยอมรับได้ ไม่ได้เป็นเกมที่สวยงามระดับท็อปแต่อย่างใด แต่พอผนวกกับแมคคานิคการยิงที่รวดเร็ว ก็ไม่ได้ทำให้มีปัญหาตอนเล่นมากนัก ด้านประสิทธิภาพ ผู้เขียนไม่พบปัญหาด้านประสิทธิภาพมากนัก อาจจะมีช่วงเฟรมเรตลดลงบางครั้งในขณะที่มีระเบิดหรือมีเอฟเฟกต์แสงเยอะๆ ในฉากจากการระเบิดผนวกกับอาวุธพลาสม่า แต่เฟรมเรตช่วงปกติก็สามารถเล่นได้ที่มากกว่า 60FPS แทบจะตลอดเวลา ภาพตัวอย่าง เกมเพลย์ ในช่วงเปิดตัวของเกมก่อนผู้เล่นจะไปถึง Zeta Halo ตัวเกมยังเป็นเกมยิงตะลุยด่านแบบเดิมๆ อยู่ น่าจะเพื่อให้ผู้เล่นค่อยๆ ปรับตัวกับแมคคานิคใหม่ก่อนลงไปยังโลกเปิด แต่ในยุคนี้ เกมยิงในโลกเปิดไม่ใช่เรื่องใหม่นัก ผู้เล่นคงใช้เวลาไม่นานในการทำความคุ้นเคย ของเล่นใหม่ที่ Master Chief ได้มาตั้งแต่เริ่มเกมคือ Grappling Hook คล้ายคลึงกับใน Doom, Just Cause หรือเกมอื่น ที่สามารถใช้ดึงตัว Master Chief เคลื่อนไหวไปในฉาก ดึงถังระเบิดมาเพื่อปา ดึงอาวุธที่อยู่ในฉากมาใช้งาน หรือใช้ดึงตัวเองเข้าไปใกล้ศัตรูมากขึ้นได้ ก่อนจะได้รับอัพเกรดอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติมตามเนื้อเรื่อง เช่น Sensor แสกนหาศัตรูในพื้นที่ และอื่นๆ ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชิ้นสามารถอัพเกรดได้โดยการใช้ Spartan Core ได้ เมื่อผู้เล่นลงมายัง Zeta Halo กับ Echo-216 ตัวเกมก็จะกลายเป็นเกมยิงโลกเปิดอย่างเต็มรูปแบบ โดยผู้เล่นจะสามารถทำภารกิจต่างๆ ที่กระจายอยู่ในแผนที่ หรือเลือกทำภารกิจหลักตามเนื้อเรื่องก็ได้ ภารกิจย่อยช่วยให้ยืดเวลาการเล่นได้นานขึ้นกว่าการทำภารกิจแบบเป็นเส้นตรงในภาคก่อนๆ และมีความหลากหลายพอประมาณโดยไม่ทำให้รู้สึกว่าจำเจจนเกินไป ภารกิจย่อยมีทั้งยึดเอาต์โพสต์ FOB เพื่อเปิดแมพ แบบที่คนเล่นเกมยิงโลกเปิดน่าจะคุ้นเคย รวมไปถึงทำลายฐานที่มั่นต่างๆ และทำลายเสาสัญญาณกระจายเสียงของ The Banished, สังหารหัวหน้าหน่วยของ The Banished เพื่อรับอาวุธใหม่ ช่วยเหลือทหาร UNSC ที่กำลังถูกโจมตี และเก็บของสะสมต่างๆ การทำภารกิจย่อยต่างๆ ผู้เล่นจะได้ Valor Point ที่ใช้เพื่อปลดล็อกอาวุธและยานพาหนะเช่น Warthog, รถถัง Scorpion และอื่นๆ ที่สามารถเรียกมาส่งตาม FOB ได้ ได้ Spartan Core มาอัพเกรดอุปกรณ์รวมถึงทหาร UNSC ที่เราช่วยไว้ ก็สามารถมาช่วยเราทำภารกิจ หรือเป็นพลปืนบน Warthog ได้ ซึ่งแม้จะตายง่าย แต่ก็ยิงแม่น และช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการศัตรูเวลาทำภารกิจได้ดี และเพิ่มสีสันให้โลกเปิดได้ ข้อเสีย จุดแรกที่เป็นข้อเสียของ Halo Infinite คือสภาพแวดล้อมของ Zeta Halo ที่แม้ภารกิจย่อยจะหลากหลาย แต่ผู้เล่นก็จะต้องพบกับสภาพแวดล้อมหน้าผาหินพร้อมต้นไม้ประปรายแบบเดิมๆ เกือบทั้งเกม ผนวกกับกราฟฟิกที่เป็นระดับกลางๆ ไม่ได้มีฉากสวยๆ ให้ได้ดูมากนัก เล่นไปนานๆ ก็อาจทำให้เบื่อได้ ข้อเสียอีกจุดคือการบังคับยานพาหนะ ยานพาหนะที่วิ่งเร็วเช่น Mongoose หรือ Warthog ดูไร้น้ำหนักและพลิกคว่ำได้ง่าย ซึ่งแม้มีปุ่มให้พลิกรถได้ หลายจังหวะที่ผู้เขียนพยายามเปิดตัวเท่ๆ โดยการเหินรถเข้าไปในฐานศัตรู ก็ทำให้รถพลิกคว่ำไม่เป็นท่าและถูกรุมยิงตายได้เหมือนกัน และบางครั้งก็พารถเข้าไปติดอยู่ในซอกจนนำออกมาไม่ได้ ส่วนรถถังอย่าง Scorpion แม้พอได้ขับแล้วจะทรงพลังเหมือนเดิม แต่ก็ดูจะบังคับทิศทางได้ยากเล็กน้อย เพราะตัวเกมจะอิงทิศทางปุ่มหน้าหลังจากที่ผู้เล่นหันปืนไป ไม่ได้อิงอยู่กับตัวรถ เช่นถ้าผู้เล่นหันปืนไปด้านหลังแล้วกดเดินหน้า รถก็จะถอยหลังแทน อีกจุดที่น่าเสียดายคือเมื่อเกมกลายเป็นแบบโลกเปิด การเลือกกลับไปเล่นภารกิจเนื้อเรื่องย้อนหลังที่เคยทำได้ในภาคก่อนๆ ก็ไม่สามารถทำได้แล้วในภาคนี้ และเมื่อเล่นเนื้อเรื่องไปเรื่อยๆ อาจมีพื้นที่บางส่วนที่ผู้เล่นกลับไปไม่ได้แล้ว แนะนำให้เก็บของสะสมและภารกิจย่อยต่างๆ ให้ครบตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนการเล่นแบบ co-op ก็ยังไม่ถูกใส่เข้ามาในเกม แต่ 343 Industries เลือกที่จะขัดเกลาให้เรียบร้อย และจะออกมาเป็นอัพเดตในปีหน้าแทน ซึ่งแม้จะดีที่ 343 ไม่เร่งใส่ส่วนที่ยังไม่เสร็จเข้ามาในเกม แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าพอถึงปีหน้า คนอื่นที่เล่นจบไปแล้ว จะเปลี่ยนไปเล่นเกมอื่นจนหาเพื่อนเล่นด้วยได้ยากหรือยัง สรุป Halo Infinite เป็นเกมที่เรียกได้ว่าเป็นการคืนฟอร์มของ Halo ที่แม้จะไม่ได้เป็นเกมที่ถึงกับดีเยี่ยม และก็ยังมีข้อติอยู่บ้าง แต่ก็นับได้ว่าเป็นการกลับสู่มาตรฐานเดิมของเนื้อเรื่องที่มาพร้อมกับเกมเพลย์รูปแบบใหม่ที่แฟนๆ เกมยิงโลกเปิด รวมถึงแฟนๆ Halo น่าจะพึงพอใจ ที่น่าตื่นเต้นกว่าคือในอนาคต 343 Studios ที่เป็นสตูดิโอหัวหอกของ Microsoft จะนำอะไรในจักรวาล Halo กลับมาฝากแฟนๆ อีกบ้าง และน่าติดตามว่าซีรีส์ Halo จะเดินไปในแนวทางไหนต่อไป
# ธนาคารกรุงไทย กทพ. และ BEM ผนึกกำลังเปิดตัวระบบชำระค่าทางด่วนด้วยบัตรเครดิตและเดบิต ผ่านระบบ EMV Contactless ธนาคารกรุงไทย กทพ. และ BEM เปิดโครงการระบบชำระค่าผ่านทางทางด่วนรูปแบบใหม่ อำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการทางพิเศษ ให้สามารถชำระได้ด้วยบัตรเครดิตและเดบิตทุกธนาคารที่รองรับระบบ EMV (Europay Mastercard and Visa) Contactless จ่ายค่าทางด่วนได้ง่าย แค่มองหาช่องทางที่มีป้ายสัญลักษณ์จ่ายด้วย EMV Contactless ขับไปจอด แตะบัตร รอไฟสัญญาณ ก็สามารถผ่านทางได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ลดการใช้เงินสด ลดปัญหาจราจร รวมถึงลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานในงาน เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการระบบชำระค่าผ่านทางพิเศษด้วยบัตร EMV Contactless หรือ Europay Mastercard and VISA เป็นระบบการชำระเงินที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับการชำระเงินค่าผ่านทาง ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ ที่ลดการใช้และลดการสัมผัสเงินสด เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบบ EMV Contactless นี้ถูกพัฒนาขึ้นให้รองรับผู้ถือบัตรเดบิตและบัตรเครดิต ที่มีการใช้งานร่วมกันได้กว่า 80 ประเทศทั่วโลก นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวก และประหยัดเวลาให้กับประชาชนในการเดินทาง อีกทั้งยังเป็นการชำระเงินที่เป็นมาตรฐานระดับสากล และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้ทุกสายทางพิเศษทั้งของ กทพ. และ BEM และในปี 2565 เป็นต้นไป ก่อนจะพัฒนาระบบไปเป็นแบบ M-Flow ที่ไม่มีไม้กั้นในอนาคต นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระบุเพิ่มเติมว่า กทพ. ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย พัฒนาระบบรับชำระเงินในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งธนาคารกรุงไทยได้มีส่วนช่วยให้การดำเนินธุรกิจของกทพ. เกี่ยวกับการรับชำระเงินค่าผ่านทางพิเศษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างยาวนาน ได้แก่ ระบบรับชำระเงินเพื่อเติมเงินในบัตร Easy Pass ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ระบบ Mobile Banking และ EXAT Portal Application ของ กทพ. ระบบเติมเงิน Easy Pass อัตโนมัติ (Easy Pass Auto Top Up) เป็นต้น ธนาคารกรุงไทยยังเตรียมยกระดับการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ ผ่านการพัฒนาระบบการรับชำระเงินค่าผ่านทางพิเศษด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิด Contactless เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษให้สามารถชำระเงินด้วยบัตรเครดิต และบัตรเดบิต Visa และ Master Card ได้ผ่านเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ EDC ของธนาคารกรุงไทยแทนการชำระด้วยเงินสด ปัจจุบัน กทพ. ได้ดำเนินการติดตั้งระบบ EMV และเปิดให้บริการเป็นการทั่วไปแล้วใน 5 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้) ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี และอยู่ในระหว่างการพัฒนาและติดตั้งระบบ EMV ให้ครบทุกเส้นทางที่เหลือ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการชำระเงิน และช่วยลดการสัมผัสเงินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่อง EDC (Electronic Data Capture) ที่ได้มาตรฐานที่ช่องเงินสดทุกช่องในเส้นทางที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยผู้ใช้ทางมั่นใจได้ว่าระบบดังการมีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ธนาคารกรุงไทยยังได้นำระบบ Krungthai Digital Platform มาใช้ในการช่วยบริหารต้นทุน ลดการใช้กระดาษ และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการเงินสดของค่าผ่านทางพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ทั้งนี้ กทพ. ธนาคารกรุงไทย และ BEM ได้ร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีระบบชำระค่าผ่านทางเพื่อนำไปสู่ระบบการชำระเงินแบบ M-Flow และระบบตั๋วร่วมของรัฐบาล ที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
# Steam เผยสถิติเกมทำรายได้สูงสุดปี 2021 เกมใหม่ Valheim, New World, Naraka ติดด้วย Steam ประกาศสถิติเกมทำเงินสูงสุดประจำปี 2021 จำนวน 12 เกม (ระดับ Platinum) โดยบางเกมเป็นเกมเล่นฟรี ที่ทำเงินจากการขายไอเทมหรือชุดตกแต่งในเกม เกมระดับ Platinum ส่วนใหญ่ยังเป็นเกมยอดนิยมของปีก่อนๆ เช่น CS:GO, Dota 2, PUBG, Destiny แต่ปีนี้ก็มีเกมใหม่ๆ ติดอันดับเข้ามาบ้างเช่นกัน ทั้งเกมมัลติเพลเยอร์ที่ได้รับความนิยมสูงในช่วงหลัง เช่น Apex Legends, Dead by Daylight และเกมออกใหม่ปี 2021 คือ Valheim, New World, Battlefield 2042 และ Naraka: Bladepoint รายชื่อเกมกลุ่ม Platinum (เรียงตามตัวอักษร) คือ Apex Legends Battlefield 2042 Counter-Strike: Global Offensive Dead by Daylight Destiny 2 Dota 2 Grand Theft Auto V Naraka: Bladepoint New World PUBG: Battlegrounds Rainbow Six Siege Valheim Steam ยังจัดอันดับเกมที่มีผู้เล่นเยอะที่สุด โดยเกมกลุ่ม Platinum ต้องมีผู้เล่นพร้อมกันเกิน 200,000 คน ได้แก่ Apex Legends Counter-Strike: Global Offensive Cyberpunk 2077 Dota 2 Grand Theft Auto V Halo Infinite Multiplayer New World PUBG: Battlegrounds Rust Valheim ที่มา - Steam, Steam Blog
# Apple ญี่ปุ่น ออก AirTag รุ่นพิเศษ อีโมจิต้อนรับปีเสือ จำนวนจำกัดเพียง 20,000 ชิ้น แอปเปิลประเทศญี่ปุ่น ประกาศโปรโมชันต้อนรับปีใหม่ โดยมีไฮไลท์คือ AirTag รุ่น limited ที่จะให้ฟรีกับลูกค้าที่ซื้อสินค้าตามเงื่อนไขที่กำหนด AirTag รุ่นดังกล่าว จะสลักลายอีโมจิต้อนรับปีเสือ ซึ่งเป็นปีนักษัตรของ 2022 เงื่อนไขคือลูกค้าจะต้องซื้อ iPhone 12, iPhone 12 mini หรือ iPhone SE ในช่วงวันที่ 2 และ 3 มกราคม 2022 โดย AirTag รุ่นนี้มีจำนวนจำกัดเพียง 20,000 ชิ้น เท่านั้น นอกจากนี้แอปเปิลที่ญี่ปุ่นยังมีโปรโมชันให้บัตรของขวัญจากการซื้อสินค้า ไว้สำหรับซื้อสินค้าอื่นของแอปเปิล โดยกรณีการซื้อ iPhone จะได้รับบัตรของขวัญมูลค่า 6,000 เยน สินค้าอื่นจะมีมูลค่าบัตรของขวัญที่แตกต่างกันไปเช่น Mac จะได้บัตรของขวัญมูลค่าสูงสุด 24,000 เยน เป็นต้น ที่มา: 9to5Mac
# CNBC สรุป 12 เหตุการณ์ในโลกคริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัลตลอดปี 2021 ตลาดการซื้อขายคริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัล ยังคงร้อนแรงและทำสถิติใหม่สูงสุดต่อเนื่อง CNBC ได้รวบรวม 12 เหตุการณ์สำคัญทั้งในตลาดคริปโต สินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกรรมบล็อกเชน ตลอดปี 2021 ที่ผ่านมาดังนี้ Bitcoin มีมูลค่าตลาด 1 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และทำให้ Bitcoin เป็นสินทรัพย์ลงทุนทั้งจากนักลงทุนสถาบันการเงิน ตลอดจนบริษัทต่าง ๆ เช่น Tesla และ Square ความร้อนแรงของ NFT เมื่อเดือนมีนาคม ศิลปิน Beeple ได้ขายผลงาน Everydays: The First 5000 Days ในรูปแบบ NFT โดยมีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 69.3 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ตลาด NFT เกิดการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น Elon Musk และราคา Dogecoin โดยราคา Dogecoin ทำสถิติสูงสุดเมื่อ Musk ออกรายการ Saturday Night Live และราคาก็ลดลงหลังจากนั้น เอลซัลวาดอร์ รองรับ Bitcoin เป็นเงินตามกฎหมาย ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศรับรอง Ethereum อัพเกรด ในชื่อโครงการ London รวมทั้งการปรับปรุงข้อเสนอ EIP-1559 ที่ลดค่า gas Poly Network ถูกแฮก โดยมูลค่าความเสียหายสูงถึง 600 ล้านดอลลาร์ ทางการจีนสั่งแบนคริปโต ...อีกครั้ง ETF กองทุนแรกที่อ้างอิง Bitcoin เริ่มทำการซื้อขาย โดยเป็นการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์ การอัพเกรดเครือข่าย Bitcoin Taproot ซึ่งเป็นการอัพเกรดใหญ่ในรอบ 4 ปี หน่วยงานรัฐเพิ่มการกำกับดูแลคริปโตมากขึ้น โดยมีความพยายามออกกฎหมายเพื่อควบคุมในหลายประเทศ Avalanche และ Solana เป็นแพลตฟอร์ม smart contract ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น DAO เป็นที่สนใจมากขึ้น หลังกลุ่ม ConstitutionDAO ระดมทุนกว่า 40 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อสำเนารัฐธรรมนูญสหรัฐ ที่มา: CNBC
# Zoom ซื้อกิจการ Liminal ผู้พัฒนา add-on สำหรับงานถ่ายทอดสดอีเวนต์ขนาดใหญ่ Zoom ประกาศซื้อกิจการ Liminal ผู้พัฒนาเครื่องมือถ่ายทอดวิดีโอสำหรับเชื่อมต่อกับ Zoom โดยเป็นการซื้อเฉพาะสินทรัพย์หลักของบริษัท และซื้อตัวสองผู้ก่อตั้ง เครื่องมือที่ Liminal พัฒนาคือ add-on ZoomOSC เครื่องมือช่วยการเชื่อมต่อ Zoom เข้ากับซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์อื่นผ่านโปรโตคอล Open Sound Control (OSC) และ ZoomISO เครื่องมือสำหรับส่งออกวิดีโอจากผู้เข้าร่วมมาใช้งาน ซึ่งสองเครื่องมือนี้เน้นใช้สำหรับงานการถ่ายทอดอีเวนต์ขนาดใหญ่ โดยคาดว่า Zoom จะนำสองเครื่องมือนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในซอฟต์แวร์หลัก Zoom มองว่าเครื่องมือเหล่านี้ จะช่วยปิดช่องว่างให้การใช้ Zoom รองรับมาตรฐานงานผลิตระดับสตูดิโอ หรืออีเวนต์ขนาดใหญ่ได้ดีมากยิ่งขึ้น ที่มา: The Verge
# นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลใช้ AI เรียนรู้ภาพโปเกมอนทุกตัว แล้วสร้างโปเกมอนตัวใหม่ๆ ขึ้นมาเอง Max Woolf นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลของเว็บไซต์ Buzzfeed ลองเขียน AI ให้เรียนรู้ภาพวาดโปเกมอนทุกตัว และลองสร้างโปเกมอนของตัวเองขึ้นมาเป็นภาพวาด ซึ่งผลที่ได้ค่อนข้างน่าประทับใจ เพราะมีลายเส้นและสไตล์เหมือนกับโปเกมอนต้นฉบับมาก Woolf ยังเปิดเผยซอร์สโค้ดที่เขาใช้ประมวลผลรูปภาพโปเกมอนขึ้นบน GitHub เพื่อให้ได้ภาพในฟอร์แมตที่เตรียมนำไปใช้เทรน AI ต่อได้ งานของ Woolf ยังทดลองใช้ AI สร้างตัวละครจากเกมหรืออนิเมะดังๆ อยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างอื่นๆ ที่เขาลองทำคือสร้างตัวละครจากเกม Genshin Impact ขึ้นมาใหม่ ที่มา - IGN
# DuckDuckGo เผยสถิติปี 2021 จำนวนการค้นหาเติบโตกว่า 46% DuckDuckGo บริการเสิร์ชเอนจินเน้นความเป็นส่วนตัวประกาศสถิติประจำปี 2021 โดยระบุว่าปีนี้มียอดค้นหาแล้วกว่า 100 ล้านครั้ง (สถิตินี้ทำได้ครั้งแรกตอนต้นปี) ส่วนยอดการค้นหาทั้งหมดเติบโตขึ้นกว่า 46.4% นับเป็นยอดการค้นหาทั้งปีอยู่ที่ราว 3.46 หมื่นล้านครั้ง จุดเด่นของ DuckDuckGo คือเป็นเสิร์ชเอนจินแบบเน้นความเป็นส่วนตัว ซึ่งในช่วงหลังก็เริ่มขยายไปทำบริการอื่น ๆ เช่น Email Protection ระบบลบ email tracker ก่อนจะส่งเข้าไปยังอีเมลจริง และเบราว์เซอร์บนเดสก์ท็อปที่ใช้เอนจินหลักของ OS สำหรับสถิติของ DuckDuckGo แม้จะเติบโตสูงขึ้นมาก แต่ปัจจุบันเสิร์ชเอนจินนี้ยังคิดเป็นเพียง 2.53% ของทราฟฟิกเสิร์ชเอนจินทั้งหมดในสหรัฐฯ น้อยกว่า Yahoo ที่ 3.3%, Bing 6.43% และ Google ที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดถึง 87.33% แต่จากผลสำรวจพบว่าชาวอเมริกันกว่า 27 ล้านคน (คิดเป็น 9%) นั้นเลือกใช้ DuckDuckGo แล้ว ส่วนแอปและ extension ต่าง ๆ ของ DuckDuckGo ก็มีผู้ดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 150 ล้านครั้ง ที่มา - DuckDuckGo, Bleeping Computer ภาพจาก DuckDuckGo
# KiCad โปรแกรมออกแบบวงจรโอเพนซอร์ส ออกเวอร์ชั่น 6.0 ปรับหน้าจอใหม่ใช้ง่ายขึ้น KiCad โครงการซอฟต์แวร์ออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบโอเพนซอร์สประกาศออกเวอร์ชั่น 6.0 นับเป็นเวอร์ชั่นใหญ่ในรอบ 3 ปี โดยความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือการปรับหน้าจอใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ผู้ใช้จากโปรแกรมออกแบบวงจรค่ายอื่นสามารถมาใช้งานได้ง่ายขึ้น หน้าจอในโหมด schematic และโหมด PCB ดูเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น สำหรับฟีเจอร์ภายในสำคัญคือไฟล์ฟอร์แมตใหม่ ที่ใส่ทั้ง schematic และ library ไว้ในไฟล์เดียวกัน ทำให้ผู้ออกแบบวงจรสามารถฝังสัญลักษณ์ของอุปกรณ์ต่างๆ ลงไปในไฟล์ได้เลย กฎการออกแบบระบบใหม่รองรับกฎที่ซับซ้อนขึ้น เช่นกฎแยกเฉพาะสำหรับบางชั้นของแผงวงจร หรือกฎเฉพาะสำหรับบางโซน และหน้าจอแบบ dark mode ในแมคและลินุกซ์ ดาวน์โหลดได้แล้วทั้งบน ลินุกซ์, แมค, และวินโดวส์ ที่มา - KiCad
# Final Fantasy XVI เจอผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้การพัฒนาช้าไปครึ่งปี Naoki Yoshida โปรดิวเซอร์ของเกม Final Fantasy XVI โพสต์ข้อความถึงแฟนๆ ผ่านทางทวิตเตอร์ ยอมรับว่ากระบวนการพัฒนาเกม FF16 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ล่าช้าไปกว่าเดิมครึ่งปี เพราะทีมงานต้องทำงานจากที่บ้าน มีปัญหาในการสื่อสารกัน รวมถึงมีความยากลำบากในการประสานงานกับทีมเอาท์ซอร์สด้วย Yoshida บอกว่าเดิมทีเขาสัญญาว่าจะมาอัพเดตความคืบหน้าในช่วงปลายปี 2021 แต่จากปัญหาความล่าช้าของเกม ทำให้ต้องเลื่อนการอัพเดตความคืบหน้าเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2022 แทน เนื้อเรื่องของ FF16 จะกลับสู่เรื่องคริสตัลและมนตร์อสรูอีกครั้ง เนื้อเรื่องจะเกิดในดินแดน Valisthea ที่เต็มไปด้วยภูเขาคริสตัล มนตร์อสูรภาคนี้เรียกว่า Eikon จะสิงในร่างของคนที่ได้รับพรให้เรียกมนตร์อสูรได้ ตัวเอกของภาคนี้คือ Clive Rosfield บุตรคนโตของตระกูล ที่ควรได้รับสืบทอดมนตร์ Phoenix แต่กลายเป็นน้องชายของเขา Joshua แทน ตอนนี้เกมยังประกาศลง PS5 เพียงแพลตฟอร์มเดียว และยังไม่ระบุวันวางขาย ทีมพัฒนาเกมภาคนี้ที่นำโดยโปรดิวเซอร์ Naoki Yoshida คือทีมที่ทำภาค 14 มาก่อน ส่วนผู้กำกับ Hiroshi Takai เคยมีผลงานกำกับเกม The Last Remnant
# PPlus Visions รุกตลาด Cybersecurity วางรากฐานความมั่นคงปลอดภัยให้ธุรกิจด้วย IBM Security QRadar SIEM เมื่อ Cybersecurity กลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างความมั่นคงให้กับทุกธุรกิจองค์กร ผู้ให้บริการด้าน IT หลายแห่งก็เริ่มปรับตัวหันมาให้บริการด้านนี้กันมากขึ้น ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดที่นับวันจะยิ่งเติบโต PPlus Visions ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการระบบเครือข่ายสำหรับธุรกิจโทรคมนาคมโดยเฉพาะ ก็เป็นอีกธุรกิจที่ปรับตัวหันมาสู่ตลาดนี้ ด้วยจุดเด่นที่น่าสนใจทั้งในแง่การทำงานที่รวดเร็วว่องไวในมาตรฐานระดับโทรคมนาคม, ประสบการณ์การดูแลอุปกรณ์จำนวนมหาศาลให้กับสาขาของธุรกิจองค์กรหลายพันแห่ง ไปจนถึงวิสัยทัศน์ที่มองเห็นถึงโอกาสสำหรับธุรกิจองค์กรที่จะได้นำข้อมูลด้าน Cybersecurity ที่มีอยู่ในองค์กรมาต่อยอดได้อย่างหลากหลายในอนาคต PPlus : จากผู้ให้บริการระบบเครือข่ายมืออาชีพสำหรับธุรกิจโทรคมนาคม รุกสู่ตลาด Cybersecurity สำหรับธุรกิจองค์กรและหน่วยงานภาครัฐ หากใครอยู่ในวงการระบบ IT สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม คงจะคุ้นชื่อกันดีอยู่แล้วกับ PPlus Visions ซึ่งเป็นผู้นำด้านการวางระบบเครือข่ายสำหรับธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย ที่มียอดขายหลักพันล้านบาท พร้อมให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศไทยในมาตรฐานการทำงานระดับที่ตอบโจทย์ได้สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 15 ปี และความเชี่ยวชาญในการให้บริการด้าน IT แก่อุตสาหกรรมที่เรียกได้ว่าเข้มงวดมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง ทำให้ PPlus สามารถขยายตลาดมาสู่การให้บริการระบบ IT แก่ธุรกิจองค์กรและหน่วยงานภาครัฐได้ไม่ยาก และตอบโจทย์ได้เหนือกว่า Systems Integrator ทั่วๆ ไป จากความสามารถในการให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว พร้อมให้บริการติดตั้งดูแลรักษาระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่เว้นวันหยุด รวมถึงยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผ่านประสบการณ์การจัดการโครงการด้านการวางระบบเครือข่ายมูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อโครงการมาแล้ว ไม่เพียงแต่การมีทีมงานที่เข้มแข็งและองค์กรที่มั่นคงเท่านั้น PPlus ยังมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา Application เพื่อให้บริการลูกค้าใน Network Operations Center (NOC) ของตนเองได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่ง PPlus ยังดูแลรักษาระบบ Network Infrastructure ให้กับธุรกิจ 2,000 - 3,000 สาขา ครอบคลุมการจัดการทั้ง Network, Firewall และ SD-WAN ทั่วประเทศไทย ล่าสุดในปี 2021 ที่ผ่านมานี้ PPlus ได้ขยายตลาดรุกเข้าสู่การให้บริการด้าน Cybersecurity สำหรับธุรกิจองค์กรอย่างเต็มตัว ด้วยการต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจในการดูแลระบบเครือข่ายให้กับธุรกิจองค์กร ด้วยการนำเสนอ Security Information & Event Management (SIEM) ซึ่งเป็นหนึ่งในโซลูชั่นด้าน Cybersecurity ที่จำเป็นที่สุดต่อธุรกิจองค์กรทุกแห่ง จับมือ IBM นำ IBM Security QRadar SIEM ปกป้องธุรกิจองค์กร "เพราะความมั่นคงปลอดภัยต้องเริ่มจากความเข้าใจ" ในมุมของ PPlus นั้น SIEM จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจองค์กรต้องใช้งานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยสำคัญดังต่อไปนี้ ปริมาณและความหลากหลายของอุปกรณ์ IT และ IoT ในระบบเครือข่ายขององค์กรที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น ทำให้องค์กรจำเป็นต้องปกป้องอุปกรณ์เหล่านี้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง สถาปัตยกรรมการใช้งานระบบ IT ที่นับวันจะยิ่งหลากหลาย ทั้ง On-Premises, Cloud และ Edge ทำให้องค์กรต้องมองหาเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์การปกป้องระบบได้ในทุกสถาปัตยกรรม ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อระบบ IT ขององค์กร ทำให้องค์กรต้องมีข้อมูลกลางด้านความมั่นคงปลอดภัยที่จะสามารถปรับตัวใช้งานได้ในทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และช่วยให้เจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารมีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในทุกๆ สถานการณ์หรือทุกๆ การลงทุนที่แม่นยำยิ่งขึ้น PPlus เชื่อว่า SIEM จะช่วยให้ธุรกิจองค์กรมีความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ด้าน Cybersecurity ที่กำลังเกิดขึ้นภายในองค์กรของตนเองได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้นท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง SIEM ยังเป็นโซลูชั่นที่สามารถพลิกแพลงให้รองรับต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้งานในองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและไม่มีวันตกยุคสำหรับธุรกิจองค์กร ด้วยเหตุนี้ SIEM จึงเป็นโซลูชั่นที่ PPlus ตั้งใจนำมาทำตลาด ด้วยการเริ่มต้นจับมือกับ IBM เพื่อนำ IBM Security QRadar SIEM ซึ่งเป็นโซลูชั่นชั้นนำด้านระบบ SIEM ที่ Gartner ได้เลือกให้ครองตำแหน่ง Leader มาเป็นเวลากว่า 12 ปี มานำเสนอแก่ธุรกิจองค์กร ให้สามารถตอบโจทย์ได้หลากหลายภายในโซลูชั่นเพียงหนึ่งเดียว ด้วยจุดเด่นดังต่อไปนี้ IBM QRadar สามารถถูกติดตั้งใช้งานได้ในทุกๆ ระบบ IT และรองรับการทำงานร่วมกับอุปกรณ์หรือ Software ได้ทุกยี่ห้อ ไม่ว่าระบบ IT ที่องค์กรใช้อยู่จะเป็นรูปแบบใด พร้อมเปิดให้มีการพัฒนาระบบเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมต่อกับระบบ IT ใหม่ๆ ได้อย่างไม่จำกัด IBM QRadar สามารถทำการวิเคราะห์และตรวจสอบภัยคุกคามได้ในทุกๆ ระบบ IT และปรับแต่งระบบให้ตรวจสอบภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ หรือภัยคุกคามเฉพาะทางได้อย่างต่อเนื่อง IBM QRadar มีความยืดหยุ่นสูง รองรับการติดตั้งใช้งานได้ในองค์กรที่มีหลายสาขา รวมถึงใช้งานในระบบ Hybrid Multicloud ได้ IBM QRadar สามารถใช้งานได้ทั้งในระบบ IT ขนาดเล็กไปจนถึงระบบขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูง IBM QRadar สามารถเลือกใช้งานได้ทั้งแบบการซื้อขาด หรือการใช้งานแบบ Subscription ตามความเหมาะสมสำหรับแต่ละธุรกิจองค์กร ไม่เพียงเท่านั้น IBM QRadar ยังรองรับการต่อยอดสู่อนาคตได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นการนำ AI อย่าง IBM Watson เข้ามาใช้ร่วมในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านภัยคุกคามและความมั่นคงปลอดภัยโดยอัตโนมัติ, การปรับระบบสู่การตรวจจับภัยคุกคามเฉพาะทางด้วย EDR/NDR/XRX, การต่อยอดขยายระบบเพื่อปกป้องระบบในแบบ Hybrid Multicloud ไปจนถึงการปกป้องระบบ IT ขององค์กรที่จำเป็นต่อการทำงานในแบบ Hybrid Work ให้มั่นคงปลอดภัย ไม่ว่าองค์กรจะมีการใช้งาน VPN, VDI หรือ SASE ก็ตาม ธุรกิจองค์กรวางใจ PPlus Visions จากความเร็วในการทำงานด้วยมาตรฐานบริการระดับโทรคมนาคม และความเข้าใจในโจทย์ของลูกค้า ที่ผ่านมา PPlus ได้นำ IBM Security QRadar SIEM ไปเสนอต่อธุรกิจองค์กรหลากหลายแห่ง และเกิดการใช้งานในรูปแบบที่น่าสนใจอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การใช้งาน SIEM เพื่อเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้กับ IT Infrastructure ของหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน ด้วยการรวบรวมข้อมูลด้าน Security จากอุปกรณ์ IT Infrastructure ที่องค์กรเหล่านี้มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ Network, Security, Data Center หรืออุปกรณ์อื่นๆ และ Traffic ที่ใช้งานอยู่ภายในระบบเครือข่ายทั้งหมด เพื่อให้มีระบบที่แสดงภาพรวมด้านเหตุการณ์ความมั่นคงปลอดภัย และตรวจจับภัยคุกคามหรือการโจมตีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้ผู้ดูแลระบบสามารถรับมือต่อภัยคุกคามนั้นๆ ได้อย่างทันท่วงทีโดยมีข้อมูลประกอบทุกการตัดสินใจฃ การใช้งาน SIEM เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ IoT ภายใน Smart Building เนื่องจากอุปกรณ์ IoT นั้นมักตกเป็นเป้าของการโจมตีจากผู้ไม่หวังดี อีกทั้งความหลากหลายของอุปกรณ์ IoT ที่มีอยู่ในระบบเครือข่าย ในขณะที่องค์กรซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการวางระบบ Smart Building นั้นก็มักเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขา การใช้ SIEM เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านความมั่นคงปลอดภัยมาวิเคราะห์และตรวจสอบนี้จึงตอบโจทย์ได้ทั้งในแง่ของระบบ Smart Building ที่มีอุปกรณ์อันหลากหลาย และการวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลด้านความมั่นคงปลอดภัยในหลายสาขาไปพร้อมๆ กัน การใช้งาน SIEM เพื่อต่อยอดบริการ NOC ด้วยการนำ SIEM มาใช้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของอุปกรณ์เครือข่ายที่ PPlus ดูแลอยู่ภายในบริการ NOC เพื่อเสริมรายงานด้านความมั่นคงปลอดภัยพร้อมช่วยแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยคุกคามใดๆ จุดที่ทำให้ธุรกิจองค์กรหลายแห่งไว้วางใจ PPlus ในการวางระบบสำคัญอย่าง SIEM ให้กับธุรกิจองค์กรนี้ ก็เกิดขึ้นจากความรวดเร็วในการทำความเข้าใจโจทย์ของลูกค้า ก่อนจะออกแบบระบบและทดสอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และพร้อมใช้งานได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ PPlus ทำมาโดยตลอดกว่า 15 ปีที่ผ่านมาในการให้บริการลูกค้ากลุ่มโทรคมนาคม ที่ความรวดเร็วพร้อมตอบสนองตลอด 24 ชั่วโมงถือเป็นหัวใจสำคัญอันดับหนึ่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ไม่ง่ายนักในแวดวงธุรกิจ IT จุดเด่นนี้เองได้ทำให้ PPlus ได้รับโอกาสในการติดตั้งศูนย์การเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ (SOC) ให้กับลูกค้า เพื่อทำการรวบรวมเหตุการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยจากอุปกรณ์ระบบ IT ที่หลากหลายภายในองค์กรมาทำการวิเคราะห์เพื่อค้นหาภัยคุกคามและสามารถตอบสนองต่อได้อย่างทันการ พร้อมมีทีมงานขององค์กรเองคอยเฝ้าระวังและรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้น พร้อมทำการระงับและลดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยมี SIEM เป็นศูนย์กลางของศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์เหล่านี้ โครงการดังกล่าวนี้ต้องเริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วนท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีข้อกำหนดในการเข้าติดตั้งอุปกรณ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการต้องเข้าดำเนินงานนอกช่วงเวลาทำงานปกติ และการต้องเร่งดำเนินโครงการให้จบด้วยข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด ซึ่ง PPlus ก็สามารถดำเนินการตามความคาดหวังของลูกค้าได้ทุกประการ ในขณะเดียวกัน ประสบการณ์ด้านการทำโครงการระดับหลายร้อยล้านบาทของ PPlus เองก็ส่งผลให้ธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ไว้วางใจในการร่วมงานกับ PPlus ว่าจะสามารถดำเนินโครงการขนาดใหญ่ให้สำเร็จได้ ซึ่งแน่นอนว่าการวางระบบ SIEM สำหรับธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศซึ่งต้องใช้งบประมาณและกำลังคนอย่างมหาศาลนี้ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และ PPlus ก็ยังได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการลักษณะนี้ได้เช่นกัน เชื่อมั่นปีหน้า การลงทุนด้าน IT ของธุรกิจองค์กรไทยจะยิ่งเติบโต แต่รูปแบบการลงทุนจะเปลี่ยนไป คุณอนุโรจน์ ปัญญพัฒนกุล ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ของ PPlus Visions ได้แสดงความเห็นถึงช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ซึ่งธุรกิจองค์กรไทยต้องเร่งปรับตัวฝ่าวิกฤตครั้งใหญ่ ว่าในกลุ่มลูกค้าของ PPlus ที่มักเป็นธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่นั้นต่างมีความเชื่อมั่นว่ามนุษย์เราจะสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกันกับไวรัส COVID-19 ได้อย่างปกติ และอาศัยช่วงเวลานี้ในการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลง, สร้างการเติบโต และเดินตามกลยุทธ์ที่วางเอาไว้แต่เดิมหรือเกิดขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้ ถึงแม้จะต้องชะลอการลงทุนไปบ้าง แต่ในปีหน้านี้ก็มีแผนที่จะกลับมาลงทุนครั้งใหญ่ต่อไปอีก ดังนั้นในวิสัยทัศน์ของคุณอนุโรจน์จึงเห็นว่าปี 2022 ที่กำลังจะมาถึงนี้น่าจะเป็นปีที่น่าจะคึกคักและเป็นโอกาสเติบโตสำหรับธุรกิจ IT อย่างไรก็ดีการมาของ COVID-19 นี้ก็ได้ทำให้พฤติกรรมและมุมมองการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีของธุรกิจองค์กรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ได้ทำให้ธุรกิจองค์กรมอง Systems Integrator ในฐานะของ Partner ที่เข้ามารับบทบาทในระดับที่เทียบเท่ากับฝ่าย IT ขององค์กรมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจ Mobile Operator เองก็มอง Systems Integrator ในฐานะของผู้ให้บริการเทคโนโลยีและโซลูชั่นใหม่ๆ ร่วมกันมากขึ้น ตรงนี้เองทำให้เหล่า Systems Integrator นั้นต้องเร่งปรับตัว จากการวางโครงการและปิดการขายให้บริการเป็นงานๆ ไปสู่รูปแบบของการดำเนินธุรกิจในลักษณะของ Partnership หรือ Managed Services Provider อย่างเต็มตัว และแน่นอนว่า PPlus Visions เองก็มีแผนต่อยอดจากการทำตลาดของ IBM Security QRadar SIEM ในครั้งนี้ สู่ภาพของการเป็นผู้ให้บริการ Managed Security Services Provider (MSSP) และมีแผนเปิดศูนย์ SOC ภายในปี 2022 ด้วยเช่นกัน เพื่อขยายขอบเขต และเติมเต็มความต้องการของลูกค้าที่ใช้บริการกับทาง PPlus อยู่แต่เดิม ให้มีทางเลือกใหม่ในการใช้บริการ Managed Services ทั้งในส่วนของ Network และ Security ร่วมกันได้แบบ One Stop Service พร้อมทีมให้บริการแก้ไขปัญหาหน้างานที่พร้อมทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศไทย สนใจ IBM Securtiy QRadar SIEM ติดต่อทีมงาน PPlus Visions ได้ทันที สำหรับผู้ที่สนใจโซลูชั่น IBM Security QRadar SIEM หรือโซลูชั่นอื่นๆ ด้าน Network และ Security สามารถติดต่อทีมงาน PPlus Visions ได้ทันทีที่ บริษัท พีพลัส วิชั่นส์ จำกัด อีเมล์ : [email protected] เบอร์โทรศัพท์ : 02-6430251 Website: http://www.pplusnetworks.com/ Facebook: https://www.facebook.com/PPLUS-Visions-102180828842675/
# กรณีศึกษา JetBrains เปลี่ยนแอพ Toolbox จากเดิม C++/React มาเขียนด้วย Kotlin 100% คนที่ใช้ IDE ของค่าย JetBrains คงคุ้นเคยกับแอพ JetBrains Toolbox ที่ใช้จัดการอัพเดตซอฟต์แวร์ จัดการเวอร์ชัน และโปรเจคต์ที่ทำงานค้างอยู่ ปัจจุบันแอพตัวนี้มีผู้ใช้มากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน ตามฐานผู้ใช้ IDE ของ JetBrains ล่าสุดทีมของ JetBrains ออกมาเล่าเบื้องหลังการเปลี่ยนแอพ Toolbox ที่เดิมเขียนด้วย C++/React/Chromium มาเป็น Kotlin 100% ซึ่งถือเป็นตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านของ JetBrains ที่หันมาใช้ภาษาของตัวเองกับแอพเดสก์ท็อปด้วย หน้าตาของแอพ JetBrains Toolbox Victor Kropp หัวหน้าทีม Toolbox เล่าว่าจุดเริ่มต้นของแอพ Toolbox เกิดขึ้นในปี 2015 โดยในช่วงเริ่มทำ เลือกใช้ภาษา C++ เขียน business logic ส่วนฝั่งอินเทอร์เฟซใช้ Chromium Embedded Framework + React + HTML/CSS/JS เหตุผลที่เลือกแนวทางนี้ เป็นเพราะไม่ต้องการฝัง Java Runtime Environment (JRE) ขนาดหลายร้อย MB กับแอพเครื่องมือตัวเล็กๆ ส่วนตอนนั้น Kotlin ยังไม่ออกเวอร์ชัน 1.0 จึงยังไม่พร้อมสำหรับงานโปรดักชั่น แต่ปัญหาของ Toolbox ตามแนวทางข้างต้นมีหลายอย่าง เช่น Chromium Embedded Framework กินแรมเยอะ (อย่างน้อย 200 MB), ต้องใช้สถาปัตยกรรม client-server ภายในแอพตัวเดียวกัน สิ้นเปลืองทรัพยากรในการส่งข้อมูลภายในตัวแอพเอง, การใช้สองภาษาคือ C++/JavaScript ทำให้ดูแลโค้ดได้ยาก ต้องแยกทีมเป็นสองทีม เมื่อแพลตฟอร์ม Kotlin พร้อมมากขึ้นในปี 2021 บวกกับ JetBrains ออกเฟรมเวิร์ค Compose Multiplatform สำหรับเขียนแอพเดสก์ท็อป ทำให้ทีม Toolbox ตัดสินใจย้ายมาใช้ Kotlin 100% ช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องทรัพยากรที่ต้องการ และการใช้ภาษา Kotlin ภาษาเดียวเขียนทั้ง backend/frontend ลดภาระในการดูแลลง บั๊กน้อยลง ประสิทธิภาพดีขึ้น Kropp บอกว่าทางเลือกอื่นที่เคยมองเอาไว้นอกจาก Kotlin คือ Java Swing ซึ่งเก่าไปแล้ว หรือ JavaFX ที่ไม่มีคนใช้งานในวงกว้าง สุดท้ายจึงเลือก Kotlin/Compose for Desktop ที่ตอนนั้นเพิ่งเริ่มประกาศพัฒนา Kropp เล่าว่าเขาโชคดีที่อยู่บริษัทเดียวกับทีม Kotlin และทีม Compose ทำให้ได้ลองใช้ซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ก่อนใครเพื่อน และหากพบบั๊กก็แจ้งแก้ปัญหาได้ทันที ซึ่งหลายครั้งทีม Kotlin/Compose แก้บั๊กให้ภายในวันนั้นเลย นอกจากนั้น เขายังสามารถใช้โค้ดภาษา Kotlin ที่ทีมอื่นของบริษัทเขียนไว้แล้ว เช่น นำโค้ดค้นหาโปรเจคต์จาก IntelliJ IDEA มาใช้กับหน้าโปรเจคต์ของ Toolbox โดยไม่ต้องเขียนใหม่ อย่างไรก็ตาม กระบวนการเปลี่ยนผ่านก็เจอปัญหาอยู่บ้าง เช่น ตอนแรกทีมของเขาเลือกใช้คอมโพเนนต์ Compose Material ที่ใช้เขียน UI ของ Android ซึ่งพัฒนาไปเยอะแล้ว แต่พบว่าคอมโพเนนต์ชุดนี้ออกแบบมาสำหรับ UI มือถือ มีปุ่มขนาดใหญ่สำหรับจอสัมผัส และปุ่มไม่มีสถานะ hover เมื่อนำเมาส์ชี้ (เพราะไม่มีแนวคิดนี้บนจอสัมผัส) ทำให้สุดท้ายเขาต้องสร้างคอมโพเนนต์ UI สำหรับเดสก์ท็อปขึ้นมาเอง และเตรียมจะเปิดซอร์สโค้ดในอนาคต Kropp สรุปว่าการย้ายมาใช้ Kotlin ทำให้กระบวนการทำงานง่ายขึ้นมาก เพราะทุกคนในทีมเขียนภาษาเดียวกันหมด สื่อสารกันง่าย และตัวโครงสร้างของตัวภาษาก็เขียนสนุกกว่า C++ หรือ JavaScript ด้วย ที่มา - JetBrains
# ซัมซุงเปิดตัว SSD เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ PCIe 5.0 ความเร็วการอ่านเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าจากเดิม ซัมซุงเปิดตัว SSD สำหรับเซิร์ฟเวอร์องค์กร ที่ใช้อินเทอร์เฟซ PCIe 5.0 ซึ่งมีอัตราการส่งข้อมูลที่ 32 gigatransfers per second (GT/s) สูงเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับ PCIe 4.0 SSD รุ่นนี้ชื่อว่า PM1743 มีความเร็วการอ่านแบบต่อเนื่อง (sequential read) ที่ 13,000 MB/s ส่วนการอ่านแบบสุ่มตำแหน่ง (random read) ที่ 2,500K IOPS หรือเทียบง่ายๆ กับ PCIe 4.0 คือเพิ่มขึ้น 1.9x และ 1.7x ตามลำดับ ช่วยยกระดับการเขียนข้อมูลสำหรับเซิร์ฟเวอร์ได้อีกมาก ในแง่การใช้พลังงาน PM1743 ยังมีอัตราการใช้พลังงานที่ 608MB/watt ดีขึ้น 30% จาก SSD รุ่นก่อน ช่วยลดพลังงานของเซิร์ฟเวอร์และศูนย์ข้อมูลลงได้ในภาพรวม SSD PM1743 มีให้เลือกทั้งขนาด 2.5" มาตรฐาน และ 3" EDSFF ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงหลัง มีความจุให้เลือกตั้งแต่ 1.92-15.36TB แต่ยังไม่ประกาศราคา ที่มา - Samsung
# Tesla เตรียมปิดฟีเจอร์ Passenger Play ตอนรถวิ่ง ป้องกันคนขับเล่นเกมขณะขับรถเพื่อความปลอดภัย Tesla ปิดฟีเจอร์ Passenger Play ไม่ให้ใช้งานได้ขณะรถกำลังเคลื่อนที่หลังจากที่โดนตรวจสอบจากหหน่วยงานด้านความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะมาพร้อมกับอัพเดตของรถยนต์ในรอบที่จะออกเร็ว ๆ นี้ ฟีเจอร์ Passenger Play ของ Tesla เป็นฟีเจอร์เล่นเกมบนจอกลางคอนโซลรถยนต์ ก่อนหน้านี้ฟีเจอร์จะทำงานเมื่อตัวรถจอดอยู่เท่านั้น แต่ New York Times พบว่าหลังจากอัพเดตในช่วงกลางปีที่ผ่านมาทำให้เกม 3 เกมสามารถเล่นได้ขณะรถกำลังวิ่ง ซึ่งทำให้ NHTSA เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ และหลังจาก Tesla กับหน่วยงาน NHTSA ได้ปรึกษากันเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทจึงตัดสินใจว่าจะอัพเดตเพื่อปิดฟีเจอร์ Passenger Play ไม่ให้ใช้งานได้ขณะรถกำลังเคลื่อนที่ อย่างไรก็ดี แม้ว่า Tesla สัญญาว่าจะออกอัพเดตเพื่อแก้ปัญหานี้แล้ว แต่การสอบสวนจะยังดำเนินต่อไป ซึ่ง NHTSA ย้ำว่าตามกฎหมายความปลอดภัยทางรถยนต์แล้ว ผู้ผลิตรถยนต์ห้ามขายรถที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่มีนัยสำคัญ โดยปัจจัยเสี่ยงนี้รวมถึงสิ่งรบกวนขณะขับรถด้วย และการที่ Tesla จำเป็นต้องสัญญาว่าจะแก้ปัญหาเนื่องจากหากไม่ทำอะไรเลยอาจทำให้ NHTSA มองว่า Tesla จงใจเพิกเฉยต่อปัจจัยเสี่ยงและอาจทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ขึ้นก็เป็นได้ ที่มา - TechCrunch, Electrek ภาพจาก Tesla
# ไมโครซอฟท์เล่าประสบการณ์ตรวจจับการโจมตีไซเบอร์ในช่องโหว่ที่ไม่เคยมีรายงานจากคอมพิวเตอร์นับล้านอย่างไร ภัยไซเบอร์มีความซับซ้อนสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการใช้งานช่องโหว่ที่ไม่เคยมีรายงานก่อนหน้า (0-day) เพื่อโจมตีเป้าหมาย การใช้ช่องโหว่เช่นนี้ทำให้องค์กรป้องกันตัวได้ยากเพราะไม่มีข้อมูลว่าซอฟต์แวร์ตัวไหนจะตกเป็นเป้าการโจมตีบ้าง บริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกที่มีซอฟต์แวร์รันอยู่ในเครื่องผู้ใช้จำนวนมาก มักมีโครงการจัดการภัยไซเบอร์ในภาพใหญ่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้โลกไซเบอร์โดยรวม เช่น Project Zero ของกูเกิลที่มักเผยแพร่งานวิจัยช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของกูเกิลเองหรือของผู้ผลิตอื่นๆ ทางฝั่งไมโครซอฟท์นั้นก็มีโครงการแบบเดียวกัน และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา Blognone ก็ได้พูดคุยกับ Aanchal Gupta รองประธานของไมโครซอฟท์ที่ดูแลด้านความปลอดภัยไซเบอร์ โดยเธอมาเล่าถึงการทำงานของ Microsoft Security Response Center (MSRC) ศูนย์ความปลอดภัยไซเบอร์ของไมโครซอฟท์ที่พยายามช่วยเพิ่มความปลอดภัยไซเบอร์ให้โลกโดยรวม MSRC มีภารกิจ 4 ด้าน เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัย และกิจกรรมต่างๆ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ วิจัยช่องโหว่ซอฟต์แวร์: ค้นหาช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ต่างๆ ในปีที่ผ่านมาพบช่องโหว่รวม 938 รายการ ตรวจจับการโจมตีและหาทางแก้ไข: พบการโจมตีด้วยช่องโหว่ 0-day ทั้งหมด 25 ช่องโหว่ จากการโจมตีประมาณ 7,000 ครั้ง ร่วมมือกับนักวิจัย: ผ่านโครงการรายงานช่องโหว่ได้รางวัล จ่ายไป 1,261 รายงาน รวมรางวัลกว่า 400 ล้านบาท ให้กับนักวิจัย 341 คน รับมือการโจมตี (incident response): ป้องกันการโจมตีได้ 70,000 ล้านครั้ง MSRC ดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาประมวลผล เช่น การยืนยันตัวตนเดือนละ 630,000 ล้านครั้ง, การสแกนเว็บ (ผ่าน Bing) เดือนละ 18,000 ล้านหน้าเพจ, อีเมลเดือนละ 400,000 ล้านฉบับ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากแหล่งภายนอก เช่น ตัวอย่างมัลแวร์, ข้อมูลจากตลาดมืด รวมข้อมูลทั้งหมด 24 ล้านล้านรายการต่อวัน ข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถประมวลผลด้วยมนุษย์ได้ทัน MSRC อาศัยปัญญาประดิษฐ์และโมเดล machine learning เพื่อกรองอีเวนต์ทั้งหมดให้เหลือเป็นการเตือนภัยระดับหลายพันรายการต่อวัน โดยรายการเตือนเหล่านี้อาจจะไม่ใช่การโจมตีอะไรแต่มีความผิดปกติให้ชวนติดตาม เช่น การล็อกอินที่สำเร็จดี แต่ผู้ใช้กำลังล็อกอินจากหมายเลขไอพีที่ผิดไปจากเดิม จากนั้นกรองลงไปอีกจนเหลือกรณีที่ต้องสอบสวนหลักร้อยเหตุการณ์ต่อวัน ขณะที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ทำงานในทีมกว่า 8,500 คน ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์นั้นเมื่อยืนยันว่าเป็นการโจมตีจริงไมโครซอฟท์จะส่งไปยังบริการอื่นๆ เช่น Microsoft Defender เพื่อตรวจจับการโจมตีและส่งกลับเข้าไปยังระบบเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติมต่อไป ที่มา - งานแถลงข่าวออนไลน์ MSRC ภูมิภาเอเชียแปซิฟิก
# ผู้ใช้ในจีนเข้าเว็บ Steam เวอร์ชั่นทั่วโลกไม่ได้ เข้าได้แต่เวอร์ชั่นจีนเท่านั้น เมื่อวานนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนจำนวนมากรายงานว่าไม่สามารถเข้าเว็บ store.steampowered.com ที่เป็นหน้าร้านสำหรับทั่วโลกของ Steam ได้ เหลือเพียงหน้าเว็บจีน store.steamchina.com ซึ่งมีเกมหลักร้อยเกมเท่านั้น ยังไม่ยืนยันว่าโดเมนเหล่านี้ถูกบล็อคโดยรัฐบาลหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาทางการจีนก็มีนโยบายควบคุมการเล่นเกมอย่างหนัก ทั้งการจำกัดเวลาเล่น และการควบคุมเนื้อหา ตอนนี้ยังไม่มีแถลงจาก Steam เองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มา - The Verge
# ByteDance แซง Ant Group เป็นสตาร์ทอัพมูลค่ากิจการสูงที่สุดในโลก Hurun Report รายงานการจัดอันดับสตาร์ทอัพยูนิคอร์น (มูลค่ากิจการมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์) โดย ByteDance ขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในโลก แทนที่ Ant Group ซึ่งตกลงไปอยู่อันดับที่ 2 มูลค่ากิจการ ByteDance ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม TikTok อยู่ที่ 3.5 แสนล้านดอลลาร์ ส่วน Ant Group ฟินเทคในเครือ Alibaba มีมูลค่ากิจการ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ อันดับ 3-5 ได้แก่ SpaceX (1 แสนล้านดอลลาร์), Stripe (9.5 หมื่นล้านดอลลาร์) และ Klarna (4.6 หมื่นล้านดอลลาร์) ตามลำดับ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตสูงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้งาน active ต่อเดือนมีมากกว่า 1 พันล้านบัญชีแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นรองเพียง Facebook เท่านั้น เดิม Ant Group น่าจะมีมูลค่ากิจการสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ จากการไอพีโอเมื่อเดือนตุลาคม แต่ถูกทางการจีนสั่งระงับแผน ประเด็นอื่นที่น่าสนใจจากรายงานของ Hurun มีดังนี้ สตาร์ทอัพยูนิคอร์น ณ พฤศจิกายน 2021 มีทั้งหมด 1,058 ราย จีนมียูนิคอร์น 301 ราย เป็นรองเพียงสหรัฐที่มี 487 ราย สองประเทศนี้รวมกันคิดเป็น 74% ของยูนิคอร์นทั้งหมด ซานฟรานซิสโก เป็นเมืองที่มียูนิคอร์นมากที่สุด (151) รองลงมาคือปักกิ่ง (91) ตามด้วย นิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ฟินเทค, SaaS, อีคอมเมิร์ซ และ AI เป็นหมวดธุรกิจที่มียูนิคอร์นมากที่สุด ที่มา: SCMP และ Hurun Report
# Ruby ออกเวอร์ชัน 3.1 เพิ่ม JIT ตัวใหม่ ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีก 20-39% ภาษา Ruby ออกเวอร์ชัน 3.1.0 ตามธรรมเนียมการออกรุ่นใหม่ทุกวันคริสต์มาส ของใหม่ที่สำคัญในเวอร์ชันนี้คือ JIT (just-in-time) compiler ตัวใหม่ที่เรียกว่า YJIT ใน Ruby 3.0 มีการเพิ่ม JIT มาก่อนแล้ว โดยใช้ชื่อว่า MJIT และช่วยให้ Ruby 3.0 มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจาก Ruby 2.0 YJIT เป็นการพัฒนา JIT ไปอีกขั้น เป็นโครงการที่พัฒนาโดยบริษัท Shopify ที่ใช้ภาษา Ruby ภายในบริษัทอยู่แล้ว แนวคิดของมันคือใช้เทคนิคที่เรียกว่า Basic Block Versioning (BBV) ช่วยให้ประสิทธิภาพดีขึ้นจาก MJIT อีกราว 20-39% ขึ้นกับเบนช์มาร์คที่ใช้เปรียบเทียบ ตอนนี้ YJIT ยังมีสถานะเป็น experimental และยังจำกัดเฉพาะบนแพลตฟอร์ม Unix x86-64 เท่านั้น โดยแผนการคือจะค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้ MJIT ในอนาคต แต่ยังไม่ระบุช่วงเวลาที่แน่ชัด ของใหม่อย่างอื่นใน Ruby 3.1.0 คือ debugger ตัวใหม่ที่เรียกว่า debug.gem มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก รองรับการทำ remote debugging และการทำงานแบบมัลติเธร็ด, เพิ่มแพ็กเกจ error_highlight gem ช่วยให้แสดงข้อความผิดพลาดได้ละเอียดขึ้น เป็นต้น ที่มา - Ruby, Shopify
# [ลือ] Galaxy S22 Ultra ใช้เซ็นเซอร์กล้องหลัก 108MP รุ่นอัพเกรด, ต้องรอ S23 Ultra ถึงใช้ 200MP Ice universe นักปล่อยข่าวหลุดสายมือถือชื่อดัง เผยข้อมูลว่า Samsung Galaxy S22 Ultra ที่จะออกช่วงต้นปี 2022 จะยังใช้เซ็นเซอร์หลักของกล้องหลังเป็น 108MP เท่าเดิม (เหมือน S20 Ultra และ S21 Ultra) แต่เป็นเวอร์ชันอัพเกรดจากเดิม ส่วนเซ็นเซอร์ Isocell HP1 ขนาดใหญ่ 200MP ที่เปิดตัวเมื่อกลางปีนี้ จะถูกนำไปใช้กับ Galaxy S23 Ultra รุ่นของปีถัดไปแทน ไม่ได้ใช้กับ S22 Ultra ตามที่คาดกัน เหตุผลน่าจะเป็นเพราะซัมซุงยังมั่นใจว่าสามารถปรับแต่งเซ็นเซอร์ 108MP ต่อได้อีกหนึ่งปี โดย S20 Ultra ใช้เซ็นเซอร์รุ่น HM1 และ S21 Ultra ใช้ HM3 แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเซ็นเซอร์ 108MP รุ่นที่สามจะใช้ชื่อรุ่นอย่างไร กล้องของ S21 Ultra มีด้วยกัน 4 ตัวคือ กล้องหลัก 108MP, Ultrawide 12MP, Tele ตัวที่หนึ่ง 10MP, Tele ตัวที่สอง 10MP เพิ่มเลนส์พับ Periscope ซึ่งคาดว่ากล้องหลังของ S22 Ultra จะใช้กล้องแบบเดียวกัน ที่มา - SamMobile
# ผู้ใช้ Apple Watch Series 7 บางส่วนพบปัญหาชาร์จด้วยอุปกรณ์ 3rd party ไม่ได้ หลังอัพ watchOS 8.3 เว็บ MacRumors รายงานว่าผู้ใช้ Apple Watch Series 7 จำนวนหนึ่ง พบปัญหาหลังอัพเดต watchOS 8.3 ซึ่งเป็นปัญหาการชาร์จนาฬิกา รูปแบบปัญหานั้น คือจะชาร์จไม่เข้า หรือชาร์จได้ช้ามาก หากใช้แท่นชาร์จ 3rd party แต่จะไม่พบปัญหานี้หากใช้สายชาร์จหรือแท่นชาร์จของแอปเปิลเอง ยังไม่ชัดเจนว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร และแอปเปิลก็ยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียด ที่มา: MacRumors
# กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb ขึ้นสู่อวกาศเรียบร้อย, ใช้เวลาอีก 30 วันไปสู่จุดหมาย ช่วงหัวค่ำวันนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope ถูกยิงขึ้นสู่อวกาศเรียบร้อย โดยจรวด Ariane 5 ของหน่วยงานอวกาศยุโรป (ESA) จากประเทศเฟรนช์เกียนา หลังจากตัวกล้องแยกตัวจากจรวด Ariane 5 ก็กางแผงโซลาร์ เพื่อรับพลังงานจากแสงอาทิตย์แล้ว โครงการ James Webb Space Telescope (JWST) ถูกเริ่มคิดมาตั้งแต่ปี 1996 โดยตอนนั้นใช้ชื่อว่า Next Generation Space Telescope หรือ NGST (ได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า James Webb ในปี 2002) เท่ากับว่าใช้เวลาถึง 25 ปี กว่าจะได้ยิงขึ้นสู่วงโคจรจริงๆ ขึ้นอวกาศแล้ว แล้วไงต่อ? หลังจากกล้อง James Webb ถูกยิงขึ้นอวกาศเรียบร้อยแล้ว ในระยะถัดไปกล้องจะค่อยๆ กางแผ่นบังรังสีจากดวงอาทิตย์ (sunshield) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5.5 วัน และหลังจากนั้นจะกางกระจก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 14 วันนับจากขึ้นสู่อวกาศ (ดูสถานะการกางแผงโซลาร์ แผ่นบังรังสี และกระจกได้จาก เว็บไซต์ของ NASA) กล้องจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 วัน เป็นระยะทาง 1.5 ล้านกิโลเมตร ไปยังจุด Lagrange Point 2 (L2) ที่อยู่ด้านหลังของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นจุดที่แรงโน้มถ่วงระหว่างโลกกับดวงจันทร์ สมดุลกับแรงหนีศูนย์กลางพอดี เป็นจุดที่วงโคจรค่อนข้างมีเสถียรภาพ เหมาะกับการวางดาวเทียม สถานีอวกาศ หรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศ (ดูตำแหน่งปัจจุบันของ JWST แบบเรียลไทม์ได้จาก เว็บไซต์ของ NASA, รายละเอียดเรื่องกำหนดการของ JWST) หมายเหตุ: กล้อง Hubble ในปัจจุบันอยู่ในระดับวงโคจรต่ำ (low earth orbit) ประมาณ 600 กม. จากโลก มีข้อเสียคือถูกโลกบังได้ง่ายกว่า แต่มีข้อดีคือขึ้นไปซ่อมได้ง่ายกว่า กรณีของกล้อง JWST เป็นกล้องที่มีภารกิจจับรังสีอินฟราเรดจากอวกาศภายนอก จึงเหมาะกับจุด L2 ที่โดนดวงจันทร์และโลกบังแสงจากดวงอาทิตย์ให้พอดี ช่วยให้กล้องไม่ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ และจับรังสีอินฟราเรดได้ดีขึ้น (กล้อง JWST ยังมีแผ่นบังรังสีของตัวเองด้วยอีกชั้น ตัวกล้องฝั่งที่อยู่หลังแผ่นบังรังสีจะมีอุณหภูมิ -233 องศาเซลเซียส) เมื่อกล้องไปถึงจุด L2 เรียบร้อย จะใช้เวลาทดสอบและปรับแต่งอุปกรณ์ต่างๆ ให้เข้าที่ เป็นเวลาทั้งหมด 6 เดือน และเริ่มปฏิบัติการถ่ายภาพอวกาศมาให้เราดูกัน ช่วงอายุการใช้งานของ JWST ตั้งเป้าให้อยู่ได้นานอย่างน้อย 10 ปี ที่มา - NASA
# เปลี่ยนรถให้เป็นผับ Tesla เพิ่มฟีเจอร์เครื่องขยายเสียง ตั้งโปรแกรมไฟกระพริบได้รอบคัน Tesla ออกอัพเดตเฟิร์มแวร์รถใหม่ เพิ่มฟีเจอร์ Megaphone ทำให้รถขยายเสียงจากคนขับไปยังลำโพงนอกตัวรถที่ปกติใช้ส่งเสียงเพื่อความปลอดภัย และยังเปิดโครงการ Light Show สำหรับตั้งโปรแกรมไฟนอกตัวรถได้รอบคัน ฟีเจอร์ Light Show จะกำหนดจังหวะไฟจากไฟทุกดวงรอบคัน ไม่ว่าจะเป็นไฟเลี้ยว, ไฟหน้า, ไฟหลัง โดยทุกดวงสามารถโปรแกรมได้แยกกันทั้งหมดทั้งไฟหน้าไฟหลัง โปรแกรมไฟวางคู่กับไฟลเสียงแบบ MP3 หรือ WAV ให้รถเล่นเพลงจากลำโพงใต้รถได้ การอัพโหลดโปรแกรมไฟต้องใช้ไดรฟ์ USB และเปิดเมนู Toybox หากไฟล์ฟอร์ตแมตถูกต้องก็จะแจ้งว่ามี Custom Light Show เมื่อโหลดเสร็จแล้วคนขับออกจากรถก็จะเริ่มเล่นไฟล์ ที่มา - The Verge, GitHub: Tesla
# StackOverflow แนะนำกฎการเขียนคอมเมนต์โค้ด อย่าคอมเมนต์แทนการแก้โค้ดที่ไม่ดี ใส่ลิงก์อ้างอิงด้วย Ellen Spertus จาก StackOverflow แนะนำถึงการเขียนคอมเมนต์โค้ด 9 ข้อ เพื่อการเขียนโค้ดที่ดีขึ้น พร้อมกับเตือนว่าโค้ดที่มีคอมเมนต์แย่ๆ นั้นแย่กว่าโค้ดที่ไม่มีคอมเมนต์เลยเสียอีก โดยกฎ 9 ข้อได้แก่ อย่าเขียนซ้ำกับในโค้ด: หลายคนอาจจะเรียนมาว่ายิ่งคอมเมนต์โค้ดเยอะยิ่งดี สร้างนิสัยให้โปรแกรมเมอร์บางคนคอมเมนต์ระบุสิ่งที่เขียนในโค้ดอยู่แล้ว อย่าใช้คอมเมนต์เป็นข้ออ้างในการเขียนโค้ดแย่ๆ: โค้ดที่อ่านยากหลายครั้งแก้ไขได้ด้วยการตั้งชื่อตัวแปรให้สื่อถึงการใช้งานตั้งแต่แรก เช่นบางคนชอบตั้งชื่อตัวแปรเป็นอักษรตัวเดียว ถ้าอธิบายโค้ดด้วยคอมเมนต์ไม่ได้ อาจจะแปลว่าโค้ดแย่: บางครั้งคอมเมนต์ในโค้ดอาจจะบอกแค่ว่ามันยากเกินอธิบาย การที่โค้ดอธิบายไม่ได้เช่นนี้อาจจะแปลว่าเราควรปรับโค้ดใหม่ให้ตรงไปตรงมา อย่าปล่อยให้คอมเมนต์สร้างความสับสน: คอมเมนต์บางอย่างไม่ได้เกี่ยวอะไรกับโค้ด ทำให้คนอ่านงงว่าคนคอมเมนต์จะบอกอะไร พยายามอธิบายส่วนที่คนไม่ชิน: หากเห็นโค้ดที่คนอื่นมาอ่านแล้วน่าจะรู้สึกแปลก หรือโค้ดที่คนอาจจะรู้สึกว่าตัดทิ้งก็ได้ก็ควรเขียนคอมเมนต์ไว้ว่าโค้ดส่วนนั้นจำเป็นอย่างไร ใส่ที่มาของโค้ด: การใส่ลิงก์ที่มาของโค้ดช่วยให้คนอ่านรู้ว่าโค้ดนี้พยายามแก้ปัญหาอะไร และบางทีโค้ดในที่มาก็มีการปรับปรุงไปแล้วก็อาจจะนำมาปรับปรุงในโครงการด้วย ใส่ลิงก์อ้างอิง: บางครั้งเราอาจจะไม่ได้เอาโค้ดมาโดยตรง แต่อ้างอิงจากเอกสารมาตรฐาน การใส่ลิงก์ไว้ก็ช่วยให้คนอ่านรู้ว่าเราพยายามทำตามมาตรฐานใด และบางครั้งมาตรฐานก็มีการปรับปรุงเช่นกัน อ้างอิงถึงบั๊ก: หลายครั้งโค้ดที่กำลังพัฒนาเกิดจากการแก้ไขบั๊กก่อนหน้า ควรใส่คอมเมนต์อธิบายว่าโค้ดส่วนนั้นแก้ไขบั๊กอย่างไร หรือบางทีก็อ้างอิงหมายเลขบั๊กเข้าไปเลย เตือนว่ายังอิมพลีเมนต์ไม่เสร็จ: หลายโครงการมีฟีเจอร์ที่อิมพลีเมนต์ไว้ครึ่งๆ กลางๆ การใส่คอมเมนต์ TODO ค่อนข้างเป็นมาตรฐาน หรือให้ดีก็อ้างอิงถึง issue tracker ที่กำลังคุยกันถึงการแก้ไขโค้ดส่วนนั้นไว้เลย คำแนะนำในการเขียนคอมเมนต์โค้ดนั้นมีหลากหลาย แต่แนวทางของ StackOverflow ก็นับว่าครอบคลุมกรณีส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการใส่ที่มาในข้อ 6-8 ที่คำแนะนำบางที่ไม่ได้กล่าวถึงกันนัก ที่มา - StackOverflow คอมเมนต์ทุกบรรทัดโดยไม่จำเป็นทำให้โค้ดอ่านยากกว่าเดิม ตัวอย่างโดย Professional_Marxman
# หลุดเครื่องจริง Galaxy S21 FE ก่อนเปิดตัวในงาน CES 2022 เราเห็นข่าวลือของ Galaxy S21 FE กันมานานพอสมควร แต่สุดท้ายซัมซุงยังไม่ยอมเปิดตัวสักที ด้วยเหตุผลที่ลือกันว่าเป็นเพราะขาดแคลนชิ้นส่วนจากปัญหาซัพพลายเชน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวของ Galaxy S21 FE กลับมาอีกครั้ง โดยเว็บไซต์ของซัมซุงบางประเทศก็เริ่มนำข้อมูล (บางส่วน) ขึ้นเว็บแล้ว คาดว่าซัมซุงน่าจะเปิดตัวในงาน CES 2022 ช่วงหลังวันปีใหม่ แต่การหลุดไม่ได้มีเฉพาะข้อมูลเพียงอย่างเดียว เพราะมีคนได้เครื่องจริงๆ ออกไปรีวิวให้โชว์กันแล้ว ตัวอย่างคือช่อง HDblog ได้เครื่องของจริงมาให้ชมกันแบบเต็มๆ สเปกคร่าวๆ คือหน้าจอ 6.4" AMOLED 120Hz, หน่วยประมวลผล Snapdragon 888 (บางประเทศอาจเป็น Exynos 2100), แบตเตอรี่ 4,500 mAh คาดว่า Galaxy S21 FE จะเริ่มวางขาย 11 มกราคม 2022 ข้อมูลเดียวที่เหลืออยู่คือราคาเท่านั้น ที่มา - Android Central
# รัสเซียปรับเงิน Google-Meta ครั้งใหญ่ เพราะไม่ยอมลบเนื้อหาผิดกฎหมายจากแพลตฟอร์ม ศาลมอสโก สั่งปรับ Google และ Meta เนื่องจากไม่ยอมลบเนื้อหาต้องห้ามที่ผิดกฎหมายของรัสเซีย โดย Google โดนสั่งปรับ 7.2 พันล้านรูเบิล (ราว 3.3 พันล้านบาท) และ Meta โดนปรับ 2 พันล้านรูเบิล (ราว 900 ล้านบาท) Roskomnadzor หน่วยงานด้านการสื่อสารและสื่อมวลชนของรัสเซีย (คล้ายๆ กสทช. ของบ้านเรา) ระบุว่าได้แจ้งให้กูเกิลลบเนื้อหาผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด ความรุนแรง การก่อการร้าย ฯลฯ ออกจากแพลตฟอร์มมากกว่า 26,000 รายการ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เลยต้องยื่นคำร้องให้ศาลตัดสินสั่งปรับ ส่วน Facebook และ Instagram ของบริษัท Meta ก็ได้รับคำร้องลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ได้ระบุจำนวน Google บอกว่าจะศึกษาคำตัดสินของศาลก่อนตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป ส่วน Meta ยังไม่ตอบคำถามของสื่อในประเด็นนี้ ที่มา - Roskomnadzor (ภาษารัสเซีย), RT, Reuters
# Microsoft, Google, Intel, Lenovo ประกาศไม่เข้าร่วมงาน CES 2022 แบบ In-Person เช่นกัน บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายราย ทยอยประกาศไม่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านไอทีงานใหญ่ประจำปี CES 2022 ที่ลาสเวกัส ในรูปแบบ In-Person กันต่อเนื่อง โดยกลุ่มบริษัทล่าสุดที่ประกาศได้แก่ อินเทล, กูเกิล, Lenovo, Hisense, Waymo และไมโครซอฟท์ ซึ่งทั้งหมดจะมีการจัดนำเสนอในแบบออนไลน์ หรือบางรายอาจมีแค่บูธไปแสดง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ ถึงแม้บริษัทใหญ่จะทยอยไม่เข้าร่วมงานในพื้นที่ แต่ทางผู้จัดงาน CES ยังยืนยันว่าจะจัดงานต่อไป โดยยืนยันในมาตรการ ทั้งการรักษาระยะห่าง จำกัดจำนวนคนเข้าชมให้น้อยลง แสดงผลการฉีดวัคซีน บังคับใส่มาสก์ และมีการตรวจโควิด 19 ก่อนเข้างาน ที่มา: The Verge
# เนเธอร์แลนด์สั่งแอปเปิลเปิดเสรีระบบจ่ายเงินบน App Store สำหรับแอพหาคู่เดต หน่วยงานด้านแข่งขันทางการค้าของเนเธอร์แลนด์ Authority for Consumers and Markets (ACM) สั่งแอปเปิลให้เปิดเสรีระบบจ่ายเงินบน App Store สำหรับแอพกลุ่มหาคู่เดต ACM บอกว่าแอพหาคู่เดตเป็นแอพกลุ่มที่จำเป็นต้องมีผู้ใช้งานหลากหลาย แต่การใช้งานบน iPhone ถูกบังคับด้วยเงื่อนไขด้านระบบจ่ายเงิน และส่วนแบ่ง 15% ของแอปเปิล ทำให้ผู้พัฒนาแอพเสียเปรียบ และกลายเป็นแอปเปิลมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในภาพรวม หน้าที่ของ ACM จึงเป็นการสร้างการแข่งขันในตลาดให้มากขึ้น เพื่อให้กลไกตลาดทำงาน คำสั่งของ ACM กำหนดให้แอปเปิลต้องเปิดเสรีวิธีการจ่ายเงินภายใน 2 เดือน ไม่อย่างนั้นจะโดนค่าปรับสัปดาห์ละ 5 ล้านยูโร โดยมีเพดานสูงสุดที่ 50 ล้านยูโร ในขณะที่โฆษกของแอปเปิลระบุว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ และจะยื่นอุทธรณ์ กรณีนี้คล้ายกับเกาหลีใต้ที่สั่งให้ร้านขายแอปต้องเปิดรับจ่ายเงินผ่านระบบอื่น ที่มา - ACM, Reuters
# Skillsoft เข้าซื้อ Codecademy แพลตฟอร์มเรียนเขียนโค้ดออนไลน์ด้วยมูลค่ากว่า 525 ล้านดอลลาร์ Skillsoft เว็บไซต์ digital learning สำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรได้ประกาศเข้าซื้อ Codecademy แพลตฟอร์มสอนเขียนโค้ดออนไลน์อย่างเป็นทางการด้วยมูลค่ากว่า 525 ล้านดอลลาร์ สำหรับ Codecademy เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเรียนเขียนโค้ดออนไลน์ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2011 ปัจจุบันมีผู้เรียนกว่า 40 ล้านคนในเกือบทุกประเทศทั่วโลก มีคอร์สสอนภาษาโปรแกรมมิ่งกว่า 14 ภาษาที่ครอบคลุมหลากหลายส่วน ตั้งแต่การพัฒนาแอป, วิทยาการข้อมูล, คลาวด์ และความปลอดภัยไซเบอร์ ส่วนบริษัท Skillsoft นั้น ตัวธุรกิจจะเน้นที่กลุ่มเทคโนโลยียุคเก่า และกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นภาคองค์กร ซึ่งถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่ม B2B education โดยมีบริษัทกว่า 75% ใน Fortune 1000 เลือกใช้งาน การควบกิจการกับ Codecademy จะทำให้ฐานผู้ใช้ของแพลตฟอร์มใหญ่ขึ้น และเนื้อหาบนแพลตฟอร์มจะครอบคลุมมากกว่าเดิม ที่มา - TechCrunch, Skillsoft
# เจ้าของ Tesla Model S ระเบิดรถตัวเองทิ้ง หลังจากรับค่าซ่อมที่แพงมากไม่ไหว รถของ Tesla เป็นที่นิยมของคนชอบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ามีปัญหาในเรื่องคุณภาพการผลิตที่ค่อนข้างแย่มาหลายปี และการต่อต้านสิทธิ์ในการซ่อม รวมถึงปัญหาอื่นๆ จากทาง Tesla ที่ยังมีมาไม่ขาดสาย ค่าซ่อมบำรุงที่แพงจากราคาอะไหล่ที่แพงพอสมควร เจ้าของ Tesla Mode S ชาวฟินแลนด์ นามว่า Tuomas Katainen เป็นหนึ่งในลูกค้าของ Tesla ที่ไม่ประทับใจกับรถคันนี้อย่างมาก หลังพบปัญหาในการใช้รถคันนี้มากขึ้นเรื่อยๆ หลังใช้งานมานานกว่า 8 ปี จนกระทั่งต้องถูกลากเข้าศูนย์ซ่อมของ Tesla อยู่หนึ่งเดือน และได้รับแจ้งว่าต้องเปลี่ยนแบตเตอรีทั้งลูกในราคาที่สูงถึง 20000 ยูโร แปลงเป็นเงินไทยเกือบ 757,000 บาท แน่นอนว่า Tuomas ทำใจรับค่าซ่อมไม่ได้ เนื่องจากรถของเขาหมดระยะประกันไปแล้ว เขาจึงเลือกนำรถกลับไปเอง แล้วตัดสินใจบันทึกวีดีโอการระเบิดทำลายรถของเขา โดยมีวัตถุประสงค์ประท้วงการบริการที่แย่ของ Tesla และคุณภาพของรถที่ไม่ดีที่เขาเคยประสบมาจากการใช้งาน การวางแผนระเบิดรถ Tesla Model S ต้องใช้ระเบิด Dynamite น้ำหนักรวม 30 กิโลกรัม แล้วนำหุ่นจำลองของ Elon Musk ใส่ไว้ในรถ แสดงถึงความเกลียดที่เจ้าของรถมีต่อเขาจากปัญหาในรถคันดังกล่าว ก่อนระเบิดทิ้งไปด้วยกันกับรถคันดังกล่าว ที่มา: Carbuzz
# พนักงาน Apple บางส่วนในสหรัฐฯ เตรียมหยุดงานประท้วงวันคริสต์มาสอีฟ เรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้น กลุ่มพนักงาน #AppleToo ที่ปัจจุบันปรับเป็น Apple Together เตรียมนัดหยุดงานประท้วงในวันคริสต์มาสอีฟ วันที่ 24 ธันวาคมนี้ หรือคืนนี้ของบ้านเรา เพื่อเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้นอีกครั้ง ผ่านโพสต์ทวิตเตอร์ Apple Together เป้าหมายหลักของการนัดหยุดงานประท้วงครั้งนี้คือการเรียกร้องสภาพการทำงานที่ให้ความเคารพกับพนักงาน เรียกร้องวันลาป่วยที่ยังได้รับค่าจ้าง การป้องกันจากโควิดสำหรับแนวหน้า และสวัสดิการด้านสุขภาพจิตสำหรับพนักงาน ก่อนหน้านี้พนักงาน Apple ตั้งกลุ่ม #AppleToo ร่วมกันส่งจดหมายถึง Tim Cook เรียกร้องสภาวะการทำงานที่เป็นธรรมมากขึ้น แต่หลังจากนั้น Apple กลับไล่แกนนำของกลุ่มออกจากงาน แม้จะอ้างสาเหตุอื่น แต่พนักงานบางส่วนก็ไม่เชื่อนัก ในจดหมาย กลุ่ม #AppleToo ระบุว่าแม้ Apple จะผลักดันเรื่องความเท่าเทียมในที่ทำงาน แต่เมื่อพนักงานร้องเรียนปัญหาการกลั่นแกล้งหรือเหยียดหยาม ฝ่ายบุคคลก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว ซึ่งพนักงานต้องผูกข้อมูลส่วนตัวกับอุปกรณ์ที่ใช้ และถ้าพนักงานต้องการใช้สิทธิ์บริการสุขภาพของบริษัท ก็ต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลสุขภาพส่วนตัวให้ Apple และพาร์ทเนอร์เป็นเวลานาน 2 ปีด้วย ทำให้เหมือนกับแม้ Apple จะดูใส่ใจความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ แต่กลับไม่ใส่ใจความเป็นส่วนตัวของพนักงานเท่าที่ควร ที่มา - 9to5Mac
# นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นในมหาวิทยาลัยเมจิ ผลิตจอทีวีพร้อมเสปรย์พ่นจอให้เลียชิมรสชาติได้ ศาสตราจารย์ Homei Miyashita นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมจิ ประเทศญี่ปุ่น ผลิตทีวีลิ้มรสได้ Taste the TV (TTTV) ที่มาพร้อมกับสเปรย์รสชาติสังเคราะห์ 10 รสชาติ ที่จะพ่นรสชาติผสมกันออกมาบนฟิล์มอนามัยบนหน้าจอ ให้คล้ายกับอาหารตามที่ตั้งค่าไว้ แล้วให้ผู้ใช้งานสามารถเลียเพื่อชิมรสบนหน้าจอได้ (หรือจริงๆ เอานิ้วป้ายมาชิมก็น่าจะเวิร์ค) ศาสตราจารย์ Miyashita ระบุว่าหน้าจอนี้จะสามารถสร้างรูปแบบปฏิสัมพันธ์ใหม่ของผู้คนในช่วงโควิด-19 จุดประสงค์คือให้ผู้คนสามารถรับประสบการณ์เหมือนทานอาหารที่ร้านในอีกซีกโลกด้วยตัวเอง แม้อยู่แต่บ้านก็ตาม แต่ไม่ได้พูดถึงการระบาดของโรคจากการเลียหน้าจอต่อกันแต่อย่างใด ศาสตราจารย์ Miyashita ระบุว่าต้นแบบทีวีนี้เขาผลิตขึ้นมาเอง ใช้เงินไปราว 1 แสนเยน (ราว 29,500 บาท) และกำลังคุยกับบริษัทเอกชนเพื่อเตรียมนำเทคโนโลยีเครื่องพ่นรสชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของจอนี้ ไปใช้สำหรับพ่นรสชาติต่างๆ เช่นช็อกโกแลตหรือพิซซา ลงบนขนมปัง ซึ่งดูแล้วก็น่าใช้จริงมากกว่าการเลียหน้าจออยู่พอสมควร ภาพจาก Reuters ที่มา - Reuters
# Jack Dorsey วิจารณ์แนวคิด web3 ว่ากระจายศูนย์ไม่จริง ถูกนักลงทุนควบคุมอยู่เบื้องหลัง Jack Dorsey ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ Twitter ที่เพิ่งลงจากตำแหน่งหมาดๆ (เขายังเป็นซีอีโอของ Block ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของ Square) ออกมาวิจารณ์ศาสนาแนวคิด web3 ว่าไม่ใช่การกระจายศูนย์ที่แท้จริง เพราะสุดท้ายแล้ว กลุ่มนักลงทุน venture capital (VC) ต่างหากที่เป็นผู้ควบคุมอยู่เบื้องหลัง (ความหมายคือ VC เป็นเจ้าของเหรียญส่วนใหญ่ ที่กำหนดโควต้าไว้แล้วตั้งแต่แรก) ความหมายแบบกว้างๆ ของ web3 หมายถึงแนวคิดแบบกระจายศูนย์ที่อยู่บนบล็อกเชน และมักครอบคลุมแนวคิดเรื่อง decentralized autonomous organizations (DAOs), Decentralized finance (DeFi), การออกเหรียญ stablecoin หรือเกมที่อยู่บนบล็อกเชนด้วย (ความหมายจะต่างไปจาก Web 3.0 ที่เน้นเรื่อง semantic web หรือเว็บที่อธิบายตัวเองได้ มีเรื่อง metadata เข้ามาเกี่ยวข้อง) Jack ยืนยันว่าเขาไม่ได้ต่อต้านแนวคิด decentralization แต่อย่างใด เขาแค่อยากชี้ว่า web3 จริงๆ แล้วเป็นแนวคิดแบบรวมศูนย์ แต่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้คำว่า decentralization ต่างหาก คนดังอย่าง Elon Musk ยังเข้ามาแสดงความเห็น โดยเขาบอกว่ายังไม่เคยเห็น web3 ประสบความสำเร็จเลย ซึ่ง Dorsey ก็ไปตอบว่า "web3 อยู่ระหว่าง a กับ z" ซึ่งหมายถึงบริษัทลงทุนชื่อดัง Andreessen Horowitz (ตัวย่อในวงการคือ a16z) ซึ่งเป็นผู้ผลักดันแนวคิด web3 รายสำคัญในช่วงนี้ คำวิจารณ์ของ Dorsey ทำให้ผู้บริหารของ a16z เช่น Chris Dixon เข้ามาโต้เถียง ในขณะที่ Marc Andreessen ผู้ก่อตั้ง a16z ก็เลือกบล็อค Dorsey ไปเลย
# Alibaba Cloud สัญญาจะทำตามข้อบังคับให้ดีขึ้น หลังรัฐบาลจีนไม่พอใจที่ไม่แจ้งช่องโหว่ Log4j Alibaba Cloud แถลงว่าจะปรับปรุงกระบวนการให้เป็นไปตามกฎของรัฐบาลจีนยิ่งขึ้น หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทศโนโลยีสารสนเทศจีน (MIIT) แสดงความไม่พอใจที่ไม่ได้รับข้อมูลช่องโหว่ Log4j โดยแถลงการณ์ของบริษัทระบุว่าวิศวกรที่พบช่องโหว่แจ้งไปยัง Apache Foundation ตามแนวทางปกติของอุตสาหกรรม และตอนแรกไม่ได้ตระหนักว่าช่องโหว่นี้ร้ายแรงแค่ไหนจึงไม่ได้รีบแจ้งรัฐบาลโดยเร็ว MIIT พยายามสร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับแชร์ข้อมูลภัยไซเบอร์ระหว่างเอกชนและรัฐบาลจีนมาตั้งแต่ปี 2019 และที่ผ่านมาพยายามให้บริษัทต่างๆ ในจีนส่งช่องโหว่เข้าไปยังกระทรวง โดยวางข้อบังคับแก่บริษัทจีนตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ที่มา - South China Morning Post แผนที่ศูนย์ข้อมูล Alibaba Cloud ในปัจจุบัน
# เชิญชมกล้องโทรทรรศน์ James Webb Telescope ขึ้นสู่อวกาศ 25 ธ.ค. เวลา 19.20 น. NASA ประกาศช่วงเวลายิงจรวด Ariane 5 เพื่อส่งกล้องโทรทรรศน์ James Webb Space Telescope ขึ้นสู่อวกาศ ในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ เวลาประเทศไทย 19.20 น. โดยจะถ่ายทอดผ่านเว็บไซต์ NASA รวมถึงช่องทางโซเชียลอื่นๆ เช่น YouTube, Twitter James Webb Space Telescope (JWST) เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ที่สร้างขึ้นเพื่อมาใช้แทนกล้อง Hubble ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 1990 โดยกล้อง James Webb มีกระจกรับรังสีอินฟราเรดใหญ่กว่าเดิม 6 เท่า และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่ทันสมัยกว่า Hubble มาก ช่วยให้รับแสง-รังสีที่มาไกลกว่า Hubble ได้อีกมาก ช่วยให้การค้นคว้าด้านอวกาศพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิม เดิมทีกล้อง James Webb มีแผนจะยิงขึ้นอวกาศตั้งแต่ปี 2007 แต่โครงการก็ล่าช้าและบานปลายมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายได้ฤกษ์ขึ้นอวกาศจริงๆ ในวันคริสต์มาส 2021 วิดีโอแนะนำ James Webb Space Telescope โครงการ JWST ตั้งชื่อตาม James E. Webb อดีตผู้อำนวยการ NASA ระหว่างปี 1961-1968 ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาโครงการ Apollo เพื่อส่งคนไปดวงจันทร์ในยุคนั้น (ส่วนกล้อง Hubble ตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ Edwin Hubble) JWST เป็นโครงการที่พัฒนาร่วมกันระหว่างหน่วยงานอวกาศของสหรัฐอเมริกา (NASA), แคนาดา (CSA) และยุโรป (ESA) โดยกล้องจะขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Ariane 5 ของยุโรป จากฐานยิงที่ประเทศเฟรนช์เกียนา ในทวีปอเมริกาใต้ การถ่ายทอดสดจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลา 18.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยช่วงเวลาที่ยิงจรวดขึ้นได้ (launch window) อยู่ระหว่าง 19.20-19.51 น. ตอนนี้กล้องถูกบรรจุขึ้นจรวดอยู่ที่ฐานยิงเรียบร้อยแล้ว ถ้าสภาพอากาศยังเป็นใจ เราก็จะได้เห็น JWST ขึ้นสู่อวกาศสักที ที่มา - NASA
# Apache HTTP Server ออกอัพเดต 2.4.52 แก้ไข 2 ช่องโหว่ร้ายแรง Apache ออกอัพเดต Apache HTTP Server เวอร์ชัน 2.4.52 แก้ไขสองช่องโหว่ร้ายแรงที่มีรายงานก่อนหน้านี้ CVE-2021-44790 และ CVE-2021-44224 ซึ่งผู้โจมตีอาจเข้ามาควบคุมระบบที่กระทบได้ ระบบความรุนแรงของสองช่องโหว่นี้อยู่ที่ 9.8 และ 8.2 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งถือว่าสูง หน่วยงานความมั่นคงไซเบอร์ของสหรัฐ หรือ CISA ให้คำแนะนำผู้ดูแลระบบว่าควรอัพเดตแก้ไขโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ช่องโหว่ log4j มีคะแนนที่ 10 เต็ม ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานการโจมตีจากช่องโหว่ดังกล่าว แต่ทีม HTTPD เชื่อว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ที่มา: ZDNet
# อินเทลขออภัยชาวจีน หลังทัวร์ลงเพราะห้ามซัพพลายเออร์ใช้สินค้าและแรงงานจากซินเจียง อินเทลขออภัยชาวจีนในบัญชี WeChat ของบริษัท หลังชาวเน็ตจีนแสดงความไม่พอใจเป็นวงกว้าง เนื่องจากอินเทลออกจากจดหมายถึงซัพพลายเออร์ห้ามใช้แรงงานและสินค้าจากเขตซินเจียงของจีน หลังสหรัฐฯ ระบุว่ามีการใช้แรงงานโดยบังคับในเขตนี้ หลังจากจดหมายของอินเทลเผยแพร่ในจีนและถูกชาวเน็ตจีนแสดงความไม่พอใจ พร้อมๆ กับสื่อของรัฐบาลหลายแห่งออกมาวิจารณ์ เช่น Global Times ระบุว่าอินเทลกล้าแสดงท่าทีแบบนี้เพราะแน่ใจว่าตลาดจีนจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร และเตือนอินเทลว่ารายได้จากจีนและฮ่องกงเป็นรายได้ก้อนใหญ่ของอินเทล ขณะที่ศิลปินที่อินเทลสปอนเซอร์อยู่อย่าง Kerry Wang ออกมาประกาศยุติสัญญา โดยระบุว่าผลประโยชน์ชาติต้องมาก่อน อินเทลพยายามชี้แจงว่านโยบายห้ามใช้แรงงานและสินค้าจากซินเจียงเป็นนโยบายเพื่อทำตามกฎหมายสหรัฐฯ และทางบริษัทเองไม่ได้พยายามแสดงท่าทีในเรื่องนี้ ที่มา - The Guardian ภาพโรงงาน D1D/D1X ของอินเทลเมื่อปี 2017
# [เปิดตัว+ลองจับ] Huawei P50 Pocket มือถือจอพับแนบสนิท สเปกเรือธง ราคาเริ่ม 8,988 หยวน Huawei เปิดตัวมือถือจอพับที่พับได้แบบแนบสนิท รุ่น Huawei P50 Pocket สเปกเรือธง ชิป Snapdragon 888 หน้าจอภายนอก 1 นิ้วเป็นทรงกลมคล้ายจอ Huawei Watch อยู่คู่กับโมดูลกล้องหลัง กล้องหลัก 40MP กล้องอัลตร้าไวด์ 13MP และกล้องอัลตร้าสเปกตรัม 32MP ช่วยเก็บรายละเอียดแสงและสี จอภายในอัตราส่วน 21:9 เป็นจอ OLED แบบ 120Hz ความละเอียด 2790 x 1188 พิกเซล กล้องหน้าแบบเจาะรู 10.7MP แบตเตอรี่ 4,000mAh ชาร์จเร็ว 40W มีรุ่น แรม 8GB ความจุ 256GB ราคา 8,988 หยวน (ราว 47,400 บาท) และรุ่นพิเศษสีทอง แรม 12GB ความจุ 512GB ราคา 10,988 หยวน (ราว 57,900 บาท) วางจำหน่ายในประเทศจีนแล้ววันนี้ ส่วนในประเทศอื่นและบ้านเรายังไม่มีข้อมูล นอกจากนี้ วันนี้ Huawei ประเทศไทยยังได้จัดงาน Exclusive Preview ที่มีเครื่อง P50 Pocket ให้ลองสัมผัส จากที่ได้ลองสัมผัส ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบา หน้าจอ 21:9 ที่ใกล้เคียงกับสัดส่วนภาพยนตร์น่าจะทำให้เวลาดูคอนเทนต์มีแถบสีดำน้อยลง และอีกจุดที่หน้าสนใจคือหน้าจอตอนพับไม่มีช่องว่างตรงกลางแล้ว น่าจะทำให้ใช้งานได้อย่างสบายใจขึ้น ไม่ต้องกลัวแตกหักนัก ฝาของ P50 Pocket จะมีเท็กซ์เจอร์ลวดลายที่ได้รับการออกแบบจากดีไซเนอร์ชื่อดังชาวเนเธอร์แลนด์ Iris van Herpen ให้ความรู้สึกเป็นคลื่นแบบ 3D สีทองรุ่นพรีเมี่ยมดูจะเป็นสีที่โดดเด่นที่สุด แต่ตัวเครื่องยังใช้วัสดุที่ค่อนข้างดึงดูดรอยนิ้วมือ จับกันไปได้สักพักก็มีรอยนิ้วมือพอสมควรแล้ว ในงานยังมีแง้มๆ ว่า Huawei P50 Pro มือถือรุ่นเรือธงที่ทำคะแนน DXOMark ได้ถึง 144 คะแนน และปัจจุบันยังอยู่ในอันดับ 1 ของเว็บไซต์อยู่ เตรียมวางจำหน่ายในบ้านเราช่วงต้นปีนี้แล้ว ส่วนจะเป็นราคาเท่าไร และวันไหนกันแน่ คงต้องติดตามกันต่อไป ที่มา - งาน Huawei Exclusive Preview, GSMArena
# Tencent ประกาศลดการถือหุ้น JD.com โดยใช้วิธีปันผลให้ผู้ถือหุ้นบริษัท Tencent ประกาศแผนกระจายหุ้น JD.com ที่บริษัทถือครองอยู่ โดยจะใช้วิธีปันผลให้กับผู้ถือหุ้น Tencent ทุกคน ในอัตราส่วน 21 หุ้น Tencent ต่อ 1 หุ้น JD.com ผลจากการปันผลนี้จะทำให้ Tencent ถือหุ้น JD.com จาก 17% เหลือราว 2.3% และจะทำให้ Walmart เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 แทน คาดว่าประกาศของ Tencent เป็นผลจากคำสั่งของหน่วยงานจีน ที่ต้องการควบคุมไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มีอำนาจผูกขาดในตลาด ซึ่งก่อนหน้านี้ Tencent ก็ถูกสั่งระงับดีลควบรวมกิจการบริษัทวิดีโอเกมสองราย ปัจจุบัน Tencent ถือหุ้นในบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง โดยนอกจาก JD.com แล้วมีอีคอมเมิร์ซ Pinduoduo, แอปเดลิเวอรี Meituan, แพลตฟอร์มวิดีโอ Kuaishou ไปจนถึง Tesla และ Spotify ที่มา: Channel News Asia และ Tencent (pdf)
# dtac เพิ่มการแจ้งเตือนเสียง "ตึ๊ด" ให้ลูกค้าทราบเมื่อโทรข้ามเครือข่าย dtac เพิ่มการแจ้งเตือนเสียง "ตึ๊ด" ให้ลูกค้ารับทราบเมื่อโทรไปยังหมายเลขต่างเครือข่าย (offnet call alert service) แบบเดียวกับที่ AIS เริ่มทำไปก่อนแล้วในเดือนกันยายน นายฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาดของ dtac ระบุว่าบริการแจ้งเตือนโทรนอกเครือข่ายจะช่วยแจ้งให้ทราบว่า ขณะนั้นผู้ใช้บริการกำลังโทรไปยังเครือข่ายเดียวกัน หรือ ต่างเครือข่าย เพื่อจะได้คำนวณช่วงเวลาการโทรได้อย่างสอดคล้องกับโปรโมชั่นที่เลือกใช้ ลูกค้า dtac จะได้รับบริการแจ้งเตือนโทรนอกเครือข่ายโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องสมัครใช้บริการ และไม่คิดค่าบริการเพิ่มเติม สำหรับผู้ใช้บริการที่ต้องการยกเลิกการใช้งาน สามารถปิดบริการได้ผ่านช่องทางด่วนพิเศษ (USSD) *104*32# กดโทรออก ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์ dtac
# รัฐบาลอินเดียทุ่มงบ 3.4 แสนล้านบาท ดึงบริษัทผลิตชิปมาตั้งโรงงาน คาดเริ่มผลิตใน 2-3 ปี รัฐบาลอินเดีย ประกาศงบประมาณ 7.6 แสนล้านรูปี (ประมาณ 3.4 แสนล้านบาท) อุดหนุนให้บริษัทผลิตชิปชั้นนำของโลกเข้ามาตั้งโรงงานในอินเดีย ตามที่เคยประกาศไว้ Ashwini Vaishnaw รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอทีของอินเดีย ให้สัมภาษณ์ว่าพูดคุยกับบริษัทผลิตชิปรายใหญ่เกือบทุกราย และได้รับเสียงตอบรับดี ตอนนี้บริษัทหลายรายกำลังคุยกับพาร์ทเนอร์ในอินเดีย เพื่อเตรียมมาตั้งฐานผลิตในอินเดีย เขาคาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะมีโรงงานอย่างน้อย 10-12 แห่งเริ่มเดินสายการผลิตได้จริง รัฐบาลอินเดียเตรียมเปิดรับใบสมัครขอเงินอุดหนุนในวันที่ 1 มกราคม 2022 ที่มา - Economic Times, Livemint ภาพจาก Pexels
# ซีอีโอ Micron ระบุ แรม DDR5 ดีมานด์เยอะ แต่มีของน้อย อาจขาดตลาดจนถึงครึ่งหลังปี 2022 หลัง Intel เตรียมออกซีพียู Intel Core 12th Gen เมนบอร์ดรุ่นใหม่ที่เตรียมรองรับซีพียูเจ็นใหม่นี้ เริ่มมาพร้อมกับการรองรับแรมแบบ DDR5 แล้ว แต่ปัญหาคือชิ้นส่วนบางอย่างของแรม DDR5 เช่น วงจรจัดการพลังงาน (power management IC) และโมดูลคุมแรงดันไฟฟ้า (voltage regulating module) ที่ไปรวมอยู่บนแรม DDR5 เริ่มหายากขึ้น ทำให้แรมอาจจะมีราคาแพงขึ้น และหาซื้อได้ยากอีกครั้ง Sanjay Mehrotra ซีอีโอบริษัท Micron หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตหน่วยความจำคอมพิวเตอร์รายใหญ่ ให้ข้อมูลกับเว็บ Tom’s Hardware ว่าดีมานด์ของแรม DDR5 ยังมีมากกว่าซัพพลาย เพราะชิ้นส่วนประกอบอื่นที่ไม่ใช่หน่วยความจำกำลังขาดตลาด ทำให้ส่งผลกระทบต่อแรม DDR5 ทำให้ขาดตลาด หรือมีราคาแพงไปด้วย และอาจลากยาวถึงครึ่งหลังของปี 2022 ใครที่กำลังจะประกอบคอมใหม่อาจจะต้องรอช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ซะก่อน (รวมถึงภาวนาให้ราคาการ์ดจอลดลงในช่วงนั้น) หรือไม่ก็อาจต้องหาเมนบอร์ดสำหรับซีพียู Intel 12th Gen ที่รองรับแรม DDR4 ไปก่อน แต่ถ้าเลือกไปทางหลังนี้ ก็อาจเสียโอกาสในการอัพเกรดในอนาคตและต้องซื้อเมนบอร์ดใหม่เมื่อแรม DDR5 เริ่มกลายเป็นมาตรฐานทั่วไปในท้องตลาด ที่มา - Tom’s Hardware
# TCL ออกอัพเดต Google TV แก้ปัญหาประสิทธิภาพ, นำกลับมาขายใหม่แล้ว ต่อจากข่าว TCL หยุดขายสมาร์ททีวีที่ใช้ Google TV ในสหรัฐชั่วคราว เพราะปัญหาเรื่องประสิทธิภาพซอฟต์แวร์ ล่าสุด TCL ออกอัพเดตแก้ปัญหาประสิทธิภาพแล้ว โดยระบุว่าทำงานเร็วและมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้นมาก ส่วนร้าน Best Buy ที่เป็นผู้ขายทีวีของ TCL รายเดียวในสหรัฐ ก็นำสินค้ากลับมาขายบนหน้าเว็บแล้วเช่นกัน TCL เป็นหนึ่งในสองแบรนด์ทีวีที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Google TV (อีกรายคือ Sony) แต่เพิ่งใช้ได้ไม่ทันไรก็มีปัญหาซะก่อน ส่วนสินค้าของ TCL ที่ขายในประเทศไทย เกือบทั้งหมดยังเป็น Android TV แบบเดิม ข้อมูลบนหน้าเว็บ TCL Thailand ตอนนี้มีทีวี X925 Mini LED 8K เพียงรุ่นเดียวที่ใช้ Google TV ซึ่งเป็นรุ่นเทียบเคียงกับซีรีส์ X9 ที่ขายในสหรัฐ และไม่ใช่รุ่นที่มีปัญหาประสิทธิภาพ ส่วนซีรีส์ 5-6 ที่เป็นประเด็นต้องหยุดขายในสหรัฐ นั้นยังไม่ได้นำเข้ามาทำตลาดในไทย ที่มา - 9to5google, Android Police, ภาพจาก TCL
# Tinder ประเทศไทย รายงานสถิติ Tinder Year in Swipe 2021 - ? เป็นอีโมจิยอดนิยม Tinder ประเทศไทย รายงานสถิติน่าสนใจของผู้ใช้งานในไทย Tinder Year in Swipe 2021 มีข้อมูลน่าสนใจดังนี้ อีโมจิที่ถูกใช้ในโปรไฟล์มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ ? ? ?️‍? ? ✨ เพลงประจำตัวยอดนิยมคือ STAY ของ The Kid LAROI และ Justin Bieber Passion ยอดนิยมคือ เพลง Netflix ท่องเที่ยว จังหวัดที่คนวิดีโอคอลมากที่สุดคือ นครราชสีมา ขอนแก่น กรุงเทพฯ เมืองต่างประเทศที่นิยมใช้ Passport คือ โซล ลอนดอน นิวยอร์ก ที่มา: Tinder Thailand
# Steam เริ่มเทศกาลลดราคาส่งท้ายปี Winter Sale 2021 Steam เริ่มเทศกาลลดราคาส่งท้ายปี Winter Sale 2021 ไปจนถึงวันที่ 5 มกราคม 2022 พร้อมเปิดให้โหวตรางวัล Steam Awards Game of the Year 2021 ด้วย เกมที่เข้าชิงรางวัลใหญ่มี 5 เกมคือ Valheim, New World, Cyberpunk 2077, Restident Evil Village และ Forza Horizon 5 เกมเด่นที่ลดราคาในรอบนี้คือ Deathloop ลด 50% เหลือ 985 บาท Dark Souls III ลด 75% เหลือ 375 บาท Dark Souls Remastered ลด 50% เหลือ 645 บาท Hades ลด 35% เหลือ 207.35 บาท Mortal Kombat 11 ลด 80% เหลือ 198 บาท Days Gone ลด 40% เหลือ 894 บาท Watch Dogs 2 ลด 80% เหลือ 320 บาท FIFA 22 ลด 60% เหลือ 640 บาท Battlefield 2042 ลด 34% เหลือ 1,055 บาท ที่มา - Steam
# SUSE ออก Harvester ระบบจัดการโครงการ Hyperconverged แบบโอเพนซอร์ส รุ่น 1.0 พร้อมใช้จริง SUSE ประกาศว่าซอฟต์แวร์ hyperconverged infrastructure (HCI) แบบโอเพซอร์สของตัวเองที่ชื่อว่า Harvester นั้นเข้าสู่เวอร์ชั่น 1.0 พร้อมใช้งานแล้ว โครงการ Harvester เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็อาศัยโครงสร้างอื่นๆ ที่มีมาก่อนแล้ว หลักๆ คือใช้ Kubernetes ร่วมกับ KubeVirt เพื่อจัดการ VM ในคลัสเตอร์ ส่วนระบบสตอเรจนั้นใช้ Longhorn ที่เป็นโครงการโอเพนซอร์สของ Rancher เอง ฟีเจอร์ในเวอร์ชั่น 1.0 รองรับการสร้างคลาวด์ภายในองค์กรค่อนข้างครบ เช่นการสร้าง template สำหรับติดตั้ง, การทำ live migration ข้ามเครื่อง, ใส่กุญแจ SSH ลงเครื่องใหม่, เชื่อมต่อเข้าหน้าจอ VM ทาง VNC, สำรองข้อมูลลง S3, รวมถึงการสร้างแอปผ่าน Terraform และในเวอร์ชั่น 1.0 จะเป็นเวอร์ชั่นแรกที่ Harvester เริ่มรองรับการอัพเกรดแบบคลิกเดียว แม้ว่า Kubernetes จะสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดซอฟต์แวร์โครงสร้างพื้นฐานขององค์กรไปได้มาก แต่แอปพลิเคชั่นจำนวนมากก็ยังรันอยู่บน VM รวมถึง Kubernetes ที่ก็ยังรันอยู่บน VM ที่ต้องการซอฟต์แวร์ HCI อยู่ดี ความพยายามของ SUSE คือการรวบเอาทั้งการจัดการ VM และคอนเทนเนอร์เข้าไปอยู่ในตัวจัดการของ Rancher ให้หมด ที่มา - SUSE
# เดือนนี้สามรอบแล้ว AWS โซน US-EAST-1 ไฟดับ ส่งผลเซิร์ฟเวอร์ล่มบางส่วน บริการ EC2 ของ AWS ในโซน US-EAST-1 มีปัญหาอีกครั้ง โดยเกิดปัญหาไฟฟ้าในศูนย์ข้อมูล AZ4 ส่งผลให้เซิร์ฟเวอร์ลูกค้าจำนวนหนึ่งดับไป แม้ตัวเว็บรายงานสถานะจะระบุว่าปัญหาครั้งนี้กระทบเฉพาะบริการ EC2 ใน US-EAST-1 AZ4 เท่านั้น แต่ผู้ใช้จำนวนหนึ่งรายงานว่าผลกระทบจริงกระทบทั้งโซน US-EAST-1 บริการบางตัวเช่น ElastiCache ไม่สามารถสร้างคลัสเตอร์ใหม่ได้ บางคนระบุว่า Load Balancer ไม่เสถียร เดือนนี้นับเป็นเดือนไม่ดีของ AWS โดยต้นเดือนที่ผ่านมา US-EAST-1 ก็ล่มนานหลายชั่วโมง และเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา US-WEST-2 ก็มีปัญหาอินเทอร์เน็ต ทำให้เดือนนี้ในสหรัฐฯ มีปัญหาถึงสามรอบแล้ว ที่มา - Hacker News, AWS Status
# กระทรวงไอทีจีนหยุดความร่วมมือกับ Alibaba Cloud หลังไม่ได้แจ้งช่องโหว่ Log4j ให้รัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรมและเทศโนโลยีสารสนเทศ (Ministry of Industry and Information Technology - MIIT) ของจีนหยุดความร่วมแชร์ภัยไซเบอร์กับ Alibaba Cloud เป็นระยะเวลาอย่างน้อยหกเดือน เนื่องจากไม่พอใจที่ Alibaba Cloud ไม่ได้แจ้งช่องโหว่ Log4j ให้รัฐบาลทราบล่วงหน้า โดย MIIT ระบุว่ารู้ข่าวช่องโหว่นี้จากช่องทางอื่น ไม่ใช่ Alibaba Cloud ที่เป็นผู้พบช่องโหว่เอง ก่อนหน้านี้จีนวางกฎการรายงานช่องโหว่ว่าต้องรายงานไปยังรัฐบาลเสมอ, ห้ามรายงานไปยังหน่วยงานต่างชาตินอกจากเจ้าของซอฟต์แวร์, และห้ามซื้อขายช่องโหว่ แม้จะเปิดทางให้รายงานช่องโหว่ไปยังผู้ผลิตได้ แต่รัฐบาลจีนก็อาจจะคาดหวังว่าจะได้ข้อมูลช่องโหว่เร็วเป็นพิเศษ ช่องโหว่ CVE-2021-44228 หรือเรียกว่า Log4shell รายงานโดย Chen Zhaojun จาก Alibaba Cloud Security Team ที่มา - Reuters แผนที่ศูนย์ข้อมูล Alibaba Cloud ในปัจจุบัน
# เบื้องหลัง NSO Group โดนสหรัฐสั่งแบน เป็นเพราะล้ำเส้น มัลแวร์ถูกใช้เจาะนักการทูตสหรัฐ บริษัท NSO Group จากอิสราเอล ผู้สร้างมัลแวร์ Pegasus ใช้เจาะ iPhone กลายเป็นข่าวใหญ่ช่วงปลายปีนี้ หลังโดนสหรัฐอเมริกาสั่งแบนห้ามทำการค้าด้วย ตามด้วยการโดนแอปเปิลฟ้องร้อง และส่งอีเมลเตือนผู้ใช้ที่มีความเสี่ยงจาก Pegasus หนังสือพิมพ์ Financial Times รายงานเบื้องหลังเหตุการณ์ที่ทำให้ NSO Group โดนสหรัฐอเมริกาแบน เป็นเพราะมีลูกค้าของ NSO ในประเทศยูกันดา นำ Pegasus ไปเจาะโทรศัพท์ของนักการทูตสหรัฐในยูกันดา 11 คน ที่ผ่านมา NSO เสนอขาย Pegasus ให้หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามนำไปใช้กับโทรศัพท์ที่เป็นหมายเลขของสหรัฐ แต่กรณีนี้ โทรศัพท์ที่ถูกเจาะใช้หมายเลขของยูกันดา (แต่คนใช้เป็นนักการทูตสหรัฐในยูกันดา) กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้สหรัฐไม่พอใจ และลงโทษ NSO Group ด้วยการสั่งแบนอย่างเป็นทางการ ภาพจาก NSO Group ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครในยูกันดาเป็นคนใช้ Pegasus ไปแฮ็กนักการทูตสหรัฐ แต่ Financial Times ก็รายงานข้อมูลว่า NSO Group ขาย Pegasus ให้กับคณะของ Muhoozi Kainerugaba บุตรชายของประธานาธิบดียูกันดา การสั่งแบนของสหรัฐทำให้ NSO ไม่สามารถซื้อสินค้าไอทีจากบริษัทสัญชาติอเมริกันได้ ซึ่ง NSO ใช้เซิร์ฟเวอร์ของ Dell, เราเตอร์จาก Cisco รวมถึงพีซีที่ใช้ Windows แต่ยังไม่ชัดว่าผลในระยะยาวจะเป็นอย่างไร การสั่งแบนยังทำให้ซีอีโอคนใหม่ Itzik Benbenisti ลาออกใน 2 สัปดาห์ถัดมา และอดีตซีอีโอ Shalev Hulio ต้องกลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง NSO Group ถือเป็นหัวหอกของบริษัทไอทีอิสราเอล และอดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu ก็เคยใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการทูตกับประเทศต่างๆ แต่เมื่อ NSO ไปล้ำเส้นพันธมิตรของอิสราเอลอย่างสหรัฐอเมริกาซะเอง (แม้ไม่ได้เป็นคนแฮ็กโดยตรง) ทำให้ NSO อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก เพราะกลายเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐ ที่มา - Financial Times via Ars Technica
# อินเทลโดนทัวร์ชาวเน็ตจีนลง หลังมีข่าวห้ามซัพพลายเออร์ใช้แรงงานซินเจียง เมื่อวานนี้สำนักข่าว Guancha.cn ในจีนรายงานถึงจดหมายจากอินเทลถึงซัพพลายเออร์ว่าห้ามใช้แรงงานหรือสินค้าจากซินเจียง ส่งผลให้ชาวจีนไม่พอใจเป็นวงกว้าง แม้หนังสือพิมพ์ South China Morning Post จะระบุว่าจดหมายนี้อยู่บนเว็บไซต์ของอินเทลเอง แต่ผมหาจดหมายต้นฉบับที่มีข้อความดังกล่าวไม่พบ พบเพียงรายงานซัพพลายเชนประจำปี 2020-2021 ที่ระบุว่ามีนักลงทุนสอบถามเข้าไปยังบริษัทว่าใช้แรงงานหรือสินค้าจากซินเจียงหรือไม่ และบริษัทได้ตรวจสอบแล้วไม่พบว่าไม่ได้ใช้สินค้าหรือแรงงานจากเขตซินเจียงแต่อย่างใด ประเด็นการบังคับใช้แรงงาน (forced labor) ในซินเจียงเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างจีนและโลกตะวันตก ความขัดแย้งนี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับวงการแฟชั่นมาก่อนหน้านี้เนื่องจากซินเจียงเป็นแหล่งผลิตฝ้ายสำคัญ ที่มา - South China Morning Post ภาพโรงงาน D1D/D1X ของอินเทลเมื่อปี 2017
# เลิกล้อ! Final Fantasy XIV แก้องุ่นเหลี่ยมแล้ว ผู้เล่นและทีมงานไว้อาลัยกันถ้วนหน้า Final Fantasy XIV เป็นเกมออนไลน์ในแฟรนไชส์ Final Fantasy ที่ขายดีจนทีมงานต้องหยุดขายชั่วคราว เพราะเซิฟเวอร์แน่น แต่ก็มีบางจุดที่ทีมงานอาจเร่งทำไปบ้าง เช่นพวงองุ่นในเกม ที่มีโพลีกอนต่ำ ทำให้ออกมาเหลี่ยมราวกับเกมบน PS1 ทำแฟนเกมแอบล้อขำๆ กันมากมาย ล่าสุดในแพตช์ 6.01 ทีมงานได้แก้ไข เพิ่มโพลีกอนให้องุ่นหายเหลี่ยมแล้ว (แม้เท็กซ์เจอร์จะหยาบอยู่) พร้อมออกมาโพสต์ทวิตไว้อาลัย ว่าเราจะคิดถึงนายเจ้าองุ่นเหลี่ยม ซึ่งก็มีแฟนเกมตามมาเล่นมุกไว้อาลัยองุ่นเหลี่ยมกันมากมายเช่นเคย จุดที่ฮาคือมีแฟนเกมคนนึงนำรูปพวงองุ่นสีเขียวใน Wineport มาโพสต์ในทวิตเตอร์ บอกว่าทีมงานลืมแก้เจ้าองุ่นเขียวนี่นะ ทำให้ทีมงานมาตอบว่า “oh..” และคาดว่าน่าจะได้รับการแก้ไขในแพตช์ต่อๆ ไป ภาพก่อนแก้ไข จาก: Low Poly Videogames Food ภาพหลังแก้ จาก: Reddit user hospitalvespers ที่มา - IGN
# LG เปิดตัวมอนิเตอร์ 28 นิ้วรุ่นใหม่ LG DualUp อัตราส่วน 16:18 เหมือนต่อสองจอซ้อนกัน LG เปิดตัวมอนิเตอร์ 28 นิ้วรุ่นใหม่ LG DualUp หน้าจออัตราส่วน 16:18 นิ้ว เพิ่มพื้นที่แนวตั้งสำหรับทำงาน ราวกับเอาจอมอนิเตอร์สองจอมาซ้อนกัน หน้าจอความละเอียด 2560 x 2880 พิกเซล แสดงผลสีมาตรฐาน DCI-P3 ได้ 98% ความสว่าง 300 nits คอนทราสต์ 1000:1 รองรับ HDR 10 และมีลำโพง 7W สองข้างในตัว พอร์ตเชื่อมต่อมี USB Type-C หนึ่งพอร์ต ชาร์จไฟ PD และมีโหมด DisplayPort Alt มีพอร์ต HDMI อีกสองพอร์ต พอร์ต DisplayPort อีกหนึ่งพอร์จ พอร์ต USB Upstream หนึ่งพอร์ต และพอร์ต USB Downstream อีกสองพอร์ต อีกรุ่นที่เปิดตัวเป็น LG UltraFine ขนาด 32 นิ้ว อัตราส่วน 16:9 ปกติ ความละเอียด 3840 x 2160 พิกเซล (4K) แสดงผลสีมาตรฐาน DCI-P3 ได้ 98% เช่นกัน แต่สว่างสูงสุด 400 nits คอนทราสต์เพิ่มเป็น 2000:1 และรองรับ DisplayHDR 400 มีระบบปรับสีจออัตโนมัติ (automatic self-calibration) รองรับ AMD FreeSync ลำโพงที่ให้มาเป็น 5W สองข้าง ส่วนพอร์ตเชื่อมต่อ มีเหมือนกันกับ DualUP ทั้งสองรุ่นยังไม่เปิดราคาและวันวางจำหน่าย ที่มา - XDA Developers
# ผลสำรวจผู้อ่าน Yahoo Finance ให้ Meta เป็นบริษัทยอดแย่แห่งปี 2021 เว็บไซต์ Yahoo Finance ทำแบบสำรวจคนอ่านเพื่อโหวตบริษัทยอดเยี่ยม และยอดแย่แห่งปี หลังปีนี้ Microsoft คว้าตำแหน่งบริษัทยอดเยี่ยมไป Yahoo Finance ก็ประกาศมอบตำแหน่งบริษัทยอดแย่แห่งปี 2021 ให้กับ Meta หรือชื่อเดิม Facebook แบบสำรวจนี้ถูกโพสต์บน Yahoo Finance ช่วงวันที่ 4-5 ธันวาคม มีผู้ตอบแบบสำรวจ 1,541 คนและจากรายชื่อบริษัททั้งหมด Meta ได้คะแนนโหวตบริษัทยอดแย่สูงที่สุดที่ 8% จากการถูกแฉปัญหาไม่บล็อก Hate Speech ให้ดีพอเพราะกลัว engagement ตกโดย Frances Haugen อดีตพนักงาน ปัญหาอัลกอริทึมที่ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง และปัญหาต่อสุขภาพจิตเยาวชน โดยได้คะแนนโหวตมากกว่าอันดับ 2 คือบริษัทอีคอมเมิร์ซจีน Alibaba ถึง 50% อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจ 30% มองว่า Meta ยังสามารถแก้ไขภาพลักษณ์บริษัทได้ ความเห็นหนึ่งระบุว่าหาก Meta ยอมรับและขอโทษในปัญหาที่สร้าง รวมถึงบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลที่มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหานั้น ส่วนความเห็นผู้ที่ระบุว่าถือหุ้น Meta มองว่าจะยอมรับปัญหาต่างๆ ได้ หากหุ้น Meta เติบโตมากกว่านี้ ที่มา - Yahoo Finance
# รถยนต์ไฟฟ้า Polestar 2 ออกอัพเดต OTA เพิ่มระยะวิ่งได้อีก 60 กม. โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม Polestar แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของ Volvo/Geely ออกอัพเดต OTA ให้กับรถยนต์รุ่น Polestar 2 ซึ่งสามารถขยายระยะการวิ่งต่อการชาร์จหนึ่งครั้งได้อีก 37 ไมล์ (ประมาณ 60 กิโลเมตร) เดิมที Polestar 2 รุ่น Long range Single motor มีระยะวิ่งที่ 233 ไมล์ (374 กิโลเมตร) หลังอัพเดต OTA แล้วจะวิ่งได้ 270 ไมล์ (434 กิโลเมตร) โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มกับฮาร์ดแวร์เลย ซึ่ง Polestar ระบุว่านี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าบริษัทปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามที่เคยสัญญาไว้ ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของ Polestar 2 ทำให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่น่าดึงดูดในแง่ราคาต่อระยะวิ่ง คือ 270 ไมล์ในราคาเริ่มต้น 45,900 ดอลลาร์ เทียบกับคู่แข่ง Tesla Model Y Long Range ที่วิ่งได้ไกลกว่าคือ 318 ไมล์ แต่ราคาก็สูงกว่าคือ 60,000 ดอลลาร์ อัพเดต OTA ตัวนี้ยังเพิ่มฟีเจอร์ซอฟต์แวร์อื่นๆ ได้แก่ การกำหนดช่วงเวลาชาร์จในช่วงที่ไฟฟ้าราคาถูก และปรับปรุงระบบช่วยขับขี่ Advanced Driving Assistance Systems (ADAS) ที่มา - Polestar via Notebookcheck
# Cloudflare เผยสถิติอินเทอร์เน็ตปี 2021 TikTok.com คนเข้าเยอะกว่า Google.com แล้ว Cloudflare เปิดสถิติทราฟฟิกการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกประจำปี 2021 พบว่าโดเมนเนมแชมป์เก่าตลอดกาล google.com ถูกโค่นเรียบร้อยแล้ว แชมป์รายใหม่คือ tiktok.com ที่มาแรงแซงทุกโดเมน สิ่งที่น่าประทับใจคือ tiktok.com มีปริมาณทราฟฟิกอยู่อันดับ 7 ของโลกในช่วงปลายปี 2020 เท่ากับว่าปี 2021 แซงพรวดเดียวขึ้นมาเป็นแชมป์เลย สถิติภาพรวมของปี 2021 ยังใกล้เคียงกับปี 2021 โดยมีโดเมนเนมใหม่เข้ามาติด Top 10 อีกราย (นอกจาก tiktok.com) คือ whatsapp.com เข้ามาติดอันดับ 10 ในขณะที่ instagram.com หลุดโผไปจาก Top 10 ชาร์ทแสดงอันดับของ TikTok สถิติอื่นๆ ของ Cloudflare ที่น่าสนใจคือ Netflix ยังเป็นแชมป์สตรีมมิ่ง, Amazon ยังเป็นแชมป์ E-commerce, LinkedIn มาแรงขึ้นมากจากกระแส The Great Resignation ที่คนจำนวนมากลาออกและเปลี่ยนงาน ที่มา - Cloudflare
# เผย Steve Ballmer เคยคิดตั้งชื่อ Cortana ว่า Bingo เป็นของขวัญส่งต่อให้ Satya Nadell Sandeep Paruchuri อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ ให้สัมภาษณ์กับ Big Bets เล่าถึงประวัติการพัฒนา Cortana แอปผู้ช่วยสั่งงานด้วยเสียง ซึ่งเปิดตัวพร้อมกับ Windows Phone 8.1 ที่ตอนนี้ไมโครซอฟท์ได้ลดบทบาทความสำคัญลง เขาเล่าถึงที่มาชื่อ Cortana ว่าเกิดจากเดิมเป็นโค้ดเนมภายในเท่านั้น แต่พอชื่อนี้หลุดไปก็เลยตัดสินใจใช้เสียเลย โดยอีกชื่อที่เป็นตัวเลือกคือ Alyx นอกจากนั้นเขายังเผยว่าอดีตซีอีโอ Steve Ballmer เคยเสนอให้เปลี่ยนชื่อบริการนี้เป็น Bingo โดยจะถือเป็นของขวัญในการส่งต่อตำแหน่งซีอีโอให้กับ Satya Nadella ซึ่งสุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อพูดถึงการเกิดขึ้นและล้มเหลวของ Cortana นั้น Paruchuri บอกว่า เดิม Cortana ออกแบบเป็นผู้ช่วยบน Windows Phone ที่เน้นการประเมินข้อมูลต่าง ๆ และเสนอแนะ มากกว่ารอรับคำสั่งแล้วทำตาม (เทียบกับ Siri เวลานั้น) ซึ่งก็ทำได้ดี แต่เริ่มผิดทิศทางเมื่อไมโครซอฟท์พยายามใส่ Cortana บนแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ดีเท่ากับในสมาร์ทโฟน ที่มา: Ars Technica
# McDonald's ขาย Dynamic Yield สตาร์ทอัพการตลาด Personalized ให้ Mastercard แมคโดนัลด์ประกาศว่า ได้ขายธุรกิจ Dynamic Yield สตาร์ทอัพพัฒนาเครื่องมือการตลาดออนไลน์ ให้กับ Mastercard โดยไม่เปิดเผยมูลค่าของดีล เมื่อปี 2019 แมคโดนัลด์ได้ซื้อกิจการ Dynamic Yield โดยตอนนั้นให้เหตุผลว่า เพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการลูกค้าที่ดีขึ้น ซึ่งได้นำมาใช้แล้วกับบริการไดรฟ์ทรูและตู้คิออสก์สั่งอาหาร Mastercard หวังว่าจะนำเทคโนโลยีของ Dynamic Yield มาใช้ปรับปรุงบริการและข้อเสนอสำหรับลูกค้าได้ดีมากขึ้นด้วยข้อมูลต่าง ๆ ที่มา: CNBC
# OnlyFans ประกาศเปลี่ยนตัวซีอีโอคนใหม่ - ซีอีโอคนเก่ามาเป็นที่ปรึกษาแทน Tim Stokely ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง OnlyFans ประกาศลงจากตำแหน่ง โดยแต่งตั้ง Ami Gan หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรขึ้นเป็นซีอีโอคนใหม่แทน โดย Stokely จะรับตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทต่อไป OnlyFans เป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้งานจ่ายเงินให้กับครีเอเตอร์เพื่อเข้าถึงเนื้อหา ซึ่งเนื้อหาที่ได้รับความนิยมสูงก็เป็นเนื้อหาทางเพศ ทำให้ OnlyFans มีความพยายามแบนเนื้อหาดังกล่าว แต่ก็เปลี่ยนใจภายในไม่กี่วันหลังมีกระแสตอบรับไม่ดี เว็บไซต์ TechCrunch สอบถามไปยัง OnlyFans ว่าการเปลี่ยนตัวซีอีโอคนใหม่ จะมีผลต่อนโยบายเนื้อหาหรือไม่ แต่ OnlyFans ปฏิเสธจะตอบคำถามนี้ ที่มา: TechCrunch
# Intel เตรียมพักงานพนักงานที่ไม่ฉีดวัคซีน COVID-19 โดยไม่จ่ายเงินเดือน Intel เตรียมพักงานพนักงานที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน COVID-19 แบบไม่จ่ายเงินเดือน นอกจากพนักงานจะรีบไปฉีดวัคซีน หรือทำหนังสือขอยกเว้นที่มีเหตุผลทางการแพทย์หรือทางศาสนา ก่อนวันที่ 4 มกราคม และทำการตรวจเชื้อทุกสัปดาห์แม้ทำงานจากบ้าน โดยบริษัทจะตรวจสอบหนังสือขอยกเว้นการฉีดวัคซีนจนถึงวันที่ 15 มีนาคม ก่อนจะเริ่มพักงานพนักงานในเดือนเมษายน ข้อมูลนี้มาจากเอกสารภายในจาก Christy Pambianchi หัวหน้าฝ่ายบุคคลของ Intel ลงวันที่ 7 ธันวาคมที่ AP News และ The Oregonian ได้รับมา โดย Pambianchi ระบุว่าพนักงานที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่ได้รับการยกเว้น อาจถูกพักงานสูงสุด 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป โดยจะไม่ได้รับเงินเดือน แต่จะไม่ถูกไล่ออก และยังใช้สวัสดิการด้านสุขภาพได้อยู่ ระเบียบนี้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านวัคซีนในบริษัทที่มีพนักงานเกิน 100 คนของนาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้จะมีข้อถกเถียงด้านกฎหมายอยู่ว่าข้อกำหนดนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หรือไม่ โดย Intel ระบุกับ AP และ The Oregonian ว่ากำลังติดตามดูเรื่องข้อกฎหมายอย่างใกล้ชิด แต่คาดว่าอาจต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะมีข้อสรุป หลายบริษัทในสหรัฐฯ เริ่มออกมาเคร่งเรื่องมาตรการป้องกัน COVID-19 กันอีกครั้งหลังมีการระบาดของสายพันธุ์ Omicron เช่น Google และ Apple ที่เลื่อนแผนให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศออกไปไม่มีกำหนด รวมถึงApple ยังให้ลูกค้าใส่หน้ากากก่อนเข้าร้าน Apple Store ในสหรัฐฯ แม้พื้นที่นั้นจะไม่บังคับใส่หน้ากากก็ตาม ที่มา - The Verge
# สหภาพยุโรปเชื่อมระบบใบรับรอง COVID-19 กับไทย ใช้ใบรับรองจากหมอพร้อมได้เลย สหภาพยุโรปประกาศรับใบรับรอง COVID-19 จากชาตินอกสหภาพเพิ่มเติม 5 ชาติ ได้แก่ มอนเตเนโกร, ไต้หวัน, ไทย, ตูนิเซีย, และอุรุกวัย ทำให้ใบรับรองจากทั้ง 5 ชาติสามารถใช้งานในสหภาพยุโรปได้เทียบเท่ากับใบรับรองในสหภาพเอง และใบรับรองจากสหภาพยุโรปนั้นสามารถใช้ในชาติเหล่านี้ได้ด้วย รวมตอนนี้มี 60 ชาติที่ยอมรับใบรับรองจากสหภาพยุโรป สำหรับประเทศไทย สหภาพยุโรปยอมรับใบรับรองจากหมอพร้อม โดยระบุว่าระบบเก็บข้อมูลครบถ้วนเพียงพอ ทั้งข้อมูลการรับวัคซีน, การตรวจ COVID-19, และการฟื้นจากการติดเชื้อ กระบวนการตรวจสอบใบรับรองนั้นเพื่อยืนยันว่าใบรับรองถูกต้องเท่านั้น ไม่มีการเก็บข้อมูลไว้หลังจากนั้นอีก ใบรับรองของสหภาพยุโรปนั้นเป็น JSON ที่บีบอัดให้อยู่ภายใน QR อันเดียวและเซ็นด้วยลายเซ็นดิจิทัล ทำให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของใบรับรองได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหากมีกุญแจสาธารณะของผู้ออกใบรับรองแต่ละชาติอยู่ในเครื่อง สำหรับใบรับรองของหมอพร้อมตอนนี้ในแอปและ QR ยังคงเป็น URL ไปยังเว็บ co19cert.moph.go.th แม้ว่าข้อมูลที่ใช้แสดงประวัติการรับวัคซีน, การตรวจ, และการรักษา จะเป็น JSON ในฟอร์แมต Verifiable Credentials ตามมาตรฐาน W3C แต่ก็ไม่ได้ใส่ลายเซ็นดิจิทัลเอาไว้ รวมถึงไม่มีเอกสารระบุถึงกระบวนการตรวจสอบอื่นนอกจากตรวจผ่านแอปหรือสแกน QR เพื่อเข้าเว็บ ที่มา - European Commission
# OSOM บริษัทใหม่ของทีม Essential เดิม โชว์ภาพมือถือ OSOM OV1 เน้นความเป็นส่วนตัว หลังจากบริษัทมือถือ Essential ของ Andy Rubin ล้มเหลวจนต้องปิดตัวเมื่อปี 2020 ทีมงานส่วนหนึ่งก็ยังไม่ยอมแพ้ ออกมาตั้งบริษัทใหม่ชื่อ OSOM และล่าสุดออกมาโชว์มือถือรุ่นแรกของบริษัท OSOM OV1 แล้ว Jason Keats ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง OSOM (เขาเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายสถาปัตยกรรม iPad ที่แอปเปิล ก่อนออกมาคุมทีมวิจัยของ Essential) ให้สัมภาษณ์กับ Android Police พร้อมโชว์ภาพด้านหลังเครื่อง OSOM OV1 ที่มีสองสีคือขาวและดำ ระบุช่วงเวลาวางขายแบบคร่าวๆ ว่าเป็นฤดูร้อนกลางปี 2022 จุดขายหลักของ OSOM คือความเป็นส่วนตัว (บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ @OsomPrivacy) โดย Keats เล่าว่าปัญหาของ Essential คือทำหลายอย่างมากเกินไป จนขาดโฟกัส เขาจึงต้องการเริ่มต้นใหม่กับ OSOM โดยกำหนดเป้าหมายให้ชัดๆ ว่าจะทำอะไรกันแน่ ซึ่งปัญหาหลักที่เขาต้องการแก้คือ บริษัทโทรศัพท์รู้หมดว่าผู้ใช้ทำอะไรบ้าง แต่เขายังไม่เปิดเผยรายละเอียดมากนักว่า OSOM จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ข้อมูลคร่าวๆ ของ OSOM OV1 ที่เรารู้คือใช้ชิป Qualcomm ไม่ระบุรุ่น, สเปกเรือธงแบบที่ผู้ใช้ Android อยากได้, ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ที่พยายามรักษาความเป็น AOSP ให้มากที่สุด แต่จะเพิ่มฟีเจอร์ด้านความเป็นส่วนตัวเข้าไป OSOM OV1 จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเวทีงาน MWC 2022 เดือนกุมภาพันธ์ ที่มา - Android Police
# หลายบริษัทประกาศไม่เข้าร่วม CES 2022 จากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ มีรายงานว่า CES 2022 งานแสดงสินค้าด้านไอทีงานใหญ่ประจำปีระดับโลกที่ลาสเวกัส อาจพบความท้าทายจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 ต่ออีกหนึ่งปี โดย T-Mobile หนึ่งในผู้สนับสนุนงานหลัก ประกาศว่าซีอีโอ Mike Sievert จะไม่เข้าร่วมในงานเพื่อพูดคีย์โน้ต เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัท เช่น Meta, Twitter, Pinterest และ iHeartRadio ที่ประกาศว่าพนักงานส่วนใหญ่เดิมมีแผนเข้าร่วม จะเปลี่ยนเป็นไม่เข้าร่วมงานนี้ ด้าน AMD ซัมซุง โซนี่ กูเกิล ยังยืนยันว่าจะเข้าร่วมงาน ณ ขณะนี้ แต่อาจเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ส่วน Nvidia ประกาศว่าจะเข้าร่วมเฉพาะงานออนไลน์เท่านั้น CES 2022 ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะกลับมาจัดงานในรูปแบบ In-Person หลังจากปี 2021 จัดงานแบบออนไลน์ โดยผู้เข้าร่วมงานต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน ซึ่ง CTA ผู้จัดงาน ยืนยันว่ายังคงจัดงานในรูปแบบนี้ตามแผนต่อไป แต่จะเพิ่มมาตรการความปลอดภัยที่มากขึ้น ที่มา: The Verge
# Embracer ซื้อกิจการ 5 บริษัทรวด: บริษัทคอมิก Dark Horse, Perfect World สาขาอเมริกา Embracer Group กลุ่มทุนบริษัทเกมจากสวีเดน บริษัทแม่ของ THQ Nordic ที่ไล่ซื้อกิจการสตูดิโอเกมมากมายในช่วงหลัง ประกาศซื้อกิจการทั้งหมด 5 ดีลพร้อมกัน ดีลแรกคือบริษัทหนังสือการ์ตูนคอมิก Dark Horse Media เจ้าของซีรีส์และคาแรกเตอร์ดังๆ อย่าง Hellboy, Sin City, 300, The Mask, The Umbrella Academy ซึ่งหลายเรื่องก็ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ด้วย ปัจจุบัน Dark Horse มีทรัพย์สินทางปัญญาในสังกัดมากกว่า 300 รายการ มีพนักงาน 181 คน Embracer ระบุว่าซื้อ Dark Horse เข้ามาเป็นกลุ่มบริษัทรายที่ 10 ในเครือ จะมีสิทธิบริหารงานของตัวเอง เพื่อพัฒนาทรัพย์สินในมือของ Dark Horse เป็นคอนเทนต์ชนิดต่างๆ รวมถึงในรูปแบบเกมที่ Embracer ถนัดด้วย โดย Mike Richardson ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Dark Horse ก็จะอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อ ดีลที่สองคือการซื้อ Perfect World Entertainment บริษัทลูกสาขาอเมริกาของบริษัทเกมจีน Perfect World อีกทีหนึ่ง การซื้อกิจการครั้งนี้ Embracer จะได้สตูดิโอเกมอเมริกัน Cryptic Studios ที่เน้นทำเกมออนไลน์ MMORPG (เช่น Star Trek Online, Champions Online และเกมล่าสุดคือ Neverwinter ออกในปี 2013) และบริษัทจัดจำหน่ายเกม Perfect World Publishing (จัดจำหน่ายเกมของตัวเอง และเกม Torchlight) ทั้งสองส่วนมีพนักงานรวมกัน 237 คน ในราคารวม 125 ล้านดอลลาร์ ทั้ง Cryptic Studios และ Perfect World Publishing จะเข้ามาอยู่ในสังกัด Gearbox Entertainment ที่ Embracer ซื้อมาเมื่อต้นปีนี้ อีก 3 ดีลที่เหลือที่ประกาศพร้อมกันคือ Shiver Entertainment สตูดิโอเกมสัญชาติอเมริกัน มีพนักงาน 20 คน ก่อตั้งโดยอดีตผู้บริหาร EA Tiburon มีผลงานช่วยพัฒนาเกม Mortal Kombat และกำลังมีโครงการออกเกมของตัวเอง หลังซื้อแล้วจะไปอยู่ภายใต้กลุ่มบริหาร Saber DIGIC สตูดิโอแอนิเมชันจากฮังการี มีพนักงานเกือบ 400 คน รับงานทำภาพยนตร์และแอนิเมชันให้เกมดังๆ อย่าง Call of Duty: Vanguard, Marvel's Midnight Suns, Rainbow Six Siege, PUBG Mobile เป็นต้น หลังซื้อแล้วจะไปอยู่ภายใต้กลุ่มบริหาร Saber Spotfilm Networx บริษัทสตรีมมิ่ง-วิดีโอออนดีมานด์จากเยอรมนี มีช่องของตัวเอง 22 ช่องบนแพลตฟอร์มต่างๆ ใช้โมเดลหารายได้จากโฆษณาเป็นหลัก หลังซื้อแล้วจะไปอยู่ภายใต้กลุ่มบริหาร Koch Media ที่มา - Embracer (Dark Horse), Embracer (Perfect World), Embracer Group (รวม)
# DuckDuckGo ประกาศทำเบราว์เซอร์เดสก์ท็อป ไม่ใช้ Chromium แต่ใช้เอนจินของ OS บริการค้นหา DuckDuckGo มีแอพเบราว์เซอร์บนมือถือมาตั้งแต่ปี 2018 โดยชูว่าเป็น Privacy Browser ที่มีฟีเจอร์ด้านความเป็นส่วนตัวมากมาย ล่าสุด DuckDuckGo ประกาศทำเบราว์เซอร์สำหรับเดสก์ท็อปแล้ว โดยตั้งเป้าเป็น Privacy Browser ที่ทุกอย่างพร้อมใช้งานทันที ไม่ต้องมาตั้งค่าใดๆ ไม่ต้องเลือก "ระดับความเป็นส่วนตัว" แบบที่เบราว์เซอร์กระแสหลักทำกัน ประเด็นที่น่าสนใจคือ DuckDuckGo ไม่ใช้เอนจิน Chromium เหมือนกับเบราว์เซอร์กระแสรองตัวอื่นๆ (เช่น Brave หรือ Vivaldi) แต่เลือกใช้เอนจินดีฟอลต์ของ OS แทน (แบบเดียวกับบนมือถือ) นั่นคือ Edge WebView บนวินโดวส์ และ WebKit บนแมค ด้วยเหตุผลว่าสะดวกกว่า เร็วกว่า พัฒนาง่ายกว่า เพราะไม่ต้องเสียเวลามาถอดชิ้นส่วนของ Chromium ออกเอง DuckDuckGo ยังประกาศฟีเจอร์ App Tracking Protection สำหรับแอพเวอร์ชันมือถือ โดยจะป้องกันการตามรอยของแอพมือถือ ที่ฝังระบบตามรอยจาก Facebook หรือ Google, เพิ่มฟีเจอร์ป้องกันการตามรอยของ Facebook ในส่วนขยายของเบราว์เซอร์เดสก์ท็อปด้วย ที่มา - DuckDuckGo
# Raspberry Pi 4 ขาดตลาดทั่วโลก ปัญหา Raspberry Pi ขาดแคลนที่กระทบต่อมาจากปัญหาชิปขาดแคลนจนต้องขึ้นราคา ดูจะหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยตอนนี้ร้านค้าปลีกทั่วโลกแทบไม่มีร้านไหนมี Raspberry Pi 4B ขายเลย ในสหรัฐฯ ตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่อย่าง Mouser หรือ Digi-Key ล้วนไม่มีขาย แถมระบุว่าจะเติมสต็อกอีกทีปี 2023 เลยทีเดียว มีเพียง PiShop เท่านั้นที่ยังมีขายรุ่น 2GB อยู่ ส่วน Sparkfun ระบุว่ากำลังมีสต็อกเข้ามาเติมต้นปี 2022 พันกว่าชุด Raspberry Pi 4B เป็นรุ่นยอดนิยมที่ใช้งานกันในหมู่ผู้สนใจเทคโนโลยีเป็นวงกว้าง เพราะราคาถูก ประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆ ตัวแทนจำหน่ายในไทย เช่น Cytron ก็ไม่มีสินค้าขายเช่นกัน รุ่นใกล้เคียงที่ยังพอหาซื้อได้คือ Raspberry Pi 400 ราคา 3,699 บาท และสต็อกก็เหลือไม่มากแล้ว ที่มา - The Register
# รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ขอประชาชนอย่าใส่สร้อยป้องกันคลื่น 5G หลังพบเป็นแร่แผ่รังสี สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และการป้องกันรังสี (Authority for Nuclear Safety and Radiation Protection - ANVS) ของเนเธอร์แลนด์ประกาศเตือนประชาชน ขอให้เลิกสวมใส่เครื่องประดับและเสื้อผ้าหลายรายการที่โฆษณาว่าเอาไว้ป้องกันคลื่น 5G เครื่องประดับและเครื่องแต่งกายเหล่านี้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น สร้อยข้อมือ, ผ้าปิดตา, สร้อยคอ บางรุ่นเป็นสาย wristband สำหรับเด็ก หลังตรวจสอบพบว่าเครื่องประดับเหล่านี้เจือสารกัมมันตภาพรังสีอยู่จริง และปล่อยรังสีต่ำๆ อย่างต่อเนื่อง แม้รังสีที่ปล่อยออกมาจะต่ำมาก แต่การสวมใส่อย่างต่อเนื่องก็อาจจะทำให้ร่างกายได้รับรังสีเกินระดับปลอดภัยอยู่ดี ทาง ANVS ระบุว่าเครื่องประดับเหล่านี้ผิดกฎหมายเนเธอร์แลนด์ห้ามซื้อขาย ผู้ขายทุกคนต้องหยุดขายทันที สำหรับผู้ที่ซื้อไปแล้วให้เก็บให้พ้นมือ อาจจะใส่กลับหีบห่อเดิม หรือใส่ถุงปิดมิดชิด แล้วเก็บให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครนำมาใส่อีก จากนั้นให้ติดต่อผู้ขายเพื่อส่งคืน หรือรอทาง AVNS แจ้งกระบวนการเก็บทำลายต่อไป ข่าวปลอมเกี่ยวกับ 5G ในยุโรปนับเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ช่วงต้นๆ ของวิกฤติ COVID-19 ก็เคยมีการเผาเสาสัญญาณโทรศัพท์เนื่องจากข่าวปลอมว่าสัญญาณ 5G ช่วยแพร่ COVID-19 ที่มา - AVNS
# กระทรวงกลาโหมเบลเยียมถูกแฮกด้วยช่องโหว่ Log4j กระทรวงกลาโหมเบลเยียมถูกคนร้ายแฮกด้วยช่องโหว่ Log4j ตั้งแต่วันพฤหัสที่ผ่านมา จนระบบหลายส่วนใช้งานไม่ได้ และผู้เกี่ยวข้องต้องแก้ไขปัญหาตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แถลงการไม่เปิดเผยว่าระบบใดถูกโจมตีบ้าง และถูกโจมตีโดยกลุ่มใด แต่ระบุเพียงว่าจำกัดความเสียหายได้แล้ว ช่องโหว่ Log4j ที่พบเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หรือ CVE-2021-44228 มีความร้ายแรงสูง โจมตีได้ง่าย และมีซอฟต์แวร์ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้แฮกเกอร์กลุ่มต่างๆ พัฒนามัลแวร์ทั้งมับแวร์เรียกค่าไถ่, botnet สำหรับยิงทราฟิก, หรือแม้แต่ worm ที่แพร่กระจายตัวเองได้ไม่หยุด ออกมาเรื่อยๆ ศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์ของเบลเยียมเองก็ออกมาเตือนว่าหากยังไม่ป้องกันแล้ว ก็เตรียมเจอการแฮกได้ภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ ที่มา - ZDNet, The Register
# Nio เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นกลาง ET5 ระยะวิ่งสูงสุด 1,000 กม. ใช้ SoC NVIDIA Orin 4 ตัว Nio แบรนด์รถไฟฟ้าจากประเทศจีน เปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ET5 ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ถือเป็นรถซีดานจับตลาดกลาง รองจาก Nio ET7 ที่เปิดตัวไปก่อนแล้ว มีระยะการวิ่งสูงสุด 620 ไมล์ หรือประมาณ 1,000 กิโลเมตร หากสั่งรุ่นแบตเตอรี่เยอะพิเศษ 150 kWh Ultralong Range Battery ถ้าเป็นรุ่นแบตเตอรี่มาตรฐาน 75 kWh วิ่งได้ 550 กม. และรุ่น 100 kWh วิ่งได้ 700 กม. รถยนต์ Nio ET5 มีระบบคอมพิวเตอร์ภายในรถที่เรียกว่า Nio Adam โดยใช้งานชิป SoC NVIDIA Drive Orin ที่เปิดตัวในปี 2019 จำนวน 4 ตัว นับจำนวนซีพียูรวมกัน 48 คอร์, จีพียู 8,096 CUDA core, สมรรถนะ 1,000 TOPS เหตุผลที่ Nio Adam ต้องใช้ SoC ถึง 4 ตัว มีเพื่อระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถ โดย SoC สองตัวแรกใช้ประมวลผลข้อมูลจากเซ็นเซอร์ในรถ, SoC ตัวที่สามเป็นตัวสำรอง และ SoC ตัวที่สี่ใช้เทรนโมเดล เพื่อพัฒนารถยนต์ให้เรียนรู้พฤติกรรมของผู้ขับได้ดีขึ้น (ข้อมูลของ Adam บนเว็บ Nio) Nio จะเริ่มวางขาย ET5 ในเดือนกันยายน 2022 และขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในปีต่อไป โดยตั้งเป้า 25 ประเทศในปี 2025 ราคาขายในจีน รุ่นแบตเตอรี่มาตรฐาน 75 kWh อยู่ที่ 328,00 หยวน (ราว 1.75 ล้านบาท) โดยยังไม่หักส่วนลดที่ได้จากรัฐบาล ที่มา - Nio, NVIDIA
# LG เข้าวงการโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง เปิดตัว UltraGear 17G90Q จอ 300Hz ระยะเวลาตอบสนอง 1ms LG ประกาศบุกวงการเกมมิ่งโน้ตบุ๊กเป็นครั้งแรก โดยใช้แบรนด์ UltraGear ซึ่งใช้กับสินค้ากลุ่มเกมมิ่งมอนิเตอร์อยู่ก่อนแล้ว (โลโก้ด้านหลังโน้ตบุ๊กจะใช้ตัวย่อ UG) จุดเด่นของโน้ตบุ๊ก LG UltraGear จาก LG เจ้าพ่อแห่งวงการจอภาพ ย่อมเป็นเรื่องจอภาพที่มีระยะเวลาการตอบสนอง (response time) 1ms และอัตรารีเฟรช 300Hz โน้ตบุ๊ก LG UltraGear รุ่นแรก 17G90Q มีสเปกดังนี้ หน้าจอ 17.3" IPS 1920x1080 อัตรารีเฟรช 300Hz ระยะเวลาการตอบสนอง 1ms ซีพียู Intel Core 11th Gen Tiger Lake-H จีพียู GeForce RTX 3080 Max-Q แรม 16/32GB, สตอเรจสูงสุด 1TB SSD NVMe M.2 แบตเตอรี่ 93 Wh, น้ำหนัก 2.64 กิโลกรัม ลำโพง 2 Way (2.0W x 4) รองรับ DTS:X Ultra ตัวอ่านลายนิ้วมือที่ปุ่ม Power, กล้อง IR, ชิป Wi-Fi Intel Killer, คีย์บอร์ด RGB per key ตอนนี้ LG ยังไม่ประกาศราคาของ LG UltraGear 17G90Q โดยระบุว่าจะประกาศในงาน CES 2022 ช่วงหลังปีใหม่ สินค้าจะขายจริงในช่วงต้นปี 2022 ที่มา - LG
# กูเกิลหยุดซัพพอร์ตเราเตอร์ไร้สาย OnHub ที่ออกปี 2015, ให้ย้ายไปใช้ Nest Wifi ถ้ายังไม่ลืมกัน เมื่อปี 2015 กูเกิลเคยเปิดตัวไวร์เลสเราเตอร์แบรนด์ OnHub ร่วมกับ TP-Link และ ASUS แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำสินค้ากลุ่ม OnHub ต่ออีกเลย เพราะเปลี่ยนมาทำเราเตอร์ตระกูล Google Wifi ในปี 2016 ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น Nest Wifi แทน ตามสไตล์กูเกิลก็คงเดากันได้ไม่ยากว่า OnHub จะถูกฆ่าทิ้ง ล่าสุดกูเกิลประกาศแล้วว่าจะอัพเดต OnHub ให้จนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2022 หรืออีก 1 ปีถัดจากนี้ เท่ากับว่า OnHub มีอายุซัพพอร์ตนาน 7 ปี (ซึ่งก็ถือว่ามากพอสมควร) กูเกิลใช้วิธีเสนอส่วนลด Nest Wifi จากปกติ 40% ให้กับลูกค้า OnHub เดิม ซึ่งลดแล้วจะเหลือประมาณ 101 ดอลลาร์ ภาพเราเตอร์ OnHub รุ่นที่ทำกับ TP-Link และ ASUS ที่มา - Android Police
# Nintendo เปิดตัวเว็บไซต์ภาษาไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิด Official Store การรอคอยอันแสนยาวนานของหลายคนได้สิ้นสุดแล้ว โดยเช้าวันนี้ นินเทนโดประกาศเปิดตัวเว็บไซต์ภาษาไทยอย่างเป็นทางการ Nintendo (Thailand) ซึ่งในหน้าเว็บไซต์มีข้อมูลเครื่องเกม, ซอฟต์แวร์เกม และบริการช่วยเหลือที่เป็นภาษาไทยทั้งหมด นอกจากนี้นินเทนโดยังเปิดตัวช่องทางจำหน่ายสินค้าอย่างเป็นทางการ Nintendo Official Store Thailand โดยตอนนี้มีเฉพาะบน JD Central แห่งเดียว ราคาขาย Switch รุ่นจอ OLED อยู่ที่ 14,990 บาท รวมทั้งมีเกมขายพร้อมโปรโมชันในช่วงนี้ด้วย นินเทนโดยังเพิ่มบริการช่วยเหลือคือศูนย์ซ่อมและบริการลูกค้า Authorized Nintendo Service Center โดยสามารถนัดหมายวันซ่อมได้ ที่มา: Nintendo (Southeast Asia)
# Oracle ซื้อ Cerner บริษัทระบบไอทีการแพทย์ มูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านบาท Oracle ประกาศข่าวการซื้อ Cerner Corp บริษัทผู้พัฒนาระบบไอทีด้านการแพทย์ ด้วยมูลค่าสูงถึง 28.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 9.5 แสนล้านบาท) ตามข่าวลือก่อนหน้านี้ การซื้อกิจการครั้งนี้ถือเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของ Oracle ด้วย Cerner เป็นบริษัทด้านระบบไอทีเพื่อการแพทย์ ก่อตั้งในปี 1979 ปัจจุบันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq และมีพนักงานทั่วโลกมากกว่า 29,000 คน ซีอีโอคนปัจจุบัน David Feinberg เคยเป็นหัวหน้าทีม Google Health มาก่อน Oracle ให้เหตุผลของการซื้อ Cerner ว่าเป็นการซื้อความเชี่ยวชาญเฉพาะอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน Oracle หันไปโฟกัสโซลูชันเฉพาะอุตสาหกรรม (industry solutions) มากขึ้น กรณีของ Cerner ถือเป็นผู้นำในตลาดไอทีสำหรับโรงพยาบาลอยู่แล้ว จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างมาก ในระยะถัดไป Oracle จะใช้พลังคลาวด์-โครงสร้างพื้นฐานไอทีของตัวเอง ผนวกกับความเชี่ยวชาญของ Cerner ในการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ให้ทันสมัยมากขึ้นต่อไป การซื้อกิจการครั้งนี้เป็นการซื้อด้วยเงินสดทั้งหมด โดย Oracle จะซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้น Cerner ในราคาหุ้นละ 95 ดอลลาร์ ที่มา - Oracle
# [ไม่ยืนยัน] Ubisoft เจอปัญหาพนักงานแห่ลาออก นักพัฒนาระดับท็อปลาออกชุดใหญ่ เว็บไซต์ข่าว Axios รายงานว่า Ubisoft กำลังเจอปัญหา "สมองไหล" โดยนักพัฒนาระดับท็อปๆ ของบริษัททยอยลาออกกันในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา ตัวอย่างสถานการณ์ที่ Axios รวบรวมมาคือ ในบรรดานักพัฒนาเกม Far Cry 6 ที่มีเครดิตขึ้นตอนท้ายเกม 25 คนแรก ลาออกไปแล้วอย่างน้อย 5 คน และนักพัฒนา 50 คนแรกของ Assassin's Creed Valhalla ออกไปแล้ว 12 คน การสำรวจข้อมูลจาก LinkedIn ยังระบุว่าสตูดิโอ Ubisoft Montreal และ Toronto มีพนักงานลาออกไปอย่างน้อยแห่งละ 60 คน อดีตพนักงานบางคนให้ข้อมูลกับ Axios ว่าการลาออกย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเกม โดยนักพัฒนารายหนึ่งบอกว่าได้รับการติดต่อจากเพื่อนร่วมงานให้มาช่วยแก้บั๊กในเกมด้วย เพราะคนที่เหลืออยู่ไม่มีใครเข้าใจกระบวนการทำงานของโค้ดส่วนนั้นแล้ว Axios ยังสัมภาษณ์พนักงานที่ลาออกไปหลายคน พบว่าเหตุผลในการลาออกมีหลายเรื่อง ทั้งค่าตอบแทนต่ำ, ข้อเสนอจากสตูดิโออื่นๆ ที่ดีกว่า, ไม่พอใจแนวทางการสร้างเกมของบริษัทในช่วงหลัง และปัญหาเรื่องวัฒนธรรมองค์กรของ Ubisoft ที่เริ่มเป็นข่าวช่วงกลางปี 2020 ซึ่งพนักงานบางคนมองว่าผู้บริหารไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ที่มา - Axios, ภาพจาก Ubisoft
# พนักงานประกอบ iPhone ใน Foxconn อินเดียประท้วง หลังล้มป่วยกว่า 250 คน จากอาหารในที่พัก โรงงานประกอบ iPhone ของ Foxconn ในเมือง Sriperumbudur ใกล้ Chennai ประเทศอินเดีย ที่เริ่มผลิต iPhone 12 มาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมปี 2021 ดูเหมือนจะมีปัญหาอีกแล้ว หลังก่อนหน้านี้มีข่าวลือช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่าเหลือกำลังผลิตแค่ครึ่งเดียวเพราะพนักงานติดโควิด ล่าสุดเว็บไซต์ TechRadar รายงานว่าพนักงานในโรงงาน Foxconn อินเดีย หยุดงานประท้วงเป็นจำนวนมาก หลังมีพนักงานล้มป่วยกว่า 250 คน จากอาหารในหอพักของบริษัท โดย 159 คนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ที่เหลือเป็นผู้ป่วยนอก การประท้วงเกิดขึ้นตั้งแต่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา แม้โรงอาหารในที่พักจะปิดไปแล้ว และผู้รับจ้างประกอบอาหารสองรายถูกจับกุม แต่เมื่อพนักงานไม่ได้รับการแจ้งข้อมูลอาการป่วยของพนักงานที่เข้ารับการรักษาอย่างชัดเจน นอกจากนี้มีแอคเคาท์โซเชียลมีเดียในพื้นที่ออกมาโหมกระพือข่าวลือว่ามีผู้เสียชีวิตหลายราย ทำให้การประท้วงยิ่งบานปลาย ปัจจุบันตำรวจจับผู้ชุมนุมไปแล้วกว่า 100 คน ข้อหากีดขวางทางด่วน Chennai-Bengaluru และอีกรายหลายข้อหาปล่อยข่าวลือว่ามีผู้เสียชีวิต Foxconn ยังไม่ออกแถลงการณ์ใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานในโรงงานผลิต iPhone ในอินเดียกว่า 5,000-7,000 คน พนักงานส่วนใหญ่พักอยู่ในหอพักของโรงงาน โดย Foxconn มักจ้างพนักงานผ่านบริษัทนายหน้าอีกทีหนึ่ง ขณะที่บริษัทจัดการอาหารก็เป็นเอาต์ซอร์สเช่นกัน ที่มา - TechRadar
# Chrome เพิ่มการจำกัดทรัพยากรหน้าต่างเบราว์เซอร์ที่ถูกบัง ทำงานเร็วขึ้นสูงสุด 25.8% Chrome มีระบบจำกัดทรัพยากรของแท็บที่ทำงานเบื้องหลังมานานพอสมควร (นับตั้งแต่ Chrome 57 ในปี 2017) ช่วยลดทั้งซีพียู จีพียู แรม ปัญหาคือระบบจำกัดทรัพยากรนี้ทำงานเฉพาะแท็บที่อยู่เบื้องหลังเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงหน้าต่างที่ไม่ถูกโฟกัส ถูกย่อลง หรือถูกหน้าต่างอื่นบังอยู่ ทีมงาน Chrome พบว่ามีหน้าต่างประมาณ 20% เป็นหน้าต่างที่ถูกบัง การอนุญาตให้แท็บในหน้าต่างเหล่านี้ทำงานจึงเสียทรัพยากรเปล่า ทีมงานจึงพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยเช่นกัน แต่อุปสรรคสำคัญคือตัวระบบปฏิบัติการ (Windows) ไม่มีวิธีการบอกว่าหน้าต่างถูกบังหรือไม่ ทางออกของ Chrome คือการคำนวณหาสถานะของหน้าต่างเอาเอง ซึ่งต้องคำนวณหน้าต่างทุกอันที่เปิดอยู่บนหน้าจอ (ไม่ใช่เฉพาะหน้าต่างของ Chrome) โครงการนี้ชื่อว่า Native Window Occlusion มีความยากเพราะเดสก์ท็อปมีความซับซ้อนสูง มีปัจจัยเรื่องการต่อมอนิเตอร์หลายตัว, เดสก์ท็อปเสมือน, หน้าต่างที่ไม่โปร่งแสง ฯลฯ มาเกี่ยวข้องด้วยมากมาย แนวทางของ Chrome คือคำนวณหาหน้าต่างทั้งหมดในตอนแรก เพื่อดูว่ามีหน้าต่าง Chrome เปิดและถูกบังหรือไม่ แต่หลังจากนั้นจะไม่คำนวณหน้าต่างทั้งหมดอีกเพราะมีผลต่อประสิทธิภาพ จึงใช้วิธีดู system event แทนว่ามีหน้าต่างใดถูกย้าย-ย่อ-เปลี่ยนขนาดบ้าง เพื่อปรับสถานะของหน้าต่างที่ถูกบังให้เป็นปัจจุบัน ฟีเจอร์นี้ถูกเริ่มใช้งานแบบทดลองตั้งแต่ Chrome 86 ซึ่งให้ผลออกมาดี สามารถลดการใช้แรมจีพียูลงได้ 3.1%, ลดการวาดเฟรมลงได้ 20.4%, การวาดหน้าจอคอนเทนต์ทำได้เร็วขึ้น และส่งผลให้ Chrome ทำงานเร็วขึ้น 8.5-25.8% ที่มา - Chromium Blog
# สิงคโปร์ทำข้อตกลงการค้าดิจิทัลกับเกาหลีใต้ ไม่บังคับย้ายศูนย์ข้อมูล, คุ้มครองซอร์สโค้ด, ไม่ขอกุญแจเข้ารหัส สิงคโปร์และเกาหลีใต้บรรลุข้อตกลงการค้าดิจิทัลเสรีระหว่างกัน โดยข้อตกลงนี้สนับสนุนการค้าแบบปกติไปในตัว เช่น การจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศ, สร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยไม่ต้องใช้กระดาษ นอกจากนี้ข้อตกลงยังเจาะจงกับบริการดิจิทัลอีกหลายข้อ เช่น อนุญาตให้เก็บข้อมูลในชาติต้นทางได้ ไม่บังคับให้เก็บข้อมูลตามชาติปลายทางที่ให้บริการ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการให้บริการสูงขึ้น ไม่บังคับส่งมอบกุญแจเข้ารหัสที่ใช้รักษาความปลอดภัยข้อมูล มีมาตรการคุ้มครองซอร์สโค้ดและอัลกอริทึม เตรียมสร้างแนวทางการยืนยันตัวตนระหว่างกัน ปีที่ผ่านมาสิงคโปร์พยายามอย่างหนักในการทำข้อตกลงรูปแบบนี้กับชาติอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้ก็บรรลุข้อตกลงแบบเดียวกันกับสหราชอาณาจักร และกำลังพยายามเจรจาข้อตกลงกับสหภาพยุโรปอยู่ ที่มา - Ministry of Trade and Industry Singapore ภาพโดย cegoh
# ผู้ใช้ Pixel 6 ในยุโรปพบปัญหาจับสัญญาณมือถือไม่ได้ Google ระบุกำลังเร่งตรวจสอบ ผู้ใช้ Pixel 6 ในยุโรป กำลังพบปัญหาเชื่อมต่อกับเครือข่ายเป็นวงกว้าง โดยมีผู้ใช้งานพบปัญหาออกมาโพสต์ทั้งบน Reddit ฟอรั่มของ Google และบน Pixel Phone Help ของ Google ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือการเชื่อมต่อกับเครือข่ายมือถือขาดๆ หายๆ และต้องรีสตาร์ทเครื่องเพื่อให้มีสัญญาณอีกครั้ง โดย 9to5Google และผู้ใช้หลายส่วนสงสัยว่าอาจเป็นปัญหาซอฟต์แวร์ เพราะอาการสัญญาณหายเพิ่งเกิดหลังอัพเดตแพตช์ความปลอดภัยเดือนธันวาคม แต่ล่าสุดทีมงาน Google ยืนยันกับเว็บไซต์ 9to5Google แล้ว ว่าปัญหาไม่ได้มาจากซอฟต์แวร์อัพเดต และกำลังเร่งตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ ที่มา - 9to5Google
# Firefox เผยสถิติส่วนขยายยอดนิยม AdBlock Plus แชมป์, uBlock Origin มาแรง Mozilla เผยสถิติการใช้งานส่วนขยาย (extension) ของ Firefox ประจำปี 2021 มีการติดตั้งส่วนขยายไปทั้งหมด 109.5 ล้านครั้ง และธีมจำนวน 17.3 ล้านครั้ง (นับตามจำนวน install ต่อเครื่อง) รวม 127 ล้านการติดตั้ง คิดเป็นสัดส่วน 1/3 ของผู้ใช้ Firefox ทั้งหมดประมาณ 400 ล้านคน ส่วนขยายยอดนิยมอันดับหนึ่งคือ AdBlock Plus มีผู้ใช้เฉลี่ยต่อวัน 6.13 ล้านคน ตามมาด้วย uBlock Origin ที่ 5 ล้านคน โดย uBlock Origin ได้รับความนิยมเพิ่มอย่างรวดเร็ว และถ้ายังสร้างโมเมนตัมได้ต่อเนื่อง อาจแซงหน้า Adblock Plus ได้่สำเร็จในช่วงต้นปี 2022 ส่วนขยายตัวอื่นๆ ที่มาแรงเป็นด้านความเป็นส่วนตัว เช่น Facebook Container (ผู้ใช้เฉลี่ยต่อวัน 1.7 ล้านคน), Ghostery (1.17 ล้านคน) ส่วนธีมยอดนิยมคือ Matte Black (Red) มีผู้ใช้ต่อวัน 6.2 หมื่นคน สถิติแยกตามประเทศ ผู้ใช้ที่เข้าเว็บ addons.mozilla.org สูงที่สุดมาจากจีน ตามด้วยสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และรัสเซีย โดยผู้ใช้ในรัสเซียสัดส่วน 60% ใช้งานส่วนขยาย ถือว่าสูงที่สุดในทุกประเทศ Mozilla ยังแนะนำส่วนขยายที่น่าสนใจ มีนวัตกรรม ประจำปี 2021 อีก 4 ตัวคือ Tab Stash สำหรับคนเปิดแท็บเยอะๆ แล้วต้องการเซฟเป็น bookmark ชั่วคราว ซิงก์ข้ามเครื่องได้ Stylebot ใช้กำหนดสไตล์ของเว็บไซต์ได้เอง มีปุ่ม magic editor ช่วยปรับสีให้เว็บไซต์อ่านง่ายขึ้นอัตโนมัติ Sidebery ใช้จัดระเบียบแท็บใน sidebar ด้านข้าง จัดกลุ่มแท็บได้ ปรับแต่งสีของแท็บได้ automaticDark ปรับ UI ของ Firefox ให้เป็น dark mode ได้ตามเวลากลางวัน-กลางคืน หน้าตาของ Tab Stash ที่มา - Mozilla via ZDNet
# ไม่คุ้มราคา FF7 Remake เวอร์ชันพีซี มีปัญหาประสิทธิภาพ ตั้งค่ากราฟิกได้จำกัดมาก เว็บไซต์ PCGamer วิจารณ์เกม Final Fantasy 7 Remake เวอร์ชันพีซี ที่ตั้งราคา 70 ดอลลาร์เทียบเท่าคอนโซล next-gen ว่าเป็นการพอร์ตลงพีซีที่ไม่คุ้มราคาเกมนัก เพราะมีตัวเลือกปรับแต่งกราฟิกน้อยกว่าเวอร์ชัน PS5 ที่ตั้งราคาเท่ากัน (และวางขายก่อนครึ่งปี) Final Fantasy 7 Remake เวอร์ชันพีซี ขาดตัวเลือกตั้งค่ากราฟิกระดับสูงหลายอย่าง เช่น variable framerate, anti-aliasing, VSync toggle, motion blur, resolution scaling เป็นต้น PCGamer ชี้ว่า FF7 Remake ใช้เทคนิค dynamic resolution scaling ปรับความละเอียดของภาพอัตโนมัติ ระหว่าง 1080p กับ 1440p เพื่อรักษาระดับของเฟรมเรต แต่เวอร์ชันพีซีกลับบังคับใช้ตลอด ไม่สามารถปิดได้ จนหลายครั้งกลายเป็นปัญหาด้านประสิทธิภาพซะเอง PCGamer เทียบคุณภาพของ FF7 Remake กับเกมอื่นของบริษัทคือ Final Fantasy XV และ Kingdom Hearts 3 เวอร์ชันพีซี พบว่าสามารถปรับแต่งกราฟิกได้เยอะกว่ามาก โดยเฉพาะกรณีของ Kingdom Hearts 3 ที่ใช้เอนจิน Unreal Engine 4 เหมือนกับ FF7 Remake ด้วย จึงไม่มีข้ออ้างเรื่องขีดจำกัดทางเทคนิค แต่น่าจะเป็นเพราะ Square Enix ไม่มีเวลาหรือไม่สนใจทำเอง John Linneman นักเขียนของ Digital Foundry เซคชั่นรีวิวกราฟิกในเครือ Eurogamer ที่เคยชื่นชม FF7 Remake เวอร์ชัน PS5 อย่างมาก ก็โพสต์ข้อความว่าเวอร์ชันพีซีนั้นเข้าขั้น terrible เลยทีเดียว ตัวอย่างคลิปรีวิวกราฟิกของ FF7 Remake PC ที่มา - PCGamer
# Hades ชนะรางวัลเกมยอดเยี่ยมของ Hugo Award รางวัลนิยายวิทยาศาสตร์-แฟนตาซี รางวัล Hugo Award จัดครั้งแรกในปี 1953 โดยถือเป็นรางวัลสูงสุดของโลกนิยายวิทยาศาสตร์-แฟนตาซี (คู่กับรางวัล Nebula Award ที่จัดโดยอีกสมาคม) ตัวรางวัลแบ่งออกเป็นหลายหมวด เช่น รางวัลสำหรับนิยายขนาดยาว-กลาง-สั้น หรือเรื่องสั้น (นับตามจำนวนคำ) ภายหลัง Hugo ยังขยับขยายมาเพิ่มรางวัลหมวดอื่นๆ เช่น ซีรีส์-นิยายภาพ-แฟนอาร์ท เป็นต้น งานปี 2021 มีการมอบรางวัลหมวดพิเศษคือ "วิดีโอเกม" ซึ่งเป็นหมวดเฉพาะของปีนี้เท่านั้น (ในระยะยาวอาจพิจารณาเพิ่มเป็นรางวัลถาวร) มีเกมเข้าชิงรางวัล 6 เกม ได้แก่ Hades, The Last of Us 2, Spiritfarer, Final Fantasy VII Remake, Animal Crossing: New Horizons, Blaseball ซึ่งผู้ชนะคือ Hades ที่คว้ารางวัลเกมยอดเยี่ยมจากหลายสถาบันในปีที่แล้ว ส่วนรางวัลใหญ่คือนิยายยอดเยี่ยมประจำปี เป็นของนิยายเรื่อง Network Effect โดย Martha Wells ที่มา - Hugo Awards, Eurogamer
# บล็อคเว็บตามโดเมนโดยไม่ต้องแก้เซิร์ฟเวอร์ DNS ด้วย Suricata กระบวนการบล็อคเว็บนั้นมีหลายวิธีการและหลายเหตุผล ทั้งการควบคุมเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลต้องการเซ็นเซอร์เว็บหรือผู้ปกครองต้องการระมัดระวังไม่ให้บุตรหลานเข้าถึงข้อมูลไม่เหมาะสม, เพิ่มความปลอดภัยหากเรามีรายการของโดเมนที่เป็นภัยหรือถูกแฮก, ตลอดจนการรักษาความเป็นส่วนด้วยด้วยการบล็อคโดเมนที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา ที่เป็นที่นิยมค่อนข้างมาก จนโครงการ Pi-hole กลายเป็นหนึ่งในโครงการยอดนิยมของ GitHub ด้วยจำนวนดาวถึง 34,100 ดาว กระบวนการบล็อคเว็บตามโดเมนที่ง่ายที่สุดคือการบล็อคที่เซิร์ฟเวอร์ DNS โดยอาศัยไคลเอนต์ทุกตัวให้ความร่วมมือในการใช้เซิร์ฟเวอร์ DNS ที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าเองด้วยมือ หรือตั้งค่าอัตโนมัติผ่าน DHCP ก็ตาม ตัวเซิร์ฟเวอร์ DNS จะพิจารณาแต่ละโดเมนว่าโดเมนที่กำลังร้องขออยู่ในรายการต้องห้ามหรือไม่ ถ้าไม่อยู่ก็จะตอบไอพีตามปกติ แต่หากอยู่อาจจะตอบว่าไม่พบโดเมน หรืออาจจะตอบไปยังไอพีที่ตั้งไว้ ที่แสดงหน้าเว็บว่าผู้ใช้กำลังเข้าเว็บที่ถูกบล็อค การบล็อคเว็บผ่านทางเซิร์ฟเวอร์ DNS นั้นมีข้อจำกัดในตัวเอง ข้อสำคัญคือผู้ใช้อาจจะไม่ให้ความร่วมมือใช้งานเซิร์ฟเวอร์ DNS ที่เรากำหนดไว้ เช่น ตั้งค่าไปใช้งานเซิร์ฟเวอร์ DNS สาธารณะ 8.8.8.8 ของกูเกิล หรือ 1.1.1.1 ของ Cloudflare ที่ผ่านมาบางองค์กรอาจจะพยายามโยกทราฟิกของเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้เข้าไปยังเซิร์ฟเวอร์ DNS ขององค์กรเองเพื่อให้สามารถควบคุมการเข้าโดเมนต่างๆ ได้อยู่ แต่ความนิยมของโปรโตคอล DNS over HTTPS (DoH) ก็ทำให้การควบคุมทำให้ยากขึ้น หากพยายามใช้เซิร์ฟเวอร์ขององค์กรไปแทน DoH ก็จะทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เลย กระบวนการบล็อคเว็บอีกรูปแบบที่นิยมกัน คือการใช้ไฟร์วอลล์อ่านฟิลด์ Host ใน HTTP header ซึ่งได้เฉพาะการเชื่อมต่อที่ไม่เข้ารหัสเท่านั้น หากเชื่อมต่อเข้ารหัสแล้วไฟร์วอลล์ก็จะไม่สามารถอ่านค่า HTTP header ได้อีกต่อไป อย่างไรก็ดีการเชื่อมต่อที่เข้ารหัสนั้น แม้เนื้อหาในการเชื่อมต่อจะเข้ารหัสแทบทั้งหมดแต่ก็มีข้อมูลบางส่วนที่ไม่ได้เข้ารหัสเอาไว้ ทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสามารถสังเกตได้ว่าผู้ใช้กำลังเข้าเว็บใด คือค่า TLS SNI TLS SNI (RFC3456 มีการปรับปรุงอีกหลายครั้งตามเวอร์ชั่น TLS) เป็นส่วนขยายของ TLS 1.0 ที่ช่วยให้ไคลเอนต์สามารถแจ้งเซิร์ฟเวอร์ได้ว่าต้องการเชื่อมต่อกับโดเมนใด การแจ้งล่วงหน้านี้ทำให้เซิร์ฟเวอร์หนึ่งไอพีสามารถให้บริการได้หลายโดเมนพร้อมกัน และเลือกเปิดการเชื่อมต่อตามโดเมนที่ผู้ใช้ร้องขอมา หลังจากเซิร์ฟเวอร์รับรู้ว่าไคลเอนต์ต้องการเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์โดเมนใดแล้วก็จะส่งใบรับรองตามโดเมนนั้นๆ กลับไป เพื่อเริ่มกระบวนการเข้ารหัสในใบรับรองนั้นจะระบุชื่อโดเมนของเว็บที่กำลังใช้งานเอาไว้ในฟิลด์ CN (canonical name) และ SAN (subject alternative name) เราท์เตอร์ที่คั่นกลางการเชื่อมต่อระหว่างไคลเอนต์และเซิร์ฟเวอร์สามารถเลือกตัดการเชื่อมต่อรายโดเมน โดยดูค่า SNI ได้ ซอฟต์แวร์ในกลุ่มที่สังเกตุข้อมูลการเชื่อมต่อและตัดการเชื่อมต่อจากข้อมูลเหล่านั้นได้ เรียกว่า Intrusion Prevention Systems (IPS) หรือบางทีก็เรียกว่า Intrusion Detection Systems (IDS) การทำงานนั้นคาบเกี่ยวกันไปมา แต่โดยรวมแล้วซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้จะตรวจข้อมูลการเชื่อมต่อได้อย่างละเอียด Suricata เป็นหนึ่งใน IPS/IDS แบบโอเพนซอร์สยอดนิยม (รองจาก Snort ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และปัจจุบันเป็นโครงการที่ดูแลโดยซิสโก้) มันถูกใช้งานอยู่ในบริการไฟร์วอลล์หลายตัว เช่น ไฟร์วอลล์ชื่อ Threat Prevention ในเราท์เตอร์ของ Synology Suricata รองรับลินุกซ์หลายดิสโทร ตั้งแต่ Ubuntu, Debian, Fedora, RHEL/CentOS (ทดสอบกับ Rocky Linux ก็สามารถใช้งานได้ ในกรณีของ CentOS/Rocky Linux นั้นสามารถติดตั้งได้ด้วยสามคำสั่ง yum install epel-release yum-plugin-copr yum copr enable @oisf/suricata-6.0 yum install suricata คอนฟิกเริ่มต้นของของ Suricata ในแพ็กเกจนั้นไม่ได้ปรับมาให้ตรงกับ CentOS ต้องเข้าไปแก้ไฟล์ /etc/suricata/suricata.yaml เสียก่อน โดยเฉพาะฟิลด์ default-rule-path: /etc/suricata/rules เพื่อกำหนดตำแหน่งของไฟล์ที่จะใช้กรองแพ็กเก็ต จากนั้นกำหนดรายการไฟล์กฎการกรองในฟิลด์ rule-files กฎของ Suricata นั้นมีรูปแบบดังนี้ [action] [protocol] [source IP] [source port] -> [dest IP] [dest port] (msg:"[log message]"; [conditions]; sid:[signature ID]; rev:[revision]) action: สามารถกำหนดได้ว่าจะทำให้ทำอะไรหากจากทราฟิกตรงเงื่อนไข เช่น drop (ทิ้งแพ็กเก็ต ทำให้การเชื่อมต่อไม่สำเร็จ), reject (เหมือน drop แต่ส่ง RST ทำให้การเชื่อมต่อหลุด), pass (ถือว่าข้อมูลปลอดภัย ไม่ต้องพิจารณากฎอื่นต่อ), alert (ปล่อยผ่าน แต่ log ลงไฟล์) protocol ตัว Suricata สามารถอ่านข้อมูลโปรโตคอลได้เป็นจำนวนมาก และการออกเวอร์ชั่นใหม่ๆ ก็มักเพิ่มโปรโตคอลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นตอนนี้กำลังพัฒนาให้อ่าน mqtt เพิ่มเติมเนื่องจากใช้งานในระบบ IoT มากขึ้น โปรโตคอลพื้นฐานที่อ่านข้อมูลได้ ได้แก่ IP, ICMP, TCP, และ UDP และยังอ่านโปรโตคอลระบบแอปพลิเคชั่นได้อีกมาก ในกรณีนี้เราสนใจโปรโตคอล TLS (ใช้งานร่วมกับ SSL) source IP ไอพีต้นทาง สามารถกำหนดเป็นกลุ่มได้ในคอนฟิก เช่น วงไอพีภายในองค์กร source port พอร์ตต้นทง dest IP ไอพีปลายทาง dest port พอร์ตปลายทาง log message ข้อความสำหรับแสดงในไฟล์ log ว่าต้องการแจ้งเตือนผู้ดูแลเน็ตเวิร์คว่าอย่างไรบ้าง เช่น แจ้งหมายเลข CVE ที่คนร้ายกำลังโจมตี conditions เงื่อนไขสำหรับตรวจสอบ เช่น ฟิลด์ในโปรโตคอลที่เราต้องการตรวจสอบ signature ID หมายเลขกฎสำหรับอ้างอิง ตัว Suricata จะบันทึกไว้ใน log เพื่อให้ผู้ดูแลมาตรวจสอบได้ง่ายขึ้น revision หมายเลขเวอร์ชั่นของกฎ ในกรณีที่กฎมีการแก้ไข เช่น การปรับกฎหลังพบการโจมตีรูปแบบใหม่ๆ ในช่องโหว่เดิม ก็ควรปรับหมายเลข revision เพิ่มขึ้นทุกครั้ง เพื่อให้อ้างอิงได้ว่าการบล็อคแต่ละครั้งมาจากกฎต่างกัน ในกรณีของโปรโตคอล TLS นั้น Suricata สามารถดึงเอาค่า SNI, เวอร์ชั่นโปรโตคอล, สถานะการเชื่อมต่อ (เริ่มส่ง Hello, หรือกำลังแลกกุญแจ), ตลอดจนค่าต่างๆ ในใบรับรอง การตั้งค่าให้ Suricata บล็อคโดเมนนั้นสามารถทำได้เบื้องต้น เช่นการบล็อคโดเมน example.com จะใช้กฎว่า drop tls any any -> any any (msg:"BLOGNONE Drop example.com"; content:"example.com" ; sid:2230031; rev:1;) การรัน Suricata สามารถรันจาก command line ได้โดยตรง โดยกำหนดค่าคอนฟิกและอินเทอร์เฟซที่ต้องการ เช่น $ suricata -c /etc/suricata/suricata.yaml -i eth0 จะเป็นการกำหนดให้ Suricata อ่านข้อมูลที่วิ่งผ่านอินเทอร์เฟซ eth0 ทั้งหมด แต่ไม่สามารถตัดการเชื่อมต่อได้เนื่องจากเป็นการดักรับข้อมูลมาตรวจสอบเท่านั้น สำหรับการตัดการเชื่อมต่อ ต้องรัน Suricata ในโหมด IPS โดยรับข้อมูลผ่าน Netfilter Queue ที่เปิดให้ซอฟต์แวร์นอกเคอร์เนล (user space) โดยใช้คำสั่ง nft add rule filter INPUT queue num 3 bypass nft add rule filter OUTPUT queue num 3 bypass การตั้ง Suricata สำหรับการใช้งานเป็นไฟร์วอลล์คั่นกลางระหว่างเน็ตเวิร์ค ต้องกรองใน FORWARD การเพิ่มกฎสำหรับ INPUT/OUTPUT นั้นเป็นการใช้งาน filter เพื่อกรองข้อมูลที่เข้าและออกจากตัวเครื่องเองโดยตรง ในกรณีใช้งานลินุกซ์เป็นเราท์เตอร์ เช่นเซิร์ฟเวอร์ VPN จะต้องเปลี่ยนเป็น FORWARD แทน num 3 นั้นหมายถึงคิวหมายเลข 3 ซึ่งสามารถตั้งเป็นค่าอื่นๆ ได้ แต่ต้องตั้งให้ตรงกันเมื่อสั่งรัน Suricata และสุดท้ายคือ bypass เป็นการบอก netfilter ว่าหากไม่มีซอฟต์แวร์ใดมารับข้อมูลจากคิวหมายเลข 3 ให้ปล่อยผ่านข้อมูลไปได้เลย ป้องกันเน็ตเวิร์คล่มเมื่อ Suricata ไม่ได้รัน หรือแครชไป จากนั้นให้รัน Suricata ให้รับข้อมูลจาก netfilter ในคิวหมายเลข 3 ด้วยคำสั่ง $ suricata -c /etc/suricata/suricata.yaml -q 3 หลังจากรันแล้วสามารถทดสอบด้วยคำสั่ง $ curl https://example.com เพื่อเชื่อมต่อแบบ TLS เข้าไปยัง example .com จะพบว่าเชื่อมต่อไม่ได้ และหากไปดูใน log ที่ /var/log/suricata/fast.log จะพบ log บันทึกว่า Suricata ตัดการเชื่อมต่อ 12/19/2021-08:07:50.785382 [Drop] [**] [1:2230031:1] BLOGNONE Drop example.com [**] [Classification: (null)] [Priority: 3] {TCP} xx.xx.xx.xx:48346 -> 93.184.216.34:443 หากต้องการบล็อคโดเมนทั้งหมดในรูปแบบเดียวกับ Pi-hole เราสามารถหารายชื่อโดเมนจากชุมชน Pi-hole มาสร้างกฎสำหรับ Suricata ได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้ Suricata ยังมีฟีเจอร์ช่วยให้การตรวจจับครอบคลุมขึ้น เช่น การตรวจสอบ subdomain ด้วย dotprefix ในกรณีของ SNI นั้น IETF รับรู้ว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลายรายตรวจสอบการเข้าเว็บด้วยข้อมูลนี้อยู่เช่นในบทความนี้ และกำลังพัฒนามาตรฐานเพื่อปิดบังข้อมูลนี้ ทั้ง ESNI ที่เคยเสมอเมื่อปี 2018 และ ECH เมื่อปี 2020 หากพัฒนาสำเร็จและมีการใช้งานเป็นวงกว้างก็น่าสนใจว่าในอนาคตระบบมอนิเตอร์เน็ตเวิร์คจะปรับตัวกันอย่างไร
# ไม่หวั่นเสียงวิจารณ์ ซีอีโอ Ubisoft บอกแผนการ NFT ของเราเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น บริษัทเกมรายเล็กอย่าง GSC Game World ที่สร้างเกม S.T.A.L.K.E.R. 2 อาจยอมถอยเรื่อง NFT หลังโดนแฟนๆ ถล่มยับ แต่บริษัทใหญ่ระดับ Ubisoft ที่เริ่มทำ NFT ในเกม Ghost Recon Breakpoint กลับไม่หวั่นไหวกับเสียงวิจารณ์ เว็บไซต์ Kotaku รายงานข้อมูลภายใน Ubisoft ว่า Yves Guillemot ซีอีโอของ Ubisoft ได้พบปะกับพนักงานของสตูดิโอ Ubisoft Paris ซึ่งเป็นทีมพัฒนา Ghost Recon Breakpoint โดยตอบคำถามของพนักงาน แสดงความเห็นว่ากระแสวิจารณ์เชิงลบต่อโครงการ NFT เป็นเรื่องที่คาดเดาได้อยู่แล้ว ไม่ต่างอะไรกับการเพิ่ม DLC, microtransaction หรือ loot box ในอดีต พนักงานที่ฟัง Guillemot ระบุว่าเขาพูดถึงเกม Roblox อยู่บ่อยครั้ง น่าจะเป็นสัญญาณว่าเป็นทิศทางที่ Ubisoft อยากมุ่งไป และ Guillemot ยืนยันว่าโครงการ NFT ในตอนนี้ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น Ubisoft มีแผนการใหญ่กว่านี้อีกมากรออยู่ Kotaku เคยให้ข้อมูลว่าหลัง Ubisoft ประกาศเรื่อง NFT ก็มีพนักงานจำนวนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วย ในระบบเว็บบอร์ดภายในบริษัทเอง ที่มา - Kotaku
# งานแข่งอีสปอร์ต Halo เจอปัญหา Xbox Series X ขาดตลาด ต้องใช้ Dev Kit เป็นเครื่องแข่ง ปัญหาคอนโซลขาดตลาดส่งผลกระทบ แม้กระทั่งงานแข่งอีสปอร์ต Halo Championship Series ของไมโครซอฟท์เองยังหา Xbox Series X มาใช้เป็นอุปกรณ์แข่งได้ไม่ครบตามจำนวนผู้แข่ง และต้องนำเครื่อง Dev Kit มาใช้แข่งแทน งานแข่ง Halo Championship Series 2021 เป็นทัวร์นาเมนต์แข่งเกม Halo Infinite บนแพลตฟอร์ม Xbox Series X ซึ่ง Tahir Hasandjekic หัวหน้าฝ่ายอีสปอร์ตของสตูดิโอ 343 Industries ผู้สร้างเกม Halo Infinite ก็ออกมาเปิดเผยด้วยตัวเองว่า ผู้เล่นบางคนจะได้เครื่อง Xbox Series X เวอร์ชัน Dev Kit โดยรันในโหมดรีเทล มีความสามารถเท่าเครื่องเวอร์ชันขายปลีกทุกประการ แค่หน้าตาต่างไปจากเครื่องที่วางขายจริงเท่านั้น Tahir เปิดเผยเหตุผลที่ต้องใช้เครื่อง Dev Kit ซึ่งตรงไปตรงมาว่าสินค้าขาดตลาดนั่นเอง (นี่ขนาดสตูดิโอในสังกัดไมโครซอฟท์เองเลยนะ) ที่มา - Kotaku
# Ruby on Rails 7.0 ออกแล้ว ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ไม่ต้องพึ่งพา Node.js อีกต่อไป Ruby on Rails ออกเวอร์ชันใหญ่ 7.0 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 เรื่องคือ ไม่ต้องผูกกับโลกของ Node.js อีกแล้ว และเปลี่ยนระบบ front-end มาเป็นตัวใหม่คือ Hotwire David Heinemeier Hansson หรือ DHH ผู้สร้าง Rails อธิบายว่าโครงสร้างของภาษา JavaScript ในอดีตเป็นปัญหาของโปรแกรมเมอร์มาก ทางออกจึงเป็นการเขียนภาษาอื่นแล้วแปลงเป็น JavaScript (เรียกว่า transpiling เช่น CoffeeScript หรือ Babel) ที่ช่วยให้เขียนโค้ดง่ายขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้น แนวทางของ Rails ช่วงก่อนหน้านี้คือใช้ Webpack (ผ่าน Webpacker) เป็นตัวช่วย bundler โมดูล JavaScript ต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยเริ่มจาก Rails 5.2 ในปี 2017 ข้อเสียของแนวทางนี้คือ Webpack โยงอยู่กับ Node.js จึงทำให้ Rails ต้องเรียกใช้ Node.js ตามไปด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านมา 5 ปี สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก เพราะเว็บเบราว์เซอร์ทุกตัวรองรับภาษา ECMAScript 6 (ES6) ที่เปลี่ยนโครงสร้างของ JavaScript ไปมากแล้ว (เหลือแต่ IE11 และไมโครซอฟท์ก็ฆ่าทิ้งเรียบร้อยแล้ว) ทำให้เราสามารถเขียนโค้ด ES6 ตรงๆ ได้เลย เทคโนโลยีอีกตัวที่เปลี่ยนโลกของการพัฒนาเว็บคือ HTTP2 ที่หนึ่งการเชื่อมต่อสามารถส่งไฟล์ได้หลายไฟล์พร้อมกัน ทำให้การมัดรวมไฟล์ JavaScript เป็นไฟล์เดียวไม่มีประโยชน์เพิ่มขึ้นมากเหมือนในอดีต เราจึงไม่ต้องมี bundler อีกแล้ว เพราะเสียเวลาประมวลผล และแก้ไขข้อมูลภายหลังได้ยาก เทคโนโลยีตัวที่สามคือ import maps ซึ่งเปลี่ยนวิธีการอิมพอร์ตไฟล์ JavaScript จากการระบุชื่อไฟล์ตรงๆ (ถ้าไฟล์เปลี่ยนชื่อ ต้องจัดการแคชของเบราว์เซอร์ใหม่) มาเป็นการ mapping แทนซึ่งเป็น logical มีความยืดหยุ่นสูงกว่า (ฟีเจอร์นี้ใช้ได้แล้วกับเบราว์เซอร์ตระกูล Chromium) เทคโนโลยีทั้งสามตัวทำให้ Rails ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องมือสาย JavaScript ที่ซับซ้อนอีกต่อไป สามารถเขียน JavaScript (ES6) ตรงๆ แล้วสื่อสารกับเบราว์เซอร์ได้เลย การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ Rails 7.0 จึงเป็นการถอด Webpacker ออก (ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพา Node.js) โดยยังสามารถใช้ bundler ได้ถ้าต้องการ และเลือกใช้ตัวใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็น esbuild, rollup.js หรือแม้แต่ Webpack เหมือนเดิม เช่นเดียวกับ CSS bundler ที่เลือกใช้ตัวใดก็ได้ เช่น Tailwind, Bootstrap, Sass, PostCSS โดยไม่ต้องผูกกับ Node.js ส่วนฝั่ง front-end เปลี่ยนมาใช้ Hotwire ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท Basecamp เช่นกัน แนวคิดของ Hotwire คือส่งข้อมูลไปยังเบราว์เซอร์เป็น HTML แทน JSON (HTML-over-the-wire) เพื่อให้การเรนเดอร์เทมเพลตอยู่ที่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ เพจโหลดเร็วขึ้น และลดความซับซ้อนลง ถูกนำมาใช้แทนระบบ front-end เดิมของ Rails ที่เป็น Turbolinks และ Rails UJS การเปลี่ยนแปลงทั้งสองส่วนทำให้ Rails 7 เรียบง่ายขึ้นกว่าเดิมมากๆ ซึ่ง DHH เชื่อว่านี่คือสิ่งที่การพัฒนาเว็บควรจะมุ่งไป และตอนนี้บริษัท Basecamp ของเขาก็พัฒนาเว็บเมล Hey ด้วยเฟรมเวิร์คตัวใหม่นี้อยู่ ที่มา - Ruby on Rails 7.0, David Heinemeier Hansson
# The BMJ โวยเฟซบุ๊กแบนมั่ว หลังบทความรายงานปัญหาการวิจัยวัคซีน COVID-19 ของ Pfizer ถูกแบน วารสารการแพทย์ The BMJ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง Mark Zuckerberg เรียกร้องให้เฟซบุ๊กแก้ไขระบบตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังระบบของเฟซบุ๊กห้ามไม่ให้ผู้ใช้แชร์บางบทความของ The BMJ บทความของ The BMJ รายงานปัญหาของข้อมูลบางส่วนในการทดลองวัคซีน COVID-19 ของ Pfizer ที่จ้าง Ventavia Research Group บริษัทเอกชนในรัฐเท็กซัสให้ช่วยกระจายวัคซีนในอาสาสมัครและเก็บข้อมูลระหว่างการทดลอง Brook Jackson อดีตพนักงานของ Ventavia ทำงานในช่วงการทดลองเฟส 3 ช่วงเดือนกันยายน 2020 รายงานปัญหาของการทดลองโดย Ventavia ว่าการวิจัยมีความบกพร่อง ข้อมูลยาถูกเปิดเผย (unblinded) โดยไม่ตั้งใจ ทำให้ผู้ฉีดยารู้ว่ากำลังฉีดยาจริงหรือยาหลอก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของ Ventavia เข้าไปแก้ไขข้อมูลการวิจัยภายหลัง เฟซบุ๊กพยายามอย่างหนักในการจำกัดข่าวปลอมเกี่ยวกับ COVID-19 โดยบทความใดๆ ที่แชร์และมีเนื้อหาเกี่ยวกับ COVID-19 จะถูกแปะป้ายเตือน แต่ในกรณีของ The BMJ บทความถูกเตือนหนักเป็นพิเศษด้วยการขึ้น pop-up พิเศษขอให้ผู้ใช้อ่านบทความจาก Lead Stories ก่อนแชร์ โดยบทความแปะป้ายว่าเป็นบทความที่มีจุดบกพร่อง พร้อมก้บพยายามแก้ตัวแทน Pfizer ว่า วัคซีนปลอดภัย, ทาง FDA เชื่อมั่นข้อมูลที่ใช้อนุมัติวัคซีน, Ventavia ระบุว่า Jackson ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทดลองวัคซีน (Jackson แสดงอีเมลว่าเธออยู่ในทีม), และแถลงจาก Pfizer ว่าได้แก้ปัญหาตามความจำเป็นและแจ้ง FDA ไปแล้ว ปัญหาบางส่วนในการเก็บข้อมูลการวิจัยคงไม่ทำให้ผลโดยรวมทั้งหมดเปลี่ยนไป หากปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง (Ventavia จัดการศูนย์ทดลอง 3 แห่งจากทั้งหมด 153 แห่ง) แต่ปัญหาครั้งนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่าเฟซบุ๊กกังวลกับการต่อต้านวัคซีนจนเลือกแบนบางบทความอย่างหนัก แม้บทความนั้นจะมาจากวารสารทางการแพทย์ ที่มา - The BMJ
# Square Enix หยุดขายเกม FF14 ชั่วคราว แก้ปัญหาเซิร์ฟเวอร์คับคั่ง Square Enix แก้ปัญหาเซิร์ฟเวอร์ FF14 คับคั่งหลังภาคเสริม Endwalker วางขาย ด้วยการหยุดขายเกมชั่วคราว! Naoki Yoshida โปรดิวเซอร์และผู้กำกับของเกมเป็นคนออกมาประกาศเองว่า หยุดขายเกมทั้งเวอร์ชันแผ่นและเวอร์ชันดิจิทัลชั่วคราว เพื่อให้ผู้เล่นเดิมมีสิทธิล็อกอินได้ก่อน นอกจากนี้ Square Enix ยังกำหนดเวลาเล่นสำหรับสมาชิกแบบ Free Trial เฉพาะช่วงกลางดึกและเช้ามืดเท่านั้น แถมยังปิดการลงทะเบียนแบบ Free Trial ชั่วคราวด้วย Square Enix ยังหยุดการโฆษณา FF14 เท่าที่สามารถทำได้ ยกเว้นแต่โฆษณาที่เริ่มไปแล้วจริงๆ ก็อยู่นอกเหนือความสามารถของบริษัทแล้ว บริษัทยังมีมาตรการชดเชยเวลาอีก 14 วันให้ผู้เล่นทุกคนด้วย ที่มา - FFXIV via PCGamer
# Log4j ออกเวอร์ชั่น 2.17.0 แก้ช่องโหว่ Message Lookup ครั้งที่สาม โครงการ Log4j ออกเวอร์ชั่น 2.17.0 หลังนักวิจัยพบช่องโหว่ CVE-2021-45105 ที่แม้จะไม่สามารถส่งโค้ดเข้าไปรันได้เหมือนช่องโหว่ก่อนหน้านี้ แต่ก็ทำให้โปรแกรมแครชไปได้ กลายเป็นช่องโหว่แบบ Denial of Service ลำดับช่องโหว่ของ Log4j ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แก่ CVE-2021-44228 ช่องโหว่รันโค้ดระยะไกล กระทบกรณีใช้งานปกติ ทำให้กระทบเป็นวงกว้าง คะแนน CVSS 10.0 แก้ไขแล้วใน Log4j 2.15.0 ขึ้นไป หรือเปิดตั้งค่า formatMsgNoLookups=true CVE-2021-45046 ช่องโหว่รันโค้ดระยะไกล กระทบต่อเมื่อแอปพลิเคชั่นเรียกใช้ Log4j ในวิธีการเฉพาะ จากการเขียน log ผ่าน ThreadContext คะแนน CVSS 9.0 แก้ไขแล้วใน Log4j 2.16.0 ด้วยการปิดการทำงาน JNDI CVE-2021-45105 ช่องโหว่ DoS กระทบต่อเมื่อแอปพลิเคชั่นเรียกใช้ Log4j ในวิธีการเฉพาะ จากการเขียน log ผ่าน ThreadContext คะแนน CVSS 7.5 แก้ไขแล้วใน Log4j 2.17.0 ช่องโหว่ล่าสุดนี้เกิดจากแฮกเกอร์สามารถกระตุ้นให้ Log4j รันกระบวนการ message lookup แบบ recursive ผ่านทาง log เช่น ${ctx:loginId} ที่มา - Log4j
# Google Docs เพิ่มช็อตคัตสำหรับแทรกสัญลักษณ์ Em Dash และ En Dash ภาษาไทยอาจไม่ได้ใช้งานตัวอักขระพิเศษอย่าง — (em dash) และ – (en dash) มากนัก แต่ในโลกการเขียนภาษาอังกฤษ ทั้งสองตัวเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้บ่อย (และมีความหมายต่างจากขีด - hyphen ด้วย) ล่าสุด Google Docs เพิ่มช็อตคัตการใส่ em dash และ en dash เข้ามาให้เป็นดีฟอลต์แล้ว โดยผู้ใช้สามารถพิมพ์ --- (hyphen 3 ตัว) เพื่อเป็น em dash และ -- (hyphen 2 ตัว) เพื่อเป็น en dash ได้สะดวกกว่าวิธีการเดิมๆ ที่ต้องแทรกจากเมนู Insert หรือใช้วิธี copy & paste อย่างไรก็ตาม ช็อตคัตนี้อาจต่างจาก Microsoft Word ที่ใช้ -- เพื่อเป็น em dash อยู่บ้าง ใครที่คุ้นเคยกับท่าของ Word อาจต้องปรับพฤติกรรมเล็กน้อย หรือเข้าไปตั้งค่าใน Settings เองก็ได้เช่นกัน ผมลองกับบัญชี Google Docs ของตัวเอง พบว่าใช้ช็อตคัตได้แล้วหนึ่งบัญชี ส่วนอีกบัญชียังไม่อัพเดตให้ ที่มา - Android Police
# Tencent ซื้อสตูดิโอเกม Turtle Rock ผู้สร้างเกม Left 4 Dead และ Back 4 Blood Tencent ประกาศซื้ัอกิจการสตูดิโอเกม Turtle Rock Studios ผู้สร้างเกมเอาตัวรอดจากซอมบี้ Back 4 Blood ที่เพิ่งวางขายในปีนี้ โดยไม่เปิดเผยมูลค่า ทีมของ Turtle Rock คืออดีตทีมงานที่สร้าง Left 2 Dead ทั้งสองภาคในสมัยอยู่กับ Valve และแยกตัวมาตั้งบริษัทเอง หลังจาก Valve ไม่สนใจทำภาคต่อ Turtle Rock จะยังได้สิทธิการบริหารงานอย่างอิสระต่อไปดังเดิม และแผนการให้บริการเกม Back 4 Blood ก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสิทธิการจัดหน่ายของ Warner Bros. Games ด้วย ปีนี้เราเห็น Tencent ซื้อบริษัทเกมหลายรายแล้ว เช่น Stunlock Studios ผู้สร้างเกม Battlerite Royale, Sumo Group ผู้สร้างเกม Sackboy, Klei Entertainment ผู้สร้าง Don't Starve โดยการซื้อ Turtle Rock ถือเป็นการซื้อบริษัทเกมรายที่ 6 ของปีนี้ ยังไม่รวมถึงสตูดิโอในสังกัด Tencent ก่อนหน้านี้อีกหลายแห่ง เช่น Riot Games, Supercell, Funcom เป็นต้น ที่มา - Tencent, Kotaku
# NVIDIA เปิดตัวจีพียูสำหรับโน้ตบุ๊กรุ่นล่าง GeForce RTX 2050, MX570, MX550 NVIDIA เปิดตัวจีพียูรุ่นเล็กสำหรับโน้ตบุ๊ก 3 รุ่นคือ GeForce RTX 2050 (อ่านไม่ผิดครับ เป็นซีรีส์ 20 ไม่ใช่ 30) และ GeForce MX570/MX550 จีพียูตัวเด่นที่สุดของชุดนี้คือ GeForce RTX 2050 มี CUDA core จำนวน 2048 คอร์, แรม GDDR6 4GB คาดว่ามันคือการนำเอาชิป Turing TU106 เดิมมาวนขายใหม่ กระบวนการผลิตยังเป็น 12 นาโนเมตรของเก่า เพื่อจับตลาดล่างลงมาจาก GeForce RTX 3050 สำหรับโน้ตบุ๊กราคาประมาณ 25,000 บาท แต่ยังได้ฟีเจอร์กลุ่ม RTX อย่างการทำ ray tracing และ DLSS อยู่ด้วย ส่วนจีพียูอีกสองตัวคือ MX570/MX550 จับกลุ่มตลาดล่างลงมาอีก ตอนนี้ยังไม่มีสเปกละเอียดออกมา แต่คาดว่าใช้ชิป TU117 ตัวเดียวกับใน MX450 ที่ออกเมื่อกลางปี 2020 โดยอัพเกรดจำนวนคอร์ และความเร็วของแรมเพิ่มอีกเล็กน้อย โน้ตบุ๊กที่ใช้จีพียูทั้งสามรุ่น จะออกวางขายในช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2022 ที่มา - NVIDIA, AnandTech
# TikTok เปิดตัว TikTok Kitchen นำเมนูน่ากินจากคลิปดัง มาขายผ่านเดลิเวอรี เริ่มที่อเมริกา TikTok เปิดตัว TikTok Kitchen ซึ่งเป็นการนำเมนูอาหารจากคลิปทำอาหารที่ได้รับความนิยม แต่ไม่อยากลองทำตามเอง ก็สามารถสั่งเดลิเวอรีมาลองได้ โดยจะเริ่มที่อเมริกาก่อนเป็นแห่งแรก TikTok Kitchen เป็นความร่วมมือกับ Virtual Dining Concepts ผู้พัฒนาคอนเซปต์ร้านอาหาร สำหรับขายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรีโดยเฉพาะ เบื้องต้นจะสร้างร้าน 300 จุด และมีแผนเพิ่มเป็น 1,000 แห่ง ภายในสิ้นปี 2022 TikTok พูดถึงโมเดลรายได้ว่าจะหักส่วนกำไร ให้สำหรับทาง VDC ที่พัฒนาคอนเซปต์ร้าน และครีเอเตอร์ที่สร้างสรรค์เมนูบนแพลตฟอร์ม แต่ไม่ได้บอกว่าจะตรวจสอบอย่างไรว่าใครเป็นคนคิดเมนูขึ้นคนแรกจริง ๆ ที่มา: Engadget