txt
stringlengths 202
53.1k
|
---|
# LINE อัพเดตแอป รองรับการแชร์ YouTube / หน้าจอสมาร์ทโฟน ระหว่างคุยเป็นกลุ่ม
LINE ออกอัพเดตแอปเวอร์ชัน 10.6.5 ทั้งบน iOS และ Android เพิ่มคุณสมบัติใหม่สำหรับการโทรคุยเป็นกลุ่มทั้งแบบเสียงและแบบวิดีโอ
โดย 2 ฟีเจอร์ใหม่ ได้แก่ การคุยเป็นกลุ่มสามารถแชร์ลิงก์ YouTube และรับชมวิดีโอพร้อมกันผ่านการสนทนากลุ่มได้ ส่วนอีกฟีเจอร์ สามารถแชร์หน้าจอสมาร์ทโฟนระหว่างการคุยแบบวิดีโอได้ (ก่อนหน้านี้ทำได้เฉพาะบนคอมพิวเตอร์)
ที่มา: LINE |
# Jio บริษัทโทรคมนาคมอินเดียปล่อยฐานข้อมูลแบบสำรวจ COVID-19 ออกอินเทอร์เน็ตโดยไม่ล็อกรหัสผ่าน
Jio บริษัทโทรคมนาคมของอินเดียภายใต้ Reliance ทำข้อมูลเกี่ยวกับแบบสำรวจ COVID-19 หลุดออกสู่สาธารณะ จากการปล่อยฐานข้อมูลออกสู่อินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้ล็อกรหัสผ่าน
Jio เปิดให้บริการแบบสำรวจเพื่อตรวจสอบอาการทางโทรศัพท์มือถือหรือเว็บไซต์ว่าผู้ใช้มีอาการติด COVID-19 หรือไม่ และหลังจากเปิดให้บริการไม่นาน Anurag Sen นักวิจัยความปลอดภัยได้แจ้งเบาะแสกับ TechCrunch ว่า Jio เปิดฐานข้อมูลที่เก็บข้อมูลสำคัญเหล่านี้ออกสู่อินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้ล็อกรหัสผ่าน
ทาง TechCrunch จึงได้แจ้งไปยัง Jio และหลังจากนั้นไม่นานทางบริษัทก็ปิดระบบฐานข้อมูลที่มีปัญหาไม่ให้คนนอกเข้าถึงได้แล้ว แต่ทางบริษัทไม่ได้ให้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลาที่ปล่อยฐานข้อมูลออกสู่สาธารณะมีใครเข้าฐานข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่
ทาง Jio ยืนยันว่าเป็น logging server ที่ใช้เพื่อมอนิเตอร์ประสิทธิภาพของเว็บไซต์ แต่จากการค้นพบฐานข้อมูล ทาง TechCrunch เห็นข้อมูลสำคัญจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานของระบบอย่างเช่น system message หรือ error ไปจนถึงข้อมูลสำคัญที่ระบุตัวตนของบุคคลได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศ, อายุ และอื่น ๆ และถ้าผู้ใช้สร้างโปรไฟล์ก็จะเห็นเป็นบันทึกอย่างชัดเจน ทั้งยังมีคำถามสุขภาพโผล่มาอีกเป็นจำนวนมาก หรือมีแม้กระทั่งตำแหน่งเป็นละติจูดกับลองจิจูดในกรณีที่ผู้ใช้อนุญาตให้มือถือหรือเบราว์เซอร์เข้าถึงข้อมูลตำแหน่งที่อยู่
ที่มา - TechCrunch
ภาพจาก Amit Agarwal/Flickr |
# นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพถอนตัวจาก "หมอชนะ" หลังพบหน่วยงานเตรียมบังคับลงแอปขอดู QR ก่อนผ่านจุดตรวจ
ดร. นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ และยังเป็นรองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสเฟซบุ๊กถึงความเห็นต่อแอปหมอชนะ ที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมา นพ.นวนรรน ได้เข้าไปให้ความเห็นกับทีมงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญการจัดการความเป็นส่วนตัวข้อมูลสุขภาพ (health information privacy specialist) ได้ถอนตัวจากโครงการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังพบว่ามีหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนเตรียมบังคับตรวจสอบลงแอปหมอชนะ โดยจะตรวจ QR ตามจุดคัดกรองหากไม่สามารถแสดง QR ได้ก็จะไม่ให้เข้าพื้นที่
นพ.นวนรรน ระบุว่าแอปกลุ่ม Contact Tracing นั้นมีประโยชน์เพียงในฐานะข้อมูลเสริม โดยแอปนี้ไม่ใช่ silver bullet โดยมันเองมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการข้อจำกัดของแอปเองที่ทำงานไม่ได้หากไม่เปิด GPS และ Bluetooth หรือมีรูปแบบการใช้งานอื่น เช่น ใช้โทรศัพท์หลายเครื่อง หรือหลายคนใช้โทรศัพท์ร่วมกัน เขาระบุว่าการใช้มาตรการเชิงบังคับในการติดตั้งแอปเช่นนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อคนบางกลุ่ม เช่นกลุ่มคนชั้นล่าง และภาครัฐไม่ควรทำตัวส่งเสริมการใช้แอปในลักษณะเช่นนี้เสียเอง
นพ.นวนรรน ระบุว่าเขาจะใช้แอปนี้เอง แต่ยืนยันว่ามันควรเป็นทางเลือกสำหรับประชาชน และหากประชาชนเชื่อใจมาตรการดูแลและคุ้มครองที่เหมาะสมก็จะทำให้คนยอมรับและใช้งานมากขึ้นเอง
แอปพลิเคชั่นหมอชนะ นับเป็นแอปพลิเคชั่นที่ดึงข้อมูลกลับเซิร์ฟเวอร์มากที่เป็นอันดับต้นๆ ในแอปกลุ่มเดียวกัน โดยแอปพลิเคชั่นจะอัพโหลดข้อมูลพิกัดจาก GPS และการรายการเข้าใกล้กัน (cross-path) ขึ้นเซิร์ฟเวอร์เสมอ ทำให้เซิร์ฟเวอร์มองเห็นข้อมูลการเข้าใกล้ระหว่างกันของผู้ใช้ทั้งหมด ขณะที่แอปกลุ่มเดียวกันมักหลีกเลี่ยงการอัพโหลดข้อมูลเช่นนี้ แต่อาศัยเซิร์ฟเวอร์จะมองเห็นรายการเข้าใกล้กันต่อเมื่อเจ้าหน้าที่พบผู้ป่วยและขอข้อมูลในโทรศัพท์จากผู้ป่วยให้อัพโหลดขึ้นเซิร์ฟเวอร์เท่านั้น และส่วนใหญ่แอปกลุ่มเดียวกันมักไม่เก็บข้อมูล GPS เลย ยกเว้นเช่นอินเดีย
ที่มา - Facebook: Nawanan Theera-Ampornpunt |
# โซนี่รู้ตัวคนปล่อยคลิปหลุด The Last of Us Part II และดำเนินคดีแล้ว ยืนยันเป็นคนนอก
สัปดาห์ที่ผ่านมาแฟนเกมน่าจะเห็นและคอยหลบคลิปหลุดของ The Last of Us Part II ที่เป็นสปอยล์ใหญ่ของเกม ล่าสุดโซนี่เปิดเผยว่ารู้ตัวคนปล่อยแล้วและแจ้งดำเนินคดีแล้ว แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมได้ พร้อมยืนยันคนร้ายเป็นคนนอกที่ไม่เกี่ยวกับโซนี่และ Naughty Dog
เมื่อเดือนมีนาคมมีรายงานว่า Naughty Dog มีวัฒนธรรมการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ (crunching) เพื่อให้เกมออกมาดีและเสร็จทันตามกำหนด ขณะที่ The Last of Us Part II ถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ทำให้เกิดการคาดการณ์กันว่าคลิปหลุดดังกล่าว คนในจะเป็นคนปล่อยมาเพราะไม่พอใจจากสถานการณ์ของการทำงาน
ที่มา - Polygon |
# ซีอีโอใหม่ Red Hat มั่นใจ ไม่ถูกวัฒนธรรมองค์กร IBM กลืนกิน เพราะแยกขาดจากกัน
Paul Cormier ซีอีโอคนใหม่ของ Red Hat ให้สัมภาษณ์กับ The Register ในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ (แต่ตัวเขาอยู่กับ Red Hat มาตั้งแต่ปี 2001) มีประเด็นที่น่าสนใจคือวัฒนธรรมองค์กร Red Hat ที่มาจากโลกโอเพนซอร์ส เคลื่อนตัวเร็ว จะโดนวัฒนธรรมองค์กรใหญ่ของ IBM กลืนกินหรือไม่
Cormier ยืนยันว่าจะไม่มีปัญหานี้ เพราะ Red Hat จะแยกขาดจาก IBM ไม่ไปยุ่งกันเลย เขามีฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายกฎหมาย การเงิน ระบบไอทีภายในของตัวเองโดยไม่ต้องใช้ของ IBM และไม่มีแผนจะรวมแผนกหลังบ้านเหล่านี้เข้าด้วยกันด้วย
Cormier ยังบอกว่า Red Hat มีอิสระในการเลือกพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นคู่แข่งของ IBM ด้วยซ้ำ เขายกตัวอย่างความร่วมมือของ Red Hat กับ Microsoft Azure ที่เป็นคู่แข่งของ IBM Cloud และยืนยันว่า Arvind Krishna ซีอีโอคนใหม่ของ IBM ก็เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะทั้งคู่ต่างมีบทบาทสำคัญในตอนเจรจาซื้อกิจการ Red Hat และเรื่องอิสระในการทำงานก็เป็นเงื่อนไขตอนซื้อกิจการด้วย
เขาบอกว่าถ้ามีความขัดแย้งกันเรื่องผลิตภัณฑ์ Red Hat จะชนะ IBM แน่นอน โดยยกตัวอย่างว่าก่อนหน้านี้ IBM ก็มีดิสโทร Kubernetes ของตัวเอง แต่พอรวมกันแล้วก็เลิกทำ หันมาสนับสนุน OpenShift แทน ส่วนประโยชน์ของการควบกิจการคือ IBM เก่งเรื่องงานขาย มีเครือข่ายกว้างไกลทั่วโลก เข้าถึงผู้บริหารระดับสูงได้เก่งกว่า ก็จะช่วยพาผลิตภัณฑ์ของ Red Hat ไปยังลูกค้าได้อีกมาก
Arvind Krishna ซีอีโอ IBM
คำถามว่าคู่แข่งของ Red Hat ว่าคือใครกันแน่ คำตอบของ Cormier คือ Red Hat ไม่ค่อยมีคู่แข่งโดยตรงมากนัก เพราะไม่ใช่บริษัทฮาร์ดแวร์ (เช่น NetApp หรือ Dell EMC) และไม่ใช่บริษัทคลาวด์ (เช่น AWS, Microsoft, Google) บริษัทที่ใกล้เคียงกับคำว่าคู่แข่งที่สุดคือ VMware ที่กำลังชิงตลาด Kubernetes เดียวกัน แต่เขามั่นใจว่า Red Hat เหนือกว่ามาก เพราะใจกลางสำคัญของ Kubernetes คือลินุกซ์ ที่ Red Hat อยู่ในตลาดนี้มายาวนาน ในขณะที่ VMware ต้องมาเริ่มสร้างใหม่ทั้งหมด
ที่มา - The Register |
# Microsoft Teams ใจดี เปิดฟีเจอร์ประชุม 20,000 คนให้โรงเรียนใช้จัดพิธีจบการศึกษา
ปัญหา COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาในชั้นเรียน และนักเรียนจำนวนมากไม่สามารถเข้าร่วมพิธีสำเร็จการศึกษาได้อย่างที่ควรจะเป็น
ไมโครซอฟท์ประกาศเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ โดยปรับแพ็กเกจ Microsoft 365 แบบ A1 ที่ฟรีสำหรับสถาบันการศึกษาอยู่แล้ว (ใช้ได้เฉพาะ Office for Web ไม่สามารถติดตั้งบนพีซีได้) จะได้ฟีเจอร์ประชุมขนาดใหญ่บน Microsoft Teams ที่รองรับผู้เข้าชมได้ถึง 20,000 คนพร้อมกัน เพื่อให้สถาบันการศึกษาสามารถจัดพิธีจบการศึกษาแบบออนไลน์ได้ทันที
ฟีเจอร์พิเศษนี้จะเปิดให้สถาบันการศึกษาใช้งานแบบจำกัดเวลา คือ ช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึง 1 กรกฎาคม 2020 เท่านั้น
ที่มา - Microsoft |
# Raspberry Pi ออกอุปกรณ์เสริม กล้องคุณภาพสูงเปลี่ยนเลนส์ได้
Raspberry Pi เปิดตัวชุดกล้อง Raspberry Pi High Quality Camera ใช้โมดูลกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ และใช้เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่คุณภาพสูง
โมดูลกล้องนับเป็นสินค้าขายดีอย่างหนึ่งของทาง Raspberry Pi โดยทางโครงการระบุว่าขายได้กว่า 1.7 ล้านชุดแล้ว นับแต่โมดูลกล้อง OmniVision OV5647 ที่ให้ภาพ 5 ล้านพิกเซล และโมดูล Sony IMX219 ที่ให้ภาพ 8 ล้านพิกเซล
โมดูลใหม่นี้ใช้เซ็นเซอร์ Sony IMX477 ความละเอียดภาพ 12.3 ล้านพิกเซล และขนาดพิกเซลใหญ่กว่า Sony IMX219 เท่าตัว ที่ขนาด 1.55 ตารางไมโครเมตร ตัวโมดูลรองรับเลนส์เมาน์ C และ CS ที่ใช้งานกันในกล้องวงจรปิด ทำให้เลือกซื้อเลนส์และตัวแปลงได้หลากหลาย และมีช่องเกลียวติดขาตั้งกล้องให้ด้วย
ตัวโมดูลราคา 25 ดอลลาร์ไม่มีเลนส์ แต่ตัวแทนจำหน่ายเป็นทางการจะมีเลนส์แบบ 6 มิลลิเมตร ราคา 25 ดอลลาร์ และ 16 มิลลิเมตร ราคา 50 ดอลลาร์ให้เลือกซื้อไปใช้คู่กัน
สำหรับในไทยตัวแทนจำหน่ายตอนนี้คือ Cytron จำหน่ายโมดูลในราคา 1,816.40 บาท
ที่มา - Raspberry Pi |
# Tim Cook บอก "iPhone SE เร็วกว่ามือถือ Android ที่เร็วที่สุด"
Tim Cook ตอบคำถามในงานแถลงผลประกอบการไตรมาส 1/2020 โดยกล่าวถึง iPhone SE เวอร์ชันใหม่ ว่าจะช่วยดึงให้คนย้ายจาก Android มาใช้ iOS เพราะคุ้มค่ามาก ราคาถูกแต่ใช้เครื่องยนต์ตัวเดียวกับ iPhone รุ่นท็อป และ "เร็วกว่ามือถือ Android ที่เร็วที่สุด" ซะด้วย
เขายังยืนยันว่า iPhone SE ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาของ iPhone ทั้งหมดให้ถูกลง แอปเปิลเพียงแต่ต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีในราคาที่ดีเท่านั้น
ที่มา - 9to5mac |
# แอปติดตามผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 ของอินเดียถูกวิจารณ์ว่าละเมิดประชาชน หลังรัฐพยายามบังคับให้ทุกคนติดตั้งแอป
รัฐบาลอินเดียผลักดันแอป Aarogya Setu ที่ใช้ติดตามผู้เข้าใกล้ผู้ป่วย COVID-19 แต่มาตรการสนับสนุนให้ติดตั้งเริ่มกลายเป็นมาตรการแบบกึ่งบังคับจนทำให้องค์กรด้านเสรีภาพอินเทอร์เน็ตและความเป็นส่วนตัวออกมาวิจารณ์
มาตรการบังคับที่ออกมาแล้ว ได้แก่ การบังคับผู้ทำงานรับส่งอาหาร, กลุ่มพนักงานบริการบางประเภท, และเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางทั้งหมด โดยมีข่าวว่าขั้นต่อไปคือการบังคับติดตั้งแอปก่อนขึ้นระบบขนส่งมวลชนหรือเข้าสนามบิน
ตัวแอป Aarogya Setu เก็บข้อมูลทั้งการเข้าใกล้ระหว่างกัน (contact) และข้อมูลพิกัด (location) ไปด้วย นอกจากนี้ยังขอข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเพศ, ประวัติการเดินทาง การเก็บข้อมูลที่มากเช่นนี้ทำให้ Software Freedom Law Centre (SFLC.in) และ Internet Freedom Foundation (IFF) ออกมาวิจารณ์การเก็บข้อมูลมากเช่นนี้อาจสร้างกลไกการควบคุมสังคมขึ้นมาใหม่ แม้ว่าตัวแอปจะไม่สามารถช่วยควบคุมโรคได้ก็ตาม
ก่อนหน้านี้ในอินเดียมีแอปประเภทเดียวกันหลายแอป และบางแอปก็ทำข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล บางแอปโพสค่าพิกัดผู้ใช้ขึ้นเซิร์ฟเวอร์อื่นที่ไม่ใช่ของตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ ในไทยเองก็มีรายงานว่าแอปสนับสนุนการกักตัวอยู่บ้านทำค่าพิกัดผู้ใช้หลุดกลายเป็นแอปรายงานพิกัดต่อสาธารณะตลอดเวลา
ทางการอินเดียยืนยันว่าข้อมูลพิกัดนั้นมีความจำเป็น เพราะทำให้รัฐเข้าใจได้ว่าจุดแพร่เชื้อไวรัสมาจากจุดใด และการใช้ข้อมูลพิกัดก็จะใช้ในรูปแบบภาพรวมเท่านั้น ไม่พยายามเจาะรายคน
ที่มา - Strait Times, NDTV 1, 2, New York Times |
# คนทำงานด่านหน้า Amazon, Whole Foods, FedEx ฯลฯ ประท้วงเรียกร้องการป้องกันเชื้อที่ดีกว่านี้
พนักงาน Amazon, Whole Foods, Instacart, FedEx, Target, Walmart รวมตัวกันประท้วงในวันแรงงาน เรียกร้องให้บริษัทมีมาตรการป้องกันเชื้อสำหรับคนทำงานด่านหน้าให้ดีกว่านี้ และยังเรียกร้องให้คนทั่วไปร่วมกันบอยคอตสินค้าแบรนด์ดังกล่าวตลอดวันแรงงานด้วย
แต่ละบริษัทมีข้อเรียกร้องแตกต่างกันไป เช่น Instacart เรียกร้องให้มีชุดป้องกัน PPE สำหรับคนทำงาน, Whole Foods ต้องการให้ปิดร้านค้าในย่านที่มีการยืนยันผู้ติดเชื้อเป็นเวลา 14 วัน, พาร์ทเนอร์ส่งของให้ Amazon ก็ต้องการอุปกรณ์และการทำความสะอาดฆ่าเชื้อยานพาหนะแบบมืออาชีพ เพราะตอนนี้พวกเขาทำความสะอาดกันเอง, พนักงาน Amazon เรียกร้องให้บริษัทเปิดเผยตัวเลขผู้ติดโรค COVID-19 อย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา หลังบริษัทปฏิเสธที่จะบอกตัวเลขที่แท้จริง
การเรียกร้องต่างๆ ลากยาวมาตั้งแต่ช่วงเกิดโรคระบาดใหม่ๆ โดย Instacart ขยายเวลาจ่ายเงินให้คนทำงานที่ต้องกักตัวและติดโรค COVID-19 ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม และเพิ่มโบนัสให้, Amazon ให้ลาป่วยได้ 2 สัปดาห์ เพิ่มจุดคัดกรองอุณหภูมิ แต่ดูเหมือนยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึงมากพอจนทำให้คนทำงานรู้สึกปลอดภัยได้
ที่มา - The Verge |
# [IDC] ตลาดสมาร์ทโฟนไตรมาส 1/2020 หดตัว 11.7% เป็นประวัติการณ์จาก COVID-19
IDC รายงานยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกประจำไตรมาส 1/2020 ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 พบว่ายอดขายหดตัวลงจากปีก่อนถึง -11.7% ถือเป็นการหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สมาร์ทโฟนบูมขึ้นมา
ยอดขายสมาร์ทโฟนรวมทั้งไตรมาสอยู่ที่ 275.8 ล้านเครื่อง ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 312.3 ล้านเครื่อง โดยผู้ขายสมาร์ทโฟน 3 รายใหญ่ Samsung, Huawei, Apple ต่างประสบปัญหายอดขายลดกันทั้งนั้น (Samsung ลดหนักสุด -18.9%, Huawei ใกล้กันที่ -17.1%, Apple ลดลงเล็กน้อย -0.4%) ในขณะที่เบอร์สี่ Xiaomi ยอดขายกลับเพิ่มขึ้น 6.1% และเบอร์ห้า Vivo ยอดขายเพิ่มขึ้น 7.0% สวนกระแสตลาด
Xiaomi ยังสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนได้เกิน 10% เป็นครั้งแรก (ไตรมาสนี้มีส่วนแบ่ง 10.7%) ส่วน Vivo กลับเข้ามาสู่ Top 5 ได้สำเร็จ (เบียดแซงพี่น้องร่วมท้องคือ Oppo) โดยปัจจัยความสำเร็จของทั้ง Xiaomi และ Vivo มาจากตลาดอินเดีย ที่ทั้งสองบริษัททำได้ดี แต่ก็ต้องรอดูว่าการปิดเมืองของอินเดียจะมีผลต่อตัวเลขไตรมาส 2 แค่ไหน
ที่มา - IDC
ภาพจาก Xiaomi |
# Valve ประกาศ SteamVR หยุดซัพพอร์ต macOS
Valve ประกาศข่าวหยุดสนับสนุน SteamVR บนระบบปฏิบัติการ macOS และจะไปโฟกัสที่ Windows/Linux เพียง 2 อย่าง
Valve ไม่ได้ระบุเหตุผลมาตรงๆ แต่ข้อมูลจากสถิติฮาร์ดแวร์ของ Steam เองก็ระบุว่ามีผู้ใช้ Steam เพียง 4% เท่านั้นที่ใช้แมค ส่วนลินุกซ์ถึงแม้มีผู้ใช้น้อยกว่าแมค แต่ก็ยังจำเป็นในแง่ของนักพัฒนา รวมถึงระบบปฏิบัติการ SteamOS ของ Valve เองด้วย
ที่มา - Steam, UploadVR |
# ผู้ใช้ Facebook ในสหรัฐฯ, แคนาดา โอนรูปภาพไปยัง Google Photos ได้แล้ว
จากโครงการ Data Transfer Project (DTP) ความร่วมมือระหว่าง Facebook, Google, Microsoft และ Twitter ในการสร้างเฟรมเวิร์คโอเพนซอร์สสำหรับถ่ายโอนข้อมูลระหว่างแพลตฟอร์ม และ Facebook ได้เริ่มเปิดตัวเครื่องมือถ่ายโอนมาตั้งแต่ปลายปี 2019 ล่าสุดเริ่มเปิดใช้งานในสหรัฐฯและแคนาดาแล้ว ผู้ใช้งานสามารถถ่ายโอนรูปจาก Facebook ไปยัง Google Photos ได้
ผู้ใช้งานคลิก Your Facebook Information ในเมนูตั้งค่า และจะเห็นทางเลือกการถ่ายโอนรูปภาพ คลิกเพื่ิอ drop down และเลือกรูปภาพที่ต้องการถ่ายโอน ซึ่งปลายทางรับโอนยังมีแค่ Google Photos เท่านั้นในตอนนี้
เป้าหมายของ The Data Transfer Project คือทำตามกฎข้อมูลยุโรปหรือ GDPR ที่ระบุให้บริษัทเทคโนโลยีสร้างช่องทางดาวน์โหลด ให้ผู้ใช้สามารถโหลดข้อมูลออกมาได้
ที่มา - Engadget |
# The Last of Us Part II ต้องใช้พื้นที่ติดตั้ง 100GB ใหญ่ที่สุดในเกมเอ็กซ์คลูซีฟ PS4
หลัง The Last of Us Part II ได้วันวางขายที่ชัดเจน 19 มิถุนายน ข้อมูลอีกชิ้นที่เผยแพร่ออกมาคือ พื้นที่ฮาร์ดดิสก์ในเครื่องที่ต้องใช้อย่างน้อย 100GB
ตัวเลขนี้ทำให้ The Last of Us Part II กลายเป็นเกมเอ็กซ์คลูซีฟของ PS4 ที่ใช้พื้นที่ฮาร์ดดิสก์มากที่สุด แม้ยังไม่มากเท่ากับ Call of Duty: Modern Warfare (175GB) หรือ Red Dead Redemption 2 (150GB) แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเกมยุคนี้ขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิมมาก
ที่มา - Gamespot |
# พนักงาน Amazon สำนักงานใหญ่ซีแอตเทิลสามารถทำงานที่บ้านได้ยาวจนถึงตุลาคม
Seattle Times รายงานว่า Amazon ให้พนักงานสำนักงานใหญ่ซีแอตเทิล สามารถทำงานจากที่บ้านได้ยาวๆ ถึง วันที่ 2 ตุลาคม และทางบริษัทกำลังหารือมาตรการป้องกันสำหรับพนักงานที่เข้ามาทำงานด้วย ดังนั้นสำนักงานใหญ่ที่เคยคึกคัก อาจเงียบเหงาต่อไปอีกอย่างน้อย 5 เดือน
Amazon ออกมาตรการทำงานจากที่บ้านมาตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยมีการยืนยันพนักงานสำนักงานใหญ่ติด COVID-19 รายแรกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม การขยายระยะเวลานี้ทำได้เฉพาะตำแหน่งงานที่โดยเนื้องานแล้วสามารถทำงานจากที่บ้านได้เต็มที่ สำหรับพนักงานที่มีเหตุจำเป็นต้องมาทำงานที่สำนักงาน ทางบริษัทก็จะจัดหาอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ พวกหน้ากาก เจลล้างมือ การตรวจวัดอุณหภูมิ การทำตามกฎ social distancing
สถานการณ์พนักงาน Amazon สำนักงานใหญ่ดูเรียบง่าย แต่ฝั่งพนักงานคลังสินค้านั้นตรงกันข้าม เนื่องจากมียอดสั่งสินค้ามาก ทำให้ทำงานกันไม่ทัน ถึงกับต้องจ้างคนเพิ่ม และยังมีความเสี่ยงเรื่องมาตรการป้องกันเชื้อที่บริษัทไม่สามารถจัดหาให้อย่างทั่วถึง และมาตรการ social distancing ที่ไม่สามารถทำได้เต็มที่ในทางปฏิบัติ
ภาพจาก Amazon
ที่มา - Seattle Times |
# App บน iPad มีจำนวนการดาวน์โหลดสูงที่สุดในรอบ 4 ปี
บริษัทวิจัยตลาดแอป Sensor Tower รายงานตัวเลขการดาวน์โหลดแอปสำหรับบน iPad ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2020 จำนวนการดาวน์โหลดรวม 1.1 พันล้านครั้ง
ตัวเลขนี้มีประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 40% แบบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน (Year-on-Year) โดยตัวเลขเป็นบวกครั้งแรก นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2013 ซึ่งที่ผ่านมาตัวเลขติดลบมาโดยตลอด สะท้อนว่าไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการนำ iPad มาใช้งานมีเพิ่มมากขึ้น และน่าจะหลากหลายกิจกรรมมากขึ้นด้วย
หมวดของแอปที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดคือเกมและบันเทิง แต่ในอันดับ 3 คือหมวดการศึกษา และเมื่อดูตัวเลขการทำเงินของแอปซึ่งมากกว่า 2.1 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ก็มาจากเกมนั่นเอง
ที่มา: Sensor Tower ผ่าน MacRumors |
# Xiaomi เปิดราคาไทย Mi 10 ที่ 27,999 บาท เริ่มขาย 8 พ.ค. ส่วน Mi 10 Pro ยังไม่ขาย
Xiaomi Thailand ประกาศราคาและวันวางขาย Mi 10 มือถือเรือธงประจำปี 2020 ที่เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์
รุ่นที่นำมาขายยังมีแต่ Mi 10 เท่านั้น (ไม่มี Mi 10 Pro ที่จุดหลักต่างกันเรื่องกล้องซูม) มีวางขายความจุแบบเดียวคือ แรม 8GB + 256GB มีให้เลือกสองสีคือเทา Twilight Grey และเขียว Coral Green ขายราคา 27,999 บาท เริ่มวางขายวันที่ 8 พฤษภาคมนี้
ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์ Xiaomi Thailand |
# Lenovo เปิดขาย ThinkPad TrackPoint Keyboard II คีย์บอร์ดไร้สายพร้อมปุ่มแดงตามกำหนด
ThinkPad TrackPoint Keyboard II คีย์บอร์ดไร้สายที่ใช้เลย์เอาต์ของคีย์บอร์ด ThinkPad พร้อมตุ่มแดงแบบคลาสสิค เปิดตัวมาตั้งแต่งาน CES เมื่อต้นปี ตอนนี้ก็วางขายตามกำหนดเรียบร้อยแล้ว
หมายเลขชิ้นส่วนในสหรัฐฯ คือ 4Y40X49493 ราคา 99 ดอลลาร์ สำหรับประเทศไทยเว็บ Lenovo ทางการยังไม่นำเข้ามา ตอนนี้มีเฉพาะรุ่นแบบเสียบสาย USB เท่านั้น
ที่มา - The Verge |
# พบเบราว์เซอร์ Xiaomi ส่งรายชื่อเว็บกลับเซิร์ฟเวอร์พร้อมข้อมูลโทรศัพท์ ทำงานแม้แต่โหมดส่วนตัว
Gabi Cirlig นักวิจัยความปลอดภัยระบุกับเว็บ Forbes ว่าเขาพบว่าเบราว์เซอร์ Xiaomi ที่ติดตั้งไปกับโทรศัพท์ของ Xiaomi เป็นค่าเริ่มต้น และเบราว์เซอร์ที่เปิดให้ดาวน์โหลดจาก Google Play อย่าง Mi Browser Pro และ Mint Browser นั้นจะส่งข้อมูลการใช้งานกลับเซิร์ฟเวอร์จำนวนมาก โดยส่งข้อมูลไปพร้อมกับหมายเลขประจำเครื่องและเวอร์ชั่นแอนดรอยด์ที่น่าจะทำให้ระบุตัวตนผู้ใช้กลับได้โดยง่าย
โฆษกของ Xiaomi ระบุกับ Forbes ยืนยันว่าบริษัทรักษาความเป็นส่วนตัวผู้ใช้, ข้อมูลที่เก็บไปก็ไม่ผูกกับตัวตนผู้ใช้แต่อย่างใด, และผู้ใช้ได้ให้ความยินยอมในการเก็บข้อมูลแล้ว โดยอ้างว่าการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บโดยไม่ระบุตัวตนผู้ใช้นั้นเป็นแนวทางทั่วไปที่หลายบริษัทใช้ปรับปรุงการทำงานของเบราว์เซอร์
นอกจากการเก็บข้อมูลการเข้าเว็บแล้ว โทรศัพท์ Xiaomi ยังส่งข้อมูลกลับเซิร์ฟเวอร์เสมอ ทุกครั้งที่มีการเปิดแอป โดยโดเมนที่โทรศัพท์ส่งข้อมูลไป เป็นของบริษัท Sensor Analytics บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลจากจีน ทาง Xiaomi ระบุว่าแม้บริการนี้จะเป็นโซลูชั่นของ Sensor Analytics แต่เซิร์ฟเวอร์ก็ควบคุมโดย Xiaomi เองและบริษัทไม่ได้แชร์ข้อมูลให้บริษัทภายนอก แม้แต่ Sensor Analytics
ที่มา - Forbes |
# Xiaomi เปิดตัว Redmi Note 9, Note 9 Pro และ Mi Note 10 Lite แบตอึดเกิน 5,000mAh ทั้งสามรุ่น
Xiaomi เปิดตัวสมาร์ทโฟนตระกูลทั้งสามรุ่น คือ Redmi Note 9, Note 9 Pro และ Mi Note 10 Lite แบบโกลบอล ทุกรุ่นรันบน MIUI 11 ครอบทับบน Android 10
Redmi Note 9 Pro หน้าจอ IPS LCD ขนาด 6.67 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (2400 x 1080) กล้องหน้า 16MP แบบเจาะรู กล้องหลัง 4 กล้อง กล้องหลัก 64MP เลนส์อัลตร้าไวด์ 8MP เลนส์มาโคร 5MP และ depth sensor 2MP ใช้ชิป Snapdragon 720G แบตเตอรี่ 5,020 mAh รองรับชาร์จเร็ว 30W มีสามสี Interstellar Grey, Tropical Green และ Glacier White
ราคาดังนี้
รุ่นแรม 6GB ความจุ 64GB อยู่ที่ 269 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,800 บาท)
รุ่นแรม 6GB ความจุ 128GB อยู่ที่ 299 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,800 บาท)
Redmi Note 9 หน้าจอ IPS LCD ขนาด 6.53 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (2340 x 1080) ใต้ Gorilla Glass 5 กล้องหน้า 13MP แบบเจาะรู กล้องหลัง 4 กล้อง กล้องหลัก 48MP เลนส์อัลตร้าไวด์ 8MP เลนส์มาโคร 2MP และ depth sensor 2MP ใช้ชิป Mediatek Helio G85 แบตเตอรี่ 5,020 mAh รองรับชาร์จเร็ว 18W มีสามสี Midnight Grey, Forest Green และ Polar White
ราคาดังนี้
รุ่นแรม 3GB ความจุ 64GB อยู่ที่ 199 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6,500 บาท)
รุ่นแรม 4GB ความจุ 128GB อยู่ที่ 249 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,100 บาท)
Mi Note 10 Lite หน้าจอ AMOLED ขนาด 6.47 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (2340 x 1080) กล้องหน้า 16MP แบบเจาะรู กล้องหลัง 4 กล้อง กล้องหลัก 64MP ใช้เซ็นเซอร์ Sony IMX686 เลนส์อัลตร้าไวด์ 8MP เลนส์มาโคร 2MP และ depth sensor 5MP ใช้ชิป Snapdragon 730G แบตเตอรี่ 5,260 mAh รองรับชาร์จเร็ว 30W มีสามสี Glacier White, Midnight Black และ Nebula Purple
ราคาดังนี้
รุ่นแรม 6GB ความจุ 64GB อยู่ที่ 349 ยูโร (ประมาณ 12,300 บาท)
รุ่นแรม 6GB ความจุ 128GB อยู่ที่ 399 ยูโร (ประมาณ 14,000 บาท)
ทั้งสามรุ่น วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ราคาด้านบนเป็นราคาเปิดตัวในต่างประเทศ ส่วนราคาอย่างเป็นทางการในไทย ต้องติดตามกันต่อไป
ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์, Xiaomi Thailand Live |
# บริการดูหนังออนไลน์ HOOQ ปิดกิจการแล้ว
HOOQ บริการดูหนังแบบสตรีมมิ่งในเครือ Singtel ปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว หลังยื่นเรื่องขอปิดกิจการบริษัทในสิงคโปร์เมื่อเดือนมีนาคม
ในเพจของ HOOQ ประเทศไทย โพสต์ข้อความว่า HOOQ ปิดตัวลงเมื่อวานนี้ (30 เมษายน) หลังเปิดให้บริการมา 5 ปี
สำหรับในประเทศไทย HOOQ ทำตลาดร่วมกับ AIS (ซึ่งถือเป็นบริษัทในเครือ Singtel) โดย AIS แถมพ่วงมากับแพ็กเกจ AIS Play คู่กับบริการสตรีมมิ่งอีกตัวคือ Viu แต่หลังการปิดตัวของ HOOQ ก็ทำให้เหลือแต่ Viu เพียงอย่างเดียว
ที่มา - HOOQ Thailand |
# ยุทธศาสตร์เกมใหม่ได้ผล บริการเกมเหมาจ่าย Xbox Game Pass มีสมาชิก 10 ล้านรายแล้ว
ไมโครซอฟท์เปิดเผยว่า Xbox Game Pass บริการเหมาจ่ายรายเดือนเพื่อเล่นเกม มีผู้ใช้งานหลัก 10 ล้านคนแล้ว
Xbox Game Pass เปิดตัวในปี 2017 สำหรับลูกค้า Xbox One โดยคิดราคาเดือนละ 9.99 ดอลลาร์ต่อเดือน จากนั้นในปี 2019 ก็ออก Xbox Game Pass for PC ในราคาเท่ากัน (ถ้าสมัครทั้งสองแพลตฟอร์ม ลดเหลือ 14.99 ดอลลาร์)
บริการเล่นเกมเหมาจ่ายแบบ Game Pass ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบริษัทเกมรายอื่นก็ทำมาก่อน เช่น EA Access/Origin Access ของ EA หรือ PlayStation Now ของ Sony ที่เป็นทั้งเหมาจ่าย+สตรีมมิ่งไปพร้อมกัน
แต่ตัวเลข 10 ล้านของ Xbox Game Pass ถือว่าเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ มาก (EA มีสมาชิก 5 ล้าน, PS Now มี 1 ล้าน) ปัจจัยสำคัญมาจากไมโครซอฟท์ผลักดันเต็มที่ ดึงเกมใหม่ๆ มาลง Game Pass อย่างต่อเนื่อง เกมดังหลายเกมในช่วงหลัง (เช่น The Outer Worlds) ก็มีให้เล่นบน Game Pass ตั้งแต่วันแรกที่ออกขาย
ที่มา - Xbox, VentureBeat, The Verge |
# Assassin's Creed Valhalla บนพีซีจะเป็นเอ็กซ์คลูซีฟ Epic Games Store
Assassin's Creed Valhalla ภาคใหม่เปิดตัวและได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม เกมประกาศลงทั้งหมด 6 แพลตฟอร์มคือ Xbox Series X, Xbox One, PS5, PS4, Stadia, PC โดยมีกำหนดวางขายกว้างๆ คือช่วงปลายปี 2020
แต่ในยุคสมัยนี้ เกมพีซีที่เด่นๆ ได้รับความสนใจสูง มักไม่รอดโดน Epic Games ชิงไปเป็นเอ็กซ์คลูซีฟสักช่วงหนึ่ง (เช่น Borderlands 3) ซึ่งกรณีของ Assassin's Creed Valhalla ก็ไม่แคล้ว เป็นเอ็กซ์คลูซีฟขายบน Epic Games Store เช่นกัน (ยังไม่ระบุช่วงเวลา แต่ก็น่าจะ 1 ปีตามมาตรฐาน)
เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจนัก เพราะ Ubisoft มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ Epic Games มานาน และก่อนหน้านี้ก็ประกาศขายเกม The Division 2 กับ Watch Dogs Legion เป็นเอ็กซ์คลูซีฟบน Epic Games Store ด้วย
ที่มา - DualShockers |
# [Dota 2] สุดท้ายก็ไม่รอด The International 2020 เลื่อนไปปีหน้าเพราะเหตุ COVID-19
อีกหนึ่งผลกระทบของ COVID-19 ต่อวงการ esports เมื่อ The International 2020 ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ประจำปีของ Dota 2 ซึ่งปีนี้จะจัดที่ที่เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ได้ถูกประกาศเลื่อนไปแข่งขันในปี 2021 แทนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Valve แถลงเพิ่มเติมว่าเนื่องด้วยข้อบังคับท้องถิ่นในการห้ามรวมตัวกัน การระบาดของไวรัส และ ข้อกำหนดในการเดินทางระหว่างประเทศ ที่ทั้งหมดนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทำให้พวกเขายังไม่สามารถยืนยันวันที่จะจัดการแข่งขันใหม่ได้ในเร็วๆ นี้ โดยพวกเขากำลังวางแผนว่าจะจัดการอย่างไรกับการแข่งขัน DPC ที่เหลืออยู่ในฤดูกาลนี้
ส่วน Battle Pass ที่จะออกวางขายเพื่อนำยอดขาย 25% ไปเป็นส่วนหนึ่งของเงินรางวัลรวมสำหรับงาน TI10 นั้น Valve มีแผนจะปล่อยให้ทุกคนได้ซื้อในเร็วๆ นี้ แต่เนื่องจากทีมงานทุกคนต้องทำงานจากที่บ้านทำให้การดำเนินการต่างๆ ต้องใช้เวลามากขึ้น ส่งผลให้วันวางขายนั้นจะช้ากว่าปีก่อนๆ อย่างน้อยสองอาทิตย์
ที่มา: Dota 2 Blog |
# Visual Studio Online เปลี่ยนชื่อเป็น Visual Studio Codespaces, ปรับราคาให้ถูกกว่าเดิม
ไมโครซอฟท์ประกาศเปลี่ยนชื่อ Visual Studio Online ซึ่งเป็น IDE เวอร์ชันเว็บ (มันคือ VS Code เวอร์ชันเว็บ, คอมไพล์บนเซิร์ฟเวอร์ไมโครซอฟท์ คิดเงินตามเวลาใช้งาน) เป็น Visual Studio Codespaces
ไมโครซอฟท์ให้เหตุผลว่า บริการ Visual Studio Online ไม่ได้เป็นแค่ IDE ผ่านเบราว์เซอร์ แต่ยังรวมถึงสภาพแวดล้อมในการพัฒนาโปรแกรมที่โฮสต์ไว้บนคลาวด์ (cloud-hosted dev environments) ซึ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แถมผู้ใช้ยังสามารถใช้ Visual Studio ตัวเต็ม เชื่อมต่อกับ Visual Studio Online ได้ด้วยเช่นกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น Codespaces เพื่อสะท้อนรูปแบบการใช้งานมากขึ้น
นอกจากการเปลี่ยนชื่อ ไมโครซอฟท์ยังปรับราคาของ Codespaces ให้ถูกลงกว่าเดิมเกินครึ่ง เช่น ค่าเช่าเครื่องลินุกซ์มาตรฐาน (Standard 4 คอร์, แรม 8GB) จากเดิมชั่วโมงละ 0.45 ดอลลาร์ ลดเหลือ 0.17 ดอลลาร์ และเพิ่มเครื่องแบบพื้นฐาน (Basic 2 คอร์, แรม 4GB) ในราคาเพียง 0.08 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงด้วย
ที่มา - Microsoft |
# Zoom แอบแก้รายงานแบบเงียบ ๆ เปลี่ยนคำอธิบายตัวเลข 300 ล้านจาก "ผู้ใช้รายวัน" เป็น "ผู้เข้าร่วมประชุมรายวัน"
ก่อนหน้านี้ Zoom เผยว่ามีผู้ใช้รายวันทะลุ 300 ล้านไปแล้ว แต่ช่วงหลังทาง The Verge พบว่า Zoom แอบแก้โพสต์รายงานจำนวนผู้ใช้แบบเงียบ ๆ โดยเปลี่ยนจาก “ผู้ใช้รายวัน” เป็น “ผู้เข้าร่วมประชุม”
ก่อนหน้านี้ บล็อกโพสต์ของ Zoom ระบุไว้ชัดเจนว่า “มีผู้ใช้รายวันมากกว่า 300 ล้านคน” และ “มีผู้คนทั่วโลกกว่า 300 ล้านคนใช้ Zoom ในช่วงเวลาที่ท้าทาย” แต่ข้อมูลเหล่านั้นถูกลบทิ้ง และเปลี่ยนเป็น “ผู้เข้าร่วมประชุมรายวันผ่าน Zoom กว่า 300 ล้านคน”
แม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่ก็ถือเป็นจุดสำคัญมาก เพราะว่าจำนวน “ผู้เข้าร่วมประชุม” คนเดียวสามารถนับได้หลายครั้ง เช่น ถ้าประชุมผ่าน Zoom ในวันนี้ 3 ครั้ง ก็จะถูกนับเป็น 3 ต่างกับจำนวนผู้ใช้รายวันที่จะนับวันละครั้งเท่านั้น
The Verge ได้สอบถามไปยัง Zoom ทางบริษัทได้ตอบกลับมาโดยยืนยันว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจจึงทำให้เขียนคำว่า “ผู้เข้าร่วม” เป็น “ผู้ใช้” และ “ผู้คน” เมื่อทาง Zoom รับทราบถึงข้อผิดพลาดนี้ ทางบริษัทจึงแก้ไขคำใหม่ให้ถูกต้อง
ที่มา - The Verge
ภาพจาก Zoom |
# บริษัทรับจ้างแปลเกมเผยสถิติ "ภาษาไทย" มาแรงที่สุด เป็นที่สนใจของค่ายเกมมากขึ้น
บริษัท LocalizeDirect รายงานสถิติของปี 2019 พบว่า ภาษาแปลในเกมที่มีอัตราเติบโตเพิ่มมากที่สุดในรอบ 4 ปี คือภาษาไทย ที่เติบโตถึงเกือบ 4 เท่า และภาษาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษาแปลหลัก เช่น โปแลนด์ ตุรกีและเวียดนาม ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นด้วย
ภาษาที่แปลในภูมิภาคอาเซียนนับได้ว่าเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่มีมูลค่าตลาดเกมสูงที่สุด คาดว่าจะสร้างกำไรให้ผู้พัฒนา จนอาจจะได้เห็นเกมที่มีการแปลภาษาไทยมากขึ้น
ส่วนภาษา 10 อันดับที่มีสัดส่วนการแปลมากที่สุดโดยนับจากจำนวนคำที่แปล คือภาษาเยอรมัน, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, เกาหลี, สเปน, โปรตุเกส, อิตาลี, จีนและโปแลนด์ตามลำดับ ซึ่งภาษาโปแลนด์เป็นภาษาใหม่ที่ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ใน 10 ครั้งแรก ส่วนภาษาอิตาลี สเปนมีสัดส่วนลดลง ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศ และภาษาจีนก็ลดลงเนื่องจากความล่าช้าจากนโยบายเซ็นเซอร์ของรัฐบาลที่ต้องคอยอนุมัติการขายเกมในจีนแผ่นดินใหญ่
และอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการแปลจากภาษาต้นทางโดยตรงโดยไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นตัวกลาง ซึ่งจะทำให้แปลได้แม่นยำกว่า โดยในรายงานก็ได้ระบุไว้ว่าจะมีภาษาไทยที่ได้รับการแปลโดยตรงด้วย
ที่มา: LocalizeDirect |
# Microsoft เปิดให้ลงทะเบียน Build 2020 ฟรีแล้ววันนี้
ปีนี้ Microsoft ประกาศปรับ Build 2020 เป็นงานแบบออนไลน์ วันนี้ทางบริษัทก็ประกาศอย่างเป็นทางการว่างาน Build 2020 ครั้งนี้จะเปิดให้ลงทะเบียนฟรี เมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ที่ต้องจ่ายเงิน 2,395 ดอลลาร์ในการเข้าร่วมงาน
สำหรับรายละเอียดของงาน Build 2020 คือ Microsoft จะจัดงานในวันที่ 19-20 พฤษภาคมนี้ โดยจะยังคงจัดตารางงานเหมือนเดิม ตั้งแต่ไฮไลต์คืองานเปิดตัวสไตล์คีย์โน้ตจากซีอีโอ Satya Nadella และเวิร์คชอป 48 ชั่วโมงที่จัดผ่าน Twitch ซึ่งแม้ว่างานจะจัดออนไลน์และฟรี แต่ Microsoft ก็จะยังมีช่วง Q&A และอินเตอร์แอคทีฟให้ผู้ชมทางบ้านมีส่วนร่วมในงาน Build ด้วย
Build 2020 จะเริ่มงานในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ 4 ทุ่มตามเวลาประเทศไทย ลงทะเบียนอีเว้นท์ได้ที่นี่
ที่มา - The Verge |
# Amazon ไตรมาสล่าสุด รายได้เพิ่มขึ้นถึง 26% เตรียมเพิ่มการลงทุนสำหรับค่าใช้จ่าย COVID-19
Amazon รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2020 มียอดขายรวม 75,452 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 2,535 ล้านดอลลาร์
Jeff Bezos ซีอีโอ Amazon กล่าวว่าสถานการณ์ COVID-19 สร้างผลกระทบด้านบวกต่อทุกธุรกิจของ Amazon อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน ตั้งแต่การซื้อสินค้าออนไลน์, ปริมาณการใช้ AWS, การชม Prime Video แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุดเช่นเดียวกัน ในการบริหารจัดการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สามารถทำงานได้ต่อเนื่องอย่างปลอดภัย
โดยเขากล่าวว่าบนสถานการณ์ปกติ Amazon คาดว่าจะทำกำไรจากการดำเนินงานได้จากไตรมาสปัจจุบัน (2/2020) ราว 4 พันล้านดอลลาร์ แต่ Amazon เลือกจะใช้เงิน 4 พันล้านดอลลาร์นี้ กับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ COVID-19 แทน เช่นการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน การปรับสถานที่ทำงาน ต้นทุนที่เสียไปจากการลดประสิทธิภาพในคลังสินค้า แลกกับการรักษาระยะห่าง การเพิ่มค่าแรง ไปจนถึงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจ COVID-19 ใช้ภายในองค์กร เป็นต้น การลงทุนนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ระยะยาวของบริษัท
ตัวเลขผลประกอบการอื่นที่น่าสนใจของ Amazon ได้แก่ รายได้จาก AWS ไตรมาสนี้ทะลุหมื่นล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก (10,219 ล้านดอลลาร์) ขณะที่รายได้จากธุรกิจอื่น (Other) ซึ่งส่วนใหญ่คือโฆษณา ยังเติบโตสูงถึง 44% โดย Amazon ระบุว่าเห็นตัวเลขที่ลดลงในเดือนมีนาคมเช่นกัน แต่ไม่มาก
ที่มา: Amazon และ CNBC |
# Ubisoft ยืนยัน Assassin's Creed Valhalla เลือกเพศตัวเอกได้ทั้งชายและหญิง
ซีรีส์ Assassin's Creed เริ่มเปิดให้เลือกเพศตัวละครหลักได้ในภาค Odyssey โดยผู้เล่นเลือกได้ว่าจะเป็น Alexios เพศชายหรือ Kassandra เพศหญิง ซึ่งเป็นพี่น้องกันในเรื่อง (จากสถิติของ Ubisoft มีผู้เล่น 1/3 เลือกเป็น Kassandra)
พอมาถึงเกมภาคใหม่ล่าสุด Valhalla ก็มีคำถามตามมาเช่นเดิมว่ายังเลือกตัวละครเพศหญิงได้หรือไม่
Ubisoft ยืนยันแล้วว่าเราสามารถเลือกเล่นเป็นตัวละครหญิงได้ โดยรอบนี้ตัวเอกของเรื่องมีคนเดียวชื่อ Eivor แต่สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิง (แต่ยังไม่มีภาพของ Eivor เวอร์ชันผู้หญิงออกมา)
พอมีตัวละคร "ไวกิ้งหญิง" เข้ามา ก็มีการถกเถียงเช่นกันว่าไวกิ้งหญิงที่ออกรบมีจริงหรือไม่ เรื่องนี้ Thierry Noël นักประวัติศาสตร์ที่เป็นที่ปรึกษาของ Ubisoft ให้สัมภาษณ์ว่าในเชิงโบราณคดียังถกเถียงกันอยู่ แต่ตัวละครในเทพนิยายนอร์ส ก็มีนักรบหญิงอยู่มาก สะท้อนมุมมองของชาวไวกิ้งที่มองว่าชายหรือหญิงก็ออกรบในสงครามได้เท่ากัน ซึ่ง Assassin's Creed Valhalla ก็อยากนำเสนอให้ตรงไปตรงมา
ประเด็นเรื่องตัวละครหลักผู้หญิงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในวงการเกมช่วงหลัง นอกจาก Assassin's Creed Odyssey ก็ยังมีประเด็นเรื่องทหารหญิงในเกม Battlefield V
ที่มา - Ubisoft, Kotaku |
# Apple ไตรมาสล่าสุด รายได้โต 1% กลุ่ม Services และ Wearable ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง
แอปเปิลรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ตามปีการเงินบริษัท 2020 (มกราคม-มีนาคม) รายได้รวมเพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 58,313 ล้านดอลลาร์ กำไรสุทธิ 11,249 ล้านดอลลาร์ รายได้จากนอกอเมริกาคิดเป็น 62% ของรายได้รวม
Tim Cook ซีอีโอแอปเปิลกล่าวว่า ท่ามกลางผลกระทบของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แอปเปิลยังสามารถเติบโตได้ โดยมีปัจจัยหลักจากรายได้กลุ่มธุรกิจบริการ (Services) ที่ทำสถิติสูงสุดต่ออีกไตรมาส และกลุ่มสินค้าสวมใส่ (Apple Watch, AirPods) ที่รายได้ทำสถิติใหม่เช่นกัน
นอกจากนี้เขายังกล่าวว่าลูกค้าใช้สินค้าของแอปเปิลเพื่อการเชื่อมต่อ พูดคุย และสร้างสรรค์งานในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ด้วยวิธีการใหม่ ๆ และแอปเปิลก็มีส่วนช่วยเหลือสังคมผ่านการบริจาคหน้ากากและอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย
ยอดขาย iPhone ลดลง 7% เป็น 28,962 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับ Mac และ iPad ที่ลดลงเช่นเดียวกัน ขณะที่รายได้จากธุรกิจบริการ (iCloud, Apple Music, Subscription) เพิ่มขึ้น 16% เป็น 13,348 ล้านดอลลาร์ และกลุ่มอุปกรณ์สวมใส่เพิ่มขึ้นเป็น 6,284 ล้านดอลลาร์
มีประเด็นเพิ่มเติมในช่วงแถลงผลประกอบการโดยซีอีโอ Tim Cook และซีเอฟโอ Luca Maestri ดังนี้
Apple News มีผู้ใช้งาน 125 ล้านบัญชี
บัตรเครดิต Apple Card ช่วยเหลือลูกค้า โดยสามารถเลื่อนไม่จ่ายเงินในรอบบิลมีนาคมและเมษายน โดยไม่คิดดอกเบี้ยได้
ซัพพลายเชนมีปัญหามากในเดือนกุมภาพันธ์ และเริ่มเป็นปกติตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม
Tim Cook มองสถานการณ์ตอนนี้ว่าเหมือนหนังสือ ที่ยังมีมากมายไม่รู้อีกกี่ตอน แต่ตอนจบจะเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน
อัตรากำไรสินค้าขั้นต้น 30.3% ถ้าดูเฉพาะธุรกิจบริการ อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 65.4%
ลูกค้าที่เสียเงินผ่าน subscription บริการใด ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 515 ล้านบัญชี
Apple Watch ขายไป 75% ให้กับลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยซื้อ Watch มาก่อน
แอปเปิลมีเงินสดและรายการเทียบเท่า 1.93 แสนล้านดอลลาร์
ประเมินว่ายอดขาย iPhone และสินค้าสวมใส่ ไตรมาสปัจจุบันยังลดลง แต่ Mac และ iPad จะเพิ่มขึ้น
Tim Cook พูดถึงสถานการณ์ในจีนว่า กุมภาพันธ์ยอดขายลดลงจากการปิดสถานที่ มีนาคมเริ่มดีขึ้น และเมษายนก็ดีกว่ามีนาคมมาก
Apple Store ในจีนกลับมาเปิดบริการแล้ว แต่ทราฟิกยังน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดพอสมควร
Luca ระบุว่าธุรกิจแอปเปิลที่ได้รับผลกระทบชัดเจนตอนนี้คือรายได้ AppleCare เนื่องจาก Apple Store ปิดบริการ เช่นเดียวกับรายได้โฆษณาในเสิร์ชของ App Store
ที่มา: แอปเปิล และ MacRumors |
# นาซ่าประกาศ 3 ทีมสร้างยานนำมนุษย์ลงดวงจันทร์ SpaceX กับ Blue Origin ได้งาน
นาซ่าประกาศให้งานออกแบบและพัฒนาระบบนำส่งมนุษย์ลงไปยังพื้นผิวดวงจันทร์ (human landing systems - HLS) โครงการย่อยภายใต้โครงการนำมนุษย์ไปยังดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 ของนาซ่าที่ชื่อว่า Artemis
รอบนี้นาซ่าประกาศมอบงานให้ 3 ทีม ได้แก่
Integrated Lander Vehicle (ILV): ยานแบบสามชั้น (3-stage) โดยบริษัท Blue Origin เป็นยานที่จะยิงสู่อวกาศด้วย New Glenn Rocket System และ ULA Vulcan
Dynetics Human Landing System (DHLS): โดยบริษัท Dynetics เป็นยานชิ้นเดียวและยิงขึ้นสู่อวกาศด้วย ULA Vulcan
Starship: ยานลงจอดที่ยิงขึ้นสู่อวกาศด้วย SpaceX Super Heavy
ทางนาซ่าไม่ระบุว่าโครงการใดได้รับเงินเท่าใดบ้าง แต่รวมแล้วทั้งสามโครงการจะได้รับเงิน 967 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณสามหมื่นล้านบาท ทั้งสามมีเวลาสร้างระบบสาธิตให้นาซ่า 10 เดือนเท่ากัน โดยต้องสาธิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2021
ที่มา - NASA |
# โตชิบาเปิดรายชื่อฮาร์ดิสก์ที่ใช้ SMR กระทบสินค้ากลุ่มเดสก์ทอป, โน้ตบุ๊ก, และกล้องวงจรปิด
รายงานข่าวที่ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์หลายรายปรับเปลี่ยนดิสก์หลายรุ่นไปใช้เทคโนโลยี SMR เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้ Western Digital ต้องออกมาเปิดเผยรายชื่อดิสก์ที่ได้รับผลกระทบก่อนหน้านี้ ล่าสุดฝั่งโตชิบาก็ออกมาเปิดเผยรายชื่อดิสก์สำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่ใช้เทคนิค SMR เช่นกัน
ดิสก์ที่กระทบได้แก่
รุ่นสำหรับเดสก์ทอป: P300 6TB, P300 4TB, DT02 6TB, DT02 4TB, DT02-V 6TB, และ DT02-V 4TB
รุ่นสำหรับโน้ตบุ๊ก: L200 2TB, L200 1TB, MQ04 2TB, และ MQ04 1TB
ทั้งนี้ทางโตชิบายืนยันว่าดิสก์ตระกูล NAS อย่าง N300 ที่มีการเขียนข้อมูลสูงจะไม่มีการใช้ SMR
ที่มา - Toshiba |
# Tesla ไตรมาส 1/2020 เผย Model Y สามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มจำหน่าย
Tesla รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 1 ปี 2020 มีรายได้ 5,985 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 227 ล้านดอลลาร์ บริษัทยังมีเงินสดเพิ่มขึ้นอีกเป็น 8,080 ล้านดอลลาร์
ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้ Tesla ต้องปิด-โรงงานชั่วคราว ซึ่งกระทบต่อรายได้หากเทียบกับไตรมาส 4/2019 แต่บริษัทยังรักษาการทำกำไรไว้ได้ เป็นผลจากกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นของ Model 3 ในโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ Model Y ที่เพิ่งเริ่มผลิตและส่งมอบ ก็สามารถทำกำไรได้ในไตรมาสแรกที่เริ่มจำหน่ายเลย ซึ่งเป็นครั้งแรกของ Tesla สำหรับการออกรถยนต์รุ่นใหม่
Tesla ระบุว่าสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมามีปัญหาการผลิตบ้างจากโรคระบาด แต่ก็สามารถกลับมาเริ่มทำการผลิตได้รวดเร็ว รวมทั้งแผนงานในอนาคตคือการเพิ่มการผลิตในโรงงานเซี่ยงไฮ้และเบอร์ลิน ซึ่งช่วยควบคุมต้นทุนให้บริษัทได้มากขึ้น
ที่มา: Tesla |
# เทรลเลอร์แรก Assassin's Creed Valhalla ฉากหลังยุคไวกิ้งบุกเกาะอังกฤษ ขายสิ้นปีนี้
หลังเปิดตัวจนหลับคาจอไปเมื่อคืนกับ Assassin's Creed: Valhalla ที่เป็นเรื่องราวของยุคไวกิ้ง ล่าสุด Ubisoft ปล่อยเทรลเลอร์แรกของเกมแล้ว เผยให้เห็นฉากหลังเป็นช่วงที่ไวกิ้งบุกอังกฤษ (ราวศตวรรษที่ 9)
ในเทรลเลอร์นอกจากตัวเอก Eivor แล้วเรายังได้เห็น Alfred the Great กษัตริย์ของเกาะอังกฤษที่ทรงมีชื่อเสียงจากการป้องกันการรุกรานของชาวไวกิ้ง (และเป็นมหาราชองค์เดียวของอังกฤษ) และ Hidden Blade แบบเดียวกับที่ Darius ใช้ใน Legacy of the First Blade ปรากฎออกมาในเทรลเลอร์ด้วย
Assassin's Creed Valhalla จะวางขายในช่วงวันหยุดยาวของสหรัฐของปีนี้ (ราวช่วง Thanksgiving ต่อคริสต์มาสปลายปี) ราคา 1,600 บาท และรองรับภาษาไทยด้วย (ข้อมูลบน UPlay ล่าสุดเอาภาษาไทยออกไปแล้ว)
ที่มา - Ubisoft, Ubisoft Store |
# Intel เปิดตัวซีพียู 10th Gen Comet Lake-S สำหรับเดสก์ท็อป, Core i3 ได้ไฮเปอร์เธรดแล้ว
Intel เปิดตัวซีพียู Core รุ่นใหม่ที่ก็ยังคงนับเป็นรุ่นที่ 10 ในตระกูล Comet Lake-S (14 นาโนเมตร) สำหรับเดสก์ท็อปหลังเปิดตัว Comet Lake-H สำหรับโน้ตบุ๊กไปก่อนหน้านี้
การเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ คือการเพิ่มจำนวนคอร์และเธรด รวมถึงทุกรุ่นตั้งแต่ Core i3 จะได้เทคโนโลยี hyper-threading แล้ว ไล่ไปตั้งแต่ Core i9 ได้ 10 คอร์ 20 เธรด Core i7 ได้ 8 คอร์ 16 เธรด, Core i5 ได้ 6 คอร์ 12 เธรดและ Core i3 ได้ 4 Core 8 เธรด รหัสย่อยแบ่งเป็น F ไม่มีชิปกราฟิคและ K ที่เป็นโอเวอร์คล็อกเช่นเดิม
นอกจากนี้ Core i9 และ Core i7 จะรองรับแรม DDR4-2933 ส่วน Core i5 และ Core i3 ยังคงอยู่ที่ DDR4-2666 อยู่ ส่วนรุ่นย่อย (SKUs) มีออกมาทั้งหมด 17 รุ่นย่อยดังนี้
ที่มา - Intel, Anandtech |
# Twitter ไตรมาส 1/2020 จำนวนผู้ใช้งานรายวันเพิ่มขึ้นเป็น 166 ล้านบัญชี
Twitter รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 1 ปี 2020 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนเป็น 808 ล้านดอลลาร์ และขาดทุนสุทธิ 8 ล้านดอลลาร์ เฉพาะรายได้จากโฆษณาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 682 ล้านดอลลาร์ โดย Ad Engagement รวมเพิ่มขึ้น 25% ขณะที่ CPE (Cost per engagement) ลดลง 19%
จำนวนผู้ใช้ทุกวันที่สร้างรายได้ (mDAU) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ Twitter ให้ความสำคัญที่สุดตอนนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 166 ล้านบัญชี เทียบกับไตรมาสที่แล้วอยู่ที่ 152 ล้านบัญชี เป็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แบ่งเป็นผู้ใช้ในอเมริกา 33 ล้านบัญชี และต่างประเทศ 133 ล้านบัญชี
Twitter เป็นอีกบริการที่มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มสูงในช่วงเดือนมีนาคม จากการระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายคนใช้แพลตฟอร์มในการติดตามข้อมูลข่าวสาร
ที่มา: Twitter |
# Bualuang mBanking ของธนาคารกรุงเทพล่ม แต่เว็บ iBanking ยังใช้งานได้
ช่วงบ่ายที่ผ่านมาแอป Bualuang mBanking ของธนาคารกรุงเทพล่ม เป็นอีกบริการธนาคารที่ล่มไป โดยขึ้นแจ้งผู้ใช้ว่ามีปัญหาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ดีผมพบว่าเว็บ iBanking ยังคงทำงานได้ดี จากการทดสอบการโอนเงินข้ามธนาคารก็ทำได้ตามปกติ
จากการสำรวจในทวิตเตอร์ คาดว่าระบบน่าจะเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ก่อนห้าโมงที่ผ่านมา |
# TMB ล่มทั้งแอปและเว็บ ทางธนาคารแนะนำให้เว้นระยะใช้งาน
ตั้งแต่ช่วงบ่ายสองเป็นต้นมาบริการธนาคารออนไลน์ธนาคารทหารไทย หรือ TMB เริ่มมีปัญหาใช้งานไม่ได้ โดยตัวเว็บนั้นไม่ได้ล่มไปทั้งหมด แต่การโหลดก็ช้ามากจนใช้งานไม่ได้ ผมดาวน์โหลดหน้าเว็บใช้เวลาเกิน 2 นาที สคริปต์บางส่วนมีปัญหา timeout และแม้จะโหลดเว็บหน้าแรกได้แต่ก็ล็อกอินไม่ได้
บนหน้าเฟซบุ๊กของทาง TMB มีแอดมินมาตอบรับทราบปัญหาแล้ว ระบุว่ากำลังแก้ไขอยู่และขอให้เว้นช่วงเวลาทำรายการสักครู่ |
# Mastercard เผยการทำธุรกรรมผ่าน contactless เพิ่มขึ้น 40% หลังไวรัสระบาด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า COVID-19 กลายเป็นตัวเร่ง (accelerator) หลาย ๆ การเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่พฤติกรรมและธุรกิจ การทำธุรกรรมแบบ contactless ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดย Mastercard เปิดเผยว่าไตรมาสที่ผ่านมา มียอดการทำธุรกรรมแบบ contactless เพิ่มขึ้นถึง 40%
ซีอีโอ Mastercard มองว่าเทรนด์การใช้งาน contactless น่าจะยังคงอยู่ต่อไปเหมือนเดิมหลังจากผ่านวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ โดยตัวเลขนี้ของ Mastercard รวมการใช้งานทั้งผ่านสมาร์ทโฟน (Apple Pay / Google Pay / Samsung Pay) และบัตรเครดิตที่มี Tab & Go
ที่มา - CNBC
ภาพจาก Mastercard |
# รัฐบาลอินเดียเตรียมผลักดันการพัฒนาแอปติดตามผู้ป่วย COVID-19 สำหรับฟีเจอร์โฟน 2G
รัฐบาลหลายประเทศและบริษัทไอทีต่างพยายามพัฒนาและออกแอปสำหรับติดตามผู้ป่วย COVID-19 (contract tracing) ซึ่งล้วนใช้งานกับสมาร์ทโฟนเป็นหลัก แต่ด้วยความที่ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่ฟีเจอร์โฟนยังคงมีการใช้งานกันอย่างมหาศาล (550 ล้านเครื่องต่อสมาร์ทโฟน 450 ล้านเครื่อง) ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องผลักดันการพัฒนาแอปสำหรับฟีเจอร์โฟนโดยเฉพาะ
อินเดียมีแอป contract tracing อยู่แล้วสำหรับ iOS และแอนดรอยด์ในชื่อ Aarogya Setu ที่ใช้บลูทูธเป็นหลัก ขณะผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าการอิมพลีเมนต์แอป contract tracing บนฟีเจอร์โฟนจะเต็มไปด้วยปัญหา ไม่ว่าจะปัญหาไม่มี GPS, ลงแอปเพิ่มไม่ได้ การติดตามตำแหน่งจะทำได้ผ่านเครือข่าย 2G/3G เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ค่อยแม่นยำ ขณะที่ รมต. ไอทีของอินเดียแสดงความเห็นว่าทำได้
ที่มา - The Register
ภาพจาก Shutterstock |
# Xiaomi ออกอัพเดต GPU ให้มือถือที่ใช้ Snapdragon 865 ผ่าน Xiaomi App Store ในจีน
ตอนเปิดตัวชิป Snapdragon 865 ทาง Qualcomm ได้แถลงว่าชิปรุ่นนี้จะเป็นรุ่นแรกที่สามารถอัพเดตไดรเวอร์ของจีพียูผ่านแอปสโตร์ได้ จากเดิมที่ต้องทำเป็น OTA อัพเดตมากับเฟิร์มแวร์เท่านั้น เปลี่ยนมาทำผ่าน “Project Mainline” ฟีเจอร์ใหม่ของ Android 10 ที่ให้อัพเดตบางส่วนของ OS ผ่าน Google Play Store ได้ (ต่อมา Snapdragon 765 และ 765G ก็ทำได้เช่นกัน)
แต่ล่าสุด Xiaomi ได้ออกอัพเดตให้กับ Xiaomi Mi 10, Xiaomi Mi 10 Pro และ Redmi K30 Pro ที่ใช้ชิป Snapdragon 865 และใช้จีพียู Adreno 650 โดยการออกแอป “GPU Driver Updater” บน Xiaomi App Store ในประเทศจีน เพื่อปรับประสิทธิภาพในการเล่นเกมเช่น PUBG, Fortnite, Honkai Impact 3rd. และยังมีอัพเดตให้กับ OpenGL และ Vulkan รวมอยู่ด้วย โดยไม่ได้ผ่าน Google Play Store แต่อย่างใด
ปัจจุบันมีเพียง Xiaomi เท่านั้น ที่ใช้วิธีอัพเดตไดรเวอร์ของจีพียูแบบนี้ แต่ในอนาคตเราน่าจะได้เห็นมือถือค่ายอื่นที่ใช้ชิป Snapdragon 865 หรือรุ่นอื่นที่รองรับ ได้รับอัพเดตไดรเวอร์จีพียูผ่าน Google Play Store กันมาก
ที่มา - Android Police |
# CAT เตรียมบริหารดาวเทียมแห่งชาติ หลังหมดสัมปทานไทยคมในปี 2564
พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เผยว่าคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นชอบให้ CAT เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่กระทรวงดิจิทัลฯ รับโอนหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้บริการดาวเทียมกับ บมจ. ไทยคม ในเดือนกันยายน 2564 ประกอบไปด้วยดาวเทียม 2 ดวงคือ ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และ ไทยคม 6 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอกระทรวงดิจิทัลฯ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ในขณะนี้มีอายุทางวิศวกรรมและพลังงานเชื้อเพลิงใช้ได้ถึงปี 2565 ทั้งนี้หากยังไม่มีดาวเทียมใหม่มาทดแทน อาจจะต้องส่งโดรนเติมเชื้อเพลิงเพื่อใช้งานต่ออีกระยะหนึ่ง เพื่อรักษา Slot วงโคจรและรักษาลูกค้าเดิมไว้เผื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มในอนาคต
สำหรับดาวเทียมไทยคม 6 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเดียวกับไทยคม 5 โดยในช่วงนี้กำลังทยอยรับโอนผู้ใช้งานโทรทัศน์จากไทยคม 5 ซึ่งมีการใช้งานจนเต็มขีดความสามารถแล้ว และจะมีอายุการใช้งานจนถึงปี 2572
ที่มา: CAT |
# รีวิว Galaxy A51 สมาร์ทโฟน 4 กล้องในราคาหมื่นต้น
อาจบอกได้ว่าอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนถึงจุดอิ่มตัวมาระยะหนึ่งแล้ว การเปลี่ยนแปลงของรุ่นเรือธงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า
อย่างไรก็ตามสมาร์ทโฟนในระดับกลางยังพอเหลือพื้นที่ให้ผู้ผลิตแข่งขันกันอีก ทำให้สมาร์ทโฟนระดับกลางหลายรุ่นมีความน่าสนใจมากขึ้น จากราคาที่เอื้อมถึงกว่าและได้ฟังก์ชันและฟีเจอร์ระดับท็อป ๆ ใกล้เคียงกับเรือธง
Galaxa A51 เป็นสมาร์ทโฟนระดับกลางอีกรุ่นที่ได้กล้องถึง 5 ตัว ใกล้เคียงกับพวกเรือธง ในราคาแค่หมื่นต้น ๆ เท่านั้น
ตัวเครื่อง
ตัวเครื่อง Galaxy A51 ขนาดกำลังพอดีมือ หน้าจอเป็น Infinity-O กินพื้นที่เกือบทั้งหมดด้านหน้า มีเพียงรูกล้องหน้าเล็ก ๆ ด้านบน มีลำโพงสำหรับคุยโทรศัพท์ซ่อนอยู่เล็ก ๆ ดูหรูหราสวยงาม
ขนาดจออยู่ที่ 6.5 นิ้ว ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป แพแนลเป็น Super AMOLED สีสันสดใส ความละเอียด FHD+ ด้านหลังตัวเครื่องเป็นพลาสติก สีที่ได้มารีวิวเป็นสี Prism Crush Pink ซึ่งค่อนข้างสวย และน่าจะเหมาะกับคุณผู้หญิง
ด้านขวาตัวเครื่องเป็นปุ่มปรับเสียงและปุ่มล็อกหน้าจอ ด้านล่างเป็นพอร์ท USB-C รูหูฟังและลำโพง ด้านซ้ายเป็นช่องใส่ซิม รองรับ 2 ซิมและ microSD สูงสุด 512GB
สเปคภายในเป็น Exynos 9611 แปดแกน แรมมี 6GB/8GB ความจุ 128GB ถือว่าลื่นและพื้นที่ให้มาเหลือ ๆ สำหรับการใช้งานทั่วไป ถ่ายรูปหรือแม้กระทั่งเล่นเกม
กล้อง
กล้องเป็นจุดเด่นที่สุดของ Galaxy A51 เพราะเรียกได้ว่าแทบจะถอดมาจากรุ่นเรือธงอย่าง Galaxy S20+ เลย ตั้งแต่การวางเลย์เอ้าท์กล้องหลังแนวตั้งและกล้องทั้งหมด 5 ตัว ต่างกันแค่เปลี่ยนเลนส์ซูมเป็นเลนส์มาโคร
กล้องหลักแบบไวด์ f/2.2 ความละเอียด 48 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์ขนาด 1/2.0"
ภาพที่ได้ค่อนข้างคมชัด เก็บรายละเอียด แสงและสีได้ดี และหากเปิดฟังก์ชัน scene optimizer เวลาถ่าย landscape หรือ cityscape ที่จะช่วยปรับไวท์บาลานซ์และเร่ง HDR ขึ้นให้อีกเล็กน้อย สีสันของภาพจะสวยและสีสดขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่เกินจริง แถมความละเอียดก็มากพอจะอัพลงโซเชียลมีเดียแล้วไม่แตก
HDR ปกติ
กล้องอัลตร้าไวด์ f/2.4 ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ถ่ายภาพกว้างได้ 123 องศา
ฟังก์ชันและคุณภาพไม่แตกต่างจากกล้องหลัก แต่ด้วยความกว้างของเลนส์ที่สูงสุดถึง 123 องศา ซึ่งถือว่ากว้างมาก ๆ ช่วยเพิ่มลูกเล่นและโอกาสให้การเก็บบรรยากาศได้หลากหลายมากขึ้น ลดข้อจำกัดในการถ่ายภาพลงไปได้เยอะ
เปิด scene optimizer
กล้องมาโคร f/2.4 รุ่นแรกของซัมซุงที่มาพร้อมเลนส์มาโคร ระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 4 ซม. (ทางยาวโฟกัส 25 มม.) ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ทำให้จะคร็อปภาพหรือซูมภาพเข้าไปอีกได้ไม่แตก ซึ่งถือว่าให้ความละเอียดมาสูงสุดเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆที่ราคาใกล้เคียงกัน
กล้องมาโครถืออีกหนึ่งกล้องที่ค่อนข้างมีประโยชน์ ช่วยทำลายข้อจำกัดในการถ่ายภาพเวลาไปเที่ยว เพราะเลนส์ปกติของกล้องมือถือ เมื่อถ่ายวัตถุขนาดเล็กใกล้ ๆ จะไม่สามารถโฟกัสได้ เลนส์มาโครจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนในราคาระดับนี้ด้วยกัน
กล้องวัดระยะลึก (depth camera) f/2.2 ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ซอฟต์แวร์กล้องปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะมีฟังก์ชันเบลอหลังวัตถุมาให้ แต่อาจไม่แม่นยำในหลาย ๆ สถานการณ์หรือประเภทวัตถุ ซึ่งกล้องวัดระยะลึกตัวนี้ของ Galaxy A51 ช่วยให้การถ่ายภาพ portrait หน้าชัดหลังเบลอร่วมกับ Live Focus ทำให้การวัดระยะระหว่างวัตถุและการเบลอแบ็คกราวด์ทำได้เนียนสมจริงมากขึ้น
กล้องหน้า f/2.2 ความละเอียด 32 ล้าน สำหรับถ่ายเซลฟี่ มีโหมด beauty ให้ สามารถปรับออโต้หรือเลือกปรับเองได้ตามใจชอบ ภาพจากโหมด beauty ถือว่าช่วยเพิ่มความเนียนและเรียวของหน้าขึ้นได้เล็กน้อย พออัพขึ้นโซเชียลมีเดียได้ แต่ไม่ได้ถึงขนาดดูเกินจริงหรือปลอมเกินไป
นอกจากเรื่องการถ่ายภาพแล้ว กล้องหลังของ Galaxy A51 ยังรองรับการถ่ายวิดีโอสูงสุดถึง 4K แถมมีฟีเจอร์ Super Steady ที่นำซอฟต์แวร์มาช่วยเรื่องการกันสั่น จากการทดลองใช้งานพบว่าช่วยได้ค่อนข้างมาก คล้ายกับการถ่ายวิดีโอด้วย stabilizer และใกล้เคียงกับ Super Steady ที่ใช้งานใน Galaxy S ตัวท็อป
การใช้งานและแบตเตอรี่
นอกจากเรื่องกล้องที่ค่อนข้างตอบโจทย์แทบจะทุกสถานการณ์แล้ว หน้าจอถือเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นของ Galaxy A51 จากทั้งสีสันที่สวยสดไม่แพ้สมาร์ทโฟน 2-3 หมื่น เหมาะสำหรับการดู YouTube, Netflix
อีกหนึ่งจุดเด่นของ Galaxy A51 คือความบางของตัวเครื่องและน้ำหนักที่ค่อนข้างเบา (172 กรัม) ใส่กระเป๋ากางเกงแล้วไม่รู้สึกเทอะทะหรือหนักถ่วงใด ๆ ถือนอนเล่นดู Netflix ก็ไม่เมื่อย
สุดท้ายเรื่องแบตเตอรี่ที่ให้มา 4,000mAh ถือว่าเหลือ ๆ เพียงพอจะใช้งานได้ทั้งวัน หรือหากไม่พอจริง ๆ หรือลืมชาร์จ หัวชาร์จที่ให้มาด้วยจะจ่ายไฟให้ 15W ก็เร็วเพียงพอ ชาร์จทิ้งไว้แค่ 30 นาทีก็สามารถใช้ต่อได้ครึ่งค่อนวันแล้ว
สรุป
ด้วยราคาค่าตัวของ Galaxy A51 เพียง 10,690 บาท กับรุ่นแรม 8GB ความจุ 128GB ถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ เพราะฟังก์ชันใช้งานถือว่าเกินตัว ทั้งหน้าจอที่สวยสดใส แบตเตอรี่ที่อยู่ได้ทั้งวันและกล้องทั้งหมด 5 ตัว ตอบโจทย์การใช้งานแทบทุกสถานการณ์
Galaxy A51 มีให้เลือก 3 สีคือ Prism Crush Pink, Prism Crush Blue และ Prism Crush Black |
# SCB Easy ล่ม เข้าหน้าโฮมได้ ทำธุรกรรมไม่ได้
ข่าวประจำทุกต้นเดือนกับแอปธนาคารล่ม รายแรกเดือนนี้เป็น SCB Easy ที่ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ แม้จะเข้าหน้าโฮมได้แต่ผู้ใช้หลายคนติดอยู่หน้ากรอกรหัส
ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ยังไม่มีแถลงออกมา นอกจากระบุแค่ว่าถ้าไม่สามารถธุรกรรมได้ ให้เว้นช่วงการทำธุรกรรมไปก่อนแล้วค่อยกลับมาทำรายการใหม่
ที่มา - @SCB_Thailand |
# พบโค้ดใน Pixel Buds ฟีเจอร์ตรวจจับเสียงหมาเห่า เด็กร้อง สัญญาณไฟไหม้
9to5Google ทำการแกะ APK ของแอป Google Pixel Buds เวอร์ชั่นล่าสุดบน Play Store แล้วค้นพบชุดโค้ดจำนวนหนึ่งที่อาจเป็นฟีเจอร์ใหม่ของ Pixel Buds ที่จะถูกเพิ่มมาในอนาคต นั่นคือฟีเจอร์ “attention alerts” ในโค้ดมีสตริงพูดถึงเสียงเด็กร้อง (key_baby_cry_switch_pref) สุนัขเห่า (key_dog_bark_switch_pref) หรือสัญญาณเตือนไฟไหม้จากเครื่องจับควัน (key_smoke_alarm_switch_pref) ซึ่งคาดว่าอาจเป็นฟีเจอร์ช่วยเตือนผู้ใช้ที่ใส่หูฟัง และเปิดเสียงดังจนไม่ได้ยินเสียงภายนอกที่เป็นอันตราย
ก่อนหน้านี้ Google เคยพูดถึงไอเดีย “ambient computing” ตอนเปิดตัว Pixel Buds รุ่นแรกเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วซึ่งไอเดียนี้ หมายถึงการที่ระบบของ Pixel Buds จะคอยทำงานอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา เช่นคอยฟังเสียง “Hey, Google.” เพื่อเปิดใช้ Assistant หรือระบบ Adaptive Sound ปรับความดังของเสียงในหูฟังแข่งกับเสียงภายนอก แต่ฟีเจอร์เหล่านี้คงต้องมีได้รับอนุญาตจากผู้ใช้ก่อน ไม่งั้นอาจมีปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวได้
ปัจจุบัน ฟีเจอร์ “attention alerts” ยังถูกระบุว่าเป็น “developer_features” ในโค้ดอยู่ และยังไม่มีข้อมูลว่า Google จะปล่อยฟีเจอร์นี้หรือไม่ และข้อมูลทั้งหมดของฟีเจอร์ ยังเป็นเพียงการคาดการณ์จากชุดโค้ดเท่านั้น
ที่มา - 9to5Google |
# MediaTek เป็นผู้ผลิต SoC รายแรกที่มีตัวถอดรหัสวิดีโอ AV1 ระดับฮาร์ดแวร์
เราเห็นตัวเข้ารหัส/ถอดรหัสวิดีโอแบบใหม่ AV1 เปิดตัวในช่วงต้นปี 2018 โดยชูจุดเด่นเรื่องการบีบอัดที่ดีขึ้นกว่าเดิม 30% และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็มีบริการวิดีโอออนไลน์ดังๆ หลายราย เช่น Netflix, YouTube, Facebook ทยอยใช้งาน AV1 กับวิดีโอของตัวเอง
ฝั่งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ก็เริ่มขยับตามแล้ว โดย MediaTek เป็นผู้ผลิตชิปรายแรกที่ประกาศรองรับ AV1 โดย ชิปเรือธง MediaTek Dimensity 1000 5G มีตัวถอดรหัสที่ระดับฮาร์ดแวร์เลย ช่วยให้สมาร์ทโฟนประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้นเมื่อเล่นไฟล์วิดีโอที่เป็น AV1
ตอนนี้ยังไม่มีสมาร์ทโฟนที่ใช้ MediaTek Dimensity 1000 ออกวางขาย (ชิปเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019) แต่คาดกันว่า ตัวแรกน่าจะเป็น OnePlus 8 Lite หรือชื่อล่าสุดคือ OnePlus Z ที่น่าจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้
ที่มา - MediaTek
ภาพจาก MediaTek |
# Your Phone เพิ่มฟีเจอร์ควบคุมการเล่นเพลงบนสมาร์ทโฟน Android จากพีซี
ไมโครซอฟท์ยังขยันเพิ่มฟีเจอร์ให้ Your Phone อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดตัวฟีเจอร์ควบคุมการเล่นเพลงบนเครื่องสมาร์ทโฟนจากพีซี
เราสามารถดูได้จากแอพ Your Phone ฝั่งพีซี ว่ามีแอพเล่นเพลงตัวไหนเปิดอยู่บนมือถือ (จากภาพตัวอย่างคือ Spotify) ดูเพลงที่เล่นอยู่ในตอนนั้น และสั่งเล่น/หยุด/เปลี่ยนเพลงได้
ฟีเจอร์นี้ต้องใช้กับ Android 7.0 ขึ้นไป และ Windows 10 October 2018 Update ขึ้นไป ฝั่งแอพบน Android จำเป็นต้องรองรับการควบคุมเพลงผ่านแถบ notification ด้วย แอพที่รองรับแน่นอนแล้วคือ Spotify, Pandora, Amazon Music, Google Play Music, YouTube Music, Xiami Music, Google Podcast
ฟีเจอร์นี้กำลังทยอยเปิดให้ผู้ใช้ Your Phone ใช้งานทีละกลุ่มเช่นเดิม
ที่มา - Microsoft |
# ผู้ใช้ Galaxy S20 พบปัญหากระจกกล้องหลังแตก ไม่ได้ตกไม่ได้กระแทก
ผู้ใช้งาน Galaxy S20 ในต่างประเทศหลายรายโพสต์แสดงความไม่พอใจบน community forum ของซัมซุงไปในทิศทางเดียวกันว่ากระจกครอบกล้องหลังเกิดแตก โดยที่ไม่ได้ตกหรือกระแทก และเมื่อนำไปเข้าศูนย์ ซัมซุงกลับจะคิดเงินค่าซ่อมด้วย
จากรูปในฟอรัม ลักษณะการแตกของหลาย ๆ คนคล้ายกันคือแตกเป็นวงกลมบริเวณหน้าเลน ขณะเดียวกันก็มีบางคนคอมเมนท์ในฟอรัมว่ามีคลิปดรอปเทสออกมาก่อนหน้านี้ ก็ไม่เห็นกล้องจะเป็นอะไร เคสที่เกิดในฟอรัมนี้เจ้าของเอาไปทำอะไรมา
ที่มา - Samsung Community Forum (1, 2, 3, 4, 5) |
# แอปเปิลปล่อย iOS 13.5 Beta มี Contact Tracing API ตัวแรก
แอปเปิลส่ง iOS 13.5 รุ่นทดสอบ โดยนับเป็นเวอร์ชั่นแรกที่มี Contact Tracing API ที่ออกแบบร่วมกับกูเกิลมาในตัว สำหรับผู้ใช้ทั่วไป ฟีเจอร์นี้จะมีชื่อว่า "COVID-19 Exposure Notification" โดยเป็นเมนูให้เปิดหรือปิดได้เอง
Contact Tracing API ที่ทั้งสองบริษัทออกแบบมาก็มีการปรับปรุงเวอร์ชั่นย่อยไปก่อนหน้านี้ โดยเพิ่มข้อมูลความแรงสัญญาณและระยะเวลาที่โทรศัพท์เข้าใกล้กัน ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขสามารถจำกัดกลุ่มเสี่ยงที่ควรแจ้งเตือนโดยสร้างเงื่อนไขเองได้
ตัว iOS ออกมาพร้อม Xcode 11.5 Beta ที่ติด SDK รองรับฟีเจอร์ Exposure Notification เช่นเดียวกัน ทำให้หน่วยงานที่ต้องการเตรียมความพร้อมพัฒนาแอปติดตามตัว น่าจะเริ่มได้ทันที
ที่มา - TechCrunch |
# พิษโควิด Lyft เตรียมปลดคน 982 ราย และพักงานอีก 288 ราย
Lyft เผย จากพิษโควิด 19 บริษัทเตรียมการลดค่าใช้จ่าย ปลดคน 982 ราย คิดเป็น 17% ของพนักงานทั้งหมด และพักงาน 288 คน ดำเนินการลดเงินเดือนสำหรับพนักงานเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์
การลดเงินเดือนเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม ในส่วนของผู้บริหาร ลดเงินเดือน 30%, รองประธาน 20%, พนักงานทั่วไป 10% โดย Lyft คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปลดพนักงาน ราว 28 -36 ล้านดอลลาร์
การประกาศของ Lyft เกิดขึ้นหลังมีรายงานข่าวว่า Lyft จะปลดคน รวมถึง Uber ด้วย ซึ่ง Uber ยังคงไม่ตอบข้อซักถามใดๆ
ภาพจาก Lyft
ที่มา - CNBC |
# Salesforce ยกเลิกงานสัมมนาทั้งหมดของปี 2020 รวม Dreamforce และ Tableau
Salesforce เป็นบริษัทเทคโนโลยีรายล่าสุดที่ประกาศยกเลิกงานสัมมนาตลอดทั้งปี 2020 ซึ่งครอบคลุมงานใหญ่ประจำปี Dreamforce และงานสัมมนาของ Tableau บริษัทลูกที่ซื้อกิจการมาเมื่อปีที่แล้ว
Salesforce ระบุว่าจะเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นงานสัมมนาดิจิทัลแทน ตัวอย่างคือ World Tour Sydney เมื่อเดือนมีนาคม ปกติมีคนเข้าร่วมงานประมาณ 11,000 คน กลายเป็นงานออนไลน์ที่มีผู้รับชมถึง 80,000 คน
งานสัมมนา Dreamforce ถือเป็นงานใหญ่ของ Salesforce ที่จัดในซานฟรานซิสโก และมีผู้เข้าร่วมงานถึง 170,000 คน โดย Salesforce ระบุว่าตั๋วเข้าร่วมงานที่ซื้อไปก่อนแล้วจะคืนเงินให้ทั้งหมด
ที่มา - Salesforce, Business Insider
Marc Benioff ซีอีโอของ Salesforce ที่งาน Dreamforce 2019, ภาพจาก Salesforce Facebook |
# [Sensor Tower] เต้นคลายเครียด TikTok ขึ้นแท่นแอปที่มียอดโหลดทะลุ 2 พันล้านครั้งแล้ว
Sensor Tower บริษัทวิจัยตลาดแอปมือถือ เผยตัวเลขที่สะท้อนการใช้งานแอปพลิเคชั่นของคนทั่วโลกขณะนี้ พบว่า TikTok มียอดดาวน์โหลดแอปแล้วกว่า 2 พันล้านครั้ง เมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา TikTok มียอดโหลด 1.5 พันล้านครั้ง ถือเป็นแอปที่มียอดโหลดเพิ่มขึ้นเร็วมาก
จนถึงตอนนี้ ผู้ใช้งานใช้จ่ายเงินไปกับ TikTok แล้วราว 456.7 ล้านเหรียญ การใช้จ่ายส่วนใหญ่นี้ประมาณ 72.3% เกิดขึ้นในประเทศจีน ผู้ใช้ในสหรัฐใช้เงินประมาณ 86.5 ล้านดอลลาร์
Craig Chapple นักยุทธศาสตร์ที่ Sensor Tower บอกว่า ยอดโหลด TikTok ไม่ได้ถือเป็นยอด organic ทั้งหมด เพราะมีการควบรวมแอปลิปซิงค์ที่ผู้ใช้งานในสหรัฐฯใช้อยู่ก่อนแล้วคือ Musical.ly มาเป็น TikTok แต่ยอดโหลดที่เห็นได้ชัดของ TikTok มาจากช่วงโรคระบาดนี้เอง ทำให้ผู้คนมองหาแอปใหม่ๆ ทางเลือกความบันเทิงใหม่ๆ
ภาพจาก TikTok
ที่มา - TechCrunch |
# Microsoft Teams มีผู้ใช้ 75 ล้านราย เติบโตขึ้นเกือบเท่าตัวจากเดือนมีนาคม
เมื่อเดือนมีนาคม ไมโครซอฟท์ออกมาให้ข้อมูลว่า Microsoft Teams มีผู้ใช้งาน 44 ล้านคนต่อวัน
ในงานแถลงผลประกอบการไตรมาสล่าสุดเมื่อคืนนี้ ไมโครซอฟท์อัพเดตตัวเลขผู้ใช้ Teams ว่าเพิ่มเป็น 75 ล้านคนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในเวลาประมาณ 6 สัปดาห์เท่านั้น
สถิติอื่นที่ไมโครซอฟท์เปิดเผยคือ
มีอยู่วันหนึ่งที่ Teams มีผู้ร่วมการประชุมออนไลน์มากถึง 200 ล้านคน
ไมโครซอฟท์มีลูกค้า Teams เป็นองค์กรที่มีพนักงานเกิน 1 แสนคน จำนวน 20 องค์กรแล้ว
Accenture เป็นองค์กรแรกที่มีพนักงานใช้ Teams เกิน 5 แสนคน
ไมโครซอฟท์ยังบอกว่ามีจำนวนผู้ใช้ Office 365 แบบจ่ายเงิน 258 ล้านบัญชี นั่นแปลว่ายังมีผู้ใช้ Office 365 อีกมากที่ยังไม่ได้ใช้ Teams และมีโอกาสเติบโตได้อีก
ที่มา - The Verge, MSpoweruser |
# ประชุมออนไลน์แบบชัด ๆ Canon เปิดตัวซอฟต์แวร์เปลี่ยนกล้องเป็นเว็บแคมสำหรับพีซี
Canon เปิดตัวโปรแกรมใหม่ EOS Webcam Utility สำหรับใช้แปลงกล้องดิจิทัลเปลี่ยนเลนส์ได้ในตระกูล Canon EOS และกล้อง PowerShot เป็นกล้องเว็บแคมสำหรับใช้กับพีซีโดยเชื่อมต่อด้วยสาย USB เพียงเส้นเดียวเท่านั้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้เว็บแคมที่พุ่งสูงขึ้นตามเทรนด์การล็อคดาวน์เมืองในช่วงการระบาดของโรค COVID-19
Canon ระบุว่า ทุกวันนี้การประชุมระยะไกลถือเป็น new norm และผู้ใช้คงไม่ต้องการใช้งานเว็บแคมที่คุณภาพต่ำทำให้ภาพดูมืด Canon จึงเปิดตัวซอฟต์แวร์นี้ขึ้นมาเพื่อให้เจ้าของกล้อง Canon บางรุ่นใช้กล้องตัวเองเป็นเว็บแคมได้ง่าย ๆ เพียงแค่เสียบ USB เท่านั้น
โปรแกรม EOS Webcam Utility ตอนนี้ยังคงเป็นเบต้า และซัพพอร์ตกล้อง Canon บางรุ่น ส่วนพีซีจะรองรับเฉพาะ Windows 10 รุ่น 64-bit เท่านั้น สามารถเข้าไปดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ตามกล้องรุ่นที่ Canon ซัพพอร์ตได้ที่หน้าเว็บ Canon USA
ที่มา - dpreview, Canon USA |
# แฟนเกมโวย Call of Duty: Modern Warfare ใช้พื้นที่ฮาร์ดดิสก์เพิ่มเป็น 185GB แล้ว
Call of Duty: Modern Warfare ขึ้นชื่อเรื่องความต้องการพื้นที่ฮาร์ดดิสก์มากถึง 175GB แต่อัพเดตล่าสุดของเกม ก็ขยับตัวเลขนี้ขึ้นไปอีกจนเกือบถึงระดับ 200GB แล้ว
ตอนนี้ Modern Warfare เวอร์ชันพีซีต้องการพื้นที่ประมาณ 180GB ส่วนเวอร์ชันคอนโซล PS4/Xbox One ต้องการ 185GB โดยอัพเดตล่าสุดมีขนาดใหญ่ถึง 32GB แบ่งเป็นอัพเดตตัวเกมหลัก 12GB และอัพเดต DLC อีก 18GB
เมื่อต้นปีนี้ Infinity Ward ต้องออกมาขอโทษแฟนๆ ที่อัพเดตเกมมีขนาดใหญ่ถึง 100GB และบอกว่าจะไม่มีอัพเดตใหญ่ระดับนั้นอีกแล้ว
ที่มา - Gamespot |
# เปิดตัว Assassin's Creed Valhalla ภาคใหม่ ยุคไวกิ้ง
Ubisoft เปิดตัว Assassin's Creed Valhalla เกมภาคใหม่ที่เนื้อเรื่องเกิดในยุคไวกิ้ง
ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลอื่นๆ ของเกม ว่าจะเป็นภาคต่อเนื่องจาก Assassin's Creed Origins/Odyssey หรือไม่, แพลตฟอร์มที่มีให้เล่น, วันวางจำหน่าย
จากภาพแรกที่ออกมา เราเห็นตัวเอกไว้เครา ใช้อาวุธเป็นขวาน มีโหมดล่องเรือ และสงครามปล้นชิง ตีปราสาท เทรลเลอร์แรกของเกมจะปล่อยออกมาให้ชมในคืนนี้ 4 ทุ่มตรง
สตูดิโอหลักที่พัฒนาเกมนี้ยังเป็น Ubisoft Montreal เช่นเดิม แต่ทวิตเตอร์ของ Ubisoft Montreal ก็ให้ข้อมูลว่ารอบนี้ยังดึงสตูดิโออีก 14 แห่งทั่วโลก (ยังไม่ระบุชื่อว่ามีที่ไหนบ้าง) มาช่วยพัฒนาเกมด้วย
การมีสตูดิโอเกมภายนอกมาช่วยพัฒนาบางส่วนของเกม (co-developer) เป็นเรื่องปกติของเกมสเกลใหญ่ระดับนี้ แต่การที่ใช้สตูดิโอมากถึง 14 แห่งก็อาจไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนัก
ที่มา - GameSpot |
# Facebook ไตรมาสล่าสุด ผู้ใช้งานรวมทุกแพลตฟอร์มใกล้แตะ 3 พันล้านคน
Facebook รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 1 ปี 2020 รายได้รวม 17,737 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน กำไรสุทธิ 4,902 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 102% จำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือน (MAUs - Monthly Active Users) เพิ่มขึ้น 10% เป็น 2,603 ล้านคน แต่หากคิดรวมทุกบริการเครือ Facebook จะเป็น 2,990 ล้านคน ส่วนตัวเลขการใช้เป็นประจำทุกวัน (DAUs) เพิ่มขึ้น 11% เป็น 1,734 ล้านคน
ซีเอฟโอ David Wehner ระบุว่ารายได้จากธุรกิจอื่น (Other) ที่ไม่ใช่โฆษณาของ Facebook เพิ่มขึ้น 80% เป็น 297 ล้านดอลลาร์ มาจากยอดขายที่เพิ่มสูงของ Oculus และ Portal
สำหรับแนวโน้มรายได้จากโฆษณา ซึ่งมีผลกระทบจาก COVID-19 นั้น Facebook อธิบายในช่วงแถลงผลประกอบการว่า เห็นแนวโน้มที่ลดลงชัดเจนในเดือนมีนาคม แต่ข้อมูลช่วงต้นเดือนเมษายน แนวโน้มเริ่มทรงตัว ไม่ลดลงไปอีก อย่างไรก็ตามซีอีโอ Mark Zuckerberg ให้ความเห็นว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจกินระยะเวลานานมากกว่าที่หลายคนคาด
นอกจากนี้ Mark ยังให้ตัวเลขการเข้าร่วมกิจกรรมไลฟ์บน Facebook และ Instagram รวมกันมีผู้ใช้มากกว่า 800 ล้านคนที่เข้าร่วมแต่ละวัน สะท้อนว่าเมื่อการจัดอีเวนต์ตามสถานที่ต่าง ๆ ถูกระงับไป กิจกรรมบนออนไลน์จึงเข้ามาแทนที่
ที่มา: Facebook และ CNBC |
# Microsoft ไตรมาสล่าสุด รายได้ยังเติบโตสูง ได้ประโยชน์จากคนต้องทำงานที่บ้าน
ไมโครซอฟท์รายงานผลประกอบการ ประจำไตรมาสที่ 3 ตามปีการเงินบริษัท 2020 (มกราคม-มีนาคม) รายได้รวม 35,021 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 10,752 ล้านดอลลาร์
เราเห็นรายงานก่อนหน้านี้ว่าหลายบริษัทพูดถึงผลกระทบจาก COVID-19 สำหรับไมโครซอฟท์นั้นระบุว่า ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยในไตรมาสที่ผ่านมา โดยบริการคลาวด์กลุ่ม Microsoft 365 อาทิ Teams, Azure, Windows Virtual Desktop มีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคนต้องทำงานจากที่บ้าน ขณะที่รายได้จากการขายไลเซนส์เห็นแนวโน้มลดลงบ้างในสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาส เช่นเดียวกับรายได้จากโฆษณาบน LinkedIn
ขณะที่กลุ่มธุรกิจ More Personal Computing มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก Windows OEM และ Surface แต่ซัพพลายเชนก็ได้รับผลกระทบในจีน ส่วนธุรกิจเกมพบการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น
รายได้แบบแยกตาม 3 กลุ่มธุรกิจหลักของไมโครซอฟท์ เป็นดังนี้
Productivity and Business Processes รายได้เพิ่มขึ้น 15% เป็น 11,743 ล้านดอลลาร์ จากการเติบโตของ Office 365 ในลูกค้าองค์กรและบุคคล
Intelligent Cloud เพิ่มขึ้น 27% เป็น 12,281 ล้านดอลลาร์ เฉพาะ Azure รายได้เพิ่มขึ้น 59%
More Personal Computing เพิ่มขึ้น 3% เป็น 10,997 ล้านดอลลาร์ รายได้จาก Windows OEM คงที่ ส่วน Windows Commercial เพิ่มขึ้น 17%
ซีอีโอ Satya Nadella ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงแถลงผลประกอบการ ว่าจำนวนลูกค้าบุคคลที่ใช้ Office 365 ตอนนี้มี 39.6 ล้านบัญชี Teams มีผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวัน 75 ล้านคน
ที่มา: ไมโครซอฟท์ และ CNBC |
# Mozilla ออกคู่มือแนะนำแอพประชุมออนไลน์ที่ไว้ใจได้: Zoom ผ่านเกณฑ์, Discord สอบตก
มาถึงตอนนี้ทุกคนคงใช้แอพประชุมออนไลน์กันหมดแล้ว โดยมีผู้เล่นในตลาดมากมายทั้งบริษัทเล็กใหญ่ ซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งที่ดังขึ้นมาในช่วงโรคระบาดคือ Zoom แต่ดังได้ไม่นานก็มีข่าวด้านลบเกี่ยวกับความปลอดภัยของแอพนี้เข้ามาหลายเรื่อง ซึ่ง Zoom ก็ได้รีบจัดการกับประเด็นดังกล่าวและร่วมมือกับหลายบริษัทในการยกเครื่องความปลอดภัย
นอกจากนี้ก็มี Microsoft Teams ที่ตัวเลขผู้ใช้ก้าวกระโดดเช่นกัน โดยการใช้งานประชุมออนไลน์เพิ่มขึ้น 200% ในเวลาเพียงครึ่งเดือน หรือซอฟต์แวร์ตัวอื่นๆ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นกันถ้วนหน้า เช่น Google Meet, BlueJeans, Cisco Webex ฯลฯ
ด้าน Mozilla ผู้พัฒนาเบราว์เซอร์ Firefox ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวสูงก็มีคู่มือชื่อ *Privacy Not Included อยู่ โดยรีวิวสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งโฟกัสกับประเด็นด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ให้ผู้ใช้ได้ทราบว่าสินค้าที่เราสนใจหรือใช้งานอยู่นั้นปลอดภัยเพียงใด
ภาพโดย Mozilla
ล่าสุด Mozilla ได้รีวิวแอพประชุมออนไลน์หลายยี่ห้อในตลาดว่าเชื่อถือได้หรือไม่ มีประเด็นใดที่น่าเป็นห่วงสำหรับการใช้งาน โดย Zoom ที่มีข่าวด้านลบเยอะกลับทำคะแนนได้ 5 เต็ม ซึ่ง Mozilla เปิดเผยว่าใช้ Zoom อยู่เช่นกัน และ Zoom ออกอัพเดตความปลอดภัยถี่มากในช่วงนี้ รวมถึงใช้รหัสผ่านที่ซับซ้อนในการเข้าประชุม อีกทั้งยังระบุว่า Zoom มีความพยายามแก้ไขประเด็นต่างๆ อย่างหนัก
แอพตัวอื่นที่ได้ 5 คะแนนเต็มก็มากันครบทุกเจ้าใหญ่ๆ เช่น Microsoft Teams, Google Meet, Cisco Webex, BlueJeans, Skype ฯลฯ โดยผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของ Mozilla คือเข้ารหัสการเชื่อมต่อ, มีอัพเดตความปลอดภัย, ใช้รหัสผ่าน, มีโครงการจัดการช่องโหว่ และมีนโยบายความเป็นส่วนตัวที่ดี
แอพชื่อดังที่สอบตกคือ Discord ที่นิยมในหมู่เกมเมอร์และช่วงหลังก็ขยายไปกลุ่มอื่นด้วย โดย Discord ไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องรหัสผ่าน เพราะ Mozilla ทดลองใช้รหัส 111111 แล้วพบว่าไม่มีการป้องกันการใช้รหัสที่ไม่ปลอดภัย อีกทั้ง Discord ยังเป็นแพลตฟอร์มที่นิยมในการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องไม่ดี, การทำให้อับอาย, การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมอื่นๆ
อัพเดต ล่าสุด Discord ได้อัพเดตนโยบายการตั้งรหัสผ่านให้ดีขึ้นแล้ว ทำให้ Mozilla ปรับคะแนนให้เท่าเจ้าอื่นๆ ด้านบน
นอกจากนี้แอพ Houseparty ที่ดังขึ้นมาช่วงนี้ก็สอบตกในเรื่องรหัสผ่านเช่นกัน
อ่านรีวิวแอพประชุมออนไลน์ทุกตัวได้ที่นี่
ที่มา - Mozilla |
# Stadia ประกาศเกมใหม่ PUBG, Octopath Traveller และ 5 เกมดังจาก EA
กูเกิลประกาศเกมใหม่ชุดให้ให้บริการเกมบนคลาวด์ Stadia
PUBG ต้นฉบับของเกมแนว Battle Royale ที่รองรับ cross-play เล่นกับเพื่อนบนแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย
เกมจาก EA จำนวน 5 เกม ที่เผยชื่อแล้วมี 3 เกม ได้แก่ Star Wars Jedi: Fallen Order, NFL Madden และ FIFA โดยจะเปิดให้เล่นช่วงกลางปีนี้
Octopath Traveller เกม RPG แนวดั้งเดิมจาก Square Enix
เกมใหม่ที่เปิดตัวให้เล่นบน Stadia ก่อนแพลตฟอร์มอื่นคือ Get Packed, Crayta, Embr
เกมทุกเกมจำเป็นต้องจ่ายเงินซื้อแยกบน Stadia แบบฟรี ยกเว้น PUBG ที่ให้สมาชิก Stadia Pro (ที่ตอนนี้เปิดให้ทุกคนใช้งานฟรี 2 เดือน) เล่นฟรีอยู่แล้ว
ที่มา - xda |
# Spotify ไตรมาสที่ผ่านมา การฟังของลูกค้าเปลี่ยนไป Podcast น้อยลง เพลงฟังสบาย มากขึ้น
Spotify รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 1 ปี 2020 โดยระบุถึงผลกระทบจาก COVID-19 ว่าทำให้พฤติกรรมการฟังของลูกค้าเปลี่ยนไป โดยเริ่มเห็นแนวโน้มนี้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ นั่นคือจำนวนผู้ฟังเป็นประจำทุกวัน (DAUs) และปริมาณการฟังรวมลดลง แต่ถ้าวัดจำนวนผู้ใช้งานแบบรายเดือน (MAUs) และลูกค้าที่เสียเงิน ตัวเลขยังคงเป็นไปตามที่บริษัทประเมินไว้
ช่องทางการฟังก็เปลี่ยนไป โดยการฟังในรถยนต์, อุปกรณ์สวมใส่ และเว็บ มีจำนวนลดลง ขณะที่การฟังผ่านโทรทัศน์และเกมคอนโซล เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% แนวโน้มใหญ่ที่เกิดขึ้น Spotify เรียกว่าทุกวันเหมือนสุดสัปดาห์ นั่นคือการฟังรายการพอดแคสต์ลดลง การฟังในช่วงเช้าที่ปกติมีปริมาณสูงก็ลดลง และการฟังเพลงมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยหมวดที่เพิ่มเยอะคือเพลงแนวผ่อนคลาย
จำนวนผู้ใช้งานแบบ MAUs เพิ่มขึ้นเป็น 286 ล้านบัญชี และเป็นลูกค้าแบบเสียเงิน 130 ล้านบัญชี ส่วนตัวเลขทางการเงิน รายได้เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 1,848 ล้านยูโร แบ่งเป็นรายได้จากค่าสมาชิก 1,700 ล้านยูโร (+23%) ขณะที่รายได้จากโฆษณา 148 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 17% และมีกำไรสุทธิ 1 ล้านยูโร
ที่มา: Spotify |
# SAP มาแล้ว ประกาศปล่อยบริการจัดการการเรียนระยะไกล และบริการห่วงโซ่อุปทานให้ใช้งานฟรี
SAP ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ERP รายใหญ่ประกาศเปิดโซลูชันเพื่อการศึกษาและการทำงานทางไกล และโซลูชันเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้ใช้งานได้ฟรี จากเดิม SAP เคยเปิดวิชาเรียนออนไลน์ฟรีมาก่อนแล้ว
โซลูชันแบบสำรวจจาก Qualtrics เปิดฟรีออกมาหลายชุด เช่น Remote Work Pulse สำรวจความพึงพอใจพนักงาน, Healthcare Wordforce Pulse สำรวจความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่, Customer Confidence Pulse สำรวจความคาดหวังลูกค้า, Remote Educator Pulse หาปัญหาในการเรียนการสอนระยะไกล
Ruum by SAP เป็นระบบจัดการโครงการ (project management) อย่างง่ายๆ เพื่อการปรับปรุงกระบวนการทำงาน เปิดให้สร้างรายการเตรีมการที่ต้องทำ
SAP Ariba Discovery เชื่อมผู้ซื้อเข้ากับผู้ขาย โดยสมาชิกรายใหม่สามารถเข้าใช้งานได้ฟรี 90 วัน ทาง SAP ระบุว่า Ariba มีซัพพลายเออร์อยู่ในระบบกว่า 4 ล้านรายใน 180 ประเทศ และมีมูลค่าการค้าแล้ว 3.7 ล้านล้านดอลลาร์
ที่มา - จดหมายข่าว SAP |
# ASUS เปิดตัว TUF Gaming A15 Ryzen 5 4600H, GTX 1650Ti ราคา 26,990 บาท
Asus เปิดตัว TUF Gaming A15 Bonfire Black Limited Edition (FA506II-HN138T) โน้ตบุ๊กเกมมิ่งหน้าจอ 15.6 นิ้ว รีเฟรชเรท 144Hz ซีพียู Ryzen 5 4600H มาพร้อมคีย์บอร์ด RGB backlight การ์ดจอ GTX 1650Ti และเทคโนโลยี Adaptive Sync มีสเปกแบบละเอียดดังนี้
ซีพียู Ryzen 5 4600H 3.0GHz 6 คอร์ 12 เธรด สถาปัตยกรรม 7 นาโนเมตร สัญญาณนาฬิกา 3.0GHz บูสต์ได้ถึง 4.0GHz
แรม 8GB DDR4 3200MHz ใส่เพิ่มได้ถึง 32GB
การ์ดจอ GTX 1650Ti 4GB GDDR6
ฮาร์ดดิสก์ SSD แบบ M.2 NVMe PCIe ขนาด 512GB
Wi-Fi 5, Bluetooth 5.0
พอร์ตเชื่อมต่อ Audio Jack Combo (หูฟัง+ไมค์ในตัว) x1, HDMI 2.0b x1, USB 3.2 Gen 1 x2, USB 3.2 Gen 2 Type C (รองรับ Displayport 1.4 ในตัว) x1, RJ45 (LAN) x1, USB 2.0 x1, Kensington Lock x1
แบตเตอรี่ 48Wh + ที่ชาร์จ 180W
ASUS TUF Gaming A15 สี Bonfire Black Limited Edition มีจำนวนจำกัด วางจำหน่ายในวันที่ 29 เมษายนนี้ ผ่านตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ และ ASUS Official Store ในราคา ราคา 26,990 บาท
ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์ |
# ปลดทุกล็อก Google Meet เปิดให้บริการทุกคนฟรี เริ่มต้นพฤษภาคมนี้
กูเกิลประกาศเตรียมปลดล็อก Google Meet ให้กับผู้ใช้ที่มี Google Account ทุกคนโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้ใช้ G Suite อีกต่อไป โดยจะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปสร้างห้องประชุมได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้
กูเกิลเตือนว่าเนื่องจากต้องระวังให้ระบบรองรับผู้ใช้ได้อย่างมีเสถียรภาพ ผู้ใช้บางคนจึงอาจจะยังไม่สามารถสร้างห้องประชุมได้ในช่วงแรกๆ แต่จะเปิดให้ลงชื่อรอคิวเท่านั้น
บริการฟรีจะจำกัดระยะเวลาประชุมไม่เกิน 60 นาที แต่กูเกิลจะไม่บังคับกฎระยะเวลานี้จนสิ้นเดือนกันยายนปีนี้ ทำให้ช่วงนี้ประชุมนานเท่าไหร่ก็ได้ ฟีเจอร์ที่ได้มาด้วย เช่น การแชร์หน้าจอ, การแปลงเสียงเป็นอักษร (real-time caption), และการแสดงหน้าจอแบบ 16 คนพร้อมกัน
กูเกิลยังคงเน้นเรื่องความปลอดภัยของ Google Meet อย่างหนัก เช่น การควบคุมผู้เข้าร่วมทำได้ดีกว่า, การเดาชื่อห้องทำได้ยาก, ไม่ต้องลงซอฟต์แวร์เพิ่มเติมเพื่อใช้งาน, และจะไม่นำข้อมูลไปขายหรือโฆษณา
ที่มา - Google Blog |
# Legends of Runeterra เปิดให้บริการเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ - ภาษาไทยมาเร็วๆ นี้
หลังจากเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปีก่อน สำหรับ Legends of Runeterra การ์ดเกมจากโลกของเกม League of Legends (LoR) ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ความง่ายในการสะสมการ์ดในเกมโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ ในวันนี้ LoR ได้เปิดให้บริการในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว โดยผู้เล่นสามารถเลือกเล่นได้ทั้งบนแพล็ตฟอร์ม PC, iOS และ Android พร้อมฟีเจอร์การเล่นข้ามแพล็ตฟอร์ม นอกจากนี้จะมีการเปิดตัวเวอร์ชั่นภาษาไทยตามมาอีกด้วยในเร็วๆ นี้
การเปิดตัว LoR จะมาพร้อมกับชุดเสริมแรกของเกมอย่าง Rising Tides ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของอาณาเขตใหม่ใน Bilgewater ที่เต็มไปด้วยโจรสลัดและอสูรกายจากใต้ทะเลลึก โดย Rising Tides จะมาพร้อมกับการ์ดใหม่ๆ กว่า 120 ใบ และแชมป์เปี้ยนใหม่ๆ ถึง 11 ตัวละคร
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.playruneterra.com และ Legends of Runeterra TH Facebook Page
ที่มา: จดหมายข่าว PR |
# Qualcomm เปิดตัว Quick Charge 3+ ชาร์จเร็ว ราคาประหยัดกว่า Quick Charge 4+
Qualcomm เปิดตัวเทคโนโลยีชาร์จเร็วอัปเกรดใหม่ Quick Charge 3+ (เพิ่ม + เข้ามาจาก Quick Charge 3.0) เพื่อเป็นอีกทางเลือกของระบบชาร์จเร็วราคาถูก เพราะรองรับสายแบบ USB type A ไป type C โดยมีฟีเจอร์ เปรียบเทียบกับ Quick Charge 3, 4 และ 4+ ดังนี้
Quick Charge 3+ ชาร์จเร็วขึ้น 35% (ชาร์จได้ถึง 50% ภายใน 15 นาที) และเย็นลง 9 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับ Quick Charge 3
แต่ยังชาร์จไม่เร็วเท่า Quick Charge 4+ และไม่มีระบบจัดการอุณหภูมิ Intelligent Thermal Balancing
รองรับอุปกรณ์ชาร์จที่ปรับแรงดันไฟได้ 20mV ต่อสเต็ป เหมือน Quick Charge 4 แต่ไม่มีระบบความปลอดภัย Dual Charge (วงจรจัดการพลังงานตัวที่สอง)
รองรับมือถือที่ใช้เทคโนโลยี Quick Charge รุ่นเก่ากว่า ส่วนมือถือที่ใช้ Quick Charge รุ่นสูงกว่าก็ใช้อุปกรณ์ชาร์จ Quick Charge 3+ ได้เช่นกัน
Quick Charge 3+ จะรองรับชิป Power Management IC (PMIC) ใหม่ รหัส SMB1395/SMB1396 ของ Qualcomm ทำให้มีคุณสมบัติเพิ่มเติมดังนี้
ผู้ผลิตสามารถใช้ระบบปรับกระแสไฟในรุ่นต่างๆ ได้ (scalable architecture) โดยใช้ซอฟต์แวร์เดิม เพื่อตอบโจทย์ดีไซน์แผงวงจร PCB หรือตำแหน่ง IC ของตัวชาร์จที่ต่างกันในแต่ละรุ่น
รองรับอุปกรณ์เสริมที่มีระบบชาร์จเร็วแบบ variable voltage ในราคาที่ถูกลง (เช่นอุปกรณ์ของ Quick Charge 3+ เอง)
ไม่ต้องใช้ชิป OVP (Over Voltage Protection - ตัวกันแรงดันไฟเกิน) หรือตัวตรวจจับกระแส (sense resistor) อื่นๆ
รองรับการชาร์จทั้งแบบมีสายและไร้สาย (ด้วย PMIC รหัส SMB1396)
Quick Charge 3+ ใช้งานได้บนอุปกรณ์ที่ใช้ชิป Snapdragon 765 กับ Snapdragon 765G (ที่รองรับ Quick Charge 4+ อยู่แล้ว) โดย Mi 10 Lite Zoom ที่ใช้ Snapdragon 765G จะเป็นมือถือรุ่นแรกที่รองรับทั้ง Quick Charge 4+ และ Quick Charge 3+
แม้ชิป Snapdragon 765 กับ Snapdragon 765G เดิมรองรับ Quick Charge 4+ อยู่แล้ว แต่ Quick Charge 3+ จะเพิ่มทางเลือกให้ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนด้านอุปกรณ์ชาร์จและสายชาร์จ ในมือถือรุ่นกลางถึงล่างได้ แต่ให้ความเร็วที่สูงขึ้นกว่า Quick Charge 3 รุ่นธรรมดา
ที่มา - Qualcomm |
# Azure Kubernetes รองรับคอนเทนเนอร์ Windows Server เต็มรูปแบบแล้ว
Kubernetes รุ่นต้นน้ำรองรับ Windows container มาตั้งแต่เวอร์ชัน 1.14 ในเดือนเมษายน 2019 (เวอร์ชันล่าสุดตอนนี้คือ 1.18) ฝั่งของดิสโทรและผู้ให้บริการคลาวด์หลายราย ก็เริ่มทยอยอัพเดตบริการ Kubernetes ของตัวเองให้รองรับฟีเจอร์นี้กัน
Microsoft Azure เริ่มรองรับ Windows container มายาวนานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019 แต่มีสถานะพรีวิว ล่าสุดไมโครซอฟท์ประกาศรองรับ Windows Server container อย่างเป็นทางการบน Azure Kubernetes Service (AKS) แบบ general availability เรียบร้อยแล้ว
ประกาศนี้เท่ากับว่า Azure Kubernetes รองรับคอนเทนเนอร์ทั้ง Linux/Windows อย่างสมบูรณ์ แต่ไมโครซอฟท์ก็ยืนยันว่าจะพัฒนาฟีเจอร์อื่นๆ ให้เพิ่มอีก เช่น การแยกส่วน (isolation) คอนเทนเนอร์ด้วย Hyper-V เป็นต้น
ที่มา - Microsoft, ภาพจาก Microsoft |
# Amazon เพิ่มฟีเจอร์ Kernel Live Patch อัพเดตแพตช์ไม่ต้องบูตให้ Amazon Linux 2 ใช้ฟรี
ปัญหาสำคัญของการอัพเดตเคอร์เนลลินุกซ์ คือต้องรีบูตเครื่องซึ่งเกิดดาวน์ไทม์ ทางออกในเรื่องนี้จึงเกิดเทคนิคที่เรียกว่า Kernel Live Patching (บ้างก็เรียก KLP, Livepatch, Kpatch ตามแต่ละยี่ห้อ) ที่สามารถอัพเดตแพตช์ให้เคอร์เนลโดยไม่ต้องรีบูต (รายละเอียดทางเทคนิคว่าทำอย่างไร)
ฟีเจอร์ Kernel Live Patching มักมีในลินุกซ์เวอร์ชัน Enterprise ที่ต้องเสียเงินซื้อ subscription เช่น RHEL, Oracle Linux, Ubuntu Enterprise, SUSE Enterprise หรือบริการ KernelCare ที่ใช้กับดิสโทรได้หลายราย
ล่าสุด Amazon ประกาศฟีเจอร์ Live Patching ให้กับดิสโทร Amazon Linux 2 ของตัวเองบน AWS โดยมีจุดเด่นคือเปิดให้ลูกค้า AWS (EC2) ใช้งานฟรี
วิธีใช้งานเพียงแค่ติดตั้งแพ็กเกจ yum-plugin-kernel-livepatch ผ่าน yum แล้วสั่ง enable ได้เลย (รายละเอียด)
ที่มา - AWS Blog |
# เจ็บหนัก TripAdvisor เตรียมปลดคนออกกว่า 900 ราย
TripAdvisor ประกาศผ่านบล็อก เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทางบริษัทเตรียมปลดพนักงานออก 25% ซึ่งกระทบคนราวกว่า 900 คน โดยในจำนวนนี้มีพนักงาน 600 รายในสหรัฐฯและแคนาดาที่จะได้รับผลกระทบ
ในบล็อกระบุว่า มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่ทำไปก่อนหน้านี้คือ ลดเงินเดือนพนักงาน ลดเวลาการทำงาน (ลดค่าจ้างรายวัน) ลดการใช้จ่ายส่วนที่ไม่จำเป็น ระงับการจ้างงานใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้ต้องลดจำนวนคนทำงานลง และต่อจากนี้ต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงการปลดคนรอบสอง
ภาพจาก TripAdvisor
ที่มา - TechCrunch |
# Sony เปิดตัว Xperia L4 สมาร์ทโฟนรุ่นประหยัด, สามกล้องหลัง, หน้าจอ 21:9 ชิป Helio P22
หลังเปิดตัว Xperia 1 II และ Xperia 10 II ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ล่าสุด Sony เปิดตัวมือถือรุ่นล่างตระกูล L ในรุ่น Xperia L4 แล้ว
Xperia L4 มาพร้อมหน้าจอขนาด 6.2 นิ้วแบบ IPS LCD ความละเอียด 720 x 1680 พิกเซล ดีไซน์จอกว้าง 21:9 เช่นเดียวกับสองรุ่นที่เปิดตัวไปก่อนหน้า ใช้ชิป Mediatek Helio P22 Octa-Core 2.0 GHz แรม 3GB หน่วยความจำภายใน 64GB รองรับ microSD การ์ด มีสามกล้อง กล้องหลัก 13 MP, f/2.0 กล้องอัลตร้าไวด์ 5 MP, f/2.2 และ depth sensor 2 MP, f/2.4 กล้องหน้า 8 MP, f/2.0 แบตเตอรี่ 3850mAh รองรับชาร์จเร็ว
Xperia L4 มีสองสี น้ำเงินกับดำ วางจำหน่ายในยุโรปแล้ว ที่ราคา 199 ยูโร (ประมาณ 7,000 บาท) ยังไม่มีข่าวเกี่ยวกับการวางจำหน่ายในประเทศอื่น
ที่มา - Android Community, GSMArena, Sony, Sony UK
ภาพจาก Sony |
# EA ออกอัพเดตสุดท้ายให้ Star Wars Battlefront II เพิ่มฉากดาว Scarif จาก Rogue One
EA และ DICE ประกาศออกอัพเดตใหญ่ตัวสุดท้ายของเกม Star Wars Battlefront II ที่ออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017
อัพเดตนี้เพิ่มแผนที่ใหม่ The Battle on Scarif จากในภาพยนตร์ภาค Rogue One ซึ่งมีให้เล่นในเกม Battlefront ภาคแรกที่ออกปี 2015, เพิ่มโหมด Co-Op แบบออฟไลน์เล่นคนเดียวกับบ็อตได้, เพิ่มชุดตัวละครอีก 3 ชุดคือ Rey ดาบสีเหลือง, Kylo Ren หน้ากากร้าว และ Emperor Palpatine
ตัวเซิร์ฟเวอร์ Battlefront II จะยังเปิดให้เล่นต่อไปตามปกติ และ EA จะยังมีกิจกรรมหรืออีเวนต์ย่อยๆ ในเกมต่อไป แค่ไม่มีอัพเดตใหญ่เพิ่มให้อีกแล้ว
Star Wars Battlefront II เป็นภาคต่อของเกม Battlefront ฉบับปี 2015 ที่พัฒนาโดยสตูดิโอ DICE ผู้สร้างชื่อมาจากซีรีส์ Battlefield แต่เกมภาคสองกลับได้คะแนนรีวิวไม่ดีนัก และถูกวิจารณ์อย่างหนักจากประเด็น Loot Box/Pay-to-Win จน EA ต้องยอมถอย
ที่มา - EA, PC Gamer |
# Fast Pair ใช้งาน Find Device ตามหาหูฟังหาย และแสดงแบตหูฟังแยกข้างได้แล้ว
หลัง Google โชว์ฟีเจอร์ใหม่ที่จะเพิ่มใน Fast Pair (ระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ Bluetooth ของแอนดรอยด์) ไปในงาน I/O เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ล่าสุด Google เพิ่มฟีเจอร์เหล่านี้ให้กับ Fast Pair อย่างเป็นทางการ หลังเปิดตัว Pixel Buds 2
ฟีเจอร์ Find Device ช่วยผู้ใช้ค้นหาหูฟัง โดยกดให้หูฟังข้างซ้ายหรือขวาส่งเสียงได้ และสามารถติดตามตำแหน่งล่าสุดของหูฟัง ในแอป Find My Device ได้ หากผู้ใช้เปิด Location History ไว้
นอกจากนี้ Fast Pair ยังสามารถแสดงค่าแบตเตอรี่ของหูฟัง TWS (True Wireless Stereo) แบบแยกชิ้นส่วนได้ (ข้างซ้าย, ข้างขวา, และเคสที่รองรับ) และผู้ใช้บน Android 10 ขึ้นไป จะสามารถตั้งค่าหูฟัง เชื่อมต่อกับ Google Assistant และปรับแต่งค่าต่างๆ ของหูฟังผ่านหน้ารายละเอียดอุปกรณ์ได้บน Fast Pair ได้ทันที
ฟีเจอร์ใหม่ของ Fast Pair ไม่ได้จำกัดอยู่เพียง Pixel Buds เท่านั้น ปัจจุบันยังรองรับ Harman Kardon FLY ด้วย และ Google ยังกล่าวอีกว่าจะทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อเพิ่มการรองรับหูฟัง TWS รุ่นอื่นๆ อีกมากในอนาคต
ที่มา - Google Blog |
# แบงก์ชาติงดรายงานธนาคารล่มประจำไตรมาสจาก COVID-19 ขอให้ประชาชนมั่นใจธนาคาร
ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศงดการเผยแพร่รายงานธนาคารล่มประจำไตรมาส โดยสาเหตุจากการระบาดของโรค COVID-19 และจะเลื่อนการรายงานออกไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากการประกาศเลื่อนแล้ว ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังขอให้ประชาชนมั่นใจว่าธนาคารได้ดูแลระบบให้บริการทุกช่องทางโดยเฉพาะบริการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่องแล้ว
ช่วงเดือนที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยออกมากำชับให้ธนาคารดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากระบบล่ม หลังจากมีกรณีธนาคารล่มจนส่งผลให้เงินโอนไปไม่ถึงปลายทาง
ที่มา - 1213.or.th |
# Shoelace โซเชียลเนตเวิร์คทดลองตลาดของ Google ประกาศปิดตัว
Shoelace โซเชียลเนตเวิร์คทดลองตลาดจาก Area 120 ที่เป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพสำหรับพนักงานกูเกิล ประกาศเตรียมปิดให้บริการในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ หลังจากเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว
ในวันที่ประกาศปิดบริการ Shoelace ยังคงมีสถานะทดลอง โดยให้บริการเฉพาะบน iOS และรองรับผู้ใช้งานในนิวยอร์กเพียงเมืองเดียว โดยการทำงานของแอปจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นเพื่อนใหม่ ผ่านกิจกรรมและความสนใจที่เหมือนกัน
Area 120 ยอมรับว่าการระบาดของ COVID-19 เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้โครงการตัดสินใจยุติ Shoelace เนื่องจากไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนัก รวมทั้งไม่มีแผนจะกลับมาให้บริการในอนาคตอีกครั้งด้วย
ที่มา: Engadget |
# ไมโครซอฟท์โอเพนซอร์สไลบรารี MsQuic ใช้สร้างทั้งไคลเอนต์และเซิร์ฟเวอร์ HTTP/3 รองรับลินุกซ์ด้วย
ไมโครซอฟท์ประกาศโอเพนซอร์สไลบรารี MsQuic สำหรับการอิมพลีเมนต์โปรโตคอล HTTP/3 หรือ QUIC โดยระบุว่าเป็นไลบรารีเดียวกับที่ไมโครซอฟท์จะใช้งานเอง
MsQuic กำลังถูกใช้งานภายในไมโครซอฟท์หลายส่วน ทั้ง Microsoft 365 ที่เริ่มรองรับ HTTP/3, ไลบรารีใน .NET Core 5.0, และ SMB ในวินโดวส์ที่กำลังทดสอบการรองรับ QUIC เช่นกัน โดยการรองรับ SMB บน QUIC นับเป็นการทดสอบสำคัญเพราะจะแสดงให้เห็นว่า QUIC สามารถใช้งานทั่วไปได้ ไม่ต้องเป็นเว็บ โดย QUIC มีความได้เปรียบที่การส่งข้อมูลเริ่มได้ทันทีตั้งแต่การส่งแพ็กเก็ตแรก (0-RTT) ทำให้ระยะเวลาหน่วงในการใช้งานแอปพลิเคชั่นลดลง และสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเมื่อปริมาณข้อมูลเต็มแบนวิดท์ (congestion control) ได้ ทำให้ทดสอบและใช้งานเทคนิคใหม่ๆ ได้เร็วขึ้นเทียบกับ TCP ที่ต้องรอระบบปฎิบัติการอัพเดต
ไลบรารีรองรับฟีเจอร์ของ IETF QUIC เกือบทั้งหมด แต่ยังไม่สมบูรณ์หลายส่วน เช่น 0-RTT, Client-side migration, Path MTU Discovery, Server Preferred Address สำหรับระบบปฎิบัติการนั้นรองรับทั้งวินโดวส์และลินุกซ์
ที่มา - Microsoft
แผนภาพการเชื่อมต่อ QUIC จาก Microsoft |
# Vivo แซง Samsung ขึ้นแท่นผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนอันดับสองในอินเดีย
Canalys บริษัทวิจัยตลาดชื่อดังของโลก รายงานผลการวิเคราะห์ตลาดสมาร์ทโฟนอินเดียในไตรมาสแรกของปี 2020 โดยแบรนด์ Vivo มียอดขายเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีที่แล้ว 48.9% แซง Samsung ที่ยอดขายลดลง 13.7% ขึ้นเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสองของอินเดีย ที่ 19.9% ส่วน Samsung มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 18.9%
อันดับหนึ่งยังคงเป็นของ Xiaomi เจ้าเก่า ที่ยอดขายไตรมาสนี้ เติบโต 8.4% มีส่วนแบ่งตลาด 30.6% ส่วนอีกแบรนด์ที่น่าจับตามอง คือ Realme ที่ ตีตลาดแตก ยอดขายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 200% ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 มีส่วนแบ่งตลาด 11.7% เพิ่มขึ้นจาก 4.5% จากไตรมาสแรกปีที่แล้ว
ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในอินเดียเติบโตขึ้นถึง 12% ในไตรมาสแรกของปีนี้ แม้จะมีการกักตัวและได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 แต่โดยรวมแล้วยังเป็นตลาดที่น่าสนใจอีกแห่งที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายแบรนด์ขับเคี่ยวกันอย่างเมามัน
ที่มา - Canalys
ภาพจาก Canalys |
# อินเทลปลดล็อค เปิดให้ดาวน์โหลดไดรเวอร์จีพียูโดยตรง ไม่ต้องรอไดรเวอร์ OEM
ปกติแล้วคนที่ใช้จีพียูอินเทล จะต้องติดตั้งไดรเวอร์เวอร์ชันของ OEM (ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กหรือผู้ผลิตบอร์ด) ด้วยเหตุผลเรื่องการคอนฟิกและปรับแต่งให้เข้ากันได้กับฮาร์ดแวร์ทั้งระบบ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ OEM มักไม่ค่อยขยันอัพเดตไดรเวอร์จีพียูสักเท่าไรนัก
ล่าสุด อินเทลแก้ปัญหานี้ด้วยการเปิดอัพเดตไดรเวอร์ตรง (generic driver) ผู้ที่อยากได้ไดรเวอร์จีพียูอินเทลเวอร์ชันล่าสุด สามารถดาวน์โหลดได้จาก หน้าเว็บของอินเทล โดยตรง (รองรับซีพียูอินเทล 6th Gen ขึ้นไป และต้องเป็น Windows 10 v1709 ขึ้นไป)
อินเทลเรียกไดรเวอร์ตัวนี้ว่าเป็น "unlocked drivers" โดยการติดตั้งไดรเวอร์ของอินเทลโดยตรง จะมีผลอัพเดตเฉพาะตัวไดรเวอร์เท่านั้น ระบบคอนฟิกหรือการปรับแต่งอื่นๆ ของ OEM จะยังอยู่เหมือนเดิม
อินเทลบอกว่าไดรเวอร์ตัวนี้เหมาะสำหรับการทดลองฟีเจอร์ใหม่ๆ หรือการรองรับเกมใหม่ๆ (ล่าสุดคือรองรับ Gears Tactics และ XCOM: Chimera Squad บนจีพียู Iris Plus) แต่แนะนำว่าควรใช้ไดรเวอร์ของ OEM จะดีที่สุด
ที่มา - Intel, AnandTech |
# Red Hat ต่ออายุ RHEL 7.6 และ OpenShift 3 ให้พิเศษ จากปัญหา COVID-19
เราเห็นไมโครซอฟท์ขยายระยะเวลาซัพพอร์ต Windows 10 ให้เป็นกรณีพิเศษ ในช่วงวิกฤต COVID-19 เพื่อให้แอดมินองค์กรมีระยะเวลาเตรียมตัวกันนานขึ้น
วันนี้ Red Hat ประกาศขยายระยะเวลาซัพพอร์ตผลิตภัณฑ์หลายตัวในลักษณะเดียวกัน
Red Hat Enterprise Linux ขยายอายุซัพพอร์ต RHEL 7.6 อีก 6 เดือน เป็น 31 พฤษภาคม 2021
Red Hat OpenShift 3.11 ขยายอายุซัพพอร์ตอีก 1 ปี เป็น มิถุนายน 2021
Red Hat Ceph Storage 3.3 ขยายอายุให้อีก 30 เดือน
ที่มา - Red Hat |
# Epic Games Store บังคับใช้ Two Factor Authentication ชั่วคราวหากจะเคลมเกมฟรี
Epic Games ประกาศมาตรการชั่วคราวสำหรับเกมเมอร์ที่ต้องการเคลมเกมแจกฟรีบน Epic Games Store ว่าจะต้องเปิดใช้ Two Factor Authentication จึงจะสามารถเคลมเกมได้
Epic ให้เหตุผลว่าต้องการยกระดับความปลอดภัยของบัญชีผู้เล่น และยอมรับว่าอาจไม่สะดวกอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพบการโจมตีบัญชี Epic ในช่วงนี้อย่างไร มาตรการนี้เริ่มใช้ในวันนี้ ไปจนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม
อ่าน วิธีการเปิดใช้ Two Factor Authentication ของ Epic Games Store โดยแอพที่ Epic แนะนำคือ Google Authentication, Microsoft Authentication, LastPass, Authy
เกมฟรีบน Epic Games Store ในช่วงนี้คือ For the King
ที่มา - Epic Games |
# YouTube แสดงการตรวจสอบข่าวปลอมเกี่ยวกับ COVID-19 ในหน้าค้นหา
ในช่วงโรคระบาดนี้ มีทฤษฎีความเชื่อผิดๆ เกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็น สัญญาณ 5G เร่งการกระจายโรค COVID-19, Bill Gates เป็นต้นเหตุของ COVID-19 เป็นต้น ล่าสุด YouTube เพิ่มฟีเจอร์ แสดงผลการตรวจสอบข่าวปลอมในหน้าค้นหาในสหรัฐฯ หลังจากที่ได้เปิดใช้งานฟีเจอร์นี้ในอินเดียและบราซิลแล้ว
เนื้อหาที่แสดงได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานตรวจสอบข่าว เช่น Dispatch, FactCheck.org, PolitiFact และ The Washington Post Fact Checker ผู้ใช้งานสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดว่า ข่าวปลอมนั้นมีเนื้อหาอะไร และเหตุผลที่ทำให้ข่าวนั้นปลอม ดูไม่น่าเชื่อถือ
ที่มา - TechCrunch |
# Anchor แอปพอดคาสต์ของ Spotify ทำไฟล์เสียงวิดีโอคอลให้เป็นพอดคาสต์ ตัดต่อ เพิ่มซาวด์ ได้
Anchor แอปทำพอดคาสต์ที่ Spotify เข้าซื้อไปก่อนหน้านี้ ออกฟีเจอร์ใหม่ที่สามารถแปลงไฟล์เสียงจากการคุยวิดีโอคอล ไม่ว่าจะคุยจากช่องทาง Zoom, Google Meet, Skype, FaceTime, Twitch, Instagram Live ให้เป็นไฟล์พอดคาสต์ได้
เมื่อผู้ใช้คุยวิดีโอคอลแล้ว สามารถอัพโหลดไฟล์เข้าไปที่แพลตฟอร์มของ Anchor รองรับทั้งไฟล์ .mp4 และ .mov หลังจากนั้นผู้ใช้ก็สามารถปรับแต่งพอดคาสต์ของตัวเองได้ไม่ว่าจะเป็น การตัดต่อเสียง ใส่ซาวด์ เพลงเบื้องหลัง หรืออัดเสียงตัวเองใส่ลงไปเพิ่มก็ได้ Anchor ระบุว่ายังไม่สามารถอัพโหลดไฟล์จาก YouTube เข้ามายัง Anchor ได้ แต่ถ้าผู้ใช้งานมีตัวไฟล์ต้นฉบับอยู่แล้ว ก็สามารถทำได้
วงการพอดคาสต์ในสถานการณ์ COVID-19 ก็ลำบากเช่นกัน เพราะไม่สามารถเดินทางไปสตูดิโอเพื่ออัดเสียงได้ นอกจากนี้แนวโน้มคนฟังพอดคาสต์ในช่วงปิดเมืองก็ลดลงด้วย
ที่มา - TechCrunch, Anchor |
# Samsung ไตรมาส 1/2020 ธุรกิจชิปหน่วยความจำยังมีดีมานด์สูง เป็นผลจาก COVID-19
ซัมซุงรายงานผลประกอบการของไตรมาสแรก ปี 2020 หลังออกมาให้ตัวเลขเบื้องต้นเมื่อต้นเดือน ยอดขายรวมเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนอยู่ที่ 55.33 ล้านล้านวอน กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 6.45 ล้านล้านวอน และกำไรสุทธิ 4.88 ล้านล้านวอน
ธุรกิจชิปส่วนหน่วยความจำมีการเติบโตมากที่สุดถึง 15% โดยซัมซุงบอกว่าความต้องการสินค้ายังมีสูงทั้งจากลูกค้าที่ใช้กับเซิร์ฟเวอร์และพีซี ขณะที่ชิปสำหรับสมาร์ทโฟนความต้องการคงที่ ทั้งมองว่าในไตรมาสปัจจุบัน ความต้องการชิปหน่วยความจำจะยังสูง ยกเว้นลูกค้าสมาร์ทโฟนที่มีโอกาสลดลง
กลุ่มสมาร์ทโฟนรายได้ลดลง 4% ซึ่งเป็นผลกระทบจาก COVID-19 และมองว่าจะส่งผลต่อถึงไตรมาสปัจจุบัน เช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ที่ยอดขายโทรทัศน์ลดลง อย่างไรก็ตามซัมซุงบอกว่าโทรทัศน์กลุ่มพรีเมี่ยมกลับมียอดขายสูงขึ้น (เช่น QLED, 8K)
ที่มา: ซัมซุง |
# Zoom เซ็นสัญญากับ Oracle ย้ายระบบคอร์มีตติ้งขึ้นไปรันบน Oracle Cloud
Zoom ผู้ให้บริการประชุมทางไกลประกาศเลือก Oracle Cloud Infrastructure เป็นผู้ให้บริการคลาวด์หลักที่จะรองรับการสเกลรองรับการใช้งานในอนาคต
Zoom ได้เซ็นสัญญากับ Oracle และดีพลอยระบบคอร์มีตติ้งบน Oracle Cloud มาแล้วกว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งทาง Oracle ระบุว่าตอนนี้ Zoom มีการรับส่งข้อมูลมากกว่า 7 เพตะไบต์ต่อวันผ่าน Oracle Cloud Infrastructure
Brent Leary ผู้ก่อตั้งบริษัท CRM Essentials บริษัทด้านการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าให้ความเห็นว่า Zoom ตั้งใจจะเน้นกลุ่มตลาดลูกค้าองค์กร จึงต้องให้ทั้งความมั่นใจทั้งในด้านการสเกลและความปลอดภัยของข้อมูล และค่อนข้างมั่นใจว่า Oracle น่าจะให้ข้อเสนอ Zoom ดีพอที่ทำให้ Zoom ตัดสินใจไม่เลือกรายใหญ่อย่าง AWS หรือ Azure
อย่างไรก็ดี Zoom ไม่ได้ใช้ Oracle Cloud ทั้งหมด โดยบริษัทจะยังคงใช้งานมัลติคลาวด์ คือยังมี AWS และ Azure ในการประมวลผลงานประเภทอื่นอยู่บ้าง
ที่มา - ZDNet, TechCrunch |
# Apple Maps แสดงจุดตรวจ COVID-19 ทั้ง 50 รัฐในสหรัฐฯแล้ว
จากข่าว Apple สร้างช่องทางลงทะเบียนสำหรับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจ COVID-19 เพื่อที่จะแสดงบนแผนที่ Apple Maps ได้นั้น ล่าสุด เปิดให้ใช้งานใน 50 รัฐของสหรัฐฯแล้ว รวมถึงเปอโตริโกด้วย
แผนที่จะแสดงจุดตรวจครอบคลุมทั้งโรงพยาบาล, คลีนิกที่เปิดให้ตรวจโดยเฉพาะ รวมถึงสถาบันอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อตรวจ COVID-19 โดยผู้ใช้สามารถค้นหาแผนที่ในหมวด COVID-19 Testing ซึ่งจะเป็นหมวดค้นหาที่ปรากฏด้วยกันกับสถานที่สำคัญอื่นๆ อย่างร้านยา ร้านขายอาหารเดลิเวอรี่ เป็นต้น
ที่มา - Engadget |
# ผู้จัดประกวดหนังออสการ์ เปลี่ยนกฎชั่วคราว หนังสตรีมมิ่ง, ดิจิทัลมีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลได้
จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้หนังไม่สามารถฉายในโรงภาพยนตร์ได้ ผู้จัดประกวดรางวัลออสการ์ จึงย่อมผ่อนปรนให้หนังที่แม้ไม่ได้ฉายในโรงตามกฎการประกวด สามารถมีสิทธิ์เข้าชิงรางวัล นั่นหมายความว่า หนังที่ลงสตรีมมิ่งอย่างเดียว หรือเปิดให้ดูผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างเดียว ก็มีสิทธิ์ได้รางวัลออสการ์
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นกฎที่ตั้งขึ้นมาชั่วคราว และจะมีผลแค่การประกวดออสการ์ในปี 2021 เท่านั้น เพราะประสบการณ์การรับชมหนังในโรงภาพยนตร์ ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินรางวัล
จากสถานการณ์ COVID-19 มีหนังเรือธงหลายค่ายที่ปล่อยลงสตรีมมิ่ง และให้ซื้อผ่านดิจิทัลแทนที่จะเลื่อนฉายไปจนกว่าจะพ้นช่วงโรคระบาด นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีหนังสตรีมมิ่ง Netflx, Amazon ได้รางวัลออสการ์หลายเรื่องทีเดียว แต่นั่นเป็นเพราะทางบริษัททำตามกฎออสการ์ คือต้องปล่อยหนังลงฉายในโรงหนังด้วย
ภาพจาก Oscars
ที่มา - Engadget |
# AMD ไตรมาส 1/2020 รายได้ยังเติบโตสูงถึง 40%
AMD รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2020 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 40% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 1,786 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิ 162 ล้านดอลลาร์
ซีอีโอ Lisa Su กล่าวว่าการเติบโตและกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากสินค้าตระกูล Ryzen และสินค้ากลุ่ม EPYC ขณะที่มองไปข้างหน้า แม้ระยะสั้นจะไม่ชัดเจนนัก แต่ด้วยฐานะการเงินที่ดี และพอร์ตโฟลิโอสินค้าที่กระจายไปในหลายหมวด ทำให้แผนในระยะยาวของบริษัทไม่มีการเปลี่ยนแปลง
กลุ่มธุรกิจที่เป็นรายได้หลักอย่าง Computing and Graphics (Ryzen, Radeon) รายได้เพิ่มถึง 73% เป็น 1,438 ล้านดอลลาร์ ขณะที่กลุ่ม Enterprise ลดลง 21% เป็น 348 ล้านดอลลาร์ จากยอดขาย Semi-Custom ที่ลดลง แม้จะได้ EPYC มาช่วย
ที่มา: AMD |
# Alphabet (บริษัทแม่ Google) เผยไตรมาส 1/2020 รายได้โฆษณาเดือนมีนาคม ลดลงอย่างชัดเจน
Alphabet บริษัทแม่ของกูเกิล รายงานผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 1 ปี 2020 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 41,159 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิ 6,836 ล้านดอลลาร์
Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิลและ Alphabet กล่าวว่าในสถานการณ์ที่ทุกคนเผชิญตอนนี้ การใช้งานบริการต่าง ๆ ของกูเกิลก็เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นมา ขณะที่ซีเอฟโอ Ruth Porat กล่าวว่า ตัวเลขการดำเนินงานแข็งแกร่งในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่เมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม รายได้จากโฆษณาก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงลงทุนต่อเนื่องเพื่อโอกาสในระยะยาว
รายได้ของกูเกิลแยกตามกลุ่มธุรกิจต่างเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2019 รายได้จากโฆษณาบนเสิร์ช 24,502 ล้านดอลลาร์ โฆษณา YouTube 4,038 ล้านดอลลาร์ แต่ลดลงหากเทียบกับไตรมาส 4/2019 ส่วนรายได้จาก Google Cloud 2,777 ล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้นทั้งเทียบปีและเทียบไตรมาสก่อนหน้า) กลุ่มธุรกิจอื่นของกูเกิล (ฮาร์ดแวร์, subscription รวมทั้ง YouTube) 4,435 ล้านดอลลาร์ และกลุ่มธุรกิจใหม่ Other Bets 135 ล้านดอลลาร์
ซีเอฟโอ Ruth ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงแถลงผลประกอบการ ว่าความสนใจผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นสูงมากในการหาข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 ขณะที่การเสิร์ชหาข้อมูลสินค้า-บริการ (ซึ่งสามารถสร้างรายได้ต่อจากโฆษณาได้) นั้นมีสัญญาณเพิ่มขึ้นบ้างแล้ว แต่ไม่ชัดเจนว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องหรือไม่ โดยมองว่าในไตรมาสปัจจุบัน (2/2020) มีความท้าทายว่ารายได้จากโฆษณาจะกลับมาหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับภาพรวมของเศรษฐกิจ
ที่มา: Alphabet และ ZDNet |
# OpenShift ออกรุ่น 4.4: อัพเดต Kubernetes 1.17, รองรับ SCTP, จัดการ Persistent Volume, รองรับ Serverless
OpenShift อัพเดตรุ่น 4.4 ตามรอบ โดยแกนกลางคือการอัพเดต Kuberntes เป็นรุ่น 1.17 ตามโครงการหลักที่ออกเวอร์ชั่นนี้เมื่อ 10 ธันวาคมปีที่แล้ว โดยนอกจากตัว k8s เองแล้ว ยังอัพเดตชิ้นส่วนอื่นๆ อีกหลายตัว
Ingress เปลี่ยนเป็น HAProxy 2.0 รองรับ HTTP/2
ซัพพอร์ต SCTP สำหรับการเชื่อมต่อแบบ multihoming (ปลายทางมีหลายไอพี) เพื่อการเชื่อมต่อแบบทนทานต่อความผิดพลาด
ระบบจัดการ Persistent Volume ใหม่ สามารถย่อ/ขยายขนาด Volume, ทำ snapshot, clone, หรือ restore ได้ในตัว
OpenShift Serverless ย้ายจากสถานะ Technology Preview มาซัพพอร์ตเต็มรูปแบบ แต่ Eventing ยังอยู่ในสถานะ Technology Preview แม้ทาง Red Hat จะระบุว่าจะโปรโมทขึ้นมาซัพพอร์ตเร็วๆ นี้
OpenShift Pipelines ตัว CI/CD ที่พัฒนามาจาก Tekton ปรับสถานะจาก Developer Preview มาเป็น Technology Preview ถ้าไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดก็น่าจะซัพพอร์ตในไม่กี่เวอร์ชั่นข้างหน้า
OpenShift Builds ฟีเจอร์ใหม่สร้างคอนเทนเนอร์อิมเมจจากซอร์สโค้ดโดยตรง เปิดตัวในสถานะ Developer Preview
สำหรับโครงการต้นน้ำ OKD เวอร์ชั่น 4.4 ยังอยู่ในสถานะเบต้า แต่หลังจาก OpenShift เปิดตัวก็น่าจะปล่อยเวอร์ชั่นตรงกันออกมา
ที่มา - Red Hat |
# พร้อมชน VMware, Red Hat เปิดตัว OpenShift virtualization ฟีเจอร์เสริม ควบคุม VM เหมือนคอนเทนเนอร์
Red Hat ประกาศเตรียมเพิ่มฟีเจอร์ OpenShift virtualization ที่ใช้สำหรับการจัดการ virtual machine (VM) ผ่านทาง API ของ Kubernetes สำหรับแอปพลิเคชั่นที่ไม่สามารถย้ายมาเป็นคอนเทนเนอร์ได้โดยง่าย แต่องค์กรต้องการรวบโครงสร้างทั้งหมดให้จัดการจากที่เดียวกัน
ฟีเจอร์นี้ใช้โครงการ KubeVirt เป็นฐาน
แนวทางการควบคุมทั้ง Kubernetes และ VM ด้วยอินเทอร์เฟซเดียวกัน ดูจะเป็นแนวทางที่ชัดเจนของการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในยุคต่อไป โดยก่อนหน้านี้ VMware vSphere 7 ก็เพิ่มฟีเจอร์ Kubernetes API สำหรับการควบคุม VM เหมือนกัน
OpenShift virtualization เปิดให้ทดสอบในสถานะ Technology Preview แล้ว และจะซัพพอร์ตเต็มรูปแบบภายในปีนี้ ทาง Red Hat สัญญาว่าจะซัพพอร์ต Windows VM ด้วย โดยรองรับตั้งแต่ Windows 2008 ขึ้นไป
ที่มา - Red Hat |
# Red Hat เปิดตัว Advanced Cluster Management for Kubernetes จัด Kubernetes ทั้ง on-prem และบนคลาวด์
Red Hat เปิดตัวระบบจัดการคลัสเตอร์ Kubernetes ใหม่ในชื่อ Advanced Cluster Management สำหรับการจัดการคลัสเตอร์ Kubernetes ทั้งบนคลาวด์และ on-premise ในที่เดียว
ฟีเจอร์หลักของ Advanced Cluster Management คือการสร้างคลัสเตอร์, อัพเดต, และทำลาย คลัสเตอร์ในหน้าจอเดียว ควบคุมนโยบายความปลอดภัยตามกฎระเบียบของอุตสาหกรรม
ตัวซอฟต์แวร์รองรับ OpenShift ทั้ง on-premise และบนคลาวด์ หรือจะใช้คลัสเตอร์ของผู้ให้บริการคลาวด์อย่าง AWS, Google Cloud Platform, IBM Cloud, หรือ Azure ก็ได้
รุ่น Technology Preview จะเปิดตัวกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนตัวจริงน่าจะเปิดตัวภายในหน้าร้อนปีนี้
ที่มา - Red Hat |
# Red Hat อัพเดต Ansible Automation Platform: ควบคุมทรัพยากรในองค์กร, แสดงสถิติการรัน
Red Hat เปิดตัว Ansible Automation Platform ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมสคริปต์สำหรับการแปลงงานให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น ปีนี้ Ansible Automation Platform เพิ่มฟีเจอร์อีกสองรายการหลัก
อย่างแรกคือ automation services catalog ตรวจสอบการใช้งานทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟเวอร์, virtual machine, คลาวด์, หรือคอนเทนเนอร์ ว่ามีการรันสคริปต์ใดไปแล้วบ้าง ควบคุมการทำตามนโยบายองค์กร อย่างที่สองคือ Automation Analytics แสดงสถิติและสถานะของการรัน automation เช่น ระยะเวลาที่รัน, อัตราความสำเร็จและล้มเหลว
นอกจากการอัพเดตฟีเจอร์ สคริปต์ automation ใน Ansible Content Collections ก็เพิ่มขึ้น มีสคริปต์จากพันธมิตร 26 ราย และโมดูลรวมกว่า 1,200 โมดูล
ที่มา - Red Hat |
# Fedora 32 ออกแล้ว เลิกใช้ Python 2.x
Fedora ออกเวอร์ชัน 32 ของใหม่ได้แก่
GNOME 3.36 ที่มีหน้าจอล็อคสกรีนแบบใหม่
Fedora Workstation เปิดใช้ EarlyOOM เป็นค่าดีฟอลต์ ช่วยให้ช่วงที่หน่วยความจำเหลือน้อยๆ เครื่องไม่ช้าเกินไป
ถอดแพ็กเกจ Python 2 ที่หมดระยะซัพพอร์ต แต่ยังมีแพ็กเกจ python27 ที่ชื่อต่างออกไป สำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้งาน
GCC 10, Ruby 2.7, Python 3.8
นอกจากนี้ Fedora CoreOS เวอร์ชันสำหรับรันในคอนเทนเนอร์ ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Fedora แล้ว แต่รอบการอัพเดตจะต่างไปจาก Fedora ปกติที่ออกทุก 6 เดือน โดย Fedora CoreOS จะแยกเป็น 3 update streams (stable, testing, next) คล้ายกับ Chrome แต่จะอัพเดตทุก 2 สัปดาห์
ที่มา - Fedora |
# DJI เปิดตัว Mavic Air 2 พร้อมกล้องใหม่และระยะเวลาบินที่นานกว่าเดิม สูงสุด 34 นาที
DJI เปิดตัวโดรนรุ่นใหม่ Mavic Air 2 โดยครั้งนี้ DJI ได้ปรับปรุงกล้องใหม่ รวมถึงปรับปรุงให้โดรนบินได้นานขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ด้วย
สำหรับกล้องใหม่บน Mavic Air 2 ทง DJI เลือกใช้กล้องเซนเซอร์ CMOS Quad Bayer ขนาดครึ่งนิ้ว พร้อมเลนส์เทียบเท่าทางยาวโฟกัส 28mm f/2.8 ถ่ายภาพได้ 12 ล้านพิกเซล และมีโหมด 48 ล้านพิกเซลให้ใช้งาน (DJI ไม่ได้ระบุว่าเป็นการถ่ายหลาย ๆ ช็อตแล้วมาซ้อนกันหรือไม่) ส่วนวิดีโอถ่ายได้สูงสุดที่ 4K 60fps รวมถึงรองรับการถ่ายวิดีโอแบบ HDR และ 8K Hyperlapse
DJI ระบุว่า กันสั่นของตัวโดรนเพิ่มระบบ EIS ที่มาทำงานร่วมกับระบบ gimbal สามแกน ทำให้โดรนถ่ายวิดีโอได้เนียนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งระบบติดตามวัตถุ FocusTrack อัพเดตใหม่ มาพร้อมระบบติดตามวัตถุหลาย ๆ สถานการณ์ เช่น Spotlight 2.0, ActiveTrack 3.0 และ Point of Interest 3.0 ช่วยให้การติดตามวัตถุสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำมากกว่ารุ่นเดิม
ในด้านการบิน DJI เผยว่าตัว Mavic Air 2 สามารถบินได้นานสุดถึง 34 นาที เป็นผลมาจากการปรุงด้านวิศวกรรมตัวโดรนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์โดยรวม, แบตเตอรี่ และตัวควบคุมความเร็วอิเล็กทรอนิกส์ (ESC) เพื่อทำให้ Mavic Air 2 สามารถบินได้นานกว่ารุ่นเดิม และนานที่สุดในหมู่โดรนทุกรุ่นของ DJI
ส่วนระบบอำนวยความสะดวกการบินของ Mavic Air 2 ก็มีให้ใช้งานหลากหลาย ตัวอย่างเช่น ADS-B เพื่อตรวจจับว่าสิ่งที่กำลังบินอยู่ใกล้ ๆ และ APAS โหมดบินรอบวัตถุเวอร์ชัน 3.0 ที่ทำงานได้เนียนกว่าเดิมมาก
สุดท้ายคือส่วนอุปกรณ์ควบคุม ตัวรีโมทควบคุมโดรนเวอร์ชันใหม่ของ DJI Mavic Air 2 จะเปลี่ยนไปใช้การวางมือถือด้านบนแทนการเสียบไว้ด้านล่างของตัวเครื่อง
DJI Mavic Air 2 จะวางขายในราคา 799 ดอลลาร์ ส่วนราคาไทยอย่างเป็นทางการให้ระประกาศจาก DJI อีกครั้ง
ที่มา - Engadget, The Verge |
# LINE ไตรมาส 1/2020 รายได้รวมยังเติบโต ผู้ใช้งานในไทยเพิ่มเป็น 46 ล้านบัญชี
LINE รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 1 ปี 2020 รายได้รวม 58,968 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 6.6% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และขาดทุนสุทธิ 10,574 ล้านเยน ในไตรมาสนี้รายได้มาจากญี่ปุ่นคิดเป็น 73% ของรายได้รวม
จำนวนผู้ใช้งานแบบเป็นประจำทุกเดือน (MAUs) ใน 4 ตลาดหลัก เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนเป็น 165 ล้านบัญชี โดยญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 84 ล้านบัญชี ไทยเพิ่มเป็น 46 ล้านบัญชี ส่วนไต้หวันคงที่ 21 ล้านบัญชี และอินโดนีเซียลดลงเป็น 14 ล้านบัญชี
โฆษณาเป็นรายได้หลักของ LINE ยังคงเติบโต ไตรมาสนี้มีรายได้ 33,044 ล้านเยน ส่วนกลุ่มธุรกิจกลยุทธ์ (LINE Pay, Shopping GO, LINE Delima) รายได้ลดลงเล็กน้อยเป็น 7,114 ล้านเยน
LINE Pay มีผู้ใช้งานเป็นประจำแบบ MAUs 5.04 ล้านบัญชี เฉพาะในญี่ปุ่น 2.29 ล้านบัญชี และมีเงินที่ใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์ม (GMV) รวม 3.25 แสนล้านเยน
ที่มา: LINE |
# รีวิว Acer Swift 5 โน้ตบุ๊กสุดบางเบา 0.9 กิโล พร้อมซีพียู Intel Core i5 10th Gen
ช่วงนี้หลายๆ คน อาจต้องทำงานจากบ้าน หรือต้องยกโน้ตบุ๊กเปลี่ยนที่ทำงานบ่อยๆ เพราะที่ทำงานลดวันเข้าออฟฟิศ หรือน้องๆ นักเรียนนักศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์ อาจจะอยากได้โน้ตบุ๊กที่มีน้ำหนักเบาแต่ใช้งานได้ครบครันสักเครื่อง ไว้ทำงานให้คล่องตัวได้ทุกที่ วันนี้ผู้เขียนมี Acer Swift 5 โน้ตบุ๊กในตระกูล Swift หรือไลน์บางเบาของ Acer ที่ขึ้นชื่อเรื่องความกะทัดรัด และน้ำหนักที่เบากว่าหนึ่งกิโล แต่ประสิทธิภาพไม่แพ้ใครมาแนะนำ
Acer Swift 5 รุ่นเปิดตัวเดือนธันวาคม 2019 มาพร้อมกับซีพียู Intel Core i5-1035G7 ซึ่งเป็นซีพียู Intel Gen 10th รุ่นใหม่ล่าสุด สถาปัตยกรรม Ice Lake 10nm แถมยังมีการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce MX250 2GB GDDR5 มาให้ ในน้ำหนักเพียง 990 กรัม ราคา 29,990 บาท พร้อมประกัน 3 ปี Windows 10 และไลเซนส์ Microsoft Office Home & Student พร้อมใช้ทำงานได้ทันทีอีกด้วย
สเปกและตัวเครื่อง
เครื่องที่รีวิว เป็นรุ่นสี Charcoal Blue โทนสีน้ำเงิน แซมด้วยสีทองที่โลโก้ ขอบ และตัวหนังสือบนคีย์บอร์ด มีสเปกดังนี้
ซีพียู Intel Core i5-1035G7
แรม 8GB 2400MHz
SSD PCIe NVMe ความจุ 512GB
หน้าจอ IPS 14 นิ้ว ความละเอียด 1920x1080
NVIDIA GeForce MX250 แรม GDDR5 2GB
OS: Windows 10
รองรับ Wi-Fi 6 (GIG+) 802.11ax
แบตเตอรี่ขนาด 55.6 Wh
น้ำหนัก 990 กรัม
อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 65W หนัก 300 กรัม
ตัวเครื่องหนาเพียง 14.95 มิลลิเมตร ถ้าวัดส่วนหน้าจอ เหลือเพียง 3.97 มิลลิเมตร น้ำหนัก 990 กรัม เรียกว่าไม่ถึงโลด้วยซ้ำ แต่ไม่ต้องกลัวว่าบางเบาแบบนี้จะไม่แข็งแรง เพราะวัสดุที่ใช้เป็นแมกนีเซียมอะลูมิเนียมอัลลอยที่มีคุณภาพการประกอบดีมาก แน่นหนาและแข็งแรง ไม่มีอาการโยกหรือยุบให้รู้สึกเวลาพิมพ์บนแป้นคีย์บอร์ด
หน้าจอเป็น IPS ความละเอียด 1920 x 1080 (ขอบจอบาง ทำให้มีสัดส่วนพื้นที่หน้าจอถึง 86.4% ของตัวเครื่อง) มีเว็บแคม และไมโครโฟนแบบคู่อยู่บนขอบด้านบนของหน้าจอ
ด้านขวา มีพอร์ต USB 2.0 Type A หนึ่งช่อง รูหูฟัง 3.5 มม. แบบรวมไมค์และหูฟังไว้ด้วยกัน ไฟแสดงสถานะ และ Kensington Lock
ด้านซ้ายมีรูเสียบชาร์จ มีช่องต่อ HDMI ทำให้ไม่ต้องคอยพก dongle เวลาใช้ต่อโปรเจกเตอร์หรือทีวีเพื่อพรีเซนต์งาน USB 3.1 Type A และมีพอร์ต USB-C แบบ Thunderbolt 3 ใช้ต่อการ์ดจอ eGPU เพิ่มได้ด้วย ถ้าต้องใช้งานประมวลผลหนักๆ เช่นทำรูปภาพ หรือตัดต่อวิดีโอ
คีย์บอร์ดเป็นแบบมีไฟ backlit เมื่อกางหน้าจอ ขอบด้านหลังจะยกคีย์บอร์ดสูงขึ้นเล็กน้อย เพิ่มองศาในการพิมพ์ให้สะดวกขึ้น และช่วยในการระบายความร้อนใต้ตัวเครื่อง ตัวคีย์บอร์ดกดได้ไม่ลึกนัก แต่ก็ยังรู้สึกลึกกว่า Butterfly Keyboard ของ Apple และตอบสนองได้ดี มีแรงต้านเล็กน้อย ตัวปุ่มแข็งแรง ไม่โยก พิมพ์นานๆ ไม่เมื่อยมือ
ตัว Touchpad วางเอียงไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย ทำให้อุ้งมือไม่ไปโดนเวลาพิมพ์ ผิวสัมผัสคล้ายกระจก ค่อนข้างเรียบลื่น เป็น Windows Precision Touchpad สามารถใช้ gesture สองนิ้ว เพื่อซูมหรือเลื่อนอ่านเอกสาร หรือสามนิ้วเพื่อเลื่อนหน้าจอโปรแกรมได้อย่างไม่ติดขัด ด้านขวามีตัวอ่านลายนิ้วมือ ใช้เข้าระบบผ่าน Windows Hello ได้
เครื่องลง Windows 10 มาให้ และมี Microsoft Office Home & Student 2019 พร้อมใช้ทำงานได้ทันที เรียกว่าซื้อเครื่องมาแล้ว ไม่ต้องซื้อไลเซนส์โปรแกรมหลักๆ อีกแล้ว มีให้ครบ
ประสิทธิภาพ
ด้านประสิทธิภาพ ซีพียู Core i5 1035G7 มีความเร็วคล็อกระบุไว้ที่ 1.0 GHz และความเร็วบูสต์ที่ 3.6 GHz ช่วงใช้งานทั่วไปแบบเสียบปลั๊ก วิ่งอยู่ที่ประมาณ 3.3 GHz เป็น CPU 4 คอร์ 8 เธร็ด ที่ใช้งานได้อย่างคล่องตัว แรม 8 GB เพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่สะดุด และมีการ์ดจอ GeForce MX250 ที่ใช้แต่งภาพใน Photoshop ได้เบื้องต้น และเล่นเกมออนไลน์เบาๆ บางเกมได้
ผลทดสอบในโปรแกรม Cinebench ประมวลผลภาพ ได้คะแนนไป 1127 คะแนน เมื่อเทียบกับ Core i7 1065G7 (15W) ที่ได้คะแนนไป 1189 คะแนน ถือว่าค่อนข้างใกล้เคียงเลยทีเดียว
ผลทดสอบความเร็วของ SSD NVMe ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark ได้ความเร็วอ่านที่ 1639 MB/s และเขียนที่ 1030 MB/s ถือว่าทำงาน เซฟไฟล์ ย้ายไฟล์ ได้อย่างรวดเร็วแน่นอน
แบตเตอรี่
แบตเตอรี่เป็นแบบ 55.6 Wh ตัวชาร์จเป็นแบบ 65W จากการทดสอบโดยเปิดวิดีโอ YouTube ให้เล่นต่อเนื่องแบบ 720p พิมพ์งานโดยใช้ Google Docs เล็กน้อยและเปิดแท็บ Google Drive ทิ้งไว้ พร้อมโปรแกรม BatteryMon ที่ความสว่างครึ่งหลอด และเปิดเสียงออกลำโพง 50% ในโหมด Better Performance (ค่าเริ่มต้น) ตลอดเวลา ถึง 5 ชั่วโมงกว่า แบตเตอรี่ก็ยังเหลือถึง 50%
ตามการประมาณนี้ อาจต้องเปิดใช้งานต่อไปอีก 5 ชั่วโมง แบตเตอรี่ถึงจะหมด แม้อาจมีปัจจัยอื่นที่ส่งผล และการใช้งานจริงที่หนักกว่านี้ อาจทำให้แบตเตอรี่อยู่ได้ไม่นานเท่าในการทดสอบ แต่ความอึดของแบตในระดับนี้ ใช้ทำงานแบบไม่ต้องพกสายชาร์จได้หายห่วงแน่นอน
สรุป
Acer Swift 5 เป็นโน้ตบุ๊กที่ตอบโจทย์ทั้งการทำงานและการเรียนแบบออนไลน์ในช่วงนี้อย่างครบครัน ทั้งน้ำหนักที่เบาเพียง 990 กรัม ชิป Intel Core i5 10th Gen ที่มีประสิทธิภาพสูง แถมยังประหยัดพลังงานด้วยสถาปัตยกรรม 10nm ทำให้แบตเตอรี่อยู่ได้นานขึ้น ไม่ต้องคอยพกที่ชาร์จติดตัว
มีการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce MX250 ที่ใช้ทำ Photoshop หรือเล่นวิดีโอความละเอียดสูงได้ ให้พอร์ตมาครบครัน ทั้ง USB-A, USB-C ที่รองรับ Thunderbolt 3 และพอร์ต HDMI พร้อมพรีเซนต์งานหรือต่อมอนิเตอร์แยก ทั้งหมดนี้ในราคาเพียง 29,990 บาทเท่านั้น ครบซะจนคนทดสอบก็อยากจะซื้อมาใช้สอยเองสักเครื่อง ถือได้ว่าเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นที่แนะนำให้ใช้ได้อย่างเต็มปากจริงๆ
สนใจซื้อได้ที่ร้าน BaNANA ทุกสาขา หรือซื้อออนไลน์ที่เว็บ bnn.in.th |
# หมดปัญหาลงทุนด้านความปลอดภัยไซเบอร์กับบริการ Managed Security Service จาก AIS Business
ความปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ จากทั้งการใช้งานเทคโนโลยีที่เพิ่มและหลากหลายมากขึ้น ขณะที่ภัยคุกคามที่มีความล้ำหน้าและซับซ้อนขึ้นอยู่ตลอดเวลา นอกจากการวางระบบที่ปลอดภัยตามมาตรฐานแล้ว องค์กรที่มีระบบซับซ้อนขึ้นจำเป็นต้องมีการมอนิเตอร์ตลอดเวลาว่ามีความผิดปกติใดบ้างหรือไม่
การลงทุนเพื่อมอนิเตอร์ความปลอดภัยไซเบอร์จึงเป็นสิ่งที่องค์กรหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยเม็ดเงินที่ค่อนข้างมาก อาจทำให้หลายองค์กรไม่กล้าลงทุนด้านนี้อย่างเต็มที่ทั้งที่มีความสำคัญ เพราะการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรจำเป็นต้องมีการตั้งทีมแยกออกมา ไม่รวมการลงทุนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพิ่ม หากเป็นองค์กรขนาดใหญ่หน่อย การลงทุนก็น่าจะมากตาม ทั้งการลงทุนฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บุคลากร ไม่รวมกระบวนการจัดการต่าง ๆ อีก
บริการ Managed Security Service จึงเข้ามาตอบโจทย์องค์กรนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ AIS เปิดบริการ AIS Cyber Secure ที่จะเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ให้องค์กร โดยที่ไม่ต้องลงทุนและดูแลจัดการเอง
บริการ AIS Cyber Secure ที่มีบริการ CSOC (Cyber Security Operation Center) as a Service จึงน่าจะช่วยตอบโจทย์ให้กับองค์กรที่ต้องการโซลูชันด้านความปลอดภัย แต่ไม่อยากลงทุนก้อนใหญ่แต่จ่ายค่าใช้งานตามช่วงเวลาที่ใช้งานแทน โดยบริการมาพร้อมกับบุคคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญสูงดูแลความผิดปกติให้ตลอดเวลา
CSOC จะเข้าช่วยดูแลและตรวจสอบการเข้าถึงเครือข่ายและระบบสารสนเทศต่างๆ ขององค์กรตลอดเวลา และตรวจสอบเมื่อมีการเข้าถึงที่ผิดปกติ พร้อมกับตอบสนองต่อการโจมตีอย่างรวดเร็ว สามารถหยุดการโจมตีและเก็บข้อมูลเพื่อตรวจหาช่องทางที่อาชญากรบุกรุกเข้ามาได้อย่างแม่นยำ ที่สำคัญคือช่วยดูแลแบบเรียลไทม์ให้ตลอด 24/7 มีคำแนะนำวิธีการป้องกันและรับมือ รวมถึงออกรายงานคำแนะนำให้องค์กรปรับปรุงความปลอดภัยระบบให้ทุกเดือนด้วย
นอกจากนี้บริการของ AIS ยังเป็นการดูแล Cyber Security ให้แบบ End-to-End ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟร์วอลล์, ระบบคลาวด์, ไฟร์วอลล์ในขั้นของแอปและกระบวนการเก็บและจัดการ log และแน่นอนว่ากระบวนการทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ของไทย
ภายใน CSOC ของ AIS จะมีแดชบอร์ดขนาดใหญ่ที่แสดงผลการโจมตีและภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่ทีมงานที่นั่งทำงานจะมีอยู่ทั้งหมด 3 ระดับ
CSOC Analyst คอยมอนิเตอร์ภัยคุกคามว่ามีการโจมตีเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร ที่ไหนและจุดไหน
Incident Reponse มีหน้าที่รับมือแก้ไขและจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น
Digital Forensics หลังแก้ปัญหาและรับมือกับภัยคุกคามหน้า ทีมนี้จะมีหน้าที่ตรวจสอบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะป้องกันหรือรับมืออะไรได้บ้างในอนาคต
ทีมงานทุกคนจะต้องมีใบรับรอง (certificate) ด้าน CSOC เช่นเดียวกับ AIS เองที่ได้ใบรับรองในฐานะผู้ให้คำปรึกษาด้าน CSOC เช่นกัน
AIS Cyber Secure ใช้แพลทฟอร์ม Security Information and Event Management (SIEM) อัจฉริยะที่มี AI (Artificial Intelligence) เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ ประมวลผล ข้อมูลและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมี Trustwave ซึ่งเป็นผู้นำในการให้บริการ Managed Security Services ระดับโลก (จาก Gartner Magic Quadrants) มาเป็น partner ในการให้บริการ Cyber Secure แก่ลูกค้าองค์กรด้วย
สรุป
บริการ AIS Cyber Secure ถือได้ว่าเป็นบริการระดับโลกทั้งแพลตฟอร์มที่ใช้งาน ใบรับรองและประสบการณ์ของ AIS ขณะที่ตัวบริการก็เป็นแบบ as a Service จ่ายค่าบริการตามการใช้งานจริง (OPEX) จึงช่วยให้องค์กรมีความคล่องตัวทั้งเรื่องเงินสดในมือมากกว่าการลงทุนเองทั้งหมด (CAPEX) รวมถึงไม่ต้องมานั่งบริหารจัดการเองด้วย ช่วยแบ่งเบาภาระองค์กรไปได้หลายทาง
ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://business.ais.co.th/solution/security.html หรือติดต่อทีมงานของ AIS ที่ดูแลธุรกิจของคุณอยู่เพื่อประสานงานสำหรับการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการต่างๆ ได้ทันที หรือติดต่อ AIS CORPORTE CALL CENTER 1149 |
# [ลือ] Samsung จะกลับมาใช้ชิป Exynos 992 สำหรับ Galaxy Note 20 ที่ขายในเกาหลีใต้
หลังจากปีที่แล้ว Samsung หันมาจำหน่ายมือถือตระกูล Galaxy S20 ที่ใช้ชิป Snapdragon 865 ในเกาหลีใต้ แทน Exynos 990 เพราะประสิทธิภาพต่างกันเกินไป จนมีข่าวลือว่าทำให้ทีมพัฒนาชิป Exynos รู้สึกอับอายในการตัดสินใจนี้
ล่าสุด มีข่าวไม่ยืนยันจาก ZDNet Korea มาอีกว่า Samsung จะกลับมาใช้ชิป Exynos 992 ที่ยังไม่ถูกเปิดตัวใน Galaxy Note 20 ในเกาหลีใต้อีกครั้ง และชิปตัวใหม่ที่ผลิตโดยสถาปัตยกรรม 6nm นี้ จะประหยัดพลังงานกว่า Exynos 990 และมีประสิทธิภาพมากกว่าชิป Snapdragon 865 ประมาณ 1-3%
อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้ Samsung ตัดสินใจกลับมาใช้ชิป Exynos ในเกาหลีใต้ อาจเป็นเพราะการเลื่อนเปิดตัวของ Snapdragon 865+ ที่เดิมมีกำหนดเปิดตัวในไตรมาสที่สามของปีนี้ และอาจถูกเลื่อนออกไปเพราะพิษ COVID-19 นอกจากนี้ Vivo ที่อาจจะเปิดตัวมือถือเรือธงอีกรุ่นภายในปีนี้ ก็มีข่าวว่าอาจใช้ชิป Exynos 992 เช่นเดียวกัน
ส่วนบ้านเรา คาดว่ายังไงก็คงได้ใช้รุ่น Exynos เช่นเคย แต่จะเป็น Exynos 992 หรือไม่ คงต้องติดตามข่าวกันต่อไป
ที่มา - SamMobile |
# แอดมิน G Suite คอนฟิกเครื่อง Windows 10 ได้แล้ว, ล็อกอินเครื่องด้วยบัญชี Google ได้
กูเกิลประกาศเพิ่มความสามารถให้ G Suite โดยแอดมินขององค์กรสามารถใช้หน้า Admin Console ของ G Suite จัดการคอนฟิกฮาร์ดแวร์ที่เป็น Windows 10 ได้แล้ว (ก่อนหน้านี้ทำได้เฉพาะ Android, iOS, Chrome, Jamboard)
กูเกิลเรียกฟีเจอร์นี้ว่า Enhanced desktop security for Windows โดยแอดมินสามารถสั่งลบข้อมูลในเครื่อง, อัพเดต Windows, ปรับแต่งคอนฟิกต่างๆ และลบบัญชี หรือปรับสิทธิการเข้าถึงของผู้ใช้งานได้จากระยะไกล
ในฝั่งของผู้ใช้งานเอง ก็สามารถล็อกอินเข้าระบบ Windows 10 ด้วยบัญชีของบริษัทที่เป็น Google Account ได้ทันที (เป็น SSO หรือ single sign-on) โดยเครื่อง Windows 10 ต้องมี Chrome 81 ขึ้นไปและติดตั้ง Google Credential Provider for Windows (GCPW)
ระบบของ G Suite รองรับ Windows 10 Professional, Business, Enterprise โดยต้องเป็น v1803 ขึ้นไป
ที่มา - Google |
# Airbnb ออกไกด์ไลน์การฆ่าเชื้อให้เจ้าของที่พัก เว้นระยะระหว่างการเข้าพัก 24 ชั่วโมง
Airbnb ออกไกด์ไลน์เพิ่มเรื่องการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ หรือ Cleaning Protocol ให้คำแนะนำในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่พัก เมื่อผู้ให้เช่าทำความสะอาดตามไกด์ไลน์แล้ว จะได้เครื่องหมายการันตีหน้าเว็บ Airbnb ว่าผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เป็นการสร้างความมั่นใจแก่คนเข้าพัก เริ่มต้นเดือนพฤษภาคมนี้
Airbnb ระบุว่าจะให้ข้อมูลวิธีการทำความสะอาดให้ถูกหลักการป้องกัน COVID-19 เช่น การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล พวกหน้ากากและถุงมือ รวมถึงผลิตภัณฑ์ฑ่าเชื้อได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล และต้องเว้นระยะระหว่างการเข้าพักแต่ละครั้ง 24 ชั่วโมง
หากผู้เช่ามีข้อจำกัดไม่สามารถทำตาม Cleaning Protocol ได้ ก็ยังมีทางเลือกอื่นคือ Booking Buffer เว้นระยะเวลาในการเข้าพัก ผู้เช่าจะต้องทิ้งที่พักให้ว่างเปล่า 3 วันก่อนที่คนจะเข้าพักได้ ห้ามให้มีกิจกรรมอื่นใดยกเว้นการทำความสะอาด เพื่อลดความเสี่ยงที่เชื้อจะอยู่ในพื้นผิวต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นหลักการที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์แนะนำมา
ที่มาภาพและข่าว - Airbnb |
Subsets and Splits
No saved queries yet
Save your SQL queries to embed, download, and access them later. Queries will appear here once saved.