txt
stringlengths
202
53.1k
# [ไม่ใช่คริปโต] ธนาคารยุโรปเริ่มเดินหน้า "ยูโรดิจิทัล" ใช้เวลาสร้างต้นแบบ-ทดสอบนาน 2 ปี ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ ECB) ประกาศเริ่มโครงการทดสอบ "เงินยูโรดิจิทัล" (digital euro) เป็นระยะเวลานาน 24 เดือน เพื่อทดสอบและแก้ปัญหาต่างๆ ก่อนตัดสินใจว่าจะใช้งานจริงๆ หรือไม่หลังโครงการทดสอบเสร็จแล้ว โครงการยูโรดิจิทัล เป็นการสร้างเครือข่ายจ่ายเงิน-โอนเงินแบบดิจิทัล ลักษณะคล้ายๆ พร้อมเพย์ของบ้านเรา (และไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเงินคริปโต) เงินยูโรที่วิ่งผ่านระบบเป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลาง เหมือนกับเงินยูโรปกติ แต่อยู่ในรูปดิจิทัลเท่านั้น (ในเอกสารแนวคิดของ ECB บอกว่าดิจิทัลในที่นี้ เป็นได้ทั้งผ่านอินเทอร์เน็ต และผ่านสมาร์ทการ์ด) ในแง่การจัดการเครือข่ายในระดับ backend แนวคิดของ ECB บอกว่าเป็นไปได้ทั้งแบบ centralized (ธนาคารทำเองทั้งหมด) และ decentralized (ธนาคารกลางออกใบอนุญาตให้ตัวกลางภาคเอกชน มาทำหน้าที่บางอย่างแทน) แต่ทั้งหมดก็ต้องควบคุมโดยธนาคารกลางอยู่ดี ถัดจากนี้ไป คณะทำงานของ ECB จะเริ่มออกแบบโครงสร้างการทำงาน เข้ากระบวนการโฟกัสกรุ๊ป สร้างต้นแบบ ปรับโครงสร้างทางกฎหมายให้เหมาะสม ประเมินผลกระทบต่อตลาดและความเสี่ยงต่างๆ เป็นเวลานาน 2 ปี ที่มา - ECB
# IBM FlashSystem 5200 สตอเรจแฟลชประสิทธิภาพสูงแต่ขนาดเล็ก รองรับการขยายตัวธุรกิจทุกรูปแบบ ธุรกิจยุคใหม่มีช่องทางที่เป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ หรือเว็บ กระบวนการทำงาน-การสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กรล้วนปรับเปลี่ยนกลายเป็นการทำงานผ่านแอปพลิเคชันและไฟล์แทนกระดาษ เมื่อองค์กรขยายตัว ข้อมูลทั้งภายในและภายนอกมักเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การจัดการข้อมูลเหล่านี้ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา มีความปลอดภัยสูง สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันที โดยผู้ดูแลระบบต้องสามารถจัดการได้ง่าย จึงเป็นเรื่องท้าทาย IBM FlashSystem 5200 เป็นสตอเรจสำหรับองค์กรที่ต้องการอัพเกรดระบบสตอเรจให้ทันสมัย ในราคาที่เข้าถึงได้ ด้วยขนาดเพียง 1U แต่ให้ความจุสูงช่วยลดการใช้พื้นที่ศูนย์ข้อมูลได้อย่างชัดเจน แม้ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก แต่ฟีเจอร์ภายในของ IBM FlashSystem 5200 ออกแบบมาช่วยให้องค์กรปรับระบบไอทีไปสู่ยุคใหม่ได้อย่างเต็มรูปแบบ เช่น คอนฟิกความจุได้สูงสุดถึง 1.7PB รองรับข้อมูลทั้งองค์กรได้เหลือเฟือ โดยที่งานไม่สะดุด เพราะมีประสิทธิภาพสูง ระยะเวลาหน่วง (latency) ต่ำเพียง 70 ไมโครวินาที ซอฟต์แวร์ IBM Spectrum Virtualize ช่วยจัดการข้อมูลได้หลากหลาย ทั้งการจัดความสำคัญของข้อมูล (data tiering), การเข้ารหัสข้อมูล, และฟีเจอร์การจัดการอื่นๆ อีกมาก รองรับการจัดการสตอเรจผ่าน Ansible เพื่อลดการคอนฟิกระบบด้วยมือ ลดระยะเวลาจัดการcontainer ลง รองรับแอปพลิเคชันยุคใหม่ที่ใช้ Kubernetes โดยมี CSI Driver ที่ได้รับการรับรองจากทั้ง Red Hat และ IBM ทำให้แน่ใจว่าทำงานร่วมกับ OpenShift ได้เต็มที่ ทำงานร่วมกับคลาวด์ได้อย่างสมบูรณ์ รองรับทั้ง IBM Cloud และ AWS สามารถใช้คลาวด์มาเก็บข้อมูลสำรองกรณีเกิดภัยพิบัติ ลดค่าใช้จ่ายสำหรับการตั้งศูนย์ข้อมูลสำรอง IBM FlashSystem 5200 ถูกออกแบบมารองรับการวางระบบสตอเรจความน่าเชื่อถือสูงถึง 99.9999% โดยไม่มีจุดทำให้ระบบล่ม (single point of failure) ในกรณีที่มีอุปกรณ์เสียหาย ระบบ RAID และ DRAID เฉพาะของ IBM สามารถนำสตอเรจใหม่เข้าไปแทนที่และ build สตอเรจให้พร้อมใช้งานได้อย่างรวดเร็ว สอบถามข้อมูล IBM FlashSystem 5200 ได้ทางบริษัท Metro Systems Corporation Public Company Limited อีเมล [email protected] หรือโทรศัพท์ 02-089-4994
# ถนนทุกสายมุ่งสู่อินฟลูเอนเซอร์ Facebook ลงทุนในครีเอเตอร์ 1 พันล้านเหรียญภายในปี 2022 กลายเป็นเทรนด์สำหรับโซเชียลมีเดียใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับอินฟลูเอนเซอร์เพื่อดึงผู้ใช้ให้อยู่บนแพลตฟอร์ม โดย Facebook ประกาศลงทุนในครีเอเตอร์ 1 พันล้านเหรียญภายในปี 2022 การลงทุนจะครอบคลุมโปรแกรมโบนัสใหม่ที่จ่ายเงินให้ครีเอเตอร์ที่สร้างเนื้อหาจนเป็นที่นิยม และเงินให้ครีเอเตอร์นำไปลงทุนสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ได้ ปัจจุบันทั้ง Facebook และ Instagram ทำฟีเจอร์ให้ทิปเพื่อเอาใจครีเอเตอร์มากมาย เช่น badge ใน Instagram Live หรือ Stars ใน Facebook ล่าสุด Facebook หาช่องทางให้โบนัสครีเอเตอร์​เพิ่มด้วยการขยาย Stars Challenges หรือโบนัสพิเศษสำหรับเนื้อหาที่มีคนดูสูงไปยังครีเอเตอร์กลุ่มเกมมิ่งเพิ่ม โดยจะได้โบนัสพิเศษเป็นรายเดือน สำหรับใน Instagram โบนัสจะมาในรูปแบบการสร้างเนื้อหาโฆษณาบน IGTV ซึ่งบริษัทจะแบ่งรายได้ให้ด้วย รวมถึงโบนัสพิเศษสำหรับการสร้างเนื้อหาโดนใจ ได้รับความนิยมบน Reels และ Live ที่มา - Facebook
# ที่ปรึกษาอย. จีนสนับสนุนให้รับรองวัคซีน Pfizer/BioNTech คาดนำมาฉีดเป็นเข็มสามให้ประชาชนฟรี คณะกรรมการที่ปรึกษา (advisory panel) ของหน่วยงานกำกับดูแลสินค้าทางการแพทย์แห่งชาติจีน (National Medical Products Administration - NMPA) เห็นชอบให้รับรองวัคซีน BNT162b2 ให้ใช้งานในจีน หาก NMPA อนุญาตตามคำแนะนำของที่ปรึกษาก็จะนับเป็นวัคซีน mRNA ตัวแรกที่จะได้อนุญาตให้ใช้งานในจีน Shanghai Fosun Pharmaceutical Group ผู้ถือสิทธิ์จำหน่ายวัคซีนตัวนี้ในแถบจีน (Greater China รวมไต้หวันและฮ่องกง) แถลงเรื่องนี้ในงานประชุมผู้ถือหุ้นระบุว่ากระบวนการตรวจสอบเป็นไปด้วยความราบรื่น และทาง NMPA กำลังเร่งตรวจสอบข้อมูล นิตยสาร Caixin Global อ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัว ระบุว่ารัฐบาลจีนน่าจะสั่งวัคซีนตัวนี้มาใช้เป็นเข็มสามให้กับประชาชนที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายไปแล้วสองเข็ม และน่าจะฉีดฟรี Fosun ร่วมทุนกับ BioNTech กำลังตั้งโรงงานผลิตวัคซีน mRNA ในจีนเองมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์หรือ 6,500 ล้านบาท เริ่มเดินสายการผลิตได้ช่วงสิ้นปีนี้ โดยจะมีกำลังผลิตปีละ 1 พันล้านโดส ที่มา - South China Morning Post
# ซัมซุงเปิดตัว Galaxy XCover 5 มือถือตระกูลสมบุกสมบันในไทย เจาะกลุ่มองค์กร เดือนมีนาคมที่ผ่านมาซัมซุงเปิดตัว Galaxy XCover 5 เป็นมือถือตระกูล Rugged Phone หรือมือถือสำหรับใช้ในองค์กรหรือโรงงานที่มีสภาพแวดล้อมไม่ปกติ โดยวางขายในบางประเทศเท่านั้น แต่ล่าสุดซัมซุงนำเข้ามาขายในไทยแล้ว ฟีเจอร์สำคัญๆ ของ Galaxy XCover 5 คือมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น IP68 และ MIL-STD 810H, จอแสดงผล HD+ ขนาด 5.3 นิ้ว, แบตเตอรี่ความจุ 3,000 mAh ถอดเปลี่ยนได้, ระบบปฏิบัติการ Android 11 ครอบด้วย One UI 2.0, ชิป Exynos 850, หน่วยความจำเครื่อง 64GB และแรม 4GB, กล้องหลัง 16MP กล้องหน้า 5MP มาพร้อม Dual LED Flash ความสามารถพิเศษอื่นๆ คือ รองรับโซลูชันกด-เพื่อ-พูด (Push-to-Talk), รองรับ Microsoft Teams, แตะใช้งานหน้าจอได้แม้มือเปียกและใส่ถุงมือทำงาน, ทำความสะอาดด้วยแผ่นแอลกอฮอล์ได้, รองรับการสร้างโปรแกรมใช้งานให้เหมาะกับแต่ละ use case เช่น สแกนบาร์โค้ดเพื่อตรวจสอบคลังสินค้า, POGO Pin 2 จุดยังช่วยรองรับการชาร์จอุปกรณ์หลายเครื่องพร้อมๆ กัน ซัมซุงประเทศไทยยังเปิดขาย Galaxy Enterprise Edition ขายเป็นแพ็กเกจกลุ่มเพื่อองค์กร ประกอบด้วยมือถือสามรุ่นคือ Galaxy XCover 5, A32 5G และ A52 LTE เจาะกลุ่มธุรกิจที่ต้องการใช้มือถือส่วนกลางเพื่อการทำงาน พ่วงการอัพเดตซิเคียวริตี้ 5 ปี เช่นเดียวกับระยะเวลาของผลิตภัณฑ์ที่จะอยู่ในตลาด (Lifecycle) เพิ่มเป็น 2 ปี และ Knox Suite หรือระบบจัดการอุปกรณ์จากส่วนกลางฟรี 1 ปี ดร.มารุต มณีสถิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เผยซัมซุงมียอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยเมื่อแบ่งตามประเภทผลิตภัณฑ์จะพบว่ายอดจำหน่ายส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม Rugged Device ที่เพิ่มขึ้นถึง 65% ที่มา - งานแถลงข่าว, ข่าวประชาสัมพันธ์
# Super Robot Wars 30 ภาคครบรอบ 30 ปี เวอร์ชั่นพีซีมีภาษาอังกฤษ วางขาย 28 ตุลาคมนี้ Super Robot Wars 30 ที่ไม่ใช่ภาค 30 แต่เป็นเกมฉลองครบรอบ Super Robot Wars ที่จะมีอายุครบ 30 ปีในปีนี้ หลังออกภาคแรกบน Gameboy ในปี 1991 ซึ่งภาคล่าสุดนี้เปิดตัวตั้งแต่เมื่อกลางเดือนมิถุนายน แต่ไม่เป็นข่าวมากนัก เพราะมีแต่ตัวอย่างภาษาญี่ปุ่น วันนี้ Bandai Namco ปล่อยตัวอย่างภาษาอังกฤษแล้ว เป็นตัวอย่างของเวอร์ชั่น PC ที่วางขายบน Steam แบบทั่วโลก ซึ่งจะมีบทบรรยายและเมนูภาษาอังกฤษ แต่เสียงพากย์ยังเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ส่วนเวอร์ชั่น PS4 และ Switch ยังไม่มีข่าวยืนยันว่าจะมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษตามมาในอนาคตหรือไม่ Super Robot Wars ไม่ได้ทำเวอร์ชั่นที่มีภาษาอังกฤษครบทุกภาค และส่วนใหญ่วางจำหน่ายแค่ในญี่ปุ่น และเอเชีย อาจเพราะกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น และเป็นกลุ่มคนชอบการ์ตูนหุ่นยนต์ ซึ่งแม้มีแฟนๆ ในประเทศฝั่งตะวันตกบ้าง แต่ไม่ได้เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ แต่สี่ภาคหลังสุดอย่าง Super Robot Wars OG: The Moon Dwellers, Super Robot Wars V, X และ T มีการแปลบทบรรยายเป็นภาษาอังกฤษหมดแล้ว แม้ภาค 30 จะเพิ่งวางจำหน่ายในอเมริกาเหนืออย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ Super Robot Taisen: Original Generation ในปี 2006 แต่ก็นับเป็นข่าวดีของแฟนๆ Super Robot Wars ฝั่งตะวันตก ที่ Bandai Namco เริ่มหันมาใส่ใจมากขึ้นแล้ว ที่มา - Bandai Namco
# RE:Village เวอร์ชั่นแคร็ก รันลื่นกว่าของแท้, ทีมแคร็กระบุ DRM ทำเกมกระตุก Digital Foundry เว็บไซต์ทดสอบประสิทธิภาพฮาร์ดแวร์และเกมชื่อดัง ทำการทดสอบประสิทธิภาพเกม RE:Village หลังผู้เล่นหลายคนประสบปัญหาเฟรมเรตตกในบางช่วง แต่กลับไม่พบปัญหาเดียวกันในเวอร์ชั่นแคร็ก โดยแฮกเกอร์ที่แคร็กเกมระบุว่าปัญหาเฟรมตกเหล่านั้นมาจากระบบ DRM ของ Capcom รวมกับ Denuvo Digital Foundry จึงนำตัวเกมเวอร์ชั่นของแท้ และแบบแคร็กแล้วมาทดสอบเปรียบเทียบ พบว่าตัวเกมแท้เกิดอาการเวลาในการเรนเดอร์เฟรม (frame time) พุ่งสูง และเฟรมเรตตก ในจังหวะที่ศัตรูขยับตัวบางแบบเมื่อถูกยิง และกระตุกหนักสุดเมื่อฝูงแมลงของ The Maiden ปรากฎในฉาก แต่เวอร์ชั่นที่แคร็กแล้ว ไม่มีปัญหานี้ และเฟรมเรตรันได้อย่างเสถียรกว่ามาก Digital Foundry มองว่าความเป็นไปได้มีสองแบบ คือถ้าแฮกเกอร์พูดจริง และตัวเกมกระตุกเพราะ DRM จริง คงเป็นเรื่องแย่ที่ลูกค้าที่จ่ายเงินเต็มราคา กลับได้สินค้าคุณภาพต่ำกว่า และ Capcom ควรแก้ไขเรื่องนี้ หรือถ้าแฮกเกอร์โกหก ก็แปลว่าตัวเกมมีปัญหาอื่นที่ Capcom ไม่แก้ หรือแก้ไม่ได้ แม้เกมออกมาหลายเดือนแล้ว แต่กลุ่มแฮกเกอร์กลับแก้ได้ ซึ่งก็แย่พอกัน Digital Foundry เน้นย้ำว่าวิดีโอนี้เป็นการชี้ให้เห็นถึงปัญหาของเกมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่านั้น ไม่สนับสนุนการแคร็กเกม และแนะนำให้ผู้เล่นลองใช้ mod ปรับเฟรมเรตตัวนี้ แทนลงแคร็ก พร้อมบอกว่าแม้ทีมงานทดสอบ mod ตัวนี้แล้วพบว่าปัญหายังอยู่เหมือนเดิม แต่ก็มีคอมเม้นต์จากหลายๆ คนว่าใช้แล้วเฟรมเรตดีขึ้น อัพเดต: Capcom ติดต่อหา Digital Foundry แล้ว ระบุกำลังทำแพตช์แก้ไขปัญหา และจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเร็วๆ นี้ ที่มา - Digital Foundry
# Jackson Palmer ผู้สร้าง Dogecoin บอก คริปโตถูกควบคุมโดยคนรวย ไม่ต่างจากระบบการเงินเก่า Jackson Palmer ผู้สร้างเหรียญน้องหมาชิบะ Dogecoin ออกมาทวีตยาวเป็นเธรด ระบายถึงความย่ำแย่ของเงินคริปโต หลังถูกถามบ่อยครั้งว่าจะกลับมาสู่โลกคริปโตหรือไม่ โดยเขาบอกอย่างชัดเจนว่าจะไม่กลับมายุ่งแน่นอน พร้อมพูดถึงข้อเสียยาวเหยียด Palmer บอกว่าสุดท้ายแล้วเงินคริปโตก็เป็นเทคโนโลยีทุนนิยมเต็มขั้นของฝ่ายขวา ที่จะทำให้คนที่รวยอยู่แล้วรวยยิ่งขึ้นไปอีก เพราะหลบเลี่ยงภาษีได้ง่าย มีการบังคับตรวจสอบที่หละหลวม และมูลค่าก็เกิดจากการตั้งใจทำให้ซัพพลายมีน้อย (enforced scarcity) เขาบอกว่าถึงระบบจะอ้างความไม่มีตัวกลาง แต่สุดท้ายแล้วก็ถูกควบคุมโดยคนรวยไม่กี่คน ที่สุดท้ายก็เอาสถาบันการเงินต่างๆ เข้ามาเกี่ยว ไม่ต่างจากระบบธนาคาร แถมยังมีการหลอกลวง ซื้อสื่อและอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อมาหลอกเอาเงินจากคนที่ไม่รู้ หรือต้องการเงินมากๆ นอกจากนี้ยังไม่มีมาตรการต่างๆ ที่ค่อยปกป้องคนทั่วไป เช่นการตรวจสอบบัญชี ข้อบังคับทางการเงินต่างๆ และการเก็บภาษี แถมยังเป็นระบบที่โยนความผิดให้ผู้ใช้เอง เช่นพาสเวิร์ดหาย ก็เป็นความผิดผู้ใช้ โดนหลอก โดนสแกม ก็เป็นความผิดผู้ใช้ ส่วนพวกคนรวยที่ปั่นตลาด ก็ถูกมองเป็นอัจฉริยะ สุดท้ายเขาบอกว่าเดี๋ยวนี้ใครตั้งข้อสงสัยเรื่องเงินคริปโตก็จะถูกคนมีอำนาจในวงการ และลูกหาบที่คนเหล่านี้ขายฝันว่าวันหนึ่งจะเป็นเศรษฐีได้มารุมโจมตี และบอกว่าเขาไม่มีพลังพอจะมาโต้เถียงประเด็นนี้กับคนที่ไม่ต้องการรับฟัง แต่บอกว่าชื่นชมคนที่ยังตั้งคำถามกับเรื่องนี้ต่อ พร้อมบอกว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้จริง แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและการเมืองที่จะตามมาด้วย ปัจจุบันระบบการเงินไร้ตัวกลาง และเงินคริปโตยังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีการควบคุมมากนัก และการไม่มีตัวกลางควบคุมที่เคยถูกมองเป็นข้อดี จริงๆ แล้วก็อาจมีข้อเสียในตัวเองได้ เมื่อไม่มีตัวกลาง เท่ากับขาดการควบคุม ที่แม้หลายคนจะมองว่าการควบคุมเป็นอุปสรรค แต่ก็อาจลืมไปว่าเพราะมีการควบคุมนี่แหละ เงินของผู้ลงทุนจึงปลอดภัย อนาคตของเงินคริปโต และวงการการเงินไร้ตัวกลางจะไปทางไหน และจะมีจุดสมดุลระหว่างการไร้ตัวกลาง การควบคุม และความปลอดภัยหรือไม่ หนทางของเงินคริปโตยังอีกยาวไกล และผู้ที่สนใจคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป ที่มา - Jackson Palmer
# [Bloomberg] Netflix เตรียมเสนอเนื้อหาเกมในปีหน้า จ้างอดีตผู้บริหารเกมจาก Oculus มาเสริมทัพแล้ว เป็นข่าวรายงานกันมาสักพักแล้วสำหรับ Netflix ที่มีความสนใจธุรกิจสตรีมมิ่งเกมในรูปแบบเดียวกับ Apple Arcade หรือ Xbox Game Pass ทางบริษัทเริ่มติดต่อทาบทามผู้บริหารผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมวิดีโอเกมเพื่อมาร่วมงาน ล่าสุดมีข้อมูลเพิ่มว่า Netflix ได้จ้าง Mike Verdu มาเป็นรองประธานฝ่ายพัฒนาเกม Mike Verdu อยู่ในวงการเกมในบริษัท Zynga (เจ้าของเกมปลูกผัก Farmville), EA Mobile และฝั่งพัฒนาเกมบน Oculus โดยโฆษก Netflix ยืนยันเรื่องการจ้าง Verdu แล้ว และเขาจะรายงานตรงต่อ Greg Peters ซีโอโอ Netflix Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าววงในว่า Netflix จะเสนอเนื้อหาเกมบนแพลตฟอร์มภายในปี 2022 เนื้อหาเกมจะปรากฏควบคู่กับเนื้อหาอื่นๆ โดยแบ่งแยกประเภทชัดเจนเหมือนที่ Netflix แบ่งประเภทเนื้อหาสารคดี, รายการสแตนด์อัพคอเมดี้ เป็นต้น และยังไม่มีแผนจะเพิ่มค่าบริการสำหรับเนื้อหาเกมที่เพิ่มเข้ามา และภายในเดือนถัดไป Netflix จะสร้างทีมงานสำหรับเนื้อหาเกมด้วย ซึ่งตอนนี้เริ่มรับสมัครงานตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ Interactive ที่สำคัญ Netflix เองก็มีเนื้อหา interactive ที่ให้คนดูมีส่วนร่วมกำกับทิศทางอย่างเช่น Carmen Sandiego, Black Mirror ท่ามกลางการแข่งขันสตรีมมิ่งที่ดุเดือดยิ่งขึ้น Netflix ในฐานะผู้นำตลาดก็พยายามสร้างช่องทางรายได้และเนื้อหาพิเศษเพิ่ม เช่น ทำข้อตกลงสร้างหนังกับสตูดิโอของผู้กำกับดัง Steven Spielberg, เปิดเว็บไซต์ขายของ, พยายามหารายได้เพิ่มจากการเปิดสวนสนุกและไลฟือีเว้นท์ และล่าสุดคือเกมที่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ที่มา - Bloomberg
# TikTok มียอดดาวน์โหลดครบ 3 พันล้านครั้ง เป็นแอปแรกที่ Facebook ไม่ได้เป็นเจ้าของ Sensor Tower ลงข้อมูลระบุว่าแอป TikTok รวมทุกแพลตฟอร์ม และรวมถึง Douyin ที่เป็นแอป iOS เวอร์ชั่นใช้งานในประเทศจีน กลายเป็นแอปที่มียอดดาวน์โหลดถึง 3 พันล้านครั้งนอกจาก Facebook, Instagram, WhatsApp และ Messenger ซึ่งเป็นของ Facebook ทั้งหมด ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 TikTok เป็นแอปที่มียอดดาวน์โหลดและทำรายได้สูงสุด (ไม่นับแอปเกม) โดยมียอดดาวน์โหลดครั้งแรกถึง 383 ล้านครั้ง ทำเงินกว่า 912.2 ล้านดอลลาร์ หรือราวสามหมื่นล้านบาท ยอดดาวน์โหลดในครึ่งปีแรกของปีนี้จะน้อยกว่าครึ่งปีแรกของปี 2020 ที่มียอดดาวน์โหลดถึง 619 ล้านครั้ง สาเหตุหลักมาจากการถูกถอดจากแอปสโตร์อินเดีย แต่ยอดดาวน์โหลดครั้งแรกของ TikTok ในไตรมาสแรกของปี ยังเติบโตจากไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วอยู่ 2% และไตรมาสสองของปี 20201 ก็เติบโตขึ้น 16% จากไตรมาสแรก นอกจากนี้ในไตรมาสที่สองของปี 2020 รายได้ของ TikTok ยังเติบโตแบบไตรมาสต่อไตรมาสสูงสุดนับแต่เปิดบริการ ทำรายได้ไป 534.6 ล้านดอลลาร์ เติบโต 39% จากไตรมาสแรกของปีที่ทำได้ 384.7 ล้านดอลลาร์ และปัจจุบันทำรายได้รวมทั่วโลกไปกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์แล้ว ที่มา - Sensor Tower
# Android 12 Beta 3 มาแล้ว API นิ่งแล้ว รองรับ Scrolling Screenshot สักที กูเกิลออก Android 12 Beta 3 ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ API นิ่งแล้ว (final API) ที่เหลือจากนี้คือการแก้บั๊กและปรับปรุงเสถียรภาพของระบบใน Beta 4 ตอนนี้นักพัฒนาสามารถเริ่มทดสอบแอพของตัวเองกับ Beta 3 ได้ทันที ฟีเจอร์ใหม่ใน Android 12 Beta 3 คือ scrolling screenshot จับภาพหน้าจอยาวต่อเนื่อง ซึ่งมีในรอมของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์หลายเจ้ามานานแล้ว (และผู้ใช้ก็เรียกร้องกันมานานมาก) แต่กูเกิลเพิ่งทำลงในตัวระบบปฏิบัติการกับเขาบ้าง โดยเปิด ScrollCapture API ให้แอพอื่นใช้งานได้ด้วย ของใหม่อีกอย่างที่น่าสนใจคือ AppSearch การทำ index ข้อมูลในแอพเพื่อทำ full-text search ได้, การรองรับ auto-rotate แบบใหม่ที่ใช้กล้องหน้าช่วยดูว่าควรหมุนจอหรือไม่, Game Mode API ช่วยเลือกปรับประสิทธิภาพเครื่องให้แรงขึ้นตอนเล่นเกม เป็นต้น ที่มา - Android
# Twitter ประกาศยกเลิก Fleets ฟีเจอร์ที่โพสต์เนื้อหาแบบ Stories เพราะคนไม่นิยม Twitter ประกาศยกเลิกฟีเจอร์ Fleets ที่ผู้ใช้งานสามารถโพสต์เนื้อหาได้แบบ Stories โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2021 เป็นต้นไป Fleets เปิดให้ใช้งานทั่วโลกตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยมีเหตุผลตอนนั้นว่าเพื่อให้มีความสบายใจที่จะเริ่มการสนทนากับผู้คน แต่ Twitter ก็ยอมรับว่าจำนวนผู้ใช้ Fleets ไม่เยอะอย่างที่คาดหวังไว้ อย่างไรก็ตาม Twitter บอกว่าได้เรียนรู้รูปแบบการทวีตและสนทนาจาก Fleets หลายอย่าง ก็จะนำมาปรับปรุงรูปแบบการใช้งานมากขึ้น เช่น รูปภาพแบบเต็มหน้าจอ, รูปแบบตัวหนังสือที่ดึงดูดความสนใจ และ GIF ที่มา: Twitter
# Google Sheets บน Android มียอดดาวน์โหลดเกิน 1 พันล้านครั้งแล้ว Google Sheets เป็นแอปล่าสุดที่มียอดดาวน์โหลดสะสมบน Play Store มากกว่า 1 พันล้านครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามหลังแอปประเภทเดียวกัน Microsoft Excel ที่ครบ 1 พันล้านครั้ง เมื่อปี 2019 เมื่อปี 2019 Google Sheets มียอดดาวน์โหลดสะสมที่ 500 ล้านครั้ง นอกจากนี้แอปก็ไม่ได้ pre-install มาให้บนอุปกรณ์ Android ส่วนใหญ่ ที่มา: 9to5Google
# Chrome เตรียมขึ้นเตือนหน้า HTTP ไม่ปลอดภัยเสมอ, เลิกแสดงกุญแจบน HTTPS โครงการ Chromium ประกาศแนวทางทดสอบหน้าจอแสดงโปรโตคอล HTTP/HTTPS ให้การเข้ารหัสเป็นเรื่องปกติยิ่งกว่าตอนนี้ หลังจากสำรวจพบว่าเว็บมากกว่า 90% เข้ารหัสแล้ว โดยมีสองแนวทางหลักที่จะปรับให้การเข้ารหัสเป็นเรื่องปกติยิ่งขึ้น เลิกแสดงไอคอนกุญแจ ทุกวันนี้เมื่อเราเข้าเว็บ HTTPS เบราว์เซอร์จะแสดงรูปกุญแจยืนยันว่าการเชื่อมต่อเข้ารหัสอยู่ แต่ภายใน Chrome 93 กูเกิลจะเริ่มทดสอบไม่แสดงรูปกุญแจอีกต่อไป แต่เป็นไอคอนลูกศรลงเพื่อให้ผู้ใช้กดดูรายละเอียดการเชื่อมต่อแทน เพิ่มโหมด HTTPS-First ภายใน Chrome 94 กูเกิลจะเพิ่มตัวเลือก HTTPS-First เข้ามา ตัวเลือกนี้จะเปลี่ยนโหมดให้พยายามเชื่อมต่อกับทุกเว็บด้วย HTTPS เสมอแม้ตัวเว็บไม่ได้บังคับก็ตาม และหากเชื่อมต่อไม่สำเร็จจะแสดงหน้าจอเตือนแบบเต็มจอ หลังจากใส่ตัวเลือกมาแล้วจะพิจารณาเปิดตัวเลือกนี้เป็นค่าเริ่มต้นต่อไป นอกจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ แล้วกูเกิลยังเตรียมเปลี่ยนแปลงจุดเล็กๆ อื่นๆ เช่น เตือนผู้ใช้เมื่อเข้าเว็บที่เชื่อมต่อไม่ปลอดภัยให้ดีขึ้น, จำกัดสิทธิของเว็บที่เชื่อมต่อไม่ปลอดภัย, ลดระยะเวลาเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ที่เชื่อมต่อไม่ปลอดภัย เช่น แคช หรือ local storage ที่มา - Chromium Blog
# พรรคคอมมิวนิสต์จีนเรียกร้องบริษัทไอทีเลิกให้พนักงานทำงานแบบ 996 หนังสือพิมพ์ CPPCC ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเผยแพร่บทความของ Ling Zhenguo รองประธานกรรมาธิการด้านประชาชน, ทรัพยากร, และสิ่งแวดล้อม วิจารณ์ถึงแนวทางของบริษัทไอทีจีนที่มักใช้งานพนักงานอย่างหนัก จนมีชื่อเรียกแนวทางการทำงานว่า 996 Ling ระบุว่าการใช้คนเยี่ยงเครื่องจักรนั้นไม่สอดคล้องกับแนวทางสังคมนิยมของจีน และบริษัทไอทีต้องหันมามองคนเป็นศูนย์กลาง เลิกคำนวณต้นทุนของพนักงานทุกคนทุกวินาที การวิจารณ์เช่นนี้กระทบถึงทั้งการใช้งานพนักงานเต็มเวลาในบริษัทเหล่านี้ที่มักเป็นคนทำงานอายุน้อย พร้อมรับเงินเดือนสูงเพื่อแลกกับการทำงานหนัก แจ็ค หม่า เองก็เคยออกมายืนยันว่าพนักงานของ Alibaba ต้องพร้อมทำงานวันละ 12 ชั่วโมง อีกด้านหนึ่งก็กระทบกับกลุ่มบริษัท gig-economy ที่จ้างงานแบบนับชิ้น บริษัทไอทีจีนถูกควบคุมอย่างหนักในปีที่ผ่านมา Ant Financial ของแจ็ค หม่า เองถูกบล็อคไม่ให้เข้าตลาดหุ้นในนาทีสุดท้าย หรือล่าสุดแอปเรียกรถ Didi ก็ถูกสั่งถอดออกจากแอปสโตร์ทุกแห่ง ที่มา - South China Morning Post ภาพหน้าจอ 996.ICU ไฟล์รวมรายชื่อบริษัทที่ทำงานแบบ 996
# ทวิตเตอร์ระบุรัฐบาลไทยขอลบข้อมูลสูงขึ้นมากในปีที่ผ่านมา ทวิตเตอร์อัพเดตรายงานความโปร่งใสรอบครึ่งปีหลังของปี 2020 แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มรัฐบาลทั่วโลกเริ่มส่งคำสั่งและคำขอต่างๆ ไปยังทวิตเตอร์มากขึ้น เฉพาะของรัฐบาลไทยนั้น ครึ่งหลังปี 2020 มีการขอลบข้อมูล 424 ครั้ง โดยผ่านคำสั่งศาล 399 ครั้ง ทวิตเตอร์ลบตามคำขอ 11.1% (นับคำขอทั้งหมดตั้งแต่เคยรายงานมา) และมีการขอข้อมูลผู้ใช้ 22 ครั้ง ลดลงกว่าครึ่งแรกของปี 2020 ที่ขอ 43 ครั้ง และทวิตเตอร์ยังไม่เคยส่งข้อมูลให้เลย สำหรับชาติอื่นๆ มีการส่งคำขอข้อมูลถึง 4,367 ครั้ง โดยรวมแล้วทวิตเตอร์ทำตาม 30% ชาติที่ขอข้อมูลมากที่สุดคืออินเดีย ตามด้วยสหรัฐฯ น่าสนใจคือการยื่นคำขอเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์กลับต่ำลง โดยรวมคำร้องลดลง 2% และจำนวนบัญชีที่กระทบลดลง 44% นอกจากคำขอของรัฐบาลแล้ว การส่งข่าวปลอมเกี่ยวกับ COVID-19 ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทวิตเตอร์เข้ามาดูแล โดยรวมมีการแบนบัญชีส่งข่าวปลอม COVID-19 ไป 1,496 บัญชี และลบเนื้อหาออกไปอีก 43,010 รายการ ที่มา - Twitter
# Apple นำคลาสจาก Today at Apple ใน Apple Store มาลง YouTube แอปเปิลประกาศนำคลาสการสอนที่จัดขึ้นเป็นประจำใน Apple Store ซึ่งเรียกรวมว่า Today at Apple มาเผยแพร่ใน YouTube โดยปรับรูปแบบการนำเสนอให้เหมาะสมกับการชมผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มปัจจุบันที่ร้านค้า Apple Store ต้องปรับรูปแบบจากการระบาดของโควิด-19 เนื้อหาการสอน Today at Apple ที่แอปเปิลจะนำมาเผยแพร่ใน YouTube มีทั้งการสร้างสรรค์ผลงานผ่านภาพถ่าย วิดีโอ การออกแบบ และศิลปะ รวมทั้งเทคนิคที่น่าสนใจ โดยเป็นการใช้งานผ่านอุปกรณ์และบริการต่าง ๆ ของแอปเปิลนั่นเอง คลาสแรกที่แอปเปิลเผยแพร่ คือการวาดคาแรกเตอร์จากการ์ตูน Peanuts โดยใช้ iPad, Apple Pencil วาดบนแอป Pages นั่นเอง แอปเปิลบอกว่าจะมีเนื้อหาการสอนตอนใหม่มาลงเพิ่มเติมเร็ว ๆ นี้ ที่มา: iMore
# ไมโครซอฟท์เปิดบริการ Windows 365 สตรีมวินโดวส์ผ่านเว็บ ไมโครซอฟท์เปิดบริการ Windows 365 บริการเดสก์ทอปเสมือน (virtual desktop) สำหรับองค์กรที่ต้องการความปลอดภัยสูง สามารถเข้าใช้งานผ่านเบราว์เซอร์หรือจะใช้ซอฟต์แวร์ remote desktop เหมือนเดิมก็ได้เช่นกัน บริการเดสก์ทอปเสมือนนั้นมีใช้ในโลกองค์กรเป็นเวลานานแล้ว แต่ไมโครซอฟท์ชูจุดเด่นว่า Windows 365 จะเป็นเหมือนเครื่องส่วนตัวของแต่ละคน ผู้ใช้แต่ละคนสามารถล็อกอินกลับเข้าระบบโดยเห็นหน้าจอเดิม และการจัดการระดับองค์กรจะใช้ Microsoft Endpoint Manager ไมโครซอฟท์ระบุว่าบริการ Azure Virtual Desktop ยังคงพัฒนาต่อไป สำหรับองค์กรที่ต้องการการปรับแต่งละเอียดกว่า Windows 365 บริการเปิดตัวให้ใช้งานวันที่ 2 สิงหาคมนี้ ตอนนี้ยังไม่ประกาศราคาชัดเจน แต่จะโมเดลราคาจะคิดเป็นจำนวนผู้ใช้ต่อเดือน รองรับทั้ง Windows 10 และ Windows 11 ที่มา - Microsoft
# คิวบาเริ่มบล็อคโซเชียลมีเดียในช่วงการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่สุดในรอบหลายทศวรรษ คิวบาเริ่มจำกัดการเข้าถึงแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คและแพลตฟอร์มส่งข้อความหลายอย่าง รวมถึงมีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตมือถือในบางพื้นที่ ในช่วงที่มีการประท้วงรัฐบาลคิวบาครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ การประท้วงครั้งนี้เป็นการเรียกร้องให้ประธานาธิบดี Miguel Diaz-Canel ลาออก ซึ่งแหล่งข่าวของ Reuters ระบุว่าในเมืองหลวงของคิวบาเริ่มมีปัญหาอินเทอร์เน็ตใช้งานไม่ได้มาตั้งแต่ช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และ NetBlocks รายงานว่า ทั้ง Facebook, Instagram, WhatsApp และ Telegram ถูกบล็อคเป็นบางส่วนแล้ว NetBlocks ให้ความเห็นว่า ลักษณะการบล็อคของคิวบามีเป้าหมายคือเพื่อจำกัดการไหลของข้อมูล เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการและแชร์ข่าวเกี่ยวกับการประท้วงแบบเรียลไทม์ ที่มา - Reuters, Engadget ภาพจาก paulbr75/Pixabay
# LG webOS ผนวกระบบสั่งงานด้วยเสียง Alexa เปิดให้ผู้ผลิตทีวีรายอื่นใช้งาน เมื่อต้นปีนี้ LG ประกาศขายไลเซนส์ระบบปฏิบัติการ webOS ให้ผู้ผลิตทีวีรายอื่นด้วย โดยบริษัทที่ซื้อไปอาจมีชื่อแปลกๆ ไม่ค่อยคุ้นเคยอย่าง Advance, Blaupunkt, Eko, JSW, Manta, Polaroid, RCA, Seiki, Skytech ล่าสุด LG ประกาศว่าระบบปฏิบัติการ webOS เวอร์ชันขายให้บริษัทอื่น จะได้ฟีเจอร์พูดคุยด้วยเสียงผ่าน Amazon Alexa ได้ด้วย (webOS เวอร์ชันทีวี LG เอง มีฟีเจอร์สั่งงานด้วยเสียงของตัวเองที่ไม่เปิดให้คนอื่นใช้) การจับมือของ LG กับ Amazon ครั้งนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะเป็นการผสาน OS (webOS) เข้ากับบริการเสียง (Alexa) เป็นโซลูชันสำเร็จรูปให้ผู้ผลิตทีวีรายย่อยๆ นำไปใช้งานได้ทันที ถือเป็นการช่วยขยายฐานทั้ง webOS และ Alexa ไปพร้อมกัน ที่มา - LG, Slashgear
# Netflix เพิ่ม 2 ฟีเจอร์ ให้ครอบครัวเข้าใจ และสนุกในการรับชมคอนเทนต์ร่วมกับเด็กมากขึ้น Netflix ประกาศเพิ่ม 2 ฟีเจอร์ใหม่ สำหรับผู้ชมเด็ก ให้ผู้ปกครองสามารถดูแล ควบคุม และทำความเข้าใจเด็กไปพร้อมกันได้ดียิ่งขึ้น ฟีเจอร์แรกเป็นการส่งอีเมล Newsletter สรุปทุก 2 สัปดาห์ เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมเด็กว่าชอบดูคอนเทนต์แบบใด มีคอนเทนต์ใดที่แนะนำให้รับชมบ้าง ไปจนถึงมีแผ่นระบายสีจากตัวละครที่เด็กชื่นชอบเพื่อไปเพิ่มเติมจินตนาการต่อ ฟีเจอร์ที่สอง เป็นการเพิ่มแถว 10 อันดับยอดนิยมจากมุมเด็กในประเทศไทย แบบเดียวกับการจัด 10 อันดับยอดนิยมทั่วไป ซึ่งคัดเลือกเนื้อหาเด็กที่ได้รับความนิยมนั่นเอง ที่มา: Netflix
# Google ซื้อกิจการ Pring สตาร์ทอัพด้าน Cashless Payment ในญี่ปุ่น กูเกิลประกาศซื้อกิจการ Pring สตาร์ทอัพด้าน Cashless Payment ของญี่ปุ่น เพื่อบุกตลาดการเงินในญี่ปุ่นที่กำลังเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมา บริการของ Pring มีทั้งสำหรับลูกค้าบุคคล และลูกค้าองค์กรที่ตอนนี้มีมากกว่า 400 บริษัท รวมถึงร่วมมือกับสถาบันการเงินในญี่ปุ่นประมาณ 50 แห่ง สามผู้ลงทุนหลักใน Pring คือ Metaps บริษัทฟินเทคของญี่ปุ่น, Miroku Jyoho บริษัทซอฟต์แวร์ และ Nippon Gas จะขายหุ้นใน Pring ส่วนที่ถืออยู่ให้กูเกิล ซึ่งคิดเป็น 87% ของหุ้นทั้งหมด ดีลดังกล่าวกูเกิลไม่ได้ประกาศมูลค่าอย่างเป็นทางการ แต่ทาง Metaps บอกว่าได้ขายหุ้น 45% ไปที่มูลค่า 4,900 ล้านเยน ผู้ให้บริการ Cashless Payment ในญี่ปุ่นได้แก่ PayPay (40 ล้านบัญชี) และ Line Pay (38 ล้านบัญชี) ที่มา: Reuters และ NHK World
# Twitter เปิดให้แก้ตัวเลือกจำกัดคนตอบทวีตได้ตลอดเวลาแล้ว Twitter เริ่มทดสอบฟีเจอร์จำกัดคนที่ตอบทวีตได้ครั้งแรก ช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าทวีตนั้นจะให้ใครตอบได้ แบ่งเป็น ทุกคน, เฉพาะคนที่ติดตาม หรือเฉพาะคนที่ถูกเมนชั่นในทวีต แต่ก่อนหน้านี้ผู้ใช้ต้องตั้งค่าไว้ก่อนโพสต์ และไม่สามารถกลับมาแก้ทีหลังได้ วันนี้ Twitter เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถแก้สถานะนี้ได้ตลอดเวลาแล้ว โดยสามารถเลือกเปลี่ยนให้เป็นแบบใดก็ได้ในทุกทวีต ไม่ว่าจะเป็นทวีตเก่าแค่ไหนก็ตาม แต่ทวีตที่มีผู้ตอบไว้ก่อนหน้าจะไม่หายไปหากเปลี่ยนข้อจำกัดจากทุกคนเป็นแบบอื่น ถือเป็นการเพิ่มตัวเลือกความเป็นส่วนตัวอีกขั้นของ Twitter หลังเพิ่มการปิดไม่ให้ผู้อื่นค้นหาชื่อ และฟีเจอร์ความปลอดภัยอื่นไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่มา - Twitter
# ไมโครซอฟท์เผย เลือกภาพพื้นหลังของ Windows 11 ให้เหมาะ Start Menu อยู่ตรงกลาง ทีมดีไซน์ของไมโครซอฟท์ เขียนบล็อกเล่าเบื้องหลังและแนวคิดการออกแบบ Windows 11 ว่าเริ่มทำในยุค COVID-19 ที่โลกเปลี่ยนไปจากเดิม กระบวนการวิจัยผู้ใช้จึงพบข้อมูลใหม่หลายอย่าง หลักการสำคัญที่สุดคือ calmness (ความสงบ) ซึ่งเป็นสิ่งที่คนต้องการในโลกยุคที่วุ่นวาย การออกแบบจึงอิงอยู่บนความคุ้นเคยเดิม แต่ปรับดีไซน์ให้อ่อนโยนขึ้น (soften) และเน้นอารมณ์ความรู้สึก (emotional connection) มากกว่าเดิม หลักการอีกข้อคือ พีซีกลับมาเป็นศูนย์กลางอีกครั้ง หลังถูกอุปกรณ์พกพาบดบังไปนาน จุดเด่นของพีซีคือความยืดหยุ่น (flexibility) ที่ช่วยให้ทำงานได้จากทุกแห่ง หลักการข้อสุดท้ายคือ การเรียนรู้และการปรับตัวของผู้คนกับสิ่งใหม่ๆ เช่น การทำงานไฮบริด การเรียนออนไลน์ การหาความบันเทิงภายใต้ข้อจำกัดในบ้าน ในแง่การออกแบบจึงต้องพยายามให้คนโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ได้ง่ายขึ้น ไมโครซอฟท์หยิบเคส Start Menu ตัวใหม่มาพูดถึงแนวคิดการออกแบบว่า ปรับหน้าตาให้สะอาด เรียบง่ายขึ้น มีสิ่งรบกวนน้อยลง (lesser noise) จึงโฟกัสที่แอพที่ใช้บ่อย และเอกสารที่ต้องใช้ ปรับหน้าตาให้เหมาะกับอุปกรณ์ทุกแบบ ทุกขนาดหน้าจอ ตั้งแต่ Surface Go ไปจนถึงจอ ultrawide ปรับโลโก้ Windows ใหม่ให้สอดคล้องกับภาษาออกแบบยุคใหม่ ใส่แอนิเมชันเพื่อแสดงถึงความมั่นใจในการกดปุ่ม (confidence to interaction) ภาพพื้นหลังของ Windows ถูกเลือกมาให้เหมาะกับตำแหน่ง Start Menu อยู่ตรงกลางมากขึ้น ภาพรวมของระบบปฏิบัติการเอง จะเคารพในงานที่เราทำอยู่มากขึ้น จะจดจำว่าเรากำลังทำอะไรค้างไว้ โดยไม่มาขัดจังหวะของเรา หลักการคือมองว่า เดสก์ท็อปดิจิทัลเหมือนกับโต๊ะทำงานจริงๆ (digital equivalent of your work desk) ระบบจัดการหน้าต่างแบบ snap จะจำวิธีจัดการหน้าต่างแบบที่เราชอบ ระบบ widget แบบใหม่ ออกแบบมาให้เคารพ flow การทำงานของเรา ระบบปฏิบัติการยังมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ขอบโค้งมนกว่าเดิม ใช้สีโทนอุ่นมากขึ้น ให้ตั้งชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ตอนติดตั้ง แทนการตั้งชื่อแบบสุ่มมาให้เปลี่ยนทีหลัง ที่มา - Microsoft
# [Bloomberg] แอปเปิลทำ Apple Pay Later ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง จ่าย 4 ครั้งใน 2 เดือนไม่มีดอกเบี้ย Bloomberg รายงานว่าแอปเปิลร่วมมือกับธนาคาร Goldman Sachs พัฒนาฟีเจอร์ให้ผู้ใช้งาน Apple Pay สามารถซื้อของแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังได้ หรือ Apple Pay Later โดยร้านค้าจะแจ้งผู้ใช้ว่าหากคุณเลือกตัวเลือกจ่าย Apple Pay in 4 สามารถผ่อนจ่ายแบบปลอดดอกเบี้ยได้ 4 ครั้งในระยะเวลา 2 เดือน หรือถ้านานกว่านั้นก็จะมีดอกเบี้ย Goldman Sachs ยังเป็นพาร์ทเนอร์หลักของแอปเปิลสำหรับบัตรเคดิต Apple Card มาตั้งแต่ปี 2019 ด้วย สำหรับฟีเจอร์ซื้อก่อนจ่ายทีหลังจะช่วยให้คนหันมาใช้ Apple Pay กันมากขึ้น ซึ่งแอปเปิลได้ส่วนแบ่งจากธุรกรรมอยู่แล้ว แอปเปิลเสนอการผ่อนชำระรายเดือนผ่านบัตรเครดิต Apple Card สำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์ของตนเองอยู่แล้ว แต่บริการใหม่นี้จะขยายไปยังธุรกรรมอื่นๆ บน Apple Pay ด้วย ภาพจาก Apple Newsroom ที่มา - Bloomberg
# เกมสงคราม Company of Heroes กลับมาแล้ว ภาค 3 เตรียมวางขายปี 2022 Company of Heroes เกม RTS สงครามโลกครั้งที่สองที่ขึ้นชื่อเรื่องความสมจริงของกราฟฟิก ระบบที่กำบัง และอาคารที่พังทลายได้ เปิดตัวภาค 3 แล้ว หลัง Company of Heroes 2 เปิดตัวตั้งแต่ปี 2013 ทิ้งช่วงไปนานถึง 8 ปี Company of Heroes 3 ปล่อยวิดีโอตัวอย่าง และวิดีโอเกมเพลย์ยาว 3 นาทีเมื่อวานนี้ เป็นตัวอย่างแคมเปญบุกประเทศอิตาลี และระบุว่าสมรภูมิแถบเมดิเตอร์เรเนียนจะเป็นธีมของภาคนี้ (ภาคแรกเป็นสมรภูมิภาคพื้นยุโรปตะวันตก ภาคสองโฟกัสสมรภูมิฝั่งยุโรปตะวันออก แถบรัสเซีย) ผู้เล่นสามารถทดลองเล่นตัวเกมเวอร์ชั่น Pre-Alpha ได้แล้ววันนี้ ส่วนตัวเกมเวอร์ชั่นเต็ม เตรียมวางจำหน่ายในปี 2022 ที่มา - Kotaku
# แฟนๆ ผิดหวังเนื้อเรื่องภาคเสริม World of Warcraft แห่ตามสตรีมเมอร์มาเล่น FF:XIV Online หลังมีข่าว Final Fantasy XIV Online เซิร์ฟเวอร์เต็มจนต้องหยุดขายเกมชั่วคราว Kotaku จึงลองหาสาเหตุเพิ่มเติมว่าเพราะอะไร FFXIV Online ถึงมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ทั้งที่แพตช์ล่าสุด Death Unto Dawn ออกตั้งแต่เดือนเมษายน ส่วนภาคเสริมถัดไป Endwalker ก็ต้องรอถึงเดือนพฤศจิกายน Kotaku พบว่าสาเหตุแรกมาจาก Asmongold สตรีมเมอร์ WoW บน Twitch ที่มีผู้ติดตามกว่า 2 ล้านคน ย้ายมาเล่น FFXIV Online แทน โดยคลิปที่เขาเริ่มเล่น FFXIV ปัจจุบันมียอดวิวกว่า 2.7 ล้านวิว และเขายังบอกอีกว่าต้องการเล่น FFXIV Online ให้จบ พร้อมบอกว่าเกมนี้คุ้มค่าที่จะยอมเสียเวลาชีวิตให้ อีกสาเหตุประกอบกัน คาดว่ามาจากแฟนๆ World of Warcraft ที่ผิดหวังจากภาคเสริม Chains of Domination ที่ออกเมื่อเดือนมิถุนายน ความผิดหวังหลักๆ มาจากวิดีโอฉากจบ (มีสปอยล์) หลังผู้เล่นปราบ Sylvannas Windrunner และเคลียร์ Sanctum of Domination raid ได้ แทบจะไม่ได้เปิดเผยประเด็นอะไรใหม่ แถมจบแบบค้างคา เพื่อให้ผู้เล่นต้องรออัพเดตถัดไป ทำให้หลายๆ คนหันมาเล่น FFXIV Online ตาม Asmongold FFXIV Online ปัจจุบันยังไม่มีเซิร์ฟเวอร์โซนบ้านเรา แต่ผู้เล่นสามารถสมัครแอคเคาท์ Square Enix เพื่อทดลองเล่นฟรีถึงเลเวล 60 ได้ ไม่จำกัดเวลา แต่จำกัดจำนวนเงินที่ถือ และไม่สามารถใช้ฟังก์ชั่นสังคม เช่น ตั้ง party หรือคุยกับคนอื่นได้ โดย region ที่สมัครจะมีผลกับค่ารายเดือนที่ต่างกัน แต่สามารถเลือกเล่นได้ทุกเซิร์ฟเวอร์ไม่ว่าจะสมัคร region ไหน เซิร์ฟเวอร์ที่ใกล้บ้านเราสุดคือเซิร์ฟเวอร์โซนญี่ปุ่น มีสาม Data Center คือ Elemental, Gaia และ Mana คนไทยเล่นมากที่สุดคือ Elemental ในเซิร์ฟเวอร์ Tonberry รองลงมาเป็น Typhon และ Kujata โดยผู้เล่นสามารถข้ามเซิร์ฟเวอร์ หรือ World บน Data Center เดียวกันไปหากันได้ แต่จะไม่สามารถเข้าร่วม guild ใน ต่าง World ได้ ที่มา - Kotaku
# Instagram ทำ Security Checkup ช่องทางจัดการและกู้คืนบัญชีเมื่อพบว่าโดนแฮ็ก Instagram เปิดตัว Security Checkup ช่องทางจัดการบัญชีตัวเองสำหรับผู้ที่โดนแฮ็กบัญชี บัญชีใดเจอประสบการณ์ดังกล่าวจะมองเห็นเมนู Security Checkup เพิ่มขึ้นมา ผู้ใช้งานสามารถทำการยืนยันบัญชีอื่นๆ ที่มี ตรวจสอบกิจกรรมการเข้าสู่ระบบ และอัปเดตข้อมูลโปรไฟล์ของเรา ตัว Security Checkup จะนำพาผู้ใช้ให้อัปเดตหมายเลขโทรศัพท์และอีเมลเป็นของตัวเอง เพื่อช่วยกู้คืนบัญชีจากแฮ็กเกอร์ที่เข้าไปเปลี่ยนข้อมูลของเราได้ นอกจากนี้ Instagram จะใช้การเข้าระบบสองชั้นร่วมกับ WhatsApp เพิ่มเติมจากการใช้เบอร์โทรศัพท์และแอปพลิเคชั่นอื่นอย่าง Duo Mobile หรือ Google Authentication ทาง Instagram ยังบอกด้วยว่า พบเห็นพฤติกรรมผู้ไม่หวังดีที่ส่งข้อความ DM พยายามขอข้อมูลส่วนตัว โดยอ้างว่าบัญชีของเหยื่อเสี่ยงถูกแบนจากการละเมิดนโยบาย Instagram หากเจอพฤติกรรมนี้ของให้ report และทางบริษัทเองก็ไม่เคยส่งข้อความ DM ไปหาใครด้วย ที่มา - Facebook, CNET
# Sony เปิดตัวลำโพงแก้วไร้สายทรงตะเกียง รุ่นใหม่ LSPX-S3 ถูกลงกว่าเดิมเหลือหมื่นต้น Sony เปิดตัวลำโพงแก้วไร้สาย LSPX-S3 รุ่นที่ 3 ต่อจาก LPSX-S2 ที่วางจำหน่ายในปี 2019 ปรับมาใช้สปีกเกอร์ 46 มิลลิเมตร จาก 35 มิลลิเมตรในรุ่นก่อน ตัดฟีเจอร์เล่นเพลง Spotify ผ่าน WiFi จากรุ่น S2 ออก แต่ราคาถูกลงจาก 449.99 ดอลลาร์ เหลือ 349.99 ดอลลาร์ หรือประมาณ 11,000 บาท LSPX-S3 ใช้ทวีตเตอร์แบบแก้วเหมือนเดิม มีแอคชูเอเตอร์สามตัว มีแพสซีฟ เรดิเอเตอร์ สำหรับเสียงโทนต่ำ เพิ่มโหมด “Bass Boost” เข้ามาสำหรับผู้ที่ชอบเสียงเบสหนักๆ เชื่อมต่อผ่านบลูทูธ เชื่อมสองตัวพร้อมกันแบบสเตอริโอได้ เล่นเพลงด้วยโคเด็ค LDAC ของ Sony หลอดไฟภายในปรับความสว่างได้ 32 ระดับ ไฟขยับตามเสียงเบสได้ มีโหมดแสงเทียน โหมดสว่างพิเศษ และโหมดไฟอ่อนโยนสำหรับช่วงก่อนนอน ทั้งหมดนี้ปรับได้ด้วยเซ็นเซอร์สัมผัสบนตัวลำโพง และในแอป Sony Music Center แบตเตอรี่ใช้งานได้ 8 ชั่วโมง ชาร์จผ่าน USB Type-C เสียบสายค้างไว้ได้ LSPX-S3 เปิดให้สั่งจองเดือนสิงหาคมนี้ แต่ยังไม่เปิดเผยวันวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ที่มา - Sony
# จีนวางกฎรายงานช่องโหว่ซอฟต์แวร์ ต้องแจ้งรัฐบาลเสมอ ห้ามซื้อขายช่องโหว่ Cyberspace Administration of China หน่วยงานกำกับอินเทอร์เน็ตจีนออกกฎการรายงานช่องโหว่ซอฟต์แวร์ ทำให้นักวิจัยต้องรายงานช่องโหว่กลับไปยังรัฐบาลเสมอ, ห้ามรายงานช่องโหว่ไปยังองค์กรต่างชาติ ยกเว้นเจ้าของซอฟต์แวร์โดยตรง, และสั่งห้ามซื้อขายช่องโหว่ที่ยังไม่มีการรายงานก่อนหน้า (0-day) ช่องโหว่ 0-day นับเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์กลุ่มหนึ่งให้บริการแฮกเครื่องเป้าหมาย เช่น Hacking Team ที่แฮกโทรศัพท์ เคยถูกแฮกข้อมูลหลุดและพบว่ารัฐบาลทั่วโลกซื้อบริการรวมถึงรัฐบาลไทย รัฐบาลจีนเริ่มเข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างหนักในปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การสั่งหยุดนำหุ้น Ant Financial เข้าตลาดหลักทรัพย์ และยังมีคำสั่งต่อบริษัทเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ในช่วงหลัง ที่มา - ABC News ภาพโดย iAmMrRob
# จีนอนุมัติ Tencent ซื้อบริการค้นหา Sogou อาจเป็นสัญญาณคลายความกดดันรัฐบาลจีนต่อบริษัทเทค Tencent กำลังถูกรัฐบาลจีนจับตามองในทุกด้าน หน่วยงานกำกับดูแลตลาดหรือ State Administration for Market Regulation’s (SAMR) กำลังตรวจสอบการซื้อกิจการที่ผ่านมาของ Tencent ส่งผลให้บริษัทต้องระงับแผนควบรวมตรีมมิ่งเกม Huya, DouYu รวมถึงไม่สามารถเซ็นสัญญาใช้เพลงแต่เพียงผู้เดียวเพื่อสร้างความได้เปรียบในสตรีมมิ่งเพลง ล่าสุด อาจเป็นสัญญาณผ่อนคลายความกดดันจากรัฐบาล เมื่อ SAMR อนุมัติแผนเข้าซื้อบริการค้นหา Sogou โดยเป็นการอนุมัติอย่างไม่มีเงื่อนไข Tencent มีความจริงจังเรื่องบริการค้นหามาตลอด พยายามสู้รายใหญ่ในจีนอย่าง Baidu มีการเสนอราคา 9 ดอลลาร์ต่อหุ้นให้กับบริษัทที่มีเทคโนโลยีสามารถช่วยยกระดับการค้นหาใน WeChat ทาง Tencent เองมีหุ้นใหญ่ในบริการค้นหา Sogou มาตั้งแต่ปี 2013 เข้าถือหุ้น 36.5% และควบบริการเข้ามาในบริการค้นหาของตัวเองคือ Soso คำสั่งปรับคดีผูกขาดที่ใหญ่ที่สุดคือ อาลีบาบา ถูกสั่งปรับ 2.75 พันล้านจากการผูกขาดตลาดอีคอมเมิร์ซ เทียบกับ Tencent แล้วถือว่าโดนตัดสินโทษหนักกว่ามาก ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Ma Huateng ผู้ก่อตั้ง Tencent ยืนยันว่าเขาได้เข้าพบ SAMR และกำลังร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งรวมถึงการทบทวนเงื่อนไขบางประการในการลงทุนที่ผ่านมาด้วย ที่มา - SCMP
# Stadia ลดส่วนแบ่งรายได้จาก 30% เหลือ 15%, ทำเครื่องมือช่วยพอร์ตเกมจาก Windows กูเกิลประกาศข่าวเกี่ยวกับการนำเกมลง Stadia มีประเด็นสำคัญ 2 เรื่องคือ ลดส่วนแบ่งรายได้ของแพลตฟอร์ม จากเดิม 30% ลงมาเหลือ 15% สำหรับรายได้ 3 ล้านเหรียญแรก (ถ้ามากกว่าจากนั้นจะคิด 30% เท่าเดิม) มีผลไปจนถึงสิ้นปี 2023 ประกาศทำ Stadia Porting Toolkit ให้แปลงเกม Windows มารันบน Stadia ง่ายขึ้น นักพัฒนาไม่ต้องแก้ API เพราะจะแปลงจาก DirectX มาเป็น Vulkan ให้เลย ยังไม่บอกว่าจะทำเสร็จเมื่อใด นอกจากนี้ Stadia ยังปรับกระบวนการส่งเกมขึ้นคลาวด์ให้ง่ายขึ้น, ลดขั้นตอนการออกใบรับรอง (certificate) ลง, เพิ่มเครื่องมือทดสอบเกมบนคลาวด์ (ที่ latency กลายเป็นเรื่องใหม่ของนักพัฒนาเกม) ทั้งหมดเพื่อให้การนำเกมมาลง Stadia ง่ายขึ้นในภาพรวม การประกาศลดส่วนแบ่งรายได้ของ Stadia สอดคล้องกับทิศทางในโลกตอนนี้ เช่น Microsoft Store ปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากเกมเหลือ 12% เท่ากับ Epic, App Store และ Google Play ลดเหลือ 15% สำหรับรายได้ 1 ล้านดอลลาร์แรก ที่มา - Ars Technica, 9to5google
# Netflix มองไลฟ์อีเว้นท์จากซีรีส์ดังเป็นช่องทางหารายได้เพิ่ม หลังยอดผู้ใช้งานเริ่มชะลอตัว เว็บไซต์ Hollywood Reporter รายงานว่าตอนนี้ Netflix นอกจากจะให้ความสำคัญกับการเซ็นสัญญาโปรดิวเซอร์มือทองแล้ว ยังมองหาช่องทางรายได้อื่นเพิ่มอย่างการทำไลฟ์อีเว้นท์ ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา Netflix ได้ดีลกับ Shonda Rhimes โปรดิวเซอร์มือทองจาก AMC ผู้ฝากฝีมือไว้ใน Grey’s Anatomy มาสร้างซีรีส์ Bridgerton จนเป็นที่นิยมมากใน Netflix ล่าสุดมีการต่อสัญญานอกเหนือจากทำซีรีส์แล้ว ยังรวมถึงภาพยนตร์, เกม VR, การสร้างแบรนด์และการขายสินค้า รวมถึงไลฟ์อีเว้นท์ด้วย เป็นช่องทางสร้างรายได้ชดเชยจากยอดผู้ใช้งานที่เริ่มชะลอตัวลง ในแผนสัญญายังรวมถึงงานถ่ายทอดสดงานอีเว้นท์ในธีม Bridgerton ที่ลอนดอนในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย คล้ายๆ กับการสร้างสวนสนุก Stranger Things: The Experience ในลอสแองเจลิสและนิวยอร์ก เพื่อดึงดูดแฟนๆ ซีรีส์ให้เข้าถึงประสบการณ์พิเศษ สินค้าของที่ระลึก จากซีรีส์ที่ดังจนเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ก่อนหน้านี้ Netflix เปิดตัวเว็บไซต์ขายของที่ระลึกที่ได้ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากซีรีส์และการ์ตูนใน Netflix ออกแบบโดยดีไซเนอร์แบรนด์ต่างๆ ที่มา - Hollywood Reporter
# Firefox 90 ออกแล้ว อัพเดตตัวเองเบื้องหลัง แม้ไม่ได้เปิด Firefox Firefox ออกเวอร์ชัน 90 มีของใหม่ไม่เยอะนัก การเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ Firefox สามารถอัพเดตตัวเองแบบเบื้องหลัง (background update) โดยไม่ต้องเปิด Firefox ก็ได้ ตอนนี้ยังรองรับเฉพาะบนวินโดวส์เท่านั้น ของใหม่อีกอย่างคือ SmartBlock 2.0 ป้องกันการตามรอยให้ดีขึ้น บล็อคการตามรอยโดยที่ยังใช้งาน Facebook Login ได้, เมนูคลิกขวา "Open Image in New Tab" เปลี่ยนมาเปิดภาพในแท็บเบื้องหลังแทนแล้ว ที่มา - Firefox
# มาแล้ว Apple เปิดตัวแบตเตอรี่เสริม แปะหลัง iPhone 12 ด้วย MagSafe แอปเปิลเปิดตัว MagSafe Battery Pack แบตเตอรี่เสริมสำหรับติดด้านหลัง iPhone 12, iPhone 12 mini, iPhone 12 Pro และ iPhone 12 Pro Max ด้วย MagSafe โดยเป็นการชาร์จแบบไร้สาย จากที่มีข่าวลือก่อนหน้านี้ เอกสารสนับสนุนระบุว่าการชาร์จไร้สายนี้เป็นระดับกำลังไฟ 5 วัตต์ แต่หากแบตเตอรี่ต่อสาย Lightning ชาร์จไฟอยู่ที่ระดับ 20 วัตต์ ก็จะให้กำลังไฟในการชาร์จ iPhone สูงสุด 15 วัตต์ มีข้อมูลน่าสนใจคือแอปเปิลระบุว่าสามารถชาร์จไฟให้แบตเตอรี่นี้ได้ ผ่านวิธีตรงกันข้าม คือต่อสาย Lightning ที่ iPhone ซึ่งแปะกับแบตเตอรี่เสริมนี้อยู่ ในกรณีที่ผู้ใช้งานต้องถ่ายโอนข้อมูล iPhone ผ่านสายด้วยพร้อมกัน ราคาขายในอเมริกา 99 ดอลลาร์ เริ่มส่งมอบ 19 กรกฎาคม 2021 เป็นต้นไป ราคาไทยยังไม่มีออกมาตอนนี้ แบตเตอรี่นี้ระบุว่าต้องทำงานร่วมกับ iOS 14.7 แปลว่าน่าจะมีอัพเดตออกมาในไม่กี่วันข้างหน้านี้ ที่มา: MacRumors
# เผย SAS Institute ล้มดีลขายกิจการให้ Broadcom แล้ว จากที่เมื่อวานมีรายงานข่าวว่า Broadcom ติดต่อขอซื้อกิจการ SAS Institute ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูล ด้วยมูลค่าราว 15,000-20,000 ล้านดอลลาร์ ล่าสุด The Wall Street Journal อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่าดีลดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นแล้ว แหล่งข่าวบอกว่าสองผู้ร่วมก่อตั้ง SAS คือ Jim Goodnight และ John Sall เกิดเปลี่ยนใจ และได้แจ้งรายละเอียดไปยังพนักงานไปเพียงว่าบริษัทยังไม่ต้องการขายกิจการ รายงานระบุว่าประเด็นที่อาจทำให้ SAS เปลี่ยนใจไม่ขายกิจการ เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กรของ SAS มีความเฉพาะตัว และกังวลว่าอาจเปลี่ยนไปถ้าขายกิจการให้ Broadcom ทั้งรูปแบบการทำงาน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และสวัสดิการสถานที่ทำงานแบบแคมปัสเมือง Cary ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบทุกอย่าง ที่มา: WSJ และ Silicon Valey Business Journal
# TAG Heuer ร่วมกับ Nintendo เปิดตัวสมาร์ทวอช Connected คอลเลคชั่น Super Mario หลังจากปล่อยทีเซอร์ไปแล้ว TAG Heuer กับ Nintendo ก็ได้เปิดตัวนาฬิกาคอลเลคชั่น Super Mario อย่างเป็นทางการ โดยเป็นนาฬิกาในกลุ่มสมาร์ทวอชแบรนด์ TAG Heuer Connected ที่ใช้ Wear OS ของ Google ฟีเจอร์หลักของ TAG Heuer x Super Mario Limited Edition ก็ยังคงเป็นสมาร์ทวอช Connected เหมือนเดิม (ยังไม่มีรายละเอียดว่าเป็น Wear OS เดิมหรือ Wear OS ใหม่ที่ Google ร่วมกับ Samsung พัฒนาและเพิ่งเปิดตัวมา) ขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 45 มิลลิเมตร มีโลโก้ M-for-Mario อยู่ที่เม็ดมะยม มาพร้อมกับสายสองสี คือยางสีแดงแบบเจาะรู และยางสีแดงกับหนังสีดำ และสลัก TAG Heuer x Super Mario Limited Edition ไว้ด้านหลังของตัวเรือน ส่วนตัวซอฟต์แวร์ของนาฬิกาจะใส่ระบบ rewards ที่ใช้ตัวการ์ตูนจากเกมมาทำอนิเมชั่น และยังมีหน้าปัดนาฬิกาจากมาริโอ้ 4 แบบให้เลือกใช้ด้วย TAG Heuer Connected คอลเลคชั่น Super Mario จะเริ่มวางจำหน่ายในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ที่ราคา 2,150 ดอลลาร์ หรือราว 70,000 บาท โดยจะวางจำหน่ายเป็น limited edition เพียง 2,000 เรือนเท่านั้น ที่มา - The Verge, Engadget
# Google Meet ปรับเงื่อนไขผู้ใช้ฟรีคืน จำกัดเวลาคุยกลุ่มไม่เกิน 60 นาที กูเกิลเคยประกาศให้ใช้งานวิดีโอคอลบน Google Meet ได้ฟรี เหมือนกับคุณสมบัติสำหรับลูกค้าแบบเสียเงินตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีการขยายเวลาสองรอบ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2021 แต่รอบนี้กูเกิลไม่ต่อเวลาแล้ว โดยเงื่อนไขการใช้งานสำหรับผู้ใช้ Google Meet แบบบัญชีฟรี จะกลับมาเป็น สามารถสนทนาตัวต่อตัวได้นานสูงสุด 24 ชั่วโมง และคุยแบบกลุ่มได้สูงสุด 60 นาที หากต้องการใช้งานนานกว่านั้นต้องเป็นผู้ใช้แบบเสียเงิน ที่มา: 9to5Google
# เปิดตัว FIFA 22 ใช้โมชั่นแคปเจอร์จากนักเตะจริง แต่มีแค่บนคอนโซลรุ่นใหม่, พีซีก็อด EA เปิดตัวเกมฟุตบอล FIFA 22 ตามช่วงเวลาก่อนเปิดฤดูกาลแข่งขันประจำปี (เกมจะวางขาย 1 ตุลาคม 2021) ฟีเจอร์ใหม่ของเกมภาคนี้คือ HyperMotion การใช้นักฟุตบอลอาชีพชื่อดัง 22 คนมาใส่ชุดโมชั่นแคปเจอร์ Xsense แล้วให้ AI เรียนรู้วิธีการเคลื่อนไหว เพื่อให้แอนิเมชันของนักฟุตบอลในเกมเหมือนของจริงมากที่สุด (ดูเทรลเลอร์ประกอบ) แต่นี่คือ EA ข่าวดีย่อมไม่ใช่ข่าวดีเสมอไป ฟีเจอร์ HyperMotion จะมีเฉพาะบนคอนโซลเจนใหม่ (PS5, Xbox Series) ที่ขายในราคาแพงกว่า (69.99 ดอลลาร์) เท่านั้น ส่วนคอนโซลเจนเก่า (PS4, Xbox One) ที่ตั้งราคาเกม 59.99 ดอลลาร์ จะไม่ได้ฟีเจอร์นี้ ที่เป็นประเด็นเช่นเคยคือ เกมเวอร์ชันพีซีจะได้กราฟิกเท่ากับ PS4/Xbox One ด้วย (แบบเดียวกับ FIFA 21 เมื่อปีที่แล้ว) ซึ่งทำให้แฟนเกมเวอร์ชันพีซีไม่พอใจ แต่ EA ก็อธิบายด้วยเหตุผลเดิมว่า สเปกเครื่องของชาวพีซีหลากหลาย มีเครื่องจำนวนมากที่รันกราฟิกระดับสูงไม่ได้ จึงตัดสินใจแบบนี้เพื่อให้แฟนๆ เข้าถึงเกมได้มากที่สุด ที่มา - EA, IGN
# Android 12 ให้เล่นเกมที่ยังโหลดไม่เสร็จได้ แก้ปัญหาโหลดนานเกินไปจนหมดอารมณ์อยากเล่น กูเกิลจัดงาน Google for Games Developer Summit ในงานมีประกาศฟีเจอร์ใหม่เกี่ยวกับเกมใน Android 12 ด้วยคือ สามารถเล่นเกมระหว่างที่ยังดาวน์โหลดเกมไม่เสร็จได้ Greg Hartrell ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ Google Play บอกว่า สาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนล้มเลิกความตั้งใจจะดาวน์โหลดเกมคือ โหลดนานเกินไป ฟีเจอร์เล่นระหว่างดาวน์โหลดสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้ ด้านนักพัฒนาเกมที่ใช้ Android App Bundle อยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แค่อัพโหลดเข้า Google Play ก็เพียงพอแล้ว สามารถเข้าไปลงชื่อใช้เวอร์ชันเบต้าได้ที่นี่ นอกจากนี้กูเกิลยังเปิดตัว Game Dashboard ใหม่ซึ่งจะพร้อมใช้งานในอุปกรณ์บางรุ่นในปลายปีนี้ ช่วยให้เกมเมอร์เข้าถึงเมนูใช้งานต่างๆ เช่น ถ่ายภาพหน้าจอ บันทึกหน้าจอ เปิดโหมดห้ามรบกวนได้อย่างรวดเร็วระหว่างการเล่นเกม ที่มา - BGR
# ฝรั่งเศสปรับกูเกิล 20,000 ล้านบาทหลังไม่สามารถเจรจาจ่ายค่าใช้ข่าวบนหน้าเว็บได้ทัน หน่วยงานป้องกันการผูกขาดฝรั่งเศส (Autorité de la concurrence) สั่งปรับกูเกิล 500 ล้านยูโร หรือประมาณ 20,000 ล้านบาทฐานละเลยไม่เจรจาค่าใช้เนื้อข่าวจากสำนักข่าวบนเว็บไซต์ หลังจากทางหน่วยงานออกคำสั่งให้กูเกิลต้องเจรจาหาแนวทางจ่ายค่าใช้เนื้อหาบนเว็บตั้งแต่ปี 2020 กูเกิลระบุว่าผิดหวังกับการสั่งปรับครั้งนี้ และบริษัทกำลังพยายามทำตามกระบวนการ โดยการเจรจากับสำนักข่าว AFP ก็ใกล้ได้ข้อตกลงแล้ว การสั่งปรับครั้งนี้มีขึ้นหลัง Autorité de la concurrence สั่งปรับกูเกิลฐานเอื้อประโยชน์ตัวเองในธุรกิจโฆษณาเป็นมูลค่าประมาณ 8,400 ล้านบาท ขณะที่แนวทางหลายประเทศกำลังเข้ามากำกับการใช้เนื้อหาจากสื่อต่างๆ มาแสดงผลบนเว็บค้นหา โดยเฉพาะออสเตรเลีย และที่ผ่านมากูเกิลพยายามแสดงตัวว่าเป็นมิตรต่อสื่อด้วยโครงการ Google News Showcase ที่แสดงเนื้อหาเต็มบนเว็บกูเกิลเองและกูเกิลตั้งกองทุนเพื่อจ่ายค่าตอบแทนการใช้เนื้อหา ในกรณีของฝรั่งเศสเอง สำนักข่าวรอยส์เตอร์ระบุว่าเห็นเอกสารการเจรจาการใช้ Google News Showcase แสดงเนื้อหาสำนักข่าวในฝรั่งเศส โดยเตรียมจ่ายค่าใช้เนื้อหา 76 ล้านดอลลาร์ (2,300 ล้านบาท) ในระยะเวลา 3 ปี ที่มา - Reuters, Bloomberg ภาพโดย denvit
# Final Fantasy XIV หยุดขายชั่วคราว คาดเพราะคนเล่นเยอะจนเซิร์ฟเวอร์เต็ม Final Fantasy XIV Online เวอร์ชั่นดิจิทัล หยุดขายบนเว็บไซต์ Square Enix ชั่วคราวเมื่อวาน ก่อนกลับมาวางขายใหม่วันนี้ เหตุการณ์นี้เกิดพร้อมกับช่วงที่เซิร์ฟเวอร์เกมเต็มทุกเซิร์ฟเวอร์ ทำให้ผู้เล่นใหม่ไม่สามารถสร้างตัวละครได้ ทำให้ชาวเน็ตบน Reddit สันนิษฐานว่าที่ Square Enix ต้องหยุดขายเกมชั่วคราว เป็นเพราะเซิฟเวอร์รองรับผู้เล่นใหม่ไม่ไหว อ้างอิงจาก Steam Charts เกม FF XIV Online เพิ่งมีผู้เล่นพร้อมกัน บน Steam สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมียอดผู้เล่นพร้อมกันถึง 58,046 คน โดยไม่มีสาเหตุชัดเจนว่าทำไมผู้เล่นถึงเพิ่มขึ้น เพราะภาคเสริม Endwalker ของเกมมีกำหนดออกวันที่ 23 พฤศจิกายน หรืออีกกว่า 4 เดือนจากนี้ IGN คาดว่าสาเหตุอาจจะมาจากสตรีมเมอร์เกม World of Warcraft เช่น Asmongold ที่มีผู้ติดตาม 2.2 ล้านคนบน Twitch หันมาเล่น FFXIV แล้วเกิดติดใจ เล่นต่อมาเรื่อยๆ ทำให้คนดูหันมาสนใจ FF XIV มากขึ้น ที่มา - IGN
# YouTube เปิดฟีเจอร์ YouTube Shorts วิดีโอสั้นคล้าย TikTok ในไทยแบบเบต้าแล้ว YouTube ประกาศเปิดใช้งาน YouTube Shorts เวอร์ชั่นเบต้าในประเทศไทยแล้ว เป็นฟีเจอร์โพสต์คลิปสั้นคล้าย TikTok ที่ผู้ใช้จะสามารถบันทึกวิดีโอ ความยาว 60 วินาที ตัดต่อเข้ากับคลิปอื่นจากแกลลอรี ใส่ตัวหนังสือ ใส่ฟิลเตอร์ และนำเพลงจากวิดีโอ Shorts หรือวิดีโออื่นๆ บน Youtube มาประกอบคลิป โดยเจ้าของคลิปจะสามารถเลือก เปิด-ปิด ให้วิดีโอของตัวเองถูกนำไป remix ต่อหรือไม่ก็ได้ Youtube ระบุว่า YouTube Shorts ปัจจุบันมียอดการรับชมถึง 6.5 พันล้านวิวต่อวันทั่วโลก ปัจจุบันระบบโฆษณาของ Shorts ยังอยู่ในขั้นทดลอง ครีเอเตอร์จึงยังทำรายได้จากโฆษณาไม่ได้ แต่ Youtube ตั้งกองทุน YouTube Shorts Fund มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อแบ่งจ่ายค่าตอบแทนให้ครีเอเตอร์ที่สร้างออริจินัลคอนเทนต์ที่มียอดเอนเกจเมนต์และยอดวิวมากที่สุดในเดือนนั้นแทน Youtube ระบุว่า Shorts เวอร์ชั่นเบต้าเริ่มทยอยเปิดให้ใช้งานแล้วทั่วโลก แต่ยังไม่ระบุว่าจะเป็นเวอร์ชั่นเต็มเมื่อไร ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์
# [IDC] ความต้องการยังสูง ยอดขายพีซีไตรมาส 2/2021 ทะลุ 83.6 ล้านเครื่อง แชมป์คือ Lenovo IDC บริษัทวิจัยตลาดรายงานภาพรวมตลาดพีซี ประจำไตรมาส 2 ปี 2021 จำนวนทั้งสิ้น 83.6 ล้านเครื่อง ภาพรวมตลาดโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 13.2% โดยแชมป์ยังคงเป็น Lenovo กินส่วนแบ่ง 23.9% ตามด้วย HP, Dell, Apple และ Acer ที่ 22.2%, 16.4%, 7.4% และ 7.3% ตามลำดับ ตัวเลขสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการพีซียังสูง และบริษัทยังสามารถส่งมอบได้มากขึ้นท่ามกลางปัญหาขนส่งและชิปขาดตลาด และนอกเหนือจาก 5 แบรนด์หลักแล้ว IDC ยังมองเห็นแบรนด์อื่นที่ผลิตสินค้าด้วยการนำเสนอดีไซน์แบบเฉพาะกลุ่มหรือ niche ออกมาให้เห็นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม การเติบโตเริ่มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเติบโตในไตรมาสแรกปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 55.9% (การเติบโตปีต่อปี) เพราะผ่านช่วงที่มีความต้องการซื้อหนักๆ มาแล้ว ที่มา - IDC
# Gmail เริ่มแสดงโลโก้ขององค์กรผู้ส่งอีเมล ต้องยืนยันตัวตนผ่านมาตรฐาน BIMI ก่อน Gmail ประกาศใช้ฟีเจอร์แสดงภาพโพรไฟล์ผู้ส่งเมล Brand Indicators for Message Identification (BIMI) อย่างเป็นทางการ หลังเริ่มทดสอบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว BIMI เป็นมาตรฐานกลางสำหรับการยืนยันตัวตนของผู้ส่งอีเมล เพื่อให้แสดงภาพโพรไฟล์ของแบรนด์ (เช่น โลโก้องค์กร) โดยไม่ต้องกังวลว่าเป็น phishing หลอกให้ผู้ใช้เชื่อว่าเป็นแบรนด์นั้น หน่วยงานผู้ส่งอีเมลจะต้องยืนยันตัวตนผ่านวิธี Policy Framework (SPF) หรือ Domain Keys Identified Mail (DKIM) ที่ใช้กันอยู่แล้วในวงการอีเมลเพื่อป้องกันการส่งสแปม จากนั้นก็ต้องขอยืนยันการเป็นเจ้าของโลโก้ผ่านกระบวนการ Verified Mark Certificate (VMC) อีกทีหนึ่ง เมื่อตรวจสอบทุกอย่างผ่านแล้ว Gmail ก็จะเริ่มแสดงภาพโพรไฟล์ของแบรนด์ในตำแหน่งอวตาร-ไอคอนประจำตัวผู้ส่งอีเมล นอกจาก Gmail แล้ว มีบริการอีเมลตัวอื่นๆ ที่เข้าร่วมสนับสนุน BIMI เช่น Fastmail, Mailchimp, SendGrid เป็นต้น ที่มา - Google
# Space Jam: A New Legacy สุ่มแจกการ์ด NFT โปรโมตหนัง กว่า 91,980 ชิ้น NFT หรืองานศิลปะที่ขายพร้อมโทเค่นคริปโตระบุความเป็นเจ้าของ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด Space Jam: A New Legacy ภาคใหม่ของหนังที่นำลูนี่ย์ทูนมาแข่งบาสกับคนจริงอีกครั้ง เตรียมแจก NFT ในรูปแบบการ์ด กว่า 91,980 ชิ้นบนเว็บไซต์ Nifty’s สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มขาย NFT จากไมอามี่ ผู้ใช้จะได้รับ NFT แบบสุ่มหนึ่งชิ้นจากการลงทะเบียนเว็บไซต์ Nifty’s จนกว่าของจะหมด ซึ่งขณะเขียนมีผู้รับไปแล้ว 75,594 จาก 91,980 ชิ้น รับเพิ่มได้อีกหนึ่งชิ้นเมื่อแชร์แคมเปญโปรโมตนี้บนโซเชียล หลังจากนั้นซื้อได้ในราคาชิ้นละ 2.99 ดอลลาร์ NFT จากเรื่อง Space Jam ภาคใหม่จะมีภาพตัวละคร 8 ตัวจาก Looney Tunes ร่วมกับ LeBron James นักบาสชื่อดังที่รับบทนำ มีทั้งการ์ดแบบ 2D และ 3D และมีห้าระดับความหายาก โดยระดับหายากที่สุด “Legendary” มีจำนวนจำกัดเพียง 10 ชิ้นเท่านั้น (ผู้เขียนคาดว่าการ์ด LeBron James ระดับ Legendary น่าจะเป็นที่ต้องการมากที่สุด) ระดับความหายาก Common, Uncommom, Rare, Epic และ Legendary Nifty’s ทำงานอยู่บนเชน Palm ของ Palm NFT Studio ที่มี Joseph Lubin หนึ่งในผู้สร้าง Ethereum และ ConsenSys ร่วมก่อตั้ง Palm เป็น sidechain ของ Ethereum ใช้ระบบ Proof of Authority ทำงานโดยมี node ที่ Palm ตั้งเป็น validator คอยยืนยันการแลกเปลี่ยน ซึ่งแม้จะค่อนข้าง centralised แต่ค่าแก๊สต่ำ ทำงานเร็ว และกินพลังงานน้อยกว่าระบบ Proof of Work ปัจจุบันของ Ethereum ถึง 99% และ Palm ก็ระบุว่ามีแผนเปลี่ยนไปเป็นระบบ Layer 2 ของ Ethereum ในอนาคต Nifty’s มีฟีเจอร์ Playlist ที่ให้ผู้ใช้รวม NFT ในหมวดต่างๆ ที่ตัวเองสนใจมาโชว์ได้ แม้จะเป็นเจ้าของ NFT นั้นหรือไม่ก็ตาม คล้ายกับแอปฟังเพลงต่างๆ ปัจจุบันอยู่ในช่วงเริ่มต้นหาผู้ใช้ และจะเปิดให้ผู้ใช้ตั้งประมูล NFT ของตัวเองได้ โดยคิดค่าธรรมเนียม 3% ในอนาคต ดีลระหว่าง Nifty’s กับ Space Jam ภาคใหม่นี้น่าจะเป็นดีลแบบวิน-วิน ที่ฝั่ง Space Jam: A new Legacy ก็ได้โปรโมตหนังด้วย NFT ส่วน Nifty’s ก็ได้ผู้ใช้ใหม่จากชื่อเสียงของหนัง ส่วน NFT จากหนังจะถูกนำมาประมูลในอนาคตหรือไม่ และทำราคาได้เท่าไร คงต้องติดตามกันต่อไป ที่มา - Variety
# อยากให้คนใช้เยอะกว่านี้ กูเกิลทำแบนเนอร์โปรโมทแอป Google Lens ตามเว็บไซต์ต่างๆ Google Lens แอปพลิเคชั่นระบุและทำความเข้าใจจากรูปภาพ มีความสามารถหลากหลาย ผู้ใช้งานสามารถส่องกล้องมือถือกับป้าย กระดาษ เพื่อแปลภาษา ทำได้แม้กระทั่งแก้โจทย์เลขให้ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้งานมากเท่าที่หวังไว้ กูเกิลจึงเริ่มโปรโมท Google Lens ตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อดึงดูดให้คนมาใช้งานมากขึ้น รูปแบบการโปรโมทเป็นรูปแบบแบนเนอร์ มาพร้อมแท็กไลน์ “Explore the world around you with Google Lens” หรือ สำรวจโลกรอบตัวคุณด้วย Google Lens นอกจากนี้ Google Lens ยังเพิ่มความสามารถค้นหารูปถ่ายในเครื่องระหว่างใช้งาน Google Lens ได้ง่าย มองเห็นคลังรูปภาพในเครื่องไปด้วยในตัว การโปรโมทเกิดขึ้นหลังจากที่แอปเปิลเตรียมเปิดตัวฟีเจอร์ที่คล้ายๆ กันนี้ใน iOS 15 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หรือฟีเจอร์ Live Text ภาพประกอบจาก กูเกิล ที่มา - Android Police, 9to5Google
# เกม Super Mario 64 สภาพดีเยี่ยม ถูกประมูล 1.56 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตลาดนักสะสมเกมเก่า เป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีนักสะสมเงินหนา พร้อมทุ่มเงินให้กับของที่ตัวเองต้องการในระดับราคาหลายล้านบาท หลังก่อนหน้านี้เครื่อง Wii ทองคำที่ THQ พยายามส่งให้พระราชินีอังกฤษ ถูกนำมาขายใน eBay ในราคา 300,000 ดอลลาร์ หรือราว 9.8 ล้านบาท (แม้ยังขายไม่ออก) ล่าสุดเกม Super Mario 64 แบบยังไม่แกะ คะแนนประเมินสภาพ 9.8A++ ก็ถูกประมูลไปในราคาถึง 1.56 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 51 ล้านบาท ทำลายสถิติวิดีโอเกมเดี่ยวที่มีราคาประมูลสูงสุด หลังก่อนหน้านี้เกม The Legend of Zelda ทำสถิติไปด้วยราคา 870,000 ดอลลาร์ Super Mario 64 กล่องนี้พิเศษตรงที่ได้คะแนน 9.8A++ จาก Wata Games ผู้ประเมินสภาพที่ได้รับความเชื่อถือในวงการเกมเก่า ซึ่งคะแนน 9.8A++ เรียกได้ว่าแทบจะเป็นคะแนนสูงสุดแล้ว เพราะ Wata Games ระบุว่าคะแนนเต็ม 10 มีไว้ให้เกมที่ไม่ใช่แค่สภาพดี แต่ต้องถูกผลิตมาแบบสมบูรณ์แบบ ไร้ตำหนิด้วย *ภาพจาก Heritage Auctions อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และคนในวงการเกมเก่าหลายคนก็ยังรู้สึกว่าราคา 1.56 ล้านดอลลาร์นี้สูงเกินไป เพราะมีSuper Mario 64 อีกกล่องที่ได้คะแนน 9.4A++ ถูกประมูลไปพร้อมกันในราคา 28,800 ดอลลาร์เท่านั้น และเมื่อเดือนมกราคม เกมอีกกล่องที่ได้คะแนน 9.4A+ ก็ถูกประมูลไปในราคา 38,400 ดอลลาร์ นักวิเคราะห์มองว่าราคาที่ต่างกันเป็นล้านดอลลาร์ จากคะแนนห่างกันแค่ 0.4 คะแนน ดูสูงเกินไป และตั้งข้อสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หรือมีนักประมูลที่ตั้งใจทำให้ราคาเฟ้อหรือไม่ แต่ก็ไม่มีใครคาดเดาเหตุผลจริงได้ เพราะข้อมูลของผู้ชนะประมูลถูกปิดเป็นความลับ ผู้จัดการประมูล Heritage Auctions ชี้แจงกับ Kotaku ภายหลังว่าราคาเคาะขายจริงอยู่ที่ 1.3 ล้านดอลลาร์ ส่วน 1.56 ล้านดอลลาร์เป็นราคารวมค่าธรรมเนียมการประมูล 20% และผู้ประมูลทุกคนถูกคัดกรองมาอย่างดีตั้งแต่ก่อนประมูลแล้ว ที่มา - Kotaku
# Jim Whitehurst อดีตซีอีโอ Red Hat ยอมรับ ลาออกจาก IBM เพราะอยากเป็นซีอีโอที่อื่น เมื่อต้นเดือนนี้ มีข่าว Jim Whitehurst อดีตซีอีโอ Red Hat ลาออกจาก IBM หลังควบกิจการมาได้ 14 เดือน สร้างความแปลกใจให้หลายคน Whitehurst เป็นแกนหลักสำคัญในการขาย Red Hat ให้ IBM และหลังควบกิจการเสร็จ เขาเข้ามารับตำแหน่งเป็นประธานบริษัท (president) ของ IBM ถือเป็นเบอร์สองของบริษัท ในขณะที่ IBM แต่งตั้งลูกหม้อ Arvind Krishna เป็นซีอีโอคนใหม่ ล่าสุด Whitehurst ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า สาเหตุที่เขาลาออกจาก IBM ก็เป็นอย่างที่หลายคนคาดกัน เป็นเพราะเขาไม่มีโอกาสได้ขึ้นเป็นซีอีโอของ IBM นั่นเอง จึงลาออกเพื่อจะไปเป็นซีอีโอของ "ที่ไหนสักแห่ง" ซึ่งคงต้องรอดูกันว่าจะเป็นที่ไหน Whitehurst ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในการปั้น Red Hat ขึ้นมายิ่งใหญ่ และถูกคาดการณ์ว่าจะได้เป็นซีอีโอของ IBM ในอนาคต แต่บอร์ด IBM กลับเลือก Arvind Krishna ที่เป็นคนในมารับตำแหน่งแทน ทำให้ Whitehurst ยอมนั่งเป็นเบอร์สองอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จนมั่นใจว่ากระบวนการควบรวม Red Hat เป็นไปด้วยดี ถึงประกาศลาออก ที่มา - ZDNet
# กูเกิลเตรียมปล่อย Google Drive for Desktop ตัวใหม่ เลิกใช้แอพ Backup & Sync ของเดิม กูเกิลประกาศปล่อยอัพเดตแอพ Google Drive for Desktop ตัวใหม่ ตามที่ประกาศไว้ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า (coming weeks) ทั้งบนวินโดวส์และแมค เดิมทีกูเกิลมีแอพเดสก์ท็อปของ Google Drive อยู่ 2 ตัว (ให้สับสนเล่นๆ) คือ Backup & Sync (ผู้ใช้ทั่วไป) และ Drive File Stream สำหรับผู้ใช้องค์กร แถมยังมีฟีเจอร์ไม่เท่ากันด้วย แผนการล่าสุดของกูเกิลคือรวมแอพ 2 ตัวให้เป็นตัวเดียว โดยใช้ Drive File Sync เป็นฐาน แล้วเพิ่มฟีเจอร์ฝั่งผู้ใช้เข้ามา เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Google Drive for Desktop ผู้ใช้แอพ Backup and Sync จะได้รับคำแจ้งเตือนให้ดาวน์โหลดแอพตัวใหม่ในเร็วๆ นี้ และกูเกิลแนะนำให้ย้ายแอพภายในเดือนกันยายน 2021 ที่มา - Google
# Microsoft ซื้อกิจการ RiskIQ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ Cybersecurity สำหรับ Hybrid Work ไมโครซอฟท์ประกาศบรรลุข้อตกลงเพื่อซื้อกิจการ RiskIQ ผู้พัฒนาระบบตรวจสอบความปลอดภัยบนคลาวด์ ดีลดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยมูลค่า แต่ Bloomberg อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่าอยู่ที่ราว 500 ล้านดอลลาร์ Eric Doerr รองประธานด้านความปลอดภัยบนคลาวด์ของไมโครซอฟท์กล่าวว่า องค์กรเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลกันมากขึ้น บนแนวคิด Zero Trust มีผลทั้งระดับแอพพลิเคชัน โครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงระดับ IoT ทั้งในคลาวด์และไฮบริดคลาวด์ การตรวจสอบความปลอดภัยในทุกระดับจึงมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทีมงานของ RiskIQ จะเข้ามาร่วมทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยของไมโครซอฟท์ ที่มา: ไมโครซอฟท์ และ RiskIQ
# [ลือ] Broadcom กำลังเจรจาซื้อกิจการ SAS Institute มูลค่าดีล 1.5-2 หมื่นล้านดอลลาร์ The Wall Street Journal รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า Broadcom อยู่ในขั้นตอนการพูดคุยเพื่อซื้อกิจการ SAS Institute บริษัทซอฟต์แวร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยดีลคาดว่ามีมูลค่าราว 15,000-20,000 ล้านดอลลาร์ และน่าจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์นี้ SAS เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่เน้นลูกค้าระดับองค์กร ปัจจุบันมีพนักงานราว 12,000 คนทั่วโลก และ Jim Goodnight กับ John Sall ผู้ก่อตั้งยังคงเป็นผู้บริหารถึงปัจจุบัน แนวโน้มการซื้อกิจการของ Broadcom ในช่วงหลังจะเน้นไปที่บริษัทซอฟต์แวร์องค์กรมากขึ้น แม้ธุรกิจหลักบริษัทจะเป็นเซมิคอนดักเตอร์ ทั้ง Symantec และ CA Technologies ที่มา: WSJ
# NIST วางการทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นต่ำ: รันเทสอัตโนมัติ, ใช้โปรแกรมตรวจสอบโค้ด NIST ประกาศแนวปฎิบัติสำหรับการทดสอบซอฟต์แวร์ขั้นต่ำ (Guidelines on Minimum Standards for Developer Verification of Software) ตามคำสั่งของรัฐบาลโจ ไบเดนที่ให้ NIST วางแนวทางที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยไซเบอร์ แม้จะเป็นคำสั่งสำหรับเพิ่มความปลอดภัยไซเบอร์ แต่แนวทางปฎิบัติของ NIST ก็เป็นแนวทางสำหรับกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดี โดยกำนหนดเงื่อนไขการพัฒนาซอฟต์แวร์ไว้หลายอย่าง เช่น ใช้ระบบรันเทสอัตโนมัติ ที่อาจจะเป็นแค่สคริปต์ง่ายๆ แต่การรันอัตโนมัติก็ทำให้รันเทสได้บ่อย เคสทดสอบซอฟต์แวร์ควรครอบคลุมโค้ด (code coverage) เกิน 80% ใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์โค้ด (static analysis) เครื่องมือวิเคราะห์โค้ด เพื่อหาบั๊กเพิ่มเติม ใช้ซอฟต์แวร์ค้นหา รหัสผ่านและกุญแจต่างๆ ที่อาจจะเผลอฝังอยู่ในซอร์สโค้ด รันตัวทดสอบที่สร้างอินพุตแบบสุ่ม (fuzzer) หากเป็นเว็บใช้ซอฟต์แวร์สแกนเว็บด้วย คำแนะนำยังระบุให้เปิดใช้ฟีเจอร์ความปลอดภัยของภาษาและคอมไพล์เลอร์ เช่น GCC มีฟีเจอร์เพิ่มความปลอดภัยหน่วยความจำหลายตัวในช่วงหลัง รวมถึงใช้ซอฟต์แวร์ในกลุ่ม lint เพื่อหาบั๊กเพิ่มเติม นอกจากตัวซอฟต์แวร์หลักที่กำลังพัฒนาแล้ว เอกสารยังระบุว่าไลบรารี, แพ็กเกจซอฟต์แวร์, และบริการอื่นๆ ในโครงการก็ควรมีมาตรฐานการทดสอบที่เท่าเทียมกัน เอกสารนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดเอกสารจากคำสั่งของโจ ไบเดน โดยเอกสารฉบับแรกคือการนิยามซอฟต์แวร์สำคัญยิ่งยวด เอกสารต่อๆ ไปในชุดที่กำลังออกมาได้แก่ แนวทางการปรับปรุงความปลอดภัยซอฟต์แวร์, แนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์ IoT, และเอกสารเพิ่มเติมอื่นๆ คาดว่าจะเสร็จทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคมปี 2022 โดยตอนนี้เอกสารทั้งหมดยังเป็นแนวปฎิบัติโดยสมัครใจ หลังจากเอกสารทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์แล้วฝ่ายบริหารสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับบังคับให้หน่วยงานรัฐซื้อซอฟต์แวร์ที่ทำตามแนวปฎิบัติเหล่านี้แล้วเท่านั้น ที่มา - NIST
# กูเกิลเปิดตัว Android Game Development Kit ชุดซอฟต์แวร์พัฒนาเกมบนแอนดรอยด์ด้วย Visual Studio กูเกิลเปิดชุดซอฟต์แวร์ Android Game Development Kit (AGDK) ชุดเครื่องมือที่รวมเครื่องมือย่อยๆ อีกหลายตัวเพื่อให้นักพัฒนาเกมสามารถพัฒนาเกมบนแอนดรอยด์ได้ง่ายขึ้น ชุดพัฒนาประกอบไปด้วยส่วนขยายสำหรับ Visual Studio ที่นักพัฒนาเกมใช้งานเป็นหลักอยู่แล้ว, ไลบรารี Game Activity สำหรับการเชื่อมเกมเข้ากับแอนดรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นอินพุตผ่านคอนโทรลเลอร์หรือการรับข้อความ, ชุดปรับแต่งประสิทธิภาพ ตรวจสอบการทำงานจีพียูและระยะเวลาที่ใช้โหลดเกมหรือประสิทธิภาพในการรัน เครื่องมือทั้งหมดเปิดให้ดาวน์โหลดแล้ววันนี้ ที่มา - YouTube: Android Developers
# Nintendo ร่วมกับ TAG Heuer เตรียมเปิดตัวนาฬิกาหรูคอลเลคชั่น Super Mario Nintendo ร่วมมือกับ TAG Heuer ผู้ผลิตนาฬิกาหรู เตรียมเปิดตัวคอลเลคชั่นนาฬิกาธีม Super Mario สำหรับงานเปิดตัว TAG Heuer x Super Mario ผู้ใช้สามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของ TAG Heuer ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด เนื่องจากบนเว็บไซต์นับเวลาถอยหลังไปวันที่ 15 กรกฎาคม เวลา 10 นาฬิกาตามเขตเวลา ET แต่ในทวิตเตอร์ @TAGHeuer ระบุว่าเป็นวันที่ 13 กรกฎาคม ผู้สนใจสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่ tagheuer.com ที่มา - The Verge
# [Reuters] จากการสอบสวนผูกขาด Tencent Music จะไม่สามารถเซ็นสัญญาค่ายเพลงนำเพลงมาใช้ผู้เดียวได้ ต่อจากประเด็นหน่วยกำกับดูแลจีนระงับแผน Tencent ในการควบรวมสตรีมมิ่งเกม Huya, DouYu ล่าสุด Tencent Music ก็ไม่รอด Reuters รายงานว่าหน่วยงานกำกับดูแลการตลาดแห่งรัฐ (SAMR) Tencent Music ระงับการเซ็นสัญญากับค่ายเพลงโดยใช้เพลงแบบเอ็กซ์คลูซีฟ SAMR สั่งปรับ 500,000 หยวน (77,150 ดอลลาร์สหรัฐ)โทษฐานรายงานผิดพลาดเรื่องซื้อกิจการสองบริษัทเพลงคือ Kuwo และ Kugou ซึ่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา SAMR ตั้งเป้าปรับ Tencent Holdings อย่างน้อย 1 หมื่นล้านหยวน และขายบริษัททั้งสองออกด้วยซ้ำ แต่บริษัทออกมาวิ่งเต้นเพื่อขอผ่อนปรน คำสั่งดังกล่าวทำให้ Tencent Music ไม่สามารถเซ็นสัญญาใช้เพลงกับค่ายเพลงใดอีกต่อไปได้ ที่ผ่านมา Tencent Holdings ได้ทำสัญญาลิขสิทธิ์กับค่ายเพลงใหญ่ๆ อย่าง Universal Music Group, Sony Music Group และ Warner Music ส่งผลให้บริษัทเป็นเจ้าของสิทธิ์ในการสตรีมเพลงจำนวนมาก จนกลายเป็นประเด็นให้ SAMR เข้ามาสอบสวนในปี 2018 และบริษัทตกลงที่จะไม่ต่อสัญญาลิขสิทธิ์เพลง Tencent Music มีบริการหลักเกี่ยวกับเพลงอยู่ 4 แอป ได้แก่ QQ Music, Kugou Music, Kuwo Music และ WeSing ที่มา - Reuters
# Windows 11 รองรับแอพหลายแพลตฟอร์ม ฝันของไมโครซอฟท์ปี 2015 ที่เพิ่งเป็นจริง ข่าวใหญ่ของวงการระบบปฏิบัติการในรอบเดือนที่ผ่านมาคือ การเปิดตัว Windows 11 ซึ่งเป็น Windows เวอร์ชันใหม่ของไมโครซอฟท์ในรอบ 6 ปี (Windows 10 เปิดตัวปี 2015) ของใหม่ใน Windows 11 แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ UI ที่เปลี่ยนไปจากเดิมพอสมควร, ฟีเจอร์ด้านเล่นเกมที่ดึงมาจาก Xbox และ Microsoft Store ตัวใหม่ที่เปิดรับแอพหลายประเภท ที่ฮือฮาคือรองรับ Android ผ่าน Amazon Appstore การที่ Windows 11 เปิดกว้างรับแอพหลากหลายกว่าเดิมอาจเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น แต่จริงๆ แล้วไอเดียนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2015 แล้วล้มเหลวมายาวนาน ก่อนจะมาสำเร็จสักทีในปี 2021 ย้อนอดีต Universal Windows Platform Bridges ไมโครซอฟท์เคยประกาศวิสัยทัศน์นี้ไว้ในงาน Microsoft Build 2015 ซึ่งเป็นปีที่เปิดตัว Windows 10 ว่าจะแก้ปัญหา "แอพน้อย" ของแพลตฟอร์ม Windows ด้วยโครงการชื่อ Universal Windows Platform Bridges (UWPB) ที่ประกอบด้วย 4 โครงการย่อยคือ Project Astoria (Android) Project Islandwood (iOS) Project Centennials (.NET/Win32) Project Westminster (Web) น่าเสียดายว่า ผลลัพธ์สุดท้ายของโครงการทั้ง 4 ตัวคือ ล้มเหลวทั้งหมด เหตุผลหลักที่โครงการ UWPB ล่มสลายลงในเวลาไม่นาน ก็มาจากชื่อและแนวคิดของมันคือ ต้องการนำแอพจากแพลตฟอร์มอื่นๆ แปลงมาเป็น Universal Windows Platform (UWP) ที่ไมโครซอฟท์ตั้งเป้าให้เป็นแพลตฟอร์มร่วมของ Windows 10 (พีซี) และ Windows 10 Mobile (มือถือ) เพื่อแก้ปัญหาแพลตฟอร์ไม่มีแอพใช้งานเท่ากับคู่แข่ง แต่ตัว UWP เองประสบปัญหาทางเทคนิคมากมาย (ตัว API ไม่พร้อม) และไมโครซอฟท์ก็ยอมตัดใจจากตลาดมือถือในปี 2017 (Windows 10 Mobile เวอร์ชันใหญ่ตัวสุดท้ายคือ v1709) ในขณะที่ฝั่งพีซีที่สามารถรันแอพ Win32 แบบเดิมได้อยู่ ทำให้ไม่ค่อยมีนักพัฒนาสนใจทำแอพแบบ UWP สักเท่าไรนัก ความจำเป็นของโครงการ UWPB จึงไม่มีอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ไอเดียของโครงการเหล่านี้ยังคงอยู่ในใจของไมโครซอฟท์เสมอ ทำให้เราได้เห็นการนำ Android, .NET/Win32 และเว็บแอพ มารันบน Windows 11 อย่างจริงจังอีกครั้ง (ด้วยวิธีที่ต่างจากเดิมในอีก 6 ปีให้หลัง) มีเพียงแค่ไอเดียของแอพ iOS เท่านั้นที่หายไปเลย บทความนี้จะพาย้อนดูรายละเอียดของโครงการต่างๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างทาง และมันกลายร่างมาเป็นอะไรใน Windows 11 Project Astoria ชะตากรรม: ถูกยกเลิก แล้วกลับมาเกิดใหม่ Windows Subsystem for Android Project Astoria คือการนำแอพ Android มารันบน UWP (หลักๆ คือบนมือถือ) แนวทางของไมโครซอฟท์จะคล้ายกับ Amazon Fire OS (หรือ Huawei HMS ในยุคถัดมา) คือออกไลบรารีกลางมาใช้ทดแทน Google Mobile Services อย่างไรก็ตาม Project Astoria เป็นโครงการแรกที่ถูกไมโครซอฟท์ฆ่าทิ้งในปี 2016 ด้วยเหตุผลว่า โครงการคล้ายกับ Project Islandwood (iOS) เกินไป แอพบน iOS/Android ก็ตัวเดียวกัน ดังนั้นไมโครซอฟท์จึงเลือกพอร์ตโค้ดจากฝั่ง iOS (เนทีฟ) มารันบน Windows Mobile (เนทีฟ) เพียงตัวเดียวพอ ถ้าเปิดทางเลือกให้พอร์ตโค้ดจาก Android (รันบน VM คือ Dalvik/ART) นักพัฒนาย่อมสับสนว่าควรพอร์ตจากไหนดี (แต่สุดท้ายก็ไม่ต้องพอร์ตจากอะไรเลยเพราะ Windows 10 Mobile เจ๊งไปก่อน ?) ไอเดียของ Project Astoria กลับมาอีกครั้งในปี 2021 ด้วยวิธีที่ต่างออกไป นั่นคือ เปลี่ยนมารันแบบเนทีฟด้วย Windows Subsystem for Android ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนพัฒนา Windows Subsystem for Linux (WSL) มาตั้งแต่ปี 2016 และใช้เวลาบ่มเพาะมายาวนานกว่าจะใช้งานได้จริง Project Islandwood ชะตากรรม: กลายเป็นโครงการโอเพนซอร์ส WinObjC ที่สุดท้ายหยุดพัฒนาไป หาก Project Astoria ถูกไมโครซอฟท์ฆ่าทิ้ง ในทางกลับกัน Project Islandwood ก็เดินหน้าต่อและผลิดอกออกผล โครงการถูกพัฒนาต่อเนื่องมาอีก 2-3 ปีจนกลายมาเป็นชื่ออย่างเป็นทางการ Windows Bridge for iOS Project (ชื่อสั้นๆ คือ WinObjC ซึ่งเปิดเป็นโอเพนซอร์สบน GitHub ด้วย) เป้าหมายของ Islandwood คือการนำแอพ (เน้นที่เกม) จาก iOS มารันบนแพลตฟอร์ม UWP โดยแปลงการเรียก API ของ iOS มาเป็น API ของ Windows แทน โครงการไปได้สวยในระดับหนึ่ง มีชุมชนนักพัฒนาบน Github จริงจัง มีการวางแผน Roadmap ชัดเจน น่าเสียดายว่าโครงการแม่คือ Windows 10 Mobile ล่มสลายไปก่อน ทำให้ WinObjC หยุดพัฒนาไปด้วย (commit ครั้งสุดท้ายบน GitHub คือเดือนมกราคม 2020) ไอเดียของ Project Islandwood ไม่ถูกนำกลับมาใน Windows 11 ด้วยเหตุผลแบบเดียวกับ Astoria แต่กลับด้านกัน คือไมโครซอฟท์มี Windows Subsystem for Android ในการนำแอพมือถือมารันบน Windows 11 อยู่แล้ว จึงไม่ต้องหาวิธีย้ายแอพมือถือจาก iOS มาอีกให้ซ้ำซ้อน Project Centennial ชะตากรรม: กลายร่างมาเป็น Project Reunion กรณีของ Astoria/Islandwood คือการนำแอพมือถือจากค่ายคู่แข่ง Android/iOS มารันบน Windows 10 Mobile แต่กรณีของ Centennial นั้นต่างไป มันคือการนำแอพในจักรวาลไมโครซอฟท์เดิม (.NET/Win32) มาอยู่ในร่างใหม่ที่ทันสมัยขึ้น (UWP ณ เวลานั้น) เพื่อมารันบน Windows 10 ผ่าน Store (ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือ Desktop Bridge) โครงการ Centennial ไม่ได้ตายจากเราไป 100% แต่ก็ไม่มีคนใช้เยอะนัก (ด้วยข้อจำกัดของแพลตฟอร์ม UWP เอง) สุดท้ายไมโครซอฟท์ก็วิวัฒนาการมันไปเป็น Project Reunion ที่เปิดตัวในปี 2020 ที่คิดไปไกลกว่าการนำ .NET/Win32 มาเป็น UWP เพราะเปลี่ยนวิธีคิดมาเป็นการรวม API ของทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันแทน ปัจจุบัน Project Reunion ได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Windows App SDK และเป็นแกนกลางสำคัญของการพัฒนาแอพมาลง Windows 11 ด้วย Project Westminster ชะตากรรม: มาก่อนกาล เบราว์เซอร์ไม่พร้อม กลับมาใหม่อีกครั้งตามกระแส PWA แนวคิดของ Project Westminster ค่อนข้างตรงไปตรงมา ดูแล้วทำได้ง่ายในทางทฤษฎี มันคือการนำเว็บแอพมาจัดแพ็กเกจแล้วส่งขึ้น Store โดยอาจเชื่อมกับ API บางอย่างของ Windows (เช่น notification) ให้หรูหราขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันไม่ง่ายนัก จากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น กระแส Progressive Web App (PWA) ในตอนนั้นยังเพิ่งเริ่มต้น ตอนนั้นไมโครซอฟท์ยังเรียกว่า Hosted Web App อยู่เลยด้วยซ้ำ เอนจินเรนเดอร์เว็บของ Windows 10 ในปี 2015 คือ EdgeHTML ของ Microsoft Edge ตัวเดิม (Spartan) ที่พัฒนามาจากเอนจิน Trident ของ IE อีกต่อหนึ่ง เอาเข้าจริง นักพัฒนาสายเว็บก็ไม่ได้แคร์ Windows Store มากนัก เข้าเว็บตรงๆ ก็ได้นี่นา ผลคือ Project Westminster ไม่ค่อยมีใครใช้งาน ที่ไมโครซอฟท์นำมาโชว์ในปี 2016 มีเพียง Yahoo Mail และ Shazam ทำให้ไมโครซอฟท์เจอความจริงว่า นักพัฒนาเว็บส่วนใหญ่ไม่สนใจปรับเว็บ (ไม่ต้องถึงขั้นเว็บแอพเลยด้วยซ้ำ) ของตัวเองให้ทำงานได้ 100% บน Edge หรือ EdgeHTML มากนัก เพราะส่วนแบ่งตลาดน้อยจนไม่สำคัญ จนสุดท้าย ในปี 2019 ไมโครซอฟท์ถึงตัดสินใจช็อคโลก เปลี่ยนเอนจินมาเป็น Chromium แทน ทำให้ข้อจำกัดนี้หมดไป นักพัฒนาเว็บแอพไม่ต้องทำอะไรเลยก็ใช้งานกับ Edge ตัวใหม่ได้ทันที การเปลี่ยนผ่านเอนจินแสดงผลต้องใช้เวลาพอสมควร ไมโครซอฟท์เพิ่งเปิดตัว WebView2 ที่เป็น Chromium ในปี 2020 และมันจะถูกผนวกเข้ากับ Windows 11 เป็นรุ่นแรกด้วย (WebView2 สามารถบันเดิลไปกับแอพได้ถ้าต้องการ ย้อนไปใช้ได้ถึง Windows 7 แต่ถ้าจะเอาแบบดีฟอลต์ การันตีว่าเปิดได้ทันที ต้องรออัพเกรดเป็น Windows 11) ส่วนการส่งเว็บแอพขึ้น Store ไมโครซอฟท์เพิ่งเปิดตัวเครื่องมือ PWA Builder เวอร์ชันใหม่พร้อม Windows 11 นี้เอง และยังมีเว็บแอพเพียงไม่กี่ตัวที่ใช้กระบวนการนี้ทำแอพขึ้น Store เช่น Twitter/Facebook ซึ่งก็ต้องค่อยๆ รอความนิยมเพิ่มขึ้นตามระยะเวลากันต่อไป ความฝันเดิมที่มาช้าไปสักหน่อย แต่ก็มาแล้ว จะเห็นว่าวิสัยทัศน์ของ Universal Windows Platform Bridge (UWPB) ที่ต้องการนำแอพจากแพลตฟอร์มต่างๆ มาสู่ Windows เป็นสิ่งที่ยังคงเป็นจริงอยู่ในระยะยาว แต่จังหวะเวลาในตอนแรกผิดไป และไมโครซอฟท์ต้องใช้เวลานานถึง 6 ปีกว่าจะทำให้วิสัยทัศน์เหล่านี้เป็นจริง เหตุผลข้อแรกเป็นเรื่องของขอบเขต (scope) อย่างที่เขียนไปข้างต้นแล้วว่าไอเดียของ UWPB เกิดขึ้นมาบนกรอบคิด Universal Windows Platform (UWP) เขียนแอพครั้งเดียวใช้ได้ทั้งบนพีซีและมือถือ ซึ่งอยู่บนสมมติฐานว่าการผสาน 2 แพลตฟอร์ม ช่วยให้ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง เมื่อเวลาผ่านไป ไมโครซอฟท์พ่ายแพ้ในตลาดมือถืออย่างหมดรูป ต้องถอนตัวออกมาอย่างเจ็บปวด แต่ตลาดพีซียังแข็งแกร่ง ไมโครซอฟท์จึงกลับมาจัดทัพใหม่ให้ศูนย์กลางอยู่ที่พีซี กลับมาผลักดันคนรักเก่าอย่าง Win32 ที่อยู่ยืนยง แล้วปรับวิธีนำเสนอให้ทันสมัยขึ้นผ่าน Microsoft Store ตัวใหม่และ Project Reunion ทั้งหมดนี้เป็นการลดเป้าหมายของ UWP เดิมลงมาเหลือเพียงแพลตฟอร์มเดียว เป้าเล็กลง ทะเยอทะยานน้อยลง แต่ชัดขึ้น และเป็นจริงได้มากกว่า เหตุผลข้อที่สองเป็นเรื่องของกรอบเวลา (timing) แผนการ UWPB ของไมโครซอฟท์ตอนแรกอาจคิดน้อยไปหน่อย เมื่อเวลาผ่านมา 6 ปี เราจะเห็นว่ากว่าความฝันแต่ละอย่างจะเป็นจริงได้ ต้องผ่านการลงทุนเชิงโครงสร้างที่ใช้เวลาและทรัพยากรมหาศาล แนวคิดแอพ Android ต้องผ่านการลงทุน Windows Subsystem for Linux ก่อน แนวคิดแอพ .NET/Win32 ต้องผ่านการยกเครื่อง .NET ใหม่, เขียน UI Framework ตัวใหม่ MAUI (มาจากการซื้อ Xamarin), ยอมทิ้ง UWP แบบเดิมก่อน แนวคิดเว็บแอพ ต้องเปลี่ยนเอนจินเบราว์เซอร์ใหม่หมดก่อน จะเห็นว่าทั้ง 3 ข้อถือเป็น "งานช้าง" ที่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ดังนั้นฝันเดิมในปี 2015 จะมาช้าไปหน่อย มองย้อนกลับไปแล้วคงไม่น่าแปลกใจนัก ที่เหลือคงอยู่ที่ว่า ไมโครซอฟท์กลับไปทำการบ้านมาครั้งใหญ่ ปูทางมาให้ขนาดนี้แล้ว นักพัฒนาจะยอมทำแอพมาลง Windows 11 ตามแนวทางเหล่านี้หรือไม่ ก็คงต้องพิสูจน์กันหลัง Windows 11 ออกตัวจริงไปสักพัก อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การหลอมรวมแอพจากหลายแพลตฟอร์มเป็นสิ่งที่คู่แข่งของไมโครซอฟท์ก็ทำเหมือนกัน ดังที่เราเห็นได้จากการนำแอพ iOS มารันบน macOS หรือถ้าเทียบให้ตรงกว่าคือ Chrome OS ที่เริ่มต้นมาจากเว็บแอพ ตอนนี้รองรับแอพจากลินุกซ์ แอนดรอยด์ และล่าสุดคือ วินโดวส์ (ผ่าน virtualization) นั่นเท่ากับว่าในปี 2021 เรามีระบบปฏิบัติการสองตัว (Windows 11 และ Chrome OS) ที่มาจาก 2 สุดปลาย แต่สุดท้ายรันแอพจาก 4 แพลตฟอร์มคือ เว็บ ลินุกซ์ แอนดรอยด์ Windows ได้พอๆ กัน (แม้วิธีการคนละอย่าง) สงครามชิงความเป็นเจ้าเดสก์ท็อปที่เงียบไปนานนับสิบปี กำลังจะกลับมาดุเดือดใหม่อีกครั้ง
# VS Code 1.58 แสดงผล Terminal ใน Editor ได้แล้ว จัดวางตำแหน่งได้อิสระ ปลายเดือนที่แล้ว ไมโครซอฟท์ออก Visual Studio Code เวอร์ชัน 1.58 ตามรอบการออกทุกสิ้นเดือน การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือเปิด Terminal ในพื้นที่ Editor (ตัวแก้โค้ด) ได้แล้ว จากเดิมที่ต้องเปิด Terminal ที่ครึ่งล่างของหน้าจอเท่านั้น ผลของฟีเจอร์นี้ทำให้เราสามารถแสดงผล grid layout ที่ประกอบด้วย Editor และ Terminal แบบไหนก็ได้อย่างอิสระ ของใหม่อื่นๆ ได้แก่ Workplace Trust ฟีเจอร์เรื่องความน่าเชื่อถือของแหล่งโค้ด ที่เพิ่มมาใน 1.57 รองรับการตั้งค่าที่ละเอียดขึ้น Settings Editor ตัวแก้ไขไฟล์คอนฟิก แสดงผลค่าแบบ Boolean เป็น checkbox เพิ่มการตั้งค่า scrollbar ของ Editor อีกหลายอย่าง เช่น ความหนา คลิกแล้วให้กระโดดทีละหน้าหรือย้ายตำแหน่งตามที่คลิก ตัวแสดงผล Markdown รองรับการวาดสมการคณิตศาสตร์จาก KaTex ที่มา - VS Code
# เชิญร่วมสัมมนากลยุทธ์การให้บริการลูกค้าในยุค New Normal การทำงานในยุค New Normal กลายเป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจต้องเจออย่างไม่คาดคิดในปีที่ผ่านมา ที่ผ่านมาธุรกิจอาจจะอาศัยการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์วันต่อวันเพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่หลังจากนี้ค่อนข้างแน่ชัดว่าการทำธุรกิจจำนวนหนึ่งจะกลายเป็นรูปแบบออนไลน์ และลูกค้าของธุรกิจก็คาดหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ด้วยประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับการช่วยเหลือแบบเจอหน้ากันให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ขณะเดียวกันงานหลายๆ อย่างที่ต้องไปแก้ปัญหาให้ลูกค้าที่หน้างานก็ต้องมีเครื่องมือเพื่อให้ผู้ปฎิบัติงานมีข้อมูลที่ครบถ้วน สามารถแก้ไขปัญหาตรงหน้าได้อย่างสมบูรณ์พร้อมๆ กับการดูแลความปลอดภัยของพนักงาน การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมช่วยสร้างโอกาสให้ธุรกิจหลายอย่าง การทำงานหลายอย่างที่เคยต้องให้พนักงานเดินทางไปหาลูกค้าสามารถให้บริการออนไลน์ทดแทนได้สมบูรณ์หรือดียิ่งกว่า, ลูกค้าอาจจะขอใช้บริการแบบบริการตนเอง (self-service) ได้ทันที, บริษัทสามารถจัดสรรพนักงานไปยังไซต์งานลูกค้าได้ในเวลาอันรวดเร็ว, และพนักงานสามารถแก้ไขปัญหาโดยใช้เวลาสั้นลงพร้อมกับสามารถประสานงานกับ ทีมงานหลังบ้าน ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ Salesforce ช่วยธุรกิจทั่วโลกปรับกระบวนการทำงานของพนักงานผ่านบริการ Salesforce Field Service ทำให้ฝ่ายบริการกลายเป็นส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับองค์กร และตอนนี้ Salesforce กำลังจะจัดสัมมนาออนไลน์ “เจาะกลยุทธ์พลิกโฉมการให้บริการ เพื่อตอบรับยุค New Normal” นำเสนอข้อมูลเชิงลึกถึงการเตรียมความพร้อมพนักงานให้สามารถส่งมอบงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในงานจะมีการแชร์ถึงประสบการณ์ในแง่ต่างๆ เช่น การเตรียมความพร้อมพนักงานให้แก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางการแจกจ่ายงานตามความสามารถพนักงานอย่างเหมาะสม แนวทางการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจรับมือกับโลกยุคดิจิทัล การใช้งานแพลตฟอร์มบูรณาการ (integrated platform) เพื่อยกระดับการให้บริการ งานสัมมนาจะมีขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ลงทะเบียนเพื่อจองที่นั่งได้แล้ววันนี้ทางเว็บ Salesforce และหากอยากรู้ว่าแต่ละองค์กรปรับตัวอย่างไรในช่วงที่มีการแพร่ระบาด Salesforce มีรายงานสำรวจผู้เชี่ยวชาญกว่า 7,000 คนทั่วโลก สำรวจว่า เหตุใดองค์กรด้านบริการที่มีโครงสร้างเน้นความคล่องตัวนั้น สามารถอยู่รอดได้ และมีความได้เปรียบทางธุรกิจแม้ว่าจะอยู่ในช่วงโรคระบาด สามารถเข้าไป ดาวน์โหลดอ่านกันได้ที่นี่ เพื่อให้มองเห็นภาพรวม ติดอาวุธให้องค์กรนำไปสร้างกลยุทธ์ต่อในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนได้
# PodSwap สตาร์ทอัพรับเปลี่ยนแบต AirPods ตัดราคาแอปเปิล ช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ AirPods หูฟังของ Apple ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสะดวกในการใช้งาน แต่กลับไม่สะดวกเท่าไรเมื่อมีอายุหลายปี ผู้ใช้หลายคนพบว่าความจุแบตเตอรี่ลดลงจาก 4-5 ชั่วโมง เหลือเพียงชั่วโมงเดียวบางครั้งก็ไม่ถึงชั่วโมงโดยผู้ใช้ไม่มีทางเปลี่ยนแบตเตอรี่ด้วยตัวเอง ปัจจุบันถ้าผู้ใช้นำหูฟังแบตเตอรี่เสื่อมเข้าศูนย์ Apple ก็จะได้หูฟังใหม่ให้แทน โดยมีค่าใช้จ่าย 98 ดอลลาร์ (เปลี่ยนข้างเดียวได้) แม้จะถูกกว่าซื้อใหม่ในราคา 159 ดอลลาร์ แต่ก็ยังมีราคาแพง และ Apple ก็จะนำหูฟังเก่าไปรีไซเคิลแม้จะนำชิ้นส่วนหลายชิ้นมาใช้ใหม่ได้ ทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ดี PodSwap บริษัทสตาร์ทอัพในไมอามี่ ที่ก่อตั้งโดย Emma Stritzinger และ Emily Alpert ช่วงปลายปี 2020 ให้บริการเปลี่ยน AirPods ทั้งสองข้าง ในราคา 59 ดอลลาร์ โดย PodSwap จะส่ง AirPods ที่มาจากผู้ใช้คนอื่น แต่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแบต ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคเรียบร้อยแล้ว ไปให้ผู้ใช้บริการ ส่วนผู้ใช้บริการก็ต้องส่งหูฟังคู่เก่าของตัวเอง กลับมาเข้ากระบวนการเปลี่ยนแบตและทำความสะอาด เตรียมส่งต่อให้ผู้ใช้คนอื่นต่อไป Emily Alpert หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ระบุว่ากระบวนการเปลี่ยนแบต เป็นผลจากการลองผิดลองถูกหลายครั้ง มีการใช้ทั้งแรงคนและหุ่นยนต์ร่วมกัน เพราะ AirPods แต่ละชิ้น อาจมีการประกอบที่แตกต่างกันเล็กน้อย ทำให้กระบวนการเปลี่ยนแบตมีความซับซ้อนสูงมาก แต่ PodSwap ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง โดย Kif Leswing จาก CNBC ที่ทดลองใช้บริการ PodSwap พบปัญหาเล็กน้อยในครั้งแรกที่ใช้งาน โดยเขาได้หูฟัง Gen1 และ Gen2 มาอย่างละข้าง แต่เมื่อแจ้ง PodSwap ไป บริษัทก็ส่งหูฟังมาให้ใหม่ และเขาก็ส่งหูฟังที่ได้มาผิด พร้อมกับหูฟังของเขากลับคืนไป ภาพการแกะหูฟัง AirPods 2 จาก iFixit ปัญหาช่างภายนอกไม่สามารถซ่อมแซมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ๆ ได้นับเป็นปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ในสหรัฐฯ มีความพยายามผลักดันสิทธิ์การซ่อม (right to repair) โดยโจ ไบเดน ก็เพิ่งสั่งให้ FTC ร่างกฎ right to repair เพื่อลดการผูกขาดการซ่อมแซมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสนับสนุนให้บริษัทออกแบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถซ่อมได้ง่ายขึ้น เพื่อยืดอายุการใช้งาน และลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต แต่หนทางของกฎนี้ยังยาวไกล พร้อมทั้งอาจเจอแรงต้านจากบริษัทต่างๆ ได้ แม้ PodSwap จะยังมีจุดขลุกขลักอยู่บ้าง และกฎ right to repair อาจใช้เวลานานกว่าร่างจะเสร็จและถูกนำไปบังคับใช้จริง แต่สิทธิ์ในการซ่อมของผู้บริโภคที่ยืดหยุ่นขึ้น และอนาคตที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการซ่อมของผู้บริโภคและช่างอิสระมากขึ้น ก็ดูจะสดใสขึ้นเรื่อยๆ ที่มา - CNBC
# MFEC ผนึก IBM เดินหน้าสนับสนุนองค์กรไทยสู่ก้าวย่าง Digital Transformation เอ็มเฟคจับมือไอบีเอ็ม ส่งโซลูชันไฮบริดคลาวด์ ดาต้า และเอไอ ช่วยองค์กรรับมือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน พร้อมเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพธุรกิจท่ามกลางวิถีใหม่ยุคโควิด-ดิสรัปชัน นายธนกร ชาลี (Chief Operating Officer) บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเฟค (MFEC) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในงานวางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายงานสารสนเทศอย่างครบวงจร เปิดเผยว่า เอ็มเฟคในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) ของไอบีเอ็ม ได้ร่วมกับไอบีเอ็มในการนำเสนอโซลูชันเพื่อการรับมือกับยุคการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วหรือดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน (Digital Transformation) และวิถีใหม่ท่ามกลางการแพร่ระบาดไวรัสโควิด–19 (Covid Disruption) ที่ทำให้องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว “ทางเราจะมุ่งเน้นเข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าคลาวด์ที่ลูกค้ามีอยู่แล้ว และนำข้อมูลของลูกค้ามาก่อให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจให้มากขึ้น ซึ่งทางไอบีเอ็มมีเทคโนโลยีคลาวด์ ดาต้าและเอไอที่แข็งแกร่ง คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มสถาบันการเงินและองค์กรขนาดใหญ่เป็นอย่างดี” ด้านนางสิริกร บุญเสริมสุวงศ์ Partner Ecosystem Leader บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เอ็มเฟคเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของไอบีเอ็มมาอย่างยาวนาน วันนี้ไอบีเอ็มพร้อมเดินหน้าสนับสนุนเอ็มเฟคในการนำโซลูชันระดับโลกเข้าเสริมประสิทธิภาพและขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจในประเทศไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและสังคม โซลูชันของไอบีเอ็มที่เอ็มเฟคได้นำเสนอสู่องค์กรธุรกิจในประเทศไทย ประกอบด้วยกลุ่มไฮบริดคลาวด์ และกลุ่มดาต้า-เอไอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ โซลูชันไฮบริดคลาวด์ Cloud Pak for Integration (CP4I) เป็นโซลูชันที่มุ่งเน้นการผสานการทำงานของแอพพลิเคชันและการรับ-ส่งข้อมูลเข้าด้วยกัน เป็นรูปแบบของการอินทริเกรชันที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเชื่อมต่อและบริหารจัดการข้อมูลที่ต้องใช้งาน ผ่านระบบต่างๆ ภายในองค์กรได้อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างคล่องตัวและสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน การทำงานบน Enterprise Container Platform ทำให้ IBM Cloud Pak for Integration สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำอินทริเกรชันระบบไปได้ราว 33% ในขณะที่ความเร็วในการอินทริเกรชันเพิ่มเป็น 3 เท่า โซลูชัน Cloud Pak for Watson AIOps นำ Watson ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเอไอระดับโลกของไอบีเอ็ม เข้ามาช่วยจัดการ-ดูแลระบบ Application และ Mobile Application ให้พร้อมให้บริการได้ตลอดเวลา โดยมีเอไอเป็นผู้ช่วยในการแจ้งเตือนปัญหาที่จะเกิดขึ้น แนะนำแนวทางในการแก้ปัญหา ช่วยลดความเสียหายจากเหตุบริการหยุดชะงัก นอกจากนี้ Watson ยังช่วยตรวจสอบช่องโหว่ที่เกิดขึ้นใน Application และช่วยสอดส่องควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น CPU, Memory หรือ Disk ที่ไม่ถูกใช้งาน ให้องค์กรมั่นใจว่าทุกๆ การขายหรือการให้บริการ Application จะเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า โซลูชันด้านดาต้า-เอไอ โซลูชัน Modernized Data Platform ช่วยจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้สูงสุด ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ (Data Integration) และการจัดการข้อมูลที่มีความซ้ำซ้อนให้เป็นข้อมูลที่มีคุณภาพพร้อมใช้งาน (Data Cleansing) เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และออกรายงานที่ปรับแต่งให้เข้าใจได้ง่าย สร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ โซลูชัน Data Governance for PDPA กำกับดูแลข้อมูลทั่วไปและข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว (Sensitive Personal Data) เอื้อให้กำหนดนโยบายการเข้าถึงข้อมูล ออกแบบการค้นหาข้อมูล พร้อมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่จัดเก็บได้ โดยมุ่งเน้นการบริหารและจัดการข้อมูลเพื่อรองรับการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างไม่สะดุด ล่าสุดเอ็มเฟคเตรียมร่วมมือกับไอบีเอ็มจัดสัมมนาออนไลน์ให้ความรู้เกี่ยวกับโซลูชันเหล่านี้ ตั้งเป้าองค์กรเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 50 ราย เกี่ยวกับบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเฟค (MFEC) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 เพื่อประกอบธุรกิจบริการให้คำปรึกษา พัฒนา และวางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายงานเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับ บริษัทวิสาหกิจทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ บริษัทฯ มุ่งเน้นให้บริการลูกค้าในกลุ่มวิสาหกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้นำอุตสาหกรรมที่มีความต้องการงานบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสูง เช่น กลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม สถาบันการเงิน, อุตสาหกรรมการผลิต รัฐวิสาหกิจและสาธารณูปโภค และบริการทางการแพทย์ ขอบเขตการบริการครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษา การพัฒนา และวางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสารสนเทศแอปพลิเคชันทางธุรกิจและบริหารองค์กร โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาที่เน้นการพัฒนาโซลูชันจากประสบการณ์ในกลุ่ม อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.mfec.co.th หรืออีเมล [email protected] โทร 02-821-7999 สนใจโซลูชันจาก IBM ติดต่อทีมงาน MFEC ได้ทันที สำหรับผู้ที่สนใจโซลูชันใด ๆ ของ IBM สามารถติดต่อทีมงาน MFEC เพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอคำปรึกษาได้ทันทีผ่านช่องทางดังนี้ อีเมล: [email protected] โทร: 02-821-7999 ข้อมูลเพิ่มเติม www.mfec.co.th
# “ไข่แมว” ลงขายงานศิลปะ NFT บน OpenSea ราคาเริ่มต้น 0.3 ETH ราว 21,000 บาท ไข่แมว ศิลปินภาพการ์ตูนแนวเสียดสีสังคม ลงขายงานศิลปะแบบ NFT (Non-Fungible Token) หรืองานศิลปะดิจิทัลที่มีโทเค่นเอกลักษณ์แนบไปด้วย เพื่อเป็นเครื่องหมายระบุความเป็นเจ้าของบนบล็อคเชน งานศิลปะของไข่แมวลงขายบนเว็บไซต์ OpenSea เว็บไซต์ตลาดซื้อขาย NFT บนเครือข่าย Ethereum ในราคาชิ้นละ 0.3 ETH หรือราว 21,000 บาท ภาพที่นำออกขายในครั้งแรกมีจำนวนถึง 31 ภาพ แต่มีภาพหนึ่งเป็นเพียงกรอบ 4 ช่องเปล่าๆ โดยไข่แมวโพสต์แชร์บน Facebook งานศิลปะแบบ NFT มีคุณค่าสำหรับนักสะสม เพราะสามารถระบุความเป็นเจ้าของที่ไม่สามารถปลอมแปลงหรือทำซ้ำได้ โดยตัวศิลปินจะปล่อยโทเค็นออกมาจำกัด แม้ตัวไฟล์งานศิลปะจะสามารถทำสำเนาไปดูได้ก็ตาม ที่มา - ไข่แมว
# ทวิตเตอร์แต่งตั้งผู้รับเรื่องร้องเรียนในอินเดีย เพื่อทำตามคำขอรัฐบาลได้ไวตามกฎหมายไอทีใหม่ จากประเด็นอินเดียออกกฎควบคุมเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียเข้มงวดขึ้น บังคับบริษัทโซเชียลต้องดำเนินการตามคำขอทางกฎหมายอย่างรวดเร็ว เพื่อลบโพสต์และเปิดเผยว่าเนื้อหามาจากไหน ซึ่งกดดันบริษัทโซเชียลมีเดียอย่างมาก ล่าสุด ทวิตเตอร์ ยอมทำตามกฎใหม่ แต่งตั้ง Vinay Prakash หรือผู้ที่จะมารับเรื่องร้องเรียนเพื่อปฏิบัติตามกฎไอทีใหม่ในประเทศ บังคับต้องเป็นคนที่อาศัยในอินเดียเท่านั้น และต้องจัดทำ "รายงานเพื่อความโปร่งใส" เกี่ยวกับการจัดการข้อร้องเรียนจากผู้ใช้ในอินเดียระหว่างวันที่ 26 พ.ค.-25 มิ.ย. 2021 ตามข้อกำหนดอื่นภายใต้กฎหมายไอทีฉบับใหม่ด้วย ภาพจาก About Twitter ความตึงเครียดระหว่างทวิตเตอร์และรัฐบาลอินเดียเพิ่มขึ้นในปีนี้ นับตั้งแต่มีการประท้วงโดยกลุ่มเกษตรกร และมีหลายบัญชีที่รัฐบาลอยากให้ลบออก ซึ่งทวิตเตอร์ยอมลบให้บางบัญชี หลังจากนั้น อินเดียก็ได้แนะนำกฎไอทีฉบับใหม่ที่บริษัทโซเชียลแต่งตั้งบุคคลสามตำแหน่งคือ เจ้าหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่จะรับรองว่าบริษัทของตนปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ที่จะจัดการกับข้อร้องเรียนจากผู้ใช้ชาวอินเดียเกี่ยวกับแพลตฟอร์มของตน และบุคคลติดต่อที่ต้องพร้อมให้บริการแก่รัฐบาลตลอดเวลา ซึ่งทวิตเตอร์แต่งตั้งแล้ว ส่วนกูเกิลระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ และ เฟซบุ๊กคาดว่าจะทำตามเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทโซเชียลแสดงความกังวลต่อกฎใหม่อินเดีย ออกแถลงการณ์ว่ากฎใหม่เป็นภัยต่อเสรีภาพการพูด WhatsApp ของเฟซบุ๊ก ถึงกับฟ้องรัฐบาลอินเดียกลับด้วย ที่มา - Reuters, India Express, CNN
# Ubisoft ยอมรับ บริษัทยังมีปัญหาเหยียดเพศ เหยียดสีผิว Ubisoft ประสบปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมในที่ทำงาน จนทำให้ผู้บริหารหลายรายต้องลาออก ตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว จน Yves Guillemot ต้องทำวิดีโอขอโทษ และระบุจะแก้ปัญหา การเหยียดเพศ เหยียดสีผิว พฤติกรรมไม่เหมาะสม และเพิ่มความหลากหลายในที่ทำงานให้ดีขึ้น ล่าสุด Ubisoft ยอมรับถึงปัญหานี้อีกครั้งใน Universal Registration Document รายงานประจำปี 2021 เกี่ยวกับสภาวะภายใน และงบการเงินของบริษัท ที่เผยแพร่เป็นสาธารณะ หัวข้อปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับพนักงาน (หน้า 32-34) ระบุว่าบริษัทยังมีปัญหาสภาพแวดล้อมในที่ทำงานอยู่ และจัดระดับความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่สามารถรักษาพนักงานเดิม และดึงดูดพนักงานใหม่เข้ามาสู่บริษัทได้ อยู่ที่ระดับ “สูง” โดยระบุถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพนักงาน ทั้งการล่วงละเมิด เหยียดเพศ เหยียดสีผิว และชี้ถึงเหตุการณ์ช่วงกลางเดือนมิถุนายน ปี 2020 ที่บริษัทถูกเปิดเผยพฤติกรรมเหล่านี้ ว่าอาจเป็นความเสี่ยงในการดึงดูดพนักงานใหม่ เอกสารยังระบุถึงการพยายามแก้ไข เช่น การจัดอบรมเกี่ยวกับพฤติกรรมคุกคามและเหยียดเพศ รวมไปถึงการตั้งตำแหน่งใหม่ VP of Global Diversity and Inclusion เพื่อมาดูแลด้านความหลากหลายและเท่าเทียมในบริษัท แต่ก็ทิ้งท้ายว่ามาตรการเหล่านี้ ไม่การันตีว่าพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยงต่อบริษัทเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก แม้แต่ข่าวล่าสุดของเกม Assassin's Creed Infinity ก็ยังมีประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดในที่ทำงาน เพราะทีมงานระดับสูงหลายคนของโปรเจกต์ใหม่นี้ เป็นคนเดียวกับที่เคยมีปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสม แม้ Ubisoft จะบอกว่าพนักงานเหล่านี้ผ่านการสอบสวนภายในอย่างถูกต้องแล้ว แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นพนักงานคนอื่น คงต้องติดตามว่า Ubisoft จะแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวอย่างไร ที่มา - Ubisoft
# [Reuters] Tencent งานเข้า หน่วยกำกับดูแลจีนระงับแผนควบรวมสตรีมมิ่งเกม Huya, DouYu Reuters รายงานว่าหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีนจะระงับแผนการควบรวมของ Tencent กับสตรีมมิ่งเกมสองแห่งคือ Huya, DouYu ที่ Tencent ประกาศไว้เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากเข้าข่ายครอบงำตลาด โดย Tencent เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Huya ด้วยสัดส่วน 36.9% และยังเป็นเจ้าของมากกว่าหนึ่งในสามของ DouYu ทั้งสองบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาและมีมูลค่าตลาดรวมกัน 5.3 พันล้านดอลลาร์ Huya, DouYu เป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 และ 2 ที่คนจีนนิยมใช้ดูเกมสตรีมสด และงานอีสปอร์ตต่างๆ หน่วยกำกับดูแลตลาด หรือ State Administration of Market Regulation (SAMR) กล่าวว่าส่วนแบ่งการตลาดสตรีมมิ่งเกมของ Huya และ DouYu รวมกันมากกว่า 70% การควบรวมจะยิ่งทำให้ Tencent แข็งแกร่งขึ้นไปอีก และตัวบริษัทก็มีส่วนแบ่งตลาดเกมออนไลน์มากกว่า 40% แล้ว Tencent และ DouYu กล่าวในแถลงการณ์ว่าจะปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบทั้งหมด ส่วน Huya ยังไม่ออกมาพูดอะไร บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ในจีนถูกจับตามองจากรัฐบาลจีนหนักหน่วง โดยเฉพาะประเด็นผูกขาด ก่อนหน้านี้อาลีบาบาถูกสั่งปรับ 2.75 พันล้านจากการผูกขาดตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่มา - Reuters
# พูดเร็วทำเร็ว Foxconn/TSMC เซ็นสัญญาซื้อวัคซีน Pfizer เรียบร้อย คาดเริ่มส่งมอบสิ้นเดือนกันยายน Foxconn และ TSMC แถลงว่าเจรจาซื้อวัคซีน COVID-19 จาก Pfizer เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยลงนามซื้อผ่าน Shanghai Fosun Pharmaceutical Group ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของ BioNTech ในภูมิภาค สัญญาซื้อวัคซีนทั้งหมด 10 ล้านโดส รวมมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท สองบริษัทแบ่งกันจ่ายคนละครึ่ง แก้ไข: เวอร์ชั่นแรกของบทความนี้ระบุว่าเป็นการสั่งซื้อ 20 ล้านโดส เมื่อตรวจสอบพบว่ายอดรวมสองบริษัทคือ 10 ล้านโดส วัคซีนทั้งหมดจะมาจากโรงงานของ BioNTech ในเยอรมัน คาดว่าจะเริ่มส่งมอบได้ภายใต้สิ้นเดือนกันยายน แต่ทาง Fosun ก็เตือนว่ากำหนดการที่แท้จริงนั้นขึ้นกับเงื่อนไขอีกหลายอย่าง ก่อนหน้านี้รัฐบาลไต้หวันระบุว่าเคยพยายามซื้อวัคซีนจาก Pfizer แล้วแต่ถูกรัฐบาลจีนเข้าแทรกแซง จนท้ายที่สุดรัฐบาลแต่งตั้งบริษัทเอกชนให้ไปเจรจาซื้อวัคซีนแทน อย่างไรก็ดี Terry Gou ผู้ก่อตั้ง Foxconn ระบุว่าไม่มีการแทรกแซงจากจีนแต่อย่างใด ไต้หวันมีอัตราการฉีดวัคซีนในช่วงต้นค่อนข้างช้า แต่หลังจากได้รับวัคซีนจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็มีอัตราการฉีดวัคซีนที่เร็วขึ้นมาก สัปดาห์ที่ผ่านมามีอัตราการฉีดต่อประชากรแซงหน้าประเทศไทยไปแล้วอยู่ที่ 13.79% เทียบกับไทย 13.08% ที่มา - Nikkei Asian Review
# อินเทลเตรียมตั้งโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ในยุโรป วงเงินลงทุน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ Pat Gelsinger ซีอีโออินเทล ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ถึงแผนการขยายโรงงานผลิตชิปในยุโรป ว่าจะลงทุนเป็นเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ตอนนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะตั้งที่ประเทศไหน แต่อาจอยู่ในหลายประเทศได้ เช่น ผลิตที่ประเทศหนึ่ง และประกอบแพ็กเกจในอีกประเทศ ส่วนประเทศที่เล็งไว้คือเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม เบื้องต้น อินเทลมีแผนตั้งโรงงาน 2 โรงบนพื้นที่เดียวกันก่อน (มูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์) และอาจลงทุนเพิ่มขยายเป็น 8 โรงในระยะยาว อินเทลบอกว่าจะพยายามมองเป็น ecosystem ของยุโรปทั้งทวีป ไม่ใช่การตั้งโรงงานที่ไม่เกี่ยวข้องกันในแต่ละประเทศ ปัจจัยที่พิจารณามีทั้งเรื่องที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรบุคคล รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลแต่ละประเทศด้วย ซึ่ง Pat Gelsinger ก็เดินสายพบประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีอิตาลีเพื่อเจรจาในเรื่องนี้แล้ว นอกจากแผนการตั้งโรงงานในยุโรปแล้ว อินเทลยังมีแผนการสร้างโรงงานใหม่ 2 โรงในสหรัฐอเมริกา (มูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์) และการขยายโรงงานเดิมในไอร์แลนด์ (มูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวในการรับมือการแข่งขันจาก TSMC และซัมซุง ภาพการขยายโรงงานที่ไอร์แลนด์ของอินเทล ที่มา - Financial Times
# มิตรภาพลูกผู้ชาย Elon Musk อวยพร Richard Branson ถึงบ้าน ก่อนออกสู่อวกาศ แม้บริษัทอวกาศของทั้งสองเป็นคู่แข่งกันโดยตรง แต่มิตรภาพระหว่างผู้นำก็เกิดขึ้นได้ โดย Elon Musk ไปอวยพร Richard Branson ถึงบ้าน ในช่วงเช้าก่อน Richard จะขึ้นบินเที่ยวบินประวัติศาสตร์ของยาน VSS Unity ของ Virgin Galactic บริษัทอวกาศที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ โดย Branson ทวิตภาพคู่กับ Elon พร้อมแคปชั่น “ดีจังที่ได้เริ่มยามเช้ากับเพื่อนสักคน” Branson เล่าในช่วงแถลงข่าวหลังจบเที่ยวบินประวัติศาสตร์ว่า Elon มาหาเขาถึงในครัวตั้งแต่ตีสามเพื่ออวยพรให้ทริปเป็นไปด้วยดี โดยตัว Branson นอนจนตื่นมาแล้วเรียบร้อยแล้ว ส่วน Elon นั้นยังไม่ได้นอน นอกจากนี้ในบทสัมภาษณ์กับ Sunday Times ตัว Branson ยังเล่าอีกว่า Elon จองตั๋วเที่ยวบินสู่อวกาศกับ Virgin Galactic ไว้แล้ว และวันนึงเขาเองอาจจะไปนั่งจรวดของ Elon บ้าง ส่วน Blue Origin บริษัทอวกาศของ Jeff Bezos ที่เตรียมนั่งยาน New Shepard ขึ้นอวกาศวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ก็ทวิตแซะ Virgin Galactic เล็กน้อย ว่า VSS Unity ขึ้นไปที่ความสูงแค่ 86 กิโลเมตร แต่ยาน New Shepard ของ Blue Origin จะบินเหนือเส้น Kármán line ที่ความสูง 100 กิโลเมตรจากผิวโลก และบอกอีกว่าประชากร 96% ของโลก มีความเห็นว่าถ้าจะเรียกว่าไปอวกาศได้จริงๆ ต้องข้ามเส้น Kármán line การแข่งขันเพื่อมุ่งสู่อวกาศรอบนี้ เปลี่ยนจากระหว่างชาติมหาอำนาจ มาเป็นการแข่งขันระหว่างมหาเศรษฐีแทน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ และแม้นักบินอวกาศอย่าง Neil Armstrong เองก็เคยกังขาการบินอวกาศแบบพาณิชย์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันครั้งนี้เป็นการผลักดันเทคโนโลยีอวกาศแบบก้าวกระโดด และอาจเป็นอีกความหวังในการอยู่รอดของมนุษยชาติ ที่มา - Neowin, The Times
# หนัง Black Widow ทำรายได้เฉพาะบน Disney+ ไปแล้วเกือบ 2 พันล้านบาท Black Widow หนังมาร์เวลล่าสุดที่ลงฉายทั้งในโรงภาพยนตร์และบน Disney+ พร้อมกัน โดยใช้วิธีการเช่าดูราคา 30 ดอลลาร์ ราว 978 บาท ผ่านช่องทาง Disney Plus Premier Access ล่าสุด ดิสนีย์ออกมาประกาศว่า ตัวหนังสร้างรายได้เฉพาะบน Disney+ ไป 60 ล้านดอลลาร์หรือเกือบ 2 พันล้านบาท ส่วนช่องทางโรงภาพยนตร์ในสหรัฐฯ ตัวหนังสร้างรายได้ไป 80 ล้านดอลลาร์และ 78 ล้านดอลลาร์จากโรงหนังทั่วโลก รวมแล้ว Black Widow สร้างรายได้จากสัปดาห์แรกไปแล้ว 218 ล้านดอลลาร์ และตัวเลขนี้ยังไม่รวมในประเทศจีนซึ่งยังไม่ลงฉาย นอกจาก Black Widow แล้วยังมี Cruella และ Raya and the Last Dragon ที่ฉายในโรงและ Disney+ พร้อมกัน แต่ทางดิสนีย์ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขการรับชม Black Widow เองก็เลื่อนฉายมาหลายครั้งเนื่องจากโรคระบาด แต่ก็สามารถทำรายได้ดีและกอบกู้สถานการณ์ที่อุตสาหกรรมโรงหนังต้องเจอมาตลอดในช่วง 1-2 ปีนี้ ที่มา - Variety, Gizmodo
# TED Talks งานพูดสร้างแรงบันดาลใจทำอีเว้นท์พูดลง Clubhouse ดำเนินรายการทุกสัปดาห์ TED หรืองานพูดสร้างแรงบันดาลใจ ประกาศร่วมมือกับ Clubhouse นำเนื้อหารายการมาลง Clubhouse โดยเนื้อหาตอนแรกคือ Thank Your Ass Off จะเริ่มในวันที่ 12 กรกฎาคมและดำเนินการทุกสัปดาห์ และจะมีรายการใหม่หรือห้องใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วยในอนาคต ภายใต้ความร่วมมือนี้ TED สามารถขายหรือประชาสัมพันธ์โฆษณาได้ โดย Clubhouse จะไม่หักส่วนแบ่ง และเปิดโอกาสให้ TED มีส่วนร่วมกับคนฟังในการตอบคำถามบน Clubhouse TED ประสบความสำเร็จในแง่ความนิยม จากการเปิดตัว TED Audio Collective หรือเนื้อหาในรูปแบบพอดแคสต์ TED บอกว่ามีคนดาวน์โหลดฟังวันละ 1.65 ล้านครั้ง Spotify บอกด้วยว่าเนื้อหาของ TED ได้รับความนิยมอันดับสองในปี 2020 การร่วมมือกับ Clubhouse ช่วยดึงดูดผู้ใช้ให้อยู่บนแพลตฟอร์ม สู้กับรายใหญ่อื่นที่เริ่มทำห้องคุยเสียงมาแข่งกับตนเองอย่าง Spaces ของทวิตเตอร์เป็นต้น ที่มา - The Verge
# Richard Branson ขึ้นสัมผัสอวกาศบนยาน VSS Unity สำเร็จ Virgin Galactic ส่งผู้โดยสาร 6 คนขึ้นไปกับยาน VSS Unity ที่ระดับความสูงใต้ระดับวงโคจร (sub-orbital) เป็นผลสำเร็จ โดยรอบนี้มีความพิเศษคือ Richard Branson ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Virgin เป็นผู้โดยสารขึ้นไปด้วย ยาน VSS Unity เป็นยานที่นำส่งด้วยเครื่องบินเป็นขั้นแรกที่ระดับความสูงประมาณ 15 กิโลเมตร จากนั้นยานอาศัยเครื่องยนต์บนยานเองขึ้นไปสู่ความสูงระดับ 86 กิโลเมตรซึ่งเกินระดับ 80 กิโลเมตรที่ถือว่าเป็นอวกาศ เที่ยวบินนี้กินเวลาทั้งหมดเพียง 40 นาที และผู้โดยสารทั้งหมดได้สัมผัสสภาพไร้น้ำหนักเป็นช่วงเวลาสั้นๆ Virgin Galactic เป็นบริษัทอวกาศที่เน้นการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ค่าโดยสารอยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์หรือประมาณ 8 ล้านบาทต่อเที่ยว เทียบกับ Blue Origin ที่จับตลาดเดียวกัน ยังไม่ประกาศราคาแน่ชัด แต่ที่นั่งเที่ยวบินแรกที่ขายตั๋วมีคนประมูลไปถึง 28 ล้านดอลลาร์ (900 ล้านบาท) Blue Origin มีกำหนดบินพร้อมผู้โดยสารครั้งแรกวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ โดย Jeff Bezos จะขึ้นบินด้วย พร้อมผู้ชนะการประมูลตั๋วใบแรก ที่ผ่านมา Blue Origin สามารถขึ้นไปถึงความสูงเกิน 100 กิโลเมตร ที่มา - YouTube: Virgin Galactic ภาพภายในห้องโดยสารยาน VSS Unity ในสภาพไร้น้ำหนัก โดย Virgin Galactic
# กูเกิลปล่อยชุดพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับทดสอบเกม อาศัยเลียนแบบการเล่นจากมนุษย์ กูเกิลปล่อยโครงการ Falken ชุดซอฟต์แวร์สำหรับพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อเล่นเกมในการทดสอบ ลดการพึ่งพาคนทดสอบคุณภาพเกม กระบวนการพัฒนาเกมทุกวันนี้นอกจากต้องอาศัยนักพัฒนาเป็นจำนวนมากแล้ว เกมที่ซับซ้อนขึ้นก็ทำให้ต้องอาศัยผู้ทดสอบจำนวนมาก ทดสอบเกมซ้ำๆ ในแต่ละรอบของการพัฒนาเป็นเวลานา แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญญาประดิษฐ์เล่นเกมอยู่แล้วจำนวนมาก งานวิจัยที่ผ่านมามักเน้นไปที่การสร้างปัญญาประดิษฐ์ให้เล่นเกมอย่างเก่งกาจ โดยอาศัยการฝึกเล่นซ้ำๆ เพื่อให้ได้คะแนนสูงสุด (reinforcement learning - RL) ซึ่งต้องอาศัยการฝึกเป็นเวลานานใช้รอบการเล่นมหาศาล แต่สำหรับการทดสอบเกมนั้นนักพัฒนาไม่ต้องการปัญญาประดิษฐ์ที่เล่นเกมเก่ง เพียงแค่เล่นให้เหมือนคนก็เพียงพอ กูเกิลเสนอให้ใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบเลียนแบบ (imitation learning - IL) ที่จะมองการเล่นของนักพัฒนาแล้วพยายามเลียนแบบตาม หาพบจุดผิดพลาดก็เพียงดึงเกมมาเล่นเองแล้วปล่อยให้ปัญญาประดิษฐ์เล่นต่อ กูเกิลระบุว่าไลบรารี Falken นี้สามารถสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่ทดสอบเกมได้ภายในชั่วโมงเดียวเท่านั้น ตัวโครงการ Falken มี C++ SDK และ Unity SDK มาให้ในตัว ที่มา - Google AI Blog
# NVIDIA เปิดตัวซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Cambridge-1 แรงที่สุดในอังกฤษ เน้นวิจัยยา-สุขภาพ NVIDIA เปิดตัวซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Cambridge-1 ที่บริษัทลงทุนเองทั้งหมด มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ Cambridge-1 จะตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร และถือเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงสุดของสหราชอาณาจักรด้วย มีพลังประมวลผล AI ที่ 400 petaflops และประสิทธิภาพงานทั่วไป 8 petaflops (Linpack) ภายในประกอบด้วยเซิร์ฟเวอร์ NVIDIA DGX A100 จำนวน 80 เครื่อง ใช้เทคนิค DGX SuperPod และระบบเครือข่าย InfiniBand เครื่อง Cambridge-1 ตั้งอยู่ที่เมือง Cambridge ตามชื่อ (แต่ไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) ภารกิจของมันคือใช้วิจัยด้านสุขภาพ โดย NVIDIA จับมือกับพันธมิตรหลายราย เช่น บริษัทยา AstraZeneca, GSK โรงพยาบาลในสังกัด Guy's and St Thomas' NHS Foundation Trust และสถาบันการศึกษา King’s College London กับ Oxford Nanopore Technologies มาใช้งานเครื่องด้วย ตัวอย่างงานที่มารันบน Cambridge-1 แล้วได้แก่ โครงการวิจัยยาของ AstraZeneca, โครงการวิจัยยีนของ GSK, โครงการวิเคราะห์สมองของ King's College ร่วมกับ NHS, โครงการวิจัยยีนของ Oxford Nanopore ที่มา - NVIDIA
# TIOBE คาด Python จะขึ้นเป็นที่ 1 ของการจัดอันดับภาษายอดนิยม ในไม่กี่เดือนข้างหน้า รายงานดัชนีการจัดอันดับภาษาเขียนโปรแกรม TIOBE Index ประจำเดือนกรกฎาคม 2021 ซึ่งเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปี ที่เริ่มมีการจัดอันดับภาษาโปรแกรมตั้งแต่ปี 2001 โดย 3 อันดับแรกของภาษายอดนิยมยังเหมือนเดือนก่อนหน้าคือ C Java และ Python ตามลำดับ Paul Jansen ซีอีโอของ TIOBE ให้ข้อสังเกตว่า แม้อันดับยังไม่เปลี่ยน แต่ตัวเลขอัตราความนิยมก็มีส่วนต่างที่น้อยลงมา โดย C อยู่ที่ 11.62% ขณะที่ Python อยู่ที่ 10.95% ซึ่งต่างกันน้อยกว่า 1% แล้ว รวมทั้งแนวโน้มของ C และ Java ก็มีอัตราที่ลดลง ขณะที่ Python เพิ่มสูงขึ้น จึงมีโอกาสที่ Python จะขึ้นมาเป็นภาษาโปรแกรมยอดนิยมอันดับ 1 ในเวลาอันใกล้นี้ อันดับอื่นที่น่าสนใจ Go ขึ้นจากอันดับ 20 มาอยู่อันดับ 13, Rust จาก 30 มาอันดับที่ 27, TypeScript จาก 45 มาสู่อันดับที่ 37 และ Haskell จากอันดับ 49 สู่อันดับที่ 39 ที่มา: TIOBE
# Tesla เริ่มปล่อยอัพเดต Full Self-Driving Beta 9 แล้ว ใช้กล้องล้วนๆ แทนเรดาร์ Tesla เริ่มปล่อยอัพเดตซอฟต์แวร์ Full Self-Driving Beta 9 หลังจากที่ล่าช้าเกินกำหนด จนมีคนไปทวงถาม Elon Musk Tesla FSD Beta v9 ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเปลี่ยนวิธีการนำทางจากเรดาร์มาเป็นการใช้กล้องล้วนๆ โดยใช้ระบบประมวลผลภาพตัวใหม่ที่เรียกว่า Tesla Vision แทน อัพเดตตัวนี้ยังปล่อยให้กลุ่มผู้ทดสอบ early access ประมาณ 2,000 คน (ส่วนใหญ่เป็นพนักงาน Tesla เองด้วย) แต่ก็เริ่มมีคนที่ได้อัพเดต ถ่ายคลิปนำมาให้ดูกันบ้างแล้ว ทวีตของ Elon Musk เมื่อเดือนมีนาคม ที่บอกว่าจะเลิกใช้เรดาร์ เปลี่ยนมาเป็น pure vision ที่มา - Electrek
# หลุดภาพชุดใหญ่ Galaxy Z Flip 3, Z Fold 3, S21 FE, นาฬิกา Watch 4, หูฟัง Buds 2 Evan Blass หรือ @evleaks ปล่อยภาพและข้อมูลหลุดชุดใหญ่ของผลิตภัณฑ์ซัมซุง ที่จะเปิดตัวในงาน Galaxy Unpacked วันที่ 11 สิงหาคมนี้ (หลุดก่อนงานเป็นเดือน) โดยมาเป็นโมเดล 3D ที่เห็นทุกมุม และทุกสีที่เปิดตัว Galaxy Z Flip 3 Galaxy Z Fold 3 Galaxy S21 FE Galaxy Watch 4 Galaxy Buds 2 ฮาร์ดแวร์หลายตัวก็มีข่าวหลุดมาก่อนสักพักแล้ว เช่น Galaxy Z Fold 3 ที่มีอุปกรณ์เสริมเป็นปากกา, Galaxy S21 FE ที่เพิ่งผ่าน กสทช. จีน หรือตัว Galaxy Watch 4 ก็ประกาศเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ One UI Watch ที่ร่วมพัฒนากับกูเกิล ที่มา - SamMobile
# อินเทลประกาศหยุดผลิต Lakefield ซีพียูไฮบริด 1+4 คอร์ กินไฟต่ำ 7 วัตต์ อินเทลประกาศหยุดผลิต Lakefield ซีพียูแนวคิดใหม่ 1+4 คอร์ที่เปิดตัวช่วงกลางปี 2020 แนวคิดของ Lakefield เป็นการนำไอเดียคอร์ใหญ่+เล็ก (big.LITTLE) ของฝั่ง ARM มาใช้งาน วิธีการของอินเทลคือใช้คอร์ใหญ่ 1 คอร์ (Ice Lake) บวกกับคอร์เล็ก 4 คอร์ (Atom Tremont) เน้นอุปกรณ์กินไฟต่ำ 7 วัตต์ โดยมีอุปกรณ์ที่นำไปใช้งาน 2 รุ่นคือ Lenovo ThinkPad X1 Fold และ Samsung Galaxy Book S เหตุผลของอินเทลที่หยุดผลิต Lakefield ก็ตรงไปตรงมาว่า มีลูกค้าสนใจไม่เยอะ สินค้าจะสั่งได้จนถึงเดือนตุลาคม 2021 และส่งมอบชุดสุดท้ายในเดือนเมษายน 2022 แต่การหยุดผลิต Lakefield ไม่ได้แปลว่าอินเทลเลิกทำซีพียูแบบไฮบริดแล้ว กลายเป็นยิ่งทำมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะซีพียูรุ่นหลัก Alder Lake หรือ Core 12th Gen ที่จะออกช่วงปลายปี 2021 จะใช้สถาปัตยกรรมไฮบริด 8+8 คอร์ด้วยเลย เราจึงอาจมองว่า Lakefield เป็นการลองตลาดของอินเทลแบบเบาๆ ก่อนจะมาจัดหนักด้วย Alder Lake ต่อไป ที่มา - ExtremeTech
# Apple แก้บั๊ก เมื่อต่อ Wi-Fi ชื่อ %p%s%s%s%s%n แล้วเกิดปัญหา ใน iOS 14.7 beta แล้ว จากปัญหาบั๊กใน iOS ที่มีรายงานก่อนหน้านี้ ว่าหากอุปกรณ์ iOS เชื่อมต่อกับ Wi-Fi ที่ตั้งชื่อว่า %p%s%s%s%s%n จะทำให้อุปกรณ์นั้นใช้ Wi-Fi อีกไม่ได้เลย ต้อง Reset Network Settings อย่างเดียว ล่าสุดยูทูบเบอร์ Zollotech ได้พบว่าแอปเปิลได้แก้ไขปัญหานี้แล้วใน iOS 14.7 และ iPadOS 14.7 สถานะของ iOS 14.7 ยังเป็นเบต้า สำหรับนักพัฒนาและผู้ที่ต้องการทดสอบในตอนนี้ ไม่เปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปดาวน์โหลด แต่คาดว่าแอปเปิลจะออกอัพเดตเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้คาดว่า iOS 14.7 จะเป็นอัพเดตใหญ่เวอร์ชันสุดท้ายสำหรับ iOS 14 โดยจากนี้จะเป็น iOS 15 ที่มีกำหนดให้ดาวน์โหลดช่วงปลายปี ที่มา: MacRumors
# โจ ไบเดน ออกคำสั่งประธานาธิบดี ควบคุมการควบรวมบริษัทเทคโนโลยี ป้องกันผูกขาด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เซ็นคำสั่งประธานาธิบดี (executive order) เพิ่มมาตรการส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทอเมริกัน ลดปัญหาการผูกขาดจากการควบรวมธุรกิจ (consolidation) ที่เพิ่มขึ้นสูงในช่วงหลัง คำสั่งประธานาธิบดีฉบับนี้ ประกอบด้วยมาตรการจำนวน 72 ข้อจากหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ และครอบคลุมอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่เกษตร การบิน สุขภาพ ขนส่งฯลฯ ส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมี 3 ประเด็นคือ การซื้อกิจการคู่แข่งเพื่อตัดโอกาสในอนาคต (killer acquisition) - ประกาศนโยบายของรัฐบาล ควบคุมการควบรวมให้เข้มงวดมากขึ้น การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลมากจนเกินควร - ให้ FTC ออกกฎเรื่องการเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ แข่งขันกับรายเล็กอย่างไม่เป็นธรรม - ให้ FTC ออกกฎที่ระบุว่าวิธีใดบ้างไม่เป็นธรรม ในคำสั่งประธานาธิบดีฉบับนี้ ยังมีเรื่องกฎ Right-to-Repair สำหรับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และกฎเรื่อง net neutrality ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย คำสั่งของไบเดนถือเป็นคำสั่งทางบริหาร ที่มีผลต่อหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐเท่านั้น ในรัฐสภาสหรัฐเองยังมีร่างกฎหมายหลายฉบับที่เป็นเรื่องการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยี และมีผลต่อบริษัทเอกชนมากกว่าด้วย ที่มา - White House
# ซัมซุงเปิดตัว Samsung TV Plus บริการดูทีวีออนไลน์ในเบราว์เซอร์ ไม่มีอุปกรณ์ซัมซุงก็ดูได้ ซัมซุงมี Samsung TV Plus บริการดูทีวีออนไลน์ ใช้งานได้บนสมาร์ททีวีของซัมซุงและมือถือซัมซุงบางรุ่น แต่ล่าสุด ซัมซุงขยายการรับชมไปยังเบราว์เซอร์เพิ่ม เท่ากับว่าคนที่ไม่มีมือถือและทีวีของซัมซุงก็สามารถดูได้ ดูฟรีมีโฆษณา เป็นการเปิดตัวแบบเงียบๆ และซัมซุงก็ยังไม่ออกมาเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม Samsung TV Plus เปิดใช้งานบนสมาร์ททีวีมาตั้งแต่ปี 2016 การเปิดตัวนอกขอบเขตอุปกรณ์ตัวเองก็อาจทำให้ซัมซุงจะกลายเป็นผู้เล่นอีกรายบนตลาดสตรีมมิ่งในขณะนี้ แข่งกับเจ้าอื่นที่ใช้โมเดลดูฟรีมีโฆษณาเช่น Peacock, Roku Channel Samsung TV Plus มีช่องทีวีในสหรัฐอเมริกาให้เลือกรับชมทั้งหมด 135 ช่อง เช่น CBSN, Bloomberg TV+ UHD, ช่องทำอาหาร Tastemade, ช่องเกม IGN, และช่องสำหรับเด็ก 9 ช่อง ที่มา - The Verge
# เกม Deathloop ของไมโครซอฟท์ เป็นเอ็กซ์คลูซีฟ PS5 แค่ 1 ปี ถึงกันยายน 2022 ถึงแม้ Bethesda กลายเป็นบริษัทลูกของไมโครซอฟท์ไปแล้ว แต่ก็ยังมีเกมเอ็กซ์คลูซีฟออกบน PS5 สองเกมคือ Deathloop และ Ghostwire: Tokyo ซึ่งเป็นดีลที่ทำไว้ตั้งแต่ก่อนขายกิจการ อย่างไรก็ตาม มีคนไปเห็นในเทรลเลอร์เกมเพลย์ล่าสุดของ Deathloop (คลิปในช่องของ PlayStation) มีตัวหนังสือเล็กๆ ตอนท้ายคลิปว่า Deathloop จะเป็น time-exclusive ของ PS5 ถึงแค่วันที่ 14 กันยายน 2022 เท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟของเกมทั่วไป ที่มักเซ็นกัน 1 ปี (ไมโครซอฟท์ก็เคยทำดีลแบบนี้กับ Rise of the Tomb Raider) เกม Deathloop จะออกขายบนพีซีด้วย และมีหน้าเพจของตัวเองบน Steam เรียบร้อยแล้ว การที่ Deathloop เป็นเกมในสังกัดไมโครซอฟท์ ที่จะออกขายบน PlayStation ก่อน ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เหลือเชื่ออย่าง @Xbox ทวีตเชียร์เกม Deathloop บน @PlayStation ด้วย ที่มา - Kotaku
# The Witcher 3 ประกาศออกอัพเดต next-gen ปีนี้, เพิ่ม DLC จากซีรีส์ Netflix CD Projekt Red ประกาศออก The Witcher 3: Wild Hunt เวอร์ชัน next-gen ลงเครื่อง PS5, Xbox Series X|S และพีซี กำหนดคร่าวๆ คือภายในปีนี้ ประเด็นที่น่าสนใจนอกจากการอัพเดตกราฟิกแล้ว เกมยังจะเพิ่ม "some DLCs" ที่อิงจากซีรีส์ The Witcher ของ Netflix ด้วย แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่ามีอะไรบ้าง เกม The Witcher 3 ออกขายครั้งแรกในปี 2015 และประสบความสำเร็จอย่างสูง มียอดขายรวมเกิน 30 ล้านชุด และมีภาคเสริมออกมาแล้ว 2 ตัวคือ Hearts of Stone กับ Blood and Wine ในปี 2015/2016 และเนื้อหาเพิ่มเติม (DLC) อีกจำนวนหนึ่ง ที่มา - The Witcher
# Microsoft จ่ายเงินรางวัล Bug Bounty Program ในปีที่ผ่านมารวม 13.6 ล้านดอลลาร์ ไมโครซอฟท์ รายงานภาพรวมโครงการ Bug Bounty ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (1 กรกฎาคม 2020 - 30 มิถุนายน 2021) จ่ายเงินรางวัลไปรวม 13.6 ล้านดอลลาร์ ให้กับผู้วิจัย 340 ราย จาก 58 ประเทศ เงินรางวัลที่จ่ายให้สูงสุดมูลค่า 200,000 ดอลลาร์ ในโครงการรายงานช่องโหว่ของ Hyper-V มีค่าเฉลี่ยที่ 10,000 ดอลลาร์ ปัจจุบันไมโครซอฟท์มีโครงการรายงานช่องโหว่ 17 โครงการ โดยโครงการของ Hyper-V มีเงินรางวัลสูงสุดที่ 250,000 ดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมาได้เพิ่มโครงการใหม่หลายอย่าง อาทิ Microsoft Teams หรือการเข้ารหัส SIKE ที่มา: ZDNet
# HPE ซื้อกิจการ Ampool ผู้พัฒนาเครื่องมือสำหรับเวิร์กโหลด SQL บนไฮบริดคลาวด์ HPE ประกาศซื้อกิจการ Ampool ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มจัดการข้อมูล ที่ออกแบบมาสำหรับงาน SQL ให้สเกลได้รวดเร็วมากขึ้นบนสภาพแวดล้อมไฮบริดคลาวด์ ซึ่ง HPE บอกว่าลูกค้าองค์กรจำนวนมากยังมีเวิร์กโหลดสำคัญเป็น SQL แต่ด้วยโครงสร้างไฮบริดคลาวด์ ที่มีข้อมูลกระจายอยู่นอกเหนือจาก On-premise ความต้องการเครื่องมือที่ทำให้ SQL ยังทำงานได้รวดเร็วจึงมีมากขึ้น Ampool Engine เป็นเครื่องมือที่ช่วยบริหารจัดการและสเกล ระหว่างเครื่องมือ BI กับ SQL เข้ากับฐานข้อมูลที่มีอยู่ในทั้ง On-premise, คลาวด์ หรือ SaaS อื่น ๆ ทีมงานของ Ampool จะเข้าไปร่วมทีมและพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับ HPE Ezmeral ซอฟต์แวร์สำหรับบริหารจัดการเวิร์กโหลดงานด้านข้อมูลของ HPE Anant Chintamaneni รองประธานและผู้จัดการทั่วไปของ HPE Ezmeral กล่าวว่า Ezmeral เป็นส่วนหนึ่งของชุดผลิตภัณฑ์คลาวด์ HPE GreenLake การซื้อกิจการครั้งนี้เป็นหนึ่งในแผนการลงทุนด้านโอเพนซอร์ส เพื่อรองรับตลาด Analytics ที่มีการเติบโตสูง ที่มา: ZDNet
# PUBG Mobile v1.5 เพิ่มฉากโรงงาน Tesla Gigafactory มีรถ Tesla Model Y ขับขี่อัตโนมัติได้ PUBG Mobile เตรียมอัพเดตแพทช์ใหม่ v1.5 ขนาด 686 MB บน Android และ 1.64 GB บน iOS ให้กับผู้เล่นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพิ่มโหมด Mission Ignition ที่จะปรับปรุงแผนที่ Erangel ให้มีโซนทันสมัยมากขึ้น และจับมือกับ Tesla เพิ่มโรงงาน Tesla Gigafactory เข้ามาในแผนที่ มีรถ Model Y ที่สามารถหาได้ใน Gigafactory และสามารถขับบนถนนไปยังจุดที่ผู้เล่นมาร์คในแมพได้อัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีรถ Tesla Semi ที่จะเกิดแบบสุ่มรอบแผนที่ มีตึกใหม่ ลิฟต์ ประตูอัตโนมัติ แพลตฟอร์มเคลื่อนที่ได้ มี HyperLines เชื่อมการเดินทางตามโซนเมืองต่างๆ มี Air Conveyor system นอกโซนเมือง ใช้เคลื่อนที่บนอากาศได้ มีปืนใช้กระสุน 5.56 แบบใหม่ชื่อ ASM Akaban และปืนใช้กระสุน 7.62 ชื่อ MG3 เพิ่มอุปกรณ์ Tactical Marking Device มาร์คศัตรูที่โดนยิงอัตโนมัติ และเพิ่มโล่ควบคุมฝูงชน ส่วนด้านเทคนิค เวอร์ชั่น 1.5 เพิ่มการรองรับการเล่นแบบ 90fps บนอุปกรณ์หลายรุ่นมากขึ้น (ไม่มีระบุว่ารุ่นไหนบ้าง) ปรับ field of view ในโหมดมุมมองบุคคลที่สามได้ ปรับปรุงหน้าเมนูเริ่มเกมใหม่ และอื่นๆ สามารถอ่าน Patch Note แบบเต็มได้ที่นี่ ที่มา - PUBG Mobile
# เอกสารฟ้องเผยกูเกิลเสนอแบ่งกำไรให้ซัมซุง ป้องกัน Galaxy Store มาแข่งกับตัวเอง จากประเด็นอัยการกว่า 30 รัฐในสหรัฐฯ ฟ้องกูเกิลเรื่องผูกขาดร้านค้าแอป ซึ่งพุ่งเป้าที่การเก็บค่าคอมมิชชั่น 30% แต่ในเอกสารส่งฟ้องยังมีรายละเอียดเพิ่มระบุว่า กูเกิลพยายามกีดกันร้านค้าแอปคู่แข่งโดยเฉพาะ Samsung Galaxy Store เพื่อให้ตัวเองได้เป็นร้านค้าแอปแห่งเดียวบนอุปกรณ์แอนดรอยด์ ในเอกสารบอกว่า กูเกิลได้เสนอข้อตกลงแบ่งปันผลกำไรให้นักพัฒนาแอปรายใหญ่เพื่อแลกกับการพัฒนาแอปบนแพลตฟอร์มของตนเท่านั้น สร้างอุปสรรคต่อการไซด์โหลด และยื่นข้อเสนอไปยังซัมซุงเพื่อสร้างความได้เปรียบแก่ตัวเองด้วย แม้ Galaxy Store จะไม่ได้รับความนิยมเท่า Play Store แต่ก็มีโอกาสที่ซัมซุงจะพัฒนาเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งได้ อย่างเช่นในปี 2018 ที่ซัมซุงได้ร่วมมือกับ Epic เพื่อเปิดตัว Fortnite บน Galaxy Store ในเอกสารบอกด้วยว่า กูเกิลพยายามเสนอเนื้อหาเกม และกิจกรรมพิเศษเฉพาะของซัมซุงบน Google Play Store และบน YouTube และเสนอเงินก้อนเป็นส่วนแบ่งรายได้ แต่ไม่แบ่งเป็นสัดส่วนซึ่งจะกลายเป็นไปเปิดเผยขนาดของ Play Store ให้ซัมซุงได้รู้ ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่รับส่วนแบ่งรายได้จากกูเกิลไป ก็ต้องวาง Play Store ไว้บนหน้าจอหลัก ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่สามารถลบออกได้ และสัญญาว่าจะไม่วางร้านค้าแอปอื่นให้โดดเด่นกว่า ด้านกูเกิลออกมาโต้การฟ้องร้องครั้งใหม่ว่าเป็นการเข้าใจบริษัทผิด เพราะบนมือถือแอนดรอยด์มีช่องทางร้านค้าแอปอื่นนอกจาก Play Store ติดตั้งมาด้วย ผู้ใช้งานมือถือยังสามารถดาวน์โหลดแอปหรือร้านค้าแอปอื่นโดยไม่ผ่านช่องทาง Google Play Store ได้ ซึ่งการฟ้องที่บอกว่านักพัฒนาและผู้ใช้งานไม่มีทางเลือกอื่นเลยนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผิด กูเกิลยังยกข้อมูลมาโต้ด้วยว่า ปัจจุบัน นักพัฒนาประมาณ 97% ไม่ได้ขายเนื้อหาดิจิทัลบน Google Play ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ต้องเสียค่าบริการ มีเพียงไม่เกิน 0.1% ที่เสียค่าบริการ 30% ในบางธุรกรรม และเป็นนักพัฒนาจากบริษัทใหญ่ มีรายได้มาก และค่าธรรมเนียมของกูเกิลก็เทียบเคียงได้กับเจ้าอื่นอย่าง Samsung Galaxy Store, Amazon Appstore, Microsoft Xbox, Sony PlayStation, Nintendo Switch และ App Store ส่วนระบบการเรียกเก็บเงินนั้น จะช่วยปกป้องผู้บริโภคจากการฉ้อโกง และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถติดตามการซื้อได้อย่างง่ายดายในที่เดียว ที่มา - Ars Technica, กูเกิล
# ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีข้ามธนาคารขอ ไม่ต้อง bank statement เป็นกระดาษ ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเริ่มโครงการความร่วมมือการพัฒนามาตรฐานและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน เปิดทางให้ธนาคารสามารถส่งข้อมูลข้ามธนาคารไปมา โดยมาตรฐานแรกคือ bank statement มาตรฐาน bank statement เป็นมาตรฐานแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามทำฟอร์แมตข้อมูลระหว่างธนาคาร โดยข้อมูลนี้มักใช้งานสำหรับการขอสินเชื่อเงินกู้ ที่ธนาคารผู้ให้กู้อาจจะเป็นคนละธนาคารกับธนาคารหลักที่ลูกค้าใช้เก็บเงิน ทุกวันนี้กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลต้องอาศัยการขอจดหมายรับรองจากธนาคารที่ฝากเงินไว้ แล้วนำจดหมายไปยื่นให้ธนาคารผู้ให้กู้ กระบวนการนี้ใช้เวลานาน, มีความเสี่ยงต่อการปลอมแปลง, และธนาคารที่รับข้อมูลไปก็ต้องนำไปแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัลอีกครั้ง เฉพาะในปี 2020 มีการขอสินเชื่อประมาณ 10 ล้านรายการ นับเป็นต้นทุนของการทำธุรกรรมที่ยุ่งยาก และการขอจดหมายรับรองบัญชีก็มักมีค่าใช้จ่าย 100-200 บาท ส่วนการขอให้ส่งข้อมูลแบบดิจิทัลนี้จะถูกลง กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้เจ้าของบัญชีต้องเป็นผู้สั่งให้ส่งข้อมูลไปยังธนาคารปลายทางเท่านั้น ธนาคารแต่ละธนาคารไม่สามารถขอข้อมูลด้วยตัวเองได้ ตัวมาตรฐานกำหนดทั้งมาตรฐานฟอร์แมตไฟล์, มาตรฐานการเชื่อมต่อ, และมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยของระบบแต่ละธนาคาร ตอนนี้มีสถาบันการเงินเตรียมเปิดให้บริการจริงในเดือนมกราคม 2022 ทั้งหมด 10 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารออมสิน, และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หลังจากนั้นธนาคารอื่นๆ จะเข้าร่วมต่อไป ที่มา - Bank of Thailand
# มันคือชิป ฮ่องกงจับผู้ลักลอบขนซีพียูข้ามชายแดน มูลค่ากว่า 8 แสนหยวน หลังปัญหาชิปขาดแคลน ทำราคาซีพียูแพงขึ้น เหล่าพ่อค้าหัวใสในแถบมาเก๊า กวางตุ้ง ก็เริ่มลักลอบนำซีพียูข้ามชายแดนมาขายในฮ่องกงมากขึ้น โดยด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานฮ่องกง-จูไฮ่-มาเก๊า จับผู้ลักลอบขนซีพียู Intel ข้ามชายแดนได้สองครั้ง การจับกุมครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน หลังเจ้าหน้าที่ค้นตัวคนขับรถบัสจากมาเก๊าและกวางตุ้ง พบซีพียูกว่า 256 ชิ้น พันอยู่กับชายโครงและหน้าแข้ง ส่วนครั้งที่สอง ในวันที่ 26 มิถุนายน ณ จุดเดิม พบคนขับรถบัสพันซีพียูกับขา เดินทางเข้ามาเพิ่มอีก 52 ชิ้น รวมทั้งหมด 308 ชิ้น แยกเป็นซีพียูรุ่น Core i7-10700 และ Core i9-10900K มูลค่ากว่า 8 แสนหยวน (ราว 4 ล้านบาท) นอกจากสะพานฮ่องกง-จูไฮ่-มาเก๊าแล้ว ตม. ฮ่องกงยังแถลงจับกุม ผู้ลักลอบนำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ผ่านด่านตรวจ Lok Ma Chau ที่อยู่ติดกับเซิ่นเจิ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ซีพียูกว่า 2,200 ชิ้น แรม 1,000 ชิ้น สมาร์ทโฟน 630 เครื่อง และเครื่องสำอางค์อีก 70 ชิ้น ดูเหมือนว่านอกจากการ์ดจอแล้ว ซีพียูที่มีราคาสูงขึ้นและเริ่มหาซื้อได้ยากขึ้น ก็เริ่มกลายมาเป็นสินค้าทำกำไรของพ่อค้าหัวใสเช่นกัน น่าสนใจที่สองการจับกุมแรก ไม่มีซีพียู AMD เลย ส่วนการแถลงการจับกุมที่ Lok Ma Chau ไม่มีระบุยี่ห้อซีพียู ที่มา - HKEPC via Tom’s Hardware
# Muze ผู้พัฒนาระบบ Omni-Channel และ OTT เบื้องหลังแบรนด์ใหญ่ เฟ้นหานักพัฒนาร่วมทีม โควิด-19 ดันยอดตัวเลขอีคอมเมิร์ซโตสูง รายได้อีคอมเมิร์ซของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาสูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 22.1% แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจค้าปลีกก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการปรับตัวสู่ดิจิทัลเพราะลูกค้าหน้าร้านลดลง ช่องทางการขายออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับแบรนด์ในการสร้างยอดขาย ดังนั้นแบรนด์ที่ปรับตัวเร็ว สามารถสร้างแพลตฟอร์มการขายได้อย่างทันท่วงทีจึงได้เปรียบในสถานการณ์อันท้าทายนี้ ในบทความนี้ Blognone จะพาไปรู้จัก Muze ผู้พัฒนาระบบ Omni-Channels หรือระบบรองรับการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง McGroup รวมไปถึงยังเป็นเบื้องหลังผู้พัฒนาระบบ OTT ให้ บีอีซี เวิลด์ มาแล้ว ซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจสวนกระแสตลาดในตอนนี้ วิสัยทัศน์ Muze ใช้เทคโนโลยีสร้าง Impact ให้แบรนด์ได้ Muze ก่อตั้งโดย คุณบี พีรณัฎฐ์ ทูลแสงงาม โดยเริ่มตั้งบริษัทมาตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีการเขียนแอปบน iPhone ด้วยการพัฒนา Muze Mobile Music Player Application ที่มียอดดาวน์โหลดใช้งานกว่า 1 ล้านครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป Muze ค่อยๆ ปรับตัวทางธุรกิจ ปัจจุบันหันมาจับตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยพัฒนาระบบร้านค้าออนไลน์ในชื่อว่า inCart ด้วยระบบจัดการสินค้า สต็อกสินค้า ออเดอร์ โปรโมชั่น หน้าจอบริหารลูกค้า มาพร้อมกับระบบชำระเงินให้กับบริษัทคู่ค้า ให้สามารถอยู่รอด ปรับตัวและแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล ผลงานที่น่าจดจำของ Muze คือ ร่วมพัฒนา Omni-Channels กับ McGroup แบรนด์กางเกงยีนส์รายใหญ่ของไทย จนสามารถสร้างยอดขายเฉพาะ Online Omni-Channels มากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้รายได้เติบโตถึง 6.9% แม้เป็นช่วงล็อกดาวน์ครั้งแรก นอกจากนี้ยังร่วมงานกับบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC พัฒนาแพลตฟอร์ม CH3plus เป็นช่องทางสตรีมมิ่ง ตอบโจทย์คนดูที่เปลี่ยนพฤติกรรมไปดูสตรีมมิ่งกันมากขึ้น และพัฒนาระบบหลังบ้าน BEC จัดไลฟ์คอนเสิร์ต ‘Gulf The Next Stage’ คอนเสิร์ตเอ็กซ์คลูซีฟบน CH3plus ผลักดันให้ยอดผู้ใช้งานรายเดือน (Monthly Active User - MAU) โตขึ้นกว่า 200% และจำนวนสมาชิกในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ถึง ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 เติบโตขึ้นถึง 50% “Muze ไม่เพียงสร้างโซลูชั่นให้ลูกค้าเท่านั้น แต่ยังส่งทีมเข้าไปร่วมทำงานกับลูกค้าตั้งแต่ต้น เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้านำโซลูชั่นไปใช้แล้วประสบความเร็จ มีโอกาสเติบโตทั้งในแง่ยอดขายและผู้ใช้งาน เรียกได้ว่าทำงานกับลูกค้าจนแทบจะเป็นทีมเดียวกัน” คุณบี พีรณัฎฐ์ ทูลแสงงาม ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท Muze กล่าว สร้างความเชื่อใจระหว่างทีมงานและลูกค้า คุณบีบอกว่า แม้ Muze จะเป็นบริษัท Tech ขนาดเล็กมีพนักงานประมาณ 60 กว่าคน แต่มีทีมงานที่ช่วยผลิตงานออกมาสำเร็จได้ “เรามีทีมเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งและเชี่ยวชาญในสายงานของตัวเอง มีประสบการณ์มาอย่างโชกโชนในการแก้ปัญหาให้องค์กรใหญ่ๆ” ที่ Muze ผู้บริหารพยายามสร้างบรรยากาศของความเชื่อใจ เชื่อว่าทุกคนมีความรับผิดชอบ เมื่อเราเชื่อว่าทีมงานรับผิดชอบในส่วนของเขา เพื่อนร่วมงานก็เชื่อว่าเราจะรับผิดชอบในส่วนของเราเช่นกัน ผลลัพธ์คือ Product/Project ที่เราสร้างจะมีคุณภาพ และสามารถทำได้เสร็จตามแผนที่วางไว้เมื่อทีมงานมีความเชื่อใจกัน ลูกค้าก็จะเชื่อใจผลงานของบริษัทเราด้วย วัฒนธรรมองค์กร เน้นปรับตัวรับสิ่งใหม่ได้เร็ว คุณบีมองว่า เทคโนโลยีทุกวันนี้เปลี่ยนเร็วมาก สิ่งที่คนเรียนมา 1-2 ปี อาจเก่าไปแล้ว ธุรกิจที่เคยทำเงินก็โดน Disrupt กันเป็นว่าเล่น ดังนั้น Muze จึงเน้นสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการปรับตัวเร็ว เช่น ให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เหมาะกับงานอยู่เสมอ มีโครงการรีสกิลและอัพสกิล ทักษะด้านเทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Technical Skill) มี Review Code Session ให้ทีมงานเสริมทักษะการเขียนและออกแบบโครงสร้างโค้ดโดยตรงจาก CTO และทักษะการทำงานกับคนหลากหลายรูปแบบ (Human Skill) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ของบุคลากร ความยืดหยุ่นหรือ Flexibility ก็เป็นสิ่งสำคัญ Muze ดำเนินแนวทางเช่นเดียวกับบริษัทชั้นนำระดับโลกทำที่เรียกว่า Work Life Harmony ให้ชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวมีสมดุลที่เหมาะสม ช่วงที่ประเทศไทยสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ก็ใช้โมเดลทำงานแบบไฮบริด เข้าออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ หรือแม้แต่ตอนที่สถานการณ์โรคระบาดกลับมาวิกฤตอีกครั้ง จำเป็นต้องปรับการทำงานแบบ WFH 100% Muze สามารถปรับตัวได้เร็ว เพราะกระบวนการพัฒนาอาศัยโครงสร้าง CI/CD (Continuous integration and continuous delivery) บนคลาวด์ทั้งหมด ทำให้ทีมงานทำงานได้ต่อเนื่องจากทุกที่ นอกจากนี้ก็มีเปิดการประชุมเล่นเกมร่วมกันผ่าน Discord บ้าง เพื่อไม่ให้เหงาเกินไป เปิดรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์มาร่วมทีม Muze Career Day ตอนนี้ Muze กำลังมีรายได้เติบโตจากปี 2020 เกือบ 2 เท่าตัว แม้อยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจก็ตาม บริษัทกำลังอยู่ระหว่างเปิดรับพนักงานใหม่ Muze กำลังมองหาคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจทำงานในบริษัทเทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญใน Tech Stack ทุกตัวที่ Muze ใช้ ขอเพียงโดดเด่นในภาษาโปรแกรมใดภาษาหนึ่ง และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน ใครที่อยากมีส่วนร่วมสร้างโปรเจคระดับแนวหน้าของเมืองไทย มองหาพื้นที่ที่ได้แสดงศักยภาพ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆและพัฒนาตัวเองตลอดเวลา สามารถสมัครงานเข้ามาที่ Muze ได้ หรือเข้าไปลงทะเบียนร่วมงาน “Muze Career Day” ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่ 1 กรกฏาคม 2564 โดยงานจะจัดขึ้นวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 19.00 น.- 20.30 น. ผ่านทาง Facebook Live เพจ Muze Innovation โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 18.30 น. เป็นต้นไป ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ 094 464 6554 หรือ Inbox สอบถามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Muze Innovation หรือลงทะเบียน online ได้ที่ jotform.com/form
# ไมโครซอฟท์ออกแพตช์อุดช่องโหว่ PrintNightmare ยืนยันแพตช์ใช้งานได้จริง สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นช่องโหว่ความปลอดภัย CVE-2021-34527 ของบริการ Windows Print Spooler หรือที่เรียกกันว่า "PrintNightmare" หลังจากเถียงกันมาหลายวัน ไมโครซอฟท์ก็ยอมออกแพตช์ฉุกเฉิน (out-of-band หรือ OOB) ให้แล้ว แถมยังเป็นกรณีพิเศษคือย้อนไปออกถึง Windows 7 และ Windows Server 2008 ที่หมดระยะซัพพอร์ตไปแล้วด้วย อย่างไรก็ตาม มีรายงานในหมู่นักวิจัยความปลอดภัยว่าแพตช์เหล่านี้ไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ 100% ซึ่งล่าสุดไมโครซอฟท์ออกมาเถียงว่า แพตช์ใช้งานได้จริงๆ แต่ปัญหาที่รายงานในข่าว เกิดจากการที่ผู้ใช้ไปแก้ registry กันเองต่างหาก คำแนะนำของไมโครซอฟท์คือให้ติดตั้งแพตช์ทันที และไปตรวจสอบ registry ว่ามีค่า HKEY_LOCAL_MACHINE\SOFTWARE\Policies\Microsoft\Windows NT\Printers\PointAndPrint หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้ามี ให้เซ็ตค่ากลับเป็น 0 หรือ not defined ให้หมด ที่มา - Microsoft
# ไมโครซอฟท์แจกภาพพื้นหลังลายย้อนยุค Clippy, Solitaire, Windows XP ไมโครซอฟท์ประกาศแจกภาพพื้นหลังธีมย้อนยุคสำหรับการประชุมออนไลน์ (จริงๆ คือประกาศแจกสำหรับ Microsoft Teams แต่ก็นำไปใช้กับโปรแกรมอื่นๆ ได้อยู่ดี) ในซีรีส์นี้มีด้วยกัน 4 ภาพ Clippy คลิปหนีบกระดาษที่โด่งดังจาก Office ยุค 90s (เริ่มใช้ใน Office 97) Solitaire เกมไพ่ยอดนิยม ที่เริ่มแถมมากับ Windows 3.0 ในปี 1990 Bliss ภาพพื้นหลังของ Windows XP นำมาปรับแต่งเล็กน้อย ใส่ดอกไม้เข้ามาอีกหน่อย Microsoft Paint เริ่มใช้ครั้งแรกใน Windows 1.0 ตั้งแต่ปี 1985 นอกจากภาพพื้นหลังชุดนี้แล้ว ไมโครซอฟท์ยังมีหน้ารวมไฟล์ภาพพื้นหลัง ที่ร่วมกับแบรนด์อื่นๆ เช่น Fox, NBC, Xbox มาแจกด้วยเช่นกัน ที่มา - Microsoft
# ทำเองงงเอง Sony ลบโฆษณา PlayStation 5 ออก หลังวางเครื่องกลับหัว รูปทรงของ PS5 ดูจะสร้างความปวดหัวให้กับผู้ที่ต้องการวางเครื่องแนวนอน ว่าด้านไหนควรจะเป็นด้านบนกันแน่ แม้แต่ Sony เอง เพราะล่าสุด Sony ต้องลบโฆษณาที่โพสต์ในทวิตเตอร์ออก หลังพบว่าในโฆษณา วางเครื่องกลับหัว ด้านใส่แผ่นที่ควรจะอยู่ด้านล่างตามภาพมาร์เก็ตติ้งภาพอื่น กลับไปอยู่ด้านบนแทน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Sony มึนกับการวางเครื่อง PS5 ครั้งหนึ่ง Hermen Hulst ประธาน PlayStation เอง ยังเคยทวิตภาพแมวที่บ้าน พร้อมเครื่อง PS5 ที่วางกลับหัวเอาด้านใส่แผ่นไว้ด้านบนมาแล้ว ก่อนลบทวิตนั้นออกไป แล้วทวิตคลิปใหม่อีกรอบ โดยครอปเครื่อง PS5 ออก Sony โปรโมตภาพเครื่อง PS5 ทั้งแบบวางแนวตั้งและแนวนอน ส่วนแนวนอนจะวางช่องใส่แผ่นไว้ด้านล่างเสมอ แต่ถึงวางช่องใส่แผ่นไว้ด้านบน ก็ไม่น่าจะมีปัญหากับตัวเครื่องมากนัก นอกจากผู้เล่นอาจต้องคว่ำแผ่นบลูเรย์ นำด้านข้อมูลหันขึ้นด้านบน ก่อนใส่แผ่นเข้าไป ที่มา - Kotaku ภาพจากคลิปโฆษณาใน Sony ลงบนทวิตเตอร์ก่อนลบออก
# Instacart แต่งตั้ง Fidji Simo อดีตผู้บริหารหญิงจาก Facebook มาเป็นซีอีโอ มีแผนจะ IPO Instacart แพลตฟอร์มสั่งของชำได้จ้างอดีตผู้บริหารหญิงใน Facebook หรือ Fidji Simo มาดำรงตำแหน่งซีอีโอแทน Apoorva Mehta ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นทางการ 2 สิงหาคม ทางบริษัทยังมีแผนจะ IPO ในเร็วๆ นี้ด้วย ตัว Simo มาทำงานที่ Instacart ได้เจ็ดเดือนในตำแหน่งคณะกรรมการบริหาร และยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร Women in Product มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนผู้หญิงในสายงาน product management หรือการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ และสายงานต่างๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การที่ Simo ขึ้นมาเป็นซีอีโอมีความสำคัญเพราะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้หญิงในสายผู้บริหารองค์กรเทคโนโลยีที่มีจำนวนน้อยกว่าผู้ชายมาก Instacart เป็นอีกบริษัทที่เติบโตในช่วงโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการจ้างพนักงานเพิ่มร่วมแสนตำแหน่ง เพื่อตอบรับความต้องการของจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น Instacart นั้นเช่นเดียวกันกับ Uber, Lyft, DoorDash และ Postmates ที่เป็นสนับสนุนหลักสำหรับ Prop 22 หรือ มาตรการจัดประเภทคนงานใน gig economy เป็นผู้รับเหมาอิสระ จำกัดสิทธิประโยชน์ที่พนักงานประจำควรได้รับ ภาพจาก PRNewswire ที่มา - TechCrunch
# Windows 11 Insider เพิ่มกล่องค้นหาใน Start Menu, คลิกขวาเดสก์ท็อป มีเมนู Refresh แล้ว ไมโครซอฟท์ออก Windows 11 Insider Preview Build 22000.65 ซึ่งเป็น Windows 11 รุ่นทดสอบตัวที่สอง ถัดจากตัวแรกเมื่อปลายเดือน มิ.ย. มีการเปลี่ยนแปลง UI หลายจุด Start Menu เพิ่มกล่องค้นหาไว้ด้านบนสุด เพื่อให้รู้ว่าพิมพ์คำค้นหาได้ ตั้งค่าให้แสดง Taskbar บนจอมอนิเตอร์อื่นๆ ได้แล้ว ตั้งค่า Power mode ได้จากหน้า Settings > Power & Battery ได้แล้ว คลิกขวาที่เดสก์ท็อป มีเมนู Refresh ให้เลือกตั้งแต่แรกแล้ว (ของเดิมต้องกด more ก่อน) คลิกขวาที่ไฟล์ PowerShell (.ps1) แล้วสั่ง Run with PowerShell โดยตรงได้แล้ว ที่มา - Microsoft
# ของใหม่ Death Stranding Director's Cut หุ่นยนต์ช่วยแบกของ, สะพานข้ามหน้าผา มีโหมดแข่งรถด้วย Death Stranding Director's Cut ลง PS5 ออกเทรลเลอร์ใหม่และเผยเวลาจัดจำหน่ายแล้วคือ 24 กันยายนในเทรลเลอร์ยังเผยความสามารถใหม่ๆ ในเกมหลายอย่าง ที่น่าสนใจคือ เพิ่มโหมดแข่งรถ Fragile Circuit ผู้เล่นสามารถขับรถแข่งในสนามแข่งได้ , การต่อสู้ระยะประชิด มีท่าเตะขาคู่ด้วย, อาวุธใหม่ Maser Gun ยิงปืนเลเซอร์โจมตีฝั่งตรงข้าม, mounted machine guns เป็นปืนกลขนาดใหญ่ตั้งพื้น นอกจากนี้ยังมีโหมดฝึกซ้อมเพื่อให้ใช้อาวุธได้คล่อง ยิงไม่พลาดเป้า ในด้านอุปกรณ์ส่งของ ตัวเกมเพิ่มตัวช่วยใหม่ๆ ทั้งหุ่นยนต์ช่วยแบกของ สะพานข้ามหน้าผาที่ใช้มอเตอร์ไซค์ขับผ่านได้ เครื่องส่งของตัวใหม่ที่จัดส่งของไปยังปลายทางคล้ายๆ กับการยิงหนังสติ๊ก กระดูกซัพพอร์ตติดตั้งที่ขาช่วยตัวละครเอกอย่าง Sam Porter แบกของ ที่มา - Digital Trends
# เข้าใกล้เว็บค้นหา AWS เพิ่มฟีเจอร์ Crawler และ Index หน้าเว็บให้ Amazon Kendra AWS มีบริการชื่อ Amazon Kendra เป็นระบบ search engine สำหรับองค์กร เพื่อให้พนักงานสามารถค้นหาข้อมูลภายในคลังเอกสารของบริษัทได้ง่าย จุดเด่นของ Kendra คือฟีเจอร์ด้าน machine learning ที่ทำให้เข้าใจความหมายในเนื้อเอกสารด้วย ไม่ใช่แค่การค้นหาคำในเอกสารเพียงอย่างเดียว ล่าสุด Kendra เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ที่น่าสนใจคือ web crawler สามารถสั่งให้ทำดัชนีและค้นหาข้อมูลบนเว็บเพจได้แล้ว (รวมถึงเอกสารประเภท PDF, Word, PowerPoint, Plain Text ที่อยู่บนเว็บไซต์) ฟีเจอร์นี้ทำให้ Kendra มีความสามารถใกล้เคียงกับ search engine รายใหญ่มากขึ้น คู่แข่งของ AWS ทั้งสองรายคือ Google Cloud และ Azure ต่างมีบริการ search engine อยู่แล้วทั้งคู่ และมีบริการแบบเดียวกันสำหรับลูกค้าองค์กรคือ Google Cloud Search และ Azure Cognitive Search ที่ใช้เอนจินของ Google Search และ Bing เช่นกัน ที่มา - AWS
# ไมโครซอฟท์จ่ายพิเศษพนักงานเกือบ 5 หมื่นบาท ตอบแทนการทำงานหนักช่วงโควิด ไมโครซอฟท์จ่ายโบนัสพิเศษให้แก่พนักงานส่วนใหญ่ทั้งในสหรัฐฯและนอกประเทศ ตกคนละ 1,500 ดอลลาร์ หรือราวกว่า 48,000 บาท อยู่ในวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานหนักในช่วงโควิด และเป็นการจูงใจพนักงานให้ไม่อยากเปลี่ยนงานหลังกลับมาเปิดเมือง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่พบเห็นได้บ่อย โฆษกบริษัทกล่าวว่า โบนัสพิเศษเป็นการแสดงความขอบคุณสำหรับความพยายามที่พนักงานทำกับลูกค้าและคู่ค้าในปีที่ผ่านมา โดยโบนัสจะออกในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ผู้บริหารจะไม่ได้โบนัสพิเศษนี้ รวมถึงพนักงานในบริษัทลูกอย่าง GitHub, LinkedIn และ Zenimax บริษัทเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่มีกำไรในช่วงโควิด แต่ต้องแลกกับการทำงานหนัก บางบริษัทเสนอโค้ดสั่งอาหาร Uber Eat ให้พนักงานฟรี ไมโครซอฟท์เองก็ให้พนักงานลาพักร้อนได้เพิ่ม ภาพโดย efes ที่มา - CNBC
# Google Calendar เพิ่มตัวเลือก RSVP ว่าจะเข้าประชุมในห้อง หรือเข้าประชุมแบบออนไลน์ กูเกิลเพิ่มคุณสมบัติใหม่ให้กับ Google Calendar เพื่อรองรับกับการทำงานแบบไฮบริดมากขึ้น โดยตัวเลือกในการตอบกลับคำเชิญ (RSVP) เพิ่มกรณีตอบรับคำเชิญ ว่าจะเข้าร่วมการประชุมนี้ในห้องประชุม (Meeting Room) หรือจะเข้าร่วมแบบออนไลน์ (Virtual) ทำให้ผู้จัดการประชุมเตรียมวางแผนได้ดีขึ้น คุณสมบัติ RSVP แบบใหม่นี้ รองรับเฉพาะบน Google Calendar โดยตรงเท่านั้นตอนนี้ หากปฏิทินแชร์ไปยังแพลตฟอร์มอื่นจะยังไม่แสดงรายละเอียดนี้ รวมทั้งในคำเชิญผ่าน Gmail ก็ยังไม่แสดงตัวเลือกในตอนนี้ ผู้ใช้ Google Workspace จะเริ่มใช้ RSVP ใหม่นี้ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เช่นเดียวกับผู้ใช้ G Suite Basic ที่มา: กูเกิล
# IBM ซื้อกิจการ BoxBoat บริษัทที่ปรึกษาด้าน DevOps และ Kubernetes ไอบีเอ็มประกาศแผนเข้าซื้อกิจการ BoxBoat Technologies บริษัทที่ปรึกษาด้าน DevOps และ Kubernetes โดยไอบีเอ็มจะนำมาต่อยอดกับกลยุทธ์ให้บริการด้านไฮบริดคลาวด์ และ Red Hat OpenShift John Granger รองประธานอาวุโสกลุ่มบริการไฮบริดคลาวด์ของไอบีเอ็มกล่าวว่า ลูกค้าต่างต้องการโครงสร้างคลาวด์ ที่สามารถใช้งานได้ทั้งกับสภาพแวดล้อมไอทีแบบเก่า, Private Cloud และ Public Cloud ซึ่งเหล่านี้คือหัวใจของแนวทางไฮบริดคลาวด์ โครงการเหล่านี้จะสำเร็จไม่ได้หากไม่มีแผนงานด้านคอนเทนเนอร์ และบริษัท BoxBoat ก็คือผู้ให้บริการที่เติมเต็มส่วนนี้ได้ BoxBoat มีผลงานกับลูกค้าที่เข้าไปช่วยจัดการ และให้คำปรึกษาโครงการซึ่งมีความซับซ้อนหลายโครงการ ที่ต้องการปรับปรุง DevOps และบริหารจัดการคอนเทนเนอร์ของเวิร์กโหลดระดับ mission critical มีลูกค้าทั้งบริษัทในระดับ Fortune 100 และลูกค้าหน่วยงานรัฐ ทีมงานของ BoxBoat จะร่วมกับทีม IBM Global Business Services ในส่วนบริการด้านไฮบริดคลาวด์ ที่มา: ไอบีเอ็ม
# Valve ประกาศจัดงาน The International 10 ที่ประเทศโรมาเนีย Valve ประกาศจัดงานแข่งขัน Dota 2 รายการใหญ่ที่สุดคือ The International ครั้งที่ 10 ประจำปี 2021 ที่เมืองบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ระหว่างวันที่ 7-17 ตุลาคมนี้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ และช่วงเวลาขายบัตรเข้างาน จะประกาศตามมาในระยะถัดไป ปีที่แล้ว The International 2020 ถูกยกเลิกเพราะสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เงินรางวัลก้อนมหาศาล 40 ล้านดอลลาร์ ถูกยกมาใช้กับการแข่งในปี 2021 แทน (การแข่งขันปี 2020 เดิมจะจัดที่สวีเดน) ที่มา - Valve