txt
stringlengths 202
53.1k
|
---|
# นักวิจัย Sangfor โพสโค้ดตัวอย่างเจาะเซิร์ฟเวอร์วินโดวส์ ผู้ใช้ที่ล็อกอินแล้วรันโค้ดใน AD ได้
Zhiniang Peng นักวิจัยความปลอดภัยจาก Sangfor เปิดโค้ดตัวอย่างสำหรับช่องโหว่ CVE-2021-1675 เป็นช่องโหว่ Windows Print Spooler ที่เปิดทางให้ผู้ใช้ที่ล็อกอินสามารถรันโค้ดในเซิร์ฟเวอร์ด้วยสิทธิ์ระดับ SYSTEM ได้
บริการ Windows Print Spooler เปิดไว้บนเซิร์ฟเวอร์ Active Directory เป็นค่าเริ่มต้นในช่วงหลัง ทำให้ผู้ใช้ใดๆ บน AD สามารถใช้ช่องโหว่นี้รันโค้ดบนเซิร์ฟเวอร์ Active Directory ได้ นับเป็นช่องโหว่ที่ค่อนข้างร้ายแรง แม้จะมีคะแนน CVSSv3 อยู่ที่ 7.8 คะแนน
Sangfor มีกำหนดจะรายงานช่องโหว่นี้ในงาน Black Hat USA 2021 ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเรียกชื่อช่องโหว่ว่า PrintNightmare แต่ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลใด Pen จึงโพสโค้ดตัวอย่างนี้ออกมาก่อน
ช่องโหว่นี้มีแพตช์แล้วตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยไมโครซอฟท์ออกแพตช์ย้อนให้ไปถึง Windows Server 2004 ผู้ดูแลระบบควรรีบติดตั้ง หรืออย่างน้อยก็ปิดบริการ Windows Print Spooler ทิ้งไป
ที่มา - The Register
ภาพโดย madartzgraphics |
# แอพ Google Pay รองรับบัตรฉีดวัคซีน COVID-19 เริ่มต้นยังใช้ได้เฉพาะสหรัฐ
Google Pay บริการจ่ายเงินของกูเกิล มีฟีเจอร์ Pass สำหรับบัตรสะสมแต้ม บอร์ดดิ้งพาส ตั๋วยานพาหนะต่างๆ มาได้สักพักแล้ว (ข่าวเก่า, แน่นอนว่าไม่มีไทย)
ล่าสุดกูเกิลปรับ Passes API ให้เก็บเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (vaccination card) ได้ด้วย ฟีเจอร์นี้จะเริ่มใช้กับสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก และจะรองรับในประเทศอื่นๆ ตามมาต่อไป
ที่มา - Google |
# คนในวงการไซเบอร์ซีเคียวริตี้แห่โพสต์รูปในชุดบิกินี่ หลังหญิงสาวคนหนึ่งโพสต์แล้วโดนวิจารณ์ว่าไม่เป็นมืออาชีพ
หญิงสาวคนหนึ่งซึ่งทำงานในวงการไซเบอร์ซีเคียวริตี้ โพสต์รูปภาพตัวเองในชุดบิกินี่ตอนไปเที่ยวทะเลในทวิตเตอร์ กลายเป็นว่าเธอโดนวิจารณ์ว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพ
เรื่องของเธอกลายเป็นไวรัลขึ้นมา จนคนในวงการไซเบอร์ซีเคียวริตี้ทั้งหญิงและชายต่างตอบโต้ด้วยการโพสต์รูปตัวเองในชุดบิกินี่บ้าง เพื่อเป็นการสนับสนุนการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง แม้ในโปรไฟล์โซเชียลมีเดียจะระบุว่าเป็นคนทำงานในอุตสาหกรรมใดก็ตาม
Coleen S หนึ่งในหญิงสาวที่จุดไวรัลและยังเป็นผู้หญิงข้ามเพศด้วยบอกว่า เมื่อโพสต์รูปออกไปก็ได้รับคอมเม้นท์แย่ๆ มากมาย ในขณะเดียวกันก็มีข้อความให้กำลังใจและสนับสนุนเข้ามาด้วย ทำให้รู้สึกมีความหวังสำหรับอุตสาหกรรมไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่มีปัญหามากมายเรื่องเพศ
Rik Ferguson รองประธานฝ่ายวิจัยด้านความปลอดภัยของบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ Trend Micro ระบุว่า ผู้หญิงที่ทำงานในวงการนี้มักเจอปัญหาถูกล่วงละเมิด และถูกตัดสินต่างๆ นานา ในฐานะเป็นบุคคลหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้ ก็หวังว่าเราจะไม่มีที่ว่างสำหรับการละเมิดและเรื่องไร้สาระเหล่านี้
Photo by Lucas Allmann on StockSnap
ที่มา - VICE |
# iPhone 12 ทำยอดขาย 100 ล้านเครื่องได้ภายในเดือนที่ 7 ที่วางขาย ชนะ iPhone 11 ไป 2 เดือน
Counterpoint Research เปิดเผยรายงานผลวิจัยตลาด ระบุว่าสมาร์ทโฟนตระกูล iPhone 12 ทำยอดขายรวมทุกรุ่นย่อยได้เกิน 100 ล้านเครื่องในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังวางจำหน่ายครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปี 2020 นับเป็นเดือนที่ 7 ที่วางจำหน่าย ส่วน iPhone 11 ทำได้ในเดือนที่ 9 ของการวางจำหน่าย ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่ารุ่นย่อย iPhone 12 Pro Max, และ iPhone 12 Mini วางจำหน่ายภายหลัง ในเดือนพฤศจิกายน 2020
iPhone 12 ทำยอดขายทะลุ 100 ล้านเครื่องได้รวดเร็วใกล้เคียงกับสมัย iPhone 6 ที่ความต้องการมือถือจอใหญ่ขึ้น ทำให้ iPhone 6 ทำยอดขายทะลุ 100 ล้านเครื่องได้ภายในเดือนที่ 6 เช่นกัน ส่วนใน iPhone 12 เป็นการรองรับ 5G และหน้าจอที่ปรับเป็น OLED ครบทุกรุ่น
Counterpoint ยังเปิดเผยว่าใน 7 เดือนแรกของการวางจำหน่าย ผู้ใช้นิยมซื้อ iPhone 12 รุ่นสูงสุดมากกว่า สมัย iPhone 11 โดยรุ่น 12 Pro Max คิดเป็นส่วนแบ่ง 29% ของยอดขาย เทียบกับ 11 Pro Max ที่มียอดขาย 25% เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ iPhone 12 ทำรายได้มากกว่า iPhone 11 ได้ถึง 22% ในช่วง 7 เดือนแรกของการวางจำหน่าย และทำให้ราคาขายเฉลี่ย (average sale price หรือ ASP - รวมยอดขายทุกรุ่นแล้วหารจำนวนเครื่อง) ของ iPhone 12 สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ที่มา - Counterpoint Research |
# Alexa เพิ่ม Reading Sidekick ผู้ช่วยเด็กเล็กพัฒนาการอ่านออกเสียง ให้เด็กสลับกันอ่านหนังสือกับ AI
Alexa ผู้ช่วยอัจฉริยะของ Amazon เพิ่มความสามารถ Reading Sidekick ช่วยพัฒนาการอ่านในเด็ยอายุ 6-9 ปี ใช้งานได้ในผู้ใช้งานที่สมัครเป็นสมาชิกพรีเมี่ยม Amazon Kids+
วิธีการทำงานของ Reading Sidekick คือ พูด Alexa, let’s read ไปยังอุปกรณ์ Echo หลังจากนั้นก็บอกชื่อหนังสือที่อยากอ่าน (เป็นหนังสือหรืออีบุ๊กที่ Reading Sidekick รองรับ) ระบุคำสั่งเรียบร้อยแล้ว Reading Sidekick จะช่วยเด็กอ่านหนังสือด้วยการอ่านออกเสียง สลับกับเด็ก เด็กๆ สามารถระบุได้ว่าอยากอ่านมากขนาดไหน เช่น สลับอ่านกันคนละย่อหน้า หรือคนละหน้า
ระหว่างอ่าน Alexa จะพูดให้กำลังใจในการอ่านไปเรื่อยๆ แก้ไขคำที่ออกเสียงผิด อ่านผิด หรือหากเด็กหยุดอ่านไปกลางคัน Alexa จะช่วยอ่านต่อให้
Amazon ระบุว่ามีหนังสือในระบบกว่าร้อยเรื่อง เช่น Chica Chica Boom Boom, Milk and Cookies, Books Do Not Have Wings, Around the World Right Now
ที่มา - Amazon |
# TikTok เผย ปิดบัญชีที่ผู้ใช้อายุต่ำกว่า 13 ปี ในไตรมาสแรกปีนี้ไปแล้ว 7.26 ล้านบัญชี
TikTok เผยตัวเลขยอดบัญชีที่ถูกปิดเพราะทำผิดกฎของแพลตฟอร์มในไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นกว่า 11.1 ล้านบัญชี ซึ่ง 7.26 ล้านบัญชีจากทั้งหมด ถูกปิดเพราะอายุต่ำกว่า 13 ปี ซึ่งตามกฎหมายสหรัฐฯ จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองในการถูกแอปเก็บข้อมูล และเป็นครั้งแรกที่ TikTok เผยตัวเลขของการปิดบัญชีด้วยสาเหตุผู้ใช้มีอายุต่ำกว่า 13 ปี
TikTok เคยถูก FTC สั่งปรับกว่า 5.7 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากเก็บข้อมูลผู้ใช้อายุต่ำกว่า 13 ปีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของเด็กบนออนไลน์ หรือ COPPA (Children’s Online Privacy Protection Act) และเริ่มจำกัดการสร้างโปรไฟล์ โพสต์คลิป และคอมเม้นต์ ของผู้ใช้อายุต่ำกว่า 13 ปี ตั้งแต่ปี 2019
ปัจจุบัน TikTok มีการจัดส่วนแยกเฉพาะในแอป สำหรับผู้ใช้อายุต่ำกว่า 13 ปี ซึ่งยังสามารถดูคลิปที่คัดมาโดยเฉพาะได้ แต่ไม่สามารถโพสต์คลิป คอมเม้นต์ และไม่อนุญาตให้แชร์ข้อมูลส่วนตัว และปรับให้วัยรุ่นอายุ 13-15 ปี ต้องกดอนุญาตรับผู้ติดตามเป็นค่าเริ่มต้น รวมถึงมี Family Pairing ให้พ่อแม่เชื่อมบัญชี จำกัดเวลาการใช้งานแอปของลูกได้
นอกจากนี้ TikTok ยังลบวิดีโอผิดกฎแพลตฟอร์มไปแล้วกว่า 61.9 ล้านวิดีโอในไตรมาสแรกของปีนี้ แบ่งเป็นวิดีโอที่ถูกลบเพื่อความปลอดภัยของเยาวชน 36.8% วิดีโอที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย 21.% และวิดีโอที่มีภาพอนาจารหรือพฤติกรรมทางเพศ 15.6% รวมถึงระบุว่าเตรียมเปิดเผยตัวเลขสถิติเหล่านี้ทุกไตรมาสต่อไป
ที่มา - TikTok Transparency Report |
# Final Fantasy Pixel Remasters ภาค 1,2 และ 3 ขาย 28 กรกฎาคม ภาคที่เหลือขาย “เร็วๆ นี้”
Final Fantasy Pixel Remasters เป็นการนำเกม FF คลาสสิค 6 ภาคแรก (I-VI) มารีมาสเตอร์ใหม่อีกครั้งในรูปแบบกราฟฟิกพิกเซลที่มีความละเอียดสูงขึ้น ขายทั้งบนพีซี Steam และมือถือ iOS/Android
ตอนนี้ภาค Final Fantasy, Final Fantasy II และ Final Fantasy III มีวันวางจำหน่ายบน Steam แล้ว เป็นวันที่ 28 กรกฎาคม ส่วนอีกสามภาคที่เหลือยังโชว์ว่า “coming soon”
นอกจากภาพรีมาสเตอร์แล้ว ดนตรีประกอบยังได้รับการปรับใหม่จากคุณ Nobuo Uematsu ต้นตำรับอีกด้วย 3 ภาคแรกวางจำหน่ายในราคา 420 บาท แต่ช่วงนี้ลด 20% เหลือ 336 บาท ส่วน 3 ภาคหลัง ราคา 629 บาท ลดเหลือ 503 บาท
ดูจากตัวอย่างกราฟฟิกใน Steam แล้ว ภาพพิกเซลมีการเพิ่มรายละเอียดขึ้นพอสมควร แต่ฟ้อนต์ในเกมยังดูประหลาดเหมือนกับเกมภาพแบบพิกเซลหลายๆ เกมที่ Sqaure Enix เคยนำมารีมาสเตอร์ อาจต้องติดตามว่าจะมีการแก้ไขหรือไม่ในอนาคต
ที่มา - Steam
Final Fantasy (Pixel Remasters)
Final Fantasy II (Pixel Remasters)
Final Fantasy III (Pixel Remasters) |
# ผู้บริหารสูงสุด Instagram บอกจะมุ่งสู่วิดีโอเต็มตัว เราไม่ใช่โซเชียลแชร์และดูรูปอีกต่อไปแล้ว
หลังมีข่าวหลุดเรื่อง Instagram ทำฟีเจอร์จ่ายเพื่อดูเนื้อหาพิเศษ ได้หนึ่งวัน Adam Mosseri ประธาน Instagram ก็ออกมาแถลงหมุดหมายใหม่ของ Instagram เขาบอกว่าจะมุ่งสู่วิดีโอเต็มตัว เพราะ Instagram ไม่ใช่แพลตฟอร์มดูและแชร์รูปอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว
Mosseri บอกว่า ตอนนี้ Instagram เน้น 4 เสาหลักคือ Creators, Video, Shopping และ Messaging พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ โดยเน้นที่ 4 ด้านนี้ และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเห็นว่า Instagram ทดสอบและทำสิ่งใหม่อีกหลายๆ อย่าง
ในแง่วิดีโอ Mosseri ยอมรับว่ามีคู่แข่งน่ากลัวอย่าง TikTok และ YouTube แต่คนก็ใช้งาน Instgram เพื่อความบันเทิงด้วยเช่นกัน เราจึงต้องเน้นวิดีโอให้มากขึ้น
Instagram เปิดตัว Reels สู้ TikTok เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และพยายามทำฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างการแนะนำเนื้อหาที่เราอาจสนใจ จากคนที่เราไม่ได้ติดตาม เพื่อให้ผู้ใช้งานอยู่ในแพลตฟอร์มได้นานขึ้น
ที่มา - Adam Mosseri, Gizmodo |
# ตลาดคลาวด์ IaaS ปี 2020 โต 40%, AWS ยังครองอันดับหนึ่ง แต่ส่วนแบ่งตลาดลดลง
Gartner ออกรายงานสำรวจตลาดคลาวด์แบบ IaaS ทั่วโลกประจำปี 2020 (วัดตามรายได้เป็นจำนวนเงิน) พบว่า AWS ยังเป็นเจ้าตลาดแบบทิ้งห่าง ด้วยส่วนแบ่ง 40.8% แต่ส่วนแบ่งตลาดก็ลดลงจากปี 2019 ที่ครองตลาด 44.6% แถมอัตราการเติบโตของ AWS อยู่ที่ 28.7% ต่อปี ซึ่งโตช้ากว่าตลาดโดยรวมโต 40.7% จากปี 2019
Microsoft Azure ตามมาเป็นอันดับสองที่ 19.7% เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ทำไว้ 17.4% ส่วนอันดับสามคือคลาวด์จีน Alibaba ส่วนแบ่งตลาด 9.5%, อันดับสี่ Google Cloud 6.1%, อันดับห้า Huawei Cloud ที่ 4.2%
การที่ส่วนแบ่งตลาดคลาวด์จีนมาแรง เป็นผลจากการเติบโตในประเทศจีนเป็นหลัก รายได้ของ Huawei Cloud ก็มาจากจีนถึง 90% ส่วน Alibaba มีปัจจัยเติบโตมาจากตลาดการศึกษา และซอฟต์แวร์ DingTalk ที่ใช้เยอะในจีนด้วย
Google Cloud มีอัตราการเติบโต 66% จากปีก่อน โดยได้ลูกค้าเพิ่มในอุตสาหกรรมค้าปลีก สุขภาพ และหน่วยงานภาครัฐ
ที่มา - ZDNet
ภาพจาก AWS |
# Instagram กำลังทำฟีเจอร์จ่ายเพื่อดูเนื้อหาพิเศษแบบ Super Follows ใน Twitter และ OnlyFans
ดูเหมือนว่าถนนทุกสายของโซเชียลมีเดียมุ่งสู่ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ ล่าสุด Instagram กำลังพัฒนาฟีเจอร์จ่ายเพื่อดูเนื้อหาพิเศษแบบ Super Follows ใน Twitter และ OnlyFans โดยใช้ชื่อว่า Exclusive Stories
จากภาพหน้าจอ (ดูได้ที่แหล่งข่าวต้นทาง) แสดงให้เห็นว่า แฟนๆ สามารถดูเนื้อหาคนที่เราอยากดูได้ผ่าน Instagram Stories และสงวนไว้สำหรับแฟนๆ ที่สมัครติดตามหรือจ่ายเพื่อดู ทาง Instagram ยืนยันภาพหน้าจอที่หลุดออกมาแล้วว่าเป็นการทดสอบภายใน แต่ไม่บอกอะไรเพิ่มเติม
ตัวหน้าจอ Exclusive Stories ใช้สีม่วงเป็นสีหลัก ไม่สามารถถ่ายภาพหน้าจอได้ ระบุข้อความเฉพาะสมาชิกเท่านั้นที่ดูได้ ผู้สร้างสามารถแชร์เป็นไฮไลต์ไว้ที่โปรไฟล์ของตนได้
Alessandro Paluzzi คือวิศวกร แกะแอปไปเจอฟีเจอร์นี้ และเขายังเจอฟีเจอร์การจ่าย NFT เพื่อเข้าถึงงานศิลปะ งานอาร์ตในรูปแบบต่างๆ ด้วย และฟังก์ชั่นการขาย Collectibles หรือรูปถ่ายสวยๆ บนแพลตฟอร์มด้วย
ตอนนี้ถนนทุกสายของโซเชียลมีเดียมุ่งสู่ครีเอเตอร์ Twitter สร้าง Super Follows เพื่อตอบรับกระแสความดังแบบ OnlyFans และยังมีฟีเจอร์พรีเมี่ยมเพื่อสมัครติดตามข่าวสารและเนื้อหาในแบบจดหมายข่าวจากนักเขียนอิสระ ซึ่ง Facebook ก็ทำด้วยในชื่อว่า Facebook Bulletin
ที่มา - TechCrunch |
# Apple เปิดให้ดาวน์โหลด OS X 10.7 Lion และ 10.8 Mountain Lion ฟรี จากเดิมต้องเสียเงิน
MacWorld พบข้อมูลว่าแอปเปิลได้อัพเดตข้อมูลในหน้าสนับสนุน ว่าผู้ใช้งาน Mac รุ่นเก่าสามารถดาวน์โหลด OS X 10.7 Lion และ OS X 10.8 Mountain Lion ได้ฟรี จากเดิมที่หากต้องการอัพเดตต้องเสียเงิน 19.99 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามในหน้า Shop ของเว็บแอปเปิลเองก็ยังสามารถซื้อ OS X ทั้งสองเวอร์ชันนี้ได้
ผู้ใช้ macOS เวอร์ชันใหม่กว่านี้ จะไม่สามารถดาวน์เกรดได้ สเป็กของ Mac ที่ระบุว่าลง Lion ได้นั้น ต้องเป็นรุ่นที่ใช้ซีพียูอินเทล Core 2 Duo, Core i3, Core i5, Core i7 หรือ Xeon แรมอย่างน้อย 2GB และพื้นที่อย่างน้อย 7GB ส่วน Mountain Lion แอปเปิลระบุรุ่นอุปกรณ์ที่ลงได้ในหน้าลิงก์ดาวน์โหลดด้านล่าง
เดิมผู้ใช้ Mac หากต้องการอัพเดตระบบปฏิบัติการเป็นเวอร์ชันใหม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่แอปเปิลได้เปลี่ยนมาเป็นการอัพเดตฟรีตั้งแต่ OS X 10.9 Mavericks
ลิงก์ดาวน์โหลด OS X ทั้งสองเวอร์ชัน
OS X 10.7 Lion
OS X 10.8 Mountain Lion
ที่มา: MacWorld |
# Didi ไอพีโอเข้าตลาดหุ้นแล้ว ปิดการซื้อขายวันแรกมีมูลค่ากิจการ 67,800 ล้านดอลลาร์
Didi แพลตฟอร์มเรียกรถแท็กซี่รายใหญ่ในจีน ได้นำบริษัทไอพีโอเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นที่เรียบร้อย หลังจากเสนอขายหุ้นรอบสุดท้ายเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยใช้ตัวย่อ DIDI ในการซื้อขาย
ราคาหุ้นไอพีโออยู่ที่ 14 ดอลลาร์ต่อหุ้น ในวันแรกปิดการซื้อขายที่ 14.14 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีมูลค่ากิจการตามราคาหุ้นที่ 67,800 ล้านดอลลาร์ แต่ราคาซื้อขายระหว่างวันปรับตัวเพิ่มสูงสุดถึง 19% ถึงแม้การเข้าตลาดหุ้นของ Didi อาจมองเป็นธุรกิจแบบเดียวกับ Uber แต่ Uber เองก็ได้ประโยชน์ เพราะบริษัทถือหุ้นใน Didi อยู่ 12.8% ซึ่งมาจากการขายธุรกิจในจีนเมื่อปี 2016
ข้อมูลจากเอกสารไฟลิ่งระบุว่า Didi มีผู้ใช้งาน 493 ล้านคนในช่วง 1 ปี มีการเรียกรถเฉลี่ย 41 ล้านครั้งต่อวัน มีการดำเนินงานนอกประเทศจีนอยู่ 14 ประเทศ โดยมีตลาดนอกจีนที่สำคัญคือบราซิลและเม็กซิโก ก่อนไอพีโอไม่กี่สัปดาห์ Didi ก็ถูกทางการจีนตรวจสอบด้วยข้อหาผูกขาดตลาด แบบเดียวกับที่บริษัทเทคโนโลยีในจีนหลายแห่งถูกตรวจสอบ
ที่มา: CNBC |
# Slack เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ เปิดกลุ่มคุยเสียงได้คล้าย Discord
Slack เปิดตัวเครื่องมือใหม่ 3 รายการ รองรับการทำงานจากทุกที่ แต่ให้ความรู้สึกเหมือนยังทำงานในสำนักงานเดียวกัน ซึ่ง Slack บอกว่าเป็นการออกแบบเครื่องมือบนแนวคิดแบบ Digital-First ให้รองรับการติดต่อสื่อสารในทีมที่ดีขึ้น
ฟีเจอร์แรกชื่อ Slack huddles เป็นการสนทนาเสียงเหมือน Discord ผู้ต้องการเริ่มการสนทนาเสียงสามารถกดปุ่มเปิดไมโครโฟนได้ใน channel หรือใน DM แนวคิดของ huddle เหมือนการคุยรวมกับทีมแบบไม่ทางการ ไม่ต้องกำหนดตารางประชุม ใครสะดวกร่วมคุยก็คุยด้วยในตอนนั้น ฟีเจอร์นี้จะเพิ่มเฉพาะผู้ใช้ Slack แบบเสียเงิน
ฟีเจอร์ต่อมาเป็นการสร้างและแชร์ไฟล์เสียง วิดีโอ หรือการบันทึกหน้าจอ เพื่อเริ่มการสนทนาโต้ตอบแบบเดียวกันที่สะดวกขึ้น แนวคิดคล้ายกับ huddle แต่เป็นการคุยด้วยการอัพโหลดคลิปต่อกัน จะเปิดให้ใช้งานเฉพาะผู้ใช้แบบเสียเงิน
สุดท้ายเป็นคุณสมบัติชื่อ Slack Atlas ระบบจัดการข้อมูลพนักงานในองค์กร สามารถแสดงโปรไฟล์แต่ละคนได้ละเอียดมากขึ้น คุณสมบัตินี้เปิดให้ใช้งานกับลูกค้าบางส่วนก่อน และจะเปิดทั่วไปภายในปีนี้
ที่มา: Slack และ ZDNet |
# Windows 11 มี Dynamic Refresh Rate ปรับรีเฟรชเรตตามชนิดแอพ ช่วยประหยัดแบต
ไมโครซอฟท์เปิดเผยฟีเจอร์ใหม่อีกอย่างของ Windows 11 คือ Dynamic refresh rate (DRR) ที่ตัวระบบปฏิบัติการจะปรับรีเฟรชเรตของหน้าจอ ตามประเภทหรือรูปแบบแอปพลิเคชันที่ใช้งาน เพื่อประหยัดพลังงานลง
ฟีเจอร์นี้ต้องใช้กับหน้าจอที่รองรับ Variable refresh rate (VRR) โดยมีอัตรารีเฟรชอย่างน้อย 120 Hz และตัวไดรเวอร์การ์ดจอ (WDDM 3.0) ต้องซัพพอร์ตฟีเจอร์นี้ด้วย ซึ่งไมโครซอฟท์บอกว่ากำลังร่วมกับผู้ผลิตการ์ดจอเตรียมไดรเวอร์อยู่
ถ้าทุกอย่างพร้อมแล้ว Windows 11 จะปรับรีเฟรชเรตของจอให้อัตโนมัติ ถ้าเป็นแอพทำงานทั่วๆ ไป เช่น อีเมล เขียนเอกสาร จะปรับมาที่ 60 Hz เพื่อประหยัดแบตเตอรี่ แต่ในงานบางอย่าง เช่น เลื่อนหน้าจอ (scrolling) หรือ เขียนจอด้วยปากกา (inking) จะปรับรีเฟรชเรตเป็น 120 Hz เพื่อให้ประสบการณ์ที่ลื่นที่สุด
แอพที่รองรับแล้วตอนนี้คือ
Smoother inking: Microsoft Office, Microsoft Edge, Microsoft Whiteboard, Microsoft Photos, Snip & Sketch, Drawboard PDF, Microsoft Sticky Notes, Adobe Acrobat, Adobe Illustrator, Microsoft To Do, Inkodo
Smoother scrolling: Microsoft Office
ที่มา - Microsoft |
# Neeva เว็บค้นหาแนวคิดใหม่โดยอดีตพนักงานกูเกิล จ่ายรายเดือนแลกกับไม่มีโฆษณา
Neeva สตาร์ตอัพใหม่ของอดีตผู้บริหารกูเกิล 4 คน เปิดตัว search engine แนวใหม่ที่ไม่หารายได้จากโฆษณา แต่คิดเงินค่าสมาชิกจากผู้ใช้ 4.95 ดอลลาร์ต่อเดือน แลกกับ search engine ที่ไร้โฆษณา และรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างเต็มที่
Neeva บอกว่า search engine ในปัจจุบันเต็มไปด้วยโฆษณา เพราะเอาใจนักโฆษณามากกว่าผู้ใช้ ผลการค้นหาที่เป็น organic ลดพื้นที่ลงไปเรื่อยๆ บริษัทจึงกลับวิธีคิดใหม่ แก้ปัญหาเรื่องการหารายได้โดยให้ผู้ใช้จ่ายค่าสมาชิกแทน เพื่อสร้าง search engine ที่คิดเพื่อผู้ใช้จริงๆ
ฟีเจอร์อื่นของ Neeva คือการปรับแต่งที่เยอะกว่า search รายอื่นๆ เช่น การค้นหาข่าวผ่าน Google News เราเลือกแหล่งข่าวเองได้ลำบาก แต่ Neeva เปิดให้ผู้ใช้ปรับแต่งแหล่งข่าวที่ต้องการได้เอง, สามารถเชื่อมบัญชี Neeva กับบริการอีเมล ปฏิทิน แชท ไฟล์ต่างๆ เพื่อใช้ Neeva ค้นหาข้อมูลส่วนตัวที่เก็บอยู่ในบริการเหล่านี้ได้ด้วย
ลูกค้าที่จ่ายเงินรายเดือนให้ Neeva ยังจะได้ส่วนขยายสำหรับเบราว์เซอร์ ที่ช่วยบล็อคการตามรอยของเว็บไซต์ต่างๆ และ Neeva ยังสัญญาว่าจะกันรายได้ 20% ให้กับเจ้าของคอนเทนต์บนเว็บที่ Neeva นำมาใช้ตอบคำถามผู้ใช้โดยตรงด้วย ซึ่งตอนนี้ Neeva ก็เซ็นสัญญากับ Medium และ Quora เรียบร้อยแล้ว
การที่ Neeva สร้างโดยอดีตผู้บริหารกูเกิล (ที่บางคนอยู่ในทีม search โดยตรง) บริษัทจึงพยายามการันตีว่ารู้จักเรื่อง search ดี และทำผลิตภัณฑ์ออกมาได้ดีไม่แพ้กูเกิล ต้องรอดูกันว่าผลการค้นหาจะใช้งานได้ดีจริงๆ หรือไม่ ตอนนี้ Neeva ยังเปิดบริการเฉพาะในสหรัฐเท่านั้น
ที่มา - Neeva |
# กูเกิลการันตี ฮาร์ดแวร์ Nest จะได้แพตช์ความปลอดภัยและแก้บั๊ก 5 ปี
กูเกิลประกาศนโยบายด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของสินค้าสมาร์ทโฮมแบรนด์ Nest ประเด็นสำคัญคือการันตีออกแพตช์ความปลอดภัยและแก้บั๊กนาน "อย่างน้อย" 5 ปี นับจากฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นวางขาย
ตัวเลข 5 ปีถือเป็นตัวเลขขั้นต่ำที่การันตีเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว ฮาร์ดแวร์ Nest ที่ขายอยู่ในตลาดบางตัวก็มีอายุเกิน 5 ปีแล้ว เช่น Nest Cam Indoor ที่ขายในปี 2015 (อายุ 6 ปี) แต่ก็ยังอยู่ในระยะซัพพอร์ต
ส่วนมาตรการด้านความปลอดภัยอื่นๆ ได้แก่
ฮาร์ดแวร์ที่เปิดตัวในปี 2019 เป็นต้นมาจะเป็น verified boot ทั้งหมด การันตีว่าตัวระบบปฏิบัติการไม่ถูกแก้ไข
ฮาร์ดแวร์ที่เปิดตัวในปี 2019 เป็นต้นมา จะผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ioXt ขององค์กรกลางที่เป็นอิสระจากกูเกิล
Nest เข้าร่วมโครงการ Google vulnerability reward นักวิจัยความปลอดภัยจะได้เงินรางวัลถ้าหาช่องโหว่เจอ
อุปกรณ์ของ Nest จะแสดงในหน้า Google Account ของผู้ใช้ เพื่อให้รู้ได้ว่ามีอุปกรณ์ใดเชื่อมต่อบัญชีอยู่
ที่มา - Google, 9to5google |
# TSMC เริ่มเจรจาสหรัฐฯ สั่งซื้อวัคซีน Pfizer หลังรัฐบาลไต้หวันมอบอำนาจให้จัดซื้อได้โดยตรง
TSMC เริ่มติดต่อรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อขอซื้อวัคซีนหลังจากเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมารัฐบาลไต้หวันเห็นชอบให้ทั้ง TSMC และ Foxconn เป็นตัวแทนรัฐบาลเจรจาซื้อวัคซีนจาก Pfizer รวม 10 ล้านโดส
ทั้งสองบริษัทพยายามจัดหาวัคซีนด้วยตัวเองเพื่อมาฉีดให้พนักงานและครอบครัวระยะหนึ่งแล้ว แต่ระบุว่าจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ และหลังจากเข้าพูดคุยกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน คณะรัฐมนตรีไต้หวันก็ประกาศอนุญาตให้ทั้งสองบริษัทเป็นตัวแทนรัฐบาลจัดหาวัคซีนเป็นทางการ
รัฐบาลไต้หวันระบุว่าพยายามจัดซื้อวัคซีนจาก Pfizer มาแล้วแต่ถูกทางการจีนปิดกั้น อย่างไรก็ดีรัฐบาลจีนปฎิเสธข้อกล่าวหานี้
ที่มา - Reuters |
# Play Store บังคับใช้แพ็กเกจ Android App Bundle (.aab) แทน APK มีผล สิงหาคม 2021
นักพัฒนาสายแอนดรอยด์โปรดทราบ กูเกิลจะเริ่มบังคับใช้ระบบแพ็กเกจแบบใหม่ Android App Bundle (.aab) แทน APK เดิม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2021 เป็นต้นไป
Android App Bundle เปิดตัวครั้งแรกในปี 2018 เป็นเทคนิคการทำแพ็กเกจแอพที่แยกส่วนข้างใน แล้วให้ Google Play เป็นคนเลือกว่าจะส่งเฉพาะไฟล์ก้อนไหนบ้างให้ผู้ใช้ (เช่น เฉพาะสถาปัตยกรรมที่ตรงกัน) ช่วยให้ขนาดไฟล์ที่ต้องดาวน์โหลดเล็กลง สะดวกกว่าการดาวน์โหลด APK ทั้งก้อนแบบในอดีต
กูเกิลเปิดให้ใช้ AAB เป็นทางเลือกแทน APK มานานพอสมควร ปัจจุบันมีแอพใช้งานแล้วมากกว่า 1 ล้านตัว และเมื่อปี 2020 ก็ประกาศไว้ว่าจะบังคับใช้ AAB ในปี 2021
นอกจาก APK แล้ว กูเกิลยังประกาศเปลี่ยนวิธีแจกไฟล์ asset ของเกมใหม่ไปพร้อมกัน จากเดิมใช้ไฟล์ OBB สำหรับไฟล์เกมขนาดใหญ่ๆ เปลี่ยนมาเป็นระบบ Play Asset Delivery (PAD) แทน (เปิดตัวปี 2020)
ประกาศทั้งหมดนี้มีผลเฉพาะแอพใหม่ที่จะส่งขึ้น Play Store เท่านั้น ส่วนแอพที่อยู่บนสโตร์อยู่แล้ว ยังไม่มีกำหนดเปลี่ยนแปลง
ที่มา - Android Developers |
# สิงคโปร์ชี้วัคซีน Sinovac ไม่มีข้อมูลการป้องกันเชื้อสาย Delta, คนฉีดไม่ได้สิทธิ์เข้างานรวมตัวโดยไม่ต้องตรวจ COVID-19
กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ประกาศว่าผู้ที่เลือกฉีดวัคซีน Sinovac จะไม่ได้สิทธิ์เข้าร่วมงานต่างๆ โดยไม่ต้องตรวจ COVID-19 ล่วงหน้า หรือ pre-event testing (PET) เหมือนกับผู้ที่รับวัคซีน Pfizer หรือ Moderna และหลังจากนี้คลีนิกที่รับฉีดวัคซีน Sinovac จะต้องแจ้งผู้รับวัคซีนว่าสิทธิ์ต่างๆ จะไม่เท่ากับผู้รับวัคซีนตามโครงการหลักของรัฐบาล
สิงคโปร์อนุญาตให้มีการจัดงานรวมตัวไม่เกิน 250 คน ได้แก่ งานแสดงสินค้า, คอนเสิร์ต, การรวมตัวทางศาสนา, โรงภาพยนตร์, และการแข่งขันกีฬา หากงานมีผู้เข้าร่วมเกิน 50 คนจะต้องตรวจผู้ร่วมงานก่อนเข้างานทุกคน โดยกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์สนับสนุนให้ตรวจแบบ rapid test เนื่องจากได้ผลภายใน 30 นาที และหลังจากได้ผลตรวจแล้วจะเข้าร่วมงานรวมตัวได้ 24 ชั่วโมง หากมีงานนานกว่านั้นจะต้องกลับไปตรวจซ้ำ เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมงานค่อนข้างยุ่งยาก แต่ผู้ป่วย COVID-19 ที่หายแล้วจะได้รับยกเว้น PET เป็นเวลา 270 วัน และผู้ได้รับวัคซีน Pfizer หรือ Moderna ครบสองเข็มแล้วสองสัปดาห์ก็ได้รับยกเว้นเช่นกัน
เหตุผลของการจำกัดสิทธิ์เช่นนี้เรื่องจากตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าวัคซีน Sinovac สามารถป้องกัน COVID-19 ในเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้มากน้อยเพียงใด
สิงคโปร์อนุญาตให้ใช้งาน Sinovac ได้หลัง WHO รับรองให้ใช้งานแบบฉุกเฉิน แต่ไม่รวมเอาเข้าโครงการวัคซีนแห่งชาติ ทำให้ผู้ที่ต้องการฉีดต้องจ่ายค่าฉีดเอง
ที่มา - Strait Times
ภาพโดย qimono |
# เริ่มออกหมัด Sony ซื้อ Housemarque ผู้สร้าง Resogun, Returnal เป็นส่วนหนึ่งของ PlayStation Studios
หลัง Microsoft ทุ่มซื้อสตูดิโอหลายแห่งรวมถึง Bethesda เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Xbox Game Studios ในปีที่แล้ว คงถึงคราว Sony เริ่มออกหมัดบ้าง ประกาศซื้อสตูดิโอ Housemarque ผู้สร้างเกม Returnal หนึ่งในเกมแอ็กชั่นชูโรงของเครื่อง PS5 และผู้สร้างเกมแข่งยาน Resogun และเกมอื่นๆ ตั้งแต่ PS3 เป็นต้นมา
Housemarque เป็นสตูดิโอสัญชาติฟินแลนด์ ก่อตั้งในปี 1995 เริ่มสร้างเกม Super Stardust ให้ MS-DOS เป็นแพลตฟอร์มแรก ก่อนนำมารีเมคเป็น Super Stardust HD บน PS3 ในปี 2007 รวมถึงพอร์ตไปเป็น Super Stardust Portable บน PSP และทำเกม Dead Nation กับ Resogun ที่ลงทั้ง PS3, PS4 และ PS Vita
Returnal เกมล่าสุดของ Housemarque เกมแอ็กชั่นมุมมองบุคคลที่สามแนว rogue-like ผู้เล่นรับบทนักบินอวกาศที่ต้องต่อสู้กับเอเลี่ยนบนดาวห่างไกล แต่มีลูกเล่นคือผู้เล่นจะกลับมาเกิด ตาย วนเวียนอยู่บนดาวที่จะเปลี่ยนแปลงไปทุกครั้งที่ผู้เล่นตาย และได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 86 คะแนน บน Metacritic
ที่มา - PlayStation Blog |
# Casey Hudson ผู้สร้าง Mass Effect เปิดสตูดิโอใหม่ Humanoid Studios
Casey Hudson ผู้สร้างเกม Mass Effect และอดีตหัวหน้าสตูดิโอ Bioware ที่ลาออกไปเมื่อปี 2014 ครั้งหนึ่ง ก่อนจะกลับมาร่วมงานกับ Bioware ในปี 2017 และลาออกอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา เปิดเผยสตูดิโอใหม่ของเขาผ่านทางทวิตเตอร์ สตูดิโอใหม่นี้มีชื่อว่า Humanoid Studio
Hudson ระบุว่าสตูดิโออินดี้แห่งใหม่ของเขา สร้างขึ้นมาเพื่อ “ปลดปล่อยอิสระทางความคิดสร้างสรรค์” ของนักพัฒนาในทีม และเตรียมนำศิลปะแห่งการสร้างเกมมาให้ผู้เล่นได้ยลโฉมในเกมใหม่
Humanoid Studio น่าจะอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นของการก่อตั้ง และเราอาจจะยังไม่ได้เห็นเกมใหม่เร็วๆ นี้ เพราะหน้าเว็บไซต์ของสตูดิโอยังเป็นพื้นหลังสีขาวโล่งพร้อมตัวหนังสือธรรมดาเท่านั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเขาจะนำมนต์สเน่ห์แห่งเกมสวมบทบาทของ Bioware กลับมาได้หรือไม่
ที่มา - Casey Hudson |
# เปิดตัว Contra Returns เวอร์ชันมือถือ พัฒนาโดย TiMi สตูดิโอที่ทำ RoV
Konami เปิดตัว Contra Returns เวอร์ชันมือถือ Android/iOS สำหรับตลาดนอกประเทศจีน เกมนี้พัฒนาโดย TiMi Studios ในเครือ Tencent สตูดิโอเดียวกับที่ทำ RoV และ Call of Duty: Mobile และเปิดให้เล่นในจีนมาตั้งแต่ราวปี 2018
Contra Returns ปรับกราฟิกใหม่เป็น 3D แต่ยังใช้แนวการเล่นแบบ side-scrolling มุมมองด้านข้างเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือการเล่นเป็นทีมแบบออนไลน์ โหมดการเล่นแบบ 1v1 และ 3v3 ตามแนวทางเกมมัลติเพลเยอร์ยุคนี้
จากกราฟิกในเทรลเลอร์ ผู้ที่เล่น RoV คงรู้สึก "คุ้นมาก" เพราะคนวาดภาพตัวละครน่าจะเป็นทีมเดียวกัน ยุทธศาสตร์ของ TiMi Studios ในช่วงหลังคือจับมือกับเกมแฟรนไชส์ดังๆ หลายค่าย เพื่อพัฒนาเป็นเกมมือถือเน้นเล่นออนไลน์ free-to-play แบบที่ถนัด เกมอื่นๆ ที่อยู่ในคิวคือ Pokemon Unite และ Metal Slug Code: J เป็นต้น
เกมจะเปิดให้เล่นวันที่ 26 กรกฎาคมนี้
ที่มา - Eurogamer |
# กูเกิลเปิดตัวเครื่องมือค้นหาแหล่งแจกจ่ายอาหารฟรีทั่วสหรัฐฯ รวมแล้วกว่า 9 หมื่นจุด
เป็นบริการที่อยากให้มีในไทยบ้าง โดยเฉพาะช่วงเวลาลำบากแบบนี้ กูเกิลในสหรัฐฯ เปิดตัว Find Food Support เครื่องมือค้นหาแหล่งแจกจ่ายอาหารฟรีทั่วสหรัฐฯ โดยกูเกิลร่วมมือกับหน่วยงานไม่แสวงหากำไร No Kid Hungry และ FoodFinder รวมถึงกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ จัดทำแผนที่และเครื่องมือค้นหาขึ้น
Find Food Support มีเครื่องมือระบุตำแหน่งจุดแจกจ่ายอาหารที่ขับเคลื่อนโดย Google Maps ใช้ค้นหาจุดแจกอาหาร หรือจุดอาหารกลางวันเพื่อนักเรียนที่อยู่ใกล้เรา เป็นต้น รวมแล้วตอนนี้มีราว 9 หมื่นจุดทั่วสหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ข้อมูลจาก Feeding America องค์กรไม่แสวงหากำไรระบุว่า ชาวอเมริกันที่ต้องเจอภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในช่วงโรคระบาด มีถึง 45 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 7 ของประชากร ซึ่งรวมถึงเด็ก 15 ล้านคนด้วย
ที่มา - The Verge, Find Food Support |
# LG อัพเดตเฟิร์มแวร์ทีวีปี 2020-2021 รองรับ Dolby Vision HDR 4K 120Hz
LG Electronics เอาใจเกมเมอร์รุ่นใหม่ๆ ประกาศอัพเดตเฟิร์มแวร์ทีวีรุ่นปี 2020 และ 2021 ให้รองรับ Dolby Vision HDR โดยทีวีรุ่นสูงๆ จะสามารถเล่นได้ที่ 4K 120Hz ด้วย ส่วนทีวีรุ่นล่างหรือเก่าหน่อยอาจได้ที่ 60Hz
ทีวีกลุ่มแรกที่จะได้อัพเดตคือ LG OLED TV C1 และ G1 ที่เริ่มปล่อยอัพเดตแล้ววันนี้, จากนั้นจะเป็นคิวของ OLED Z1, QNED Mini LED QNED99 และ NanoCell Nano99 ตามมาในเดือนกรกฎาคม
นอกจากฟีเจอร์ Dolby Vision แล้ว เฟิร์มแวร์นี้ยังมีฟีเจอร์ Game Optimizer แสดงแดชบอร์ดบนหน้าจอ (HUD) ให้ตั้งค่าการแสดงผลตามประเภทของเกม Standard, FPS, RPG, RTS โดยไม่ต้องหยุดเกมด้วย
ที่มา - LG |
# กูเกิลเริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์ MUM กับการค้นหา ทำความเข้าใจคำค้นว่าคนพูดถึง COVID-19
ในงาน Google I/O ที่ผ่านมากูเกิลสาธิตปัญญาประดิษฐ์ที่เตรียมใช้กับ Google Search สองตัว คือ MUM สำหรับทำความเข้าใจข้อมูลและแสดงผล และ LaMDA สำหรับทำความเข้าใจคำถามของผู้ใช้ วันนี้กูเกิลก็ระบุว่าเริ่มนำ MUM มาใช้งานจริงกับการแสดงผลค้นหาเกี่ยวกับ COVID-19 แล้ว
ตอนนี้กูเกิลใช้ MUM ทำความเข้าใจว่าผู้ใช้พูดถึงวัคซีน COVID-19 อยู่หรือไม่ จากเดิมที่ใช้เจ้าหน้าที่ระบุคำสำคัญที่มักใช้เวลานับร้อยชั่วโมง แต่ MUM สามารถแสดงคำที่แปลว่าวัคซีน COVID-19 ได้ถึง 800 คำกระจายไป 50 ภาษา โดยใส่ชื่อทางการของวัคซีนเป็นตัวอย่างไปไม่กี่ชื่อเท่านั้น
ที่มา - Google |
# Google Messages ในอินเดียจะลบ OTP ให้ จัดแยกข้อความธรรมดา, ธุรกรรม, OTP ออกจากกัน
Google Messages ในอินเดียเพิ่มฟังก์ชั่นลบข้อความ one-time passwords หรือ OTP ให้อัตโนมัติภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับข้อความ ผู้ใช้สามารถเปิดการใช้งานด้วยการกด continue บนแบนเนอร์ที่กูเกิลแสดงในหน้าข้อความ OTP
นอกจากนี้ Google Messages ยังเพิ่มการจัดระเบียบข้อความเข้า แยกเป็นข้อความธรรมดา ข้อความ OTP ข้อความธุรกรรมทางการเงิน และข้อความโปรโมชั่นจากแบรนด์แยกจากกัน เพื่อให้หาง่าย และไม่รก
ฟีเจอร์ใหม่สามารถใช้งานออฟไลน์ได้ ใช้งานในมือถือแอนดรอยด์ 8 ขึ้นไปในอินเดีย และยังไม่บอกว่าจะขยายการใช้งานไปยังประเทศอื่นเมื่อใด
ที่มา - กูเกิล |
# หลบหน่อยกูเกิล ซัมซุงขยายเวลาอัพเดตแพตช์ Galaxy เป็น 5 ปี สำหรับตลาดองค์กร
ซัมซุงประกาศขยายระยะเวลาอัพเดตแพตช์ของสมาร์ทโฟนกลุ่ม Galaxy Enterprise Edition ให้เป็น 5 ปี สำหรับมือถือรุ่นใหม่ๆ บางรุ่นคือ Galaxy S20, S21, Note 20, XCover 5, Tab Active 3 ส่วนมือถือและแท็บเล็ตรุ่นอื่นๆ ยังได้แพตช์นาน 4 ปี
เมื่อต้นปีนี้ ซัมซุงประกาศขยายระยะเวลาอัพเดตแพตช์เป็น 4 ปี สำหรับมือถือและแท็บเล็ตรุ่นคอนซูเมอร์อยู่แล้ว ประกาศนี้จึงเป็นการสร้างจุดขายให้มือถือกลุ่มลูกค้าองค์กรที่ได้ระยะเวลาเพิ่มมาอีก 1 ปี
นโยบายการอัพเดตแพตช์ความปลอดภัยของ Google Pixel ยังอยู่ที่ 3 ปีเท่านั้น
ที่มา - Samsung UK, Droid Life |
# HBO Max เปิดตัวนอกพื้นที่สหรัฐฯไปยังละตินอเมริกาและแคริบเบียน เพิ่มแพ็กเกจดูเฉพาะในมือถือเท่านั้น
HBO Max สตรีมมิ่งจากค่าย WarnerMedia เปิดตัวนอกสหรัฐฯเป็นครั้งแรก ขยายการใช้งานไปยังละตินอเมริกาและเขตพื้นที่แคริบเบียน ทางบริษัทยังเพิ่มแพ็กเกจพิเศษในพื้นที่ด้วยคือ ดูเฉพาะในมือถือเท่านั้นด้วยคุณภาพ SD ดาวน์โหลดได้สูงสุด 5 เรื่อง
ทาง HBO จะผลิตเนื้อหาออริจินัลในละตินอเมริกาด้วยในช่วงสองปีข้างหน้า ดึง UEFA Champions League มาให้บริการแก่สมาชิกในเม็กซิโกและบราซิลด้วยในปีนี้
มีการคาดกันว่า HBO Max จะเปิดตัวในยุโรปปีนี้ด้วยเช่นกัน
ที่มา - The Verge |
# Zoom เข้าซื้อ Kites GmbH สตาร์ทอัพแปลภาษาเรียลไทม์ในเยอรมนี
Zoom ประกาศกำลังอยู่ระหว่างเข้าซื้อ Karlsruhe Information Technology Solutions หรือ Kites GmbH สตาร์ทอัพทำระบบแปลภาษาเรียลไทม์ ในเยอรมนี แปลโดยใช้ Machine Learning ทางบริษัทไม่เปิดเผยมูลค่าดีล
Zoom จะนำความสามารถการแปลของ Kites GmbH มาสู่แพลตฟอร์มหลัก และจะตั้งทีมวิจัยพัฒนาในเยอรมนีด้วย การเข้าซื้อช่วยให้ Zoom เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันโดยเฉพาะกับ Cisco Webex ที่สามารถแปลเรียลไทม์ครอบคลุมหลายภาษาแล้ว
Zoom ประสบความสำเร็จมหาศาลในช่วงโรคระบาด จากรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ตามปีการเงินบริษัท 2021 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 191% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน
ที่มา - Engadget |
# เปิดตัวแล้ว Facebook Bulletin แพลตฟอร์มนักเขียนอิสระแบบ Substack กดติดตามนักเขียนได้
ในที่สุดก็เปิดตัวเป็นทางหารแล้วสำหรับ Facebook Bulletin แพลตฟอร์มนักเขียนอิสระที่ Facebook ซุ่มทำอยู่ในช่วงหนึ่ง Facebook Bulletin จะเป็นเว็บไซต์แยกออกจาก Facebook สามารถใช้บัญชี Facebook เพื่อเข้าสู่ระบบได้ จนถึงตอนนี้ยังมีนักเขียนไม่กี่ราย ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ แต่คนไทยก็สามารถเข้าไปอ่านสำรวจได้ที่นี่
ตัวอย่างนักเขียนเช่น Malcom Gladwell, Mitch Albom, Erin Andrews และ Tan France ตัวระบบสามารถกดติดตามนักเขียนเพื่อรับข่าวสารอัพเดตจากนักเขียนได้ และใช้ Facebook Pay จ่ายเพื่อเข้าถึงเนื้อหาอื่นๆ
นักเขียนแต่ละคนมีเว็บไซต์แยกของตัวเองบน Facebook Bulletin ที่ซึ่งปรับแต่งสี ชื่อ โลโก้ในแบบของตัวเองได้ มีเครื่องมือวิเคราะห์หลังบ้าน เพื่อดูว่ามีคนอ่านเท่าไร โดยในอนาคต Facebook จะรวมเครื่องมือในการเผยแพร่พอดแคสต์นอกเหนือจากการเขียนแบบยาวมาไว้ใน Bulletin ด้วย รวมถึงคุณสมบัติในการสร้างพอดแคสต์ นอกจากนี้ Bulletin จะรวมเข้ากับเพจ Facebook เพื่อเปิดใช้งานการเผยแพร่ในรูปแบบมัลติมีเดียต่างๆ และจะเพิ่มการคัดกรองคอมเม้นท์ให้นักเขียนด้วย
ที่มา - Facebook |
# 2U แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ ซื้อกิจการ edX จาก MIT และ Harvard มูลค่าดีล 800 ล้านดอลลาร์
edX แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์แบบไม่แสวงผลกำไร ที่ก่อตั้งโดย MIT และมหาวิทยาลัย Harvard ประกาศขายกิจการให้กับ 2U แพลตฟอร์มบริการจัดการคอร์สเรียนออนไลน์ มูลค่าดีล 800 ล้านดอลลาร์ โดยเงินจากการขายนี้จะนำไปจ่ายคืนเงินกู้ยืมที่ได้จาก MIT และ Harvard ส่วนที่เหลือจะเข้าไปยังหน่วยงานไม่แสวงหากำไรของทั้งสองมหาวิทยาลัย
ในข้อตกลงของการขายนี้ 2U ให้คำรับรองว่าคอร์สเรียนทั้งหมดบน edX จะยังเข้าถึงได้ฟรีอย่างน้อย 5 ปี รวมทั้งคุ้มครองสิทธิในเนื้อหาของผู้ผลิต ส่วนแพลตฟอร์ม Open edX ที่เป็นโอเพนซอร์สให้มหาวิทยาลัยทั่วโลกนำไปใช้พัฒนาระบบเรียนออนไลน์นั้น ไม่อยู่ในการซื้อขายของดีลนี้
edX มีสถาบันที่ร่วมพัฒนาเนื้อหา 160 แห่ง มีผู้เรียนมากกว่า 39 ล้านคน และมีการลงทะเบียนเรียนคอร์สต่าง ๆ มากกว่า 110 ล้านครั้ง
L. Rafael Reif ประธาน MIT ให้เหตุผลของการขาย edX ว่า การระบาดของโควิด-19 ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ตลาดของบริการเรียนออนไลน์เติบโตสูงมาก ธุรกิจด้านนี้ต่างได้รับเงินลงทุนจำนวนมาก ทำให้ edX ที่เป็นแพลตฟอร์มไม่แสวงหากำไรถูกกดดันจากการแข่งขัน และพัฒนาตามคู่แข่งได้ยากขึ้น
ที่มา: TechCrunch และ MIT |
# GitHub ร่วมมือ OpenAI สร้างปัญญาประดิษฐ์ช่วยเขียนโปรแกรมจากคอมเมนต์
GitHub ร่วมมือกับ OpenAI สร้างบริการ GitHub Copilot บริการช่วยเขียนโปรแกรมโดยอ่านทำความเข้าใจจากคอมเมนต์, ชื่อฟังก์ชั่น, หรือแม้แต่ตัวอย่างโค้ดก่อนหน้า
ปัญญาประดิษฐ์ของ OpenAI ตัวเดิมอย่าง GPT-2 เคยเขียนโค้ดได้บางส่วนมาแล้วแม้ไม่ได้ฝึกมาโดยเฉพาะ รอบนี้ทาง GitHub ใช้ปัญญาประดิษฐ์ OpenAI Codex ที่ระบุว่ามีความสามารถมากกว่า GPT-3 และฝึกด้วยซอร์สโค้ดโปรแกรมเป็นหลัก โดยรวมใช้ซอร์สโค้ดกว่าหมื่นล้านบรรทัด ทำให้มีความสามารถในการเขียนโปรแกรมสูงขึ้น
ทาง OpenAI ไม่ได้จำกัดภาษาที่ OpenAI Codex รองรับ แต่ระบุว่าตอนนี้ทำงานได้ดีกับ Python, JavaScript, TypeScript, Ruby, และ Go ตัวบริการจะแนะนำโค้ดมาให้หลายๆ แบบโดยตัวโปรแกรมเมอร์ต้องเลือกและปรับแก้ก่อนใช้งาน ควรระวังว่าหลายครั้งโปรแกรมก็แนะนำโค้ดผิดๆ หรือแม้แต่โค้ดที่คอมไพล์ไม่ผ่าน
ตอนนี้ GitHub Copilot ยังอยู่ระหว่างการทดสอบระดับ Technical Preview โดยต้องได้รับเชิญเข้าไปทดสอบ ผู้สนใจสามารถลงชื่อรอทดสอบได้ ส่วนการใช้งานจะสามารถใช้ผ่านส่วนขยายของ Visual Studio Code หรือจะใช้งานใน GitHub Codespaces ก็ได้
ที่มา - GitHub, GitHub Copilot |
# OnePlus Nord CE 5G ชิป Snapdragon 750G จอ AMOLED 120Hz เปิดราคาไทย เริ่ม 12,990 บาท
OnePlus Nord CE 5G รุ่นที่เหมือนนำ OnePlus Nord มาปรับให้ราคาจับต้องได้มากขึ้น ใช้ชิปประมวลผล Snapdragon 750 หน้าจอ AMOLED 6.43 นิ้ว ความละเอียด FHD+ อัตรารีเฟรช 120Hz เปิดราคาไทยอย่างเป็นทางการ เตรียมเปิดสั่งจอง 30 มิถุนายน 64 - 6 กรกฎาคมนี้ ในราคาดังนี้
รุ่น แรม 8GB ความจุ 128GB สี Blue Void ราคา 12,990 บาท
รุ่น แรม 12GB ความจุ 256GB สี Charcoal Black ราคา 15,990 บาท
สั่งจองล่วงหน้าจะได้รับของแถมเป็นประกันจอแตก, Gift Box และ OnePlus Buds Z ทั้งนี้ราคาเปิดตัวสูงกว่า OnePlus Nord N10 ที่เปิดตัวในราคา 9,900 บาท พอสมควร ทำให้ OnePlus Nord N10 ยังเป็น OnePlus Nord รุ่นเดียวที่รองรับ 5G และมีราคาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาทอยู่
ที่มา - OnePlus Live |
# Sensor Tower รายงานตลาดแอปครึ่งแรกปี 2021 - TikTok ทำเงินมากที่สุด การจ่ายเงินรวมเติบโต 25%
บริษัทวิจัยตลาดแอปมือถือ Sensor Tower รายงานตัวเลขประเมินการจ่ายเงินผ่านแอปมือถือ ของช่วงครึ่งแรกในปี 2021 มีการจ่ายเงินรวม 64,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 24.8% เมื่อเทียบครึ่งแรกของปี 2020
รายได้เลขแพลตฟอร์ม เป็นของ App Store แอปเปิล 41,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 22.1% และเป็นของ Google Play 23,400 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 30%
ภาพรวมทั่วโลก TikTok เป็นแอปที่ทำเงินได้มากที่สุด (รวม Douyin ในจีน) ตามด้วย YouTube ในอันดับที่ 2 และ Tinder ในอันดับที่ 3 นอกจากนี้ในอันดับแอปที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุด TikTok ก็เป็นอันดับ 1 เช่นกัน
เมื่อมาดูแอปกลุ่มเกม Honor of Kings (RoV ในไทย) เป็นแอปเกมที่ทำเงินมากที่สุด ตามด้วย PUBG Mobile และ Genshin Impact ในลำดับที่ 2 และ 3 ส่วนการจัดอันดับด้วยจำนวนดาวน์โหลดนั้น Join Clash 3D มาในอันดับที่ 1 ตามด้วย Free Fire ในอันดับที่ 2
ที่มา: Sensor Tower |
# Nikon เปิดตัว Z fc กล้อง Mirrorless สไตล์ฟิล์มคลาสสิค
Nikon เปิดตัวกล้องดิจิทัลรุ่นใหม่ Nikon Z fc เป็นกล้อง Mirrorless ทรงคลาสสิคเหมือนกล้องฟิล์มแบบใช้กระจกสะท้อน (SLR) Nikon FM2 และใช้เลนส์เมาท์ Z เหมือนกล้องรุ่นปัจจุบัน
Nikon Z fc ใช้เซนเซอร์ CMOS 20.9 ล้านพิกเซล ขนาด APS-C (DX-format) พร้อมหน่วยประมวลผล EXPEED 6 เร่ง ISO ได้ตั้งแต่ 100-51,200 ขยายได้สูงสุดถึง 204,800
ส่วนระบบโฟกัสเป็นแบบ Hybrid AF ที่มีจุดโฟกัส 209 จุด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 87% ในแนวนอน และ 85% ในแนวตั้ง พร้อมระบบตรวจจับสายตาสำหรับคนและสัตว์ ตัวกล้องถ่ายรัวได้สูงสุด 11 ภาพต่อวินาทีในโหมด full autofocus หรือ 9 ภาพต่อวินาทีเมื่อตั้งค่าการถ่ายภาพ RAW ไว้ที่โหมด 14-bit
ส่วนด้านวิดีโอ Nikon ระรบุว่าสามารถถ่ายวิดีโอได้ที่ 4K แบบ oversampled เพื่อเก็บข้อมูลออกจากเซนเซอร์ได้เต็มรูปแบบ ส่วน slow-motion สามารถถ่ายได้ที่ 1080p ที่ 120 เฟรมต่อวินาที และมี interval timer ในตัวสำหรับการถ่ายวิดีโอ timelapse ระดับ 4K
ตัวกล้องของ Nikon Z fc ออกแบบเน้นเอกลักษณ์กล้องฟิล์ม มีวงแหวนปรับค่าต่าง ๆ รอบตัวกล้อง มีจอแอลซีดีหลังกล้องขนาด 3 นิ้ว 1.04 ล้านจุดที่สามารถพลิกหมุนได้ ส่วนช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์เป็นแบบ OLED 2.36 ล้านจุด กำลังขยาย 1.02 เท่า (หรือ 0.68 เท่าเมื่อเทียบกับฟูลเฟรม)
Nikon Z fc เตรียมวางจำหน่ายครั้งแรกในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ โดยกำหนดราคาขายที่ 959.95 ดอลลาร์ (ราว 31,000 บาท) สำหรับบอดี้อย่างเดียว, 1,099.95 ดอลลาร์ (ราว 35,000 บาท) สำหรับกล้องพร้อมเลนส์ NIKKOR Z DX 16-50mm f/3.5-6.3 VR และ 1,199.95 ดอลลาร์ (ราว 38,000 บาท) สำหรับกล้องพร้อมเลนส์ NIKKOR Z 28mm f/2.8 (SE) มีสีหลักคือสีดำตัดเงิน และอีก 6 สีให้เลือกได้แก่ ขาว, coral pink, mint green, sand beige, amber brown และ natural gray
ที่มา - dpreview |
# เผยโฉมหน้าตาใหม่ Microsoft Office สีพาสเทล ใช้ได้ทั้ง Windows 10 และ 11
ไมโครซอฟท์โชว์อินเทอร์เฟซใหม่ของ Microsoft Office ต้อนรับ Windows 11 (แต่ก็ใช้กับ Windows 10 ได้ด้วย) การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เห็นได้ทันทีคือ โทนสีสว่างขึ้นกว่าเดิม (สำหรับ light theme) โทนสีออกแนวพาสเทล เปลี่ยนมาใช้ไอคอนชุดใหม่ตามแนวทาง Fluent Design และขอบมุมต่างๆ เปลี่ยนมาโค้งมน
Office ดีไซน์ใหม่ยังคงใช้แถบเครื่องมือ Ribbon เหมือนเดิม (ยกเว้น Outlook ที่เป็นแถบเครื่องมือแถวเดียว) แต่ปุ่ม Quick Access Toolbar ที่มุมซ้ายบนของหน้าต่างจะถูกซ่อนเป็นค่าดีฟอลต์ (เปลี่ยนกลับคืนได้)
Office แบบใหม่มีธีมทั้งหมด 4 แบบคือ black, dark grey, white, colorful โดยจะปรับมืด-สว่างตามธีมสีของ Windows 11 ให้อัตโนมัติ
ผู้สนใจสามารถทดสอบได้แล้วด้วยการสมัคร Office Insider แบบ Beta Channel ใช้ได้ทั้งบน Windows 10 และ 11
ที่มา - Microsoft |
# ผู้กำกับ Smash Bros. Ultimate ยืนยัน ตัวละครใหม่ต่อจาก Kazuya จะเป็นตัวละครสุดท้ายของเกมภาคนี้
Nintendo เตรียมเพิ่มตัวละคร Kazuya จากเกม Tekken มาเป็นอีกหนึ่งตัวละครในเกม Smash Bros. Ultimate เกมต่อสู้ข้ามแฟรนไชส์ยอดฮิตของ Nintendo บนเครื่อง Nintendo Switch ภายในวันที่ 29 มิถุนายนนี้
หลังจากนี้จะมีตัวละครอีกตัวเดียวใน Fighters Pass Vol. 2 ที่จะเพิ่มเข้ามา ซึ่งยังไม่เปิดเผยว่าจะเป็นตัวละครใด แต่ Masahiro Sakurai ผู้กำกับเกม ยืนยันในวิดีโอเปิดตัวว่าตัวละครถัดไปนั้น จะเป็นตัวละครสุดท้ายที่ถูกเพิ่มเข้ามาในเกมภาคนี้
อย่างไรก็ตาม Nintendo ยังสามารถเพิ่มตัวละครอื่นเข้าอย่างไม่เป็นทางการในรูปแบบชุดแต่งตัว Mii Fighters ได้เรื่อยๆ ในอนาคต ตัวละคร Mii Fighters คือตัว Avatar ของผู้เล่นที่มีรูปแบบการต่อสู้สามแบบคือ Mii Brawler แบบเตะต่อย Mii Swordfighter ใช้ดาบ และ Mii Gunner ใช้ปืน และสามารถแต่งให้เป็นตัวละครจากเกมต่างๆ ได้ตามลักษณะการต่อสู้นี้
Super Smash Bros. Ultimate เปิดตัวช่วงเดือนธันวาคม ปี 2018 ตัวละครทั้ง 63 ตัวกลับมาจากภาคเก่าแบบครบถ้วน (ตัวละครที่มาเป็นหมู่คณะเช่นโปเกม่อนกับเทรนเนอร์นับเป็น 1) และมีตัวละครใหม่ 23 ตัว แบ่งเป็น 11 ตัวในเกมหลัก และ DLC อีก 12 ตัว (เปิดเผยแล้ว 11 ตัว เหลือตัวสุดท้ายเท่านั้น)
DLC ตัวละครของเกมนี้ซื้อแยกได้ Challenger Pack ละ 5.99 ดอลลาร์ แถม Stage ใหม่มาด้วย (ยกเว้น ้ต้นไม้กินคน Piranha จาก Super Mario Bros. ที่มาแต่ตัวและไม่รวมอยู่ใน Fighters Pass)
ผู้เล่นสามารถซื้อ Fighters Pass เหมาตัวละครและ Stage ของตัวละครนั้นๆ ที่มีสองชุด ในราคาชุดละ 29.99 ดอลลาร์ได้ โดย Vol.1 ประกอบด้วย Joker จาก Persona 5, Hero จาก DQ XI, Banjo และ Kazooie จาก Banjo & Kazooie, Terry จาก King of Fighters และ Byleth จาก Fire Emblem
ส่วน Vol. 2 ประกอบด้วย Min Min จาก ARMS, Steve และ Alex จาก Minecraft, Sephiroth จาก FFVII, Kazuya จาก Tekken และตัวละครสุดท้ายที่ยังไม่เปิดเผย
ที่มา - Nintendo |
# Lenovo เปิดตัวแท็บเล็ตรุ่นเล็ก Yoga Tab 11 เน้นดูคอนเทนต์ และ Tab P11 Plus เน้นทำงาน
นอกจาก Yoga Tab 13 Lenovo ยังเปิดตัวแท็บเล็ตรุ่นประหยัดเวอร์ชั่นโกลบอลอีก 2 รุ่น คือ Lenovo Yoga Tab 11 เน้นดูคอนเทนต์ ความบันเทิง หรือเรียนออนไลน์ กับ Lenovo Tab P11 Plus ที่เน้นการทำงานมากกว่า เป็นรุ่นอัพเกรดจาก Tab P11 แต่รองจาก Tab P11 Pro
ทั้งสองรุ่นหน้าจอ LCD 11 นิ้วเท่ากัน ใช้ชิป MediaTek Helio G90T มี Google Kids Space นำเสนอเนื้อหาสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และมีตัวเลือกปากกา Lenovo Precision Pen 2 เหมือนกัน แตกต่างกันที่รูปทรงที่ Yoga Tab 11 จะมีส่วนลำโพงยื่นออกมา ทำให้ไม่สามารถวางราบไปกับพื้นได้ และมีหูหิ้วที่ใช้แขวนหรือใช้เป็นขาตั้งได้ ส่วน Tab P11 Plus สามารถวางราบไปกับพื้น ต่อ Keyboard Pack เพื่อทำงานได้ ด้านหลังมีคิกสแตนด์สำหรับตั้งคล้าย Surface ทั้งสองรุ่นมีสเปกดังนี้
Lenovo Yoga Tab 11
จอ IPS LCD 11 นิ้ว, ความละเอียด 2000 x 1200 พิกเซล, รองรับ Dolby Vision, ความสว่างสูงสุด 400 nits
ชิป MediaTek Helio G90T
RAM 4 / 8GB (LPDDR4) + ความจุ 128 / 256GB
กล้องหลัง 8 MP
กล้องหน้า 8MP พร้อมเซ็นเซอร์ Time Of Flight สำหรับปลดล็อกด้วยใบหน้า
ลำโพง 4 ตัว, ปรับแต่งโดย JBL, รองรับ Dolby Atmos
แบตเตอรี่ 7500mAh, รองรับชาร์จไว 25W ผ่านพอร์ต USB Type-C
ระบบปฏิบัติการ Android 11
น้ำหนัก 655 กรัม
Lenovo Tab P11 Plus
จอ IPS LCD ขนาด 11 นิ้ว, ความละเอียด 2000 x 1200 พิกเซล, ความสว่างสูงสุด 400 nits, แสดงผลสีมาตรฐาน NTSC ได้ 70% (ตัด Dolby Vision ออก)
ชิป MediaTek Helio G90T
หน่วยความจำ RAM 4 / 6GB (LPDDR4) + ความจุ 64 / 128GB
กล้องหลัง 13MP มี Autofocus, LED flash
กล้องหน้า 8MP
เสียง ลำโพง 4 ตัว, รองรับ Dolby Audio
แบตเตอรี่ 7500mAh, รองรับชาร์จไว 20W ผ่านพอร์ต USB Type-C
ระบบปฏิบัติการ Android 11
น้ำหนัก : 490 กรัม
Lenovo Yoga Tab 11 ราคาเริ่มต้น 349 ยูโร (13,320 บาท) Tab P11 Pro ราคาเริ่มต้น 299 ยูโร (ราว 11,420 บาท) ทั้งสองรุ่นวางจำหน่ายเดือนกรกฎาคม 2021
ที่มา - Lenovo |
# กูเกิลลบแผนที่สำหรับเตรียมแจ้งความมาตรา 112 ระบุผิดนโยบายบริษัท
จากประเด็นในโซเชียล ที่มีการเผยแพร่แผนที่ 112 แสดงข้อมูลบุคคลกว่าร้อยที่จะถูกแจ้งความตามกฎหมายมาตรา 112 เผยทั้งข้อมูลชื่อ พิกัด ซึ่งเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอย่างรุนแรง ล่าสุด กูเกิลออกมาเผยว่าได้ลบหน้าเว็บดังกล่าวแล้ว โดยบริษัทมีนโยบายชัดเจนว่าข้อมูลประเภทใดยอมรับได้บนบริการ My Maps และบริการที่ขัดนโยบายจะถูกลบออก
จากการตรวจสอบของ Reuters พบว่าตัวแผนที่มีชื่อและที่อยู่ของคนเกือบ 500 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา พร้อมด้วยรูปถ่ายในชุดนักศึกษา และมีผู้เข้าชมมากกว่า 350,000 ครั้ง
ผู้ที่อ้างว่าเป็นคนจัดทำแผนที่คือ ผู้กองปูเค็ม หรือ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล เขาบอกว่าตัวเองและอาสาสมัครราว 80 คนช่วยทำแผนที่ เมื่อเห็นใครโพสต์วิจารณ์บนโซเชียลมีเดีย ก็นำข้อมูลมาใส่ไว้ในแผนที่
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานสรุปสถานการณ์ว่า แผนที่ดังกล่าว มาจากการที่กลุ่ม ศชอ. หรือ ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ใช้เฟซบุ๊กอวตารส่งข้อความและไฟล์ข้อมูลส่วนตัวข่มขู่ดำเนินคดี ม.112 ต่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก ไม่น้อยกว่า 62 ราย และยังมีการเผยแพร่ข้อมูลบุคคลผ่านการทำแผนที่ใน Google Maps กว่า 466 ราย
ที่มา - Reuters, มติชน |
# AstraZeneca ประกาศเริ่มส่งออกวัคซีน COVID-19 จากโรงงานในไทย กันกำลังผลิตไว้ให้ไทยเพียง 1 ใน 3
AstraZeneca ออกจดหมายข่าวประกาศว่าเดือนกรกฎาคมนี้บริษัทจะเริ่มส่งออกวัคซีน COVID-19 จากโรงงาน Siam Bioscience ในประเทศไทย โดยจะส่งออก 2 ใน 3 และกันไว้ให้ใช้ในประเทศไทย 1 ใน 3
จนตอนนี้ยังไม่มีข่าวเป็นทางการว่ากำลังผลิตจริงของ Siam Bioscience เป็นเท่าใด หลังจากบริษัทเคยประกาศร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขว่าจะผลิตให้ได้ 200 ล้านโดสต่อปี ซึ่งหากทำได้ตามที่ประกาศไว้ก็จะคิดเป็นกำลังผลิตเดือนละ 16.7 ล้านโดส ตามสัดส่วนในประกาศครั้งนี้ไทยจะได้รับ 5.56 ล้านโดสต่อเดือน
ตัวเลขกำลังผลิตของ Siam Bioscience มีข่าวมาแล้วหลายครั้งแต่ยังไม่เคยมีประกาศเป็นทางการ เมื่อวานนี้ชมรมแพทย์ชนบทระบุว่ากำลังผลิตของ Siam Bioscience อยู่ที่เดือนละ 15 ล้านโดส แม้ว่าจะเคยหวังให้ผลิตได้เดือนละ 20 ล้านโดส แต่ไม่ว่ากำลังผลิตจะเป็นเท่าใด การที่ AstraZeneca แบ่งกำลังผลิตให้ไทย 1 ใน 3 ก็น่าจะทำให้ยอดส่งมอบไม่ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือนตามที่กระทรวงสาธารณสุขเคยประกาศแผนการจัดหาวัคซีน
ที่มา - รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล
ภาพตัวอย่างวัคซีนของ AstraZeneca จากมหาวิทยาลัย Oxford |
# [ลือ] Google Pixel 5a อาจเปิดตัวภายในเดือนสิงหาคมนี้
ในจดหมายข่าวประจำสัปดาห์ของ Mark Gurman บนเว็บไซต์ Bloomberg แม้ประเด็นหลักสัปดาห์นี้จะเป็นเรื่อง iPad ที่อาจมีจอใหญ่ขึ้นในปีหน้า และเรื่องที่ Apple ปรับตำแหน่งทีมสร้างรถยนต์ แต่ในช่วงท้าย Gurman แอบระบุไว้ว่าฤดูร้อนนี้เป็นช่วงเวลาของสาวก Google เพราะ Pixel 5a จะเปิดตัวและวางขายภายในเดือนสิงหาคมนี้
Gurman ไม่ระบุแหล่งอ้างอิงหรือแหล่งข่าวใดๆ เพิ่มเติมในบทความของเขา แต่ก่อนหน้านี้ Google เคยออกมายืนยันว่า Pixel 5a 5G ยังไม่ถูกยกเลิก และบอกว่ากำหนดการเปิดตัว Pixel 5a 5G จะไล่เลี่ยกับการออก Pixel รุ่น a ในปีก่อน ซึ่ง Pixel 4a เปิดตัวในเดือนสิงหาคม ปี 2020 ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า Pixel 5a จะเปิดตัวในเดือนสิงหาคมปีนี้เช่นกัน
ที่มา - Bloomberg |
# Heineken ผลิตหุ่นขนถังน้ำแข็งแช่เครื่องดื่ม เตรียมแจกในแคมเปญการตลาด
Heineken ผลิตหุ่น B.O.T หุ่นยนต์ขนถังน้ำแข็งแช่เครื่องดื่มแบบกระป๋องได้ 12 กระป๋อง รับฤดูร้อน (ไม่ระบุว่ารวมความจุน้ำแข็งแล้วหรือยัง) ตัวหุ่นสามารถเดินตามเจ้าของ มีเซ็นเซอร์หลบสิ่งกีดขวาง และพูดได้ ไม่มีเปิดเผยรายละเอียดเทคโนโลยีภายใน ว่าทำงานอย่างไร หรือต้องใช้งานคู่กับแอปอื่นหรือไม่
น่าเสียดายที่ Heineken ไม่ได้ผลิตหุ่นนี้มาเพื่อจำหน่าย แต่ผลิตในจำนวนจำกัดเพื่อเป็นของรางวัลสำหรับแคมเปญการตลาดที่เตรียมเปิดเผยวันที่ 1 กรกฎาคมนี้เท่านั้น
ที่มา - Heineken |
# Oxford ทดลองดึงเวลาวัคซีนเข็ม 2 ไปนานถึง 11 เดือน พบสร้างภูมิได้สูงขึ้น
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดรายงานถึงการทดลองตรวจภูมิในผู้รับวัคซีน ChAdOx1 nCoV-19 หรือวัคซีน Oxford-AstraZeneca ในกรณีที่มีการดึงเวลารับเข็มที่สองเอาไว้ พบว่าการดึงเวลาเอาไว้นานขึ้นแม้จะส่งผลให้ภูมิลดลงในช่วงที่รอเข็มสอง แต่เมื่อกระตุ้นภูมิในเข็มที่สองแล้วกลับมีภูมิสูงกว่าการฉีดตามกำหนดปกติ
ทีมวิจัยทดสอบโดยแบ่งตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มรับเข็มสองภายใน 8-12 สัปดาห์หลังเข็มแรก, กลุ่มรับเข็มสองภายใน 15-25 สัปดาห์หลังเข็มแรก, และกลุ่มรับเข็มสอง 44-45 สัปดาห์หลังเข็มแรก ผลพบว่ายิ่งรอนานภูมิหลังกระตุ้นเข็มสองนั้นยิ่งสูงขึ้น อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคต่อไป
งานวิจัยนี้น่าจะเป็นหลักฐานสนับสนุนต่อแนวทางการหน่วงเวลาสำหรับการรับวัคซีนเข็มที่ 2 ในหลายประเทศเนื่องจากไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอ
นอกจากรายงานถึงการหน่วงเวลาเข็มที่สองแล้ว รายงานฉบับนี้ยังแสดงผลการทดสอบฉีดกระตุ้นภูมิในเข็มที่สามหลังได้รับเข็มที่สองไปนาน 6 เดือน พบว่ากระตุ้นแอนตี้บอดีได้ดีเช่นกัน แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าจำเป็นต้องมีการกระตุ้นภูมิตามรอบเวลาหรือไม่ แต่หากในอนาคตจำเป็นต้องกระตุ้นจริง รายงานนี้ก็บ่งชี้ว่าการกระตุ้นเข็มสามสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นได้จริง
รายงาน "Tolerability and Immunogenicity After a Late Second Dose or a Third Dose of ChAdOx1 nCoV-19 (AZD1222)" ยังอยู่ในสถานะ pre-print
ที่มา - Oxford
กราฟแสดงระดับแอนติบอดีจากวันที่ฉีดวัคซีนเข็มแรก และหลังฉีดวัคซีนเข็มสองแยกตามช่วงเวลาทิ้งระยะระหว่างสองเข็ม |
# Great Wall Motor เปิดตัวเอสยูวีไฮบริด All New Haval H6 ในไทย มี Adaptive Cruise Control เริ่ม 1,149,000 บาท
หลัง Great Wall Motor เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อวานนี้บริษัทเปิดราคารถเอสยูวีไฮบริด All New HAVAL H6 Hybrid SUV อย่างเป็นทางการ มีสองราคา คือรุ่น PRO ราคา 1,149,000 บาท และรุ่น ULTRA ราคา 1,249,000 บาท โดยจะเป็นราคาเดียวกันทุกช่องทางจำหน่าย
Haval H6 สองรุ่นแตกต่างกันหลักๆ ที่อุปกรณ์เสริม รุ่น Ultra มี กระจังหน้าโครเมียม, ล้ออัลลอย 19 นิ้ว (รุ่น PRO 18 นิ้ว), ไฟตัดหมอก LED, กระจกมองข้างพับอัตโนมัติเมื่อล็อครถ หลังคา Panoramic Sunroof Head Ups Display, ปุ่มปรับเบาะคนขับ, แท่นชาร์จไร้สาย และระบบ ionizer กรองอากาศ เพิ่มเข้ามา
HAVAL H6 ใช้เครื่องยนต์ 1.5 เทอร์โบ/ลิตร มีระบบ Turbo แปรผัน (VGT) ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 243 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 530 นิวตันเมตร ระบบเกียร์ DHT (Dedicated Hybrid Transmission) อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 19.2 กิโลเมตรต่อลิตร อ้างอิงจากระบบป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (ECO Sticker) มีโหมดการขับขี่ 4 แบบ โหมดมาตรฐาน, โหมดสปอร์ต, โหมดประหยัดและ โหมดสภาพถนนลื่น มีระบบน่าสนใจต่างๆ ดังนี้
Adaptive Cruise Control หยุดและ ออกสตาร์ทใหม่ (Stop and Go)
ระบบ Cornering Brake Control ลดความเร็วเข้าโค้งอัตโนมัติ
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ สำหรับใช้งานช่วงรถติดในเมือง
ระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ 3 รูปแบบ สามารถจอดเทียบข้าง เข้าซอง และแนวเฉียง
ระบบช่วยถอยหลังอัตโนมัติ โดยรถยนต์จะสามารถจดจำเส้นทางที่ขับผ่านด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้สูงสุด 50 เมตร
ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติบนทางตรงและทางแยก ทำงานด้วยเซ็นเซอร์อัลตราโซนิคและกล้องรอบรถ
ระบบจะช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ
ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง
ระบบช่วยเลี่ยงการเข้าใกล้รถใหญ่จากด้านข้าง
ระบบช่วยชะลอความรุนแรงของการชนซ้ำ
การรับประกันคุณภาพตัวรถ ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตร รับประกันแบตเตอรี่ไม่จำกัดระยะทาง 8 ปี ปัจจุบัน GWM Store มี 6 แห่ง แบ่งเป็นร้านโดยตรงของแบรนด์ 3 และร้านของพันธมิตร 3 แห่ง ส่วนศูนย์บริการจะเปิดภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
ที่มา - จดหมายประชาสัมพันธ์ |
# Netflix เปิดตัวฟังก์ชั่นให้ดูเนื้อหาได้บางส่วนจากคลิปที่ดาวน์โหลดไม่เสร็จได้
Netflix เปิดตัวฟังก์ชั่นให้ผู้ใช้งานแอนดรอยด์ ดูเนื้อหาได้บางส่วนจากคลิปที่ดำลังดาวน์โหลดไม่เสร็จ เพื่อป้องกันเหตุการณ์น่าหงุดหงิดอย่างการเชื่อมต่อเน็ตขาดหาย จนไม่สามารถดาวน์โหลดรายการที่ดูจนจบได้
เมื่ออินเทอร์เน็ตกลับมาใช้งานได้ตามปกติ Netflix จะแสดงการแจ้งเตือนว่าสามารถดาวน์โหลดส่วนที่เหลือของรายการได้ ฟีเจอร์นี้เริ่มใช้งานในฝั่งอุปกรณ์แอนดรอยด์ก่อน และจะเริ่มทดสอบใช้งานใน iOS
ที่มา - Netflix |
# Samsung เปิดตัวซอฟต์แวร์ One UI Watch ที่ร่วมทำกับกูเกิล ใช้แอป Play Store ได้
ในงาน Mobile World Conference 2021 (MWC 2021) เมื่อคืนนี้ Samsung เปิดตัวซอฟต์แวร์ใหม่สำหรับ Galaxy Watch รุ่นถัดไป (ยังไม่โชว์ฮาร์ดแวร์) ซอฟต์แวร์นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Galaxy ออกแบบมาคล้ายคลึงกับ One UI ของอุปกรณ์อื่นของ Samsung มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า One UI Watch
One UI Watch จะรันครอบอยู่บนแพลตฟอร์มที่ Samsung ทำร่วมกับ Google ทำให้สามารถใช้งานแอปของ Google Play Store ของ Wear OS ได้ ไม่ใช่แค่แอป Tizen แบบรุ่นก่อน
One UI Watch มีระบบ auto app installation ลงแอปในนาฬิกาอัตโนมัติ เมื่อมีการดาวน์โหลดแอปที่เกี่ยวข้องในมือถือ, มีหน้าจอตั้งค่าที่แทบจะถอดแบบจากมือถือ Galaxy ที่ใช้ One UI, มีหน้าปัดนาฬิกาให้ดาวน์โหลดเพิ่มขึ้น และ Samsung เตรียมออกซอฟต์แวร์ใหม่ให้นักพัฒนาสามารถสร้างหน้าปัดหน้าฬิกาได้เอง
ตัวแพลตฟอร์มหลักของนาฬิกา แม้ก่อนหน้านี้ Google จะใช้คำว่า “Wear” ในการโปรโมตแพลตฟอร์ม แต่ในงาน MWC ของ Samsung กลับไม่มีการเอ่ยชื่อนี้เลยสักคำ ส่วน Qualcomm ก็เรียกแพลตฟอร์มใหม่ของ Google ว่า “Wear OS 3.0”
น่าสนใจว่าสุดท้ายแพลตฟอร์มนี้จะใช้ชื่อว่าอะไรกันแน่ เราคงได้รู้กันจริงๆ เมื่อ Galaxy Watch รุ่นใหม่เปิดตัว ภายในช่วงฤดูร้อน (กรกฎาคม-สิงหาคม) ปีนี้
ที่มา - Samsung |
# ศาลเกาหลียืนยันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีสิทธิ์เก็บค่าเชื่อมต่อจากสตรีมมิ่งเพิ่มเติม Netflix โดนเต็มๆ
เป็นอีกข่าวสารที่ต้องจับตามอง เมื่อศาลเกาหลีใต้ยกฟ้องคำฟ้องของ Netflix ที่กล่าวหา SK Broadband ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตว่าต้องการเก็บค่าบริการซ้อน (double billing) หลังจาก SK Broadband พยายามเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจาก Netflix
เรื่องราวเริ่มต้นจาก SK Broadband ยื่นฟ้องไปยังคณะกรรมการการสื่อสารแห่งเกาหลีในเดือนพฤศจิกายน 2019 เนื่องจาก Netflix เป็นบริการใหญ่ ใช้แบนด์วิธมาก จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ผู้ให้บริการเครือข่ายบ้าง และ Netflix ก็ได้ยื่นฟ้องกลับในเดือนเมษายน 2020 บอกว่าตนไม่มีภาระผูกพันต้องจ่ายค่าธรรมเนียมนี้ และถือว่า SK Broadband เรียกเก็บเงินซ้ำซ้อน เพราะผู้ใช้งานได้จ่ายค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าสู่ระบบแพลตฟอร์ม OTT แยกจากค่าสมัครสมาชิกอยู่แล้ว
จนกระทั่งล่าสุด ศาลแขวงในกรุงโซล ปัดตกคำร้องของ Netflix โดยระบุว่า เป็นการเจรจาระหว่างคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือไม่
ด้าน SK Broadband ก็ออกมาบอกว่า Netflix จ่ายค่าธรรมเนียมใช้เน็ตในประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสหรัฐฯอยู่แล้ว จำเป็นต้องจ่ายในเกาหลีใต้ด้วย
อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตเกาหลีมีแนวทางเรียกเก็บค่าบริการเน็ตเวิร์คจากผู้ให้บริการคอนเทนต์รายใหญ่เป็นเรื่องปกติ ก่อนหน้านี้โซเชียลใหญ่ในเกาหลีอย่าง Naver และ Kakao ก็จ่ายค่าธรรมเนียมให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว 7 หมื่นล้านวอน (ประมาณ 2,000 ล้านบาท) และ 3 หมื่นล้านวอน (850 ล้านบาท) ต่อปีตามลำดับ ซึ่งจากการคาดการณ์ Netflix จะต้องจ่ายค่าบริการเน็ตเวิร์คให้บรรดาค่ายรวมแล้ว 1 แสนล้านวอน
Netflix ระบุว่าการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศอื่นๆ เป็นการจ่ายค่าบริการเพื่อติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ CDN ที่ Netflix เรียกว่า Open Connect Appliance เท่านั้น ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมในการใช้เน็ตเวิร์คแต่อย่างใด
คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้สตรีมมิ่งอื่นที่จะเข้ามาในตลาดเกาหลีใต้ด้วย เช่น Disney+, Apple TV Plus, Amazon Prime และ HBO Max
ในสหรัฐฯ และอีกหลายชาติ หน่วยงานกำกับดูแลมักยึดหลักความเสมอภาคทางเน็ต หรือ Net Neutrality หรือแนวคิดในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้ใดได้ใช้ช่องทางด่วนพิเศษ และห้ามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกีดกันบริการใดบริการหนึ่ง ซึ่งหากไม่มีการบังคับใช้หลักความเสมอภาคทางเน็ต ผู้ให้บริการเครือข่ายหรือ ISP จะสามารถควบคุมความเร็วและคุณภาพของเนื้อหาที่เราบริโภคผ่านอินเทอร์เน็ตได้
อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ยังเป็นที่ถกเถียงมายาวนานและมีความซับซ้อน ภูมิภาคที่มีความจริงจังเรื่องความเสมอภาคทางเน็ตคือยุโรป ส่วนในสหรัฐฯ FCC หน่วยงานจัดการการสื่อสารและคลื่นความถี่ของสหรัฐอเมริกา เคยพยายามกำกับดูแลผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามแนวทางนี้ แต่เปลี่ยนนโยบายไปในรัฐบาลทรัมป์ อย่างไรก็ดีสหรัฐฯ ยังมีกฎหมายของแต่ละรัฐในสหรัฐฯ ที่บังคับแนวทาง Net Neutrality อยู่
ที่มา - Korea Herald, Korea Economic Daily |
# Microsoft Office for ARM64 มาแล้ว, รันบน ARM64EC มีทั้งโค้ด ARM และ x64 ผสมกัน
ไมโครซอฟท์ออกเครื่องมือตัวใหม่ ARM64EC (“Emulation Compatible”) มาเพื่อแก้ปัญหาการนำแอพ x86/x64 ไปรันบน Windows 11 on ARM
เดิมทีการรันแอพ x64 บน ARM ทำได้ 2 วิธีคือ คอมไพล์ใหม่เป็น ARM ทั้งหมด (ประสิทธิภาพดี แต่เสียแรงทำ) หรือรันบนอีมูเลเตอร์ (ประสิทธิภาพไม่ดี แต่รันได้เลย)
ปัญหาคือแอพที่ใหญ่และซับซ้อนมากๆ อาจมีไลบรารีหรือปลั๊กอินจากบริษัทอื่นๆ ที่ยังไม่รองรับ ARM ทำให้การคอมไพล์ใหม่ทั้งหมดเป็นไปไม่ได้เลย ไมโครซอฟท์จึงออก ARM64EC เพื่อแก้ปัญหาแบบไฮบริด ให้ไบนารี x86 และ ARM ผสมผสานกันได้
การใช้ ARM64EC จะทำให้เราสามารถแปลงโค้ดบางส่วนเป็น ARM เพื่อรันแบบเนทีฟได้ก่อน โค้ดส่วนที่ยังเป็น x64 จะรันในอีมูเลเตอร์ต่อไป วิธีนี้ช่วยให้นักพัฒนาสามารถค่อยๆ พอร์ตโค้ดทีละส่วนเป็น ARM ได้
ไมโครซอฟท์ระบุว่าตอนนี้แอพของตัวเองที่เริ่มใช้ท่านี้แล้วคือ Office for ARM 64 บิต ที่จะเปิดให้ทดสอบในเร็วๆ นี้
ARM64EC เปิดให้ใช้งานแล้ว ผู้ใช้ต้องติดตั้ง Windows Insider SDK ของ Windows 11 ร่วมกับ Visual Studio 16.11 Preview 2 ขึ้นไป
ที่มา - Windows Developer, Office Insider |
# PUBG Mobile แบนผู้เล่นโกงเกมเกือบ 4 ล้านรายในสัปดาห์เดียว
PUBG Mobile ออกมาเปิดเผยว่าได้แบนบัญชีผู้เล่น 3,884,690 รายอย่างถาวรไม่ให้เข้าถึงเกม โดยมีสาเหตุหลักมาจากการดัดแปลงโมเดลตัวละคร ถือเป็นสาเหตุการโดนแบนมากที่สุด 76% นอกจากนี้ยังมีเหตุผลเรื่อง การแฮ็กอื่นๆ และสปีดแฮ็ก x-ray vision
ถือเป็นการแบนคนโกงที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเกม สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเกมที่มีฐานผู้เล่นใหญ่ และอาจมีบัญชีโกงเกมมากกว่าที่จับได้ ปัจจุบันตัวเกมมีผู้เล่นแอคทีฟราว 20-30 ล้านราย
ที่มา - Kotaku |
# xCloud รองรับ iOS และพีซีผ่านเบราว์เซอร์, อัพเกรดเซิร์ฟเวอร์เป็น Xbox Series X แล้ว
หลังจากทดสอบมาสักระยะ ไมโครซอฟท์ประกาศว่า Xbox Cloud Gaming (xCloud) บนพีซี Windows 10 และ iOS 14.4+ ผ่านเว็บเบราว์เซอร์แล้ว รองรับ Chrome, Edge, Safari ผู้เล่นในประเทศที่รองรับสามารถเข้าหน้าเว็บ xbox.com/play ล็อกอินแล้วเล่นได้ทันที
การเล่นเกมบน xCloud จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับคอนโทรลเลอร์ที่รองรับ (เช่น Xbox Wireless Controller หรือแม้แต่จอย DualShock PS4) แต่มีเกมประมาณ 50 เกมที่รองรับการควบคุมแบบสัมผัสแล้ว เช่น Minecraft Dungeons, Yakuza: Like a Dragon, Dragon Quest XI เป็นต้น หากมีแต่ iPhone อย่างเดียวก็สามารถเล่นได้ทันที (รายชื่อเกมที่รองรับ touch control)
นอกจากนี้ เซิร์ฟเวอร์ที่รัน xCloud ยังอัพเกรดมาเป็น Xbox Series X แบบคัสตอมแล้ว (ของเดิมเป็น Xbox One S) ทำให้ประสบการณ์การเล่นดีขึ้น เฟรมเรตดีขึ้น โหลดเกมเร็วกว่าเดิม (กราฟิกยังเป็น 1080p @ 60 fps เท่าเดิม เพื่อประสบการณ์ที่เหมือนกันบนทุกอุปกรณ์ในตอนนี้)
ปัจจุบัน xCloud มีให้บริการใน 22 ประเทศ/ภูมิภาค ในเอเชียมีประเทศเดียวคือเกาหลีใต้ (รายชื่อ) แต่ถ้าเป็น Xbox Game Pass แบบไม่สตรีมมิ่ง มีญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย
ที่มา - Xbox |
# Windows 11 อาจยอมให้รันบน Core 7th Gen/Ryzen 1, ถอดแอพ PC Health Check ชั่วคราว
ไมโครซอฟท์ออกมาอธิบายเรื่องสเปกขั้นต่ำของ Windows 11 เพิ่มเติมอีกครั้ง และเปิดทางว่า "อาจ" เปิดให้ซีพียูรุ่นเก่าลงมาคือ Intel Core 7th Gen กับ AMD Zen 1 มาใช้งานได้ด้วย โดยจะขอทดสอบกับกลุ่ม Insider ให้มั่นใจก่อน แล้วค่อยประกาศข้อมูลอีกครั้ง
ไมโครซอฟท์ยังถอดแอพ PC Health Check ออกก่อนชั่วคราว เพราะพบว่าให้ข้อมุลไม่เที่ยงตรงพอ ว่าทำไมพีซีเครื่องนั้นไม่สามารถอัพเกรดเป็น Windows 11 ได้ สร้างความสับสนให้ผู้ใช้
ส่วนเหตุผลเรื่องสเปกขั้นต่ำของ Windows 11 ไมโครซอฟท์อธิบายว่าอิงจากหลักการ 3 ข้อคือ
Security การใช้ฟีเจอร์ความปลอดภัยระดับฮาร์ดแวร์ช่วยลดมัลแวร์ได้ 60% เลยบังคับต้องมี TPM, Secure Boot และรองรับ virtualization-based security (VBS) เพื่อแยกส่วนพื้นที่ในแรมออกจาก OS หลัก
Reliability เป็นเรื่องเสถียรภาพของไดรเวอร์ ทำให้ต้องการซีพียูที่รองรับ Windows Driver model และยังอยู่ในระยะซัพพอร์ตของผู้ผลิตซีพียู ช่วยลดโอกาสที่ระบบแครชลง
Compatibility เพื่อความเข้ากันได้กับแอพในปัจจุบัน จึงต้องใช้ซีพียูอย่างน้อย 2 คอร์ สัญญาณนาฬิกา 1GHz, แรม 4GB, สตอเรจอย่างน้อย 64GB ซึ่งเป็นสเปกขั้นต่ำของ Office และ Teams
ที่มา - Microsoft |
# Facebook มีมูลค่ากิจการสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว
ราคาหุ้น Facebook ปรับตัวเพิ่มขึ้นในคืนที่ผ่านมา ทำให้มูลค่ากิจการตามราคาหุ้นหรือ Market Cap. สูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรก และเป็นบริษัทในตลาดหุ้นอเมริกาลำดับที่ 5 ที่มีมูลค่าสูงระดับนี้ต่อจาก แอปเปิล อเมซอน ไมโครซอฟท์ และบริษัทแม่ของกูเกิล Alphabet
หุ้นของ Facebook ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงท้ายของการซื้อขายระหว่างวัน หลังจากศาลได้ยกคำร้องพิจารณาคดี ที่คณะกรรมการการค้าของสหรัฐ หรือ FTC ฟ้อง Facebook ข้อหาผูกขาดตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์ค
Facebook เริ่มเข้าตลาดหุ้นในปี 2012 โดยตอนนั้นมีมูลค่ากิจการที่ราว 1.04 แสนล้านดอลลาร์
ที่มา: Facebook |
# Windows 11 Insider เปิดให้ดาวน์โหลดแล้ว มี File Explorer และ Settings ตัวใหม่
ไมโครซอฟท์เปิดทดสอบ Windows 11 Insider Preview ตัวแรกแล้ว โดยเป็น Dev Channel Build 22000.51
นอกจากฟีเจอร์ที่ประกาศไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ไมโครซอฟท์ยังยืนยันว่ามี File Explorer ตัวใหม่ที่มีแถบเครื่องมือ command bar แบบใหม่ และ Settings ดีไซน์ใหม่ที่ใช้อินเทอร์เฟซแบบ 2-pane มีแถบนำทางด้านซ้ายมือ มีตัวควบคุมขนาดใหญ่ด้านบนของแต่ละหน้า (เรียกว่า hero control)
หน้าจอติดตั้งของ Windows 11 ก็เปลี่ยนใหม่หมด เลิกใช้หน้าจอสีเดียวของ Windows 10 เปลี่ยนมาใช้ไอคอนสีสันสดใส มีแอนิเมชันสวยงาม
ผู้ที่ต้องการทดสอบต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ Windows Insider ตามปกติ (สมัครได้จาก Settings ของ Windows 10) และเปลี่ยนการทดสอบเป็น Dev Channel เพื่อดาวน์โหลด
ที่มา - Microsoft |
# Etsy ซื้อกิจการ Elo7 แพลตฟอร์มสินค้าแฮนด์เมดฉายา Etsy บราซิล มูลค่าดีล 217 ล้านดอลลาร์
Etsy แพลตฟอร์มขายสินค้าแฮนด์เมด ประกาศบรรลุข้อตกลงในการซื้อกิจการ Elo7 แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าแฮนด์เมดยอดนิยมในบราซิล ซึ่งหลายคนเรียกว่า Etsy เวอร์ชันบราซิล โดยมีมูลค่าดีล 217 ล้านดอลลาร์ จ่ายเป็นเงินสด หลังดีลเสร็จสิ้น Elo7 จะยังดำเนินงานในบราซิลภายใต้แบรนด์เดิมและทีมบริหารงานชุดเดิมต่อไป
แพลตฟอร์ม Elo7 มีผู้ซื้อใช้งานเป็นประจำมากกว่า 1.9 ล้านบัญชี และมีผู้จำหน่ายสินค้ามากกว่า 56,000 ราย มีสินค้าจำหน่ายกว่า 8 ล้านรายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผลิตตามคำสั่งซื้อ ยอดขายสินค้ามากกว่าครึ่งมาจากสินค้าสำหรับเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น งานแต่งงาน ฉลองคลอดลูก ตกแต่งบ้าน หรืองานเลี้ยง
Josh Silverman ซีอีโอ Etsy กล่าวว่าดีลนี้เป็นการซื้อกิจการต่อเนื่องจาก Depop เมื่อต้นเดือน และเป็นการขยายธุรกิจสู่ตลาดละตินอเมริกา
ที่มา: Etsy |
# Duolingo ยื่นไฟลิ่งเตรียม IPO เข้าตลาดหุ้น Nasdaq ด้วยตัวย่อ DUOL
Duolingo แอปสอนภาษาต่างประเทศชื่อดัง ได้ยื่นเอกสารไฟลิ่งเพื่อนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นสหรัฐ โดยคาดว่าเป็นตลาดหุ้นแนสแดค ใช้ตัวย่อในการซื้อขาย DUOL
บริษัทมีมูลค่ากิจการจากการเพิ่มทุนรอบล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วที่ 2,400 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นเงินเพิ่มทุน 35 ล้านดอลลาร์ จาก Durable Capital Partners และ General Atlantic
ตัวเลขผลประกอบการของ Duolingo มีรายได้ในปี 2020 ที่ 161.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 128% จากปี 2019 และขาดทุนสุทธิ 15.8 ล้านดอลลาร์ เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2021 มีรายได้รวม 55.4 ล้านดอลลาร์ และขาดทุน 13.5 ล้านดอลลาร์
Duolingo ระบุว่าแพลตฟอร์มให้บริการเรียนภาษาทั้งหมด 40 ภาษา มีผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือนราว 40 ล้านบัญชี
ที่มา: Reuters |
# Lenovo เปิดตัวแท็บเล็ตพรีเมียม Yoga Tab 13 มีขาตั้ง ใช้เป็นจอมอนิเตอร์พกพาได้
Lenovo เปิดตัวแท็บเล็ตแอนดรอยด์ Yoga Tab 13 (ชื่อในจีนคือ Yoga Pad Pro เปิดตัวไปเมื่อเดือน พ.ค.) ที่ยังคงคอนเซปต์แท็บเล็ตพร้อมด้ามจับ ที่เพิ่มเติมคือมีขาตั้งด้านหลังเพื่อใช้เป็นจอมอนิเตอร์ที่สอง ต่อเชื่อมกับพีซีได้ด้วย
สเปกของ Lenovo Yoga Tab 13 ใช้หน้าจอ 13" 2160x1350 รองรับ Dolby Vision HDR, หน่วยประมวลผล Snapdragon 870, แรม 8GB, สตอเรจ 128/256GB, แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ 10000 mAh, รัน Android 11, ลำโพง 4 ตัวของ JBL เน้นสำหรับความบันเทิง รองรับ Dolby Atmos
จุดเด่นของ Yoga Tab 13 คือขาตั้งสเตนเลสพับได้ด้านหลัง ช่วยให้ตั้งแท็บเล็ตเป็นจอภาพสำหรับดูหนังได้ (หรือจะแขวนไว้กับฝาผนังก็ได้) และสามารถต่อสาย micro-HDMI to USB เพื่อใช้เป็นจอภาพพกพาเชื่อมกับพีซีได้ ตัววัสดุด้านหลังเป็นผ้า Alcantara (แบบเดียวกับคีย์บอร์ด Surface)
ราคาขาย 799 ยูโร (ประมาณ 31,000 บาท) เริ่มขายภายในเดือนมิถุนายนนี้
ที่มา - Lenovo |
# Qualcomm เปิดตัว Snapdragon 888 Plus รุ่นเพิ่มคล็อคคอร์หลักเป็น 3GHz
Qualcomm เปิดตัวหน่วยประมวลผล Snapdragon 888 Plus 5G เวอร์ชัน Plus สำหรับมือถือที่วางขายช่วงครึ่งหลังของปี 2021
Snapdragon 888 Plus ยังคงธรรมเนียมเดิมของรุ่น Plus คือปรับคล็อคของซีพียู Kryo 680 แกน Prime ที่เป็น Cortex-X1 แกนเดียว จากเดิม 2.84GHz เพิ่มเป็น 3.0GHz และเพิ่มสมรรถนะของ Qualcomm AI Engine จากเดิม 26 TOPS มาเป็น 32 TOPS ส่วนสเปกอย่างอื่นยังเหมือนเดิม
แบรนด์มือถือที่ประกาศใช้ Snapdragon 888 Plus แล้วคือ ASUS ROG, HONOR Magic 3, Motorola, Vivo, Xiaomi จะเริ่มเปิดตัวในช่วงไตรมาส 3/2021
ที่มา - Qualcomm |
# Opera ออกเวอร์ชันใหม่ R5 เพิ่มฟีเจอร์ Pinboards, เปิดวิดีโอคอลล์ลอยทับหน้าแท็บ
เว็บเบราว์เซอร์ Opera ออกเวอร์ชันใหม่ที่ใช้โค้ดเนม R5 มีฟีเจอร์ใหม่ชุดใหญ่ ดังนี้
video call popout แยกหน้าต่างวิดีโอคอลล์บนเว็บออกมา (รองรับ Google Meet, Zoom, Teams) เพื่อให้เปิดแท็บอื่นระหว่างการประชุมได้
Pinboards ฟีเจอร์สำหรับเซฟรูปภาพ ลิงก์ หน้าเว็บ โน้ตต่างๆ ในตัว Opera โดยตรง (ไม่ต้องทำผ่านส่วนเสริมพวก web clipper) แล้วแชร์ให้คนอื่นได้เลย
Music Player แบบฝังในเบราว์เซอร์ ไม่ต้องเปิดหน้าเว็บมาฟังแยกต่างหาก เดิมรองรับ Apple Music, Spotify, YouTube Music ล่าสุดเพิ่ม Deezer, Tidal, Soundcloud, Gaana
Messenger แบบฝังในเบราว์เซอร์ รองรับ Instagram และ Twitter เพิ่มเข้ามา
เพิ่มฟีเจอร์ค้นหาแท็บ กดปุ่ม Ctrl+space แล้วพิมพ์คีย์เวิร์ดเพื่อหาแท็บที่ต้องการ รองรับแท็บที่เปิดอยู่บนเครื่องอื่น (ถ้าเปิดซิงก์)
ที่มา - Opera |
# สถาบันวิจัยดาราศาสตร์จัดแข่งเล่นเกม Kerbal Space Program ชิงเงินรางวัล 100,000 บาท
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชนด้วยเกม Kerbal Space Program สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
เล่นเกม Kerbal Space Program เป็นเกมจำลองการสำรวจอวกาศที่เปิดให้ผู้เล่นสร้างยานอวกาศ โดยมีการจำลองพารามิเตอร์ทางฟิสิกส์ค่อนข้างสมจริง เช่นเชื้อเพลิงเผาไหม้ไประหว่างการยิงจรวดขึ้นไปยังอวกาศทำให้น้ำหนักเบาลง และผู้เล่นสามารถออกแบบยานให้มีกลไกคล้ายจรวดจริง สามารถทิ้งจรวดเป็นตอนๆ เพื่อลดน้ำหนักได้ ไปจนถึงการอาศัยแรงโน้มถ่วงดาวเพื่อเหวี่ยงจรวดไปยังจุดหมาย
การแข่งขันเป็นทีมไม่เกิน 5 คน เล่น Kerbal Space Program ในโหมด sandbox ที่มีทุนไม่จำกัด และห้ามใช้ DLC หรือการออกแบบที่คนอื่นทำไว้ก่อน จากนั้นทำวิดีโอนำเสนอความยาวไม่เกิน 6 นาที แสดงหลักการออกแบบ
ผู้สมัครที่ไม่มีเกม Kerbal Space Program สามารถขอบัญชีเข้าใช้งานได้ฟรี 50 ทีมแรก
ที่มา - NARIT.or.th |
# Tesla ออกอัพเดตให้รถกว่า 285,000 คันในประเทศจีน จากปัญหา cruise control เปิดเองได้
Tesla ต้องออกอัพเดตให้รถกว่า 285,000 คันในประเทศจีน หลังพบข้อกังวลเกี่ยวกับระบบ cruise control เปิดเองได้อัตโนมัติ ทำให้ความเร็วเพิ่มฉับพลัน โดยผู้ใช้ไม่ทันตั้งตัว แม้หน่วยงานรัฐของประเทศจีนจะใช้คำว่า “เรียกคืน” แต่ผู้ใช้เพียงแค่ต้องอัพเดตซอฟต์แวร์จากบ้านโดยไม่ต้องนำรถไปเข้าศูนย์
หน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานตลาดของประเทศจีน (State Administration for Market Regulation) ระบุว่ารถที่ถูก “เรียกคืน” ส่วนใหญ่เป็น Model 3 และ Model Y ที่ผลิต ณ Gigafactory เซี่ยงไฮ้ รวม 249,855 คัน ส่วน Model 3 อีก 35,655 คัน เป็นรถนำเข้า
The Wall Street Journal ผู้รายงานเรื่องนี้ ระบุว่า Tesla ไม่ตอบกลับอีเมลสอบถามที่ถูกส่งไปยังที่อยู่อีเมลสำหรับสื่อ อาจจะเพราะ Tesla ยุบฝ่ายสื่อไปในปีที่แล้ว แต่มีการโพสต์ขอโทษใน Weibo ของบริษัท
Tesla เริ่มส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนครั้งแรกช่วงสิ้นปี 2019 และตั้งเป้าผลิตให้ได้ 500,000 คันต่อปี ปัจจุบันประเทศจีนเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ Tesla ยังประสบปัญหาประปราย ทั้งการระบาดของ COVID-19ในปีก่อน กองทัพจีนห้ามใช้รถยนต์ Tesla ในกิจการกองทัพ การต้องทำตามมาตรฐานข้อมูลที่แตกต่างจากประเทศอื่น และการให้บริการหลังการขายที่ดูเหมือนจะไม่พอใจชาวจีนนัก
ในรายงานไม่มีข้อมูลว่าข้อผิดพลาดนี้ส่งผลแค่กับเวอร์ชั่นซอฟต์แวร์ของรถที่ใช้ในประเทศจีนหรือไม่ แต่ก่อนหน้านี้เคยมีอุบัติเหตุรถ Tesla Model S ในสหรัฐอเมริกา ที่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจาก cruise control เช่นกัน
ที่มา - The Wall Street Journal |
# AIS Business ร่วมส่งเสริมธุรกิจยุคดิจิทัล กับกรณีตัวอย่าง การปรับตัวของ Toyota Motor เพื่อสู้ศึก Disruption ในธุรกิจยานยนต์
AIS Business ได้จัดงาน AIS Business Digital Future 2021 - Your Trusted Smart Digital Partner รูปแบบของ Virtual Conference ในหัวข้อ Connected Automotive & Ecosystems in Thailand โดยมีคุณสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มาพูดถึงการปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเป็นระบบ เพื่อต่อสู้กับ Disruption โดยใช้เทคโนโลยียุคดิจิทัลและ IoT หรือ Internet of Things ในการปรับปรุงธุรกิจจากผู้ผลิตรถยนต์ ไปสู่ผู้ให้บริการในการขับเคลื่อน
คุณสุรศักดิ์ระบุว่าธุรกิจยานยนต์ ต้องพบความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ รอบ 100 ปี ตั้งแต่ยุครถลากด้วยแรงงานคนหรือสัตว์, การขนส่งด้วยระบบรางและรถจักรไอน้ำ, ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน ในรถยนต์ที่ขนาดเล็กลง
ปัจจุบัน ตลาดผู้ผลิตรถยนต์กำลังพบกับความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยมุ่งไปที่พลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือไฮโดรเจน และในอีกด้าน ความต้องการในการเดินทางของคนก็เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการใช้ข้อมูลและแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง
แม้รูปแบบการใช้งานจะเปลี่ยนไป แต่ความต้องการของคนยังเป็นการเคลื่อนที่ (mobility) เหมือนเคย โตโยต้าจึงประกาศเปลี่ยนแปลงองค์กรตัวเอง จากบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ มาเป็น Mobility Company หรือ MaaS (Mobility as a Service) ตั้งแต่ปี 2018 โดยเปลี่ยนจากการเป็นแค่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เพื่อขาย มาเป็นผู้ให้บริการการขับเคลื่อน ซึ่งท้าทายต่อวัฒนธรรมองค์กรและความพร้อมของบุคลากรที่มีอยู่เดิม แต่ก็เป็นการเปิดกว้างในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งอนาคตมากขึ้น
คุณสุรศักดิ์ยกตัวอย่างว่า การ Disruption ครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ จากบทบาทของแพลตฟอร์มดิจิทัลในยุคต่อไป จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 4 ประเด็น 4 ตัวย่อ เรียกรวมกันได้ว่า CASE ซึ่งได้แก่
C (Connected) คือ การเชื่อมต่อ การขับขี่รถยนต์ไม่ได้จบแค่ในตัวรถอีกต่อไป แต่ต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลจากรถยนต์ไปยังอุปกรณ์ภายนอก โดยใช้เทคโนโลยี IoT ซึ่งมีการติดตั้งอุปกรณ์ Telematics หรืออุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ และมีการส่งข้อมูลผ่านสู่ระบบคลาวด์ผ่านโครงข่ายไร้สายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
A (Autonomous) คือ รถยนต์จะมีความสามารถในการขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติมากขึ้น ตั้งแต่ระดับที่ยังต้องการคนควบคุมมากไปถึงน้อย จนถึงระดับที่รถยนต์สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองทั้งหมดในอนาคต
S (Sharing) คือ บริการแบ่งปันรถยนต์ใช้งานร่วมกัน รูปแบบการใช้งานและชำระเงินที่แตกต่างจากเดิม ผ่านบริการรูปแบบใหม่ต่างๆ เช่น Grab, Uber
E (Electrification) คือ การใช้พลังงานไฟฟ้า หรือกลุ่ม xEV ซึ่งมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ระบบ Hybrid ไปจนถึงระบบไฟฟ้า
ธุรกิจรถยนต์เองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสู้กับ Disruption ในยุคใหม่ คุณสุรศักดิ์ยกตัวอย่างเรื่องธุรกิจถ่ายภาพด้วยฟิล์มที่ปรับตัวช้า ไม่ทันกาลกับยุคกล้องดิจิทัล มีวัฒนธรรมองค์กรที่ติดกับความสำเร็จแบบเดิมๆ และเป็นตัวฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงเสียเอง
โตโยต้ามอเตอร์จึงต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรจากการเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ไปเป็นผู้ให้บริการในการขับเคลื่อน โดยมีมุมมองปัญหาใหม่ที่ทันสมัย ทั้งการขับขี่ที่ผู้ซื้อรถอาจไม่ได้โฟกัสแค่ความสนุกในการขับรถด้วยตัวเองอีกต่อไป แต่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้นจากระบบอัตโนมัติ ไปจนถึงการใช้งานรถส่วนตัวที่ลดลงจากการทำงานจากบ้าน และบริการไรด์แชริ่ง ซึ่งผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ต้องมองเห็นและปรับตัวให้ทัน
การเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ประเด็น หรือ CASE ในข้างต้นนั้น สำหรับประเทศไทย คุณสุรศักดิ์มองว่าตัว C หรือ Connected เอง น่าจะเป็นส่วนที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งโต้โยต้าได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงในการเชื่อมต่อของข้อมูลนี้ โดยมีการติดตั้ง Wifi Box บนรถตั้งแต่ปี 2017 และติดตั้งอุปกรณ์ Telematics (LDCM) หรืออุปกรณ์รวบรวมข้อมูลที่ส่งผ่านเครือข่ายมือถือได้ในปี 2020 บนรถยนต์มากกว่า 220,000 คัน ในประเทศไทย
อุปกรณ์การเชื่อมต่อนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลจากรถยนต์ไปยังแอปพลิเคชันต่างๆ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการเชื่อมต่อต่างๆ ของบริษัท เช่น
Connected Work การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานตั้งแต่อุปทานในภาคการผลิต ไปจนถึงอุปสงค์ในภาคการจำหน่าย โดยใช้ข้อมูลที่ได้รับเข้ามาเชื่อมโยง เพิ่มความแม่นยำตั้งแต่การผลิต การขนส่งรถยนต์ การบริหารจัดการ Stock รถยนต์ และการจำหน่ายรถยนต์
Connected Value Chain การนำข้อมูลมาพัฒนาเครือข่าย Value Chain ของอุตสาหกรรมรถยนต์ช่วยเชื่อมโยงโตโยต้ากับการเปลี่ยนแปลงบริการทางการเงินของรถยนต์ ตั้งแต่ไฟแนนซ์ของรถ ไปจนถึงการทำประกันภัย การติดตามเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ การบริการหลังการขาย และการประเมินสภาพรถในการขายรถใช้งานแล้ว
Connected Business การนำข้อมูลมาช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและมองหาธุรกิจใหม่ ร่วมกับ Partner ที่จะช่วยกันสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภค โดยใช้ Platform T-Connect เช่น กระเป๋าเงิน T-Wallet, การทำ Loyalty Program, Point & Privilege หรือการเช่าใช้รถยนต์ส่วนบุคคล KINTO ของโตโยต้า
สำหรับธุรกิจที่กำลังจะที่ถูก Disrupt เช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น การเริ่มเปลี่ยนแปลงควรต้องเริ่มหา Customer Pain Point, Business Pain Point หรือ New Businessโตโยต้าเองได้ใช้ แพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นำความต้องการและความพร้อมของผู้ซื้อ เข้ามาเชื่อมโยงกับการขาย ให้ทำได้รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น พร้อมคัดเลือกและเชื่อมโยง Partner และทีมที่มีความสามารถในการต่อยอดและเติมเต็มเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งสถาบันการเงิน ศูนย์จำหน่าย แพลตฟอร์ม และช่องทางอื่นๆ ในอนาคต
ฝั่ง AIS Business เป็นอีกหนึ่งในพาร์ทเนอร์ธุรกิจที่พร้อมจะรองรับการเปลี่ยนแปลงและสู้กับ Disruption ในยุคดิจิทัล ที่จะให้บริการเชื่อมต่อข้อมูลธุรกิจต่างๆ ไปจนถึงแพลตฟอร์มเครือข่ายที่พร้อมรองรับอนาคตและการเปลี่ยนแปลง โดยมีโตโยต้ามอเตอร์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างธุรกิจที่สำคัญ
ผู้ที่สนใจบริการธุรกิจจาก AIS เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย IoT บริการคลาวด์ หรืออื่นๆ สามารถดูข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ได้ที่หน้าเว็บไซต์ของ AIS Business ได้ทันที หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ AIS Business ที่ดูแลท่านอยู่ |
# ซีอีโอไมโครซอฟท์บอก Windows ยุคใหม่ไม่ใช่แค่ OS แต่เป็นแพลตฟอร์มเพื่อนักพัฒนา
หนึ่งในประเด็นสำคัญของตัว Windows 11 ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่คือ ร้านค้าแอปหรือ Microsoft Store ที่ไม่หักส่วนแบ่งรายได้จากนักพัฒนาเลย หากทำระบบจ่ายเงินของตัวเอง และยังใช้แนวคิด "สโตร์ซ้อนสโตร์" ที่ไม่ว่าจะค้นหาแอปใดบน Microsoft Store ก็จะเจอช่องทางดาวน์โหลดแม้แอปนั้นไม่ได้วางขายบน Microsoft Store ก็ตาม นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังพัฒนาฟีเจอร์ให้ทิปโดยตรงสำหรับนักพัฒนาใน Windows 11 ด้วย
ในช่วงท้ายของพรีเซนเทชั่น Satya Nadella ซีอีโอไมโครซอฟท์พูดถึงตัว Windows 11 ว่าจะกลายเป็นแพลตฟอร์มของครีเอเตอร์ และมีการวิจารณ์แอปเปิลเป็นนัย แต่ไม่ได้พูดตรงๆ
เขาบอกว่า Windows ยืนหยัดเพื่ออำนาจของครีเอเตอร์และผู้บริโภค การสร้างบริการใหม่ นักพัฒนาจำเป็นต้องมีทางเลือก และไมโครซอฟท์ต้องการขจัดอุปสรรคที่มีอยู่และให้ทางเลือกและการเชื่อมต่อ ระบบปฏิบัติการและอุปกรณ์ควรปรับเปลี่ยนตามความต้องการของเรา ไม่ใช่ในทางตรงกันข้าม
เขายังบอกด้วยว่า ไมโครซอฟท์จะส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ผู้คนสามารถเข้าถึงแอป ไฟล์ เกม ภาพยนตร์ รายการเนื้อหา และชุมชนที่มีความสำคัญต่อพวกเขาได้อย่างลื่นไหล โดยมอบอำนาจให้คุณผลิตและสร้างแรงบันดาลใจให้นักพัฒนาในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
เรื่องนโยบายร้านค้าแอปซึ่งเป็นสิ่งที่แอปเปิลเจอการต่อต้านจากนักพัฒนาภายนอกมาตลอด โดยเฉพาะ Epic Games กำลังอยู่ระหว่างถูกฟ้องร้องฐานผูกขาด และเป็นโอกาสให้ไมโครซอฟท์ดึงความสนใจจากนักพัฒนามาบนแพลตฟอร์มได้ ซึ่งไมโครซอฟท์เองมีรายได้หลักมาจากบริการอื่นๆ อย่าง Microsoft 365, Azure และบริการเพื่อ enterprise อยู่แล้ว
ที่มา - The Verge |
# Minecraft เวอร์ชั่นหายาก Alpha 1.1.1 ถูกค้นพบแล้ว หลังตามหายาวนานถึง 10 ปี
Omniarchive (ลิงก์ Discord) กลุ่ม Discord ที่มุ่งมั่นในการตามเก็บทุกเวอร์ชั่นของเกม Minecraft ตั้งแต่เวอร์ชั่น Java เปิดตัวแบบ Alpha ในปี 2009 แต่ก็มีเวอร์ชั่นหนึ่งที่ Omniarchive หาเท่าไรก็ไม่เจอ นั่นคือ Minecraft เวอร์ชั่น Alpha 1.1.1 ที่ออกในปี 2010
Minecraft Alpha 1.1.1 เป็นเวอร์ชั่นที่เพิ่มการตกปลา และการก้มเข้ามาในเกม เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2010 แต่ปัญหาคือเวอร์ชั่นนี้มีบั๊กร้ายแรงที่ทำให้เกมแครชเป็นจอสีเทา ทีมงาน Mojang จึงรีบทำการแก้บั๊ก และออกเวอร์ชั่น 1.1.2 ตามมา ในเวลาแค่ 3 ชั่วโมง 25 นาที หลังจากนั้นผู้เล่นส่วนใหญ่ก็ลบเวอร์ชั่นเก่าที่มีบั๊กนี้ทิ้งไป ทำให้แทบจะหาไม่ได้อีก
จนกระทั่งมีคนไปเจอทวิตของ @Lunasorcery ที่พูดถึง Minecraft เวอร์ชั่นใหม่ ในวันที่ 18 กันยายน ปี 2010 และ DM ไปสอบถามเธอเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ว่ายังเก็บไฟล์ไว้หรือไม่ ซึ่งในครั้งนั้น @Lunasorcery ไม่ได้ตอบ
แต่เมื่อคืนวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา มีคน DM มาถามเธออีกครั้ง คราวนี้เธอกำลังว่าง และตอบพอดี ก่อนจะไปค้น External Harddisk ของโน้ตบุ๊กเก่าและพบไฟล์ .jar ของเวอร์ชั่นนี้จริงๆ ซึ่งหลังจากที่เธอส่งไปให้ทีมงานในห้อง Discord ของ Omniarchive พิสูจน์ และพบว่าเป็นเวอร์ชั่น 1.1.1 ในตำนาน ก็ทำให้ห้องแทบระเบิด โดยทีมงานพบว่าเธอดาวน์โหลดไฟล์เวอร์ชั่นนี้ ก่อนเวอร์ชั่น 1.1.2 จะถูก compiled แค่ 89 วินาทีเท่านั้น
ยังไม่จบ เธอยังพบไฟล์ .jar ของเวอร์ชั่น c0.29_01 แบบคลีน ที่ปกติมักพบแต่เวอร์ชั่นที่ผ่านการปรับแต่งแล้วบน External Harddisk ของเธออีก ทำให้ทั้งเวอร์ชั่น Alpha 1.1.1 และเวอร์ชั่น c0.29_01 แบบคลีน ถูกเพิ่มลงใน Archive.org และเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับการจัดเก็บประวัติศาสตร์ของเกมนี้ไปอีกขั้น
@Lanarsorcery นำเรื่องนี้มาเล่าในเธรด Twitter ของเธออย่างสนุกสนาน และพูดติดตลกในตอนท้ายว่าบทเรียนของเรื่องนี้ คือ “ห้ามลบอะไรทิ้งเด็ดขาด”
ความจริงจังในเรื่องการบันทึกประวัติศาสตร์ และการเก็บรวบรวมข้อมูล ดูจะเป็นอีกหนึ่งลักษณะสำคัญในการก้าวไปข้างหน้าของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม และแม้เกมหรือการเก็บสถิติจากเกมอาจถูกหลายคนมองว่าเป็นงานอดิเรกที่ไร้สาระ แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อมีคนที่จริงจังกับเรื่องบางเรื่อง มาร่วมกันทำบางสิ่งด้วยใจรัก สิ่งนั้นก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาก็ได้
ที่มา - @Lunasorcery via Kotaku |
# ผู้ใช้งานเครือข่าย TrueMove H ไม่สามารถใช้งาน LINE ได้ ส่งข้อความไม่ได้
วันนี้เวลาประมาณ 10:00 น. มีรายงานว่าผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทยบนเครือข่าย TrueMove H ไม่สามารถใช้งาน LINE ได้ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ #ไลน์ล่ม ขึ้นเทนด์อันดับ 1 ของทวิตเตอร์ ณ เวลานี้ ต่อมาทางเพจ TrueMove H ได้โพสต์ว่า ขณะนี้ Line ขัดข้อง และทางบริษัทได้แจ้งไปทาง Line แล้ว แต่กลับลบโพสต์ดังกล่าวทิ้งในเวลาต่อมา
ส่วนตัวผม ยังสามารถใช้งาน LINE ได้ในเครือข่ายอื่น ๆ
ที่มา: ค้นพบด้วยตัวเอง |
# Team Fortress 2 มีผู้เล่นถึง 150,000 คนเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เกมเปิดให้เล่นในปี 2007
Team Fortress 2 เกมยิงแบบทีมของ Valve ที่ตัวละครแต่ละตัวมีความสามารถแตกต่างกันไป เรียกได้ว่าเป็นเกมแรกๆ ของเกมยิงแนวนี้ ทำสถิติผู้เล่นใหม่อีกครั้งหลังเกมเปิดตัวในปี 2007 หรือหลังจากเปิดตัวกว่า 14 ปี โดยมีผู้เล่นพร้อมกันสูงสุดถึง 150,000 คน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อ้างอิงสถิติจาก SteamDB ช่วงตี 2:36 นาที ของวันที่ 26 มิถุนายน ตามเวลาประเทศไทย
ปัญหาของ Team Fortress 2 คือเกมนี้เต็มไปด้วยบอต ตั้งแต่เปิดให้เล่นฟรีในปี 2011 แต่อัพเดตใหม่ของ Valve ในวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นอัพเดตที่ Valve พยายามกำจัดบอตอีกครั้ง โดยผู้เล่นบน Reddit คาดเดาว่าบอตน่าจะเหลืออยู่ในหลักหลายพันตัว แต่เมื่อนับผู้เล่นจริงก็ยังเป็นตัวเลขที่สูงมากอยู่ดี
อัพเดตวันที่ 24 มิถุนายนนี้ อาจเป็นสาเหตุหลักที่ผู้เล่นเดิมกลับมาเล่นอีกครั้งพร้อมๆ กัน เพราะเป็นอีกครั้งที่ Valve พยายามกำจัดบอตออกไปจากเกมให้ได้อย่างเด็ดขาด รวมถึงมีอัพเดตของแต่งกายเพิ่มมาเล็กน้อย ผู้เล่นอาจจะอยากเห็นสภาพเกมว่าปราศจากบอตจริงหรือไม่
ที่มา - Kotaku |
# รู้จัก We Grow แอปโซเชียลสำหรับคนรักต้นไม้ แชร์ข้อมูลต้นไม้ เก็บสถิติลดคาร์บอน ลดโลกร้อน
ปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกระทบต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เป็นวาระสำคัญลำดับต้นๆ ของโลก หลายปีมานี้หลายประเทศได้ร่วมกำหนดทิศทางและปฏิบัตการเชิงรุกเพื่อรับมือภาวะโลกร้อนอย่างเต็มกำลัง อาทิ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ถือเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่นานาประเทศกว่า 189 ประเทศ ผนึกกำลังร่วมเป็นภาคีในการทำให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งยังได้วางหมุดหมายร่วมกันที่จะต้องเห็นผลว่านานาประเทศดำเนินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2030
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) องค์กรธุรกิจเอกชนที่ลงมือเพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่านแนวนโยบายและการปรับเปลี่ยนมุ่งสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนสร้างธุรกิจที่คำนึงถึงห่วงโซ่คุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ด้วยเป้าหมายที่ท้าทายจากซีอีโอผู้นำองค์กรอย่าง “ศุภชัย เจียรวนนท์” ที่ประกาศจะพาองค์กรมุ่งสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral ภายในปี 2030 หรือการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2030
นอกจากการขับเคลื่อนกระบวนการรักษาสิ่งแวดล้อมในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแล้ว เครือซีพียังเดินหน้าสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่ม ผ่านการรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ในหมู่พนักงานกว่า 4.5 แสนคนขององค์กรที่มีอยู่ทั่วโลก เมื่อต้นไม้ 1 ต้นช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัมต่อปี การร่วมมือร่วมใจจากทุกคนคือเป้าหมายเดียวกันของซีพี และเพื่อขยายการมีส่วนร่วมกับทุกคนในประเทศ ซีพีได้พัฒนาแพลทฟอร์มแอปพลิเคชั่น We Grow ขึ้นมาเป็นฮับของคนที่รักการปลูกต้นไม้ ที่สำคัญไม่ว่าจะปลูกต้นไม้เพียง 1 ต้น หรือกี่ต้นก็ตาม แอปพลิเคชั่นนี้ยังช่วยให้เราติดตามการเติบโตของต้นไม้ที่เราปลูก รวมทั้งยังคำนวณได้ว่าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไรด้วย
We Grow เป็นแอปที่ผู้ใช้สามารถบันทึกข้อมูลประเภทของต้นไม้ ถ่ายรูป ติดตามและแชร์การเติบโตของต้นไม้ทั้งของตนเองและที่ร่วมปลูกกับองค์กรและกิจกรรมต่างๆ รวมถึงใช้ติดตามข้อมูลการกักเก็บ Co2ได้ว่าต้นไม้ที่เราปลูกช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ จากบรรยากาศไปได้แล้วมากน้อยแค่ไหนในแต่ละพื้นที่ของประเทศ แอปสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ผ่าน Google Play Store บน Android และ Apple App Store บน iOS
We Grow แอปโซเชี่ยลของคนรักษ์โลก
เมื่อเปิดเข้าไปในหน้าแรกของแอป ผู้ใช้จะเจอหน้า Tree Timeline ซึ่งคล้ายกับแอป Instagram โดยแสดงข้อมูลต้นไม้ สถานที่ที่ต้นไม้ปลูกอยู่ ชื่อของต้นไม้ ใครเป็นคนปลูก สามารถกดไลค์ แสดงความคิดเห็น สอบถามข้อมูลการปลูกและการดูแลต้นไม้ชนิดนั้น ดูสถานที่ ข้อมูลผู้ปลูกต้นไม้นั้นว่ามีต้นไม้กี่ต้น กักเก็บคาร์บอนไปแล้วกี่กิโลกรัม
เมนูถัดมาเป็นหน้า Campaign รวมโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้ล็อกอินเข้าสู่แอปและเข้าร่วมโครงการได้ทันที มีทั้งโครงการปลูกต้นไม้ต่างๆ ทั่วประเทศ และโครงการปลูกต้นไม้จากบ้าน แล้วบันทึก ติดตามการเติบโต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
อีกเมนูคือ Grow เป็นการบันทึกรายละเอียดการปลูกต้นไม้ของผู้ใช้เอง สามารถใส่ชื่อ ข้อมูลต่างๆของต้นไม้ รวมไปถึงความสูง เส้นรอบวง อายุของต้นไม้ เพื่อติดตามอัพเดตการเติบโต พร้อมแท็กสถานที่ปลูก หรือเลือกนำต้นไม้เข้าร่วมกับแคมเปญที่เราเลือกจากเมนูก่อนหน้านี้ได้ และยังสามารถแชร์กิจกรรมการปลูกต้นไม้ไปยังแอปโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook ได้
เมนูต่อมา เป็นหน้า Knowledge เหมือนห้องสมุดย่อยๆ ที่รวมแหล่งความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ประเภทต่างๆ ไว้ โดยผู้ใช้สามารถค้นหาด้วยชื่อต้นไม้ที่ตัวเองปลูกหรือที่สนใจ แล้วภายในมีรายละเอียดชื่อทางวิทยาศาสตร์ วงศ์ของต้นไม้ ลักษณะทั่วไป รวมไปถึงประโยชน์และสรรพคุณ
เมนูสุดท้ายคือเมนู Scan เมนูนี้มีไว้สแกนคิวอาร์โค้ดของต้นไม้ต่างๆ ที่ปลูกโดยเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ ซึ่งเราพบเจอได้ทั่วไปตามตึกสำนักงาน สวนสาธารณะ หรือในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ต้นไม้แต่ละต้นมีแท็ก ชื่อ ข้อมูล พร้อมคิวอาร์โค้ดอยู่ เราสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดนั้น เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมของต้นไม้ชนิดนั้นในหมวด Knowledge ได้ทันที
สรุป
We Grow เปรียบเหมือนกับแอปโซเชียลของคนรักโลกรักต้นไม้ ที่ต้องการบันทึกความดีจากการปลูกต้นไม้ในวันนี้ว่าช่วยโลกลดก๊าซคาร์บอนในอากาศได้จำนวนเท่าไหร่ในวันข้างหน้า โดยการติดตามปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นไม้ที่เราปลูก หรือในโครงการที่แต่ละคนร่วมปลูกนั้น รวมถึงฟีเจอร์อย่างหมวด Knwoledge ที่เป็นความรู้เกี่ยวกับต้นไม้นานาชนิด ก็น่าจะช่วยให้ผู้ใช้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับต้นไม้ที่ตัวเองปลูกและสนใจมากขึ้น เป็นอีกแอปพลิเคชั่นที่นำมาใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน สำหรับที่คนรักต้นไม้ และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญน่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่จับต้องได้ในการเชิญชวนทุกคนมาร่วมปลูกต้นไม้และใช้แอพพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยเครือซีพี เพื่อทุกคนจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันแอปพลิเคชั่น We Grow ของเครือซีพี ยังถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนใส่ใจสิ่งแวดล้อมและตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวขององค์กรธุรกิจเอกชนที่พยายามรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การสร้างสรรค์แอปพลิเคชั่นนี้เกิดขึ้นภายใต้เจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมและเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนไทยทุกคนเพื่อให้ลูกหลานในอนาคตอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้น |
# [Reuters] YouTube ลบวิดีโอตีแผ่การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์หลายรายการ บีบให้ช่องต้องหาแหล่งเผยแพร่อื่น
Reuters รายงานว่า YouTube ลบวิดีโอตีแผ่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในชาวอุยกูร์ ซึ่งเป็นวิดีโอจากช่อง Atajurt Kazakh Human Rights โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ช่องดังกล่าวถูกบล็อกเนื่องจากละเมิดหลักเกณฑ์ของ YouTube ตามภาพหน้าจอที่ Reuters ตรวจสอบ ผู้ดูแลช่องได้ร้องเรียนการบล็อกวิดีโอทั้งสิบสองรายการไปยัง YouTube ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน โดยมีบางรายการที่ YouTube คืนสถานะให้
ช่อง Atajurt Kazakh Human Rights มี Serikzhan Bilash นักเคลื่อนไหวชาวคาซัคที่เกิดในซินเจียงซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งช่อง เขาเคยถูกจับกุมหลายครั้งในข้อหาเคลื่อนไหว ทางช่องได้เผยแพร่วิดีโอเกือบ 11,000 รายการบน YouTube รวมแล้วกว่า 120 ล้านวิวตั้งแต่ปี 2017 เนื้อหาในวิดีโอเป็นการสัมภาษณ์คนว่าบรรดาญาติของพวกเขาหายตัวอย่างไร้ร่องรอยในพื้นที่ซินเจียง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของ UN และกลุ่มสิทธิมนุษยชนประเมินว่ามีผู้คนกว่าล้านคนถูกควบคุมตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จากการสอบถามของ Reuters ว่าทำไมช่องจึงถูกลบ YouTube อธิบายว่าช่องดังกล่าวได้รับการ 'ประท้วง' หลายครั้งสำหรับวิดีโอที่มีผู้คนถือบัตรประจำตัวเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับการสูญหาย ซึ่งมันไปละเมิดนโยบายของ YouTube ที่ห้ามไม่ให้ข้อมูลที่ระบุตัวบุคคลนั้นปรากฏในเนื้อหา ซึ่ง YouTube ได้แจ้งไปยังผู้ดูแลช่องให้ทำเบลอบัตรประจำตัวแล้ว แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากกังวลว่าจะกระทบความน่าเชื่อถือของเนื้อหา
ผู้ดูแลช่องได้โยกย้ายเนื้อหาบางส่วนไปไว้ที่ Odysee บริการที่สร้างบนบล็อกเชนโปรโตคอลที่ชื่อว่า LBRY
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา YouTube ได้จำกัดเนื้อหามากขึ้น ท่ามกลางการตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ข้อมูลผิด และคำพูดแสดงความเกลียดชัง ซึ่งกระทบช่องขวาจัดมาก บังคับให้พวกเขาแสวงหาที่หลบภัยอื่นในโซเชียลมีเดีย เช่น Parler
ที่มา - Reuters |
# Venmo ให้ผู้ใช้บัญชีทั่วไปขายของบนแพลตฟอร์มได้ โดยเก็บค่าธรรมเนียม 1.9%
Venmo แอประบบชำระเงินภายใต้ PayPal ให้บัญชีผู้ใช้งานทั่วไปขายของบนแพลตฟอร์มได้ โดยบริษัทเก็บค่าธรรมเนียม 1.9% นโยบายมีผล 20 กรกฎาคมนี้
ปกติผู้ใช้งาน Venmo จะใช้เพื่อแยกบิล รับเช็ก และจะถูกแบนถ้าใช้ในเชิงการค้าขาย ล่าสุด Venmo ปลดล็อกให้ใช้เพื่อค้ายขายได้ แต่เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม เพื่อที่ผู้ใช้งานจะได้ไม่ต้องแยกบัญชีเพื่อทำธุรกิจเสริม
ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน Venmoอยู่เกือบ 70 ล้านบัญชี (ตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์) และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะมีผู้ใช้เพียงเล็กน้อยที่ใช้บัญชีเหล่านั้นเพื่อการขายก็ตาม
ที่มา - Engadget |
# แคนาดาเสนอโทษปรับ Hate Speech กว่า 5 แสนบาท ทำผิดซ้ำโดนปรับเป็นล้าน
แคนาดาเสนอกฎหมายปรับโทษข้อความเกลียดชังบนอินเทอร์เน็ตหรือ Hate Speech หากทำผิดครั้งแรกโดนปรับ 20,000 ดอลลาร์แคนาดา ครั้งที่สองโดนปรับ 50,000 ดอลลาร์แคนาดา โดย Hate Speech ในที่นี้เน้นไปที่การแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มคน เชื้อชาติ
ข่าวนี้เกิดขึ้นตามหลังข่าว ชายวัย 20 ปี ขับรถบรรทุกเข้าชนในบ้านที่มีสมาชิก 5 คนในออนแทรีโอ ซึ่งทำให้ทุกคนเสียชีวิต ยกเว้นเด็กหญิงอายุ 9 ขวบ ตำรวจระบุคดีนี้ว่าเป็นการแสดงความเกลียดชังชาวมุสลิม
Steven Guilbeault รัฐมนตรีกรมมรดกแคนาดากล่าวว่า แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นศูนย์กลางของการมีส่วนร่วม เป็นช่องทางติดต่อซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันคำพูดบนโลกออนไลน์มีอำนาจมหาศาลเหนือในชีวิตประจำวันของชาวแคนาดา ซึ่งในการออกกฎนี้ได้ปรึกษากับประชาชนในวงกว้าง เพื่อวางกรอบงานด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวด ยุติธรรม
รัฐบาลจะออกเอกสารการอภิปรายทางเทคนิคโดยละเอียดในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อแจ้งให้ชาวแคนาดาทราบถึงสาระสำคัญของกฎหมายที่เสนอนี้
ที่มา - Gizmodo |
# อังกฤษสั่งแบน Binance UK แล้ว เตือนให้เลี่ยงทำธุรกรรมกับ Binance ทั้งหมด
Financial Conduct Authority (FCA) หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสหราชอาณาจักร ประกาศแบนการทำกิจกรรมทั้งหมดของ Binance Markets Limited ซึ่งเป็นบริษัทสาขาอังกฤษของ Binance Group ด้วยเหตุผลว่าโฆษณาเกินจริงในเรื่องการลงทุนคริปโตแล้วได้ผลตอบแทนสูง
จุดกำเนิดของ Binance อยู่ที่ประเทศจีน แต่ภายหลังก็เปลี่ยนมาจดทะเบียนที่หมู่เกาะเคย์แมนแทน โดยตั้งบริษัทสาขา Binance.US และ Binance Markets ทำตลาดสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
FCA ยังเตือนว่าบริษัทที่เชิญชวนลงทุนในคริปโตส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นผู้ลงทุนจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายการเงินของสหราชอาณาจักร
ปัจจุบัน FCA ไม่ได้จำกัดการลงทุนในเงินคริปโตอย่าง Bitcoin หรือ Ether แต่ก็กำกับดูแลการลงทุนในสินทรัพย์ derivatives บางอย่าง (เช่น สัญญา futures) ซึ่งบริษัทเหล่านี้ต้องจดทะเบียนกับ FCA ก่อนจึงโฆษณาหรือขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้
ฝั่งของ Binance ก็ออกมาประกาศว่าการแบนมีผลเฉพาะ Binance Markets เท่านั้น ผู้ลงทุนยังใช้งาน Binance.com ได้ตามปกติ ซึ่ง FCA ก็เตือนว่ายังพบการโฆษณา Binance.com ในอังกฤษอยู่ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยง
ที่มา - FCA |
# สโตร์ซ้อนสโตร์ ไมโครซอฟท์พร้อมรับ Steam และ Epic หากอยากมาอยู่ใน Microsoft Store
เก็บตกประเด็น Windows 11 เพิ่มเติม ร้านขายแอพ Microsoft Store เวอร์ชันใหม่เปิดกว้างให้มีระบบจ่ายเงินของตัวเองได้ และมีแนวคิด "สโตร์ซ้อนสโตร์" อย่างกรณีของแอพ Android ที่ใช้ Amazon Appstore จะเป็นการดาวน์โหลดไฟล์จาก Amazon โดยตรงแทน (ตัว Microsoft Store ทำหน้าที่เป็นเหมือนหน้ากากเท่านั้น จากภาพจะเห็นปุ่มเขียนว่า Get from Amazon Appstore)
เรื่องนี้ Panos Panay หัวหน้าทีม Windows ให้สัมภาษณ์ว่าวิสัยทัศน์ของเขาคือ ต้องการสร้างสโตร์ที่หาอะไรก็เจอ พิมพ์ชื่อแอพใดๆ แล้วดาวน์โหลดแอพนั้นได้เสมอ
เขาบอกว่าปัจจุบัน Windows รองรับสโตร์หลายตัวอยู่แล้ว และถ้า Microsoft Store สามารถ "โฮสต์" สโตร์เหล่านี้ได้ เราก็ทำ เขายังเอ่ยถึงชื่อสโตร์อย่าง Steam หรือ Epic Games ว่า "ยินดีต้อนรับอย่างมาก"
Tim Sweeney ซีอีโอของ Epic Games ที่ในอดีต เคยวิจารณ์ไมโครซอฟท์อยู่เรื่อยๆ ก็ออกมาชื่นชมว่า ไมโครซอฟท์ยุคปี 2021 ถือเป็นไมโครซอฟท์ที่ดีที่สุดที่เคยมีมา
ที่มา - The Verge |
# Backblaze ระบุช่วง COVID-19 ผลิต Storage Pod เองลำบาก หันไปซื้อเครื่องจาก Dell บางส่วน
Backblaze ผู้ให้บริการคลาวด์สตอเรจที่สร้างชื่อเสียงขึ้นมาจากการพัฒนาเซิร์ฟเวอร์ Storage Pod ของตัวเองให้มีพื้นที่จุข้อมูลต่อเซิร์ฟเวอร์สูงมาก โดยพัฒนาเซิร์ฟเวอร์มาหลายรุ่นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา รุ่นล่าสุดคือ Storage Pod 6.0 ที่เปิดพิมพ์เขียวเมื่อปี 2016 แต่เซิร์ฟเวอร์ชุดล่าสุดของบริษัทก็กลับไปซื้อเซิร์ฟเวอร์เดลล์มาใช้แทน
Backblaze เล่าถึงความซับซ้อนของการผลิตเซิร์ฟเวอร์ด้วยตัวเองว่าตอนนี้บริษัทต้องติดตั้งเซิร์ฟเวอร์เพิ่มเติมประมาณเดือนละ 60 เครื่อง และแต่ละเครื่องใช้ชิ้นส่วน 25 รายการจากผู้ผลิต 15 ราย และต้องแก้ปัญหาในกรณีผู้ผลิตบางชิ้นเลิกผลิตไป เช่นตัวจ่ายไฟนั้นช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ต้องเปลี่ยนไป 3 ครั้งเนื่องจากผู้ผลิตเลิกผลิต และเหตุการณ์ COVID-19 กระบวนการสั่งสินค้าก็ยุ่งยากขึ้นมาเนื่องจากผู้ผลิตขอยกเลิกคำสั่งซื้อ หรือบางทีต้องไปแย่งชิ้นส่วนกับผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้ทาง Backblaze ต้องไปสั่งเซิร์ฟเวอร์จากผู้ผลิตในตลาดมาทดแทน และหลังจากทดสอบอยู่หลายแบรนด์ก็ตกลงใช้เดลล์
เซิร์ฟเวอร์เดลล์ชุดแรกที่ติดตั้งใช้งานในศูนย์ข้อมูลเมืองอัมสเตอร์ดัมที่เพิ่งเปิดใหม่ มีขนาดเทียบเท่ากับ Storage Vault 2 ชุด (ประมาณเซิร์ฟเวอร์ 40 ตัว หรือ 4 ตู้แร็ก) และหลังจากนั้นก็ซื้อเพิ่มอีกปริมาณเท่ากับ Storage Vault 6 ชุด ไปติดในศูนย์ข้อมูลอื่นๆ
ทาง Backblaze ระบุว่ายังมีแผนพัฒนาเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองต่อไปเพราะต้องการควบคุมเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์ทุกวันนี้ก็เริ่มพัฒนาเซิร์ฟเวอร์สตอเรจในราคาที่แข่งขันได้แล้ว ทำให้สามารถกระจายการใช้งานออกไปได้
ที่มา - Backblaze
ภาพเซิร์ฟเวอร์เดลล์ที่ Backblaze สั่งเปลี่ยนหน้ากากเป็นพิเศษ |
# ฝ่ายซัพพอร์ตไมโครซอฟท์ถูกมัลแวร์โจมตี คนร้ายขโมยข้อมูลลูกค้าไปได้
ไมโครซอฟท์รายงานว่าคอมพิวเตอร์ของเจ้าหน้าที่ซัพพอร์ตรายหนึ่งติดมัลแวร์ขโมยข้อมูลของกลุ่ม NOBELIUM และแฮกเกอร์ขโมยข้อมูลลูกค้าออกไปได้
การแฮกคอมพิวเตอร์ของฝ่ายซัพพอร์ตไมโครซอฟท์เป็นส่วนหนึ่งของปฎิบัติการแฮกเข้าระบบขององค์กรเป้าหมายโดยอาศัยข้อมูลจากในระบบซัพพอร์ต ไมโครซอฟท์พบว่าแฮกเกอร์เจาะระบบเป้าหมายสำเร็จได้ 3 องค์กร ตอนนี้ไมโครซอฟท์แจ้งเตือนไปยังองค์กรที่ถูกโจมตีทั้งหมดแล้ว
ไมโครซอฟท์ระบุว่าเจ้าหน้าที่ซัพพอร์ตมีสิทธิ์จำกัดเข้าถึงได้เพียงข้อมูลพื้นฐานของลูกค้าบางส่วนเท่านั้น โดยเป็นไปตามแนวทางให้สิทธิ์เท่าที่จำเป็น (least privilege access)
NOBELIUM หรือกลุ่ม APT29 เป็นกลุ่มที่เชื่อกันว่าเป็นผู้แฮก SolarWinds
ที่มา - Microsoft, BleepingComputer
ภาพโดย efes |
# หัวหน้าทีม Windows เล่า เลิกทำ Windows 10X เปลี่ยนมาทำ Windows 11 เพราะโรคระบาด
Panos Panay หัวหน้าทีม Windows ให้สัมภาษณ์กับ The Verge ถึงเบื้องหลังการพัฒนา Windows 11 และการยกเลิก Windows 10X ว่าปัจจัยสำคัญมาจาก COVID-19 ที่ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไปมาก
Panos เล่าว่าเดิมทีไมโครซอฟท์กำลังทำอุปกรณ์สองจออย่าง Surface Neo ที่รัน Windows 10X อยู่เลย (เปิดตัว ต.ค. 2019) เพราะกรอบคิดในตอนนั้นคือ "ทำงานได้ระหว่างเดินทาง" (the way we work on the go) แต่ไม่กี่เดือนหลังจากเปิดตัว Surface Neo โลกก็เจอกับโรคระบาดใหญ่ทำให้ทุกคนหยุดเดินทาง กลับมาทำงานผ่านพีซีกันหมด ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องกลับมาคิดใหม่
สิ่งแรกๆ ที่ไมโครซอฟท์ตัดสินใจหลัง COVID-19 เริ่มระบาดคือ เปลี่ยน Windows 10X มาใช้กับอุปกรณ์จอเดียว (พ.ค. 2020) แต่ภายหลังก็เปลี่ยนใจอีกรอบ ขยายขอบเขตของ Windows 10X มาเป็น Windows 11 แทน
Panos บอกว่ากรอบคิดเบื้องหลังของ Windows 11 คือการทำงานแบบไฮบริด ทั้งจากที่บ้านและที่ทำงานผสมกัน เดิมทีพีซีพยายามปรับตัวเองเข้ากับวิถีชีวิตของคน แต่พอมีโรคระบาด กลายเป็นว่าคนต้องเป็นฝ่ายปรับชีวิตตัวเองเข้ากับพีซี
กระบวนการพัฒนา Windows 11 เองก็อยู่บนวิถีชีวิตแบบใหม่นี้ เพราะพนักงานไมโครซอฟท์ก็ต้องทำงานจากที่บ้าน คุยกันผ่าน Microsoft Teams จึงมีบทเรียนว่าคนทำงานที่บ้านอยากได้อะไรบ้าง ตัวอย่างฟีเจอร์หนึ่งของ Windows 11 คือมีปุ่ม mute ปิดเสียงไมโครโฟนบนทาสก์บาร์ เพื่อป้องกันการเปิดไมโครโฟนโดยไม่ตั้งใจ
การเพิ่มแอพ Android ก็ตอบโจทย์นี้เช่นกัน Panos บอกว่าเส้นแบ่งระหว่าง "ทำงาน" กับ "เล่น" เริ่มเบลอ ปกติแล้วแอพฝั่งวินโดวส์เน้นการทำงาน การเพิ่ม Android เข้ามาช่วยเติมเต็มฝั่งของ "เล่น" ให้กับแพลตฟอร์มได้
Panos บอกว่าเขายังเชื่อในอุปกรณ์แบบสองจอ ว่าจะเกิดแน่ในอนาคต
ที่มา - The Verge |
# Zoom ออกแอพเวอร์ชัน PWA บน Chrome OS, ฟีเจอร์ใกล้เคียงแอพเดสก์ท็อป
Zoom ประกาศลง Chrome OS ในรูปแบบเว็บแอพ progressive web application (PWA) สามารถดาวน์โหลดได้จาก Google Play Store บน Chrome OS ได้โดยตรง
การที่ Zoom ใช้งานได้ผ่านเบราว์เซอร์อยู่แล้ว แล้วออกเวอร์ชัน PWA คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก ทาง Zoom บอกว่าแอพเวอร์ชัน PWA มี "ฟีเจอร์ส่วนใหญ่" ใกล้เคียงกับแอพเนทีฟบนวินโดวส์และแมค เช่น Gallery View, Breakout Rooms, Live Transcription, การปรับภาพพื้นหลัง เป็นต้น ซึ่งเหนือกว่าเว็บแอพ Zoom เวอร์ชันปัจจุบันของ Chrome OS ที่จะถูกเลิกใช้ในอนาคต
ช่วงหลังเราเริ่มเห็นการใช้ PWA มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเคสล่าสุดคือ Microsoft Store ตัวใหม่ของ Windows 11 ก็ประกาศรับ PWA ขึ้นสโตร์แล้ว
ที่มา - Zoom, 9to5google |
# Google Search เริ่มขึ้นป้ายเตือน กรณีผลการค้นหาข่าวด่วนที่ยังไม่น่าเชื่อถือ
Google Search จะเริ่มขึ้นป้ายเตือนสำหรับผลการค้นหาในประเด็นที่ "เปลี่ยนแปลงบ่อย" เช่น ประเด็นข่าวหรือสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีคำตอบหรือข้อมูลอย่างเป็นทางการ
ในตัวอย่างของกูเกิลเป็นเรื่อง คลิป UFO ที่เริ่มมีการพูดถึงในโซเชียล แต่ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการว่าจริงแค่ไหน
กูเกิลบอกว่าขึ้นป้ายนี้เพื่อแก้ปัญหาข่าวปลอมหรือข้อมูลผิดพลาด ซึ่งมักเกิดในข่าวด่วนหรือเหตุการณ์ด่วน ที่ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือขึ้นบนสื่อออนไลน์
การขึ้นป้ายจะเริ่มสำหรับผลการค้นหาเป็นภาษาอังกฤษ แสดงเฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาก่อน แล้วค่อยขยายไปยังภาษา-ภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป
ที่มา - Google |
# ยืนยันแล้ว Windows 11 สามารถ Sideload ติดตั้งแอพ Android APK ได้เอง
จากประเด็น Windows 11 รองรับแอพ Android โดยมีรายละเอียดออกมาเพิ่มเติมว่า รันผ่าน Windows Subsystem for Android แบบเนทีฟ และมี Intel Bridge ช่วยในการรันแอพที่คอมไพล์มาเป็น Arm
คำถามถัดมาที่ทุกคนอยากรู้คือ Windows 11 รองรับการติดตั้งไฟล์ APK โดยตรง (sideloading) ด้วยหรือไม่
เรื่องนี้ Miguel de Icaza ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Xamarin ที่ถูกไมโครซอฟท์ซื้อในปี 2016 และปัจจุบันยังทำงานอยู่กับไมโครซอฟท์ (ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนคือ Nat Friedman ไปนั่งเป็นซีอีโอ GitHub) ตอบคำถามผ่านทวิตเตอร์ ยืนยันแล้วว่าสามารถทำได้ แต่ยังไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ที่มา - Android Police |
# ไมโครซอฟท์โอเพนซอร์ส Game Development Kit (GDK) ชุดสร้างเกมพีซีและ Xbox
ไมโครซอฟท์เปิดตัว Microsoft Game Development Kit (GDK) สำหรับพีซีมาแบบเงียบๆ ภายใต้ข่าว Windows 11
ก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์มี GDKX สำหรับทำเกมลงคอนโซล Xbox ที่ต้องเซ็นสัญญาเข้าร่วมโครงการอยู่แล้ว รอบนี้คือไมโครซอฟท์นำ GDK ออกมาให้นักพัฒนาเกมฝั่งพีซีใช้งานฟรี ไม่ต้องเซ็นอะไรเลย แถมเปิดซอร์สโค้ดขึ้น GitHub ด้วย
ไมโครซอฟท์อธิบายว่า GDKX คือ GDK เวอร์ชันโอเพนซอร์ส ที่เพิ่มส่วนขยาย Xbox Extensions เท่านั้น การที่มันเป็น Development Kit ตัวเดียวกัน ทำให้การสร้างเกมที่ลงทั้งพีซีและคอนโซล Xbox (รวมถึง Xbox Game Pass และ xCloud) ง่ายขึ้นมาก นักพัฒนาที่ใช้ GDK สร้างเกมพีซี ก็เพียงแค่ยื่นขอไลเซนส์ Xbox Extensions เพื่อพอร์ตเกมไปยัง Xbox อีกขั้นเดียวเท่านั้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยีของ GDK เป็นการทำแอพ Win32 ซึ่งเป็นโมเดลที่ไมโครซอฟท์จะใช้ต่อไปในอนาคตทั้งบนพีซีและ Xbox รุ่นใหม่ โดยยกเลิกโมเดลการเขียนเกมด้วย UWP ในสมัย Windows 10 กับโมเดล XDK ในสมัย Xbox One แล้ว
ที่มา - GitHub, Microsoft |
# Ubuntu รองรับซีพียู RISC-V อย่างเป็นทางการ เริ่มจากบอร์ดของ SiFive
Canonical ประกาศว่า Ubuntu รองรับซีพียูสถาปัตยกรรม RISC-V ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ โดยเริ่มจากบอร์ดของ SiFive บริษัทของทีมผู้ก่อตั้ง RISC-V
Canonical บอกว่าสถาปัตยกรรม RISC-V ที่เป็นสถาปัตยกรรมเปิด มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จึงร่วมมือกับทีม SiFive พอร์ต Ubuntu มารันบนบอร์ดเหล่านี้ ที่ผ่านมาบอร์ด RISC-V สามารถรันลินุกซ์ได้อยู่แล้ว แต่การสนับสนุนอย่างเป็นทางการ การันตีการแก้บั๊กและออกแพตช์ความปลอดภัย ถือเป็นปัจจัยสำคัญให้นักพัฒนาเลือกใช้ RISC-V ในการสร้างผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น
บอร์ดที่รองรับมี 2 รุ่นคือ HiFive Unleashed บอร์ดรุ่นแรกที่เลิกขายไปแล้ว แต่ยังมีคนใช้กันอยู่มาก และ HiFive Unmatched บอร์ดรุ่นใหม่ที่ออกในปี 2020 โดยตอนนี้ Canonical ออกอิมเมจ Ubuntu 20.04.02 LTS และ 21.04 ให้กับบอร์ด Unleashed และอิมเมจ Ubuntu 21.04 ให้บอร์ด Unmatched สามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ทันที
ที่มา - Ubuntu |
# บริการโอนเงินระหว่างประเทศ Wise จะเข้าเทรดในตลาดหุ้นลอนดอนวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ โดยไม่กำหนดราคาหุ้นเริ่มต้น
Wise บริษัทฟินเทคพัฒนาระบบโอนเงินข้ามประเทศ (ชื่อเดิมคือ TransferWise) ยื่นไฟลิ่งเตรียมเข้าสู่ตลาดหุ้นลอนดอนหรือ LSE อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่เพิ่งเผยรายละเอียดเบื้องต้นออกมา
หุ้นของบริษัท Wise คาดว่าจะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ ซึ่ง Wise จะเข้าตลาดหุ้นแบบ Direct Listing และเลือกใช้วิธี “ไม่กำหนดราคาหุ้นเริ่มต้น” แบบเดียวกับ Spotify ดังนั้นราคาหุ้นจะขึ้นการเทรดในตลาดเป็นหลัก
หุ้นของ Wise จะแบ่งเป็นสองคลาส คลาสที่จะนำเข้าเทรดในตลาดหุ้นแบบ Direct Listing จะเป็นคลาส A ส่วนคลาส B จะมีสิทธิ์โหวตที่ 9 เสียงต่อหุ้น แต่มีข้อกำหนดว่าห้ามโอนหุ้นให้บุคคลอื่น
Wise ถือเป็นหนึ่งในบริษัทฟินเทคที่ประสบความสำเร็จในยุโรป ธุรกิจหลักของ Wise คือการโอนเงินข้ามประเทศ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานราว 10 ล้านคนทั่วโลก ประมวลผลธุรกรรมข้ามประเทศราว 5 พันล้านปอนด์ในทุก ๆ เดือน ซึ่งข้อมูลทางการเงินในปีงบประมาณล่าสุดระบุว่า Wise มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 303 ล้านปอนด์เป็น 421 ล้านปอนด์ และมีกำไร 41 ล้านปอนด์ก่อนหักภาษี
ที่มา - TechCrunch, Reuters |
# Fujifilm ถูก Ransomware แต่ไม่จ่ายค่าไถ่, กู้ระบบได้เกือบหมดแล้ว
Fujifilm ยอมรับว่าถูกมัลแวร์เรียกค่าไถ่โจมตีเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ระบุว่าสามารถกู้ระบบคืนได้ทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้โดยที่ไม่ได้จ่ายค่าไถ่
ทาง Fujifilm ไม่เปิดเผยว่าคนร้ายเรียกค่าไถ่เท่าใด และไม่ตอบคำถามว่าคนร้ายขู่ว่าจะเอาข้อมูลออกไปเปิดเผยหรือไม่
แนวทางของคนกลุ่มคนร้ายมัลแวร์เรียกค่าไถ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามักทำลายข้อมูลเพื่อให้ดำเนินธุรกิจไม่ได้ไปพร้อมๆ กับขโมยข้อมูลออกไปแล้วข่มขู่จะเปิดเผยข้อมูลเพื่อบีบให้เหยื่อจ่ายค่าไถ่
ที่มา - Verdict.co.uk
ภาพจาก Fujifilm |
# ไมโครซอฟท์ยอมรับถูกหลอกเซ็นรับรองมัลแวร์ หลังแฮกเกอร์ปลอมตัวเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์
ไมโครซอฟท์ยอมรับว่าถูกหลอกให้ออกใบรับรองดิจิทัลสำหรับรับรองมัลแวร์ที่ใช้ชื่อว่า Netfilter โดยอาศัยการปลอมตัวเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ในโครงการ Windows Hardware Compatibility Program (WHCP)
ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าระบบออกใบรับรองซอฟต์แวร์ถูกแฮกโดยตรง และบัญชีของผู้ผลิตรายที่ถูกปลอมตัวก็ถูกปิดบัญชีพร้อมสอบไดร์เวอร์ก่อนหน้านี้ที่ส่งเข้ามาขอรับรองทั้งหมดแล้ว
ผลวิเคราะห์มัลแวร์พบว่าตัวมัลแวร์พยายามติดต่อกลับไอพีสองหมายเลขในจีน ทาง BleepingComputer ตรวจสอบมัลแวร์พบว่าเมื่อเชื่อมต่อกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์แล้วจะได้ไอพีอื่นๆ รวมถึงอาจจะดาวน์โหลดอัพเดตตัวมัลแวร์มาติดตั้งเพิ่ม
ที่มา - BleepingComputer, Microsoft
ภาพหน้าจออัพเดตไดร์เวอร์ของ Windows 10 |
# Telegram เปิดตัวฟีเจอร์วิดีโอคอลแบบกลุ่มแล้ว
Telegram เปิดตัวระบบวิดีโอคอลแบบกลุ่มอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งเวอร์ชัน iOS, Android และเดสก์ท็อป โดยผู้ใช้สามารถกดปุ่มวิดีโอคอลในระบบโทรศัพท์ด้วยเสียงแบบกลุ่มได้เลย
ฟีเจอร์วิดีโอคอลแบบกลุ่มของ Telegram สามารถเปิดแชร์ได้ทั้งกล้องและหน้าจอ (จะเปิดพร้อมกันก็ได้) ซึ่งมีการปรับเลย์เอาท์ให้เหมาะสมกับแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ด้วย และมีระบบ pin เพื่อปักหมุดโฟกัสให้เห็นหน้าเฉพาะคนใดคนหนึ่ง
อย่างไรก็ดี วิดีโอคอลแบบกลุ่มของ Telegram ยังมีข้อจำกัดคือสามารถเปิดวิดีโอได้เฉพาะ 30 คนแรกที่เข้าห้องโทรด้วยเสียงแบบกลุ่มเท่านั้น ส่วนกลุ่มโทรด้วยเสียงสามารถมีสมาชิกเข้าห้องได้ไม่จำกัด
ที่มา - Telegram |
# ไมโครซอฟท์ออก Windows App SDK สำหรับสร้างแอพบน Windows 11
ของใหม่ใน Windows 11 คือ Microsoft Store ตัวใหม่ ที่รองรับแอพประเภทอื่นๆ นอกจาก UWP ด้วย เช่น win32, .NET, PWA ฯลฯ ตามยุทธศาสตร์เปิดกว้างให้มีแอพจำนวนมากๆ บนสโตร์
ไมโครซอฟท์จึงเปิดตัว Windows App SDK สำหรับการทำแอพลง Windows 11 มาพร้อมกัน แต่เอาจริงๆ มันไม่ใช่ของใหม่นัก เพราะมันคือชื่อใหม่ของ Project Reunion ซึ่งเป็น SDK ที่ไมโครซอฟท์พยายามรวม win32/.NET กับ UWP เข้าด้วยกัน เปิดตัวครั้งแรกช่วงกลางปี 2020
แอพเดิมในโลกของ Windows สามารถรันบน Windows 11 ได้อย่างไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากได้หน้าตาและประสบการณ์แบบ Windows 11 (ขอบโค้งมน ไอคอนมีแอนิเมชัน) ก็จำเป็นต้องปรับแอพเดิมเล็กน้อย เรียกใช้ WinUI 3 API จาก Windows App SDK แล้วหน้าตาของแอพจะเปลี่ยนให้เข้ากับ Windows 11 โดยอัตโนมัติ (รายละเอียด)
ปัจจุบัน Windows App SDK ออกเวอร์ชัน 0.8 แล้ว และจะออกเวอร์ชัน 1.0 ช่วงปลายปีพร้อม Windows 11 โดยตัว SDK จะย้อนกลับไปใช้กับ Windows 10 v1809 ได้ด้วย
ที่มา - Microsoft |
# Google Authenticator บน iOS ออกอัพเดต รองรับการยืนยันตัวตนก่อนใช้งานด้วย Face ID/Touch ID
กูเกิลออกอัพเดต Google Authenticator บน iOS และ iPadOS เวอร์ชัน 3.2.0 (ห่างจากเวอร์ชันก่อนหน้าครึ่งปี) โดยมีฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญคือรองรับการยืนยันตัวตนด้วย Touch ID หรือ Face ID ก่อนเข้าใช้งานเพื่อรับรหัสผ่าน 2FA
ฟีเจอร์นี้กูเกิลเรียกว่า Privacy Screen แบบเดียวกับในแอป Google Drive ที่เพิ่มมากก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดว่าให้มีการยืนยันตัวตนซ้ำเมื่อเวลาผ่านไปเท่าใดได้ด้วย
คุณสมบัติอื่นที่เพิ่มมาในเวอร์ชันนี้ คือรองรับการโอนย้ายข้อมูลคราวละหลาย ๆ บัญชีพร้อมกันไปยังอุปกรณ์เครื่องใหม่ และเพิ่มกล่องเสิร์ชด้านบนทำให้ไม่ต้องเสียเวลาปัดค้นหา
ที่มา: 9to5Google |
# Google Cloud ออก VM แบบใหม่ Tau เน้นงาน Scale Out ประสิทธิภาพต่อราคาถูกกว่า
Google Cloud Compute ออก VM ชนิดใหม่ชื่อ Tau ที่ออกแบบมาสำหรับงาน scale-out โดยเฉพาะ
ที่ผ่านมา โลกของคลาวด์มี VM อยู่สองกลุ่มใหญ่ๆ คือ General Purpose รันงานทั่วไป มีสมดุลระหว่างสเปกและราคา กับ Workload-optimized สำหรับงานเฉพาะด้าน เช่น เน้นซีพียู เน้นแรม เน้นจีพียู ตามชนิดของงาน
Tau VM ถือเป็น VM ชนิดใหม่ในกลุ่ม General Purpose คือรันงานชนิดใดก็ได้ แต่ออกแบบมาสำหรับเวิร์คโหลดยุคใหม่ๆ ที่ขยายตัวด้วยวิธี scale-out (เพิ่มจำนวนเครื่อง) แทนการ scale-up (อัพเกรดเครื่อง) แบบเวิร์คโหลดในอดีต
ในเบื้องต้น Tau VM มีเครื่องให้เลือก 1 แบบคือ T2D ที่สเปกเป็น AMD EPYC 3rd Gen (Milan), ใส่ซีพียูได้สูงสุด 60 vCPU ต่อ VM, แรม 4GB ต่อ vCPU
กูเกิลบอกว่าจุดเด่นของ Tau VM คือราคาต่อประสิทธิภาพที่เหนือกว่าคู่แข่ง ตัวอย่างคือเครื่อง 32 vCPU ที่มีแรม 128GB ราคาอยู่ที่ 1.3520 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ถูกกว่า General Purpose VM ของคลาวด์ยี่ห้ออื่นๆ ประสิทธิภาพต่อราคาถูกกว่า 42% และการที่มันเป็นสถาปัตยกรรม x86 ก็ทำให้เข้ากันได้กับแอพพลิเคชันได้ดีกว่าซีพียู Arm ของคู่แข่ง (ไม่ได้บอกชื่อ แต่น่าจะหมายถึง AWS Graviton)
ตอนนี้มีลูกค้า Google Cloud บางราย เช่น Twitter, Snap ส่วนลูกค้าทั่วไปจะเปิดให้ใช้ในไตรมาส 3/2021
ที่มา - Google |
# Didi เตรียมระดมทุน 4 พันล้านดอลลาร์ เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก ที่มูลค่ากิจการกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์
Didi Global ผู้ให้บริการแอปเรียกรถรายใหญ่ของจีน ได้อัพเดตเอกสาร F-1 ต่อ กลต. สหรัฐ เพื่อเตรียมนำบริษัทซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ก หลังจากยื่นไฟลิ่งก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าจะเริ่มซื้อขายได้ในวันพุธนี้ด้วยตัวย่อ DIDI
บริษัทจะเสนอขายหุ้นแบบรับฝากของอเมริกา (ADS - American Depositary Share) จำนวน 288 ล้านหุ้น ที่ช่วงราคาหุ้นละ 13-14 ดอลลาร์ โดย 4 ADS เทียบเท่ากับ 1 หุ้นสามัญของ Didi การเสนอขายนี้คาดว่าจะระดมทุนได้ราว 4 พันล้านดอลลาร์ เป็นเงินสูงสุดของบริษัทจากจีนที่เข้าตลาดหุ้นอเมริกา นับตั้งแต่ Alibaba ในปี 2014 มูลค่ากิจการ Didi จะอยู่ที่ราว 6.2-6.7 หมื่นล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้ Grab ก็เตรียมนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นอเมริกาผ่านวิธี SPAC
ที่มา: Reuters |
# Satya Nadella บอกยินดี หาก Apple อยากทำ iMessage ลง Windows
Satya Nadella ซีอีโอไมโครซอฟท์ ให้สัมภาษณ์กับ The Wall Street Journal (WSJ) หลังงานเปิดตัว Windows 11 โดยพูดถึงคุณสมบัติใหม่ต่าง ๆ ที่ใส่เข้ามาสำหรับผู้ใช้งาน
ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ Joanna Stern นักข่าวของ WSJ ถามว่าแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ มีแนวทางที่ต่างจากแอปเปิลอย่างไร ซึ่ง Nadella บอกว่า สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการให้ผู้พัฒนารายอื่น สร้างมาร์เกตเพลสขึ้นมาได้ ไมโครซอฟท์เองก็มีมาร์เกตเพลสที่ยอดเยี่ยม แต่ก็ต้อนรับรายอื่นเช่นกัน เหมือนที่เรามี Teams แต่ก็เปิดให้มี Zoom หรือ Slack ได้
เมื่อถามว่า Windows จะรองรับการรันแอป iPhone แบบที่ Windows 11 รองรับแอป Android หรือไม่ Nadella ตอบว่า ไมโครซอฟท์ยินดีร่วมมือให้ทุกแอปทำงานได้บน Windows อย่างดีที่สุด รวมทั้งแอปของแอปเปิลไม่ว่าจะเป็น iTunes หรือ iMessage ก็ยินดีร่วมมือ เพราะไมโครซอฟท์เพียงต้องการให้ทุกซอฟต์แวร์ทำงานได้ดี ไม่ว่าจะบนอุปกรณ์ของแอปเปิล หรือบน Windows และจากผู้พัฒนาทุกราย ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล แอปเปิล อะโดบี หรืออื่น ๆ
ที่มา: iMore |
# AWS ซื้อกิจการ Wickr แพลตฟอร์มติดต่อสื่อสารแบบเข้ารหัส End-to-end
AWS ประกาศซื้อกิจการ Wickr แพลตฟอร์มติดต่อสื่อสารแบบเข้ารหัส end-to-end รองรับทั้งการส่งข้อความ สนทนาเสียง และวิดีโอคอล โดยมูลค่าของดีลไม่มีการเปิดเผย
Wickr เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2012 เน้นขายกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยมีกลุ่มลูกค้าทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ไปจนถึงหน่วยงานของรัฐ
Stephen Schmidt รองประธานและหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยข้อมูลของ AWS บอกว่าความต้องการระบบการติดต่อสื่อสาร ที่เข้ารหัสความปลอดภัยมีเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนต้องทำงานจากที่บ้าน โซลูชันของ Wickr จึงตอบโจทย์สำหรับลูกค้าองค์กรและหน่วยงานรัฐ โดยจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในฟีเจอร์ของ AWS
ที่มา: Amazon |
# Windows 10 ยังไม่ตาย ปลายปีนี้ออก v21H2 ขนานไปกับ Windows 11
ไมโครซอฟท์เขียนโพสต์ชี้แจงว่า Windows 10 ยังไม่ตาย และปีนี้จะออก Windows 10 อัพเดตประจำครึ่งหลังของปี v21H2 ตามรอบการอัพเดตปกติด้วย
ฟีเจอร์ที่ระบุแล้วใน Windows 10 v21H2 คือ Universal Print ระบบจัดการเครื่องพิมพ์ผ่านคลาวด์ และ Windows Autopilot ฟีเจอร์สำหรับดีพลอยเครื่องอัตโนมัติ
ไมโครซอฟท์แนะนำลูกค้าองค์กรว่าสามารถอัพเดตเครื่องเป็น Windows 10 v21H2 ไปก่อน ระหว่างรอความพร้อมในการอัพเกรดเป็น Windows 11 ได้ โดยระบบจัดการเครื่อง Microsoft Endpoint Manager รองรับระบบปฏิบัติการทั้งสองเวอร์ชัน
ไมโครซอฟท์ยังให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีพีซีที่ใช้งาน Windows 10 จำนวน 1.3 พันล้านเครื่อง
ที่มา - Microsoft, MSpoweruser |
# ไมโครซอฟท์อธิบายเหตุผลที่ Windows 11 ต้องการชิป TPM และซีพียูรุ่นใหม่
David Weston หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัย OS ของไมโครซอฟท์ เขียนบล็อกอธิบายเหตุผลที่ Windows 11 ต้องการชิป TPM และซีพียูรุ่นใหม่ ว่ามาจากแง่มุมของความปลอดภัย
Weston อ้างถึงแนวคิด Secured-Core PC ที่ไมโครซอฟท์เปิดตัวในปี 2019 ว่าเป็นการยกระดับความปลอดภัย โดยใช้ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ระบบปฏิบัติการทำงานร่วมกัน ซึ่งชิป Trusted Platform Module (TPM) ที่ใช้เก็บกุญแจเข้ารหัสต่างๆ ในระดับฮาร์ดแวร์มีความสำคัญมาก ช่วยป้องกันไม่ให้มัลแวร์หรือแฮ็กเกอร์เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ หากเจาะระบบได้
ไมโครซอฟท์ให้ข้อมูลว่า ลูกค้าองค์กร 83% พบการโจมตีที่ระดับเฟิร์มแวร์ แต่การป้องกันทำได้ยากถ้าไม่มีฮาร์ดแวร์เข้าช่วยทำ hardware root-of-trust และจากสถิติของพีซี Windows 10 ที่ผ่านมาตรฐาน Secure-cored อยู่แล้ว สามารถลดการติดมัลแวร์ลงได้ 2x
ส่วนประเด็นว่า Windows 11 ต้องการซีพียูรุ่นใหม่ๆ ด้วย เพราะต้องการฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยอย่าง virtualization-based security (VBS), hypervisor-protected code integrity (HVCI), Secure Boot ที่เปิดเป็นค่าดีฟอลต์
ในโพสต์นี้ยังให้ข้อมูลของพีซีใหม่ที่จะมาพร้อม Windows 11 ในอนาคตว่า
จะมีชิป TPM 2.0 ในตัว
เปิดใช้ Windows Hello เป็นค่าดีฟอลต์ เพื่อเลี่ยงการใช้รหัสผ่าน
รองรับ Microsoft Azure Attestation เป็นโซลูชันที่ตรวจสอบผ่านคลาวด์ว่า ฮาร์ดแวร์เครื่องนั้นผ่านมาตรฐานความปลอดภัย
ในปี 2020 ไมโครซอฟท์ยังเปิดตัวชิป Pluton ของตัวเอง ที่เป็นพัฒนาการขั้นกว่าของ TPM และจะฝังมาใช้ซีพียูของ Intel, AMD, Qualcomm ในอนาคต ไมโครซอฟท์บอกว่าเราจะเห็นพีซีที่มีชิป Pluton ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะใช้งานกับ Windows 11 ได้เช่นเดียวกับเครื่องที่มี TPM 2.0
ที่มา - Microsoft |
# [Windows 11] Microsoft ออกอัพเดต PC Health Check บอกผู้ใช้ว่าสแกนไม่ผ่านเพราะอะไร
ประเด็นที่สร้างความสับสนไม่น้อยในเรื่องการอัพเกรดเป็น Windows 11 คือสเปกฮาร์ดแวร์ขั้นต่ำที่ดูจะค่อนข้างจุกจิก ทั้งรุ่นของซีพียูที่ Microsoft แนะนำและเรื่อง TPM (Trusted Platform Module) ที่คลุมเครือว่าเวอร์ชันไหนใช้ได้บ้าง (อ่านข่าวประกอบ) โดย Microsoft เองก็ได้ปล่อยโปรแกรม PC Health Check ออกมาให้นำไปสแกนว่าคอมพิวเตอร์ของตนจะรัน Windows 11 ได้หรือไม่ แต่ก็ยังสร้างความสับสนอีกว่าผลสแกนออกมาไม่ผ่านทั้งที่ผู้ใช้คิดว่าเครื่องตนน่าจะรันได้
ฝั่ง Microsoft เองก็ทราบเรื่องนี้ โดย Steve Dispensa ผู้บริหารฝั่ง Windows ก็ได้ทวีตว่าทีมงานจะปล่อยอัพเดตโปรแกรม PC Health Check เรื่อยๆ ในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า และขณะนี้อัพเดตแรกก็ออกมาแล้ว ขยับเลขเวอร์ชันเป็น 2.3 ซึ่งจะบอกผู้ใช้ว่าเหตุผลที่ตรวจสอบสเปกเครื่องแล้วไม่ผ่านคืออะไร
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงอัพเดตแรก และคงยังมี false positive อยู่บ้าง หากทดลองกันแล้วยังมีความไม่ชัดเจนหรือยังไม่ผ่านแต่เราคิดว่าน่าจะผ่านก็คงต้องรออัพเดตต่อๆ ไปและทดสอบอีกครั้ง
สำหรับคนที่ใช้ PC Health Check เวอร์ชันแรก เพียงกดเข้าโปรแกรมก็จะดาวน์โหลดอัพเดตมาติดตั้งโดยอัตโนมัติ ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยทดสอบก็สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่
ที่มา - Windows Central |
# Snapchat รายงานการใช้ QUIC ประสิทธิภาพดีขึ้นมากในกลุ่มผู้ใช้เน็ตเวิร์คคุณภาพต่ำ
หลังจาก QUIC เข้าเป็นมาตรฐาน RFC9000 ก็นับว่าพร้อมใช้งานสำหรับบริการทั่วไปแล้ว สัปดาห์นี้ทาง Snapchat ก็ออกมารายการใช้งาน QUIC แบบจำกัดในผู้ใช้บางส่วน
Snapchat มีผู้ใช้บนโทรศัพท์มือถือ และหลายครั้งปัญหาการเชื่อมต่อเกิดจากผู้ใช้เปลี่ยนเน็ตเวิร์คจาก Wi-Fi ไปยังเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทำให้การเชื่อมต่อตัดขาดและการเชื่อมต่อใหม่ใช้เวลานานเนื่องจากต้องเชื่อมต่อ TCP+TLS+HTTP2 การใช้ QUIC ช่วยให้ส่งข้อมูลได้ต่อเนื่องแม้ผู้ใช้เปลี่ยนไอพี (มีหมายเลขประจำตัวการเชื่อมต่อขนาด 64 บิต)
การทดสอบ QUIC ครั้งนี้ทำในเซิร์ฟเวอร์โฆษณา โดยพบว่ากลุ่มผู้ใช้ percentile ที่ 99 มี latency ถึง 18,318ms แต่เมื่อเปิดใช้ QUIC แล้วลดลงถึง 24% (เข้าใจว่าทาง Snapchat หมายถึง latency ของการเริ่มเชื่อมต่อ แต่บทความไม่ได้ระบุไว้ บอกเพียงเป็น network latency) และ latency ของทุกกลุ่มโดยรวมดีขึ้นทั้งหมด รวมถึงอัตราการเชื่อมต่อผิดพลาดก็ลดลงโดยรวม 6.7%
ฟีเจอร์อีกส่วนหนึ่งของ QUIC คือการเปลี่ยนรูปแบบการควบคุมปริมาณการส่งข้อมูล (congestion control) ได้ที่ระดับแอปพลิเคชั่นแทนที่จะเป็นระดับเคอร์เนล แนวทางนี้ทำให้ทาง Snapchat สามารถทดสอบ BBR congestion control ได้ด้วย และเมื่อทดสอบแล้วก็พบว่าประสิทธิภาพการส่งข้อมูลโดยรวมดีขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อส่งข้อมูลขนาดใหญ่
ทาง Snapchat ใช้ QUIC ด้วยไลบรารี Cronet ของกูเกิล และหลังจากนี้เตรียมจะใช้งาน QUIC มากขึ้นและทดสอบ congestion control แบบอื่นๆ
ที่มา - Snapchat |
# อธิบายสเปกขั้นต่ำ Windows 11 ซีพียู Core 8th Gen, Ryzen 2000 ขึ้นไป ต้องมี TPM
ประเด็นเรื่อง สเปกขั้นต่ำของ Windows 11 สร้างความสับสนให้ผู้ใช้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องซีพียูที่รองรับ และชิป TPM (Trusted Platform Module) สำหรับความปลอดภัย
คำอธิบายของไมโครซอฟท์ตามช่องทางต่างๆ เริ่มมีรายละเอียดออกมามากขึ้น ดังนี้
ซีพียูที่รองรับ
ไมโครซอฟท์มีรายการซีพียูที่รองรับจากทั้ง 3 แบรนด์คือ AMD, Intel, Qualcomm โดยสรุปแบบคร่าวๆ คือ
AMD Ryzen 2000 ขึ้นไป
Intel Core 8th Gen ขึ้นไป
Qualcomm Snapdragon 850, 7c, 8c, 8cx, Microsoft SQ1/SQ2
กรณีของ Qualcomm คงไม่มีคำถามกันมาก แต่กรณีของซีพียู AMD/Intel ที่ไม่รองรับซีพียูรุ่นเก่าๆ เกิดคำถามตามมาว่าสุดท้ายแล้วจะได้อัพเกรดเป็น Windows 11 หรือไม่
คำตอบคือไมโครซอฟท์มีสเปกขั้นต่ 2 ส่วน ได้แก่ ขั้นต่ำจริงๆ (hard floor) เช่น สัญญาณนาฬิกา 1GHz, แรม 4GB, สตอเรจ 64GB ขึ้นไป กับสเปกขั้นต่ำที่แนะนำ (soft floor) ที่ยังสามารถลงได้ แต่จะได้รับข้อความแจ้งเตือนว่า "ไม่แนะนำให้อัพเกรด" ซึ่งรุ่นของซีพียูจะอยู่ในกลุ่มของ soft floor แปลว่าจะยังสามารถอัพเกรดได้
TPM
ประเด็นถัดมาคือเรื่องชิป TPM ที่ขั้นต่ำ (hard floor) คือเวอร์ชัน 1.2 แต่ที่แนะนำ (soft floor) เป็นเวอร์ชัน 2.0 แปลว่ายังไงก็ต้องมีชิป TPM อยู่ดี
เรื่องนี้ David Weston หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัย OS ของไมโครซอฟท์ อธิบายในทวิตเตอร์ว่าซีพียูที่มีอายุไม่เกิน 5-7 ปี มีชิป TPM อยู่ในตัวแล้ว แต่อาจต้องเปิดใช้ใน BIOS ก่อน ดังที่ชาว Blognone หลายคนทดลองกันมาแล้ว
ซีพียู Intel เปิดใช้ PTT
ซีพียู AMD เปิดใช้ PSP fTPM
ทั้งนี้คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้งหลัง Windows 11 ออกให้ทดสอบกัน ว่าสุดท้ายแล้วสเปกเครื่องแต่ละแบบจะสามารถอัพเกรดได้แค่ไหนกัน
ที่มา - The Verge, Neowin |
# ภาพยืนยัน Windows 11 มีแอพ Settings และ File Explorer ตัวใหม่แน่นอน
ในอิมเมจ Windows 11 ที่หลุดออกมาตอนแรก มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ Start Menu แต่ยังใช้ชิ้นส่วนเดิมของ Windows 10 คือ Settings และ File Explorer อาจสร้างความผิดหวังให้กับผู้ใช้ว่า ไม่ยอมเปลี่ยนสักที
แต่ในงานเปิดตัว Windows 11 เมื่อคืนนี้ ไมโครซอฟท์มีโชว์หน้าตาของ Settings และ File Explorer ตัวใหม่แบบเร็วๆ เป็นสัญญาณว่าเปลี่ยนใหม่แน่นอน
หน้าตาของ Settings ตัวใหม่จะต่างจากของ Windows 10 อยู่บ้าง เพราะเปลี่ยนมาใช้อินเทอร์เฟซแบบ 2-pane ด้านซ้ายเป็นหมวดการตั้งค่าตั้งแต่ต้น ส่วนด้านขวาเป็นหมวดย่อยเรียงลงไปอีกทีหนึ่ง
ส่วน File Explorer หาดูยากกว่ามาก เพราะอยู่ในคลิปเบื้องหลัง Watch how Windows 11 is being designed และโผล่มาให้เห็นแบบไม่เต็มจอด้วย (นาทีที่ 2:12) เราจะเห็น File Explorer ที่กลับมาใช้ดีไซน์ดั้งเดิมก่อนยุค Ribbon คือเป็นแถบเครื่องมือแถวเดียวแทน
ที่มา - MSPoweruser, Neowin |
# ไม่มีเขา ไม่มีเธอ OpenSSH เปลี่ยนคำเรียกผู้ใช้เป็น they/their เพื่อไม่ระบุเพศ
โครงการ OpenSSH รับแพตช์ในเอกสาร manpage ของโครงการเพื่อเลิกระบุเพศของผู้ใช้จากเดิมใช้ เขา/เธอ (his/her) อยู่เดิม กลายเป็น they/their หรือการใช้ they แบบเอกพจน์
แพตช์มีขนาดเล็กมาก และแก้ไข man ssh สำหรับการอ้างอิงถึงผู้ใช้เพียง 4 บรรทัดเท่านั้น (การแก้ไขคำสั่ง man เองน่าจะเป็นเรื่องยากมากเพราะเป็นคำสั่งพื้นฐานของลินุกซ์)
แนวทางการใช้คำแบบไม่ระบุเพศเป็นแนวทางที่อุตสาหกรรมไอทีปรับเปลี่ยนมาต่อเนื่อง เช่น VMware, Google แพตช์นี้เพิ่งรับเข้าโครงการในวันนี้และน่าจะต้องรออัพเดตอีกช่วงหนึ่งจนกว่าจะออกเวอร์ชั่นจริง
ที่มา - GitHub: openssh/openssh-portable |
# ภาพหลุด Galaxy Z Fold 3 มีปากกา S Pen เป็นอุปกรณ์เสริม ไม่มีช่องเก็บปากกาในตัว
เพิ่งมีข้อมูลยืนยัน Galaxy Z Fold 3 รองรับปากกา S Pen ออกมาได้ไม่ทันไร นักปล่อยข่าวหลุดขาประจำ Evan Blass หรือ @evleaks ก็โพสต์ภาพของ Galaxy Z Flip 3 และ Galaxy Z Fold 3 ให้เราเห็นหน้าตากัน รวมถึงอุปกรณ์เสริมเป็นปากกา S Pen ของ Z Fold 3 แบบเดียวกับของ Galaxy S21 Ultra (น่าจะขายแยก หรืออาจมีแถมให้กับคนที่พรีออเดอร์)
ข่าวร้ายสำหรับแฟนๆ ซีรีส์ Galaxy Note คือปากกาของ Z Fold 3 เป็นปากกาด้ามใหญ่แบบเดียวกับอุปกรณ์เสริมของ S21 Ultra นั่นคือต้องเก็บแยกในเคสต่างหาก ไม่มีรูเสียบปากกาแบบเดียวกับปากกาของซีรีส์ Galaxy Note ที่แล้วๆ มา
ที่มา - SamMobile |
# NIST ออกแนวทางการจัดการความเสี่ยง Ransomware ระบุให้แยกเครื่องทำงานจากเครื่องส่วนตัว, จำกัดการใช้งาน
NIST ออกร่างเอกสารเฟรมเวิร์คการจัดการความเสี่ยงมัลแวร์เรียกค่าไถ่ NISTIR-8374 ระบุถึงแนวทางการจัดการความเสี่ยงมัลแวร์เรียกค่าไถ่หรือ ransomware วางแนวทางให้องค์กร
เนื้อหาในเอกสารส่วนใหญ่ระบุถึงความเสี่ยงต่างๆ ของมัลแวร์เรียกค่าไถ่แล้วย้อนกลับไปถึงแนวทางการจัดการความปลอดภัยไซเบอร์รูปแบบอื่นๆ ที่มีเอกสารแนวทางมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ต้วเอกสารเองก็มีคำแนะนำโดยรวม เช่น
ใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส
ติดตั้งแพตช์ใหม่สุดเสมอ พร้อมเปิดระบบตรวจสอบการอัพเดตตามรอบเวลา
ใช้บริการบล็อคเว็บมัลแวร์
จำกัดการใช้งานแอปพลิเคชั่นเฉพาะที่ได้รับอนุญาตล่วงหน้า
จำกัดการใช้อุปกรณ์ส่วนตัวบนเครือข่ายของบริษัท
หลีกเลี่ยงการใช้งานส่วนตัวกับคอมพิวเตอร์องค์กร เช่น อีเมล, แชต, หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์
นอกจากนี้แล้วยังแนะนำให้องค์กรวางแผนรับมือเมื่อเกิดเหตุถูกมัลแวร์โจมตี, สำรองข้อมูลและซักซ้อมการกู้ข้อมูลเสมอ รวมถึงป้องกันและแยกข้อมูลออกจากระบบปกติ, และเตรียมรายชื่อติดต่อผู้เกี่ยวข้องเมื่อเกิดเหตุมัลแวร์เรียกค่าไถ่
ที่มา - NIST
ภาพโดย heladodementa |
# Figma ตัวออกแบบ UI/UX ได้ระดมทุนเพิ่ม ขึ้นแท่นบริษัทมูลค่าหมื่นล้านเหรียญแล้ว
Figma ตัวออกแบบ UI/UX ระบุผ่าน Bloomberg ว่าทางบริษัทได้ระดมทุนเพิ่ม 200 ล้านเหรียญ ทำให้ตอนนี้บริษัทมีมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญแล้ว โดยนักลงทุนในรอบระดมทุนล่าสุดคือ Durable Capital Partners และ Morgan Stanley โดยเป็นการลงทุนผ่าน Counterpoint Global
Figma ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 โดย Dylan Field ความสามารถของ Figma คือช่วยให้นักออกแบบสามารถทำงานออกแบบร่วมกันแบบเรียลไทม์บนคลาวด์ Figma ต้องเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดจากคู่แข่งใหญ่อย่าง Adobe Inc. ซึ่งครองพื้นที่นี้มายาวนาน พร้อมกับบริษัทใหม่ๆ อย่าง InVisionApp Inc. และ Balsamiq Studios
ทางบริษัทระบุว่า จะจ้างพนักงานประมาณ 500 คนภายในสิ้นปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 140 คนในช่วงต้นปี 2020
ภาพจาก Figma
ที่มา - Bloomberg |
# Epic Games แจกฟรี Sonic Mania เกม Sonic ย้อนยุคกราฟิก 2D
ช่วงนี้เป็นเทศกาลฉลอง 30 ปี Sonic the Hedgehog ทำให้เราเห็นแคมเปญ Sonic ร่วมกับบริษัทอื่นๆ เช่น Minecraft ที่ออก DLC Sonic
ฝั่งของ Epic Games ก็แจกเกมฟรี Sonic Mania คู่ไปกับเกมรถแข่ง Horizon Chase Turbo จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
สำหรับเกม Sonic Mania ถือว่ามีประวัติน่าสนใจ เพราะเป็นเกมที่สร้างโดย "แฟนเกม" มาก่อน เริ่มจาก Christian Whitehead หรือชื่อในวงการคือ Taxman ที่เป็นแฟนเกม Sonic แบบคลั่งไคล้ อยากสร้างเกม Sonic 2D แบบดั้งเดิมขึ้นมา จึงสร้างเกมต้นแบบขึ้นมาเองในปี 2015 (ชื่อเกม Mania สะท้อนถึงความหลงใหลระดับนี้)
หลังจากนั้น Sega เห็นฝีมือจึงชวน Taxman มาช่วยพอร์ตเกม Sonic ภาคแรกๆ มาสู่เครื่องสมัยใหม่ๆ เขาจึงมีโอกาสเสนอแนวคิดของ Sonic Mania จน Sega อนุมัติและออกมาเป็นเกมอย่างเป็นทางการในปี 2017
Sonic Mania ได้คะแนนรีวิวค่อนข้างดี คะแนนเฉลี่ยของ Metacritic เวอร์ชันพีซีอยู่ที่ 84/100
ที่มา - Kotaku |
Subsets and Splits
No community queries yet
The top public SQL queries from the community will appear here once available.