sysid
stringlengths
1
6
title
stringlengths
8
870
txt
stringlengths
0
257k
819247
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยการแบ่งส่วนงาน หน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยการแบ่งส่วนงาน หน้าที่และความรับผิดชอบ ของสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการแบ่งส่วนงาน หน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๕) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ประกอบกับมติคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่าด้วยการแบ่งส่วนงาน หน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานกองทุน “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน “ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุน “พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของสำนักงาน แต่ไม่หมายความรวมถึงผู้จัดการ “ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างของสำนักงาน “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานเป็นการชั่วคราวตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือตามข้อตกลงระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดของผู้นั้นกับสำนักงาน “บุคลากร” หมายความว่า พนักงาน ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อ ๔ ให้แบ่งส่วนงานของสำนักงานดังนี้ (๑) ฝ่ายตรวจสอบภายใน (๒) สำนักบริหารกลาง แบ่งเป็น ๔ ฝ่าย คือ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบัญชีและการเงิน และฝ่ายสื่อสารองค์กร (๓) สำนักพัฒนานโยบาย กลยุทธ์ และงบประมาณ (๔) สำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ (๕) สำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ (๖) สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครูและสถานศึกษา (๗) สถาบันวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศ (๘) สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม นวัตกรรมและทุนการศึกษา โดยมีภารกิจตามบัญชีแนบท้ายระเบียบนี้ ข้อ ๕ ให้ผู้จัดการสามารถตั้งกลุ่มงานที่เน้นการประสานและเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายโดยนำบุคลากรจากสำนัก/สถาบันมารวมกันในรูปแบบโครงการ แผนงาน หรือ คณะทำงาน เช่น กลุ่มงานเด็กปฐมวัย กลุ่มงานเด็กในระบบ กลุ่มงานเด็กนอกระบบ กลุ่มประชากรวัยแรงงาน เป็นต้น ข้อ ๖ ให้ผู้จัดการมีอำนาจออกคำสั่งเพื่อกำหนดหน่วยงานและภารกิจภายในส่วนงานต่าง ๆ เป็นการเพิ่มเติมได้ และให้มีอำนาจกำหนดหน้าที่ในรายละเอียดย่อยออกไปได้ตามความเหมาะสมเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสำนักงาน ข้อ ๗ ให้ผู้จัดการรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ หากมีกรณีใดไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ผู้จัดการเสนอคณะกรรมการพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พัชรภรณ์/ธนบดี/จัดทำ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๘๒ ง/หน้า ๕/๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
815072
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2561
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๕) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ประกอบกับมติคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๑ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานกองทุน “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน “ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุน “พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของสำนักงาน แต่ไม่หมายความรวมถึงผู้จัดการ “ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างของสำนักงานที่มีลักษณะการจ้างงานระยะสั้นไม่เกินหนึ่งปี “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานเป็นการชั่วคราวตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือตามข้อตกลงระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดของผู้นั้นกับสำนักงาน โดยมีสัญญาการจ้างที่แน่นอนตามระยะเวลาที่กำหนด “บุคลากร” หมายความว่า พนักงาน ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในสำนักงาน “ปีบัญชี” หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคมของปีหนึ่งถึงวันที่ ๓๐ กันยายนของปีถัดไป และให้ใช้ พ.ศ. ของปีถัดไปเป็นชื่อของปีบัญชีนั้น ข้อ ๔ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ให้ผู้จัดการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดบัญชีอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของบุคลากรโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ (๒) กำหนดอัตราตอบแทนแก่พนักงานและลูกจ้างที่จ้างเกินบัญชีอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างเป็นการเฉพาะ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ (๓) จัดให้มีการประเมินผลของบุคลากรอย่างน้อยปีบัญชีละหนึ่งครั้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญประกอบการดำเนินงานตามระเบียบนี้ และรายงานผลการประเมินในภาพรวมแก่คณะกรรมการ ข้อ ๕ ให้ผู้จัดการรักษาการตามระเบียบนี้และให้มีอำนาจออกข้อบังคับ ประกาศ หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อปฏิบัติการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ หมวด ๑ คณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคล ข้อ ๖ ให้มีคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคล ประกอบด้วยผู้แทนคณะกรรมการเป็นประธานอนุกรรมการ และกรรมการหรือผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกจำนวน ๒ คน โดยมีหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือผู้ที่ผู้จัดการมอบหมายเป็นเลขานุการ ข้อ ๗ ให้คณะอนุกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามวรรคแรก ให้อนุกรรมการตามข้อ ๖ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) คณะกรรมการให้พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีที่อนุกรรมการรายใดรายหนึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้มีการแต่งตั้งแทนภายในหกสิบวันและให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนมีวาระเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน ในกรณีที่อนุกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแต่ยังมิได้แต่งตั้งขึ้นใหม่ ให้ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นใหม่ ข้อ ๘ คณะอนุกรรมการ มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้ (๑) ให้คำแนะนำแก่สำนักงาน เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานด้านการบริหารงานบุคคลของสำนักงาน (๒) ให้ความเห็นชอบการจัดทำแผนแม่บทหรือแผนกลยุทธ์การบริหารงานบุคคลของสำนักงานและการพิจารณาแผนอัตรากำลังพนักงานและลูกจ้างให้สอดคล้องกับภารกิจของสำนักงาน (๓) เสนอแนะให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล (๔) ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ข้อ ๙ การประชุมของคณะอนุกรรมการต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานอนุกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกอนุกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานเป็นการเฉพาะคราว ถ้าอนุกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นโดยตรง อนุกรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าประชุมในเรื่องนั้น การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก อนุกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด หมวด ๒ การกำหนดตำแหน่งและคุณสมบัติบุคลากร ข้อ ๑๐ พนักงานและลูกจ้างต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้ (๑) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ (๒) สามารถทำงานให้แก่สำนักงานได้เต็มเวลา (๓) มีคุณสมบัติและประสบการณ์เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน (๔) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย (๕) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม (๖) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีร่างกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ (๗) ไม่เคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๘) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง (๙) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกพักงาน พักราชการ หรือสั่งให้หยุดงานเป็นการชั่วคราวในลักษณะเดียวกันกับการพักงานหรือพักราชการ (๑๐) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่น ข้อ ๑๑ ตำแหน่งพนักงานมีสองประเภท ได้แก่ (๑) ตำแหน่งบริหาร (๒) ตำแหน่งวิชาการและปฏิบัติการ ข้อ ๑๒ ระดับตำแหน่งพนักงานแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ (๑) ตำแหน่งบริหาร ได้แก่ รองผู้จัดการกองทุน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน และผู้อำนวยการสำนักหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า ทั้งนี้ ให้มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและได้รับเงินประจำตำแหน่ง (๒) ตำแหน่งวิชาการและปฏิบัติการ ตามที่ผู้จัดการประกาศกำหนด ทั้งนี้ การย้ายหรือเปลี่ยนแปลงให้พนักงานดำรงตำแหน่งในระดับที่ต่ำกว่าเดิมจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากพนักงานผู้นั้น ข้อ ๑๓ ให้ผู้จัดการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานและลูกจ้างในแต่ละตำแหน่ง ข้อ ๑๔ พนักงานและลูกจ้างจะมีอยู่ในส่วนงานใด ฝ่ายใด สำนักใด จำนวนเท่าใด ตำแหน่งใด ประเภทใด ระดับใด ให้ผู้จัดการกำหนด โดยคำนึงถึงความจำเป็น หน้าที่ความรับผิดชอบ ปริมาณ และคุณภาพของงาน รวมถึงสอดคล้องกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งนี้ ภายใต้กรอบอัตรากำลังที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ การกำหนดตำแหน่งใดเป็นพนักงานหรือลูกจ้างนั้นต้องคำนึงถึงระยะเวลาของภารกิจและความคุ้มค่าในการจ้าง โดยลูกจ้างจะเป็นตำแหน่งที่ต้องมีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างในระยะสั้นไม่เกินหนึ่งปีและเป็นงานที่มีลักษณะชั่วคราวที่เน้นการให้บริการที่เฉพาะเจาะจง หรือต้องใช้ทักษะพิเศษ หรือต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งไม่ใช่ภารกิจหลักของสำนักงาน หมวด ๓ การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง และการประเมินผลการปฏิบัติงาน ข้อ ๑๕ ให้ผู้จัดการมีอำนาจบรรจุ และแต่งตั้งหรือจ้างบุคคลให้เป็นพนักงานหรือลูกจ้างในทุกตำแหน่ง ข้อ ๑๖ การได้มาซึ่งบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง หรือจ้างให้เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เว้นแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ผู้จัดการดำเนินการตามวิธีและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) การสรรหา ให้ใช้กับการได้มาซึ่งพนักงานในตำแหน่งบริหาร และตำแหน่งวิชาการหรือปฏิบัติการในระดับอาวุโสขึ้นไป โดยให้ผู้จัดการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการสรรหา กรรมการสรรหาอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคน และเลขานุการ เพื่อสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยจะกำหนดให้มีการประกาศรับสมัครหรือไม่ก็ได้ (๒) การคัดเลือก ให้ใช้กับการได้มาซึ่งพนักงานหรือลูกจ้างในตำแหน่งต่าง ๆ นอกเหนือจาก (๑) และลูกจ้างเป็นการทั่วไป โดยให้ผู้จัดการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการคัดเลือก กรรมการคัดเลือกอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคน และเลขานุการ เพื่อดำเนินการประกาศรับสมัครและพิจารณาคัดเลือกด้วยการทดสอบการปฏิบัติงานหรือการสัมภาษณ์หรือวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการคัดเลือกกำหนด (๓) การได้มาแบบเจาะจง ให้ใช้กับพนักงานหรือลูกจ้างที่มีคุณสมบัติที่ต้องการเป็นพิเศษ โดยผู้จัดการสามารถดำเนินการรับเข้ามาเป็นพนักงานหรือลูกจ้างได้หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในตำแหน่ง นอกจากนั้นหากลูกจ้างรายใดมีผลการปฏิบัติงานดีเด่นอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ ผู้จัดการสามารถดำเนินการรับเข้ามาเป็นพนักงานโดยไม่ต้องผ่านการคัดเลือก หรือสรรหาที่กำหนดไว้ในข้อ (๑) และ (๒) ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ ให้ผู้จัดการนำเสนอวิธีการได้มาซึ่งตำแหน่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๗ ให้ผู้จัดการจัดให้มีสัญญาจ้างบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งหรือจ้าง ให้เป็นพนักงานหรือลูกจ้างในทุกตำแหน่ง โดยกำหนดระยะเวลาการจ้าง หน้าที่ความรับผิดชอบ และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งผู้จัดการอาจกำหนดให้มีการทดลองปฏิบัติงานบุคคลนั้นก็ได้ โดยให้กำหนดเงื่อนไขและระยะเวลาการทดลองปฏิบัติงานให้ชัดเจน ในระหว่างการทดลองปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้จัดการเห็นว่าบุคคลนั้นมีความประพฤติไม่เหมาะสม หรือไม่มีความรู้ หรือไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นได้ ให้ผู้จัดการมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นไม่ผ่านการทดลองงานก่อนครบกำหนดเวลาทดลองปฏิบัติงานได้ ข้อ ๑๘ ถ้าตำแหน่งพนักงานหรือลูกจ้างว่างลง หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือในกรณีที่กำหนดตำแหน่งขึ้นใหม่และยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ให้ผู้จัดการมีอำนาจสั่งการให้พนักงานหรือลูกจ้างตามที่เห็นสมควร ปฏิบัติหน้าที่หรือรักษาการในตำแหน่งนั้นเป็นการชั่วคราวได้ ให้ผู้รักษาการตามวรรคหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่งที่ตนรักษาการ ในกรณีที่ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งหรือมติใดกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใดให้ผู้รักษาการในตำแหน่งดังกล่าวเป็นกรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดนั้นด้วย ข้อ ๑๙ ผู้จัดการอาจสั่งให้พนักงาน ลูกจ้าง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานชั่วคราวย้ายไปปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่น โดยให้พ้นจากตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราวได้ ข้อ ๒๐ พนักงานหรือลูกจ้างซึ่งไม่ได้ออกจากงานในระหว่างทดลองปฏิบัติงานหรือไม่ได้ถูกเลิกจ้างตามข้อ ๘๐ ถ้าสมัครเข้าทำงานใหม่และสำนักงานต้องการจะรับผู้นั้นกลับเข้าทำงาน ให้ผู้จัดการพิจารณาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่สำนักงานจะได้รับ ทั้งนี้ จะบรรจุและแต่งตั้งหรือจ้างในตำแหน่งใดและให้ได้รับเงินเดือนเท่าใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้จัดการกำหนด เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาการทำงาน สำนักงานอาจนับเวลาของพนักงานหรือลูกจ้างผู้กลับเข้าทำงานตามวรรคหนึ่งในขณะที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างก่อนออกจากงานนั้นเป็นเวลาทำงานของพนักงานหรือลูกจ้างตามระเบียบนี้ก็ได้ หมวด ๔ เงินเดือน ค่าจ้าง และประโยชน์ตอบแทนอื่น ข้อ ๒๑ ค่าตอบแทนของพนักงาน และลูกจ้างประกอบด้วย (๑) เงินเดือน (๒) เงินประจำตำแหน่งบริหาร เฉพาะในตำแหน่งที่กำหนด (๓) ค่าตอบแทนตามผลงาน (๔) สวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ตามที่ผู้จัดการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ข้อ ๒๒ บัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งบริหารของพนักงานและลูกจ้างให้เป็นไปตามที่ผู้จัดการกำหนดตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยบัญชีอัตราเงินเดือนดังกล่าวให้แสดงเฉพาะอัตราเงินเดือนขั้นสูงและขั้นต่ำเท่านั้น ค่าตอบแทนตามผลงานคือค่าตอบแทนที่จ่ายตามผลการปฏิบัติงานและประสิทธิภาพในการทำงานตามที่ผู้จัดการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ถ้าปรากฏว่าค่าครองชีพสูงขึ้น หรือบัญชีอัตราเงินเดือนที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสม ให้ผู้จัดการปรับบัญชีอัตราเงินเดือนให้เหมาะสมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ข้อ ๒๓ พนักงานหรือลูกจ้างตำแหน่งใด จะได้รับเงินเดือนในอัตราเท่าใดภายในบัญชีเงินเดือนที่กำหนดไว้ ให้เป็นไปตามที่ผู้จัดการกำหนดตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ โดยไม่ต้องประกาศเป็นการทั่วไป แต่ให้แจ้งพนักงานหรือลูกจ้างทราบเป็นรายบุคคล ข้อ ๒๔ เงินเดือนหรือค่าตอบแทนของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่งเงินเดือนหรือค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาช่วยงานเป็นการชั่วคราวให้เป็นไปตามที่ผู้จัดการกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นสังกัด ข้อ ๒๕ ให้ผู้จัดการจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาต่อสัญญาจ้าง เลื่อนเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง หรือให้ออกจากงาน หรือเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาบรรจุและแต่งตั้งหรือจ้างบุคคลที่อยู่ระหว่างการทดลองปฏิบัติงาน ข้อ ๒๖ การประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของบุคลากรให้ผู้จัดการกำหนดเกณฑ์และแบบประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อแจ้งให้ทราบทั่วกัน การประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรตามวรรคหนึ่ง ให้นับช่วงเวลาปฏิบัติงานในรอบปีบัญชีที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์ และในกรณีบุคลากรถูกสั่งย้ายหรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานอื่นนอกเหนือหน้าที่ความรับผิดชอบหรือปฏิบัติงานพิเศษอื่นใดในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา ให้นำผลการปฏิบัติงานนั้นมาประกอบการพิจารณาด้วย ข้อ ๒๗ การเลื่อนตำแหน่งและการขึ้นเงินเดือนของบุคลากร ให้ผู้จัดการสั่งการโดยคำนึงถึงผลการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี รวมถึงความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ คุณภาพ ปริมาณของงาน ความอุตสาหะ การรักษาวินัย และความเหมาะสมแก่ตำแหน่ง ข้อ ๒๘ การขึ้นเงินเดือนประจำปี ให้ขึ้นตั้งแต่วันแรกของปีบัญชีของสำนักงาน โดยให้คิดตามเวลาปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานผู้นั้น หากมีเวลาปฏิบัติงานในปีบัญชีของสำนักงานไม่ครบแปดเดือน ให้ขึ้นเงินเดือนตามสัดส่วนของเวลาที่ปฏิบัติในปีบัญชีของสำนักงานนั้น โดยระยะเวลาปฏิบัติงานดังกล่าวให้นับรวมช่วงของการทดลองปฏิบัติงานด้วย ทั้งนี้ บุคลากรอาจไม่ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นเงินเดือนในกรณี ดังต่อไปนี้ (๑) อยู่ในช่วงเวลาทดลองปฏิบัติงาน (๒) ผลการปฏิบัติงานในรอบปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนตามที่ผู้จัดการกำหนด (๓) ถูกลงโทษทางวินัย หรืออยู่ระหว่างการลงโทษทางวินัย จนกระทั่งถึงวันที่จะขึ้นเงินเดือน (๔) ได้รับเงินเดือน ณ จุดสูงสุดตามโครงสร้างเงินเดือนของระดับตำแหน่ง การขึ้นเงินเดือนระหว่างปีให้แก่บุคลากรให้กระทำได้เฉพาะผู้ที่ผ่านการทดลองปฏิบัติงานหรือผู้ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น หรือผู้ทำความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ ข้อ ๒๙ การขึ้นเงินเดือนประจำปีของบุคลากรและการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานให้ผู้จัดการเสนอวงเงินการขึ้นเงินเดือนประจำปีและการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงอัตราการจ่ายเงินเดือนในตลาด ภาระงานที่เพิ่มขึ้น และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นสำคัญ ข้อ ๓๐ บุคลากรซึ่งได้รับเงินเดือนถึงอัตราสูงสุดตามประเภทหรือระดับตำแหน่งในบัญชีอัตราเงินเดือนที่ผู้จัดการกำหนดอยู่ก่อนการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี ให้บุคคลนั้นได้รับค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนตามผลการประเมินการปฏิบัติงานประจำปีตามที่ผู้จัดการประกาศกำหนด ข้อ ๓๑ การเลื่อนตำแหน่ง ให้กระทำได้ต่อเมื่อมีการกำหนดตำแหน่งขึ้นใหม่หรือปรับปรุงตำแหน่งงานใหม่ หรือตำแหน่งในระดับที่สูงกว่าว่างลงและจำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่ หรือมีการปรับระดับตำแหน่งที่เป็นอยู่ในขณะนั้นให้สูงขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะงาน ขอบเขต และปริมาณงาน และบุคคลนั้นมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) มีผลการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงอยู่ในขั้นดีตลอด (๒) มีความชำนาญในตำแหน่งหน้าที่เป็นอย่างดีหรือมากกว่าตำแหน่งที่ดำรงอยู่ (๓) มีความสามารถในหน้าที่เป็นอย่างดีและสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสูงกว่าได้ (๔) ลักษณะงานในตำแหน่งใหม่เหมาะสมกับคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานที่จะได้รับการเลื่อนขึ้นไป ข้อ ๓๒ บุคลากรผู้ใดซึ่งอยู่ระหว่างถูกสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยก่อนมีการเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือน ให้ชะลอการเลื่อนตำแหน่งหรือได้ขึ้นเงินเดือนผู้นั้นไว้ก่อนและให้กันเงินสำหรับการขึ้นเงินเดือนไว้ด้วย เมื่อการสอบสวนแล้วเสร็จในปีบัญชีใด และปรากฏว่าผู้นั้นไม่ถูกลงโทษทางวินัยหรือไม่มีมลทินมัวหมองและผู้จัดการเห็นว่าผู้นั้นมีผลงานอยู่ในเกณฑ์สมควรได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือน ให้ผู้จัดการมีอำนาจสั่งเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนในปีบัญชีของสำนักงานนั้นได้ โดยให้สั่งเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนย้อนหลังไปในแต่ละปีบัญชีที่ต้องรอการเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนไว้ตามสิทธิด้วย ข้อ ๓๓ บุคลากรผู้ใดซึ่งผู้จัดการเห็นสมควรให้เลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือน แต่ได้ถึงแก่ความตายอันมิใช่เกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงของตน หรือต้องออกจากงานเพราะเจ็บป่วยโดยแพทย์ได้ตรวจเห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้อีก หรือต้องไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ก่อนที่จะมีคำสั่งเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนประจำปีตามปกติ ผู้จัดการจะสั่งเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนให้ผู้นั้นย้อนหลังไปถึงวันแรกของปีบัญชีที่มีสิทธิจะได้เลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนนั้นก็ได้ ข้อ ๓๔ ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง หากผู้จัดการพิจารณาแล้วเห็นว่าบุคลากรผู้ใดปฏิบัติงานตามหน้าที่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร หรือไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งตามระเบียบนี้และตามที่ผู้จัดการกำหนด ให้งดเลื่อนตำแหน่งสำหรับผู้นั้น หมวด ๕ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่น ข้อ ๓๕ ให้สำนักงานจัดให้มีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น รวมถึงการออมทรัพย์และเงินตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้จัดการ และบุคลากร ข้อ ๓๖ สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นของผู้จัดการ และบุคลากร มีดังต่อไปนี้ (๑) การประกันชีวิตและอุบัติเหตุ (๒) การรักษาพยาบาล (๓) เงินช่วยเหลือกรณีถึงแก่กรรมหรือทุพพลภาพ (๔) เงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาหรือการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ (๕) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เฉพาะผู้จัดการ และพนักงานที่ผ่านการทดลองงานแล้ว (๖) สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามที่ผู้จัดการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ให้บุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิ ซึ่งได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปีมีสิทธิได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตาม (๒) ด้วย นอกจากนั้นสำหรับบุตรที่มีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีมีสิทธิได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตาม (๔) ด้วย ทั้งนี้ การได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตาม (๑) - (๖) ให้เป็นไปตามรูปแบบที่สำนักงานกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงความคุ้มค่า และอาจพิจารณาจัดสวัสดิการแบบยืดหยุ่นที่เหมาะสมกับความต้องการของบุคลากรในแต่ละช่วงอายุ ตามความสมัครใจและตามรูปแบบการดำรงชีวิตของแต่ละปัจเจกบุคคล ข้อ ๓๗ ให้สำนักงานจัดตั้งกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนสวัสดิการสำหรับบุคลากรของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” เรียกโดยย่อว่า “กองทุนสวัสดิการ” มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายเป็นสวัสดิการตามข้อ ๓๖ (๑) (๒) (๓) และ (๔) ในวันต้นปีบัญชี ให้สำนักงานเบิกจ่ายเงินจากบัญชีสำนักงานในส่วนของค่าบริหารจัดการสำนักงานเข้าบัญชีกองทุนสวัสดิการ โดยจ่ายเป็นจำนวนเงินเท่ากับร้อยละสิบสองจุดห้าของเงินเดือนทั้งปีบัญชีของผู้จัดการและบุคลากรของสำนักงานทั้งหมดเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนสวัสดิการ หากปรากฏว่าในระหว่างปีบัญชี สำนักงานมีจำนวนบุคลากรเพิ่มขึ้น ให้สำนักงานเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของสำนักงานในส่วนของค่าบริหารจัดการสำนักงานเข้าบัญชีกองทุนสวัสดิการเพิ่มเติม ทั้งนี้โดยใช้ร้อยละสิบสองจุดห้าของเงินเดือนตามวรรคสองมาคิดคำนวณสำหรับจำนวนบุคลากรที่เพิ่มขึ้น ข้อ ๓๘ ให้สำนักงานกำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหารกองทุนสวัสดิการ” โดยประกอบด้วยผู้บริหารและพนักงานของสำนักงานไม่เกิน ๕ ราย มีหน้าที่ในการพิจารณา และปรับปรุงรูปแบบการจัดสรรเงินสวัสดิการ หากในระหว่างปีบัญชีใดมีผู้ใช้สิทธิเบิกจ่ายสวัสดิการน้อย คณะกรรมการบริหารกองทุนสวัสดิการอาจพิจารณานาเงินในกองทุนสวัสดิการมาบริหารจัดการเพื่อสร้างความผูกพันและสุขภาวะที่ดีแก่บุคลากร หรือเพื่อพัฒนาสำนักงาน แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของวงเงินคงเหลือทั้งหมด ณ สิ้นรอบปีบัญชี ทั้งนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้จัดการ ให้สำนักงานจัดให้มีระบบการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการเพื่อให้เกิดความมั่นคง โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ข้อ ๓๙ ให้สำนักงานจัดให้มีประกันชีวิตและอุบัติเหตุแก่ผู้มีสิทธิในลักษณะการประกันกลุ่มโดยเบี้ยประกันที่จ่ายจะแตกต่างกันตามทางเลือกของพนักงานแต่ละราย ตามแนวทางที่ผู้จัดการประกาศกำหนด ในกรณีที่ผู้มีสิทธิประสงค์จะจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มด้วยตนเองเพื่อขอรับสิทธิตามกรมธรรม์เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากที่สำนักงานจัดให้ตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้โดยได้รับอนุมัติจากผู้จัดการ แต่ทั้งนี้ ในกรณีที่ทำให้จำนวนเบี้ยประกันที่กองทุนจ่ายตามวรรคหนึ่งเพิ่มสูงขึ้น ผู้มีสิทธินั้นจะต้องเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันในส่วนที่เพิ่มขึ้น ข้อ ๔๐ ให้สำนักงานจัดทำประกาศเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์สำหรับสวัสดิการสุขภาพและหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลและสุขภาพ โดยประกาศแจ้งให้บุคลากรทราบเป็นการทั่วไป ข้อ ๔๑ ในระหว่างปีบัญชีใด หากเกิดกรณีมีการเจ็บป่วยร้ายแรงอันเป็นเหตุให้กองทุนสวัสดิการต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ให้ผู้จัดการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของสำนักงานในส่วนของค่าบริหารจัดการสำนักงานเพิ่มเติมในลักษณะเงินยืมโดยไม่มีดอกเบี้ยมาใช้จ่ายก่อนได้ แต่ทั้งนี้ ผู้จัดการจะต้องดำเนินการปรับลดรายการสิทธิประโยชน์หรืออัตราการเบิกจ่ายให้ได้สิทธิประโยชน์ลดลง และจัดทำแผนการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการ เพื่อให้กองทุนสวัสดิการสามารถคืนเงินที่ยืมดังกล่าวได้โดยเร็ว การเบิกจ่ายเงินของผู้จัดการตามวรรคหนึ่ง ให้สามารถกระทำได้ตามความจำเป็นภายในวงเงินไม่เกินสามเท่าของจำนวนเงินที่เบิกจ่ายเข้ากองทุนสวัสดิการเมื่อต้นปีบัญชีนั้น ข้อ ๔๒ ในกรณีที่ผู้จัดการพบว่า ผู้มีสิทธิขอเบิกค่ารักษาพยาบาลและสุขภาพ และสิทธิประโยชน์สำหรับสวัสดิการสุขภาพเป็นจำนวนมากผิดปกติ หรือมีเหตุสงสัยว่าผู้มีสิทธิอาจใช้สิทธิโดยไม่สุจริตให้ผู้จัดการแจ้งให้ผู้มีสิทธิส่งข้อมูล เอกสาร รายงานทางการแพทย์ รายงานผลการตรวจสุขภาพรายการรักษาพยาบาล หรือเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ทั้งนี้ ต้องให้ระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ในกรณีที่ผู้มีสิทธิขอเบิกค่ารักษาพยาบาลและสุขภาพ และสิทธิประโยชน์สำหรับสวัสดิการสุขภาพฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้จัดการตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ผู้จัดการมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้เบิกค่ารักษาพยาบาลและสุขภาพ และสิทธิประโยชน์สำหรับสวัสดิการสุขภาพในครั้งนั้นได้ ข้อ ๔๓ การสงเคราะห์เนื่องจากได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติงานจนถึงแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้จัดการกำหนด ข้อ ๔๔ ในกรณีผู้ปฏิบัติงานถึงแก่กรรม คู่สมรสหรือทายาทหรือผู้มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะได้รับประโยชน์ ดังต่อไปนี้ (๑) เงินเดือนหรือค่าจ้างในเดือนสุดท้ายที่ถึงแก่กรรมเต็มเดือน (๒) เงินช่วยเหลือค่าทำศพ และค่าช่วยเหลืออื่น ๆ ไม่เกินวงเงินที่ผู้จัดการประกาศกำหนด ข้อ ๔๕ เงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาหรือการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ สามารถจ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้ (๑) เงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาบุตรของบุคลากร (๒) เงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาหรือการเรียนรู้เพิ่มเติมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพัฒนาทักษะด้านภาษา ดิจิทัล หรืออื่น ๆ ตามสมควรของผู้จัดการและบุคลากร (๓) เงินรางวัลในการกระตุ้นการเรียนรู้ของบุคลากร และการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ในองค์กร ข้อ ๔๖ ผู้มีสิทธิสามารถขอรับเงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีในปีบัญชี ตามอัตราที่ผู้จัดการประกาศกำหนด ในกรณีที่ผู้มีสิทธิมีคู่สมรสซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเช่นเดียวกันและมีบุตรด้วยกัน ให้ผู้มีสิทธิเพียงคนเดียวสามารถขอรับเงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาบุตร ข้อ ๔๗ ผู้มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในข้อ ๔๕ สามารถเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือได้ตามอัตราที่ผู้จัดการประกาศกำหนด ข้อ ๔๘ ให้ผู้จัดการเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาหรือเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ ตามแบบที่สำนักงานกำหนด พร้อมกับหลักฐานการรับเงินของสถานศึกษาหรือหน่วยงานหรือหลักฐานการรับเงินที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วให้ถือว่าสิทธิในการขอรับเงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาหรือการเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ ในปีบัญชีนั้นเป็นอันระงับไป กรณีที่หลักฐานการรับเงินตามวรรคหนึ่งแสดงจำนวนเงินน้อยกว่าเงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาหรือเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ ให้เบิกจ่ายตามจริงไม่เกินอัตราที่ผู้จัดการประกาศกำหนด ข้อ ๔๙ สถานศึกษาหรือหน่วยงานหรือการพัฒนาการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ หมายความถึง (๑) มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือส่วนราชการอื่นหรือที่อยู่ในกำกับของรัฐ (๒) วิทยาลัยหรือสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเทียบเท่าวิทยาลัยในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการหรือส่วนราชการอื่นที่ ก.พ. รับรองคุณวุฒิ (๓) โรงเรียนในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย วิทยาลัยองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง (๔) โรงเรียนในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของส่วนราชการอื่นหรือองค์การรัฐบาลที่ ก.พ. รับรองคุณวุฒิ (๕) โรงเรียนในสังกัดส่วนราชการที่กระทรวงการคลังกำหนด (๖) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในสังกัดส่วนราชการ (๗) สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (๘) โรงเรียนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาในระบบโรงเรียน และให้รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ (๙) หน่วยงานพัฒนาการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อพัฒนาความรู้หรือทักษะหรือความสามารถอื่น ๆ และสามารถออกใบเสร็จรับเงินได้ (๑๐) การพัฒนาเรียนรู้ผ่านทางช่องทางดิจิทัล หรือช่องทางการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ (๑๑) หน่วยงานลักษณะอื่น ๆ หรือการเรียนรู้อื่น ๆ ตามที่ผู้จัดการประกาศกำหนด ข้อ ๕๐ ในระหว่างปีบัญชีใด หากเกิดกรณีมีการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาหรือเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ สูงมาก ให้ผู้จัดการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของสำนักงานในส่วนของค่าบริหารจัดการสำนักงานเพิ่มเติมในลักษณะเงินยืมโดยไม่มีดอกเบี้ยมาใช้จ่ายก่อนได้ แต่ทั้งนี้ ผู้จัดการจะต้องดำเนินการปรับลดรายการสิทธิประโยชน์หรืออัตราการเบิกจ่ายให้ได้สิทธิประโยชน์ลดลง และจัดทำแผนการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการ เพื่อให้กองทุนสวัสดิการสามารถคืนเงินที่ยืมดังกล่าวได้โดยเร็ว เช่นเดียวกับค่ารักษาพยาบาลและสุขภาพ ข้อ ๕๑ ผู้มีสิทธิผู้ใดใช้สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาหรือเรียนรู้โดยทุจริตหรือกรอกข้อความในคำขอเบิกเงินอันเป็นเท็จ จะต้องรับโทษทางวินัย ข้อ ๕๒ ให้สำนักงานร่วมกับผู้จัดการและพนักงานดำเนินการตกลงกันเพื่อจัดให้มี “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ผู้จัดการและพนักงานของสำนักงาน ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือน ให้ผู้จัดการหรือพนักงานซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละของเงินเดือนก่อนหักภาษี โดยให้สำนักงานหักจากเงินเดือนดังกล่าว และให้สำนักงานจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในวันเดียวกับที่ผู้จัดการหรือพนักงานจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละของเงินเดือนของผู้จัดการหรือพนักงานก่อนหักภาษีตามอัตราดังนี้ อัตราการจ่ายเงินสะสมของผู้จัดการหรือ พนักงาน อัตราการจ่ายเงินสมทบของกองทุน อายุงาน อัตราการจ่าย ร้อยละ ๓-๕ ของเงินเดือน ต่ำกว่า ๒ ปี ร้อยละ ๕ ของเงินเดือน ตั้งแต่ ๒ ปี แต่ไม่ถึง ๔ ปี ร้อยละ ๗ ของเงินเดือน ๔ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๑๐ ของเงินเดือน ร้อยละ ๖-๑๐ ของเงินเดือน ต่ำกว่า ๒ ปี ร้อยละ ๖ ของเงินเดือน ตั้งแต่ ๒ ปี แต่ไม่ถึง ๔ ปี ร้อยละ ๘ ของเงินเดือน ๔ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๑๑ ของเงินเดือน ร้อยละ ๑๑ ของเงินเดือนขึ้นไป ต่ำกว่า ๒ ปี ร้อยละ ๑๑ ของเงินเดือน ตั้งแต่ ๒ ปี แต่ไม่ถึง ๔ ปี ร้อยละ ๑๑.๕ ของเงินเดือน ๔ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๑๒ ของเงินเดือน ทั้งนี้ ผู้จัดการหรือพนักงานสามารถเลือกอัตราจ่ายเงินสะสมได้ปีบัญชีละหนึ่งครั้ง ข้อ ๕๓ เมื่อผู้จัดการหรือพนักงานสิ้นสุดสมาชิกภาพกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบตามหลักเกณฑ์ดังนี้ อายุงาน (นับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน) เงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมบทของกองทุน น้อยกว่า ๒ ปี ร้อยละ ๐ ตั้งแต่ ๒ ปี แต่ไม่ถึง ๔ ปี ร้อยละ ๕๐ ๔ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๑๐๐ ข้อ ๕๔ การใดที่ไม่ได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สำนักงานกับผู้จัดการและพนักงานตกลงจัดตั้งขึ้นดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ หมวด ๖ การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ข้อ ๕๕ ผู้บังคับบัญชามีความรับผิดชอบในการพัฒนาและฝึกอบรมผู้ใต้บังคับบัญชาให้เพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ทักษะ เจตคติ คุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยร่วมกับสำนักงานจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรที่เหมาะสม ข้อ ๕๖ การพัฒนาบุคลากรอาจกระทำได้ในกรณี ดังต่อไปนี้ (๑) ศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติงานวิชาการ (๒) เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ (๓) แลกเปลี่ยนพนักงาน (๔) วิธีอย่างอื่นที่จำเป็นและเหมาะสม การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติงานวิชาการ ให้บุคลากรที่ประสงค์จะลาทำบันทึกโดยแจ้งรายละเอียดของหลักสูตรการศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติงานวิชาการ และระยะเวลาพร้อมด้วยประมาณการงบประมาณเสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อพิจารณาให้ความเห็นก่อนเสนอให้ผู้จัดการพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ ตามแบบและเงื่อนไขที่ผู้จัดการกำหนด การนับเวลาการครองตำแหน่งจะนับรวมเวลาปฏิบัติงานก่อนลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติงานวิชาการ และเวลาการปฏิบัติงานหลังจากที่ได้รายงานตัวเมื่อจบการศึกษา ฝึกอบรม ดูงานและปฏิบัติงานวิชาการเสร็จสิ้นแล้ว ข้อ ๕๗ ในการพิจารณาอนุมัติการลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติงานวิชาการที่มีระยะเวลาตั้งแต่สามเดือนขึ้นไป ให้คณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลพิจารณาอนุมัติโดยพิจารณาถึงความจำเป็นและความต้องการของสำนักงานที่จะให้ผู้มีความรู้ ความชำนาญในสาขาวิชาและระดับความรู้ที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ทั้งนี้ ให้กำหนดแผนงานหรือโครงการที่จะให้ผู้นั้นกลับมาปฏิบัติงานไว้ล่วงหน้า ในกรณีขอลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติงานวิชาการที่มีระยะเวลาต่ำกว่าสามเดือนให้ผู้จัดการพิจารณาอนุมัติ ข้อ ๕๘ บุคลากรที่ประสงค์จะลาเพื่อไปศึกษา ฝึกอบรม หรือดูงานไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ โดยมีระยะเวลาสามเดือนขึ้นไป ต้องปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี บุคลากรที่ประสงค์จะลาไปปฏิบัติงานวิชาการต้องปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ข้อ ๕๙ บุคลากรที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงานหรือปฏิบัติงานวิชาการจะเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลา สถานศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติงานวิชาการให้แตกต่างไปจากที่ได้รับอนุมัติไว้มิได้ เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากผู้จัดการเป็นรายกรณีไป ข้อ ๖๐ การเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ หรือการแลกเปลี่ยนพนักงาน ให้ทำได้โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนดในข้อ ๕๗ ข้อ ๕๘ และข้อ ๕๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาของพนักงานผู้นั้นจะต้องคำนึงถึงอัตรากำลังที่มีอยู่ โดยให้มีผู้ปฏิบัติงานเพียงพอไม่เสียหายแก่สำนักงาน และจะนำเหตุดังกล่าวมาขอตั้งอัตรากำลังเพิ่มไม่ได้ ข้อ ๖๑ ส่วนงานต้นสังกัดต้องกำหนดแผนพัฒนาเฉพาะบุคคลสำหรับพนักงานที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ หรือแลกเปลี่ยนพนักงาน โดยต้องสอดคล้องกับภารกิจของสำนักงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และกำหนดหน้าที่รับผิดชอบที่จะมอบหมายให้พนักงานผู้นั้นปฏิบัติเมื่อกลับมาจากการลาดังกล่าว โดยการมอบหมายหน้าที่นั้นจะต้องสอดคล้องกับความรู้ ทักษะและความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่ได้รับเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุด ข้อ ๖๒ พนักงานผู้ไปปฏิบัติงานหรือเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการที่หน่วยงานอื่น จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของหน่วยงานอื่นนั้นด้วย ทั้งนี้ หากพนักงานไม่ปฏิบัติตามระเบียบของหน่วยงานอื่นนั้นผู้จัดการอาจพิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสองอย่าง ดังนี้ (๑) ตักเตือน (๒) สั่งให้ยุติการเพิ่มพูนความรู้หรือแลกเปลี่ยนพนักงาน แล้วให้กลับเข้ามาปฏิบัติงานในสำนักงาน ข้อ ๖๓ ให้สำนักงานจัดให้พนักงานที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ หรือไปแลกเปลี่ยนปฏิบัติในหน่วยงานอื่น ได้ดำเนินการเผยแพร่องค์ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับดังกล่าว ข้อ ๖๔ ผู้ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาหรือการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ในประเทศ และใช้เวลาในการศึกษาในเวลาปฏิบัติงานของสำนักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน จะต้องกลับมาปฏิบัติงานให้สำนักงานเป็นกึ่งของระยะเวลาที่ได้ไปศึกษาหรือตามเงื่อนไขที่ตกลงกับผู้จัดการ ข้อ ๖๕ ผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาหรือการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ในประเทศ และใช้เวลาศึกษาในเวลาปฏิบัติงานบางส่วนของสำนักงานโดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน จะต้องปฏิบัติงานชดใช้ให้สำนักงานเท่าระยะเวลาที่ได้ไปศึกษา มิฉะนั้น ผู้นั้นต้องชดใช้เงินให้สำนักงานเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินเดือนตามสัดส่วนที่ใช้เวลาปฏิบัติงานของสำนักงานตลอดระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษา ผู้ที่ขออนุมัติลาไปศึกษาต่อในประเทศตามวรรคหนึ่ง ต้องใช้ระยะเวลาศึกษาในเวลาปฏิบัติงานของสำนักงานไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของระยะเวลาทั้งหมด ข้อ ๖๖ ผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาหรือการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ในประเทศ และใช้เวลาศึกษานอกเวลาปฏิบัติงานของสำนักงาน โดยได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา จะต้องปฏิบัติงานชดใช้ให้สำนักงานเท่าระยะเวลาที่ได้ไปศึกษา มิฉะนั้น ผู้นั้นต้องชดใช้เงินให้สำนักงานเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ได้รับทั้งหมด ผู้ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อในประเทศตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิลาเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมได้อีกไม่เกินสิบวันต่อปี ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติงานประจำปีและงานที่ได้รับมอบหมาย ข้อ ๖๗ ผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับเงินเดือนและไม่ได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา และใช้เวลาในการศึกษาในเวลาปฏิบัติงานของสำนักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน จะต้องกลับมาปฏิบัติงานให้สำนักงานเป็นกึ่งของระยะเวลาที่ได้ไปศึกษาหรือตามเงื่อนไขที่ตกลงกับผู้จัดการ ข้อ ๖๘ ผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนและเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา จะต้องปฏิบัติงานชดใช้ให้สำนักงานเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่ได้ไปศึกษา มิฉะนั้น ผู้นั้นต้องชดใช้เงินให้สำนักงานเป็นจำนวนสี่เท่าของจำนวนเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษา ข้อ ๖๙ ผู้ที่ประสงค์จะลาไปฝึกอบรม หรือดูงาน ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ โดยไม่ขอรับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากสำนักงาน ให้มีสิทธิขอลาเข้ารับการฝึกอบรม หรือดูงานได้รวมกันไม่เกินปีละสิบวันทำงานโดยไม่ถือเป็นวันลา ข้อ ๗๐ ผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปปฏิบัติงานวิชาการที่มีระยะเวลาตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปโดยได้รับเงินเดือน จะต้องปฏิบัติงานชดใช้ให้สำนักงานเท่าระยะเวลาที่ได้ลาไปปฏิบัติงานวิชาการ มิฉะนั้น ผู้นั้นต้องชดใช้เงินให้สำนักงานเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปปฏิบัติงานวิชาการ ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุมัติให้ลาไปปฏิบัติงานวิชาการตามวรรคหนึ่ง ได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อปฏิบัติงานวิชาการดังกล่าวด้วย หากไม่ปฏิบัติงานชดใช้ให้สำนักงานเท่าระยะเวลาที่ได้ลาไปปฏิบัติงานวิชาการ นอกจากผู้นั้นจะต้องชดใช้สำนักงานตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องชดใช้เงินให้สำนักงานเท่ากับจำนวนเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อปฏิบัติงานวิชาการที่ได้รับด้วย ผู้ที่ประสงค์จะลาไปปฏิบัติงานวิชาการให้มีสิทธิลาไปปฏิบัติงานวิชาการได้ครั้งละไม่เกินหกเดือน แต่ทั้งนี้ การใช้สิทธิลาไปปฏิบัติงานวิชาการในแต่ละครั้งต้องมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่าสามปี ยกเว้นกรณีที่หน่วยงานภาครัฐอื่นมีข้อตกลงร่วมกับสำนักงานให้พนักงานของสำนักงานไปช่วยงานเป็นการพิเศษ ข้อ ๗๑ ผู้ได้รับอนุมัติให้ลาเพื่อการพัฒนาบุคลากรตามข้อ ๗๐ ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่สามเดือนขึ้นไป เมื่อวัตถุประสงค์แห่งการลาสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะครบกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติหรือไม่ก็ตาม จะต้องรายงานตัวเข้าปฏิบัติงานและรายงานผลการลาเพื่อการพัฒนาบุคลากรต่อผู้จัดการภายในสามสิบวันนับจากวันที่วัตถุประสงค์แห่งการลาสิ้นสุดลง ข้อ ๗๒ ผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ลาเพื่อการพัฒนาบุคลากรตามข้อ ๖๘ และกลับเข้ามาปฏิบัติงานชดใช้ให้สำนักงานยังไม่ครบหนึ่งปี ไม่มีสิทธิลาเพื่อการพัฒนาบุคลากรตามข้อ ๖๗ อีก เว้นแต่กรณีจำเป็นผู้จัดการอาจพิจารณาอนุมัติเป็นกรณีพิเศษได้ หมวด ๗ วันและเวลาปฏิบัติงาน วันหยุดงาน การปฏิบัติงานล่วงเวลา และการลา ข้อ ๗๓ วันทำงานให้มีกำหนดสัปดาห์ละห้าวัน โดยมีกำหนดเวลาทำงานวันละแปดชั่วโมง รวมสัปดาห์ละไม่เกินสี่สิบชั่วโมง และมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์ละสองวัน ทั้งนี้ เวลาการเข้าทำงานให้เป็นไปตามที่ผู้จัดการประกาศกำหนด วันหยุดตามประเพณีและวันหยุดอื่นของสำนักงาน โดยอิงวันหยุดราชการประจำปีให้สำนักงานประกาศให้ทราบล่วงหน้าเป็นประจำทุกปีไป ในกรณีที่มีความจำเป็น ผู้จัดการจะเปลี่ยนแปลงวัน จำนวนวัน และจำนวนเวลาทำงาน รวมถึงวันหยุดตามประเพณีของพนักงานและลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในบางภารกิจก็ได้ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนวันหรือเวลาทำงานจะต้องมีการตกลงการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น ๆ ให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ข้อ ๗๔ ผู้มีสิทธิเบิกค่าล่วงเวลาได้แก่บุคลากร ยกเว้นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารและตำแหน่งในระดับตั้งแต่พนักงานอาวุโสและนักวิชาการอาวุโสขึ้นไป อัตราการเบิกค่าล่วงเวลาให้เป็นไปตามที่ผู้จัดการประกาศกำหนด ข้อ ๗๕ ให้บุคลากรยกเว้นลูกจ้างมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีในปีบัญชีหนึ่งได้เป็นระยะเวลาสิบวันทำการ เว้นแต่ผู้ที่ได้รับบรรจุเข้าปฏิบัติงานยังไม่ถึงหกเดือนไม่มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปี ถ้าในปีบัญชีใดบุคลากรยกเว้นลูกจ้างผู้ใดมิได้ลาพักผ่อนประจำปี หรือลาพักผ่อนประจำปีแล้วแต่ไม่ครบสิบวันทำการ ให้สะสมวันที่ยังมิได้ลาในปีบัญชีนั้นรวมเข้ากับปีบัญชีต่อ ๆ ไปได้ แต่วันลาพักผ่อนสะสมรวมกับวันลาพักผ่อนในปีบัญชีปัจจุบันจะต้องไม่เกินยี่สิบวันทำการ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี ให้มีสิทธินำวันลาพักผ่อนสะสมรวมกับวันลาพักผ่อนในปีปัจจุบันได้ไม่เกินสามสิบวันทำการ ทั้งนี้ บุคลากรยกเว้นลูกจ้างผู้ประสงค์จะลาพักผ่อน ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดลาพักผ่อนได้ โดยมิให้เสียหายแก่สำนักงาน ข้อ ๗๖ การลาป่วย การลากิจส่วนตัว การลาคลอดบุตร การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร การลาอุปสมบทหรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ การลาเข้ารับการตรวจพลหรือเข้ารับการเตรียมพล การลาไปฟื้นฟูสมรรถนะด้านอาชีพ หรือการลารูปแบบอื่น ๆ ของบุคลากรให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการโดยอนุโลม เว้นแต่ผู้จัดการจะประกาศกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ข้อ ๗๗ บุคลากรซึ่งประสงค์จะลาไปปฏิบัติธรรม ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาพร้อมเอกสารการยืนยันจากสถานที่ที่จะไปปฏิบัติธรรม ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ และให้มีสิทธิลาไปปฏิบัติธรรมติดต่อกันได้ไม่เกินสิบห้าวันทำการ หมวด ๘ การพ้นสภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ข้อ ๗๘ พนักงานและลูกจ้าง พ้นจากความเป็นผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานเมื่อ (๑) ตาย (๒) ครบเกษียณอายุในปีบัญชีที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ (๓) ลาออก (๔) สิ้นสุดสัญญาจ้างหรือถูกเลิกจ้าง (๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ ๑๐ (๖) เลิกจ้างเพราะไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานติดต่อกันสองปี (๗) ถูกไล่ออกหรือปลดออก เพราะผิดวินัยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ (๘) ถูกสั่งลงโทษเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายเงินชดเชยตามข้อ ๘๑ ข้อ ๗๙ ให้พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดประสงค์จะลาออกจากงาน ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปหนึ่งชั้น ล่วงหน้าอย่างน้อยสามสิบวัน ในกรณีที่พนักงานหรือลูกจ้างขอลาออกเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ให้การลาออกนี้มีผลนับแต่วันที่ผู้นั้นลาออก หมวด ๙ ค่าตอบแทนการเลิกจ้าง ข้อ ๘๐ ให้สำนักงานจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานและลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีทำงานติดต่อกันครบสี่เดือนแต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายในอัตราเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายจำนวนหนึ่งเดือน (๒) ในกรณีทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายในอัตราเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายจำนวนสามเดือน (๓) ในกรณีทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายในอัตราเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายจำนวนหกเดือน (๔) ในกรณีทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปีให้จ่ายในอัตราเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายจำนวนแปดเดือน (๕) ในกรณีทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายในอัตราเท่ากับเงินเดือนสุดท้าย จำนวนสิบเดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อนี้ ข้อ ๘๑ สำนักงานไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานและลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้ (๑) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต (๒) ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเหตุให้เสียหายแก่สำนักงานอย่างร้ายแรง (๓) ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันในคราวเดียวเป็นเวลาสามวัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของสำนักงาน (๔) กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง (๕) ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง หรือทำร้ายประชาชนผู้มาติดต่อสำนักงานอย่างร้ายแรง (๖) กระทำความผิดอาญาได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๗) ละเว้นการกระทำหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ หรือฝ่าฝืนข้อห้ามหรือความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินชดเชยตามวรรคหนึ่ง สำนักงานต้องระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างไว้โดยชัดเจน หมวด ๑๐ วินัย ข้อ ๘๒ พนักงาน และลูกจ้างต้องรักษาวินัยโดยกระทำการหรือไม่กระทำการตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ข้อ ๘๓ พนักงานและลูกจ้างต้องกระทำการอันเป็นข้อปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม (๒) ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ และหลักเกณฑ์ของสำนักงาน (๓) ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจอุตสาหะ เอาใจใส่ และรักษาประโยชน์ของสำนักงาน (๔) ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย กฎ ระเบียบและหลักเกณฑ์ของสำนักงาน โดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งจะทำให้เสียหายแก่กองทุน หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของสำนักงาน จะต้องเสนอความเห็นเป็นหนังสือภายใน ๓ วัน ให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้น และเมื่อได้เสนอความเห็นแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม (๕) ต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่สำนักงาน จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่มิได้ (๖) ต้องรักษาความลับของสำนักงาน (๗) ต้องสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคี และต้องช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างบุคลากรด้วยกันและผู้ร่วมงานอื่น (๘) ต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรม และให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้มาติดต่อสำนักงานเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตน (๙) ต้องรักษาชื่อเสียงของตน และรักษาเกียรติของตำแหน่งหน้าที่นั้นมิให้เสื่อมเสีย ข้อ ๘๔ พนักงานและลูกจ้างต้องไม่กระทำการใดอันเป็นข้อห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา การรายงานโดยปกปิดข้อความซึ่งควรต้องแจ้งถือว่าเป็นการรายงานเท็จด้วย (๒) ต้องไม่อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตนหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น (๓) ต้องไม่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ (๔) ต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์อันอาจทำให้เสียความเที่ยงธรรมหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตน (๕) ต้องไม่กระทำการอย่างใดที่เป็นการกลั่นแกล้ง กดขี่ หรือข่มเหงกันในการปฏิบัติหน้าที่ (๖) ต้องไม่กระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ ต่อผู้ร่วมงาน (๗) ต้องไม่ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงประชาชนผู้มาติดต่อสำนักงาน (๘) ต้องไม่มาปฏิบัติงานสายติดต่อกันต่อเนื่องเกินห้าวันทำการ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ข้อ ๘๕ พนักงานและลูกจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติข้อ ๘๓ หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามข้อ ๘๔ ผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดวินัย ข้อ ๘๖ การกระทำผิดวินัยในลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง (๑) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต (๒) ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานอย่างร้ายแรง (๓) ละทิ้งหน้าที่ติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของสำนักงาน (๔) กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง (๕) ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงประชาชนผู้มาติดต่อสำนักงานอย่างร้ายแรง (๖) กระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือได้รับโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๗) ละเว้นการกระทำหรือการกระทำใด ๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ ๘๓ หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามข้อ ๘๔ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่สำนักงานอย่างร้ายแรง ข้อ ๘๗ ผู้บังคับบัญชาในส่วนงานต้องดูแลระมัดระวังให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนปฏิบัติตามวินัย ถ้ารู้ว่าผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย จะต้องลงโทษหรือดำเนินการเพื่อให้มีการพิจารณาลงโทษ แล้วแต่กรณี ผู้บังคับบัญชาผู้ใดรู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยแต่ละเลยไม่ดำเนินการทางวินัย ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้นกระทำผิดวินัย ข้อ ๘๘ โทษทางวินัยมีห้าสถาน ดังต่อไปนี้ (๑) ตักเตือน (๒) ภาคทัณฑ์ (๓) ตัดเงินเดือน (๔) ปลดออกจากตำแหน่ง (๕) ไล่ออกโดยไม่จ่ายเงินชดเชย ข้อ ๘๙ พนักงานและลูกจ้างผู้ใดกระทำผิดวินัย ผู้จัดการต้องสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษด้วยก็ได้ และในคำสั่งลงโทษต้องระบุให้ชัดเจนว่าผู้ถูกลงโทษกระทำผิดในเรื่องใดหรือมีเหตุลดหย่อนอย่างไรบ้าง และจะอุทธรณ์ต่อใครภายในกำหนดเวลาใดด้วย ในกรณีที่เป็นการกระทำผิดเล็กน้อย ถ้าผู้จัดการเห็นว่ามีเหตุอันสมควรงดโทษ อาจงดโทษให้โดยให้ว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาหรือทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้ ข้อ ๙๐ กระบวนการพิจารณาโทษทางวินัย ให้สำนักงานดำเนินการโดยพิจารณามูลเหตุจูงใจและผลของการกระทำผิด ประวัติผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการพิจารณาความผิดในกรณีที่ผ่านมาซึ่งคล้ายคลึงกัน ภายใต้สภาพและเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น การพิจารณากำหนดโทษทางวินัย อาจกระทำได้ดังนี้ (๑) กรณีกระทำผิดวินัยตามข้อ ๘๓ และข้อ ๘๔ ให้พิจารณาตักเตือนหรือภาคทัณฑ์ (๒) กรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ ๘๖ ให้พิจารณาตัดเงินเดือน ปลดออก หรือไล่ออกโดยไม่จ่ายเงินชดเชย พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าเป็นกรณีที่ควรสอบสวน ให้ผู้บังคับบัญชาเสนอความเห็นต่อผู้จัดการเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ในการพิจารณาของผู้จัดการตามวรรคสาม หากเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดชัดแจ้งและไม่จำเป็นต้องสอบสวนจะดำเนินการลงโทษ โดยไม่ต้องมีการสอบสวนก็ได้ ข้อ ๙๑ พนักงานและลูกจ้างผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ให้ผู้จัดการมีอำนาจสั่งพักงานพนักงานและลูกจ้างผู้นั้นเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนจนเสร็จสิ้นการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีก็ได้ แต่ถ้าภายหลังปรากฏว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด หรือกระทำความผิดแต่ไม่ถึงกับต้องถูกลงโทษเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกออกจากงานด้วยเหตุอื่น ให้ผู้จัดการสั่งให้พนักงานและลูกจ้างผู้นั้นกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกัน การจ่ายเงินเดือนระหว่างพักงาน ให้จ่ายได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินเดือนในระหว่างถูกพักงานแต่ถ้าภายหลังปรากฎว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด ให้สำนักงานจ่ายเงินเดือนในส่วนที่ยังมิได้จ่ายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารที่สำนักงานใช้บริการจ่ายเงินเดือน ข้อ ๙๒ วินัย การรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาช่วยงานเป็นการชั่วคราว ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าผู้จัดการมีสถานะเสมือนเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ข้อ ๙๓ พนักงานและลูกจ้างผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำสั่งลงโทษทางวินัย ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์โดยทำเป็นหนังสือชี้แจงแสดงเหตุผล พร้อมพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งลงโทษทางวินัย ข้อ ๙๔ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขึ้นคณะหนึ่งซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้ง เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ ด้านกฎหมาย และด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ จำนวนด้านละหนึ่งคนเป็นคณะกรรมการและให้พนักงานรับผิดชอบด้านบุคลากรเป็นกรรมการและเลขานุการ ในการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการพิจารณาและแจ้งผลเป็นหนังสือให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องอุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสามสิบวัน และให้บันทึกเหตุขัดข้องให้ปรากฎไว้ด้วย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคสองให้เป็นที่สุด และให้ผู้จัดการสั่งให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หมวด ๑๑ การร้องทุกข์ ข้อ ๙๕ พนักงานและลูกจ้างผู้ใดมีความคับข้องใจอันเกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์ของสำนักงาน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม พนักงานและลูกจ้างผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์โดยทำเป็นหนังสือชี้แจงแสดงเหตุผลพร้อมพยานหลักฐานต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปภายในสามสิบวันนับแต่ทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ ข้อ ๙๖ พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิร้องทุกข์ภายในขอบเขต ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความคิดเห็นหรือความขัดแย้งเกี่ยวกับระบบหรือวิธีการทำงาน สิทธิประโยชน์ สัญญา หรือสภาพการจ้าง หรือการไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติต่อตนไม่ถูกต้อง ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาในเวลาอันสมควร หรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์ของสำนักงาน (๒) ต้องไม่ใช่เรื่องร้องขอให้แต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้าง ลงโทษทางวินัย หรือเรื่องส่วนตัว เว้นแต่เรื่องส่วนตัวนั้นจะกระทบต่อการทำงาน ข้อ ๙๗ ในการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปตามข้อ ๙๕ ให้ดำเนินการพิจารณาและแจ้งผลเป็นหนังสือให้ผู้ร้องทุกข์ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องทุกข์ เว้นแต่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสามสิบวัน และให้บันทึกเหตุข้อขัดข้องให้ปรากฎไว้ด้วย หมวด ๑๒ บทเฉพาะกาล ข้อ ๙๘ ผู้ใดเป็นพนักงาน ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาช่วยปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวให้กับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนตามระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่ระเบียบฉบับนี้ใช้บังคับให้ผู้นั้นเป็นพนักงาน ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาช่วยปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว แล้วแต่กรณีต่อไปตามระเบียบฉบับนี้ ทั้งนี้ ให้นำอายุงานในตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่พนักงาน ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาช่วยปฏิบัติงานเคยได้รับจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนมานับรวมเป็นอายุงานในตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาช่วยปฏิบัติงานในสำนักงานตามระเบียบนี้ด้วย ข้อ ๙๙ ในระหว่างที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติที่ออกตามระเบียบนี้ ให้นำหลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติ ที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลที่ออกตามข้อบังคับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่าด้วยการบริหารงานบุคคล มาใช้บังคับแก่การบริหารงานบุคคลของกองทุนโดยอนุโลมไปพลางก่อนเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบนี้จนกว่าจะมีหลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติ ตามระเบียบนี้ใช้บังคับ ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พรวิภา/จัดทำ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๔๘ ง/หน้า ๑๗/๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
815068
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญในการจัดสรรเงินกองทุน พ.ศ. 2561
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญในการจัดสรรเงินกองทุน พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญในการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๗) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ประกอบกับมติคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๑ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญในการจัดสรรเงินกองทุน พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “โครงการ” หมายความว่า กลุ่มของงานหรือกิจกรรมซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเพื่อวัตถุประสงค์ของโครงการและส่งผลสัมฤทธิ์ให้เกิดต่อประชาชนในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาตามวัตถุประสงค์ของกองทุน โดยอาจมีโครงการย่อยด้วยหรือไม่ก็ได้ “ภาคีร่วมดำเนินงาน” หมายความว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม รวมถึงคณะบุคคลและบุคคลธรรมดา ที่ร่วมดำเนินงานกับกองทุนตามโครงการโดยมีสัญญาระหว่างกัน ข้อ ๔ เพื่อให้การจัดสรรเงินกองทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และทั่วถึง ให้กองทุนดำเนินการภายใต้แนวคิดหลักและลำดับความสำคัญดังนี้ (๑) แนวคิดหลักของกองทุน ก. การเพิ่มประสิทธิผลและคุณภาพของผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕ ข. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ค. การช่วยเหลือทั้งรูปแบบการสนับสนุนค่าใช้จ่ายผ่านหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม และรูปแบบการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่อผู้รับประโยชน์โดยตรง ง. การให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ ระบบสารสนเทศ และนวัตกรรมเพื่อเป็นฐานในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน และการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕ จ. การติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนระบบธรรมาภิบาลของกองทุน โดยมุ่งเน้นความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ (๒) ลำดับความสำคัญในการจัดสรรเงินกองทุน ก. พิจารณาจัดสรรให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสก่อน ข. พิจารณาจัดสรรให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสในระดับรุนแรงกว่าก่อน ค. พิจารณาจัดสรรให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาซ้ำซ้อนก่อน ง. พิจารณาจัดสรรให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดก่อน จ. พิจารณาจัดสรรให้แก่ครูที่ดูแลกลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสก่อน ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการกำหนดการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญไว้ในแผนการดำเนินงานประจำปีของกองทุน ข้อ ๕ ในการจัดสรรเงินกองทุน ให้ดำเนินการในรูปแบบโครงการภายใต้แผนการดำเนินงานที่คณะกรรมการอนุมัติแล้ว โดยโครงการต้องมีลักษณะและผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนที่กำหนดในระเบียบนี้ โครงการจะต้องมีรายละเอียดเพียงพอแก่การพิจารณาของกองทุน ตามแบบที่สำนักงานกำหนด โดยอย่างน้อยต้องระบุวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ผลที่คาดว่าจะได้รับ และแผนการดำเนินงานรวมถึงแนวทางการนำไปใช้และความเชื่อมโยงกับแผนงานของกองทุน ข้อ ๖ โครงการที่เข้าข่ายได้รับการพิจารณาจัดสรรเงินจากกองทุนต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นไปตามวัตถุประสงค์และพันธกิจของกองทุน มีผลต่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา หรือการดำเนินงานของกองทุน ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงานของกองทุน (๒) มีหลักการ กิจกรรม และกระบวนการดำเนินงานที่ชัดเจน มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณอย่างประหยัดสมเหตุสมผล รวมทั้งสามารถติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลได้ (๓) เป็นโครงการที่ควรมีลักษณะเพิ่มเติม ได้แก่ ก. เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นมาจากฐานความรู้และข้อมูลเชิงประจักษ์ ข. มีมาตรการประเมิน ทบทวน และพัฒนาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงการอย่างต่อเนื่อง ค. มีศักยภาพที่จะดำเนินการขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ง. มีกิจกรรมอันเป็นการริเริ่มปฏิบัติการหรือกระบวนการใหม่ ๆ จ. ได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ฉ. สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ช. ไม่มีลักษณะเป็นธุรกิจหรือการลงทุนเพื่อผลกำไร ซ. ไม่มีจุดมุ่งหมายหรือเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทางการเมือง ฌ. ไม่มีวัตถุประสงค์หลักในการมุ่งจัดหาครุภัณฑ์ ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้าง โครงการใดที่มีลักษณะเป็นการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข้อมูลและการช่วยเหลือเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และครู ก่อนให้ความช่วยเหลือ ข้อ ๗ หน่วยงานที่จะเป็นภาคีร่วมดำเนินงานต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ (๑) มีอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกิจการของกองทุน (๒) มีผู้บริหาร คณะกรรมการ บุคลากร หรืออาสาสมัคร ในการปฏิบัติงานประจำ หรือมีที่ปรึกษา ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕ (๓) มีผลการดำเนินงานในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา หรือมีแผนงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างชัดเจน (๔) มีระบบการบริหารงานและระบบการเงินการบัญชีที่มีประสิทธิภาพ ให้ใช้คุณสมบัติตามวรรคหนึ่งกับคณะบุคคลและบุคคลธรรมดาที่จะเป็นภาคีร่วมดำเนินงานโดยอนุโลม กรณีหน่วยงานภาคเอกชน หรือหน่วยงานภาคประชาสังคม คณะบุคคลและบุคคลธรรมดา ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นภาคีร่วมดำเนินงานของกองทุน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้จัดการกำหนด ข้อ ๘ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการ ให้สำนักงานพิจารณาดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังนี้ (๑) ขั้นกลั่นกรอง (๒) ขั้นพิจารณาอนุมัติ ในกรณีที่เห็นสมควร คณะกรรมการอาจมีมติยกเว้นมิให้โครงการใดต้องผ่านขั้นตอนการกลั่นกรองก็ได้ ข้อ ๙ การกลั่นกรองตามข้อ ๘ (๑) ให้กระทำโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่ผู้จัดการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ซึ่งอย่างน้อยต้องเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียโดยตรงกับผู้เสนอโครงการ และให้สำนักงานจัดทำสรุปผลการกลั่นกรองรายงานคณะกรรมการอย่างน้อยปีละครั้ง จำนวนผู้ทรงคุณวุฒิในการกลั่นกรอง ให้เป็นไปตามวงเงินงบประมาณของโครงการดังนี้ งบประมาณที่เสนอ จำนวนผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท อย่างน้อย ๑ คน ๕๐๐,๐๐๑ - ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท อย่างน้อย ๓ คน ๑,๐๐๐,๐๐๑ - ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท อย่างน้อย ๕ คน ๕,๐๐๐,๐๐๑ - ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท อย่างน้อย ๕ คน และต้องมีการประชุมพิจารณา ๑๐,๐๐๐,๐๐๑ - ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท อย่างน้อย ๗ คน และต้องมีการประชุมพิจารณา เกินกว่า ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท อย่างน้อย ๗ คน โดยมีกรรมการบริหารกองทุนรวมอยู่ด้วย อย่างน้อย ๓ คน และต้องมีการประชุมพิจารณา ข้อ ๑๐ การพิจารณาอนุมัติโครงการให้เป็นตามวงเงินงบประมาณของโครงการดังนี้ (๑) งบประมาณไม่เกิน ๒๐ ล้านบาท ให้ผู้จัดการพิจารณาอนุมัติแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ (๒) งบประมาณเกินกว่า ๒๐ ล้านบาท ให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ ข้อ ๑๑ เมื่อโครงการได้รับอนุมัติตามข้อ ๑๐ แล้ว ให้ผู้จัดการจัดทำสัญญากับภาคีร่วมดำเนินงาน ตามแบบสัญญาที่สำนักงานกำหนด โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยเงื่อนไขและแนวทางในการดำเนินงาน รายละเอียดของกิจกรรม กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์ กำหนดเวลาส่งมอบงานและการเบิกจ่ายเงินงวดที่เหมาะสม หากเป็นโครงการที่สำนักงานดำเนินงานเองให้ผู้จัดการกำกับดูแลการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ข้อ ๑๒ ให้สำนักงานจัดให้มีการรายงาน การกำกับติดตาม และการประเมินผลโครงการที่ได้รับอนุมัติการจัดสรรเงินจากกองทุน ตามรายละเอียดที่กำหนดในสัญญากับภาคีร่วมดำเนินงานรวมทั้งหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรูปแบบที่ผู้จัดการกำหนด โดยอย่างน้อยต้องจัดให้มีการตรวจสอบจากการสุ่มตัวอย่างสำหรับโครงการทุกประเภทและขนาด และโครงการที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณเกินกว่า ๒๐ ล้านบาท ให้รายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการอย่างน้อยทุก ๖ เดือนหรือตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณไม่เกิน ๒๐ ล้านบาทให้รายงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานอย่างน้อยปีละครั้ง ให้ผู้จัดการมอบหมายพนักงานหรือลูกจ้างเพื่อให้คำแนะนำภาคีร่วมดำเนินงานในการปฏิบัติตามสัญญา การจัดทำรายงานการดำเนินงาน การประเมินผล และการทำบัญชีรับจ่าย ให้ถูกต้องตามที่สำนักงานกำหนด ในกรณีที่พบว่าภาคีร่วมดำเนินงานปฏิบัติไม่ถูกต้องตามสัญญาหรือดำเนินการใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือแนวทางปฏิบัติ ที่สำนักงานกำหนดไว้ ให้แจ้งภาคีร่วมดำเนินงานแก้ไขปรับปรุงภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อ ๑๓ ระเบียบนี้มิให้ใช้บังคับกับโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนและสำนักงานและการพัฒนาองค์กร ข้อ ๑๔ ให้ผู้จัดการมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามระเบียบนี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ผู้จัดการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พรวิภา/จัดทำ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๔๘ ง/หน้า ๑๒/๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
815066
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยการรักษาการแทนและการปฏิบัติการแทนผู้จัดการและนิติกรรมที่ผู้จัดการต้องขออนุมัติต่อคณะกรรมการ พ.ศ. 2561
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยการรักษาการแทนและการปฏิบัติการแทนผู้จัดการ และนิติกรรมที่ผู้จัดการต้องขออนุมัติต่อคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๖๑[๑] โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่าด้วยการรักษาการแทนและการปฏิบัติการแทนผู้จัดการ และนิติกรรมที่ผู้จัดการต้องขออนุมัติต่อคณะกรรมการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๕ วรรคสอง และมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ประกอบกับมติคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๑ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่าด้วยการรักษาการแทนและการปฏิบัติการแทนผู้จัดการ และนิติกรรมที่ผู้จัดการต้องขออนุมัติต่อคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองผู้จัดการที่มีอาวุโสสูงสุดตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทนผู้จัดการ และถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งกรรมการหรือพนักงานสำนักงานคนใดคนหนึ่งตามที่เห็นสมควรเป็นผู้รักษาการแทนผู้จัดการ ข้อ ๔ อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติงาน หรือการดำเนินการอื่นที่ผู้จัดการจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ถ้ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะกรรมการ ในเรื่องนั้น มิได้ห้ามการมอบอำนาจไว้ ผู้จัดการอาจมอบอำนาจให้รองผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้บริหารอื่นในระดับรองลงมา ปฏิบัติการแทนได้ การมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นหนังสือและอย่างน้อยให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ชัดเจน ดังต่อไปนี้ (๑) ชนิด ลักษณะ และประเภทของกิจการ (๒) ขอบเขตของการกระทำของผู้รับมอบอำนาจ (๓) ระยะเวลาแห่งการมอบอำนาจ (ถ้ามี) ข้อ ๕ เมื่อมีการมอบอำนาจตามข้อ ๔ โดยชอบแล้ว ผู้รับมอบอำนาจจะมอบอำนาจนั้นให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นมิได้ ข้อ ๖ ในการมอบอำนาจตามข้อ ๔ ให้ผู้มอบอำนาจพิจารณาถึงการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน และความรับผิดชอบ ตามสภาพของตำแหน่งของผู้รับมอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจตามวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจดังกล่าว ข้อ ๗ ในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้จัดการมีอำนาจมอบหมายให้พนักงานหรือบุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกได้โดยทำเป็นหนังสือระบุตัวผู้รับมอบอำนาจและขอบเขตของการมอบอำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง ข้อ ๘ ในกรณีที่เป็นการทำสัญญาหรือข้อตกลงกับหน่วยงานหรือองค์การต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ ผู้จัดการต้องขออนุมัติต่อคณะกรรมการก่อนกระทำการ ข้อ ๙ ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พรวิภา/จัดทำ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๔๘ ง/หน้า ๑๐/๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
815058
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข้อมูลและการช่วยเหลือเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และครู พ.ศ. 2561
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข้อมูลและการช่วยเหลือเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และครู พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข้อมูลและการช่วยเหลือเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และครู อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคสอง และมาตรา ๒๓ (๖) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ประกอบกับมติคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๑ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข้อมูลและการช่วยเหลือเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และครู พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และครู ให้สำนักงานตรวจสอบหลักฐานแสดงตนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการจัดทำขึ้นหรือออกให้ หรือกำหนดให้ใช้ได้ และในกรณีที่ไม่มีหลักฐานดังกล่าว ให้จัดให้มีการทำบันทึกแจ้งประวัติบุคคลตามแบบที่ผู้จัดการกำหนดเพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงตนของบุคคลดังกล่าว ในกรณีที่เป็นเด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส และครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้จัดให้มีการรับรองข้อมูลการขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ผู้จัดการกำหนด ข้อ ๔ การขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้พิจารณาตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) การขาดแคลนทุนทรัพย์และระดับความรุนแรง ให้พิจารณาจากข้อมูลรายได้และข้อมูลสถานะครัวเรือน โดยให้นำข้อมูลค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่มาประกอบการพิจารณาด้วย (๒) การด้อยโอกาส ให้พิจารณาจากการประสบปัญหาความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม ภัยธรรมชาติ หรืออยู่ในพื้นที่ความไม่สงบ หรือขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ หรือสมควรได้รับการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม ตลอดจนประสบปัญหาที่ยังไม่มีองค์กรหลักรับผิดชอบ อันจะส่งผลให้ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคกับผู้อื่น รวมถึงการด้อยโอกาสลักษณะอื่น ๆ ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดเพิ่มเติม ข้อ ๕ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพของกองทุน ให้สำนักงานจัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และครู โดยร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้พัฒนาหรือปรับปรุงระบบฐานข้อมูลเป็นระยะ สำนักงานอาจใช้ระบบฐานข้อมูลตามวรรคหนึ่งประกอบในการตรวจสอบข้อมูลตามข้อ ๓ ได้ตามความเหมาะสม ข้อ ๖ การช่วยเหลือเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และครู ให้ดำเนินการช่วยเหลือได้ตามรายการ ดังต่อไปนี้ (๑) ค่าเล่าเรียน (๒) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา (๓) ค่าครองชีพ ซึ่งรวมถึงค่าเลี้ยงดูเด็กเล็กสำหรับครอบครัว ค่าใช้จ่ายเดินทางมาเรียนและค่าอาหาร ค่าครองชีพระหว่างเรียน และค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม (๔) ทุนเพื่อการฝึกอบรม ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมฝึกอบรม หรือเข้ารับการฝึกอบรม หรือการพัฒนาตนเอง ของครู (๕) ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมทักษะอาชีพสำหรับเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสและผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส (๖) รายการอื่น ๆ ตามที่สำนักงานกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ข้อ ๗ เด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และครู จะได้รับการช่วยเหลือตามข้อ ๖ รายการใดรายการหนึ่ง หรือหลายรายการก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามรายละเอียดโครงการที่กองทุนอนุมัติตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญในการจัดสรรเงินกองทุน และต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ที่แตกต่างกันด้วย ข้อ ๘ ให้ผู้จัดการมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ผู้จัดการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พรวิภา/จัดทำ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๔๘ ง/หน้า ๘/๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
813739
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่เป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน ข้อมูลการดำเนินงานและการบริหารกองทุน รายรับ รายจ่าย รวมทั้งผลผลิต ผลลัพธ์ และความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเงินของกองทุน พ.ศ. 2561
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่เป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน ข้อมูลการดำเนินงานและการบริหารกองทุน รายรับ รายจ่าย รวมทั้งผลผลิต ผลลัพธ์ และความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเงินของกองทุน พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การเผยแพร่เป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน ข้อมูลการดำเนินงานและการบริหารกองทุน รายรับ รายจ่าย รวมทั้งผลผลิตผลลัพธ์ และความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเงินของกองทุน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการประชุม ครั้งที่ ๕/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑ มีมติให้ออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่เป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน ข้อมูลการดำเนินงานและการบริหารกองทุน รายรับ รายจ่าย รวมทั้งผลผลิต ผลลัพธ์ และความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเงินของกองทุน พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานกองทุน ข้อ ๔ ให้สำนักงานจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลต่อไปนี้ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปอย่างน้อยปีละครั้งดังนี้ (๑) แผนการดำเนินงานประจำปี อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ได้แก่ เป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน ข้อมูลเบื้องต้นในการดำเนินงานและการบริหารกองทุน (๒) ผลการดำเนินงานประจำปี อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ได้แก่ รายรับ รายจ่าย ผลผลิต ผลลัพธ์ และความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเงินของกองทุน สำนักงานอาจจัดให้มีการเผยแพร่รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ กรณีศึกษาดีเด่น (Best Practice) ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปได้ตามความเหมาะสม ข้อ ๕ การเผยแพร่ข้อมูลตามข้อ ๔ อย่างน้อยให้ดำเนินการทางเว็บไซต์ของสำนักงาน และอาจดำเนินการเพิ่มเติมในลักษณะอื่นใดก็ได้ เช่น การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน การจัดทำเป็นแผ่นพับหรือเอกสารเผยแพร่สำหรับใช้ในกิจกรรมของสำนักงาน การรวบรวมและจัดให้มีไว้เผยแพร่เพื่อจำหน่ายหรือจ่ายแจก ณ ที่ทำการของสำนักงานตามที่เห็นสมควร เป็นต้น ข้อ ๖ ให้ผู้จัดการมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ผู้จัดการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ประกาศ ณ วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปุณิกา/จัดทำ ๙ เมษายน ๒๕๖๒ นุสรา/ตรวจ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๒ ง/หน้า ๑/๒๑ กันยายน ๒๕๖๑
811286
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหาผู้จัดการ พ.ศ. 2561
ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหาผู้จัดการ พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหาผู้จัดการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๘) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ มีมติให้ออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหาผู้จัดการ พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานกองทุน “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน “ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุน ข้อ ๔ ในการสรรหาผู้จัดการครั้งแรก หรือเมื่อผู้จัดการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือก่อนผู้จัดการจะครบกำหนดตามวาระไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนห้าคนจากคณะกรรมการดังนี้ (๑) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่ง เป็นประธานอนุกรรมการสรรหา (๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคนซึ่งมาจากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมภาคละหนึ่งคน เป็นอนุกรรมการสรรหา (๓) กรรมการโดยตำแหน่งคนหนึ่ง เป็นอนุกรรมการสรรหา ให้พนักงานของสำนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการของคณะอนุกรรมการ ให้คณะอนุกรรมการสรรหามีหน้าที่สรรหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นผู้จัดการ เจรจาต่อรองอัตราค่าจ้างค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการ รวมถึงการจัดทำสัญญาจ้างซึ่งต้องกำหนดวัตถุประสงค์การปฏิบัติงาน เป้าหมาย ผลผลิต และเงื่อนไขการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้จัดการ ข้อ ๕ ให้คณะอนุกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีประกาศแต่งตั้ง หากมีเหตุไม่อาจดำเนินการสรรหาให้แล้วเสร็จทันกำหนด ให้ประธานอนุกรรมการสรรหาแจ้งเหตุผลความจำเป็นต่อประธานกรรมการเพื่อขอขยายเวลาออกไปอีกได้ไม่เกินหกสิบวัน ข้อ ๖ ให้คณะอนุกรรมการสรรหาเริ่มดำเนินการสรรหาด้วยวิธีการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป ประกาศรับสมัครจะต้องมีกำหนดระยะเวลาในการรับสมัครไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน และต้องดำเนินการผ่านช่องทาง ดังต่อไปนี้ (๑) ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยสองฉบับ เป็นเวลาอย่างน้อยสามวันติดต่อกัน (๒) ประกาศในเว็บไซต์ของสำนักงานติดต่อกันจนถึงวันปิดรับสมัคร (๓) ติดประกาศที่สำนักงานจนถึงวันปิดรับสมัคร ข้อ ๗ คณะอนุกรรมการสรรหาอาจขยายเวลาการรับสมัคร หรือยกเลิกการรับสมัครก็ได้หากเห็นว่าจำนวนผู้สมัครมีจำนวนน้อยหรือยังไม่มีผู้สมัครที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้จัดการหรือเพราะเหตุอื่นตามที่คณะอนุกรรมการสรรหาเห็นสมควร ข้อ ๘ ให้คณะอนุกรรมการสรรหาพิจารณาข้อมูลและรายละเอียดผู้สมัคร แล้วจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งผู้จัดการ เพื่อสัมภาษณ์ หรือขอให้บุคคลดังกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ หรือดำเนินการอื่นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้ ให้คณะอนุกรรมการสรรหา เสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งผู้จัดการ จำนวนไม่เกิน ๓ คน เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้จัดการ ทั้งนี้ หากคณะกรรมการเห็นสมควรอาจขอเชิญบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อมาสัมภาษณ์ แสดงวิสัยทัศน์ และเสนอแผนการบริหารงานต่อคณะกรรมการอีกครั้งก็ได้ ในการเสนอชื่อตามวรรคสอง ให้คณะอนุกรรมการสรรหาจัดส่งข้อมูลและรายละเอียดของผู้สมัครทั้งหมดให้คณะกรรมการทราบด้วย ข้อ ๙ ในกรณีที่มีปัญหากับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พรวิภา/จัดทำ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๒ นุสรา/ตรวจ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๐๔ ง/หน้า ๓/๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๑
686609
พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นปีที่ ๖๘ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ “ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” หมายความว่า ผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา มาตรา ๔ ให้ประธานรัฐสภารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ หมวด ๑ กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา มาตรา ๕ ให้มีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ดังต่อไปนี้ (๑) การจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ (๒) การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (๓) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ (๔) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม (๕) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร (๖) สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๖ กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ (๑) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ (๒) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี (๓) เงินที่สมาชิกรัฐสภาส่งเข้ากองทุนในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด (๔) เงินที่โอนมาจากกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๓ (๕) เงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน (๖) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการบริจาค (๗) ดอกผลของเงินกองทุน มาตรา ๗ รายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน หมวด ๒ คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” ประกอบด้วย (๑) ประธานรัฐสภา เป็นประธานกรรมการ (๒) รองประธานรัฐสภา เป็นรองประธานกรรมการ (๓) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภา ปลัดกระทรวงการคลังและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (๔) กรรมการจำนวนสิบสามคนซึ่งประธานรัฐสภาแต่งตั้งตามมติของแต่ละสภา ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนห้าคนตามจำนวนหรือสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมือง สมาชิกวุฒิสภาจำนวนสามคน ผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสามคน และผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจำนวนสองคน กรณีรองประธานรัฐสภาตาม (๒) เป็นประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภาตาม (๓) ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ให้ประธานวุฒิสภามอบหมายให้รองประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภาคนใดคนหนึ่ง เป็นกรรมการโดยตำแหน่งตาม (๓) ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรรมการและเลขานุการ และเลขาธิการวุฒิสภาเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือเมื่อวาระของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาใหม่ แล้วแต่กรณี มาตรา ๙ กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๘ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ ในกรณีที่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๘ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน และให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ มาตรา ๑๐ นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๘ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) คณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด (๔) สิ้นสุดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก (๕) เป็นบุคคลล้มละลาย (๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๗) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ มาตรา ๑๑ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๒ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินการของกองทุน (๒) กำหนดแนวทางการบริหารและการจ่ายเงินของกองทุน (๓) ระดมการจัดหาทุน (๔) ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินและการยกเลิกการจ่ายเงิน การบริหาร การจัดหาผลประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน (๕) วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ มาตรา ๑๓ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๑๔ ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ ประธานอนุกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ได้รับเบี้ยประชุมตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ ซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา หมวด ๓ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาตรา ๑๕ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) บริหารกองทุนตามระเบียบและมติของคณะกรรมการ (๒) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ (๓) จัดทำรายงานและการบัญชีของกองทุน (๔) รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการ (๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย หมวด ๔ การดำเนินการของกองทุน มาตรา ๑๖ สมาชิกรัฐสภาซึ่งได้ส่งเงินเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และจำนวนอัตราเงินทุนเลี้ยงชีพอันจะพึงได้รับจากกองทุนนั้น ให้นำระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งการเป็นสมาชิกรัฐสภาของผู้นั้นมาคิดคำนวณด้วย สมาชิกรัฐสภาที่จะมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นบุคคลที่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗ ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีสิทธิขอรับเงินเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจากกองทุนตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๑๘ ในกรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม ให้บุคคลตามลำดับดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุนก่อนหลัง (๑) บุคคลที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้แสดงเจตนาเป็นหนังสือให้เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุน (๒) คู่สมรส (๓) บุตร (๔) บิดามารดา การขอรับเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีสิทธิขอรับเงินยื่นคำขอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๑๙ การจ่ายเงินจากกองทุนเพราะเหตุทุพพลภาพให้จ่ายให้แก่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาเพราะป่วยเจ็บทุพพลภาพซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๒๐ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนในกรณีการให้การศึกษาบุตรสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจนถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าได้เพียงคนที่หนึ่งและคนที่สอง ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น ในกรณีที่บิดาและมารดาเป็นผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ให้บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนในกรณีการให้การศึกษาบุตรเพียงฝ่ายเดียว เว้นแต่เมื่อมีการจดทะเบียนหย่าหรือแยกกันอยู่และบุตรอยู่ในความอุปการะของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายใด ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายนั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินในกรณีการให้การศึกษาบุตร ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๒๑ การจ่ายเงินจากกองทุนในกรณีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด หมวด ๕ การบัญชีและการตรวจสอบ มาตรา ๒๒ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของกองทุนให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรอง เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบบัญชีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอรายงานผลการสอบบัญชีดังกล่าวต่อคณะกรรมการและสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อทราบต่อไป หมวด ๖ บทกำหนดโทษ มาตรา ๒๓ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ ตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บทเฉพาะกาล มาตรา ๒๔ ให้โอนบรรดากิจการ เงิน สิทธิ และหนี้สินของกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๓ ไปเป็นของกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๒๕ ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการซึ่งประธานรัฐสภาแต่งตั้งตามมาตรา ๘ (๔) ซึ่งต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๒๖ ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๓ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๒๗ ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนวันที่ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๓ ใช้บังคับ ให้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๒๘ ให้บรรดาระเบียบและประกาศของกองทุนที่ออกตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติมีภารกิจในด้านการตรากฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และการให้ความเห็นชอบในเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนรวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ดังนั้น เพื่อตอบแทนคุณงามความดีและความเสียสละแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพได้สิ้นสุดลงสมควรให้มีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ชาญ/ผู้ตรวจ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๔๔ ก/หน้า ๑/๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖
726348
ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 (ฉบับ Update ล่าสุด)
ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๒ (๔) มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖ คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรักษาการตามระเบียบนี้และมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติ ตลอดจนกำหนดแบบเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ หมวด ๑ ข้อความทั่วไป ข้อ ๔ ในระเบียบนี้ “ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” หมายความว่า ผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร “ทุนเลี้ยงชีพ” หมายความว่า เงินที่สมาชิกรัฐสภามีสิทธิได้รับจากกองทุนเป็นรายเดือนเมื่อสมาชิกภาพสิ้นสุดลง “เวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ” หมายความว่า เวลาตั้งแต่วันเริ่มต้นสมาชิกภาพจนถึงวันสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาซึ่งใช้คำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบนี้ “เงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย”[๒] (ยกเลิก) “การรักษาพยาบาล” หมายความว่า การให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการรักษาโรค การตรวจวินิจฉัย การฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต และให้หมายความรวมถึงการตรวจสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลแต่ไม่รวมถึงการเสริมความงาม” “ค่ารักษาพยาบาล” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลเรียกเก็บในการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าตรวจสุขภาพประจำปี “สถานพยาบาล” หมายความว่า สถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลของเอกชน “สถานพยาบาลของทางราชการ” หมายความว่า สถานพยาบาลซึ่งเป็นส่วนราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และให้หมายความรวมถึงสถานพยาบาลของมหาวิทยาลัยของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา องค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย และองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โรงพยาบาลประสานมิตร และสถานพยาบาลอื่นตามที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล “สถานพยาบาลของเอกชน” หมายความว่า สถานพยาบาลที่มีลักษณะการให้บริการเป็นโรงพยาบาล ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล “ปี” หมายความว่า ปีปฏิทิน “ทุพพลภาพ” หมายความว่า การสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ หรือการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) มือทั้งสองข้างขาด (๒) แขนทั้งสองข้างขาด (๓) มือข้างหนึ่งกับแขนข้างหนึ่งขาด (๔) มือข้างหนึ่งกับขาข้างหนึ่งขาด (๕) แขนข้างหนึ่งกับเท้าข้างหนึ่งขาด (๖) แขนข้างหนึ่งกับขาข้างหนึ่งขาด (๗) สูญเสียลูกตาทั้งสองข้างหรือสูญเสียตาข้างหนึ่งกับสูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็นร้อยละเก้าสิบขึ้นไป หรือเสียความสามารถในการมองเห็นตั้งแต่ ๓/๖๐ หรือมากกว่าของตาอีกข้างหนึ่ง หรือสูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็นร้อยละเก้าสิบขึ้นไป หรือสูญเสียความสามารถในการมองเห็นตั้งแต่ ๓/๖๐ หรือมากกว่าของตาทั้งสองข้าง (๘) โรคหรือการบาดเจ็บของไขสันหลัง เป็นเหตุให้มือหรือแขนทั้งสองข้าง มือข้างหนึ่งกับแขนข้างหนึ่ง มือข้างหนึ่งกับขาอีกข้างหนึ่ง หรือแขนข้างหนึ่งกับขาหรือเท้าอีกข้างหนึ่ง หรือขาทั้งสองข้าง กับการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ สูญเสียสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง (๙) โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เป็นเหตุให้สูญเสียความสามารถของอวัยวะของร่างกาย “สถานศึกษาของทางราชการ” หมายความว่า (๑) มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือส่วนราชการอื่น หรือที่อยู่ในกำกับของรัฐ (๒) วิทยาลัยหรือสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเทียบเท่าวิทยาลัยในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ หรือส่วนราชการอื่นที่ ก.พ. รับรองคุณวุฒิ (๓) โรงเรียนในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย วิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง และให้หมายความรวมถึงโรงเรียนที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีการจัดระดับชั้นเรียนด้วย (๔) โรงเรียนในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของส่วนราชการอื่น หรือองค์การของรัฐบาลที่ ก.พ. รับรองคุณวุฒิ (๕) โรงเรียนในสังกัดส่วนราชการที่กระทรวงการคลังกำหนด (๖) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีการจัดระดับชั้นเรียนในสังกัดส่วนราชการ “สถานศึกษาของเอกชน” หมายความว่า (๑) สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (๒) โรงเรียนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาในระบบโรงเรียน และให้รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ “เงินบำรุงการศึกษา” หมายความว่า เงินประเภทต่าง ๆ ที่สถานศึกษาของทางราชการเรียกเก็บตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนราชการเจ้าสังกัด หรือที่กำกับ มหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง หรือองค์การของรัฐบาล “เงินค่าเล่าเรียน” หมายความว่า เงินค่าธรรมเนียมการเรียนหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งสถานศึกษาของเอกชนเรียกเก็บตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ “ปีการศึกษา” หมายความว่า ปีการศึกษาที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนราชการเจ้าสังกัดหรือที่กำกับ มหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง หรือองค์การของรัฐบาล หมวด ๒ การบริหารและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน ข้อ ๕ กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ดังต่อไปนี้ (๑) การจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ (๒) การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (๓) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ (๔) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม (๕) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร (๖) สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ข้อ ๖ กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ (๑) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ (๒) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี (๓) เงินที่สมาชิกรัฐสภาส่งเข้ากองทุนในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด (๔) เงินที่โอนมาจากกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๓ (๕) เงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน (๖) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการบริจาค (๗) ดอกผลของเงินกองทุน ข้อ ๗ รายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ข้อ ๘ ให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) บริหารกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบนี้และตามมติของคณะกรรมการ (๒) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ (๓) จัดทำรายงานและการบัญชีของกองทุน (๔) รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณเสนอต่อคณะกรรมการ (๕) จัดทำประมาณการรายจ่ายประจำปีงบประมาณของกองทุนเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ (๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ข้อ ๙ การใช้จ่ายในการบริหารงานของกองทุนให้ใช้จ่ายได้ภายในวงเงินประมาณการค่าใช้จ่ายประจำปีที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายจริงในการบริหารงานของกองทุนสูงกว่าวงเงินประมาณการค่าใช้จ่ายประจำปี ให้สำนักงานเสนอคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติม หมวด ๓ คณะกรรมการและการประชุมคณะกรรมการ ข้อ ๑๐ คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย (๑) ประธานรัฐสภา เป็นประธานกรรมการ (๒) รองประธานรัฐสภา เป็นรองประธานกรรมการ (๓) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภา ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (๔) กรรมการจำนวนสิบสามคนซึ่งประธานรัฐสภาแต่งตั้งตามมติของแต่ละสภา ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนห้าคนตามจำนวนหรือสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมือง สมาชิกวุฒิสภาจำนวนสามคน ผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสามคน และผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจำนวนสองคน กรณีรองประธานรัฐสภาตาม (๒) เป็นประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภาตาม (๓) ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ให้ประธานวุฒิสภามอบหมายให้รองประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภาคนใดคนหนึ่ง เป็นกรรมการโดยตำแหน่งตาม (๓) ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรรมการและเลขานุการ และเลขาธิการวุฒิสภาเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือเมื่อวาระของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาใหม่ แล้วแต่กรณี ข้อ ๑๑ กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามข้อ ๑๐ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ ในกรณีที่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามข้อ ๑๐ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน และให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ ข้อ ๑๒ นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามข้อ ๑๐ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) คณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด (๔) สิ้นสุดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก (๕) เป็นบุคคลล้มละลาย (๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๗) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ข้อ ๑๓ ให้คณะกรรมการมีการประชุมไม่น้อยกว่าสี่ครั้งในหนึ่งปีงบประมาณโดยแต่ละครั้งให้มีระยะเวลาห่างกันไม่เกินสามเดือน การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ ๑๔ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ให้นำความในข้อ ๑๓ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับกับการประชุมคณะอนุกรรมการ โดยอนุโลม ข้อ ๑๕ ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ ประธานอนุกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ได้รับเบี้ยประชุมตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ ซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา หมวด ๔ การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน และการจัดหาผลประโยชน์ ส่วนที่ ๑ การรับเงิน ข้อ ๑๖ ให้กองทุนรับเงินได้โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) รับเป็นเงินสด เช็ค ตั๋วแลกเงิน หรือธนาณัติ (๒) รับเงินจากการโอนผ่านธนาคาร (๓) รับเงินโดยวิธีการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้สำนักงานออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ชำระเงินทุกครั้ง เว้นแต่รายรับซึ่งตามลักษณะไม่อยู่ในสภาพที่จะออกใบเสร็จรับเงินได้ก็ให้ใช้หลักฐานการรับเงินแทน ข้อ ๑๗ เช็คที่จะรับทุกกรณีต้องมีลักษณะและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นเช็คของธนาคารและต้องมิใช่เช็คโอนสลักหลัง (๒) เป็นเช็คที่มีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๘๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (๓) เป็นเช็คที่ออกในวันที่นำเช็คมาชำระหรือเป็นเช็คที่ลงวันที่ก่อนวันชำระไม่เกินเจ็ดวันและมิใช่เช็คที่ลงวันที่ล่วงหน้า (๔) เป็นเช็คที่ขีดคร่อม สั่งจ่ายเงินให้แก่ “กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” โดยขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก ส่วนที่ ๒ การเก็บรักษาและการอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน ข้อ ๑๘ ให้สำนักงานเปิดบัญชีกองทุนไว้ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เรียกว่า “บัญชีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” เพื่อความคล่องตัวในการบริหารกองทุน ให้สำนักงานเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจชื่อบัญชีเดียวกันกับวรรคหนึ่ง เพื่อใช้จ่ายตามแผนงานประจำปี หรือภายในวงเงินและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ข้อ ๑๙ เงินที่กองทุนได้รับตามข้อ ๖ (๑) และ (๒) ให้นำฝากเข้าบัญชีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่เปิดไว้ที่กรมบัญชีกลาง ข้อ ๒๐ เงินที่กองทุนได้รับตามข้อ ๖ (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) ให้นำส่งเข้าบัญชีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่เปิดไว้กับธนาคารตามข้อ ๑๘ วรรคสอง ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับเงิน หากได้รับเงินในวันเดียวเกินกว่าหนึ่งหมื่นบาท ให้นำฝากในวันรุ่งขึ้นนับจากวันที่ได้รับเงิน ข้อ ๒๑ ให้เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายมีอำนาจพิจารณาและอนุมัติการเบิกจ่ายเงินของกองทุนแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามข้อ ๕ (๒) จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของกองทุนตามข้อ ๙ (๓) จ่ายเป็นเงินลงทุนเพื่อการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนตามข้อ ๒๕ (๔) จ่ายเป็นค่าเบี้ยประชุมแก่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ ประธานอนุกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการตามข้อ ๑๕ (๕) จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ส่วนที่ ๓ การจ่ายเงิน ข้อ ๒๒ วิธีการจ่ายเงิน ให้ปฏิบัติดังนี้ (๑) การเบิกเงินจากกองทุนต้องทำเป็นหนังสือหรือทำตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด (๒) ให้เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินกองทุน (๓) การจ่ายเงินตาม (๒) ให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในหลักฐานการจ่ายหรือหลักฐานการขอรับเงินช่วยเหลือทุกฉบับ หรือลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในหลักฐานการจ่ายเงินก็ได้ (๔) การจ่ายเงินทุกครั้งให้จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม หรือจ่ายเงินผ่านธนาคาร หรือโดยวิธีการอื่นตามที่เลขาธิการกำหนด ยกเว้นการจ่ายเงินที่มีวงเงินไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท จะจ่ายเป็นเงินสดก็ได้ (๕) การเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินให้เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน ให้สั่งจ่ายโดยระบุชื่อเจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน และขีดฆ่าคำว่า “หรือตามคำสั่ง” “หรือผู้ถือ” ออก (๖) การจ่ายเงินต้องมีหลักฐานการจ่ายเก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบตามระเบียบของทางราชการด้วย ข้อ ๒๓ ให้สำนักงานทำหน้าที่ควบคุมรับผิดชอบการจ่ายเงินกองทุน ข้อ ๒๔ การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินหรือวิธีปฏิบัติอื่นใดเกี่ยวกับการเงินที่มิได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการนั้นโดยอนุโลม หากไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการได้ ให้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง ส่วนที่ ๔ การจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน ข้อ ๒๕ ให้นำเงินกองทุนไปหาผลประโยชน์ได้ ดังนี้ (๑) ฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ (๒) ซื้อพันธบัตรรัฐบาล (๓) ซื้อตราสารการเงินอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ (๔) ดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด หมวด ๕ การจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ ข้อ ๒๖ สมาชิกรัฐสภาต้องส่งเงินเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือน โดยการหักเงินประจำตำแหน่งในอัตราตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราร้อยละห้าของเงินประจำตำแหน่ง ข้อ ๒๗[๓] ให้สมาชิกรัฐสภาที่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนตามข้อ ๒๖ ซึ่งสมาชิกภาพได้สิ้นสุดลงมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนตามหลักเกณฑ์และอัตราตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ สมาชิกรัฐสภาที่จะมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นบุคคลที่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นสิทธิเฉพาะตัว ข้อ ๒๘[๔] การนับเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ในกรณีที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายใดมีสมาชิกภาพหลายวาระ ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ให้นำเวลาการมีสมาชิกภาพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายนั้นในทุกวาระรวมกันเป็นเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ กรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบนี้ได้กลับเข้ามีสมาชิกภาพสมาชิกรัฐสภาอีก ให้สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายนั้นระงับไปในระหว่างที่มีสมาชิกภาพสมาชิกรัฐสภา และเมื่อสมาชิกภาพสิ้นสุดลงจึงให้มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพโดยให้นำเวลาการมีสมาชิกภาพในครั้งหลังมารวมเป็นเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพด้วยตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง ข้อ ๒๙[๕] ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามข้อ ๒๗ มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนโดยให้ได้รับเป็นระยะเวลาสองเท่าของเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพตั้งแต่ ๑ เดือน แต่ไม่ถึง ๔๘ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๙,๐๐๐ บาท (๒) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๔๘ เดือน แต่ไม่ถึง ๙๖ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท (๓) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๙๖ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๔๔ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๑๔,๓๐๐ บาท (๔) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๑๔๔ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๙๒ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๑๗,๘๐๐ บาท (๕) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๑๙๒ เดือน แต่ไม่ถึง ๒๔๐ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๒๑,๔๐๐ บาท (๖) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๒๔๐ เดือน แต่ไม่ถึง ๒๘๘ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๒๘,๕๐๐ บาท (๗) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๒๘๘ เดือนขึ้นไป ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๓๕,๖๐๐ บาท การนับเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพให้นับเป็นเดือน โดยให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือนเศษของเดือนถ้าถึงสิบห้าวันให้นับเป็นหนึ่งเดือน ข้อ ๓๐[๖] ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามหลักเกณฑ์และอัตราเดียวกันกับผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามข้อ ๒๗ หมวด ๖ การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล ข้อ ๓๑ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาภายหลังวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลจากกองทุนโดยยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุในใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล พร้อมกับแสดงใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับและเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาลตามสัญญาประกันภัย หรือเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล หรือเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลตามวรรคแรก ข้อ ๓๒ การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๑ ให้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกรณีเป็นผู้ป่วยในรายละไม่เกินห้าหมื่นบาทต่อปี และกรณีเป็นผู้ป่วยนอกรายละไม่เกินสามหมื่นบาทต่อปี ข้อ ๓๓ ในกรณีที่สถานพยาบาลไม่มียา หรือสิ่งอื่นที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเพื่อให้ผลของการเจ็บป่วยบรรเทาหรือหมดไป ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๑ ซื้อยาหรือสิ่งอื่นที่จำเป็นตามใบสั่งยาซึ่งออกโดยแพทย์ผู้ตรวจรักษาจากสถานที่อื่นได้ ค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๑ อาจขอเบิกโดยยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด พร้อมกับแสดงใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล สำเนาใบสั่งยา และใบรับรองของแพทย์ผู้ออกใบสั่งยา ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่ขอเบิกดังกล่าวให้คิดรวมอยู่ในจำนวนเงินที่จะได้รับการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลตามข้อ ๓๒ หมวด ๗ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ ข้อ ๓๔ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ป่วยเจ็บทุพพลภาพซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าทุพพลภาพจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ ข้อ ๓๕ ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๔ ที่มีความประสงค์จะขอรับการช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพ ยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ในกรณีที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ทุพพลภาพไม่สามารถมายื่นคำขอต่อสำนักงานได้ให้บุคคลตามลำดับต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ๑. บุคคลที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้มอบอำนาจเป็นหนังสือให้เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ๒. คู่สมรส ๓. บุตร ๔. บิดามารดา การยื่นคำขอตามวรรคสองต้องแสดงหลักฐาน ดังต่อไปนี้ ๑. สำเนาทะเบียนบ้าน ๒. ทะเบียนสมรส (กรณีเป็นคู่สมรส) ๓. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ๔. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ๕. ใบรับรองของแพทย์ที่ระบุเหตุทุพพลภาพ ข้อ ๓๖ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานจำนวนไม่เกินสามคนขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาตรวจสอบหรือให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือให้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับความทุพพลภาพของผู้ยื่นคำขอ ข้อ ๓๗ การจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพให้แก่ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๔ ให้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินรายละห้าพันบาทต่อเดือน ข้อ ๓๘ ผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพต้องแสดงรายงานผลการตรวจสุขภาพประจำปีต่อคณะกรรมการปีละครั้ง ข้อ ๓๙ ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าการทุพพลภาพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้รับการฟื้นฟูจนมีสภาพดีขึ้น คณะกรรมการอาจพิจารณาสั่งลดจำนวนเงินช่วยเหลือลงได้ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ข้อ ๔๐ สิทธิได้รับเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพตามระเบียบนี้เป็นอันระงับในงวดถัดไปเพราะเหตุที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภานั้นถึงแก่กรรม หมวด ๘ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม ข้อ ๔๑ ในกรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม ให้บุคคลตามลำดับดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุนก่อนหลัง โดยให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ๑. บุคคลที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้แสดงเจตนาเป็นหนังสือให้เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุน ๒. คู่สมรส ๓. บุตร ๔. บิดามารดา การขอรับเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีสิทธิรับเงินยื่นคำขอต่อสำนักงานภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม โดยต้องแสดงหลักฐาน ดังต่อไปนี้ ๑. สำเนาทะเบียนบ้าน ๒. ทะเบียนสมรส (กรณีเป็นคู่สมรส) ๓. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ๔. ใบมรณบัตร ในกรณีผู้มีสิทธิขอรับเงินในลำดับเดียวกันมีมากกว่าหนึ่งราย ให้ผู้มีสิทธิขอรับเงินซึ่งเป็นรายที่ได้ยื่นคำขอนำหนังสือที่แสดงถึงการได้รับมอบหมายหรือได้รับความยินยอมจากผู้มีสิทธิขอรับเงินในลำดับเดียวกับตนรายอื่น ๆ ยื่นต่อสำนักงานประกอบหลักฐานตามวรรคสองด้วย ข้อ ๔๒ เมื่อได้รับคำขอและหลักฐานตามข้อ ๔๑ แล้ว ให้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือแก่บุคคลตามข้อ ๔๑ ภายในเจ็ดวัน เป็นเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท ข้อ ๔๓ ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องเข้าจัดการศพผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ถึงแก่กรรมเนื่องจากไม่มีผู้ใดเข้าจัดการในเวลาอันสมควร ให้สำนักงานหักค่าใช้จ่ายจากเงินช่วยเหลือได้เท่าที่จ่ายจริงแล้วมอบเงินส่วนที่เหลือถ้ามีให้แก่บุคคลตามข้อ ๔๑ ต่อไป ข้อ ๔๔ ให้สำนักงานหักเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพหรือเงินทุนเลี้ยงชีพซึ่งได้จ่ายเกินไปภายหลังผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรมออกจากจำนวนเงินที่ต้องจ่ายตามข้อ ๔๒ หมวด ๙ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร ข้อ ๔๕ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาภายหลังวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนในกรณีการให้การศึกษาบุตรสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจนถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าได้เพียงคนที่หนึ่งและคนที่สอง ทั้งนี้ ไม่รวมบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับและเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร หรือเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในการให้การศึกษาบุตรตามวรรคแรก ในกรณีที่บิดาและมารดาเป็นผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาและทั้งสองฝ่ายต่างเป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือ ให้เฉพาะบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนในกรณีการให้การศึกษาบุตรเพียงฝ่ายเดียว เว้นแต่เมื่อมีการจดทะเบียนหย่าหรือแยกกันอยู่ และบุตรอยู่ในความอุปการะของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายใด ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายนั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาของบุตร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประเภท และอัตรา ดังต่อไปนี้ (๑) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่า และหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินบำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๒) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเงินบำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๓) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๔) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าแต่ไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่า และหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๕) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร ทั้งนี้ บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการหรือเอกชนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าตาม (๒) หรือ (๕) จะต้องเป็นการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตรแรกเท่านั้น ข้อ ๔๖ ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๔๕ ใช้สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาของบุตร โดยยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด พร้อมด้วยหลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา ข้อ ๔๗ หลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (๑) ชื่อ สถานที่อยู่ หรือที่ทำการของสถานศึกษาผู้รับเงิน (๒) วัน เดือน ปีที่รับเงิน (๓) รายการแสดงการรับเงินระบุว่าเป็นค่าอะไร (๔) จำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษร (๕) ลายมือชื่อของผู้รับเงิน ในกรณีที่สถานศึกษามีข้อตกลงกับธนาคารในการรับชำระเงินบำรุงการศึกษาหรือเงินค่าเล่าเรียนของสถานศึกษา ให้ใช้ใบแจ้งการชำระเงินและหรือใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาซึ่งมีรายการในสาระสำคัญที่สำนักงานสามารถควบคุมและตรวจสอบการใช้สิทธิเบิกเงินสวัสดิการได้เป็นหลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา ข้อ ๔๘ การยื่นขอรับเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร ให้กระทำภายในกำหนดเวลา ดังนี้ (๑) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันเปิดภาคเรียนแต่ละภาค ในกรณีที่สถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าการศึกษาเป็นรายภาคเรียน (๒) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันเปิดเรียนภาคต้นของปีการศึกษา ในกรณีที่สถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าการศึกษาครั้งเดียวตลอดปี หากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าหมดสิทธิในการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือกรณีการให้การศึกษาของบุตรสำหรับภาคการศึกษาหรือปีการศึกษานั้น แล้วแต่กรณี เว้นแต่ผู้มีสิทธิตามข้อ ๔๕ มีความจำเป็นต้องขอผ่อนผันต่อสถานศึกษาในการชำระเงินล่าช้า ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๔๕ ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ออกหลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา หมวด ๑๐ สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น ข้อ ๔๙ ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีสิทธิได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในระเบียบนี้ ทั้งนี้ การจะให้ได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ใดให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ โดยให้ผู้มีสิทธิยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด หมวด ๑๑ การมอบอำนาจ ข้อ ๕๐ ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาอาจมอบอำนาจให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะดำเนินการแทนในเรื่องของการยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ยื่นคำขอรับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น รับเงิน หรือรับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ได้ การมอบอำนาจให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นหนังสือระบุข้อความซึ่งมีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอให้ทราบว่ามอบอำนาจให้ผู้ใดดำเนินการในเรื่องอะไร เพียงใด พร้อมพยานซึ่งบรรลุนิติภาวะลงชื่อรับรองอย่างน้อยหนึ่งคน โดยให้ผู้รับมอบอำนาจนำหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจยื่นต่อสำนักงาน หมวด ๑๒ การบัญชีและการตรวจสอบ ข้อ ๕๑ ให้สำนักงานจัดทำบัญชีตามระบบบัญชีสากล ข้อ ๕๒ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี ให้สำนักงานจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของกองทุนให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรอง เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบบัญชีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สำนักงานเสนอรายงานผลการสอบบัญชีดังกล่าวต่อคณะกรรมการและสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบต่อไป ข้อ ๕๓ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำรายงานการเงินรวมภาครัฐ ให้สำนักงานจัดส่งข้อมูลทางบัญชีของกองทุนเข้าสู่ระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Government Fiscal Management Information System : GFMIS) ตามวิธีการและระยะเวลาที่กรมบัญชีกลางกำหนด ข้อ ๕๔ ให้สำนักงานจัดให้มีระบบตรวจสอบภายในที่ดี โดยให้หน่วยตรวจสอบภายในของสำนักงานดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการเงินการบัญชีตามระเบียบนี้ แล้วรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบทุกสามเดือน หมวด ๑๓ การดำเนินคดี ข้อ ๕๕ ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติอันมีโทษทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาหรือในกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้เลขาธิการรับผิดชอบในการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรับผิดชอบในการดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง บทเฉพาะกาล ข้อ ๕๖ การดำเนินการใดเกี่ยวกับการเงินและบัญชีของกองทุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่แล้วเสร็จในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามระเบียบหรือประกาศที่ใช้บังคับอยู่เดิม จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จหรือจนกว่าจะสามารถดำเนินการตามระเบียบนี้ได้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ประธานกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘[๗] วิศนี/ผู้จัดทำ ๙ มีนาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนพิเศษ ๑๒๐ ง/หน้า ๖/๑๗ กันยายน ๒๕๕๖ [๒] ข้อ ๔ นิยามคำว่า “เงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย” ยกเลิกโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๓] ข้อ ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๔] ข้อ ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๕] ข้อ ๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๖] ข้อ ๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๔๔ ง/หน้า ๑/๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
788468
ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2559 (ฉบับ Update ล่าสุด)
ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๒ (๔) มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖ คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรักษาการตามระเบียบนี้และมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติ ตลอดจนกำหนดแบบเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ หมวด ๑ ข้อความทั่วไป ข้อ ๔ ในระเบียบนี้ “ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” หมายความว่า ผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร “ทุนเลี้ยงชีพ” หมายความว่า เงินที่สมาชิกรัฐสภามีสิทธิได้รับจากกองทุนเป็นรายเดือนเมื่อสมาชิกภาพสิ้นสุดลง “เวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ” หมายความว่า เวลาตั้งแต่วันเริ่มต้นสมาชิกภาพจนถึงวันสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาซึ่งใช้คำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบนี้ “เงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย”[๒] (ยกเลิก) “การรักษาพยาบาล” หมายความว่า การให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการรักษาโรค การตรวจวินิจฉัย การฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต และให้หมายความรวมถึงการตรวจสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลแต่ไม่รวมถึงการเสริมความงาม” “ค่ารักษาพยาบาล” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลเรียกเก็บในการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าตรวจสุขภาพประจำปี “สถานพยาบาล” หมายความว่า สถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลของเอกชน “สถานพยาบาลของทางราชการ” หมายความว่า สถานพยาบาลซึ่งเป็นส่วนราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และให้หมายความรวมถึงสถานพยาบาลของมหาวิทยาลัยของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา องค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย และองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โรงพยาบาลประสานมิตร และสถานพยาบาลอื่นตามที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล “สถานพยาบาลของเอกชน”[๓] หมายความว่า สถานพยาบาลที่มีลักษณะการให้บริการประเภทโรงพยาบาลและประเภทคลินิก ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล “ปี” หมายความว่า ปีปฏิทิน “ทุพพลภาพ” หมายความว่า การสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ หรือการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) มือทั้งสองข้างขาด (๒) แขนทั้งสองข้างขาด (๓) มือข้างหนึ่งกับแขนข้างหนึ่งขาด (๔) มือข้างหนึ่งกับขาข้างหนึ่งขาด (๕) แขนข้างหนึ่งกับเท้าข้างหนึ่งขาด (๖) แขนข้างหนึ่งกับขาข้างหนึ่งขาด (๗) สูญเสียลูกตาทั้งสองข้างหรือสูญเสียตาข้างหนึ่งกับสูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็นร้อยละเก้าสิบขึ้นไป หรือเสียความสามารถในการมองเห็นตั้งแต่ ๓/๖๐ หรือมากกว่าของตาอีกข้างหนึ่ง หรือสูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็นร้อยละเก้าสิบขึ้นไป หรือสูญเสียความสามารถในการมองเห็นตั้งแต่ ๓/๖๐ หรือมากกว่าของตาทั้งสองข้าง (๘) โรคหรือการบาดเจ็บของไขสันหลัง เป็นเหตุให้มือหรือแขนทั้งสองข้าง มือข้างหนึ่งกับแขนข้างหนึ่ง มือข้างหนึ่งกับขาอีกข้างหนึ่ง หรือแขนข้างหนึ่งกับขาหรือเท้าอีกข้างหนึ่ง หรือขาทั้งสองข้าง กับการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ สูญเสียสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง (๙) โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เป็นเหตุให้สูญเสียความสามารถของอวัยวะของร่างกาย “สถานศึกษาของทางราชการ” หมายความว่า (๑) มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือส่วนราชการอื่น หรือที่อยู่ในกำกับของรัฐ (๒) วิทยาลัยหรือสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเทียบเท่าวิทยาลัยในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ หรือส่วนราชการอื่นที่ ก.พ. รับรองคุณวุฒิ (๓) โรงเรียนในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย วิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง และให้หมายความรวมถึงโรงเรียนที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีการจัดระดับชั้นเรียนด้วย (๔) โรงเรียนในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของส่วนราชการอื่น หรือองค์การของรัฐบาลที่ ก.พ. รับรองคุณวุฒิ (๕) โรงเรียนในสังกัดส่วนราชการที่กระทรวงการคลังกำหนด (๖) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีการจัดระดับชั้นเรียนในสังกัดส่วนราชการ “สถานศึกษาของเอกชน” หมายความว่า (๑) สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (๒) โรงเรียนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาในระบบโรงเรียน และให้รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ “เงินบำรุงการศึกษา” หมายความว่า เงินประเภทต่าง ๆ ที่สถานศึกษาของทางราชการเรียกเก็บตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนราชการเจ้าสังกัด หรือที่กำกับ มหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง หรือองค์การของรัฐบาล “เงินค่าเล่าเรียน” หมายความว่า เงินค่าธรรมเนียมการเรียนหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งสถานศึกษาของเอกชนเรียกเก็บตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ “ปีการศึกษา” หมายความว่า ปีการศึกษาที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนราชการเจ้าสังกัดหรือที่กำกับ มหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง หรือองค์การของรัฐบาล หมวด ๒ การบริหารและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน ข้อ ๕ กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ดังต่อไปนี้ (๑) การจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ (๒) การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (๓) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ (๔) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม (๕) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร (๖) สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ข้อ ๖ กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ (๑) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ (๒) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี (๓) เงินที่สมาชิกรัฐสภาส่งเข้ากองทุนในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด (๔) เงินที่โอนมาจากกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๓ (๕) เงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน (๖) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการบริจาค (๗) ดอกผลของเงินกองทุน ข้อ ๗ รายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ข้อ ๘ ให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) บริหารกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบนี้และตามมติของคณะกรรมการ (๒) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ (๓) จัดทำรายงานและการบัญชีของกองทุน (๔) รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณเสนอต่อคณะกรรมการ (๕) จัดทำประมาณการรายจ่ายประจำปีงบประมาณของกองทุนเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ (๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ข้อ ๙ การใช้จ่ายในการบริหารงานของกองทุนให้ใช้จ่ายได้ภายในวงเงินประมาณการค่าใช้จ่ายประจำปีที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายจริงในการบริหารงานของกองทุนสูงกว่าวงเงินประมาณการค่าใช้จ่ายประจำปี ให้สำนักงานเสนอคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติม หมวด ๓ คณะกรรมการและการประชุมคณะกรรมการ ข้อ ๑๐ คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย (๑) ประธานรัฐสภา เป็นประธานกรรมการ (๒) รองประธานรัฐสภา เป็นรองประธานกรรมการ (๓) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภา ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (๔) กรรมการจำนวนสิบสามคนซึ่งประธานรัฐสภาแต่งตั้งตามมติของแต่ละสภา ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนห้าคนตามจำนวนหรือสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมือง สมาชิกวุฒิสภาจำนวนสามคน ผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสามคน และผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจำนวนสองคน กรณีรองประธานรัฐสภาตาม (๒) เป็นประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภาตาม (๓) ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ให้ประธานวุฒิสภามอบหมายให้รองประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภาคนใดคนหนึ่ง เป็นกรรมการโดยตำแหน่งตาม (๓) ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรรมการและเลขานุการ และเลขาธิการวุฒิสภาเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือเมื่อวาระของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาใหม่ แล้วแต่กรณี ข้อ ๑๑ กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามข้อ ๑๐ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ ในกรณีที่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามข้อ ๑๐ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน และให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ ข้อ ๑๒ นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามข้อ ๑๐ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) คณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด (๔) สิ้นสุดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก (๕) เป็นบุคคลล้มละลาย (๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๗) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ข้อ ๑๓ ให้คณะกรรมการมีการประชุมไม่น้อยกว่าสี่ครั้งในหนึ่งปีงบประมาณโดยแต่ละครั้งให้มีระยะเวลาห่างกันไม่เกินสามเดือน การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ ๑๔ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ให้นำความในข้อ ๑๓ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับกับการประชุมคณะอนุกรรมการ โดยอนุโลม ข้อ ๑๕ ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ ประธานอนุกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ได้รับเบี้ยประชุมตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ ซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา หมวด ๔ การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน และการจัดหาผลประโยชน์ ส่วนที่ ๑ การรับเงิน ข้อ ๑๖ ให้กองทุนรับเงินได้โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) รับเป็นเงินสด เช็ค ตั๋วแลกเงิน หรือธนาณัติ (๒) รับเงินจากการโอนผ่านธนาคาร (๓) รับเงินโดยวิธีการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้สำนักงานออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ชำระเงินทุกครั้ง เว้นแต่รายรับซึ่งตามลักษณะไม่อยู่ในสภาพที่จะออกใบเสร็จรับเงินได้ก็ให้ใช้หลักฐานการรับเงินแทน ข้อ ๑๗ เช็คที่จะรับทุกกรณีต้องมีลักษณะและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นเช็คของธนาคารและต้องมิใช่เช็คโอนสลักหลัง (๒) เป็นเช็คที่มีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๘๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (๓) เป็นเช็คที่ออกในวันที่นำเช็คมาชำระหรือเป็นเช็คที่ลงวันที่ก่อนวันชำระไม่เกินเจ็ดวันและมิใช่เช็คที่ลงวันที่ล่วงหน้า (๔) เป็นเช็คที่ขีดคร่อม สั่งจ่ายเงินให้แก่ “กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” โดยขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก ส่วนที่ ๒ การเก็บรักษาและการอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน ข้อ ๑๘ ให้สำนักงานเปิดบัญชีกองทุนไว้ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เรียกว่า “บัญชีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” เพื่อความคล่องตัวในการบริหารกองทุน ให้สำนักงานเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจชื่อบัญชีเดียวกันกับวรรคหนึ่ง เพื่อใช้จ่ายตามแผนงานประจำปี หรือภายในวงเงินและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ข้อ ๑๙ เงินที่กองทุนได้รับตามข้อ ๖ (๑) และ (๒) ให้นำฝากเข้าบัญชีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่เปิดไว้ที่กรมบัญชีกลาง ข้อ ๒๐ เงินที่กองทุนได้รับตามข้อ ๖ (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) ให้นำส่งเข้าบัญชีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่เปิดไว้กับธนาคารตามข้อ ๑๘ วรรคสอง ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับเงิน หากได้รับเงินในวันเดียวเกินกว่าหนึ่งหมื่นบาท ให้นำฝากในวันรุ่งขึ้นนับจากวันที่ได้รับเงิน ข้อ ๒๑ ให้เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายมีอำนาจพิจารณาและอนุมัติการเบิกจ่ายเงินของกองทุนแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามข้อ ๕ (๒) จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของกองทุนตามข้อ ๙ (๓) จ่ายเป็นเงินลงทุนเพื่อการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนตามข้อ ๒๕ (๔) จ่ายเป็นค่าเบี้ยประชุมแก่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ ประธานอนุกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการตามข้อ ๑๕ (๕) จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ส่วนที่ ๓ การจ่ายเงิน ข้อ ๒๒ วิธีการจ่ายเงิน ให้ปฏิบัติดังนี้ (๑) การเบิกเงินจากกองทุนต้องทำเป็นหนังสือหรือทำตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด (๒) ให้เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินกองทุน (๓) การจ่ายเงินตาม (๒) ให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในหลักฐานการจ่ายหรือหลักฐานการขอรับเงินช่วยเหลือทุกฉบับ หรือลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในหลักฐานการจ่ายเงินก็ได้ (๔) การจ่ายเงินทุกครั้งให้จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม หรือจ่ายเงินผ่านธนาคาร หรือโดยวิธีการอื่นตามที่เลขาธิการกำหนด ยกเว้นการจ่ายเงินที่มีวงเงินไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท จะจ่ายเป็นเงินสดก็ได้ (๕) การเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินให้เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน ให้สั่งจ่ายโดยระบุชื่อเจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน และขีดฆ่าคำว่า “หรือตามคำสั่ง” “หรือผู้ถือ” ออก (๖) การจ่ายเงินต้องมีหลักฐานการจ่ายเก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบตามระเบียบของทางราชการด้วย ข้อ ๒๓ ให้สำนักงานทำหน้าที่ควบคุมรับผิดชอบการจ่ายเงินกองทุน ข้อ ๒๔ การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินหรือวิธีปฏิบัติอื่นใดเกี่ยวกับการเงินที่มิได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการนั้นโดยอนุโลม หากไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการได้ ให้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง ส่วนที่ ๔ การจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน ข้อ ๒๕ ให้นำเงินกองทุนไปหาผลประโยชน์ได้ ดังนี้ (๑) ฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ (๒) ซื้อพันธบัตรรัฐบาล (๓) ซื้อตราสารการเงินอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ (๔) ดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด หมวด ๕ การจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ ข้อ ๒๖ สมาชิกรัฐสภาต้องส่งเงินเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือน โดยการหักเงินประจำตำแหน่งในอัตราตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราร้อยละห้าของเงินประจำตำแหน่ง ข้อ ๒๗[๔] ให้สมาชิกรัฐสภาที่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนตามข้อ ๒๖ ซึ่งสมาชิกภาพได้สิ้นสุดลงมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนตามหลักเกณฑ์และอัตราตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ สมาชิกรัฐสภาที่จะมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นบุคคลที่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นสิทธิเฉพาะตัว ข้อ ๒๘[๕] การนับเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ในกรณีที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายใดมีสมาชิกภาพหลายวาระ ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ให้นำเวลาการมีสมาชิกภาพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายนั้นในทุกวาระรวมกันเป็นเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ กรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบนี้ได้กลับเข้ามีสมาชิกภาพสมาชิกรัฐสภาอีก ให้สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายนั้นระงับไปในระหว่างที่มีสมาชิกภาพสมาชิกรัฐสภา และเมื่อสมาชิกภาพสิ้นสุดลงจึงให้มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพโดยให้นำเวลาการมีสมาชิกภาพในครั้งหลังมารวมเป็นเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพด้วยตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง ข้อ ๒๙[๖] ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามข้อ ๒๗ มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนโดยให้ได้รับเป็นระยะเวลาสองเท่าของเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพตั้งแต่ ๑ เดือน แต่ไม่ถึง ๔๘ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๙,๐๐๐ บาท (๒) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๔๘ เดือน แต่ไม่ถึง ๙๖ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท (๓) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๙๖ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๔๔ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๑๔,๓๐๐ บาท (๔) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๑๔๔ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๙๒ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๑๗,๘๐๐ บาท (๕) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๑๙๒ เดือน แต่ไม่ถึง ๒๔๐ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๒๑,๔๐๐ บาท (๖) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๒๔๐ เดือน แต่ไม่ถึง ๒๘๘ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๒๘,๕๐๐ บาท (๗) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๒๘๘ เดือนขึ้นไป ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๓๕,๖๐๐ บาท การนับเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพให้นับเป็นเดือน โดยให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือนเศษของเดือนถ้าถึงสิบห้าวันให้นับเป็นหนึ่งเดือน ข้อ ๓๐[๗] ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามหลักเกณฑ์และอัตราเดียวกันกับผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามข้อ ๒๗ หมวด ๖ การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล ข้อ ๓๑[๘] ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลจากกองทุน โดยยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุในใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล พร้อมกับแสดงใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายใดเป็นผู้มีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาลตามสัญญาประกันภัย หรือมีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล หรือมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือมีสิทธิใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล และเมื่อได้ใช้สิทธิที่มีอยู่ดังกล่าวในการรักษาพยาบาลแล้ว ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายนั้นมีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลจากกองทุนได้เฉพาะส่วนเกินจากสิทธิที่ได้ใช้ไป แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๒ ข้อ ๓๒ การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๑ ให้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกรณีเป็นผู้ป่วยในรายละไม่เกินห้าหมื่นบาทต่อปี และกรณีเป็นผู้ป่วยนอกรายละไม่เกินสามหมื่นบาทต่อปี ข้อ ๓๓ ในกรณีที่สถานพยาบาลไม่มียา หรือสิ่งอื่นที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเพื่อให้ผลของการเจ็บป่วยบรรเทาหรือหมดไป ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๑ ซื้อยาหรือสิ่งอื่นที่จำเป็นตามใบสั่งยาซึ่งออกโดยแพทย์ผู้ตรวจรักษาจากสถานที่อื่นได้ ค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๑ อาจขอเบิกโดยยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด พร้อมกับแสดงใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล สำเนาใบสั่งยา และใบรับรองของแพทย์ผู้ออกใบสั่งยา ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่ขอเบิกดังกล่าวให้คิดรวมอยู่ในจำนวนเงินที่จะได้รับการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลตามข้อ ๓๒ หมวด ๗ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ ข้อ ๓๔ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ป่วยเจ็บทุพพลภาพซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าทุพพลภาพจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ ข้อ ๓๕ ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๔ ที่มีความประสงค์จะขอรับการช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพ ยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ในกรณีที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ทุพพลภาพไม่สามารถมายื่นคำขอต่อสำนักงานได้ให้บุคคลตามลำดับต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ๑. บุคคลที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้มอบอำนาจเป็นหนังสือให้เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ๒. คู่สมรส ๓. บุตร ๔. บิดามารดา การยื่นคำขอตามวรรคสองต้องแสดงหลักฐาน ดังต่อไปนี้ ๑. สำเนาทะเบียนบ้าน ๒. ทะเบียนสมรส (กรณีเป็นคู่สมรส) ๓. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ๔. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ๕. ใบรับรองของแพทย์ที่ระบุเหตุทุพพลภาพ ข้อ ๓๖ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานจำนวนไม่เกินสามคนขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาตรวจสอบหรือให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือให้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับความทุพพลภาพของผู้ยื่นคำขอ ข้อ ๓๗ การจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพให้แก่ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๔ ให้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินรายละห้าพันบาทต่อเดือน ข้อ ๓๘ ผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพต้องแสดงรายงานผลการตรวจสุขภาพประจำปีต่อคณะกรรมการปีละครั้ง ข้อ ๓๙ ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าการทุพพลภาพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้รับการฟื้นฟูจนมีสภาพดีขึ้น คณะกรรมการอาจพิจารณาสั่งลดจำนวนเงินช่วยเหลือลงได้ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ข้อ ๔๐ สิทธิได้รับเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพตามระเบียบนี้เป็นอันระงับในงวดถัดไปเพราะเหตุที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภานั้นถึงแก่กรรม หมวด ๘ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม ข้อ ๔๑ ในกรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม ให้บุคคลตามลำดับดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุนก่อนหลัง โดยให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ๑. บุคคลที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้แสดงเจตนาเป็นหนังสือให้เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุน ๒. คู่สมรส ๓. บุตร ๔. บิดามารดา การขอรับเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีสิทธิรับเงินยื่นคำขอต่อสำนักงานภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม โดยต้องแสดงหลักฐาน ดังต่อไปนี้ ๑. สำเนาทะเบียนบ้าน ๒. ทะเบียนสมรส (กรณีเป็นคู่สมรส) ๓. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ๔. ใบมรณบัตร ในกรณีผู้มีสิทธิขอรับเงินในลำดับเดียวกันมีมากกว่าหนึ่งราย ให้ผู้มีสิทธิขอรับเงินซึ่งเป็นรายที่ได้ยื่นคำขอนำหนังสือที่แสดงถึงการได้รับมอบหมายหรือได้รับความยินยอมจากผู้มีสิทธิขอรับเงินในลำดับเดียวกับตนรายอื่น ๆ ยื่นต่อสำนักงานประกอบหลักฐานตามวรรคสองด้วย ข้อ ๔๒ เมื่อได้รับคำขอและหลักฐานตามข้อ ๔๑ แล้ว ให้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือแก่บุคคลตามข้อ ๔๑ ภายในเจ็ดวัน เป็นเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท ข้อ ๔๓ ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องเข้าจัดการศพผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ถึงแก่กรรมเนื่องจากไม่มีผู้ใดเข้าจัดการในเวลาอันสมควร ให้สำนักงานหักค่าใช้จ่ายจากเงินช่วยเหลือได้เท่าที่จ่ายจริงแล้วมอบเงินส่วนที่เหลือถ้ามีให้แก่บุคคลตามข้อ ๔๑ ต่อไป ข้อ ๔๔ ให้สำนักงานหักเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพหรือเงินทุนเลี้ยงชีพซึ่งได้จ่ายเกินไปภายหลังผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรมออกจากจำนวนเงินที่ต้องจ่ายตามข้อ ๔๒ หมวด ๙ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร ข้อ ๔๕ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาภายหลังวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนในกรณีการให้การศึกษาบุตรสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจนถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าได้เพียงคนที่หนึ่งและคนที่สอง ทั้งนี้ ไม่รวมบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับและเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร หรือเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในการให้การศึกษาบุตรตามวรรคแรก ในกรณีที่บิดาและมารดาเป็นผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาและทั้งสองฝ่ายต่างเป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือ ให้เฉพาะบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนในกรณีการให้การศึกษาบุตรเพียงฝ่ายเดียว เว้นแต่เมื่อมีการจดทะเบียนหย่าหรือแยกกันอยู่ และบุตรอยู่ในความอุปการะของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายใด ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายนั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาของบุตร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประเภท และอัตรา ดังต่อไปนี้ (๑) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่า และหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินบำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๒) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเงินบำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๓) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๔) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าแต่ไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่า และหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๕) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร ทั้งนี้ บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการหรือเอกชนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าตาม (๒) หรือ (๕) จะต้องเป็นการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตรแรกเท่านั้น ข้อ ๔๖ ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๔๕ ใช้สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาของบุตร โดยยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด พร้อมด้วยหลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา ข้อ ๔๗ หลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (๑) ชื่อ สถานที่อยู่ หรือที่ทำการของสถานศึกษาผู้รับเงิน (๒) วัน เดือน ปีที่รับเงิน (๓) รายการแสดงการรับเงินระบุว่าเป็นค่าอะไร (๔) จำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษร (๕) ลายมือชื่อของผู้รับเงิน ในกรณีที่สถานศึกษามีข้อตกลงกับธนาคารในการรับชำระเงินบำรุงการศึกษาหรือเงินค่าเล่าเรียนของสถานศึกษา ให้ใช้ใบแจ้งการชำระเงินและหรือใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาซึ่งมีรายการในสาระสำคัญที่สำนักงานสามารถควบคุมและตรวจสอบการใช้สิทธิเบิกเงินสวัสดิการได้เป็นหลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา ข้อ ๔๘ การยื่นขอรับเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร ให้กระทำภายในกำหนดเวลา ดังนี้ (๑) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันเปิดภาคเรียนแต่ละภาค ในกรณีที่สถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าการศึกษาเป็นรายภาคเรียน (๒) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันเปิดเรียนภาคต้นของปีการศึกษา ในกรณีที่สถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าการศึกษาครั้งเดียวตลอดปี หากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าหมดสิทธิในการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือกรณีการให้การศึกษาของบุตรสำหรับภาคการศึกษาหรือปีการศึกษานั้น แล้วแต่กรณี เว้นแต่ผู้มีสิทธิตามข้อ ๔๕ มีความจำเป็นต้องขอผ่อนผันต่อสถานศึกษาในการชำระเงินล่าช้า ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๔๕ ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ออกหลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา หมวด ๑๐ สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น ข้อ ๔๙ ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีสิทธิได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในระเบียบนี้ ทั้งนี้ การจะให้ได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ใดให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ โดยให้ผู้มีสิทธิยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด หมวด ๑๑ การมอบอำนาจ ข้อ ๕๐ ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาอาจมอบอำนาจให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะดำเนินการแทนในเรื่องของการยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ยื่นคำขอรับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น รับเงิน หรือรับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ได้ การมอบอำนาจให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นหนังสือระบุข้อความซึ่งมีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอให้ทราบว่ามอบอำนาจให้ผู้ใดดำเนินการในเรื่องอะไร เพียงใด พร้อมพยานซึ่งบรรลุนิติภาวะลงชื่อรับรองอย่างน้อยหนึ่งคน โดยให้ผู้รับมอบอำนาจนำหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจยื่นต่อสำนักงาน หมวด ๑๒ การบัญชีและการตรวจสอบ ข้อ ๕๑ ให้สำนักงานจัดทำบัญชีตามระบบบัญชีสากล ข้อ ๕๒ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี ให้สำนักงานจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของกองทุนให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรอง เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบบัญชีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สำนักงานเสนอรายงานผลการสอบบัญชีดังกล่าวต่อคณะกรรมการและสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบต่อไป ข้อ ๕๓ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำรายงานการเงินรวมภาครัฐ ให้สำนักงานจัดส่งข้อมูลทางบัญชีของกองทุนเข้าสู่ระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Government Fiscal Management Information System : GFMIS) ตามวิธีการและระยะเวลาที่กรมบัญชีกลางกำหนด ข้อ ๕๔ ให้สำนักงานจัดให้มีระบบตรวจสอบภายในที่ดี โดยให้หน่วยตรวจสอบภายในของสำนักงานดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการเงินการบัญชีตามระเบียบนี้ แล้วรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบทุกสามเดือน หมวด ๑๓ การดำเนินคดี ข้อ ๕๕ ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติอันมีโทษทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาหรือในกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้เลขาธิการรับผิดชอบในการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรับผิดชอบในการดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง บทเฉพาะกาล ข้อ ๕๖ การดำเนินการใดเกี่ยวกับการเงินและบัญชีของกองทุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่แล้วเสร็จในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามระเบียบหรือประกาศที่ใช้บังคับอยู่เดิม จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จหรือจนกว่าจะสามารถดำเนินการตามระเบียบนี้ได้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ประธานกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘[๙] ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นไป ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐[๑๐] ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป วิศนี/จัดทำ ๙ มีนาคม ๒๕๕๘ ปริญสินีย์/เพิ่มเติม ๕ ตุลาคม ๒๕๐๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนพิเศษ ๑๒๐ ง/หน้า ๖/๑๗ กันยายน ๒๕๕๖ [๒] ข้อ ๔ นิยามคำว่า “เงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย” ยกเลิกโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๓] ข้อ ๔ นิยามคำว่า “สถานพยาบาลของเอกชน” แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๔] ข้อ ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๕] ข้อ ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๖] ข้อ ๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๗] ข้อ ๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินการจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๘] ข้อ ๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๔๔ ง/หน้า ๑/๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนพิเศษ ๒๐๒ ง/หน้า ๑/๙ สิงหาคม ๒๕๖๐
783272
ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560
ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๒ (๔) มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖ คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐” ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “สถานพยาบาลของเอกชน” ในข้อ ๔ แห่งระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ““สถานพยาบาลของเอกชน” หมายความว่า สถานพยาบาลที่มีลักษณะการให้บริการประเภทโรงพยาบาลและประเภทคลินิก ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓๑ แห่งระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๓๑ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลจากกองทุน โดยยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุในใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล พร้อมกับแสดงใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายใดเป็นผู้มีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาลตามสัญญาประกันภัย หรือมีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล หรือมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือมีสิทธิใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล และเมื่อได้ใช้สิทธิที่มีอยู่ดังกล่าวในการรักษาพยาบาลแล้ว ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายนั้นมีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลจากกองทุนได้เฉพาะส่วนเกินจากสิทธิที่ได้ใช้ไป แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๒” ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ประธานกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ปวันวิทย์/อัญชลี/จัดทำ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนพิเศษ ๒๐๒ ง/หน้า ๑/๙ สิงหาคม ๒๕๖๐
723702
ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘[๑] โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๒ (๔) มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖ คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “เงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย” ในข้อ ๔ แห่งระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒๗ ข้อ ๒๘ ข้อ ๒๙ และข้อ ๓๐ แห่งระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๒๗ ให้สมาชิกรัฐสภาที่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนตามข้อ ๒๖ ซึ่งสมาชิกภาพได้สิ้นสุดลงมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนตามหลักเกณฑ์และอัตราตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ สมาชิกรัฐสภาที่จะมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นบุคคลที่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นสิทธิเฉพาะตัว ข้อ ๒๘ การนับเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ในกรณีที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายใดมีสมาชิกภาพหลายวาระ ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ให้นำเวลาการมีสมาชิกภาพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายนั้นในทุกวาระรวมกันเป็นเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ กรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบนี้ได้กลับเข้ามีสมาชิกภาพสมาชิกรัฐสภาอีก ให้สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภารายนั้นระงับไปในระหว่างที่มีสมาชิกภาพสมาชิกรัฐสภา และเมื่อสมาชิกภาพสิ้นสุดลงจึงให้มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพโดยให้นำเวลาการมีสมาชิกภาพในครั้งหลังมารวมเป็นเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพด้วยตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง ข้อ ๒๙ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามข้อ ๒๗ มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนโดยให้ได้รับเป็นระยะเวลาสองเท่าของเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพตั้งแต่ ๑ เดือน แต่ไม่ถึง ๔๘ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๙,๐๐๐ บาท (๒) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๔๘ เดือน แต่ไม่ถึง ๙๖ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท (๓) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๙๖ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๔๔ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๑๔,๓๐๐ บาท (๔) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๑๔๔ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๙๒ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๑๗,๘๐๐ บาท (๕) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๑๙๒ เดือน แต่ไม่ถึง ๒๔๐ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๒๑,๔๐๐ บาท (๖) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๒๔๐ เดือน แต่ไม่ถึง ๒๘๘ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๒๘,๕๐๐ บาท (๗) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๒๘๘ เดือนขึ้นไป ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพในอัตราเดือนละ ๓๕,๖๐๐ บาท การนับเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพให้นับเป็นเดือน โดยให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือนเศษของเดือนถ้าถึงสิบห้าวันให้นับเป็นหนึ่งเดือน ข้อ ๓๐ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามหลักเกณฑ์และอัตราเดียวกันกับผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามข้อ ๒๗” ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ประธานกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๓ มีนาคม ๒๕๕๘ วิศนี/ผู้ตรวจ ๙ มีนาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๔๔ ง/หน้า ๑/๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
692410
ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556
ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๒ (๔) มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖ คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการจ่ายเงินช่วยเหลือกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๖” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรักษาการตามระเบียบนี้และมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติ ตลอดจนกำหนดแบบเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ หมวด ๑ ข้อความทั่วไป ข้อ ๔ ในระเบียบนี้ “ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” หมายความว่า ผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร “ทุนเลี้ยงชีพ” หมายความว่า เงินที่สมาชิกรัฐสภามีสิทธิได้รับจากกองทุนเป็นรายเดือนเมื่อสมาชิกภาพสิ้นสุดลง “เวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ” หมายความว่า เวลาตั้งแต่วันเริ่มต้นสมาชิกภาพจนถึงวันสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาซึ่งใช้คำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบนี้ “เงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย” หมายความว่า เงินประจำตำแหน่งหรือเงินที่เรียกชื่ออย่างอื่นอันมีลักษณะเดียวกันกับเงินประจำตำแหน่งที่สมาชิกรัฐสภาได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นในเดือนสุดท้ายที่สิ้นสุดสมาชิกภาพ แต่ไม่รวมถึงเงินเพิ่มหรือเงินที่เรียกชื่ออย่างอื่นอันมีลักษณะเดียวกันกับเงินเพิ่มและเงินอื่น ในกรณีที่มีการนับเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพหลายช่วงเวลาต่อเนื่องกัน เงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้ายให้หมายความถึงเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้ายที่ได้รับ “การรักษาพยาบาล” หมายความว่า การให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการรักษาโรค การตรวจวินิจฉัย การฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต และให้หมายความรวมถึงการตรวจสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลแต่ไม่รวมถึงการเสริมความงาม” “ค่ารักษาพยาบาล” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลเรียกเก็บในการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าตรวจสุขภาพประจำปี “สถานพยาบาล” หมายความว่า สถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลของเอกชน “สถานพยาบาลของทางราชการ” หมายความว่า สถานพยาบาลซึ่งเป็นส่วนราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และให้หมายความรวมถึงสถานพยาบาลของมหาวิทยาลัยของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา องค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย และองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โรงพยาบาลประสานมิตร และสถานพยาบาลอื่นตามที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล “สถานพยาบาลของเอกชน” หมายความว่า สถานพยาบาลที่มีลักษณะการให้บริการเป็นโรงพยาบาล ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล “ปี” หมายความว่า ปีปฏิทิน “ทุพพลภาพ” หมายความว่า การสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ หรือการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) มือทั้งสองข้างขาด (๒) แขนทั้งสองข้างขาด (๓) มือข้างหนึ่งกับแขนข้างหนึ่งขาด (๔) มือข้างหนึ่งกับขาข้างหนึ่งขาด (๕) แขนข้างหนึ่งกับเท้าข้างหนึ่งขาด (๖) แขนข้างหนึ่งกับขาข้างหนึ่งขาด (๗) สูญเสียลูกตาทั้งสองข้างหรือสูญเสียตาข้างหนึ่งกับสูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็นร้อยละเก้าสิบขึ้นไป หรือเสียความสามารถในการมองเห็นตั้งแต่ ๓/๖๐ หรือมากกว่าของตาอีกข้างหนึ่ง หรือสูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็นร้อยละเก้าสิบขึ้นไป หรือสูญเสียความสามารถในการมองเห็นตั้งแต่ ๓/๖๐ หรือมากกว่าของตาทั้งสองข้าง (๘) โรคหรือการบาดเจ็บของไขสันหลัง เป็นเหตุให้มือหรือแขนทั้งสองข้าง มือข้างหนึ่งกับแขนข้างหนึ่ง มือข้างหนึ่งกับขาอีกข้างหนึ่ง หรือแขนข้างหนึ่งกับขาหรือเท้าอีกข้างหนึ่ง หรือขาทั้งสองข้าง กับการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ สูญเสียสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง (๙) โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เป็นเหตุให้สูญเสียความสามารถของอวัยวะของร่างกาย “สถานศึกษาของทางราชการ” หมายความว่า (๑) มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือส่วนราชการอื่น หรือที่อยู่ในกำกับของรัฐ (๒) วิทยาลัยหรือสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเทียบเท่าวิทยาลัยในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ หรือส่วนราชการอื่นที่ ก.พ. รับรองคุณวุฒิ (๓) โรงเรียนในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย วิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง และให้หมายความรวมถึงโรงเรียนที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีการจัดระดับชั้นเรียนด้วย (๔) โรงเรียนในสังกัดหรืออยู่ในกำกับของส่วนราชการอื่น หรือองค์การของรัฐบาลที่ ก.พ. รับรองคุณวุฒิ (๕) โรงเรียนในสังกัดส่วนราชการที่กระทรวงการคลังกำหนด (๖) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีการจัดระดับชั้นเรียนในสังกัดส่วนราชการ “สถานศึกษาของเอกชน” หมายความว่า (๑) สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (๒) โรงเรียนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาในระบบโรงเรียน และให้รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ “เงินบำรุงการศึกษา” หมายความว่า เงินประเภทต่าง ๆ ที่สถานศึกษาของทางราชการเรียกเก็บตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนราชการเจ้าสังกัด หรือที่กำกับ มหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง หรือองค์การของรัฐบาล “เงินค่าเล่าเรียน” หมายความว่า เงินค่าธรรมเนียมการเรียนหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งสถานศึกษาของเอกชนเรียกเก็บตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ “ปีการศึกษา” หมายความว่า ปีการศึกษาที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนราชการเจ้าสังกัดหรือที่กำกับ มหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง หรือองค์การของรัฐบาล หมวด ๒ การบริหารและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน ข้อ ๕ กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ดังต่อไปนี้ (๑) การจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ (๒) การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (๓) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ (๔) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม (๕) การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร (๖) สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ข้อ ๖ กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ (๑) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ (๒) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี (๓) เงินที่สมาชิกรัฐสภาส่งเข้ากองทุนในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด (๔) เงินที่โอนมาจากกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๓ (๕) เงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน (๖) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการบริจาค (๗) ดอกผลของเงินกองทุน ข้อ ๗ รายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ข้อ ๘ ให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) บริหารกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบนี้และตามมติของคณะกรรมการ (๒) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ (๓) จัดทำรายงานและการบัญชีของกองทุน (๔) รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณเสนอต่อคณะกรรมการ (๕) จัดทำประมาณการรายจ่ายประจำปีงบประมาณของกองทุนเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ (๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ข้อ ๙ การใช้จ่ายในการบริหารงานของกองทุนให้ใช้จ่ายได้ภายในวงเงินประมาณการค่าใช้จ่ายประจำปีที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายจริงในการบริหารงานของกองทุนสูงกว่าวงเงินประมาณการค่าใช้จ่ายประจำปี ให้สำนักงานเสนอคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติม หมวด ๓ คณะกรรมการและการประชุมคณะกรรมการ ข้อ ๑๐ คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย (๑) ประธานรัฐสภา เป็นประธานกรรมการ (๒) รองประธานรัฐสภา เป็นรองประธานกรรมการ (๓) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภา ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (๔) กรรมการจำนวนสิบสามคนซึ่งประธานรัฐสภาแต่งตั้งตามมติของแต่ละสภา ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนห้าคนตามจำนวนหรือสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมือง สมาชิกวุฒิสภาจำนวนสามคน ผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสามคน และผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจำนวนสองคน กรณีรองประธานรัฐสภาตาม (๒) เป็นประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภาตาม (๓) ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ให้ประธานวุฒิสภามอบหมายให้รองประธานคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการวุฒิสภาคนใดคนหนึ่ง เป็นกรรมการโดยตำแหน่งตาม (๓) ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรรมการและเลขานุการ และเลขาธิการวุฒิสภาเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือเมื่อวาระของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาใหม่ แล้วแต่กรณี ข้อ ๑๑ กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามข้อ ๑๐ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ ในกรณีที่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามข้อ ๑๐ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน และให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ ข้อ ๑๒ นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามข้อ ๑๐ (๔) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) คณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด (๔) สิ้นสุดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก (๕) เป็นบุคคลล้มละลาย (๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๗) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ข้อ ๑๓ ให้คณะกรรมการมีการประชุมไม่น้อยกว่าสี่ครั้งในหนึ่งปีงบประมาณโดยแต่ละครั้งให้มีระยะเวลาห่างกันไม่เกินสามเดือน การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ ๑๔ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ให้นำความในข้อ ๑๓ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับกับการประชุมคณะอนุกรรมการ โดยอนุโลม ข้อ ๑๕ ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ ประธานอนุกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ได้รับเบี้ยประชุมตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ ซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา หมวด ๔ การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน และการจัดหาผลประโยชน์ ส่วนที่ ๑ การรับเงิน ข้อ ๑๖ ให้กองทุนรับเงินได้โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) รับเป็นเงินสด เช็ค ตั๋วแลกเงิน หรือธนาณัติ (๒) รับเงินจากการโอนผ่านธนาคาร (๓) รับเงินโดยวิธีการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้สำนักงานออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ชำระเงินทุกครั้ง เว้นแต่รายรับซึ่งตามลักษณะไม่อยู่ในสภาพที่จะออกใบเสร็จรับเงินได้ก็ให้ใช้หลักฐานการรับเงินแทน ข้อ ๑๗ เช็คที่จะรับทุกกรณีต้องมีลักษณะและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นเช็คของธนาคารและต้องมิใช่เช็คโอนสลักหลัง (๒) เป็นเช็คที่มีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๘๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (๓) เป็นเช็คที่ออกในวันที่นำเช็คมาชำระหรือเป็นเช็คที่ลงวันที่ก่อนวันชำระไม่เกินเจ็ดวันและมิใช่เช็คที่ลงวันที่ล่วงหน้า (๔) เป็นเช็คที่ขีดคร่อม สั่งจ่ายเงินให้แก่ “กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” โดยขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก ส่วนที่ ๒ การเก็บรักษาและการอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน ข้อ ๑๘ ให้สำนักงานเปิดบัญชีกองทุนไว้ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เรียกว่า “บัญชีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” เพื่อความคล่องตัวในการบริหารกองทุน ให้สำนักงานเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจชื่อบัญชีเดียวกันกับวรรคหนึ่ง เพื่อใช้จ่ายตามแผนงานประจำปี หรือภายในวงเงินและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ข้อ ๑๙ เงินที่กองทุนได้รับตามข้อ ๖ (๑) และ (๒) ให้นำฝากเข้าบัญชีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่เปิดไว้ที่กรมบัญชีกลาง ข้อ ๒๐ เงินที่กองทุนได้รับตามข้อ ๖ (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) ให้นำส่งเข้าบัญชีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่เปิดไว้กับธนาคารตามข้อ ๑๘ วรรคสอง ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับเงิน หากได้รับเงินในวันเดียวเกินกว่าหนึ่งหมื่นบาท ให้นำฝากในวันรุ่งขึ้นนับจากวันที่ได้รับเงิน ข้อ ๒๑ ให้เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายมีอำนาจพิจารณาและอนุมัติการเบิกจ่ายเงินของกองทุนแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามข้อ ๕ (๒) จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของกองทุนตามข้อ ๙ (๓) จ่ายเป็นเงินลงทุนเพื่อการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนตามข้อ ๒๕ (๔) จ่ายเป็นค่าเบี้ยประชุมแก่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ ประธานอนุกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการตามข้อ ๑๕ (๕) จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ส่วนที่ ๓ การจ่ายเงิน ข้อ ๒๒ วิธีการจ่ายเงิน ให้ปฏิบัติดังนี้ (๑) การเบิกเงินจากกองทุนต้องทำเป็นหนังสือหรือทำตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด (๒) ให้เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินกองทุน (๓) การจ่ายเงินตาม (๒) ให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในหลักฐานการจ่ายหรือหลักฐานการขอรับเงินช่วยเหลือทุกฉบับ หรือลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในหลักฐานการจ่ายเงินก็ได้ (๔) การจ่ายเงินทุกครั้งให้จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม หรือจ่ายเงินผ่านธนาคาร หรือโดยวิธีการอื่นตามที่เลขาธิการกำหนด ยกเว้นการจ่ายเงินที่มีวงเงินไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท จะจ่ายเป็นเงินสดก็ได้ (๕) การเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินให้เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน ให้สั่งจ่ายโดยระบุชื่อเจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน และขีดฆ่าคำว่า “หรือตามคำสั่ง” “หรือผู้ถือ” ออก (๖) การจ่ายเงินต้องมีหลักฐานการจ่ายเก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบตามระเบียบของทางราชการด้วย ข้อ ๒๓ ให้สำนักงานทำหน้าที่ควบคุมรับผิดชอบการจ่ายเงินกองทุน ข้อ ๒๔ การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินหรือวิธีปฏิบัติอื่นใดเกี่ยวกับการเงินที่มิได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการนั้นโดยอนุโลม หากไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการได้ ให้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง ส่วนที่ ๔ การจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน ข้อ ๒๕ ให้นำเงินกองทุนไปหาผลประโยชน์ได้ ดังนี้ (๑) ฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ (๒) ซื้อพันธบัตรรัฐบาล (๓) ซื้อตราสารการเงินอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ (๔) ดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด หมวด ๕ การจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ ข้อ ๒๖ สมาชิกรัฐสภาต้องส่งเงินเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือน โดยการหักเงินประจำตำแหน่งในอัตราตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราร้อยละห้าของเงินประจำตำแหน่ง ข้อ ๒๗ เมื่อสมาชิกรัฐสภาผู้ใดสิ้นสุดสมาชิกภาพ ให้สมาชิกรัฐสภาผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนตามหลักเกณฑ์และอัตราตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ สมาชิกรัฐสภาที่จะมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นบุคคลที่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นสิทธิเฉพาะตัว ข้อ ๒๘ ในกรณีที่สมาชิกรัฐสภาผู้ใดมีสมาชิกภาพหลายวาระ ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ให้นำเวลาการมีสมาชิกภาพในทุกช่วงเวลารวมกันเป็นเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ถ้าสมาชิกรัฐสภาผู้ใดได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบนี้และกลับเข้ามีสมาชิกภาพสมาชิกรัฐสภาอีก ให้สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพระงับไปในระหว่างที่มีสมาชิกภาพสมาชิกรัฐสภา และเมื่อสิ้นสมาชิกภาพแล้วจึงให้มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพโดยให้นำเวลาการมีสมาชิกภาพในครั้งหลังมารวมเป็นเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพด้วยตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง ข้อ ๒๙ สมาชิกรัฐสภาซึ่งสมาชิกภาพได้สิ้นสุดลงมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๑ เดือน แต่ไม่ถึง ๔๘ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพร้อยละ ๓๐ ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย (๒) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๔๘ เดือน แต่ไม่ถึง ๙๖ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพร้อยละ ๓๕ ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย (๓) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๙๖ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๔๔ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพร้อยละ ๔๐ ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย (๔) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๑๔๔ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๙๒ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพร้อยละ ๔๕ ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย (๕) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๑๙๒ เดือน แต่ไม่ถึง ๒๔๐ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพร้อยละ ๕๐ ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย (๖) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๒๔๐ เดือน แต่ไม่ถึง ๒๘๘ เดือน ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพร้อยละ ๕๕ ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย (๗) มีเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ ๒๘๘ เดือนขึ้นไป ให้ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพร้อยละ ๖๐ ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย การนับเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพให้นับแต่จำนวนเดือน โดยให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน เศษของเดือนถ้าถึงสิบห้าวันให้นับเป็นหนึ่งเดือน ข้อ ๓๐ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพรายละไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน ในกรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบนี้กลับเข้ามีสมาชิกภาพ สมาชิกรัฐสภาอีก ให้สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาดังกล่าวระงับไปในระหว่างที่มีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกรัฐสภา หมวด ๖ การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล ข้อ ๓๑ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาภายหลังวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลจากกองทุนโดยยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุในใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล พร้อมกับแสดงใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับและเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาลตามสัญญาประกันภัย หรือเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล หรือเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลตามวรรคแรก ข้อ ๓๒ การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๑ ให้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกรณีเป็นผู้ป่วยในรายละไม่เกินห้าหมื่นบาทต่อปี และกรณีเป็นผู้ป่วยนอกรายละไม่เกินสามหมื่นบาทต่อปี ข้อ ๓๓ ในกรณีที่สถานพยาบาลไม่มียา หรือสิ่งอื่นที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเพื่อให้ผลของการเจ็บป่วยบรรเทาหรือหมดไป ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๑ ซื้อยาหรือสิ่งอื่นที่จำเป็นตามใบสั่งยาซึ่งออกโดยแพทย์ผู้ตรวจรักษาจากสถานที่อื่นได้ ค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๑ อาจขอเบิกโดยยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด พร้อมกับแสดงใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล สำเนาใบสั่งยา และใบรับรองของแพทย์ผู้ออกใบสั่งยา ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่ขอเบิกดังกล่าวให้คิดรวมอยู่ในจำนวนเงินที่จะได้รับการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลตามข้อ ๓๒ หมวด ๗ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ ข้อ ๓๔ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ป่วยเจ็บทุพพลภาพซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าทุพพลภาพจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ ข้อ ๓๕ ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๔ ที่มีความประสงค์จะขอรับการช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพ ยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ในกรณีที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ทุพพลภาพไม่สามารถมายื่นคำขอต่อสำนักงานได้ให้บุคคลตามลำดับต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ๑. บุคคลที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้มอบอำนาจเป็นหนังสือให้เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ๒. คู่สมรส ๓. บุตร ๔. บิดามารดา การยื่นคำขอตามวรรคสองต้องแสดงหลักฐาน ดังต่อไปนี้ ๑. สำเนาทะเบียนบ้าน ๒. ทะเบียนสมรส (กรณีเป็นคู่สมรส) ๓. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ๔. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ๕. ใบรับรองของแพทย์ที่ระบุเหตุทุพพลภาพ ข้อ ๓๖ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานจำนวนไม่เกินสามคนขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาตรวจสอบหรือให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือให้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับความทุพพลภาพของผู้ยื่นคำขอ ข้อ ๓๗ การจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพให้แก่ผู้มีสิทธิตามข้อ ๓๔ ให้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินรายละห้าพันบาทต่อเดือน ข้อ ๓๘ ผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพต้องแสดงรายงานผลการตรวจสุขภาพประจำปีต่อคณะกรรมการปีละครั้ง ข้อ ๓๙ ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าการทุพพลภาพของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้รับการฟื้นฟูจนมีสภาพดีขึ้น คณะกรรมการอาจพิจารณาสั่งลดจำนวนเงินช่วยเหลือลงได้ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ข้อ ๔๐ สิทธิได้รับเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพตามระเบียบนี้เป็นอันระงับในงวดถัดไปเพราะเหตุที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภานั้นถึงแก่กรรม หมวด ๘ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม ข้อ ๔๑ ในกรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม ให้บุคคลตามลำดับดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุนก่อนหลัง โดยให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด ๑. บุคคลที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้แสดงเจตนาเป็นหนังสือให้เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุน ๒. คู่สมรส ๓. บุตร ๔. บิดามารดา การขอรับเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีสิทธิรับเงินยื่นคำขอต่อสำนักงานภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม โดยต้องแสดงหลักฐาน ดังต่อไปนี้ ๑. สำเนาทะเบียนบ้าน ๒. ทะเบียนสมรส (กรณีเป็นคู่สมรส) ๓. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ๔. ใบมรณบัตร ในกรณีผู้มีสิทธิขอรับเงินในลำดับเดียวกันมีมากกว่าหนึ่งราย ให้ผู้มีสิทธิขอรับเงินซึ่งเป็นรายที่ได้ยื่นคำขอนำหนังสือที่แสดงถึงการได้รับมอบหมายหรือได้รับความยินยอมจากผู้มีสิทธิขอรับเงินในลำดับเดียวกับตนรายอื่น ๆ ยื่นต่อสำนักงานประกอบหลักฐานตามวรรคสองด้วย ข้อ ๔๒ เมื่อได้รับคำขอและหลักฐานตามข้อ ๔๑ แล้ว ให้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือแก่บุคคลตามข้อ ๔๑ ภายในเจ็ดวัน เป็นเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท ข้อ ๔๓ ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องเข้าจัดการศพผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ถึงแก่กรรมเนื่องจากไม่มีผู้ใดเข้าจัดการในเวลาอันสมควร ให้สำนักงานหักค่าใช้จ่ายจากเงินช่วยเหลือได้เท่าที่จ่ายจริงแล้วมอบเงินส่วนที่เหลือถ้ามีให้แก่บุคคลตามข้อ ๔๑ ต่อไป ข้อ ๔๔ ให้สำนักงานหักเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพหรือเงินทุนเลี้ยงชีพซึ่งได้จ่ายเกินไปภายหลังผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรมออกจากจำนวนเงินที่ต้องจ่ายตามข้อ ๔๒ หมวด ๙ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร ข้อ ๔๕ ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาภายหลังวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนในกรณีการให้การศึกษาบุตรสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจนถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าได้เพียงคนที่หนึ่งและคนที่สอง ทั้งนี้ ไม่รวมบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับและเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร หรือเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในการให้การศึกษาบุตรตามวรรคแรก ในกรณีที่บิดาและมารดาเป็นผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาและทั้งสองฝ่ายต่างเป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือ ให้เฉพาะบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนในกรณีการให้การศึกษาบุตรเพียงฝ่ายเดียว เว้นแต่เมื่อมีการจดทะเบียนหย่าหรือแยกกันอยู่ และบุตรอยู่ในความอุปการะของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายใด ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายนั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับ การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาของบุตร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประเภท และอัตรา ดังต่อไปนี้ (๑) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่า และหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินบำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๒) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเงินบำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๓) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๔) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าแต่ไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่า และหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร (๕) บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร ทั้งนี้ บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการหรือเอกชนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าตาม (๒) หรือ (๕) จะต้องเป็นการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตรแรกเท่านั้น ข้อ ๔๖ ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๔๕ ใช้สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาของบุตร โดยยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด พร้อมด้วยหลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา ข้อ ๔๗ หลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (๑) ชื่อ สถานที่อยู่ หรือที่ทำการของสถานศึกษาผู้รับเงิน (๒) วัน เดือน ปีที่รับเงิน (๓) รายการแสดงการรับเงินระบุว่าเป็นค่าอะไร (๔) จำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษร (๕) ลายมือชื่อของผู้รับเงิน ในกรณีที่สถานศึกษามีข้อตกลงกับธนาคารในการรับชำระเงินบำรุงการศึกษาหรือเงินค่าเล่าเรียนของสถานศึกษา ให้ใช้ใบแจ้งการชำระเงินและหรือใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาซึ่งมีรายการในสาระสำคัญที่สำนักงานสามารถควบคุมและตรวจสอบการใช้สิทธิเบิกเงินสวัสดิการได้เป็นหลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา ข้อ ๔๘ การยื่นขอรับเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร ให้กระทำภายในกำหนดเวลา ดังนี้ (๑) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันเปิดภาคเรียนแต่ละภาค ในกรณีที่สถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าการศึกษาเป็นรายภาคเรียน (๒) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันเปิดเรียนภาคต้นของปีการศึกษา ในกรณีที่สถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าการศึกษาครั้งเดียวตลอดปี หากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าหมดสิทธิในการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือกรณีการให้การศึกษาของบุตรสำหรับภาคการศึกษาหรือปีการศึกษานั้น แล้วแต่กรณี เว้นแต่ผู้มีสิทธิตามข้อ ๔๕ มีความจำเป็นต้องขอผ่อนผันต่อสถานศึกษาในการชำระเงินล่าช้า ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้มีสิทธิตามข้อ ๔๕ ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ออกหลักฐานการรับเงินของสถานศึกษา หมวด ๑๐ สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น ข้อ ๔๙ ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีสิทธิได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในระเบียบนี้ ทั้งนี้ การจะให้ได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ใดให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ โดยให้ผู้มีสิทธิยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนด หมวด ๑๑ การมอบอำนาจ ข้อ ๕๐ ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาอาจมอบอำนาจให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะดำเนินการแทนในเรื่องของการยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือ ยื่นคำขอรับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น รับเงิน หรือรับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ได้ การมอบอำนาจให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นหนังสือระบุข้อความซึ่งมีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอให้ทราบว่ามอบอำนาจให้ผู้ใดดำเนินการในเรื่องอะไร เพียงใด พร้อมพยานซึ่งบรรลุนิติภาวะลงชื่อรับรองอย่างน้อยหนึ่งคน โดยให้ผู้รับมอบอำนาจนำหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจยื่นต่อสำนักงาน หมวด ๑๒ การบัญชีและการตรวจสอบ ข้อ ๕๑ ให้สำนักงานจัดทำบัญชีตามระบบบัญชีสากล ข้อ ๕๒ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี ให้สำนักงานจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของกองทุนให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรอง เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบบัญชีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สำนักงานเสนอรายงานผลการสอบบัญชีดังกล่าวต่อคณะกรรมการและสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบต่อไป ข้อ ๕๓ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำรายงานการเงินรวมภาครัฐ ให้สำนักงานจัดส่งข้อมูลทางบัญชีของกองทุนเข้าสู่ระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Government Fiscal Management Information System : GFMIS) ตามวิธีการและระยะเวลาที่กรมบัญชีกลางกำหนด ข้อ ๕๔ ให้สำนักงานจัดให้มีระบบตรวจสอบภายในที่ดี โดยให้หน่วยตรวจสอบภายในของสำนักงานดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการเงินการบัญชีตามระเบียบนี้ แล้วรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบทุกสามเดือน หมวด ๑๓ การดำเนินคดี ข้อ ๕๕ ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติอันมีโทษทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาหรือในกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้เลขาธิการรับผิดชอบในการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรับผิดชอบในการดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง บทเฉพาะกาล ข้อ ๕๖ การดำเนินการใดเกี่ยวกับการเงินและบัญชีของกองทุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่แล้วเสร็จในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามระเบียบหรือประกาศที่ใช้บังคับอยู่เดิม จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จหรือจนกว่าจะสามารถดำเนินการตามระเบียบนี้ได้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ประธานกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๖ โชติกานต์/ผู้ตรวจ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนพิเศษ ๑๒๐ ง/หน้า ๖/๑๗ กันยายน ๒๕๕๖
302206
พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๕ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๕” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา “โรงเรียนประถมศึกษา” หมายความว่า โรงเรียนที่จัดการศึกษาภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๓ ทุกสังกัด “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกระทรวงการคลังประกอบด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่นตามมาตรา ๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายสำหรับการสนับสนุนและช่วยเหลือภาวะโภชนาการของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา และการประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร เงินของกองทุนให้ใช้จ่ายในการจัดหาประโยชน์ของกองทุนได้และเฉพาะส่วนที่เป็นดอกผลของกองทุนเท่านั้นที่อาจนำไปใช้จ่ายในกิจการตามมาตรา ๑๑ (๒) และ (๔) ได้ มาตรา ๕ กองทุน ประกอบด้วย (๑) ทุนประเดิมตามมาตรา ๑๖ (๒) เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี (๓) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้บริจาค (๔) ดอกผลที่เกิดจากกองทุน มาตรา ๖ ให้ผู้ที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่กองทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗ ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณหรือผู้แทน อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนหรือผู้แทน อธิบดีกรมการปกครองหรือผู้แทน อธิบดีกรมบัญชีกลางหรือผู้แทน ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนหรือผู้แทน ปลัดกรุงเทพมหานครหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชนหรือผู้แทน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหาร หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และรองเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติคนหนึ่งซึ่งเลขาธิการมอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ มาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๗ ให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือได้รับแต่งตั้งเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ มาตรา ๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) รัฐมนตรีให้ออก (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ มาตรา ๑๐ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคราวใด ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๑ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการให้การส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน (๒) จัดสรรเงินช่วยเหลือหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่โรงเรียนประถมศึกษา โดยคำนึงถึงลำดับความจำเป็นแห่งภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียนในแต่ละโรงเรียน (๓) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนเพื่อดำเนินการให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้ (๔) ดำเนินการทางด้านประชาสัมพันธ์ให้ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น บรรดาโรงเรียนต่าง ๆ และผู้ปกครองของนักเรียนตลอดจนบุคคลทั่วไปได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนและปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็ก (๕) ควบคุม ติดตามผล และประเมินผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (๖) ออกระเบียบหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และให้นำมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม มาตรา ๑๓ การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินกองทุน รวมทั้งการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง มาตรา ๑๔ การจัดทำบัญชี และการตรวจสอบบัญชี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด มาตรา ๑๕ ภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ให้คณะกรรมการเสนองบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนในปีที่ล่วงมา ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบรับรองแล้ว ต่อรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี มาตรา ๑๖ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐบาลจัดสรรเงินให้แก่กองทุน ดังนี้ (๑) เป็นเงินทุนประเดิมห้าร้อยล้านบาท และ (๒) เป็นเงินงบค่าใช้จ่ายห้าสิบล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๓๖ เป็นต้นไป ทุกปีงบประมาณให้จัดสรรเงินให้เป็นทุนประเดิมปีละไม่น้อยกว่าห้าร้อยล้านบาท และให้เป็นงบค่าใช้จ่ายปีละไม่น้อยกว่าห้าสิบล้านบาทจนกว่ากองทุนจะมีเงินตามมาตรา ๕ (๑) และ (๒) รวมกันถึงหกพันล้านบาท เงินงบค่าใช้จ่ายที่ได้รับตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้กองทุนนำมาใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนได้ และในการดำเนินการตามวรรคสองไม่ให้นับเงินดังกล่าวเป็นเงินตามมาตรา ๕ (๒) มาตรา ๑๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบัน เด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาของทางราชการบางส่วนไม่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอและถูกต้องตามหลักโภชนาการอันมีผลทำให้การเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสติปัญญาของเด็กนักเรียนเหล่านั้นไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน สมควรให้มีการช่วยเหลือส่งเสริมและพัฒนาเด็กนักเรียนตลอดจนลดภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียนดังกล่าวโดยจัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ปัทมา/แก้ไข วศิน/ตรวจ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ณัฐพร/ปรับปรุง พลัฐวัษ/ตรวจ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๒/หน้า ๙๖/๘ เมษายน ๒๕๓๕
301226
พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 (ฉบับ Update ล่าสุด)
พระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยกองอาสารักษาดินแดน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และจะใช้บังคับในท้องที่ใด ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๓ เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับในท้องที่ใด บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ซึ่งมีข้อความแย้งหรือขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ มิให้ใช้บังคับในท้องที่นั้น หมวด ๑ การจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๔ ให้จัดตั้งกองอาสารักษาดินแดนเป็นองค์การขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล เรียกว่า “กองอาสารักษาดินแดน” มาตรา ๕ กองอาสารักษาดินแดนแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ (๑) ส่วนกลาง (๒) ส่วนภูมิภาค มาตรา ๖[๒] ให้มีกรรมการคณะหนึ่งจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคน และไม่เกินยี่สิบคน เรียกว่า “คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอื่น เลขาธิการและรองเลขาธิการนั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มาตรา ๗[๓] คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน มีอำนาจและหน้าที่จัดและดำเนินงานกองอาสารักษาดินแดนโดยทั่วไปตามนโยบายและวิชาทางเทคนิคของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และวางระเบียบและข้อบังคับสำหรับกองอาสารักษาดินแดน ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดวิธีรับสมัคร วิธีคัดเลือก และการให้ออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๒) กำหนดยศ ชั้น ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๓) กำหนดเหล่าของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๔) กำหนดหลักสูตร การอบรม และการฝึก (๕) กำหนดการใช้จ่ายและงบประมาณของกองอาสารักษาดินแดน (๖) กำหนดการเก็บ รักษา และการใช้อาวุธ มาตรา ๘ กองอาสารักษาดินแดนส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และกองอาสารักษาดินแดนอำเภอ ตามชื่อท้องที่ที่ได้ประกาศตั้งขึ้น มาตรา ๙ ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนอำนาจการปกครองบังคับบัญชารวมทั้งการกำหนดอัตรากำลังของแต่ละหน่วยในกองอาสารักษาดินแดน ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง มาตรา ๑๐ วินัยและการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยของเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๑๑ การเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้กระทำโดยวิธีรับสมัครผู้อาสา แต่ถ้าในท้องที่ใดไม่มีบุคคลสมัคร หรือมีบุคคลสมัครไม่เพียงพอตามความต้องการ จะกำหนดให้ท้องที่นั้นมีการเรียกบุคคลให้สมัครเพื่อคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกโดยพระราชกฤษฎีกาก็ได้ และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับสมัครหรือได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ นับแต่วันได้รับสมัครหรือได้รับการคัดเลือก มาตรา ๑๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนต้องมีคุณสมบัติและลักษณะ ดั่งนี้ (๑) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่เข้าเป็นสมาชิก (๒) มีสัญชาติไทย (๓) มีอายุตั้งแต่ ๑๗ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๖๐ ปีบริบูรณ์ (๔) มีร่างกายสมบูรณ์ และสมควรแก่การเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๕) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (๖) ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร หรือนักบวชแห่งศาสนาใด (๗) ไม่เป็นสมาชิกกองอาสากาชาด (๘) ไม่เป็นทหารหรือตำรวจประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร (๙) ไม่เป็นผู้มีพฤติการณ์อันเป็นที่รังเกียจ เช่น เป็นคนเสเพลอันธพาล หรือเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย เป็นต้น มาตรา ๑๓ ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจะปฏิบัติหน้าที่ของกองอาสารักษาดินแดนได้ในเมื่อไม่ติดราชการจำเป็น มาตรา ๑๔ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมี ๓ ประเภท คือ (๑) ประเภทสำรอง คือสมาชิกที่ยังไม่ได้เข้ารับการฝึกหัดและอบรม (๒) ประเภทประจำกอง คือสมาชิกที่ได้รับการฝึกหัดและอบรม และบรรจุอยู่ในอัตรากำลัง (๓) ประเภทกองหนุน คือสมาชิกที่ได้ปลดออกจากประจำกอง มาตรา ๑๕ การรับบุคคลเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อรับสมัครหรือคัดเลือก หมวด ๒ หน้าที่ของกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๑๖[๔] กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ (๑) บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก (๒) ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ (๓) รักษาสถานที่สำคัญและการคมนาคม (๔) ป้องกันจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงานข่าว (๕) ทำการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกำลังข้าศึก (๖) เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น มาตรา ๑๗ เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ (๑) กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการโดยชอบ (๒) ปฏิบัติตามหน้าที่ ระเบียบ ข้อบังคับ และวินัยของกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๑๘ ผู้บังคับบัญชามีอำนาจที่จะสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนให้ทำการตามอำนาจหน้าที่ได้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๙ เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในท้องที่ใด ให้เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอยู่ในบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร หมวด ๓ ธงประจำกอง เครื่องหมาย และเครื่องแบบ มาตรา ๒๐ ให้มีธงประจำกอง และเครื่องหมายสำหรับกองอาสารักษาดินแดน กับเครื่องแบบสำหรับสมาชิก ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หมวด ๔ การอบรมและการฝึก มาตรา ๒๑ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนต้องเข้ารับการอบรม การฝึกหัด และการฝึกซ้อม ตามหลักสูตรและระยะเวลาที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด มาตรา ๒๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ถูกเรียกเข้ารับการอบรม การฝึกหัด และการฝึกซ้อม ตามหลักสูตรของกองอาสารักษาดินแดนก็ดี หรือในเวลาปฏิบัติหน้าที่ก็ดี ให้ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างให้ความสะดวกแก่สมาชิกไม่ตัดเงินรายเดือนหรือค่าจ้างภายในกำหนดเวลาไม่เกินสองเดือน และไม่ตัดรอนสิทธิอันควรได้ของสมาชิกเหล่านั้น หมวด ๕ สิทธิของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๒๓ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองอาจได้รับสิทธิบางประการตลอดระยะเวลาที่ยังประจำกองอยู่ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด มาตรา ๒๔ เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับการรักษาพยาบาลตามที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด มาตรา ๒๕[๕] เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประสบอันตรายถึงแก่ความตายหรือพิการทุพพลภาพเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับบำนาญพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยอนุโลม เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งได้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุพิการทุพพลภาพตามวรรคหนึ่งถึงแก่ความตาย ให้จ่ายเงินเป็นบำเหน็จตกทอดแก่ทายาทผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการบัญญัติไว้ เป็นจำนวนสามสิบเท่าของบำนาญพิเศษรายเดือน และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการจ่ายบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๖ บทกำหนดโทษ มาตรา ๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๒๗ ผู้ใดแต่งเครื่องแบบ หรือประดับ หรือใช้ธงหรือเครื่องหมายที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติในมาตรา ๒๐ โดยไม่มีสิทธิที่จะแต่ง ประดับ หรือใช้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๒๘ ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา ๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ หมวด ๗ เบ็ดเตล็ด มาตรา ๒๙ เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๐[๖] ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ วางระเบียบและออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การป้องกันประเทศชาติในสถานการณ์สงครามปัจจุบันเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองทุกคนที่จะต้องร่วมมือช่วยเหลือ และจะต้องได้รับการศึกษาอบรมเพื่อให้มีความรู้ในการที่จะป้องกันตนเองและประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมและจัดหน่วยการบังคับบัญชาเตรียมไว้แต่เวลาปกติ พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔[๗] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๗ บัญญัติให้คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน มีอำนาจหน้าที่จัดและดำเนินงานกองอาสารักษาดินแดนตามนโยบายและวิชาการทางเทคนิคของสภาป้องกันราชอาณาจักร แต่บัดนี้ สภาป้องกันราชอาณาจักรต้องถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒ แล้ว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ให้สอดคล้องกันด้วย นอกจากนี้สมควรให้กองอาสารักษาดินแดนขึ้นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมร่วมกัน และเพิ่มอำนาจและหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนในการกำหนดเหล่าของกองอาสารักษาดินแดน และกำหนดหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนเพิ่มขึ้น พระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗[๘] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บัญญัติให้เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประสบอันตรายถึงชีวิตหรือพิการทุพพลภาพเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเพียงบำนาญพิเศษ ทำให้ทายาทของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งเสียชีวิตภายหลังจากที่ได้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุพิการทุพพลภาพไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด แม้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจะได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายในในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่เสี่ยงภัยหรือในการปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติร่วมกับข้าราชการ ทหาร หรือตำรวจก็ตาม ซึ่งแตกต่างกับกรณีทายาทของข้าราชการ พลทหารกองประจำการ หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ซึ่งมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมและเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน สมควรกำหนดให้ทายาทของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ กฤษดายุทธ/จัดทำ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ปณตภร/ตรวจ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ วิศนี/ปรับปรุง ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๑๔/หน้า ๒๘๕/๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ [๒] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ [๓] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ [๔] มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ [๕] มาตรา ๒๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗ [๖] มาตรา ๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ [๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๘/ตอนที่ ๑๙/หน้า ๒๔๕/๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ [๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๗๙ ก/หน้า ๑/๔ ธันวาคม ๒๕๕๗
718366
พระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นปีที่ ๖๙ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองอาสารักษาดินแดน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๒๕ เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประสบอันตรายถึงแก่ความตายหรือพิการทุพพลภาพเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับบำนาญพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยอนุโลม เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งได้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุพิการทุพพลภาพตามวรรคหนึ่งถึงแก่ความตาย ให้จ่ายเงินเป็นบำเหน็จตกทอดแก่ทายาทผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการบัญญัติไว้ เป็นจำนวนสามสิบเท่าของบำนาญพิเศษรายเดือน และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการจ่ายบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาใช้บังคับโดยอนุโลม” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บัญญัติให้เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประสบอันตรายถึงชีวิตหรือพิการทุพพลภาพเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเพียงบำนาญพิเศษ ทำให้ทายาทของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งเสียชีวิตภายหลังจากที่ได้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุพิการทุพพลภาพไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด แม้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจะได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายในในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่เสี่ยงภัยหรือในการปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติร่วมกับข้าราชการ ทหาร หรือตำรวจก็ตาม ซึ่งแตกต่างกับกรณีทายาทของข้าราชการ พลทหารกองประจำการ หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ซึ่งมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมและเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน สมควรกำหนดให้ทายาทของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ วิศนี/ผู้ตรวจ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๗๙ ก/หน้า ๑/๔ ธันวาคม ๒๕๕๗
718705
พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 (ฉบับ Update ณ วันที่ 28/02/2504)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยกองอาสารักษาดินแดน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และจะใช้บังคับในท้องที่ใด ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๓ เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับในท้องที่ใด บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ซึ่งมีข้อความแย้งหรือขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ มิให้ใช้บังคับในท้องที่นั้น หมวด ๑ การจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๔ ให้จัดตั้งกองอาสารักษาดินแดนเป็นองค์การขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล เรียกว่า “กองอาสารักษาดินแดน” มาตรา ๕ กองอาสารักษาดินแดนแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ (๑) ส่วนกลาง (๒) ส่วนภูมิภาค มาตรา ๖[๒] ให้มีกรรมการคณะหนึ่งจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคน และไม่เกินยี่สิบคน เรียกว่า “คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอื่น เลขาธิการและรองเลขาธิการนั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มาตรา ๗[๓] คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน มีอำนาจและหน้าที่จัดและดำเนินงานกองอาสารักษาดินแดนโดยทั่วไปตามนโยบายและวิชาทางเทคนิคของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และวางระเบียบและข้อบังคับสำหรับกองอาสารักษาดินแดน ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดวิธีรับสมัคร วิธีคัดเลือก และการให้ออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๒) กำหนดยศ ชั้น ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๓) กำหนดเหล่าของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๔) กำหนดหลักสูตร การอบรม และการฝึก (๕) กำหนดการใช้จ่ายและงบประมาณของกองอาสารักษาดินแดน (๖) กำหนดการเก็บ รักษา และการใช้อาวุธ มาตรา ๘ กองอาสารักษาดินแดนส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และกองอาสารักษาดินแดนอำเภอ ตามชื่อท้องที่ที่ได้ประกาศตั้งขึ้น มาตรา ๙ ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนอำนาจการปกครองบังคับบัญชารวมทั้งการกำหนดอัตรากำลังของแต่ละหน่วยในกองอาสารักษาดินแดน ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง มาตรา ๑๐ วินัยและการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยของเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๑๑ การเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้กระทำโดยวิธีรับสมัครผู้อาสา แต่ถ้าในท้องที่ใดไม่มีบุคคลสมัคร หรือมีบุคคลสมัครไม่เพียงพอตามความต้องการ จะกำหนดให้ท้องที่นั้นมีการเรียกบุคคลให้สมัครเพื่อคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกโดยพระราชกฤษฎีกาก็ได้ และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับสมัครหรือได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ นับแต่วันได้รับสมัครหรือได้รับการคัดเลือก มาตรา ๑๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนต้องมีคุณสมบัติและลักษณะ ดั่งนี้ (๑) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่เข้าเป็นสมาชิก (๒) มีสัญชาติไทย (๓) มีอายุตั้งแต่ ๑๗ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๖๐ ปีบริบูรณ์ (๔) มีร่างกายสมบูรณ์ และสมควรแก่การเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๕) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (๖) ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร หรือนักบวชแห่งศาสนาใด (๗) ไม่เป็นสมาชิกกองอาสากาชาด (๘) ไม่เป็นทหารหรือตำรวจประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร (๙) ไม่เป็นผู้มีพฤติการณ์อันเป็นที่รังเกียจ เช่น เป็นคนเสเพลอันธพาล หรือเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย เป็นต้น มาตรา ๑๓ ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจะปฏิบัติหน้าที่ของกองอาสารักษาดินแดนได้ในเมื่อไม่ติดราชการจำเป็น มาตรา ๑๔ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมี ๓ ประเภท คือ (๑) ประเภทสำรอง คือสมาชิกที่ยังไม่ได้เข้ารับการฝึกหัดและอบรม (๒) ประเภทประจำกอง คือสมาชิกที่ได้รับการฝึกหัดและอบรม และบรรจุอยู่ในอัตรากำลัง (๓) ประเภทกองหนุน คือสมาชิกที่ได้ปลดออกจากประจำกอง มาตรา ๑๕ การรับบุคคลเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อรับสมัครหรือคัดเลือก หมวด ๒ หน้าที่ของกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๑๖[๔] กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ (๑) บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก (๒) ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ (๓) รักษาสถานที่สำคัญและการคมนาคม (๔) ป้องกันจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงานข่าว (๕) ทำการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกำลังข้าศึก (๖) เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น มาตรา ๑๗ เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ (๑) กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการโดยชอบ (๒) ปฏิบัติตามหน้าที่ ระเบียบ ข้อบังคับ และวินัยของกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๑๘ ผู้บังคับบัญชามีอำนาจที่จะสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนให้ทำการตามอำนาจหน้าที่ได้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๙ เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในท้องที่ใด ให้เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอยู่ในบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร หมวด ๓ ธงประจำกอง เครื่องหมาย และเครื่องแบบ มาตรา ๒๐ ให้มีธงประจำกอง และเครื่องหมายสำหรับกองอาสารักษาดินแดน กับเครื่องแบบสำหรับสมาชิก ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หมวด ๔ การอบรมและการฝึก มาตรา ๒๑ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนต้องเข้ารับการอบรม การฝึกหัด และการฝึกซ้อม ตามหลักสูตรและระยะเวลาที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด มาตรา ๒๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ถูกเรียกเข้ารับการอบรม การฝึกหัด และการฝึกซ้อม ตามหลักสูตรของกองอาสารักษาดินแดนก็ดี หรือในเวลาปฏิบัติหน้าที่ก็ดี ให้ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างให้ความสะดวกแก่สมาชิกไม่ตัดเงินรายเดือนหรือค่าจ้างภายในกำหนดเวลาไม่เกินสองเดือน และไม่ตัดรอนสิทธิอันควรได้ของสมาชิกเหล่านั้น หมวด ๕ สิทธิของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๒๓ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองอาจได้รับสิทธิบางประการตลอดระยะเวลาที่ยังประจำกองอยู่ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด มาตรา ๒๔ เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับการรักษาพยาบาลตามที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด มาตรา ๒๕ เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประสพอันตรายถึงชีวิตหรือพิการทุพพลภาพ เนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับบำนาญพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญโดยอนุโลม หมวด ๖ บทกำหนดโทษ มาตรา ๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๒๗ ผู้ใดแต่งเครื่องแบบ หรือประดับ หรือใช้ธงหรือเครื่องหมายที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติในมาตรา ๒๐ โดยไม่มีสิทธิที่จะแต่ง ประดับ หรือใช้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๒๘ ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา ๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ หมวด ๗ เบ็ดเตล็ด มาตรา ๒๙ เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๐[๕] ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ วางระเบียบและออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การป้องกันประเทศชาติในสถานการณ์สงครามปัจจุบันเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองทุกคนที่จะต้องร่วมมือช่วยเหลือ และจะต้องได้รับการศึกษาอบรมเพื่อให้มีความรู้ในการที่จะป้องกันตนเองและประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมและจัดหน่วยการบังคับบัญชาเตรียมไว้แต่เวลาปกติ พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔[๖] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๗ บัญญัติให้คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน มีอำนาจหน้าที่จัดและดำเนินงานกองอาสารักษาดินแดนตามนโยบายและวิชาการทางเทคนิคของสภาป้องกันราชอาณาจักร แต่บัดนี้ สภาป้องกันราชอาณาจักรต้องถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒ แล้ว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ให้สอดคล้องกันด้วย นอกจากนี้สมควรให้กองอาสารักษาดินแดนขึ้นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมร่วมกัน และเพิ่มอำนาจและหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนในการกำหนดเหล่าของกองอาสารักษาดินแดน และกำหนดหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนเพิ่มขึ้น กฤษดายุทธ/จัดทำ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ปณตภร/ตรวจ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๑๔/หน้า ๒๘๕/๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ [๒] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ [๓] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ [๔] มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ [๕] มาตรา ๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ [๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๘/ตอนที่ ๑๙/หน้า ๒๔๕/๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔
301225
พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2504
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองอาสารักษาดินแดน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖ ให้มีกรรมการคณะหนึ่งจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคน และไม่เกินยี่สิบคน เรียกว่า “คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอื่น เลขาธิการและรองเลขาธิการนั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี” มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๗ คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน มีอำนาจและหน้าที่จัดและดำเนินงานกองอาสารักษาดินแดนโดยทั่วไปตามนโยบายและวิชาทางเทคนิคของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และวางระเบียบและข้อบังคับสำหรับกองอาสารักษาดินแดน ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดวิธีรับสมัคร วิธีคัดเลือก และการให้ออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๒) กำหนดยศ ชั้น ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๓) กำหนดเหล่าของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๔) กำหนดหลักสูตร การอบรม และการฝึก (๕) กำหนดการใช้จ่ายและงบประมาณของกองอาสารักษาดินแดน (๖) กำหนดการเก็บ รักษา และการใช้อาวุธ” มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๖ กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ (๑) บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก (๒) ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ (๓) รักษาสถานที่สำคัญและการคมนาคม (๔) ป้องกันจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงานข่าว (๕) ทำการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกำลังข้าศึก (๖) เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น” มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๓๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ วางระเบียบและออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ส. ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๗ บัญญัติให้คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน มีอำนาจหน้าที่จัดและดำเนินงานกองอาสารักษาดินแดนตามนโยบายและวิชาการทางเทคนิคของสภาป้องกันราชอาณาจักร แต่บัดนี้ สภาป้องกันราชอาณาจักรต้องถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒ แล้ว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ให้สอดคล้องกันด้วย นอกจากนี้สมควรให้กองอาสารักษาดินแดนขึ้นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมร่วมกัน และเพิ่มอำนาจและหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนในการกำหนดเหล่าของกองอาสารักษาดินแดน และกำหนดหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนเพิ่มขึ้น พรพิมล/แก้ไข ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๔ พัชรินทร์/แก้ไข ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๗ วศิน/แก้ไข ๙ มีนาคม ๒๕๕๒ กฤษดายุทธ/ปรับปรุง ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ปณตภร/ตรวจ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๘/ตอนที่ ๑๙/หน้า ๒๔๕/๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔
301224
พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยกองอาสารักษาดินแดน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และจะใช้บังคับในท้องที่ใด ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๓ เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับในท้องที่ใด บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ซึ่งมีข้อความแย้งหรือขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ มิให้ใช้บังคับในท้องที่นั้น หมวด ๑ การจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๔ ให้จัดตั้งกองอาสารักษาดินแดนเป็นองค์การขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล เรียกว่า “กองอาสารักษาดินแดน” มาตรา ๕ กองอาสารักษาดินแดนแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ (๑) ส่วนกลาง (๒) ส่วนภูมิภาค มาตรา ๖ ให้มีกรรมการคณะหนึ่งจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคน และไม่เกินยี่สิบคน เรียกว่า “คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอื่น เลขาธิการ และรองเลขาธิการนั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มาตรา ๗ คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนมีอำนาจหน้าที่จัดและดำเนินงานกองอาสารักษาดินแดนโดยทั่วไปตามนโยบายและวิชาการทางเทคนิคของสภาป้องกันราชอาณาจักร และวางระเบียบและข้อบังคับสำหรับกองอาสารักษาดินแดน ดั่งต่อไปนี้ (๑) กำหนดวิธีรับสมัคร วิธีคัดเลือก และการให้ออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๒) กำหนดหลักสูตร การอบรม การฝึกหัด และการฝึกซ้อม (๓) กำหนดยศ ชั้น และเครื่องหมายชั้นของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๔) กำหนดเครื่องหมายประจำเหล่าของกองอาสารักษาดินแดน (๕) กำหนดการเก็บรักษาและการใช้อาวุธ (๖) กำหนดการใช้จ่ายและงบประมาณของกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๘ กองอาสารักษาดินแดนส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และกองอาสารักษาดินแดนอำเภอ ตามชื่อท้องที่ที่ได้ประกาศตั้งขึ้น มาตรา ๙ ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนอำนาจการปกครองบังคับบัญชารวมทั้งการกำหนดอัตรากำลังของแต่ละหน่วยในกองอาสารักษาดินแดน ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง มาตรา ๑๐ วินัยและการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยของเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๑๑ การเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้กระทำโดยวิธีรับสมัครผู้อาสา แต่ถ้าในท้องที่ใดไม่มีบุคคลสมัคร หรือมีบุคคลสมัครไม่เพียงพอตามความต้องการ จะกำหนดให้ท้องที่นั้นมีการเรียกบุคคลให้สมัครเพื่อคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกโดยพระราชกฤษฎีกาก็ได้ และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับสมัครหรือได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ นับแต่วันได้รับสมัครหรือได้รับการคัดเลือก มาตรา ๑๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนต้องมีคุณสมบัติและลักษณะ ดั่งนี้ (๑) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่เข้าเป็นสมาชิก (๒) มีสัญชาติไทย (๓) มีอายุตั้งแต่ ๑๗ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๖๐ ปีบริบูรณ์ (๔) มีร่างกายสมบูรณ์ และสมควรแก่การเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๕) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (๖) ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร หรือนักบวชแห่งศาสนาใด (๗) ไม่เป็นสมาชิกกองอาสากาชาด (๘) ไม่เป็นทหารหรือตำรวจประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร (๙) ไม่เป็นผู้มีพฤติการณ์อันเป็นที่รังเกียจ เช่น เป็นคนเสเพลอันธพาล หรือเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย เป็นต้น มาตรา ๑๓ ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจะปฏิบัติหน้าที่ของกองอาสารักษาดินแดนได้ในเมื่อไม่ติดราชการจำเป็น มาตรา ๑๔ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมี ๓ ประเภท คือ (๑) ประเภทสำรอง คือสมาชิกที่ยังไม่ได้เข้ารับการฝึกหัดและอบรม (๒) ประเภทประจำกอง คือสมาชิกที่ได้รับการฝึกหัดและอบรม และบรรจุอยู่ในอัตรากำลัง (๓) ประเภทกองหนุน คือสมาชิกที่ได้ปลดออกจากประจำกอง มาตรา ๑๕ การรับบุคคลเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อรับสมัครหรือคัดเลือก หมวด ๒ หน้าที่ของกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๑๖ กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ (๑) บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก (๒) ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ (๓) รักษาสถานที่สำคัญและการคมนาคม (๔) ทำการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ต้องการ ตัดทอนกำลังข้าศึกมิให้ทำการรบได้ถนัด และทำการต่อต้านข้าศึกที่รุกราน (๕) ป้องกันจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงานข่าว มาตรา ๑๗ เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ (๑) กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการโดยชอบ (๒) ปฏิบัติตามหน้าที่ ระเบียบ ข้อบังคับ และวินัยของกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๑๘ ผู้บังคับบัญชามีอำนาจที่จะสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนให้ทำการตามอำนาจหน้าที่ได้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๙ เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในท้องที่ใด ให้เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอยู่ในบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร หมวด ๓ ธงประจำกอง เครื่องหมาย และเครื่องแบบ มาตรา ๒๐ ให้มีธงประจำกอง และเครื่องหมายสำหรับกองอาสารักษาดินแดน กับเครื่องแบบสำหรับสมาชิก ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หมวด ๔ การอบรมและการฝึก มาตรา ๒๑ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนต้องเข้ารับการอบรม การฝึกหัด และการฝึกซ้อม ตามหลักสูตรและระยะเวลาที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด มาตรา ๒๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ถูกเรียกเข้ารับการอบรม การฝึกหัด และการฝึกซ้อม ตามหลักสูตรของกองอาสารักษาดินแดนก็ดี หรือในเวลาปฏิบัติหน้าที่ก็ดี ให้ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างให้ความสะดวกแก่สมาชิกไม่ตัดเงินรายเดือนหรือค่าจ้างภายในกำหนดเวลาไม่เกินสองเดือน และไม่ตัดรอนสิทธิอันควรได้ของสมาชิกเหล่านั้น หมวด ๕ สิทธิของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน มาตรา ๒๓ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองอาจได้รับสิทธิบางประการตลอดระยะเวลาที่ยังประจำกองอยู่ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด มาตรา ๒๔ เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับการรักษาพยาบาลตามที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนด มาตรา ๒๕ เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประสพอันตรายถึงชีวิตหรือพิการทุพพลภาพ เนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับบำนาญพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญโดยอนุโลม หมวด ๖ บทกำหนดโทษ มาตรา ๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๒๗ ผู้ใดแต่งเครื่องแบบ หรือประดับ หรือใช้ธงหรือเครื่องหมายที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติในมาตรา ๒๐ โดยไม่มีสิทธิที่จะแต่ง ประดับ หรือใช้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา ๒๘ ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา ๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ หมวด ๗ เบ็ดเตล็ด มาตรา ๒๙ เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ วางระเบียบ และออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การป้องกันประเทศชาติในสถานการณ์สงครามปัจจุบันเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองทุกคนที่จะต้องร่วมมือช่วยเหลือ และจะต้องได้รับการศึกษาอบรมเพื่อให้มีความรู้ในการที่จะป้องกันตนเองและประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมและจัดหน่วยการบังคับบัญชาเตรียมไว้แต่เวลาปกติ พรพิมล/แก้ไข ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๔ พัชรินทร์/แก้ไข ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ วศิน/แก้ไข ๙ มีนาคม ๒๕๕๒ กฤษดายุทธ/ปรับปรุง ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ปณตภร/ตรวจ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๑๔/หน้า ๒๘๕/๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗
318477
พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 บังคับในท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2537
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา ให้ใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บังคับในท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๓๗ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นปีที่ ๔๙ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้ใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บังคับในท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๒ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บังคับในท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๓๗” มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บังคับในบางจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๗ (๒) พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บังคับในบางจังหวัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ (๓) พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บังคับในบางจังหวัด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๘ (๔) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๓๓ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ (๕) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๕ ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ (๖) พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บังคับในจังหวัดมุกดาหาร พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๔ ให้ใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บังคับในท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บังคับในท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรแล้ว และได้มีการจัดตั้งจังหวัดสระแก้ว จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดหนองบัวลำภูเพิ่มขึ้น สมควรปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โดยกำหนดให้ใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บังคับในท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรแทนการระบุชื่อจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการใช้กฎหมายและเพื่อให้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับกรณีที่มีการจัดตั้งจังหวัดเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องแก้ไขพระราชกฤษฎีกานี้อีก จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๓๖ ก/หน้า ๒๔/๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๗
736760
กฎกระทรวง (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดน มีลักษณะและสัณฐาน ดังนี้ ยอดคันธง เป็นรูปตรีทำด้วยโลหะสีทอง ตอนบนเป็นรูปพระขรรค์ทำด้วยโลหะสีเงินประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน ใต้ฐานยอดคันธงชิดกับมุมบนของธงด้านเสา มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสอง มีส่วนยาวเลยมุมธงด้านล่าง ชายแถบทั้งสองเป็นครุย ธงสี่เหลี่ยม ลักษณะและสัณฐานเหมือนธงชาติมีส่วนและขนาดพองาม พื้นธงมุมบนด้านหน้าใกล้คันธง มีพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลสีเหลือง ภายใต้มีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อสีทอง ขลิบริมสีเหลือง รัศมีสีทอง ตรงกึ่งกลางธงด้านหน้า มีรูปพระนเรศวรทรงช้างภายในวงกลมสีแดง มีขอบสีเหลือง มีตัวอักษรสีเหลืองเขียนว่า “กองอาสารักษาดินแดน” เป็นแถวโค้งโอบใต้รูปวงกลมดังกล่าว ตรงกึ่งกลางธงด้านหลัง มีรูปช่อชัยพฤกษ์ มีอุณาโลมอยู่กลางภายใต้พระมหามงกุฎ ริมชายธงตอนที่ตรงกับคันธงเป็นสีแดง ส่วนริมชายธงด้านอื่น ๆ เป็นครุยสีเหลือง ข้อ ๒[๒] ธงประจำกอง กองอาสารักษาดินแดนจังหวัดมีลักษณะและสัณฐานเหมือนข้อ ๑ แต่ตัวอักษรด้านหน้าของธงให้มีชื่อจังหวัดเป็นตัวอักษรสีเหลืองใต้คำว่า “กองอาสารักษาดินแดน” ด้วย ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗ พลเรือโท สุนาวินวิวัฒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ในบางจังหวัดแล้ว จึงเป็นการสมควรกำหนดให้มีธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดนขึ้น เพื่อเป็นที่หมาย ที่เคารพต่อไป กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๓] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้กำหนดให้มีเฉพาะธงประจำกองอาสารักษาดินแดนและธงประจำกอง กองอาสารักษาดินแดนจังหวัด มิได้กำหนดให้มีธงประจำกองสำหรับภาคด้วย จึงเป็นการสมควรที่จะได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้มีธงประจำกองสำหรับภาค เพื่อเป็นศักดิ์ศรีและเป็นมิ่งขวัญของแต่ละภาค กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๔] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้แก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยเลิกภาค ให้มีเฉพาะเขต สำหรับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้มีเฉพาะจังหวัดและอำเภอ และโอนอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการภาค ไปเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด จึงสมควรยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยให้ยกเลิกธงประจำกองอาสารักษาดินแดนภาค ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องต้องกันกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับดังกล่าว จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ ปิติวรรณ/ปรับปรุง ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ อรญา/ตรวจ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๓๙/หน้า ๘๗๖/๒๒ มิถุนายน ๒๔๙๗ [๒] ข้อ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๒/ตอนที่ ๔๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๘ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๔/ตอนที่ ๖๓/หน้า ๑๑๗๔/๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๐
736762
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๒] ให้มีตำแหน่งผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน ดังต่อไปนี้ ๑. ผู้บัญชาการ ใช้อักษรย่อว่า ผ.บ.ช. ๒. รองผู้บัญชาการ ใช้อักษรย่อว่า ร.ผ.ช. ๓. ผู้ช่วยผู้บัญชาการ ใช้อักษรย่อว่า ช.ผ.ช. ๔. ผู้บังคับการจังหวัด ใช้อักษรย่อว่า ผ.ก.จ. ๕. รองผู้บังคับการจังหวัด ใช้อักษรย่อว่า ร.ก.จ. ๖. ผู้บังคับกองร้อย ใช้อักษรย่อว่า ผ.ก.ร. ๗. รองผู้บังคับกองร้อย ใช้อักษรย่อว่า ร.ก.ร. ๘. ผู้บังคับหมวด ใช้อักษรย่อว่า ผ.บ.ม. ๙. จ่ากองร้อย ใช้อักษรย่อว่า จ.ก.ร. ๑๐. ผู้บังคับหมู่ ใช้อักษรย่อว่า ผ.บ.หมู่ ข้อ ๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองผู้บัญชาการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทยและจเรตำรวจเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการ และให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากจะมีผู้ดำรงตำแหน่งตามความในวรรคแรก ให้ผู้บัญชาการมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลอื่นที่เห็นสมควรเป็นรองผู้บัญชาการหรือผู้ช่วยผู้บัญชาการ และให้มีอำนาจถอดถอนด้วย ข้อ ๓[๓] ให้ผู้บังคับการจังหวัดเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งสังกัดอยู่ในจังหวัดนั้น ข้อ ๔ ให้นายอำเภอเป็นผู้บังคับกองร้อย เว้นแต่ในท้องที่อำเภอใดมีอัตรากำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมากกว่าหนึ่งกองร้อยหรือไม่ถึงหนึ่งกองร้อยให้ผู้บัญชาการเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลใดที่เห็นสมควรเป็นผู้บังคับกองร้อยนั้น และให้มีอำนาจถอดถอนด้วย ผู้บังคับกองร้อยเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ซึ่งสังกัดอยู่ในกองร้อยนั้น ข้อ ๕[๔] ผู้บัญชาการเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลใดที่เห็นสมควรเป็นรองผู้บังคับการจังหวัด และรองผู้บังคับกองร้อย และให้มีอำนาจถอดถอนด้วย และให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ซึ่งสังกัดอยู่ในจังหวัด อำเภอ หรือในกองร้อยนั้น แล้วแต่กรณี และให้เป็นผู้ช่วยผู้บังคับการจังหวัด หรือผู้บังคับกองร้อยตามลำดับ ข้อ ๖ ผู้บัญชาการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลใดที่เห็นสมควรเป็นผู้บังคับหมวด จ่ากองร้อย และผู้บังคับหมู่ และให้มีอำนาจถอดถอนด้วย ข้อ ๗ ให้มีเจ้าหน้าที่ในกองอาสารักษาดินแดนส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคตามที่ผู้บัญชาการเห็นสมควร และให้ผู้บัญชาการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แต่งตั้งหรือถอดถอน ข้อ ๘ อัตรากำลังของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้กำหนดดังนี้ (๑) กองร้อย ให้มีผู้บังคับกองร้อยเป็นผู้บังคับบัญชา รองผู้บังคับกองร้อยเป็นผู้ช่วย กองร้อยหนึ่งให้แบ่งออกเป็นสามหมวด และมีเจ้าหน้าที่ประจำกองร้อยอีกตามสมควร (๒) หมวด ให้มีผู้บังคับหมวดเป็นผู้บังคับบัญชา หมวดหนึ่งแบ่งออกเป็นสี่หมู่ นอกจากนี้อาจมีผู้ช่วยหรือเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร (๓) หมู่ ให้มีผู้บังคับหมู่เป็นผู้บังคับบัญชา มีอัตรากำลังและผู้ช่วยหรือเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร ข้อ ๙ การจัดตั้งกองร้อย และการจัดระเบียบภายในกองร้อยให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่ผู้บัญชาการจะได้กำหนดขึ้น ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗ พลเรือโท สุนาวินวิวัฒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ กำหนดตำแหน่งผู้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน และอำนาจการปกครองบังคับบัญชาตลอดถึงกำหนดอัตรากำลังของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๕] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้แก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยเลิกภาค ให้มีเฉพาะเขต สำหรับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้มีเฉพาะจังหวัดและอำเภอ และโอนอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการภาค ไปเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด จึงสมควรแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยให้ยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการภาค รองผู้บัญชาการภาค ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องต้องกันกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับดังกล่าว จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ ปิติวรรณ/ปรับปรุง ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ อรญา/ตรวจ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๓๙/หน้า ๘๗๙/๒๒ มิถุนายน ๒๔๙๗ [๒] ข้อ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ [๓] ข้อ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ [๔] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ [๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๔/ตอนที่ ๖๓/หน้า ๑๑๗๐/๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๐
301230
กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้ “การสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดน” หมายความว่า การเรียกรวมกำลังของกองอาสารักษาดินแดนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะใช้อาวุธหรือไม่ก็ตาม ข้อ ๒ ผู้บังคับบัญชามีอำนาจที่จะสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนได้ ดังนี้ (๑) ผู้บัญชาการสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนได้ทั่วราชอาณาจักร (๒) ผู้บังคับการจังหวัดสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนได้ภายในเขตพื้นที่ของจังหวัด (๓) ผู้บังคับกองร้อยสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนได้ภายในเขตพื้นที่ของอำเภอ ข้อ ๓ การสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนเพื่อปฏิบัติการตามหน้าที่โดยไม่ใช้อาวุธ ผู้มีอำนาจสั่งใช้ได้เต็มตามอัตรากำลังที่มีอยู่ ข้อ ๔ การสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนเพื่อปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธ หมายถึง (๑) กรณีใช้อาวุธในเขตพื้นที่ (๒) กรณีใช้อาวุธนอกเขตพื้นที่ ข้อ ๕ การสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนเพื่อปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธในเขตพื้นที่ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บัญชาการก่อน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะกระทำได้ เว้นแต่ (๑) ในกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการรุกรานของข้าศึกจากภายนอกประเทศ ให้ผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๒ สั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนโดยใช้อาวุธได้เต็มตามอัตรากำลังที่มีอยู่ (๒) ในกรณีมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ให้ผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๒ (๒) และ (๓) สั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนโดยใช้อาวุธได้ตามความจำเป็นร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เมื่อได้สั่งใช้กำลังตาม (๑) และ (๒) แล้ว ให้ผู้สั่งใช้กำลังรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บัญชาการทราบ ข้อ ๖ ในกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนปฏิบัติงานตามความต้องการของทางราชการ ผู้บัญชาการจะมอบหมายให้ผู้บังคับการจังหวัดสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนเป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมหรือสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น โดยใช้อาวุธภายในเขตพื้นที่ของจังหวัดก็ได้ เมื่อผู้บังคับการจังหวัดได้สั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนไปแล้วให้ส่งแผนและคำสั่งบรรจุกำลังให้ผู้บัญชาการทราบ ข้อ ๗ การสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนเพื่อปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธนอกเขตพื้นที่ ให้ผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๒ (๒) และ (๓) มีอำนาจกระทำได้ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งและมีความจำเป็นเร่งด่วน หรือเป็นกรณีการต่อสู้ในภาวะติดพันหรือผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๒ (๒) และ (๓) ของเขตพื้นที่ข้างเคียงร้องขอ โดยให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้นำหน่วยแจ้งผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ทราบในโอกาสแรกที่จะกระทำได้ และเมื่อเสร็จภารกิจให้กลับพื้นที่ทันทีแล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บัญชาการทราบ ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ พลเอก สิทธิ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ บัญญัติว่าผู้บังคับบัญชามีอำนาจที่จะสั่งใช้กำลังของกองอาสารักษาดินแดนให้ทำการตามอำนาจหน้าที่ได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๑/ตอนที่ ๑๕๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗
318479
กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2500) ออกตามความในพระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๒ ธงประจำกอง กองอาสารักษาดินแดนจังหวัดมีลักษณะและสัณฐานเหมือนข้อ ๑ แต่ตัวอักษรด้านหน้าของธงให้มีชื่อจังหวัดเป็นตัวอักษรสีเหลืองใต้คำว่า “กองอาสารักษาดินแดน” ด้วย” ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ พลโท ป. จารุเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ลงนามแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้แก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยเลิกภาค ให้มีเฉพาะเขต สำหรับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้มีเฉพาะจังหวัดและอำเภอ และโอนอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการภาค ไปเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด จึงสมควรยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยให้ยกเลิกธงประจำกองอาสารักษาดินแดนภาค ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องต้องกันกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับดังกล่าว ปิติวรรณ/ปรับปรุง ๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ อรญา/ตรวจ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๔/ตอนที่ ๖๓/หน้า ๑๑๗๔/๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๐
301229
กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2500) ออกตามความในพระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑ ให้มีตำแหน่งผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน ดังต่อไปนี้ ๑. ผู้บัญชาการ ใช้อักษรย่อว่า ผ.บ.ช. ๒. รองผู้บัญชาการ ใช้อักษรย่อว่า ร.ผ.ช. ๓. ผู้ช่วยผู้บัญชาการ ใช้อักษรย่อว่า ช.ผ.ช. ๔. ผู้บังคับการจังหวัด ใช้อักษรย่อว่า ผ.ก.จ. ๕. รองผู้บังคับการจังหวัด ใช้อักษรย่อว่า ร.ก.จ. ๖. ผู้บังคับกองร้อย ใช้อักษรย่อว่า ผ.ก.ร. ๗. รองผู้บังคับกองร้อย ใช้อักษรย่อว่า ร.ก.ร. ๘. ผู้บังคับหมวด ใช้อักษรย่อว่า ผ.บ.ม. ๙. จ่ากองร้อย ใช้อักษรย่อว่า จ.ก.ร. ๑๐. ผู้บังคับหมู่ ใช้อักษรย่อว่า ผ.บ.หมู่” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๓ ให้ผู้บังคับการจังหวัดเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งสังกัดอยู่ในจังหวัดนั้น” ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๕ ผู้บัญชาการเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลใดที่เห็นสมควรเป็นรองผู้บังคับการจังหวัด และรองผู้บังคับกองร้อย และให้มีอำนาจถอดถอนด้วย และให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ซึ่งสังกัดอยู่ในจังหวัด อำเภอ หรือในกองร้อยนั้น แล้วแต่กรณี และให้เป็นผู้ช่วยผู้บังคับการจังหวัด หรือผู้บังคับกองร้อยตามลำดับ” ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ พลโท ป. จารุเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ลงนามแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้แก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยเลิกภาค ให้มีเฉพาะเขต สำหรับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้มีเฉพาะจังหวัดและอำเภอ และโอนอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการภาค ไปเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด จึงสมควรแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยให้ยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการภาค รองผู้บัญชาการภาค ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องต้องกันกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับดังกล่าว จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๔/ตอนที่ ๖๓/หน้า ๑๑๗๐/๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๐
326963
กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2498) ออกตามความในพระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๒ ธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดนภาค มีลักษณะและสัณฐานเหมือนข้อ ๑ แต่ด้านหน้าของธงให้มีชื่อภาคเป็นตัวอักษรและตัวเลขสีเหลือง ต่อจากคำว่า “กองอาสารักษาดินแดน” ธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด มีลักษณะและสัณฐานเหมือนธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดนภาค แต่ด้านหน้าของธงให้มีชื่อจังหวัดเป็นตัวอักษรสีเหลือง ใต้ชื่อกองอาสารักษาดินแดนภาค” ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ พลเรือโท สุนาวินวิวัฒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้กำหนดให้มีเฉพาะธงประจำกองอาสารักษาดินแดนและธงประจำกอง กองอาสารักษาดินแดนจังหวัด มิได้กำหนดให้มีธงประจำกองสำหรับภาคด้วย จึงเป็นการสมควรที่จะได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้มีธงประจำกองสำหรับภาค เพื่อเป็นศักดิ์ศรีและเป็นมิ่งขวัญของแต่ละภาค จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๒/ตอนที่ ๔๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๘
736758
กฎกระทรวง (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 (ฉบับ Update ณ วันที่ 21/06/2498)(ครั้ง ที่ 1) (ฉบับที่ 4)
กฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดน มีลักษณะและสัณฐาน ดังนี้ ยอดคันธง เป็นรูปตรีทำด้วยโลหะสีทอง ตอนบนเป็นรูปพระขรรค์ทำด้วยโลหะสีเงินประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน ใต้ฐานยอดคันธงชิดกับมุมบนของธงด้านเสา มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสอง มีส่วนยาวเลยมุมธงด้านล่าง ชายแถบทั้งสองเป็นครุย ธงสี่เหลี่ยม ลักษณะและสัณฐานเหมือนธงชาติมีส่วนและขนาดพองาม พื้นธงมุมบนด้านหน้าใกล้คันธง มีพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลสีเหลือง ภายใต้มีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อสีทอง ขลิบริมสีเหลือง รัศมีสีทอง ตรงกึ่งกลางธงด้านหน้า มีรูปพระนเรศวรทรงช้างภายในวงกลมสีแดง มีขอบสีเหลือง มีตัวอักษรสีเหลืองเขียนว่า “กองอาสารักษาดินแดน” เป็นแถวโค้งโอบใต้รูปวงกลมดังกล่าว ตรงกึ่งกลางธงด้านหลัง มีรูปช่อชัยพฤกษ์ มีอุณาโลมอยู่กลางภายใต้พระมหามงกุฎ ริมชายธงตอนที่ตรงกับคันธงเป็นสีแดง ส่วนริมชายธงด้านอื่น ๆ เป็นครุยสีเหลือง ข้อ ๒[๒] ธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดนภาค มีลักษณะและสัณฐานเหมือนข้อ ๑ แต่ด้านหน้าของธงให้มีชื่อภาคเป็นตัวอักษรและตัวเลขสีเหลือง ต่อจากคำว่า “กองอาสารักษาดินแดน” ธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด มีลักษณะและสัณฐานเหมือนธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดนภาค แต่ด้านหน้าของธงให้มีชื่อจังหวัดเป็นตัวอักษรสีเหลือง ใต้ชื่อ กองอาสารักษาดินแดนภาค ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗ พลเรือโท สุนาวินวิวัฒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ในบางจังหวัดแล้ว จึงเป็นการสมควรกำหนดให้มีธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดนขึ้น เพื่อเป็นที่หมาย ที่เคารพต่อไป กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๓] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้กำหนดให้มีเฉพาะธงประจำกองอาสารักษาดินแดนและธงประจำกอง กองอาสารักษาดินแดนจังหวัด มิได้กำหนดให้มีธงประจำกองสำหรับภาคด้วย จึงเป็นการสมควรที่จะได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้มีธงประจำกองสำหรับภาค เพื่อเป็นศักดิ์ศรีและเป็นมิ่งขวัญของแต่ละภาค จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ ปิติวรรณ/ปรับปรุง ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ อรญา/ตรวจ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๓๙/หน้า ๘๗๖/๒๒ มิถุนายน ๒๔๙๗ [๒] ข้อ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๒/ตอนที่ ๔๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๘
318478
กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ส่วนที่ ๑ ประเภทเครื่องแบบ ข้อ ๑ เครื่องแบบสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมี ๒ ประเภท คือ (๑) เครื่องแบบปกติ (๒) เครื่องแบบฝึก หมวด ๑ เครื่องแบบปกติ ข้อ ๒ เครื่องแบบปกติประกอบด้วย (๑) หมวกทรงหม้อตาลสีกากี (๒) เสื้อคอพับหรือคอพับเปิดคอแขนยาวสีกากี (๓) กางเกงขายาวสีกากี (๔) เข็มขัดหนังสีน้ำตาล คาดทับขอบกางเกง (๕) รองเท้าหุ้มส้นหนังสีดำหรือสีน้ำตาล สมาชิกหญิงจะใช้หมวกหนีบ เสื้อแขนสั้นแบบหญิงหรือกระโปรงสีกากีก็ได้ หมวด ๒ เครื่องแบบฝึก ข้อ ๓ เครื่องแบบฝึกประกอบด้วย (๑) หมวกทรงหม้อตาล หมวกหนีบ หมวกแก๊ปทรงอ่อน หรือหมวกเหล็ก สีกากีหรือสีกากีแกมเขียว (๒) เสื้อคอพับ หรือคอพับเปิดคอแขนยาวหรือแขนสั้น สีกากีหรือสีกากีแกมเขียว (๓) กางเกงขายาว ด้านหลังมีกระเป๋าพิเศษสำหรับบรรจุซองกระสุน ๒ กระเป๋า กางเกงขายาวหรือกางเกงขาสั้น สีกากีหรือสีกากีแกมเขียว (๔) เข็มขัดหนังสีน้ำตาล เข็มขัดผ้าสีกากีหรือสีกากีแกมเขียว (๕) รองเท้าหุ้มข้อหนังสีดำ หรือสีน้ำตาล ในกรณีใช้กางเกงขายาว ให้สวมรองเท้าหุ้มข้อทับขากางเกง หรือจะใช้สนับแข้งสีเดียวกับสีของรองเท้าด้วยก็ได้ สมาชิกหญิงจะใช้เสื้อแขนสั้นแบบหญิง หรือกระโปรงสีกากีหรือสีกากีแกมเขียวก็ได้ เครื่องแบบฝึกนี้เมื่อใช้สีใด ให้ใช้ส่วนประกอบสีเดียวกัน เว้นแต่รองเท้าให้เป็นไปตาม (๕) ส่วนที่ ๒ ส่วนของเครื่องแบบ หมวด ๑ หมวก ข้อ ๔ หมวกมี ๔ แบบ คือ (๑) หมวกทรงหม้อตาล มีกะบังดำมันและมีเครื่องประกอบดังนี้ ก. สายรัดคางสีดำกว้าง ๑ เซนติเมตร ข. ดุมโลหะสีทองดุนเป็นรูปพระนเรศวรทรงช้าง ขนาดเล็กตรึงปลายสายรัดคางติดที่ข้างหมวกข้างละ ๑ ดุม ค. เครื่องหมายตราหน้าหมวก ทำด้วยโลหะสีทองดุนเป็นรูปอุนาโลมประดับด้วยช่อชัยพฤกษ์ มีพระมหามงกุฎครอบอุนาโลม ภายใต้อุนาโลมมีอักษรว่า “ไทยต้องเป็นไทย” ง. ผ้าพันหมวกทำด้วยผ้า หรือสักหลาดพื้นสีดำขนาดกว้าง ๔ เซนติเมตร และมีขลิบทำด้วยผ้า หรือสักหลาดสีเหลือง ขนาดกว้าง ๕ มิลลิเมตร เป็นขอบทั้งด้านบนและด้านล่าง (๒) หมวกหนีบมีเครื่องประกอบ ดังนี้ ก. ขอบหมวกสีดำ ด้านบนขลิบด้วยผ้าหรือสักหลาดสีเหลือง กว้าง ๕ มิลลิเมตร โดยรอบ ข. เครื่องหมายตราหน้าหมวก มีลักษณะเช่นเดียวกับที่กล่าวใน (๑) ค. แต่ขนาดเล็กกว่า ติดทางด้านซ้ายเหนือขอบหมวกห่างจากมุมพับ ๔ เซนติเมตร (๓) หมวกแก๊ปทรงอ่อนมีเครื่องหมายตราหน้าหมวกลักษณะเช่นเดียวกับที่กล่าวใน (๒) ข. ติดตรงกึ่งกลางด้านหน้าของหมวก (๔) หมวกเหล็ก มีสายรัดคางสีเดียวกับหมวก กว้าง ๑ เซนติเมตร หมวด ๒ เสื้อ ข้อ ๕ เสื้อมี ๒ แบบ คือ (๑) เสื้อคอพับ มีดุมที่คอและแนวอกเสื้อรวม ๕ ดุม แขนยาวรัดข้อมือ มีดุมข้างละ ๑ ดุม หรือแขนสั้นเพียงศอก มีกระเป๋าและปกที่อกเสื้อข้างละ ๑ กระเป๋า มีดุมขัดกระเป๋าข้างละ ๑ ดุม ที่มุมกระเป๋าด้านล่างและมุมปากกระเป๋าเป็นรูปตัดพองามกับมีอินทรธนูอ่อน ทำด้วยผ้าสีเดียวกับเสื้อ เย็บเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเรียวจากด้านไหล่ไปทางคอปลายมน ด้านไหล่กว้าง ๔ เซนติเมตร เย็บติดกับตะเข็บเสื้อ ด้านคอกว้าง ๓ เซนติเมตร ยาวตามขนาดของบ่า ตอนปลายขัดดุมขนาดเล็ก ดุมทั้งสิ้นที่กล่าวนี้มีลักษณะกลมแบนทำด้วยวัตถุสีน้ำตาล ถ้าเป็นเสื้อชนิดแขนสั้นแบบหญิง ให้ใช้แขนสั้นเหนือศอกประมาณ ๕ เซนติเมตร (๒) เสื้อคอพับเปิดคอ มีดุมที่แนวอกเสื้อระยะห่างกันพอสมควร และมีส่วนประกอบอย่างอื่นเช่นเดียวกับเสื้อคอพับตาม (๑) เมื่อสวมเสื้อนี้ต้องสอดชายเสื้อให้อยู่ภายในกางเกงหรือกระโปรง ในเวลาที่มิได้บังคับแถว หรือประจำแถว เมื่อใช้เสื้อแบบ (๑) สีกากีชนิดแขนยาว จะผูกผ้าผูกคอสีดำเงื่อนกลาสีด้วยก็ได้ และให้สอดชายผ้าผูกคอไว้ภายในเสื้อใต้ดุมเม็ดที่ ๒ หมวด ๓ กางเกงและกระโปรง ข้อ ๖ กางเกงมี ๓ แบบ คือ (๑) กางเกงขายาวไม่พับปลายขา (๒) กางเกงขายาวไม่พับปลายขา ด้านหลังมีกระเป๋าพิเศษสำหรับบรรจุซองกระสุน ๒ กระเป๋า (๓) กางเกงขาสั้นเพียงเข่า ข้อ ๗ กระโปรงยาวประมาณครึ่งน่อง มีจีบพับทบตรงกลางด้านหลัง ชายกระโปรงไม่บาน หมวด ๔ เข็มขัด ข้อ ๘ เข็มขัดมี ๒ แบบ คือ (๑) เข็มขัดหนังเลี่ยน กว้าง ๔.๕ เซนติเมตร หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางตั้ง มีเข็มสำหรับสอดรู ๑ เข็ม (๒) เข็มขัดผ้า กว้าง ๕ เซนติเมตร หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะมีขอเกี่ยว หมวด ๕ รองเท้า ถุงเท้า และสนับแข้ง ข้อ ๙ รองเท้ามี ๒ แบบ คือ (๑) รองเท้าหุ้มส้นหนังชนิดผูกเชือก (๒) รองเท้าหุ้มข้อหนังชนิดผูกเชือก รองเท้าทุกแบบต้องไม่มีลวดลายอย่างใด เวลาสวมรองเท้าต้องสวมถุงเท้าสีเดียวกับรองเท้า เว้นแต่เมื่อใช้กางเกงขาสั้นให้สวมถุงเท้ายาวสีเดียวกับสีของกางเกง ข้อ ๑๐ สนับแข้งหนังเลี่ยน ใช้ประกอบกับรองเท้าหุ้มข้อ หมวด ๖ เครื่องหมายประกอบที่ไหล่เสื้อ ข้อ ๑๑ เครื่องหมายประกอบที่ไหล่เสื้อ ทำด้วยผ้าหรือสักหลาดเป็นรูปอาร์ม กว้าง ๗ เซนติเมตร ยาว ๙ เซนติเมตร ตอนบนเป็นพื้นสีดำกว้าง ๓ เซนติเมตร ตอนล่างเป็นพื้นสีธงชาติ กลัดติดที่โคนแขนเสื้อเครื่องแบบด้านไหล่ข้างซ้าย หมวด ๗ เครื่องหมายสังกัด ข้อ ๑๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองมีเครื่องหมายสังกัด คือ (๑) เครื่องหมายสังกัดภาค เป็นตัวเลขอารบิคทำด้วยโลหะสีทอง กลัดติดที่เครื่องหมายประกอบที่ไหล่เสื้อบนแผ่นอาร์ม ส่วนบนตรงกึ่งกลางของพื้นสีดำ (๒) เครื่องหมายสังกัดจังหวัด เป็นตัวอักษรย่อชื่อจังหวัดทำด้วยโลหะสีทองติดที่ปกคอเสื้อข้างขวา (๓) เครื่องหมายสังกัดกองร้อย เป็นตัวเลขอารบิคทำด้วยโลหะสีทอง ติดที่ปกคอเสื้อข้างซ้าย ข้อ ๑๓ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทสำรองและประเภทกองหนุน ให้ใช้เครื่องหมายสังกัดภาค และเครื่องหมายสังกัดจังหวัดเช่นเดียวกับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกอง สำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทสำรอง ให้ใช้อักษรย่อ สร. และสำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทกองหนุน ให้ใช้อักษรย่อ นก. ทำด้วยโลหะสีทองติดที่ปกคอเสื้อข้างซ้าย หมวด ๘ เลขหมายประจำตัว ข้อ ๑๔ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกอง ให้มีเลขหมายประจำตัวเป็นตัวเลขอารบิค ทำด้วยโลหะสีทองติดเหนือกระเป๋าเสื้อด้านขวา ส่วนที่ ๓ การใช้เครื่องแบบ ข้อ ๑๕ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนทุกประเภท มีสิทธิที่จะแต่งเครื่องแบบตามกฎกระทรวงนี้ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ข้อ ๑๖ เพื่อประโยชน์ในการฝึกหรือปฏิบัติหน้าที่ในบางโอกาส ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดนจะกำหนดเครื่องแบบฝึก หรือเครื่องประกอบเครื่องแบบฝึกตามความจำเป็นก็ได้ ข้อ ๑๗ ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดนจะสั่งให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนแต่งเครื่องแบบประเภทใด ใช้หรืองดใช้เครื่องประกอบชนิดใดในกรณีใดตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์ก็ได้ ส่วนที่ ๔ เบ็ดเตล็ด ข้อ ๑๘ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น ๆ ได้ตามหมายกำหนดการ และให้ประดับเฉพาะเครื่องแบบปกติในโอกาสทั่ว ๆ ไปให้ใช้แพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น ๆ ทำเป็นแผ่นกว้างไม่เกิน ๑.๕ เซนติเมตร ติดที่อกเสื้อเบื้องซ้ายเหนือกระเป๋าบน ข้อ ๑๙ ในเวลาแต่งเครื่องแบบ ห้ามมิให้ใช้สิ่งอื่นใดติดหรือทับเครื่องแบบ นอกจากเครื่องหมายที่ทางราชการอนุญาต ข้อ ๒๐ ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำหรือเขียนรูปตัวอย่างเครื่องแบบตามกฎกระทรวงนี้ขึ้นไว้เป็นมาตรฐาน ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ พลเรือโท สุนาวินวิวัฒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ในบางจังหวัดแล้ว จึงเป็นการสมควรตรากฎกระทรวงกำหนดเครื่องแบบสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนขึ้นไว้เพื่อให้การได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ ปิติวรรณ/ปรับปรุง ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ อรญา/ตรวจ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๘๑/หน้า ๑๘๒๐/๗ ธันวาคม ๒๔๙๗
301228
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้มีตำแหน่งผู้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน ดังต่อไปนี้ ๑. ผู้บัญชาการ ใช้อักษรย่อว่า ผ.บ.ช. ๒. รองผู้บัญชาการ ใช้อักษรย่อว่า ร.ผ.ช. ๓. ผู้ช่วยผู้บัญชาการ ใช้อักษรย่อว่า ช.ผ.ช. ๔. ผู้บัญชาการภาค ใช้อักษรย่อว่า ผ.บ.ภ. ๕. รองผู้บัญชาการภาค ใช้อักษรย่อว่า ร.บ.ภ. ๖. ผู้บังคับการจังหวัด ใช้อักษรย่อว่า ผ.ก.จ. ๗. รองผู้บังคับการจังหวัด ใช้อักษรย่อว่า ร.ก.จ. ๘. ผู้บังคับกองร้อย ใช้อักษรย่อว่า ผ.ก.ร. ๙. รองผู้บังคับกองร้อย ใช้อักษรย่อว่า ร.ก.ร. ๑๐. ผู้บังคับหมวด ใช้อักษรย่อว่า ผ.บ.ม. ๑๑. จ่ากองร้อย ใช้อักษรย่อว่า จ.ก.ร. ๑๒. ผู้บังคับหมู่ ใช้อักษรย่อว่า ผ.บ.หมู่ ข้อ ๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองผู้บัญชาการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทยและจเรตำรวจเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการ และให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากจะมีผู้ดำรงตำแหน่งตามความในวรรคแรก ให้ผู้บัญชาการมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลอื่นที่เห็นสมควรเป็นรองผู้บัญชาการหรือผู้ช่วยผู้บัญชาการ และให้มีอำนาจถอดถอนด้วย ข้อ ๓ ให้ผู้ว่าราชการภาคเป็นผู้บัญชาการภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับการจังหวัด และให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนส่วนภูมิภาคซึ่งสังกัดอยู่ในภาค และในจังหวัดนั้น แล้วแต่กรณี ข้อ ๔ ให้นายอำเภอเป็นผู้บังคับกองร้อย เว้นแต่ในท้องที่อำเภอใดมีอัตรากำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมากกว่าหนึ่งกองร้อยหรือไม่ถึงหนึ่งกองร้อยให้ผู้บัญชาการเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลใดที่เห็นสมควรเป็นผู้บังคับกองร้อยนั้น และให้มีอำนาจถอดถอนด้วย ผู้บังคับกองร้อยเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ซึ่งสังกัดอยู่ในกองร้อยนั้น ข้อ ๕ ผู้บัญชาการเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลใดที่เห็นสมควรเป็นรองผู้บัญชาการภาค รองผู้บังคับการจังหวัด และรองผู้บังคับกองร้อย และให้มีอำนาจถอดถอนด้วย และให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งสังกัดอยู่ในภาค จังหวัด อำเภอ หรือในกองร้อยนั้น แล้วแต่กรณี และให้เป็นผู้ช่วยของผู้บัญชาการภาค ผู้บังคับการจังหวัด หรือผู้บังคับกองร้อย ตามลำดับ ข้อ ๖ ผู้บัญชาการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลใดที่เห็นสมควรเป็นผู้บังคับหมวด จ่ากองร้อย และผู้บังคับหมู่ และให้มีอำนาจถอดถอนด้วย ข้อ ๗ ให้มีเจ้าหน้าที่ในกองอาสารักษาดินแดนส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคตามที่ผู้บัญชาการเห็นสมควร และให้ผู้บัญชาการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แต่งตั้งหรือถอดถอน ข้อ ๘ อัตรากำลังของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้กำหนดดังนี้ (๑) กองร้อย ให้มีผู้บังคับกองร้อยเป็นผู้บังคับบัญชา รองผู้บังคับกองร้อยเป็นผู้ช่วย กองร้อยหนึ่งให้แบ่งออกเป็นสามหมวด และมีเจ้าหน้าที่ประจำกองร้อยอีกตามสมควร (๒) หมวด ให้มีผู้บังคับหมวดเป็นผู้บังคับบัญชา หมวดหนึ่งแบ่งออกเป็นสี่หมู่ นอกจากนี้อาจมีผู้ช่วยหรือเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร (๓) หมู่ ให้มีผู้บังคับหมู่เป็นผู้บังคับบัญชา มีอัตรากำลังและผู้ช่วยหรือเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร ข้อ ๙ การจัดตั้งกองร้อย และการจัดระเบียบภายในกองร้อยให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่ผู้บัญชาการจะได้กำหนดขึ้น ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗ พลเรือโท สุนาวินวิวัฒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ กำหนดตำแหน่งผู้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน และอำนาจการปกครองบังคับบัญชาตลอดถึงกำหนดอัตรากำลังของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ ปิติวรรณ/ปรับปรุง ๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ อรญา/ตรวจ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๓๙/หน้า ๘๗๙/๒๒ มิถุนายน ๒๔๙๗
301227
กฎกระทรวง (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497
กฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดน มีลักษณะและสัณฐาน ดังนี้ ยอดคันธง เป็นรูปตรีทำด้วยโลหะสีทอง ตอนบนเป็นรูปพระขรรค์ทำด้วยโลหะสีเงินประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน ใต้ฐานยอดคันธงชิดกับมุมบนของธงด้านเสา มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสอง มีส่วนยาวเลยมุมธงด้านล่าง ชายแถบทั้งสองเป็นครุย ธงสี่เหลี่ยม ลักษณะและสัณฐานเหมือนธงชาติมีส่วนและขนาดพองาม พื้นธงมุมบนด้านหน้าใกล้คันธง มีพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลสีเหลือง ภายใต้มีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อสีทอง ขลิบริมสีเหลือง รัศมีสีทอง ตรงกึ่งกลางธงด้านหน้า มีรูปพระนเรศวรทรงช้างภายในวงกลมสีแดง มีขอบสีเหลือง มีตัวอักษรสีเหลืองเขียนว่า “กองอาสารักษาดินแดน” เป็นแถวโค้งโอบใต้รูปวงกลมดังกล่าว ตรงกึ่งกลางธงด้านหลัง มีรูปช่อชัยพฤกษ์ มีอุณาโลมอยู่กลางภายใต้พระมหามงกุฎ ริมชายธงตอนที่ตรงกับคันธงเป็นสีแดง ส่วนริมชายธงด้านอื่น ๆ เป็นครุยสีเหลือง ข้อ ๒ ธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดมีลักษณะและสัณฐานเหมือนข้อ ๑ แต่ตัวอักษรด้านหน้าของธงให้มีชื่อจังหวัดเป็นตัวอักษรสีเหลืองใต้คำว่า “กองอาสารักษาดินแดน” ด้วย ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗ พลเรือโท สุนาวินวิวัฒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ในบางจังหวัดแล้ว จึงเป็นการสมควรกำหนดให้มีธงประจำกองกองอาสารักษาดินแดนขึ้น เพื่อเป็นที่หมาย ที่เคารพต่อไป จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ ปิติวรรณ/ปรับปรุง ๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ อรญา/ตรวจ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๓๙/หน้า ๘๗๖/๒๒ มิถุนายน ๒๔๙๗
736710
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2533 (ฉบับ Update ล่าสุด)
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิก กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๓[๑] ด้วยคณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน เห็นควรให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล กองอาสารักษาดินแดน จึงกำหนดรายละเอียดในการให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๓” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “ผู้มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล” หมายความว่า สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่เจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ หรืออันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ ในภารกิจใด ๆ ตามที่ได้รับอนุมัติจากกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน “ค่ารักษาพยาบาล” หมายความว่า เงินที่สถานพยาบาลเรียกเก็บในการรักษาพยาบาล ดังนี้ (๑) ค่ายา ค่าเลือด และส่วนประกอบของเลือด หรือสารทดแทน ค่าน้ำยาหรืออาหารทางเส้นเลือด ค่าออกซิเจน และอื่น ๆ ทำนองเดียวกันที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค (๒) ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรครวมทั้งค่าซ่อมแซม (๓) ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจ ค่าวิเคราะห์โรค แต่ไม่รวมถึงค่าจ้าง ผู้พยาบาลพิเศษ ค่าธรรมเนียมพิเศษ และค่าบริการอื่นทำนองเดียวกันที่มีลักษณะเป็นเงินตอบแทนพิเศษ (๔) ค่าห้องและค่าอาหารตลอดเวลาที่เข้ารับการรักษาพยาบาล “สถานพยาบาลของทางราชการ” หมายความว่า สถานพยาบาลของทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และให้หมายความรวมถึงสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณสภากาชาดไทย คุรุสภา สมาคมปราบวัณโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และสถานพยาบาลอื่นที่กระทรวงการคลังกำหนด ข้อ ๔ การเบิกค่ารักษาพยาบาลให้เบิกได้เฉพาะการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของทางราชการเท่านั้น ส่วนประเภทและอัตราให้อนุโลมตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๓ ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่เรียกเก็บเกินกว่าสิทธิที่ผู้มีสิทธิพึงได้รับก็ให้สถานพยาบาลเรียกเก็บส่วนที่เกินนั้นจากผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลโดยตรง ข้อ ๕ การยื่นคำขอเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน (๑) ให้ผู้มีสิทธิ ยื่นคำขอหนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาลตามแบบ “รพ.อส. ๑” ท้ายระเบียบนี้ ต่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๗ (๒) เมื่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๗ เห็นว่าผู้ยื่นคำขอหนังสือรับรองมีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้ ก็ให้ออกหนังสือรับรองตามแบบ รพ.อส .๒ ให้แก่ผู้ยื่นคำขอ (๓) การจัดทำหนังสือรับรองการมีสิทธิรับค่ารักษาพยาบาล (รพ.อส. ๒) ให้กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด หรือกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน จัดทำหนังสือรับรอง ๓ ฉบับ โดยมอบต้นฉบับหนังสือรับรองและสำเนาคู่ฉบับอีก ๑ ฉบับ ให้ผู้ยื่นคำขอหนังสือรับรองเพื่อนำไปมอบให้แก่สถานพยาบาล ส่วนสำเนาคู่ฉบับอีก ๑ ฉบับให้หน่วยงานผู้ออกหนังสือรับรองเก็บไว้เป็นหลักฐาน (๔)[๒] เมื่อสถานพยาบาลได้รับหนังสือรับรอง ให้เรียกดูบัตรประจำตัวสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เพื่อตรวจสอบให้ถูกต้องตรงกันและให้เจ้าหน้าที่การเงินของสถานพยาบาลรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น และจัดทำใบแสดงรายการค่ารักษาพยาบาลเสนอให้หัวหน้าสถานพยาบาล หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองว่าถูกต้อง พร้อมทั้งแนบสำเนาหนังสือรับรองเพื่อเรียกเก็บเงินจากต้นสังกัด ข้อ ๖ กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก (๑) ให้ผู้มีสิทธิ ยื่นใบเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล ตามแบบ รพ.อส. ๓ ท้ายระเบียบนี้พร้อมทั้งหลักฐานการรับเงินของสถานพยาบาล ต่อผู้บังคับบัญชาที่กำหนดให้เป็นผู้รับรองการใช้สิทธิตามข้อ ๗ (๒) เมื่อผู้บังคับบัญชาได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้เบิกเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้แล้ว ให้ลงลายมือชื่อรับรองเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติตามข้อ ๘ เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ข้อ ๗ การรับรองการใช้สิทธิ ในการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้บุคคลต่อไปนี้มีอำนาจในการรับรองการใช้สิทธิ (๑) ส่วนภูมิภาค ระดับอำเภอ ให้ผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ เป็นผู้มีอำนาจรับรองการใช้สิทธิ ระดับจังหวัด ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจรับรองการใช้สิทธิ (๒) ส่วนกลาง ให้หัวหน้ากองในฝ่ายอำนวยการกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนเป็นผู้มีอำนาจรับรองการใช้สิทธิ ข้อ ๘[๓] การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้ผู้บังคับบัญชาต่อไปนี้เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ (๑) ส่วนภูมิภาค ให้ผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดหรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นหนังสือให้ปฏิบัติราชการแทน เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ (๒) ส่วนกลาง ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน หรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นหนังสือให้ปฏิบัติราชการแทน เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ ข้อ ๙ ผู้มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้ และมีสิทธิได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบอื่น ถ้าได้ใช้สิทธิตามกฎหมายหรือระเบียบอื่น สิทธิการรับค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้เป็นอันระงับไป ข้อ ๑๐ การเบิกจ่ายเงินจากคลังที่ไม่ได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการการรักษาพยาบาลของทางราชการโดยอนุโลม ข้อ ๑๑ ให้ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดนรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามระเบียบนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ บรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานคณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน [เอกสารแนบท้าย] ๑. คำขอหนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาล (แบบ รพ.อส. ๑) ๒. หนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาล (แบบ รพ.อส. ๒) ๓. ใบเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (แบบ รพ.อส. ๓) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖[๔] ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘[๕] ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๗/ตอนที่ ๑๙๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๑ ตุลาคม ๒๕๓๓ [๒] ข้อ ๕ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖ [๓] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐/ตอนที่ ๓๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗/๓๑ มีนาคม ๒๕๓๖ [๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒/ตอนพิเศษ ๑๙ ง/หน้า ๓๖/๗ มิถุนายน ๒๕๓๘
736714
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2538 (ฉบับ Update ล่าสุด)
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๘[๑] โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๘” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๑๑ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ มติของคณะรัฐมนตรี และคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน ข้อ ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ บททั่วไป ข้อ ๕ ในระเบียบนี้ “เข้ารับการตรวจเลือก” หมายความว่า เข้ารับการตรวจเลือกเพื่อรับราชการเป็นทหารกองประจำการ “เข้ารับการเตรียมพล” หมายความว่า เข้ารับการระดมพล เข้ารับการตรวจสอบพล เข้ารับการฝึกวิชาการทหารหรือเข้ารับการทดลองความพรั่งพร้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ข้อ ๖ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองที่ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจใด ๆ ตามที่ได้รับอนุมัติจากกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนหรืออยู่ในระหว่างทำการฝึกอบรม ข้อ ๗ การลาทุกประเภทตามระเบียบนี้ ถ้ามีกฎหมาย ระเบียบ หรือมติของคณะรัฐมนตรีกำหนดเกี่ยวกับการลาประเภทใดไว้เป็นพิเศษ ผู้ลาและผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลา จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบหรือมติของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการลาประเภทนั้นด้วย ข้อ ๘ ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้เป็นไปตามตารางที่กำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจอนุญาตการลาตามระเบียบนี้ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ และมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจรอขออนุญาตจากผู้มีอำนาจได้ ให้ผู้ลาเสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้มีอำนาจอนุญาตการลาชั้นเหนือขึ้นไปเพื่อพิจารณา และเมื่อได้อนุญาตแล้ว ให้แจ้งให้ผู้มีอำนาจอนุญาตตามระเบียบทราบด้วย ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลา จะมอบหมายหรือมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งที่เห็นสมควรเป็นผู้พิจารณาหรืออนุญาตแทนก็ได้ ข้อ ๙ การนับวันลาตามระเบียบนี้ ให้นับตามปีงบประมาณ การนับวันลาเพื่อประโยชน์ในการเสนอหรือจัดส่งใบลา อนุญาตให้ลา และคำนวณวันลาให้นับต่อเนื่องกัน โดยนับวันหยุดราชการที่อยู่ในระหว่างวันลาประเภทเดียวกันรวมเป็นวันลาด้วย การลาป่วยหรือลากิจส่วนตัว ซึ่งมีระยะเวลาต่อเนื่องกัน จะเป็นในปีเดียวกันหรือไม่ก็ตามให้นับเป็นการลาครั้งหนึ่ง ถ้าจำนวนวันลาครั้งหนึ่งรวมกันเกินอำนาจของผู้มีอำนาจอนุญาตระดับใดให้นำใบลาเสนอขึ้นไปตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ถูกเรียกกลับมาปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการลา ให้ถือว่าการลาเป็นอันหมดเขตเพียงวันก่อนวันมาปฏิบัติหน้าที่ และวันทำงานเริ่มต้นตั้งแต่วันปฏิบัติหน้าที่เป็นต้นไป การลาครึ่งวันในตอนเช้าหรือตอนบ่าย ให้นับเป็นการลาครึ่งวันตามประเภทของการลานั้น ๆ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งได้รับอนุญาตให้ลา หากประสงค์จะยกเลิกวันลาที่ยังไม่ได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้เสนอขอถอนวันลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตให้ลา และให้ถือว่าการลาเป็นอันหมดเขตเพียงวันที่ขอถอนวันลานั้น ข้อ ๑๐ เพื่อควบคุมให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ให้แต่ละกองร้อยจัดทำบัญชีลงเวลาปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในสังกัด ตามแบบท้ายระเบียบนี้ ข้อ ๑๑ การลาให้ใช้ใบลาตามแบบท้ายระเบียบนี้ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นหรือรีบด่วน จะใช้ใบลาที่มีข้อความไม่ครบถ้วนตามแบบ หรือจะลาโดยวิธีการอย่างอื่นก็ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องส่งใบลาตามแบบในวันแรกที่มาปฏิบัติหน้าที่ ข้อ ๑๒[๒] การลาแบ่งออกเป็น ๖ ประเภท คือ (๑) การลาป่วย (๒) การลากิจส่วนตัว (๓) การลาพักผ่อน (๔) การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล (๕) การลาคลอดบุตร (๖) การลาอุปสมบท หรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์ หมวด ๑ การลาป่วย ข้อ ๑๓ การลาป่วยของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนกำหนดไว้ ดังนี้ (๑) การลาป่วยกรณีปกติ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิลาป่วย โดยได้รับเงินค่าตอบแทนปีหนึ่งไม่เกินสิบห้าวัน (๒) การลาป่วยกรณีประสบอันตรายเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งป่วยเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่ หรือเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือถูกประทุษร้ายเพราะเหตุกระทำตามหน้าที่ ถ้าลาป่วยครบสิบห้าวัน แล้วยังไม่หายและแพทย์ของทางราชการลงความเห็นว่า มีทางที่จะรักษาให้หายและสามารถทำงานได้ ก็ให้ลาป่วยเพื่อรักษาพยาบาลเท่าที่ผู้มีอำนาจอนุญาตเห็นสมควร โดยได้รับเงินค่าตอบแทนได้ แต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน แต่ถ้าแพทย์ลงความเห็นว่า ไม่มีทางที่จะรักษาพยาบาลให้หายได้ ก็ให้พิจารณาตามข้อบังคับที่ ๔ เรื่อง กำหนดวิธีการให้ออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๘ ข้อ ๑๔ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งประสงค์จะลาป่วยเพื่อรักษาตัว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนหรือในวันที่ลา เว้นแต่ในกรณีจำเป็นให้ส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีที่สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนผู้ขอลามีอาการป่วยจนไม่สามารถลงชื่อในใบลาได้จะให้ผู้อื่นลาแทนก็ได้ แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้แล้ว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาโดยเร็ว การลาป่วยตั้งแต่สามวันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์แนบไปด้วย การลาป่วยไม่ถึงสามวัน ไม่ว่าจะเป็นการลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งติดต่อกัน ถ้าผู้มีอำนาจอนุญาตเห็นสมควร จะสั่งให้มีใบรับรองแพทย์ตามวรรคสองประกอบใบลา หรือสั่งให้ผู้ลาไปรับการตรวจจากแพทย์ของทางราชการ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตก็ได้ หมวด ๒ การลากิจส่วนตัว ข้อ ๑๕ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิลากิจส่วนตัว โดยได้รับเงินค่าตอบแทนปีละไม่เกินสิบวัน ข้อ ๑๖ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งประสงค์จะลากิจส่วนตัว ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถรอรับอนุญาตได้ทัน ให้ส่งใบลาพร้อมด้วยระบุเหตุจำเป็นไว้ แล้วหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนก็ได้ แต่จะต้องชี้แจงเหตุผล ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตตรวจสอบโดยเร็ว ในกรณีมีเหตุพิเศษที่ไม่อาจส่งใบลาก่อนตามวรรคหนึ่งได้ ให้ส่งใบลาพร้อมทั้งเหตุผลความจำเป็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตทันทีในวันแรกที่มาปฏิบัติหน้าที่ ข้อ ๑๗ ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ลากิจส่วนตัว ซึ่งได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปยังไม่ครบกำหนด ถ้ามีราชการจำเป็นเกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจอนุญาตจะเรียกตัวมาปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ หมวด ๓ การลาพักผ่อน ข้อ ๑๘ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีในปีหนึ่งได้สิบวัน โดยไม่ถือเป็นวันลา เว้นแต่สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนดังต่อไปนี้ไม่มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปี ในปีที่ได้รับการบรรจุสั่งใช้ยังไม่ถึงหกเดือน (๑) ผู้ซึ่งได้รับการบรรจุสั่งใช้เป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเป็นครั้งแรก (๒) ผู้ซึ่งลาออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือให้ออกจากการปฏิบัติหน้าที่ แล้วต่อมาได้รับบรรจุเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอีก ข้อ ๑๙ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งประสงค์จะลาพักผ่อน ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ ข้อ ๒๐ การอนุญาตให้ลาพักผ่อน ผู้มีอำนาจอนุญาตจะอนุญาตให้ลาครั้งเดียว หรือหลายครั้งก็ได้ โดยมิให้เสียหายแก่ราชการ ข้อ ๒๑ ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ลาพักผ่อนซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปยังไม่ครบกำหนด ถ้ามีราชการจำเป็นเกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจอนุญาตจะเรียกตัวมาปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ หมวด ๔ การลาเข้ารับการตรวจเลือก หรือเข้ารับการเตรียมพล ข้อ ๒๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิลาไปเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพลโดยได้รับเงินค่าตอบแทน โดยให้รายงานลาต่อผู้บังคับบัญชาก่อนวันเข้ารับการตรวจเลือกหรือได้รับหมายเรียกเข้ารับการเตรียมพลไม่น้อยกว่าสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลารับหมายเรียกเป็นต้นไป และให้ไปเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ตามวัน เวลาในหมายเรียกนั้น โดยไม่ต้องรอรับคำสั่งอนุญาตและให้ผู้บังคับบัญชาเสนอรายงานลาไปตามลำดับจนถึงผู้บังคับบัญชาสูงสุด ข้อ ๒๓ เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ลานั้น พ้นจากการเข้ารับการตรวจเลือก หรือเข้ารับการเตรียมพลแล้ว ให้มารายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติต่อผู้บังคับบัญชาภายในเจ็ดวัน เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็น ผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๒๒ อาจขยายเวลาให้ได้ แต่รวมแล้วไม่เกินสิบห้าวัน หมวด ๕ การลาคลอดบุตร[๓] ข้อ ๒๔[๔] สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิลาคลอดบุตร โดยได้รับเงินค่าตอบแทนครั้งหนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน ข้อ ๒๕[๕] สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งประสงค์จะลาคลอดบุตร ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนหรือในวันที่ลา เว้นแต่ไม่สามารถจะลงชื่อในใบลาได้ จะให้ผู้อื่นลาแทนก็ได้ แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้แล้ว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาโดยเร็ว โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ ให้ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ลา สำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนสังกัดส่วนกลาง หัวหน้าฝ่ายอำนวยการกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ลา สำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน สังกัดกองร้อยบังคับการและบริการ และกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดส่วนผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอหรือกิ่งอำเภอ เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ลาสำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนสังกัดกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอหรือกิ่งอำเภอ หมวด ๖ การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์[๖] ข้อ ๒๖[๗] สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ยังไม่เคยอุปสมบทในพระพุทธศาสนา หรือยังไม่เคยไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และได้รับการสั่งใช้ให้ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วไม่น้อยกว่าสิบสองเดือน มีสิทธิลาอุปสมบทหรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ โดยได้รับเงินค่าตอบแทนไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ข้อ ๒๗[๘] สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งประสงค์จะลาอุปสมบท หรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนวันอุปสมบท หรือวันเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ไม่น้อยกว่าหกสิบวัน เว้นแต่มีเหตุผลอันสมควรจะเสนอใบลาต่อผู้บังคับบัญชาน้อยกว่าหกสิบวันก็ได้ ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ลา สำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนสังกัดส่วนกลาง และผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ลา สำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในส่วนภูมิภาค ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ บรรหาร ศิลปอาชา พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘[๙] ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สุนันทา/ผู้จัดทำ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๔๐ ง/หน้า ๖๓/๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ [๒] ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ [๓] หมวด ๕ การลาคลอดบุตร ข้อ ๒๔ ถึง ข้อ ๒๕ เพิ่มโดยระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ [๔] ข้อ ๒๔ เพิ่มโดยระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ [๕] ข้อ ๒๕ เพิ่มโดยระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ [๖] หมวด ๖ การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ข้อ ๒๖ ถึง ข้อ ๒๗ เพิ่มโดยระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ [๗] ข้อ ๒๖ เพิ่มโดยระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ [๘] ข้อ ๒๗ เพิ่มโดยระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๔๐ ง/หน้า ๖๘/๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘
683652
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยบัตรประจำตัว ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2556
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยบัตรประจำตัว ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยบัตรประจำตัว ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยบัตรประจำตัว ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๕๖” ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยบัตรประจำตัว ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๒๘ ข้อ ๔ ผู้มีสิทธิมีบัตรประจำตัวตามระเบียบนี้ ได้แก่ ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ข้อ ๕ บัตรประจำตัวผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้เป็นไปตามแบบท้ายระเบียบนี้ โดยมีลักษณะ ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นบัตรแข็ง สีขาว ขนาดกว้าง ๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๘.๕ เซนติเมตร ใช้ทั้งสองด้าน (๒) ด้านหน้าของบัตร มีแถบธงไตรรงค์ตามแนวตั้ง กว้าง ๑.๒ เซนติเมตร ยาวตลอดส่วนกว้างของบัตร มีรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงช้างภายในวงกลมสีแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ เซนติเมตร อยู่ค่อนไปด้านบนและมีข้อความระบุว่า “กองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย” บัตรประจำตัวผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ประเภทสำรอง ประเภทประจำกอง หรือประเภทกองหนุน แล้วแต่กรณี เลขที่บัตร วันออกบัตร บัตรหมดอายุ (๓) ด้านหลังของบัตร มีข้อความระบุเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร ยศ ชื่อ ตำแหน่ง สังกัดเจ้าของบัตร ลายมือชื่อผู้ออกบัตร ด้านซ้ายของบัตรติดรูปถ่ายมีลายมือชื่อเจ้าของบัตร และหมู่โลหิตของเจ้าของบัตร และมีตรากองอาสารักษาดินแดน ประทับกึ่งกลางบัตรโดยให้ทาบรูปในบัตรด้วย (๔) รูปถ่ายติดบัตรให้ใช้ขนาดกว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๓ เซนติเมตร หน้าตรงไม่สวมหมวก แต่งเครื่องแบบผู้บังคับบัญชา หรือเจ้าหน้าที่ หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ตามตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าของบัตร ข้อ ๖ การขอมีบัตรประจำตัวผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกอง ให้ยื่นคำขอตามแบบท้ายระเบียบนี้ พร้อมรูปถ่ายจำนวน ๓ รูปต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป เพื่อเสนอต่อผู้ออกบัตรดำเนินการออกบัตรประจำตัวให้ การขอมีบัตรประจำตัวสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ประเภทสำรอง และประเภทกองหนุน ให้ยื่นคำขอตามแบบท้ายระเบียบนี้ พร้อมรูปถ่ายจำนวน ๓ รูป กรณีผู้ที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในภูมิภาค ให้ยื่นคำขอต่อผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาหรือที่อยู่ในส่วนกลาง ให้ยื่นต่อหัวหน้าฝ่ายอำนวยการกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ข้อ ๗ อายุบัตรประจำตัวตามระเบียบนี้มีกำหนด ๖ ปี นับแต่วันออกบัตร ถ้าผู้ถือบัตรพ้นจากการเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือพ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือย้ายสังกัดให้เป็นอันหมดสิทธิที่จะใช้บัตรประจำตัวนั้นต่อไป และให้ผู้นั้นส่งมอบบัตรประจำตัวคืนแก่ผู้ออกบัตร โดยในส่วนภูมิภาคให้ส่งคืนต่อผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และในส่วนกลางให้ส่งคืนต่อหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ภายใน ๓๐ วันนับจากวันที่พ้นจากการเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนหรือพ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือย้ายสังกัด ข้อ ๘ ในกรณีที่ผู้ถือบัตรประจำตัวได้เลื่อนชั้นหรือยศ ให้ผู้นั้นยื่นขอบัตรประจำตัวใหม่ตามยศหรือตำแหน่งใหม่ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเลื่อนชั้นหรือยศ กรณีบัตรประจำตัวของผู้ใดชำรุดหรือสูญหาย ให้ผู้นั้นรีบรายงานต่อผู้บังคับบัญชาของตน โดยในส่วนกลางให้รายงานต่อหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชากองอาสารักษาดินแดน และในส่วนภูมิภาคให้รายงานต่อผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด ให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรโดยด่วนและแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่กรณีบัตรประจำตัวสูญหาย เพื่อเป็นหลักฐานขอมีบัตรประจำตัวใหม่ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันรายงานหรือวันแจ้งความ และให้เจ้าหน้าที่ผู้ออกบัตรประจำตัวเรียกบัตรที่ชำรุดนั้นคืน ข้อ ๙ บัตรที่เรียกคืนตามข้อ ๗ และข้อ ๘ ให้จัดการทำลายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ ข้อ ๑๐ เมื่อได้ออกบัตรประจำตัวผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้แก่ผู้ใดแล้ว ให้เจ้าหน้าที่สำเนารายการบัตรประจำตัวไว้เป็นหลักฐานตามแบบระเบียบนี้ และให้แยกเก็บไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อสะดวกแก่การตรวจค้น ข้อ ๑๑ ให้เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการออกบัตรประจำตัวผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน จัดให้มีทะเบียนควบคุมการออกบัตรประจำตัวขึ้นไว้ โดยให้ใช้เลขลำดับในทะเบียนควบคุมการออกบัตรเป็นเลขที่ของบัตร เมื่อครบปีให้เริ่มเลขใหม่ ข้อ ๑๒ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้เป็นผู้ออกบัตรประจำตัวผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (๑) หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน เป็นผู้ออกบัตรประจำตัวให้ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ที่สังกัดในส่วนกลาง (๒) ผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด เป็นผู้ออกบัตรประจำตัวให้ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ที่สังกัดในจังหวัดนั้น ข้อ ๑๓ บัตรที่ได้ออกไว้ตามระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยบัตรประจำตัวผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๒๘ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะหมดอายุ หรือมีบัตรตามระเบียบนี้ แล้วแต่กรณี ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม [เอกสารแนบท้าย] ๑. แบบคำขอมีบัตรประจำตัว หรือขอบัตรประจำตัวใหม่ ตามระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยบัตรประจำตัวผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๕๖ ๒. รายการบัตรประจำตัวผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๖ โชติกานต์/ผู้ตรวจ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนพิเศษ ๓๕ ง/หน้า ๓/๑๘ มีนาคม ๒๕๕๖
456850
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2538
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๘[๑] โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๘” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๑๑ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ มติของคณะรัฐมนตรี และคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน ข้อ ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ บททั่วไป ข้อ ๕ ในระเบียบนี้ “เข้ารับการตรวจเลือก” หมายความว่า เข้ารับการตรวจเลือกเพื่อรับราชการเป็นทหารกองประจำการ “เข้ารับการเตรียมพล” หมายความว่า เข้ารับการระดมพล เข้ารับการตรวจสอบพล เข้ารับการฝึกวิชาการทหารหรือเข้ารับการทดลองความพรั่งพร้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ข้อ ๖ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองที่ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจใด ๆ ตามที่ได้รับอนุมัติจากกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนหรืออยู่ในระหว่างทำการฝึกอบรม ข้อ ๗ การลาทุกประเภทตามระเบียบนี้ ถ้ามีกฎหมาย ระเบียบ หรือมติของคณะรัฐมนตรีกำหนดเกี่ยวกับการลาประเภทใดไว้เป็นพิเศษ ผู้ลาและผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลา จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบหรือมติของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการลาประเภทนั้นด้วย ข้อ ๘ ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้เป็นไปตามตารางที่กำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจอนุญาตการลาตามระเบียบนี้ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ และมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจรอขออนุญาตจากผู้มีอำนาจได้ ให้ผู้ลาเสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้มีอำนาจอนุญาตการลาชั้นเหนือขึ้นไปเพื่อพิจารณา และเมื่อได้อนุญาตแล้ว ให้แจ้งให้ผู้มีอำนาจอนุญาตตามระเบียบทราบด้วย ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลา จะมอบหมายหรือมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งที่เห็นสมควรเป็นผู้พิจารณาหรืออนุญาตแทนก็ได้ ข้อ ๙ การนับวันลาตามระเบียบนี้ ให้นับตามปีงบประมาณ การนับวันลาเพื่อประโยชน์ในการเสนอหรือจัดส่งใบลา อนุญาตให้ลา และคำนวณวันลาให้นับต่อเนื่องกัน โดยนับวันหยุดราชการที่อยู่ในระหว่างวันลาประเภทเดียวกันรวมเป็นวันลาด้วย การลาป่วยหรือลากิจส่วนตัว ซึ่งมีระยะเวลาต่อเนื่องกัน จะเป็นในปีเดียวกันหรือไม่ก็ตามให้นับเป็นการลาครั้งหนึ่ง ถ้าจำนวนวันลาครั้งหนึ่งรวมกันเกินอำนาจของผู้มีอำนาจอนุญาตระดับใดให้นำใบลาเสนอขึ้นไปตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ถูกเรียกกลับมาปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการลา ให้ถือว่าการลาเป็นอันหมดเขตเพียงวันก่อนวันมาปฏิบัติหน้าที่ และวันทำงานเริ่มต้นตั้งแต่วันปฏิบัติหน้าที่เป็นต้นไป การลาครึ่งวันในตอนเช้าหรือตอนบ่าย ให้นับเป็นการลาครึ่งวันตามประเภทของการลานั้น ๆ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งได้รับอนุญาตให้ลา หากประสงค์จะยกเลิกวันลาที่ยังไม่ได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้เสนอขอถอนวันลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตให้ลา และให้ถือว่าการลาเป็นอันหมดเขตเพียงวันที่ขอถอนวันลานั้น ข้อ ๑๐ เพื่อควบคุมให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ให้แต่ละกองร้อยจัดทำบัญชีลงเวลาปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในสังกัด ตามแบบท้ายระเบียบนี้ ข้อ ๑๑ การลาให้ใช้ใบลาตามแบบท้ายระเบียบนี้ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นหรือรีบด่วน จะใช้ใบลาที่มีข้อความไม่ครบถ้วนตามแบบ หรือจะลาโดยวิธีการอย่างอื่นก็ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องส่งใบลาตามแบบในวันแรกที่มาปฏิบัติหน้าที่ ข้อ ๑๒ การลาแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ (๑) การลาป่วย (๒) การลากิจส่วนตัว (๓) การลาพักผ่อน (๔) การลาเข้ารับการตรวจเลือก หรือเข้ารับการเตรียมพล หมวด ๑ การลาป่วย ข้อ ๑๓ การลาป่วยของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนกำหนดไว้ ดังนี้ (๑) การลาป่วยกรณีปกติ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิลาป่วย โดยได้รับเงินค่าตอบแทนปีหนึ่งไม่เกินสิบห้าวัน (๒) การลาป่วยกรณีประสบอันตรายเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งป่วยเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่ หรือเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือถูกประทุษร้ายเพราะเหตุกระทำตามหน้าที่ ถ้าลาป่วยครบสิบห้าวัน แล้วยังไม่หายและแพทย์ของทางราชการลงความเห็นว่า มีทางที่จะรักษาให้หายและสามารถทำงานได้ ก็ให้ลาป่วยเพื่อรักษาพยาบาลเท่าที่ผู้มีอำนาจอนุญาตเห็นสมควร โดยได้รับเงินค่าตอบแทนได้ แต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน แต่ถ้าแพทย์ลงความเห็นว่า ไม่มีทางที่จะรักษาพยาบาลให้หายได้ ก็ให้พิจารณาตามข้อบังคับที่ ๔ เรื่อง กำหนดวิธีการให้ออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๘ ข้อ ๑๔ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งประสงค์จะลาป่วยเพื่อรักษาตัว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนหรือในวันที่ลา เว้นแต่ในกรณีจำเป็นให้ส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีที่สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนผู้ขอลามีอาการป่วยจนไม่สามารถลงชื่อในใบลาได้จะให้ผู้อื่นลาแทนก็ได้ แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้แล้ว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาโดยเร็ว การลาป่วยตั้งแต่สามวันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์แนบไปด้วย การลาป่วยไม่ถึงสามวัน ไม่ว่าจะเป็นการลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งติดต่อกัน ถ้าผู้มีอำนาจอนุญาตเห็นสมควร จะสั่งให้มีใบรับรองแพทย์ตามวรรคสองประกอบใบลา หรือสั่งให้ผู้ลาไปรับการตรวจจากแพทย์ของทางราชการ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตก็ได้ หมวด ๒ การลากิจส่วนตัว ข้อ ๑๕ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิลากิจส่วนตัว โดยได้รับเงินค่าตอบแทนปีละไม่เกินสิบวัน ข้อ ๑๖ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งประสงค์จะลากิจส่วนตัว ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถรอรับอนุญาตได้ทัน ให้ส่งใบลาพร้อมด้วยระบุเหตุจำเป็นไว้ แล้วหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนก็ได้ แต่จะต้องชี้แจงเหตุผล ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตตรวจสอบโดยเร็ว ในกรณีมีเหตุพิเศษที่ไม่อาจส่งใบลาก่อนตามวรรคหนึ่งได้ ให้ส่งใบลาพร้อมทั้งเหตุผลความจำเป็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตทันทีในวันแรกที่มาปฏิบัติหน้าที่ ข้อ ๑๗ ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ลากิจส่วนตัว ซึ่งได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปยังไม่ครบกำหนด ถ้ามีราชการจำเป็นเกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจอนุญาตจะเรียกตัวมาปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ หมวด ๓ การลาพักผ่อน ข้อ ๑๘ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีในปีหนึ่งได้สิบวัน โดยไม่ถือเป็นวันลา เว้นแต่สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนดังต่อไปนี้ไม่มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปี ในปีที่ได้รับการบรรจุสั่งใช้ยังไม่ถึงหกเดือน (๑) ผู้ซึ่งได้รับการบรรจุสั่งใช้เป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเป็นครั้งแรก (๒) ผู้ซึ่งลาออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือให้ออกจากการปฏิบัติหน้าที่ แล้วต่อมาได้รับบรรจุเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอีก ข้อ ๑๙ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งประสงค์จะลาพักผ่อน ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ ข้อ ๒๐ การอนุญาตให้ลาพักผ่อน ผู้มีอำนาจอนุญาตจะอนุญาตให้ลาครั้งเดียว หรือหลายครั้งก็ได้ โดยมิให้เสียหายแก่ราชการ ข้อ ๒๑ ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ลาพักผ่อนซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปยังไม่ครบกำหนด ถ้ามีราชการจำเป็นเกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจอนุญาตจะเรียกตัวมาปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ หมวด ๔ การลาเข้ารับการตรวจเลือก หรือเข้ารับการเตรียมพล ข้อ ๒๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิลาไปเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพลโดยได้รับเงินค่าตอบแทน โดยให้รายงานลาต่อผู้บังคับบัญชาก่อนวันเข้ารับการตรวจเลือกหรือได้รับหมายเรียกเข้ารับการเตรียมพลไม่น้อยกว่าสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลารับหมายเรียกเป็นต้นไป และให้ไปเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ตามวัน เวลาในหมายเรียกนั้น โดยไม่ต้องรอรับคำสั่งอนุญาตและให้ผู้บังคับบัญชาเสนอรายงานลาไปตามลำดับจนถึงผู้บังคับบัญชาสูงสุด ข้อ ๒๓ เมื่อสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ลานั้น พ้นจากการเข้ารับการตรวจเลือก หรือเข้ารับการเตรียมพลแล้ว ให้มารายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติต่อผู้บังคับบัญชาภายในเจ็ดวัน เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็น ผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๒๒ อาจขยายเวลาให้ได้ แต่รวมแล้วไม่เกินสิบห้าวัน ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ บรรหาร ศิลปอาชา พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สุนันทา/ผู้จัดทำ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๔๐ ง/หน้า ๖๓/๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘
456846
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยที่เห็นสมควรแก้ไขระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘” ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๒ แห่งระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๘ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑๒ การลาแบ่งออกเป็น ๖ ประเภท คือ (๑) การลาป่วย (๒) การลากิจส่วนตัว (๓) การลาพักผ่อน (๔) การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล (๕) การลาคลอดบุตร (๖) การลาอุปสมบท หรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์” ข้อ ๔ ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นหมวด ๕ การลาคลอดบุตร ข้อ ๒๔ ข้อ ๒๕ หมวด ๖ การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ข้อ ๒๖ และข้อ ๒๗ ของระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการลาของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๘ “หมวด ๕ การลาคลอดบุตร ข้อ ๒๔ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิลาคลอดบุตร โดยได้รับเงินค่าตอบแทนครั้งหนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน ข้อ ๒๕ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งประสงค์จะลาคลอดบุตร ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนหรือในวันที่ลา เว้นแต่ไม่สามารถจะลงชื่อในใบลาได้ จะให้ผู้อื่นลาแทนก็ได้ แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้แล้ว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาโดยเร็ว โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ ให้ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ลา สำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนสังกัดส่วนกลาง หัวหน้าฝ่ายอำนวยการกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ลา สำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน สังกัดกองร้อยบังคับการและบริการ และกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดส่วนผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอหรือกิ่งอำเภอ เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ลาสำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนสังกัดกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอหรือกิ่งอำเภอ หมวด ๖ การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ข้อ ๒๖ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ยังไม่เคยอุปสมบทในพระพุทธศาสนา หรือยังไม่เคยไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และได้รับการสั่งใช้ให้ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วไม่น้อยกว่าสิบสองเดือน มีสิทธิลาอุปสมบทหรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ โดยได้รับเงินค่าตอบแทนไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ข้อ ๒๗ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนซึ่งประสงค์จะลาอุปสมบท หรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนวันอุปสมบท หรือวันเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ไม่น้อยกว่าหกสิบวัน เว้นแต่มีเหตุผลอันสมควรจะเสนอใบลาต่อผู้บังคับบัญชาน้อยกว่าหกสิบวันก็ได้ ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ลา สำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนสังกัดส่วนกลาง และผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ลา สำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในส่วนภูมิภาค” ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ โภคิน พลกุล พลเอก สัมพันธ์ บุญญานันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สุนันทา/ผู้จัดทำ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๔๐ ง/หน้า ๖๘/๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘
457236
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. 2547
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๔๗[๑] โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดนจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๔๗” ข้อ ๒ ให้ยกเลิก (๑) ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๓๔ (๒) ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๘ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใด ในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน ข้อ ๓ ให้มีการพิจารณารางวัลให้แก่ กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่นปีละ ๑ ครั้ง เป็นประจำทุกปี โดยให้ถือผลงานในปีงบประมาณที่ผ่านมา ข้อ ๔ รางวัลกองร้อยอาสารักษาดินแดน แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ประเภทที่ ๑ รางวัลกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด ประเภทที่ ๒ รางวัลกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ ประเภทที่ ๓ รางวัลกองร้อยบังคับการและบริการ กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ ให้หมายความรวมถึงกองร้อยอาสารักษาดินแดนกิ่งอำเภอด้วย ข้อ ๕ กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด มีจำนวนรางวัล ๓ รางวัล ดังนี้ (๑) รางวัลที่ ๑ มี ๑ รางวัล (๒) รางวัลที่ ๒ มี ๒ รางวัล ข้อ ๖ กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ มีจำนวนรางวัล ๖ รางวัล ดังนี้ (๑) รางวัลที่ ๑ มี ๑ รางวัล (๒) รางวัลที่ ๒ มี ๕ รางวัล ข้อ ๗ กองร้อยบังคับการและบริการ มีจำนวนรางวัล ๓ รางวัล ดังนี้ (๑) รางวัลที่ ๑ มี ๑ รางวัล (๒) รางวัลที่ ๒ มี ๒ รางวัล ข้อ ๘ กองร้อยอาสารักษาดินแดน ที่ได้รับรางวัลตามข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ จะได้โล่ ๑ อัน และเงินจำนวนหนึ่งตามที่หัวหน้าฝ่ายอำนวยการกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนประกาศ ข้อ ๙ ให้กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งพิจารณาคัดเลือกกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ และกองร้อยบังคับการและบริการ ที่มีผลงานได้มาตรฐานและที่มีผลงานดีเด่น กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ และกองร้อยบังคับการและบริการ ที่มีผลงานผ่านเกณฑ์ที่กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนกำหนด ให้กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดประกาศเป็นกองร้อยอาสารักษาดินแดนที่ได้มาตรฐานในปีที่มีการพิจารณาผลงาน แล้วรายงานให้กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนทราบ ภายในวันที่ ๓๐ กันยายนของทุกปี กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ และกองร้อยบังคับการและบริการ ที่ได้รับการประกาศเป็นกองร้อยอาสารักษาดินแดนที่ได้มาตรฐาน และมีผลงานดีเด่นกว่ากองร้อยอาสารักษาดินแดนอื่น ๆ ในประเภทเดียวกันให้กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดเสนอรายชื่อพร้อมผลงานของกองร้อยอาสารักษาดินแดนแต่ละประเภท ๆ ละ ๑ กองร้อย ตามแบบรายงานท้ายระเบียบนี้ไปยังกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ภายในวันที่ ๓๐ ตุลาคมของทุกปี เพื่อคัดเลือกเป็นกองร้อยอาสารักษาดินแดนดีเด่น ในปีที่มีการพิจารณาผลงาน ทั้งนี้ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดทุกจังหวัด จะต้องเสนอรายชื่อพร้อมผลงานของกองร้อยอาสารักษาดินแดน อย่างน้อย ๑ ประเภทหากไม่สามารถเสนอรายชื่อและผลงานดังกล่าวได้ให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและแผนงานในการเสนอรายชื่อและผลงานของกองร้อยอาสารักษาดินแดนในปีถัดไป ข้อ ๑๐ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย (๑) หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ เป็นประธาน (๒) รองหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ เป็นรองประธาน (๓) ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ เป็นกรรมการ (๔) หัวหน้าสำนักงานฝ่ายอำนวยการทหาร เป็นกรรมการ (๕) หัวหน้ากองยุทธการ เป็นกรรมการ (๖) หัวหน้ากองข่าว เป็นกรรมการ (๗) หัวหน้ากองส่งกำลังบำรุง เป็นกรรมการ (๘) หัวหน้ากองปฏิบัติการพิเศษ เป็นกรรมการ (๙) หัวหน้ากองสนับสนุน เป็นกรรมการ (๑๐) หัวหน้ากองกำลังพล เป็นกรรมการและเลขานุการ (๑๑) รองหัวหน้ากองกำลังพล เป็นกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่พิจารณาผลงานของกองร้อยอาสารักษาดินแดน ในการพิจารณาผลงาน คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบผลงานของกองร้อยอาสารักษาดินแดนที่กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดเสนอมาและตรวจสอบผลงานของกองร้อยอาสารักษาดินแดนในพื้นที่ตามความจำเป็น เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณา แล้วนำรายชื่อกองร้อยอาสารักษาดินแดนที่พิจารณาว่าสมควรได้รับรางวัลเสนอผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดนเพื่อประกาศต่อไป ข้อ ๑๑ ให้พิจารณาผลงานของกองร้อยอาสารักษาดินแดน ในหัวข้อต่อไปนี้ (๑) การปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจต่าง ๆ ก.บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ รักษาสถานที่สำคัญและการคมนาคม ป้องกันจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงานข่าว ทำการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกำลังข้าศึก เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหาร ได้เมื่อจำเป็น ข. การป้องกันและปราบปราม พิจารณาจากการจัดทำแผนยุทธการของหน่วย ผลการปฏิบัติตามแผนยุทธการ การปฏิบัติงานด้านการข่าว การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เช่น การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติด ฯลฯ ค. การปฏิบัติการด้านการเมืองและจิตวิทยา พิจารณาจากการจัดทำแผนปฏิบัติงานและผลงานเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาภัยธรรมชาติ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสพภัยธรรมชาติ การพัฒนาพื้นที่ในเขตตำบลหมู่บ้าน การปฏิบัติงานร่วมกับส่วนราชการในการบริการประชาชนตามโครงการต่าง ๆ ฯลฯ ง. การปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย (๒) การพัฒนาหน่วยและการปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติประจำ ก. พิจารณาจากการจัดทำรายงานตามระเบียบปฏิบัติประจำ ความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหนังสือสั่งการของหน่วยเหนือ การเก็บรักษาและการซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ การปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งอุปกรณ์ประจำหน่วย เครื่องแบบ เครื่องนอน และเครื่องสนาม การปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ยานพาหนะและเครื่องมือสื่อสารของหน่วย ข. การจัดสวัสดิการในหน่วย พิจารณาจากการจัดตั้งและการบริหารงานร้านสวัสดิการกองอาสารักษาดินแดน การรักษาประโยชน์ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ในด้านสิทธิกำลังพล การช่วยเหลือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้ได้รับการสงเคราะห์จากสมาคม มูลนิธิหรือองค์การต่าง ๆ การฝึกอาชีพสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกของกองอาสารักษาดินแดน ค. การพัฒนาหน่วย พิจารณาจากการจัดระเบียบและความสะอาดในอาคารกองร้อย การปรับปรุงอาคารกองร้อยและสภาพแวดล้อมภายในบริเวณกองร้อย ง. การพัฒนากำลังพลของหน่วย พิจารณาจากการแต่งกายของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ความพร้อมเพียงเข้มแข็งในการจัดระเบียบแถว การแสดงท่าบุคคลมือเปล่าและการแสดงท่าอาวุธ จ. ผลการปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาหน่วยและการปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติประจำ ข้อ ๑๒ ให้กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน จัดพิธีมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนดีเด่นเป็นประจำปี ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ของทุกปี ข้อ ๑๓ ให้กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน จัดทำประกาศนียบัตรกองร้อยอาสารักษาดินแดนที่ได้มาตรฐานเพื่อจัดส่งให้กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด จัดพิธีมอบให้แก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่ได้มาตรฐาน ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ของทุกปี ข้อ ๑๔ ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ นายกองใหญ่ โภคิน พลกุล ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน พรพิมล/พิมพ์ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘ พุทธพัท/สุนันทา/ตรวจ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๑๒๗ ง/หน้า ๔๙/๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
457232
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2538
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดน ที่มีผลงานดีเด่น (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยที่เห็นสมควรแก้ไขเพิ่มระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน จึงออกระเบียบไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๘” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๗ แห่งระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๗ รางวัลกองร้อยอาสารักษาดินแดนยอดเยี่ยม และกองร้อยอาสารักษาดินแดนดีเด่นมีดังนี้ (๑) กองร้อยอาสารักษาดินแดนยอดเยี่ยม รางวัลโล่ ๑ อัน และเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท (๒) กองร้อยอาสารักษาดินแดนดีเด่น รางวัลโล่ ๑ อัน และเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ข้อ ๓[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘ นายกองใหญ่ บรรหาร ศิลปอาชา ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน พรพิมล/พิมพ์ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ พุทธพัท/สุนันทา/ตรวจ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ A+B [๑] รก.๒๕๔๗/พ๑๒๗ง/๔๗/๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
457228
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. 2534
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยที่เห็นสมควรปรับปรุงระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๒๔ ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดนจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๓๔” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยการมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๒๔ ข้อ ๓ ให้มีการพิจารณารางวัลให้แก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่นปีละ ๑ ครั้ง เป็นประจำทุกปี โดยให้ถือผลงาน ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ของปีถัดไป ประเภทและจำนวนรางวัล ข้อ ๔ รางวัลกองร้อยอาสารักษาดินแดน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทที่ ๑ รางวัลกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด ประเภทที่ ๒ รางวัลกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ ทั้งนี้ กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอให้หมายความรวมถึงกองร้อยอาสารักษาดินแดนกิ่งอำเภอ ด้วย ข้อ ๕ กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด มีจำนวนรางวัล ดังนี้ (๑) กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดยอดเยี่ยม ๑ รางวัล (๒) กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดดีเด่น ๔ รางวัล ข้อ ๖ กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ มีจำนวนรางวัล ดังนี้ (๑) กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอยอดเยี่ยม ๑ รางวัล (๒) กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอดีเด่น ๙ รางวัล ข้อ ๗ รางวัลกองร้อยอาสารักษาดินแดนยอดเยี่ยม และกองร้อยอาสารักษาดินแดนดีเด่นมีดังนี้ (๑) กองร้อยอาสารักษาดินแดนยอดเยี่ยม รางวัลโล่ ๑ อัน และเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท (๒) กองร้อยอาสารักษาดินแดนดีเด่น รางวัลโล่ ๑ อัน และเงินจำนวน ๕,๐๐๐ บาท การพิจารณาผลงาน ข้อ ๘ ให้พิจารณาผลงานของกองร้อยอาสารักษาดินแดน ในหัวข้อต่อไปนี้ (๑) การปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจต่างๆ ก. การป้องกันและปราบปราม พิจารณาจากการจัดทำแผนยุทธการของหน่วยผลการปฏิบัติตามแผนยุทธการ การปฎิบัติงานด้านการข่าว การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิดชอบ เช่น การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติด ฯลฯ ข. การปฏิบัติการด้านการเมืองและจิตวิทยา พิจารณาจากการจัดทำแผนปฏิบัติงานและผลงานเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาภัยธรรมชาติ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ การพัฒนาพื้นที่ในเขตตำบลหมู่บ้าน การปฏิบัติงานร่วมกับส่วนราชการในการบริการประชาชนตามโครงการต่างๆ ฯลฯ ค. การปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย (๒) การพัฒนาหน่วยและการปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติประจำ ก. พิจารณาจากการจัดทำรายงานตามระเบียบปฏิบัติประจำ ความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหนังสือสั่งการของหน่วยเหนือ การเก็บรักษาและการซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ การปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งอุปกรณ์ประจำหน่วย เครื่องแบบ เครื่องนอน และเครื่องสนาม การปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ยานพาหนะและเครื่องมือสื่อสารของหน่วย ข. การจัดสวัสดิการในหน่วย พิจารณาจากการจัดตั้งและการบริหารงานร้านสวัสดิการกองอาสารักษาดินแดน การรักษาประโยชน์ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในด้านสิทธิกำลังพล การช่วยเหลือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้ได้รับการสงเคราะห์จากสมาคม มูลนิธิหรือองค์การต่างๆ การฝึกอาชีพสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ค. การพัฒนาหน่วย พิจารณาจากการจัดระเบียบและความสะอาดในอาคารกองร้อย การปรับปรุงอาคารกองร้อยและสภาพแวดล้อมภายในบริเวณกองร้อย ง. การพัฒนากำลังพลของหน่วย พิจารณาจากการแต่งกายของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ความพร้อมเพรียงเข้มแข็งในการจัดระเบียบแถว การแสดงท่าบุคคลมือเปล่าและการแสดงท่าอาวุธ จ. ผลการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาหน่วยและการปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติประจำ ข้อ ๙ ให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง พิจารณาคัดเลือกกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด และกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ ที่มีผลงานดีเด่นโดยคัดเลือกเพียงประเภทละ ๑ กองร้อย แล้วรายงานผลงานของกองร้อยอาสารักษาดินแดนไปยังกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ทั้งนี้ จังหวัดจะรายงานผลของกองร้อยอาสารักษาดินแดน เพียงประเภทใดประเภทหนึ่งก็ได้ หรือหากพิจารณาเห็นว่าไม่มีกองร้อยใดที่มีผลงานดีเด่น จะไม่เสนอก็ได้ ข้อ ๑๐ การรายงานผลงานของกองร้อยอาสารักษาดินแดน ให้ทำตามแบบรายงานผลงานท้ายระเบียบนี้ โดยให้จัดส่งให้กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนภายในเดือนตุลาคมของทุกปี ข้อ ๑๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย (๑) หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ เป็นประธาน (๒) รองหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ เป็นรองประธาน (๓) ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ เป็นกรรมการ (๔) หัวหน้าสำนักงาน ฝ่ายอำนวยการทหาร เป็นกรรมการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (๕) หัวหน้ากองยุทธการ เป็นกรรมการ (๖) หัวหน้ากองข่าว เป็นกรรมการ (๗) หัวหน้ากองส่งกำลังบำรุง เป็นกรรมการ (๘) หัวหน้ากองกำลังพล เป็นกรรมการ และเลขานุการ (๙) รองหัวหน้ากองกำลังพล เป็นกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่พิจารณาผลงานของกองร้อยอาสารักษาดินแดนทั้ง ๒ ประเภทที่จังหวัดส่งมาทำการคัดเลือกกองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานสมควรได้รับรางวัล แล้วนำรายชื่อกองร้อยที่พิจารณาว่าสมควรได้รับรางวัลเสนอผู้บัญชาการกองร้อยอาสารักษาดินแดนเพื่อประกาศต่อไป ข้อ ๑๒ ให้กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน จัดพิธีมอบรางวัลแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนยอดเยี่ยม และกองร้อยอาสารักษาดินแดนดีเด่นเป็นประจำทุกปี ข้อ ๑๓ ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[๑] ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกองใหญ่ อิสระพงศ์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน พรพิมล/พิมพ์ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘ พุทธพัท/สุนันทา/ตรวจ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ A+B [๑] รก.๒๕๔๗/พ๑๒๗ง/๔๒/๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
318481
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2538
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๖ ให้เหมาะสม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘” ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน ข้อ ๘ แห่งระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๘ การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้ผู้บังคับบัญชาต่อไปนี้เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ (๑) ส่วนภูมิภาค ให้ผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดหรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นหนังสือให้ปฏิบัติราชการแทน เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ (๒) ส่วนกลาง ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน หรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นหนังสือให้ปฏิบัติราชการแทน เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ" ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานคณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน จารุวรรณ/พิมพ์ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒/ตอนพิเศษ ๑๙ ง/หน้า ๓๖/๗ มิถุนายน ๒๕๓๘
736712
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดนว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2533 (ฉบับ Update ณ วันที่ 31/03/2536)
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิก กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๓[๑] ด้วยคณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน เห็นควรให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล กองอาสารักษาดินแดน จึงกำหนดรายละเอียดในการให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๓” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “ผู้มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล” หมายความว่า สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่เจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ หรืออันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ ในภารกิจใด ๆ ตามที่ได้รับอนุมัติจากกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน “ค่ารักษาพยาบาล” หมายความว่า เงินที่สถานพยาบาลเรียกเก็บในการรักษาพยาบาล ดังนี้ (๑) ค่ายา ค่าเลือด และส่วนประกอบของเลือด หรือสารทดแทน ค่าน้ำยาหรืออาหารทางเส้นเลือด ค่าออกซิเจน และอื่น ๆ ทำนองเดียวกันที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค (๒) ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรครวมทั้งค่าซ่อมแซม (๓) ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจ ค่าวิเคราะห์โรค แต่ไม่รวมถึงค่าจ้าง ผู้พยาบาลพิเศษ ค่าธรรมเนียมพิเศษ และค่าบริการอื่นทำนองเดียวกันที่มีลักษณะเป็นเงินตอบแทนพิเศษ (๔) ค่าห้องและค่าอาหารตลอดเวลาที่เข้ารับการรักษาพยาบาล “สถานพยาบาลของทางราชการ” หมายความว่า สถานพยาบาลของทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และให้หมายความรวมถึงสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณสภากาชาดไทย คุรุสภา สมาคมปราบวัณโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และสถานพยาบาลอื่นที่กระทรวงการคลังกำหนด ข้อ ๔ การเบิกค่ารักษาพยาบาลให้เบิกได้เฉพาะการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของทางราชการเท่านั้น ส่วนประเภทและอัตราให้อนุโลมตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๓ ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่เรียกเก็บเกินกว่าสิทธิที่ผู้มีสิทธิพึงได้รับก็ให้สถานพยาบาลเรียกเก็บส่วนที่เกินนั้นจากผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลโดยตรง ข้อ ๕ การยื่นคำขอเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน (๑) ให้ผู้มีสิทธิ ยื่นคำขอหนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาลตามแบบ “รพ.อส. ๑” ท้ายระเบียบนี้ ต่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๗ (๒) เมื่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๗ เห็นว่าผู้ยื่นคำขอหนังสือรับรองมีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้ ก็ให้ออกหนังสือรับรองตามแบบ รพ.อส .๒ ให้แก่ผู้ยื่นคำขอ (๓) การจัดทำหนังสือรับรองการมีสิทธิรับค่ารักษาพยาบาล (รพ.อส. ๒) ให้กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด หรือกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน จัดทำหนังสือรับรอง ๓ ฉบับ โดยมอบต้นฉบับหนังสือรับรองและสำเนาคู่ฉบับอีก ๑ ฉบับ ให้ผู้ยื่นคำขอหนังสือรับรองเพื่อนำไปมอบให้แก่สถานพยาบาล ส่วนสำเนาคู่ฉบับอีก ๑ ฉบับให้หน่วยงานผู้ออกหนังสือรับรองเก็บไว้เป็นหลักฐาน (๔)[๒] เมื่อสถานพยาบาลได้รับหนังสือรับรอง ให้เรียกดูบัตรประจำตัวสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เพื่อตรวจสอบให้ถูกต้องตรงกันและให้เจ้าหน้าที่การเงินของสถานพยาบาลรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น และจัดทำใบแสดงรายการค่ารักษาพยาบาลเสนอให้หัวหน้าสถานพยาบาล หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองว่าถูกต้อง พร้อมทั้งแนบสำเนาหนังสือรับรองเพื่อเรียกเก็บเงินจากต้นสังกัด ข้อ ๖ กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก (๑) ให้ผู้มีสิทธิ ยื่นใบเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล ตามแบบ รพ.อส. ๓ ท้ายระเบียบนี้พร้อมทั้งหลักฐานการรับเงินของสถานพยาบาล ต่อผู้บังคับบัญชาที่กำหนดให้เป็นผู้รับรองการใช้สิทธิตามข้อ ๗ (๒) เมื่อผู้บังคับบัญชาได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้เบิกเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้แล้ว ให้ลงลายมือชื่อรับรองเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติตามข้อ ๘ เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ข้อ ๗ การรับรองการใช้สิทธิ ในการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้บุคคลต่อไปนี้มีอำนาจในการรับรองการใช้สิทธิ (๑) ส่วนภูมิภาค ระดับอำเภอ ให้ผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ เป็นผู้มีอำนาจรับรองการใช้สิทธิ ระดับจังหวัด ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจรับรองการใช้สิทธิ (๒) ส่วนกลาง ให้หัวหน้ากองในฝ่ายอำนวยการกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนเป็นผู้มีอำนาจรับรองการใช้สิทธิ ข้อ ๘ การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้ผู้บังคับบัญชาต่อไปนี้เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ (๑) ส่วนภูมิภาค ให้ผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ (๒) ส่วนกลาง ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ ข้อ ๙ ผู้มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้ และมีสิทธิได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบอื่น ถ้าได้ใช้สิทธิตามกฎหมายหรือระเบียบอื่น สิทธิการรับค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้เป็นอันระงับไป ข้อ ๑๐ การเบิกจ่ายเงินจากคลังที่ไม่ได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการการรักษาพยาบาลของทางราชการโดยอนุโลม ข้อ ๑๑ ให้ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดนรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามระเบียบนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ บรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานคณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน [เอกสารแนบท้าย] ๑. คำขอหนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาล (แบบ รพ.อส. ๑) ๒. หนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาล (แบบ รพ.อส. ๒) ๓. ใบเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (แบบ รพ.อส. ๓) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖[๓] ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๗/ตอนที่ ๑๙๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๑ ตุลาคม ๒๕๓๓ [๒] ข้อ ๕ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐/ตอนที่ ๓๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗/๓๑ มีนาคม ๒๕๓๖
301232
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2536
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๓ ให้เหมาะสม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖” ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของข้อ ๕ แห่งระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๔) เมื่อสถานพยาบาลได้รับหนังสือรับรอง ให้เรียกดูบัตรประจำตัวสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เพื่อตรวจสอบให้ถูกต้องตรงกันและให้เจ้าหน้าที่การเงินของสถานพยาบาลรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น และจัดทำใบแสดงรายการค่ารักษาพยาบาลเสนอให้หัวหน้าสถานพยาบาล หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองว่าถูกต้อง พร้อมทั้งแนบสำเนาหนังสือรับรองเพื่อเรียกเก็บเงินจากต้นสังกัด” ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐/ตอนที่ ๓๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗/๓๑ มีนาคม ๒๕๓๖
301231
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2533
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิก กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๓[๑] ด้วยคณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน เห็นควรให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล กองอาสารักษาดินแดน จึงกำหนดรายละเอียดในการให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๕๓๓” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “ผู้มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล” หมายความว่า สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่เจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ หรืออันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ ในภารกิจใด ๆ ตามที่ได้รับอนุมัติจากกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน “ค่ารักษาพยาบาล” หมายความว่า เงินที่สถานพยาบาลเรียกเก็บในการรักษาพยาบาล ดังนี้ (๑) ค่ายา ค่าเลือด และส่วนประกอบของเลือด หรือสารทดแทน ค่าน้ำยาหรืออาหารทางเส้นเลือด ค่าออกซิเจน และอื่น ๆ ทำนองเดียวกันที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค (๒) ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรครวมทั้งค่าซ่อมแซม (๓) ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจ ค่าวิเคราะห์โรค แต่ไม่รวมถึงค่าจ้าง ผู้พยาบาลพิเศษ ค่าธรรมเนียมพิเศษ และค่าบริการอื่นทำนองเดียวกันที่มีลักษณะเป็นเงินตอบแทนพิเศษ (๔) ค่าห้องและค่าอาหารตลอดเวลาที่เข้ารับการรักษาพยาบาล “สถานพยาบาลของทางราชการ” หมายความว่า สถานพยาบาลของทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และให้หมายความรวมถึงสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณสภากาชาดไทย คุรุสภา สมาคมปราบวัณโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และสถานพยาบาลอื่นที่กระทรวงการคลังกำหนด ข้อ ๔ การเบิกค่ารักษาพยาบาลให้เบิกได้เฉพาะการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของทางราชการเท่านั้น ส่วนประเภทและอัตราให้อนุโลมตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๓ ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่เรียกเก็บเกินกว่าสิทธิที่ผู้มีสิทธิพึงได้รับก็ให้สถานพยาบาลเรียกเก็บส่วนที่เกินนั้นจากผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลโดยตรง ข้อ ๕ การยื่นคำขอเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน (๑) ให้ผู้มีสิทธิ ยื่นคำขอหนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาลตามแบบ “รพ.อส. ๑” ท้ายระเบียบนี้ ต่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๗ (๒) เมื่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๗ เห็นว่าผู้ยื่นคำขอหนังสือรับรองมีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้ ก็ให้ออกหนังสือรับรองตามแบบ รพ.อส .๒ ให้แก่ผู้ยื่นคำขอ (๓) การจัดทำหนังสือรับรองการมีสิทธิรับค่ารักษาพยาบาล (รพ.อส. ๒) ให้กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด หรือกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน จัดทำหนังสือรับรอง ๓ ฉบับ โดยมอบต้นฉบับหนังสือรับรองและสำเนาคู่ฉบับอีก ๑ ฉบับ ให้ผู้ยื่นคำขอหนังสือรับรองเพื่อนำไปมอบให้แก่สถานพยาบาล ส่วนสำเนาคู่ฉบับอีก ๑ ฉบับให้หน่วยงานผู้ออกหนังสือรับรองเก็บไว้เป็นหลักฐาน (๔) เมื่อสถานพยาบาลได้รับหนังสือรับรอง ให้เรียกดูบัตรประจำตัวสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เพื่อตรวจสอบให้ถูกต้องตรงกับหนังสือรับรอง และให้เจ้าหน้าที่การเงินของสถานพยาบาลรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้นและจัดทำใบแสดงรายการค่ารักษาพยาบาลเสนอให้หัวหน้าสถานพยาบาล หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองว่าถูกต้องพร้อมทั้งแนบในเสร็จรับเงินและสำเนาหนังสือรับรองเพื่อเรียกเก็บเงินจากต้นสังกัดผู้ออกหนังสือรับรอง ข้อ ๖ กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก (๑) ให้ผู้มีสิทธิ ยื่นใบเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล ตามแบบ รพ.อส. ๓ ท้ายระเบียบนี้พร้อมทั้งหลักฐานการรับเงินของสถานพยาบาล ต่อผู้บังคับบัญชาที่กำหนดให้เป็นผู้รับรองการใช้สิทธิตามข้อ ๗ (๒) เมื่อผู้บังคับบัญชาได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้เบิกเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้แล้ว ให้ลงลายมือชื่อรับรองเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติตามข้อ ๘ เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ข้อ ๗ การรับรองการใช้สิทธิ ในการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้บุคคลต่อไปนี้มีอำนาจในการรับรองการใช้สิทธิ (๑) ส่วนภูมิภาค ระดับอำเภอ ให้ผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ เป็นผู้มีอำนาจรับรองการใช้สิทธิ ระดับจังหวัด ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจรับรองการใช้สิทธิ (๒) ส่วนกลาง ให้หัวหน้ากองในฝ่ายอำนวยการกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนเป็นผู้มีอำนาจรับรองการใช้สิทธิ ข้อ ๘ การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้ผู้บังคับบัญชาต่อไปนี้เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ (๑) ส่วนภูมิภาค ให้ผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ (๒) ส่วนกลาง ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ ข้อ ๙ ผู้มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้ และมีสิทธิได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบอื่น ถ้าได้ใช้สิทธิตามกฎหมายหรือระเบียบอื่น สิทธิการรับค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบนี้เป็นอันระงับไป ข้อ ๑๐ การเบิกจ่ายเงินจากคลังที่ไม่ได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการการรักษาพยาบาลของทางราชการโดยอนุโลม ข้อ ๑๑ ให้ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดนรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามระเบียบนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ บรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานคณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน [เอกสารแนบท้าย] ๑. คำขอหนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาล (แบบ รพ.อส. ๑) ๒. หนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาล (แบบ รพ.อส. ๒) ๓. ใบเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (แบบ รพ.อส. ๓) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๗/ตอนที่ ๑๙๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๑ ตุลาคม ๒๕๓๓
318480
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วยการปลดสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองเป็นประเภทกองหนุน พ.ศ.2516
ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ระเบียบกองอาสารักษาดินแดน ว่าด้วย การปลดสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภท ประจำกองเป็นประเภทกองหนุน พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยที่พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้กำหนดสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนไว้ ๓ ประเภท คือ ประเภทสำรอง ประเภทประจำกอง และประเภทกองหนุน โดยเฉพาะประเภทกองหนุน คือ สมาชิกที่ได้ปลดออกจากประจำกองนั้น ยังมิได้วางระเบียบเกี่ยวกับการปลดไว้แต่อย่างใด จึงเห็นเป็นการสมควรที่จะได้กำหนดหลักเกณฑ์การปลดสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองเป็นประเภทกองหนุนขึ้นไว้ ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ และ มาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงให้วางระเบียบขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกองรักษาดินแดนว่าด้วย การปลดสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองเป็นประเภทกองหนุน พ.ศ. ๒๕๑๖” ข้อ ๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ได้ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรและระยะเวลาที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนกำหนดไว้ ให้บรรจุอยู่ในประเภทประจำกองตามกำหนดระยะเวลา ดังนี้ ๒.๑ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนคนใดที่มีอายุไม่เกิน ๔๐ ปีบริบูรณ์ ในวันที่บรรจุเป็นประเภทประจำกอง ให้อยู่ในประเภทประจำกองได้ไม่เกิน ๑๐ ปี แล้วให้ปลดเป็นประเภทกองหนุน สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนตามความในวรรคแรกคนใด เมื่อครบกำหนดปลดเป็นประเภทกองหนุนและอายุไม่เกิน ๔๐ ปีบริบูรณ์ ซึ่งทางราชการเห็นว่ายังเป็นผู้มีสมรรถภาพเข้มแข็งและมีความประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองต่อไป ให้ผู้บังคับกองร้อยเสนอรายชื่อต่อผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด เป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้เป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองได้อีกไม่เกิน ๑๐ ปี แล้วให้รายงานผู้บังคับบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนทราบ ๒.๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนคนใดที่มีอายุเกินกว่า ๔๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๕๐ ปีบริบูรณ์ ในวันที่บรรจุเป็นประเภทประจำกอง ให้อยู่ในประเภทประจำกองได้ไม่เกิน ๕ ปี แล้วให้ปลดเป็นประเภทกองหนุน ๒.๓ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนคนใดที่มีอายุเกินกว่า ๕๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในวันที่บรรจุเป็นประเภทประจำกอง ให้อยู่ในประเภทประจำกองได้ไม่เกิน ๓ ปี แล้วให้ปลดเป็นประเภทกองหนุน ๒.๔ การนับอายุประเภทประจำกอง ถ้าสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนคนใดได้รับการบรรจุเป็นประเภทประจำกองในพุทธศักราชใด เมื่อสิ้นพุทธศักราชที่บรรจุนั้น ให้นับอายุการเป็นสมาชิกประเภทประจำกองครบหนึ่งปี และให้นับอายุครบ สอง, สาม ฯลฯ ปี เรียงตามลำดับ เมื่อสิ้นพุทธศักราชต่อ ๆ ไป ข้อ ๓ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ได้รับการบรรจุเป็นประเภทประจำกองระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๗ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๕ ให้ดำเนินการดังนี้ ๓.๑ ให้จังหวัดสำรวจสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดและสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอำเภอ ว่ามีสมาชิกประเภทประจำกองคนใดที่มีอายุอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๒ และให้จัดทำทะเบียนแยกเป็นแต่ละประเภทของอายุขึ้นไว้รวม ๓ ชุด เพื่อเก็บรักษาไว้ที่อำเภอ ๑ ชุด ที่จังหวัด ๑ ชุด กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ๑ ชุด ๓.๒ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนคนใดที่มีอายุเกิน ๖๐ ปีบริบูรณ์ ให้พ้นสภาพการเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ๓.๓ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนคนใดได้รับการบรรจุเป็นประเภทประจำกองครบกำหนดระยะเวลาตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๒ ให้ปลดเป็นประเภทกองหนุน ข้อ ๔ กำนันที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่อาสารักษาดินแดนตำบลโดยตำแหน่ง เมื่อพ้นจากสภาพการเป็นกำนันก็ให้พ้นจากสภาพการเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนด้วย ข้อ ๕ การปลดสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองเป็นประเภทกองหนุน ให้กระทำโดยคำสั่งของผู้บังคับบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด แล้วให้รายงานผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดนทราบ โดยแนบสำเนาคำสั่งปลดเป็นประเภทกองหนุนไปด้วย ๑ ชุด ข้อ ๖ ให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และผู้บังคับการกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ แก้ไขทะเบียนสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประเภทประจำกองให้ตรงกันเสมอ ข้อ ๗ ให้ใช้ระเบียบนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๖ จอมพล ป. จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จอมพล ถ. กิตติขจร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘
572616
พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับ Update ล่าสุด)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นปีที่ ๑๙ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกักพืช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๔[๒] ในพระราชบัญญัตินี้ “พืช” หมายความว่า พันธุ์พืชทุกชนิดทั้งพืชบก พืชน้ำ และพืชประเภทอื่น รวมทั้งส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช เช่น ต้น ตา ตอ แขนง หน่อ กิ่ง ใบ ราก เหง้า หัว ดอก ผล เมล็ด เชื้อ และสปอร์ของเห็ด ไม่ว่าที่ยังทำพันธุ์ได้หรือตายแล้ว และให้หมายความรวมถึงตัวห้ำ ตัวเบียน ตัวไหม ไข่ไหม รังไหม ผึ้ง รังผึ้ง และจุลินทรีย์ด้วย “พืชควบคุม” หมายความว่า พืชที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นพืชควบคุม “พืชควบคุมเฉพาะ”[๓] หมายความว่า พืชที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นพืชที่ต้องมีการกำหนดมาตรการในการควบคุมและตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ก่อนส่งออกไปนอกราชอาณาจักร “เชื้อพันธุ์พืช” หมายความว่า กลุ่มเซลล์ที่มีหน่วยพันธุกรรมหลากหลาย ซึ่งถ่ายทอดได้ ที่รวมตัวกันเป็นชิ้นส่วนของพืชที่ยังมีชีวิตและขยายพันธุ์ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเมล็ด เนื้อเยื่อหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช และให้หมายความรวมถึงสารพันธุกรรม ซึ่งสามารถถ่ายทอดลักษณะที่สารพันธุกรรมนั้นควบคุมอยู่ได้ ทั้งนี้ เฉพาะที่ใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ “ดิน” หมายความว่า ดินชนิดที่มีอินทรีย์วัตถุหรือเป็นที่อาศัยของศัตรูพืชได้ “ศัตรูพืช” หมายความว่า สิ่งซึ่งเป็นอันตรายแก่พืช เช่น เชื้อโรคพืช แมลง สัตว์ หรือพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืช “พาหะ” หมายความว่า เครื่องปลูก ดิน ทราย ภาชนะ หรือสิ่งอื่นที่ใช้ห่อหุ้มมาพร้อมกับพืช ปุ๋ยอินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นสื่อนำศัตรูพืช “สิ่งต้องห้าม” หมายความว่า พืช ศัตรูพืชและพาหะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสิ่งต้องห้าม “สิ่งกำกัด” หมายความว่า พืช ศัตรูพืชและพาหะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสิ่งกำกัด “สิ่งไม่ต้องห้าม” หมายความว่า พืชอย่างอื่นที่ไม่เป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด “เจ้าของ” หมายความรวมถึง ตัวแทนเจ้าของ ผู้ครอบครองสิ่งของและผู้ควบคุมยานพาหนะขนส่งสิ่งของนั้นด้วย “การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช”[๔] หมายความว่า กระบวนการประเมินหลักฐานด้านชีววิทยาหรือด้านวิทยาศาสตร์อื่น และด้านเศรษฐกิจเพื่อบ่งชี้ว่าศัตรูพืชชนิดใดควรจะต้องมีการควบคุม และระดับความเข้มงวดของมาตรการสุขอนามัยพืชที่จะนำมาใช้ในการควบคุมศัตรูพืชชนิดนั้น “นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งให้ส่งเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ “นำผ่าน”[๕] หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักรไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะหรือไม่ก็ตาม “ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ “ด่านตรวจพืช” หมายความว่า ด่านตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เพื่อตรวจพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และเชื้อพันธุ์พืชที่นำเข้าหรือนำผ่าน “สถานกักพืช” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นที่สำหรับกักพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และเชื้อพันธุ์พืช เพื่อสังเกตตรวจสอบและวิจัย “เขตควบคุมศัตรูพืช” หมายความว่า ท้องที่ที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ให้เป็นเขตป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช “ใบรับรองสุขอนามัยพืช”[๖] หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกซึ่งพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะเพื่อรับรองว่าพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะที่ส่งออกปลอดจากศัตรูพืชตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า “ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ”[๗] หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกซึ่งพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะเพื่อรับรองว่าพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะที่ได้นำหรือส่งเข้ามาในราชอาณาจักร และถูกส่งต่อไปประเทศอื่นปลอดจากศัตรูพืชของประเทศไทยตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า “ใบรับรองสุขอนามัย”[๘] หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกพืชควบคุมเฉพาะเพื่อรับรองว่าพืชควบคุมเฉพาะที่ส่งออกปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกักพืช “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตร “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า อธิบดีและผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการปฏิบัติตามความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ มาตรา ๕ ทวิ[๙] ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกักพืช” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมประมงหรือผู้แทน อธิบดีกรมปศุสัตว์หรือผู้แทน อธิบดีกรมป่าไม้หรือผู้แทน อธิบดีกรมวิชาการเกษตรหรือผู้แทน อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้แทน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือผู้แทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือผู้แทน ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนกระทรวงมหาดไทยแห่งละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการและให้ผู้อำนวยการกองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้กรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานวิชาการ งานธุรการ และดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการให้แก่คณะกรรมการ มาตรา ๕ ตรี[๑๐] กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว มาตรา ๕ จัตวา[๑๑] นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๕ ตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) รัฐมนตรีให้ออก (๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ มาตรา ๕ เบญจ[๑๒] ในการประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๕ ฉ[๑๓] ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการกำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด และการกำหนดชื่อเชื้อพันธุ์พืชที่จะควบคุม การกำหนดพืชควบคุมและพืชควบคุมเฉพาะ (๒) ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการกำหนดด่านตรวจพืชและสถานกักพืช (๓) ให้คำแนะนำแก่อธิบดีในการกำหนดกิจการที่สามารถนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามได้ตามมาตรา ๘ (๒) และการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามเพื่อการค้า หรือเพื่อกิจการอื่นตามมาตรา ๘ (๒) (๔) ให้คำแนะนำแก่อธิบดีในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งกำกัดตามมาตรา ๑๐ และการกำหนดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบศัตรูพืชและกำจัดศัตรูพืช การขอใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อและการออกใบรับรองตามมาตรา ๑๕ (๕) ให้คำแนะนำแก่อธิบดีในการกำหนดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบพืชควบคุมเฉพาะที่จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยตามมาตรา ๑๕ ฉ (๖) ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้ (๗) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีหรืออธิบดีให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกักพืชตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่มีผลกระทบต่อการดำเนินการเพื่อการกักพืช (๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ มาตรา ๕ สัตต[๑๔] คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ให้นำมาตรา ๕ เบญจ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม มาตรา ๖[๑๕] เมื่อมีกรณีจำเป็นจะต้องป้องกันศัตรูพืชชนิดใดมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพของมนุษย์ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี โดยประกาศนั้นจะระบุชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะชนิดใดหรือแหล่งกำเนิดของพืช ศัตรูพืช หรือพาหะดังกล่าว หรือจะกำหนดข้อยกเว้นหรือเงื่อนไข ใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้[๑๖] ในการกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันศัตรูพืชชนิดใดโดยเฉพาะมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น รัฐมนตรีจะกำหนดให้ผู้เดินทางมาจากแหล่งที่มีศัตรูพืชชนิดนั้นกำลังระบาดอยู่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่อธิบดีกำหนดไว้อีกด้วยก็ได้ สิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดดังกล่าวในวรรคหนึ่ง เมื่อหมดความจำเป็นแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพิกถอนเสีย มาตรา ๖ ทวิ[๑๗] เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช ให้รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อเชื้อพันธุ์พืชที่จะควบคุม ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกซึ่งเชื้อพันธุ์พืชที่รัฐมนตรีประกาศตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี และในการนำเข้าจะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย[๑๘] การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๖ ตรี[๑๙] ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในแหล่งปลูกพืช สถานที่รวบรวมหรือเก็บรักษาเชื้อพันธุ์พืชที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๖ ทวิ วรรคหนึ่ง ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและศึกษาการใช้ประโยชน์ของเชื้อพันธุ์พืช ในการนี้ให้มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริงหรือเรียกใบอนุญาตหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งปลูกพืชหรือสถานที่นั้นได้ มาตรา ๗[๒๐] ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือสถานที่แห่งใดอันมีเขตกำหนดเป็นด่านตรวจพืชหรือเป็นสถานกักพืชได้ มาตรา ๘[๒๑] บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ (๑) การนำเข้าหรือนำผ่านเพื่อการทดลองหรือวิจัย ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย หรือในกรณีการนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้ามซึ่งเป็นศัตรูพืชหรือพาหะที่ไม่ใช่พืชต้องมีหนังสือรับรองสิ่งต้องห้ามของหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกซึ่งสิ่งต้องห้ามนั้นกำกับมาด้วย (๒) การนำเข้าหรือนำผ่านเพื่อการค้า หรือเพื่อกิจการอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ จะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย และต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๙[๒๒] ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งกำกัด เว้นแต่จะมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย มาตรา ๑๐[๒๓] การนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดนั้น จะต้องนำเข้าหรือนำผ่านทางด่านตรวจพืชเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๑[๒๔] ผู้ใดนำเข้า หรือนำผ่านซึ่งสิ่งไม่ต้องห้ามต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย และต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๒[๒๕] ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้ (๑) ตรวจค้นคลังสินค้า ยานพาหนะ หีบห่อ ตลอดจนตัวบุคคลภายในเขตด่านตรวจพืชหรือเขตควบคุมศัตรูพืช เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือสิ่งไม่ต้องห้าม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ (๒) ตรวจค้นสถานที่ บุคคล หรือยานพาหนะใด ๆ นอกเขตด่านตรวจพืชหรือนอกเขตควบคุมศัตรูพืชในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่า พืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือสิ่งไม่ต้องห้ามที่อยู่ในความครอบครองเป็นหรือมีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมาก และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ สิ่งดังกล่าวหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม และถ้าการค้นในเวลาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อไปก็ได้ (๓) เก็บหรือนำพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหรือวิเคราะห์ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นหรือมีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมาก (๔) ยึดหรือกักไว้ซึ่งพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกำหนดเวลาที่เห็นจำเป็น เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นหรือมีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมาก มาตรา ๑๓[๒๖] เพื่อป้องกันศัตรูพืชมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือเชื้อพันธุ์พืชที่นำเข้าหรือนำผ่าน ดังต่อไปนี้ (๑) ตรวจวินิจฉัยศัตรูพืช รมยา พ่นยา หรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่เห็นว่าจำเป็นโดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย (๒) ยึดหรือกักไว้ ณ สถานกักพืช หรือ ณ ที่ใด ๆ ตามกำหนดเวลาที่เห็นว่าจำเป็น (๓) สั่งให้ผู้นำเข้าซึ่งพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือเชื้อพันธุ์พืช ที่มีศัตรูพืชติดเข้ามาด้วย ส่งสิ่งนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร (๔) ทำลายเท่าที่เห็นว่าจำเป็น ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมากและไม่อาจดำเนินการแก้ไขโดยวิธีตาม (๑) ได้ มาตรา ๑๓/๑[๒๗] บรรดาสิ่งที่เก็บ ยึดหรือกักไว้ตามมาตรา ๑๒ (๓) และ (๔) และมาตรา ๑๓ (๒) ถ้าไม่ปรากฏเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึดหรือกักหรือวันที่ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือวันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมวิชาการเกษตร ถ้าสิ่งที่เก็บ ยึดหรือกักไว้ตามวรรคหนึ่งเป็นของเสียหายง่าย หรือถ้าเก็บไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือจะเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเกินค่าของสิ่งนั้น ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งทำลายหรือจัดการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร มาตรา ๑๔[๒๘] ห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือเชื้อพันธุ์พืชออกไปจากด่านตรวจพืช สถานกักพืช หรือยานพาหนะในกรณีนำผ่านราชอาณาจักร หรือจากที่ใด ๆ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สั่งยึดหรือกักไว้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๑๕[๒๙] บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบศัตรูพืชและกำจัดศัตรูพืชตามอัตราที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อให้แก่ผู้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ แล้วแต่กรณี ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ และการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๕ ทวิ[๓๐] เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้ศัตรูพืชระบาดออกไปนอกราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อพืชชนิดใดเป็นพืชควบคุมได้ บุคคลใดประสงค์จะส่งออกพืชควบคุมตามวรรคหนึ่งต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับไปด้วย[๓๑] มาตรา ๑๕ ตรี[๓๒] ในกรณีที่ใบรับรองสุขอนามัยพืช ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อหรือใบรับรองสุขอนามัย สูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญและผู้รับใบรับรองดังกล่าวต้องการใบแทน ให้ยื่นคำขอรับใบแทนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การขอรับใบแทน และการออกใบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๕ จัตวา[๓๓] เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปลูกพืช เพื่อการส่งออก บุคคลใดประสงค์จะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกำจัดศัตรูพืชในโรงเรือนปลูกพืชหรือแปลงปลูกพืชเพื่อการส่งออก ให้ยื่นคำขอเพื่อขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะปลูกพืชเพื่อการส่งออกต่อกรมวิชาการเกษตร การขอขึ้นทะเบียนและการขึ้นทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๕ เบญจ[๓๔] เพื่อประโยชน์ในการควบคุมพืชที่จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้พืชใดเป็นพืชควบคุมเฉพาะ โดยจะกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของพืช เชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใด ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าไว้ด้วยก็ได้ มาตรา ๑๕ ฉ[๓๕] บุคคลใดประสงค์จะส่งออกพืชควบคุมเฉพาะ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยกำกับไปด้วย และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบตามอัตราที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกใบรับรองสุขอนามัยให้แก่ผู้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบรับรองสุขอนามัย ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง การขอใบรับรองสุขอนามัย และการออกใบรับรองสุขอนามัย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๖[๓๖] บุคคลใดประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ในวันหยุดราชการหรือนอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ราชการไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการ จะต้องเสียค่าป่วยการสำหรับการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานดังกล่าวตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายค่าป่วยการและค่าพาหนะเดินทางตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๑๗ เมื่อมีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงปรากฏขึ้นในท้องที่ใด หรือมีเหตุอันสมควรควบคุมศัตรูพืชในท้องที่ใด ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชและประกาศระบุชื่อ ชนิดของพืช ศัตรูพืชและพาหะที่ควบคุม และให้กำหนดสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่นขึ้นเท่าที่จำเป็น ประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการของกำนันและที่ทำการของผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้น มาตรา ๑๘ เมื่อได้ประกาศกำหนดเขตควบคุมศัตรูพืชตามมาตรา ๑๗ แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช ศัตรูพืชหรือพาหะออกไปนอก หรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืช ตามที่ประกาศระบุไว้ เว้นแต่จะได้ผ่านการตรวจและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๑๙ บทบัญญัติในมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ ให้ใช้บังคับในกรณีพืช ศัตรูพืชและพาหะตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗ ภายในเขตควบคุมศัตรูพืช หรือที่จะนำออกไปนอกหรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืชโดยอนุโลม ในกรณีที่มีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงมาก ซึ่งหากไม่รีบทำลายเสียอาจจะระบาดลุกลามทำความเสียหายได้มาก พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้เจ้าของจัดการทำลายพืช ศัตรูพืช และพาหะนั้นเสีย หรือในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะจัดการทำลายเสียเอง โดยอธิบดีจะสั่งให้เจ้าของเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการทำลายเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริงก็ได้[๓๗] มาตรา ๒๐ เมื่ออธิบดีเห็นว่าศัตรูพืชที่ได้ประกาศตามมาตรา ๑๗ ถูกทำลายหมดสิ้นแล้ว หรือเห็นว่าหมดความจำเป็นแล้ว ให้อธิบดีประกาศเพิกถอนประกาศ ตามมาตรา ๑๗ นั้นเสีย มาตรา ๒๐ ทวิ[๓๘] เงินที่ได้จากค่าตรวจสอบศัตรูพืชตามมาตรา ๑๕ และค่าป่วยการตามมาตรา ๑๖ มิให้ถือว่าเป็นรายรับตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และให้นำไปใช้จ่ายในกิจการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้โดยเฉพาะ จะจ่ายเพื่อการอื่นมิได้ มาตรา ๒๐ ตรี[๓๙] ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนมาตรา ๖ ทวิ วรรคสอง มาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๒๐ จัตวา[๔๐] ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ ตรี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๒๑[๔๑] ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๕ ทวิ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๕ ฉ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๒[๔๒] ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่พันบาท มาตรา ๒๓[๔๓] ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๓ (๑) (๒) หรือ (๔) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา ๑๓ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๔[๔๔] ผู้ใดขัดคำสั่งหรือขัดขวางการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๕[๔๕] บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ มาตรา ๒๖[๔๖] บรรดาพืช ศัตรูพืช หรือพาหะภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ที่มิได้นำเข้ามาทางด่านตรวจพืชก็ดี หรือนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้ด้วยประการใด ๆ ก็ดี หรือพืช ศัตรูพืชหรือพาหะ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดเกี่ยวกับเขตควบคุมพืชตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๘ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ บรรดาสิ่งที่ศาลสั่งริบให้ตกเป็นของกรมวิชาการเกษตร เพื่อจัดการตามที่เห็นสมควร มาตรา ๒๗[๔๗] ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ กำหนดค่าตรวจสอบศัตรูพืชและค่าป่วยการ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี อัตราค่าธรรมเนียม[๔๘] (๑) ใบอนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้าม ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเชื้อพันธุ์พืช ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๓) ใบรับรองสุขอนามัยพืช ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๔) ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๕) ใบรับรองสุขอนามัย ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๖) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัยพืช ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๗) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๘) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัย ฉบับละ ๑๐๐ บาท หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการควบคุมและกักพืชได้ต่อเมื่อพืชที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นศัตรูพืชตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอาจจะทำให้โรคพืชต่าง ๆ ระบาดแพร่หลายได้ในระหว่างนำพืชนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนที่จะมีการควบคุมและกักพืชไว้ ไม่บังเกิดผลสมความมุ่งหมายที่จะป้องกันโรคและศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพตามข้อตกลงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกร่วมอยู่ในอนุสัญญาระหว่างประเทศสมควรที่จะขยายการควบคุมและกักพืชให้กว้างขวางออกไปอีกทั้งการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรไม่ว่าทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ เพื่อให้การป้องกันโรคและศัตรูพืชได้ผลสมตามเจตนา ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ และตราพระราชบัญญัติกักพืชขึ้นใหม่ใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒[๔๙] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและควบคุมการระบาดของศัตรูพืชไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทำให้การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของศัตรูพืชไม่เหมาะสมและขาดประสิทธิภาพสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางมาตราเพื่อกำหนดให้มีคณะกรรมการกักพืชขึ้นทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมและตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกซึ่งพืชและเชื้อพันธุ์พืช การตรวจและควบคุมเชื้อพันธุ์พืช การกำหนดให้มีการจดทะเบียนสถานที่เพาะพืชเพื่อการส่งออก การออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและอำนาจในการเปรียบเทียบปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้กำหนดให้แยกค่าป่วยการของพนักงานเจ้าหน้าที่ และค่าตรวจสอบศัตรูพืชออกจากค่าธรรมเนียมทั่วไปเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในกิจการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ กับได้ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑[๕๐] มาตรา ๒๓ คำขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ถือว่าเป็นคำขอออกใบรับรองสุขอนามัยพืชตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๒๔ ใบรับรองปลอดศัตรูพืชตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นใบรับรองสุขอนามัยพืชตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๒๕ บรรดากฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ในเรื่องนั้น ๆ ใช้บังคับ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการกักพืช เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศให้พืช ศัตรูพืช และพาหะเป็นสิ่งต้องห้ามและแก้ไขหลักเกณฑ์การนำเข้า หรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้ามรวมทั้งเพิ่มเติมการควบคุมดูแลพืชที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ ตลอดจนแก้ไขอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน และควบคุมโรคและศัตรูพืชให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติมค่าธรรมเนียมใบรับรองที่กำหนดขึ้นใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ สิงหาคม ๒๕๕๔ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑/ตอนที่ ๒๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ มีนาคม ๒๕๐๗ [๒] มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๓] มาตรา ๔ นิยามคำว่า “พืชควบคุมเฉพาะ” เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๔] มาตรา ๔ นิยามคำว่า “การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช” เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๕] มาตรา ๔ นิยามคำว่า “นำผ่าน” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๖] มาตรา ๔ นิยามคำว่า “ใบรับรองสุขอนามัยพืช” เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๗] มาตรา ๔ นิยามคำว่า “ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ” เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๘] มาตรา ๔ นิยามคำว่า “ใบรับรองสุขอนามัย” เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๙] มาตรา ๕ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๐] มาตรา ๕ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๑] มาตรา ๕ จัตวา เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๒] มาตรา ๕ เบญจ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๓] มาตรา ๕ ฉ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๑๔] มาตรา ๕ สัตต เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๕] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๖] มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๑๗] มาตรา ๖ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๘] มาตรา ๖ ทวิ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๑๙] มาตรา ๖ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๐] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๑] มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๒๒] มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๒๓] มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๒๔] มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๒๕] มาตรา ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๒๖] มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๒๗] มาตรา ๑๓/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๒๘] มาตรา ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๙] มาตรา ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๓๐] มาตรา ๑๕ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๓๑] มาตรา ๑๕ ทวิ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๓๒] มาตรา ๑๕ ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๓๓] มาตรา ๑๕ จัตวา เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๓๔] มาตรา ๑๕ เบญจ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๓๕] มาตรา ๑๕ ฉ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๓๖] มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๓๗] มาตรา ๑๙ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๓๘] มาตรา ๒๐ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๓๙] มาตรา ๒๐ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๔๐] มาตรา ๒๐ จัตวา เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๔๑] มาตรา ๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๔๒] มาตรา ๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๔๓] มาตรา ๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๔๔] มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๔๕] มาตรา ๒๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๔๖] มาตรา ๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๔๗] มาตรา ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๔๘] อัตราค่าธรรมเนียม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ [๔๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๓๙ ก/หน้า ๑/๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๒ [๕๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๔๐ ก/หน้า ๒๘/๑ มีนาคม ๒๕๕๑
572624
พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551
พระราชบัญญัติ กักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการกักพืช พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “พืชควบคุมเฉพาะ” ระหว่างคำว่า “พืชควบคุม” และ “เชื้อพันธุ์พืช” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ““พืชควบคุมเฉพาะ” หมายความว่า พืชที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นพืชที่ต้องมีการกำหนดมาตรการในการควบคุมและตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าก่อนส่งออกไปนอกราชอาณาจักร” มาตรา ๔ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช” ระหว่างคำว่า “เจ้าของ” และ “นำเข้า” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ““การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช” หมายความว่า กระบวนการประเมินหลักฐานด้านชีววิทยาหรือด้านวิทยาศาสตร์อื่น และด้านเศรษฐกิจเพื่อบ่งชี้ว่าศัตรูพืชชนิดใดควรจะต้องมีการควบคุม และระดับความเข้มงวดของมาตรการสุขอนามัยพืชที่จะนำมาใช้ในการควบคุมศัตรูพืชชนิดนั้น” มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “นำผ่าน” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ““นำผ่าน” หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักรไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะหรือไม่ก็ตาม” มาตรา ๖ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ใบรับรองสุขอนามัยพืช” “ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ” และ “ใบรับรองสุขอนามัย” ระหว่างคำว่า “เขตควบคุมศัตรูพืช” และ “คณะกรรมการ” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ““ใบรับรองสุขอนามัยพืช” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกซึ่งพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะเพื่อรับรองว่าพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะที่ส่งออกปลอดจากศัตรูพืชตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า “ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกซึ่งพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะเพื่อรับรองว่าพืช เชื้อพันธุ์พืช หรือพาหะที่ได้นำหรือส่งเข้ามาในราชอาณาจักร และถูกส่งต่อไปประเทศอื่นปลอดจากศัตรูพืชของประเทศไทยตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า “ใบรับรองสุขอนามัย” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกพืชควบคุมเฉพาะเพื่อรับรองว่าพืชควบคุมเฉพาะที่ส่งออกปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า” มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ ฉ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๕ ฉ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการกำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด และการกำหนดชื่อเชื้อพันธุ์พืชที่จะควบคุม การกำหนดพืชควบคุมและพืชควบคุมเฉพาะ (๒) ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการกำหนดด่านตรวจพืชและสถานกักพืช (๓) ให้คำแนะนำแก่อธิบดีในการกำหนดกิจการที่สามารถนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามได้ตามมาตรา ๘ (๒) และการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำเข้า หรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามเพื่อการค้า หรือเพื่อกิจการอื่นตามมาตรา ๘ (๒) (๔) ให้คำแนะนำแก่อธิบดีในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งกำกัดตามมาตรา ๑๐ และการกำหนดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบศัตรูพืชและกำจัดศัตรูพืช การขอใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อและการออกใบรับรองตามมาตรา ๑๕ (๕) ให้คำแนะนำแก่อธิบดีในการกำหนดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบพืชควบคุมเฉพาะที่จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยตามมาตรา ๑๕ ฉ (๖) ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้ (๗) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีหรืออธิบดีให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกักพืชตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่มีผลกระทบต่อการดำเนินการเพื่อการกักพืช (๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ” มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖ เมื่อมีกรณีจำเป็นจะต้องป้องกันศัตรูพืชชนิดใดมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพของมนุษย์ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี โดยประกาศนั้นจะระบุชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะชนิดใดหรือแหล่งกำเนิดของพืช ศัตรูพืช หรือพาหะดังกล่าว หรือจะกำหนดข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้” มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๖ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกซึ่งเชื้อพันธุ์พืชที่รัฐมนตรีประกาศตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี และในการนำเข้าจะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย” มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๘ บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ (๑) การนำเข้าหรือนำผ่านเพื่อการทดลองหรือวิจัย ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย หรือในกรณีการนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้ามซึ่งเป็นศัตรูพืชหรือพาหะที่ไม่ใช่พืชต้องมีหนังสือรับรองสิ่งต้องห้ามของหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกซึ่งสิ่งต้องห้ามนั้นกำกับมาด้วย (๒) การนำเข้าหรือนำผ่านเพื่อการค้า หรือเพื่อกิจการอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ จะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย และต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๙ ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งกำกัด เว้นแต่จะมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย” มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๐ การนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดนั้น จะต้องนำเข้า หรือนำผ่านทางด่านตรวจพืชเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๑ ผู้ใดนำเข้า หรือนำผ่านซึ่งสิ่งไม่ต้องห้ามต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย และต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด” มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๒ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้ (๑) ตรวจค้นคลังสินค้า ยานพาหนะ หีบห่อ ตลอดจนตัวบุคคลภายในเขตด่านตรวจพืชหรือเขตควบคุมศัตรูพืช เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือสิ่งไม่ต้องห้าม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ (๒) ตรวจค้นสถานที่ บุคคล หรือยานพาหนะใด ๆ นอกเขตด่านตรวจพืชหรือนอกเขตควบคุมศัตรูพืชในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่า พืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือสิ่งไม่ต้องห้ามที่อยู่ในความครอบครองเป็นหรือมีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมาก และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ สิ่งดังกล่าวหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม และถ้าการค้นในเวลาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จจะกระทำต่อไปก็ได้ (๓) เก็บหรือนำพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหรือวิเคราะห์ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นหรือมีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมาก (๔) ยึด หรือกักไว้ซึ่งพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกำหนดเวลาที่เห็นจำเป็น เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นหรือมีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมาก” มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๓ เพื่อป้องกันศัตรูพืชมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือเชื้อพันธุ์พืชที่นำเข้าหรือนำผ่าน ดังต่อไปนี้ (๑) ตรวจวินิจฉัยศัตรูพืช รมยา พ่นยา หรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่เห็นว่าจำเป็นโดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย (๒) ยึดหรือกักไว้ ณ สถานกักพืช หรือ ณ ที่ใด ๆ ตามกำหนดเวลาที่เห็นว่าจำเป็น (๓) สั่งให้ผู้นำเข้าซึ่งพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด สิ่งไม่ต้องห้าม หรือเชื้อพันธุ์พืชที่มีศัตรูพืชติดเข้ามาด้วย ส่งสิ่งนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร (๔) ทำลายเท่าที่เห็นว่าจำเป็น ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมากและไม่อาจดำเนินการแก้ไขโดยวิธีตาม (๑) ได้” มาตรา ๑๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ “มาตรา ๑๓/๑ บรรดาสิ่งที่เก็บ ยึดหรือกักไว้ตามมาตรา ๑๒ (๓) และ (๔) และมาตรา ๑๓ (๒) ถ้าไม่ปรากฏเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึดหรือกักหรือวันที่ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือวันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมวิชาการเกษตร ถ้าสิ่งที่เก็บ ยึดหรือกักไว้ตามวรรคหนึ่งเป็นของเสียหายง่าย หรือถ้าเก็บไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือจะเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเกินค่าของสิ่งนั้น ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งทำลายหรือจัดการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร” มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๕ บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบศัตรูพืชและกำจัดศัตรูพืชตามอัตราที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อให้แก่ผู้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ แล้วแต่กรณี ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ และการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๕ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “บุคคลใดประสงค์จะส่งออกพืชควบคุมตามวรรคหนึ่งต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับไปด้วย” มาตรา ๑๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๕ ตรี ในกรณีที่ใบรับรองสุขอนามัยพืช ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อหรือใบรับรองสุขอนามัย สูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญและผู้รับใบรับรองดังกล่าวต้องการใบแทน ให้ยื่นคำขอรับใบแทนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การขอรับใบแทน และการออกใบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด” มาตรา ๒๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕ เบญจ และมาตรา ๑๕ ฉ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ “มาตรา ๑๕ เบญจ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมพืชที่จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้พืชใดเป็นพืชควบคุมเฉพาะ โดยจะกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของพืช เชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าไว้ด้วยก็ได้ มาตรา ๑๕ ฉ บุคคลใดประสงค์จะส่งออกพืชควบคุมเฉพาะ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยกำกับไปด้วย และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบตามอัตราที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกใบรับรองสุขอนามัยให้แก่ผู้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบรับรองสุขอนามัยตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง การขอใบรับรองสุขอนามัย และการออกใบรับรองสุขอนามัย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” มาตรา ๒๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๒๑ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๕ ทวิ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๕ ฉ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่พันบาท” มาตรา ๒๒ ให้ยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้อัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน มาตรา ๒๓ คำขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ถือว่าเป็นคำขอออกใบรับรองสุขอนามัยพืชตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๒๔ ใบรับรองปลอดศัตรูพืชตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นใบรับรองสุขอนามัยพืชตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๒๕ บรรดากฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ในเรื่องนั้น ๆ ใช้บังคับ มาตรา ๒๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี อัตราค่าธรรมเนียม (๑) ใบอนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้าม ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเชื้อพันธุ์พืช ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๓) ใบรับรองสุขอนามัยพืช ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๔) ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๕) ใบรับรองสุขอนามัย ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๖) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัยพืช ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๗) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๘) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัย ฉบับละ ๑๐๐ บาท หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการกักพืช เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศให้พืช ศัตรูพืช และพาหะเป็นสิ่งต้องห้ามและแก้ไขหลักเกณฑ์การนำเข้า หรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้ามรวมทั้งเพิ่มเติมการควบคุมดูแลพืชที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ ตลอดจนแก้ไขอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน และควบคุมโรคและศัตรูพืชให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติมค่าธรรมเนียมใบรับรองที่กำหนดขึ้นใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ปริยานุช/จัดทำ ๔ มีนาคม ๒๕๕๑ วศิน/แก้ไข ๙ มีนาคม ๒๕๕๒ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๔๐ ก/หน้า ๒๘/๑ มีนาคม ๒๕๕๑
572493
พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (Update ณ วันที่ 18/05/2542)
พระราชบัญญัติ กักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นปีที่ ๑๙ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกักพืช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๔[๒] ในพระราชบัญญัตินี้ “พืช” หมายความว่า พันธุ์พืชทุกชนิดทั้งพืชบก พืชน้ำ และพืชประเภทอื่น รวมทั้งส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช เช่น ต้น ตา ตอ แขนง หน่อ กิ่ง ใบ ราก เหง้า หัว ดอก ผล เมล็ด เชื้อ และสปอร์ของเห็ด ไม่ว่าที่ยังทำพันธุ์ได้หรือตายแล้ว และให้หมายความรวมถึงตัวห้ำ ตัวเบียน ตัวไหม ไข่ไหม รังไหม ผึ้ง รังผึ้ง และจุลินทรีย์ด้วย “พืชควบคุม” หมายความว่า พืชที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นพืชควบคุม “เชื้อพันธุ์พืช” หมายความว่า กลุ่มเซลล์ที่มีหน่วยพันธุกรรมหลากหลาย ซึ่งถ่ายทอดได้ ที่รวมตัวกันเป็นชิ้นส่วนของพืชที่ยังมีชีวิตและขยายพันธุ์ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเมล็ด เนื้อเยื่อหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช และให้หมายความรวมถึงสารพันธุกรรม ซึ่งสามารถถ่ายทอดลักษณะที่สารพันธุกรรมนั้นควบคุมอยู่ได้ ทั้งนี้ เฉพาะที่ใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ “ดิน” หมายความว่า ดินชนิดที่มีอินทรีย์วัตถุหรือเป็นที่อาศัยของศัตรูพืชได้ “ศัตรูพืช” หมายความว่า สิ่งซึ่งเป็นอันตรายแก่พืช เช่น เชื้อโรคพืช แมลง สัตว์ หรือพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืช “พาหะ” หมายความว่า เครื่องปลูก ดิน ทราย ภาชนะ หรือสิ่งอื่นที่ใช้ห่อหุ้มมาพร้อมกับพืช ปุ๋ยอินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นสื่อนำศัตรูพืช “สิ่งต้องห้าม” หมายความว่า พืช ศัตรูพืชและพาหะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสิ่งต้องห้าม “สิ่งกำกัด” หมายความว่า พืช ศัตรูพืชและพาหะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสิ่งกำกัด “สิ่งไม่ต้องห้าม” หมายความว่า พืชอย่างอื่นที่ไม่เป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด “เจ้าของ” หมายความรวมถึง ตัวแทนเจ้าของ ผู้ครอบครองสิ่งของและผู้ควบคุมยานพาหนะขนส่งสิ่งของนั้นด้วย “นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งให้ส่งเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ “นำผ่าน” หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักรโดยมีการขนลงหรือขนถ่ายยานพาหนะ “ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ “ด่านตรวจพืช” หมายความว่า ด่านตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เพื่อตรวจพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และเชื้อพันธุ์พืชที่นำเข้าหรือนำผ่าน “สถานกักพืช” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นที่สำหรับกักพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และเชื้อพันธุ์พืช เพื่อสังเกตตรวจสอบและวิจัย “เขตควบคุมศัตรูพืช” หมายความว่า ท้องที่ที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ให้เป็นเขตป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกักพืช “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตร “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า อธิบดีและผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการปฏิบัติตามความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ มาตรา ๕ ทวิ[๓] ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกักพืช” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมประมงหรือผู้แทน อธิบดีกรมปศุสัตว์หรือผู้แทน อธิบดีกรมป่าไม้หรือผู้แทน อธิบดีกรมวิชาการเกษตรหรือผู้แทน อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้แทน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือผู้แทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือผู้แทน ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์และผู้แทน กระทรวงมหาดไทยแห่งละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการกองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้กรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานวิชาการ งานธุรการ และดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการให้แก่คณะกรรมการ มาตรา ๕ ตรี[๔] กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว มาตรา ๕ จัตวา[๕] นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๕ ตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) รัฐมนตรีให้ออก (๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ มาตรา ๕ เบญจ[๖] ในการประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๕ ฉ[๗] ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (๑) การกำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด และการกำหนดชื่อเชื้อพันธุ์พืชที่จะควบคุมและการกำหนดพืชควบคุม (๒) การกำหนดด่านตรวจพืชและสถานกักพืช (๓) การออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้ (๔) ปฏิบัติการอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ มาตรา ๕ สัตต[๘] คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ให้นำมาตรา ๕ เบญจ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม มาตรา ๖[๙] เมื่อมีกรณีจำเป็นจะต้องป้องกันศัตรูพืชชนิดหนึ่งชนิดใดมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะชนิดใดเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี และในประกาศนั้นจะระบุกำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะ ชนิดใด จากแหล่งใด หรือจะกำหนดข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้ ในการกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันศัตรูพืชชนิดใดโดยเฉพาะมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น รัฐมนตรีจะกำหนดให้ผู้เดินทางมาจากแหล่งที่มีศัตรูพืชชนิดนั้นกำลังระบาดอยู่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่อธิบดีกำหนดไว้อีกด้วยก็ได้ สิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดดังกล่าวในวรรคหนึ่ง เมื่อหมดความจำเป็นแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพิกถอนเสีย มาตรา ๖ ทวิ[๑๐] เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อเชื้อพันธุ์พืชที่จะควบคุม ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกซึ่งเชื้อพันธุ์พืชที่รัฐมนตรีประกาศตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี และในการนำเข้าจะต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำกับมาด้วย การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๖ ตรี[๑๑] ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในแหล่งปลูกพืช สถานที่รวบรวมหรือเก็บรักษาเชื้อพันธุ์พืชที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๖ ทวิ วรรคหนึ่ง ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและศึกษาการใช้ประโยชน์ของเชื้อพันธุ์พืช ในการนี้ให้มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริงหรือเรียกใบอนุญาตหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งปลูกพืชหรือสถานที่นั้นได้ มาตรา ๗[๑๒] ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือสถานที่แห่งใดอันมีเขตกำหนดเป็นด่านตรวจพืชหรือเป็นสถานกักพืชได้ มาตรา ๘ ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี และมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชของเจ้าหน้าที่ของประเทศที่ส่งสิ่งต้องห้ามนั้น หรือหนังสือสำคัญอย่างอื่นอันเป็นที่เชื่อถือได้สำหรับประเทศที่ไม่มีการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำกับมาด้วย และในกรณีนำเข้านี้ อธิบดีจะอนุญาตได้เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทดลองหรือการวิจัยเท่านั้น มาตรา ๙ ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งกำกัด เว้นแต่จะมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชของเจ้าหน้าที่ของประเทศซึ่งส่งสิ่งกำกัดนั้นออก หรือหนังสือสำคัญอย่างอื่นอันเป็นที่เชื่อถือได้สำหรับประเทศที่ไม่มีการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำกับมาด้วย มาตรา ๑๐ การนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดนั้น จะต้องนำเข้าหรือนำผ่านทางด่านตรวจพืชเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๑ ผู้ใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งไม่ต้องห้าม ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๒ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจค้นคลังสินค้า ยานพาหนะ หีบห่อ ตลอดจนตัวบุคคลภายในเขตด่านตรวจพืช หรือเขตควบคุมศัตรูพืชได้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่านำเข้าหรือนำผ่านซึ่งพืช สิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๓[๑๓] เพื่อป้องกันศัตรูพืชมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือเชื้อพันธุ์พืชที่นำเข้าหรือนำผ่าน ดังต่อไปนี้ (๑) รมยา พ่นยา หรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่เห็นจำเป็น โดยเจ้าของเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย (๒) ยึดหรือกักไว้ ณ สถานกักพืชหรือ ณ ที่ใด ๆ ตามกำหนดเวลาที่เห็นจำเป็น (๓) สั่งให้ผู้นำเข้าซึ่งพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือเชื้อพันธุ์พืชที่มีศัตรูพืชติดเข้ามาด้วยส่งสิ่งนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร (๔) ทำลายเท่าที่เห็นจำเป็น ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีศัตรูพืช มาตรา ๑๔[๑๔] ห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือเชื้อพันธุ์พืชออกไปจากด่านตรวจพืช สถานกักพืช หรือยานพาหนะในกรณีนำผ่านราชอาณาจักร หรือจากที่ใด ๆ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สั่งยึดหรือกักไว้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๑๕[๑๕] บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชเพื่อแสดงว่าพืชหรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกนั้นปลอดศัตรูพืช ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าตรวจสอบศัตรูพืชตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดศัตรูพืชและค่าบรรจุหีบห่อเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง การขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชและการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๕ ทวิ[๑๖] เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้ศัตรูพืชระบาดออกไปนอกราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อพืชชนิดใดเป็นพืชควบคุมได้ บุคคลใดประสงค์จะส่งออกพืชควบคุมตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง กำกับไปด้วย มาตรา ๑๕ ตรี[๑๗] ในกรณีที่ใบรับรองปลอดศัตรูพืชสูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญและผู้รับใบรับรองดังกล่าวต้องการใบแทน ให้ยื่นคำขอรับใบแทนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การขอรับใบแทนใบรับรองปลอดศัตรูพืชและการออกใบแทนใบรับรองปลอดศัตรูพืชให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๕ จัตวา[๑๘] เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปลูกพืชเพื่อการส่งออก บุคคลใดประสงค์จะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกำจัดศัตรูพืชในโรงเรือนปลูกพืชหรือแปลงปลูกพืชเพื่อการส่งออก ให้ยื่นคำขอเพื่อขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะปลูกพืชเพื่อการส่งออกต่อกรมวิชาการเกษตร การขอขึ้นทะเบียนและการขึ้นทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๖[๑๙] บุคคลใดประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ในวันหยุดราชการหรือนอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ราชการไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการ จะต้องเสียค่าป่วยการสำหรับการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานดังกล่าวตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายค่าป่วยการและค่าพาหนะเดินทางตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๑๗ เมื่อมีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงปรากฏขึ้นในท้องที่ใด หรือมีเหตุอันสมควรควบคุมศัตรูพืชในท้องที่ใด ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชและประกาศระบุชื่อ ชนิดของพืช ศัตรูพืชและพาหะที่ควบคุม และให้กำหนดสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่นขึ้นเท่าที่จำเป็น ประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการของกำนันและที่ทำการของผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้น มาตรา ๑๘ เมื่อได้ประกาศกำหนดเขตควบคุมศัตรูพืชตามมาตรา ๑๗ แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช ศัตรูพืชหรือพาหะออกไปนอก หรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืช ตามที่ประกาศระบุไว้ เว้นแต่จะได้ผ่านการตรวจและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๑๙ บทบัญญัติในมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ ให้ใช้บังคับในกรณีพืช ศัตรูพืชและพาหะตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗ ภายในเขตควบคุมพืช หรือที่จะนำออกไปนอก หรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืชโดยอนุโลม ในกรณีที่มีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงมาก ซึ่งหากไม่รีบทำลายเสียอาจจะระบาดลุกลามทำความเสียหายได้มาก พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้เจ้าของจัดการทำลายพืช ศัตรูพืช และพาหะนั้นเสีย หรือในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะจัดการทำลายเสียเอง โดยอธิบดีจะสั่งให้เจ้าของเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการทำลายเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริงก็ได้[๒๐] มาตรา ๒๐ เมื่ออธิบดีเห็นว่าศัตรูพืชที่ได้ประกาศตามมาตรา ๑๗ ถูกทำลายหมดสิ้นแล้ว หรือเห็นว่าหมดความจำเป็นแล้ว ให้อธิบดีประกาศเพิกถอนประกาศตามมาตรา ๑๗ นั้นเสีย มาตรา ๒๐ ทวิ[๒๑] เงินที่ได้จากค่าตรวจสอบศัตรูพืชตามมาตรา ๑๕ และค่าป่วยการตามมาตรา ๑๖ มิให้ถือว่าเป็นรายรับตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และให้นำไปใช้จ่ายในกิจการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้โดยเฉพาะ จะจ่ายเพื่อการอื่นมิได้ มาตรา ๒๐ ตรี[๒๒] ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนมาตรา ๖ ทวิ วรรคสอง มาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๒๐ จัตวา[๒๓] ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ ตรี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๒๑[๒๔] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ หรือมาตรา ๑๔ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๒[๒๕] ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๕ ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา ๒๓[๒๖] ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๓ (๑) (๒) หรือ (๔) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา ๑๓ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๔[๒๗] ผู้ใดขัดคำสั่งหรือขัดขวางการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๕[๒๘] บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ มาตรา ๒๖[๒๙] บรรดาพืช ศัตรูพืช หรือพาหะภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ที่มิได้นำเข้ามาทางด่านตรวจพืชก็ดี หรือนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้ด้วยประการใด ๆ ก็ดี หรือพืช ศัตรูพืชหรือพาหะ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดเกี่ยวกับเขตควบคุมพืชตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๘ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ บรรดาสิ่งที่ศาลสั่งริบให้ตกเป็นของกรมวิชาการเกษตร เพื่อจัดการตามที่เห็นสมควร มาตรา ๒๗[๓๐] ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ กำหนดค่าตรวจสอบศัตรูพืชและค่าป่วยการ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี อัตราค่าธรรมเนียม[๓๑] (๑) ใบอนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้าม ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเชื้อพันธุ์พืช ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๓) ใบรับรองปลอดศัตรูพืช ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๔) ใบแทนใบรับรองปลอดศัตรูพืช ฉบับละ ๑๐๐ บาท หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการควบคุมและกักพืชได้ต่อเมื่อพืชที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นศัตรูพืชตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอาจจะทำให้โรคพืชต่าง ๆ ระบาดแพร่หลายได้ในระหว่างนำพืชนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนที่จะมีการควบคุมและกักพืชไว้ ไม่บังเกิดผลสมความมุ่งหมายที่จะป้องกันโรคและศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพตามข้อตกลงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกร่วมอยู่ในอนุสัญญาระหว่างประเทศ สมควรที่จะขยายการควบคุมและกักพืชให้กว้างขวางออกไปอีกทั้งการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรไม่ว่าทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ เพื่อให้การป้องกันโรคและศัตรูพืชได้ผลสมตามเจตนา ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ และตราพระราชบัญญัติกักพืชขึ้นใหม่ใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒[๓๒] มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและควบคุมการระบาดของศัตรูพืชไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทำให้การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของศัตรูพืชไม่เหมาะสมและขาดประสิทธิภาพ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางมาตราเพื่อกำหนดให้มีคณะกรรมการกักพืชขึ้นทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมและตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกซึ่งพืชและเชื้อพันธุ์พืช การตรวจและควบคุมเชื้อพันธุ์พืช การกำหนดให้มีการจดทะเบียนสถานที่เพาะพืชเพื่อการส่งออก การออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและอำนาจในการเปรียบเทียบปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้กำหนดให้แยกค่าป่วยการของพนักงานเจ้าหน้าที่ และค่าตรวจสอบศัตรูพืชออกจากค่าธรรมเนียมทั่วไปเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในกิจการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ กับได้ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ วศิน/ผู้จัดทำ ๙ มีนาคม ๒๕๕๒ ปิติวรรณ/ปรับปรุง ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ อรญา/ตรวจ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑/ตอนที่ ๒๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ มีนาคม ๒๕๐๗ [๒] มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๓] มาตรา ๕ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๔] มาตรา ๕ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๕] มาตรา ๕ จัตวา เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๖] มาตรา ๕ เบญจ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๗] มาตรา ๕ ฉ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๘] มาตรา ๕ สัตต เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๙] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๐] มาตรา ๖ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๑] มาตรา ๖ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๒] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๓] มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๔] มาตรา ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๕] มาตรา ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๖] มาตรา ๑๕ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๗] มาตรา ๑๕ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๘] มาตรา ๑๕ จัตวา เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑๙] มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๐] มาตรา ๑๙ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๑] มาตรา ๒๐ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๒] มาตรา ๒๐ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๓] มาตรา ๒๐ จัตวา เพิ่มโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๔] มาตรา ๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๕] มาตรา ๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๖] มาตรา ๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๗] มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๘] มาตรา ๒๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๒๙] มาตรา ๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๓๐] มาตรา ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๓๑] อัตราค่าธรรมเนียม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ [๓๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๓๙ ก/หน้า ๑/๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๒
308874
พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการกักพืช พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ “พืช” หมายความว่า พันธุ์พืชทุกชนิดทั้งพืชบก พืชน้ำ และพืชประเภทอื่น รวมทั้งส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช เช่น ต้น ตา ตอ แขนง หน่อ กิ่ง ใบ ราก เหง้า หัว ดอก ผล เมล็ด เชื้อ และสปอร์ของเห็ด ไม่ว่าที่ยังทำพันธุ์ได้หรือตายแล้ว และให้หมายความรวมถึงตัวห้ำ ตัวเบียน ตัวไหม ไข่ไหม รังไหม ผึ้ง รังผึ้ง และจุลินทรีย์ด้วย “พืชควบคุม” หมายความว่า พืชที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นพืชควบคุม “เชื้อพันธุ์พืช” หมายความว่า กลุ่มเซลล์ที่มีหน่วยพันธุกรรมหลากหลาย ซึ่งถ่ายทอดได้ ที่รวมตัวกันเป็นชิ้นส่วนของพืชที่ยังมีชีวิตและขยายพันธุ์ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเมล็ด เนื้อเยื่อหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช และให้หมายความรวมถึงสารพันธุกรรม ซึ่งสามารถถ่ายทอดลักษณะที่สารพันธุกรรมนั้นควบคุมอยู่ได้ ทั้งนี้ เฉพาะที่ใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ “ดิน” หมายความว่า ดินชนิดที่มีอินทรีย์วัตถุหรือเป็นที่อาศัยของศัตรูพืชได้ “ศัตรูพืช” หมายความว่า สิ่งซึ่งที่เป็นอันตรายแก่พืช เช่น เชื้อโรคพืช แมลง สัตว์หรือพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืช “พาหะ” หมายความว่า เครื่องปลูก ดิน ทราย ภาชนะ หรือสิ่งอื่นที่ใช้ห่อหุ้มมาพร้อมกับพืช ปุ๋ยอินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นสื่อนำศัตรูพืช “สิ่งต้องห้าม” หมายความว่า พืช ศัตรูพืช และพาหะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสิ่งต้องห้าม “สิ่งกำกัด” หมายความว่า พืช ศัตรูพืช และพาหะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสิ่งกำกัด “สิ่งไม่ต้องห้าม” หมายความว่า พืชอย่างอื่นที่ไม่เป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด “เจ้าของ” หมายความรวมถึง ตัวแทนเจ้าของ ผู้ครอบครองสิ่งของและผู้ควบคุมยานพาหนะขนส่งสิ่งของนั้นด้วย “นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งให้ส่งเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ “นำผ่าน” หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักรโดยมีการขนลงหรือขนถ่ายยานพาหนะ “ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ “ด่านตรวจพืช” หมายความว่า ด่านตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เพื่อตรวจพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และเชื้อพันธุ์พืชที่นำเข้าหรือนำผ่าน “สถานกักพืช” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นที่สำหรับกักพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และเชื้อพันธุ์พืช เพื่อสังเกตตรวจสอบและวิจัย “เขตควบคุมศัตรูพืช” หมายความว่า ท้องที่ที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ให้เป็นเขตป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกักพืช “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตร “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า อธิบดีและผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้” มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕ ทวิ มาตรา ๕ ตรี มาตรา ๕ จัตวา มาตรา ๕ เบญจ มาตรา ๕ ฉ และมาตรา ๕ สัตต แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ “มาตรา ๕ ทวิ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกักพืช” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมประมงหรือผู้แทน อธิบดีกรมปศุสัตว์หรือผู้แทน อธิบดีกรมป่าไม้หรือผู้แทน อธิบดีกรมวิชาการเกษตรหรือผู้แทน อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้แทน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือผู้แทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือผู้แทน ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนกระทรวงมหาดไทยแห่งละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการกองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้กรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานวิชาการ งานธุรการ และดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการให้แก่คณะกรรมการ มาตรา ๕ ตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว มาตรา ๕ จัตวา นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๕ ตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) รัฐมนตรีให้ออก (๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ มาตรา ๕ เบญจ ในการประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๕ ฉ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) การกำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด และการกำหนดชื่อเชื้อพันธุ์พืชที่จะควบคุมและการกำหนดพืชควบคุม (๒) การกำหนดด่านตรวจพืชและสถานกักพืช (๓) การออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้ (๔) ปฏิบัติการอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ มาตรา ๕ สัตต คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ให้นำมาตรา ๕ เบญจ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม” มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖ เมื่อมีกรณีจำเป็นจะต้องป้องกันศัตรูพืชชนิดหนึ่งชนิดใดมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะชนิดใดเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี และในประกาศนั้นจะระบุกำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะ ชนิดใด จากแหล่งใด หรือจะกำหนดข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้ ในการกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันศัตรูพืชชนิดใดโดยเฉพาะมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น รัฐมนตรีจะกำหนดให้ผู้เดินทางมาจากแหล่งที่มีศัตรูพืชชนิดนั้นกำลังระบาดอยู่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่อธิบดีกำหนดไว้อีกด้วยก็ได้ สิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดดังกล่าวในวรรคหนึ่ง เมื่อหมดความจำเป็นแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพิกถอนเสีย” มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖ ทวิ และมาตรา ๖ ตรี แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ “มาตรา ๖ ทวิ เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อเชื้อพันธุ์พืชที่จะควบคุม ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกซึ่งเชื้อพันธุ์พืชที่รัฐมนตรีประกาศตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี และในการนำเข้าจะต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำกับมาด้วย การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๖ ตรี ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในแหล่งปลูกพืช สถานที่รวบรวมหรือเก็บรักษาเชื้อพันธุ์พืชที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๖ ทวิ วรรคหนึ่ง ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบและศึกษาการใช้ประโยชน์ของเชื้อพันธุ์พืช ในการนี้ให้มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริงหรือเรียกใบอนุญาตหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งปลูกพืชหรือสถานที่นั้นได้” มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือสถานที่แห่งใดอันมีเขตกำหนดเป็นด่านตรวจพืชหรือเป็นสถานกักพืชได้” มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๓ เพื่อป้องกันศัตรูพืชมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือเชื้อพันธุ์พืชที่นำเข้าหรือนำผ่านดังต่อไปนี้ (๑) รมยา พ่นยา หรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่เห็นจำเป็น โดยเจ้าของเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย (๒) ยึดหรือกักไว้ ณ สถานกักพืชหรือ ณ ที่ใด ๆ ตามกำหนดเวลาที่เห็นจำเป็น (๓) สั่งให้ผู้นำเข้าซึ่งพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือเชื้อพันธุ์พืชที่มีศัตรูพืชติดเข้ามาด้วยส่งสิ่งนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร (๔) ทำลายเท่าที่เห็นจำเป็น ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีศัตรูพืช มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือเชื้อพันธุ์พืชออกไปจากด่านตรวจพืช สถานกักพืช หรือยานพาหนะในกรณีนำผ่านราชอาณาจักร หรือจากที่ ใด ๆ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สั่งยึดหรือกักไว้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๑๕ บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชเพื่อแสดงว่าพืชหรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกนั้นปลอดศัตรูพืช ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าตรวจสอบศัตรูพืชตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดศัตรูพืชและค่าบรรจุหีบห่อเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง การขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชและการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕ ทวิ มาตรา ๑๕ ตรี และมาตรา ๑๕ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ “มาตรา ๑๕ ทวิ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้ศัตรูพืชระบาดออกไปนอกราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อพืชชนิดใดเป็นพืชควบคุมได้ บุคคลใดประสงค์จะส่งออกพืชควบคุมตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง กำกับไปด้วย มาตรา ๑๕ ตรี ในกรณีที่ใบรับรองปลอดศัตรูพืชสูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญและผู้รับใบรับรองดังกล่าวต้องการใบแทน ให้ยื่นคำขอรับใบแทนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การขอรับใบแทนใบรับรองปลอดศัตรูพืชและการออกใบแทนใบรับรองปลอดศัตรูพืชให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๕ จัตวา เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปลูกพืชเพื่อการส่งออก บุคคลใดประสงค์จะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกำจัดศัตรูพืชในโรงเรือนปลูกพืชหรือแปลงปลูกพืชเพื่อการส่งออก ให้ยื่นคำขอเพื่อขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะปลูกพืชเพื่อการส่งออกต่อกรมวิชาการเกษตร การขอขึ้นทะเบียนและการขึ้นทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด” มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๖ บุคคลใดประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ในวันหยุดราชการหรือนอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ราชการไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการ จะต้องเสียค่าป่วยการสำหรับการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานดังกล่าวตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายค่าป่วยการและค่าพาหนะเดินทางตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด” มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในกรณีที่มีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงมาก ซึ่งหากไม่รีบทำลายเสียอาจจะระบาดลุกลามทำความเสียหายได้มาก พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้เจ้าของจัดการทำลายพืช ศัตรูพืช และพาหะนั้นเสีย หรือในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะจัดการทำลายเสียเอง โดยอธิบดีจะสั่งให้เจ้าของเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการทำลายเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริงก็ได้” มาตรา ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๐ ทวิ มาตรา ๒๐ ตรี และมาตรา ๒๐ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ “มาตรา ๒๐ ทวิ เงินที่ได้จากค่าตรวจสอบศัตรูพืชตามมาตรา ๑๕ และค่าป่วยการตามมาตรา ๑๖ มิให้ถือว่าเป็นรายรับตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และให้นำไปใช้จ่ายในกิจการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้โดยเฉพาะ จะจ่ายเพื่อการอื่นมิได้ มาตรา ๒๐ ตรี ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนมาตรา ๖ ทวิ วรรคสอง มาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๒๐ จัตวา ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ ตรี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๒๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ หรือมาตรา ๑๔ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๕ ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา ๒๓ ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๓ (๑) (๒) หรือ (๔) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตาม มาตรา ๑๓ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๔ ผู้ใดขัดคำสั่งหรือขัดขวางการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๕ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ มาตรา ๒๖ บรรดาพืช ศัตรูพืช หรือพาหะภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ที่มิได้นำเข้ามาทางด่านตรวจพืชก็ดี หรือนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้ด้วยประการใด ๆ ก็ดี หรือพืช ศัตรูพืช หรือพาหะ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดเกี่ยวกับเขตควบคุมพืชตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๘ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ บรรดาสิ่งที่ศาลสั่งริบให้ตกเป็นของกรมวิชาการเกษตร เพื่อจัดการตามที่เห็นสมควร” มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๒๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ กำหนดค่าตรวจสอบศัตรูพืชและค่าป่วยการ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้” มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “อัตราค่าธรรมเนียม (๑) ใบอนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้าม ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเชื้อพันธุ์พืช ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๓) ใบรับรองปลอดศัตรูพืช ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๔) ใบแทนใบรับรองปลอดศัตรูพืช ฉบับละ ๑๐๐ บาท” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและควบคุมการระบาดของศัตรูพืชไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทำให้การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของศัตรูพืชไม่เหมาะสมและขาดประสิทธิภาพสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางมาตราเพื่อกำหนดให้มีคณะกรรมการกักพืชขึ้นทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมและตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกซึ่งพืชและเชื้อพันธุ์พืช การตรวจและควบคุมเชื้อพันธุ์พืช การกำหนดให้มีการจดทะเบียนสถานที่เพาะพืชเพื่อการส่งออก การออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและอำนาจในการเปรียบเทียบปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้กำหนดให้แยกค่าป่วยการของพนักงานเจ้าหน้าที่ และค่าตรวจสอบศัตรูพืชออกจากค่าธรรมเนียมทั่วไปเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในกิจการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ กับได้ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พรพิมล/แก้ไข ๒๙/๘/๒๕๔๔ พัชรินทร์/แก้ไข ๖ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๙ มีนาคม ๒๕๕๒ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๓๙ ก/หน้า ๑/๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๒
301233
พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ กักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นปีที่ ๑๙ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกักพืช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ “พืช” หมายความว่า พรรณพืชทุกชนิดและส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช เช่น ต้น ตอ หน่อ กิ่ง ใบ ราก หัว ดอก ลูก เมล็ด ไม่ว่าที่ยังใช้ทำพันธุ์ได้หรือตายแล้ว “ศัตรูพืช” หมายความว่า สิ่งซึ่งเป็นอันตรายแก่พืช เช่น แมลง สัตว์ หรือพืชที่อาจก่อความเสียหายแก่พืชและเชื้อโรคพืช “พาหะ” หมายความว่า เครื่องปลูก ดิน ทราย ภาชนะ หรือสิ่งอื่นที่ใช้ห่อหุ้มมาพร้อมกับพืช ปุ๋ยอินทรีย์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเป็นสื่อนำศัตรูพืช “สิ่งต้องห้าม” หมายความว่า พืช ศัตรูพืช และพาหะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา “สิ่งกำกัด” หมายความว่า พืช ศัตรูพืช และพาหะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา “สิ่งไม่ต้องห้าม” หมายความว่า พืชอย่างอื่นที่ไม่เป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด “เจ้าของ” หมายความรวมถึง ตัวแทนเจ้าของ ผู้ครอบครองสิ่งของและผู้ควบคุมยานพาหนะขนส่งสิ่งของนั้นด้วย “นำเข้า” หมายความว่า การนำเข้ามาหรือสั่งให้ส่งเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ “นำผ่าน” หมายความว่า การนำหรือส่งผ่านราชอาณาจักรโดยมีการขนลงหรือขนถ่ายยานพาหนะ “ด่านตรวจพืช” หมายความว่า ด่านสำหรับตรวจสิ่งต้องห้ามและสิ่งกำกัดที่จะนำเข้าหรือนำผ่าน ซึ่งรัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา “สถานกักพืช” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่สำหรับกักพืชและสิ่งต้องห้ามเพื่อสังเกตและวิจัย “เขตควบคุมศัตรูพืช” หมายความว่า ท้องที่ที่อธิบดีประกาศกำหนดให้เป็นเขตป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า อธิบดีและผู้ซึ่งรัฐมนตรีประกาศแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมกสิกรรม “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการปฏิบัติตามความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ มาตรา ๖ เมื่อมีกรณีจำเป็นจะต้องป้องกันศัตรูพืชอย่างหนึ่งอย่างใดมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะชนิดใดเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี และในประกาศนั้น จะระบุกำหนดชื่อพืช ศัตรูพืช หรือพาหะชนิดใดจากแหล่งใด หรือจะกำหนดข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้ สิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดดังกล่าวในวรรคหนึ่ง เมื่อหมดความจำเป็นแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพิกถอนเสีย มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือสถานที่แห่งใดอันมีเขตกำหนดเป็นด่านตรวจพืชหรือเป็นสถานที่กักพืช แล้วแต่กรณี มาตรา ๘ ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี และมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชของเจ้าหน้าที่ของประเทศที่ส่งสิ่งต้องห้ามนั้น หรือหนังสือสำคัญอย่างอื่นอันเป็นที่เชื่อถือได้สำหรับประเทศที่ไม่มีการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำกับมาด้วย และในกรณีนำเข้านี้ อธิบดีจะอนุญาตได้เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทดลองหรือการวิจัยเท่านั้น มาตรา ๙ ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งกำกัด เว้นแต่จะมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชของเจ้าหน้าที่ของประเทศซึ่งส่งสิ่งกำกัดนั้นออก หรือหนังสือสำคัญอย่างอื่นอันเป็นที่เชื่อถือได้สำหรับประเทศที่ไม่มีการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำกับมาด้วย มาตรา ๑๐ การนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัดนั้น จะต้องนำเข้าหรือ นำผ่านทางด่านตรวจพืชเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๑ ผู้ใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งไม่ต้องห้าม ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๒ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจค้นคลังสินค้า ยานพาหนะ หีบห่อ ตลอดจนตัวบุคคลภายในเขตด่านตรวจพืช หรือเขตควบคุมศัตรูพืชได้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่านำเข้าหรือนำผ่านซึ่งพืช สิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกำกัด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๓ เพื่อป้องกันศัตรูพืชมิให้ระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจปฏิบัติการกับพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัดที่นำเข้าหรือนำผ่าน ดังต่อไปนี้ (๑) รมยา พ่นยา หรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่เห็นจำเป็น โดยเจ้าของเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย (๒) ยึดหรือกักไว้ ณ สถานกักพืชหรือ ณ ที่ใด ๆ ตามกำหนดเวลาที่เห็นจำเป็น (๓) ทำลายเท่าที่เห็นจำเป็น ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีศัตรูพืช มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัดออกไปจากด่านตรวจพืช สถานกักพืช หรือยานพาหนะในกรณีนำผ่านราชอาณาจักร หรือจากที่ใดซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สั่งยึดหรือกักไว้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๑๕ บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองซึ่งแสดงว่าพืชหรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกนอกราชอาณาจักรนั้นปลอดศัตรูพืช ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ค่าใช้จ่ายในการกำจัดศัตรูพืชและค่าบรรจุหีบห่อเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง มาตรา ๑๖ บุคคลใดประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ในวันหยุดราชการหรือนอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ราชการไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง มาตรา ๑๗ เมื่อมีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงปรากฏขึ้นในท้องที่ใด หรือมีเหตุอันสมควรควบคุมศัตรูพืชในท้องที่ใด ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชและประกาศระบุชื่อ ชนิดของพืช ศัตรูพืชและพาหะที่ควบคุม และให้กำหนดสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่นขึ้นเท่าที่จำเป็น ประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการของกำนันและที่ทำการของผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้น มาตรา ๑๘ เมื่อได้ประกาศกำหนดเขตควบคุมศัตรูพืชตามมาตรา ๑๗ แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช ศัตรูพืช หรือพาหะออกไปนอกหรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืช ตามที่ประกาศระบุไว้ เว้นแต่จะได้ผ่านการตรวจและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๑๙ บทบัญญัติในมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ ให้ใช้บังคับในกรณีพืช ศัตรูพืช และพาหะตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗ ภายในเขตควบคุมพืช หรือที่จะนำออกไปนอกหรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืชโดยอนุโลม ในกรณีที่มีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงมาก ซึ่งหากไม่รีบทำลายเสียอาจระบาดลุกลามทำความเสียหายได้มาก พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้เจ้าของทำลายพืช ศัตรูพืชและพาหะนั้นเสียหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะจัดการทำลายเสียเองก็ได้ มาตรา ๒๐ เมื่ออธิบดีเห็นว่าศัตรูพืชที่ได้ประกาศตามมาตรา ๑๗ ถูกทำลายหมดสิ้นแล้ว หรือเห็นว่าหมดความจำเป็นแล้ว ให้อธิบดีประกาศเพิกถอนประกาศตามมาตรา ๑๗ นั้นเสีย มาตรา ๒๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท มาตรา ๒๓ ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๔ ผู้ใดขัดคำสั่งหรือขัดขวางการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๕ การกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ มาตรา ๒๖ บรรดาพืช ศัตรูพืชหรือพาหะภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ที่มิได้นำเข้ามาทางด่านตรวจพืชก็ดี หรือนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้ด้วยประการใด ๆ ก็ดี หรือพืช ศัตรูพืชหรือพาหะ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดเกี่ยวกับเขตควบคุมศัตรูพืชตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๘ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ มาตรา ๒๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี อัตราค่าธรรมเนียม รายการ บาท ๑. ใบอนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม ฉบับละ ๒. ใบรับรองแสดงการปลอดศัตรูพืช ฉบับละ ๓. ค่าป่วยการของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ หรือนอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ราชการ ให้จ่ายแก่พนักงาน เจ้าหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (ก) ตั้งแต่เวลา ๖ ถึง ๑๘ นาฬิกา (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่ำกว่าประจำแผนก หรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทาง ให้คิดคนละ ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ (๒) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งตั้งแต่ประจำแผนกขึ้นไป หรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทาง ให้คิดคนละ ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ (ข) ตั้งแต่เวลา ๑๘ ถึง ๖ นาฬิกา (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่ำกว่าประจำแผนก หรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทาง ให้คิดคนละ ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ (๒) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งตั้งแต่ประจำแผนกขึ้นไป หรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทาง ให้คิดคนละ ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ ๒๕ ๕๐ ๓๐ ๑๐ ๖๐ ๒๐ ๔๐ ๒๐ ๘๐ ๔๐ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการควบคุมและกักพืชได้ต่อเมื่อพืชที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นศัตรูพืชตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอาจจะทำให้โรคพืชต่าง ๆ ระบาดแพร่หลายได้ในระหว่างนำพืชนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนที่จะมีการควบคุมและกักพืชไว้ ไม่บังเกิดผลสมความมุ่งหมายที่จะป้องกันโรคและศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพตามข้อตกลงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกร่วมอยู่ในอนุสัญญาระหว่างประเทศสมควรที่จะขยายการควบคุมและกักพืชให้กว้างขวางออกไปอีกทั้งการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรไม่ว่าทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ เพื่อให้การป้องกันโรคและศัตรูพืชได้ผลสมตามเจตนา ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ และตราพระราชบัญญัติกักพืชขึ้นใหม่ใช้บังคับแทน พรพิมล/แก้ไข ๒๙/๘/๒๕๔๔ พัชรินทร์/แก้ไข ๕ มกราคม ๒๕๔๘ วศิน/แก้ไข ๙ มีนาคม ๒๕๕๒ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑/ตอนที่ ๒๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ มีนาคม ๒๕๐๗
729971
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การนำเข้าซึ่งสิ่งต้องห้าม ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนด ดังต่อไปนี้ (๑) นำเข้าทางด่านตรวจพืชต่อไปนี้ ก. ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพฯ ข. ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ค. ด่านตรวจพืชไปรษณีย์กลางกรุงเทพฯ (๒) ที่หีบห่อสิ่งต้องห้ามต้องมีบัตรอนุญาตให้นำเข้าของอธิบดีกรมกสิกรรม (๓) ต้องส่งสิ่งต้องห้ามโดยตรงถึงอธิบดีกรมกสิกรรม ถ้าเจ้าของนำสิ่งต้องห้ามเข้ามาด้วยตนเองให้ส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืช ข้อ ๒ การนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสิ่งต้องห้าม ให้ติดบัตรอนุญาตให้นำผ่านของอธิบดีกรมกสิกรรมที่หีบห่อสิ่งต้องห้าม ข้อ ๓ การนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสิ่งกำกัด เมื่อมาถึงด่านตรวจพืช ให้เจ้าของแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืชแห่งนั้นตามแบบใบแจ้งของกรมกสิกรรม ข้อ ๔ การนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสิ่งไม่ต้องห้าม ให้เจ้าของแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืช หรือด่านศุลกากร ตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๕[๒] (ยกเลิก) ข้อ ๖[๓] (ยกเลิก) ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ พลเอก สุรจิต จารุเศรนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. ใบแจ้งการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสิ่งไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ๒. อัตราค่าธรรมเนียม (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ กำหนดให้ผู้นำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งกำกัด ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในกฎกระทรวง และให้ผู้นำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งไม่ต้องห้ามแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงต้องออกกฎกระทรวงนี้ เพื่อให้การเป็นตามมาตราดังกล่าว กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗[๔] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๗) และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ไม่เหมาะสมกับภาวการณ์ในปัจจุบัน สมควรกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ และกำหนดการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวรวมไปถึงราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่นด้วย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ จุฑามาศ/ผู้จัดทำ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑/ตอนที่ ๕๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑๙ มิถุนายน ๒๕๐๗ [๒] ข้อ ๕ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ [๓] ข้อ ๖ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๑๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓/๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖
729973
กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองเพื่อแสดงว่าพืชหรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกนอกราชอาณาจักรนั้นปลอดศัตรูพืช ให้ยื่นคำขอใบรับรองแสดงการปลอดศัตรูพืชตามแบบของกรมกสิกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืช หรือที่แผนกตรวจและกักกันโรคพืช กองพืชพันธุ์ กรมกสิกรรม ข้อ ๒ ให้เจ้าของปฏิบัติการแก่พืชหรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกนอกราชอาณาจักรตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น (๑) รมยา พ่นยา หรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่เห็นจำเป็นในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช (๒) บรรจุในหีบห่อหรือใช้สิ่งห่อหุ้มที่เหมาะสม ข้อ ๓[๒] (ยกเลิก) ข้อ ๔[๓] (ยกเลิก) ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ พลเอก สุรจิต จารุเศรนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. อัตราค่าธรรมเนียม (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ กำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอใบรับรองแสดงการปลอดศัตรูพืชต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงต้องประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ เพื่อให้การเป็นไปตามมาตราดังกล่าว กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗[๔] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๗) และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ไม่เหมาะสมกับภาวการณ์ในปัจจุบัน สมควรกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ และกำหนดการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวรวมไปถึงราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่นด้วย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ จุฑามาศ/ผู้จัดทำ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑/ตอนที่ ๕๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๙/๑๙ มิถุนายน ๒๕๐๗ [๒] ข้อ ๓ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ [๓] ข้อ ๔ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๑๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓/๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖
634783
กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการ พ.ศ. 2553
กฎกระทรวง กฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการ พ.ศ. ๒๕๕๓[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ข้อ ๒ ให้กำหนดค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้ (๑) ใบอนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้าม ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเชื้อพันธุ์พืช ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๓) ใบรับรองสุขอนามัยพืช ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๔) ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๕) ใบรับรองสุขอนามัย ฉบับละ ๕๐ บาท (๖) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัยพืช ฉบับละ ๕๐ บาท (๗) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ฉบับละ ๕๐ บาท (๘) ใบแทนใบรับรองสุขอนามัย ฉบับละ ๕๐ บาท ข้อ ๓ ให้กำหนดค่าป่วยการของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ นอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ราชการ ดังต่อไปนี้ (๑) วันหยุดราชการ ในสถานที่ราชการ ชั่วโมงแรกให้คิดคนละ ๑๒๐ บาท ชั่วโมงต่อไปให้คิดคนละ ๔๐ บาท (๒) วันหยุดราชการ นอกสถานที่ราชการ ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทาง ให้คิดคนละ ๑๕๐ บาท ชั่วโมงต่อไปให้คิดคนละ ๕๐ บาท (๓) นอกเวลาราชการ ในสถานที่ราชการ ชั่วโมงแรกให้คิดคนละ ๑๒๐ บาท ชั่วโมงต่อไปให้คิดคนละ ๔๐ บาท (๔) นอกเวลาราชการ นอกสถานที่ราชการ ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทาง ให้คิดคนละ ๑๕๐ บาท ชั่วโมงต่อไปให้คิดคนละ ๕๐ บาท (๕) นอกสถานที่ราชการ ในเวลาราชการ ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทาง ให้คิดคนละ ๑๒๐ บาท ชั่วโมงต่อไปให้คิดคนละ ๔๐ บาท ข้อ ๔ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามข้อ ๒ แก่พระมหากษัตริย์ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และสภากาชาดไทย ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้ามและใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเชื้อพันธุ์พืชและได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบรับรองสุขอนามัยพืช ใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ใบรับรองสุขอนามัย และใบแทนใบรับรองขึ้นใหม่ ประกอบกับมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัติ รวมทั้งกำหนดค่าป่วยการ และยกเว้นค่าธรรมเนียม ดังนั้น เพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับอัตราค่าธรรมเนียมที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓ นันท์นภัสร์/ตรวจ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓ พิมลกร/ปรับปรุง ๒๕ กันยายน ๒๕๕๖ พลัฐวัษ/ตรวจ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๖ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗/ตอนที่ ๕๓ ก/หน้า ๒๔/๓ กันยายน ๒๕๕๓
560824
กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอและการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช พ.ศ. 2550
กฎกระทรวง กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอและการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช พ.ศ. ๒๕๕๐[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ วรรคสอง และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ข้อ ๒ บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชให้ยื่นคำขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและ ณ สถานที่ที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีทำการตรวจพืชหรือผลิตผลของพืชในสถานที่ทำการ ให้ยื่นคำขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชก่อนเวลาส่งออกไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง (๒) กรณีทำการตรวจพืชหรือผลิตผลของพืชนอกสถานที่ทำการ ให้ยื่นคำขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชก่อนวันทำการตรวจพืชหรือผลิตผลของพืชไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน ข้อ ๓ ผู้ขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชต้องจัดเตรียมพืช หรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดเตรียมพืชหรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกให้สะอาดและถูกสุขอนามัย (๒) แสดงบัญชีรายชื่อพืชหรือผลิตผลของพืชในแต่ละหีบห่อตามแบบบัญชีรายชื่อพืช หรือผลิตผลของพืชที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๓) บรรจุพืชหรือผลิตผลของพืชในหีบห่อหรือภาชนะที่แข็งแรงและเหมาะสม (๔) ไม่บรรจุสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากพืชหรือผลิตผลของพืชตามที่ได้แจ้งไว้ในคำขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชและในบัญชีรายชื่อพืชหรือผลิตผลของพืช ข้อ ๔ การตรวจพืชหรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และการกำจัดศัตรูพืชให้กระทำ ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีตรวจไม่พบศัตรูพืช ไม่ต้องกำจัดศัตรูพืชหรือดำเนินการใด ๆ เว้นแต่จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการกักพืชของประเทศปลายทางกำหนดไว้ (๒) กรณีตรวจพบศัตรูพืช หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีศัตรูพืช พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีรมยา พ่นยา จุ่มยา คลุกยา หรือวิธีการอื่นใด โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือในกรณีผู้ขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชร้องขอและพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถกระทำได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการกำจัดศัตรูพืช โดยผู้ขอใบรับรองปลอดศัตรูพืช เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการกำจัดศัตรูพืชและค่าบรรจุหีบห่อเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง ข้อ ๕ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจพืช หรือผลิตผลของพืช หรือกำจัดศัตรูพืชเสร็จสิ้นแล้ว ให้ผู้ขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชหรือเจ้าของนำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการส่งออกพืชหรือผลิตผลของพืชนั้น มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อประกอบการขอใบรับรองปลอดศัตรูพืช และให้อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายตรวจพิจารณาเอกสารหลักฐานดังกล่าว หากเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการส่งออกได้ระบุวันส่งออกพืช หรือผลิตผลของพืชนั้น ภายในสิบสี่วันหลังจากการตรวจพืช หรือกำจัดศัตรูพืชเสร็จสิ้นแล้ว ให้ออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ การปฏิเสธการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๖ คำขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชที่ได้ยื่นหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการไว้แล้วตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ก่อนหรือในวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคำขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชที่ยื่น หรือดำเนินการตามกฎกระทรวงนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และเนื่องจากมาตรา ๑๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้การขอและการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ วัชศักดิ์/ผู้จัดทำ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๐ พิมลกร/ปรับปรุง ๒๕ กันยายน ๒๕๕๖ พลัฐวัษ/ตรวจ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๖ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๓๙ ก/หน้า ๑๔/๓ สิงหาคม ๒๕๕๐
409342
กฎกระทรวง กำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยกักพืช พ.ศ. 2546
กฎกระทรวง กฎกระทรวง กำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยกักพืช พ.ศ. ๒๕๔๖[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ข้อ ๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ออกบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๐ ขึ้นไป ข้อ ๓ ให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ออกบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๙ ลงมา ข้อ ๔ บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ ดังนี้ (๑) บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการในสังกัดกรมวิชาการเกษตร ให้เป็นไปตามแบบที่ ๑ (๒) บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการในสังกัดส่วนราชการอื่น ให้เป็นไปตามแบบที่ ๒ ข้อ ๕ รูปถ่ายที่ติดบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ใช้รูปถ่ายที่ถ่ายไม่เกินหกเดือนก่อนวันยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ขนาด ๒.๕×๓ เซนติเมตร แต่งเครื่องแบบปกติขาวหรือเครื่องแบบปฏิบัติราชการ ครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตา ข้อ ๖ บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้ได้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันออกบัตร ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ สรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [เอกสารแนบท้าย] ๑. แบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ (สังกัดกรมวิชาการเกษตร) ท้ายกฎกระทรวงกำหนดบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยกักพืช พ.ศ. ๒๕๔๖ ๒. แบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ (สังกัดส่วนราชการอื่น) ท้ายกฎกระทรวงกำหนดบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยกักพืช พ.ศ. ๒๕๔๖ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีขนาดใหญ่และรูปแบบไม่เหมาะสม สมควรกำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๘ พิมกลร/ปรับปรุง ๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ พลัฐวัษ/ตรวจ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๗๕ ก/หน้า ๕/๘ สิงหาคม ๒๕๔๖
323090
กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิก ๑. ข้อ ๕ และข้อ ๖ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ๒. ข้อ ๓ และข้อ ๔ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ข้อ ๒ ให้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ดังนี้ ๑. ใบอนุญาตนำเข้าซึ่งสิ่งต้องห้าม ฉบับละ ๒๕ บาท ใบอนุญาตนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม ฉบับละ ๒๕ บาท ๒. ใบรับรองแสดงการปลอดศัตรูพืช ฉบับละ ๕๐ บาท ๓. ค่าป่วยการของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ หรือนอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ราชการ ให้จ่ายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (ก) ตั้งแต่เวลา ๖.๐๐ น. ถึง ๑๘.๐๐ น. (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่ำกว่าประจำแผนก หรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทางให้คิดคนละ ๓๐ บาท ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ ๑๐ บาท (๒) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งตั้งแต่ประจำแผนกขึ้นไป หรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทางให้คิดคนละ ๖๐ บาท ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ ๒๐ บาท (ข) ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น. ถึง ๖.๐๐ น. (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่ำกว่าประจำแผนก หรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทางให้คิดคนละ ๔๐ บาท ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ ๒๐ บาท (๒) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งตั้งแต่ประจำแผนกขึ้นไป หรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทางให้คิดคนละ ๘๐ บาท ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ ๔๐ บาท ข้อ ๓ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามข้อ ๓ แก่พระมหากษัตริย์ กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และสภากาชาดไทย ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๗) และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ไม่เหมาะสมกับภาวการณ์ในปัจจุบัน สมควรกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ และกำหนดการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวรวมไปถึงราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่นด้วย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พิมลกร/ผู้จัดทำ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๖ พลัฐวัษ/ตรวจ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๖ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๑๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓/๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖
301236
กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองเพื่อแสดงว่าพืชหรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกนอกราชอาณาจักรนั้นปลอดศัตรูพืช ให้ยื่นคำขอใบรับรองแสดงการปลอดศัตรูพืชตามแบบของกรมกสิกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืช หรือที่แผนกตรวจและกักกันโรคพืช กองพืชพันธุ์ กรมกสิกรรม ข้อ ๒ ให้เจ้าของปฏิบัติการแก่พืชหรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกนอกราชอาณาจักรตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น (๑) รมยา พ่นยา หรือใช้วิธีการอื่นใดตามที่เห็นจำเป็นในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช (๒) บรรจุในหีบห่อหรือใช้สิ่งห่อหุ้มที่เหมาะสม ข้อ ๓ ให้กำหนดค่าธรรมเนียมตามอัตราค่าธรรมเนียมท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๔ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามข้อ ๓ แก่พระมหากษัตริย์ กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล และสภากาชาดไทย ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ พลเอก สุรจิต จารุเศรนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร อัตราค่าธรรมเนียม รายการ บาท ๑. ใบรับรองแสดงการปลอดศัตรูพืช ฉบับละ ๒๐ ๒. ค่าป่วยการของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกใบรับรองแสดงการปลอดศัตรูพืชในวันหยุดราชการ หรือนอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ราชการ ให้จ่ายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (ก) ตั้งแต่เวลา ๖ ถึง ๑๘ นาฬิกา (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่ำกว่าประจำแผนกหรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทาง ให้คิดคนละ ๒๕ ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ ๑๐ (๒) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งตั้งแต่ประจำแผนกขึ้นไปหรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทาง ให้คิดคนละ ๕๐ ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ ๒๐ (ข) ตั้งแต่เวลา ๑๘ ถึง ๖ นาฬิกา (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่ำกว่าประจำแผนกหรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทาง ให้คิดคนละ ๔๐ ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ ๒๐ (๒) พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งตั้งแต่ประจำแผนกขึ้นไปหรือเทียบเท่า ชั่วโมงแรกรวมทั้งเวลาเดินทาง ให้คิดคนละ ๖๐ ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ ๔๐ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ กำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอใบรับรองแสดงการปลอดศัตรูพืชต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงต้องประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ เพื่อให้การเป็นไปตามมาตราดังกล่าว สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๘ พิมลกร/ปรับปรุง ๒๓ กันยายน ๒๕๕๖ พลัฐวัษ/ตรวจ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๖ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑/ตอนที่ ๕๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๙/๑๙ มิถุนายน ๒๕๐๗
318482
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การนำเข้าซึ่งสิ่งต้องห้าม ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนด ดังต่อไปนี้ (๑) นำเข้าทางด่านตรวจพืชต่อไปนี้ ก. ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพฯ ข. ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ค. ด่านตรวจพืชไปรษณีย์กลางกรุงเทพฯ (๒) ที่หีบห่อสิ่งต้องห้ามต้องมีบัตรอนุญาตให้นำเข้าของอธิบดีกรมกสิกรรม (๓) ต้องส่งสิ่งต้องห้ามโดยตรงถึงอธิบดีกรมกสิกรรม ถ้าเจ้าของนำสิ่งต้องห้ามเข้ามาด้วยตนเองให้ส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืช ข้อ ๒ การนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสิ่งต้องห้าม ให้ติดบัตรอนุญาตให้นำผ่านของอธิบดีกรมกสิกรรมที่หีบห่อสิ่งต้องห้าม ข้อ ๓ การนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสิ่งกำกัด เมื่อมาถึงด่านตรวจพืช ให้เจ้าของแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืชแห่งนั้นตามแบบใบแจ้งของกรมกสิกรรม ข้อ ๔ การนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสิ่งไม่ต้องห้าม ให้เจ้าของแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืช หรือด่านศุลกากร ตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๕ ให้กำหนดค่าธรรมเนียมตามอัตราค่าธรรมเนียมท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๖ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามข้อ ๕ แก่พระมหากษัตริย์ กระทรวง ทบวง กรม เทศบาลและ สภากาชาดไทย ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ พลเอก สุรจิต จารุเศรนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. ใบแจ้งการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสิ่งไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ๒. อัตราค่าธรรมเนียม (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ กำหนดให้ผู้นำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งกำกัด ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในกฎกระทรวง และให้ผู้นำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งไม่ต้องห้ามแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงต้องออกกฎกระทรวงนี้ เพื่อให้การเป็นตามมาตราดังกล่าว สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๘ พิมลกร/ปรับปรุง ๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ พลัฐวัษ/ตรวจ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑/ตอนที่ ๕๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑๙ มิถุนายน ๒๕๐๗
301235
กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติกักพืช (พ.ศ. ๒๕๐๗)[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๒ รูปถ่ายที่จะปิดบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นรูปถ่ายครึ่งตัว หน้าเต็ม ท่าปกติ ไม่สวมหมวก ขนาด ๔.๕ x ๖ เซนติเมตร ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ พลเอก สุรจิต จารุเศรนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงต้องออกกฎกระทรวงนี้เพื่อกำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ขึ้นไว้ สุกัญญา/ผู้จัดทำ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๘ พิมลกร/ปรับปรุง ๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ พลัฐวัษ/ตรวจ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ จุฑามาศ/ปรับปรุง ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑/ตอนที่ ๕๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๙ มิถุนายน ๒๕๐๗
728535
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การรับรองพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม พ.ศ. 2544 (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การรับรองพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม พ.ศ. ๒๕๔๔[๑] ด้วยในปัจจุบันการส่งออกสินค้าพืชสู่ตลาดต่างประเทศกำลังประสบปัญหา เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญบางประเทศได้นำเรื่องพืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม กำหนดเป็นเงื่อนไขการนำเข้า ดังเช่นตลาดในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ผู้ส่งออกไม่สามารถส่งสินค้าพืชไปจำหน่ายได้ หากไม่ได้มีการรับรองว่าสินค้าพืชนั้นมิใช่พืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าพืชของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการส่งออกสินค้าพืชและเพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออกตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดทั้งเป็นการให้บริการแก่ภาคเอกชนผู้ส่งออก รวมถึงบุคคลทั่วไป กรมวิชาการเกษตร จึงออกประกาศ เรื่อง การรับรองพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรมไว้ดังนี้ ข้อ ๑ ผู้ใดประสงค์จะให้กรมวิชาการเกษตร รับรองว่าพืชหรือสินค้าพืชนั้นมิใช่พืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม ให้ยื่นคำขอตามแบบ สทช. ๑-๑ ท้ายประกาศ พร้อมแจ้งชื่อบริษัทฯ หรือหน่วยงานที่กรมวิชาการเกษตรประกาศรายชื่อเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าพืช ณ สำนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ข้อ ๒ ให้ บริษัท หรือหน่วยงานที่กรมวิชาการเกษตรประกาศรายชื่อเป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าพืช ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าพืชโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร ตามมาตรฐานสากลที่กำหนด ดังนี้ ๒.๑ สินค้าพืชลักษณะเป็นเมล็ดพันธุ์ (Seed) สุ่มเก็บตัวอย่างโดยใช้มาตรฐานสากล ISTA ๒.๒ สินค้าพืชลักษณะเป็นเมล็ด (Grain) สุ่มเก็บตัวอย่างโดยใช้มาตรฐานสากล Gafta หรือ ISO R 950 ๒.๓ สินค้าพืชลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์ (Product) คงรูปในรูปแบบต่าง ๆ สุ่มเก็บตัวอย่างโดยใช้มาตรฐานสากล FAO/WHO Codex ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้นำมาปรับใช้เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในการสุ่มตัวอย่าง มอก. ๔๖๕-๒๐๒๗ ทั้งนี้ จะใช้วิธีการสุ่มเก็บตัวอย่างมาตรฐาน Codex โดยวิธีปลีกย่อยใด กรมวิชาการเกษตรจะพิจารณาจากแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ข้อ ๓ บริษัท หรือหน่วยงานผู้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าพืช ต้องออกหนังสือรับรองการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าพืช ตามแบบ สทช. ๑-๒ ท้ายประกาศ ข้อ ๔ ตัวอย่างสินค้าพืชให้แบ่งเป็น ๓ ส่วน โดยให้จัดการแต่ละส่วน ดังนี้ ส่วนที่ ๑ เก็บไว้ที่ผู้ประกอบการ ส่วนที่ ๒ ใช้ตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ส่วนที่ ๓ เก็บไว้ที่ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้วิเคราะห์ซ้ำในกรณีเกิดปัญหาเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์ ข้อ ๕ การตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ไม่เกิน ๑๕ วันทำการ นับจากวันที่ห้องปฏิบัติการได้รับตัวอย่างพืชหรือสินค้าพืช นั้น ข้อ ๖ กรมวิชาการเกษตรจะออกหนังสือรับรองพืชหรือสินค้าพืช ตามแบบหนังสือรับรองท้ายประกาศ โดยจะรับรองให้เฉพาะกรณีว่าเป็นพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม เท่านั้น ข้อ ๗ ตัวอย่างสินค้าพืชส่วนที่ ๓ ผู้ประกอบการสามารถจะขอรับคืนได้โดยแสดงความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่พร้อมกับรับรองเป็นเอกสารว่า ประเทศคู่ค้าปลายทางได้ยอมรับสินค้าพืชนั้นไว้โดยไม่มีปัญหา กรณีที่ผู้ประกอบการไม่ขอรับคืนหรือขอรับคืนแล้วไม่มารับคืนซึ่งตัวอย่างสินค้าส่วนที่ ๓ ภายในเวลา ๖ เดือน นับจากวันที่ออกหนังสือรับรอง ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการกับตัวอย่างสินค้าดังกล่าว ตามที่เห็นสมควร ข้อ ๘ ค่าตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ของพืชหรือตัวอย่างพืช ผู้ยื่นคำขอเป็นผู้รับผิดชอบตามอัตราที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ข้อ ๙ ค่าพาหนะและค่าล่วงเวลาในการกำกับดูแลการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าพืชของเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร ผู้ยื่นคำขอเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ตามอัตราที่ระเบียบของทางราชการกำหนด ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ อนันต์ ดาโลดม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เอกสารแนบท้าย ๑.[๒] คำขอหนังสือรับรองพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (แบบ สทช. ๑-๑) ๒. หนังสือรับรองการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าพืช (แบบ สทช. ๑-๒) ๓.[๓] หนังสือรับรองพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (Certificate for non-genetically modified organism) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การรับรองพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘[๔] ปุณิกา/ผู้จัดทำ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ วิชพงษ์/ผู้ตรวจ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘/ตอนพิเศษ ๔๑ ง/หน้า ๑๔/๓ พฤษภาคม ๒๕๔๔ [๒] คำขอหนังสือรับรองพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (แบบ สทช. ๑-๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การรับรองพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๓] หนังสือรับรองพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (Certificate for non-genetically modified organism) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การรับรองพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๔๔ ง/หน้า ๕๘/๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘
738932
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้ายาสูบจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล พ.ศ. 2556 (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้ายาสูบจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล พ.ศ. ๒๕๕๖ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของยาสูบนำเข้าเพื่อการค้าจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้ายาสูบจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้ายาสูบจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล พ.ศ. ๒๕๕๖” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืช ยาสูบ (tobacco, Nicotiana tabacum) ตามประกาศนี้ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ยาสูบ (tobacco seed) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับยาสูบจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล คือ Departamento de Sanidade Vegetal (Plant Health Department) ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “DSV” ข้อ ๖ การขออนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ ข้อกำหนดสำหรับการนำเข้า ๗.๑ ต้องมาจากต้นยาสูบในแปลงปลูกซึ่งผ่านการตรวจสอบในช่วงระหว่างการเจริญเติบโต โดยมีการเก็บตัวอย่างพืชเพื่อตรวจสอบยืนยันในห้องปฏิบัติการว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ หรือต้องได้รับการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๗.๒ ต้องกำจัดศัตรูพืชด้วยกรรมวิธีดังต่อไปนี้ ๗.๒.๑ แช่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ ๕๒ องศาเซลเซียส นาน ๓๐ นาที หรือแช่ในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite) ที่ความเข้มข้นร้อยละ ๑ นาน ๑๐ นาที และ ๗.๒.๒[๒] ต้องคลุกด้วยสารกำจัดโรคพืช ได้แก่ ไทแรม (thiram) อัตรา ๐.๒ เปอร์เซ็นต์ (สารออกฤทธิ์) หรือสารอื่นที่ทดแทนหรือเทียบเท่า โดยได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรก่อน ๗.๓ ต้องไม่มีการปะปนของ ดิน ทราย แมลงมีชีวิตและชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ ก้าน เศษซากพืช วัชพืช หรือเมล็ดพืชอื่น เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๗.๔ ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานราชการหรือเอกชนว่าเมล็ดพันธุ์ยาสูบ ที่อนุญาตนำเข้ามิใช่พืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม ๗.๕ ต้องระบุพันธุ์และสายพันธุ์ลงบนบรรจุภัณฑ์และใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๘ การรับรองสุขอนามัยพืช ๘.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย - DSV กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทย ๘.๒ ใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “Tobacco seeds were derived from the plants those were inspected during growing season and verified by laboratory test that are found free from Ascochyta gossypii, Colletotrichum tabacum, Fusarium oxysporum f.sp. batatas, Peronospora yoscyami f.sp. tabacina, Verticillium albo - atrum, Pseudomonas cichorii, Pseudomonas syringae pv. tabaci, Alfalfa mosaic virus, Pelargonium zonate spot virus, Raspberry ringspot virus, Tobacco rattle virus, Tobacco ringspot virus, Tobacco streak virus, Tomato black ring virus, Tomato ringspot virus, Chrysanthemum stunt viroid and Potato spindle tuber viroid” หรือ “Tobacco seeds were laboratory tested and found free from Ascochyta gossypii, Colletotrichum tabacum, Fusarium oxysporum f.sp. batatas, Peronospora hyoscyami f.sp. tabacina, Verticillium albo - atrum, Pseudomonas cichorii, Pseudomonas syringae pv. tabaci, Alfalfa mosaic virus, Pelargonium zonate spot virus, Raspberry ringspot virus, Tobacco rattle virus, Tobacco ringspot virus, Tobacco streak virus, Tomato black ring virus, Tomato ringspot virus, Chrysanthemum stunt viroid and Potato spindle tuber viroid” ๘.๓ ต้องระบุรายละเอียดการกำจัดศัตรูพืชลงบนใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๙ การตรวจนำเข้า ๙.๑ เมื่อเมล็ดพันธุ์ยาสูบถูกขนส่งมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าเมล็ดพันธุ์ยาสูบจะดำเนินการหลังจากได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมด ที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๙.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ยาสูบและตรวจสอบ ในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชกักกันติดมากับเมล็ดพันธุ์ยาสูบหรือไม่ และต้องกักเมล็ดพันธุ์ยาสูบ ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๙.๓ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ในระหว่างการตรวจนำเข้า เมล็ดพันธุ์ยาสูบทั้งหมดจะถูกส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๙.๔ ถ้าตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย เมล็ดพันธุ์ยาสูบทั้งหมดจะถูกส่งกลับ ทำลาย หรือกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตร มีสิทธิระงับการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ยาสูบเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของยาสูบจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้ายาสูบจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล พ.ศ. .... (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้ายาสูบจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘[๓] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๗ อุษมล/ผู้ตรวจ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ วิศนี/เพิ่มเติม ปัญญา/ตรวจ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๕ ง/หน้า ๓๑/๑๐ มกราคม ๒๕๕๗ [๒] ข้อ ๗.๒.๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้ายาสูบจากสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๒๔๖ ง/หน้า ๓/๘ ตุลาคม ๒๕๕๘
829158
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์มะละกอจากไต้หวัน พ.ศ. 2562
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์มะละกอจากไต้หวัน พ.ศ. ๒๕๖๒ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์มะละกอนำเข้าเพื่อการค้าจากไต้หวัน เสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์มะละกอเพื่อการค้าจากไต้หวัน ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์มะละกอจากไต้หวัน พ.ศ. ๒๕๖๒” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต เมล็ดพันธุ์มะละกอ (papaya, Carica papaya L.) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง Tobacco ringspot virus (TRSV) ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ ไต้หวัน คือ Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine (BAPHIQ) ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของไต้หวัน ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งเมล็ดพันธุ์มะละกอมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในไต้หวัน ไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ ข้อกำหนดสำหรับการนำเข้า ๘.๑ เมล็ดพันธุ์มะละกอที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยต้องมิใช่พืชที่ได้รับการดัดแปลงสารพันธุกรรม ๘.๒ เมล็ดพันธุ์มะละกอต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นทางการในห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Reverse transcription polymerase chain reaction (RT - PCR) หรือ Enzyme - linked immunosorbent assay (ELISA) หรือเทคนิคอื่นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่าปราศจากเชื้อ Tobacco ringspot virus ก่อนการส่งออก ๘.๓ ต้องบรรจุเมล็ดพันธุ์มะละกอในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด ใหม่ ต้องระบุชื่อพฤกษศาสตร์ และชื่อพันธุ์ หรือสายพันธุ์ของมะละกอให้ชัดเจน และปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย เมล็ดวัชพืช เมล็ดพืชปลอมปน ส่วนของพืชอื่น ๆ ได้แก่ ใบ ส่วนของลำต้น เนื้อผล ส่วนของผลที่ห่อหุ้มเมล็ด ส่วนของสัตว์ ได้แก่ มูลสัตว์ และขนสัตว์ ข้อ ๙ การรับรองสุขอนามัยพืช ๙.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “Papaya seeds were official tested in laboratory by (specify the technique) and found free from Tobacco ringspot virus.” ๙.๒ ต้องระบุชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อพันธุ์หรือสายพันธุ์ของมะละกอให้ชัดเจนลงในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๐ การตรวจนำเข้า ๑๐.๑ เมื่อเมล็ดพันธุ์มะละกอมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๐.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์มะละกอและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิด และต้องกักเมล็ดพันธุ์ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๐.๓ ในกรณีตรวจพบ Tobacco ringspot virus ระหว่างการตรวจนำเข้าเมล็ดพันธุ์มะละกอ ต้องส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๐.๔ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ข้อ ๑๑ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๑.๑ การส่งออกเมล็ดพันธุ์มะละกอจากไต้หวัน ไปยังราชอาณาจักรไทยจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกแล้วเท่านั้น โดยไต้หวันต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๑.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่าการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกมีความจำเป็น กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในไต้หวัน ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยไต้หวัน ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พัชรภรณ์/ธนบดี/จัดทำ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๓ สุภาทิพย์/ตรวจ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนพิเศษ ๖๐ ง/หน้า ๒๑/๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒
819161
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กาหนดเขตควบคุมศัตรูพืช (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมศัตรูพืช (เพิ่มเติม) พ.ศ. ๒๕๖๑ ด้วยมีการพบต้นมันสำปะหลังที่มีอาการใบด่างคล้ายโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อ Sri Lankan Cassava Mosaic Virus (SLCMV) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อผลผลิตของเกษตรกร ผู้ปลูกมันสำปะหลัง และอาจทำให้เกิดการขาดแคลนมันสำปะหลังในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการควบคุมและไม่ให้เกิดการระบาดของศัตรูพืช อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงออกประกาศเขตควบคุมศัตรูพืช (เพิ่มเติม) ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมศัตรูพืช (เพิ่มเติม) พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ท้องที่หมู่ที่ ๑๐ ตำบลศรีมหาโพธิ อำภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเขตควบคุมศัตรูพืช ข้อ ๔ ชนิดศัตรูพืชที่ควบคุม ตามประกาศนี้ ได้แก่ อาการใบด่างคล้ายโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อ Sri Lankan Cassava Mosaic Virus (SLCMV) ข้อ ๕ ชนิดพืชหรือพาหะที่ควบคุม ตามประกาศนี้ ได้แก่ ทุกส่วนของมันสำปะหลัง ยกเว้น (๑) มันเส้น (tapioca chip) (๒) มันป่น (tapioca meal) (๓) มันอัดเม็ด (tapioca pellet) (๔) หัวมันสดที่ไม่ติดเหง้า (tapioca root without crown) ข้อ ๖ ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปราจีนบุรี เป็นสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พัชรภรณ์/ธนบดี/จัดทำ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๘๑ ง/หน้า ๖/๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
817280
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมศัตรูพืช พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมศัตรูพืช พ.ศ. ๒๕๖๑ ด้วยมีการพบต้นมันสำปะหลังที่มีอาการใบด่างคล้ายโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อ Sri Lankan Cassava Mosaic Virus (SLCMV) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และอาจทำให้เกิดการขาดแคลนมันสำปะหลังในประเทศไทยส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการควบคุมและไม่ให้เกิดการระบาดของศัตรูพืช อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงออกประกาศเขตควบคุมศัตรูพืชไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมศัตรูพืช พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิก ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมศัตรูพืช ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ และประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมศัตรูพืช พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ข้อ ๔ ให้ท้องที่หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๖ ตำบลกรอกสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเขตควบคุมศัตรูพืช ข้อ ๕ ชนิดศัตรูพืชที่ควบคุม ตามประกาศนี้ ได้แก่ อาการใบด่างคล้ายโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อ Sri Lankan Cassava Mosaic Virus (SLCMV) ข้อ ๖ ชนิดพืชหรือพาหะที่ควบคุม ตามประกาศนี้ ได้แก่ ทุกส่วนของมันสำปะหลัง ยกเว้น (๑) มันเส้น (tapioca chip) (๒) มันป่น (tapioca meal) (๓) มันอัดเม็ด (tapioca pellet) (๔) หัวมันสดที่ไม่ติดเหง้า (tapioca root without crown) ข้อ ๗ ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปราจีนบุรี เป็นสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พิมพ์มาดา/จัดทำ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๖๔ ง/หน้า ๑๖/๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑
814510
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเสาวรสสดจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเสาวรสสดจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลเสาวรสสดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทาได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลเสาวรสสดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเสาวรสสดจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลเสาวรสสด (passion fruit, Passiflora edulis) ข้อ ๔ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๔.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๔.๒ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ Department of Agriculture ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๕ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๖ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลเสาวรสสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางบกหรือทางอากาศ ข้อ ๗ แหล่งปลูก ผลเสาวรสสดต้องเป็นผลผลิตจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและมาจากพื้นที่ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๘ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๘.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลเสาวรสสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๘.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๘.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออก ๙.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกที่จะส่งออกผลเสาวรสสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียน โรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกที่จดทะเบียนต้องนำผลเสาวรสสดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๙.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๙.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกนั้น และต้องตรวจสอบระบบ เป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๙.๕ การตรวจผลเสาวรสสดว่าปราศจากศัตรูพืชต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกที่จดทะเบียนเท่านั้น ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๐.๑ ต้องบรรจุผลเสาวรสสดในบรรจุภัณฑ์ซึ่งใหม่และสะอาดเท่านั้น และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนของพืชอื่น เช่น ใบ กิ่งก้าน เมล็ด เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๐.๒ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ผลิตผล หรือผลผลิตของลาว - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออก - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๐.๓ ในกรณีส่งออกผลเสาวรสสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางในตู้ขนส่งสินค้าอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๐.๔ ผลเสาวรสสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทย โดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๑ การตรวจส่งออก ต้องตรวจสอบผลเสาวรสสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการก่อนให้การรับรองผลเสาวรสสดส่งออกไปราชอาณาจักรไทย ข้อ ๑๒ การรับรองสุขอนามัยพืช ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of passion fruit was produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of passion fruit from Laos to Thailand.” ข้อ ๑๓ การตรวจนำเข้า ๑๓.๑ เมื่อผลเสาวรสสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๓.๒ สินค้าที่ส่งมอบทั้งหมดต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต อาการของโรคเมล็ดพืชที่ปนเปื้อน ดิน ขยะ และเศษซากอื่น ๆ เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๓.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลเสาวรสสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกัก ผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๓.๔ ถ้ามีผลเสาวรสสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๓.๕ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๓.๖ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลเสาวรสสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในกรณีการนำเข้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ข้อ ๑๔ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๔.๑ กรมวิชาการเกษตรขอสงวนสิทธิในการส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกผลเสาวรสสดก่อนอนุญาตให้นำเข้าเป็นการค้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ก็ได้ โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๔.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่ามี ความจำเป็นอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พัชรภรณ์/จัดทำ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๙ ง/หน้า ๕๕/๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
814506
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลทับทิมสดจากรัฐอิสราเอล พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลทับทิมสดจากรัฐอิสราเอล พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลทับทิมสดนำเข้าเพื่อการค้าจากรัฐอิสราเอลเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลทับทิมสดเพื่อการค้าจากรัฐอิสราเอล ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลทับทิมสดจากรัฐอิสราเอล พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลทับทิมสด (pomegranate, Punica granatum) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลทับทิมสดจากรัฐอิสราเอลปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ รัฐอิสราเอล คือ Plant Protection and Inspection Services, Ministry of Agriculture and Rural Development ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของรัฐอิสราเอล ซึ่งต่อไปในประกาศนี้ จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลทับทิมสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในรัฐอิสราเอลไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลทับทิมสดต้องเป็นผลผลิตจากรัฐอิสราเอลและมาจากพื้นที่ ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลทับทิมสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๙.๓ เกษตรกรต้องเก็บรักษาบันทึกการบริหารจัดการ การติดตามประชากรศัตรูพืชและการควบคุมศัตรูพืชที่ดำเนินการในสวนที่จดทะเบียนตลอดฤดูกาลปลูก และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลทับทิมสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลทับทิมสดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลทับทิมสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนเท่านั้น ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับแมลงศัตรูพืชกักกัน ผลทับทิมสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องจัดการความเสี่ยงแมลง Mediterranean fruit fly (Ceratitis capitata) ด้วยวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น ข้อ ๑๒ มาตรการจัดการสำหรับแมลงวันผลไม้ Ceratitis capitata ผลทับทิมสดต้องผ่านวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นที่อุณหภูมิและระยะเวลาต่อไปนี้ เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ Ceratitis capitate อุณหภูมิตรงบริเวณกึ่งกลางผล ระยะเวลา (จำนวนวันติดต่อกัน) ๑.๑๑ องศาเซลเซียส (๓๔ องศาฟาเรนไฮต์) หรือต่ำกว่า ๑๔ วัน หรือมากกว่า ๑.๖๗ องศาเซลเซียส (๓๕ องศาฟาเรนไฮต์) หรือต่ำกว่า ๑๖ วัน หรือมากกว่า ๒.๒๒ องศาเซลเซียส (๓๖ องศาฟาเรนไฮต์) หรือต่ำกว่า ๑๘ วัน หรือมากกว่า ข้อ ๑๓ ข้อกำหนดสำหรับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น ๑๓.๑ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นสามารถดำเนินการได้เฉพาะระหว่างขนส่งเท่านั้น ทั้งนี้ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งเป็นการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นโดยดำเนินการในตู้ขนส่งสินค้าระหว่างขนส่งสินค้า ๑๓.๒ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งซึ่งดำเนินการในตู้ขนส่งสินค้านั้น อาจจะเริ่มต้นกระบวนการตั้งแต่ตู้ขนส่งสินค้าอยู่บนบกและเสร็จสิ้นในช่วงระหว่างขนส่ง หรือเสร็จสิ้นเมื่อตู้ขนส่งสินค้าไปถึงปลายทาง ในกรณีที่การดำเนินการระหว่างขนส่งเกิดล้มเหลว อาจจะดำเนินการต่อให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้เมื่อสินค้านั้นถึงจุดหมายปลายทาง ๑๓.๓ การประเมินผลสำเร็จของการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งจะประเมินจากอุณหภูมิของแท่งวัดอุณหภูมิผลไม้เท่านั้น ๑๓.๔ การส่งออกผลทับทิมสดซึ่งต้องผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งนั้น ต้องลดอุณหภูมิผลตรงบริเวณกึ่งกลางผลให้ต่ำลงถึงระดับเดียวกันกับหรือต่ำกว่าอุณหภูมิเป้าหมายที่กำหนดสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้เป็นการล่วงหน้าก่อนขนถ่ายเข้าตู้ขนส่งสินค้า ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าอุณหภูมิผลได้ลดต่ำลงถึงระดับที่เหมาะสม ก่อนเริ่มต้นกระบวนการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นและต้องรักษาระดับอุณหภูมิผลให้คงที่ติดต่อกันตลอดไป ๑๓.๕ NPPO ต้องมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ นอกจากนี้ ต้องมีใบรับรองการเทียบมาตรฐานของแท่งวัดอุณหภูมิตามเอกสารหมายเลข ๓ท้ายประกาศนี้ แนบมาพร้อมกับสินค้าด้วยทุกครั้ง ข้อ ๑๔ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๔.๑ ต้องบรรจุผลทับทิมสดในบรรจุภัณฑ์ซึ่งใหม่และสะอาดเท่านั้น และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนของพืชอื่น เช่น ใบ กิ่งก้าน เมล็ด เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๔.๒ ผลทับทิมสดต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันศัตรูพืชได้ เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยตามหลักการกักกันพืช เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๔.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ผลิตผล หรือ ผลผลิตของอิสราเอล - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญ) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๔.๔ ในกรณีส่งออกผลทับทิมสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกันต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีส่งออกโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวาง อนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๔.๕ ผลทับทิมสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๕ การตรวจส่งออก NPPO ต้องมั่นใจว่าได้ดำเนินการตามข้อกำหนดต่าง ๆ ของกรมวิชาการเกษตรครบสมบูรณ์แล้ว ก่อนให้การรับรองผลทับทิมสดส่งออกไปราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้ ๑๕.๑ ได้ดำเนินการตรวจสอบผลทับทิมสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ และต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) หรือปฏิเสธการส่งออก ๑๕.๒ ผลทับทิมสดได้ผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นตามข้อกำหนดข้อ ๑๒ เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ Ceratitis capitata แล้ว ข้อ ๑๖ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๖.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of pomegranate fruit was produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of pomegranate fruit from Israel to Thailand.” ๑๖.๒ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นต้องมีต้นฉบับใบรับรองการเทียบมาตรฐานของแท่งวัดอุณหภูมิตามเอกสารหมายเลข ๓ ท้ายประกาศนี้ แนบมาพร้อมกับใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๖.๓ ในกรณีขนส่งทางน้ำต้องระบุหมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๗ การตรวจนำเข้า ๑๗.๑ เมื่อผลทับทิมสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๗.๒ สินค้าที่ส่งมอบทั้งหมดต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต อาการของโรคพืช เมล็ดพืชที่ปนเปื้อน ดิน ขยะ และเศษซากอื่น ๆ เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๗.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลทับทิมสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๗.๔ ถ้ามีผลทับทิมสดจานวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจ จำนวน ๖๐๐ ผล ๑๗.๕ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามเอกสารหมายเลข ๑ท้ายประกาศนี้ ระหว่างการตรวจนำเข้าผลทับทิมสดต้องดำเนินการตามมาตรการ ดังต่อไปนี้ ๑๗.๕.๑ แมลงวันผลไม้ (๑) ถ้าตรวจพบแมลงวันผลไม้ที่มีชีวิต ต้องส่งกลับหรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจให้ NPPO ทราบและระงับการนำเข้าโดยทันที (๒) NPPO ต้องตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีและเสนอมาตรการแก้ไข กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้า เมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุและมีการดำเนินมาตรการแก้ไขจนเป็นที่ยอมรับของกรมวิชาการเกษตร ๑๗.๕.๒ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันชนิดอื่น ๆ ที่มีชีวิตนอกเหนือจากแมลงวันผลไม้ ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๗.๖ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๗.๗ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลทับทิมสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๗.๗.๑ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นไม่สมบูรณ์ ๑๗.๗.๒ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๗.๗.๓ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๗.๗.๔ เสียบแท่งวัดอุณหภูมิผลไม้เลยออกนอกผล หรือแท่งวัดอุณหภูมิผลไม้ไม่อยู่ตรงตำแหน่งที่กำหนด หรือผลที่เสียบด้วยแท่งวัดอุณหภูมิเป็นแผลแตกหรือเกิดรอยเปิด ๑๗.๗.๕ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ๑๗.๗.๖ บรรจุภัณฑ์ชำรุด และไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสาหรับการป้องกันแมลง ข้อ ๑๘ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๘.๑ การส่งออกผลทับทิมสดจากแหล่งปลูกตามข้อ ๘ ในรัฐอิสราเอลไปยังราชอาณาจักรไทย จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกของรัฐอิสราเอลแล้วเท่านั้น โดยรัฐอิสราเอลต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๘.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้าหรือการนำเข้าไม่เป็นไปตามที่กำหนด กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในรัฐอิสราเอล แล้วแต่กรณี ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยรัฐอิสราเอลต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เอกสารแนบท้าย ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลทับทิมสดจากรัฐอิสราเอลแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลทับทิมสดจากรัฐอิสราเอล พ.ศ. ๒๕๖๑ (เอกสารหมายเลข ๑) ๒. ข้อกำหนดสำหรับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่ง แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลทับทิมสดจากรัฐอิสราเอล พ.ศ. ๒๕๖๑ (เอกสารหมายเลข ๒) ๓. ใบรับรองการเทียบมาตรฐานของแท่งวัดอุณหภูมิสำหรับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งในตู้ขนส่งสินค้า สำหรับราชอาณาจักรไทย แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลทับทิมสดจากรัฐอิสราเอล พ.ศ. ๒๕๖๑ (เอกสารหมายเลข ๓) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พัชรภรณ์/จัดทำ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๙ ง/หน้า ๔๙/๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
814502
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเชื้อแบคทีเรีย Pantoea ananatis สายพันธุ์ PIASA และสายพันธุ์ PIASA GK1 จากญี่ปุ่น พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเชื้อแบคทีเรีย Pantoea ananatis สายพันธุ์ PIASA และสายพันธุ์ PIASA GK๑ จากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของเชื้อแบคทีเรีย Pantoea ananatis สายพันธุ์ PIASA และสายพันธุ์ PIASA GK๑ นำเข้าเพื่อการค้าจากญี่ปุ่นเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าเชื้อแบคทีเรีย Pantoea ananatis สายพันธุ์ PIASA และสายพันธุ์ PIASA GK๑ เพื่อการค้าจากญี่ปุ่น ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนาเข้า เชื้อแบคทีเรีย Pantoea ananatis สายพันธุ์ PIASA และสายพันธุ์ PIASA GK๑ จากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเชื้อแบคทีเรีย Pantoea ananatis สายพันธุ์ PIASA จากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๔ ลงวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ข้อ ๔ ชนิดเชื้อแบคทีเรียที่อนุญาต ๔.๑ Pantoea ananatis สายพันธุ์ PIASA ๔.๒ Pantoea ananatis สายพันธุ์ PIASA GK๑ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ ญี่ปุ่น คือ Plant Protection Division, Food Safety and Consumer Affairs Bureau, Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของญี่ปุ่น ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ๖.๑ ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ๖.๒ ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการที่จำเป็นต้องนำเข้าเชื้อแบคทีเรียตามข้อ ๔ เพื่อการผลิตกรดอะมิโนทางอุตสาหกรรม ๖.๓ ต้องเสนอรายละเอียด ขั้นตอนการขนส่ง ขั้นตอนกระบวนการตรวจพิสูจน์เชื้อแบคทีเรียตามข้อ ๔ ขั้นตอนการเก็บรักษา และมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพเสนอต่อกรมวิชาการเกษตรเพื่อพิจารณาและเห็นชอบ ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งเชื้อแบคทีเรียมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางอากาศเท่านั้น ข้อ ๘ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์ระหว่างการขนส่ง ต้องบรรจุเชื้อแบคทีเรียตามข้อ ๔ ในหลอดที่ปิดสนิท และบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นโลหะ ซึ่งออกแบบเฉพาะสำหรับการขนส่งเชื้อแบคทีเรีย มีความแข็งแรง และคงทนต่อแรงกระแทกป้องกันการเล็ดลอดของเชื้อแบคทีเรียตามข้อ ๔ ออกสู่สภาพแวดล้อมในระหว่างขนส่งได้ ข้อ ๙ การรับรองส่งออก ต้องตรวจเชื้อแบคทีเรีย Pantoea ananatis โดยห้องปฏิบัติการของ NPPO หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก NPPO และให้การรับรองว่าเชื้อแบคทีเรียที่นาเข้าคือเชื้อแบคทีเรียตามข้อ ๔ ที่บริสุทธิ์ และปราศจากการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ชนิดอื่น โดยต้องระบุข้อความดังกล่าวในใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือหนังสือสำคัญอย่างอื่นอันเป็นที่เชื่อถือได้ แนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่นำเข้า ข้อ ๑๐ การตรวจนำเข้า ๑๐.๑ เมื่อเชื้อแบคทีเรียถูกขนส่งมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า และนำส่งเชื้อแบคทีเรียมาที่กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เลขที่ ๕๐ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่ของกลุ่มวิจัยการกักกันพืชจะตรวจสอบความสมบูรณ์ของบรรจุภัณฑ์และส่งไปกักไว้ ณ สถานที่ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ให้ความเห็นชอบไว้จนกว่าจะดำเนินการตรวจพิสูจน์ได้ว่าเชื้อแบคทีเรียที่นำเข้าเป็นเชื้อแบคทีเรียตามข้อ ๔ จริง และปราศจากจุลินทรีย์ชนิดอื่นโดยผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องดำเนินการตรวจพิสูจน์ภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ๑๐.๓ ในกรณีที่การนำเข้าไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ต้องดำเนินการตามมาตรการ ดังต่อไปนี้ ๑๐.๓.๑ กรณีที่บรรจุภัณฑ์หรือหลอดบรรจุเชื้อแบคทีเรียเกิดความเสียหายและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจเกิดการเล็ดลอดของเชื้อแบคทีเรียในระหว่างการขนส่ง พนักงานเจ้าหน้าที่จะยึดและทำลายของที่นำเข้าทั้งหมดโดยทันที โดยผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและจะระงับการนำเข้าโดยทันที ผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีและเสนอมาตรการแก้ไข กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้า เมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุและมีการดำเนินมาตรการแก้ไขจนเป็นที่ยอมรับของกรมวิชาการเกษตร ๑๐.๓.๒ กรณีมีการตรวจพบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ชนิดอื่น พนักงานเจ้าหน้าที่จะยึดและทำลายของที่นำเข้าทั้งหมดโดยทันที โดยผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และจะระงับการนำเข้าโดยทันที ผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีและเสนอมาตรการแก้ไข กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้าเมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุและมีการดำเนินมาตรการแก้ไขจนเป็นที่ยอมรับของกรมวิชาการเกษตร ๑๐.๓.๓ กรณีผลการตรวจยืนยันชนิดเชื้อแบคทีเรียนำเข้าไม่ตรงกับชนิดที่ได้รับอนุญาต พนักงานเจ้าหน้าที่จะยึดและทำลายของที่นำเข้าทั้งหมดโดยทันที โดยผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และจะระงับการนำเข้าโดยทันที ผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีและเสนอมาตรการแก้ไข กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้าเมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุและมีการดำเนินมาตรการแก้ไขจนเป็นที่ยอมรับของกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับสถานที่เก็บ ๑๑.๑ สถานที่เก็บต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลว่าเป็นห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับ ๒ หรือเทียบเท่า จากหน่วยงานที่มีอำนาจหรือองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับการตรวจสอบและเห็นชอบจากกรมวิชาการเกษตร ๑๑.๒ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่เก็บหรือระบบการปฏิบัติงานในสถานที่เก็บผู้ได้รับใบอนุญาตนาเข้าต้องแจ้งและได้รับความเห็นชอบจากกรมวิชาการเกษตรเสียก่อน หรือในระหว่างการเก็บมีเหตุการณ์ที่อาจจะมีผลต่อการเล็ดลอดของเชื้อแบคทีเรียออกไปสู่สภาพแวดล้อมผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบโดยทันที ข้อ ๑๒ ข้อกำหนดสำหรับการขนส่งจากสถานที่เก็บไปยังสถานที่ใช้เพื่อการอุตสาหกรรม ผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องดำเนินการตามขั้นตอนวิธีการจัดส่งเชื้อแบคทีเรียจากสถานที่เก็บเชื้อแบคทีเรียไปยังสถานที่ซึ่งนำเชื้อแบคทีเรียไปใช้ในการผลิตกรดอะมิโนทางอุตสาหกรรมตามระบบมาตรฐานสากลของความปลอดภัยทางชีวภาพที่เสนอต่อกรมวิชาการเกษตรเพื่อตรวจสอบและเห็นชอบ และต้องแจ้งต่อกรมวิชาการเกษตรโดยทันทีในกรณีที่ระหว่างการขนส่งเกิดเหตุการณ์อันทำให้เกิดการเล็ดลอดของเชื้อแบคทีเรียออกไปสู่สภาพแวดล้อม ข้อ ๑๓ ข้อกำหนดสำหรับโรงงานที่นาเชื้อแบคทีเรียตามข้อ ๔ ไปใช้เพื่อการอุตสาหกรรม ๑๓.๑ โรงงานต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลว่ามีห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับ ๒ หรือเทียบเท่า จากหน่วยงานที่มีอำนาจหรือองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับการตรวจสอบและเห็นชอบจากกรมวิชาการเกษตร ๑๓.๒ โรงงานซึ่งนำเชื้อแบคทีเรียไปใช้ในการผลิตกรดอะมิโนทางอุตสาหกรรมต้องเป็นโรงงานที่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล เช่น ระบบประกันคุณภาพ (ISO ๙๐๐๑) ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO ๑๔๐๐๑) มาตรฐานการผลิต HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในกระบวนการผลิต (GMP) ๑๓.๓ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งโรงงานหรือระบบการปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องแจ้งและได้รับความเห็นชอบจากกรมวิชาการเกษตรเสียก่อนหรือในระหว่างการดำเนินการมีเหตุการณ์ที่อาจจะมีผลต่อการเล็ดลอดของเชื้อแบคทีเรียออกไปสู่สภาพแวดล้อม ผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบโดยทันทีและต้องดำเนินมาตรการกำจัดตามที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมวิชาการเกษตร หากเกิดการเล็ดลอดของสิ่งต้องห้ามระหว่างดำเนินการ ผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเล็ดลอดทุกกรณี ข้อ ๑๔ การตรวจติดตาม กรมวิชาการเกษตรจะตรวจติดตามการดำเนินการของผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ หากพบว่าผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่แสดงเอกสารหลักฐานให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบเมื่อได้รับการร้องขอ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิเพิกถอนใบอนุญาตนำเข้าดังกล่าวได้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พัชรภรณ์/จัดทำ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๙ ง/หน้า ๔๕/๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
814496
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเมลอนสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเมลอนสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลเมลอนสดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลีเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลเมลอนสดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลี ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเมลอนสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลเมลอนสด (melon, Cucumis melo) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลเมลอนสดจากสาธารณรัฐเกาหลีปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สาธารณรัฐเกาหลี คือ Animal and Plant Quarantine Agency (APQA) ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลเมลอนสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐเกาหลีไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลเมลอนสดต้องเป็นผลผลิตจากสาธารณรัฐเกาหลีและมาจากพื้นที่ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับการผลิต ๙.๑ ผลเมลอนสดสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องปลูกเฉพาะในโรงเรือนที่มีการป้องกันศัตรูพืชและจดทะเบียนโรงเรือนกับ NPPO โดย NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงเรือนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงเรือนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสถานที่ผลิตที่จดทะเบียนต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานเพื่อมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมเกษตรกรต้องมีกิจกรรมการควบคุมศัตรูพืชในสถานที่ และต้องเก็บรักษาบันทึกการตรวจติดตามศัตรูพืชและกิจกรรมการควบคุมศัตรูพืช และต้องตรวจสอบได้เมื่อได้รับการร้องขอ ๙.๓ NPPO ต้องติดตามตรวจสอบศัตรูพืชในโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ NPPO ต้องตรวจสอบโรงเรือนและต้นพืช รวมถึงส่วนของผล โดยดำเนินการเป็นช่วง ๆ ระยะเวลาห่างกันไม่เกิน ๒ สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ระยะติดผลจนสิ้นสุดระยะเก็บเกี่ยว ๙.๔ NPPO ต้องติดตั้งและดูแลรักษากับดักแมคเฟล (McPhail trap) (หรือชนิดที่คล้ายคลึงกัน) กับเหยื่อล่อโปรตีนที่ได้รับการรับรองสำหรับศัตรูพืชที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าติดตามแมลงวันผลไม้ pumpkin fruit fly (PFF) (Bactrocera depressa) ในโรงเรือน เริ่มตั้งแต่ระยะติดผลจนสิ้นสุดระยะเก็บเกี่ยวจำนวนกับดักแมลงที่ติดตั้งต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ดังนี้ สำหรับโรงเรือนขนาดพื้นที่เล็กกว่า ๐.๒ เฮกตาร์ ต้องติดตั้งกับดักแมลงจำนวน ๒ กับดัก โรงเรือนขนาดพื้นที่ ๐.๒ ถึง ๐.๕ เฮกตาร์จานวน ๓ กับดัก โรงเรือนขนาดพื้นที่ใหญ่กว่า ๐.๕ ถึง ๑ เฮกตาร์ จำนวน ๔ กับดักและโรงเรือนที่ขนาดพื้นที่ใหญ่กว่า ๑ เฮกตาร์ ต้องวางกับดักแมลง จำนวน ๔ กับดักต่อเฮกตาร์ ๙.๕ NPPO ต้องตรวจสอบกับดักแมลงทั้งหมดทุก ๆ ๒ สัปดาห์ ถ้าพบแมลง PFF แม้แต่ ๑ ตัว ต้องถอนการจดทะเบียนโรงเรือนนั้น จนกว่าข้อมูลที่ได้จากกับดักแมลงแสดงให้เห็นว่าแมลงถูกกำจัดหมดสิ้นไปแล้ว ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ ผลเมลอนสดสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องบรรจุในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่มีการป้องกันศัตรูพืชและจดทะเบียนไว้กับ NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลเมลอนสดมาจากโรงเรือนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสถานที่ผลิตซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้นและต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลเมลอนสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียน ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๑.๑ ต้องบรรจุผลเมลอนสดในบรรจุภัณฑ์ซึ่งใหม่และสะอาดเท่านั้น และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนของพืชอื่น เช่น ใบ กิ่งก้าน เมล็ด เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๑.๒ ต้องป้องกันผลเมลอนสดจากการเข้าทำลายของศัตรูพืชตั้งแต่เก็บเกี่ยวจนกระทั่งส่งออก ในขณะที่ขนย้ายไปโรงคัดบรรจุผลไม้และกำลังรอการบรรจุ ต้องคลุมผลเมลอนสดที่พึ่งเก็บเกี่ยวด้วยพลาสติก หรือผ้าตาข่ายที่มีรูขนาดเล็กกันแมลง โดยต้องบรรจุผลผลิตในบรรจุภัณฑ์ให้แล้วเสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง หลังการเก็บเกี่ยว และบรรจุภัณฑ์ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ซึ่งไม่มีรูเปิด หรือ (๒) ต้องบรรจุในถุงตาข่ายแล้วจึงบรรจุในบรรจุภัณฑ์ ขนาดของตาข่ายแต่ละรูต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๑.๖ มิลลิเมตร หรือ (๓) ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์เมื่อปิดสนิทแล้วต้องปิดช่องระบายอากาศทั้งหมดบนบรรจุภัณฑ์ด้วยตาข่าย ขนาดของตาข่ายแต่ละรูต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๑.๖ มิลลิเมตรหรือ (๔) ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่มัดรวมกันหรือมัดรวมกันแล้ววางบนแท่นวางต้องห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดด้วยตาข่ายหรือพลาสติก ถ้าใช้ตาข่ายขนาดของตาข่ายแต่ละรูต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๑.๖ มิลลิเมตร การป้องกันเหล่านี้ต้องคงสภาพเดิมจนกว่าสินค้านั้นจะเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ๑๑.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ผลิตผล หรือผลผลิตของเกาหลี - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนแหล่งผลิต ๑๑.๔ ในกรณีส่งออกผลเมลอนสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางในตู้ขนส่งสินค้าอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๑.๕ ผลเมลอนสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๒ การตรวจสอบก่อนการส่งออกสินค้า ๑๒.๑ กรมวิชาการเกษตรต้องตรวจสอบผลเมลอนสดทั้งหมดภายใต้การดำเนินการตรวจสอบก่อนการส่งออกสินค้า โดย NPPO ต้องส่งหนังสืออย่างเป็นทางการพร้อมแนบบัญชีรายชื่อโรงเรือนที่จดทะเบียนต่อกรมวิชาการเกษตรเพื่อขอให้กรมวิชาการเกษตรส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบสินค้า โดยต้องส่งหนังสือดังกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ก่อนที่จะเริ่มต้นดำเนินการตรวจสอบก่อนการส่งออกสินค้า ๑๒.๒ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบก่อนการส่งออกสินค้าซึ่งดำเนินการโดยกรมวิชาการเกษตร นั้น สาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ข้อ ๑๓ การตรวจส่งออก ๑๓.๑ ก่อนที่จะเริ่มส่งออกทุกปี พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะตรวจสอบโรงเรือน โรงคัดบรรจุ ข้อมูลการติดตามแมลง PFF ข้อมูลการดักจับแมลง และรายงานการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ NPPO ๑๓.๒ เจ้าหน้าที่ของ NPPO และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรต้องร่วมกันตรวจสอบผลเมลอนสดสำหรับส่งออก ถ้ามีผลเมลอนสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๓.๓ ผลเมลอนสดที่ส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๓.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ต้องดำเนินมาตรการ ดังต่อไปนี้ ๑๓.๔.๑ ถ้าตรวจพบแมลง PFF ระยะหนึ่งระยะใดที่มีชีวิต ในระหว่างการตรวจส่งออก ต้องปฏิเสธการรับรองผลเมลอนสดสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทย แต่อย่างไรก็ตามผลเมลอนสดที่ได้ผ่านการตรวจส่งออกและได้รับใบรับรองสุขอนามัยพืชแล้วอนุญาตให้ส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ ผลเมลอนสดจากโรงเรือนที่พบแมลง PFF เข้าทำลายต้องไม่ได้รับการรับรองเพื่อส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยตลอดฤดูกาลส่งออกนั้น ๑๓.๔.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันอื่น ๆ ที่มีชีวิตนอกเหนือจากแมลง PFF ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) หรือปฏิเสธการส่งออก ๑๓.๕ ในกรณีตรวจไม่พบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้เจ้าหน้าที่ของ NPPO ออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะลงนามบนพื้นที่ว่างของใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๔ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๔.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วยโดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of melon fruit was produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of melon fruit from Korea to Thailand.” ๑๔.๒ ในกรณีขนส่งทางน้ำต้องระบุหมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๕ การตรวจนำเข้า ๑๕.๑ เมื่อผลเมลอนสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๕.๒ สินค้าที่ส่งมอบทั้งหมดต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต อาการของโรคพืช เมล็ดพืชที่ปนเปื้อน ดิน ขยะ และเศษซากอื่น ๆ เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๕.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลเมลอนสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๕.๔ ถ้ามีผลเมลอนสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๕.๕ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการตรวจนำเข้าผลเมลอนสด ต้องดำเนินการตามมาตรการ ดังต่อไปนี้ ๑๕.๕.๑ ถ้าตรวจพบแมลง PFF ระยะหนึ่งระยะใดที่มีชีวิต ผลเมลอนสดต้องส่งกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจให้ NPPO ทราบถึงการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดโดยทันที หลังจากนั้น NPPO ต้องระงับการให้การรับรองผลเมลอนสดจากโรงเรือนที่พบแมลง PFF เข้าทำลายเพื่อส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยตลอดฤดูกาลส่งออกนั้น ๑๕.๕.๒ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันชนิดอื่น ๆ ที่มีชีวิตนอกเหนือจากแมลง PFF ผลเมลอนสดต้องส่งกลับ ทำลาย หรือกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๕.๖ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๕.๗ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลเมลอนสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๕.๗.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๕.๗.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๕.๗.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ๑๕.๗.๔ บรรจุภัณฑ์ชำรุด และไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสำหรับการป้องกันแมลง ข้อ ๑๖ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๖.๑ การส่งออกผลเมลอนสดจากสาธารณรัฐเกาหลีไปยังราชอาณาจักรไทยจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกของสาธารณรัฐเกาหลีแล้วเท่านั้น โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๖.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้าหรือการนำเข้าไม่เป็นไปตามที่กำหนด กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐเกาหลี แล้วแต่กรณี ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เอกสารแนบท้าย ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลเมลอนสดจากสาธารณรัฐเกาหลีแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเมลอนสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พัชรภรณ์/จัดทำ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๙ ง/หน้า ๓๘/๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
814494
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ.2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลส้มสดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลีเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลี ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ชนิดและพันธุ์ของผลส้มสดดังต่อไปนี้ ที่ได้รับอนุญาตให้นาเข้าราชอาณาจักรไทย ส้มเปลือกล่อน (mandarin orange, Citrus reticulata) ได้แก่ พันธุ์อุนชู (Unshu) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลส้มสดจากสาธารณรัฐเกาหลีปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สาธารณรัฐเกาหลี คือ Animal and Plant Quarantine Agency (APQA) ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลส้มสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐเกาหลีไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ๘.๑ ผลส้มสดต้องเป็นผลผลิตของสาธารณรัฐเกาหลี และมาจากพื้นที่ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ๘.๒ ผลส้มสดที่ผลิตเฉพาะในเกาะเชจู ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๙.๓ เกษตรกรต้องเก็บรักษาบันทึกการบริหารจัดการ การติดตามประชากรศัตรูพืชและการควบคุมศัตรูพืชที่ดำเนินการในสวนที่จดทะเบียนตลอดฤดูกาลปลูก และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลส้มสดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็วต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลส้มสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียน ข้อ ๑๑ มาตรการจัดการสำหรับเชื้อรา Elsinoë australis ๑๑.๑ ผลส้มต้องเป็นผลผลิตที่มาจากแปลงปลูกที่มีการพ่นสารกำจัดเชื้อรา Elsinoë australis ในเวลาที่เหมาะสม ๑๑.๒ ต้องมีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการในสวนระหว่างฤดูการผลิตว่าพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis บนผลส้มหรือไม่ ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis NPPO ต้องปฏิเสธการรับรองสวนที่พบเชื้อราเข้าทำลายสำหรับส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยในปีที่ส่งออก ๑๑.๓ เมื่อผลส้มมาถึงโรงคัดบรรจุผลไม้จะทำการเก็บผลส้มเพื่อตรวจสอบเชื้อรา Elsinoë australis ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis ผลส้มที่มาจากสวนที่พบเชื้อเข้าทำลายจะถูกปฏิเสธสำหรับส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยในปีที่ส่งออก ๑๑.๔ ผลส้มสดต้องผ่าน การล้าง แปรง และฆ่าเชื้อที่ผิวด้วยสารเคมีอย่างน้อย ๑ วิธีการ ดังต่อไปนี้ ๑๑.๔.๑ ทำให้ผลไม้เปียกอย่างทั่วถึงด้วยสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite) ความเข้มข้น ๒๐๐ ส่วนในล้านส่วน ที่ความเป็นกรดด่าง ๖.๐ - ๗.๕ อย่างน้อย ๒ นาที ๑๑.๔.๒ ทำให้ผลไม้เปียกอย่างทั่วถึงด้วยสารละลายที่มี โซเดียม โอ – ฟีนิลฟีเนต (sodium o - phenyl phenate) ความเข้มข้นร้อยละ ๑.๘๖-๒.๐๐ ของสารละลายทั้งหมด ถ้าสารละลายนั้น มีฟองที่เกิดจากสบู่หรือสารซักฟอกเห็นได้ชัดเจน ให้ทำให้เปียกนาน ๔๕ วินาที ถ้าสารละลายนั้นไม่มีฟองพอที่จะมองเห็นได้ ให้ทำให้เปียกนาน ๑ นาที ๑๑.๔.๓ ทำให้ผลไม้เปียกอย่างทั่วถึงด้วยสละลายกรดเพอร์ออกซีอะซีติก (peroxyacetic acid) ความเข้มข้น ๘๕ ส่วนในล้านส่วน อย่างน้อย ๑ นาที ๑๑.๕ ผลส้มสดต้องผ่านกรรมวิธีกำจัดศัตรูพืชในระหว่างการบรรจุด้วยสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามวิธีการที่ระบุบนฉลากดังนี้ ๑๑.๕.๑ อิมาซาลิล (imazalil) ๑๑.๕.๒ ไทอะเบนดาโซล (thiabendazole) ๑๑.๖ ผลส้มสดต้องผ่านการเคลือบผิว (waxed) ๑๑.๗ กรรมวิธีใด ๆ ในข้อ ๑๑.๕ ที่ดำเนินการก่อนการส่งสินค้า ต้องระบุรายละเอียดในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๒ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๒.๑ ต้องบรรจุผลส้มสดในบรรจุภัณฑ์ซึ่งใหม่และสะอาดเท่านั้น และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนของพืชอื่น เช่น ใบ กิ่งก้าน เมล็ด เศษซากพืชเป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๒.๒ ผลส้มสดต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันศัตรูพืชได้ เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยตามหลักการกักกันพืช เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๒.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ผลิตผล หรือผลผลิตของเกาหลี - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญและชื่อพันธุ์ของส้ม) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๒.๔ ในกรณีส่งออกผลส้มสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางในตู้ขนส่งสินค้าอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๒.๕ ผลส้มสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทาจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๓ การตรวจส่งออก ๑๓.๑ ต้องตรวจสอบผลส้มสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการและต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๓.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ต้องดำเนินการตามมาตรการ ดังต่อไปนี้ ๑๓.๒.๑ เชื้อรา Elsinoë australis ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis NPPO ต้องปฏิเสธการรับรองสินค้าที่ส่งมอบสำหรับส่งออกมายังราชอาณาจักรไทย ผลส้มสดที่มาจากสวนที่พบเชื้อเข้าทำลายจะถูกปฏิเสธสำหรับส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยในปีที่ส่งออก ๑๓.๒.๒ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันชนิดอื่น ๆ ที่มีชีวิตนอกเหนือจาก Elsinoë australis ต้องกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) หรือปฏิเสธการส่งออก ข้อ ๑๔ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๔.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับ มาด้วยโดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of citrus fruit was produced in Jeju Island and prepared for export in accordance with the conditions for import of citrus fruit from Korea to Thailand.” และ “The fruit in this consignment was undergone surface sterilization and fungicide treatment.” ๑๔.๒ ต้องระบุชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อพันธุ์ของส้ม หมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้า (สำหรับการขนส่งทางน้ำ) ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๕ การตรวจนำเข้า ๑๕.๑ เมื่อผลส้มสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๕.๒ สินค้าที่ส่งมอบทั้งหมดต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต อาการของโรคพืช เมล็ดพืชที่ปนเปื้อน ดิน ขยะ และเศษซากอื่น ๆ เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๕.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลส้มสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๕.๔ ถ้ามีผลส้มสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๕.๕ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการตรวจนำเข้าผลส้มสด ต้องดำเนินการตามมาตรการ ดังต่อไปนี้ ๑๕.๕.๑ เชื้อรา Elsinoë australis (๑) ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis สินค้าที่พบเชื้อเข้าทำลายต้องส่งกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย (๒) กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจให้ NPPO ทราบโดยทันที หลังจากนั้น NPPO ต้องระงับการให้การรับรองผลส้มสดจากสวนที่พบเชื้อราเข้าทำลายเพื่อส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยตลอดฤดูกาลส่งออกนั้น (๓) ผลส้มสดจากสวนที่ตรวจพบเชื้อรา Elsinoë australis ซึ่งอยู่ระหว่างขนส่ง จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรไทย ๑๕.๕.๒ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันชนิดอื่น ๆ ที่มีชีวิตนอกเหนือจาก Elsinoë australis ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๕.๖ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๕.๗ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลส้มสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๕.๗.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๕.๗.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๕.๗.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๖ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๖.๑ การส่งออกผลส้มสดจากสาธารณรัฐเกาหลีไปยังราชอาณาจักรไทย จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกของสาธารณรัฐเกาหลีแล้วเท่านั้น โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๖.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็น อาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐเกาหลี ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๖.๓ กรมวิชาการเกษตรจะส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังสาธารณรัฐเกาหลีเป็นระยะเวลา ๓ ปีติดต่อกัน หลังจากการเริ่มต้นส่งออกภายใต้เงื่อนไขการนำเข้านี้ เพื่อประเมินการควบคุม Elsinoë australis ที่ดำเนินการโดย NPPO มีประสิทธิภาพหรือไม่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าผลส้มสดที่ส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการศัตรูพืชกักกันอย่างเหมาะสมโดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เอกสารแนบท้าย ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลส้มสดจากสาธารณรัฐเกาหลีแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พัชรภรณ์/จัดทำ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๙ ง/หน้า ๓๑/๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
814488
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลองุ่นสดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลีเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลี ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ชนิดของผลองุ่นสดดังต่อไปนี้ ที่ได้รับอนุญาตให้นาเข้าราชอาณาจักรไทย ๓.๑ Vitis vinifera ๓.๒ Vitis labrusca ๓.๓ Vitis labruscana ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐเกาหลีปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สาธารณรัฐเกาหลี คือ Animal and Plant Quarantine Agency (APQA) ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลองุ่นสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐเกาหลีไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลองุ่นสดต้องเป็นผลผลิตจากสาธารณรัฐเกาหลีและมาจากพื้นที่ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลองุ่นสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๙.๓ เกษตรกรต้องเก็บรักษาบันทึกการบริหารจัดการ การติดตามประชากรศัตรูพืชและการควบคุมศัตรูพืชที่ดำเนินการในสวนที่จดทะเบียนตลอดฤดูกาลปลูก และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลองุ่นสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลองุ่นสดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็วต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลองุ่นสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียน ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๑.๑ ต้องบรรจุผลองุ่นสดในบรรจุภัณฑ์ซึ่งใหม่และสะอาดเท่านั้น และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนของพืชอื่น เช่น ใบ กิ่งก้าน เมล็ด เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๑.๒ ผลองุ่นสดต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันศัตรูพืชได้ เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยตามหลักการกักกันพืช เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๑.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ผลิตผล หรือผลผลิตของเกาหลี - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๑.๔ ในกรณีส่งออกผลองุ่นสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางในตู้ขนส่งสินค้าอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๑.๕ ผลองุ่นสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๒ การตรวจส่งออก ๑๒.๑ ต้องตรวจสอบผลองุ่นสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการและต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๒.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) หรือปฏิเสธการส่งออก ข้อ ๑๓ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๓.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วยโดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of table grape fruit was produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of table grape fruit from Korea to Thailand.” ๑๓.๒ ในกรณีขนส่งทางน้ำต้องระบุหมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๔ การตรวจนำเข้า ๑๔.๑ เมื่อผลองุ่นสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๔.๒ สินค้าที่ส่งมอบทั้งหมดต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต อาการของโรคพืช เมล็ดพืชที่ปนเปื้อน ดิน ขยะ และเศษซากอื่น ๆ เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๔.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลองุ่นสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๔.๔ ถ้ามีผลองุ่นสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ หน่วย (พวงองุ่น) ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ หน่วย (พวงองุ่น) หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ หน่วย (พวงองุ่น) ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ หน่วย (พวงองุ่น) ๑๔.๕ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการตรวจนำเข้าผลองุ่นสด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๔.๖ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๔.๗ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลองุ่นสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๔.๗.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๔.๗.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๔.๗.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๕ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๕.๑ การส่งออกผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐเกาหลีไปยังราชอาณาจักรไทยจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกของสาธารณรัฐเกาหลีแล้วเท่านั้น โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๕.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้าหรือการนำเข้าไม่เป็นไปตามที่กำหนด กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐเกาหลี แล้วแต่กรณี ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นาเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เอกสารแนบท้าย ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐเกาหลีแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พัชรภรณ์/จัดทำ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๙ ง/หน้า ๒๖/๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
814486
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลสตรอเบอรี่สดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลีเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลี ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลสตรอเบอรี่สด (strawberry, Fragaria x ananassa) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลสตรอเบอรี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลีปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สาธารณรัฐเกาหลี คือ Animal and Plant Quarantine Agency (APQA) ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลสตรอเบอรี่สดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐเกาหลีไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลสตรอเบอรี่สดต้องเป็นผลผลิตจากสาธารณรัฐเกาหลีและมาจากพื้นที่ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลสตรอเบอรี่สดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๙.๓ เกษตรกรต้องเก็บรักษาบันทึกการบริหารจัดการ การติดตามประชากรศัตรูพืชและการควบคุมศัตรูพืชที่ดำเนินการในสวนที่จดทะเบียนตลอดฤดูกาลปลูก และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลสตรอเบอรี่สดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลสตรอเบอรี่สดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็วต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลสตรอเบอรี่สดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียน ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๑.๑ ต้องบรรจุผลสตรอเบอรี่สดในบรรจุภัณฑ์ซึ่งใหม่และสะอาดเท่านั้น และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนของพืชอื่น เช่น ใบ กิ่งก้าน เมล็ด เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๑.๒ ผลสตรอเบอรี่สดต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันศัตรูพืชได้ เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยตามหลักการกักกันพืช เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๑.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ผลิตผล หรือผลผลิตของเกาหลี - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๑.๔ ในกรณีส่งออกผลสตรอเบอรี่สดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางในตู้ขนส่งสินค้าอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๑.๕ ผลสตรอเบอรี่สดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๒ การตรวจส่งออก ๑๒.๑ ต้องตรวจสอบผลสตรอเบอรี่สดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ และต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๒.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) หรือปฏิเสธการส่งออก ข้อ ๑๓ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๓.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับ มาด้วยโดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of strawberry fruit was produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of strawberry fruit from Korea to Thailand.” ๑๓.๒ ในกรณีขนส่งทางน้ำต้องระบุหมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๔ การตรวจนำเข้า ๑๔.๑ เมื่อผลสตรอเบอรี่สดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๔.๒ สินค้าที่ส่งมอบทั้งหมดต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต อาการของโรคพืช เมล็ดพืชที่ปนเปื้อน ดิน ขยะ และเศษซากอื่น ๆ เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๔.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลสตรอเบอรี่สดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๔.๔ ถ้ามีผลสตรอเบอรี่สดจานวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๔.๕ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการตรวจนำเข้าผลสตรอเบอรี่สด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๔.๖ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๔.๗ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลสตรอเบอรี่สดกลับหรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๔.๗.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๔.๗.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๔.๗.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๕ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๕.๑ การส่งออกผลสตรอเบอรี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลีไปยังราชอาณาจักรไทยจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกของสาธารณรัฐเกาหลีแล้วเท่านั้น โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๕.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้าหรือการนำเข้าไม่เป็นไปตามที่กำหนด กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐเกาหลี แล้วแต่กรณี ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เอกสารแนบท้าย ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลสตรอเบอรี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลีแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พัชรภรณ์/จัดทำ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๙ ง/หน้า ๒๑/๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
814482
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลพลับสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลพลับสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลพลับสดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลีเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลพลับสดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลี ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลพลับสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลพลับสด (persimmon, Diospyros kaki) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสาหรับผลพลับสดจากสาธารณรัฐเกาหลีปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สาธารณรัฐเก หลี คือ Animal and Plant Quarantine Agency (APQA) ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลพลับสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐเกาหลีไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลพลับสดต้องเป็นผลผลิตจากสาธารณรัฐเกาหลีและมาจากพื้นที่ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลพลับสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๙.๓ เกษตรกรต้องเก็บรักษาบันทึกการบริหารจัดการ การติดตามประชากรศัตรูพืชและการควบคุมศัตรูพืชที่ดำเนินการในสวนที่จดทะเบียนตลอดฤดูกาลปลูก และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลพลับสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลพลับสดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็วต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตร เมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลพลับสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียน ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๑.๑ ต้องบรรจุผลพลับสดในบรรจุภัณฑ์ซึ่งใหม่และสะอาดเท่านั้น และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนของพืชอื่น เช่น ใบ กิ่งก้าน เมล็ด เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๑.๒ ผลพลับสดต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันศัตรูพืชได้ เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยตามหลักการกักกันพืช เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๑.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ผลิตผล หรือผลผลิตของเกาหลี - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๑.๔ ในกรณีส่งออกผลพลับสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางในตู้ขนส่งสินค้าอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๑.๕ ผลพลับสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๒ การตรวจส่งออก ๑๒.๑ ต้องตรวจสอบผลพลับสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ และต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๒.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) หรือปฏิเสธการส่งออก ข้อ ๑๓ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๓.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วยโดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of persimmon fruit was produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of persimmon fruit from Korea to Thailand.” ๑๓.๒ ในกรณีขนส่งทางน้ำต้องระบุหมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๔ การตรวจนำเข้า ๑๔.๑ เมื่อผลพลับสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๔.๒ สินค้าที่ส่งมอบทั้งหมดต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต อาการของโรคพืช เมล็ดพืชที่ปนเปื้อน ดิน ขยะ และเศษซากอื่น ๆ เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๔.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลพลับสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๔.๔ ถ้ามีผลพลับสดจานวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๔.๕ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการตรวจนำเข้าผลพลับสด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๔.๖ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๔.๗ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลพลับสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๔.๗.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๔.๗.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๔.๗.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๕ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๕.๑ การส่งออกผลพลับสดจากสาธารณรัฐเกาหลีไปยังราชอาณาจักรไทยจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกของสาธารณรัฐเกาหลีแล้วเท่านั้น โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๕.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้าหรือการนำเข้าไม่เป็นไปตามที่กำหนดกรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐเกาหลี แล้วแต่กรณี ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เอกสารแนบท้าย ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลพลับสดจากสาธารณรัฐเกาหลีแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลพลับสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พัชรภรณ์/จัดทำ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๙ ง/หน้า ๑๖/๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
816521
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลท้อสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลท้อสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลท้อสดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลีเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลท้อสดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลี ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลท้อสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลท้อสด (peach, Prunus persica) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลท้อสดจากสาธารณรัฐเกาหลีปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สาธารณรัฐเกาหลี คือ Animal and Plant Quarantine Agency (APQA) ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนาเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลท้อสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐเกาหลีไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลท้อสดต้องเป็นผลผลิตจากสาธารณรัฐเกาหลีและมาจากพื้นที่ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลท้อสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๙.๓ เกษตรกรต้องเก็บรักษาบันทึกการบริหารจัดการ การติดตามประชากรศัตรูพืชและการควบคุมศัตรูพืชที่ดำเนินการในสวนที่จดทะเบียนตลอดฤดูกาลปลูก และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลท้อสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลท้อสดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลท้อสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียน ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๑.๑ ต้องบรรจุผลท้อสดในบรรจุภัณฑ์ซึ่งใหม่และสะอาดเท่านั้น และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนของพืชอื่น เช่น ใบ กิ่งก้าน เมล็ด เศษซากพืชเป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๑.๒ ผลท้อสดต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันศัตรูพืชได้ เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยตามหลักการกักกันพืช เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๑.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จาเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ผลิตผล หรือผลผลิตของเกาหลี - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๑.๔ ในกรณีส่งออกผลท้อสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางในตู้ขนส่งสินค้าอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๑.๕ ผลท้อสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๒ การตรวจส่งออก ๑๒.๑ ต้องตรวจสอบผลท้อสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการและต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๒.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) หรือปฏิเสธการส่งออก ข้อ ๑๓ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๓.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับ มาด้วยโดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of peach fruit was produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of peach fruit from Korea to Thailand.” ๑๓.๒ ในกรณีขนส่งทางน้ำต้องระบุหมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๔ การตรวจนำเข้า ๑๔.๑ เมื่อผลท้อสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๔.๒ สินค้าที่ส่งมอบทั้งหมดต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต อาการของโรคพืช เมล็ดพืชที่ปนเปื้อน ดิน ขยะ และเศษซากอื่น ๆ เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๔.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลท้อสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๔.๔ ถ้ามีผลท้อสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๔.๕ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการตรวจนำเข้าผลท้อสด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๔.๖ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๔.๗ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลท้อสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๔.๗.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๔.๗.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๔.๗.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๕ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๕.๑ การส่งออกผลท้อสดจากสาธารณรัฐเกาหลีไปยังราชอาณาจักรไทยจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกของสาธารณรัฐเกาหลีแล้วเท่านั้น โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๕.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้าหรือการนำเข้าไม่เป็นไปตามที่กำหนด กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐเกาหลี แล้วแต่กรณี ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เอกสารแนบท้าย ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลท้อสดจากสาธารณรัฐเกาหลีแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลท้อสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พัชรภรณ์/จัดทำ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๙ ง/หน้า ๑๑/๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
814472
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสาลี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสาลี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลสาลี่สดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลีเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลสาลี่สดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลี ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสาลี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลสาลี่สด (pear, Pyrus pyrifolia) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลสาลี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลีปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สาธารณรัฐเกาหลี คือ Animal and Plant Quarantine Agency (APQA) ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลสาลี่สดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐเกาหลีไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลสาลี่สดต้องเป็นผลผลิตจากสาธารณรัฐเกาหลีและมาจากพื้นที่ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลสาลี่สดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๙.๓ เกษตรกรต้องเก็บรักษาบันทึกการบริหารจัดการ การติดตามประชากรศัตรูพืชและการควบคุมศัตรูพืชที่ดำเนินการในสวนที่จดทะเบียนตลอดฤดูกาลปลูก และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลสาลี่สดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลสาลี่สดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลสาลี่สดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียน ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๑.๑ ต้องบรรจุผลสาลี่สดในบรรจุภัณฑ์ซึ่งใหม่และสะอาดเท่านั้น และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนของพืชอื่น เช่น ใบ กิ่งก้าน เมล็ด เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๑.๒ ผลสาลี่สดต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันศัตรูพืชได้ เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยตามหลักการกักกันพืช เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๑.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ผลิตผล หรือผลผลิตของเกาหลี - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๑.๔ ในกรณีส่งออกผลสาลี่สดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางในตู้ขนส่งสินค้าอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๑.๕ ผลสาลี่สดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๒ การตรวจส่งออก ๑๒.๑ ต้องตรวจสอบผลสาลี่สดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการและต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๒.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) หรือปฏิเสธการส่งออก ข้อ ๑๓ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๓.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วยโดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “ The consignment of pear fruit was produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of pear fruit from Korea to Thailand.” ๑๓.๒ ในกรณีขนส่งทางน้ำ ต้องระบุหมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๔ การตรวจนำเข้า ๑๔.๑ เมื่อผลสาลี่สดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๔.๒ สินค้าที่ส่งมอบทั้งหมดต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต อาการของโรคพืช เมล็ด พืชที่ปนเปื้อน ดิน ขยะ และเศษซากอื่น ๆ เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๔.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลสาลี่สดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๔.๔ ถ้ามีผลสาลี่สดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๔.๕ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการตรวจนำเข้าผลสาลี่สด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๔.๖ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๔.๗ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลสาลี่สดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๔.๗.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๔.๗.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๔.๗.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๕ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๕.๑ การส่งออกผลสาลี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลีไปยังราชอาณาจักรไทย จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกของสาธารณรัฐเกาหลีแล้วเท่านั้น โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๕.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้าหรือการนำเข้าไม่เป็นไปตามที่กำหนด กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐเกาหลี แล้วแต่กรณี ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เอกสารแนบท้าย ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลสาลี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลีแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสาลี่สดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พัชรภรณ์/จัดทำ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๙ ง/หน้า ๖/๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
814466
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปเปิลสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปเปิลสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลแอปเปิลสดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลีเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลแอปเปิลสดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐเกาหลี ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปเปิลสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลแอปเปิลสด (apple, Malus domestica) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลแอปเปิลสดจากสาธารณรัฐเกาหลีปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สาธารณรัฐเกาหลี คือ Animal and Plant Quarantine Agency (APQA) ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลแอปเปิลสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐเกาหลีไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลแอปเปิลสดต้องเป็นผลผลิตจากสาธารณรัฐเกาหลีและมาจากพื้นที่ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลแอปเปิลสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวน โดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๙.๓ เกษตรกรต้องเก็บรักษาบันทึกการบริหารจัดการ การติดตามประชากรศัตรูพืชและการควบคุมศัตรูพืชที่ดำเนินการในสวนที่จดทะเบียนตลอดฤดูกาลปลูก และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลแอปเปิลสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่ กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลแอปเปิลสดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลแอปเปิลสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียน ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๑.๑ ต้องบรรจุผลแอปเปิลสดในบรรจุภัณฑ์ซึ่งใหม่และสะอาดเท่านั้น และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนของพืชอื่น เช่น ใบ กิ่งก้าน เมล็ด เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๑.๒ ผลแอปเปิลสดต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันศัตรูพืชได้ เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยตามหลักการกักกันพืช เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๑.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ผลิตผล หรือผลผลิตของเกาหลี - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๑.๔ ในกรณีส่งออกผลแอปเปิลสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางในตู้ขนส่งสินค้าอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๑.๕ ผลแอปเปิลสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๒ การตรวจส่งออก ๑๒.๑ ต้องตรวจสอบผลแอปเปิลสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ และต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๒.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) หรือปฏิเสธการส่งออก ข้อ ๑๓ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๓.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of apple fruit was produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of apple fruit from Korea to Thailand.” ๑๓.๒ ในกรณีขนส่งทางน้ำต้องระบุหมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๔ การตรวจนำเข้า ๑๔.๑ เมื่อผลแอปเปิลสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๔.๒ สินค้าที่ส่งมอบทั้งหมดต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต อาการของโรคพืช เมล็ดพืชที่ปนเปื้อน ดิน ขยะ และเศษซากอื่น ๆ เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๔.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลแอปเปิลสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๔.๔ ถ้ามีผลแอปเปิลสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจ จำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจ จำนวน ๖๐๐ ผล ๑๔.๕ ในกรณีตรวจพบ ศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการตรวจนำเข้าผลแอปเปิลสด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๔.๖ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๔.๗ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลแอปเปิลสดกลับหรือทำาลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๔.๗.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๔.๗.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๔.๗.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๕ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๕.๑ การส่งออกผลแอปเปิลสดจากสาธารณรัฐเกาหลีไปยังราชอาณาจักรไทยจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกของสาธารณรัฐเกาหลีแล้วเท่านั้น โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๕.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้าหรือการนำเข้าไม่เป็นไปตามที่กำหนดกรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐเกาหลี แล้วแต่กรณี ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐเกาหลีต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เอกสารแนบท้าย ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลแอปเปิลสดจากสาธารณรัฐเกาหลีแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปเปิลสดจากสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. ๒๕๖๑ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พัชรภรณ์/จัดทำ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๓๙ ง/หน้า ๑/๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
811858
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลส้มสดนำเข้าเพื่อการค้าจากญี่ปุ่นเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดเพื่อการค้าจากญี่ปุ่น ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๘ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ข้อ ๔ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลส้มสดที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรไทย ปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลส้มสดจากญี่ปุ่น ปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ข้อ ๖ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๖.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๖.๒ ญี่ปุ่น คือ Plant Protection Division, Food Safety and Consumer Affairs Bureau, Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของญี่ปุ่น ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๗ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๘ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลส้มสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้าหรือทางอากาศ ข้อ ๙ แหล่งปลูก ๙.๑ ผลส้มสดต้องเป็นผลผลิตของญี่ปุ่น และมาจากพื้นที่ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ๙.๒ ถ้า NPPO จดทะเบียนแหล่งปลูกใหม่เพื่อส่งผลส้มสดออกไปยังราชอาณาจักรไทย NPPO ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบพร้อมทั้งให้ข้อมูลของแหล่งปลูกใหม่กรมวิชาการเกษตรต้องดำเนินการตรวจรับรองแหล่งปลูกแห่งใหม่ก่อนที่จะมีการส่งออกส้มไปยังราชอาณาจักรไทย ๙.๓ ผลส้มสดจากแหล่งปลูกเฉพาะที่ปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๓ ท้ายประกาศนี้ ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๑๐.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนเป็นสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกไว้กับ NPPO NPPO ต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนเพื่อการส่งออกต้องมีการบริหารจัดการสวนด้วยการประสานวิธีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพทางด้านกักกันพืช โดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๑๐.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๔ NPPO ต้องมอบบัญชีรายชื่อสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออก ได้แก่ ชื่อเกษตรกร ที่อยู่ และข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ปลูก ให้แก่กรมวิชาการเกษตรล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสองเดือนก่อนเริ่มการส่งออกเป็นประจำทุกปี ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๑.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทย โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องตั้งอยู่ภายในขอบเขตรัศมีการดักจับแมลงของกับดักแกลลอนเท่านั้น NPPO ต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๑.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องนำผลส้มสดมาจากสวนที่จดทะเบียนเพื่อการส่งออกในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๑.๓ ถ้า NPPO จดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้แห่งใหม่ NPPO ต้องแจ้งรายชื่อโรงคัดบรรจุผลไม้นั้นต่อกรมวิชาการเกษตรเพื่อขอความเห็นชอบทันที พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้แห่งใหม่ระหว่างการตรวจปล่อยผลส้มสดก่อนส่งออก ๑๑.๔ การดำเนินการบรรจุผลส้มสดเพื่อส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายนของทุกปี NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียน โรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสองเดือนก่อนเริ่มการส่งออกเป็นประจำทุกปี ๑๑.๕ โรงคัดบรรจุผลไม้แต่ละแห่งต้องมีผู้ปฏิบัติงานด้านวิชาการอย่างน้อย ๑ คน ซึ่งได้รับการอบรมจาก NPPO โดยเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถบอกลักษณะการทำลายของศัตรูพืชบนผลส้มได้ ผู้ปฏิบัติงานด้านวิชาการนี้ต้องดูแลเอาใจใส่ในขั้นตอนการคัดเลือกผลส้มและการคัดออกผลส้มซึ่งสงสัยว่ามีการทำลายของศัตรูพืชกักกัน ตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องเก็บเอกสาร การฝึกอบรมหรือบันทึกการฝึกอบรมของผู้ปฏิบัติงานด้านวิชาการด้วย ๑๑.๖ กรณีที่ผลส้มสดผลิตมาจากสวนส้มซึ่งไม่ได้จดทะเบียนเพื่อการส่งออก แต่มาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาต เมื่อมีการเก็บผลส้มเหล่านี้ไว้ในโรงคัดบรรจุผลไม้เดียวกันกับผลส้มที่มาจากสวนส้มจดทะเบียนเพื่อการส่งออกต้องแยกผลส้มทั้งสองแหล่งออกจากกันและแยกเก็บรักษาไม่ให้ปะปนกัน ต้องไม่ทำการคัดและบรรจุผลส้มสดสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยซึ่งผลิตจากสวนส้มจดทะเบียนเพื่อการส่งออกและผลส้มอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน ข้อ ๑๒ ข้อกำหนดสำหรับศัตรูพืชกักกัน ๑๒.๑ แมลงวันผลไม้ citrus fruit fly (Bactrocera tsuneonis) ผลส้มสดจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องจัดการความเสี่ยงแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ดังนี้ ผลส้มสดต้องมาจากแหล่งผลิตผลส้มปลอดแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis และต้องอยู่ภายใต้ระบบการสำรวจแบบติดตามที่เห็นชอบร่วมกันระหว่าง NPPO และกรมวิชาการเกษตร ๑๒.๒ เชื้อรา Elsinoë australis สาเหตุโรค sweet orange scab ผลส้มสดจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องจัดการความเสี่ยงเชื้อรา Elsinoë australis ข้อ ๑๓ มาตรการจัดการสำหรับแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ๑๓.๑ สวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกซึ่งเป็นแหล่งสำหรับผลส้มสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องมีระบบการสำรวจแบบติดตามแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สวนดังกล่าวปลอดจากแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ๑๓.๒ NPPO ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบทันที หากพบแมลงวันผลไม้ชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ๑๓.๓ การสำรวจแบบติดตามต้องดำเนินการโดยใช้กับดักแกลลอน (gallon rap) และการสำรวจผลส้ม ๑๓.๓.๑ การสำรวจโดยใช้กับดักแกลลอน (๑) ระยะเวลาการสำรวจคือจากวันที่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนี้จะครอบคลุมช่วงเวลาของระยะตัวเต็มวัยของแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ซึ่งจะอยู่ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน (๒) กับดักแกลลอนต้องวางให้คลุมพื้นที่ทุก ๆ ๑ ตารางกิโลเมตร ในแหล่งที่ปลูกส้มและพื้นที่ใกล้เคียง (๓) กับดักแกลลอนจะใช้โปรตีนไฮโดรไลเซท (protein hydrolyzate) (โปรตีนในรูปของแข็งอัตราร้อยละ ๑.๕ - ๒.๐) และสารฆ่าแมลงวาโพนา® ซึ่งมีไดคลอร์วอส (Dichlorvos, DDVP) เป็นสารออกฤทธิ์ ในอัตราร้อยละ ๑๘.๖ (๔) เจ้าหน้าที่ของ NPPO ต้องตรวจกับดักแกลลอนทุก ๆ สองสัปดาห์และต้องเปลี่ยนโปรตีนไฮโดรไลเซททุก ๆ สองสัปดาห์ และสารฆ่าแมลงทุก ๆ สี่สัปดาห์ ๑๓.๓.๒ การสำรวจผลส้ม เจ้าหน้าที่ของ NPPO ต้องสำรวจผลส้มในช่วงเวลาตามที่กำหนดในข้อ ๑๓.๓.๑ (๑) และตรวจดูผลส้มที่ร่วงหล่นหรือผลส้มที่เปลี่ยนสีว่ามีสาเหตุมาจากการทำลายของแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis หรือไม่ ๑๓.๔ NPPO ต้องมอบข้อมูลการสำรวจแบบติดตามแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis รวมถึงจำนวนและสถานที่ที่ติดตั้งกับดัก ข้อมูลแมลงวันผลไม้ชนิดอื่น ๆ และแมลงชนิดอื่น ๆ ที่ติดในกับดัก และข้อมูลการสำรวจผลส้มให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรสำหรับตรวจสอบระหว่างการตรวจปล่อยผลส้มสดก่อนส่งออก ๑๓.๕ กรณีตรวจไม่พบแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ระหว่างระยะเวลาการสำรวจแบบติดตาม ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้ ๑๓.๕.๑ สวนจะได้รับการจดทะเบียนโดย NPPO ให้เป็นสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกสำหรับที่จะส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทย ๑๓.๕.๒ สวนที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกมีสิทธิที่จะส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทยตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ของปีถัดไปตามปีปฏิทินซึ่งได้พิจารณาแล้วถือว่าเป็นปีส่งออก ๑๓.๕.๓ ผลส้มสดซึ่งเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน และหลังจากวันนี้ ไปจากสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทย ๑๓.๖ กรณีตรวจพบแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ระหว่างระยะเวลาการสำรวจแบบติดตาม ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้ สวนทุกสวนซึ่งอยู่ในแหล่งปลูกตามเอกสารหมายเลข ๓ ต้องห้ามส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทยในปีส่งออก ข้อ ๑๔ มาตรการจัดการสำหรับเชื้อรา Elsinoë australis ๑๔.๑ ผลส้มต้องเป็นผลผลิตที่มาจากแปลงปลูกที่มีการพ่นสารกาจัดเชื้อรา Elsinoë australis ในเวลาที่เหมาะสม ๑๔.๒ ต้องมีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการในสวนระหว่างฤดูการผลิตว่าพบเชื้อรา Elsinoë australis บนผลส้มหรือไม่ ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis จะต้องส่งตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อและจำแนกชนิดเชื้อสาเหตุในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อรา Elsinoë australis NPPO ต้องปฏิเสธการรับรองสวนที่พบเชื้อราเข้าทำลายสำหรับส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยในปีที่ส่งออก ๑๔.๓ เมื่อผลส้มมาถึงโรงคัดบรรจุผลไม้จะทำการคัดแยกและเก็บผลส้ม เพื่อตรวจสอบเชื้อรา Elsinoë australis ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis จะต้องส่งตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อและจำแนกชนิดเชื้อสาเหตุในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อรา Elsinoë australis ผลส้มที่มาจากสวนที่พบเชื้อเข้าทำลายจะถูกปฏิเสธสำหรับส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยในปีที่ส่งออก ๑๔.๔ ในขั้นตอนการคัดแยกผลไม้ในโรงคัดบรรจุผลไม้ ผลส้มสดต้องผ่านการทำความสะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อนออก เช่น การล้าง แปรง หรือวิธีการอื่น ๆ และฆ่าเชื้อที่ผิวด้วยสารเคมี อย่างน้อย ๑ วิธีการ ดังต่อไปนี้ ๑๔.๔.๑ ทำให้ผลไม้เปียกอย่างทั่วถึงด้วยสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite) ความเข้มข้น ๒๐๐ ส่วนในล้านส่วน ที่ความเป็นกรดด่าง ๖.๐ - ๗.๕ อย่างน้อย ๒ นาที ๑๔.๔.๒ ทำให้ผลไม้เปียกอย่างทั่วถึงด้วยสารละลายที่มีโซเดียม โอ – ฟีนิลฟีเนต (sodium o - phenyl phenate) ที่ความเข้มข้นร้อยละ ๑.๘๖ - ๒.๐๐ ของสารละลายทั้งหมด ถ้าสารละลายนั้น มีฟองที่เกิดจากสบู่หรือสารซักฟอกเห็นได้ชัดเจน ให้ทาให้เปียกนาน ๔๕ วินาที ถ้าสารละลายนั้นไม่มีฟองพอที่จะมองเห็นได้ ให้ทาให้เปียกนาน ๑ นาที ๑๔.๔.๓ ทำให้ผลไม้เปียกอย่างทั่วถึงด้วยสารละลายกรดเพอร์ออกซีอะซีติก (peroxyacetic acid) ความเข้มข้น ๘๕ ส่วนในล้านส่วน อย่างน้อย ๑ นาที ๑๔.๕ ผลส้มสดต้องผ่านกรรมวิธีกาจัดศัตรูพืชในระหว่างการบรรจุด้วยสารอย่างใดอย่างหนึ่งตามวิธีการที่ระบุบนฉลากดังนี้ ๑๔.๕.๑ อิมาซาลิล (imazalil) ๑๔.๕.๒ ไทอะเบนดาโซล (thiabendazole) ๑๔.๖ ผลส้มสดต้องผ่านการเคลือบผิว (waxed) ๑๔.๗ กรรมวิธีใด ๆ ในข้อ ๑๔.๕ ที่ดำเนินการก่อนการส่งสินค้า ต้องระบุรายละเอียดในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๕ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๕.๑ บรรจุภัณฑ์ทำด้วยกระดาษลูกฟูกซึ่งอาจผลิตจากวัสดุใหม่หรือแปรใช้ใหม่โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องสะอาดและใหม่เท่านั้น ๑๕.๒ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ซึ่งต้องไม่มีการปะปนของ ดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนาพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๕.๓ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ซึ่งไม่มีรูเปิด หรือต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์เมื่อปิดสนิทแล้ว ต้องปิดช่องระบายอากาศทั้งหมดบนบรรจุภัณฑ์ด้วยตาข่าย ขนาดของตาข่ายแต่ละรูต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๑.๖ มิลลิเมตร ๑๕.๔ ผลส้มสดที่จะส่งออกแต่ยังไม่ได้มีการขนย้ายเข้าตู้ขนส่งสินค้าในทันที ต้องมีการจัดการและควบคุมความปลอดภัยจากศัตรูพืชกับผลส้มสดเหล่านี้ และต้องเก็บรักษาผลส้มสดดังกล่าวแยกจากผลส้มอื่น ๆ ภายในห้องเย็น จนกว่าจะมีการขนย้ายเข้าสู่ตู้บรรทุกสินค้า โดยต้องดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ NPPO ๑๕.๕ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ประเทศแหล่งกำเนิด (เช่น ผลิตผลของญี่ปุ่น ผลผลิตของญี่ปุ่น เป็นต้น) - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ ได้แก่ สกุล ชนิด และพันธุ์ - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๕.๖ ในกรณีส่งออกผลส้มสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกันต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีส่งออกโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวาง อนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๕.๗ ผลส้มสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๖ การตรวจส่งออก ๑๖.๑ NPPO ต้องส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึงกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอให้กรมวิชาการเกษตรจัดส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อการตรวจปล่อยผลส้มสดก่อนส่งออก โดยต้องส่งหนังสือดังกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนก่อนเริ่มการส่งออกเป็นประจำทุกปี (วันที่ ๑ พฤศจิกายนของทุกปี) และญี่ปุ่นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ๑๖.๒ ก่อนเริ่มการตรวจรับรองผลส้มสดสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทย พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรต้องตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ และตรวจสอบข้อมูลการสำรวจแบบติดตามแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ตามข้อกำหนดข้อ ๑๓.๔ ๑๖.๓ เจ้าหน้าที่ของ NPPO และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรต้องร่วมกันตรวจสอบผลส้มสด ถ้ามีผลส้มสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๖.๔ ผลส้มสดสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ๑๖.๕ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ต้องดำเนินการตามมาตรการ ดังต่อไปนี้ ๑๖.๕.๑ แมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis (๑) ต้องปฏิเสธการส่งออกผลส้มสดทั้งหมดไปยังราชอาณาจักรไทย แต่อย่างไรก็ตาม ผลส้มสดที่ได้ผ่านการตรวจส่งออกและได้รับใบรับรองสุขอนามัยพืชแล้ว ยังได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ (๒) กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจให้ NPPO ทราบและระงับการนำเข้าโดยทันที (๓) เจ้าหน้าที่ของ NPPO และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรต้องร่วมกันตรวจสอบหาสาเหตุของการเข้าทำลาย (๔) NPPO ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบโดยทันทีเกี่ยวกับสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเสนอมาตรการแก้ไข กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้าเมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุและมีการดาเนินมาตรการแก้ไข จนเป็นที่ยอมรับของกรมวิชาการเกษตร ๑๖.๕.๒ Elsinoë australis ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis จะต้องส่งตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อและจำแนกชนิดเชื้อสาเหตุในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อรา Elsinoë australis NPPO ต้องปฏิเสธการรับรองสินค้าที่ส่งมอบสำหรับส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยในปีที่ส่งออกต้องไม่ส่งออกสินค้าดังกล่าวจนกว่าการทดสอบในห้องปฏิบัติการจะเสร็จสิ้น ๑๖.๕.๓ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันชนิดอื่น ๆ ที่มีชีวิตนอกเหนือจาก Bactrocera tsuneonis และ Elsinoë australis ผลส้มสดทั้งหมดจะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นให้หมดสิ้นแล้ว ๑๖.๖ ในกรณีตรวจไม่พบศัตรูพืชกักกันตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ เจ้าหน้าที่ของ NPPO จะออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะลงนามบนพื้นที่ว่างของใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๗ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๗.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of citrus fruit was produced in (designated production area) and prepared for export in accordance with the conditions for import of citrus fruit from Japan to Thailand.” และ “ The fruit in this consignment was undergone surface sterilization and fungicide treatment.” ๑๗.๒ ต้องระบุชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อพันธุ์ของส้ม หมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขตู้ขนส่งสินค้า (สำหรับการขนส่งทางน้ำ) ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๘ การตรวจนำเข้า ๑๘.๑ เมื่อผลส้มสดถูกขนส่งมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าผลส้มสดจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๘.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลส้มสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิด และต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๘.๓ ถ้ามีผลส้มสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๘.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ระหว่างการตรวจนำเข้าผลส้มสด ต้องดำเนินการตามมาตรการ ดังต่อไปนี้ ๑๘.๔.๑ แมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis (๑) ถ้าพบแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ที่มีชีวิตต้องส่งกลับหรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจให้ NPPO ทราบและระงับการนำเข้าโดยทันที (๒) NPPO ต้องตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีและเสนอมาตรการแก้ไข กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้า เมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุและมีการดาเนินมาตรการแก้ไขจนเป็นที่ยอมรับของกรมวิชาการเกษตร ๑๘.๔.๒ Elsinoë australis (๑) ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis จะต้องส่งตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อและจำแนกชนิดเชื้อสาเหตุในห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อรา Elsinoë australis สินค้าที่พบเชื้อเข้าทำลายต้องส่งกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและไม่นำเข้าสินค้าจนกว่าผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการจะเสร็จสิ้น (๒) กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจให้ NPPO ทราบโดยทันที หลังจากนั้น NPPO ต้องระงับการให้การรับรองผลส้มสดจากสวนที่พบเชื้อรา Elsinoë australis เข้าทำลายเพื่อส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยตลอดฤดูกาลส่งออกนั้น (๓) ผลส้มสดจากสวนที่ตรวจพบเชื้อรา Elsinoë australis ซึ่งอยู่ระหว่างขนส่งจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรไทย ๑๘.๔.๓ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันชนิดอื่น ๆ ที่มีชีวิตนอกเหนือจาก Bactrocera tsuneonis และ Elsinoë australis ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๘.๕ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าจากช่องทางการนำเข้านั้นเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ข้อ ๑๙ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๙.๑ การส่งออกผลส้มสดจากแหล่งปลูกตามข้อ ๙ ในญี่ปุ่นไปยังราชอาณาจักรไทยจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกแล้วเท่านั้น โดยญี่ปุ่นต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๙.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็น อาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในญี่ปุ่นก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยญี่ปุ่นต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อชนิดส้ม แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๖๑ (เอกสารหมายเลข ๑) ๒. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลส้มสดจากญี่ปุ่น แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๖๑ (เอกสารหมายเลข ๒) ๓. แหล่งปลูกส้มที่ได้รับอนุญาต แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๖๑ (เอกสารหมายเลข ๓) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปวันวิทย์/จัดทำ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๒๐๖ ง/หน้า ๑๐/๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๑
809591
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเชอรี่สดจากราชอาณาจักรสเปน พ.ศ. 2561
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเชอรี่สดจากราชอาณาจักรสเปน พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลเชอรี่สดนำเข้าเพื่อการค้าจากราชอาณาจักรสเปนเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๕ ประกอบกับมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลเชอรี่สดเพื่อการค้าจากราชอาณาจักรสเปน ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเชอรี่สดจากราชอาณาจักรสเปน พ.ศ. ๒๕๖๑” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลเชอรี่สด (cherry, Prunus avium) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลเชอรี่สดจากราชอาณาจักรสเปนปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ ราชอาณาจักรสเปน คือ Ministry of Agriculture and Fisheries, Food and Environment (Ministerio de Agricultura y Pesca, Alimentación y Medio Ambiente) ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรสเปน ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลเชอรี่สดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรสเปนไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลเชอรี่สดต้องเป็นผลผลิตจากราชอาณาจักรสเปนและมาจากพื้นที่ ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลเชอรี่สดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO ภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๙.๓ เกษตรกรต้องเก็บรักษาบันทึกการบริหารจัดการ การติดตามประชากรศัตรูพืชและการควบคุมศัตรูพืชที่ดำเนินการในสวนที่จดทะเบียนตลอดฤดูกาลปลูก และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลเชอรี่สดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลเชอรี่สดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็วต้องเก็บบันทึกรายชื่อเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ NPPO และกรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออกเพื่อกำจัดศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนเท่านั้น ๑๐.๖ การตรวจผลเชอรี่สดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนเท่านั้น ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับแมลงศัตรูพืชกักกัน ผลเชอรี่สดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องจัดการความเสี่ยงแมลง Mediterranean fruit fly (Ceratitis capitata) ด้วยวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น ข้อ ๑๒ มาตรการจัดการสำหรับแมลงวันผลไม้ Ceratitis capitata ผลเชอรี่สดต้องผ่านวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นที่อุณหภูมิและระยะเวลาต่อไปนี้ เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ Ceratitis capitate อุณหภูมิตรงบริเวณกึ่งกลางผล ระยะเวลา (จำนวนวันติดต่อกัน) ๑.๑๑ องศาเซลเซียส (๓๔ องศาฟาเรนไฮต์) หรือต่ำกว่า ๑๔ วัน หรือมากกว่า ๑.๖๗ องศาเซลเซียส (๓๕ องศาฟาเรนไฮต์) หรือต่ำกว่า ๑๖ วัน หรือมากกว่า ๒.๒๒ องศาเซลเซียส (๓๖ องศาฟาเรนไฮต์) หรือต่ำกว่า ๑๘ วัน หรือมากกว่า ข้อ ๑๓ ข้อกำหนดสำหรับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น ๑๓.๑ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นสามารถดำเนินการได้ทั้งก่อนส่งออกหรือระหว่างขนส่ง สำหรับการดำเนินการระหว่างขนส่งนั้น อาจจะดำเนินการเพียงบางส่วนก่อนส่งออกโดยเริ่มต้นดำเนินการในราชอาณาจักรสเปนและเสร็จสิ้นสมบูรณ์ระหว่างขนส่ง ในกรณีที่การดำเนินการระหว่างขนส่งเกิดล้มเหลว อาจจะดำเนินการต่อให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้เมื่อสินค้านั้นถึงจุดหมายปลายทาง ๑๓.๒ การประเมินผลสำเร็จของการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นทั้งกรณีก่อนส่งออกและระหว่างขนส่ง จะประเมินจากอุณหภูมิของแท่งวัดอุณหภูมิผลไม้เท่านั้น ๑๓.๓ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออก ๑๓.๓.๑ ต้องดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ NPPO โดยต้องดำเนินการในห้องเย็นกำจัดศัตรูพืชซึ่งได้รับการรับรองจาก NPPO และกรมวิชาการเกษตร ผลเชอรี่สดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยอาจทำการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นควบคู่ไปพร้อมกับผลเชอรี่สดที่ส่งออกไปยังประเทศอื่นได้ ๑๓.๓.๒ ถ้าผลเชอรี่สดต้องผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออก NPPO ต้องมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ๑๓.๔ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่ง ๑๓.๔.๑ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งเป็นการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นโดยดำเนินการในตู้ขนส่งสินค้าระหว่างขนส่งสินค้า ๑๓.๔.๒ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งซึ่งดำเนินการในตู้ขนส่งสินค้านั้น อาจจะเริ่มต้นกระบวนการตั้งแต่ตู้ขนส่งสินค้าอยู่บนบกและเสร็จสิ้นในช่วงระหว่างขนส่งหรือเสร็จสิ้นเมื่อตู้ขนส่งสินค้าไปถึงปลายทาง ๑๓.๔.๓ การส่งออกผลเชอรี่สดซึ่งต้องผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งนั้น ต้องลดอุณหภูมิผลตรงบริเวณกึ่งกลางผลให้ต่ำลงถึงระดับเดียวกันกับหรือต่ำกว่าอุณหภูมิเป้าหมายที่กำหนดสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้เป็นการล่วงหน้าก่อนขนถ่ายเข้าตู้ขนส่งสินค้า ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าอุณหภูมิผลได้ลดต่ำลงถึงระดับที่เหมาะสม ก่อนเริ่มต้นกระบวนการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น และต้องรักษาระดับอุณหภูมิผลให้คงที่ติดต่อกันตลอดไป ๑๓.๔.๔ ถ้าผลเชอรี่สดต้องผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่ง NPPO ต้องมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามเอกสารหมายเลข ๓ ท้ายประกาศนี้ นอกจากนี้ต้องมีใบรับรองการเทียบมาตรฐานของแท่งวัดอุณหภูมิตามเอกสารหมายเลข ๔ ท้ายประกาศนี้แนบมาพร้อมกับสินค้าด้วยทุกครั้ง ข้อ ๑๔ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๔.๑ ต้องบรรจุผลเชอรี่สดในบรรจุภัณฑ์ซึ่งใหม่และสะอาดเท่านั้น และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนของพืชอื่น เช่น ใบ กิ่งก้าน เมล็ดเศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๔.๒ ผลเชอรี่สดซึ่งผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออกและส่งออกทางอากาศหรือทางน้ำต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีรู ถ้ามีรูหรือช่องเปิดต้องปิดด้วยผ้าตาข่ายขนาดของตาข่ายแต่ละรูต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ไม่เกิน ๑.๖ มิลลิเมตร เพื่อป้องกันการเข้าไปของแมลงศัตรูพืชกักกัน ๑๔.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ได้แก่ - ผลิตผล หรือ ผลผลิตของสเปน - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญ) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๔.๔ ในกรณีส่งออกผลเชอรี่สดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกันต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีส่งออกโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวาง อนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๔.๕ ผลเชอรี่สดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๕ การตรวจส่งออก NPPO ต้องมั่นใจว่าได้ดำเนินการตามข้อกำหนดต่าง ๆ ของกรมวิชาการเกษตรครบสมบูรณ์แล้ว ก่อนให้การรับรองผลเชอรี่สดส่งออกไปราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้ ๑๕.๑ ได้ดำเนินการตรวจสอบผลเชอรี่สดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ และต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) หรือปฏิเสธการส่งออก ๑๕.๒ ผลเชอรี่สดได้ผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นตามข้อกำหนด ข้อ ๑๒ เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ Ceratitis capitata แล้ว ข้อ ๑๖ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๖.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of cherry fruit was produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of cherry fruit from Spain to Thailand.” ๑๖.๒ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น ๑๖.๒.๑ ถ้าผลเชอรี่สดได้รับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออกต้องระบุรายละเอียดของโรงงานกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น อุณหภูมิ และระยะเวลาที่ใช้ (จำนวนวันที่ต่อเนื่องกัน) ในใบรับรองสุขอนามัยพืชบนส่วนที่เหมาะสม ๑๖.๒.๒ ถ้าผลเชอรี่สดได้รับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งต้องมีต้นฉบับใบรับรองการเทียบมาตรฐานของแท่งวัดอุณหภูมิตามเอกสารหมายเลข ๔ ท้ายประกาศนี้แนบมาพร้อมกับใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๖.๓ ในกรณีขนส่งทางน้ำต้องระบุหมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๗ การตรวจนำเข้า ๑๗.๑ เมื่อผลเชอรี่สดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๗.๒ สินค้าที่ส่งมอบทั้งหมดต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต อาการของโรคพืชเมล็ดพืชที่ปนเปื้อน ดิน ขยะ และเศษซากอื่น ๆ เมื่อมาถึงราชอาณาจักรไทย ๑๗.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลเชอรี่สดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๗.๔ ถ้ามีผลเชอรี่สดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องเก็บตัวอย่างตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๗.๕ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามเอกสารหมายเลข ๑ท้ายประกาศนี้ ระหว่างการตรวจนำเข้าผลเชอรี่สดต้องดำเนินการตามมาตรการ ดังต่อไปนี้ ๑๗.๕.๑ แมลงวันผลไม้ (๑) ถ้าตรวจพบแมลงวันผลไม้ที่มีชีวิต ต้องส่งกลับหรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจให้ NPPO ทราบและระงับการนำเข้าโดยทันที (๒) NPPO ต้องตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีและเสนอมาตรการแก้ไข กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้า เมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุและมีการดำเนินมาตรการแก้ไขจนเป็นที่ยอมรับของกรมวิชาการเกษตร ๑๗.๕.๒ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันชนิดอื่น ๆ ที่มีชีวิตนอกเหนือจากแมลงวันผลไม้ ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๗.๖ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๗.๗ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลเชอรี่สดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๗.๗.๑ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นไม่สมบูรณ์ ๑๗.๗.๒ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๗.๗.๓ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๗.๗.๔ เสียบแท่งวัดอุณหภูมิผลไม้เลยออกนอกผล หรือแท่งวัดอุณหภูมิผลไม้ไม่อยู่ตรงตำแหน่งที่กำหนด หรือผลที่เสียบด้วยแท่งวัดอุณหภูมิเป็นแผลแตกหรือเกิดรอยเปิด ๑๗.๗.๕ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ๑๗.๗.๖ บรรจุภัณฑ์ชำรุด และไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสำหรับการป้องกันแมลง ข้อ ๑๘ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๘.๑ การส่งออกผลเชอรี่สดจากแหล่งปลูกตามข้อ ๘ ในราชอาณาจักรสเปนไปยังราชอาณาจักรไทย จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกของราชอาณาจักรสเปนแล้วเท่านั้น โดยราชอาณาจักรสเปนต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๘.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้าหรือการนำเข้าไม่เป็นไปตามที่กำหนดกรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในราชอาณาจักรสเปน แล้วแต่กรณี ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยราชอาณาจักรสเปนต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลเชอรี่สดจากราชอาณาจักรสเปน แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเชอรี่สดจากราชอาณาจักรสเปน พ.ศ. ๒๕๖๑ (เอกสารหมายเลข ๑) ๒. ข้อกำหนดสำหรับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออก แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเชอรี่สดจากราชอาณาจักรสเปน พ.ศ. ๒๕๖๑ (เอกสารหมายเลข ๒) ๓. ข้อกำหนดสำหรับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่ง แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเชอรี่สดจากราชอาณาจักรสเปน พ.ศ. ๒๕๖๑ (เอกสารหมายเลข ๓) ๔. ใบรับรองการเทียบมาตรฐานของแท่งวัดอุณหภูมิสำหรับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งในตู้ขนส่งสินค้า สำหรับราชอาณาจักรไทย แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลเชอรี่สดจากราชอาณาจักรสเปน พ.ศ. ๒๕๖๑ (เอกสารหมายเลข ๔) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พิมพ์มาดา/จัดทำ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ๑๘๕ ง/หน้า ๑๒/๓ สิงหาคม ๒๕๖๑
789017
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมศัตรูพืช พ.ศ. 2560
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมศัตรูพืช พ.ศ. ๒๕๖๐ ด้วยเกิดการระบาดของศัตรูพืชมะพร้าวในหลายท้องที่ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อพืชผลของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว และทำให้เกิดการขาดแคลนมะพร้าวในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มะพร้าว จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการควบคุมและกำจัดศัตรูพืช อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงออกประกาศเขตควบคุมศัตรูพืชไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมศัตรูพืช พ.ศ. ๒๕๖๐” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ท้องที่ดังต่อไปนี้ เป็นเขตควบคุมศัตรูพืช (๑) ในท้องที่กรุงเทพมหานคร ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๑๑ แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา (ข) แขวงบางมด เขตทุ่งครุ (ค) หมู่ที่ ๖ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน (ง) แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ (จ) แขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงทับยาว แขวงลำปลาทิว แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง (ฉ) หมู่ที่ ๑๔ และหมู่ที่ ๑๕ แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก (๒) ในท้องที่จังหวัดจันทบุรี ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๙ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน (ข) หมู่ที่ ๑ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ (๓) ในท้องที่จังหวัดชลบุรี ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๑๐ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ (ข) หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ ตำบลเขาไม้แก้ว หมู่ที่ ๔ ตำบลตะเคียนเตี้ย หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ ตำบลโป่ง หมู่ที่ ๑๔ ตำบลหนองปรือ หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองปลาไหล หมู่ที่ ๕ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง (ค) หมู่ที่ ๔ ตำบลหนองชาก หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองบอนแดง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๙ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง (ง) หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๖ ตำบลนาป่า หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ ตำบลหนองข้างคอก หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ ตำบลเหมือง อำเภอเมืองชลบุรี (จ) หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๙ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลเขาคันทรง หมู่ที่ ๔ ตำบลบ่อวิน หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลบางพระ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๘ ตำบลบึง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา (ฉ) หมู่ที่ ๕ ตำบลพลูตาหลวง หมู่ที่ ๖ ตำบลนาจอมเทียน หมู่ที่ ๙ ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ (ช) หมู่ที่ ๕ ตำบลมาบโป่ง อำเภอพานทอง (๔) ในท้องที่จังหวัดชุมพร ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๙ ตำบลสวนแตง อำเภอละแม (๕) ในท้องที่จังหวัดนครปฐม ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๘ ตำบลห้วยม่วง หมู่ที่ ๖ ตำบลห้วยหมอนทอง อำเภอกำแพงแสน (ข) หมู่ที่ ๑ ตำบลดอนรวก หมู่ที่ ๕ ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม (ค) หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลไทยาวาส หมู่ที่ ๕ ตำบลศรีมหาโพธิ์ หมู่ที่ ๔ ตำบลศรีษะทอง หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ ตำบลสัมปทวน หมู่ที่ ๓ ตำบลวัดสำโรง อำเภอนครชัยศรี (ง) หมู่ที่ ๘ ตำบลวังตะกู อำเภอเมืองนครปฐม (๖) ในท้องที่จังหวัดนนทบุรี ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๖ ตำบลไทรม้า หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบางกร่าง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลบางรักน้อย หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี (๗) ในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๙ ตำบลกุยเหนือ อำเภอกุยบุรี (ข) หมู่ที่ ๕ ตำบลเขาล้าน หมู่ที่ ๘ ตำบลทับสะแก อำเภอทับสะแก (ค) หมู่ที่ ๑๑ ตำบลเกาะหลัก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ (ง) หมู่ที่ ๕ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน (๘) ในท้องที่จังหวัดพังงา ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๓ ตำบลเกาะคอเขา หมู่ที่ ๒ ตำบลคึกคัก หมู่ที่ ๗ ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า (๙) ในท้องที่จังหวัดระยอง ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๑ ตำบลกร่ำ หมู่ที่ ๖ ตำบลทางเกวียน หมู่ที่ ๒ ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง (ข) หมู่ที่ ๑ ตำบลชากบก หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๙ ตำบลตาขัน หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่าย (ค) หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ ตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง (ง) หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลแกลง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลนาตาขวัญ หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านแลง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๗ ตำบลเพ และตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง (๑๐) ในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๑๐ หมู่ที่ ๑๓ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลบางเสาธง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลศีรษะจระเข้น้อย อำเภอบางเสาธง (ข) หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๙ ตำบลบางกระสอบ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๘ ตำบลบางกอบัว หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๘ ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง (ค) หมู่ที่ ๔ ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ (จ) หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ (๑๑) ในท้องที่จังหวัดสมุทรสาคร ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๑๑ ตำบลคลองมะเดื่อ หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลดอนไก่ดี หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๗ ตำบลท่าเสา หมู่ที่ ๑ ตำบลสวนหลวง หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองนกไข่ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน (ข) หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๙ ตำบลยกกระบัตร หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลโรงเข้ หมู่ที่ ๒ ตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว (ค) หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร (๑๒) ในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๖ ตำบลมะขามเตี้ย หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี (๑๓) ในท้องที่จังหวัดเพชรบุรี ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม (ข) หมู่ที่ ๓ ตำบลนายาง อำเภอชะอำ (ค) หมู่ที่ ๑๐ ตำบลเขากระปุก หมู่ที่ ๑๐ ตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง (๑๔) ในท้องที่จังหวัดราชบุรี ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๒ ตำบลวัดยางงาม อำเภอปากท่อ หมู่ที่ ๒ ตำบลเกาะศาลพระ อำเภอวัดเพลง (๑๕) ในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๖ ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม (๑๖) ในท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๓ ตำบลขนอม อำเภอขนอม (๑๗) ในท้องที่จังหวัดสงขลา ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๒ ตำบลจะแหน อำเภอสะบ้าย้อย (๑๘) ในท้องที่จังหวัดอ่างทอง ดังนี้ (ก) หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ ข้อ ๔ ชนิดศัตรูพืชที่ควบคุม ตามประกาศนี้ ได้แก่ หนอนหัวดำ (Coconut blackheaded caterpillar, Opisina arenosella Walker) ข้อ ๕ ชนิดพืชหรือพาหะที่ควบคุม ตามประกาศนี้ ได้แก่ ทุกส่วนของมะพร้าว (Coconut, Cocos nucifera L.) ข้อ ๖ ให้สถานที่ดังต่อไปนี้เป็นสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น (๑) สถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร รับผิดชอบในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ (๒) สถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี รับผิดชอบในท้องที่จังหวัดจันทบุรี (๓) สถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง รับผิดชอบในท้องที่จังหวัดชลบุรี (๔) สถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี รับผิดชอบในท้องที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี (๕) สถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม รับผิดชอบในท้องที่จังหวัดนครปฐม (๖) สถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี รับผิดชอบในท้องที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (๗) สถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงา รับผิดชอบในท้องที่จังหวัดพังงา (๘) สถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง รับผิดชอบในท้องที่จังหวัดระยอง (๙) สถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี รับผิดชอบในท้องที่จังหวัดสมุทรสาคร ประกาศ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ พิมพ์มาดา/ภวรรณตรี/จัดทำ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ วิชพงษ์/ตรวจ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนพิเศษ ๒๖๑ ง/หน้า ๘/๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๐
764903
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับการส่งออกหน่อไม้ฝรั่งไปสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พ.ศ. 2559
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัย สำหรับการส่งออกหน่อไม้ฝรั่งไปสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พ.ศ. ๒๕๕๙ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ฉ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับการส่งออกหน่อไม้ฝรั่งไปสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองสุขอนามัยสำหรับการส่งออกหน่อไม้ฝรั่ง Asparagus Officinalis L. ไปสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้ปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัย พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๔ ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ให้เป็นไปตามอัตราแนบท้ายประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับการส่งออกหน่อไม้ฝรั่งไปสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พ.ศ. ๒๕๕๙ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ชนิกา/ปริยานุช/จัดทำ ๔ มกราคม ๒๕๖๐ ปริญสินีย์/ตรวจ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๓๐๙ ง/หน้า ๑๖/๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๙
764698
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะม่วงสดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. 2559
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะม่วงสดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๕๙ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลมะม่วงสดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลมะม่วงสดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะม่วงสดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ๓.๑ ผลมะม่วงสด (mango, Mangifera indica) ๓.๒ ผลมะม่วงสดที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรไทย จะมีขั้วผลติดมาได้ ความยาวต้องไม่เกิน ๐.๕ เซนติเมตร ข้อ ๔ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๔.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๔.๒ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม คือ (Plant Protection Department) ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์การอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๕ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๖ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลมะม่วงสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ ข้อ ๗ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๗.๑ สวนที่จะส่งออกผลมะม่วงสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๗.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๗.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๘ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๘.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลมะม่วงสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๘.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลมะม่วงสดมาจากสวนที่จดทะเบียนเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๘.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงานซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๘.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๘.๕ การตรวจผลมะม่วงสดต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียน หรือสถานที่สำหรับการตรวจสอบด้านสุขอนามัยพืชซึ่ง NPPO ให้การรับรองเท่านั้น ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๙.๑ บรรจุภัณฑ์อาจทำด้วยกระดาษลูกฟูก พลาสติก หรือลังไม้แบบต่าง ๆ โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัสดุใหม่หรือแปรใช้ใหม่กรณีที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษหรือพลาสติกบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องสะอาดและใหม่เท่านั้น ๙.๒ ต้องบรรจุผลมะม่วงสดในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด ไม่มีการปะปนของ ดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ นอกจากนี้ ต้องขนส่งโดยยานพาหนะซึ่งส่วนบรรทุกสินค้าปิดมิดชิด ๙.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ประเทศแหล่งกำเนิด - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญ) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุสินค้า - หมายเลขทะเบียนสวน ๙.๔ ในกรณีส่งออกผลมะม่วงสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๙.๕ ผลมะม่วงสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๐ การตรวจส่งออก ต้องสุ่มตรวจผลมะม่วงสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ ข้อ ๑๑ การรับรองสุขอนามัยพืช ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of mango fruit has been produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of mango fruit from Vietnam to Thailand” ข้อ ๑๒ การตรวจนำเข้า ๑๒.๑ เมื่อผลมะม่วงสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทยการตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๒.๒ ผลมะม่วงสดเมื่อมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทยต้องปราศจากศัตรูพืชที่มีชีวิต ถ้าตรวจพบศัตรูพืชที่มีชีวิต จะส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิด และต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๒.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างผลมะม่วงสดและตรวจสอบว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้ามีผลมะม่วงสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๒.๔ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๒.๕ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลมะม่วงสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในกรณีการนำเข้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ข้อ ๑๓ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๓.๑ กรมวิชาการเกษตรขอสงวนสิทธิในการส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกมะม่วง ก่อนอนุญาตให้นำเข้าเป็นการค้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ก็ได้ โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๓.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็น อาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชนิกา/ปริยานุช/จัดทำ ๕ มกราคม ๒๕๖๐ ปริญสินีย์/ตรวจ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๓๐๖ ง/หน้า ๓๒/๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙
763631
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช ออกประกาศกำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะเพิ่มเติมไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้หน่อไม้ฝรั่ง Asparagus officinalis L. เป็นพืชควบคุมเฉพาะ ข้อ ๔ การส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งพืชควบคุมเฉพาะ ตามข้อ ๓ ไปสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ต้องผ่านการตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ข้อ ๕ ชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ที่จะตรวจสอบให้เป็นไปตามท้ายประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อชนิดพืช ประเทศ และเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ แนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปุณิกา/ปริยานุช/จัดทำ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ นุสรา/ตรวจ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๒๘๘ ง/หน้า ๑๙/๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๙
762531
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลชมพู่สดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2559
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช สำหรับการส่งออกผลชมพู่สดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับผลชมพู่สดส่งออกจากไทยไปจีนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบ และกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าผลชมพู่สดจากประเทศไทย โดยผลชมพู่สดต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันที่กำหนดสวนชมพู่ และโรงคัดบรรจุต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้น เพื่อให้การส่งออกผลชมพู่สดเป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลชมพู่สดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในประกาศนี้ “ผลชมพู่สด” หมายความว่า ผลสดของชมพู่ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Syzygium samarangense, rose apple ที่ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน “สวนชมพู่” หมายความว่า สวนชมพู่ที่ผ่านการตรวจประเมินตามระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agricultural Practice: GAP) รวมทั้งการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร. “โรงคัดบรรจุ” หมายความว่า โรงคัดบรรจุผลชมพู่สดที่ผ่านการตรวจรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามระบบการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice: GMP) และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยงานรับรองคุณภาพที่ได้รับการยอมรับและขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร หมวด ๑ การขึ้นทะเบียน ข้อ ๔ สวนชมพู่ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องผ่านการตรวจประเมินมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) รวมทั้งการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร ๔.๑ บุคคลใดประสงค์จะขอรับการตรวจประเมินสวนชมพู่ GAP ให้ยื่นแบบคำขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช (สำหรับรายเดียว) (แบบ F - ๑) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่รับผิดชอบในท้องที่นั้น ตามเงื่อนไขในระเบียบกรมวิชาการเกษตรว่าด้วยการรับรองผลิตพืชตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช พ.ศ. ๒๕๕๕ ๔.๒ สวนชมพู่ที่ขอรับการตรวจประเมิน GAP ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ. ๙๐๐๑ - ๒๕๕๖) โดยกรมวิชาการเกษตรจะออกหนังสือรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับสวนชมพู่ที่ผ่านการตรวจประเมิน GAP ๔.๓ สวนชมพู่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว ต้องเข้ารับการตรวจประเมินด้าน IPM โดยบุคคลใดประสงค์จะขอรับการตรวจประเมินสวนชมพู่ IPM ให้ยื่นคำขอตามแบบ IPM ๐๑ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่รับผิดชอบในท้องที่นั้น ๔.๔ กรมวิชาการเกษตรจะทำการขึ้นทะเบียนให้กับสวนชมพู่ที่ผ่านการตรวจประเมิน GAP และ IPM ข้อ ๕ โรงคัดบรรจุที่ประสงค์จะส่งออกผลชมพู่สดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องผ่านการตรวจรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามระบบการผลิตที่ดี (GMP) และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร ๕.๑ บุคคลใดประสงค์จะขอรับการตรวจสอบรับรองโรงคัดบรรจุผลชมพู่สดตามมาตรฐาน GMP ให้ยื่นคำขอเข้ารับการตรวจสอบรับรองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยงานรับรองคุณภาพที่ได้รับการยอมรับและขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร ๕.๒ โรงคัดบรรจุที่ขอรับการตรวจสอบรับรองตามมาตรฐาน GMP ต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุสินค้าเกษตร (สำหรับผลไม้ที่ต้องระวังศัตรูพืชแมลงวันผลไม้) และมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ชมพู่ (มกษ. ๑๗ - ๒๕๕๔) โดยกรมวิชาการเกษตรจะออกหนังสือรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามระบบการผลิตที่ดี (GMP) ให้กับโรงคัดบรรจุผลชมพู่สดที่ผ่านการตรวจรับรอง ข้อ ๖ กรมวิชาการเกษตรจะส่งรายชื่อการขึ้นทะเบียนของสวนชมพู่และโรงคัดบรรจุให้แก่กระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรค เพื่อพิจารณาเห็นชอบและประกาศในเว็บไซต์ของกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หมวด ๒ การขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๗ ผู้ส่งออกยื่นคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืชตามแบบ พ.ก.๗ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร หรือด่านตรวจพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร พร้อมทั้งส่งสำเนาคำขอ ตามแบบ พ.ก.๗ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่รับผิดชอบในท้องที่นั้น ก่อนวันทำการตรวจพืชไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๘ พนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่รับผิดชอบในท้องที่ ทำการตรวจสอบผลผลิตชมพู่ก่อนส่งไปโรงคัดบรรจุ ณ สวนเกษตรกร ข้อ ๙ พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรสุ่มตรวจผลชมพู่สด ณ โรงคัดบรรจุ ข้อ ๑๐ พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้กับผลชมพู่สดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยระบุข้อความรับรองพิเศษดังนี้ ๑๐.๑ “This consignment is in compliance with the requirements specified in the Protocol on Phytosanitary Requirement for Exporting of Thai Fresh Rose Apple to China and is free from Pests of Quarantine Importance to China” ๑๐.๒ “Rose apple were packed at (ชื่อโรงคัดบรรจุภาษาอังกฤษ) GMP No. (หมายเลขทะเบียน GMP ของโรงคัดบรรจุ) GAP No. (หมายเลขทะเบียน GAP ของสวนชมพู่) ” ข้อ ๑๑ การระงับการส่งออก ๑๑.๑ กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรสุ่มตรวจพบศัตรูพืชกักกันมีชีวิตของจีน หรือพบปัญหาการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ กรมวิชาการเกษตรจะระงับการส่งออกชั่วคราวสวนชมพู่และโรงคัดบรรจุที่เกี่ยวข้อง โดยให้สวนชมพู่และโรงคัดบรรจุนั้นเสนอมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณา เพื่อยกเลิกการระงับการส่งออกชั่วคราว ๑๑.๒ กรณีที่ได้รับการแจ้งเตือนถึงการตรวจพบศัตรูพืชกักกันมีชีวิตของจีน หรือการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืชในการส่งออกผลชมพู่สดไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีนจากกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กรมวิชาการเกษตรจะทำการตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหา และจะใช้มาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะเสนอมาตรการนี้ต่อกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทำการประเมินและพิจารณายกเลิกมาตรการระงับชั่วคราวสวนชมพู่และโรงคัดบรรจุที่เกี่ยวข้อง ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ปริยานุช/จัดทำ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ชนิกา/ตรวจ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๒๗๑ ง/หน้า ๙/๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
762364
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการนำเข้า นำผ่านหรือนำเข้าเพื่อการส่งต่อซึ่งสิ่งต้องห้ามสิ่งกำกัดและสิ่งไม่ต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2559
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้า นำผ่านหรือนำเข้าเพื่อการส่งต่อซึ่งสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัดและสิ่งไม่ต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และโลจิสติกส์ พ.ศ. ๒๕๕๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ และการให้บริการของรัฐที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นมาตรฐาน อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (Agreement to Establish and Implement the ASEAN Single Window) จึงจำเป็นต้องจัดให้มีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window) และกำหนด ให้การขอและการออกใบอนุญาต ใบรับรอง หรือเอกสารอื่นใด เกี่ยวกับการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และโลจิสติกส์ สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ประกอบกับตามข้อ ๕ ของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้มีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดอื่นเพื่อปฏิบัติตามระเบียบนี้ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการเกี่ยวกับการให้บริการออกใบอนุญาตนำเข้า การนำเข้าหรือนำผ่าน หรือนำเข้าเพื่อการส่งต่อ หรือหนังสือสำคัญการดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตรเป็นไปตามระเบียบดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๓๒ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๕ ทวิ มาตรา ๑๕ ตรี มาตรา ๑๕ จัตวา และมาตรา ๑๕ ฉ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการนำเข้าหรือนำผ่าน หรือนำเข้าเพื่อการส่งต่อซึ่งสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัดและสิ่งไม่ต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในประกาศนี้ “ใบอนุญาต” หมายถึง ใบอนุญาตนำสิ่งต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการค้า ใบอนุญาตนำสิ่งต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการทดลองหรือวิจัย บัตรกำกับบนภาชนะบรรจุ สิ่งต้องห้ามเพื่อการทดลองหรือวิจัย ใบอนุญาตนำสิ่งต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อกิจการอื่นที่ไม่ใช่การทดลองหรือวิจัยและการค้า ใบอนุญาตนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสิ่งต้องห้ามบัตรกำกับบนภาชนะบรรจุสำหรับการนำผ่านสิ่งต้องห้าม หนังสืออนุญาตให้นำสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือสิ่งไม่ต้องห้ามออกไปจากด่านตรวจพืช สถานกักพืช ยานพาหนะ หรือสถานที่ใด ๆ หรือหนังสือสำคัญการดำเนินการใด ๆ และโลจิสติกส์ และให้หมายความรวมถึงใบรับรองหรือเอกสารอื่นใดที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ออกให้ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อการนำเข้าหรือนำผ่าน หรือนำเข้าเพื่อการส่งต่อ และโลจิสติกส์ “หนังสือสำคัญการดำเนินการ” หมายถึง ใบแจ้งการนำเข้าสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้าม ใบแจ้งการนำผ่านสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้าม ใบแจ้งการนำเข้าและการส่งต่อสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้าม ใบแจ้งการกักสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้าม ใบแจ้งการยึด สิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้าม ใบแจ้งให้จัดการกับสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้ามหรือเอกสารอื่นใดที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ออกให้ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ไม่ใช่ใบอนุญาต “รายการสินค้า” หมายความว่า ชื่อหรือคำอธิบายของสินค้า (Description) ตามพิกัดศุลกากรและรหัสสถิติ “รหัสพิกัดศุลกากรและรหัสสถิติ” หมายความว่า รหัสพิกัดศุลกากรซึ่งประกอบด้วยตอน ประเภทของประเภทย่อย และรหัสสถิติของสินค้า ข้อ ๔ ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตหรือหนังสือสำคัญการดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมสามารถดำเนินการได้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อีกวิธีการหนึ่งในการขอรับใบอนุญาตหรือหนังสือสำคัญการดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้นั้นต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในระบบทะเบียนผู้ประกอบการ (Registration-Database) ไว้กับกรมวิชาการเกษตร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ข้อ ๕ ผู้ประกอบการตามข้อ ๔ ที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตหรือหนังสือสำคัญดำเนินการต้องนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องครบถ้วน และเป็นจริงทุกประการ ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติไม่ครบถ้วน กรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (๒) สินค้าหรือรายการที่ระบุในใบอนุญาตหรือหนังสือสำคัญการดำเนินการที่ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ประกาศ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น (ถ้ามี) (๓) หลักฐานการขอใบอนุญาต หรือการขอหนังสือสำคัญการดำเนินการไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถขอเอกสารเพิ่มเติม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวก หรือให้คำชี้แจงแก่เจ้าหน้าที่ตามสมควร หากไม่ให้ความร่วมมือ หรือคำชี้แจงแก่เจ้าหน้าที่ตามที่ร้องขอในข้างต้น ให้สันนิษฐานว่าสินค้าที่ยื่นขอใบอนุญาตหรือการขอหนังสือสำคัญการดำเนินการนั้น ไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ (๔) ในวันขอรับใบอนุญาตหรือหนังสือสำคัญการดำเนินการ ผู้ประกอบการหรือตัวแทนผู้ประกอบการต้องส่งมอบเอกสารที่ใช้ประกอบการขอใบอนุญาตหรือหนังสือสำคัญการดำเนินการแต่ละฉบับตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด เว้นแต่ ในกรณีที่ผู้ประกอบการจัดส่งข้อมูลและหลักฐานในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยมีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ ๖ ผู้ประกอบการผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาต หรือหนังสือสำคัญการดำเนินการตามกฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบจะต้องระบุรหัสพิกัดศุลกากรและรหัสสถิติรายการสินค้าตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๗ การนำเข้า หรือการนำผ่าน ณ ด่านตรวจพืช ผู้ประกอบการหรือตัวแทนผู้ประกอบการต้องแจ้งการนำเข้า หรือการนำผ่าน หรือนำเข้าเพื่อการส่งต่อผ่านระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National - Single- Window) โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในเวลาราชการ หรือตามเวลาทำการของด่านตรวจพืช ข้อ ๘ กรณีที่มีเหตุขัดข้องทำให้กรมวิชาการเกษตรไม่สามารถดำเนินการออกใบอนุญาต หรือหนังสือสำคัญการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศนี้ได้ ให้ผู้อำนวยการสำนักหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ออกใบอนุญาตหรือหนังสือสำคัญการดำเนินการ เป็นผู้พิจารณาดำเนินการโดยวิธีการอื่น ข้อ ๙ กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในประกาศนี้ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรวินิจฉัย ข้อ ๑๐ บรรดาประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งอื่น ในส่วนที่ได้กำหนดไว้แล้วในประกาศนี้หรือซึ่งขัดแย้งกับความในประกาศนี้ ให้ใช้ประกาศนี้แทน ข้อ ๑๑ ผู้ประกอบการที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ ให้ความเป็นสมาชิกภาพดำรงอยู่จนกว่าจะหมดอายุทะเบียน ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีรายชื่อ พิกัดศุลกากร และรหัสสถิติสินค้าพืชที่จะเชื่อมโยงการนำเข้า นำผ่าน ๑๐๐% วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ชนิกา/ตรวจ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๒๖๙ ง/หน้า ๓๑/๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
762226
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2559
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๙ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์พิทูเนียนำเข้าเพื่อการค้าจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เพื่อเพาะปลูก ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต พิทูเนีย (petunia, Petunia spp.) ตามประกาศนี้ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์พิทูเนีย (petunia seeds) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ คือ Ministry of Economic Affairs, Netherlands Food and Consumer Product Safety Authority ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งเมล็ดพันธุ์พิทูเนียมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าทางอากาศหรือทางน้ำ ข้อ ๘ ข้อกำหนดสำหรับการนำเข้า ๘.๑ ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน ที่หน่วยงานราชการให้การรับรองว่าเมล็ดพันธุ์พิทูเนีย ที่ได้รับอนุญาตนำเข้ามิใช่พืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม ๘.๒ ต้องไม่มีการปะปนของดิน ทราย แมลงที่มีชีวิต วัชพืช เมล็ดพืชอื่นหรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับศัตรูพืชกักกัน ๙.๑ เมล็ดพันธุ์พิทูเนียต้องมาจากต้นพิทูเนีย ซึ่งผ่านการตรวจสอบในช่วงระหว่างการเจริญเติบโต โดยเก็บตัวอย่างต้นพืชหรือเมล็ดเพื่อตรวจสอบยืนยันในห้องปฏิบัติการของ NPPO หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก NPPO ว่าปราศจากศัตรูพืชกักกัน Verticillium albo - atrum, Pseudomonas viridiflava, Rhodococcus fascians, Alfalfa mosaic virus, Arabis mosaic virus, Raspberry ringspot virus, Tobacco ringspot virus, Tomato black ring virus, Tomato spotted wilt virus, Chrysanthemum stunt viroid และ Tomato chlorotic dwarf viroid ๙.๒ ต้องกำจัดศัตรูพืชด้วยกรรมวิธีดังต่อไปนี้ คลุกด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไทแรม (thiram) สารออกฤทธิ์ในอัตราร้อยละ ๐.๒ หรือสารป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าโดยได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรก่อน ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ใหม่ สะอาด แข็งแรง ปิดสนิท และสามารถป้องกันการปนเปื้อนของสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากภายนอกได้ในระหว่างการส่งสินค้า ข้อ ๑๑ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๑.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “Petunia seeds were derived from the plants those were inspected during growing season and plant or seed verified by laboratory test that are found free from Verticillium albo - atrum, Pseudomonas viridiflava, Rhodococcus fascians, Alfalfa mosaic virus, Arabis mosaic virus, Raspberry ringspot virus, Tobacco ringspot virus, Tomato black ring virus, Tomato spotted wilt virus, Chrysanthemum stunt viroid and Tomato chlorotic dwarf viroid.” ๑๑.๒ ต้องระบุรายละเอียดการกำจัดศัตรูพืชลงบนใบรับรองสุขอนามัยพืช พร้อมแนบผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของ NPPO หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก NPPO ๑๑.๓ ต้องระบุชื่อวิทยาศาสตร์ พันธุ์หรือสายพันธุ์ ให้ชัดเจนลงในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๒ การตรวจนำเข้า ๑๒.๑ เมื่อเมล็ดพันธุ์มาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจเมล็ดพันธุ์พิทูเนียนำเข้าจะดำเนินการหลังจากที่มีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๒.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์พิทูเนียและตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชกักกันติดมากับเมล็ดพันธุ์พิทูเนียหรือไม่ และต้องกักเมล็ดพันธุ์พิทูเนียไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๒.๓ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ในระหว่างการตรวจนำเข้า เมล็ดพันธุ์พิทูเนียทั้งหมดจะถูกส่งกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๒.๔ ถ้าตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พิทูเนียเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าพิทูเนียจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๙ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ชนิกา/ตรวจ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๒๖๗ ง/หน้า ๗/๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
762224
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2559
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๕๕๙ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์พิทูเนียนำเข้าเพื่อการค้าจากสหรัฐอเมริกาเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากสหรัฐอเมริกาเพื่อเพาะปลูก ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต พิทูเนีย (petunia, Petunia spp.) ตามประกาศนี้ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์พิทูเนีย (petunia seeds) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากสหรัฐอเมริกาปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สหรัฐอเมริกา คือ United States Department of Agriculture, Animal and Plant Health Inspection Service ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งเมล็ดพันธุ์พิทูเนียมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าทางอากาศหรือทางน้ำ ข้อ ๘ ข้อกำหนดสำหรับการนำเข้า ๘.๑ ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน ที่หน่วยงานราชการให้การรับรองว่าเมล็ดพันธุ์พิทูเนีย ที่ได้รับอนุญาตนำเข้ามิใช่พืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม ๘.๒ ต้องไม่มีการปะปนของดิน ทราย แมลงที่มีชีวิต วัชพืช เมล็ดพืชอื่นหรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับศัตรูพืชกักกัน ๙.๑ เมล็ดพันธุ์พิทูเนียต้องมาจากต้นพิทูเนีย ซึ่งผ่านการตรวจสอบในช่วงระหว่างการเจริญเติบโต โดยเก็บตัวอย่างต้นพืชหรือเมล็ดเพื่อตรวจสอบยืนยันในห้องปฏิบัติการของ NPPO หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก NPPO ว่าปราศจากศัตรูพืชกักกัน Peronospora hyoscyami f.sp. tabacina, Verticillium albo - atrum, Pseudomonas viridiflava, Rhodococcus fascians, Alfalfa mosaic virus, Arabis mosaic virus, Asparagus virus 2, Raspberry ringspot virus, Tobacco ringspot virus, Tomato black ring virus, Tomato spotted wilt virus, Chrysanthemum stunt viroid, Potato spindle tuber viroid และ Tomato chlorotic dwarf viroid ๙.๒ ต้องกำจัดศัตรูพืชด้วยกรรมวิธีดังต่อไปนี้ คลุกด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไทแรม (thiram) มีสารออกฤทธิ์ในอัตราร้อยละ ๐.๒ หรือสารป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่า โดยได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรก่อน ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ใหม่ สะอาด แข็งแรง ปิดสนิท และสามารถป้องกันการปนเปื้อนของสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากภายนอกได้ในระหว่างการส่งสินค้า ข้อ ๑๑ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๑.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “Petunia seeds were derived from the plants those were inspected during growing season and plant or seed verified by laboratory test that are found free from Peronospora hyoscyami f.sp. tabacina, Verticillium albo - atrum, Pseudomonas viridiflava, Rhodococcus fascians, Alfalfa mosaic virus, Arabis mosaic virus, Asparagus virus 2, Raspberry ringspot virus, Tobacco ringspot virus, Tomato black ring virus, Tomato spotted wilt virus, Chrysanthemum stunt viroid, Potato spindle tuber viroid and Tomato chlorotic dwarf viroid.” ๑๑.๒ ต้องระบุรายละเอียดการกำ จัดศัตรูพืชลงบนใบรับรองสุขอนามัยพืช พร้อมแนบผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของ NPPO หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก NPPO ๑๑.๓ ต้องระบุชื่อวิทยาศาสตร์ พันธุ์หรือสายพันธุ์ให้ชัดเจนลงในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๒ การตรวจนำเข้า ๑๒.๑ เมื่อเมล็ดพันธุ์มาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจเมล็ดพันธุ์พิทูเนียนำเข้าจะดำเนินการหลังจากที่มีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๒.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์พิทูเนียและตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชกักกันติดมากับเมล็ดพันธุ์พิทูเนียหรือไม่ และต้องกักเมล็ดพันธุ์พิทูเนียไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๒.๓ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ในระหว่างการตรวจนำเข้า เมล็ดพันธุ์พิทูเนียทั้งหมดจะถูกส่งกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๒.๔ ถ้าตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พิทูเนียเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากสหรัฐอเมริกา แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พิทูเนียจากสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๕๕๙ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ชนิกา/ตรวจ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๒๖๗ ง/หน้า ๔/๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
759055
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแคนาดา พ.ศ. 2559
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแคนาดา พ.ศ. ๒๕๕๙ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้าเพื่อการค้าจากแคนาดาเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแคนาดาเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการเพาะปลูก ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแคนาดา พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแคนาดา พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ข้อ ๔ ชนิดพืชที่อนุญาต หัวพันธุ์มันฝรั่ง (seed potato, Solanum tuberosum) ข้อ ๕ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแคนาดาปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๖ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๖.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๖.๒ แคนาดา คือ Canadian Food Inspection Agency ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของแคนาดา ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “CFIA” ข้อ ๗ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๘ วิธีการขนส่ง ต้องส่งหัวพันธุ์มันฝรั่งมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในแคนาดาไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทย ในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๙ ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง การตรวจสอบสำหรับการรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งและการรับรองสุขอนามัยพืชต้องดำเนินการโดยห้องปฏิบัติการของ CFIA หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก CFIA ข้อ ๑๐ แหล่งปลูก ๑๐.๑ หัวพันธุ์มันฝรั่งต้องมาจากแหล่งปลูกในแคนาดาซึ่ง CFIA กำหนดว่าเป็นแหล่งปลูกหัวพันธุ์มันฝรั่งสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแหล่งปลูกนั้นก่อนการส่งออก ๑๐.๒ หัวพันธุ์มันฝรั่งเฉพาะจากแหล่งปลูกในรัฐต่อไปนี้ในแคนาดาได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ๑๐.๒.๑ รัฐนิวบรันสวิก (New Brunswick) ๑๐.๒.๒ รัฐปรินซ์เอ็ดเวิร์ดไอแลนด์ (Prince Edward Island) ๑๐.๒.๓ รัฐแอลเบอร์ตา (Alberta) ข้อ ๑๑ การผลิตและการรับรอง ๑๑.๑ หัวพันธุ์มันฝรั่งจากแคนาดาต้องผ่านการตรวจรับรองตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจรับรองและระบบการตรวจรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งซึ่งเป็นที่ยอมรับ หน่วยงาน CFIA ได้รับการยอมรับว่า เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งในแคนาดาเพื่อพิสูจน์และรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยภายใต้ระบบการรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งแห่งแคนาดา (Canadian Seed Potato Certification Program) เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดสุขอนามัยพืช ซึ่งระบุไว้ในประกาศฉบับนี้ ๑๑.๒ ยกเว้นกรณีที่ได้ระบุไว้ การผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งต้องผ่านการตรวจรับรองให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ใน Seed Act (R.S., 1985, c. S - 8) และ Seed Regulations (C.R.C., c. 1400) Part II Seed Potatoes (sections 45 - 62) ๑๑.๓ เป็นที่ยอมรับว่าระบบการรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งแห่งแคนาดานั้น ได้กำหนดระดับที่ยอมรับได้เท่ากับศูนย์สำหรับโรค bacterial ring rot, Clavibacter michiganensis subsp. sepedonicus และ Potato spindle tuber viroid (PSTVd) ๑๑.๔ หน่วยงานที่มีอำนาจตรวจรับรองจะออกบัตรรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งต่อเมื่อหัวพันธุ์มันฝรั่งเป็นไปตามข้อกำหนดสุขอนามัยพืชซึ่งระบุไว้ในประกาศฉบับนี้เท่านั้น หมายเลขการรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งต้องระบุไว้บนบัตรรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งและใบรับรองสุขอนามัยพืช ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างรวดเร็วกรณีที่พบว่าหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้ามีปัญหา ข้อ ๑๒ ข้อกำหนดสำหรับดิน ๑๒.๑ ต้องจัดการหัวพันธุ์มันฝรั่งให้ปราศจากดินเท่าที่จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ๑๒.๒ ดินที่มีลักษณะเป็นผงติดมากับหัวพันธุ์มันฝรั่งต้องมีน้ำหนักไม่เกิน ๑๐๐ กรัม ต่อหัวพันธุ์มันฝรั่งน้ำหนัก ๕๐ กิโลกรัม (เท่ากับร้อยละ ๐.๒ โดยน้ำหนัก) สำหรับดินที่มีลักษณะเป็นก้อนเกาะติดบนหัวพันธุ์มันฝรั่ง ครอบคลุมพื้นที่ผิวเกินกว่าร้อยละ ๒๐ ต้องมีไม่เกินจำนวน ๓๐ หัว จากตัวอย่าง หัวพันธุ์มันฝรั่งจำนวน ๖๐๐ หัว (เท่ากับร้อยละ ๕) ข้อ ๑๓ ข้อกำหนดสำหรับไส้เดือนฝอยศัตรูพืชกักกัน ๑๓.๑ บางพื้นที่ในรัฐแอลเบอร์ตา (Alberta) รัฐบริติชโคลัมเบีย (British Columbia) รัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ (Newfoundland and Labrador) และรัฐควิเบก (Quebec) ในแคนาดา พบว่ามีการแพร่ระบาดของไส้เดือนฝอยซีสต์มันฝรั่ง ได้แก่ pale cyst nematode, Globodera pallida และ golden nematode, Globodera rostochiensis ๑๓.๒ ห้ามนำเข้าราชอาณาจักรไทยสำหรับหัวพันธุ์มันฝรั่งที่มาจากพื้นที่ซึ่งประกาศเป็นเขตควบคุมไส้เดือนฝอยซีสต์มันฝรั่งในแคนาดา และหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งซึ่งผลการตรวจสอบดินพบไส้เดือนฝอยซีสต์มันฝรั่ง ๑๓.๓ ต้องมีการบังคับใช้กฎระเบียบด้านสุขอนามัยพืชเพื่อห้ามหรือจำกัดการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายพืชหรือสิ่งอื่นใดซึ่งอาจทำให้ไส้เดือนฝอยซีสต์มันฝรั่งเกิดการแพร่กระจายออกไปจากพื้นที่ที่มีการระบาด ๑๓.๔ ต้องดำเนินการตรวจไส้เดือนฝอยซีสต์มันฝรั่งในดินอย่างเป็นทางการในแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งก่อนเริ่มปลูกหรือก่อนเก็บเกี่ยวมันฝรั่ง เฉพาะหัวพันธุ์มันฝรั่งปลูกในแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งซึ่งปลอดจากไส้เดือนฝอยซีสต์มันฝรั่งเท่านั้นจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรไทย การรับรองไส้เดือนฝอยซีสต์มันฝรั่งในแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งต้องเป็นไปตามวิธีการซึ่งเห็นพ้องร่วมกัน นอกจากนี้ต้องตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดินในห้องปฏิบัติการของ CFIA เท่านั้น ๑๓.๕ นอกจากไส้เดือนฝอยซีสต์มันฝรั่งแล้ว หัวพันธุ์มันฝรั่งต้องมาจากแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งซึ่งปราศจากไส้เดือนฝอยศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในประกาศฉบับนี้ โดยอาศัยข้อมูลจากการเฝ้าระวังอย่างเป็นทางการ ข้อ ๑๔ ข้อกำหนดสำหรับโรคพืชกักกันซึ่งมีสาเหตุมาจากรา ๑๔.๑ โรค potato wart, Synchytrium endobioticum ๑๔.๑.๑ ห้ามนำเข้าราชอาณาจักรไทยสำหรับหัวพันธุ์มันฝรั่งซึ่งมาจากแปลงผลิตหัวพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรค potato wart ๑๔.๑.๒ หัวพันธุ์มันฝรั่งที่จะส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยต้องผลิตจากแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งซึ่งไม่เคยมีรายงานการตรวจพบโรค potato wart อย่างน้อยเป็นระยะทาง ๕ กิโลเมตรจากแปลงปลูกมันฝรั่งที่พบโรค potato wart ๑๔.๑.๓ ต้องมีการบังคับใช้กฎระเบียบด้านสุขอนามัยพืชเพื่อห้ามหรือจำกัดการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายพืชหรือสิ่งอื่นใดซึ่งอาจทำให้โรค potato wart เกิดการแพร่กระจายออกไปจากพื้นที่ที่มีการระบาด ๑๔.๒ ระดับที่ยอมรับได้สำหรับโรค powdery scab ซึ่งมีสาเหตุจากรา Spongospora subterranea ต้องมีหัวพันธุ์มันฝรั่งจำนวนไม่เกินร้อยละ ๒ ซึ่งแสดงอาการของโรคที่สามารถตรวจพบได้ระดับของโรค powdery scab ซึ่งแสดงอาการที่สามารถตรวจพบได้คือ จำนวน ๕ รอยแผลหรือมากกว่าต่อหัว ๑๔.๓ ระดับที่ยอมรับได้สำหรับโรค skin spot ซึ่งมีสาเหตุจากรา Polyscytalumpustulans ต้องมีหัวพันธุ์มันฝรั่งจำนวนไม่เกินร้อยละ ๒ ซึ่งแสดงอาการของโรคที่สามารถตรวจพบได้ระดับของโรค skin spot ซึ่งแสดงอาการที่สามารถตรวจพบได้คือ จำนวน ๕ รอยแผลหรือมากกว่าต่อหัว ข้อ ๑๕ ข้อกำหนดสำหรับโรคพืชกักกันซึ่งมีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย ๑๕.๑ ห้ามนำเข้าราชอาณาจักรไทยสำหรับหัวพันธุ์มันฝรั่งซึ่งมาจากแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งที่มีการแพร่ระบาดของโรค bacterial ring rot, Clavibacter michiganensis subsp. sepedonicus และแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งซึ่งใช้เครื่องจักรกล สถานที่ และหรือ พนักงานร่วมกัน ๑๕.๒ ต้องมีการบังคับใช้กฎระเบียบด้านสุขอนามัยพืชเพื่อห้ามหรือจำกัดการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายพืชหรือสิ่งอื่นใดซึ่งอาจทำให้โรค bacterial ring rot เกิดการแพร่กระจายออกไปจากพื้นที่ที่มีการพบโรค ๑๕.๓ ต้องตรวจวิเคราะห์หัวพันธุ์มันฝรั่งจากแปลงผลิตที่จะส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยในห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาโรค bacterial ring rot โดยห้องปฏิบัติการของ CFIA หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก CFIA เฉพาะหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแปลงผลิตซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบโรค bacterial ring rot เท่านั้นจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรไทย ๑๕.๔ วิธีการตรวจสำหรับโรค bacterial ring rot ต้องเป็นไปตามรายละเอียดที่ระบุไว้ใน Directive D - ๙๗ - ๑๒ เรื่อง Seed potato certification program - Bacterial ring rot testing program for field grown seed potatoes ข้อ ๑๖ ข้อกำหนดสำหรับโรคพืชกักกันซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัส ๑๖.๑ หัวพันธุ์มันฝรั่งต้องปลูกในแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งซึ่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจรับรองได้ตรวจอาการของโรคที่เกิดจากไวรัสบนต้นมันฝรั่งด้วยสายตาในระหว่างช่วงฤดูปลูกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน Seed Regulations (C.R.C., c. 1400) Part II Seed Potatoes (sections 45 - 62) และต้องปลอดจากโรคมันฝรั่งซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัสศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ยกเว้นไวรัสที่ระบุไว้ในข้อ ๑๖.๔ นอกจากนี้ ระดับที่ยอมรับได้สำหรับโรคซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัสทุกชนิดนอกเหนือจากไวรัสศัตรูพืชกักกันในแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งต้องไม่เกินร้อยละ ๐.๑ ๑๖.๒ นอกเหนือจากการตรวจอาการของโรคที่เกิดจากไวรัสบนต้นมันฝรั่งด้วยสายตาแล้วต้องตรวจวิเคราะห์การเข้าทำลายของโรค Potato virus Y (PVY) และ Potato leaf roll virus (PLRV) บนหัวพันธุ์มันฝรั่งในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามวิธีการซึ่งเห็นพ้องร่วมกันระดับที่ยอมรับได้สำหรับโรค PVY และ PLRV บนหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแปลงปลูกที่กำหนดต้องไม่เกินร้อยละ ๔ ปัจจุบันวิธีการซึ่งเห็นพ้องร่วมกันสำหรับตรวจหาการทำลายของโรค PVY และ PLRV จากใบและหน่อมีรายละเอียดดังนี้ ๑๖.๒.๑ ตรวจจากใบ: เก็บรวบรวมใบมันฝรั่งจากแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งก่อนการฉีดพ่นสารเคมีทำลายต้นมันฝรั่ง และตรวจวิเคราะห์ใบด้วยเทคนิค enzyme - linked immunosorbent assay (ELISA) หรือ polymerase chain reaction (PCR) ตามกระบวนการของ CFIA ดังต่อไปนี้ (ก) วิธีการตรวจไวรัสประกอบด้วยการเก็บใบมันฝรั่งจำนวน ๓๐๐ ใบ จากแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งที่กำหนด (ต่อพื้นที่แปลงผลิตหัวพันธุ์ ๑๐ เฮกตาร์) มัดรวมกัน ๑๕ มัด มัดละ ๒๐ ใบ (ข) สำหรับการตรวจหาระดับการทำลายของไวรัสที่น้อยกว่า ร้อยละ ๔ ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ ๙๕ นั้น หัวพันธุ์มันฝรั่งต้องถูกปฏิเสธการส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยหากจำนวน ๖ การทดสอบจากจำนวน ๑๕ การทดสอบแสดงผลบวก ๑๖.๒.๒ ตรวจจากหน่อหรือหัวพันธุ์: ตรวจวิเคราะห์ไวรัสกับหน่อหรือหัวพันธุ์ด้วยเทคนิค ELISA หรือ PCR ตามกระบวนการของ CFIA ดังต่อไปนี้ (ก) สุ่มหัวพันธุ์มันฝรั่งจำนวน ๓๐๐ หัว จากแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งที่กำหนด (ต่อพื้นที่แปลงผลิตหัวพันธุ์ ๑๐ เฮกตาร์) ในระหว่างการเก็บเกี่ยวหรือจากสินค้าส่งออกนำหัวพันธุ์มันฝรั่งไปเพาะไว้ในโรงเรือน เมื่องอกแล้วจึงนำไปตรวจด้วยวิธี ELISA หรือเฉือนตาหัวพันธุ์มันฝรั่งแล้วนำไปตรวจสอบโดยตรงด้วยเทคนิค PCR (ข) สุ่มหน่อจากหัวพันธุ์มันฝรั่งแยกรวมกันเป็น ๑๕ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมี ๒๐ หน่อ สำหรับการตรวจหาระดับการทำลายของไวรัสที่น้อยกว่าร้อยละ ๔ ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ ๙๕ นั้น หัวพันธุ์มันฝรั่งต้องถูกปฏิเสธการส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยหากจำนวน ๖ การทดสอบจากจำนวน ๑๕ การทดสอบแสดงผลบวก ๑๖.๓ ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองต้องเก็บรักษาใบรายงานผลการตรวจการทำลายของโรค PVY และ PLRV บนหัวพันธุ์มันฝรั่งในห้องปฏิบัติการและต้องส่งมอบให้แก่กรมวิชาการเกษตร เมื่อได้รับการร้องขอใบรายงานผลการตรวจควรมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ เช่น เกษตรกร ผู้ส่งออก หมายเลขการรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่ง จำนวนตัวอย่างที่ตรวจและผลการตรวจ เป็นต้น ๑๖.๔ กรณีของโรค Potato mop top virus (PMTV) ระดับที่ยอมรับสำหรับการตรวจด้วยสายตากับหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแปลงผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งที่กำหนดนั้นต้องไม่ปรากฏอาการของโรค ข้อ ๑๗ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๗.๑ ต้องบรรจุหัวพันธุ์มันฝรั่งน้ำหนัก ๒๕ - ๕๐ กิโลกรัม ในกระสอบซึ่งต้องเป็นกระสอบใหม่และปิดปากกระสอบเมื่อบรรจุหัวพันธุ์มันฝรั่งแล้ว ๑๗.๒ ต้องติดบัตรรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งบนกระสอบบรรจุหัวพันธุ์มันฝรั่งรายละเอียดของฉลากบนบัตรรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ CFIA ข้อ ๑๘ การตรวจส่งออก ๑๘.๑ หัวพันธุ์มันฝรั่งซึ่งเป็นสินค้าที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่ก่อนหรือระหว่างการขนถ่ายช่วงสุดท้ายของการขนส่ง เมื่อดำเนินการตรวจเสร็จสิ้นแล้วต้องปิดตู้และปิดผนึกตู้ขนส่งสินค้าโดยทันที ๑๘.๒ เจ้าหน้าที่ต้องออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้กับหัวพันธุ์มันฝรั่งซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในประกาศฉบับนี้เท่านั้น ข้อ ๑๙ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๙.๑ ต้องแนบใบรับรองสุขอนามัยพืชมาพร้อมกับสินค้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแคนาดาทุกครั้งที่มีการนำเข้า และต้องระบุรัฐที่เป็นแหล่งกำเนิดของหัวพันธุ์มันฝรั่ง ๑๙.๒ ใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The seed potatoes in this consignment were produced in Canada in accordance with the conditions governing entry of seed potatoes to Thailand and inspected and found to be free of quarantine pests” ๑๙.๓ ต้องบันทึกหมายเลขตู้ขนส่งสินค้า (สำหรับการขนส่งทางน้ำเท่านั้น) และหมายเลขการรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่ง ของหัวพันธุ์มันฝรั่งในแต่ละตู้ขนส่งสินค้าบนใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือในเอกสารแนบ ข้อ ๒๐ การตรวจนำเข้า ๒๐.๑ เมื่อหัวพันธุ์มันฝรั่งมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจหัวพันธุ์มันฝรั่งจะดำเนินการหลังจากที่มีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๒๐.๒ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิ์สั่งให้ส่งกลับหรือสั่งให้ทำลายซึ่งหัวพันธุ์มันฝรั่งโดยผู้นำเข้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในกรณีที่การรับรองหัวพันธุ์มันฝรั่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดนำเข้าด้านสุขอนามัยพืช หรือผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าชำรุดหรือเสียหาย ๒๐.๓ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ หรือตรวจพบว่าเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ในระหว่างการตรวจนำเข้าหัวพันธุ์ มันฝรั่งดังกล่าวต้องถูกส่งกลับหรือถูกทำลายโดยผู้นำเข้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งให้ CFIA ทราบถึงการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด และขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ กรมวิชาการเกษตรอาจระงับการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากกองนั้น แปลงปลูก รัฐ หรือ ทั้งประเทศ ๒๐.๔ CFIA ต้องตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีและเสนอมาตรการแก้ไขกรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้า เมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุของการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและได้มีการดำเนินการแก้ไขแล้วจนเป็นที่ยอมรับของกรมวิชาการเกษตร ๒๐.๕ ถ้าตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ยังคงมีชีวิตและไม่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ซึ่งมีศักยภาพสำคัญด้านกักกันพืชต่อราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชบนหัวพันธุ์มันฝรั่งด้วยวิธีการที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้หยุดการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งเป็นการชั่วคราวจนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๒๐.๖ ถึงแม้ว่าหัวพันธุ์มันฝรั่งจะได้รับการตรวจปล่อยให้นำออกไปจากด่านนำเข้าแล้ว ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อจากหลักฐานว่าหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้าจากบางแหล่งปลูกซึ่งอาจมีศัตรูพืชกักกันติดมาด้วยหัวพันธุ์มันฝรั่งจะถูกสั่งระงับไม่ให้นำไปปลูกและต้องถูกดำเนินมาตรการทางสุขอนามัยพืชที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชกักกันแพร่กระจายออกไปภายใต้คำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินมาตรการดังกล่าวนั้น ๒๐.๗ ผู้นำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งต้องส่งรายละเอียดผู้ปลูกและพื้นที่ที่ปลูกหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้าแก่กรมวิชาการเกษตรทันทีเมื่อได้รับการร้องขอ นอกจากนี้ ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีศัตรูพืชกักกันของมันฝรั่งในแปลงปลูกมันฝรั่ง เจ้าหน้าที่กักกันพืชต้องดำเนินการสำรวจแปลงปลูกมันฝรั่งโดยทันที ผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการสำรวจดังกล่าวนั้น ข้อ ๒๑ การประเมินกระบวนการส่งออก ๒๑.๑ หัวพันธุ์มันฝรั่งจากแหล่งปลูกตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑๐.๒ ในแคนาดาได้ผ่านการรับรองแล้วจากกรมวิชาการเกษตรให้ส่งออกหัวพันธุ์มันฝรั่งมายังราชอาณาจักรไทย การส่งออกหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแหล่งผลิตอื่นซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองนั้น จะเริ่มได้หลังจากกรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกหัวพันธุ์มันฝรั่งแล้วเท่านั้น โดยแคนาดาเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๒๑.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า กรมวิชาการเกษตรอาจส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในแคนาดา ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งได้อีกต่อไป ถ้ากรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่าการประเมินวิธีการส่งออกมีความจำเป็นโดยแคนาดาเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแคนาดา แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากแคนาดา พ.ศ. ๒๕๕๙ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ วริญา/ตรวจ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๒๒๑ ง/หน้า ๒๔/๓๐ กันยายน ๒๕๕๙
759053
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะม่วงสดจากราชอาณาจักรกัมพูชา พ.ศ. 2559
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะม่วงสดจากราชอาณาจักรกัมพูชา พ.ศ. ๒๕๕๙ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลมะม่วงสดนำเข้าเพื่อการค้าจากราชอาณาจักรกัมพูชาเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลมะม่วงสดเพื่อการค้าจากราชอาณาจักรกัมพูชา ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะม่วงสดจากราชอาณาจักรกัมพูชา พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลมะม่วงสด (mango, Mangifera indica) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลมะม่วงสดจากราชอาณาจักรกัมพูชาปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ ราชอาณาจักรกัมพูชา คือ Plant Protection, Sanitary and Phytosanitary Department, General Directorate of Agriculture, Ministry of Agriculture, Forestry, and Fisheries ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลมะม่วงสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรกัมพูชาไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางบกหรือทางน้ำ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลมะม่วงสดต้องมาจากแหล่งปลูกในราชอาณาจักรกัมพูชา ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน สวนที่จะส่งออกผลมะม่วงสดไปยังราชอาณาจักรไทย เกษตรกรเจ้าของสวนต้องมีการบริหารจัดการสวนด้วยการประสานวิธีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพทางด้านกักกันพืช โดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออก ต้องเก็บรักษาผลมะม่วงสดในสภาพที่เหมาะสมตั้งแต่หลังการเก็บเกี่ยวจนถึงขั้นตอนการคัดบรรจุ และต้องคัดผลมะม่วงสดที่มีลักษณะอาการของโรคหรือสงสัยว่ามีการทำลายของศัตรูพืชออก ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์ ๑๑.๑ บรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ต้องใหม่หรือหากนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ต้องสะอาด ๑๑.๒ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิดหรือตู้ขนส่งสินค้าที่ปิดสนิทซึ่งต้องไม่มีการปะปนของดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่เปิด หรือขนส่งโดยใช้กระบะบรรทุกต้องจัดการกระบะบรรทุกให้สะอาดปราศจาก ดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืชหรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ก่อนดำเนินการขนย้ายผลมะม่วงสดขึ้นบรรจุในกระบะบรรทุกของยานพาหนะ นอกจากนี้ ต้องคลุมผ้าหรือพลาสติกปิดส่วนของกระบะบรรทุกให้มิดชิดซึ่งมั่นใจได้ว่าสามารถป้องกันมิให้ศัตรูพืชเข้าทำลายซ้ำและผลมะม่วงสดร่วงหล่นในระหว่างการขนส่ง ข้อ ๑๒ การตรวจส่งออก เจ้าหน้าที่ของ NPPO ต้องสุ่มตรวจผลมะม่วงสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ และต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ก่อนให้การรับรองผลมะม่วงสดส่งออกไปราชอาณาจักรไทย ข้อ ๑๓ การรับรองสุขอนามัยพืช ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทย ข้อ ๑๔ การตรวจนำเข้า ๑๔.๑ เมื่อผลมะม่วงสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๔.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างผลมะม่วงสดและตรวจสอบว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้ามีผลมะม่วงสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๔.๓ ผลมะม่วงสดเมื่อมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทยต้องปราศจากศัตรูพืชที่มีชีวิต ถ้าตรวจพบศัตรูพืชที่มีชีวิต จะส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิด และต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๔.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการสุ่มตรวจผลมะม่วงสด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๔.๕ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏตามรายชื่อแนบท้ายประกาศนี้ ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๔.๖ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลมะม่วงสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในกรณีการนำเข้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ข้อ ๑๕ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๕.๑ กรมวิชาการเกษตรขอสงวนสิทธิในการส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกผลมะม่วงสดก่อนอนุญาตให้นำเข้าเป็นการค้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ก็ได้ โดยราชอาณาจักรกัมพูชาต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๕.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีความจำเป็นอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในราชอาณาจักรกัมพูชาก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยราชอาณาจักรกัมพูชาต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลมะม่วงสดจากราชอาณาจักรกัมพูชา แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะม่วงสดจากราชอาณาจักรกัมพูชา พ.ศ. ๒๕๕๙ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ วริญา/ตรวจ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๒๒๑ ง/หน้า ๒๑/๓๐ กันยายน ๒๕๕๙
750516
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลลำไยสดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. 2559
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลลำไยสดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๕๙ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลลำไยสดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลลำไยสดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลลำไยสดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ๓.๑ ผลลำไยสด (longan, Dimocarpus longan) ๓.๒ ผลลำไยสดที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรไทย จะมีก้านติดผลมาได้ความยาวต้องไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๐.๔ เซนติเมตร ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง fig wax scale (Ceroplastes rusci) ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม คือ Plant Protection Department ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์การอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลลำไยสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ ข้อ ๘ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๘.๑ สวนที่จะส่งออกผลลำไยสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียด การจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๘.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๘.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๙.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลลำไยสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลลำไยสดมาจากสวนที่จดทะเบียนเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่กรมวิชาการเกษตร เมื่อได้รับการร้องขอ ๙.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงานซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๙.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๙.๕ การตรวจผลลำไยสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนหรือสถานที่สำหรับการตรวจสอบด้านสุขอนามัยพืชซึ่ง NPPO ให้การรับรองเท่านั้น ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๐.๑ บรรจุภัณฑ์อาจทำด้วยกระดาษลูกฟูก พลาสติก หรือลังไม้แบบต่าง ๆ โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัสดุใหม่หรือแปรรูปใช้ใหม่ กรณีที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษหรือพลาสติกบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องสะอาดและใหม่เท่านั้น ๑๐.๒ ต้องบรรจุผลลำไยสดในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด ไม่มีการปะปนของดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ นอกจากนี้ต้องขนส่งโดยยานพาหนะซึ่งส่วนบรรทุกสินค้าปิดมิดชิด ๑๐.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ประเทศแหล่งกำเนิด - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญ) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุสินค้า - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๐.๔ ในกรณีส่งออกผลลำไยสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๐.๕ ผลลำไยสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๑ การตรวจส่งออก ๑๑.๑ ต้องสุ่มตรวจผลลำไยสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการและต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในข้อ ๔ ๑๑.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุในข้อ ๔ ผลลำไยสดทั้งหมดจะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการกำจัดศัตรูพืชหรือขจัดศัตรูพืชเหล่านั้นให้หมดสิ้นแล้ว ข้อ ๑๒ การรับรองสุขอนามัยพืช ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of longan fruit has been produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of longan fruitfrom Vietnam to Thailand” ข้อ ๑๓ การตรวจนำเข้า ๑๓.๑ เมื่อผลลำไยสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทยการตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๓.๒ ผลลำไยสดเมื่อมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทยต้องปราศจากศัตรูพืชที่มีชีวิต ถ้าตรวจพบศัตรูพืชที่มีชีวิต จะส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิด และต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๓.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างผลลำไยสดและตรวจสอบว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้ามีผลลำไยสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๓.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุในข้อ ๔ ระหว่างการสุ่มตรวจผลลำไยสดต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับหรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๓.๕ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในข้อ ๔ ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับหรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๓.๖ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลลำไยสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในกรณีการนำเข้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ข้อ ๑๔ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๔.๑ กรมวิชาการเกษตรขอสงวนสิทธิในการส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกลำไย ก่อนอนุญาตให้นำเข้าเป็นการค้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ก็ได้ โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๔.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีความจำเป็นอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ปริยานุช/จัดทำ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ วริญา/ตรวจ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๑๐๘ ง/หน้า ๗๕/๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙
750514
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลลิ้นจี่สดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. 2559
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลลิ้นจี่สดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๕๙ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลลิ้นจี่สดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลลิ้นจี่สดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลลิ้นจี่สดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ๓.๑ ผลลิ้นจี่สด (lychee, Litchi chinensis) ๓.๒ ผลลิ้นจี่สดที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรไทยเป็นผลเดี่ยว และไม่มีส่วนของก้านผล (fruiting stem) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลลิ้นจี่สดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม คือ Plant Protection Department ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์การอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลลิ้นจี่สดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ ข้อ ๘ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๘.๑ สวนที่จะส่งออกผลลิ้นจี่สดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้า และจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๘.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวน โดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๘.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๙.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลลิ้นจี่สดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลลิ้นจี่สดมาจากสวนที่จดทะเบียนเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่กรมวิชาการเกษตร เมื่อได้รับการร้องขอ ๙.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงานซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๙.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๙.๕ การตรวจผลลิ้นจี่สดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนหรือสถานที่สำหรับการตรวจสอบด้านสุขอนามัยพืชซึ่ง NPPO ให้การรับรองเท่านั้น ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๐.๑ บรรจุภัณฑ์อาจทำด้วยกระดาษลูกฟูก พลาสติก หรือลังไม้แบบต่าง ๆ โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัสดุใหม่หรือแปรรูปใช้ใหม่กรณีที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษหรือพลาสติกบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ ต้องสะอาดและใหม่เท่านั้น ๑๐.๒ ต้องบรรจุผลลิ้นจี่สดในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด ไม่มีการปะปนของดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ นอกจากนี้ ต้องขนส่งโดยยานพาหนะซึ่งส่วนบรรทุกสินค้าปิดมิดชิด ๑๐.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ประเทศแหล่งกำเนิด - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญ) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุสินค้า - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๐.๔ ในกรณีส่งออกผลลิ้นจี่สดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๐.๕ ผลลิ้นจี่สดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๑ การตรวจส่งออก ๑๑.๑ ต้องสุ่มตรวจผลลิ้นจี่สดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการและต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๑.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ผลลิ้นจี่สดทั้งหมดจะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการกำจัดศัตรูพืชหรือขจัดศัตรูพืชเหล่านั้นให้หมดสิ้นแล้ว ข้อ ๑๒ การรับรองสุขอนามัยพืช ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of lychee fruit has been produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of lychee fruit from Vietnam to Thailand” ข้อ ๑๓ การตรวจนำเข้า ๑๓.๑ เมื่อผลลิ้นจี่สดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๓.๒ ผลลิ้นจี่สดเมื่อมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทยต้องปราศจากศัตรูพืชที่มีชีวิต ถ้าตรวจพบศัตรูพืชที่มีชีวิต จะส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิด และต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๓.๓ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างผลลิ้นจี่สดและตรวจสอบว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้ามีผลลิ้นจี่สดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๓.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการสุ่มตรวจผลลิ้นจี่สด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๓.๕ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๓.๖ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลลิ้นจี่สดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในกรณีการนำเข้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ข้อ ๑๔ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๔.๑ กรมวิชาการเกษตรขอสงวนสิทธิในการส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกลิ้นจี่ ก่อนอนุญาตให้นำเข้าเป็นการค้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ก็ได้ โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๔.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีความจำเป็นอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลลิ้นจี่สดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลลิ้นจี่สดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๕๙ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ วริญา/ตรวจ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๑๐๘ ง/หน้า ๗๑/๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙
746718
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดด่านตรวจพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดด่านตรวจพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยที่เป็นการเห็นสมควรกำหนดด่านตรวจพืชเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดด่านตรวจพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ กำหนดให้คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปสำหรับจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นด่านตรวจพืชเมืองทองธานี มีอาณาเขตตามเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปสำหรับจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการของ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด และสิ้นสุดลง ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ประกาศ ณ วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปริยานุช/จัดทำ ๘ มีนาคม ๒๕๕๙ วริญา/ตรวจ ๘ มีนาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๕๓ ง/หน้า ๑๗/๓ มีนาคม ๒๕๕๙
744810
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับการส่งออกมะละกอไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น พ.ศ. 2559
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัย สำหรับการส่งออกมะละกอไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๙ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ฉ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับการส่งออกมะละกอไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๙” ข้อ ๒[๑] ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองสุขอนามัยสำหรับการส่งออกมะละกอไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่น ให้ยื่นคำขอใบรับรองสุขอนามัย (แบบ พ.ก. ๑๑) และใบแนบท้ายแบบคำขอใบรับรองสุขอนามัย (แบบ พ.ก. ๑๑.๑) ตามแบบแนบท้ายประกาศนี้ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร ก่อนการส่งออกอย่างน้อย ๗ วัน ข้อ ๔ คุณสมบัติของผู้ขอใบรับรองสุขอนามัย ๔.๑ ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกกับกรมวิชาการเกษตร ๔.๒ ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร หรือมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรยอมรับ โดยที่ (๑) มีแปลง GAP ของตนเอง หรือแปลง GAP ของเกษตรกรเครือข่าย หรือ (๒) ไม่มีแปลง GAP ของตนเอง แต่พืชส่งออกรวบรวมจากแปลง GAP ของเกษตรกร ๔.๓ ต้องมีโรงคัดบรรจุสินค้าที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุ (GMP) และมีการประยุกต์ใช้ระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) โดยกรมวิชาการเกษตรหรือมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรยอมรับ ในกรณีที่ไม่มีโรงคัดบรรจุสินค้าจะต้องมีหนังสือรับรองการคัดบรรจุจากโรงคัดบรรจุสินค้าที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุ (GMP) และการประยุกต์ใช้ระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) โดยกรมวิชาการเกษตรหรือมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรยอมรับ ข้อ ๕ ผู้ขอรับใบรับรองสุขอนามัยที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๔.๒ (๑) ต้องจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับแผนการผลิต แผนการควบคุมระบบความปลอดภัยของพืช และการส่งออก แนบมาพร้อมกับคำขอ ข้อ ๖ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอตามข้อ ๓ และตรวจหลักฐานหรือเอกสารตามข้อ ๔ และข้อ ๕ แล้วเห็นว่าถูกต้องและครบถ้วน และหลักฐานตามข้อ ๕ เห็นว่ามีระบบควบคุมสุขอนามัยที่มีประสิทธิภาพให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังนี้ ๖.๑ กรณีผู้ขอได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ตามข้อ ๔.๒ (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกใบรับรองสุขอนามัยให้กับผู้ขอตามแบบใบรับรองสุขอนามัยท้ายประกาศนี้ โดยไม่ต้องไปดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ เพื่อตรวจสารตกค้างหรือเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ ๖.๒ กรณีผู้ขอได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ตามข้อ ๔.๒ (๒) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะ เพื่อตรวจสารตกค้างหรือเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ ข้อ ๗ ผู้ขอรับใบรับรองสุขอนามัย ตามข้อ ๔.๒ (๒) ต้องปฏิบัติดังนี้ ๗.๑ จัดเตรียมพืชควบคุมเฉพาะที่จะส่งออก ๗.๒ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ข้อ ๘ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสุ่มเก็บตัวอย่างพืชควบคุมเฉพาะแล้วให้ดำเนินการตรวจสอบสารตกค้าง หรือเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อประกอบการขอใบรับรองสุขอนามัย ข้อ ๙ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วเห็นว่าสารตกค้าง หรือเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ให้ออกใบรับรองสุขอนามัยให้กับผู้ขอตามแบบใบรับรองสุขอนามัยท้ายประกาศนี้ ข้อ ๑๐ ใบรับรองสุขอนามัยให้มีอายุตามที่กำหนดไว้ใบรับรองสุขอนามัย แต่ทั้งนี้ไม่เกินสามสิบวัน ข้อ ๑๑ มาตรการตรวจสอบติดตามภายหลังได้รับใบรับรองสุขอนามัย พนักงานเจ้าหน้าที่ สุ่มเก็บตัวอย่างที่แปลง โรงคัดบรรจุสินค้า หรือด่านตรวจพืชที่ส่งออก โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ๑๑.๑ กรณีผู้ขอได้รับใบรับรองสุขอนามัย ตามข้อ ๖.๑ หากตรวจพบสารตกค้าง หรือเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตรวจพบจากการสุ่มที่แปลง โรงคัดบรรจุสินค้า หรือด่านตรวจพืชที่ส่งออก หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศปลายทาง ครั้งที่ ๑ กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งเตือนผู้ส่งออกเป็นลายลักษณ์อักษรและให้ผู้ส่งออกชี้แจงสาเหตุ และการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าพบครั้งที่ ๒ ในพืชชนิดเดิมภายในระยะเวลา ๑ เดือน นับแต่วันที่พบครั้งที่ ๑ กรมวิชาการเกษตรจะระงับระยะเวลาที่เหลือของใบรับรองสุขอนามัย การส่งออกครั้งต่อไปต้องทำการตรวจวิเคราะห์เช่นเดียวกับผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๔.๒ (๒) เป็นระยะเวลา ๓ ครั้ง ติดต่อกัน ก่อนอนุญาตให้ดำเนินการเช่นผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๔.๒ (๑) ได้อีก ๑๑.๒ กรณีผู้ขอได้รับใบรับรองสุขอนามัย ตามข้อ ๖.๒ หากตรวจพบสารตกค้าง หรือเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตรวจพบจากการสุ่มที่แปลง โรงคัดบรรจุสินค้า หรือด่านตรวจพืชที่ส่งออก หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศปลายทาง ครั้งที่ ๑ กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งเตือนผู้ส่งออกเป็นลายลักษณ์อักษร ระงับระยะเวลาที่เหลือของใบรับรองสุขอนามัย และให้ผู้ส่งออกชี้แจงสาเหตุและการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าพบครั้งที่ ๒ ในพืชชนิดเดิมภายในระยะเวลา ๑ เดือนนับแต่วันที่พบครั้งที่ ๑ กรมวิชาการเกษตรจะระงับระยะเวลาที่เหลือของใบรับรองสุขอนามัย การส่งออกครั้งต่อไปต้องทำการตรวจวิเคราะห์สินค้าก่อนการส่งทุกครั้งเป็นระยะเวลา ๓ ครั้งติดต่อกัน ก่อนอนุญาตให้ดำเนินการเช่นผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๔.๒ (๒) ได้อีก ข้อ ๑๒ เหตุแห่งการระงับการใช้ใบรับรองสุขอนามัย ๑๒.๑ ผู้ยื่นคำขอแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตจากแปลงที่ได้รับการรับรองการผลิตอาหารปลอดภัยจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ๑๒.๒ ผลการตรวจติดตามพืชส่งออกพบการปนเปื้อนสารตกค้าง หรือเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ๑๒.๓ จงใจแจ้งข้อมูลเท็จหรือปกปิดข้อมูลที่มีผลต่อความปลอดภัยอาหาร ข้อ ๑๓ ค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง หรือเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ให้เป็นไปตามแบบแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๑๔ ก่อนส่งใบรับรองสุขอนามัยให้กับผู้ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบรับรองสุขอนามัยตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. อัตราค่าตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง หรือเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และเกณฑ์มาตรฐานแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับการส่งออกมะละกอไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๙ ๒. แบบแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับการส่งออกมะละกอไปยังสหภาพ ยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๙ ๓. คำขอใบรับรองสุขอนามัย แบบ พ.ก. ๑๑ ๔. ใบรับรองสุขอนามัย แบบ พ.ก. ๑๑-๑ ๕. ใบแนบ แนบท้ายแบบคำขอใบรับรองสุขอนามัย แบบ พ.ก. ๑๑.๑ ๖. คำขอให้แก้ไขใบแนบใบรับรองสุขอนามัย แบบ พ.ก. ๑๒ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ชวัลพร/ปริยานุช/จัดทำ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๒๔ ง/หน้า ๑๘/๒๘ มกราคม ๒๕๕๙
743978
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. 2558
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๘ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลส้มสดนำเข้าเพื่อการค้าจากญี่ปุ่นเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดเพื่อการค้าจากญี่ปุ่น ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๔ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลส้มสด ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรไทย ปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลส้มสดจากญี่ปุ่น ปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ข้อ ๖ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๖.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๖.๒ ญี่ปุ่น คือ Plant Protection Division, Food Safety and Consumer Affairs Bureau, Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของญี่ปุ่น ซึ่งต่อไปในประกาศนี้ จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๗ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๘ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลส้มสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นไปยังเมืองท่าปลายทาง ในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๙ แหล่งปลูก ๙.๑ ผลส้มสดต้องเป็นผลผลิตของญี่ปุ่น และมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ๙.๒ ถ้า NPPO จดทะเบียนแหล่งปลูกใหม่เพื่อส่งผลส้มสดออกไปยังราชอาณาจักรไทย NPPO ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบพร้อมทั้งให้ข้อมูลของแหล่งปลูกใหม่ กรมวิชาการเกษตรต้องดำเนินการตรวจรับรองแหล่งปลูกแห่งใหม่ก่อนที่จะมีการส่งส้มออกไปยังราชอาณาจักรไทย ๙.๓ ผลส้มสดจากแหล่งปลูกเฉพาะที่ปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๓ ท้ายประกาศนี้ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๑๐.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนเป็นสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกไว้กับ NPPO NPPO ต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนเพื่อการส่งออกต้องมีการบริหารจัดการสวนด้วยการประสานวิธีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพทางด้านกักกันพืช โดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๑๐.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๔ NPPO ต้องมอบบัญชีรายชื่อสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออก ได้แก่ ชื่อเกษตรกร ที่อยู่ และข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ปลูก ให้แก่กรมวิชาการเกษตรล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสองเดือนก่อนเริ่มการส่งออกเป็นประจำทุกปี ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๑.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทย โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องตั้งอยู่ภายในขอบเขตรัศมีการดักจับแมลงของกับดักแกลลอนเท่านั้น NPPO ต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๑.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องนำผลส้มสดมาจากสวนที่จดทะเบียนเพื่อการส่งออกในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๑.๓ ถ้า NPPO จดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้แห่งใหม่ NPPO ต้องแจ้งรายชื่อโรงคัดบรรจุผลไม้นั้นต่อกรมวิชาการเกษตรเพื่อขอความเห็นชอบทันที พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้แห่งใหม่ระหว่างการตรวจปล่อยผลส้มสดก่อนส่งออก ๑๑.๔ การดำเนินการบรรจุผลส้มสดเพื่อส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทย จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายนของทุกปี NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสองเดือนก่อนเริ่มการส่งออกเป็นประจำทุกปี ๑๑.๕ โรงคัดบรรจุผลไม้แต่ละแห่งต้องมีผู้ปฏิบัติงานด้านวิชาการอย่างน้อย ๑ คน ซึ่งได้รับการอบรมจาก NPPO โดยเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถบอกลักษณะการทำลายของศัตรูพืชบนผลส้มได้ ผู้ปฏิบัติงานด้านวิชาการนี้ต้องดูแลเอาใจใส่ในขั้นตอนการคัดเลือกผลส้มและการคัดออกผลส้มซึ่งสงสัยว่ามีการทำลายของศัตรูพืชกักกัน ตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องเก็บเอกสาร การฝึกอบรมหรือบันทึกการฝึกอบรมของผู้ปฏิบัติงานด้านวิชาการด้วย ๑๑.๖ กรณีที่ผลส้มสดผลิตมาจากสวนส้มซึ่งไม่ได้จดทะเบียนเพื่อการส่งออกแต่มาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาต เมื่อมีการเก็บผลส้มเหล่านี้ไว้ในโรงคัดบรรจุผลไม้เดียวกันกับผลส้มที่มาจากสวนส้มจดทะเบียนเพื่อการส่งออก ต้องแยกผลส้มทั้งสองแหล่งออกจากกันและแยกเก็บรักษาไม่ให้ปะปนกัน ต้องไม่ทำการคัดและบรรจุผลส้มสดสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยซึ่งผลิตจากสวนส้มจดทะเบียนเพื่อการส่งออกและผลส้มอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน ข้อ ๑๒ ข้อกำหนดสำหรับศัตรูพืชกักกัน ๑๒.๑ แมลงวันผลไม้ citrus fruit fly (Bactrocera tsuneonis) ผลส้มสดจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องจัดการความเสี่ยงแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ดังนี้ ผลส้มสดต้องมาจากแหล่งผลิตผลส้มปลอดแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis และต้องอยู่ภายใต้ระบบการสำรวจแบบติดตามที่เห็นชอบร่วมกันระหว่าง NPPO และกรมวิชาการเกษตร ๑๒.๒ เชื้อรา Elsinoë australis สาเหตุโรค sweet orange scab ผลส้มสดจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องจัดการความเสี่ยงเชื้อรา Elsinoë australis ข้อ ๑๓ มาตรการจัดการสำหรับแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ๑๓.๑ สวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกซึ่งเป็นแหล่งสำหรับผลส้มสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องมีระบบการสำรวจแบบติดตามแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สวนดังกล่าวปลอดจากแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ๑๓.๒ NPPO ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบทันที หากพบแมลงวันผลไม้ชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ๑๓.๓ การสำรวจแบบติดตามต้องดำเนินการโดยใช้กับดักแกลลอน (gallon trap) และการสำรวจผลส้ม ๑๓.๓.๑ การสำรวจโดยใช้กับดักแกลลอน (๑) ระยะเวลาการสำรวจคือจากวันที่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนี้จะคลอบคลุมช่วงเวลาของระยะตัวเต็มวัยของแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ซึ่งจะอยู่ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน (๒) กับดักแกลลอนต้องวางให้คลุมพื้นที่ทุก ๆ ๑ ตารางกิโลเมตร ในแหล่งที่ปลูกส้มและพื้นที่ใกล้เคียง (๓) กับดักแกลลอนจะใช้โปรตีนไฮโดรไลเซท (protein hydrolyzate) (โปรตีนในรูปของแข็งอัตราร้อยละ ๑.๕ - ๒.๐) และสารฆ่าแมลงวาโพนา® ซึ่งมีไดคลอร์วอส (Dichlorvos DDVP) เป็นสารออกฤทธิ์ ในอัตราร้อยละ ๑๘.๖ (๔) เจ้าหน้าที่ของ NPPO ต้องตรวจกับดักแกลลอน ทุก ๆ สองสัปดาห์ และต้องเปลี่ยนโปรตีนไฮโดรไลเซททุก ๆ สองสัปดาห์ และสารฆ่าแมลง ทุก ๆ สี่สัปดาห์ ๑๓.๓.๒ การสำรวจผลส้ม เจ้าหน้าที่ของ NPPO ต้องสำรวจผลส้มในช่วงเวลาตามที่กำหนดในข้อ ๑๓.๓.๑ (๑) และตรวจดูผลส้มที่ร่วงหล่นหรือผลส้มที่เปลี่ยนสีว่ามีสาเหตุมาจากการทำลายของแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis หรือไม่ ๑๓.๔ NPPO ต้องมอบข้อมูลการสำรวจแบบติดตามแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis รวมถึงจำนวนและสถานที่ที่ติดตั้งกับดัก ข้อมูลแมลงวันผลไม้ชนิดอื่น ๆ และแมลงชนิดอื่น ๆ ที่ติดในกับดัก และข้อมูลการสำรวจผลส้มให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรสำหรับตรวจสอบระหว่างการตรวจปล่อยผลส้มสดก่อนส่งออก ๑๓.๕ กรณีตรวจไม่พบแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ระหว่างระยะเวลาการสำรวจแบบติดตาม ต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ ๑๓.๕.๑ สวนจะได้รับการจดทะเบียนโดย NPPO ให้เป็นสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกสำหรับที่จะส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทย ๑๓.๕.๒ สวนที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกมีสิทธิที่จะส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทยตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคมของปีถัดไป ตามปีปฏิทินซึ่งได้พิจารณาแล้วถือว่าเป็นปีส่งออก ๑๓.๕.๓ ผลส้มสดซึ่งเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน และหลังจากวันนี้ไปจากสวนจดทะเบียนเพื่อการส่งออกได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทย ๑๓.๖ กรณีตรวจพบแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ระหว่างระยะเวลาการสำรวจแบบติดตาม ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้ สวนทุกสวนซึ่งอยู่ในแหล่งปลูกตามเอกสารหมายเลข ๓ ต้องห้ามส่งออกผลส้มสดไปยังราชอาณาจักรไทยในปีส่งออก ข้อ ๑๔ มาตรการจัดการสำหรับเชื้อรา Elsinoë australis ๑๔.๑ ผลส้มต้องเป็นผลผลิตที่มาจากแปลงปลูกที่มีการพ่นสารกำจัดเชื้อรา Elsinoë australis ในเวลาที่เหมาะสม ๑๔.๒ ต้องมีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการในสวนระหว่างฤดูการผลิต ว่าพบเชื้อรา Elsinoë australis บนผลส้มหรือไม่ ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis จะต้องส่งตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อและจำแนกชนิดเชื้อสาเหตุในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อรา Elsinoë australis NPPO ต้องปฏิเสธการรับรองสวนที่พบเชื้อราเข้าทำลายสำหรับส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยในปีที่ส่งออก ๑๔.๓ เมื่อผลส้มมาถึงโรงคัดบรรจุผลไม้ จะทำการคัดแยกและสุ่มผลส้มเพื่อตรวจสอบเชื้อรา Elsinoë australis ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis จะต้องส่งตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อและจำแนกชนิดเชื้อสาเหตุในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อรา Elsinoë australis ผลส้มที่มาจากสวนที่พบเชื้อเข้าทำลายจะถูกปฏิเสธสำหรับส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยในปีที่ส่งออก ๑๔.๔ ในขั้นตอนการคัดแยกผลไม้ในโรงคัดบรรจุผลไม้ ผลส้มสดต้องผ่านการทำความสะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อนออก เช่น การล้าง แปรง หรือวิธีการอื่น ๆ และฆ่าเชื้อที่ผิวด้วยสารเคมีอย่างน้อย ๑ วิธีการ ดังต่อไปนี้ ๑๔.๔.๑ ทำให้ผลไม้เปียกอย่างทั่วถึงด้วยสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite) ความเข้มข้น ๒๐๐ ส่วนในล้านส่วน ที่ความเป็นกรดด่าง ๖.๐ - ๗.๕ อย่างน้อย ๒ นาที ๑๔.๔.๒ ทำให้ผลไม้เปียกอย่างทั่วถึงด้วยสารละลายที่มี โซเดียม โอ - เฟนนิลฟีเนต (sodium o - phenyl phenate) ที่ความเข้มข้นร้อยละ ๑.๘๖ - ๒.๐๐ ของสารละลายทั้งหมด ถ้าสารละลายนั้น มีฟองที่เกิดจากสบู่หรือสารซักฟอกเห็นได้ชัดเจน ให้ทำให้เปียกนาน ๔๕ วินาที ถ้าสารละลายนั้นไม่มีฟองพอที่จะมองเห็นได้ ให้ทำให้เปียกนาน ๑ นาที ๑๔.๔.๓ ทำให้ผลไม้เปียกอย่างทั่วถึงด้วยสารละลายกรดเพอร์ออกซีอะซีติก (peroxyacetic acid) ความเข้มข้น ๘๕ ส่วนในล้านส่วน อย่างน้อย ๑ นาที ๑๔.๕ ผลส้มสดต้องผ่านกรรมวิธีกำจัดศัตรูพืชในระหว่างการบรรจุด้วยสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามวิธีการที่ระบุบนฉลากดังนี้ ๑๔.๕.๑ อิมาซาลิล (imazalil) ๑๔.๕.๒ ไทอะเบนดาโซล (thiabendazole) ๑๔.๖ กรรมวิธีใด ๆ ในข้อ ๑๔.๕ ที่ดำเนินการก่อนการส่งสินค้า ต้องระบุรายละเอียดในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๕ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๕.๑ บรรจุภัณฑ์ทำด้วยกระดาษลูกฟูกซึ่งอาจผลิตจากวัสดุใหม่หรือแปรใช้ใหม่โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องสะอาดและใหม่เท่านั้น ๑๕.๒ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ซึ่งต้องไม่มีการปะปนของ ดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๕.๓ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ซึ่งไม่มีรูเปิด หรือต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์เมื่อปิดสนิทแล้วต้องปิดช่องระบายอากาศทั้งหมดบนบรรจุภัณฑ์ด้วยตาข่าย ขนาดของตาข่ายแต่ละรูต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๑.๖ มิลลิเมตร ๑๕.๔ ผลส้มสดที่จะส่งออกแต่ยังไม่ได้มีการขนย้ายเข้าตู้ขนส่งสินค้าในทันที ต้องมีการจัดการและควบคุมความปลอดภัยจากศัตรูพืชกับผลส้มสดเหล่านี้ และต้องเก็บรักษาผลส้มสดดังกล่าวแยกจากผลส้มอื่น ๆ ภายในห้องเย็น จนกว่าจะมีการขนย้ายเข้าสู่ตู้บรรทุกสินค้า โดยต้องดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ NPPO ๑๕.๕ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ประเทศแหล่งกำเนิด (เช่น ผลิตผลของญี่ปุ่น ผลผลิตของญี่ปุ่น เป็นต้น) - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ ได้แก่ สกุล ชนิด และพันธุ์ - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๕.๖ ในกรณีส่งออกผลส้มสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกันต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีส่งออกโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๕.๗ ผลส้มสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๖ การตรวจส่งออก ๑๖.๑ NPPO ต้องส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึงกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอให้กรมวิชาการเกษตรจัดส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อการตรวจปล่อยผลส้มสดก่อนส่งออก โดยต้องส่งหนังสือดังกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนก่อนเริ่มการส่งออกเป็นประจำทุกปี (วันที่ ๑ พฤศจิกายนของทุกปี) และญี่ปุ่นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ๑๖.๒ ก่อนเริ่มการตรวจรับรองผลส้มสดสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทย พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรต้องตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ และตรวจสอบข้อมูลการสำรวจแบบติดตามแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ตามข้อกำหนดข้อ ๑๓.๔ ๑๖.๓ เจ้าหน้าที่ของ NPPO และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรต้องร่วมกันสุ่มตรวจผลส้มสด ถ้ามีผลส้มสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๖.๔ ผลส้มสดสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ๑๖.๕ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ต้องดำเนินการตามมาตรการดังต่อไปนี้ ๑๖.๕.๑ แมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis (๑) ต้องปฏิเสธการส่งออกผลส้มสดทั้งหมดไปยังราชอาณาจักรไทยแต่อย่างไรก็ตาม ผลส้มสดที่ได้ผ่านการตรวจส่งออกและได้รับใบรับรองสุขอนามัยพืชแล้ว ยังได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ (๒) กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจให้ NPPO ทราบและระงับการนำเข้าโดยทันที (๓) เจ้าหน้าที่ของ NPPO และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรต้องร่วมกันตรวจสอบหาสาเหตุของการเข้าทำลาย (๔) NPPO ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบโดยทันทีเกี่ยวกับสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเสนอมาตรการแก้ไข กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้า เมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุและมีการดำเนินมาตรการแก้ไข จนเป็นที่ยอมรับของกรมวิชาการเกษตร ๑๖.๕.๒ Elsinoë australis ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis จะต้องส่งตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อและจำแนกชนิดเชื้อสาเหตุในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อรา Elsinoë australis NPPO ต้องปฏิเสธการรับรองสินค้าที่ส่งมอบสำหรับส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยในปีที่ส่งออก ต้องไม่ส่งออกสินค้าดังกล่าวจนกว่าการทดสอบในห้องปฏิบัติการจะเสร็จสิ้น ๑๖.๕.๓ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันชนิดอื่น ๆ ที่มีชีวิตนอกเหนือจากBactrocera tsuneonis และ Elsinoë australis ผลส้มสดทั้งหมดจะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นให้หมดสิ้นแล้ว ๑๖.๖ ในกรณีตรวจไม่พบศัตรูพืชกักกันตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ เจ้าหน้าที่ของ NPPO จะออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะลงนามบนพื้นที่ว่างของใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๗ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๗.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ “The consignment of citrus fruit has been produced in (designated production area) and prepared for export in accordance with the conditions for import of citrus fruit from Japan to Thailand.” และ “The fruit in this consignment has undergone surface sterilization and fungicide treatment” ๑๗.๒ ต้องระบุชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อพันธุ์ของส้ม หมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขตู้ขนส่งสินค้า (สำหรับการขนส่งทางน้ำ) ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๘ การตรวจนำเข้า ๑๘.๑ เมื่อผลส้มสดถูกขนส่งมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าผลส้มสดจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๘.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างผลส้มสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๘.๓ ถ้ามีผลส้มสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๘.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ระหว่างการสุ่มตรวจผลส้มสด ต้องดำเนินการตามมาตรการ ดังต่อไปนี้ ๑๘.๔.๑ แมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis (๑) ถ้าพบแมลงวันผลไม้ Bactrocera tsuneonis ที่มีชีวิตต้องส่งกลับหรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจให้ NPPO ทราบและระงับการนำเข้าโดยทันที (๒) NPPO ต้องตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีและเสนอมาตรการแก้ไข กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้า เมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุและมีการดำเนินมาตรการแก้ไขจนเป็นที่ยอมรับของกรมวิชาการเกษตร ๑๘.๔.๒ Elsinoë australis (๑) ถ้าตรวจพบอาการที่เกิดจากเชื้อรา Elsinoë australis จะต้องส่งตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อและจำแนกชนิดเชื้อสาเหตุในห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อราElsinoë australis สินค้าที่พบเชื้อเข้าทำลายต้องส่งกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และไม่นำเข้าสินค้าจนกว่าผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการจะเสร็จสิ้น (๒) กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจให้ NPPO ทราบโดยทันที หลังจากนั้น NPPO ต้องระงับการให้การรับรองผลส้มสดจากสวนที่พบเชื้อราเข้าทำลายเพื่อส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยตลอดฤดูกาลส่งออกนั้น (๓) ผลส้มสดจากสวนที่ตรวจพบเชื้อรา Elsinoë australis ซึ่งอยู่ระหว่างขนส่ง จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรไทย ๑๘.๔.๓ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันชนิดอื่น ๆ ที่มีชีวิตนอกเหนือจาก Bactrocera tsuneonis และ Elsinoë australis ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๘.๕ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อตามเอกสารหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกรมวิชาการเกษตร มีสิทธิระงับการนำเข้าจากช่องทางการนำเข้านั้นเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ข้อ ๑๙ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๙.๑ การส่งออกผลส้มสดจากแหล่งปลูกตามข้อ ๙ ในญี่ปุ่นไปยังราชอาณาจักรไทยจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกแล้วเท่านั้นโดยญี่ปุ่นต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๙.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็น อาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในญี่ปุ่นก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไป โดยญี่ปุ่นต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. เอกสารหมายเลข ๑ รายชื่อชนิดส้ม แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๘ ๒. เอกสารหมายเลข ๒ รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลส้มสดจากญี่ปุ่น แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๘ ๓. เอกสารหมายเลข ๓ แหล่งปลูกส้มที่ได้รับอนุญาต แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลส้มสดจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๘ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๙ วริญา/ตรวจ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๑๓ ง/หน้า ๑๓/๑๘ มกราคม ๒๕๕๙
743976
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พ.ศ. 2558
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พ.ศ. ๒๕๕๘ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลองุ่นสดนำเข้าเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดเพื่อการค้าจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลองุ่นสด (table grape, Vitis vinifera) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ คือ Department of Agriculture, Forestry and Fisheries ได้รับการกำหนดให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การขออนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลองุ่นสดจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลองุ่นสดต้องเป็นผลผลิตของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้และมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลองุ่นสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ๙.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออก ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกที่จะส่งออกผลองุ่นสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกแก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกต้องนำผลองุ่นสดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกต้องจัดทำเอกสาร มาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกก่อนจดทะเบียน และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกต้องรับผิดชอบเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออกเพื่อกำจัดศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกที่จดทะเบียนเท่านั้น ๑๐.๖ การตรวจผลองุ่นสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออกที่จดทะเบียนเท่านั้น ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับแมลงศัตรูพืชกักกัน ผลองุ่นสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องจัดการความเสี่ยงแมลง Mediterranean fruit fly (Ceratitis capitata), Natal fruit fly (Ceratitis rosa) และ false codling moth (Thaumatotibia leucotreta) ด้วยวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น ข้อ ๑๒ มาตรการจัดการสำหรับแมลงศัตรูพืชกักกัน ผลองุ่นสดต้องผ่านวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นที่อุณหภูมิและระยะเวลาต่อไปนี้ เพื่อกำจัดแมลง Ceratitis capitata, Ceratitis rosa และ Thaumatotibia leucotreta อุณหภูมิตรงบริเวณกึ่งกลางผล ระยะเวลา (จำนวนวันติดต่อกัน) - ๐.๕๕ องศาเซลเซียส (๓๑ องศาฟาเรนไฮต์) หรือต่ำกว่า ๒๒ วัน หรือมากกว่า ข้อ ๑๓ ข้อกำหนดสำหรับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น ๑๓.๑ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นยังไม่เริ่มต้นจนกว่าแท่งวัดอุณหภูมิผลไม้ทั้งหมดแสดงอุณหภูมิลบ ๐.๕๕ องศาเซลเซียส (๓๑ องศาฟาเรนไฮต์) หรือต่ำกว่า ถ้าอุณหภูมิผลองุ่นเพิ่มขึ้นสูงเกินลบ ๐.๒๗ องศาเซลเซียส (๓๑.๕ องศาฟาเรนไฮต์) ต้องขยายระยะเวลาออกไปอีกไม่น้อยกว่า ๘ ชั่วโมง สำหรับแต่ละวัน หรือส่วนของหนึ่งวันซึ่งอุณหภูมิสูงกว่าลบ ๐.๒๗ องศาเซลเซียส (๓๑.๕ องศาฟาเรนไฮต์) ถ้ามีการขยายระยะเวลาการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นออกไป อุณหภูมิของผลไม้ในช่วงที่ขยายระยะเวลาออกไปนั้นต้องมีอุณหภูมิ ๑.๑๑ องศาเซลเซียส (๓๔ องศาฟาเรนไฮต์) หรือต่ำกว่า ถ้าอุณหภูมิผลเพิ่มขึ้นสูงเกิน ๑.๑๑ องศาเซลเซียส (๓๔ องศาฟาเรนไฮต์) ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ให้ถือว่าการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นประสบความล้มเหลว ๑๓.๒ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นสามารถดำเนินการได้ทั้งก่อนส่งออกหรือระหว่างขนส่ง สำหรับการดำเนินการระหว่างขนส่งนั้น อาจจะดำเนินการเพียงบางส่วนก่อนส่งออกโดยเริ่มต้นดำเนินการในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้และเสร็จสิ้นสมบูรณ์ระหว่างขนส่ง ในกรณีที่การดำเนินการระหว่างขนส่งเกิดล้มเหลว อาจจะดำเนินการต่อให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้เมื่อสินค้านั้นถึงจุดหมายปลายทาง ๑๓.๓ การประเมินผลสำเร็จของการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นทั้งกรณีก่อนส่งออกและระหว่างขนส่ง จะประเมินจากอุณหภูมิของแท่งวัดอุณหภูมิผลไม้เท่านั้น ๑๓.๔ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออก ๑๓.๔.๑ ต้องดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ NPPO โดยต้องดำเนินการในห้องเย็นกำจัดศัตรูพืชซึ่งได้รับการรับรองจาก NPPO และกรมวิชาการเกษตร ผลองุ่นสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยอาจทำการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นควบคู่ไปพร้อมกับผลองุ่นสดที่ส่งออกไปยังประเทศอื่นได้ ๑๓.๔.๒ ถ้าผลองุ่นสดต้องผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออก NPPO ต้องมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามเอกสารหมายเลข ๓ ท้ายประกาศนี้ ๑๓.๕ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่ง ๑๓.๕.๑ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งเป็นการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นโดยดำเนินการในตู้ขนส่งสินค้าระหว่างขนส่งสินค้า ๑๓.๕.๒ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งซึ่งดำเนินการในตู้ขนส่งสินค้านั้น อาจจะเริ่มต้นกระบวนการตั้งแต่ตู้ขนส่งสินค้าอยู่บนบกและเสร็จสิ้นในช่วงระหว่างขนส่งหรือเสร็จสิ้นเมื่อตู้ขนส่งสินค้าไปถึงปลายทาง ๑๓.๕.๓ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่ง ต้องลดอุณหภูมิผลองุ่นสดตรงบริเวณกึ่งกลางผลให้ต่ำลงถึงระดับเดียวกันกับหรือต่ำกว่าอุณหภูมิเป้าหมายที่อุณหภูมิลบ ๐.๕๕ องศาเซลเซียส (๓๑ องศาฟาเรนไฮต์) เป็นการล่วงหน้านาน ๗๒ ชั่วโมง ก่อนขนถ่ายผลองุ่นสดเข้าตู้ขนส่งสินค้า ๑๓.๕.๔ ถ้าผลองุ่นสดต้องผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่ง NPPO ต้องมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามเอกสารหมายเลข ๓ ท้ายประกาศนี้ นอกจากนี้ ต้องมีใบรับรองการเทียบมาตรฐานของแท่งวัดอุณหภูมิตามเอกสารหมายเลข ๔ ท้ายประกาศนี้ แนบมาพร้อมกับสินค้าด้วยทุกครั้ง ข้อ ๑๔ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๔.๑ บรรจุภัณฑ์อาจทำด้วยกระดาษลูกฟูก โพลีสไตรีน พลาสติก หรือลังไม้แบบต่าง ๆ โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัสดุใหม่หรือแปรใช้ใหม่ กรณีที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษหรือพลาสติก บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องสะอาดและใหม่เท่านั้น ๑๔.๒ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ซึ่งต้องไม่มีการปะปนของ ดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๔.๓ ผลองุ่นสดซึ่งผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออกและส่งออกทางอากาศหรือทางน้ำต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีรู ถ้ามีรูหรือช่องเปิดต้องปิดด้วยผ้าตาข่าย ขนาดของตาข่ายแต่ละรูต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ไม่เกิน ๑.๖ มิลลิเมตร เพื่อป้องกันการเข้าไปของแมลงศัตรูพืชกักกัน ๑๔.๔ ผลองุ่นสดซึ่งผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งในตู้ขนส่งสินค้าจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ตามข้อกำหนดข้อ ๑๔.๓ ๑๔.๕ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษ บนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ประเทศแหล่งกำเนิด (เช่น ผลิตผลของแอฟริกาใต้ ผลผลิตของแอฟริกาใต้ เป็นต้น) - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญ) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้หรือสถานที่จัดการผลไม้ส่งออก - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๔.๖ ในกรณีส่งออกผลองุ่นสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกันต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีส่งออกโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวาง อนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๔.๗ ผลองุ่นสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๕ การตรวจส่งออก NPPO ต้องมั่นใจว่าได้ดำเนินการตามข้อกำหนดต่าง ๆ ของกรมวิชาการเกษตรครบสมบูรณ์แล้ว ก่อนให้การรับรองผลองุ่นสดส่งออกไปราชอาณาจักรไทยดังต่อไปนี้ ๑๕.๑ ได้ดำเนินการสุ่มตรวจผลองุ่นสดตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการและพบว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ๑๕.๒ ผลองุ่นสดได้ผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นตามข้อกำหนดข้อ ๑๒ เพื่อกำจัดแมลง Ceratitis capitata, Ceratitis rosa และ Thaumatotibia leucotreta แล้ว ข้อ ๑๖ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๖.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of table grape fruit has been produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of table grape fruit from South Africa to Thailand” ๑๖.๒ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น ๑๖.๒.๑ ถ้าผลองุ่นสดได้รับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออกต้องระบุรายละเอียดของโรงงานกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น อุณหภูมิ และระยะเวลาที่ใช้ (จำนวนวันที่ต่อเนื่องกัน) ลงบนใบรับรองสุขอนามัยพืชในส่วนที่เหมาะสม ๑๖.๒.๒ ถ้าผลองุ่นสดได้รับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งต้องมีต้นฉบับใบรับรองการเทียบมาตรฐานของแท่งวัดอุณหภูมิตามเอกสารหมายเลข ๔ ท้ายประกาศนี้แนบมาพร้อมกับใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๖.๓ ต้องระบุชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ของผลองุ่นสด หมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้า (สำหรับการขนส่งทางน้ำ) ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๗ การตรวจนำเข้า ๑๗.๑ เมื่อผลองุ่นสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๗.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างผลองุ่นสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๗.๓ ถ้ามีผลองุ่นสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ หน่วย (พวงองุ่น) ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ หน่วย (พวงองุ่น) หรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ หน่วย (พวงองุ่น) ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ หน่วย (พวงองุ่น) ๑๗.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ระหว่างการสุ่มตรวจผลองุ่นสดต้องดำเนินการตามมาตรการ ดังต่อไปนี้ ๑๗.๔.๑ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่มีชีวิต ได้แก่ Ceratitis capitata, Ceratitis rosa และThaumatotibia leucotreta ผลองุ่นสดทั้งหมดต้องถูกส่งกลับหรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจให้ NPPO ทราบและระงับการนำเข้าโดยทันที ๑๗.๔.๒ NPPO ต้องตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีและเสนอมาตรการแก้ไข กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้า เมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุและมีการดำเนินมาตรการแก้ไขจนเป็นที่ยอมรับของกรมวิชาการเกษตร ๑๗.๔.๓ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชกักกันชนิดอื่น ๆ ที่มีชีวิตนอกเหนือจากแมลง Ceratitis capitata, Ceratitis rosa และThaumatotibia leucotreta ผลองุ่นสดทั้งหมดจะถูกส่งกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๗.๕ ถ้าตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องส่งกลับ ทำลาย หรือกำจัดศัตรูพืชบนผลองุ่นสดด้วยวิธีการที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าผลองุ่นสดจากช่องทางการนำเข้านั้นเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๗.๖ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลองุ่นสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๗.๖.๑ การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นไม่สมบูรณ์ ๑๗.๖.๒ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๗.๖.๓ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๗.๖.๔ เสียบแท่งวัดอุณหภูมิผลไม้เลยออกนอกผล หรือแท่งวัดอุณหภูมิผลไม้ไม่อยู่ตรงตำแหน่งที่กำหนด หรือผลที่เสียบด้วยแท่งวัดอุณหภูมิเป็นแผลแตกหรือเกิดรอยเปิด ๑๗.๖.๕ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๘ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๘.๑ การส่งออกผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ไปยังราชอาณาจักรไทยจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกแล้วเท่านั้นโดยสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๘.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าผลองุ่นสดได้อีกต่อไป โดยสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๘.๓ กรมวิชาการเกษตรสงวนสิทธิที่จะส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจสอบว่าการดำเนินการต่าง ๆ ในกระบวนการตรวจรับรองศัตรูพืชก่อนส่งออกของ NPPO ยังคงมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพื่อให้ความมั่นใจว่าผลองุ่นสดที่ส่งออกไปราชอาณาจักรไทยยังคงมีการจัดการศัตรูพืชกักกันอย่างเหมาะสม โดยสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. เอกสารหมายเลข ๑ รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พ.ศ. .... ๒. เอกสารหมายเลข ๒ ข้อกำหนดสำหรับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นก่อนส่งออก แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พ.ศ. ๒๕๕๘ ๓. เอกสารหมายเลข ๓ ข้อกำหนดสำหรับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่ง แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พ.ศ. ๒๕๕๘ ๔. เอกสารหมายเลข ๔ ใบรับรองการเทียบมาตรฐานของแท่งวัดอุณหภูมิสำหรับการกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็นระหว่างขนส่งในตู้ขนส่งสินค้า สำหรับราชอาณาจักรไทย แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลองุ่นสดจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พ.ศ. .... (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๙ วริญา/ตรวจ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๑๓ ง/หน้า ๖/๑๘ มกราคม ๒๕๕๙
743052
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช ออกประกาศกำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะเพิ่มเติมไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒[๑] ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้มะละกอเป็นพืชควบคุมเฉพาะ ข้อ ๔ การส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งพืชควบคุมเฉพาะตามข้อ ๓ ไปยังประเทศตามท้ายประกาศนี้ ต้องผ่านการตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ข้อ ๕ ชนิดของสารตกค้าง หรือเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ที่จะตรวจสอบให้เป็นไปตามท้ายประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อชนิดพืช ประเทศ และสารตกค้าง หรือเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ แนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุมเฉพาะ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปุณิกา/ปริยานุช/จัดทำ ๘ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๓๕๑ ง/หน้า ๑๐/๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘
741948
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช สำหรับการส่งออกพืชควบคุมไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส พ.ศ. 2558
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช สำหรับการส่งออกพืชควบคุมไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๘ กำหนดให้พืชที่จะส่งออกไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิสต้องขอใบรับรองสุขอนามัยพืชตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกำหนด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกพืชควบคุมไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ผู้ประสงค์จะขอรับใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกพืชควบคุมตามรายชื่อแนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ ไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ ๓.๑ ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกกับกรมวิชาการเกษตร ๓.๒ ต้องมีแหล่งผลิตพืชที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) จากกรมวิชาการเกษตรหรือมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรยอมรับโดยที่ (๑) มีแปลง GAP ของตนเอง หรือแปลง GAP ของเกษตรเครือข่าย หรือ (๒) ไม่มีแปลง GAP ของตนเอง แต่พืชส่งออกรวบรวมจากแปลง GAP ของเกษตรกร ๓.๓ ต้องมีโรงคัดบรรจุสินค้าที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุ (GMP) และมีการประยุกต์ใช้ระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) โดยกรมวิชาการเกษตรหรือมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรยอมรับ ในกรณีที่ไม่มีโรงคัดบรรจุสินค้าจะต้องมีหนังสือรับรองการคัดบรรจุจากโรงคัดบรรจุสินค้าที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุ (GMP) และการประยุกต์ใช้ระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) ข้อ ๔ การขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้ปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับสินค้าผักผลไม้สดส่งออกไปสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส พ.ศ. ๒๕๕๖ ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ปริยานุช/จัดทำ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ กัญฑรัตน์/ตรวจ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๓๓๔ ง/หน้า ๑/๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๘
740633
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง อัตราค่าวิเคราะห์ตัวอย่างและออกใบรับรองสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง อัตราค่าวิเคราะห์ตัวอย่างและออกใบรับรองสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘[๑] โดยที่เป็นการปรับปรุงประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง อัตราค่าวิเคราะห์ตัวอย่างและออกใบรับรองสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเนื่องจากสารเคมี วัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการวิเคราะห์และทดสอบวัตถุตัวอย่างที่ราคาสูงขึ้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจึงออกประกาศกำหนดอัตราค่าวิเคราะห์ตัวอย่างและออกใบรับรองสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง อัตราค่าวิเคราะห์ตัวอย่างและออกใบรับรองสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง อัตราค่าวิเคราะห์ตัวอย่างและออกใบรับรองสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก พ.ศ. ๒๕๕๘ ข้อ ๓ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป ข้อ ๔ อัตราค่าวิเคราะห์ตัวอย่างและออกใบรับรองสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ให้เป็นไปตามอัตราค่าวิเคราะห์ตัวอย่างและออกใบรับรองสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก แนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ ให้ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้อนุญาตให้การยกเว้นค่าบริการวิเคราะห์และค่าธรรมเนียมการตรวจรับรองและออกใบรับรองตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้ (๑) ตัวอย่างจากผู้ประกอบการที่นำไปร่วมงานแสดงสินค้า ณ ต่างประเทศที่มีหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ หรือหนังสือเชิญให้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าจากส่วนราชการอื่น (๒) ตัวอย่างจากส่วนราชการ (๓) ตัวอย่างงานวิจัยที่มีชื่อข้าราชการของกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ร่วมดำเนินการ (๔) การตรวจรับรองและการออกใบรับรองสถานประกอบการของส่วนราชการ ประกาศ ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ สมชาย ชาญณรงค์กุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. อัตราค่าวิเคราะห์ตัวอย่างและออกใบรับรองสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง อัตราค่าวิเคราะห์ตัวอย่างและออกใบรับรองสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก พ.ศ. ๒๕๕๘ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ วริญา/ตรวจ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๒๕ ง/หน้า ๒๒/๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
738306
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศกำหนดพืชควบคุมเพิ่มเติมไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒[๑] ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้พืชผักสดตามท้ายประกาศนี้ที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิสเป็นพืชควบคุม ข้อ ๔ การส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งพืชควบคุมตามข้อ ๓ ต้องขอใบรับรองสุขอนามัยพืชตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อพืชผักสดแนบท้าย ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชเป็นพืชควบคุม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ปริญสินีย์/ตรวจ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๒๖๙ ง/หน้า ๕/๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘
738225
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลพริกสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. 2558
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลพริกสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลพริกสดนำเข้าเพื่อการค้าจากนิวซีแลนด์เสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลพริกสดจากนิวซีแลนด์ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลพริกสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลพริกสด (capsicum, Capsicum annuum) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลพริกสดจากนิวซีแลนด์ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ นิวซีแลนด์ คือ Ministry for Primary Industries ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของนิวซีแลนด์ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลพริกสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลพริกสดต้องเป็นผลผลิตจากนิวซีแลนด์และมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับการผลิต ๙.๑ ผลพริกสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องมาจากต้นพริกปลูกในเรือนกระจกตั้งอยู่ ณ แหล่งผลิตที่กำหนดซึ่งจดทะเบียนไว้กับ NPPO ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของแหล่งผลิตที่จดทะเบียนต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม เกษตรกรต้องมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกำจัดศัตรูพืชอย่างครบถ้วน ต้องเก็บรักษาบันทึกการติดตามประชากรศัตรูพืชและการกำจัดศัตรูพืช และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้เพื่อการตรวจพิสูจน์เมื่อได้รับการร้องขอ ๙.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลพริกสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลพริกสดมาจากแหล่งผลิตที่จดทะเบียนเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงานซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลพริกสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนหรือสถานที่สำหรับการตรวจสอบด้านสุขอนามัยพืช ซึ่ง NPPO ให้การรับรองเท่านั้น ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ นิวซีแลนด์ได้รับการยอมรับว่าเป็นพื้นที่ปลอดศัตรูพืชสำหรับแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ๑๑.๑ พื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืช (International Standard for Phytosanitary Measures, ISPMs) ที่เกี่ยวข้อง ๑๑.๒ NPPO ต้องบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อรักษาสถานภาพของพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ ต้องดำเนินการสำรวจแบบติดตามอย่างสม่ำเสมอสำหรับแมลงวันผลไม้ศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบเป็นระยะถึงสถานภาพของแมลงวันผลไม้รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับการสำรวจเพื่อค้นหาและการกำจัดให้หมดสิ้นไปซึ่งแมลงวันผลไม้ในนิวซีแลนด์ ๑๑.๓ NPPO ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบโดยทันทีถ้ามีการยืนยันพบการแพร่ระบาดของแมลงวันผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ต้องระงับการให้การรับรองการส่งออกผลพริกสดที่ไม่ผ่านการกำจัดศัตรูพืชจากพื้นที่นั้นมายังราชอาณาจักรไทย และต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบ ถึงระยะเวลาสำหรับการฟื้นพื้นที่ให้กลับมาได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้อีกครั้ง ๑๑.๔ กรมวิชาการเกษตรสงวนสิทธิที่จะส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปนิวซีแลนด์เพื่อพิสูจน์ว่าการดำเนินการฟื้นพื้นที่ที่พบการระบาดของแมลงวันผลไม้ให้กลับมาเป็นพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ประสบผลสำเร็จแล้ว นิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการเดินทางของพนักงานเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติภารกิจนี้ ข้อ ๑๒ มาตรการจัดการสำหรับแมลง Tomato Potato Psyllid (Bactericera cockerelli) ผลพริกสดต้องผ่านมาตรการใดมาตรการหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ๑๒.๑ มาตรการที่ ๑ ๑๒.๑.๑ ต้องปลูกพริกภายใต้การจัดการเชิงระบบตามเกณฑ์ปฏิบัติ เรื่อง “New Zealand Code of Practice for the Management of the Tomato/Potato Psyllid in Greenhouse Tomato and Capsicum Crops” ๑๒.๑.๒ ผลพริกสดต้องผ่านขั้นตอนการทำ ความสะอาดด้วยแปรงปัดหรือล้างด้วยน้ำเพื่อขจัด Bactericera cockerelli ระยะต่าง ๆ ที่มีชีวิตซึ่งอาจติดอยู่บนผลออกไปก่อนบรรจุในภาชนะบรรจุ ๑๒.๑.๓ NPPO ต้องตรวจสอบแหล่งผลิตที่จดทะเบียนเป็นประจำทุกปีและต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๒.๒ มาตรการที่ ๒ ผลพริกสดต้องผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการที่เห็นพ้องร่วมกันเพื่อกำจัด Bactericera cockerelli บนผลก่อนส่งออก ๑๒.๓ วิธีการกำจัด Bactericera cockerelli การรมผลพริกสดด้วยเมทธิลโบรไมด์ (Methyl bromide) ที่อัตรากำหนดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ได้รับการยอมรับสำหรับกำจัด Bactericera cockerelli อุณหภูมิ อัตรา (กรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ระยะเวลา (ชั่วโมง) ๒๑ องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า ๓๒ ๒ ๑๖ - ๒๐.๙ องศาเซลเซียส ๔๐ ๒ ๑๑ - ๑๕.๙ องศาเซลเซียส ๔๘ ๒ ข้อ ๑๓ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๓.๑ บรรจุภัณฑ์อาจทำด้วยกระดาษลูกฟูก โพลีสไตรีน พลาสติก หรือลังไม้แบบต่าง ๆ โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัสดุใหม่หรือแปรใช้ใหม่ กรณีที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษหรือพลาสติก บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องสะอาดและใหม่เท่านั้น ๑๓.๒ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ซึ่งต้องไม่มีการปะปนของ ดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๓.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ประเทศแหล่งกำเนิด (เช่น ผลิตผลของนิวซีแลนด์ ผลผลิตของนิวซีแลนด์ เป็นต้น) - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญ) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุสินค้า - หมายเลขทะเบียนแหล่งผลิต ๑๓.๔ ในกรณีส่งออกผลพริกสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๓.๕ ผลพริกสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๔ การตรวจส่งออก ๑๔.๑ ต้องสุ่มตรวจผลพริกสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการและต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๔.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ผลพริกสดทั้งหมดจะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการกำจัดศัตรูพืชหรือขจัดศัตรูพืชเหล่านั้นให้หมดสิ้นแล้ว ข้อ ๑๕ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๕.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of capsicum fruit has been produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of capsicum fruit from New Zealand to Thailand” ๑๕.๒ Tomato Potato Psyllid (Bactericera cockerelli) ๑๕.๒.๑ ถ้าผลพริกสดได้จากพริกซึ่งปลูกภายใต้การจัดการเชิงระบบตามเกณฑ์ปฏิบัติต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of capsicum fruit has been produced under a systems approach for management of Bactericera cockerelli” ๑๕.๒.๒ ถ้าผลพริกสดได้รับการรมด้วยเมทธิลโบรไมด์ต้องระบุรายละเอียด ได้แก่ อัตราความเข้มข้น อุณหภูมิ และระยะเวลา ลงบนส่วนการกำจัดศัตรูพืชของใบรับรองสุขอนามัยพืชและต้องมีต้นฉบับใบรับรองการรมสารแนบมาพร้อมกับใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๕.๓ ต้องระบุชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ของผลพริกสด หมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้า (สำหรับการขนส่งทางน้ำ) ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๖ การตรวจนำเข้า ๑๖.๑ เมื่อผลพริกสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๖.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างผลพริกสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๖.๓ ถ้ามีผลพริกสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๖.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการสุ่มตรวจผลพริกสด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๖.๕ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าจากช่องทางการนำเข้านั้นเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้น ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๖.๖ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลพริกสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๖.๖.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๖.๖.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๖.๖.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๗ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๗.๑ การส่งออกผลพริกสดจากนิวซีแลนด์ไปยังราชอาณาจักรไทย จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกแล้วเท่านั้น โดยนิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๗.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่าการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกมีความจำเป็น กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในนิวซีแลนด์ ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไปโดยนิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลพริกสดจากนิวซีแลนด์ แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลพริกสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ ปริญสินีย์/ตรวจ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๒๖๗ ง/หน้า ๕๒/๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘
738223
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. 2558
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลสตรอเบอรี่สดนำเข้าเพื่อการค้าจากนิวซีแลนด์เสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดเพื่อการค้าจากนิวซีแลนด์ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลสตรอเบอรี่สด (strawberry, Fragaria x ananassa) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลสตรอเบอรี่สดจากนิวซีแลนด์ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ นิวซีแลนด์ คือ Ministry for Primary Industries ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของนิวซีแลนด์ ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลสตรอเบอรี่สดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลสตรอเบอรี่สดต้องเป็นผลผลิตจากนิวซีแลนด์และมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลสตรอเบอรี่สดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมเกษตรกรเจ้าของสวนต้องมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกำจัดศัตรูพืชอย่างครบถ้วนแล้วภายในสวนต้องเก็บรักษาบันทึกการติดตามประชากรศัตรูพืชและการกำจัดศัตรูพืช และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้เพื่อการตรวจพิสูจน์เมื่อได้รับการร้องขอ ๙.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลสตรอเบอรี่สดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลสตรอเบอรี่สดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็วต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงานซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลสตรอเบอรี่สดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนหรือสถานที่สำ หรับการตรวจสอบด้านสุขอนามัยพืชซึ่ง NPPO ให้การรับรองเท่านั้น ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ นิวซีแลนด์ได้รับการยอมรับว่าเป็นพื้นที่ปลอดศัตรูพืชสำหรับแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ๑๑.๑ พื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศ ว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืช (International Standard for Phytosanitary Measures, ISPMs) ที่เกี่ยวข้อง ๑๑.๒ NPPO ต้องบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อรักษาสถานภาพของพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ ต้องดำเนินการสำรวจแบบติดตามอย่างสม่ำเสมอสำหรับแมลงวันผลไม้ศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบเป็นระยะถึงสถานภาพของแมลงวันผลไม้รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับการสำรวจเพื่อค้นหาและการกำจัดให้หมดสิ้นไปซึ่งแมลงวันผลไม้ในนิวซีแลนด์ ๑๑.๓ NPPO ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบโดยทันทีถ้ามีการยืนยันพบการแพร่ระบาดของแมลงวันผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ต้องระงับการให้การรับรองการส่งออกผลสตรอเบอรี่สดที่ไม่ผ่านการกำจัดศัตรูพืชจากพื้นที่นั้นมายังราชอาณาจักรไทย และต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบถึงระยะเวลาสำหรับการฟื้นพื้นที่ให้กลับมาได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้อีกครั้ง ๑๑.๔ กรมวิชาการเกษตรสงวนสิทธิที่จะส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปนิวซีแลนด์เพื่อพิสูจน์ว่าการดำเนินการฟื้นพื้นที่ที่พบการระบาดของแมลงวันผลไม้ให้กลับมาเป็นพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ประสบผลสำเร็จแล้ว นิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการเดินทางของพนักงานเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติภารกิจนี้ ข้อ ๑๒ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๒.๑ บรรจุภัณฑ์อาจทำด้วยกระดาษลูกฟูก โพลีสไตรีน พลาสติก หรือลังไม้แบบต่าง ๆ โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัสดุใหม่หรือแปรใช้ใหม่ กรณีที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษหรือพลาสติก บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องสะอาดและใหม่เท่านั้น ๑๒.๒ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ซึ่งต้องไม่มีการปะปนของ ดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๒.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ประเทศแหล่งกำเนิด (เช่น ผลิตผลของนิวซีแลนด์ ผลผลิตของนิวซีแลนด์ เป็นต้น) - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญ) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุสินค้า - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๒.๔ ในกรณีส่งออกผลสตรอเบอรี่สดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๒.๕ ผลสตรอเบอรี่สดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๓ การตรวจส่งออก ๑๓.๑ ต้องสุ่มตรวจผลสตรอเบอรี่สดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ และต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๓.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ผลสตรอเบอรี่สดทั้งหมดจะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการกำจัดศัตรูพืชหรือขจัดศัตรูพืชเหล่านั้นให้หมดสิ้นแล้ว ข้อ ๑๔ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๔.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of strawberry fruit has been produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of strawberry fruit from New Zealand to Thailand” ๑๔.๒ ต้องระบุชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ของผลสตรอเบอรี่สด หมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้า (สำหรับการขนส่งทางน้ำ) ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๕ การตรวจนำเข้า ๑๕.๑ เมื่อผลสตรอเบอรี่สดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๕.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างผลสตรอเบอรี่สดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๕.๓ ถ้ามีผลสตรอเบอรี่สดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ ผลหรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๕.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการสุ่มตรวจผลสตรอเบอรี่สด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๕.๕ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้า จากช่องทางการนำเข้านั้นเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๕.๖ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลสตรอเบอรี่สดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๕.๖.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๕.๖.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๕.๖.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๖ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๖.๑ การส่งออกผลสตรอเบอรี่สดจากนิวซีแลนด์ไปยังราชอาณาจักรไทย จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกแล้วเท่านั้นโดยนิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๖.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่าการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกมีความจำเป็น กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในนิวซีแลนด์ ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไปโดยนิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลสตรอเบอรี่สดจากนิวซีแลนด์ แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ ปริญสินีย์/ตรวจ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๒๖๗ ง/หน้า ๔๗/๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘
738221
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะเขือเทศสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. 2558
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะเขือเทศสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลมะเขือเทศสดนำเข้าเพื่อการค้าจากนิวซีแลนด์เสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลมะเขือเทศสดเพื่อการค้าจากนิวซีแลนด์ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะเขือเทศสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ๓.๑ ผลมะเขือเทศสด (tomato, Lycopersicon esculentum) ๓.๒ ผลมะเขือเทศสดที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรไทยเป็นผลเดี่ยวโดยมีหรือไม่มีส่วนของกลีบเลี้ยง (calyx) ติดอยู่บนผล หรือเป็นพวง (truss tomatoes) โดยแต่ละผลติดอยู่บนส่วนของก้าน (stem) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลมะเขือเทศสดจากนิวซีแลนด์ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ นิวซีแลนด์ คือ Ministry for Primary Industries ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของนิวซีแลนด์ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลมะเขือเทศสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลมะเขือเทศสดต้องเป็นผลผลิตจากนิวซีแลนด์และมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับการผลิต ๙.๑ ผลมะเขือเทศสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยต้องมาจากต้นมะเขือเทศปลูกในเรือนกระจกตั้งอยู่ ณ แหล่งผลิตที่กำหนดซึ่งจดทะเบียนไว้กับ NPPO ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของแหล่งผลิตที่จดทะเบียนต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม เกษตรกรต้องมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกำจัดศัตรูพืชอย่างครบถ้วน ต้องเก็บรักษาบันทึกการติดตามประชากรศัตรูพืชและการกำจัดศัตรูพืช และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้เพื่อการตรวจพิสูจน์เมื่อได้รับการร้องขอ ๙.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลมะเขือเทศสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลมะเขือเทศสดมาจากแหล่งผลิตที่จดทะเบียนเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรที่ส่งออกผลมะเขือเทศสดไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงานซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลมะเขือเทศสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนหรือสถานที่สำ หรับการตรวจสอบด้านสุขอนามัยพืชซึ่ง NPPO ให้การรับรองเท่านั้น ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ นิวซีแลนด์ได้รับการยอมรับว่าเป็นพื้นที่ปลอดศัตรูพืชสำหรับแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ๑๑.๑ พื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืช (International Standard for Phytosanitary Measures, ISPMs) ที่เกี่ยวข้อง ๑๑.๒ NPPO ต้องบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อรักษาสถานภาพของพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ ต้องดำเนินการสำรวจแบบติดตามอย่างสม่ำเสมอสำหรับแมลงวันผลไม้ศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบเป็นระยะถึงสถานภาพของแมลงวันผลไม้รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับการสำรวจเพื่อค้นหาและการกำจัดให้หมดสิ้นไปซึ่งแมลงวันผลไม้ในนิวซีแลนด์ ๑๑.๓ NPPO ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบโดยทันทีถ้ามีการยืนยันพบการแพร่ระบาดของแมลงวันผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ต้องระงับการให้การรับรองการส่งออกผลมะเขือเทศสดที่ไม่ผ่านการกำจัดศัตรูพืชจากพื้นที่นั้นมายังราชอาณาจักรไทย และต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบถึงระยะเวลาสำหรับการฟื้นพื้นที่ให้กลับมาได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้อีกครั้ง ๑๑.๔ กรมวิชาการเกษตรสงวนสิทธิที่จะส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปนิวซีแลนด์เพื่อพิสูจน์ว่าการดำเนินการฟื้นพื้นที่ที่พบการระบาดของแมลงวันผลไม้ให้กลับมาเป็นพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ประสบผลสำเร็จแล้ว นิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการเดินทางของพนักงานเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติภารกิจนี้ ข้อ ๑๒ มาตรการจัดการสำหรับแมลง tomato potato psyllid (Bactericera cockerelli) ๑๒.๑ มะเขือเทศผลเดี่ยว ผลมะเขือเทศสดต้องผ่านมาตรการใดมาตรการหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ๑๒.๑.๑ มาตรการที่ ๑ (๑) ต้องปลูกมะเขือเทศภายใต้การจัดการเชิงระบบตามเกณฑ์ปฏิบัติ เรื่อง “New Zealand Code of Practice for the Management of the Tomato/Potato Psyllid in Greenhouse Tomato and Capsicum Crops” (๒) ผลมะเขือเทศสดต้องผ่านขั้นตอนการทำความสะอาดด้วยแปรงปัด เพื่อขจัด Bactericera cockerelli ระยะต่าง ๆ ที่มีชีวิตซึ่งอาจติดอยู่บนผลออกไปก่อนบรรจุในภาชนะบรรจุ (๓) NPPO ต้องตรวจสอบแหล่งผลิตที่จดทะเบียนเป็นประจำทุกปี และต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๒.๑.๒ มาตรการที่ ๒ ผลมะเขือเทศสดต้องผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการที่เห็นพ้องร่วมกันเพื่อกำจัด Bactericera cockerelli บนผลก่อนส่งออก ๑๒.๒ มะเขือเทศผลเป็นพวง ผลมะเขือเทศสดต้องผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการที่เห็นพ้องร่วมกันเพื่อกำจัด Bactericera cockerelli บนผลก่อนส่งออก ๑๒.๓ วิธีการกำจัด Bactericera cockerelli การรมผลมะเขือเทศสดด้วยเมทธิลโบรไมด์ (Methyl bromide) ที่อัตรากำหนดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ได้รับการยอมรับสำหรับกำจัด Bactericera cockerelli อุณหภูมิ อัตรา (กรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ระยะเวลา (ชั่วโมง) ๒๑ องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า ๓๒ ๒ ๑๖ - ๒๐.๙ องศาเซลเซียส ๔๐ ๒ ๑๑ - ๑๕.๙ องศาเซลเซียส ๔๘ ๒ ข้อ ๑๓ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๓.๑ บรรจุภัณฑ์อาจทำด้วยกระดาษลูกฟูก โพลีสไตรีน พลาสติก หรือลังไม้แบบต่าง ๆ โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัสดุใหม่หรือแปรใช้ใหม่ กรณีที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษหรือพลาสติก บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องสะอาดและใหม่เท่านั้น ๑๓.๒ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ซึ่งต้องไม่มีการปะปนของ ดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๓.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ประเทศแหล่งกำเนิด (เช่น ผลิตผลของนิวซีแลนด์ ผลผลิตของนิวซีแลนด์ เป็นต้น) - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญ) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุสินค้า - หมายเลขทะเบียนแหล่งผลิต ๑๓.๔ ในกรณีส่งออกผลมะเขือเทศสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๓.๕ ผลมะเขือเทศสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๔ การตรวจส่งออก ๑๔.๑ ต้องสุ่มตรวจผลมะเขือเทศสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ และต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๔.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ผลมะเขือเทศสดทั้งหมดจะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการกำจัดศัตรูพืชหรือขจัดศัตรูพืชเหล่านั้นให้หมดสิ้นแล้ว ข้อ ๑๕ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๕.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of tomato fruit has been produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of tomato fruit from New Zealand to Thailand” ๑๕.๒ Tomato Potato Psyllid (Bactericera cockerelli) ๑๕.๒.๑ ถ้าผลมะเขือเทศสดได้จากมะเขือเทศซึ่งปลูกภายใต้การจัดการเชิงระบบตามเกณฑ์ปฏิบัติ ต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of tomato fruit has been produced under a systems approach for management of Bactericera cockerelli” ๑๕.๒.๒ ถ้าผลมะเขือเทศสดได้รับการรมด้วยเมทธิลโบรไมด์ต้องระบุรายละเอียด ได้แก่ อัตราความเข้มข้น อุณหภูมิ และระยะเวลา ลงบนส่วนการกำจัดศัตรูพืชของใบรับรองสุขอนามัยพืชและต้องมีต้นฉบับใบรับรองการรมสารแนบมาพร้อมกับใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๕.๓ ต้องระบุชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ของผลมะเขือเทศสด หมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้า (สำหรับการขนส่งทางน้ำ) ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๖ การตรวจนำเข้า ๑๖.๑ เมื่อผลมะเขือเทศสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๖.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างผลมะเขือเทศสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๖.๓ ถ้ามีผลมะเขือเทศสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ ผล หรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๖.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการสุ่มตรวจผลมะเขือเทศสด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๖.๕ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าจากช่องทาง การนำเข้านั้นเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๖.๖ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลมะเขือเทศสดกลับหรือทำลายโดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๖.๖.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๖.๖.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๖.๖.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๗ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๗.๑ การส่งออกผลมะเขือเทศสดจากนิวซีแลนด์ไปยังราชอาณาจักรไทย จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกแล้วเท่านั้นโดยนิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๗.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่าการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกมีความจำเป็น กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในนิวซีแลนด์ ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไปโดยนิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลมะเขือเทศสดจากนิวซีแลนด์ แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะเขือเทศสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ ปริญสินีย์/ตรวจ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๒๖๗ ง/หน้า ๔๑/๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘
738219
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปริคอทสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. 2558
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปริคอทสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลแอปริคอทสดนำเข้าเพื่อการค้าจากนิวซีแลนด์เสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลแอปริคอทสดเพื่อการค้าจากนิวซีแลนด์ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปริคอทสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลแอปริคอทสด (apricot, Prunus armeniaca) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลแอปริคอทสดจากนิวซีแลนด์ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ นิวซีแลนด์ คือ Ministry for Primary Industries ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของนิวซีแลนด์ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลแอปริคอทสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลแอปริคอทสดต้องเป็นผลผลิตจากนิวซีแลนด์และมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลแอปริคอทสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมเกษตรกรเจ้าของสวนต้องมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกำจัดศัตรูพืชอย่างครบถ้วนแล้วภายในสวนต้องเก็บรักษาบันทึกการติดตามประชากรศัตรูพืชและการกำจัดศัตรูพืช และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้เพื่อการตรวจพิสูจน์เมื่อได้รับการร้องขอ ๙.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลแอปริคอทสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลแอปริคอทสดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็วต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงานซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลแอปริคอทสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนหรือสถานที่สำหรับการตรวจสอบด้านสุขอนามัยพืชซึ่ง NPPO ให้การรับรองเท่านั้น ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ นิวซีแลนด์ได้รับการยอมรับว่าเป็นพื้นที่ปลอดศัตรูพืชสำหรับแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ๑๑.๑ พื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืช (International Standard for Phytosanitary Measures, ISPMs) ที่เกี่ยวข้อง ๑๑.๒ NPPO ต้องบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อรักษาสถานภาพของพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ ต้องดำเนินการสำรวจแบบติดตามอย่างสม่ำเสมอสำหรับแมลงวันผลไม้ศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบเป็นระยะถึงสถานภาพของแมลงวันผลไม้รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับการสำรวจเพื่อค้นหาและการกำจัดให้หมดสิ้นไปซึ่งแมลงวันผลไม้ในนิวซีแลนด์ ๑๑.๓ NPPO ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบโดยทันทีถ้ามีการยืนยันพบการแพร่ระบาดของแมลงวันผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ต้องระงับการให้การรับรองการส่งออกผลแอปริคอทสดที่ไม่ผ่านการกำจัดศัตรูพืชจากพื้นที่นั้นมายังราชอาณาจักรไทย และต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบถึงระยะเวลาสำหรับการฟื้นพื้นที่ให้กลับมาได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้อีกครั้ง ๑๑.๔ กรมวิชาการเกษตรสงวนสิทธิที่จะส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปนิวซีแลนด์เพื่อพิสูจน์ว่าการดำเนินการฟื้นพื้นที่ที่พบการระบาดของแมลงวันผลไม้ให้กลับมาเป็นพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ประสบผลสำเร็จแล้ว นิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการเดินทางของพนักงานเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติภาระกิจนี้ ข้อ ๑๒ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๒.๑ บรรจุภัณฑ์อาจทำด้วยกระดาษลูกฟูก โพลีสไตรีน พลาสติก หรือลังไม้แบบต่าง ๆ โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัสดุใหม่หรือแปรใช้ใหม่ กรณีที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษหรือพลาสติกบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องสะอาดและใหม่เท่านั้น ๑๒.๒ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ซึ่งต้องไม่มีการปะปนของ ดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๒.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ประเทศแหล่งกำเนิด (เช่น ผลิตผลของนิวซีแลนด์ ผลผลิตของนิวซีแลนด์ เป็นต้น) - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญ) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุสินค้า - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๒.๔ ในกรณีส่งออกผลแอปริคอทสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๒.๕ ผลแอปริคอทสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๓ การตรวจส่งออก ๑๓.๑ ต้องสุ่มตรวจผลแอปริคอทสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ และต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๓.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ผลแอปริคอทสดทั้งหมดจะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการกำจัดศัตรูพืชหรือขจัดศัตรูพืชเหล่านั้นให้หมดสิ้นแล้ว ข้อ ๑๔ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๔.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of apricot fruit has been produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of apricot fruit from New Zealand to Thailand” ๑๔.๒ ต้องระบุชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ของผลแอปริคอทสด หมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้า (สำหรับการขนส่งทางน้ำ) ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๕ การตรวจนำเข้า ๑๕.๑ เมื่อผลแอปริคอทสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๕.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างผลแอปริคอทสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๕.๓ ถ้ามีผลแอปริคอทสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ ผลหรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๕.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการสุ่มตรวจผลแอปริคอทสด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๕.๕ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าจากช่องทางการนำเข้านั้นเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้น ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๕.๖ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลแอปริคอทสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๕.๖.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๕.๖.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๕.๖.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๖ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๖.๑ การส่งออกผลแอปริคอทสดจากนิวซีแลนด์ไปยังราชอาณาจักรไทย จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกแล้วเท่านั้นโดยนิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๖.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่าการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกมีความจำเป็น กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในนิวซีแลนด์ ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไปโดยนิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลแอปริคอทสดจากนิวซีแลนด์ แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปริคอทสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ ปริญสินีย์/ตรวจ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๒๖๗ ง/หน้า ๓๖/๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘
738217
ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปเปิลสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. 2558
ประกาศกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปเปิลสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘ กรมวิชาการเกษตรได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลแอปเปิลสดนำเข้าเพื่อการค้าจากนิวซีแลนด์เสร็จสิ้นแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืชจึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลแอปเปิลสดเพื่อการค้าจากนิวซีแลนด์ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปเปิลสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ชนิดพืชที่อนุญาต ผลแอปเปิลสด (apple, Malus x domestica) ข้อ ๔ ศัตรูพืชกักกันที่เกี่ยวข้อง รายชื่อศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยสำหรับผลแอปเปิลสดจากนิวซีแลนด์ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ข้อ ๕ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ๕.๑ ราชอาณาจักรไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ๕.๒ นิวซีแลนด์ คือ Ministry for Primary Industries ได้รับมอบหมายให้เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) อย่างเป็นทางการของนิวซีแลนด์ซึ่งต่อไปในประกาศนี้จะเรียกว่า “NPPO” ข้อ ๖ การอนุญาตนำเข้า ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร ข้อ ๗ วิธีการขนส่ง ต้องส่งผลแอปเปิลสดมาจากเมืองท่าแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ไปยังเมืองท่าปลายทางในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อ ๘ แหล่งปลูก ผลแอปเปิลสดต้องเป็นผลผลิตจากนิวซีแลนด์และมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่ง NPPO กำหนดให้เป็นแหล่งปลูกสำหรับส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยและกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วก่อนที่จะส่งออก ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับสวน ๙.๑ สวนในแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตที่จะส่งออกผลแอปเปิลสดไปยังราชอาณาจักรไทยต้องเป็นสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและจดทะเบียนไว้กับ NPPO หรือภายใต้ระบบที่ NPPO ให้การรับรอง NPPO ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนสวนให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอและต้องดำเนินการจดทะเบียนสวนให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๙.๒ เกษตรกรเจ้าของสวนที่จดทะเบียนต้องมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในสวนโดยต้องรักษาความสะอาดสวน และต้องมีการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมีมาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าศัตรูพืชกักกันได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม เกษตรกรเจ้าของสวนต้องมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกำจัดศัตรูพืชอย่างครบถ้วนแล้วภายในสวน ต้องเก็บรักษาบันทึกการติดตามประชากรศัตรูพืชและการกำจัดศัตรูพืช และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้เพื่อการตรวจพิสูจน์เมื่อได้รับการร้องขอ ๙.๓ NPPO ต้องมอบข้อมูลแผนการบริหารจัดการศัตรูพืชในสวนตลอดฤดูกาลปลูกให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ข้อ ๑๐ ข้อกำหนดสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ๑๐.๑ NPPO ต้องจดทะเบียนและติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกผลแอปเปิลสดไปยังราชอาณาจักรไทย ต้องมอบบันทึกรายละเอียดการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ และต้องดำเนินการจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการส่งออก ๑๐.๒ โรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนต้องนำผลแอปเปิลสดมาจากสวนที่จดทะเบียนในแหล่งปลูกที่กำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างรวดเร็วต้องเก็บบันทึกรายชื่อของเกษตรกรเจ้าของสวนซึ่งส่งออกผลไม้ไปยังราชอาณาจักรไทย และต้องมอบข้อมูลเหล่านี้ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเมื่อได้รับการร้องขอ ๑๐.๓ โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงานซึ่งแสดงรายละเอียดขั้นตอนเกี่ยวกับการคัดขนาด การจัดการ และการบรรจุ ๑๐.๔ NPPO ต้องดำเนินการตรวจสอบระบบของโรงคัดบรรจุผลไม้ก่อนจดทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้นั้น และต้องตรวจสอบระบบเป็นประจำทุกปี โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๐.๕ การตรวจผลแอปเปิลสดว่าปราศจากศัตรูพืชกักกันต้องดำเนินการภายในโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จดทะเบียนหรือสถานที่สำหรับการตรวจสอบด้านสุขอนามัยพืชซึ่ง NPPO ให้การรับรองเท่านั้น ข้อ ๑๑ ข้อกำหนดสำหรับพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ นิวซีแลนด์ได้รับการยอมรับว่าเป็นพื้นที่ปลอดศัตรูพืชสำหรับแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ๑๑.๑ พื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืช (International Standard for Phytosanitary Measures, ISPMs) ที่เกี่ยวข้อง ๑๑.๒ NPPO ต้องบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อรักษาสถานภาพของพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ ต้องดำเนินการสำรวจแบบติดตามอย่างสม่ำเสมอสำหรับแมลงวันผลไม้ศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบเป็นระยะถึงสถานภาพของแมลงวันผลไม้รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับการสำรวจเพื่อค้นหาและการกำจัดให้หมดสิ้นไปซึ่งแมลงวันผลไม้ในนิวซีแลนด์ ๑๑.๓ NPPO ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบโดยทันทีถ้ามีการยืนยันพบการแพร่ระบาดของแมลงวันผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ต้องระงับการให้การรับรองการส่งออกผลแอปเปิลสดที่ไม่ผ่านการกำจัดศัตรูพืชจากพื้นที่นั้นมายังราชอาณาจักรไทย และต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบถึงระยะเวลาสำหรับการฟื้นพื้นที่ให้กลับมาได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้อีกครั้ง ๑๑.๔ กรมวิชาการเกษตรสงวนสิทธิที่จะส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปนิวซีแลนด์เพื่อพิสูจน์ว่าการดำเนินการฟื้นพื้นที่ที่พบการระบาดของแมลงวันผลไม้ให้กลับมาเป็นพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ประสบผลสำเร็จแล้ว นิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการเดินทางของพนักงานเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติภาระกิจนี้ ข้อ ๑๒ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก ๑๒.๑ บรรจุภัณฑ์อาจทำด้วยกระดาษลูกฟูก โพลีสไตรีน พลาสติก หรือลังไม้แบบต่าง ๆ โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัสดุใหม่หรือแปรใช้ใหม่ กรณีที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษหรือพลาสติกบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ต้องสะอาดและใหม่เท่านั้น ๑๒.๒ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ซึ่งต้องไม่มีการปะปนของ ดิน ทราย และชิ้นส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่งก้าน เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้ ๑๒.๓ ต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้การทวนสอบย้อนกลับแหล่งที่มาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษบนแต่ละบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ - ประเทศแหล่งกำเนิด (เช่น ผลิตผลของนิวซีแลนด์ ผลผลิตของนิวซีแลนด์ เป็นต้น) - ชื่อบริษัทส่งออก - ชื่อผลไม้ (ชื่อสามัญ) - หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุสินค้า - หมายเลขทะเบียนสวน ๑๒.๔ ในกรณีส่งออกผลแอปเปิลสดมายังราชอาณาจักรไทยโดยบรรจุในบรรจุภัณฑ์แยกเป็นกล่องไม่ได้มัดรวมกัน ต้องมีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์แต่ละกล่อง แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกมัดรวมกันวางบนแท่นวางอนุญาตให้มีข้อความต่อไปนี้ “EXPORT TO THAILAND” ปรากฏอย่างชัดเจนบนแต่ละด้านได้ ๑๒.๕ ผลแอปเปิลสดที่จะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๓ การตรวจส่งออก ๑๓.๑ ต้องสุ่มตรวจผลแอปเปิลสดก่อนส่งออกตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการและต้องปราศจากศัตรูพืชกักกันตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ๑๓.๒ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ผลแอปเปิลสดทั้งหมดจะส่งออกไปยังราชอาณาจักรไทยได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการกำจัดศัตรูพืชหรือขจัดศัตรูพืชเหล่านั้นให้หมดสิ้นแล้ว ข้อ ๑๔ การรับรองสุขอนามัยพืช ๑๔.๑ ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดย NPPO กำกับมาด้วย โดยต้นฉบับใบรับรองสุขอนามัยพืชต้องแนบมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้งที่ส่งไปยังราชอาณาจักรไทยและต้องระบุข้อความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ “The consignment of apple fruit has been produced and prepared for export in accordance with the conditions for import of apple fruit from New Zealand to Thailand” ๑๔.๒ ต้องระบุชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ของผลแอปเปิลสด หมายเลขตู้ขนส่งสินค้าและหมายเลขผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้า (สำหรับการขนส่งทางน้ำ) ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ข้อ ๑๕ การตรวจนำเข้า ๑๕.๑ เมื่อผลแอปเปิลสดมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า ๑๕.๒ พนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตัวอย่างผลแอปเปิลสดและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ๑๕.๓ ถ้ามีผลแอปเปิลสดจำนวนน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๔๕๐ ผลหรือสุ่มตรวจทั้งหมด ถ้ามีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่า ๑,๐๐๐ ผล ต้องสุ่มตรวจจำนวน ๖๐๐ ผล ๑๕.๔ ในกรณีตรวจพบศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทยตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ระหว่างการสุ่มตรวจผลแอปเปิลสด ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ๑๕.๕ ในกรณีตรวจพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่มีรายชื่อปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ที่มีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย ต้องกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม (ถ้ามีวิธีการกำจัด) ส่งกลับ หรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิระงับการนำเข้าจากช่องทางการนำเข้านั้นเป็นการชั่วคราว จนกว่าการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชที่ตรวจพบนั้น ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๕.๖ กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลแอปเปิลสดกลับหรือทำลาย โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าพบกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ๑๕.๖.๑ ประตูตู้ขนส่งสินค้าปิดไม่สนิท ๑๕.๖.๒ ผนึกปิดตู้ขนส่งสินค้าถูกทำลาย หรือถูกสับเปลี่ยน หรือหมายเลขไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช ๑๕.๖.๓ ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ไม่มี ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ข้อ ๑๖ การประเมินกระบวนการส่งออก ๑๖.๑ การส่งออกผลแอปเปิลสดจากนิวซีแลนด์ไปยังราชอาณาจักรไทย จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกแล้วเท่านั้น โดยนิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑๖.๒ ในกรณีที่มีการระงับการนำเข้า หากกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้ว เห็นว่าการประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกมีความจำเป็น กรมวิชาการเกษตรอาจส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเมินกระบวนการตรวจรับรองส่งออกในนิวซีแลนด์ ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าได้อีกต่อไปโดยนิวซีแลนด์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร [เอกสารแนบท้าย] ๑. รายชื่อศัตรูพืชกักกันของผลแอปเปิลสดจากนิวซีแลนด์ แนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลแอปเปิลสดจากนิวซีแลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๘ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/จัดทำ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ ปริญสินีย์/ตรวจ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนพิเศษ ๒๖๗ ง/หน้า ๓๑/๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘