sysid
stringlengths
1
6
title
stringlengths
8
870
txt
stringlengths
0
257k
324903
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (Update ณ วันที่ 27/02/2535)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการขนส่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ (๒) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ (๓) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ (๑) “การขนส่ง” หมายความว่า การขนคน สัตว์ หรือสิ่งของ โดยทางบกด้วยรถ (๒) “การขนส่งประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนด (๓) “การขนส่งไม่ประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง (๔)[๒] “การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก” หมายความว่า การขนส่งคนหรือสิ่งของหรือคนและสิ่งของรวมกันเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนดด้วยรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสี่พันกิโลกรัม (๕)[๓] “การขนส่งส่วนบุคคล” หมายความว่า การขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเองด้วยรถที่มีน้ำหนักเกินกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม (๖) “การขนส่งระหว่างจังหวัด” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างจังหวัดกับจังหวัด (๗) “การขนส่งระหว่างประเทศ” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ (๘) “การรับจัดการขนส่ง” หมายความว่า การรับจ้างรวบรวมคน สัตว์หรือสิ่งของ และจัดให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำการขนส่งจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้รับจัดการขนส่ง (๙) “รถ” หมายความว่า ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมตลอดถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รถไฟ (๑๐) “ผู้ตรวจการ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจการขนส่ง (๑๑) “พนักงานตรวจสภาพ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจความมั่นคงแข็งแรง ความสะอาด ความเรียบร้อย และความเหมาะสมของสภาพรถที่นำมาใช้ในการขนส่ง (๑๒) “นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนกลาง หรือนายทะเบียนประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี (๑๓) “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี (๑๔) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (๑๕) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕[๔] พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (๑) การขนส่งโดยรถยนต์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร (๒) การขนส่งโดยรถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินสิบสองคน รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม รถยนต์สามล้อ รถจักรยานยนต์ และรถแทร็กเตอร์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (๓) การขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเป็นนายทะเบียนกลางมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งระหว่างจังหวัดและการขนส่งระหว่างประเทศ ให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ขนส่งจังหวัดเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในเขตจังหวัดของตน ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจมอบหมายกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำแทนได้ การมอบหมายตามวรรคสี่ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพกับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกคณะหนึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย อธิบดีกรมทางหลวง เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้หรือความจัดเจนในการขนส่ง การเศรษฐกิจหรือกฎหมาย ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๙ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ มาตรา ๑๐ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (๑) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๒) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย (๔) เป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง มาตรา ๑๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) รัฐมนตรีให้ออก (๔) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานและรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน มาตรา ๑๓ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๔ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายการขนส่งทางบกระยะสั้นและระยะยาวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๒) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาและดำเนินการสถานีขนส่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๓) กำหนดมาตรการและแผนพัฒนาการขนส่งทางบกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๔) กำหนดมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยและความสะดวกในการขนส่งทางบก เพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ (๕) กำหนดการห้ามรับจดทะเบียนรถเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ (๖) ประสานงานที่เกี่ยวข้องระหว่างกันในด้านการขนส่งทางบก ตลอดจนประสานงานด้านการขนส่งทางบกกับการขนส่งทางน้ำและการขนส่งทางอากาศ (๗) ให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการขนส่งทางบก มาตรา ๑๕ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม หมวด ๒ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน เลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทหรือผู้แทน อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทน อธิบดีกรมทางหลวงหรือผู้แทน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้แทน เป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ ทั้งนี้ โดยให้มีผู้มีความรู้และมีความจัดเจนในการขนส่งรวมอยู่ด้วย ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๑๗ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคน โดยมีนายกเทศมนตรีในจังหวัดนั้นรวมอยู่ด้วยหนึ่งคน เป็นกรรมการ ให้ขนส่งจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๑๘ ให้นำมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดโดยอนุโลม มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดลักษณะของการขนส่งประจำทางและการขนส่งไม่ประจำทาง (๒) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ (๓) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัด และระหว่างประเทศ (๔) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๕) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๖) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๗) กำหนดอัตราค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่ง (๘) กำหนดสถานที่ จัดให้มีหรือจัดตั้ง และระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่ง (๙) กำหนดชนิดหรือสภาพรถที่มิให้รับจดทะเบียน (๑๐) กำหนดประเภทหรือชนิดของรถที่ต้องเข้าหยุดหรือจอดเพื่อการรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่ง (๑๑) กำหนดที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสาร (๑๒) วางมาตรการในการกำหนด อนุญาต เพิกถอนการอนุญาตและการควบคุมกิจการขนส่งทางบก (๑๓) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก การกำหนดตาม (๒) (๓) (๔) (๘) (๙) และ (๑๐) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ภายในเขตจังหวัด ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทาง (๒) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทาง (๓) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๕) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกและคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง การกำหนดตาม (๑) และ (๔) เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแล้วจึงจะใช้บังคับได้ และการกำหนดตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๑ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม มาตรา ๒๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการการขนส่งทางบก เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้คณะกรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้ หมวด ๓ การประกอบการขนส่ง มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือการขนส่งส่วนบุคคล เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง และการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดนั้น ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย และ (๑) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย (๒) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย และทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย (๓) ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย หรือต้องเป็นของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด หรือต้องเป็นของกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือองค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และบริษัทจำกัดนั้นต้องไม่มีข้อบังคับอนุญาตให้มีการออกหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ (๔) ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทมหาชนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะต้องมีลักษณะตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจยกเว้นคุณสมบัติตามความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษเป็นการเฉพาะรายได้ มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางและผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่ออนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่ง การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นำมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับแก่การประกอบการขนส่งระหว่างประเทศโดยอนุโลม มาตรา ๒๖ ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศมาใช้ประกอบการขนส่งในประเทศไทย เว้นแต่เพื่อการขนส่งระหว่างประเทศและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางแล้ว ผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๒ ซึ่งประจำในรถตามวรรคหนึ่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ และหรือตามข้อตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ มาตรา ๒๗ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งมีสี่ประเภท คือ (๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง (๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง หรือใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้ใช้เป็นใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลได้ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ข้างต้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด มาตรา ๒๘ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้มีอายุเจ็ดปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอเสียก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ แต่การขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางและใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก จะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๙[๕] บทบัญญัติมาตรา ๒๓ มิให้ใช้บังคับแก่การขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา วัด มูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว สภากาชาดไทย สถานพยาบาล รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เป็นผู้ประกอบการขนส่ง แต่ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้เสมือนดังเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลทุกประการ มาตรา ๓๐ ให้นายทะเบียนกลางเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในกรุงเทพมหานคร การขนส่งระหว่างจังหวัด และการขนส่งระหว่างประเทศ และให้นายทะเบียนประจำจังหวัดเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในจังหวัดของตน ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ มาตรา ๓๑ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) สิทธิในรถที่ใช้ประกอบการขนส่งของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๓) ลักษณะ ชนิด ขนาด และสีของรถ และเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๔) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๕) จำนวนผู้ประจำรถ (๖) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ (๙) ที่ที่รถจะต้องหยุดในระหว่างเส้นทาง (๑๐) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง (๑๑) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ (๑๒) เวลาทำงานประจำวันในการประกอบการขนส่ง (๑๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ (๑๔) การประกอบกิจการอื่นนอกจากการประกอบการขนส่งประจำทาง (๑๕) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๑) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๒ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิดและขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๔) จำนวนผู้ประจำรถ (๕) ท้องที่ที่ทำการขนส่ง (๖) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง (๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ (๙) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ (๑๐) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๗) และ (๘) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๓ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิด ขนาด และสีของรถ และเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๔) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ (๕) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๖) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๗) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๕) และ (๖) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๔[๖] ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้นายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิด และขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษา มาตรา ๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ และหรือใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง และต้องทำรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจัดให้มีที่พักผู้โดยสารตามระยะทางโดยมีลักษณะ ขนาด จำนวน และจุดที่ตั้งของที่พักผู้โดยสารตามที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๓๘ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่งหรือค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ มาตรา ๓๙ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกเส้นทาง หรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนหรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด มาตรา ๔๐ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางกระทำการขนส่งอันมีลักษณะเช่นเดียวหรือคล้ายกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางหรือมีลักษณะเป็นการแย่งผลประโยชน์กับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางได้รับอนุญาต มาตรา ๔๑ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นที่จะแก้ไขสถานการณ์เพื่อให้การขนส่งได้รับความสะดวกหรือให้มีรถเพียงพอแก่การขนส่ง นายทะเบียนมีอำนาจที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถ เวลา และจำนวนเที่ยวของการเดินรถ หรือให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดส่งรถที่ตนได้รับอนุญาตไปช่วยเหลือเป็นการชั่วคราวตามควรแก่กรณี แล้วให้รายงานคณะกรรมการโดยเร็ว มาตรา ๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องแสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาต มาตรา ๔๓ ในกรณีที่ใบอนุญาตประกอบการขนส่งสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดดังกล่าว มาตรา ๔๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง มาตรา ๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง มาตรา ๔๖ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๑) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๔ (๒) ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขในมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามมาตรา ๓๖ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวด ๔ ว่าด้วยการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือจัดการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติหรือไม่แก้ไขให้ถูกต้อง หรือเป็นที่เห็นได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่สามารถจะดำเนินการตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดนั้น หรือการดำเนินการนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายหรือเสื่อมประโยชน์ต่อประชาชน ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ แต่ถ้าเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางที่จะพิจารณาอนุมัติ มาตรา ๔๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต้องส่งคืนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๔๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๔๙ ให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจควบคุมดูแลบรรดากิจการที่เกี่ยวกับการขนส่งให้เป็นไปตามความในพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์ดังกล่าวให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจ (๑) เข้าไปในสถานที่ดำเนินการของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในระหว่างเวลาทำงานตามปกติ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและเพื่อตรวจสอบบัญชีและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการขนส่ง (๒) เรียกผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้จัดการ และพนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นนิติบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงตามที่ต้องการ ในการปฏิบัติตาม (๑) ให้อธิบดีมีอำนาจมอบหมายให้ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพทำการแทนได้ ในการปฏิบัติการของอธิบดี นายทะเบียน ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพตามมาตรานี้ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือตามสมควร มาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจเรียกรถให้หยุดเพื่อทำการตรวจสอบ และเมื่อเชื่อว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้น ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจจับกุมผู้ฝ่าฝืนเพื่อส่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินคดีต่อไป บทบัญญัติในวรรคหนึ่งไม่ลบล้างอำนาจจับกุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มาตรา ๕๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด หมวด ๔ การชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง มาตรา ๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันต่อนายทะเบียนกลางเพื่อประกันความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกและซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะต้องรับผิดชอบเนื่องจากการขนส่งของตน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดตามขนาดและประเภทของการประกอบการขนส่งแต่ต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ดอกผลที่เกิดจากหลักทรัพย์ที่เป็นเงินสดนั้นตกเป็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่วางหลักทรัพย์ ให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้รับผิดชอบในการเปิดบัญชีเงินฝาก และการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีหลักทรัพย์กับธนาคารตามระเบียบของกระทรวงการคลัง มาตรา ๕๓ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มาตรา ๕๔ ในการวางหลักทรัพย์ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทย ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำหนังสือมอบอำนาจให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจจัดการจำหน่ายพันธบัตรนั้น เพื่อชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วย มาตรา ๕๕ หลักทรัพย์ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เว้นแต่จะเป็นการบังคับคดีเพื่อการชำระหนี้ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกอันเนื่องจากการขนส่งของตน มาตรา ๕๖ เมื่อรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายหรือชีวิตของบุคคลใดนอกจากความรับผิดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นซึ่งจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหาย ให้จ่ายตามความร้ายแรงของความเสียหาย ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลและหรือค่าปลงศพ มาตรา ๕๗ เมื่อผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายประสงค์จะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมตำรวจกำหนดต่อพนักงานสอบสวน โดยแสดงพยานหลักฐานว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาจากสำนวนการสอบสวน และเมื่อเห็นว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งคันใด ให้มีหนังสือสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถคันนั้นชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๕๖ วรรคสอง ในการนี้ให้แจ้งให้นายทะเบียนกลางทราบโดยเร็วด้วย ในการสั่งของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาสั่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ในการชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชำระภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากพนักงานสอบสวน มาตรา ๕๘ ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายต้องใช้สิทธิในการขอรับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามมาตรา ๕๗ ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น มาตรา ๕๙ การชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในอันที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐ บุคคลซึ่งมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ได้แก่ผู้เสียหายดังต่อไปนี้ (๑) ผู้เสียหายซึ่งมิได้อยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ได้รับความเสียหายจากรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น (๒) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่รวมถึงผู้ขับรถคนงานหรือลูกจ้างประจำรถซึ่งอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ (๓) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย มาตรา ๖๑ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ และให้พนักงานสอบสวนบันทึกความเห็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งไม่เห็นด้วยไว้ในสำนวนการสอบสวน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งกลางให้เป็นที่สุด มาตรา ๖๒ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานสอบสวน ถ้าคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีความเห็นตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่พนักงานสอบสวนกำหนดไว้อีกร้อยละสิบ มาตรา ๖๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ หรือตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางตามมาตรา ๖๑ ในกรณีที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามมาตรา ๕๒ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจนำหลักทรัพย์ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นซึ่งได้นำมาวางไว้เป็นประกันชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นแทนได้ มาตรา ๖๔ ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือได้รับชดใช้ไม่ครบตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนหรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางสั่งไม่ว่าเพราะเหตุหลักทรัพย์ที่วางประกันไว้ไม่พอจ่ายค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือเพราะเหตุอื่นใด เมื่อผู้เสียหายได้ร้องเรียนต่อนายทะเบียนกลางให้นายทะเบียนกลางสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งชำระให้เสร็จสิ้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางดังกล่าว ให้นายทะเบียนกลางเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และให้นำมาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๕ การรับจัดการขนส่ง มาตรา ๖๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการรับจัดการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖๖ ในการออกใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ให้นายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) ท้องที่ที่ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๒) สถานที่ตั้งสำนักงานของผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๓) สถานที่พักคน สัตว์ หรือเก็บสิ่งของ (๔) วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับสวัสดิภาพ ความสะดวกและความปลอดภัยในการรับจัดการขนส่ง (๕) อัตราค่าบริการรับจัดการขนส่ง (๖) เงื่อนไขอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๖๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๖๕ ต้องวางหลักทรัพย์ต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญารับจัดการขนส่ง ทั้งนี้ ตามจำนวนหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖๘ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๖๗ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มาตรา ๖๙ ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๐ ให้นำมาตรา ๒๔ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การประกอบการรับจัดการขนส่งโดยอนุโลม หมวด ๖ รถ มาตรา ๗๑ รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กับได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ และเสียภาษีตามมาตรา ๘๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มาตรา ๗๒[๗] รถที่จะนำมาจดทะเบียนและเสียภาษีต้องผ่านการตรวจสภาพรถจากพนักงานตรวจสภาพ หรือจากสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๗๔ เว้นแต่รถประเภทหรือชนิดใดที่สมควรได้รับการยกเว้นการตรวจสภาพเป็นครั้งคราวให้กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ปรากฏว่ารถที่นำมารับการตรวจสภาพนั้นมีสภาพมั่นคงแข็งแรงมีเครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับการอนุญาตออกใบรับรองให้ ใบรับรองการตรวจสภาพรถให้ทำตามแบบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๗๓[๘] เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตได้ตรวจสภาพรถถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๒ แล้ว ให้รับจดทะเบียนและออกหนังสือแสดงการจดทะเบียนพร้อมกับแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคันนั้นให้โดยไม่ชักช้า มาตรา ๗๔ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อรับรองสภาพรถตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๕ ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๔ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นได้ ให้นำมาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตโดยอนุโลม มาตรา ๗๗ หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถให้ใช้ได้สี่งวดนับแต่งวดที่ออกหนังสือนี้ ให้เดือนมกราคม เดือนเมษายน เดือนกรกฎาคม และเดือนตุลาคมเป็นเดือนแรกของแต่ละงวด การขอต่ออายุทะเบียน ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่นายทะเบียนจะได้ประกาศกำหนด ให้นำมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ และมาตรา ๗๓ มาใช้บังคับแก่การขอต่ออายุทะเบียนโดยอนุโลม มาตรา ๗๘ ห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน มาตรา ๗๙ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ประสงค์จะเลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้ว แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบและนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้น มาตรา ๘๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งมีความจำเป็นจะต้องระงับใช้รถนั้นชั่วคราวเป็นเวลาเกินสิบห้าวันแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบก่อนวันที่จะระงับใช้รถนั้น มาตรา ๘๑ รถที่ยังมิได้จดทะเบียนตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือรถที่เลิกใช้ตามมาตรา ๗๙ ถ้าจะนำมาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ต้องมีใบอนุญาตและเครื่องหมายโดยเฉพาะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ใบอนุญาตและเครื่องหมายดังกล่าวใช้ได้เฉพาะรถที่อยู่ในความครอบครองของผู้ได้รับใบอนุญาตโดยสับเปลี่ยนกันได้ ไม่เฉพาะคัน มาตรา ๘๒ การโอนรถซึ่งได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ แล้ว ผู้โอนและผู้รับโอนจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันโอนและให้นายทะเบียนจดแจ้งการโอนไว้ในหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถนั้น มาตรา ๘๓ เมื่อผู้ตรวจการตรวจพบว่ารถคันใดมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือมีเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ผู้ตรวจการรายงานให้นายทะเบียนทราบ แต่ถ้าปรากฏโดยชัดแจ้งว่าการใช้รถคันนั้นต่อไปน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่การขนส่ง ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจสั่งระงับใช้ไว้เป็นการชั่วคราวได้ และให้รีบรายงานให้นายทะเบียนทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้เป็นเจ้าของรถตามวรรคหนึ่ง จัดการส่งรถคันนั้นไปให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความบกพร่องตามรายงานของผู้ตรวจการภายในเวลาที่กำหนด เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งตามวรรคสองแล้ว ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตงดการใช้รถดังกล่าวไว้จนกว่านายทะเบียนจะมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไป มาตรา ๘๔ เมื่อพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตเห็นว่ารถที่นำมาให้ตรวจตามมาตรา ๘๓ สมควรจะต้องซ่อมแซม ปรับปรุงเพื่อให้รถกลับมีสภาพมั่นคงแข็งแรง หรือจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์หรือส่วนควบให้ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้แจ้งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง แล้วให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความถูกต้องและรายงานให้นายทะเบียนทราบ เมื่อได้พิจารณาเห็นสมควรตามรายงานของพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถคันนั้นต่อไปได้ มาตรา ๘๕ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดเวลาการชำระภาษีรถประจำปีสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งแต่ละรายก็ได้ และให้คำนวณภาษีตามน้ำหนักรถตามอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ในการคำนวณน้ำหนักรถ ให้รวมน้ำหนักของรถและเครื่องอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับตัวรถตามปกติ แต่ไม่รวมน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเครื่อง น้ำ และเครื่องมือประจำรถ เศษของหนึ่งกิโลกรัมให้ปัดทิ้ง เงินภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้ที่จัดเก็บได้ในกรุงเทพมหานครให้ตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้ตกเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และเมืองพัทยาในจังหวัดนั้น โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๘๖ ภาษีรถให้ชำระล่วงหน้าเป็นรายปีต่อนายทะเบียน และจะขอชำระเป็นงวดก็ได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รถที่จดทะเบียนใหม่ในงวดใด ให้ชำระภาษีตั้งแต่งวดนั้นเป็นต้นไป ถ้าเจ้าของรถไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่จะต้องชำระ ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระ เงินเพิ่มตามมาตรานี้ให้ถือเป็นเงินภาษี มาตรา ๘๗ รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีแล้ว ถ้าต่อมามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเพิ่มเติม เป็นเหตุให้รถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิม เจ้าของรถจะต้องเสียภาษีเพิ่มตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย และให้นำมาตรา ๘๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๘๘ รถที่ใช้ในการขนส่งส่วนบุคคลของกระทรวง ทบวง กรมกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา วัด มูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว และสภากาชาดไทย ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี มาตรา ๘๘ ทวิ[๙] (ยกเลิก) มาตรา ๘๙ รถที่ได้จดทะเบียนแล้ว ถ้าไม่ได้เสียภาษีตามกำหนดตามมาตรา ๘๖ เจ้าของรถต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบพร้อมกับนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถนั้นคืนต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งจะต้องเสียภาษีครั้งถัดไปตามมาตรา ๘๖ มาตรา ๙๐ เจ้าของรถต้องติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีที่นายทะเบียนออกให้ไว้กับตัวรถตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๙๑ ในกรณีที่แผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุดหรือลบเลือนในสาระสำคัญ ให้เจ้าของรถยื่นคำขอ ขอรับแผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุด หรือลบเลือนดังกล่าว หมวด ๗ ผู้ประจำรถ มาตรา ๙๒ ผู้ประจำรถ ได้แก่ (๑) ผู้ขับรถ (๒) ผู้เก็บค่าโดยสาร (๓) นายตรวจ (๔) ผู้บริการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๓ ห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๔ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำรถ มี ๔ ประเภท คือ (๑) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ (๒) ใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร (๓) ใบอนุญาตเป็นนายตรวจ (๔) ใบอนุญาตเป็นผู้บริการ ใบอนุญาตแต่ละประเภทจะใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตประเภทที่หนึ่ง ประเภทที่สาม และประเภทที่สี่ใช้เป็นใบอนุญาตประเภทที่สองได้ มาตรา ๙๕ ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถมีสามชนิด ดังนี้ ชนิดที่หนึ่ง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารไม่เกินยี่สิบคน ชนิดที่สอง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกินกว่าสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารเกินกว่ายี่สิบคน ชนิดที่สาม ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งโดยสภาพใช้สำหรับลากจูงรถอื่นหรือล้อเลื่อนที่บรรทุกสิ่งใด ๆ บนล้อเลื่อนนั้น ใบอนุญาตแต่ละชนิดใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตชนิดที่สองและชนิดที่สามเป็นใบอนุญาตชนิดที่หนึ่งได้ และใบอนุญาตชนิดที่สามใช้เป็นใบอนุญาตชนิดที่สองได้ มาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๓ ในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องมีคุณสมบัติและลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีความรู้และความสามารถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๓) ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยความเหมาะสม (๔) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ (๕) ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจ (๖) ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ (๗) ไม่เป็นผู้มีใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถประเภทหรือชนิดเดียวกับที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว (๘) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่การเพิกถอนใบอนุญาตนั้นพ้นกำหนดสามปีแล้วนับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต (๙) ไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดอันได้กระทำโดยประมาทที่มิใช่เกี่ยวกับการใช้รถในการกระทำผิดหรือความผิดลหุโทษ หรือได้พ้นโทษมาแล้วเกินสามปี (๑๐) ไม่เป็นผู้เคยถูกควบคุมตัวเพราะมีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคม หรือเป็นอันธพาล เว้นแต่ได้พ้นจากการควบคุมตัวมาแล้วเกินหนึ่งปี มาตรา ๙๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง และได้ผ่านการศึกษาและจบหลักสูตรจากโรงเรียนการขนส่งของกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง การรับรองโรงเรียนสอนขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และผู้บริการต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในการขนส่งส่วนบุคคลต้องมีคุณสมบัติและมีลักษณะตามมาตรา ๙๖ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๐) และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๐๐ ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถให้มีอายุหนึ่งปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด มาตรา ๑๐๑ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องมีใบอนุญาตอยู่กับตัวและต้องแสดงต่อนายทะเบียนหรือผู้ตรวจการเมื่อขอตรวจ มาตรา ๑๐๒ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้อง (๑) แต่งกายสะอาดเรียบร้อยตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง (๒) ไม่แสดงกิริยาหรือใช้ถ้อยคำเป็นการเสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว รังแก รบกวน หรือหยาบหยามผู้หนึ่งผู้ใด หรือแสดงกิริยาวาจาหรือส่งเสียงด้วยประการหนึ่งประการใดในลักษณะไม่สมควรหรือไม่สุภาพ (๓) ไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น (๓ ทวิ)[๑๐] ไม่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ (๓ ตรี)[๑๑] ไม่เสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (๔) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๐๒ ทวิ[๑๒] ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใด ในขณะปฏิบัติหน้าที่นั้นมีสารอยู่ในร่างกายอันเกิดจากการเสพสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น หรือยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ผู้ตรวจการ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจมีอำนาจตรวจหรือทดสอบ หรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าผู้นั้นมีสารนั้น ๆ อยู่ในร่างกายหรือไม่ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ วิธีการตรวจหรือทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๐๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถนอกจากจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๒ แล้ว จะต้อง (๑) ไม่ขับรถในเวลาที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ (๒) ไม่รับบรรทุกบุคคลที่เป็นโรคเรื้อนหรือโรคติดต่อที่น่ารังเกียจไปกับผู้โดยสารอื่น (๓) ไม่รับบรรทุกศพ สัตว์ หรือสิ่งของที่อาจเกิดอันตรายหรือเป็นที่พึงรังเกียจไปกับผู้โดยสาร (๔) ไม่รับบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง ระเบิด หรือวัตถุอันตรายอย่างอื่นไปกับผู้โดยสาร วัตถุอันตรายให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๕) ต้องหยุดหรือจอดรถ ณ สถานีขนส่งและปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๙ (๘) และ (๑๐) มาตรา ๑๐๔ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถกระทำการใด ๆ ให้ผู้โดยสารจำต้องลงจากรถก่อนที่จะได้โดยสารถึงจุดหมายปลายทางโดยที่ได้ชำระค่าโดยสารถูกต้องตามอัตราที่กำหนดแล้ว มาตรา ๑๐๕ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถละเว้นการหยุดรถเพื่อรับหรือส่งผู้โดยสาร ณ ที่ที่มีเครื่องหมายให้รถนั้นหยุด ในเมื่อปรากฏว่ามีผู้โดยสารต้องการให้หยุดรถเพื่อรับหรือส่ง มาตรา ๑๐๖ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถกระทำการใด ๆ อันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร มาตรา ๑๐๖ ทวิ[๑๓] ในกรณีที่มีความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ ว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับรถภายในประเทศซึ่งกันและกัน คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและมีใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศที่มีความตกลงดังกล่าวกับรัฐบาลไทย อาจใช้ใบอนุญาตขับรถของประเทศนั้นขับรถในราชอาณาจักรได้ตามประเภทและชนิดของรถที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขับรถนั้น แต่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาและหรือความตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และตามบทบัญญัติทั้งหลายในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๐๗ ในการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งไม่ประจำทางระหว่างจังหวัดหรือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถรับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๑๐๘ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖ มาตรา ๙๗ มาตรา ๙๘ หรือมาตรา ๙๙ หรือบกพร่องไปในภายหลังเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นเสีย มาตรา ๑๐๙ ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในหมวดนี้ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจยึดใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถของผู้นั้น และสั่งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นไปรายงานตนต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดสิบสองชั่วโมง คำสั่งนั้นให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถชั่วคราวภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้นได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเสียก็ได้ มาตรา ๑๑๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถซึ่งถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๑๑๑ ให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจมาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๘ ผู้โดยสาร มาตรา ๑๑๒ ผู้โดยสารต้องชำระค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๑๑๓ ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสาร ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งปิดไว้ ณ ที่เปิดเผยในรถ หมวด ๙ สถานีขนส่ง มาตรา ๑๑๔ สถานีขนส่งมี ๒ ประเภท คือ (๑) สถานีขนส่งผู้โดยสาร (๒) สถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ลักษณะของสถานีขนส่งตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๑๕ ให้กรมการขนส่งทางบกโดยอนุมัติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จัดให้มีสถานีขนส่งขึ้นในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและในเขตท้องที่จังหวัดอื่น โดยจะดำเนินการเอง หรือจะมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจหรือองค์การของรัฐเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่งไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด บุคคลอื่นใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางก่อน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง การจัดให้มีหรือจัดตั้งสถานีขนส่งขึ้นที่ใด เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๑๖ ให้อธิบดีมีอำนาจกำกับและควบคุมการดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้จะแต่งตั้งข้าราชการและหรือลูกจ้างสังกัดกรมการขนส่งทางบก ทำหน้าที่เป็นนายสถานีและเจ้าหน้าที่สถานีตามจำนวนที่เห็นสมควร มีอำนาจกำกับและควบคุมดังกล่าวด้วยก็ได้ มาตรา ๑๑๗ ในการบริหารงานที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งของกรมการขนส่งทางบกตามมาตรา ๑๑๕ วรรคหนึ่ง อธิบดีจะแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินแปดคนเพื่อดูแลควบคุมและดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งก็ได้ กรรมการที่อธิบดีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการนี้โดยอนุโลม มาตรา ๑๑๘ ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องมีคุณสมบัติและลักษณะตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๑๑๙ ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งให้มีอายุตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดแต่ไม่เกินยี่สิบปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๒๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจการสถานีขนส่งรวมทั้งการรักษาความเรียบร้อย ความปลอดภัยในบริเวณสถานีขนส่งนั้น มาตรา ๑๒๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างประจำสถานีขนส่งตลอดเวลา โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบสภาพรถขนส่งประจำทางซึ่งต้องหยุดหรือจอดเพื่อการขนส่ง ณ สถานีขนส่งแห่งนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย คุณสมบัติและจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๒๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีอู่ซ่อมรถและบริการซ่อมรถเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่รถที่ใช้สถานีขนส่งนั้น มาตรา ๑๒๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีบริเวณที่จอดพักรถตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๒๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีสมุดทะเบียนการเดินรถที่ผ่านเข้าออกสถานีขนส่งตามแบบที่อธิบดีกำหนด สมุดทะเบียนการเดินรถต้องเก็บรักษาไว้ในที่ทำการของสถานีขนส่งแห่งนั้นพร้อมที่จะให้นายทะเบียน พนักงานตรวจสภาพหรือผู้ตรวจการตรวจดูได้ทุกเวลา มาตรา ๑๒๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งเรียกเก็บค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งได้ไม่เกินอัตราตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด หมวด ๑๐ บทกำหนดโทษ มาตรา ๑๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๗๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๒๗[๑๔] ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ วรรคสอง มาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๒ (๑) (๒) หรือ (๔) มาตรา ๑๐๓ มาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๖ หรือมาตรา ๑๐๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๒๗ ทวิ[๑๕] ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๒ (๓) (๓ ทวิ) หรือ (๓ ตรี) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๒๗ ตรี[๑๖] ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตรวจการ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามมาตรา ๑๐๒ ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๒๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๒๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) หรือ (๑๕) หรือในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๖ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง มาตรา ๓๒ วรรคสอง มาตรา ๓๓ วรรคสอง มาตรา ๓๔ วรรคสอง มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๑๑๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๓๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๓๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ใช้ทำการขนส่งนอกเส้นทางหรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนบาท มาตรา ๑๓๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๔๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๒ หรือมาตรา ๔๗ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๗๙ หรือมาตรา ๘๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๔๔ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่อธิบดี นายทะเบียนผู้ตรวจการ หรือพนักงานตรวจสภาพ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๔๙ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับหนึ่งแสนบาท หรือปรับเป็นรายวัน วันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๔๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๔๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๘ ผู้ใดใช้รถโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑ หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ตรวจการหรือนายทะเบียนตามมาตรา ๘๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ มาตรา ๘๑ วรรคหนึ่งหรือมาตรา ๘๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๕๐ เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๐ หรือมาตรา ๙๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท แต่ถ้าผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๐๙ หรือปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่ถ้าผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท มาตรา ๑๕๓ ผู้โดยสารผู้ใดโดยสารรถโดยมีเจตนาไม่ชำระค่าขนส่งหรือชำระค่าขนส่งไม่ครบถ้วนตามอัตราที่กำหนด หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๑๑๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๕๔ ผู้ใดจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๕๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๓ หรือมาตรา ๑๒๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท มาตรา ๑๕๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถผู้ใดไม่นำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท มาตรา ๑๕๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งนำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งผู้ใดไม่ชำระค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งให้แก่สถานีขนส่งตามมาตรา ๑๒๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท มาตรา ๑๕๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใด โดยทุจริตหรือจงใจออกใบรับรองตรวจสภาพรถโดยไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และนายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นเสียได้ มาตรา ๑๕๙ ผู้ใดเรียกเก็บค่าขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง ค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่ง หรือค่าบริการอย่างอื่น ผิดไปจากอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๐ ผู้ใด (๑) ใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ผู้อื่น (๒) ใช้เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้สำหรับรถคันหนึ่งกับรถอีกคันหนึ่ง (๓) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ตน (๔) เปลี่ยนแปลงหรือปิดบังทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ซึ่งแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถ หรือ (๕) ใช้รถที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา ๘๘ ให้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้รับยกเว้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๖๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจตามมาตรา ๑๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๖๒ ผู้ใดเปลี่ยนแปลง ย้าย ทำลาย หรือกระทำให้เสียหายด้วยประการใด ๆ แก่เครื่องหมายหรือสิ่งอื่นใดที่ทางราชการได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการขนส่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๓ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๖๔ ในระหว่างที่ยังมิได้มีกฎกระทรวง ข้อกำหนด หรือระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กฎกระทรวง ข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศใด ๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ และพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ คงใช้บังคับต่อไป มาตรา ๑๖๕[๑๗] บรรดาใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุและถ้าจะต่ออายุใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ บรรดารถที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามีการแก้ไขดัดแปลงโครงรถหรือขนาดสัดส่วนของตัวถังกว้างหรือยาวกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และการแก้ไขดัดแปลงนั้นกระทำได้โดยชอบตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ให้ถือว่าเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๗๑ มาตรา ๑๖๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง และเจ้าของรถที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ปฏิบัติการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๖๗ รถที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้รถตามวรรคหนึ่ง ซึ่งจะชำระภาษีครั้งแรกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องชำระภาษีคราวละกี่งวดก็ได้ มาตรา ๑๖๘ คำขออนุญาตใด ๆ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม และถ้าคำขออนุญาตดังกล่าวมีข้อความแตกต่างไปจากคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขออนุญาตเพื่อให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ได้ มาตรา ๑๖๙ ในเขตท้องที่จังหวัดใดในระหว่างที่ยังไม่มีขนส่งจังหวัดให้อำนาจและหน้าที่ของขนส่งจังหวัด เป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนกลาง ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ส. โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรี บัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ [ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย] อัตราค่าธรรมเนียม (๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ต่อเส้นทางหนึ่ง ฉบับละ ๑๕,๐๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ไม่ประจำทาง ฉบับละ ๔,๐๐๐ บาท (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดย รถขนาดเล็ก ฉบับละ ๑,๕๐๐ บาท (๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๕) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ (ก) ตลอดปี ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท (ข) เฉพาะคราว ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๖) ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท (๗) ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการ สถานีขนส่ง ฉบับละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๘) ใบอนุญาตผู้ขับรถและใบอนุญาต นายตรวจ ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๙) ใบอนุญาตผู้เก็บค่าโดยสารและ ใบอนุญาตผู้บริการ ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๑๐) ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ฉบับละ ๒๐,๐๐๐ บาท (๑๑) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๑๒) การโอนทะเบียนรถ ครั้งละ ๒๐๐ บาท (๑๓) แผ่นป้ายเลขทะเบียนรถและ เครื่องหมาย แผ่นละ ๑๐๐ บาท (๑๔) คำขออนุญาตประกอบการขนส่ง ประจำทาง ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๑๕) คำขออื่น ๆ ฉบับละ ๒๐ บาท (๑๖) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการขนส่งได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และสภาพการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก บทบัญญัติทั้งหลายที่ใช้บังคับอยู่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการขนส่งเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓[๑๘] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลแห่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ส่งผลกระทบถึงบรรดารถบรรทุกขนส่งสินค้า ของผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล คือ ก. รถบรรทุกที่ใช้รถมีน้ำหนักรถต่ำกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมทั่วพระราชอาณาจักรสำหรับประกอบการภายในครอบครัว ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง เพราะต้องไปยื่นขอจดทะเบียนขนส่งส่วนบุคคล และต้องใช้ใบอนุญาตขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก นอกเหนือไปจากใบอนุญาตของกรมตำรวจที่มีอยู่แล้ว ก่อให้เกิดความเดือดร้อน เพราะรถบรรทุกขนาดเล็กเหล่านี้หาจำต้องใช้ความชำนาญเชี่ยวชาญเป็นพิเศษไม่ เนื่องจากเป็นรถที่ส่วนมากใช้ในธุรกิจส่วนตัว ภายในครัวเรือนและใช้ในการขนส่งพืชผลของเกษตรกร จึงสมควรได้รับการยกเว้นไม่ต้องไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และการใช้ใบขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก ข. สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งได้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลตามใบอนุญาตนั้น การจำกัดท้องที่ทำการขนส่งนั้น ย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกและเป็นธรรม เพราะผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลก็ย่อมหมายถึงประกอบธุรกิจส่วนตัวนั่นเอง ท้องที่ที่กำหนดให้แน่นอนย่อมเป็นเครื่องกีดขวางการปฏิบัติงาน เพราะการที่จะบรรทุกสินค้าของตนไปส่งยังที่ต่าง ๆ การที่จะต้องไปขออนุญาตเป็นครั้งคราวนั้นย่อมก่อให้เกิดภาวะสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มราคาทุนโดยไม่จำเป็น ค. โดยทั่วไปการตรวจสภาพรถมักล่าช้า เมื่อนำรถไปขอรับการตรวจแล้วแต่ปรากฏว่ารถมีจำนวนมาก ตรวจสภาพไม่ทันหากนำไปวิ่งขนส่งก็จะต้องถูกจับกุมและมีโทษสูง และการที่จอดรอการตรวจสภาพเป็นระยะนาน ๆ นั้น ย่อมทำให้เศรษฐกิจกระทบกระเทือน จึงสมควรกำหนดเวลาตรวจไว้ และหากความล่าช้าเป็นเพราะความผิดของพนักงานหรือผู้มีอำนาจตรวจสภาพ ก็ไม่สมควรเอาโทษแก่ผู้ประกอบการขนส่งที่ขอตรวจสภาพไว้แล้ว เพราะโทษมีกำหนดสูง ง. การต่อใบอนุญาตตามบทเฉพาะกาลของใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งได้รับอนุญาตไว้แล้ว ก่อนใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ขนาดและส่วนซึ่งพนักงานตรวจสภาพตามกฎหมายเก่า ทั้งของกรมตำรวจและกรมการขนส่งทางบก ไม่เป็นระเบียบเดียวกัน และมีมาตรฐานต่างกัน ฉะนั้น การขอต่อใบอนุญาตใหม่จึงไม่สมควรนำเหตุผลของการผิดขนาดและส่วนมาเป็นข้อปฏิเสธการขอต่อใบอนุญาตเก่านั้น อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙[๑๙] มาตรา ๕ อัตราภาษีรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ไม่ใช้บังคับแก่รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีรถประจำปีไว้แล้ว หรือที่ค้างชำระภาษีรถประจำปีก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ สำหรับภาษีรถประจำปีที่เสียไว้แล้ว หรือที่ค้างชำระนั้น มาตรา ๖ รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีรถประจำปีไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ หากเป็นรถที่ไม่ได้รับการลดภาษีรถประจำปีตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา ๘๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้เสียภาษีรถประจำปีสำหรับปีต่อไป ดังต่อไปนี้ (๑) ปีที่หนึ่ง ให้เสียในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๒) ปีที่สอง ให้เสียในอัตราสามในสี่ของอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๓) ปีต่อไป ให้เสียในอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกำหนดนี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันมีรถจำนวนมากใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดความจำเป็นในการสั่งน้ำมันดีเซลหรือก๊าซเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการเพิ่มจำนวนรถที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และเพื่อเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การไม่อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙[๒๐] ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอขอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ นั้น ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑/๒๕๒๙ (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุมัติ จึงประกาศมาตามความในมาตรา ๑๕๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐[๒๑] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้ทำความตกลงกับประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับรถภายในประเทศซึ่งกันและกัน และโดยที่ประเทศไทยอาจทำความตกลงในทำนองเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะมีผลให้ผู้มีใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือจากรัฐบาลของประเทศที่ประเทศไทยมีความตกลงด้วย สามารถใช้ใบอนุญาตขับรถนั้นขับรถในประเทศไทยได้ ฉะนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่กับต่างประเทศตามความตกลงดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕[๒๒] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ โดยเฉพาะผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถส่วนมากมักนิยมเสพยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุสร้างความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนบนท้องถนนเป็นอันมาก สมควรมีบทบัญญัติกำหนดความผิดและกำหนดโทษเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และให้อำนาจผู้ตรวจการ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ สั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นหรือเสพยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในขณะปฏิบัติหน้าที่รับการตรวจหรือทดสอบถึงเหตุดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ วศิน/ผู้จัดทำ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๓๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ มีนาคม ๒๕๒๒ [๒] มาตรา ๔ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๓] มาตรา ๔ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๔] มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๕] มาตรา ๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๖] มาตรา ๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๗] มาตรา ๗๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๘] มาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๙] มาตรา ๘๘ ทวิ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ ต่อมามีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การไม่อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑/๒๕๒๙ (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุมัติ [๑๐] มาตรา ๑๐๒ (๓ ทวิ) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ [๑๑] มาตรา ๑๐๒ (๓ ตรี) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ [๑๒] มาตรา ๑๐๒ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ [๑๓] มาตรา ๑๐๖ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐ [๑๔] มาตรา ๑๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ [๑๕] มาตรา ๑๒๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ [๑๖] มาตรา ๑๒๗ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ [๑๗] มาตรา ๑๖๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๑๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๖๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๓ [๑๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๓/ตอนที่ ๑๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑/๓๑ มกราคม ๒๕๒๙ [๒๐] ราชกิจจานุเบกษา/เล่ม ๑๐๓/ตอนที่ ๗๕/หน้า ๑๑/๖ พฤษภาคม ๒๕๒๙ [๒๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔/ตอนที่ ๒๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๕๓/๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๐ [๒๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๔/หน้า ๑๔/๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕
301291
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535
พระราชบัญญัติ กรมขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓ ทวิ) และ (๓ ตรี) ของมาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “(๓ ทวิ) ไม่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ (๓ ตรี) ไม่เสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท” มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “มาตรา ๑๐๒ ทวิ ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใด ในขณะปฏิบัติหน้าที่นั้นมีสารอยู่ในร่างกายอันเกิดจากการเสพสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น หรือยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ผู้ตรวจการหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าผู้นั้นมีสารนั้น ๆ อยู่ในร่างกายหรือไม่ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ วิธีการตรวจหรือทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๒๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ วรรคสอง มาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๒ (๑) (๒) หรือ (๔) มาตรา ๑๐๓ มาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๖ หรือมาตรา ๑๐๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท” มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๒๗ ทวิ และมาตรา ๑๒๗ ตรี แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “มาตรา ๑๒๗ ทวิ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๒ (๓) (๓ ทวิ) หรือ (๓ ตรี) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๒๗ ตรี ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตรวจการ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามมาตรา ๑๐๒ ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ โดยเฉพาะผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถส่วนมากมักนิยมเสพยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุสร้างความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนบนท้องถนนเป็นอันมาก สมควรมีบทบัญญัติกำหนดความผิดและกำหนดโทษเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และให้อำนาจผู้ตรวจการ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ สั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นหรือเสพยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในขณะปฏิบัติหน้าที่รับการตรวจหรือทดสอบถึงเหตุดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ วศิน/ผู้จัดทำ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๒ วิมล/ปรับปรุง ๙ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๔/หน้า ๑๔/๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕
318139
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (Update ณ วันที่ 28/12/2530)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการขนส่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ (๒) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ (๓) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ (๑) “การขนส่ง” หมายความว่า การขนคน สัตว์ หรือสิ่งของ โดยทางบกด้วยรถ (๒) “การขนส่งประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนด (๓) “การขนส่งไม่ประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง (๔)[๒] “การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก” หมายความว่า การขนส่งคนหรือสิ่งของหรือคนและสิ่งของรวมกันเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนดด้วยรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสี่พันกิโลกรัม (๕)[๓] “การขนส่งส่วนบุคคล” หมายความว่า การขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเองด้วยรถที่มีน้ำหนักเกินกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม (๖) “การขนส่งระหว่างจังหวัด” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างจังหวัดกับจังหวัด (๗) “การขนส่งระหว่างประเทศ” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ (๘) “การรับจัดการขนส่ง” หมายความว่า การรับจ้างรวบรวมคน สัตว์หรือสิ่งของ และจัดให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำการขนส่งจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้รับจัดการขนส่ง (๙) “รถ” หมายความว่า ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมตลอดถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รถไฟ (๑๐) “ผู้ตรวจการ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจการขนส่ง (๑๑) “พนักงานตรวจสภาพ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจความมั่นคงแข็งแรง ความสะอาด ความเรียบร้อย และความเหมาะสมของสภาพรถที่นำมาใช้ในการขนส่ง (๑๒) “นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนกลาง หรือนายทะเบียนประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี (๑๓) “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี (๑๔) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (๑๕) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕[๔] พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (๑) การขนส่งโดยรถยนต์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร (๒) การขนส่งโดยรถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินสิบสองคน รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม รถยนต์สามล้อ รถจักรยานยนต์ และรถแทร็กเตอร์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (๓) การขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเป็นนายทะเบียนกลางมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งระหว่างจังหวัดและการขนส่งระหว่างประเทศ ให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ขนส่งจังหวัดเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในเขตจังหวัดของตน ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจมอบหมายกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำแทนได้ การมอบหมายตามวรรคสี่ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพกับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกคณะหนึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย อธิบดีกรมทางหลวง เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้หรือความจัดเจนในการขนส่ง การเศรษฐกิจหรือกฎหมาย ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๙ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ มาตรา ๑๐ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (๑) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๒) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย (๔) เป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง มาตรา ๑๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) รัฐมนตรีให้ออก (๔) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานและรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน มาตรา ๑๓ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๔ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายการขนส่งทางบกระยะสั้นและระยะยาวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๒) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาและดำเนินการสถานีขนส่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๓) กำหนดมาตรการและแผนพัฒนาการขนส่งทางบกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๔) กำหนดมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยและความสะดวกในการขนส่งทางบก เพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ (๕) กำหนดการห้ามรับจดทะเบียนรถเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ (๖) ประสานงานที่เกี่ยวข้องระหว่างกันในด้านการขนส่งทางบก ตลอดจนประสานงานด้านการขนส่งทางบกกับการขนส่งทางน้ำและการขนส่งทางอากาศ (๗) ให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการขนส่งทางบก มาตรา ๑๕ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม หมวด ๒ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน เลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทหรือผู้แทน อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทน อธิบดีกรมทางหลวงหรือผู้แทน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้แทน เป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ ทั้งนี้ โดยให้มีผู้มีความรู้และมีความจัดเจนในการขนส่งรวมอยู่ด้วย ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๑๗ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคน โดยมีนายกเทศมนตรีในจังหวัดนั้นรวมอยู่ด้วยหนึ่งคน เป็นกรรมการ ให้ขนส่งจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๑๘ ให้นำมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดโดยอนุโลม มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดลักษณะของการขนส่งประจำทางและการขนส่งไม่ประจำทาง (๒) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ (๓) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัด และระหว่างประเทศ (๔) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๕) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๖) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๗) กำหนดอัตราค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่ง (๘) กำหนดสถานที่ จัดให้มีหรือจัดตั้ง และระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่ง (๙) กำหนดชนิดหรือสภาพรถที่มิให้รับจดทะเบียน (๑๐) กำหนดประเภทหรือชนิดของรถที่ต้องเข้าหยุดหรือจอดเพื่อการรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่ง (๑๑) กำหนดที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสาร (๑๒) วางมาตรการในการกำหนด อนุญาต เพิกถอนการอนุญาตและการควบคุมกิจการขนส่งทางบก (๑๓) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก การกำหนดตาม (๒) (๓) (๔) (๘) (๙) และ (๑๐) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ภายในเขตจังหวัด ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทาง (๒) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทาง (๓) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๕) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกและคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง การกำหนดตาม (๑) และ (๔) เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแล้วจึงจะใช้บังคับได้ และการกำหนดตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๑ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม มาตรา ๒๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการการขนส่งทางบก เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้คณะกรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้ หมวด ๓ การประกอบการขนส่ง มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือการขนส่งส่วนบุคคล เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง และการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดนั้น ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย และ (๑) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย (๒) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย และทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย (๓) ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย หรือต้องเป็นของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด หรือต้องเป็นของกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือองค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และบริษัทจำกัดนั้นต้องไม่มีข้อบังคับอนุญาตให้มีการออกหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ (๔) ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทมหาชนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะต้องมีลักษณะตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจยกเว้นคุณสมบัติตามความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษเป็นการเฉพาะรายได้ มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางและผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่ออนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่ง การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นำมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับแก่การประกอบการขนส่งระหว่างประเทศโดยอนุโลม มาตรา ๒๖ ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศมาใช้ประกอบการขนส่งในประเทศไทย เว้นแต่เพื่อการขนส่งระหว่างประเทศและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางแล้ว ผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๒ ซึ่งประจำในรถตามวรรคหนึ่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ และหรือตามข้อตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ มาตรา ๒๗ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งมีสี่ประเภท คือ (๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง (๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง หรือใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้ใช้เป็นใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลได้ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ข้างต้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด มาตรา ๒๘ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้มีอายุเจ็ดปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอเสียก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ แต่การขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางและใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก จะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๙[๕] บทบัญญัติมาตรา ๒๓ มิให้ใช้บังคับแก่การขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา วัด มูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว สภากาชาดไทย สถานพยาบาล รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เป็นผู้ประกอบการขนส่ง แต่ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้เสมือนดังเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลทุกประการ มาตรา ๓๐ ให้นายทะเบียนกลางเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในกรุงเทพมหานคร การขนส่งระหว่างจังหวัด และการขนส่งระหว่างประเทศ และให้นายทะเบียนประจำจังหวัดเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในจังหวัดของตน ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ มาตรา ๓๑ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) สิทธิในรถที่ใช้ประกอบการขนส่งของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๓) ลักษณะ ชนิด ขนาด และสีของรถ และเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๔) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๕) จำนวนผู้ประจำรถ (๖) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ (๙) ที่ที่รถจะต้องหยุดในระหว่างเส้นทาง (๑๐) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง (๑๑) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ (๑๒) เวลาทำงานประจำวันในการประกอบการขนส่ง (๑๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ (๑๔) การประกอบกิจการอื่นนอกจากการประกอบการขนส่งประจำทาง (๑๕) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๑) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๒ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิดและขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๔) จำนวนผู้ประจำรถ (๕) ท้องที่ที่ทำการขนส่ง (๖) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง (๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ (๙) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ (๑๐) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๗) และ (๘) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๓ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิด ขนาด และสีของรถ และเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๔) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ (๕) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๖) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๗) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๕) และ (๖) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๔[๖] ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้นายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิด และขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษา มาตรา ๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ และหรือใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง และต้องทำรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจัดให้มีที่พักผู้โดยสารตามระยะทางโดยมีลักษณะ ขนาด จำนวน และจุดที่ตั้งของที่พักผู้โดยสารตามที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๓๘ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่งหรือค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ มาตรา ๓๙ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกเส้นทาง หรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนหรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด มาตรา ๔๐ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางกระทำการขนส่งอันมีลักษณะเช่นเดียวหรือคล้ายกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางหรือมีลักษณะเป็นการแย่งผลประโยชน์กับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางได้รับอนุญาต มาตรา ๔๑ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นที่จะแก้ไขสถานการณ์เพื่อให้การขนส่งได้รับความสะดวกหรือให้มีรถเพียงพอแก่การขนส่ง นายทะเบียนมีอำนาจที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถ เวลา และจำนวนเที่ยวของการเดินรถ หรือให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดส่งรถที่ตนได้รับอนุญาตไปช่วยเหลือเป็นการชั่วคราวตามควรแก่กรณี แล้วให้รายงานคณะกรรมการโดยเร็ว มาตรา ๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องแสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาต มาตรา ๔๓ ในกรณีที่ใบอนุญาตประกอบการขนส่งสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดดังกล่าว มาตรา ๔๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง มาตรา ๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง มาตรา ๔๖ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๑) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๔ (๒) ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขในมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามมาตรา ๓๖ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวด ๔ ว่าด้วยการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือจัดการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติหรือไม่แก้ไขให้ถูกต้อง หรือเป็นที่เห็นได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่สามารถจะดำเนินการตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดนั้น หรือการดำเนินการนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายหรือเสื่อมประโยชน์ต่อประชาชน ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ แต่ถ้าเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางที่จะพิจารณาอนุมัติ มาตรา ๔๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต้องส่งคืนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๔๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๔๙ ให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจควบคุมดูแลบรรดากิจการที่เกี่ยวกับการขนส่งให้เป็นไปตามความในพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์ดังกล่าวให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจ (๑) เข้าไปในสถานที่ดำเนินการของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในระหว่างเวลาทำงานตามปกติ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและเพื่อตรวจสอบบัญชีและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการขนส่ง (๒) เรียกผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้จัดการ และพนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นนิติบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงตามที่ต้องการ ในการปฏิบัติตาม (๑) ให้อธิบดีมีอำนาจมอบหมายให้ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพทำการแทนได้ ในการปฏิบัติการของอธิบดี นายทะเบียน ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพตามมาตรานี้ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือตามสมควร มาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจเรียกรถให้หยุดเพื่อทำการตรวจสอบ และเมื่อเชื่อว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้น ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจจับกุมผู้ฝ่าฝืนเพื่อส่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินคดีต่อไป บทบัญญัติในวรรคหนึ่งไม่ลบล้างอำนาจจับกุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มาตรา ๕๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด หมวด ๔ การชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง มาตรา ๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันต่อนายทะเบียนกลางเพื่อประกันความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกและซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะต้องรับผิดชอบเนื่องจากการขนส่งของตน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดตามขนาดและประเภทของการประกอบการขนส่งแต่ต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ดอกผลที่เกิดจากหลักทรัพย์ที่เป็นเงินสดนั้นตกเป็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่วางหลักทรัพย์ ให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้รับผิดชอบในการเปิดบัญชีเงินฝาก และการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีหลักทรัพย์กับธนาคารตามระเบียบของกระทรวงการคลัง มาตรา ๕๓ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มาตรา ๕๔ ในการวางหลักทรัพย์ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทย ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำหนังสือมอบอำนาจให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจจัดการจำหน่ายพันธบัตรนั้น เพื่อชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วย มาตรา ๕๕ หลักทรัพย์ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เว้นแต่จะเป็นการบังคับคดีเพื่อการชำระหนี้ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกอันเนื่องจากการขนส่งของตน มาตรา ๕๖ เมื่อรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายหรือชีวิตของบุคคลใดนอกจากความรับผิดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นซึ่งจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหาย ให้จ่ายตามความร้ายแรงของความเสียหาย ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลและหรือค่าปลงศพ มาตรา ๕๗ เมื่อผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายประสงค์จะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมตำรวจกำหนดต่อพนักงานสอบสวน โดยแสดงพยานหลักฐานว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาจากสำนวนการสอบสวน และเมื่อเห็นว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งคันใด ให้มีหนังสือสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถคันนั้นชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๕๖ วรรคสอง ในการนี้ให้แจ้งให้นายทะเบียนกลางทราบโดยเร็วด้วย ในการสั่งของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาสั่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ในการชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชำระภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากพนักงานสอบสวน มาตรา ๕๘ ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายต้องใช้สิทธิในการขอรับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามมาตรา ๕๗ ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น มาตรา ๕๙ การชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในอันที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐ บุคคลซึ่งมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ได้แก่ผู้เสียหายดังต่อไปนี้ (๑) ผู้เสียหายซึ่งมิได้อยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ได้รับความเสียหายจากรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น (๒) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่รวมถึงผู้ขับรถคนงานหรือลูกจ้างประจำรถซึ่งอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ (๓) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย มาตรา ๖๑ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ และให้พนักงานสอบสวนบันทึกความเห็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งไม่เห็นด้วยไว้ในสำนวนการสอบสวน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งกลางให้เป็นที่สุด มาตรา ๖๒ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานสอบสวน ถ้าคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีความเห็นตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่พนักงานสอบสวนกำหนดไว้อีกร้อยละสิบ มาตรา ๖๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ หรือตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางตามมาตรา ๖๑ ในกรณีที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามมาตรา ๕๒ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจนำหลักทรัพย์ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นซึ่งได้นำมาวางไว้เป็นประกันชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นแทนได้ มาตรา ๖๔ ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือได้รับชดใช้ไม่ครบตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนหรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางสั่งไม่ว่าเพราะเหตุหลักทรัพย์ที่วางประกันไว้ไม่พอจ่ายค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือเพราะเหตุอื่นใด เมื่อผู้เสียหายได้ร้องเรียนต่อนายทะเบียนกลางให้นายทะเบียนกลางสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งชำระให้เสร็จสิ้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางดังกล่าว ให้นายทะเบียนกลางเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และให้นำมาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๕ การรับจัดการขนส่ง มาตรา ๖๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการรับจัดการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖๖ ในการออกใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ให้นายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) ท้องที่ที่ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๒) สถานที่ตั้งสำนักงานของผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๓) สถานที่พักคน สัตว์ หรือเก็บสิ่งของ (๔) วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับสวัสดิภาพ ความสะดวกและความปลอดภัยในการรับจัดการขนส่ง (๕) อัตราค่าบริการรับจัดการขนส่ง (๖) เงื่อนไขอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๖๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๖๕ ต้องวางหลักทรัพย์ต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญารับจัดการขนส่ง ทั้งนี้ ตามจำนวนหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖๘ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๖๗ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มาตรา ๖๙ ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๐ ให้นำมาตรา ๒๔ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การประกอบการรับจัดการขนส่งโดยอนุโลม หมวด ๖ รถ มาตรา ๗๑ รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กับได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ และเสียภาษีตามมาตรา ๘๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มาตรา ๗๒[๗] รถที่จะนำมาจดทะเบียนและเสียภาษีต้องผ่านการตรวจสภาพรถจากพนักงานตรวจสภาพ หรือจากสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๗๔ เว้นแต่รถประเภทหรือชนิดใดที่สมควรได้รับการยกเว้นการตรวจสภาพเป็นครั้งคราวให้กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ปรากฏว่ารถที่นำมารับการตรวจสภาพนั้นมีสภาพมั่นคงแข็งแรงมีเครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับการอนุญาตออกใบรับรองให้ ใบรับรองการตรวจสภาพรถให้ทำตามแบบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๗๓[๘] เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตได้ตรวจสภาพรถถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๒ แล้ว ให้รับจดทะเบียนและออกหนังสือแสดงการจดทะเบียนพร้อมกับแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคันนั้นให้โดยไม่ชักช้า มาตรา ๗๔ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อรับรองสภาพรถตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๕ ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๔ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นได้ ให้นำมาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตโดยอนุโลม มาตรา ๗๗ หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถให้ใช้ได้สี่งวดนับแต่งวดที่ออกหนังสือนี้ ให้เดือนมกราคม เดือนเมษายน เดือนกรกฎาคม และเดือนตุลาคมเป็นเดือนแรกของแต่ละงวด การขอต่ออายุทะเบียน ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่นายทะเบียนจะได้ประกาศกำหนด ให้นำมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ และมาตรา ๗๓ มาใช้บังคับแก่การขอต่ออายุทะเบียนโดยอนุโลม มาตรา ๗๘ ห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน มาตรา ๗๙ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ประสงค์จะเลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้ว แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบและนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้น มาตรา ๘๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งมีความจำเป็นจะต้องระงับใช้รถนั้นชั่วคราวเป็นเวลาเกินสิบห้าวันแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบก่อนวันที่จะระงับใช้รถนั้น มาตรา ๘๑ รถที่ยังมิได้จดทะเบียนตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือรถที่เลิกใช้ตามมาตรา ๗๙ ถ้าจะนำมาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ต้องมีใบอนุญาตและเครื่องหมายโดยเฉพาะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ใบอนุญาตและเครื่องหมายดังกล่าวใช้ได้เฉพาะรถที่อยู่ในความครอบครองของผู้ได้รับใบอนุญาตโดยสับเปลี่ยนกันได้ ไม่เฉพาะคัน มาตรา ๘๒ การโอนรถซึ่งได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ แล้ว ผู้โอนและผู้รับโอนจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันโอนและให้นายทะเบียนจดแจ้งการโอนไว้ในหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถนั้น มาตรา ๘๓ เมื่อผู้ตรวจการตรวจพบว่ารถคันใดมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือมีเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ผู้ตรวจการรายงานให้นายทะเบียนทราบ แต่ถ้าปรากฏโดยชัดแจ้งว่าการใช้รถคันนั้นต่อไปน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่การขนส่ง ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจสั่งระงับใช้ไว้เป็นการชั่วคราวได้ และให้รีบรายงานให้นายทะเบียนทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้เป็นเจ้าของรถตามวรรคหนึ่ง จัดการส่งรถคันนั้นไปให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความบกพร่องตามรายงานของผู้ตรวจการภายในเวลาที่กำหนด เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งตามวรรคสองแล้ว ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตงดการใช้รถดังกล่าวไว้จนกว่านายทะเบียนจะมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไป มาตรา ๘๔ เมื่อพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตเห็นว่ารถที่นำมาให้ตรวจตามมาตรา ๘๓ สมควรจะต้องซ่อมแซม ปรับปรุงเพื่อให้รถกลับมีสภาพมั่นคงแข็งแรง หรือจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์หรือส่วนควบให้ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้แจ้งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง แล้วให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความถูกต้องและรายงานให้นายทะเบียนทราบ เมื่อได้พิจารณาเห็นสมควรตามรายงานของพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถคันนั้นต่อไปได้ มาตรา ๘๕ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดเวลาการชำระภาษีรถประจำปีสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งแต่ละรายก็ได้ และให้คำนวณภาษีตามน้ำหนักรถตามอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ในการคำนวณน้ำหนักรถ ให้รวมน้ำหนักของรถและเครื่องอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับตัวรถตามปกติ แต่ไม่รวมน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเครื่อง น้ำ และเครื่องมือประจำรถ เศษของหนึ่งกิโลกรัมให้ปัดทิ้ง เงินภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้ที่จัดเก็บได้ในกรุงเทพมหานครให้ตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้ตกเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และเมืองพัทยาในจังหวัดนั้น โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๘๖ ภาษีรถให้ชำระล่วงหน้าเป็นรายปีต่อนายทะเบียน และจะขอชำระเป็นงวดก็ได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รถที่จดทะเบียนใหม่ในงวดใด ให้ชำระภาษีตั้งแต่งวดนั้นเป็นต้นไป ถ้าเจ้าของรถไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่จะต้องชำระ ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระ เงินเพิ่มตามมาตรานี้ให้ถือเป็นเงินภาษี มาตรา ๘๗ รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีแล้ว ถ้าต่อมามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเพิ่มเติม เป็นเหตุให้รถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิม เจ้าของรถจะต้องเสียภาษีเพิ่มตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย และให้นำมาตรา ๘๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๘๘ รถที่ใช้ในการขนส่งส่วนบุคคลของกระทรวง ทบวง กรมกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา วัด มูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว และสภากาชาดไทย ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี มาตรา ๘๘ ทวิ[๙] (ยกเลิก) มาตรา ๘๙ รถที่ได้จดทะเบียนแล้ว ถ้าไม่ได้เสียภาษีตามกำหนดตามมาตรา ๘๖ เจ้าของรถต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบพร้อมกับนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถนั้นคืนต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งจะต้องเสียภาษีครั้งถัดไปตามมาตรา ๘๖ มาตรา ๙๐ เจ้าของรถต้องติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีที่นายทะเบียนออกให้ไว้กับตัวรถตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๙๑ ในกรณีที่แผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุดหรือลบเลือนในสาระสำคัญ ให้เจ้าของรถยื่นคำขอ ขอรับแผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุด หรือลบเลือนดังกล่าว หมวด ๗ ผู้ประจำรถ มาตรา ๙๒ ผู้ประจำรถ ได้แก่ (๑) ผู้ขับรถ (๒) ผู้เก็บค่าโดยสาร (๓) นายตรวจ (๔) ผู้บริการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๓ ห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๔ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำรถ มี ๔ ประเภท คือ (๑) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ (๒) ใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร (๓) ใบอนุญาตเป็นนายตรวจ (๔) ใบอนุญาตเป็นผู้บริการ ใบอนุญาตแต่ละประเภทจะใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตประเภทที่หนึ่ง ประเภทที่สาม และประเภทที่สี่ใช้เป็นใบอนุญาตประเภทที่สองได้ มาตรา ๙๕ ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถมีสามชนิด ดังนี้ ชนิดที่หนึ่ง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารไม่เกินยี่สิบคน ชนิดที่สอง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกินกว่าสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารเกินกว่ายี่สิบคน ชนิดที่สาม ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งโดยสภาพใช้สำหรับลากจูงรถอื่นหรือล้อเลื่อนที่บรรทุกสิ่งใด ๆ บนล้อเลื่อนนั้น ใบอนุญาตแต่ละชนิดใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตชนิดที่สองและชนิดที่สามเป็นใบอนุญาตชนิดที่หนึ่งได้ และใบอนุญาตชนิดที่สามใช้เป็นใบอนุญาตชนิดที่สองได้ มาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๓ ในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องมีคุณสมบัติและลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีความรู้และความสามารถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๓) ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยความเหมาะสม (๔) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ (๕) ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจ (๖) ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ (๗) ไม่เป็นผู้มีใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถประเภทหรือชนิดเดียวกับที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว (๘) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่การเพิกถอนใบอนุญาตนั้นพ้นกำหนดสามปีแล้วนับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต (๙) ไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดอันได้กระทำโดยประมาทที่มิใช่เกี่ยวกับการใช้รถในการกระทำผิดหรือความผิดลหุโทษ หรือได้พ้นโทษมาแล้วเกินสามปี (๑๐) ไม่เป็นผู้เคยถูกควบคุมตัวเพราะมีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคม หรือเป็นอันธพาล เว้นแต่ได้พ้นจากการควบคุมตัวมาแล้วเกินหนึ่งปี มาตรา ๙๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง และได้ผ่านการศึกษาและจบหลักสูตรจากโรงเรียนการขนส่งของกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง การรับรองโรงเรียนสอนขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และผู้บริการต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในการขนส่งส่วนบุคคลต้องมีคุณสมบัติและมีลักษณะตามมาตรา ๙๖ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๐) และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๐๐ ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถให้มีอายุหนึ่งปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด มาตรา ๑๐๑ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องมีใบอนุญาตอยู่กับตัวและต้องแสดงต่อนายทะเบียนหรือผู้ตรวจการเมื่อขอตรวจ มาตรา ๑๐๒ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้อง (๑) แต่งกายสะอาดเรียบร้อยตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง (๒) ไม่แสดงกิริยาหรือใช้ถ้อยคำเป็นการเสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว รังแก รบกวน หรือหยาบหยามผู้หนึ่งผู้ใด หรือแสดงกิริยาวาจาหรือส่งเสียงด้วยประการหนึ่งประการใดในลักษณะไม่สมควรหรือไม่สุภาพ (๓) ไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น (๔) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๐๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถนอกจากจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๒ แล้ว จะต้อง (๑) ไม่ขับรถในเวลาที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ (๒) ไม่รับบรรทุกบุคคลที่เป็นโรคเรื้อนหรือโรคติดต่อที่น่ารังเกียจไปกับผู้โดยสารอื่น (๓) ไม่รับบรรทุกศพ สัตว์ หรือสิ่งของที่อาจเกิดอันตรายหรือเป็นที่พึงรังเกียจไปกับผู้โดยสาร (๔) ไม่รับบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง ระเบิด หรือวัตถุอันตรายอย่างอื่นไปกับผู้โดยสาร วัตถุอันตรายให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๕) ต้องหยุดหรือจอดรถ ณ สถานีขนส่งและปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๙ (๘) และ (๑๐) มาตรา ๑๐๔ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถกระทำการใด ๆ ให้ผู้โดยสารจำต้องลงจากรถก่อนที่จะได้โดยสารถึงจุดหมายปลายทางโดยที่ได้ชำระค่าโดยสารถูกต้องตามอัตราที่กำหนดแล้ว มาตรา ๑๐๕ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถละเว้นการหยุดรถเพื่อรับหรือส่งผู้โดยสาร ณ ที่ที่มีเครื่องหมายให้รถนั้นหยุด ในเมื่อปรากฏว่ามีผู้โดยสารต้องการให้หยุดรถเพื่อรับหรือส่ง มาตรา ๑๐๖ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถกระทำการใด ๆ อันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร มาตรา ๑๐๖ ทวิ[๑๐] ในกรณีที่มีความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ ว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับรถภายในประเทศซึ่งกันและกัน คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและมีใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศที่มีความตกลงดังกล่าวกับรัฐบาลไทย อาจใช้ใบอนุญาตขับรถของประเทศนั้นขับรถในราชอาณาจักรได้ตามประเภทและชนิดของรถที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขับรถนั้น แต่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาและหรือความตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และตามบทบัญญัติทั้งหลายในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๐๗ ในการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งไม่ประจำทางระหว่างจังหวัดหรือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถรับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๑๐๘ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖ มาตรา ๙๗ มาตรา ๙๘ หรือมาตรา ๙๙ หรือบกพร่องไปในภายหลังเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นเสีย มาตรา ๑๐๙ ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในหมวดนี้ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจยึดใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถของผู้นั้น และสั่งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นไปรายงานตนต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดสิบสองชั่วโมง คำสั่งนั้นให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถชั่วคราวภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้นได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเสียก็ได้ มาตรา ๑๑๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถซึ่งถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๑๑๑ ให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจมาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๘ ผู้โดยสาร มาตรา ๑๑๒ ผู้โดยสารต้องชำระค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๑๑๓ ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสาร ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งปิดไว้ ณ ที่เปิดเผยในรถ หมวด ๙ สถานีขนส่ง มาตรา ๑๑๔ สถานีขนส่งมี ๒ ประเภท คือ (๑) สถานีขนส่งผู้โดยสาร (๒) สถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ลักษณะของสถานีขนส่งตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๑๕ ให้กรมการขนส่งทางบกโดยอนุมัติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จัดให้มีสถานีขนส่งขึ้นในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและในเขตท้องที่จังหวัดอื่น โดยจะดำเนินการเอง หรือจะมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจหรือองค์การของรัฐเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่งไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด บุคคลอื่นใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางก่อน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง การจัดให้มีหรือจัดตั้งสถานีขนส่งขึ้นที่ใด เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๑๖ ให้อธิบดีมีอำนาจกำกับและควบคุมการดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้จะแต่งตั้งข้าราชการและหรือลูกจ้างสังกัดกรมการขนส่งทางบก ทำหน้าที่เป็นนายสถานีและเจ้าหน้าที่สถานีตามจำนวนที่เห็นสมควร มีอำนาจกำกับและควบคุมดังกล่าวด้วยก็ได้ มาตรา ๑๑๗ ในการบริหารงานที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งของกรมการขนส่งทางบกตามมาตรา ๑๑๕ วรรคหนึ่ง อธิบดีจะแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินแปดคนเพื่อดูแลควบคุมและดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งก็ได้ กรรมการที่อธิบดีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการนี้โดยอนุโลม มาตรา ๑๑๘ ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องมีคุณสมบัติและลักษณะตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๑๑๙ ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งให้มีอายุตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดแต่ไม่เกินยี่สิบปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๒๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจการสถานีขนส่งรวมทั้งการรักษาความเรียบร้อย ความปลอดภัยในบริเวณสถานีขนส่งนั้น มาตรา ๑๒๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างประจำสถานีขนส่งตลอดเวลา โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบสภาพรถขนส่งประจำทางซึ่งต้องหยุดหรือจอดเพื่อการขนส่ง ณ สถานีขนส่งแห่งนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย คุณสมบัติและจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๒๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีอู่ซ่อมรถและบริการซ่อมรถเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่รถที่ใช้สถานีขนส่งนั้น มาตรา ๑๒๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีบริเวณที่จอดพักรถตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๒๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีสมุดทะเบียนการเดินรถที่ผ่านเข้าออกสถานีขนส่งตามแบบที่อธิบดีกำหนด สมุดทะเบียนการเดินรถต้องเก็บรักษาไว้ในที่ทำการของสถานีขนส่งแห่งนั้นพร้อมที่จะให้นายทะเบียน พนักงานตรวจสภาพหรือผู้ตรวจการตรวจดูได้ทุกเวลา มาตรา ๑๒๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งเรียกเก็บค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งได้ไม่เกินอัตราตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด หมวด ๑๐ บทกำหนดโทษ มาตรา ๑๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๗๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๒๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใด ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ วรรคสอง มาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๓ มาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๖ หรือ มาตรา ๑๐๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๒๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๒๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) หรือ (๑๕) หรือในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๖ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง มาตรา ๓๒ วรรคสอง มาตรา ๓๓ วรรคสอง มาตรา ๓๔ วรรคสอง มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๑๑๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๓๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๓๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ใช้ทำการขนส่งนอกเส้นทางหรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนบาท มาตรา ๑๓๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๔๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๒ หรือมาตรา ๔๗ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๗๙ หรือมาตรา ๘๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๔๔ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่อธิบดี นายทะเบียนผู้ตรวจการ หรือพนักงานตรวจสภาพ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๔๙ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับหนึ่งแสนบาท หรือปรับเป็นรายวัน วันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๔๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๔๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๘ ผู้ใดใช้รถโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑ หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ตรวจการหรือนายทะเบียนตามมาตรา ๘๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ มาตรา ๘๑ วรรคหนึ่งหรือมาตรา ๘๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๕๐ เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๐ หรือมาตรา ๙๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท แต่ถ้าผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๐๙ หรือปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่ถ้าผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท มาตรา ๑๕๓ ผู้โดยสารผู้ใดโดยสารรถโดยมีเจตนาไม่ชำระค่าขนส่งหรือชำระค่าขนส่งไม่ครบถ้วนตามอัตราที่กำหนด หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๑๑๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๕๔ ผู้ใดจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๕๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๓ หรือมาตรา ๑๒๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท มาตรา ๑๕๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถผู้ใดไม่นำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท มาตรา ๑๕๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งนำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งผู้ใดไม่ชำระค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งให้แก่สถานีขนส่งตามมาตรา ๑๒๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท มาตรา ๑๕๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใด โดยทุจริตหรือจงใจออกใบรับรองตรวจสภาพรถโดยไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และนายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นเสียได้ มาตรา ๑๕๙ ผู้ใดเรียกเก็บค่าขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง ค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่ง หรือค่าบริการอย่างอื่น ผิดไปจากอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๐ ผู้ใด (๑) ใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ผู้อื่น (๒) ใช้เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้สำหรับรถคันหนึ่งกับรถอีกคันหนึ่ง (๓) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ตน (๔) เปลี่ยนแปลงหรือปิดบังทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ซึ่งแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถ หรือ (๕) ใช้รถที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา ๘๘ ให้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้รับยกเว้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๖๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจตามมาตรา ๑๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๖๒ ผู้ใดเปลี่ยนแปลง ย้าย ทำลาย หรือกระทำให้เสียหายด้วยประการใด ๆ แก่เครื่องหมายหรือสิ่งอื่นใดที่ทางราชการได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการขนส่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๓ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๖๔ ในระหว่างที่ยังมิได้มีกฎกระทรวง ข้อกำหนด หรือระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กฎกระทรวง ข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศใด ๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ และพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ คงใช้บังคับต่อไป มาตรา ๑๖๕[๑๑] บรรดาใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุและถ้าจะต่ออายุใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ บรรดารถที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามีการแก้ไขดัดแปลงโครงรถหรือขนาดสัดส่วนของตัวถังกว้างหรือยาวกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และการแก้ไขดัดแปลงนั้นกระทำได้โดยชอบตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ให้ถือว่าเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๗๑ มาตรา ๑๖๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง และเจ้าของรถที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ปฏิบัติการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๖๗ รถที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้รถตามวรรคหนึ่ง ซึ่งจะชำระภาษีครั้งแรกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องชำระภาษีคราวละกี่งวดก็ได้ มาตรา ๑๖๘ คำขออนุญาตใด ๆ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม และถ้าคำขออนุญาตดังกล่าวมีข้อความแตกต่างไปจากคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขออนุญาตเพื่อให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ได้ มาตรา ๑๖๙ ในเขตท้องที่จังหวัดใดในระหว่างที่ยังไม่มีขนส่งจังหวัดให้อำนาจและหน้าที่ของขนส่งจังหวัด เป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนกลาง ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ส. โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรี บัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ [ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย] อัตราค่าธรรมเนียม (๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ต่อเส้นทางหนึ่ง ฉบับละ ๑๕,๐๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ไม่ประจำทาง ฉบับละ ๔,๐๐๐ บาท (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดย รถขนาดเล็ก ฉบับละ ๑,๕๐๐ บาท (๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๕) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ (ก) ตลอดปี ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท (ข) เฉพาะคราว ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๖) ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท (๗) ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการ สถานีขนส่ง ฉบับละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๘) ใบอนุญาตผู้ขับรถและใบอนุญาต นายตรวจ ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๙) ใบอนุญาตผู้เก็บค่าโดยสารและ ใบอนุญาตผู้บริการ ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๑๐) ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ฉบับละ ๒๐,๐๐๐ บาท (๑๑) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๑๒) การโอนทะเบียนรถ ครั้งละ ๒๐๐ บาท (๑๓) แผ่นป้ายเลขทะเบียนรถและ เครื่องหมาย แผ่นละ ๑๐๐ บาท (๑๔) คำขออนุญาตประกอบการขนส่ง ประจำทาง ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๑๕) คำขออื่น ๆ ฉบับละ ๒๐ บาท (๑๖) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการขนส่งได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และสภาพการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก บทบัญญัติทั้งหลายที่ใช้บังคับอยู่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการขนส่งเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓[๑๒] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลแห่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ส่งผลกระทบถึงบรรดารถบรรทุกขนส่งสินค้า ของผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล คือ ก. รถบรรทุกที่ใช้รถมีน้ำหนักรถต่ำกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมทั่วพระราชอาณาจักรสำหรับประกอบการภายในครอบครัว ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง เพราะต้องไปยื่นขอจดทะเบียนขนส่งส่วนบุคคล และต้องใช้ใบอนุญาตขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก นอกเหนือไปจากใบอนุญาตของกรมตำรวจที่มีอยู่แล้ว ก่อให้เกิดความเดือดร้อน เพราะรถบรรทุกขนาดเล็กเหล่านี้หาจำต้องใช้ความชำนาญเชี่ยวชาญเป็นพิเศษไม่ เนื่องจากเป็นรถที่ส่วนมากใช้ในธุรกิจส่วนตัว ภายในครัวเรือนและใช้ในการขนส่งพืชผลของเกษตรกร จึงสมควรได้รับการยกเว้นไม่ต้องไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และการใช้ใบขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก ข. สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งได้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลตามใบอนุญาตนั้น การจำกัดท้องที่ทำการขนส่งนั้น ย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกและเป็นธรรม เพราะผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลก็ย่อมหมายถึงประกอบธุรกิจส่วนตัวนั่นเอง ท้องที่ที่กำหนดให้แน่นอนย่อมเป็นเครื่องกีดขวางการปฏิบัติงาน เพราะการที่จะบรรทุกสินค้าของตนไปส่งยังที่ต่าง ๆ การที่จะต้องไปขออนุญาตเป็นครั้งคราวนั้นย่อมก่อให้เกิดภาวะสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มราคาทุนโดยไม่จำเป็น ค. โดยทั่วไปการตรวจสภาพรถมักล่าช้า เมื่อนำรถไปขอรับการตรวจแล้วแต่ปรากฏว่ารถมีจำนวนมาก ตรวจสภาพไม่ทันหากนำไปวิ่งขนส่งก็จะต้องถูกจับกุมและมีโทษสูง และการที่จอดรอการตรวจสภาพเป็นระยะนาน ๆ นั้น ย่อมทำให้เศรษฐกิจกระทบกระเทือน จึงสมควรกำหนดเวลาตรวจไว้ และหากความล่าช้าเป็นเพราะความผิดของพนักงานหรือผู้มีอำนาจตรวจสภาพ ก็ไม่สมควรเอาโทษแก่ผู้ประกอบการขนส่งที่ขอตรวจสภาพไว้แล้ว เพราะโทษมีกำหนดสูง ง. การต่อใบอนุญาตตามบทเฉพาะกาลของใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งได้รับอนุญาตไว้แล้ว ก่อนใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ขนาดและส่วนซึ่งพนักงานตรวจสภาพตามกฎหมายเก่า ทั้งของกรมตำรวจและกรมการขนส่งทางบก ไม่เป็นระเบียบเดียวกัน และมีมาตรฐานต่างกัน ฉะนั้น การขอต่อใบอนุญาตใหม่จึงไม่สมควรนำเหตุผลของการผิดขนาดและส่วนมาเป็นข้อปฏิเสธการขอต่อใบอนุญาตเก่านั้น อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙[๑๓] มาตรา ๕ อัตราภาษีรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ไม่ใช้บังคับแก่รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีรถประจำปีไว้แล้ว หรือที่ค้างชำระภาษีรถประจำปีก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ สำหรับภาษีรถประจำปีที่เสียไว้แล้ว หรือที่ค้างชำระนั้น มาตรา ๖ รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีรถประจำปีไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ หากเป็นรถที่ไม่ได้รับการลดภาษีรถประจำปีตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา ๘๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้เสียภาษีรถประจำปีสำหรับปีต่อไป ดังต่อไปนี้ (๑) ปีที่หนึ่ง ให้เสียในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๒) ปีที่สอง ให้เสียในอัตราสามในสี่ของอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๓) ปีต่อไป ให้เสียในอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกำหนดนี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันมีรถจำนวนมากใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดความจำเป็นในการสั่งน้ำมันดีเซลหรือก๊าซเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการเพิ่มจำนวนรถที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และเพื่อเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การไม่อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙[๑๔] ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอขอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ นั้น ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑/๒๕๒๙ (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุมัติ จึงประกาศมาตามความในมาตรา ๑๕๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐[๑๕] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้ทำความตกลงกับประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับรถภายในประเทศซึ่งกันและกัน และโดยที่ประเทศไทยอาจทำความตกลงในทำนองเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะมีผลให้ผู้มีใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือจากรัฐบาลของประเทศที่ประเทศไทยมีความตกลงด้วย สามารถใช้ใบอนุญาตขับรถนั้นขับรถในประเทศไทยได้ ฉะนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่กับต่างประเทศตามความตกลงดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ วศิน/ผู้จัดทำ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๓๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ มีนาคม ๒๕๒๒ [๒] มาตรา ๔ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๓] มาตรา ๔ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๔] มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๕] มาตรา ๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๖] มาตรา ๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๗] มาตรา ๗๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๘] มาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๙] มาตรา ๘๘ ทวิ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ ต่อมามีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การไม่อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑/๒๕๒๙ (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุมัติ [๑๐] มาตรา ๑๐๖ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐ [๑๑] มาตรา ๑๖๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๖๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๓ [๑๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๓/ตอนที่ ๑๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑/๓๑ มกราคม ๒๕๒๙ [๑๔] ราชกิจจานุเบกษา/เล่ม ๑๐๓/ตอนที่ ๗๕/หน้า ๑๑/๖ พฤษภาคม ๒๕๒๙ [๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔/ตอนที่ ๒๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๕๓/๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๐
301290
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2530
พระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นปีที่ ๔๒ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐๖ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “มาตรา ๑๐๖ ทวิ ในกรณีที่มีความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ ว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับรถภายในประเทศซึ่งกันและกัน คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศที่มีความตกลงดังกล่าวกับรัฐบาลไทย อาจใช้ใบอนุญาตขับรถของประเทศนั้นขับรถในราชอาณาจักรได้ตามประเภทและชนิดของรถที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขับรถนั้น แต่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาและหรือความตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และตามบทบัญญัติทั้งหลายในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถตามพระราชบัญญัตินี้” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้ทำความตกลงกับประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับรถภายในประเทศซึ่งกันและกัน และโดยที่ประเทศไทยอาจทำความตกลงในทำนองเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะมีผลให้ผู้มีใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือจากรัฐบาลของประเทศที่ประเทศไทยมีความตกลงด้วย สามารถใช้ใบอนุญาตขับรถนั้นขับรถในประเทศไทยได้ ฉะนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่กับต่างประเทศตามความตกลงดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ วศิน/ผู้จัดทำ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒ วิมล/ปรับปรุง ๙ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔/ตอนที่ ๒๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๕๓/๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๐
300009
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (Update ณ วันที่ 31/01/2529)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการขนส่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ (๒) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ (๓) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ (๑) “การขนส่ง” หมายความว่า การขนคน สัตว์ หรือสิ่งของ โดยทางบกด้วยรถ (๒) “การขนส่งประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนด (๓) “การขนส่งไม่ประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง (๔)[๒] “การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก” หมายความว่า การขนส่งคนหรือสิ่งของหรือคนและสิ่งของรวมกันเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนดด้วยรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสี่พันกิโลกรัม (๕)[๓] “การขนส่งส่วนบุคคล” หมายความว่า การขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเองด้วยรถที่มีน้ำหนักเกินกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม (๖) “การขนส่งระหว่างจังหวัด” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างจังหวัดกับจังหวัด (๗) “การขนส่งระหว่างประเทศ” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ (๘) “การรับจัดการขนส่ง” หมายความว่า การรับจ้างรวบรวมคน สัตว์หรือสิ่งของ และจัดให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำการขนส่งจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้รับจัดการขนส่ง (๙) “รถ” หมายความว่า ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมตลอดถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รถไฟ (๑๐) “ผู้ตรวจการ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจการขนส่ง (๑๑) “พนักงานตรวจสภาพ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจความมั่นคงแข็งแรง ความสะอาด ความเรียบร้อย และความเหมาะสมของสภาพรถที่นำมาใช้ในการขนส่ง (๑๒) “นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนกลาง หรือนายทะเบียนประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี (๑๓) “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี (๑๔) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (๑๕) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕[๔] พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (๑) การขนส่งโดยรถยนต์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร (๒) การขนส่งโดยรถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินสิบสองคน รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม รถยนต์สามล้อ รถจักรยานยนต์ และรถแทร็กเตอร์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (๓) การขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเป็นนายทะเบียนกลางมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งระหว่างจังหวัดและการขนส่งระหว่างประเทศ ให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ขนส่งจังหวัดเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในเขตจังหวัดของตน ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจมอบหมายกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำแทนได้ การมอบหมายตามวรรคสี่ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพกับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกคณะหนึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย อธิบดีกรมทางหลวง เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้หรือความจัดเจนในการขนส่ง การเศรษฐกิจหรือกฎหมาย ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๙ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ มาตรา ๑๐ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (๑) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๒) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย (๔) เป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง มาตรา ๑๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) รัฐมนตรีให้ออก (๔) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานและรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน มาตรา ๑๓ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๔ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายการขนส่งทางบกระยะสั้นและระยะยาวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๒) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาและดำเนินการสถานีขนส่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๓) กำหนดมาตรการและแผนพัฒนาการขนส่งทางบกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๔) กำหนดมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยและความสะดวกในการขนส่งทางบก เพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ (๕) กำหนดการห้ามรับจดทะเบียนรถเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ (๖) ประสานงานที่เกี่ยวข้องระหว่างกันในด้านการขนส่งทางบก ตลอดจนประสานงานด้านการขนส่งทางบกกับการขนส่งทางน้ำและการขนส่งทางอากาศ (๗) ให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการขนส่งทางบก มาตรา ๑๕ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม หมวด ๒ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน เลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทหรือผู้แทน อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทน อธิบดีกรมทางหลวงหรือผู้แทน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้แทน เป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ ทั้งนี้ โดยให้มีผู้มีความรู้และมีความจัดเจนในการขนส่งรวมอยู่ด้วย ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๑๗ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคน โดยมีนายกเทศมนตรีในจังหวัดนั้นรวมอยู่ด้วยหนึ่งคน เป็นกรรมการ ให้ขนส่งจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๑๘ ให้นำมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดโดยอนุโลม มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดลักษณะของการขนส่งประจำทางและการขนส่งไม่ประจำทาง (๒) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ (๓) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัด และระหว่างประเทศ (๔) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๕) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๖) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๗) กำหนดอัตราค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่ง (๘) กำหนดสถานที่ จัดให้มีหรือจัดตั้ง และระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่ง (๙) กำหนดชนิดหรือสภาพรถที่มิให้รับจดทะเบียน (๑๐) กำหนดประเภทหรือชนิดของรถที่ต้องเข้าหยุดหรือจอดเพื่อการรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่ง (๑๑) กำหนดที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสาร (๑๒) วางมาตรการในการกำหนด อนุญาต เพิกถอนการอนุญาตและการควบคุมกิจการขนส่งทางบก (๑๓) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก การกำหนดตาม (๒) (๓) (๔) (๘) (๙) และ (๑๐) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ภายในเขตจังหวัด ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทาง (๒) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทาง (๓) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๕) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกและคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง การกำหนดตาม (๑) และ (๔) เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแล้วจึงจะใช้บังคับได้ และการกำหนดตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๑ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม มาตรา ๒๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการการขนส่งทางบก เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้คณะกรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้ หมวด ๓ การประกอบการขนส่ง มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือการขนส่งส่วนบุคคล เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง และการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดนั้น ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย และ (๑) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย (๒) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย และทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย (๓) ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย หรือต้องเป็นของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด หรือต้องเป็นของกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือองค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และบริษัทจำกัดนั้นต้องไม่มีข้อบังคับอนุญาตให้มีการออกหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ (๔) ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทมหาชนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะต้องมีลักษณะตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจยกเว้นคุณสมบัติตามความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษเป็นการเฉพาะรายได้ มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางและผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่ออนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่ง การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นำมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับแก่การประกอบการขนส่งระหว่างประเทศโดยอนุโลม มาตรา ๒๖ ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศมาใช้ประกอบการขนส่งในประเทศไทย เว้นแต่เพื่อการขนส่งระหว่างประเทศและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางแล้ว ผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๒ ซึ่งประจำในรถตามวรรคหนึ่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ และหรือตามข้อตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ มาตรา ๒๗ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งมีสี่ประเภท คือ (๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง (๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง หรือใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้ใช้เป็นใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลได้ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ข้างต้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด มาตรา ๒๘ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้มีอายุเจ็ดปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอเสียก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ แต่การขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางและใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก จะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๙[๕] บทบัญญัติมาตรา ๒๓ มิให้ใช้บังคับแก่การขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา วัด มูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว สภากาชาดไทย สถานพยาบาล รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เป็นผู้ประกอบการขนส่ง แต่ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้เสมือนดังเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลทุกประการ มาตรา ๓๐ ให้นายทะเบียนกลางเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในกรุงเทพมหานคร การขนส่งระหว่างจังหวัด และการขนส่งระหว่างประเทศ และให้นายทะเบียนประจำจังหวัดเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในจังหวัดของตน ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ มาตรา ๓๑ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) สิทธิในรถที่ใช้ประกอบการขนส่งของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๓) ลักษณะ ชนิด ขนาด และสีของรถ และเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๔) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๕) จำนวนผู้ประจำรถ (๖) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ (๙) ที่ที่รถจะต้องหยุดในระหว่างเส้นทาง (๑๐) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง (๑๑) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ (๑๒) เวลาทำงานประจำวันในการประกอบการขนส่ง (๑๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ (๑๔) การประกอบกิจการอื่นนอกจากการประกอบการขนส่งประจำทาง (๑๕) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๑) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๒ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิดและขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๔) จำนวนผู้ประจำรถ (๕) ท้องที่ที่ทำการขนส่ง (๖) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง (๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ (๙) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ (๑๐) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๗) และ (๘) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๓ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิด ขนาด และสีของรถ และเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๔) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ (๕) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๖) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๗) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๕) และ (๖) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๔[๖] ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้นายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิด และขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษา มาตรา ๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ และหรือใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง และต้องทำรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจัดให้มีที่พักผู้โดยสารตามระยะทางโดยมีลักษณะ ขนาด จำนวน และจุดที่ตั้งของที่พักผู้โดยสารตามที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๓๘ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่งหรือค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ มาตรา ๓๙ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกเส้นทาง หรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนหรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด มาตรา ๔๐ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางกระทำการขนส่งอันมีลักษณะเช่นเดียวหรือคล้ายกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางหรือมีลักษณะเป็นการแย่งผลประโยชน์กับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางได้รับอนุญาต มาตรา ๔๑ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นที่จะแก้ไขสถานการณ์เพื่อให้การขนส่งได้รับความสะดวกหรือให้มีรถเพียงพอแก่การขนส่ง นายทะเบียนมีอำนาจที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถ เวลา และจำนวนเที่ยวของการเดินรถ หรือให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดส่งรถที่ตนได้รับอนุญาตไปช่วยเหลือเป็นการชั่วคราวตามควรแก่กรณี แล้วให้รายงานคณะกรรมการโดยเร็ว มาตรา ๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องแสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาต มาตรา ๔๓ ในกรณีที่ใบอนุญาตประกอบการขนส่งสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดดังกล่าว มาตรา ๔๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง มาตรา ๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง มาตรา ๔๖ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๑) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๔ (๒) ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขในมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามมาตรา ๓๖ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวด ๔ ว่าด้วยการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือจัดการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติหรือไม่แก้ไขให้ถูกต้อง หรือเป็นที่เห็นได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่สามารถจะดำเนินการตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดนั้น หรือการดำเนินการนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายหรือเสื่อมประโยชน์ต่อประชาชน ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ แต่ถ้าเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางที่จะพิจารณาอนุมัติ มาตรา ๔๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต้องส่งคืนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๔๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๔๙ ให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจควบคุมดูแลบรรดากิจการที่เกี่ยวกับการขนส่งให้เป็นไปตามความในพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์ดังกล่าวให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจ (๑) เข้าไปในสถานที่ดำเนินการของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในระหว่างเวลาทำงานตามปกติ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและเพื่อตรวจสอบบัญชีและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการขนส่ง (๒) เรียกผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้จัดการ และพนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นนิติบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงตามที่ต้องการ ในการปฏิบัติตาม (๑) ให้อธิบดีมีอำนาจมอบหมายให้ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพทำการแทนได้ ในการปฏิบัติการของอธิบดี นายทะเบียน ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพตามมาตรานี้ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือตามสมควร มาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจเรียกรถให้หยุดเพื่อทำการตรวจสอบ และเมื่อเชื่อว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้น ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจจับกุมผู้ฝ่าฝืนเพื่อส่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินคดีต่อไป บทบัญญัติในวรรคหนึ่งไม่ลบล้างอำนาจจับกุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มาตรา ๕๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด หมวด ๔ การชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง มาตรา ๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันต่อนายทะเบียนกลางเพื่อประกันความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกและซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะต้องรับผิดชอบเนื่องจากการขนส่งของตน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดตามขนาดและประเภทของการประกอบการขนส่งแต่ต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ดอกผลที่เกิดจากหลักทรัพย์ที่เป็นเงินสดนั้นตกเป็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่วางหลักทรัพย์ ให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้รับผิดชอบในการเปิดบัญชีเงินฝาก และการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีหลักทรัพย์กับธนาคารตามระเบียบของกระทรวงการคลัง มาตรา ๕๓ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มาตรา ๕๔ ในการวางหลักทรัพย์ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทย ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำหนังสือมอบอำนาจให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจจัดการจำหน่ายพันธบัตรนั้น เพื่อชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วย มาตรา ๕๕ หลักทรัพย์ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เว้นแต่จะเป็นการบังคับคดีเพื่อการชำระหนี้ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกอันเนื่องจากการขนส่งของตน มาตรา ๕๖ เมื่อรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายหรือชีวิตของบุคคลใดนอกจากความรับผิดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นซึ่งจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหาย ให้จ่ายตามความร้ายแรงของความเสียหาย ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลและหรือค่าปลงศพ มาตรา ๕๗ เมื่อผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายประสงค์จะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมตำรวจกำหนดต่อพนักงานสอบสวน โดยแสดงพยานหลักฐานว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาจากสำนวนการสอบสวน และเมื่อเห็นว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งคันใด ให้มีหนังสือสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถคันนั้นชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๕๖ วรรคสอง ในการนี้ให้แจ้งให้นายทะเบียนกลางทราบโดยเร็วด้วย ในการสั่งของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาสั่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ในการชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชำระภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากพนักงานสอบสวน มาตรา ๕๘ ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายต้องใช้สิทธิในการขอรับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามมาตรา ๕๗ ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น มาตรา ๕๙ การชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในอันที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐ บุคคลซึ่งมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ได้แก่ผู้เสียหายดังต่อไปนี้ (๑) ผู้เสียหายซึ่งมิได้อยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ได้รับความเสียหายจากรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น (๒) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่รวมถึงผู้ขับรถคนงานหรือลูกจ้างประจำรถซึ่งอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ (๓) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย มาตรา ๖๑ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ และให้พนักงานสอบสวนบันทึกความเห็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งไม่เห็นด้วยไว้ในสำนวนการสอบสวน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งกลางให้เป็นที่สุด มาตรา ๖๒ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานสอบสวน ถ้าคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีความเห็นตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่พนักงานสอบสวนกำหนดไว้อีกร้อยละสิบ มาตรา ๖๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ หรือตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางตามมาตรา ๖๑ ในกรณีที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามมาตรา ๕๒ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจนำหลักทรัพย์ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นซึ่งได้นำมาวางไว้เป็นประกันชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นแทนได้ มาตรา ๖๔ ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือได้รับชดใช้ไม่ครบตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนหรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางสั่งไม่ว่าเพราะเหตุหลักทรัพย์ที่วางประกันไว้ไม่พอจ่ายค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือเพราะเหตุอื่นใด เมื่อผู้เสียหายได้ร้องเรียนต่อนายทะเบียนกลางให้นายทะเบียนกลางสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งชำระให้เสร็จสิ้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางดังกล่าว ให้นายทะเบียนกลางเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และให้นำมาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๕ การรับจัดการขนส่ง มาตรา ๖๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการรับจัดการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖๖ ในการออกใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ให้นายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) ท้องที่ที่ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๒) สถานที่ตั้งสำนักงานของผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๓) สถานที่พักคน สัตว์ หรือเก็บสิ่งของ (๔) วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับสวัสดิภาพ ความสะดวกและความปลอดภัยในการรับจัดการขนส่ง (๕) อัตราค่าบริการรับจัดการขนส่ง (๖) เงื่อนไขอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๖๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๖๕ ต้องวางหลักทรัพย์ต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญารับจัดการขนส่ง ทั้งนี้ ตามจำนวนหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖๘ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๖๗ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มาตรา ๖๙ ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๐ ให้นำมาตรา ๒๔ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การประกอบการรับจัดการขนส่งโดยอนุโลม หมวด ๖ รถ มาตรา ๗๑ รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กับได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ และเสียภาษีตามมาตรา ๘๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มาตรา ๗๒[๗] รถที่จะนำมาจดทะเบียนและเสียภาษีต้องผ่านการตรวจสภาพรถจากพนักงานตรวจสภาพ หรือจากสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๗๔ เว้นแต่รถประเภทหรือชนิดใดที่สมควรได้รับการยกเว้นการตรวจสภาพเป็นครั้งคราวให้กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ปรากฏว่ารถที่นำมารับการตรวจสภาพนั้นมีสภาพมั่นคงแข็งแรงมีเครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับการอนุญาตออกใบรับรองให้ ใบรับรองการตรวจสภาพรถให้ทำตามแบบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๗๓[๘] เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตได้ตรวจสภาพรถถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๒ แล้ว ให้รับจดทะเบียนและออกหนังสือแสดงการจดทะเบียนพร้อมกับแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคันนั้นให้โดยไม่ชักช้า มาตรา ๗๔ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อรับรองสภาพรถตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๕ ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๔ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นได้ ให้นำมาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตโดยอนุโลม มาตรา ๗๗ หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถให้ใช้ได้สี่งวดนับแต่งวดที่ออกหนังสือนี้ ให้เดือนมกราคม เดือนเมษายน เดือนกรกฎาคม และเดือนตุลาคมเป็นเดือนแรกของแต่ละงวด การขอต่ออายุทะเบียน ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่นายทะเบียนจะได้ประกาศกำหนด ให้นำมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ และมาตรา ๗๓ มาใช้บังคับแก่การขอต่ออายุทะเบียนโดยอนุโลม มาตรา ๗๘ ห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน มาตรา ๗๙ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ประสงค์จะเลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้ว แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบและนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้น มาตรา ๘๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งมีความจำเป็นจะต้องระงับใช้รถนั้นชั่วคราวเป็นเวลาเกินสิบห้าวันแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบก่อนวันที่จะระงับใช้รถนั้น มาตรา ๘๑ รถที่ยังมิได้จดทะเบียนตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือรถที่เลิกใช้ตามมาตรา ๗๙ ถ้าจะนำมาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ต้องมีใบอนุญาตและเครื่องหมายโดยเฉพาะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ใบอนุญาตและเครื่องหมายดังกล่าวใช้ได้เฉพาะรถที่อยู่ในความครอบครองของผู้ได้รับใบอนุญาตโดยสับเปลี่ยนกันได้ ไม่เฉพาะคัน มาตรา ๘๒ การโอนรถซึ่งได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ แล้ว ผู้โอนและผู้รับโอนจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันโอนและให้นายทะเบียนจดแจ้งการโอนไว้ในหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถนั้น มาตรา ๘๓ เมื่อผู้ตรวจการตรวจพบว่ารถคันใดมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือมีเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ผู้ตรวจการรายงานให้นายทะเบียนทราบ แต่ถ้าปรากฏโดยชัดแจ้งว่าการใช้รถคันนั้นต่อไปน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่การขนส่ง ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจสั่งระงับใช้ไว้เป็นการชั่วคราวได้ และให้รีบรายงานให้นายทะเบียนทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้เป็นเจ้าของรถตามวรรคหนึ่ง จัดการส่งรถคันนั้นไปให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความบกพร่องตามรายงานของผู้ตรวจการภายในเวลาที่กำหนด เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งตามวรรคสองแล้ว ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตงดการใช้รถดังกล่าวไว้จนกว่านายทะเบียนจะมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไป มาตรา ๘๔ เมื่อพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตเห็นว่ารถที่นำมาให้ตรวจตามมาตรา ๘๓ สมควรจะต้องซ่อมแซม ปรับปรุงเพื่อให้รถกลับมีสภาพมั่นคงแข็งแรง หรือจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์หรือส่วนควบให้ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้แจ้งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง แล้วให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความถูกต้องและรายงานให้นายทะเบียนทราบ เมื่อได้พิจารณาเห็นสมควรตามรายงานของพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถคันนั้นต่อไปได้ มาตรา ๘๕ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดเวลาการชำระภาษีรถประจำปีสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งแต่ละรายก็ได้ และให้คำนวณภาษีตามน้ำหนักรถตามอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ในการคำนวณน้ำหนักรถ ให้รวมน้ำหนักของรถและเครื่องอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับตัวรถตามปกติ แต่ไม่รวมน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเครื่อง น้ำ และเครื่องมือประจำรถ เศษของหนึ่งกิโลกรัมให้ปัดทิ้ง เงินภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้ที่จัดเก็บได้ในกรุงเทพมหานครให้ตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้ตกเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และเมืองพัทยาในจังหวัดนั้น โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๘๖ ภาษีรถให้ชำระล่วงหน้าเป็นรายปีต่อนายทะเบียน และจะขอชำระเป็นงวดก็ได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รถที่จดทะเบียนใหม่ในงวดใด ให้ชำระภาษีตั้งแต่งวดนั้นเป็นต้นไป ถ้าเจ้าของรถไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่จะต้องชำระ ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระ เงินเพิ่มตามมาตรานี้ให้ถือเป็นเงินภาษี มาตรา ๘๗ รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีแล้ว ถ้าต่อมามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเพิ่มเติม เป็นเหตุให้รถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิม เจ้าของรถจะต้องเสียภาษีเพิ่มตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย และให้นำมาตรา ๘๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๘๘ รถที่ใช้ในการขนส่งส่วนบุคคลของกระทรวง ทบวง กรมกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา วัด มูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว และสภากาชาดไทย ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี มาตรา ๘๘ ทวิ[๙] ในกรณีที่เห็นเป็นการสมควร จะตราพระราชกฤษฎีกาลดภาษีรถประจำปี สำหรับรถในเขตท้องที่ใดหรือในกรณีใดลงจากอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๕ ก็ได้ มาตรา ๘๙ รถที่ได้จดทะเบียนแล้ว ถ้าไม่ได้เสียภาษีตามกำหนดตามมาตรา ๘๖ เจ้าของรถต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบพร้อมกับนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถนั้นคืนต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งจะต้องเสียภาษีครั้งถัดไปตามมาตรา ๘๖ มาตรา ๙๐ เจ้าของรถต้องติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีที่นายทะเบียนออกให้ไว้กับตัวรถตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๙๑ ในกรณีที่แผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุดหรือลบเลือนในสาระสำคัญ ให้เจ้าของรถยื่นคำขอ ขอรับแผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุด หรือลบเลือนดังกล่าว หมวด ๗ ผู้ประจำรถ มาตรา ๙๒ ผู้ประจำรถ ได้แก่ (๑) ผู้ขับรถ (๒) ผู้เก็บค่าโดยสาร (๓) นายตรวจ (๔) ผู้บริการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๓ ห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๔ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำรถ มี ๔ ประเภท คือ (๑) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ (๒) ใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร (๓) ใบอนุญาตเป็นนายตรวจ (๔) ใบอนุญาตเป็นผู้บริการ ใบอนุญาตแต่ละประเภทจะใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตประเภทที่หนึ่ง ประเภทที่สาม และประเภทที่สี่ใช้เป็นใบอนุญาตประเภทที่สองได้ มาตรา ๙๕ ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถมีสามชนิด ดังนี้ ชนิดที่หนึ่ง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารไม่เกินยี่สิบคน ชนิดที่สอง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกินกว่าสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารเกินกว่ายี่สิบคน ชนิดที่สาม ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งโดยสภาพใช้สำหรับลากจูงรถอื่นหรือล้อเลื่อนที่บรรทุกสิ่งใด ๆ บนล้อเลื่อนนั้น ใบอนุญาตแต่ละชนิดใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตชนิดที่สองและชนิดที่สามเป็นใบอนุญาตชนิดที่หนึ่งได้ และใบอนุญาตชนิดที่สามใช้เป็นใบอนุญาตชนิดที่สองได้ มาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๓ ในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องมีคุณสมบัติและลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีความรู้และความสามารถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๓) ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยความเหมาะสม (๔) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ (๕) ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจ (๖) ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ (๗) ไม่เป็นผู้มีใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถประเภทหรือชนิดเดียวกับที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว (๘) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่การเพิกถอนใบอนุญาตนั้นพ้นกำหนดสามปีแล้วนับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต (๙) ไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดอันได้กระทำโดยประมาทที่มิใช่เกี่ยวกับการใช้รถในการกระทำผิดหรือความผิดลหุโทษ หรือได้พ้นโทษมาแล้วเกินสามปี (๑๐) ไม่เป็นผู้เคยถูกควบคุมตัวเพราะมีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคม หรือเป็นอันธพาล เว้นแต่ได้พ้นจากการควบคุมตัวมาแล้วเกินหนึ่งปี มาตรา ๙๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง และได้ผ่านการศึกษาและจบหลักสูตรจากโรงเรียนการขนส่งของกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง การรับรองโรงเรียนสอนขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และผู้บริการต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในการขนส่งส่วนบุคคลต้องมีคุณสมบัติและมีลักษณะตามมาตรา ๙๖ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๐) และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๐๐ ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถให้มีอายุหนึ่งปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด มาตรา ๑๐๑ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องมีใบอนุญาตอยู่กับตัวและต้องแสดงต่อนายทะเบียนหรือผู้ตรวจการเมื่อขอตรวจ มาตรา ๑๐๒ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้อง (๑) แต่งกายสะอาดเรียบร้อยตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง (๒) ไม่แสดงกิริยาหรือใช้ถ้อยคำเป็นการเสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว รังแก รบกวน หรือหยาบหยามผู้หนึ่งผู้ใด หรือแสดงกิริยาวาจาหรือส่งเสียงด้วยประการหนึ่งประการใดในลักษณะไม่สมควรหรือไม่สุภาพ (๓) ไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น (๔) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๐๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถนอกจากจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๒ แล้ว จะต้อง (๑) ไม่ขับรถในเวลาที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ (๒) ไม่รับบรรทุกบุคคลที่เป็นโรคเรื้อนหรือโรคติดต่อที่น่ารังเกียจไปกับผู้โดยสารอื่น (๓) ไม่รับบรรทุกศพ สัตว์ หรือสิ่งของที่อาจเกิดอันตรายหรือเป็นที่พึงรังเกียจไปกับผู้โดยสาร (๔) ไม่รับบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง ระเบิด หรือวัตถุอันตรายอย่างอื่นไปกับผู้โดยสาร วัตถุอันตรายให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๕) ต้องหยุดหรือจอดรถ ณ สถานีขนส่งและปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๙ (๘) และ (๑๐) มาตรา ๑๐๔ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถกระทำการใด ๆ ให้ผู้โดยสารจำต้องลงจากรถก่อนที่จะได้โดยสารถึงจุดหมายปลายทางโดยที่ได้ชำระค่าโดยสารถูกต้องตามอัตราที่กำหนดแล้ว มาตรา ๑๐๕ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถละเว้นการหยุดรถเพื่อรับหรือส่งผู้โดยสาร ณ ที่ที่มีเครื่องหมายให้รถนั้นหยุด ในเมื่อปรากฏว่ามีผู้โดยสารต้องการให้หยุดรถเพื่อรับหรือส่ง มาตรา ๑๐๖ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถกระทำการใด ๆ อันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร มาตรา ๑๐๗ ในการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งไม่ประจำทางระหว่างจังหวัดหรือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถรับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๑๐๘ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖ มาตรา ๙๗ มาตรา ๙๘ หรือมาตรา ๙๙ หรือบกพร่องไปในภายหลังเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นเสีย มาตรา ๑๐๙ ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในหมวดนี้ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจยึดใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถของผู้นั้น และสั่งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นไปรายงานตนต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดสิบสองชั่วโมง คำสั่งนั้นให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถชั่วคราวภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้นได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเสียก็ได้ มาตรา ๑๑๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถซึ่งถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๑๑๑ ให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจมาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๘ ผู้โดยสาร มาตรา ๑๑๒ ผู้โดยสารต้องชำระค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๑๑๓ ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสาร ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งปิดไว้ ณ ที่เปิดเผยในรถ หมวด ๙ สถานีขนส่ง มาตรา ๑๑๔ สถานีขนส่งมี ๒ ประเภท คือ (๑) สถานีขนส่งผู้โดยสาร (๒) สถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ลักษณะของสถานีขนส่งตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๑๕ ให้กรมการขนส่งทางบกโดยอนุมัติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จัดให้มีสถานีขนส่งขึ้นในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและในเขตท้องที่จังหวัดอื่น โดยจะดำเนินการเอง หรือจะมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจหรือองค์การของรัฐเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่งไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด บุคคลอื่นใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางก่อน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง การจัดให้มีหรือจัดตั้งสถานีขนส่งขึ้นที่ใด เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๑๖ ให้อธิบดีมีอำนาจกำกับและควบคุมการดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้จะแต่งตั้งข้าราชการและหรือลูกจ้างสังกัดกรมการขนส่งทางบก ทำหน้าที่เป็นนายสถานีและเจ้าหน้าที่สถานีตามจำนวนที่เห็นสมควร มีอำนาจกำกับและควบคุมดังกล่าวด้วยก็ได้ มาตรา ๑๑๗ ในการบริหารงานที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งของกรมการขนส่งทางบกตามมาตรา ๑๑๕ วรรคหนึ่ง อธิบดีจะแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินแปดคนเพื่อดูแลควบคุมและดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งก็ได้ กรรมการที่อธิบดีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการนี้โดยอนุโลม มาตรา ๑๑๘ ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องมีคุณสมบัติและลักษณะตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๑๑๙ ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งให้มีอายุตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดแต่ไม่เกินยี่สิบปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๒๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจการสถานีขนส่งรวมทั้งการรักษาความเรียบร้อย ความปลอดภัยในบริเวณสถานีขนส่งนั้น มาตรา ๑๒๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างประจำสถานีขนส่งตลอดเวลา โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบสภาพรถขนส่งประจำทางซึ่งต้องหยุดหรือจอดเพื่อการขนส่ง ณ สถานีขนส่งแห่งนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย คุณสมบัติและจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๒๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีอู่ซ่อมรถและบริการซ่อมรถเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่รถที่ใช้สถานีขนส่งนั้น มาตรา ๑๒๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีบริเวณที่จอดพักรถตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๒๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีสมุดทะเบียนการเดินรถที่ผ่านเข้าออกสถานีขนส่งตามแบบที่อธิบดีกำหนด สมุดทะเบียนการเดินรถต้องเก็บรักษาไว้ในที่ทำการของสถานีขนส่งแห่งนั้นพร้อมที่จะให้นายทะเบียน พนักงานตรวจสภาพหรือผู้ตรวจการตรวจดูได้ทุกเวลา มาตรา ๑๒๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งเรียกเก็บค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งได้ไม่เกินอัตราตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด หมวด ๑๐ บทกำหนดโทษ มาตรา ๑๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๗๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๒๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใด ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ วรรคสอง มาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๓ มาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๖ หรือ มาตรา ๑๐๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๒๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๒๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) หรือ (๑๕) หรือในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๖ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง มาตรา ๓๒ วรรคสอง มาตรา ๓๓ วรรคสอง มาตรา ๓๔ วรรคสอง มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๑๑๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๓๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๓๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ใช้ทำการขนส่งนอกเส้นทางหรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนบาท มาตรา ๑๓๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๔๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๒ หรือมาตรา ๔๗ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๗๙ หรือมาตรา ๘๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๔๔ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่อธิบดี นายทะเบียนผู้ตรวจการ หรือพนักงานตรวจสภาพ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๔๙ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับหนึ่งแสนบาท หรือปรับเป็นรายวัน วันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๔๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๔๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๘ ผู้ใดใช้รถโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑ หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ตรวจการหรือนายทะเบียนตามมาตรา ๘๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ มาตรา ๘๑ วรรคหนึ่งหรือมาตรา ๘๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๕๐ เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๐ หรือมาตรา ๙๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท แต่ถ้าผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๐๙ หรือปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่ถ้าผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท มาตรา ๑๕๓ ผู้โดยสารผู้ใดโดยสารรถโดยมีเจตนาไม่ชำระค่าขนส่งหรือชำระค่าขนส่งไม่ครบถ้วนตามอัตราที่กำหนด หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๑๑๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๕๔ ผู้ใดจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๕๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๓ หรือมาตรา ๑๒๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท มาตรา ๑๕๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถผู้ใดไม่นำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท มาตรา ๑๕๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งนำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งผู้ใดไม่ชำระค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งให้แก่สถานีขนส่งตามมาตรา ๑๒๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท มาตรา ๑๕๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใด โดยทุจริตหรือจงใจออกใบรับรองตรวจสภาพรถโดยไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และนายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นเสียได้ มาตรา ๑๕๙ ผู้ใดเรียกเก็บค่าขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง ค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่ง หรือค่าบริการอย่างอื่น ผิดไปจากอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๐ ผู้ใด (๑) ใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ผู้อื่น (๒) ใช้เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้สำหรับรถคันหนึ่งกับรถอีกคันหนึ่ง (๓) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ตน (๔) เปลี่ยนแปลงหรือปิดบังทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ซึ่งแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถ หรือ (๕) ใช้รถที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา ๘๘ ให้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้รับยกเว้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๖๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจตามมาตรา ๑๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๖๒ ผู้ใดเปลี่ยนแปลง ย้าย ทำลาย หรือกระทำให้เสียหายด้วยประการใด ๆ แก่เครื่องหมายหรือสิ่งอื่นใดที่ทางราชการได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการขนส่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๓ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๖๔ ในระหว่างที่ยังมิได้มีกฎกระทรวง ข้อกำหนด หรือระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กฎกระทรวง ข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศใด ๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ และพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ คงใช้บังคับต่อไป มาตรา ๑๖๕[๑๐] บรรดาใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุและถ้าจะต่ออายุใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ บรรดารถที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามีการแก้ไขดัดแปลงโครงรถหรือขนาดสัดส่วนของตัวถังกว้างหรือยาวกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และการแก้ไขดัดแปลงนั้นกระทำได้โดยชอบตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ให้ถือว่าเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๗๑ มาตรา ๑๖๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง และเจ้าของรถที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ปฏิบัติการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๖๗ รถที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้รถตามวรรคหนึ่ง ซึ่งจะชำระภาษีครั้งแรกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องชำระภาษีคราวละกี่งวดก็ได้ มาตรา ๑๖๘ คำขออนุญาตใด ๆ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม และถ้าคำขออนุญาตดังกล่าวมีข้อความแตกต่างไปจากคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขออนุญาตเพื่อให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ได้ มาตรา ๑๖๙ ในเขตท้องที่จังหวัดใดในระหว่างที่ยังไม่มีขนส่งจังหวัดให้อำนาจและหน้าที่ของขนส่งจังหวัด เป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนกลาง ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ส. โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรี บัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕[๑๑] [ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย] อัตราค่าธรรมเนียม (๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ต่อเส้นทางหนึ่ง ฉบับละ ๑๕,๐๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ไม่ประจำทาง ฉบับละ ๔,๐๐๐ บาท (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดย รถขนาดเล็ก ฉบับละ ๑,๕๐๐ บาท (๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๕) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ (ก) ตลอดปี ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท (ข) เฉพาะคราว ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๖) ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท (๗) ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการ สถานีขนส่ง ฉบับละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๘) ใบอนุญาตผู้ขับรถและใบอนุญาต นายตรวจ ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๙) ใบอนุญาตผู้เก็บค่าโดยสารและ ใบอนุญาตผู้บริการ ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๑๐) ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ฉบับละ ๒๐,๐๐๐ บาท (๑๑) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๑๒) การโอนทะเบียนรถ ครั้งละ ๒๐๐ บาท (๑๓) แผ่นป้ายเลขทะเบียนรถและ เครื่องหมาย แผ่นละ ๑๐๐ บาท (๑๔) คำขออนุญาตประกอบการขนส่ง ประจำทาง ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๑๕) คำขออื่น ๆ ฉบับละ ๒๐ บาท (๑๖) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการขนส่งได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และสภาพการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก บทบัญญัติทั้งหลายที่ใช้บังคับอยู่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการขนส่งเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓[๑๒] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลแห่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ส่งผลกระทบถึงบรรดารถบรรทุกขนส่งสินค้า ของผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล คือ ก. รถบรรทุกที่ใช้รถมีน้ำหนักรถต่ำกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมทั่วพระราชอาณาจักรสำหรับประกอบการภายในครอบครัว ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง เพราะต้องไปยื่นขอจดทะเบียนขนส่งส่วนบุคคล และต้องใช้ใบอนุญาตขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก นอกเหนือไปจากใบอนุญาตของกรมตำรวจที่มีอยู่แล้ว ก่อให้เกิดความเดือดร้อน เพราะรถบรรทุกขนาดเล็กเหล่านี้หาจำต้องใช้ความชำนาญเชี่ยวชาญเป็นพิเศษไม่ เนื่องจากเป็นรถที่ส่วนมากใช้ในธุรกิจส่วนตัว ภายในครัวเรือนและใช้ในการขนส่งพืชผลของเกษตรกร จึงสมควรได้รับการยกเว้นไม่ต้องไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และการใช้ใบขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก ข. สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งได้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลตามใบอนุญาตนั้น การจำกัดท้องที่ทำการขนส่งนั้น ย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกและเป็นธรรม เพราะผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลก็ย่อมหมายถึงประกอบธุรกิจส่วนตัวนั่นเอง ท้องที่ที่กำหนดให้แน่นอนย่อมเป็นเครื่องกีดขวางการปฏิบัติงาน เพราะการที่จะบรรทุกสินค้าของตนไปส่งยังที่ต่าง ๆ การที่จะต้องไปขออนุญาตเป็นครั้งคราวนั้นย่อมก่อให้เกิดภาวะสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มราคาทุนโดยไม่จำเป็น ค. โดยทั่วไปการตรวจสภาพรถมักล่าช้า เมื่อนำรถไปขอรับการตรวจแล้วแต่ปรากฏว่ารถมีจำนวนมาก ตรวจสภาพไม่ทันหากนำไปวิ่งขนส่งก็จะต้องถูกจับกุมและมีโทษสูง และการที่จอดรอการตรวจสภาพเป็นระยะนาน ๆ นั้น ย่อมทำให้เศรษฐกิจกระทบกระเทือน จึงสมควรกำหนดเวลาตรวจไว้ และหากความล่าช้าเป็นเพราะความผิดของพนักงานหรือผู้มีอำนาจตรวจสภาพ ก็ไม่สมควรเอาโทษแก่ผู้ประกอบการขนส่งที่ขอตรวจสภาพไว้แล้ว เพราะโทษมีกำหนดสูง ง. การต่อใบอนุญาตตามบทเฉพาะกาลของใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งได้รับอนุญาตไว้แล้ว ก่อนใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ขนาดและส่วนซึ่งพนักงานตรวจสภาพตามกฎหมายเก่า ทั้งของกรมตำรวจและกรมการขนส่งทางบก ไม่เป็นระเบียบเดียวกัน และมีมาตรฐานต่างกัน ฉะนั้น การขอต่อใบอนุญาตใหม่จึงไม่สมควรนำเหตุผลของการผิดขนาดและส่วนมาเป็นข้อปฏิเสธการขอต่อใบอนุญาตเก่านั้น อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙[๑๓] มาตรา ๕ อัตราภาษีรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ไม่ใช้บังคับแก่รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีรถประจำปีไว้แล้ว หรือที่ค้างชำระภาษีรถประจำปีก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ สำหรับภาษีรถประจำปีที่เสียไว้แล้ว หรือที่ค้างชำระนั้น มาตรา ๖ รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีรถประจำปีไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ หากเป็นรถที่ไม่ได้รับการลดภาษีรถประจำปีตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา ๘๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้เสียภาษีรถประจำปีสำหรับปีต่อไป ดังต่อไปนี้ (๑) ปีที่หนึ่ง ให้เสียในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๒) ปีที่สอง ให้เสียในอัตราสามในสี่ของอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๓) ปีต่อไป ให้เสียในอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกำหนดนี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันมีรถจำนวนมากใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดความจำเป็นในการสั่งน้ำมันดีเซลหรือก๊าซเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการเพิ่มจำนวนรถที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และเพื่อเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ วศิน/ผู้จัดทำ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๓๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ มีนาคม ๒๕๒๒ [๒] มาตรา ๔ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๓] มาตรา ๔ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๔] มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๕] มาตรา ๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๖] มาตรา ๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๗] มาตรา ๗๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๘] มาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๙] มาตรา ๘๘ ทวิ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ [๑๐] มาตรา ๑๖๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๑๑] บัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ [๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๖๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๓ [๑๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๓/ตอนที่ ๑๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑/๓๑ มกราคม ๒๕๒๙
301289
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529
พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นปีที่ ๔๑ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙” มาตรา ๒[๑] พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ ท้ายพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้บัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ ท้ายพระราชกำหนดนี้แทน มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๘๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “มาตรา ๘๘ ทวิ ในกรณีที่เห็นเป็นการสมควร จะตราพระราชกฤษฎีกาลดภาษีรถประจำปี สำหรับรถในเขตท้องที่ใดหรือในกรณีใดลงจากอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๕ ก็ได้” มาตรา ๕ อัตราภาษีรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ไม่ใช้บังคับแก่รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีรถประจำปีไว้แล้ว หรือที่ค้างชำระภาษีรถประจำปีก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ สำหรับภาษีรถประจำปีที่เสียไว้แล้ว หรือที่ค้างชำระนั้น มาตรา ๖ รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีรถประจำปีไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ หากเป็นรถที่ไม่ได้รับการลดภาษีรถประจำปีตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา ๘๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้เสียภาษีรถประจำปีสำหรับปีต่อไป ดังต่อไปนี้ (๑) ปีที่หนึ่ง ให้เสียในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๒) ปีที่สอง ให้เสียในอัตราสามในสี่ของอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๓) ปีต่อไป ให้เสียในอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกำหนดนี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีอัตราภาษีตามมาตรา ๘๕ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันมีรถจำนวนมากใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดความจำเป็นในการสั่งน้ำมันดีเซลหรือก๊าซเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการเพิ่มจำนวนรถที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และเพื่อเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ วศิน/ผู้จัดทำ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒ วิมล/ปรับปรุง ๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๓/ตอนที่ ๑๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑/๓๑ มกราคม ๒๕๒๙
313514
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (Update ณ วันที่ 15/10/2523)
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการขนส่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ (๒) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ (๓) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ (๑) “การขนส่ง” หมายความว่า การขนคน สัตว์ หรือสิ่งของ โดยทางบกด้วยรถ (๒) “การขนส่งประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนด (๓) “การขนส่งไม่ประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง (๔)[๒] “การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก” หมายความว่า การขนส่งคนหรือสิ่งของหรือคนและสิ่งของรวมกันเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนดด้วยรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสี่พันกิโลกรัม (๕)[๓] “การขนส่งส่วนบุคคล” หมายความว่า การขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเองด้วยรถที่มีน้ำหนักเกินกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม (๖) “การขนส่งระหว่างจังหวัด” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างจังหวัดกับจังหวัด (๗) “การขนส่งระหว่างประเทศ” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ (๘) “การรับจัดการขนส่ง” หมายความว่า การรับจ้างรวบรวมคน สัตว์หรือสิ่งของ และจัดให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำการขนส่งจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้รับจัดการขนส่ง (๙) “รถ” หมายความว่า ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมตลอดถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รถไฟ (๑๐) “ผู้ตรวจการ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจการขนส่ง (๑๑) “พนักงานตรวจสภาพ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจความมั่นคงแข็งแรง ความสะอาด ความเรียบร้อย และความเหมาะสมของสภาพรถที่นำมาใช้ในการขนส่ง (๑๒) “นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนกลาง หรือนายทะเบียนประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี (๑๓) “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี (๑๔) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (๑๕) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕[๔] พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (๑) การขนส่งโดยรถยนต์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร (๒) การขนส่งโดยรถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินสิบสองคน รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม รถยนต์สามล้อ รถจักรยานยนต์ และรถแทร็กเตอร์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (๓) การขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเป็นนายทะเบียนกลางมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งระหว่างจังหวัดและการขนส่งระหว่างประเทศ ให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ขนส่งจังหวัดเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในเขตจังหวัดของตน ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจมอบหมายกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำแทนได้ การมอบหมายตามวรรคสี่ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพกับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกคณะหนึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย อธิบดีกรมทางหลวง เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้หรือความจัดเจนในการขนส่ง การเศรษฐกิจหรือกฎหมาย ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๙ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ มาตรา ๑๐ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (๑) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๒) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย (๔) เป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง มาตรา ๑๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) รัฐมนตรีให้ออก (๔) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานและรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน มาตรา ๑๓ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๔ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายการขนส่งทางบกระยะสั้นและระยะยาวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๒) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาและดำเนินการสถานีขนส่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๓) กำหนดมาตรการและแผนพัฒนาการขนส่งทางบกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๔) กำหนดมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยและความสะดวกในการขนส่งทางบก เพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ (๕) กำหนดการห้ามรับจดทะเบียนรถเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ (๖) ประสานงานที่เกี่ยวข้องระหว่างกันในด้านการขนส่งทางบก ตลอดจนประสานงานด้านการขนส่งทางบกกับการขนส่งทางน้ำและการขนส่งทางอากาศ (๗) ให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการขนส่งทางบก มาตรา ๑๕ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม หมวด ๒ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน เลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทหรือผู้แทน อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทน อธิบดีกรมทางหลวงหรือผู้แทน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้แทน เป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ ทั้งนี้ โดยให้มีผู้มีความรู้และมีความจัดเจนในการขนส่งรวมอยู่ด้วย ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๑๗ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคน โดยมีนายกเทศมนตรีในจังหวัดนั้นรวมอยู่ด้วยหนึ่งคน เป็นกรรมการ ให้ขนส่งจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๑๘ ให้นำมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดโดยอนุโลม มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดลักษณะของการขนส่งประจำทางและการขนส่งไม่ประจำทาง (๒) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ (๓) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัด และระหว่างประเทศ (๔) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๕) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๖) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๗) กำหนดอัตราค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่ง (๘) กำหนดสถานที่ จัดให้มีหรือจัดตั้ง และระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่ง (๙) กำหนดชนิดหรือสภาพรถที่มิให้รับจดทะเบียน (๑๐) กำหนดประเภทหรือชนิดของรถที่ต้องเข้าหยุดหรือจอดเพื่อการรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่ง (๑๑) กำหนดที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสาร (๑๒) วางมาตรการในการกำหนด อนุญาต เพิกถอนการอนุญาตและการควบคุมกิจการขนส่งทางบก (๑๓) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก การกำหนดตาม (๒) (๓) (๔) (๘) (๙) และ (๑๐) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ภายในเขตจังหวัด ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทาง (๒) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทาง (๓) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๕) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกและคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง การกำหนดตาม (๑) และ (๔) เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแล้วจึงจะใช้บังคับได้ และการกำหนดตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๑ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม มาตรา ๒๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการการขนส่งทางบก เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้คณะกรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้ หมวด ๓ การประกอบการขนส่ง มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือการขนส่งส่วนบุคคล เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง และการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดนั้น ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย และ (๑) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย (๒) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย และทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย (๓) ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย หรือต้องเป็นของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด หรือต้องเป็นของกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือองค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และบริษัทจำกัดนั้นต้องไม่มีข้อบังคับอนุญาตให้มีการออกหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ (๔) ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทมหาชนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะต้องมีลักษณะตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจยกเว้นคุณสมบัติตามความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษเป็นการเฉพาะรายได้ มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางและผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่ออนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่ง การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นำมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับแก่การประกอบการขนส่งระหว่างประเทศโดยอนุโลม มาตรา ๒๖ ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศมาใช้ประกอบการขนส่งในประเทศไทย เว้นแต่เพื่อการขนส่งระหว่างประเทศและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางแล้ว ผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๒ ซึ่งประจำในรถตามวรรคหนึ่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ และหรือตามข้อตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ มาตรา ๒๗ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งมีสี่ประเภท คือ (๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง (๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง หรือใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้ใช้เป็นใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลได้ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ข้างต้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด มาตรา ๒๘ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้มีอายุเจ็ดปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอเสียก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ แต่การขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางและใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก จะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๙[๕] บทบัญญัติมาตรา ๒๓ มิให้ใช้บังคับแก่การขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา วัด มูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว สภากาชาดไทย สถานพยาบาล รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เป็นผู้ประกอบการขนส่ง แต่ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้เสมือนดังเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลทุกประการ มาตรา ๓๐ ให้นายทะเบียนกลางเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในกรุงเทพมหานคร การขนส่งระหว่างจังหวัด และการขนส่งระหว่างประเทศ และให้นายทะเบียนประจำจังหวัดเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในจังหวัดของตน ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ มาตรา ๓๑ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) สิทธิในรถที่ใช้ประกอบการขนส่งของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๓) ลักษณะ ชนิด ขนาด และสีของรถ และเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๔) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๕) จำนวนผู้ประจำรถ (๖) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ (๙) ที่ที่รถจะต้องหยุดในระหว่างเส้นทาง (๑๐) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง (๑๑) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ (๑๒) เวลาทำงานประจำวันในการประกอบการขนส่ง (๑๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ (๑๔) การประกอบกิจการอื่นนอกจากการประกอบการขนส่งประจำทาง (๑๕) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๑) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๒ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิดและขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๔) จำนวนผู้ประจำรถ (๕) ท้องที่ที่ทำการขนส่ง (๖) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง (๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ (๙) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ (๑๐) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๗) และ (๘) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๓ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิด ขนาด และสีของรถ และเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๔) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ (๕) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๖) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๗) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๕) และ (๖) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๔[๖] ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้นายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิด และขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษา มาตรา ๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ และหรือใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง และต้องทำรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจัดให้มีที่พักผู้โดยสารตามระยะทางโดยมีลักษณะ ขนาด จำนวน และจุดที่ตั้งของที่พักผู้โดยสารตามที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๓๘ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่งหรือค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ มาตรา ๓๙ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกเส้นทาง หรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนหรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด มาตรา ๔๐ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางกระทำการขนส่งอันมีลักษณะเช่นเดียวหรือคล้ายกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางหรือมีลักษณะเป็นการแย่งผลประโยชน์กับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางได้รับอนุญาต มาตรา ๔๑ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นที่จะแก้ไขสถานการณ์เพื่อให้การขนส่งได้รับความสะดวกหรือให้มีรถเพียงพอแก่การขนส่ง นายทะเบียนมีอำนาจที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถ เวลา และจำนวนเที่ยวของการเดินรถ หรือให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดส่งรถที่ตนได้รับอนุญาตไปช่วยเหลือเป็นการชั่วคราวตามควรแก่กรณี แล้วให้รายงานคณะกรรมการโดยเร็ว มาตรา ๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องแสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาต มาตรา ๔๓ ในกรณีที่ใบอนุญาตประกอบการขนส่งสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดดังกล่าว มาตรา ๔๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง มาตรา ๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง มาตรา ๔๖ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๑) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๔ (๒) ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขในมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามมาตรา ๓๖ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวด ๔ ว่าด้วยการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือจัดการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติหรือไม่แก้ไขให้ถูกต้อง หรือเป็นที่เห็นได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่สามารถจะดำเนินการตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดนั้น หรือการดำเนินการนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายหรือเสื่อมประโยชน์ต่อประชาชน ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ แต่ถ้าเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางที่จะพิจารณาอนุมัติ มาตรา ๔๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต้องส่งคืนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๔๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๔๙ ให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจควบคุมดูแลบรรดากิจการที่เกี่ยวกับการขนส่งให้เป็นไปตามความในพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์ดังกล่าวให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจ (๑) เข้าไปในสถานที่ดำเนินการของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในระหว่างเวลาทำงานตามปกติ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและเพื่อตรวจสอบบัญชีและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการขนส่ง (๒) เรียกผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้จัดการ และพนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นนิติบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงตามที่ต้องการ ในการปฏิบัติตาม (๑) ให้อธิบดีมีอำนาจมอบหมายให้ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพทำการแทนได้ ในการปฏิบัติการของอธิบดี นายทะเบียน ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพตามมาตรานี้ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือตามสมควร มาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจเรียกรถให้หยุดเพื่อทำการตรวจสอบ และเมื่อเชื่อว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้น ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจจับกุมผู้ฝ่าฝืนเพื่อส่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินคดีต่อไป บทบัญญัติในวรรคหนึ่งไม่ลบล้างอำนาจจับกุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มาตรา ๕๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด หมวด ๔ การชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง มาตรา ๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันต่อนายทะเบียนกลางเพื่อประกันความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกและซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะต้องรับผิดชอบเนื่องจากการขนส่งของตน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดตามขนาดและประเภทของการประกอบการขนส่งแต่ต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ดอกผลที่เกิดจากหลักทรัพย์ที่เป็นเงินสดนั้นตกเป็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่วางหลักทรัพย์ ให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้รับผิดชอบในการเปิดบัญชีเงินฝาก และการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีหลักทรัพย์กับธนาคารตามระเบียบของกระทรวงการคลัง มาตรา ๕๓ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มาตรา ๕๔ ในการวางหลักทรัพย์ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทย ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำหนังสือมอบอำนาจให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจจัดการจำหน่ายพันธบัตรนั้น เพื่อชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วย มาตรา ๕๕ หลักทรัพย์ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เว้นแต่จะเป็นการบังคับคดีเพื่อการชำระหนี้ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกอันเนื่องจากการขนส่งของตน มาตรา ๕๖ เมื่อรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายหรือชีวิตของบุคคลใดนอกจากความรับผิดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นซึ่งจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหาย ให้จ่ายตามความร้ายแรงของความเสียหาย ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลและหรือค่าปลงศพ มาตรา ๕๗ เมื่อผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายประสงค์จะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมตำรวจกำหนดต่อพนักงานสอบสวน โดยแสดงพยานหลักฐานว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาจากสำนวนการสอบสวน และเมื่อเห็นว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งคันใด ให้มีหนังสือสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถคันนั้นชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๕๖ วรรคสอง ในการนี้ให้แจ้งให้นายทะเบียนกลางทราบโดยเร็วด้วย ในการสั่งของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาสั่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ในการชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชำระภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากพนักงานสอบสวน มาตรา ๕๘ ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายต้องใช้สิทธิในการขอรับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามมาตรา ๕๗ ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น มาตรา ๕๙ การชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในอันที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐ บุคคลซึ่งมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ได้แก่ผู้เสียหายดังต่อไปนี้ (๑) ผู้เสียหายซึ่งมิได้อยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ได้รับความเสียหายจากรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น (๒) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่รวมถึงผู้ขับรถคนงานหรือลูกจ้างประจำรถซึ่งอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ (๓) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย มาตรา ๖๑ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ และให้พนักงานสอบสวนบันทึกความเห็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งไม่เห็นด้วยไว้ในสำนวนการสอบสวน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งกลางให้เป็นที่สุด มาตรา ๖๒ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานสอบสวน ถ้าคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีความเห็นตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่พนักงานสอบสวนกำหนดไว้อีกร้อยละสิบ มาตรา ๖๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ หรือตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางตามมาตรา ๖๑ ในกรณีที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามมาตรา ๕๒ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจนำหลักทรัพย์ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นซึ่งได้นำมาวางไว้เป็นประกันชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นแทนได้ มาตรา ๖๔ ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือได้รับชดใช้ไม่ครบตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนหรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางสั่งไม่ว่าเพราะเหตุหลักทรัพย์ที่วางประกันไว้ไม่พอจ่ายค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือเพราะเหตุอื่นใด เมื่อผู้เสียหายได้ร้องเรียนต่อนายทะเบียนกลางให้นายทะเบียนกลางสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งชำระให้เสร็จสิ้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางดังกล่าว ให้นายทะเบียนกลางเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และให้นำมาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๕ การรับจัดการขนส่ง มาตรา ๖๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการรับจัดการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖๖ ในการออกใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ให้นายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) ท้องที่ที่ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๒) สถานที่ตั้งสำนักงานของผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๓) สถานที่พักคน สัตว์ หรือเก็บสิ่งของ (๔) วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับสวัสดิภาพ ความสะดวกและความปลอดภัยในการรับจัดการขนส่ง (๕) อัตราค่าบริการรับจัดการขนส่ง (๖) เงื่อนไขอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๖๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๖๕ ต้องวางหลักทรัพย์ต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญารับจัดการขนส่ง ทั้งนี้ ตามจำนวนหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖๘ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๖๗ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มาตรา ๖๙ ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๐ ให้นำมาตรา ๒๔ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การประกอบการรับจัดการขนส่งโดยอนุโลม หมวด ๖ รถ มาตรา ๗๑ รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กับได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ และเสียภาษีตามมาตรา ๘๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มาตรา ๗๒[๗] รถที่จะนำมาจดทะเบียนและเสียภาษีต้องผ่านการตรวจสภาพรถจากพนักงานตรวจสภาพ หรือจากสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๗๔ เว้นแต่รถประเภทหรือชนิดใดที่สมควรได้รับการยกเว้นการตรวจสภาพเป็นครั้งคราวให้กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ปรากฏว่ารถที่นำมารับการตรวจสภาพนั้นมีสภาพมั่นคงแข็งแรงมีเครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับการอนุญาตออกใบรับรองให้ ใบรับรองการตรวจสภาพรถให้ทำตามแบบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๗๓[๘] เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตได้ตรวจสภาพรถถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๒ แล้ว ให้รับจดทะเบียนและออกหนังสือแสดงการจดทะเบียนพร้อมกับแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคันนั้นให้โดยไม่ชักช้า มาตรา ๗๔ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อรับรองสภาพรถตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๕ ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๔ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นได้ ให้นำมาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตโดยอนุโลม มาตรา ๗๗ หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถให้ใช้ได้สี่งวดนับแต่งวดที่ออกหนังสือนี้ ให้เดือนมกราคม เดือนเมษายน เดือนกรกฎาคม และเดือนตุลาคมเป็นเดือนแรกของแต่ละงวด การขอต่ออายุทะเบียน ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่นายทะเบียนจะได้ประกาศกำหนด ให้นำมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ และมาตรา ๗๓ มาใช้บังคับแก่การขอต่ออายุทะเบียนโดยอนุโลม มาตรา ๗๘ ห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน มาตรา ๗๙ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ประสงค์จะเลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้ว แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบและนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้น มาตรา ๘๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งมีความจำเป็นจะต้องระงับใช้รถนั้นชั่วคราวเป็นเวลาเกินสิบห้าวันแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบก่อนวันที่จะระงับใช้รถนั้น มาตรา ๘๑ รถที่ยังมิได้จดทะเบียนตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือรถที่เลิกใช้ตามมาตรา ๗๙ ถ้าจะนำมาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ต้องมีใบอนุญาตและเครื่องหมายโดยเฉพาะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ใบอนุญาตและเครื่องหมายดังกล่าวใช้ได้เฉพาะรถที่อยู่ในความครอบครองของผู้ได้รับใบอนุญาตโดยสับเปลี่ยนกันได้ ไม่เฉพาะคัน มาตรา ๘๒ การโอนรถซึ่งได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ แล้ว ผู้โอนและผู้รับโอนจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันโอนและให้นายทะเบียนจดแจ้งการโอนไว้ในหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถนั้น มาตรา ๘๓ เมื่อผู้ตรวจการตรวจพบว่ารถคันใดมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือมีเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ผู้ตรวจการรายงานให้นายทะเบียนทราบ แต่ถ้าปรากฏโดยชัดแจ้งว่าการใช้รถคันนั้นต่อไปน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่การขนส่ง ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจสั่งระงับใช้ไว้เป็นการชั่วคราวได้ และให้รีบรายงานให้นายทะเบียนทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้เป็นเจ้าของรถตามวรรคหนึ่ง จัดการส่งรถคันนั้นไปให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความบกพร่องตามรายงานของผู้ตรวจการภายในเวลาที่กำหนด เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งตามวรรคสองแล้ว ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตงดการใช้รถดังกล่าวไว้จนกว่านายทะเบียนจะมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไป มาตรา ๘๔ เมื่อพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตเห็นว่ารถที่นำมาให้ตรวจตามมาตรา ๘๓ สมควรจะต้องซ่อมแซม ปรับปรุงเพื่อให้รถกลับมีสภาพมั่นคงแข็งแรง หรือจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์หรือส่วนควบให้ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้แจ้งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง แล้วให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความถูกต้องและรายงานให้นายทะเบียนทราบ เมื่อได้พิจารณาเห็นสมควรตามรายงานของพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถคันนั้นต่อไปได้ มาตรา ๘๕ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดเวลาการชำระภาษีรถประจำปีสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งแต่ละรายก็ได้ และให้คำนวณภาษีตามน้ำหนักรถตามอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ในการคำนวณน้ำหนักรถ ให้รวมน้ำหนักของรถและเครื่องอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับตัวรถตามปกติ แต่ไม่รวมน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเครื่อง น้ำ และเครื่องมือประจำรถ เศษของหนึ่งกิโลกรัมให้ปัดทิ้ง เงินภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้ที่จัดเก็บได้ในกรุงเทพมหานครให้ตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้ตกเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และเมืองพัทยาในจังหวัดนั้น โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๘๖ ภาษีรถให้ชำระล่วงหน้าเป็นรายปีต่อนายทะเบียน และจะขอชำระเป็นงวดก็ได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รถที่จดทะเบียนใหม่ในงวดใด ให้ชำระภาษีตั้งแต่งวดนั้นเป็นต้นไป ถ้าเจ้าของรถไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่จะต้องชำระ ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระ เงินเพิ่มตามมาตรานี้ให้ถือเป็นเงินภาษี มาตรา ๘๗ รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีแล้ว ถ้าต่อมามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเพิ่มเติม เป็นเหตุให้รถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิม เจ้าของรถจะต้องเสียภาษีเพิ่มตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย และให้นำมาตรา ๘๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๘๘ รถที่ใช้ในการขนส่งส่วนบุคคลของกระทรวง ทบวง กรมกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา วัด มูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว และสภากาชาดไทย ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี มาตรา ๘๙ รถที่ได้จดทะเบียนแล้ว ถ้าไม่ได้เสียภาษีตามกำหนดตามมาตรา ๘๖ เจ้าของรถต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบพร้อมกับนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถนั้นคืนต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งจะต้องเสียภาษีครั้งถัดไปตามมาตรา ๘๖ มาตรา ๙๐ เจ้าของรถต้องติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีที่นายทะเบียนออกให้ไว้กับตัวรถตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๙๑ ในกรณีที่แผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุดหรือลบเลือนในสาระสำคัญ ให้เจ้าของรถยื่นคำขอ ขอรับแผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุด หรือลบเลือนดังกล่าว หมวด ๗ ผู้ประจำรถ มาตรา ๙๒ ผู้ประจำรถ ได้แก่ (๑) ผู้ขับรถ (๒) ผู้เก็บค่าโดยสาร (๓) นายตรวจ (๔) ผู้บริการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๓ ห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๔ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำรถ มี ๔ ประเภท คือ (๑) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ (๒) ใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร (๓) ใบอนุญาตเป็นนายตรวจ (๔) ใบอนุญาตเป็นผู้บริการ ใบอนุญาตแต่ละประเภทจะใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตประเภทที่หนึ่ง ประเภทที่สาม และประเภทที่สี่ใช้เป็นใบอนุญาตประเภทที่สองได้ มาตรา ๙๕ ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถมีสามชนิด ดังนี้ ชนิดที่หนึ่ง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารไม่เกินยี่สิบคน ชนิดที่สอง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกินกว่าสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารเกินกว่ายี่สิบคน ชนิดที่สาม ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งโดยสภาพใช้สำหรับลากจูงรถอื่นหรือล้อเลื่อนที่บรรทุกสิ่งใด ๆ บนล้อเลื่อนนั้น ใบอนุญาตแต่ละชนิดใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตชนิดที่สองและชนิดที่สามเป็นใบอนุญาตชนิดที่หนึ่งได้ และใบอนุญาตชนิดที่สามใช้เป็นใบอนุญาตชนิดที่สองได้ มาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๓ ในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องมีคุณสมบัติและลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีความรู้และความสามารถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๓) ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยความเหมาะสม (๔) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ (๕) ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจ (๖) ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ (๗) ไม่เป็นผู้มีใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถประเภทหรือชนิดเดียวกับที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว (๘) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่การเพิกถอนใบอนุญาตนั้นพ้นกำหนดสามปีแล้วนับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต (๙) ไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดอันได้กระทำโดยประมาทที่มิใช่เกี่ยวกับการใช้รถในการกระทำผิดหรือความผิดลหุโทษ หรือได้พ้นโทษมาแล้วเกินสามปี (๑๐) ไม่เป็นผู้เคยถูกควบคุมตัวเพราะมีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคม หรือเป็นอันธพาล เว้นแต่ได้พ้นจากการควบคุมตัวมาแล้วเกินหนึ่งปี มาตรา ๙๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง และได้ผ่านการศึกษาและจบหลักสูตรจากโรงเรียนการขนส่งของกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง การรับรองโรงเรียนสอนขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และผู้บริการต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในการขนส่งส่วนบุคคลต้องมีคุณสมบัติและมีลักษณะตามมาตรา ๙๖ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๐) และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๐๐ ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถให้มีอายุหนึ่งปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด มาตรา ๑๐๑ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องมีใบอนุญาตอยู่กับตัวและต้องแสดงต่อนายทะเบียนหรือผู้ตรวจการเมื่อขอตรวจ มาตรา ๑๐๒ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้อง (๑) แต่งกายสะอาดเรียบร้อยตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง (๒) ไม่แสดงกิริยาหรือใช้ถ้อยคำเป็นการเสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว รังแก รบกวน หรือหยาบหยามผู้หนึ่งผู้ใด หรือแสดงกิริยาวาจาหรือส่งเสียงด้วยประการหนึ่งประการใดในลักษณะไม่สมควรหรือไม่สุภาพ (๓) ไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น (๔) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๐๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถนอกจากจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๒ แล้ว จะต้อง (๑) ไม่ขับรถในเวลาที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ (๒) ไม่รับบรรทุกบุคคลที่เป็นโรคเรื้อนหรือโรคติดต่อที่น่ารังเกียจไปกับผู้โดยสารอื่น (๓) ไม่รับบรรทุกศพ สัตว์ หรือสิ่งของที่อาจเกิดอันตรายหรือเป็นที่พึงรังเกียจไปกับผู้โดยสาร (๔) ไม่รับบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง ระเบิด หรือวัตถุอันตรายอย่างอื่นไปกับผู้โดยสาร วัตถุอันตรายให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๕) ต้องหยุดหรือจอดรถ ณ สถานีขนส่งและปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๙ (๘) และ (๑๐) มาตรา ๑๐๔ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถกระทำการใด ๆ ให้ผู้โดยสารจำต้องลงจากรถก่อนที่จะได้โดยสารถึงจุดหมายปลายทางโดยที่ได้ชำระค่าโดยสารถูกต้องตามอัตราที่กำหนดแล้ว มาตรา ๑๐๕ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถละเว้นการหยุดรถเพื่อรับหรือส่งผู้โดยสาร ณ ที่ที่มีเครื่องหมายให้รถนั้นหยุด ในเมื่อปรากฏว่ามีผู้โดยสารต้องการให้หยุดรถเพื่อรับหรือส่ง มาตรา ๑๐๖ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถกระทำการใด ๆ อันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร มาตรา ๑๐๗ ในการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งไม่ประจำทางระหว่างจังหวัดหรือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถรับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๑๐๘ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖ มาตรา ๙๗ มาตรา ๙๘ หรือมาตรา ๙๙ หรือบกพร่องไปในภายหลังเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นเสีย มาตรา ๑๐๙ ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในหมวดนี้ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจยึดใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถของผู้นั้น และสั่งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นไปรายงานตนต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดสิบสองชั่วโมง คำสั่งนั้นให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถชั่วคราวภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้นได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเสียก็ได้ มาตรา ๑๑๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถซึ่งถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๑๑๑ ให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจมาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๘ ผู้โดยสาร มาตรา ๑๑๒ ผู้โดยสารต้องชำระค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๑๑๓ ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสาร ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งปิดไว้ ณ ที่เปิดเผยในรถ หมวด ๙ สถานีขนส่ง มาตรา ๑๑๔ สถานีขนส่งมี ๒ ประเภท คือ (๑) สถานีขนส่งผู้โดยสาร (๒) สถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ลักษณะของสถานีขนส่งตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๑๕ ให้กรมการขนส่งทางบกโดยอนุมัติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จัดให้มีสถานีขนส่งขึ้นในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและในเขตท้องที่จังหวัดอื่น โดยจะดำเนินการเอง หรือจะมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจหรือองค์การของรัฐเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่งไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด บุคคลอื่นใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางก่อน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง การจัดให้มีหรือจัดตั้งสถานีขนส่งขึ้นที่ใด เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๑๖ ให้อธิบดีมีอำนาจกำกับและควบคุมการดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้จะแต่งตั้งข้าราชการและหรือลูกจ้างสังกัดกรมการขนส่งทางบก ทำหน้าที่เป็นนายสถานีและเจ้าหน้าที่สถานีตามจำนวนที่เห็นสมควร มีอำนาจกำกับและควบคุมดังกล่าวด้วยก็ได้ มาตรา ๑๑๗ ในการบริหารงานที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งของกรมการขนส่งทางบกตามมาตรา ๑๑๕ วรรคหนึ่ง อธิบดีจะแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินแปดคนเพื่อดูแลควบคุมและดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งก็ได้ กรรมการที่อธิบดีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการนี้โดยอนุโลม มาตรา ๑๑๘ ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องมีคุณสมบัติและลักษณะตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๑๑๙ ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งให้มีอายุตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดแต่ไม่เกินยี่สิบปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๒๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจการสถานีขนส่งรวมทั้งการรักษาความเรียบร้อย ความปลอดภัยในบริเวณสถานีขนส่งนั้น มาตรา ๑๒๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างประจำสถานีขนส่งตลอดเวลา โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบสภาพรถขนส่งประจำทางซึ่งต้องหยุดหรือจอดเพื่อการขนส่ง ณ สถานีขนส่งแห่งนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย คุณสมบัติและจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๒๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีอู่ซ่อมรถและบริการซ่อมรถเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่รถที่ใช้สถานีขนส่งนั้น มาตรา ๑๒๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีบริเวณที่จอดพักรถตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๒๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีสมุดทะเบียนการเดินรถที่ผ่านเข้าออกสถานีขนส่งตามแบบที่อธิบดีกำหนด สมุดทะเบียนการเดินรถต้องเก็บรักษาไว้ในที่ทำการของสถานีขนส่งแห่งนั้นพร้อมที่จะให้นายทะเบียน พนักงานตรวจสภาพหรือผู้ตรวจการตรวจดูได้ทุกเวลา มาตรา ๑๒๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งเรียกเก็บค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งได้ไม่เกินอัตราตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด หมวด ๑๐ บทกำหนดโทษ มาตรา ๑๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๗๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๒๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใด ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ วรรคสอง มาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๓ มาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๖ หรือ มาตรา ๑๐๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๒๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๒๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) หรือ (๑๕) หรือในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๖ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง มาตรา ๓๒ วรรคสอง มาตรา ๓๓ วรรคสอง มาตรา ๓๔ วรรคสอง มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๑๑๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๓๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๓๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ใช้ทำการขนส่งนอกเส้นทางหรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนบาท มาตรา ๑๓๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๔๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๒ หรือมาตรา ๔๗ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๗๙ หรือมาตรา ๘๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๔๔ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่อธิบดี นายทะเบียนผู้ตรวจการ หรือพนักงานตรวจสภาพ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๔๙ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับหนึ่งแสนบาท หรือปรับเป็นรายวัน วันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๔๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๔๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๘ ผู้ใดใช้รถโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑ หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ตรวจการหรือนายทะเบียนตามมาตรา ๘๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ มาตรา ๘๑ วรรคหนึ่งหรือมาตรา ๘๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๕๐ เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๐ หรือมาตรา ๙๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท แต่ถ้าผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๐๙ หรือปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่ถ้าผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท มาตรา ๑๕๓ ผู้โดยสารผู้ใดโดยสารรถโดยมีเจตนาไม่ชำระค่าขนส่งหรือชำระค่าขนส่งไม่ครบถ้วนตามอัตราที่กำหนด หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๑๑๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๕๔ ผู้ใดจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๕๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๓ หรือมาตรา ๑๒๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท มาตรา ๑๕๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถผู้ใดไม่นำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท มาตรา ๑๕๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งนำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งผู้ใดไม่ชำระค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งให้แก่สถานีขนส่งตามมาตรา ๑๒๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท มาตรา ๑๕๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใด โดยทุจริตหรือจงใจออกใบรับรองตรวจสภาพรถโดยไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และนายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นเสียได้ มาตรา ๑๕๙ ผู้ใดเรียกเก็บค่าขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง ค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่ง หรือค่าบริการอย่างอื่น ผิดไปจากอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๐ ผู้ใด (๑) ใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ผู้อื่น (๒) ใช้เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้สำหรับรถคันหนึ่งกับรถอีกคันหนึ่ง (๓) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ตน (๔) เปลี่ยนแปลงหรือปิดบังทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ซึ่งแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถ หรือ (๕) ใช้รถที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา ๘๘ ให้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้รับยกเว้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๖๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจตามมาตรา ๑๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๖๒ ผู้ใดเปลี่ยนแปลง ย้าย ทำลาย หรือกระทำให้เสียหายด้วยประการใด ๆ แก่เครื่องหมายหรือสิ่งอื่นใดที่ทางราชการได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการขนส่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๓ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๖๔ ในระหว่างที่ยังมิได้มีกฎกระทรวง ข้อกำหนด หรือระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กฎกระทรวง ข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศใด ๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ และพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ คงใช้บังคับต่อไป มาตรา ๑๖๕[๙] บรรดาใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุและถ้าจะต่ออายุใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ บรรดารถที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามีการแก้ไขดัดแปลงโครงรถหรือขนาดสัดส่วนของตัวถังกว้างหรือยาวกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และการแก้ไขดัดแปลงนั้นกระทำได้โดยชอบตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ให้ถือว่าเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๗๑ มาตรา ๑๖๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง และเจ้าของรถที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ปฏิบัติการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๖๗ รถที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้รถตามวรรคหนึ่ง ซึ่งจะชำระภาษีครั้งแรกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องชำระภาษีคราวละกี่งวดก็ได้ มาตรา ๑๖๘ คำขออนุญาตใด ๆ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม และถ้าคำขออนุญาตดังกล่าวมีข้อความแตกต่างไปจากคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขออนุญาตเพื่อให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ได้ มาตรา ๑๖๙ ในเขตท้องที่จังหวัดใดในระหว่างที่ยังไม่มีขนส่งจังหวัดให้อำนาจและหน้าที่ของขนส่งจังหวัด เป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนกลาง ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ส. โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรี บัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ [ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย] อัตราค่าธรรมเนียม (๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ต่อเส้นทางหนึ่ง ฉบับละ ๑๕,๐๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ไม่ประจำทาง ฉบับละ ๔,๐๐๐ บาท (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดย รถขนาดเล็ก ฉบับละ ๑,๕๐๐ บาท (๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๕) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ (ก) ตลอดปี ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท (ข) เฉพาะคราว ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๖) ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท (๗) ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการ สถานีขนส่ง ฉบับละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๘) ใบอนุญาตผู้ขับรถและใบอนุญาต นายตรวจ ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๙) ใบอนุญาตผู้เก็บค่าโดยสารและ ใบอนุญาตผู้บริการ ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๑๐) ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ฉบับละ ๒๐,๐๐๐ บาท (๑๑) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๑๒) การโอนทะเบียนรถ ครั้งละ ๒๐๐ บาท (๑๓) แผ่นป้ายเลขทะเบียนรถและ เครื่องหมาย แผ่นละ ๑๐๐ บาท (๑๔) คำขออนุญาตประกอบการขนส่ง ประจำทาง ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๑๕) คำขออื่น ๆ ฉบับละ ๒๐ บาท (๑๖) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตแต่ละฉบับ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการขนส่งได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และสภาพการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก บทบัญญัติทั้งหลายที่ใช้บังคับอยู่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการขนส่งเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓[๑๐] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลแห่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ส่งผลกระทบถึงบรรดารถบรรทุกขนส่งสินค้า ของผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล คือ ก. รถบรรทุกที่ใช้รถมีน้ำหนักรถต่ำกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมทั่วพระราชอาณาจักรสำหรับประกอบการภายในครอบครัว ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง เพราะต้องไปยื่นขอจดทะเบียนขนส่งส่วนบุคคล และต้องใช้ใบอนุญาตขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก นอกเหนือไปจากใบอนุญาตของกรมตำรวจที่มีอยู่แล้ว ก่อให้เกิดความเดือดร้อน เพราะรถบรรทุกขนาดเล็กเหล่านี้หาจำต้องใช้ความชำนาญเชี่ยวชาญเป็นพิเศษไม่ เนื่องจากเป็นรถที่ส่วนมากใช้ในธุรกิจส่วนตัว ภายในครัวเรือนและใช้ในการขนส่งพืชผลของเกษตรกร จึงสมควรได้รับการยกเว้นไม่ต้องไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และการใช้ใบขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก ข. สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งได้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลตามใบอนุญาตนั้น การจำกัดท้องที่ทำการขนส่งนั้น ย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกและเป็นธรรม เพราะผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลก็ย่อมหมายถึงประกอบธุรกิจส่วนตัวนั่นเอง ท้องที่ที่กำหนดให้แน่นอนย่อมเป็นเครื่องกีดขวางการปฏิบัติงาน เพราะการที่จะบรรทุกสินค้าของตนไปส่งยังที่ต่าง ๆ การที่จะต้องไปขออนุญาตเป็นครั้งคราวนั้นย่อมก่อให้เกิดภาวะสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มราคาทุนโดยไม่จำเป็น ค. โดยทั่วไปการตรวจสภาพรถมักล่าช้า เมื่อนำรถไปขอรับการตรวจแล้วแต่ปรากฏว่ารถมีจำนวนมาก ตรวจสภาพไม่ทันหากนำไปวิ่งขนส่งก็จะต้องถูกจับกุมและมีโทษสูง และการที่จอดรอการตรวจสภาพเป็นระยะนาน ๆ นั้น ย่อมทำให้เศรษฐกิจกระทบกระเทือน จึงสมควรกำหนดเวลาตรวจไว้ และหากความล่าช้าเป็นเพราะความผิดของพนักงานหรือผู้มีอำนาจตรวจสภาพ ก็ไม่สมควรเอาโทษแก่ผู้ประกอบการขนส่งที่ขอตรวจสภาพไว้แล้ว เพราะโทษมีกำหนดสูง ง. การต่อใบอนุญาตตามบทเฉพาะกาลของใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งได้รับอนุญาตไว้แล้ว ก่อนใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ขนาดและส่วนซึ่งพนักงานตรวจสภาพตามกฎหมายเก่า ทั้งของกรมตำรวจและกรมการขนส่งทางบก ไม่เป็นระเบียบเดียวกัน และมีมาตรฐานต่างกัน ฉะนั้น การขอต่อใบอนุญาตใหม่จึงไม่สมควรนำเหตุผลของการผิดขนาดและส่วนมาเป็นข้อปฏิเสธการขอต่อใบอนุญาตเก่านั้น อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้ วศิน/ผู้จัดทำ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๓๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ มีนาคม ๒๕๒๒ [๒] มาตรา ๔ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๓] มาตรา ๔ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๔] มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๕] มาตรา ๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๖] มาตรา ๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๗] มาตรา ๗๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๘] มาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๙] มาตรา ๑๖๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๖๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๓
301288
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2523
พระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นปีที่ ๓๕ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๔) และ (๕) ของมาตรา ๔ แห่ง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๔) “การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก” หมายความว่า การขนส่งคนหรือสิ่งของหรือคนและสิ่งของรวมกันเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนดด้วยรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสี่พันกิโลกรัม (๕) “การขนส่งส่วนบุคคล” หมายความว่า การขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเองด้วยรถที่มีน้ำหนักเกินกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม” มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (๑) การขนส่งโดยรถยนต์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร (๒) การขนส่งโดยรถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินสิบสองคน รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม รถยนต์สามล้อ รถจักรยานยนต์ และรถแทร็กเตอร์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (๓) การขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๒๙ บทบัญญัติมาตรา ๒๓ มิให้ใช้บังคับแก่การขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา วัด มูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว สภากาชาดไทย สถานพยาบาล รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เป็นผู้ประกอบการขนส่ง แต่ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้เสมือนดังเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลทุกประการ” มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๓๔ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้นายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิด และขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษา” มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๗๒ รถที่จะนำมาจดทะเบียนและเสียภาษีต้องผ่านการตรวจสภาพรถจากพนักงานตรวจสภาพ หรือจากสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๗๔ เว้นแต่รถประเภทหรือชนิดใดที่สมควรได้รับการยกเว้นการตรวจสภาพเป็นครั้งคราวให้กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ปรากฏว่ารถที่นำมารับการตรวจสภาพนั้นมีสภาพมั่นคงแข็งแรงมีเครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับการอนุญาตออกใบรับรองให้ ใบรับรองการตรวจสภาพรถให้ทำตามแบบที่อธิบดีกำหนด” มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๗๓ เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตได้ตรวจสภาพรถถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๒ แล้ว ให้รับจดทะเบียนและออกหนังสือแสดงการจดทะเบียนพร้อมกับแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคันนั้นให้โดยไม่ชักช้า” มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๑๖๕ บรรดาใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ และถ้าจะต่ออายุใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ บรรดารถที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามีการแก้ไขดัดแปลงโครงรถหรือขนาดสัดส่วนของตัวถังกว้างหรือยาวกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อยู่แล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และการแก้ไขดัดแปลงนั้นกระทำได้โดยชอบตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ให้ถือว่าเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๗๑” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลแห่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ส่งผลกระทบถึงบรรดารถบรรทุกขนส่งสินค้า ของผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล คือ ก. รถบรรทุกที่ใช้รถมีน้ำหนักรถต่ำกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมทั่วพระราชอาณาจักรสำหรับประกอบการภายในครอบครัว ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง เพราะต้องไปยื่นขอจดทะเบียนขนส่งส่วนบุคคล และต้องใช้ใบอนุญาตขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก นอกเหนือไปจากใบอนุญาตของกรมตำรวจที่มีอยู่แล้ว ก่อให้เกิดความเดือดร้อน เพราะรถบรรทุกขนาดเล็กเหล่านี้หาจำต้องใช้ความชำนาญเชี่ยวชาญเป็นพิเศษไม่ เนื่องจากเป็นรถที่ส่วนมากใช้ในธุรกิจส่วนตัว ภายในครัวเรือนและใช้ในการขนส่งพืชผลของเกษตรกร จึงสมควรได้รับการยกเว้นไม่ต้องไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และการใช้ใบขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก ข. สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งได้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลตามใบอนุญาตนั้น การจำกัดท้องที่ทำการขนส่งนั้น ย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกและเป็นธรรม เพราะผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลก็ย่อมหมายถึงประกอบธุรกิจส่วนตัวนั่นเอง ท้องที่ที่กำหนดให้แน่นอนย่อมเป็นเครื่องกีดขวางการปฏิบัติงาน เพราะการที่จะบรรทุกสินค้าของตนไปส่งยังที่ต่าง ๆ การที่จะต้องไปขออนุญาตเป็นครั้งคราวนั้น ย่อมก่อให้เกิดภาวะสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มราคาทุนโดยไม่จำเป็น ค. โดยทั่วไปการตรวจสภาพรถมักล่าช้า เมื่อนำรถไปขอรับการตรวจแล้วแต่ปรากฏว่ารถมีจำนวนมาก ตรวจสภาพไม่ทันหากนำไปวิ่งขนส่งก็จะต้องถูกจับกุม และมีโทษสูง และการที่จอดรอการตรวจสภาพเป็นระยะนาน ๆ นั้น ย่อมทำให้เศรษฐกิจกระทบกระเทือน จึงสมควรกำหนดเวลาตรวจไว้ และหากความล่าช้าเป็นเพราะความผิดของพนักงานหรือผู้มีอำนาจตรวจสภาพ ก็ไม่สมควรเอาโทษแก่ผู้ประกอบการขนส่งที่ขอตรวจสภาพไว้แล้ว เพราะโทษมีกำหนดสูง ง. การต่อใบอนุญาตตามบทเฉพาะกาลของใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งได้รับอนุญาตไว้แล้ว ก่อนใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ขนาดและส่วนซึ่งพนักงานตรวจสภาพตามกฎหมายเก่า ทั้งของกรมตำรวจและกรมการขนส่งทางบก ไม่เป็นระเบียบเดียวกัน และมีมาตรฐานต่างกัน ฉะนั้น การขอต่อใบอนุญาตใหม่จึงไม่สมควรนำเหตุผลของการผิดขนาดและส่วนมาเป็นข้อปฏิเสธ การขอต่อใบอนุญาตเก่านั้นอาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้ วศิน/ผู้จัดทำ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒ วิมล/ปรับปรุง ๘ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๖๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๓
301287
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการขนส่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ (๒) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ (๓) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ (๑) “การขนส่ง” หมายความว่า การขนคน สัตว์ หรือสิ่งของ โดยทางบกด้วยรถ (๒) “การขนส่งประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนด (๓) “การขนส่งไม่ประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง (๔) “การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก” หมายความว่า การขนส่งคนและสิ่งของรวมกันเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนดด้วยรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสามพันห้าร้อยกิโลกรัม (๕) “การขนส่งส่วนบุคคล” หมายความว่า การขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเอง (๖) “การขนส่งระหว่างจังหวัด” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างจังหวัดกับจังหวัด (๗) “การขนส่งระหว่างประเทศ” หมายความว่า การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ (๘) “การรับจัดการขนส่ง” หมายความว่า การรับจ้างรวบรวมคน สัตว์หรือสิ่งของ และจัดให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำการขนส่งจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้รับจัดการขนส่ง (๙) “รถ” หมายความว่า ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมตลอดถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รถไฟ (๑๐) “ผู้ตรวจการ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจการขนส่ง (๑๑) “พนักงานตรวจสภาพ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจความมั่นคงแข็งแรง ความสะอาด ความเรียบร้อย และความเหมาะสมของสภาพรถที่นำมาใช้ในการขนส่ง (๑๒) “นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนกลาง หรือนายทะเบียนประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี (๑๓) “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี (๑๔) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (๑๕) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (๑) การขนส่งโดยรถยนต์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร (๒) การขนส่งโดยรถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์สามล้อ รถจักรยานยนต์และรถแทร็กเตอร์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (๓) การขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเป็นนายทะเบียนกลางมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งระหว่างจังหวัดและการขนส่งระหว่างประเทศ ให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ขนส่งจังหวัดเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในเขตจังหวัดของตน ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจมอบหมายกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำแทนได้ การมอบหมายตามวรรคสี่ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพกับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกคณะหนึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย อธิบดีกรมทางหลวง เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้หรือความจัดเจนในการขนส่ง การเศรษฐกิจหรือกฎหมาย ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๙ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ มาตรา ๑๐ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (๑) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๒) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย (๔) เป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง มาตรา ๑๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) รัฐมนตรีให้ออก (๔) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานและรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน มาตรา ๑๓ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๔ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายการขนส่งทางบกระยะสั้นและระยะยาวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๒) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาและดำเนินการสถานีขนส่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๓) กำหนดมาตรการและแผนพัฒนาการขนส่งทางบกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (๔) กำหนดมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยและความสะดวกในการขนส่งทางบก เพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ (๕) กำหนดการห้ามรับจดทะเบียนรถเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะกรรมการปฏิบัติ (๖) ประสานงานที่เกี่ยวข้องระหว่างกันในด้านการขนส่งทางบก ตลอดจนประสานงานด้านการขนส่งทางบกกับการขนส่งทางน้ำและการขนส่งทางอากาศ (๗) ให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการขนส่งทางบก มาตรา ๑๕ คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม หมวด ๒ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน เลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทหรือผู้แทน อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทน อธิบดีกรมทางหลวงหรือผู้แทน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้แทน เป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ ทั้งนี้ โดยให้มีผู้มีความรู้และมีความจัดเจนในการขนส่งรวมอยู่ด้วย ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๑๗ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคน โดยมีนายกเทศมนตรีในจังหวัดนั้นรวมอยู่ด้วยหนึ่งคน เป็นกรรมการ ให้ขนส่งจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น มาตรา ๑๘ ให้นำมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดโดยอนุโลม มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดลักษณะของการขนส่งประจำทางและการขนส่งไม่ประจำทาง (๒) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ (๓) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัด และระหว่างประเทศ (๔) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๕) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๖) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๗) กำหนดอัตราค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่ง (๘) กำหนดสถานที่ จัดให้มีหรือจัดตั้ง และระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่ง (๙) กำหนดชนิดหรือสภาพรถที่มิให้รับจดทะเบียน (๑๐) กำหนดประเภทหรือชนิดของรถที่ต้องเข้าหยุดหรือจอดเพื่อการรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่ง (๑๑) กำหนดที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสาร (๑๒) วางมาตรการในการกำหนด อนุญาต เพิกถอนการอนุญาตและการควบคุมกิจการขนส่งทางบก (๑๓) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก การกำหนดตาม (๒) (๓) (๔) (๘) (๙) และ (๑๐) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ภายในเขตจังหวัด ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทาง (๒) กำหนดจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทาง (๓) กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๕) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมติคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกและคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง การกำหนดตาม (๑) และ (๔) เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแล้วจึงจะใช้บังคับได้ และการกำหนดตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๑ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม มาตรา ๒๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการการขนส่งทางบก เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้คณะกรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้ หมวด ๓ การประกอบการขนส่ง มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือการขนส่งส่วนบุคคล เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง และการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดนั้นต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย และ (๑) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย (๒) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย และทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย (๓) ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย หรือต้องเป็นของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด หรือต้องเป็นของกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือองค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และบริษัทจำกัดนั้นต้องไม่มีข้อบังคับอนุญาตให้มีการออกหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ (๔) ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทมหาชนจำกัดนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะต้องมีลักษณะตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจยกเว้นคุณสมบัติตามความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษเป็นการเฉพาะรายได้ มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งระหว่างประเทศเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางและผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่ออนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่ง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นำมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับแก่การประกอบการขนส่งระหว่างประเทศโดยอนุโลม มาตรา ๒๖ ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศมาใช้ประกอบการขนส่งในประเทศไทย เว้นแต่เพื่อการขนส่งระหว่างประเทศและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางแล้ว ผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๒ ซึ่งประจำในรถตามวรรคหนึ่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ และหรือตามข้อตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ มาตรา ๒๗ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งมีสี่ประเภท คือ (๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง (๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางหรือใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้ใช้เป็นใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลได้ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ข้างต้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด มาตรา ๒๘ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้มีอายุเจ็ดปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอเสียก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ แต่การขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางและใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก จะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๙ บทบัญญัติมาตรา ๒๓ มิให้ใช้บังคับแก่การขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา วัด มูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว สภากาชาดไทย สถานพยาบาล รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เป็นผู้ประกอบการขนส่งและการขนส่งส่วนบุคคลโดยรถที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันสองร้อยกิโลกรัม แต่ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้ เสมือนดังเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลทุกประการ มาตรา ๓๐ ให้นายทะเบียนกลางเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในกรุงเทพมหานคร การขนส่งระหว่างจังหวัด และการขนส่งระหว่างประเทศ และให้นายทะเบียนประจำจังหวัดเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในจังหวัดของตน ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ มาตรา ๓๑ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) สิทธิในรถที่ใช้ประกอบการขนส่งของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๓) ลักษณะ ชนิด ขนาด และสีของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๔) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุกและวิธีการบรรทุก (๕) จำนวนผู้ประจำรถ (๖) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ (๙) ที่ที่รถจะต้องหยุดในระหว่างเส้นทาง (๑๐) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง (๑๑) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ (๑๒) เวลาทำงานประจำวันในการประกอบการขนส่ง (๑๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ (๑๔) การประกอบกิจการอื่นนอกจากการประกอบการขนส่งประจำทาง (๑๕) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๑) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๒ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิดและขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุกและวิธีการบรรทุก (๔) จำนวนผู้ประจำรถ (๕) ท้องที่ที่ทำการขนส่ง (๖) มาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่ง (๗) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๘) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายคน สัตว์ หรือสิ่งของ (๙) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ (๑๐) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๗) และ (๘) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๓ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิด ขนาด และสีของรถ และเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๔) เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถ (๕) เส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง (๖) อัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง (๗) เงื่อนไขอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๕) และ (๖) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๔ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) จำนวนรถที่ต้องใช้ในการประกอบการขนส่งตามท้องที่ที่ทำการขนส่ง (๒) ลักษณะ ชนิดและขนาดของรถและเครื่องหมายของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน (๓) ท้องที่ที่ทำการขนส่ง (๔) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลต้องจัดให้มีประกาศเงื่อนไขตาม (๓) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ และหรือใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง และต้องทำรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง จัดให้มีที่พักผู้โดยสารตามระยะทางโดยมีลักษณะ ขนาด จำนวน และจุดที่ตั้งของที่พักผู้โดยสารตามที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๓๘ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่งหรือค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ มาตรา ๓๙ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกเส้นทาง หรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาต แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด มาตรา ๔๐ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางกระทำการขนส่งอันมีลักษณะเช่นเดียวหรือคล้ายกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางหรือมีลักษณะเป็นการแย่งผลประโยชน์กับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางได้รับอนุญาต มาตรา ๔๑ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นที่จะแก้ไขสถานการณ์เพื่อให้การขนส่งได้รับความสะดวกหรือให้มีรถเพียงพอแก่การขนส่ง นายทะเบียนมีอำนาจที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถ เวลา และจำนวนเที่ยวของการเดินรถหรือให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดส่งรถที่ตนได้รับอนุญาตไปช่วยเหลือเป็นการชั่วคราวตามควรแก่กรณีแล้วให้รายงานคณะกรรมการโดยเร็ว มาตรา ๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องแสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาต มาตรา ๔๓ ในกรณีที่ใบอนุญาตประกอบการขนส่งสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดดังกล่าว มาตรา ๔๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง มาตรา ๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการขนส่งต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันเลิกประกอบการขนส่ง มาตรา ๔๖ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๑) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๔ (๒) ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขในมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามมาตรา ๓๖ หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวด ๔ ว่าด้วยการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือจัดการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติหรือไม่แก้ไขให้ถูกต้อง หรือเป็นที่เห็นได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่สามารถจะดำเนินการตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดนั้น หรือการดำเนินการนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตราย หรือเสื่อมประโยชน์ต่อประชาชน ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ แต่ถ้าเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางที่จะพิจารณาอนุมัติ มาตรา ๔๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต้องส่งคืนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๔๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๔๙ ให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจควบคุมดูแลบรรดากิจการที่เกี่ยวกับการขนส่งให้เป็นไปตามความในพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์ดังกล่าวให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอำนาจ (๑) เข้าไปในสถานที่ดำเนินการของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในระหว่างเวลาทำงานตามปกติ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและเพื่อตรวจสอบบัญชีและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการขนส่ง (๒) เรียกผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้จัดการและพนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นนิติบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงตามที่ต้องการ ในการปฏิบัติตาม (๑) ให้อธิบดีมีอำนาจมอบหมายให้ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพทำการแทนได้ ในการปฏิบัติการของอธิบดี นายทะเบียน ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพตามมาตรานี้ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือตามสมควร มาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจเรียกรถให้หยุดเพื่อทำการตรวจสอบ และเมื่อเชื่อว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้น ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจจับกุมผู้ฝ่าฝืนเพื่อส่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินคดีต่อไป บทบัญญัติในวรรคหนึ่งไม่ลบล้างอำนาจจับกุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มาตรา ๕๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ ให้ผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด หมวด ๔ การชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง มาตรา ๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันต่อนายทะเบียนกลางเพื่อประกันความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอก และซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะต้องรับผิดชอบเนื่องจากการขนส่งของตน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดตามขนาดและประเภทของการประกอบการขนส่งแต่ต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ดอกผลที่เกิดจากหลักทรัพย์ที่เป็นเงินสดนั้นตกเป็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่วางหลักทรัพย์ ให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้รับผิดชอบในการเปิดบัญชีเงินฝาก และการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีหลักทรัพย์กับธนาคารตามระเบียบของกระทรวงการคลัง มาตรา ๕๓ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มาตรา ๕๔ ในการวางหลักทรัพย์ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทย ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำหนังสือมอบอำนาจให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจจัดการจำหน่ายพันธบัตรนั้น เพื่อชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วย มาตรา ๕๕ หลักทรัพย์ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำมาวางประกันตามมาตรา ๕๒ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เว้นแต่จะเป็นการบังคับคดีเพื่อการชำระหนี้ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกอันเนื่องจากการขนส่งของตน มาตรา ๕๖ เมื่อรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายหรือชีวิตของบุคคลใดนอกจากความรับผิดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาท ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นซึ่งจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหาย ให้จ่ายตามความร้ายแรงของความเสียหาย ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลและหรือค่าปลงศพ มาตรา ๕๗ เมื่อผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ประสงค์จะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมตำรวจกำหนดต่อพนักงานสอบสวน โดยแสดงพยานหลักฐานว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาจากสำนวนการสอบสวน และเมื่อเห็นว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งคันใด ให้มีหนังสือสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถคันนั้นชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๕๖ วรรคสอง ในการนี้ ให้แจ้งให้นายทะเบียนกลางทราบโดยเร็วด้วย ในการสั่งของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาสั่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ในการชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชำระภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากพนักงานสอบสวน มาตรา ๕๘ ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายต้องใช้สิทธิในการขอรับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามมาตรา ๕๗ ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น มาตรา ๕๙ การชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในอันที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐ บุคคลซึ่งมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามหมวดนี้ ได้แก่ผู้เสียหายดังต่อไปนี้ (๑) ผู้เสียหายซึ่งมิได้อยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ได้รับความเสียหายจากรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น (๒) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่รวมถึงผู้ขับรถ คนงานหรือลูกจ้างประจำรถซึ่งอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ (๓) ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถคันที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย มาตรา ๖๑ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ ให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ และให้พนักงานสอบสวนบันทึกความเห็นของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งไม่เห็นด้วยไว้ในสำนวนการสอบสวน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งกลางให้เป็นที่สุด มาตรา ๖๒ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานสอบสวน ถ้าคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีความเห็นตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้เสียหายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่พนักงานสอบสวนกำหนดไว้อีกร้อยละสิบ มาตรา ๖๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๕๗ หรือตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางตามมาตรา ๖๑ ในกรณีที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามมาตรา ๕๒ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจนำหลักทรัพย์ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นซึ่งได้นำมาวางไว้เป็นประกันชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นแทนได้ มาตรา ๖๔ ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือได้รับชดใช้ไม่ครบตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนหรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางสั่งไม่ว่าเพราะเหตุหลักทรัพย์ที่วางประกันไว้ไม่พอจ่ายค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือเพราะเหตุอื่นใด เมื่อผู้เสียหายได้ร้องเรียนต่อนายทะเบียนกลาง ให้นายทะเบียนกลางสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งชำระให้เสร็จสิ้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางดังกล่าว ให้นายทะเบียนกลางเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และให้นำมาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๕ การรับจัดการขนส่ง มาตรา ๖๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการรับจัดการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖๖ ในการออกใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ให้นายทะเบียนกลาง โดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (๑) ท้องที่ที่ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๒) สถานที่ตั้งสำนักงานของผู้ประกอบการรับจัดการขนส่ง (๓) สถานที่พักคน สัตว์ หรือเก็บสิ่งของ (๔) วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับสวัสดิภาพ ความสะดวกและความปลอดภัยในการรับจัดการขนส่ง (๕) อัตราค่าบริการรับจัดการขนส่ง (๖) เงื่อนไขอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศเงื่อนไขตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนด มาตรา ๖๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๖๕ ต้องวางหลักทรัพย์ต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญารับจัดการขนส่ง ทั้งนี้ ตามจำนวนหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๖๘ ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันตามมาตรา ๖๗ มีจำนวนหรือมูลค่าลดน้อยลง นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มาตรา ๖๙ ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๐ ให้นำมาตรา ๒๔ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การประกอบการรับจัดการขนส่งโดยอนุโลม หมวด ๖ รถ มาตรา ๗๑ รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกับได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ และเสียภาษีตามมาตรา ๘๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มาตรา ๗๒ รถที่จะนำมาจดทะเบียนและเสียภาษีจะต้องได้ผ่านการตรวจสภาพรถจากพนักงานตรวจสภาพ หรือจากสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๗๔ เว้นแต่รถประเภทหรือชนิดใดที่สมควรได้รับการยกเว้นการตรวจสภาพเป็นครั้งคราวให้กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ปรากฏว่ารถที่นำมารับการตรวจสภาพนั้นมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตออกใบรับรองให้ ใบรับรองการตรวจสภาพรถให้ทำตามแบบที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๗๓ เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถ ที่ได้รับอนุญาตได้ตรวจสภาพรถถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๒ แล้ว ให้รับจดทะเบียนและออกหนังสือแสดงการจดทะเบียนพร้อมกับแผ่นป้ายเลขทะเบียนสำหรับรถคันนั้นให้ มาตรา ๗๔ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อรับรองสภาพรถตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๕ ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๔ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นได้ ให้นำมาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่การจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตโดยอนุโลม มาตรา ๗๗ หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถให้ใช้ได้สี่งวดนับแต่งวดที่ออกหนังสือนี้ ให้เดือนมกราคม เดือนเมษายน เดือนกรกฎาคม และเดือนตุลาคม เป็นเดือนแรกของแต่ละงวด การขอต่ออายุทะเบียน ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่นายทะเบียนจะได้ประกาศกำหนด ให้นำมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ และมาตรา ๗๓ มาใช้บังคับแก่การขอต่ออายุทะเบียนโดยอนุโลม มาตรา ๗๘ ห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน มาตรา ๗๙ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ประสงค์จะเลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้ว แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบและนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้น มาตรา ๘๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งมีความจำเป็นจะต้องระงับใช้รถนั้นชั่วคราวเป็นเวลาเกินสิบห้าวันแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบก่อนวันที่จะระงับใช้รถนั้น มาตรา ๘๑ รถที่ยังมิได้จดทะเบียนตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือรถที่เลิกใช้ตามมาตรา ๗๙ ถ้าจะนำมาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ต้องมีใบอนุญาตและเครื่องหมายโดยเฉพาะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ใบอนุญาตและเครื่องหมายดังกล่าวใช้ได้เฉพาะรถที่อยู่ในความครอบครองของผู้ได้รับใบอนุญาตโดยสับเปลี่ยนกันได้ ไม่เฉพาะคัน มาตรา ๘๒ การโอนรถซึ่งได้จดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ แล้ว ผู้โอนและผู้รับโอนจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันโอน และให้นายทะเบียนจดแจ้งการโอนไว้ในหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถนั้น มาตรา ๘๓ เมื่อผู้ตรวจการตรวจพบว่ารถคันใดมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือมีเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ผู้ตรวจการรายงานให้นายทะเบียนทราบ แต่ถ้าปรากฏโดยชัดแจ้งว่าการใช้รถคันนั้นต่อไปน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่การขนส่ง ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจสั่งระงับใช้ไว้เป็นการชั่วคราวได้ และให้รีบรายงานให้นายทะเบียนทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้เป็นเจ้าของรถตามวรรคหนึ่ง จัดการส่งรถคันนั้นไปให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความบกพร่องตามรายงานของผู้ตรวจการภายในเวลาที่กำหนด เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งตามวรรคสองแล้ว ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตงดการใช้รถดังกล่าวไว้จนกว่านายทะเบียนจะมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไป มาตรา ๘๔ เมื่อพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตเห็นว่ารถที่นำมาให้ตรวจตามมาตรา ๘๓ สมควรจะต้องซ่อมแซม ปรับปรุง เพื่อให้รถกลับมีสภาพมั่นคงแข็งแรงหรือจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์หรือส่วนควบให้ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้แจ้งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง แล้วให้พนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบความถูกต้องและรายงานให้นายทะเบียนทราบ เมื่อได้พิจารณาเห็นสมควรตามรายงานของพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้รถคันนั้นต่อไปได้ มาตรา ๘๕ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้ กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดเวลาการชำระภาษีรถประจำปีสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งแต่ละรายก็ได้ และให้คำนวณภาษีตามน้ำหนักรถตามอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ในการคำนวณน้ำหนักรถ ให้รวมน้ำหนักของรถและเครื่องอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับตัวรถตามปกติ แต่ไม่รวมน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเครื่อง น้ำและเครื่องมือประจำรถ เศษของหนึ่งกิโลกรัมให้ปัดทิ้ง เงินภาษีรถตามพระราชบัญญัตินี้ที่จัดเก็บได้ในกรุงเทพมหานครให้ตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้ตกเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และเมืองพัทยาในจังหวัดนั้น โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๘๖ ภาษีรถให้ชำระล่วงหน้าเป็นรายปีต่อนายทะเบียน และจะขอชำระเป็นงวดก็ได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รถที่จดทะเบียนใหม่ในงวดใด ให้ชำระภาษีตั้งแต่งวดนั้นเป็นต้นไป ถ้าเจ้าของรถไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่จะต้องชำระให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระ เงินเพิ่มตามมาตรานี้ให้ถือเป็นเงินภาษี มาตรา ๘๗ รถที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีแล้ว ถ้าต่อมามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเพิ่มเติม เป็นเหตุให้รถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิม เจ้าของรถจะต้องเสียภาษีเพิ่มตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย และให้นำมาตรา ๘๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๘๘ รถที่ใช้ในการขนส่งส่วนบุคคลของกระทรวง ทบวง กรมกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา วัด มูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว และสภากาชาดไทย ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี มาตรา ๘๙ รถที่ได้จดทะเบียนแล้ว ถ้าไม่ได้เสียภาษีตามกำหนดตามมาตรา ๘๖ เจ้าของรถต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบพร้อมกับนำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถนั้นคืนต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งจะต้องเสียภาษีครั้งถัดไปตามมาตรา ๘๖ มาตรา ๙๐ เจ้าของรถต้องติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีที่นายทะเบียนออกให้ไว้กับตัวรถตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๙๑ ในกรณีที่แผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุดหรือลบเลือนในสาระสำคัญ ให้เจ้าของรถยื่นคำขอ ขอรับแผ่นป้ายเลขทะเบียนหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีต่อนายทะเบียน ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุด หรือลบเลือนดังกล่าว หมวด ๗ ผู้ประจำรถ มาตรา ๙๒ ผู้ประจำรถ ได้แก่ (๑) ผู้ขับรถ (๒) ผู้เก็บค่าโดยสาร (๓) นายตรวจ (๔) ผู้บริการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๓ ห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๔ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำรถ มี ๔ ประเภท คือ (๑) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ (๒) ใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร (๓) ใบอนุญาตเป็นนายตรวจ (๔) ใบอนุญาตเป็นผู้บริการ ใบอนุญาตแต่ละประเภทจะใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตประเภทที่หนึ่ง ประเภทที่สาม และประเภทที่สี่ใช้เป็นใบอนุญาตประเภทที่สองได้ มาตรา ๙๕ ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถมีสามชนิด ดังนี้ ชนิดที่หนึ่ง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารไม่เกินยี่สิบคน ชนิดที่สอง ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกินกว่าสามพันห้าร้อยกิโลกรัมที่มิได้ใช้ขนส่งผู้โดยสาร หรือสำหรับรถขนส่งผู้โดยสารเกินกว่ายี่สิบคน ชนิดที่สาม ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งโดยสภาพใช้สำหรับลากจูงรถอื่นหรือล้อเลื่อนที่บรรทุกสิ่งใด ๆ บนล้อเลื่อนนั้น ใบอนุญาตแต่ละชนิดใช้สับเปลี่ยนกันไม่ได้ เว้นแต่ใบอนุญาตชนิดที่สองและชนิดที่สามเป็นใบอนุญาตชนิดที่หนึ่งได้ และใบอนุญาตชนิดที่สามใช้เป็นใบอนุญาตชนิดที่สองได้ มาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๓ ในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องมีคุณสมบัติและลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีความรู้และความสามารถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (๓) ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยความเหมาะสม (๔) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ (๕) ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจ (๖) ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ (๗) ไม่เป็นผู้มีใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถประเภทหรือชนิดเดียวกับที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว (๘) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่การเพิกถอนใบอนุญาตนั้นพ้นกำหนดสามปีแล้วนับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต (๙) ไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดอันได้กระทำโดยประมาทที่มิใช่เกี่ยวกับการใช้รถในการกระทำผิดหรือความผิดลหุโทษ หรือได้พ้นโทษมาแล้วเกินสามปี (๑๐) ไม่เป็นผู้เคยถูกควบคุมตัวเพราะมีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคม หรือเป็นอันธพาล เว้นแต่ได้พ้นจากการควบคุมตัวมาแล้วเกินหนึ่งปี มาตรา ๙๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง และได้ผ่านการศึกษาและจบหลักสูตรจากโรงเรียนการขนส่งของกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง การรับรองโรงเรียนสอนขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๖ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และผู้บริการต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในการขนส่งส่วนบุคคลต้องมีคุณสมบัติและมีลักษณะตามมาตรา ๙๖ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๐) และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๐๐ ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถให้มีอายุหนึ่งปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด มาตรา ๑๐๑ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องมีใบอนุญาตอยู่กับตัวและต้องแสดงต่อนายทะเบียนหรือผู้ตรวจการเมื่อขอตรวจ มาตรา ๑๐๒ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้อง (๑) แต่งกายสะอาดเรียบร้อยตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง (๒) ไม่แสดงกิริยาหรือใช้ถ้อยคำเป็นการเสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว รังแก รบกวน หรือหยาบหยามผู้หนึ่งผู้ใด หรือแสดงกิริยาวาจาหรือส่งเสียงด้วยประการหนึ่งประการใดในลักษณะไม่สมควรหรือไม่สุภาพ (๓) ไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น (๔) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๐๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถนอกจากจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๒ แล้ว จะต้อง (๑) ไม่ขับรถในเวลาที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ (๒) ไม่รับบรรทุกบุคคลที่เป็นโรคเรื้อนหรือโรคติดต่อที่น่ารังเกียจไปกับผู้โดยสารอื่น (๓) ไม่รับบรรทุกศพ สัตว์ หรือสิ่งของที่อาจเกิดอันตรายหรือเป็นที่พึงรังเกียจไปกับผู้โดยสาร (๔) ไม่รับบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง ระเบิด หรือวัตถุอันตรายอย่างอื่นไปกับผู้โดยสาร วัตถุอันตรายให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๕) ต้องหยุดหรือจอดรถ ณ สถานีขนส่งและปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๙ (๘) และ (๑๐) มาตรา ๑๐๔ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถกระทำการใด ๆ ให้ผู้โดยสารจำต้องลงจากรถก่อนที่จะได้โดยสารถึงจุดหมายปลายทาง โดยที่ได้ชำระค่าโดยสารถูกต้องตามอัตราที่กำหนดแล้ว มาตรา ๑๐๕ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถละเว้นการหยุดรถเพื่อรับหรือส่งผู้โดยสาร ณ ที่ที่มีเครื่องหมายให้รถนั้นหยุด ในเมื่อปรากฏว่ามีผู้โดยสารต้องการให้หยุดรถเพื่อรับหรือส่ง มาตรา ๑๐๖ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถกระทำการใด ๆ อันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร มาตรา ๑๐๗ ในการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งไม่ประจำทางระหว่างจังหวัดหรือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถรับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มาตรา ๑๐๘ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖ มาตรา ๙๗ มาตรา ๙๘ หรือมาตรา ๙๙ หรือบกพร่องไปในภายหลังเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นเสีย มาตรา ๑๐๙ ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในหมวดนี้ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจยึดใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถของผู้นั้น และสั่งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นไปรายงานตนต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดสิบสองชั่วโมง คำสั่งนั้นให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถชั่วคราวภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้นได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเสียก็ได้ มาตรา ๑๑๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถซึ่งถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา ๑๑๑ ให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจมาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๘ ผู้โดยสาร มาตรา ๑๑๒ ผู้โดยสารต้องชำระค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๑๑๓ ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสาร ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีการประกาศข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งปิดไว้ ณ ที่เปิดเผยในรถ หมวด ๙ สถานีขนส่ง มาตรา ๑๑๔ สถานีขนส่งมี ๒ ประเภท คือ (๑) สถานีขนส่งผู้โดยสาร (๒) สถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ลักษณะของสถานีขนส่งตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๑๕ ให้กรมการขนส่งทางบกโดยอนุมัติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จัดให้มีสถานีขนส่งขึ้นในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและในเขตท้องที่จังหวัดอื่น โดยจะดำเนินการเอง หรือจะมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจหรือองค์การของรัฐเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่งไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด บุคคลอื่นใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางก่อน การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง การจัดให้มีหรือจัดตั้งสถานีขนส่งขึ้นที่ใด เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๑๑๖ ให้อธิบดีมีอำนาจกำกับและควบคุมการดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้จะแต่งตั้งข้าราชการและหรือลูกจ้างสังกัดกรมการขนส่งทางบก ทำหน้าที่เป็นนายสถานีและเจ้าหน้าที่สถานีตามจำนวนที่เห็นสมควร มีอำนาจกำกับและควบคุมดังกล่าวด้วยก็ได้ มาตรา ๑๑๗ ในการบริหารงานที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งของกรมการขนส่งทางบกตามมาตรา ๑๑๕ วรรคหนึ่ง อธิบดีจะแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินแปดคนเพื่อดูแลควบคุมและดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งก็ได้ กรรมการที่อธิบดีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการนี้โดยอนุโลม มาตรา ๑๑๘ ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องมีคุณสมบัติและลักษณะตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๑๑๙ ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งให้มีอายุตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดแต่ไม่เกินยี่สิบปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๒๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจการสถานีขนส่งรวมทั้งการรักษาความเรียบร้อย ความปลอดภัยในบริเวณสถานีขนส่งนั้น มาตรา ๑๒๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างประจำสถานีขนส่งตลอดเวลา โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบสภาพรถขนส่งประจำทาง ซึ่งต้องหยุดหรือจอดเพื่อการขนส่ง ณ สถานีขนส่งแห่งนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย คุณสมบัติและจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๒๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีอู่ซ่อมรถและบริการซ่อมรถเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่รถที่ใช้สถานีขนส่งนั้น มาตรา ๑๒๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีบริเวณที่จอดพักรถตามที่อธิบดีกำหนด มาตรา ๑๒๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งต้องจัดให้มีสมุดทะเบียนการเดินรถที่ผ่านเข้าออกสถานีขนส่งตามแบบที่อธิบดีกำหนด สมุดทะเบียนการเดินรถต้องเก็บรักษาไว้ในที่ทำการของสถานีขนส่งแห่งนั้น พร้อมที่จะให้นายทะเบียน พนักงานตรวจสภาพหรือผู้ตรวจการตรวจดูได้ทุกเวลา มาตรา ๑๒๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งเรียกเก็บค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งได้ไม่เกินอัตราตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด หมวด ๑๐ บทกำหนดโทษ มาตรา ๑๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๗๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๒๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ วรรคสอง มาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๓ มาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๖ หรือ มาตรา ๑๐๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๒๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๒๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๑) ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๓๑ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) หรือ (๑๕) หรือในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศผู้ใดไม่ปฏิบัติตามอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๔ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๓๖ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง มาตรา ๓๒ วรรคสอง มาตรา ๓๓ วรรคสอง มาตรา ๓๔ วรรคสอง มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๗ หรือมาตรา ๑๑๓ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๓๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๓๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๓๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๘ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๓๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ใช้ทำการขนส่งนอกเส้นทางหรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตคันละไม่เกินห้าพันบาทต่อหนึ่งวัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๓๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนบาท มาตรา ๑๓๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท มาตรา ๑๔๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๒ หรือมาตรา ๔๗ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๗๙ หรือมาตรา ๘๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๔๔ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่อธิบดี นายทะเบียนผู้ตรวจการ หรือพนักงานตรวจสภาพ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๔๙ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๔๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนกลางซึ่งสั่งตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับหนึ่งแสนบาท หรือปรับเป็นรายวันวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา ๑๔๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๔๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๑๔๘ ผู้ใดใช้รถโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑ หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ตรวจการหรือนายทะเบียนตามมาตรา ๘๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ มาตรา ๘๑ วรรคหนึ่งหรือมาตรา ๘๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๕๐ เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๐ หรือมาตรา ๙๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท แต่ถ้าผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๕๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๐๙ หรือปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่ถ้าผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท มาตรา ๑๕๓ ผู้โดยสารผู้ใดโดยสารรถโดยมีเจตนาไม่ชำระค่าขนส่ง หรือชำระค่าขนส่งไม่ครบถ้วนตามอัตราที่กำหนด หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๑๑๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๕๔ ผู้ใดจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๕๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๓ หรือมาตรา ๑๒๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท มาตรา ๑๕๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถผู้ใดไม่นำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท มาตรา ๑๕๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งนำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งผู้ใดไม่ชำระค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งให้แก่สถานีขนส่งตามมาตรา ๑๒๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท มาตรา ๑๕๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใด โดยทุจริตหรือจงใจออกใบรับรองตรวจสภาพรถโดยไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และนายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถนั้นเสียได้ มาตรา ๑๕๙ ผู้ใดเรียกเก็บค่าขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง ค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่ง หรือค่าบริการอย่างอื่น ผิดไปจากอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๐ ผู้ใด (๑) ใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ผู้อื่น (๒) ใช้เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้สำหรับรถคันหนึ่งกับรถอีกคันหนึ่ง (๓) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ใบอนุญาตหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้แก่ตน (๔) เปลี่ยนแปลงหรือปิดบังทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ซึ่งแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถ หรือ (๕) ใช้รถที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา ๘๘ ให้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้รับยกเว้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๖๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจตามมาตรา ๑๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๖๒ ผู้ใดเปลี่ยนแปลง ย้าย ทำลาย หรือกระทำให้เสียหายด้วยประการใด ๆ แก่เครื่องหมายหรือสิ่งอื่นใดที่ทางราชการได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการขนส่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๑๖๓ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๖๔ ในระหว่างที่ยังมิได้มีกฎกระทรวง ข้อกำหนด หรือระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กฎกระทรวง ข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศใด ๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐ และพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้คงใช้บังคับต่อไป มาตรา ๑๖๕ บรรดาใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ ถ้าจะต่ออายุใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหกสิบวัน มาตรา ๑๖๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง และเจ้าของรถที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ ปฏิบัติการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๖๗ รถที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้ ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้รถตามวรรคหนึ่ง ซึ่งจะชำระภาษีครั้งแรกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องชำระภาษีคราวละกี่งวดก็ได้ มาตรา ๑๖๘ คำขออนุญาตใด ๆ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๘ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม และถ้าคำขออนุญาตดังกล่าวมีข้อความแตกต่างไปจากคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขออนุญาตเพื่อให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ได้ มาตรา ๑๖๙ ในเขตท้องที่จังหวัดใดในระหว่างที่ยังไม่มีขนส่งจังหวัด ให้อำนาจและหน้าที่ของขนส่งจังหวัด เป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนกลาง ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ส. โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรี [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) อัตราค่าธรรมเนียม (๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ต่อเส้นทางหนึ่ง ฉบับละ ๑๕,๐๐๐ บาท (๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ฉบับละ ๔,๐๐๐ บาท (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ฉบับละ ๑,๕๐๐ บาท (๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ฉบับละ ๑,๕๐๐ บาท (๕) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ (ก) ตลอดปี ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท (ข) เฉพาะคราว ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๖) ใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท (๗) ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการ สถานีขนส่ง ฉบับละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๘) ใบอนุญาตผู้ขับรถและใบอนุญาตนายตรวจ ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๙) ใบอนุญาตผู้เก็บค่าโดยสารและใบอนุญาตผู้บริการ ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๑๐) ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ฉบับละ ๒๐,๐๐๐ บาท (๑๑) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐๐ บาท (๑๒) การโอนทะเบียนรถ ครั้งละ ๒๐๐ บาท (๑๓) แผ่นป้ายเลขทะเบียนรถและเครื่องหมาย แผ่นละ ๑๐๐ บาท (๑๔) คำขออนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ฉบับละ ๑๐๐ บาท (๑๕) คำขออื่น ๆ ฉบับละ ๒๐ บาท (๑๖) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาต แต่ละฉบับ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการขนส่งได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และสภาพการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก บทบัญญัติทั้งหลายที่ใช้บังคับอยู่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการขนส่งเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ วศิน/ผู้จัดทำ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒ วิมล/ปรับปรุง ๓ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๓๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๑ มีนาคม ๒๕๒๒
318499
พระราชกฤษฎีกาลดภาษีรถประจำปี พ.ศ. 2529
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา ลดภาษีรถประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๙ --------------- ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นปีที่ ๔๑ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการลดภาษีรถประจำปีสำหรับรถทุกประเภท อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาลดภาษีรถประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๙" มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีรถประจำปีสำหรับรถบางประเภท พ.ศ. ๒๕๒๙ มาตรา ๔ ให้ลดภาษีรถประจำปีสำหรับรถ ดังต่อไปนี้ (๑) รถที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราช บัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ มีผลใช้บังคับ ให้เสียภาษีรถประจำในอัตรา หนึ่งในสี่ของบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งคนประจำทาง รถที่ใช้ในการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก รถที่ มีน้ำหนักรถตั้งแต่ ๓๐๐๑ กิโลกรัมขึ้นไป และรถที่ใช้เชื่อเพลิงอื่นนอกจากน้ำมันดีเซลหรือก๊าซให้ เสียภาษีรถประจำปีในปัตราหนึ่งในสี่ของบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๓) รถที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่พรระาชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ มีผลใช้บังคับ นอกจากรถตาม (๒) ให้เสียภาษีรถ ประจำปีในอัตราหนึ่งในสี่ของบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี +-----------------------------------------------------------------------------------------------------+ หมายเหต ุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ กำหนดอัตราภาษี รถเพิ่มขึ้นสี่เท่าสำหรับรถที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้ เพื่อเป็นมาตรการที่จะลด จำนวนผู้ใช้รถที่ใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวลง แต่เนื่องจากปัจจุบันได้มีการลดราคาน้ำมันเบนซินซึ่งจะ เป็นผลให้การใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซลดลงไปด้วย จึงสมควรผ่อนคลายภาระภาษีรถประจำปีที่ ได้กำหนดไว้ตามพระราชกำหนดดังกล่าว และโดยที่พระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีประจำปี สำหรับรถบางประเภท พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้ผ่อนคลายภาระการเสียภาษีรถประจำปีไว้สำหรับรถ บางประเภทเท่านั้น สมควรขยายการผ่อนคลายภาระภาษีรถประจำปีสำหรับรถทุกประเภทด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ [รก.๒๕๒๙/๓๘/๕พ./๙ มีนาคม ๒๕๒๙]
301294
พระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถบางประเภท พ.ศ. 2529
พระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกา ลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถบางประเภท พ.ศ. ๒๕๒๙ --------------- ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นปีที่ ๔๑ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรลดภาษีประจำปีสำหรับรถบางประเภท อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราช กำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ จึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีประจำปี สำหรับรถบางประเภท พ.ศ. ๒๕๒๙" มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราช กิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ลดอัตราภาษีรถประจำปีสำหรับรถ ดังต่อไปนี้ (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งทางบกประจำทางและรถที่ใช้ในการขนส่งทางบกโดยรถ ขนาดเล็ก ให้เสียภาษีรถในอัตราหนึ่งในสี่ของบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๒) รถที่มีน้ำหนักรถตั้งแต่ ๓,๐๐๑ กิโลกรัมขึ้นไป ให้เสียภาษีรถในอัตราหนึ่ง ในสี่ของบัญชีอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ (๓) รถที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นนอกจากน้ำมันดีเซลหรือก๊าซ ให้เสียภาษีรถในอัตราหนึ่ง ในสี่ของอัตราภาษีรถตามมาตรา ๘๕ มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี +----------------------------------------------------------------------------------------------------+ หมายเหต ุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกำหนดแก้ไข เพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้แก้ไขอัตราภาษีประจำปี สำหรับรถให้สูงขึ้น ทำให้มีผลกระทบต่อรถบางประเภทฉะนั้น เพื่อเป็นการผ่อนคลายภาระการ เสียภาษีประจำปีให้แก่รถบางประเภทซึ่งใช้ในการขนส่งต่าง ๆ และเนื่องจากตามมาตรา ๘๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่ม เติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ กำหนดให้ตราเป็นพระราช กฤษฎีกาลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถลงจากอัตราที่กำหนดไว้ได้ จึงจำเป็นต้องตรา พระราชกฤษฎีกานี้ [รก.๒๕๒๙/๑๖/๘พ./๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙]
615002
กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ หมวด ๑ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ส่วนที่ ๑ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑[๒] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนหน้าและกันชนท้าย ที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถหรือยื่นจากหน้ารถและท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยว ที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกันและไม่มากเกินสมควร รวมทั้งต้องมีรัศมีวงเลี้ยวและระยะท้ายปัดของรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กรณีรถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร ต้องมีระบบบังคับเลี้ยวที่เพลาล้อท้ายด้วย (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย กรณีรถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร ต้องมีเพลาล้อไม่น้อยกว่า ๓ เพลาล้อ (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนเฉพาะเพลาหน้าก็ได้ (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถตอนท้ายหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่รถพ่วงหลุดจากรถตอนหน้า (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในสภาพใช้งานตามปกติที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสม ต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน กำลัง และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเสียงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รวมทั้งต้องมีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามสมควร (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีเครื่องระงับเสียงและมีการบังหรือกันท่อไอเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่ายอันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและตรงออกท้ายรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีทางขึ้นลงด้านท้ายรถ ส่วนปลายท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและเบนออกตรงมุมท้ายรถด้านขวา (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วย คลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลัง ข้อต่อและเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิทช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถและแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดี และมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว ที่สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ ที่มีคุณลักษณะและระบบการทำงานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก)[๓] กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กระจกกันลมหน้าต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมาย หรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดที่กระจกกันลมหน้าและกระจกกันลมหลัง รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข) กระจกเงาหรืออุปกรณ์สำหรับให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลังและภายในรถได้อย่างชัดเจน (ค) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (ง) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (จ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถัง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฉ) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล หลังคาจะทำด้วยผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันก็ได้ (ช) พื้นรถ ที่มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นชั้นบนของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมั่นคงแข็งแรง มีพื้นยางหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ปูเต็มความกว้างและความยาวของพื้นรถ ใต้พื้นชั้นบนต้องมีฝ้ากรุโดยทั่วไป (ซ)[๔] หน้าต่างที่ด้านข้างรถซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดที่หน้าต่างที่ด้านข้างรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) และ (ง) มาตรฐาน ๖ (ก) และมาตรฐาน ๗ จะเป็นชนิดที่ปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง (ฌ) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านข้าง บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านท้ายของรถบันไดทางขึ้นลงให้ยื่นออกนอกรถได้ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านขวาหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทและลักษณะของรถที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินตลอดจนจำนวน ขนาด ตำแหน่ง คุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ญ) ที่นั่งผู้ขับรถ ซึ่งแยกต่างหากจากที่นั่งผู้โดยสาร สามารถปรับเลื่อนได้ตามความเหมาะสม ตรึงแน่นกับพื้นรถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับรถได้ดีและมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังได้อย่างชัดเจน เมื่อใช้กระจกเงาหรืออุปกรณ์สำหรับมองภาพ (ฎ) ที่นั่งผู้โดยสาร ตรึงแน่นกับพื้นรถ แบบ การจัดวางและการยึดที่นั่งผู้โดยสารของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารแต่ละมาตรฐานให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฏ) ห้องผู้ขับรถหรือราวกั้นผู้ขับรถที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับแยกผู้ขับรถให้อยู่คนละส่วนกับผู้โดยสาร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีราวกั้นผู้ขับรถหรือไม่ก็ได้ (ฐ) ราวยึดเหนี่ยวที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อย ตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกัน และที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีราวยึดเหนี่ยว รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งราวยึดเหนี่ยว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฑ) กริ่งสัญญาณหยุดรถที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฒ) แผ่นสะท้อนแสงสีแดง จำนวน ๒ แผ่น หรือ ๔ แผ่น มีลักษณะเป็นวงกลม สามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร แผ่นสะท้อนแสงที่มีลักษณะเป็นวงกลมต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือหากมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต้องมีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร แล้วแต่กรณี ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร แผ่นริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ณ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด (ด)[๕] อุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ คุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่งและเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดอุปกรณ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งไกลจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น เว้นแต่เป็นการให้แสงสัญญาณชั่วขณะ (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน ที่ให้แสงสีเดียวกับโคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ แสงขาวหรือเหลือง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสดงความกว้างของรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกะพริบ แสงเหลือง ติดที่ด้านหน้า จำนวน ๒ ดวง และแสงเหลืองหรือแดง ติดที่ด้านท้าย จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ โดยให้ติดไว้ที่ข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงที่ติดที่ด้านท้ายต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถหรือท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร และดวงล่างสุดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวทุกดวงที่อยู่ข้างเดียวกันต้องกะพริบพร้อมกันในขณะที่รถให้สัญญาณเลี้ยว (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร จะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร (ฉ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้น และแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กะพริบ โคมไฟหยุดถ้ารวมอยู่ในโคมไฟท้ายจะต้องมีความสว่างมากกว่าความสว่างของโคมไฟท้ายนั้น (ช) โคมไฟถอยหลัง แสงขาว จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ในกรณีที่มี ๒ ดวง ต้องติดอยู่ในระดับเดียวกันและห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟถอยหลังจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่เข้าเกียร์ถอยหลังเท่านั้น (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาว อย่างน้อย ๑ ดวง แต่ไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ด้านบน ด้านล่าง หรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียนท้ายรถ มีความสว่างสามารถอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร จากท้ายรถ และต้องมีที่บังมิให้แสงพุ่งออกไปทางท้ายรถ โคมไฟส่องป้ายทะเบียนต้องให้แสงสว่างพร้อมกับโคมไฟท้าย (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถสำหรับรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร จำนวน ๔ ดวง ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถ ดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ดวงในห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร และให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายตอนบนของหลังคารถ จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ริมสุดของท้ายรถข้างละ ๑ ดวง โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถที่ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถให้ใช้ดังนี้ ๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทางใช้แสงน้ำเงิน ๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งไม่ประจำทางใช้แสงเหลือง ๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลใช้แสงขาว ๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็กใช้แสงม่วง (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในรถให้แสงสว่างพอสมควร และจะมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือประจำทุกที่นั่งด้วยก็ได้ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะต้องมีโคมไฟภายในรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งของโคมไฟภายในรถ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฎ) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง แสงขาว ติดที่ด้านหน้ารถให้แสงสว่างพอสมควรที่ป้ายแสดงเส้นทาง ข้อ ๑ ทวิ[๖] รถตามข้อ ๑ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกันและให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟเลี้ยวข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟเลี้ยวข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกัน โคมไฟเลี้ยวข้างรถทุกดวงต้องกระพริบพร้อมกับโคมไฟเลี้ยวที่ด้านหน้าและด้านท้ายที่อยู่ข้างเดียวกัน (ง) โคมไฟตัดหมอก แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดที่หน้ารถสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่อยู่สูงไม่เกินโคมไฟแสงพุ่งต่ำถ้ามี ๑ ดวงให้ติดที่กึ่งกลางหน้ารถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ให้ติดในระดับเดียวกัน และห่างจากกึ่งกลางหน้ารถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟตัดหมอกจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟแสดงความกว้างของรถและโคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า ๒ องศา หรือ ๐.๒๐ เมตร ในระยะ ๗.๕๐ เมตร และไม่เฉไปทางขวา (จ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ในตำแหน่งที่ให้แสงสว่างออกไปทางท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร ถ้ามี ๑ ดวง ต้องอยู่ในแนวกึ่งกลางท้ายรถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ต้องอยู่ในระดับเดียวกัน และห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๓)[๗] เครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่จะมีไว้ใช้อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ดังต่อไปนี้ (ก) ประตูรถ ทางลาด สะพาน หรือเครื่องอุปกรณ์ที่นำพาคนพิการหรือรถคนพิการ (wheel chair) ขึ้นและลงจากรถ ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยในการใช้งาน และต้องมีลักษณะ ขนาด และคุณสมบัติในการใช้งานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ (ข) พื้นที่หรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับเก็บหรือจอดรถคนพิการ (wheel chair) ที่อยู่ภายในห้องโดยสาร ต้องมีอุปกรณ์ยึดตรึงที่มั่นคงแข็งแรง และไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แก่ผู้อื่น (ค) เครื่องอุปกรณ์อื่น (ถ้ามี) ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถให้รถตอนท้ายเคลื่อนตัวขึ้นลง และเลี้ยวตามรถตอนหน้าได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับที่ทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ถอยหลังได้เสมือนเป็นรถตอนเดียวกันด้วย ข้อ ๓ รถตามข้อ ๑ ที่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืนได้ ให้บริเวณพื้นที่สำหรับผู้โดยสารยืนต้องเป็นพื้นที่ราบซึ่งมีความกว้างและความยาวพอเหมาะที่จะให้ผู้โดยสารยืนได้ โดยถือเกณฑ์พื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ตารางเซนติเมตร ต่อผู้โดยสารยืน ๑ คน ข้อ ๔[๘] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๖ ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถหรือชั้นภายในรถ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (ข) (ง) (จ) (ฉ) ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถนั้นภายในรถหรือบนหลังคาก็ได้ รถขนาดเล็ก ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้บนหลังคาหรือภายในรถ โดยจะมีไว้ที่ด้านล่างด้วยก็ได้ ข้อ ๕[๙] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) และ (ง) มาตรฐาน ๕ (ก) และมาตรฐาน ๖ (ก) ต้องมีเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอ เครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศตามวรรคหนึ่ง ต้องมีระบบการทำงาน คุณลักษณะเฉพาะ หรือขนาด ตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๖[๑๐] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีห้องสุขภัณฑ์ได้ ให้มีห้องสุขภัณฑ์ภายในรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงพอสมควร สำหรับใช้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้และมีอ่างสำหรับล้างมือด้วย ห้องสุขภัณฑ์จะต้องมีที่สำหรับเก็บอุจจาระและปัสสาวะอย่างดี ไม่รั่วซึมและป้องกันกลิ่นเหม็นได้ ข้อ ๗[๑๑] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มได้ ให้มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มขนาดพอสมควรอยู่ตอนท้ายภายในรถ ข้อ ๘[๑๒] นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ และมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ดังนี้ (๑) เครื่องรับวิทยุ ๑ เครื่อง (๒) เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง ๑ เครื่อง (๓) เครื่องขยายเสียง ขนาดพอสมควร ๑ เครื่อง อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ตาม (๑) (๒) และ (๓) อาจรวมอยู่ในเครื่องเดียวกันได้ ข้อ ๙[๑๓] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ และมาตรฐาน ๖ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๒ เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ ๒ เครื่อง เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามชนิด ประเภทและขนาดตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้ติดตั้งไว้ภายในรถในที่เหมาะสมซึ่งพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ข้อ ๑๐[๑๔] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับท้ายรถหรือยื่นจากท้ายรถในระยะห่างพอสมควรและจะมีกันชนหน้าหรือไม่ก็ได้ (ค) อุปกรณ์ต่อพ่วง ที่สามารถลากจูงได้ในขณะเต็มอัตราบรรทุก รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ระบบห้ามล้อ ที่สามารถห้ามล้อได้โดยใช้การควบคุมจากระบบห้ามล้อของรถลากจูง และต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถ ขั้วสายไฟ และสวิตช์ที่อาจเกิดประกายไฟได้ ต้องใช้ฉนวนหุ้มปิด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ค) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก มีข้อความเป็นอักษรไทยว่า “รถพ่วง” หรือ “รถพ่วงยาว” โดยลักษณะ ขนาด และสีของแผ่นโลหะ ตลอดจนวิธีการติดแผ่นโลหะ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กรณีที่ต้องติดตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดนอกจากที่กำหนดตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ (จ) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง (ฉ)[๑๕] หน้าต่างที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดที่หน้าต่างที่ด้านข้างรถ รวมทั้งประเภทของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด บานหน้าต่างของรถปรับอากาศจะเป็นชนิดที่ปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ตัวถังจะต้องมีระบบถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง (ช) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างของรถ และบันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านขวาของรถหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย จำนวน ขนาด ตำแหน่ง คุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ซ) ที่นั่งผู้โดยสาร ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฎ) (ฌ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อย ตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกัน และที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ญ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งจำนวน และตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฎ) แผ่นสะท้อนแสงมีดังต่อไปนี้ ๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ฏ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง ติดบนหลังคาท้ายรถห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ข้างละ ๑ ดวง (ช) โคมไฟภายในรถ มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ญ) (ซ) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถในระดับเดียวกัน ตอนหน้าห่างจากหน้าสุดรถไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ไม่รวมแขนพ่วง) แห่งละ ๑ ดวง ตอนท้ายห่างจากท้ายสุดรถไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร แห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๖ เมตร ให้มีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวง ถ้ามีมากกว่า ๑ ดวง ระยะห่างระหว่างโคมไฟแต่ละดวงในข้างเดียวกันต้องเท่ากัน และห่างกันไม่น้อยกว่า ๓ เมตร โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายรถให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ข้อ ๑๐ ทวิ[๑๖] รถตามข้อ ๑๐ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๐ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่มีที่เก็บสัมภาระ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถ ข้อ ๑๒ ให้นำข้อ ๓ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ โดยอนุโลม ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๓[๑๗] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถังแต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร โดยตัวถังด้านข้างหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาล้อท้ายได้ไม่เกินด้านละ ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง ความสูงภายนอกของรถเมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) และ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๓๐ เมตร ความสูงภายในของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ความสูงของรถต้องไม่ทำให้การทรงตัวของรถต่ำกว่าเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) ความยาว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) และ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) และ (ข) และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๕ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) และ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) มาตรฐาน ๕ และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถและแขนพ่วง จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๐ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๘ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของตัวถังไม่รวมกันชนหรือแขนพ่วงถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า จะต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนหน้า (๕)[๑๘] ส่วนยื่นท้าย เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุกแต่ไม่รวมกันชนท้ายและอุปกรณ์อื่นถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือถึงศูนย์กลางของกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร อาจมีความยาวของส่วนยื่นท้ายเกินสองในสามของช่วงล้อได้ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด อุปกรณ์อื่นซึ่งไม่ใช่กันชนท้ายที่ติดตั้งเพิ่มเติมที่ด้านท้ายของตัวถังส่วนที่บรรทุกต้องมีความยาวตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์การวัดขนาดช่วงล้อของรถตาม (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบ ของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก[๑๙] ข้อ ๑๔[๒๐] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๗ จะมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ได้ หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งาน แต่ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๔/๑[๒๑] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ หมวด ๒ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ส่วนที่ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ ข้อ ๑๕[๒๒] รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนหน้า ยื่นจากหน้ารถระยะห่างพอสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีกันชนท้ายยื่นจากท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยว ที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกัน และไม่มากเกินสมควร รวมทั้งต้องมีรัศมีวงเลี้ยวและระยะท้ายปัดของรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่เพลาล้อหน้าไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในสภาพใช้งานตามปกติที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสม โดยต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน กำลัง และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเสียงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รวมทั้งต้องมีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามสมควร (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีอุปกรณ์ระงับเสียงและมีอุปกรณ์ป้องกันความร้อนหรือการติดไฟโดยส่วนปลายของท่อไอเสียต้องไม่หันไปทางด้านซ้ายของรถ ทั้งนี้ อุปกรณ์ระงับเสียงและอุปกรณ์ป้องกันความร้อนหรือการติดไฟ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลัง ข้อต่อ และเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิตช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถและแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดี และมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว ที่สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ ที่มีคุณลักษณะและระบบการทำงานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถังยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ห้องผู้ขับรถทำด้วยโลหะแข็งแรง มีประตูทั้งสองข้าง มีที่นั่งผู้ขับรถตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สามารถบังคับรถได้ดี และสามารถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังได้อย่างชัดเจนเมื่อใช้กระจกเงาสำหรับมองหลัง ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีห้องผู้ขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข)[๒๓] กระจกกันลมและส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยกระจกกันลมหน้าต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ค) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๑ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และภายในรถได้ทุกขณะ (ง) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (จ) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ให้มีลักษณะและมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด แต่ความสูงของตัวถังส่วนที่บรรทุกที่มีลักษณะเป็นกระบะทึบสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๘,๐๐๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร และสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ฉ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถัง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ช) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ซ) แผ่นสะท้อนแสงสีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ในกรณีที่เป็นรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบให้ติดแผ่นสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย (ฌ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด (ญ)[๒๔] อุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ คุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่งและเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ข) (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ค) (ง) โคมไฟเลี้ยว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (จ) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ฉ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ช) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถ แสงเขียว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฌ) สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้มีโคมไฟแสดงส่วนสูงแสงแดง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดของรถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในห้องผู้ขับรถให้แสงสว่างพอสมควร ข้อ ๑๖ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องต่อพ่วงทำด้วยโลหะแข็งแรงสำหรับยึดแขนพ่วงของรถพ่วง (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ จะต้องมีจานพ่วงหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ทำด้วยโลหะพร้อมด้วยเครื่องสำหรับล็อคสลักพ่วงของรถกึ่งพ่วงหรือรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว เพื่อมิให้หลุดจากกันในขณะใช้งาน ข้อ ๑๗ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีเครื่องดับเพลิงติดตั้งในที่เหมาะสมพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ขนาด จำนวนและคุณภาพของเครื่องดับเพลิงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ข้อ ๑๗ ทวิ[๒๕] รถตามข้อ ๑๕ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ข) (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ค) (ง) โคมไฟตัดหมอก มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ง) (จ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๕ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๓)[๒๖] เครื่องปรับอากาศ ต้องมีประสิทธิภาพสามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีระบบการทำงาน คุณลักษณะเฉพาะ หรือขนาด ตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ข้อ ๑๘[๒๗] รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ โครงคัสซีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๘ ต้องสามารถปรับขนาดความยาวได้ โครงคัสซีส่วนหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ให้มีสลักพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควรสำหรับต่อกับจานพ่วงของรถลากจูงได้โดยเฉพาะ (ข) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ค) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ง) สปริง ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ฉ) ระบบห้ามล้อ ที่สามารถห้ามล้อได้โดยใช้การควบคุมจากระบบห้ามล้อของรถลากจูง และต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ช) ระบบไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๑) (ฌ) (ซ) อุปกรณ์ต่อพ่วง ที่สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก มีข้อความเป็นอักษรไทยว่า “รถพ่วง” หรือ “รถพ่วงยาว” โดยลักษณะ ขนาด และสีของแผ่นโลหะ ตลอดจนวิธีการติดแผ่นโลหะ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (ข) (ข) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ซึ่งมีลักษณะและมาตรฐานเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (จ) (ค) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ง) แผ่นสะท้อนแสงมีดังต่อไปนี้ ๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ในกรณีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ หรือลักษณะ ๗ ที่ตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้ติดที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย (จ)[๒๘] อุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ คุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่งและเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวร ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ช) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๓) (ซ) ข้อ ๑๘ ทวิ[๒๙] รถตามข้อ ๑๘ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๘ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๙[๓๐] (ยกเลิก) ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๐[๓๑] รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถังแต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๒ ที่ติดตั้งระบบทำความเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในตัวถังส่วนบรรทุก จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๖๐ เมตร โดยตัวถังหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาล้อท้ายหรือกลุ่มเพลาล้อท้ายได้ไม่เกินด้านละ ๑๕ เซนติเมตร (๒)[๓๒] ความสูง เมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ ต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร เว้นแต่รถที่มีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ต้องมีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร โดยความสูงของรถต้องไม่ทำให้การทรงตัวของรถต่ำกว่าเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) ความยาว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๘ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๓.๖๐ เมตร โดยระยะจากศูนย์กลางของสลักพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางสลักพ่วง ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ (๕)[๓๓] ส่วนยื่นท้าย รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุกแต่ไม่รวมกันชนท้ายและอุปกรณ์อื่น ถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือศูนย์กลางของกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ ลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุกแต่ไม่รวมกันชนท้ายและอุปกรณ์อื่น ถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในห้าของช่วงล้อ อุปกรณ์อื่นซึ่งไม่ใช่กันชนท้ายที่ติดตั้งเพิ่มเติมที่ด้านท้ายของตัวถังส่วนที่บรรทุกต้องมีความยาวตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์การวัดขนาดช่วงล้อของรถตาม (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบ ของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ[๓๔] ข้อ ๒๑[๓๕] ในกรณีที่มีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งาน รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของจะมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ หรือขนาดของรถแตกต่างไปจากกฎกระทรวงนี้ได้ ตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒๒[๓๖] รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๗] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (รถสองชั้น) ไว้ไม่เกิน ๑๐ เมตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบของรถที่มีการผลิตโดยทั่วไปในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถดังกล่าวให้มีความยาวได้ไม่เกิน ๑๒ เมตร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๘] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการติดกระจกกันลมหลังกับตัวรถไม่มีผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถ สมควรเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเลือกที่จะจัดให้มีกระจกกันลมหลังหรือไม่ก็ได้ และโดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว สมควรกำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม นอกจากนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมขนาดความสูงของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้รับกับมาตรฐานสากลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการทรงตัวของรถดังกล่าวเพื่อให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๙] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมยานยนต์ได้เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดอันตรายแก่ผู้ใช้รถ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งในส่วนเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งสมควรเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องมือเครื่องใช้ประจำรถที่ใช้ในการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๐] ข้อ ๓ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันปรากฏว่า รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถแตกต่างไปจากรถยนตร์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนตร์ จึงก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและการกำกับดูแลทั้ง ๆ ที่เป็นรถที่มีลักษณะและขนาดเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติที่เกี่ยวกับฟิล์มกรองแสงของกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถดังกล่าวตามกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) และมาตรฐาน ๓ (ฉ) (รถตู้) เสียใหม่ให้สอดคล้องกันกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยรถยนตร์ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๑] ข้อ ๓ รถที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนหรือติดตั้งเครื่องปรับอากาศใหม่หรือระบบระบายอากาศใหม่ให้เครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศดังกล่าวเป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ โดยที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามเป็นสมาชิกพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer) เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ และให้สัตยาบันการเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ จึงมีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ แต่เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำเครื่องปรับอากาศมาติดตั้งเป็นเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งจำนวนมากโดยไม่มีมาตรการในการควบคุมการใช้ จึงมีการใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbons (CFCs)) เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศภายในรถที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งสารดังกล่าวจะทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อควบคุมดูแลการใช้เครื่องปรับอากาศภายในรถที่ใช้ในการขนส่งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อให้สามารถกำหนดให้มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๒] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่จะมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการโดยสารแก่คนพิการ นอกจากนี้ เพื่อให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๗ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ใช้สำหรับการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อาจมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถ แตกต่างไปจากข้อกำหนดในกฎกระทรวงได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ หรือตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๓] ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๙ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก รวมทั้งรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ได้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และมีขนาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และได้จดทะเบียนก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่อาจขอเปลี่ยนแปลงเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และขนาดของรถให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ได้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ขนาด และข้อกำหนดทางเทคนิคของรถ ที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานยานยนต์สากลและเทคโนโลยีด้านการผลิตยานยนต์ในปัจจุบันที่พัฒนาขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ขนาดและข้อกำหนดทางเทคนิคของรถตามกฎกระทรวงดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้การใช้รถในการประกอบการขนส่งมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานยานยนต์สากลและเทคโนโลยีด้านการผลิตยานยนต์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๔] ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และปรากฏว่าเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบสำหรับรถที่กำหนดไว้บางรายการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับเป็นการสมควรกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถบางรายการเพิ่มเติมเพื่อให้การใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ณัฐพร/จัดทำ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ โชติกานต์/เพิ่มเติม ๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๙/ฉบับพิเศษหน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ [๒] ข้อ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓] ข้อ ๑ (๒) (ก) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๔] ข้อ ๑ (๒) (ซ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๕] ข้อ ๑ (๒) (ด) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๖] ข้อ ๑ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๗] มาตรา ๑ ทวิ (๓) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๘] ข้อ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๙] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๐] ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๑] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๒] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๓] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๔] ข้อ ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๕] ข้อ ๑๐ (๒) (ฉ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๖] ข้อ ๑๐ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๗] ข้อ ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๘] ข้อ ๑๓ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๙] ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ของหมวด ๑ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๔ และ ข้อ ๑๔/๑ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๐] ข้อ ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๑] ข้อ ๑๔/๑ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๒] ข้อ ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๓] ข้อ ๑๕ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๔] ข้อ ๑๕ (๒) (ญ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๕] ข้อ ๑๗ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๖] ข้อ ๑๗ ทวิ (๓) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๗] ข้อ ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๘] ข้อ ๑๘ (๒) (จ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๙] ข้อ ๑๘ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๐] ข้อ ๑๙ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๑] ข้อ ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๒] ข้อ ๒๐ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๓] ข้อ ๒๐ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๔] ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ของหมวด ๒ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๑ และ ข้อ ๒๒ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๕] ข้อ ๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๖] ข้อ ๒๒ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑ พฤษภาคม ๒๕๓๒ [๓๘] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๑๒/หน้า ๙/๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ [๓๙] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๔๘ ก/หน้า ๑๒/๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๗ [๔๐] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๒๕/๗ เมษายน ๒๕๔๓ [๔๑] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๕ ก/หน้า ๓/๑๔ มกราคม ๒๕๔๘ [๔๒] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๖๕ ก/หน้า ๒๑/๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ [๔๓] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๓๒/๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒ [๔๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๑๐๕ ก/หน้า ๒๗/๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
728068
กฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถและแบบรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งได้แก่ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารหรือรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารหรือรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารหรือรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารหรือรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีสมุดประจำรถตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ไว้ประจำรถทุกคันในขณะที่ใช้ทำการขนส่ง ผู้ขับรถต้องบันทึกรายละเอียดตามรายการในสมุดประจำรถให้ครบถ้วนและถูกต้องตามความเป็นจริงทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ และในการนี้ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งควบคุมและตรวจสอบให้ผู้ขับรถบันทึกรายละเอียดดังกล่าวให้ครบถ้วนด้วย ข้อ ๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดทำประวัติผู้ประจำรถตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ สำหรับผู้ประจำรถทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่กับตน และให้จัดเก็บไว้ ณ ที่ทำการหรือสำนักงานของตนเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาที่ผู้ประจำรถนั้นยังปฏิบัติหน้าที่อยู่กับตน และภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ประจำรถนั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการของตน ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจัดส่งสำเนาประวัติผู้ประจำรถตามวรรคหนึ่ง ให้กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง แล้วแต่กรณี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ประจำรถนั้นเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกิจการของตน ในกรณีที่ผู้ประจำรถนั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการของตน หรือมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของผู้ประจำรถนั้น ให้ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งจัดส่งสำเนาการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติดังกล่าวตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ ให้กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง แล้วแต่กรณี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง ข้อ ๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งในกิจการของตนที่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือความเสียหายของทรัพย์สินมีมูลค่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ ต่อนายทะเบียนประจำจังหวัดที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้น ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ ข้อ ๕[๒] (ยกเลิก) ข้อ ๖[๓] (ยกเลิก) ข้อ ๗[๔] (ยกเลิก) ข้อ ๘[๕] (ยกเลิก) ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แบบสมุดประจำรถ (๑) ชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๒) ประเภทการขนส่ง ... (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งเลขที่ ..... (๔) สำนักงานเลขที่ .......................................................................................... (๕) หมายเลขเส้นทาง (ถ้ามี) ................................................................. (๖) หมายเลขทะเบียนรถ ................................................................................ (๗) หมายเลขข้างรถ (ถ้ามี) ................................................................... (๘) ชื่อและสกุลของผู้ขับรถ (๙) เลขที่ใบอนุญาตขับรถ (๑๐) วัน เดือน ปี เวลาที่ทำการขนส่ง สถานที่ปฏิบัติงาน หมายเลขมาตรวัดระยะทาง (๑๗) ระยะทางรวม (กม.) (๑๘) ชั่วโมง การมาทำงานรวม (ชม. /นาที) (๑๑) เวลาออก (๑๒) เวลาถึง (๑๓) จาก (๑๔) ถึง (๑๕) ออก (๑๖) ถึง ๒ วิธีปฏิบัติ ๑. ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทุกประเภท จัดทำสมุดประจำรถทุกคันในขณะที่ใช้ทำการขนส่ง ๒. ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้กรอกรายละเอียดในรายการ ที่ (๑) ถึง (๗) ก่อนใช้รถทำการขนส่ง ๓. ให้ผู้ขับรถเป็นผู้กรอกรายละเอียดในรายการที่ (๘) ถึง (๑๘) ดังนี้ ๓.๑ รายการใน (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) ให้ผู้ขับรถกรอกรายละเอียดก่อนการใช้รถ ๓.๒ รายการใน (๑๒) (๑๖) (๑๗) และ (๑๘) ให้ผู้ขับรถกรอกรายละเอียดเมื่อรถถึงจุดปลายทาง ๔. เมื่อเสร็จสิ้นการขนส่งในแต่ละวัน ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องเก็บสมุดประจำรถไว้ ณ ที่ทำการหรือสำนักงานของตน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบได้ภายในระยะเวลา ๑ ปี คำเตือน การฝ่าฝืนไม่จัดทำสมุดประจำรถหรือไม่ดำเนินการตามวิธีปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท แบบรายงานประวัติผู้ประจำรถ เขียนที่ ........................................ วันที่ ............ เดือน ................. พ.ศ. ........... เรียน นายทะเบียน .......................................................................................... ข้าพเจ้า ................................................................... ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง * ประจำทาง * ไม่ประจำทาง * โดยรถขนาดเล็ก * ส่วนบุคคล ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เลขที่ ..................................................... ขอรายงานประวัติผู้ประจำรถ ดังนี้ ๑) เมื่อวันที่ ................................ เดือน ......................... พ.ศ. ....................... ข้าพเจ้าได้ * รับ ................................................................ เข้าทำงาน โดยปฏิบัติงานหน้าที่ ......................................... ประจำรถหมายเลขทะเบียน .................................................................. สาย ................................................... * เปลี่ยนแปลงการจ้างจากหน้าที่ ..................................................... เป็นหน้าที่ ........................................ * เลิกจ้าง ........................................................................ เนื่องจาก .................................................................. ๒) บุคคลตามข้อ ๑ เป็นผู้ได้รับอนุญาต เป็น * ๑ * ผู้ขับรถ ประเภท * ทุกประเภท ชนิดที่ * ๒ * ส่วนบุคคล * ๓ * ๔ * ผู้เก็บค่าโดยสาร * นายตรวจ * ผู้บริการ ใบอนุญาตเลขที่ ............................ ออกให้โดยนายทะเบียนประจำจังหวัด ................... (ลงชื่อ) ..................................................... ผู้รายงาน ( .................................................... ) คำเตือน ผู้ประกอบการขนส่งต้องจัดทำประวัติผู้ประจำรถ ตามแบบรายงานนี้ส่งไปยังนายทะเบียนที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่รับ หรือเลิกจ้างผู้ประจำรถ หรือนับแต่วันเปลี่ยนแปลงหน้าที่ แบบใบกำกับสินค้า[๖] (ยกเลิก) แบบรายงานอุบัติเหตุ เขียนที่ ........................................ วันที่ ............ เดือน ................. พ.ศ. ........... เรียน นายทะเบียน .......................................................................................... ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง) ............................................................ ประกอบการขนส่งประเภท ( ) ประจำทาง ( ) ไม่ประจำทาง ( ) รถขนาดเล็ก ( ) ส่วนบุคคล ใบอนุญาตเลขที่ .................................................... สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ ......................... ...................................................................................................................................................................................... (หากเป็นรถร่วมให้ระบุชื่อและที่อยู่ของผู้เข้าร่วม .............................................................................................. ................................................................................................................................. ) ขอยื่นรายงานอุบัติเหตุจาก การประกอบการขนส่ง ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ (๑) เกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ ...................... เดือน ......................... พ.ศ. ........................... เวลา .............................. น. (๒) รถคันที่เกิดอุบัติเหตุ (๒.๑) ลักษณะรถ ...................................................................... (๒.๒) หมายเลขทะเบียน ......................................................... (๒.๓) ชื่อผู้ขับรถ ....................................................................... (๒.๔) เลขที่ใบอนุญาต ............................................................. หลังเกิดเหตุ พขร. ( ) ตาย ( ) บาดเจ็บ ( ) บาดเจ็บเล็กน้อย ( ) หลบหนี (๓) รถคู่กรณี (๓.๑) ลักษณะรถ ...................................................................... (๓.๒) หมายเลขทะเบียน ......................................................... (๓.๓) ชื่อผู้ขับรถ ....................................................................... (๓.๔) เลขที่ใบอนุญาต ............................................................. หลังเกิดเหตุ พขร. ( ) ตาย ( ) บาดเจ็บ ( ) บาดเจ็บเล็กน้อย ( ) หลบหนี (ถ้าคู่กรณีมีมากกว่า ๑ ราย ให้ระบุเพิ่มเติมด้วย) ๒ (๔) จำนวนผู้โดยสารขณะเกิดเหตุ ......................................................................... คน จำนวนสิ่งของหรือน้ำหนัก .............................................................................. ชิ้น/กก. (๕) ความเสียหายที่เกิดขึ้น (๕.๑) ตาย ......................................................................... ราย (๕.๑.๑) เพศชาย .................................................. ราย (๕.๑.๒) เพศหญิง ................................................. ราย (๕.๑.๓) เด็กชาย .................................................. ราย (๕.๑.๔) เด็กหญิง ................................................. ราย (๕.๒) บาดเจ็บเล็กน้อย .................................................. ราย (๕.๓) บาดเจ็บสาหัส ....................................................... ราย (๕.๔) ทรัพย์สินอื่นเสียหาย ........................................... รายการ มูลค่าประมาณ .................................................... บาท (๖) สถานที่เกิดเหตุ ถนน หลักกิโลเมตร ..................... หมู่ที่ .......................... ตำบล ...................................... อำเภอ ........................... จังหวัด .............................. (๗) ทัศนวิสัย ( ) แจ่มใส ( ) ฝนตก ( ) มืดครึ้ม ( ) หมอก ควัน ( ) อื่น ๆ (ระบุ) ........................................................... (๘) สาเหตุและลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุ ....................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... (๙) แผนที่สังเขปบริเวณที่เกิดเหตุ ลงชื่อ ..................................................................... ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งหรือผู้ได้รับมอบหมาย ( .................................................................... ) ๓ วิธีปฏิบัติ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทุกประเภทรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง ต่อนายทะเบียนประจำจังหวัดที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง นั้น ภายในเวลา ๗ วัน นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ คำเตือน การฝ่าฝืนไม่จัดทำและรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งภายในเวลาที่กำหนด มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวงต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ หรือใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง และต้องทำรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง สมควรกำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่จะต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ ใบกำกับสินค้า และรายงานเกี่ยวกับการขนส่ง และอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ ใบกำกับสินค้า และรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๘ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๗] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่งทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ได้รับความสะดวกและเป็นภาระมากเกินไป ประกอบกับในการขนส่งสินค้านั้น ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งมีการจัดทำใบตราส่งหรือมีเอกสารอื่นแสดงการขนส่งอยู่แล้ว สมควรยกเลิกการกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ผู้จัดทำ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ อังศุมาลี/เพิ่มเติม ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๖๐ ก/หน้า ๕๕/๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๗ [๒] ข้อ ๕ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๘ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓] ข้อ ๖ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๘ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๔] ข้อ ๗ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๘ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๕] ข้อ ๘ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๘ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๖] แบบใบกำกับสินค้า ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๘ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๗๐ ก/หน้า ๒๕/๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙
756308
กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๒๓ วรรคสอง และมาตรา ๒๘ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ผู้ใดประสงค์จะประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทางหรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลธรรมดา (ก) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน (ค) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ง) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ฉ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (๒) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ก) รายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ข) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา ถ้ามี (จ) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ฉ) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (ช) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ซ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (๓) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท แสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ข) รายชื่อและสัญชาติของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (จ) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา ถ้ามี (ฉ) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ช) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (ซ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ฌ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (๔) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท แสดงการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ข) รายชื่อกรรมการของบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกคน (ค) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการของบริษัททุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของกรรมการของบริษัททุกคน (จ) รายชื่อและสัญชาติของผู้ถือหุ้นทุกคน และจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือ (ฉ) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ (ช) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา ถ้ามี (ซ) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ฌ) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (ญ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ฎ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (๕) สหกรณ์ (ก) ภาพถ่ายใบสำคัญรับจดทะเบียนสหกรณ์ (ข) บัญชีรายชื่อสมาชิกของสหกรณ์ฉบับที่นายทะเบียนสหกรณ์รับรอง (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายข้อบังคับของสหกรณ์ (ง) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา ถ้ามี (จ) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ฉ) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (ช) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ซ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (๖) องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ (ก) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา ถ้ามี (ข) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ค) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (ง) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ ข้อ ๒ ผู้ใดประสงค์จะประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลธรรมดา (ก) สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนพาณิชย์ และใบทะเบียนการค้า ถ้ามี (ข) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน (ง) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถที่ประสงค์จะใช้ ถ้ามี (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (๒) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ก) สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนพาณิชย์และใบทะเบียนการค้า ถ้ามี (ข) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา ถ้ามี (จ) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถที่ประสงค์จะใช้ ถ้ามี (ฉ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (๓) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ข) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา ถ้ามี (ค) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถที่ประสงค์จะใช้ ถ้ามี (ง) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (๔) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ (ค) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา ถ้ามี (ง) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถที่ประสงค์จะใช้ ถ้ามี (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (๕) สหกรณ์ (ก) ภาพถ่ายใบสำคัญรับจดทะเบียนสหกรณ์ (ข) บัญชีรายชื่อสมาชิกของสหกรณ์ฉบับที่นายทะเบียนสหกรณ์รับรอง (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายข้อบังคับของสหกรณ์ (ง) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา ถ้ามี (จ) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถที่ประสงค์จะใช้ ถ้ามี (ฉ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ ข้อ ๒ ทวิ[๒] ในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ใดเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางใด ให้นายทะเบียนประกาศรับคำขออนุญาตประกอบการขนส่งเป็นการทั่วไป เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดย (๑) สำหรับการขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ปิดประกาศไว้ ณ กรมการขนส่งทางบก (๒) สำหรับการขนส่งประจำทางในเขตจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดนั้น ๆ (๓) สำหรับการขนส่งประจำทางระหว่างจังหวัด ให้ปิดประกาศไว้ ณ กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานขนส่งจังหวัดที่เป็นต้นทางและปลายทางของการขนส่งนั้น ๆ ทั้งนี้ หากคณะกรรมการเห็นสมควรอนุมัติให้ผู้ใดเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางใด ก็ให้อนุมัติได้โดยไม่ต้องประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไป ข้อ ๓ การยื่นคำขอตามกฎกระทรวงนี้ (๑) สำหรับการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กในเขตกรุงเทพมหานคร และการขนส่งไม่ประจำทางหรือการขนส่งส่วนบุคคลที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาหรือสำนักงานในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก (๒) สำหรับการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กในเขตจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร และการขนส่งไม่ประจำทางหรือการขนส่งส่วนบุคคลที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาหรือสำนักงานในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดนั้น ๆ (๓) สำหรับการขนส่งประจำทางระหว่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดที่เป็นต้นทางหรือปลายทางของการขนส่งนั้น ๆ ข้อ ๔ ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ให้ใช้แบบใบอนุญาตท้ายกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้ (๑) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง (ก) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ให้ใช้แบบ ขส.บ. ๑๒ ก. (ข) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้ใช้แบบ ขส.บ. ๑๒ ข. (๒) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง (ก) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ให้ใช้แบบ ขส.บ. ๑๒ ค. (ข) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้ใช้แบบ ขส.บ. ๑๒ ง. (๓) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้ใช้แบบ ขส.บ. ๑๒ จ. (๔) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล (ก) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ให้ใช้แบบ ขส.บ. ๑๒ ฉ. (ข) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้ใช้แบบ ขส.บ. ๑๒ ช. ข้อ ๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทางหรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลธรรมดา (ก) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน (ค) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ง) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (จ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทน (๒) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ก) รายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ข) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ช) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทน (๓) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ข) รายชื่อและสัญชาติของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (จ) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ฉ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ช) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทน (๔) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ข) รายชื่อกรรมการของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกคน (ค) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการของบริษัททุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของกรรมการของบริษัททุกคน (จ) รายชื่อและสัญชาติของผู้ถือหุ้นทุกคน และจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือ (ฉ) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ (ช) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ซ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ฌ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทน (๕) สหกรณ์ (ก) บัญชีรายชื่อสมาชิกของสหกรณ์ ฉบับที่นายทะเบียนสหกรณ์รับรอง (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายข้อบังคับของสหกรณ์ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ค) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ง) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (จ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทน (๖) องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ (ก) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร อย่างละ ๒ รูป (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ข) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ค) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทน ข้อ ๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทน ข้อ ๗ การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามกฎกระทรวงนี้ ให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิมให้ใหม่ ข้อ ๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดประสงค์จะขอรับใบแทนใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐานการรับแจ้งความของสถานีตำรวจ หรือใบอนุญาตที่ชำรุดนั้น การอนุญาตคำขอใบแทนใบอนุญาต ให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิม แต่ให้ระบุคำว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านหน้าด้วย ข้อ ๙ เพื่อประโยชน์แก่นายทะเบียนในการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับลักษณะของรถในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ให้กำหนดลักษณะของรถที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในการประกอบการขนส่งโดยมีสามลักษณะ คือ (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๓) รถขนาดเล็ก ข้อ ๑๐ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารตามข้อ ๙ (๑) มี ๗ มาตรฐาน ได้แก่ (๑)[๓] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ คือ รถปรับอากาศพิเศษ ซึ่งหมายความว่า (ก) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีการกำหนดห้องผู้โดยสารเป็นสัดส่วนแยกจากห้องผู้ขับรถ ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ มีแบบและการจัดวางที่นั่งผู้โดยสารที่ให้ความสะดวกสบายกว่า (ข) โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์ (ข) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์ (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ คือ รถปรับอากาศ ซึ่งหมายความว่า (ก) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งเกิน ๓๐ ที่นั่ง โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ สำหรับที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์นั้น จะมีหรือไม่ก็ได้ แต่ไม่มีห้องสุขภัณฑ์ (ข) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งเกิน ๓๐ ที่นั่งและมีที่สำหรับผู้โดยสารยืน ซึ่งคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ สำหรับที่เก็บสัมภาระ อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์นั้น จะมีหรือไม่ก็ได้ แต่ไม่มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ (ค) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งตั้งแต่ ๒๑ ถึง ๓๐ ที่นั่ง โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ สำหรับที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์นั้น จะมีหรือไม่ก็ได้ แต่ไม่มีห้องสุขภัณฑ์ (ง) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งตั้งแต่ ๒๑ ถึง ๓๐ ที่นั่งและมีที่สำหรับผู้โดยสารยืน ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ สำหรับที่เก็บสัมภาระ อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์นั้น จะมีหรือไม่ก็ได้ แต่ไม่มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ (จ) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๒๐ ที่นั่งโดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน ซึ่งคัสซีจะเป็นคัสซีรถโดยสารหรือไม่ก็ได้ มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ จะมีที่เก็บสัมภาระด้วยหรือไม่ก็ได้ (๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ คือ รถที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งหมายความว่า (ก) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่ง ๓๐ ที่นั่ง และมีที่สำหรับผู้โดยสารยืน ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ไม่มีที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ (ข) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งเกิน ๓๐ ที่นั่ง โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ มีที่เก็บสัมภาระ แต่ไม่มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ (ค) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งตั้งแต่ ๒๑ ถึง ๓๐ ที่นั่ง และมีที่สำหรับผู้โดยสารยืน ซึ่งคัสซีจะเป็นคัสซีรถโดยสารหรือไม่ก็ได้ มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ไม่มีที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ (ง) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งตั้งแต่ ๒๑ ถึง ๓๐ ที่นั่ง โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน ซึ่งคัสซีจะเป็นคัสซีรถโดยสารหรือไม่ก็ได้ มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ มีที่เก็บสัมภาระ แต่ไม่มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ (จ) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งตั้งแต่ ๑๓ ถึง ๒๔ ที่นั่ง ซึ่งคัสซีจะเป็นคัสซีรถโดยสารหรือไม่ก็ได้ มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ จะกำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืนหรือไม่ก็ได้ และจะมีที่เก็บสัมภาระด้วยหรือไม่ก็ได้ (ฉ) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่งโดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน ซึ่งคัสซีจะเป็นคัสซีรถโดยสารหรือไม่ก็ได้ มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ จะมีที่เก็บสัมภาระด้วยหรือไม่ก็ได้ (๔)[๔] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ คือ รถสองชั้น ซึ่งคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีห้องผู้โดยสารทั้งชั้นบนและชั้นล่าง โดยพื้นห้องผู้โดยสารทั้งสองชั้นแยกจากกันอย่างเด็ดขาด มีทางขึ้นลงชั้นล่างอยู่ด้านข้าง และมีทางขึ้นลงชั้นบนอยู่ภายในตัวรถอย่างน้อยหนึ่งทางซึ่งหมายความว่า (ก) รถสองชั้นปรับอากาศพิเศษ ซึ่งมีแบบและการจัดวางที่นั่งผู้โดยสารที่ให้ความสะดวกสบายกว่า (ข) โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์ (ข) รถสองชั้นปรับอากาศ ซึ่งไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์ (ค) รถสองชั้นปรับอากาศ ซึ่งไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ แต่ไม่มีห้องสุขภัณฑ์ สำหรับที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์นั้น จะมีหรือไม่ก็ได้ (ง) รถสองชั้นปรับอากาศ ซึ่งชั้นล่างกำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ แต่ไม่มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ สำหรับที่เก็บสัมภาระ อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์นั้น จะมีหรือไม่ก็ได้ (จ) รถสองชั้นที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งชั้นล่างกำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน ไม่มีที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ (ฉ) รถสองชั้นที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งไม่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีที่เก็บสัมภาระ แต่ไม่มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ (๕) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ คือ รถพ่วง ซึ่งหมายความว่า (ก) รถพ่วงปรับอากาศ ซึ่งไม่มีแรงขับเคลื่อนในตัวเอง จำเป็นต้องใช้รถอื่นลากจูงและน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกทั้งหมดลงบนเพลาล้อสมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้าง จะกำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน ที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และห้องสุขภัณฑ์หรือไม่ก็ได้ (ข) รถพ่วงที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งไม่มีแรงขับเคลื่อนในตัวเอง จำเป็นต้องใช้รถอื่นลากจูงและน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกทั้งหมดลงบนเพลาล้อสมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้าง จะกำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน ที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์หรือไม่ก็ได้ (๖) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ คือ รถกึ่งพ่วง ซึ่งหมายความว่า (ก) รถกึ่งพ่วงปรับอากาศซึ่งมีสองตอน ตอนท้ายมีเพลาล้อชุดเดียวนำมาต่อพ่วงกับตอนหน้า ทำให้มีทางเดินติดต่อถึงกันได้ ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้าง จะกำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน ที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และห้องสุขภัณฑ์หรือไม่ก็ได้ (ข) รถกึ่งพ่วงไม่มีเครื่องปรับอากาศซึ่งมีสองตอน ตอนท้ายมีเพลาล้อชุดเดียวนำมาต่อพ่วงกับตอนหน้า ทำให้มีทางเดินติดต่อถึงกันได้ ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้าง ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ จะกำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน ที่เก็บสัมภาระ และอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์หรือไม่ก็ได้ (๗) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๗ คือ รถโดยสารเฉพาะกิจ ซึ่งหมายความว่า รถซึ่งส่วนที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมีลักษณะพิเศษเพื่อใช้ในกิจการใดกิจการหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งคัสซีจะเป็นคัสซีรถโดยสารหรือไม่ก็ได้ เช่น รถพยาบาล รถบริการซ่อมบำรุงรักษา รถบริการถ่ายทอดวิทยุหรือโทรทัศน์ รถบริการไปรษณีย์ รถบริการธนาคาร รถบริการทางการแพทย์ รถบริการในท่าอากาศยาน เป็นต้น ข้อ ๑๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของตามข้อ ๙ (๒) มี ๙ ลักษณะ ได้แก่ (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ คือ รถกระบะบรรทุก ซึ่งหมายความว่า รถซึ่งส่วนที่ใช้ในการบรรทุกมีลักษณะเป็นกระบะ โดยจะมีหลังคาหรือไม่ก็ได้ รถที่มีเครื่องทุ่นแรงสำหรับยกสิ่งของที่จะบรรทุกในกระบะนั้น ๆ รถที่มีกระบะบรรทุกสามารถยกเท และให้หมายความรวมถึงรถซึ่งส่วนที่ใช้บรรทุกไม่มีด้านข้างหรือด้านท้าย (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๒ คือ รถตู้บรรทุก ซึ่งหมายความว่า รถซึ่งส่วนที่ใช้ในการบรรทุกมีลักษณะเป็นตู้ทึบ มีหลังคาถาวร ตัวถังบรรทุกกับห้องผู้ขับรถจะเป็นตอนเดียวกันหรือแยกกันและจะมีบานประตูปิดเปิดสำหรับการบรรทุกที่ด้านข้างหรือด้านท้ายก็ได้ (๓) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๓ คือ รถบรรทุกของเหลว ซึ่งหมายความว่า รถซึ่งส่วนที่ใช้ในการบรรทุกมีลักษณะเป็นถังสำหรับบรรทุกของเหลวตามความเหมาะสมกับของเหลวที่บรรทุกนั้น (๔) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ คือ รถบรรทุกวัสดุอันตราย ซึ่งหมายความว่า รถซึ่งส่วนที่ใช้ในการบรรทุกมีลักษณะเฉพาะ เพื่อใช้ในการบรรทุกวัสดุอันตราย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซเหลว สารเคมี วัตถุระเบิด วัสดุไวไฟ เป็นต้น (๕) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๕ คือ รถบรรทุกเฉพาะกิจ ซึ่งหมายความว่า รถซึ่งส่วนที่ใช้ในการบรรทุกมีลักษณะพิเศษ เพื่อใช้ในกิจการใดกิจการหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น รถบรรทุกขวดเครื่องดื่ม รถบรรทุกขยะมูลฝอย รถผสมซีเมนต์ รถบรรทุกเครื่องราดยาง รถบรรทุกเครื่องทุ่นแรง เป็นต้น (๖) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ คือ รถพ่วง ซึ่งหมายความว่า รถที่ไม่มีแรงขับเคลื่อนในตัวเอง จำเป็นต้องใช้รถอื่นลากจูง และน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกทั้งหมดลงบนเพลาล้อสมบูรณ์ในตัวเอง (๗) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ คือ รถกึ่งพ่วง ซึ่งหมายความว่า รถที่ไม่มีแรงขับเคลื่อนในตัวเอง จำเป็นต้องใช้รถอื่นลากจูง และน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกบางส่วนเฉลี่ยลงบนเพลาล้อของรถคันลากจูง (๘) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๘ คือ รถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว ซึ่งหมายความว่า รถกึ่งพ่วงที่มีลักษณะเพื่อใช้บรรทุกสิ่งของที่มีความยาวโดยมีโครงโลหะที่สามารถปรับความยาวของช่วงล้อระหว่างรถลากจูงกับรถกึ่งพ่วงได้ (๙) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๙ คือ รถลากจูง ซึ่งหมายความว่ารถที่มีลักษณะเป็นรถสำหรับลากจูงรถพ่วง รถกึ่งพ่วง และรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาวโดยเฉพาะ ข้อ ๑๒ รถขนาดเล็กตามข้อ ๙ (๓) ได้แก่ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและสิ่งของรวมกัน ซึ่งคัสซีจะเป็นคัสซีรถโดยสารหรือไม่ก็ได้ และอาจมีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ที่นั่งจำนวนไม่เกิน ๒๐ ที่นั่ง โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสาร และมีที่สำหรับบรรทุกสิ่งของรวมไปกับผู้โดยสาร ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขส.บ. ๑๒ ก. (ครุฑ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ใบอนุญาตที่ ........................ / ................................ นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ .............................................................................................. สำนักงานชื่อ ...................................................... อยู่เลขที่ ........................ ตรอก/ซอย .................................. ถนน .............................................................. หมู่ที่ .................. ตำบล/แขวง .................................................. อำเภอ/เขต ............................................................................................ จังหวัด .................................................. มีสิทธิประกอบการขนส่งประจำทาง ในเส้นทาง ................................................................................................ ใบอนุญาตฉบับนี้ให้มีอายุ ๗ ปี นับตั้งแต่วันที่ .......................... เดือน ............................... พ.ศ. ................ ถึง วันที่ ................. เดือน ..................................................... พ.ศ. .......... โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ในใบอนุญาตนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ... เดือน ........................ พ.ศ. .......................... ................................................................. นายทะเบียน ๒ เงื่อนไข (๑) จำนวนรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องใช้รถที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ข้อ ๓ มีจำนวนอย่างน้อย คัน อย่างมาก ........................................................ คัน (๒) สิทธิในรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในรถที่ใช้ในการขนส่ง (๓) ลักษณะ ชนิด ขนาด สีของรถ และเครื่องหมาย (ก) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องใช้รถ ลักษณะ .................................................................................................................. จำนวน .......................... คัน ลักษณะ .................................................................................................................. จำนวน .......................... คัน ลักษณะ .................................................................................................................. จำนวน .......................... คัน ลักษณะ .................................................................................................................. จำนวน .......................... คัน ลักษณะ .................................................................................................................. จำนวน .......................... คัน (ข) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้สี ............................... เป็นสีตัวถังรถ (ค) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้เครื่องหมายตามแบบที่แนบท้ายใบอนุญาตเป็นเครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน โดยแสดงไว้ที่ด้านนอกตัวรถทั้งสองข้าง (๔) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (ก) รถที่นำมาใช้ในการขนส่งแต่ละคันต้องมีจำนวนที่นั่งและหรือที่สำหรับผู้โดยสารยืนตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ข) วิธีการบรรทุกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด (๕) จำนวนผู้ประจำรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีผู้ประจำรถอย่างน้อยดังนี้ (ก) ผู้ขับรถ .......................................... คน (ค) นายตรวจ ................................. คน (ข) ผู้เก็บค่าโดยสาร ........................... คน (ง) ผู้บริการ ..................................... คน (๖) มาตรฐานบริการ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องบริการโดยมีมาตรฐานดังนี้ (ก) ......................................................... (ข) ......................................................... (ค) ......................................................... ๓ (๗) เวลาทำงานประจำวัน ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องเปิดทำงานประจำวันที่สำนักงานใหญ่และหรือสำนักงานสาขา ตั้งแต่เวลา น. ปิดเวลา .............. น. เป็นอย่างน้อย เว้นวัน ....................................... (๘) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีสถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถดังนี้ (ก) สถานที่เก็บรถตั้งอยู่ที่ ............................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... (ข) สถานที่ซ่อมและบำรุงรักษารถตั้งอยู่ที่ .................................................................. ...................................................................................................................................................................................... (๙) เงื่อนไขอื่น .......................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ๔ ลำดับที่ รายการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและหรือรายละเอียดในใบอนุญาต วัน/เดือน/ปี ลงชื่อนายทะเบียน ๕ คำเตือน (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหลังใบอนุญาตนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่ง หรือ ค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกเส้นทาง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับคันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ วัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางผู้ใด ไม่ใช้รถในการประกอบการขนส่งตามจำนวนที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ วัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราวตามมาตรา ๒๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (๖) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่แสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๗) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปิดประกาศเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง อัตราค่าขนส่งและค่าบริการ สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายผู้โดยสาร ที่ที่รถจะต้องหยุดในระหว่างเส้นทาง เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถไว้ ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนดตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ๖ (๘) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญของใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๙) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ส่งคืนใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๑๐) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกประกอบการขนส่งในระหว่างที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ โดยไม่แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน ก่อนวันเลิกประกอบการขนส่งตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (๑๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด มีความประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่า ๑๒๐ วัน ตามมาตรา ๒๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๑๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้ว โดยไม่แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบ และไม่นำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้นตามมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ขส.บ. ๑๒ ข. (ครุฑ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ใบอนุญาตที่ ........................ / ................................ นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ .............................................................................................. สำนักงานชื่อ ......................................................... อยู่เลขที่ ............................. ตรอก/ซอย ........................... ถนน .............................................................. หมู่ที่ ............................................ ตำบล/แขวง ......................... อำเภอ/เขต ................................................................................................ จังหวัด ............................................... มีสิทธิประกอบการขนส่งประจำทาง ในเส้นทาง ................................................................................................ ใบอนุญาตฉบับนี้ให้มีอายุ ๗ ปี นับตั้งแต่วันที่ .................................. เดือน ................................. พ.ศ. ..... ถึงวันที่..................... เดือน ..................................................... พ.ศ. .......... โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายและเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ในใบอนุญาตนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ .................. เดือน ........................ พ.ศ. .......................... ๘ เงื่อนไข (๑) จำนวนรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องใช้รถที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ข้อ ๓ มีจำนวนอย่างน้อย คัน อย่างมาก ................................................................. คัน (๒) สิทธิในรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในรถที่ใช้ในการขนส่ง (๓) ลักษณะ ชนิด ขนาด สีของรถ และเครื่องหมาย (ก) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องใช้รถ ลักษณะ ................................................................................................................ จำนวน ............................ คัน ลักษณะ ................................................................................................................ จำนวน ............................ คัน ลักษณะ ................................................................................................................ จำนวน ............................ คัน ลักษณะ ................................................................................................................ จำนวน ............................ คัน ลักษณะ ................................................................................................................ จำนวน ............................ คัน (ข) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้สี ............................... เป็นสีตัวถังรถ (ค) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้เครื่องหมายตามแบบที่แนบท้ายใบอนุญาตเป็นเครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน โดยแสดงไว้ที่ด้านนอกตัวรถทั้งสองข้าง (๔) เกณฑ์น้ำหนักบรรทุกและวิธีการบรรทุก (ก) รถที่นำมาใช้ในการขนส่งแต่ละคันเมื่อบรรทุกสัตว์และหรือสิ่งของ ต้องมีน้ำหนักรวมกันไม่เกินเกณฑ์ตามที่ทางราชการกำหนด (ข) วิธีการบรรทุกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด (๕) จำนวนผู้ประจำรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีผู้ประจำรถอย่างน้อยดังนี้ (ก) ผู้ขับรถ ................................................ คน (ข) ผู้บริการ .............................................. คน (๖) มาตรฐานบริการ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องบริการโดยมีมาตรฐานดังนี้ (ก) ................................................................................................................. (ข) ................................................................................................................. (ค) ................................................................................................................. ๙ (๗) เวลาทำงานประจำวัน ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องเปิดทำงานประจำวันที่สำนักงานใหญ่และหรือสำนักงานสาขา ตั้งแต่เวลา น. ปิดเวลา ........... น. เป็นอย่างน้อย เว้นวัน .......................................... (๘) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีสถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถดังนี้ (ก) สถานที่เก็บรถตั้งอยู่ที่ ............................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... (ข) สถานที่ซ่อมและบำรุงรักษารถตั้งอยู่ที่ .................................................................. ...................................................................................................................................................................................... (๙) เงื่อนไขอื่น .......................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ๑๐ ลำดับที่ รายการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและหรือรายละเอียดในใบอนุญาต วัน/เดือน/ปี ลงชื่อนายทะเบียน ๑๑ คำเตือน (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหลังใบอนุญาตนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่ง หรือ ค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกเส้นทาง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับคันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ วัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ใช้รถในการประกอบการขนส่งตามจำนวนที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตามจำนวนรถที่ขาดคันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ วัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราวตามมาตรา ๒๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (๖) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่แสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๗) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปิดประกาศเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง อัตราค่าขนส่งและค่าบริการ สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายสัตว์หรือสิ่งของที่รถจะต้องหยุดในระหว่างเส้นทาง เวลาและจำนวนเที่ยวของการเดินรถไว้ ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนดตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๘) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญของใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ๑๒ (๙) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ส่งคืนใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๑๐) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกประกอบการขนส่งในระหว่างที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ โดยไม่แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน ก่อนวันเลิกประกอบการขนส่งตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (๑๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด มีความประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่า ๑๒๐ วัน ตามมาตรา ๒๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๑๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้วโดยไม่แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบ และไม่นำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้นตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ขส.บ. ๑๒ ค. (ครุฑ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ใบอนุญาตที่ ........................ / ................................ นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ .............................................................................................. สำนักงานชื่อ ........................................................................... อยู่เลขที่ .................... ตรอก/ซอย ................. ถนน ................................................ หมู่ที่ .................... ตำบล/แขวง ............................................................... อำเภอ/เขต ...................................................................... จังหวัด ......................... มีสิทธิประกอบการขนส่ง ไม่ประจำทาง ใบอนุญาตฉบับนี้ให้มีอายุ ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ .................... เดือน ....................................... พ.ศ. ............. ถึงวันที่............... เดือน ......................................................... พ.ศ. ........... โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ในใบอนุญาตนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ .................. เดือน ........................ พ.ศ. .......................... ................................................................. นายทะเบียน ๑๔ เงื่อนไข (๑) จำนวนรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องใช้รถที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (๒) จำนวนไม่เกิน คัน (๒) ลักษณะ ชนิด ขนาดของรถ และเครื่องหมาย (ก) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องใช้รถ ลักษณะ ........................................................................................................ จำนวน .................................... คัน ลักษณะ ........................................................................................................ จำนวน .................................... คัน ลักษณะ ........................................................................................................ จำนวน .................................... คัน ลักษณะ ........................................................................................................ จำนวน .................................... คัน ลักษณะ ........................................................................................................ จำนวน .................................... คัน (ข) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้เครื่องหมายตามแบบที่แนบท้ายใบอนุญาต เป็นเครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน โดยแสดงไว้ที่ด้านนอกตัวรถทั้งสองข้าง (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุกและวิธีการบรรทุก (ก) รถที่นำมาใช้ในการขนส่งแต่ละคันต้องมีจำนวนที่นั่งและหรือที่สำหรับผู้โดยสารยืน ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ข) วิธีการบรรทุกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด (๔) จำนวนผู้ประจำรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีผู้ประจำรถในเส้นทางอย่างน้อยดังนี้ (ก) ผู้ขับรถ ................................................ คน (ข) ผู้บริการ .............................................. คน (๕) ท้องที่ที่ทำการขนส่ง ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำการขนส่งในท้องที่ดังนี้ ......................... ...................................................................................................................................................................................... (๖) มาตรฐานบริการ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องบริการโดยมีมาตรฐานดังนี้ (ก) ....................................................................................................................................... (ข) ....................................................................................................................................... (ค) ....................................................................................................................................... ๑๕ (๗) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายผู้โดยสาร ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องให้รถหยุดและจอด ................................... ...................................................................................................................................................................................... (๘) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีสถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถดังนี้ (ก) สถานที่เก็บรถตั้งอยู่ที่ ............................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... (ข) สถานที่ซ่อมและบำรุงรักษารถตั้งอยู่ที่ .................................................................. ...................................................................................................................................................................................... (๙) เงื่อนไขอื่น .......................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ๑๖ ลำดับที่ รายการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและหรือรายละเอียดในใบอนุญาต วัน/เดือน/ปี ลงชื่อนายทะเบียน ๑๗ คำเตือน (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหลังใบอนุญาต มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่ง หรือ ค่าบริการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกเส้นทาง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับคันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ วัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางผู้ใด กระทำการขนส่งอันมีลักษณะเช่นเดียวหรือคล้ายกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง หรือมีลักษณะเป็นการแย่งผลประโยชน์กับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราวตามมาตรา ๒๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (๖) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่แสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๗) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปิดประกาศอัตราค่าขนส่งและค่าบริการ สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายผู้โดยสารไว้ ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนดตามมาตรา ๓๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๘) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญของใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ๑๘ (๙) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ส่งคืนใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๑๐) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด มีความประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุตามมาตรา ๒๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๑๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้วโดยไม่แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบ และไม่นำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้นตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ขส.บ. ๑๒ ง. (ครุฑ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ใบอนุญาตที่ ........................ / ................................ นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ .............................................................................................. สำนักงานชื่อ ................................................. อยู่เลขที่ .......................... ตรอก/ซอย ..................................... ถนน .......................................................... หมู่ที่ .................... ตำบล/แขวง ..................................................... อำเภอ/เขต ...................................................................... จังหวัด .......................... มีสิทธิประกอบการขนส่ง ไม่ประจำทาง ใบอนุญาตฉบับนี้ให้มีอายุ ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ ........ เดือน ............................... พ.ศ. ....... ถึงวันที่....... เดือน ................................................... พ.ศ. ................... โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายและเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ในใบอนุญาตนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ .................. เดือน ........................ พ.ศ. .......................... ................................................................. นายทะเบียน ๒๐ เงื่อนไข (๑) จำนวนรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องใช้รถที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ข้อ ๒ จำนวนไม่เกิน คัน (๒) ลักษณะ ชนิด ขนาดของรถ และเครื่องหมาย (ก) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องใช้รถ ลักษณะ ................................................................................................................ จำนวน ............................ คัน ลักษณะ ................................................................................................................ จำนวน ............................ คัน ลักษณะ ................................................................................................................ จำนวน ............................ คัน ลักษณะ ................................................................................................................ จำนวน ............................ คัน ลักษณะ ................................................................................................................ จำนวน ............................ คัน (ข) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้เครื่องหมายตามแบบที่แนบท้ายใบอนุญาต เป็นเครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน โดยแสดงไว้ที่ด้านนอกตัวรถทั้งสองข้าง (๓) เกณฑ์น้ำหนักบรรทุกและวิธีการบรรทุก (ก) รถที่นำมาใช้ในการขนส่งแต่ละคันเมื่อบรรทุกสัตว์และหรือสิ่งของ ต้องมีน้ำหนักรวมกันไม่เกินเกณฑ์ตามที่ทางราชการกำหนด (ข) วิธีการบรรทุกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด (๔) จำนวนผู้ประจำรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีผู้ประจำรถอย่างน้อยดังนี้ (ก) ผู้ขับรถ ................................................ คน (ข) ผู้บริการ .............................................. คน (๕) ท้องที่ที่ทำการขนส่ง ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทำการขนส่งในท้องที่ดังนี้ ......................... ...................................................................................................................................................................................... (๖) มาตรฐานบริการ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องบริการโดยมีมาตรฐานดังนี้ (ก) ......................................................................... (ข) ......................................................................... (ค) ......................................................................... ๒๑ (๗) สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายสัตว์หรือสิ่งของ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องให้รถหยุดและจอดเพื่อขนถ่ายสัตว์หรือสิ่งของ ณ สถานที่ดังนี้ ...................................................................................................................................................................................... (๘) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีสถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารดังนี้ (ก) สถานที่เก็บรถตั้งอยู่ที่ ............................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... (ข) สถานที่ซ่อมและบำรุงรักษารถตั้งอยู่ที่ .................................................................. ...................................................................................................................................................................................... (๙) เงื่อนไขอื่น .......................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ๒๒ ลำดับที่ รายการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและหรือรายละเอียดในใบอนุญาต วัน/เดือน/ปี ลงชื่อนายทะเบียน ๒๓ คำเตือน (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหลังใบอนุญาตนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่ง หรือ ค่าบริการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาต โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับคันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ วัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางผู้ใด กระทำการขนส่งอันมีลักษณะเช่นเดียวหรือคล้ายกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง หรือมีลักษณะเป็นการแย่งผลประโยชน์กับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราวตามมาตรา ๒๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (๖) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่แสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๗) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปิดประกาศอัตราค่าขนส่งและค่าบริการ สถานที่หยุดและจอดเพื่อขนถ่ายสัตว์ หรือสิ่งของไว้ ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนดตามมาตรา ๓๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ๒๔ (๘) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญของใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๙) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ส่งคืนใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๑๐) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด มีความประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุตามมาตรา ๒๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๑๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้วโดยไม่แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบ และไม่นำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้นตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ขส.บ. ๑๒ จ. (ครุฑ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง โดยรถขนาดเล็ก ใบอนุญาตที่ ........................ / ................................ นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ .............................................................................................. สำนักงานชื่อ ................................................... อยู่เลขที่ ........................ ตรอก/ซอย ..................................... ถนน .............................................. หมู่ที่ .................................. ตำบล/แขวง ................................................... อำเภอ/เขต .......................................................................................................... จังหวัด .................................... มีสิทธิประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ในเส้นทาง ...................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ใบอนุญาตฉบับนี้ให้มีอายุ ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ ...... เดือน ..................................................... พ.ศ. ............. ถึงวันที่ ................ เดือน ............................................. พ.ศ. ............. โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายและเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ในใบอนุญาตนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ .................. เดือน ........................ พ.ศ. .......................... ................................................................. นายทะเบียน ๒๖ เงื่อนไข (๑) ลักษณะและจำนวนรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องใช้รถที่มีลักษณะเป็นรถขนาดเล็ก จำนวนอย่างน้อย คัน อย่างมาก คัน (๒) สีของรถ และเครื่องหมาย (ก) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้สี ............................... เป็นสีตัวถังรถ (ข) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้เครื่องหมายตามแบบที่แนบท้ายใบอนุญาตเป็นเครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน โดยแสดงไว้ที่ด้านนอกตัวรถทั้งสองข้าง (๓) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (ก) รถที่นำมาใช้ในการขนส่งแต่ละคันต้องมีจำนวนที่นั่งสำหรับผู้โดยสารและหรือมีที่สำหรับบรรทุกสิ่งของรวมไปกับผู้โดยสารตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ข) วิธีการบรรทุกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกำหนด (๔) เงื่อนไขอื่น .......................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ๒๗ ลำดับที่ รายการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและหรือรายละเอียดในใบอนุญาต วัน/เดือน/ปี ลงชื่อนายทะเบียน ๒๘ คำเตือน (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหลังใบอนุญาตนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่ง หรือ ค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกเส้นทาง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับคันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ วัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราวตามมาตรา ๒๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่แสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๖) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปิดประกาศเส้นทางที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง อัตราค่าขนส่งและค่าบริการไว้ ณ ที่ซึ่งอธิบดีกำหนดตามมาตรา ๓๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๗) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญของใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๘) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ส่งคืนใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนต่อนายทะเบียน ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ๒๙ (๙) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกประกอบการขนส่งในระหว่างที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ โดยไม่แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๖๐ วัน ก่อนวันเลิกประกอบการขนส่งตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (๑๐) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด มีความประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่า ๑๒๐ วัน ตามมาตรา ๒๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๑๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้วโดยไม่แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบ และไม่นำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้นตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ขส.บ. ๑๒ ฉ. (ครุฑ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร[๕] ใบอนุญาตที่ ........................... / ....................... นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ ............................................................................................ สำนักงานชื่อ ................................................................................................................ อยู่เลขที่ ........................ ตรอก/ซอย .............................................................. ถนน ....................................................... หมู่ที่ ............... ตำบล/แขวง ................................................ อำเภอ/เขต ......................... จังหวัด ......................................... มีสิทธิประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใบอนุญาตฉบับนี้ให้มีอายุ ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ ................................. เดือน ............................... พ.ศ. ....................... ถึงวันที่ ............. เดือน ........................... พ.ศ. .................. โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ ในใบอนุญาตนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ........... เดือน ............................. พ.ศ. ................... .......................................................... นายทะเบียน เงื่อนไข (๑) จำนวนรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องใช้รถที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (๒) จำนวนไม่เกิน คัน (๒) ลักษณะ ชนิด ขนาดของรถ และเครื่องหมาย (ก) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องใช้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ................................................................................................................. จำนวน ........................ คัน มาตรฐาน ................................................................................................................. จำนวน ........................ คัน มาตรฐาน ................................................................................................................. จำนวน ........................ คัน มาตรฐาน ................................................................................................................. จำนวน ........................ คัน มาตรฐาน ................................................................................................................. จำนวน ........................ คัน มาตรฐาน ................................................................................................................. จำนวน ........................ คัน มาตรฐาน ................................................................................................................. จำนวน ........................ คัน (ข) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้เครื่องหมายตามแบบที่แนบท้ายใบอนุญาต ถ้ามี เป็นเครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน โดยแสดงไว้ที่ด้านนอกตัวรถทั้งสองข้าง (๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีสถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถดังนี้ (ก) สถานที่เก็บรถตั้งอยู่ที่ ............................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... (ข) สถานที่ซ่อมและบำรุงรักษารถตั้งอยู่ที่ .................................................................. ...................................................................................................................................................................................... (๔) จำนวนผู้ประจำรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีผู้ขับรถอย่างน้อยดังนี้ ........................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... (๕) เงื่อนไขอื่น .......................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ลำดับที่ รายการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและหรือรายละเอียดในใบอนุญาต วัน/เดือน/ปี ลงชื่อนายทะเบียน คำเตือน (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาต โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับคันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ วัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราวตามมาตรา ๒๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่แสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญของใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๖) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ส่งคืนใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๗) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด มีความประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุตามมาตรา ๒๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๘) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้วโดยไม่แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบ และไม่นำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้นตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ขส.บ. ๑๒ ช. (ครุฑ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ[๖] ใบอนุญาตที่ ........................... / ....................... นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ ............................................................................................ สำนักงานชื่อ ................................................................................................................ อยู่เลขที่ ........................ ตรอก/ซอย .............................................................. ถนน ....................................................... หมู่ที่ ............... ตำบล/แขวง ................................................ อำเภอ/เขต ......................... จังหวัด ......................................... มีสิทธิประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใบอนุญาตฉบับนี้ให้มีอายุ ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ ................................. เดือน ............................... พ.ศ. ....................... ถึงวันที่ ............. เดือน ........................... พ.ศ. .................. โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ ในใบอนุญาตนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ........... เดือน ............................. พ.ศ. ................... ................................................................. นายทะเบียน เงื่อนไข (๑) จำนวนรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องใช้รถที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (๒) จำนวนไม่เกิน คัน (๒) ลักษณะ ชนิด ขนาดของรถ และเครื่องหมาย (ก) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องใช้รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ............................................................................................................ จำนวน ................................ คัน ลักษณะ ............................................................................................................ จำนวน ................................ คัน ลักษณะ ............................................................................................................ จำนวน ................................ คัน ลักษณะ ............................................................................................................ จำนวน ................................ คัน ลักษณะ ............................................................................................................ จำนวน ................................ คัน ลักษณะ ............................................................................................................ จำนวน ................................ คัน ลักษณะ ............................................................................................................ จำนวน ................................ คัน ลักษณะ ............................................................................................................ จำนวน ................................ คัน ลักษณะ ............................................................................................................ จำนวน ................................ คัน (ข) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้เครื่องหมายตามแบบที่แนบท้ายใบอนุญาต ถ้ามี เป็นเครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน โดยแสดงไว้ที่ด้านนอกตัวรถทั้งสองข้าง (๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีสถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถดังนี้ (ก) สถานที่เก็บรถตั้งอยู่ที่ ............................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... (ข) สถานที่ซ่อมและบำรุงรักษารถตั้งอยู่ที่ .................................................................. ...................................................................................................................................................................................... (๔) จำนวนผู้ประจำรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีผู้ขับรถอย่างน้อยดังนี้ ........................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... - ๒ - (๕) เงื่อนไขอื่น .......................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ลำดับที่ รายการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและหรือรายละเอียดในใบอนุญาต วัน/เดือน/ปี ลงชื่อนายทะเบียน คำเตือน (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาต โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับคันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ วัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราวตามมาตรา ๒๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่แสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญของใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๖) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ส่งคืนใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๗) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด มีความประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุตามมาตรา ๒๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๘) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้วโดยไม่แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบ และไม่นำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้นตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๒๓ วรรคสอง และมาตรา ๒๘ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่าการขออนุญาตและการอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล และการขอต่ออายุใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๗] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประเภทต่าง ๆ ยังไม่มีบทบัญญัติโดยเฉพาะเกี่ยวกับการปิดประกาศการรับคำขออนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตแก่ผู้ประกอบการขนส่งประจำทางเป็นไปด้วยความเป็นธรรม สมควรให้มีการปิดประกาศการรับคำขออนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางเป็นการทั่วไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๒ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๘] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการแก่ผู้โดยสารสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ (รถปรับอากาศพิเศษ) ได้รับความนิยมจากประชาชนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและพัฒนาการให้บริการด้านการขนส่งผู้โดยสาร สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อแก้ไขลักษณะของรถที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในการประกอบการขนส่งผู้โดยสารดังกล่าวให้เหมาะสมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๙ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๙] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการขนส่งได้นำรถโดยสารมาตรฐาน ๔ (สองชั้น) ไปใช้ทำการขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก สมควรแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ เสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๒ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑๐] ข้อ ๒ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่นายทะเบียนได้ออกให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ ข้อ ๓ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๓๔ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลให้นายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนผู้ประจำรถตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง แต่โดยที่ปัจจุบันแบบใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลที่กำหนดไว้ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่มีช่องรายการบันทึกเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนผู้ประจำรถไว้ในแบบใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล สมควรปรับปรุงแบบใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลดังกล่าวเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ผู้จัดทำ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ อังศุมาลี/เพิ่มเติม ๒๑ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘/ตอนที่ ๒๑๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ [๒] ข้อ ๒ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓] ข้อ ๑๐ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๙ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๔] ข้อ ๑๐ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๙ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๕] ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร (ขส.บ. ๑๒ ฉ.) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๒ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๖] ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (ขส.บ. ๑๒ ช.) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๒ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๕/หน้า ๓/๑๕ มกราคม ๒๕๒๘ [๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๓/๑ พฤษภาคม ๒๕๓๒ [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๑๒/หน้า ๖/๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐/ตอนที่ ๑๙๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖/๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๖
756310
กฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๑๑๔ วรรคสอง มาตรา ๑๑๕ วรรคสี่ และมาตรา ๑๑๙ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ สถานีขนส่งผู้โดยสาร ต้องมีลักษณะเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็นศูนย์รวมกระจาย และสับเปลี่ยนรถสำหรับการขนส่งผู้โดยสาร รวมทั้งเป็นสถานที่ให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่ง และประกอบด้วย (๑) อาคารสถานีซึ่งจัดให้มีพื้นที่สำหรับบริการผู้โดยสาร ที่จำหน่ายตั๋ว โทรศัพท์สาธารณะ ส้วม ที่ทำงานของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก ที่จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดและเครื่องดื่ม ที่พักผู้โดยสาร ที่พักผู้ประจำรถ และที่รับฝากสิ่งของ (๒) ลานจอดรถยนต์โดยสาร รถแท็กซี่และรถส่วนบุคคล (๓) ที่สำหรับเป็นอู่และบริการซ่อมรถ แบบ ขนาด และจำนวนตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒[๒] สถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ต้องมีลักษณะเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็นศูนย์รวม กระจาย แลกเปลี่ยนสินค้า และสับเปลี่ยนรถสำหรับการขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของรวมทั้งเป็นสถานที่ให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่ง และประกอบด้วย (๑) อาคารสถานีซึ่งจัดให้มีพื้นที่สำหรับที่ทำการ ที่ทำงานของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก ที่พักสินค้า ที่ขนถ่ายสินค้า ห้องน้ำ ห้องส้วม ที่พักผู้ประจำรถ และที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม (๒) คลังสินค้า (๓) อาคารสำหรับจำแนกสินค้าหรือบรรจุหีบห่อ (๔) ที่สำหรับเป็นอู่และบริการซ่อมรถ (๕) ที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง (๖) ลานจอดพักรถ (๗) ลานคอนเทนเนอร์ (๘) ที่ชั่งน้ำหนัก (๙) เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อความสะดวกตามความจำเป็นและเหมาะสม ได้แก่ รถปั้นจั่น รถยก รถเข็น รถลาก เครื่องทุ่นแรง และเครื่องมือบรรจุหีบห่อ หรือเครื่องมือเครื่องใช้อื่น (๑๐) โทรศัพท์สาธารณะ (๑๑) ระบบสารสนเทศสำหรับข้อมูลด้านการขนส่ง (๑๒) เครื่องดับเพลิงซึ่งติดตั้งในสถานที่ตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) แบบ ขนาด และจำนวนตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) และ (๑๐) ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ การดำเนินการตาม (๓) (๕) (๗) และ (๘) ให้กรมการขนส่งทางบกมีอำนาจยกเว้นการดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ข้อ ๓ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบของกรมการขนส่งทางบกพร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลธรรมดา (ก) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน (ค) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้ที่ดินที่จะทำการก่อสร้างสถานีขนส่ง (ง) แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (จ) แบบแปลนแผนผัง และผังบริเวณแสดงตำแหน่งที่ตั้ง และทางเข้าและทางออกสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (๒) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ก) รายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ข) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้ที่ดินที่จะทำการก่อสร้างสถานีขนส่ง (จ) แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (ฉ) แบบแปลนแผนผัง และผังบริเวณแสดงตำแหน่งที่ตั้ง และทางเข้าและทางออกสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (๓) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ข) รายชื่อและสัญชาติของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิการใช้ที่ดินที่จะทำการก่อสร้างสถานีขนส่ง (ฉ) แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (ช) แบบแปลนแผนผัง และผังบริเวณแสดงตำแหน่งที่ตั้ง และทางเข้าและทางออกสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (๔) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (ข) รายชื่อกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกคน (ค) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการของบริษัททุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของกรรมการของบริษัททุกคน (จ) รายชื่อและสัญชาติของผู้ถือหุ้นทุกคน และจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือ (ฉ) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ (ช) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้ที่ดินที่จะทำการก่อสร้างสถานีขนส่ง (ซ) แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (ฌ) แบบแปลนแผนผัง และผังบริเวณแสดงตำแหน่งที่ตั้ง และทางเข้าและทางออกสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด ให้ผู้ยื่นคำขอตามข้อนี้วางเงินสด หรือเช็คหรือตั๋วแลกเงินของธนาคาร ตามจำนวนเงินที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด เพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามคำขอรับใบอนุญาต ข้อ ๔ การยื่นคำขอตามกฎกระทรวงนี้ ให้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก และสำหรับในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร จะยื่นคำขอต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดนั้น ๆ ก็ได้ ข้อ ๕ ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ให้ใช้แบบใบอนุญาตท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๖ เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแล้ว ต้องมาทำสัญญากับกรมการขนส่งทางบกภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้กรมการขนส่งทางบกริบหลักประกันตามข้อ ๓ เสียทั้งสิ้น ข้อ ๗[๓] ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบกพร้อมใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ หรือใบแทน แล้วแต่กรณี การขอต่ออายุใบอนุญาต ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ หรือผู้ถือหุ้น ให้ยื่นหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓ เฉพาะที่มีการเปลี่ยนแปลง ข้อ ๘ การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของตามกฎกระทรวงนี้ ให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิมให้ใหม่ ข้อ ๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของผู้ใดประสงค์จะขอรับใบแทนใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐานการรับแจ้งความของสถานีตำรวจ หรือใบอนุญาตที่ชำรุดนั้น การอนุญาตคำขอใบแทนใบอนุญาต ให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิม แต่ให้ระบุคำว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านหน้าด้วย ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ใบอนุญาตที่ ........................ / ................................ นายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางออกใบอนุญาตให้ สำนักงาน ชื่อ อยู่เลขที่ .......................................... ตรอก/ซอย .................................... ถนน ................................................. หมู่ที่ ................................ ตำบล/แขวง .................................................. อำเภอ/เขต ..................................... จังหวัด .................................................. จัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ชื่อ ............................................... .............................................................. อยู่เลขที่ ...................................... ตรอก/ซอย ..................................... ถนน ........................ หมู่ที่ .............. ตำบล/แขวง ........................................... อำเภอ/เขต ........................ จังหวัด .................................................. ใบอนุญาตฉบับนี้ให้มีอายุ .............. ปี นับตั้งแต่วันที่ .................. เดือน .................... พ.ศ. ...................... ถึงวันที่ ............... เดือน .............................. พ.ศ. .......................... ให้ไว้ ณ วันที่ .................. เดือน ........................ พ.ศ. .......................... ................................................................. นายทะเบียนกลาง คำเตือน (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใด ไม่จัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างประจำสถานีขนส่งตลอดเวลาตามมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใด ไม่จัดให้มีอู่ซ่อมรถและบริการซ่อมรถตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใด ไม่จัดให้มีบริเวณที่จอดพักรถตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใด ไม่จัดให้มีสมุดทะเบียนการเดินรถที่ผ่านเข้าออกสถานีขนส่งตามแบบที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๑๒๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใด เรียกเก็บค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งเกินอัตราตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดตามมาตรา ๑๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (๖) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งปีตามมาตรา ๑๑๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๑๔ วรรคสอง มาตรา ๑๑๕ วรรคสี่ และมาตรา ๑๑๙ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของสถานีขนส่ง หลักเกณฑ์และวิธีการขออนุญาตและการอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง และการขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๙ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่หลักเกณฑ์ในการจัดตั้งสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและไม่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนของภาคเอกชน ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในกิจการการจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ประกอบกับเพื่อให้การจัดระเบียบการขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ผู้จัดทำ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ อังศุมาลี/เพิ่มเติม ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๒๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙/๑๐ กันยายน ๒๕๒๕ [๒] ข้อ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๙ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๙ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๘๐ ก/หน้า ๔/๘ สิงหาคม ๒๕๔๙
860557
กฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขการบำรุงรักษารถไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พ.ศ. 2563
กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไขการบำรุงรักษารถไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พ.ศ. ๒๕๖๓[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง (๑๕) มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง (๑๐) และมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง (๗) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๓๔ (๕) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง และใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดให้มีการบำรุงรักษารถไว้ในใบอนุญาตดังกล่าว การกำหนดเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง ให้มีการกำหนดลักษณะการใช้งานของรถที่ต้องจัดให้มีการบำรุงรักษา รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการบำรุงรักษารถตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ข้อ ๒ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้นายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดให้มีการบำรุงรักษารถไว้ในใบอนุญาตดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การเกิดอุบัติเหตุทางถนนมีสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งคือ สภาพเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถไม่มั่นคงแข็งแรงหรือขาดความสมบูรณ์พร้อมใช้งาน ประกอบกับลักษณะการใช้งานรถที่ใช้ในการขนส่งมีผลทำให้เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถเกิดการสึกหรออย่างรวดเร็ว หากไม่มีการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องและบำรุงรักษารถเป็นประจำอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้งานรถนั้นได้ การตรวจสอบและบำรุงรักษารถเมื่อครบตามระยะทางหรือระยะเวลาที่กำหนดจะทำให้เกิดความปลอดภัยในการขนส่งและการใช้งานมากขึ้น สมควรกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดให้มีการบำรุงรักษารถเป็นเงื่อนไขอื่นที่ให้นายทะเบียนกำหนดไว้ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ชญานิศ/จัดทำ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ สุภาทิพย์/ตรวจ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนที่ ๔๒ ก/หน้า ๔/๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๓
839009
กฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถจากการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 พ.ศ. 2562
กฎกระทรวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถจากการควบรวมกิจการ ของธนาคารพาณิชย์ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้ “ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน แต่ไม่หมายความรวมถึงสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ข้อ ๒ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ควบรวมกิจการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ ๓ ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบให้ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่กันจากธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยการดำเนินการควบรวมกิจการต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อ สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่กัน เพื่อเป็นการสนับสนุนการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ไทยตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ ๓ และโดยที่มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียม จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พัชรภรณ์/จัดทำ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๘๕ ก/หน้า ๑๒/๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒
756037
กฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล พ.ศ. 2559
กฎกระทรวง กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๓๔ (๕) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้นายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขในเรื่องดังต่อไปนี้ไว้ในใบอนุญาต ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนด (๑) จำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก และวิธีการบรรทุก (๒) มาตรฐานดำเนินการในการประกอบการขนส่ง ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลเกี่ยวกับจำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุก วิธีการบรรทุก และมาตรฐานการดำเนินการในการประกอบการขนส่ง ทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลมีการใช้รถทำการขนส่งในลักษณะที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตราย และโดยที่มาตรา ๓๔ (๕) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้นายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขอื่นไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง สมควรกำหนดให้เงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ให้นายทะเบียนกำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลได้ อันจะเป็นการรักษาความปลอดภัยในการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กัญฑรัตน์/ปริยานุช/จัดทำ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๖๙ ก/หน้า ๘/๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๙
748366
กฎกระทรวงการกำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ รายงานการขนส่ง และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ. 2559
กฎกระทรวง กฎกระทรวง การกำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ที่ต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ รายงานการขนส่ง และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ. ๒๕๕๙ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิก (๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๘ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งดังต่อไปนี้ ต้องจัดทำสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ รายงานการขนส่ง และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร หรือรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร หรือรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร หรือรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามวรรคหนึ่ง ที่ได้ติดตั้งและใช้เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ให้ถือว่าได้ดำเนินการจัดทำสมุดประจำรถแล้ว ข้อ ๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ได้จัดทำสมุดประจำรถตามข้อ ๓ วรรคหนึ่ง ต้องควบคุมและกำกับดูแลให้ผู้ขับรถซึ่งปฏิบัติหน้าที่ขับรถทำการบันทึกข้อมูลรายการในสมุดประจำรถให้ครบถ้วนถูกต้องอย่างสม่ำเสมอและเก็บไว้ประจำรถทุกคัน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๒) รถที่ใช้ประกอบการขนส่ง (๓) ผู้ขับรถ (๔) เส้นทางหรือสถานที่ทำการขนส่ง ระยะทางที่ทำการขนส่ง และเวลาที่ทำการขนส่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดเก็บสมุดประจำรถเล่มเดิมซึ่งได้มีการบันทึกข้อมูลรายการจนเต็มแล้วไว้ ณ ที่ทำการหรือสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี ข้อ ๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดทำประวัติผู้ประจำรถซึ่งปฏิบัติหน้าที่กับตนเก็บไว้ ณ ที่ทำการหรือสำนักงานตลอดเวลาที่ผู้ประจำรถนั้นปฏิบัติหน้าที่ และแจ้งให้กรมการขนส่งทางบกทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ประจำรถได้ปฏิบัติหน้าที่กับตน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๒) ชื่อผู้ประจำรถ ใบอนุญาตผู้ประจำรถ และตำแหน่ง (๓) ระยะเวลารับเข้าทำงาน และการเลิกจ้าง (๔) การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตาม (๒) หรือ (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องปรับปรุงข้อมูลประวัติผู้ประจำรถตามวรรคหนึ่งให้ถูกต้องและครบถ้วนอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลประวัติผู้ประจำรถ จะต้องแจ้งให้กรมการขนส่งทางบกทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าว ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดเก็บข้อมูลประวัติผู้ประจำรถซึ่งพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการของตนไว้ ณ ที่ทำการหรือสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ประจำรถนั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ ข้อ ๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดทำรายงานการขนส่งซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๒) รถที่ใช้ประกอบการขนส่ง (๓) ผู้ประจำรถ (๔) ประเภทและปริมาณสินค้า หรือจำนวนผู้โดยสาร (๕) เส้นทางพร้อมทั้งสถานที่หยุดและจอด หรือสถานที่ทำการขนส่ง (๖) จำนวนเที่ยว ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องส่งรายงานการขนส่งให้กรมการขนส่งทางบกทราบทุกสามเดือน ข้อ ๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งในกิจการของตนที่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือมีความเสียหายของทรัพย์สินที่มีมูลค่าความเสียหายตามที่อธิบดีประกาศกำหนดต่อกรมการขนส่งทางบกภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ รายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๒) ผู้ประจำรถ (๓) รถที่เกิดอุบัติเหตุ (๔) คู่กรณี (๕) สถานที่และเวลาที่เกิดเหตุ (๖) ผู้บาดเจ็บ และความเสียหาย (๗) ลักษณะหรือพฤติการณ์ที่เกิดอุบัติเหตุ (๘) สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ข้อ ๘ แบบของสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ รายงานการขนส่ง และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๙ การจัดส่งข้อมูลประวัติผู้ประจำรถ รายงานการขนส่ง และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง ให้เป็นไปตามวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานแล้วและไม่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้เทคโนโลยีในการขนส่งที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งรูปแบบและการส่งรายงานต่าง ๆ ยังไม่มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการข้อมูลของทางราชการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ และเพื่อให้กรมการขนส่งทางบกมีข้อมูลสำหรับใช้ในการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งให้เหมาะสมยิ่งขึ้น สมควรปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อกำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ รายงานการขนส่ง และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดเสียใหม่ รวมทั้งเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการขนส่งด้วย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/จัดทำ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ ชวัลพร/ตรวจ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๓๐ ก/หน้า ๓๑/๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙
747645
กฎกระทรวง ฉบับที่ 62 (พ.ศ. 2559) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๒ (พ.ศ. ๒๕๕๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่ข้อ ๙ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (ฑ) ของ (๑) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ฑ) ระบบไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยสายไฟฟ้า ฉนวน สวิตซ์ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด จำนวน ขนาด คุณลักษณะ ระบบการทำงาน สมรรถนะ และประสิทธิภาพของอุปกรณ์ของระบบไฟฟ้า รวมทั้งการติดตั้งและการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ถ) ของ (๑) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “(ถ) ระบบหน่วงความเร็วของรถซึ่งทำหน้าที่ชะลอความเร็วรถ ซึ่งมีคุณลักษณะ ระบบการทำงานสมรรถนะ และประสิทธิภาพของระบบหน่วงความเร็วของรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีระบบหน่วงความเร็วของรถ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความใน (ฒ) และ (ณ) ของ (๒) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ฒ) อุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ซึ่งมีคุณลักษณะ สี ขนาด จำนวน และตำแหน่งการติดตั้งรวมทั้งประเภท และลักษณะของรถที่ต้องมีอุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ณ) เข็มขัดนิรภัย ซึ่งมีคุณลักษณะ สมรรถนะ มาตรฐาน แบบ การติดตั้ง และการยึดเข็มขัดนิรภัย รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๒ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถลากจูงได้ในขณะเต็มอัตราบรรทุกและสามารถทำให้รถตอนท้ายเคลื่อนตัวและเลี้ยวตามรถตอนหน้าได้โดยปลอดภัย ทั้งนี้ อุปกรณ์ต่อพ่วงดังกล่าวต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๖ ให้ยกเลิกความในข้อ ๗ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๗ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่ม ให้มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มขนาดพอสมควรอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม ซึ่งต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความไม่สะดวกแก่ผู้โดยสารที่มีที่นั่งใกล้เคียงบริเวณดังกล่าว” ข้อ ๗ ให้ยกเลิกความใน (ฌ) ของ (๑) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ฌ) ระบบไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยสายไฟฟ้า ฉนวน สวิตซ์ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด จำนวน ขนาด คุณลักษณะ ระบบการทำงาน สมรรถนะ และประสิทธิภาพของอุปกรณ์ของระบบไฟฟ้า รวมทั้งการติดตั้งและการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๘ ให้ยกเลิกความใน (ฎ) และ (ฏ) ของ (๒) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ฎ) อุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ซึ่งมีคุณลักษณะ สี ขนาด จำนวน และตำแหน่งการติดตั้ง รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีอุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฏ) เข็มขัดนิรภัย ซึ่งมีคุณลักษณะ สมรรถนะ มาตรฐาน แบบ การติดตั้ง และการยึดเข็มขัดนิรภัย รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๙ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของข้อ ๑๓ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๒) ความสูง ความสูงภายนอกของรถเมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ ต้องมีความสูงไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) และ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก ต้องมีความสูงไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร ความสูงภายในของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ความสูงของรถต้องไม่ทำให้การทรงตัวของรถต่ำกว่าเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๕ เบ็ดเตล็ด ข้อ ๑๔/๒ ของหมวด ๑ สภาพเครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “ส่วนที่ ๕ เบ็ดเตล็ด ข้อ ๑๔/๒ วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตหรือประกอบเป็นเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบหรือการตกแต่งภายนอกหรือภายในของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ต้องมีคุณสมบัติในด้านการลุกไหม้ การลามไฟ การแผ่รังสี การละลาย หรือความเป็นพิษ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ประเภทและลักษณะของรถที่ต้องใช้วัสดุตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๑ ให้ยกเลิกความใน (ฑ) ของ (๑) ของข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ฑ) ระบบไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยสายไฟฟ้า ฉนวน สวิตซ์ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด จำนวน ขนาด คุณลักษณะ ระบบการทำงาน สมรรถนะ และประสิทธิภาพของอุปกรณ์ของระบบไฟฟ้า รวมทั้งการติดตั้งและการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ถ) ของ (๑) ของข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “(ถ) ระบบหน่วงความเร็วของรถซึ่งทำหน้าที่ชะลอความเร็วรถ ซึ่งมีคุณลักษณะ ระบบการทำงานสมรรถนะ และประสิทธิภาพของระบบหน่วงความเร็วของรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีระบบหน่วงความเร็วของรถ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๓ ให้ยกเลิกความใน (ซ) และ (ฌ) ของ (๒) ของข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ซ) อุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ซึ่งมีคุณลักษณะ สี ขนาด จำนวน และตำแหน่งการติดตั้ง รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีอุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) เข็มขัดนิรภัย ซึ่งมีคุณลักษณะ สมรรถนะ มาตรฐาน แบบ การติดตั้ง และการยึดเข็มขัดนิรภัย รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ฎ) ของ (๒) ของข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “(ฎ) อุปกรณ์สำหรับยึดตู้หรือถังบรรทุก ซึ่งมีคุณลักษณะ สมรรถนะ ประสิทธิภาพ การติดตั้งและการยึดตู้หรือถังบรรทุก รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์สำหรับยึดตู้หรือถังบรรทุกตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๖ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑๖ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ ต้องมีจานพ่วงหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงที่มีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๖ ให้ยกเลิกความใน (ง) ของ (๒) ของข้อ ๑๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ง) อุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ซึ่งมีคุณลักษณะ สี ขนาด จำนวน และตำแหน่งการติดตั้ง รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีอุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ฉ) ของ (๒) ของข้อ ๑๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “(ฉ) อุปกรณ์สำหรับยึดตู้หรือถังบรรทุก ซึ่งมีคุณลักษณะ สมรรถนะ ประสิทธิภาพ การติดตั้งและการยึดตู้หรือถังบรรทุก รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์สำหรับยึดตู้หรือถังบรรทุกตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๕ เบ็ดเตล็ด ข้อ ๒๓ ของหมวด ๒ สภาพเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “ส่วนที่ ๕ เบ็ดเตล็ด ข้อ ๒๓ วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตหรือประกอบเป็นเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบหรือการตกแต่งภายนอกหรือภายในของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ต้องมีคุณสมบัติในด้านการลุกไหม้ การลามไฟ การแผ่รังสี การละลาย หรือความเป็นพิษ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ประเภทและลักษณะของรถที่ต้องใช้วัสดุตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๙ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จดทะเบียนก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ ๑๓ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนตัวถังของรถ ให้ความสูงของรถเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๒๐ บรรดาระเบียบหรือประกาศที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ จนกว่าจะมีระเบียบหรือประกาศตามกฎกระทรวงนี้ออกมาใช้บังคับ ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และขนาดของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานยานยนต์สากลอันจะทำให้การใช้รถในการขนส่งมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ วิศนี/ปริยานุช/จัดทำ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙ วิชพงษ์/ตรวจ ๕ เมษายน ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๒๔ ก/หน้า ๑/๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙
741404
กฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. 2558
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๐๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. ๒๕๕๔ ข้อ ๓ ในการใช้รถทำการขนส่งผู้โดยสาร ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งระหว่างประเทศต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่ใช้หรือยินยอมให้บุคคลต่อไปนี้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถ (ก) บุคคลซึ่งไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ หรือมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถไม่ตรงตามประเภทและชนิดของรถที่ใช้ทำการขนส่ง หรือมีใบอนุญาตที่สิ้นอายุแล้ว (ข) ผู้ขับรถซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกินชั่วโมงการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด (ค) ผู้ขับรถซึ่งหย่อนความสามารถในการขับรถ (๒) จัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามสูบบุหรี่ติดไว้ในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจนภายในตัวรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) จัดให้มีคำเตือนมิให้ขึ้นหรือลงรถนอกบริเวณที่มีเครื่องหมายหยุดรถติดไว้ในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจนที่ตัวรถด้านนอกและภายในตัวรถ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๔) จัดให้มีข้อมูลของผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถและหมายเลขทะเบียนรถติดไว้ในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจนภายในตัวรถ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๕) จัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแจ้งภัยและเหตุร้ายติดไว้ในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจนภายในตัวรถ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๖) จัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญญาณที่จะต้องแสดงเมื่อจำเป็นต้องจอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๗) ควบคุม กำกับ ดูแลให้ผู้ขับรถใช้เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กฎหมายกำหนด (๘) จัดให้มีอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่การให้ความช่วยเหลือหรือระงับเหตุเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินขึ้น ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๙) ส่งผู้ขับรถเข้ารับการอบรมกับกรมการขนส่งทางบกหรือหน่วยงานที่กรมการขนส่งทางบกมอบหมายตามหลักสูตรและกำหนดเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด หรือจัดให้มีการอบรมแก่ผู้ขับรถซึ่งมีหลักสูตร ระยะเวลา และมาตรฐานเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๑๐) จัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขนส่ง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด (๑๑) ควบคุม กำกับ ดูแลให้ผู้ขับรถต้องขับรถด้วยอัตราความเร็วไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งเฉพาะ (๑) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) และ (๑๑) ข้อ ๔ ในการใช้รถทำการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภท การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งส่วนบุคคล และการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีสิ่งป้องกันไม่ให้สัตว์หรือสิ่งของที่บรรทุก ตกหล่น รั่วไหล ส่งกลิ่น ส่องแสงสะท้อนหรือปลิวไปจากรถ อันอาจก่อเหตุเดือดร้อน รำคาญ ทำให้ทางสกปรก เปรอะเปื้อน ทำให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยแก่ประชาชน หรือก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน (๒) จัดให้มีเอกสารหรือคู่มือคำแนะนำการปฏิบัติเมื่อเกิดภัยหรือเหตุร้ายขึ้นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) บรรทุกสัตว์หรือสิ่งของให้ตรงตามลักษณะของรถที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๔) ปฏิบัติตามข้อกำหนดในข้อ ๓ (๑) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) และ (๑๑) ข้อ ๕ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในการขนส่งผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งระหว่างประเทศ ต้อง (ก) ดูแลผู้โดยสารให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในระหว่างการโดยสาร (ข) ดูแลให้ผู้โดยสารวางสัมภาระในตำแหน่งที่ไม่กีดขวางทางขึ้นลงหรือทางเดินภายในตัวรถและไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารอื่นหรือผู้อื่น (ค) ดูแลให้ผู้โดยสารได้รับความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารและในกรณีที่เกิดอุบัติภัยใด ๆ ขึ้นในระหว่างทำการขนส่งจะต้องช่วยเหลือหรือจัดให้ผู้โดยสารพ้นจากอุบัติภัยนั้นก่อน (ง) ไม่ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร (จ) ไม่ยื่นมือ แขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้สัญญาณตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก (ฉ) ไม่นำสิ่งของใด ๆ ที่มีกลิ่นรุนแรงที่ก่อความรำคาญต่อผู้โดยสารขึ้นบนรถ เว้นแต่จะได้จัดเก็บให้มิดชิดโดยปราศจากกลิ่นนั้น (ช) ไม่นำดอกไม้เพลิง วัตถุระเบิด หรือวัตถุกัดกร่อนขึ้นบนรถ (ซ) ไม่ถ่ายหรือทิ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงบนรถ เว้นแต่เป็นการถ่ายหรือทิ้งในบริเวณที่จัดไว้เป็นที่ถ่ายหรือทิ้งโดยเฉพาะ (ฌ) ไม่กระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล หรือกระทำการลามกอย่างอื่นไม่ว่าจะกระทำด้วยตนเอง หรือกระทำด้วยสื่อหรือวัสดุใด ๆ อันทำให้ปรากฏความหมายในทำนองเดียวกัน (ญ) ไม่สูบบุหรี่หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก การขนส่งส่วนบุคคล และการขนส่งระหว่างประเทศ ต้อง (ก) ปฏิบัติตามที่กำหนดใน (๑) (ข) บันทึกรายการต่าง ๆ ในสมุดประจำรถ (ค) ไม่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือคอมพิวเตอร์พกพาไม่ว่าเพื่อการใด ๆ ในขณะขับรถเว้นแต่เป็นการสนทนาที่ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับรถต้องไม่ถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือคอมพิวเตอร์พกพานั้น (ง) ใช้เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถหรืออุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด (จ) แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณเมื่อจำเป็นต้องจอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางตามข้อ ๓ (๖) ข้อ ๖ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ในประเภทการขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งส่วนบุคคล และการขนส่งระหว่างประเทศต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งในข้อ ๕ (๒) (ข) (ค) (ง) และ (จ) ข้อ ๗ บรรดาประกาศที่ออกตามกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ จนกว่าจะมีประกาศตามกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง ที่ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและผู้ประจำรถต้องปฏิบัติเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งสมควรเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยให้ครอบคลุมสำหรับผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของต้องปฏิบัติด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถทำการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/จัดทำ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ วิศนี/ตรวจ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๑๘ ก/หน้า ๖/๙ ธันวาคม ๒๕๕๘
725721
กฏกระทรวง ความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน พ.ศ. 2558
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน พ.ศ. ๒๕๕๘ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๒๕ วรรคสาม และมาตรา ๑๐๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้ “ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจากนายทะเบียนประเภทการขนส่งไม่ประจำทางหรือการขนส่งส่วนบุคคล ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่นำไปใช้ในการขนส่งวัตถุอันตราย ทั้งการขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ “วัตถุอันตราย” หมายความว่า วัตถุอันตรายตามประเภทที่กำหนดไว้ในประกาศกรมขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทหรือชนิด และลักษณะการบรรทุกวัตถุอันตรายที่ผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่ ๔ “ภาชนะบรรจุ” หมายความว่า ภาชนะที่มีลักษณะปิด และทำหน้าที่กักเก็บวัตถุอันตรายอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ รูปแบบของภาชนะบรรจุเป็นไปตามลักษณะ และสถานะของวัตถุอันตรายที่ทำการบรรจุ ข้อ ๓ ในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน ดังต่อไปนี้ (๑) ใช้รถที่มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กฎหมายกำหนด (๒) จัดให้มีอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นหรือที่ใช้สำหรับป้องกันอันตรายเมื่อมีอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ทั้งนี้ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และคุณลักษณะของอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) จัดให้มีเอกสารการขนส่งตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และต้องมีเอกสารดังกล่าวอยู่ในรถตลอดการขนส่ง (๔) ติดป้ายอักษร ภาพ และเครื่องหมายที่รถขนส่งวัตถุอันตรายตามที่กฎหมายกำหนด (๕) ตรวจสอบภาชนะบรรจุให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และผ่านการตรวจสอบตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (๖) ตรวจสอบภาชนะบรรจุให้มีเครื่องหมายหรือฉลากเพื่อแสดงความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายตามที่กฎหมายกำหนด (๗) ตรวจสอบความถูกต้องของการขนถ่าย การจัดวาง การผูกรัด การติดตรึง และการบรรทุกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด (๘) ไม่ให้หรือยินยอมให้บุคคลต่อไปนี้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถ (ก) บุคคลซึ่งไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่ ๔ หรืออยู่ระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือมีใบอนุญาตที่สิ้นอายุแล้ว (ข) บุคคลซึ่งไม่มีหนังสือรับรองผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด (ค) ผู้ขับรถซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกินชั่วโมงการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด (ง) ผู้ขับรถซึ่งหย่อนความสามารถในการขับรถ (๙) ไม่บรรทุกเกินน้ำหนักบรรทุกตามที่กฎหมายกำหนด (๑๐) จัดทำและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งวัตถุอันตราย หรือรายงานอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๑๑) ควบคุมผู้ขับรถให้ใช้ความเร็วไม่เกินอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนด (๑๒) ควบคุมให้ผู้ขับรถปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนนตาม (๒) (๓) (๔) (๖) และ (๗) ข้อ ๔ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่ ๔ ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน ดังต่อไปนี้ (๑) ตรวจสอบความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายตามข้อ ๓ (๒) (๓) (๔) (๖) และ (๗) (๒) ไม่บรรทุกผู้โดยสารไปกับรถที่ขนส่งวัตถุอันตราย (๓) ไม่เปิดภาชนะบรรจุที่บรรจุวัตถุอันตรายในระหว่างทำการขนส่ง (๔) ไม่สูบบุหรี่ในระหว่างทำการขนส่ง การขนถ่าย และการเคลื่อนย้ายวัตถุอันตรายทั้งในบริเวณใกล้เคียงรถและภายในรถ (๕) ไม่กระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดเปลวไฟหรือประกายไฟ (๖) ดับเครื่องยนต์ในระหว่างทำการขนถ่ายวัตถุอันตรายขึ้นและลงจากรถ ยกเว้นในกรณีที่ต้องใช้เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนเครื่องสูบหรืออุปกรณ์อื่น ๆ สำหรับการขนถ่ายวัตถุอันตรายขึ้นหรือลงจากรถ (๗) ใช้ห้ามล้อทุกครั้งที่จอดรถบรรทุกวัตถุอันตราย สำหรับรถกึ่งพ่วงที่ไม่มีอุปกรณ์ห้ามล้อต้องป้องกันการเคลื่อนที่ของรถกึ่งพ่วงโดยการใช้อุปกรณ์สำหรับการหนุนล้อ ข้อ ๕ ผู้ขนส่งวัตถุอันตรายทางถนนระหว่างประเทศต้องได้รับอนุญาตการขนส่งวัตถุอันตราย และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๖ ในกรณีขนส่งวัตถุอันตราย ซึ่งโดยลักษณะหรือปริมาณอาจก่อให้เกิดอันตรายน้อยตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย หรือมีลักษณะเฉพาะในการขนส่ง หรือมีลักษณะเฉพาะของวัตถุอันตราย อธิบดีอาจประกาศกำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการขนส่งวัตถุอันตรายให้แตกต่างไปจากที่กฎกระทรวงนี้กำหนดก็ได้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันยังไม่มีการออกข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน สำหรับเป็นแนวปฏิบัติของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ดังนั้น เพื่อให้การขนส่งวัตถุอันตรายทางถนนของผู้ประกอบการขนส่งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเป็นไปด้วยความปลอดภัย และเป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศด้านการขนส่งสินค้าอันตรายที่ประเทศไทยเป็นภาคี ได้แก่ กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Inter-State Transport) และความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement) ที่ประเทศไทยได้ทำไว้ ซึ่งสอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรปแห่งสหประชาชาติ (European Agreement Concerning the International Carriage of Dangerous Goods by Road (ADR)) จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ วิศนี/ผู้ตรวจ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๒๔ ก/หน้า ๑/๑ เมษายน ๒๕๕๘
704473
กฎกระทรวง กำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557
กฎกระทรวง กฎกระทรวง กำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. ๒๕๕๗ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๑๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๗ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๓ ผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งประจำทางต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสาร ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่สูบบุหรี่หรือสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน (๒) ไม่กล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว ส่งเสียงอื้ออึง หรือกระทำการใด ๆ ในลักษณะที่ก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น (๓) ไม่โดยสารนอกตัวรถ หรือห้อยโหน หรือยื่นมือ แขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถ ทั้งนี้ เมื่อผู้ประจำรถได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วไม่ยอมปฏิบัติตาม (๔) ไม่นำสิ่งของที่มีกลิ่นแรงอันอาจก่อความรำคาญแก่ผู้อื่นขึ้นบนรถ เว้นแต่จะได้จัดเก็บให้มิดชิดโดยปราศจากกลิ่นนั้น (๕) ไม่นำดอกไม้เพลิง ลูกระเบิด วัตถุระเบิด หรือวัตถุกัดกร่อนขึ้นบนรถ (๖) ไม่บ้วน หรือถ่มน้ำลาย น้ำหมาก หรือเสมหะ สั่งน้ำมูก ถ่ายสิ่งปฏิกูล หรือเท หรือทิ้งสิ่งใด ๆ ลงบนรถ ณ ที่ซึ่งมิได้จัดไว้เพื่อการนั้น (๗) ไม่ลงจากรถนอกบริเวณที่มีเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง (๘) ไม่ดื่มสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา (๙) ไม่กระทำการลามกอนาจาร (๑๐) รัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง ข้อ ๔ ผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารตามข้อ ๓ (๑) (๓) (๕) (๘) (๙) และ (๑๐) ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ พลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งประจำทางต้องปฏิบัติตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๗ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งไม่ครอบคลุมข้อปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยบางประการประกอบกับจำเป็นต้องเพิ่มข้อกำหนดเพื่อผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางด้วย ดังนั้น เพื่อให้ผู้โดยสารมีความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในระหว่างการโดยสารยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ ณัฐพร/ผู้ตรวจ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๔๐ ก/หน้า ๑/๑๑ เมษายน ๒๕๕๗
703501
กฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถจากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2557
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถจากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงิน ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถจากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๔ ข้อ ๒ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อสำหรับสถาบันการเงินที่ควบรวมกิจการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ ๒ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ทั้งนี้ เฉพาะสถาบันการเงินที่ควบรวมกิจการภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๗ และต้องดำเนินการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ พลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาของมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมจากการควบรวมกิจการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ ๒ ไปถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อสำหรับสถาบันการเงินที่ควบรวมกิจการ และโดยที่มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียม จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๗ เอกฤทธิ์/ผู้ตรวจ ๙ เมษายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๓๒ ก/หน้า ๔/๑๗ มีนาคม ๒๕๕๗
703461
กฎกระทรวงการวางหลักทรัพย์ จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์และอัตราค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ. 2557
กฎกระทรวง กฎกระทรวง การวางหลักทรัพย์ จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ และอัตราค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ. ๒๕๕๗ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๕๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๖ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๓ ในกฎกระทรวงนี้ “ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ข้อ ๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องยื่นคำขอวางหลักทรัพย์สำหรับการชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเพื่อประกันความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อนายทะเบียนกลางภายในกำหนดระยะเวลา ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกัน ให้ยื่นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (๒) กรณีวางหลักทรัพย์เป็นสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัย ให้ยื่นก่อนหรือภายในวันที่นำรถมายื่นขอดำเนินการจดทะเบียนตามมาตรา ๗๓ ข้อ ๕ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้เงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันวางเป็นหลักทรัพย์ จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ดังกล่าวให้กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลต้องวางหลักทรัพย์มีจำนวนหรือมูลค่าสามหมื่นห้าพันบาทสำหรับรถคันที่หนึ่ง และคันละห้าร้อยบาทสำหรับรถคันต่อ ๆ ไป แต่เมื่อรวมกันแล้วทั้งหมดไม่เกินสามแสนบาท (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องวางหลักทรัพย์มีจำนวนหรือมูลค่าสามหมื่นห้าพันบาทสำหรับรถคันที่หนึ่ง และคันละสองร้อยบาท สำหรับรถคันต่อ ๆ ไป แต่เมื่อรวมกันแล้วทั้งหมดไม่เกินสองแสนบาท ข้อ ๖ พันธบัตรรัฐบาลไทยที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้วางเป็นหลักทรัพย์ต้องเป็นชนิดที่ขายคืนได้ก่อนครบกำหนดชำระต้นเงิน และผู้วางหลักทรัพย์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กรมการขนส่งทางบก ส่วนผลประโยชน์อันเกิดจากพันธบัตรนั้น กรมการขนส่งทางบกจะมอบให้แก่ผู้วางหลักทรัพย์ ข้อ ๗ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยวางเป็นหลักทรัพย์ สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยนั้นต้องทำกับบริษัทประกันภัยที่นายทะเบียนกลางให้ความเห็นชอบและมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งเป็นผู้เอาประกันภัยโดยให้บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการขนส่งของตนเป็นผู้รับประโยชน์ ข้อ ๘ สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยตามข้อ ๗ ต้องมีระยะเวลาความคุ้มครองอย่างน้อยตลอดอายุภาษีรถ และจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับความเสียหายแก่ชีวิตและร่างกายของบุคคลภายนอกที่เกิดจากการขนส่งของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในแต่ละครั้ง ต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ ๙ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้จัดให้มีการประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถสำหรับรถคันใดไว้แล้วกับบริษัทประกันภัยที่นายทะเบียนกลางให้ความเห็นชอบ จะนำสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาใช้วางเป็นหลักทรัพย์ก็ได้ ข้อ ๑๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งประสงค์จะใช้สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยวางเป็นหลักทรัพย์ ใช้สำเนาสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยเป็นหลักฐานโดยต้องนำต้นฉบับของสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาแสดงต่อนายทะเบียนด้วย ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้วางหลักทรัพย์ไว้แล้ว และต่อมาประสงค์จะนำหลักทรัพย์อย่างอื่นมาวางเพิ่มหรือแทนหลักทรัพย์เดิม ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะนำมาวางเพิ่มหรือแทนหลักทรัพย์เดิมนั้น ข้อ ๑๒ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกัน ให้จ่ายตามอัตรา ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่ผู้เสียหายมิได้ถึงแก่ความตาย ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลตามจำนวนเงินที่ผู้เสียหายได้แสดงหลักฐานการใช้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท (๒) ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายในทันที ให้จ่ายค่าปลงศพแก่ทายาทจำนวนสามหมื่นห้าพันบาท (๓) ในกรณีที่ผู้เสียหายมิได้ถึงแก่ความตายในทันที ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลตาม (๑) และค่าปลงศพตาม (๒) สำหรับการวางหลักทรัพย์เป็นสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัย ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทให้เป็นไปตามความคุ้มครองที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ ๑๓ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ดำเนินการนำเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยมาวางเพิ่มหรือเปลี่ยนชนิดของหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ต่อนายทะเบียนกลางก่อนการยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งคราวต่อไป ข้อ ๑๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งวางหลักทรัพย์เป็นสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ให้สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยนั้นยังคงใช้เป็นหลักทรัพย์ตามกฎกระทรวงนี้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครอง ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ พลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันภัยความเสียหายสำหรับรถของตนให้คุ้มครองตลอดอายุภาษีรถ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันภัย จึงส่งผลกระทบต่อการชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้แก่บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายจากการขนส่งของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้น ประกอบกับจำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์และอัตราค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่งที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะต้องรับผิดชอบไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการวางหลักทรัพย์ จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ และกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๗ เอกฤทธิ์/ผู้ตรวจ ๙ เมษายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๓๓ ก/หน้า ๑/๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗
749724
กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (ฉบับ Update ณ วันที่ 09/11/2555)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ หมวด ๑ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ส่วนที่ ๑ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑[๒] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนหน้าและกันชนท้าย ที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถหรือยื่นจากหน้ารถและท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยว ที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกันและไม่มากเกินสมควร รวมทั้งต้องมีรัศมีวงเลี้ยวและระยะท้ายปัดของรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กรณีรถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร ต้องมีระบบบังคับเลี้ยวที่เพลาล้อท้ายด้วย (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย กรณีรถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร ต้องมีเพลาล้อไม่น้อยกว่า ๓ เพลาล้อ (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้ โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนเฉพาะเพลาหน้าก็ได้ (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถตอนท้ายหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่รถพ่วงหลุดจากรถตอนหน้า (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในสภาพใช้งานตามปกติที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสม ต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน กำลัง และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเสียงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รวมทั้งต้องมีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามสมควร (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีเครื่องระงับเสียงและมีการบังหรือกันท่อไอเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่ายอันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและตรงออกท้ายรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีทางขึ้นลงด้านท้ายรถ ส่วนปลายท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและเบนออกตรงมุมท้ายรถด้านขวา (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วย คลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลัง ข้อต่อและเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิทช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถและแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดี และมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว ที่สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมงคลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ ที่มีคุณลักษณะและระบบการทำงานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก)[๓] กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กระจกกันลมหน้าต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดที่กระจกกันลมหน้าและกระจกกันลมหลัง รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข) กระจกเงาหรืออุปกรณ์สำหรับให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลังและภายในรถได้อย่างชัดเจน (ค) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (ง) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (จ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถังให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฉ) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล หลังคาจะทำด้วยผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันก็ได้ (ช) พื้นรถ ที่มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นชั้นบนของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมั่นคงแข็งแรง มีพื้นยางหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ปูเต็มความกว้างและความยาวของพื้นรถ ใต้พื้นชั้นบนต้องมีฝ้ากรุโดยทั่วไป (ซ)[๔] หน้าต่างที่ด้านข้างรถซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดที่หน้าต่างที่ด้านข้างรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) และ (ง) มาตรฐาน ๖ (ก) และมาตรฐาน ๗ จะเป็นชนิดที่ปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง (ฌ) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านข้าง บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านท้ายของรถบันไดทางขึ้นลงให้ยื่นออกนอกรถได้ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านขวาหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทและลักษณะของรถที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินตลอดจนจำนวน ขนาด ตำแหน่ง คุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ญ) ที่นั่งผู้ขับรถ ซึ่งแยกต่างหากจากที่นั่งผู้โดยสาร สามารถปรับเลื่อนได้ตามความเหมาะสมตรึงแน่นกับพื้นรถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับรถได้ดีและมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้าด้านข้าง และด้านหลังได้อย่างชัดเจน เมื่อใช้กระจกเงาหรืออุปกรณ์สำหรับมองภาพ (ฎ) ที่นั่งผู้โดยสาร ตรึงแน่นกับพื้นรถ แบบ การจัดวางและการยึดที่นั่งผู้โดยสารของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารแต่ละมาตรฐานให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฏ) ห้องผู้ขับรถหรือราวกั้นผู้ขับรถที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับแยกผู้ขับรถให้อยู่คนละส่วนกับผู้โดยสาร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีราวกั้นผู้ขับรถหรือไม่ก็ได้ (ฐ) ราวยึดเหนี่ยวที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อย ตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกัน และที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีราวยึดเหนี่ยว รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งราวยึดเหนี่ยว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฑ) กริ่งสัญญาณหยุดรถที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฒ) แผ่นสะท้อนแสงสีแดง จำนวน ๒ แผ่น หรือ ๔ แผ่น มีลักษณะเป็นวงกลม สามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร แผ่นสะท้อนแสงที่มีลักษณะเป็นวงกลมต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือหากมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต้องมีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร แล้วแต่กรณี ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร แผ่นริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร (ณ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด (ด)[๕] อุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ คุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่งและเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน ด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดอุปกรณ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งไกลจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น เว้นแต่เป็นการให้แสงสัญญาณชั่วขณะ (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน ที่ให้แสงสีเดียวกับโคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ แสงขาวหรือเหลือง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสดงความกว้างของรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกะพริบ แสงเหลือง ติดที่ด้านหน้า จำนวน ๒ ดวง และแสงเหลืองหรือแดง ติดที่ด้านท้าย จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ โดยให้ติดไว้ที่ข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงที่ติดที่ด้านท้ายต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถหรือท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร และดวงล่างสุดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวทุกดวงที่อยู่ข้างเดียวกันต้องกะพริบพร้อมกันในขณะที่รถให้สัญญาณเลี้ยว (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร จะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร (ฉ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้น และแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กะพริบ โคมไฟหยุดถ้ารวมอยู่ในโคมไฟท้ายจะต้องมีความสว่างมากกว่าความสว่างของโคมไฟท้ายนั้น (ช) โคมไฟถอยหลัง แสงขาว จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ในกรณีที่มี ๒ ดวง ต้องติดอยู่ในระดับเดียวกันและห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟถอยหลังจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่เข้าเกียร์ถอยหลังเท่านั้น (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาว อย่างน้อย ๑ ดวง แต่ไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ด้านบน ด้านล่าง หรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียนท้ายรถ มีความสว่างสามารถอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร จากท้ายรถ และต้องมีที่บังมิให้แสงพุ่งออกไปทางท้ายรถ โคมไฟส่องป้ายทะเบียนต้องให้แสงสว่างพร้อมกับโคมไฟท้าย (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถสำหรับรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร จำนวน ๔ ดวง ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถ ดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ดวงในห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร และให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายตอนบนของหลังคารถ จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ริมสุดของท้ายรถข้างละ ๑ ดวง โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถที่ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถให้ใช้ดังนี้ (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทางใช้แสงน้ำเงิน (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งไม่ประจำทางใช้แสงเหลือง (๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลใช้แสงขาว (๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็กใช้แสงม่วง (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในรถให้แสงสว่างพอสมควร และจะมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือประจำทุกที่นั่งด้วยก็ได้ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะต้องมีโคมไฟภายในรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งของโคมไฟภายในรถ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฎ) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง แสงขาว ติดที่ด้านหน้ารถให้แสงสว่างพอสมควรที่ป้ายแสดงเส้นทาง ข้อ ๑ ทวิ[๖] รถตามข้อ ๑ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกันและให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟเลี้ยวข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟเลี้ยวข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกัน โคมไฟเลี้ยวข้างรถทุกดวงต้องกระพริบพร้อมกับโคมไฟเลี้ยวที่ด้านหน้าและด้านท้ายที่อยู่ข้างเดียวกัน (ง) โคมไฟตัดหมอก แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดที่หน้ารถสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่อยู่สูงไม่เกินโคมไฟแสงพุ่งต่ำถ้ามี ๑ ดวงให้ติดที่กึ่งกลางหน้ารถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ให้ติดในระดับเดียวกัน และห่างจากกึ่งกลางหน้ารถเท่ากันทั้งสองข้างโคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟตัดหมอกจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟแสดงความกว้างของรถและโคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า ๒ องศา หรือ ๐.๒๐ เมตร ในระยะ ๗.๕๐ เมตร และไม่เฉไปทางขวา (จ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ในตำแหน่งที่ให้แสงสว่างออกไปทางท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร ถ้ามี ๑ ดวง ต้องอยู่ในแนวกึ่งกลางท้ายรถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ต้องอยู่ในระดับเดียวกัน และห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๓)[๗] เครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่จะมีไว้ใช้อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ดังต่อไปนี้ (ก) ประตูรถ ทางลาด สะพาน หรือเครื่องอุปกรณ์ที่นำพาคนพิการหรือรถคนพิการ (wheel chair) ขึ้นและลงจากรถ ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยในการใช้งาน และต้องมีลักษณะ ขนาด และคุณสมบัติในการใช้งานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ (ข) พื้นที่หรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับเก็บหรือจอดรถคนพิการ (wheel chair) ที่อยู่ภายในห้องโดยสาร ต้องมีอุปกรณ์ยึดตรึงที่มั่นคงแข็งแรง และไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แก่ผู้อื่น (ค) เครื่องอุปกรณ์อื่น (ถ้ามี) ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถให้รถตอนท้ายเคลื่อนตัวขึ้นลง และเลี้ยวตามรถตอนหน้าได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับที่ทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ถอยหลังได้เสมือนเป็นรถตอนเดียวกันด้วย ข้อ ๓ รถตามข้อ ๑ ที่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืนได้ให้บริเวณพื้นที่สำหรับผู้โดยสารยืนต้องเป็นพื้นที่ราบซึ่งมีความกว้างและความยาวพอเหมาะที่จะให้ผู้โดยสารยืนได้โดยถือเกณฑ์พื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ตารางเซนติเมตร ต่อผู้โดยสารยืน ๑ คน ข้อ ๔[๘] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ และมาตรฐาน ๖ ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถหรือชั้นภายในรถ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (ข) (ง) (จ) (ฉ) ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถนั้นภายในรถหรือบนหลังคาก็ได้ รถขนาดเล็ก ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้บนหลังคาหรือภายในรถ โดยจะมีไว้ที่ด้านล่างด้วยก็ได้ ข้อ ๕[๙] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) และ (ง) มาตรฐาน ๕ (ก) และมาตรฐาน ๖ (ก) ต้องมีเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอ เครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศตามวรรคหนึ่ง ต้องมีระบบการทำงาน คุณลักษณะเฉพาะ หรือขนาด ตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๖[๑๐] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีห้องสุขภัณฑ์ได้ ให้มีห้องสุขภัณฑ์ภายในรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงพอสมควร สำหรับใช้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้และมีอ่างสำหรับล้างมือด้วย ห้องสุขภัณฑ์จะต้องมีที่สำหรับเก็บอุจจาระและปัสสาวะอย่างดี ไม่รั่วซึม และป้องกันกลิ่นเหม็นได้ ข้อ ๗[๑๑] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มได้ ให้มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มขนาดพอสมควรอยู่ตอนท้ายภายในรถ ข้อ ๘[๑๒] นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ และมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ ดังนี้ (๑) เครื่องรับวิทยุ ๑ เครื่อง (๒) เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง ๑ เครื่อง (๓) เครื่องขยายเสียง ขนาดพอสมควร ๑ เครื่อง อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ตาม (๑) (๒) และ (๓) อาจรวมอยู่ในเครื่องเดียวกันได้ ข้อ ๙[๑๓] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ และมาตรฐาน ๖ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๒ เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ ๒ เครื่อง เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามชนิด ประเภทและขนาดตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้ติดตั้งไว้ภายในรถในที่เหมาะสมซึ่งพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ข้อ ๑๐[๑๔] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับท้ายรถหรือยื่นจากท้ายรถในระยะห่างพอสมควรและจะมีกันชนหน้าหรือไม่ก็ได้ (ค) อุปกรณ์ต่อพ่วง ที่สามารถลากจูงได้ในขณะเต็มอัตราบรรทุก รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ระบบห้ามล้อ ที่สามารถห้ามล้อได้โดยใช้การควบคุมจากระบบห้ามล้อของรถลากจูงและต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถขั้วสายไฟ และสวิตช์ที่อาจเกิดประกายไฟได้ ต้องใช้ฉนวนหุ้มปิด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ค) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก มีข้อความเป็นอักษรไทยว่า “รถพ่วง” หรือ “รถพ่วงยาว” โดยลักษณะ ขนาด และสีของแผ่นโลหะ ตลอดจนวิธีการติดแผ่นโลหะให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กรณีที่ต้องติดตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดนอกจากที่กำหนดตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ (จ) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง (ฉ)[๑๕] หน้าต่างที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดที่หน้าต่างที่ด้านข้างรถ รวมทั้งประเภทของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด บานหน้าต่างของรถปรับอากาศจะเป็นชนิดที่ปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ตัวถังจะต้องมีระบบถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง (ช) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างของรถ และบันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านขวาของรถหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย จำนวน ขนาด ตำแหน่ง คุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ซ) ที่นั่งผู้โดยสาร ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฎ) (ฌ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อย ตรึงแน่นกับเพดานภายในโดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกัน และที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ญ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งจำนวน และตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฎ) แผ่นสะท้อนแสงมีดังต่อไปนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ฏ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง ติดบนหลังคาท้ายรถห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ข้างละ ๑ ดวง (ช) โคมไฟภายในรถ มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ญ) (ซ) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตรที่ข้างซ้ายและข้างขวารถในระดับเดียวกัน ตอนหน้าห่างจากหน้าสุดรถไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ไม่รวมแขนพ่วง) แห่งละ ๑ ดวง ตอนท้ายห่างจากท้ายสุดรถไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร แห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๖ เมตร ให้มีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวง ถ้ามีมากกว่า ๑ ดวง ระยะห่างระหว่างโคมไฟแต่ละดวงในข้างเดียวกันต้องเท่ากัน และห่างกันไม่น้อยกว่า ๓ เมตร โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายรถให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ข้อ ๑๐ ทวิ[๑๖] รถตามข้อ ๑๐ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๐ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่มีที่เก็บสัมภาระ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถ ข้อ ๑๒ ให้นำข้อ ๓ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ โดยอนุโลม ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๓[๑๗] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถังแต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร โดยตัวถังด้านข้างหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาล้อท้ายได้ไม่เกินด้านละ ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง ความสูงภายนอกของรถเมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) และ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็กจะต้องมีความสูงไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๓๐ เมตร ความสูงภายในของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ความสูงของรถต้องไม่ทำให้การทรงตัวของรถต่ำกว่าเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) ความยาว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) และ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) และ (ข) และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๕ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) และ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) มาตรฐาน ๕ และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถและแขนพ่วง จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๐ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของ รถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๘ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของตัวถังไม่รวมกันชนหรือแขนพ่วงถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า จะต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนหน้า (๕)[๑๘] ส่วนยื่นท้าย เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุกแต่ไม่รวมกันชนท้ายและอุปกรณ์อื่นถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือถึงศูนย์กลางของกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร อาจมีความยาวของส่วนยื่นท้ายเกินสองในสามของช่วงล้อได้ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด อุปกรณ์อื่นซึ่งไม่ใช่กันชนท้ายที่ติดตั้งเพิ่มเติมที่ด้านท้ายของตัวถังส่วนที่บรรทุกต้องมีความยาวตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์การวัดขนาดช่วงล้อของรถตาม (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๑๔[๑๙] (ยกเลิก) ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบ ของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก[๒๐] ข้อ ๑๔[๒๑] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๗ จะมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ได้ หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานแต่ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๔/๑[๒๒] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องมีสภาพเครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ หมวด ๒ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ส่วนที่ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ ข้อ ๑๕[๒๓] รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนหน้า ยื่นจากหน้ารถระยะห่างพอสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีกันชนท้ายยื่นจากท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยว ที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกัน และไม่มากเกินสมควร รวมทั้งต้องมีรัศมีวงเลี้ยวและระยะท้ายปัดของรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่เพลาล้อหน้าไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในสภาพใช้งานตามปกติที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสม โดยต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน กำลัง และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเสียงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รวมทั้งต้องมีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามสมควร (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีอุปกรณ์ระงับเสียงและมีอุปกรณ์ป้องกันความร้อนหรือการติดไฟโดยส่วนปลายของท่อไอเสียต้องไม่หันไปทางด้านซ้ายของรถ ทั้งนี้ อุปกรณ์ระงับเสียงและอุปกรณ์ป้องกันความร้อนหรือการติดไฟ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลัง ข้อต่อ และเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิตช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถและแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดี และมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว ที่สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมงคลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ ที่มีคุณลักษณะและระบบการทำงานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถังยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ห้องผู้ขับรถทำด้วยโลหะแข็งแรง มีประตูทั้งสองข้าง มีที่นั่งผู้ขับรถตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สามารถบังคับรถได้ดี และสามารถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังได้อย่างชัดเจนเมื่อใช้กระจกเงาสำหรับมองหลัง ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีห้องผู้ขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข)[๒๔] กระจกกันลมและส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยกระจกกันลมหน้าต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ค) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๑ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และภายในรถได้ทุกขณะ (ง) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (จ) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ให้มีลักษณะและมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนดแต่ความสูงของตัวถังส่วนที่บรรทุกที่มีลักษณะเป็นกระบะทึบสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๘,๐๐๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร และสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัมเมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ฉ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถังให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ช) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ซ) แผ่นสะท้อนแสงสีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ในกรณีที่เป็นรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบให้ติดแผ่นสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย (ฌ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด (ญ)[๒๕] อุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ คุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่งและเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ข) (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ค) (ง) โคมไฟเลี้ยว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (จ) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ฉ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ช) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถ แสงเขียว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฌ) สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้มีโคมไฟแสดงส่วนสูงแสงแดง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวงแต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดของรถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในห้องผู้ขับรถให้แสงสว่างพอสมควร ข้อ ๑๖ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องต่อพ่วงทำด้วยโลหะแข็งแรงสำหรับยึดแขนพ่วงของรถพ่วง (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ จะต้องมีจานพ่วงหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ทำด้วยโลหะพร้อมเครื่องสำหรับล็อคสลักพ่วงของรถกึ่งพ่วงหรือรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว เพื่อมิให้หลุดจากกันในขณะใช้งาน ข้อ ๑๗ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๔ จะต้องมีเครื่องดับเพลิงติดตั้งในที่เหมาะสมพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะขนาด จำนวนและคุณภาพของเครื่องดับเพลิงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ข้อ ๑๗ ทวิ[๒๖] รถตามข้อ ๑๕ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ข) (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ค) (ง) โคมไฟตัดหมอก มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ง) (จ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๕ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๓)[๒๗] เครื่องปรับอากาศ ต้องมีประสิทธิภาพสามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีระบบการทำงาน คุณลักษณะเฉพาะ หรือขนาด ตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ข้อ ๑๘[๒๘] รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ โครงคัสซีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๘ ต้องสามารถปรับขนาดความยาวได้ โครงคัสซีส่วนหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ให้มีสลักพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควรสำหรับต่อกับจานพ่วงของรถลากจูงได้โดยเฉพาะ (ข) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ค) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ง) สปริง ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ฉ) ระบบห้ามล้อ ที่สามารถห้ามล้อได้โดยใช้การควบคุมจากระบบห้ามล้อของรถลากจูงและต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ช) ระบบไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๑) (ฌ) (ซ) อุปกรณ์ต่อพ่วง ที่สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก มีข้อความเป็นอักษรไทยว่า “รถพ่วง” หรือ “รถพ่วงยาว” โดยลักษณะ ขนาด และสีของแผ่นโลหะ ตลอดจนวิธีการติดแผ่นโลหะให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) ส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (ข) (ข) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ซึ่งมีลักษณะและมาตรฐานเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (จ) (ค) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ง) แผ่นสะท้อนแสงมีดังต่อไปนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ในกรณีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ หรือลักษณะ ๗ ที่ตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้ติดที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย (จ)[๒๙] อุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ คุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่งและเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวร ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ช) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๓) (ซ) ข้อ ๑๙[๓๐] (ยกเลิก) ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๐[๓๑] รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถังแต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๒ ที่ติดตั้งระบบทำความเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในตัวถังส่วนบรรทุก จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๖๐ เมตร โดยตัวถังหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาล้อท้ายหรือกลุ่มเพลาล้อท้ายได้ไม่เกินด้านละ ๑๕ เซนติเมตร (๒)[๓๒] ความสูง เมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ ต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร เว้นแต่รถที่มีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ต้องมีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร โดยความสูงของรถต้องไม่ทำให้การทรงตัวของรถต่ำกว่าเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) ความยาว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๘ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๓.๖๐ เมตร โดยระยะจากศูนย์กลางของสลักพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางสลักพ่วง ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ (๕)[๓๓] ส่วนยื่นท้าย รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุกแต่ไม่รวมกันชนท้ายและอุปกรณ์อื่น ถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือศูนย์กลางของกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ ลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุกแต่ไม่รวมกันชนท้ายและอุปกรณ์อื่น ถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในห้าของช่วงล้อ อุปกรณ์อื่นซึ่งไม่ใช่กันชนท้ายที่ติดตั้งเพิ่มเติมที่ด้านท้ายของตัวถังส่วนที่บรรทุกต้องมีความยาวตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์การวัดขนาดช่วงล้อของรถตาม (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๒๑[๓๔] (ยกเลิก) ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบ ของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ[๓๕] ข้อ ๒๑[๓๖] ในกรณีที่มีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งาน รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของจะมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ หรือขนาดของรถแตกต่างไปจากกฎกระทรวงนี้ได้ ตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒๒[๓๗] รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศต้องมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๘] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการติดกระจกกันลมหลังกับตัวรถไม่มีผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถ สมควรเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเลือกที่จะจัดให้มีกระจกกันลมหลังหรือไม่ก็ได้ และโดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว สมควรกำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม นอกจากนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมขนาดความสูงของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้รับกับมาตรฐานสากลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการทรงตัวของรถดังกล่าวเพื่อให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๙] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมยานยนต์ได้เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดอันตรายแก่ผู้ใช้รถ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งในส่วนเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งสมควรเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องมือเครื่องใช้ประจำรถที่ใช้ในการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๐] ข้อ ๓ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันปรากฏว่า รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงที่มีกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถแตกต่างไปจากรถยนตร์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน แต่ไม่เกินสิบสองคน (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนตร์ จึงก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและการกำกับดูแลทั้ง ๆ ที่เป็นรถยนตร์ที่มีลักษณะและขนาดเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติที่เกี่ยวกับฟิล์มกรองแสงของกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถยนตร์ดังกล่าวตามกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) และมาตรฐาน ๓ (ฉ) (รถตู้) เสียใหม่ให้สอดคล้องกันกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยรถยนตร์ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๑] ข้อ ๓ รถที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนหรือติดตั้งเครื่องปรับอากาศใหม่หรือระบบระบายอากาศใหม่ให้เครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศดังกล่าวเป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ โดยที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามเป็นสมาชิกพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer) เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ และให้สัตยาบันการเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ จึงมีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ แต่เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำเครื่องปรับอากาศมาติดตั้งเป็นเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งจำนวนมากโดยไม่มีมาตรการในการควบคุมการใช้ จึงมีการใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbons (CFCs)) เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศภายในรถที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งสารดังกล่าวจะทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อควบคุมดูแลการใช้เครื่องปรับอากาศภายในรถที่ใช้ในการขนส่งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อให้สามารถกำหนดให้มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๒] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่จะมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการโดยสารแก่คนพิการนอกจากนี้ เพื่อให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๗ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ใช้สำหรับการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อาจมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถ แตกต่างไปจากข้อกำหนดในกฎกระทรวงได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ หรือตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๓] ข้อ ๙ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก รวมทั้งรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ได้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และมีขนาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และได้จดทะเบียนก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่อาจขอเปลี่ยนแปลงเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และขนาดของรถให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ได้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบขนาด และข้อกำหนดทางเทคนิคของรถ ที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานยานยนต์สากลและเทคโนโลยีด้านการผลิตยานยนต์ในปัจจุบันที่พัฒนาขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ขนาดและข้อกำหนดทางเทคนิคของรถตามกฎกระทรวงดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้การใช้รถในการประกอบการขนส่งมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานยานยนต์สากลและเทคโนโลยีด้านการผลิตยานยนต์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๔] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และปรากฏว่าเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบสำหรับรถที่กำหนดไว้บางรายการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับเป็นการสมควรกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถบางรายการเพิ่มเติมเพื่อให้การใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ณัฐพร/จัดทำ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๙/ฉบับพิเศษหน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ [๒] ข้อ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓] ข้อ ๑ (๒) (ก) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๔] ข้อ ๑ (๒) (ซ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๕] ข้อ ๑ (๒) (ด) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๖] ข้อ ๑ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๗] มาตรา ๑ ทวิ (๓) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๘] ข้อ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๙] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๐] ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๑] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๒] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๓] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๔] ข้อ ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๕] ข้อ ๑๐ (๒) (ฉ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๖] ข้อ ๑๐ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๗] ข้อ ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๘] ข้อ ๑๓ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๙] ข้อ ๑๔ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๐] ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๔ ถึง ข้อ ๑๔/๑ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๑] ข้อ ๑๔ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๒] ข้อ ๑๔/๑ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๓] ข้อ ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๔] ข้อ ๑๕ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๕] ข้อ ๑๕ (๒) (ญ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๖] ข้อ ๑๗ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๗] ข้อ ๑๗ ทวิ (๓) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๘] ข้อ ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๙] ข้อ ๑๘ (๒) (จ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๐] ข้อ ๑๙ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๑] ข้อ ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๒] ข้อ ๒๐ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๓] ข้อ ๒๐ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๔] ข้อ ๒๑ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๕] ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๑ ถึง ข้อ ๒๒ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๖] ข้อ ๒๑ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๗] ข้อ ๒๒ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๘] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๑๒/หน้า ๙/๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ [๓๙] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๔๘ ก/หน้า ๑๒/๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๗ [๔๐] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๒๕/๗ เมษายน ๒๕๔๓ [๔๑] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๕ ก/หน้า ๓/๑๔ มกราคม ๒๕๔๘ [๔๒] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๖๕ ก/หน้า ๒๑/๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ [๔๓] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๓๒/๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒ [๔๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๑๐๕ ก/หน้า ๒๗/๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
677497
กฎกระทรวงกำหนดเครื่องแต่งกายของผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ พ.ศ. 2555
กฎกระทรวง กฎกระทรวง กำหนดเครื่องแต่งกายของผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ พ.ศ. ๒๕๕๕[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๑๐๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๒ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องแต่งกายตามแบบ ดังต่อไปนี้ (๑) เสื้อที่จะสวมให้ใช้แบบใดแบบหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (ก) เสื้อเชิ้ตคอพับ แขนยาวหรือแขนสั้น การสวมเสื้อให้สอดชายล่างของเสื้ออยู่ภายในกางเกงหรือกระโปรง (ข) เสื้อคอแบะปล่อยเอว แขนสั้น (๒) กางเกงขายาวหรือกระโปรงแบบสุภาพ (๓) รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งอาจกำหนดแบบของเครื่องแต่งกายของผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในประเภทการขนส่งตามวรรคหนึ่งให้แตกต่างไปจากแบบของเครื่องแต่งกายตามวรรคหนึ่งได้ แต่ต้องเป็นแบบที่สุภาพ เรียบร้อย และเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ โดยผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องแจ้งแบบของเครื่องแต่งกายนั้นให้กรมการขนส่งทางบกทราบ ในกรณีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้กำหนดแบบของเครื่องแต่งกายและแจ้งให้กรมการขนส่งทางบกทราบตามวรรคสองแล้ว ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในประเภทการขนส่งตามวรรคหนึ่งแต่งกายตามแบบที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งกำหนด ข้อ ๓ สีของเครื่องแต่งกายและเครื่องหมายประกอบเครื่องแต่งกายของผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในประเภทการขนส่งตามข้อ ๒ ให้เป็นไปตามที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งกำหนด ข้อ ๔ ให้ติดชื่อตัวและชื่อสกุลของผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในประเภทการขนส่งตามข้อ ๒ ไว้ที่อกเสื้อด้านขวา โดยให้ใช้ตัวอักษรเป็นภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ง่าย หรืออาจติดชื่อตัวและชื่อสกุลเป็นภาษาต่างประเทศ หรือหมายเลขประจำตัวไว้ด้วยก็ได้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ พลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดดังกล่าวเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ปณตภร/ผู้ตรวจ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๑๐๘ ก/หน้า ๑๗/๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
676892
กฎกระทรวง ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (ก) ของ (๒) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กระจกกันลมหน้าต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดที่กระจกกันลมหน้าและกระจกกันลมหลัง รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน (ซ) ของ (๒) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ซ) หน้าต่างที่ด้านข้างรถซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดที่หน้าต่างที่ด้านข้างรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) และ (ง) มาตรฐาน ๖ (ก) และมาตรฐาน ๗ จะเป็นชนิดที่ปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง” ข้อ ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ด) ของ (๒) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “(ด) อุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ คุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่งและเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน ด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดอุปกรณ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความใน (ฉ) ของ (๒) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ฉ) หน้าต่างที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดที่หน้าต่างที่ด้านข้างรถ รวมทั้งประเภทของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด บานหน้าต่างของรถปรับอากาศจะเป็นชนิดที่ปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ตัวถังจะต้องมีระบบถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง” ข้อ ๖ ให้ยกเลิกความใน (๕) ของข้อ ๑๓ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๕) ส่วนยื่นท้าย เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุกแต่ไม่รวมกันชนท้ายและอุปกรณ์อื่นถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือถึงศูนย์กลางของกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร อาจมีความยาวของส่วนยื่นท้ายเกินสองในสามของช่วงล้อได้ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด อุปกรณ์อื่นซึ่งไม่ใช่กันชนท้ายที่ติดตั้งเพิ่มเติมที่ด้านท้ายของตัวถังส่วนที่บรรทุกต้องมีความยาวตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๗ ให้ยกเลิกความใน (ข) ของ (๒) ของข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ข) กระจกกันลมและส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยกระจกกันลมหน้าต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด คุณลักษณะ ขนาด และประสิทธิภาพของวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ญ) ของ (๒) ของข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “(ญ) อุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ คุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่งและเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (จ) ของ (๒) ของข้อ ๑๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “(จ) อุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายของรถ คุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่งและเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้ายรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๐ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของข้อ ๒๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๒) ความสูง เมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ ต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร เว้นแต่รถที่มีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ต้องมีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร โดยความสูงของรถต้องไม่ทำให้การทรงตัวของรถต่ำกว่าเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๑๑ ให้ยกเลิกความใน (๕) ของข้อ ๒๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๕) ส่วนยื่นท้าย รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุกแต่ไม่รวมกันชนท้ายและอุปกรณ์อื่น ถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือศูนย์กลางของกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ ลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุกแต่ไม่รวมกันชนท้ายและอุปกรณ์อื่น ถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในห้าของช่วงล้อ อุปกรณ์อื่นซึ่งไม่ใช่กันชนท้ายที่ติดตั้งเพิ่มเติมที่ด้านท้ายของตัวถังส่วนที่บรรทุกต้องมีความยาวตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และปรากฏว่าเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบสำหรับรถที่กำหนดไว้บางรายการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับเป็นการสมควรกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถบางรายการเพิ่มเติมเพื่อให้การใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณัฐพร/ผู้ตรวจ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๑๐๕ ก/หน้า ๒๗/๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
676165
กฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ยกเลิกกฎกระทรวงซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกบางฉบับ ที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๘๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินภาษีรถประจำปีตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ปัจจุบันการกำหนดสัดส่วนและจัดสรรภาษีและรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งบัญญัติให้หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตราการจัดสรร การนำส่งเงินรายได้และการได้รับเงินรายได้สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดและในขณะนี้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินภาษีดังกล่าวแล้ว จึงมีผลให้กฎกระทรวงดังกล่าวไม่มีสภาพใช้บังคับต่อไป สมควรยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ ชาญ/ผู้ตรวจ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๑๐๒ ก/หน้า ๑๑/๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๕
666713
กฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และการขอต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ พ.ศ. 2555
กฎกระทรวง กฎกระทรวง การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และการขอต่ออายุใบอนุญาต จัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ พ.ศ. ๒๕๕๕ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๗๔ วรรคสอง และมาตรา ๗๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๓ ในกฎกระทรวงนี้ “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ “ผู้ควบคุมการตรวจสภาพรถ” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและวินิจฉัยผลความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย ความสะอาด ความเรียบร้อยและความถูกต้องเหมาะสมของรถและเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถ “เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถ” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย ความสะอาด ความเรียบร้อยและความถูกต้องเหมาะสมของรถและเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถ ข้อ ๔ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลธรรมดา (ก) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ข) ภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (ค) แผนที่โดยสังเขปแสดงบริเวณที่ตั้งสถานตรวจสภาพรถ (ง) แบบ ขนาด และรายละเอียดของเครื่องตรวจสภาพรถ (จ) แบบแปลนแผนผังแสดงแบบ ขนาด และลักษณะของอาคารสถานที่ ลานจอดรถ ทางจราจร ทางเข้า ทางออก และรายละเอียดสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณสถานตรวจสภาพรถตามมาตราส่วน (๒) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ก) รายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ข) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) ภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) เอกสารตาม (๑) (ค) (ง) และ (จ) (๓) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกินหกเดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งและดำเนินการเกี่ยวกับสถานตรวจสภาพรถ (ข) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของหุ้นส่วนหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ค) ภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของหุ้นส่วนหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ง) ภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ กรณีเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (จ) เอกสารตาม (๑) (ค) (ง) และ (จ) ข้อ ๕ ในขณะยื่นคำขอรับใบอนุญาต หากผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตยังไม่มีอาคารสถานที่ ลานจอดรถ เครื่องตรวจสภาพรถ อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจสภาพรถ หรือเครื่องมืออื่นใดตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้องจัดให้มีอาคารสถานที่ ลานจอดรถ เครื่องตรวจสภาพรถ อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจสภาพรถ หรือเครื่องมืออื่นใด ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่อาจจัดให้มีอาคารสถานที่ ลานจอดรถ เครื่องตรวจสภาพรถ อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจสภาพรถ หรือเครื่องมืออื่นใดตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ ภายในระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าคำขอรับใบอนุญาตนั้นสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนกลางแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทราบโดยเร็ว ข้อ ๖ สถานตรวจสภาพรถที่จะได้รับใบอนุญาตต้องมีลักษณะเหมาะสมสำหรับตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย ความสะอาด ความเรียบร้อยและความถูกต้องเหมาะสมของรถ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถ และการดำเนินการอื่นเพื่อประโยชน์ในการตรวจและรับรองสภาพรถ สถานตรวจสภาพรถอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วย (๑) อาคารสถานที่ ซึ่งจัดให้มีพื้นที่สำหรับตรวจสภาพรถ ที่ทำการของผู้ปฏิบัติงาน ที่พักของผู้ใช้บริการ และห้องสุขา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ลานจอดรถ พื้นที่สำหรับรถรอเข้าตรวจสภาพ ทางเข้า และทางออก ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) เครื่องตรวจสภาพรถและอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับใช้ในการตรวจสภาพรถ ดังต่อไปนี้ (ก) สถานตรวจสภาพรถที่ได้รับใบอนุญาตให้ตรวจสภาพรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ๑) เครื่องทดสอบห้ามล้อ (Brake Tester) ๒) เครื่องทดสอบศูนย์ล้อ (Sideslip Tester) ๓) เครื่องทดสอบโคมไฟหน้า (Headlight Tester) ๔) เครื่องวัดควันดำ (Smoke Meter) ๕) เครื่องวัดระดับเสียง (Sound Level Meter) ๖) เครื่องวัดความเร็วรอบเครื่องยนต์ (Engine Tachometer) ๗) เครื่องวิเคราะห์ก๊าซ (Gas Analyser) ๘) เครื่องวัดก๊าซรั่ว (Gas Leak Detecter) ๙) เครื่องวัดความเข้มของฟิล์มกรองแสง (Tint Meter) ๑๐) อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจสภาพใต้ท้องรถ เช่น บ่อตรวจสภาพรถและกระจกเงา หรือเครื่องยกรถ ๑๑) เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข) สถานตรวจสภาพรถที่ได้รับใบอนุญาตให้ตรวจสภาพรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ๑) เครื่องทดสอบห้ามล้อ (Brake Tester) ๒) เครื่องทดสอบศูนย์ล้อ (Sideslip Tester) ๓) เครื่องทดสอบโคมไฟหน้า (Headlight Tester) ๔) เครื่องวัดควันดำ (Smoke Meter) ๕) เครื่องวัดระดับเสียง (Sound Level Meter) ๖) เครื่องวัดความเร็วรอบเครื่องยนต์ (Engine Tachometer) ๗) เครื่องวิเคราะห์ก๊าซ (Gas Analyser) ๘) เครื่องวัดก๊าซรั่ว (Gas Leak Detecter) ๙) อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจสภาพใต้ท้องรถ เช่น บ่อตรวจสภาพรถและกระจกเงา หรือเครื่องยกรถ ๑๐) เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ค) สถานตรวจสภาพรถที่ได้รับใบอนุญาตให้ตรวจสภาพรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ๑) เครื่องทดสอบโคมไฟหน้า (Headlight Tester) ๒) เครื่องวัดระดับเสียง (Sound Level Meter) ๓) เครื่องวัดความเร็วรอบเครื่องยนต์ (Engine Tachometer) ๔) เครื่องวิเคราะห์ก๊าซ (Gas Analyser) ๕) เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๔) อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก หรือเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานและการควบคุม กำกับ และดูแลสถานตรวจสภาพรถ ดังต่อไปนี้ (ก) กล้องถ่ายภาพ (ข) คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ค) อุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อระบบสารสนเทศ (ง) เครื่องพิมพ์ (จ) เครื่องดับเพลิง (ฉ) เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด แบบ ขนาด มาตรฐาน และคุณลักษณะของเครื่องตรวจสภาพรถ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และเครื่องมือตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๗ นายทะเบียนกลางจะออกใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถได้ เมื่อ (๑) เอกสารและหลักฐานครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ (๒) อาคารสถานที่ ลานจอดรถ พื้นที่สำหรับรถรอเข้าตรวจสภาพ ทางเข้า และทางออก เครื่องตรวจสภาพรถ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือเครื่องมือเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ (๓) ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตครั้งหลังสุด (๔) ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล หุ้นส่วนหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคลนั้นต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (๓) หรือเคยเป็นหุ้นส่วนหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามตาม (๓) ด้วย ข้อ ๘ ใบอนุญาตให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๙ ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีผู้ควบคุมการตรวจสภาพรถและเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถซึ่งมีคุณสมบัติและผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ตลอดเวลาที่ให้บริการตรวจสภาพรถตามใบอนุญาต จำนวนผู้ควบคุมการตรวจสภาพรถและเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ ผู้ควบคุมการตรวจสภาพรถจะเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถด้วยก็ได้ ข้อ ๑๐ ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) ดำเนินการตรวจสภาพรถ โดยปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด แล้วแต่กรณี (๒) จัดทำการรับรองการตรวจสภาพรถ บันทึกการตรวจสภาพรถ รายงานการตรวจสภาพรถ และเครื่องหมายหรือเอกสารอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) จัดให้มีเครื่องตรวจสภาพรถและอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจสภาพรถ หรือเครื่องมืออื่นใดเพิ่มเติมตามความเหมาะสมตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๔) ปรับเทียบเครื่องตรวจสภาพรถ ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องตรวจสภาพรถ อุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจสภาพรถและการดำเนินงานของสถานตรวจสภาพรถให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และพร้อมใช้งานได้ดีอยู่เสมอ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด (๕) ดูแลและปรับปรุงอาคารสถานที่ ลานจอดรถ และพื้นที่ในบริเวณสถานตรวจสภาพรถ ให้มีความเหมาะสม ปลอดภัย และสะอาดเรียบร้อย ข้อ ๑๑ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะย้ายที่ตั้งสถานตรวจสภาพรถ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนกลาง ตามหลักเกณฑ์การย้ายและแบบคำขอย้ายที่ตั้งสถานตรวจสภาพรถที่อธิบดีประกาศกำหนด ในการยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นเอกสารตามข้อ ๔ (๑) (ค) (ง) และ (จ) หรือ (๒) (ง) หรือ (๓) (จ) แล้วแต่กรณี มาพร้อมกับคำขอนั้นด้วย การอนุญาตให้ย้ายที่ตั้งสถานตรวจสภาพรถ ให้นับอายุใบอนุญาตต่อเนื่องจากใบอนุญาตฉบับเดิม โดยให้นายทะเบียนกลางแก้ไขรายการสถานที่ตั้งในใบอนุญาตฉบับเดิม และให้ระบุคำว่า “ย้ายสถานที่ตั้ง” ไว้ที่ด้านหน้าด้วย ข้อ ๑๒ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะเลิกประกอบกิจการสถานตรวจสภาพรถ ให้แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันเลิกประกอบกิจการสถานตรวจสภาพรถ และให้ส่งคืนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนที่สถานตรวจสภาพรถนั้นตั้งอยู่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเลิกประกอบกิจการสถานตรวจสภาพรถ ข้อ ๑๓ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้หรือตามที่อธิบดีประกาศกำหนดตามกฎกระทรวงนี้ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตกระทำการตามวรรคหนึ่ง แต่นายทะเบียนกลางพิจารณาแล้วเห็นว่ามิใช่กรณีก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง และผู้รับใบอนุญาตสามารถแก้ไขให้ถูกต้องหรือครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้หรือตามที่อธิบดีประกาศกำหนดตามกฎกระทรวงนี้ได้ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจตักเตือนหรือสั่งระงับการดำเนินการตรวจสภาพรถเป็นการชั่วคราวได้ตามควรแก่กรณี ทั้งนี้ การตักเตือนและการระงับการดำเนินการตรวจสภาพรถเป็นการชั่วคราว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๑๔ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามสิบวัน พร้อมด้วยสำเนาใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาต และเอกสารที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ (๑) (ค) (ง) และ (จ) หรือ (๒) (ง) หรือ (๓) (ง) และ (จ) แล้วแต่กรณี เฉพาะที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล ให้ยื่นหลักฐานตามข้อ ๔ (๓) (ก) ด้วย ข้อ ๑๕ นายทะเบียนกลางจะอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตได้ เมื่อ (๑) อาคารสถานที่ ลานจอดรถ พื้นที่สำหรับรถรอเข้าตรวจสภาพ ทางเข้า และทางออกเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดตามข้อ ๖ วรรคสอง (๑) และ (๒) และมีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย สะอาด เรียบร้อยและเหมาะสมในการตรวจสภาพรถ (๒) เครื่องตรวจสภาพรถและอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับใช้ในการตรวจสภาพรถ และอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก หรือเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานและการควบคุม กำกับ และดูแลสถานตรวจสภาพรถเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ (๓) ผู้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตไม่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ถูกสั่งระงับการดำเนินการตรวจสภาพรถเป็นการชั่วคราวตามข้อ ๑๓ วรรคสอง เกินกว่าสามครั้ง สถานตรวจสภาพรถแห่งใดที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดใน (๑) หรือ (๒) ให้ผู้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนกลาง ถ้ามิได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือว่าผู้นั้นไม่ประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต และให้การพิจารณาคำขอเป็นอันสิ้นสุดลง การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ให้นายทะเบียนกลางออกใบอนุญาตฉบับใหม่ และให้ระบุคำว่า “ต่ออายุ” ไว้ที่ด้านหน้าด้วย ข้อ ๑๖ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะปรับปรุงแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรายการ ดังต่อไปนี้ ต้องแจ้งและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลางก่อน (๑) อาคารสถานที่ (๒) ลานจอดรถ พื้นที่สำหรับรถรอเข้าตรวจสภาพ ทางเข้า และทางออก (๓) เครื่องตรวจสภาพรถและอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับใช้ในการตรวจสภาพรถ (๔) ผู้ควบคุมการตรวจสภาพรถหรือเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถ ข้อ ๑๗ ใบอนุญาตย่อมสิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้รับใบอนุญาตถึงแก่ความตาย (๒) ผู้รับใบอนุญาตถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (๓) ผู้รับใบอนุญาตที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันตามกฎหมาย (๔) ผู้รับใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคลได้สิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย (๕) ผู้รับใบอนุญาตได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบกิจการสถานตรวจสภาพรถ (๖) นายทะเบียนกลางเพิกถอนใบอนุญาต ข้อ ๑๘ ในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นสุดลงเพราะเหตุตามข้อ ๑๗ (๑) หรือ (๒) ให้ทายาทหรือผู้อนุบาลยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ผู้รับใบอนุญาตถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี และให้การพิจารณาออกใบอนุญาตฉบับใหม่ให้แก่ทายาทหรือผู้อนุบาลเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้สำหรับการออกใบอนุญาตฉบับเดิม แต่ทั้งนี้ หากใบอนุญาตฉบับเดิมได้ออกตามความในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้นำความในข้อ ๒๑ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ข้อ ๑๙ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะขอรับใบแทนใบอนุญาตที่สูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด การออกใบแทนใบอนุญาต ให้นายทะเบียนกลางออกใบอนุญาตให้ใหม่ แต่ให้ระบุคำว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านหน้าด้วย ข้อ ๒๐ การยื่นคำขอตามกฎกระทรวงนี้ (๑) สถานตรวจสภาพรถที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก (๒) สถานตรวจสภาพรถที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่นต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดแห่งท้องที่ที่สถานตรวจสภาพรถนั้นตั้งอยู่ ข้อ ๒๑ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งใบอนุญาตนั้นยังไม่สิ้นอายุ ให้ถือว่าเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถตามกฎกระทรวงนี้ แต่ต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงสถานตรวจสภาพรถให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีเครื่องตรวจสภาพรถ อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับใช้ในการตรวจสภาพรถ และอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก หรือเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานและการควบคุม กำกับ และดูแลสถานตรวจสภาพรถเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ (๒) จัดให้มีอาคารสถานที่ ลานจอดรถ พื้นที่สำหรับรถรอเข้าตรวจสภาพ ทางเข้า และทางออก ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดตามกฎกระทรวงนี้ภายในสามปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ใบอนุญาตเป็นอันสิ้นสุดลง ข้อ ๒๒ บรรดาระเบียบหรือประกาศที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ หรือจนกว่าจะมีระเบียบหรือประกาศตามกฎกระทรวงนี้ออกมาใช้บังคับ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาตและการขอต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางประการไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้อย่างเหมาะสมและครอบคลุมข้อเท็จจริงในสภาพการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังขาดมาตรการควบคุมกำกับดูแลสถานตรวจสภาพรถที่ไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ประกอบกับเพื่อให้แบบ ขนาด มาตรฐาน และคุณลักษณะของเครื่องตรวจสภาพรถและอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้มีการกำหนดให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน อันจะทำให้การตรวจสภาพรถมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานยิ่งขึ้น สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และการขอต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ ปณตภร/ผู้ตรวจ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๓๗ ก/หน้า ๑๙/๒๗ เมษายน ๒๕๕๕
657057
กฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ พ.ศ. 2554
กฎกระทรวง กฎกระทรวง การขอและการออกใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ พ.ศ. ๒๕๕๔ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิก (๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๕ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๓) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๔) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๓ ในกฎกระทรวงนี้ “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ข้อ ๔ ผู้ใดประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้และมีหมายเลขประจำตัวประชาชน สำหรับกรณีคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตในการขนส่งส่วนบุคคล ให้ยื่นภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทางหรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทาง พร้อมด้วยภาพถ่ายใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือหลักฐานแสดงที่พักอาศัยในราชอาณาจักรที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศออกให้หรือใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว (๒) รูปถ่ายขนาด ๓ x ๔ เซนติเมตร จำนวนสองรูป ซึ่งเป็นรูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตาสีเข้ม ไม่ใส่ผ้าคลุมใบหน้าหรือผ้าโพกศีรษะ เว้นแต่ผู้ซึ่งมีความจำเป็นตามศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนาของตน แต่ต้องเป็นรูปถ่ายที่เห็นใบหน้าได้อย่างชัดเจน และถ่ายก่อนวันยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่เกินหกเดือน สำหรับกรณีผู้ขอรับใบอนุญาตที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นรูปถ่ายมาด้วย แต่ต้องเข้ารับการถ่ายรูปกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อทำใบอนุญาต (๓) ใบรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่รับรองว่าผู้ขอรับใบอนุญาตไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๓) (๔) (๕) และ (๖) ซึ่งมีอายุใช้ได้ตามที่ผู้รับรองกำหนด แต่ต้องออกก่อนวันยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่เกินหนึ่งเดือน ในกรณีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตยื่นหลักฐานแสดงว่าได้ผ่านการศึกษาและจบหลักสูตรจากโรงเรียนการขนส่งของกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรองมาพร้อมกันด้วย ข้อ ๕ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามข้อ ๔ (๒) และแนบใบอนุญาตที่ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญมาด้วย แบบใบแทนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้มีลักษณะ ขนาด และรายการตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๖ ใบอนุญาตมี ๒ แบบ คือ (๑) ใบอนุญาตที่ไม่ได้ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (๒) ใบอนุญาตที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แบบใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้มีลักษณะ ขนาด และรายการตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๗ การยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้ยื่น ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานขนส่งจังหวัด สำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา หรือสถานที่อื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๘ คำขอรับใบอนุญาตหรือคำขอรับใบแทนใบอนุญาตที่ยื่นไว้ต่อนายทะเบียนในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคำขอตามกฎกระทรวงนี้ และในการพิจารณาออกใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาต ให้นายทะเบียนดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติราชการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ เช่น การมีระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลภายในหน่วยงาน ทำให้การยื่นคำขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถสามารถกระทำได้นอกเขตภูมิลำเนาของผู้ขอรับใบอนุญาต หรือการมีระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ความจำเป็นที่ต้องมีเอกสารและหลักฐานเพื่อใช้ประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถลดลง สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอและการออกใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถเสียใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดรูปแบบของใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถให้มีความทันสมัย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดเก็บข้อมูลและป้องกันการปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ปณตภร/ผู้ตรวจ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๘๑ ก/หน้า ๑/๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
648554
กฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถจากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2554
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถจากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงิน ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๔[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อสำหรับสถาบันการเงินที่ควบรวมกิจการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ ๒ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ทั้งนี้ เฉพาะสถาบันการเงินที่ควบรวมกิจการภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๔ และต้องดำเนินการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ สุชาติ โชคชัยวัฒนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เห็นชอบมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ ๒ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อสำหรับสถาบันการเงินที่ควบรวมกิจการและโดยที่มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียม จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณัฐวดี/ตรวจ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๑๖/๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔
647278
กฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. 2554
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. ๒๕๕๔ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๑๐๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๓ ในการใช้รถทำการขนส่งผู้โดยสาร ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่ใช้หรือยินยอมให้บุคคลต่อไปนี้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถ (ก) บุคคลซึ่งไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ หรือมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถไม่ตรงตามประเภทและชนิดของรถที่ใช้ทำการขนส่ง หรือมีใบอนุญาตที่สิ้นอายุแล้ว (ข) ผู้ขับรถซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกินชั่วโมงการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด (ค) ผู้ขับรถซึ่งหย่อนความสามารถในการขับรถ (๒) จัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามสูบบุหรี่ติดไว้ในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจนภายในตัวรถตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) จัดให้มีคำเตือนมิให้ขึ้นหรือลงรถนอกบริเวณที่มีเครื่องหมายหยุดรถ ติดไว้ในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจนที่ตัวรถด้านนอกและภายในตัวรถ ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด (๔) จัดให้มีข้อมูลชื่อตัว ชื่อสกุล เลขที่ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถและหมายเลขทะเบียนรถ ติดไว้ในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจนภายในตัวรถ ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด (๕) จัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแจ้งภัยและเหตุร้าย ติดไว้ในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจนภายในตัวรถ ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด (๖) จัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญญาณที่จะต้องแสดงเมื่อจำเป็นต้องจอดรถในทางเดินรถเนื่องจากเครื่องยนต์หรือเครื่องอุปกรณ์ของรถขัดข้องตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งเฉพาะ (๑) และ (๖) ข้อ ๔ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งระหว่างประเทศ ต้อง (ก) ดูแลผู้โดยสารให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในระหว่างการโดยสาร (ข) ดูแลให้ผู้โดยสารวางสัมภาระในตำแหน่งที่ไม่กีดขวางทางขึ้นลงหรือทางเดินภายในตัวรถ และไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารอื่นหรือผู้อื่น (ค) ดูแลให้ผู้โดยสารได้รับความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารและในกรณีที่เกิดอุบัติภัยใด ๆ ขึ้นในระหว่างทำการขนส่งจะต้องช่วยเหลือหรือจัดให้ผู้โดยสารพ้นจากอุบัติภัยนั้นก่อน (ง) ไม่ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร (จ) ไม่ยื่นมือ แขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้สัญญาณตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก (ฉ) ไม่นำสิ่งของใด ๆ ที่มีกลิ่นรุนแรงที่ก่อความรำคาญต่อผู้โดยสารขึ้นบนรถ เว้นแต่จะได้จัดเก็บให้มิดชิดโดยปราศจากกลิ่นนั้น (ช) ไม่นำดอกไม้เพลิง วัตถุระเบิด หรือวัตถุกัดกร่อนขึ้นบนรถ (ซ) ไม่ถ่ายหรือทิ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงบนรถ เว้นแต่เป็นการถ่ายหรือทิ้งในบริเวณที่จัดไว้เป็นที่ถ่ายหรือทิ้งโดยเฉพาะ (ฌ) ไม่กระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล หรือกระทำการลามกอย่างอื่นไม่ว่าจะกระทำด้วยตนเอง หรือกระทำด้วยสื่อหรือวัสดุใด ๆ อันทำให้ปรากฏความหมายในทำนองเดียวกัน (ญ) ไม่สูบบุหรี่หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในการขนส่งในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก การขนส่งส่วนบุคคล และการขนส่งระหว่างประเทศนอกจากต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ใน (๑) แล้ว ต้อง (ก) บันทึกรายการต่าง ๆ ในสมุดประจำรถ (ข) ไม่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับรถไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ข้อ ๕ บรรดาประกาศหรือระเบียบที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ จนกว่าจะมีประกาศหรือระเบียบตามกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ สุชาติ โชคชัยวัฒนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากที่ผ่านมาการขนส่งโดยรถขนาดเล็กเป็นการขนส่งอีกประเภทหนึ่งที่ยังมิได้กำหนดให้นำข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งมาใช้บังคับในทุกกรณีเหมือนดังเช่นการประกอบการขนส่งประเภทอื่น จึงเห็นสมควรที่จะนำข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งมาใช้บังคับกับการขนส่งโดยรถขนาดเล็กด้วย นอกจากนี้ เห็นสมควรกำหนดข้อห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้หรือยินยอมให้บุคคลซึ่งไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถปฏิบัติหน้าที่ขับรถเพิ่มเติมขึ้นจากเดิมที่ห้ามเฉพาะบุคคลซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถไม่ตรงตามประเภทและชนิดของรถที่ใช้ทำการขนส่งหรือใบอนุญาตที่สิ้นอายุแล้ว รวมถึงการกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสม และไม่กระทำการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่ปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้บริการ และห้ามผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในการขนส่งใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ เว้นแต่จะได้ใช้อุปกรณ์เสริมโดยผู้ขับรถไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๗ เมษายน ๒๕๕๔ ณัฐวดี/ตรวจ ๗ เมษายน ๒๕๕๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๒๓ ก/หน้า ๒๗/๕ เมษายน ๒๕๕๔
677448
กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (ฉบับ Update ณ วันที่ 18/05/2552)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ หมวด ๑ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ส่วนที่ ๑ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑[๒] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนหน้าและกันชนท้าย ที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถหรือยื่นจากหน้ารถและท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยว ที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกันและไม่มากเกินสมควร รวมทั้งต้องมีรัศมีวงเลี้ยวและระยะท้ายปัดของรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กรณีรถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร ต้องมีระบบบังคับเลี้ยวที่เพลาล้อท้ายด้วย (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย กรณีรถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร ต้องมีเพลาล้อไม่น้อยกว่า ๓ เพลาล้อ (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้ โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนเฉพาะเพลาหน้าก็ได้ (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถตอนท้ายหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่รถพ่วงหลุดจากรถตอนหน้า (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในสภาพใช้งานตามปกติที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสม ต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน กำลัง และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเสียงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รวมทั้งต้องมีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามสมควร (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีเครื่องระงับเสียงและมีการบังหรือกันท่อไอเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่ายอันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและตรงออกท้ายรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีทางขึ้นลงด้านท้ายรถ ส่วนปลายท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและเบนออกตรงมุมท้ายรถด้านขวา (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วย คลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลัง ข้อต่อและเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิทช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถและแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดี และมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว ที่สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมงคลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ ที่มีคุณลักษณะและระบบการทำงานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมาย หรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด กระจกกันลมหลังของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสง ซึ่งเมื่อวัดการผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ (ข) กระจกเงาหรืออุปกรณ์สำหรับให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลังและภายในรถได้อย่างชัดเจน (ค) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (ง) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (จ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถังให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฉ) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล หลังคาจะทำด้วยผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันก็ได้ (ช) พื้นรถ ที่มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นชั้นบนของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมั่นคงแข็งแรง มีพื้นยางหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ปูเต็มความกว้างและความยาวของพื้นรถ ใต้พื้นชั้นบนต้องมีฝ้ากรุโดยทั่วไป (ซ) หน้าต่างที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) และ (ง) มาตรฐาน ๖ (ก) และมาตรฐาน ๗ จะเป็นชนิดที่ปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบการถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ถ้าทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของวัสดุโปร่งแสงนั้น เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสง ซึ่งเมื่อวัดการผ่านของแสงแล้วแสงต้องผ่านทั้งวัสดุโปร่งแสงและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ (ฌ) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านข้าง บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านท้ายของรถบันไดทางขึ้นลงให้ยื่นออกนอกรถได้ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านขวาหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทและลักษณะของรถที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินตลอดจนจำนวน ขนาด ตำแหน่ง คุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ญ) ที่นั่งผู้ขับรถ ซึ่งแยกต่างหากจากที่นั่งผู้โดยสาร สามารถปรับเลื่อนได้ตามความเหมาะสมตรึงแน่นกับพื้นรถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับรถได้ดีและมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้าด้านข้าง และด้านหลังได้อย่างชัดเจน เมื่อใช้กระจกเงาหรืออุปกรณ์สำหรับมองภาพ (ฎ) ที่นั่งผู้โดยสาร ตรึงแน่นกับพื้นรถ แบบ การจัดวางและการยึดที่นั่งผู้โดยสารของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารแต่ละมาตรฐานให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฏ) ห้องผู้ขับรถหรือราวกั้นผู้ขับรถที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับแยกผู้ขับรถให้อยู่คนละส่วนกับผู้โดยสาร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีราวกั้นผู้ขับรถหรือไม่ก็ได้ (ฐ) ราวยึดเหนี่ยวที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อย ตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกัน และที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีราวยึดเหนี่ยว รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งราวยึดเหนี่ยว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฑ) กริ่งสัญญาณหยุดรถที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฒ) แผ่นสะท้อนแสงสีแดง จำนวน ๒ แผ่น หรือ ๔ แผ่น มีลักษณะเป็นวงกลม สามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร แผ่นสะท้อนแสงที่มีลักษณะเป็นวงกลมต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือหากมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต้องมีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร แล้วแต่กรณี ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร แผ่นริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร (ณ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งไกลจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น เว้นแต่เป็นการให้แสงสัญญาณชั่วขณะ (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน ที่ให้แสงสีเดียวกับโคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ แสงขาวหรือเหลือง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสดงความกว้างของรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกะพริบ แสงเหลือง ติดที่ด้านหน้า จำนวน ๒ ดวง และแสงเหลืองหรือแดง ติดที่ด้านท้าย จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ โดยให้ติดไว้ที่ข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงที่ติดที่ด้านท้ายต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถหรือท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร และดวงล่างสุดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวทุกดวงที่อยู่ข้างเดียวกันต้องกะพริบพร้อมกันในขณะที่รถให้สัญญาณเลี้ยว (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร จะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร (ฉ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้น และแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กะพริบ โคมไฟหยุดถ้ารวมอยู่ในโคมไฟท้ายจะต้องมีความสว่างมากกว่าความสว่างของโคมไฟท้ายนั้น (ช) โคมไฟถอยหลัง แสงขาว จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ในกรณีที่มี ๒ ดวง ต้องติดอยู่ในระดับเดียวกันและห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟถอยหลังจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่เข้าเกียร์ถอยหลังเท่านั้น (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาว อย่างน้อย ๑ ดวง แต่ไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ด้านบน ด้านล่าง หรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียนท้ายรถ มีความสว่างสามารถอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร จากท้ายรถ และต้องมีที่บังมิให้แสงพุ่งออกไปทางท้ายรถ โคมไฟส่องป้ายทะเบียนต้องให้แสงสว่างพร้อมกับโคมไฟท้าย (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถสำหรับรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร จำนวน ๔ ดวง ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถ ดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ดวงในห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร และให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายตอนบนของหลังคารถ จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ริมสุดของท้ายรถข้างละ ๑ ดวง โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถที่ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถให้ใช้ดังนี้ (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทางใช้แสงน้ำเงิน (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งไม่ประจำทางใช้แสงเหลือง (๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลใช้แสงขาว (๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็กใช้แสงม่วง (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในรถให้แสงสว่างพอสมควร และจะมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือประจำทุกที่นั่งด้วยก็ได้ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะต้องมีโคมไฟภายในรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งของโคมไฟภายในรถ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฎ) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง แสงขาว ติดที่ด้านหน้ารถให้แสงสว่างพอสมควรที่ป้ายแสดงเส้นทาง ข้อ ๑ ทวิ[๓] รถตามข้อ ๑ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกันและให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟเลี้ยวข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟเลี้ยวข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกัน โคมไฟเลี้ยวข้างรถทุกดวงต้องกระพริบพร้อมกับโคมไฟเลี้ยวที่ด้านหน้าและด้านท้ายที่อยู่ข้างเดียวกัน (ง) โคมไฟตัดหมอก แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดที่หน้ารถสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่อยู่สูงไม่เกินโคมไฟแสงพุ่งต่ำถ้ามี ๑ ดวงให้ติดที่กึ่งกลางหน้ารถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ให้ติดในระดับเดียวกัน และห่างจากกึ่งกลางหน้ารถเท่ากันทั้งสองข้างโคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟตัดหมอกจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟแสดงความกว้างของรถและโคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า ๒ องศา หรือ ๐.๒๐ เมตร ในระยะ ๗.๕๐ เมตร และไม่เฉไปทางขวา (จ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ในตำแหน่งที่ให้แสงสว่างออกไปทางท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร ถ้ามี ๑ ดวง ต้องอยู่ในแนวกึ่งกลางท้ายรถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ต้องอยู่ในระดับเดียวกัน และห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๓)[๔] เครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่จะมีไว้ใช้อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ดังต่อไปนี้ (ก) ประตูรถ ทางลาด สะพาน หรือเครื่องอุปกรณ์ที่นำพาคนพิการหรือรถคนพิการ (wheel chair) ขึ้นและลงจากรถ ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยในการใช้งาน และต้องมีลักษณะ ขนาด และคุณสมบัติในการใช้งานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ (ข) พื้นที่หรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับเก็บหรือจอดรถคนพิการ (wheel chair) ที่อยู่ภายในห้องโดยสาร ต้องมีอุปกรณ์ยึดตรึงที่มั่นคงแข็งแรง และไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แก่ผู้อื่น (ค) เครื่องอุปกรณ์อื่น (ถ้ามี) ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถให้รถตอนท้ายเคลื่อนตัวขึ้นลง และเลี้ยวตามรถตอนหน้าได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับที่ทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ถอยหลังได้เสมือนเป็นรถตอนเดียวกันด้วย ข้อ ๓ รถตามข้อ ๑ ที่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืนได้ให้บริเวณพื้นที่สำหรับผู้โดยสารยืนต้องเป็นพื้นที่ราบซึ่งมีความกว้างและความยาวพอเหมาะที่จะให้ผู้โดยสารยืนได้โดยถือเกณฑ์พื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ตารางเซนติเมตร ต่อผู้โดยสารยืน ๑ คน ข้อ ๔[๕] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ และมาตรฐาน ๖ ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถหรือชั้นภายในรถ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (ข) (ง) (จ) (ฉ) ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถนั้นภายในรถหรือบนหลังคาก็ได้ รถขนาดเล็ก ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้บนหลังคาหรือภายในรถ โดยจะมีไว้ที่ด้านล่างด้วยก็ได้ ข้อ ๕[๖] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) และ (ง) มาตรฐาน ๕ (ก) และมาตรฐาน ๖ (ก) ต้องมีเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอ เครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศตามวรรคหนึ่ง ต้องมีระบบการทำงาน คุณลักษณะเฉพาะ หรือขนาด ตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๖[๗] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีห้องสุขภัณฑ์ได้ ให้มีห้องสุขภัณฑ์ภายในรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงพอสมควร สำหรับใช้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้และมีอ่างสำหรับล้างมือด้วย ห้องสุขภัณฑ์จะต้องมีที่สำหรับเก็บอุจจาระและปัสสาวะอย่างดี ไม่รั่วซึม และป้องกันกลิ่นเหม็นได้ ข้อ ๗[๘] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มได้ ให้มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มขนาดพอสมควรอยู่ตอนท้ายภายในรถ ข้อ ๘[๙] นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ และมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ ดังนี้ (๑) เครื่องรับวิทยุ ๑ เครื่อง (๒) เครื่องเล่นเทปบันทึกเสีย ๑ เครื่อง (๓) เครื่องขยายเสียง ขนาดพอสมควร ๑ เครื่อง อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ตาม (๑) (๒) และ (๓) อาจรวมอยู่ในเครื่องเดียวกันได้ ข้อ ๙[๑๐] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ และมาตรฐาน ๖ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๒ เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ ๒ เครื่อง เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามชนิด ประเภทและขนาดตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้ติดตั้งไว้ภายในรถในที่เหมาะสมซึ่งพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ข้อ ๑๐[๑๑] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับท้ายรถหรือยื่นจากท้ายรถในระยะห่างพอสมควรและจะมีกันชนหน้าหรือไม่ก็ได้ (ค) อุปกรณ์ต่อพ่วง ที่สามารถลากจูงได้ในขณะเต็มอัตราบรรทุก รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ระบบห้ามล้อ ที่สามารถห้ามล้อได้โดยใช้การควบคุมจากระบบห้ามล้อของรถลากจูงและต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถขั้วสายไฟ และสวิตช์ที่อาจเกิดประกายไฟได้ ต้องใช้ฉนวนหุ้มปิด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ค) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก มีข้อความเป็นอักษรไทยว่า “รถพ่วง” หรือ “รถพ่วงยาว” โดยลักษณะ ขนาด และสีของแผ่นโลหะ ตลอดจนวิธีการติดแผ่นโลหะให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กรณีที่ต้องติดตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดนอกจากที่กำหนดตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ (จ) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง (ฉ) หน้าต่างที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึดถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด ขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถปรับอากาศจะเป็นชนิดที่ปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง (ช) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างของรถ และบันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านขวาของรถหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย จำนวน ขนาด ตำแหน่ง คุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ซ) ที่นั่งผู้โดยสาร ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฎ) (ฌ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อย ตรึงแน่นกับเพดานภายในโดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกัน และที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ญ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งจำนวน และตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฎ) แผ่นสะท้อนแสงมีดังต่อไปนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ฏ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง ติดบนหลังคาท้ายรถห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ข้างละ ๑ ดวง (ช) โคมไฟภายในรถ มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ญ) (ซ) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตรที่ข้างซ้ายและข้างขวารถในระดับเดียวกัน ตอนหน้าห่างจากหน้าสุดรถไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ไม่รวมแขนพ่วง) แห่งละ ๑ ดวง ตอนท้ายห่างจากท้ายสุดรถไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร แห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๖ เมตร ให้มีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวง ถ้ามีมากกว่า ๑ ดวง ระยะห่างระหว่างโคมไฟแต่ละดวงในข้างเดียวกันต้องเท่ากัน และห่างกันไม่น้อยกว่า ๓ เมตร โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายรถให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ข้อ ๑๐ ทวิ[๑๒] รถตามข้อ ๑๐ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๐ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่มีที่เก็บสัมภาระ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถ ข้อ ๑๒ ให้นำข้อ ๓ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ โดยอนุโลม ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๓[๑๓] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถังแต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร โดยตัวถังด้านข้างหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาล้อท้ายได้ไม่เกินด้านละ ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง ความสูงภายนอกของรถเมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) และ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็กจะต้องมีความสูงไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๓๐ เมตร ความสูงภายในของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ความสูงของรถต้องไม่ทำให้การทรงตัวของรถต่ำกว่าเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) ความยาว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) และ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) และ (ข) และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๕ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) และ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) มาตรฐาน ๕ และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถและแขนพ่วง จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๐ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของ รถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๘ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของตัวถังไม่รวมกันชนหรือแขนพ่วงถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า จะต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนหน้า (๕) ส่วนยื่นท้าย เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือถึงศูนย์กลางของกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีประตูทางขึ้นลงด้านท้าย และส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ หรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนท้าย รถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร อาจมีความยาวของส่วนยื่นท้ายเกินสองในสามของช่วงล้อก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์การวัดขนาดช่วงล้อของรถตาม (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๑๔[๑๔] (ยกเลิก) ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบ ของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก[๑๕] ข้อ ๑๔ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๗ จะมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ได้ หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานแต่ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๔/๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องมีสภาพเครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ หมวด ๒ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ส่วนที่ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ ข้อ ๑๕[๑๖] รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนหน้า ยื่นจากหน้ารถระยะห่างพอสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีกันชนท้ายยื่นจากท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยว ที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกัน และไม่มากเกินสมควร รวมทั้งต้องมีรัศมีวงเลี้ยวและระยะท้ายปัดของรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่เพลาล้อหน้าไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในสภาพใช้งานตามปกติที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสม โดยต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน กำลัง และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเสียงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รวมทั้งต้องมีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามสมควร (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีอุปกรณ์ระงับเสียงและมีอุปกรณ์ป้องกันความร้อนหรือการติดไฟโดยส่วนปลายของท่อไอเสียต้องไม่หันไปทางด้านซ้ายของรถ ทั้งนี้ อุปกรณ์ระงับเสียงและอุปกรณ์ป้องกันความร้อนหรือการติดไฟ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลัง ข้อต่อ และเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิตช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถและแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดี และมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว ที่สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมงคลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ ที่มีคุณลักษณะและระบบการทำงานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถังยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ห้องผู้ขับรถทำด้วยโลหะแข็งแรง มีประตูทั้งสองข้าง มีที่นั่งผู้ขับรถตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สามารถบังคับรถได้ดี และสามารถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังได้อย่างชัดเจนเมื่อใช้กระจกเงาสำหรับมองหลัง ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีห้องผู้ขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข) กระจกกันลมและส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กระจกกันลมหน้าต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดีและห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด (ค) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๑ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และภายในรถได้ทุกขณะ (ง) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (จ) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ให้มีลักษณะและมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนดแต่ความสูงของตัวถังส่วนที่บรรทุกที่มีลักษณะเป็นกระบะทึบสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๘,๐๐๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร และสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัมเมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ฉ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถังให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ช) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ซ) แผ่นสะท้อนแสงสีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ในกรณีที่เป็นรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบให้ติดแผ่นสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย (ฌ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ข) (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ค) (ง) โคมไฟเลี้ยว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (จ) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ฉ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ช) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถ แสงเขียว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฌ) สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้มีโคมไฟแสดงส่วนสูงแสงแดง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวงแต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดของรถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในห้องผู้ขับรถให้แสงสว่างพอสมควร ข้อ ๑๖ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องต่อพ่วงทำด้วยโลหะแข็งแรงสำหรับยึดแขนพ่วงของรถพ่วง (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ จะต้องมีจานพ่วงหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ทำด้วยโลหะพร้อมเครื่องสำหรับล็อคสลักพ่วงของรถกึ่งพ่วงหรือรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว เพื่อมิให้หลุดจากกันในขณะใช้งาน ข้อ ๑๗ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๔ จะต้องมีเครื่องดับเพลิงติดตั้งในที่เหมาะสมพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะขนาด จำนวนและคุณภาพของเครื่องดับเพลิงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ข้อ ๑๗ ทวิ[๑๗] รถตามข้อ ๑๕ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ข) (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ค) (ง) โคมไฟตัดหมอก มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ง) (จ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑)(จ) (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๕ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๓)[๑๘] เครื่องปรับอากาศ ต้องมีประสิทธิภาพสามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีระบบการทำงาน คุณลักษณะเฉพาะ หรือขนาด ตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ข้อ ๑๘[๑๙] รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ โครงคัสซีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๘ ต้องสามารถปรับขนาดความยาวได้ โครงคัสซีส่วนหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ให้มีสลักพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควรสำหรับต่อกับจานพ่วงของรถลากจูงได้โดยเฉพาะ (ข) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ค) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ง) สปริง ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ฉ) ระบบห้ามล้อ ที่สามารถห้ามล้อได้โดยใช้การควบคุมจากระบบห้ามล้อของรถลากจูงและต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ช) ระบบไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๑) (ฌ) (ซ) อุปกรณ์ต่อพ่วง ที่สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก มีข้อความเป็นอักษรไทยว่า “รถพ่วง” หรือ “รถพ่วงยาว” โดยลักษณะ ขนาด และสีของแผ่นโลหะ ตลอดจนวิธีการติดแผ่นโลหะให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) ส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (ข) (ข) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ซึ่งมีลักษณะและมาตรฐานเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (จ) (ค) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ง) แผ่นสะท้อนแสงมีดังต่อไปนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ในกรณีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ หรือลักษณะ ๗ ที่ตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้ติดที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวร ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ช) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๓) (ซ) ข้อ ๑๙[๒๐] (ยกเลิก) ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๐[๒๑] รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถังแต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๒ ที่ติดตั้งระบบทำความเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในตัวถังส่วนบรรทุก จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๖๐ เมตร โดยตัวถังหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาล้อท้ายหรือกลุ่มเพลาล้อท้ายได้ไม่เกินด้านละ ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง เมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร เว้นแต่รถที่มีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๓ เมตร (๓) ความยาว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๘ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๓.๖๐ เมตร โดยระยะจากศูนย์กลางของสลักพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางสลักพ่วง ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ (๕) ส่วนยื่นท้าย รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือถึงศูนย์กลางของกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่มีส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบ และรถที่มีทางขึ้นลงหรือติดตั้งอุปกรณ์ในการขนถ่ายที่ด้านท้ายส่วนบรรทุก ให้มีความยาวของส่วนยื่นท้ายได้ไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชน ถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือกลุ่มเพลาล้อท้าย ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในห้าของช่วงล้อ หลักเกณฑ์การวัดขนาดช่วงล้อของรถตาม (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๒๑[๒๒] (ยกเลิก) ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบ ของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ[๒๓] ข้อ ๒๑ ในกรณีที่มีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งาน รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของจะมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ หรือขนาดของรถแตกต่างไปจากกฎกระทรวงนี้ได้ ตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒๒ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศต้องมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๒๔] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการติดกระจกกันลมหลังกับตัวรถไม่มีผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถ สมควรเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเลือกที่จะจัดให้มีกระจกกันลมหลังหรือไม่ก็ได้ และโดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว สมควรกำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม นอกจากนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมขนาดความสูงของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้รับกับมาตรฐานสากลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการทรงตัวของรถดังกล่าวเพื่อให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๒๕] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมยานยนต์ได้เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดอันตรายแก่ผู้ใช้รถ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งในส่วนเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งสมควรเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องมือเครื่องใช้ประจำรถที่ใช้ในการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๒๖] ข้อ ๓ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันปรากฏว่า รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงที่มีกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถแตกต่างไปจากรถยนตร์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน แต่ไม่เกินสิบสองคน (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนตร์ จึงก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและการกำกับดูแลทั้ง ๆ ที่เป็นรถยนตร์ที่มีลักษณะและขนาดเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติที่เกี่ยวกับฟิล์มกรองแสงของกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถยนตร์ดังกล่าวตามกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) และมาตรฐาน ๓ (ฉ) (รถตู้) เสียใหม่ให้สอดคล้องกันกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยรถยนตร์ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๒๗] ข้อ ๓ รถที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนหรือติดตั้งเครื่องปรับอากาศใหม่หรือระบบระบายอากาศใหม่ให้เครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศดังกล่าวเป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ โดยที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามเป็นสมาชิกพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer) เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ และให้สัตยาบันการเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ จึงมีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ แต่เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำเครื่องปรับอากาศมาติดตั้งเป็นเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งจำนวนมากโดยไม่มีมาตรการในการควบคุมการใช้ จึงมีการใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbons (CFCs)) เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศภายในรถที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งสารดังกล่าวจะทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อควบคุมดูแลการใช้เครื่องปรับอากาศภายในรถที่ใช้ในการขนส่งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อให้สามารถกำหนดให้มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๒๘] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่จะมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการโดยสารแก่คนพิการนอกจากนี้ เพื่อให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๗ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ใช้สำหรับการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อาจมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถ แตกต่างไปจากข้อกำหนดในกฎกระทรวงได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ หรือตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๒๙] ข้อ ๙ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก รวมทั้งรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ได้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และมีขนาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และได้จดทะเบียนก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่อาจขอเปลี่ยนแปลงเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และขนาดของรถให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ได้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบขนาด และข้อกำหนดทางเทคนิคของรถ ที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานยานยนต์สากลและเทคโนโลยีด้านการผลิตยานยนต์ในปัจจุบันที่พัฒนาขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ขนาดและข้อกำหนดทางเทคนิคของรถตามกฎกระทรวงดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้การใช้รถในการประกอบการขนส่งมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานยานยนต์สากลและเทคโนโลยีด้านการผลิตยานยนต์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ณัฐพร/จัดทำ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๙/ฉบับพิเศษหน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ [๒] ข้อ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓] ข้อ ๑ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๔] มาตรา ๑ ทวิ (๓) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๕] ข้อ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๖] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๗] ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๘] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๙] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๐] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๑] ข้อ ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๒] ข้อ ๑๐ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๓] ข้อ ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๔] ข้อ ๑๔ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๕] ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๔ ถึง ข้อ ๑๔/๑ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๖] ข้อ ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๗] ข้อ ๑๗ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๘] ข้อ ๑๗ ทวิ (๓) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๙] ข้อ ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๐] ข้อ ๑๙ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๑] ข้อ ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๒] ข้อ ๒๑ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๓] ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๑ ถึง ข้อ ๒๒ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๔] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๑๒/หน้า ๙/๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ [๒๕] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๔๘ ก/หน้า ๑๒/๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๗ [๒๖] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๒๕/๗ เมษายน ๒๕๔๓ [๒๗] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๕ ก/หน้า ๓/๑๔ มกราคม ๒๕๔๘ [๒๘] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๖๕ ก/หน้า ๒๑/๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ [๒๙] ราชกิจจานุกเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๓๒/๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒
603725
กฎกระทรวง ฉบับที่ 60 (พ.ศ. 2552) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนหน้าและกันชนท้าย ที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถหรือยื่นจากหน้ารถและท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยว ที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกันและไม่มากเกินสมควร รวมทั้งต้องมีรัศมีวงเลี้ยวและระยะท้ายปัดของรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กรณีรถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร ต้องมีระบบบังคับเลี้ยวที่เพลาล้อท้ายด้วย (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย กรณีรถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร ต้องมีเพลาล้อไม่น้อยกว่า ๓ เพลาล้อ (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้ โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนเฉพาะเพลาหน้าก็ได้ (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถตอนท้ายหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่รถพ่วงหลุดจากรถตอนหน้า (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในสภาพใช้งานตามปกติที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสม ต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน กำลัง และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเสียงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รวมทั้งต้องมีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามสมควร (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีเครื่องระงับเสียงและมีการบังหรือกันท่อไอเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่ายอันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและตรงออกท้ายรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีทางขึ้นลงด้านท้ายรถ ส่วนปลายท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและเบนออกตรงมุมท้ายรถด้านขวา (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วย คลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลัง ข้อต่อและเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิทช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถและแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดี และมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว ที่สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมงคลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ ที่มีคุณลักษณะและระบบการทำงานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมาย หรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด กระจกกันลมหลังของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสง ซึ่งเมื่อวัดการผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ (ข) กระจกเงาหรืออุปกรณ์สำหรับให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลังและภายในรถได้อย่างชัดเจน (ค) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (ง) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (จ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถังให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฉ) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล หลังคาจะทำด้วยผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันก็ได้ (ช) พื้นรถ ที่มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นชั้นบนของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมั่นคงแข็งแรง มีพื้นยางหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ปูเต็มความกว้างและความยาวของพื้นรถ ใต้พื้นชั้นบนต้องมีฝ้ากรุโดยทั่วไป (ซ) หน้าต่างที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) และ (ง) มาตรฐาน ๖ (ก) และมาตรฐาน ๗ จะเป็นชนิดที่ปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบการถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ถ้าทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของวัสดุโปร่งแสงนั้น เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสง ซึ่งเมื่อวัดการผ่านของแสงแล้วแสงต้องผ่านทั้งวัสดุโปร่งแสงและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ (ฌ) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านข้าง บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านท้ายของรถบันไดทางขึ้นลงให้ยื่นออกนอกรถได้ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านขวาหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทและลักษณะของรถที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินตลอดจนจำนวน ขนาด ตำแหน่ง คุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ญ) ที่นั่งผู้ขับรถ ซึ่งแยกต่างหากจากที่นั่งผู้โดยสาร สามารถปรับเลื่อนได้ตามความเหมาะสมตรึงแน่นกับพื้นรถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับรถได้ดีและมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้าด้านข้าง และด้านหลังได้อย่างชัดเจน เมื่อใช้กระจกเงาหรืออุปกรณ์สำหรับมองภาพ (ฎ) ที่นั่งผู้โดยสาร ตรึงแน่นกับพื้นรถ แบบ การจัดวางและการยึดที่นั่งผู้โดยสารของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารแต่ละมาตรฐานให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฏ) ห้องผู้ขับรถหรือราวกั้นผู้ขับรถที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับแยกผู้ขับรถให้อยู่คนละส่วนกับผู้โดยสาร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีราวกั้นผู้ขับรถหรือไม่ก็ได้ (ฐ) ราวยึดเหนี่ยวที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อย ตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกัน และที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีราวยึดเหนี่ยว รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งราวยึดเหนี่ยว ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฑ) กริ่งสัญญาณหยุดรถที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฒ) แผ่นสะท้อนแสงสีแดง จำนวน ๒ แผ่น หรือ ๔ แผ่น มีลักษณะเป็นวงกลมสามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร แผ่นสะท้อนแสงที่มีลักษณะเป็นวงกลมต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือหากมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต้องมีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร แล้วแต่กรณี ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร แผ่นริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร (ณ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งไกลจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น เว้นแต่เป็นการให้แสงสัญญาณชั่วขณะ (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน ที่ให้แสงสีเดียวกับโคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ แสงขาวหรือเหลือง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสดงความกว้างของรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกะพริบ แสงเหลือง ติดที่ด้านหน้า จำนวน ๒ ดวง และแสงเหลืองหรือแดง ติดที่ด้านท้าย จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ โดยให้ติดไว้ที่ข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงที่ติดที่ด้านท้ายต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถหรือท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร และดวงล่างสุดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวทุกดวงที่อยู่ข้างเดียวกันต้องกะพริบพร้อมกันในขณะที่รถให้สัญญาณเลี้ยว (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร จะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร (ฉ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้น และแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กะพริบ โคมไฟหยุดถ้ารวมอยู่ในโคมไฟท้ายจะต้องมีความสว่างมากกว่าความสว่างของโคมไฟท้ายนั้น (ช) โคมไฟถอยหลัง แสงขาว จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ในกรณีที่มี ๒ ดวง ต้องติดอยู่ในระดับเดียวกันและห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟถอยหลังจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่เข้าเกียร์ถอยหลังเท่านั้น (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาว อย่างน้อย ๑ ดวง แต่ไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ด้านบน ด้านล่าง หรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียนท้ายรถ มีความสว่างสามารถอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร จากท้ายรถ และต้องมีที่บังมิให้แสงพุ่งออกไปทางท้ายรถ โคมไฟส่องป้ายทะเบียนต้องให้แสงสว่างพร้อมกับโคมไฟท้าย (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถสำหรับรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร จำนวน ๔ ดวง ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถ ดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ดวงในห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร และให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายตอนบนของหลังคารถ จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ริมสุดของท้ายรถข้างละ ๑ ดวง โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถที่ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถให้ใช้ดังนี้ ๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทางใช้แสงน้ำเงิน ๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งไม่ประจำทางใช้แสงเหลือง ๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลใช้แสงขาว ๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็กใช้แสงม่วง (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในรถให้แสงสว่างพอสมควร และจะมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือประจำทุกที่นั่งด้วยก็ได้ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะต้องมีโคมไฟภายในรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งของโคมไฟภายในรถ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฎ) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง แสงขาว ติดที่ด้านหน้ารถให้แสงสว่างพอสมควรที่ป้ายแสดงเส้นทาง” ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑๐ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับท้ายรถหรือยื่นจากท้ายรถในระยะห่างพอสมควรและจะมีกันชนหน้าหรือไม่ก็ได้ (ค) อุปกรณ์ต่อพ่วง ที่สามารถลากจูงได้ในขณะเต็มอัตราบรรทุก รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ระบบห้ามล้อ ที่สามารถห้ามล้อได้โดยใช้การควบคุมจากระบบห้ามล้อของรถลากจูงและต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถขั้วสายไฟ และสวิตช์ที่อาจเกิดประกายไฟได้ ต้องใช้ฉนวนหุ้มปิด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ค) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก มีข้อความเป็นอักษรไทยว่า “รถพ่วง” หรือ “รถพ่วงยาว” โดยลักษณะ ขนาด และสีของแผ่นโลหะ ตลอดจนวิธีการติดแผ่นโลหะให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กรณีที่ต้องติดตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดนอกจากที่กำหนดตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ (จ) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง (ฉ) หน้าต่างที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึดถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด ขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถปรับอากาศจะเป็นชนิดที่ปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง (ช) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างของรถ และบันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านขวาของรถหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย จำนวน ขนาด ตำแหน่ง คุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ซ) ที่นั่งผู้โดยสาร ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฎ) (ฌ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อย ตรึงแน่นกับเพดานภายในโดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกัน และที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ญ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งจำนวน และตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฎ) แผ่นสะท้อนแสงมีดังต่อไปนี้ ๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ฏ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง ติดบนหลังคาท้ายรถห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ข้างละ ๑ ดวง (ช) โคมไฟภายในรถ มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ญ) (ซ) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถในระดับเดียวกัน ตอนหน้าห่างจากหน้าสุดรถไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ไม่รวมแขนพ่วง) แห่งละ ๑ ดวง ตอนท้ายห่างจากท้ายสุดรถไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร แห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๖ เมตร ให้มีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวง ถ้ามีมากกว่า ๑ ดวง ระยะห่างระหว่างโคมไฟแต่ละดวงในข้างเดียวกันต้องเท่ากัน และห่างกันไม่น้อยกว่า ๓ เมตร โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายรถให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๓ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑๓ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถังแต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร โดยตัวถังด้านข้างหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาล้อท้ายได้ไม่เกินด้านละ ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง ความสูงภายนอกของรถเมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) และ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็กจะต้องมีความสูงไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๓๐ เมตร ความสูงภายในของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ความสูงของรถต้องไม่ทำให้การทรงตัวของรถต่ำกว่าเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) ความยาว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) และ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) และ (ข) และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๕ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) และ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) มาตรฐาน ๕ และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถและแขนพ่วง จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๐ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๘ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของตัวถังไม่รวมกันชนหรือแขนพ่วงถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า จะต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนหน้า (๕) ส่วนยื่นท้าย เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนที่บรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือถึงศูนย์กลางของกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีประตูทางขึ้นลงด้านท้าย และส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ หรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนท้าย รถที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ เมตร อาจมีความยาวของส่วนยื่นท้ายเกินสองในสามของช่วงล้อก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์การวัดขนาดช่วงล้อของรถตาม (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑๕ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชนหน้า ยื่นจากหน้ารถระยะห่างพอสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีกันชนท้ายยื่นจากท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยว ที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกัน และไม่มากเกินสมควร รวมทั้งต้องมีรัศมีวงเลี้ยวและระยะท้ายปัดของรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริง มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่เพลาล้อหน้าไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในสภาพใช้งานตามปกติที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสม โดยต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน กำลัง และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเสียงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รวมทั้งต้องมีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามสมควร (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีอุปกรณ์ระงับเสียงและมีอุปกรณ์ป้องกันความร้อนหรือการติดไฟโดยส่วนปลายของท่อไอเสียต้องไม่หันไปทางด้านซ้ายของรถ ทั้งนี้ อุปกรณ์ระงับเสียงและอุปกรณ์ป้องกันความร้อนหรือการติดไฟ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลัง ข้อต่อ และเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิตช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถและแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดี และมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว ที่สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมงคลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ ที่มีคุณลักษณะและระบบการทำงานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถังยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ห้องผู้ขับรถทำด้วยโลหะแข็งแรง มีประตูทั้งสองข้าง มีที่นั่งผู้ขับรถตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สามารถบังคับรถได้ดี และสามารถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังได้อย่างชัดเจนเมื่อใช้กระจกเงาสำหรับมองหลัง ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีห้องผู้ขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข) กระจกกันลมและส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด กระจกกันลมหน้าต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดีและห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด (ค) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๑ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และภายในรถได้ทุกขณะ (ง) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (จ) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ให้มีลักษณะและมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด แต่ความสูงของตัวถังส่วนที่บรรทุกที่มีลักษณะเป็นกระบะทึบสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๘,๐๐๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร และสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ฉ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถังให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ช) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ซ) แผ่นสะท้อนแสงสีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ในกรณีที่เป็นรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบให้ติดแผ่นสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย (ฌ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ข) (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ค) (ง) โคมไฟเลี้ยว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (จ) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ฉ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ช) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถ แสงเขียว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฌ) สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้มีโคมไฟแสดงส่วนสูงแสงแดง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวงแต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดของรถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในห้องผู้ขับรถให้แสงสว่างพอสมควร” ข้อ ๖ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑๘ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่อธิบดีให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ โครงคัสซีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๘ ต้องสามารถปรับขนาดความยาวได้ โครงคัสซีส่วนหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ให้มีสลักพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควรสำหรับต่อกับจานพ่วงของรถลากจูงได้โดยเฉพาะ (ข) กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ค) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ง) สปริง ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะ ยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลนต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ฉ) ระบบห้ามล้อ ที่สามารถห้ามล้อได้โดยใช้การควบคุมจากระบบห้ามล้อของรถลากจูงและต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถหยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ช) ระบบไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๑) (ฌ) (ซ) อุปกรณ์ต่อพ่วง ที่สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา รวมทั้งต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทำงาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ฌ) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก มีข้อความเป็นอักษรไทยว่า “รถพ่วง” หรือ “รถพ่วงยาว” โดยลักษณะ ขนาด และสีของแผ่นโลหะ ตลอดจนวิธีการติดแผ่นโลหะให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบคัสซีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (ข) (ข) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ซึ่งมีลักษณะและมาตรฐานเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (จ) (ค) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ง) แผ่นสะท้อนแสงมีดังต่อไปนี้ ๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ในกรณีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ หรือลักษณะ ๗ ที่ตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้ติดที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบแบบตัวถังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวร ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ช) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๓) (ซ)” ข้อ ๗ ให้ยกเลิกข้อ ๑๙ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๘ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๒๐ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถังแต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๒ ที่ติดตั้งระบบทำความเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในตัวถังส่วนบรรทุก จะต้องมีความกว้างไม่เกิน ๒.๖๐ เมตร โดยตัวถังหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาล้อท้ายหรือกลุ่มเพลาล้อท้ายได้ไม่เกินด้านละ ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง เมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร เว้นแต่รถที่มีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร จะต้องมีความสูงไม่เกิน ๓ เมตร (๓) ความยาว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองด้านนอกตัวรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๘ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๓.๖๐ เมตร โดยระยะจากศูนย์กลางของสลักพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องมีความยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางสลักพ่วง ต้องมีความยาวของส่วนยื่นหน้าไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ (๕) ส่วนยื่นท้าย รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือถึงศูนย์กลางของกลุ่มเพลาล้อท้ายในกรณีที่มีเพลาล้อท้ายมากกว่าหนึ่งเพลาล้อต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่มีส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบ และรถที่มีทางขึ้นลงหรือติดตั้งอุปกรณ์ในการขนถ่ายที่ด้านท้ายส่วนบรรทุก ให้มีความยาวของส่วนยื่นท้ายได้ไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชน ถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือกลุ่มเพลาล้อท้าย ต้องมีความยาวของส่วนยื่นท้ายไม่เกินสองในห้าของช่วงล้อ หลักเกณฑ์การวัดขนาดช่วงล้อของรถตาม (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด” ข้อ ๙ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก รวมทั้งรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ได้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และมีขนาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และได้จดทะเบียนก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่อาจขอเปลี่ยนแปลงเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และขนาดของรถให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ได้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบขนาด และข้อกำหนดทางเทคนิคของรถ ที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานยานยนต์สากลและเทคโนโลยีด้านการผลิตยานยนต์ในปัจจุบันที่พัฒนาขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ขนาดและข้อกำหนดทางเทคนิคของรถตามกฎกระทรวงดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้การใช้รถในการประกอบการขนส่งมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานยานยนต์สากลและเทคโนโลยีด้านการผลิตยานยนต์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ วิภา/ปรับปรุง ๑๘ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๓๒/๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒
586086
กฎกระทรวงกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง พ.ศ. 2551
กฎกระทรวง กำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๕๑[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๓ ในกฎกระทรวงนี้ “ก๊าซปิโตรเลียมเหลว” (Liquefied Petroleum Gas (LPG)) หมายความว่า ก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลวซึ่งประกอบด้วย โปรเปน โปรพีนหรือโปรปิลีน นอร์มัลบิวเทน ไอโซบิวเทน ไอโซบิวทีลีน บิวทีน หรือบิวทิลีน หรืออีเทนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างผสมกัน “เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ” หมายความว่า เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่ใช้ติดตั้งในรถที่ใช้ในการขนส่งที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง “ผู้ติดตั้ง” หมายความว่า ผู้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ “ผู้ตรวจและทดสอบ” หมายความว่า ผู้ตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบและการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ข้อ ๔ รถที่ใช้ในการขนส่งที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง ต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) ถังหรือภาชนะบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว (cylinder or container) (๒) ลิ้นบรรจุ (filling valve) (๓) ลิ้นระบายความดัน (pressure relief valve) (๔) ลิ้นกันกลับ (check valve or non return valve) (๕) ลิ้นเปิดปิด (shut-off valve) (๖) อุปกรณ์วัดระดับก๊าซเหลว (level indicator or fixed liquid level gauge) (๗) อุปกรณ์ป้องกันการบรรจุเกิน (overfill protection device) (๘) อุปกรณ์ระบายความดัน (pressure relief device) (๙) อุปกรณ์ควบคุมการเปิดปิดลิ้นระยะไกลพร้อมด้วยลิ้นป้องกันการไหลเกิน (remotely controlled service valve with excess flow valve) (๑๐) อุปกรณ์ทำไอก๊าซและปรับความดันก๊าซ (vaporizer and pressure regulator) (๑๑) อุปกรณ์ฉีดก๊าซ จ่ายก๊าซ หรือผสมก๊าซ (injector or gas injection device or gas mixing piece) (๑๒) อุปกรณ์รับเติมก๊าซ (filling unit or receptacle) (๑๓) ตัวกรองก๊าซ (filter) (๑๔) ท่อนำก๊าซ (fuel line) (๑๕) ข้อต่อ (fitting) (๑๖) เรือนกักก๊าซ (gas tight housing) สำหรับกรณีที่มีการติดตั้งถังหรือภาชนะบรรจุก๊าซในห้องผู้โดยสาร ห้องผู้ขับรถ หรือที่ซึ่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก (๑๗) ท่อระบายก๊าซ (ventilation hose) สำหรับกรณีที่มีการติดตั้งเรือนกักก๊าซ หรือข้อต่อสำหรับท่อนำก๊าซในห้องผู้โดยสาร ห้องผู้ขับรถ หรือที่ซึ่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๕ ในกรณีที่มีการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้เพิ่มเติม นอกจากที่กำหนดตามข้อ ๔ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบนั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด (๑) อุปกรณ์ตรวจวัดความดันหรืออุณหภูมิ (pressure or temperature sensor/indicator) (๒) อุปกรณ์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (electronic control unit) (๓) อุปกรณ์ระบบการเลือกเชื้อเพลิง (fuel selection system) (๔) ปั๊มก๊าซ (fuel pump) (๕) ข้อต่อบริการ (service coupling) (๖) อุปกรณ์เกี่ยวกับระบบการทำงานและความปลอดภัยอื่น ๆ ข้อ ๖ การติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๔ และข้อ ๕ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด และต้องติดตั้งโดยผู้ติดตั้งที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีตามข้อ ๑๐ ข้อ ๗ เมื่อผู้ติดตั้งได้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๔ หรือข้อ ๕ ครบถ้วนถูกต้องแล้ว ให้ผู้ติดตั้งออกหนังสือรับรองการติดตั้งตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดแก่รถที่ผ่านการติดตั้ง ข้อ ๘ การตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๔ และข้อ ๕ รวมทั้งการตรวจและทดสอบการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๖ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด และต้องกระทำโดยผู้ตรวจและทดสอบที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีตามข้อ ๑๐ ข้อ ๙ เมื่อผู้ตรวจและทดสอบได้ตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ รวมทั้งการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบแล้วเห็นว่า เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ รวมทั้งการติดตั้งถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐาน ให้ผู้ตรวจและทดสอบออกหนังสือรับรองการตรวจและทดสอบตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดแก่รถที่ผ่านการตรวจและทดสอบ ข้อ ๑๐ ผู้ติดตั้งและผู้ตรวจและทดสอบต้องได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือจากอธิบดี หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบและการยกเลิกการให้ความเห็นชอบการเป็นผู้ติดตั้งหรือผู้ตรวจและทดสอบ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หนังสือให้ความเห็นชอบการเป็นผู้ติดตั้งหรือผู้ตรวจและทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกหนังสือ ข้อ ๑๑ เจ้าของรถหรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องติดหรือแสดงเครื่องหมายแสดงการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่รถที่ผ่านการตรวจและทดสอบตามข้อ ๙ ลักษณะของเครื่องหมายแสดงการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวและวิธีการติดหรือแสดงเครื่องหมายแสดงการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๑๒ ภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ผู้ติดตั้งที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบตามข้อ ๑๐ ยังคงติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ และมิให้นำความในข้อ ๗ มาใช้บังคับ ข้อ ๑๓ ผู้ตรวจและทดสอบที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นผู้ตรวจและทดสอบที่ได้รับความเห็นชอบตามกฎกระทรวงนี้ต่อไปจนครบสามปีนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบ ข้อ ๑๔ รถที่ได้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นรถที่ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามกฎกระทรวงนี้และให้ใช้รถนั้นได้ต่อไป แต่ต้องนำรถเข้าตรวจและทดสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๑๕ บรรดาประกาศหรือระเบียบที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ จนกว่าจะมีประกาศหรือระเบียบตามกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่กำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวยังไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่ได้รับการพัฒนาขึ้น สมควรปรับปรุงการกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ มาตรฐานเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และการติดตั้งและการตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังกล่าวเสียใหม่ รวมทั้งปรับปรุงข้อกำหนดให้ผู้ติดตั้งและผู้ตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกทุกสามปี เพื่อให้รถที่ใช้ในการขนส่งที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงได้รับการติดตั้งและการตรวจและทดสอบที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ วัชศักดิ์/ผู้จัดทำ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ วิภา/ปรับปรุง ๑๘ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๙๕ ก/หน้า ๕/๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๑
556388
กฎกระทรวง กำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง พ.ศ. 2550
กฎกระทรวง กำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๕๐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๑ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๓ ในกฎกระทรวงนี้ “ก๊าซธรรมชาติอัด” (Compressed Natural Gas (CNG)) หมายความว่า ก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในสภาพที่ถูกอัดจนมีความดันสูง มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนและมีสถานะเป็นก๊าซ “เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ” หมายความว่า เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่ใช้ติดตั้งในรถที่ใช้ในการขนส่งที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง “ผู้ติดตั้ง” หมายความว่า ผู้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ “ผู้ตรวจและทดสอบ” หมายความว่า ผู้ตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบและการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ข้อ ๔ รถที่ใช้ในการขนส่งที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง ต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ (๑) ถังหรือภาชนะบรรจุก๊าซธรรมชาติอัด (cylinder or container) ชนิดทนความดันในการใช้งานสูงสุดไม่น้อยกว่า ๒๐ เมกาปาสกาล (MPa) (๒) อุปกรณ์ปรับความดันก๊าซ (pressure regulator) (๓) อุปกรณ์แสดงค่าความดันก๊าซ (pressure indicator) (๔) อุปกรณ์ระบายความดัน (pressure relief device) (๕) ลิ้นหัวถังที่เปิดปิดด้วยมือ (manual cylinder valve) (๖) ลิ้นเปิดปิดอัตโนมัติ (automatic valve) (๗) ลิ้นเปิดปิดด้วยมือ (manual valve) สำหรับกรณีที่มีการติดตั้งถังหรือภาชนะบรรจุก๊าซมากกว่าหนึ่งใบ (๘) ลิ้นป้องกันการไหลเกิน (excess flow valve) (๙) อุปกรณ์รับเติมก๊าซ (filling unit or receptacle) (๑๐) ลิ้นกันกลับ (check valve or non return valve) (๑๑) ท่อนำก๊าซ (fuel line) (๑๒) ข้อต่อ (fitting) (๑๓) ตัวกรองก๊าซ (filter) (๑๔) อุปกรณ์ผสมก๊าซกับอากาศ (gas/air mixer) หรืออุปกรณ์จ่ายก๊าซเข้าไปยังท่อร่วมไอดีหรือห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ (gas injector) (๑๕) เรือนกักก๊าซ (gas tight housing) สำหรับกรณีที่มีการติดตั้งถังหรือภาชนะบรรจุก๊าซในห้องผู้โดยสาร ห้องผู้ขับรถ หรือที่ซึ่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก (๑๖) ท่อระบายก๊าซ (ventilation hose) สำหรับกรณีที่มีการติดตั้งเรือนกักก๊าซหรือข้อต่อสำหรับท่อนำก๊าซในห้องผู้โดยสาร ห้องผู้ขับรถ หรือที่ซึ่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๕ ในกรณีที่มีการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้เพิ่มเติมจากที่กำหนดตามข้อ ๔ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบนั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด (๑) อุปกรณ์ตรวจวัดความดันหรืออุณหภูมิ (pressure or temperature sensor/indicator) (๒) อุปกรณ์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (electronic control unit) (๓) ลิ้นระบายความดัน (pressure relief valve or discharge valve) (๔) ลิ้นเปิดปิดด้วยมือ (manual valve) สำหรับกรณีที่มีการติดตั้งถังหรือภาชนะบรรจุก๊าซหนึ่งใบ (๕) อุปกรณ์ปรับการไหลของก๊าซ (gas flow adjuster) ข้อ ๖ การติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๔ และข้อ ๕ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด และต้องติดตั้งโดยผู้ติดตั้งที่ได้รับความเห็นชอบตามข้อ ๑๐ ข้อ ๗ เมื่อผู้ติดตั้งได้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๔ หรือข้อ ๕ ครบถ้วนถูกต้องให้ผู้ติดตั้งออกหนังสือรับรองการติดตั้งตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดแก่รถที่ผ่านการติดตั้งแล้ว ข้อ ๘ การตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๔ และข้อ ๕ รวมทั้งการตรวจและทดสอบการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๖ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด และต้องกระทำโดยผู้ตรวจและทดสอบที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีตามข้อ ๑๐ ข้อ ๙ เมื่อผู้ตรวจและทดสอบได้ตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ รวมทั้งการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบแล้วเห็นว่า เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ รวมทั้งการติดตั้งถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐาน ให้ผู้ตรวจและทดสอบออกหนังสือรับรองการตรวจและทดสอบตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดแก่รถที่ผ่านการตรวจและทดสอบ ข้อ ๑๐ ผู้ติดตั้งและผู้ตรวจและทดสอบต้องได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือจากอธิบดี หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบและการยกเลิกการให้ความเห็นชอบการเป็นผู้ติดตั้งหรือผู้ตรวจและทดสอบ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หนังสือให้ความเห็นชอบการเป็นผู้ติดตั้งหรือผู้ตรวจและทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกหนังสือ ข้อ ๑๑ เจ้าของรถหรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องติดหรือแสดงเครื่องหมายแสดงการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดที่รถที่ผ่านการตรวจและทดสอบตามข้อ ๙ ลักษณะของเครื่องหมายแสดงการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดและวิธีการติดหรือแสดงเครื่องหมายแสดงการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๑๒ ภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ผู้ติดตั้งที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบตามข้อ ๑๐ ยังคงติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ และมิให้นำความในข้อ ๗ มาใช้บังคับ ข้อ ๑๓ ผู้ตรวจและทดสอบที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นผู้ตรวจและทดสอบที่ได้รับความเห็นชอบตามกฎกระทรวงนี้ต่อไปจนครบสามปีนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบ ข้อ ๑๔ รถที่ได้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๑ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นรถที่ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามกฎกระทรวงนี้และให้ใช้รถนั้นได้ต่อไป แต่ต้องนำรถเข้าตรวจและทดสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๑๕ บรรดาประกาศหรือระเบียบที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๑ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ จนกว่าจะมีประกาศหรือระเบียบตามกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๑ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่กำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิงได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิงที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวยังไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่ได้รับการพัฒนาขึ้น สมควรปรับปรุงการกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ มาตรฐานเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และการติดตั้งและการตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังกล่าวเสียใหม่ รวมทั้งปรับปรุงข้อกำหนดให้ผู้ติดตั้งและผู้ตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกทุกสามปี เพื่อให้รถที่ใช้ในการขนส่งที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิงได้รับการติดตั้งและการตรวจและทดสอบที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ วัชศักดิ์/ผู้จัดทำ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐ วิภา/ปรับปรุง ๑๘ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๒๗ ก/หน้า ๔๘/๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๐
552790
กฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวง ซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2550
กฎกระทรวง ยกเลิกกฎกระทรวง ซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก บางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นรถบางประเภทจากการตรวจสภาพให้กับรถที่เคยจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ อันมีผลบังคับใช้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยในปัจจุบันบทบัญญัติดังกล่าวได้สิ้นสภาพการบังคับใช้แล้ว นอกจากนี้ บทบัญญัติในกฎกระทรวงยังยกเว้นการตรวจสภาพเป็นรายปีให้แก่รถบางประเภท แต่ต้องนำมารับการตรวจสภาพทุกสามปีซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรการเสริมสร้างความปลอดภัยที่ต้องการให้รถที่ใช้ในการขนส่งทุกประเภทมีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย สมควรยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ วัชศักดิ์/ผู้จัดทำ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๐ วิภา/ปรับปรุง ๑๘ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๒๖ ก/หน้า ๓๕/๖ มิถุนายน ๒๕๕๐
615000
กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (Update ณ วันที่ 21/06/2549)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ หมวด ๑ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ส่วนที่ ๑ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรา ๒ มาตรา ๓ มาตรา ๔ มาตรา ๖ มาตรา ๗ และรถขนาดเล็กจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ทั้งกันชนหน้าและกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถหรือยื่นจากหน้ารถและท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยวที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกันแรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกัน และไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) มาตรา ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนเฉพาะเพลาหน้าก็ได้ (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิค หรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนติดไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถตอนท้ายหยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถพ่วงหลุดจากรถตอนหน้า (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ด้วยความเร็วเหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติ ซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิท และสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีเครื่องระงับเสียงและมีการบังหรือกันท่อไอเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่าย อันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทาและตรงออกท้ายรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีทางขึ้นลงด้านท้ายรถส่วนปลายท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและเบนออกตรงมุมท้ายรถด้านขวา (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อ และเฟืองท้ายสามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัยและให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิทช์ที่ผู้ขับสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟฟ้าที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้นการเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่ายส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถ และแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณ ชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็ว ชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแบบตัวถังของรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก)[๒] กระจกกันลม และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด กระจกกันลมหลังของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสงซึ่งเมื่อวัดผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐[๓] (ข)[๔] กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๓ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และประตูทางขึ้นลงของผู้โดยสารได้ทุกขณะ (ค) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถชั้นบนด้วย (ง) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (จ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถังให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฉ) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และมาตรา ๓ (ฉ) ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล หลังคาจะทำด้วยผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันก็ได้ (ช) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นชั้นบนของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมั่นคงแข็งแรง มีพื้นยางหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ปูเต็มความกว้างและความยาวของพื้นรถ ใต้พื้นชั้นบนต้องมีฝ้ากรุโดยทั่วไป (ซ)[๕] หน้าต่างที่ด้านข้างรถซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) และมาตรฐาน ๖ (ก) จะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบการถ่ายเทอากาศได้ดี ในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็กจะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง บานหน้าต่างของรถ ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ถ้าทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของวัสดุโปร่งแสงนั้น เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสงซึ่งเมื่อวัดผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐[๖] (ฌ) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน บานประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านข้าง บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านท้ายของรถ บันไดทางขึ้นลงให้ยื่นออกนอกรถได้ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถมีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวนขนาดและตำแหน่งประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ญ) ที่นั่งผู้ขับรถซึ่งแยกต่างหากจากที่นั่งผู้โดยสาร สามารถปรับเลื่อนได้ตามความเหมาะสมตรึงแน่นกับพื้นรถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับรถได้ดีและมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน (ฎ) ที่นั่งผู้โดยสาร ตรึงแน่นกับพื้นรถ แบบและการจัดวางที่นั่งของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารแต่ละมาตรฐาน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฏ) ห้องผู้ขับรถหรือราวกั้นผู้ขับรถที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับแยกผู้ขับรถให้อยู่คนละส่วนกับผู้โดยสาร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีราวกั้นผู้ขับรถหรือไม่ก็ได้ (ฐ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อยตรงแน่นกับเพดานภายในโดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกันและที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ฑ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทและลักษณะของรถ ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถ จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฒ)[๗] แผ่นสะท้อนแสงสีแดง จำนวน ๒ แผ่น หรือ ๔ แผ่น มีลักษณะเป็นวงกลม สามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร แผ่นสะท้อนแสงที่มีลักษณะเป็นวงกลมต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือหากมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต้องมีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร แล้วแต่กรณี ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร แผ่นริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ณ)[๘] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๙] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งไกลจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น เว้นแต่เป็นการให้แสงสัญญาณชั่วขณะ (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน ที่ให้แสงสีเดียวกับโคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ แสงขาวหรือเหลือง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสดงความกว้างของรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดที่ด้านหน้า จำนวน ๒ ดวง และแสงเหลืองหรือแดง ติดที่ด้านท้ายจำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ โดยให้ติดไว้ที่ข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงที่ติดที่ด้านท้ายต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถหรือท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร และดวงล่างสุดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวทุกดวงที่อยู่ข้างเดียวกันต้องกระพริบพร้อมกันในขณะที่รถให้สัญญาณเลี้ยว (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตรจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร (ฉ) โคมไฟหยุดแสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ โคมไฟหยุดถ้ารวมอยู่ในโคมไฟท้ายจะต้องมีความสว่างมากว่าความสว่างของโคมไฟท้ายนั้น (ช) โคมไฟถอยหลัง แสงขาว จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ในกรณีที่มี ๒ ดวง ต้องติดอยู่ในระดับเดียวกันและห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟถอยหลังจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่เข้าเกียร์ถอยหลังเท่านั้น (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาว อย่างน้อย ๑ ดวง แต่ไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ด้านบนด้านล่าง หรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียนท้ายรถมีความสว่างสามารถอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร จากท้ายรถ และต้องมีที่บังมิให้แสงพุ่งออกไปทางท้ายรถ โคมไฟส่องป้ายทะเบียนต้องให้แสงสว่างพร้อมกับโคมไฟท้าย (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถสำหรับรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร จำนวน ๔ ดวง ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถ ดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ดวงในห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร และให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายตอนบนของหลังคารถ จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ริมสุดของท้ายรถข้างละ ๑ ดวง โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถที่ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถให้ใช้ ดังนี้ (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทางใช้แสงน้ำเงิน (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งไม่ประจำทางใช้แสงเหลือง (๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลใช้แสงขาว (๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็กใช้แสงม่วง (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในรถ ให้แสงสว่างพอสมควร และจะมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือประจำทุกที่นั่งด้วยก็ได้ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะต้องมีโคมไฟภายในรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งของโคมไฟภายในรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฎ) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง แสงขาว ติดที่ด้านหน้ารถให้แสงสว่างพอสมควรที่ป้ายแสดงเส้นทาง ข้อ ๑ ทวิ[๑๐] รถตามข้อ ๑ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกันและให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟเลี้ยวข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟเลี้ยวข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกัน โคมไฟเลี้ยวข้างรถทุกดวงต้องกระพริบพร้อมกับโคมไฟเลี้ยวที่ด้านหน้าและด้านท้ายที่อยู่ข้างเดียวกัน (ง) โคมไฟตัดหมอก แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดที่หน้ารถสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่อยู่สูงไม่เกินโคมไฟแสงพุ่งต่ำถ้ามี ๑ ดวงให้ติดที่กึ่งกลางหน้ารถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ให้ติดในระดับเดียวกัน และห่างจากกึ่งกลางหน้ารถเท่ากันทั้งสองข้างโคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟตัดหมอกจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟแสดงความกว้างของรถและโคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า ๒ องศา หรือ ๐.๒๐ เมตร ในระยะ ๗.๕๐ เมตร และไม่เฉไปทางขวา (จ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ในตำแหน่งที่ให้แสงสว่างออกไปทางท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร ถ้ามี ๑ ดวง ต้องอยู่ในแนวกึ่งกลางท้ายรถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ต้องอยู่ในระดับเดียวกัน และห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๓)[๑๑] เครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่จะมีไว้ใช้อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ดังต่อไปนี้ (ก) ประตูรถ ทางลาด สะพาน หรือเครื่องอุปกรณ์ที่นำพาคนพิการหรือรถคนพิการ (wheel chair) ขึ้นและลงจากรถ ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยในการใช้งาน และต้องมีลักษณะ ขนาด และคุณสมบัติในการใช้งานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ (ข) พื้นที่หรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับเก็บหรือจอดรถคนพิการ (wheel chair) ที่อยู่ภายในห้องโดยสาร ต้องมีอุปกรณ์ยึดตรึงที่มั่นคงแข็งแรง และไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แก่ผู้อื่น (ค) เครื่องอุปกรณ์อื่น (ถ้ามี) ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถให้รถตอนท้ายเคลื่อนตัวขึ้นลง และเลี้ยวตามรถตอนหน้าได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับที่ทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ถอยหลังได้เสมือนเป็นรถตอนเดียวกันด้วย ข้อ ๓ รถตามข้อ ๑ ที่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืนได้ให้บริเวณพื้นที่สำหรับผู้โดยสารยืนต้องเป็นพื้นที่ราบซึ่งมีความกว้างและความยาวพอเหมาะที่จะให้ผู้โดยสารยืนได้โดยถือเกณฑ์พื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ตารางเซนติเมตร ต่อผู้โดยสารยืน ๑ คน ข้อ ๔[๑๒] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ และมาตรฐาน ๖ ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถหรือชั้นภายในรถ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (ข) (ง) (จ) (ฉ) ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถนั้นภายในรถหรือบนหลังคาก็ได้ รถขนาดเล็ก ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้บนหลังคาหรือภายในรถ โดยจะมีไว้ที่ด้านล่างด้วยก็ได้ ข้อ ๕[๑๓] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) และ (ง) มาตรฐาน ๕ (ก) และมาตรฐาน ๖ (ก) ต้องมีเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอ เครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศตามวรรคหนึ่ง ต้องมีระบบการทำงาน คุณลักษณะเฉพาะ หรือขนาด ตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๖[๑๔] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีห้องสุขภัณฑ์ได้ ให้มีห้องสุขภัณฑ์ภายในรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงพอสมควร สำหรับใช้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้และมีอ่างสำหรับล้างมือด้วย ห้องสุขภัณฑ์จะต้องมีที่สำหรับเก็บอุจจาระและปัสสาวะอย่างดี ไม่รั่วซึม และป้องกันกลิ่นเหม็นได้ ข้อ ๗[๑๕] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มได้ ให้มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มขนาดพอสมควรอยู่ตอนท้ายภายในรถ ข้อ ๘[๑๖] นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ และมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ ดังนี้ (๑) เครื่องรับวิทยุ ๑ เครื่อง (๒) เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง ๑ เครื่อง (๓) เครื่องขยายเสียง ขนาดพอสมควร ๑ เครื่อง อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ตาม (๑) (๒) และ (๓) อาจรวมอยู่ในเครื่องเดียวกันได้ ข้อ ๙[๑๗] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ และมาตรฐาน ๖ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๒ เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ ๒ เครื่อง เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามชนิด ประเภทและขนาดตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้ติดตั้งไว้ภายในรถในที่เหมาะสมซึ่งพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ข้อ ๑๐ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับท้ายรถหรือยื่นจากท้ายรถในระยะห่างพอสมควร และจะมีกันชนหน้าหรือไม่ก็ได้ (ค) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อเพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่น ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้ โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูง และต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ หยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง (ฌ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้า ต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถขั้วสายไฟ สวิทช์ที่อาจเกิดประกายไฟได้ ต้องใช้ฉนวนหุ้มปิด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกจะต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ข) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ค) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดงความกว้างของขอบสีแดงไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรโดยรอบ สามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืน ที่ระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลังของตัวถังให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ง) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ (จ) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง (ฉ) หน้าต่าง ที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรงสามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด ขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถปรับอากาศจะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง (ช) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างของรถ บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวน ขนาดและตำแหน่งของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ซ) ที่นั่งผู้โดยสาร ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฎ) (ฌ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อยตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกันและที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ญ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควรพร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถตามวรรคหนึ่ง จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาหยุดรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฎ)[๑๘] แผ่นสะท้อนแสง ดังต่อไปนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้าย และข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ฏ)[๑๙] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๒๐] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟ และความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถแสงแดง ติดบนหลังคาท้ายรถห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ข้างละ ๑ ดวง (ช) โคมไฟภายในรถ มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ญ) (ซ) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถในระดับเดียวกันตอนหน้าห่างจากหน้าสุดรถไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ไม่รวมแขนพ่วง) แห่งละ ๑ ดวง ตอนท้ายห่างจากท้ายสุดรถไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร แห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๖ เมตร ให้มีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวง ถ้ามีมากกว่า ๑ ดวง ระยะห่างระหว่างโคมไฟแต่ละดวงในข้างเดียวกันต้องเท่ากัน และห่างกันไม่น้อยกว่า ๓ เมตร โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายรถให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ข้อ ๑๐ ทวิ[๒๑] รถตามข้อ ๑๐ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๐ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่มีที่เก็บสัมภาระ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถ ข้อ ๑๒ ให้นำข้อ ๓ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ โดยอนุโลม ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๓ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถัง รวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลัง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร แต่ทั้งนี้ ตัวถังด้านข้างจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒)[๒๒] ความสูง ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) (ข) มาตรฐาน ๕ และมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๔.๕๐ เมตร ความสูงภายในของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้เป็นไปตามที่ กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ความสูงของรถต้องไม่ทำให้รถมีการทรงตัวได้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ (๓)[๒๓] ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) มาตรฐาน ๒ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) มาตรฐาน ๓ (ข) มาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องไม่เกิน ๑๒ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) มาตรฐาน ๒ (ง) มาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) มาตรฐาน ๓ (ง) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) มาตรฐาน ๕ และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากกันชนหน้าหรือส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๘ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของตัวถัง ไม่รวมกันชนหรือแขนพ่วงถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ หรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนหน้าในกรณีที่รถนั้นเป็นรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่ ช่วงล้อของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อคู่หน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าและระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าถึงศูนย์กลางเพลาล้อหรือศูนย์กลางระหว่างเพลาล้อคู่ของรถตอนท้าย (๕) ส่วนยื่นท้าย เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือถึงศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้าย ในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีประตูทางขึ้นลงด้านท้าย และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๖ นั้น ส่วนยื่นท้ายจะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อหรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนท้าย ข้อ ๑๔[๒๔] (ยกเลิก) ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบ ของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก[๒๕] ข้อ ๑๔ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๗ จะมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ได้ หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานแต่ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๔/๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องมีสภาพเครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ หมวด ๒ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ส่วนที่ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ ข้อ ๑๕ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่ผู้ผลิตออกแบบและกรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนหน้ายื่นจากหน้ารถระยะห่างพอสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีกันชนท้ายยื่นจากท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยวที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกันและไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่เพลาล้อหน้าไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้าที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิคหรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถด้วยความเร็วที่เหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสียที่มีเครื่องระงับเสียงมีการบังหรือกันท่อไปเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่ายอันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไปเสียต้องขนานกับผิวทางและตรงไปตามความยาวของรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ นั้น ส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อไอเสียจะต้องไม่อยู่ใต้ถังสำหรับบรรทุก สำหรับรถที่ใช้ในการขนสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ ท่อไอเสียจะตั้งขึ้นในแนวดิ่ง และไม่ต่ำกว่าส่วนสูงของรถนั้นก็ได้ (ฏ) ระบบส่งกำลังงานประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อต่าง ๆ และเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัยและให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงานพร้อมสวิทช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้า ต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียวดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึมมีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัยซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึม หรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็วสามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็วชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถังยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ห้องผู้ขับรถทำด้วยโลหะแข็งแรง มีประตูทั้งสองข้างมีที่นั่งผู้ขับรถตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สามารถบังคับรถได้ดี และสามารถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกเงาสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีห้องผู้ขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ข)[๒๖] กระจกกันลมและส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ค) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๑ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และภายในรถได้ทุกขณะ (ง) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (จ) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ให้มีลักษณะและมาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แต่ความสูงของตัวถังส่วนที่บรรทุกที่มีลักษณะเป็นกระบะทึบสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๘,๐๐๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร และสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ฉ) ตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวถัง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ช) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ซ)[๒๗] แผ่นสะท้อนแสงสีแดง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ในกรณีที่เป็นรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบให้ติดแผ่นสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย (ฌ)[๒๘] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๒๙] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ข) (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ค) (ง) โคมไฟเลี้ยว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (จ) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ฉ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ช) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถ แสงเขียว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฌ) สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้มีโคมไฟแสดงส่วนสูงแสงแดง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดของรถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในห้องผู้ขับรถให้แสงสว่างพอสมควร ข้อ ๑๖ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องต่อพ่วงทำด้วยโลหะแข็งแรงสำหรับยึดแขนพ่วงของรถพ่วง (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ จะต้องมีจานพ่วงหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ทำด้วยโลหะพร้อมเครื่องสำหรับล็อคสลักพ่วงของรถกึ่งพ่วงหรือรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว เพื่อมิให้หลุดจากกันในขณะใช้งาน ข้อ ๑๗ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๔ จะต้องมีเครื่องดับเพลิงติดตั้งในที่เหมาะสมพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะขนาด จำนวนและคุณภาพของเครื่องดับเพลิงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ข้อ ๑๗ ทวิ[๓๐] รถตามข้อ ๑๕ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ข) (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ค) (ง) โคมไฟตัดหมอก มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ง) (จ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑)(จ) (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๕ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๓)[๓๑] เครื่องปรับอากาศ ต้องมีประสิทธิภาพสามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีระบบการทำงาน คุณลักษณะเฉพาะ หรือขนาด ตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ข้อ ๑๘ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ สำหรับโครงคัสซีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๘ ต้องสามารถปรับขนาดความยาวได้ โครงคัสซีส่วนหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๗ และลักษณะ ๘ ให้มีสลักพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สำหรับต่อกับจานพ่วงของรถลากจูงได้โดยเฉพาะ (ข) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ค) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ง) สปริง ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย (จ) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ฉ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้ โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูงและต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉิน ที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ หยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถดังกล่าวหลุดจากรถลูกจูง (ช) ระบบไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๑) (ฌ) (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแต่ทั่งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (ข) (ข) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (จ) (ค) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ง)[๓๒] แผ่นสะท้อนแสง ให้มีแผ่นสะท้อนแสงดังนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ในกรณีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ หรือลักษณะ ๗ ที่ตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้ติดที่มุมส่วนบนของตัวถังด้านท้ายมุมละ ๑ แผ่นด้วย (๓)[๓๓] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวร ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ช) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๓) (ซ) ข้อ ๑๘ ทวิ[๓๔] รถตามข้อ ๑๘ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๘ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๙ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๘ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ด้วย คือ (๑) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วง ทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และให้มีเครื่องบังคับให้รถพ่วงขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) แผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดง ความกว้างของขอบสีแดงกว้างไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรโดยรอบสามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืนระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๐ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบข้างตัวถังที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลังด้านข้าง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร และตัวถังหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร เว้นแต่รถกระบะบรรทุกหรือรถตู้บรรทุกที่มีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ให้มีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร (๓) ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๘ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุด ถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๒.๕๐ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้าจะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางสลักพ่วง จะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ หรือศูนย์กลางสลักพ่วงของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ถึงศูนย์กลางเพลาท้าย หรือถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีเป็นเพลาคู่ (๕) ส่วนยื่นท้าย ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนท้ายของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่มีส่วนบรรทุกสัตว์หรือสิ่งของเป็นตู้ทึบและรถที่มีทางขึ้นลงหรือติดตั้งอุปกรณ์ในการขนถ่ายสัตว์หรือสิ่งของที่ด้านท้ายส่วนบรรทุก ให้มีความยาวได้ไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่ จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในห้าของช่วงล้อ ข้อ ๒๑[๓๕] (ยกเลิก) ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบ ของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ[๓๖] ข้อ ๒๑ ในกรณีที่มีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งาน รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของจะมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ หรือขนาดของรถแตกต่างไปจากกฎกระทรวงนี้ได้ ตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒๒ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศต้องมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๗] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (รถสองชั้น) ไว้ไม่เกิน ๑๐ เมตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบของรถที่มีการผลิตโดยทั่วไปในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถดังกล่าวให้มีความยาวได้ไม่เกิน ๑๒ เมตร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๘] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการติดกระจกกันลมหลังกับตัวรถไม่มีผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถ สมควรเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเลือกที่จะจัดให้มีกระจกกันลมหลังหรือไม่ก็ได้ และโดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว สมควรกำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม นอกจากนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมขนาดความสูงของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้รับกับมาตรฐานสากลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการทรงตัวของรถดังกล่าวเพื่อให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๙] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมยานยนต์ได้เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดอันตรายแก่ผู้ใช้รถ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งในส่วนเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งสมควรเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องมือเครื่องใช้ประจำรถที่ใช้ในการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๐] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันปรากฏว่า รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงที่มีกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถแตกต่างไปจากรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน แต่ไม่เกินสิบสองคน (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จึงก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและการกำกับดูแลทั้ง ๆ ที่เป็นรถยนต์ที่มีลักษณะและขนาดเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติที่เกี่ยวกับฟิล์มกรองแสงของกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถยนต์ดังกล่าวตามกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) และมาตรฐาน ๓ (ฉ) (รถตู้) เสียใหม่ให้สอดคล้องกันกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๑] ข้อ ๓ รถที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนหรือติดตั้งเครื่องปรับอากาศใหม่หรือระบบระบายอากาศใหม่ให้เครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศดังกล่าวเป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ โดยที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามเป็นสมาชิกพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer) เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ และให้สัตยาบันการเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ จึงมีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ แต่เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำเครื่องปรับอากาศมาติดตั้งเป็นเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งจำนวนมากโดยไม่มีมาตรการในการควบคุมการใช้ จึงมีการใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbons (CFCs)) เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศภายในรถที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งสารดังกล่าวจะทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อควบคุมดูแลการใช้เครื่องปรับอากาศภายในรถที่ใช้ในการขนส่งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อให้สามารถกำหนดให้มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๔๒] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่จะมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการโดยสารแก่คนพิการนอกจากนี้ เพื่อให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๗ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ใช้สำหรับการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อาจมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถ แตกต่างไปจากข้อกำหนดในกฎกระทรวงได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ หรือตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พัสสน/ผู้จัดทำ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ โชติกานต์/ปรับปรุง ๘ ตุลาคม ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ [๒] ข้อ ๑ (๒) (ก) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓] ข้อ ๑ (๒) (ก) วรรคสาม เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๔] ข้อ ๑ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๕] ข้อ ๑ (๒) (ซ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๖] ข้อ ๑ (๒) (ซ) วรรคสี่ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๗] ข้อ ๑ (๒) (ฒ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๘] ข้อ ๑ (๒) (ณ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๙] ข้อ ๑ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๐] ข้อ ๑ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๑] มาตรา ๑ ทวิ (๓) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๒] ข้อ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๓] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๔] ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๕] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๖] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๗] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๘] ข้อ ๑๐ (๒) (ฎ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๙] ข้อ ๑๐ (๒) (ฏ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๐] ข้อ ๑๐ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๑] ข้อ ๑๐ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๒] ข้อ ๑๓ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๓] ข้อ ๑๓ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๔] ข้อ ๑๔ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๕] ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๔ ถึง ข้อ ๑๔/๑ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๖] ข้อ ๑๕ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๗] ข้อ ๑๕ (๒) (ซ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๘] ข้อ ๑๕ (๒) (ฌ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๙] ข้อ ๑๕ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๐] ข้อ ๑๗ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๑] ข้อ ๑๗ ทวิ (๓) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๒] ข้อ ๑๘ (๒) (ง) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๓] ข้อ ๑๘ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๔] ข้อ ๑๘ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๕] ข้อ ๒๑ ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๖] ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๑ ถึง ข้อ ๒๒ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑ พฤษภาคม ๒๕๓๒ [๓๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๑๒/หน้า ๙/๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ [๓๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๔๘ ก/หน้า ๑๒/๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๗ [๔๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๒๕/๗ เมษายน ๒๕๔๓ [๔๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๕ ก/หน้า ๓/๑๔ มกราคม ๒๕๔๘ [๔๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๖๕ ก/หน้า ๒๑/๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๙
510228
กฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถจากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2549
กฎกระทรวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถจากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อสำหรับสถาบันการเงินที่ควบรวมกิจการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ทั้งนี้ เฉพาะสถาบันการเงินที่ควบรวมกิจการระหว่าง วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ และต้องดำเนินการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เห็นชอบมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการ ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อสำหรับสถาบันการเงินที่ควบรวมกิจการ และโดยที่มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียม จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ นันทนา/ผู้จัดทำ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๙ วิภา/ปรับปรุง ๑๘ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๑๐๓ ก/หน้า ๔/๑ ตุลาคม ๒๕๔๙
510206
กฎกระทรวงการประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549
กฎกระทรวง การประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๙[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๒๕ วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา ๒๘ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๙ (พ.ศ. ๒๕๓๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้ “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ ข้อ ๓ การประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งประจำทาง ให้กระทำได้เฉพาะบุคคล ดังต่อไปนี้ (๑) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (๒) องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ในกรณีบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ บุคคลดังกล่าวต้องมีสำนักงานสาขาหรือสำนักงานตัวแทนจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและตั้งอยู่ในประเทศไทย ข้อ ๔ การประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งไม่ประจำทางหรือประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ให้กระทำได้เฉพาะบุคคล ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลธรรมดา (๒) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (๓) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (๔) องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ในกรณีบุคคลตาม (๒) (๓) และ (๔) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ บุคคลดังกล่าวต้องมีสำนักงานสาขาหรือสำนักงานตัวแทนจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและตั้งอยู่ในประเทศไทย ข้อ ๕ ผู้ที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประเภทการขนส่งไม่ประจำทางหรือประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งภายในประเทศในประเภทเดียวกันและใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นต้องยังไม่สิ้นอายุ ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีอำนาจยกเว้นหลักเกณฑ์ในการขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งตามความจำเป็น หรือมีเหตุผลพิเศษ สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นการเฉพาะรายได้ ข้อ ๖ ผู้ใดประสงค์จะประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งประจำทาง ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนกลางตามแบบของกรมการขนส่งทางบก โดยกรอกข้อความเป็นภาษาไทยพร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองการจดทะเบียนและวัตถุประสงค์ของบริษัท ซึ่งรับรองไว้ไม่เกินหกเดือน (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวของบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการของบริษัททุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของกรรมการของบริษัททุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับบริษัท (จ) ตัวอย่างรอยตราประทับของบริษัทที่ยื่นคำขอ ๒ ตรา (ถ้ามี) (ฉ) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ช) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ อย่างละ ๒ รูป (ซ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ฌ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (ถ้ามี) (๒) องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น (ก) หนังสือหรือหลักฐานแสดงฐานะการเป็นองค์การของรัฐ (ข) ตัวอย่างรอยตราประทับขององค์การของรัฐที่ยื่นคำขอ ๒ ตรา (ถ้ามี) (ค) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ง) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ อย่างละ ๒ รูป (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ฉ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (ถ้ามี) ในกรณีบุคคลตาม (๑) และ (๒) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ บุคคลดังกล่าวต้องยื่นหลักฐานที่แสดงถึงการมีสำนักงานสาขาหรือสำนักงานตัวแทนจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและตั้งอยู่ในประเทศไทย ข้อ ๗ ผู้ใดประสงค์จะประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งไม่ประจำทางหรือประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนกลางตามแบบของกรมการขนส่งทางบก โดยกรอกข้อความเป็นภาษาไทย พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลธรรมดา (ก) สำเนาใบอนุญาตประกอบการขนส่งภายในประเทศตามข้อ ๕ (ถ้ามี) (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน (ง) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (ถ้ามี) (๒) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ก) สำเนาใบอนุญาตประกอบการขนส่งภายในประเทศตามข้อ ๕ (ถ้ามี) (ข) หนังสือรับรองการจดทะเบียนและวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งรับรองไว้ไม่เกินหกเดือน (ค) ตัวอย่างรอยตราประทับของห้างหุ้นส่วนที่ยื่นคำขอ ๒ ตรา (ถ้ามี) (ง) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (ถ้ามี) (๓) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) สำเนาใบอนุญาตประกอบการขนส่งภายในประเทศตามข้อ ๕ (ถ้ามี) (ข) หนังสือรับรองการจดทะเบียนและวัตถุประสงค์ของบริษัท ซึ่งรับรองไว้ไม่เกินหกเดือน (ค) ตัวอย่างรอยตราประทับของบริษัทที่ยื่นคำขอ ๒ ตรา (ถ้ามี) (ง) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (ถ้ามี) (๔) องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น (ก) สำเนาใบอนุญาตประกอบการขนส่งภายในประเทศตามข้อ ๕ (ถ้ามี) (ข) หนังสือหรือหลักฐานแสดงฐานะการเป็นองค์การของรัฐ (ค) ตัวอย่างรอยตราประทับขององค์การของรัฐที่ยื่นคำขอ ๒ ตรา (ถ้ามี) (ง) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (ถ้ามี) ในกรณีบุคคลตาม (๒) (๓) และ (๔) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ บุคคลดังกล่าว ต้องยื่นหลักฐานที่แสดงถึงการมีสำนักงานสาขาหรือสำนักงานตัวแทนจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและตั้งอยู่ในประเทศไทย ข้อ ๘ ให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับการรับรองความถูกต้องของคำแปลเป็นภาษาไทยหรือการยอมรับเอกสารที่ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศมาใช้บังคับกับหลักฐานตามข้อ ๖ และข้อ ๗ ที่จัดทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศโดยอนุโลม ข้อ ๙ ใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๑๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอพร้อมใบอนุญาตหรือใบแทนต่อนายทะเบียนกลางตามแบบของกรมการขนส่งทางบก โดยกรอกข้อความเป็นภาษาไทย พร้อมด้วยหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ หรือข้อ ๗ แล้วแต่กรณี ให้นำความในข้อ ๘ มาใช้บังคับแก่การยื่นหลักฐานประกอบคำขอต่ออายุใบอนุญาตโดยอนุโลม ข้อ ๑๑ การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้นายทะเบียนกลางออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิมให้ใหม่ ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนกลางตามแบบของกรมการขนส่งทางบก โดยกรอกข้อความเป็นภาษาไทยพร้อมด้วยใบอนุญาตที่ถูกทำลายหรือชำรุด แล้วแต่กรณี สำหรับกรณีใบอนุญาตสูญหายภายในประเทศให้ยื่นพร้อมด้วยหลักฐานการรับแจ้งความของสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่ใบอนุญาตนั้นสูญหายหรือหนังสือบันทึกถ้อยคำที่นายทะเบียนได้บันทึกเกี่ยวกับใบอนุญาตสูญหายไว้ ในกรณีใบอนุญาตสูญหายในต่างประเทศให้ยื่นพร้อมด้วยหลักฐานการรับแจ้งความของหน่วยงานที่มีอำนาจในการรับแจ้งความของประเทศนั้น การอนุญาตคำขอใบแทนใบอนุญาต ให้นายทะเบียนกลางออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิม แต่ให้ระบุคำว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านหน้าด้วย ข้อ ๑๓ เพื่อประโยชน์แก่นายทะเบียนกลางในการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับลักษณะของรถในใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้นำลักษณะของรถที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในการประกอบการขนส่งตามข้อ ๙ (๑) และ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ หากจะนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศมาใช้ประกอบการขนส่ง รถนั้นต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรงมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ข้อ ๑๕ ผู้ขอรับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งกฎหมาย ว่าด้วยการขนส่งทางบก ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่ออนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่ง และอนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่จะทำการขนส่งนั้น ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๙ (พ.ศ. ๒๕๓๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมธุรกิจการขนส่งระหว่างประเทศ และไม่สอดคล้องกับนโยบายการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนกับต่างประเทศของรัฐบาล สมควรแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศดังกล่าว ให้มีความเหมาะสมและอำนวยประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจการขนส่งให้สามารถพัฒนาศักยภาพเพื่อแข่งขันกับนานาประเทศได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ นันทนา/ผู้จัดทำ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๙ วิภา/ปรับปรุง ๑๘ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๑๐๐ ก/หน้า ๑๔/๒๘ กันยายน ๒๕๔๙
503595
กฎกระทรวง ฉบับที่ 59 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๙ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๑๑๔ วรรคสอง มาตรา ๑๑๕ วรรคสี่ และมาตรา ๑๑๙ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๒ สถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ต้องมีลักษณะเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็นศูนย์รวมกระจาย แลกเปลี่ยนสินค้า และสับเปลี่ยนรถสำหรับการขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของรวมทั้งเป็นสถานที่ให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่ง และประกอบด้วย (๑) อาคารสถานีซึ่งจัดให้มีพื้นที่สำหรับที่ทำการ ที่ทำงานของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกที่พักสินค้า ที่ขนถ่ายสินค้า ห้องน้ำ ห้องส้วม ที่พักผู้ประจำรถ และที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม (๒) คลังสินค้า (๓) อาคารสำหรับจำแนกสินค้าหรือบรรจุหีบห่อ (๔) ที่สำหรับเป็นอู่และบริการซ่อมรถ (๕) ที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง (๖) ลานจอดพักรถ (๗) ลานคอนเทนเนอร์ (๘) ที่ชั่งน้ำหนัก (๙) เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อความสะดวกตามความจำเป็นและเหมาะสม ได้แก่ รถปั้นจั่น รถยก รถเข็น รถลาก เครื่องทุ่นแรง และเครื่องมือบรรจุหีบห่อ หรือเครื่องมือเครื่องใช้อื่น (๑๐) โทรศัพท์สาธารณะ (๑๑) ระบบสารสนเทศสำหรับข้อมูลด้านการขนส่ง (๑๒) เครื่องดับเพลิงซึ่งติดตั้งในสถานที่ตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) แบบ ขนาด และจำนวนตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) และ (๑๐) ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ การดำเนินการตาม (๓) (๕) (๗) และ (๘) ให้กรมการขนส่งทางบกมีอำนาจยกเว้นการดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๗ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความใน พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์ และหรือสิ่งของผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบกพร้อมใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ หรือใบแทน แล้วแต่กรณี การขอต่ออายุใบอนุญาต ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ หรือผู้ถือหุ้น ให้ยื่นหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓ เฉพาะที่มีการเปลี่ยนแปลง” ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่หลักเกณฑ์ในการจัดตั้งสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและไม่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนของภาคเอกชน ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในกิจการการจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ประกอบกับเพื่อให้การจัดระเบียบการขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ นันทนา/ผู้จัดทำ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ วิภา/ปรับปรุง ๑๘ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๘๐ ก/หน้า ๔/๘ สิงหาคม ๒๕๔๙
497924
กฎกระทรวงฉบับที่ 58 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๘ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ และข้อ ๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องจัดให้มีใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่งทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ได้รับความสะดวกและเป็นภาระมากเกินไป ประกอบกับในการขนส่งสินค้านั้น ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งมีการจัดทำใบตราส่งหรือมีเอกสารอื่นแสดงการขนส่งอยู่แล้ว สมควรยกเลิกการกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ นันทนา/ผู้จัดทำ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๗๐ ก/หน้า ๒๕/๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙
495855
กฎกระทรวง ฉบับที่ 57 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓) ของข้อ ๑ ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “(๓) เครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่จะมีไว้ใช้อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ดังต่อไปนี้ (ก) ประตูรถ ทางลาด สะพาน หรือเครื่องอุปกรณ์ที่นำพาคนพิการหรือรถคนพิการ (wheel chair) ขึ้นและลงจากรถ ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยในการใช้งาน และต้องมีลักษณะ ขนาด และคุณสมบัติในการใช้งานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ (ข) พื้นที่หรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับเก็บหรือจอดรถคนพิการ (wheel chair) ที่อยู่ภายในห้องโดยสาร ต้องมีอุปกรณ์ยึดตรึงที่มั่นคงแข็งแรง และไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แก่ผู้อื่น (ค) เครื่องอุปกรณ์อื่น (ถ้ามี) ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกข้อ ๑๔ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ของหมวด ๑ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๔ และข้อ ๑๔/๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบ ของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๔ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๗ จะมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ได้ หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานแต่ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๔/๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องมีสภาพเครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกข้อ ๒๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ของหมวด ๒ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๑ และข้อ ๒๒ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “ส่วนที่ ๔ ข้อยกเว้นเรื่องสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบ ของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๑ ในกรณีที่มีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งาน รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของจะมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ หรือขนาดของรถแตกต่างไปจากกฎกระทรวงนี้ได้ ตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒๒ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศต้องมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่จะมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการโดยสารแก่คนพิการ นอกจากนี้ เพื่อให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๗ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่นำไปใช้สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ใช้สำหรับการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อาจมีสภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถ แตกต่างไปจากข้อกำหนดในกฎกระทรวงได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ หรือตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ นันทนา/ผู้จัดทำ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ วิภา/ปรับปรุง ๑๘ กันยายน ๒๕๖๓ ภิรมย์พร/ตรวจ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๖๕ ก/หน้า ๒๑/๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๙
614996
กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (Update ณ วันที่ 14/01/2548)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ หมวด ๑ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ส่วนที่ ๑ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรา ๒ มาตรา ๓ มาตรา ๔ มาตรา ๖ มาตรา ๗ และรถขนาดเล็กจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ทั้งกันชนหน้าและกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถหรือยื่นจากหน้ารถและท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยวที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกันแรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกัน และไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) มาตรา ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนเฉพาะเพลาหน้าก็ได้ (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิค หรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนติดไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถตอนท้ายหยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถพ่วงหลุดจากรถตอนหน้า (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ด้วยความเร็วเหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติ ซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิท และสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีเครื่องระงับเสียงและมีการบังหรือกันท่อไอเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่าย อันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทาและตรงออกท้ายรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีทางขึ้นลงด้านท้ายรถส่วนปลายท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและเบนออกตรงมุมท้ายรถด้านขวา (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อ และเฟืองท้ายสามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัยและให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิทช์ที่ผู้ขับสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟฟ้าที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้นการเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่ายส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถ และแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณ ชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็ว ชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแบบตัวถังของรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก)[๒] กระจกกันลม และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด กระจกกันลมหลังของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสงซึ่งเมื่อวัดผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐[๓] (ข)[๔] กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๓ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และประตูทางขึ้นลงของผู้โดยสารได้ทุกขณะ (ค) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถชั้นบนด้วย (ง) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (จ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถังให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฉ) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และมาตรา ๓ (ฉ) ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล หลังคาจะทำด้วยผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันก็ได้ (ช) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นชั้นบนของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมั่นคงแข็งแรง มีพื้นยางหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ปูเต็มความกว้างและความยาวของพื้นรถ ใต้พื้นชั้นบนต้องมีฝ้ากรุโดยทั่วไป (ซ)[๕] หน้าต่างที่ด้านข้างรถซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) และมาตรฐาน ๖ (ก) จะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบการถ่ายเทอากาศได้ดี ในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็กจะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง บานหน้าต่างของรถ ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ถ้าทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของวัสดุโปร่งแสงนั้น เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสงซึ่งเมื่อวัดผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐[๖] (ฌ) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน บานประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านข้าง บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านท้ายของรถ บันไดทางขึ้นลงให้ยื่นออกนอกรถได้ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถมีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวนขนาดและตำแหน่งประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ญ) ที่นั่งผู้ขับรถซึ่งแยกต่างหากจากที่นั่งผู้โดยสาร สามารถปรับเลื่อนได้ตามความเหมาะสมตรึงแน่นกับพื้นรถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับรถได้ดีและมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน (ฎ) ที่นั่งผู้โดยสาร ตรึงแน่นกับพื้นรถ แบบและการจัดวางที่นั่งของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารแต่ละมาตรฐาน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฏ) ห้องผู้ขับรถหรือราวกั้นผู้ขับรถที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับแยกผู้ขับรถให้อยู่คนละส่วนกับผู้โดยสาร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีราวกั้นผู้ขับรถหรือไม่ก็ได้ (ฐ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อยตรงแน่นกับเพดานภายในโดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกันและที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ฑ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทและลักษณะของรถ ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถ จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฒ)[๗] แผ่นสะท้อนแสงสีแดง จำนวน ๒ แผ่น หรือ ๔ แผ่น มีลักษณะเป็นวงกลม สามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร แผ่นสะท้อนแสงที่มีลักษณะเป็นวงกลมต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือหากมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต้องมีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร แล้วแต่กรณี ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร แผ่นริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ณ)[๘] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๙] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งไกลจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น เว้นแต่เป็นการให้แสงสัญญาณชั่วขณะ (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน ที่ให้แสงสีเดียวกับโคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ แสงขาวหรือเหลือง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสดงความกว้างของรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดที่ด้านหน้า จำนวน ๒ ดวง และแสงเหลืองหรือแดง ติดที่ด้านท้ายจำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ โดยให้ติดไว้ที่ข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงที่ติดที่ด้านท้ายต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถหรือท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร และดวงล่างสุดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวทุกดวงที่อยู่ข้างเดียวกันต้องกระพริบพร้อมกันในขณะที่รถให้สัญญาณเลี้ยว (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตรจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร (ฉ) โคมไฟหยุดแสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ โคมไฟหยุดถ้ารวมอยู่ในโคมไฟท้ายจะต้องมีความสว่างมากว่าความสว่างของโคมไฟท้ายนั้น (ช) โคมไฟถอยหลัง แสงขาว จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ในกรณีที่มี ๒ ดวง ต้องติดอยู่ในระดับเดียวกันและห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟถอยหลังจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่เข้าเกียร์ถอยหลังเท่านั้น (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาว อย่างน้อย ๑ ดวง แต่ไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ด้านบนด้านล่าง หรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียนท้ายรถมีความสว่างสามารถอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร จากท้ายรถ และต้องมีที่บังมิให้แสงพุ่งออกไปทางท้ายรถ โคมไฟส่องป้ายทะเบียนต้องให้แสงสว่างพร้อมกับโคมไฟท้าย (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถสำหรับรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร จำนวน ๔ ดวง ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถ ดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ดวงในห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร และให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายตอนบนของหลังคารถ จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ริมสุดของท้ายรถข้างละ ๑ ดวง โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถที่ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถให้ใช้ ดังนี้ (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทางใช้แสงน้ำเงิน (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งไม่ประจำทางใช้แสงเหลือง (๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลใช้แสงขาว (๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็กใช้แสงม่วง (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในรถ ให้แสงสว่างพอสมควร และจะมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือประจำทุกที่นั่งด้วยก็ได้ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะต้องมีโคมไฟภายในรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งของโคมไฟภายในรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฎ) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง แสงขาว ติดที่ด้านหน้ารถให้แสงสว่างพอสมควรที่ป้ายแสดงเส้นทาง ข้อ ๑ ทวิ[๑๐] รถตามข้อ ๑ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกันและให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟเลี้ยวข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟเลี้ยวข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกัน โคมไฟเลี้ยวข้างรถทุกดวงต้องกระพริบพร้อมกับโคมไฟเลี้ยวที่ด้านหน้าและด้านท้ายที่อยู่ข้างเดียวกัน (ง) โคมไฟตัดหมอก แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดที่หน้ารถสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่อยู่สูงไม่เกินโคมไฟแสงพุ่งต่ำถ้ามี ๑ ดวงให้ติดที่กึ่งกลางหน้ารถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ให้ติดในระดับเดียวกัน และห่างจากกึ่งกลางหน้ารถเท่ากันทั้งสองข้างโคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟตัดหมอกจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟแสดงความกว้างของรถและโคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า ๒ องศา หรือ ๐.๒๐ เมตร ในระยะ ๗.๕๐ เมตร และไม่เฉไปทางขวา (จ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ในตำแหน่งที่ให้แสงสว่างออกไปทางท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร ถ้ามี ๑ ดวง ต้องอยู่ในแนวกึ่งกลางท้ายรถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ต้องอยู่ในระดับเดียวกัน และห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถให้รถตอนท้ายเคลื่อนตัวขึ้นลง และเลี้ยวตามรถตอนหน้าได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับที่ทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ถอยหลังได้เสมือนเป็นรถตอนเดียวกันด้วย ข้อ ๓ รถตามข้อ ๑ ที่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืนได้ให้บริเวณพื้นที่สำหรับผู้โดยสารยืนต้องเป็นพื้นที่ราบซึ่งมีความกว้างและความยาวพอเหมาะที่จะให้ผู้โดยสารยืนได้โดยถือเกณฑ์พื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ตารางเซนติเมตร ต่อผู้โดยสารยืน ๑ คน ข้อ ๔[๑๑] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ และมาตรฐาน ๖ ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถหรือชั้นภายในรถ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (ข) (ง) (จ) (ฉ) ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถนั้นภายในรถหรือบนหลังคาก็ได้ รถขนาดเล็ก ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้บนหลังคาหรือภายในรถ โดยจะมีไว้ที่ด้านล่างด้วยก็ได้ ข้อ ๕[๑๒] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) และ (ง) มาตรฐาน ๕ (ก) และมาตรฐาน ๖ (ก) ต้องมีเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอ เครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศตามวรรคหนึ่ง ต้องมีระบบการทำงาน คุณลักษณะเฉพาะ หรือขนาด ตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ข้อ ๖[๑๓] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีห้องสุขภัณฑ์ได้ ให้มีห้องสุขภัณฑ์ภายในรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงพอสมควร สำหรับใช้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้และมีอ่างสำหรับล้างมือด้วย ห้องสุขภัณฑ์จะต้องมีที่สำหรับเก็บอุจจาระและปัสสาวะอย่างดี ไม่รั่วซึม และป้องกันกลิ่นเหม็นได้ ข้อ ๗[๑๔] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มได้ ให้มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มขนาดพอสมควรอยู่ตอนท้ายภายในรถ ข้อ ๘[๑๕] นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ และมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ ดังนี้ (๑) เครื่องรับวิทยุ ๑ เครื่อง (๒) เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง ๑ เครื่อง (๓) เครื่องขยายเสียง ขนาดพอสมควร ๑ เครื่อง อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ตาม (๑) (๒) และ (๓) อาจรวมอยู่ในเครื่องเดียวกันได้ ข้อ ๙[๑๖] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ และมาตรฐาน ๖ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๒ เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ ๒ เครื่อง เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามชนิด ประเภทและขนาดตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้ติดตั้งไว้ภายในรถในที่เหมาะสมซึ่งพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ข้อ ๑๐ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับท้ายรถหรือยื่นจากท้ายรถในระยะห่างพอสมควร และจะมีกันชนหน้าหรือไม่ก็ได้ (ค) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อเพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่น ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้ โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูง และต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ หยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง (ฌ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้า ต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถขั้วสายไฟ สวิทช์ที่อาจเกิดประกายไฟได้ ต้องใช้ฉนวนหุ้มปิด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกจะต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ข) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ค) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดงความกว้างของขอบสีแดงไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรโดยรอบ สามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืน ที่ระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลังของตัวถังให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ง) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ (จ) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง (ฉ) หน้าต่าง ที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรงสามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด ขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถปรับอากาศจะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง (ช) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างของรถ บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวน ขนาดและตำแหน่งของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ซ) ที่นั่งผู้โดยสาร ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฎ) (ฌ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อยตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกันและที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ญ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควรพร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถตามวรรคหนึ่ง จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาหยุดรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฎ)[๑๗] แผ่นสะท้อนแสง ดังต่อไปนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้าย และข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ฏ)[๑๘] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๑๙] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟ และความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถแสงแดง ติดบนหลังคาท้ายรถห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ข้างละ ๑ ดวง (ช) โคมไฟภายในรถ มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ญ) (ซ) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถในระดับเดียวกันตอนหน้าห่างจากหน้าสุดรถไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ไม่รวมแขนพ่วง) แห่งละ ๑ ดวง ตอนท้ายห่างจากท้ายสุดรถไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร แห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๖ เมตร ให้มีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวง ถ้ามีมากกว่า ๑ ดวง ระยะห่างระหว่างโคมไฟแต่ละดวงในข้างเดียวกันต้องเท่ากัน และห่างกันไม่น้อยกว่า ๓ เมตร โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายรถให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ข้อ ๑๐ ทวิ[๒๐] รถตามข้อ ๑๐ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๐ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่มีที่เก็บสัมภาระ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถ ข้อ ๑๒ ให้นำข้อ ๓ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ โดยอนุโลม ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๓ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถัง รวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลัง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร แต่ทั้งนี้ ตัวถังด้านข้างจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒)[๒๑] ความสูง ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) (ข) มาตรฐาน ๕ และมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๔.๕๐ เมตร ความสูงภายในของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้เป็นไปตามที่ กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ความสูงของรถต้องไม่ทำให้รถมีการทรงตัวได้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ (๓)[๒๒] ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) มาตรฐาน ๒ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) มาตรฐาน ๓ (ข) มาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องไม่เกิน ๑๒ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) มาตรฐาน ๒ (ง) มาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) มาตรฐาน ๓ (ง) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) มาตรฐาน ๕ และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากกันชนหน้าหรือส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๘ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของตัวถัง ไม่รวมกันชนหรือแขนพ่วงถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ หรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนหน้าในกรณีที่รถนั้นเป็นรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่ ช่วงล้อของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อคู่หน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าและระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าถึงศูนย์กลางเพลาล้อหรือศูนย์กลางระหว่างเพลาล้อคู่ของรถตอนท้าย (๕) ส่วนยื่นท้าย เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือถึงศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้าย ในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีประตูทางขึ้นลงด้านท้าย และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๖ นั้น ส่วนยื่นท้ายจะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อหรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนท้าย ข้อ ๑๔ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ มาตรฐาน ๖ และมาตรฐาน ๗ ซึ่งเป็นรถเฉพาะกิจ จะมีความกว้าง ความสูง ความยาว ส่วนยื่นหน้า และส่วนยื่นท้ายเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๓ ก็ได้หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานเฉพาะกิจ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก หมวด ๒ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ส่วนที่ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ ข้อ ๑๕ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่ผู้ผลิตออกแบบและกรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนหน้ายื่นจากหน้ารถระยะห่างพอสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีกันชนท้ายยื่นจากท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยวที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกันและไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่เพลาล้อหน้าไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้าที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิคหรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถด้วยความเร็วที่เหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสียที่มีเครื่องระงับเสียงมีการบังหรือกันท่อไปเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่ายอันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไปเสียต้องขนานกับผิวทางและตรงไปตามความยาวของรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ นั้น ส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อไอเสียจะต้องไม่อยู่ใต้ถังสำหรับบรรทุก สำหรับรถที่ใช้ในการขนสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ ท่อไอเสียจะตั้งขึ้นในแนวดิ่ง และไม่ต่ำกว่าส่วนสูงของรถนั้นก็ได้ (ฏ) ระบบส่งกำลังงานประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อต่าง ๆ และเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัยและให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงานพร้อมสวิทช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้า ต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียวดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึมมีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัยซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึม หรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็วสามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็วชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถังยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ห้องผู้ขับรถทำด้วยโลหะแข็งแรง มีประตูทั้งสองข้างมีที่นั่งผู้ขับรถตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สามารถบังคับรถได้ดี และสามารถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกเงาสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีห้องผู้ขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ข)[๒๓] กระจกกันลมและส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ค) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๑ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และภายในรถได้ทุกขณะ (ง) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (จ) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ให้มีลักษณะและมาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แต่ความสูงของตัวถังส่วนที่บรรทุกที่มีลักษณะเป็นกระบะทึบสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๘,๐๐๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร และสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ฉ) ตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวถัง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ช) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ซ)[๒๔] แผ่นสะท้อนแสงสีแดง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ในกรณีที่เป็นรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบให้ติดแผ่นสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย (ฌ)[๒๕] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๒๖] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ข) (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ค) (ง) โคมไฟเลี้ยว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (จ) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ฉ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ช) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถ แสงเขียว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฌ) สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้มีโคมไฟแสดงส่วนสูงแสงแดง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดของรถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในห้องผู้ขับรถให้แสงสว่างพอสมควร ข้อ ๑๖ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องต่อพ่วงทำด้วยโลหะแข็งแรงสำหรับยึดแขนพ่วงของรถพ่วง (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ จะต้องมีจานพ่วงหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ทำด้วยโลหะพร้อมเครื่องสำหรับล็อคสลักพ่วงของรถกึ่งพ่วงหรือรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว เพื่อมิให้หลุดจากกันในขณะใช้งาน ข้อ ๑๗ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๔ จะต้องมีเครื่องดับเพลิงติดตั้งในที่เหมาะสมพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะขนาด จำนวนและคุณภาพของเครื่องดับเพลิงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ข้อ ๑๗ ทวิ[๒๗] รถตามข้อ ๑๕ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ข) (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ค) (ง) โคมไฟตัดหมอก มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ง) (จ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑)(จ) (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๕ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๓)[๒๘] เครื่องปรับอากาศ ต้องมีประสิทธิภาพสามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีระบบการทำงาน คุณลักษณะเฉพาะ หรือขนาด ตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ข้อ ๑๘ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ สำหรับโครงคัสซีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๘ ต้องสามารถปรับขนาดความยาวได้ โครงคัสซีส่วนหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๗ และลักษณะ ๘ ให้มีสลักพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สำหรับต่อกับจานพ่วงของรถลากจูงได้โดยเฉพาะ (ข) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ค) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ง) สปริง ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย (จ) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ฉ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้ โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูงและต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉิน ที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ หยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถดังกล่าวหลุดจากรถลูกจูง (ช) ระบบไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๑) (ฌ) (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแต่ทั่งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (ข) (ข) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (จ) (ค) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ง)[๒๙] แผ่นสะท้อนแสง ให้มีแผ่นสะท้อนแสงดังนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ในกรณีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ หรือลักษณะ ๗ ที่ตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้ติดที่มุมส่วนบนของตัวถังด้านท้ายมุมละ ๑ แผ่นด้วย (๓)[๓๐] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวร ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ช) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๓) (ซ) ข้อ ๑๘ ทวิ[๓๑] รถตามข้อ ๑๘ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๘ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๙ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๘ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ด้วย คือ (๑) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วง ทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และให้มีเครื่องบังคับให้รถพ่วงขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) แผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดง ความกว้างของขอบสีแดงกว้างไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรโดยรอบสามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืนระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๐ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบข้างตัวถังที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลังด้านข้าง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร และตัวถังหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร เว้นแต่รถกระบะบรรทุกหรือรถตู้บรรทุกที่มีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ให้มีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร (๓) ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๘ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุด ถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๒.๕๐ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้าจะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางสลักพ่วง จะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ หรือศูนย์กลางสลักพ่วงของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ถึงศูนย์กลางเพลาท้าย หรือถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีเป็นเพลาคู่ (๕) ส่วนยื่นท้าย ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนท้ายของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่มีส่วนบรรทุกสัตว์หรือสิ่งของเป็นตู้ทึบและรถที่มีทางขึ้นลงหรือติดตั้งอุปกรณ์ในการขนถ่ายสัตว์หรือสิ่งของที่ด้านท้ายส่วนบรรทุก ให้มีความยาวได้ไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่ จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในห้าของช่วงล้อ ข้อ ๒๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษะ ๕ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และ ลักษณะ ๘ ซึ่งเป็นรถบรรทุกเฉพาะกิจจะมีความกว้าง ความสูง ความยาว ส่วนยื่นหน้าและส่วนยื่นท้ายเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๐ ก็ได้ หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานเฉพาะกิจ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๒] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (รถสองชั้น) ไว้ไม่เกิน ๑๐ เมตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบของรถที่มีการผลิตโดยทั่วไปในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถดังกล่าวให้มีความยาวได้ไม่เกิน ๑๒ เมตร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๓] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการติดกระจกกันลมหลังกับตัวรถไม่มีผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถ สมควรเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเลือกที่จะจัดให้มีกระจกกันลมหลังหรือไม่ก็ได้ และโดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว สมควรกำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม นอกจากนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมขนาดความสูงของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้รับกับมาตรฐานสากลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการทรงตัวของรถดังกล่าวเพื่อให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๔] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมยานยนต์ได้เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดอันตรายแก่ผู้ใช้รถ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งในส่วนเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งสมควรเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องมือเครื่องใช้ประจำรถที่ใช้ในการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๕] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันปรากฏว่า รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงที่มีกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถแตกต่างไปจากรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน แต่ไม่เกินสิบสองคน (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จึงก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและการกำกับดูแลทั้ง ๆ ที่เป็นรถยนต์ที่มีลักษณะและขนาดเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติที่เกี่ยวกับฟิล์มกรองแสงของกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถยนต์ดังกล่าวตามกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) และมาตรฐาน ๓ (ฉ) (รถตู้) เสียใหม่ให้สอดคล้องกันกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๖] ข้อ ๓ รถที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนหรือติดตั้งเครื่องปรับอากาศใหม่หรือระบบระบายอากาศใหม่ให้เครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศดังกล่าวเป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ โดยที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามเป็นสมาชิกพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer) เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ และให้สัตยาบันการเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ จึงมีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ แต่เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำเครื่องปรับอากาศมาติดตั้งเป็นเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งจำนวนมากโดยไม่มีมาตรการในการควบคุมการใช้ จึงมีการใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbons (CFCs)) เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศภายในรถที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งสารดังกล่าวจะทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อควบคุมดูแลการใช้เครื่องปรับอากาศภายในรถที่ใช้ในการขนส่งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อให้สามารถกำหนดให้มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พัสสน/ผู้จัดทำ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ โชติกานต์/ปรับปรุง ๘ ตุลาคม ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ [๒] ข้อ ๑ (๒) (ก) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓] ข้อ ๑ (๒) (ก) วรรคสาม เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๔] ข้อ ๑ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๕] ข้อ ๑ (๒) (ซ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๖] ข้อ ๑ (๒) (ซ) วรรคสี่ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๗] ข้อ ๑ (๒) (ฒ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๘] ข้อ ๑ (๒) (ณ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๙] ข้อ ๑ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๐] ข้อ ๑ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๑] ข้อ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๒] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๓] ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๔] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๕] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๖] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๗] ข้อ ๑๐ (๒) (ฎ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๘] ข้อ ๑๐ (๒) (ฏ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๙] ข้อ ๑๐ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๐] ข้อ ๑๐ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๑] ข้อ ๑๓ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๒] ข้อ ๑๓ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๓] ข้อ ๑๕ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๔] ข้อ ๑๕ (๒) (ซ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๕] ข้อ ๑๕ (๒) (ฌ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๖] ข้อ ๑๕ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๗] ข้อ ๑๗ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๘] ข้อ ๑๗ ทวิ (๓) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๙] ข้อ ๑๘ (๒) (ง) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๐] ข้อ ๑๘ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๑] ข้อ ๑๘ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑ พฤษภาคม ๒๕๓๒ [๓๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๑๒/หน้า ๙/๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ [๓๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๔๘ ก/หน้า ๑๒/๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๗ [๓๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๒๕/๗ เมษายน ๒๕๔๓ [๓๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๕ ก/หน้า ๓/๑๔ มกราคม ๒๕๔๘
443641
กฎกระทรวง ฉบับที่ 54 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๔ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความใน (๕) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๓๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๕) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ (ก) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางต่อเส้นทางหนึ่ง ตลอดปี ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท เฉพาะคราว ฉบับละ ๑๐๐ บาท (ข) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ตลอดปี ฉบับละ ๕๐๐ บาท เฉพาะคราว ฉบับละ ๕๐ บาท (ค) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ตลอดปี ฉบับละ ๕๐๐ บาท เฉพาะคราว ฉบับละ ๕๐ บาท” ข้อ ๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ซ) ของ (๑๕) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “(ซ) คำขอรับใบอนุญาตรถ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ฉบับละ ๒๐ บาท” ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ นิกร จำนง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศที่กำหนดไว้ในปัจจุบันมีอัตราที่สูงเกินไป ก่อให้เกิดภาระด้านต้นทุนการขนส่งและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคเอกชนไม่สนใจที่จะขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ ประกอบกับปัจจุบันข้อตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดให้รถที่จะนำไปใช้ขนส่งต้องมีใบอนุญาตรถตามข้อตกลงระหว่างประเทศ สมควรกำหนดค่าธรรมเนียมคำขอรับใบอนุญาตรถตามข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว และปรับปรุงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ศุภชัย/พิมพ์ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ ธัญกมล/ศุภสรณ์/ตรวจ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ A+B [๑] รก.๒๕๔๗/พ๕๒ก/๑๐/๗ กันยายน ๒๕๔๗
419006
กฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พ.ศ. 2546
กฎกระทรวง กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พ.ศ. ๒๕๔๖[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๑ (๑๕) มาตรา ๓๒ (๑๐) และมาตรา ๓๓ (๗) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขดังต่อไปนี้ไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง และการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๑) ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดนำรถดังต่อไปนี้ มาใช้ทำการขนส่งในกิจการที่ตนเองได้รับใบอนุญาต (ก) รถที่ไม่ได้จดทะเบียนและไม่ชำระภาษี (ข) รถที่ค้างชำระภาษีประจำปี (ค) รถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง หรือมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ง) รถที่ไม่ได้รับการบรรจุในบัญชีรายละเอียดของรถที่ใช้ในการขนส่ง (บัญชี ขส.บ. ๑๑) ของผู้ประกอบการขนส่ง (๒) ผู้ประกอบการขนส่งต้องนำรถที่ใช้ในการประกอบการขนส่งเข้ารับการตรวจสภาพจากพนักงานตรวจสภาพหรือสถานตรวจสภาพรถที่ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ นิกร จำนง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันผู้ประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง และการขนส่งโดยรถขนาดเล็กได้ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้รถที่ไม่ได้จดทะเบียนรถที่ค้างชำระภาษี หรือรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงมาทำการขนส่งในกิจการของตนเอง ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมรถดังกล่าว ผู้ประกอบการขนส่งจะปฏิเสธความรับผิดทำให้ความรับผิดตกอยู่แก่เฉพาะเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่เท่านั้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการขนส่งยังสามารถนำรถลักษณะดังกล่าวกลับมาใช้งานอีกได้ เพราะกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกยังมิได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการขนส่งโดยตรง ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สมควรกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่ง ประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทางและการขนส่งโดยรถขนาดเล็กต้องรับผิดชอบในการควบคุมดูแลรถที่ใช้ทำการขนส่งในเส้นทางของตนให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรงและปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ ศุภชัย/พิมพ์ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ สุนันทา/อรดา/ตรวจ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ A+B [๑] รก.๒๕๔๖/๑๒๒ก/๑/๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๖
383571
กฎกระทรวง ว่าด้วยการรับรองโรงเรียนสอนขับรถ พ.ศ. 2546
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ว่าด้วยการรับรองโรงเรียนสอนขับรถ พ.ศ. ๒๕๔๖ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิก (๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้ “โรงเรียนสอนขับรถ” หมายความว่า สถานที่ที่จัดการให้การศึกษา อบรม และฝึกหัดขับรถ ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไม่ว่าสถานที่นั้นจะใช้ชื่อโรงเรียนสอนขับรถหรือไม่ก็ตาม “หนังสือรับรอง” หมายความว่า หนังสือรับรองโรงเรียนสอนขับรถตามกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๓ ผู้ใดประสงค์จะขอให้กรมการขนส่งทางบกรับรองโรงเรียนสอนขับรถ ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก สำหรับในเขตจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนสอนขับรถนั้นตั้งอยู่ ข้อ ๔ โรงเรียนสอนขับรถที่จะขอหนังสือรับรองต้องมี (๑) หลักสูตรการสอนตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (๒) สถานที่สอนและฝึกหัดขับรถตามหลักสูตรการสอนที่ดำเนินการ โดยมีลักษณะอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (๓) ผู้ฝึกสอนที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก (๔) การจัดการเรียนการสอนตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ข้อ ๕ หลักสูตรการสอนของโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกจะรับรองตามกฎกระทรวงนี้ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ (๑) หลักสูตรการสอนขับรถที่ใช้เพื่อการขนส่งทางบก (๒) หลักสูตรการสอนขับรถยนต์ (๓) หลักสูตรการสอนขับรถจักรยานยนต์ (๔) หลักสูตรการสอนขับรถอื่น ๆ ตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด มาตรฐานหลักสูตรการสอนแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โรงเรียนสอนขับรถที่จะขอหนังสือรับรองจะจัดให้มีหลักสูตรการสอนประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทก็ได้ ข้อ ๖ ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตผู้ฝึกสอนขับรถในโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต หรือการต่ออายุใบอนุญาตผู้ฝึกสอนขับรถ ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ข้อ ๗ ในกรณีผู้ขอรับหนังสือรับรองเป็นบุคคลธรรมดา ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยหลักฐานดังต่อไปนี้ (๑) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือภาพถ่ายบัตรสำคัญอย่างอื่นที่ทางราชการออกให้ (๒) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน (๓) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิการใช้สถานที่ของโรงเรียนสอนขับรถ (๔) แผนที่แสดงที่ตั้งโรงเรียนสอนขับรถ และแบบแปลนแผนผังอาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณโรงเรียนสอนขับรถ ตลอดจนสนามฝึกหัดขับรถ (๕) หลักสูตรการสอนโดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับ การจัดให้การศึกษา อบรม และฝึกหัดขับรถ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และการวัดผลตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (๖) ระเบียบการหรือข้อกำหนดของโรงเรียนสอนขับรถเกี่ยวกับการเปิดดำเนินการ จำนวนผู้ที่จะเข้ารับการศึกษา วิธีการรับผู้เข้าศึกษา อัตราและวิธีการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ข้อ ๘ ในกรณีผู้ขอรับหนังสือรับรองเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยหลักฐานดังต่อไปนี้ (๑) รายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (๒) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (๓) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (๔) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอสองรอยตรา (ถ้ามี) (๕) เอกสารประกอบตามข้อ ๗ (๓) (๔) (๕) และ (๖) ข้อ ๙ ในกรณีผู้ขอรับหนังสือรับรองเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยหลักฐานดังต่อไปนี้ (๑) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (๒) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (๓) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านของหุ้นส่วนหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (๔) เอกสารประกอบตามข้อ ๗ (๓) (๔) (๕) และ (๖) ข้อ ๑๐ ผู้ขอรับหนังสือรับรองจะต้องไม่เป็นผู้ถูกยกเลิกหนังสือรับรองหรือถูกระงับใช้หนังสือรับรองตามข้อ ๑๗ ข้อ ๑๑ เมื่อได้รับคำขอหนังสือรับรองแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบคำขอว่าครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่ เพียงใด หากคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วนถูกต้องให้ออกใบรับให้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาออกหนังสือรับรองให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด หนังสือรับรองให้มีอายุสามปีนับแต่วันออกหนังสือรับรอง และให้ใช้แบบหนังสือรับรองท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๑๒ ผู้ได้รับหนังสือรับรองจะต้องดำเนินกิจการด้วยตนเอง ข้อ ๑๓ ก่อนเปิดดำเนินการโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ผู้ได้รับหนังสือรับรองต้องวางหลักทรัพย์ตามจำนวนที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เพื่อเป็นประกันค่าใช้จ่ายในการจัดให้ผู้เข้ารับการศึกษาและยังไม่จบหลักสูตรสามารถเข้ารับการศึกษาอบรม และฝึกหัดขับรถได้อย่างต่อเนื่อง หากมีการยกเลิกหนังสือรับรองตามข้อ ๑๗ หรือโรงเรียนสอนขับรถเลิกดำเนินการ หรือลดประเภทการศึกษา อบรม และฝึกหัดขับรถตามข้อ ๑๘ หลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่งจะเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารในประเทศตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด หรือพันธบัตรรัฐบาลไทยชนิดที่ขายคืนได้ก่อนครบกำหนดชำระเงินต้นก็ได้ ในกรณีที่ผู้ได้รับหนังสือรับรองนำพันธบัตรดังกล่าวมาวางเป็นหลักทรัพย์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรนั้นให้แก่กรมการขนส่งทางบกด้วย ในกรณีที่ผู้ได้รับหนังสือรับรอง ไม่วางหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่งก่อนเปิดดำเนินการให้ถือว่าสละสิทธิการได้รับการรับรองโรงเรียนสอนขับรถนั้น หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการวางหลักทรัพย์และการเบิกจ่ายหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ข้อ ๑๔ ในกรณีที่กรมการขนส่งทางบกนำหลักทรัพย์ตามข้อ ๑๓ วรรคหนึ่ง ไปใช้จ่ายในการจัดการศึกษา อบรม และฝึกหัดขับรถให้แก่ผู้เข้ารับการศึกษาที่ยังไม่จบหลักสูตรให้เกิดความต่อเนื่องนั้นหากหลักทรัพย์ที่ใช้จ่ายไปแล้วเหลือจำนวนเท่าใด ให้กรมการขนส่งทางบกคืนให้แก่ผู้ได้รับหนังสือรับรองแต่ถ้าใช้จ่ายไปแล้วไม่เพียงพอ ให้ผู้ได้รับหนังสือรับรองรับผิดชอบจ่ายส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มนั้นให้ครบถ้วน ข้อ ๑๕ ในกรณีที่ผู้ได้รับหนังสือรับรองประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขในเรื่องใดๆ ให้แตกต่างไปจากที่ได้รับการรับรอง เช่น การย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียน อาคารเรียน สิ่งปลูกสร้าง สนามฝึกหัดขับรถ หรือเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ให้ยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอรับความเห็นชอบก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข แล้วแต่กรณี หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ข้อ ๑๖ ผู้ได้รับหนังสือรับรองจะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่อธิบดีกรมการขนส่งทางบก หรือผู้ที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกมอบหมายเข้าตรวจสอบการศึกษา อบรม และฝึกหัดการทดสอบ และการวัดผล ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ หรือระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ข้อ ๑๗ เมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับหนังสือรับรองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ หรือระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ให้กรมการขนส่งทางบกมีอำนาจตักเตือน ระงับใช้หนังสือรับรองเป็นการชั่วคราว หรือยกเลิกหนังสือรับรองนั้นได้ตามสมควรแก่กรณี การตักเตือน การระงับใช้หนังสือรับรองเป็นการชั่วคราว หรือการยกเลิกหนังสือรับรอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ข้อ ๑๘ ในกรณีผู้ได้รับหนังสือรับรองไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ด้วยประการใดๆ และประสงค์จะเลิกดำเนินการ หรือประสงค์จะลดประเภทการศึกษา อบรม และฝึกหัดขับรถตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก ให้ยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อขอรับความเห็นชอบ หรือการรับรอง แล้วแต่กรณี ก่อนที่จะเลิกดำเนินการหรือลดประเภทการศึกษา อบรม และฝึกหัดขับรถไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเลิกดำเนินการโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง หรือการลดประเภทการศึกษา อบรม และฝึกหัดขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ข้อ ๑๙ ผู้ได้รับหนังสือรับรองซึ่งประสงค์จะเลิกดำเนินการโรงเรียนสอนขับรถตามข้อ ๑๘ หรือเมื่อครบอายุตามหนังสือรับรองและไม่ประสงค์จะต่ออายุหนังสือรับรองตามข้อ ๒๐ ให้กรมการขนส่งทางบกคืนหลักทรัพย์ตามข้อ ๑๓ ให้แก่ผู้ได้รับหนังสือรับรอง พร้อมผลประโยชน์อันเกิดจากหลักทรัพย์นั้น หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคืนหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ข้อ ๒๐ ผู้ได้รับหนังสือรับรองซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุหนังสือรับรอง ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหนังสือรับรองหรือใบแทน ก่อนวันที่หนังสือรับรองสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหกสิบวัน ในการอนุญาตให้ต่ออายุหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่ง ให้ออกหนังสือรับรองตามแบบหนังสือรับรองเดิมให้ใหม่ แต่ให้ระบุรายละเอียดรายการต่ออายุไว้ทางด้านหน้าตอนล่างของหนังสือรับรองด้วย ข้อ ๒๑ ในกรณีที่หนังสือรับรองสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับหนังสือรับรองยื่นคำขอรับใบแทนหนังสือรับรองตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐานการรับแจ้งความของสถานีตำรวจ (ถ้ามี) หรือหนังสือรับรองที่ชำรุดนั้น ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดดังกล่าว ในการออกใบแทนหนังสือรับรอง ให้ออกหนังสือรับรองตามแบบหนังสือรับรองเดิมแต่ให้ระบุ “ใบแทน” ไว้ที่ด้านหน้าด้วย ข้อ ๒๒ บรรดาหนังสือรับรองตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๔ ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ใช้ได้ต่อไปอีกสามปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ข้อ ๒๓ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ นิกร จำนง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม [ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับรองโรงเรียนสอนขับรถที่จะทำการสอนและฝึกหัดขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกไว้ยังไม่เหมาะสม สมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองโรงเรียนสอนขับรถเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ [รก.๒๕๔๖/๓๑ก/๓/๑๘ เมษายน ๒๕๔๖] สุภาพร/พิมพ์ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๖ สุมลรัตน์/อรรถชัย แก้ไข ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๖
614993
กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (Update ณ วันที่ 07/24/2543)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ หมวด ๑ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ส่วนที่ ๑ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรา ๒ มาตรา ๓ มาตรา ๔ มาตรา ๖ มาตรา ๗ และรถขนาดเล็กจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ทั้งกันชนหน้าและกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถหรือยื่นจากหน้ารถและท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยวที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกันแรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกัน และไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) มาตรา ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนเฉพาะเพลาหน้าก็ได้ (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิค หรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนติดไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถตอนท้ายหยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถพ่วงหลุดจากรถตอนหน้า (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ด้วยความเร็วเหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติ ซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิท และสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีเครื่องระงับเสียงและมีการบังหรือกันท่อไอเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่าย อันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทาและตรงออกท้ายรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีทางขึ้นลงด้านท้ายรถส่วนปลายท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและเบนออกตรงมุมท้ายรถด้านขวา (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อ และเฟืองท้ายสามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัยและให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิทช์ที่ผู้ขับสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟฟ้าที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้นการเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่ายส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถ และแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณ ชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็ว ชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแบบตัวถังของรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก)[๒] กระจกกันลม และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด กระจกกันลมหลังของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสงซึ่งเมื่อวัดผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐[๓] (ข)[๔] กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๓ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และประตูทางขึ้นลงของผู้โดยสารได้ทุกขณะ (ค) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถชั้นบนด้วย (ง) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (จ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถังให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฉ) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และมาตรา ๓ (ฉ) ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล หลังคาจะทำด้วยผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันก็ได้ (ช) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นชั้นบนของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมั่นคงแข็งแรง มีพื้นยางหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ปูเต็มความกว้างและความยาวของพื้นรถ ใต้พื้นชั้นบนต้องมีฝ้ากรุโดยทั่วไป (ซ)[๕] หน้าต่างที่ด้านข้างรถซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) และมาตรฐาน ๖ (ก) จะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบการถ่ายเทอากาศได้ดี ในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็กจะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง บานหน้าต่างของรถ ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ถ้าทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของวัสดุโปร่งแสงนั้น เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสงซึ่งเมื่อวัดผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐[๖] (ฌ) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน บานประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านข้าง บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านท้ายของรถ บันไดทางขึ้นลงให้ยื่นออกนอกรถได้ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถมีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวนขนาดและตำแหน่งประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ญ) ที่นั่งผู้ขับรถซึ่งแยกต่างหากจากที่นั่งผู้โดยสาร สามารถปรับเลื่อนได้ตามความเหมาะสมตรึงแน่นกับพื้นรถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับรถได้ดีและมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน (ฎ) ที่นั่งผู้โดยสาร ตรึงแน่นกับพื้นรถ แบบและการจัดวางที่นั่งของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารแต่ละมาตรฐาน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฏ) ห้องผู้ขับรถหรือราวกั้นผู้ขับรถที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับแยกผู้ขับรถให้อยู่คนละส่วนกับผู้โดยสาร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีราวกั้นผู้ขับรถหรือไม่ก็ได้ (ฐ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อยตรงแน่นกับเพดานภายในโดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกันและที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ฑ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทและลักษณะของรถ ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถ จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฒ)[๗] แผ่นสะท้อนแสงสีแดง จำนวน ๒ แผ่น หรือ ๔ แผ่น มีลักษณะเป็นวงกลม สามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร แผ่นสะท้อนแสงที่มีลักษณะเป็นวงกลมต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือหากมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต้องมีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร แล้วแต่กรณี ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร แผ่นริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ณ)[๘] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๙] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งไกลจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น เว้นแต่เป็นการให้แสงสัญญาณชั่วขณะ (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน ที่ให้แสงสีเดียวกับโคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ แสงขาวหรือเหลือง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสดงความกว้างของรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดที่ด้านหน้า จำนวน ๒ ดวง และแสงเหลืองหรือแดง ติดที่ด้านท้ายจำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ โดยให้ติดไว้ที่ข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงที่ติดที่ด้านท้ายต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถหรือท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร และดวงล่างสุดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวทุกดวงที่อยู่ข้างเดียวกันต้องกระพริบพร้อมกันในขณะที่รถให้สัญญาณเลี้ยว (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตรจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร (ฉ) โคมไฟหยุดแสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ โคมไฟหยุดถ้ารวมอยู่ในโคมไฟท้ายจะต้องมีความสว่างมากว่าความสว่างของโคมไฟท้ายนั้น (ช) โคมไฟถอยหลัง แสงขาว จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ในกรณีที่มี ๒ ดวง ต้องติดอยู่ในระดับเดียวกันและห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟถอยหลังจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่เข้าเกียร์ถอยหลังเท่านั้น (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาว อย่างน้อย ๑ ดวง แต่ไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ด้านบนด้านล่าง หรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียนท้ายรถมีความสว่างสามารถอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร จากท้ายรถ และต้องมีที่บังมิให้แสงพุ่งออกไปทางท้ายรถ โคมไฟส่องป้ายทะเบียนต้องให้แสงสว่างพร้อมกับโคมไฟท้าย (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถสำหรับรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร จำนวน ๔ ดวง ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถ ดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ดวงในห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร และให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายตอนบนของหลังคารถ จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ริมสุดของท้ายรถข้างละ ๑ ดวง โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถที่ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถให้ใช้ ดังนี้ (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทางใช้แสงน้ำเงิน (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งไม่ประจำทางใช้แสงเหลือง (๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลใช้แสงขาว (๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็กใช้แสงม่วง (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในรถ ให้แสงสว่างพอสมควร และจะมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือประจำทุกที่นั่งด้วยก็ได้ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะต้องมีโคมไฟภายในรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งของโคมไฟภายในรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฎ) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง แสงขาว ติดที่ด้านหน้ารถให้แสงสว่างพอสมควรที่ป้ายแสดงเส้นทาง ข้อ ๑ ทวิ[๑๐] รถตามข้อ ๑ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกันและให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟเลี้ยวข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟเลี้ยวข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกัน โคมไฟเลี้ยวข้างรถทุกดวงต้องกระพริบพร้อมกับโคมไฟเลี้ยวที่ด้านหน้าและด้านท้ายที่อยู่ข้างเดียวกัน (ง) โคมไฟตัดหมอก แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดที่หน้ารถสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่อยู่สูงไม่เกินโคมไฟแสงพุ่งต่ำถ้ามี ๑ ดวงให้ติดที่กึ่งกลางหน้ารถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ให้ติดในระดับเดียวกัน และห่างจากกึ่งกลางหน้ารถเท่ากันทั้งสองข้างโคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟตัดหมอกจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟแสดงความกว้างของรถและโคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า ๒ องศา หรือ ๐.๒๐ เมตร ในระยะ ๗.๕๐ เมตร และไม่เฉไปทางขวา (จ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ในตำแหน่งที่ให้แสงสว่างออกไปทางท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร ถ้ามี ๑ ดวง ต้องอยู่ในแนวกึ่งกลางท้ายรถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ต้องอยู่ในระดับเดียวกัน และห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถให้รถตอนท้ายเคลื่อนตัวขึ้นลง และเลี้ยวตามรถตอนหน้าได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับที่ทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ถอยหลังได้เสมือนเป็นรถตอนเดียวกันด้วย ข้อ ๓ รถตามข้อ ๑ ที่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืนได้ให้บริเวณพื้นที่สำหรับผู้โดยสารยืนต้องเป็นพื้นที่ราบซึ่งมีความกว้างและความยาวพอเหมาะที่จะให้ผู้โดยสารยืนได้โดยถือเกณฑ์พื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ตารางเซนติเมตร ต่อผู้โดยสารยืน ๑ คน ข้อ ๔[๑๑] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ และมาตรฐาน ๖ ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถหรือชั้นภายในรถ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (ข) (ง) (จ) (ฉ) ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถนั้นภายในรถหรือบนหลังคาก็ได้ รถขนาดเล็ก ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้บนหลังคาหรือภายในรถ โดยจะมีไว้ที่ด้านล่างด้วยก็ได้ ข้อ ๕[๑๒] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) มาตรฐาน ๕ (ก) และมาตรฐาน ๖ (ก) ให้มีเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีพัดลมดูดอากาศอย่างน้อย ๒ เครื่อง ข้อ ๖[๑๓] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีห้องสุขภัณฑ์ได้ ให้มีห้องสุขภัณฑ์ภายในรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงพอสมควร สำหรับใช้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้และมีอ่างสำหรับล้างมือด้วย ห้องสุขภัณฑ์จะต้องมีที่สำหรับเก็บอุจจาระและปัสสาวะอย่างดี ไม่รั่วซึม และป้องกันกลิ่นเหม็นได้ ข้อ ๗[๑๔] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มได้ ให้มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มขนาดพอสมควรอยู่ตอนท้ายภายในรถ ข้อ ๘[๑๕] นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ และมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ ดังนี้ (๑) เครื่องรับวิทยุ ๑ เครื่อง (๒) เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง ๑ เครื่อง (๓) เครื่องขยายเสียง ขนาดพอสมควร ๑ เครื่อง อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ตาม (๑) (๒) และ (๓) อาจรวมอยู่ในเครื่องเดียวกันได้ ข้อ ๙[๑๖] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ และมาตรฐาน ๖ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๒ เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ ๒ เครื่อง เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามชนิด ประเภทและขนาดตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้ติดตั้งไว้ภายในรถในที่เหมาะสมซึ่งพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ข้อ ๑๐ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับท้ายรถหรือยื่นจากท้ายรถในระยะห่างพอสมควร และจะมีกันชนหน้าหรือไม่ก็ได้ (ค) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อเพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่น ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้ โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูง และต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ หยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง (ฌ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้า ต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถขั้วสายไฟ สวิทช์ที่อาจเกิดประกายไฟได้ ต้องใช้ฉนวนหุ้มปิด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกจะต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ข) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ค) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดงความกว้างของขอบสีแดงไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรโดยรอบ สามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืน ที่ระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลังของตัวถังให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ง) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ (จ) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง (ฉ) หน้าต่าง ที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรงสามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด ขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถปรับอากาศจะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง (ช) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างของรถ บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวน ขนาดและตำแหน่งของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ซ) ที่นั่งผู้โดยสาร ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฎ) (ฌ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อยตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกันและที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ญ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควรพร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถตามวรรคหนึ่ง จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาหยุดรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฎ)[๑๗] แผ่นสะท้อนแสง ดังต่อไปนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้าย และข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ฏ)[๑๘] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๑๙] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟ และความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถแสงแดง ติดบนหลังคาท้ายรถห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ข้างละ ๑ ดวง (ช) โคมไฟภายในรถ มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ญ) (ซ) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถในระดับเดียวกันตอนหน้าห่างจากหน้าสุดรถไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ไม่รวมแขนพ่วง) แห่งละ ๑ ดวง ตอนท้ายห่างจากท้ายสุดรถไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร แห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๖ เมตร ให้มีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวง ถ้ามีมากกว่า ๑ ดวง ระยะห่างระหว่างโคมไฟแต่ละดวงในข้างเดียวกันต้องเท่ากัน และห่างกันไม่น้อยกว่า ๓ เมตร โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายรถให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ข้อ ๑๐ ทวิ[๒๐] รถตามข้อ ๑๐ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๐ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่มีที่เก็บสัมภาระ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถ ข้อ ๑๒ ให้นำข้อ ๓ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ โดยอนุโลม ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๓ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถัง รวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลัง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร แต่ทั้งนี้ ตัวถังด้านข้างจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒)[๒๑] ความสูง ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) (ข) มาตรฐาน ๕ และมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๔.๕๐ เมตร ความสูงภายในของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้เป็นไปตามที่ กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ความสูงของรถต้องไม่ทำให้รถมีการทรงตัวได้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ (๓)[๒๒] ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) มาตรฐาน ๒ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) มาตรฐาน ๓ (ข) มาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องไม่เกิน ๑๒ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) มาตรฐาน ๒ (ง) มาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) มาตรฐาน ๓ (ง) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) มาตรฐาน ๕ และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากกันชนหน้าหรือส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๘ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของตัวถัง ไม่รวมกันชนหรือแขนพ่วงถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ หรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนหน้าในกรณีที่รถนั้นเป็นรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่ ช่วงล้อของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อคู่หน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าและระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าถึงศูนย์กลางเพลาล้อหรือศูนย์กลางระหว่างเพลาล้อคู่ของรถตอนท้าย (๕) ส่วนยื่นท้าย เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือถึงศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้าย ในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีประตูทางขึ้นลงด้านท้าย และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๖ นั้น ส่วนยื่นท้ายจะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อหรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนท้าย ข้อ ๑๔ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ มาตรฐาน ๖ และมาตรฐาน ๗ ซึ่งเป็นรถเฉพาะกิจ จะมีความกว้าง ความสูง ความยาว ส่วนยื่นหน้า และส่วนยื่นท้ายเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๓ ก็ได้หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานเฉพาะกิจ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก หมวด ๒ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ส่วนที่ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ ข้อ ๑๕ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่ผู้ผลิตออกแบบและกรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนหน้ายื่นจากหน้ารถระยะห่างพอสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีกันชนท้ายยื่นจากท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยวที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกันและไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่เพลาล้อหน้าไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้าที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิคหรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถด้วยความเร็วที่เหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสียที่มีเครื่องระงับเสียงมีการบังหรือกันท่อไปเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่ายอันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไปเสียต้องขนานกับผิวทางและตรงไปตามความยาวของรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ นั้น ส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อไอเสียจะต้องไม่อยู่ใต้ถังสำหรับบรรทุก สำหรับรถที่ใช้ในการขนสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ ท่อไอเสียจะตั้งขึ้นในแนวดิ่ง และไม่ต่ำกว่าส่วนสูงของรถนั้นก็ได้ (ฏ) ระบบส่งกำลังงานประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อต่าง ๆ และเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัยและให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงานพร้อมสวิทช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้า ต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียวดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึมมีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัยซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึม หรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็วสามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็วชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถังยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ห้องผู้ขับรถทำด้วยโลหะแข็งแรง มีประตูทั้งสองข้างมีที่นั่งผู้ขับรถตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สามารถบังคับรถได้ดี และสามารถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกเงาสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีห้องผู้ขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ข)[๒๓] กระจกกันลมและส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ค) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๑ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และภายในรถได้ทุกขณะ (ง) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (จ) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ให้มีลักษณะและมาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แต่ความสูงของตัวถังส่วนที่บรรทุกที่มีลักษณะเป็นกระบะทึบสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๘,๐๐๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร และสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ฉ) ตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวถัง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ช) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ซ)[๒๔] แผ่นสะท้อนแสงสีแดง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ในกรณีที่เป็นรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบให้ติดแผ่นสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย (ฌ)[๒๕] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๒๖] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ข) (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ค) (ง) โคมไฟเลี้ยว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (จ) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ฉ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ช) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถ แสงเขียว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฌ) สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้มีโคมไฟแสดงส่วนสูงแสงแดง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดของรถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในห้องผู้ขับรถให้แสงสว่างพอสมควร ข้อ ๑๖ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องต่อพ่วงทำด้วยโลหะแข็งแรงสำหรับยึดแขนพ่วงของรถพ่วง (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ จะต้องมีจานพ่วงหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ทำด้วยโลหะพร้อมเครื่องสำหรับล็อคสลักพ่วงของรถกึ่งพ่วงหรือรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว เพื่อมิให้หลุดจากกันในขณะใช้งาน ข้อ ๑๗ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๔ จะต้องมีเครื่องดับเพลิงติดตั้งในที่เหมาะสมพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะขนาด จำนวนและคุณภาพของเครื่องดับเพลิงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ข้อ ๑๗ ทวิ[๒๗] รถตามข้อ ๑๕ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ข) (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ค) (ง) โคมไฟตัดหมอก มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ง) (จ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑)(จ) (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๕ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ข้อ ๑๘ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ สำหรับโครงคัสซีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๘ ต้องสามารถปรับขนาดความยาวได้ โครงคัสซีส่วนหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๗ และลักษณะ ๘ ให้มีสลักพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สำหรับต่อกับจานพ่วงของรถลากจูงได้โดยเฉพาะ (ข) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ค) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ง) สปริง ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย (จ) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ฉ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้ โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูงและต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉิน ที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ หยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถดังกล่าวหลุดจากรถลูกจูง (ช) ระบบไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๑) (ฌ) (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแต่ทั่งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (ข) (ข) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (จ) (ค) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ง)[๒๘] แผ่นสะท้อนแสง ให้มีแผ่นสะท้อนแสงดังนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ในกรณีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ หรือลักษณะ ๗ ที่ตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้ติดที่มุมส่วนบนของตัวถังด้านท้ายมุมละ ๑ แผ่นด้วย (๓)[๒๙] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวร ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ช) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๓) (ซ) ข้อ ๑๘ ทวิ[๓๐] รถตามข้อ ๑๘ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๘ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๙ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๘ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ด้วย คือ (๑) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วง ทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และให้มีเครื่องบังคับให้รถพ่วงขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) แผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดง ความกว้างของขอบสีแดงกว้างไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรโดยรอบสามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืนระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๐ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบข้างตัวถังที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลังด้านข้าง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร และตัวถังหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร เว้นแต่รถกระบะบรรทุกหรือรถตู้บรรทุกที่มีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ให้มีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร (๓) ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๘ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุด ถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๒.๕๐ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้าจะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางสลักพ่วง จะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ หรือศูนย์กลางสลักพ่วงของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ถึงศูนย์กลางเพลาท้าย หรือถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีเป็นเพลาคู่ (๕) ส่วนยื่นท้าย ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนท้ายของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่มีส่วนบรรทุกสัตว์หรือสิ่งของเป็นตู้ทึบและรถที่มีทางขึ้นลงหรือติดตั้งอุปกรณ์ในการขนถ่ายสัตว์หรือสิ่งของที่ด้านท้ายส่วนบรรทุก ให้มีความยาวได้ไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่ จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในห้าของช่วงล้อ ข้อ ๒๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษะ ๕ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และ ลักษณะ ๘ ซึ่งเป็นรถบรรทุกเฉพาะกิจจะมีความกว้าง ความสูง ความยาว ส่วนยื่นหน้าและส่วนยื่นท้ายเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๐ ก็ได้ หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานเฉพาะกิจ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๑] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (รถสองชั้น) ไว้ไม่เกิน ๑๐ เมตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบของรถที่มีการผลิตโดยทั่วไปในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถดังกล่าวให้มีความยาวได้ไม่เกิน ๑๒ เมตร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๒] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการติดกระจกกันลมหลังกับตัวรถไม่มีผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถ สมควรเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเลือกที่จะจัดให้มีกระจกกันลมหลังหรือไม่ก็ได้ และโดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว สมควรกำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม นอกจากนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมขนาดความสูงของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้รับกับมาตรฐานสากลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการทรงตัวของรถดังกล่าวเพื่อให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๓] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมยานยนต์ได้เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดอันตรายแก่ผู้ใช้รถ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งในส่วนเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งสมควรเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องมือเครื่องใช้ประจำรถที่ใช้ในการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๔] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันปรากฏว่า รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงที่มีกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถแตกต่างไปจากรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน แต่ไม่เกินสิบสองคน (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จึงก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและการกำกับดูแลทั้ง ๆ ที่เป็นรถยนต์ที่มีลักษณะและขนาดเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติที่เกี่ยวกับฟิล์มกรองแสงของกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลังของรถยนต์ดังกล่าวตามกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รถตู้) และมาตรฐาน ๓ (ฉ) (รถตู้) เสียใหม่ให้สอดคล้องกันกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พัสสน/ผู้จัดทำ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ โชติกานต์/ปรับปรุง ๘ ตุลาคม ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ [๒] ข้อ ๑ (๒) (ก) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓] ข้อ ๑ (๒) (ก) วรรคสาม เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๔] ข้อ ๑ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๕] ข้อ ๑ (๒) (ซ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๖] ข้อ ๑ (๒) (ซ) วรรคสี่ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๗] ข้อ ๑ (๒) (ฒ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๘] ข้อ ๑ (๒) (ณ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๙] ข้อ ๑ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๐] ข้อ ๑ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๑] ข้อ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๒] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๓] ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๔] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๕] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๖] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๗] ข้อ ๑๐ (๒) (ฎ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๘] ข้อ ๑๐ (๒) (ฏ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๙] ข้อ ๑๐ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๐] ข้อ ๑๐ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๑] ข้อ ๑๓ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๒] ข้อ ๑๓ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๓] ข้อ ๑๕ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๔] ข้อ ๑๕ (๒) (ซ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๕] ข้อ ๑๕ (๒) (ฌ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๖] ข้อ ๑๕ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๗] ข้อ ๑๗ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๘] ข้อ ๑๘ (๒) (ง) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๙] ข้อ ๑๘ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๐] ข้อ ๑๘ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑ พฤษภาคม ๒๕๓๒ [๓๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๑๒/หน้า ๙/๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ [๓๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๔๘ ก/หน้า ๑๒/๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๗ [๓๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๓๑ ก/หน้า ๒๕/๗ เมษายน ๒๕๔๓
322976
กฎกระทรวง ฉบับที่ 53 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง ฉบับที่ 53 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา 71 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มี บทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับ มาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกกำกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของ (ก) ของข้อ 1 (2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 "กระจกกันลมหลังของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน 2 (จ) ที่มีจำนวนที่นั่ง ไม่เกิน 12 ที่นั่ง และมาตรฐาน 3 (ฉ) ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสง ซึ่งเมื่อวัดผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกและฟิล์มกรองแสง ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40" ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง (ซ) ของข้อ 1 (2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 40 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 "บานหน้าต่างของรถ ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน 2 (จ) ที่มีจำนวนที่นั่ง ไม่เกิน 12 ที่นั่ง และมาตรฐาน 3 (ฉ) ถ้าทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบัง ส่วนหนึ่งส่วนใดของวัสดุโปร่งแสงนั้น เว้นแต่เป็นการติดฟิล์มกรองแสง ซึ่งเมื่อวัดผ่านของแสงแล้ว แสงต้องผ่านทั้งกระจกและฟิล์มกรองแสงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40" ข้อ 3 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ให้ไว้ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2543 สนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันปรากฏว่า รถที่ใช้ ในการขนส่งผู้โดยสาร ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน 12 ที่นั่ง (รถตู้) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วย การขนส่งทางบก มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงที่มีกระจกกันลมด้านข้างและด้านหลัง ของรถแตกต่างไปจากรถยนตร์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน แต่ไม่เกินสิบสองคน (รถตู้) ที่จดทะเบียนตาม กฎหมายว่าด้วยรถยนตร์ จึงก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและการกำกับดูแลทั้ง ๆ ที่เป็นรถยนตร์ที่มี ลักษณะและขนาดเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติที่เกี่ยวกับฟิล์มกรองแสงของกระจกกันลมด้านข้าง และด้านหลังของรถยนตร์ดังกล่าวตามกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สมควร ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน 2 (จ) ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน 12 ที่นั่ง (รถตู้) และมาตรฐาน 3 (ฉ) (รถตู้) เสียใหม่ให้สอดคล้องกันกับที่กำหนด ไว้ในกฎหมายว่าด้วยรถยนตร์ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
306702
กฎกระทรวง ฉบับที่ 52 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๒ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ---------------- อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๙๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙๘ และ มาตรา ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความใน พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๒ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และผู้บริการ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ดังนี้ (๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ (ก) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่หนึ่ง ในประเภทการขนส่งส่วน บุคคล ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี (ข) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่สอง และชนิดที่สาม ในประเภท การขนส่งส่วนบุคคลต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี (ค) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่หนึ่ง ชนิดที่สอง และชนิดที่สามใน ประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีอายุ ไม่ต่ำกว่ายี่สิบสองปี (ง) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่สี่ ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ยี่สิบห้าปี (๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี (๓) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนายตรวจ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี (๔) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้บริการ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ สนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ---------------------------------------------------------------- หมายเหตุ - เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมี การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิด ภาวะการขาดแคลนผู้ขับรถโดยเฉพาะในประเภทการขนส่งประจำทางและการขนส่งไม่ประจำทาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวและส่ง เสริมการประกอบอาชีพสุจริต รวมทั้งพัฒนาระบบการขนส่งภายในประเทศให้ทันสมัยเหมาะสม กับสภาวะการณ์ในปัจจุบันและให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกับนานาประเทศ สมควรลดอายุ ของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่หนึ่ง ชนิดที่สองและชนิดที่สาม ในประเภทการขนส่ง ประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เสีย ใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ [รก.๒๕๔๑/๘๕ก/๑/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑]
318513
กฎกระทรวง ฉบับที่ 51 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๑ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ --------------- อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๑๐๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ และมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ.๒๕๓๗) ออกตาม ความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน "ข้อ ๓ รถโรงเรียนที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้เจ้า ของรถหรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามข้อ ๒ ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๒ (พ.ศ.๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐" ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ พีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม +--------------------------------------------------------------------------------------------------------+ หมายเหต ุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ.๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ กำหนดให้เจ้าของ รถหรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสีของตัวถังรถโรงเรียนที่ จดทะเบียนก่อนวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับคือ วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นสี เหลืองคาดดำภายในสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันดังกล่าว แต่ปรากฏว่าเจ้าของรถหรือผู้ได้รับใบ อนุญาตประกอบการขนส่งเป็นจำนวนมากไม่อาจดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสีของตัวถังรถภายใน กำหนดเวลาดังกล่าวได้ เนื่องจากระยะเวลาที่กำหนดให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะเวลาที่ สั้นเกินไป สมควรขยายระยะเวลาการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสีของตัวถังรถโรงเรียนให้เป็นไป ตามกฎกระทรวงดังกล่าวออกไปเป็นวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐ จึงจำเป็นต้องออกกฎ กระทรวงนี้ [รก.๒๕๓๙/๑๐ก/๑๙/๑๗ เมษายน ๒๕๓๙]
614991
กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (Update ณ วันที่ 24/10/2537)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ หมวด ๑ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ส่วนที่ ๑ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรา ๒ มาตรา ๓ มาตรา ๔ มาตรา ๖ มาตรา ๗ และรถขนาดเล็กจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ทั้งกันชนหน้าและกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถหรือยื่นจากหน้ารถและท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยวที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกันแรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกัน และไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) มาตรา ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนเฉพาะเพลาหน้าก็ได้ (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิค หรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนติดไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถตอนท้ายหยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถพ่วงหลุดจากรถตอนหน้า (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ด้วยความเร็วเหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติ ซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิท และสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีเครื่องระงับเสียงและมีการบังหรือกันท่อไอเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่าย อันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทาและตรงออกท้ายรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีทางขึ้นลงด้านท้ายรถส่วนปลายท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและเบนออกตรงมุมท้ายรถด้านขวา (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อ และเฟืองท้ายสามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัยและให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิทช์ที่ผู้ขับสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟฟ้าที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้นการเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่ายส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถ และแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณ ชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็ว ชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแบบตัวถังของรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก)[๒] กระจกกันลม และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ข)[๓] กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๓ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และประตูทางขึ้นลงของผู้โดยสารได้ทุกขณะ (ค) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถชั้นบนด้วย (ง) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (จ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถังให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฉ) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และมาตรา ๓ (ฉ) ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล หลังคาจะทำด้วยผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันก็ได้ (ช) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นชั้นบนของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมั่นคงแข็งแรง มีพื้นยางหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ปูเต็มความกว้างและความยาวของพื้นรถ ใต้พื้นชั้นบนต้องมีฝ้ากรุโดยทั่วไป (ซ)[๔] หน้าต่างที่ด้านข้างรถซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) และมาตรฐาน ๖ (ก) จะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบการถ่ายเทอากาศได้ดี ในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็กจะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง (ฌ) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน บานประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านข้าง บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านท้ายของรถ บันไดทางขึ้นลงให้ยื่นออกนอกรถได้ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถมีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวนขนาดและตำแหน่งประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ญ) ที่นั่งผู้ขับรถซึ่งแยกต่างหากจากที่นั่งผู้โดยสาร สามารถปรับเลื่อนได้ตามความเหมาะสมตรึงแน่นกับพื้นรถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับรถได้ดีและมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน (ฎ) ที่นั่งผู้โดยสาร ตรึงแน่นกับพื้นรถ แบบและการจัดวางที่นั่งของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารแต่ละมาตรฐาน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฏ) ห้องผู้ขับรถหรือราวกั้นผู้ขับรถที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับแยกผู้ขับรถให้อยู่คนละส่วนกับผู้โดยสาร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีราวกั้นผู้ขับรถหรือไม่ก็ได้ (ฐ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อยตรงแน่นกับเพดานภายในโดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกันและที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ฑ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทและลักษณะของรถ ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถ จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฒ)[๕] แผ่นสะท้อนแสงสีแดง จำนวน ๒ แผ่น หรือ ๔ แผ่น มีลักษณะเป็นวงกลม สามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร แผ่นสะท้อนแสงที่มีลักษณะเป็นวงกลมต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือหากมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต้องมีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร แล้วแต่กรณี ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร แผ่นริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ณ)[๖] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๗] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งไกลจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น เว้นแต่เป็นการให้แสงสัญญาณชั่วขณะ (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน ที่ให้แสงสีเดียวกับโคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ แสงขาวหรือเหลือง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสดงความกว้างของรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดที่ด้านหน้า จำนวน ๒ ดวง และแสงเหลืองหรือแดง ติดที่ด้านท้ายจำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ โดยให้ติดไว้ที่ข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวงที่ติดที่ด้านท้ายต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถหรือท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร และดวงล่างสุดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวทุกดวงที่อยู่ข้างเดียวกันต้องกระพริบพร้อมกันในขณะที่รถให้สัญญาณเลี้ยว (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตรจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร (ฉ) โคมไฟหยุดแสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ โคมไฟหยุดถ้ารวมอยู่ในโคมไฟท้ายจะต้องมีความสว่างมากว่าความสว่างของโคมไฟท้ายนั้น (ช) โคมไฟถอยหลัง แสงขาว จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ในกรณีที่มี ๒ ดวง ต้องติดอยู่ในระดับเดียวกันและห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟถอยหลังจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่เข้าเกียร์ถอยหลังเท่านั้น (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาว อย่างน้อย ๑ ดวง แต่ไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ด้านบนด้านล่าง หรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียนท้ายรถมีความสว่างสามารถอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร จากท้ายรถ และต้องมีที่บังมิให้แสงพุ่งออกไปทางท้ายรถ โคมไฟส่องป้ายทะเบียนต้องให้แสงสว่างพร้อมกับโคมไฟท้าย (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถสำหรับรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร จำนวน ๔ ดวง ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถ ดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ดวงในห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร และให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายตอนบนของหลังคารถ จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ริมสุดของท้ายรถข้างละ ๑ ดวง โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถที่ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถให้ใช้ ดังนี้ (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทางใช้แสงน้ำเงิน (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งไม่ประจำทางใช้แสงเหลือง (๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลใช้แสงขาว (๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็กใช้แสงม่วง (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในรถ ให้แสงสว่างพอสมควร และจะมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือประจำทุกที่นั่งด้วยก็ได้ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะต้องมีโคมไฟภายในรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งของโคมไฟภายในรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฎ) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง แสงขาว ติดที่ด้านหน้ารถให้แสงสว่างพอสมควรที่ป้ายแสดงเส้นทาง ข้อ ๑ ทวิ[๘] รถตามข้อ ๑ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกันและให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟเลี้ยวข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟเลี้ยวข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกัน โคมไฟเลี้ยวข้างรถทุกดวงต้องกระพริบพร้อมกับโคมไฟเลี้ยวที่ด้านหน้าและด้านท้ายที่อยู่ข้างเดียวกัน (ง) โคมไฟตัดหมอก แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดที่หน้ารถสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่อยู่สูงไม่เกินโคมไฟแสงพุ่งต่ำถ้ามี ๑ ดวงให้ติดที่กึ่งกลางหน้ารถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ให้ติดในระดับเดียวกัน และห่างจากกึ่งกลางหน้ารถเท่ากันทั้งสองข้างโคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟตัดหมอกจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟแสดงความกว้างของรถและโคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า ๒ องศา หรือ ๐.๒๐ เมตร ในระยะ ๗.๕๐ เมตร และไม่เฉไปทางขวา (จ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ในตำแหน่งที่ให้แสงสว่างออกไปทางท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร ถ้ามี ๑ ดวง ต้องอยู่ในแนวกึ่งกลางท้ายรถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ต้องอยู่ในระดับเดียวกัน และห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถให้รถตอนท้ายเคลื่อนตัวขึ้นลง และเลี้ยวตามรถตอนหน้าได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับที่ทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ถอยหลังได้เสมือนเป็นรถตอนเดียวกันด้วย ข้อ ๓ รถตามข้อ ๑ ที่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืนได้ให้บริเวณพื้นที่สำหรับผู้โดยสารยืนต้องเป็นพื้นที่ราบซึ่งมีความกว้างและความยาวพอเหมาะที่จะให้ผู้โดยสารยืนได้โดยถือเกณฑ์พื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ตารางเซนติเมตร ต่อผู้โดยสารยืน ๑ คน ข้อ ๔[๙] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ และมาตรฐาน ๖ ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถหรือชั้นภายในรถ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (ข) (ง) (จ) (ฉ) ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถนั้นภายในรถหรือบนหลังคาก็ได้ รถขนาดเล็ก ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้บนหลังคาหรือภายในรถ โดยจะมีไว้ที่ด้านล่างด้วยก็ได้ ข้อ ๕[๑๐] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) มาตรฐาน ๕ (ก) และมาตรฐาน ๖ (ก) ให้มีเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีพัดลมดูดอากาศอย่างน้อย ๒ เครื่อง ข้อ ๖[๑๑] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีห้องสุขภัณฑ์ได้ ให้มีห้องสุขภัณฑ์ภายในรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงพอสมควร สำหรับใช้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้และมีอ่างสำหรับล้างมือด้วย ห้องสุขภัณฑ์จะต้องมีที่สำหรับเก็บอุจจาระและปัสสาวะอย่างดี ไม่รั่วซึม และป้องกันกลิ่นเหม็นได้ ข้อ ๗[๑๒] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มได้ ให้มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มขนาดพอสมควรอยู่ตอนท้ายภายในรถ ข้อ ๘[๑๓] นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ และมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ ดังนี้ (๑) เครื่องรับวิทยุ ๑ เครื่อง (๒) เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง ๑ เครื่อง (๓) เครื่องขยายเสียง ขนาดพอสมควร ๑ เครื่อง อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ตาม (๑) (๒) และ (๓) อาจรวมอยู่ในเครื่องเดียวกันได้ ข้อ ๙[๑๔] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ และมาตรฐาน ๖ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๒ เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ ๒ เครื่อง เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามชนิด ประเภทและขนาดตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้ติดตั้งไว้ภายในรถในที่เหมาะสมซึ่งพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ข้อ ๑๐ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับท้ายรถหรือยื่นจากท้ายรถในระยะห่างพอสมควร และจะมีกันชนหน้าหรือไม่ก็ได้ (ค) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อเพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่น ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้ โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูง และต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ หยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง (ฌ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้า ต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถขั้วสายไฟ สวิทช์ที่อาจเกิดประกายไฟได้ ต้องใช้ฉนวนหุ้มปิด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกจะต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ข) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ค) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดงความกว้างของขอบสีแดงไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรโดยรอบ สามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืน ที่ระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลังของตัวถังให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ง) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ (จ) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง (ฉ) หน้าต่าง ที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรงสามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด ขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถปรับอากาศจะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง (ช) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างของรถ บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวน ขนาดและตำแหน่งของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ซ) ที่นั่งผู้โดยสาร ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฎ) (ฌ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อยตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกันและที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ญ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควรพร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถตามวรรคหนึ่ง จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาหยุดรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฎ)[๑๕] แผ่นสะท้อนแสง ดังต่อไปนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้าย และข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร (ฏ)[๑๖] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๑๗] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟ และความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถแสงแดง ติดบนหลังคาท้ายรถห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ข้างละ ๑ ดวง (ช) โคมไฟภายในรถ มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ญ) (ซ) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถในระดับเดียวกันตอนหน้าห่างจากหน้าสุดรถไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ไม่รวมแขนพ่วง) แห่งละ ๑ ดวง ตอนท้ายห่างจากท้ายสุดรถไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร แห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๖ เมตร ให้มีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวง ถ้ามีมากกว่า ๑ ดวง ระยะห่างระหว่างโคมไฟแต่ละดวงในข้างเดียวกันต้องเท่ากัน และห่างกันไม่น้อยกว่า ๓ เมตร โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายรถให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ข้อ ๑๐ ทวิ[๑๘] รถตามข้อ ๑๐ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๐ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่มีที่เก็บสัมภาระ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถ ข้อ ๑๒ ให้นำข้อ ๓ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ โดยอนุโลม ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๓ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถัง รวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลัง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร แต่ทั้งนี้ ตัวถังด้านข้างจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒)[๑๙] ความสูง ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) (ข) มาตรฐาน ๕ และมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๔.๕๐ เมตร ความสูงภายในของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้เป็นไปตามที่ กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ความสูงของรถต้องไม่ทำให้รถมีการทรงตัวได้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ (๓)[๒๐] ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) มาตรฐาน ๒ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) มาตรฐาน ๓ (ข) มาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องไม่เกิน ๑๒ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) มาตรฐาน ๒ (ง) มาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) มาตรฐาน ๓ (ง) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) มาตรฐาน ๕ และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากกันชนหน้าหรือส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๘ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของตัวถัง ไม่รวมกันชนหรือแขนพ่วงถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ หรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนหน้าในกรณีที่รถนั้นเป็นรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่ ช่วงล้อของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อคู่หน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าและระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าถึงศูนย์กลางเพลาล้อหรือศูนย์กลางระหว่างเพลาล้อคู่ของรถตอนท้าย (๕) ส่วนยื่นท้าย เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือถึงศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้าย ในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีประตูทางขึ้นลงด้านท้าย และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๖ นั้น ส่วนยื่นท้ายจะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อหรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนท้าย ข้อ ๑๔ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ มาตรฐาน ๖ และมาตรฐาน ๗ ซึ่งเป็นรถเฉพาะกิจ จะมีความกว้าง ความสูง ความยาว ส่วนยื่นหน้า และส่วนยื่นท้ายเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๓ ก็ได้หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานเฉพาะกิจ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก หมวด ๒ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ส่วนที่ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ ข้อ ๑๕ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่ผู้ผลิตออกแบบและกรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนหน้ายื่นจากหน้ารถระยะห่างพอสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีกันชนท้ายยื่นจากท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยวที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกันและไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่เพลาล้อหน้าไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้าที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิคหรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถด้วยความเร็วที่เหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสียที่มีเครื่องระงับเสียงมีการบังหรือกันท่อไปเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่ายอันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไปเสียต้องขนานกับผิวทางและตรงไปตามความยาวของรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ นั้น ส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อไอเสียจะต้องไม่อยู่ใต้ถังสำหรับบรรทุก สำหรับรถที่ใช้ในการขนสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ ท่อไอเสียจะตั้งขึ้นในแนวดิ่ง และไม่ต่ำกว่าส่วนสูงของรถนั้นก็ได้ (ฏ) ระบบส่งกำลังงานประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อต่าง ๆ และเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัยและให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงานพร้อมสวิทช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้า ต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียวดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึมมีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัยซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึม หรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็วสามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็วชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถังยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ห้องผู้ขับรถทำด้วยโลหะแข็งแรง มีประตูทั้งสองข้างมีที่นั่งผู้ขับรถตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สามารถบังคับรถได้ดี และสามารถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกเงาสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีห้องผู้ขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ข)[๒๑] กระจกกันลมและส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ค) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๑ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และภายในรถได้ทุกขณะ (ง) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (จ) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ให้มีลักษณะและมาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แต่ความสูงของตัวถังส่วนที่บรรทุกที่มีลักษณะเป็นกระบะทึบสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๘,๐๐๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร และสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ฉ) ตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวถัง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ช) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ซ)[๒๒] แผ่นสะท้อนแสงสีแดง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ในกรณีที่เป็นรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบให้ติดแผ่นสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย (ฌ)[๒๓] เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๓)[๒๔] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ข) (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ค) (ง) โคมไฟเลี้ยว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (จ) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ฉ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ช) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถ แสงเขียว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฌ) สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้มีโคมไฟแสดงส่วนสูงแสงแดง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดของรถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในห้องผู้ขับรถให้แสงสว่างพอสมควร ข้อ ๑๖ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องต่อพ่วงทำด้วยโลหะแข็งแรงสำหรับยึดแขนพ่วงของรถพ่วง (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ จะต้องมีจานพ่วงหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ทำด้วยโลหะพร้อมเครื่องสำหรับล็อคสลักพ่วงของรถกึ่งพ่วงหรือรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว เพื่อมิให้หลุดจากกันในขณะใช้งาน ข้อ ๑๗ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๔ จะต้องมีเครื่องดับเพลิงติดตั้งในที่เหมาะสมพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะขนาด จำนวนและคุณภาพของเครื่องดับเพลิงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ข้อ ๑๗ ทวิ[๒๕] รถตามข้อ ๑๕ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ข) (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ค) (ง) โคมไฟตัดหมอก มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ง) (จ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑)(จ) (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๕ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ข้อ ๑๘ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ สำหรับโครงคัสซีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๘ ต้องสามารถปรับขนาดความยาวได้ โครงคัสซีส่วนหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๗ และลักษณะ ๘ ให้มีสลักพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สำหรับต่อกับจานพ่วงของรถลากจูงได้โดยเฉพาะ (ข) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ค) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ง) สปริง ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย (จ) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ฉ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้ โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูงและต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉิน ที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ หยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถดังกล่าวหลุดจากรถลูกจูง (ช) ระบบไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๑) (ฌ) (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแต่ทั่งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (ข) (ข) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (จ) (ค) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ง)[๒๖] แผ่นสะท้อนแสง ให้มีแผ่นสะท้อนแสงดังนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ในกรณีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ หรือลักษณะ ๗ ที่ตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้ติดที่มุมส่วนบนของตัวถังด้านท้ายมุมละ ๑ แผ่นด้วย (๓)[๒๗] โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวร ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ช) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๓) (ซ) ข้อ ๑๘ ทวิ[๒๘] รถตามข้อ ๑๘ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๘ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๑๙ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๘ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ด้วย คือ (๑) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วง ทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และให้มีเครื่องบังคับให้รถพ่วงขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) แผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดง ความกว้างของขอบสีแดงกว้างไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรโดยรอบสามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืนระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๐ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบข้างตัวถังที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลังด้านข้าง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร และตัวถังหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร เว้นแต่รถกระบะบรรทุกหรือรถตู้บรรทุกที่มีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ให้มีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร (๓) ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๘ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุด ถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๒.๕๐ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้าจะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางสลักพ่วง จะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ หรือศูนย์กลางสลักพ่วงของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ถึงศูนย์กลางเพลาท้าย หรือถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีเป็นเพลาคู่ (๕) ส่วนยื่นท้าย ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนท้ายของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่มีส่วนบรรทุกสัตว์หรือสิ่งของเป็นตู้ทึบและรถที่มีทางขึ้นลงหรือติดตั้งอุปกรณ์ในการขนถ่ายสัตว์หรือสิ่งของที่ด้านท้ายส่วนบรรทุก ให้มีความยาวได้ไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่ จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในห้าของช่วงล้อ ข้อ ๒๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษะ ๕ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และ ลักษณะ ๘ ซึ่งเป็นรถบรรทุกเฉพาะกิจจะมีความกว้าง ความสูง ความยาว ส่วนยื่นหน้าและส่วนยื่นท้ายเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๐ ก็ได้ หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานเฉพาะกิจ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๒๙] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (รถสองชั้น) ไว้ไม่เกิน ๑๐ เมตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบของรถที่มีการผลิตโดยทั่วไปในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถดังกล่าวให้มีความยาวได้ไม่เกิน ๑๒ เมตร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๐] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการติดกระจกกันลมหลังกับตัวรถไม่มีผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถ สมควรเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเลือกที่จะจัดให้มีกระจกกันลมหลังหรือไม่ก็ได้ และโดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว สมควรกำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม นอกจากนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมขนาดความสูงของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้รับกับมาตรฐานสากลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการทรงตัวของรถดังกล่าวเพื่อให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๓๑] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมยานยนต์ได้เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดอันตรายแก่ผู้ใช้รถ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งในส่วนเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งสมควรเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องมือเครื่องใช้ประจำรถที่ใช้ในการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พัสสน/ผู้จัดทำ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ โชติกานต์/ปรับปรุง ๘ ตุลาคม ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ [๒] ข้อ ๑ (๒) (ก) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓] ข้อ ๑ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๔] ข้อ ๑ (๒) (ซ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๕] ข้อ ๑ (๒) (ฒ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๖] ข้อ ๑ (๒) (ณ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๗] ข้อ ๑ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๘] ข้อ ๑ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๙] ข้อ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๐] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๑] ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๒] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๓] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๔] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๕] ข้อ ๑๐ (๒) (ฎ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๖] ข้อ ๑๐ (๒) (ฏ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๗] ข้อ ๑๐ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๘] ข้อ ๑๐ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๙] ข้อ ๑๓ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๐] ข้อ ๑๓ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๑] ข้อ ๑๕ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๒] ข้อ ๑๕ (๒) (ซ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๓] ข้อ ๑๕ (๒) (ฌ) เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๔] ข้อ ๑๕ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๕] ข้อ ๑๗ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๖] ข้อ ๑๘ (๒) (ง) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๗] ข้อ ๑๘ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๘] ข้อ ๑๘ ทวิ เพิ่มโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๒๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑ พฤษภาคม ๒๕๓๒ [๓๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๑๒/หน้า ๙/๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ [๓๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๔๘ ก/หน้า ๑๒/๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๗
301324
กฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งต้องจัดให้สมุดประจำรถประวัติผู้ประจำรถและแบบรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งได้แก่ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารหรือรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารหรือรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารหรือรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารหรือรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒ ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีสมุดประจำรถตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ไว้ประจำรถทุกคันในขณะที่ใช้ทำการขนส่ง ผู้ขับรถต้องบันทึกรายละเอียดตามรายการในสมุดประจำรถให้ครบถ้วนและถูกต้องตามความเป็นจริงทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ และในการนี้ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งควบคุมและตรวจสอบให้ผู้ขับรถบันทึกรายละเอียดดังกล่าวให้ครบถ้วนด้วย ข้อ ๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดทำประวัติผู้ประจำรถตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ สำหรับผู้ประจำรถทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่กับตน และให้จัดเก็บไว้ ณ ที่ทำการหรือสำนักงานของตนเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาที่ผู้ประจำรถนั้นยังปฏิบัติหน้าที่อยู่กับตน และภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ประจำรถนั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการของตน ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจัดส่งสำเนาประวัติผู้ประจำรถตามวรรคหนึ่ง ให้กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง แล้วแต่กรณี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ประจำรถนั้นเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกิจการของตน ในกรณีที่ผู้ประจำรถนั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการของตน หรือมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของผู้ประจำรถนั้น ให้ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งจัดส่งสำเนาการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติดังกล่าวตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ ให้กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง แล้วแต่กรณี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง ข้อ ๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งในกิจการของตนที่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือความเสียหายของทรัพย์สินมีมูลค่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ ต่อนายทะเบียนประจำจังหวัดที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้น ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ ข้อ ๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งต้องจัดให้มีใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง ได้แก่ (๑) มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๒) มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศด้วยรถที่ใช้ในการใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๖ ใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง ให้เป็นไปตามแบบใบกำกับสินค้าท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามข้อ ๕ และผู้ประจำรถมีหน้าที่ต้องบันทึกรายละเอียดตามรายการและปฏิบัติตามรายละเอียดต่าง ๆ ที่กำหนดในใบกำกับสินค้า ข้อ ๘ ใบกำกับสินค้าให้ทำเป็นสองฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกัน โดยฉบับหนึ่งให้เก็บรักษาไว้ ณ ที่ทำการหรือสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งยื่นใบกำกับสินค้าหมายเลข ๒ ต่อกรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง แล้วแต่กรณี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่การขนส่งนั้นเสร็จสิ้น ใบกำกับสินค้าให้ถือเป็นแบบรายงานเกี่ยวกับการขนส่ง ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม [เอกสารแนบท้าย] ๑. แบบสมุดประจำรถ ๒. แบบรายงานประวัติผู้ประจำรถ ๓. แบบใบกำกับสินค้า ๔. แบบรายงานอุบัติเหตุ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวงต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ หรือใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง และต้องทำรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง สมควรกำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่จะต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ ใบกำกับสินค้า และรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ ใบกำกับสินค้า และรายงานเกี่ยวกับการขนส่งและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒๙ กันยายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๖๐ ก/หน้า ๕๕/๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
301323
กฎกระทรวง ฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ --------------- อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราช บัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความใน (ฒ) ของข้อ ๑ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช ้ความต่อไปนี้แทน "(ฒ) แผ่นสะท้อนแสงสีแดง จำนวน ๒ แผ่น หรือ ๔ แผ่น มีลักษณะเป็นวงกลม สามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่รถมีความกว้าง เกิน ๒.๑๐ เมตร แผ่นสะท้อนแสงที่มีลักษณะเป็นวงกลมต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือหากมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต้องมีความยาว ด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร แล้วแต่กรณี ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสอง ข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร แผ่นริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุด ของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร" ข้อ ๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ณ) ของข้อ ๑ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ "(ณ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศ กำหนด" ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "(๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบก ประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกัน ที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทาง ไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งไกลจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น เว้นแต่เป็นการให้แสงสัญญาณชั่วขณะ (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน ที่ให้แสงสีเดียวกับโคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง สูงจากผิวทาง ไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ แสงขาวหรือเหลือง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟทุกดวง ต้องให้แสงสีเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวง ริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟแสดงความกว้างของรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่าง ด้วยเท่านั้น (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดที่ด้านหน้า จำนวน ๒ ดวง และแสงเหลือง หรือแดง ติดที่ด้านท้ายจำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยว ด้านท้ายจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ โดยให้ติดไว้ที่ข้างซ้ายและข้างขวามีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟ ทุกดวงที่ติดที่ด้านท้ายต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟดวงริมสุดห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถหรือ ท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร และดวงล่างสุดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟเลี้ยวทุกดวงที่อยู่ข้างเดียวกันต้องกระพริบพร้อมกันในขณะที่รถให้สัญญาณเลี้ยว (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ในกรณีที่รถมีความกว้างเกิน ๒.๑๐ เมตรจะมีจำนวน ๖ ดวงก็ได้ ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนเท่ากัน ทั้งสองข้าง สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดห่างจาก ด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร (ฉ) โคมไฟหยุดแสงแดง จำนวน ๒ ดวง หรือ ๔ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้าย รถข้างซ้ายและขวา มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร โคมไฟดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของท้ายรถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอ คงที่ไม่กระพริบ โคมไฟหยุดถ้ารวมอยู่ในโคมไฟท้ายจะต้องมีความสว่างมากว่าความสว่างของโคม ไฟท้ายนั้น (ช) โคมไฟถอยหลัง แสงขาว จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ในกรณีที่มี ๒ ดวง ต้องติดอยู่ในระดับเดียวกันและห่างจาก แนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟถอยหลังจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่เข้าเกียร์ถอยหลังเท่านั้น (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาว อย่างน้อย ๑ ดวง แต่ไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ด้านบน ด้านล่าง หรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียนท้ายรถมีความสว่างสามารถอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจน ในระยะไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร จากท้ายรถ และต้องมีที่บังมิให้แสงพุ่งออกไปทางท้ายรถ โคมไฟส่องป้ายทะเบียนต้องให้แสงสว่างพร้อมกับโคมไฟท้าย (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถสำหรับรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร จำนวน ๔ ดวง ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถ ดวงริมสุดอยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถ ไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ดวงในห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร และให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายตอนบนของหลังคารถ จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ริมสุดของท้ายรถ ข้างละ ๑ ดวง โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถที่ติดไว้ที่ด้านหน้าตอนบนของหลังคารถ ให้ใช้ดังนี้ (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทางใช้แสงน้ำเงิน (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งไม่ประจำทางใช้แสงเหลือง (๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลใช้แสงขาว (๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็กใช้แสงม่วง (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในรถ ให้แสงสว่างพอสมควร และจะมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือประจำทุกที่นั่งด้วยก็ได้ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะต้องมีโคมไฟ ภายในรถ รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งของโคมไฟภายในรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศ กำหนด (ฎ) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง แสงขาว ติดที่ด้านหน้ารถให้แสงสว่างพอสมควรที่ป้าย แสดงเส้นทาง" ข้อ ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๑ ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ "ข้อ ๑ ทวิ รถตามข้อ ๑ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่ง ทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟ ดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้ายแห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาว เกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ในระดับและตำแหน่งเดียวกันและให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ ชนิดใช้ไฟกระพริบ แสงเหลือง ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถตอนหน้าแห่งละ ๑ ดวง หรือตอนท้าย แห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๗.๕๐ เมตร จะมีโคมไฟเลี้ยวข้างรถที่กึ่งกลางระหว่าง โคมไฟเลี้ยวข้างรถดวงหน้าและดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวงก็ได้ โคมไฟข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ ในระดับและตำแหน่งเดียวกัน โคมไฟเลี้ยวข้างรถทุกดวงต้องกระพริบพร้อมกับโคมไฟเลี้ยวที่ด้านหน้าและด้านท้าย ที่อยู่ข้างเดียวกัน (ง) โคมไฟตัดหมอก แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดที่หน้ารถสูง จากผิวทางไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร แต่อยู่สูงไม่เกินโคมไฟแสงพุ่งต่ำถ้ามี ๑ ดวงให้ติดที่กึ่งกลาง หน้ารถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ให้ติดในระดับเดียวกัน และห่างจากกึ่งกลางหน้ารถเท่ากันทั้งสอง ข้างโคมไฟทุกดวงต้องให้แสงสีเดียวกัน โคมไฟตัดหมอกจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟแสดงความกว้างของรถ และโคมไฟท้ายให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบ ไม่น้อยกว่า ๒ องศา หรือ ๐.๒๐ เมตร ในระยะ ๗.๕๐ เมตร และไม่เฉไปทางขวา (จ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวนไม่เกิน ๒ ดวง ติดอยู่ในตำแหน่งที่ให้แสงสว่าง ออกไปทางท้ายรถ สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร ถ้ามี ๑ ดวง ต้องอยู่ในแนวกึ่งกลาง ท้ายรถ แต่ถ้ามี ๒ ดวง ต้องอยู่ในระดับเดียวกัน และห่างจากแนวกึ่งกลางท้ายรถเท่ากันทั้งสองข้าง โคมไฟหยุดจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่ใช้ห้ามล้อเท่านั้นและแสงต้องสม่ำเสมอ คงที่ไม่กระพริบ (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไป ตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ" ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความใน (ฎ) ของข้อ ๑๐ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "(ฎ) แผ่นสะท้อนแสง ดังต่อไปนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้าย และข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทาง ไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะ ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร" ข้อ ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ฏ) ของข้อ ๑๐ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ "(ฏ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด" ข้อ ๗ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "(๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟ และความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่ กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถแสงแดง ติดบนหลังคาท้ายรถห่างจากด้านข้างริมสุด ไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ข้างละ ๑ ดวง (ช) โคมไฟภายในรถ มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ญ) (ซ) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง แต่ถ้าแสงสว่างส่องออกไปทางท้ายรถหรือเป็นโคมไฟ ดวงท้ายจะให้แสงแดงก็ได้ ติดอยู่สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๒.๑๐ เมตร ที่ข้างซ้ายและข้างขวารถในระดับเดียวกันตอนหน้าห่างจากหน้าสุดรถไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ไม่รวมแขนพ่วง) แห่งละ ๑ ดวง ตอนท้ายห่างจากท้ายสุดรถไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร แห่งละ ๑ ดวง ในกรณีที่รถมีความยาวเกิน ๖ เมตร ให้มีโคมไฟข้างรถที่กึ่งกลางระหว่างโคมไฟข้างรถดวงหน้าและ ดวงท้ายอีกแห่งละ ๑ ดวง ถ้ามีมากกว่า ๑ ดวง ระยะห่างระหว่างโคมไฟแต่ละดวงในข้างเดียวกัน ต้องเท่ากัน และห่างกันไม่น้อยกว่า ๓ เมตร โคมไฟข้างรถจะให้แสงสว่างได้เฉพาะในขณะที่โคมไฟท้ายรถให้แสงสว่างด้วยเท่านั้น" ข้อ ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๑๐ ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ "ข้อ ๑๐ ทวิ รถตามข้อ ๑๐ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๐ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ" ข้อ ๙ ให้ยกเลิกความใน (ซ) ของข้อ ๑๕ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "(ซ) แผ่นสะท้อนแสงสีแดง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ในกรณีที่เป็นรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบให้ติดแผ่นสะท้อนแสง สีเหลืองที่มุมบนของตัวถังด้านท้ายแห่งละ ๑ แผ่นด้วย" ข้อ ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ฌ) ของข้อ ๑๕ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ "(ฌ) เข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถและตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด" ข้อ ๑๑ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "(๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศ กำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ข) (ค) โคมไฟแสดงความกว้างของรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ค) (ง) โคมไฟเลี้ยว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (จ) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ฉ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ช) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (ซ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฌ) โคมไฟแสดงส่วนสูงและประเภทของรถ แสงเขียว มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนด ไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฌ) สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้มีโคมไฟ แสดงส่วนสูงแสงแดง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดของรถไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ญ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว ติดไว้ภายในห้องผู้ขับรถให้แสงสว่างพอสมควร" ข้อ ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๑๗ ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ "ข้อ ๑๗ ทวิ รถตามข้อ ๑๕ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟดังต่อไปนี้ ถ้าจะนำมาใช้ต้องมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่ง ทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล จำนวน ๒ ดวง มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ก) (ข) โคมไฟข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ข) (ค) โคมไฟเลี้ยวข้างรถ มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (ค) (ง) โคมไฟตัดหมอก มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑)(ง) (จ) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑)(จ) (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๕ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ" ข้อ ๑๓ ให้ยกเลิกความใน (ง) ของข้อ ๑๘ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "(ง) แผ่นสะท้อนแสง ให้มีแผ่นสะท้อนแสงดังนี้ (๑) สีแดง มีจำนวน ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๒) สีเหลือง มีขนาดและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) ติดที่หน้ารถข้างซ้าย และข้างขวาแห่งละ ๑ แผ่น ห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร สูงจากผิวทาง ไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร แต่ไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะ ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ในกรณีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ หรือลักษณะ ๗ ที่ตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือเป็นกระบะที่มีหลังคาถาวรให้ติดที่มุมส่วนบนของตัวถังด้านท้าย มุมละ ๑ แผ่นด้วย" ข้อ ๑๔ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของข้อ ๑๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "(๓) โคมไฟดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ก) โคมไฟเลี้ยว ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนด ไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ข) โคมไฟท้าย มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ค) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (ง) โคมไฟถอยหลัง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ช) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟแสดงส่วนสูงท้ายรถ แสงแดง สำหรับรถที่มีตัวถังส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบหรือ เป็นกระบะที่มีหลังคาถาวร ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง แต่ละดวงห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร (ช) โคมไฟข้างรถ แสงเหลือง มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๓) (ซ)" ข้อ ๑๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๑๘ ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ "ข้อ ๑๘ ทวิ รถตามข้อ ๑๘ อาจมีเครื่องอุปกรณ์อื่นสำหรับรถได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) โคมไฟหยุด มีจำนวนและลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ทวิ (๑) (จ) ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) โคมไฟอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้และข้อ ๑๘ (๓) ถ้าจะนำมาใช้ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ" ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ จรัส พั้วช่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม +------------------------------------------------------------------------------------------------------+ หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันวิวัฒนาการและ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมยานยนต์ได้เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว และเพื่อให้เกิด ความปลอดภัยและลดอันตรายแก่ผู้ใช้รถ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัย ในการขนส่งในส่วนเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งสมควรเพิ่มเติมการกำหนดเครื่องมือเครื่องใช้ประจำรถ ที่ใช้ในการขนส่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ [รก.๒๕๓๗/๔๘ก/๑๒/๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๗]
318512
กฎกระทรวง ฉบับที่ 48 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ 48 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 --------------- อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความใน (8) และ (9) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2523) ออกตามความ ในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "(8) ใบอนุญาตผู้ขับรถและใบอนุญาตนายตรวจ ฉบับละ 200 บาท (9) ใบอนุญาตผู้เก็บค่าโดยสารและใบอนุญาตผู้บริการ ฉบับละ 100 บาท" ให้ไว้ ณ วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2537 จรัส พั้วช่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2537 บัญญัติว่า ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ซึ่งเป็นการขยาย อายุใบอนุญาตดังกล่าวจากเดิมที่กำหนดไว้หนึ่งปี ทำให้ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2523) ไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมค่าธรรมเนียมดังกล่าว เสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ [รก.2537/48ก/10/24 ตุลาคม 2537]
301322
กฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 --------------- อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา 102 (4) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่ง ทางบก พ.ศ. 2522 และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออก กฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้ยกเลิกวรรคสองของข้อ 2 (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 2 ทวิ และข้อ 2 ตรี แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 "ข้อ 2 ทวิ รถโรงเรียนต้องใช้สีเหลืองเป็นสีของตัวถังรถ และให้มีสีดำคาดตลอดรอบตัวถังรถ ยกเว้นด้านหน้ารถจำนวนหนึ่งเส้น ขนาดกว้างไม่น้อยกว่าสิบเซนติเมตรแต่ไม่เกินยี่สิบเซนติเมตรโดยเริ่มตั้งแต่ แนวขอบหน้าต่างด้านข้างรถลงมาสิบเซนติเมตร ข้อ 2 ตรี กระจกรถโรงเรียนต้องเป็นกระจกที่โปร่งใสสามารถมองเห็นสภาพภายในรถและ สภาพการจราจรภายนอกรถได้ชัดเจน และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือการติดวัสดุสำหรับบังหรือกรอง แสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกกันลมด้านหน้าตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด" ข้อ 3 รถโรงเรียนที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้เจ้าของรถหรือ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามข้อ 2 ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวงนี้ภายในสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ไว้ ณ วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2537 จรัส พั้วช่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าการกำหนดให้รถโรงเรียนต้อง ถอดแผ่นป้ายหรือปิดคลุมข้อความว่า "รถโรงเรียน". ซึ่งติดอยู่ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถ เมื่อมิได้ใช้รถนั้น เป็นรถโรงเรียนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเพราะการถอดแผ่นป้ายหรือปิดคลุมข้อความดังกล่าวกระทำได้ยาก และไม่สะดวก สมควรยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวประกอบกับสมควรกำหนดสีของรถโรงเรียนให้แตกต่างจากรถ อื่น และกำหนดห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดที่ติดหรือบังไว้บนกระจกของรถโรงเรียน เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมาย หรือเอกสารที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่นักเรียน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ [รก.2537/38ก/38/7 กันยายน 2537]
301321
กฎกระทรวง ฉบับที่ 46 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ 46 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 --------------- อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา 56 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่ง ทางบก พ.ศ. 2522 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออก กฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้ "ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง" หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบการ ขนส่ง ดังต่อไปนี้ (1) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง (2) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง (3) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และ (4) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ข้อ 3 การวางหลักทรัพย์สำหรับการชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเพื่อประกัน ความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอกตามมาตรา 52 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการ ขนส่งยื่นคำขอตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด พร้อมด้วยหลักทรัพย์ต่อนายทะเบียนกลางภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่งจะเป็นเงินสด พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือสัญญาประกันภัยและ กรมธรรม์ประกันภัย ก็ได้ ข้อ 4 ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้เงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกัน วางเป็นหลักทรัพย์จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ดังกล่าว ให้ กำหนดไว้ดังนี้ (1) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ไม่ประจำทาง และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลต้องวางหลักทรัพย์มีจำนวนหรือมูลค่า สามหมื่นบาทสำหรับรถคันที่หนึ่ง และคันละห้าร้อยบาทสำหรับรถคันต่อ ๆ ไป แต่เมื่อรวมกันแล้วทั้งหมด ไม่เกินสามแสนบาท (2) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องวางหลักทรัพย์มีจำนวนหรือ มูลค่าสามหมื่นบาทสำหรับรถคันที่หนึ่ง และคันละสองร้อยบาทสำหรับรถคันต่อ ๆ ไป แต่เมื่อรวมกันแล้ว ทั้งหมดไม่เกินสองแสนบาท ข้อ 5 พันธบัตรรัฐบาลไทยที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้วางเป็นหลักทรัพย์ ต้องเป็นชนิดที่ขายคืนได้ก่อนครบกำหนดชำระต้นเงิน และผู้วางหลักทรัพย์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ กรมการขนส่งทางบก ส่วนผลประโยชน์อันเกิดจากพันธบัตรนั้นกรมการขนส่งทางบกจะมอบให้แก่ผู้วาง หลักทรัพย์ ข้อ 6 ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ ประกันภัยวางเป็นหลักทรัพย์ สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยนั้นต้องทำกับบริษัทประกันภัยที่ นายทะเบียนกลางให้ความเห็นชอบ และมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งเป็นผู้เอาประกัน โดยให้ บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการขนส่งของตนเป็นผู้รับประโยชน์ ข้อ 7 สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยตามข้อ 6 จะต้องมีความคุ้มครอง ไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันที่ได้นำมาใช้วางเป็นหลักทรัพย์ และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องเอาประกันภัยความเสียหายแก่ชีวิตและร่างกายของบุคคลภายนอกเนื่องจากการขนส่งโดยรถของตน ที่ใช้ในการขนส่งแต่ละคันดังนี้ (1) ความเสียหายแก่ชีวิตหรือร่างกายในวงเงินไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นบาทสำหรับการชดใช้ ค่าเสียหายต่อหนึ่งคนในแต่ละครั้ง และ (2) ความเสียหายแก่ชีวิตหรือร่างกายในวงเงินไม่ต่ำกว่าห้าล้านบาทสำหรับการชดใช้ ค่าเสียหายในแต่ละครั้ง ข้อ 8 ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้จัดให้มีการประกันภัยตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถสำหรับรถคันใดไว้แล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะนำ สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาใช้วางเป็นหลักทรัพย์ก็ได้ ถ้าปรากฏว่าบริษัท ประกันภัยนั้นเป็นบริษัทประกันภัยที่นายทะเบียนกลางให้ความเห็นชอบ และการเอาประกันความเสียหาย ตามสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยนั้นไม่น้อยไปกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 7 ข้อ 9 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งประสงค์จะใช้สัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ ประกันภัยวางเป็นหลักทรัพย์ ใช้สำเนาสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยเป็นหลักฐาน โดยจะต้องนำ ต้นฉบับของสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาแสดงต่อนายทะเบียนด้วย ข้อ 10 ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้วางหลักทรัพย์ไว้แล้ว และต่อมา ประสงค์จะนำหลักทรัพย์อย่างอื่นตามข้อ 3 วรรคสอง มาวางแทนหลักทรัพย์เดิม ให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ประกอบการขนส่งยื่นคำขอตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด พร้อมด้วยหลักทรัพย์ที่ประสงค ์จะนำมาวางแทนหลักทรัพย์เดิมนั้น ข้อ 11 ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง จะต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหาย หรือทายาท ให้จ่ายตามอัตราดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีที่ผู้เสียหายมิได้ถึงแก่ความตาย ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลตามจำนวนเงินที่ผู้เสียหายได้แสดงหลักฐานการใช้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท (2) ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายในทันที ให้จ่ายค่าปลงศพแก่ทายาทจำนวนหนึ่งหมื่น บาท (3) ในกรณีที่ผู้เสียหายมิได้ถึงแก่ความตายในทันที ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าใช้จ่าย อื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลตาม (1) และค่าปลงศพตาม (2) ให้ไว้ ณ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2537 จรัส พั้วช่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการ ขนส่งส่วนบุคคลจำนวนมากได้ใช้รถของตนในการขนส่งวัตถุอันตราย ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็อาจก่อให้เกิด ความเสียหายเป็นจำนวนมากได้ ประกอบกับมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลต้องวางหลักทรัพย์เพื่อประกันความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิต หรือร่างกายของบุคคลภายนอกซึ่งตนรับผิดชอบเนื่องจากการขนส่งของตน และกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ประกอบการขนส่งนำสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งทำกับบริษัทประกันภัยที่นายทะเบียนกลาง ให้ความเห็นชอบมาวางเป็นหลักทรัพย์ได้อีกกรณีหนึ่งด้วย สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และจำนวน หรือมูลค่าของหลักทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2526) ออกตามความใน พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้อง ออกกฎกระทรวงนี้ [รก.2537/15ก/14/13 พฤษภาคม 2537]
318511
กฎกระทรวง ฉบับที่ 45 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ --------------- อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๙๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙๘ และมาตรา ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎ กระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัต ิการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๒ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจและผู้บริการ ต้องมีอายุ ไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ดังนี้ (๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ (ก) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่หนึ่ง ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ต้อง มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี (ข) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่สองและชนิดที่สาม ในประเภทการขนส่ง ส่วนบุคคล ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี (ค) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่หนึ่ง ชนิดที่สอง และชนิดที่สาม ในประเภท การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี (ง) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่สี่ ในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่ง ไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี (๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี (๓) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนายตรวจ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี (๔) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้บริการ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗ จรัส พั้วช่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม +--------------------------------------------------------------------------------------------------------+ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๙๗ วรรคหนึ่ง และ มาตรา ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็น ผู้ขับรถต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้กำหนดชนิดของใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถชนิดที่สี่ (รถที่ใช้ขนส่งวัตถุ อันตราย) เพิ่มขึ้น สมควรกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถดังกล่าว จึงจำเป็น ต้องออกกฎกระทรวงนี้ [รก.๒๕๓๗/๑๕ก/๑๒/๑๓ พฤษภาคม ๒๕๓๗]
301320
กฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิก (๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๔ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๒ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีความรู้และความสามารถดังนี้ (๑) มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ความรู้ในการขับรถ ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง และมารยาทในการขับรถ ตลอดจนความรู้ที่จำเป็นอย่างอื่นตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดตามความเหมาะสมของลักษณะการขนส่ง และได้ผ่านการทดสอบความรู้และความสามารถในการขับรถจากกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง (๒) ผ่านการทดสอบสมรรถภาพของร่างกายในด้านประสาทมือ ปฏิกิริยาสายตาทางลึก สายตาทางกว้าง และสายตาบอดสี จากกรมการขนส่งทางบก หรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ข้อ ๓ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ หรือผู้บริการสำหรับรถตามข้อ ๒ ต้องผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม ตลอดจนผ่านการทดสอบความรู้ภาควิชาการจากกรมการขนส่งทางบก สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้บริการนั้น ต้องผ่านการทดสอบความรู้ภาคการปฏิบัติหน้าที่จากกรมการขนส่งทางบกด้วย ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗ จรัส พั้วช่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยมีมาตรา ๙๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีความรู้และความสามารถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดความรู้และความสามารถสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยกำหนดเพิ่มให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและมารยาทในการขับรถนั้นด้วย เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุผู้ขับรถจะได้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒๓ กันยายน ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๑๕ ก/หน้า ๑๐/๑๓ พฤษภาคม ๒๕๓๗
301319
กฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ช) และ (ซ) ของข้อ ๓ (๑) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “(ช) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่สี่ ให้ใช้แบบ บ. ๔ (ซ) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่สี่ ให้ใช้แบบ ท. ๔” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗ จรัส พั้วช่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม [เอกสารแนบท้าย] ๑. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๔ ๒. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๔ (เอกสารแนบท้าย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้กำหนดชนิดของใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่ใช้ขนส่งวัตถุอันตรายเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรา ๙๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า การขออนุญาต และการอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง สมควรกำหนดแบบใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับรถที่ใช้ขนส่งวัตถุอันตราย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๓ มีนาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑/ตอนที่ ๑๕ ก/หน้า ๘/๑๓ พฤษภาคม ๒๕๓๗
301318
กฎกระทรวง ฉบับที่ 42 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๒ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๒๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกแบบ ขส.บ. ๑๒ ฉ. และแบบ ขส.บ. ๑๒ ช. ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้แบบ ขส.บ. ๑๒ ฉ. และแบบ ขส.บ. ๑๒ ช. ท้ายกฎกระทรวงนี้แทน ข้อ ๒ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่นายทะเบียนได้ออกให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ ข้อ ๓[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖ จรัส พั้วช่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขส.บ. ๑๒ ฉ. (ครุฑ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ใบอนุญาตที่ ........................... / ....................... นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ ............................................................................................ สำนักงานชื่อ ................................................................................................................ อยู่เลขที่ ........................ ตรอก/ซอย .............................................................. ถนน ....................................................... หมู่ที่ ............... ตำบล/แขวง ................................................ อำเภอ/เขต ......................... จังหวัด ......................................... มีสิทธิประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใบอนุญาตฉบับนี้ให้มีอายุ ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ ................................. เดือน ............................... พ.ศ. ....................... ถึงวันที่ ............. เดือน ........................... พ.ศ. .................. โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ ในใบอนุญาตนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ........... เดือน ............................. พ.ศ. ................... .............................................................. นายทะเบียน เงื่อนไข (๑) จำนวนรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องใช้รถที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (๒) จำนวนไม่เกิน คัน (๒) ลักษณะ ชนิด ขนาดของรถ และเครื่องหมาย (ก) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องใช้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ............................................................................................................. จำนวน ............................ คัน มาตรฐาน ............................................................................................................. จำนวน ............................ คัน มาตรฐาน ............................................................................................................. จำนวน ............................ คัน มาตรฐาน ............................................................................................................. จำนวน ............................ คัน มาตรฐาน ............................................................................................................. จำนวน ............................ คัน มาตรฐาน ............................................................................................................. จำนวน ............................ คัน มาตรฐาน ............................................................................................................. จำนวน ............................ คัน (ข) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้เครื่องหมายตามแบบที่แนบท้ายใบอนุญาต ถ้ามี เป็นเครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน โดยแสดงไว้ที่ด้านนอกตัวรถทั้งสองข้าง (๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีสถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ ดังนี้ (ก) สถานที่เก็บรถตั้งอยู่ที่ ............................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... (ข) สถานที่ซ่อมและบำรุงรักษารถตั้งอยู่ที่ .................................................................. ...................................................................................................................................................................................... (๔) จำนวนผู้ประจำรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีผู้ขับรถอย่างน้อยดังนี้ ........................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... (๕) เงื่อนไขอื่น .......................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ลำดับที่ รายการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและหรือรายละเอียดในใบอนุญาต วัน/เดือน/ปี ลงชื่อนายทะเบียน คำเตือน (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาต โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับคันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ วัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราวตามมาตรา ๒๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่แสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญของใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๖) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ส่งคืนใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๗) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด มีความประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุตามมาตรา ๒๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๘) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้วโดยไม่แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบ และไม่นำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้นตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ขส.บ. ๑๒ ช. (ครุฑ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ใบอนุญาตที่ ........................... / ....................... นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ ............................................................................................ สำนักงานชื่อ ................................................................................................................ อยู่เลขที่ ........................ ตรอก/ซอย .............................................................. ถนน ....................................................... หมู่ที่ ............... ตำบล/แขวง ................................................ อำเภอ/เขต ......................... จังหวัด ......................................... มีสิทธิประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ใบอนุญาตฉบับนี้ให้มีอายุ ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ ................................. เดือน ............................... พ.ศ. ....................... ถึงวันที่ ............. เดือน ........................... พ.ศ. .................. โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ ในใบอนุญาตนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ........... เดือน ............................. พ.ศ. ................... ................................................................. นายทะเบียน เงื่อนไข (๑) จำนวนรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องใช้รถที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (๒) จำนวนไม่เกิน คัน (๒) ลักษณะ ชนิด ขนาดของรถ และเครื่องหมาย (ก) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องใช้รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ .......................................................................................................... จำนวน .................................. คัน ลักษณะ .......................................................................................................... จำนวน .................................. คัน ลักษณะ .......................................................................................................... จำนวน .................................. คัน ลักษณะ .......................................................................................................... จำนวน .................................. คัน ลักษณะ .......................................................................................................... จำนวน .................................. คัน ลักษณะ .......................................................................................................... จำนวน .................................. คัน ลักษณะ .......................................................................................................... จำนวน .................................. คัน ลักษณะ .......................................................................................................... จำนวน .................................. คัน ลักษณะ .......................................................................................................... จำนวน .................................. คัน (ข) ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งใช้เครื่องหมายตามแบบที่แนบท้ายใบอนุญาต ถ้ามี เป็นเครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถทุกคัน โดยแสดงไว้ที่ด้านนอกตัวรถทั้งสองข้าง (๓) สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีสถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถดังนี้ (ก) สถานที่เก็บรถตั้งอยู่ที่ ............................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... (ข) สถานที่ซ่อมและบำรุงรักษารถตั้งอยู่ที่ .................................................................. ...................................................................................................................................................................................... (๔) จำนวนผู้ประจำรถ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องมีผู้ขับรถอย่างน้อยดังนี้ ........................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... - ๒ - (๕) เงื่อนไขอื่น .......................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ...................................................................................................................................................................................... ลำดับที่ รายการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและหรือรายละเอียดในใบอนุญาต วัน/เดือน/ปี ลงชื่อนายทะเบียน คำเตือน (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่ได้รับอนุญาตทำการขนส่งนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาต โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับคันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ วัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ใช้รถผิดประเภทตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเป็นครั้งคราวตามมาตรา ๒๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่แสดงใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญของใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๖) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด ไม่ส่งคืนใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอนต่อนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๗) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด มีความประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุตามมาตรา ๒๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๘) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใด เลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้วโดยไม่แจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบ และไม่นำแผ่นป้ายเลขทะเบียนรถคืนแก่นายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เลิกใช้รถนั้นตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๓๔ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลให้นายทะเบียนกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนผู้ประจำรถตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง แต่โดยที่ปัจจุบันแบบใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลที่กำหนดไว้ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่มีช่องรายการบันทึกเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนผู้ประจำรถไว้ในแบบใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล สมควรปรับปรุงแบบใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลดังกล่าวเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒๓ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/เพิ่มเติม ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐/ตอนที่ ๑๙๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖/๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๖
326965
กฎกระทรวง ฉบับที่ 41 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๑ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้ “ก๊าซธรรมชาติอัด” หมายความว่า ก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในสภาพที่ถูกอัดจนมีความดันสูง มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน และมีสถานะเป็นก๊าซ “ถัง” หมายความว่า ภาชนะบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถ “ปาสกาล” หมายความว่า หน่วยวัดความดันตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลักเกณฑ์การใช้หน่วยต่าง ๆ ของระบบเอสไอ ออกตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ข้อ ๒ รถที่ใช้ในการขนส่งซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง ต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบเกี่ยวกับการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดอย่างน้อย ดังนี้ (๑) ถังชนิดทนความดันในการใช้งานสูงสุดไม่น้อยกว่า ๒๐.๖๘ เมกาปาสกาล (๒) ลิ้นปิดเปิดก๊าซของถังที่มีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ ๕ (๓) ลิ้นปิดเปิดสำหรับท่อก๊าซที่ปิดเปิดด้วยมือและสามารถทนความดันในการใช้งานสูงสุดของก๊าซได้อย่างปลอดภัย (๔) เครื่องวัดความดันก๊าซที่สามารถแสดงค่าความดันในถังได้ทุกขณะการใช้งาน (๕) ลิ้นปิดเปิดอัตโนมัติที่สามารถหยุดการจ่ายก๊าซไปยังเครื่องยนต์ได้โดยอัตโนมัติเมื่อเครื่องยนต์หยุดทำงาน (๖) ท่อก๊าซและข้อต่อที่มีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ ๗ (๗) หัวรับเติมก๊าซและลิ้นกันกลับ (๘) เครื่องปรับความดันก๊าซที่สามารถทนความดันใช้งานสูงสุดของก๊าซได้อย่างปลอดภัย (๙) เครื่องผสมอากาศ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๓ การติดตั้งถังต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ยึดถังให้แน่นกับตัวรถในบริเวณที่มีความแข็งแรง เมื่อรถสั่นสะเทือนถังต้องไม่ขยับเขยื้อน และสามารถทนต่อแรงกระชากของถังในขณะบรรจุก๊าซเต็มถังเมื่อรถเกิดความเร่งหรือความหน่วง (๒) กรณีที่ติดตั้งถังขนานกับความยาวของตัวรถ ให้ติดตั้งอุปกรณ์ยึดหรือยันด้านหัวและด้านท้ายถังเพื่อป้องกันถังเคลื่อนตัวในแนวนอน (๓) ห้ามเชื่อมถังกับสิ่งอื่นใด เว้นแต่เป็นการเชื่อมจากโรงงานผู้ผลิต (๔) ถังที่ติดตั้งต้องไม่รับน้ำหนักหรือภาระอย่างหนึ่งอย่างใดของรถ (๕) ถังที่ติดตั้งไว้ภายในห้องผู้โดยสาร ห้องผู้ขับรถ หรือที่ซึ่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ต้องมีกล่องบรรจุหรือมีวัสดุหุ้มหรือครอบส่วนประกอบอื่นที่ติดอยู่ที่ถัง เพื่อป้องกันก๊าซรั่วซึมออกสู่บริเวณห้องที่ติดตั้ง กล่องบรรจุหรือวัสดุที่หุ้มหรือครอบส่วนประกอบอื่นที่ติดอยู่ที่ถังต้องมีท่อขนาดพื้นที่หน้าตัดภายในไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ตารางมิลลิเมตร สำหรับระบายก๊าซที่รั่วซึมออกนอกตัวรถ (๖) ถังที่ติดตั้งต้องยึดด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด ดังนี้ (ก) ใช้สายรัดทำด้วยเหล็กรัดถังอย่างน้อย ๒ สาย สายรัดแต่ละสายต้องมีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า ๒๘ มิลลิเมตร ความหนาไม่น้อยกว่า ๓ มิลลิเมตร และใช้สกรูยึดสายรัดถังที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๑๐ มิลลิเมตร และในกรณีที่ถังมีความจุเกินกว่า ๑๐๐ ลิตร สายรัดแต่ละสายต้องมีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า ๕๐ มิลลิเมตร ความหนาไม่น้อยกว่า ๖ มิลลิเมตร และใช้สกรูยึดสายรัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๑๒ มิลลิเมตร (ข) ใช้สกรูยึดขาถังอย่างน้อย ๔ ตัว สกรูแต่ละตัวต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๑๐ มิลลิเมตร และในกรณีที่ถังมีความจุเกินกว่า ๑๐๐ ลิตร สกรูแต่ละตัวต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๑๒ มิลลิเมตร (ค) ในกรณีที่ใช้วัสดุอื่นใดยึดถัง วัสดุที่ใช้ต้องสามารถทนต่อแรงที่คิดเปรียบเทียบกับน้ำหนักของถังที่บรรจุก๊าซเต็มถังได้ไม่น้อยกว่า ๒๐ เท่าสำหรับแรงที่กระทำในแนวตามความยาวของรถ และไม่น้อยกว่า ๘ เท่าสำหรับแรงที่กระทำในแนวอื่น (๗) ในกรณีที่ถังติดตั้งอยู่ห่างจากท่อไอเสียหรือเครื่องยนต์น้อยกว่า ๒๐๐ มิลลิเมตร ต้องมีเครื่องป้องกันความร้อนกั้นระหว่างถังกับท่อไอเสียและเครื่องยนต์ (๘) ห้ามบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดลงในถังจนมีความดันสูงเกินกว่า ๒๐.๖๘ เมกาปาสกาล ข้อ ๔ ถังที่นำมาใช้ต้องผ่านการตรวจและทดสอบทุกห้าปี และห้ามมิให้ใช้ถังนั้น เมื่อ (๑) ทดสอบด้วยความดันของของเหลว ๑.๕ เท่าของความดันใช้งานสูงสุดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒ นาที แล้วปรากฏว่าถังบวม บิดเบี้ยว ซึมหรือรั่ว หรือทดสอบด้วยความดันของของเหลว ๑.๕ เท่าของความดันใช้งานสูงสุด โดยใช้ถังน้ำ (water jacket) แล้วค่าการขยายตัวอย่างถาวรของถังเกินร้อยละ ๕ ของการขยายตัวอย่างสมบูรณ์โดยปริมาตร (๒) ปรากฏข้อบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (ก) เมื่อถังถูกไฟไหม้ (ข) มีน้ำหนักน้อยกว่าร้อยละ ๙๕ ของน้ำหนักถังเดิม (ค) มีรอยรั่ว ซึม รอยร้าว รอยหักพับ หรือบวม (ง) มีรอยบุบเว้าลึกเกิน ๒ มิลลิเมตร หรือเกินร้อยละ ๓.๓๓ ของความกว้างเฉลี่ยของรอยบุบเว้า (จ) มีรอยบาด รอยขูดขีด รอยทิ่มแทง ยาวเกินร้อยละ ๒ ของความยาวถังหรือลึกเกินร้อยละ ๕ ของความหนาถัง (ฉ) มีรอยบุบเว้าลึกเกิน ๑.๕ มิลลิเมตร รวมอยู่กับรอยบาด รอยขูดขีด หรือรอยทิ่มแทงที่มีความยาวเท่ากับหรือมากกว่าความกว้างของรอยบุบเว้านั้น (ช) เนื้อโลหะผิวถังร่อนหลุดหรือแยกตัวออก (ซ) มีรอยผุกร่อนทั่วไปลึกเกินร้อยละ ๒๐ ของความหนาถังเดิม (ฌ) มีรอยผุกร่อนเฉพาะพื้นที่ลึกเกินร้อยละ ๒๕ ของความหนาถังเดิม (ญ) มีรอยผุกร่อนเป็นแนวยาวเกินกว่าความยาวของเส้นรอบวงถัง หรือมีความลึกเกินร้อยละ ๒๕ ของความหนาถังเดิม (ฎ) มีหลุมกว้างเกินกว่า ๕ มิลลิเมตร และลึกเกินกว่าร้อยละ ๔๐ ของความหนาถังเดิม ในแต่ละหลุม (ฏ) ถังปิดเบี้ยวไม่ได้รูปทรง (ฐ) ลิ้นเอียงจนเห็นได้ชัด (ฑ) มีการดัดแปลงหรือต่อเติมถัง (ฒ) จำนวนเกลียวของถังกับลิ้นกินกันลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน หรือเมื่อขันเกลียวแน่นแล้วก๊าซยังรั่วอยู่ (ณ) เครื่องหมายประจำถังลบเลือนจนอ่านไม่ออก มีการแก้ไขโดยไม่ถูกต้องหรือมีข้อความไม่ถูกต้องตามมาตรฐานของถังนั้น ข้อ ๕ ลิ้นปิดเปิดก๊าซของถังต้องติดตั้งที่ถังทุกถัง สามารถปิดเปิดก๊าซระหว่างถังกับส่วนประกอบอื่นได้ทั้งหมด และมีลักษณะดังนี้ (๑) เป็นชนิดปิดเปิดด้วยมือ (๒) ทนความดันใช้งานสูงสุดของก๊าซได้อย่างปลอดภัย (๓) มีกลอุปกรณ์นิรภัยแบบระบายชนิดที่มีฝาครอบประทุ (burst disc) และวัสดุหลอมละลายง่าย (fusible material) หรือเป็นชนิดที่มีลิ้นระบายความดัน (pressure relief valve) และวัสดุหลอมละลายง่าย (fusible material) ข้อ ๖ การติดตั้งลิ้นปิดเปิดสำหรับท่อก๊าซ ต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ติดตั้งที่ท่อร่วมของท่อก๊าซที่ต่อจากถังทุกถังกับเครื่องปรับความดันซึ่งสามารถปิดเปิดก๊าซจากถังทุกถังได้ทั้งหมดในคราวเดียวกัน (๒) ติดตั้งในตำแหน่งที่สามารถทำการปิดเปิดก๊าซได้โดยสะดวกรวดเร็ว (๓) มีอักษรคำว่า “ลิ้นปิดเปิด” พร้อมทั้งมีเครื่องหมายหรือคำอธิบายวิธีปิดเปิดที่ลิ้นปิดเปิดหรือบริเวณใกล้เคียงในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ข้อ ๗ ท่อก๊าซและข้อต่อต่าง ๆ ต้องเป็นชนิดที่ใช้กับก๊าซธรรมชาติอัดได้โดยไม่ทำปฏิกิริยาเคมีหรือเกิดการกัดกร่อนใด ๆ ทุกสภาพการใช้งาน และต้องมีลักษณะ ดังนี้ (๑) กรณีที่ใช้กับความดันก๊าซเกิน ๑๐๐ กิโลปาสกาล ท่อก๊าซและข้อต่อต้องทำด้วยโลหะ และสามารถทนความดันก๊าซได้ไม่น้อยกว่า ๔ เท่าของความดันใช้งานสูงสุด (๒) กรณีที่ใช้กับความดันก๊าซไม่เกิน ๑๐๐ กิโลปาสกาล (ก) ท่อก๊าซต้องเป็นวัสดุชนิดที่ยืดหยุ่นได้ และมีความยาวเพียงพอที่จะรับการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ (ข) ท่อก๊าซและข้อต่อต้องสามารถทนอุณหภูมิในสภาพการใช้งานปกติได้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ องศาเซลเซียส และทนความดันก๊าซได้ไม่น้อยกว่า ๔๐๐ กิโลปาสกาล ข้อ ๘ การติดตั้งท่อก๊าซ ต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ไม่ติดตั้งท่อก๊าซในห้องผู้โดยสาร ห้องผู้ขับรถ หรือในที่ที่อากาศไม่สามารถถ่ายเทได้ เว้นแต่จะมีวัสดุหุ้มหรือครอบท่อก๊าซเพื่อป้องกันการรั่วซึมออกสู่บริเวณที่ติดตั้ง และการใช้วัสดุหุ้มหรือครอบท่อก๊าซต้องมีลักษณะที่สามารถระบายก๊าซที่รั่วซึมออกนอกตัวรถได้ (๒) ท่อก๊าซและข้อต่อต่าง ๆ ที่ติดตั้งห่างจากท่อไอเสียน้อยกว่า ๑๐๐ มิลลิเมตร ต้องติดตั้งเครื่องป้องกันความร้อนจากท่อไอเสียด้วย (๓) ในกรณีใช้กับความดันก๊าซเกิน ๑๐๐ กิโลปาสกาล ต้องยึดท่อก๊าซให้แน่นกับตัวรถ ตัวยึดแต่ละตัวต้องห่างกันไม่เกิน ๖๐๐ มิลลิเมตร และต้องติดตั้งในลักษณะที่ท่อก๊าซสามารถยืดหรือหดตัวได้ตามสมควร การติดตั้งในตำแหน่งที่ท่อก๊าซอาจเสียดสีกับโลหะต้องมีวัสดุหุ้มป้องกันการเสียดสีนั้น ข้อ ๙ การติดตั้งหัวรับเติมก๊าซและลิ้นกันกลับ ต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ติดตั้งหัวรับเติมก๊าซไว้ในห้องเครื่องยนต์ หรือในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก (๒) ติดตั้งลิ้นกันกลับที่หัวรับเติมก๊าซ (๓) ติดตั้งเครื่องป้องกันการติดเครื่องยนต์แบบอัตโนมัติเพื่อป้องกันการติดเครื่องยนต์ในขณะเต็มก๊าซ (๔) ที่บริเวณใกล้เคียงกับหัวรับเติมก๊าซ ต้องมีข้อความดังต่อไปนี้ซึ่งมีสภาพดีและมองเห็นได้ชัดเจน (ก) ก๊าซธรรมชาติอัด (ข) ความดันไม่เกิน ๒๐.๖๘ เมกาปาสกาล (ค) เดือน และปีที่ถังหมดอายุการทดสอบ กรณีมีหลายถังให้ระบุเดือนและปีของถังที่หมดอายุก่อน ข้อ ๑๐ การติดตั้งเครื่องปรับความดันก๊าซ ต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ติดตั้งไว้ในห้องเครื่องยนต์ โดยยึดแน่นกับตัวรถ (๒) ห้ามติดตั้งกับส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์ ข้อ ๑๑ ระบบไฟฟ้าที่ต่อไปยังเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๒ ต้องมีฟิวส์ป้องกันการลัดวงจร ข้อ ๑๒ การติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๒ โดยทั่วไปต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกให้ติดตั้งในลักษณะอื่น (๑) ติดตั้งไว้ในที่ที่สามารถเข้าทำการตรวจและบำรุงรักษาได้โดยง่าย (๒) ห้ามติดตั้งไว้ในที่ดังต่อไปนี้ (ก) นอกตัวถังรถด้านหน้า ด้านข้าง หรือด้านท้าย (ข) บนหลังคารถ (ค) ต่ำกว่าระยะต่ำสุดของรถ (ง) ที่ที่อาจกระทบกับความร้อนโดยตรง ถูกกระทบกระแทกหรือถูกเสียดสี เว้นแต่จะมีการป้องกันไว้แล้วเป็นอย่างดี ข้อ ๑๓ เมื่อติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๒ ครบถ้วนถูกต้องแล้ว ต้องทำการตรวจและทดสอบส่วนประกอบทั้งหมด การตรวจและทดสอบตามวรรคหนึ่ง ต้องกระทำทุกหนึ่งปี และทุกครั้งหลังจากทำการซ่อมแซมหรือแก้ไข ข้อ ๑๔ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่ต้องมี รวมทั้งการติดตั้งตามกฎกระทรวงนี้ ต้องได้รับการตรวจและทดสอบจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคล ที่มีคุณสมบัติตามที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบ และเมื่อผู้ตรวจและทดสอบเห็นว่าเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบรวมทั้งการติดตั้งถูกต้องตามกฎกระทรวงนี้ ให้ผู้ตรวจและทดสอบออกหนังสือรับรองการตรวจและทดสอบตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ข้อ ๑๕ รถที่มีการตรวจและทดสอบโดยมีหนังสือรับรองถูกต้องตามข้อ ๑๔ ให้เจ้าของรถหรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งปิดเครื่องหมายแสดงการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิงตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ ไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถในลักษณะเห็นได้ชัดเจนขณะใช้รถ ข้อ ๑๖ รถที่ได้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบเกี่ยวกับการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิงไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่มิได้เป็นไปตามมาตรฐาน หรือมิได้มีการติดตั้งให้ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ เจ้าของรถหรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องแจ้งต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อทำการตรวจและทดสอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และจะใช้รถต่อไปภายหลังกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ข้อ ๑๗[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ จรัส พั้วช่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม [เอกสารแนบท้าย] ๑. แบบเครื่องหมายแสดงการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๑ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการริเริ่มนำก๊าซธรรมชาติอัดมาใช้เป็นเชื้อเพลิง จึงสมควรกำหนดให้รถที่ใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ตลอดจนมีการติดตั้งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถและเพื่อป้องกันอุบัติภัยอันอาจเกิดแก่ประชาชน และโดยที่มาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๓ มีนาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐/ตอนที่ ๑๐๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘/๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖
614976
กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (Update ณ วันที่ 06/11/2535)
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ หมวด ๑ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ส่วนที่ ๑ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรา ๒ มาตรา ๓ มาตรา ๔ มาตรา ๖ มาตรา ๗ และรถขนาดเล็กจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ทั้งกันชนหน้าและกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถหรือยื่นจากหน้ารถและท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยวที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกันแรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกัน และไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) มาตรา ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนเฉพาะเพลาหน้าก็ได้ (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิค หรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนติดไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถตอนท้ายหยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถพ่วงหลุดจากรถตอนหน้า (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ด้วยความเร็วเหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติ ซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิท และสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีเครื่องระงับเสียงและมีการบังหรือกันท่อไอเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่าย อันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทาและตรงออกท้ายรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีทางขึ้นลงด้านท้ายรถส่วนปลายท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและเบนออกตรงมุมท้ายรถด้านขวา (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อ และเฟืองท้ายสามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัยและให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิทช์ที่ผู้ขับสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟฟ้าที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้นการเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่ายส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถ และแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณ ชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็ว ชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแบบตัวถังของรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก)[๒] กระจกกันลม และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ข)[๓] กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๓ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และประตูทางขึ้นลงของผู้โดยสารได้ทุกขณะ (ค) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถชั้นบนด้วย (ง) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (จ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถังให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฉ) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และมาตรา ๓ (ฉ) ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล หลังคาจะทำด้วยผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันก็ได้ (ช) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นชั้นบนของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมั่นคงแข็งแรง มีพื้นยางหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ปูเต็มความกว้างและความยาวของพื้นรถ ใต้พื้นชั้นบนต้องมีฝ้ากรุโดยทั่วไป (ซ)[๔] หน้าต่างที่ด้านข้างรถซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) และมาตรฐาน ๖ (ก) จะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบการถ่ายเทอากาศได้ดี ในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็กจะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง (ฌ) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน บานประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านข้าง บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านท้ายของรถ บันไดทางขึ้นลงให้ยื่นออกนอกรถได้ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถมีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวนขนาดและตำแหน่งประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ญ) ที่นั่งผู้ขับรถซึ่งแยกต่างหากจากที่นั่งผู้โดยสาร สามารถปรับเลื่อนได้ตามความเหมาะสมตรึงแน่นกับพื้นรถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับรถได้ดีและมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน (ฎ) ที่นั่งผู้โดยสาร ตรึงแน่นกับพื้นรถ แบบและการจัดวางที่นั่งของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารแต่ละมาตรฐาน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฏ) ห้องผู้ขับรถหรือราวกั้นผู้ขับรถที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับแยกผู้ขับรถให้อยู่คนละส่วนกับผู้โดยสาร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีราวกั้นผู้ขับรถหรือไม่ก็ได้ (ฐ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อยตรงแน่นกับเพดานภายในโดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกันและที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ฑ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทและลักษณะของรถ ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถ จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฒ) วัสดุสะท้อนแสง ให้มีวัสดุสะท้อนแสงสีแดงจำนวน ๒ แผ่น จะเป็นลักษณะวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือสามเหลี่ยมด้านเท่า หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่มีวัสดุสะท้อนแสงรวมอยู่กับโคมไฟท้าย จะมีวัสดุสะท้อนแสงตามที่กล่าวมาแล้วหรือไม่ก็ได้ (๓) โคมไฟและสัญญาณ ให้มีโคมไฟและสัญญาณดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด คือ (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำอาจรวมอยู่ในโคมไฟแสงพุ่งไกล หรือแยกกันก็ได้ (ค) โคมไฟจอด จำนวน ๔ ดวง ติดที่ด้านหน้าและด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟด้านหน้าใช้แสงขาวหรือเหลือง ด้านท้ายใช้แสงแดง แต่ละด้านติดอยู่ในระดับเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟจอดท้ายอาจรวมอยู่ในโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกระพริบ จำนวน ๔ ดวง ติดที่ด้านหน้าและด้านท้าย ข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟด้านหน้าใช้แสงขาวหรือเหลือง ด้านท้ายใช้แสงแดงหรือเหลือง แต่ละด้านติดอยู่ในระดับเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟทุกดวงในข้างเดียวกันต้องกระพริบพร้อมกันในขณะที่รถเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา แล้วแต่กรณี โคมไฟเลี้ยวด้านหน้าอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดหน้าหรือแยกกันก็ได้โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถ ข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร (ฉ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถ ข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟหยุดอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ถ้ารวมอยู่ในโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้ายนั้น และจะให้ความสว่างเฉพาะขณะใช้ห้ามล้อเท้าเท่านั้น (ช) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาวจำนวนไม่เกิน ๒ ดวง พร้อมที่บังแสง ติดอยู่ด้านบนหรือด้านล่างหรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียน (ซ) โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง และลักษณะรถ ที่ด้านหน้าตอนบนหลังคารถจำนวน ๔ ดวง โดยติดดวงริมให้อยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร และให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ริมสุด ด้านละ ๑ ดวง ทั้งนี้ เฉพาะรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร โคมไฟหลังคาหน้าแสดงประเภทรถให้ใช้ดังนี้ (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทางใช้โคมไฟแสงน้ำเงิน (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งไม่ประจำทาง ใช้โคมไฟแสงเหลือง (๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลใช้โคมไฟแสงขาว (๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ใช้โคมไฟแสงม่วง (ฌ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว มีแสงสว่างพอสมควรติดไว้ภายในรถ และจะมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือประจำทุกที่นั่งด้วยก็ได้ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีโคมไฟภายในรถ จำนวนและตำแหน่งของโคมไฟภายในรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ญ) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง แสงขาว ส่องที่ป้ายแสดงเส้นทางที่ด้านหน้ารถตอนบนหลังคา โคมไฟอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง ลักษณะรถ และโคมไฟหลังคารถสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ถ้าจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่าที่กำหนดไว้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ข้อ ๒ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถให้รถตอนท้ายเคลื่อนตัวขึ้นลง และเลี้ยวตามรถตอนหน้าได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับที่ทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ถอยหลังได้เสมือนเป็นรถตอนเดียวกันด้วย ข้อ ๓ รถตามข้อ ๑ ที่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืนได้ให้บริเวณพื้นที่สำหรับผู้โดยสารยืนต้องเป็นพื้นที่ราบซึ่งมีความกว้างและความยาวพอเหมาะที่จะให้ผู้โดยสารยืนได้โดยถือเกณฑ์พื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ตารางเซนติเมตร ต่อผู้โดยสารยืน ๑ คน ข้อ ๔[๕] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ และมาตรฐาน ๖ ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถหรือชั้นภายในรถ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (ข) (ง) (จ) (ฉ) ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถนั้นภายในรถหรือบนหลังคาก็ได้ รถขนาดเล็ก ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้บนหลังคาหรือภายในรถ โดยจะมีไว้ที่ด้านล่างด้วยก็ได้ ข้อ ๕[๖] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) มาตรฐาน ๕ (ก) และมาตรฐาน ๖ (ก) ให้มีเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีพัดลมดูดอากาศอย่างน้อย ๒ เครื่อง ข้อ ๖[๗] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีห้องสุขภัณฑ์ได้ ให้มีห้องสุขภัณฑ์ภายในรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงพอสมควร สำหรับใช้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้และมีอ่างสำหรับล้างมือด้วย ห้องสุขภัณฑ์จะต้องมีที่สำหรับเก็บอุจจาระและปัสสาวะอย่างดี ไม่รั่วซึม และป้องกันกลิ่นเหม็นได้ ข้อ ๗[๘] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มได้ ให้มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มขนาดพอสมควรอยู่ตอนท้ายภายในรถ ข้อ ๘[๙] นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ และมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ ดังนี้ (๑) เครื่องรับวิทยุ ๑ เครื่อง (๒) เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง ๑ เครื่อง (๓) เครื่องขยายเสียง ขนาดพอสมควร ๑ เครื่อง อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ตาม (๑) (๒) และ (๓) อาจรวมอยู่ในเครื่องเดียวกันได้ ข้อ ๙[๑๐] รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ และมาตรฐาน ๖ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๒ เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ ๒ เครื่อง เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามชนิด ประเภทและขนาดตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้ติดตั้งไว้ภายในรถในที่เหมาะสมซึ่งพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ข้อ ๑๐ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับท้ายรถหรือยื่นจากท้ายรถในระยะห่างพอสมควร และจะมีกันชนหน้าหรือไม่ก็ได้ (ค) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อเพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่น ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้ โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูง และต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ หยุดได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง (ฌ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้า ต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถขั้วสายไฟ สวิทช์ที่อาจเกิดประกายไฟได้ ต้องใช้ฉนวนหุ้มปิด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกจะต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ข) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ค) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดงความกว้างของขอบสีแดงไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรโดยรอบ สามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืน ที่ระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลังของตัวถังให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ง) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ (จ) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง (ฉ) หน้าต่าง ที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรงสามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด ขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถปรับอากาศจะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง (ช) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างของรถ บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวน ขนาดและตำแหน่งของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ซ) ที่นั่งผู้โดยสาร ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฎ) (ฌ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อยตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกันและที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ญ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควรพร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถตามวรรคหนึ่ง จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาหยุดรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฎ) วัสดุสะท้อนแสง มีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๓) โคมไฟและสัญญาณ ให้มีโคมไฟและสัญญาณดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด คือ (ก) โคมไฟจอด จำนวน ๒ ดวง ติดที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ ดวง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ค) (ข) โคมไฟเลี้ยว จำนวน ๒ ดวง ติดที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ ดวง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ใน ข้อ ๑ (๓) (ง) (ค) โคมไฟท้าย ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ง) โคมไฟหยุด ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (จ) โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง และลักษณะรถ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟภายใน ซึ่งมีลักษณะและจำนวนเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฌ) (ช) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ญ) โคมไฟอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง ลักษณะรถ และโคมไฟหลังคารถสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ถ้าจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่าที่กำหนดไว้ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ข้อ ๑๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่มีที่เก็บสัมภาระ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถ ข้อ ๑๒ ให้นำข้อ ๓ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ โดยอนุโลม ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๓ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถัง รวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลัง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร แต่ทั้งนี้ ตัวถังด้านข้างจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒)[๑๑] ความสูง ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) (ข) มาตรฐาน ๕ และมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๔.๕๐ เมตร ความสูงภายในของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้เป็นไปตามที่ กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ความสูงของรถต้องไม่ทำให้รถมีการทรงตัวได้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ (๓)[๑๒] ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) มาตรฐาน ๒ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) มาตรฐาน ๓ (ข) มาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องไม่เกิน ๑๒ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) มาตรฐาน ๒ (ง) มาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) มาตรฐาน ๓ (ง) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) มาตรฐาน ๕ และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากกันชนหน้าหรือส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๘ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของตัวถัง ไม่รวมกันชนหรือแขนพ่วงถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ หรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนหน้าในกรณีที่รถนั้นเป็นรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่ ช่วงล้อของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อคู่หน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าและระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าถึงศูนย์กลางเพลาล้อหรือศูนย์กลางระหว่างเพลาล้อคู่ของรถตอนท้าย (๕) ส่วนยื่นท้าย เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือถึงศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้าย ในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีประตูทางขึ้นลงด้านท้าย และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๖ นั้น ส่วนยื่นท้ายจะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อหรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนท้าย ข้อ ๑๔ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ มาตรฐาน ๖ และมาตรฐาน ๗ ซึ่งเป็นรถเฉพาะกิจ จะมีความกว้าง ความสูง ความยาว ส่วนยื่นหน้า และส่วนยื่นท้ายเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๓ ก็ได้หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานเฉพาะกิจ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก หมวด ๒ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ส่วนที่ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ ข้อ ๑๕ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่ผู้ผลิตออกแบบและกรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนหน้ายื่นจากหน้ารถระยะห่างพอสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีกันชนท้ายยื่นจากท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยวที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกันและไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่เพลาล้อหน้าไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้าที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิคหรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถด้วยความเร็วที่เหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสียที่มีเครื่องระงับเสียงมีการบังหรือกันท่อไปเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่ายอันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไปเสียต้องขนานกับผิวทางและตรงไปตามความยาวของรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ นั้น ส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อไอเสียจะต้องไม่อยู่ใต้ถังสำหรับบรรทุก สำหรับรถที่ใช้ในการขนสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ ท่อไอเสียจะตั้งขึ้นในแนวดิ่ง และไม่ต่ำกว่าส่วนสูงของรถนั้นก็ได้ (ฏ) ระบบส่งกำลังงานประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อต่าง ๆ และเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัยและให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลังในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงานพร้อมสวิทช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้า ต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียวดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึมมีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัยซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึม หรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็วสามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็วชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถังยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ห้องผู้ขับรถทำด้วยโลหะแข็งแรง มีประตูทั้งสองข้างมีที่นั่งผู้ขับรถตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สามารถบังคับรถได้ดี และสามารถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกเงาสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีห้องผู้ขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ข)[๑๓] กระจกกันลมและส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ค) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๑ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และภายในรถได้ทุกขณะ (ง) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (จ) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ให้มีลักษณะและมาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แต่ความสูงของตัวถังส่วนที่บรรทุกที่มีลักษณะเป็นกระบะทึบสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๘,๐๐๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร และสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ฉ) ตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวถัง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ช) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ซ) วัสดุสะท้อนแสง ให้มีวัสดุสะท้อนแสงสีแดงจำนวน ๒ แผ่น จะเป็นลักษณะกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือสามเหลี่ยมด้านเท่า หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบให้ติดวัสดุสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมส่วนบนของตัวถังด้านท้าย มุมละ ๑ แผ่น สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่มีวัสดุสะท้อนแสงรวมอยู่กับโคมไฟท้ายจะมีวัสดุสะท้อนแสงตามที่กล่าวมาแล้ว หรือไม่ก็ได้ (๓) โคมไฟและสัญญาณ ให้มีโคมไฟและสัญญาณดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด คือ (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำอาจรวมอยู่ในโคมไฟแสงพุ่งไกล หรือแยกกันก็ได้ (ค) โคมไฟจอด จำนวน ๔ ดวง ติดที่ด้านหน้าและด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ ดวง โคมไฟด้านหน้าใช้แสงขาวหรือเหลือง ด้านท้ายใช้แสงแดง แต่ละด้านติดอยู่ในระดับเดียวกันสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟจอดท้ายอาจรวมอยู่ในโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกระพริบจำนวน ๔ ดวง ติดที่ด้านหน้าและด้านท้าย ข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟด้านหน้าใช้แสงขาวหรือเหลือง ด้านท้ายใช้แสงแดงหรือเหลือง แต่ละด้านติดอยู่ในระดับเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟทุกดวงในข้างเดียวกันต้องกระพริบพร้อมกันในขณะที่รถเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา แล้วแต่กรณี โคมไฟเลี้ยวด้านหน้าอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดหน้าหรือแยกกันก็ได้ โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร (ฉ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟหยุดอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ ถ้ารวมอยู่ในโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้ายจะต้องมีความสว่างเป็นสามเท่าของโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้ายนั้นและจะให้ความสว่างเฉพาะขณะใช้ห้ามล้อเท้าเท่านั้น (ช) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาวจำนวนไม่เกิน ๒ ดวง พร้อมที่บังแสงติดอยู่ด้านบนหรือด้านล่างหรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียน (ซ) โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง และลักษณะรถแสงเขียวที่ด้านหน้าตอนบนหลังคารถจำนวน ๔ ดวง โดยติดดวงริมให้อยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร และติดดวงในให้ห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร สำหรับรถที่มีส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบ หรือมีหลังคาถาวร ให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ด้านละ ๑ ดวง โคมไฟตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้มีเฉพาะรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร (ฌ) โคมไฟภายใน ให้มีโคมไฟภายในห้องผู้ขับรถแสงขาว จำนวน ๑ ดวง มีความสว่างพอสมควรสำหรับรถที่ตัวถังส่วนที่บรรทุกสัตว์หรือสิ่งของเป็นกระบะมีหลังคาถาวร หรือเป็นตู้ทึบ จะติดโคมไฟแสงขาวซึ่งมีความสว่างพอสมควรภายในตัวถังหรือไม่ก็ได้ โคมไฟอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง ลักษณะรถและโคมไฟ หลังคารถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ถ้าจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่าที่กำหนดไว้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ข้อ ๑๖ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องต่อพ่วงทำด้วยโลหะแข็งแรงสำหรับยึดแขนพ่วงของรถพ่วง (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ จะต้องมีจานพ่วงหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ทำด้วยโลหะพร้อมเครื่องสำหรับล็อคสลักพ่วงของรถกึ่งพ่วงหรือรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว เพื่อมิให้หลุดจากกันในขณะใช้งาน ข้อ ๑๗ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๔ จะต้องมีเครื่องดับเพลิงติดตั้งในที่เหมาะสมพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะขนาด จำนวนและคุณภาพของเครื่องดับเพลิงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ข้อ ๑๘ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ สำหรับโครงคัสซีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๘ ต้องสามารถปรับขนาดความยาวได้ โครงคัสซีส่วนหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๗ และลักษณะ ๘ ให้มีสลักพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สำหรับต่อกับจานพ่วงของรถลากจูงได้โดยเฉพาะ (ข) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ค) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ง) สปริง ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย (จ) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ฉ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้ โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูงและต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉิน ที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ หยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถดังกล่าวหลุดจากรถลูกจูง (ช) ระบบไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๑) (ฌ) (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแต่ทั่งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (ข) (ข) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (จ) (ค) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ง) วัสดุสะท้อนแสง ให้มีวัสดุสะท้อนแสงสีเหลือง จะเป็นลักษณะกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือสามเหลี่ยมด้านเท่าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร ติดที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวาและที่ด้านข้างตอนหน้าและตอนท้ายทั้งสองด้าน แห่งละ ๑ แผ่น สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ๖ หรือลักษณะ ๗ ที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบให้ติดวัสดุสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมส่วนบนของตัวถังด้านท้าย มุมละ ๑ แผ่น สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือ๐สิ่งของที่มีวัสดุสะท้อนแสงรวมอยู่กับโคมไฟท้ายจะมีวัสดุสะท้อนแสงตามวรรคหนึ่งหรือไม่ก็ได้ (๓) โคมไฟและสัญญาณ ให้มีโคมไฟและสัญญาณดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด คือ (ก) โคมไฟจอด ที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ ดวง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (ค) (ข) โคมไฟเลี้ยว ที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (ง) (ค) โคมไฟท้าย ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (จ) (ง) โคมไฟหยุด ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (ฉ) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (ช) (ฉ) โคมไฟภายใน ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (ฌ) โคมไฟอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง ลักษณะรถ และโคมไฟ หลังคารถสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ถ้าจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่าที่กำหนดไว้ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ข้อ ๑๙ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๘ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ด้วย คือ (๑) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วง ทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และให้มีเครื่องบังคับให้รถพ่วงขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) แผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดง ความกว้างของขอบสีแดงกว้างไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรโดยรอบสามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืนระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๐ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบข้างตัวถังที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลังด้านข้าง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร และตัวถังหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร เว้นแต่รถกระบะบรรทุกหรือรถตู้บรรทุกที่มีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ให้มีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร (๓) ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๘ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุด ถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๒.๕๐ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้าจะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางสลักพ่วง จะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ หรือศูนย์กลางสลักพ่วงของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ถึงศูนย์กลางเพลาท้าย หรือถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีเป็นเพลาคู่ (๕) ส่วนยื่นท้าย ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนท้ายของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่มีส่วนบรรทุกสัตว์หรือสิ่งของเป็นตู้ทึบและรถที่มีทางขึ้นลงหรือติดตั้งอุปกรณ์ในการขนถ่ายสัตว์หรือสิ่งของที่ด้านท้ายส่วนบรรทุก ให้มีความยาวได้ไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่ จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในห้าของช่วงล้อ ข้อ ๒๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษะ ๕ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และ ลักษณะ ๘ ซึ่งเป็นรถบรรทุกเฉพาะกิจจะมีความกว้าง ความสูง ความยาว ส่วนยื่นหน้าและส่วนยื่นท้ายเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๐ ก็ได้ หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานเฉพาะกิจ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑๔] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (รถสองชั้น) ไว้ไม่เกิน ๑๐ เมตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบของรถที่มีการผลิตโดยทั่วไปในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถดังกล่าวให้มีความยาวได้ไม่เกิน ๑๒ เมตร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑๕] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการติดกระจกกันลมหลังกับตัวรถไม่มีผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถ สมควรเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเลือกที่จะจัดให้มีกระจกกันลมหลังหรือไม่ก็ได้ และโดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว สมควรกำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม นอกจากนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมขนาดความสูงของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้รับกับมาตรฐานสากลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการทรงตัวของรถดังกล่าวเพื่อให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พัสสน/ผู้จัดทำ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ โชติกานต์/ปรับปรุง ๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ [๒] ข้อ ๑ (๒) (ก) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๓] ข้อ ๑ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๔] ข้อ ๑ (๒) (ซ) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๕] ข้อ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๖] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๗] ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๘] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๙] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๐] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๑] ข้อ ๑๓ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๒] ข้อ ๑๓ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๓] ข้อ ๑๕ (๒) (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ [๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑ พฤษภาคม ๒๕๓๒ [๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๑๒/หน้า ๙/๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
301317
กฎกระทรวง ฉบับที่ 40 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความใน (ก) และ (ข) ของข้อ ๑ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ก) กระจกกันลม และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดดไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ข) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๓ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และประตูทางขึ้นลงของผู้โดยสารได้ทุกขณะ” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (ซ) ของข้อ ๑ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ซ) หน้าต่างที่ด้านข้างรถซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสงต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดดขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) และมาตรฐาน ๖ (ก) จะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องมีระบบการถ่ายเทอากาศได้ดี ในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง” ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน ข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๘ และข้อ ๙ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๔ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๖ ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถหรือชั้นภายในรถ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (ข) (ง) (จ) (ฉ) ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถนั้นภายในรถหรือบนหลังคาก็ได้ รถขนาดเล็ก ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้บนหลังคาหรือภายในรถ โดยจะมีไว้ที่ด้านล่างด้วยก็ได้ ข้อ ๕ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) มาตรฐาน ๕ (ก) และมาตรฐาน ๖ (ก) ให้มีเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีพัดลมดูดอากาศอย่างน้อย ๒ เครื่อง ข้อ ๖ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีห้องสุขภัณฑ์ได้ ให้มีห้องสุขภัณฑ์ภายในรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงพอสมควร สำหรับใช้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้และมีอ่างสำหรับล้างมือด้วย ห้องสุขภัณฑ์จะต้องมีที่สำหรับเก็บอุจจาระและปัสสาวะอย่างดี ไม่รั่วซึมและป้องกันกลิ่นเหม็นได้ ข้อ ๗ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๔ (ก) (ข) และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มได้ ให้มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มขนาดพอสมควรอยู่ตอนท้ายภายในรถ ข้อ ๘ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ และมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ดังนี้ (๑) เครื่องรับวิทยุ ๑ เครื่อง (๒) เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง ๑ เครื่อง (๓) เครื่องขยายเสียง ขนาดพอสมควร ๑ เครื่อง อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ตาม (๑) (๒) และ (๓) อาจรวมอยู่ในเครื่องเดียวกันได้ ข้อ ๙ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ และมาตรฐาน ๖ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๒ เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (ก) (ข) (ค) (ง) ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ ๒ เครื่อง เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามชนิด ประเภทและขนาดตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้ติดตั้งไว้ภายในรถในที่เหมาะสมซึ่งพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของข้อ ๑๓ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๒) ความสูง ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) (ฉ) และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) (ข) มาตรฐาน ๕ และมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๔.๕๐ เมตร ความสูงภายในของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ความสูงของรถต้องไม่ทำให้รถมีการทรงตัวได้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ” ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความใน (ข) ของข้อ ๑๕ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ข) กระจกกันลมและส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ กระจกกันลมหน้า ต้องมีขนาดที่ผู้ขับรถสามารถมองเห็นสภาพการจราจรได้ดี และห้ามมิให้นำวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนใดส่วนหนึ่งของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดวัสดุเพื่อบังหรือกรองแสงแดด ไว้ที่ด้านบนของกระจกตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ นุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการติดกระจกกันลมหลังกับตัวรถไม่มีผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถ สมควรเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเลือกที่จะจัดให้มีกระจกกันลมหลังหรือไม่ก็ได้ และโดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว สมควรกำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม นอกจากนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมขนาดความสูงของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กให้รับกับมาตรฐานสากลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการทรงตัวของรถดังกล่าวเพื่อให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒๓ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๑๒/หน้า ๙/๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
301316
กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๙ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๒๓ วรรคสอง และมาตรา ๒๘ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความใน (๑) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๒ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ คือ รถปรับอากาศพิเศษ ซึ่งหมายความว่า (ก) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีการกำหนดห้องผู้โดยสารเป็นสัดส่วนแยกจากห้องผู้ขับรถ ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ มีแบบและการจัดวางที่นั่งผู้โดยสารที่ให้ความสะดวกสบายกว่า (ข) โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์ (ข) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์ ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ คือ รถสองชั้น ซึ่งคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีห้องผู้โดยสารทั้งชั้นบนและชั้นล่าง โดยพื้นห้องผู้โดยสารทั้งสองชั้นแยกจากกันอย่างเด็ดขาด มีทางขึ้นลงชั้นล่างอยู่ด้านข้าง และมีทางขึ้นลงชั้นบนอยู่ภายในตัวรถอย่างน้อยหนึ่งทางซึ่งหมายความว่า (ก) รถสองชั้นปรับอากาศพิเศษ ซึ่งมีแบบและการจัดวางที่นั่งผู้โดยสารที่ให้ความสะดวกสบายกว่า (ข) โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์ (ข) รถสองชั้นปรับอากาศ ซึ่งไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์ (ค) รถสองชั้นปรับอากาศ ซึ่งไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ แต่ไม่มีห้องสุขภัณฑ์ สำหรับที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์นั้น จะมีหรือไม่ก็ได้ (ง) รถสองชั้นปรับอากาศ ซึ่งชั้นล่างกำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ แต่ไม่มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ สำหรับที่เก็บสัมภาระ อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์นั้น จะมีหรือไม่ก็ได้ (จ) รถสองชั้นที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งชั้นล่างกำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน ไม่มีที่เก็บสัมภาระ ที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์ (ฉ) รถสองชั้นที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งไม่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีที่เก็บสัมภาระ แต่ไม่มีที่สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และห้องสุขภัณฑ์” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ นุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการขนส่งได้นำรถโดยสารมาตรฐาน ๔ (สองชั้น) ไปใช้ทำการขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก สมควรแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ เสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒๓ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๑๒/หน้า ๖/๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
301315
กฎกระทรวง ฉบับที่ 38 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกแบบ บ.๑ บ.๒ บ.๓ ท.๑ ท.๒ ท.๓ กส. นต. และ บก. ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ แบบ บ.๑ บ.๒ บ.๓ ท.๑ ท.๒ ท.๓ กส. นต. และ บก. ท้ายกฎกระทรวงนี้แทน ข้อ ๒ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำรถที่นายทะเบียนได้ออกให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตนั้นจะสิ้นอายุ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ นุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม [เอกสารแนบท้าย] ๑. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๑ (บ.๑) ๒. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๒ (บ.๒) ๓. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๓ (บ.๓) ๔. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๑ (ท.๑) ๕. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๒ (ท.๒) ๖. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๓ (ท.๓) ๗. ใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร (กส.) ๘. ใบอนุญาตเป็นนายตรวจ (นต.) ๙. ใบอนุญาตเป็นผู้บริการ (บก.) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากแบบใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำรถที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีรูปแบบและรายการบันทึกสาระสำคัญยังไม่เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมแบบดังกล่าวเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒ มีนาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙-ตอนที่ ๕๐/หน้า ๓๕/๑๗ เมษายน ๒๕๓๕
301314
กฎกระทรวง ฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๗๔ วรรคสอง และมาตรา ๗๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๒ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบของกรมการขนส่งทางบกพร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลธรรมดา (ก) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ข) สำเนาทะเบียนบ้านหรือภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้าน (ค) แผนที่แสดงที่ตั้งสถานตรวจสภาพรถ และแผนผังสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณสถานตรวจสภาพรถ (ง) แบบ ขนาด และรายละเอียดของเครื่องตรวจสภาพรถ (๒) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ก) รายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ข) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) สำเนาทะเบียนบ้านหรือภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) แผนที่แสดงที่ตั้งสถานตรวจสภาพรถ และแผนผังสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณสถานตรวจสภาพรถ (จ) แบบ ขนาด และรายละเอียดของเครื่องตรวจสภาพรถ (๓) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ข) รายชื่อและสัญชาติของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) แผนที่แสดงที่ตั้งสถานตรวจสภาพรถ และแผนผังสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณสถานตรวจสภาพรถ (ง) แบบ ขนาด และรายละเอียดของเครื่องตรวจสภาพรถ (๔) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (ข) รายชื่อกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (ค) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (ง) สำเนาทะเบียนบ้านหรือภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (จ) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ (ฉ) แผนที่แสดงที่ตั้งสถานตรวจสภาพรถ และแผนผังสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณสถานตรวจสภาพรถ (ช) แบบ ขนาด และรายละเอียดของเครื่องตรวจสภาพรถ ข้อ ๓ สถานตรวจสภาพรถที่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับอนุญาตให้จัดตั้งต้องมีลักษณะและเหมาะสมสำหรับตรวจความมั่นคงแข็งแรง ความสะอาด ความเรียบร้อย และความเหมาะสมของสภาพรถ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วย (๑) อาคารสถานที่ตรวจสภาพรถ สำหรับใช้เป็นที่ติดตั้งเครื่องตรวจสภาพรถและเป็นที่ทำการตรวจสภาพรถ (๒) เครื่องตรวจสภาพรถและอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจสภาพรถ ตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๓) ลานจอดรถสำหรับรอการตรวจสภาพรถซึ่งมีพื้นที่พอสมควร ข้อ ๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีผู้ควบคุมการตรวจสภาพรถ ซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาช่างยนต์ หรือคุณวุฒิอื่นตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ อย่างน้อย ๑ คน และเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถ ซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาช่างยนต์ หรือคุณวุฒิอื่นตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๒) ดำเนินการตรวจสภาพรถ โดยปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศหรือระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๓) จัดทำใบรับรองการตรวจสภาพรถ ประวัติรถ รายงานการตรวจสภาพรถ เครื่องหมายสำหรับรถที่ผ่านการตรวจสภาพแล้ว และเครื่องหมายหรือเอกสารอื่นตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๔) จัดให้มีเครื่องตรวจสภาพรถหรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสมสำหรับใช้ในการตรวจสภาพรถตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๕) ปรับปรุงเครื่องตรวจสภาพรถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ดีอยู่เสมอ ข้อ ๕ ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถให้ใช้แบบใบอนุญาตท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๖ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบกพร้อมด้วยสำเนาใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ หรือใบแทนก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีที่ผู้ประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล ให้ยื่นหลักฐานตามข้อ ๒ (๓) (ก) หรือ (๔) (ก) ด้วย แล้วแต่กรณี ข้อ ๗ การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถให้นายทะเบียนกลางออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิมให้ใหม่ ข้อ ๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใดประสงค์จะขอรับใบแทนใบอนุญาตที่สูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบกพร้อมด้วยหลักฐานการรับแจ้งความของสถานีตำรวจหรือใบอนุญาตที่ชำรุดนั้น การออกใบแทนใบอนุญาต ให้นายทะเบียนกลางออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิม แต่ให้ระบุคำว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านหน้าด้วย ข้อ ๙ การยื่นคำขอตามกฎกระทรวงนี้ (๑) สำหรับสถานตรวจสภาพรถที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก (๒) สำหรับสถานตรวจสภาพรถที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่นต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดแห่งท้องที่ที่สถานตรวจสภาพรถนั้นตั้งอยู่ หรือกรมการขนส่งทางบก ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ พลเอก วิโรจน์ แสงสนิท รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม [เอกสารแนบท้าย] ๑. ใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถและการขอต่ออายุใบอนุญาต ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ยังไม่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ฉะนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้เอกชนลงทุนจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่องดังกล่าวเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒ มีนาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๕๐/หน้า ๓๕/๑๗ เมษายน ๒๕๓๕
301313
กฎกระทรวง ฉบับที่ 36 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความใน (๗) ของข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้ แทน “(๗) จัดให้มีเครื่องมือทดสอบสมรรถภาพร่างกายไว้ประจำที่โรงเรียนสอนขับรถ ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ เพื่อทดสอบสมรรถภาพร่างกายของนักเรียนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด” ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ พลเอก วิโรจน์ แสงสนิท รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้โรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรองสามารถทำการทดสอบสมรรถภาพร่างกายของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถได้ จึงสมควรที่จะกำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมให้โรงเรียนสอนขับรถผู้ประสงค์จะขอให้กรมการขนส่งทางบกรับรอง ต้องจัดให้มีเครื่องมือทดสอบสมรรถภาพร่างกายไว้ประจำที่โรงเรียนสอนขับรถ เพื่อให้การทดสอบสมรรถภาพร่างกายของนักเรียนเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒ มีนาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๒๗/หน้า ๕/๒๕ มีนาคม ๒๕๓๕
301312
กฎกระทรวง ฉบับที่ 35 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๕ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความใน (ฉ) ใน (๑) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ฉ) ประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองว่าเป็นผู้มีความรู้และความสามารถตามกฎกระทรวง ออกตามความในมาตรา ๙๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ของกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ถ้ามี” ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ พลเอก วิโรจน์ แสงสนิท รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ผู้ที่ได้ผ่านการทดสอบความรู้และความสามารถในการขับรถ และได้ผ่านการทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย ทั้งจากกรมการขนส่งทางบกหรือจากโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง เป็นผู้มีคุณสมบัติขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กได้ สมควรกำหนดให้ประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองว่าเป็นผู้มีความรู้และความสามารถตามกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๙๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ของกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง เป็นหลักฐานประกอบคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒ มีนาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๒๗/หน้า ๓/๒๕ มีนาคม ๒๕๓๕
318510
กฎกระทรวง ฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๔ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีความรู้และความสามารถ ดังนี้ (๑) มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก และได้ผ่านการทดสอบความรู้และความสามารถในการขับรถจากกรมการขนส่งทางบก หรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง (๒) ได้ผ่านการทดสอบสมรรถภาพของร่างกายในด้านประสาทมือ ปฏิกิริยา สายตาทางลึก สายตาทางกว้าง และสายตาบอดสี จากกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง” ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ พลเอก วิโรจน์ แสงสนิท รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรกำหนดให้ผู้ที่ได้ผ่านการทดสอบความรู้และความสามารถในการขับรถ และได้ผ่านการทดสอบสมรรถภาพของร่างกายทั้งจากกรมการขนส่งทางบกหรือจากโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง เป็นผู้มีคุณสมบัติขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กได้ เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการขอรับใบอนุญาตดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๒๗/หน้า ๑/๒๕ มีนาคม ๒๕๓๕
301311
กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2534) ออกตามความพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๑๐๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในการใช้รถทำการขนส่งผู้โดยสาร ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง และการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอกภัยของผู้โดยสาร ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่ใช้หรือยินยอมให้บุคคลต่อไปนี้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถ (ก) บุคคลซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถไม่ตรงตามประเภทและชนิดของรถที่ใช้ทำการขนส่ง หรือใบอนุญาตที่สิ้นอายุแล้ว (ข) ผู้ขับรถซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกินชั่วโมงการทำงานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดและยังพักผ่อนไม่เพียงพอ (ค) ผู้ขับรถซึ่งเสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น (ง) ผู้ขับรถที่หย่อนความสามารถในการขับรถ (๒) จัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามสูบบุหรี่ตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดที่มองเห็นได้ชัดเจน เว้นแต่ในกรณีที่รถนั้นได้จัดให้มีบริเวณที่นั่งผู้โดยสารที่อาจสูบบุหรี่ได้ด้วย ให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามสูบบุหรี่ไว้เฉพาะบริเวณที่นั่งผู้โดยสารซึ่งห้ามการสูบบุหรี่ (๓) จัดให้มีคำเตือนมิให้ขึ้นหรือลงรถนอกบริเวณที่ที่มีเครื่องหมายหยุดรถในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจน ที่ตัวรถด้านนอกและภายในตัวรถ (๔) จัดให้มีที่สำหรับติดชื่อตัว ชื่อสกุล และเลขที่ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ที่เห็นได้ชัดเจนภายในตัวรถด้านหน้า (๕) จัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญญาณที่จะต้องแสดงเมื่อจำเป็นต้องจอดรถอยู่ในทางเดินรถเนื่องจากเครื่องยนต์หรือเครื่องอุปกรณ์ของรถขัดข้อง ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งประจำทางในเส้นทางหมวด ๑ สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็กและการขนส่งส่วนบุคคล ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารเฉพาะ (๑) และ (๕) ข้อ ๒ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งระหว่างประเทศ ต้อง (ก) ดูแลผู้โดยสารให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในระหว่างการโดยสาร (ข) ดูแลให้ผู้โดยสารวางสัมภาระในตำแหน่งที่ไม่กีดขวางทางขึ้นลงหรือทางเดินภายในตัวรถ และไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารอื่นหรือผู้อื่น (ค) ดูแลให้ผู้โดยสารได้รับความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสาร และในกรณีที่เกิดอุบัติภัยใด ๆ ขึ้นในระหว่างทำการขนส่งจะต้องช่วยเหลือหรือจัดให้ผู้โดยสารพ้นจากอุบัติภัยนั้นก่อน (ง) ไม่ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร (จ) ไม่ยื่นมือ แขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้สัญญาณตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก (ฉ) ไม่นำสิ่งของใด ๆ ที่มีกลิ่นรุนแรงที่ก่อความรำคาญต่อผู้โดยสารขึ้นบนรถ เว้นแต่จะได้จัดเก็บให้มิดชิดโดยปราศจากกลิ่นนั้น (ช) ไม่นำดอกไม้เพลิง วัตถุระเบิด วัตถุกัดกร่อนขึ้นบนรถ (ซ) ไม่ถ่ายหรือทิ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงบนรถ เว้นแต่เป็นการถ่ายหรือทิ้งในบริเวณที่จัดไว้เป็นที่ถ่ายหรือทิ้งโดยเฉพาะ (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ในการขนส่งในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก การขนส่งส่วนบุคคล และการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องบันทึกรายการต่าง ๆ ในสมุดประจำรถ (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นนายตรวจ ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องไม่สูบบุหรี่หรือสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔ นุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา ๑๐๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่าในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและความปลอดภัยในการขนส่ง สมควรกำหนดข้อกำหนดดังกล่าวขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๑๑๖/หน้า ๔๔๒/๒ กรกฎาคม ๒๕๓๔
301310
กฎกระทรวง ฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2532) ออกตามความพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๒ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๒๓ วรรคสอง และมาตรา ๒๘ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความใน (๑) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ คือ รถปรับอากาศพิเศษ ซึ่งหมายความว่า (ก) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีการกำหนดห้องผู้โดยสาร เป็นสัดส่วนแยกจากห้องผู้ขับรถ ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ มีการจัดวางที่นั่งผู้โดยสารขนานกับความกว้างของตัวรถไม่เกินแถวละ ๓ ที่นั่ง โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหาร และเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์ (ข) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งมีคัสซีเป็นคัสซีรถโดยสาร มีทางขึ้นลงด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ โดยไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน มีเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บสัมภาระไว้โดยเฉพาะ มีที่สำหรับเตรียมอาหาร และเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ และมีห้องสุขภัณฑ์” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ มนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการแก่ผู้โดยสารสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ (รถปรับอากาศพิเศษ) ได้รับความนิยมจากประชาชนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและพัฒนาการให้บริการด้านการขนส่งผู้โดยสาร สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อแก้ไขลักษณะของรถที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในการประกอบการขนส่งผู้โดยสารดังกล่าวให้เหมาะสมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๓/๑ พฤษภาคม ๒๕๓๒
318509
กฎกระทรวง ฉบับที่ 31 (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของข้อ ๑๓ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๓) ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) มาตรฐาน ๒ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) มาตรฐาน ๓ (ข) มาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๒ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) มาตรฐาน ๒ (ง) มาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) มาตรฐาน ๓ (ง) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) มาตรฐาน ๕ และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากกันชนหน้าหรือส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๘ เมตร” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ มนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (รถสองชั้น) ไว้ไม่เกิน ๑๐ เมตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบของรถที่มีการผลิตโดยทั่วไปในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับความยาวของรถดังกล่าวให้มีความยาวได้ไม่เกิน ๑๒ เมตร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๗๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑ พฤษภาคม ๒๕๓๒
301309
กฎกระทรวง ฉบับที่ 30 (พ.ศ. 2531) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๐ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๓๒ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสีของรถไว้ในใบอนุญาตด้วย ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ มนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางหลายรายนำรถที่มีสีเหมือนหรือคล้ายคลึงกับสีของรถของบริษัท ขนส่ง จำกัด ไปใช้ทำการขนส่งในลักษณะเช่นเดียวหรือคล้ายกับการประกอบการขนส่งประจำทาง สมควรให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสีของรถไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง เพื่อมิให้มีการใช้สีรถเหมือนหรือคล้ายคลึงกันดังกล่าว อันจะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบควบคุม และป้องกันมิให้มีการนำรถไปใช้โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเนื่องจากมาตรา ๓๒ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้การกำหนดเงื่อนไขอื่นเพื่อให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการกำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางนั้น ต้องกระทำโดยกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๕/ตอนที่ ๒๑๙/หน้า ๔๔๒/๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๑
318508
กฎกระทรวง ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2530) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๙ (พ.ศ. ๒๕๓๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๒๕ วรรคสอง วรรคสาม และมาตรา ๒๘ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งประจำทาง หรือประเภทการขนส่งไม่ประจำทาง ให้กระทำได้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้ (๑) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (๒) องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ข้อ ๒ การประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ให้กระทำได้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้ (๑) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (๒) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ข้อ ๓ ในกรณีที่บุคคลตามข้อ ๑ และข้อ ๒ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ บุคคลดังกล่าวต้องมีสำนักงานสาขาหรือสำนักงานตัวแทนจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและตั้งอยู่ในประเทศไทย ข้อ ๔ ผู้ใดประสงค์จะประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งประจำทาง หรือประเภทการขนส่งไม่ประจำทาง ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนกลางตามแบบของกรมการขนส่งทางบก โดยกรอกข้อความเป็นภาษาไทย พร้อมด้วยหลักฐานดังต่อไปนี้ (๑) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์และกรรมการของบริษัททุกคน ซึ่งรับรองไว้ไม่เกินหกเดือน (ข) รายชื่อกรรมการของบริษัททุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวของบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการของบริษัททุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของกรรมการของบริษัททุกคน (จ) รายชื่อและสัญชาติของผู้ถือหุ้นทุกคน และจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือ (ฉ) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท (ช) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา (ถ้ามี) (ซ) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ฌ) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร ซึ่งถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือน อย่างละ ๒ รูป (ญ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ฎ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ (๒) องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น (ก) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๑ ตรา (ถ้ามี) (ข) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ค) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร ซึ่งถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือน อย่างละ ๒ รูป (ง) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถ ในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ ข้อ ๕ ผู้ใดประสงค์จะประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนกลางตามแบบของกรมการขนส่งทางบก โดยกรอกข้อความเป็นภาษาไทยพร้อมด้วยสำเนาหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ก) หนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์และผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนซึ่งรับรองไว้ไม่เกินหกเดือน (ข) รายชื่อและสัญชาติของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวของบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) สำเนาหรือภาพทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (จ) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา (ถ้ามี) (ฉ) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ช) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร ซึ่งถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือน อย่างละ ๒ รูป (ซ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (๒) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์และกรรมการของบริษัททุกคน ซึ่งรับรองไว้ไม่เกินหกเดือน (ข) รายชื่อกรรมการของบริษัททุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวของบุคคล ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการของบริษัททุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของกรรมการของบริษัททุกคน (จ) รายชื่อและสัญชาติของผู้ถือหุ้นทุกคน และจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือ (ฉ) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท (ช) ตัวอย่างรอยตราประทับของผู้ยื่นคำขอ ๒ ตรา (ถ้ามี) (ซ) ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ (ฌ) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร ซึ่งถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือน อย่างละ ๒ รูป (ญ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ ข้อ ๖ ในกรณีที่หลักฐานตามข้อ ๔ และข้อ ๕ เป็นภาษาต่างประเทศ จะต้องส่งคำแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งมีการรับรองความถูกต้องโดยหน่วยงานซึ่งได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนกลางเป็นเวลาไม่เกินกว่าหกเดือนก่อนวันยื่นคำขอมาด้วย ข้อ ๗ ใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งประจำทาง ประเภทการขนส่งไม่ประจำทาง หรือประเภทการขนส่งส่วนบุคคลตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ข้อ ๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งประจำทางหรือประเภทการขนส่งไม่ประจำทาง ผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนกลางตามแบบของกรมการขนส่งทางบก โดยกรอกข้อความเป็นภาษาไทย พร้อมด้วยหลักฐานดังต่อไปนี้ (๑) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์และกรรมการของบริษัททุกคน ซึ่งรับรองไว้ไม่เกินหกเดือน (ข) รายชื่อกรรมการของบริษัททุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวของบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการของบริษัททุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของกรรมการของบริษัททุกคน (จ) รายชื่อและสัญชาติของผู้ถือหุ้นทุกคน และจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือ (ฉ) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท (ช) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร ซึ่งถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือน อย่างละ ๒ รูป (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ซ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ฌ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทน (๒) องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น (ก) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร ซึ่งถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือน อย่างละ ๒ รูป (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ข) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ค) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทน ข้อ ๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งส่วนบุคคลผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนกลางตามแบบของกรมการขนส่งทางบก โดยกรอกข้อความเป็นภาษาไทย พร้อมด้วยหลักฐานดังต่อไปนี้ (๑) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ก) หนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์และผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน ซึ่งรับรองไว้ไม่เกินหกเดือน (ข) รายชื่อและสัญชาติของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวของบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (จ) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร ซึ่งถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือน อย่างละ ๒ รูป (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ฉ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ช) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทน (๒) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์และกรรมการของบริษัททุกคน ซึ่งรับรองไว้ไม่เกินหกเดือน (ข) รายชื่อกรรมการของบริษัททุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวของบุคคล ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการของบริษัททุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของกรรมการของบริษัททุกคน (จ) รายชื่อและสัญชาติของผู้ถือหุ้นทุกคน และจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือ (ฉ) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท (ช) รูปถ่ายสำนักงานและสถานที่เก็บรถ ขนาด ๗.๖๐ x ๑๒.๗๐ เซนติเมตร ซึ่งถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือน อย่างละ ๒ รูป (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ซ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง) (ฌ) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือใบแทน ข้อ ๑๐ ให้นำความข้อ ๖ มาใช้บังคับแก่การยื่นหลักฐานประกอบคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ ตามข้อ ๘ และข้อ ๙ โดยอนุโลม ข้อ ๑๑ การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศตามกฎกระทรวงนี้ ให้นายทะเบียนกลางออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิมให้ใหม่ ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนกลางตามแบบของกรมการขนส่งทางบก โดยกรอกข้อความเป็นภาษาไทย พร้อมด้วยหลักฐานการรับแจ้งความของสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่ใบอนุญาตนั้นสูญหายสำหรับกรณีใบอนุญาตดังกล่าวสูญหายภายในประเทศ หรือหลักฐานการรับแจ้งความของหน่วยงานที่มีอำนาจในการรับแจ้งความสำหรับกรณีใบอนุญาตดังกล่าวสูญหายในต่างประเทศพร้อมด้วยใบอนุญาตที่ถูกทำลายหรือชำรุด แล้วแต่กรณี หลักฐานการรับแจ้งความของหน่วยงานที่มีอำนาจในการรับแจ้งความ สำหรับกรณีใบอนุญาตดังกล่าวสูญหายในต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง ต้องมีการรับรองความถูกต้องโดยหน่วยงานซึ่งได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนกลาง การอนุญาตคำขอใบแทนใบอนุญาต ให้นายทะเบียนกลางออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิม แต่ให้ระบุคำว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านหน้าด้วย ข้อ ๑๓ เพื่อประโยชน์แก่นายทะเบียนกลางในการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับลักษณะของรถในใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศตามกฎกระทรวงนี้ ให้นำลักษณะของรถที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในการประกอบการขนส่งตามข้อ ๙ (๑) และ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศตามกฎกระทรวงนี้ หากจะนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศมาใช้ประกอบการขนส่ง รถนั้นต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เว้นแต่จะมีอนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ข้อ ๑๕ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศตามกฎกระทรวงนี้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่ออนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่ง และอนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่จะทำการขนส่งนั้น ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐ บรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๒๕ วรรคสอง วรรคสาม และมาตรา ๒๘ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า การขออนุญาตและการอนุญาตให้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทการขนส่งประจำทาง ประเภทการขนส่งไม่ประจำทาง และหรือประเภทการขนส่งส่วนบุคคล และการขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ สัญชัย/ปรับปรุง ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๙ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๐๔/ตอนที่ ๑๙๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖/๒๕ กันยายน ๒๕๓๐
301308
กฎกระทรวง ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2530) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๓๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความใน (๕) ของวรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๕) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ (ก) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางต่อเส้นทางหนึ่ง ตลอดปี ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท เฉพาะคราว ฉบับละ ๕๐๐ บาท (ข) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ตลอดปี ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท เฉพาะคราว ฉบับละ ๕๐๐ บาท (ค) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ตลอดปี ฉบับละ ๔,๐๐๐ บาท เฉพาะคราว ฉบับละ ๓๐๐ บาท” ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐ บรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศไว้ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขค่าธรรมเนียมเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔/ตอนที่ ๑๙๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔/๒๕ กันยายน ๒๕๓๐
301307
กฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๗ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๑๑๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งประจำทาง ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสาร ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่สูบบุหรี่หรือสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เว้นแต่ในบริเวณที่จัดไว้ให้โดยเฉพาะ (๒) ไม่กล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว ส่งเสียงอื้ออึง หรือกระทำการใด ๆ ในลักษณะที่ก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น (๓) ไม่โดยสารนอกตัวรถหรือห้อยโหน หรือยื่นมือ แขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถ ทั้งนี้ เมื่อผู้ประจำรถได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วไม่ยอมปฏิบัติตาม (๔) ไม่นำสิ่งของที่มีกลิ่นแรงอันอาจก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น ขึ้นบนรถ เว้นแต่จะได้จัดเก็บให้มิดชิดโดยปราศจากกลิ่นนั้น (๕) ไม่นำดอกไม้เพลิง ลูกระเบิด วัตถุระเบิด หรือวัตถุกัดกร่อน ขึ้นบนรถ (๖) ไม่บ้วน หรือถ่ม น้ำลาย น้ำหมาก หรือเสมหะ สั่งน้ำมูก ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ หรือเทหรือทิ้งสิ่งใด ๆ ลงบนรถ ณ ที่ซึ่งมิได้จัดไว้เพื่อการนั้น (๗) ไม่ลงจากรถนอกบริเวณที่มีเครื่องหมายหยุดรถประจำทางตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ข้อ ๒[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ ประชุม รัตนเพียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๑๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสาร ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและเพื่อความสงบเรียบร้อย สมควรกำหนดข้อกำหนดดังกล่าวขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๓/ตอนที่ ๑๑๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๙
318507
กฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎหมายกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “ข้อ ๕ คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน หรือใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ที่มีอำนาจของประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ใดประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลในราชอาณาจักร ให้แจ้งความจำนงตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง เมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งความจำนงตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ออกใบแนบใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนนหรือใบแนบใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ ที่มีอำนาจของประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ และให้ถือว่าใบแนบนั้นเป็นใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลสำหรับรถที่ผู้มีใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศหรือใบอนุญาตขับรถดังกล่าวได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ขับรถได้ โดยให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนออกใบแนบ ทั้งนี้ เท่าที่ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศหรือใบอนุญาตขับรถนั้นยังไม่หมดอายุ ใบแนบใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนนให้ใช้แบบ บน.๑ และใบแนบในอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ ที่มีอำนาจของประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ใช้แบบ บน.๒ ท้ายกฎกระทรวงนี้” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ประชุม รัตนเพียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม [เอกสารแนบท้าย] ๑. ใบแนบใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน (บน. ๑) (At. 1) ๒. ใบแนบใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ ที่มีอำนาจของประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (บน. ๒) (At. 2) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลไทยได้ทำการภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน และได้ทำความตกลงว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ ที่มีอำนาจของประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะมีผลให้ผู้มีใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนนหรือใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ ที่มีอำนาจของประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจใช้ใบอนุญาตนั้นขับรถในราชอาณาจักรได้ และโดยที่มาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการขออนุญาตและการอนุญาตที่กำหนดในกฎกระทรวง และขณะนี้กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถไว้แล้วนั้น มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตและการอนุญาตสำหรับผู้มีใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน หรือมีใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ ที่มีอำนาจของประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถในหน้าที่ผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลไว้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๓/ตอนที่ ๕๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๑ มีนาคม ๒๕๒๙
301306
กฎกระทรวง ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๓๒ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางหรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งประจำจังหวัดกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับการใช้รถให้ต้องเป็นไปตามลักษณะของการขนส่งไม่ประจำทางที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดตามมาตรา ๑๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ประชุม รัตนเพียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๓๒ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขอื่นเพื่อให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางหรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งประจำจังหวัดกำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง และในปัจจุบันปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางหลายรายได้นำรถไปใช้ในลักษณะเช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางอันเป็นการใช้รถผิดลักษณะตามที่ได้รับอนุญาต สมควรกำหนดเงื่อนไขอื่นตามมาตรา ๓๒ (๑๐) ให้การใช้รถเป็นไปตามลักษณะของการขนส่งไม่ประจำทางที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดตามมาตรา ๑๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๒๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๙/๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
301305
กฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๒๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๒ ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “ข้อ ๒ ทวิ ในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ใดเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางใด ให้นายทะเบียนประกาศรับคำขออนุญาตประกอบการขนส่งเป็นการทั่วไป เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดย (๑) สำหรับการขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ปิดประกาศไว้ ณ กรมการขนส่งทางบก (๒) สำหรับการขนส่งประจำทางในเขตจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดนั้น ๆ (๓) สำหรับการขนส่งประจำทางระหว่างจังหวัด ให้ปิดประกาศไว้ ณ กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานขนส่งจังหวัดที่เป็นต้นทางและปลายทางของการขนส่งนั้น ๆ ทั้งนี้ หากคณะกรรมการเห็นสมควรอนุมัติให้ผู้ใดเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางใด ก็ให้อนุมัติได้โดยไม่ต้องประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไป” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ประชุม รัตนเพียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประเภทต่าง ๆ ยังไม่มีบทบัญญัติโดยเฉพาะเกี่ยวกับการปิดประกาศการรับคำขออนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตแก่ผู้ประกอบการขนส่งประจำทางเป็นไปด้วยความเป็นธรรม สมควรให้มีการปิดประกาศการรับคำขออนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางเป็นการทั่วไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๕/หน้า ๓/๑๕ มกราคม ๒๕๒๘
318506
กฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ “กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นไป” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ประชุม รัตนเพียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๓) อกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการดำเนินการเกี่ยวกับการขนส่งทางบกไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ นั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการที่ไม่อาจดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ อันเป็นวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้สมควรกำหนดวันใช้บังคับของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๓ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๑/ตอนที่ ๑๑๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒/๕ กันยายน ๒๕๒๗
757654
กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามในมาตรา ๗ มาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และมาตรา ๕๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การวางหลักทรัพย์เพื่อประกันความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอก ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักทรัพย์ต่อนายทะเบียนกลางภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ข้อ ๒ พันธบัตรรัฐบาลไทยที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ใช้วางเป็นหลักทรัพย์นั้น ต้องเป็นชนิดที่ขายคืนได้ก่อนครบกำหนดชำระต้นเงิน และผู้วางหลักทรัพย์จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กรมการขนส่งทางบก ส่วนผลประโยชน์อันเกิดจากพันธบัตรนั้น กรมการขนส่งทางบกจะมอบให้แก่ผู้วางหลักทรัพย์ ข้อ ๓ จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องวางต่อนายทะเบียนกลาง ให้กำหนดไว้ดังนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางและผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันมีจำนวนหรือมูลค่าสามหมื่นบาทสำหรับรถคันที่หนึ่ง และคันละห้าร้อยบาทสำหรับรถคันต่อ ๆ ไป แต่ไม่เกินสามแสนบาท (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกัน มีจำนวนหรือมูลค่าสามหมื่นบาทสำหรับรถคันที่หนึ่งและคันละสองร้อยบาทสำหรับรถคันต่อ ๆ ไป แต่ไม่เกินสองแสนบาท ข้อ ๔ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือชีวิตของบุคคลอื่น จะต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาท ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ให้จ่ายตามอัตราดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่ผู้เสียหายมิได้ถึงแก่ความตาย ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลตามจำนวนเงินที่ผู้เสียหายได้แสดงหลักฐานการใช้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินจำนวนเงินหนึ่งหมื่นบาท (๒) ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายในทันที ให้จ่ายค่าปลงศพแก่ทายาทเป็นจำนวนเงินหนึ่งหมื่นบาท (๓) ในกรณีที่ผู้เสียหายมิได้ถึงแก่ความตายในทันที ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลแก่ผู้เสียหายหรือทายาทตามจำนวนเงินที่ผู้เสียหายหรือทายาทได้แสดงหลักฐานการใช้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินจำนวนเงินหนึ่งหมื่นบาทและให้จ่ายค่าปลงศพแก่ทายาทเป็นจำนวนเงินหนึ่งหมื่นบาทอีกด้วย ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และมาตรา ๕๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้ออกกฎกระทรวง (๑) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการวางหลักทรัพย์เพื่อประกันความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอก และซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะต้องรับผิดชอบเนื่องจากการขนส่งของตน ตลอดจนจำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ดังกล่าว (๒) กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๘ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๑๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๗/๒๖ มกราคม ๒๕๒๖
301304
กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๒ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๑๐๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้ “รถโรงเรียน” หมายความว่า รถที่โรงเรียนใช้รับส่งนักเรียน และให้หมายความรวมถึงรถที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำไปใช้ในการรับส่งนักเรียนเพื่อการศึกษาตามปกติ “นักเรียน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกำลังรับการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ “ผู้ปกครอง” หมายความว่า บิดามารดา หรือบิดา หรือมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหมายความรวมถึงบุคคลที่นักเรียนอยู่ด้วยเป็นประจำหรือที่นักเรียนอยู่รับใช้การงาน ข้อ ๒ รถโรงเรียนต้องเป็นรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ หรือมาตรฐาน ๓ ที่ต่อตัวถังให้มีทางขึ้นลงของผู้โดยสารข้างรถ โดยมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และต้องจัดให้มี (๑) เครื่องหมายหรือแผ่นป้ายพื้นสีส้มสะท้อนแสงขนาดกว้างอย่างน้อย ๓๕ เซนติเมตร ยาวอย่างน้อย ๘๕ เซนติเมตร มีข้อความว่า “รถโรงเรียน” เป็นตัวอักษรสีดำ ความสูงไม่น้อยกว่า ๑๕ เซนติเมตร ติดอยู่ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถให้สามารถมองเห็นข้อความได้โดยชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร เมื่อมิได้ใช้รถนั้นเป็นรถโรงเรียนให้ถอดแผ่นป้ายหรือปิดคลุมข้อความดังกล่าว (๒) ไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันปิดเปิดเป็นระยะ ติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถ เพื่อให้ผู้ขับรถที่สวนมาหรือตามหลังมาเห็นได้โดยชัดเจนในระยะห่างไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร เมื่อมิได้ใช้รถนั้นเป็นรถโรงเรียนให้งดใช้ไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันดังกล่าว (๓) เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้ (ก) เครื่องดับเพลิง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน ๒๐ ที่นั่ง ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๑ เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนที่นั่งเกิน ๒๐ ที่นั่ง ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๒ เครื่อง เครื่องดับเพลิงต้องมีขนาดพอสมควรและติดตั้งไว้ภายในรถในที่เหมาะสม พร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ (ข) ฆ้อนทุบกระจก ๑ อัน (ค) เหล็กชะแลง ๑ อัน ฆ้อนทุบกระจกและเหล็กชะแลงต้องเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและสามารถนำมาใช้งานได้โดยสะดวก (๔) แผ่นป้ายแสดงข้อความเตือนเรื่องความปลอดภัยในการโดยสารตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบติดไว้ภายในตัวรถ ณ ตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ง่าย ข้อ ๓ ห้ามผู้ขับรถโรงเรียนบรรทุกนักเรียนเกินจำนวนที่นั่ง หรือบรรทุกผู้โดยสารอื่นปะปนไปกับนักเรียน เว้นแต่เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนหรือผู้ปกครอง ข้อ ๔ รถโรงเรียนต้องมีผู้ขับรถและผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ดังนี้ (๑) ผู้ขับรถซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี และต้องเป็นผู้ไม่มีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน (๒) ผู้ควบคุมดูแลนักเรียนซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อควบคุมดูแลและช่วยเหลือนักเรียน ข้อ ๕ รถโรงเรียนต้องส่งนักเรียนให้ถึงที่อยู่อาศัย หรือส่งมอบให้แก่ผู้ปกครองโดยตรงหรือส่ง ณ สถานที่ที่ตกลง ข้อ ๖[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ประชุม รัตนเพียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารในรถซึ่งใช้รับส่งนักเรียน และเนื่องจากมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่าผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา ๑๐๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่าในขณะปฏิบัติหน้าที่ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๑๖๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๖
301303
กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ --------------- อาศัยอำนาจตามในมาตรา ๗ มาตรา ๕๒ วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา ๕๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ้ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การวางหลักทรัพย์เพื่อประกันความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอก ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักทรัพย์ต่อนายทะเบียนกลางภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ข้อ ๒ พันธบัตรรัฐบาลไทยที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ใช้วางเป็นหลักทรัพย์นั้น ต้องเป็นชนิดที่ขายคืนได้ก่อนครบกำหนดชำระต้นเงิน และผู้วางหลักทรัพย์จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ่กรมการขนส่งทางบก ส่วนผลประโยชน์อันเกิดจากพันธบัตรนั้น กรมการขนส่งทางบกจะมอบให้แก่ผู้วาง หลักทรัพย์ ข้อ ๓ จำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องวางต่อ นายทะเบียนกลาง ให้กำหนดไว้ดังนี้ (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางและผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ไม่ประจำทาง ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง รวมกันมีจำนวนหรือมูลค่าสามหมื่นบาทสำหรับรถคันที่หนึ่งและคันละห้าร้อยบาทสำหรับรถคันต่อ ๆ ไป แต่ไม่เกินสามแสนบาท (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือ พันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกัน มีจำนวนหรือมูลค่าสามหมื่นบาทสำหรับ รถคันที่หนึ่งและคันละสองร้อยบาทสำหรับรถคันต่อ ๆ ไป แต่ไม่เกินสองแสนบาท ข้อ ๔ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ก่อให้เกิด ความเสียหายต่อร่างกายหรือชีวิตของบุคคลอื่น จะต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาท ในกรณีที่ผู้เสียหาย ถึงแก่ความตาย ให้จ่ายตามอัตราดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่ผู้เสียหายมิได้ถึงแก่ความตาย ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลตามจำนวนเงินที่ผู้เสียหายได้แสดงหลักฐานการใช้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินจำนวนเงินหนึ่งหมื่นบาท (๒) ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายในทันที ให้จ่ายค่าปลงศพแก่ทายาทเป็นจำนวนเงิน หนึ่งหมื่นบาท (๓) ในกรณีที่ผู้เสียหายมิได้ถึงแก่ความตายในทันที ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาพยาบาลแก่ผู้เสียหายหรือทายาทตามจำนวนเงินที่ผู้เสียหายหรือทายาทได้แสดงหลักฐานการ ใช้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินจำนวนเงินหนึ่งหมื่นบาท และให้จ่ายค่าปลงศพแก่ทายาทเป็นจำนวนเงิน หนึ่งหมื่นบาทอีกด้วย ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม +------------------------------------------------------------------------------------------------------+ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง และ วรรคสอง และมาตรา ๕๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัต ิให้ออกกฎกระทรวง (๑) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการวางหลักทรัพย์เพื่อประกันความเสียหาย อันเกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลภายนอก และซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง จะต้องรับผิดชอบเนื่องจากการขนส่งของตน ตลอดจนจำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ดังกล่าว (๒) กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็น เจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหาย ถึงแก่ความตาย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ [รก.๒๕๒๖/๑๐/๑๗พ./๒๖ มกราคม ๒๕๒๖]
318505
กฎกระทรวง ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิก (๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้ “ก๊าซ” หมายความว่า ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง “น้ำมัน” หมายความว่า น้ำมันเชื้อเพลิง “ถัง” หมายความว่า ภาชนะบรรจุก๊าซสำหรับรถ “เมกาปาสกาลมาตร” หมายความว่า หน่วยวัดความดันตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลักเกณฑ์การใช้หน่วยต่าง ๆ ของระบบหน่วยเอสไอและการเลือกใช้หน่วยเอสไอ ซึ่งทำให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงโดยทศนิยม ออกตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ข้อ ๓ รถที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบเกี่ยวกับการใช้ก๊าซอย่างน้อย ดังนี้ (๑) ถังตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายในที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (๒) ลิ้นบรรจุ ๒ จังหวะ (๓) กลอุปกรณ์นิรภัยแบบระบาย (๔) เครื่องวัดปริมาณก๊าซ (๕) ลิ้นควบคุมการบรรจุเกิน หรือเครื่องวัดระดับของเหลวคงที่ หรือช่องกระจกตรวจระดับก๊าซ (๖) ลิ้นจ่ายและลิ้นควบคุมการไหล (๗) ท่อก๊าซ (๘) ตัวกรองก๊าซ (๙) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซ (๑๐) เครื่องทำและปรับความดันไอก๊าซ (vapourizer and regulator) (๑๑) ท่อไอก๊าซ (๑๒) ท่อสุญญากาศ (๑๓) เครื่องผสมอากาศกับก๊าซ (๑๔) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดน้ำมัน ในกรณีที่เป็นรถที่ใช้ทั้งก๊าซและน้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตาม (๒) ถึง (๑๔) ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับกันว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ ข้อ ๔ ที่ถังต้องติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ดังนี้ (๑) ลิ้นบรรจุ ๒ จังหวะ (๒) กลอุปกรณ์นิรภัยแบบระบาย (๓) เครื่องวัดปริมาณก๊าซ (๔) ลิ้นควบคุมการบรรจุเกิน หรือเครื่องวัดระดับของเหลวคงที่ หรือช่องกระจกตรวจระดับก๊าซ (๕) ลิ้นจ่ายและลิ้นควบคุมการไหล เครื่องวัดระดับก๊าซตาม (๓) ต้องมีที่หน้าปัดห้องผู้ขับรถด้วย และต้องเป็นชนิดที่ใช้ระบบไฟฟ้า ข้อ ๕ การติดตั้งถังให้เลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (๑) ติดตั้งใต้รถ (๒) ติดตั้งภายในตัวถังรถ ข้อ ๖ การติดตั้งถังต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ถังต้องอยู่ห่างจากท้ายสุดของตัวถังรถไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร ห้ามติดตั้งถังไว้ในห้องเครื่องกำเนิดพลังงาน หรือติดตั้งไว้ส่วนหน้าของตัวถังรถ หรือติดตั้งไว้ด้านหน้าของเพลาล้อหน้า (๒) ถังต้องอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เว้นแต่กรณีการติดตั้งตามข้อ ๑๐ (๓) วางถังในลักษณะที่สามารถมองเห็นแผ่นป้ายบอกรายละเอียดเกี่ยวกับถังโดยไม่ต้องรื้อถอนส่วนประกอบใด ๆ ออก (๔) ยึดถังหรือขาถังให้ติดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่ใช้แถบโลหะรัดถัง ต้องมีวัสดุที่ยืดหยุ่นได้ เช่น สักหลาด หนัง ยาง พลาสติก เป็นต้น หุ้มหรือคั่นกลางสำหรับป้องกันมิให้โลหะเสียดสีกัน และเมื่อรถสั่นสะเทือนถังต้องไม่ขยับเขยื้อน (๕) อุปกรณ์ยึดถังต้องทนต่อแรงกระชากที่เกิดจากความเร่งหรือความหน่วงของรถ (๖) ห้ามเชื่อมหรือต่อเติมถังกับสิ่งอื่นใด เว้นแต่เป็นการเชื่อมมาจากโรงงานผู้ผลิต ข้อ ๗ เครื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนถังต้องมีฝาครอบ และที่ฝาครอบต้องมีท่อที่มีลักษณะและขนาดเหมาะสมสำหรับระบายก๊าซที่รั่วซึมจากเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวออกนอกรถได้ดีโดยให้ปลายท่ออยู่ห่างจากท่อไอเสียไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร ในกรณีที่ไม่มีฝาครอบเครื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนถัง ต้องติดตั้งถังในกล่องบรรจุถังและป้องกันมิให้ก๊าซรั่วเข้าไปในส่วนที่ใช้บรรทุกคนดังนี้ (๑) กล่องบรรจุถังต้องทำด้วยวัสดุไม่ติดไฟ มีฝาปิดแน่น (๒) ที่กล่องบรรจุถังต้องมีช่องปิดด้วยวัสดุใสให้สามารถมองเห็นเครื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนถัง (๓) วางกล่องบรรจุถังบนที่รองรับที่เหมาะสมซึ่งสามารถบรรจุก๊าซได้สะดวกและยึดกล่องถังให้ติดแน่นกับพื้นรถ (๔) ยึดถังหรือขาถังให้ติดแน่นกับกล่องบรรจุถัง ห้ามยึดด้วยการเชื่อม และให้นำข้อ ๖ (๔) มาใช้บังคับโดยอนุโลม (๕) ที่จุดต่ำสุดของกล่องบรรจุถัง ต้องมีท่อที่มีลักษณะและขนาดเหมาะสมสำหรับระบายก๊าซที่รั่วซึมตามวรรคหนึ่ง ข้อ ๘ ภายใต้บังคับข้อ ๔ ในกรณีที่มีการติดตั้งถังหลายถังในรถคันเดียวกัน ถ้าจะใช้ท่อก๊าซร่วมสำหรับบรรจุก๊าซ ถังแต่ละถังต้องมีลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซให้บรรจุก๊าซได้คราวละถัง และถ้าใช้ท่อก๊าซร่วมที่ต่อจากถังไปยังเครื่องกำเนิดพลังงาน ถังแต่ละถังต้องมีลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซให้จ่ายก๊าซได้คราวละถังด้วยให้ ข้อ ๙ ในกรณีที่ติดตั้งถังใต้รถต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ถังที่ใช้จะมีฝาครอบเครื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนถังหรือไม่ก็ได้ (๒) ติดตั้งถังให้ส่วนล่างสุดของถังและเครื่องอุปกรณ์ที่ติดกับถังอยู่สูงกว่าระยะต่ำสุดของรถไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร ในกรณีที่ติดตั้งถังด้านหลังเพลาล้อท้ายสุดของรถ ส่วนล่างสุดของถังรวมทั้งเครื่องอุปกรณ์ที่ติดกับถังต้องอยู่สูงกว่าระยะต่ำสุดของรถไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร และต้องอยู่สูงจากพื้นถนนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๖ ของระยะห่างระหว่างแกนของถังกับแกนของเพลาล้อสุดท้าย ทั้งนี้ ต้องอยู่ห่างจากท่อไอเสียไม่น้อยกว่า ๑๐ เซนติเมตร (๓) เครื่องอุปกรณ์ที่ติดกับถังต้องอยู่ห่างจากตัวรถเพื่อมิให้เกิดการเสียดสีกัน (๔) ติดแผ่นโลหะหนาพอสมควรหน้าถังสำหรับป้องกันเศษหินที่กระเด็นมาจากการหมุนของล้อรถ ข้อ ๑๐ ในกรณีที่ติดตั้งภายในตัวถังรถต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ในกรณีที่มีห้องเก็บของแยกต่างหากจากส่วนที่ใช้บรรทุกคน ให้ติดตั้งถังไว้ในห้องเก็บของและต้องป้องกันมิให้ก๊าซรั่วเข้าไปในส่วนที่ใช้บรรทุกคน ถ้าใช้ถังที่ไม่มีฝาครอบเครื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนถัง และไม่ได้ติดตั้งถังในกล่องบรรจุถัง ที่จุดต่ำสุดของห้องเก็บของต้องมีท่อสำหรับระบายก๊าซตามข้อ ๗ วรรคหนึ่ง (๒) ในกรณีที่รถไม่มีห้องเก็บของแยกต่างหากจากส่วนที่ใช้บรรทุกคน ให้ใช้ถังทีมีฝาครอบเครื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนถัง หรือติดตั้งถังในกล่องบรรจุถัง ข้อ ๑๑ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องติดตั้งถังที่อื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ จะกระทำได้เมื่อกรมการขนส่งทางบกพิจารณาเห็นว่ามีความปลอดภัย มั่นคงแข็งแรง เหมาะสมในการใช้งาน และให้ความเห็นชอบแล้ว ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ติดตั้งถังภายในตัวถังรถ ต้องติดตั้งท่อบรรจุก๊าซดังนี้ (๑) ท่อบรรจุก๊าซต้องเป็นท่ออ่อนชนิดที่ใช้กับก๊าซ มีขนาดที่เหมาะสมและสามารถทนความดันได้โดยปลอดภัย (๒) ต่อท่อบรรจุก๊าซติดกับลิ้นบรรจุก๊าซที่ถังออกไปยังตัวถังรถด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องไม่ยื่นออกนอกตัวถังรถ (๓) ปลายท่อบรรจุก๊าซต้องยึดติดกับแผ่นโลหะหนาและอยู่ห่างจากประตูทางขึ้นลงพอสมควร และติดตั้งลิ้นบรรจุก๊าซที่ปลายท่อบรรจุก๊าซ ข้อ ๑๓ การติดตั้งท่อก๊าซต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ติดตั้งท่อก๊าซให้ส่วนล่างสุดของท่ออยู่สูงกว่าระยะต่ำสุดของรถไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร ในกรณีที่ติดตั้งถังด้านหลังเพลาล้อท้ายสุดรถ ส่วนล่างสุดของท่อก๊าซที่ต่อจากถังต้องอยู่สูงกว่าระยะต่ำสุดของรถไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร และต้องอยู่สูงจากพื้นถนนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๖ ของระยะห่างระหว่างแกนของถังกับแกนของเพลาล้อท้ายสุด (๒) ท่อก๊าซต้องเป็นท่อทองแดง ไม่มีตะเข็บ มีความหนาและขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในที่เหมาะสมกับการทำงานของลิ้นควบคุมการไหลและอัตราการใช้เชื้อเพลิงของเครื่องกำเนิดพลังงาน สามารถทนความดันได้โดยปลอดภัย (๓) ท่อก๊าซที่ต่อจากถังไปยังเครื่องกำเนิดพลังงานต้องไม่ถูกกระทบกระเทือนหรือเสียดสีกับสิ่งอื่นใด (๔) ท่อก๊าซส่วนที่อยู่ภายในตัวถังรถต้องเป็นชิ้นส่วนเดียวกันโดยไม่มีการเชื่อมหรือต่อ (๕) หุ้มท่อก๊าซด้วยท่อพลาสติกหรือท่อที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน (๖) ท่อก๊าซส่วนที่อยู่ใต้รถต้องต่อเข้าไปในโครงคัสซีหรือส่วนของตัวถังรถที่สามารถป้องกันการกระทบกระแทกจากภายนอกได้ (๗) ท่อก๊าซต้องอยู่ห่างจากท่อไอเสียไม่น้อยกว่า ๑๐ เซนติเมตร เว้นแต่จะมีการป้องกันความร้อนจากท่อไอเสียอย่างมีประสิทธิภาพ (๘) ท่อก๊าซต้องยึดแน่นกับโครงคัสซีหรือส่วนของตัวถังรถด้วยตัวยึดโดยมีระยะห่างกันไม่เกินช่วงละ ๕๐ เซนติเมตร (๙) ท่อก๊าซส่วนที่ผ่านเข้าไปในตัวถังรถส่วนที่ใช้บรรทุกคนต้องเดินในท่อโลหะอีกชั้นหนึ่งสำหรับให้ก๊าซระบายออกนอกตัวถังรถได้เมื่อมีก๊าซ (๑๐) ข้อต่อต่าง ๆ ต้องเป็นข้อต่อแบบเกลียว หรือใช้ปลอกหรือกล่องหุ้มแล้วบัดกรีด้วยเงินหรือทองแดง ข้อ ๑๔ การติดตั้งระบบควบคุมการปิดเปิดก๊าซต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ติดตั้งลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซที่ตัวถังรถในที่ที่ก๊าซจะไม่พุ่งเข้ารถ ในกรณีที่ก๊าซรั่วจากลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซ ไม่ว่าจะรั่วจากท่อทางเข้าหรือท่อทางออก (๒) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซต้องอยู่ห่างจากท่อไอเสียไม่น้อยกว่า ๑๐ เซนติเมตร (๓) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซต้องปิดโดยอัตโนมัติเมื่อเปิดใช้น้ำมันเบนซิน (๔) ระบบไฟฟ้าที่ควบคุมการปิดเปิดก๊าซไปยังเครื่องกำเนิดพลังงานต้องมีฟิวส์ป้องกันในกรณีที่เกิดการลัดวงจรในระบบไฟฟ้า และต้องต่อแยกออกจากระบบไฟฟ้าอื่น ๆ ในรถ ข้อ ๑๕ การติดตั้งเครื่องทำและปรับความดันไอก๊าซต้องปฏิบัติ ดังนี้ (๑) ติดตั้งเครื่องทำและปรับความดันไอก๊าซที่ตัวถังรถโดยให้อยู่ห่างจากท่อไอเสียไม่น้อยกว่า ๑๐ เซนติเมตร เว้นแต่จะมีการป้องกันความร้อนจากท่อไอเสียอย่างมีประสิทธิภาพ (๒) ท่อไอก๊าซที่ต่อจากเครื่องปรับความดันไอก๊าซไปยังเครื่องผสมอากาศกับก๊าซ ต้องเป็นท่ออ่อนที่ทนความดันได้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐.๐ กิโลปาสกาลมาตร และทนความดันแตกได้ไม่น้อยกว่า ๘๗๕.๐ กิโลปาสกาลมาตร และหุ้มด้วยวัสดุที่ป้องกันการรั่วที่อาจเกิดจากการเสียดสีด้วย (๓) ห้ามต่อท่อจากท่อไอเสียไปยังเครื่องทำและปรับความดันไอก๊าซ ข้อ ๑๖ ในกรณีที่เป็นรถที่ใช้ทั้งก๊าซและน้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง ต้องติดตั้งระบบควบคุมการปิดเปิดน้ำมันดังนี้ (๑) ติดตั้งลิ้นควบคุมการปิดเปิดน้ำมันที่ตัวถังรถ เว้นแต่เป็นชนิดที่ได้ออกแบบไว้สำหรับติดตั้งกับเครื่องกำเนิดพลังงาน (๒) ท่อน้ำมันที่เชื่อมระหว่างจุดสองจุดที่เป็นจุดรวมของระบบน้ำมันต้องเป็นโลหะหรือวัสดุสังเคราะห์ที่มีความทนทานต่อน้ำมัน ในกรณีที่ใช้ท่อซึ่งสามารถบิดงอได้จะต้องยึดแน่นไว้โดยใช้แถบรัด (๓) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดน้ำมันต้องปิดโดยอัตโนมัติเมื่อเปิดใช้ก๊าซ (๔) ระบบไฟฟ้าที่ควบคุมการปิดเปิดน้ำมันไปยังเครื่องกำเนิดพลังงานต้องมีฟิวส์ป้องกันในกรณีเกิดการลัดวงจรในระบบไฟฟ้าและต้องต่อแยกออกจากระบบไฟฟ้าอื่น ๆ ในรถ ข้อ ๑๗ เมื่อติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามกฎกระทรวงนี้แล้ว ให้ดำเนินการทดสอบดังนี้ (๑) ทดสอบระบบท่อก่อนการบรรจุก๊าซด้วยอากาศภายใต้ความดันไม่น้อยกว่า ๗๐๐ กิโลปาสกาลมาตร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ นาที ซึ่งความดันต้องไม่ลดลง (๒) ทดสอบระบบท่อเมื่อบรรจุก๊าซแล้ว ซึ่งต้องไม่ปรากฏการรั่วซึม (๓) ทดสอบลิ้นควบคุมการไหล ซึ่งต้องปฏิบัติงานได้ดี ข้อ ๑๘ ถังที่เป็นไปตามข้อ ๓ (๑) เมื่อใช้แล้วและมีอายุครบสิบปีนับแต่วันผลิตให้ดำเนินการทดสอบใหม่ และห้ามมิให้ใช้ถังนั้น เมื่อ (๑) ตรวจพินิจภายนอกถังแล้วปรากฏข้อบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (ก) เมื่อถังถูกไฟไหม้หรือถังเปล่ามีน้ำหนักน้อยกว่าร้อยละ ๙๕ ของน้ำหนักถังเดิม (ข) มีหลุมบ่อโดดเดี่ยวลึกเกินร้อยละ ๕๐ ของความหนาผนังถังเดิม (ค) มีรอยผุกร่อนเป็นแนวยาวตั้งแต่ ๗๕ มิลลิเมตรขึ้นไป และลึกเกินร้อยละ ๒๕ ของความหนาผนังถังเดิม หรือมีรอยผุกร่อนเป็นแนวยาวน้อยกว่า ๗๕ มิลลิเมตร และลึกเกินร้อยละ ๕๐ ของความหนาผนังถังเดิม (ง) มีรอยผุกร่อนทั่วไปลึกเกินร้อยละ ๕๐ ของความหนาผนังถังเดิม (จ) มีรอยบุบเว้าที่รอยเชื่อมลึกเกิน ๖ มิลลิเมตร (ฉ) มีรอยบุบเว้าที่บริเวณอื่นลึกเกินร้อยละ ๑๐ ของความกว้างเฉลี่ยของรอยบุบเว้า (ช) มีรอยชำรุดที่เกิดจากการขูดขีดหรือทิ่มแทงลึกเกินร้อยละ ๕๐ ของความหนาผนังถังเดิม หรือมีรอยชำรุดเช่นนี้ยาวเกิน ๗๕ มิลลิเมตร และลึกเกินร้อยละ ๒๕ ของความหนาผนังถังเดิม (ซ) มีรอยรั่ว รอยร้าว รอยหักพับ หรือบวม (ฌ) จำนวนเกลียวของลิ้นถังที่กินกันลดลงจากที่ระบุไว้ หรือเมื่อขันเกลียวแน่นแล้วก๊าซยังรั่วอยู่ (ญ) ลิ้นเอียงจนเห็นได้ชัด (ฎ) โกร่งกำบังหรือฝาครอบเครื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนถังเสียรูป หลวมหรือมีรอยเชื่อมชำรุด หรือเมื่อฐานถังชำรุดทำให้ถังเอียงจนเห็นได้ชัด หรือ (๒) ทดสอบถังด้วยความดันของของเหลวไม่น้อยกว่าสองเท่าของความดันใช้งานแล้ว ทำให้ถังบวม บิดเบี้ยว ซึมหรือรั่ว หรือทดสอบถังโดยใช้ถังน้ำ (water jacket) แล้ว ได้ค่าการขยายตัวอย่างถาวรของถังเกินร้อยละ ๑๐ ของการขยายตัวอย่างสมบูรณ์โดยปริมาตร ข้อ ๑๙ ถังที่ไม่เป็นไปตามข้อ ๓ (๑) ต้องผ่านการตรวจและทดสอบตามข้อ ๑๘ ก่อนจึงจะใช้ถังนั้นได้ ข้อ ๒๐ ถังที่ผ่านการตรวจและทดสอบตามข้อ ๑๘ หรือข้อ ๑๙ แล้ว ให้ดำเนินการตรวจและทดสอบตามข้อ ๑๘ ทุกห้าปี เมื่อผ่านการตรวจและ ทดสอบแล้วจึงจะใช้ถังนั้นต่อไปได้ ข้อ ๒๑ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่ต้องมีรวมทั้งการติดตั้งตามกฎกระทรวงนี้ต้องได้รับการตรวจและทดสอบจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ นิติบุคคล สามัญวิศวกรหรือวุฒิวิศวกรตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรมที่มีคุณสมบัติตามที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบและเมื่อผู้ตรวจและทดสอบเห็นว่าเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบรวมทั้งการติดตั้งถูกต้องตามกฎกระทรวงนี้ ให้ผู้ตรวจและทดสอบออกหนังสือรับรองการตรวจและทดสอบและทำหรือปิดเครื่องหมายการรับรองไว้ที่รถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ข้อ ๒๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่ต้องมีรวมทั้งการติดตั้งตามกฎกระทรวงนี้ ถ้าได้ติดตั้งก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถนำรถไปตรวจและทดสอบและดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ก่อนวันที่ต้องชำระภาษีหลังจากวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และให้ปิดป้ายไว้ที่ท้ายรถ มีข้อความว่า “รถที่ใช้ก๊าซ ยังไม่ได้ตรวจและทดสอบ” ตัวอักษรสีแดงสูงไม่น้อยกว่า ๑.๕ เซนติเมตร บนพื้นสีขาว กรอบสีแดง กว้าง ๑ เซนติเมตร จนกว่าจะได้รับหนังสือรับรองการตรวจและทดสอบแล้ว ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถตามวรรคหนึ่ง ต้องชำระภาษีภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ให้ได้รับการผ่อนผันเฉพาะการตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามกฎกระทรวงนี้ไม่เกินกำหนดเวลา ดังนี้ รถที่ต้องชำระภาษีภายในวันที่ ให้ได้รับการผ่อนผันการตรวจและ ทดสอบจนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ข้อ ๒๓[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ ตามที่ได้กำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ไปแล้วนั้น ปรากฏว่ามีข้อขัดข้องในทางปฏิบัติหลายประการ ทำให้เจ้าของรถไม่สามารถติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบได้ถูกต้อง ประกอบกับได้มีการพัฒนาเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังกล่าวบางรายการดีขึ้น ในการนี้สมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ รวมทั้งวิธีการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังกล่าวให้เหมาะสมและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๘ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๙๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑/๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๕
301302
กฎกระทรวง ฉบับที่ 19 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ (๓) และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้การขนส่งส่วนบุคคล โดยรถใช้งานเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการกำหนดให้รถใช้งานเกษตรกรรมเป็น รถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และเป็นรถที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม สมควรยกเว้นให้รถใช้งานเกษตรกรรมไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกเช่นเดียวกับรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม และโดยที่มาตรา ๕ (๓) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้กำหนดการขนส่งที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับโดยกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๖ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๕๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๒๓ ตุลาคม ๒๕๒๕
321765
กฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๑๑๔ วรรคสอง มาตรา ๑๑๕ วรรคสี่ และมาตรา ๑๑๙ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ สถานีขนส่งผู้โดยสาร ต้องมีลักษณะเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็นศูนย์รวมกระจาย และสับเปลี่ยนรถสำหรับการขนส่งผู้โดยสาร รวมทั้งเป็นสถานที่ให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่ง และประกอบด้วย (๑) อาคารสถานีซึ่งจัดให้มีพื้นที่สำหรับบริการผู้โดยสาร ที่จำหน่ายตั๋ว โทรศัพท์สาธารณะ ส้วม ที่ทำงานของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก ที่จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดและเครื่องดื่ม ที่พักผู้โดยสาร ที่พักผู้ประจำรถ และที่รับฝากสิ่งของ (๒) ลานจอดรถยนต์โดยสาร รถแท็กซี่และรถส่วนบุคคล (๓) ที่สำหรับเป็นอู่และบริการซ่อมรถ แบบ ขนาด และจำนวนตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๒ สถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ต้องมีลักษณะเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็นศูนย์รวม กระจาย และสับเปลี่ยนรถสำหรับการขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ รวมทั้งเป็นสถานที่ให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่ง และประกอบด้วย (๑) อาคารสถานีซึ่งจัดให้มีพื้นที่สำหรับที่ทำการ ที่ทำงานของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก ที่พักสินค้า ที่จำแนกสินค้า โทรศัพท์สาธารณะ ส้วม ที่พักผู้ประจำรถ และที่จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดและเครื่องดื่ม (๒) คลังสินค้า ที่ชั่งน้ำหนัก อาคารบรรจุหีบห่อ ลานคอนเทนเนอร์ ลานจอดพักรถ และลานจอดรถแท็กซี่และรถส่วนบุคคล (๓) ที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และที่บริการซ่อมรถ (๔) เครื่องมือเครื่องใช้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ได้แก่ รถปั้นจั่น รถยก รถเข็น รถลาก เครื่องทุ่นแรง และเครื่องมือบรรจุหีบห่อ หรือเครื่องมือเครื่องใช้อื่น แบบ ขนาด และจำนวนตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ข้อ ๓ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบของกรมการขนส่งทางบกพร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลธรรมดา (ก) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน (ค) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้ที่ดินที่จะทำการก่อสร้างสถานีขนส่ง (ง) แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (จ) แบบแปลนแผนผัง และผังบริเวณแสดงตำแหน่งที่ตั้ง และทางเข้าและทางออกสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (๒) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ก) รายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ข) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้ที่ดินที่จะทำการก่อสร้างสถานีขนส่ง (จ) แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (ฉ) แบบแปลนแผนผัง และผังบริเวณแสดงตำแหน่งที่ตั้ง และทางเข้าและทางออกสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (๓) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ข) รายชื่อและสัญชาติของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (จ) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิการใช้ที่ดินที่จะทำการก่อสร้างสถานีขนส่ง (ฉ) แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (ช) แบบแปลนแผนผัง และผังบริเวณแสดงตำแหน่งที่ตั้ง และทางเข้าและทางออกสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (๔) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (ข) รายชื่อกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกคน (ค) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการของบริษัททุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของกรรมการของบริษัททุกคน (จ) รายชื่อและสัญชาติของผู้ถือหุ้นทุกคน และจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือ (ฉ) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ (ช) หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้ที่ดินที่จะทำการก่อสร้างสถานีขนส่ง (ซ) แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด (ฌ) แบบแปลนแผนผัง และผังบริเวณแสดงตำแหน่งที่ตั้ง และทางเข้าและทางออกสถานีขนส่ง จำนวน ๔ ชุด ให้ผู้ยื่นคำขอตามข้อนี้วางเงินสด หรือเช็คหรือตั๋วแลกเงินของธนาคาร ตามจำนวนเงินที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด เพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามคำขอรับใบอนุญาต ข้อ ๔ การยื่นคำขอตามกฎกระทรวงนี้ ให้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก และสำหรับในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร จะยื่นคำขอต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดนั้น ๆ ก็ได้ ข้อ ๕ ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ให้ใช้แบบใบอนุญาตท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๖ เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแล้ว ต้องมาทำสัญญากับกรมการขนส่งทางบกภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้กรมการขนส่งทางบกริบหลักประกันตามข้อ ๓ เสียทั้งสิ้น ข้อ ๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลธรรมดา (ก) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน (ค) ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ หรือใบแทน (๒) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ก) รายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ข) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (๓) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ข) รายชื่อและสัญชาติของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (จ) ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ หรือใบแทน (๔) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ข) รายชื่อกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกคน (ค) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการของบริษัททุกคน (ง) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของกรรมการของบริษัททุกคน (จ) รายชื่อและสัญชาติของผู้ถือหุ้นทุกคน และจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือ (ฉ) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ (ช) ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของ หรือใบแทน ข้อ ๘ การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของตามกฎกระทรวงนี้ ให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิมให้ใหม่ ข้อ ๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีขนส่งสัตว์และหรือสิ่งของผู้ใดประสงค์จะขอรับใบแทนใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐานการรับแจ้งความของสถานีตำรวจ หรือใบอนุญาตที่ชำรุดนั้น การอนุญาตคำขอใบแทนใบอนุญาต ให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิม แต่ให้ระบุคำว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านหน้าด้วย ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ใบอนุญาตที่ ........................ / ................................ นายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางออกใบอนุญาตให้ สำนักงาน ชื่อ อยู่เลขที่ ........................................ ตรอก/ซอย ................................... ถนน .................................................... หมู่ที่ ............................ ตำบล/แขวง ......................................... อำเภอ/เขต .................................................. จังหวัด ............................................................ จัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ชื่อ ...................................... ...................................................................... อยู่เลขที่ ...................... ตรอก/ซอย ............................................. ถนน ............................ หมู่ที่ .............. ตำบล/แขวง .......................... อำเภอ/เขต ..................................... จังหวัด ...................................................... ใบอนุญาตฉบับนี้ให้มีอายุ .............. ปี นับตั้งแต่วันที่ .......... เดือน ............................ พ.ศ. ..................................... ถึงวันที่ .............................. เดือน ......... พ.ศ. ................... ให้ไว้ ณ วันที่ .................. เดือน ........................ พ.ศ. .......................... ................................................................. นายทะเบียนกลาง คำเตือน (๑) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใด ไม่จัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างประจำสถานีขนส่งตลอดเวลาตามมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๒) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใด ไม่จัดให้มีอู่ซ่อมรถและบริการซ่อมรถตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใด ไม่จัดให้มีบริเวณที่จอดพักรถตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๔) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใด ไม่จัดให้มีสมุดทะเบียนการเดินรถที่ผ่านเข้าออกสถานีขนส่งตามแบบที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๑๒๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๕) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งผู้ใด เรียกเก็บค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่งเกินอัตราตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดตามมาตรา ๑๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (๖) ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง ซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งปีตามมาตรา ๑๑๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๑๔ วรรคสอง มาตรา ๑๑๕ วรรคสี่ และมาตรา ๑๑๙ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของสถานีขนส่ง หลักเกณฑ์และวิธีการขออนุญาตและการอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง และการขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๖ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/เพิ่มเติม ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๒๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙/๑๐ กันยายน ๒๕๒๕
301301
กฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๑๐๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องแต่งกายตามแบบ ดังนี้ (๑) เสื้อที่จะสวม ให้ใช้แบบใดแบบหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (ก) เสื้อเชิ้ตคอพับ แขนยาวหรือแขนสั้น การสวมเสื้อให้สอดชายล่างของเสื้ออยู่ภายในกางเกง (ข) เสื้อคอแบะปล่อยเอว แบบคอตื้น แขนสั้น (๒) หมวกถ้าจะสวมต้องเป็นหมวกทรงหม้อตาล กระบังหน้าสีดำ และมีดุมติดสายรัดคางข้างละ ๑ ดุม (๓) กางเกงขายาว (๔) เข็มขัดหนังหรือผ้าขนาดกว้าง ๓ ถึง ๔ เซนติเมตร (๕) รองเท้าหุ้มข้อหรือหุ้มส้น ข้อ ๒ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นนายตรวจต้องแต่งกายตามแบบ ดังนี้ (๑) นายตรวจชาย (ก) เสื้อซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๑) (ข) หมวกถ้าจะสวมต้องเป็นหมวกทรงหม้อตาล กระบังหน้าสีดำ และมีดุมติดสายรัดคางข้างละ ๑ ดุม (ค) กางเกงขายาว (ง) เข็มขัดหนังหรือผ้าขนาดกว้าง ๓ ถึง ๔ เซนติเมตร (จ) รองเท้าหุ้มข้อหรือหุ้มส้น (๒) นายตรวจหญิง (ก) เสื้อซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๑) (ข) หมวกถ้าจะสวมต้องเป็นหมวกแก๊ปทรงอ่อน กระบังหน้าสีดำ และมีดุมติดสายรัดคางข้างละ ๑ ดุม (ค) กางเกงขายาว หรือกระโปรงแบบสุภาพ (ง) เข็มขัดหนังหรือผ้าขนาดกว้าง ๓ ถึง ๔ เซนติเมตร (จ) รองเท้าหุ้มข้อหรือหุ้มส้น ข้อ ๓ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร ต้องแต่งกายตามแบบ ดังนี้ (๑) ผู้เก็บค่าโดยสารชาย (ก) เสื้อซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๑) (ข) หมวกถ้าจะสวมต้องเป็นหมวกเบเร่ (ค) กางเกงขายาว (ง) เข็มขัดหรือผ้าขนาดกว้าง ๓ ถึง ๔ เซนติเมตร (จ) รองเท้าหุ้มข้อหรือหุ้มส้น (๒) ผู้เก็บค่าโดยสารหญิง (ก) เสื้อซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๑) (ข) หมวกถ้าจะสวมต้องเป็นหมวกเบเร่ (ค) กางเกงขายาว หรือกระโปรงแบบสุภาพ (ง) เข็มขัดหนังหรือผ้าขนาดกว้าง ๓ ถึง ๔ เซนติเมตร (จ) รองเท้าหุ้มข้อหรือหุ้มส้น ข้อ ๔ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้บริการต้องแต่งกายตามแบบ ดังนี้ (๑) ผู้บริการชาย (ก) เสื้อซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๑) (ข) หมวกถ้าจะสวมต้องเป็นหมวกทรงหม้อตาล กระบังหน้าสีดำ และมีดุมติดสายรัดคางข้างละ ๑ ดุม (ค) กางเกงขายาว (ง) เข็มขัดหนังหรือผ้าขนาดกว้าง ๓ ถึง ๔ เซนติเมตร (จ) รองเท้าหุ้มข้อหรือหุ้มส้น (๒) ผู้บริการหญิง (ก) เสื้อซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๑) (ข) หมวกถ้าจะสวมต้องเป็นหมวกแก๊ปทรงอ่อน กระบังหน้าสีดำ และมีดุมติดสายรัดคางข้างละ ๑ ดุม (ค) กางเกงขายาว หรือกระโปรงแบบสุภาพ (ง) รองเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น ข้อ ๕ สีของเครื่องแต่งกาย และเครื่องหมายประกอบเครื่องแต่งกายของผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งกำหนด แต่ทั้งนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ข้อ ๖ ที่อกเสื้อข้างขวาของผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถตามกฎกระทรวงนี้ ให้ติดแผ่นป้ายชื่อและหรือเลขหมายประจำตัวที่สามารถอ่านได้ชัดเจน ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๐๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่าในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ต้องแต่งกายสะอาด เรียบร้อยตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๘ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๒๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔/๑๐ กันยายน ๒๕๒๕
318504
กฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๙๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และผู้บริการ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ดังนี้ (๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ (ก) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่หนึ่ง ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี (ข) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถที่สองและชนิดที่สาม ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี (ค) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถทุกชนิดในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี (๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี (๓) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนายตรวจ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี (๔) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้บริการ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๙๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และผู้บริการ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๘ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๒๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒/๑๐ กันยายน ๒๕๒๕
301300
กฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีความรู้และความสามารถ ดังนี้ (๑) มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก และได้ผ่านการทดสอบความรู้และความสามารถในการขับรถจากกรมการขนส่งทางบก (๒) ได้ผ่านการทดสอบสมรรถภาพของร่างกายในด้านประสาท มือ ปฏิกิริยา สายตาทางลึก สายตาทางกว้าง และสายตาบอดสี จากกรมการขนส่งทางบก ข้อ ๒ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ หรือผู้บริการสำหรับรถตามข้อ ๑ ต้องผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม ตลอดจนผ่านการทดสอบความรู้ภาควิชาการจากกรมการขนส่งทางบก สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้บริการนั้นต้องผ่านการทดสอบความรู้ภาคการปฏิบัติหน้าที่จากกรมการขนส่งทางบกด้วย ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๙๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่าผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถตามมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทางหรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องมีความรู้และความสามารถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๒๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๑๐ กันยายน ๒๕๒๕
318503
กฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ผู้ใดประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ (ก) ภาพถ่ายประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือภาพถ่ายหนังสือเดินทางหรือภาพถ่ายหนังสือสำคัญประจำตัวอย่างอื่น (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน หรือเอกสารแสดงถิ่นที่อยู่ (ค) รูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตาดำ ขนาด ๓x๔ เซนติเมตร จำนวน ๖ รูป (ง) ใบรับรองแพทย์ (จ) ประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการศึกษาและจบหลักสูตรจากโรงเรียนการขนส่งของกรมการขนส่งทางบกหรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง สำหรับกรณีผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ถ้ามี (ฉ) ประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองของกรมการขนส่งทางบกว่าเป็นผู้มีความรู้และความสามารถตามกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๙๖ (๒) ในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ถ้ามี (ช) ใบอนุญาตเป็นผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่ง หน้าที่ผู้ขับรถออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือใบอนุญาตขับรถยนต์ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช ๒๔๙๓ ถ้ามี (๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร นายตรวจ หรือผู้บริการ (ก) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน (ค) รูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตาดำขนาด ๓x๔ เซนติเมตร จำนวน ๖ รูป (ง) ใบรับรองแพทย์ (จ) ประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองของกรมการขนส่งทางบกว่าเป็นผู้มีความรู้และความสามารถตามกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ถ้ามี (ฉ) ใบอนุญาตเป็นผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่ง หรือมีหน้าที่ผู้เก็บค่าโดยสาร หรือหน้าที่นายตรวจ ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๔๙๗ ถ้ามี ข้อ ๒ การยื่นคำขอตามกฎกระทรวงนี้ (๑) สำหรับผู้ขอที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก (๒) สำหรับผู้ขอที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดนั้น ๆ ข้อ ๓ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำรถ ให้ใช้แบบใบอนุญาตท้ายกฎกระทรวงดังต่อไปนี้ (๑) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ (ก) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่หนึ่ง ให้ใช้แบบ บ.๑ (ข) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่สอง ให้ใช้แบบ บ.๒ (ค) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่สาม ให้ใช้แบบ บ.๓ (ง) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่หนึ่ง ให้ใช้แบบ ท.๑ (จ) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่สอง ให้ใช้แบบ ท.๒ (ฉ) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่สาม ให้ใช้แบบ ท.๓ (๒) ใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร ให้ใช้แบบ กส. (๓) ใบอนุญาตเป็นนายตรวจ ให้ใช้แบบ นต. (๔) ใบอนุญาตเป็นผู้บริการ ให้ใช้แบบ บก. ข้อ ๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำรถผู้ใดประสงค์จะขอรับใบแทนใบอนุญาตที่สูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐานการรับแจ้งความของสถานีตำรวจหรือใบอนุญาตที่ชำรุดนั้น และรูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตาดำ ขนาด ๓x๔ เซนติเมตร จำนวน ๖ รูป การอนุญาตคำขอใบแทนใบอนุญาต ให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิม แต่ให้ระบุคำว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านหน้าด้วย ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม [เอกสารแนบท้าย] ๑. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๑ (บ. ๑) ๒. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๒ (บ. ๒) ๓. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๓ (บ. ๓) ๔. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๑ (ท. ๑) ๕. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๒ (ท. ๒) ๖. ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ชนิดที่ ๓ (ท. ๓) ๗. ใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร (กส.) ๘. ใบอนุญาตเป็นนายตรวจ (นต.) ๙. ใบอนุญาตเป็นผู้บริการ (บก.) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๙๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า การขออนุญาตและการอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๒๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑๐ กันยายน ๒๕๒๕
301299
กฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ผู้บริการตามมาตรา ๙๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้แก่ (๑) พนักงานต้อนรับประจำรถขนส่งผู้โดยสาร (๒) บริกรประจำรถขนส่งผู้โดยสาร ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๙๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้มีผู้บริการประจำรถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๑ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๒๑ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๒๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๒/๑๐ กันยายน ๒๕๒๕
328325
กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑๘ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่ต้องมีตามกฎกระทรวงนี้ถ้าได้ติดตั้งก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เจ้าของรถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ ภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕ วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดให้เจ้าของรถที่ใช้ก๊าซอย่างเดียวและที่ใช้ทั้งก๊าซและน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งได้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่ต้องมีตามกฎกระทรวงดังกล่าว ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามกฎกระทรวงภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ นั้น ปรากฏว่าปัจจุบันนี้ได้มีผู้ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้มีเจ้าของรถดังกล่าวอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขภายในเวลาที่กำหนดได้ ดังนั้น เพื่อมิให้เป็นที่เดือดร้อนแก่เจ้าของรถเหล่านั้น สมควรขยายเวลาการปรับปรุงแก้ไขเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังกล่าวออกไปอีกระยะหนึ่ง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๘๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐/๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๕
641754
กฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ เครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถดังต่อไปนี้ จะแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน คือ (๑) โครงคัสซี (๒) ระบบบังคับเลี้ยว (๓) จำนวนกงล้อและยาง (๔) จำนวนเพลาล้อ (๕) เครื่องกำเนิดพลังงาน (๖) ตัวถัง (๗) สีภายนอกตัวรถ (๘) จำนวนที่นั่งผู้โดยสาร (๙) จำนวนดวงโคมไฟแสงพุ่งไกล แสงพุ่งต่ำ (๑๐) ช่วงล้อ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า ห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๑ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๒๑ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๔๓/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕
641762
กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ หมวด ๑ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก ส่วนที่ ๑ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร มาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็ก ข้อ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๓ มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๖ มาตรฐาน ๗ และรถขนาดเล็กจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวถังรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ทั้งกันชนหน้าและกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถหรือยื่นจากหน้ารถและท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยว ที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับ ต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถ อัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกัน แรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกัน และไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อ เพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนเฉพาะเพลาหน้าก็ได้ (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือ ที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้า ที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิค หรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนติดไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉินที่สามารถทำให้รถตอนท้ายหยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถพ่วงหลุดจากรถตอนหน้า (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ด้วยความเร็วเหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติ ซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิท และสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสีย ที่มีเครื่องระงับเสียงและมีการบังหรือกันท่อไอเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่าย อันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและตรงออกท้ายรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีทางขึ้นลงด้านท้ายรถ ส่วนปลายท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและเบนออกตรงมุมท้ายรถด้านขวา (ฏ) ระบบส่งกำลังงาน ประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อ และเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัยและให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลัง ในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงาน พร้อมสวิทช์ที่ผู้ขับสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟฟ้าที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถ และแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณ ชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิง ที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึม มีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ที่ปลอดภัย ซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึมหรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็ว สามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็ว ชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ข) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๑ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และภายในรถได้ทุกขณะ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องติดกระจกเงาให้เห็นภายในรถได้ทั้งชั้นล่างและชั้นบนได้ทุกขณะด้วย (ค) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถชั้นบนด้วย (ง) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (จ) ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวถัง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฉ) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล หลังคาจะทำด้วยผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันก็ได้ (ช) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นชั้นบนของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมั่นคงแข็งแรง มีพื้นยางหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ปูเต็มความกว้างและความยาวของพื้นรถ ใต้พื้นชั้นบนต้องมีฝ้ากรุโดยทั่วไป (ซ) หน้าต่าง ที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่าง เป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึด ถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด ขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) และมาตรฐาน ๖ (ก) จะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง บานหน้าต่างของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะใช้ผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่มีคุณภาพทัดเทียมกันแทนบานหน้าต่างก็ได้ แต่ต้องมีที่สำหรับยึดติดกับตัวถัง (ฌ) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน บานประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างหรือที่ด้านท้ายของรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านข้าง บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ในกรณีที่ประตูทางขึ้นลงอยู่ที่ด้านท้ายของรถ บันไดทางขึ้นลงให้ยื่นออกนอกรถได้ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวนขนาดและตำแหน่งประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ญ) ที่นั่งผู้ขับรถซึ่งแยกต่างหากจากที่นั่งผู้โดยสาร สามารถปรับเลื่อนได้ตามความเหมาะสม ตรึงแน่นกับพื้นรถอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับรถได้ดีและมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน (ฎ) ที่นั่งผู้โดยสาร ตรึงแน่นกับพื้นรถ แบบและการจัดวางที่นั่งของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารแต่ละมาตรฐาน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฏ) ห้องผู้ขับรถหรือราวกั้นผู้ขับรถที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับแยกผู้ขับรถให้อยู่คนละส่วนกับผู้โดยสาร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก จะมีราวกั้นผู้ขับรถหรือไม่ก็ได้ (ฐ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อย ตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกัน และที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ฑ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควร พร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทและลักษณะของรถ ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถ จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฒ) วัสดุสะท้อนแสง ให้มีวัสดุสะท้อนแสงสีแดงจำนวน ๒ แผ่น จะเป็นลักษณะวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือสามเหลี่ยมด้านเท่า หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร สามารถสะท้อนแสงเห็นได้ในเวลากลางคืนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่มีวัสดุสะท้อนแสงรวมอยู่กับโคมไฟท้าย จะมีวัสดุสะท้อนแสงตามที่กล่าวมาแล้วหรือไม่ก็ได้ (๓) โคมไฟและสัญญาณ ให้มีโคมไฟและสัญญาณ ดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด คือ (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำอาจรวมอยู่ในโคมไฟแสงพุ่งไกล หรือแยกกันก็ได้ (ค) โคมไฟจอด จำนวน ๔ ดวง ติดที่ด้านหน้าและด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟด้านหน้าใช้แสงขาวหรือเหลือง ด้านท้ายใช้แสงแดง แต่ละด้านติดอยู่ในระดับเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟจอดท้ายอาจรวมอยู่ในโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกระพริบ จำนวน ๔ ดวง ติดที่ด้านหน้าและด้านท้าย ข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟด้านหน้าใช้แสงขาวหรือเหลือง ด้านท้ายใช้แสงแดงหรือเหลือง แต่ละด้านติดอยู่ในระดับเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟทุกดวงในข้างเดียวกันต้องกระพริบพร้อมกันในขณะที่รถเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา แล้วแต่กรณี โคมไฟเลี้ยวด้านหน้าอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดหน้าหรือแยกกันก็ได้ โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถ ข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร (ฉ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถ ข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟหยุดอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ ถ้ารวมอยู่ในโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้าย จะต้องมีความสว่างมากกว่าความสว่างของโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้ายนั้น และจะให้ความสว่างเฉพาะขณะใช้ห้ามล้อเท้าเท่านั้น (ช) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาวจำนวนไม่เกิน ๒ ดวง พร้อมที่บังแสง ติดอยู่ด้านบนหรือด้านล่างหรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียน (ซ) โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง และลักษณะรถ ที่ด้านหน้าตอนบนหลังคารถ จำนวน ๔ ดวง โดยติดดวงริมให้อยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร และติดดวงในให้ห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร และให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ริมสุด ด้านละ ๑ ดวง ทั้งนี้ เฉพาะรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร โคมไฟหลังคาหน้าแสดงประเภทรถให้ใช้ดังนี้ ๑) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งประจำทางใช้โคมไฟแสงน้ำเงิน ๒) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งไม่ประจำทาง ใช้โคมไฟแสงเหลือง ๓) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคลใช้โคมไฟแสงขาว ๔) รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ใช้โคมไฟแสงม่วง (ฌ) โคมไฟภายในรถ แสงขาว มีแสงสว่างพอสมควรติดไว้ภายในรถ และจะมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือประจำทุกที่นั่งด้วยก็ได้ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จะบังคับให้มีโคมไฟภายในรถ จำนวนและตำแหน่งของโคมไฟภายในรถ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ญ) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง แสงขาว ส่องที่ป้ายแสดงเส้นทางที่ด้านหน้ารถตอนบนหลังคา โคมไฟอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง ลักษณะรถ และโคมไฟหลังคารถสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ถ้าจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่าที่กำหนดไว้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ข้อ ๒ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถให้รถตอนท้ายเคลื่อนตัวขึ้นลง และเลี้ยวตามรถตอนหน้าได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับที่ทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ถอยหลังได้เสมือนเป็นรถตอนเดียวกันด้วย ข้อ ๓ รถตามข้อ ๑ ที่กำหนดให้มีที่สำหรับผู้โดยสารยืนได้ ให้บริเวณพื้นที่สำหรับผู้โดยสารยืนต้องเป็นพื้นที่ราบซึ่งมีความกว้างและความยาวพอเหมาะที่จะให้ผู้โดยสารยืนได้ โดยถือเกณฑ์พื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ตารางเซนติเมตร ต่อผู้โดยสารยืน ๑ คน ข้อ ๔ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ และมาตรฐาน ๖ ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถหรือชั้นภายในรถ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๓ (ข) มาตรฐาน ๓ (ง) มาตรฐาน ๓ (จ) และมาตรฐาน ๓ (ฉ) ซึ่งมีที่เก็บสัมภาระได้ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถนั้นภายในรถหรือบนหลังคาก็ได้ รถขนาดเล็ก ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้บนหลังคาหรือภายในรถ โดยจะมีไว้ที่ด้านล่างด้วยก็ได้ ข้อ ๕ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ มาตรฐาน ๔ (ก) มาตรฐาน ๕ (ก) และมาตรฐาน ๖ (ก) ให้มีเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสามารถปรับอากาศภายในรถให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอพอเหมาะ และมีพัดลมดูดอากาศอย่างน้อย ๒ เครื่อง ข้อ ๖ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีห้องสุขภัณฑ์ได้ ให้มีห้องสุขภัณฑ์ภายในรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงพอสมควร สำหรับใช้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้และมีอ่างสำหรับล้างมือด้วย ห้องสุขภัณฑ์จะต้องมีที่สำหรับเก็บอุจจาระและปัสสาวะอย่างดีไม่รั่วซึม และป้องกันกลิ่นเหม็นได้ ข้อ ๗ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐานอื่นซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มได้ ให้มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มอยู่ตอนท้ายภายในรถขนาดพอสมควร ข้อ ๘ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ อย่างน้อยจะต้องมีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ดังนี้ (๑) เครื่องรับวิทยุ ๑ เครื่อง (๒) เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง ๑ เครื่อง (๓) เครื่องขยายเสียง ขนาดพอสมควร ๑ เครื่อง อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ตาม (๑) (๒) และ (๓) อาจรวมอยู่ในเครื่องเดียวกันได้ ข้อ ๙ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ และมาตรฐาน ๖ ในประเภทการขนส่งประจำทางและการขนส่งไม่ประจำทางต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย ๒ เครื่อง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ (ก) ในประเภทการขนส่งประจำทางและการขนส่งไม่ประจำทางต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ ๒ เครื่อง เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องมีขนาดพอสมควรติดตั้งไว้ภายในรถในที่เหมาะสม ซึ่งพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่ง ผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ข้อ ๑๐ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้วสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับท้ายรถหรือยื่นจากท้ายรถในระยะห่างพอสมควร และจะมีกันชนหน้าหรือไม่ก็ได้ (ค) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องบังคับให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่ล้อทุกล้อเพลาละไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่น ทั้งนี้ อาจใช้พื้นรถที่เป็นโลหะแทนแผ่นบังโคลนได้ แต่ด้านหลังล้อทุกล้อต้องมีแผ่นยางแขวนไว้เต็มความกว้างของยางล้อ ระยะห่างพอสมควร และสูงจากพื้นไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้ โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูง และต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉิน ที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ หยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่หลุดจากรถลากจูง (ฌ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรหรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้าต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ของรถ ขั้วสายไฟ สวิทช์ที่อาจเกิดประกายไฟได้ ต้องใช้ฉนวนหุ้มปิด (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจกจะต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ข) สีภายนอกและภายในซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ค) เครื่องหมาย เป็นแผ่นโลหะสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดง ความกว้างของขอบสีแดงไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตร โดยรอบ สามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืน ที่ระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลังของตัวถัง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ง) หลังคา ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ (จ) พื้นรถ พื้นที่มั่นคงแข็งแรง (ฉ) หน้าต่าง ที่ด้านข้างรถ ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามสมควร บานหน้าต่างเป็นชนิดปิดเปิดได้ทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ มีกลอนหรือสลักสำหรับยึดถ้าบานหน้าต่างทำด้วยวัสดุโปร่งแสง ต้องมีวัสดุสำหรับบังหรือกรองแสงแดด ขนาดเต็มพื้นที่ของวัสดุโปร่งแสงนั้น บานหน้าต่างของรถปรับอากาศจะเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ก็ได้ ถ้าเป็นชนิดปิดเปิดไม่ได้ ตัวถังจะต้องให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดีในกรณีที่เครื่องปรับอากาศขัดข้อง (ช) ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ประตูทางขึ้นลง อยู่ที่ด้านข้างของรถ บันไดทางขึ้นลงจะต้องไม่ยื่นออกนอกรถ ประตูฉุกเฉิน อยู่ที่ด้านข้างข้างขวาหรือที่ด้านท้ายของรถ มีบานประตูเต็มส่วนกว้างและส่วนสูง มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นประตูฉุกเฉินพร้อมด้วยคำอธิบายวิธีเปิดเป็นภาษาไทย ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน จำนวน ขนาดและตำแหน่งของประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ซ) ที่นั่งผู้โดยสาร ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฎ) (ฌ) ราวยึดเหนี่ยว ที่มั่นคงแข็งแรงและสะอาดเรียบร้อย ตรึงแน่นกับเพดานภายใน โดยมีความยาวและระยะห่างตามความเหมาะสม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวอื่นใดที่ใช้การได้ทัดเทียมกัน และที่ประตูทางขึ้นลงต้องมีราวสำหรับยึดเหนี่ยวติดไว้ตามความเหมาะสมอย่างน้อยประตูละ ๑ ราว (ญ) กริ่งสัญญาณหยุดรถ ที่มีเสียงดังพอสมควรพร้อมด้วยที่กดกริ่งสัญญาณติดไว้ภายในรถ ประเภทของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่จะบังคับให้มีกริ่งสัญญาณหยุดรถตามวรรคหนึ่ง จำนวนและตำแหน่งที่ติดตั้งกริ่งสัญญาณหยุดรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ฎ) วัสดุสะท้อนแสง มีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) (ฒ) (๓) โคมไฟและสัญญาณ ให้มีโคมไฟและสัญญาณ ดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด คือ (ก) โคมไฟจอด จำนวน ๒ ดวง ติดที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ ดวง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ค) (ข) โคมไฟเลี้ยว จำนวน ๒ ดวง ติดที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ ดวง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ง) (ค) โคมไฟท้าย ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (จ) (ง) โคมไฟหยุด ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฉ) (จ) โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง และลักษณะรถ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ซ) (ฉ) โคมไฟภายใน ซึ่งมีลักษณะและจำนวนเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ฌ) (ช) โคมไฟส่องป้ายแสดงเส้นทาง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๓) (ญ) โคมไฟอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง ลักษณะรถ และโคมไฟหลังคารถสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ถ้าจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่าที่กำหนดไว้ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ข้อ ๑๑ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ ที่มีที่เก็บสัมภาระ ให้มีที่เก็บสัมภาระไว้ที่ด้านล่างของรถ ข้อ ๑๒ ให้นำข้อ ๓ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ โดยอนุโลม ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ข้อ ๑๓ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถัง รวมส่วนประกอบที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลัง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร แต่ทั้งนี้ ตัวถังด้านข้างจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) มาตรฐาน ๒ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) มาตรฐาน ๓ (ข) มาตรฐาน ๕ และมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๓.๕๐ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) มาตรฐาน ๒ (ง) มาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) มาตรฐาน ๓ (ง) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน ๓ เมตร ความสูงภายนอกของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ และมาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากพื้นที่ราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๔.๘๐ เมตร ความสูงภายในของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๓) ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๑ มาตรฐาน ๒ (ก) มาตรฐาน ๒ (ข) มาตรฐาน ๓ (ก) มาตรฐาน ๓ (ข) และ มาตรฐาน ๗ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๒ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) มาตรฐาน ๒ (ง) มาตรฐาน ๒ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) มาตรฐาน ๓ (ง) มาตรฐาน ๓ (จ) มาตรฐาน ๓ (ฉ) มาตรฐาน ๔ มาตรฐาน ๕ และรถขนาดเล็ก เมื่อวัดจากกันชนหน้า หรือส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนกว้างสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๘ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของตัวถัง ไม่รวมกันชนหรือแขนพ่วงถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ หรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนหน้าในกรณีที่รถนั้นเป็นรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่ ช่วงล้อของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อคู่หน้าสุดถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้ายหรือศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าและระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือเพลาล้อคู่ท้ายของรถตอนหน้าถึงศูนย์กลางเพลาล้อหรือศูนย์กลางระหว่างเพลาล้อคู่ของรถตอนท้าย (๕) ส่วนยื่นท้าย เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือถึงศูนย์กลางเพลาล้อคู่ท้าย ในกรณีเพลาล้อคู่ท้ายเป็นเพลาคู่จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีประตูทางขึ้นลงด้านท้าย และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ นั้น ส่วนยื่นท้ายจะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อหรือไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อตอนท้าย ข้อ ๑๔ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๕ มาตรฐาน ๖ และมาตรฐาน ๗ ซึ่งเป็นรถเฉพาะกิจ จะมีความกว้าง ความสูง ความยาว ส่วนยื่นหน้า และส่วนยื่นท้ายเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๓ ก็ได้ หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานเฉพาะกิจ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก หมวด ๒ สภาพ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการ ขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ส่วนที่ ๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ ข้อ ๑๕ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่ผู้ผลิตออกแบบและกรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ (ข) กันชน ให้มีกันชนหน้ายื่นจากหน้ารถระยะห่างพอสมควร สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีกันชนท้ายยื่นจากท้ายรถระยะห่างพอสมควร (ค) ระบบบังคับเลี้ยวที่ทำงานได้คล่องตัว พวงมาลัยอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ขับรถสามารถบังคับรถได้สะดวกและปลอดภัย กลไกบังคับต้องไม่สัมผัสกับส่วนอื่นใดของรถอัตราส่วนระหว่างมุมหมุนของพวงมาลัยกับมุมเลี้ยวของล้อทั้งซ้ายและขวาต้องใกล้เคียงกันแรงที่ใช้หมุนพวงมาลัยให้รถเลี้ยวซ้ายหรือขวาจะต้องใกล้เคียงกันและไม่มากเกินสมควร (ง) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะและยางเป็นชนิดกลวงสูบลมที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (จ) เพลาล้อที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ฉ) สปริงและเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือน สปริงมีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย และมีเครื่องผ่อนคลายความสั่นสะเทือนที่เพลาล้อหน้าไม่น้อยกว่า ๒ ชุด ซึ่งสามารถผ่อนคลายความสั่นสะเทือนได้ตามสมควร (ช) แผ่นบังโคลนที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยาง หรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ซ) ห้ามล้อมือที่มีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ฌ) ห้ามล้อเท้าที่บังคับที่ล้อทุกล้อ ซึ่งจะเป็นระบบไฮดรอลิคหรือระบบลมก็ได้ ถ้าเป็นระบบลมให้มีเครื่องวัดความดันของลมหรือสัญญาณเตือนไว้ในที่ซึ่งผู้ขับรถมองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ โดยมีประสิทธิภาพตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ญ) เครื่องกำเนิดพลังงาน ที่สามารถขับเคลื่อนรถด้วยความเร็วที่เหมาะสมและในสภาพใช้งานตามปกติซึ่งต้องไม่เกินเกณฑ์กำลังที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเครื่องกำเนิดพลังงานจะต้องไม่ทำให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี และเสียงเกินเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีฝาครอบเครื่องกำเนิดพลังงานขนาดปิดเครื่องได้สนิทและสามารถเก็บเสียงได้ตามความเหมาะสม (ฎ) ระบบไอเสียที่มีเครื่องระงับเสียงมีการบังหรือกันท่อไอเสียมิให้สัมผัสกับวัสดุติดไฟง่าย อันเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนปลายของท่อไอเสียต้องขนานกับผิวทางและตรงไปตามความยาวของรถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ นั้น ส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อไอเสียจะต้องไม่อยู่ใต้ถังสำหรับบรรทุก สำหรับรถที่ใช้ในการขนสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ ท่อไอเสียจะตั้งขึ้นในแนวดิ่ง และไม่ต่ำกว่าส่วนสูงของรถนั้นก็ได้ (ฏ) ระบบส่งกำลังงานประกอบด้วยคลัทช์ เฟืองส่งกำลัง เพลาส่งกำลังข้อต่อต่าง ๆ และเฟืองท้าย สามารถส่งกำลังขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย และให้มีห่วงหรือโซ่รองรับเพลาส่งกำลังที่ทำด้วยโลหะที่มีขนาดสามารถรองรับเพลาส่งกำลัง ในกรณีที่หลุดหรือขาดไม่ให้กระแทกผิวทางได้ (ฐ) ระบบสตาร์ทเครื่องกำเนิดพลังงานพร้อมสวิทช์ใช้การได้ดีที่ผู้ขับรถสามารถสตาร์ทเครื่องได้จากที่นั่งผู้ขับรถ (ฑ) ระบบไฟฟ้า ให้ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มสาย และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านในสายนั้น การเดินสายไฟภายในและภายนอกต้องเรียบร้อย และไม่เป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจร หรือเกิดอันตรายได้ง่าย ส่วนตัวถังที่ทำด้วยวัสดุสื่อไฟฟ้า ต้องต่อให้ร่วมกับแบตเตอรี่ต้องยึดแน่นกับตัวรถ ในกรณีที่แบตเตอรี่อยู่ในช่องแคบของตัวถัง จะต้องมีไม้หรือฉนวนกั้นตามความเหมาะสมด้วย (ฒ) แตรสัญญาณชนิดไฟฟ้าเสียงเดียว ดังพอสมควร ความดังของเสียงแตรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แตรสัญญาณอย่างอื่นนอกจากแตรไฟฟ้าหากจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ห้ามนำแตรสัญญาณที่มีเสียงทำให้เกิดความรำคาญหรือรบกวนสาธารณชนมาใช้ (ณ) ถังเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องกำเนิดพลังงานซึ่งมีสภาพไม่รั่วซึมมีฝาปิดอย่างดีและมีขนาดพอสมควร ติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัยซึ่งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งท่อส่งเชื้อเพลิงต้องมีสภาพดี ไม่รั่วซึม หรือเกิดอันตรายได้ง่าย (ด) เครื่องวัดความเร็วสามารถอ่านความเร็วของรถเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละสิบ และจะต้องมีแสงสว่างให้สามารถอ่านความเร็วในเวลากลางคืนได้ (ต) เครื่องบันทึกความเร็วชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสามารถบันทึกระยะทาง เวลา และความเร็วของรถตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง บนกระดาษกร๊าฟโดยอัตโนมัติ ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีเครื่องบันทึกความเร็วตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) ตัวถังยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ห้องผู้ขับรถทำด้วยโลหะแข็งแรง มีประตูทั้งสองข้าง มีที่นั่งผู้ขับรถตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สามารถบังคับรถได้ดี และสามารถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อใช้กระจกเงาสำหรับมองหลังได้อย่างชัดเจน ประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่จะบังคับให้มีห้องผู้ขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ข) กระจกกันลมหน้า กระจกกันลมหลัง และส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ต้องเป็นกระจกนิรภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ค) กระจกเงาสำหรับมองหลังอย่างน้อย ๑ บาน ซึ่งทำให้ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านข้าง ด้านหลัง และภายในรถได้ทุกขณะ (ง) เครื่องปัดน้ำฝน มีใบปัดน้ำที่กระจกหน้ารถ และมีขนาดที่สามารถปัดน้ำได้เนื้อที่กว้างพอที่ผู้ขับรถมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถได้อย่างชัดเจน (จ) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ให้มีลักษณะและมาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด แต่ความสูงของตัวถังส่วนที่บรรทุกที่มีลักษณะเป็นกระบะทึบสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๘,๐๐๐ กิโลกรัม แต่ไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร และสำหรับรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน ๑๘,๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อวัดจากพื้นกระบะจะต้องไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร (ฉ) ตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวถัง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ช) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ซ) วัสดุสะท้อนแสง ให้มีวัสดุสะท้อนแสงสีแดงจำนวน ๒ แผ่น จะเป็นลักษณะกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือสามเหลี่ยมด้านเท่า หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร ติดที่ด้านท้ายรถข้างซ้ายและข้างขวา สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบ ให้ติดวัสดุสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมส่วนบนของตัวถังด้านท้าย มุมละ ๑ แผ่น สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่มีวัสดุสะท้อนแสงรวมอยู่กับโคมไฟท้าย จะมีวัสดุสะท้อนแสงตามที่กล่าวมาแล้ว หรือไม่ก็ได้ (๓) โคมไฟและสัญญาณ ให้มีโคมไฟและสัญญาณ ดังต่อไปนี้ ที่มีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด คือ (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ แสงขาวหรือเหลืองอ่อน จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดของหน้ารถไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๓๕ เมตร โคมไฟแสงพุ่งต่ำอาจรวมอยู่ในโคมไฟแสงพุ่งไกล หรือแยกกันก็ได้ (ค) โคมไฟจอด จำนวน ๔ ดวง ติดที่ด้านหน้าและด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟด้านหน้าใช้แสงขาวหรือเหลือง ด้านท้ายใช้แสงแดง แต่ละด้านติดอยู่ในระดับเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟจอดท้ายอาจรวมอยู่ในโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ (ง) โคมไฟเลี้ยว ชนิดใช้ไฟกระพริบจำนวน ๔ ดวง ติดที่ด้านหน้าและด้านท้าย ข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง โคมไฟด้านหน้าใช้แสงขาวหรือเหลือง ด้านท้ายใช้แสงแดงหรือเหลือง แต่ละด้านติดอยู่ในระดับเดียวกัน สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟทุกดวงในข้างเดียวกันต้องกระพริบพร้อมกันในขณะที่รถเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา แล้วแต่กรณี โคมไฟเลี้ยวด้านหน้าอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดหน้าหรือแยกกันก็ได้ โคมไฟเลี้ยวด้านท้ายอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ (จ) โคมไฟท้าย แสงแดง จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถ ข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร (ฉ) โคมไฟหยุด แสงแดง จำนวน ๒ ดวง ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านท้ายรถ ข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง จุดกึ่งกลางโคมไฟห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๗๕ เมตร โคมไฟหยุดอาจรวมอยู่ในโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้าย หรือแยกกันก็ได้ ถ้ารวมอยู่ในโคมไฟจอดท้าย หรือโคมไฟท้าย จะต้องมีความสว่างเป็นสามเท่าของโคมไฟจอดท้ายหรือโคมไฟท้ายนั้น และจะให้ความสว่างเฉพาะขณะใช้ห้ามล้อเท้าเท่านั้น (ช) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน แสงขาวจำนวนไม่เกิน ๒ ดวง พร้อมที่บังแสงติดอยู่ด้านบนหรือด้านล่างหรือด้านข้างของแผ่นป้ายทะเบียน (ซ) โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง และลักษณะรถ แสงเขียวที่ด้านหน้าตอนบนหลังคารถ จำนวน ๔ ดวง โดยติดดวงริมให้อยู่ห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร และติดดวงในให้ห่างจากดวงริมเป็นระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร สำหรับรถที่มีส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบ หรือมีหลังคาถาวร ให้มีโคมไฟแสงแดงด้านท้ายรถตอนบนหลังคา จำนวน ๒ ดวง ติดไว้ห่างจากด้านข้างริมสุดไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร ด้านละ ๑ ดวง โคมไฟตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้มีเฉพาะรถที่มีความสูงเกิน ๒.๕๐ เมตร (ฌ) โคมไฟภายใน ให้มีโคมไฟภายในห้องผู้ขับรถแสงขาว จำนวน ๑ ดวง มีความสว่างพอสมควร สำหรับรถที่ตัวถังส่วนที่บรรทุกสัตว์หรือสิ่งของเป็นกระบะมีหลังคาถาวร หรือเป็นตู้ทึบ จะติดโคมไฟแสงขาวซึ่งมีความสว่างพอสมควรภายในตัวถังหรือไม่ก็ได้ โคมไฟอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง ลักษณะรถและโคมไฟหลังคารถ สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ถ้าจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่าที่กำหนดไว้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ข้อ ๑๖ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว (๑) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องต่อพ่วงทำด้วยโลหะแข็งแรงสำหรับยึดแขนพ่วงของรถพ่วง (๒) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ จะต้องมีจานพ่วงหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ทำด้วยโลหะพร้อมด้วยเครื่องสำหรับล็อคสลักพ่วงของรถกึ่งพ่วงหรือรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว เพื่อมิให้หลุดจากกันในขณะใช้งาน ข้อ ๑๗ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๔ จะต้องมีเครื่องดับเพลิงติดตั้งในที่เหมาะสมพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ขนาด จำนวนและคุณภาพของเครื่องดับเพลิงให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ส่วนที่ ๒ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ข้อ ๑๘ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ดังต่อไปนี้ (๑) คัสซี ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถบรรทุก แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) โครงคัสซี ทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังแล้ว สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ สำหรับโครงคัสซีของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๘ ต้องสามารถปรับขนาดความยาวได้ โครงคัสซีส่วนหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ให้มีสลักพ่วงทำด้วยโลหะขนาดพอสมควรสำหรับต่อกับจานพ่วงของรถลากจูงได้โดยเฉพาะ (ข) กงล้อและยาง กงล้อทำด้วยโลหะ และยางเป็นชนิดกลวงสูบลม ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ค) เพลาล้อ ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้โดยปลอดภัย (ง) สปริง ที่มีขนาดสามารถรับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนของตัวรถขณะบรรทุกเต็มอัตราได้โดยปลอดภัย (จ) แผ่นบังโคลน ที่ล้อทุกล้อ มีขนาดอย่างน้อยเต็มความกว้างของยางล้อ ทำด้วยโลหะหรือยางหรือวัสดุอื่นใด สำหรับล้อหลังสุดของรถ ส่วนล่างสุดของแผ่นบังโคลน ต้องสูงจากพื้นราบไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร (ฉ) ระบบห้ามล้อ จะต้องเป็นระบบที่สามารถห้ามล้อได้โดยใช้เครื่องห้ามล้อจากรถลากจูง และต้องมีระบบห้ามล้อฉุกเฉิน ที่สามารถทำให้รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ หยุดได้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถดังกล่าวหลุดจากรถลากจูง (ช) ระบบไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ (๑) (ฌ) (๒) ตัวถัง ยึดติดกับโครงคัสซีอย่างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมอันอาจก่อให้เกิดอันตราย แบบตัวถังของรถให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ จะต้องประกอบด้วย (ก) ส่วนประกอบของตัวถังที่เป็นกระจก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (ข) (ข) ตัวถังส่วนที่บรรทุก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๒) (จ) (ค) สีภายนอกซึ่งมีลักษณะเรียบร้อย (ง) วัสดุสะท้อนแสง ให้มีวัสดุสะท้อนแสงสีเหลือง จะเป็นลักษณะกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หรือสามเหลี่ยมด้านเท่า หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร ติดที่ด้านหน้ารถข้างซ้ายและข้างขวา และที่ด้านข้างตอนหน้าและตอนท้ายทั้งสองด้าน แห่งละ ๑ แผ่น สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ หรือลักษณะ ๗ ที่ส่วนบรรทุกเป็นตู้ทึบ ให้ติดวัสดุสะท้อนแสงสีเหลืองที่มุมส่วนบนของตัวถังด้านท้าย มุมละ ๑ แผ่น สำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่มีวัสดุสะท้อนแสงรวมอยู่กับโคมไฟท้าย จะมีวัสดุสะท้อนแสงตามวรรคหนึ่งหรือไม่ก็ได้ (๓) โคมไฟและสัญญาณ ให้มีโคมไฟและสัญญาณ ดังต่อไปนี้ ที่ทำงานได้ร่วมกับรถที่ใช้ลากจูง และมีกำลังไฟและความส่องสว่างตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด คือ (ก) โคมไฟจอด ที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวาแห่งละ ๑ ดวง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (ค) (ข) โคมไฟเลี้ยว ที่ด้านท้ายข้างซ้ายและข้างขวา แห่งละ ๑ ดวง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (ง) (ค) โคมไฟท้าย ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (จ) (ง) โคมไฟหยุด ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (ฉ) (จ) โคมไฟส่องป้ายทะเบียน ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (ช) (ฉ) โคมไฟภายใน ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ (๓) (ฌ) โคมไฟอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก โคมไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้าง ลักษณะรถ และโคมไฟหลังคารถสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ถ้าจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่าที่กำหนดไว้ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ข้อ ๑๙ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๘ แล้ว รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบดังต่อไปนี้ด้วย คือ (๑) อุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งได้แก่แขนพ่วง ทำด้วยโลหะขนาดพอสมควร สามารถลากจูงได้ในขณะบรรทุกเต็มอัตรา และสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ พร้อมทั้งมีจานหมุน ทำด้วยโลหะหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ติดบนเพลาล้อหน้าทำให้ล้อคู่หน้าเลี้ยวตามรถลากจูงได้โดยปลอดภัย และให้มีเครื่องบังคับให้รถพ่วงขณะต่อกับรถลากจูงสามารถถอยหลังได้ ความยาวของแขนพ่วง ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (๒) แผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก ความยาวไม่น้อยกว่าด้านละ ๓๐ เซนติเมตร พื้นสีขาวหรือสีเหลือง ขอบสีแดง ความกว้างของขอบสีแดงกว้างไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรโดยรอบสามารถสะท้อนแสงมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืนระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ตรงกลางมีรูปรถพ่วงหรืออักษรไทยว่า “รถพ่วง” สีดำ ติดอยู่ที่ด้านท้ายในระดับสูงไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ส่วนที่ ๓ ขนาดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ข้อ ๒๐ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ให้มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ (๑) ความกว้าง เมื่อวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถังรวมส่วนประกอบข้างตัวถังที่ยื่นออกจากตัวถัง แต่ไม่รวมกระจกเงาสำหรับมองหลังด้านข้าง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร และตัวถังหรือส่วนประกอบของตัวถังจะยื่นเกินขอบยางด้านนอกของเพลาท้ายได้ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร (๒) ความสูง เมื่อวัดจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร เว้นแต่รถกระบะบรรทุกหรือรถตู้บรรทุกที่มีความกว้างไม่เกิน ๒.๓๐ เมตร ให้มีความสูงได้ไม่เกิน ๓ เมตร (๓) ความยาว ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากกันชนหน้าถึงส่วนท้ายสุดของรถจะต้องไม่เกิน ๑๐ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดไม่รวมแขนพ่วงถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๘ เมตร ความยาวของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุด ถึงส่วนท้ายสุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๑๒.๕๐ เมตร (๔) ส่วนยื่นหน้า ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อหน้า จะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ส่วนยื่นหน้าของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนหน้าสุดของรถไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางสลักพ่วง จะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ ช่วงล้อ หมายความว่า ระยะระหว่างศูนย์กลางเพลาล้อหน้าสุดของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ หรือศูนย์กลางสลักพ่วงของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ถึงศูนย์กลางเพลาท้าย หรือถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีเป็นเพลาคู่ (๕) ส่วนยื่นท้าย ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ และลักษณะ ๙ เมื่อวัดจากส่วนท้ายของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางเพลาล้อท้าย หรือศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่ จะต้องมีความยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของช่วงล้อ เว้นแต่รถที่มีส่วนบรรทุกสัตว์หรือสิ่งของเป็นตู้ทึบ และรถที่มีทางขึ้นลงหรือติดตั้งอุปกรณ์ในการขนถ่ายสัตว์หรือสิ่งของที่ด้านท้ายส่วนบรรทุก ให้มีความยาวได้ไม่เกินสองในสามของช่วงล้อ ส่วนยื่นท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ เมื่อวัดจากส่วนท้ายสุดของตัวถังส่วนบรรทุกไม่รวมกันชนถึงศูนย์กลางระหว่างเพลาคู่ท้ายในกรณีที่เพลาท้ายเป็นเพลาคู่ จะต้องมีความยาวไม่เกินสองในห้าของช่วงล้อ ข้อ ๒๑ รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๕ ลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ และลักษณะ ๘ ซึ่งเป็นรถบรรทุกเฉพาะกิจจะมีความกว้าง ความสูง ความยาว ส่วนยื่นหน้าและส่วนยื่นท้าย เกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๐ ก็ได้ หากมีความจำเป็นตามลักษณะของการใช้งานเฉพาะกิจ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พัสสน/ผู้จัดทำ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๑ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/ปรับปรุง ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕
318502
กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้ “ก๊าซ” หมายความว่า ก๊าซปิโตรเลียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง “น้ำมัน” หมายความว่า น้ำมันเชื้อเพลิง “ถัง” หมายความว่า ภาชนะบรรจุก๊าซสำหรับรถ “เมกาปาสกาลมาตร” หมายความว่า หน่วยวัดความดันตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลักเกณฑ์การใช้หน่วยต่าง ๆ ของระบบหน่วยเอสไอ และการเลือกใช้หน่วยเอสไอซึ่งทำให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงโดยทศนิยม ออกตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ข้อ ๒ รถที่ใช้ก๊าซอย่างเดียวเป็นเชื้อเพลิงต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบเกี่ยวกับการใช้ก๊าซอย่างน้อยดังนี้ (๑) ถังตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายในที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (๒) ลิ้นบรรจุซึ่งต้องเป็นลิ้นบรรจุ ๒ จังหวะ (๓) ลิ้นควบคุมการบรรจุเกิน (๔) กลอุปกรณ์นิรภัยแบบระบาย (๕) เครื่องวัดปริมาณก๊าซ (๖) เครื่องวัดความดันของเหลวคงที่หรือช่องกระจกตรวจระดับก๊าซ (๗) ลิ้นจ่ายและลิ้นควบคุมการไหล (๘) ท่อก๊าซ (๙) ตัวกรองก๊าซ (๑๐) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซ (๑๑) เครื่องปรับความดันไอก๊าซ (๑๒) ท่อไอก๊าซ (๑๓) ท่อสูญญากาศ (๑๔) เครื่องผสมอากาศกับก๊าซ (๑๕) ท่อน้ำร้อน ข้อ ๓ รถที่ใช้ทั้งก๊าซและน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบเกี่ยวกับการใช้ทั้งก๊าซและน้ำมันอย่างน้อยดังนี้ (๑) เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๒ (๒) ถังน้ำมัน (๓) ตัวกรองน้ำมัน (๔) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดน้ำมัน (๕) เครื่องสูบน้ำมัน (๖) ท่อน้ำมัน ข้อ ๔ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามข้อ ๒ และข้อ ๓ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในระหว่างที่ยังมิได้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับกันว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ การติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามแผนผังท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๕ การติดตั้งถังให้เลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (๑) ติดตั้งภายในตัวรถ (๒) ติดตั้งบนหลังคารถ (๓) ติดตั้งใต้รถ (๔) ติดตั้งในที่อื่นนอกจาก (๑) (๒) หรือ (๓) ซึ่งเป็นที่เหมาะสมและได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ข้อ ๖ การติดตั้งถังโดยทั่วไปต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ถังต้องอยู่ห่างจากท้ายรถไม่น้อยกว่า ๓๕ เซนติเมตร ห้ามติดตั้งถังไว้ในห้องเครื่องยนต์ หรือติดตั้งไว้ส่วนหน้าสุดของรถ หรือติดตั้งไว้ที่ด้านหน้าของแกนเพลาหน้า (๒) ถังต้องติดตั้งในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เว้นแต่กรณีการติดตั้งตามข้อ ๗ (๓) วางถังในลักษณะที่สามารถมองเห็นแผ่นป้ายบอกรายละเอียดเกี่ยวกับถังโดยไม่ต้องรื้อถอนส่วนประกอบใด ๆ ออก (๔) ยึดถังให้ติดแน่นกับตัวรถด้วยสายเคเบิ้ลหรือแถบโลหะระหว่างสายเคเบิ้ลหรือแถบโลหะกับถังต้องหุ้มหรือคั่นด้วยวัสดุที่ยืดหยุ่นได้ เช่น สักหลาด หนัง ยาง พลาสติก เพื่อป้องกันมิให้โลหะเสียดสีกันเมื่อรถสั่นสะเทือนถังต้องไม่ขยับเขยื้อน (๕) อุปกรณ์ยึดถังต้องทนต่อแรงกระชากที่เกิดจากความเร่งหรือความหน่วงของรถ (๖) ห้ามเชื่อมหรือต่อเติมถังติดกับสิ่งอื่นใดโดยไม่จำเป็น (๗) ในกรณีที่มีการติดตั้งถังหลายถังในรถคันเดียวกัน ระดับผิวหน้าที่มีเครื่องอุปกรณ์บนถังแต่ละถังไม่ว่าจะติดตั้งเรียงกันตามแนวนอนหรือแนวตั้งต้องอยู่ในระดับเดียวกันในการเติมก๊าซเข้าถังแต่ละถังต้องเป็นอิสระจากกัน ให้มีท่อก๊าซร่วมได้เฉพาะท่อก๊าซที่ต่อจากถังไปยังเครื่องยนต์ (๘) ในกรณีที่ติดตั้งถังในกล่องบรรจุถัง จะต้องป้องกันมิให้ก๊าซรั่วเข้าไปในส่วนบรรทุกคนในเวลาเติมก๊าซ โดยปฏิบัติดังนี้ (ก) กล่องบรรจุถังต้องทำด้วยวัสดุไม่ติดไฟ มีฝาปิดแน่น (ข) ที่กล่องบรรจุถังต้องมีช่องปิดด้วยวัสดุใสสามารถมองเห็นเครื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนถัง (ค) บริเวณที่วางกล่องบรรจุถังกับส่วนบรรทุกคนต้องแยกจากกันโดยเด็ดขาดด้วยวัสดุแข็งที่ไม่มีรูพรุนและไม่ติดไฟ และอุดรอยต่อด้วยวัสดุกันรั่ว (ง) วางกล่องบรรจุถังบนที่รองรับในที่ที่เหมาะสมที่สามารถเติมก๊าซได้สะดวกและยึดกล่องบรรจุถังและที่รองรับให้ติดแน่นกับพื้นรถ (จ) ยึดถังกับกล่องบรรจุถังโดยใช้สายรัดและสลักเกลียวโลหะ ระหว่างถังและสายรัดมีแผ่นยางรองรับหรือใช้อุปกรณ์ที่หุ้มด้วยยางหรือวัสดุที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ห้ามยึดติดกันด้วยการเชื่อม (ฉ) ที่โกร่งกำบังหรือฝาครอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของถังหรือที่จุดต่ำสุดของกล่องบรรจุถังต้องมีท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในไม่น้อยกว่า ๕๐ มิลลิเมตร สำหรับระบายก๊าซที่รั่วซึมจากเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของถังออกนอกตัวรถในลักษณะที่เป็นการระบายอากาศเมื่อรถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า โดยส่วนของท่อที่ออกจากโกร่งกำบังหรือฝาครอบเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของถังหรือกล่องบรรจุถังไปยังด้านนอกของตัวรถต้องเป็นท่อหุ้มและป้องกันด้วยวัสดุแข็ง ข้อ ๗ ในกรณีที่ติดตั้งถังภายในตัวรถต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ปฏิบัติตามข้อ ๖ (๒) ในกรณีที่มีห้องเก็บของแยกต่างหากจากส่วนบรรทุกคนให้ติดตั้งถังในห้องเก็บของหรือในกล่องบรรจุถังที่ติดตั้งไว้ในห้องเก็บของและต้องป้องกันมิให้ก๊าซรั่วเข้าไปในส่วนบรรทุกคนในเวลาเติมก๊าซ โดยปฏิบัติดังนี้ (ก) ใช้วัสดุแข็งที่ไม่มีรูพรุนและไม่ติดไฟกั้นระหว่างห้องเก็บของกับส่วนบรรทุกคน และอุดรอยต่อด้วยวัสดุกันรั่ว (ข) ที่จุดต่ำสุดของห้องเก็บของ ต้องมีท่อระบายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายในไม่น้อยกว่า ๕๐ มิลลิเมตร ต่อลงสู่ใต้ท้องรถยาวพอสมควร โดยวางท่อในลักษณะที่เป็นการระบายอากาศเมื่อรถเคลื่อนที่ออกไปข้างหน้า และให้อยู่ห่างจากท่อไอเสียไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตร ท่อนี้ต้องติดแน่นกับพื้นรถ และไม่มีสิ่งอื่นใดปิดหรือกั้นรูระบาย (ค) ในกรณีที่ติดตั้งถังในกล่องบรรจุถังที่ติดตั้งไว้ในห้องเก็บของต้องต่อท่อระบายก๊าซที่รั่วซึมตามข้อ ๖ (๘) (ฉ) ลงสู่ใต้ท้องรถในลักษณะเช่นเดียวกับท่อระบายตาม (ข) (๓) ในกรณีที่รถไม่มีห้องเก็บของแยกต่างหากจากส่วนบรรทุกคน ให้ติดตั้งถังในกล่องบรรจุถัง ข้อ ๘ ในกรณีที่ติดตั้งถังบนหลังคารถต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ปฏิบัติตามข้อ ๖ (๒) วางถังบนที่รองรับโดยยึดถังและที่รองรับให้ติดแน่นกับหลังคารถ (๓) วางถังในลักษณะที่สมดุลกับแนวกลางตามยาวของตัวถังรถและต้องไม่ยื่นออกนอกขอบตัวถังรถ (๔) มีที่กันไม่ให้แสงอาทิตย์กระทบกับถังโดยตรง ข้อ ๙ ในกรณีที่ติดตั้งถังใต้รถต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ปฏิบัติตามข้อ ๖ (๒) ถังต้องติดตั้งในลักษณะที่ส่วนล่างสุดของถังต้องอยู่สูงจากระยะต่ำสุดของรถไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร แต่ในกรณีที่ติดตั้งถังด้านหลังเพลาล้อหลัง ส่วนล่างสุดของถังต้องอยู่สูงจากระยะต่ำสุดของรถไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร และต้องอยู่สูงจากพื้นถนนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๖ ของระยะห่างระหว่างแกนของถังกับแกนของเพลาล้อหลัง ทั้งนี้ ต้องอยู่ห่างจากท่อไอเสียไม่น้อยกว่า ๑๐ เซนติเมตร (๓) เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของถังต้องอยู่ห่างจากตัวถังรถไม่น้อยกว่า ๔ เซนติเมตร (๔) ติดแผ่นโลหะที่มีความหนาไม่น้อยกว่า ๑.๕ มิลลิเมตร หน้าถัง เพื่อป้องกันเศษหินที่กระเด็นมาจากการหมุนของล้อรถ ข้อ ๑๐ การติดตั้งถังนอกจากที่ที่ระบุไว้ในข้อ ๕ (๑) (๒) หรือ (๓) ให้นายทะเบียนพิจารณาให้ความเห็นชอบได้โดยคำนึงถึงความปลอดภัยความมั่นคงแข็งแรงและความเหมาะสม ข้อ ๑๑ การติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการเติมก๊าซเข้าถังต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ลิ้นบรรจุต้องติดตั้งที่ถัง (๒) ในกรณีที่ติดตั้งถังภายในตัวรถต้องปฏิบัติดังนี้ (ก) ต่อท่อก๊าซติดกับลิ้นบรรจุที่ถังออกไปยังข้างตัวถังรถด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องไม่ยื่นออกนอกรถ และติดตั้งลิ้นบรรจุที่ปลายท่อก๊าซ โดยให้ลิ้นบรรจุอยู่ลึกเข้าไปในตัวถังรถจากด้านนอกไม่น้อยกว่า ๔ เซนติเมตร สำหรับเติมก๊าซจากภายนอกรถ (ข) ท่อก๊าซต้องเป็นท่อทองแดงแบบไม่มีตะเข็บ หนาไม่น้อยกว่า ๑ มิลลิเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในไม่น้อยกว่า ๑๐ มิลลิเมตร หรือท่อซึ่งสามารถบิดงอได้ ที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ส่วนข้อต่อต่าง ๆ ต้องเป็นทองแดงหรือทองเหลือง (ค) ปลายท่อก๊าซต้องอยู่ห่างจากประตูรถไม่น้อยกว่า ๔๐ เซนติเมตร และยึดติดกับแผ่นโลหะหนาไม่น้อยกว่า ๒ มิลลิเมตร (๓) เครื่องวัดปริมาณก๊าซต้องติดตั้งที่ถังและที่หน้าปัด เครื่องวัดปริมาณก๊าซที่หน้าปัดต้องเป็นชนิดที่ใช้ระบบไฟฟ้า ข้อ ๑๒ การติดตั้งท่อก๊าซต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ท่อก๊าซต้องติดตั้งในลักษณะที่ส่วนล่างสุดของท่อต้องอยู่สูงจากระยะต่ำสุดของรถไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร แต่ในกรณีที่ติดตั้งถังด้านหลังเพลาล้อหลัง ส่วนล่างสุดของท่อก๊าซที่ต่อจากถังต้องอยู่สูงจากระยะต่ำสุดของรถไม่น้อยกว่า ๕ เซนติเมตร และต้องอยู่สูงจากพื้นถนนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๖ ของระยะห่างระหว่างแกนของถังกับแกนของเพลาล้อหลัง (๒) ท่อก๊าซที่มีความดันต้องเป็นท่อทองแดงแบบไม่มีตะเข็บหนาไม่น้อยกว่า ๑ มิลลิเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายในไม่น้อยกว่า ๑๐ มิลลิเมตร หรือท่อซึ่งสามารถบิดงอได้ที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน (๓) ท่อก๊าซที่ต่อจากถังไปยังเครื่องยนต์ต้องไม่ถูกกระทบหรือเสียดสีกับสิ่งอื่นใด (๔) ท่อก๊าซที่อยู่นอกกล่องบรรจุถังในส่วนบรรทุกคน ต้องเป็นชิ้นส่วนเดียวกันโดยไม่มีการเชื่อม (๕) ท่อก๊าซที่ต่อไปตามตัวถังรถหรือขวางตัวถังรถ ต้องเป็นท่อที่หุ้มด้วยท่อพลาสติกหรือท่อที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน (๖) ท่อก๊าซส่วนที่อยู่ใต้ท้องรถต้องต่อซ่อนเข้าไปในตัวถังรถหรือโครงคัสซี (๗) ท่อก๊าซต้องอยู่ห่างจากท่อไอเสียไม่น้อยกว่า ๑๐ เซนติเมตร เว้นแต่จะมีการป้องกันความร้อนจากการแผ่รังสีไปยังท่อก๊าซนั้นแล้ว (๘) ท่อก๊าซต้องมีตัวยึดห่างกันไม่เกินช่วงละ ๕๐ เซนติเมตร ระหว่างตัวยึดกับท่อก๊าซต้องมีวัสดุที่ทำด้วยพลาสติกหรือวัสดุที่มีคุณภาพทัดเทียมกันรองรับ (๙) ท่อก๊าซที่จำเป็นต้องผ่านเข้าไปในส่วนบรรทุกคนหรือที่ที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศ ต้องเดินในท่อแข็งอีกชั้นหนึ่งที่สามารถป้องกันการกระจายของก๊าซเข้าไปในส่วนบรรทุกคนหรือที่ที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศเมื่อมีก๊าซรั่ว และต้องปิดด้วยแผ่นโลหะหนาไม่น้อยกว่า ๑.๕ มิลลิเมตร โดยยึดแน่นกับตัวถังรถ (๑๐) ท่อก๊าซที่มีความดันต้องมีสายรัดติดกับตัวรถให้แน่น ส่วนท่อก๊าซที่ไม่มีความดันจะใช้แถบยึดแทนก็ได้ (๑๑) ข้อต่อต่าง ๆ ต้องเป็นข้อต่อแบบเกลียว หรือใช้ปลอกหรือกล่องหุ้มแล้วบัดกรีด้วยเงินหรือทองแดง (๑๒) เมื่อติดตั้งท่อก๊าซภายใต้ความดันทั้งหมดแล้วต้องทดสอบโดยใช้ก๊าซไม่ติดไฟอัดที่ความดัน ๑.๐ เมกาปาสกาลมาตร ข้อ ๑๓ การติดตั้งระบบควบคุมการปิดเปิดก๊าซต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซต้องติดตั้งที่ตัวรถ และอยู่ในทิศทางที่ก๊าซจะไม่พุ่งเข้ารถในกรณีที่ก๊าซรั่วจากลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซไม่ว่าจะรั่วจากทางเข้าหรือทางออก (๒) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซต้องอยู่ห่างจากท่อไอเสียไม่น้อยกว่า ๑๐ เซนติเมตร (๓) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดก๊าซต้องปิดโดยอัตโนมัติเมื่อเปิดใช้น้ำมัน เกิดการลัดวงจรไฟฟ้า การจุดระเบิด หรือเผาไหม้ (๔) ระบบไฟฟ้าที่ควบคุมการปิดเปิดก๊าซไปยังเครื่องยนต์ ต้องมีฟิวส์ป้องกันในกรณีที่เกิดการลัดวงจรในระบบไฟฟ้า และต้องแยกออกจากระบบไฟฟ้าอื่น ๆ ในรถ ข้อ ๑๔ การติดตั้งเครื่องปรับความดันไอก๊าซต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) เครื่องปรับความดันไอก๊าซต้องอยู่ห่างจากท่อไอเสียไม่น้อยกว่า ๑๐ เซนติเมตร เว้นแต่จะมีการป้องกันการแผ่รังสีความร้อนจากท่อไอเสียอย่างมีประสิทธิภาพ (๒) เครื่องปรับความดันไอก๊าซต้องติดตั้งที่ตัวรถหรือที่เครื่องยนต์ ในกรณีที่ติดตั้งเครื่องปรับความดันไอก๊าซที่เครื่องยนต์ ท่อก๊าซที่ต่อจากถังเข้าเครื่องปรับความดันไอก๊าซ ส่วนที่อยู่ภายในห้องเครื่องยนต์ต้องเป็นท่อซึ่งสามารถบิดงอและทนความดันได้ไม่น้อยกว่า ๒.๕ เมกาปาสกาลมาตร และทนความดันแตกได้ไม่น้อยกว่า ๑๐.๐ เมกาปาสกาลมาตร (๓) ท่อก๊าซที่ต่อจากเครื่องปรับความดันไอก๊าซไปยังเครื่องผสมอากาศกับก๊าซต้องเป็นท่อที่ทนความดันได้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐.๐ กิโลปาสกาลมาตร และทนความดันแตกได้ไม่น้อยกว่า ๘๗๕.๐ กิโลปาสกาลมาตร และหุ้มด้วยวัสดุที่ป้องกันการรั่วจากการเสียดสีด้วย ข้อ ๑๕ การติดตั้งเครื่องผสมอากาศกับก๊าซต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) เครื่องผสมอากาศกับก๊าซต้องติดตั้งระหว่างเครื่องยนต์และเครื่องกรองอากาศ (๒) ส่วนประกอบทุกชิ้นของเครื่องผสมอากาศกับก๊าซต้องยึดให้แน่น และแข็งแรงด้วยโลหะ เพื่อป้องกันก๊าซรั่วเมื่อมีการกระเทือนหรือกระแทก (๓) ห้ามใช้ก๊าซจากท่อไอเสียเพื่ออุ่นไอดีที่เครื่องผสมอากาศกับก๊าซ ข้อ ๑๖ การติดตั้งระบบควบคุมการปิดเปิดน้ำมันต้องปฏิบัติดังนี้ (๑) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดน้ำมันต้องติดตั้งที่ตัวถังรถ เว้นแต่เป็นชนิดที่ได้ออกแบบไว้สำหรับติดตั้งกับเครื่องยนต์ (๒) ท่อน้ำมันที่เชื่อมระหว่างจุดสองจุดที่เป็นจุดรวมของระบบน้ำมันต้องเป็นโลหะหรือวัสดุสังเคราะห์ที่มีความทนทานต่อน้ำมัน ในกรณีที่ใช้ท่อซึ่งสามารถบิดงอได้จะต้องยึดแน่นไว้โดยใช้แถบรัด (๓) ลิ้นควบคุมการปิดเปิดน้ำมันต้องปิดโดยอัตโนมัติเมื่อเปิดใช้ก๊าซ หรือเกิดการลัดวงจรไฟฟ้า (๔) ระบบไฟฟ้าที่ควบคุมการปิดเปิดน้ำมันไปยังเครื่องยนต์ต้องมีฟิวส์ป้องกันในกรณีที่เกิดการลัดวงจรไฟฟ้า และต้องแยกออกจากระบบไฟฟ้าอื่น ๆ ในรถ ข้อ ๑๗ การติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่ต้องมีตามกฎกระทรวงนี้ ให้ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ สถาบัน สามัญวิศวกร หรือวุฒิวิศวกร ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม ซึ่งนายทะเบียนเห็นชอบเป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนเห็นชอบ ออกใบรับรองให้เป็นหลักฐานได้ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้แล้ว ข้อ ๑๘ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่ต้องมีตามกฎกระทรวงนี้ ถ้าได้ติดตั้งก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เจ้าของรถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ข้อ ๑๙[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ พลเรือเอก อมร ศิริกายะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม [เอกสารแนบท้าย] ๑. แผนผังการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบสำหรับรถที่ใช้ก๊าซอย่างเดียวเป็นเชื้อเพลิง ๒. แผนผังการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบสำหรับรถที่ใช้ทั้งก๊าซและน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้สูงขึ้น ทำให้มีผู้นำก๊าซปิโตรเลียมมาใช้เป็นเชื้อเพลิงกับรถเป็นจำนวนมาก สมควรกำหนดเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบสำหรับรถที่ใช้ก๊าซหรือใช้ทั้งก๊าซและน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถ และโดยที่พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๑ ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘/ตอนที่ ๒๑๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗/๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๔
318501
กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้เจ้าของรถที่ขอชำระภาษีเป็นงวดเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มสำหรับภาษีงวดที่ค้างชำระงวดละหนึ่งร้อยบาท ข้อ ๒ ค่าธรรมเนียมเพิ่มตามข้อ ๑ ให้ชำระพร้อมกับการชำระภาษีที่ค้างชำระแต่ละงวด ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเพิ่มสำหรับรถที่ขอชำระภาษีเป็นงวด จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๔ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘/ตอนที่ ๒๑๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๔๐/๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๔
301297
กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ผู้ใดประสงค์จะนำรถที่ยังมิได้จดทะเบียนตามมาตรา ๘๑ หรือรถที่เลิกใช้ตามมาตรา ๗๙ มาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตและเครื่องหมายตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) บุคคลธรรมดา (ก) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน (๒) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ก) รายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ข) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (ค) สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (๓) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (๔) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ ข้อ ๒ การยื่นคำขอรับใบอนุญาตและเครื่องหมายตามกฎกระทรวงนี้ ให้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก สำหรับในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครจะยื่นคำขอรับใบอนุญาตและเครื่องหมายต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดนั้น ๆ ก็ได้ ข้อ ๓ ใบอนุญาตให้นำรถที่ยังมิได้จดทะเบียนตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง หรือรถที่เลิกใช้ตามมาตรา ๗๙ มาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ให้ใช้แบบใบอนุญาตท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ ๔ เครื่องหมายสำหรับรถที่ได้รับอนุญาตให้นำมาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อมตามกฎกระทรวงนี้ให้มีลักษณะเป็นแผ่นอลูมิเนียมอัดวัสดุสะท้อนแสงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นเป็นสีแดงขนาดกว้าง ๑๕.๒๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐ เซนติเมตร แบ่งออกเป็นสองบรรทัด บรรทัดบนเป็นตัวเลขอารบิคห้าหลัก ขนาดสูง ๗ เซนติเมตร กว้าง ๓ เซนติเมตร และมีตรากรมการขนส่งทางบกอยู่ข้างหน้า บรรทัดล่างเป็นตัวอักษรมีข้อความว่า “ใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม” ขนาดสูง ๒ เซนติเมตร กว้าง ๑.๕๐ เซนติเมตร ตัวเลขและตัวอักษรอัดเป็นรอยดุนสีขาว ทั้งนี้ ตามที่กรมการขนส่งทางบกจัดทำขึ้น ข้อ ๕ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้นำรถที่ยังมิได้จดทะเบียนตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง หรือรถที่เลิกใช้ตามมาตรา ๗๙ มาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อมนั้น ต้องติดภาพถ่ายใบอนุญาตไว้ที่กระจกหน้ารถด้านในหันข้อความด้านหน้าของใบอนุญาตออกด้านนอก และติดเครื่องหมายสำหรับรถที่ได้รับอนุญาตให้นำมาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อมไว้ที่ด้านหน้ารถหนึ่งแผ่น และด้านท้ายรถหนึ่งแผ่น ณ ที่ที่เห็นได้ชัด ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งบันทึกการเดินทางแต่ละครั้งลงในภาพถ่ายใบอนุญาตตามแบบบันทึกการเดินทางท้ายกฎกระทรวงนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ครุฑ) ใบอนุญาตให้นำรถมาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ใบอนุญาตที่ ................... / ..................... ใบอนุญาตฉบับนี้ให้ไว้แก่ ...................................................................... อยู่เลขที่ .............................................. ตรอก/ซอย ....................................... ถนน .......................................... หมู่ที่ ........................................ ตำบล/แขวง .......................................... อำเภอ/เขต ..................................... จังหวัด .................................................... เพื่อแสดงว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้นำรถที่อยู่ในความครอบครอง มาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม โดยออกเครื่องหมาย เลขที่ ถึงเลขที่ .............. ทั้งนี้ ให้ใช้ได้จนถึงวันที่............. เดือน ......................................... พ.ศ. ............... ให้ไว้ ณ วันที่ ................. เดือน ......................................... พ.ศ. ................... .................................................................. นายทะเบียนกลาง บันทึกการเดินทาง วันที่ .................... เดือน ................. พ.ศ. ........... ผู้ได้รับใบอนุญาตประสงค์จะใช้รถ ชนิด .............................................................................. หมายเลขตัวถังหรือโครงคัสซี ................................................. หมายเลขเครื่องยนต์........................................ เดินทางจาก ............................................... ไป .............................................. เพื่อ.............................................. ระหว่างวันที่ .................. เดือน ......................................... พ.ศ. ....... ถึงวันที่ .......... เดือน ..................... พ.ศ. ............. (ลายมือชื่อ) ........................................... ผู้ได้รับใบอนุญาต หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า รถที่ยังมิได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือรถที่เลิกใช้ตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ถ้าจะนำมาใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ต้องมีใบอนุญาตและเครื่องหมายโดยเฉพาะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๘ กันยายน ๒๕๕๗ อังศุมาลี/เพิ่มเติม ๒๑ มกราคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘/ตอนที่ ๒๑๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖/๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๔
301296
กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
กฎกระทรวง กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ เจ้าของโรงเรียนสอนขับรถผู้ใดประสงค์จะขอให้กรมการขนส่งทางบกรับรองโรงเรียนสอบขับรถ ให้ยื่นคำขอตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) ภาพถ่ายใบอนุญาตตั้งโรงเรียน (๒) ภาพถ่ายใบอนุญาตเป็นเจ้าของโรงเรียน พร้อมด้วยสำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านและภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน (๓) หลักสูตรการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติของโรงเรียน (๔) หลักฐานแสดงคุณวุฒิของผู้สอนทุกคน (๕) แผนที่แสดงที่ตั้งโรงเรียน และแบบแปลนแผนผังอาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณโรงเรียน ตลอดจนสนามฝึกหัดขับรถ (๖) ภาพถ่ายรถที่ประสงค์จะใช้ในการฝึกหัดขับรถ ข้อ ๒ โรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีสนามฝึกหัดขับรถซึ่งมี (ก) ถนนขนาดกว้างไม่น้อยกว่า ๖ เมตร ยาวไม่น้อยกว่า ๓๐๐ เมตร ซึ่งมีทางลาด ทางชัน ทางแยก ทางโค้ง สะพาน และทางรถไฟจำลอง ทั้งนี้ ตามแบบแปลนแผนผังที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด หรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (ข) เครื่องหมายจราจรและสัญญาณจราจรตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (ค) ศาลาที่พักของนักเรียน (๒) ทำการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติตามหลักสูตรที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๓) จัดให้มีผู้สอนภาคทฤษฎีซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางกฎหมายอย่างน้อย ๑ คน และผู้สอนซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าประโยควิชาชีพชั้นสูง แผนกช่างเครื่องยนต์หรือเทียบเท่าอย่างน้อย ๑ คน (๔) จัดให้มีผู้สอนภาคปฏิบัติซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าประโยควิชาชีพชั้นสูง แผนกช่างเครื่องยนต์หรือเทียบเท่า และได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถของกรมการขนส่งทางบกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี อย่างน้อย ๑ คน (๕) จัดให้มีรถยนต์สำหรับฝึกหัดขับรถแบบคันบังคับคู่ ที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกิน ๓,๕๐๐ กิโลกรัม และรถยนต์สำหรับฝึกหัดขับรถแบบคันบังคับคู่ที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกินกว่า ๓,๕๐๐ กิโลกรัม ที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรง และมีเครื่องอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยถูกต้องตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ (๖) จัดให้มีเครื่องยนต์ผ่าซีกชนิดเครื่องดีเซลและเครื่องก๊าซโซลีนเพื่อใช้ประกอบการสอน (๗) รับนักเรียนที่ผ่านการทดสอบสมรรถภาพของร่างกายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (๘) จัดทำและส่งรายงานการรับนักเรียน รายงานการสอนนักเรียน และรายงานการทดสอบและวัดผลทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (๙) ใช้หนังสือรับรองผลการสอบตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (๑๐) ต้องอำนวยความสะดวกแก่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายในการเข้าตรวจสอบการสอน การทดสอบและวัดผล ข้อ ๓ เจ้าของโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรองผู้ใดประสงค์จะเปลี่ยนแปลงหรือย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียน หรือสนามฝึกหัดขับรถ ให้ยื่นคำขอให้รับรองโรงเรียนสอนขับรถใหม่ พร้อมด้วยแผนที่แสดงที่ตั้งโรงเรียนและแบบแปลนแผนผังอาคารเรียนสิ่งปลูกสร้างในบริเวณโรงเรียน หรือสนามฝึกหัดขับรถแห่งใหม่ แล้วแต่กรณี ข้อ ๔ เมื่อปรากฏว่าโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรองโรงเรียนใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อ ๒ ให้กรมการขนส่งทางบกมีอำนาจตักเตือนหรือยกเลิกการรับรองโรงเรียนสอนขับรถนั้นได้ตามควรแก่กรณี การยกเลิกการรับรองโรงเรียนสอนขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้กรมการขนส่งทางบกแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของโรงเรียนสอนขับรถทราบ และปิดสำเนาหนังสือนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ โรงเรียนสอนขับรถดังกล่าว ข้อ ๕ การยื่นคำขอตามกฎกระทรวงนี้ (๑) สำหรับโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก (๒) สำหรับโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดนั้น ๆ ข้อ ๖ หนังสือรับรองโรงเรียนสอนขับรถ ให้ใช้แบบหนังสือรับรองโรงเรียนสอนขับรถท้ายกฎกระทรวงนี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม [เอกสารแนบท้าย] ๑. หนังสือรับรองโรงเรียนสอนขับรถ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๙๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่าการรับรองโรงเรียนสอนขับรถ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ โชติกานต์/ปรับปรุง ๑๓ มกราคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘/ตอนที่ ๒๑๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑/๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๔