sysid
stringlengths
1
6
title
stringlengths
8
870
txt
stringlengths
0
257k
576647
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นกรรมการใน ก.พ. พ.ศ. 2551
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นกรรมการใน ก.พ. พ.ศ. ๒๕๕๑[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้มีคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย เลขาธิการ ก.พ. เป็นประธานกรรมการและกรรมการอื่นซึ่งประธาน ก.พ. เป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จำนวนสองคน ผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวนหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน จำนวนหนึ่งคนเป็นกรรมการ ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ. เป็นเลขานุการ กรรมการซึ่งประธาน ก.พ. แต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี ข้อ ๒ ให้มีคณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วย ประธาน ก.พ. เป็นประธานกรรมการและกรรมการ ก.พ. โดยตำแหน่ง เป็นกรรมการ ให้เลขานุการคณะกรรมการสรรหาเป็นเลขานุการ ข้อ ๓ ให้กรรมการสรรหาแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ และด้านกฎหมาย ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดตามมาตรา ๖ วรรคสอง ไปยังสำนักงาน ก.พ. ภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด โดยจะเสนอชื่อผู้ใดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในหลายด้านก็ได้ ข้อ ๔ ให้สำนักงาน ก.พ. จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการเสนอชื่อตามข้อ ๓ รวมกับรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยแยกเป็นบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละด้านตามมาตรา ๖ พร้อมทั้งประวัติและผลงานโดยย่อของแต่ละคน ในกรณีที่ผู้ใดได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านให้ระบุชื่อผู้นั้นไว้ทุกด้านเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา ข้อ ๕ ให้คณะกรรมการสรรหาเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อตามข้อ ๔ ด้านละไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินห้าคนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกโดยเสนอชื่อผู้ใดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านก็ได้ ทั้งนี้ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้นั้นด้วย ข้อ ๖ ให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอตามข้อ ๕ ให้เหลือผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าด้านละหนึ่งคนแต่ไม่เกินสามคนและเมื่อรวมทุกด้านแล้วมีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน ในกรณีที่ผู้ใดได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในหลายด้าน ให้คณะกรรมการคัดเลือกเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ผู้นั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านใด ข้อ ๗ ในกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิได้ไม่ครบจำนวนหรือด้าน ให้คณะกรรมการคัดเลือกแจ้งให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาใหม่เฉพาะตามจำนวนหรือด้านที่ขาด ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อ ๓ ถึงข้อ ๖ ข้อ ๘ ให้สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกตามข้อ ๖ เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป ข้อ ๙ ในกรณีที่จะต้องแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.พ. แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.พ. ด้านหนึ่งด้านใดซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ ถ้าใน ก.พ. ไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนั้นเหลืออยู่ ให้ดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านนั้นใหม่ แต่หากใน ก.พ. ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนั้นเหลืออยู่ ให้ ก.พ. พิจารณาว่าประสงค์ให้มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านเดิมหรือด้านอื่น แล้วดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านที่ ก.พ. กำหนดใหม่ ให้นำความในข้อ ๑ ถึงข้อ ๘ มาใช้บังคับกับการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม เว้นแต่การเสนอชื่อโดยคณะกรรมการสรรหา ให้เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาได้เฉพาะด้านที่ ก.พ. กำหนดไม่เกินด้านละสองคน ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจาก นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๖๑ ก/หน้า ๑/๓๐ เมษายน ๒๕๕๑
593086
กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551
กฎ ก กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๑ (๕) มาตรา ๑๑๔ วรรคสอง มาตรา ๑๑๕ และมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ก.พ.ค. จึงออกกฎ ก.พ.ค. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ.ค. นี้เรียกว่า “กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๑” ข้อ ๒[๑] กฎ ก.พ.ค. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในกฎ ก.พ.ค. นี้ “ผู้อุทธรณ์” หมายความว่า ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ และผู้ที่รับมอบหมายให้อุทธรณ์แทน “คู่กรณี” หมายความว่า ผู้อุทธรณ์และคู่กรณีในอุทธรณ์ “คู่กรณีในอุทธรณ์” หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษทางวินัยหรือสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา ๑๑๐ (๑) (๓) (๕) (๖) (๗) และ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ “พนักงานผู้รับอุทธรณ์” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน ก.พ. ได้มอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการรับอุทธรณ์ การตรวจหนังสืออุทธรณ์ “นิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน” หมายความว่า นิติกรที่สำนักงาน ก.พ. ได้มอบหมายให้รับผิดชอบสำนวนเรื่องอุทธรณ์ “นิติกรผู้แถลง” หมายความว่า นิติกรผู้แถลงประจำสำนวนที่สำนักงาน ก.พ. ได้มอบหมายให้เป็นผู้แถลงเรื่องอุทธรณ์ต่อองค์คณะวินิจฉัย “กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์” หมายความว่า กรรมการ ก.พ.ค. และบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งจาก ก.พ.ค. เพื่อเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ “องค์คณะวินิจฉัย” หมายความว่า ก.พ.ค. หรือคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ก.พ.ค. ตั้งเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ และต้องมีกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์อย่างน้อยสองคนจึงจะเป็นองค์คณะวินิจฉัย “กรรมการเจ้าของสำนวน” หมายความว่า กรรมการ ก.พ.ค. กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และประธานกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากประธาน ก.พ.ค. ให้เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนเรื่องอุทธรณ์ ข้อ ๔ ให้ประธาน ก.พ.ค. รักษาการตามกฎ ก.พ.ค. นี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ประธาน ก.พ.ค. อาจหารือที่ประชุม ก.พ.ค. เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยก็ได้ หมวด ๑ บททั่วไป ข้อ ๕ วิธีพิจารณาอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. เป็นวิธีพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวนตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. นี้ ในกรณีที่กฎหมายหรือระเบียบตามวรรคหนึ่ง มิได้กำหนดเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ข้อ ๖ ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ.ค. นี้หรือตามที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นสมควรหรือคู่กรณีมีคำขอ ประธาน ก.พ.ค มีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ข้อ ๗ ในกรณีที่มิได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. ในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาในการเสนอเรื่องอุทธรณ์และตรวจอุทธรณ์ การแสวงหาข้อเท็จจริง การสรุปสำนวน การรับฟังพยานหลักฐาน หรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นก่อนมีคำวินิจฉัย เมื่อองค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นมีคำขอ องค์คณะวินิจฉัยมีอำนาจสั่งยกเลิกกระบวนพิจารณาที่ผิดกฎ ก.พ.ค. นั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควร ข้อความดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง คู่กรณีฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นได้ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัย แต่ต้องไม่เกินแปดวันนับแต่วันที่ทราบถึงเหตุดังกล่าว หรือมิได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น การยกเลิกกระบวนพิจารณาตามวรรคหนึ่ง อันมิใช่เรื่องที่คู่กรณีละเลยไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่องนั้นภายในระยะเวลาที่กฎหมาย กฎ ก.พ.ค. หรือที่องค์คณะวินิจฉัยกำหนดไว้ ไม่ตัดสิทธิคู่กรณีนั้นในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้นใหม่ให้ถูกต้องได้ ข้อ ๘ การทำคำขอหรือคำร้องต่อ ก.พ.ค. ในกระบวนการพิจารณาของ ก.พ.ค. ให้ทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ ก.พ.ค. จะอนุญาตให้ทำด้วยวาจา ในกรณีเช่นนี้ให้ ก.พ.ค. พิจารณาจดแจ้งข้อความนั้นไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ข้อ ๙ ให้มีการจดแจ้งรายงานการไต่สวน การนั่งพิจารณาหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณารวมไว้ในสำนวนเรื่องอุทธรณ์ทุกครั้ง รายงานกระบวนพิจารณานั้น ให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขเรื่องที่ ชื่อองค์คณะวินิจฉัย ชื่อคู่กรณี สถานที่ วันและเวลาที่ดำเนินการ ข้อความโดยย่อเกี่ยวกับเรื่องที่กระทำ และลายมือชื่อองค์คณะวินิจฉัย ในกรณีที่กระบวนพิจารณาใดกระทำต่อหน้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือพยาน ให้คู่กรณีหรือพยานดังกล่าวลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย ข้อ ๑๐ ถ้าคู่กรณี พยาน หรือบุคคลใด จะต้องลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได หรือเครื่องหมายอย่างอื่นแทนการลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา บันทึก หรือเอกสารใดเพื่อแสดงการรับรู้รายงานหรือบันทึกนั้น หรือเพื่อรับรองการอ่านหรือส่งเอกสารนั้น หากกระทำโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว ให้ถือเสมอกับการลงลายมือชื่อ แต่ถ้ากระทำต่อหน้าองค์คณะวินิจฉัยไม่จำต้องมีลายมือชื่อของพยานสองคนรับรอง ถ้าคู่กรณี พยาน หรือบุคคลที่จะต้องลงลายมือชื่อในรายงาน บันทึก หรือเอกสารดังกล่าว ลงลายมือชื่อไม่ได้หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้จดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อเช่นว่านั้นไว้ ข้อ ๑๑ การยื่นเอกสารหรือพยานหลักฐานต่อ ก.พ.ค. คู่กรณีจะยื่นด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นยื่นต่อ ก.พ.ค. หรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. หรือจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ ในกรณีที่ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ให้ถือว่าวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองส่งเอกสารเป็นวันที่ยื่นเอกสารหรือพยานหลักฐานต่อ ก.พ.ค. การมอบฉันทะให้ผู้อื่นยื่นเอกสารหรือพยานหลักฐาน ให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้มอบ ผู้รับมอบ และพยาน ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ ก.พ.ค. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. ต้องแจ้งข้อความ หรือต้องส่งเอกสารใดให้แก่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ถ้าผู้นั้นหรือผู้แทนของผู้นั้นมิได้รับทราบข้อความหรือมิได้รับเอกสารจาก ก.พ.ค. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. ให้แจ้งข้อความเป็นหนังสือหรือส่งเอกสารทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เว้นแต่ ก.พ.ค. จะมีคำสั่งให้แจ้งข้อความหรือส่งเอกสารโดยวิธีอื่น ในกรณีที่คู่กรณีหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องยื่นคำขอต่อ ก.พ.ค. เพื่อขอให้มีการแจ้งข้อความหรือส่งเอกสารโดยวิธีอื่น คู่กรณีหรือบุคคลซึ่งยื่นคำขอต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการแจ้งข้อความหรือส่งเอกสารโดยวิธีดังกล่าว ข้อ ๑๓ การแจ้งข้อความเป็นหนังสือหรือส่งเอกสารทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ถือว่าวันที่ระบุในใบตอบรับเป็นวันที่ได้รับแจ้ง หากไม่ปรากฏวันที่ในใบตอบรับ ให้ถือว่าวันที่ครบกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันส่งเป็นวันที่ได้รับแจ้ง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้รับก่อนหรือหลังจากวันนั้น หรือไม่ได้รับ การแจ้งข้อความหรือส่งเอกสารโดยวิธีอื่นตามคำสั่ง ก.พ.ค. ให้ ก.พ.ค. กำหนดวันที่ถือว่าผู้รับได้รับแจ้งไว้ด้วย ข้อ ๑๔ การแจ้งข้อความเป็นหนังสือหรือส่งเอกสารโดยวิธีให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. หรือบุคคลอื่นนำไปส่ง ถ้าผู้รับไม่ยอมรับหรือถ้าในขณะนำไปส่งไม่พบผู้รับ ให้วางหรือปิดหนังสือหรือเอกสารนั้นไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานที่นั้นต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจ ข้าราชการอื่น พนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และให้ถือว่าผู้รับได้รับแจ้งในวันที่วางหรือปิดหนังสือหรือเอกสารนั้น ในกรณีที่ไม่พบผู้รับ จะส่งหนังสือหรือเอกสารแก่บุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะที่อยู่หรือทำงานในสถานที่นั้นก็ได้ และให้ถือว่าผู้รับได้รับแจ้งในวันที่ได้ส่งหนังสือหรือเอกสารให้แก่บุคคลนั้น การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ส่ง วาง หรือปิดหนังสือ หรือเอกสารในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. หรือบุคคลผู้นำไปส่ง มอบใบรับลงลายมือชื่อผู้รับ หรือมอบรายการส่งหนังสือหรือเอกสารลงลายมือชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. หรือบุคคลผู้นำไปส่ง แล้วแต่กรณี ต่อ ก.พ.ค. เพื่อรวมไว้ในสำนวน ใบรับหรือรายงานตามวรรคสาม ต้องระบุวิธีส่ง เวลา วัน เดือน ปีที่ส่งหนังสือหรือเอกสาร รวมทั้งชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. หรือบุคคลผู้นำไปส่ง ใบรับหรือรายงานดังกล่าวจะทำโดยวิธีจดลงไว้ที่หนังสือหรือเอกสารต้นฉบับซึ่งยื่นต่อ ก.พ.ค. ก็ได้ ข้อ ๑๕ เอกสารหรือพยานหลักฐานที่คู่กรณียื่นต่อ ก.พ.ค. หรือที่ ก.พ.ค. ได้มา ให้เปิดโอกาสให้คู่กรณีขอตรวจดู ทราบ คัดสำเนา หรือขอสำเนาอันรับรองถูกต้อง และ ก.พ.ค. อาจส่งสำเนาให้คู่กรณีตามกฎ ก.พ.ค. นี้ เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายคุ้มครองให้ไม่ต้องเปิดเผย หรือกรณีที่ ก.พ.ค. เห็นว่าจำเป็นต้องไม่เปิดเผยเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินงานของรัฐ ในกรณีที่เอกสารหรือพยานหลักฐานมีการกำหนดชั้นความลับไว้ มีข้อความที่ไม่เหมาะสม หรือมีข้อความที่อาจเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลใด ให้อยู่ในดุลพินิจของ ก.พ.ค. ที่จะไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีขอตรวจดู ทราบ คัดสำเนา ขอสำเนาอันรับรองถูกต้อง หรือไม่ส่งสำเนาให้คู่กรณี ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดอำนาจ ก.พ.ค. ที่จะจัดให้มีการทำสรุปเรื่องและเปิดโอกาสให้คู่กรณีขอตรวจดู ทราบ หรือคัดสำเนาสรุปเรื่อง หรือขอสำเนาอันรับรองถูกต้องของสรุปเรื่อง หรือส่งสำเนาสรุปเรื่องดังกล่าวให้คู่กรณี ข้อ ๑๖ พยานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ถ้อยคำของตนในสำนวน หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำขอต่อ ก.พ.ค. เพื่อขอตรวจดูเอกสารทั้งหมดหรือบางฉบับในสำนวน หรือขอคัดสำเนาหรือขอสำเนาอันรับรองถูกต้องก็ได้ แต่ทั้งนี้ ห้ามอนุญาตเช่นว่านั้นแก่ (๑) บุคคลภายนอก ในสำนวนที่พิจารณาโดยไม่เปิดเผย (๒) พยานหรือบุคคลภายนอก ในสำนวนที่ ก.พ.ค. ห้ามการตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารในสำนวนทั้งหมดหรือบางฉบับ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือประโยชน์สาธารณะ (๓) พยานหรือบุคคลภายนอก ในกรณีที่กฎหมายคุ้มครองให้ไม่ต้องเปิดเผย หรือกรณี ที่ ก.พ.ค. เห็นว่าจำเป็นต้องไม่เปิดเผย เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินการของรัฐ ข้อ ๑๗ คู่กรณี พยาน หรือบุคคลภายนอกไม่อาจขอตรวจดูหรือขอคัดสำเนาเอกสารที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.พ.ค. นิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน นิติกรผู้แถลง กรรมการเจ้าของสำนวน หรือองค์คณะวินิจฉัยจัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นการภายในทั้งไม่อาจขอสำเนาอันรับรองถูกต้องของเอกสารนั้น ข้อ ๑๘ การตรวจดูหรือการคัดสำเนาเอกสารในสำนวนให้ผู้ขอตามข้อ ๑๕ หรือข้อ ๑๖ หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ขอเป็นผู้ตรวจดูหรือคัด ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ประธาน ก.พ.ค. กำหนด เพื่อความสะดวกหรือเพื่อความปลอดภัยของเอกสารนั้น ห้ามคัดสำเนาคำวินิจฉัยหรือคำสั่งขององค์คณะวินิจฉัยก่อนที่จะมีการแจ้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้น การรับรองสำเนาเอกสาร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ ก.พ.ค. กำหนด เป็นผู้รับรอง ข้อ ๑๙ ถ้าสำนวน เอกสารของคู่กรณี พยานหลักฐาน รายงานกระบวนพิจารณาคำวินิจฉัย หรือเอกสารอื่นใดที่รวมไว้ในสำนวนซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา หรือรอการดำเนินการตามคำวินิจฉัยสูญหายไป หรือบุบสลายทั้งหมดหรือบางส่วน และกรณีดังกล่าวเป็นการขัดข้องต่อการพิจารณาวินิจฉัย การมีคำสั่ง หรือการดำเนินการตามคำวินิจฉัย เมื่อ ก.พ.ค. เห็นสมควรหรือคู่กรณีฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีคำขอ ให้ ก.พ.ค. สั่งให้คู่กรณีหรือบุคคลผู้ถือเอกสารนั้นนำสำเนาที่รับรองถูกต้องมาส่งต่อ ก.พ.ค. ถ้าสำเนาเช่นว่านั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหาไม่ได้ ก.พ.ค. อาจมีคำวินิจฉัยให้พิจารณาอุทธรณ์นั้นใหม่ หรือมีคำสั่งอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ข้อ ๒๐ เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม องค์คณะวินิจฉัย หรือกรรมการเจ้าของสำนวนอาจมีคำสั่งให้การติดต่อสื่อสารระหว่างองค์คณะวินิจฉัย หรือกรรมการเจ้าของสำนวนด้วยกันกระทำโดยโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น แทนการติดต่อโดยทางไปรษณีย์หรือประกอบกันก็ได้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนและความเหมาะสมแก่ลักษณะเนื้อหาของเรื่องที่ทำการติดต่อ รวมทั้งจำนวนและลักษณะของเอกสารหรือวัตถุอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คู่กรณี พยาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ก.พ.ค. อาจมีคำสั่งให้การแจ้งข้อความหรือการส่งเอกสารระหว่าง ก.พ.ค. กับคู่กรณี พยาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง กระทำโดยวิธีการตามวรรคหนึ่งก็ได้ โดยให้ ก.พ.ค. กำหนดวันที่ถือว่าได้รับแจ้งข้อความหรือเอกสารไว้ด้วย ข้อ ๒๑ สำนวน เอกสารของคู่กรณี พยานหลักฐาน รายงานกระบวนพิจารณา คำวินิจฉัย คำสั่ง หรือเอกสารอื่นใดที่รวมไว้ในสำนวน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารต้นฉบับหรือสำเนาคู่ฉบับ ถ้าองค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควร จะมีคำสั่งให้ส่งคืน เก็บรักษาหรือนำเสนอในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ หมวด ๒ การยื่นอุทธรณ์ และการตรวจอุทธรณ์ ข้อ ๒๒ ผู้อุทธรณ์ ต้องเป็นผู้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ.ค. ฉบับนี้ ข้อ ๒๓ กรณีที่ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนถึงแก่ความตายก่อนที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ ทายาทผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดของผู้นั้น มีสิทธิอุทธรณ์แทนได้ ในกรณีที่มีทายาทหลายคนก็ดี ทายาทเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ดี หากทายาทเหล่านั้นประสงค์จะอุทธรณ์แทนตามวรรคแรก ให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยความสามารถ มาเทียบเพื่อการใช้บังคับ แล้วแต่กรณี โดยอนุโลม ข้อ ๒๔ ผู้มีสิทธิอุทธรณ์จะมอบหมายให้ทนายความ หรือบุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทำการอุทธรณ์แทนได้ ด้วยเหตุจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) เจ็บป่วยจนไม่สามารถอุทธรณ์ด้วยตนเองได้ (๒) อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจอุทธรณ์ด้วยตนเองได้ทันเวลาที่กำหนด (๓) มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ ก.พ.ค. หรือองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นสมควร ข้อ ๒๕ ผู้อุทธรณ์อาจมอบหมายให้ทนายความ หรือบุคคลอื่น ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นผู้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในกระบวนการอุทธรณ์แทนก็ได้ แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อน ในการชี้แจงหรือให้ถ้อยคำต่อองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์หรือต่อกรรมการเจ้าของสำนวน คู่กรณีมีสิทธินำทนายความ หรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาฟังการพิจารณาได้ ข้อ ๒๖ การมอบหมายตามกฎ ก.พ.ค. ฉบับนี้ ให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้มอบและผู้รับมอบ ถ้าผู้มอบไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ หรือแกงได โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อยสองคน และให้มีหลักฐานแสดงตัวผู้ได้รับมอบหมายด้วย ข้อ ๒๗ การอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือถึงประธาน ก.พ.ค. โดยใช้ถ้อยคำสุภาพ และมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้ (๑) ชื่อตำแหน่ง สังกัด และที่อยู่สำหรับการติดต่อเกี่ยวกับการอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ (๒) คำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ และวันที่รับทราบคำสั่ง (๓) ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ผู้อุทธรณ์ยกขึ้นเป็นข้อคัดค้านคำสั่งที่เป็นเหตุ แห่งการอุทธรณ์ (๔) คำขอของผู้อุทธรณ์ (๕) ลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์ ถ้าเป็นการอุทธรณ์โดยทายาท หรือผู้ได้รับมอบหมายให้อุทธรณ์แทน ให้ปรับสาระสำคัญในหนังสืออุทธรณ์ให้เหมาะสม โดยอย่างน้อยควรมีสาระสำคัญให้สามารถเข้าใจได้ตามหัวข้อที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ข้อ ๒๘ ให้ผู้อุทธรณ์จัดทำสำเนาหนังสืออุทธรณ์ และสำเนาพยานหลักฐานที่ผู้อุทธรณ์รับรองสำเนาถูกต้อง ยื่นพร้อมกับหนังสืออุทธรณ์ด้วย กรณีที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้เพราะพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นหรือเพราะเหตุอื่นใด ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานไว้ด้วย และถ้ามีการมอบหมายให้ดำเนินการแทน ก็ให้แนบหนังสือมอบหมายตามข้อ ๒๖ แล้วแต่กรณี พร้อมหนังสืออุทธรณ์ด้วย ข้อ ๒๙ การอุทธรณ์ต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลาดังนี้ (๑) สามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ สำหรับผู้ที่ถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ตามมาตรา ๑๑๐ (๑) (๓) (๕) (๖) (๗) และ (๘) (๒) เก้าสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ หรือหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ตามมาตรา ๑๑๐ (๑) (๓) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ถึงแก่ความตาย สำหรับทายาทตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๕ ข้อ ๓๐ การยื่นหนังสืออุทธรณ์ ให้ยื่นต่อพนักงานผู้รับอุทธรณ์ที่สำนักงาน ก.พ. หรือจะส่งหนังสืออุทธรณ์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาอุทธรณ์ในกรณีมายื่นอุทธรณ์ต่อพนักงานผู้รับอุทธรณ์ ให้ถือวันที่รับหนังสือตามหลักฐานการลงทะเบียนรับหนังสือตามระเบียบ ว่าด้วยงานสารบรรณเป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์ ส่วนกรณีส่งหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์ ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสืออุทธรณ์เป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์ ข้อ ๓๑ เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาอุทธรณ์ ให้ถือวันที่ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัย หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่ง เป็นวันรับทราบคำสั่ง ถ้าผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษหรือคำสั่งให้ออกจากราชการ และมีการแจ้งคำสั่งลงโทษ หรือคำสั่งให้ออกจากราชการ ให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการทราบกับมอบสำเนาคำสั่งลงโทษ หรือสำเนาคำสั่งให้ออกจากราชการให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการแล้ว ทำบันทึก ลงวัน เดือน ปี เวลา และสถานที่ที่แจ้งและลงลายมือชื่อผู้แจ้ง พร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันรับทราบคำสั่ง ถ้าไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งได้โดยตรง และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งลงโทษ หรือสำเนาคำสั่งให้ออกจากราชการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ณ ที่อยู่ของผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการโดยส่งสำเนาคำสั่งไปให้สองฉบับ เพื่อให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการลงลายมือชื่อและวัน เดือน ปี ที่รับทราบคำสั่งลงโทษหรือคำสั่งให้ออกจากราชการ ส่งกลับคืนมาเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่าผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการได้รับเอกสารดังกล่าวหรือมีผู้รับแทนแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการลงลายมือชื่อและวัน เดือน ปี ที่รับทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยหรือคำสั่งให้ออกจากราชการกลับคืนมา ให้ถือว่าผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการได้รับทราบคำสั่งแล้ว ข้อ ๓๒ หนังสืออุทธรณ์ที่พนักงานผู้รับอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์ไว้แล้ว ให้ออกใบรับให้ผู้อุทธรณ์และลงทะเบียนเรื่องอุทธรณ์ในสารบบแล้วตรวจคำอุทธรณ์ในเบื้องต้น ถ้าเห็นว่าเป็นคำอุทธรณ์ที่สมบูรณ์ครบถ้วน ให้เสนอคำอุทธรณ์ดังกล่าวต่อประธาน ก.พ.ค. เพื่อดำเนินการต่อไป ถ้าเห็นว่าคำอุทธรณ์นั้นไม่สมบูรณ์ครบถ้วนด้วยเหตุใด ๆ ให้พนักงานผู้รับอุทธรณ์แนะนำให้ผู้อุทธรณ์แก้ไขให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าเห็นว่าข้อที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนนั้นเป็นกรณีที่ไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ หรือเป็นเรื่องอุทธรณ์ที่ไม่อยู่ในอำนาจของ ก.พ.ค. หรือผู้อุทธรณ์ไม่แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้บันทึกไว้แล้วเสนอหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าวต่อประธาน ก.พ.ค. เพื่อดำเนินการต่อไป หมวด ๓ การถอนอุทธรณ์และการดำเนินการกรณีผู้อุทธรณ์ถึงแก่ความตาย ข้อ ๓๓ อุทธรณ์ที่ยื่นไว้แล้ว ผู้อุทธรณ์อาจถอนอุทธรณ์ในเวลาใด ๆ ก่อนที่องค์คณะวินิจฉัยมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นก็ได้ การถอนอุทธรณ์ ต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้อุทธรณ์ แต่ถ้าผู้อุทธรณ์ถอนอุทธรณ์ด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะวินิจฉัย ให้องค์คณะวินิจฉัยบันทึกไว้และให้ผู้อุทธรณ์ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ข้อ ๓๔ เมื่อมีการถอนอุทธรณ์ตามข้อ ๓๓ ให้องค์คณะวินิจฉัยอนุญาต และสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบ ข้อ ๓๕ การออกจากราชการของผู้อุทธรณ์ ไม่เป็นเหตุให้ยุติการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ถึงแก่ความตายก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้รอการวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นออกไปจนกว่าทายาท ผู้จัดการมรดก หรือผู้รับสิทธิของผู้นั้น จะมีคำขอเข้ามาแทนที่ผู้อุทธรณ์นั้น หรือผู้มีส่วนได้เสียจะมีคำขอเข้ามา โดยมีคำขอเข้ามาเองหรือโดยที่องค์คณะวินิจฉัยเรียกเข้ามาเนื่องจากคู่กรณีในอุทธรณ์มีคำขอ คำขอเข้ามาแทนที่ผู้อุทธรณ์ตามวรรคสอง ให้ยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อองค์คณะวินิจฉัยภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้อุทธรณ์นั้นถึงแก่ความตาย ถ้าไม่มีคำขอของบุคคลดังกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว องค์คณะวินิจฉัยจะมีคำสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบนั้นก็ได้ หมวด ๔ การตั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ข้อ ๓๖ ให้ ก.พ.ค. ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะก็ได้ แต่ละคณะประกอบด้วย กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นประธาน และกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์อีกสองคน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ โดยจะกำหนดให้ประธานกรรมการ ก.พ.ค. หรือกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หลายคณะพร้อมกันก็ได้ และให้มีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ. ที่ได้รับมอบหมายเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความจำเป็น ในกรณีที่มีความจำเป็น ก.พ.ค. อาจตั้งให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คนใดทำหน้าที่วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ก็ได้ ข้อ ๓๗ เมื่อได้มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และได้มีการจ่ายสำนวนแล้ว ให้ประธานกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์แจ้งคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทราบโดยให้ผู้อุทธรณ์ลงลายมือชื่อและวันที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน แล้วมอบสำเนาคำสั่งให้ไว้หนึ่งฉบับหรือจะส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้อุทธรณ์ ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ หรือหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวนก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่าผู้อุทธรณ์ได้รับทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ข้อ ๓๘ ในกรณีเรื่องอุทธรณ์ใดมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้ ประธาน ก.พ.ค. จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาหรือเรื่องอุทธรณ์ใดโดยองค์คณะวินิจฉัยหลายองค์คณะร่วมกันพิจารณาวินิจฉัย ตามที่ประธาน ก.พ.ค. กำหนดก็ได้ (๑) เรื่องที่เกี่ยวกับระบบราชการ หรือประโยชน์สาธารณะ (๒) เรื่องที่มีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักกฎหมายหรือหลักการที่สำคัญ (๓) เรื่องที่อาจมีผลเป็นการกลับหรือแก้ไขแนวทางการลงโทษเดิม (๔) เรื่องที่เป็นโครงการใหญ่และมีงบประมาณสูง (๕) เรื่องอื่น ๆ ที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นสมควร หมวด ๕ การยื่นคำคัดค้าน และการพิจารณาคำคัดค้านกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ข้อ ๓๙ ผู้อุทธรณ์อาจคัดค้านกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ ถ้ากรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้นั้นมีกรณีดังต่อไปนี้ (๑) รู้เห็นเหตุการณ์ในการกระทำผิดวินัยที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษหรือการกระทำที่ผู้อุทธรณ์ถูกสั่งให้ออกจากราชการ (๒) มีส่วนได้เสียในการกระทำผิดวินัยที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษหรือการกระทำที่ผู้อุทธรณ์ถูกสั่งให้ออกจากราชการ (๓) มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้อุทธรณ์ (๔) เป็นผู้กล่าวหา หรือเป็นหรือเคยเป็นผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษ หรือสั่งให้ออกจากราชการ (๕) เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัยหรือการสั่งให้ออกจากราชการที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ (๖) มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติหรือทางการสมรสกับบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) อันอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้อุทธรณ์ คำคัดค้านผู้ได้รับการตั้งเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน ก.พ.ค. ภายในเจ็ดวันนับแต่วันรับทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยต้องแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในคำคัดค้านด้วยว่า จะทำให้การพิจารณาอุทธรณ์ไม่ได้ความจริงและความยุติธรรมอย่างไร ก่อนที่จะมีการพิจารณาอุทธรณ์ แต่อาจให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ถูกคัดค้านทำคำชี้แจงประกอบการการพิจารณาของประธาน ก.พ.ค. ได้ ข้อ ๔๐ เมื่อมีการยื่นคำคัดค้านกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คนใด ให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ถูกคัดค้านงดการปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าประธาน ก.พ.ค. จะได้มีการชี้ขาดในเรื่องการคัดค้านนั้นแล้ว หากประธาน ก.พ.ค. เห็นว่ามิได้เป็นไปตามคำคัดค้านและมีเหตุผลสมควรที่จะให้ผู้ที่ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ให้ประธาน ก.พ.ค. นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค. เพื่อพิจารณามีมติให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถ้าที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการที่ไม่ถูกคัดค้าน ก็ให้กรรมการผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ มติดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับแล้วให้เป็นที่สุด ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำคัดค้านฟังขึ้น หรือมีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังได้ว่าหากให้ผู้ที่ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจทำให้การพิจารณาไม่ได้ความจริงและความยุติธรรม ให้มีคำสั่งให้ผู้ที่ถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ในเรื่องนั้น แล้วแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบ ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. สั่งให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ถูกคัดค้านถอนตัวจากการพิจารณา ให้ประธาน ก.พ.ค. แต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะหนึ่งคณะใดหรือตนเองปฏิบัติหน้าที่แทนตามความจำเป็น ข้อ ๔๑ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ใดเห็นว่าตนมีกรณีอันอาจถูกคัดค้านได้ตามข้อ ๓๙ หรือเห็นว่ามีเหตุอื่นที่อาจจะมีการกล่าวอ้างในภายหลังได้ว่าตนไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยเที่ยงธรรม ให้แจ้งต่อประธาน ก.พ.ค. และถอนตัวจากการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ประธาน ก.พ.ค. แต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะหนึ่งคณะใดหรือตนเองปฏิบัติหน้าที่แทนตามความจำเป็น ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าควรให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ขอถอนตัวปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค. เพื่อพิจารณามีมติให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถ้าที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการที่ไม่ถูกคัดค้าน ก็ให้กรรมการผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ มติดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับแล้วให้เป็นที่สุด ข้อ ๔๒ การที่กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ถูกสั่งให้งดการปฏิบัติหน้าที่หรือกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ที่ขอถอนตัวเพราะมีกรณีอันอาจถูกคัดค้านนั้น ย่อมไม่กระทบถึงการกระทำใด ๆ ที่ได้กระทำไปแล้ว แม้ว่าจะได้ดำเนินการหลังจากที่ได้มีการยื่นคำคัดค้านนั้น หมวด ๖ การจ่ายสำนวนและการสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณา ข้อ ๔๓ ภายใต้บังคับข้อ ๙๒ และข้อ ๙๓ เมื่อประธาน ก.พ.ค. ได้รับหนังสืออุทธรณ์ตามข้อ ๓๒ แล้ว ให้พิจารณาจ่ายสำนวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๔๔ ถึงข้อ ๔๗ และให้แต่งตั้งนิติกรผู้แถลง เว้นแต่ในกรณีที่เห็นว่าสำนวนใดไม่จำเป็นต้องมีนิติกรผู้แถลงจะไม่แต่งตั้งนิติกรผู้แถลงก็ได้ ข้อ ๔๔ ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าอุทธรณ์เรื่องใดมีปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญ หรือผลการวินิจฉัยอาจกระทบต่อการปฏิบัติราชการ หรือจะเป็นการวางบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการ หรือกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบคุณธรรมที่ ก.พ.ค. สมควรเป็นผู้วินิจฉัยเอง ก็ให้จ่ายสำนวนนั้นให้ ก.พ.ค. เป็นองค์คณะวินิจฉัย ในกรณีนี้ให้ประธาน ก.พ.ค. แต่งตั้งกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นกรรมการ ก.พ.ค. เจ้าของสำนวน โดยมีนิติกรผู้รับผิดชอบสำนวนเป็นผู้ช่วย ข้อ ๔๕ ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าอุทธรณ์เรื่องใดเป็นกรณีทั่วไปที่ไม่มีลักษณะตามข้อ ๔๔ ก็ให้จ่ายสำนวนอุทธรณ์นั้นให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คณะหนึ่งคณะใด เป็นองค์คณะวินิจฉัย ในกรณีนี้ให้ประธานกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์แต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คนหนึ่งเป็นเจ้าของสำนวน เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ให้เสนอ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัยต่อไป ข้อ ๔๖ ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าอุทธรณ์เรื่องใดเป็นอุทธรณ์ที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ ก็ให้จ่ายสำนวนอุทธรณ์นั้นให้ ก.พ.ค. เป็นองค์คณะวินิจฉัยหรือให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คณะหนึ่งคณะใด เป็นองค์คณะวินิจฉัย ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นองค์คณะวินิจฉัย เมื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นแล้ว ให้เสนอ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัยต่อไป ข้อ ๔๗ ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าอุทธรณ์เรื่องใด เป็นอุทธรณ์ที่พิจารณาได้ ก็ให้จ่ายสำนวนให้แก่ ก.พ.ค. หรือคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นองค์คณะวินิจฉัย ในกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ขึ้นหลายคณะ ให้ประธาน ก.พ.ค. จ่ายสำนวนตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์แยกตามความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ ให้จ่ายสำนวนให้ตรงกับความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ตั้งไว้ (๒) ในกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์แยกตามกลุ่มของส่วนราชการ หรือพื้นที่ตั้งของส่วนราชการใด ให้จ่ายสำนวนให้ตรงกับกลุ่มหรือพื้นที่ตั้งของส่วนราชการนั้น (๓) ในกรณีที่ไม่มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม (๑) หรือ (๒) หรือมีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยในลักษณะเดียวกันหลายคณะ หรือคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่รับผิดชอบเรื่องอุทธรณ์ดังกล่าวมีเรื่องอุทธรณ์ค้างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากจ่ายสำนวนเรื่องอุทธรณ์ให้แก่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นจะทำให้การพิจารณาล่าช้าหรือกระทบต่อความยุติธรรม ให้จ่ายสำนวนอุทธรณ์ตามที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นสมควรว่าจะจ่ายสำนวนเรื่องอุทธรณ์ให้แก่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์คณะใด ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นองค์คณะวินิจฉัย เมื่อวินจฉัยแล้ว ให้เสนอ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัยต่อไป ข้อ ๔๘ กรรมการเจ้าของสำนวน อาจกำหนดประเด็นให้นิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน วิเคราะห์และพิจารณาทำความเห็นเสนอองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาดังนี้ (๑) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่มีการดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด ๑ และเป็นอุทธรณ์ที่รับไว้พิจารณาได้ ก็ให้องค์คณะวินิจฉัยมีคำสั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป (๒) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ยังไม่ชัดเจนหรือที่ยังมีการดำเนินการโดยไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด ๑ ก็ให้มีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาเจ็ดวัน หากไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ให้เสนอองค์คณะวินิจฉัย เพื่อพิจารณามีคำวินิจฉัย (๓) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณาตามข้อ ๔๙ ก็ให้เสนอองค์คณะวินิจฉัย เพื่อพิจารณามีคำวินิจฉัย ข้อ ๔๙ อุทธรณ์ดังต่อไปนี้ เป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณา (๑) เป็นเรื่องที่ไม่อาจอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ได้ตามมาตรา ๑๑๔ วรรคหนึ่ง (๒) ผู้อุทธรณ์มิใช่เป็นผู้มีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๑๔ วรรคหนึ่ง (๓) เป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๔ วรรคหนึ่ง (๔) เป็นเรื่องที่ได้เคยมีการอุทธรณ์และได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว (๕) เป็นกรณีตามข้อ ๔๘ (๒) และ (๓) สำหรับทายาทผู้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์แทน ตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๒ หากมีกรณีตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๕) ให้ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณาเช่นกัน ข้อ ๕๐ เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้รับความเห็นของกรรมการเจ้าของสำนวนตามข้อ ๔๘ (๒) หรือ (๓) แล้ว ให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณามีคำวินิจฉัยดังนี้ (๑) ในกรณีที่ ก.พ.ค. เป็นองค์คณะวินิจฉัย (ก) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณาตามข้อ ๔๙ ก็ให้มีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณา และสั่งจำหน่ายอุทธรณ์นั้นออกจากสารบบ (ข) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่รับไว้พิจารณาได้ ก็ให้สั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาและให้กรรมการ ก.พ.ค. เจ้าของสำนวนดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป (๒) ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นองค์คณะวินิจฉัย (ก) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณาตามข้อ ๔๙ ก็ให้มีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาและเสนอ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัย เมื่อ ก.พ.ค. วินิจฉัยแล้ว ให้จำหน่ายอุทธรณ์นั้นออกจากสารบบ (ข) ถ้าเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่รับไว้พิจารณาได้ ก็ให้สั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาและให้กรรมการเจ้าของสำนวนดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป หมวด ๗ การแสวงหาข้อเท็จจริง ส่วนที่ ๑ การแสวงหาข้อเท็จจริงจากคำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ คำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ และคำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติม ข้อ ๕๑ เมื่อกรรมการเจ้าของสำนวน เห็นว่าอุทธรณ์ใดเป็นอุทธรณ์ที่สมบูรณ์ครบถ้วน ให้มีคำสั่งให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง โดยส่งสำเนาคำอุทธรณ์และสำเนาพยานหลักฐานไปด้วย ในกรณีที่เห็นสมควรจะกำหนดประเด็นที่คู่กรณีในอุทธรณ์ต้องทำคำแก้อุทธรณ์ หรือให้จัดส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือที่จะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาด้วยก็ได้ ในกรณีที่พยานหลักฐานประกอบอุทธรณ์มีปริมาณหรือสภาพที่ทำให้การส่งสำเนาให้แก่คู่กรณีในอุทธรณ์เป็นภาระอย่างมาก ให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ไปพร้อมกับรายการพยานหลักฐานที่คู่กรณีในอุทธรณ์อาจขอดูหรือขอรับได้ที่ ก.พ.ค. ข้อ ๕๒ ให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์โดยชัดแจ้งแสดงการปฏิเสธหรือยอมรับข้อหาที่ปรากฏในหนังสืออุทธรณ์และคำขอท้ายอุทธรณ์ และเหตุแห่งการนั้น พร้อมส่งพยานหลักฐานตามที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนด โดยจัดทำสำเนาคำแก้อุทธรณ์ และสำเนาพยานหลักฐาน หรือตามจำนวนที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนดยื่นมาพร้อมกับคำแก้อุทธรณ์ด้วย ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาหนังสืออุทธรณ์ ข้อ ๕๓ ในกรณีที่กรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าคำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีในอุทธรณ์ไม่ครบถ้วนหรือชัดเจนเพียงพอ จะสั่งให้คู่กรณีในอุทธรณ์ดำเนินการแก้ไขหรือจัดทำคำแก้อุทธรณ์ส่งมาใหม่ก็ได้ ข้อ ๕๔ ในกรณีที่คู่กรณีในอุทธรณ์มิได้จัดทำคำแก้อุทธรณ์ พร้อมทั้งพยานหลักฐานยื่นต่อกรรมการเจ้าของสำนวนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าคู่กรณีในอุทธรณ์ยอมรับข้อเท็จจริงตามข้ออุทธรณ์และให้กรรมการเจ้าของสำนวนพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นเป็นการยุติธรรม ในกรณีที่คู่กรณีในอุทธรณ์มิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด คู่กรณีในอุทธรณ์ต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำแก้อุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน ข้อ ๕๕ เมื่อคู่กรณีในอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว ให้กรรมการเจ้าของสำนวนส่งสำเนาคำแก้อุทธรณ์พร้อมทั้งสำเนาพยานหลักฐานไปยังผู้อุทธรณ์เพื่อให้ผู้อุทธรณ์คัดค้านหรือยอมรับคำแก้อุทธรณ์ หรือพยานหลักฐานที่คู่กรณีในอุทธรณ์ยื่นต่อกรรมการเจ้าของสำนวน ในการนี้ จะกำหนดประเด็นให้ผู้อุทธรณ์ต้องชี้แจงหรือให้จัดส่งพยานหลักฐานใด ๆ ด้วยก็ได้ ถ้าผู้อุทธรณ์ประสงค์จะคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ ให้ทำคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ยื่นต่อกรรมการเจ้าของสำนวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำแก้อุทธรณ์ ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ประสงค์จะทำคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ แต่ประสงค์จะให้พิจารณาอุทธรณ์ต่อไป ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ดำเนินการตามวรรคสองหรือวรรคสาม ให้กรรมการเจ้าของสำนวนสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบก็ได้ ข้อ ๕๖ คำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ให้มีได้เฉพาะในประเด็นที่ได้ยกขึ้นกล่าวในคำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีในอุทธรณ์ หรือที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนด ถ้าผู้อุทธรณ์ทำคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์โดยมีประเด็นหรือคำขอเพิ่มขึ้นใหม่ต่างจากคำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีในอุทธรณ์ หรือที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนด ให้สั่งไม่รับประเด็นหรือคำขอใหม่นั้นไว้พิจารณา ข้อ ๕๗ ให้กรรมการเจ้าของสำนวนส่งสำเนาคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ให้แก่คู่กรณีในอุทธรณ์ เพื่อยื่นคำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติมตามจำนวนที่กำหนดภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์หรือภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อคู่กรณีในอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติมแล้ว หากกรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าเรื่องอุทธรณ์มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาหรือมีคำวินิจฉัยชี้ขาดได้แล้ว ให้จัดทำบันทึกสรุปสำนวนพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องนี้ทั้งหมดเสนอองค์คณะวินิจฉัย เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ส่วนที่ ๒ การแสวงหาข้อเท็จจริงขององค์คณะวินิจฉัย ข้อ ๕๘ ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ องค์คณะวินิจฉัยมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ในการนี้อาจแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญ หรือพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่กรณีที่ปรากฏในคำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ คำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ หรือคำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติม ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นองค์คณะวินิจฉัยอาจดำเนินการตามที่กำหนดในส่วนนี้หรือตามที่เห็นสมควร ในการแสวงหาข้อเท็จจริงขององค์คณะวินิจฉัย ถ้าต้องมีการให้ถ้อยคำของคู่กรณี พยาน หรือบุคคลใด ๆ ให้องค์คณะวินิจฉัยเป็นผู้ซักถาม ข้อ ๕๙ องค์คณะวินิจฉัยมีอำนาจออกคำสั่งเรียกคู่กรณีหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำได้ตามที่เห็นสมควร คำสั่งขององค์คณะวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งจะกำหนดประเด็นข้อเท็จจริงที่จะทำการไต่สวนไว้ด้วยก็ได้ องค์คณะวินิจฉัยต้องแจ้งกำหนดการไต่สวนให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าเพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีนั้นคัดค้านหรือชี้แจงข้อเท็จจริงได้ แต่ถ้าข้อเท็จจริงที่จะทำการไต่สวนเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัย หรือคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทราบข้อเท็จจริงนั้นมาก่อนแล้วจะไม่แจ้งกำหนดการไต่สวนให้คู่กรณีนั้นทราบก็ได้ พยานที่องค์คณะวินิจฉัยมีคำสั่งเรียกมาให้ถ้อยคำอาจเสนอพยานหลักฐานใด ๆ เพื่อประกอบการให้ถ้อยคำของตนได้ ถ้าพยานหลักฐานนั้นอยู่ในประเด็นที่องค์คณะวินิจฉัยได้มีคำสั่งให้มีการไต่สวน ข้อ ๖๐ ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควรจะรับฟังถ้อยคำของบุคคลใด และเป็นกรณีที่ต้องใช้ล่าม ให้จัดหาล่ามโดยล่ามอาจได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกับการมาให้ถ้อยคำของพยานผู้เชี่ยวชาญก็ได้ ข้อ ๖๑ ก่อนให้ถ้อยคำ คู่กรณี หรือพยาน ต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือ จารีตประเพณีแห่งชาติของตน หรือกล่าวคำปฏิญาณว่าจะให้ถ้อยคำตามสัตย์จริง ให้คู่กรณี หรือพยาน แจ้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ อายุ และอาชีพ และในกรณีที่พยานมีความเกี่ยวพันกับคู่กรณีคนหนึ่งคนใด ให้แจ้งด้วยว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างไร ในขณะที่พยานคนหนึ่งกำลังให้ถ้อยคำ คู่กรณีจะอยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ห้ามมิให้พยานคนอื่นอยู่ในสถานที่นั้น เว้นแต่องค์คณะวินิจฉัยจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือเป็นกรณีที่กำหนดไว้ในวรรคสี่ พยานที่ให้ถ้อยคำแล้วอาจถูกเรียกมาให้ถ้อยคำอีกในวันเดียวกันหรือวันอื่น และอาจถูกเรียกมาให้ถ้อยคำพร้อมพยานคนอื่นในเรื่องเดียวกันได้ เมื่อคู่กรณี หรือพยาน ให้ถ้อยคำเสร็จแล้ว ให้องค์คณะวินิจฉัยอ่านบันทึกการให้ถ้อยคำดังกล่าว ให้คู่กรณีหรือพยานฟังและให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่คู่กรณี หรือพยานลงลายมือชื่อไม่ได้ หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อให้จดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อเช่นว่านั้นไว้ ข้อ ๖๒ เมื่อองค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีมีคำขอ องค์คณะวินิจฉัยอาจมีคำสั่งตั้งพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อศึกษา ตรวจสอบ หรือวิเคราะห์เรื่องใดเกี่ยวกับอุทธรณ์อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมาย แล้วให้ทำรายงานหรือให้ถ้อยคำต่อองค์คณะวินิจฉัยได้ รายงานหรือบันทึกการให้ถ้อยคำของพยานผู้เชี่ยวชาญ ให้ส่งสำเนาให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเพื่อทำข้อสังเกตเสนอต่อองค์คณะวินิจฉัยภายในระยะเวลาที่องค์คณะวินิจฉัยกำหนด องค์คณะวินิจฉัยอาจมีคำสั่งให้พยานผู้เชี่ยวชาญมาให้ถ้อยคำประกอบการรายงานของตนได้ องค์คณะวินิจฉัยต้องแจ้งกำหนดการให้ถ้อยคำของพยานผู้เชี่ยวชาญให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีคัดค้านหรือชี้แจงข้อเท็จจริงได้ ข้อ ๖๓ องค์คณะวินิจฉัยหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากองค์คณะวินิจฉัยมีอำนาจไปตรวจสอบสถานที่ บุคคล หรือสิ่งอื่นใดเพื่อประกอบการพิจารณาได้ ให้แจ้งวัน เวลา และสถานที่ที่จะไปตรวจสอบให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าเพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีคัดค้านหรือชี้แจงข้อเท็จจริงได้ โดยคู่กรณีจะไปร่วมในการตรวจสอบดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ องค์คณะวินิจฉัยหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากองค์คณะวินิจฉัยต้องบันทึกการตรวจสอบและการให้ถ้อยคำของบุคคลหรือพยานในการตรวจสอบรวมไว้ในสำนวนด้วย ข้อ ๖๔ ถ้าบุคคลใดเกรงว่าพยานหลักฐานซึ่งตนอาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมา หรือถ้าคู่กรณีฝ่ายใดเกรงว่าพยานหลักฐานซึ่งตนจะอ้างอิงอาจสูญหายเสียก่อนที่จะมีการไต่สวน หรือเป็นการยากที่จะนำมาไต่สวนในภายหลัง บุคคลนั้นหรือคู่กรณีฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้องค์คณะวินิจฉัยมีคำสั่งให้ไต่สวนพยานหลักฐานนั้นไว้ทันที เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้รับคำขอแล้ว ให้มีคำสั่งเรียกผู้ขอและคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ และเมื่อได้ฟังบุคคลเหล่านั้นแล้ว ให้สั่งคำขอตามที่เห็นสมควร ถ้าสั่งอนุญาต ให้ไต่สวนพยานได้ตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ส่วนรายงานและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนั้นให้องค์คณะวินิจฉัยเก็บรักษาไว้ ในกรณีที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและยังมิได้เข้ามาในเรื่องนั้น เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้รับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้สั่งคำขอตามที่เห็นสมควร ถ้าสั่งอนุญาตก็ให้ไต่สวนพยานไปฝ่ายเดียว ข้อ ๖๕ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงตามส่วนนี้ องค์คณะวินิจฉัยจะออกคำสั่งให้มี การบันทึกเสียง ภาพ หรือเสียงและภาพ ตลอดเวลาหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของการดำเนินการนั้น เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาก็ได้ หมวด ๘ การสรุปสำนวน ข้อ ๖๖ เมื่อกรรมการเจ้าของสำนวนได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากคำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณี รวมทั้งข้อเท็จจริงอื่นที่ได้มาตามหมวด ๗ แล้ว เห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอสามารถมีคำวินิจฉัยชี้ขาดได้แล้ว ให้จัดทำบันทึกสรุปสำนวนของกรรมการเจ้าของสำนวน และเสนอบันทึกดังกล่าว พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องนี้ทั้งหมดเสนอให้องค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ข้อ ๖๗ บันทึกสรุปสำนวนอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (๑) ชื่อผู้อุทธรณ์และคู่กรณีในอุทธรณ์ (๒) สรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากคำอุทธรณ์และเอกสารอื่น ๆ ของคู่กรณี รวมทั้งพยานหลักฐานต่าง ๆ และสรุปคำขอของผู้อุทธรณ์ (๓) สรุปข้อเท็จจริงที่กรรมการเจ้าของสำนวนแสวงหาเพิ่มเติม (ถ้ามี) (๔) ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง (๕) ความเห็นของกรรมการเจ้าของสำนวนเกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยและคำขอของผู้อุทธรณ์ บันทึกสรุปสำนวนของกรรมการเจ้าของสำนวนตาม (๒) ให้ส่งให้แก่คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก่อนวันนั่งพิจารณาครั้งแรกตามข้อ ๗๖ ข้อ ๖๘ เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้มีคำสั่งรับอุทธรณ์แล้ว หากกรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าสามารถจะวินิจฉัยได้จากข้อเท็จจริงในคำอุทธรณ์นั้น โดยไม่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงอีก หรือเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากคำชี้แจงของคู่กรณีและหรือจากการแสวงหาข้อเท็จจริงในภายหลังไม่ว่าในขณะใดเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ โดยไม่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงจนครบทุกขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๗ ให้กรรมการเจ้าของสำนวนมีอำนาจจัดทำบันทึกสรุปสำนวนเสนอองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ข้อ ๖๙ เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้รับสำนวนจากกรรมการเจ้าของสำนวนแล้ว หากเห็นว่าไม่มีกรณีที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ให้มีคำสั่งกำหนดวันหนึ่งวันใดเป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องนั้น ให้องค์คณะวินิจฉัยแจ้งให้คู่กรณีทราบกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวัน บรรดาคำอุทธรณ์เพิ่มเติม คำแก้อุทธรณ์ คำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติม รวมทั้งพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่ยื่นหลังวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ไม่ให้รับไว้เป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ และไม่ต้องส่งสำเนาให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๗๐ เมื่อกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ให้กรรมการเจ้าของสำนวนส่งสรุปสำนวนให้นิติกรผู้แถลง (ถ้ามี) เพื่อจัดทำคำแถลงโดยเร็ว คำแถลงให้จัดทำเป็นหนังสือ เว้นแต่เรื่องอุทธรณ์ใดเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือเป็นเรื่องที่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายไม่ยุ่งยาก นิติกรผู้แถลงจะเสนอคำแถลงด้วยวาจาแทนคำแถลงเป็นหนังสือหลังจากที่ได้หารือกับองค์คณะวินิจฉัยแล้วก็ได้ ในการแถลงด้วยวาจา นิติกรผู้แถลงต้องจัดทำบันทึกคำแถลงดังกล่าวเป็นหนังสือกล่าวถึงข้อสาระสำคัญในคำแถลงติดไว้ในสำนวนอุทธรณ์ด้วย โดยจะจัดทำก่อนหรือหลังการเสนอคำแถลงด้วยวาจาก็ได้ เมื่อนิติกรผู้แถลง ได้จัดทำคำแถลงเป็นหนังสือหรือสามารถเสนอคำแถลงด้วยวาจาได้แล้ว ให้องค์คณะวินิจฉัยกำหนดวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ครั้งแรกต่อไป หมวด ๙ การรับฟังพยานหลักฐาน ข้อ ๗๑ คู่กรณีฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ๆ เพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนมีหน้าที่เสนอพยานหลักฐานต่อองค์คณะวินิจฉัย กรรมการเจ้าของสำนวนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวในเบื้องต้น เว้นแต่ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว หรือพยานหลักฐานนั้นอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลอื่น ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายใด คู่กรณีฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ข้อ ๗๒ องค์คณะวินิจฉัย กรรมการเจ้าของสำนวน มีดุลพินิจที่จะรับฟังพยานหลักฐานที่ได้รับมาตามกระบวนพิจารณาโดยไม่จำกัดเฉพาะที่เสนอโดยคู่กรณี แต่พยานหลักฐานนั้นจะต้องเป็นพยานหลักฐานที่คู่กรณีผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสขอตรวจดู ทราบ และแสดงพยานหลักฐานเพื่อยืนยันหรือหักล้าง ข้อ ๗๓ ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นที่อ้างเป็นพยานได้ ถ้าหาต้นฉบับไม่ได้ สำเนาที่รับรองว่าถูกต้องหรือพยานบุคคลที่รู้ข้อความก็อ้างเป็นพยานได้ การอ้างหนังสือราชการเป็นพยาน แม้ต้นฉบับยังมีอยู่ จะส่งสำเนาที่เจ้าหน้าที่รับรองว่าถูกต้องก็ได้ เว้นแต่องค์คณะวินิจฉัย กรรมการเจ้าของสำนวน จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ข้อ ๗๔ องค์คณะวินิจฉัย กรรมการเจ้าของสำนวน อาจรับฟังข้อมูลที่บันทึกสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นพยานหลักฐานในสำนวนได้ แต่การบันทึกและการประมวลผลนั้นต้องเป็นไปโดยถูกต้องและต้องมีคำรับรองของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือดำเนินการนั้น ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการรับฟังข้อมูลที่บันทึกไว้หรือได้มาจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นด้วยโดยอนุโลม ข้อ ๗๕ องค์คณะวินิจฉัยอาจรับฟังพยานบอกเล่าเป็นพยานหลักฐานประกอบพยานหลักฐานอื่นได้เมื่อเห็นว่า (๑) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมการบอกเล่า หรือพยานบอกเล่านั้นมีความน่าเชื่อถือหรือ (๒) มีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาให้ถ้อยคำเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น หมวด ๑๐ การนั่งพิจารณาอุทธรณ์ และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ส่วนที่ ๑ การนั่งพิจารณาอุทธรณ์ และการแถลงของนิติกรผู้แถลงประจำสำนวน ข้อ ๗๖ ในการพิจารณาอุทธรณ์ ให้องค์คณะวินิจฉัยจัดให้มีการนั่งพิจารณาอุทธรณ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสมาแถลงด้วยวาจาต่อหน้า เว้นแต่กรณีที่มีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์และให้จำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบความ ไม่ต้องมีการนั่งพิจารณาอุทธรณ์นั้น องค์คณะวินิจฉัยต้องแจ้งกำหนดวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ครั้งแรกให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันเพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้แถลงสรุปอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์ของตน ข้อ ๗๗ ในวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ครั้งแรก หากคู่กรณีประสงค์จะยื่นคำแถลงสรุปอุทธรณ์หรือคำแก้อุทธรณ์ของตนเป็นหนังสือ ให้ยื่นคำแถลงเป็นหนังสือก่อนวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์หรืออย่างช้าที่สุดในระหว่างการนั่งพิจารณาอุทธรณ์ คำแถลงตามวรรคหนึ่งจะยกข้อเท็จจริงที่ไม่เคยยกขึ้นอ้างไว้แล้วไม่ได้ เว้นแต่เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องอุทธรณ์ ซึ่งคู่กรณีผู้ยื่นสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุจำเป็นหรือพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่อาจเสนอต่อองค์คณะวินิจฉัยได้ก่อนหน้านั้น แต่องค์คณะวินิจฉัยจะรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ต่อเมื่อได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแสดงพยานหลักฐานเพื่อยืนยันหรือหักล้างแล้ว คู่กรณีมีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำแถลงที่ยื่นตามวรรคหนึ่งได้ โดยให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณาสั่งอนุญาตเท่าที่เกี่ยวข้องกับคำแถลงและจำเป็นแก่เรื่องอุทธรณ์เท่านั้น คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด ในวันนั่งพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ คู่กรณีจะไม่มาในวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ แต่ความในข้อนี้ไม่ตัดอำนาจองค์คณะวินิจฉัยที่จะออกคำสั่งเรียกให้คู่กรณี หน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ความเห็นเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร หรือพยานหลักฐานใด ๆ ให้แก่องค์คณะวินิจฉัย ข้อ ๗๘ เมื่อเริ่มการนั่งพิจารณาครั้งแรก ให้กรรมการเจ้าของสำนวนเสนอสรุปข้อเท็จจริงและประเด็นของเรื่องนั้น แล้วให้คู่กรณีแถลงด้วยวาจาประกอบคำแถลงเป็นหนังสือที่ได้ยื่นไว้ตามข้อ ๗๗ โดยให้ผู้อุทธรณ์แถลงก่อน คำแถลงด้วยวาจาของคู่กรณีต้องกระชับและอยู่ในประเด็น โดยไม่อาจยกข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำแถลงเป็นหนังสือ ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดไม่ยื่นคำแถลงเป็นหนังสือ แต่มาอยู่ในวันนั่งพิจารณาครั้งแรก คู่กรณีฝ่ายนั้นจะแถลงด้วยวาจาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากองค์คณะวินิจฉัย หรือองค์คณะวินิจฉัยสั่งให้แถลง ข้อ ๗๙ ในการนั่งพิจารณาอุทธรณ์ ให้องค์คณะวินิจฉัยเป็นผู้ซักถามคู่กรณีและพยาน และให้นำข้อ ๖๐ ข้อ ๖๑ และข้อ ๖๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๘๐ ให้กรรมการเจ้าของสำนวนทำหน้าที่ตรวจสอบและเสนอความเห็นในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายต่อองค์คณะวินิจฉัย ตลอดจนดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้น ในระหว่างการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ทราบถึงข้ออ้างหรือข้อแย้งของแต่ละฝ่าย และให้คู่กรณีแสดงพยานหลักฐานของฝ่ายตนเพื่อยืนยันหรือหักล้างข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายได้ เมื่อกรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าได้รวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพียงพอแล้ว ก็ให้ทำความเห็นเสนอให้องค์คณะวินิจฉัย เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ในการให้โอกาสคู่กรณีตามวรรคสอง ให้กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนดให้คู่กรณีแสดงพยานหลักฐานของฝ่ายตนภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าคู่กรณีมิได้ปฏิบัติภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าคู่กรณีที่ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานนั้นไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนหรือยอมรับข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วแต่กรณี และให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณามีคำวินิจฉัยต่อไปตามที่เห็นเป็นการยุติธรรม ในกรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสามหรือมีพฤติกรรมประวิงเรื่องให้ล่าช้า ให้ ก.พ.ค. รายงานผู้บงคับบัญชา ผู้กำกับดูแล ผู้ควบคุมหรือนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือสั่งการหรือลงโทษทางวินัยต่อไปก็ได้ ข้อ ๘๑ ก่อนวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ให้กรรมการเจ้าของสำนวนส่งมอบเรื่องอุทธรณ์ให้นิติกรผู้แถลงพิจารณา และให้จัดทำสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเห็นของตนในการวินิจฉัยเรื่องนั้นเสนอต่อองค์คณะวินิจฉัย และให้การชี้แจงด้วยวาจาต่อองค์คณะวินิจฉัยในวันนั่งพิจารณาคดีนั้น และให้มีสิทธิอยู่ร่วมในการพิจารณาและในการประชุมปรึกษาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องนั้นได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงในการวินิจฉัยเรื่องนั้น ให้ประธาน ก.พ.ค. ตั้งนิติกรผู้แถลงจากบัญชีรายชื่อนิติกรผู้แถลงประจำสำนวนที่เลขาธิการ ก.พ. ประกาศตั้งไว้ ข้อ ๘๒ ในวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฝ่าฝืนข้อกำหนดที่กำหนดไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และองค์คณะวินิจฉัยได้มีคำสั่งให้คู่กรณีฝ่ายนั้นออกไปเสียจากบริเวณห้องพิจารณา องค์คณะวินิจฉัยจะนั่งพิจารณาอุทธรณ์ต่อไปลับหลังคู่กรณีฝ่ายนั้นก็ได้ ข้อ ๘๓ ในวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อเสร็จสิ้นการแถลงและการนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำแถลงของคู่กรณีแล้ว ให้นิติกรผู้แถลงชี้แจงด้วยวาจาต่อองค์คณะวินิจฉัยเพื่อประกอบคำแถลงการณ์เป็นหนังสือที่ได้เสนอไว้แล้วหรือเสนอคำแถลงด้วยวาจาตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๘๑ โดยบุคคลซึ่งมิได้รับอนุญาตจากองค์คณะวินิจฉัยจะอยู่ในห้องพิจารณาในขณะนิติกรผู้แถลงชี้แจงหรือเสนอคำแถลงด้วยวาจาไม่ได้ ในกรณีที่นิติกรผู้แถลงเห็นว่า จากคำแถลงและการนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำแถลงของคู่กรณี ทำให้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาอุทธรณ์เปลี่ยนไปและมีผลกระทบต่อคำแถลงเป็นหนังสือที่เสนอไว้แล้ว หรือต่อคำแถลงด้วยวาจาที่จะเสนอ นิติกรผู้แถลงจะจัดทำคำแถลงเป็นหนังสือขึ้นใหม่หรือเสนอคำแถลงด้วยวาจาต่อองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาในวันอื่นก็ได้ ส่วนที่ ๒ การทำคำวินิจฉัยและคำสั่ง ข้อ ๘๔ เมื่อเสร็จสิ้นการแถลงของนิติกรผู้แถลงแล้ว ให้องค์คณะวินิจฉัยนัดประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาวินิจฉัย หรือมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นหรือวันอื่น ข้อ ๘๕ คำวินิจฉัยหรือคำสั่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (๑) ชื่อผู้อุทธรณ์ (๒) ชื่อคู่กรณีในอุทธรณ์ (๓) สรุปอุทธรณ์และคำขอของผู้อุทธรณ์ (๔) สรุปคำแก้อุทธรณ์ (๕) ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย (๖) คำวินิจฉัยแต่ละประเด็นพร้อมทั้งเหตุผล (๗) สรุปคำวินิจฉัยที่กำหนดให้คู่กรณีปฏิบัติหรือดำเนินการต่อไป คำวินิจฉัยหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งต้องลงลายมือชื่อขององค์คณะวินิจฉัยที่นั่งพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นด้วย ถ้าผู้ใดมีเหตุจำเป็นไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้ผู้นั้นจดแจ้งเหตุดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้นด้วย ข้อ ๘๖ การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้องค์คณะวินิจฉัยมีคำวินิจฉัยตามข้อ ๕๐ หรือมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นดังนี้ ก. การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย (๑) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระดับโทษเหมาะสมแล้ว ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ (๒) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่ง และให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง (๓) ถ้าเห็นว่าการดำเนินการทางวินัยถูกต้องตามกฎหมายและผู้อุทธรณ์ ควรได้รับโทษเบาลง ให้มีคำวินิจฉัยให้ลดโทษเป็นสถานโทษหรืออัตราโทษที่เบาลง แต่ถ้าเห็นว่า ผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จะลดโทษต่ำกว่าปลดออกไม่ได้ (๔) ถ้าเห็นว่าการดำเนินการทางวินัยถูกต้องตามกฎหมาย และเห็นว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์ไม่เป็นความผิดทางวินัย หรือพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัย ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกโทษ (๕) ถ้าเห็นว่าข้อความในคำสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้มีคำวินิจฉัยให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความให้เป็นการถูกต้องเหมาะสม ข. กรณีอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการ (๑) ถ้าเห็นว่าการสั่งให้ออกจากราชการได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และเหมาะสมแก่กรณีแล้ว ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ (๒) ถ้าเห็นว่าการสั่งให้ออกจากราชการได้ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งและให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง (๓) ถ้าเห็นว่าการสั่งให้ออกจากราชการถูกต้องตามกฎหมายและเห็นว่ายัง ไม่มีเหตุที่จะให้ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ในกรณีเช่นนี้ให้มีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งและให้ผู้อุทธรณ์กลับเข้ารับราชการต่อไป (๔) ถ้าเห็นว่าข้อความในคำสั่งให้ออกจากราชการไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้มีคำวินิจฉัยให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความให้เป็นการถูกต้องเหมาะสม ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยเห็นสมควรเยียวยาความเสียหายให้ผู้อุทธรณ์หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้มีคำวินิจฉัยตามระเบียบที่ ก.พ.ค. กำหนด การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ องค์คณะวินิจฉัยจะมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มโทษไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับแจ้งจาก ก.พ. ตามมาตรา ๑๐๔ ว่าสมควรเพิ่มโทษ จึงจะมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มโทษผู้อุทธรณ์ได้ ข้อ ๘๗ ในกรณีที่กรรมการเจ้าของสำนวนผู้ใดมีความเห็นแย้ง ให้ผู้นั้นมีสิทธิทำความเห็นแย้งพร้อมทั้งเหตุผลของตนรวมไว้ในคำวินิจฉัยนั้นได้ ข้อ ๘๘ การประชุมของ ก.พ.ค. หรือองค์คณะวินิจฉัยให้เป็นไปตามระเบียบ ก.พ.ค. ว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการ ก.พ.ค. คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ข้อ ๘๙ เมื่อองค์คณะวินิจฉัยมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่งชี้ขาดเรื่องอุทธรณ์ หรือประเด็นข้อใดแห่งเรื่องอุทธรณ์แล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในองค์คณะวินิจฉัยนั้นอันเกี่ยวกับเรื่องอุทธรณ์หรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น เรื่องอุทธรณ์ที่ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งชี้ขาดถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีเดียวกันอุทธรณ์ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ข้อ ๙๐ เมื่อได้มีการวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ให้แจ้งผลแห่งคำวินิจฉัยนั้นให้คู่กรณีทราบโดยเร็ว ให้สำนักงาน ก.พ. จัดให้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไว้เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าตรวจดู หรือขอสำเนาที่มีการรับรองถูกต้องได้ ข้อ ๙๑ การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ประธาน ก.พ.ค. ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกซึ่งไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวันและให้บันทึกเหตุขัดข้องให้ปรากฏไว้ด้วย หมวด ๑๑ การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของนิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน นิติกรผู้แถลงประจำสำนวนและพนักงานผู้รับอุทธรณ์ ข้อ ๙๒ ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งหรือมอบหมายผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรระดับผู้เชี่ยวชาญเป็นนิติกรผู้แถลงประจำสำนวน จัดทำบันทึกสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและความเห็นของตนในการวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์นั้น เสนอต่อองค์คณะวินิจฉัยตามที่ได้รับมอบหมาย ข้อ ๙๓ ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งนิติกรของสำนักงาน ก.พ. เป็นนิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกรรมการเจ้าของสำนวนเกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย ข้อ ๙๔ ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ. เป็นพนักงานผู้รับอุทธรณ์ เพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับอุทธรณ์ การตรวจอุทธรณ์ และการดำเนินงานทางธุรการอย่างอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย หมวด ๑๒ การนับระยะเวลา ข้อ ๙๕ การนับระยะเวลาตามกฎ ก.พ.ค. นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้น ให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา ส่วนเวลาสุดสิ้น ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการ ให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา ประกาศ ณ วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ศราวุธ เมนะเศวต ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ.ค. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑๔ มาตรา ๑๑๕ และมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติให้ผู้ถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา ๑๑๐ (๑) (๓) (๕) (๖) (๗) และ (๘) มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ.ค. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๑๒๙ ก/หน้า ๑/๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑
614417
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. 2552
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๑๐๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๖๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ก.พ. โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี จึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใดและดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ หรือระดับทรงคุณวุฒิ หรือดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส หรือระดับทักษะพิเศษ รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ตามกฎ ก.พ. นี้ จะต้องเป็นกรณีที่ (๑) มีเหตุผลและความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ (๒) ตำแหน่งที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปต้องเป็นตำแหน่งที่ ก.พ. กำหนดให้เป็นตำแหน่งที่มีความขาดแคลนบุคลากรในเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ และหาผู้อื่นปฏิบัติงานแทนได้ยากเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการหรือหน้าที่ที่จะต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว และ (๓) ตำแหน่งที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปต้องเป็นตำแหน่งที่ผู้นั้นครองอยู่เดิม ข้อ ๒ กำหนดเวลาที่จะให้รับราชการต่อไปตามกฎ ก.พ. นี้ ให้กระทำได้ตามความจำเป็นโดยในครั้งแรกให้สั่งให้รับราชการต่อไปได้ไม่เกินสี่ปี และถ้ายังมีเหตุผลและความจำเป็นจะให้รับราชการต่อไปอีกได้ครั้งละไม่เกินสามปี แต่เมื่อรวมกันแล้วระยะเวลาทั้งหมดต้องไม่เกินสิบปี เมื่อครบกำหนดเวลาที่สั่งให้รับราชการต่อไปตามวรรคหนึ่ง ให้สั่งให้ผู้นั้นพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่ถ้าความจำเป็นที่ให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปหมดลงก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว จะสั่งให้ผู้นั้นพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้นั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ข้อ ๓ ส่วนราชการใดมีความจำเป็นที่จะให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณนั้น ให้ส่วนราชการนั้นจัดทำข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดังนี้ (๑) แผนงาน โครงการ ตลอดจนภารกิจที่มีความจำเป็นจะให้ผู้นั้นปฏิบัติ จำแนกเป็นรายปี (๒) สภาวะการขาดแคลนบุคลากรในเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพทั้งในส่วนราชการนั้นเองและในภาพรวม ความสามารถในทางวิชาการ หรือความสามารถเฉพาะตัวของผู้นั้น และความยากในการหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสม มาปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้น (๓) เหตุผลและความจำเป็นที่จำต้องให้ผู้นั้นปฏิบัติภารกิจ ตาม (๑) (๔) ระยะเวลาที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไป (๕) ข้อมูลเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นตามข้อ ๔ ข้อ ๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว ที่จะให้รับราชการต่อไปได้ตามข้อ ๑ ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไปหรือประเภททั่วไป ระดับอาวุโสขึ้นไป แล้วแต่กรณี ต่อเนื่องกันมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสิ้นปีงบประมาณนั้น (๒) มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ทักษะ ประสบการณ์ และมีผลงานหรือผลการปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นต่อไปได้ (๓) ไม่อยู่ในระหว่างการถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง (๔) ผ่านการตรวจสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการแพทย์ที่ ก.พ. แต่งตั้งกำหนด ข้อ ๕ การให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ หรือระดับทรงคุณวุฒิตามข้อ ๑ (๒) ได้รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้ อ.ก.พ. กระทรวง เป็นผู้พิจารณา การให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดซึ่งดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส หรือระดับทักษะพิเศษตามข้อ ๑ (๒) ได้รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้ อ.ก.พ. กรม เป็นผู้พิจารณา ข้อ ๖ ให้ส่วนราชการดำเนินการตามข้อ ๕ ภายในเดือนมีนาคมของปีงบประมาณที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรม แล้วแต่กรณี พิจารณาข้อเสนอของส่วนราชการ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนของปีงบประมาณนั้น ข้อ ๗ ในกรณีที่ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรม แล้วแต่กรณี เห็นชอบให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดรับราชการต่อไปได้เมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ มีคำสั่งให้ผู้นั้นรับราชการต่อไป และส่งสำเนาคำสั่งให้สำนักงาน ก.พ. และกรมบัญชีกลางทราบ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ข้อ ๘ การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับราชการต่อไปเป็นครั้งแรกนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้มีคำสั่งภายในวันที่ ๓๐ กันยายน ของปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ในกรณีที่ครบกำหนดเวลาที่ให้รับราชการต่อไปแล้ว ถ้าได้รับความเห็นชอบให้รับราชการต่อไปอีก ให้มีคำสั่งก่อนวันครบกำหนดเวลาที่ให้รับราชการต่อไปในครั้งก่อน ข้อ ๙ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับราชการต่อไปตามกฎ ก.พ. นี้ จะต้องดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่เฉพาะตำแหน่งที่ให้รับราชการต่อไปเท่านั้น จะย้าย โอน หรือเลื่อนไปดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ หรือตำแหน่งอื่น หรือจะรักษาราชการแทน รักษาการในตำแหน่ง รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน ไปช่วยราชการ หรือไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอื่นไม่ได้ ข้อ ๑๐ ความในข้อ ๖ ไม่ใช้บังคับกับข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๐๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ถ้าทางราชการมีความจำเป็นจะให้รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการหรือหน้าที่ที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว ในตำแหน่งตามมาตรา ๔๖ (๓) (ง) หรือ (จ) หรือ (๔) (ค) หรือ (ง) อีกไม่เกินสิบปีได้ตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. สมควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้การที่จะให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดรับราชการต่อไปนั้น เป็นความประสงค์ของทางราชการโดยให้คำนึงถึงความสมัครใจของข้าราชการผู้นั้นด้วย และตำแหน่งที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปต้องเป็นตำแหน่งที่มีอยู่เดิม ไม่ได้เป็นการกำหนดตำแหน่งเพิ่มใหม่ จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๖๙ ก/หน้า ๕/๑๗ กันยายน ๒๕๕๒
614415
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน พ.ศ. 2552
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน พ.ศ. ๒๕๕๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๖๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ก.พ. โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี จึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นจะให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดพ้นจากตำแหน่งหน้าที่และขาดจากอัตราเงินเดือนในตำแหน่งเดิมโดยให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นเสนอเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ พิจารณาอนุมัติกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (๑) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ให้กำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกำหนดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (๒) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับอนุญาตให้ลาติดตามคู่สมรส ซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ ให้กำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาติดตามคู่สมรสไปปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกำหนดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (๓) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับทุนรัฐบาลให้ไปศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศตามระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยทุนของรัฐบาล ให้กำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาหรือฝึกอบรม แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกำหนดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (๔) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศตามระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการโดยการให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศ ให้กำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศ (๕) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีที่ไม่อาจปฏิบัติงานให้สัมฤทธิ์ผลได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือละเลยเพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่ามีพฤติกรรมในการผลิต การค้า การเสพ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้กำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินหกเดือน ข้อ ๓ คำขอให้พิจารณาอนุมัติกำหนดอัตรากำลังทดแทนตามข้อ ๒ ให้แสดงรายละเอียด ดังต่อไปนี้ (๑) คำชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และกำหนดระยะเวลาที่จะสั่งให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน (๒) แผนบริหารตำแหน่งรองรับข้าราชการเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน (๓) หน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการที่จะมอบหมายให้ผู้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนต้องปฏิบัติ โดยในกรณีตามข้อ ๒ (๑) (๒) (๓) และ (๔) ให้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ และกรณีตามข้อ ๒ (๕) ให้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบให้เหมาะสมกับระดับตำแหน่งที่เคยดำรงอยู่เดิม ข้อ ๔ เมื่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ อนุมัติให้กำหนดอัตรากำลังทดแทนสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดแล้ว ให้ส่วนราชการนำเงินจากหมวดเงินเดือนมากำหนดเป็นเงินเดือนสำหรับอัตรากำลังทดแทนนั้น และให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้น พ้นจากตำแหน่งหน้าที่และขาดจากอัตราเงินเดือนในตำแหน่งเดิมโดยให้ไปรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนนั้น ข้อ ๕ ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ มีอำนาจสั่งขยายเวลาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนต่อไปได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามข้อ ๒ (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) กลับมาปฏิบัติงานภายหลังครบกำหนดระยะเวลาแล้ว แต่ส่วนราชการยังไม่มีตำแหน่งประเภทเดียวกันและระดับเดียวกันที่จะแต่งตั้ง ให้ขยายเวลาการให้ได้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนต่อไปอีกได้สองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกเดือน (๒) ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามข้อ ๒ (๕) ครบกำหนดระยะเวลาแล้ว แต่ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุยังเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องให้ได้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนต่อไป ให้ขยายเวลาการให้ได้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนต่อไปอีกได้ไม่เกินหกเดือน แต่เมื่อรวมเวลาทั้งหมดแล้ว ต้องไม่เกินหนึ่งปี คำขอขยายเวลาตามข้อนี้ ให้แสดงรายละเอียดตามข้อ ๓ ด้วย ข้อ ๖ เมื่อหมดความจำเป็นหรือครบกำหนดระยะเวลาการให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามข้อ ๒ หรือข้อ ๕ ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นพ้นจากการรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามเดิมหรือตำแหน่งอื่นในประเภทเดียวกันและระดับเดียวกัน ข้อ ๗ การให้พ้นจากตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือน การแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย และการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญที่ถูกสั่งให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามกฎ ก.พ. นี้ ให้ดำเนินการเสมือนว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นดำรงตำแหน่งเดิม ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญพ้นจากตำแหน่งหน้าที่และขาดจากอัตราเงินเดือนในตำแหน่งเดิมโดยให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนโดยมีระยะเวลาตามที่ ก.พ. กำหนดได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. การให้พ้นจากตำแหน่งการให้ได้รับเงินเดือน การแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย และการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. ในกรณีที่หมดความจำเป็น หรือครบกำหนดระยะเวลาการให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้น พ้นจากการรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามเดิมหรือตำแหน่งอื่นในประเภทเดียวกันและระดับเดียวกัน จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๖๙ ก/หน้า ๑/๑๗ กันยายน ๒๕๕๒
592723
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2551
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๕๑ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๕๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ก.พ. โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีจึงออก กฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทใด สายงานใด ระดับใด ให้ได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งประเภท สายงาน และระดับนั้นในขั้นต่ำของระดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งประเภท สายงาน และระดับ ที่ได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ (๑) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ ซึ่ง ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง และ ก.พ. กำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในตำแหน่งประเภท สายงาน ระดับ และอัตรานั้นไว้แล้ว ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งประเภท สายงาน ระดับ และอัตราตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด (๒) ผู้นั้นมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง และ ก.พ. กำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในตำแหน่งประเภท สายงาน ระดับ และอัตรานั้นไว้แล้ว ให้ได้รับเงินเดือน ตามตำแหน่งประเภท สายงาน ระดับ และอัตราตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด (๓) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นซึ่ง ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในตำแหน่งประเภท สายงาน ระดับ และอัตรานั้นไว้แล้ว ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งอาจปรับให้ได้รับเงินเดือนในตำแหน่งประเภท สายงาน ระดับ และอัตราที่ ก.พ. กำหนดตาม (๑) ตามหลักเกณฑ์ดังนี้ (ก) ผู้ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่าเพิ่มขึ้น หรือสูงขึ้นจากประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่าจะต้องดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งโดยใช้วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (ข) ผู้ได้รับปริญญาโทเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นจากปริญญาตรีจะต้องดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งโดยใช้วุฒิปริญญาตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (ค) ผู้ได้รับปริญญาเอกเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นจากปริญญาโทจะต้องดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งโดยใช้วุฒิปริญญาโทมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี (ง) ผู้ได้รับคุณวุฒิเพิ่มขึ้นและเป็นคุณวุฒิที่ ก.พ. กำหนดให้เป็นคุณวุฒิที่ใช้คัดเลือกเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ ปรับให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นไม่ก่อนวันที่ได้รับคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (๔) ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภท ระดับ สายงานที่ ก.พ. กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราเงินเดือนที่จะได้รับหลังผ่านการทดลองปฏิบัติราชการไว้แล้ว ให้ได้รับเงินเดือน ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราที่ ก.พ. กำหนด (๕) ภายใต้บังคับข้อ ๕ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทเดิมหรือต่างประเภทในระดับใด ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่ได้รับอยู่เดิม เว้นแต่ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับใดแต่เงินเดือนเดิมต่ำกว่าขั้นต่ำของระดับนั้นให้ได้รับเงินเดือนในขั้นต่ำของระดับที่ได้รับแต่งตั้ง (๖) ผู้ได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ หรือทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งประเภททั่วไประดับทักษะพิเศษ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนดตามมาตรา ๕๖ ให้ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าค่ากึ่งกลางของเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของระดับที่ได้รับแต่งตั้งในอัตราที่ ก.พ. หรือผู้ที่ ก.พ. มอบหมายจะพิจารณากำหนด ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโส ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ และตำแหน่งประเภท สายงาน และระดับอื่นที่ ก.พ. กำหนด ให้ได้รับเงินเดือนดังนี้ (๑) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโส ให้ได้รับเงินเดือนไม่เกิน ๓๖,๐๒๐ บาท เว้นแต่ผู้นั้นดำรงตำแหน่งในสายงานที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้ได้รับเงินเดือนขั้นสูง กรณีที่ผู้ใดได้รับเงินเดือนสูงกว่าอัตรา ๓๖,๐๒๐ บาท อยู่แล้วให้ได้รับเงินเดือนตามที่ได้รับอยู่ (๒) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ให้ได้รับเงินเดือนไม่เกิน ๖๔,๓๔๐ บาท เว้นแต่ผู้นั้นดำรงตำแหน่งในสายงานที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้ได้รับเงินเดือนขั้นสูง กรณีที่ผู้ใดได้รับเงินเดือนสูงกว่าอัตรา ๖๔,๓๔๐ บาท อยู่แล้วให้ได้รับเงินเดือนตามที่ได้รับอยู่ (๓) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภท สายงาน และระดับอื่นที่ ก.พ. กำหนด ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่ ก.พ. กำหนด ข้อ ๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ หรือมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้ได้รับเงินเดือนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ข้อ ๕ ในกรณีที่อัตราเงินเดือนขั้นต่ำชั่วคราวยังมีผลใช้บังคับ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ ดำรงตำแหน่งประเภทใด สายงานใด ระดับใด ถ้าเงินเดือนที่ได้รับต่ำกว่าขั้นต่ำของระดับที่ได้รับแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่ได้รับอยู่เดิมและไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำชั่วคราว ข้อ ๖ กรณีอื่นนอกจากที่ได้กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. นี้ ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔๕ กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญไว้ ๔ ประเภท ได้แก่ ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ตำแหน่งประเภทวิชาการ และตำแหน่งประเภททั่วไป และมาตรา ๔๖ กำหนดระดับตำแหน่งให้สอดคล้องกับประเภทตำแหน่งทั้ง ๔ ประเภทไว้ ประกอบกับมาตรา ๕๐ กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งในแต่ละประเภทตามที่กำหนดไว้ในบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยผู้ดำรงตำแหน่งประเภทใด สายงานใด ระดับใด จะได้รับเงินเดือนเท่าใดตามบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. ดังนั้น เพื่อให้การรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญสอดคล้องกับการกำหนดตำแหน่ง ตามมาตรา ๔๕ และมาตรา ๔๖ และเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๑๒๘ ก/หน้า ๙/๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๑
654021
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2544 (ฉบับ Update ณ วันที่ 30/09/2548)
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ. นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิก (๑) กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (๒) กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ ดังนี้ (๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑ (๒) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๒ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๒ (๓) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๓ (๔) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๔ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๔ (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๕ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๕ (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๖ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๖ (๗) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๗ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๗ (๘) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๘ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๘ (๙) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๙ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๙ ที่มิใช่ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่สูงกว่ากองในกรม ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ (๑๐)ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑ (๑๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๑ (๑๒) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ในระดับ ๑๑ ตำแหน่งปลัดกระทรวง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดทบวง เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ราชเลขาธิการ ที่ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๑ ให้ได้รับเงินเดือนอันดับ บ ๑๑ ข้อ ๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด โดยได้รับเงินเดือนในอันดับใดตามข้อ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งนั้น เว้นแต่ (๑) ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม (๒) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพ และ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใดให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๓) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นและ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นนั้น เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใดอธิบดีผู้บังคับบัญชาหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีอาจปรับให้ได้รับเงินเดือนอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนดได้ (๔) ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสายงานใดที่ ก.พ. กำหนดในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้ตำแหน่งในสายงานนั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งระดับนั้น ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับที่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมให้ได้รับเงินเดือนในแต่ละกรณีดังนี้ (ก) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งเพื่อประโยชน์ของทางราชการให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ได้รับอยู่เดิม (ข) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งโดยเป็นความประสงค์ของตัวข้าราชการ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ แต่ถ้าผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นตำแหน่งใด ถ้าได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๕[๒] ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท๙ ถึงอันดับ ท๑๐ หรืออันดับ ท๑๐ ถึงอันดับ ท๑๑ ผู้ใดได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท๙ หรืออันดับ ท๑๐ แล้วแต่กรณี ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ ในวันแรกที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท๙ หรืออันดับ ท๑๐ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้นในอันดับ ท ๑๐ หรืออันดับ ท ๑๑ ตามวรรคหนึ่งผู้ใดต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นดังกล่าวในวันที่ ๓๐ กันยายนของปีสุดท้ายก่อนที่จะพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ ข้อ ๖ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ หรืออันดับ ท๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑ และได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ หรืออันดับ ท ๑๐ แล้วแต่กรณี ก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามกฎ ก.พ. นี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ส่วนผู้ได้รับเงินเดือนในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒ ถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ หรืออันดับ ท ๑๐ แล้วแต่กรณี และต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้ได้รับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๒ ข้อ ๗ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามข้อ ๕ และข้อ ๖ ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนอาจพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือนตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตั้งแต่วันที่ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้น ข้อ ๘ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๕๑ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๙ และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้ได้รับเงินเดือนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ข้อ ๙ กรณีอื่นนอกจากที่ได้กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. นี้ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑.[๓] ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (แก้ไขเพิ่มเติม) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ บัญญัติให้การรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ซึ่ง ก.พ. ได้ออกกฎ ก.พ. เรื่องนี้ไว้ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๓) การมีกฎ ก.พ. หลายฉบับทำให้ไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ประกอบกับต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงวันเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการเป็นให้เลื่อนปีละสองครั้งในวันที่ ๑ เมษายน และวันที่ ๑ ตุลาคม ซึ่งมีผลกระทบต่อวันเริ่มรับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้การรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญสะดวกในทางปฏิบัติ สอดคล้องกับการเลื่อนขั้นเงินเดือน และเพื่อให้ผู้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นได้รับเงินเดือนในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗[๔] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้ปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๗[๕] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท๙ ถึงอันดับ ท๑๐ หรืออันดับ ท๑๐ ถึงอันดับ ท๑๑ ซึ่งได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท๙ หรืออันดับ ท๑๐ แล้วแต่กรณี ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นในวันแรกของการเลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งถัดไป จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่ได้รับเงินเดือนก่อนถึงขั้นสูงของตำแหน่งแม้จะมีผลการประเมินการปฏิบัติราชการเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนในระดับดีเด่นแต่ก็ไม่สามารถพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ได้ โดยต้องรอในวันแรกของการเลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งถัดไป ข้าราชการดังกล่าวจึงสามารถรับเงินเดือนในอันดับสูงขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และเกิดความเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๘[๖] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ กำหนดให้ปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘/ตอนที่ ๘๓ ก/หน้า ๑/๒๔ กันยายน ๒๕๔๔ [๒] ข้อ ๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๗ [๓] ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๘ [๔] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๒๗ ก/หน้า ๑๑/๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ [๕] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๕๗ ก/หน้า ๑/๒๙ กันยายน ๒๕๔๗ [๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๘๙ ก/หน้า ๑/๓๐ กันยายน ๒๕๔๘
565804
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๘ และให้ใช้ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้แทน ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดให้ปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๗๓ ก/หน้า ๘/๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๐
602440
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ พ.ศ. 2552
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ พ.ศ. ๒๕๕๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๖๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้อนุกรรมการโดยตำแหน่งใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด เป็นผู้พิจารณากำหนดจำนวนอนุกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๑) และ (๒) มาตรา ๑๗ (๑) และ (๒) และมาตรา ๑๙ (๑) และ (๒) โดยให้มีจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๕ (๑) มาตรา ๑๗ (๑) และมาตรา ๑๙ (๑) ไม่น้อยกว่าสองคน แต่ไม่เกินสามคน จำนวนข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตามมาตรา ๑๕ (๒) ไม่น้อยกว่าสามคน แต่ไม่เกินห้าคน และจำนวนข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตามมาตรา ๑๗ (๒) และมาตรา ๑๙ (๒) ไม่น้อยกว่าสามคน แต่ไม่เกินหกคน ข้อ ๒ การเลือกข้าราชการพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๕ (๒) มาตรา ๑๗ (๒) หรือมาตรา ๑๙ (๒) เพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้ส่วนราชการที่มี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด จัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๕ (๒) มาตรา ๑๗ (๒) หรือมาตรา ๑๙ (๒) โดยหัวหน้าส่วนราชการนั้น ๆ จะมอบให้ส่วนราชการใดในสังกัดเป็นผู้จัดทำก็ได้ แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้น ๆ ทราบ (๒) ในกรณีที่ส่วนราชการที่มี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด มีชื่อข้าราชการพลเรือนผู้มีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด ไม่เกินจำนวนที่อนุกรรมการโดยตำแหน่งใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ กำหนดตามข้อ ๑ ให้ผู้มีชื่อดังกล่าวเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัดต่อไป (๓) ในกรณีที่ส่วนราชการที่มี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด มีชื่อข้าราชการพลเรือนผู้มีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด เกินกว่าจำนวนที่อนุกรรมการโดยตำแหน่งใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ กำหนดตามข้อ ๑ ให้ส่วนราชการจัดให้มีการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (ก) นัดให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดแล้วแจกบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนตามแบบท้ายกฎ ก.พ. นี้ ซึ่งลงลายมือชื่อของหัวหน้าส่วนราชการแล้ว ให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อดังกล่าวเลือกข้าราชการพลเรือนจากบัญชีรายชื่อนั้นเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ แล้วแต่กรณี โดยเขียนชื่อและนามสกุลของผู้ซึ่งตนเลือกไม่เกินจำนวนในข้อ ๑ พร้อมลงลายมือชื่อของผู้เลือกในบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนแล้วหย่อนบัตรดังกล่าวลงในหีบบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนที่ส่วนราชการนั้น ๆ จัดไว้ให้ ภายในเวลาที่ส่วนราชการนั้น ๆ กำหนด หรือ (ข) ส่งบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนตามแบบท้ายกฎ ก.พ. นี้ ซึ่งลงลายมือชื่อของหัวหน้าส่วนราชการแล้ว ไปให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อดังกล่าวเพื่อเลือกข้าราชการพลเรือนจากบัญชีรายชื่อนั้น เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ แล้วแต่กรณี โดยเขียนชื่อและนามสกุลของผู้ซึ่งตนเลือกไม่เกินจำนวนในข้อ ๑ พร้อมลงลายมือชื่อของผู้เลือกในบัตรเลือกข้าราชการพลเรือน แล้วส่งบัตรดังกล่าวพร้อมกับภาพถ่ายบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้เลือกกลับคืนไปยังส่วนราชการภายในวันที่ส่วนราชการนั้น ๆ กำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนส่วนราชการโดยตรง ให้ถือวันที่ส่วนราชการได้รับบัตรเป็นวันส่งคืน ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์รับลงทะเบียนเป็นวันส่งคืน ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนทางไปรษณีย์ไม่ลงทะเบียน ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตราไปรษณีย์เป็นวันส่งคืน (๔) ให้ส่วนราชการรวบรวมบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนตาม (๓) (ก) หรือ (ข) แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการตรวจนับคะแนน โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจนับคะแนนขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับชำนาญการพิเศษ จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน เป็นผู้ตรวจนับคะแนน (๕) การตรวจนับคะแนนของคณะกรรมการตรวจนับคะแนน ให้กระทำโดยเปิดเผย และต้องมีกรรมการอยู่พร้อมกันไม่น้อยกว่าสามคน เมื่อตรวจนับคะแนนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการตรวจนับคะแนนจัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกโดยเรียงตามลำดับคะแนนจากสูงไปหาต่ำ พร้อมกับแสดงคะแนนของแต่ละคนไว้ในบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกด้วย ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากัน ให้หัวหน้าส่วนราชการจับสลากชื่อผู้ได้คะแนนเท่ากันนั้นต่อหน้าคณะกรรมการตรวจนับคะแนนเพื่อเรียงลำดับที่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว โดยมีกรรมการไม่น้อยกว่าสามคนลงลายมือชื่อรับรอง แล้วให้หัวหน้าส่วนราชการประกาศรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือก โดยปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ ส่วนราชการนั้น ๆ (๖) ให้ขึ้นบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกเป็นเวลาหนึ่งปี (๗) ให้ข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตามบัญชีรายชื่อใน (๖) ที่ได้คะแนนสูงตามลำดับและมีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือก เพื่อเสนอประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ ต่อไป แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินจำนวนที่กำหนดในข้อ ๑ (๘) ในกรณีที่อนุกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตาม (๗) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ และจะต้องแต่งตั้งอนุกรรมการแทน ให้ประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนจากบัญชีรายชื่อตาม (๖) ที่ได้คะแนนสูงตามลำดับ และมีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ แทนต่อไป แต่หากไม่มีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนเหลืออยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวแล้ว หรือบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกครบกำหนดหนึ่งปีตาม (๖) แล้ว ให้ดำเนินการเลือกใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการใน (๑) ถึง (๗) โดยอนุโลม ข้อ ๓ การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย ตามมาตรา ๑๕ (๑) มาตรา ๑๗ (๑) หรือมาตรา ๑๙ (๑) เพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นประธาน และกรรมการอื่นซึ่งปลัดกระทรวงเป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ด้านการบริหาร ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล หรือด้านกฎหมาย จำนวนสองคน โดยผู้ได้รับการแต่งตั้งจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง หากจะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนเป็นกรรมการ ให้แต่งตั้งได้หนึ่งคน ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนผู้รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของกระทรวง เป็นเลขานุการ (๒) ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กรม ประกอบด้วย รองอธิบดีที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นประธาน และกรรมการอื่นซึ่งอธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ด้านการบริหาร ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลหรือด้านกฎหมาย จำนวนสองคน โดยผู้ได้รับการแต่งตั้งจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองหากจะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนเป็นกรรมการ ให้แต่งตั้งได้หนึ่งคน ให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนผู้รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของกรมเป็นเลขานุการ (๓) ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. จังหวัด ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นประธาน และกรรมการอื่นซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ด้านการบริหาร ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล หรือด้านกฎหมาย จำนวนสองคน โดยผู้ได้รับการแต่งตั้งจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง หากจะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนเป็นกรรมการ ให้แต่งตั้งได้หนึ่งคน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนผู้รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของจังหวัด เป็นเลขานุการ ทั้งนี้ กรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งปลัดกระทรวง อธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งใน (๑) (๒) และ (๓) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี (๔) กรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด แต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย ไปยังเลขานุการคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ ภายในระยะเวลาที่ส่วนราชการกำหนด โดยจะเสนอชื่อผู้ใดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิไว้ในหลายด้านก็ได้ (๕) ให้เลขานุการคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรืออ.ก.พ. จังหวัด จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการเสนอชื่อตาม (๔) รวมกับบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่เลขานุการคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิรวบรวมจากแหล่งข้อมูลอื่น โดยแยกเป็นบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละด้านตามมาตรา ๑๕ (๑) มาตรา ๑๗ (๑) หรือมาตรา ๑๙ (๑) พร้อมทั้งประวัติและผลงานโดยย่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ละคนไว้ด้วย ในกรณีที่ผู้ใดได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้าน ให้ระบุชื่อผู้นั้นไว้ทุกด้าน เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ (๖) ให้คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด เลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อตาม (๕) ด้านละไม่น้อยกว่าสองคน โดยจะต้องเลือกผู้ซึ่งมีความรู้ ประสบการณ์ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว เป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ (๑) มาตรา ๑๗ (๑) หรือมาตรา ๑๙ (๑) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ โดยจะเสนอชื่อผู้ใดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิไว้ในหลายด้านก็ได้ (๗) ให้มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ ประกอบด้วย ประธาน อ.ก.พ. กระทรวง ประธาน อ.ก.พ. กรม หรือประธาน อ.ก.พ. จังหวัด เป็นประธาน อนุกรรมการโดยตำแหน่ง และข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ ตามข้อ ๒ เป็นกรรมการ ให้เลขานุการคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ เป็นเลขานุการ (๘) ให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด เสนอตาม (๖) และให้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ โดยจะต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิครบในทุก ๆ ด้าน ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสองด้านก็ได้ เพื่อเสนอประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ได้รับเลือกนั้นด้วย (๙) ในกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเสนอแล้ว ได้ผู้ทรงคุณวุฒิไม่ครบจำนวนหรือไม่ครบด้าน ให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิแจ้งคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิทราบ เพื่อให้เสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาใหม่ ทั้งนี้ เฉพาะจำนวนที่ไม่ครบหรือด้านที่ไม่ครบ โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการใน (๔) ถึง (๘) มาใช้บังคับ (๑๐) ในกรณีที่อนุกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านใดใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ และจะต้องแต่งตั้งอนุกรรมการแทน ให้ดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในด้านนั้นใหม่ โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการใน (๑) ถึง (๘) มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๔ ให้ส่วนราชการนำรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตามข้อ ๒ และรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการสรรหาตามข้อ ๓ เสนอประธาน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ.จังหวัด เพื่อแต่งตั้งต่อไป ข้อ ๕ ให้อนุกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี ข้อ ๖ ในกรณีที่อนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ ภายในหกสิบวัน ข้อ ๗ ในกรณีที่อนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ ให้ดำเนินการแต่งตั้งอนุกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายในสามสิบวันตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อ ๒ หรือข้อ ๓ โดยอนุโลม อนุกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนนั้นให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ในกรณีที่วาระของอนุกรรมการดังกล่าวเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่แต่งตั้งอนุกรรมการแทนก็ได้ ข้อ ๘ ในกรณีที่กระทรวง กรม หรือจังหวัดใด ไม่อาจมีจำนวนอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด ตามที่กำหนดในข้อ ๑ ได้ ให้กระทรวง กรม หรือจังหวัด นั้น ๆ เสนอ ก.พ. เพื่อพิจารณาอนุมัติให้กำหนดจำนวนอนุกรรมการเป็นกรณีพิเศษ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัตรเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ ท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ พ.ศ. ๒๕๕๒ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติให้หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม และ อ.ก.พ. จังหวัด ตามมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๙ วาระการดำรงตำแหน่ง และจำนวนขั้นต่ำของอนุกรรมการดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๒๓ ก/หน้า ๖๔/๘ เมษายน ๒๕๕๒
600626
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล พ.ศ. 2552
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ กรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล พ.ศ. ๒๕๕๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๑๑๐ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๖๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ก.พ. โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีจึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ กรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๓ การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการนั้น ให้ส่วนราชการพิจารณาจากผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นเป็นหลัก และให้ส่วนราชการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๔ เมื่อผู้บังคับบัญชาประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้วเห็นว่าข้าราชการผู้ใดมีผลการปฏิบัติราชการในระดับที่ต้องให้ได้รับการพัฒนาปรับปรุงตนเองก็ให้แจ้งผู้นั้นทราบเกี่ยวกับผลการประเมิน พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้นั้นเข้ารับการพัฒนาปรับปรุงตนเองโดยให้ลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ในการพัฒนาปรับปรุงตนเองให้ผู้บังคับบัญชาจัดให้ข้าราชการผู้นั้นทำคำมั่นในการพัฒนาปรับปรุงตนเองโดยกำหนดเป้าหมายในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการให้ชัดเจนเพื่อใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการครั้งต่อไป การประเมินผลการปฏิบัติราชการและการพัฒนาปรับปรุงตนเองของข้าราชการตามวรรคหนึ่ง ให้มีระยะเวลาไม่เกินสามรอบการประเมิน ในกรณีที่ผู้ถูกประเมินเห็นว่าการประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้บังคับบัญชามีความไม่เป็นธรรมอาจทำคำคัดค้านยื่นต่อผู้บังคับบัญชารวมไว้กับผลการประเมินเพื่อเป็นหลักฐานได้ ข้อ ๕ เมื่อผู้บังคับบัญชาประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญตามคำมั่นในการพัฒนาปรับปรุงตนเองตามข้อ ๔ แล้ว ปรากฏว่าผู้นั้นไม่ผ่านการประเมินในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการตามคำมั่นในการพัฒนาปรับปรุงตนเอง ให้รายงานผลการประเมินดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ เมื่อได้รับรายงานตามวรรคหนึ่ง ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ อาจดำเนินการดังนี้ (๑) กรณีข้าราชการผู้รับการประเมินประสงค์จะออกจากราชการ ก็ให้สั่งให้ออกจากราชการ หรือ (๒) สั่งให้ข้าราชการผู้นั้นเข้ารับการพัฒนาปรับปรุงตนเองอีกครั้งหนึ่งโดยทำคำมั่นในการพัฒนาปรับปรุงตนเองเป็นครั้งที่สอง หรือ (๓) สั่งให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ เมื่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ มีคำสั่งตาม (๑) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี ให้รายงาน อ.ก.พ. กระทรวง ในกรณีที่ อ.ก.พ. กระทรวงเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมและมีมติเป็นประการใด ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงมีมติ ข้อ ๖ เมื่อ อ.ก.พ. กระทรวงมีมติเป็นประการใดแล้ว และผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ มีคำสั่งหรือปฏิบัติตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงมีมติแล้ว ให้แจ้งคำสั่งหรือการปฏิบัติดังกล่าวให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นทราบ ข้อ ๗ ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการตาม กฎ ก.พ. นี้ มีสิทธิอุทธรณ์ ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือวันที่ถือว่าทราบคำสั่งให้ออกจากราชการตามข้อ ๕ ข้อ ๘ ในกรณีที่มีการดำเนินการเพื่อสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล พ.ศ. ๒๕๔๗ ก่อนวันที่กฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับ การพิจารณาสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตาม กฎ ก.พ. ฉบับดังกล่าวต่อไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑๐ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติว่า เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการได้ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นออกจากราชการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๑๕ ก/หน้า ๕/๑๗ มีนาคม ๒๕๕๒
459520
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2548) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๗ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่กรณีพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับการคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ข้อ ๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๑๔/๑ และข้อ ๑๔/๒ แห่ง กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๔๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ “ข้อ ๑๔/๑ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับการคัดเลือกบรรจุตามมาตรา ๕๐ จากพนักงานของรัฐตามที่ ก.พ. กำหนด โดยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันไปในสายงานเดิม หากผู้นั้นอยู่ระหว่างการทดลองปฏิบัติงานในขณะเป็นพนักงานของรัฐ ให้นับเวลาที่ปฏิบัติงานในสายงานเดิมเป็นเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อเนื่องตามกฎ ก.พ. นี้ สำหรับผู้ซึ่งผ่านการทดลองปฏิบัติงานในขณะเป็นพนักงานของรัฐตามวรรคหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเทียบได้กับการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎ ก.พ. นี้ ครบระยะเวลาแล้ว ให้นับเวลาที่ทดลองปฏิบัติงานนั้น เป็นเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎ ก.พ. นี้ ได้เต็มเวลา ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำไปใช้บังคับแก่กรณีพนักงานของรัฐตามที่ ก.พ. กำหนดซึ่งบรรจุเข้ารับราชการตามมาตรา ๔๖ ด้วย โดยอนุโลม ข้อ ๑๔/๒ กรณีนอกเหนือจากที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป” ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ ก.พ. กำหนดตำแหน่งเพื่อบรรจุพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ และส่วนราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุและแต่งตั้งพนักงานของรัฐดังกล่าวเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญไปแล้ว ดังนั้น เพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีผลต่อเนื่องเสมือนดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ และเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าว สามารถกระทำได้กับพนักงานของรัฐประเภทอื่นตามที่ ก.พ. กำหนดด้วย จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. ฉบับนี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๖๓ ก/หน้า ๑๑/๔ สิงหาคม ๒๕๔๘
453752
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2548) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๗) ของข้อ ๒ แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน “(๗) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๙ ลงมา ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานช่วยสนับสนุนภารกิจของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนให้เป็นไปตามมติ ก.พ.” ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ : - เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มีความจำเป็นต้องมีข้าราชการเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนในภารกิจของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความหลากหลาย และเพื่อให้ส่วนราชการต้นสังกัดมีกำลังคนสำหรับปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในตำแหน่งสำคัญที่มีผลกระทบสูง สมควรกำหนดให้กระทรวง ทบวง กรมเจ้าสังกัด อาจขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากที่ได้กำหนดไว้แล้วตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๓๗ ก/หน้า ๒๒/๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘
592725
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2551
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๕๐ วรรคสามและวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ก.พ. โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี จึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ข้าราชการพลเรือนสามัญอาจได้รับเงินประจำตำแหน่งตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (๑) ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในประเภท สายงาน และระดับตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ และปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งดังกล่าวให้มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง (๒) ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งผู้ใด หากได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่นและมิได้ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งตั้งแต่วันที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ เว้นแต่ในกรณีที่ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการหรือประเภททั่วไปและได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่นที่มีลักษณะเป็นงานวิชาชีพหรืองานเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหมือนหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่เดิม ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดิมของตำแหน่งต่อไป (๓) ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งนั้นไม่เต็มเดือนในเดือนใด ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งสำหรับเดือนนั้นตามส่วนจำนวนวันที่ได้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งดังกล่าว (๔) ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง และได้ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งนั้นเกินหนึ่งตำแหน่ง ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งสำหรับตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียว (๕) ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งดำรงตำแหน่งที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประเภทเดียวกันที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง และได้ปฏิบัติหน้าที่หลักในตำแหน่งที่ตนไปปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งตามอัตราเดิมของตนต่อไป ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งดำรงตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ หรือรักษาราชการแทน หรือรักษาการในตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งต่างประเภทกัน ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราของตำแหน่งเดิมต่อไปนับแต่วันที่เข้าปฏิบัติหน้าที่หลักในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ หรือรักษาราชการแทน หรือรักษาการในตำแหน่ง แล้วแต่กรณี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหกเดือน (๖) ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งดำรงตำแหน่งที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศตามระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการโดยการให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศ ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราของตำแหน่งเดิมต่อไป ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสายงานตามบัญชีกำหนดสายงานที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ ในตำแหน่งประเภทใด ระดับใด ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญในอัตราดังนี้ (๑) ตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา ๑๐,๐๐๐ บาท (๒) ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ดังต่อไปนี้ ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา ๑๔,๕๐๐ บาท (ก) หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมซึ่งมิใช่หัวหน้าส่วนราชการตาม (๓) (ข) (ค) (ง) และ (จ) (ข) ผู้ว่าราชการจังหวัด (ค) เอกอัครราชทูตที่เป็นหัวหน้าสถานเอกอัครราชทูต หัวหน้าคณะผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ หัวหน้าคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง (ง) รองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง ได้แก่ รองปลัดกระทรวง และรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (จ) รองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในสำนักนายกรัฐมนตรี และอยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ฉ) รองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ช) รองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการ และขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี ได้แก่ รองเลขาธิการสภาการศึกษา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ซ) หัวหน้าส่วนราชการซึ่งไม่มีฐานะเป็นกรมแต่มีผู้บังคับบัญชาเป็นอธิบดีหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นอธิบดี ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เลขาธิการสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (ฌ) ผู้ตรวจราชการของส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง (ญ) ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตามที่ ก.พ. กำหนดให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดียวกันนี้ (๓) ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ดังต่อไปนี้ ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา ๒๑,๐๐๐ บาท (ก) หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง ได้แก่ ปลัดกระทรวง และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ข) หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในสำนักนายกรัฐมนตรี และอยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ค) หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ง) หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการ และขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี ได้แก่ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (จ) ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตามที่ ก.พ. กำหนดให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดียวกันนี้ (๔) ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้น ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา ๕,๖๐๐ บาท (๕) ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา ๑๐,๐๐๐ บาท (๖) ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ ทักษะ และสมรรถนะ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา ๓,๕๐๐ บาท (๗) ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการพิเศษ ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา ๕,๖๐๐ บาท (๘) ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา ๙,๙๐๐ บาท (๙) ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา ๑๓,๐๐๐ บาท (๑๐) ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์ ทักษะ และสมรรถนะ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา ๑๕,๖๐๐ บาท (๑๑) ตำแหน่งประเภททั่วไประดับทักษะพิเศษ ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา ๙,๙๐๐ บาท ข้อ ๔ การกำหนดประเภทตำแหน่ง สายงาน ระดับ และจำนวนตำแหน่งที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่แล้วในวันก่อนวันที่กฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.พ. ก่อน ข้อ ๕ กรณีอื่นนอกจากที่ได้กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. นี้ ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีกำหนดสายงานที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง ท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๕๐ วรรคสามและวรรคสี่ บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญอาจได้รับเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญท้ายพระราชบัญญัตินี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด และผู้ดำรงตำแหน่งประเภทใด สายงานใด ระดับใด จะได้รับเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญท้ายพระราชบัญญัตินี้ในอัตราใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ ปณตภร/ปรับปรุง ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๑๒๘ ก/หน้า ๑๓/๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๑
593090
กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
กฎ ก กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๑ (๕) มาตรา ๑๒๓ มาตรา ๑๒๔ และมาตรา ๑๒๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ก.พ.ค. จึงออกกฎ ก.พ.ค. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ.ค. นี้เรียกว่า “กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๑” ข้อ ๒[๑] กฎ ก.พ.ค. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในกฎ ก.พ.ค. นี้ “คู่กรณี” หมายความว่า ผู้ร้องทุกข์และคู่กรณีในการร้องทุกข์ “คู่กรณีในการร้องทุกข์” หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ “พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน ก.พ. มอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการรับคำร้องทุกข์ การตรวจคำร้องทุกข์ และการดำเนินงานธุรการอย่างอื่นตามกฎ ก.พ.ค. นี้ และให้หมายความรวมถึงเจ้าหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาหรือของผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ หรือของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ที่มีหน้าที่รับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ ด้วย “พนักงานผู้รับผิดชอบสำนวน” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน ก.พ. มอบหมายให้รับผิดชอบสำนวนเรื่องร้องทุกข์ “องค์คณะวินิจฉัย” หมายความว่า ก.พ.ค. หรือกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่ง หรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ ก.พ.ค. ตั้ง เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ในกรณีที่เป็นคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ต้องมีกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์อย่างน้อยสองคนจึงจะเป็นองค์คณะวินิจฉัย “กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์” หมายความว่า บุคคลหนึ่งบุคคลใดในองค์คณะวินิจฉัย “กรรมการเจ้าของสำนวน” หมายความว่า บุคคลหนึ่งบุคคลใดในองค์คณะวินิจฉัยที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนเรื่องร้องทุกข์ “ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์” หมายความว่า องค์คณะวินิจฉัย และให้หมายความรวมถึงผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ด้วย ข้อ ๔ ให้ประธาน ก.พ.ค. รักษาการตามกฎ ก.พ.ค. นี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ประธาน ก.พ.ค. อาจหารือที่ประชุม ก.พ.ค. เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยก็ได้ คำวินิจฉัยนั้นให้เป็นที่สุด หมวด ๑ บททั่วไป ข้อ ๕ การร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. นี้ ข้อ ๖ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างกัน ควรจะได้ปรึกษาหารือทำความเข้าใจกัน ฉะนั้น เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา หากแสดงความประสงค์จะปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา ให้ผู้บังคับบัญชานั้น ให้โอกาสและรับฟัง หรือสอบถามเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวเพื่อเป็นทางแห่งการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นต้น ถ้าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้มีความคับข้องใจนั้น ไม่ประสงค์จะปรึกษาหารือ หรือปรึกษาหารือแล้วไม่ได้รับคำชี้แจง หรือได้รับคำชี้แจงแล้วไม่เป็นที่พอใจ ก็ให้ร้องทุกข์ตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ข้อ ๗ ภายใต้บังคับข้อ ๖ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด ๙ การอุทธรณ์ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. นี้ การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชาซึ่งทำให้เกิดความคับข้องใจอันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ นั้น ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ (๑) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้น หรือโดยไม่สุจริต (๒) เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร (๓) เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ (๔) ประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางอย่างอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิหรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร (๕) ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรมตามมาตรา ๔๒ ข้อ ๘ การร้องทุกข์ให้ร้องได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะร้องทุกข์สำหรับผู้อื่นไม่ได้ และให้ทำคำร้องทุกข์เป็นหนังสือยื่นต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ตามข้อ ๗ คำร้องทุกข์ให้ใช้ถ้อยคำสุภาพและอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังนี้ (๑) ชื่อ ตำแหน่ง สังกัด และที่อยู่สำหรับการติดต่อเกี่ยวกับการร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์ (๒) การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ (๓) ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ผู้ร้องทุกข์เห็นว่าเป็นปัญหาของเรื่องร้องทุกข์ (๔) คำขอของผู้ร้องทุกข์ (๕) ลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ หรือผู้ได้รับมอบหมายให้ร้องทุกข์แทนกรณีที่จำเป็นตามข้อ ๑๐ ข้อ ๙ ในการยื่นคำร้องทุกข์ให้แนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องพร้อมคำร้องทุกข์ด้วย กรณีที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ เพราะพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลอื่น หรือเพราะเหตุอื่นใด ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานไว้ด้วย ให้ผู้ร้องทุกข์ทำสำเนาคำร้องทุกข์และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้ร้องทุกข์รับรองสำเนาถูกต้อง ๑ ชุด แนบพร้อมคำร้องทุกข์ด้วย กรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องมอบหมายให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนตามข้อ ๑๐ ก็ดี กรณีที่มีการแต่งตั้งทนายความหรือบุคคลอื่นดำเนินการแทนในขั้นตอนใด ๆ ในกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๑๑ ก็ดี ให้แนบหลักฐานการมอบหมายหรือหลักฐานการแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตามที่กฎ ก.พ.ค. นี้ กำหนด ถ้าผู้ร้องทุกข์ประสงค์จะแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นพิจารณาของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้แสดงความประสงค์ไว้ในคำร้องทุกข์ด้วย หรือจะทำเป็นหนังสือต่างหากก็ได้แต่ต้องยื่นหนังสือก่อนที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เริ่มพิจารณา ข้อ ๑๐ ผู้มีสิทธิร้องทุกข์จะมอบหมายให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนได้ ในกรณีมีเหตุจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) เจ็บป่วยจนไม่สามารถร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง (๒) อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจร้องทุกข์ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด (๓) มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นสมควร การมอบหมายตามวรรคหนึ่ง จะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้มีสิทธิร้องทุกข์ พร้อมทั้งหลักฐานแสดงเหตุจำเป็นข้างต้น ถ้าไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อยสองคน ข้อ ๑๑ คู่กรณีอาจมีหนังสือแต่งตั้งให้ทนายความหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดแทนตนในกระบวนพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ขั้นตอนใด ๆ ก็ได้ โดยให้แนบหนังสือแต่งตั้งหลักฐานแสดงตนของทนายความหรือบุคคลผู้ได้รับแต่งตั้ง พร้อมคำร้องทุกข์หรือจะยื่นในภายหลังก่อนการดำเนินการในขั้นตอนนั้น ๆ ข้อ ๑๒ คำร้องทุกข์ให้ยื่นต่อพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ ในการนี้ อาจยื่นคำร้องทุกข์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ และให้ถือว่าวันที่ยื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์หรือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสือร้องทุกข์ แล้วแต่กรณี เป็นวันยื่นคำร้องทุกข์ ข้อ ๑๓ เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาร้องทุกข์ การนับวันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้น ให้ถือปฏิบัติดังนี้ (๑) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งเป็นหนังสือ ให้ถือว่าวันที่ผู้มีสิทธิร้องทุกข์ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ (๒) ในกรณีที่ไม่มีการลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งตาม (๑) แต่มีการแจ้งคำสั่งให้ทราบพร้อมสำเนาคำสั่ง และทำบันทึกวันเดือนปี เวลา สถานที่ที่แจ้ง โดยลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ (๓) ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งคำสั่งตาม (๒) และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ ให้ส่งสำเนาคำสั่งไปสองฉบับเพื่อให้เก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ และให้ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งแล้วส่งกลับคืนเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ กรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่ามีผู้รับแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งกลับคืนมา ก็ให้ถือว่าผู้มีสิทธิร้องทุกข์ได้รับทราบคำสั่งอันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์แล้ว (๔) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีคำสั่งเป็นหนังสือ ให้ถือวันที่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้มีสิทธิร้องทุกข์รับทราบหรือควรรับทราบคำสั่งที่ไม่เป็นหนังสือนั้น เป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ (๕) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาโดยไม่ได้มีคำสั่งอย่างใด ให้ถือวันที่ผู้ร้องทุกข์ควรได้ทราบถึงการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว เป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ ข้อ ๑๔ ผู้ร้องทุกข์อาจถอนคำร้องทุกข์ที่ยื่นไว้แล้วในเวลาใด ๆ ก่อนที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์จะมีคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในเรื่องร้องทุกข์นั้น ก็ได้ การถอนคำร้องทุกข์ต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์ แต่ถ้าผู้ร้องทุกข์ถอนคำร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์บันทึกไว้ และให้ผู้ร้องทุกข์ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน เมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์อนุญาต และสั่งจำหน่ายคำร้องทุกข์ออกจากสารบบ ข้อ ๑๕ ในการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์มีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ในกรณีนี้ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์อาจแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่กรณีที่ปรากฏในคำร้องทุกข์ คำแก้คำร้องทุกข์ ก็ได้ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเช่นว่านี้ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์อาจดำเนินการตามที่กำหนดในหมวด ๓ ส่วนที่ ๒ หรือตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่ข้อเท็จจริงซึ่งได้มาจากการแสวงหาเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่งอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ต้องให้คู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ข้อ ๑๖ คำวินิจฉัยในเรื่องร้องทุกข์ของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ อย่างน้อยต้องประกอบด้วย (๑) ชื่อผู้ร้องทุกข์ (๒) ชื่อคู่กรณีในการร้องทุกข์ (๓) สรุปคำร้องทุกข์และคำขอของผู้ร้องทุกข์ (๔) สรุปคำแก้คำร้องทุกข์ (๕) ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย (๖) คำวินิจฉัยของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์พร้อมทั้งเหตุผล (๗) สรุปคำวินิจฉัยหรือคำสั่งที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหรือดำเนินการต่อไป (๘) ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้น (ถ้ามี) คำวินิจฉัยในเรื่องร้องทุกข์ตามวรรคหนึ่งต้องลงลายมือชื่อของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ที่วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์นั้น ถ้าผู้ใดมีเหตุจำเป็นไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้จดแจ้งเหตุดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยนั้น ด้วย ข้อ ๑๗ ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ.ค. นี้ เมื่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีมีคำขอ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์มีอำนาจย่นหรือขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ข้อ ๑๘ การนับระยะเวลาตามกฎ ก.พ.ค. นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้นให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา ส่วนเวลาสิ้นสุด ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการ ให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา ข้อ ๑๙ หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในหมวด ๑ ให้ใช้บังคับกับการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ในหมวดอื่นด้วย เว้นแต่จะมีหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น หมวด ๒ การร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป ข้อ ๒๐ การร้องทุกข์ที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชา และกฎหมาย ไม่ได้บัญญัติให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. แต่ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับ นั้น ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาดังนี้ (๑) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่ต่ำกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ร้องทุกข์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ (๒) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนกลางที่ต่ำกว่าอธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่ออธิบดี และให้อธิบดีเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ (๓) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์ และให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ข้อ ๒๑ การยื่นคำร้องทุกข์อาจยื่นผ่านผู้บังคับบัญชาหรือผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ก็ได้ และให้นำความในข้อ ๑๒ หมวด ๑ มาใช้บังคับกับการยื่นคำร้องทุกข์ดังกล่าวด้วย ข้อ ๒๒ เมื่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ได้รับคำร้องทุกข์แล้ว ให้มีหนังสือแจ้งพร้อมทั้งส่งสำเนาคำร้องทุกข์ให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ทราบโดยเร็ว และให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้นส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และคำชี้แจงของตน (ถ้ามี) ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ประกอบการพิจารณาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้รับคำร้องทุกข์ ให้ผู้บังคับบัญชานั้นส่งคำร้องทุกข์พร้อมทั้งสำเนาต่อไปยังผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์ เมื่อผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ได้รับคำร้องทุกข์ที่ยนผ่านตามข้อ ๒๑ หรือ ส่งตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้จัดส่งคำร้องทุกข์พร้อมทั้งสำเนาและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และคำชี้แจงของตน (ถ้ามี) ไปยังผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์ ข้อ ๒๓ การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาจากเรื่องราวการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ของผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ ในกรณีที่จำเป็นและสมควร อาจจะขอเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมทั้งคำชี้แจงจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วน บริษัท ข้าราชการ หรือบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาได้ ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจา หากผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ จะไม่ให้แถลงการณ์ด้วยวาจาก็ได้ แต่ให้บันทึกเหตุผลไว้ด้วย ในกรณีที่นัดให้ผู้ร้องทุกข์มาแถลงการณ์ด้วยวาจา ให้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ทราบด้วยว่า ถ้าประสงค์จะแถลงแก้ก็ให้มาแถลงหรือมอบหมายเป็นหนังสือ ให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แทนมาแถลงแก้ด้วยวาจาในการพิจารณาครั้งนั้นได้ ทั้งนี้ ให้แจ้งล่วงหน้าตามควรแก่กรณี และเพื่อประโยชน์ในการแถลงแก้ดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือผู้แทน (ถ้ามี) เข้าฟังการแถลงการณ์ด้วยวาจาของผู้ร้องทุกข์ได้ ข้อ ๒๔ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์และเอกสารหลักฐานตามข้อ ๒๒ แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินสามสิบวัน และให้บันทึกแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาไว้ด้วย ในกรณีที่ขอขยายเวลาตามวรรคหนึ่งแล้วการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ขยายเวลาพิจารณาได้อีกไม่เกินสามสิบวัน และให้พิจารณากำหนดมาตรการที่จะทำให้การพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็วและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และให้ส่งหลักฐานดังกล่าวไปยังผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปของผู้ร้องทุกข์ภายในสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดขยายเวลาตามวรรคหนึ่ง เพื่อที่ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปจะได้ติดตามแนะนำและชี้แจงให้การพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ถ้าปลัดกระทรวงเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ส่งหลักฐานดังกล่าวไปยังเลขาธิการ ก.พ. ในฐานะเลขานุการของ ก.พ.ค. เพื่อดำเนินการต่อไป ข้อ ๒๕ ในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ มีอำนาจไม่รับเรื่องร้องทุกข์ ยกคำร้องทุกข์ หรือมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง และให้เยียวยาความเสียหาย ให้ผู้ร้องทุกข์ หรือให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยให้นำระเบียบที่ ก.พ.ค. กำหนดในเรื่องเดียวกันนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ประการใดแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้นในโอกาสแรกที่ทำได้ และเมื่อได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ให้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว คำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ให้เป็นที่สุด ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนั้น มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองต่อไปได้ ข้อ ๒๖ ในกรณีที่ยังไม่มีระเบียบ ก.พ.ค. เรื่องการเยียวยาความเสียหายให้ผู้ร้องทุกข์หรือให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมใช้บังคับ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์สั่งการในเรื่องการเยียวยาและดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมไปพลางก่อนตามที่เห็นสมควรได้โดยให้นำประโยชน์ของทางราชการมาประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อมีระเบียบ ก.พ.ค. ในเรื่องเดียวกันนี้ใช้บังคับแล้ว หากการดำเนินการตามที่ได้สั่งการไปนั้นมีมาตรฐานต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบ ก.พ.ค. ก็ให้ดำเนินการเพิ่มเติมให้ครบถ้วนเท่าที่ทำได้ และให้ถือว่าเป็นการเยียวยาหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามระเบียบ ก.พ.ค. แล้ว ข้อ ๒๗ ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์อาจถูกคัดค้านได้ โดยให้นำความในหมวด ๓ ข้อ ๕๘ มาใช้บังคับกับเหตุแห่งการคัดค้านและการยื่นคำคัดค้าน โดยอนุโลม ข้อ ๒๘ ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์คัดค้านผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์เหนือผู้ถูกคัดค้านเป็นผู้พิจารณาคำคัดค้าน ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านไม่มีเหตุผลก็ให้มีคำสั่งยกคำคัดค้าน คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด และแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านมีเหตุผลรับฟังได้ให้แจ้งให้ผู้ถูกคัดค้านกับผู้ร้องทุกข์ทราบ กรณีนี้ให้ผู้พิจารณาคำคัดค้านเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์แทน และให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ข้างต้น มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๒๙ ในกรณีที่ปลัดกระทรวงเป็นผู้ถูกคัดค้าน ให้ส่งคำคัดค้านไปที่เลขาธิการ ก.พ. ในฐานะเลขานุการ ก.พ.ค. และให้ ก.พ.ค. เป็นผู้พิจารณาคำคัดค้าน ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านไม่มีเหตุผลก็ให้มีคำสั่งยกคำคัดค้าน คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด และแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านมีเหตุผลรับฟังได้ก็ให้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบและแนะนำผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ประกอบด้วยผู้แทนผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์หนึ่งคน ผู้แทนผู้ร้องทุกข์หนึ่งคน ผู้แทนผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หนึ่งคน ทั้งนี้ ให้เลขาธิการ ก.พ. ตั้งข้าราชการสำนักงาน ก.พ. หนึ่งคนร่วมเป็นกรรมการ ด้วย และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการดังกล่าวประชุมและเลือกกันเองคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัดเป็นเลขานุการและจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการ ก็ได้ เมื่อคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งพิจารณามีมติประการใด ให้เสนอต่อปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยตามที่เห็นสมควร และการทำคำวินิจฉัยในกรณีนี้ ให้นำข้อ ๑๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๓๐ เมื่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ได้พจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์เสร็จสิ้นลงแล้ว ให้รายงานผลการดำเนินการตามคำวินิจฉัยพร้อมทั้งสำเนาคำวินิจฉัยไปยัง ก.พ.ค. ภายในสิบห้าวันนับแต่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการตามคำวินิจฉัยนั้นแล้ว เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบพิทักษ์ระบบคุณธรรม ต่อไป หมวด ๓ การร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ส่วนที่ ๑ การยื่นคำร้องทุกข์ การตรวจคำร้องทุกข์ การตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ การจ่ายสำนวน และการสั่งรับหรือไม่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณา ข้อ ๓๑ ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือนายกรัฐมนตรี ให้ร้องทุกข์ตอ ก.พ.ค. โดยยื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ที่สำนักงาน ก.พ. หรือจะส่งคำร้องทุกข์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังสำนักงาน ก.พ. ก็ได้ ข้อ ๓๒ คำร้องทุกข์ที่ยื่นที่สำนักงาน ก.พ. ให้พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ออกใบรับคำร้องทุกข์ และลงทะเบียนรับคำร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐานในวันที่รับคำร้องทุกข์ตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ และให้ถือวันที่รับคำร้องทุกข์ตามหลักฐานดังกล่าวเป็นวันยื่นคำร้องทุกข์ ข้อ ๓๓ คำร้องทุกข์ที่พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ได้รับไว้แล้ว ให้ลงทะเบียนเรื่องร้องทุกข์ในสารบบ และตรวจคำร้องทุกข์ในเบื้องต้น (๑) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่มีการดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด ๑ ให้เสนอคำร้องทุกข์ดังกล่าวต่อประธาน ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป (๒) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่มีการดำเนินการโดยไม่สมบูรณ์ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด ๑ ให้พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์แนะนำให้ผู้ร้องทุกข์แก้ไขให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด (๓) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่อยู่ในอำนาจของ ก.พ.ค. จะรับไว้พิจารณาได้ หรือเป็นกรณีตาม (๒) แต่ผู้ร้องทุกข์ไม่แก้ไขภายในเวลาที่กำหนด ให้บันทึกไว้แล้วเสนอคำร้องทุกข์ดังกล่าวต่อประธาน ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ข้อ ๓๔ ให้ ก.พ.ค. ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะเป็นองค์คณะวินิจฉัยก็ได้ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นประธาน และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์อีกสองคนเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ โดยจะกำหนดให้ประธาน ก.พ.ค. หรือกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หลายคณะพร้อมกันก็ได้ และให้มีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ. ที่ได้รับมอบหมายเป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความจำเป็น ในกรณีที่มีความจำเป็น ก.พ.ค. อาจแต่งตั้งให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คนใดทำหน้าที่วินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ก็ได้ ข้อ ๓๕ เมื่อได้มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์และได้มีการจ่ายสำนวนแล้ว ให้ประธานกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์แจ้งคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ให้ผู้ร้องทุกข์ทราบ โดยให้ผู้ร้องทุกข์ลงลายมือชื่อและวันที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน แล้วมอบสำเนาคำสั่งให้ไว้หนึ่งฉบับ หรือจะส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ร้องทุกข์ ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการก็ได้ ในกรณีนี้เมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ร้องทุกข์ได้รับทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์แล้ว ให้นำความตามวรรคหนึ่งใช้บังคับกับกรณีที่กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ด้วย ข้อ ๓๖ เมื่อประธาน ก.พ.ค. ได้รับคำร้องทุกข์แล้ว ให้พิจารณาจ่ายสำนวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๗ ถึงข้อ ๔๓ ข้อ ๓๗ ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำร้องทุกข์ใดมีปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญ หรือผลการวินิจฉัยอาจกระทบต่อวิถีทางปฏิบัติราชการ หรือจะเป็นการวางบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการ หรือเป็นกรณีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบคุณธรรมที่ ก.พ.ค. สมควรเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเอง ก็ให้จ่ายสำนวนคำร้องทุกข์นั้นให้ ก.พ.ค. เป็นองค์คณะวินิจฉัย โดยให้ประธาน ก.พ.ค. ตั้งกรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นกรรมการเจ้าของสำนวน และมีพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนเป็นผู้ช่วย ข้อ ๓๘ ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำร้องทุกข์ใดเป็นกรณีทั่วไปที่ไม่มีลักษณะตามข้อ ๓๗ ให้จ่ายสำนวนคำร้องทุกข์นั้นให้กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งหรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะหนึ่งคณะใดเป็นองค์คณะวินิจฉัยก็ได้ ในกรณีที่กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นองค์คณะวินิจฉัย ให้ผู้นั้นเป็นกรรมการเจ้าของสำนวน และมีพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนเป็นผู้ช่วย ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะหนึ่งคณะใดเป็นองค์คณะวินิจฉัย ให้ประธานกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะนั้นตั้งกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ในคณะคนหนึ่งเป็นกรรมการเจ้าของสำนวน และมีพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนเป็นผู้ช่วย ข้อ ๓๙ ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำร้องทุกข์เรื่องใดเป็นร้องทุกข์ที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ ให้จ่ายสำนวนคำร้องทุกข์นั้นให้กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่งเป็นกรรมการเจ้าของสำนวน หรือจะจ่ายให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะหนึ่งทำหน้าที่เป็นองค์คณะวินิจฉัย ก็ได้ ข้อ ๔๐ ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำร้องทุกข์เรื่องใดเป็นร้องทุกข์ที่รับไว้พิจารณาได้ ให้จ่ายสำนวนคำร้องทุกข์ให้แก่กรรมการ ก.พ.ค. คนหนึ่ง หรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ เป็นองค์คณะวินิจฉัย หากมีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ขึ้นหลายคณะ ให้ประธาน ก.พ.ค. จ่ายสำนวนตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ถ้ามีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ แยกตามความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ ให้จ่ายสำนวนให้ตรงกับความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ตั้งไว้ (๒) ถ้ามีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ แยกตามกลุ่มของส่วนราชการหรือพื้นที่ตั้งของส่วนราชการใด ให้จ่ายสำนวนให้ตรงกับกลุ่มหรือพื้นที่ตั้งของส่วนราชการนั้น (๓) ในกรณีที่ไม่มีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตาม (๑) หรือ (๒) หรือมีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตาม (๑) หรือ (๒) ในลักษณะเดียวกันหลายคณะ หรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตาม (๑) หรือ (๒) มีคำร้องทุกข์ค้างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากจ่ายสำนวนให้แก่คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์นั้นอีก จะทำให้การพิจารณาล่าช้าหรือกระทบต่อความยุติธรรม ให้จ่ายสำนวนคำร้องทุกข์ตามที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นสมควร ข้อ ๔๑ กรรมการเจ้าของสำนวนอาจกำหนดประเด็นให้พนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนวิเคราะห์และพิจารณาทำความเห็นเสนอในเบื้องต้นประกอบการพิจารณาขององค์คณะวินิจฉัย เพื่อพิจารณาสั่งรับหรือไม่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาดังนี้ (๑) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่มีการดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด ๑ และเป็นคำร้องทุกข์ที่รับไว้พิจารณาได้ ก็ให้องค์คณะวินิจฉัยมีคำสั่งรับคำร้องทุกข์นั้นไว้พิจารณา แล้วดำเนินการตามกระบวนพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ต่อไป (๒) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่ยังไม่ชัดเจนหรือที่ยังมีการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด ๑ ก็ให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ให้เสนอองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณามีคำวินิจฉัยต่อไป (๓) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ตามข้อ ๔๒ ก็ให้เสนอองค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณามีคำวินิจฉัยต่อไป ข้อ ๔๒ ห้ามมิให้รับคำร้องทุกข์ดังต่อไปนี้ไว้พิจารณา (๑) เป็นกรณีที่ไม่อาจร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ได้ตามข้อ ๗ (๒) ผู้ร้องทุกข์มิใช่เป็นผู้มีสิทธิร้องทุกข์ตามข้อ ๗ (๓) ผู้ร้องทุกข์มิใช่เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีสิทธิร้องทุกข์แทนตามข้อ ๑๐ (๔) เป็นคำร้องทุกข์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๘ (๕) เป็นเรื่องที่ได้เคยมีการร้องทุกข์และได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว (๖) เป็นกรณีตามข้อ ๔๑ (๒) ข้อ ๔๓ เมื่อได้รับความเห็นของกรรมการเจ้าของสำนวนตามข้อ ๔๑ (๒) หรือ (๓) ให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณามีคำวินิจฉัยดังนี้ (๑) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่รับไว้พิจารณาไม่ได้ตามข้อ ๔๒ ก็ให้มีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์นั้นไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายเรื่องร้องทุกข์นั้นออกจากสารบบ ในกรณีที่กรรมการ ก.พ.ค. เป็นกรรมการเจ้าของสำนวนหรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เป็นองค์คณะวินิจฉัย เมื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ให้รายงาน ก.พ.ค. เพื่อทราบต่อไปด้วย (๒) ถ้าเห็นว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่อาจรับไว้พิจารณาได้ ก็ให้มีคำสั่งให้กรรมการเจ้าของสำนวนดำเนินการตามกระบวนพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ต่อไป ส่วนที่ ๒ กระบวนพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ข้อ ๔๔ เมื่อได้มีการสั่งรับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาแล้ว ให้กรรมการเจ้าของสำนวนมีคำสั่งให้คู่กรณีในการร้องทุกข์ทำคำแก้คำร้องทุกข์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งหรือภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยส่งสำเนาคำร้องทุกข์และสำเนาหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปให้ด้วย ในกรณีที่เห็นสมควร กรรมการเจ้าของสำนวนจะกำหนดประเด็นที่คู่กรณีในการร้องทุกข์ต้องชี้แจงหรือกำหนดให้จัดส่งพยานหลักฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ไปให้ด้วยก็ได้ ข้อ ๔๕ ให้คู่กรณีในการร้องทุกข์ทำคำแก้คำร้องทุกข์และคำชี้แจงตามประเด็นที่กำหนดให้โดยชัดแจ้งและครบถ้วน พร้อมส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และหลักฐานการรับทราบหรือควรได้ทราบเหตุของการร้องทุกข์ โดยจัดทำสำเนาคำแก้คำร้องทุกข์ สำเนาคำชี้แจง และสำเนาพยานหลักฐานตามจำนวนที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนด ยื่นภายในระยะเวลาตามข้อ ๔๔ วรรคหนึ่ง ข้อ ๔๖ ในกรณีที่กรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่าคำแก้คำร้องทุกข์หรือคำชี้แจงของคู่กรณีในการร้องทุกข์ หรือพยานหลักฐานที่ส่งมาให้ยังไม่ครบถ้วนหรือชัดเจนเพียงพอ ให้สั่งให้คู่กรณีในการร้องทุกข์แก้ไขเพิ่มเติมคำแก้คำร้องทุกข์หรือจัดทำคำชี้แจงเพิ่มเติม หรือส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมมาให้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ข้อ ๔๗ ในกรณีที่คู่กรณีในการร้องทุกข์มิได้จัดทำคำแก้คำร้องทุกข์และคำชี้แจงตามประเด็นที่กำหนดให้ชัดเจน พร้อมทั้งพยานหลักฐานยื่นต่อกรรมการเจ้าของสำนวนในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าคู่กรณีในการร้องทุกข์ยอมรับข้อเท็จจริงตามข้อร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์ และให้กรรมการเจ้าของสำนวนพิจารณาดำเนินการต่อไปตามที่เห็นเป็นการยุติธรรม ข้อ ๔๘ การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณา จากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินเรื่องนั้น ประกอบกับคำร้องทุกข์และคำแก้คำร้องทุกข์ ในกรณีจำเป็นและสมควร ให้กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์มีอำนาจดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๑๑๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ส่วนที่ ๓ การสรุปสำนวน และการประชุมวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ข้อ ๔๙ ในกรณีที่กรรมการเจ้าของสำนวนพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้มาจากคำร้องทุกข์ คำแก้คำร้องทุกข์ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องนั้น และข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม (ถ้ามี) แล้วเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์นั้นแล้ว ให้จัดทำบันทึกสรุปสำนวนของกรรมการเจ้าของสำนวน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (๑) ชื่อผู้ร้องทุกข์และคู่กรณีในการร้องทุกข์ (๒) สรุปคำร้องทุกข์ (๓) สรุปคำแก้คำร้องทุกข์ (๔) สรุปข้อเท็จจริงที่กรรมการเจ้าของสำนวนแสวงหาเพิ่มเติม (ถ้ามี) (๕) ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง (๖) ความเห็นของกรรมการเจ้าของสำนวนเกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยและคำขอของผู้ร้องทุกข์ ให้กรรมการเจ้าของสำนวนเสนอบันทึกสรุปสำนวนตามวรรคหนึ่งและสำนวนพร้อมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์ทั้งหมดให้องค์คณะวินิจฉัยพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ข้อ ๕๐ เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้พิจารณาบันทึกสรุปสำนวนของกรรมการเจ้าของสำนวน หากเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้มายังไม่เพียงพอหรือมีข้อที่ควรปรับปรุง ก็ให้กรรมการเจ้าของสำนวนรับไปดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหรือดำเนินการปรับปรุงตามความเห็นขององค์คณะวินิจฉัย แล้วนำผลการดำเนินการเสนอให้องค์คณะวินิจฉัยเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยพิจารณาตามวรรคหนึ่งแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้มาเพียงพอต่อการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์นั้น ก็ให้ดำเนินการตามข้อ ๕๑ ต่อไป ข้อ ๕๑ ในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ให้องค์คณะวินิจฉัยจัดให้มีการประชุมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสมาแถลงด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะวินิจฉัย เว้นแต่ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยเห็นว่าเรื่องร้องทุกข์นั้นมีข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอต่อการพิจารณาวินิจฉัยแล้วหรือมีข้อเท็จจริงและประเด็นวินิจฉัยไม่ซับซ้อน และการมาแถลงด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ จะให้งดการแถลงด้วยวาจาเสียก็ได้ ในกรณีที่มีการประชุมและให้มีการแถลงตามวรรคหนึ่ง เมื่อองค์คณะวินิจฉัยได้กำหนดวันประชุมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์แล้ว ให้กรรมการเจ้าของสำนวนแจ้งกำหนดวันประชุมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์พร้อมทั้งส่งสรุปคำร้องทุกข์และสรุปคำแก้คำร้องทุกข์ ตลอดจนสรุปข้อเท็จจริงที่กรรมการเจ้าของสำนวนแสวงหาเพิ่มเติม (ถ้ามี) ให้แก่คู่กรณีทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมพิจารณาไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้แถลงสรุปคำร้องทุกข์และคำแก้คำร้องทุกข์ของตน ทั้งนี้ คู่กรณีจะไม่มาในวันประชุมพิจารณาก็ได้ หากในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์หรือคู่กรณีในการร้องทุกข์ไม่มาในวันประชุมพิจารณา ก็ให้พิจารณาลับหลังไปได้และให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานด้วย ข้อ ๕๒ ในกรณีที่มีการประชุมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๕๑ วรรคหนึ่ง เมื่อเริ่มการประชุม ให้กรรมการเจ้าของสำนวนเสนอสรุปข้อเท็จจริงและประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย แล้วให้ผู้ร้องทุกข์และคู่กรณีในการร้องทุกข์แถลงด้วยวาจาเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย คำแถลงด้วยวาจาของผู้ร้องทุกข์และของคู่กรณีในการร้องทุกข์ต้องกระชับและอยู่ในประเด็น โดยไม่อาจยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำร้องทุกข์และคำแก้คำร้องทุกข์ได้ ส่วนที่ ๔ การทำคำวินิจฉัย ข้อ ๕๓ ในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ให้องค์คณะวินิจฉัยมีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณาตามข้อ ๔๓ (๑) หรือมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ดังนี้ ยกคำร้องทุกข์ หรือมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง และให้เยียวยาความเสียหายให้ผู้ร้องทุกข์ หรือให้ดำเนินการอื่นใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามระเบียบที่ ก.พ.ค. กำหนด ข้อ ๕๔ คำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ขององค์คณะวินิจฉัย ให้นำความในข้อ ๑๖ หมวด ๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ หรือกรรมการ ก.พ.ค. เจ้าของสำนวน เป็นองค์คณะวินิจฉัย และได้จัดทำคำวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ให้รายงาน ก.พ.ค. เพื่อทราบ หากมีข้อแนะนำหรือข้อควรปรับปรุงประการใด ให้แก้ไขปรับปรุงตามความเห็นของ ก.พ.ค. ต่อไป ในกรณีที่องค์คณะวินิจฉัยพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์แล้วเห็นสมควรให้มีการเยียวยาแก่ผู้ร้องทุกข์ หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และอยู่ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีระเบียบ ก.พ.ค. ในเรื่องดังกล่าวใช้บังคับ ให้นำความตามข้อ ๒๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไปพลางก่อน ข้อ ๕๕ การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามกฎ ก.พ.ค. นี้ ให้องค์คณะวินิจฉัยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์และเอกสารหลักฐานตามข้อ ๔๕ แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว ก็ขยายเวลาได้โดยเสนอประธาน ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาตามควรแก่กรณี และให้บันทึกเหตุขัดข้องให้ปรากฏด้วย ข้อ ๕๖ เมื่อได้วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์และดำเนินการตามข้อ ๕๔ วรรคสองแล้ว ให้แจ้งให้คู่กรณีทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว คำวินิจฉัยนั้นให้เป็นที่สุด ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองต่อไปได้ ข้อ ๕๗ คำวินิจฉัยร้องทุกข์ให้ผูกพันคู่กรณีในการร้องทุกข์และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติตามนับแต่วันที่กำหนดไว้ในคำวินิจฉัยร้องทุกข์นั้น ส่วนที่ ๕ การคัดค้านกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ข้อ ๕๘ ผู้ร้องทุกข์หรือคู่กรณีในการร้องทุกข์อาจคัดค้านกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ถ้าผู้นั้นมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจ หรือเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว (๒) มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ร้องทุกข์ (๓) มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ร้องทุกข์ (๔) มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติหรือทางสมรสกับบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) อันอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องทุกข์ การคัดค้านดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน ก.พ.ค. ภายในเจ็ดวันนับแต่วันรับทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ โดยแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในหนังสือคัดค้านว่า จะทำให้การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ไม่ได้รับความจริงและความยุติธรรมอย่างไรด้วย ข้อ ๕๙ เมื่อมีการยื่นคำคัดค้านกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คนใด ให้ประธาน ก.พ.ค. แจ้งให้กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ถูกคัดค้านงดการปฏิบติหน้าที่ไว้จนกว่าประธาน ก.พ.ค. จะได้มีการชี้ขาดในเรื่องการคัดค้านนั้นแล้ว ในการพิจารณาคำคัดค้านให้ประธาน ก.พ.ค. พิจารณาจากคำคัดค้านและบันทึกชี้แจงของกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้ถูกคัดค้าน หากประธาน ก.พ.ค. เห็นว่ามิได้เป็นไปตามคำคัดค้านและมีเหตุผลสมควรที่จะให้ผู้ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ค. เพื่อพิจารณา ถ้าที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการที่ไม่ถูกคัดค้าน ก็ให้กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ มติดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ แล้วให้เป็นที่สุด ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นว่าคำคัดค้านฟังขึ้น หรือมีเหตุผลพอที่จะฟังได้ว่าหากให้ผู้ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจทำให้การพิจารณาไม่ได้ความจริงและความยุติธรรม ให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เรื่องนั้น แล้วแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบด้วย ในกรณีที่ประธาน ก.พ.ค. สั่งให้กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ถูกคัดค้านถอนตัวจากการพิจารณา ให้ประธาน ก.พ.ค. แต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์จากคณะหนึ่งคณะใดหรือตนเองปฏิบัติหน้าที่แทนตามความจำเป็น ข้อ ๖๐ กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้ใดเห็นว่าตนมีกรณีอันอาจถูกคัดค้านได้ตามข้อ ๔๐ หรือเห็นว่ามีเหตุอื่นที่อาจจะมีการกล่าวอ้างในภายหลังได้ว่า ตนไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยเที่ยงธรรม ให้แจ้งต่อประธาน ก.พ.ค. และถอนตัวจากการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ และให้นำข้อ ๕๘ และข้อ ๕๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๖๑ การที่กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ผู้ถูกคัดค้านที่ถูกสั่งให้งดการปฏิบัติหน้าที่หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ถูกสั่งให้ถอนตัวเพราะมีเหตุอันอาจถูกคัดค้านนั้น ย่อมไม่กระทบถึงการกระทำใด ๆ ที่ได้กระทำไปแล้ว แม้ว่าจะได้ดำเนินการหลังจากที่ได้มีการยื่นคำคัดค้าน ส่วนที่ ๖ การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์และพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวน ข้อ ๖๒ ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ. เป็นพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ เพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับคำร้องทุกข์ การตรวจคำร้องทุกข์ และการดำเนินการทางธุรการอย่างอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย ข้อ ๖๓ ให้เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกรรมการเจ้าของสำนวน เกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย ประกาศ ณ วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ศราวุธ เมนะเศวต ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ.ค. ฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๒๓ และมาตรา ๑๒๕ กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับ หรือ ก.พ.ค. แล้วแต่กรณี ในกรณีที่เกิดความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด ๙ การอุทธรณ์ ได้ และบัญญัติให้คัดค้านกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้ด้วย ทั้งนี้ โดยให้การร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ การยื่นคัดค้าน และการพิจารณาคำคัดค้าน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ.ค. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๑๒๙ ก/หน้า ๓๐/๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑
319603
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 19 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจึงออกกฎ ก พ. ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ กระทรวง ทบวง กรมเจ้าสังกัด อาจขออนุมัติกำหนดอัตรากำลังทดแทนต่อ ก.พ. ได้ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นและไม่เกินกำหนดระยะเวลา ดังต่อไปนี้ (๑) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ข้าราชการพลเรือนผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (๒) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับอนุญาตให้ลาติดตามคู่สมรสซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาติดตามคู่สมรสไปปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไปปฏิบัติงานในต่างประเทศตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (๓) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับทุนรัฐบาลตามระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยทุนของรัฐบาลให้ไปศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศ ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาหรือฝึกอบรมตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (๔) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๗ ขึ้นไป ผู้ใดจะพ้นจากราชการเพราะเกษียณอายุและมีระยะเวลาในการรับราชการเหลืออยู่ไม่เกินหกเดือน ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้อื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งซึ่งข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาราชการที่เหลืออยู่ของผู้ที่จะเกษียณอายุ ข้อ ๓ การขอให้ ก.พ. พิจารณาอนุมัติกำหนดอัตรากำลังทดแทนให้แสดงรายละเอียด ดังต่อไปนี้ (๑) คำชี้แจง เหตุผลความจำเป็น และกำหนดระยะเวลาที่จะสั่งให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน (๒) หน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการที่มอบหมายให้ผู้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามข้อ ๒ (๔) ซึ่งจะต้องให้เหมาะสมกับระดับตำแหน่งที่เคยดำรงอยู่เดิม ข้อ ๔ เมื่อ ก.พ. อนุมัติให้กำหนดอัตรากำลังทดแทนสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญในกรณีใดแล้ว ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญในกรณีนั้นพ้นจากตำแหน่งหน้าที่และขาดจากอัตราเงินเดือนในตำแหน่งเดิมโดยให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามที่ได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ข้อ ๕ เมื่อได้สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามที่ ก.พ. กำหนด เว้นแต่กรณีตามข้อ ๒ (๔) แล้ว ถ้าผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ เห็นว่ายังมีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนต่อไปอีกเกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ก็ให้ขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. ได้อีกครั้งละไม่เกินหนึ่งปี ทั้งนี้ ให้ขอขยายเวลาก่อนวันครบกำหนดระยะเวลาเดิมไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษอาจขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. น้อยกว่าสามสิบวันได้ การขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. ตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงรายละเอียดตามข้อ ๓ ด้วยโดยอนุโลม ข้อ ๖ ในกรณีการกำหนดอัตรากำลังทดแทนสำหรับกรณีตามข้อ ๒ (๑) (๒) และ (๓) ถ้ากระทรวง ทบวง กรมใดมีตำแหน่งและอัตราเงินเดือนว่างและประสงค์จะนำอัตราเงินเดือนของตำแหน่งนั้นมาเป็นอัตรากำลังทดแทน ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ ของส่วนราชการนั้น นำอัตราเงินเดือนของตำแหน่งที่ว่างอยู่ดังกล่าวมากำหนดเป็นอัตรากำลังทดแทนและสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนได้ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ข้าราชการผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ เมื่อกระทรวง ทบวง กรมใดได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รายงานต่อ ก.พ. ภายในเจ็ดวัน ข้อ ๗ เมื่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนโดยมีเหตุผลความจำเป็นในกรณีใดแล้ว เมื่อหมดความจำเป็นหรือครบกำหนดระยะเวลาตามข้อ ๔ ข้อ ๕ หรือข้อ ๖ แล้วแต่กรณี ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นพ้นจากการรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกันกับที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ข้อ ๘ การให้พ้นจากตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือน การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย และการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญที่ถูกสั่งให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามกฎ ก.พ. นี้ ให้ถือเสมือนว่าข้าราชการพลเรือนสามัญที่ถูกสั่งนั้นดำรงตำแหน่งเดิม ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญพ้นจากตำแหน่งหน้าที่และขาดจากอัตราเงินเดือนในตำแหน่งเดิม โดยให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนที่ ก.พ. กำหนดได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. การให้พ้นจากตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือน การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การดำเนินการทางวินัยและการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนที่ ๔๔ ก/หน้า ๖/๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑
320796
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๔๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ.นี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสี่สิบห้าวัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ในกฎ ก.พ.นี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ “ส่วนราชการ” หมายความว่า กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม และให้หมายความรวมถึงสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีด้วย ข้อ ๓ ภายใต้บังคับข้อ ๑๒ (๒) ให้ผู้ได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๕๐ และข้าราชการที่ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือนและเป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการพนักงานเทศบาล หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติงาน ซึ่งโอนมาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๖๑ ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเวลาหกเดือนนับแต่วันเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นต้นไป ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการในเรื่องการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างจริงจัง มีความเที่ยงธรรมและได้มาตรฐานในอันที่จะให้การทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นกระบวนการเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อ ๔ ให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดกำหนดรายการประเมินผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ตามความเหมาะสม แต่อย่างน้อยต้องประกอบด้วยความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ความสามารถในการปฏิบัติงาน ปริมาณงาน คุณภาพของงาน ความอุตสาหะ ความรับผิดชอบ ความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น ความสนใจที่จะพัฒนาตนเอง คุณธรรม การปฏิบัติตนตามกรอบของจรรยาบรรณ และการรักษาวินัย วิธีการประเมินและมาตรฐานหรือเกณฑ์การประเมินผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราช การให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการเจ้าสังกัดกำหนด แล้วรายงานให้ อ.ก.พ. กระทรวงทราบ ข้อ ๕ ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่พัฒนาตามมาตรา ๗๖ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ให้ผู้มีหน้าที่ดูแลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการมอบหมายงานให้ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการปฏิบัติ และแจ้งให้ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการทราบอย่างชัดเจนเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงาน การประพฤติตน รายการประเมิน วิธีการประเมิน และมาตรฐานหรือเกณฑ์การประเมินผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ข้อ ๖ ให้ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการทำรายงานการปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนเสนอผู้มีหน้าที่ดูแลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการตามแบบและวิธีการที่ส่วนราชการเจ้าสังกัดกำหนด ข้อ ๗ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอีกจำนวนสองคน ซึ่งอย่างน้อยต้องแต่งตั้งจากผู้มีหน้าที่ดูแลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการหนึ่งคน และข้าราชการผู้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการอีกหนึ่งคน ข้อ ๘ ให้คณะกรรมการทำหน้าที่ประเมินผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการของผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการตามรายการประเมิน วิธีการประเมิน และมาตรฐานหรือเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ ทำการประเมินสองครั้ง โดยประเมินครั้งแรกเมื่อทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการมาแล้วเป็นเวลาสามเดือน และประเมินครั้งที่สอง เมื่อทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการครบหกเดือน เว้นแต่คณะกรรมการไม่อาจประเมินผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการในแต่ละครั้งได้อย่างชัดแจ้ง เนื่องจากผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ลาคลอดบุตร ลาป่วยซึ่งจำเป็นต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน ลาป่วยเพราะประสบอันตรายในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือในขณะเดินทางไปหรือกลับจากปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือลาเข้ารับการตรวจเลือก หรือเข้ารับการเตรียมพล คณะกรรมการจะประเมินผลรวมเมื่อทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการครบหกเดือนแล้วก็ได้ ในกรณีที่มีการขยายระยะเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการตามข้อ ๑๒ (๒) เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ขยายแล้วให้ประเมินอีกครั้งหนึ่ง ข้อ ๙ ผลการประเมินของคณะกรรมการให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก กรรมการที่ไม่เห็นด้วยอาจทำความเห็นแย้งรวมไว้ก็ได้ ข้อ ๑๐ เมื่อคณะกรรมการได้ดำเนินการตามข้อ ๘ แล้ว ให้ประธานกรรมการรายงานผลการประเมินต่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามแบบหมายเลข ๑ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ ดังนี้ (๑) ในกรณีที่ผลการประเมินไม่ต่ำกว่าเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ ให้รายงานเมื่อทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการครบหกเดือนหรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ขยายตามข้อ ๑๒ (๒) แล้ว (๒) ในกรณีที่ผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ ให้รายงานเมื่อเสร็จสิ้นการประเมินแต่ละครั้ง ข้อ ๑๑ เมื่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุได้รับรายงานตามข้อ ๑๐ (๑) แล้ว ให้ประกาศว่าผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้นเป็นผู้ผ่านการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการพร้อมแจ้งให้ผู้นั้นทราบ และรายงานตามแบบหมายเลข ๒ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ ไปยัง ก.พ. ภายในห้าวันทำการนับแต่วันประกาศ ข้อ ๑๒ เมื่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุได้รับรายงานตามข้อ ๑๐ (๒) ให้ดำเนินการดังนี้ (๑) ในกรณีที่เห็นควรให้ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการออกจากราชการ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแสดงความเห็นในแบบหมายเลข ๑ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ และมีคำสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ได้รับรายงานพร้อมกับแจ้งให้ผู้นั้นทราบและส่งสำเนาคำสั่งให้ออกไปยัง ก.พ.ภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่มีคำสั่ง (๒) ในกรณีที่เห็นควรให้ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปจนครบหกเดือน หรือควรขยายเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอีกระยะหนึ่งเป็นเวลาสามเดือน แล้วแต่กรณี ให้แสดงความเห็นในแบบหมายเลข ๑ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ แล้วแจ้งให้ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ผู้มีหน้าที่ดูแลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ และคณะกรรมการทราบ เพื่อทำการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและประเมินผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไป ในกรณีที่ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการจนสิ้นสุดระยะเวลาที่ขยายแล้ว และผู้มีอำนาจสั่งบรรจุได้รับรายงานว่าผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการของผู้นั้นยังต่ำกว่าเกณฑ์หรือมาตรฐานอีก ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุมีคำสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ โดยนำความใน (๑) มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๓ การนับเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นเดือนตามกฎ ก.พ. นี้ ให้นับวันที่ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ได้มาปฏิบัติงานรวมเป็นเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย และให้นับวันเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการวันแรกเป็นวันเริ่มต้น และนับวันก่อนหน้าจะถึงวันที่ตรงกับวันเริ่มต้นนั้นของเดือนสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา ถ้าไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายของเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา ข้อ ๑๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นตามวุฒิ ย้าย โอน หรือออกจากราชการไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารแล้วได้รับบรรจุกลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญอีก ให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและนับเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการดังนี้ (๑) กรณีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้นในสายงานเดิมตามวุฒิที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้น ให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและนับเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อเนื่องไปกับตำแหน่งเดิม ถ้าได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้นในต่างสายงานให้เริ่มทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและนับเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการใหม่ (๒) กรณีย้ายไปดำรงตำแหน่งในสายงานเดิม ให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและนับเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อเนื่องกับตำแหน่งเดิม ถ้าย้ายไปดำรงตำแหน่งในต่างสายงาน ให้เริ่มทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและนับเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการใหม่ (๓) กรณีโอนมาดำรงตำแหน่งใหม่ ให้เริ่มทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและนับเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการใหม่ เว้นแต่กรณีโอนโดยบทบัญญัติของกฎหมายให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและนับเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อเนื่องกับตำแหน่งเดิม (๔) กรณีออกจากราชการไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร เมื่อได้รับบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรา ๖๓ แล้ว ไม่ว่าในสายงานเดิมหรือต่างสายงาน ให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและนับเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อเนื่องกับตำแหน่งเดิม ข้อ ๑๕ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดอยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการในวันที่กฎ ก.พ. ฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎ ก.พ. ฉบับดังกล่าวต่อไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี [เอกสารแนบท้าย] ๑. แบบหมายเลข ๑ แบบรายงานผลการประเมินผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ๒. แบบหมายเลข ๒ แบบรายงาน ก.พ. (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ.ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้ผู้ได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๕๐ และข้าราชการที่ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือนและเป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ พนักงานเทศบาล หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติงาน ซึ่งโอนมาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๖๑ ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นเวลาตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. และให้มีการประเมินผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. รวมทั้งการนับเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ.นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๑๙ ก/หน้า ๕/๒๓ มีนาคม ๒๕๔๒
440109
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้แทน ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้ปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๒๗ ก/หน้า ๑๑/๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๗
304198
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๑๐๒ วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. ฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงในกรณีดังต่อไปนี้ ถือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยตามมาตรา ๑๐๓ หรือมาตรา ๑๐๙ โดยไม่สอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้ (๑) กระทำความผิดอาญาจนต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้นั้นกระทำผิด และผู้บังคับบัญชาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษานั้นได้ความประจักษ์ชัดแล้ว (๒) กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงและได้รับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาหรือให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนหรือคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และได้มีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือ ข้อ ๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีดังต่อไปนี้ ถือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัย ตามมาตรา ๑๐๔ วรรคสองหรือมาตรา ๑๐๙ โดยไม่สอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้ (๑) กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้ลงโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๒) ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวัน และผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการสืบสวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ (๓) กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และได้รับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาหรือให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนหรือคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และได้มีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งได้กำหนดให้กรณีที่ต้องคำพิพากษาให้รับผิดในคดีแพ่ง กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. มีมติว่าเรื่องที่สอบสวนมีมูลว่าได้กระทำความผิดและกรณีละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งแต่เนื่องจากกรณีดังกล่าวยังไม่อาจถือเป็นยุติได้ว่ามีการกระทำการอันเป็นความผิดวินัยเกิดขึ้น หรือมิฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ยากแก่การวินิจฉัยว่าเกิดผลเสียหายร้ายแรงแก่ทางราชการหรือไม่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ สมควรปรับปรุงกฎ ก.พ. ดังกล่าวเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๕๙ ก/หน้า ๒๙/๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
320519
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ กรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๑๑๔ (๖) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลนั้น ให้ส่วนราชการพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นเป็นหลัก และให้ส่วนราชการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๓ การพิจารณาผลการปฏิบัติงานของข้าราชการพลเรือนในสังกัดตามข้อ ๒ ให้ผู้บังคับบัญชากำหนดเป้าหมายหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานและคุณลักษณะของการปฏิบัติงานที่ทางราชการพึงประสงค์ และประกาศให้ข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดได้ทราบโดยทั่วกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน ก่อนการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัด โดยให้ผู้บังคับบัญชาประเมินผลการปฏิบัติงานตามวิธีการที่กำหนดตามมาตรา ๗๙ โดยอนุโลม ข้อ ๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดซึ่งผู้บังคับบัญชาได้ประเมินผลการปฏิบัติงานแล้วเห็นว่ามีผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าเป้าหมายหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานตามข้อ ๓ และไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีเป็นเวลาติดต่อกันตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงกำหนด ให้ผู้บังคับบัญชาแจ้งผลการประเมินหรือผลการพิจารณาพร้อมเหตุผล และกำหนดให้ผู้นั้นพัฒนาหรือปรับปรุงตนเองภายในระยะเวลาสามเดือนแต่ไม่เกินหกเดือนหรือตามจำนวนครั้งที่จะกำหนดภายในระยะเวลาดังกล่าวนับแต่วันที่แจ้งผลการประเมินหรือผลการพิจารณาให้ทราบโดยให้ลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่เห็นสมควร ผู้บังคับบัญชาอาจเสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ เพื่อพิจารณาแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันกับที่ข้าราชการพลเรือนผู้นั้นมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ซึ่งอาจคาดหมายได้ว่าจะทำให้ผู้นั้นปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาประเมินผลการปฏิบัติงานภายหลังการปรับปรุงตนเองของผู้นั้นอย่างน้อยสองครั้งภายในระยะเวลาห่างเท่าๆ กันในการประเมินผลการปฏิบัติงานภายหลังการปรับปรุงตนเองแต่ละครั้งผู้บังคับบัญชาอาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินการและเสนอแนะความคิดเห็นต่อผู้บังคับบัญชาก็ได้ ข้อ ๕ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้ประเมินผลการปฏิบัติงานตามกฎ ก.พ. นี้แล้ว เห็นว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าเป้าหมายหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานตามข้อ ๓ แต่ไม่เข้ากรณีตามข้อ ๔ ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นสมควรให้ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงตนเองเพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลแล้ว ผู้บังคับบัญชาอาจพิจารณาดำเนินการตามข้อ ๔ ได้ ข้อ ๖ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดซึ่งผู้บังคับบัญชาได้ให้โอกาสพัฒนาและปรับปรุงตนเองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๔ แล้ว แต่ผลการประเมินยังต่ำกว่าเป้าหมายหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานตามข้อ ๓ ให้ผู้บังคับบัญชาทำความเห็นเสนอผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ เพื่อพิจารณาสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการต่อไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑๔ (๖) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการได้ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นออกจากราชการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนที่ ๘๖ ก/หน้า ๑๐/๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๑
312749
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ. 2544
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔[๑] เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ปฏิบัติราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระดับอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ได้รับบำเหน็จความชอบโดยเลื่อนขั้นเงินเดือน ก.พ. จึงเห็นสมควรวางหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน เพื่อให้ผู้บังคับบัญชานำไปใช้ประกอบการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้เกิดความเป็นธรรม ได้มาตรฐานและเป็นสิ่งจูงใจให้ข้าราชการเกิดความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดียิ่งขึ้น รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้ผู้ที่ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมได้เกิดความสำนึก โดยได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รักษาวินัย และปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๔ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิก (๑) กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน (๒) กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน ข้อ ๓ ในกฎ ก.พ. นี้ “ปี” หมายความว่า ปีงบประมาณ “ครึ่งปีแรก” หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม “ครึ่งปีหลัง” หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน “ครึ่งปีที่แล้วมา” หมายความว่า ระยะเวลาครึ่งปีแรกหรือครึ่งปีหลัง ที่ผ่านมาแล้วแต่กรณี “อธิบดี” หมายความรวมถึงหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และรัฐมนตรีเจ้าสังกัดสำหรับสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีและราชบัณฑิตยสถานด้วย ข้อ ๔ ให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่ได้รับมอบหมายประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการพลเรือนสามัญปีละสองครั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด ข้อ ๕ การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้เลื่อนปีละสองครั้งดังนี้ (๑) ครั้งที่หนึ่งครึ่งปีแรก เลื่อนวันที่ ๑ เมษายนของปีที่ได้เลื่อน (๒) ครั้งที่สองครึ่งปีหลัง เลื่อนวันที่ ๑ ตุลาคมของปีถัดไป ข้อ ๖ การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้เลื่อนได้ไม่เกินขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ (๑) ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับต่ำกว่าเดิมโดยได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ได้รับอยู่เดิม ให้เลื่อนได้ไม่เกินขั้นสูงของอันดับเงินเดือนเดิม (๒) ผู้ที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับและได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นอีกหนึ่งอันดับ ให้เลื่อนได้ไม่เกินขั้นสูงของอันดับเงินเดือนนั้น ข้อ ๗ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขึ้นในแต่ละครั้งต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ในครึ่งปีที่แล้วมาได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนด้วยความสามารถ และด้วยความอุตสาหะจนเกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาประเมินตามข้อ ๔ แล้วเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สมควรจะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขั้น (๒) ในครึ่งปีที่แล้วมาจนถึงวันออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนต้องไม่ถูกสั่งลงโทษทางวินัยที่หนักกว่าโทษภาคทัณฑ์ หรือไม่ถูกศาลพิพากษาในคดีอาญาให้ลงโทษในความผิดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือความผิดที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดอยู่ในหลักเกณฑ์ที่สมควรได้เลื่อนขั้นเงินเดือนและได้ถูกงดเลื่อนขั้นเงินเดือนเพราะถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกศาลพิพากษาในคดีอาญาให้ลงโทษในกรณีนั้นมาแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำครึ่งปีต่อไปให้ผู้นั้นตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน หรือวันที่ ๑ ตุลาคมของครั้งที่จะได้เลื่อนเป็นต้นไป (๓) ในครึ่งปีที่แล้วมาต้องไม่ถูกสั่งพักราชการเกินกว่าสองเดือน (๔) ในครึ่งปีที่แล้วมาต้องไม่ขาดราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (๕) ในครึ่งปีที่แล้วมาได้รับบรรจุเข้ารับราชการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่เดือน (๖) ในครึ่งปีที่แล้วมาถ้าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาในประเทศ หรือไปศึกษา ฝึกอบรม หรือดูงาน ณ ต่างประเทศ ตามระเบียบว่าด้วยการให้ข้าราชการไปศึกษา ฝึกอบรม และดูงาน ณ ต่างประเทศ ต้องได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในครึ่งปีที่แล้วมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่เดือน (๗) ในครึ่งปีที่แล้วมาต้องไม่ลา หรือมาทำงานสายเกินจำนวนครั้งที่อธิบดีผู้บังคับบัญชา หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกำหนดเป็นหนังสือไว้ก่อนแล้ว โดยคำนึงถึงลักษณะงานและสภาพท้องที่อันเป็นที่ตั้งของแต่ละส่วนราชการหรือหน่วยงาน (๘) ในครึ่งปีที่แล้วมาต้องมีเวลาปฏิบัติราชการหกเดือน โดยมีวันลาไม่เกินยี่สิบสามวัน แต่ไม่รวมถึงวันลา ดังต่อไปนี้ (ก) ลาอุปสมบท หรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เฉพาะวันลาที่มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างลาตามกฎหมายว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน (ข) ลาคลอดบุตรไม่เกินเก้าสิบวัน (ค) ลาป่วยซึ่งจำเป็นต้องรักษาตัวเป็นเวลานานไม่ว่าคราวเดียวหรือหลายคราวรวมกันไม่เกินหกสิบวันทำการ (ง) ลาป่วยเพราะประสบอันตรายในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือในขณะเดินทางไปหรือกลับจากปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (จ) ลาพักผ่อน (ฉ) ลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล (ช) ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ การนับจำนวนวันลาไม่เกินยี่สิบสามวันสำหรับวันลากิจส่วนตัวและวันลาป่วยที่ไม่ใช่วันลาป่วยตาม (๘) (ง) ให้นับเฉพาะวันทำการ ข้อ ๘ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนหนึ่งขั้นในแต่ละครั้ง ต้องเป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขั้นตามข้อ ๗ และอยู่ในหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการดังต่อไปนี้ด้วย (๑) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ได้ผลดีเด่น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันก่อให้เกิดประโยชน์และผลดียิ่งต่อทางราชการและสังคมจนถือเป็นตัวอย่างที่ดีได้ (๒) ปฏิบัติงานโดยมีความคิดริเริ่มในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือได้ค้นคว้าหรือประดิษฐ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทางราชการเป็นพิเศษ และทางราชการได้ดำเนินการตามความคิดริเริ่มหรือได้รับรองให้ใช้การค้นคว้าหรือสิ่งประดิษฐ์นั้น (๓) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่มีสถานการณ์ตรากตรำเสี่ยงอันตรายมาก หรือมีการต่อสู้ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิตเป็นกรณีพิเศษ (๔) ปฏิบัติงานที่มีภาระหน้าที่หนักเกินกว่าระดับตำแหน่งจนเกิดประโยชน์ต่อทางราชการเป็นพิเศษ และปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ของตนเป็นผลดีด้วย (๕) ปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ด้วยความตรากตรำเหน็ดเหนื่อย ยากลำบากเป็นพิเศษและงานนั้นได้ผลดียิ่งเป็นประโยชน์ต่อทางราชการและสังคม (๖) ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จเป็นผลดียิ่งแก่ประเทศชาติ ข้อ ๙ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญตามข้อ ๗ และข้อ ๘ ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายนำผลการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานที่ได้ดำเนินการตามข้อ ๔ มาเป็นหลักในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองโดยพิจารณาประกอบกับข้อมูลการลา พฤติกรรมการมาทำงาน การรักษาวินัย การปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ และข้อควรพิจารณาอื่น ๆ ของผู้นั้น แล้วรายงานผลการพิจารณานั้น พร้อมด้วยข้อมูลดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ในการพิจารณารายงานตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือแต่ละระดับที่ได้รับรายงานเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนด้วย ข้อ ๑๐ การพิจารณาผลการปฏิบัติงานและผลสัมฤทธิ์ของงาน ให้นับช่วงเวลาการปฏิบัติราชการและการปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตามข้อ ๗ (๘) (ช) ในครึ่งปีที่แล้วมาเป็นเกณฑ์ เว้นแต่ผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๗ (๕) หรือ (๖) ให้นับช่วงเวลาปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่าสี่เดือนเป็นเกณฑ์พิจารณา ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดโอน เลื่อนตำแหน่ง ย้าย สับเปลี่ยนหน้าที่ไปช่วยราชการในต่างกระทรวง ทบวง กรม ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานนอกเหนือหน้าที่หรืองานพิเศษอื่นใดหรือลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตามข้อ ๗ (๘) (ช) ในครึ่งปีที่แล้วมา ให้นำผลการปฏิบัติราชการและการปฏิบัติงานของผู้นั้นทุกตำแหน่งและทุกแห่งมาประกอบการพิจารณาด้วย ข้อ ๑๑ ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนแต่ละครั้ง ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณารายงานผลจากผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๙ ถ้าเห็นว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขั้นตามข้อ ๗ และปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการให้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้นั้นครึ่งขั้น ถ้าเห็นว่าข้าราชการผู้นั้นมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้นั้นหนึ่งขั้น ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งปีแรกไม่ถึงหนึ่งขั้น ถ้าในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งปีหลัง ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนได้พิจารณาการปฏิบัติงานครึ่งปีแรกกับครึ่งปีหลังรวมกันแล้วเห็นว่ามีมาตรฐานสูงกว่าการที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนหนึ่งขั้นสำหรับปีนั้น ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนอาจมีคำสั่งให้เลื่อนขั้นเงินเดือนรวมทั้งปีของข้าราชการผู้นั้นเป็นจำนวนหนึ่งขั้นครึ่งได้ แต่ผลการปฏิบัติงานทั้งปีของข้าราชการผู้นั้นจะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการดังต่อไปนี้ด้วย (๑) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ได้ผลดี มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันก่อให้เกิดประโยชน์และผลดีต่อทางราชการและสังคม (๒) ปฏิบัติงานโดยมีความคิดริเริ่มในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือได้ค้นคว้า หรือประดิษฐ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ (๓) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่มีสถานการณ์ตรากตรำเสี่ยงอันตราย หรือมีการต่อสู้ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิต (๔) ปฏิบัติงานที่มีภาระหน้าที่หนักเกินกว่าระดับตำแหน่งจนเกิดประโยชน์ต่อทางราชการและปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ของตนเป็นผลดีด้วย (๕) ปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ด้วยความตรากตรำเหน็ดเหนื่อย ยากลำบากและงานนั้นได้ผลดีเป็นประโยชน์ต่อทางราชการและสังคม (๖) ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ที่ควรจะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งปีแรกหนึ่งขั้น แต่ไม่อาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนหนึ่งขั้นให้ได้ เพราะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะใช้เลื่อนขั้นเงินเดือนของส่วนราชการนั้น ถ้าในการเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งปีหลัง ข้าราชการผู้นั้นมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนหนึ่งขั้นอีก และไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะใช้เลื่อนขั้นเงินเดือนในคราวนั้น ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนอาจมีคำสั่งให้เลื่อนขั้นเงินเดือน รวมทั้งปีของข้าราชการผู้นั้นเป็นจำนวนสองขั้นได้ ข้อ ๑๒ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งปีให้แก่ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งในครึ่งปีที่แล้วมาได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตามข้อ ๗ (๘) (ช) ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาสั่งเลื่อนได้ครั้งละไม่เกินครึ่งขั้นเมื่อผู้นั้นกลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยให้สั่งเลื่อนย้อนหลังไปในแต่ละครั้งที่ควรจะได้เลื่อน ทั้งนี้ ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีผู้บังคับบัญชากำหนด ข้อ ๑๓ ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนแต่ละครั้ง ถ้าผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเห็นสมควรให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้เลื่อนขั้นเงินเดือน แต่ปรากฏว่าได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการผู้นั้นว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนรอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ก่อน และให้กันเงินสำหรับเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ด้วย เมื่อการสอบสวนและการพิจารณาแล้วเสร็จ ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาดังนี้ (๑) ถ้าผู้ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่มีความผิด หรือจะต้องถูกลงโทษภาคทัณฑ์ ให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ได้ ถ้าได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้เกินหนึ่งครั้งให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนย้อนหลังไปในแต่ละครั้งที่ได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ แม้ว่าผู้นั้นจะได้ออกจากราชการไปแล้วก็ตาม (๒) ถ้าผู้ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจะต้องถูกลงโทษตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือน ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ ถ้าได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้เกินหนึ่งครั้งให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ในครั้งที่จะถูกลงโทษ ถ้าผู้นั้นได้ออกจากราชการไปแล้วด้วยเหตุอื่นที่มิใช่เพราะเหตุเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนในครั้งที่จะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งสุดท้าย แต่ถ้าเป็นผู้พ้นจากราชการไปเพราะเหตุเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ในวันที่ ๓๐ กันยายนของครึ่งปีสุดท้ายก่อนที่ผู้นั้นจะพ้นจากราชการ ส่วนในครั้งอื่นให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนย้อนหลังไปในแต่ละครั้งที่ได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ (๓) ถ้าผู้ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจะต้องถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการหรือจะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมอง ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนทุกครั้งที่ได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตาม (๑) (๒) และ (๓) สำหรับผู้ที่ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหลายกรณี ให้แยกพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ข้อ ๑๔ ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนแต่ละครั้ง ถ้าผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเห็นสมควรให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้เลื่อนขั้นเงินเดือน แต่ปรากฏว่าผู้นั้นถูกฟ้องคดีอาญาในความผิดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือความผิดที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่พนักงานอัยการรับเป็นทนายแก้ต่างให้ และศาลได้ประทับฟ้องคดีนั้นแล้วก่อนมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนรอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ก่อน และให้กันเงินสำหรับเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ด้วย เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาดังนี้ (๑) ถ้าศาลพิพากษาว่าผู้นั้นไม่มีความผิด ให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ได้ ถ้าได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้เกินหนึ่งครั้ง ให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนย้อนหลังไปในแต่ละครั้งที่ได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ แม้ว่าผู้นั้นจะได้ออกจากราชการไปแล้วก็ตาม (๒) ถ้าศาลพิพากษาให้ลงโทษเบากว่าโทษจำคุก ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ ถ้าได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้เกินหนึ่งครั้ง ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ในครั้งที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษ ถ้าผู้นั้นได้ออกจากราชการไปแล้วด้วยเหตุอื่นที่มิใช่เพราะเหตุเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนในครั้งที่จะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งสุดท้าย แต่ถ้าเป็นผู้พ้นจากราชการไปเพราะเหตุเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ในวันที่ ๓๐ กันยายนของครึ่งปีสุดท้ายก่อนที่ผู้นั้นจะพ้นจากราชการ ส่วนในครั้งอื่นให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนย้อนหลังไปในแต่ละครั้งที่ได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ (๓) ถ้าศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือโทษหนักกว่าจำคุก ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนทุกครั้งที่ได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตาม (๑) (๒) และ (๓) สำหรับผู้ที่ถูกฟ้องคดีอาญาหลายคดีให้แยกพิจารณาเป็นคดี ๆ ไป ข้อ ๑๕ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไว้เพราะเหตุถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๑๓ และเหตุถูกฟ้องคดีอาญาตามข้อ ๑๔ ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวรอการเลื่อนขั้นเงินเดือนผู้นั้นไว้จนกว่าการสอบสวนและการพิจารณาทางวินัยแล้วเสร็จ และจนกว่าศาลมีคำพิพากษาแล้วจึงให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามข้อ ๑๓ (๑) (๒) หรือ (๓) หรือตามข้อ ๑๔ (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ โดยถือเกณฑ์จำนวนครั้งที่จะต้องงดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่มากกว่าเป็นหลักในการพิจารณา เว้นแต่ผู้นั้นได้พ้นจากราชการไปแล้วตามผลของการถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๑๓ หรือตามผลของการถูกฟ้องคดีอาญาตามข้อ ๑๔ กรณีใดกรณีหนึ่ง จึงจะพิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ได้ตามผลของกรณีนั้นโดยไม่ต้องรอผลของอีกกรณีหนึ่ง ข้อ ๑๖ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาเห็นสมควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใด แต่ผู้นั้นจะต้องพ้นจากราชการไปเพราะเหตุเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญให้ผู้นั้นในวันที่ ๓๐ กันยายนของครึ่งปีสุดท้ายก่อนที่จะพ้นจากราชการ ข้อ ๑๗ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาเห็นสมควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใด แต่ผู้นั้นได้ตายในหรือหลังวันที่ ๑ เมษายน หรือวันที่ ๑ ตุลาคม หรือออกจากราชการไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หลังวันที่ ๑ เมษายนหรือวันที่ ๑ ตุลาคม แต่ก่อนที่จะมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนในแต่ละครั้ง ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนจะสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ผู้นั้นย้อนหลังไปถึงวันที่ ๑ เมษายนหรือวันที่ ๑ ตุลาคมของครึ่งปีที่จะได้เลื่อนนั้นก็ได้ แต่ถ้าผู้นั้นได้พ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการไปก่อนที่จะมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนจะสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ผู้นั้นย้อนหลังไปถึงวันที่ ๓๐ กันยายนของครึ่งปีสุดท้ายที่จะได้เลื่อนนั้นก็ได้ ข้อ ๑๘ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ครึ่งขั้นตามข้อ ๗ เนื่องจากขาดคุณสมบัติเกี่ยวกับระยะเวลาการปฏิบัติราชการ การลา หรือการมาทำงานสายตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ แต่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาเห็นสมควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โดยมีเหตุผลเป็นกรณีพิเศษ ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเสนอ อ.ก.พ. กระทรวง เพื่อพิจารณาอนุมัติให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นการเฉพาะรายได้ นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตามกฎ ก.พ. นี้ แต่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาเห็นสมควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โดยมีเหตุผลเป็นกรณีพิเศษ ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน เสนอ ก.พ. เพื่อพิจารณาอนุมัติให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นการเฉพาะราย ข้อ ๑๙ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดถูกรอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ก่อนกฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับ เนื่องจากอยู่ในระหว่างถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยหรือถูกฟ้องคดีอาญา ถ้าการสอบสวนและการพิจารณากรณีทางวินัยเสร็จสิ้นลง หรือคดีอาญาศาลมีคำพิพากษา เมื่อ กฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับแล้ว และเป็นเวลาภายหลังวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๔ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้สำหรับผู้นั้น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ แต่ถ้าการสอบสวนและการพิจารณากรณีทางวินัยหรือคดีอาญานั้นเสร็จสิ้นลงก่อนสิ้นวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๔ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้สำหรับผู้นั้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน ข้อ ๒๐ การเลื่อนขั้นเงินเดือนในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๔ ให้นำผลการปฏิบัติงานและข้อมูลเกี่ยวกับการลา พฤติกรรมการมาทำงาน การรักษาวินัย การปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการและข้อควรพิจารณาอื่น ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๔ ที่ข้าราชการผู้นั้นมีอยู่ก่อนกฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับ และผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาไว้ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนมาประกอบการพิจารณาสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนตามกฎ ก.พ. นี้ได้ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับบรรจุเข้ารับราชการใหม่บรรจุกลับ หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาในประเทศ หรือไปศึกษา ฝึกอบรม หรือดูงาน ณ ต่างประเทศ ต้องได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการมาแล้วนับถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๔ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่เดือน ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโดยคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณงาน ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของงานที่ได้ปฏิบัติมา ความสามารถและความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการรักษาวินัยและการปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมา การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญได้กำหนดให้เลื่อนปีละหนึ่งครั้งในเดือนตุลาคมของปี ดังนั้น เพื่อให้การประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรกำหนดให้เลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญปีละสองครั้งในเดือนเมษายนและเดือนตุลาคมของปี จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘/ตอนที่ ๓๒ ก/หน้า ๑/๒๓ มกราคม ๒๕๔๔
654019
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2544 (ฉบับ Update ณ วันที่ 29/09/2547)
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ. นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิก (๑) กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (๒) กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ ดังนี้ (๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑ (๒) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๒ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๒ (๓) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๓ (๔) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๔ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๔ (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๕ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๕ (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๖ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๖ (๗) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๗ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๗ (๘) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๘ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๘ (๙) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๙ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๙ ที่มิใช่ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่สูงกว่ากองในกรม ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ (๑๐)ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑ (๑๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๑ (๑๒) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ในระดับ ๑๑ ตำแหน่งปลัดกระทรวง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดทบวง เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ราชเลขาธิการ ที่ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๑ ให้ได้รับเงินเดือนอันดับ บ ๑๑ ข้อ ๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด โดยได้รับเงินเดือนในอันดับใดตามข้อ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งนั้น เว้นแต่ (๑) ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม (๒) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพ และ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใดให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๓) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นและ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นนั้น เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใดอธิบดีผู้บังคับบัญชาหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีอาจปรับให้ได้รับเงินเดือนอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนดได้ (๔) ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสายงานใดที่ ก.พ. กำหนดในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้ตำแหน่งในสายงานนั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งระดับนั้น ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับที่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมให้ได้รับเงินเดือนในแต่ละกรณีดังนี้ (ก) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งเพื่อประโยชน์ของทางราชการให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ได้รับอยู่เดิม (ข) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งโดยเป็นความประสงค์ของตัวข้าราชการ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ แต่ถ้าผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นตำแหน่งใด ถ้าได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๕[๒] ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท๙ ถึงอันดับ ท๑๐ หรืออันดับ ท๑๐ ถึงอันดับ ท๑๑ ผู้ใดได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท๙ หรืออันดับ ท๑๐ แล้วแต่กรณี ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ ในวันแรกที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท๙ หรืออันดับ ท๑๐ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้นในอันดับ ท ๑๐ หรืออันดับ ท ๑๑ ตามวรรคหนึ่งผู้ใดต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นดังกล่าวในวันที่ ๓๐ กันยายนของปีสุดท้ายก่อนที่จะพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ ข้อ ๖ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ หรืออันดับ ท๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑ และได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ หรืออันดับ ท ๑๐ แล้วแต่กรณี ก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามกฎ ก.พ. นี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ส่วนผู้ได้รับเงินเดือนในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒ ถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ หรืออันดับ ท ๑๐ แล้วแต่กรณี และต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้ได้รับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๒ ข้อ ๗ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามข้อ ๕ และข้อ ๖ ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนอาจพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือนตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตั้งแต่วันที่ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้น ข้อ ๘ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๕๑ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๙ และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้ได้รับเงินเดือนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ข้อ ๙ กรณีอื่นนอกจากที่ได้กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. นี้ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑.[๓] ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (แก้ไขเพิ่มเติม) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ บัญญัติให้การรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ซึ่ง ก.พ. ได้ออกกฎ ก.พ. เรื่องนี้ไว้ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๓) การมีกฎ ก.พ. หลายฉบับทำให้ไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ประกอบกับต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงวันเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการเป็นให้เลื่อนปีละสองครั้งในวันที่ ๑ เมษายน และวันที่ ๑ ตุลาคม ซึ่งมีผลกระทบต่อวันเริ่มรับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้การรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญสะดวกในทางปฏิบัติ สอดคล้องกับการเลื่อนขั้นเงินเดือน และเพื่อให้ผู้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นได้รับเงินเดือนในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗[๔] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้ปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๗[๕] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท๙ ถึงอันดับ ท๑๐ หรืออันดับ ท๑๐ ถึงอันดับ ท๑๑ ซึ่งได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท๙ หรืออันดับ ท๑๐ แล้วแต่กรณี ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นในวันแรกของการเลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งถัดไป จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่ได้รับเงินเดือนก่อนถึงขั้นสูงของตำแหน่งแม้จะมีผลการประเมินการปฏิบัติราชการเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนในระดับดีเด่นแต่ก็ไม่สามารถพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ได้ โดยต้องรอในวันแรกของการเลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งถัดไป ข้าราชการดังกล่าวจึงสามารถรับเงินเดือนในอันดับสูงขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และเกิดความเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘/ตอนที่ ๘๓ ก/หน้า ๑/๒๔ กันยายน ๒๕๔๔ [๒] ข้อ ๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๗ [๓] ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ [๔] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๒๗ ก/หน้า ๑๑/๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ [๕] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๕๗ ก/หน้า ๑/๒๙ กันยายน ๒๕๔๗
304201
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) มาตรา ๑๒๕ และมาตรา ๑๒๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดที่กฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๓ การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะอุทธรณ์แทนผู้อื่นหรือมอบหมายให้ผู้อื่นอุทธรณ์แทนไม่ได้ การอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือแสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลในการอุทธรณ์ให้เห็นได้ถูกลงโทษโดยไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นธรรมอย่างไร และลงลายมือชื่อและที่อยู่ของผู้อุทธรณ์ ในการอุทธรณ์ ถ้าผู้อุทธรณ์ประสงค์จะแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นพิจารณาของ อ.ก.พ.จังหวัด อ.ก.พ. และ อ.ก.พ.กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี ให้แสดงความประสงค์ไว้ในหนังสืออุทธรณ์หรือจะทำเป็นหนังสือต่างหากก็ได้ แต่ต้องยื่นหรือส่งหนังสือขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้นต่อ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. โดยตรง ภายในสามสิบวันนับแต่วันยื่นหรือส่งหนังสืออุทธรณ์ ข้อ ๔ เพื่อประโยชน์ในการอุทธรณ์ ผู้จะอุทธรณ์มีสิทธิขอตรวจหรือคัดรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนหรือของผู้สอบสวนได้ ส่วนการขอตรวจหรือคัดบันทึกถ้อยคำบุคคลพยานหลักฐานอื่น หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษที่จะอนุญาตหรือไม่ โดยให้พิจารณาถึงประโยชน์ในการรักษาวินัยของข้าราชการ ตลอดจนเหตุผลและความจำเป็นเป็นเรื่อง ๆ ไป ข้อ ๕ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิคัดค้านอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้พิจารณาอุทธรณ์ ถ้าผู้นั้นมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) รู้เห็นเหตุการณ์ในการกระทำผิดวินัยที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษ (๒) มีส่วนได้เสียในการกระทำผิดวินัยที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษ (๓) มีสาเหตุโกรธเคืองผู้อุทธรณ์ (๔) เป็นผู้กล่าวหาหรือเป็นผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษ หรือเป็นคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดากับผู้กล่าวหาหรือผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษการคัดค้านอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้พิจารณาอุทธรณ์นั้น ต้องแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในหนังสืออุทธรณ์ หรือแจ้งเพิ่มเติมเป็นหนังสือก่อนที่ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี เริ่มพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อมีเหตุหรือมีการคัดค้านตามวรรคหนึ่ง อนุกรรมการ รองประธาน อนุกรรมการ หรือกรรมการผู้นั้นจะถอนตัวไม่ร่วมพิจารณาอุทธรณ์นั้นก็ได้ ถ้าอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการหรือกรรมการผู้นั้นมิได้ขอถอนตัว ให้ประธานอนุกรรมการ หรือประธานกรรมการ แล้วแต่กรณี พิจารณาข้อเท็จจริงที่คัดค้าน หากเห็นว่าข้อเท็จจริงนั้นน่าเชื่อถือ ให้แจ้งอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้นั้นทราบและมิให้ร่วมพิจารณาอุทธรณ์นั้น เว้นแต่ประธานอนุกรรมการหรือประธานกรรมการ แล้วแต่กรณี พิจารณาเห็นว่า การให้อนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้นั้นร่วมพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า เพราะจะทำให้ได้ความจริงและเป็นธรรม จะอนุญาตให้อนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้นั้นร่วมพิจารณาอุทธรณ์นั้นก็ได้ ข้อ ๖ เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาอุทธรณ์ ให้ถือวันที่ผู้ถูกลงโทษลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษเป็นวันทราบคำสั่ง ถ้าผู้ถูกลงโทษไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษ และมีการแจ้งคำสั่งลงโทษให้ผู้ถูกลงโทษทราบกับมอบสำเนาคำสั่งลงโทษให้ผู้ถูกลงโทษ แล้วทำบันทึกลงวันเดือนปี เวลา และสถานที่ที่แจ้ง และลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันทราบคำสั่ง ถ้าไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกลงโทษลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษได้โดยตรง และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งลงโทษทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกลงโทษ ณ ที่อยู่ของผู้ถูกลงโทษซึ่งปรากฎตามหลักฐานของทางราชการ โดยส่งสำเนาคำสั่งลงโทษไปให้สองฉบับเพื่อให้ผู้ถูกลงโทษเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกลงโทษลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งลงโทษส่งกลับคืนมาเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฎในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่าผู้ถูกลงโทษได้รับเอกสารดังกล่าวหรือมีผู้รับแทนแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งลงโทษฉบับที่ให้ผู้ถูกลงโทษลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งลงโทษกลับคืนมา ให้ถือว่าผู้ถูกลงโทษได้ทราบคำสั่งแล้ว ข้อ ๗ การอุทธรณ์ต่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ให้ทำหนังสืออุทธรณ์ถึงประธาน อ.ก.พ. พร้อมกับสำเนารับรองถูกต้องหนึ่งฉบับ โดยออกนามจังหวัด กรม หรือกระทรวง แล้วแต่กรณี และยื่นที่ศาลากลางจังหวัดหรือส่วนราชการนั้น การอุทธรณ์ต่อ ก.พ. ให้ทำหนังสืออุทธรณ์ถึงประธาน ก.พ. หรือ เลขาธิการ ก.พ. พร้อมกับสำเนารับรองถูกต้องหนึ่งฉบับ และยื่นที่สำนักงาน ก.พ. การยื่นหรือส่งหนังสืออุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์จะยื่นหรือส่งผ่านผู้บังคับบัญชาก็ได้ และให้ผู้บังคับบัญชานั้นดำเนินการาตามข้อ ๑๑ ในกรณีที่มีผู้นำหนังสืออุทธรณ์มายื่นเอง ให้ผู้รับหนังสือออกใบรับหนังสือ ประทับตรารับหนังสือและลงทะเบียนรับหนังสือไว้เป็นหลักฐานในวันที่รับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ และให้ถือวันที่รับหนังสือตามหลักฐานดังกล่าวเป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์ ในกรณีที่ส่งหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์ ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางออกใบรับฝากเป็นหลักฐานฝากส่ง หรือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสือเป็นวันส่งหนังสืออุทธรณ์ เมื่อได้ยื่นหรือส่งหนังสืออุทธรณ์ไว้แล้ว ผู้อุทธรณ์จะยื่นหรือส่งคำแถลงการณ์หรือเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมก่อนที่ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี เริ่มพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ โดยยื่นหรือส่งตรงต่อ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. ข้อ ๘ อุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้ต้องเป็นอุทธรณ์ที่ถูกต้องในสาระสำคัญตามข้อ ๓ และข้อ ๗ และยื่นหรือส่งภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ในกรณีที่มีปัญหาว่าอุทธรณ์รายใดเป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ ให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย ในกรณีที่ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. มีมติไม่รับอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไว้พิจารณา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือสำนักงาน ก.พ. แล้วแต่กรณี แจ้งมตินั้นให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว ในกรณีที่ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง มีมติตามวรรคสาม ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์มตินั้นต่อ ก.พ. ได้อีกชั้นหนึ่ง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบมติ อ.ก.พ. ดังกล่าว และให้นำข้อ ๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม การอุทธรณ์มติต่อ ก.พ. ตามวรรคสี่ ผู้อุทธรณ์จะยื่นหรือส่งหนังสืออุทธรณ์ผ่านผู้ว่าราชการ จังหวัด อธิบดี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณี ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณี ส่งหนังสืออุทธรณ์มติพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเห็นและมติ ตลอดจนสำเนารายงานการประชุมของ อ.ก.พ. หลักฐานการรับทราบมติ อ.ก.พ. ของผู้อุทธรณ์ หนังสืออุทธรณ์คำสั่งลงโทษ หลักฐานการรับทราบคำสั่งลงโทษของผู้อุทธรณ์ และเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อโต้แย้งมติของผู้อุทธรณ์ไปให้สำนักงาน ก.พ. โดยเร็ว ในกรณีที่ ก.พ. มีมติยืนตามมติของ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวงที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไว้พิจารณา หรือกรณีที่ ก.พ. มีมติให้รับอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไว้พิจารณาให้สำนักงาน ก.พ. แจ้งให้ผู้อุทธรณ์ และประธาน อ.ก.พ.ที่เกี่ยวข้องทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว ในกรณีที่ ก.พ. มีมติให้รับอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไว้พิจารณา ให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ.กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เพื่อมีมติตามข้อ ๑๓ ต่อไป ข้อ ๙ ผู้อุทธรณ์จอขอถอนอุทธรณ์ก่อนที่ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นก็ได้โดยทำเป็นหนังสือหรือส่งตรงต่อ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. เมื่อได้ถอนอุทธรณ์แล้ว การพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นอันระงับ ข้อ ๑๐ ในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษได้ย้ายหรือโอนไปสังกัดจังหวัด กรม หรือกระทรวงอื่น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ที่ผู้อุทธรณ์ได้ย้ายหรือโอนไปสังกัดนั้น ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้ย้ายหรือโอนไปสังกัดจังหวัด กรม หรือกระทรวงอื่นหลังจากที่ได้ยื่นอุทธรณ์ไว้แล้ว และ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง เจ้าสังกัดเดิมยังมิได้มีมติตามข้อ ๑๓ ให้ส่งเรื่องอุทธรณ์และเอกสารหลักฐานตามข้อ ๑๒ ไปให้ อ.ก.พ. ตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อไป ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้ย้ายหรือโอนไปสังกัดจังหวัด กรม หรือกระทรวงอื่นหลังจากที่ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวงเจ้าสังกัดเดิมได้มีมติตามข้อ ๑๓ แล้ว แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณี ยังมิได้สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น ให้ส่งเรื่องอุทธรณ์และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งมติที่ได้มีไปแล้ว และรายงานการประชุม อ.ก.พ. ไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาคนใหม่เป็นผู้สั่งหรือปฏิบัติตามข้อ ๑๕ ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้รับหนังสืออุทธรณ์ที่ได้ยื่นหรือส่งตามข้อ ๗ วรรคสาม ให้ผู้บังคับบัญชานั้นส่งหนังสืออุทธรณ์ต่อไปยังผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษภายในสามวันทำการนับแต่วันได้รับหนังสืออุทธรณ์ และให้ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษจัดส่งหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งสำเนาหลักฐานการรับทราบคำสั่งลงโทษของผู้อุทธรณ์ สำนวนการสืบสวนหรือการพิจารณาในเบื้องต้นตามมาตรา ๙๙ และสำนวนการดำเนินการทางวินัยตามมาตรา ๑๐๒ พร้อมทั้งคำชี้แจงของผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษ (ถ้ามี) ไปยังประธาน อ.ก.พ. จังหวัด ประธาน อ.ก.พ. กรม ประธาน อ.ก.พ. กระทรวงหรือสำนักงาน ก.พ. แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันได้รับหนังสืออุทธรณ์ ข้อ ๑๒ การพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๒๕ (๑) (๒) และ (๓) ให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง แล้วแต่กรณี พิจารณาจากสำนวนการสืบสวนหรือการพิจารณาในเบื้องต้นตามมาตรา ๙๙ และสำนวนการดำเนินการทางวินัยตามมาตรา ๑๐๒ และในกรณีจำเป็นและสมควรอาจขอเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมทั้งคำชี้แจงจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือบุคคลใด ๆ หรือขอให้ผู้แทนหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจหน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาได้ ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจา หาก อ.ก.พ. พิจารณาเห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ จะให้งดการแถลงการณ์ด้วยวาจาก็ได้ ในกรณีที่นัดให้ผู้อุทธรณ์มาแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อที่ประชุม ให้แจ้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่สั่งลงโทษหรือเพิ่มโทษทราบด้วยว่า ถ้าประสงค์จะแถลงแก้ก็ให้มาแถลงหรือมอบหมายเป็นหนังสือให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แทนมาแถลงแก้ด้วยวาจาต่อที่ประชุมครั้งนั้นได้ ทั้งนี้ ให้แจ้งล่วงหน้าตามควรแก่กรณี และเพื่อประโยชน์ในการแถลงแก้ดังกล่าว ให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่สั่งลงโทษหรือเพิ่มโทษ หรือ ผู้แทนเข้าฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของผู้อุทธรณ์ก็ได้ ในการพิจารณาอุทธรณ์ ถ้า อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง เห็นสมควรที่จะต้องสอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์แห่งความถูกต้องและเหมาะสมตามความเป็นธรรม ให้มีอำนาจสอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติมในเรื่องนั้นได้ตามความจำเป็นโดยจะสอบสวนเองหรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้สอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติมแทนก็ได้หรือกำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่ต้องการทราบส่งไปให้สอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติมแทนก็ได้ ในการสอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติม ถ้า อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง หรือคณะกรรมการสอบสวนที่ได้รับแต่งตั้งตามวรรคสี่ เห็นสมควรส่งประเด็นหรือข้อสำคัญใดที่ต้องการทราบไปสอบสวนพยานหลักฐานซึ่งอยู่ต่างท้องที่ ให้มีอำนาจกำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญนั้นส่งไปเพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานในท้องที่นั้นทำการสอบสวนแทนได้ การสอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติม หรือส่งประเด็นหรือข้อสำคัญไปเพื่อให้ผู้สอบสวนเติมหรือหัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานซึ่งอยู่ต่างท้องที่ดำเนินการตามวรรคสี่และวรรคห้า ในเรื่องเกี่ยวกับกรณีกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสอง หรือกรณีกล่าวหาตามมาตรา ๑๑๔ (๔) หรือมาตรา ๑๑๕ ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสอบสวนพิจารณาตามมาตรา ๑๐๒ วรรคเจ็ด หรือมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยฟอนุโลม ข้อ ๑๓ เมื่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๒๕ (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว (๑) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษถูกต้องและเหมาะสมกับความผิดแล้ว ให้มีมติยกอุทธรณ์ (๒) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิด และเห็นว่าผู้อุทธรณ์ได้กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง แต่ควรได้รับโทษหนักขึ้น ให้มีมติให้เพิ่มโทษเป็นสถานโทษหรืออัตราโทษที่หนักขึ้น (๓) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิด และเห็นว่าผู้อุทธรณ์ได้กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ควรได้รับโทษเบาลง ให้มีมติให้ลดโทษเป็นสถานโทษหรืออัตราโทษที่เบาลง (๔) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิด และเห็นว่าผู้อุทธรณ์ได้กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยเล็กน้อย และมีเหตุอันควรงดโทษ ให้มีมติให้สั่งงดโทษโดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้ (๕) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้อง และเห็นว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์ไม่เป็นความผิดวินัยหรือพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัย ให้มีมติให้ยกโทษ (๖) ถ้าเห็นว่าข้อความในคำสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้มีมติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความให้เป็นการถูกต้องเหมาะสม (๗) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับความผิด และเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสาม แต่ถ้าเป็นกรณีที่ อ.ก.พ. จังหวัด หรือ อ.ก.พ. กรม มีความเห็นดังกล่าวและผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด หรืออธิบดี แล้วแต่กรณี ที่จะดำเนินการตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสาม ให้มีมติให้รายงานตามลำดับถึงผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสาม เพื่อดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไป ในกรณีที่เห็นว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีความผิดที่ปรากฎชัดแจ้งตามที่กำหนดใน กฎ ก.พ. หรือเห็นว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและได้มีการดำเนินการทางวินัยตาม มาตรา ๑๐๒ และกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาแล้ว ให้มีมติให้เพิ่มโทษเป็นปลดออก หรือไล่ออกจากราชการตามมาตรา ๑๐๔ หรือให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ใช้บังคับ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าเป็นกรณีที่ อ.ก.พ.กรม หรือ อ.ก.พ.จังหวัด มีความเห็นดังกล่าว และผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของ อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. จังหวัด ตามมาตรา ๑๐๔ (๒) หรือ (๓) ให้มีมติให้รายงานตามลำดับถึงผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป (๘) ถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม โดยเห็นว่าผู้อุทธรณ์มีกรณีที่สมควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือให้ออกจากราชการตามมาตรา ๑๑๔ (๔) มาตรา ๑๑๕ หรือ มาตรา ๑๑๖ ให้นำ (๗) มาใช้บังคับโดยอนุโลม (๙) ถ้าเห็นว่าสมควรดำเนินการโดยประการอื่นใด เพื่อให้มีความถูกต้องตามกฎหมายและมีความเป็นธรรม ให้มีมติให้ดำเนินการได้ตามควรแก่กรณี การออกจากราการของผู้อุทธรณ์ไม่เป็นเหตุที่จะยุติการพิจารณาอุทธรณ์ แต่จะมีมติตาม (๒) หรือ (๘) มิได้ และถ้าเป็นการออกจากราชการเพราะตายจะมีมติตาม (๗) มิได้ด้วย ในกรณีที่มีผู้ถูกลงโทษทางวินัยในความผิดที่ได้กระทำร่วมกัน และเป็นความผิดในเรื่องเดียวกันโดยมีพฤติการณ์แห่งการกระทำอย่างเดียวกัน เมื่อผู้ถูกลงโทษคนใดคนหนึ่งใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าว และผลการพิจารณาเป็นคุณแก่ผู้อุทธรณ์ แม้ผู้ถูกลงโทษคนอื่นจะไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์หากพฤติการณ์ของผู้ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์เป็นเหตุในลักษณะคดีอันเป็นเหตุเดียวกับกรณีของผู้อุทธรณ์แล้วให้มีมติให้ผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ได้รับการพิจารณาการลงโทษให้มีผลในทางที่เป็นคุณเช่นเดียวกับผู้อุทธรณ์ด้วย ข้อ ๑๔ ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๑๓ (๗) หรือ (๘) เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้สอบสวนพิจารณาเสร็จแล้ว ให้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณามีมติตามข้อ ๑๓ ต่อไป ข้อ ๑๕ เมื่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ได้มีมติตามข้อ ๑๓ แล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณี สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้นในโอกาสแรกที่ทำได้ ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นจะให้มีการรับรองรายงานการประชุมก่อนก็ได้ และเมื่อได้สั่งหรือปฏิบัติตามมติตามมติดังกล่าวแล้ว ให้แจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว ข้อ ๑๖ ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด สั่งตามข้อ ๑๕ โดยสั่งยกอุทธรณ์ สั่งลดโทษ หรือสั่งงดโทษ ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์ต่อไปมิได้ แต่ถ้าสั่งเพิ่มโทษหรือสั่งให้ออกจากราชการ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ แล้วแต่กรณี ได้อีกชั้นหนึ่ง ข้อ ๑๗ การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ในกรณีที่อุทธรณ์ต่อ ก.พ. ตามมาตรา ๑๒๕ (๔) และมาตรา ๑๒๖ ให้นำข้อ ๑๒ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม และข้อ ๑๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๘ เมื่อ ก.พ. ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๒๕ (๔) และมาตรา ๑๒๖ และมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้สำนักงาน ก.พ. รายงานนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการตามมาตรา ๑๒๖ วรรคหนึ่ง ต่อไปโดยเร็ว ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับมติของ ก.พ. และ ก.พ. พิจารณาความเห็นของนายกรัฐมนตรีแล้วยืนยันตามมติเดิม ให้สำนักงาน ก.พ. รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตาม มาตรา ๑๒๖ วรรคหนึ่ง โดยเร็ว เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการตามมติของ ก.พ. หรือคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาวินิจฉัยมีมติตามมาตรา ๑๒๖ วรรคหนึ่ง เป็นประกอบใดแล้ว ให้สำนักงาน ก.พ. แจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแจ้งให้กระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องทราบ หรือดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรีมาตรา ๑๒๖ วรรคสาม โดยเร็ว ข้อ ๑๙ การนับระยะเวลาตามกฎ ก.พ. นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้น ให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา ส่วนเวลาสุดสิ้น ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๒๕ และมาตรา ๑๒๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่า การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ.นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนที่ ๑๓ ก/หน้า ๑๕/๒๑ เมษายน ๒๕๔๐
304200
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ มีอำนาจสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี เป็นการชั่วคราวโดยให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เดิมได้ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น ดังต่อไปนี้ (๑) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญมีกรณีถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือกรณีที่ถูกฟ้องนั้น พนักงานอัยการรับเป็นทนายแก้ต่างให้ และถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่เดิมต่อไปจะเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน หรืออาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ (๒) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญกระทำหรือละเว้นกระทำการใดจนต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดอาญา และผู้มีอำนาจดังกล่าวพิจารณาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าการกระทำหรือละเว้นกระทำการนั้นเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง (๓) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ และผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการสืบสวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร และการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการนั้นเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง (๔) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและได้รับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา หรือให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนหรือคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนและได้มีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือ (๕) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญมีกรณีถูกแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนตามมาตรา ๑๑๔ (๔) (๖) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญมีกรณีถูกแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน หรือมีการใช้สำนวนการสอบสวนพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๑๑๕ หรือมีกรณีที่ปรากฏชัดแจ้งตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. ซึ่งออกตามความในมาตรา ๑๑๕ (๗) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งใดมีกรณีถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ามีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งนั้นซึ่งผู้บังคับบัญชาได้สืบสวนแล้วเห็นว่ากรณีมีมูล และถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไปอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ (๘) กรณีอื่นที่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษเพื่อประโยชน์แก่ราชการโดยได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ข้อ ๓ การขอให้ ก.พ. พิจารณาอนุมัติกรณีตามข้อ ๒ (๘) ให้แสดงรายละเอียด ดังต่อไปนี้ (๑) คำชี้แจงเหตุผลความจำเป็นพิเศษเพื่อประโยชน์แก่ราชการและระยะเวลาที่จะสั่งให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี (๒) หน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการที่จะมอบหมายแก่ผู้ถูกสั่งให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี ข้อ ๔ การสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ สั่งได้เป็นเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ถูกสั่งให้ประจำ เว้นแต่การสั่งตามข้อ ๒ (๘) ให้สั่งได้ไม่เกินกำหนดเวลาที่ได้รับอนุมัติจาก ก.พ. แต่ต้องไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ถูกสั่งให้ประจำ เมื่อมีการสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัดแล้ว และถ้าผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ เห็นว่ายังมีเหตุผลความจำเป็นพิเศษที่จะต้องสั่งให้ผู้นั้นประจำต่อไปอีกเกินกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. ได้อีก แต่การขอขยายเวลาเมื่อรวมกับกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีหกเดือนนับแต่วันที่ถูกสั่งให้ประจำ ทั้งนี้ ให้ขอขยายเวลาก่อนวันครบกำหนดเวลาเดิมไม่น้อยกว่าสามสิบวันเว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษอาจขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. ก่อนวันครบกำหนดเวลาเดิมน้อยกว่าสามสิบวันได้ การขออนุมัติขยายเวลาตามวรรคสองให้นำความในข้อ ๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๕ การสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ประจำกระทรวง หรือประจำทบวง แล้วแต่กรณี ให้สั่งได้สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๐ ขึ้นไป การสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ประจำกรม หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี ให้สั่งได้สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๙ ลงมา เว้นแต่ (๑) การสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญในส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวง แต่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีให้ประจำกรม ให้สั่งได้สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๑ ลงมา (๒) การสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญในส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และมีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีให้ประจำกรม ให้สั่งได้สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๐ ลงมา การสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ประจำกอง ให้สั่งได้สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๗ ลงมา ข้อ ๖ เมื่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ สั่งข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี โดยมีเหตุผลความจำเป็นในกรณีใดแล้ว เมื่อหมดความจำเป็นหรือครบกำหนดเวลาตามข้อ ๔ ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวสั่งให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งเดิม หรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้นซึ่งเป็นตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๐ ขึ้นไป ให้ดำเนินการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ข้อ ๗ การให้พ้นจากตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือน การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย และการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญที่ถูกสั่งให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี ตามกฎ ก.พ. นี้ ให้ถือเสมือนว่าข้าราชการพลเรือนสามัญที่ถูกสั่งนั้นดำรงตำแหน่งเดิม ข้อ ๘ ในกรณีที่ได้สั่งข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด อยู่ก่อนวันที่กฎ ก.พ. นี้ ใช้บังคับ ให้นำกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ มาใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวต่อไป เว้นแต่กรณีที่จะขยายเวลาให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการตามกฎ ก.พ. ฉบับนี้ ในกรณีที่ได้สั่งข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัดตามวรรคหนึ่งไว้แล้วเป็นเวลาตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ถ้ายังมีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ประจำต่อไปอีก ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ ดำเนินการขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. ตามกฎ ก.พ. ฉบับนี้ แต่จะขออนุมัติขยายเวลาได้อีกเป็นเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาครั้งก่อน ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญในแต่ละระดับมีอำนาจสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี เป็นการชั่วคราว โดยให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เดิมได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. และการกำหนดการให้ได้รับเงินเดือน การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย และการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนที่ ๑๓ ก/หน้า ๑๐/๒๑ เมษายน ๒๕๔๐
654017
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2544 (ฉบับ Update ณ วันที่ 29/06/2547)
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ. นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิก (๑) กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (๒) กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ ดังนี้ (๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑ (๒) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๒ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๒ (๓) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๓ (๔) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๔ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๔ (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๕ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๕ (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๖ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๖ (๗) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๗ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๗ (๘) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๘ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๘ (๙) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๙ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๙ ที่มิใช่ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่สูงกว่ากองในกรม ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ (๑๐)ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑ (๑๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๑ (๑๒) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ในระดับ ๑๑ ตำแหน่งปลัดกระทรวง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดทบวง เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ราชเลขาธิการ ที่ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๑ ให้ได้รับเงินเดือนอันดับ บ ๑๑ ข้อ ๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด โดยได้รับเงินเดือนในอันดับใดตามข้อ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งนั้น เว้นแต่ (๑) ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม (๒) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพ และ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใดให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๓) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นและ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นนั้น เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใดอธิบดีผู้บังคับบัญชาหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีอาจปรับให้ได้รับเงินเดือนอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนดได้ (๔) ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสายงานใดที่ ก.พ. กำหนดในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้ตำแหน่งในสายงานนั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งระดับนั้น ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับที่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมให้ได้รับเงินเดือนในแต่ละกรณีดังนี้ (ก) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งเพื่อประโยชน์ของทางราชการให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ได้รับอยู่เดิม (ข) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งโดยเป็นความประสงค์ของตัวข้าราชการ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ แต่ถ้าผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นตำแหน่งใด ถ้าได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๕ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ หรืออันดับ ท ๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑ ผู้ใดได้รับเงินเดือนถึงขึ้นสูงของอันดับ ท ๙ หรืออันดับ ท ๑๐ แล้วแต่กรณี ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิมตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ ในวันแรกของการเลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งถัดไป ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้นในอันดับ ท ๑๐ หรืออันดับ ท ๑๑ ตามวรรคหนึ่งผู้ใดต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นดังกล่าวในวันที่ ๓๐ กันยายนของปีสุดท้ายก่อนที่จะพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ ข้อ ๖ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ หรืออันดับ ท๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑ และได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ หรืออันดับ ท ๑๐ แล้วแต่กรณี ก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามกฎ ก.พ. นี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ส่วนผู้ได้รับเงินเดือนในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒ ถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ หรืออันดับ ท ๑๐ แล้วแต่กรณี และต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้ได้รับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๒ ข้อ ๗ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามข้อ ๕ และข้อ ๖ ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนอาจพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือนตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตั้งแต่วันที่ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้น ข้อ ๘ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๕๑ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๙ และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้ได้รับเงินเดือนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ข้อ ๙ กรณีอื่นนอกจากที่ได้กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. นี้ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑.[๒] ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (แก้ไขเพิ่มเติม) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ บัญญัติให้การรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ซึ่ง ก.พ. ได้ออกกฎ ก.พ. เรื่องนี้ไว้ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๓) การมีกฎ ก.พ. หลายฉบับทำให้ไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ประกอบกับต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงวันเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการเป็นให้เลื่อนปีละสองครั้งในวันที่ ๑ เมษายน และวันที่ ๑ ตุลาคม ซึ่งมีผลกระทบต่อวันเริ่มรับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้การรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญสะดวกในทางปฏิบัติ สอดคล้องกับการเลื่อนขั้นเงินเดือน และเพื่อให้ผู้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นได้รับเงินเดือนในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗[๓] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้ปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘/ตอนที่ ๘๓ ก/หน้า ๑/๒๔ กันยายน ๒๕๔๔ [๒] ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ [๓] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๒๗ ก/หน้า ๑๑/๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๗
304199
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน
กฎกระทรวง กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (๘) ของข้อ ๖ แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนและให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๘) ในรอบปีที่แล้วมาต้องมีเวลาปฏิบัติราชการสิบสองเดือน โดยไม่มีวันลาเกินกว่าสี่สิบห้าวัน แต่ไม่รวมถึงวันลา ดังต่อไปนี้ (ก) ลาอุปสมบท หรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เฉพาะวันลาที่มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างลาตามกฎหมายว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน (ข) ลาคลอดบุตรไม่เกินเก้าสิบวัน (ค) ลาป่วยซึ่งจำเป็นต้องรักษาตัวเป็นเวลานานไม่ว่าคราวเดียว หรือหลายคราวรวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันทำการ (ง) ลาป่วยเพราะประสบอันตรายในขณะที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือในขณะเดินทางไปหรือกลับจากปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (จ) ลาพักผ่อน (ฉ) ลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล (ช) ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ การนับจำนวนวันลาไม่เกินสี่สิบห้าวันสำหรับวันลากิจส่วนตัวและวันลาป่วยที่ไม่ใช่วันลาป่วยตาม (ง) ให้นับเฉพาะวันทำการ” ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๐ และข้อ ๑๒ แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนและให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๑๐ การพิจารณาผลการปฏิบัติงาน ให้นับช่วงเวลาการปฏิบัติราชการและการปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตามข้อ ๖ (๘) (ช) ในรอบปีที่แล้วมาเป็นเกณฑ์ เว้นแต่ผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๖ (๕) หรือ (๖) ให้นับช่วงเวลาปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่าแปดเดือนเป็นเกณฑ์พิจารณา ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดโอน เลื่อนตำแหน่ง ย้าย สับเปลี่ยนหน้าที่ ไปช่วยราชการในต่างกระทรวง ทบวง กรม ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานนอกเหนือหน้าที่หรืองานพิเศษอื่นใดหรือลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตามข้อ ๖ (๘) (ช) ในรอบปีที่แล้วมา ให้นำผลการปฏิบัติราชการและการปฏิบัติงานของผู้นั้นทุกตำแหน่งและทุกแห่งมาประกอบการพิจารณาด้วย ข้อ ๑๒ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีให้แก่ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งในรอบปีที่แล้วมาได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตามข้อ ๖ (๘) (ช) ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาสั่งเลื่อนได้ปีละไม่เกินหนึ่งขั้นเมื่อผู้นั้นกลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยให้สั่งเลื่อนย้อนหลังไปในแต่ละปีที่ควรจะได้เลื่อน ทั้งนี้ ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีผู้บังคับบัญชากำหนด” ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่ระเบียบ ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบ ว่าด้วยการลาของข้าราชการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๙ กำหนดให้ข้าราชการมีสิทธิลาคลอดบุตรโดยได้รับเงินเดือนครั้งหนึ่งได้ไม่เกินเก้าสิบวัน และได้ยกเลิกสิทธิการลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องจากการลาคลอดโดยได้รับเงินเดือนไม่เกินสามสิบวันทำการ เพื่อให้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีของข้าราชการพลเรือนสามัญมีความสอดคล้องกับระเบียบดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๗๑ ก/หน้า ๓๐/๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
315535
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2544
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ. นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิก (๑) กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (๒) กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ ดังนี้ (๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑ (๒) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๒ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๒ (๓) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๓ (๔) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๔ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๔ (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๕ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๕ (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๖ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๖ (๗) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๗ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๗ (๘) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๘ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๘ (๙) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๙ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๙ ที่มิใช่ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่สูงกว่ากองในกรม ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ (๑๐)ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑ (๑๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๑ (๑๒) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ในระดับ ๑๑ ตำแหน่งปลัดกระทรวง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดทบวง เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ราชเลขาธิการ ที่ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๑ ให้ได้รับเงินเดือนอันดับ บ ๑๑ ข้อ ๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด โดยได้รับเงินเดือนในอันดับใดตามข้อ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งนั้น เว้นแต่ (๑) ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม (๒) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพ และ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใดให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๓) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นและ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นนั้น เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใดอธิบดีผู้บังคับบัญชาหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีอาจปรับให้ได้รับเงินเดือนอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนดได้ (๔) ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสายงานใดที่ ก.พ. กำหนดในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้ตำแหน่งในสายงานนั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งระดับนั้น ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับที่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมให้ได้รับเงินเดือนในแต่ละกรณีดังนี้ (ก) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งเพื่อประโยชน์ของทางราชการให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ได้รับอยู่เดิม (ข) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งโดยเป็นความประสงค์ของตัวข้าราชการ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ แต่ถ้าผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นตำแหน่งใด ถ้าได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๕ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ หรืออันดับ ท ๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑ ผู้ใดได้รับเงินเดือนถึงขึ้นสูงของอันดับ ท ๙ หรืออันดับ ท ๑๐ แล้วแต่กรณี ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิมตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ ในวันแรกของการเลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งถัดไป ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้นในอันดับ ท ๑๐ หรืออันดับ ท ๑๑ ตามวรรคหนึ่งผู้ใดต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นดังกล่าวในวันที่ ๓๐ กันยายนของปีสุดท้ายก่อนที่จะพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ ข้อ ๖ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ หรืออันดับ ท๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑ และได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ หรืออันดับ ท ๑๐ แล้วแต่กรณี ก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามกฎ ก.พ. นี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ส่วนผู้ได้รับเงินเดือนในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒ ถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ หรืออันดับ ท ๑๐ แล้วแต่กรณี และต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้ได้รับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๒ ข้อ ๗ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามข้อ ๕ และข้อ ๖ ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนอาจพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือนตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตั้งแต่วันที่ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้น ข้อ ๘ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๕๑ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๙ และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้ได้รับเงินเดือนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ข้อ ๙ กรณีอื่นนอกจากที่ได้กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. นี้ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ บัญญัติให้การรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ซึ่ง ก.พ. ได้ออกกฎ ก.พ. เรื่องนี้ไว้ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๓) การมีกฎ ก.พ. หลายฉบับทำให้ไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ประกอบกับต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงวันเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการเป็นให้เลื่อนปีละสองครั้งในวันที่ ๑ เมษายน และวันที่ ๑ ตุลาคม ซึ่งมีผลกระทบต่อวันเริ่มรับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้การรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญสะดวกในทางปฏิบัติ สอดคล้องกับการเลื่อนขั้นเงินเดือน และเพื่อให้ผู้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นได้รับเงินเดือนในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘/ตอนที่ ๘๓ ก/หน้า ๑/๒๔ กันยายน ๒๕๔๔
654015
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 19 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน (ฉบับ Update ณ วันที่ 19/06/2546)
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจึงออกกฎ ก พ. ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ กระทรวง ทบวง กรมเจ้าสังกัด อาจขออนุมัติกำหนดอัตรากำลังทดแทนต่อ ก.พ. ได้ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นและไม่เกินกำหนดระยะเวลา ดังต่อไปนี้ (๑) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ข้าราชการพลเรือนผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (๒) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับอนุญาตให้ลาติดตามคู่สมรสซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาติดตามคู่สมรสไปปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไปปฏิบัติงานในต่างประเทศตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (๓) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับทุนรัฐบาลตามระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยทุนของรัฐบาลให้ไปศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศ ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาหรือฝึกอบรมตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (๔) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๗ ขึ้นไป ผู้ใดจะพ้นจากราชการเพราะเกษียณอายุและมีระยะเวลาในการรับราชการเหลืออยู่ไม่เกินหกเดือน ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้อื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งซึ่งข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาราชการที่เหลืออยู่ของผู้ที่จะเกษียณอายุ (๕)[๒] เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญมีกรณีต้องโยกย้ายถ่ายโอนไปส่วนราชการอื่นหรือได้รับการพิจารณาให้ไปพัฒนาหรือฝึกทักษะใหม่เพื่อรองรับการปรับบทบาท ภารกิจ โครงสร้างส่วนราชการและปรับระบบงานใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาหกเดือนหากมีเหตุผลความจำเป็นให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินหกเดือน และต้องมีการวางแผนบริหารตำแหน่งรองรับข้าราชการดังกล่าวด้วย (๖)[๓] เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญมีกรณีที่ไม่อาจปฏิบัติงานให้สัมฤทธิผลได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือละเลยเพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่ามีพฤติกรรมในการผลิต การค้า การเสพ หรือการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาหกเดือน หากมีเหตุผลความจำเป็นให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินหกเดือน และต้องมีการวางแผนบริหารตำแหน่งรองรับข้าราชการดังกล่าวด้วย ข้อ ๓ การขอให้ ก.พ. พิจารณาอนุมัติกำหนดอัตรากำลังทดแทนให้แสดงรายละเอียด ดังต่อไปนี้ (๑) คำชี้แจง เหตุผลความจำเป็น และกำหนดระยะเวลาที่จะสั่งให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน (๒)[๔] หน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการที่จะมอบหมายให้ผู้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามข้อ ๒ (๔) (๕) หรือ (๖) ซึ่งจะต้องให้เหมาะสมกับระดับตำแหน่งที่เคยดำรงอยู่เดิม ข้อ ๔ เมื่อ ก.พ. อนุมัติให้กำหนดอัตรากำลังทดแทนสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญในกรณีใดแล้ว ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญในกรณีนั้นพ้นจากตำแหน่งหน้าที่และขาดจากอัตราเงินเดือนในตำแหน่งเดิมโดยให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามที่ได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ข้อ ๕[๕] เมื่อได้สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามที่ ก.พ. กำหนด ตามข้อ ๒ (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว ถ้าผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ เห็นว่ายังมีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนต่อไปอีกเกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ก็ให้ขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. ได้อีกครั้งละไม่เกินหนึ่งปี ทั้งนี้ ให้ขอขยายเวลาก่อนวันครบกำหนดระยะเวลาเดิมไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษอาจขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. น้อยกว่าสามสิบวันได้ การขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. ตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงรายละเอียดตามข้อ ๓ ด้วยโดยอนุโลม ข้อ ๖ ในกรณีการกำหนดอัตรากำลังทดแทนสำหรับกรณีตามข้อ ๒ (๑) (๒) และ (๓) ถ้ากระทรวง ทบวง กรมใดมีตำแหน่งและอัตราเงินเดือนว่างและประสงค์จะนำอัตราเงินเดือนของตำแหน่งนั้นมาเป็นอัตรากำลังทดแทน ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ ของส่วนราชการนั้น นำอัตราเงินเดือนของตำแหน่งที่ว่างอยู่ดังกล่าวมากำหนดเป็นอัตรากำลังทดแทนและสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนได้ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ข้าราชการผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ เมื่อกระทรวง ทบวง กรมใดได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รายงานต่อ ก.พ. ภายในเจ็ดวัน ข้อ ๗ เมื่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนโดยมีเหตุผลความจำเป็นในกรณีใดแล้ว เมื่อหมดความจำเป็นหรือครบกำหนดระยะเวลาตามข้อ ๔ ข้อ ๕ หรือข้อ ๖ แล้วแต่กรณี ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นพ้นจากการรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกันกับที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ข้อ ๘ การให้พ้นจากตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือน การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย และการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญที่ถูกสั่งให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามกฎ ก.พ. นี้ ให้ถือเสมือนว่าข้าราชการพลเรือนสามัญที่ถูกสั่งนั้นดำรงตำแหน่งเดิม ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญพ้นจากตำแหน่งหน้าที่และขาดจากอัตราเงินเดือนในตำแหน่งเดิม โดยให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนที่ ก.พ. กำหนดได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. การให้พ้นจากตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือน การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การดำเนินการทางวินัยและการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน[๖] หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มีความจำเป็นต้องโยกย้ายถ่ายโอนข้าราชการพลเรือนสามัญไปส่วนราชการอื่น หรือให้ไปพัฒนาหรือฝึกทักษะใหม่ เพื่อรองรับการปรับบทบาท ภารกิจ โครงสร้างส่วนราชการและปรับระบบงานใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และโดยที่มีกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญไม่อาจปฏิบัติงานให้สัมฤทธิผลได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือละเลยเพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่ามีพฤติกรรมในการผลิต การค้า การเสพ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สมควรกำหนดให้กระทรวง ทบวง กรมเจ้าสังกัดอาจขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจากที่ได้กำหนดไว้แล้วตาม กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนที่ ๔๔ ก/หน้า ๖/๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ [๒] ข้อ ๒ (๕) เพิ่มโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน [๓] ข้อ ๒ (๖) เพิ่มโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน [๔] ข้อ ๓ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน [๕] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน [๖] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๕๗ ก/หน้า ๑๙/๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๖
304202
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ขอให้แก้ไขการปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ขอให้แก้ไขการปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) มาตรา ๑๓๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ การร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญเห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๓ เพื่อให้เกินความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เมื่อมีกรณีเป็นปัญหาขึ้นระหว่างกันควรจะได้ปรึกษาหารือทำความเข้าใจกัน ฉะนั้น เมื่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีปัญหาเกี่ยวกับการที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และแสดงความประสงค์ที่จะปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา ให้ผู้บังคับบัญชานั้นให้โอกาสและรับฟังหรือสอบถามเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวเพื่อเป็นทางแห่งการทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นต้น ถ้าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาไม่ประสงค์ที่จะปรึกษาหารือ หรือปรึกษาหารือแล้ว ไม่ได้รับคำชี้แจงหรือได้รับคำชี้แจงไม่เป็นที่พอใจ ก็ให้ร้องทุกข์ตามข้อ ๔ ข้อ ๔ การร้องทุกข์ให้ร้องทุกข์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะร้องทุกข์แทนผู้อื่นหรือมอบหมายให้ผู้อื่นร้องทุกข์แทนไม่ได้ และให้ร้องทุกข์เป็นหนังสือภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ข้อ ๕ หนังสือร้องทุกข์ต้องลงลายมือชื่อและตำแหน่งของผู้ร้องทุกข์ และต้องประกอบด้วยสาระสำคัญที่แสดงข้อเท็จจริงและปัญหาของเรื่องให้เห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างใด และความประสงค์ของการร้องทุกข์ ถ้าผู้ร้องทุกข์ประสงค์จะแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นพิจารณาของ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ.แล้วแต่กรณี ให้แสดงความประสงค์ไว้ในหนังสือร้องทุกข์ หรือจะทำเป็นหนังสือต่างหากก็ได้แต่ต้องยื่นหรือส่งก่อนที่ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี เริ่มพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ โดยยื่นหรือส่งตรงต่อ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. ข้อ ๖ การร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการดังนี้ (๑) ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่ต่ำกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. จังหวัด และให้ อ.ก.พ. จังหวัด เป็นผู้พิจารณา (๒) ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนกลางที่ต่ำกว่าอธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. กรม และให้ อ.ก.พ. กรม เป็นผู้พิจารณา (๓) ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรืออธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. กระทรวง และให้ อ.ก.พ. กระทรวงเป็นผู้พิจารณา (๔) ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือปลัดกระทรวง หรือกรณีผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ตามมติของ อ.ก.พ. กระทรวง หรือกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากการถูกสั่งพักราชการตามมาตรา ๑๐๗ ให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ. เป็นผู้พิจารณา ข้อ ๗ ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิคัดค้านอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ถ้าผู้นั้นมีเหตุอย่าหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ (๒) มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ร้องทุกข์ (๓) มีสาเหตุโกรธเคืองผู้ร้องทุกข์ (๔) เป็นคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมบิดาหรือมารดากับผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ การคัดค้านอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้พิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้นต้องแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในหนังสือร้องทุกข์ หรือแจ้งเพิ่มเติมเป็นหนังสือก่อนที่ อ.ก.พ.หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี เริ่มพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ เมื่อมีเหตุมีการคัดค้านตามวรรคหนึ่ง อนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้นั้นจะขอถอนตัวไม่ร่วมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้นก็ได้ ถ้าอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการหรือกรรมการผู้นั้นมิได้ขอถอนตัว ให้ประธานอนุกรรมการ หรือประธานกรรมการ แล้วแต่กรณี พิจารณาข้อเท็จจริงที่คัดค้าน หากเห็นว่าข้อเท็จจริงนั้นน่าเชื่อถือ ให้แจ้งอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการหรือกรรมการผู้นั้นทราบและมิให้ร่วมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้น เว้นแต่ประธานอนุกรรมการหรือประธานกรรมการ แล้วแต่กรณี พิจารณาเห็นว่าการให้อนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้นั้นร่วมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า เพราะจะทำให้ได้ความจริงและเป็นธรรม จะอนุญาตให้อนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้นั้นร่วมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้นก็ได้ ข้อ ๘ เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาร้องทุกข์ (๑) ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งเป็นหนังสือต่อผู้ร้องทุกข์ให้ถือว่าวันที่ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ถ้าผู้ถูกสั่งไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่ง และมีการแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกสั่งทราบกับมอบสำเนาคำสั่งให้ผู้ถูกสั่ง แล้วทำบันทึกลงวันเดือนปี เวลา และสถานที่ที่แจ้ง และลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ถ้าไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งได้โดยตรงและได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกสั่ง ณ ที่อยู่ของผู้ถูกสั่ง ซึ่งปรากฎตามหลักฐานของทางราชการ โดยส่งสำเนาคำสั่งไปให้สองฉบับเพื่อให้ผู้ถูกสั่งเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับคำสั่งส่งกลับคืนมาเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฎในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่าผู้ถูกสั่งได้รับเอกสารดังกล่าวหรือมีผู้รับแทนแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ผู้ถูกสั่งลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งกลับคืนมา ให้ถือว่าผู้ถูกสั่งได้ทราบคำสั่งแล้ว (๒) ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาไม่มีคำสั่งเป็นหนังสือต่อผู้ร้องทุกข์โดยตรงให้ถือวันที่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้ร้องทุกข์รับทราบหรือควรได้ทราบคำสั่งนั้นเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ (๓) ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อผู้ร้องทุกข์โดยไม่ได้มีคำสั่งอย่างใด ให้ถือวันที่ผู้ร้องทุกข์ควรได้ทราบถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาดังกล่าวเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ข้อ ๙ การร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง ให้ทำหนังสือร้องทุกข์ถึงประธาน อ.ก.พ. พร้อมกับสำเนารับรองถูกต้องหนึ่งฉบับ โดยออกนามจังหวัด กรม หรือ กระทรวง แล้วแต่กรณี และยื่นที่ศาลกลางจังหวัดหรือส่วนราชการนั้น การร้องทุกข์ต่อ ก.พ. ให้ทำหนังสือร้องทุกข์ถึงประธาน ก.พ. หรือเลขาธิการ ก.พ. พร้อมกับสำเนารับรองถูกต้องหนึ่งฉบับ และยื่นที่สำนักงาน ก.พ. ผู้ร้องทุกข์จะยื่นหรือส่งหนังสือร้องทุกข์พร้อมกับสำเนารับรองถูกต้องหนึ่งฉบับผ่านผู้บังคับบัญชาหรือผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ก็ได้ และให้ผู้บังคับบัญชานั้นดำเนินการตามข้อ ๑๑ วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี ในกรณีที่มีผู้นำหนังสือร้องทุกข์มายื่นเอง ให้ผู้รับหนังสืออกใบรับหนังสือประทับตรารับหนังสือและลงทะเบียนรับหนังสือไว้เป็นหลักฐานในวันที่รับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ และให้ถือวันที่รับหนังสือตามหลักฐานดังกล่าวเป็นวันยื่นหนังสือร้องทุกข์ ในกรณีที่ส่งหนังสือร้องทุกข์ทางไปรษณีย์ ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางออกใบรับฝากเป็นหลักฐานฝากส่ง หรือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสือเป็นวันส่งหนังสือร้องทุกข์ เมื่อได้ยื่นหรือส่งหนังสือร้องทุกข์ไว้แล้ว ผู้ร้องทุกข์จะยื่นหรือส่งหนังสือร้องทุกข์หรือเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมที่ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ.แล้วแต่กรณี เริ่มพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ก็ได้ โดยยื่นหรือส่งตรงต่อ อ.ก.พ. ก.พ. ข้อ ๑๐ ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่ประสงค์จะให้มีการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ต่อไป จะขอถอนเรื่องร้องทุกข์ก่อนที่ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี พิจารณาเรื่องร้องทุกข์เสร็จสิ้นก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นหรือส่งตรงต่อ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. เมื่อได้ถอนเรื่องร้องทุกข์แล้ว การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้นให้เป็นอันระงับ ข้อ ๑๑ เมื่อได้รับหนังสือร้องทุกข์ตามข้อ ๙ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ให้ประธาน อ.ก.พ. จังหวัด ประธาน อ.ก.พ. กรม ประธาน อ.ก.พ. กระทรวง หรือสำนักงาน ก.พ. แล้วแต่กรณี มีหนังสือแจ้งพร้อมทั้งส่งสำเนาหนังสือร้องทุกข์ให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ทราบโดยเร็วและให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้นส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและคำชี้แจงของตน (ถ้ามี) ไปเพื่อประกอบการพิจารณาภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันได้รับหนังสือ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้รับหนังสือร้องทุกข์ที่ได้ยื่นหรือส่งตามข้อ ๙ วรรคสาม ให้ผู้บังคับบัญชานั้นส่งหนังสือร้องทุกข์พร้อมทั้งสำเนาต่อไปยังผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์ เมื่อผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ได้รับหนังสือร้องทุกข์ที่ได้ยื่นหรือส่งตามวรรคสองหรือข้อ ๙ วรรคสาม ให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้นจัดส่งหนังสือร้องทุกข์พร้อมทั้งสำเนาและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและคำชี้แจงของตน (ถ้ามี) ไปยังประธาน อ.ก.พ. จังหวัด ประธาน อ.ก.พ. กรม ประธาน อ.ก.พ. กระทรวง หรือสำนักงาน ก.พ. แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันได้รับหนังสือร้องทุกข์ ข้อ ๑๒ การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี พิจารณาจากเรื่องราวการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ของผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ และในกรณีจำเป็นและสมควรอาจขอเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมทั้งคำชี้แจงจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือบุคคลใดๆ หรือขอให้ผู้แทนหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วน บริษัท ข้าราชการ หรือ บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาได้ ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจา หาก อ.ก.พ. พิจารณาเห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ จะให้งดการแถลงการณ์ด้วยวาจาเสียก็ได้ ในกรณีที่นัดให้ผู้ร้องทุกข์มาแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อที่ประชุม ให้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ทราบด้วยว่า ถ้าประสงค์จะแถลงแก้ก็ให้มาแถลงหรือมอบหมายเป็นหนังสือให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แทนมาแถลงแก้ด้วยวาจาต่อที่ประชุมครั้งนั้นได้ ทั้งนี้ ให้แจ้งล่วงหน้าตามควรแก่กรณี และเพื่อประโยชน์ในการแถลงแก้ดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือผู้แทนเข้าฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของผู้ร้องทุกข์ได้ ข้อ ๑๓ ให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง แล้วแต่กรณี พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือร้องทุกข์และเอกสารหลักฐานตามข้อ ๑๑ แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว ให้ขยายเวลาพิจารณาได้อีกไม่เกินสามสิบวัน และให้บันทึกแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาไว้ด้วย ในกรณีที่ขยายเวลาตามวรรคหนึ่งแล้วการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ ให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง แล้วแต่กรณี ขยายเวลาพิจารณาได้อีกไม่เกินสามสิบวัน แต่ทั้งนี้ให้พิจารณากำหนดมาตรการที่จะทำให้การพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็วและบันทึกไว้เป็นหลักฐานในรายงานการประชุม และให้ส่งสำเนารายงานการประชุม อ.ก.พ.จังหวัด อ.ก.พ.กรม แล้วแต่กรณี ไปยัง อ.ก.พ. กระทรวง และส่งสำเนารายงานการประชุม อ.ก.พ. กระทรวงไปยัง ก.พ. ภายในสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดขยายเวลาตามวรรคหนึ่ง เพื่อที่ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. จะได้ติดตามแนะนำและชี้แจงให้การพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็ว เมื่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวงพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์นั้นเสร็จแล้ว ให้แจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี ทราบด้วย ข้อ ๑๔ เมื่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามข้อ ๖ (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว (๑) ถ้าเห็นว่าการที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์นั้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้มีมติยกคำร้องทุกข์ (๒) ถ้าเห็นว่าการที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์นั้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้มีมติให้แก้ไขโดยเพิกถอนหรือยกเลิกการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น หรือให้ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย (๓) ถ้าเห็นว่าการที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์นั้นถูกต้องตามกฎหมายแต่บางส่วน และไม่ถูกต้องตามกฎหมายบางส่วน ให้มีมติให้แก้ไขหรือให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย (๔) ถ้าเห็นว่าสมควรดำเนินการโดยประการอื่นใดเพื่อให้มีความถูกต้องตามกฎหมายและมีความเป็นธรรม ให้มีมติให้ดำเนินการได้ตามควรแก่กรณี การพิจารณามีมติตามวรรคหนึ่ง ให้บันทึกเหตุผลของการพิจารณาวินิจฉัยไว้ในรายงานการประชุมด้วย ข้อ ๑๕ เมื่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ให้มีมติตามข้อ ๑๔ แล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณี สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้นในโอกาสแรกที่ทำได้ ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นจะให้มีการรับรองรายงานประชุมเสียก่อนก็ได้และเมื่อได้สั่งหรือปฏิบัติตามมติดังกล่าวแล้ว ให้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว ข้อ ๑๖ การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ในกรณีที่ร้องทุกข์ต่อ ก.พ. ตามข้อ ๖ (๔) ให้นำข้อ ๑๒ ข้อ ๑๓ และข้อ ๑๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อ ก.พ. ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์และมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้รายงานนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเป็นประการใดแล้ว ให้สำนักงาน ก.พ. แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแจ้งให้กระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องทราบหรือดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว ข้อ ๑๗ มติของ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม และ อ.ก.พ. กระทรวง ตามข้อ ๑๔ และคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตามข้อ ๑๖ ให้เป็นที่สุด ข้อ ๑๘ การนับระยะเวลาตามกฎ ก.พ. นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้น ให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา ส่วนเวลาสุดสิ้น ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา ข้อ ๑๙ ในกรณีที่ข้าราชกรพลเรือนสามัญได้ยื่นหรือส่งหนังสือร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาไว้แล้วก่อนวันที่กฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับ และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์นั้นยังไม่แล้วเสร็จ ให้ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์นั้นต่อไปตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๓๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่า การร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องการร้องทุกข์ขอให้แก้ไขการปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ.นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนที่ ๑๓ ก/หน้า ๒๔/๒๑ เมษายน ๒๕๔๐
396365
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2546) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๔๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๕) และ (๖) ของข้อ ๒ แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน “(๕) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญมีกรณีต้องโยกย้ายถ่ายโอนไปส่วนราชการอื่นหรือได้รับการพิจารณาให้ไปพัฒนาหรือฝึกทักษะใหม่เพื่อรองรับการปรับบทบาท ภารกิจ โครงสร้างส่วนราชการและปรับระบบงานใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาหกเดือนหากมีเหตุผลความจำเป็นให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินหกเดือน และต้องมีการวางแผนบริหารตำแหน่งรองรับข้าราชการดังกล่าวด้วย (๖) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญมีกรณีที่ไม่อาจปฏิบัติงานให้สัมฤทธิผลได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือละเลยเพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่ามีพฤติกรรมในการผลิต การค้า การเสพ หรือการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้ขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนได้ไม่เกินกำหนดระยะเวลาหกเดือน หากมีเหตุผลความจำเป็นให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินหกเดือน และต้องมีการวางแผนบริหารตำแหน่งรองรับข้าราชการดังกล่าวด้วย” ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของข้อ ๓ แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๒) หน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการที่จะมอบหมายให้ผู้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามข้อ ๒ (๔) (๕) หรือ (๖) ซึ่งจะต้องให้เหมาะสมกับระดับตำแหน่งที่เคยดำรงอยู่เดิม” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕ แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๕ เมื่อได้สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนตามที่ ก.พ. กำหนด ตามข้อ ๒ (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว ถ้าผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๒ เห็นว่ายังมีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนต่อไปอีกเกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ก็ให้ขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. ได้อีกครั้งละไม่เกินหนึ่งปี ทั้งนี้ ให้ขอขยายเวลาก่อนวันครบกำหนดระยะเวลาเดิมไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษอาจขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. น้อยกว่าสามสิบวันได้ การขออนุมัติขยายเวลาต่อ ก.พ. ตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงรายละเอียดตามข้อ ๓ ด้วยโดยอนุโลม” ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มีความจำเป็นต้องโยกย้ายถ่ายโอนข้าราชการพลเรือนสามัญไปส่วนราชการอื่น หรือให้ไปพัฒนาหรือฝึกทักษะใหม่ เพื่อรองรับการปรับบทบาท ภารกิจ โครงสร้างส่วนราชการและปรับระบบงานใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และโดยที่มีกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญไม่อาจปฏิบัติงานให้สัมฤทธิผลได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือละเลยเพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่ามีพฤติกรรมในการผลิต การค้า การเสพ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สมควรกำหนดให้กระทรวง ทบวง กรมเจ้าสังกัดอาจขอกำหนดอัตรากำลังทดแทนสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจากที่ได้กำหนดไว้แล้วตาม กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๕๗ ก/หน้า ๑๙/๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๖
446268
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2547
กฎ ก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๗ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ ก.พ. โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ ๕ แห่งกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๕ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท๙ ถึงอันดับ ท๑๐ หรืออันดับ ท๑๐ ถึงอันดับ ท๑๑ ผู้ใดได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท๙ หรืออันดับ ท๑๐ แล้วแต่กรณี ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ ในวันแรกที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท๙ หรืออันดับ ท๑๐ แล้วแต่กรณี” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท๙ ถึงอันดับ ท๑๐ หรืออันดับ ท๑๐ ถึงอันดับ ท๑๑ ซึ่งได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท๙ หรืออันดับ ท๑๐ แล้วแต่กรณี ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นในวันแรกของการเลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งถัดไป จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่ได้รับเงินเดือนก่อนถึงขั้นสูงของตำแหน่งแม้จะมีผลการประเมินการปฏิบัติราชการเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนในระดับดีเด่นแต่ก็ไม่สามารถพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ได้ โดยต้องรอในวันแรกของการเลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งถัดไป ข้าราชการดังกล่าวจึงสามารถรับเงินเดือนในอันดับสูงขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และเกิดความเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๕๗ ก/หน้า ๑/๒๙ กันยายน ๒๕๔๗
304203
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) มาตรา ๑๐๒ วรรคเจ็ด และมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ เพื่อให้ได้ความจริงและความยุติธรรม การสอบสวนพิจารณาข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งถูกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสอง หรือข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีกรณีถูกล่าวหาหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๑๕ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๓ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้แต่งตั้งจากข้าราชการฝ่ายพลเรือนจำนวนอย่างน้อยสามคน ประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งระดับไม่ต่ำกว่าหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา และกรรมการอย่างน้อยอีกสองคนโดยให้กรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการ ในกรณีจำเป็นจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนด้วยก็ได้ และให้นำข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ ข้อ ๒๐ และข้อ ๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม คณะกรรมการสอบสวนต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร หรือผู้ได้รับปริญญาทางกฎหมายหรือผู้ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรการดำเนินการทางวินัย หรือผู้มีประสบการณ์ด้านการดำเนินการทางวินัยอย่างน้อยหนึ่งคน เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว แม้ภายหลังประธานกรรมการจำดำรงตำแหน่งระดับต่ำกว่าหรือเทียบได้ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา ก็ไม่กระทบถึงการที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ข้อ ๔ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต้องระบุชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา เรื่องที่กล่าวหา ชื่อและตำแหน่งของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวนและผู้ช่วยเลขานุการ (ถ้ามี) ทั้งนี้ ให้มีสาระสำคัญตามแบบ สว. ๑ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง ไม่กระทบถึงการที่ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ข้อ ๕ เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) แจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็ว โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อและวันที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน ในการนี้ ให้มอบสำเนาคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับด้วย ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมรับทราบคำหรือไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกล่าวหาทราบได้ ให้ส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่ของผู้ถูกล่าวหาซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ ในกรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว (๒) ส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้คณะกรรมการสอบสวนและส่งหลักฐานการรับทราบหรือถือว่ารับทราบตาม (๑) พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาให้ประธานกรรมการ และให้ประธานกรรมการลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบไว้เป็นหลักฐาน ข้อ ๖ เมื่อได้รับเรื่องตามข้อ ๕ (๒) แล้ว ให้ประธานกรรมการดำเนินการประชุมคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาวางแนวทางการสอบสวนต่อไป ข้อ ๗ การประชุมคณะกรรมการสอบสวนต้องมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่การประชุมตามข้อ ๑๕ และข้อ ๓๐ ต้องมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่น้อยกว่าสามคนและไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด การประชุมคณะกรรมการสอบสวนต้องมีประธานกรรมการอยู่ร่วมประชุมด้วย แต่ในกรณีจำเป็นที่ประธานกรรมการไม่สามารถเข้าประชุมได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทน การลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการสอบสวนให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ ๘ ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิคัดค้านผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวน ถ้าผู้นั้นมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะกระทำการตามเรื่องที่กล่าวหา (๒) มีประโยชน์ได้เสียในเรื่องที่สอบสวน (๓) มีสาเหตุโกรธเคืองผู้ถูกกล่าวหา (๔) เป็นผู้กล่าวหาหรือเป็นคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดาของผู้กล่าวหา (๕) มีเหตุอื่นซึ่งอาจทำให้การสอบสวนเสียความเป็นธรรม การคัดค้านผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวน ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในเจ็ดวันนับแต่วันรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือวันทราบเหตุแห่งการคัดค้าน โดยแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในหนังสือคัดค้านด้วยกว่าจะทำให้การสอบสวนไม่ได้ความจริงและความยุติธรรมอย่างไร ในการนี้ ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนส่งสำเนาหนังสือคัดค้านและแจ้งวันที่ได้รับหนังสือคัดค้านดังกล่าวให้ประธานกรรมการทราบและรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย ในการพิจารณาเรื่องการคัดค้าน ผู้ซึ่งถูกคัดค้านอาจทำคำชี้แจงได้หากผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าหนังสือคัดค้านมีเหตุผลรับฟังได้ ให้สั่งให้ผู้ซึ่งถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นกรรมการสอบสวน หากเห็นว่าหนังสือคัดค้านไม่มีเหตุผลพอที่จะรับฟังได้ ให้สั่งยกคัดค้านนั้น โดยให้สั่งการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือคัดค้าน ทั้งนี้ ให้แสดงเหตุผลในการพิจารณาสั่งการดังกล่าวด้วยพร้อมทั้งแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแล้วส่งเรื่องให้คณะกรรมการสอบสวนรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนโดยเร็วการสั่งยกคำคัดค้านให้เป็นที่สุด ในกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่สั่งการอย่างหนึ่งอย่างใดภายในสิบห้าวันตามวรรคสาม ให้ถือว่าผู้ซึ่งถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นกรรมการสอบสวนและให้เลขานุการรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามข้อ ๑๐ ต่อไป การพ้นจากการเป็นกรรมการสอบสวน ไม่กระทบถึงการสอบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ข้อ ๙ ในกรณีที่ผุ้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนเห็นว่าตนมีเหตุอันอาจถูกคัดค้านตามข้อ ๘ วรรคหนึ่ง ให้ผู้นั้นรายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และให้นำข้อ ๘ วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๐ ภายใต้บังคับข้อ ๓ เมื่อได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ามีเหตุอันสมควรหรือจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน เพิ่มหรือลดจำนวนผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวน ให้ดำเนินการได้โดยให้แสดงเหตุแห่งการสั่งนั้นไว้ด้วย และให้นำข้อ ๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม การเปลี่ยนแปลงผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบถึงการสอบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ข้อ ๑๑ คณะกรรมการสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ เพื่อแสวงหาความจริงในเรื่องที่กล่าวหาและดูแลให้บังเกิดความยุติธรรมตลอดกระบวนการสอบสวน ในการนี้ ให้คณะกรรมการสอบสวนรวบรวมประวัติและความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหาเท่าที่จำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณา และจดทำบันทึกประจำวันที่มีการสอบสวนไว้ทุกครั้งด้วย ในการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน ห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าร่วมทำสอบสวน ข้อ ๑๒ ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนภายในกำหนดระยะเวลาดังนี้ (๑) ดำเนินการประชุมตามข้อ ๖ และแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาตามข้อ ๑๔ ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน (๒) รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหาเท่าที่มีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตาม (๑) แล้วเสร็จ (๓) แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามข้อ ๑๕ ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตาม (๒) แล้วเสร็จ (๔) รวบรวมพยานหลักฐานของผู้ถูกล่าวหาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตาม (๓) (๕) ประชุมพิจารณาลงมติและทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตาม (๔) แล้วเสร็จ ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาตาม (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) ได้ ให้คณะกรรมการสอบสวนรายงานเหตุที่ทำให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อขอขยายระยะเวลาการสอบสวน ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งขยายระยะเวลาดำเนินการได้ตามความจำเป็นครั้งละไม่เกินหกสิบวัน การสอบสวนเรื่องใดที่คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในสองร้อยเจ็ดสิบวันให้ประธานกรรมการรายงานให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนรายงานให้ อ.ก.พ. กระทรวงทราบเพื่อติดตามเร่งรัดการสอบสวนต่อไป ข้อ ๑๓ การนำเอกสารหรือวัตถุมาใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ให้กรรมการสอบสวนบันทึกไว้ด้วยว่าได้มาอย่างไร จากผู้ใด และเมื่อใด เอกสารที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนให้ใช้ต้นฉบับ แต่ถ้าไม่อาจนำต้นฉบับมาได้ จะใช้สำเนาที่กรรมการสอบสวนหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้องก็ได้ ถ้าหากต้นฉบับเอกสารไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลาย หรือโดยเหตุประการอื่น จะให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้ ข้อ ๑๔ เมื่อได้พิจารณาเรื่องที่กล่าวหาและวางแนวทางการสอบสวนตามข้อ ๖ แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาเพื่อแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาที่ปรากฎตามเรื่องที่กล่าวหาให้ทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร ในการนี้ ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะได้รับแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา และมีสิทธิที่จะให้ถ้อยคำหรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตลอดจนอ้างพยานหลักฐานหรือนำพยานหลักฐานมาสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ การแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ทำบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบ สว. ๒ ท้าย กฎ ก.พ. นี้ โดยทำเป็นสองฉบับ เพื่อมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับ เก็บไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐานด้วย เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนถามผู้ถูกล่าวหาว่าได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำรับสารภาพว่าได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าการกระทำตามที่ถูกกล่าวเป็นความผิดวินัยกรณีใด หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๑๕ อย่างไร หากผู้กล่าวหายังคงยืนยันตามที่รับสารภาพ ให้บันทึกถ้อยคำรับสารภาพรวมทั้งเหตุผลในการรับสารภาพ (ถ้ามี) และสาเหตุแห่งการกระทำไว้ด้วย ในกรณีเช่นนี้ คณะกรรมการสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนต่อไปก็ได้ หรือถ้าเห็นเป็นการสมควรที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อันเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาโดยละเอียดจะทำการสอบสวนต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้แล้วดำเนินการตามข้อ ๓๐ และข้อ ๓๑ ต่อไป ในกรณีที่ผู้กล่าวหามิได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพ ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาแล้วดำเนินการตามข้อ ๑๕ ต่อไป ในกรณีที่ผู้กล่าวหามาแล้วแต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่มารับทราบข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนส่งบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบ สว. ๒ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกล่าวหา ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ หรือสถานที่ติดต่อที่ผู้ถูกกล่าวหาแจ้งให้ทราบ พร้อมทั้งมีหนังสือสอบถามผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ การแจ้งข้อกล่าวหาในกรณีเช่นนี้ ให้ทำบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบ สว. ๒ เป็นสามฉบับ เพื่อเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับ ส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาสองฉบับโดยให้ผู้ถูกกล่าวหาเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบส่งกลับคืนมารวมไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับ เมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าว แม้จะไม่ได้รับแบบ สว. ๒ คืน ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อกล่าวหาแล้ว และให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการตามวรรคห้า ต่อไป ข้อ ๑๕ เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ ๑๔ แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานใดสนับสนุนข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไรและเป็นความผิดวินัยกรณีใดตามมาตราใด หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๑๕ หรือไม่ อย่างไร แล้วให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุข้อกล่าวหาที่ปรากฏตามพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดวินัยกรณีใดตามมาตราใด หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการหรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๑๕ อย่างไร และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ทราบโดยระบุวัน เวลา สถานที่ และการกระทำที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหา สำหรับพยานบุคคลจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ การแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง ให้ทำบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบ สว. ๓ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ โดยทำเป็นสองฉบับ เพื่อมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับและให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่ทราบไว้เป็นหลักฐานด้วย เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนถามผู้ถูกกล่าวหาว่าจะยื่นคำชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือหรือไม่ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือ ให้คณะกรรมการสอบสวนให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหายื่นคำชี้แจงภายในเวลาอันสมควร แต่อย่างช้าไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่จะให้ถ้อยคำเพิ่มเติมรวมทั้งนำสืบแก้ข้อกล่าวหาด้วย ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ประสงค์จะยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือ ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาโดยเร็ว การนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะนำพยานหลักฐานมาเอง หรือจะอ้างพยานหลักฐานแล้วขอให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานหลักฐานนั้นมาก็ได้ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เสร็จแล้ว ให้ดำเนินการตามข้อ ๓๐ และข้อ ๓๑ ต่อไป ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามาแล้วแต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบหรือไม่มารับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนส่งบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบ สว. ๓ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกล่าวหา ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ หรือสถานที่ติดต่อที่ผู้ถูกล่าวหาแจ้งให้ทราบ พร้อมทั้งมีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงนัดมาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา การแจ้งในกรณีนี้ ให้ทำบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบ สว. ๓ เป็นสามฉบับ เพื่อเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาสองฉบับโดยให้ผู้ถูกกล่าวหาเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบส่งกลับคืนมารวมไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับ เมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าวแม้จะไม่ได้รับแบบ สว. ๓ คืน หรือไม่ได้รับคำชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกกล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคำตามนัด ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาแล้วและไม่ประสงค์ที่จะแก้ข้อกล่าวหา ในกรณีเช่นนี้ คณะกรรมการสอบสวนจะไม่สอบสวนต่อไปก็ได้ หรือถ้าเห็นเป็นการสมควรที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จะสอบสวนต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้หรือถ้าเห็นเป็นการสมควรที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จะสอบสวนต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้แล้วดำเนินการตามข้อ ๓๐ และข้อ ๓๑ ต่อไป แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหามาขอให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หรือขอนำสืบแก้ข้อกล่าวหาก่อนที่คณะกรรมการสอบสวนจะเสนอสำนวนการสอบสวนตามข้อ ๓๑ โดยมีเหตุผลอันสมควร ให้คณะกรรมการสอบสวนให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามที่ผู้ถูกกล่าวหาร้องขอ ข้อ ๑๖ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานตามข้อ ๑๕ เสร็จแล้ว ก่อนเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๓๑ ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าจำเป็นจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ให้ดำเนินการได้ ถ้าพยานหลักฐานที่ได้เพิ่มเติมมานั้นเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนสรุปพยานหลักฐานดังกล่าวให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่จะให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้เฉพาะพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนข้อกล่าวหานั้น ทั้งนี้ ให้นำข้อ ๑๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๗ ผู้ถูกล่าวหาซึ่งได้ยื่นคำชี้แจงหรือให้ถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหาไว้แล้วมีสิทธิยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติม หรือขอให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการสอบสวนก่อนการกสอบสวนแล้วเสร็จ เมื่อการสอบสวนแล้วเสร็จและยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือผู้บังคับบัญชาคนใหม่ตามข้อ ๒๙ ผู้ถูกกล่าวหาจะยื่นคำชี้แจงต่อบุคคลดังกล่าวก็ได้ในกรณีเช่นนี้ให้รับคำชี้แจงนั้นรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ข้อ ๑๘ ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด จึงจะสอบสวนได้ ข้อ ๑๙ ก่อนเริ่มสอบปากคำพยาน ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งให้พยานทราบว่ากรรมการสอบสวนมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อกรรมการสอบสวนอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย ข้อ ๒๐ ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ห้ามมิให้กรรมการสอบสวนผู้ใดกระทำการล่อลวง ขู่เข็ญ ให้สัญญาหรือกระทำการใดเพื่อจูงใจให้บุคคลนั้นให้ถ้อยคำอย่างใด ๆ ข้อ ๒๑ ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ซึ่งจะถูกสอบปากคำเข้ามาในที่สอบสวนคราวละหนึ่งคน ห้ามมิให้บุคคลอื่นอยู่ในที่สอบสวน เว้นแต่บุคคลซึ่งคณะกรรมการสอบสวนอนุญาตให้อยู่ในที่สอบสวนเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวน การสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ให้บันทึกถ้อยคำมีสาระสำคัญตามแบบสว. ๔ หรือ แบบ สว. ๕ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ แล้วแต่กรณี เมื่อได้บันทึกถ้อยคำเสร็จแล้ว ให้อ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟังหรือจะให้ผู้ให้ถ้อยคำอ่านเองก็ได้ เมื่อผู้ให้ถ้อยคำรับว่าถูกต้องแล้ว ให้ผู้ให้ถ้อยคำและผู้บันทึกถ้อยคำลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานและให้คณะกรรมการสอบสวนทุกคนซึ่งร่วมสอบสวนลงลายมือชื่อรับรองไว้ในบันทึกถ้อยคำนั้นด้วย ถ้าบันทึกถ้อยคำมีหลายหน้า ให้กรรมการสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนกับผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกหน้า ในการบันทึกถ้อยคำ ห้ามมิให้ขูดลบหรือบันทึกข้อความทับ ถ้าจะต้องแก้ไขข้อความที่ได้บันทึกไว้แล้ว ให้ใช้วิธีขีดฆ่าหรือตกเติม และให้กรรมการสอบสวนผู้ร่วมสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนกับผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่งที่ขีดฆ่าหรือตกเติม ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกถ้อยคำนั้น ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้นำมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๒๒ ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเรียกบุคคลใดมาเป็นพยานให้บุคคลนั้นมาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ที่คณะกรรมการสอบสวนกำหนด ในกรณีที่พยานมาแต่ไม่ให้ถ้อยคำหรือไม่มา หรือคณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานไม่ได้ภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการสอบสวนจะไม่สอบสวนพยานนั้นก็ได้แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกประจำวันที่มีการสอบสวนตามข้อ ๑๑ และรายงานการสอบสวนตามข้อ ๓๑ ข้อ ๒๓ ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนพยานหลักฐานใดจะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น หรือมิใช่พยานหลักฐานในประเด็นสำคัญ จะงดการสอบสวนพยานหลักฐานนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกประจำวันที่มีการสอบสวนตามข้อ ๑๑ และรายงานการสอบสวนตามข้อ ๓๑ ข้อ ๒๔ ในกรณีที่จะต้องสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งอยู่ต่างท้องที่ประธานกรรมการจะรายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการมอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานในท้องที่นั้นสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานแทนก็ได้ โดยกำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่จะต้องสอบสวนไปให้ ในกรณีเช่นนี้ ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานเลือกข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่เห็นสมควรอย่างน้อยอีกสองคนมาร่วมเป็นคณะทำการสอบสวน ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะทำการสอบสวนมีฐานะเป็นคณะกรรมการสอบสวนตามกฎ ก.พ. นี้ และให้นำข้อ ๗ วรรคหนึ่ง ข้อ ๑๑ วรรคสองข้อ ๑๘ ข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ ข้อ ๒๑ และข้อ ๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๒๕ ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า กรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหา กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการหรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ประธานกรรมการรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยเร็ว ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการตามรายงาน ให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๒๖ ในกรณีที่การสอบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการพลเรือนผู้อื่น ให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาในเบื้องต้นว่าข้าราชการพลเรือนผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องที่สอบสวนนั้นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องที่สอบสวนนั้นอยู่ด้วย ให้ประธานกรรมการรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า กรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการตามรายงาน ให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมเป็นผู้สอบสวน หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ กรณีเช่นนี้ให้ใช้พยานหลักฐานที่ได้สอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณาได้ ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยแยกเป็นสำนวนการสอบสวนใหม่ให้นำสำเนาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในสำนวนการสอบสวนเดิมรวมในสำนวนการสอบสวนใหม่ หรือบันทึกให้ปรากฏว่านำพยานหลักฐานใดจากสำนวนการสอบสวนเดิมมาประกอบการพิจารณาในสำนวนการสอบสวนใหม่ด้วย ข้อ ๒๗ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อสอบสวนข้าราชการพลเรือนผู้ใดในเรื่องที่ผู้นั้นหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ราชการตามมาตรา ๑๑๕ และผู้บังคับบัญชาเห็นว่าการสอบสวนเรื่องนั้นมีมูลว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งผู้บังคับบัญชาเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนผู้นั้นตามมาตรา ๑๐๒ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎก.พ. นี้ กรณีเช่นนี้ คณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๑๐๒ จะนำสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๑๑๕ มาประกอบการพิจารณาก็ได้ ข้อ ๒๘ ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดหรือต้องรับผิดในคดีที่เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาได้ควรประจักษ์ชัดอยู่แล้ว ให้ถือเอาคำพิพากษานั้นเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาโดยไม่ต้องสอบสวนพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา แต่ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามข้อ ๑๕ ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย ข้อ ๒๙ ในระหว่างการสอบสวน แม้จะมีการสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปอยู่นอกบังคับบัญชาของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนต่อไปจนเสร็จแล้วทำรายงานสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๓๔ ข้อ ๓๕ ข้อ ๓๖ และข้อ ๓๗ และให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสอนส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่ของผู้ถูกกล่าวหาเพื่อดำเนินการตามข้อ ๓๒ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี ต่อไป ทั้งนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่มีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๓๔ ข้อ ๓๕ ข้อ ๓๖ และข้อ ๓๗ ด้วย ข้อ ๓๐ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เสร็จแล้ว ให้ประชุมพิจารณาลงมติดังนี้ (๑) ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือไม่ ถ้าผิดเป็นความผิดวินัยกรณีใดตามมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด (๒) ผู้ถูกกล่าวหาหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา๑๑๕ หรือไม่ อย่างไร (๓) กรณีมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะฟังลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการตามมาตรา ๑๑๖ หรือไม่ อย่างไร ข้อ ๓๑ เมื่อได้ประชุมพิจารณาลงมติตามข้อ ๓๐ แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนทำรายงานการสอบสวนซึ่งมีสาระสำคัญตามแบบ สว. ๖ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ เสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรรมการสอบสวนผู้ใดมีความเห็นแย้ง ให้ทำความเห็นแย้งแนบไว้กับรายงานการสอบสวนโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการสอบสวนด้วย รายงานการสอบสวนอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังนี้ (๑) สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่ามีอย่างใดบ้าง ในกรณีที่ไม่ได้สอบสวนพยานตามข้อ ๒๒ และข้อ ๒๓ ให้รายงานเหตุที่ไม่ได้สอบสวนนั้นให้ปรากฏไว้ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำรับสารภาพ ให้บันทึกเหตุผลในการรับสารภาพ (ถ้ามี) ไว้ด้วย (๒) วินิจฉัยเปรียบเทียบพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหากับพยานหลักฐานที่หักล้างข้อกล่าวหา (๓) ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยหรือไม่ อย่างไร ถ้าผิดเป็นความผิดวินัยกรณีใดตามมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๑๕ หรือไม่ อย่างไร หรือมีเหตุควรสงสัยอย่างยิ่งว่าผู้ถูกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยร้ายแรง แต่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะฟังลงโทษปลดออกหรือไล่ออกถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียงหายแก่ราชการตามมาตรา ๑๑๖ หรือไม่ อย่างไร เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ทำรายงานการสอบสวนแล้ว ให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งสารบาญต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และให้ถือว่าการสอบสวนแล้วเสร็จ ข้อ ๓๒ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้เสนอสำนวนการสอบสวนมาแล้วให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนการสอบสวนตามข้อ ๓๔ ข้อ ๓๕ ข้อ ๓๖ และข้อ ๓๗ แล้วดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด หรือไม่มีเหตุที่จะให้ออกจากราชการตามมาตรา ๑๑๕ สมควรยุติเรื่อง หรือกระทำผิดที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรโดยเร็ว (๒) ในกรณีที่จะต้องส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด พิจารณามาตรา ๑๐๔ วรรคสอง (๑) (๒) หรือ (๓) มาตรา ๑๑๕ หรือมาตรา ๑๑๖ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตราดังกล่าวดำเนินการโดยไม่ชักช้า และให้ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด พิจารณาโดยเร็ว ข้อ ๓๓ ในกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๙ วรรคสาม มาตรา ๑๑๕ หรือ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี เห็นสมควรให้สอบสวนเพิ่มเติมประการใดให้กำหนดประเด็น พร้อมทั้งส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องไปให้คณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมเพื่อดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมไม่อาจทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้ หรือผู้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมเห็นเป็นการสมควร จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่ขึ้นทำการสอบสวนเพิ่มเติมก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำข้อ ๓ และข้อ ๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วให้ส่งพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนเพิ่มเติมไปให้ผู้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมโดยไม่ต้องทำความเห็น ข้อ ๓๔ ในกรณีที่ปรากฏว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่ถูกต้องตามข้อ ๓ ให้การสอยสวนทั้งหมดเสียไป ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๙ วรรคสาม หรือมาตรา ๑๑๕ แล้วแต่กรณี แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้อง ข้อ ๓๕ ในกรณีที่ปรากฏว่าการสอบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้อง ให้การสอบสวนตอนนั้นเสียไปเฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) การประชุมของคณะกรรมการสอบสวนมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๗ วรรคหนึ่ง (๒) การสอบปากคำบุคคลดำเนินการไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๑ วรรคสอง ข้อ ๑๘ ข้อ ๒๐ ข้อ ๒๑ วรรคหนึ่ง หรือข้อ ๒๔ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๙ วรรคสาม มาตรา ๑๑๕ หรือ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว ข้อ ๓๖ ในกรณีที่ปรากฏว่าคณะกรรมการสอบสวนไม่เรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา หรือไม่ส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือไม่มีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง หรือนัดมาให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหา หรือไม่มีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง หรือนัดมาให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหาตามข้อ ๑๕ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๙ วรรคสาม มาตรา ๑๑๕ หรือ อ.ก.พ.กระทรวง อ.ก.พ.กรม อ.ก.พ.จังหวัด แล้วแต่กรณี สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่จะชี้แจงให้ถ้อยคำ และสืบแก้ข้อกล่าวหาตาที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๕ ด้วย ข้อ ๓๗ ในกรณีที่ปรากฏว่าการสอบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้องตามกฎ ก.พ. นี้ นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๔ ข้อ ๓๕ และข้อ ๓๖ ถ้าการสอบสวนตอนนั้นเป็นสาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๙ วรรคสาม มาตรา ๑๑๕ หรือ อ.ก.พ กระทรวง อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนแก้ไขหรือดำเนินการตอนนั้นให้ถูกต้องโดยเร็ว แต่ถ้าการสอบสวนตอนนั้นมิใช่สาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ผู้มีอำนาจดังกล่าวจะสั่งให้แก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องหรือไม่ก็ได้ ข้อ ๓๘ การนับระยะเวลาตามกฎ ก.พ. นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้นให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา แต่ถ้าเป็นกรณีขยายเวลาให้นับวันต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มระยะเวลาที่ขยายออกไปส่วนเวลาสุดสิ้น ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา ข้อ ๓๙ ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสอนก่อนวันที่กฎ ก.พ. นี้ ใช้บังคับให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ ส่วนการพิจารณาสั่งการของผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๙ วรรคสาม มาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๑๖ หรือ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการตามกฎ ก.พ. นี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. แบบ สว. ๑ ๒. บันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาตามข้อ ๑๔ (แบบ สว. ๒) ๓. บันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามข้อ ๑๕ (แบบ สว. ๓) ๔. บันทึกถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหา (แบบ สว. ๔) ๕. บันทึกถ้อยคำของฝ่ายกล่าวหา/ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา (แบบ สว. ๕) ๖. รายงานการสอบสวน (แบบ สว. ๖) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๐๒ วรรคเจ็ด และมาตรา ๑๑๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่า การสอบสวนพิจารณาข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีกรณีถูกกล่าวหาหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนที่ ๔๒ ก/หน้า ๓/๑ กันยายน ๒๕๔๐
312170
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (๙) และ (๑๐) ของข้อ ๓ แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๙) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๙ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๙ ที่มิใช่ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่สูงกว่ากองในกรม ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ (๑๐) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑” ข้อ ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๔ ทวิ แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน “ข้อ ๔ ทวิ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงที่รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ ถึงอันดับ ท ๑๐ หรืออันดับ ท ๑๐ ถึงอันดับ ท ๑๑ ผู้ใดได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ หรืออันดับ ท ๑๐ แล้วแต่กรณี ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นดังนี้ (๑) ผู้ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ ขั้น ๔๔,๙๓๐ บาท ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ ขั้น ๔๔,๙๔๐ บาท ในวันแรกของปีงบประมาณถัดไป (๒) ผู้ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๑๐ ขั้น ๕๓,๑๓๐ บาท ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๑ ขั้น ๕๓,๓๙๐ บาท ในวันแรกของปีงบประมาณถัดไป ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้นในอันดับ ท ๑๐ ขั้น ๔๔,๙๔๐ บาท หรืออันดับ ท ๑๑ ขั้น ๕๓,๓๙๐ บาท ตามวรรคหนึ่งผู้ใดต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นดังกล่าวในวันที่ ๓๐ กันยายนของปีสุดท้ายก่อนที่จะพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ” ข้อ ๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๙ หรือระดับ ๑๐ และได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ ขั้น ๔๔,๙๓๐ บาท หรืออันดับ ท ๑๐ ขั้น ๕๓,๑๓๐ บาท แล้วแต่กรณี ก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามกฎ ก.พ. นี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ส่วนผู้ได้รับเงินเดือนในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒ ถึงขั้นสูงของอันดับ ท ๙ ขั้น ๔๔,๙๓๐ บาท หรืออันดับ ท ๑๐ ขั้น ๕๓,๑๓๐ บาท แล้วแต่กรณี และต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้ได้รับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๒ ข้อ ๕ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นตามข้อ ๓ และข้อ ๔ ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน อาจพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือนตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตั้งแต่วันที่ได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้น ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ บัญญัติว่า ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนตามตำแหน่ง ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด จะได้รับเงินเดือนในอันดับใดตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้เป็นไปตามที่ ก.พ. กำหนด โดยให้ได้รับในขั้นต่ำของอันดับ ในกรณีที่จะให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำหรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบในหลักการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๙ และระดับ ๑๐ ซึ่งได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ดำรงอยู่แล้วรับเงินเดือนสูงขึ้นได้อีกหนึ่งอันดับ และปัจจุบันมีข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๙ และระดับ ๑๐ ที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ซึ่งสมควรกำหนดให้ได้รับเงินเดือนสูงขึ้นอีกหนึ่งอันดับ จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑]ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๑๐๙ ก/หน้า ๑/๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
311727
กฏ ก.พ. ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยกรณีที่อาจร้องทุกข์ การร้องทุกข์ และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ขอให้แก้ไขหรือแก้ไขความคับข้องใจ
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๒ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีที่อาจร้องทุกข์ การร้องทุกข์ และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ขอให้แก้ไขหรือแก้ความคับข้องใจ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๑๓๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ กรณีที่อาจร้องทุกข์ การร้องทุกข์ และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อตน ให้เป็นไปตามกรณีและหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีความคับข้องใจอันเกิดจากปฏิบัติของผู้บังคับบัญชา อาจร้องทุกข์ได้ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติต่อตนดังนี้ (๑) บริหารงานบุคคลโดยเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อกฎหมาย (๒) ไม่มอบหมายงานให้ปฏิบัติ หรือ (๓) ประวิงเวลาหรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางเรื่องเป็นเหตุให้เสียสิทธิหรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร ข้อ ๔ เมื่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อตน ในกรณีที่กำหนดไว้ตามข้อ ๓ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชานั้นจะร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจก็ได้ หรือถ้าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาไม่ประสงค์จะร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาดังกล่าว อาจร้องทุกข์โดยตรงต่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี ก็ได้ ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ข้อ ๕ ในกรณีที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีความคับข้องใจได้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจ ให้ผู้บังคับบัญชาจัดให้มีการปรึกษาหารือหรือแก้ไขความคับข้องใจนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการร้องทุกข์ ถ้าผู้บังคับบัญชามิได้ดำเนินการใด ๆ หรือดำเนินการแล้วแต่ไม่เป็นที่พอใจ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอาจร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี ต่อไปได้อีก ภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาสามสิบวันดังกล่าว ข้อ ๖ การร้องทุกข์ขอให้แก้ไขหรือแก้ความคับข้องใจ จะต้องร้องทุกข์ด้วยตนเอง การร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจจะกระทำด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้ คำร้องทุกข์ในกรณีที่ร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. ต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อและตำแหน่งของผู้ร้องทุกข์และต้องมีสาระสำคัญที่แสดงข้อเท็จจริงและปัญหาของเรื่องให้เห็นว่าผู้บังคับบัญชาปฏิบัติต่อตนทำให้เกิดความคับข้องใจอย่างไร และความประสงค์ของการร้องทุกข์ ถ้าผู้ร้องทุกข์ประสงค์จะแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นพิจารณาของ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ ให้แจ้งไว้ในหนังสือร้องทุกข์หรือจะทำเป็นหนังสือต่างหากก็ได้แต่ต้องยื่นหรือส่งก่อนที่ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี เริ่มพิจารณาเรื่องร้องทุกข์โดยยื่นหรือส่งต่อ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. ข้อ ๗ เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาร้องทุกข์ (๑) ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งเป็นหนังสือต่อผู้ร้องทุกข์ ให้ถือวันที่ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ถ้าผู้ถูกสั่งไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่ง และมีการแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกสั่งทราบกับมอบสำเนาคำสั่งให้ผู้ถูกสั่ง แล้วทำบันทึกลงวันเดือนปี เวลา และสถานที่ที่แจ้งและลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐาน ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ถ้าไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งได้โดยตรง และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกสั่ง ณ ที่อยู่ของผู้ถูกสั่ง ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ โดยส่งสำเนาคำสั่งไปให้สองฉบับเพื่อให้ผู้ถูกสั่งเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งส่งกลับคืนมาเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ ในกรณีเช่นนี้ เมื่อล่วงพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่าผู้ถูกสั่งได้รับเอกสารดังกล่าวหรือมีผู้รับแทนแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ผู้ถูกสั่งลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งกลับคืนมา ให้ถือว่าผู้ถูกสั่งได้รับทราบคำสั่งแล้ว (๒) ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาไม่มีคำสั่งเป็นหนังสือต่อผู้ร้องทุกข์โดยตรง ให้ถือวันที่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้ร้องทุกข์รับทราบหรือควรได้ทราบคำสั่งนั้นเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์(๓) ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์โดยไม่ได้มีคำสั่งอย่างใด ให้ถือวันที่ผู้ร้องทุกข์ควรได้ทราบถึงการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาดังกล่าวเป็นวันทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ข้อ ๘ การร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการดังนี้ (๑) ในกรณีที่เหตุความคับข้องใจเกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนกลางที่ต่ำกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. จังหวัด และให้ อ.ก.พ. จังหวัดเป็นผู้พิจารณา (๒) ในกรณีที่เหตุความคับข้องใจเกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนกลางที่ต่ำกว่าอธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. กรม และให้ อ.ก.พ. กรมเป็นผู้พิจารณา (๓) ในกรณีที่เหตุความคับข้องใจเกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออธิบดีให้ร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. กระทรวง และให้ อ.ก.พ. กระทรวงเป็นผู้พิจารณา (๔) ในกรณีที่เหตุความคับข้องใจเกิดจากปลัดกระทรวง รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือนายกรัฐมนตรี ให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ. และให้ ก.พ. เป็นผู้พิจารณา ข้อ ๙ การร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ให้ทำหนังสือร้องทุกข์ถึงประธาน อ.ก.พ. พร้อมกับสำเนารับรองถูกต้องหนึ่งฉบับ โดยออกนามจังหวัด กรม หรือกระทรวง แล้วแต่กรณี และยื่นที่ศาลากลางจังหวัดหรือส่วนราชการนั้น การร้องทุกข์ต่อ ก.พ. ให้ทำหนังสือร้องทุกข์ถึงประธาน ก.พ. หรือเลขาธิการ ก.พ. พร้อมกับสำเนารับรองถูกต้องหนึ่งฉบับ และยื่นที่สำนักงาน ก.พ. ผู้ร้องทุกข์จะยื่นหรือส่งหนังสือร้องทุกข์พร้อมกับสำเนารับรองถูกต้องหนึ่งฉบับผ่านผู้บังคับบัญชาหรือผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจก็ได้ และให้ผู้บังคับบัญชานั้นดำเนินการตามข้อ ๑๔ วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี ข้อ ๑๐ ในกรณีที่มีผู้นำหนังสือร้องทุกข์มายื่นเอง ให้ผู้รับหนังสือร้องทุกข์ออกใบรับหนังสือประทับตรารับหนังสือ และลงทะเบียนรับหนังสือไว้เป็นหลักฐานในวันที่รับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ และให้ถือวันที่รับหนังสือตามหลักฐานดังกล่าวเป็นวันยื่นหนังสือร้องทุกข์ ในกรณีที่ส่งหนังสือร้องทุกข์ทางไปรษณีย์ ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางออกใบรับฝากเป็นหลักฐานฝากส่งหรือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสือเป็นวันยื่นหนังสือร้องทุกข์ ข้อ ๑๑ เมื่อได้ยื่นหรือส่งหนังสือร้องทุกข์ไว้แล้ว ผู้ร้องทุกข์จะยื่นหรือส่งหนังสือร้องทุกข์หรือเอกสารหลักฐานเพิ่มก่อนที่ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี เริ่มพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ก็ได้ โดยยื่นหรือส่งตรงต่อ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่ประสงค์จะให้มีการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ต่อไปจะขอถอนเรื่องร้องทุกข์ก่อนที่ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี พิจารณาเรื่องร้องทุกข์เสร็จสิ้นก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นหรือส่งตรงต่อ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. เมื่อได้ถอนเรื่องร้องทุกข์แล้ว การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้นให้เป็นอันระงับไป ข้อ ๑๓ ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิคัดค้านอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ถ้าผู้นั้นมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจ (๒) มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ร้องทุกข์ (๓) มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ร้องทุกข์ (๔) เป็นคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมบิดาหรือมารดา กับผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจ การคัดค้านอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้พิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้น ต้องแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในหนังสือร้องทุกข์หรือแจ้งเพิ่มเติมเป็นหนังสือก่อนที่ อ.ก.พ. หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี เริ่มพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ เมื่อมีเหตุหรือมีการคัดค้านตามวรรคหนึ่ง อนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการหรือกรรมการผู้นั้นจะขอถอนตัวไม่ร่วมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้นก็ได้ ถ้าอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้นั้นมิได้ขอถอนตัว ให้ประธานอนุกรรมการ หรือประธานกรรมการ แล้วแต่กรณี พิจารณาข้อเท็จจริงที่คัดค้าน หากเห็นว่าข้อเท็จจริงนั้นน่าเชื่อถือ ให้แจ้งอนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการหรือกรรมการผู้นั้นทราบและมิให้ร่วมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้น เว้นแต่ประธานอนุกรรมการหรือประธานกรรมการแล้วแต่กรณี พิจารณาเห็นว่าการให้อนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้นั้นร่วมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าเพราะจะทำให้ได้ความจริงและเป็นธรรม จะอนุญาตให้อนุกรรมการ รองประธานอนุกรรมการ หรือกรรมการผู้นั้นร่วมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์นั้นก็ได้ ข้อ ๑๔ เมื่อได้รับหนังสือร้องทุกข์ตามข้อ ๙ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ประธาน อ.ก.พ. จังหวัด ประธาน อ.ก.พ. กรม ประธาน อ.ก.พ. กระทรวง หรือสำนักงาน ก.พ. แล้วแต่กรณี มีหนังสือแจ้งพร้อมทั้งส่งสำเนาหนังสือร้องทุกข์ให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจทราบโดยเร็ว และให้ผู้บังคับบัญชาผู้นั้นทำคำชี้แจง และส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ไปยังประธาน อ.ก.พ. จังหวัด ประธาน อ.ก.พ. กรม ประธาน อ.ก.พ. กระทรวง หรือสำนักงาน ก.พ. แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้รับหนังสือร้องทุกข์ที่ได้ยื่นหรือส่งตามข้อ ๙ วรรคสาม ให้ผู้บังคับบัญชานั้นส่งหนังสือร้องทุกข์พร้อมทั้งสำเนาต่อไปยังผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์ เมื่อผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจได้รับหนังสือร้องทุกข์ที่ได้ยื่นหรือส่งตามวรรคสอง หรือข้อ ๙ วรรคสาม ให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจนั้นจัดส่งคำชี้แจงของตนและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ไปยังประธาน อ.ก.พ. จังหวัด ประธาน อ.ก.พ. กรม ประธาน อ.ก.พ. กระทรวง หรือสำนักงาน ก.พ. แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันได้รับหนังสือร้องทุกข์ ข้อ ๑๕ การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี พิจารณาจากเรื่องราวการปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ของผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจ ในกรณีจำเป็นและสมควรอาจขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมทั้งคำชี้แจงจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือบุคคลใดหรือขอให้ผู้แทนหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้ ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจา หาก อ.ก.พ. หรือ ก.พ. พิจารณาแล้วเห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจา ไม่จำเป็นแก่การพิจารณา วินิจฉัย เรื่องร้องทุกข์จะให้งดการแถลงการณ์ด้วยวาจาเสียก็ได้ ในกรณีที่นัดให้ผู้ร้องทุกข์มาแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อที่ประชุม ให้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจทราบด้วยว่า ถ้าประสงค์จะแถลงแก้ก็ให้มาแถลงหรือมอบหมายเป็นหนังสือให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แทนมาแถลงแก้ด้วยวาจาต่อที่ประชุมครั้งนั้นได้ ทั้งนี้ ให้แจ้งล่วงหน้าตามควรแก่กรณี และเพื่อประโยชน์ในการแถลงแก้ดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจหรือผู้แทนเข้าฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของผู้ร้องทุกข์ได้ ข้อ ๑๖ ให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำชี้แจงตามข้อ ๑๔ แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว ให้ขยายเวลาพิจารณาได้ไม่เกินสามสิบวันและให้บันทึกแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาไว้ด้วย ในกรณีที่ขยายเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่การพิจารณายังไม่แล้วเสร็จให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี ขยายเวลาพิจารณาได้ไม่เกินสามสิบวัน แต่ทั้งนี้ให้พิจารณากำหนดมาตรการที่จะทำให้การพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็วและบันทึกไว้เป็นหลักฐานในรายงานการประชุม ข้อ ๑๗ เมื่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์แล้ว (๑) ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ร้องทุกข์มิได้มีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ ๓ ให้มีมติยกคำร้องทุกข์ (๒) ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ร้องทุกข์มีลักษณะที่กำหนดในข้อ ๓ ให้มีมติให้แก้ไข หรือถ้าแก้ไขไม่ได้ ให้สั่งดำเนินการประการอื่นหรือให้ข้อแนะนำตามที่เห็นสมควรเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการและจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือน การพิจารณามีมติตามวรรคหนึ่ง ให้บันทึกเหตุผลของการพิจารณาวินิจฉัยไว้ในรายงานการประชุมด้วย ข้อ ๑๘ เมื่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ได้มีมติตามข้อ ๑๗ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณี สั่งผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น และเมื่อได้สั่งหรือปฏิบัติตามมติดังกล่าวแล้ว ให้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว ในกรณีที่ ก.พ. เป็นผู้พิจารณา เมื่อได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์และมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้รายงานนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเป็นประการใดแล้ว ให้สำนักงาน ก.พ. แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแจ้งให้กระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องทราบ หรือดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว ข้อ ๑๙ มติของ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง ตามข้อ ๑๗ และคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตามข้อ ๑๘ ให้เป็นที่สุด ข้อ ๒๐ การนับระยะเวลาตามกฎ ก.พ. นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้นให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา ส่วนเวลาสิ้นสุด ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการ ให้นับวันเริ่มเปิดทำการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งระยะเวลา ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๓๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อตนในกรณีตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. อาจร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชา อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี ตามกรณีที่กำหนดไว้เพื่อขอให้แก้ไขหรือแก้ความคับข้องใจได้ และหลักเกณฑ์และวิธีการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๔๑ ก/หน้า ๔๙/๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓
312115
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๔ ของกฎ ก.พ. (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๔ การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๖ (๑) ในกรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการก่อนที่กรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไว้แล้วจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระไม่น้อยกว่าหกสิบวัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้ (๑) ให้ประธาน ก.พ. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคน ประกอบด้วยกรรมการข้าราชการพลเรือนโดยตำแหน่งซึ่งเลือกกันเองหนึ่งคน กรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือนในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนที่จะพ้นจากตำแหน่งตามวาระซึ่งเลือกกันเองหนึ่งคน และเลขาธิการ ก.พ. ทั้งนี้ ให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นเลขานุการ (๒) ให้คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ตามมาตรา ๖ (๑) จากผู้ที่ดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่าและมิได้เป็นกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสี่คน และจากผู้ที่ไม่เคยเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการแต่ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าอธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่าจำนวนสามคน เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพร้อมกับผู้ได้รับเลือกตามข้อ ๒ (๑๐) คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งทำหน้าที่สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนชุดใด ให้อยู่ในตำแหน่งได้ตามวาระของกรรมการข้าราชการพลเรือนชุดนั้น” ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งกรรมการที่ได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นข้าราชการและไม่เป็นข้าราชการ แต่ในการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนที่ผ่านมายังไม่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นข้าราชการในจำนวนที่เหมาะสมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย สมควรแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๙๓ ก/หน้า ๖/๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๓
304196
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ. นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๗ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใดให้ได้รบเงินเดือนในอันดับตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ ดังนี้ (๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑ (๒) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๒ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๒ (๓) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๓ (๔) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๔ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๔ (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๕ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๕ (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๖ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๖ (๗) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๗ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๗ (๘) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๘ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๘ (๙) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๙ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๙ (๑๐) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๐ (๑๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท ๑๑ (๑๒) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในระดับ ๑๑ ตำแหน่งปลัดกระทรวง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดทบวง เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ราชเลขาธิการ ที่ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๑ ให้รับเงินเดือนอันดับ บ.๑๑ ข้อ ๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด โดยได้รับเงินเดือนในอันดับใดตามข้อ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งนั้น เว้นแต่ (๑) ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม (๒) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพ และ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง และกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใดให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๓) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนีบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้น และ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรการศึกษาหรือวิชาชีพที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะ สำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใด อธิบดีผู้บังคับบัญชาหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีอาจปรับให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนดให้ (๔) ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสายงานใดที่ ก.พ. กำหนดในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ให้ตำแหน่งในสายงานนั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งระดับนั้นให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับที่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม ให้ได้รับเงินเดือนในแต่ละกรณีดังนี้ (ก) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ได้รับอยู่เดิม (ข) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งโดยเป็นความประสงค์ของตัวข้าราชการ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้าย กฎ ก.พ. นี้ แต่ถ้าผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันอับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นตำแหน่งใด ถ้าได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้าย กฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๕ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๕๑ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๙ และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ได้รับเงินเดือนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ข้อ ๖ กรณีอื่นนอกจากที่ได้กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. นี้ ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประการประกาศใช้กฎ ก.พ.ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญจะได้รับเงินเดือนตามตำแหน่ง ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด จะได้รับเงินเดือนในอันดับใดตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้เป็นไปตามที่ ก.พ. กำหนดโดยให้ได้รับในขั้นต่ำของอันดับ ในกรณีที่จะให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำหรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒/ตอนที่ ๑๙ ก/หน้า ๑๐/๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๘
319597
กฎ ก.พ.ฉบับที่ 19 (พ.ศ.2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518 ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำหรือสูงกว่าขั้นสูงของเงินเดือนสำหรับตำแหน่ง
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของเงินเดือนสำหรับตำแหน่ง[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๓ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๒๗) และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๒ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับใด ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นต่ำของเงินเดือนสำหรับตำแหน่งระดับนั้น เว้นแต่ (๑) ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของระดับนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ (๒) ผู้นั้นได้รับประกาศนียบัตรประโยคมัธยมวิสามัญศึกษาตอนปลาย (ม.๖) ประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นสายสามัญ (ม.ศ.๓) ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษา ตอนต้น (ม.๓) ประกาศนียบัตรประโยคเตรียมอุดมศึกษา (ม.๘) ประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาตอบปลายสายสามัญ (ม.ศ.๕) ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอบปลาย (ม.๖) หรือ ประกาศนียบัตรตามหลักสูตรอื่นใดที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่าให้ได้รับเงินเดือนในขั้นที่ ก.พ. กำหนด แต่ต้องไม่สูงกว่า ๓,๐๕๐ บาท (๓) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ และ ก.พ. รับรองว่า ปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งใด ระดับใด และ กำหนดเงินเดือนที่ควบได้รับในขั้นใด ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นที่ ก.พ. กำหนด แต่ต้องอยู่ในหลัก เกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย คือ (ก) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ ๑ ให้ได้รับเงินเดือน ไม่สูงกว่าขั้น ๓,๐๕๐ บาท (ข) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ ๒ ให้ได้รับเงินเดือน ไม่สูงกว่าขั้น ๓,๘๐๐ บาท (ค) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ ๓ ให้ได้รับเงินเดือน ไม่สูงกว่าขั้น ๕,๙๐๐ บาท ในกรณีที่ ก.พ. รับรองคุณวุฒิของผู้ใดว่าเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งใด ระดับใด และกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน (ก) (ข) และ (ค) ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๔) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้น และ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพที่รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง อธิบดีผู้บังคับบัญชาหรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีอาจปรับให้ได้รับเงินเดือนในขั้นตามที่ ก.พ. อนุมัติได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน (๓) (๕) ในกรณีที่ ก.พ. ได้กำหนดเงินเดือนขั้นต้นสำหรับตำแหน่งระดับใดใน สายงานใดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำของระดับนั้น ให้ผู้นั้นได้รับเงิน เดือนในขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ถ้าได้รับเงินเดือนต่ำกว่าขั้นต่ำของเงินเดือนสำหรับตำแหน่ง ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ เว้นแต่ ก.พ. จะได้พิจารณากำหนดเป็นอย่างอื่น” ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔ มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๑๑๘/หน้า ๕๑๘/๔ กรกฎาคม ๒๕๓๔
319601
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ปฏิบัติราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระดับอันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน ตลอดจนรักษาวินัยและปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ ได้รับบำเหน็จความชอบโดยการเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี ก.พ.จึงเห็นสมควรวางหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนขั้นเงินเดือน เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการเลื่อนขั้นเงินเดือนให้เกิดความเป็นธรรม ได้มาตรฐาน และเป็นสิ่งจูงใจให้ข้าราชการเกิดความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดียิ่งขึ้น รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้ผู้ที่ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมได้เกิดความสำนึก โดยได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รักษาวินัย และปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ.จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ในกฎ ก.พ. นี้ ."ปี" หมายความว่า ปีงบประมาณ "รอบปีที่แล้วมา" หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคมของปีหนึ่ง ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายนของปีถัดไป "อธิบดี" หมายความรวมถึงหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และรัฐมนตรีเจ้าสังกัดสำหรับสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี และราชบัณฑิตสถานด้วย ข้อ ๓ การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญประจำปี ให้เลื่อนตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคมของปีที่ได้เลื่อนนั้น ข้อ ๔ การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้เลื่อนได้ไม่เกินขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับต่ำกว่าเดิม โดยได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ได้รับอยู่เดิม ให้เลื่อนได้ไม่เกินขั้นสูงของอันดับเงินเดือนเดิม ข้อ ๕ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีครึ่งขั้นต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีหนึ่งขั้นตามข้อ ๖ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) และ(๘) และในรอบปีที่แล้วมามีผลการปฏิบัติงานซึ่งผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาประเมินตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้วเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สมควรจะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขั้น (๒) เป็นผู้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีหนึ่งขั้นตามข้อ ๖ (๓) (๗) หรือ (๘) แต่มีเวลาปฏิบัติราชการในรอบปีที่แล้วมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนตลอดจนอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีหนึ่งขั้นตามข้อ๖ (๒) (๔) (๕) และ (๖) และในรอบปีที่แล้วมามีผลการปฏิบัติงานซึ่งผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาประเมินตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ ๒๕๓๕ แล้วเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สมควรจะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนไม่น้อยกว่าหนึ่งขั้น ข้อ ๖ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีหนึ่งขั้นต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ในรอบปีที่แล้วมาได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนด้วยความสามารถ และด้วยความอุตสาหะจนเกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาประเมินตามมาตรา ๗๙ แห่งประราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้วเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สมควรจะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนหนึ่งขั้น (๒) ในรอบปีที่แล้วมาจนถึงวันออกคำสั่งเลื่อยขั้นเงินเดือนต้องไม่ถูกลงโทษทางวินัยที่หนักกว่าโทษภาคทัณฑ์ หรือไม่ถูกศาลพิพากษาในคดีอาญาให้ลงโทษในความผิดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือความผิดที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ในกรณีราชการพลเรือนสามัญผู้ใดอยู่ในหลักเกณฑ์ที่สมควรได้เลื่อนขั้นเงินเดือน และได้ถูกงดเลื่อนขั้นเงินเดือนเพราะถูกลงโทษทางวินัยหรือถูกศาลพิพากษาในคดีอาญาให้ลงโทษในกรณีนั้นมาแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาเลื่อนขั้นเงินเอนประจำปีต่อไปให้ผู้นั้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคมของปีที่จะได้เลื่อนเป็นต้นไป (๓) ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่ถูกสั่งพักราชการเกินกว่าสี่เดือน (๔) ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่ขาดราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (๕) ในปีที่แล้วมาได้รับบรรจุเข้ารับราชการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าแปดเดือน (๖) ในรอบปีที่แล้วมาถ้าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาในประเทศ หรือไปศึกษา ฝึกอบรม หรือดูงาน ณ ต่างประเทศ ตามระเบียบว่าด้วยการให้ข้าราชการไปศึกษา ฝึกอบรม และดูงาน ณ ต่างประเทศ ต้องได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในรอบปีที่แล้วมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าแปดเดือน (๗) ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่ลาหรือมาทำงานสายเกินจำนวนครั้งที่อธิบดีผู้บังคับบัญชาหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกำหนดเป็นหนังสือไว้ก่อนแล้ว โดยคำนึงถึงลักษณะงานและสภาพท้องที่อันเป็นที่ตั้งของแต่ละส่วนราชการหรือหน่วยงาน (๘) ในรอบปีที่แล้วมาต้องมีเวลาปฏิบัติราชการสิบสองเดือน โดยไม่มีวันลาเกินกว่าสี่สิบห้าวัน แต่ไม่รวมถึงวันลา ดังต่อไปนี้ (ก) ลาอุปสมบท หรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เฉพาะวันลาที่มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างลาตามกฎหมายว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน (ข) ลาคลอดบุตรไม่เกินหกสิบวัน (ค) ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรไม่เกินสามสิบวันทำการ (ง) ลาป่วยซึ่งจำเป็นต้องรักษาตัวเป็นเวลานานไม่ว่าคราวเดียวหรือหลายคราวรวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันทำการ (จ) ลาป่วยเพราะประสบอันตรายในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือในขณะเดินทางไปหรือกลับจากปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (ฉ) ลาพักผ่อน (ช) ลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล (ซ) ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ การนับจำนวนวันลาไม่เกินสี่สิบห้าวันสำหรับวันลากิจส่วนตัวและวันลาป่วยที่ไม่ใช่วันลาป่วยตาม (จ) ให้นับเฉพาะวันทำการ ข้อ ๗ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี หนึ่งขั้นครึ่ง ต้องเป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีหนึ่งขั้น ตามข้อ ๖ และอยู่ในหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการดังต่อไปนี้ด้วย (๑) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ได้ผลดี มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันก่อให้เกิดประโยชน์และผลดีต่อทางราชการและสังคม (๒) ปฏิบัติงานโดยมีความคิดริเริ่มในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือได้ค้นคว้าหรือประดิษฐ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ (๓) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่มีสถานการณ์ตรากตรำเสี่ยงอันตราย หรือมีการต่อสู้ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิต (๔) ปฏิบัติงานที่มีภาระหน้าที่หนักเกินกว่าระดับตำแหน่งจนเกิดประโยชน์ต่อทางราชการและปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ของตนเป็นผลดีด้วย (๕) ปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ด้วยความตรากตรำเหน็ดเหนื่อย ยากลำบาก และงานนั้นได้ผลดีเป็นประโยชน์ต่อทางราชการและสังคม (๖) ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ ข้อ ๘ ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีสองขั้นต้องเป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีหนึ่งขั้นตามข้อ ๖ และอยู่ในหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการดังต่อไปนี้ด้วย (๑) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ได้ผลดีเด่น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันก่อให้เกิดประโยชน์และผลดียิ่งต่อทางราชการและสังคมจนถือเป็นตัวอย่างที่ดีได้ (๒) ปฏิบัติงานโดยมีความคิดริเริ่มในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือได้ค้นคว้าหรือประดิษฐ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทางราชการเป็นพิเศษ และทางราชการได้ดำเนินการตามความคิดริเริ่มหรือได้รับรองให้ใช้การค้นคว้าหรือสิ่งประดิษฐ์นั้น (๓) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่มีสถานการณ์ตรากตรำเสี่ยงอันตรายมาก หรือมีการต่อสู้ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิตเป็นกรณีพิเศษ (๔) ปฏิบัติงานที่มีภาระหน้าที่หนักเกินกว่าระดับตำแหน่งจนเกิดประโยชน์ต่อทางราชการเป็นพิเศษ และปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ของตนเป็นผลดีด้วย (๕) ปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ด้วยความตรากตรำเหน็ดเหนื่อย ยากลำบากเป็นพิเศษและงานนั้นได้ผลดียิ่งเป็นประโยชน์ต่อทางราชการและสังคม (๖) ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จเป็นผลดียิ่งแก่ประเทศชาติ ข้อ ๙ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญประจำปีตามข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ และข้อ ๘ ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายนำผลการประเมินผลการปฏิบัติงานตามมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และข้อมูลเกี่ยวกับการลา พฤติกรรมการมาทำงาน การรักษาวินัย การปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ และข้อควรพิจารณาอื่น ๆ ของผู้นั้น มาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบ แล้วรายงานผลการพิจารณานั้นพร้อมด้วยข้อมูลดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ในการพิจารณารายงานตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือแต่ละระดับที่ได้รับรายงานเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนด้วย ข้อ ๑๐ การพิจารณาผลการปฏิบัติงาน ให้นับช่วงเวลาการปฏิบัติราชการและการปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตามข้อ ๖ (๘) (ซ) ในรอบปีที่แล้วมาเป็นเกณฑ์ เว้นแต่ผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๖ (๕) หรือ (๖) ให้นับช่วงเวลาปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่าแปดเดือนเป็นเกณฑ์พิจารณา ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดโอน เลื่อนตำแหน่ง ย้าย สับเปลี่ยนหน้าที่ ไปช่วยราชการในต่างกระทรวง ทบวง กรม ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานนอกเหนือหน้าที่หรืองานพิเศษอื่นใด หรือลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตามข้อ ๖ (๘) (ซ) ในรอบปีที่แล้วมา ให้นำผลการปฏิบัติราชการและการปฏิบัติงานของผู้นั้นทุกตำแหน่งและทุกแห่งมาประกอบการพิจารณาด้วย ข้อ ๑๑ เมื่อผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนได้รับรายงานผลการพิจารณาจากผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๙ แล้วเห็นว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีครึ่งขั้นตามข้อ ๕ และปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้นั้นครึ่งขั้น ถ้าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีหนึ่งขั้นตามข้อ ๖ และปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้นั้นหนึ่งขั้น และถ้าข้าราชการผู้นั้นมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๗ ด้วยก็ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้นั้นหนึ่งขั้นครึ่ง หรือถ้าข้าราชการผู้นั้นมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๘ ด้วย จะให้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้นั้นสองขั้นก็ได้ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาเห็นว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้จะได้รับพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีครึ่งขั้นตามข้อ ๕ หรือปฏิบัติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนสำหรับผู้นั้น แต่ต้องแจ้งเหตุผลให้ผู้นั้นทราบด้วย ข้อ ๑๒ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีให้แก่ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งในรอบปีที่แล้วมาได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตามข้อ ๖ (๘) (ซ) ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาสั่งเลื่อนได้ปีละไม่เกินหนึ่งขั้นเมื่อผู้นั้นกลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยให้สั่งเลื่อนย้อนหลังไปในแต่ละปีที่ควรจะได้เลื่อน ทั้งนี้ ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีผู้บังคับบัญชากำหนด ข้อ ๑๓ ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี ถ้าผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเห็นสมควรให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้เลื่อนขั้นเงินเดือน แต่ปรากฎว่าได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการผู้นั้นว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนรอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ก่อน และให้กันเงินสำหรับเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ด้วย เมื่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้รับรายงานการสอบสวนและมีคำสั่งว่าผู้นั้นไม่มีความผิด หรือมีคำสั่งลงโทษ หรือมีคำสั่งให้ออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมอง ให้ผู้อำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาดังนี้ (๑) ถ้ามีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนมีคำสั่งว่าผู้นั้นไม่มีความผิด หรือมีคำสั่งลงโดยภาคทัณฑ์ ให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ได้ ถ้ารอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้เกินหนึ่งปี ให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนย้อนหลังไปในแต่ละปีที่ได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้แม้ว่าผู้นั้นจะได้ออกจากราชการไปแล้วก็ตาม (๒) ถ้าผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนมีคำสั่งลงโดยตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ ถ้าได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้เกินหนึ่งปี ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ในปีที่ถูกลงโทษ ถ้าผู้นั้นได้ออกจากราชการไปแล้วด้วยเหตุอื่นที่มิใช่เพราะเหตุเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนในปีที่จะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนปีสุดท้าย แต่ถ้าเป็นผู้พ้นจากราชการไปเพราะเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ผู้อำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ในวันที่ ๓๐ กันยายนของปีสุดท้ายก่อนผู้นั้นจะพ้นจากราชการ ส่วนในปีอื่นให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนย้อนหลังไปในแต่ละปีที่ได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ (๓) ถ้าผู้มีอำนาจแต่งตั้งคระกรรมการสอบสวนมีคำสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ หรือคำสั่งให้ออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมอง ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนทุกปีที่ได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตาม (๑) (๒) และ (๓) สำหรับผู้ที่ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหลายกรณี ให้แยกพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ข้อ ๑๔ ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี ถ้าผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเห็นสมควรให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้เลื่อนขั้นเงินเดือน แต่ปรากฏว่าผู้นั้นถูกฟ้องคดีอาญาในความผิดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือความผิดที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่พนักงานอัยการรับเป็นทนายแก่ต่างให้ และศาลได้ประทับฟ้องคดีนั้นแล้วก่อนมีคำสั่งเลื่อนเงินเดือน ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนรอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ก่อน และให้กับเงินสำหรับเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ก่อน เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาดังนี้ (๑) ถ้าศาลพิพากษาว่าผู้นั้นไม่มีความผิด ให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ได้ ถ้าได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้เกินหนึ่งปี ให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนย้อนหลังไปในแต่ละปีที่ได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ แม้ว่าผู้นั้นจะได้ออกจากราชการไปแล้วก็ตาม (๒) ถ้าศาลพิพากษาให้ลงโทษเบากว่าโทษจำคุก ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ ถ้าได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้เกินหนึ่งปี ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ในปีที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษ ถ้าผู้นั้นได้ออกจากราชการไปแล้วด้วยเหตุอื่นที่มิใช่เพราะเหตุเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จนาญข้าราชการ ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนในปีที่จะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนเงินเดือนปีสุดท้าย แต่ถ้าเป็นผู้พ้นจากราชการไปเพราะเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อยขั้นเงินเดือนได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ในวันที่ ๓๐ กันยายนของปีสุดท้ายก่อนที่ผู้นั้นจะพ้นจากราชการ ส่วนในปีอื่นให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนย้อนหลังไปในแต่ละปีที่ได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ (๓) ถ้าศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุก ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนทุกปีที่รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตาม (๑) (๒) และ (๓) สำหรับผู้ที่ถูกฟ้องคดีอาญาหลายคดี ให้แยกพิจารณาเป็นคดี ๆ ไป ข้อ ๑๕ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนได้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไว้เพราะเหตุถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๑๓ และเหตุถูกฟ้องคดีอาญาตามข้อ ๑๔ ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวรอการเลื่อนขั้นเงินเดือนผู้นั้นไว้จนกว่าผู้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้รับรายงานการสอบสวนและมีคำสั่งว่าผู้นั้นไม่มีความผิด หรือคำสั่งลงโทษ หรือมีคำสั่งให้ออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมอง และจนกว่าศาลมีคำพิพากษาแล้วจึงให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามข้อ ๑๓ (๑) (๒) หรือ (๓) หรือตามข้อ ๑๔ (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ โดยถือเกณฑ์ จำนวนปีที่จะต้องงดเลื่อนขั้นเงินเดือนที่มากกว่าเป็นหลักในการพิจารณา เว้นแต่ผู้นั้นได้พ้นจากราชการไปแล้วตามผลของการถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๑๓ หรือตามผลของการถูกฟ้องคดีอาญาตามข้อ ๑๔ กรณีใดกรณีหนึ่ง จึงจะพิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้ได้ตามผลของกรณีนั้นโดยไม่ต้องรอผลของอีกกรณีหนึ่ง ข้อ ๑๖ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาเห็นสมควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใด แต่ผู้นั้นจะต้องพ้นจากราชการไปเพราะเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญให้ผู้นั้นในวันที่ ๓๐ กันยายนของปีสุดท้ายก่อนที่จะพ้นจากราชการ ข้อ ๑๗ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาเห็นสมควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ข้าราชกรพลเรือนสามัญผู้ใด แต่ผู้นั้นได้ตายหรือออกจากราชการไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หลังวันที่ ๑ ตุลาคม แต่ก่อนที่จะมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีตามปกติ ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนจะสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ผู้นั้นย้อนหลังไปถึงวันที่ ๑ ตุลาคมของปีที่จะได้เลื่อนนั้นก็ได้ แต่ถ้าผู้นั้นได้พ้นจากราชการเพราะเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการไปก่อนที่จะมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนจะสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ผู้นั้นย้อนหลังไปถึงวันที่ ๓๐ กันยายนของปีที่จะได้เลื่อนนั้นก็ได้ ข้อ ๑๘ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ครึ่งขั้นตามข้อ ๕ หรือหนึ่งขั้นตามข้อ ๖ เนื่องจากขาดคุณสมบัติเกี่ยวกับระยะเวลาการปฏิบัติราชการ การลา หรือการมาทำงานสายตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ แต่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาเห็นสมควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โดยมีเหตุผลเป็นกรณีพิเศษ ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเสนอ อ.ก.พ. กระทรวง เพื่อพิจารณาอนุมัติให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นการเฉพาะรายได้ครึ่งขั้น สำหรับผู้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตามข้อ ๕ และหนึ่งขั้นสำหรับผู้ม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตามข้อ ๖ นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตามกฎ ก.พ. นี้ แต่ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาเห็นสมควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โดยมีเหตุผลเป็นกรณีพิเศษ ให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเสนอ ก.พ. เพื่อพิจารณาอนุมัติให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นการเฉพาะราย บทเฉพาะกาล ข้อ ๑๙ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดถูกรอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ก่อนกฎ ก.พ. นี้ ใช้บังคับ เนื่องจากอยู่ในระหว่างถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยหรือถูกฟ้องคดีอาญา ถ้าการสอบสวนพิจารณากรณีทางวินัยปรากฏว่าผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนมีคำสั่งว่าผู้นั้นไม่มีความผิด หรือมีคำสั่งลงโทษ หรือมีคำสั่งให้ออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมองหรือคดีอาญาศาลมีคำพิพากษาเมื่อกฎ ก.พ. นี้ ใช้บังคับแล้ว และเป็นเวลาภายหลังปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๘ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้สำหรับผู้นั้น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ แต่ถ้าการสอบสวนพิจารณากรณีทางวินัยหรือคดีอาญานั้นเสร็จสิ้นลงก่อนสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๘ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนที่รอการเลื่อนไว้สำหรับผู้นั้น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๑๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ข้อ ๒๐ การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้นำผลการปฏิบัติงานและข้อมูลเกี่ยวกับการลา พฤติกรรมการมาทำงาน การรักษาวินัย การปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ และข้อควรพิจารณาอื่น ๆ ในรอบปีที่แล้วมาที่ข้าราชการผู้นั้นมีอยู่ก่อนที่กฎ ก.พ. นี้ ใช้บังคับ และผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาไว้แล้วตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๑๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๘ มาประกอบการพิจารณาการเลื่อนขั้นตามกฎ ก.พ. นี้ ได้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโดยคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณงาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานที่ได้ปฏิบัติมา ความสามารถและความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการรักษาวินัยและการปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒/ตอนที่ ๒๓ ก/หน้า ๗/๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๘
319599
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการรับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะและตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงหรือบริหาร
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการรับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ และตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงหรือบริหารระดับกลาง[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๔๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐ มนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นไป ข้อ ๒ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนด ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทวิชาชีพเฉพาะและประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ ให้ได้รับเงิน ประจำตำแหน่งในบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะดังนี้ (๑) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๘ ให้ได้รับในชั้นกลาง (ก) ขั้นที่ ๑ (๒) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๙ ให้ได้รับในชั้นกลาง (ข) ขั้นที่ ๑ (๓) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๐ ให้ได้รับในชั้นสูง (ก) ขั้นที่ ๑ (๔) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๑ ให้ได้รับในชั้นสูง (ข) ขั้นที่ ๑ ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงหรือบริหารระดับกลางตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูงหรือบริหารระดับกลาง ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงหรือบริหารระดับกลางดังนี้ (๑) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับกลาง ตำแหน่งระดับ ๘ ให้ได้รับในขั้น ก (๒) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งระดับ ๙ ให้ได้รับในขั้น ๑ (๓) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งระดับ ๑๐ ให้ได้รับในขั้น ๒ (๔) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งระดับ ๑๑ให้ได้รับในขั้น ๓ ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เกษม สุวรรณกุล รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่าการรับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะและตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงหรือบริหารระดับกลาง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน กฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๐๕/หน้า ๕/๑ ตุลาคม ๒๕๓๕
304191
กฎ ก.พ. (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน
กฎ ก กฎ ก.พ. (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงแต่ละกระทรวง ทบวงที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวงแต่ละทบวง และส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงแต่ละส่วนราชการเป็นหน่วยเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๖ (๒) ข้อ ๒ การเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๖ (๒) ในกรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการก่อนที่กรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไว้แล้วจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระไม่น้อยกว่าหกสิบวัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้ (๑) ให้สำนักงาน ก.พ. จัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๖ (๒) อยู่ในวันที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด โดยแยกเป็นแต่ละหน่วยเลือก แล้วส่งบัญชีรายชื่อของแต่ละหน่วยเลือกไปให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้น ๆ ทราบ (๒) ในกรณีที่ในหน่วยเลือกของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยเลือกของกระทรวงหรือของทบวงใดตามข้อ ๑ มีผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อหน่วยเลือกละไม่เกินสามคนหรือในหน่วยเลือกของส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงใดมีผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อหน่วยเลือกละหนึ่งคน ให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นเป็นผู้เลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๖ (๒) (๓) ในกรณีที่หน่วยเลือกใดมีผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อเกินกว่าจำนวนใน (๒) ให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อของหน่วยเลือกนั้นเลือกกันเองเพื่อให้มีจำนวนตาม (๒) โดยให้สำนักงาน ก.พ. ส่งบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนตามแบบท้ายกฎ ก.พ. นี้ ซึ่งลงลายมือชื่อของเลขาธิการ ก.พ. แล้วไปให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อของหน่วยเลือกนั้น เพื่อให้เลือกข้าราชการพลเรือนจากรายชื่อในบัญชีดังกล่าว โดยเขียนชื่อและนามสกุลของผู้ซึ่งตนเลือกไม่เกินจำนวนใน (๒) พร้อมกับลงลายมือชื่อของผู้เลือกลงในบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนแล้วส่งบัตรดังกล่าวพร้อมกับภาพถ่ายบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้เลือกกลับคืนให้สำนักงาน ก.พ. ภายในวันที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนสำนักงานก.พ. โดยตรง ให้ถือวันที่สำนักงาน ก.พ. ได้รับบัตรเป็นวันส่ง ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์รับลงทะเบียนเป็นวันส่ง ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนทางไปรษณีย์ไม่ลงทะเบียน ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตราไปรษณีย์เป็นวันส่ง (๔) ให้สำนักงาน ก.พ. รวบรวมบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนที่ได้รับกลับคืนตาม (๓) เพื่อดำเนินการตรวจนับคะแนน โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจนับคะแนนขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๘ ขึ้นไป จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน (๕) การตรวจนับคะแนนของคณะกรรมการตาม (๔) ให้กระทำโดยเปิดเผยและต้องมีกรรมการอยู่พร้อมกันไม่น้อยกว่าสามคน บัตรเลือกข้าราชการพลเรือนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นบัตรเสีย และไม่ให้นับเป็นคะแนน คือ (ก) บัตรที่ไม่มีตราชื่อส่วนราชการสำนักงาน ก.พ. (ข) บัตรที่ไม่มีลายมือชื่อของเลขาธิการ ก.พ. (ค) บัตรที่เลือกเกินจำนวนตาม (๒) (ง) บัตรที่มีรอยขูด ลบ ขีดฆ่า ตกเติม หรือเขียนซ้ำ โดยไม่ลงลายมือชื่อผู้ เลือกกำกับ (จ) บัตรที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อผู้เลือก (ฉ) บัตรที่ส่งกลับคืนช้ากว่าวันที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดตาม (๓) เมื่อตรวจนับคะแนนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกโดยเรียงตามลำดับคะแนนจากสูงไปหาต่ำเป็นรายหน่วยเลือก พร้อมกับแสดงคะแนนของแต่ละคนไว้ในบัญชีด้วย ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากัน ให้เลขาธิการ ก.พ. จับสลากชื่อผู้ได้คะแนนเท่ากันนั้นต่อหน้าคณะกรรมการตรวจนับคะแนนเพื่อเรียงลำดับที่ บัญชีรายชื่อดังกล่าวให้มีกรรมการไม่น้อยกว่าสามคนลงลายมือชื่อรับรอง (๖) ให้เลขาธิการ ก.พ. ประกาศรายชื่อผู้ที่อยู่ในลำดับที่หนึ่งถึงที่สามในบัญชีรายชื่อตาม (๕) ในหน่วยเลือกของสำนักนายกรัฐมนตรี ของกระทรวงแต่ละกระทรวง ของทบวงแต่ละทบวง และผู้ที่อยู่ในลำดับที่หนึ่งในหน่วยเลือกของส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวง หรือทบวงแต่ละส่วนราชการ เป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นผู้เลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๖ (๒) โดยปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงาน ก.พ. (๗) ให้สำนักงาน ก.พ. นำรายชื่อข้าราชการพลเรือนตาม (๒) และ (๖) มากำหนดหมายเลขประจำตัวของแต่ละคน แล้วทำบัญชีรวมรายชื่อข้าราชการพลเรือนดังกล่าวส่งให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นทุกคนก่อนวันเลือกตาม (๘) ไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ (๘) ให้สำนักงาน ก.พ. มีหนังสือนัดผู้มีชื่อในบัญชีรวมรายชื่อตาม (๗) ไปออกเสียงลงคะแนนตามวัน เวลา สถานที่ และวิธีการที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดเพื่อเลือกผู้มีชื่อในบัญชีรวมรายชื่อนั้นเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๖ (๒) (๙) ในการออกเสียงลงคะแนนตาม (๘) ให้สำนักงาน ก.พ. แจกบัตรออกเสียงลงคะแนนเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนแก่ผู้มีชื่อในบัญชีรวมรายชื่อตาม (๗) ที่มาออกเสียงลงคะแนน เมื่อผู้มีชื่อดังกล่าวออกเสียงลงคะแนนแล้ว ให้สำนัก งาน ก.พ. ดำเนินการตรวจนับคะแนนและเรียงลำดับที่ตามวิธีการใน (๔) และ (๕) โดยอนุโลม และจัดทำบัญชีรวมรายชื่อผู้ได้รับพร้อมด้วยคะแนนที่ได้รับเรียงตามลำดับคะแนนจากสูงไปหาต่ำ แล้วให้เลขาธิการ ก.พ. ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกโดยปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงาน ก.พ. (๑๐) ให้สำนักงาน ก.พ. ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับเลือกตาม (๙) เพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกที่ได้คะแนนสูงตามลำดับห้าคนซึ่งอยู่ต่างหน่วยเลือกกัน และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในมาตรา ๖ เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนต่อไป ข้อ ๓ ในกรณีที่กรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามมาตรา ๖ (๒) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ และจะต้องแต่งตั้งกรรมการแทนให้ สำนักงาน ก.พ. นำรายชื่อผู้ได้รับเลือกตามข้อ ๒ (๙) ที่เหลืออยู่ในบัญชีรวมรายชื่อมาตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกที่ได้คะแนนสูงตามลำดับ ซึ่งอยู่ต่างหน่วยเลือกกับผู้ที่เป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๖ (๒) อยู่แล้วเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนแทนต่อไป ในกรณีที่ไม่มีผู้ได้รับเลือกซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนเหลืออยู่ในบัญชีรวมรายชื่อดังกล่าว ให้ดำเนินการเลือกใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อ ๒ ข้อ ๔ การสรรหาผู้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๖ (๑) ในกรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการก่อนที่กรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไว้แล้วจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระไม่น้อยกว่าหกสิบวัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้ (๑) ให้เลขาธิการ ก.พ. แจ้งให้กรรมการข้าราชการพลเรือนโดยตำแหน่งตามมาตรา ๖ และข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับเลือกตามข้อ ๒ (๑๐) เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๖ (๑) ซึ่งยินยอมให้เสนอชื่อ ไปยังสำนักงาน ก.พ. ภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด ทั้งนี้ ให้ผู้เสนอชื่อแต่ละคนเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้ด้านละหนึ่งคน พร้อมทั้งผลงานโดยย่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ละคน โดยจะเสนอชื่อผู้ใดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิไว้ในหลายด้านก็ได้ (๒) ให้สำนักงาน ก.พ. ทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีผู้เสนอชื่อตาม (๑) แยกเป็นด้านต่าง ๆ ตามมาตรา ๖ (๑) พร้อมทั้งระบุผลงานโดยย่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ละคนไว้ด้วย ในกรณีที่ผู้ใดได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านก็ให้ระบุชื่อผู้นั้นไว้ทุกด้าน (๓) ให้สำนักงาน ก.พ. จัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างกรรมการข้าราชการพลเรือนโดยตำแหน่งกับข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับเลือกตามข้อ ๒ (๑๐) เพื่อร่วมกันสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๖ (๑) จากบัญชีรายชื่อตาม (๒) โดยให้ประธาน ก.พ. เป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธาน ก.พ. ไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกผู้เข้าประชุมคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม (๔) ให้ผู้เข้าประชุมตาม (๓) แต่ละคน เลือกผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๖ (๑)จากบัญชีรายชื่อตาม (๒) ได้ด้านละหนึ่งคนเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน (๕) ให้สำนักงาน ก.พ. ตรวจนับคะแนนการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๔) แล้วจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเลือกในแต่ละด้านไว้ โดยเรียงตามลำดับคะแนนจากสูงไปหาต่ำ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมตาม (๓) จับสลากชื่อผู้ได้คะแนนเท่ากันนั้นเพื่อเรียงลำดับที่ (๖) ให้สำนักงาน ก.พ. ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับเลือกตาม (๕) เพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในมาตรา ๖ และให้ผู้ที่อยู่ในลำดับที่หนึ่งในบัญชีตาม (๕) ในแต่ละด้านที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นผู้ได้รับเลือกเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน แต่ในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกในลำดับที่หนึ่งมีชื่อผู้ที่ไม่เคยเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการแต่ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าอธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่าจำนวนเกินกว่าสามคน ให้ที่ประชุมตาม (๓) คัดชื่อผู้ที่เกินออกในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกซึ่งอยู่ในลำดับที่หนึ่งในด้านใดไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนอยู่ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในด้านนั้นด้วยเหตุใด ๆ ให้ผู้ที่ได้รับเลือกซึ่งอยู่ในลำดับถัดมาในด้านนั้นเป็นผู้อยู่ในลำดับที่หนึ่งแทน ในกรณีที่ผู้ใดได้รับเลือกอยู่ในลำดับที่หนึ่งหลายด้าน ให้ผู้เสนอชื่อผู้นั้นเป็นผู้เลือกว่าจะให้ผู้นั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในบัญชีด้านใด ถ้ามีผู้เสนอชื่อผู้นั้นหลายคน ให้ผู้เสนอชื่อผู้นั้นร่วมกันเลือก ในกรณีที่จะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนเกินกว่าห้าคนให้ที่ประชุมตาม (๓) เลือกผู้ได้รับเลือกซึ่งอยู่ในลำดับถัดมาในด้านที่ต้องการเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน ทั้งนี้ เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพร้อมกับ ผู้ได้รับเลือกตามข้อ ๒ (๑๐) ข้อ ๕ ในกรณีที่กรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านใดพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ และจะต้องแต่งตั้งกรรมการแทน ให้ดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในด้านนั้นใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อ ๔ โดยอนุโลม เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนแทนต่อไป ข้อ ๖ การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๖ (๑) และ (๒) ในระยะเริ่มแรกที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ดำเนินการตามกฎ ก.พ. นี้ โดยอนุโลม ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เกษม สุวรรณกุล รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. ตราชื่อส่วนราชการสำนักงาน ก.พ. บัตรเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อเลือกเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน ท้ายกฎ ก.พ. (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือก ข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน ข้าพเจ้า.................................... เลือกผู้มีชื่อข้างท้ายนี้ เพื่อเลือกเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนคือ ๑. ............................................. ๒. ............................................. ๓. ............................................. (ลายมือชื่อ) ............................................ ผู้เลือก (......................................... ) (ลายมือชื่อ) ............................................ (........................................... ) เลขาธิการ ก.พ. หมายเหตุ ๑. ในสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวงเลือกได้หน่วยละไม่เกิน ๓ ชื่อ ๒. ในส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงให้เลือกได้ไม่เกินหน่วยละ ๑ ชื่อ ๓. ให้ส่งภาพถ่ายบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้เลือกไปยังสำนักงาน ก.พ. พร้อมกับบัตรเลือกนี้ภายในวันที่ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติให้การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๘๓/หน้า ๑/๓ สิงหาคม ๒๕๓๕
319602
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ว่าด้วยกรณีหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ บกพร่องในหน้าที่ราชการหรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ.๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ บกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ที่ปรากฏชัดแจ้ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. ฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ราชการ และผู้มีอำนาจตามมาตรา ๕๒ เห็นว่าถ้าให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการในกรณีดังต่อไปนี้ถือเป็นกรณีที่ปรากฏชัดแจ้งซึ่งจะดำเนินการตามมาตรา ๑๑๕ โดยไม่สอบสวนก็ได้ (๑) กระทำหรือละเว้นกระทำการใดจนต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้นั้นกระทำผิดแต่ให้รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่ให้รอการลงโทษไว้ และผู้บังคับบัญชาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษานั้นได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้ว (๒) มีกรณีหย่อนความสามารถอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการบกพร่องในหน้าที่ราชการหรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการและได้รับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาหรือให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนหรือต่อคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนและได้มีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือ ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ.ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า กรณีหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ บกพร่องในหน้าที่ราชการหรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ที่เป็นกรณีที่ปรากฏชัดแจ้งตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการสั่งให้ออกจากราชการโดยไม่สอบสวนก็ได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๒ ก/หน้า ๔๒/๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙
319596
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยการสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณา
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ ว่าด้วยการสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณา[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก.พ.ออกกฎ ก.พ.ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญพักราชการ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาตามมาตรา ๙๐ และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ.นี้ ข้อ ๒ เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ หรือมาตรา ๙๒ วรรคสาม แล้วแต่กรณี จะสั่งให้พักราชการได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) กรณีที่ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญานั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือเกี่ยวกับความประพฤติหรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ และผู้มีอำนาจดังกล่าวพิจารณาเห็นว่าถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ (๒) มีพฤติการณ์ที่แสดงว่าถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่ราชการจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือพิจารณา หรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น (๓) ผู้นั้นอยู่ในระหว่างถูกคุมขังหรือต้องจำคุกโดยคำพิพากษา และถูกคุมขังหรือต้องจำคุกมาเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่าสิบห้าวันแล้ว ข้อ ๓ ภายใต้บังคับบทบัญญัติว่าด้วยการร้องทุกข์ การพักราชการให้พักตลอดเวลาที่สอบสวนพิจารณา ข้อ ๔ ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนหลายสำนวน หรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหลายคดี เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ถ้าจะสั่งพักราชการ ให้สั่งพักทุกสำนวนและทุกคดี ในกรณีที่ได้สั่งพักราชการในสำนวนใดหรือคดีใดไว้แล้ว ภายหลังปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนในสำนวนอื่น หรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาในคดีอื่นเพิ่มขึ้นอีก เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ก็ให้สั่งพักราชการในสำนวนหรือคดีที่เพิ่มขึ้นนั้นด้วย ข้อ ๕ การสั่งพักราชการ ห้ามมิให้สั่งพักย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง เว้นแต่ (๑) ผู้ซึ่งจะถูกสั่งพักราชการอยู่ในระหว่างถูกคุมขังหรือต้องจำคุกโดยคำพิพากษา การสั่งพักราชการในเรื่องนั้นให้สั่งพักย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกคุมขังหรือต้องจำคุกได้ (๒) ในกรณีที่ได้มีการสั่งพักราชการไว้แล้ว ถ้าจะต้องสั่งใหม่เพราะคำสั่งเดิมไม่ถูกต้อง ให้สั่งตั้งแต่วันให้พักราชการตามคำสั่งเดิมหรือตามวันที่ควรต้องพักราชการในขณะที่ออกคำสั่งเดิม ข้อ ๖ คำสั่งพักราชการให้ทำเป็นหนังสือตามแบบคำสั่งของทางราชการ ระบุชื่อผู้ถูกสั่งพร้อมทั้งกรณีและเหตุที่สั่งให้พักราชการด้วย เมื่อได้มีคำสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดพักราชการแล้ว ให้แจ้งคำสั่งให้ผู้นั้นทราบพร้อมทั้งส่งสำเนาคำสั่งให้ด้วยโดยพลัน แต่ถ้าไม่อาจแจ้งให้ทราบได้ ให้ปิดสำเนาคำสั่งไว้ ณ ที่ทำการของผู้นั้น และแจ้งโดยหนังสือพร้อมทั้งส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปให้ ณ ที่อยู่ของผู้นั้นซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการด้วย และให้ถือว่าได้แจ้งคำสั่งพักราชการให้ทราบแล้ว ข้อ ๗ เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีเหตุที่อาจถูกสั่งพักราชการตามข้อ ๒ และผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ หรือ มาตรา ๙๒ วรรคสาม แล้วแต่กรณี พิจารณาเห็นว่าการสอบสวนหรือพิจารณากรณีหรือคดีนั้นไม่อาจแล้วเสร็จไปโดยเร็ว ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนได้ ข้อ ๘ เมื่อได้สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดพักราชการไว้แล้ว หากมีเหตุตามข้อ ๗ จะสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ข้อ ๙ ให้นำข้อ ๓ ข้อ ๔ และข้อ ๖ มาใช้บังคับแก่การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนโดยอนุโลม ข้อ ๑๐ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จะต้องสั่งให้ออกตั้งแต่วันใด ให้นำข้อ ๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่สำหรับการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนในกรณีตามข้อ ๘ ให้สั่งให้ออกตั้งแต่วันพักราชการเป็นต้นไป ข้อ ๑๑ การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๐ ขึ้นไป ออกจากราชการไว้ก่อน ให้ดำเนินการเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ข้อ ๑๒ เมื่อได้สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาแล้ว ภายหลังปรากฏผลการสอบสวนพิจารณาเป็นประการใด ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็ให้สั่งลงโทษให้เป็นไปตามมาตรา ๘๖ (๒) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดวินัย และไม่กรณีที่จะต้องออกจากราชการด้วยเหตุใด ๆ ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันที่ต้องใช้คุณสมบัติเฉพาะที่ผู้นั้นมีอยู่ แต่สำหรับการสั่งให้ผู้ถูกสั่งพักราชการกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกัน และการสั่งให้ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกัน ซึ่งเป็นตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๐ ขึ้นไปให้ดำเนินการเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามมาตรา ๔๔ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี (๓) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่จะลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก และไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการด้วยเหตุอื่น ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการตาม (๒) แล้วดำเนินการตามมาตรา ๘๕ ต่อไป (๔) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำความผิดวินัยยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่จะลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก แต่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการด้วยเหตุอื่น ก็ให้ดำเนินการตามมาตรา ๘๕ แล้วสั่งให้ออกจากราชการตามเหตุนั้นโดยไม่ต้องสั่งให้กลับเข้ารับราชการ ส่วนการดำเนินการตามมาตรา ๘๕ นั้น ถ้าเป็นกรณีที่จะสั่งลงโทษตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน การสั่งลงโทษดังกล่าวห้ามมิให้สั่งย้อนหลังไปก่อนวันพักราชการหรือวันให้ออกราชการไว้ก่อน (๕) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดวินัย แต่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการด้วยเหตุอื่นก็ให้สั่งให้ออกจากราชการตามเหตุนั้นโดยไม่ต้องสั่งให้กลับเข้ารับราชการ ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๑๘๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗/๙ กันยายน ๒๕๑๘
319600
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชกพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงในกรณีดังต่อไปนี้ เป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยตามมาตรา ๑๐๓ หรือมาตรา ๑๐๙ โดยไม่สอบสวนก็ได้ คือ (๑) กระทำหรือละเว้นกระทำการใดจนต้องคำพิพากษาถึงที่สุดชี้ขาดว่าผู้นั้นกระทำผิดหรือต้องรับผิดในคดี และผู้บังคับบัญชาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า การกระทำหรือละเว้นกระทำการของผู้นั้นเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง (๒) กระทำผิดในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. ได้พิจารณาสอบสวนและมีมติว่า กรณีมีมูลว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และผู้บังคับบัญชาเห็นว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ประธานกรรมการ ป.ป.ป. ส่งเรื่องให้ดำเนินการทางวินัยได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้ว (๓) กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงและให้ถ้อยคำรับสารภาพในข้อเท็จจริงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา หรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือต่อคณะกรรมการสอบสวน ข้อ ๒ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีดังต่อไปนี้เป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๐๙ โดยไม่สอบสวนก็ได้ คือ (๑) กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๒) กระทำหรือละเว้นกระทำการใดจนต้องคำพิพากษาถึงที่สุดชี้ขาดว่าผู้นั้นกระทำผิดหรือต้องรับผิดในคดี และผู้บังคับบัญชาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า การกระทำหรือละเว้นกระทำการของผู้นั้นเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และผู้นั้นไม่ติดใจที่จะนำสืบหักล้างข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาล (๓) ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ และผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการสืบสวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร และการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการนั้นเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง (๔) ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันและผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการสืบสวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร หรือเห็นว่ามีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ (๕) กระทำผิดในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. ได้พิจารณาสอบสวนและมีมติว่า กรณีมีมูลว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และผู้บังคับบัญชาเห็นว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ประธานกรรมการ ป.ป.ป. ส่งเรื่องให้ดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้ว และผู้นั้นไม่ติดใจที่จะนำสืบหักล้างข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. มีมติ (๖) กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและให้ถ้อยคำรับสารภาพในข้อเท็จจริงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา หรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือต่อคณะกรรมการสอบสวน ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้ กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๒๕ บัญญัติว่า การดำเนินการทางวินัยในกรณีที่เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. จะดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวนก็ได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐/ตอนที่ ๑๖๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๘/๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๖
304197
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๑๐๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา ระยะเวลาให้พักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๓ เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสาม วรรคสี่ หรือวรรคห้า มาตรา ๑๐๔ วรรคสาม หรือมาตรา ๑๐๙ วรรคสาม แล้วแต่กรณี จะสั่งให้ผู้นั้นพักราชการได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือเกี่ยวกับความประพฤติหรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ และผู้ที่ถูกฟ้องนั้นพนักงานอัยการมิได้รับเป็นทนายแก้ต่างให้ และผู้มีอำนาจดังกล่าวพิจารณาเห็นว่าถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ (๒) ผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าถ้าคงอยู่ในหน้าที่ราชการจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนพิจารณา หรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น (๓) ผู้นั้นอยู่ในระหว่างถูกควบคุมหรือขังโดยเป็นผู้ถูกจับในคดีอาญาหรือต้องจำคุกโดยคำพิพากษา และได้ถูกควบคุม ขัง หรือต้องจำคุก เป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่าสิบห้าวันแล้ว (๔) ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวนและต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุด ว่าเป็นผู้กระทำความผิดอาญาในเรื่องที่สอบสวนนั้น หรือผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวนภายหลังที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดอาญาในเรื่องที่สอบสวนนั้น และผู้มีอำนาจดังกล่าวพิจารณาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าการกระทำความผิดอาญาของผู้นั้นเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ข้อ ๔ การสั่งพักราชการให้สั่งพักตลอดเวลาที่สอบสวนพิจารณา เว้นแต่กรณีผู้ถูกสั่งพักได้ร้องทุกข์และผู้มีอำนาจพิจารณาเห็นว่าคำร้องทุกข์ฟังขึ้นและไม่สมควรที่จะสั่งพักราชการ ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการก่อนการสอบสวนพิจารณาเสร็จสิ้นได้ ข้อ ๕ ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนหลายสำนวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหลายคดี เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือผู้ที่ถูกฟ้องนั้น พนักงานอัยการรับเป็นทนายแก้ต่างให้ ถ้าจะสั่งพักราชการให้สั่งพักทุกสำนวนและทุกคดี ในกรณีที่ได้สั่งพักราชการในสำนวนใดหรือคดีใดไว้แล้ว ภายหลังปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนในสำนวนอื่น หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาในคดีอื่นเพิ่มขึ้นอีก เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือผู้ที่ถูกฟ้องนั้นพนักงานอัยการรับเป็นทนายแก้ต่างให้ ก็ให้สั่งพักราชการในสำนวนหรือคดีอื่นที่เพิ่มขึ้นนั้นด้วย ข้อ ๖ การสั่งพักราชการ ห้ามมิให้สั่งพักย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่งเว้นแต่ (๑) ผู้ซึ่งจะถูกสั่งพักราชการอยู่ในระหว่างถูกควบคุมหรือขังโดยเป็นผู้ถูกจับในคดีอาญา หรือต้องจำคุกโดยคำพิพากษา การสั่งพักราชการในเรื่องนั้นให้สั่งพักย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกควบคุม ขัง หรือต้องจำคุก (๒) ในกรณีที่ได้มีการสั่งพักราชการไว้แล้วถ้าจะต้องสั่งใหม่เพราะคำสั่งเดิมไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง ให้สั่งพักตั้งแต่วันให้พักราชการตามคำสั่งเดิม หรือตามวันที่ควรต้องพักราชการในขณะที่ออกคำสั่งเดิม ข้อ ๗ คำสั่งพักราชการต้องระบุชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกสั่งพัก ตลอดจนกรณีและเหตุที่สั่งให้พักราชการ เมื่อได้มีคำสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดพักราชการแล้ว ให้แจ้งคำสั่งให้ผู้นั้นทราบพร้อมทั้งส่งสำเนาคำสั่งให้ด้วยโดยพลัน ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งให้ผู้นั้นทราบได้ หรือผู้นั้นไม่ยอมรับทราบคำสั่ง ให้ปิดสำเนาคำสั่งไว้ ณ ที่ทำการที่ผู้นั้นรับราชการอยู่และมีหนังสือแจ้งพร้อมกับส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปให้ผู้นั้น ณ ที่อยู่ของผู้นั้นซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ ในกรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้นสิบวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นได้ทราบคำสั่งพักราชการแล้ว ข้อ ๘ เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีเหตุที่อาจถูกสั่งพักราชการตามข้อ ๓ และผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสาม วรรคสี่ หรือวรรคห้า มาตรา ๑๐๔ วรรคสาม หรือมาตรา ๑๐๙ วรรคสาม แล้วแต่กรณี พิจารณาเห็นว่าการสอบสวนพิจารณา หรือการพิจารณาคดีที่เป็นเหตุที่อาจถูกสั่งพักราชการนั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ผู้มีอำนาจดังกล่าวจะสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนก็ได้ ให้นำข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนโดยอนุโลม ข้อ ๙ เมื่อได้สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดพักราชการไว้แล้ว ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสาม วรรคสี่ หรือวรรคห้า มาตรา ๑๐๔ วรรคสาม หรือมาตรา ๑๐๙ วรรคสาม แล้วแต่กรณี จะพิจารณาตามข้อ ๘ และสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ข้อ ๑๐ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จะสั่งให้ออกตั้งแต่วันใด ให้นำข้อ ๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่สำหรับการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนในกรณีตามข้อ ๙ ให้สั่งให้ออกตั้งแต่วันพักราชการเป็นต้นไป ข้อ ๑๑ การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๐ ขึ้นไป ออกจากราชการไว้ก่อน ให้ดำเนินการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ข้อ ๑๒ เมื่อได้สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา ถ้าภายหลังปรากฏผลการสอบสวนพิจารณาเป็นประการใดแล้วให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็ให้สั่งลงโทษให้เป็นไปตามมาตรา ๑๐๔ หรือมาตรา ๑๓๘ แล้วแต่กรณี (๒) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการ ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ทั้งนี้ สำหรับการสั่งให้ผู้ถูกสั่งพักราชการกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ซึ่งเป็นตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๐ ขึ้นไป ให้ดำเนินการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้วดำเนินการตามมาตรา ๑๐๓ หรือมาตรา ๑๓๘ แล้วแต่กรณี (๓) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการ ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ทั้งนี้ สำหรับการสั่งให้ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ซึ่งเป็นตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๐ ขึ้นไป ให้ดำเนินการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้วดำเนินการตามมาตรา ๑๐๓ หรือมาตรา ๑๓๘ แล้วแต่กรณี (๔) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น แต่ไม่อาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เนื่องจากมีอายุครบหกสิบปีบริบูณ์และได้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว ก็ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๐๓ หรือมาตรา ๑๓๘ แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการ การดำเนินการตามมาตรา ๑๐๓ หรือมาตรา ๑๓๘ ในกรณีที่จะสั่งลงโทษตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือน การสั่งลงโทษดังกล่าวให้สั่งย้อนหลังไปถึงวันสุดท้ายก่อนวันพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (๕) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่นแต่ไม่อาจสั่งให้กลับเข้ารับราชการได้เนื่องจากมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์และสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นั้นแล้ว ก็ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๐๓ หรือมาตรา ๑๓๘ แล้วแต่กรณี และมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อให้ผู้นั้นเป็นผู้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และให้นำ (๔) วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม (๖) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง แต่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น ก็ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๐๓ หรือมาตรา ๑๓๘ แล้วแต่กรณี แล้วสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามเหตุนั้นโดยไม่ต้องสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือกลับเข้ารับราชการ และให้นำ (๔) วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม (๗) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดวินัย และไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการ ก็ให้สั่งยุติเรื่อง และให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือกลับเข้ารับราชการตาม (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี (๘) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นมิได้กระทำผิดวินัยและไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น แต่ไม่อาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เนื่องจากมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์และได้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว ก็ให้สั่งยุติเรื่อง (๙) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้นมิได้กระทำผิดวินัยและไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น แต่ไม่อาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการได้เนื่องจากมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์และสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นั้นแล้ว ก็ให้สั่งยุติเรื่องและมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อให้ผู้นั้นเป็นผู้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (๑๐) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดวินัย แต่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น ก็ให้สั่งให้ออกจากราชการตามเหตุนั้นโดยไม่ต้องสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือกลับเข้ารับราชการ ข้อ ๑๓ การออกคำสั่งพักราชการ คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือคำสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือกลับเข้ารับราชการ ให้มีสาระสำคัญตามแบบ พอก. ๑ พอก. ๒ พอก. ๓ หรือ พอก. ๔ แล้วแต่กรณี ท้ายกฎ ก.พ. นี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. แบบ พอก. ๑ ๒. แบบ พอก. ๒ ๓. แบบ พอก. ๓ ๔. แบบ พอก. ๔ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๐๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า การสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒/ตอนที่ ๕๒ ก/หน้า ๑๐/๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๘
304194
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำหรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่ง
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่ง[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้าย พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนี้ (๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ๑ (๒) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๒ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ๒ (๓) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ๓ (๔) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๔ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ๔ (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๕ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ๕ (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๖ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ๖ (๗) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๗ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ๗ (๘) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๘ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ๘ (๙) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๙ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ๙ (๑๐) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๐ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ๑๐ (๑๑) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับ ๑๑ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ ๑๑ ข้อ ๒ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด โดยได้รับเงินเดือนในอันดับตามข้อ ๑ ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งนั้น เว้นแต่ (๑) ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ (๒) ผู้นั้นได้รับประกาศนียบัตรประโยคมัธยมวิสามัญศึกษาตอนปลาย (ม.๖) ประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นสายสามัญ (ม.ศ. ๓) ประกาศนียบัตรศึกษาตอนต้น (ม.๓) ประกาศนียบัตรประโยคเตรียมอุดมศึกษา (ม.๘) ประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ (ม.ศ. ๕) ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๖) หรือประกาศนียบัตรตามหลักสูตรอื่นใดที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๓) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ และ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง และกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใด ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๔) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้น และ ก.พ. รับรองว่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในอันดับและขั้นใด อธิบดีผู้บังคับบัญชาหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีอาจปรับให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ ก.พ. กำหนดได้ (๕) ในกรณีที่ ก.พ. กำหนดเงินเดือนขั้นต้นสำหรับตำแหน่งใด ระดับใด ในสายงานใด ไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งนั้น ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนั้นได้รับเงินเดือนในขั้นที่ ก.พ. กำหนด (๖) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในระดับที่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม ให้ได้รับเงินเดือนในแต่ละกรณีดังนี้ (ก) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับและขั้นที่ได้รับอยู่เดิม (ข) ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งโดยเป็นความประสงค์ของตัวข้าราชการ ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่จะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ. นี้ แต่ถ้าผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นสูงของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง (๗) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ถ้าได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งนั้น ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในขั้นที่เทียบได้ตรงกันกับขั้นเงินเดือนของอันดับเดิม ตามตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่จะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งท้ายกฎ ก.พ.นี้ ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๕๑ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๙ และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ได้รับเงินเดือนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ข้อ ๔ กรณีอื่นนอกจากที่ได้กำหนดไว้ในกฎ ก.พ.นี้ ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. ตารางเทียบขั้นเงินเดือนแต่ละอันดับที่จะได้รับเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญจะได้รับเงินเดือนตามตำแหน่ง ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด จะได้รับเงินเดือนในอันดับใดตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามที่ ก.พ. กำหนดโดยให้ได้รับในขั้นต่ำของอันดับ ในกรณีที่จะให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำหรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐/ตอนที่ ๔๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๗/๗ เมษายน ๒๕๓๖
317573
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๑๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก.พ. ออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎ ก.พ. นี้ “ปี” หมายความว่า ปีงบประมาณ “รอบปีที่แล้วมา” หมายความว่าระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ของปีหนึ่ง ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ของปีถัดไป ข้อ ๒ ภายใต้บังคับแห่งข้อ ๗ (๒) การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญประจำปี ให้เลื่อนตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ของปีที่ได้เลื่อนนั้น ข้อ ๓ การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญให้เลื่อนได้ไม่เกินขั้นสูงของเงินเดือนสำหรับตำแหน่ง ผู้ซึ่งได้รับเงินเดือนเท่าหรือสูงกว่าขั้นสูงของเงินเดือนสำหรับตำแหน่งที่ดำรงอยู่แล้ว จะเลื่อนขั้นเงินเดือนมิได้ ข้อ ๔ การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายพิจารณาโดยคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณงานของตำแหน่งและผลงานที่ได้ปฏิบัติมาการรักษาวินัย ตลอดจนความสามารถและความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน การพิจารณาผลงานของข้าราชการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณา แล้วรายงานผลการพิจารณานั้นพร้อมด้วยข้อควรพิจารณาประกอบอื่น ๆ เช่น วันลา การมาสาย การรักษาวินัย ต่อไปยังผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ในการพิจารณารายงานตามวรรคสอง ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือแต่ละระดับที่ได้รับรายงานเสนอความเห็นไปเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนด้วย ข้อ ๕ การพิจารณาผลการปฏิบัติงาน ให้นับช่วงเวลาการปฏิบัติราชการในรอบปีที่แล้วมาเป็นเกณฑ์ เว้นแต่ผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๗ (๗) (๘) ให้นับช่วงเวลาปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่าแปดเดือนเป็นเกณฑ์พิจารณา ในกรณีข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดโอน เลื่อนตำแหน่งย้าย สับเปลี่ยนหน้าที่ ไปช่วยราชการในต่างกระทรวงทบวงกรมหรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานนอกเหนือหน้าที่ หรืองานพิเศษอื่นใดในรอบปีที่แล้วมา ก็ให้นำผลงานของผู้นั้นทุกตำแหน่งและทุกแห่งมาประกอบการพิจารณาด้วย ข้อ ๖ เมื่อผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนได้รับรายงานการพิจารณาจากผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๔ แล้วเห็นว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดปฏิบัติงานตามหน้าที่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรหรือไม่อยู่ในหลักเกณฑ์เลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตามข้อ ๗ ก็ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนสำหรับผู้นั้น ในกรณีผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาเห็นว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดปฏิบัติงานตามหน้าที่ได้ผลดี และอยู่ในหลักเกณฑ์เลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตามข้อ ๗ ก็ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้นั้นได้หนึ่งขั้น และถ้าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดปฏิบัติงานดีเด่นตามหลักเกณฑ์ข้อ ๘ ด้วย จะเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้นั้นเป็นกรณีพิเศษเกินกว่าหนึ่งขั้นแต่ไม่เกินสองขั้นก็ได้ ถ้าจะเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดเป็นกรณีพิเศษเกินกว่าสองชั้น จะต้องปรากฏด้วยว่าผู้นั้นมีความรู้ ความประพฤติ และความสามารถดี มีผลงานดีเด่นเป็นที่น่าชมเชย และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ข้าราชการโดยทั่วไปยิ่งกว่าผู้ที่ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษสองขั้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เว้นแต่ตำแหน่งปลัดกระทรวงให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้พิจารณา ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและมีหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ให้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการนั้น หรือนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณี ข้อ ๗ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ซึ่งจะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ในรอบปีที่แล้วมาได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนด้วยความสามารถ และด้วยความอุตสาหะจนเกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สมควรจะได้เลื่อนขั้นเงินเดือน (๒) ในรอบปีที่แล้วมาจนถึงวันออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ต้องไม่ถูกลงโทษทางวินัย เว้นแต่โทษภาคทัณฑ์ ในกรณีที่ข้าราชการผู้ใดอยู่ในหลักเกณฑ์ที่สมควรได้เลื่อนขั้นเงินเดือน แต่ได้ถูกงดเลื่อนขั้นเงินเดือนเพราะถูกลงโทษทางวินัยหลังรอบปีที่แล้วมาในกรณีนั้นมาแล้ว ผู้บังคับบัญชาจะเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นผู้ซึ่งถูกลงโทษตัดเงินเดือนจะเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ต่อเมื่อพ้นโทษตัดเงินเดือนแล้ว หรือถ้าเป็นผู้ซึ่งถูกลงโทษลดขั้นเงินเดือนจะเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ต่อเมื่อได้ถูกลงโทษลดขั้นเงินเดือนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน (๓) ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่ถูกสั่งพักราชการเกินกว่าสี่เดือน (๔) ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่มีวันลามาก โดยถือเกณฑ์วันลารวมทั้งลากิจและลาป่วยไม่เกินสี่สิบห้าวัน เว้นแต่ (ก) ลาอุปสมบท หรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมือง เมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยได้รับรับเงินเดือนระหว่างลาตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนระหว่างลาของข้าราชการพลเรือนและตุลาการ (ข) ลาคลอดบุตรไม่เกินหกสิบวัน (ค) ลาป่วยซึ่งจำเป็นต้องรักษาตัวเป็นเวลานานไม่ว่าคราวเดียวหรือหลายคราวรวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันหรือ (ง) ลาป่วยเพราะประสบอันตรายในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือในขณะเดินทางไปหรือกลับจากปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (๕) ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่ลาบ่อยครั้ง หรือมาทำงานสายกว่าเวลาที่ทางราชการกำหนดเนือง ๆ (๖) ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่ขาดราชการ เว้นแต่เพราะเหตุสุดวิสัย (๗)ในปีที่แล้วมาได้รับบรรจุเข้ารับราชการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าแปดเดือน (๘) ในรอบปีที่แล้วมาถ้าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาในประเทศหรือไปศึกษา ฝึกอบรม หรือดูงาน ณ ต่างประเทศ ตามระเบียบว่าด้วยการให้ข้าราชการไปศึกษา ฝึกอบรม และดูงาน ณ ต่างประเทศ ต้องได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในรอบปีที่แล้วมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าแปดเดือน ข้อ ๘ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ซึ่งจะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีเกินกว่าหนึ่งขั้น ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๗ และในหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย คือ (๑) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ได้ผลดีเด่นจนถือเป็นตัวอย่างที่ดีได้ (๒) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่มีการต่อสู้หรือที่ต้องเสี่ยงอันตรายเป็นกรณีพิเศษ (๓) ปฏิบัติงานเกินกว่าตำแหน่งหน้าที่จนเกิดประโยชน์ต่อทางราชการเป็นพิเศษ และปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ของตนเป็นผลดีด้วย (๔) ปฏิบัติงานโดยมีความคิดริเริ่มในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือได้ค้นคว้าหรือประดิษฐ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทางราชการเป็นพิเศษ และทางราชการได้ดำเนินการตามความคิดริเริ่ม หรือได้รับรองให้ใช้การค้นคว้าหรือสิ่งประดิษฐ์นั้น (๕) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วยความตรากตรำเหน็ดเหนื่อยเป็นพิเศษและงานนั้นได้ผลดียิ่ง (๖) ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดจนสำเร็จเป็นผลดียิ่งแก่ประเทศชาติ ข้อ ๙ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดซึ่งผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเห็นสมควรให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างถูกสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยหรือถูกฟ้องในคดีอาญาก่อนมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้รอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ก่อน และให้กันเงินสำหรับเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ด้วย เมื่อสอบสวนพิจารณาเสร็จแล้วในปีใด ผู้นั้นไม่ถูกลงโทษทางวินัย เว้นแต่ถูกลงโทษภาคทัณฑ์ หรือไม่ถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษ หรือไม่มีมลทินหรือมัวหมอง ก็ให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนในปีนั้นได้ และให้สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนย้อนหลังไปในแต่ละปีที่ต้องรอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ให้ตามสิทธิด้วย ข้อ ๑๐ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดซึ่งผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเห็นสมควรให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนแต่ได้ถึงแก่กรรมอันมิใช่เกิดขึ้นเนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตน หรือต้องไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร หรือต้องออกจากราชการไปเพราะเจ็บป่วยซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจแล้วเห็นว่า ไม่สามารถรับราชการต่อไปได้อีกเลย ก่อนที่จะมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีตามปกติ ผู้บังคับบัญชาจะสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ผู้นั้นย้อนหลังไปถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ของปีที่มีสิทธิจะได้เลื่อนนั้นก็ได้ ข้อ ๑๑ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดซึ่งผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเห็นสมควรให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน แต่จะต้องพ้นจากราชการไปเพราะเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ผู้บังคับบัญชาจะสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญให้ผู้นั้นในวันสิ้นปีก่อนที่จะพ้นจากราชการก็ได้ ข้อ ๑๒ การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญนอกจากตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ หรือที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ แต่ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพิจารณาเห็นว่าสมควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้นั้นโดยมีเหตุผลเป็นกรณีพิเศษ ก็ให้ผู้บังคับบัญชาเสนอ ก.พ. เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ผู้บังคับบัญชาสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้เป็นพิเศษเฉพาะราย บทเฉพาะกาล ข้อ ๑๓ ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ สำหรับผู้ที่ถูกสั่งพักราชการหรือผู้ที่ไปศึกษาในประเทศ หรือไปศึกษา ฝึกอบรม หรือดูงาน ณ ต่างประเทศ ตามระเบียบว่าด้วยการให้ข้าราชการไปศึกษา ฝึกอบรม และดูงาน ณ ต่างประเทศ ให้นำความในข้อ ๔ (๑๐) (๑๑) (๑๒) และ (๑๓) แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒๗๙ (พ.ศ. ๒๕๐๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๖๗๗ (พ.ศ. ๒๕๑๕) และฉบับที่ ๗๘๔ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาใช้บังคับแก่ผู้นั้น แล้วแต่กรณี ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๐๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๒๗ สิงหาคม ๒๕๑๙
304190
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) มาตรา ๑๐๔ และมาตรา ๑๐๕ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก.พ.ออกกฎ ก.พ.ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษหรือคำสั่งให้ออกจากราชการ ให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์ และให้อุทธรณ์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะอุทธรณ์แทนคนอื่นหรือมอบหมายให้คนอื่นอุทธรณ์แทนไม่ได้ ข้อ ๒ เพื่อประโยชน์ในการอุทธรณ์ ผู้จะอุทธรณ์อาจขอตรวจหรือคัดรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนได้ ส่วนบันทึกถ้อยคำพยานบุคคลหรือเอกสารอื่น ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้สั่งลงโทษหรือสั่งให้ออกจากราชการที่จะอนุญาตหรือไม่ โดยให้พิจารณาถึงประโยชน์ในทางการรักษาวินัยของข้าราชการ เหตุผลและความจำเป็นเป็นเรื่อง ๆ ไป ข้อ ๓ การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือนตามมาตรา ๑๐๔ ซึ่งต้องอุทธรณ์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ให้อุทธรณ์ต่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกลงโทษ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สั่งลงโทษให้อุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกลงโทษ ในกรณีที่ปลัดกระทรวงเป็นผู้สั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของผู้ถูกลงโทษ ในกรณีที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้สั่งลงโทษ ให้อุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล กรณีเช่นนี้ ให้ ก.พ. เป็นผู้พิจารณาเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ ข้อ ๔ การอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๓ ให้ยื่นหนังสืออุทธรณ์พร้อมด้วยสำเนาถูกต้องหนึ่งฉบับต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้สั่งลงโทษ และให้ผู้บังคับบัญชานั้นส่งหนังสืออุทธรณ์พร้อมด้วยสำนวนการพิจารณาโทษและคำชี้แจงของตนถ้าจะพึงมีต่อไปยังผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๓ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหนังสืออุทธรณ์ ข้อ ๕ ให้ผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๓ พิจารณาวินิจฉัยสั่งการให้เสร็จภายในสิบห้าวัน นับแต่วันได้รับหนังสืออุทธรณ์และสำนวนการพิจารณาโทษ ข้อ ๖ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๓ พิจารณาเห็นว่าการสั่งลงโทษสมควรแก่ความผิดแล้วก็ให้สั่งยกอุทธรณ์ หรือถ้าเห็นว่าการสั่งลงโทษนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ก็ให้สั่งเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือยกโทษ ตามควรแก่กรณี ตามอำนาจที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๒ วรรคสอง และวรรคสาม เมื่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๓ ได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้แจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๓ สั่งยกอุทธรณ์หรือสั่งลดโทษ ผู้ถูกลงโทษจะอุทธรณ์ต่อไปมิได้ แต่ถ้าสั่งเพิ่มโทษ ผู้ถูกลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์ได้อีกชั้นหนึ่ง ข้อ ๗ การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ หรือคำสั่งให้ออกจากราชการเว้นแต่ให้ออกราชการไว้ก่อน ซึ่งตามมาตรา ๑๐๕ ต้องอุทธรณ์ต่อ ก.พ. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งนั้น จะยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อ ก.พ. โดยตรง หรือจะยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาเดิมก็ได้ ในกรณีที่ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาเดิม ให้นำข้อ ๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ผู้อุทธรณ์จะยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือหรือขอแถลงการด้วยวาจาเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.พ.ก็ได้ แต่ต้องยื่นหรือทำคำขอเป็นหนังสือก่อน ก.พ. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จ ข้อ ๘ การพิจารณาอุทธรณ์ตามตามข้อ ๗ ให้นำข้อ ๖ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการตามมติของ ก.พ. แล้ว ให้สำนักงาน ก.พ. แจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว และผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษหรือคำสั่งให้ออกจากราชการนั้นต่อไปมิได้ ข้อ ๙ การนับเวลาตามกฎ ก.พ. นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้นให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับเวลา ส่วนเวลาสุดสิ้นนั้น ถ้าวันสุดท้ายแห่งเวลาตรงกับวันหยุดราชการให้นับวันเริ่มเปิดราชการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งเวลา ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๑๘๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๔๘/๙ กันยายน ๒๕๑๘
304192
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยโรค
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๓๕ ว่าด้วยโรค[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๓๐ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ โรคตามมาตรา ๓๐ (๕) คือ (๑) โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม (๒) วัณโรคในระยะอันตราย (๓) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม (๔) โรคติดยาเสพติดให้โทษ (๕) โรคพิษสุราเรื้อรัง ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ เกษม สุวรรณกุล รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๓๐ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่าผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการการพลเรือน ต้องไม่เป็นโรคตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๗/หน้า ๘/๓ สิงหาคม ๒๕๓๕
304193
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการเลือกข้าราชการพลเรือนเข้าร่วมเป็น อ.ก.พ. วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๓๕ ว่าด้วยการเลือกข้าราชการพลเรือนเข้าร่วมเป็น อ.ก.พ. วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้กรมแต่ละกรม เป็นหน่วยเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นผู้แทนกรมไปเลือกกันเองเป็น อ.ก.พ. วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ สำหรับสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงและสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง ให้อยู่ในหน่วยเลือกของสำนักงานปลัดกระทรวงหรือสำนักงานปลัดทบวง แล้วแต่กรณี ข้อ ๒ เมื่อกรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจะถึงกำหนดพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้ (๑) ให้สำนักงาน ก.พ. แจ้งให้กรมต่าง ๆ ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันและให้กรมต่าง ๆ ดำเนินการเลือกข้าราชการพลเรือนในสังกัดเป็นผู้แทนกรม กรมละหนึ่งคน แล้วแจ้งชื่อและตำแหน่งของผู้แทนกรมไปให้สำนักงาน ก.พ. ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับแจ้งจากสำนักงาน ก.พ. (๒) ให้สำนักงาน ก.พ. จัดทำบัญชีรายชื่อและตำแหน่งของผู้แทนกรมขึ้นไว้ แล้วส่งบัญชีนั้นไปให้ผู้แทนกรมทราบก่อนวันเลือกตาม (๓) ไม่น้อยกว่าห้าวัน (๓) ให้สำนักงาน ก.พ. มีหนังสือนัดผู้แทนกรมไปออกเสียงลงคะแนนตามจำนวนวัน เวลา สถานที่ และวิธีการที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด เพื่อเลือกผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ.วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ การออกเสียงลงคะแนน ผู้แทนกรมต้องไปออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง (๔) เมื่อผู้แทนกรมได้ออกเสียงลงคะแนนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการซึ่งสำนักงาน ก.พ. แต่งตั้งมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนดำเนินการตรวจนับคะแนนโดยเปิดเผยติดต่อกันไปจนเสร็จ แล้วให้ เลขาธิการ ก.พ.ประกาศรายชื่อและตำแหน่งของผู้ได้รับเลือกเรียงตามลำดับคะแนนจากสูงลงไปหาต่ำไว้ ในที่เปิดเผย ณ สำนักงาน ก.พ.แล้วแจ้งให้กรมต่าง ๆ ทราบ (๕) ให้สำนักงาน ก.พ. เสนอบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตาม (๔) ต่อ ก.พ. แล้วให้ ก.พ.ตั้งผู้ได้รับเลือกที่ได้คะแนนสูงตามลำดับเข้าร่วมเป็น อ.ก.พ. วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนอนุกรรมการทั้งหมด ในกรณีที่ผู้ที่จะได้รับการตั้งได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ ก.พ. จับสลากเพื่อเรียงลำดับที่ ข้อ ๓ ในกรณีที่ตำแหน่งอนุกรรมการซึ่ง ก.พ. ตั้งจากข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตาม ข้อ ๒ (๕) ว่างลง ให้สำนักงาน ก.พ. เสนอบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตามข้อ ๒ (๕) ต่อ ก.พ.เพื่อพิจารณาตั้งผู้ได้รับเลือกลำดับที่ถัดลงไปเป็นอนุกรรมการแทน ข้อ ๔ การเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อตั้งผู้ได้รับเลือกเข้าร่วมเป็น อ.ก.พ. วิสามัญ ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ ในระยะเริ่มแรกที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้กรมต่าง ๆ ดำเนินการเลือกข้าราชการพลเรือนในสังกัดเป็นผู้แทนกรมกรมละหนึ่งคน แล้วแจ้งชื่อและตำแหน่งของผู้แทนกรมไปให้สำนักงาน ก.พ.ทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันถัดจากวันที่กฎ ก.พ.นี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการต่อไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ โดยอนุโลม ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เกษม สุวรรณกุล รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่าการเลือกข้าราชการพลเรือนเข้าร่วมเป็น อ.ก.พ. วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๙๖/หน้า ๑๕/๑๔ กันยายน ๒๕๓๕
304195
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยอำนาจการลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยอำนาจการลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) และมาตรา ๑๐๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ในกฎ ก.พ. นี้ “หัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่ากอง” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าส่วนราชการและดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๕ ลงมา และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรา ๔๓ ให้บังคับบัญชาส่วนราชการหรือหน่วยงานในฐานะหัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่ากองด้วย “ผู้อำนวยการกองหรือหัวหน้ากอง” หมายความรวมถึงหัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งระดับ ๘ ระดับ ๗ หรือระดับ ๖ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรา ๔๓ ให้บังคับบัญชาส่วนราชการหรือหน่วยงานในฐานะผู้อำนวยการกองหรือหัวหน้ากองด้วย “หัวหน้าส่วนราชการที่สูงกว่ากอง” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าส่วนราชการและดำรงตำแหน่งระดับ ๙ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรา ๔๓ ให้บังคับบัญชาส่วนราชการหรือหน่วยงานในฐานะหัวหน้าส่วนราชการที่สูงกว่ากองด้วย ข้อ ๓ เลขานุการกรม ผู้อำนวยการกองหรือหัวหน้ากอง และหัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่ากองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง มีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หรือตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกิน ๕% และเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน ข้อ ๔ หัวหน้าส่วนราชการที่สูงกว่ากองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง มีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หรือตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกิน ๕% และเป็นเวลาไม่เกินสองเดือน ข้อ ๕ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ปลัดกระทรวง อธิบดีและผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรา ๔๓ ให้บังคับบัญชาส่วนราชการ หรือหน่วยงานในฐานะอธิบดี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง มีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หรือตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกิน ๕% และเป็นเวลาไม่เกินสามเดือน หรือลดขั้นเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกินหนึ่งขั้น ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้คือ โดยที่มาตรา ๑๐๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า การลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ผู้บังคับบัญชาใดจะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ในสถานโทษและอัตราโทษใด ได้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐/ตอนที่ ๑๖๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑/๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๖
304189
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๙ (พ.ศ.๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณา เรื่องร้องทุกข์[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก.พ. ออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ข้าราชการพลเรือนสามัญร้องทุกข์ได้สำหรับตนเองเท่านั้นจะร้องทุกข์แทนคนอื่นหรือมอบหมายให้คนอื่นร้องทุกข์แทนไม่ได้ ข้อ ๒ เหตุร้องทุกข์ต้องเกิดจากผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์โดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนเป็นกรณีที่ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ในการนี้ให้ร้องทุกข์ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือควรได้ทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ข้อ ๓ การร้องทุกข์ ในชั้นต้นให้ร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งเสียก่อน หากได้รับคำชี้แจงไม่เป็นที่พอใจหรือไม่ได้รับคำชี้แจงภายในเจ็ดวันนับแต่วันร้องทุกข์ด้วยวาจา จึงให้ผู้ร้องทุกข์นั้นยื่นเรื่องร้องทุกข์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๗ ภายในสามวันนับแต่วันทราบคำชี้แจงหรือไม่ได้รับคำชี้แจง แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ร้องทุกข์ในเรื่องกำหนดเวลาตามข้อ ๒ ข้อ ๔ ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่อาจร้องทุกข์ด้วยวาจาตามข้อ ๓ ได้ก็ให้ยื่นเรื่องร้องทุกข์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๗ ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือควรได้ทราบเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ ข้อ ๕ เมื่อได้รับคำร้องทุกข์ด้วยวาจาจากผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ผู้บังคับบัญชาชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ร้องทุกข์โดยเร็ว หากเป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวไม่อาจชี้แจงได้ ก็ให้รีบรายงานตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจ การรับคำร้องทุกข์ด้วยวาจา การชี้แจงทำความเข้าใจหรือไม่อาจชี้แจงได้ให้ผู้บังคับบัญชาบันทึกไว้ ข้อ ๖ การร้องทุกข์เป็นหนังสือ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้ (๑) ระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ร้องทุกข์ (๒) ระบุความประสงค์ของการร้องทุกข์ (๓) ลงลายมือชื่อและตำแหน่งของผู้ร้องทุกข์ ข้อ ๗ การร้องทุกข์เป็นหนังสือ ให้ร้องต่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดผู้บังคับบัญชา แล้วแต่กรณี ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดผู้บังคับบัญชาให้ร้องต่อปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์ ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชาให้ร้องต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ในกรณีที่เหตุร้องทุกข์เกิดจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ให้ร้องต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล กรณีเช่นนี้ ให้ ก.พ. เป็นผู้พิจารณาเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ ข้อ ๘ ให้ผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๗ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับเรื่องร้องทุกข์นั้น แล้วแจ้งคำวินิจฉัยให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว การวินิจฉัยของผู้บังคับบัญชาให้เป็นที่สุด จะร้องทุกข์ต่อไปอีกมิได้ ข้อ ๙ การนับเวลาตามกฎ ก.พ.นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้นให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับเวลา ส่วนเวลาสิ้นสุดนั้น ถ้าวันสุดท้ายแห่งเวลาตรงกับวันหยุดราชการให้นับวันเริ่มเปิดราชการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งเวลา ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๑๘๖/หน้าพิเศษ ๔๔/๙ กันยายน ๒๕๑๘
319598
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๕) มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้สำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนราชการที่มี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. ทบวง อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และ อ.ก.พ. จังหวัดแต่ละส่วนราชการ เป็นหน่วยเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการ ใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ แล้วแต่กรณี ข้อ ๒ การเลือกข้าราชการพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๔ (๒) มาตรา ๑๖ (๒) มาตรา ๑๗ (๒) มาตรา ๑๘ (๒) มาตรา ๑๙ (๒) มาตรา ๒๑ (๒) และมาตรา ๒๓ (๒) เพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. ทบวง อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และ อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี ในกรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการก่อนที่อนุกรรมการใน อ.ก.พ. นั้น ๆ จะพ้นจากตำแหน่งตามวาระไม่น้อยกว่าหกสิบวัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้ (๑) ให้ส่วนราชการตามข้อ ๑ จัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๔ (๒) มาตรา ๑๖ (๒) มาตรา ๑๗ (๒) มาตรา ๑๘ (๒) มาตรา ๑๙ (๒) มาตรา ๒๑(๒) และมาตรา ๒๓ (๒) แล้วแต่กรณี โดยหัวหน้าส่วนราชการนั้น ๆ จะมอบหมาย ให้ส่วนราชการใดในสังกัดเป็นผู้จัดทำก็ได้ แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้น ๆ ทราบ (๒) ในกรณีที่ในหน่วยเลือกของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยเลือกของส่วนราชการที่มี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. ทบวง หรือ อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง มีผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อหน่วยเลือกละไม่เกินห้าคน หรือในหน่วยเลือกของส่วนราชการที่มี อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด มีผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อหน่วยเลือกละไม่เกินหกคน ซึ่งมีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. ของหน่วยเลือกดังกล่าว ให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก เพื่อเสนอประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งเป็น อนุกรรมการใน อ.ก.พ. ของหน่วยเลือกนั้น ๆ แล้วแต่กรณี (๓) ในกรณีที่หน่วยเลือกใดมีผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อเกินกว่าจำนวนใน (๒) ให้ส่วนราชการตาม (๑) ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ก. นัดให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ ณ สถานที่ที่กำหนด แล้วแจกบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนตามแบบท้ายกฎ ก.พ. นี้ ซึ่งลงลายมือชื่อของหัวหน้าส่วนราชการตามข้อ ๑ แล้ว ให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อดังกล่าวในวันลงคะแนน เพื่อให้เลือกผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ แล้วแต่กรณีโดยเขียนชื่อและนามสกุลของผู้ซึ่งตนเลือกไม่เกินจำนวนใน (๒) พร้อมกับลงลายมือชื่อของผู้เลือกลงในบัตรเลือกข้าราชการพลเรือน แล้วหย่อนบัตรดังกล่าวลงในหีบบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนที่ส่วนราชการนั้น ๆ จัดไว้ให้ ภายในเวลาที่ส่วนราชการนั้น ๆ กำหนด ข. ส่งบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนตามแบบท้ายกฎ ก.พ. นี้ ซึ่งลงลายมือชื่อของหัวหน้าส่วนราชการตาม ข้อ ๑ แล้ว ไปให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อดังกล่าวเพื่อให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นเลือกข้าราชการพลเรือนจากรายชื่อในบัญชีรายชื่อนั้น เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ แล้วแต่กรณี โดยเขียนชื่อและนามสกุลของผู้ซึ่งตนเลือกไม่เกินจำนวนใน (๒) พร้อมกับลงลายมือชื่อของผู้เลือกลงในบัตรเลือกข้าราชการพลเรือน แล้วส่งบัตรดังกล่าวพร้อมกับภาพถ่ายบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้เลือกกลับคืนให้ส่วนราชการตาม ข้อ ๑ ภายในวันที่ส่วนราชการนั้น ๆ กำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนส่วนราชการตามข้อ ๑ โดยตรง ให้ถือวันที่ส่วนราชการตามข้อ ๑ ได้รับบัตรเป็นวันส่ง ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์รับลงทะเบียนเป็นวันส่ง ในกรณีที่ส่งบัตรกลับคืนทางไปรษณีย์ไม่ลงทะเบียน ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตราไปรษณีย์เป็นวันส่ง (๔) ให้ส่วนราชการตามข้อ ๑ รวบรวมบัตรเลือกข้าราชการพลเรือน ตาม (๓) ก. หรือ(๓) ข. แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการตรวจนับคะแนน โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจนับคะแนนขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๘ ขึ้นไป จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน (๕) การตรวจนับคะแนนของคณะกรรมการตาม (๔) ให้กระทำโดยเปิดเผย และต้องมีกรรมการอยู่พร้อมกันไม่น้อยกว่าสามคน บัตรเลือกข้าราชการพลเรือนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นบัตรเสียและไม่ให้นับเป็นคะแนนคือ ก. บัตรที่ไม่มีลายมือชื่อของหัวหน้าส่วนราชการตามข้อ ๑ ข. บัตรที่เลือกเกินจำนวนตาม (๒) ค. บัตรที่มีรอยขูด ลบ ขีดฆ่า ตกเติม หรือเขียนซ้ำ โดยไม่ลงลายมือชื่อผู้เลือกกำกับ ง. บัตรที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อผู้เลือก จ. บัตรที่ไม่ได้หย่อนลงหีบบัตรเลือกข้าราชการพลเรือนตาม (๓) ก. ฉ. บัตรที่ส่งกลับคืนช้ากว่าวันที่ส่วนราชการตามข้อ ๑ กำหนดตาม (๓) ข. เมื่อตรวจนับคะแนนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกโดยเรียงตามลำดับคะแนนจากสูงไปหาต่ำพร้อมกับแสดงคะแนนของแต่ละคนไว้ในบัญชีด้วย ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากัน ให้หัวหน้าส่วนราชการตามข้อ ๑ จับสลากชื่อผู้ได้คะแนนเท่ากันนั้นต่อหน้า คณะกรรมการตรวจนับคะแนนเพื่อเรียงลำดับที่บัญชีรายชื่อดังกล่าวให้มีกรรมการไม่น้อยกว่าสามคนลงลายมือชื่อรับรอง แล้วให้หัวหน้าส่วนราชการตามข้อ ๑ ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกโดยปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ ส่วนราชการนั้น ๆ (๖) ให้ผู้ได้รับเลือกตามบัญชีรายชื่อใน (๕) ที่ได้คะแนนสูงตามลำดับห้าคนที่มีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. ทบวง อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวงได้ และผู้ได้รับเลือกตามบัญชีรายชื่อใน (๕) ที่ได้คะแนนสูงตามลำดับหกคนที่มีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และ อ.ก.พ. จังหวัดได้ เป็นผู้ได้รับเลือก เพื่อเสนอประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. ของหน่วยเลือกนั้น ๆ แล้วแต่กรณีต่อไป ข้อ ๓ ในกรณีที่อนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการใด ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามข้อ ๒ (๖) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ และจะต้องแต่งตั้งอนุกรรมการแทน ให้ประธานอ.ก.พ. แต่งตั้งผู้ได้รับเลือกตามข้อ ๒(๕) ที่เหลืออยู่ในบัญชีรายชื่อที่ได้คะแนนสูงตามลำดับ และมีคุณสมบัติที่จะแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้นแทนต่อไป ในกรณีที่ไม่มีผู้ได้รับเลือกซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนเหลืออยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว ให้ดำเนินการเลือก ใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อ ๒ ข้อ ๔ การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๔ (๑) มาตรา ๑๖ (๑) มาตรา ๑๗ (๑) มาตรา ๑๘ (๑) มาตรา ๑๙ (๑) มาตรา ๒๑ (๑) และมาตรา ๒๓ (๑) เพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. ทบวง อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และ อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี ในกรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการก่อนที่อนุกรรมการใน อ.ก.พ. นั้น ๆ จะพ้นจากตำแหน่งตามวาระไม่น้อยกว่าหกสิบวัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้ (๑) ให้ส่วนราชการตามข้อ ๑ แจ้งให้อนุกรรมการโดยตำแหน่งใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ และข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับเลือกจำนวนห้าคนหรือหกคน แล้วแต่กรณี ตามข้อ ๒ (๒) หรือ (๖) เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๔ (๑) มาตรา ๑๖ (๑) มาตรา ๑๗ (๑) มาตรา ๑๘ (๑) มาตรา ๑๙ (๑) มาตรา ๒๑ (๑)และมาตรา ๒๓ (๑) ซึ่งยินยอมให้เสนอชื่อ ไปยังส่วนราชการตามข้อ ๑ ภายในเวลาที่ส่วนราชการดังกล่าวกำหนด ทั้งนี้ ให้ผู้เสนอชื่อแต่ละคนเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้ด้านละหนึ่งคน พร้อมทั้งผลงานโดยย่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ละคน โดยจะเสนอชื่อผู้ใดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิไว้ในหลายด้านก็ได้ (๒) ให้ส่วนราชการตามข้อ ๑ ทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีผู้เสนอชื่อตาม (๑) แยกเป็นด้านต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๔ (๑) มาตรา ๑๖ (๑) มาตรา ๑๗ (๑) มาตรา ๑๘ (๑) มาตรา ๑๙ (๑) มาตรา ๒๑ (๑) และมาตรา ๒๓ (๑) พร้อมทั้งระบุผลงานโดยย่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ละคนไว้ด้วย ในกรณีที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้าน ก็ให้ระบุชื่อผู้นั้นไว้ทุกด้าน (๓) ให้ส่วนราชการตามข้อ ๑ จัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างอนุกรรมการ โดยตำแหน่งใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ กับข้าราชการพลเรือน ซึ่งได้รับเลือกจำนวนห้าคนหรือหกคน แล้วแต่กรณี ตามข้อ ๒ (๒) หรือ (๖) เพื่อร่วมกันสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๔ (๑) มาตรา ๑๖ (๑) มาตรา ๑๗ (๑) มาตรา ๑๘ (๑) มาตรา ๑๙ (๑) มาตรา ๒๑ (๑) และมาตรา ๒๓ (๑) จากบัญชีรายชื่อตาม (๒) โดยให้ประธาน อ.ก.พ. เป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธาน อ.ก.พ. ไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกผู้เข้าประชุมคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม (๔) ให้ผู้เข้าประชุมตาม (๓) แต่ละคน เลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อตาม (๒) ด้านละหนึ่งคนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ (๕) ให้ส่วนราชการตามข้อ ๑ ตรวจนับคะแนนการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๔) แล้วจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเลือกในแต่ละด้านไว้ โดยเรียงตามลำดับคะแนนจากสูงไปหาต่ำ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมตาม (๓) จับสลากชื่อผู้ได้คะแนนเท่ากันนั้นเพื่อเรียงลำดับที่ (๖) ให้ผู้ที่อยู่ในลำดับที่หนึ่งในบัญชีตาม (๕) ในแต่ละด้านเป็นผู้ได้รับเลือกเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกซึ่งอยู่ในลำดับที่หนึ่งในด้านใดไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในด้านนั้นด้วยเหตุใด ๆ ให้ผู้ที่ได้รับเลือกซึ่งอยู่ในลำดับถัดมา ในด้านนั้นเป็นผู้อยู่ในลำดับที่หนึ่งแทน ในกรณีที่ผู้ใดได้รับเลือกอยู่ในลำดับที่หนึ่งหลายด้าน ให้ผู้เสนอชื่อผู้นั้นเป็นผู้เลือกว่าจะให้ผู้นั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในบัญชีด้านใด ถ้ามีผู้เสนอชื่อผู้นั้นหลายคน ให้ผู้เสนอชื่อผู้นั้นร่วมกันเลือก (๗) ให้ส่วนราชการตามข้อ ๒ (๑) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๖) โดยปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ ส่วนราชการนั้น ๆ และนำรายชื่อดังกล่าวเสนอประธาน อ.ก.พ. เพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการนั้น ๆ พร้อมกับผู้ได้รับการเลือกตามข้อ ๒ (๖) ต่อไป ข้อ ๕ ในกรณีที่อนุกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านใดใน อ.ก.พ.สามัญใด พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ และจะต้องแต่งตั้งอนุกรรมการการแทน ให้ดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในด้านนั้นใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อ ๔ โดยอนุโลม เพื่อเสนอประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งเป็นอนุกรรมการแทนต่อไป ข้อ ๖ จำนวนผู้ได้รับเลือกตามข้อ ๒ (๒) หรือ (๖) หาก ก.พ. กำหนดให้กระทรวง ทบวง กรมใด มีจำนวนอนุกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๒) มาตรา ๑๖ (๒) มาตรา ๑๗ (๒) มาตรา ๑๘ (๒) มาตรา ๑๙ (๒) มาตรา ๒๑(๒) หรือมาตรา ๒๓(๒) แล้วแต่กรณี น้อยกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรานั้น ๆ ให้เปลี่ยนเป็นจำนวนตามที่ ก.พ. กำหนดนั้น ข้อ ๗ การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญประจำส่วนราชการต่าง ๆ ในระยะเริ่มแรกที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ดำเนินการตามกฎ ก.พ. นี้ โดยอนุโลม ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เกษม สุวรรณกุล รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. บัตรเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ ท้ายกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๓๕ ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือก ข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ ข้าพเจ้า .............................................................................. เลือกผู้มีชื่อข้างท้ายนี้เพื่อเป็น อนุกรรมการใน อ.ก.พ. ................................................................ (ให้ระบุว่า อ.ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. ทบวง อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี) ๑. ......................................................................................... ๒. ......................................................................................... ๓. ......................................................................................... ๔. ......................................................................................... ๕. ......................................................................................... ๖. ......................................................................................... (ลายมือชื่อ) .......................................... ผู้เลือก (....................................... ) (ลายมือชื่อ) .................................................... (.................................................. ) ตำแหน่ง .................................. (หัวหน้าส่วนราชการตามข้อ ๑) หมายเหตุ ๑. การเลือก อ.ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. ทบวง และ อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง ให้เลือกได้หน่วยละไม่เกิน ๕ ชื่อ ๒. การเลือก อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. ส่วนราชการที่มีฐานะเป็น กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด ให้เลือกได้หน่วยละไม่เกิน ๖ ชื่อ ๓. ในกรณีตามข้อ ๒ (๓) ข. ให้ส่งภาพถ่ายบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้เลือกไปยังส่วนราชการตามข้อ ๑ พร้อมกับบัตรเลือกนี้ภายในวันที่ ................................................................................................................................. หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่ตามมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติให้การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. ทบวง อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและ อ.ก.พ. จังหวัด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๘๓/หน้า ๘/๓ สิงหาคม ๒๕๓๕
304188
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๘๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก.พ.ออกกฎ ก.พ.ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีดังต่อไปนี้ เป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง คือ (๑) กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๒) ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน และผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการสืบสวนแล้ว เห็นว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือเห็นว่ามีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ข้อ ๒ กรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามข้อ ๑ ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ หรือมาตรา ๙๒ วรรคสาม แล้วแต่กรณี จะสั่งลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก โดยไม่สอบสวนก็ได้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๑๘๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๕/๙ กันยายน ๒๕๑๘
327558
กฎ ก.พ.ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ ก.พ. จึงออกกฎ ก.พ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑[๑] กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อครบหกสิบวันนับแต่วันออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาตั้งแต่วันใช้บังคับกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๓ เพื่อให้ได้ความจริงและความยุติธรรม การสอบสวนพิจารณาข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๔ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้แต่งตั้งจากข้าราชการประจำประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอีกอย่างน้อยสองคนเป็นกรรมการสอบสวนและให้มีเลขานุการหนึ่งคน เลขานุการจะให้เป็นกรรมการสอบสวนด้วยก็ได้ หรือจะแต่งตั้งให้กรรมการสอบสวนคนใดคนหนึ่งเป็นเลขานุการด้วยก็ได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการอีกหนึ่งคนก็ได้ ในกรณีที่แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นประธานกรรมการให้แต่งตั้งจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา แต่ในกรณีที่แต่งตั้งข้าราชการประจำประเภทอื่นเป็นประธานกรรมการ ให้แต่งตั้งจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการสอบสวนต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร หรือผู้ได้รับปริญญาทางกฎหมาย หรือผู้ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรการดำเนินการทางวินัยหรือผู้มีประสบการณ์ด้านการดำเนินการทางวินัย เป็นกรรมการสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคน เมื่อได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว แม้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของประธานกรรมการหรือของผู้ถูกกล่าวหา และทำให้ประธานกรรมการมีตำแหน่งระดับต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือมีตำแหน่งเทียบได้ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงฐานะการเป็นประธานกรรมการ ข้อ ๕ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต้องระบุชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา และเรื่องที่กล่าวหา ตลอดจนชื่อและตำแหน่งของผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวน ทั้งนี้ ให้ทำตามแบบ สว. ๑ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของผู้ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งไม่กระทบกระเทือนถึงฐานะการเป็นประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวน ข้อ ๖ เมื่อได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมทั้งส่งสำเนาคำสั่งให้ด้วยโดยพลัน ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบได้หรือผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมรับทราบคำสั่งให้ปิดสำเนาคำสั่งไว้ ณ ที่ทำการที่ผู้ถูกกล่าวหารับราชการอยู่ และมีหนังสือแจ้งพร้อมกับส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ ในกรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้นสิบวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปให้ประธานกรรมการ กรรมการทุกคน เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการทราบ พร้อมกับส่งเรื่องที่กล่าวหาทั้งหมดและหลักฐานการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปให้ประธานกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไป ประธานกรรมการทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวันใดให้บันทึกวันรับทราบคำสั่งเป็นหลักฐานรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย ข้อ ๗ เมื่อประธานกรรมการได้รับคำสั่งแต่งตั้งและเรื่องที่กล่าวหาทั้งหมดตามข้อ ๖ แล้ว ให้ประธานกรรมการดำเนินการประชุมคณะกรรมการสอบสวน เพื่อพิจารณาเรื่องที่กล่าวหาว่ามีข้อกล่าวหาอย่างไร เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตราใดมีองค์ประกอบความผิดอย่างไรและวางแนวทางสอบสวนค้นหาข้อเท็จจริง พยานหลักฐานตลอดจนรายละเอียดของพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา และองค์ประกอบความผิดตามข้อกล่าวหา เพื่อให้การสอบสวนได้ความจริง ยุติธรรมและแล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป ข้อ ๘ ประธานกรรมการและกรรมการมีหน้าที่ต้องมาประชุมโดยสม่ำเสมอ การประชุมคณะกรรมการสอบสวนต้องมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด เว้นแต่การประชุมตามข้อ ๑๖ และข้อ ๓๓ ต้องมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่น้อยกว่าสามคน และไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม การประชุมคณะกรรมการสอบสวนต้องมีประธานกรรมการอยู่ร่วมประชุมด้วย เว้นแต่ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการต่างท้องที่ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธาน มติของคณะกรรมการสอบสวนถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือเสียงข้างมากของกรรมการสอบสวนที่อยู่ในที่ประชุม กรรมการสอบสวนคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ ๙ ผู้ถูกกล่าวหาอาจคัดค้านผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งมีเหตุอันจะทำให้การสอบสวนไม่ได้ความจริงและความยุติธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้ (๑) เป็นผู้ได้รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะกระทำผิดวินัยตามเรื่องที่กล่าวหา (๒) เป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียในเรื่องที่สอบสวน (๓) เป็นผู้มีเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหา (๔) เป็นคู่สมรส หรือญาติโดยเกี่ยวข้องเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานหรือพี่น้องร่วมบิดาและมารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดากับผู้กล่าวหา การคัดค้าน ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือนับแต่วันทราบเหตุแห่งการคัดค้าน โดยแสดงเหตุผลที่คัดค้านนั้นด้วยว่าจะทำให้การสอบสวนไม่ได้ความจริงและยุติธรรมอย่างไร ในกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่า การคัดค้านนั้นไม่มีเหตุอันควรรับฟัง ก็ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งยกคำคัดค้าน และให้พิจารณาสั่งการให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือคัดค้าน แล้วรีบแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่คัดค้านทราบและส่งเรื่องให้คณะกรรมการสอบสวนรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน การสั่งยกคำคัดค้านให้เป็นที่สุด ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่สั่งยกคำคัดค้านภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าการคัดค้านนั้นมีเหตุรับฟังได้ และให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งให้ผู้ที่ถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นประธานกรรมการ กรรมการเลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่า การคัดค้านนั้นมีเหตุอันควรรับฟังได้ ก็ให้สั่งผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งให้ผู้ที่ถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการ และให้พิจารณาสั่งการให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือคัดค้าน แต่ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่า การให้ผู้ที่ถูกคัดค้านซึ่งเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะกระทำผิดวินัยตามเรื่องที่กล่าวหาร่วมในคณะกรรมการสอบสวนด้วยจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า เพราะจะทำให้ได้ความจริง จะสั่งยกคำคัดค้านก็ได้โดยแสดงเหตุผลว่าจะได้ความจริงอย่างไร ทั้งนี้ ให้สั่งการให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือคัดค้าน แล้วรีบแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่คัดค้านทราบ และส่งเรื่องให้คณะกรรมการสอบสวนไว้ในสำนวนการสอบสวน การสั่งยกคำคัดค้านให้เป็นที่สุด ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่สั่งการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าการคัดค้านนั้นมีเหตุรับฟังได้ และให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งให้ผู้ที่ถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการโดยเร็ว การที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งให้ผู้ที่ถูกคัดค้านพ้นจากการเป็นประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการ ไม่กระทบกระเทือนถึงการสอบสวนที่ผู้นั้นได้ร่วมดำเนินการไปแล้ว ข้อ ๑๐ ในกรณีที่ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการคนใดเห็นว่าตนเองมีเหตุอันอาจถูกคัดค้านตามข้อ ๙ วรรคหนึ่ง ให้ผู้นั้นรายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและให้นำข้อ ๙ วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๑ ภายใต้บังคับข้อ ๔ เมื่อได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ามีเหตุอันสมควรหรือจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการคนใด หรือเปลี่ยนคณะกรรมการสอบสวนทั้งคณะหรือตั้งเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็ให้ดำเนินการได้โดยทำคำสั่งตามแบบคำสั่งของทางราชการ ทั้งนี้ ถ้ามีการแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการใหม่ ก็ให้ระบุชื่อและตำแหน่งของผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นด้วย และให้นำข้อ ๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบกระเทือนถึงการสอบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ข้อ ๑๒ ในการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนตามแนวทางที่กำหนดไว้ในข้อ ๗ และให้รวบรวมประวัติและความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหาเท่าที่จำเป็น เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนด้วย กรรมการสอบสวนแต่ละคนมีหน้าที่ช่วยกันค้นหาความจริงในเรื่องที่กล่าวหาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์วิธีการและกำหนดเวลาที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ และดูแลให้บังเกิดความยุติธรรมตลอดระยะเวลาที่ทำหน้าที่สอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนทำบันทึกการสอบสวนประจำวันไว้แต่ละวันด้วยว่า วันใดทำอะไรบ้าง ข้อ ๑๓ การสอบสวนต้องดำเนินการตามกำหนดเวลาดังนี้ (๑) การแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ ๑๕ การรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา การประชุมพิจารณาว่าพยานหลักฐานมีน้ำหนักพอสนับสนุนข้อกล่าวหาหรือไม่ตามข้อ ๑๖ ตลอดจนการสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบตามข้อ ๑๗ หรือการทำรายงานการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๑๙ ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการได้ทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๖ ถ้ามีความจำเป็นซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวดังกล่าวไม่ได้ให้คณะกรรมการสอบสวนรายงานเหตุที่ทำให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จเพื่อขอขยายเวลาสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อนวันครบกำหนดเวลาและให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งขยายเวลาสอบสวนได้ตามความจำเป็น แต่ถ้าสั่งขยายเวลารวมกันแล้วเกินกว่าสามสิบวัน ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนรายงานต่อ ก.พ. เพื่อจะได้ติดตามเร่งรัดการสอบสวนต่อไป (๒) การรวบรวมพยานหลักฐานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา หรือพยานหลักฐานที่หักล้างข้อกล่าวหา การประชุมพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ตามข้อ ๓๓ ตลอดจนการทำรายงานการสอบสวนเสนอผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๓๔ ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบ หรือถือว่าได้ทราบสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามข้อ ๑๗ ในกรณีที่มีผู้ถูกกล่าวหาหลายคนและได้ทราบสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาไม่พร้อมกัน ให้นับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบหรือถือว่าได้ทราบพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเป็นคนสุดท้าย ถ้ามีความจำเป็นซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้ ให้คณะกรรมการสอบสวนรายงานเหตุที่ทำให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จเพื่อขอขยายเวลาสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อนวันครบกำหนดเวลาและให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งขยายเวลาสอบสวนได้ตามความจำเป็น แต่ถ้าสั่งขยายเวลารวมกันแล้วเกินกว่าสามสิบวัน ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนรายงานต่อ ก.พ. เพื่อจะได้ติดตามเร่งรัดการสอบสวนต่อไป ข้อ ๑๔ การนำเอกสารหรือวัตถุมาใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ให้ประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการทำบันทึกไว้ด้วยว่าได้มาอย่างไร จากผู้ใด และเมื่อใด เอกสารที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนให้ใช้ต้นฉบับที่แท้จริง แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจนำต้นฉบับมาได้จะใช้สำเนาที่ประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ รับรองว่าเป็นสำเนาที่ถูกต้องกับต้นฉบับที่แท้จริงก็ได้ ถ้าหาต้นฉบับเอกสารไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลาย หรือโดยเหตุประการอื่น จะให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้ ข้อ ๑๕ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้พิจารณาเรื่องที่กล่าวหาและวางแนวทางสอบสวนตามข้อ ๗ แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาเพื่อแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาที่ปรากฏตามเรื่องที่กล่าวหาให้ทราบ โดยแจ้งให้ทราบด้วยว่าข้อกล่าวหาที่ปรากฏตามเรื่องที่กล่าวหากรณีใดเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตราใด รวมทั้งแจ้งให้ทราบด้วยว่าในการสอบสวนนี้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะได้รับแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา และมีสิทธิที่จะให้ถ้อยคำหรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตลอดจนอ้างพยานหลักฐานหรือนำพยานหลักฐานมาสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๗ ทั้งนี้ การแจ้งดังกล่าวให้ทำบันทึกตามแบบ สว. ๒ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ โดยทำเป็นสองฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อรับทราบไว้ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้ลงลายมือชื่อรับทราบแล้วให้มอบให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับ อีกหนึ่งฉบับเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวน เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้วให้คณะกรรมการสอบสวนถามผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ อย่างไร ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนบันทึกถ้อยคำรับสารภาพรวมทั้งสาเหตุการกระทำผิดไว้ และคณะกรรมการสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนต่อไปก็ได้ หรือถ้าเห็นเป็นการสมควรที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อันเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาโดยละเอียด จะทำการสอบสวนต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้ แล้วดำเนินการตามข้อ ๓๓ และข้อ ๓๔ ต่อไป ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามิได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพ ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาแล้วดำเนินการตามข้อ ๑๖ ต่อไป ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มารับทราบข้อกล่าวหา หรือมาแล้วแต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนส่งบันทึกตามแบบ สว. ๒ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ พร้อมทั้งมีหนังสือสอบถามผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ การแจ้งข้อกล่าวหาในกรณีเช่นนี้ให้ทำบันทึกตามแบบ สว. ๒ เป็นสามฉบับ เก็บไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับ ส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาสองฉบับเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบส่งกลับคืนมาเข้าสำนวนการสอบสวนไว้หนึ่งฉบับ ในกรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้นสิบวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าว แม้ยังไม่ได้รับคำตอบจากผู้ถูกกล่าวหาก็ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อกล่าวหาแล้ว และให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการตามวรรคสี่ต่อไป ข้อ ๑๖ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาเสร็จแล้ว ให้ประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณามีมติว่าพยานหลักฐานมีน้ำหนักพอสนับสนุนข้อกล่าวหาหรือไม่ แล้วดำเนินการตามข้อ ๑๗ หรือข้อ ๑๙ แล้วแต่กรณี ต่อไป ข้อ ๑๗ ในกรณีที่การประชุมลงมติตามข้อ ๑๖ มีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด เห็นว่าพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหามีน้ำหนักพอสนับสนุนว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาแล้วสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ทราบ โดยระบุวัน เวลา สถานที่ ลักษณะการกระทำเท่าที่ปรากฏอันเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหา สำหรับพยานบุคคลจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ และถ้าปรากฏตามพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาที่ได้แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบตามข้อ ๑๕ เปลี่ยนแปลงไปเป็นข้อกล่าวหาใหม่ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตราอื่นหรืออย่างอื่นก็ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาใหม่นั้นให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย ทั้งนี้ การแจ้งดังกล่าวให้ทำบันทึกตามแบบ สว. ๓ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ โดยทำเป็นสองฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อรับทราบไว้เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้ลงลายมือชื่อรับทราบแล้ว ให้มอบให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับ อีกหนึ่งฉบับเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวน เมื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนถามผู้ถูกกล่าวหาว่าจะยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือหรือไม่ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือ ให้คณะกรรมการสอบสวนให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหายื่นคำชี้แจงภายในเวลาอันสมควรแต่อย่างช้าไม่เกินสิบวันนับแต่วันที่ได้ทราบสุรปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาและให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาด้วย ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ประสงค์จะยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือ ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาโดยเร็ว การนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะนำพยานหลักฐานมาเองหรือจะอ้างพยานหลักฐานขอให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานหลักฐานนั้นมาก็ได้ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เสร็จแล้ว ให้ดำเนินการตามข้อ ๓๓ และข้อ ๓๔ ต่อไป ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มารับทราบสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาหรือมาแล้วแต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้คณะกรรมการสอบสวนส่งบันทึกตามแบบ สว. ๓ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ พร้อมทั้งมีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงตลอดจนนัดให้มาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา การแจ้งในกรณีเช่นนี้ให้บันทึกตามแบบ สว. ๓ เป็นสามฉบับเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวนหนึ่งฉบับ ส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาสองฉบับเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบส่งกลับคืนมาเข้าสำนวนการสอบสวนไว้หนึ่งฉบับ ในกรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้นสิบวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าว แม้ยังไม่ได้รับบันทึกตามแบบ สว. ๓ คืน ไม่ได้รับคำชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคำตามนัด ก็ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาแล้ว และไม่ประสงค์ที่จะแก้ข้อกล่าวหา คณะกรรมการสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนต่อไปก็ได้หรือถ้าเห็นเป็นการสมควรที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จะทำการสอบสวนต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้ แล้วดำเนินการตามข้อ ๓๓ และข้อ ๓๔ ต่อไป แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหามาขอให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หรือขอนำสืบแก้ข้อกล่าวหาก่อนที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอสำนวนการสอบสวนตามข้อ ๓๔ โดยมีเหตุผลอันสมควร ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามที่ผู้ถูกกล่าวหาร้องขอ ข้อ ๑๘ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาตามข้อ ๑๗ เสร็จแล้ว และก่อนเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๓๔ ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าจำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ให้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น และถ้าได้พยานหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนสรุปพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนข้อกล่าวหานั้นให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำและนำสืบหักล้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนข้อกล่าวหาด้วย ทั้งนี้ ให้นำข้อ ๑๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๙ ในกรณีที่การประชุมลงมติตามข้อ ๑๖ ไม่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด ให้ถือว่าพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาไม่มีน้ำหนักพอสนับสนุนข้อกล่าวหาและให้คณะกรรมการสอบสวนยุติการสอบสวนแล้วทำรายงานการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๓๔ ต่อไป ในการทำรายงานการสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างใด หรือเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนนั้น ให้คณะกรรมการสอบสวนทำรายงานให้ปรากฏไว้ด้วย เมื่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๓๒ ได้รับรายงานและสำนวนการสอบสวนตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รีบพิจารณาสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้โดยเร็ว (๑) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างใดก็ให้สั่งยุติเรื่อง (๒) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็ให้พิจารณาสั่งการตามควรแก่กรณี (๓) ถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหามีน้ำหนักพอสนับสนุนว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ผู้ถูกสอบสวนนั้น ซึ่งจะให้รับราชการต่อไปอาจจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ก็ให้สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการตามข้อ ๑๗ โดยระบุพยานหลักฐานที่เห็นว่ามีน้ำหนักนั้นส่งให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย (๔) ถ้าเห็นสมควรให้สอบสวนเพิ่มเติม ก็ให้ดำเนินการตามข้อ ๓๖ แล้วสั่งการตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี ข้อ ๒๐ ก่อนการสอบสวนแล้วเสร็จ ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งได้ยื่นคำชี้แจงหรือให้ถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหาไว้แล้ว จะยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติมหรือขอให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการสอบสวนอีกก็ได้ เมื่อการสอบสวนเสร็จแล้วและยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๓๒ ผู้ถูกกล่าวหาจะยื่นคำชี้แจงต่อบุคคลดังกล่าวก็ได้ และถ้าผู้ถูกกล่าวหายื่นคำชี้แจงก็ให้บุคคลดังกล่าวรับคำชี้แจงเข้าสำนวนการสอบสวนไว้ประกอบการพิจารณาด้วย ข้อ ๒๑ ในการสอบถามปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน คณะกรรมการสอบสวนจะต้องดำเนินการตามข้อ ๘ วรรคหนึ่ง และจะแต่งตั้งอนุกรรมการหรือมอบหมายให้กรรมการสอบสวนบางคนทำการสอบสวนแทนคณะกรรมการสอบสวนไม่ได้ ข้อ ๒๒ ก่อนเริ่มสอบถามปากคำพยาน ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งให้พยานทราบว่ากรรมการสอบสวนมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการสอบสวนอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อ ๒๓ ในการสอบถามปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ห้ามมิให้ประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการ ทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการล่อลวง ขู่เข็ญ หรือให้สัญญาเพื่อจูงใจให้บุคคลนั้นให้ถ้อยคำอย่างใด ๆ ข้อ ๒๔ ในการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน ห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าร่วมทำการสอบสวน เว้นแต่ผู้ที่ได้รับมอบหมายตามข้อ ๒๗ ในการสอบถามปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้จะถูกสอบถามปากคำเข้ามาในที่สอบสวนคราวละหนึ่งคนและห้ามมิให้บุคคลอื่นนอกจากผู้กำลังถูกสอบถามปากคำอยู่เข้าฟังการสอบสวน เว้นแต่บุคคลที่คณะกรรมการสอบสวนอนุญาตให้อยู่ในที่สอบสวนเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน การสอบถามปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ให้บันทึกถ้อยคำตามแบบ สว. ๔ หรือแบบ สว. ๕ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ แล้วแต่กรณี และเมื่อได้บันทึกถ้อยคำเสร็จแล้วให้อ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟัง หรือจะให้ผู้ให้ถ้อยคำอ่านเองก็ได้ เมื่อผู้ให้ถ้อยคำรับว่าถูกต้องแล้วก็ให้ผู้ให้ถ้อยคำและผู้บันทึกถ้อยคำลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และให้ประธานกรรมการ กรรมการ ตลอดจนเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการผู้ร่วมสอบสวนทุกคนลงลายมือชื่อรับรองไว้ในบันทึกถ้อยคำนั้นด้วย ประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการผู้ใดมิได้ร่วมสอบสวนในครั้งใด ห้ามมิให้ลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำที่สอบสวนในครั้งนั้น ถ้าบันทึกถ้อยคำมีหลายหน้าให้ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ร่วมสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนกับผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกหน้าด้วย ในกรณีผู้ให้ถ้อยคำไม่ยอมลงลายมือชื่อ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกถ้อยคำนั้น ในการบันทึกถ้อยคำ ห้ามมิให้ขูดลบหรือบันทึกข้อความทับ ถ้าจะต้องแก้ไขข้อความที่ได้บันทึกไว้แล้ว ให้ใช้วิธีขีดฆ่าหรือตกเติม และให้ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ร่วมสอบอย่างน้อยหนึ่งคนกับผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่งที่ขีดฆ่าหรือตกเติม ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๒๕ ในกรณีที่พยานไม่มาหรือไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือคณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานไม่ได้ภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการสอบสวนจะไม่สอบสวนพยานนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกการสอบสวนประจำวันตามข้อ ๑๒ และรายงานไว้ในรายงานการสอบสวนตามข้อ ๓๔ ด้วย ข้อ ๒๖ ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนพยานหลักฐานใด จะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น หรือมิใช่พยานหลักฐานในประเด็นสำคัญ คณะกรรมการสอบสวนจะงดการสอบสวนพยานหลักฐานนั้นเสียก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกการสอบสวนประจำวันตามข้อ ๑๒ และรายงานไว้ในรายงานการสอบสวนตามข้อ ๓๔ ด้วย ข้อ ๒๗ ในกรณีที่ต้องสอบสวนพยานซึ่งอยู่ต่างท้องที่ ประธานกรรมการจะรายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการมอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานในท้องที่นั้นทำการสอบสวนพยานแทนก็ได้ โดยกำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่จะต้องสอบสวนไปให้ ในกรณีเช่นนี้ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานเลือกข้าราชการประจำที่เห็นสมควรอย่างน้อยสองคนมาร่วมเป็นคณะทำการสอบสวน ให้คณะบุคคลตามวรรคหนึ่งมีฐานะเป็นคณะกรรมการสอบสวนตามกฎ ก.พ. นี้ และในการปฏิบัติหน้าที่ให้นำข้อ ๘ วรรคหนึ่ง ข้อ ๒๑ ข้อ ๒๒ ข้อ ๒๓ ข้อ ๒๔ และข้อ ๒๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๒๘ ในกรณีที่กรรมการสอบสวนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมดเห็นว่า กรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ประธานกรรมการรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยเร็ว ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรสอบสวน และควรให้คณะกรรมการสอบสวนที่ได้แต่งตั้งไว้แล้วทำการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องอื่นที่เพิ่มขึ้นนั้นด้วย ก็ให้ทำเป็นคำสั่งเพิ่มเติมขึ้น ทั้งนี้ ให้นำข้อ ๕ และข้อ ๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ในกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเดิม ก็ให้ระบุในคำสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนรวมเป็นสำนวนเดียวกัน หรือถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเดิม ก็ให้ระบุในคำสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแยกเป็นสำนวนใหม่ แต่ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นใหม่ เพื่อทำการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องที่ปรากฏเพิ่มขึ้นนั้น ก็ให้แต่งตั้งได้ ข้อ ๒๙ ในกรณีที่การสอบสวนปรากฏกรณีพาดพิงไปถึงข้าราชการพลเรือนผู้อื่น ให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาในเบื้องต้นว่าข้าราชการพลเรือนผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องที่สอบสวนด้วยหรือไม่ ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมดเห็นว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องที่สอบสวนนั้นด้วย ให้ประธานกรรมการรีบรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ในกรณีที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า กรณีมีมูลที่ควรสอบสวนและอาจให้คณะกรรมการสอบสวนที่ได้แต่งตั้งไว้แล้วทำการสอบสวนผู้ที่มีส่วนร่วมกระทำผิดนั้นต่อไปได้ ก็ให้ดำเนินการตามข้อ ๕ และข้อ ๖ โดยอนุโลม และให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ในกรณีเช่นนี้ให้ใช้พยานหลักฐานที่ได้ทำการสอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณากรณีของผู้มีส่วนร่วมกระทำผิดนั้นได้เท่าที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าไม่ทำให้เสียความเป็นธรรม และให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนรวมเป็นสำนวนเดียวกันได้ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่เพื่อทำการสอบสวนผู้มีส่วนร่วมกระทำผิด ก็ให้ดำเนินการตามข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๖ และให้คณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎก.พ. นี้ ในกรณีเช่นนี้ให้ใช้พยานหลักฐานที่คณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมได้ทำการสอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณาได้เท่าที่คณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่เห็นว่าไม่ทำให้เสียความเป็นธรรม และจะต้องทำสำเนาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในสำนวนการสอบสวนเดิมเข้ารวมไว้ในสำนวนการสอบสวนใหม่ หรือบันทึกให้ปรากฏว่านำพยานหลักฐานใดจากสำนวนการสอบสวนเดิมมาประกอบการพิจารณาในสำนวนการสอบสวนใหม่ก็ได้ ข้อ ๓๐ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อสอบสวนข้าราชการพลเรือนผู้ใด ในเรื่องที่ผู้นั้นหย่อนความสามารถด้วยเหตุใดในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการของตน หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ด้วยเหตุใด ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๗ และการสอบสวนเรื่องนั้นมีมูลว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งผู้บังคับบัญชาเห็นสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อสอบสวนผู้นั้นตามมาตรา ๘๖ ก็ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ในกรณีเช่นนี้คณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๘๖ จะนำสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๙๗ มาใช้เป็นสำนวนการสอบสวนได้เท่าที่เห็นว่าไม่ทำให้เสียความเป็นธรรม ข้อ ๓๑ ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดชี้ขาดว่าผู้ถูกกล่าวหาคนใดกระทำผิดหรือต้องรับผิดในคดีที่เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้ว คณะกรรมการสอบสวนจะถือเอาคำพิพากษานั้นเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาโดยไม่สอบสวนพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบตามข้อ ๑๗ ด้วย ถ้าผู้ถูกกล่าวหาไม่ติดใจที่จะนำสืบหักล้างข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาล คณะกรรมการสอบสวนจะฟังข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษานั้นโดยไม่ทำการสอบสวนพยานหลักฐานอื่นก็ได้ ข้อ ๓๒ ในระหว่างการสอบสวน แม้จะมีการย้าย โอน แต่งตั้งหรือสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปอยู่นอกบังคับบัญชาของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนต่อไปได้จนเสร็จ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสอบสวนรีบทำการสอบสวนแล้วทำรายงานการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจะได้ตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๓๗ ข้อ ๓๘ ข้อ ๓๙ และข้อ ๔๐ เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาใหม่ของผู้ถูกกล่าวหาเพื่อดำเนินการตามข้อ ๓๕ (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี ต่อไป ข้อ ๓๓ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เสร็จแล้ว ให้ประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณามีมติว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ในการประชุมลงมติตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมดจึงจะถือว่าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าไม่ได้คะแนนเสียงดังกล่าวให้คณะกรรมการสอบสวนวินิจฉัยโดยลงมติอีกครั้งหนึ่งว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอย่างไรหรือไม่ หรือมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีในกรณีที่ถูกสอบสวนนั้นหรือไม่ ในการลงมติครั้งนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แล้วทำรายงานการสอบสวนตามข้อ ๓๔ ต่อไป ข้อ ๓๔ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ประชุมลงมติตามข้อ ๓๓ แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนทำรายงานการสอบสวนเสนอความเห็นต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หากประธานกรรมการหรือกรรมการคนใดมีความเห็นแย้งให้ทำความเห็นแย้งแนบไว้กับรายงานการสอบสวนด้วย ในการรายงานการสอบสวนให้มีสาระสำคัญดังนี้ (๑) การสรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่ามีอย่างใดบ้าง ในกรณีที่ไม่สอบสวนพยานตามข้อ ๒๕ และข้อ ๒๖ ให้รายงานเหตุผลที่ไม่ได้สอบสวนนั้นให้ปรากฏไว้ด้วย และในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำรับสารภาพให้รายงานไว้ด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน หรือเพราะเหตุใดเพื่อประโยชน์อย่างใดของผู้ถูกกล่าวหา (๒) การวินิจฉัยเปรียบเทียบพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานที่หักล้างข้อกล่าวหา (ถ้ามี) ว่าควรรับฟังพยานหลักฐานฝ่ายใด เพียงใด โดยอาศัยเหตุผลอย่างไร (๓) ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยอย่างไร หรือไม่ ถ้ากระทำผิดเป็นความผิดในกรณีใด ตามมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด หรือผู้ถูกกล่าวหามีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนนั้นหรือไม่อย่างไร รายงานการสอบสวนให้ทำตามแบบ สว. ๖ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวน เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ทำรายงานการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งสารบาญต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้เสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว จึงจะถือว่าการสอบสวนแล้วเสร็จ ข้อ ๓๕ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้เสนอสำนวนการสอบสวนมาแล้ว ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตรวจสอบความถูกต้องของการสอบสวนตามข้อ ๓๗ ข้อ ๓๘ ข้อ ๓๙ และข้อ ๔๐ แล้วดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด สมควรยุติเรื่อง หรือกระทำผิดที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้พิจารณาสั่งการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนการสอบสวน ถ้าพิจารณาสั่งการไม่ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้รีบดำเนินการต่อไปโดยเร็ว และให้รายงานเหตุที่พิจารณาสั่งการไม่ทันนั้นต่อ ก.พ. ภายในเจ็ดวันนับแต่วันครบกำหนดสามสิบวัน เพื่อ ก.พ. จะได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป (๒) ในกรณีที่จะต้องส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวงหรือ อ.ก.พ. จังหวัดพิจารณาตามมาตรา ๘๖ ทวิ (๑) หรือ (๒) หรือในกรณีที่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนนั้น ซึ่งจะให้รับราชการต่อไปอาจจะเป็นการเสียหายแก่ราชการตามมาตรา ๙๘ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตราดังกล่าวส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนการสอบสวน ถ้ายังส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวงหรือ อ.ก.พ. จังหวัดไม่ได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้รีบดำเนินการเพื่อส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. จังหวัดโดยเร็ว และให้รายงานเหตุที่ยังส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. จังหวัดไม่ได้ต่อ ก.พ. ภายในเจ็ดวันนับแต่วันครบกำหนดสามสิบวัน เพื่อ ก.พ. จะได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ ให้รายงานเหตุความล่าช้าให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี ทราบด้วย (๓) ในกรณีที่จะต้องส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวงพิจารณาตามมาตรา ๘๖ ทวิ วรรคสอง ให้ผู้มีอำนาจตามมาตราดังกล่าวส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวงภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนการสอบสวน ถ้ายังส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวงไม่ได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็ให้รีบดำเนินการเพื่อส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวงโดยเร็วและให้รายงานเหตุที่ยังส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวงไม่ได้ต่อ ก.พ. ภายในเจ็ดวันนับแต่วันครบกำหนดสามสิบวัน เพื่อ ก.พ. จะได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ ให้รายงานเหตุความล่าช้าให้ อ.ก.พ. กระทรวงทราบด้วย ข้อ ๓๖ ในกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ หรือมาตรา ๙๒ วรรคสาม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กระทรวงหรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี เห็นสมควรให้สอบสวนเพิ่มเติมประการใด ก็ให้กำหนดประเด็นพร้อมทั้งส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ไปให้คณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมเพื่อดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมไม่อาจทำการสอบสวนได้ หรือผู้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมเห็นสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่ ก็ให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่ขึ้นทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้ และให้นำข้อ ๔ และข้อ ๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่จะต้องสอบสวนเพิ่มเติมตามข้อนี้ ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเมื่อสอบสวนเสร็จแล้วให้ส่งพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนเพิ่มเติมไปให้ผู้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมโดยไม่ต้องทำความเห็น ข้อ ๓๗ ในกรณีที่ปรากฏว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่ถูกต้องตามข้อ ๔ ให้สำนวนการสอบสวนทั้งหมดเสียไป และให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ หรือมาตรา ๙๒ วรรคสาม แล้วแต่กรณี สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้อง แล้วรายงานให้ ก.พ. ทราบโดยเร็ว ในกรณีเช่นนี้คณะกรรมการสอบสวนที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวนใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ และจะนำสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมมาใช้ได้เฉพาะเพื่อเป็นแนวทางในการสอบสวนใหม่เท่านั้น ข้อ ๓๘ ในกรณีที่ปรากฏว่าการสอบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้องให้การสอบสวนตอนนั้นเสียไปเฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) การประชุมของคณะกรรมการสอบสวนมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๘ วรรคหนึ่ง (๒) การลงมติไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง ข้อ ๑๙ วรรคหนึ่ง ข้อ ๒๘ ข้อ ๒๙ วรรคหนึ่ง หรือข้อ ๓๓ วรรคสอง (๓) การสอบถามปากคำบุคคลดำเนินการไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒๑ ข้อ ๒๓ ข้อ ๒๔ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง หรือข้อ ๒๗ ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ หรือมาตรา ๙๒ วรรคสาม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว ข้อ ๓๙ ในกรณีที่ปรากฏว่าคณะกรรมการสอบสวนไม่เรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบการสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา หรือไม่แจ้งข้อกล่าวหาที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้แจ้งไว้แล้วให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบตามข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง หรือไม่ส่งบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือไม่มีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง หรือนัดมาให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหาตามข้อ ๑๗ วรรคห้า ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ หรือมาตรา ๙๒ วรรคสาม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่จะยื่นคำชี้แจงให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๗ ด้วย ข้อ ๔๐ ในกรณีที่ปรากฏว่าการสอบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้องตามกฎ ก.พ. นี้ นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๗ ข้อ ๓๘ และข้อ ๓๙ และการสอบสวนตอนนั้นเป็นสาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรมให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ หรือมาตรา ๙๒ วรรคสาม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี สั่งให้แก้ไขหรือดำเนินการตอนนั้นให้ถูกต้องโดยเร็ว แต่ถ้าการสอบสวนตอนนั้นมิใช่สาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ผู้มีอำนาจดังกล่าวจะสั่งให้แก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องหรือไม่ก็ได้ ข้อ ๔๑ การนับเวลาตามกฎ ก.พ. นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้น ให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับเวลา แต่ถ้าเป็นกรณีขยายเวลาให้นับวันต่อจากวันสุดท้ายแห่งเวลาเดิมเป็นวันเริ่มเวลาที่ขยายออกไปส่วนเวลาสุดสิ้นนั้น ถ้าวันสุดท้ายแห่งเวลาตรงกับวันหยุดราชการ ให้นับวันเริ่มเปิดราชการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งเวลา ข้อ ๔๒ กฎ ก.พ. นี้ไม่ใช้บังคับแก่การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนที่ได้แต่งตั้งไว้ก่อนวันที่กฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับ และให้คณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ และให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ หรือมาตรา ๙๒ วรรคสาม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ต่อไป ถ้าการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนตามวรรคหนึ่งปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องอื่นอีก หรือมีข้าราชการพลเรือนผู้อื่น ร่วมกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องที่สอบสวนนั้นด้วยและเมื่อกฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าเป็นกรณีมีมูลที่ควรสอบสวน ก็ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘ พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. แบบ สว. ๑ ๒. บันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาตามข้อ ๑๕ (แบบ สว. ๒) ๓.บันทึกการแจ้งและรับทรายข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามข้อ ๑๗ (แบบ สว. ๓) ๔. บันทึกถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหา (แบบ สว. ๔) ๕. บันทึกถ้อยคำพยานของ (ฝ่ายกล่าวหาหรือฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา) (แบบ สว. ๕) ๖. รายงานการสอบสวน (แบบ สว. ๖) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๑๐๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๘
304187
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก.พ. ออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๘๖ และการสอบสวนพิจารณาเพื่อให้ได้ความจริงและยุติธรรม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการทีกำหนดในกฎ ก.พ. นี้ ข้อ ๒ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้แต่งตั้งจากข้าราชการที่เห็นสมควร โดยแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าสามคน และจะให้มีเลขานุการด้วยก็ได้ ประธานกรรมการต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า หรือดำรงตำแหน่งระดับไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา ข้อ ๓ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ทำเป็นหนังสือตามแบบคำสั่งของทางราชการระบุชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา และเรื่องที่ถูกกล่าวหา ตลอดจนชื่อและตำแหน่งของผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวน ข้อ ๔ เมื่อได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมทั้งส่งสำเนาคำสั่งให้ด้วยโดยพลัน แต่ถ้าไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบได้ ให้ปิดสำเนาคำสั่งไว้ ณ ที่ทำการของผู้ถูกกล่าวหา และแจ้งโดยหนังสือส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปให้ ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการด้วย เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการส่งเรื่องกล่าวหาทั้งหมดพร้อมทั้งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และหลักฐานการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ไปให้ประธานกรรมการ เพื่อแจ้งให้กรรมการทราบและทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ประธานกรรมการทราบคำสั่งวันใดให้บันทึกไว้ในสำนวนด้วย ข้อ ๕ ผู้ถูกกล่าวหาอาจคัดค้านกรรมการหรือเลขานุการในคณะกรรมการสอบสวนที่มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้ (๑) เป็นผู้ที่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ในเรื่องที่สอบสวน (๒) เป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียในเรื่องที่สอบสวน (๓) เป็นผู้มีเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหา (๔) เป็นญาติโดยเกี่ยวข้องเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดา หรือมารดากับคู่กรณี การคัดค้าน ให้คัดค้านต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยทำเป็นหนังสือแสดงเหตุที่คัดค้านนั้นยื่นต่อประธานกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เมื่อได้รับหนังสือคัดค้านแล้ว ให้ประธานกรรมการส่งหนังสือคัดค้านนั้นไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาสั่งการโดยด่วน ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่าการคัดค้านนั้นมีเหตุอันควรฟังได้ ก็ให้สั่งเปลี่ยนกรรมการหรือเลขานุการที่ถูกคัดค้าน แต่ถ้าเห็นว่าการคัดค้านนั้นไม่มีเหตุอันควรรับฟัง หรือเห็นว่าแม้จะให้ผู้ที่ถูกคัดค้านนั้นร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวน ก็ไม่ทำให้เสียความเป็นธรรม จะสั่งยกคำคัดค้านนั้นเสียก็ได้ แล้วแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่คัดค้านทราบและส่งเรืองให้คณะกรรมการสอบสวนรวมสำนวนไว้ ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านกรรมการหรือเลขานุการในคณะกรรมการสอบสวน และผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนยังมิได้สั่งการตามวรรคสาม ห้ามมิให้ผู้ที่ถูกคัดค้านนั้นร่วมในการสอบสวน ข้อ ๖ กรรมการหรือเลขานุการคนใดในคณะกรรมการสอบสวนมีเหตุอันอาจถูกคัดค้านตามข้อ ๕ วรรคหนึ่ง ให้ผู้นั้นรายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรณีเช่นนี้ให้นำข้อ ๕ วรรคสองวรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๗ เมื่อได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ามีเหตุอันควรหรือจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนตัวกรรมการหรือเลขานุการคนใดในคณะกรรมการสอบสวนหรือเปลี่ยนทั้งคณะ หรือตั้งเพิ่มขึ้น หรือลดให้น้อยลง ก็ให้ดำเนินการได้ ทั้งนี้ ให้นำข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับคณะกรรมการสอบสวนตามวรรคหนึ่งไม่กระทบกระเทือนการสอบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ข้อ ๘ คณะกรรมการสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา เอกสารที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนให้ใช้ต้นฉบับที่แท้จริง แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจนำต้นฉบับมาได้ จะใช้สำนวนที่กรรมการหรือเลขานุการในคณะกรรมการสอบสวน หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ รับรองว่าเป็นสำเนาที่ถูกต้องก็ได้ ข้อ ๙ ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ถ้ามีความจำเป็นซึ่งจะสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้ ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนขยายเวลาสอบสวนได้อีกสองครั้งแต่ละครั้งเป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวัน โดยที่คณะกรรมการสอบสวนบันทึกแสดงเหตุความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนด้วย ในกรณีที่ได้ขยายเวลาการสอบสวนสองครั้ง ตามวรรคหนึ่งแล้วยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการสอบสวนเร่งทำการสอบสวนต่อไปให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ให้รายงานเหตุที่ทำให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนดเวลาที่ได้ขยายครั้งสุดท้าย และต่อไปทุกสิบห้าวัน และให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนติดตามเร่งรัดการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็วด้วย ข้อ ๑๐ ในการสอบสวนปากคำบุคคล ต้องมีกรรมการนั่งสอบสวนอย่างน้อยสองคนจึงจะเป็นองค์คณะทำการสอบสวนได้ ข้อ ๑๑ ในการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน ห้ามมิให้บุคคลอื่นมาร่วมทำการสอบสวน ในการสอบสวน ห้ามมิให้บุคคลอื่นนอกจากผู้กำลังถูกสอบสวนปากคำอยู่เข้าฟังการสอบสวน เว้นแต่บุคคลที่คณะกรรมการสอบสวนเรียกมาเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน การสอบสวนปากคำบุคคล ให้บันทึกถ้อยคำเป็นหนังสือแสดงชื่อ ที่อยู่ อายุ อาชีพ สัญชาติ และศาสนา ของผู้ให้ถ้อยคำ และชื่อของกรรมการผู้นั่งสอบสวนทุกคนไว้ด้วย เมื่อได้สอบสวนบันทึกถ้อยคำเสร็จแล้วให้อ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟังหรือจะให้ผู้ให้ถ้อยคำอ่านเองก็ได้ เมื่อรับว่าถูกต้องแล้วก็ให้ผู้ให้ถ้อยคำและกรรมการผู้นั่งสอบสวนทุกคนลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานท้ายบันทึกถ้อยคำนั้น กรรมการผู้ใดมิได้ร่วมนั่งสอบสวนด้วยห้ามมิให้ลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำนั้น ถ้าบันทึกถ้อยคำมีหลายแผ่น ให้ผู้ให้ถ้อยคำกับกรรมการผู้นั่งสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อไว้ทุกแผ่นด้วย ในกรณีที่มีผู้ให้ถ้อยคำไม่ยอมลงลายมือชื่อ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกถ้อยคำนั้น ในการบันทึกถ้อยคำ ห้ามมิให้ขูดลบหรือบันทึกข้อความทับ ถ้าจะต้องแก้ไขข้อความที่ได้บันทึกไว้แล้ว ให้ใช้วิธีขีดฆ่าหรือตกเติม และให้ผู้ให้ถ้อยคำกับกรรมการผู้นั่งสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่งที่ขีดฆ่าหรือตกเติม ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๒ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รับเรื่องที่กล่าวหาทั้งหมดตามข้อ ๔ แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาที่ปรากฏตามเรื่องที่กล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบรวมทั้งแจ้งให้ทราบด้วยว่าในการสอบสวนนี้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะได้รับแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาและให้ถ้อยคำหรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตลอดจนอ้างพยานหลักฐานหรือนำพยานหลักฐานมาสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ด้วย แล้วให้ถามผู้ถูกกล่าวหาเพียงว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่อย่างไร ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา คณะกรรมการสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนต่อไปก็ได้ หรือถ้าเห็นว่าเป็นการสมควรที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อันเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวนนั้นโดยละเอียด จะทำการสอบสวนต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้ ในกรณีที่ได้ถามผู้ถูกกล่าวหาตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ถูกกล่าวหามิได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพ ให้คณะกรรมการสอบสวนเริ่มทำการสอบสวนโดยรวบรวมพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาทั้งหมดเสียก่อนแล้วสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่จะให้ถ้อยคำหรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตลอดจนนำพยานหลักฐานมาสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ภายในเวลาอันสมควร การนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะนำพยานหลักฐานมาเองหรือจะอ้างพยานหลักฐานขอให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานหลักฐานนั้นมาก็ได้ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการตามข้อนี้แล้วให้คณะกรรมการสอบสวนบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ข้อ ๑๓ ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวนหรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้ถูกกล่าวหายื่นต่อคณะกรรมการสอบสวนก็ได้ ก่อนการสอบสวนเสร็จ ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งได้ให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไว้แล้วจะขอให้ถ้อยคำเพิ่มเติมหรือยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติมหรือนำสืบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการสอบสวนอีกก็ได้ ข้อ ๑๔ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่มายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในเวลาที่คณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าตามสมควรแล้ว และโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร คณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนไปโดยไม่สอบสวนตัวผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวน ในกรณีเช่นนี้ถ้าภายหลังผู้ถูกกล่าวหามาขอให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาก่อนสอบสวนเสร็จก็ให้คณะกรรมการสอบสวนให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหา ข้อ ๑๕ ถ้าผู้ถูกกล่าวหายื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวนต่อคณะกรรมการสอบสวน หรือต่อผู้มีอำนาจพิจารณาในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำสั่งลงโทษหรือไม่ลงโทษ ให้คณะกรรมการสอบสวนหรือผู้มีอำนาจพิจารณานั้นรับคำชี้แจงเข้าสำนวนไว้พิจารณาด้วย ข้อ ๑๖ ในกรณีที่พยานไม่มาหรือไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือคณะกรรมการเรียกพยานไม่ได้ภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการสอบสวนจะไม่สอบสวนพยานนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ามีเหตุผลสมควรที่พยานไม่สามารถมาได้ตามกำหนด หรือได้ตัวพยานมาให้ถ้อยคำก่อนการสอบสวนพยานสิ้นสุดลง ก็ให้ผ่อนผันได้ตามควรแก่กรณี ข้อ ๑๗ ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนพยานหลักฐานใดจะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น หรือมิใช่เป็นพยานหลักฐานในประเด็นสำคัญ คณะกรรมการสอบสวนจะงดการสอบสวนพยานหลักฐานนั้นเสียก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวน ข้อ ๑๘ ในกรณีที่จะต้องสอบสวนพยานซึ่งอยู่ต่างท้องที่คณะกรรมการสอบสวนจะส่งประเด็นไปสอบสวนโดยมอบหมายให้หัวหน้าหน่วยราชการ หรือหัวหน้าส่วนราชการในท้องที่นั้นทำการสอบสวนพยานนั้นก็ได้ ข้อ ๑๙ ในกรณีที่การสอบสวนปรากฏกรณีมีมูลว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ประธานกรรมการรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยไม่ชักช้า ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าควรให้คณะกรรมการสอบสวนที่ได้แต่งตั้งไว้แล้วทำการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องอื่นที่เพิ่มขึ้นนั้นด้วย ก็ให้ทำเป็นคำสั่งเพิ่มเติมขึ้น และให้นำข้อ ๓ ข้อ ๔ และข้อ ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนรวมเป็นสำนวนเดียวกันได้ แต่ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นใหม่เพื่อทำการสอบสวนผู้ต้องกล่าวหาในเรื่องที่ปรากฏเพิ่มขึ้นนั้น ก็ให้เป็นไปตามที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจะสั่ง ข้อ ๒๐ ในกรณีที่การสอบสวนปรากฏกรณีมีมูลพาดพิงไปถึงข้าราชการพลเรือนสามัญผู้อื่นที่ไม่ได้ระบุตัวเป็นผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ว่ามีส่วนร่วมกระทำผิดในเรื่องที่สอบสวนนั้นด้วย ให้ประธานกรรมการรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าควรให้คณะกรรมการสอบสวนที่ได้มีการแต่งตั้งไว้แล้ว ทำการสอบสวนผู้ที่มีส่วนร่วมกระทำผิดนั้นด้วย ก็ให้ดำเนินการตามข้อ ๓ และข้อ ๔ โดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้ให้ใช้พยานหลักฐานที่ได้ทำการสอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณากรณีของผู้มีส่วนร่วมกระทำผิดนั้นได้เท่าที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าไม่ได้ทำให้เสียความเป็นธรรม และให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนรวมเป็นสำนวนเดียวกันได้ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่ เพื่อทำการสอบสวนผู้มีส่วนร่วมกระทำผิด ให้ใช้พยานหลักฐานที่คณะกรรมการสอบสวนเดิม ได้ทำการสอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณาได้เท่าที่คณะกรรมการสอบสวนที่แต่งตั้งขึ้นใหม่เห็นว่าไม่ทำให้เสียความเป็นธรรม ข้อ ๒๑ ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดชี้ขาดเกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหาคนใดว่ากระทำผิดในเรื่องที่สอบสวน ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้ว เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามข้อ ๑๒ วรรคสาม คณะกรรมการสอบสวนจะถือเอาคำพิพากษานั้นเป็นพยานหลักฐานโดยไม่สอบสวนพยานหลักฐานอย่างอื่นที่สนับสนุนข้อกล่าวหาก็ได้ และถ้าผู้ถูกกล่าวหาไม่ติดใจที่จะนำสืบแก้ข้อกล่าวหา คณะกรรมการสอบสวนจะฟังข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษานั้นโดยไม่ทำการสอบสวนพยานก็ได้ ข้อ ๒๒ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนประชุมปรึกษาเพื่อทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยสรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ พร้อมทั้งแสดงความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยอย่างไรหรือไม่ โดยอาศัยพยานหลักฐานและเหตุผลอย่างไร ถ้ากระทำผิดเป็นความผิดตามมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด หากกรรมการสอบสวนคนใดมีความเห็นแย้ง ให้ทำความเห็นแย้งติดไว้กับรายงานการสอบสวนด้วย รายงานการสอบสวนเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวน และให้คณะกรรมการสอบสวนทำสารบาญสำนวนการสอบสวนติดสำนวนไว้ด้วย ในการประชุมปรึกษาของคณะกรรมการสอบสวนต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด และไม่น้อยกว่าสามคน จึงจะเป็นองค์คณะทำการประชุมปรึกษาได้ ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธาน ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ทำรายงานการสอบสวนตามวรรคหนึ่ง และเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วจึงจะถือว่าได้สอบสวนเสร็จ ข้อ ๒๓ ในระหว่างการสอบสวน แม้จะมีการย้าย โอน หรือแต่งตั้งผู้ถูกกล่าวหาไปดำรงตำแหน่งนอกบังคับบัญชาของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ แล้วทำรายงานการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาส่งไปให้ผู้บังคับบัญชาใหม่ของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ พิจารณาดำเนินการต่อไป ข้อ ๒๔ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้เสนอสำนวนการสอบสวนมาแล้ว ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๒๓ แล้วแต่กรณี พิจารณาสั่งการให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนการสอบสวนนั้น ถ้ายังพิจารณาสั่งการไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ขยายเวลาได้หนึ่งครั้งเป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวัน และให้เร่งพิจารณาสั่งการให้เสร็จภายในเวลาดังกล่าว ถ้าขยายเวลาแล้วยังพิจารณาสั่งการไม่เสร็จ ให้รายงานเหตุที่ทำให้พิจารณาสั่งการไม่เสร็จนั้นต่อผู้บังคับบัญชาตามมาตรา ๔๔ ของผู้ถูกกล่าวหาระดับเหนือขึ้นไปภายในสามวันนับแต่วันครบกำหนดเวลาที่ได้ขยายนั้น และให้ผู้บังคับบัญชาที่ได้รับรายงานนั้น ติดตามเร่งรัดการพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ข้อ ๒๕ ในกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ หรือมาตรา ๙๒ วรรคสาม แล้วแต่กรณี เห็นสมควรให้สอบสวนเพิ่มเติมประการใด ก็ให้กำหนดประเด็น พร้อมทั้งส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องไปให้ประธานกรรมการเพื่อดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น เมื่อประธานกรรมการได้รับเรื่องที่จะต้องสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว ให้บันทึกวันรับเรื่องนั้นไว้ในสำนวน ในกรณีที่จะต้องสอบสวนเพิ่มเติมนี้ ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมให้เสร็จภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการได้รับเรื่องที่จะต้องสอบสวนเพิ่มเติมและให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎ ก.พ. นี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๒๖ ในกรณีปรากฏว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือการสอบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และวิธีการตามกฎ ก.พ. นี้ ให้ส่วนที่มิใช่สาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ไม่ทำให้สำนวนการสอบสวนทั้งหมดเสียไป ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๘๖ หรือมาตรา ๙๒ วรรคสาม แล้วแต่กรณี จะสั่งให้แก้ไขหรือดำเนินการเสียใหม่ เฉพาะตอนที่ไม่ถูกต้องนั้นก็ได้ ข้อ ๒๗ การนับเวลาตามกฎ ก.พ. นี้ สำหรับเวลาเริ่มต้นให้นับวันถัดจากวันแรกแห่งเวลานั้นเป็นวันเริ่มนับเวลา แต่ถ้าเป็นกรณีขยายเวลาให้นับวันต่อจากวันสุดท้ายแห่งเวลาเดิมเป็นวันเริ่มเวลาที่ขยายออกไป ส่วนเวลาสุดสิ้นนั้น ถ้าเป็นวันสุดท้ายแห่งเวลาตรงกับวันหยุดราชการ ให้นับวันเริ่มเปิดราชการใหม่เป็นวันสุดท้ายแห่งเวลา ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๑๘๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘/๙ กันยายน ๒๕๑๘
319594
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำหรือสูงกว่าขั้นสูงของเงินเดือนสำหรับตำแหน่ง
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของเงินเดือนสำหรับตำแหน่ง[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก.พ. ออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งระดับใด ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นต่ำของเงินเดือนสำหรับตำแหน่งระดับนั้น เว้นแต่ (๑) ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของระดับนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ (๒) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ ซึ่ง ก.พ. รับรองว่าเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งใดระดับใด และกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับในขั้นใด ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในขั้นที่ ก.พ. กำหนดนั้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย คือ (ก) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ ๑ ให้ได้รับเงินเดือนไม่สูงกว่าขั้น ๑,๒๒๐ บาท (ข) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ ๒ ให้ได้รับเงินเดือนไม่สูงกว่าขั้น ๑,๕๕๐ บาท (ค) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ ๓ ให้ได้รับเงินเดือนไม่สูงกว่าขั้น ๒,๓๗๐ บาท (๓) ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้น และ ก.พ. รับรองว่า ปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นนั้นมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง อธิบดีผู้บังคับบัญชาหรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีอาจปรับให้ได้เงินเดือนในขั้นตามที่ ก.พ. อนุมัติได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน (๒) (๔) ในกรณีที่ ก.พ. ได้กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับตำแหน่งระดับใด ในสายงานใด ไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำของระดับนั้น ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในขั้นที่ ก.พ. กำหนดนั้น (๕) ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ถ้าได้รับเงินเดือนต่ำกว่าขั้นต่ำของเงินเดือนสำหรับตำแหน่ง ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ไปก่อน เว้นแต่ ก.พ. จะได้พิจารณากำหนดเป็นอย่างอื่น ข้อ ๒ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับใด ถ้าได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของระดับนั้นอยู่แล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๔๓ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๕ มาตรา ๕๖ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ และมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ ให้ได้รับเงินเดือนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ข้อ ๔ กรณีอื่นนอกจากที่ได้กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. นี้ ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป บทเฉพาะกาล ข้อ ๕ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับใดเป็นครั้งแรก ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือนยังไม่ถึงขั้นต่ำของเงินเดือนสำหรับตำแหน่ง ก.พ.จะได้กำหนดการปรับอัตราเงินเดือนให้ได้รับเพิ่มขึ้นเป็นรายปีทุก ๆ ปี ตามกำลังเงินงบประมาณแผ่นดินจนกว่าจะเข้าขั้นต่ำตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๑๘๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๓/๙ กันยายน ๒๕๑๘
670649
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง[๑] โดยที่คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง (ก.ขป.) ในคราวประชุมครั้งที่ ๘๖ - ๑๑/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ มีมติอนุมัติในหลักการการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับกับข้าราชการฝ่ายศาลปกครองโดยอนุโลม เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลปกครอง ประกอบกับ ก.ขป. ในคราวประชุมครั้งที่ ๘๘ - ๑/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ มีมติเห็นชอบในหลักการของการกำหนดตำแหน่งและมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายศาลปกครองรองรับการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติ ก.ขป. ดังกล่าวข้างต้น ก.ขป. จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ในการจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ให้เป็นไปตามท้ายประกาศนี้ ข้อ ๔ ให้ ก.ขป. มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ข้อ ๕ ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดรักษาการตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง [เอกสารแนบท้าย] ๑.[๒] บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ (แก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทอำนวยการ และประเภทวิชาการ) ๒. บัญชีการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่งสายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔[๓] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕[๔] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔)[๕] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕) [๖] ปณตภร/ผู้จัดทำ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ณัฐพร/ผู้ปรับปรุง ๒๓ กันยายน ๒๕๕๖ เอกฤทธิ์/ผู้ปรับปรุง ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๒๗ ก/หน้า ๑๓/๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ [๒] บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ แก้ไขเพิ่มเติม (แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทอำนวยการ) โดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ และแก้ไขเพิ่มเติม (แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทวิชาการ) โดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ และแก้ไขเพิ่มเติม (แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทอำนวยการ) โดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔) และแก้ไขเพิ่มเติม (แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทวิชาการ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์) โดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕) [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๗๒ ก/หน้า ๑๐/๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๕๖ ก/หน้า ๓๑/๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕ [๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๖๙ ก/หน้า ๒๔/๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ [๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๙๙ ก/หน้า ๖/๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖
738877
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. 2553 (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อให้การปฏิบัติราชการตามภารกิจต่าง ๆ ของสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติราชการ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการหรือหน้าที่อื่นที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว ที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ สามารถรับราชการต่อไปอีกไม่เกินสิบปี เพื่อเป็นการสร้างและรักษาทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงออกประกาศในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไปไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๓” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓[๒] การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ใดซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใดและดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการยุติธรรมในสาขากระบวนการยุติธรรมหรือประเภทวิชาการในสาขาตำแหน่งทั่วไปและดำรงตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญ หรือระดับทรงคุณวุฒิ รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จะต้องเป็นกรณีที่ (๑) มีเหตุผลและความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ (๒) ตำแหน่งที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปต้องเป็นตำแหน่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคล กำหนดให้เป็นตำแหน่งที่มีความขาดแคลนบุคลากรในเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพและหาผู้อื่นปฏิบัติงานแทนได้ยากเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการ หรือหน้าที่ที่จะต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว และ (๓) ตำแหน่งที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปต้องเป็นตำแหน่งที่ผู้นั้นครองอยู่เดิม ข้อ ๔ กำหนดเวลาที่จะให้รับราชการต่อไปตามประกาศนี้ ให้กระทำได้ตามความจำเป็นโดยในครั้งแรกให้สั่งให้รับราชการต่อไปได้ไม่เกินสี่ปี และถ้ายังมีเหตุผลและความจำเป็นจะให้รับราชการต่อไปอีกได้ครั้งละไม่เกินสามปี แต่เมื่อรวมกันแล้วระยะเวลาทั้งหมดต้องไม่เกินสิบปี เมื่อครบกำหนดเวลาที่สั่งให้รับราชการต่อไปตามวรรคหนึ่ง ให้สั่งให้ผู้นั้นพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่ถ้าความจำเป็นที่ให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปหมดลงก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว จะสั่งให้ผู้นั้นพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวก็ได้ ข้อ ๕ ส่วนราชการใดในสำนักงาน ป.ป.ช. มีความจำเป็นที่จะให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณนั้น ให้ส่วนราชการนั้นจัดทำข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา ดังนี้ (๑) แผนงาน โครงการ ตลอดจนภารกิจที่มีความจำเป็นจะให้ผู้นั้นปฏิบัติ จำแนกเป็นรายปี (๒) สภาวะการขาดแคลนบุคลากรในภาพรวมของสำนักงาน ป.ป.ช. ความสามารถในทางวิชาการ หรือความสามารถเฉพาะตัวของผู้นั้น และความยากในการหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสม มาปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้น (๓) เหตุผลและความจำเป็นที่จำต้องให้ผู้นั้นปฏิบัติภารกิจ ตาม (๑) (๔) ระยะเวลาที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไป (๕) ข้อมูลเกี่ยวกับข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้นั้น ข้อ ๖ ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว ที่จะให้รับราชการต่อไปได้ตามข้อ ๓ ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑)[๓] ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการยุติธรรมในสาขากระบวนการยุติธรรม หรือประเภทวิชาการในสาขาตำแหน่งทั่วไปและดำรงตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป แล้วแต่กรณี ต่อเนื่องกันมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสิ้นปีงบประมาณนั้น (๒) มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ทักษะ และประสบการณ์ และมีผลงานหรือผลการปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นต่อไปได้ (๓) ไม่อยู่ในระหว่างการถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง (๔)[๔] ผ่านการตรวจสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลกำหนด ข้อ ๗[๕] การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ใดซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการยุติธรรมในสาขากระบวนการยุติธรรม หรือประเภทวิชาการในสาขาตำแหน่งทั่วไปและดำรงตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญหรือระดับทรงคุณวุฒิตามข้อ ๓ (๒) ได้รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้คณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณา ข้อ ๘[๖] ให้ส่วนราชการดำเนินการตามข้อ ๗ ภายในเดือนมีนาคมของปีงบประมาณที่ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้นั้นจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และให้คณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาข้อเสนอของส่วนราชการ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนของปีงบประมาณนั้น ข้อ ๙[๗] ในกรณีที่คณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เห็นชอบให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ใดรับราชการต่อไปได้เมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งให้ผู้นั้นรับราชการต่อไป และส่งสำเนาคำสั่งให้กรมบัญชีกลางทราบเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ข้อ ๑๐ การสั่งให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. รับราชการต่อไปเป็นครั้งแรกนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้มีคำสั่งภายในวันที่ ๓๐ กันยายน ของปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ในกรณีที่ครบกำหนดเวลาที่ให้รับราชการต่อไปแล้ว ถ้าได้รับความเห็นชอบให้รับราชการต่อไปอีก ให้มีคำสั่งก่อนวันครบกำหนดเวลาที่ให้รับราชการต่อไปในครั้งก่อน ข้อ ๑๑ ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งได้รับราชการต่อไปตามประกาศนี้ จะต้องดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่เฉพาะตำแหน่งที่ได้รับราชการต่อไปเท่านั้น และจะย้าย โอน หรือเลื่อนไปดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ หรือตำแหน่งอื่น หรือจะรักษาราชการแทนรักษาการในตำแหน่ง รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน ไปช่วยราชการ หรือไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอื่นไม่ได้ ข้อ ๑๒ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ หรืออันเนื่องมาจากประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘[๘] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ นันท์นภัสร์/ตรวจ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วิศนี/เพิ่มเติม ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ นุสรา/ตรวจ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗/ตอนพิเศษ ๑๗ ง/หน้า ๔๘/๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ [๒] ข้อ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๓] ข้อ ๖ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๔] ข้อ ๖ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๕] ข้อ ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๖] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๗] ข้อ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๗๑ ก/หน้า ๑๓/๕ สิงหาคม ๒๕๕๘
319595
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยอำนาจการลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยอำนาจการลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก.พ.ออกกฎ ก.พ.ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎ ก.พ. นี้ “หัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่าหัวหน้าแผนก” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าส่วนราชการ และดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๒ ลงมา และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรา ๓๕ ให้บังคับบัญชาส่วนราชการหรือหน่วยงานในฐานะหัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่าหัวหน้าแผนกด้วย “หัวหน้าแผนก” หมายความรวมถึงหัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งระดับ ๓ หรือระดับ ๔ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรา ๓๕ ให้บังคับบัญชาส่วนราชการหรือหน่วยงานในฐานะหัวหน้าแผนกด้วย “หัวหน้ากองหรือผู้อำนวยการกอง” หมายความรวมถึงหัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งระดับ ๕ ระดับ ๖ ระดับ ๗ หรือระดับ ๘ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรา ๓๕ ให้บังคับบัญชาส่วนราชการหรือหน่วยงานในฐานะหัวหน้ากองหรือผู้อำนวยการกองด้วย ข้อ ๒ หัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่าหัวหน้าแผนกซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้กระทำผิดวินัย มีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หรือสั่งลงโทษตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกิน ๕% และเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน ข้อ ๓ หัวหน้าแผนกซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้กระทำผิดวินัย หรือมีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์หรือสั่งลงโทษตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกิน ๑๐ % และเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน ข้อ ๔ หัวหน้ากองหรือผู้อำนวยการกองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้กระทำผิดวินัย มีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หรือสั่งลงโทษตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกิน ๑๐% และเป็นเวลาไม่เกินสองเดือน ข้อ ๕ อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้กระทำผิดวินัย มีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หรือสั่งลงโทษตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกิน ๑๐% และเป็นเวลาไม่เกินสี่เดือน หรือสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกินหนึ่งขั้น ข้อ ๖ ปลัดกระทรวงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้กระทำผิดวินัย หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หรือสั่งลงโทษตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกิน ๑๐% และเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน หรือสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกินสองขั้น ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๑๘๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๕/๙กันยายน ๒๕๑๘
339278
กฎ ก.จ. ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2515) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 ว่าด้วยการบรรจุผู้ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ
กฎ ก กฎ ก.จ. ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ ส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ว่าด้วยการบรรจุผู้ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๙ และมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยอนุโลม ก.จ. ออกกฎ ก.จ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.จ. นี้ให้ใช้บังคับแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อ ๒[๑] ให้ใช้กฎ ก.จ. นี้ ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพใด จะเป็นปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพใดตามกฎ ก.จ. นี้หรือไม่ ให้เป็นไปตามที่ ก.จ. จะได้รับรอง ข้อ ๔ ส่วนราชการใดจะใช้ผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพใด ชั้นใด บรรจุในตำแหน่งใด ให้เป็นไปตามที่ ก.จ. จะได้อนุมัติ ข้อ ๕ การบรรจุผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพในประเทศเข้าเป็นข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญ โดยจะให้ได้รับเงินเดือนในชั้น อันดับ และขั้นใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ได้รับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเทียบได้ไม่ต่ำกว่าอนุปริญญา ซึ่งมีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกว่าสามปี จะบรรจุได้ไม่สูงกว่าข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญ ชั้นตรี อันดับ ๑ ขั้น ๑,๐๐๐ บาท (๒) ผู้ได้รับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งมีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกว่าสี่ปี จะบรรจุได้ไม่สูงกว่าข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญ ชั้นตรี อันดับ ๒ ขั้น ๑,๒๕๐ บาท (๓) ผู้ได้รับปริญญาตรีทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ หรือทางศิลป สาขาจิตรกรรม สาขาประติมากรรม และสาขาภาพพิมพ์ ซึ่งมีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกว่าห้าปี จะบรรจุได้ไม่สูงกว่าข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญ ชั้นตรี อันดับ ๒ ขั้น ๑,๓๐๐ บาท (๔) (ก) ผู้ได้รับปริญญาตรีทางแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ หรือสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งมีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกว่าหกปี จะบรรจุได้ไม่สูงกว่าข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญ ชั้นโท อันดับ ๒ ขั้น ๑,๘๐๐ บาท (ข) ผู้ได้รับปริญญาตรีทางแพทยศาสตร์ดังกล่าวใน (ก) ซึ่งได้ฝึกหัดงานในวิชาชีพตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยเป็นผลดีมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี จะบรรจุได้ไม่สูงกว่าข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญ ชั้นโท อันดับ ๒ ขั้น ๑,๙๐๐ บาท (๕) ผู้ได้รับปริญญาโทซึ่งมีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาต่อจากปริญญาตรีไม่น้อยกว่าสองปีและรวมทั้งปริญญาตรีไม่น้อยกว่าหกปี จะบรรจุได้ไม่สูงกว่าข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญ ชั้นโท อันดับ ๒ ขั้น ๑,๘๐๐ บาท (๖) ผู้ได้รับปริญญาโททางสถาปัตยกรรมศาสตร์หรือทางวิทยาศาสตร์ สาขาเภสัชศาสตร์ ซึ่งมีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษารวมทั้งปริญญาตรีไม่น้อยกว่าเจ็ดปี จะบรรจุได้ไม่สูงกว่าข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญ ชั้นโท อันดับ ๒ ขั้น ๑,๙๐๐ บาท (๗) ผู้ได้รับปริญญาเอก จะบรรจุได้ไม่สูงกว่าข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญ ชั้นโท อันดับ ๓ ขั้น ๒,๔๕๐ บาท ข้อ ๖ การบรรจุผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพในประเทศนอกจากที่กล่าวในข้อ ๕ หรือการบรรจุผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพจากต่างประเทศ เข้าเป็นข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญ โดยจะให้ได้รับเงินเดือนในชั้นอันดับ และขั้นใด ให้เป็นไปตามที่ ก.จ. จะได้อนุมัติเป็นราย ๆ ไป ทั้งนี้ ให้วางหลักเกณฑ์ไว้เป็นบรรทัดฐานในการกำหนดโดยใช้หลักเกณฑ์ตามข้อ ๕ ประกอบการพิจารณาด้วย ข้อ ๗ การบรรจุผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเข้าเป็นข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญ ให้บรรจุจากผู้สอบคัดเลือกได้ เว้นแต่ผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนรัฐบาลหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดคัดเลือกให้ศึกษาวิชาตามความต้องการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดใด จะคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการในองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นก็ได้ สำหรับผู้ซึ่งเป็นข้าราชการส่วนจังหวัดสามัญอยู่แล้ว และได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาวิชาตามความต้องการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือผู้ซึ่งได้รับการปรับอัตราเงินเดือนที่ครองอยู่ให้สูงขึ้นตามคุณวุฒิจะคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งที่ใช้วิชาชีพนั้นได้ต้องได้รับอนุมัติจาก ก.จ. ก่อนเป็นราย ๆ ไป ในกรณีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดประกาศรับสมัครผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ เพื่อสอบคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการส่วนจังหวัดในตำแหน่งเป็นผู้สอนประจำในสถานศึกษาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นแล้ว ถ้ามีผู้สมัครเข้าสอบคัดเลือกไม่เกินอัตราที่ว่างอยู่ในขณะนั้น จะคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการในองค์การบริหารส่วนจังหวัดในอัตราที่ว่างนั้นก็ได้ ข้อ ๘ การสอบคัดเลือกให้เป็นไปตามหลักสูตรและวิธีการที่ ก.จ. กำหนด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ปลัดกระทรวง หรืออธิบดีผู้บังคับบัญชา แล้วแต่กรณี ตั้งกรรมการอย่างน้อยสามคนเป็นผู้ดำเนินการ ในการนี้จะตั้งตนเองเป็นกรรมการด้วยก็ได้ ในระหว่างที่ ก.จ. ยังมิได้กำหนดหลักสูตรและวิธีการสอบคัดเลือก ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอบคัดเลือกตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๖๒๒ (พ.ศ. ๒๕๑๓) มาใช้โดยอนุโลมไปพลางก่อน เมื่อได้สอบคัดเลือกเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการรายงานผลต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีผู้บังคับบัญชา แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาสั่งบรรจุ ข้อ ๙ การคัดเลือกให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีผู้บังคับบัญชา แล้วแต่กรณี เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกเพื่อสั่งบรรจุ โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นอย่างน้อยสามคน เพื่อพิจารณาถึงคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถและความประพฤติ ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ใช้อำนาจของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธาน ก.จ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๒๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑/๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๕
304184
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยโรค
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยโรค[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๒๔ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ ก.พ.ออกกฎ ก.พ.ไว้ ดังต่อไปนี้ โรคตามมาตรา ๒๔ (๕) คือ (๑) โรคเรื้อน (๒) วัณโรคในระยะอันตราย (๓) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม (๔) โรคยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง (๕) โรคพิษสุราเรื้อรัง ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๑๘๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๙ กันยายน ๒๕๑๘
304186
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก.พ.ออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด ให้พิจารณาสั่งได้ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญา อันมิใช่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และหากให้ผู้นั้นคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจะเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวนหรือเสียหายแก่ราชการ (๒) กรณีไปศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศหรือฝึกอบรม หรือดูงานในต่างประเทศ (๓) กรณีอื่นที่มีความจำเป็นพิเศษ เพื่อประโยชน์แก่ราชการ ข้อ ๒ การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด ตามข้อ ๑ ให้สั่งได้เป็นการชั่วคราวและตามความจำเป็น แต่ความข้อ ๑ (๑) และ (๓) ต้องไม่เกิน ๖ เดือน ถ้าเกินกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เสนอ ก.พ. เพื่อพิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป ข้อ ๓ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๔๔ เป็นผู้สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด โดยให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เดิม นับแต่วันประจำกระทรวง ทบวง กรม กอง หรือจังหวัด แล้วแต่กรณี ได้ตามวิธีดังนี้ (๑) การสั่งให้ประจำกระทรวงหรือทบวง แล้วแต่กรณี ให้สั่งได้สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๐ ขึ้นไป (๒) การสั่งให้ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี ให้สั่งได้สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๙ ลงมา ข้อ ๔ เมื่อหมดความจำเป็น หรือเมื่อครบกำหนดเวลาตามที่กล่าวในข้อ ๒ แล้ว ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๔๔ สั่งแต่งตั้งให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ต้องใช้คุณสมบัติเฉพาะที่ผู้นั้นมีอยู่ ข้อ ๕ ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญที่ถูกสั่งไปประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด ได้รับเงินเดือนในระดับขั้นเท่าที่ได้รับอยู่เดิม เพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การรักษาวินัย และการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญที่ถูกสั่งไปประจำกระทรวง ประจำทบวง ประจำกรม ประจำกอง หรือประจำจังหวัด ตามกฎ ก.พ.นี้ ให้ถือเสมือนว่าข้าราชการดังกล่าวดำรงตำแหน่งเดิม ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๑๘๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒/๙ กันยายน ๒๕๑๘
728635
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2552 (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงกำหนดให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งดังนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ในการให้ได้รับเงินเดือนของข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ให้นำกฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๔ ตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ตำแหน่งใดจะเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนนั้น ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทใด สายงานใด และระดับใด ที่จะมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด ข้อ ๕[๒] ให้ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในอัตราเท่ากับปลัดกระทรวง ตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในอัตราเท่ากับรองปลัดกระทรวง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภาค ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น และตำแหน่งผู้อำนวยการได้รับเงินประจำตำแหน่งเท่ากับตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง ข้อ ๖ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจตีความ และวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ หรืออันเนื่องมาจากประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘[๓] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ข้อ ๔ การใดซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ ก่อนประกาศนี้ใช้บังคับให้มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ต่อไป ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐[๔] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป ข้อ ๔ การอันใดซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งสำหรับตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ด้านการตรวจราชการ) ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ และให้มีผลใช้บังคับได้โดยให้ถือเป็นการดำเนินการสำหรับตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภาค เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น กฤษดายุทธ/ผู้จัดทำ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ชวัลพร/เพิ่มเติม ๙ มีนาคม ๒๕๖๐ นุสรา/ตรวจ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๕ ก/หน้า ๕/๒๓ มกราคม ๒๕๕๒ [๒] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๗ ก/หน้า ๑๔/๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๗ ก/หน้า ๗/๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
304185
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ว่าด้วยการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ
กฎ ก กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ ว่าด้วยการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราช การพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ก.พ. ออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎ ก.พ.นี้ “ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น” หมายความถึงหัวหน้าแผนกของผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ในกรณีที่ไม่มีแผนกให้หมายถึงหัวหน้ากอง หรือผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ “ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ” หมายความถึงผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๔๔ ข้อ ๒ ให้ผู้ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๔๒ ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งที่ได้รับบรรจุเป็นเวลาหกเดือน นับแต่วันเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นต้นไป ข้อ ๓ การรายงานผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ มี ๒ กรณี คือ การรายงานว่าควรให้ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการรับราชการต่อไป เพราะผู้นั้นได้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการครบถ้วนตามเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ปรากฏว่าเป็นผู้ที่มีความประพฤติ ความรู้ความสามารถเหมาะสม ควรให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปได้กรณีหนึ่ง และการรายงานว่าควรให้ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการออกจากราชการเพราะมีความประพฤติไม่ดี หรือไม่มีความรู้ หรือไม่มีความสามารถเหมาะสม ไม่ควรให้รับราชการต่อไป อีกกรณีหนึ่ง ข้อ ๔ การรายงานว่าควรให้ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการรับราชการต่อไป ให้รายงานเมื่อผู้นั้นทดลองปฏิบัติราชการครบหกเดือนตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒ แล้ว โดยให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นรายงานผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการของผู้นั้นต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามแบบหมายเลข ๑ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ ภายใน ๗ วัน นับแต่วันได้รับรายงาน ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปแต่ละระดับ รายงานตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ ถ้ามีข้อสังเกตก็ให้รายงานไปประกอบการพิจารณาสั่งการของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุด้วย เมื่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุได้รับรายงานแล้วเห็นว่า ควรให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปได้ ก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุรายงานไปยัง ก.พ. ตามแบบหมายเลข ๒ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ หรือถ้าผู้มีอำนาจสั่งบรรจุเห็นว่าไม่ควรให้รับราชการต่อไป ก็ให้มีคำสั่งภายใน ๗ วัน นับแต่วันได้รับรายงานตามวรรคสอง ให้ผู้นั้นออกจากราชการ แล้วให้ส่งสำเนาคำสั่งให้ออกจากราชการไปยัง ก.พ. ข้อ ๕ การรายงานว่าควรให้ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการออกจากราชการ ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นรายงานต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับ จนถึงผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามแบบหมายเลข ๑ ท้ายกฎ ก.พ. นี้ โดยให้รายงานทันทีที่เห็นว่าผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการมีความประพฤติไม่ดี หรือไม่มีความรู้ หรือไม่มีความสามารถที่จะให้รับราชการต่อไป ภายใน ๗ วัน นับแต่วันได้รับรายงาน ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปแต่ละระดับ รายงานตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ ถ้ามีข้อสังเกต ก็ให้รายงานไปประกอบการพิจารณาสั่งการของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุด้วย เมื่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุได้รับรายงานแล้ว เห็นว่าไม่ควรให้รับราชการต่อไป ก็ให้มีคำสั่งภายใน๗ วัน นับแต่วันได้รับรายงานตามวรรคสอง ให้ผู้นั้นออกจากราชการ แล้วให้ส่งสำเนาคำสั่งให้ออกจากราชการไปยัง ก.พ. หรือถ้าเห็นว่ายังไม่ควรให้ออกจากราชการ และผู้นั้นยังทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ครบ ๖ เดือน ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่เวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการระยะแรกกับระยะหลังรวมกันแล้วต้องไม่เกิน ๖ เดือน ในกรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุสั่งให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอีกระยะหนึ่ง ถ้าผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเห็นว่าไม่สมควรให้ผู้นั้นรับราชการต่อไป แม้ผู้นั้นจะยังทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ครบ ๖ เดือน ก็ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับ และผู้มีอำนาจสั่งบรรจุดำเนินการตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ในกรณีที่ผู้ได้รับบรรจุได้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการจนครบกำหนด ๖ เดือนแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นรายงานต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งบรรจุว่าจะควรให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปหรือไม่ เมื่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุได้รับรายงานแล้ว ให้ดำเนินการตามข้อ ๔ วรรคสาม ข้อ ๖ ส่วนราชการใดเห็นว่าตำแหน่งใดมีลักษณะงานสมควรให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการน้อยกว่าหรือมากกว่า ๖ เดือน ให้ส่วนราชการนั้นทำความตกลงกับ ก.พ. กำหนดระยะเวลาให้มีการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เหมาะสมกับลักษณะงานของตำแหน่งนั้น และให้ดำเนินการตามข้อ ๔ และข้อ ๕ โดยอนุโลม ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. แบบหมายเลข ๑ แบบรายงานผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ๒. แบบหมายเลข ๒ แบบรายงาน ก.พ. (ดูภาพจากข้อมูลกฎหมาย) [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒/ตอนที่ ๑๘๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๗/๙ กันยายน ๒๕๑๘
653994
ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552 (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศ ก ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มตามระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ และข้อ ๕ แห่งระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ ก.พ. จึงกำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิก (๑) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๔๙ (๒) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ (๓) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ (๔) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ (๕) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๔ ให้ข้าราชการผู้ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งและในหน่วยงานดังต่อไปนี้ เป็นข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ และให้ได้รับเงินเพิ่มตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้ (๑) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงาน ด้านการอภิบาล การศึกษา การฝึกและอบรม การปลูกฝังศีลธรรม จริยธรรม การฝึกระเบียบวินัย ดูแลและอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนด้านการสงเคราะห์และบำบัด แก้ไข หรือการตรวจสุขภาพกายและจิตเด็กและเยาวชนที่ถูกควบคุมหรือการตรวจรักษาและพยาบาลเด็กและเยาวชน ด้านการสืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงและสิ่งแวดล้อมทั้งปวงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน รวมทั้งสาเหตุแห่งการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.น.” (๒) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในสถานสงเคราะห์ โดยผู้ได้รับการสงเคราะห์ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เนื่องจากเป็นคนพิการทางกาย ทางสมองและปัญญา ทางจิตประสาท เป็นคนชราที่เจ็บป่วยหรือหลง หรือเป็นคนไร้ที่พึ่งที่มีปัญหาด้านจิตประสาทซึ่งในการปฏิบัติงานต้องดูแลให้การสงเคราะห์ ฟื้นฟู และพัฒนา โดยสัมผัสกับผู้รับการสงเคราะห์ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยตรง ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.พ.” (๓) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในกรมราชทัณฑ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานที่เรือนจำตามกฎหมายราชทัณฑ์ซึ่งมีลักษณะงานที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ต้องขัง หรือผู้ต้องกักขัง หรือผู้ถูกกักกัน ตลอดเวลา หรือบางเวลา ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานที่เรือนจำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ร.” (๔) ข้าราชการในทุกส่วนราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานเป็นครูการศึกษาพิเศษ สอนคนตาบอด สอนคนหูหนวก สอนคนร่างกายพิการทางแขนขา และลำตัว และสอนคนปัญญาอ่อนที่ปฏิบัติงานสอนในสถานศึกษาหรือหน่วยงานของทางราชการ หรือในความควบคุมของทางราชการ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของครูการศึกษาพิเศษ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ค.ศ.” (๕) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสืบสวน การรวบรวมข่าว วิเคราะห์ข่าว หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการข่าวในการติดตามสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือเฝ้าระวังเหตุการณ์หรือสิ่งบอกเหตุที่จะเกิดการก่อการร้ายหรือบ่อนทำลายความมั่นคง เพื่อแจ้งเตือนและรายงานรัฐบาลและผู้ใช้ข่าวระดับสูงทราบอย่างต่อเนื่อง ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการข่าว ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.น.ข.” (๖) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานด้านการควบคุมจราจรทางอากาศและสื่อสารการบินตามที่ ก.พ. กำหนดในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของเจ้าพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ค.จ.” (๗) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในกรมศิลปากร ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติการใต้น้ำ ดังต่อไปนี้ (ก) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำ การทำแผนผังใต้ทะเลและการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทางโบราณคดีใต้น้ำ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติการใต้น้ำซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำ การทำแผนผังใต้ทะเล และการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทางโบราณคดีใต้น้ำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ป.น. ๑” (ข) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำ การทำแผนผังใต้ทะเลและการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทางโบราณคดีใต้น้ำ และมีความรู้ความสามารถในการใช้วัตถุระเบิดใต้น้ำ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติการใต้น้ำซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำ การทำแผนผังใต้ทะเล และการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทางโบราณคดีใต้น้ำและมีความรู้ความสามารถในการใช้วัตถุระเบิดใต้น้ำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ป.น. ๒” (๘) ข้าราชการในทุกส่วนราชการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติงานทางอากาศโดยปฏิบัติงานทางอากาศในฐานะ ดังต่อไปนี้ (ก) นักบินหรือนักบินผู้ตรวจการบิน ซึ่งปฏิบัติงานบนอากาศยานเป็นประจำ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานทางอากาศซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบิน หรือนักบินผู้ตรวจการบิน บนอากาศยานเป็นประจำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.น.อ. ๑” (ข) ผู้ตรวจสอบการปฏิบัติการบินทดสอบ (Avionics) ซึ่งปฏิบัติงานบนเครื่องบินทดสอบเป็นประจำ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานทางอากาศซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบการปฏิบัติการบินทดสอบ (Avionics) บนเครื่องบินทดสอบเป็นประจำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.น.อ. ๒” (ค) ช่างอากาศหรือช่างเครื่องบิน ซึ่งปฏิบัติงานบนอากาศยานเป็นประจำ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานทางอากาศซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็น ช่างอากาศหรือช่างเครื่องบิน บนอากาศยานเป็นประจำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.น.อ. ๓” (๙) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรมคุมประพฤติ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบบังคับรักษา ด้านการตรวจพิสูจน์การเสพ หรือการติดยาเสพติด ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และด้านติดตามผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบบังคับรักษาในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรมคุมประพฤติ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ป.” (๑๐) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโสประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการสืบสวนหาข่าว การวิเคราะห์ข่าว การเฝ้าตรวจและติดตามพฤติการณ์ การล่อซื้อ การตรวจค้นจับกุม การดำเนินคดียาเสพติดโดยใช้มาตรการสมคบ การยึด อายัดทรัพย์สิน การบริหารจัดการทรัพย์สิน การเร่งรัดติดตามและประสานคดี การตรวจพิสูจน์ยาเสพติด การสำรวจพืชเสพติด การเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในพื้นที่และการจัดระเบียบสังคมโดยการปฏิบัติงานต้องใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ป.ส.” (๑๑) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโสประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติงานทางอากาศ โดยปฏิบัติงานในฐานะผู้แก้ไขและปรับแต่งอุปกรณ์วิทยุสื่อสารและเครื่องช่วยการเดินอากาศและขึ้นบินทดสอบอุปกรณ์หรือระบบนั้นภายหลังแก้ไขปรับแต่ง เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์และความปลอดภัยในการบินปฏิบัติงานของอากาศยาน ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานทางอากาศซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แก้ไขและปรับแต่งอุปกรณ์วิทยุสื่อสารและเครื่องช่วยการเดินอากาศ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.น.อ. ๓” (๑๒) ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขที่เรือนจำในกรมราชทัณฑ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานที่เรือนจำตามกฎหมายราชทัณฑ์ โดยปฏิบัติหน้าที่ในการบำบัดรักษาและให้บริการทางการแพทย์กับผู้ต้องขัง หรือผู้ต้องกักขัง หรือผู้ถูกกักกัน ตลอดเวลา ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขที่เรือนจำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ส.ร.” (๑๓) ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน โดยปฏิบัติหน้าที่ในการบำบัดรักษาและให้บริการทางการแพทย์แก่เด็กและเยาวชน ตลอดเวลา ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขในหน่วยงานสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ส.พ.” (๑๔) ข้าราชการในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยปฏิบัติงานในสถานที่เกิดเหตุหรือปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพในกรณีถูกวิสามัญฆาตกรรมและศพไม่ทราบชื่อ ศพที่ญาติร้องขอและศพที่ตายผิดธรรมชาติ ตรวจร่างกายผู้เสียหายในกรณีถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ตรวจร่างกายและวัตถุพยานของผู้ต้องสงสัยในกรณีกระทำความผิดอาญา รวมถึงกรณีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร้องขอหรือที่ได้รับมอบหมาย ตรวจพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ครบทุกสาขาในกรณีต่าง ๆ ตรวจเก็บหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุในคดีต่าง ๆ ตรวจพิสูจน์ยาเสพติดให้โทษทุกชนิดรวมทั้งการตรวจยาพิษ รวบรวมศพ ชิ้นส่วนของศพที่ไม่ทราบชื่อมาทำการพิสูจน์บุคคลและสาเหตุการตาย ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ว.” (๑๕) ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการทางการแพทย์กับผู้เสียหาย หรือผู้ต้องสงสัย หรือวัตถุพยาน หรือศพ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ส.ว.” (๑๖) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสาขา และสำนักงานคุมประพฤติประจำศาล สังกัดกรมคุมประพฤติ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสืบเสาะและพินิจการควบคุมและสอดส่อง การตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสาขา และสำนักงานคุมประพฤติประจำศาล สังกัดกรมคุมประพฤติ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ค.ป.” (๑๗) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ก.” (ก) ผ่านการอบรมหลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐหรือหลักสูตรอื่นที่เทียบเท่าซึ่ง ก.พ. กำหนดหรือรับรอง (ข) ผ่านกระบวนการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.พ. วิสามัญเฉพาะกิจเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานนักกฎหมายภาครัฐกำหนด (ค)[๒] ปฏิบัติงานในหน่วยงาน ดังต่อไปนี้ ๑) ส่วนราชการที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมายและมีหัวหน้าส่วนราชการดำรงตำแหน่งในสายงานนิติการ หรือ ๒) หน่วยงานต่ำกว่ากองหรือสำนักหรือหน่วยงานเทียบเท่ากองหรือสำนักที่ อ.ก.พ. กระทรวง เห็นชอบการแบ่งงานภายใน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมาย และมีหัวหน้าหน่วยงานดำรงตำแหน่งในสายงานนิติการ หรือ ๓) ส่วนราชการที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการหรือหน่วยงานต่ำกว่ากองหรือสำนักหรือหน่วยงานเทียบเท่ากองหรือสำนัก ที่ อ.ก.พ. กระทรวง เห็นชอบการแบ่งงานภายในซึ่งหัวหน้าหน่วยงานไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานนิติการ แต่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจและยกร่างกฎหมาย หรือการดำเนินการทางวินัย หรือการดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง (ง) ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งนิติกรที่ได้รับแต่งตั้งตามที่ ก.พ. กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการ ตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตามมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนากฎหมายแล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับให้ถือว่าผ่านการอบรมหลักสูตรตาม (ก) แล้ว ให้ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรที่ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) แล้ว และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) ในระดับสูงขึ้นก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับ พ.ต.ก. ในอัตราเดิมไปจนกว่าผู้นั้นจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่ ก.พ. กำหนดตั้งแต่วันที่ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้น[๓] (๑๘) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ทันตแพทย์ ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (ทันตแพทย์) เภสัชกร ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (เภสัชกรรม) พยาบาลวิชาชีพ นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมายหรือนักวิชาการศึกษาพิเศษที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย นักกิจกรรมบำบัดหรือนักอาชีวบำบัดที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกหรือนักจิตวิทยาที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านจิตวิทยาคลินิก และนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ หรือใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น โดยใช้ใบอนุญาตดังกล่าวปฏิบัติงานให้บริการด้านสุขภาพด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน ได้แก่ ด้านการรักษาพยาบาล ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ด้านการควบคุมป้องกันโรค ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือด้านการฟื้นฟูสภาพ และได้รับมอบหมาย ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนแนบท้าย ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ส.” (๑๙)[๔] ข้าราชการในสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกแบบ การผลิต และการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึกหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยสัมผัสใกล้ชิดกับสารเคมีอันตราย ฝุ่นละออง ไอกรด หรือต้องปฏิบัติงานกับเครื่องจักรที่ก่อให้เกิดความร้อน เสียง แสงสะท้อน หรือแรงสั่นสะเทือน ตลอดเวลา ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานในสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ษ.” (๒๐)[๕] ข้าราชการในกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน ด้านพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยธรรมชาติ ด้านการตรวจอากาศ โดยการติดตามเฝ้าระวัง ตรวจวัด วิเคราะห์ พยากรณ์ แจ้งข่าว รายงาน และเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.อ.ต.” (๒๑)[๖] ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งนักการข่าว ในสำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครองซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานด้านการข่าว โดยการติดตาม ศึกษา รวบรวมและวิเคราะห์ข่าว ประเมินสถานการณ์ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศและความสงบเรียบร้อยของสังคม หรือติดตาม และเฝ้าระวังเหตุการณ์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนและรายงานให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานด้านการข่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการข่าวในกรมการปกครอง ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ข.ป.” (๒๒)[๗] ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครอง ในกรมการปกครอง ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ ในสังกัดที่ทำการปกครองอำเภอ และได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา การอำนวยความเป็นธรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ การแก้ไขข้อขัดแย้งและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การปราบปรามยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล การจัดระเบียบสังคมหรืองานอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานปกครอง (ปลัดอำเภอ) ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานปกครอง ในกรมการปกครอง ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ป.ค.” (๒๓)[๘] ข้าราชการในสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา และได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองพยาน โดยทำหน้าที่เป็นชุดคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานในคดีอาญา ตามมาตรการทั่วไปและให้ความคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองพยาน ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ค.พ.” ข้อ ๕ ข้าราชการผู้ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มอยู่แล้วในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดท้ายประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑.[๙] บัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนแนบท้ายประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔[๑๐] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐[๑๑] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป พัชรภรณ์/เพิ่มเติม ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ปริญสินีย์/ตรวจ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนพิเศษ ๕๒ ง/หน้า ๒๙/๙ เมษายน ๒๕๕๒ [๒] ข้อ ๔ (๑๗) (ค) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ [๓] ข้อ ๔ (๑๗) วรรคสาม เพิ่มโดยประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ [๔] ข้อ ๔ (๑๙) เพิ่มโดยประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๕] ข้อ ๔ (๒๐) เพิ่มโดยประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๖] ข้อ ๔ (๒๑) เพิ่มโดยประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๗] ข้อ ๔ (๒๒) เพิ่มโดยประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๘] ข้อ ๔ (๒๓) เพิ่มโดยประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๙] บัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนแนบท้ายประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนพิเศษ ๑๒ ง/หน้า ๖๘/๒๘ มกราคม ๒๕๕๔ [๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนพิเศษ ๒๔๓ ง/หน้า ๓/๒ ตุลาคม ๒๕๖๐
304183
กฎ ก.พ.ฉบับที่ 51 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2497 ว่าด้วยการเทียบตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม
กฎ กฎ. ก.พ. ฉบับที่ ๕๑ (พ.ศ.๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๘๗ ว่าด้วยการเทียบตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๘) และมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ ก.พ. ออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับแก่สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ข้อ ๒ ตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้กำหนดเทียบกับตำแหน่งข้าราชการพลเรือน และให้กำหนดตำแหน่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาส่วนราชการ ดังต่อไปนี้ ตำแหน่งที่เรียกชื่อ เทียบกับตำแหน่ง เป็นตำแหน่งผู้บังคับ อย่างอื่น บัญชา วัฒนธรรมอำเภอ เสมียนพนักงาน ส่วนราชการวัฒนธรรม จัตวา ประจำอำเภอ ในฐานะ หัวหน้าส่วนราชการที่ ต่ำกว่าหัวหน้าแผนก วัฒนธรรมอำเภอตรี ประจำแผนก ส่วนราชการวัฒนธรรม ประจำอำเภอในฐานะ หัวหน้าส่วนราชการที่ ต่ำกว่าหัวหน้าแผนก ผู้ช่วยวัฒนธรรม จังหวัด “ วัฒนธรรมจังหวัด หัวหน้าแผนก ส่วนราชการวัฒนธรรม ประจำจังหวัดในฐานะ หัวหน้าแผนก ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๗ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๗๖/หน้า ๑๗๓๒/๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๗
670655
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง[๑] โดยที่คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง (ก.ขป.) ในคราวประชุมครั้งที่ ๘๖ - ๑๑/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ มีมติอนุมัติในหลักการการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับกับข้าราชการฝ่ายศาลปกครองโดยอนุโลม เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลปกครอง ประกอบกับ ก.ขป. ในคราวประชุมครั้งที่ ๘๘ - ๑/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ มีมติเห็นชอบในหลักการของการกำหนดตำแหน่งและมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง โดยเฉพาะการเทียบเคียงการจำแนกตำแหน่งเพื่อประโยชน์ในการให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง รองรับการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติ ก.ขป. ดังกล่าวข้างต้น ก.ขป. จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ได้รับเงินเดือนตามการจัดตำแหน่งเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่ง ของประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ข้อ ๔ ให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในประเภท สายงาน และระดับตำแหน่งดังต่อไปนี้ มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง (๑) ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ได้แก่ สายงานนักบริหารงานศาลปกครอง (ก) ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดียวกับหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง (ข) ตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง หรือเทียบเท่าให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดียวกับรองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง (๒)[๒] ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง ได้แก่ (ก) สายงานพนักงานคดีปกครอง ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (พนักงานคดีปกครอง) ระดับสูง (ข) สายงานเจ้าหน้าที่บริหารงานศาลปกครอง (๓)[๓] ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ได้แก่ (ก) สายงานพนักงานคดีปกครอง (ข) สายงานเจ้าหน้าที่ศาลปกครอง (ค) สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ (๔) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ได้แก่ (ก) สายงานพนักงานคดีปกครอง (ข) สายงานเจ้าหน้าที่ศาลปกครอง (ค) สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ (ง) สายงานนักวิชาการตรวจสอบภายใน (จ)[๔] สายงานวิศวกรรมเครื่องกล (ฉ)[๕] สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า (ช)[๖] สายงานวิศวกรรมโยธา (ซ)[๗] สายงานสถาปัตยกรรม (๕)[๘] ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ และระดับชำนาญการ ได้แก่ (ก) สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ (ข) สายงานวิศวกรรมเครื่องกล (ค) สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า (ง) สายงานวิศวกรรมโยธา (จ) สายงานสถาปัตยกรรม ข้อ ๕ ให้ ก.ขป. มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ข้อ ๖ ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดรักษาการตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔[๙] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕[๑๐] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔)[๑๑] ปณตภร/ผู้จัดทำ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เอกฤทธิ์/ผู้ปรับปรุง ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๒๗ ก/หน้า ๑๔/๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ [๒] ข้อ ๔ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ [๓] ข้อ ๔ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔) [๔] ข้อ ๔ (๔) (จ) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ [๕] ข้อ ๔ (๔) (ฉ) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ [๖] ข้อ ๔ (๔) (ช) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ [๗] ข้อ ๔ (๔) (ซ) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ [๘] ข้อ ๔ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๗๒ ก/หน้า ๑๑/๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๕๖ ก/หน้า ๓๒/๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕ [๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๙๙ ก/หน้า ๕/๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖
724728
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๙) และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๑๓๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จึงออกประกาศเกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่ง ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เพื่อให้เป็นตามขั้นตอนและรองรับการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาบังคับใช้โดยอนุโลม ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง” ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ข้อ ๓ การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้เป็นไปตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ข้อ ๔ ให้ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมรักษาการตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ พิชิต คำแฝง รองประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีหมายเลข ๑ ตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ๒. บัญชีหมายเลข ๒ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๓ ตำแหน่งประเภทวิชาการ เพิ่มข้อย่อยที่ ๓.๑๖ สายงานจิตวิทยา)[๒] (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร)[๓] (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร เพิ่มลำดับที่ ๔)[๔](แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๓ ตำแหน่งประเภทวิชาการ เพิ่มข้อย่อยที่ ๓.๑๗ สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า ข้อย่อยที่ ๓.๑๘ สายงานวิศวกรรมเครื่องกล ข้อย่อยที่ ๓.๑๙ สายงานมัณฑนศิลป์)[๕] (ยกเลิกลำดับที่ ๓.๓ ลำดับที่ ๓.๔ ลำดับที่ ๓.๕ ลำดับที่ ๓.๗ ลำดับที่ ๓.๘ ลำดับที่ ๓.๑๑ ลำดับที่ ๓.๑๒ ลำดับที่ ๓.๑๓ ลำดับที่ ๓.๑๔ ลำดับที่ ๓.๑๕ และลำดับที่ ๓.๑๖)[๖] ๓. บัญชีหมายเลข ๓ การจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒)[๗] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓)[๘] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔)[๙] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕)[๑๐] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๖)[๑๑] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ปริญสินีย์/จัดทำ ๒ มีนาคม ๒๕๕๘ ชวัลพร/เพิ่มเติม ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ปุณิกา/เพิ่มเติม ๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๘๕ ก/หน้า ๔๔/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ [๒] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) [๓] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) [๔] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔) [๕] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕) [๖] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๖) [๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๕๔ ก/หน้า ๑๔/๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ [๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๗๖ ก/หน้า ๒๕/๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๔๐/๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ [๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๑๑/๒๘ มกราคม ๒๕๕๙ [๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๒๑ ก/หน้า ๑๑/๒ เมษายน ๒๕๖๑
653992
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง พ.ศ. 2552 (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒[๑] โดยที่เป็นการสมควรจัดระเบียบข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้การบริหารราชการของสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีผลเป็นการกระทบสิทธิที่มีอยู่เดิมของข้าราชการ และใช้งบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากรเท่าที่จำเป็น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๑๓๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงมีประกาศดังนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ในการกำหนดมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและหลักเกณฑ์การจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้เป็นไปตามท้ายประกาศนี้ ข้อ ๔ ตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. จะมีในส่วนราชการใด จำนวนเท่าใด และเป็นตำแหน่งประเภทใด สายงานใด ระดับใด ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด โดยต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความไม่ซ้ำซ้อนและประหยัด เป็นหลัก ข้อ ๕ ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการสำ นักงาน ป.ป.ช. ตามประกาศนี้ ให้มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและหลักเกณฑ์การจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ และให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งสั่งแต่งตั้งข้าราชการเพื่อดำรงตำแหน่งใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ ๖ ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการเพื่อนำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งไปประกาศแจ้งให้ข้าราชการในสังกัดทราบและถือปฏิบัติ ข้อ ๗ บรรดาการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ มติ หรือคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่เดิมก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับและยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จนถึงวันที่ประกาศนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ มติ หรือคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่เดิมต่อไปจนแล้วเสร็จและให้มีผลใช้บังคับได้ ข้อ ๘ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ หรืออันเนื่องมาจากประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ [เอกสารแนบท้าย] ๑.[๒] บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. แยกตามประเภท สายงานและระดับตำแหน่งท้ายประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ (แก้ไขเพิ่มเติม ลำดับที่ ๑๖ และลำดับที่ ๒๑) ๒. หลักเกณฑ์การจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งท้ายประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒[๓] [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๕ ก/หน้า ๓/๒๓ มกราคม ๒๕๕๒ [๒] บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. แยกตามประเภท สายงานและระดับตำแหน่งท้ายประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๙๓ ก/หน้า ๒๔/๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๒
751887
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกําหนดเงินเพิ่มสําหรับตําแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตําแหน่งนิติกร (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๙) และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ และมติคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ครั้งที่ ๑๖/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ให้ตำแหน่งนิติกรในสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จึงออกประกาศเกี่ยวกับการกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการ ตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ก.” (๑) ผ่านการอบรมหลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐหรือหลักสูตรอื่นที่เทียบเท่า ซึ่ง ก.ศ. กำหนดหรือรับรอง (๒) ผ่านกระบวนการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ศ. กำหนด (๓) ปฏิบัติงานในหน่วยงานดังต่อไปนี้ ๑) หน่วยงานที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในและกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมายและหัวหน้าหน่วยงานดำรงตำแหน่งในสายงานนิติการ หรือ ๒) หน่วยงานต่ำกว่ากองหรือสำนัก หรือหน่วยงานเทียบเท่ากองหรือสำนัก ตามการแบ่งงานภายในของสำนักงานศาลยุติธรรม ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมาย หรือการสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล (๔) ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งนิติกรที่ได้รับแต่งตั้งตามที่ ก.ศ. กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และลักษณะงานด้านกฎหมายในสำนักงานศาลยุติธรรม ข้อ ๔ หลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร ให้เป็นไปตามบัญชีหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ผู้ได้รับ พ.ต.ก. ที่ได้รับการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น และมีสิทธิได้รับ พ.ต.ก. ที่สูงขึ้นตามระดับตำแหน่ง ให้ได้รับ พ.ต.ก. ในอัตราเดิมจนกว่าจะผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร ในอัตราที่สูงขึ้นตามระดับตำแหน่ง ข้อ ๕ การจัดลักษณะงานด้านกฎหมายในสำนักงานศาลยุติธรรมให้เป็นไปตามบัญชี หมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ข้อ ๖ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการ ตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ให้เป็นไปตามที่ ก.ศ. กำหนด ข้อ ๗ ให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่ ก.ศ. แต่งตั้ง รับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ตัวชี้วัด เป้าหมาย พิจารณาคุณสมบัติ และประเมินความรู้ความสามารถของผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรที่ขอรับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ จำนวนอย่างน้อย ๓ คน ประกอบด้วย (๑) ผู้แทน ก.ศ. ๑ คน (๒) ข้าราชการศาลยุติธรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอำนวยการ ระดับสูง หรือประเภทบริหาร ระดับต้น (๓) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายจากภายนอกสำนักงานศาลยุติธรรม (๔) หัวหน้าหน่วยงานการเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นเลขานุการโดยให้ ก.ศ. เลือกอนุกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธาน ข้อ ๘ ข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการ ตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ผู้ใดมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษหลายอัตรา ให้ข้าราชการศาลยุติธรรมผู้นั้นได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษในอัตราที่สูงสุดเพียงอัตราเดียว ข้อ ๙ ข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการ ตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ผู้ใดปฏิบัติงานไม่เต็มเดือนในเดือนใด ให้ได้รับเงิน เพิ่มสำหรับตำแหน่ง ที่มีเหตุพิเศษสำหรับเดือนนั้น ตามส่วนของจำนวนวันที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าในเดือนใดมิได้ปฏิบัติงานไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษสำหรับเดือนนั้น เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ (๑) กรณีลาป่วย ให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ในปีงบประมาณหนึ่งไม่เกินหกสิบวันทำการ เว้นแต่เป็นการป่วยอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ก.ศ. อาจกำหนดให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษเกินหกสิบวันทำการได้ตามควรแก่กรณี (๒) กรณีลาคลอดบุตร ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินเก้าสิบวัน (๓) กรณีลากิจส่วนตัวให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ในปีงบประมาณหนึ่งไม่เกินสี่สิบห้าวันทำการ แต่สำหรับในปีแรกที่รับราชการให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ในปีงบประมาณนั้นไม่เกินสิบห้าวันทำการ (๔) กรณีลาพักผ่อนประจำปี ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินระยะเวลาที่ผู้นั้นมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (๕) กรณีลาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาหรือลาไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมิใช่เป็นการลาภายในระยะเวลาสิบสองเดือนแรกที่เข้ารับราชการ และตั้งแต่เริ่มรับราชการยังไม่ได้ลาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาหรือยังไม่เคยลาประกอบพิธีฮัจญ์ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินหกสิบวัน (๖) กรณีลาไปเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินหกสิบวัน แต่ถ้าพ้นระยะเวลาที่ลาดังกล่าวแล้วผู้นั้นไม่ไปรายงานตัวเพื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งภายในเจ็ดวัน ให้งดจ่ายเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษหลังจากนั้นไว้จนถึงวันเข้าปฏิบัติหน้าที่หลัก (๗) กรณีลาไปศึกษาฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินหกสิบวัน (๘)[๒] กรณีการอุปสมบทในพระพุทธศาสนาที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีมติเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ถือเป็นวันลาของข้าราชการศาลยุติธรรม ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างเวลาดังกล่าวได้ไม่เกินหกสิบวัน (๙)[๓] กรณีลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาเฉพาะวันลาที่มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างลาตามกฎหมาย (๑๐)[๔] กรณีลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินหกสิบวัน ข้อ ๑๐ ให้ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมรักษาการตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ รองประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีหมายเลข ๑ บัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร ๒. บัญชีหมายเลข ๒ บัญชีลักษณะงานด้านกฎหมายในสำนักงานศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (ฉบับที่ ๒)[๕] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๔ ข้าราชการศาลยุติธรรมซึ่งลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร หรือลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ ตั้งแต่วันที่ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการลาหยุดราชการของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและลูกจ้างของสำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๖ ใช้บังคับให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๙ (๙) หรือ (๑๐) แห่งประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตำแหน่งนิติกร พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ แล้วแต่กรณี พัสสน/ผู้จัดทำ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ วิศนี/เพิ่มเติม ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ปัญญา/ตรวจ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๒๔ ก/หน้า ๖/๗ เมษายน ๒๕๕๔ [๒] ข้อ ๙ (๘) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (ฉบับที่ ๒) [๓] ข้อ ๙ (๙) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (ฉบับที่ ๒) [๔] ข้อ ๙ (๑๐) เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (ฉบับที่ ๒) [๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๓๒ ก/หน้า ๑๐/๒๐ เมษายน ๒๕๕๙
872889
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับ Update ล่าสุด)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง[๑] โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายศาลปกครองให้มีความเหมาะสม เป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับลักษณะงานของสำนักงานศาลปกครอง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกับมติ ก.ขป. ในการประชุมครั้งที่ ๒๐๔ - ๙/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ ก.ขป. จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิก (๑) ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่งสายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (๒) ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๔เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่งสายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ (๓) ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่งสายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ (๔) ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔) (๕) ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ลงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๖เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่งสายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕) ข้อ ๒ ในการจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ให้เป็นไปตามบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศนี้ ข้อ ๓ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ข้อ ๔ ให้ ก.ขป. เป็นผู้มีอำนาจตีความหรือวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ข้อ ๕ ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดรักษาการตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๓.๓ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์)[๒] (เพิ่มข้อ ๓.๙ สายงานนักวิชาการพัสดุ)[๓] (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓[๔] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๓[๕] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป อัมพิกา/เพิ่มเติม ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ ปริญสินีย์/ตรวจ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๐๐ ก/หน้า ๙/๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ [๒] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๓ [๓] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๓ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนที่ ๑๓ ก/หน้า ๒๑/๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ [๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗/ตอนที่ ๓๙ ก/หน้า ๑๖/๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓
697211
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ 4)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔)[๑] โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง เพื่อให้การบริหารราชการของสำนักงานศาลปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองในการประชุมครั้งที่ ๑๔๕ - ๑๐/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๖ คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔)” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของข้อ ๔ แห่งประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๓) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ได้แก่ (ก) สายงานพนักงานคดีปกครอง (ข) สายงานเจ้าหน้าที่ศาลปกครอง (ค) สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์” ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ เอกฤทธิ์/ผู้ตรวจ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๙๙ ก/หน้า ๕/๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖
768859
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐[๑] โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงกำหนดให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งดังนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕ แห่งประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๕ ให้ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในอัตราเท่ากับปลัดกระทรวง ตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในอัตราเท่ากับรองปลัดกระทรวง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภาคได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น และตำแหน่งผู้อำนวยการได้รับเงินประจำตำแหน่งเท่ากับตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง” ข้อ ๔ การอันใดซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งสำหรับตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ด้านการตรวจราชการ) ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ และให้มีผลใช้บังคับได้โดยให้ถือเป็นการดำเนินการสำหรับตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภาค เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชวัลพร/ปริยานุช/จัดทำ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ นุสรา/ตรวจ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๗ ก/หน้า ๗/๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
744757
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ 5)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕) โดยที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมได้มีมติกำหนดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม ตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า ตำแหน่งวิศวกรเครื่องกล และตำแหน่งมัณฑนากร ในสำนักงานศาลยุติธรรม ดังนั้น เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๙) และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ และระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕)” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้เพิ่มเติมบัญชีหมายเลข ๒ ข้อ ๓ ตำแหน่งประเภทวิชาการ ท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีหมายเลข ๒ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ชวัลพร/ปริยานุช/จัดทำ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๑๑/๒๘ มกราคม ๒๕๕๙
800843
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ (6)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๖) โดยที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมได้มีมติกำหนดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ในสำนักงานศาลยุติธรรม ดังนั้น เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๙) และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ และระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๖)” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในลำดับที่ ๓.๓ ลำดับที่ ๓.๔ ลำดับที่ ๓.๕ ลำดับที่ ๓.๗ ลำดับที่ ๓.๘ ลำดับที่ ๓.๑๑ ลำดับที่ ๓.๑๒ ลำดับที่ ๓.๑๓ ลำดับที่ ๓.๑๔ ลำดับที่ ๓.๑๕ และลำดับที่ ๓.๑๖ ของบัญชีหมายเลข ๒ ท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายประกาศนี้แทน ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีหมายเลข ๒ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๖) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปุณิกา/จัดทำ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๒๑ ก/หน้า ๑๑/๒ เมษายน ๒๕๖๑
722558
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘[๑] โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงกำหนดให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งดังนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕ ของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๕ ให้ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในอัตราเท่ากับปลัดกระทรวง ตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในอัตราเท่ากับรองปลัดกระทรวง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ด้านการตรวจราชการ) ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น และตำแหน่งผู้อำนวยการให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งเท่ากับตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง” ข้อ ๔ การใดซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ ก่อนประกาศนี้ใช้บังคับให้มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ต่อไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ กฤษดายุทธ/ผู้ตรวจ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๗ ก/หน้า ๑๔/๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
723336
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ 4)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔) โดยที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมได้มีมติกำหนดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ประเภทบริหาร ระดับต้น ดังนั้น เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๙) และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ และระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔)” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้เพิ่มเติมบัญชีหมายเลข ๒ ข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร ลำดับที่ ๔ ท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เพลินจิต ตั้งพูลสกุล รองประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีหมายเลข ๒ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ปริญสินีย์/ผู้ตรวจ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๔๐/๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
749622
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (ฉบับที่ 2)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (ฉบับที่ ๒) โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร ให้ครอบคลุมการลาประเภทต่าง ๆ ตามระเบียบและสอดคล้องกับมติคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๙) และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (ฉบับที่ ๒)” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๘) (๙) และ (๑๐) ของข้อ ๙ แห่งประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร พ.ศ. ๒๕๕๔ “(๘) กรณีการอุปสมบทในพระพุทธศาสนาที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีมติเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ถือเป็นวันลาของข้าราชการศาลยุติธรรม ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างเวลาดังกล่าวได้ไม่เกินหกสิบวัน (๙) กรณีลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาเฉพาะวันลาที่มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างลาตามกฎหมาย (๑๐) กรณีลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินหกสิบวัน” ข้อ ๔ ข้าราชการศาลยุติธรรมซึ่งลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร หรือลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ ตั้งแต่วันที่ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการลาหยุดราชการของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและลูกจ้างของสำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๖ ใช้บังคับให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๙ (๙) หรือ (๑๐) แห่งประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตำแหน่งนิติกร พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ แล้วแต่กรณี ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม วิศนี/ปริยานุช/จัดทำ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๓๒ ก/หน้า ๑๐/๒๐ เมษายน ๒๕๕๙
697213
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ 5)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕)[๑] โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายศาลปกครองให้มีความเหมาะสม เป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของสำนักงานศาลปกครอง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองในการประชุมครั้งที่ ๑๔๕ - ๑๐/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๖ คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕)” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทวิชาการ ๘ สายงาน ข้อ ๓ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ตามบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ และให้ใช้บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทวิชาการ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ท้ายประกาศนี้แทน ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕) ลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ เอกฤทธิ์/ผู้ตรวจ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๙๙ ก/หน้า ๖/๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖
732630
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารงานบุคคลและการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๕๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๑๐๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓ ของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๓ การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ใดซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใดและดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการยุติธรรมในสาขากระบวนการยุติธรรมหรือประเภทวิชาการในสาขาตำแหน่งทั่วไปและดำรงตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญ หรือระดับทรงคุณวุฒิ รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จะต้องเป็นกรณีที่ (๑) มีเหตุผลและความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ (๒) ตำแหน่งที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปต้องเป็นตำแหน่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคล กำหนดให้เป็นตำแหน่งที่มีความขาดแคลนบุคลากรในเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ และหาผู้อื่นปฏิบัติงานแทนได้ยากเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการ หรือหน้าที่ที่จะต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว และ (๓) ตำแหน่งที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปต้องเป็นตำแหน่งที่ผู้นั้นครองอยู่เดิม” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๖ (๑) และข้อ ๖ (๔) ของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๑) ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการยุติธรรมในสาขากระบวนการยุติธรรม หรือประเภทวิชาการในสาขาตำแหน่งทั่วไปและดำรงตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป แล้วแต่กรณี ต่อเนื่องกันมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสิ้นปีงบประมาณนั้น (๔) ผ่านการตรวจสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลกำหนด” ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๗ ของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๗ การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ใดซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการยุติธรรมในสาขากระบวนการยุติธรรม หรือประเภทวิชาการในสาขาตำแหน่งทั่วไปและดำรงตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญหรือระดับทรงคุณวุฒิตามข้อ ๓ (๒) ได้รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้คณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณา” ข้อ ๖ ให้ยกเลิกความในข้อ ๘ ของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๘ ให้ส่วนราชการดำเนินการตามข้อ ๗ ภายในเดือนมีนาคมของปีงบประมาณที่ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้นั้นจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และให้คณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาข้อเสนอของส่วนราชการ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนของปีงบประมาณนั้น” ข้อ ๗ ให้ยกเลิกความในข้อ ๙ ของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ ๙ ในกรณีที่คณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เห็นชอบให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ใดรับราชการต่อไปได้เมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งให้ผู้นั้นรับราชการต่อไป และส่งสำเนาคำสั่งให้กรมบัญชีกลางทราบเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ นุสรา/ผู้ตรวจ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๗๑ ก/หน้า ๑๓/๕ สิงหาคม ๒๕๕๘
747132
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับ Update ณ วันที่ 20/02/2558)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๙) และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๑๓๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จึงออกประกาศเกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่ง ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เพื่อให้เป็นตามขั้นตอนและรองรับการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาบังคับใช้โดยอนุโลม ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง” ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ข้อ ๓ การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้เป็นไปตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ข้อ ๔ ให้ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมรักษาการตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ พิชิต คำแฝง รองประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีหมายเลข ๑ ตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ๒. บัญชีหมายเลข ๒ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๓ ตำแหน่งประเภทวิชาการ เพิ่มข้อย่อยที่ ๓.๑๖ สายงานจิตวิทยา)[๒] (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร)[๓] (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร เพิ่มลำดับที่ ๔)[๔] ๓. บัญชีหมายเลข ๓ การจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒)[๕] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓)[๖] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔)[๗] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ปริญสินีย์/ผู้จัดทำ ๒ มีนาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๘๕ ก/หน้า ๔๔/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ [๒] บัญชีหมายเลข ๒ ข้อ ๓ ตำแหน่งประเภทวิชาการ ข้อย่อยที่ ๓.๑๖ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) [๓] บัญชีหมายเลข ๒ ข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) [๔] บัญชีหมายเลข ๒ ข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร ลำดับที่ ๔ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔) [๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๕๔ ก/หน้า ๑๔/๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ [๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๗๖ ก/หน้า ๒๕/๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ [๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๔๐/๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
792535
ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552 (ฉบับ Update ณ วันที่ 28/01/2554)
ประกาศ ก ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มตามระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ และข้อ ๕ แห่งระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ ก.พ. จึงกำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิก (๑) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๔๙ (๒) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ (๓) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ (๔) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ (๕) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๔ ให้ข้าราชการผู้ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งและในหน่วยงานดังต่อไปนี้ เป็นข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ และให้ได้รับเงินเพิ่มตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้ (๑) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงาน ด้านการอภิบาล การศึกษา การฝึกและอบรม การปลูกฝังศีลธรรม จริยธรรม การฝึกระเบียบวินัย ดูแลและอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนด้านการสงเคราะห์และบำบัด แก้ไข หรือการตรวจสุขภาพกายและจิตเด็กและเยาวชนที่ถูกควบคุมหรือการตรวจรักษาและพยาบาลเด็กและเยาวชน ด้านการสืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงและสิ่งแวดล้อมทั้งปวงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน รวมทั้งสาเหตุแห่งการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.น.” (๒) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในสถานสงเคราะห์ โดยผู้ได้รับการสงเคราะห์ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เนื่องจากเป็นคนพิการทางกาย ทางสมองและปัญญา ทางจิตประสาท เป็นคนชราที่เจ็บป่วยหรือหลง หรือเป็นคนไร้ที่พึ่งที่มีปัญหาด้านจิตประสาทซึ่งในการปฏิบัติงานต้องดูแลให้การสงเคราะห์ ฟื้นฟู และพัฒนา โดยสัมผัสกับผู้รับการสงเคราะห์ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยตรง ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.พ.” (๓) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในกรมราชทัณฑ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานที่เรือนจำตามกฎหมายราชทัณฑ์ซึ่งมีลักษณะงานที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ต้องขัง หรือผู้ต้องกักขัง หรือผู้ถูกกักกัน ตลอดเวลา หรือบางเวลา ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานที่เรือนจำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ร.” (๔) ข้าราชการในทุกส่วนราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานเป็นครูการศึกษาพิเศษ สอนคนตาบอด สอนคนหูหนวก สอนคนร่างกายพิการทางแขนขา และลำตัว และสอนคนปัญญาอ่อนที่ปฏิบัติงานสอนในสถานศึกษาหรือหน่วยงานของทางราชการ หรือในความควบคุมของทางราชการ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของครูการศึกษาพิเศษ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ค.ศ.” (๕) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสืบสวน การรวบรวมข่าว วิเคราะห์ข่าว หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการข่าวในการติดตามสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือเฝ้าระวังเหตุการณ์หรือสิ่งบอกเหตุที่จะเกิดการก่อการร้ายหรือบ่อนทำลายความมั่นคง เพื่อแจ้งเตือนและรายงานรัฐบาลและผู้ใช้ข่าวระดับสูงทราบอย่างต่อเนื่อง ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการข่าว ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.น.ข.” (๖) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานด้านการควบคุมจราจรทางอากาศและสื่อสารการบินตามที่ ก.พ. กำหนดในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของเจ้าพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ค.จ.” (๗) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในกรมศิลปากร ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติการใต้น้ำ ดังต่อไปนี้ (ก) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำ การทำแผนผังใต้ทะเลและการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทางโบราณคดีใต้น้ำ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติการใต้น้ำซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำ การทำแผนผังใต้ทะเล และการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทางโบราณคดีใต้น้ำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ป.น. ๑” (ข) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำ การทำแผนผังใต้ทะเลและการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทางโบราณคดีใต้น้ำ และมีความรู้ความสามารถในการใช้วัตถุระเบิดใต้น้ำ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติการใต้น้ำซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำ การทำแผนผังใต้ทะเล และการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทางโบราณคดีใต้น้ำและมีความรู้ความสามารถในการใช้วัตถุระเบิดใต้น้ำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ป.น. ๒” (๘) ข้าราชการในทุกส่วนราชการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติงานทางอากาศโดยปฏิบัติงานทางอากาศในฐานะ ดังต่อไปนี้ (ก) นักบินหรือนักบินผู้ตรวจการบิน ซึ่งปฏิบัติงานบนอากาศยานเป็นประจำ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานทางอากาศซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบิน หรือนักบินผู้ตรวจการบิน บนอากาศยานเป็นประจำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.น.อ. ๑” (ข) ผู้ตรวจสอบการปฏิบัติการบินทดสอบ (Avionics) ซึ่งปฏิบัติงานบนเครื่องบินทดสอบเป็นประจำ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานทางอากาศซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบการปฏิบัติการบินทดสอบ (Avionics) บนเครื่องบินทดสอบเป็นประจำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.น.อ. ๒” (ค) ช่างอากาศหรือช่างเครื่องบิน ซึ่งปฏิบัติงานบนอากาศยานเป็นประจำ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานทางอากาศซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็น ช่างอากาศหรือช่างเครื่องบิน บนอากาศยานเป็นประจำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.น.อ. ๓” (๙) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรมคุมประพฤติ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบบังคับรักษา ด้านการตรวจพิสูจน์การเสพ หรือการติดยาเสพติด ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และด้านติดตามผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบบังคับรักษาในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรมคุมประพฤติ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ป.” (๑๐) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโสประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการสืบสวนหาข่าว การวิเคราะห์ข่าว การเฝ้าตรวจและติดตามพฤติการณ์ การล่อซื้อ การตรวจค้นจับกุม การดำเนินคดียาเสพติดโดยใช้มาตรการสมคบ การยึด อายัดทรัพย์สิน การบริหารจัดการทรัพย์สิน การเร่งรัดติดตามและประสานคดี การตรวจพิสูจน์ยาเสพติด การสำรวจพืชเสพติด การเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในพื้นที่และการจัดระเบียบสังคมโดยการปฏิบัติงานต้องใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ป.ส.” (๑๑) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโสประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติงานทางอากาศ โดยปฏิบัติงานในฐานะผู้แก้ไขและปรับแต่งอุปกรณ์วิทยุสื่อสารและเครื่องช่วยการเดินอากาศและขึ้นบินทดสอบอุปกรณ์หรือระบบนั้นภายหลังแก้ไขปรับแต่ง เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์และความปลอดภัยในการบินปฏิบัติงานของอากาศยาน ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานทางอากาศซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แก้ไขและปรับแต่งอุปกรณ์วิทยุสื่อสารและเครื่องช่วยการเดินอากาศ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.น.อ. ๓” (๑๒) ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขที่เรือนจำในกรมราชทัณฑ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานที่เรือนจำตามกฎหมายราชทัณฑ์ โดยปฏิบัติหน้าที่ในการบำบัดรักษาและให้บริการทางการแพทย์กับผู้ต้องขัง หรือผู้ต้องกักขัง หรือผู้ถูกกักกัน ตลอดเวลา ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขที่เรือนจำ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ส.ร.” (๑๓) ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน โดยปฏิบัติหน้าที่ในการบำบัดรักษาและให้บริการทางการแพทย์แก่เด็กและเยาวชน ตลอดเวลา ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขในหน่วยงานสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ส.พ.” (๑๔) ข้าราชการในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยปฏิบัติงานในสถานที่เกิดเหตุหรือปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพในกรณีถูกวิสามัญฆาตกรรมและศพไม่ทราบชื่อ ศพที่ญาติร้องขอและศพที่ตายผิดธรรมชาติ ตรวจร่างกายผู้เสียหายในกรณีถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ตรวจร่างกายและวัตถุพยานของผู้ต้องสงสัยในกรณีกระทำความผิดอาญา รวมถึงกรณีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร้องขอหรือที่ได้รับมอบหมาย ตรวจพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ครบทุกสาขาในกรณีต่าง ๆ ตรวจเก็บหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุในคดีต่าง ๆ ตรวจพิสูจน์ยาเสพติดให้โทษทุกชนิดรวมทั้งการตรวจยาพิษ รวบรวมศพ ชิ้นส่วนของศพที่ไม่ทราบชื่อมาทำการพิสูจน์บุคคลและสาเหตุการตาย ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ว.” (๑๕) ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการทางการแพทย์กับผู้เสียหาย หรือผู้ต้องสงสัย หรือวัตถุพยาน หรือศพ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ส.ว.” (๑๖) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น ในสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสาขา และสำนักงานคุมประพฤติประจำศาล สังกัดกรมคุมประพฤติ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสืบเสาะและพินิจการควบคุมและสอดส่อง การตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสาขา และสำนักงานคุมประพฤติประจำศาล สังกัดกรมคุมประพฤติ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ค.ป.” (๑๗) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ก.” (ก) ผ่านการอบรมหลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐหรือหลักสูตรอื่นที่เทียบเท่าซึ่ง ก.พ. กำหนดหรือรับรอง (ข) ผ่านกระบวนการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.พ. วิสามัญเฉพาะกิจเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานนักกฎหมายภาครัฐกำหนด (ค)[๒] ปฏิบัติงานในหน่วยงาน ดังต่อไปนี้ ๑) ส่วนราชการที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมายและมีหัวหน้าส่วนราชการดำรงตำแหน่งในสายงานนิติการ หรือ ๒) หน่วยงานต่ำกว่ากองหรือสำนักหรือหน่วยงานเทียบเท่ากองหรือสำนักที่ อ.ก.พ. กระทรวง เห็นชอบการแบ่งงานภายใน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมาย และมีหัวหน้าหน่วยงานดำรงตำแหน่งในสายงานนิติการ หรือ ๓) ส่วนราชการที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการหรือหน่วยงานต่ำกว่ากองหรือสำนักหรือหน่วยงานเทียบเท่ากองหรือสำนัก ที่ อ.ก.พ. กระทรวง เห็นชอบการแบ่งงานภายในซึ่งหัวหน้าหน่วยงานไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานนิติการ แต่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจและยกร่างกฎหมาย หรือการดำเนินการทางวินัย หรือการดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง (ง) ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งนิติกรที่ได้รับแต่งตั้งตามที่ ก.พ. กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการ ตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตามมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนากฎหมายแล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับให้ถือว่าผ่านการอบรมหลักสูตรตาม (ก) แล้ว ให้ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรที่ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) แล้ว และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) ในระดับสูงขึ้นก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับ พ.ต.ก. ในอัตราเดิมไปจนกว่าผู้นั้นจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่ ก.พ. กำหนดตั้งแต่วันที่ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้น[๓] (๑๘) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ทันตแพทย์ ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (ทันตแพทย์) เภสัชกร ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (เภสัชกรรม) พยาบาลวิชาชีพ นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมายหรือนักวิชาการศึกษาพิเศษที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย นักกิจกรรมบำบัดหรือนักอาชีวบำบัดที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกหรือนักจิตวิทยาที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านจิตวิทยาคลินิก และนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ หรือใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น โดยใช้ใบอนุญาตดังกล่าวปฏิบัติงานให้บริการด้านสุขภาพด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน ได้แก่ ด้านการรักษาพยาบาล ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ด้านการควบคุมป้องกันโรค ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือด้านการฟื้นฟูสภาพ และได้รับมอบหมาย ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนแนบท้าย ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ส.” ข้อ ๕ ข้าราชการผู้ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มอยู่แล้วในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดท้ายประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑.[๔] บัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนแนบท้ายประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ (แก้ไขเพิ่มเติม ลำดับ (๑๗)) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔[๕] [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนพิเศษ ๕๒ ง/หน้า ๒๙/๙ เมษายน ๒๕๕๒ [๒] ข้อ ๔ (๑๗) (ค) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ [๓] ข้อ ๔ (๑๗) วรรคสาม เพิ่มโดยประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ [๔] บัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนแนบท้ายประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ [๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนพิเศษ ๑๒ ง/หน้า ๖๘/๒๘ มกราคม ๒๕๕๔
813054
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับ Update ณ วันที่ 28/01/2559)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๙) และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๑๓๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จึงออกประกาศเกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่ง ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เพื่อให้เป็นตามขั้นตอนและรองรับการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาบังคับใช้โดยอนุโลม ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง” ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ข้อ ๓ การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้เป็นไปตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ข้อ ๔ ให้ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมรักษาการตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ พิชิต คำแฝง รองประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีหมายเลข ๑ ตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ๒. บัญชีหมายเลข ๒ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๓ ตำแหน่งประเภทวิชาการ เพิ่มข้อย่อยที่ ๓.๑๖ สายงานจิตวิทยา)[๒] (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร)[๓] (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร เพิ่มลำดับที่ ๔)[๔](แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๓ ตำแหน่งประเภทวิชาการ เพิ่มข้อย่อยที่ ๓.๑๗ สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า ข้อย่อยที่ ๓.๑๘ สายงานวิศวกรรมเครื่องกล ข้อย่อยที่ ๓.๑๙ สายงานมัณฑนศิลป์)[๕] ๓. บัญชีหมายเลข ๓ การจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒)[๖] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓)[๗] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔)[๘] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕)[๙] ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ปริญสินีย์/ผู้จัดทำ ๒ มีนาคม ๒๕๕๘ ชวัลพร/เพิ่มเติม ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๘๕ ก/หน้า ๔๔/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ [๒] บัญชีหมายเลข ๒ ข้อ ๓ ตำแหน่งประเภทวิชาการ ข้อย่อยที่ ๓.๑๖ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) [๓] บัญชีหมายเลข ๒ ข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) [๔] บัญชีหมายเลข ๒ ข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร ลำดับที่ ๔ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔) [๕] บัญชีหมายเลข ๒ ข้อ ๓ ตำแหน่งประเภทวิชาการ ข้อย่อยที่ ๓.๑๗ ข้อย่อยที่ ๓.๑๘ ข้อย่อยที่ ๓.๑๙ เพิ่มโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕) [๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๕๔ ก/หน้า ๑๔/๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ [๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๗๖ ก/หน้า ๒๕/๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ [๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๔๐/๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ [๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๑๑/๒๘ มกราคม ๒๕๕๙
787383
ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560
ประกาศ ก ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ และข้อ ๕ ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ ก.พ. จึงกำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๙) (๒๐) (๒๑) (๒๒) และ (๒๓) ในข้อ ๔ ของประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ “(๑๙) ข้าราชการในสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกแบบ การผลิต และการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึกหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยสัมผัสใกล้ชิดกับสารเคมีอันตราย ฝุ่นละออง ไอกรด หรือต้องปฏิบัติงานกับเครื่องจักรที่ก่อให้เกิดความร้อน เสียง แสงสะท้อน หรือแรงสั่นสะเทือน ตลอดเวลา ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานในสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ษ.” (๒๐) ข้าราชการในกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน ด้านพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยธรรมชาติ ด้านการตรวจอากาศ โดยการติดตามเฝ้าระวัง ตรวจวัด วิเคราะห์ พยากรณ์ แจ้งข่าว รายงาน และเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.อ.ต.” (๒๑) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งนักการข่าว ในสำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครองซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานด้านการข่าว โดยการติดตาม ศึกษา รวบรวมและวิเคราะห์ข่าว ประเมินสถานการณ์ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศและความสงบเรียบร้อยของสังคม หรือติดตาม และเฝ้าระวังเหตุการณ์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนและรายงานให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานด้านการข่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการข่าวในกรมการปกครอง ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ข.ป.” (๒๒) ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครอง ในกรมการปกครอง ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ ในสังกัดที่ทำการปกครองอำเภอ และได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา การอำนวยความเป็นธรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ การแก้ไขข้อขัดแย้งและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การปราบปรามยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล การจัดระเบียบสังคมหรืองานอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานปกครอง (ปลัดอำเภอ) ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานปกครอง ในกรมการปกครอง ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ป.ค.” (๒๓) ข้าราชการในสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา และได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองพยาน โดยทำหน้าที่เป็นชุดคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานในคดีอาญา ตามมาตรการทั่วไปและให้ความคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองพยาน ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ค.พ.”” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกบัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนแนบท้ายประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ใช้บัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน ที่แนบท้ายประกาศ ก.พ. นี้แทน ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนแนบท้ายประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) พัชรภรณ์/อัญชลี/จัดทำ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๐ ปริญสินีย์/ตรวจ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนพิเศษ ๒๔๓ ง/หน้า ๓/๒ ตุลาคม ๒๕๖๐
772706
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2552 (ฉบับ Update ณ วันที่ 06/02/2558)
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒[๑] อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงกำหนดให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ดังนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ในการให้ได้รับเงินเดือนของข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ให้นำกฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๔ ตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ตำแหน่งใดจะเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนนั้น ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทใด สายงานใด และระดับใด ที่จะมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด ข้อ ๕[๒] ให้ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในอัตราเท่ากับปลัดกระทรวง ตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในอัตราเท่ากับรองปลัดกระทรวง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ด้านการตรวจราชการ) ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น และตำแหน่งผู้อำนวยการให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งเท่ากับตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง ข้อ ๖ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจตีความ และวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ หรืออันเนื่องมาจากประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘[๓] ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ข้อ ๔ การใดซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ ก่อนประกาศนี้ใช้บังคับให้มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ต่อไป กฤษดายุทธ/ผู้จัดทำ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๕ ก/หน้า ๕/๒๓ มกราคม ๒๕๕๒ [๒] ข้อ ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๗ ก/หน้า ๑๔/๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
692752
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ 4)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภท ตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔)[๑] โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายศาลปกครองให้มีความเหมาะสม เป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับลักษณะการปฏิบัติงานของสำนักงานศาลปกครอง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ครั้งที่ ๑๔๒ - ๗/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔)” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ประเภทอำนวยการ ตามบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ ลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๔ และให้ใช้บัญชีท้ายประกาศนี้แทน ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔) ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ ณัฐพร/ผู้ตรวจ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๖๙ ก/หน้า ๒๔/๒ สิงหาคม ๒๕๕๖
692756
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับ Update ณ วันที่ 27/06/2555)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง[๑] โดยที่คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง (ก.ขป.) ในคราวประชุมครั้งที่ ๘๖ - ๑๑/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ มีมติอนุมัติในหลักการการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับกับข้าราชการฝ่ายศาลปกครองโดยอนุโลม เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลปกครอง ประกอบกับ ก.ขป. ในคราวประชุมครั้งที่ ๘๘ - ๑/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ มีมติเห็นชอบในหลักการของการกำหนดตำแหน่งและมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายศาลปกครองรองรับการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติ ก.ขป. ดังกล่าวข้างต้น ก.ขป. จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ในการจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ให้เป็นไปตามท้ายประกาศนี้ ข้อ ๔ ให้ ก.ขป. มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ข้อ ๕ ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดรักษาการตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง [เอกสารแนบท้าย] ๑.[๒] บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ (แก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทอำนวยการ และประเภทวิชาการ) ๒. บัญชีการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่งสายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔[๓] ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕[๔] ปณตภร/ผู้จัดทำ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๒๗ ก/หน้า ๑๓/๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ [๒] บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ แก้ไขเพิ่มเติม (แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทอำนวยการ) โดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ และแก้ไขเพิ่มเติม (แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทวิชาการ) โดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ [๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๗๒ ก/หน้า ๑๐/๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ [๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๕๖ ก/หน้า ๓๑/๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
676915
ประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง กำหนดสายงานของข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง
ประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง กำหนดสายงานของข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง[๑] ตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการและอำนาจหน้าที่ภายในของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๕ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๕ และคณะกรรมการข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ก.ตง.) ได้กำหนดตำแหน่งและระดับตำแหน่งข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้สอดคล้องกับการแบ่งส่วนราชการและอำนาจหน้าที่ภายในของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตามบันทึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ตผ ๐๐๐๙/๖๓๙ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เรื่อง ขออนุมัติกำหนดตำแหน่ง ประเภทและระดับตำแหน่งของข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นระบบจำแนกตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยให้นำระบบจำแนกตำแหน่งและประเภทตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จึงออกประกาศกำหนดสายงานของข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ เฉพาะสายงานที่มิได้กำหนดไว้ในบัญชีกำหนดสายงานท้ายกฎ ก.พ. ดังกล่าว ไว้ดังต่อไปนี้ ๑. ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ได้แก่ - สายงานวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน ๒. ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ได้แก่ - สายงานวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ใช้อำนาจหน้าที่แทน ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณัฐพร/ผู้ตรวจ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๑๐๕ ก/หน้า ๔๖/๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
669523
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานวิศวกรรมเครื่องกล สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า สายงานวิศวกรรมโยธา และสายงานสถาปัตยกรรม ระดับชำนาญการ ที่มีประสบการณ์
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานวิศวกรรมเครื่องกล สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า สายงานวิศวกรรมโยธา และสายงานสถาปัตยกรรม ระดับชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานวิศวกรรมเครื่องกล สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า สายงานวิศวกรรมโยธา และสายงานสถาปัตยกรรม ระดับชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ เพื่อให้สำนักงานศาลปกครองใช้เป็นแนวทางในการประเมินข้าราชการให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ ลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๔ และประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ และมติคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองในการประชุมครั้งที่ ๑๒๘-๕/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕ คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองจึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานวิศวกรรมเครื่องกล สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า สายงานวิศวกรรมโยธา และสายงานสถาปัตยกรรม ระดับชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ ดังนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานวิศวกรรมเครื่องกล สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า สายงานวิศวกรรมโยธา และสายงานสถาปัตยกรรม ระดับชำนาญการ ที่มีประสบการณ์” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการได้รับเงินประจำตำแหน่งสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานวิศวกรรมเครื่องกล สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า สายงานวิศวกรรมโยธา และสายงานสถาปัตยกรรม ระดับชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ ตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ นั้น จะต้อง ๓.๑ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานวิศวกรรมเครื่องกล หรือสายงานวิศวกรรมไฟฟ้า หรือสายงานวิศวกรรมโยธา หรือสายงานสถาปัตยกรรม ระดับชำนาญการหรือเทียบเท่า มาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี ๓.๒ ผ่านการประเมินความเหมาะสมของบุคคลและผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานศาลปกครองกำหนด ข้อ ๔ ให้คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเป็นผู้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ข้อ ๕ ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ และให้มีอำนาจในการออกประกาศ คำสั่ง หลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๕ ปณตภร/ผู้ตรวจ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๕๖ ก/หน้า ๓๔/๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
669519
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายศาลปกครองให้มีความเหมาะสม เป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของสำนักงานศาลปกครอง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองในการประชุมครั้งที่ ๑๒๘-๕/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕ คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทวิชาการ ท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ และให้ใช้บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประเภทวิชาการ ท้ายประกาศนี้แทน ประกาศ ณ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๕ ปณตภร/ผู้ตรวจ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๕๖ ก/หน้า ๓๑/๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
669521
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง เพื่อให้การบริหารราชการของสำนักงานศาลปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองในการประชุมครั้งที่ ๑๒๘ - ๕/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕ คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (จ) (ฉ) (ช) (ซ) ใน (๔) ของข้อ ๔ แห่งประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ “(จ) สายงานวิศวกรรมเครื่องกล (ฉ) สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า (ช) สายงานวิศวกรรมโยธา (ซ) สายงานสถาปัตยกรรม” ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความใน (๕) ของข้อ ๔ แห่งประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๕) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ และระดับชำนาญการ ได้แก่ (ก) สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ (ข) สายงานวิศวกรรมเครื่องกล (ค) สายงานวิศวกรรมไฟฟ้า (ง) สายงานวิศวกรรมโยธา (จ) สายงานสถาปัตยกรรม” ประกาศ ณ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๕ ปณตภร/ผู้ตรวจ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๕๖ ก/หน้า ๓๒/๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
655550
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔[๑] โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ตามมติคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง (ก.ขป.) ในคราวประชุมครั้งที่ ๑๑๙ - ๘/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ เพื่อให้การบริหารราชการของสำนักงานศาลปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติ ก.ขป. ดังกล่าวข้างต้น ก.ขป. จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของข้อ ๔ แห่งประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๒) ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง ได้แก่ (ก) สายงานพนักงานคดีปกครอง ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (พนักงานคดีปกครอง) ระดับสูง (ข) สายงานเจ้าหน้าที่บริหารงานศาลปกครอง” ประกาศ ณ วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ ปณตภร/ผู้ตรวจ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๗๒ ก/หน้า ๑๑/๓๐ กันยายน ๒๕๕๔
655556
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔[๑] โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายศาลปกครองให้มีความเหมาะสม เป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของสำนักงานศาลปกครอง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง (ก.ขป.) ในคราวประชุมครั้งที่ ๑๑๙ - ๘/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ ก.ขป. จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ประเภทอำนวยการ ตามบัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ และให้ใช้บัญชีท้ายประกาศนี้แทน ประกาศ ณ วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองท้ายประกาศคณะคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ ลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๔ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ ปณตภร/ผู้ตรวจ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๗๒ ก/หน้า ๑๐/๓๐ กันยายน ๒๕๕๔
605289
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การย้ายข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งได้รับวุฒิเพิ่มขึ้น พ.ศ. 2552
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การย้ายข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งได้รับวุฒิเพิ่มขึ้น พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การย้ายข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งได้รับวุฒิเพิ่มขึ้นและไม่เคยดำรงตำแหน่งในสายงานที่เริ่มต้นจากระดับ ๓ (ระดับปฏิบัติการของตำแหน่งประเภทวิชาการ) มาก่อน และเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งในสายงานที่เริ่มต้นจากระดับ ๓ (ระดับปฏิบัติการของตำแหน่งประเภทวิชาการ) ให้ดำรงตำแหน่งในสายงานที่เริ่มต้นจากระดับ ๓ (ระดับปฏิบัติการของตำแหน่งประเภทวิชาการ) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมาตรา ๖๓ และมาตรา ๑๓๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่งสายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงมีประกาศดังนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การย้ายข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งได้รับวุฒิเพิ่มขึ้น พ.ศ. ๒๕๕๒” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ การแต่งตั้งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ซึ่งได้รับวุฒิเพิ่มขึ้นและไม่เคยดำรงตำแหน่งในสายงานที่เริ่มต้นจากระดับ ๓ (ระดับปฏิบัติการของตำแหน่งประเภทวิชาการ) ให้กระทำได้โดยวิธีคัดเลือกดังนี้ ๓.๑ กรณีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งซึ่งอยู่ในสายงานที่จะย้าย ทั้งนี้ อาจเป็นการสอบแข่งขันที่ ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการสอบ หรือ ก.พ. มอบหมายให้ส่วนราชการใดเป็นผู้ดำเนินการสอบแทน ให้เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งที่จะพิจารณาดำเนินการโดยไม่จำเป็นต้องรอจนถึงลำดับที่ที่ผู้นั้นจะได้รับการบรรจุ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ทางสำนักงาน ป.ป.ช. จะได้รับ ๓.๒ กรณีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้กำหนดตำแหน่งไว้ ทั้งนี้ อาจเป็นการสอบแข่งขันที่ ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการสอบ หรือ ก.พ. มอบหมายให้ส่วนราชการใดเป็นผู้ดำเนินการสอบแทนให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนดตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๐๖/ว ๑๕ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ หรือที่จะกำหนดต่อไปมาปรับใช้โดยอนุโลม ๓.๓ กรณีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทต่าง ๆ ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้สอบผ่านภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ของ ก.พ. ด้วย และให้ดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีตาม ๓.๒ ๓.๔ กรณีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ แต่ขอสละสิทธิ์การบรรจุและแต่งตั้ง หรือไม่ไปรายงานตัวเพื่อรับการบรรจุ หรือบัญชีดังกล่าวถูกยกเลิกแล้ว ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับกรณี ๓.๓ ๓.๕ กรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งได้เริ่มดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์นี้แล้ว หากผู้สอบแข่งขันได้ได้รับการเรียกให้ไปบรรจุโดยผลสอบแข่งขันดังกล่าว และขอสละสิทธิ์การบรรจุและแต่งตั้งหรือไม่ไปรายงานตัวเพื่อรับการบรรจุจนเป็นเหตุให้ถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งดำเนินการคัดเลือกต่อไปจนแล้วเสร็จ โดยให้ถือว่าข้าราชการผู้นั้นยังคงเป็นผู้สอบแข่งขันได้ ๓.๖ กรณีอื่นนอกจากที่กำหนดในประกาศนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาเป็นรายกรณีไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๓๖ ก/หน้า ๙/๔ มิถุนายน ๒๕๕๒
626721
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ระดับชำนาญการ
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ระดับชำนาญการ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ระดับชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ เพื่อให้สำนักงานศาลปกครองใช้เป็นแนวทางในการประเมินข้าราชการให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ และมติคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ในคราวประชุมครั้งที่ ๘๖ - ๑๑/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองจึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ระดับชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ดังนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ระดับชำนาญการ” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการได้รับเงินประจำตำแหน่งสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ระดับชำนาญการ ตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ นั้น จะต้อง ๓.๑ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ระดับชำนาญการ หรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี ๓.๒ ผ่านการประเมินความเหมาะสมของบุคคลและผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานศาลปกครองกำหนด ข้อ ๔ ให้คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเป็นผู้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ข้อ ๕ ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ และให้มีอำนาจในการออกประกาศ คำสั่ง หลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๑๘/๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
614419
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปเพื่อประโยชน์ในการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นของตำแหน่งประเภทวิชาการ พ.ศ. 2552
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปเพื่อประโยชน์ในการเลื่อน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นของตำแหน่งประเภทวิชาการ พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป เพื่อประโยชน์ในการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นของตำแหน่งประเภทวิชาการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมาตรา ๖๓ และมาตรา ๑๓๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและจัดตำแหน่งข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การย้ายข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งได้รับวุฒิเพิ่มขึ้น พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงมีประกาศดังนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปเพื่อประโยชน์ในการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นของตำแหน่งประเภทวิชาการ พ.ศ. ๒๕๕๒” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ และนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป รวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ เพื่อประโยชน์ในการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นดังนี้ ๓.๑ ข้าราชการดังกล่าวจะต้องดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการตามที่ได้รับแต่งตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี และ ๓.๒ ให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๓ ขึ้นไป หรือได้รับเงินเดือนไม่ตํ่ากว่าขั้นต่ำของตำแหน่งประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ และให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการได้กึ่งหนึ่งดังนี้ ๓.๒.๑ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๒ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๓ ของสายงานที่เริ่มต้นจากระดับ ๒ ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน เมื่อนำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการที่กำหนดตาม ๑. แล้ว หากมีระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งรวมกันไม่น้อยกว่า ๗ ปี รวมทั้งต้องได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการ ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการได้ ๓.๒.๒ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๔ ของสายงานที่เริ่มต้นจากระดับ ๒ ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน เมื่อนำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการที่กำหนดตาม ๑. แล้ว หากมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรวมกันไม่น้อยกว่า ๕ ปี รวมทั้งต้องได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการ ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการได้ ๓.๒.๓ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๕ ขึ้นไปของสายงานที่เริ่มต้นจากระดับ ๒ ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับชำนาญงาน เมื่อนำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการที่กำหนดตาม ๑. แล้ว หากมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรวมกันไม่น้อยกว่า ๓ ปี รวมทั้งต้องได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการ ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่เข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการได้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๖๙ ก/หน้า ๙/๑๗ กันยายน ๒๕๕๒
647459
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๙) และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ และมติคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมครั้งที่ ๑๖/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ให้ตำแหน่งนิติกรในสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จึงออกประกาศเกี่ยวกับการกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการ ตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ก.” (๑) ผ่านการอบรมหลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐหรือหลักสูตรอื่นที่เทียบเท่า ซึ่ง ก.ศ. กำหนดหรือรับรอง (๒) ผ่านกระบวนการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ศ. กำหนด (๓) ปฏิบัติงานในหน่วยงาน ดังต่อไปนี้ ๑) หน่วยงานที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในและกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมายและหัวหน้าหน่วยงานดำรงตำแหน่งในสายงานนิติการ หรือ ๒) หน่วยงานต่ำกว่ากองหรือสำนัก หรือหน่วยงานเทียบเท่ากองหรือสำนัก ตามการแบ่งงานภายในของสำนักงานศาลยุติธรรม ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมาย หรือการสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล (๔) ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งนิติกรที่ได้รับแต่งตั้งตามที่ ก.ศ. กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และลักษณะงานด้านกฎหมายในสำนักงานศาลยุติธรรม ข้อ ๔ หลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร ให้เป็นไปตามบัญชีหมายเลข ๑ ท้ายประกาศนี้ ผู้ได้รับ พ.ต.ก. ที่ได้รับการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น และมีสิทธิได้รับ พ.ต.ก. ที่สูงขึ้นตามระดับตำแหน่ง ให้ได้รับ พ.ต.ก. ในอัตราเดิมจนกว่าจะผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตำแหน่งนิติกร ในอัตราที่สูงขึ้นตามระดับตำแหน่ง ข้อ ๕ การจัดลักษณะงานด้านกฎหมายในสำนักงานศาลยุติธรรมให้เป็นไปตามบัญชีหมายเลข ๒ ท้ายประกาศนี้ ข้อ ๖ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการ ตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ให้เป็นไปตามที่ ก.ศ. กำหนด ข้อ ๗ ให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ที่ ก.ศ. แต่งตั้งรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ ตัวชี้วัด เป้าหมาย พิจารณาคุณสมบัติ และประเมินความรู้ความสามารถของผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร ที่ขอรับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ จำนวนอย่างน้อย ๓ คน ประกอบด้วย (๑) ผู้แทน ก.ศ. ๑ คน (๒) ข้าราชการศาลยุติธรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอำนวยการ ระดับสูง หรือประเภทบริหาร ระดับต้น (๓) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายจากภายนอกสำนักงานศาลยุติธรรม (๔) หัวหน้าหน่วยงานการเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นเลขานุการ โดยให้ ก.ศ. เลือกอนุกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธาน ข้อ ๘ ข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการ ตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ผู้ใดมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษหลายอัตรา ให้ข้าราชการศาลยุติธรรมผู้นั้นได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษในอัตราที่สูงสุดเพียงอัตราเดียว ข้อ ๙ ข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการ ตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายงานอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ผู้ใดปฏิบัติงานไม่เต็มเดือนในเดือนใด ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษสำหรับเดือนนั้นตามส่วนของจำนวนวันที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าในเดือนใดมิได้ปฏิบัติงานไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษสำหรับเดือนนั้น เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ (๑) กรณีลาป่วย ให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ในปีงบประมาณหนึ่งไม่เกินหกสิบวันทำการ เว้นแต่เป็นการป่วยอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ก.ศ. อาจกำหนดให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษเกินหกสิบวันทำการได้ตามควรแก่กรณี (๒) กรณีลาคลอดบุตร ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินเก้าสิบวัน (๓) กรณีลากิจส่วนตัว ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ในปีงบประมาณหนึ่งไม่เกินสี่สิบห้าวันทำการ แต่สำหรับในปีแรกที่รับราชการให้ได้รับเงินเพิ่มระหว่างลาได้ในปีงบประมาณนั้นไม่เกินสิบห้าวันทำการ (๔) กรณีลาพักผ่อนประจำปี ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินระยะเวลาที่ผู้นั้นมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (๕) กรณีลาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาหรือลาไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมิใช่เป็นการลาภายในระยะเวลาสิบสองเดือนแรกที่เข้ารับราชการและตั้งแต่เริ่มรับราชการยังไม่ได้ลาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาหรือยังไม่เคยลาประกอบพิธีฮัจญ์ ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินหกสิบวัน (๖) กรณีลาไปเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินหกสิบวัน แต่ถ้าพ้นระยะเวลาที่ลาดังกล่าวแล้วผู้นั้นไม่ไปรายงานตัวเพื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งภายในเจ็ดวัน ให้งดจ่ายเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษหลังจากนั้นไว้จนถึงวันเข้าปฏิบัติหน้าที่หลัก (๗) กรณีลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย ให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษระหว่างลาได้ไม่เกินหกสิบวัน ข้อ ๑๐ ให้ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมรักษาการตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ รองประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีหมายเลข ๑ บัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร ๒. บัญชีหมายเลข ๒ บัญชีลักษณะงานด้านกฎหมายในสำนักงานศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๒๔ ก/หน้า ๖/๗ เมษายน ๒๕๕๔
656528
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ 3)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) โดยที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมได้มีมติปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม ตำแหน่งผู้ตรวจราชการ เป็นตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ดังนั้น เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๙) และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ และระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓)” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้แก้ไขบัญชีหมายเลข ๒ ข้อ ๑ ตำแหน่งประเภทบริหาร ท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ รองประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีหมายเลข ๒ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ปณตภร/ผู้ตรวจ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๗๖ ก/หน้า ๒๕/๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔
650631
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ 2)
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒)[๑] โดยที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมได้มีมติกำหนดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม ตำแหน่งนักจิตวิทยา ในสำนักงานศาลยุติธรรม ดังนั้น เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๙) และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ และระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรมคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒)” ข้อ ๒ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้เพิ่มเติมบัญชีหมายเลข ๒ ท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔ วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ รองประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีหมายเลข ๒ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรม แนบท้ายประกาศคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และการจัดตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรมเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณัฐวดี/ตรวจ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๕๔ ก/หน้า ๑๔/๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔
643488
ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
ประกาศ ก ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ และข้อ ๕ ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ ก.พ. จึงกำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๔ (๑๗) (ค) ของประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ค) ปฏิบัติงานในหน่วยงาน ดังต่อไปนี้ ๑) ส่วนราชการที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมายและมีหัวหน้าส่วนราชการดำรงตำแหน่งในสายงานนิติการ หรือ ๒) หน่วยงานต่ำกว่ากองหรือสำนักหรือหน่วยงานเทียบเท่ากองหรือสำนักที่ อ.ก.พ. กระทรวง เห็นชอบการแบ่งงานภายใน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมาย และมีหัวหน้าหน่วยงานดำรงตำแหน่งในสายงานนิติการ หรือ ๓) ส่วนราชการที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการหรือหน่วยงานต่ำกว่ากองหรือสำนักหรือหน่วยงานเทียบเท่ากองหรือสำนัก ที่ อ.ก.พ. กระทรวง เห็นชอบการแบ่งงานภายในซึ่งหัวหน้าหน่วยงานไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานนิติการ แต่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจและยกร่างกฎหมาย หรือการดำเนินการทางวินัย หรือการดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง” ข้อ ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นวรรคสามของ (๑๗) ในข้อ ๔ ของประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ “ให้ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรที่ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) แล้ว และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) ในระดับสูงขึ้นก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับ พ.ต.ก. ในอัตราเดิมไปจนกว่าผู้นั้นจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่ ก.พ. กำหนดตั้งแต่วันที่ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้น” ข้อ ๕ ให้ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน ลำดับ (๑๗) ตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกรในทุกส่วนราชการ ประเภทเงินเพิ่ม พ.ต.ก. ที่กำหนดในบัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนแนบท้ายประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธาน ก.พ. [เอกสารแนบท้าย] ๑. บัญชีกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนแนบท้ายประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย) [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนพิเศษ ๑๒ ง/หน้า ๖๘/๒๘ มกราคม ๒๕๕๔
623986
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. 2553
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อให้การปฏิบัติราชการตามภารกิจต่าง ๆ ของสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติราชการ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการหรือหน้าที่อื่นที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว ที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ สามารถรับราชการต่อไปอีกไม่เกินสิบปี เพื่อเป็นการสร้างและรักษาทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงออกประกาศในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไปไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๓” ข้อ ๒[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญหรือระดับทรงคุณวุฒิรับราชการต่อไป ซึ่งจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใด เมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์จะต้องเป็นกรณี ดังนี้ (๑) มีเหตุผลและความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางการ (๒) ตำแหน่งที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปต้องเป็นตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใด ดังต่อไปนี้ คือนักกฎหมาย ป.ป.ช. เจ้าพนักงานปราบปรามการทุจริต นักวิชาการคอมพิวเตอร์ หรือตำแหน่งอื่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเป็นตำแหน่งที่มีความขาดแคลนบุคลากร (๓) ตำแหน่งที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปต้องเป็นตำแหน่งที่ผู้นั้นครองอยู่เดิม ข้อ ๔ กำหนดเวลาที่จะให้รับราชการต่อไปตามประกาศนี้ ให้กระทำได้ตามความจำเป็นโดยในครั้งแรกให้สั่งให้รับราชการต่อไปได้ไม่เกินสี่ปี และถ้ายังมีเหตุผลและความจำเป็นจะให้รับราชการต่อไปอีกได้ครั้งละไม่เกินสามปี แต่เมื่อรวมกันแล้วระยะเวลาทั้งหมดต้องไม่เกินสิบปี เมื่อครบกำหนดเวลาที่สั่งให้รับราชการต่อไปตามวรรคหนึ่ง ให้สั่งให้ผู้นั้นพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่ถ้าความจำเป็นที่ให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปหมดลงก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว จะสั่งให้ผู้นั้นพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวก็ได้ ข้อ ๕ ส่วนราชการใดในสำนักงาน ป.ป.ช. มีความจำเป็นที่จะให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณนั้น ให้ส่วนราชการนั้นจัดทำข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา ดังนี้ (๑) แผนงาน โครงการ ตลอดจนภารกิจที่มีความจำเป็นจะให้ผู้นั้นปฏิบัติ จำแนกเป็นรายปี (๒) สภาวะการขาดแคลนบุคลากรในภาพรวมของสำนักงาน ป.ป.ช. ความสามารถในทางวิชาการ หรือความสามารถเฉพาะตัวของผู้นั้น และความยากในการหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสม มาปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้น (๓) เหตุผลและความจำเป็นที่จำต้องให้ผู้นั้นปฏิบัติภารกิจ ตาม (๑) (๔) ระยะเวลาที่จะให้ผู้นั้นรับราชการต่อไป (๕) ข้อมูลเกี่ยวกับข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้นั้น ข้อ ๖ ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว ที่จะให้รับราชการต่อไปได้ตามข้อ ๓ ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไปต่อเนื่องกันมาแล้ว ไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสิ้นปีงบประมาณ ยกเว้นในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓ ให้นับระยะเวลาต่อเนื่องสำหรับข้อนี้ ไม่น้อยกว่าเก้าเดือน (๒) มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ทักษะ และประสบการณ์ และมีผลงานหรือผลการปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นต่อไปได้ (๓) ไม่อยู่ในระหว่างการถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง (๔) ผ่านการตรวจสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ข้อ ๗ การให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ใดซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญหรือระดับทรงคุณวุฒิตามข้อ ๓ (๒) ได้รับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและการพัฒนาองค์กรเป็นผู้พิจารณา ข้อ ๘ ให้ส่วนราชการดำเนินการตามข้อ ๗ ภายในเดือนมีนาคมของปีงบประมาณที่ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้นั้นจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและการพัฒนาองค์กรพิจารณาข้อเสนอของส่วนราชการ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนของปีงบประมาณนั้น ข้อ ๙ ในกรณีที่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและการพัฒนาองค์กรเห็นชอบให้ข้าราชการ ป.ป.ช. ผู้ใดรับราชการต่อไปได้เมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งให้ผู้นั้นรับราชการต่อไป และส่งสำเนาคำสั่งให้กรมบัญชีกลางทราบ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ข้อ ๑๐ การสั่งให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. รับราชการต่อไปเป็นครั้งแรกนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้มีคำสั่งภายในวันที่ ๓๐ กันยายน ของปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ในกรณีที่ครบกำหนดเวลาที่ให้รับราชการต่อไปแล้ว ถ้าได้รับความเห็นชอบให้รับราชการต่อไปอีก ให้มีคำสั่งก่อนวันครบกำหนดเวลาที่ให้รับราชการต่อไปในครั้งก่อน ข้อ ๑๑ ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งได้รับราชการต่อไปตามประกาศนี้ จะต้องดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่เฉพาะตำแหน่งที่ได้รับราชการต่อไปเท่านั้น และจะย้าย โอน หรือเลื่อนไปดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ หรือตำแหน่งอื่น หรือจะรักษาราชการแทนรักษาการในตำแหน่ง รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน ไปช่วยราชการ หรือไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอื่นไม่ได้ ข้อ ๑๒ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ หรืออันเนื่องมาจากประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ นันท์นภัสร์/ตรวจ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วิศนี/ปรับปรุง ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗/ตอนพิเศษ ๑๗ ง/หน้า ๔๘/๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
603533
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง[๑] โดยที่คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง (ก.ขป.) ในคราวประชุมครั้งที่ ๘๖ - ๑๑/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ มีมติอนุมัติในหลักการการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับกับข้าราชการฝ่ายศาลปกครองโดยอนุโลม เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลปกครอง ประกอบกับ ก.ขป. ในคราวประชุมครั้งที่ ๘๘ - ๑/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ มีมติเห็นชอบในหลักการของการกำหนดตำแหน่งและมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง โดยเฉพาะการเทียบเคียงการจำแนกตำแหน่งเพื่อประโยชน์ในการให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง รองรับการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติ ก.ขป. ดังกล่าวข้างต้น ก.ขป. จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง การให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ได้รับเงินเดือนตามการจัดตำแหน่งเข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่ง ของประกาศคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งและการจัดตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เข้าประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ข้อ ๔ ให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในประเภท สายงาน และระดับตำแหน่งดังต่อไปนี้ มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง (๑) ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ได้แก่ สายงานนักบริหารงานศาลปกครอง (ก) ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดียวกับหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง (ข) ตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง หรือเทียบเท่าให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดียวกับรองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง (๒) ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง ได้แก่ สายงานเจ้าหน้าที่บริหารงานศาลปกครอง (๓) ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ได้แก่ (ก) สายงานพนักงานคดีปกครอง (ข) สายงานเจ้าหน้าที่ศาลปกครอง (๔) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ได้แก่ (ก) สายงานพนักงานคดีปกครอง (ข) สายงานเจ้าหน้าที่ศาลปกครอง (ค) สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ (ง) สายงานนักวิชาการตรวจสอบภายใน (๕) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ และระดับชำนาญการ ได้แก่ สายงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ข้อ ๕ ให้ ก.ขป. มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ข้อ ๖ ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดรักษาการตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ปริยานุช/ผู้จัดทำ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ปณตภร/ปรับปรุง ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๒๗ ก/หน้า ๑๔/๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒